Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

เคาะมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม

$
0
0
เคาะมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 เดินหน้า 4 วาระใหญ่ น้ำดื่มปลอดภัย สุขภาพเด็กปฐมวัย สานพลังปราบยุงลาย และที่อยู่อาศัย เตรียมส่งต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติสานต่อในเชิงนโยบาย พร้อมใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าร่วมแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน 

23 ธ.ค. 2559 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า วันนี้ (23 ธ.ค.59) ในการแถลงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 จัดขึ้นภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงภาพรวมการจัดงานที่ผ่านมาว่า มีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น 2,300 คน จาก 280 เครือข่าย เป็นการดำเนินงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นใน 4 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1)การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ 2)น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน 3) การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม และ 4) สานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ซึ่งทุกประเด็นได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนในทุกระดับ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ ทั้งการเสวนาบริเวณลานสมัชชาสุขภาพ เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม การรายงานการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หาจุดอ่อน จุดแข็ง และปรับปรุงแนวทางในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพในปีต่อๆ ไป

โดยการจัดงานในปีนี้ยังพิเศษกว่าครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากได้เพิ่มในส่วนกิจกรรมเสียงจากภาคี เพื่อเป็นการสะท้อนเสียงจากเครือข่ายไปถึงผู้ดำเนินนโยบาย ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 วันของการจัดงาน ตัวแทนเครือข่ายได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเหนียวแน่นและต่อเนื่อง โดยพัฒนาการที่เห็นได้ชัด คือ สมาชิกเครือข่ายที่เข้าร่วมเข้าร่วมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ทุกประเด็นมีการเตรียมตัวมาก่อน แต่ละคนทำความเข้าใจในประเด็นที่สนใจมาเป็นอย่างดี

นพ.กิจจา เรืองไทย ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 1 กล่าวว่า จากข้อมูลการทำงานของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พบว่า การเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัยในราคาที่เป็นธรรม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแทบจะทุกภูมิภาคของประเทศไทย ตั้งแต่เรื่องน้ำดื่มในครัวเรือนที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพทั้งด้านชีวภาพ ด้านกายภาพ ด้านเคมี ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารเคมีและเชื้อจุลินทรีย์ ที่อาจทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง โรคบิด และโรคอื่นๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานน้ำดื่มปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ขณะที่กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งจากการพิจารณาระเบียบวาระร่วมกัน ที่ประชุมได้มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักเรื่องนี้ ร่วมกันจัดทำมาตรฐานน้ำดื่มปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งน้ำดื่มในครัวเรือนและน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ พร้อมกับประสานให้หน่วยงานในระดับท้องถิ่นจัดหาน้ำดื่มสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน รวมถึงกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับชาติ ระดับจังหวัด ตลอดจนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพพื้นที่และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันจัดทำข้อมูลหรือรายงานการตรวจสอบเฝ้าระวังน้ำดื่ม และการแจ้งเตือนภัยน้ำดื่มไม่ปลอดภัยร่วมกันผ่านสื่อสาธารณะระดับชาติและท้องถิ่นที่ประชาชนเข้าถึงได้ด้วย

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ รองประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 1 กล่าวถึงมติที่ 2.3 การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม กล่าวว่า จากการสำรวจของคณะทำงานพบว่า ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ประสงค์จะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องสุขภาวะของเด็กปฐมวัย ทุกหน่วยงานมีแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กแทบทั้งสิ้น สวนทางกับข้อมูลสุขภาพของเด็กปฐมวัยที่พบว่าเด็กในหลายพื้นที่มีปัญหาพัฒนาการตกต่ำ มีปัญหาเรื่องขาดสารอาหาร และเมื่อไปพิจารณาถึงแผนยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงาน พบว่า ยังมีปัญหาเรื่องขาดการเชื่อมโยงกัน ซึ่งจากการลงมติในที่ประชุมแล้วมีมติร่วมกันในภาพรวมว่า เราจะทำอย่างไรเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัยให้สุขภาพดีทั้งจิต กาย และใจ เพื่อส่งต่อเด็กที่มีคุณภาพให้กับระบบการศึกษา ให้เด็กเติบโตเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต และคาดหวังว่าจะเกิดแนวทางสร้างเสริมสุขภาพวะเด็กปฐมวัย โดยสามารถเข้าถึงสถานศึกษา องค์ความรู้เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ ปรีดา คงแป้นประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 2 กล่าวว่า นอกจากเรื่องน้ำดื่มที่เป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ ประเด็นเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายน้อยในเขตเมืองที่ถูกบรรจุในวาระการจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ ยังเป็นอีกหนึ่งความกังวลใจของประชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะทั้งของรัฐและเอกชน จากการลงพื้นที่ของคณะทำงานพบว่า ปัญหาเร่งด่วนตอนนี้คือ การเตรียมหาที่อยู่อาศัยที่มั่นคงรองรับประชากรหลายพันครัวเรือนที่อาศัยอยู่ตามริมทางรถไฟ ซึ่งจะต้องย้ายออกจากพื้นที่ทันทีที่โครงการรถไฟรางคู่เริ่มก่อสร้าง ซึ่งจากการพิจารณาระเบียบวาระร่วมกัน ที่ประชุมได้มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักทำงานและบูรณาการร่วมกันโดยเบื้องต้น ตั้งเป้าให้ทุกกลุ่มรายได้สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้อย่างเหมาะสมตามบริบทพื้นที่ และในระยะยาวได้มีมติให้ปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ โดยใช้กรอบของหลักการและ พันธกิจในการพัฒนาการอยู่อาศัยและเมืองสุขภาวะ และแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนในทุกระดับ

ภารณี สวัสดิ์รักษ์ รองประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 2 กล่าวถึงมติ 2.4 สานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน โดยกล่าวว่า ปัญหาเรื่องความเจ็บป่วยจากไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรคนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงทั้งมิติสุขภาพและการท่องเที่ยว แม้ว่าที่ผ่านมาจะเห็นว่าทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมในแต่ละพื้นที่จะมีการดำเนินการกันอย่างเข้มแข็ง แต่ยังมีช่องว่างอยู่ในหลายมิติ ซึ่งจากการลงมติในที่ประชุมแล้วมีมติร่วมกันในภาพรวมว่า เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาเรื่องไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน ได้แบ่งมติการดำเนินงานออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) สานพลังปราบยุงลายในพื้นที่ โดยเริ่มจากในครัวเรือน ชุมชน 2) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับพื้นที่และจังหวัดในเรื่องการสร้างองค์ความรู้ สร้างแผนยุทธศาสตร์และรายงานผลการดำเนินงานร่วมกัน 3) ทำงานร่วมกับคณะกรรมการเขตสุขภาพในท้องที่ 4) พัฒนางานวิจัยเรื่ององค์ความรู้ในการปราบยุงลายโดยมีเจ้าภาพหลักเป็นสถาบันวิจัยและระบบสาธารณสุข และ 5) เพื่อให้เกิดผลอย่างแท้จริงในทางปฏิบัติจำเป็นต้องมีมาตรการในทางกฏหมายเพื่อให้เกิดการบังคับใช้

ด้าน นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงการขับเคลื่อนประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ถูกบรรจุเอาไว้ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 นี้ว่า ระเบียบวาระทั้ง 4 มาจากการเสนอปัญหาจากเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งทั้ง 4 เรื่องนี้เป็นปัญหาที่พบว่าหลายพื้นที่ ทุกระดับ มีร่วมกัน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างมติและรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกสมัชชาสุขภาพ โดยในระดับจังหวัดก็มีกลไกรับฟังความเห็นโดยเฉพาะ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ก่อนออกเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อนำเสนอเข้าสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีให้นำไปขับเคลื่อนต่อในเชิงนโยบาย

“การส่งต่อมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติให้คณะรัฐมนตรีนำไปขับเคลื่อนต่อ หมายความว่านโยบายของรัฐที่ออกมานั้น มาจากปัญหาและความต้องการของประชาชนทั่วประเทศอย่างแท้จริง โดยมีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งผ่าน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้นักการเมืองเข้ามาแก้ปัญหาให้ เรียกว่าเป็นนโยบายจากประชาชนและขับเคลื่อนโดยประชาชนอย่างแท้จริง” นพ.พลเดช กล่าว

นพ.พลเดช กล่าวเพิ่มเติมถึงสิ่งที่อยากให้ทุกภาคส่วนนำไปเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานให้ไว้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

อนึ่ง “สมัชชาสุขภาพ” คือ เครื่องมือพัฒนานโยบาย สาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วม เกิดขึ้น ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ถือเป็นแนวทางใหม่ของการพัฒนานโยบายสาธารณะตามระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม สมัชชาสุขภาพแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2) สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ และ 3) สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น โดย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติได้กำหนดให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นประจำทุกปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จัดอบรมโฆษกเยาวชน รุ่น 13 หวังประชาสัมพันธ์สันติสุขที่ยั่งยืน

$
0
0

23 ธ.ค. 2559 รายงานข่าวจาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (หรือ กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แจ้งว่า วันนี้ (23 ธ.ค. 59) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ สำนักงานการศึกษาธิการภาค 8 ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา พล.ท.ชินวัฒน์ แม้นเดช รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้แทน พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการฝึกอบรมโฆษกเยาวชน ตามโครงการฝึกอบรมโฆษกชาวบ้าน รุ่นที่ 13 ในระหว่างวันที่ 23 -25 ธ.ค.2559 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้น โดยมีเยาวชนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 60 คน

รายงานข่าวจาก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยังระบุด้วยว่า สำหรับกิจกรรมฝึกอบรมโฆษกเยาวชนในครั้งนี้ เพื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนมาสู่ความร่วมมือสร้างสันติสุขที่ยั่งยืน โดยกิจกรรมในครั้งนี้ กองอำนวยการักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มเยาวชนในสถานศึกษาว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ สามารถช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติได้ จึงได้ร่วมกับสมาคมเด็กและเยาวชน เพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง), หน่วยเฉพาะกิจสันติสุข, หน่วยเฉพาะกิจจังหวัด, หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

กอ.รมน.ภาค 4 สน. ระบุด้วยว่า การอบรม ดังกล่าว จะทำให้เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความรู้ ความเข้าใจหลักการประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง สามารถขยายผลด้านการประชาสัมพันธ์ กับชุมชนในพื้นที่ ด้วยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ ถูกต้อง เป็นความจริง ในรูปแบบโฆษกเยาวชนที่ดี และมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้าใจ เพื่อมุ่ง สานใจ สู่สันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.ไฟเขียวรายงานแก้ระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการ ห้ามกอล์ฟ รับของขวัญ นั่งที่ปรึกษาบริษัท

$
0
0

23 ธ.ค.2559 จากกรณีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง “การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม” ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการศึกษาการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม

สำนักข่าวไทย พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ เชิดบุญเมือง ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวรายงานว่า ปัญหาระบบอุปถัมภ์ของไทยสั่งสมมายาวนาน โดยเฉพาะในแวดวงราชการไทย ซึ่งระบบราชการถือเป็นเสาหลักที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงต้องมีกระบวนการให้ความเป็นธรรม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากประสบปัญหาจากผู้บังคับบัญชา ระบบอุปถัมภ์และไม่มีคดีตัวอย่าง จึงทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย

ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ต้องมีแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทย ผ่านกระบวนการปลูกฝังค่านิยม ปรับปรุงกฎหมาย ปฏิรูประบบราชการ สร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม  ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล การแก้ไขระบบอุปถัมภ์และการทุจริตคอร์รัปชั่น ประกาศใช้กฎหมายโดยเร็ว มีกลไกลติดตามตรวจสอบการออกกฎหมาย ปรับปรุงกระบวนการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งนักบริหารระดับสูง

“ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ระบบราชการและวัฒนธรรมการทำงานของราชการยังคงถูกแทรกซึมด้วยระบบอุปถัมภ์ ในแวดวงข้าราชการไทย ยึดโยงกับความเชื่อเรื่องผู้ใหญ่ มีการฝากเนื้อฝากตัว ทดแทนบุญคุณ มีภาษิตมากมาย เช่น ข้าเก่าเต่าเลี้ยงทำให้ระบบอุปถัมภ์ฝังรากลึก มีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวพัน  ข้าราชการผู้น้อยวิ่งเข้าหาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  ส่วนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ก็จะวิ่งหานักการเมือง ที่มีอำนาจแต่งตั้ง โยกย้าย นักธุรกิจก็วิ่งเต้นเสนอผลประโยชน์ตอบแทน โดยไม่คำนึงถึงหลักคุณธรรม ความเสมอภาค ความรู้ความสามารถ ทำให้ข้าราชการขาดขวัญกำลังใจ คนเก่งคนดี ไม่สามารถอยู่ในระบบได้ กลายเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งระบบอุปถัมภ์ได้สร้างความเสียหายอย่างมาก” พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ กล่าว

สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ 4 ด้าน คือการดำเนินการด้านนิติบัญญัติ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ป้องกันการใช้ระบบอุปถัมภ์ ส่งเสริมระบบคุณธรรมในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติ การดำเนินการด้านการบริหาร ใช้หลักธรรมาภิบาลเป็นหลักในการบริหารบ้านเมือง ยกระดับการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยเป็นวาระแห่งชาติ กำหนดข้อห้ามต่าง ๆ เหมือนบางประเทศเช่น การห้ามรับของขวัญ รับเลี้ยง รับสินบน หรือเล่นกอล์ฟ กับผู้มีส่วนได้ประโยชน์ หรือการห้ามข้าราชการที่เกษียณอายุราชการแล้ว เข้าไปรับทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับภาคธุรกิจเอกชน ที่ข้าราชการผู้นั้นเคยมีอำนาจอยู่ในหน่วยราชการนั้น ๆ ในระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี หลังจากเกษียณอายุราชการ และเห็นควรลดขั้นตอนระยะเวลาในกระบวนการด้านตุลาการและกระบวนการให้ความเป็นธรรม มีบทลงโทษที่เด็ดขาด และฝึกอบรมภาคราชการและเอกชน พร้อมกันนี้ยังเสนอให้จัดตั้งองค์กรกลางการบริหารงานบุคคล เพื่อเป็นกลไกในการควบคุมและกำกับดูแลให้การบริหารงานบุคคลภาครัฐ เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน มีความเป็นกลาง เป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหารหรืออยู่ใต้การบังคับ บัญชาของฝ่ายบริหารโดยตรง

สมาชิก สนช. หลายคนอภิปราย โดย กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ประเทศไทยเสพติดระบบอุปถัมภ์มายาวนาน และที่พบเห็นมากคือในกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการฝากเด็กเข้าโรงเรียน  ส่วนตัวเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากระบบอุปถัมภ์

กล้านรงค์ จันทิก สนช. กล่าวว่า ระบบอุปถัมภ์มาจากสภาพสังคมไทย ที่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้มีอำนาจและกลุ่มผู้ไม่มีอำนาจ กลุ่มผู้มีอำนาจวิ่งไปหาผู้มีอำนาจนักการเมืองเพื่อความอยู่รอด และเรามี 3 กฎ คือกฎหมาย กฎสังคมและกฎแห่งกรรม  ซึ่งขณะนี้กฎหมายไทยสามารถปราบปรามคอร์รัปชั่นได้ และถูกบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันคอร์รัปชั่น แต่การบังคับใช้กฎหมายยังประสบปัญหาหลายด้าน ขณะที่รายงานฉบับนี้ต้องเน้นเรื่องกฎสังคมให้ชัดเจนกว่านี้ ซึ่งจะทำให้ระบบอุปถัมภ์ลดน้อยลงได้

หลังการอภิปรายอย่างกว้างขวางที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งรายงานดังกล่าวไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลดำเนินการจัดทำกฎหมายต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

$
0
0

"ผมก็อยากเห็นกฎหมายคอมพิวเตอร์นี่ มีการมารับฟังความคิดเห็นของคนที่ไม่เห็นด้วย อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องการบิดเบือน อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่ให้มองว่าข้อห่วงใยของคนที่คัดค้านจำนวนมากซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เขามีต่อปัญหาว่าจะมีการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขตหรือไม่ จะแก้ไขกันอย่างไร"

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, 23 ธ.ค. 2559

เมื่อ ‘แอร์โฮสเตส’ ขอยืดระยะเวลา ‘เกษียณ’

$
0
0

สหภาพแรงงานพนักงานต้อนรับ ‘คาเธ่ย์ แปซิฟิค’ เรียกร้องยืดอายุการเกษียณจาก 55 ปี เป็น 65 ปี ชี้การเกษียณก่อนวัยที่เหมาะสมจะสร้างภาระให้สังคม และประสบการณ์ของลูกเรือสูงวัยจะมีประโยชน์ต่อความปลอดภัยของอุตสาหกรรมการบิน ทั้งนี้เคยเรียกร้องสำเร็จขยายอายุเกษียณจาก 45 ปี เป็น 55 ปี มาแล้วเมื่อปี 2551

อายุเกษียณ 'แอร์โฮสเตส' ของสายการบินที่น่าสนใจในเอเชีย

24 ธ.ค. 2559 โลกแห่งการทำงานยุคปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ได้เกิดกระแสเรียกร้องการยืดระยะเวลาเกษียณ เพราะการเกษียณเร็วในหลายภูมิภาคอาจจะสร้างปัญหาให้กับคนทำงานเอง เช่นในภูมิภาคเอเชียที่ไม่มีสวัสดิการเงินชดเชยให้หลังเกษียณที่ดีเหมือนยุโรป ทำให้แม้แต่คนทำงานเองในหลายอุตสาหกรรมก็ยังออกมาเรียกร้องการยืดระยะเวลาเกษียณนี้ อย่างล่าสุดก็เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการบิน

65, I Can Flyเป็นแคมเปญรณรงค์เรียกร้องยืดอายุการเกษียณของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหรือแอร์โฮสเตส ของสหภาพแรงงานพนักงานต้อนรับสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค (CPAFAU) เพิ่มจาก 55 ปี เป็น 65 ปี ทั้งนี้จากการรายงานของ South China Morning Postเมื่อปลายเดือน พ.ย. 2559 ที่ผ่านมาระบุว่าสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค (Cathay Pacific) อาจตัดสินใจเพิ่มอายุเกษียณการทำงานของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หลังได้รับเสียงร้องเรียนจากสหภาพแรงงาน ทั้งนี้สายการบินคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ แอร์ไลน์ (Singapore Airlines) ก็มีอายุเกษียณของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ 62 ปี ส่วนสายการบินออล-นิปปอน แอร์เวยส์ (All-Nippon Airways) ก็อยู่ที่ 65 ปี

“สำหรับกลุ่มคน Gen-Y (วัยทำงานอายุ อายุ 27-36 ปี) เมื่อถามว่าจะทำงานได้นานแค่ไหน คน Gen-Y ในเอเชียส่วนใหญ่จะบอกว่าสามารถทำงานได้จนกว่าจะเสียชีวิตโดยเฉพาะคนญี่ปุ่น”

ข้อมูลจาก ManpowerGroup Solution

ต่อมาเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2559 หนังสือพิมพ์ The Standard ของฮ่องกงรายงานว่าผู้บริหารของคาเธ่ย์ แปซิฟิค ระบุว่าจากจำนวนพนักงาน 9,000 คน มีถึงกว่าครึ่งหนึ่งที่ต้องการยืดระยะเวลาเกษียณออกไป ทั้งนี้การเพิ่มอายุเกษียณของพนักงานจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนก่อนเดือน ม.ค. ปี 2561

ส่วนสหภาพแรงงานฯ ระบุว่าจะทำการสำรวจความเห็นของพนักงานและจะนำไปเป็นข้อเรียกร้องเพื่อเจรจากับฝ่ายบริหารในปีถัดไป นอกจากนี้สหภาพแรงงานฯ ยังระบุว่าสามารถล่ารายชื่อพนักงานได้แล้วถึง 3,600 คน ในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างให้ยืดอายุการเกษียณทำงานของพวกเธอเป็น 65 ปี

ทั้งนี้สำหรับอายุเกษียณของนักบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคอยู่ที่ 65 ปี ส่วนพนักงานภาคพื้นดินอยู่ที่ 60 ปี (ยกเว้นสาขาในสหราชอาณาจักรจะอยู่ที่ 65 ปี)

เริ่มต้นเมื่ออายุเท่าไร?

ที่มาภาพประกอบ Bas Bogers (CC BY-NC 2.0)

เว็บไซต์ cabincrewexcellence.comได้รวบรวมอายุเฉลี่ยของผู้เริ่มต้นเข้าสู่อาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินไว้โดยระบุว่าสายการบินฝั่งยุโรป (เช่น Ryanair, EasyJet, British Airways เป็นต้น) ต้องมีอายุครบ 18 ปี ขึ้นไปถึงจะสมัครงานได้ ด้านสายฝั่งตะวันฝั่งออกกลางส่วนใหญ่ (เช่น Qatar Airways, Emirates และ Etihad เป็นต้น) จะรับสมัครอายุระหว่าง 21-30 ปี ส่วน Saudi Arabian Airlines รับอายุระหว่าง 22-30 ปี

ส่วนเว็บไซต์ thaicabincrew.comได้รวบรวมของสายการบินฝั่งเอเชียบางส่วนไว้ อาทิเช่น Singapore Airlines รับสมัครอายุ 18 ปีขึ้นไป Japan Airlines, Royal Brunei Airlines รับสมัครอายุระหว่าง 20-26 ปี, สายการบินไทย และ Korean Air อายุต่ำกว่า 26 ปี, Air Asia อายุต่ำกว่า 28 ปี Lion Air และ Nok Air อายุไม่เกิน 35 ปี เป็นต้น

 

ความเคลื่อนไหวระลอกล่าสุดของสหภาพแรงงานพนักงานต้อนรับสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค นี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 โดยจากรายงานของเว็บไซต์ rthk.hkระบุว่าพนักงานต้อนรับของหลายสายการบินในฮ่องกงได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายเพิ่มอายุเกษียณในอุตสาหกรรมอยู่ที่ 65 ปี นอกจากสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ที่พนักงานต้อนรับมีอายุเกษียณอยู่ที่ 55 ปีแล้ว สายการบินดราก้อนแอร์ (Dragonair) ก็ยิ่งมีอายุเกษียณที่น้อยกว่านั้นเพียง 45 ปี

แคลโรล ง็อก เลขาธิการทั่วไปของสหพันธ์ลูกเรือฮ่องกง (Hong Kong Cabin Crew Federation) กล่าวว่าการให้ลูกเรือที่มีประสบการณ์เกษียณก่อนวัยอันควรทั้ง ๆ ที่พวกเธอยังปฏิบัติงานได้ดีนั้นอาจจะเป็นการเพิ่มภาระให้สังคม และประสบการณ์บนเครื่องของลูกเรือเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อความปลอดภัยของอุตสาหกรรมการบิน

อนึ่งสหภาพแรงงานพนักงานต้อนรับสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ถือเป็นหนึ่งในสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งในภาคอุตสาหกรรมการบิน โดยปัจจุบันมีสมาชิกถึง 7,200 คน เคยเรียกร้องจนทำให้พวกเธอสามารถขยายอายุเกษียณจาก 45 ปี เป็น 55 ปี ได้สำเร็จมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2551

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลแถลงปี 2559 พบ 'คดีแพ่ง-ล้มละลาย-แรงงาน' พุ่ง

$
0
0
แถลงผลการดำเนินงานด้านคดีของศาลยุติธรรมทั่วประเทศประจำปี 2559 พบสถิติคดีแพ่ง คดีล้มละลาย และคดีแรงงาน พุ่งสูงขึ้น โดยคดีแพ่งช่วง 10 เดือนแรกปี 2559 มี 993,229 คดี ส่วนปี 2558 อยู่ที่ 750,692 คดี คดีล้มละลายปี 2559 มี 5,641 คดี ปี 2558 อยู่ที่ 5,195 คดี ส่วนคดีแรงงานปี 2559 มี 17,026 คดี ส่วนปี 2558 อยู่ที่ 13,979 คดี

 
เว็บไซต์แนวหน้ารายงานเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2559 ที่ห้องประชุมชั้น 12 สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 13.30 น. นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมด้วยนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม และนายพิสิษฐ นิ่งน้อย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะประจำสำนักประธานศาลฎีกา ร่วมแถลงผลการดำเนินงานด้านคดีของศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ประจำปี 2559
 
นายอธิคม เปิดเผยว่า ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 มีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม จำนวน 1,736,954 คดี ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเสร็จ 1,488,890 คดี มีคดีค้าง 248,064 คดี ขณะที่การไกล่เกลี่ยคดี มีคดีแพ่งเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 345,095 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 300,932 คดี ส่วนคดีอาญาเข้าสู่ระบบ 12,300 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 6,763 คดี ซึ่งศาลก็จะดำเนินการส่งเสริมการระงับข้อพิพาทต่อไป โดยดำเนินการเป็นโครงการส่งเสริมการระงับข้อพิพาทของภาคและศาล กับโครงการส่งเสริมพัฒนาและเผยแพร่การระงับข้อพิพาททางเลือก
 
เมื่อถามว่ามีสัญญาณที่แสดงถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมจากสถิติคดีแพ่ง คดีล้มละลาย และคดีแรงงานที่ผ่านมาหรือไม่ นายอธิคม กล่าวว่า มีสัญญาณหรือไม่ขอให้ดูจากตัวเลขคดีทางเศรษฐกิจ เริ่มจากคดีแพ่ง ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 พบว่ามี 993,229 คดี ส่วนปี 2558 ตัวเลขอยู่ที่ 750,692 คดี ขณะที่คดีล้มละลาย ในปี 2559 อยู่ที่ 5,641 คดี เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 ตัวเลขคดีอยู่ที่ 5,195 คดี ส่วนคดีแรงงานปี 2559 มีจำนวน 17,026 คดี ในปี 2558 อยู่ที่ 13,979 คดี ซึ่งปริมาณเพิ่มขึ้นพอสมควรจะเป็นสัญญาณหรือไม่ต้องช่วยกันพิจารณา
 
นายอธิคม ยังกล่าวถึงการอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนว่า คือการเปิดทำการศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ซึ่งหลังจากเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีคดีค้างเก่าที่โอนมาจากแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ 77 คดี และมีคดียื่นฟ้องใหม่ 151 คดี ปัจจุบันศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีจำนวนคดีที่ต้องพิจารณา 228 คดี โดยในปี 2560 จะทยอยเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 ให้ครบ 9 แห่ง
 
ด้านนายสืบพงษ์ กล่าวเสริมถึงการบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรมให้มีความรวดเร็วว่า ปัจจุบันศาลยุติธรรมได้เร่งพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี โดยสถิติคดีที่ผ่านมาศาลชั้นต้นพิจารณาคดีแล้วเสร็จ ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน มีจำนวน 705,338 คดี และช่วงระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน มีจำนวน 187,862 คดี ซึ่งตัวอย่างคดีสำคัญคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ที่อยู่ในการพิจารณาของศาล ขณะนี้ได้สืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะสืบพยานฝ่ายจำเลยเสร็จไม่เกินเดือนมีนาคม 2560
 
นอกจากนี้ นายพิสิษฐ ได้กล่าวถึงการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่จะนำมาอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในด้านคดีว่า ประธานศาลฎีกาได้มีนโยบายต่อการพัฒนาระบบงานศาลยุติธรรมให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก ทั่วถึง เท่าเทียมกันและเสียค่าใช้จ่ายน้อย โดยตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศาลได้ดำเนินการให้คู่ความที่หมายถึงโจทก์จำเลยและทนายความดำเนินการคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ผ่านทางเว็บไซต์ได้ ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับศาลยุติธรรมทั่วประเทศ หลังจากสำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกระเบียบว่าด้วยการให้บริหารคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาระหว่างศาลยุติธรรมทั่วประเทศ พ.ศ.2559 เพื่อแก้ปัญหาการต้องใช้เวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางโดยไม่จำเป็น
 
นอกจากนี้ ในปี 2560 ศาลยุติธรรมได้จัดทำระบบการยื่นคำฟ้อง การส่งคำคู่ความหรือคำสั่งศาล และเอกสารอื่นโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Filing ซึ่งจะให้คู่ความและประชาชนที่มีคดีสามารถยื่นคำฟ้อง การส่งคำคู่ความหรือคำสั่งศาล และเอกสารอื่นโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งจะเน้นคดีที่มีลักษณะไม่ยุ่งยาก หรือซับซ้อนเกินไป เช่น คดีบัตรเครดิต คดีสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคาร คดีเช่าซื้อ ซึ่งจะเริ่มนำร่องที่ศาลแพ่งธนบุรี เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านระบบแล้ว ก่อนที่จะขยายมาที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่ง ซึ่งมีคดีลักษณะดังกล่าวจำนวนมาก แล้วจึงนำไปใช้ในศาลยุติธรรมทั่วประเทศช่วงเดือนเมษายน ปี 2561
 
ทั้งนี้ ศาลยุติธรรมยืนยันว่าได้วางมาตรการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลของศาล โดยคู่ความที่จะใช้บริการต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนต่อศาลให้เห็นว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นคำฟ้องและเอกสารผ่านระบบ E-Filing ซึ่งธนาคารโลก หรือ World Bank ได้จัดลำดับความน่าเชื่อถือในการลงทุน Doing Business 2016 ของประเทศไทยกับการนำสื่อเทคโนโลยีมาใช้ในศาลยุติธรรม Court Automation ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะเสริมสร้างความน่าเชื่อถือที่ต่างชาติจะนำเงินมาลงทุนในประเทศไทย
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แต่งตั้ง 'พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์' เป็นองคมนตรี

$
0
0

24 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชโองการ ประกาศแต่งตั้งองคมนตรี โดย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรี ตามประกาศลงวันที่ ๅ12 ธันวาคม พุทธศักราช 2559 แล้วนั้น
 
บัดนี้ ทรงพระราชดําริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรีเพิ่มขึ้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบกับมาตรา 12 และมาตรา 13 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ เป็น องคมนตรี
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
ประกาศ ณ วันที่ 23 ธันวาคม พุทธศักราช 2559 เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ประธานองคมนตรี
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุทธรณ์คำสั่งถอนประกัน 'ไผ่ ดาวดิน'

$
0
0

ยื่นอุทรณ์คำสั่งถอนประกัน 'ไผ่ ดาวดิน'  ถึงศาลอุทรธรณ์ภาค 4 ชี้ไม่เคยผิดเงื่อนไขประกัน หรือก่อความเสียหายและไม่มีแนวโน้มจะก่อความเสียหาย ข้ออ้างของผู้ร้องขอถอนประกันเลื่อนลอย และข้อวินิจฉัยของศาลจังหวัดขอนแก่นคลาดเคลื่อน ขอศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งยกเลิก

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2559 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์ถึงศาลอุทธรณ์ภาค 4 กรณีที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา ถอนประกัน นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ข่าว BBC ไทย (ดู คำร้องขอถอนประกัน และคำสั่งถอนประกัน)  หลังไต่สวนพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น พยานของผู้ร้องให้เพิกถอนประกัน และสอบข้อเท็จจริงจากจตุภัทร์ ผู้ต้องหา และนายประกัน เป็นการลับ ไม่อนุญาตให้เพื่อนและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟัง โดยผลจากคำสั่งดังกล่าวของศาลจังหวัดขอนแก่น ทำให้นายจตุภัทร์ถูกควบคุมตัวไปขังที่สถานบำบัดพิเศษขอนแก่นในทันที

คำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่นดังกล่าว ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาและมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลจังหวัดขอนแก่น  โดยให้ยกเลิกคำสั่งถอนประกันฉบับลงวันที่ 22 ธ.ค. 59, ยกเลิกหมายขังผู้ต้องหา และมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไปในระหว่างพิจารณาคดีตามคำสั่งและสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาในวันที่ 4 ธ.ค. 59 ทั้งนี้ คำร้องอุทธรณ์ระบุเหตุผลในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง สรุปความได้ดังนี้

  1. จากเงื่อนไขในการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนายจตุภัทร์ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.59 ที่กำหนดให้นายประกันและผู้ต้องหามาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใด ๆ นั้น ผู้ต้องหาไม่ได้กระทำการใด ๆ ผิดไปจากเงื่อนไขที่ศาลจังหวัดขอนแก่นกำหนดเลยทั้งสิ้น ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ในชั้นไต่สวน พนักงานสอบสวน พยานผู้ร้องก็มิได้เบิกความใด ๆ ต่อศาลเพื่อให้เห็นว่า ผู้ต้องหากระทำผิดเงื่อนไขดังกล่าวอย่างไร
  2. กรณีที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำวินิจฉัยว่า  ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้บนเฟสบุ๊คของผู้ต้องหานั้น เป็นการยกเหตุนอกไปจากคำร้องขอถอนประกัน และกรณีที่ศาลจังหวัดขอนแก่นวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลนั้น ศาลไม่เคยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้แต่อย่างใด อีกทั้ง ในชั้นไต่สวน ผู้ต้องหาก็ได้ชี้แจงต่อศาลชัดเจนแล้วว่า  เหตุที่ไม่ได้ลบข้อความดังกล่าว เนื่องจากมีความประสงค์ที่จะเก็บไว้เป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ว่า ผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งผู้ร้องก็มิได้คัดค้านแต่อย่างใด นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ร้องอ้างว่า คดีนี้เป็นคดีร้ายแรง  และผู้ต้องหามีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีความมั่นคงหลายคดีนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่อาจนำมาเป็นเหตุที่ขอให้ศาลถอนประกันผู้ต้องหาได้ เนื่องจากศาลจังหวัดขอนแก่นก็ได้พิจารณาแล้วและอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไปแล้ว อีกทั้งข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนคดีนี้  และเป็นข้อหาที่ผู้ต้องหาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อช่วยเหลือประชาชนและต่อต้านคณะรัฐประหาร  ซึ่งทุกคดียังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด  รวมทั้งศาลก็ได้ให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาแล้วในทุกคดี
  3. ข้อวินิจฉัยของศาลจังหวัดขอนแก่นว่า  ผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรรมในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง เป็นข้อวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน เพราะตามคำร้องขอถอนประกัน ผู้ร้องระบุว่าข้อความที่ผู้ต้องหาพิมพ์ในสื่อสังคมออนไลน์นั้นเป็นข้อความในเชิงเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน เป็นคนละเรื่องกับการวินิจฉัยว่า ผู้ต้องหามีพฤติการณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย อีกทั้ง พยานหลักฐานในชั้นไต่สวน ไม่มีประเด็นใดที่จะวินิจฉัยไปในทางนั้นได้เลย
  4. นับแต่ที่ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 59 นั้น  ผู้ต้องหามิได้กระทำการใด ๆ ผิดจากข้อกำหนดและเงื่อนไขของศาลแต่อย่างใด  ข้ออ้างของผู้ร้องขอถอนประกันนั้นเลื่อนลอยไม่มีเหตุไม่มีผลและไม่น่าเชื่อถือแต่อย่างใดทั้งสิ้น พยานหลักฐานที่ยื่นต่อศาลก็เป็นเพียงเป็นการแสดงออกของวัยรุ่นในชีวิตประจำวัน ทั้งการแสดงความยินดีและเห็นอกเห็นใจเพื่อนฝูง และการสนุกสนานกันในหมู่เด็กมหาวิทยาลัย  ซึ่งทั้งหมดนี้พยานของผู้ร้องเองก็เบิกความชัดเจนว่า ไม่มีข้อความหรือลักษณะใด ๆ ที่เป็นการเยาะเย้ยถากถางเจ้าหน้าที่หรือเย้ยหยันอำนาจรัฐแต่อย่างใด อีกทั้งคดีนี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าผู้ต้องหากระทำการอันเป็นความผิดจริงหรือไม่ มีเพียงคำกล่าวโทษของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารซึ่งมีความขัดแย้งกับผู้ต้องหาอยู่ตลอดมา
  5. การที่ศาลจังหวัดขอนแก่นวินิจฉัยว่า  ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายภายหลังจากการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีนี้ที่ผ่านมาไม่เคยก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด  และไม่มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความเสียหายเลย เห็นได้จากในชั้นไต่สวน พยานผู้ร้องไม่ได้เบิกความและยืนยันให้ศาลเห็นว่ามีความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป และมีแนวโน้มจะเกิดความเสียหายใด ๆ 

อย่างไรก็ตาม หากศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังไม่มีคำสั่งในกรณีนี้ หรือมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลจังหวัดขอนแก่น พนักงานสอบสวนต้องยื่นคำร้องเพื่อขออำนาจศาลจังหวัดขอนแก่นฝากขังนายจตุภัทร์เป็นผัดที่ 3 ในวันที่ 27 ธ.ค. ที่จะถึงนี้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปี 2559 มูลนิธิปวีณา รับเรื่องร้องทุกข์ 9,157 เรื่อง

$
0
0
มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี สรุปผลการดำเนินงานการช่วยเหลือสังคม เด็ก และสตรี ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ปี 2559 ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งสิ้น จำนวน 9,157 เรื่อง ปัญหาครอบครัวสูงสุด 1,540 ราย ตามด้วยทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย กักขัง 939 ราย

24 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่านางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) แถลงสรุปผลการดำเนินงานการช่วยเหลือสังคม เด็ก และสตรี ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในรูปแบบต่างๆ ประจำปี 2559 โดย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – วันที่ 21 ธ.ค. มูลนิธิปวีณาฯ ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งสิ้น จำนวน 9,157 เรื่อง ที่มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ถนนรังสิตนครนายก คลอง 7 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
 
ด้านนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิฯ กล่าวว่า มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) ได้สรุปผลการดำเนินงานการช่วยเหลือสังคม เด็ก และสตรี ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในรูปแบบต่างๆ ประจำปี 2559 โดย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – วันที่ 21 ธ.ค. ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งสิ้น จำนวน 9,157 เรื่อง ประกอบด้วย 1. ข่มขืน/อนาจาร 681 ราย 2. ล่อลวงค้าประเวณี 176 ราย 3. ทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย กักขัง 939 ราย 4. คนหาย 229 ราย 5. เร่รอนจรจัด พลัดหลง 92 ราย 6. แรงงานไม่เป็นธรรม 69 ราย 7. ปัญหาครอบครัว 1,540 ราย 8. ขอความเป็นธรรม 356 ราย 9. แชท อินเตอร์เน็ต 174 ราย 10. ขอความอนุเคราะห์ 894 ราย 11. ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ 110 ราย 12. ปัญหาอื่นๆ 1,005 ราย 13. ปรึกษาทางโทรศัพท์ 2,892 ราย
 
ปัญหาที่มูลนิธิปวีณาฯ ให้ความสำคัญและจะเข้าช่วยเหลือทันที คือ 1. ข่มขืน อนาจาร 2. ค้ามนุษย์ ค้าประเวณี ประมง ขอทาน 3. ทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย กักขัง 4. ปัญหาครอบครัว
 
1. คดีข่มขืนในปี 2559 มี 681 ราย ซึ่งสถิติขึ้นสูงกว่าปีที่แล้ว ถึง 23 ราย เฉลี่ยมูลนิธิปวีณาฯ รับเรื่องข่มขืนวันละเกือบ 2 ราย ช่วงอายุของผู้เสียหาย อายุน้อยที่สุดเป็นเด็กหญิง อายุ 1 ปี 5 เดือน รับเรื่องช่วงเดือน ก.ค.59 ผู้กระทำเป็นพ่อเลี้ยง ขณะนี้ถูกจับกุมดำเนินคดีแล้ว และผู้เสียหายที่อายุมากที่สุด เป็นหญิงชราอายุ 78 ปี ผู้กระทำเป็นเพื่อนบ้าน ขณะนี้ถูกจับกุมดำเนินคดีแล้ว
 
2. เรื่องค้ามนุษย์ ค้าประเวณี มูลนิธิปวีณาฯรับเรื่องราวร้องทุกข์ถึง 176 ราย เฉลี่ยรับเรื่องร้องทุกข์เดือนละ 15 ราย ปัญหานี้ได้ลดลงจากปีที่แล้ว 24 ราย เนื่องจากรัฐบาลได้หันมาแก้ไขปัญหาและปราบปรามอย่างจริงจังมากขึ้น แต่ทั้งนี้ยังคงมีเหยื่อหญิงสาวทั้งที่สมัครใจและถูกล่อลวงร้องขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิปวีณาฯ ในส่วนคนที่สมัครใจที่จะเดินทางไปทำงานนวดและค้าประเวณียังต่างประเทศ เมื่อเดินทางไปถึงพบว่ารายได้หรือความเป็นอยู่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ก็จะร้องขอความช่วยเหลือเพราะผู้ที่ชักชวนไปจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางและทุกอย่างให้ ทำให้ต้องเป็นหนีและถูกบังคับทำให้ทำงานใช้หนี้ ส่วนผู้ที่ถูกล่อลวงไปก็เช่นกัน เมื่อรู้ว่าไปถึงกลับถูกบังคับให้ไปค้าประเวณีแทนที่จะได้ทำงานตามที่ตกลงไว้ก็ต้องการกลับประเทศแต่ไม่มีเงินที่ใช้หนี้ในการเดินทาง เหยื่อเหล่านี้ก็จะแจ้งร้องขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิปวีณาฯ จากนั้นมูลนิธิปวีณาฯ ได้ประสานกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศเพื่อที่ให้การช่วยเหลือได้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ ซึ่งประเทศที่ถูกหลอกไปค้าประเวณีมากที่สุด คือ บาห์เรน , เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ตามลำดับ
 
3. เรื่องทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย กักขัง มูลนิธิปวีณาฯรับร้องทุกข์ถึง 939 ราย เฉลี่ยรับเรื่องร้องทุกข์วันละ 3 ราย สถิติสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว 212 ราย แบ่งเป็น เด็กถูกทำร้ายร่างกายและทารุณกรรม ซึ่งเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายอายุต่ำสุด 2 เดือน ผู้ทำร้ายคือ พ่อ สาเหตุเพราะติดยาเสพติด และผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายและทารุณกรรม ซึ่งผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายอายุมากสุด 84 ปี ผู้ทำร้ายคือ ลูกสาว ส่วนสาเหตุการกระทำความรุนแรง ทารุณกรรม กักขัง ส่วนใหญ่เกิดจาก ความเครียด , เมาสุรา , เสพยาเสพติด , หึงหวง
 
4. ปัญหาครอบครัว มูลนิธิปวีณาฯรับเรื่องราวร้องทุกข์ถึง 1,540 ราย ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วกว่า 1 เท่าตัว ส่วนใหญ่สาเหตุมาจาก ปัญหาจากยาเสพติด ปัญหาจากการฟ้องหย่า ปัญหาจากการแย่งบุตร ปัญหาจากการท้องแล้วไม่รับผิดชอบ ปัญหาจากการไม่ส่งเสียหรือดูแลบุตร และครอบครัว
 
มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2542 ถึง ปัจจุบัน นับ 17 ปี และได้รับเรื่องราวร้องทุกข์มาแล้วทั้งสิ้น 113,117 ราย (ตามสถิติแนบ) สำหรับช่องทางการติดต่อมูลนิธิปวีณาฯ สามารติดต่อได้ 8 ช่องทาง ดังนี้ (1) สายด่วน 1134 (2) โทรศัพท์พื้นฐาน 5 เลขหมาย (3) โทรศัพท์มือถือ 3 เลขหมาย (4) โทรสาร (5) e-mail: pavena1134@hotmail.com (6) facebook: มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (7) ตู้ ปณ.222 และ (8) มาร้องเรียนด้วยตนเองที่มูลนิธิปวีณาฯ
 
นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี กล่าวต่อว่า มูลนิธิปวีณาฯ ต้องขอขอบคุณทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1-9 กองบังคับการกองปราบปราบ (บก.ป) กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตำรวจในพื้นที่ทุกแห่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน สภาทนายความ และสื่อมวลชนทุกแขนง ที่ได้ร่วมกับมูลนิธิปวีณาฯทำการช่วยเหลือสังคมด้วยดีตลอดมา โดยเฉพาะประชาชน พลเมืองดีที่ได้ช่วยแจ้งเบาะแสมากขึ้น มีส่วนช่วยเหลือสังคมเป็นอย่างมาก
 
ทั้งนี้มูลนิธิปวีณาฯไม่ได้ขอเงินสนับสนุนจากหน่วยงานใด เงินที่มาใช้จ่ายจะเป็นเงินรับบริจาคจากประชาชนอย่างเดียว จำเป็นที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมบริจาคเงินคนละเล็กละน้อย เพื่อมูลนิธิฯจะได้เป็นตัวแทนประชาชนเข้าไปดำเนินงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกเป็นเหยื่อให้กลับมาดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข เพราะปัจจุบันมูลนิธิปวีณาฯไม่มีรายรับใดๆ นอกจากเงินบริจาคจากประชาชน จึงได้รณรงค์ให้ประชาชนได้รับทราบการช่วยเหลือสังคมโดยการบริจาคเงิน เพื่อมูลนิธิฯจะได้นำเงินไปช่วยเหลือสังคม
 
เนื่องในโอกาสปีใหม่ 2560 ในนามมูลนิธิปวีณาหงสกุลฯ ขออวยพรให้คนไทยทุกคนพร้อมทั้งครอบครัว สุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง มีครอบครัวที่อบอุ่นเข้มแข็ง นำไปสู่ชีวิตที่มั่นคง ช่วยทำความดี ช่วยเหลือสังคม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอมอส ยี ถูกควบคุมตัวที่สหรัฐอเมริการะหว่างขอลี้ภัยการเมือง

$
0
0

เอมอส ยี เยาวชนชาวสิงคโปร์วัย 18 ปี ที่เคยถูกตัดสินจำคุก 2 ครั้ง ครั้งแรก 4 สัปดาห์ เนื่องจากโพสต์คลิปวิจารณ์ลี กวนยู อดีตผู้นำสิงคโปร์เทียบพระเยซู และครั้งต่อมา 6 สัปดาห์ ในข้อหาโพสต์ข้อความวิจารณ์ศาสนาคริสต์และอิสลาม ล่าสุดเขาเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัย ก่อนถูกเจ้าหน้าที่สหรัฐควบคุมตัวเมื่อไปถึงชิคาโก

ที่มา: YouTube/Amos Yee

วิดีโอแนะนำตัวของ Amos Yee ในช่อง YouTube ของเขา

เอมอส ยี ปางซาง (Amos Yee Pang Sang) หรือ เอมอส ยี อายุ 18 ปี เยาวชนสิงคโปร์ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 2 ครั้งในข้อหาใส่ร้ายศาสนาและอดีตผู้นำประเทศสิงคโปร์คือ ลี กวนยิว ล่าสุดถูกควบคุมตัวในสหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่เขาแสวงหาสถานะผู้ลี้ภัยการเมือง

รายงานในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (SCMP) ของฮ่องกง อ้างคำให้สัมภาษณ์ของ เลลิสซา เฉิน นักกิจกรรมสิทธิพลเมืองชาวสิงคโปร์ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีส่วนช่วยเหลือเอมอส ยี ในการแสวงหาสถานะผู้ลี้ภัยการเมือง ระบุว่า เอมอส ยี ถูกควบคุมตัวหลังจากเดินทางมาถึงท่าอากาศยาน O’Hare ที่ชิคาโก ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้

โดยเอมอส ยี ถูกควบคุมตัวที่คุกในเมืองแมคเฮนรี (McHenry) ใกล้กับชิคาโก และเลลิสซา เฉิน ติดต่อกับเอมอส ยี ล่าสุดผ่านระบบวิดีโอลิ้งเมื่อ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้เอมอส ยี เดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว แต่ถูกควบคุมตัวในขั้นตอนสกรีนลำดับที่สอง เมื่อเขาแจ้งเจ้าหน้าที่ควบคุมชายแดนสหรัฐอเมริกาว่าต้องการลี้ภัย

โดยแมรี โท มารดาของเอมอส ยี ทราบเรื่องแล้วจากฝ่ายกฎหมายที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ที่ให้ความช่วยเหลือเอมอส ยี

ทั้งนี้เลลิสซา เฉิน ได้รับการติดต่อจากเอมมอส ยีเรื่องการแสวงหาสถานะผู้ลี้ภัยมาตั้งแต่ต้นปีนี้ ขณะที่ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการแผนกเอเชีย ของฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ทราบข่าวการควบคุมตัวเอมอส ยี แล้ว

"เจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาควรทราบว่าสิงคโปร์ได้ใช้รูปแบบของการข่มขู่และละเมิด เอมอส ยี เนื่องจากมุมมองทางการเมืองของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเรื่องที่เขาประณามผู้นำประเทศและความรุนแรงของพรรคกิจประชาชน (PAP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ต่อการแสดงออกของสาธารณะ" โรเบิร์ตสันระบุ

ทั้งนี้ เอมอส ยี เคยถูกตัดสินจำคุก 6 สัปดาห์ เมื่อเดือนกันยายน หลังจากสารภาพต่อข้อกล่าวหา 6 ข้อ ว่าโพสต์ข้อความโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงในโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นการกล่าวหาศาสนาคริสต์และอิสลาม โดยนับเป็นการตัดสินลงโทษเอมอส ยี เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 12 เดือนมานี้ โดยก่อนหน้านี้เขาถูกจำคุก 4 สัปดาห์ ข้อหาทำให้ผู้นับถือศาสนาเสียความรู้สึก เนื่องจากการแสดงความเห็นของเขาลงใน YouTube เปรียบเทียบอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู กับพระเยซู

เขายังถูกตัดสินให้มีความผิดในข้อหาเผยแพร่การ์ตูนล้อเลียนที่เขาวาด ซึ่งมีรูปลี กวนยู และอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มากาเร็ต แทชเชอร์

ฉง จาเอียน อาจารย์รัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ระบุว่า เหตุควบคุมตัว เอมอส ยี ของสหรัฐอเมริกา จะไม่กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นเพียงหนเดียว และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยการเมืองเป็นรายกรณีไป

ก่อนหน้านี้เคยมี นักการเมืองสิงคโปร์ที่ลี้ภัยไปในประเทศตะวันตก เช่น ฟราสซิส เซียว รองอธิบดีกรมอัยการที่หันมาวิจารณ์รัฐบาลสิงคโปร์ โดยเขาออกนอกประเทศในปี ค.ศ. 1988 และสามารถขอสถานะผู้ลี้ภัยการเมืองได้ในสหรัฐอเมริกา โดยหลังจากนั้นเขาถูกรัฐบาลสิงคโปร์ฟ้องร้องในข้อหาขาดราชการและหนีภาษี

อนึ่งในการให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์เมื่อปีที่แล้ว ลี เซียนหลง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ผู้เป็นบุตรของลี กวนยู กล่าวว่า เสรีภาพในการแสดงออกของนครรัฐที่ร่ำรวยอย่างสิงคโปร์นั้นมีข้อจำกัด

"ในสังคมของเรา ซึ่งเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมและพหุศาสนา การโจมตีศาสนาอื่นหรือชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ภาษา หรือศาสนา เป็นสิ่งที่น่ากังวล ในกรณีนี้ เขาเป็นวัยรุ่น ดังนั้นเราต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างเหมาะสมเนื่องจากเขายังเด็ก" ลี เซียนหลงกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พลเมืองโต้กลับ' จัดกิจกรรม 'กินข้าวหลาม' เรียกร้องปล่อยตัว 'ไผ่ ดาวดิน'

$
0
0
'กลุ่มพลเมืองโต้กลับ' จัดกิจกรรม 'กินข้าวหลามเฉย ๆ'Ž แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้ปล่อยตัว 'ไผ่ ดาวดิน' 

 
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมาที่ลานหน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรม กินข้าวหลามเฉยๆŽ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน
 
 
 
 
 
 
 
 
 
อานนท์ นำภา ได้นำทำกิจกรรม 'กินข้าวหลามเฉย ๆ' โดยระบุวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ไผ่ ดาวดิน กระทั่งเวลา 17.05 น. อานนท์แจ้งว่ากำลังรอข้าวหลามจากแม่ค้าซึ่งกำลังเดินทางมา ต่อมาเวลา 17.15 น. ณัฏฐา มหัทธนา หรือ 'โบว์' ระบุว่า กิจกรรมนี้มีขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยไผ่ ดาวดิน ซึ่งยังไม่ถูกศาลพิพากษาแต่อย่างใด ครั้งนี้ใช้สัญลักษณ์ของข้าวหลาม เพราะทำด้วยไม้ไผ่ ต้องการสื่อว่า 'ไผ่' ไม่โดดเดี่ยว ยังมีผู้คนอีกมากที่ให้กำลังใจและจะร่วมต่อสู้ นอกจากนี้กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้อ่านจดหมายของแม่ไผ่ ดาวดินที่เขียนขึ้น ซึ่งมีใจความว่า อยากให้สังคมได้ทบทวนและมองคนให้เป็นคนเหมือนท่านบ้าง จากคนเป็นแม่ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งด้านดี ด้านลบ ถูกยกย่อง ถูกประณาม ฉันก็เป็นแม่เหมือนคนทั่วไป ทุกๆ ท่าานคงทราบดีว่าไม่ว่าเขาเป็นคนหัวรุนแรงด้านความคิด แต่ทุกคนย่อมเคารพกฎหมาย จึงขอความเป็นธรรม
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Free Internet Society of Thailand เตรียมล่ารายชื่อให้ สนช. ยกเลิก พ.ร.บ.คอม

$
0
0
กลุ่ม FIST จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ใส่เสื้อสีขาว นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ พร้อมชูป้ายต่อต้าน พ.ร.บ.คอมฯ ยันไม่เกี่ยวกับกลุ่มแฮ็กเกอร์ เตรียมรวมรายชื่อทั่วประเทศ ให้ สนช. พิจารณาและยกเลิก

 
 
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา บริเวณลานหน้าห้างจามจุรีสแควร์ กลุ่ม Free Internet Society of Thailand (FIST) จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ใส่เสื้อสีขาว นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ พร้อมชูป้ายต่อต้าน พ.ร.บ.คอมฯ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้แสดงความในใจต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยการเขียนใส่กระดาษโพสต์อิทแล้วนำมาแปะบนบอร์ด และยังรณรงค์รวบรวมรายชื่อคัดค้าน พ.ร.บ. คอมฯ ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 10,000 ชื่อทั่วประเทศ เตรียมนำเสนอรายชื่อ สนช. เพื่อนำไปพิจารณาและยกเลิกตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
 
ตัวแทนกลุ่ม FIST ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับกลุ่มแฮ็กเกอร์ โดยกลุ่มตนจะล่ารายชื่อต่อโดยตั้งเป้าเบื้องต้น 1,000 รายชือให้ได้ก่อน ต่อมาเวลา 16.10 น กลุ่มดังกล่าวได้ยุติกิจกรรมบริเวณหน้าจามจุรีสแควร์แล้ว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปีนี้สื่อทำเนียบยังงดตั้งฉายารัฐบาล ระบุสถานการณ์ยังไม่ปกติ

$
0
0

25 ธ.ค. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลได้ออกคำชี้แจงผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล เรื่อง ตั้งฉายารัฐบาล-นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ประจำปี 2559 โดยมีรายละเอียดว่าตามที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลมีธรรมเนียมปฏิบัติในการตั้งฉายาของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในช่วงปลายปี เพื่อสะท้อนการทำงานของคณะรัฐมนตรีในรอบปี แม้รัฐบาลปัจจุบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะบริหารราชการแผ่นดินมานานแล้วกว่า 2 ปี แต่จากการหารืออย่างรอบด้าน ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลจึงมีมติงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี 2559 ซึ่งนอกจากจะเป็นหลักปฏิบัติตามธรรมเนียมที่ยึดกันมา ยังมีข้อจำกัดทางข้อกฎหมายและบรรยากาศการเมืองในภาวะที่ยังถือว่าไม่ปกติ ทั้งยังมีความเห็นว่าหากมีการตั้งฉายารัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี อาจถูกนำไปขยายความขัดแย้งหรือขยายผลในทางการเมืองจนตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
 
ทั้งนี้ หลักปฏิบัติที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลปฏิบัติสืบต่อกันมาว่าจะไม่ตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี กรณีที่เป็นรัฐบาลรักษาการ ภายหลังนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา หรือกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจนรัฐบาลยังทำงานไม่ครบปี กรณีรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจหรือรัฐประหาร และกรณีสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในภาวะไม่ปกติ ซึ่งการงดตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปีของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง อาทิ ในปี 2549-2550 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากการรัฐประหาร ในปี 2551 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ในปี 2556 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากมีการประกาศยุบสภา ในปี 2557 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหาร เป็นต้น ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล 25 ธันวาคม 2559
 
อนึ่งในปี 2556, 2557 และ 2558 ที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลก็ไม่ได้ตั้งฉายาให้รัฐบาลด้วยเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ: ว่าด้วยเงินอุดหนุนพรรคการเมืองไทยเทียบกับต่างประเทศ

$
0
0
รายงานพิเศษจาก TCIJ หลัง กรธ. สรุปร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุต้องมีทุนจัดตั้ง 1 ล้านบาท ให้ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองทุกคนจ่ายเงินทุนประเดิมพรรคอย่างน้อยคนละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 แสนบาท ให้สมาชิกพรรคจ่ายเงินโดยตรงปีละไม่ต่ำกว่า 100 บาท ชวนดูตัวอย่าง ‘เงินอุดหนุนพรรคการเมือง’ จาก อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น

<--break- />
 

ที่มาภาพจาก felipeblasco (CC0 Public Domain)
 
ที่มาภาพจาก felipeblasco (CC0 Public Domain)
 
หลังจากกลางเดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้สรุปสาระสำคัญเบื้องต้นของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง) ซึ่งมีทั้งหมด 129 มาตรา โดยประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางก็คือเรื่อง ‘เงินสนับสนุนพรรคการเมือง’  ที่มีการบังคับให้จะต้องมีทุนจัดตั้งพรรคการเมืองที่ 1,000,000 บาท, ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องจ่ายเงินทุนประเดิมพรรคอย่างน้อยคนละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 300,000 บาท และรายได้ของพรรคการเมืองมีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองซึ่งเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาท เพื่อให้สมาชิกเป็นเจ้าของพรรคและมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการของพรรค มิใช่สมาชิกแต่ในนาม นอกจากนี้ในร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ดังกล่าวยังได้ระบุถึงเรื่อง 'รายได้ของพรรคการเมือง' และ 'กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง' เอาไว้ด้วย (อ่านเพิ่มเติมใน 'จับตา: เปิดสาระสำคัญ ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง')

ในรายงานชิ้นนี้ TCIJ จะพาไปดูตัวอย่างการสนับสนุนทางการเงินแก่พรรคการเมืองในต่างประเทศกันดู

ทำไมต้องมีเงินสนับสนุนพรรคการเมือง

จากงานวิจัยเรื่อง 'การศึกษาเปรียบเทียบเงินสนับสนุนพรรคการเมืองในประเทศไทยและอินโดนีเซีย: นำไปสู่การพัฒนาพรรคการเมืองหรือคอร์รัปชั่น' โดย ผศ.ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล ระบุว่าในช่วงแรกเริ่มการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง (State Subsidies/Subventions) ในประเทศแถบตะวันตก มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองขนาดเล็ก ให้พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการเมืองได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี เงินสนับสนุนพรรคการเมืองดังกล่าว กลับทำให้พรรคการเมืองมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัฐ และพึ่งพาเงินสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ในขณะเดียวกัน กลับทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนในท้องที่อ่อนแอลง เนื่องจากพรรคการเมืองไม่ต้องพึ่งพาเงินสนับสนุนจากประชาชนอย่างที่เกิดขึ้นในพรรคการเมืองแบบมวลชน หรือลดระดับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับกลุ่มทุนหรือกลุ่มธุรกิจและหันมาพึ่งพาภาครัฐแทน ดังนั้นเงินสนับสนุนพรรคการเมืองจึงมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศตามยุคสมัย โดยเงินสนับสนุนพรรคการเมืองที่เริ่มใช้ในประเทศแถบตะวันตก มีจุดประสงค์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง สนับสนุนการจัดกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง และสนับสนุนกลุ่มทางการเมือง

สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ในช่วงเริ่มแรกของการพัฒนาประชาธิปไตย หรือ Third Wave of Democracy พบว่ารัฐบาลในประเทศยุโรปตะวันตกที่เริ่มให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง มีหลายประเทศ เช่น ประเทศสเปน และโปรตุเกส ภาครัฐได้ให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองตามจำนวนคะแนนเสียง (vote) และตามจำนวนที่นั่ง (seat) ที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้รับ อย่างไรก็ดี ระบบการจ่ายเงินตามจำนวนคะแนนเสียงและจำนวนที่นั่ง จะส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่หรือพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง มีโอกาสได้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ หรือกองทุนสนับสนุนพรรคการเมือง ในขณะที่พรรคการเมืองขนาดเล็กหรือพรรคการเมืองที่กำลังเริ่มสร้างตัว ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนเงิน รัฐบาลบางประเทศแถบยุโรปตะวันตกจึงได้แก้กฎหมาย อาทิ ประเทศโปรตุเกส ได้แบ่งการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองเป็น 2 ส่วน คือ ร้อยละ 20 ของงบประมาณ จัดสรรให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และร้อยละ 80 จัดสรรให้เฉพาะพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่พรรคนั้น ๆ ได้รับ วิธีการจัดสรรเงินกองทุนดังกล่าว ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กมีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐด้วยเช่นกัน

สนับสนุนการจัดกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองงบประมาณที่กองทุนสนับสนุนพรรคการเมืองจัดสรรให้พรรคการเมือง ไม่เพียงแต่ใช้ในการเลือกตั้งเท่านั้น ยังมุ่งเน้นให้พรรคการเมืองใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ภาครัฐในบางประเทศยังได้จัดสรรเงินเพิ่มเติมเพื่อให้พรรคการเมืองได้ใช้จ่ายเพื่อจัดกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งใช้จ่ายในการดำเนินงานต่าง ๆ ของพรรค อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศมีการร่างกฎหมายแตกต่างกันไปในการจัดสรรงบประมาณ เช่น ประเทศสเปน ภาครัฐจัดสรรงบประมาณในการจัดกิจกรรมทางการเมืองให้กับพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง ในขณะที่ประเทศโปรตุเกส ภาครัฐจัดสรรเงินงบประมาณให้กับพรรคการเมืองที่ได้จดทะเบียนทุกพรรค สำหรับประเทศในแถบยุโรปตะวันตกนั้น ในช่วงแรกของการจัดตั้งพรรคการเมืองเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ถือเป็นเงินรายได้หลักของพรรคการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมืองขนาดเล็ก แม้ว่าพรรคการเมืองในพื้นที่ดังกล่าวจะพยายามหารายได้เข้าพรรคโดยการขายสินค้าต่าง ๆ เช่น เสื้อ แก้วน้ำ วารสาร หรือ หนังสือเกี่ยวกับการเมือง หากแต่รายได้ยังไม่มากพอเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสนับสนุนพรรคการเมืองที่ได้รับจากภาครัฐ นอกจากนี้ ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาพรรคการเมือง ประชาชนยังไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองมากนัก จึงทำให้ไม่มีรายได้จากการจ่ายค่าสมาชิกพรรคหรือค่าบำรุงพรรค ทำให้เงินสนับสนุนจากภาครัฐกลายเป็นรายได้หลักของพรรคการเมืองในขณะนั้น

สนับสนุนกลุ่มทางการเมือง นอกจากภาครัฐจะจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองแล้ว งบประมาณส่วนหนึ่งยังจัดสรรให้แก่กลุ่มทางการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปในรัฐสภา โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนกลุ่มทางการเมืองเหล่านี้ ให้พัฒนาเป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ดี งบประมาณที่สนับสนุนกลุ่มทางการเมืองอาจมีระเบียบ กฎเกณฑ์ ที่แตกต่างจากการจัดสรรให้พรรคการเมือง เช่น กลุ่มการเมืองที่จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ต้องเป็นกลุ่มการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเท่านั้น และกลุ่มการเมืองเหล่านี้จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐในอัตราส่วนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งแตกต่างจากพรรคการเมืองที่จะได้เงินสนับสนุนตามสัดส่วนของคะแนนเสียง หรือที่นั่งที่พรรคชนะการเลือกตั้ง

นอกเหนือจากเงินอุดหนุนให้กับพรรคการเมืองแล้ว หลายประเทศยังมีการให้ประโยชน์อย่างอื่นจากรัฐแก่พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่นที่ ประเทศอังกฤษ มีเงินอุดหนุนนักการเมืองที่น่าสนใจคือ ค่าไปรษณียากรตามกฎหมาย Representation Act 1983 มาตรา 19 ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งมีสิทธิส่งสิ่งพิมพ์ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 60 กรัม ถึงทุกคนที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่ต้องชำระค่าไปรษณียากร ในทางปฏิบัติกระทรวงการคลังจะจ่ายเงินชดเชยค่าไปรษณียากรให้แก่สำนักงานไปรษณีย์เอง [ที่มาภาพประกอบ: Snufkin (CC0 Public Domain)]

เงินสนับสนุนพรรคการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาพรรคการเมืองในแถบยุโรปตะวันตกหลายประเทศ ซึ่งพรรคการเมืองที่มีวิวัฒนาการจากพรรคการเมืองแบบมวลชน มาเป็นพรรคการเมืองที่พึ่งพาการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐ (Cartel Party) ทำให้พรรคการเมืองสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาครัฐมากกว่าประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินสนับสนุนพรรคการเมืองยังทำให้พรรคการเมืองไม่พยายามหารายได้เข้าพรรค หวังแต่พึ่งพาเงินสนับสนุนจากภาครัฐเท่านั้น พรรคการเมืองจึงอาจกลายเป็นองค์กรของรัฐมากกว่าองค์กรของประชาชน หรือเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เงินสนับสนุนพรรคการเมืองควรเป็นเพียงแค่รายได้ที่ช่วยสนับสนุนพรรคการเมืองส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ควรเป็นรายได้หลักของพรรค เงินสนับสนุนพรรคการเมืองที่เริ่มมีการพัฒนาจากยุโรปตะวันตกกลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อพรรคการเมืองในปัจจุบัน และแนวคิดเรื่องการจัดสรรเงินสนับสนุนพรรคการเมืองดังกล่าวได้ขยายไปสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ตัวอย่างการสนับสนุนทางการเงินแก่พรรคการเมืองในต่างประเทศ

จากงานวิจัยของ ผศ.ดร.พรรณชฎา ได้ยกตัวอย่างประเทศที่มีการสนับสนุนทางการเงินแก่พรรคการเมืองได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น มีรายละเอียดดังนี้

ประเทศอังกฤษ

การให้เงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมในสภาแก่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน สภาผู้แทนราษฎร (House of Commons) ได้มีมติให้ความเห็นชอบข้อเสนอให้รัฐบาลให้เงินอุดหนุนรายปีแก่พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภา เมื่อปี 1975 โดยการให้เงินอุดหนุนพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทัดเทียมกับสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ซึ่งพรรคฝ่ายค้านจะได้รับความช่วยเหลือทางด้านข้อมูลข่าวสารและการวิจัยจากส่วนราชการต่าง ๆ เป็นอย่างดี พรรคการเมืองฝ่ายค้านอาจใช้เงินอุดหนุนนี้ไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในสำนักงานของหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านในรัฐสภา เป็นต้น พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่จะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนรายปีจากรัฐ ได้แก่ พรรคการเมืองซึ่งสมาชิกของตนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือพรรคการเมืองซึ่งสมาชิกของตนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงคนเดียว แต่ได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 150,000 คะแนน พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วน จะได้รับเงินอุดหนุนรายปีเป็นจำนวน 500 ปอนด์ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน และจะได้รับเพิ่มอีก 1 ปอนด์ต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งทุก ๆ 200 คะแนน แต่จะเป็นประการใดก็ตาม แต่ละพรรคจะได้รับเงินอุดหนุนรายปีรวมทั้งสิ้นไม่เกินกว่า 150,000 ปอนด์เท่านั้น จำนวนเงินที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภามีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง เช่น ในปี 1983 พรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาได้รับเงินอุดหนุนรายปีเป็นจำนวน 1,080 ปอนด์ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน และจะได้รับเพิ่มขึ้นอีก 2.16 ปอนด์ต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งทุก ๆ 200 คะแนน แต่ละพรรคจะได้รับเงินอุดหนุนรายปีรวมแล้วไม่เกิน 325,000 ปอนด์

การให้ประโยชน์อย่างอื่นจากรัฐแก่พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประเทศอังกฤษมีระบบการให้ประโยชน์อย่างอื่นที่มิใช่เงินแก่พรรคการเมืองและผู้สมัครับเลือกตั้ง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคน โดยแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ (1) ค่าไปรษณียากรตาม Representation Act 1983 มาตรา 19 ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งมีสิทธิส่งสิ่งพิมพ์ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 60 กรัม ถึงทุกคนที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่ต้องชำระค่าไปรษณียากร ในทางปฏิบัติกระทรวงการคลังจะจ่ายเงินชดเชยค่าไปรษณียากรให้แก่สำนักงานไปรษณีย์ ซึ่งในการเลือกตั้งแต่ละครั้งกระทรวงการคลังจะต้องจ่ายเงินชดเชยค่าไปรษณียากรให้แก่สำนักงานไปรษณีย์เป็นจำนวนเงินมาก (2) ค่าห้องประชุมตาม Representation Act 1983 มาตรา 25 ระบุว่า เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งมีสิทธิที่จะจัดชุมนุมสาธารณะเพื่อปราศรัยหาเสียงในโรงเรียนและสถานที่ประชุมต่าง ๆ ของรัฐ หรือขององค์การปกครองท้องถิ่น หรือที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ หรือองค์การปกครองท้องถิ่นที่อยู่ในเขตเลือกตั้งหรือในท้องที่ใกล้เคียงได้ โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานที่ ค่าใช้จ่ายที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องจ่ายมีเพียงแค่ค่าทำความร้อน ค่าแสงสว่าง ค่าทำความสะอาด และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเตรียมการชุมนุม และการปรับปรุงสถานที่ให้คืนสู่สภาพเดิมเท่านั้นและ (3) ค่าเวลากระจายเสียงทางวิทยุกระจายเสียง ในระหว่างเวลาตั้งแต่ที่ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สถานีวิทยุกระจายเสียง BBC และ IBA จะจัดสรรเวลาออกอากาศให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ โดยผู้บริหารสถานีเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการเฉลี่ยเวลาออกอากาศให้แก่พรรคการเมืองแต่ละพรรค ซึ่งเวลาออกอากาศที่สถานีวิทยุกระจายเสียงทั้งสองสถานีนี้จัดสรรให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ จะเป็นการจัดสรรแบบให้เปล่าและรัฐบาลก็มิได้จ่ายค่าเช่าเวลาออกอากาศให้แก่สถานีเพื่อเป็นการชดเชยแต่อย่างใด

ประเทศเยอรมนี

ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ให้เงินอุดหนุนพรรคการเมือง เริ่มครั้งแรกในปี 1959 โดยมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลายครั้งตามบทบาทที่เล่นสลับกันระหว่างรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญ จนพัฒนามาเป็นระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ในการจัดสรรเงินอุดหนุนให้พรรคการเมืองของประเทศเยอรมนีนั้น จะดำเนินการโดยประธานสภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) ซึ่งการอุดหนุนเงินให้พรรคการเมืองมี 2 ลักษณะ คือ การอุดหนุนเงินโดยตรง และการอุดหนุนเงินโดยอ้อมจากการหักภาษี สำหรับการอุดหนุนเงินให้พรรคการเมืองโดยตรงมีดังนี้

หลักการพื้นฐานของการอุดหนุนเงินให้พรรคการเมืองโดยตรง การอุดหนุนเงินให้แก่พรรคการเมืองของเยอรมนีมีหลักการพื้นฐานคือ ‘การอุดหนุนเงินบางส่วนโดยรัฐ’ (Staatliche Teilfinanazierung) ซึ่งนำมาใช้ในระบบพรรคการเมืองเยอรมนีเป็นครั้งแรกในปี 1984 โดยหลักการการอุดหนุนเงินบางส่วนโดยรัฐ คือ ห้ามรัฐให้เงินแก่พรรคการเมืองเป็นจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่พรรคการเมืองหามาได้ ซึ่งขอบเขตที่จำกัดไว้นี้กฎหมายพรรคการเมืองเยอรมนีเรียกว่า ‘เพดานขั้นสูงสัมพันธ์’ (Relative Obergrenze) และการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองในปี 1994 ได้มีการกำหนดขอบเขตการอุดหนุนเงินให้แก่พรรคการเมืองเพิ่มขึ้นอีกคือ ‘เพดานขั้นสูงสัมบูรณ์’ (Absolote Obergrenze) คือยอดเงินโดยรวมในแต่ละปีที่รัฐอุดหนุนให้แก่พรรคการเมืองทุกพรรค จะมีสูงเกินกว่าจำนวนนี้ไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายพรรคการเมืองเยอรมนีกำหนดไว้ที่ 133 ล้านยูโรต่อปี หลักการอุดหนุนพรรคการเมืองบางส่วนโดยรัฐ ก็คือคำตอบของประเทศเยอรมนี สำหรับคำถามว่ารัฐควรให้การอุดหนุนทางการเงินแก่พรรคการเมืองสูงแค่ไหน

พรรคการเมืองที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ พรรคการเมืองของประเทศเยอรมนีที่มีสิทธิได้รับการอุดหนุนเงินโดยตรงจากรัฐจะต้องเข้าเงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) ต้องเป็น ‘พรรคการเมือง’ ตามนิยามของกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งมาตรา 2 ของกฎหมายพรรคการเมืองได้กำหนดนิยามของพรรคการเมืองไว้ว่า พรรคการเมืองต้องมีองค์ประกอบสี่ประการคือ หนึ่ง- เป็นการรวมตัวกันของพลเมือง สอง- ต้องมุ่งสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองโดยส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในระดับสหพันธ์หรือในระดับรัฐ สาม- ต้องมีความต่อเนื่องในการดำเนินการ และ สี่- ต้องมีความจริงจังในการดำเนินการเพื่อบรรลุเจตนารมณ์ทางการเมืองของตน (2) ต้องมีองค์ประกอบครบตามนิยามของกฎหมายพรรคการเมือง ต้องได้คะแนนเสียงถึงคะแนนเสียงขั้นต่ำ (Mindestantteil an Stimmen) ที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดไว้ ตามมาตรา 18 วรรค 4 กำหนดว่า พรรคการเมืองที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ จะต้องได้คะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อในระดับสหพันธรัฐหรือในการเลือกตั้งสภายุโรปอย่างน้อยร้อยละ 0.5 หรือได้คะแนนแบบบัญชีรายชื่อในระดับมลรัฐในรัฐใดรัฐหนึ่งอย่างน้อยร้อยละ 1

หลักเกณฑ์ในการอุดหนุนเงินให้พรรคการเมือง การอุดหนุนเงินโดยตรงให้พรรคการเมืองในประเทศเยอรมนี มีหลักเกณฑ์ที่อยู่บนพื้นฐานของ ‘ทฤษฎีรากหญ้า’ (Verwurzelungstheorie) ที่พัฒนาขึ้นมาโดยศาลรัฐธรรมนูญ ทฤษฎีนี้มีหลักการคือ พรรคการเมืองจะได้เงินมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับรากฐานของประชาชนที่สนับสนุนพรรคตนโดยดูจากฐานคะแนนเสียงและฐานเงินบริจาค ดังนี้ (1) การให้เงินอุดหนุนโดยฐานคะแนนเสียง ตามมาตรา 18 วรรค 3 (1) และ (2) แห่งกฎหมายพรรคการเมืองเยอรมนีกำหนดว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ คะแนนเสียงละ 70 เซนต์ต่อปี สำหรับ 4 ล้านคะแนนเสียงแรก จะได้คะแนนละ 85 เซนต์ ในกรณีพรรคการเมืองใดไม่ได้รับอนุญาตให้ลงเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจะให้ใช้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (2) การให้เงินอุดหนุนโดยฐานเงินบริจาค ตามมาตรา 18 วรรค 3 (3) แห่งกฎหมายพรรคการเมืองของเยอรมนีกำหนดว่าทุก ๆ หนึ่งยูโรที่พรรคการเมืองได้รับบริจาคหรือได้มาจากค่าสมาชิกรัฐจะอุดหนุนเงินให้พรรคการเมือง 38 เซนต์ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้พรรคการเมืองหาเงินบริจาครายย่อย กฎหมายมาตรานี้จึงกำหนดไว้ว่า เงินบริจาคที่จะนำมาขอเงินอุดหนุนจากรัฐได้นั้นจะต้องสูงไม่เกิน 3,300 ยูโร และต้องเป็นเงินบริจาคจากบุคคลธรรมดาเท่านั้น เงินบริจาคจากนิติบุคคลจะนำมาขอเงินอุดหนุนจากรัฐไม่ได้ หากจำนวนเงินที่พรรคการเมืองทุกพรรคมีสิทธิได้รับรวมกันแล้วเกิน 133 ล้านยูโร พรรคการเมืองจะได้เงินน้อยลงตามสัดส่วน ซึ่งในทางปฏิบัติต้องมีการดำเนินการเช่นนั้นทุกปี เนื่องจากพรรคการเมืองได้เงินรวมกันเกินจำนวน 133 ล้านยูโรต่อปีเสมอ

ประเทศฝรั่งเศส

เงินอุดหนุนการดำเนินงานของพรรคการเมือง สำหรับเงินที่นำมาใช้จัดสรรอุดหนุนแก่พรรคการเมืองนั้น ฝรั่งเศสใช้วิธีทางงบประมาณ กล่าวคือให้สำนักที่ทำการของประธาน (Bureaux) ของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พิจารณาร่วม กับรัฐบาล ในการเสนอวงเงินที่จะกำหนดไว้ในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี (loi de finances) เงินอุดหนุนแก่พรรคดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน โดย ใช้วิธีการคำนวณจัดสรร โดยส่วนที่หนึ่งให้จัดสรรแก่พรรคการเมืองตามสัดส่วนแห่งคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับ ในการเลือกตั้งรอบแรกของการเลือกตั้งทั่วไปในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Assemblee Nationale) พรรคการเมืองที่จะมีสิทธิได้รับเงินในส่วนนี้จะต้องเป็นพรรคที่ได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50 เขต และส่วนที่สองของวงเงินดังกล่าว ให้จัดสรรแก่พรรคการเมืองตามสัดส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (depure) ที่ได้แจ้งต่อสภาว่าตนสังกัดพรรคการเมืองนั้น ๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องแจ้งต่อสภาภายในเดือนแรกของสมัยประชุมสามัญของทุกปีว่าตนสังกัดกับพรรคใด การสังกัดนั้นให้สังกัดได้พรรคเดียวและภายในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี ให้สภาแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีถึงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคตามที่ได้แจ้งไว้นั้น

เงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ตามกฎหมายเลือกตั้งฝรั่งเศสได้แยกเงินช่วยจากรัฐสาหรับเป็นค่าชดเชยค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทเงินชดเชยบางส่วน (Remboursement partiel) เป็นเงินที่รัฐบาลออกช่วยค่าใช้จ่ายบางรายการที่ผู้สมัครได้ใช้จ่ายไปในการโฆษณาหาเสียง (propaganda electorale) ได้แก่ ค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการดูแลการหาเสียงซึ่งแต่ละพรรคจะส่งตัวแทนเข้าไปร่วมเป็นกรรมการ นอกจากนั้นมีค่าพิมพ์ ค่ากระดาษ ค่าจ้างพิมพ์โปสเตอร์ ซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องทำขึ้นสำหรับปิดตามหน่วยเลือกตั้ง ค่าใช้จ่ายส่วนหลังนี้ รัฐจะชดเชยให้เฉพาะผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของผู้มาออกเสียงนอกจากนั้น ในการเลือกตั้งใดที่รัฐกำหนดให้มีการหาเสียงเป็นทางการ (Campagne officielle) ทางวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ รัฐจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย และประเภทเงินชดเชยเหมาจ่าย (Remboursement forfaitaire) เงินชดเชยประเภทนี้จ่ายให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งรอบแรกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของคะแนนเสียงทั้งหมดในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยรัฐจะจ่ายชดเชยให้ร้อยละ 10 ของวงเงินที่จะพึงใช้จ่ายได้ในการหาเสียงเลือกตั้ง (จ่ายคืนให้ 50,000 ฟรังค์) แต่ไม่เกินจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง (ในกรณีที่เขตเลือกตั้งใดมีประชากรต่ำกว่า 80,000 คน รัฐจ่ายคืนให้ในวงเงิน 10,000 ฟรังค์) สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี กฎหมายกำหนดวงเงินชดเชยเหมาจ่ายไว้เป็นพิเศษกล่าวคือ ผู้สมัครที่เข้าแข่งขันในการเลือกตั้งรอบที่สองรัฐชดเชยคนละ 35 ล้านฟรังค์ ผู้สมัครคนอื่น ๆ ได้ชดเชยคนละ 6 ล้านฟรังค์

ประเทศญี่ปุ่น

การให้การอุดหนุนแก่พรรคการเมือง ในประเทศญี่ปุ่นมีกฎหมายเกี่ยวกับการอุดหนุนของรัฐบาลต่อพรรคการเมือง (The law for Government Subsidies for Political Parties) ซึ่งมีผลใช้บังคับในปี 1995 เพื่อสร้างระบบการอุดหนุนของรัฐบาลที่มีต่อพรรคการเมือง โดยเล็งเห็นความสำคัญของหน้าที่ของพรรคการเมืองที่มีต่อการเมืองแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา กฎหมายนี้ถูกออกแบบให้รัฐมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาทางการเมืองระบบประชาธิปไตย ด้วยการส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมการเมืองที่เหมาะสมของพรรคการเมือง และโดยการคงไว้ซึ่งกิจกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ตามกฎหมายเกี่ยวกับการอุดหนุนของรัฐบาลต่อพรรคการเมือง โดยได้ให้คำจำกัดความของคำว่า 'พรรคการเมือง' ที่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุน หมายถึงองค์การทางการเมืองดังนี้ (1) องค์การทางการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกรัฐสภา (Diet member) อย่างน้อย 5 คน (2) องค์การทางการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกรัฐสภา (Diet member) อย่างน้อย 1 คน และได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อยร้อยละ 2 ของการลงคะแนนเสียงทั่วประเทศ ในกรณีใดกรณีหนึ่งของการเลือกตั้ง 6 ครั้ง ดังนี้ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบเลือกตัวบุคคลตามการแบ่งเขตเลือกตั้ง, การเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบสัดส่วน, การเลือกตั้งครั้งใดครั้งหนึ่งของในการเลือกตั้งแบบปกติ 2 ครั้งหลังสุดของสมาชิกวุฒิสภาในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งท้องถิ่น และการเลือกตั้งครั้งใดครั้งหนึ่งในการเลือกตั้งแบบปกติ 2 ครั้งหลังสุดของสมาชิกวุฒิสภาในระบบสัดส่วน โดยพรรคการเมืองที่ประสงค์จะขอรับเงินอุดหนุน จะต้องยื่นรายงานตามที่กล่าวแล้วข้างต้นปีต่อปีภายใน 15 วันนับแต่ 'วันหลัก' (Basic date) ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายใน ถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือการเลือกตั้งปกติของสมาชิกวุฒิสภา พรรคการเมืองที่ประสงค์จะขอรับเงินอุดหนุนจะต้องยื่นรายงานดังกล่าวภายใน 15 วันนับแต่ 'วันหลักของการเลือกตั้ง' (Electoral basic date) ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายใน โดยวันหลัก (Basic date) หมายถึง วันที่เกิดขึ้นภายหลังระหว่าง 2 กรณี คือ (1) วันที่ 1 มกราคม และ (2) วันหลักของการเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ วันหลักของการเลือกตั้ง (Electoral basic date) หมายถึงวันที่เกิดขึ้นภายหลังระหว่าง 2 กรณี คือ (1) วันหลังจากวันที่มีการเลือกตั้งทั่วไปหรือการเลือกตั้งปกติ และ (2) วันแรกของวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภาที่ถูกเลือกตั้งใหม่

จำนวนเงินอุดหนุนทั้งหมด จำนวนเงินอุดหนุนทั้งหมดจะถูกพิจารณาในงบประมาณประจำปี โดยนำ 250 เยน คูณด้วยจำนวนประชากร (จำนวนประชากรพิจารณาจากข้อมูลทะเบียนราษฎร์แห่งชาติล่าสุดและประกาศในราชกิจจานุเบกษา) ตัวอย่างเช่น งบประมาณประจำปีงบประมาณ 1997 เท่ากับ 31,392,562,000 เยน (250X 125,570,246) สำหรับการคำนวณจำนวนเงินอุดหนุนที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับแต่ละปี จะคำนวณโดยมีฐานอยู่ที่จำนวนสมาชิกรัฐสภาและจำนวนคะแนนเสียงที่ได้รับ ณ วันหลัก ตามตารางดังนี้

ที่มาตาราง: งานวิจัยเรื่อง 'การศึกษาเปรียบเทียบเงินสนับสนุนพรรคการเมืองในประเทศไทยและอินโดนีเซีย: นำไปสู่การพัฒนาพรรคการเมืองหรือคอร์รัปชั่น' โดย ผศ.ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล

การจ่ายเงินอุดหนุน การจ่ายเงินอุดหนุนให้แต่ละพรรคการเมืองจะแบ่งจ่ายโดยโอนเข้าบัญชีธนาคารของพรรคการเมือง ดังนี้ (1) เดือนเมษายน จ่าย 1/4 ของเงินอุดหนุนทั้งหมด (2) เดือนกรกฎาคม จ่าย 1/3 ของส่วนที่เหลือ (3) เดือนตุลาคม จ่าย 1/2 ของส่วนที่เหลือ และ (4) เดือนธันวาคม จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด โดยสมุหบัญชีของพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องยื่นรายงานเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินอุดหนุนของพรรคการเมืองในแต่ละปี ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายใน สมุหบัญชีของสำนักงานสาขาของพรรคการเมือง ก็มีหน้าที่ต้องยื่นรายงานการใช้จ่ายเงินอุดหนุนของสำนักงานสาขาต่อสมุหบัญชีของพรรคการเมืองสำนักงานใหญ่ หรือต่อสาขาพรรคการเมืองที่ให้เงินอุดหนุนแก่ตน รวมทั้งจะต้องยื่นรายงานต่อคณะ กรรมการจัดการเลือกตั้งของจังหวัด ที่สำนักงานของสาขาพรรคการเมืองนั้นตั้งอยู่ในรายงานนี้ สมุหบัญชีจะต้องระบุอย่างชัดเจนถึงผู้รับการจ่ายเงินจากพรรคเป็นจำนวนตั้งแต่ 50,000 เยน ขึ้นไป ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอย่างอื่นนอกเหนือจากค่าจ้างบุคลากร ค่าไฟฟ้า ค่าพลังงานความร้อน ค่าน้ำประปา และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอังที่ได้กล่าวมาแล้ว จากนั้นกระทรวงกิจการภายในจะเปิดเผยสรุปรายงานการใช้จ่ายต่อสาธารณชนโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และกระทรวงฯ จะเก็บรายงานดังกล่าวไว้เป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่ประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษา และบุคคลที่สนใจสามารถขอตรวจสอบรายงานนี้ได้ที่กระทรวงกิจการภายในภายในระยะเวลาข้างต้น

อ่าน 'จับตา': “เปิดสาระสำคัญ ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6615

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญขอระงับใช้ ม. 44 เร่งรัดรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

$
0
0
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ขอให้ ครม.และ คสช.ระงับการใช้มาตรา 44 เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ต่อต่อเอกชนผู้ประกอบการรายเดียว ระบุหากข้อเรียกร้องนี้ไม่เป็นผล ต้องหาข้อยุติในการนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองต่อไปแน่นอน

 
25 ธ.ค. 2559 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยออกแถลงการณ์ "ขอให้ ครม.และ คสช.ระงับการใช้มาตรา 44 เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ต่อต่อเอกชนผู้ประกอบการรายเดียว" โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
1.กรณีที่ คสช.ใช้มาตรา 44  เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือสายเฉลิมรัชมงคลช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ - ท่าพระซึ่งปัจจุบันยังมีปัญหาในการเชื่อมต่อและร่วมใช้ระบบรถไฟฟ้าการพิจารณาคัดเลือกเอกชน และการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเเละเพื่อให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน โดยให้เจรจาร่วมกันกับผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลให้ดำเนินการโครงการส่วนต่อขยายและดำเนินการให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลกับผู้รับสัมปทานดังกล่าวเพื่อให้สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกันและการกำหนดระยะเวลาการดำเนินโครงการสายสีน้ำเงินให้มีระยะเวลาการดำเนินการโครงการสิ้นสุดลงพร้อมกันหรือสอดคล้องกันนั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนหรือเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนผู้ประกอบการรายเดียว
 
2.ข้อเท็จจริงดังกล่าวมีโครงการรถไฟฟ้าเกี่ยวข้อง 3 โครงการ คือ
 
(1)โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือสายเฉลิมรัชมงคลช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ ซึ่งปัจจุบันเปิดให้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 โดยทาง รฟม.ได้ทำการเปิดประมูลและจ้างเอกชนรายบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้เดินรถ
 
(2)โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างเสร็จประมาณ 80% และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปี2561 อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเดินรถ
 
(3)โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อมีสถานีเตาปูนเป็นสถานีเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ - ท่าพระ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะโดยจ้างเอกชนรายบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้เดินรถ โดยวิธีการเจรจาตรง ไม่มีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปแต่อย่างใด
 
3.ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ ประชาชนผู้ใช้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่ใช้เส้นทางสถานีปลายทางที่สถานีบางซื่อ และถ้าจะไปใช้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย(ยังก่อสร้างไม่เสร็จ)ที่สถานีต่อไปซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง(เปิดใช้บริการแล้วเช่นกัน)คือ สถานีเตาปูน ซึ่งมีระยะทางประมาณ 1 กม.นั้น ประชาชนผู้ใช้บริการจะต้องใช้วิธีเดินทางวิธีอื่นโดย รฟม.ให้บริการรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี เพื่อเดินทางต่อไปยังสถานีเตาปูนเพื่อใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เปิดใช้บริการแล้ว
 
4.กรณีเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีนำเงินส่วนต่อขยายดังกล่าวจะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนหรือเอื้อประโยชน์เอกชนผู้ประกอบการรายเดียว พิจารณาได้จากเหตุผลดังต่อไปนี้
 
4.1 กรณีปัญหาดังกล่าว ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิท สถานีสยาม ซึ่งเดินรถโดยบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)โดยสถานีสยามไม่มีการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน เป็นเวลาประมาณ 20 ปี ประชาชนผู้ใช้บริการก็ไม่มีปัญหาใดๆในการเดินทางเป็นต้น
 
4.2 การเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงการข่ายเดียวกัน นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องให้เอกชนรายเดียวดำเนินการ เพราะจะทำให้เอกชนรายเดียวผูกขาดการให้บริการและมีอำนาจต่อรองสูง โดยจะเอาประชาชนมาเป็นตัวประกันโดยอ้างว่าต้องให้บริการเดินรถอย่างต่อเนื่องจะหยุดให้บริการแก่ประชาชนไม่ได้ เพราะขณะนี้กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างดำเนินการจัดให้มีระบบตั๋วร่วมซึ่งสามารถใช้บัตรเพียงใบเดียว สำหรับการเดินทางในภาคขนส่งได้ทุกระบบโดยเริ่มต้นใช้กับรถไฟฟ้าทุกโครงการเป็นหลัก อันเป็นความหมายของการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงการข่ายเดียวกันที่ถูกต้อง และการใช้ระบบตั๋วร่วมเป็นระบบที่ใช้ในต่างประเทศและประสบความสำเร็จแล้ว เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย จีน ฯลฯ
 
4.3 ในปัจจุบันนี้ การเดินรถโครงการรถไฟฟ้ามีผู้ประกอบการอยู่ 2 ราย คือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) การเปิดประมูลเป็นการทั่วไปจึงเป็นโอกาสอันดีของรัฐบาลที่จะเชิญผู้ประกอบการเดินรถในต่างประเทศ(เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย จีน เป็นต้น) ร่วมกับผู้ประกอบการในประเทศเข้าร่วมประมูลการเดินรถไฟฟ้าในโครงการต่างๆ ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายดังกล่าว เพื่อให้เกิดมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยมีระบบรถไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนรวมทั้งความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในยุโรปดังเช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ที่รฟม.ได้ประกาศเชิญชวนเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาพร้อมระบบเครื่องกลและไฟฟ้ารวมทั้งงานให้บริการการจัดการเดินรถและบำรุงรักษา มีเอกชนสนใจติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ จำนวนทั้งสิ้น 17 ราย
 
4.4 อย่างไรก็ดีมติคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 สรุปว่า ไม่เห็นชอบการขออนุมัติการดำเนินการ โดยการเจรจาตรงกับผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ โดยยังคงให้ใช้วิธีการประมูล และกระทรวงการคลัง มีความเห็นโดยสรุปว่า การคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุนโดยวิธีเปิดประมูลเป็นการทั่วไป จะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้ใช้บริการและเกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ของรัฐอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ เพื่อเกิดความโปร่งใสในการคัดเลือกเอกชน เห็นควรให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาใช้ในการคัดเลือกเอกชน
 
ทั้งนี้ การคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินกิจการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ โดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ได้ใช้ระยะเวลาดำเนินการมาแล้วกว่า 3 ปี แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จึงเป็นการดำเนินการที่ล่าช้าของ รฟม.เอง
 
4.5 นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจะใช้วิธีการเจรจาตรงโดยไม่เปิดประมูลนั้น ขัดกับหลักการและเหตุผล ในการตราพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2559 ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพิ่งจะให้ความเห็นชอบใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวได้  ขณะนี้อยู่รอระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป มีบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างส่วนหนึ่งว่า “...โดยมุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการใช้งานเป็นสำคัญซึ่งจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงิน มีการวางแผนการดำเนินงานและมีการประเมินผลการปฏิบัติงานซึ่งจะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีการส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ...” ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้มุ่งเน้นเรื่องปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นสำคัญ
 
สรุปแล้ว การใช้มาตรา 44 เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินดังกล่าว โดยจะมีการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2559 นี้ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)ได้ทำสัญญา 3โครงการอันมีลักษณะเป็นการผูกขาด โดย 2 โครงการที่รัฐบาลให้ใช้วิธีการเจรจาตรง ไม่ได้เปิดประมูลเป็นการทั่วไป คือโครงการสายสีม่วงและโครงการสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ทั้งๆที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เห็นด้วยกับวิธีการเจรจาตรงก็ตาม เท่ากับว่ารัฐบาลได้กระทำเป็นตัวอย่างที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2559 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง ความโปร่งใส การเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม หลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบและหากในการเจรจา ถ้า บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ขอไม่จ่ายเงินค่าสัมปทานประมาณ 50,000 กว่าล้านบาทตามสัญญาเดิม (โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือสายเฉลิมรัชมงคลช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ) รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร
 
กรณีดังกล่าวจะเป็นประเด็นที่ประชาชนควรจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะจะนำเข้า คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2559 นี้แล้ว
 
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงใคร่เรียกร้องมายังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้โปรดระงับหรือถอนเรื่องดังกล่าวออกจากการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเสีย เพื่อให้นำกลับมาดำเนินการตามครรลองที่กฎหมายกำหนด หยุดการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเฉพาะราย ที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อนึ่งหากข้อเรียกร้องนี้ไม่เป็นผลสมาคมฯจำต้องหาข้อยุติในการนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองต่อไปแน่นอน
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิด้าโพลล์เผยประชาชน 47.53% อยากให้รัฐชี้แจง พ.ร.บ.คอมฯ ให้ชัดเจน

$
0
0
ผลสำรวจนิด้าโพลล์ระบุประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.53 อยากให้รัฐเร่งชี้แจง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ชัดเจน จะได้ช่วยลดข้อขัดแย้งลง รองลงมา ร้อยละ 30.62 ระบุว่าหาวิธีการป้องกันการแฮกเจาะข้อมูลเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ 

 
25 ธ.ค. 2559 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่าศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพลล์ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ และคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “สงครามไซเบอร์” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21 - 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,501 หน่วยตัวอย่าง โดยความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการต่อต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ของกลุ่มพลเมืองต่อต้าน Single Gateway และแนวร่วมอีกหลายกลุ่ม ด้วยการประกาศสงครามไซเบอร์ และแฮกเจาะข้อมูลเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ซึ่งในจำนวนผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.39 ระบุว่า เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้ประเทศชาติเสียหาย รองลงมา ร้อยละ 19.90 ระบุว่า เป็นการพิสูจน์ศักยภาพหน่วยงานภาครัฐว่าจะสามารถรับมือสงครามไซเบอร์ได้แค่ไหน ร้อยละ 17.11 เป็นวิธีการที่เหมาะสม เพราะรัฐไม่ยอมฟังเสียงต้านของประชาชนบางส่วน ร้อยละ 11.44 ระบุว่า มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ร้อยละ 7.53 ระบุว่า เป็นแค่เรื่องของเด็กเกรียนต้องการแสดงศักยภาพของตัวเอง
 
ทั้งนี้เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินการของภาครัฐต่อสงครามไซเบอร์ ในครั้งนี้ พบว่า ในจำนวนผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ต ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.53 ระบุว่า รัฐเร่งชี้แจง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ชัดเจน จะได้ช่วยลดข้อขัดแย้งลง รองลงมา ร้อยละ 30.62 ระบุว่า หาวิธีการป้องกันการแฮกเจาะข้อมูลเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ ร้อยละ 25.46 ระบุว่า ควรสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดดำเนินคดีตามกฎหมาย ร้อยละ 15.98 ระบุว่า ยอมอ่อนข้อประนีประนอม โดยยอมทบทวนกฎหมาย ร้อยละ 3.61 ระบุว่า ไม่ต้องสนใจอะไร และเดินหน้าประกาศใช้กฎหมาย 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2560 ชี้การค้าโลกจะปะทะชาตินิยม

$
0
0
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ระบบการค้าโลกจะเผชิญแรงกดดันของลัทธิกีดกันทางการค้าและความเป็นชาตินิยมทางเศรษฐกิจมากขึ้น กระแสโลกาภิวัตน์การเปิดเสรีจะหันมาให้น้ำหนักกับการทำข้อตกลงทางการค้าและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีมากขึ้นกว่าระบบพหุภาคี ความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในยุโรปจะถูกสั่นคลอนโดยพรรคการเมืองขวาจัดหรือซ้ายจัดที่กำลังก้าวเข้ามามีอำนาจในหลายประเทศ

 
25 ธ.ค. 2559 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ปี พ.ศ. 2560 ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี พ.ศ. 2560 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2559 โดยอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 3.3-3.6% ในปีหน้า ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการเติบโตสูงเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงตัวเลขเฉลี่ยจีดีพีโลกให้ปรับตัวดีขึ้น คาดว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 1.8-2% และ ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.6-5% ระบบการค้าโลกจะเผชิญแรงกดดันของลัทธิกีดกันทางการค้าและความเป็นชาตินิยมทางเศรษฐกิจมากขึ้น กระแสโลกาภิวัตน์การเปิดเสรีจะหันมาให้น้ำหนักกับการทำข้อตกลงทางการค้าและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีมากขึ้นกว่าระบบพหุภาคี ความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในยุโรปจะถูกสั่นคลอนโดยพรรคการเมืองขวาจัดหรือซ้ายจัดที่กำลังก้าวเข้ามามีอำนาจของรัฐบาลในยุโรปหลายประเทศ 
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาปีหน้า (พ.ศ. 2556) จะสูงกว่าที่สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ประเมินไว้ โดยมองว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 2.3-2.8% (ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้ที่ 2.2%) เป็นผลมาจากภาคการบริโภค ภาคการลงทุน การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมไอที ธุรกิจเวชภัณฑ์ การปรับลดภาษีนิติบุคคลและการลงทุนโครงสร้าง
 
พื้นฐานทางเศรษฐกิจใหม่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลจะเผชิญแรงกดดันปัญหาหนี้สาธารณะและเผชิญกับปัญหาเพดานหนี้หากเศรษฐกิจไม่โตตามเป้า การตัดลดค่าใช้จ่ายสวัสดิการทางด้านสาธารณสุขและการศึกษาทำให้ความเหลื่อมล้ำในสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้นอีก แรงกดดันเงินเฟ้อจะมากขึ้นพร้อมกับการเติบโตที่มากขึ้น ทำให้อาจมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯส่งสัญญาณไว้ในช่วงปลายปีนี้ (พ.ศ.2559) แนวโน้มของรัฐบาลสหรัฐในการใช้นโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้นเพิ่มความเสี่ยงของระบบการค้าโลกและสร้างแรงกดดันต่อภาคส่งออกของจีนและเอเชียตะวันออก 
 
ส่วนเศรษฐกิจยุโรปนั้นตนมองว่าจะอ่อนแอมากกว่าที่หน่วยงานทางเศรษฐกิจของโลกประเมินไว้ค่อนข้างมากโดยคาดว่า อัตราการเติบโตเศรษฐกิจยุโรปจะขยายไม่เกิน 1.4% เป็นผลมาจากผลกระทบของ Brexit และ ความเสี่ยงของประเทศอื่นในอียูจะขอแยกตัวออกมาจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจผลกระทบผู้อพยพจากตะวันออกกลางและแอฟริการเหนือ การก่อการร้ายสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจ ปัญหาระบบสถาบันการเงินอ่อนแอ หนี้สาธารณะในระดับสูง โครงสร้างประชากรสูงอายุ และความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เยอรมันยังคงเติบโตได้ดีรวมทั้งเศรษฐกิจสเปนยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง 
 
ปีหน้าเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง ความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่แตกเพิ่มเติมลดลง เศรษฐกิจรัสเซียขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกหลังจากติดลบต่อเนื่องมาสองปี กลุ่มประเทศอาเซียนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ 5-6% โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดจีนและพม่ามีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อการค้าชายแดนภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย 
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่าปีหน้าน่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีที่สุดในรอบสี่ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 (เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 6.5% ในปี พ.ศ. 2555 หลังมหาอุทกภัยน้ำท่วม) โดยคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมจะอยู่ที่ 3.6-4.2% ภาคการลงทุนเอกชนและภาคการท่องเที่ยวจะแรงขับเคลื่อนสำคัญ ภาคส่งออกฟื้นตัวเป็นบวกเล็กน้อยและภาคการบริโภคกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 33.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลไม่ต่ำกว่า 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้าเพื่อการลงทุนมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากราคาพืชผลเกษตร การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและราคาพลังงานโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากจะเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้ง โดยคาดว่าภาคการลงทุนโดยรวมจะเติบโตได้อย่างน้อย 5.5% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 3% การส่งออกเริ่มฟื้นตัวทำให้กำลังการผลิตลดลงและเริ่มกระตุ้นให้เกิดความต้องการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ความมีเสถียรภาพในระยะเปลี่ยนผ่านทำให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกในประชาคมอาเซียนเริ่มขยับเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น การลงทุนก่อสร้างของเอกชนมีความสัมพันธ์ตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่ง หากมีความคืบหน้าตามเป้าหมาย
 
จะดึงให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีความสัมพันธ์ในระดับสูงทางบวก (Positive Correlation) กับการขยายตัวของภาคส่งออก ภาคบริโภคกระเตื้องขึ้นโดยขยายตัวได้ที่ระดับ 2.5-3% ภาคการบริโภคฟื้นตัวไม่มากเพราะระดับรายได้ประชาชนโดยทั่วไปไม่เพิ่มขึ้นมาก ความไม่มั่นคงในงานลดลงจากการนำเทคโนโลยีมาทดแทนในการทำงานมากขึ้น ตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมหรือกิจการที่มีภาวะฟองสบู่ เช่น สื่อสารมวลชนโดยเฉพาะทีวีดิจิตอล ธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์ กิจการอุดมศีกษา กิจการธนาคารธุรกิจการเงินแบบเดิม เป็นต้น นอกจากนี้ภาคการบริโภคยังได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การนำเงินรายได้ในอนาคตมาบริโภค รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการบริโภคโดยลดหย่อนภาษีกระตุ้นการบริโภคได้เพียงชั่วคราวระยะสั้น และได้ทำมี Stock Inventory เก็บไว้จำนวนมากในภาคครัวเรือนและส่งผลให้ตัวเลขภาคการบริโภคชะลอลงอย่างชัดเจนในไตรมาสแรกปี พ.ศ. 2560  อัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 2-3% การนำเข้าอยู่ที่ 4-5% ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลมากจากรายได้การท่องเที่ยว เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิต่อเนื่อง
 
ส่วนตลาดการเงินและภาคการเงินนั้น ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวว่าตลาดการเงินโลกและไทยจะเผชิญกับจุดเปลี่ยนของนโยบายการเงินจากยุคสมัยดอกเบี้ยต่ำและการผ่อนคลายทางการเงินมากเป็นพิเศษหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกเมื่อปี พ.ศ. 2551-2552 มาเป็น ยุคสมัยอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ในส่วนของเงินบาทน่าจะอ่อนค่าต่อเนื่องโดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ34-37 แม้นจะเกินดุลการค้าแต่เงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงไหลออกสุทธิจากการออกไปลงทุนมากขึ้นของนักลงทุนและบริษัทสัญชาติไทยในต่างประเทศ 
 
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยน่าจะสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ได้หากสหรัฐอเมริกาไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงเกินไปและทำให้เม็ดเงินในตลาดการเงินไหลกลับสหรัฐฯจำนวนมาก อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะสาขาที่เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนการทำงาน ขณะที่ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านช่วงเทคนิคและแรงงานระดับล่างต่อไป 
 
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นต่อเนื่องยังไม่สามารถเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากขาดนวัตกรรม ระบบการศึกษา ระบบวิจัย คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ยังคงอ่อนแอ จึงมีเพดานจำกัดในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะปานกลางและระยะยาว นอกจากนี้ยังไม่ได้เป็นประเทศที่มีระบบนิติรัฐและนิติธรรมเข้มแข็งนัก ขาดยุทธศาสตร์ในการบูรณาการทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ประเทศที่ชัดเจน แม้นมียุทธศาสตร์ก็ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดขึ้นจริง 
 
ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลงได้อีกหากยังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการประชานิยมระยะสั้นเพราะจะสร้างวัฒนธรรมอุปถัมภ์เป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ 
มีข้อเสนอแนะในทางนโยบายต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้ 
 
ข้อแรก แรงกดดันจากลัทธิกีดกันทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น ระบบการค้าพหุภาคีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงในบางภูมิภาค พลวัตนี้เป็นความเสี่ยงต่อภาคการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย ขณะเดียวกันทำให้เกิดโอกาสของการเปิดเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีในระดับทวิภาคีเพิ่มขึ้น รัฐควรเร่งกำหนดทบทวนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ วางยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อให้ “ไทย” พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน
 
ข้อสอง ต้องเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการประชานิยมระยะสั้น มาเป็น ระบบสวัสดิการโดยรัฐที่มีประสิทธภาพและมีความยั่งยืนทางการเงินการคลัง 
 
ข้อสาม เร่าดำเนินการปฏิรูปการศึกษาและระบบวิจัย ตาม ยุทธศาสตร์แผนการศึกษาชาติ 15 ปี และ แผนยุทธศาสตร์ฉบับ 8 ของสภาวิจัยแห่งชาติ 
 
ข้อสี่ เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณพร้อมกับเร่งให้เกิดความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งคมนาคม และ ระบบบริหารจัดการน้ำ 
 
ข้อห้า ใช้มาตรการภาษี มาตรการการเงิน มาตรการลงทุนทางด้านวิจัย มาตรการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ภาคส่งออกไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกและสามารถแข่งขันได้ 
 
ข้อหก พัฒนาระบบนิติรัฐให้เข้มแข็งโดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการค้า การลงทุนและการแข่งขันที่เป็นธรรม มีความคงเส้นคงวาของการดำเนินนโยบาย สร้างระบบธรรมาภิบาล ขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันการติดสินบน ลดขั้นตอนในการทำงานและลดอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ลดต้นทุนของภาคธุรกิจอันเกิดจากความประสิทธิภาพและความล่าช้าของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ
 
ข้อเจ็ด ปรับขนาดของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจให้ลดลง (Smaller Government) และ เพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น จ่ายค่าตอบแทนให้สูงขึ้นในระดับเดียวกับเอกชน ทำให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) ในกิจการที่เอกชนทำได้ดีกว่าและบรรลุภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
 
ข้อแปด ส่งเสริมให้มีการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมผ่านกลไกประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง และ เพิ่มอำนาจให้กับคนที่มีอำนาจน้อยเพื่อให้เกิดดุลยภาพทางอำนาจของกลุ่มต่างๆในสังคม สิ่งนี้จะนำมาสู่การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ
 
ข้อเก้า นโยบายต่อภาคเกษตรกรรม มีมาตรการเพิ่มผลิตภาพ มาตรการลดต้นทุน มาตรการทางการตลาด ควรมีการกำหนดการเพดานการถือครองที่ดินและจัดตั้ง ธนาคารที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
 
ข้อสิบ ควรมีการทบทวนเพื่อให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำอย่างเหมาะสม ปรับเปลี่ยน “กองทุนประกันสังคม” ให้เป็นองค์กรมหาชน จัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ใช้แรงงานโดยให้กองทุนประกันสังคมถือหุ้น 
 
ข้อสิบเอ็ด เร่งรัดการก่อหนี้เพื่อนำมาลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ศึกษาและพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยน หน่วยงานจัดเก็บภาษี จากหน่วยงานราชการ มาเป็น องค์กรมหาชน ภายใต้การกำกับของรัฐบาล 
 
ข้อสิบสอง ดำเนินการเพื่อให้ “ประเทศไทย” กลับคืนสู่ประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งตามโรดแมฟ หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาต้องมีคำอธิบายที่มีเหตุผลเพื่อไม่กระทบต่อความเชื่อมั่น หากทำไม่ได้จะกระทบภาคการลงทุนอย่างมากโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #137 สุนทรพจน์ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เปลี่ยนไป!?

$
0
0

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี และปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ ยังคงสนทนากับ ภาวิน มาลัยวงศ์ อาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์สุนทรพจน์ของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 ในช่วงก่อนเลือกตั้งและหลังได้รับชัยชนะ โดยภาวินเสนอว่าในช่วงหาเสียงโดนัลด์ ทรัมป์ ฉลาดที่จะเล่นบทบาทคนโง่ นอกจากนี้เขายังโน้มน้าวให้ผู้ลงคะแนนเห็นว่า ฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งของเขาแท้จริงแล้วเป็นชนชั้นนำพวกเดียวกับ บารัก โอบามา รวมไปถึงสามี บิล คลินตัน ซึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดีเช่นกัน

นอกจากนี้ในการโต้อภิปราย เมื่อฮิลลารี คลินตัน หยิบยกถึงปัญหาที่ต้องการแก้ไข โดนัลด์ ทรัมป์ ก็จะโต้ด้วยการตอกย้ำถึงความล้มเหลวทางการเมืองของคลินตัน ว่ามีบทบาททางการเมืองมาแล้ว 30 ปี แต่ทำไมจึงไม่แก้ไข

ภาวินยังกล่าวถึงสุนทรพจน์ของทรัมป์ หลังได้รับชัยชนะการเลือกตั้งว่ามีความเปลี่ยนแปลงโดยนับรวมทุกคนเข้ามาในสุนทรพจน์มากขึ้น เปลี่ยนการใช้สรรพนามจาก "ฉัน" เป็น "พวกเรา" นอกจากนี้ยังให้ความหมายของ "American Dream" ที่ฉีกขนบมากกว่าคลินตัน โดยเขาเชื่อว่าชาวอเมริกันทำงานหนักแล้ว แต่ยังมีศักยภาพที่ยังไม่ได้ดึงมาใช้ประโยชน์ (untapped potential) ซึ่งตัวเขาเองจะเป็นผู้ดึงศักยภาพนั้นออกมา

ในขณะที่หลังการเลือกตั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มผ่อนปรนนโยบายบางเรื่องที่เคยหาเสียงเอาไว้ เช่น จะรักษาข้อดีของกฎหมายประกันสุขภาพที่ริเริ่มในสมัยของโอบามา หรือปรับนโยบายเรื่องคนเข้าเมือง ต่อเรื่องนี้ ปองขวัญ ตั้งคำถามต่อการหาเสียงที่ผ่านมาของทรัมป์ว่า คือการรณรงค์ทางการเมืองที่ผู้คนอยากเห็นจริงๆ หรือ ที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกนำหน้า ขณะที่นโยบายหาเสียงกลับไม่ได้ถูกใช้จริงๆ ขณะที่ในทวิตเตอร์ 1 วันหลังทรัมป์ได้รับชัยชนะ ก็มีเหตุที่ชนกลุ่มน้อยในสหรัฐอเมริกาถูกปฏิบัติหรือถูกโจมตีด้วยถ้อยคำเกลียดชัง

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลูกจ้างนิปปอนสตีลถูกนายจ้างปิดงานก่อนปีใหม่

$
0
0
สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะ แถลงนายจ้างนิปปอนสตีล ปิดงานเฉพาะลูกจ้างที่เป็นสมาชิก หลังเจรจามากว่า 2 เดือน ตกลงได้ 2 ข้อ คือโบนัส และเงินขึ้น จาก 4 ข้อเรียกร้อง

 
25 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์ voicelabour.orgรายงานว่าสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์หลังนายจ้างบริษัท นิปปอนสตีล แอนด์ ซูมิคิน สตีลโพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัดได้ยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 เพื่อขอยุติการเจรจาและปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานฯโดยให้มีผลในวันที่ 23 ธันวาคม 2559 เวลา 13.00 น. หลังจากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทยสาขาอีสเทิร์น1,2ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อนายจ้างบริษัทนิปปอนสตีล แอนด์ ซูมิคิน สตีลโพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559ได้มีการเจรจาตามขั้นตอนของตามกฎหมายแต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ทางสหภาพแรงงานฯ จึงได้ทำหนังสือแจ้งพิพาทต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดระยอง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2559 หลังจากนั้นพนักงานประนอมข้อพิพาทได้มีการไกล่เกลี่ยทั้งหมด 5 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7  ธันวาคม 2559 ผลการเจรจาก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นัดไกล่เกลี่ยครั้งที่ 6 ในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2559  เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง  แต่นายจ้างได้ยื่นเพื่อขอปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงาน
 
นายไพฑรูย์ บางหลง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวถึงกรณีสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย ลูกจ้างของบริษัทนิปปอนสตีล แอนด์ ซูมิคิน สตีลโพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ถูกนายปิดงานเฉพาะส่วน 160 กว่าคนโดยไม่จ่ายค่าจ้าง เนื่องจากการเจรจาตกลงกันไม่ได้นั้น เป็นเรื่องที่สร้างความรู้สึกเสียใจให้กับลูกจ้างมาก เพราะการเจรจาก็สามารถตกลงกันได้แล้วในข้อหลักจำนวน 2 ข้อ คือนายจ้างตกลงจ่ายโบนัส และปรับเงินขึ้นให้ ซึ่งโบนัสที่ตกลงกันตามเกรดอายุงานต่ำสุดอยู่ที่ 3 เดือนบวกอีก 22,000 บาท เหลือแต่เรื่องการหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับเรื่องการจัดสวัสดิการให้เท่าเทียมกัน เนื่องจากบรัทนิปปอนสตีลฯ มี 2 โรงในพื้นที่เดียวกันแต่ว่าสวัสดิการมีความต่างกัน อย่างการคำนวณการทำงานล่วงเวลาหรือ OT เป็นต้น ข้อเรียกร้องอื่นๆได้ถอนกันไปแล้ว จึงเหลือที่เจรจาทั้งหมด 4 ข้อ ตกลงกันแล้ว 2 ข้อ การปิดงานจึงมองว่าไม่สมเหตุสมผล แม้ว่าตัวแทนนายจ้างจะอ้างว่าเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เรียกร้องนั้นมีลูกจ้างบ้างส่วนไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะผู้แทนเจรจาฝ่ายสหภาพแรงงานก็ให้นายจ้างสอบถามความต้องการแล้วหักเฉพาะส่วนที่ลูกจ้างต้องการ
 
นายไพฑรูย์กล่าวอีกว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินในอนาคตเป็นการสะสมเพื่อสร้างหลังประกันให้กับลูกจ้างเมื่อเกษียณอายุซึ่งถือเป็นนโยบายที่กำหนดเป็นกฎหมายแม้ว่าจะไม่ใช่การบังคับให้ต้องมีและให้เป็นความสมัครใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในการสะสมเป็นกองทุน ล่าสุดพนักงานประนอมได้แจ้งว่าจะนัดไกล่เกลี่ยครั้งต่อไปในวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2559 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ปัจจุบันสมาชิกสหภาพแรงงานฯได้ชุมนุมอยู่ที่สำนักงานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกพื้นที่บ่อวินในเขตพื้นที่พันเสด็จใน ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
 
“วันนี้สหภาพแรงงานยังหวังที่เจรจากับนายจ้างเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน แม้ว่านายจ้างจะปฏิเสธในการเจรจาตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคมแล้วก็ตาม ลูกจ้างกับนายจ้างต้องอยู่ร่วมกันอย่างไรก็ต้องคุยกัน แม้ว่าลูกจ้างจะเสียใจกับการที่นายจ้างปิดงานก็ตาม ต้องเข้าใจว่าการยื่นข้อเรียกร้องเป็นไปตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ต้องมีการปรับเรื่องสภาพการจ้างประจำปี และลูกจ้างเองก็หวังจะได้โบนัสกลับบ้านต่างจังหวัดไปให้ครอบครัว บางคนต้องเอาไปจ่ายค่าเกี่ยวข้าว ไปใช้หนี้กันอีก  เราไม่ใช่แค่แรงงานแบบเพรียวๆคนเดียวเรายังมีครอบครัวที่รอเงินจากการขายแรงงานไปหล่อเลี้ยงชนบทด้วย ทำงานทั้งปี และทั้งชีวิตก็อยากเห็นสิ่งที่เรียกว่าหลักประกันอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่ออนาคตด้วย” นายไพฑรูย์กล่าว
 
ทั้งนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยเงินของกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสะสม“ และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสมทบ” กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นลักษณะของสวัสดิการที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินให้แก่ลูกจ้างที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐผ่านกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกอบด้วย
 
- เงินสะสมของลูกจ้าง เป็นเงินที่ลูกจ้างยินยอมให้นายจ้างหักจากค่าจ้างสะสมเข้ากองทุนทุกเดือนในอัตราไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 2 (สอง) แต่ไม่เกินร้อยละ 15 (สิบห้า) ของค่าจ้าง โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนดไว้ใน ข้อบังคับกองทุนของแต่ละนายจ้าง
 
- เงินสมทบของนายจ้าง เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนลูกจ้างที่เป็นสมาชิกในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 (สอง) แต่ไม่เกินร้อยละ 15 (สิบห้า) ของค่าจ้าง โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนดไว้ใน ข้อบังคับกองทุนของแต่ละนายจ้าง
 
อัตราการจ่ายเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างอาจแตกต่างกันตามเงื่อนไข ระยะเวลาการทำงานหรือ ระยะเวลาการเป็นสมาชิกหรือ ตามตำแหน่งหรือ ตามอัตราเงินเดือนของลูกจ้างนั้นๆ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการจูงใจหรือเป็นสวัสดิการส่วนเพิ่มให้กับลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างเป็นเวลานาน
 
เนื่องจากเงินกองทุนนี้เป็นสวัสดิการเพิ่มให้กับลูกจ้าง นายจ้างจึงมีสิทธิกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินออกสำหรับเงินสมทบของนายจ้างและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่จะกำหนดให้ลูกจ้างได้รับตามอายุงาน เช่นลูกจ้างออกจากงานและมีอายุการทำงานน้อยกว่า 5 ปี ได้รับเงินส่วนของนายจ้าง 50% ถ้าครบ 5 ปี ขึ้นไปได้ 100% เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการจูงใจให้ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างเป็นเวลานานเช่นกัน (ข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางส่วนจาก http://www.cimb-principal.co.th/)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา พ.ร.บ.คอมฯ: ประชาชนเครียด สื่อมวลชนโอเค เอกชนไม่ชัด และ **สิ่งที่ต้องจับตาต่อ

$
0
0

ยิ่งชีพย้ำมาตรา 14 ปิดกั้นเสรีภาพชัด รอดูตอนบังคับใช้ สฤณีขอจับตาออกกฎกระทรวงจะลงรายละเอียดสำคัญ และกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ปีหน้า คาดผู้ประกอบการเซ็นเซอร์ตัวเองหนัก ชวรงค์ระบุบางส่วนดีขึ้นสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ เชื่อโดยรวมดีกว่าฉบับก่อน "ถ้าแย่กว่า ผมคงไม่ส่งคนของเราร่วมในกระบวนการแต่แรก"  

25 ธ.ค.2559 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดเสวนาเรื่อง “ประเทศไทย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2559” โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สฤณี อาชวานันทกุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต, ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ., ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากiLaw, อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา จาก SEAPA หรือองค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันกออกเฉียงใต้, ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (ฉบับที่ 2) หรือฉบับแก้ไขที่เป็นประเด็นใหญ่และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบอย่างเอกฉันท์ 168 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 นั้นสร้างความผิดหวังให้กับผู้ตื่นตัวในประเด็นเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวออนไลน์อย่างมาก แต่กระนั้นการต่อสู้นี้ยังไม่จบสิ้น เพราะต้องมีการออกรายละเอียด “ข้อปฏิบัติ” ในกฎหมายระดับกระทรวงอีกประมาณ 5 เรื่องใหญ่ โดยหลังจากมีการลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้กฎหมาย จะต้องนับไปอีก 120 วันจึงเริ่มบังคับใช้จริงเพื่อให้ทุกส่วนเตรียมความพร้อมต่างๆ และกฎกระทรวงเหล่านี้ต้องร่างภายใน 60 วันหลังจากนั้น

ยิ่งชีพ: มาตรา 14(1) และ (2)  มีส่วนที่ดีขึ้น แย่ลงมาก และลิเก (สวยงามไร้ความหมาย)

-          ประเด็น 14 (1) ของเดิมเน้น “ข้อมูลปลอม” และ “ข้อมูลเท็จ” ซึ่งกฎหมายอาญามีเรื่องการหมิ่นประมาทในมาตรา 326 อยู่แล้วซึ่งเน้นว่าการให้ข้อมูลที่ทำให้คนอื่นเสียหายและมีบุคคลที่3 มารับทราบถือว่าผิด แต่มีข้อยกเว้นเรื่องการติชมโดยสุจริต ที่ผ่านมาจะเห็นการใช้มาตรา 14(1) พ่วงกับกฎหมายหมิ่นประมาทในการ “ปิดปาก” ผู้วิพากษ์วิจารณ์ เช่น ไม่เอาโรงไฟฟ้า ไม่เอาเหมืองแร่ เปิดโปงซ้อมทรมานเกิดขึ้น เป็นการรวม 2 ข้อหาในคดีเดียว หลายคดีที่ดังๆ อาจรอลงอาญา กระนั้นก็มีส่วนที่ศาลสั่งจำคุก 40 เดือนโดยไม่รอลงอาญา นั่นคือ แอดมินเพจทวงคืนพลังงาน หรืออีกกรณีที่เจ้าตัวไม่เปิดเผย ถูกจำคุกถึง 11 ปี  เรียกว่ามีการติดคุกจริงๆ จากการใช้ 2 ข้อหานี้กับผู้วิพากษ์วิจารณ์

-          ปกติเรามีกฎหมายหมิ่นประมาทใช้อยู่แล้ว มีโทษจำคุก 1 ปี ถ้ามีโฆษณาจำคุก 2 ปี มีข้อยกเว้นดังกล่าวไป ยอมความได้ แต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โทษจำคุก 5 ปี ไม่มีข้อยกเว้น และยอมความไม่ได้ มีตัวอย่างที่คู่ขัดแย้งตกลงกันได้แต่กลับยอมความไม่ได้ คดีต้องดำเนินต่อให้เห็นหลายกรณี

-          5 จุด ดีขึ้น 3 ประการ แย่ลงมาก 1 ประการ เล่นลิเก 1 ประการ

ดีขึ้น : 1.มีการระบุเพิ่มเติมว่า ข้อมูลเท็จหากกระทบบุคคลธรรมดา ลดโทษเหลือจำคุก 3 ปี  2.ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ 3.มีการเติม “โดยทุจริตหรือโดยหลอกหลวง” นิยามของทุจริตมีเจตนาเพื่อให้ได้ผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หากตีความแคบๆ จะทำให้หมายถึงการหลอกลวงทรัพย์สินชัดเจนขึ้น เอาไปใช้ปิดปากยากขึ้น

แย่มาก : แต่กระนั้นก็ยังมีคำว่า “ที่บิดเบือน” ใส่ลงมาด้วย ตรงนี้เป็นเรื่องข้อมูลและการแสดงความคิดเห็น คำนี้เคยอยู่ในกฎหมายประชามติและถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

ลิเก: คำว่า “อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” เข้าใจว่าผู้ร่างพยามแก้ไขปัญหาที่โดนวิจารณ์มากว่ามาตรา 14 ถูกใช้กับกฎหมายหมิ่นประมาทจึงเขียนเพื่อหวังแก้ปัญหานี้ แต่มันไม่ช่วยอะไร และอันที่จริงคณะกรรมการร่างเคยทำได้ดีกว่านี้ ในครั้งรับฟังความเห็นเดือนสิงหาคม เขียนว่า “การนำเข้าข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินส่วนบุคคล” แบบนี้แก้ปัญหาได้และตรงเจตนารมณ์ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช้ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจได้ว่าผู้ร่างไม่ได้จริงใจจะแก้ปัญหา  

-          14(2) ของเดิมระบุถึงการนำเข้าข้อมูลที่อาจกระทบความมั่นคง ทำให้ประชาชนตื่นตระหนัก ฉบับแก้ไขใหม่เพิ่มเรื่องการกระทบความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน นี่เป็นการเพิ่มข้อความทางกฎหมายที่ทำให้เกิดการตีความได้กว้างขวางมาก

-          ไอลอว์จะยังไม่รวบรวมรายชื่อยกเลิกการพิจาณาทันทีเดี๋ยวนี้ ต้องการรอดูการบังคับใช้ก่อน

ชวรงค์ : “ถ้ามันแย่กว่าเดิม ผมคงให้คนของเราออกมา ไม่ร่วมกระบวนการกับเขา” 
                “ร่างสมัยรัฐบาลทักษิณเลวร้ายกว่านี้มาก”

-          เราติดตามการทำกฎหมายนี้มาตั้งแต่ปี 2550 กฎหมายนี้เริ่มร่างมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยซึ่งฉบับนั้นเลวร้ายกว่านี้ “ร่างนั้นเลวร้ายกว่านี้เยอะมาก แต่ด้วยพลังของพวกเราที่ช่วยกันตอนนั้น เราทำร่างสู้กับกระทรวงไอซีทีปี 2550 ส่งคนไป 3-4 คน สู้กับสนช.ตอนนั้น ข้อดีคือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่เข้าสู่ สนช.ยุคนั้นเลยมีเวลาพิจารณาเยอะ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนกว่า ก็ไม่ได้เป็นที่พอใจทั้งหมด ได้ระดับหนึ่ง ยังมีข้อห่วงกังวล เช่น 14(1) ถูกเอาไปเชื่อมโยงฟ้องคดีหมิ่นประมาท”

-          ตามฉบับเก่านั้นกระทบกับสื่อกระแสหลัก คือ การฟ้องหมิ่นประมาทสื่อหนังสือพิมพ์นั้นจะมีอายุความ 6 เดือนถึง 1 ปีหลังตีพิมพ์ แต่หากนำขึ้นเว็บอายุความไม่มี เจอเมื่อไรฟ้องได้เมื่อนั้น และตอนนี้สื่อหลักก็ทำเว็บกันหมด ดังนั้นการแก้ไขในร่างล่าสุดนี้ขอมองต่างว่า เป็นเรื่องนี้ดี ไม่ใช่ ลิเก กับการระบุลงไปว่า “อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”  เพราะอย่างน้อยสื่อหลักก็สบายใจที่จะไม่เอามาตรา 14 มาใช้ฟ้องพ่วงในคดีหมิ่นประมาท แม้คดีหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญาเราจะไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว มันเป็นปัญหากระทบต่อเสรีภาพสื่อ

-          คำว่า “ที่บิดเบือน” ไม่แน่ใจว่าจะนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้แค่ไหน รัฐบาล คสช. ค่อนข้างฝังใจกับเรื่องนี้มาก เขาจะรู้สึกว่าบางทีในโลกออนไลน์มีการกล่าวหากันโดยเอาข้อมูลที่ไม่ใช่มากล่าวหากันแล้วเอาผิดไม่ได้ นี่เป็นวิธีคิดของเขา ก็คงต้องช่วยกันเวลาลงสู่การปฏิบัติ

-          มาตรา 15 ดีขึ้นในแง่ที่ทำให้มีกระบวนการในการคัดกรอง ส่วนกฎกระทรวงในการ notice and take down เคยเสนอว่าต้องไม่น้อยกว่าที่ศาลวางบรรทัดฐานไว้ใน “คดีเว็บบอร์ดประชาไท” คือ 11 วัน เพราะเราเห็นว่า 3 วันนั้นน้อยไป  

-          ส่วนกลไกต่างๆ นั้นรมว.ดิจิตัลฯ คนใหม่เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพทางออนไลน์อยู่แล้ว เราวางแผนจะคุยกับท่านอยู่ว่าการทำกฎกระทรวงที่จะออกตามกฎหมายนี้ในหลายมาตรา ตรงนี้ต้องมีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นให้ทั่วถึง

-          มาตรา 20 อยากทำความเข้าใจว่า เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่บอกว่า ไม่เอาแบบที่เขียนว่าไม่ผิดกฎหมายแต่จะเอาผิด หากดูฉบับปี 2550 มีเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่มีกรรมการกลั่นกรองอะไรด้วยซ้ำ เจ้าหน้าที่นำเรื่องไปขอให้ศาลสั่งแล้วปิดได้เลย แต่ในร่างใหม่มีกระบวนการในเรื่องนอกจากมีกรรมการกลั่นกรองแล้ว ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ต้องมีการไต่สวน มีกระบวนการหลายชั้นกว่าจะปิดได้

-          “ประเด็นคือ ร่างที่แก้ไขมันดีกว่าเดิม คือ ฉบับปี 2550 หรือไม่ ถ้ามันดีกว่าก็อาจต้องยอมรับมัน แต่ถ้ามันแย่ลงพวกผมคงไม่ยอมแน่ คงไม่นั่งเฉย ที่ผ่านมาเราก็แสดงบทบาทในการท้วงติงส่วนที่เป็นประเด็นปัญหา มีการยื่นหนังสือกรรมาธิการ มีการคุยกันในกลุ่มต่างๆ ส่งคนของเราเข้าไปอยู่ ถ้ามันแย่กว่าเดิม ผมคงให้คนของเราออกมาตั้งแต่แรก คงไม่ให้ร่วมกระบวนการเขา ถ้าไม่เอาฉบับนี้แล้วจะใช้ฉบับเดิมมันก็จะยังแย่เหมือนเดิมอย่างที่วิพากษ์วิจารณ์ ถามว่าถ้ามันไม่ดีแล้วทำไมรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่ทำ รัฐบาลจากการเลือกตั้งบางครั้งรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมน้อยกว่ารัฐบาลทหาร จะเล่าว่าคณะกรรมาธิการฯ ตอนแรกเหมือนมีใบสั่งต้องทำให้เสร็จภายใน 2-3 เดือน เราเข้าไปท้วงติงหลายเรื่องเลยยืดมาเป็น 6 เดือน แล้วก็ประชาพิจารณ์หลายรอบมาก เปิดให้คนเข้าไป แต่สังคมไทยก็แบบนี้ ถ้าไม่ถึงเวลาสร้างดราม่าคนก็จะไม่แสดงความคิดเห็นมาก พรรคการเมืองสองพรรค ถามว่าทำไมไม่แก้ให้ดีตั้งแต่คุณมีอำนาจ มาตอนนี้ก็มาแสดงความเห็นเพื่อหาเสียง”

-          ไมได้สนับสนุนทั้งหมด มีหลายส่วนที่ไม่เห็นด้วย แต่มีหลายส่วนดีขึ้นก็ต้องยอมรับแล้วค่อยๆ แก้ไป

สฤณี: ความไม่ชัดเจนที่ผู้ประกอบการต้องแบก เส้นทางสู่ self censorship 

-          พยายามมองจากฝั่งผู้ให้บริการต่อพ.ร.บ.นี้ ในส่วนของความกังวล มาตรา 15 ของเดิมผู้ให้บริการไม่มีช่องทางอะไรเลยที่จะแสดงออกว่าตัวเองไม่ได้ยินยอมให้เกิดความผิดตามมาตรา 14 แต่ของใหม่มีการแก้ไขซึ่งเราจะพบแนวปฏิบัติ notice and take down ในร่างประกาศของกระทรวงปรากฏในเว็บไซต์ของ ETDA บอกว่าหากผู้ให้บริการทำตามนี้ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย ขั้นตอนคือ ผู้ใช้บริการที่ต้องการร้องเรียนต้องกรอกแบบฟอร์มร้องเรียน ระบุชื่อนามสกุล ระบุการทำผิด และชี้แจงด้วยว่าน่าจะเกิดการเสียหายอะไรบ้าง เมื่อแจ้งแล้วภายใน 3 วันผู้ให้บริการต้องทำการระงับเนื้อหานั้น กระบวนการนี้ไม่ต้องดูมาตรา 20 แล้ว มันให้ผู้ให้บริการทำเองได้เลย ซึ่งน่ากังวลยิ่ง ผู้ให้บริการจะมั่นใจได้อย่างไรว่าที่มีผู้ร้องเรียนมานั้นถูกหรือไม่ถูกในเมื่อ 14(2) มันกำกวมมาก

-          ผู้ร่างบอกว่ากฎกระทรวงนี้เอามาจากกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ของอเมริกา ซึ่งระบุว่าถ้าเป็นโฮสต์ไม่ต้องรับผิดถ้าทำตามขั้นตอน คือ เจ้าของลิขสิทธิ์ส่งหนังสือไปให้โฮสต์ ถ้าโฮสต์ตรวจสอบแล้วพบชัดเจนว่าเข้าข่ายผิดลิขสิทธิ์ก็จะส่งให้เจ้าของเว็บหรือคนนำเข้าข้อมูลนั้น ถ้าคนนำเข้าข้อมูลมั่นใจว่าไม่ละเมิดก็สามารถส่งหนังสือค้านกลับไปได้ แต่ก็จะเริ่มมีภาระทางกฎหมายแล้วว่าเขาอาจเริ่มกระบวนการฟ้องร้อง ที่ผ่านมาใช้มานานแล้วก็มีปัญหาเยอะ เช่น หลายคนบอกว่าไม่มีบทลงโทษอะไรเลยสำหรับคนแจ้งเตือนแบบหลอก กูเกิลระบุว่า 37% ที่ร้องเรียนเรื่องลิขสิทธิ์ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เกี่ยวอะไรเลยกับลิขสิทธิ์เลย ในจำนวนนี้ 57% เป็นเรื่องการพยายามปิดปากคู่แข่ง นี่ขนาดแค่เนื้อหาลิขสิทธิ์เท่านั้นยังมีปัญหามากมาย หากผู้ให้บริการต้องตีความว่าอะไรบิดเบือนยิ่งยากขึ้นมากและเป็นแรงจูงใจที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างมาก ต้นทุนก็จะสูงขึ้นเพราะต้องมีคนมาดูแลตรงนี้ ถ้ามั่นใจว่าสิ่งที่มีคนร้องมานั้นไม่ผิด จะไม่ปิดกั้นก็อาจต้องเตรียมตัวสู้คดี

-          มาตรา 20   อยากให้สื่อและประชาชนช่วยติดตามดูในกฎกระทรวง ซึ่งมีร่างประกาศบอกว่า เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือแพร่หลายข้อมูล ห้พนักงานเจ้าหน้าที่ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลนั้นเอง และเชื่อมโยงกับระบบของผู้ให้บริการได้เองด้วย มันฟังดูเหมือนเขากดเองได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าจะไม่กระทบกับข้อมูลส่วนอื่นของผู้ให้บริการ

-          ยังมีคำว่า “ให้ดำเนินการทางเทคนิคใดๆ ที่ได้มาตรฐานและเกิดผลตามคำสั่งศาล” ปัจจุบันเว็บหลายเว็บมีการเข้ารหัสให้เป็นมาตรฐานสากลในเรื่องความเป็นส่วนตัว ถ้าเขาดำเนินการเช่นนั้นตามปกติแล้วต้องเจอด่านที่เข้ารหัส “มาตรการทางเทคนิคใดๆ” ที่ทำให้ปิดกั้นได้สำเร็จได้นั้นมันคืออะไร

-          อีกประเด็นที่สำคัญมาก คือ ต้นปีที่แล้วมีชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตัล เป็นแพ็คเกจ 10 ฉบับ ตอนนี้แยกส่วนออกมา ระยะ 1-2 เดือนข้างหน้าจะมีกฎหมายในชุดเดิมทยอยเข้า สนช. คือ ความมั่นคงไซเบอร์ และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งดูเหมือนจะดำเนินแนวทางสวนทางกับชื่อกฎหมาย ยังไม่นับรวม พ.ร.บ. กสทช. ซึ่งเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อมวลชยโดยตรง

-          สุดท้ายคงต้องตั้งคำถามว่าเราอยากเห็นสังคมออนไลน์แบบนไหน เช่น อยากให้คนคิดเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ มันไม่มีทางเกิดได้ในสังคมที่เรายกอำนาจให้การตัดสินความจริง การบิดเบือน ข้อเท็จจริง ให้ศาลหรือกลุ่มบุคคลตัดสิน แม้แต่วิทยาศาสตร์ยังไม่มีความจริงสัมบูรณ์นับประสาอะไรกับโลกออนไลน์

ฐิติรัตน์: หลักการเขียนกฎหมายทั่วโลกไม่ใช้คำกำกวม

-          จะพูดถึงเนื้อหาและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขกฎหมาย โดยส่วนตัวเข้าใจในเจตนาดีที่ของเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานอธิบายว่าพยายามแก้ในข้อที่เป็นปัญหาเดิม เช่น ม.14 แต่ภาคประชาชนก็มีคำถามว่าแก้ได้จริงหรือเปล่า

-          ประเด็นที่พูดกันมากคือ เทคนิคการฟ้องแบบไม่เอาผล แต่เป็นการฟ้องเพื่อต้องการให้หยุดการกระทำใดๆ หรือที่เรียกว่า “ปิดปาก” ผู้วิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นปัญหาของฉบับเดิม แต่ฉบับแก้ไขนี้นอกจากปัญหานี้จะไม่หมดไปแล้วยังอาจเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น เช่น การเพิ่มคำว่า “บิดเบือน” อีกทั้งวิธีการที่ภาครัฐบอกว่าเป็น “การสร้างสมดุล” นั้นสะท้อนผ่านการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเนื้อหา 9 คน ในจำนวนนี้ให้ตัวแทนฝ่ายสื่อและฝ่ายสิทธิมนุษยชน 3 คน และการโหวตใช้เสียงข้างมาก อย่างไร 3 คนก็ไม่มีสิทธิชนะ   

-          การสร้างสมดุลในกฎหมายนั้นเป็นปัญหาโลกแตกของทุกที่ เถียงกันไม่จบไม่สิ้น แต่สิ่งที่เขาพยายามให้รัฐบาลทำคือ การลดใช้คำที่กำกวมลงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และอย่าคิดว่าการให้กลุ่มบุคคลหรือศาลกลั่นกรองจะทำให้คำนั้นชัดเจน เพราะสุดท้ายก็อาศัยดุลยพินิจของคนกลุ่มหนึ่งอยู่ดี

-          ที่อยากชวนคิดกันต่อ โลกอินเตอร์เน็ตเสรีมากและรัฐอาจต้องการควบคุมบางประการ คำถามคือ กฎหมายควรทำหน้าที่อะไรบ้าง ควรชี้นำ ควรคิดแทนเลยหรือเปล่า ส่วนตัวขอเสนอว่า กฎหมายไม่ควรจะควบคุมอินเตอร์เน็ตมากไป เพราะอาจบังคับใช้ไม่ได้ถ้าตีกรอบมากขนาดนั้นหรือไม่สะท้อนความคิดของสังคมจริงๆ เช่น การที่ทุกคนต้องลบข้อมูลที่ศาลสั่งว่าเป็นข้อมูลเท็จมันเป็นไปไม่ได้ มันจะกลายว่าคนไม่เชื่อกฎหมาย และพอจะกำกับมากเกินไปก็เป็นการให้ดุลยพินิจกับเจ้าหน้าที่อาจนำไปสู่การ abuse of power สุดท้าย มันจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของวิจารณญาณของคนในสังคมเอง

อังคณา:  กสม.เสนอข้อกังวลต่อ สนช.แล้วหลายรอบ

-          เห็นด้วยที่จะต้องปรับปรุงพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 แต่หลักการสำคัญต้องดำรงอยู่คือการเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เกิดผลกระทบต่อสังคมหรือผู้อื่น

-          กสม. มีการทำข้อห่วงกังวลกับ สนช.หลายมาตรา เช่น การกำหนดความผิดการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ การกำหนดว่าอะไร จริง หรือ เท็จ ไม่มั่นใจว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาจะวินิจฉัยได้อย่างมีคุณภาพ เช่น รายงานการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เราจะสามารถพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ได้อย่างไร (ในเมื่อผู้ถูกกล่าวหาและผู้มีอำนาจในการปิดกั้นข้อมูลคือรัฐเอง)

-          ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองฯ  ICCPR การออกกฎหมายใดๆ ในการจำกัดสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือการแสดงออกโดยอาศัยความมั่นคงแม้เป็นสิ่งที่รัฐกระทำได้แต่ต้องไม่อ้างอย่างกว้างขวางและกระทบสิทธิบุคคลเกินสมควร ป้องกันไม่ให้รัฐใช้อำนาจเกินขอบเขต แต่สนช.ผ่านกฎหมายที่มีคำ “ความมั่นคง” อยู่ฉบับ แม้แต่พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศก็ให้เลือกปฏิบัติได้โดยอ้างความมั่นคงของชาติ เรียกว่าตีความอย่างกว้างขวางมาก เปิดโอกาสให้ตีความ “อย่างไร้ขอบเขต”

-          ตัวอย่างคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้น ในฐานะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองฯ มีชาวบ้านหลายพื้นที่ถูกฟ้องโดยกฎหมายนี้จากเจ้าหน้าที่และเอกชนอย่างไม่เป็นธรรม  

อรพิณ:  ไทยผู้นำเทรนด์ภูมิภาค เรื่องเสรีภาพ(ที่ลดลง)  

-          ประเทศไทยนำเทรนด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พอสมควร เป็นประเทศแรกๆ ที่มีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เพิ่งทยอยมีเมื่อ 4-5 ปีให้หลังนี้เอง

-          พ.ร.บ.คอมออกแต่ละครั้งก็เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ และล้วนปรากฏในยุครัฐบาลทหารตลอด ส่งผลต่อการจัดอันดับเสรีภาพที่ไทยเคยอยู่ในกลุ่มมีเสรีภาพจนมาอยู่ในกลุ่มไม่มีเสรีภาพ  ขณะที่กฎหมายเข้มงวดขึ้น ภาคประชาสังคมกลับอ่อนแอลง สื่อมวลชนก็แยกออกจากการเคลื่อนไหวออกจากประชาชน ไม่เหมือนกระแสช่วงปฏิรูปสื่อเมื่อปี 2540 ที่สื่อและภาคประชาสังคมเป็นเนื้อเดียวกันในการผลักดันวาระนี้ ตอนนี้สมาคมสื่อค่อนข้างพึงพอใจกับร่างนี้ แต่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมองต่างออกไป

-          ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ มาตรา14  โดยเฉพาะคำว่าข้อมูลเท็จ ในฐานะที่ไม่ใช่นักกฎหมายเกิดข้อสงสัยว่า จำเป็นไหมที่คนต้องถูกห้ามพูดเรื่องโกหก มันอาจเป็นเรื่องไม่ดี แต่เราจำเป็นต้องใช้กลไกกฎหมายในการเอาคนเข้าคุกด้วยโทษหนักขนาดนี้หรือเปล่า

-          เมื่อดูกฎหมายเพื่อนบ้าน ทุกประเทศค่อนข้างย้ำเรื่อง ความมั่นคงการก่อการร้าย วิธีการเขียนต่างกันไป แต่ไทยย้ำเรื่องข้อมูลเท็จ โดยมีลาวและเวียดนามอีกสองประเทศที่เขียนคล้ายๆ กัน ของลาวใช้คำว่า “ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง”

-          เนื่องจากคนใช้เทคโนโลยีมากขึ้น รัฐแต่ละรัฐก็จะหันมาตรวจตราข้อมูลในโลกออนไลน์มากขึ้น หลายประเทศยังมีกลไกที่จะปิดกั้นข้อมูลในออนไลน์ ยกเว้นฟิลิปปินส์ ข้อสังเกตคือ เวลาที่เราคุยกันเรื่องพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลายครั้งมีตัวอย่างที่ทีมที่เกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมายหยิบยกมาพูดและมองว่ามันไม่กระทบกับเสรีภาพในการแสดงออกและสื่อ แต่ถ้าดูภาพรวมในเรื่องคดีทั้งไทยและภูมิภาคก็ใช้กฎหมายลักษณะนี้ในจัดการปิดปากกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐเป็นหลัก และแม้ท้ายที่สุดแม้ผู้วิจารณ์จะชนะคดีแต่ แต่ต้นทุนของการต้องสู้คดีมันสูงมาก สำหรับคนที่มีฐานะทางสังคม สื่อมวลชนมีสังกัดอาจสามารถจ่ายทั้งเงินทั้งเวลาได้ แต่กับคนธรรมดาอาจลำบากและจะนำไปสู่การ self censor มากขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images