Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

กสท. ถกลงดาบ Z Pay TV เข้าข่ายละเมิดสัญญา เอาเปรียบผู้บริโภค

$
0
0
7 ก.พ. 2559 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 5/59 วันจันทร์ที่ 8 ก.พ. นี้ มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ การพิจารณามาตรการทางปกครองบริษัทไทยทีวีจำกัด หลังมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต ช่อง MVTV Family และช่องไทยทีวี กรณีเพิกเฉยไม่ชำระค่าธรรมเนียมค่าประมูลคลื่นความถี่และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. เป็นต้นไป หลังครบกำหนดแล้วจะมีการดำเนินการแจ้งเพิกถอนใบอนุญาต และชำระค่าธรรมเนียม ภายใน 30 วันนับแต่ที่ได้รับคำสั่ง มิฉะนั้นจะใช้สิทธิตามกฎหมายเรียกให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ผู้ค้ำประกันชำระเงินค่าธรรมเนียมที่ค้างชำระแทนบริษัทต่อไป รวมทั้งดำเนินการแจ้งโครงข่ายต่างๆที่นำสัญญาณช่องออกไปเผยแพร่ตามกฎ Must Carry หรือตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปยุติออกอากาศ รวมทั้งประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลตามกฎหมายต่อไป ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ในแง่กฎหมายตอนนี้ถ้าผู้รับอนุญาตไม่สามารถจ่ายเงินค่าประมูล กสท. ก็คงต้องเพิกถอนใบอนุญาตยังไม่สามารถช่วยอย่างอื่นใด แต่อย่างไรก็ตามตนเองเชื่อว่า ถ้า กสทช. เร่งทำงานแก้ปัญหาเช่นเรื่องของการกำกับราคาค่าเช่าโครงข่ายหรือการแจกคูปองให้ครบ 22 ล้านครัวเรือนและการส่งเสริมการประกอบกิจการอื่นเช่นเรื่องการวัดเรตติ้งทางเลือกใหม่ก็จะช่วยทำให้สถานการณ์ของทีวีดิจิตอลรายใหม่เป็นไปได้ดีขึ้น
 
“ขณะนี้มีข่าวลือมากว่ามีช่องอื่นๆล้มหายตายจากไปไม่รอด ส่วนตัวที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการรายใหม่ ส่วนใหญ่บอกว่ายังสู้ ยังไหวอยู่ยังไม่ถอดใจเพียงแต่ต้องการเรียกร้องให้ กสทช.เร่งทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ในเรื่องต่างๆให้ครบถ้วนโดยเร็วที่สุด ก็น่าจะสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ เมื่อการแข่งขันเข้มข้นรุนแรงขึ้นการกำกับดูแลก็ต้องเป็นธรรม ให้มากขึ้นด้วยรายใหม่ถึงจะแข่งขันกับรายเก่าได้ ส่วนช่องที่ยังเรตติ้งน้อยอยู่ คงต้องยกระดับเนื้อหาให้ตรงกับใจผู้บริโภคมากขึ้น ยุคนี้คนดูฉลาดและมีทางเลือกมากขึ้น คนสร้างสรรค์ทีวีก็จะต้องทำงานหนักขึ้น ก็ขอให้กำลังใจทุกรายเดินหน้าต่อไปได้ราบรื่น และ กสทช. ก็ควรจะเร่งทำตามสัญญาในทุกๆเรื่อง สถานการณ์หลายอย่างก็น่าจะดีขึ้น” สุภิญญากล่าว
 
ส่วนวาระบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด แจ้งเปลี่ยนระบบการให้บริการแพ็กเกจ Z Pay TV ทางกล่องรับสัญญาณ GMMz วันที่ 6 ก.พ. 59 และไม่สามารถเติมช่องรายการได้ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. แล้วนั้น สำนักงาน กสทช.  ได้เสนอวาระ กรณีมีการยกเลิก ZPay TV ในกล่อง GMMz   ซึ่งเป็นความผิดร่วมของทั้งบริษัทจีเอ็มเอ็มแซท จำกัด  และบริษัทจีเอ็มเอ็มบี จำกัด   เนื่องจากบริษัทจีเอ็มเอ็มแซท เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายไม่ได้แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนบริษัทจีเอ็มเอ็มบี จำกัด ไม่ได้แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบว่าไม่สามารถซื้อแพ็กเกจเพื่อเป็นสมาชิกรับชมรายการดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 59 เป็นระยะเวลาที่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งการกระทำของทั้ง 2 บริษัท เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 15 วรรคแรก ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่บริษัทฯ ได้ตกลงไว้กับผู้ใช้บริการ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ตามข้อ 5(7) ของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ดังนั้นบริษัทฯ ต้องดำเนินการจัดทำมาตรการที่เหมาะสมตามข้อ15   วรรคสอง ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 ซึ่งจะต้องไม่ให้ผู้ใช้บริการต้องรับภาระเพิ่มขึ้น ซึ่งในการประชุมจะมีการถกกันในเรื่องนี้ต่อไป ส่วนวาระอื่นๆ น่าจับตา ได้แก่ การพิจารณาการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกระบบ MMDS ของ บริษัท อสมท. จำกัด(มหาชน)กับคู่สัญญา โดยสามารถติดตามผลการประชุมในวันจันทร์นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอแนะปฏิรูปการบริหารทุนการศึกษา

$
0
0
ทีดีอาร์ไอชี้ปัญหาหนีทุนการศึกษาเป็นเพียงส่วนเดียวของปัญหาทั้งหมด แนะรัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการนักเรียนทุนทั้งระบบโดยบริหารแบบรวมศูนย์ผ่านคณะกรรมการระดับชาติและตั้งเป้าหมายในการให้ทุนที่ชัดเจน

 
7 ก.พ. 2559 กรณีที่อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลรายหนึ่งซึ่งได้ทุนรัฐบาลเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ไม่ยอมกลับมาชดใช้ทุนและทำให้ผู้ที่ค้ำประกันต้องชดใช้ทุนแทน เป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจกันมาก และหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการนักเรียนทุนรัฐบาลนั้น
 
ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าปัญหาหนีทุนการศึกษาเป็นเพียงส่วนเดียวของปัญหาทั้งหมด โดยความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการนักเรียนทุนรัฐบาลมีสาเหตุสำคัญ3 ประการ
 
ประการแรก ทิศทางการพัฒนาประเทศไทยไม่ชัดเจนพอแม้ว่าประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่แผนพัฒนาฯ เป็นเพียงกรอบกว้างๆ ทำให้ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายการพัฒนากำลังคนที่ชัดเจนได้ นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่มีนโยบายอุตสาหกรรมที่ชัดเจนซึ่งแตกต่างจากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งทำให้การวางแผนกำลังคน รวมถึงการให้ทุนการศึกษาทำได้ยาก
 
ประการที่สอง รัฐขาดข้อมูลที่สำคัญในการบริหารจัดการทุนการศึกษาที่สำคัญคือการขาดข้อมูลความต้องการกำลังคนที่ต้องการในอนาคตในแต่ละสาขาและยังขาดระบบในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานให้ทุนที่จัดทำอย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอ
 
ประการที่สาม การบริหารจัดการทุนอยู่ภายใต้หลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ซึ่งจัดสรรทุนตามความต้องการของส่วนราชการ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งจัดสรรทุนสำหรับบุคลากรในมหาวิทยาลัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งจัดสรรทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งจัดสรรทุนการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจัดสรรทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยหน่วยงานเหล่านี้มีลักษณะการทำงานแบบแยกกันทำ และไม่มีการประสานงานกัน 
 
สาเหตุดังกล่าวทำให้การบริหารจัดการทุนการศึกษาไม่มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดความสูญเปล่ามากมายจากทั้งความซ้ำซ้อนและความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการของหน่วยงานและสาขาที่นักเรียนทุนไปเรียนต่อ ทำให้มีนักเรียนทุนหลายคนที่จบกลับมาแล้วแต่ยังไม่ถูกบรรจุเข้าทำงาน หรือมีผู้สละทุนการศึกษาเพื่อไปเรียนสาขาอื่น เช่น แพทย์ศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ตลอดจนมีการแย่งชิงผู้สมัครทุนระหว่างหน่วยงานให้ทุนต่างๆ 
 
ที่สำคัญ การขาดกลไกการติดตามผู้รับทุนที่มีประสิทธิภาพและขาดการประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ นักเรียนทุนบางส่วนใช้ระยะเวลาในการศึกษานานเกินกว่าที่ควรจะเป็น เช่น จากข้อมูลของ สกอ. ซึ่งรายงานโดยสำนักข่าวอิศราพบว่า โครงการทุนพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลน 16 สาขาในระดับการศึกษาปริญญาโทและเอก ของ สกอ. ในระหว่างปี 2535-2548มีผู้รับทุนถึง5,342 คน แต่มีผู้ที่เรียนจบเพียง3,835 คน ทั้งที่ผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งสะท้อนว่านักเรียนทุนเกือบร้อยละ 30 ใช้เวลาในการศึกษานานกว่า10 ปี หรือโครงการทุน พสวท. ในระหว่างปี 2527-2556 มีจำนวนผู้รับทุนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปริญญาตรี โท และเอก ในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาทั้งสิ้น 4,488 คน แต่มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้วเพียง1,110 คน หรือเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น
 
นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ปัญหาสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งในการให้ทุนการศึกษาของประเทศไทยคือ การไม่มีแผนอย่างชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากผู้สำเร็จการศึกษา จึงส่งผลให้การจัดสรรทุนมีลักษณะกระจัดกระจายมาก เช่น ในปี 2559 มีการส่งนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ไปศึกษาด้านระบบรางจำนวนเกือบ 50 ทุน โดยกระจายไปในมหาวิทยาลัยต่างๆ มากกว่า 15 แห่งในทุกภูมิภาคทำให้ยากที่ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแตกต่างจากสิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ที่มีการกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพในแต่ละด้านอย่างชัดเจน เช่น การต่อเรือ หรือเทคโนโลยีชีวภาพ ก่อนสนับสนุนให้หน่วยงานเหล่านั้นส่งนักเรียนทุนไปศึกษาต่อ
 
ในสภาวะปัจจุบันที่ประเทศไทยเสี่ยงที่จะติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีจากนี้ การปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการนักเรียนทุนเพื่อเร่งรัดการพัฒนาประเทศจึงมีความสำคัญยิ่ง โดยควรปรับปรุงการบริหารการจัดสรรทุนการศึกษาให้เป็นระบบรวมศูนย์ภายใต้คณะกรรมการระดับชาติ และควรวางกลไกในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเป็นระบบอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเปล่าของงบประมาณแผ่นดิน
 
ที่สำคัญ การวางแผนการจัดส่งนักเรียนทุนควรอยู่บนพื้นฐานของการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีความเป็นเลิศในสาขาเฉพาะแต่ละด้าน เช่น ให้มหาวิทยาลัยในภาคใต้พัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา หรือมหาวิทยาลัยที่เน้นด้านโลจิสติกส์เป็นเจ้าภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ของประเทศหรือท้องถิ่น แทนที่จะเกลี่ยทุนไปหลายแห่งจนทำให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไม่สามารถพัฒนาความเป็นเลิศเฉพาะทางขึ้นมาได้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พนักงานเชียร์เบียร์กัมพูชาประท้วงร้องสิทธิการจ้างงานมั่นคง

$
0
0

อดีตพนักงานเสิร์ฟและเชียร์เบียร์ยี่ห้อ Angkor ออกมาประท้วงบริษัท Cambrew (ที่มาภาพ: IUF)

4 ก.พ. 2559 พนักงานหญิง 11 คนได้ออกมาประท้วงบริษัท Cambrew ผู้ผลิตเบียร์ท้องถิ่นของกัมพูชา ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนของเบียร์ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอย่างบริษัท Carlsberg ว่าให้ปรับปรุงการจ้างงานที่มีระยะสั้น ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน รวมทั้งสภาพการจ้างงานอื่น ๆ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา โดยพนักงานหญิงเหล่านี้เป็นพนักงานเสิร์ฟและเชียร์เบียร์ยี่ห้อ Angkor ซึ่งเป็นเบียร์ของบริษัท Cambrew

ทั้งนี้ 11 คนยังเป็นสมาชิกของสหพันธ์แรงงานภาคอาหารและบริการกัมพูชา หรือ CFSWF และยังเป็นสมาชิกของสมาคมสหภาพแรงงานอาหาร เกษตรกรรม โรงแรม ภัตตาคาร การบริการอาหาร ยาสูบและแรงงานพันธมิตรระหว่างประเทศ หรือ IUF อันเป็นองค์กรแรงงานระดับนานาชาติอีกด้วย

อนึ่งในรายงาน Cambodian Women Beer Sellersของ Michelle Green และ Ian Lubek ที่ทำการสำรวจสภาพการทำงานของพนักงานเชียร์เบียร์ในกัมพูชาจำนวน 900 คน เมื่อปี 2552 ได้ระบุว่าพนักงานเชียร์เบียร์เหล่านี้มีรายได้ไม่พอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และกว่าร้อยละ 57 ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับขายบริการทางเพศ นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 37 ของพนักงานเชียร์เบียร์ไม่ได้ให้การอบรมด้านสุขภาพหลังจากที่เริ่มทำงาน และส่วนใหญ่พวกเธอยังต้องดื่มเบียร์ควบคู่ไปด้วยเฉลี่ยวันละ 1.5 ลิตรต่อคืน

 

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก

http://www.iuf.org/cgi-bin/campaigns/show_campaign.cgi?c=976

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช. ใช้ ม.44 สั่งยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวน

$
0
0
7 ก.พ. 2559 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่าเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่ง คสช.ที่ 6/2559 ลงวันที่ 5 ก.พ. 2559 เรื่องการคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยให้หนังสือคำสั่งดังกล่าวระบุว่า "โดยในการคัดเลือกและการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในช่วงระยะที่ผ่านมาได้ ดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ประกาศ และคำสั่งหลายฉบับ ซึ่งต่างมีขบวนการและขั้นตอนที่แตกต่างกัน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อันจะส่งผลต่อการปฏิบัติงานในอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พุทธศักราช พ.ศ.2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
 
ข้อ 1 ให้บรรดาการคัดเลือกหรือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ตามพ.ร.บ.พ.ศ.2547 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 จนถึงวันที่คำสั่งมีผลบังคับ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อ 2 คำสั่งให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า พล.อ. ประยุทธ์ยังได้มีคำสั่ง คสช.ที่ 7/2559 ลงวันที่ 5 ก.พ. 2559 เรื่องการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน ในคำสั่งดังกล่าวสรุปได้ว่า 1.คำสั่งนี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษา (ประกาศ 5 ก.พ.59 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 20 ก.พ.59 เป็นต้นไปตามข้อ 11 )
 
2. ให้ยุบตำแหน่งพนักงานสอบ สวน-พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ให้ดำรงตำแหน่ง รอง สว. - ผบก. ตามมาตรา 44 (6)-(11) (ตามข้อ 2) 3.ให้ตำแหน่งพนักงานสอบสวน-พนักงานสอบสวน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ตามมาตรา 44 เดิมนั้น ให้เป็นตำแหน่ง รอง สว. - ผบก. แล้วแต่กรณี (ข้อ 9 วรรคแรก) 4.ผู้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน-พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ตามมาตรา 44 เดิมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง รอง สว. - ผบก. ในสังกัดเดิม และให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจและหน้าที่เช่นเดิมไปพลางก่อน (ข้อ 9 วรรคสอง)
 
5. ให้ ก.ตร.กำหนดหรือตัดโอนตำแหน่ง ตามข้อ 3 จากส่วนราชการหนึ่งไปเพิ่มให้อีกส่วนราชการหนึ่งของ ตร. และให้ผบ.ตร.เป็นผู้สั่งแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่ง รอง สว. - ผบก. ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ 20 ก.พ.59 เป็นต้นไป และยังคงให้ได้รับเงิน ตพส. จนกว่าการดำเนินการแต่งตั้งจะแล้วเสร็จ (ข้อ 9 วรรคสาม) 6.ให้ผู้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน-พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ตามมาตรา 44 เดิมนั้น ให้ได้รับเงินเพิ่ม ตพส.จนกว่าการแต่งตั้งจะแล้วเสร็จ (ข้อ 9 วรรคสี่) 7.ให้ผู้ดำรงตำแหน่ง รอง สว. - รอง ผกก. ที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวน ได้รับเงิน ตพส. ตามระเบียบที่ก.ตร. (หมายถึง ให้ผู้ดำรงตำแหน่ง พงส. - พงส.ผนพ.เดิม ยังคงได้รับเงิน ตพส.ต่อไป ตราบใดที่ ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนอยู่) (ข้อ 4) 8.ในบรรดากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติ ครม. ที่อ้างถึง พงส./พงส.ผนก./พงส.ผนพ. ให้ถือว่า อ้างถึงผู้ซึ่งดำรงตำแหน่ง รอง ผกก. - รอง สว. ที่มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนและอยู่ในสายงานสอบสวน (หมายถึง พงส. - พงส.ผนพ. ยังเป็นพนัก งานสอบสวนอยู่เช่นเดิม)
 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จะตัดโอนตำแหน่ง ผทค.ผชช. ไปเป็นตำแหน่ง ผกก.นิติกร, รอง ผบก.นิติกร ประจำ บก., บช. แล้วแต่กรณี พร้อมทั้งให้ทุก สภ. สน.กลุ่มงานสอบสวนฯ จะให้มีเพียง พงส.(รอง สว.) - พงส.ผนพ.(รอง ผกก.) เท่านั้น และให้ พงส.ผนพ.อาวุโส (รอง ผกก.อาวุโส) เป็น หน.งานสอบสวน
 
ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสือคำสั่งบันทึก เลขที่ 0009.231/19 ลงวันที่ 5 ก.พ. 2559 เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ถึง ผู้บัญชาการหรือตำแหน่งเทียบเท่า, ผู้บังคับการ หรือตำแหน่งเทียบเท่า ในสังกัดสำนักงาน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ "ตามหนังสือ ตร.0009.231/ว 6 ลงวันที่ 28 ม.ค. แจ้งแนวทางการแต่งตั้งใน 26 ก.พ. 2559 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มี.ค. 2559 โดยพร้อมกันนั้น
 
เนื่องจากหัวหน้า คสช.ได้มีคำสั่ง คสช.ที่ 7/2559 ลง 5 ก.พ. 2559 เรื่องการกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน อันส่งผลให้ตำแหน่งพนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเพื่อให้การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ สว. ถึงระดับ รอง ผบก. ในวาระการแต่งตั้งประจำปี 2558 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและตรงตามเจตนารมณ์ของ คำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าวข้างต้น
 
จึงให้ดำเนินการดังนี้ 1.ให้ทุกหน่วยชะลอการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ สว. ถึงระดับ รอง ผบก. ในวาระการแต่งตั้งประจำปี 2558 ไปก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ยกเว้นการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนที่ผ่านการทดสอบเพื่อเลื่อนขึ้น ในตำแหน่งที่สูงขึ้นประจำปี 2558 และเกี่ยวพัน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่คำสั่งหัวหน้า คสช.จะมีผลบังคับใช้ข้อ 2 ให้สำนักงานกำลังพล เป็นเจ้าของเรื่องรับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว พร้อมจัดประชุมเพื่อซักซ้อมแนวทางปฏิบัติให้ทุกหน่วยได้ทราบต่อไป จึงแจ้งมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด" หนังสือดังกล่าวระบุ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หวังดัน G-News แจ้งข่าวภาครัฐ ลดข่าวลือโซเชียลมีเดีย

$
0
0
'สรรเสริญ' ระบุ 'ประยุทธ์'  จี้ไอซีทีผลักดัน 'G-News' แอพลิเคชั่นแจ้งข้อมูลข่าวสารภาครัฐ  ข่าวการลงทุน การเตือนภัย หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐ ลดปัญหาข่าวลือผ่านโซเชียลมีเดีย

 
สำนักข่าวไทยรายงานว่าเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมาพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ผลักดันบริการใหม่ภายใต้ GovChannel หรือศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชน ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะระบบภาษีไปไหน เพื่อรายงานข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน G-News ให้ดียิ่งขึ้น
 
“ระบบภาษีไปไหน เป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย ที่รัฐบาลจะให้ข้อมูลการใช้จ่ายเงินของภาครัฐในหลายรูปแบบ ทั้งการกระจายตัวของงบประมาณลงถึงระดับตำบล และภาพรวมในแต่ละปี พื้นที่โครงการก่อสร้างภาครัฐ อันดับการใช้จ่ายงบประมาณของแต่ละหน่วยงานที่อัพเดททุกเดือน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมั่นใจว่า เงินภาษีทุกบาทที่เสียไป จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างเหมาะสม และตรวจสอบได้ทุกที่ ทุกเวลา” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
 
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วน G-News เป็นแอพลิเคชั่นแจ้งข้อมูลข่าวสารภาครัฐ ทั้งข่าวสารประจำวันทั่วไป ข่าวภาครัฐ ข่าวการลงทุน และข่าวเด่น การเตือนภัยแล้ง ภัยหนาว น้ำท่วม ฝนตก หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมไปถึงการแจ้งเตือนรายบุคคล เช่น การชำระค่าน้ำค่าไฟ การต่อภาษีรถยนต์ บัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือการเสียภาษี
 
“เชื่อว่า G-News จะช่วยลดปัญหาข่าวลือผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะเป็นข้อมูลส่งตรงจากภาครัฐ ที่ทุกคนสามารถเลือกรับเฉพาะข้อมูลที่สนใจ หรือเฉพาะพื้นที่ที่อาศัยอยู่ได้ โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลด G-News ได้แล้ววันนี้ เพียงค้นหา G-News ได้ที่ศูนย์กลางแอพลิเคชั่นภาครัฐ (GAC) หรือทาง Google play เพื่อติดตั้งพร้อมใช้งานได้ทันที” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
 
พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงภาครัฐกับประชาชนเข้าด้วยกัน คนไทยจะได้เรียนรู้ แก้ไขปัญหา และเติบโตไปพร้อม ๆ กับรัฐบาล และกำชับให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วย หมั่นตรวจสอบและบรรจุข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ ทันสมัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตน ลงใน G-news อยู่เสมอ ตลอดจนเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถสอบถามหรือให้ข้อเสนอแนะได้โดยตรง ใช้ภาษาที่สื่อสารเข้าใจง่าย และติดตามประเมินผลการใช้งานอย่างต่อเนื่อง
 
“นายกฯ จะเป็นประธานเปิดตัวระบบภาษีไปไหนในเร็ว ๆ นี้ จึงขอให้พี่น้องประชาชนได้ติดตาม เพราะจะเป็นมิติใหม่ของประเทศไทยในการให้ข้อมูลภาครัฐที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล มติ คตช. และภาคีสมาชิกความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (OGP) ในการสร้างความโปร่งใส ให้อำนาจประชาชน ต่อต้านการทุจริต และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.ท่องเที่ยวสั่งปลัดแจงงบ 1.8 ล้าน ต้อนรับนายกประชุม

$
0
0
รมว.ท่องเที่ยวสั่งปลัดแจงใช้งบ 1.8 ล้านบาท ต้อนรับนายกประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ด้านผู้ตรวจการแผ่นดินพร้อมตรวจสอบหากประชาชนสงสัย

 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ได้มีข้อสั่งการถามรายละเอียดข้อเท็จจริงไปยังนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอย่างเร่งด่วน หลังมีข่าวว่ากระทรวงท่องเที่ยวใช้งบประมาณ 1.8 ล้านบาทในการจัดเตรียมสถานที่เพื่อต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงที่กระทรวงท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา เนื่องจากหน้าที่การจัดเตรียมสถานที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงโดยตรง
 
นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้รับการชี้แจงคือ การดำเนินโครงการจัดประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า โดยจ้างออแกไนซ์จากเหตุผลความจำเป็นในการจ้าง มี 3 ข้อคือ
 
1. เนื่องจากการประชุมครั้งนี้ มีผู้มาร่วมงานจำนวน 580 คน ในขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสามารถรับผู้เข้าร่วมประชุมได้สูงสุดเพียง 250 คน (ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้บริหารระดับกระทรวง ผู้ติดตามหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ผู้จัดประชุม สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและจราจร รวมถึงพนักงานขับรถยนต์ เป็นต้น)
 
2. ข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ซึ่งมีขนาดค่อนข้างคับแคบและจำเป็นต้องปรับห้องประชุมให้มีความเหมาะสมกับจำนวนผู้เข้าประชุม ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง จึงต้องมีการปรับเรื่องที่นั่ง เครื่องฉายภาพและเครื่องเสียง รวมทั้ง ไมโครโฟนให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและเพียงพอ
 
3. ข้อจำกัดด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งมีจำนวนน้อยและอาจมีความเชี่ยวชาญไม่เพียงพอในการจัดเตรียมอาหาร และการบริการ รวมทั้ง ขาดบุคลากรทางด้านช่างที่จะปรับสถานที่ให้เหมาะสม การตกแต่ง เป็นต้น
 
ข้อจำกัดดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้รับผิดชอบต้องบริหารงานให้การประชุมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และไม่ให้เกิดข้อบกพร่อง และเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม จึงมีความจำเป็นในการจัดจ้างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อเข้ามาจัดเตรียมการประชุมเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย
 
นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า ได้สอบถามว่ามีการใช้งบประมาณจำนวนเท่าไร ซึ่งปลัดกระทรวงได้ชี้แจงว่า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประชุมหัวหน้าส่วนราชการฯ ในครั้งนี้ เป็นวงเงินไม่เกิน 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ประกอบด้วย การจัดวางผังพื้นที่และตกแต่งสถานที่ จัดเตรียมเต็นท์ และการต้อนรับด้วยกิจกรรมต่างๆ รวมทั้ง จัดทำวีดีทัศน์ผลการดำเนินงานกระทรวง จัดเตรียมห้องประชุมให้มีความเหมาะสมกับจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม การบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว และอาหารรับรองรวมทั้งบริกรเสิร์ฟอาหาร เป็นต้น ซึ่งการจัดจ้างได้ดำเนินการสืบราคากลางจากงานจ้างเดิมและราคาท้องตลาดตามระเบียบพัสดุเรียบร้อยแล้ว โดยระบุด้วยการดำเนินการในการจัดเตรียมงานในครั้งนี้ ได้คำนึงถึงเหตุผลความจำเป็นและความคุ้มค่า ประหยัดเพื่อให้การจัดเตรียมงานดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและประสบความสำเร็จด้วยดี
 
รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้ปลัดกระทรวงฯ ดำเนินการการให้ชี้แจงให้สื่อมวลชนได้ทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องอย่างละเอียดในหลายช่องทาง อย่างไรก็ตาม ได้ให้ข้อท้วงติงไปว่าการใช้จ่ายเพื่อดำเนินการต่างๆ ในส่วนราชการควรเป็นไปอย่างประหยัด คุ้มค่า สูงสุด ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญในเรื่องของการใช้จ่ายภาษีประชาชนของกระทรวงท่องเที่ยวฯ
 
ผู้ตรวจการแผ่นดินพร้อมตรวจสอบหากประชาชนสงสัย
 
มติชนออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมาว่านายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การจัดประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีการประชุมเพียง 4 ชม.แต่กลับมีการทุ่มงบ 1.8 ล้านบาท เพื่อจัดแต่งสถานที่สำหรับการประชุมนั้น ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องดุลยพินิจของคนจัดงาน ส่วนเรื่องจะถูกหรือแพงหรือเรื่องความคุ้มค่านั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจจะมองได้ว่าต้องจัดให้สมเกียรติ สมฐานะนายกรัฐมนตรีหรือไม่ แต่หากประชาชนมีความสงสัยในเรื่องดังกล่าว ก็สามารถร้องเรียนมายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้เข้าไปดูเรื่องนี้ได้ ซึ่งหากมีการตรวจสอบก็จะต้องดูว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องหรือไม่ มีราคาแพงเกินจริงหรือไม่ หรือมีการทุจริตในการจัดงานหรือไม่ รวมถึงดูดุลยพินิจผู้จัดงานด้วย โดยจะต้องเรียกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาชี้แจง และไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้คณะกรรมการตรวจสอบที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาตั้งขึ้นตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อน เพราะผู้ตรวจการสามารถเข้าไปตรวจสอบได้เลยหากมีผู้ร้องเรียน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกาหลีเหนือแถลงยิงจรวดส่งดาวเทียมกวางเมียงซง-4 ประสบความสำเร็จ

$
0
0

ทางการเกาหลีเหนืออ้างว่าประสบความสำเร็จในการยิงจรวด เพื่อส่งดาวเทียมกวางเมียงซง-4 ขึ้นสู่อวกาศ หวังใช้สิทธิสำรวจอวกาศอย่างสันติ ถือเป็นของขวัญจากนักวิทยาศาสตร์ต่อผู้นำสูงสุด คิม จองอึน ขณะที่เกาหลีใต้เชื่อว่าเกาหลีเหนือแอบทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล โดยมีการประชุมฉุกเฉินร่วมกับทูตสหรัฐอเมริกา

ที่มาของภาพ: สถานีโทรทัศน์กลางเกาหลี (KCTV)

7 ก.พ. 2559 - สถานีโทรทัศน์กลางเกาหลี (KCTV) ของทางการเกาหลีเหนือ เผยแพร่คำแถลงของคณะกรรมการเทคโนโลยีอวกาศเกาหลี ของเกาหลีเหนือ ซึ่งระบุว่าประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมกวางเมียงซง-4 (ดาวจรัสแสง 4) ขึ้นสู่วงโคจร โดยการปล่อยดาวเทียมเป็นไปตามแผนปี 2016 ซึ่งวางแผนระยะ 5 ปี ในการพัฒนาการสำรวจอวกาศของประเทศ

โดยหนังสือพิมพ์โรดอง ซินมุน ของพรรคแรงงานเกาหลี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเหนือ ระบุว่า คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือได้ลงนามในคำสั่งปล่อยดาวเทียมกวางเมียงซง-4 (ดาวจรัสแสง 4) ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

คำประกาศยิงจรวดส่งดาวเทียมกวางเมียงซง-4 ทางสถานีโทรทัศน์กลางเกาหลี เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 (KCTV)

ในรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ โรดอง ซินมุนระบุว่า จรวดถูกปล่อยออกจากฐาน ที่ศูนย์อวกาศโซแฮ เมืองโชซาน จังหวัดปยองอันเหนือ เมื่อวันที่ 7 กุมพาพันธ์ เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นเกาหลีเหนือ หรือเวลา 07.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในเวลา 9 นาฬิกา 9 นาที 46 วินาที

ทางการเกาหลีเหนือ ระบุว่า ดาวเทียมกวางเมียงซง-4 มีเครื่องมือและอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารที่จำเป็นในการใช้สำรวจโลก และความสำเร็จในการส่งดาวเทียมกวางเมียงซง-4 เป็นความภาคภูมิใจต่อผลสำเร็จของนโยบายพรรคแรงงานเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับเป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของชาติ รวมทั้งเทคโนโลยี เศรษฐกิจ ความสามารถในการป้องกันประเทศ ด้วยการใช้สิทธิในการใช้พื้นที่อวกาศอย่างเป็นอิสระและสันติ

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า เป็นการปล่อยดาวเทียมก่อนในช่วงของวันดาวจรัสแสง (Day of the Shining Star) ซึ่งเป็นวันหยุดของเกาหลีเหนือเพื่อรำลึกถึงวันเกิดของ คิม จองอิล ผู้นำรุ่น 2 ของเกาหลีเหนือ ตรงกับวันที่ 16 ก.พ. โดยในแถลงการณ์ระบุว่าการปล่อยดาวเทียมนี้เป็นของขวัญโดยเหล่านักวิทยาศาสตร์เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อผู้นำปัจจุบัน คิม จองอึน

ก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือเคยปล่อยจรวด โดยระบุว่าเพื่อปล่อยดาวเทียมกวางเมียงซง-3 (ดาวจรัสแสง-3) เมื่อเดือนเมษายนปี 2555 อย่างไรก็ตามการปล่อยจรวดในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ และเกาหลีเหนือได้ส่งจรวดอีกครั้งเมื่อ 12 ธ.ค. 2555 ที่ผ่านมา (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ด้านปฏิกิริยาของเกาหลีใต้ ระบุว่า การยิงจรวดเพื่อส่งดาวเทียมดังกล่าวเป็นการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล โดยรายงานในสำนักข่าวยอนฮัปอ้างถึงคำแถลงของคณะเสนาธิการร่วม กองทัพเกาหลีใต้ ที่อ้างรายงานจากเรดาร์ของเรือพิฆาตชั้นเอจิส ที่ตรวจพบจรวดของเกาหลีเหนือตั้งแต่เวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นเกาหลีใต้ ซึ่งเร็วกว่าเกาหลีเหนือ 30 นาที และเมื่อตรวจสอบวงโคจรแล้วเชื่อว่าเป็นขีปนาวุธพิสัยไกล โดยทิศทางของจรวดถูกปล่อยทางชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรเกาหลี และมุ่งไปทางทิศใต้ ชิ้นส่วนแรกของจรวดตกในทะเลเหลืองของคาบสมุทรเกาหลีเมื่อเวลา 09.32 น. ตามเวลาท้องถิ่นเกาหลีใต้ โดยชิ้นส่วนท่อนแรกของจรวดระเบิดกลางอากาศและตกกระจัดกระจายราว 270 ชิ้น และในเวลา 4 นาทีภายหลัง จรวจที่ว่าก็หายไปจากเรดาร์ทางทหารของเกาหลีใต้ โดยเลยไปทางเกาะเจจูทางใต้ของเกาหลี โดยทางการเกาหลีใต้ระบุว่าจรวดดังกล่าวผ่านน่านฟ้าของเกาหลีใต้โดยไม่สร้างความเสียหายใดๆ

ทั้งนี้ทางการเกาหลีใต้ระบุว่า เกาหลีเหนือใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง จึงมีการออกคำประกาศภายหลังว่าได้ยิงจรวดส่งดาวเทียมดังกล่าว

ต่อมารัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ฮัน มินคู ได้จัดประชุมฉุกเฉินที่กระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ ร่วมกับมาร์ก ลิปเปิร์ต (Mark Lippert) ทูตสหรัฐอเมริกาประจำเกาหลีใต้ รวมทั้งผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกาประจำเกาหลี (USFK) พล.อ.เคอร์ทิส ซคาร์ปารอตติ (Curtis Scaparrotti)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Soundtrack of Life: มนต์เพลงคสช. จาก 'ขอเวลาอีกไม่นาน' สู่ 'ร่วมมือต่อเติมลมหายใจ'

$
0
0

ตอน มนต์เพลงคสช. จาก 'ขอเวลาอีกไม่นาน' ในเพลงคืนความสุข เมื่อโรดแมปขยาย ก็ปล่อยเพลงใหม่ 'เพราะเธอคือประเทศไทย' ที่ปรับโหมดเป็นขอความ 'ร่วมมือต่อเติมลมหายใจ' กับการสื่อสารที่เรียบง่ายและเน้นถ่ายทอดความรู้สึกเหมือนคนแต่งมานั่งปรับทุกข์กับผู้ฟัง

รายการ Soundtrack of Life ตอนนี้  ‘ดีเจเดน’ และ ‘ปลา’ ได้หยิบยกบทเพลงที่ถูกใช้ในงานรณรงค์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. มาพูดคุยกัน โดยเพลงแรกคือเพลง 'เพราะเธอคือประเทศไทย' ที่แต่งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกฯ ที่พึงเผยแพร่ไปเมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาเป็นของขวัญปีใหม่ โดยมีเนื้อเพลงที่น่าสนใจโดยเฉพาะท่อน

"แต่มีเพียงสองมือกับหนึ่งลมหายใจ 
พลังคงไม่พอจะสร้างฝันให้เป็นไป
แต่หากเราร่วมมือต่อเติมลมหายใจ
วันที่หวังนั้นคงไม่ไกล เพื่อประเทศไทยของทุกคน" 

 

ขณะที่เพลงที่ 2 เป็นเพลงแรกของ คสช. ที่แต่งโดย พล.อ.ประยุทธ์ และถูกเปิดมาอย่างต่อเนื่องคือเพลง 'คืนความสุขให้ประเทศไทย' โดยเฉพาะท่อนฮุกที่ติดหูคือ

"เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา"

โดยเฉพาะท่อน "ขอเวลาอีกไม่นาน" นั้น เปรียบเสมือนคำประกาศต่อประชาชนทุกคนที่ผูกมัดตัว คสช. จนเมื่อ ร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรกถูก สนช.ตีตกไป ทำให้ต้องขายเวลาโรดแมปออกไป จึงเกิดกระแสย้อนกลับมาถาม พล.อ.ประยุทธ์ ในทำนองว่าไหนว่า "ขอเวลาอีกไม่นาน" จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมากล่าวถึงประเด็นการขอเวลาอีกไม่นานจากเนื้อเพลง ‘คืนความสุข’ ที่ตนเองแต่งนั้น ว่า ไม่ได้มีเจตนาดังกล่าว โดยระบุว่าหากมีความสุขแล้วก็สามารถคืนเลยในวันพรุ่งนี้ 

นอกจาก 2 เพลงข้างต้นแล้วในช่วงที่ คสช. ครองอำนาจนี้ยังมีเพลงอื่นๆ อีก เช่น เพลง 'วันพรุ่งนี้' เพลง 'ค่านิยม 12 ประการ' รวมทั้งเพลง 'พลเมืองเป็นใหญ่' ของ กกต. ที่นอกจากมีตัวเพลงแล้วยังมีการประกวดท่าเต้นประกอบเพลงด้วย

สองผู้ดำเนินรายการได้ตั้งข้อสังเกตุว่าเพลงที่แต่งโดย พล.อ.ประยุทธ์ มีความน่าสนใจและแตกต่างจากเพลงทางการเมืองที่ผ่านๆ มา คือการสื่อสารกับผู้ฟังโดยตรง เหมือนปัจเจกกับปัจเจกคุยกัน 

"เป็นเพลงที่ทำออกมาเหมือนกับคนแต่งมานั่งอยู่ตรงหน้าเราแล้วก็พูดอะไรบางอย่างให้เราฟัง เหมือนเป็นการคุยกันส่วนตัว ไม่ได้ใช้ภาษาแบบยิ่งใหญ่อลังการมากมาย" ดีเจเดน กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า มันคือการสื่อสารที่ลดระดับลงมา ใช้ภาษาง่ายๆ ใช้เรื่องราวที่อยู่รอบตัว ใช้ความรู้สึกของคนที่จับต้องได้

"มันดูปัจเจกมาก ฉัน เธอ อะไรอย่างนี้" ปลากล่าวเสริม 

สำหรับเพลง 'เพราะเธอคือประเทศไทย'  ปลา กล่าวด้วยว่า มีเนื้อหาที่แตกต่างจากเพลงคืนความสุขอยู่เช่นกัน เช่นที่บอกว่า "มีเพียงสองมือกับหนึ่งลมหายใจ พลังคงไม่พอจะสร้างฝันให้เป็นไป แต่หากเราร่วมมือต่อเติมลมหายใจ วันที่หวังนั้นคงไม่ไกล" นั้น ปลา มองว่าเป็นเพลงแนวร่วมกันต่อลมหายใจสู่วันที่หวังไว้ โดยไม่มีเรื่อง "ขอเวลาอีกไม่นาน" เหมือนเพลงก่อนหน้า 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปปท.รับเรื่องเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจานแล้ว

$
0
0
เผยพนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐแล้ว ด้านอัยการ จ.เพชรบุรี มีคำสั่งฟ้อง 'ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร' ผู้ต้องหาในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน

 
7 ก.พ. 2559 นายสุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึง กรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งนำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร (หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น) ได้มีการเผาบ้านเรือน เผายุ้งฉางและทรัพย์สิน ของชาวบ้าน เมื่อปี 2554 จนนำมาสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ถึงการละเมิดสิทธิ ทำให้ต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน พื้นที่ทำกิน ซึ่งในขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง
 
จนเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ อายุ 104 ปี ซึ่งเป็นผู้นำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานนีตำรวจภูธรแก่งกระจานว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2554 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ซึ่งเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติในขณะนั้น ได้ร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาจุดไฟเผาหรือร่วมกันจุดไฟเผาบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ยุ้งฉาง และทรัพย์สินจนเสียหายสมเจตนา โดยวันเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมาที่บ้านพร้อมอาวุธปืน สั่งให้ออกจากบ้าน ซึ่งนายโคอิปฏิเสธและบอกว่าไปไหนไม่ได้ เพราะตามองไม่เห็น แต่เจ้าหน้าที่ก็ดึงลากตัวออกจากบ้านไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นำทรัพย์สินมาด้วย มีเพียงเสื้อผ้าชุดเดียวที่สวมใส่เท่านั้น ในวันต่อมาได้ทราบจากลูกหลานว่า เจ้าหน้าที่จุดไฟเผาบ้านเรือน ยุ่งฉาง และทรัพย์สินไปหมดแล้ว ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ เหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 217 และ 218 มีระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี นายโคอิขอร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกจนถึงที่สุด 
 
ต่อมาพันตำรวจเอกชลิต เกตุศรีเมฆ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน ได้ทำหนังสือถึงนายโคอิ มีมิ และทนายความ แจ้งกรณีที่ปู่โคอิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยคำสั่งนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ได้จุดไฟเผาบ้านพร้อมยุ้งฉางและทรัพย์สินของตน ทั้งบังคับให้ตนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกจากพื้นที่พนักงานสอบสวน ซึ่งสอบสวนพยานหลักฐานพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรกับพวก เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
 
ทางผู้สื่อข่าวยังได้รับข้อมูลแจ้งมาว่า อัยการจังหวัดเพชรบุรี มีคำสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้ต้องหา ในความผิดฐาน มีอาวุธปืน (ซองกระสุนปืน ขนาด 5.56 มม.) และเครื่องกระสุนปืน ( ลูกกระสุนขนาด 5.56 มม. ) ซึ่งเป็นอาวุธสงครามที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฏหมาย มีเครื่องกระสุนปืน (ขนาด .22)ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ เป็นจำเลยในคดีอาญา 
 
เนื่องจากวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ทาง สภ.แก่งกระจาน ได้รับหนังสือแจ้งแนวทางการปฎิบัติในการดำเนินคดีกับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฏหมาย จากอธิบดีอัยการ ภาค 7 เหตุเกิดที่ ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน หลังจากที่นายทัศน์กมล โอบอ้อม ได้ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554 เวลาประมาณ 19.00 น. ที่ หมู่ 6 ต.ถ้ำรงค์ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี
 
ในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขออนุมัติหมายศาล จ.เพชรบุรี เข้าตรวจค้นที่ไร่ชัยราชพฤกษ์ ม.5 บ้านห้วยปลาดุก ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งจากการตรวจค้นในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบ ซองบรรจุกระสุนปืน ขนาด 5.56 มม. จำนวน 1 ซอง และกระสุนปืน ขนาด 5.56 มม. จำนวน 80 นัด และกระสุนปืน ขนาด .22 จำนวน 12นัด โดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ได้ยอมรับกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 20 ตค. 54 ว่า เป็นเจ้าของซองบรรจุกระสุน และเครื่องกระสุนปืน ทั้งหมด ที่พบภายในไร่ชัยราชพฤกษ์ โดยซองบรรจุกระสุน ได้รับมอบมาจากชุดสายตรวจเฉพาะกิจอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งได้ออกตรวจพื้นที่รับผิดชอบแล้วไปพบซองบรรจุกระสุนที่บริเวณบ้านพุอ้อ ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน ส่วนอาวุธปืน ขนาด 5.56 มม. ได้ยอมรับว่า เมื่อครั้งเดินทางมารับตำแหน่ง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ได้รับมอบ ส่งมอบ สิ่งของทางราชการ จากนายอภิชา อยู่สมบูรณ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมีเครื่องกระสุนปืน ขนาด 5.56 มม. อยู่ในการส่งมอบในครั้งนั้นด้วย จำนวน 200 นัด และต่อมาได้ทำการแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไปบ้างแล้ว คงเหลืออยู่ จำนวน 80 นัด ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดได้ ที่ ไร่ชัยราชพฤกษ์
 
ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แก่งกระจาน ได้ส่งกระสุนปืน ขนาด 5.56 มม. จำนวน 80 นัด ที่ตรวจยึดได้จากไร่ชัยราชพฤกษ์ และนายชัยวัฒน์ ยอมรับว่าเป็นของกรมป่าไม้ที่ได้มีการเบิกจ่ายมา ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2541 ไปให้กับศูนย์พิสูจน์หลักฐาน ภาค 7 จ.นครปฐม ทำการตรวจสอบ ถึง วัน เดือน ปี ที่ผลิต และผลิตจากโรงงานใด ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์ ได้ข้อสรุปออกมาว่า กระสุนปืน ขนาด 5.56. มม. จำนวน 80 นัด นั้น แยกออกมาได้เป็น 2 โรงงานผู้ผลิต คือ CJ (China North Industries Corp) CJ-94 จากประเทศจีน ซึ่งผลิตในปี ค.ศ.1994 (พ.ศ.2537) จำนวน 30 นัด และ ผลิตจากประเทศอินเดีย KF (Kirkee Arsenal,poona-3) KF-08 ซึ่งผลิตในปี ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551) จำนวน 50 นัด
 
จากการตรวจพิสูจน์ พบว่าเครื่องกระสุนปืน ขนาด 5.56 มม. ที่ตรวจพบจากไร่ชัยราชพฤกษ์ และนายชัยวัฒน์ ได้กล่าวอ้างว่าเครื่องกระสุนปืนดังกล่าว ได้ทำการเบิกจ่ายมาจากทางกรมป่าไม้นั้น มีเครื่องกระสุนปืนจำนวน 50 นัด ที่ได้มีการผลิตขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2008 หรือปี พ.ศ.2551 ซึ่งได้ผลิตหลังจากที่นายชัยวัฒน์ อ้างว่าได้เบิกจ่ายมาจากกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2541 พร้อมกันนี้กรมสรรพาวุธ ได้ทำหนังสือยืนยันแจ้งมายัง สภ.แก่งกระจาน ว่ากระสุนปืนจำนวนดังกล่าว ทางกรมสรรพาวุธ ไม่ได้มีการนำเข้ามาแต่อย่างใด ทางกรมสรรพาวุธ ใช้เฉพาะที่ตีตราสัญลักษณ์ RTA (ROYAL THAI ARMY ) เท่านั้น จึงนำมาสุ่การยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี 
 
ศาลจังหวัดเพชรบุรีได้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณา ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 288/2559 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 โดยศาลนัดสอบคำให้การจำเลยและนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย: ความรู้และมายาคติ-ในหนังสือโป๊ตลาดล่าง

$
0
0

7 ก.พ. 2559 หมายเหตุประเพทไทย ตอน "หนังสือโป๊ตลาดล่าง" อรรถ บุนนาค และปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ พูดคุยกับ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทำวิจัยหัวข้อ "หนังสือโป๊ตลาดล่าง: ความรู้ มายาคติ และจินตนาการในเรื่องเพศ" ซึ่งเป็นภาคสนามของชลิดาภณ์ในช่วงทศวรรษ 2550

ทั้งนี้ชลิดาภรณ์เก็บข้อมูลจากการรวบรวมหนังสือโป๊ตลาดล่าง ที่ราคาไม่แพง คนทุกกำลังซื้อสามารถเข้าถึงได้ โดยในเวลาที่ลงภาคสนามนั้น พบว่าสิ่งพิมพ์ดังกล่าวมีราคาปกอยู่ระหว่าง 5 บาทถึง 80 บาท โดยจากการศึกษาของชลิดาภรณ์ พบว่า ในหนังสือโป๊ตลาดล่างดังกล่าว สะท้อนเรื่อง "ความรู้/จินตนาการทางเพศในสังคมไทย" เช่น พล็อตเรื่องแนวแฟนตาซีเช่น การมีเพศสัมพันธ์ข้ามชนชั้น มารยาชาย/มารยาหญิง เพศสัมพันธ์กับคนในครอบครัว การข่มขืน/การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ยินยอม

นอกจากนี้หนังสือโป๊ประเภทนี้ ยังสะท้อนความกังวลและความปรารถนาของเพศชายในสังคมไทย เช่น ความกังวลเรื่องขนาดของอวัยวะเพศ ซึ่งสะท้อนอยู่ในนิยายของหนังสือโป๊ที่บรรยายลักษณะอวัยวะเพศในทำนอง "ยาว ใหญ่ ทน อึด"

"คุณต้องยอมรับว่าอวัยวะเพศของคุณติดอยู่กับตัวคุณ แต่มันมีชีวิตของมันเอง" ชลิดาภรณ์กล่าว

นอกจากนี้ในหนังสือโป๊ที่ออกขายในช่วง พ.ศ. 2549–2550 ยังมีบทความสั้นที่ทำหน้าที่เป็นการถกแถลงของบรรณาธิการ มีทั้งการตั้งข้อสังเกตทางการเมืองและสังคม เช่น การวิจารณ์การปราบปราม/กวดขันหนังสือโป๊ของรัฐ ความเห็นเรื่องเพศสัมพันธ์ สุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ เช่น เบาหวาน ความดัน แม้แต่การเมืองไทยจาก ยุค คมช. สู่รัฐบาลเลือกตั้ง รวมถึงนำฉายาทางการเมืองไปตั้งชื่อเรื่องในนิยายหนังสือโป๊ เช่น มีนิยายที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2551 ตั้งชื่อเรื่องว่า "ขิงแก่แถแหลก"

อย่างไรก็ตาม นิยายในหนังสือโป๊บางเรื่องเองยังคงมี "บทเรียนเชิงศีลธรรม" อยู่ในตอนจบ ทั้งที่เรื่องราวดำเนินไปอย่างนอกกรอบ แต่ก็จบด้วยบทเรียนหรือคำแนะนำไม่ให้คนอ่านทำตาม

 

คลิกไลค์เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของรายการได้ที่ facebook.com/maihetpraphetthai

ติดตามรายการใน YouTube ที่ https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการ ANU ชี้พรรคเอ็นแอลดีของพม่าเร่งแก้อำนาจนิยมจากระบอบอาวุโส

$
0
0

หลังการเลือกตั้งในพม่า กำลังวิเคราะห์กันว่าจะมีการลงมาติให้ใครเป็นประธานาธิบดี นักวิชาการจากศูนย์วิจัยพม่าในออสเตรเลียชี้ให้เห็นปัญหาของพรรคเอ็นแอลดีว่ายังคงมีแนวคิดแบบแบ่งลำดับชนชั้น การตัดสินใจแบบอำนาจนิยมและมีการกดข่มคนรุ่นใหม่ของพรรคให้อยู่ภายใต้ระบอบอาวุโส

5 ก.พ. 2559 นิโคลาส ฟาร์เรลลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพม่าของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์นิวแมนดาลาเขียนบทความเกี่ยวกับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรคเอ็นแอลดี (NLD) ของพม่าที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งในประเทศและกำลังอยู่ช่วงที่มีการประเมินว่าใครกันที่จะได้เป็นรับการลงมติให้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ขณะที่พรรคเอ็นแอลดีกำลังทำงานอย่างหนักช่วงหลังเลือกตั้งที่มาพร้อมกับความคาดหวังของผู้คน

ฟาร์เรลลีระบุว่าการที่ประเทศพม่าถูกปกครองโดยเผด็จการทหารมาเป็นเวลานานทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจให้กลายเป็นระบอบการปกครองที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนเช่นนี้ดูยุ่งยากและตะกุกตะกัก แต่ฟาร์เรลลีก็เคยเขียนบทความวิจารณ์พรรคการเมืองที่มีภาพลักษณ์นักสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างเอ็นแอลดีไว้เมื่อปีที่แล้วว่าพรรคเอ็นแอลดีเองก็ควรเพิ่มมาตรฐานของตัวเองด้วยหากพวกเขาต้องการสร้างรากฐานไว้ในระยะยาวให้พม่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จแต่ก็มีคนพยายามแก้ตัวแทนพรรคนี้อยู่มาก

อย่างไรก็ตามฟาร์เรลลีเตือนว่าไม่ว่ารัฐบาลยุคใดก็มีความผิดพลาดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งนั้นชาวพม่าจึงไม่ควรยึดติดนิสัยเก่าๆ ในการกล่าวหารัฐบาลทหารไปเสียทุกเรื่อง แต่พรรคเอ็นแอลดีเองก็ควรจะพยายามเรียนรู้จากความผิดพลาดด้วย

บทความของฟาร์เรลลีระบุถึงประเด็นสำคัญที่พรรคเอ็นแอลดีต้องปรับปรุงคือ เรื่องของความโปร่งใสหรือการจัดการที่เป็นประชาธิปไตย เขายอมรับว่ามันฟังดูย้อนแย้งคาดไม่ถึงที่พรรคผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยจะมีลักษณะเช่นนี้ รวมถึงมีสัญชาตญาณแบบอำนาจนิยมที่มีการใช้อำนาจจากบนลงล่างโดยมีอองซานซูจีเป็นผู้ที่กุมอำนาจการตัดสินใจหลักๆ ของพรรค

มีการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาซูจีมีความใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงบางคนมากขึ้นทำให้ฟาร์เรลลีมองว่าซูจีควรจะมีการปรับเปลี่ยนบางอย่างในเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวของเธอเอง ในฐานะที่อองซานซูจีเป็นคนที่ได้รับความนิยมจากชาวพม่าและถูกตั้งความหวังไว้อย่างมาก อย่างไรก็ตามการที่เธอเป็นผู้ตัดสินใจแบบบนลงล่างในโครงสร้างของพรรคเช่นนี้ก็ทำให้พรรคเอ็นแอลดีค่อนข้างปกปิดเกี่ยวกับเนื้อหาหรือแผนการต่างๆ สร้างความหวาดระแวงไปจนถึงภาวะความเงียบที่ไม่ค่อยต่างจากการกระทำแบบดั้งเดิมของเผด็จการสักเท่าไร นอกจากนี้เมื่อสื่อนำเสนอแผนการของพวกเขาก็มักจะมีการพยายามยับยั้งปรามสื่อในเรื่องนี้

ฟาร์เรลลีชี้ให้เห็นว่าอีกปัญหาหนึ่งคือผู้นำระดับสูงของพรรคเอ็นแอลดีไม่เคยมีประสบการณ์บริหารบ้านเมืองโดยตรงมาก่อน เพราะคณะกรรมการบริหารส่วนกลางของพรรคใช้ตลอดเวลาที่ผ่านมาในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นที่รู้จักในเรื่องการใช้ระบอบอาวุโสในพรรค

ฟาร์เรลลีระบุว่ามีผู้นำอาวุโสในพรรคเอ็นแอลดีมีอยู่คนเดียวเท่านั้นที่มีประสบการณ์การบริหารภาครัฐมาก่อนคือทินอู (U Tin Oo) ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในสมัยที่ประเทศยังเป็นระบอบสังคมนิยมก่อนที่เขาจะถูกให้ออกจากตำแหน่งในช่วงที่มีการกวาดล้างในปี 2519 หรือเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว โดยที่มีคนคาดการณ์ว่าทินอูอาจจะได้เป็นประธานาธิบดีคนถัดไปถ้าหากอองซานซูจียังคงถูกระบุห้ามจากรัฐธรรมนูญไม่ให้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้ มันจะเป็นความสำเร็จสำคัญสุดท้ายในชีวิตของผู้นำพรรคอาวุโสผู้นี้แต่ในขณะเดียวกันมันก็สะท้อนว่าพรรคเอ็นแอลดีกำลังป่วยไข้จากเรื่องระบอบอาวุโส

บทความของฟาร์เรลลีระบุว่าพรรคเอ็นแอลดีเป็นสิ่งที่ดึงดูดคนหนุ่มสาวไฟแรงที่ศรัทธาในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของพรรค แต่ลักษณะเน้นอาวุโสในพรรคก็ปิดกั้นไม่ให้มีการฟังเสียงจากคนหนุ่มสาวและไม่ทำให้เกิดการปรับปรุงตัวเอง อีกทั้งยังทำให้คนหนุ่มสาวต้องอยู่ภายใต้ความเคร่งครัดของพรรคซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ได้

"สิ่งที่บทวิเคราะห์นี้ต้องการจะสื่อถึงคือ ภายใต้วัฒนธรรมแบบชนชั้นนำที่มีอยู่ในพรรคเอ็นแอลดีมีแบบแผนในเรื่องลำดับชั้นและเรื่องการยอมรับใช้พรรค ซึ่งมันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้ แต่ในตอนนี้มันก็ควรจะมีการส่งสัญญาณอย่างหนักแน่นเรียกร้องให้อำนาจการตัดสินใจของพรรคมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น" ฟาร์เรลลีระบุ

 

เรียบเรียงจาก

The NLD’s iron-fisted gerontocracy, NICHOLAS FARRELLY, New Mandala, 03-02-2016

http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2016/02/03/the-nlds-iron-fisted-gerontocracy/

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเขียนอินเดียวิจารณ์รัฐบาลปราบนักคิดทางอ้อมยกกรณี 'อรุณธตี รอย'

$
0
0

6 ก.พ. 2559 ปังกาจ มิชรา นักเขียนชาวอินเดียผู้มีผลงานวรรณกรรมและบทความการเมืองเขียนถึงกรณีที่อินเดียกำลังทำการปิดกั้นปราบปรามเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพเชิงความคิดสร้างสรรค์ด้วยวิธีการที่ลึกลับซับซ้อนกว่าประเทศอื่นๆ อย่างอียิปต์หรือตุรกี รวมถึงกรณีที่มีการใช้ข้ออ้างทางกฎหมายพยายามเอาผิดกับนักเขียนชื่อดังอย่างอรุณธตี รอย ผู้เขียนเรื่อง "เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ" (The God of Small Things) ที่ได้รับรางวัลบุ๊คเกอร์ไพรซ์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนักเขียนมือรางวัลอย่างอรุณธตี รอย ถูกดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่นศาลจากบทความของเธอที่เขียนขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นบทความที่เพียงแค่เรียกร้องให้คนหันมาสนใจกรณีที่นักวิชาการผู้พิการชื่อไสบาบาถูกตำรวจ "อุ้ม" ไปกักขังหน่วงเหนี่ยวโดยอ้างว่าดำเนิน "กิจกรรมต่อต้านประเทศชาติ" โดยในบทความของรอยมีช่วงหนึ่งระบุพาดพิงถึงนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ว่าถ้าหากมีการให้ประกันตัวพรรคพวกของโมดีในข้อหาฆาตกรรมได้ทำไมถึงไม่ยอมให้ประกันตัวนักวิชาการนั่งรถเข็นที่สุขภาพกำลังย่ำแย่ ซึ่งรอยไม่ได้วิจารณ์ศาลเลยแม้แต่น้อย

ไม่เพียงแค่การอ้างใช้กฎหมายหรือกระบวนการศาลในการเล่นงานคนที่เห็นต่างจากรัฐบาลเท่านั้น มิชรายังระบุถึงเล่ห์กลของรัฐบาลอินเดียและกลุ่มชนชั้นสูงผู้มีแนวคิดชาตินิยมที่พยายามใช้ช่องทางสื่อต่างๆ ในการใส่ร้ายป้ายสี รวมถึงรุมข่มเหงรังแกคนที่เห็นต่างจากรัฐบาลด้วย

ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โรหิต เวมุลา นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากเมืองไฮเดอราบาดฆ่าตัวตายหลังจากที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคนที่มีความคิดเห็นทางการเมือง "ต่อต้านประเทศชาติ" หลังจากถูกกล่าวหา เวมุลาผู้ที่เป็นปัญญาชนนักวิจัยจากชนชั้นที่ยากจนและเสียเปรียบก็ถูกสั่งพักการเรียน ถูกระงับการให้ทุน และถูกขับออจากหอพักของนักศึกษา

บทความของมิชราเปิดเผยว่าการกดดันในรั้วสถานศึกษาเช่นนี้มาจากจดหมายของรัฐบาลโมดีที่ส่งถึงผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัย จดหมายเหล่านั้นระบุถึงการพยายามกดดันมหาวิทยาลัยให้ทำการเคลื่อนไหวป้องปรามกลุ่มที่พวกเขาอ้างว่าเป็น "กลุ่มหัวรุนแรง และต่อต้านประเทศชาติ" แต่การกดดันทางสังคมดังกล่าวก็ส่งผลร้ายทำให้นักคิดนักเขียนคนหนึ่งต้องจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ในจดหมายลาตายของเวมุลาระบุว่าตัวเขาถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวและรู้สึกสิ้นหวัง

มิชราระบุว่ากลุ่มครอบครัวชนชั้นสูงในอินเดียพยายามสร้างการครอบงำพื้นที่สาธารณะให้ได้ทั้งหมด พวกเขาใช้ทั้งวิธีการข่มเหงรังแก อ้างใช้กฎหมายในการกล่าวหาดำเนินคดีต่อนักเขียนและศิลปินในอินเดีย และมีการใช้กลุ่มอันธพาลบุกเข้าไปก่อกวนทำลายข้าวของในสำนักงานหนังสือพิมพ์ สถานจัดแสดงศิลปะ และโรงภาพยนตร์ โดยที่กลุ่มอันธพาลเหล่านี้ยังลอยนวลไม่ต้องรับผิดใดๆ

นอกจากนี้มิชรายังระบุอีกว่ากลุ่มธุรกิจผู้ใก้ชิดกับโมดีต่างก็พยายามควบคุมบงการสื่อโทรทัศน์ของอินเดียรวมถึงสื่อใหม่ เช่น กลุ่มสร้างข้อมูลเท็จใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามตามโซเชียลมีเดีย ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลผิดๆ ทำให้หลายภาคส่วนอย่างภาคส่วนการศึกษาหรือสื่อกลายเป็นเครื่องมือกล่าวโจมตีฝ่ายตรงข้ามของเครือข่ายอำนาจในอินเดีย มีการพยายามกระตุ้นเร้าอารมณ์และครอบงำมุมมองของผู้คน 

หนึ่งในตัวอย่างคือกรณีที่มีการส่งต่อข้อความอ้างว่า รอย เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสมคบคิดผู้สอนศาสนาชาวคริสต์ที่สังหารเวมุลาและพยายามทำให้อินเดียแตกแยก ซึ่งถ้ามันเป็นแค่ข้อความลูกโซ่ก็อาจจะดูเหมือนเป็นแค่พวกหวาดระแวงไร้สาระสร้างเรื่องขึ้นมาเอง แต่กลับมีสื่อที่ไม่ยินดียินร้ายต่อสถานการณ์หรืออาจจะถึงขั้นต่อต้าน รอย นำเรื่องนี้ไปตีแผ่จนทำให้คนเริ่มคิดว่ารอยต้องตอบคำถามในเรื่องนี้

มิชราระบุว่านอกจากนี้ยังมีผู้พิพากษารายหนึ่งวิจารณ์รอยว่าเป็นคนหยาบคายและใช้รางวัลที่เธอได้มาวิจารณ์ประเทศอินเดีย อีกทั้งยังมีสื่อภาพยนตร์จากบริษัท ซี เอนเตอร์เทนเมนต์ ที่มีความใกล้ชิดกับโมดีมาสร้างภาพว่ามีคนเลวร้ายกำลังต่อต้านประเทศชาติทำให้รอยกลายเป็นตัวร้ายของทั้งศาลและในสายตาสาธารณะ มิชรามองว่าเรื่องนี้สร้างความเสียหายต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักเขียนที่ควรจะเป็นอิสระจากความกังวลและแรงกดดันจากโลกภายนอกเพื่อที่จะสามารถสร้างงานตนเองได้

บทความของมิชราเผยให้เห็นสภาพในอินเดียว่าไม่เพียงแค่การปิดกั้นสื่อจากรัฐและการเซนเซอร์ตัวเองของกลุ่มคนที่ไม่มีอำนาจเท่านั้น แต่ยังมีความตกต่ำทางศีลธรรมของฝ่ายสนับสนุนรัฐเองที่มีลักษณะของกลุ่มศาลเตี้ยโดยแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกแบบเกินจริง รวมถึงการแสดงออกหยาบคายไร้รสนิยมในแบบที่ทำให้ "ผู้พิพากษาและตัวตลกก็ดูไม่ต่างกัน"

มิชรายกตัวอย่างกรณีที่บริษัท ซี เอนเตอร์เทนเมนต์ จัดโต้วาทีด้วยหัวข้อที่ว่า "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นควรเป็นไปโดยไม่มีข้อจำกัดหรือไม่" ซึ่งมีพิธีกรเป็นดาราชื่อ อนุปัม เคร์ ผู้ที่เคยจัดการประท้วงต่อต้านกลุ่มนักเขียนอินเดียที่ทำการคืนรางวัลวรรณกรรมเพื่อประท้วงเหตุสังหารนักเขียนโดยเคร์ใช้คำขวัญต่อต้านนักเขียนเหล่านี้ว่า "เอารองเท้าทุบพวกคนมีความรู้เสีย" จากนั้นก็ไปถ่ายรูปคู่กับนายกรัฐมนตรี มิชรามองว่าคนอย่างเคร์เป็น "ตัวตลกที่อันตรายในทางการเมือง" ไม่เพียงแค่การแสดงออกสนับสนุนนายกรัฐมนตรีอย่างออกนอกหน้า แต่กลุ่มชาตินิยมในอินเดียยังการพยายามปิดกั้นไม่ให้มีการนำเสนอเรื่องราวของนักเขียนที่ถูกกระทำจากรัฐ รวมถึงการดูถูกเหยียดหยามกลุ่มนักคิดทางจิตสำนึกและจิตวิญญาณแม้แต่กับผู้เคยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติอินเดียมาก่อนอย่างรพินทรนาถ ฐากุร

มิชรามองว่าความตกต่ำเช่นนี้เป็นหนึ่งในหลานวิธีที่ฝ่ายชาตินิยมในอินเดียใช้ "สังหาร" นักเขียนของพวกเขาโดยไม่ทำให้เกิดการทิ้งร่องรอยหลักฐานให้สืบสาวถึงตัวผู้นำอย่างโมดี

 

เรียบเรียงจาก

Pankaj Mishra on Arundhati Roy: Hindu nationalists ​have many ways to silence writers, Pankaj Mishra, The Guardian, 02-02-2016

http://www.theguardian.com/books/2016/feb/02/pankaj-mishra-arundhati-roy-hindu-nationalists-silence-writers-india

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

2 ผู้ป่วยมะเร็งในสหรัฐฯ ถูกจับ หลังประท้วงต้าน TPP เอื้อผูกขาด-ขึ้นราคายา

$
0
0

กรณีความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) อาจจะส่งผลต่อผู้ป่วยที่ต้องพึ่งพายาเนื่องจากการผูกขาดของบริษัทยาและการกำหนดราคาตามใจชอบ ทำให้มีคนประท้วงสมาคมเภสัชภัณฑ์ของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้แต่ผู้ป่วยมะเร็ง 2 คนที่เข้าร่วมประท้วงกลับถูกตำรวจจับกุมข้อหาบุกรุก

7 ก.พ. 2559 กลุ่มนักเคลื่อนไหวรณรงค์ชื่อกลุ่มพับลิคซิติเซน (Public Citizen) ในสหรัฐฯ นำเสนอเอกสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนที่ต้องใช้ยา ในเอกสารข้อเท็จจริงดังกล่าวระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมสัญญา TPP จากสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์แห่งสหรัฐอเมริกา (PhRMA) ซึ่งเป็นสมาคมเชิงการค้าให้อภิสิทธิ์กับบริษัทยายักษ์ใหญ่อย่างมากในระดับเกือบจะเป็นการผูกขาดและยังให้อภิสิทธิ์ในการตั้งราคายาด้วย

ทรูธเอาท์ (Truthout) สื่ออิสระที่เน้นเปิดโปงเรื่องความอยุติธรรมรายงานโดยอ้างอิงจากเอกสารดังกล่าวว่าในสัญญา TPP มีการบังคับให้ประเทศที่ร่วมลงนามในสัญญาต้องปรับกฎหมายของพวกเขาให้เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทยาข้ามชาติจนมีอำนาจในการผูกขาดเรื่องต่างๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคและหน่วยงานสาธารณสุขต้องจ่ายค่ายาแพงขึ้น มีโอกาสทำให้คนไข้ไม่ได้รับการรักษาหรือต้องใช้เวลารักษานานขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการต้องปรับกฎหมายให้บริษัทยาเหล่านี้ต่ออายุสิทธิบัตรยาเก่าได้เพิ่มขึ้นอีก 20 ปี และบังคับให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องนำกฎหมายสิทธิบัตรแบบเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วมาใช้ซึ่งเป็นกฎหมายสิทธิบัตรที่เอื้อต่อการผูกขาดยา

ทั้งนี้ เอกสารข้อเท็จจริงของพับลิคซิติเซนยังระบุอีกว่า TPP อนุญาตให้เอกชนมีอำนาจบังคับใช้ข้อตกลงเหล่านี้โดยอาศัยกฎหมายหรือศาลสหรัฐฯ ในการฟ้องร้องเมื่อมีนโยบายหรือการตัดสินใจของรัฐบาลประเทศคู่สัญญาขัดผลประโยชน์ของพวกเขาแม้ในประเทศคู่สัญญาจะไม่ได้ทำผิดกฎหมายในประเทศพวกเขาเองก็ตาม ทำให้บริษัทเหล่านี้อ้างฟ้องร้องคดีเรียกเงินจากรัฐซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนประเทศนั้นๆ ได้

เรื่องนี้ทำให้มีการประท้วงที่หน้าสำนักงานสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์แห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมาซึ่งตรงกับวันมะเร็งโลก ก่อนที่แผนการ TPP นี้จะได้รับการพิจารณาจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเสร็จสิ้นการพิจารณาในช่วงปลายปีนี้

อย่างไรก็ตามพับลิคซิติเซนเปิดเผยว่าในการประท้วงดังกล่าวมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งสองราย ที่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ให้เข้าร่วมประท้วงถูกจับกุมหลังจากที่พวกเธอพยายามแสดงออกอย่างอารยะขัดขืนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของพวกเธอเอง

ผู้ประท้วงทั้งสองรายได้แก่ ซาฮารา เฮกเชอร์ อายุ 51 ปี ผู้กำลังอยู่ในระหว่างรักษามะเร็งเต้านมมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว อีกรายหนึ่งคือ ฮันนาห์ เลออน อายุ 29 ปี ที่กำลังรักษามะเร็งปากมดลูก ทั้งสองคนร่วมกันคล้องแขนไม่ยอมออกไปจากห้องโถงของสำนักงาน PhRMA ในขณะที่มีผู้ประท้วงอีกหลายสิบคนยืนตะโกนคำขวัญประท้วงอยู่ข้างนอก

พวกเขาตะโกนว่า TPP จะกลายเป็น "คำสั่งประหาร" คนไข้โรคมะเร็งจำนวนมากโดยการทำให้พวกเขาเข้าถึงยาไม่ได้จากการตั้งราคาเอง จนกระทั่งผู้ประท้วงทั้งสองรายถูกตำรวจวอชิงตันดีซีจับกุมข้อหาบุกรุกสถานที่

เฮกเชอร์ กล่าวว่า การที่เธอประท้วงเพราะเกรงว่าคนไข้รวมถึงตัวเธอเองจะได้รับผลกระทบจากราคายาที่สูงขึ้นมาก ยาที่เธอใช้ในปัจจุบันอาจจะมีราคาที่ทำให้เธอต้องจ่ายถึงปีละ 118,000 ดอลลาร์ (ราว 4,200,000 บาท) ถ้าหากว่ายาไม่ได้อยู่ในช่วงทดลองวิจัยทางการแพทย์

โรเบิร์ต ไวสส์มาน ประธานกลุ่มพับลิคซิติเซนกล่าวเน้นย้ำว่า TPP กำลังให้ความสำคัญของบรรษัทเหนือการสาธารณสุข และสัญญาการค้านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นปัญหาการที่บริษัทยาที่มั่งคั่งซื้อข้อตกลงทางการค้าและซื้อตัวนักการเมืองผ่านการใช้อิทธิพลทางการเงินและการสนับสนุนด้านการหาเสียง ไวสส์มานชี้ว่าราคาของยาไม่ได้มาจากราคาการผลิตหรือราคาการวิจัยและพัฒนาเลย แต่เป็นเพราะบริษัทยาเหล่านี้ขึ้นราคาตามอำเภอใจ เนื่องจากไม่มีการแข่งขัน รวมถึงมีการใช้เงินล็อบบี้จำนวนมหาศาล


เรียบเรียงจาก

Cancer Patients Arrested for Protesting TPP's Big Pharma-Favoring Provisions, Truth Out
http://truth-out.org/buzzflash/commentary/us-cancer-patients-arrested-for-protesting-big-pharma-tpp-drug-price-and-patent-mandates

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ล้อการเมืองที่มช. ชมพาเหรด "อยุติธรรมครองเมือง" "กม.จากปลายกระบอกปืน"

$
0
0

8 ก.พ.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา และวันนี้(8 ก.พ.59) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย' ได้เผยแพร่ภาพขบวนพาเหรดล้อเลียนการเมือง ในงานกีฬามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประจำปีนี้ โดยเฉพาะขบวนของคณะนิติศาสตร์ ที่มีป้ายข้อความที่น่าสนใจโดยใช้ประเด็น แพะรับบาป ในการสื่อสาร เช่น  "อยุติธรรมครองเมือง" "กฎหมายจากปลายกระบอกปืน" เป็นต้น รวมทั้งยังมีวีดิโอคลิปการแสดงในงาน Spirit Night "Climax Law cmu 2016 แพะรับบาป" ที่มีการใช้บทเพลงของสามัญชน และเพลง เธอได้ยินผู้คนร้องไหม ซึ่งเป็นเพลงที่ดัดแปลงมาจากเพลงประกอบหลักของภาพยนตร์เรื่อง Les Miserable

 

 

#อยุติธรรมหนักมาก #อยุติธรรมครองเมือง #CMU #นิติศาสตร์มช ล้อการเมืองในมชก็มีนะดูหลายๆคณะนะฮ่าๆ ภาพโดย : Kitpatchara Somanawat

Posted by สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย on 6 กุมภาพันธ์ 2016

 

 

 

ภาพถ่าย ขบวนพาหรด งานกีฬามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีนี้ เรามีภาพส่วนหนึ่งของคณะนิติศาสตร์ มาให้ชมกันครับ ในตอน แพะรับบาป ต...

Posted by สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย on 7 กุมภาพันธ์ 2016

 

นอกจากนี้ยังมีวิดีโอคลิปตัวอย่างการแสดงของคณะรัฐศาสตร์ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา โดยเฉพาะปี 2014 ที่ใช้ชื่อการแสดงว่า ‘ความสุข (Happiness) ?’ ที่เป็นการแสดงที่ล้อเลียนต่อสถานการณ์การเมืองผ่านเมืองสมติที่ชื่อว่า ‘สุชน’ โดยระบุเรื่องย่อไว้ว่า เรื่องราวเกิดขึ้น ณ เมืองสุชน เมืองที่มีแต่คนดี ความดีงาม อยู่ด้วยกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่ทว่า กลับเกิดความแตกแยกกันอย่างรุนแรง กลายเป็นสงครามหลากสี ผู้คนล้มตาย เพียงเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำบางคน การต่อสู้ต่างผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ จนกระทั่ง กลุ่มที่เชื่อในความทันสมัยโดยอ้างประชาธิ­ปไตย ได้ปกครองเมือง และอ้างจำนวนเสียงที่ได้รับเลือกตั้งมามาก­กว่า ทำตามอำเภอใจ เพื่อพวกพ้องพี่น้องของตน โดยไม่สนใจเสียงคัดค้าน เรื่องราวต่างๆ จึงเกิดขึ้น (ดูรายงานและวีดิโอคลิป)

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : “ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญเสียดีกว่า”

$
0
0

ชำแหละให้ถึงราก ‘มีชัย’ ซ่อนอะไรไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ วรเจตน์ ชี้ ศาลรัฐธรรมนูญถูกยกระดับเป็นซูเปอร์องค์กร ระบุหลังยึดอำนาจศาล Transform เป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหาร ร่างใหม่ส่งดาบเชือดรัฐบาลง่ายๆ ด้วย 'มาตรฐานจริยธรรม

“จากรากเหง้าของธรรมนูญการปกครองเผด็จการ พ.ศ. 2502 ถูกส่งต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าค่อนข้างก้าวหน้า จากนั้นถูกส่งมาในรัฐธรรมนูญ 2550 เที่ยวนี้ถูกส่งต่อมาอีกในปี 2559 แล้วคนร่างก็เปลี่ยนตำแหน่งของมัน แทนที่จะเป็นเรื่องนิติวิธีซึ่งเป็นหลักทั่วไป กลับไปเป็นเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญองค์กรเดียว... จากเรื่องอ้างกันผิด ๆ เช่น กรณีนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 กลายเป็นกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญผูกขาดอำนาจการอ้างเรื่องดังกล่าว ซึ่งในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญอาจอ้างผิด ๆ ต่อไปอีกก็ได้”

“เขาต้องการให้มีองค์กร ๆ องค์กรหนึ่งเป็นองค์กรตัดสินทุกอย่างให้จบ โดยอาศัยอำนาจทางกฎหมายเข้ากดให้ยอมรับ ชัดเจนว่าเขียนให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าดูมาตราอื่นประกอบด้วย ศาลรัฐธรรมนูญที่โดยสภาพมีอำนาจมากอยู่แล้ว ก็จะกลายเป็นซูเปอร์องค์กรในรัฐธรรมนูญ”

“รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ นักกฎหมายมหาชนในโลกนี้งงหมดว่าอยู่ได้อย่างไร..... คำตอบที่อาจอธิบายได้ในทางวิชาการก็คือ เพราะโดยโครงสร้างทางกฎหมายปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหารไปเสียแล้ว สปิริตมันผิดจากการกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญทั้งหลายในโลกที่ต้องคุ้มครองนิติรัฐ ประชาธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทย transform ไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหาร”

จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ล่มปากทาง มาถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธ์ จาก คปป.กลายเป็นศาลรัฐธรรมนูญยึดครองมาตรา 7 และขยายอำนาจถอดถอนนักการเมืองด้วย “มาตรฐานจริยธรรม”

10 ปีของวิกฤติการเมือง 10 ปีที่ต่อสู้กับการใช้และตีความกฎหมายอย่างบิดเบือน ถ้าจำกันได้ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เห็นต่างแยกทางกับนักกฎหมายที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในกรณี “มาตรา 7”นี่เอง จากนั้นจึงตามมาด้วยอำนาจตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2550 ครั้งนี้ทั้งสองเรื่องถูกมัดโยงเข้าด้วยกันจนอยู่เหนืออำนาจอื่นในอำนาจอธิปไตย

แล้วยังจะมีอะไรตามมา

“เมื่อดูจากการให้น้ำหนักอย่างมากแก่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เกรงว่าจะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่จะถูกร่างโดยกรรมการร่างชุดนี้ อาจจะเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญกำราบพวกที่วิพากษ์วิจารณ์ประท้วงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้เรายังไม่รู้ จะรู้แน่ก็คือตอนที่เขาเขียนนั่นแหละ แต่ที่แน่ ๆ การเขียนทิ้งไว้แบบนี้ จะหนักหน่วงรุนแรงมาก ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ กรรมการร่างจะร่าง พรบ. ประกอบ อย่างเต็มที่ โดยจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว ตัวเองมีความชอบธรรมที่จะร่าง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามต้องการได้แล้ว ใครก็ขวางไม่ได้”

บทสัมภาษณ์ครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ว่าด้วยอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ส่วนที่สอง ว่าด้วยบทเฉพาะกาลและหมวดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประชาไทจะนำเสนอต่อไป

ยึด ม.7 เป็นซูเปอร์องค์กร

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยกเลิกมาตรา 7 เดิมแล้วยึดไปให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้แต่ผู้เดียวกลายเป็นมาตรา 207

มาตรา 7 เดิม ที่ระบุว่าในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใช้บังคับแก่กรณีใดแล้วให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แรกเริ่มเดิมทีมันอยู่ในรัฐธรรมนูญเผด็จการ คือธรรมนูญการปกครองปี 2502 ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เหตุที่มีการเขียนไว้อย่างนี้ เพราะตอนสฤษดิ์ยึดอำนาจครั้งแรกในปี 2500 ยังไม่ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2495 เพียงงดใช้บางมาตรา ปี 2501 สฤษดิ์ยึดอำนาจอีกทีหนึ่ง แล้วทำธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรปี 2502 ธรรมนูญนี้มันสั้น ไม่ยาว มี 20 กว่ามาตรา มีมาตรา 17 ด้วย ความที่มันสั้นก็กลัวจะมีปัญหาว่าพอใช้ไปแล้วจะเจอโจทย์แบบไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยมีบทบัญญัติสำรองเอาไว้ว่า อะไรที่ไม่ได้เขียน ให้ทำไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ตอนนั้นยังไม่คำว่า “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ต่อท้าย ดังนั้น โดยที่มาของมัน การให้ปฏิบัติไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมันกำเนิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการ ในรัฐธรรมนูญถาวรฉบับต่อ ๆ มาไม่มีการเขียนเลย มีเขียนแต่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังการรัฐประหารเท่านั้น คือ ใช้ธรรมนูญการปกครองฯ 2502 เป็นต้นแบบ จวบจนปี 2540 จึงใส่ลงไป มันเป็นเรื่องย้อนแย้งอยู่เหมือนกันที่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่หลายคนยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มุ่งให้ใช้ถาวรฉบับแรกที่รับเอาบทบัญญัติแบบมาตรา 7 ซึ่งถือกำเนิดจากรัฐธรรมนูญเผด็จการมาบรรจุไว้

ทีนี้พอใส่แล้ว จะต้องอธิบาย เราก็ต้องพยายามอธิบายให้รับกับระบบกฎหมายว่า กรณีนี้เป็นการเขียนให้วินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นโดยอาศัยกฎหมายประเพณีหรือกฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญได้ คือ เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นเพื่ออุดช่องว่างกรณีไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรใช้บังคับ และไม่ได้หมายความว่าเฉพาะแต่ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่จะใช้บทบัญญัตินี้ได้ ในระดับรัฐธรรมนูญที่องค์กรทางรัฐธรรมนูญของรัฐมีชีวิตร่วมกันทางรัฐธรรมนูญ ทุกองค์กรมีอำนาจใช้บทบัญญัติดังกล่าวนี้ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าถ้ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นและข้อพิพาทนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นวินิจฉัยเป็นองค์กรสุดท้าย แต่ถ้าข้อพิพาทนั้นไม่อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องขององค์กรทางรัฐธรรมนูญหรือองค์กรทางการเมืองจะต้องหาข้อยุติเอง

ทีนี้มันมีปัญหาว่าประเพณีการปกครองฯ คืออะไร บางคนตีความว่ามันคือประเพณีที่ทำๆ กันมา ซึ่งผมเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้อง ประเพณีที่ทำ ๆ กันมานั้น ต้องยกระดับขึ้นเป็นกฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยสองประการ คือ ต้องมีการกระทำหรือการประพฤติปฏิบัติที่สม่ำเสมอ นมนาน และบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องรู้สึกสำนึกว่าสิ่งที่ประพฤติปฏิบัตินั้นผูกพันตนให้ต้องปฏิบัติตามในฐานะที่เป็นกฎหมาย อันนี้เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปของการที่จะบอกว่าประเพณีหรือการปฏิบัติอันใดอันหนึ่งมีฐานะเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายแล้วหรือไม่ ไม่ใช่หยิบยกอะไรก็ได้ขึ้นอ้างมั่ว ๆ ลอย ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองของตน ผมมีความเห็นของผมเองเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวมานี้ซึ่งเป็นหลักทั่วไปด้วยว่า บรรดากฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญที่ยกขึ้นกล่าวอ้างกันนั้นต้องไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์พื้นฐานทางประชาธิปไตยด้วย ดังนั้นประเพณีการปกครองใดที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประเพณีการปกครองนั้นย่อมใช้ไม่ได้

อันที่จริง บทบัญญัติทำนองนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่มุ่งหมายให้ใช้บังคับถาวร ในส่วนที่เกี่ยวกับนิติวิธี เรื่องดังกล่าวเป็นหลักการใช้กฎหมายที่ต้องเรียนกันในมหาวิทยาลัย ยิ่งในบริบทของการเมืองไทยแล้ว ยิ่งไม่ควรจะต้องเขียนเลย เนื่องจากถ้าเขียนลงไป บทบัญญัติทำนองนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองที่ไม่สามารถต่อสู้ในวิถีทางประชาธิปไตยได้ ก็จะใช้กำลังต่าง ๆ สร้างสภาวการณ์ให้เกิดการติดขัดในการใช้รัฐธรรมนูญ เพื่ออ้างว่าตอนนี้ถึงทางตัน ต้องใช้ประเพณีการปกครองแก้ปัญหา แต่ถ้าจะเขียนก็จะต้องมีคำอธิบายในลักษณะที่ผมได้ชี้ให้เห็นนี้กำกับไว้ในชั้นของการยกร่าง ในเอกสารการอภิปรายต่าง ๆ ซึ่งไม่ปรากฏให้เห็นเลย

ปัญหาการเขียนบทบัญญัติทำนองนี้ ครั้งนี้ก็ยิ่งผิดเพี้ยนไปจากเดิม จากรากเหง้าของธรรมนูญการปกครองเผด็จการ พ.ศ. 2502 ถูกส่งต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าค่อนข้างก้าวหน้า จากนั้นถูกส่งมาในรัฐธรรมนูญ 2550 เที่ยวนี้ถูกส่งต่อมาอีกในปี 2559 แล้วคนร่างก็เปลี่ยนตำแหน่งของมัน แทนที่จะเป็นเรื่องนิติวิธีซึ่งเป็นหลักทั่วไป กลับไปเป็นเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญองค์กรเดียว เพราะมันอยู่ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ ผลของการเขียนแบบนี้ก็คือ เปิดโอกาสให้คนที่จะใช้คือศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะอ้างว่าเรื่องนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญ และอ้างว่าเรื่องนี้เป็นประเพณีการปกครองเพื่อวินิจฉัย ปัญหาของเรื่องนี้ก็คือ จากเรื่องการอ้างกันผิด ๆ เช่น กรณีนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 กลายมาเป็นการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญผูกขาดอำนาจการอ้างเรื่องดังกล่าว ซึ่งในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญอาจอ้างผิด ๆ ต่อไปอีกก็ได้

ในแง่ของเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับองค์กรที่มีอำนาจใช้บทบัญญัติแบบมาตรา 7 เดิม ให้ยุติลง เช่น กรณีนายกฯพระราชทาน เราจะเห็นการเคลื่อนของอำนาจอย่างมีนัยสำคัญไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ผมพูดเท่านี้แล้วกัน

แต่ความจริงวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นในสิบปีที่ผ่านมา มันมีทางออกในรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

ใช่ แต่ไม่ยอมทำตามรัฐธรรมนูญ แล้วไปอ้างประเพณีการปกครองหรือไปหาประเพณีการปกครองแบบข้าง ๆ คู ๆ มาไง บ้านเรามันเลยพลิกผัน เป็นแบบนั้น

ผลในทางปฏิบัติของมาตรา 7 เดิม เมื่อไปอยู่ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนรัฐธรรมนูญได้เอง

ในบริบททางการเมืองแบบไทย ใช่ ศาลรัฐธรรมนูญมีความสามารถที่จะสร้างรัฐธรรมนูญผ่านความหมายที่ว่ามันคือประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งนี้ในบริบทของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่ต้องการผลักสังคมไทยไปข้างหน้ากับฝ่ายเหนี่ยวรั้งสังคมไทยไว้กับที่หรือย้อนไปข้างหลัง แนวโน้มที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเอื้อประโยชน์กับฝ่ายที่ต้องการเหนี่ยวรั้งสังคมไทยไว้มีสูง อันที่จริงในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถ้าไปดูของประเทศที่เขามีพัฒนาการเรื่องนี้มานานกว่าเรา ก็ไม่ถึงขนาดว่าห้ามศาลรัฐธรรมนูญใช้กฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติแทบไม่มีกรณีที่ศาลจะต้องใช้ เพราะเขาตีความตัวบทรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับหลักนิติรัฐประชาธิปไตยเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาท ทีนี้ของเราพอไปเขียนแบบนี้ ก็ต้องอ่านวัตถุประสงค์ของผู้เขียนจากบริบทของการต่อสู้ทางการเมืองไทยให้ห้วงเวลาสิบปีมานี้ ก็พอจะเห็นได้ว่าเขาต้องการให้มีองค์กร ๆ องค์กรหนึ่งเป็นองค์กรตัดสินทุกอย่างให้จบ โดยอาศัยอำนาจทางกฎหมายเข้ากดให้ยอมรับ อันนี้ชัดเจนว่าเขียนให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าดูมาตราอื่นประกอบด้วย ศาลรัฐธรรมนูญที่โดยสภาพมีอำนาจมากอยู่แล้ว ก็จะกลายเป็นซูเปอร์องค์กรในรัฐธรรมนูญ

ช่วงหนึ่งเคยมีการเรียกร้องกันว่ามาตรา 7 คือนายกพระราชทาน

ใช่ แล้วถ้ามีคนอ้างว่าเกิดวิกฤตขึ้นมาอีก แล้วบอกว่าต้องมีนายกฯ คนนอก เที่ยวนี้คนที่จะมาชี้คือศาลรัฐธรรมนูญ แล้วมันจะกลายเป็นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นทันทีเลยว่าจะชี้ออกมาในรูปแบบไหน มันทำให้กฎเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญซึ่งต้องมีความมั่นคงแน่นอนในระดับหนึ่งขาดความมั่นคงแน่นอนไป แล้วอย่างนี้องค์กรอื่นที่ต้องวินิจฉัยอะไรต่าง ๆ จะใช้กฎหมายประเพณีได้หรือเปล่าในสภาพแบบนี้ที่เถียงกันแล้วต้องวินิจฉัย เขาจะอ้างประเพณีที่ยกสภาพเป็นกฎหมายประเพณีได้ไหม เพราะมันเปลี่ยนไปอยู่ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เดิมมันอยู่ในบททั่วไป ทุกองค์กรก็ใช้ได้แต่องค์กรที่จะชี้ขาดคือศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี ภายใต้เงื่อนไขว่าข้อพิพาทนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ประเด็นคือ ต้องเป็นกรณีที่ไม่มีลายลักษณ์อักษรแล้วนะ หลายปีก่อนผมเคยเสนอแนวทางตีความเรื่องนี้ แต่มีบางท่านก็ไม่เห็นด้วยกับที่ผมเสนอ คือผมเสนอให้ปรับลำดับการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เขาเขียนลำดับการใช้กฎหมายไว้ว่า เวลามีปัญหาต้องวินิจฉัยให้เริ่มที่กฎหมายลายลักษณ์อักษรเสียก่อน ถ้าไม่มีก็ให้ไปหาจารีตประเพณีท้องถิ่น ถ้าไม่มีอีกก็ให้ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรโดยเทียบเคียง ถ้าไม่มีอีกก็ให้ตัดสินโดยหลักกฎหมายทั่วไป ผมเสนอว่าในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นแบบนั้น ควรใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรให้สุดทาง โดยถือว่ารัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากสปิริตระบอบประชาธิปไตย ประเพณีการปกครองที่ตกทอดมามันไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยหรอก ดังนั้นถ้ามีปัญหาต้องวินิจฉัย คุณต้องใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรให้สิ้นกระแสความไปทั้งการใช้โดยตรงและโดยเทียบเคียง ถ้าเทียบเคียงก็ไม่ได้อีก คราวนี้ค่อยไปหากฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญมาเพื่ออุดช่องว่าง ลำดับมันควรเป็นแบบนี้ แต่ก็มีข้อถกเถียงว่าจารีตประเพณีควรจะมาก่อนการใช้กฎหมายโดยเทียบเคียง นี่เป็นประเด็นดีเบตทางวิชาการเฉยๆ ถ้ารัฐธรรมนูญเราพัฒนาไปอนาคตข้างหน้ายาว ๆ ตรงนี้จะเป็นประเด็นว่าควรใช้แบบไหน ผมเสนอว่าสปิริตของระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นผ่านตัวรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นต้องใช้ให้หมดแล้วต้องตีความให้สอดคล้องกับสปิริตของระบอบประชาธิปไตย ประเด็นของผมคือ เมื่อไรก็ตามที่คุณอ้างว่ามีจารีตประเพณีแต่จารีตประเพณีนั้นมันขัดกับตัวระบอบ จารีตประเพณีนั้นก็ใช้ไม่ได้

ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเกิดปัญหาว่าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะปี 49 ปี 57 แต่เป็นความพยายามให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไปเป็นอีกอย่าง

ใช่ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ การล้มการเลือกตั้ง 2 ก.พ. อันนี้ชัดเจนว่าในทางกฎหมายมันไปได้หมด ถ้าย้อนไปดูประเด็นที่ผมเคยเขียนบทความ ที่สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย หรือ สปป.เคยออกแถลงการณ์ จะเห็นว่าในการคลี่คลายปัญหาทางกฎหมายมีช่องทางกฎหมายที่จะใช้โดยตลอด แต่ไม่ยอมใช้ เพราะอะไร เพราะในที่สุด พอไม่ตีความกฎหมายไปตาม step มันก็จะเกิดวิกฤตซึ่งเป็นความต้องการของกลุ่มผลประโยชนืทางการเมืองบางกลุ่มอยู่

มันคือปัญหาของคนที่มีอำนาจสุดท้ายในการตีความ ว่าคุณตีความโดยมี ideology อุดมการณ์แบบไหน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีความยึดโยงกับประชาชน เราย่อมคาดหมายได้ว่าการใช้กฎหมายและการตีความของเขาย่อมตีความไปในทิศทางซึ่งสนับสนุนนิติรัฐและประชาธิปไตย

25 เม.ย.49 ที่พยายามตีความมาตรา 7 ว่าโดยประเพณีการปกครองแล้วเป็นพระราชอำนาจ ปีนี้เอาอำนาจนั้นมาให้ศาลรัฐธรรมนูญ

จริง ๆ มาตรา 7 ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นพระราชอำนาจ เวลาทำรัฐธรรมนูญ ตัวบทที่มีลักษณะ abstract (นามธรรม) และมีความไม่แน่นอน จะเป็นปัญหามาก ๆ เพราะแต่ละฝ่ายต่างช่วงชิงอำนาจการตีความไปไว้กับตัว แต่ประเด็นสำคัญคือมันไม่ได้เกิดปัญหาแบบนั้น ไม่ได้มีปัญหาว่าไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ปัญหาคือคุณต้องการบางสิ่งบางอย่างที่รัฐธรรมนูญเขาไม่ได้ให้ แล้วคุณไม่ใช้วิธีการตามรัฐธรรมนูญ นี่ต่างหากคือประเด็น ลองนึกภาพดูว่าถ้าเราอ้างประเพณีกันมากมาย เราจะจินตนาการอะไรขึ้นมาก็ได้แล้วบอกว่าอยากได้แบบนั้น อ้างได้เรื่อยเปื่อย

กรณีปี 2516, 2535 ที่เรียกว่านายกพระราชทาน ถ้าอธิบายโดยหลักทั่วไปคือ เมื่อเกิดวิกฤตแล้วไม่มีใครแก้ไขได้ ก็อาศัยพระบารมีส่วนพระองค์ของในหลวง ใช่ไหม แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ถ้าเกิดวิกฤตแบบนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญมาชี้แทนหรือ

เมื่อทุกอย่างมันไม่ฟังก์ชั่นหมดแล้ว สมมติสภาวะสงคราม สภาโดนบอมบ์ ไม่เหลือองค์กรใด ก็ต้องมีคนคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้รัฐดำรงอยู่ต่อไป นั่นคือประมุขของรัฐ Head of State ต้องจัดการสักอย่างเมื่อถึงจุดนั้น ตรงนี้ไม่ใช่มาตรา 7 อะไรเลย เป็นหลักทั่วไปในสภาวะจำเป็น

ปัญหาก็คือ ที่ผ่านมามันเกิดสภาวะจำเป็นในระดับนั้นไหม อันที่จริงตอนที่มีการตั้งนายกฯ ปี 2516 ถ้าจะว่าไปก็เป็นการตั้งตามธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2515 นะ ก็มีรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ที่สำคัญก็คือเราถือได้หรือเปล่าว่าธรรมนูญการปกครอง 2515 เป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย อันจะก่อให้เกิดประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขขึ้นมาได้ อันนี้คนสัมภาษณ์ คนอ่าน คงตอบเองได้ ส่วน ปี 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาเลือด อันนี้พิเคราะห์ทางกฎหมายก็เป็นกรณีที่ประธานสภาผู้แทนนำชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2534 ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ใช้ตอนนั้นนะ นี่พูดในทางกฎหมาย ไม่ได้พูดในทางการเมือง จากเหตุการณ์นั้นต่อมาจึงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกนายกรัฐมนตรีในสภาไง ไม่ให้อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อไป แล้วก็กำหนดให้ผู้ที่จะเป็นนายกฯได้ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น

เพราะฉะนั้นตอนที่อ้างเรื่องนายกฯ มาตรา 7 ผมถึงบอกว่าทำไมได้เลยไงตามกฎเกณฑ์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ องค์พระมหากษัตริย์ก็มีพระราชกระแสเรื่องนี้ว่าไม่ใช่อำนาจที่พระองค์จะทำได้ แต่ในวันหน้า ถ้าเกิดข้อเรียกร้องแบบนี้อีก ผมก็ไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะว่ายังไง ผมไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้อีก แต่เรื่องที่คล้ายคลึงกันในลักษณะอื่น อันนี้เราไม่อาจแน่ใจได้เลย

พิพากษาจริยธรรม

นอกจากมาตรา 7 รัฐธรรมนูญนี้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาก

รัฐธรรมนูญนี้เน้นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากในหลายมิติ เดิมทีศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในหมวดศาล แต่ตอนนี้แยกออกจากหมวดศาล เป็นการเขียนที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญปี 2540 2550 รวมถึงร่างของกรรมาธิการชุดบวรศักดิ์ สรุปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลหรือ ร่างรัฐธรรมนูญมีชัยเขียนขัดกันเองหลายจุดในทางลอจิก (logic) ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตุลาการ แยกออกมาทำไม แปลว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลแล้วหรือไงตอนนี้ เพราะในร่างรัฐธรรมนูญมีชัย หมวด 10 หัวหมวด เขียนว่า ศาล แล้วก็มีบททั่วไป ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร พอหมวด 11 หัวหมวดเขียนว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่ ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นศาล คือเป็นองค์กรซึ่งใช้อำนาจตุลาการประเภทหนึ่งเหมือนกัน แต่แม้จะเขียนแยกออกมาก็ปฏิเสธลักษณะการใช้อำนาจตุลาการไม่ได้ ก็เลยต้องเอาบทบัญญัติเกือบทั้งหมดในบททั่วไปของศาลมาใช้บังคับโดยอนุโลมอยู่ดี (ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 205 วรรคสอง)

ในแง่ขององค์ประกอบ มีการเปลี่ยนไปจากเดิม เที่ยวนี้ใช้ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 3 คน ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน แล้วก็ศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ 1 คน ต้องเป็นศาสตราจารย์มาไม่น้อยกว่า 5 ปีด้วย อันนี้เพิ่มเข้ามา แล้วก็ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์รัฐประศาสนศาสตร์ อีก 1 คน แล้วก็เอาข้าราชการประจำขึ้นมา พวกที่เป็นอดีตอธิบดีหัวหน้าส่วนราชการและรองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นมาไม่น้อยกว่า 5 ปี อีก 2 คน ลองดูองค์ประกอบนี้ จะหนักไปในฝ่ายระบบราชการมาก ของเดิมคือ 3 ศาลฎีกา 2 ศาลปกครองสูงสุด 2 นิติศาสตร์ 2 รัฐศาสตร์สังคมศาสตร์ แต่เที่ยวนี้ผู้ทรงคุณวุฒิเหลือแค่อย่างละ 1 และเอาอดีตข้าราชการเข้าไป

ในแง่ความยึดโยงทางประชาธิปไตย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมากๆ ของศาลรัฐธรรมนูญทุกประเทศในโลกนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญในร่างนี้แทบไม่มีความยึดโยงทางประชาธิปไตยเลย เพราะคนที่มาจากศาลเป็นคนที่ศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดส่งมา พวกที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิและเคยรับราชการก็เป็นอำนาจของกรรมการสรรหาที่จะเลือกมา ซึ่งเอาประธานศาลฎีกาเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน และบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระแต่งตั้ง 6 องค์กรๆ ละ 1 คน

ก็คือวนกันไปมา คนที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฝั่งที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีเอี่ยวในการสรรหาด้วย คือตั้งคนสรรหา อันนี้มองได้เลยว่า ระบบไทยๆ จะแต่งตั้งใครเป็นกรรมการสรรหา ก็ต้องเป็นคนที่มีความสัมพันธ์กับองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ แล้วถามว่าคนพวกนี้เวลาเลือก เขาเลือกได้ดีกว่าตัวแทนประชาชนเลือกหรือ อันนี้คือปัญหา

ทั้งหมดนี้ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเลย พอสรรหาแล้วไปที่วุฒิสภา แต่เที่ยวนี้วุฒิสมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะเป็นการเลือกกันเอง ดังนั้น ความยึดโยงในทางประชาธิปไตยเกือบจะเป็นศูนย์ พูดง่ายๆ ว่า องค์กรซึ่งมีอำนาจมากที่สุด ต้องการความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยมากที่สุด กลับแทบจะไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเลย แล้วมาชี้ขาดสภาพความขัดแย้งในทางรัฐธรรมนูญซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความขัดแย้งในทางการเมืองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เที่ยวนี้เป็นระบบวน loop ต่างจากปี 2550 คือถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบ กรรมการสรรหาไม่มีอำนาจยืนยัน ต้องสรรหาใหม่ ในรธน 2550 ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบ กรรมการสรรหายืนยันได้

เที่ยวนี้ยังมีการเขียนล็อคไม่ให้วนตำแหน่ง ที่เคยมีปัญหาว่าคุณชัช ชลวร ลาออกจากประธานศาลมาเป็นตุลาการศาลได้ไหม มาตรา 203 วรรค 2 เขียนไว้ชัดว่าถ้าลาออกจากประธานศาลให้ถือว่าออกจากตุลาการด้วย อันนี้เป็นการล็อคการสลับเก้าอี้ นี่อาจเป็นอันเดียวที่เหมือนจะดี (หัวเราะ)

ที่ดีอีกอัน มาตรา 197 วรรค 1 ห้ามเป็นองค์กรอิสระอื่นมาก่อน เขาห้ามวนเก้าอี้

อันนี้โอเค คือ อย่าเป็นคนเดียว แบ่งคนอื่นเขาบ้าง (หัวเราะ)

มีข้อสังเกตว่า มีชัยเน้นคุณสมบัติตุลาการสูงกว่าเดิม อายุสูงกว่าเดิม อยู่ได้ถึง 75 ปี โดยเพิ่มคุณสมบัติ กกต.และ ปปช.ด้วย ตามมาตรา 218,228 เขาคงอยากให้เป็นองค์กรผู้วิเศษ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามร่างนี้อยู่ได้ถึง 75 ปี อยู่ได้จนชราทีเดียว  ขณะที่องค์กรอิสระอื่นอยู่ได้ถึง 70 ปี มองในแง่นี้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้สิทธิพิเศษกว่าคนอื่นในการดำรงตำแหน่ง

ประเด็นสำคัญก็คือ นอกจากการเข้าสู่ตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทบไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนเจ้าของอำนาจแล้ว ยังให้ดำรงตำแหน่งได้ถึง 75 ปีอีก แม้ว่าจะมีการกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ที่ 45 แต่ถ้าดูจากที่มาแล้ว โอกาสที่จะได้คนซึ่งเกือบจะเกษียณอายุจากศาลฎีกา หรือศาลปกครองสูงสุด ที่เกษียณอายุที่ 70 ปี มานั่งดำรงตำแหน่งต่อที่ศาลรัฐธรรมนูญอีก 5 ปี เป็นไปได้สูง สำหรับพวกที่มาจากการสรรหาก็คงจะไม่ต่างกันมากนัก ถ้าเป็นคนที่มีอายุมากแต่มีที่มาที่เชื่อมโยงกับประชาชน อาจจะพอคาดหมายอุดมการณ์ ทัศนคติในการตัดสินคดีว่าคงจะคำนึงถึงประชาชนเจ้าของอำนาจ แต่คนที่อายุมาก แล้วมีที่มาที่ไม่เชื่อมโยงกับเจ้าของอำนาจเลย คงยากที่จะปรับอุดมการณ์ให้คิดว่าอำนาจที่ตนกำลังใช้อยู่เป็นของใครในระบอบประชาธิปไตย และใช้รัฐธรรมนูญไปในทางก้าวหน้าสร้างสรรค์ได้

โดยลักษณะการออกแบบเช่นนี้ แนวโน้มที่ว่าทำให้องค์เหล่านี้เป็นองค์กรผู้วิเศษมีสูงมากทีเดียว แต่นั่นอาจเป็นความต้องการของผู้ร่างก็ได้

มาตรา 195 เขียนต่างจากเดิมว่า “ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง” ของเดิมเขียนว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา” น่าแปลกใจว่าทำไมตัดออกไป ขณะที่องค์กรอิสระยังใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา” แต่ทั้งหมดวุฒิสภาถอดถอนไม่ได้

อันนี้ตอนอ่านครั้งแรกเดิมทีผมเข้าใจว่าผู้ร่างต้องการให้กลุ่มผู้พิพากษาตุลาการที่มาจากศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดผ่านวุฒิสภาโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าดูบทบัญญัติตามร่างมาตรา 199 แล้ว จะเห็นว่าวุฒิสภามีอำนาจให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งส่วนที่ผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด และส่วนที่ผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา โดยผู้ที่จะได้เลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มิฉะนั้นจะต้องสรรหาหรือคัดเลือกใหม่ ซึ่งเท่ากับว่าตามร่างนี้ วุฒิสภามีอำนาจมากทีเดียวในส่วนนี้ มากกว่าวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 อีก หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบดังกล่าวของวุฒิสภาก็ใช้กับการเข้าสู่ตำแหน่งของผุ้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วยโดยอนุโลม (ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 213) ผมก็ยังแปลกใจว่าทำไมใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับคำแนะนำของวุฒิสภาต่างกัน

เรื่องอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ เขียนรวบไว้ที่มาตรา 205 แต่ไปซ่อนไว้ในเรื่อง ป.ป.ช. มาตรา 230 (1),231 (1) ให้มีอำนาจถอดถอนและตัดสิทธิผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระ ในกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ยกเว้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอง ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย สรุปคือ อำนาจถอดถอนที่เคยเป็นของวุฒิสภาจากเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 และของวุฒิสภาจากเลือกตั้งครึ่งหนึ่งสรรหาครึ่งหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2550 กลายเป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหมดเลย รวมถอดถอนองค์กรอิสระด้วย

ถูกต้อง คือ ยกอำนาจถอดถอนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่เหตุแห่งการถอดถอนก็คือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยถอดถอนออกจากตำแหน่งแล้ว จะต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และให้ดุลพินิจแก่ศาลรัฐธรรมนูญในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้อีกมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี จะเห็นว่าการถอดถอนออกจากตำแหน่งซึ่งโดยหลักการมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองโหวตเอาบุคคลออกจากตำแหน่ง ได้กลายมาเป็นการให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจดังกล่าวนี้ และทำเสมือนหนึ่งว่าอันนี้เป็นการใช้อำนาจทางกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่เกณฑ์ในการถอดถอน ก็คือ มาตรฐานทางจริยธรรมซึ่งศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดขึ้นมาเอง (ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 215)

พูดง่าย ๆ ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนร่วมในการออกกฎเกณฑ์เองและวินิจฉัยชี้ขาดเองด้วย ถ้าจะถือว่ากฎเกณฑ์นี้เป็นกฎหมาย ก็เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนในการออกกฎหมายเองและชี้ขาดข้อพิพาทอันเกิดจากกฎหมายที่ตนมีส่วนร่วมออกเอง ถ้าถือว่ามาตรฐานทางจริยธรรมไม่ใช่กฎหมาย ก็ประหลาดมากที่คนฝ่าฝืนมาตรฐานนี้ถึงขนาดถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และอาจถูกตัดสินเลือกตั้งอีกด้วย อันนี้ไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ขัดกับหลักนิติธรรมที่เขียนเอาไว้เองด้วยในร่างฯ มาตรา 3 วรรคสอง

สำหรับเหตุถอดถอนเดิมที่เคยอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 คือ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อว่าทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ส่อว่าจงใช้ใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย  มีการปรับแก้ถ้อยคำโดยตัดคำว่า “ส่อ” ออก และกำหนดให้กลายเป็นการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทน และให้อำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งและมีดุลพินิจในการตัดสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี เช่นกัน

องค์กรที่จะมีบทบาทเริ่มต้นในกรณียื่นถอดถอนต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือดำเนินคดีในศาลฎีกาตามที่กล่าวมา คือ ปปช. โดยกรณีถอดถอน ปปช. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีฟ้องคดีต่อศาลฎีกา ให้ ปปช. ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้อง แต่ถ้าเป็นกรณีที ปปช. จะถูกถอดถอนหรือดำเนินคดีเอง จะให้ สส. สว. หรือประชาชนไม่น้อยกว่าสองหมื่นชื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาเพื่อดำเนินการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกา

ถ้าดูภาพรวมระบบถอดถอนทั้งหมด จะเห็นว่าอำนาจถอดถอนจะอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยองค์กรที่ชงเรื่อง คือ ปปช.แนวโน้มที่จะใช้การถอดถอนเป็นเครื่องมือขจัดนักการเมืองที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของชนชั้นนำให้พ้นไปวงการการเมืองจะสูงขึ้น และทำได้ง่ายขึ้นผ่านกลไกการถอดถอนโดยการอ้างอิงมาตรฐานทางจริยธรรมซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นผู้จัดทำขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจมหาศาลชี้เป็นชี้ตายอนาคตทางการเมืองของนักการเมืองทั้งหลายผ่านการวินิจฉัยตีความเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม โดยที่คนที่ถูกถอดถอนไม่อาจอุทธรณ์ต่อผู้ใดได้อีก

มีข้อสังเกตเรื่องการถอดถอนนิดหนึ่งในส่วนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ถ้าปรากฏว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกร้องถอดถอนเพราะฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อวินิจฉัย (ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 230 วรรคหนึ่ง) แต่ถ้าเป็นกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีมติให้ตุลาการผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งได้ แต่ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 203 (4))

ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจวินิจฉัยคุณสมบัติรัฐมนตรี มาตรา 155 (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มาตรา 155 (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยมาตรา 165 วรรคท้าย บอกว่า “ให้นำมาตรา 77 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (4) หรือ (5) หรือวรรคสอง โดยอนุโลม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย” คือให้ ส.ส. ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือให้ กกต.มายื่นวินิจฉัยคุณสมบัติรัฐมนตรีได้ด้วย ถ้าเป็นนายกฯ ก็ไปทั้งคณะ

ในแง่นี้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจปลดนายกรัฐมนตรีได้หมูๆ เลยล่ะ แค่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ก็ปลดได้ เอานายกรัฐมนตรีออกได้ง่ายกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 กว่าร่างของบวรศักดิ์ คือนายกรัฐมนตรีต้องพวกเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นบุคคลที่องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญยอมรับได้ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ ห้าหกเดือนก็ไปแล้ว จะพิสูจน์อย่างไรเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ การยื่นให้สาลรัฐธรรมนูญปลดรัฐมนตรีนี่ ไม่ใช่แต่ ส.ส. ส.ว. เท่านั้นที่ยื่นได้ เพื่อให้การชงเรื่องทำนองนี้ไปศาลรัฐธรรมนูญไม่อยู่ในมือของ ส.ส. หรือ ส.ว. เท่านั้น ร่างนี้ให้อำนาจ กกต. ยื่นได้ด้วย

มาตรา 215 ให้ศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม แล้วใช้กับนักการเมืองด้วย

เขาให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานจริยธรรมขึ้นมา แล้วนำมาใช้ร่วมกัน และใช้กับรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ประเด็นก็คือ มาตรฐานทางจริยธรรม จริง ๆ ไม่ใช่กฎหมาย แต่แบบนี้มันเหมือนทำให้มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นกฎหมายอย่างหนึ่ง ถ้าเกิดฝ่าฝืนต้องพ้นตำแหน่ง เพราะฉะนั้นมาตรฐานทางจริยธรรมมันเหมือนกับเป็นกฎหมายในทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งฯ ทีนี้ เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระออกกฎหมายเอง เท่ากับรัฐมนตรี ส.ส.ต้องมาตกอยู่ภายใต้กฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระ ในส่วนที่เป็นจริยธรรม เพราะมันเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่ง

คำถามคือสถานะของมาตรฐานทางจริยธรรมมันมีสถานะอย่างไร เพราะว่ามันมีผลเสมือนกับเป็นกฎหมาย เป็นเหมือนกับลักษณะในทางตำแหน่งของ ส.ส. แล้วเขาไม่ได้เป็นคนออก เป็นคนกำหนด

ซึ่งจริงๆ แล้ว จริยธรรมศาลกับของนักการเมือง เป็นคนละฉบับกัน เช่นเราดูจริยธรรมศาล เขาก็จะมีข้อห้าม เรื่องความประพฤติ ต้องประพฤติตนให้เหมาะสม สมถะ

จริยธรรมศาล โดยสภาพมีลักษณะเป็นเหมือนวินัยผู้พิพากษา องค์กรบริหารงานบุคคล คือ กต.กำหนดขึ้นมา แต่อันนี้คือการกำหนดวินัยให้กับ ส.ส. แต่เป็นการกำหนดโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ แล้วเราไม่รู้ว่าเขาจะกำหนดอย่างไร เพราะลักษณะการครองตำแหน่งไม่เหมือนกัน คือศาลรัฐธรรมนูญไม่ต้องไปเจอกับประชาชน พบปะผู้คน จะกำหนดอย่างไร จะกำหนดให้เป็นระนาบแบบเดียวกันหรือ

ศาลต้องควบคุมตัวเองเรื่องมาตรฐานการข้องแวะกับสังคม แต่ ส.ส.ต้องพบปะประชาชน

โดยธรรมชาติของเรื่องมันต่างกัน แต่นี่พยายามจะให้กำหนดแล้วไปบังคับกับนักการเมือง พูดง่ายๆ คือให้ ศาล องค์กรอิสระ ขี่นักการเมือง ทีนี้สมมตินักการเมืองโวยวาย เขาก็จะไปกำหนดมาตรฐานจริยธรรมให้หย่อนลง แปลว่าตัวเองก็หย่อนด้วย เท่ากับได้ประโยชน์ด้วย แล้วอย่างนี้ไม่เรียกประโยชน์ทับซ้อน?

บทเฉพาะกาลมาตรา 265 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ดำเนินการให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมภายใน 1 ปี  ซึ่ง 1 ปีก็ยังไม่มีเลือกตั้ง ฉะนั้นที่มาตรา 215 เขียนให้รับฟังความคิดเห็น ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี เอาเข้าจริงก็คือ สนช.และรัฐบาลนี้

ดูแล้วก็คงเป็นอย่างนั้น เพราะ สนช.จะทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และสมาชิก สนช. ก็จะเป็น สส. หรือ สว. แล้วแต่กรณีตามบทเฉพาะกาล มาตรา 255  ส่วนรัฐบาลนี้ก็จะเป็นคณะรัฐมนตรีต่อไปตามบทเฉพาะกาล มาตรา 256

บทเฉพาะกาล 1 ใน 10 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่กรรมการร่างต้องร่างให้เสร็จภายใน 8 เดือน มาตรา 259 (5) คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มีที่น่าสังเกตไหม

อันนี้คือการเขียนให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีอำนาจต่อไปอีกถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ กรรมการร่างจะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อดูจากการให้น้ำหนักอย่างมากแก่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เกรงว่าจะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่จะถูกร่างโดยกรรมการร่างชุดนี้ อาจจะเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญกำราบพวกที่วิพากษ์วิจารณ์ประท้วงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้เรายังไม่รู้ จะรู้แน่ก็คือตอนที่เขาเขียนนั่นแหละ แต่ที่แน่ ๆ การเขียนทิ้งไว้แบบนี้ จะหนักหน่วงรุนแรงมาก ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ กรรมการร่างจะร่าง พรบ. ประกอบ อย่างเต็มที่ โดยจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว ตัวเองมีความชอบธรรมที่จะร่าง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามต้องการได้แล้ว ใครก็ขวางไม่ได้

มาตรา 261 ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ อยู่ในตำแหน่งต่อไป และเมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องจัดทำขึ้นใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีพ.ร.บ.ประกอบที่จัดทำขึ้น การพ้นตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 อันนี้ตลก รัฐธรรมนูญต้องชี้ไปเลยว่าให้อยู่ต่อ หรือให้พ้น อันนี้มันกั๊กนี่

ผมถึงบอกว่าประชามติครั้งนี้จะแย่กว่า สาหัสกว่ากว่าตอนปี 2550 เพราะกั๊กอำนาจส่วนหนึ่งให้กับตัวเอง และมีประโยชน์ทับซ้อนด้วย เพราะเป็นคนร่างเอง ประชามติคือเช็คเปล่า ตีเช็คเปล่าให้กรรมการร่างในการไปออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับต่อไป แล้วถึงจะเลือกตั้ง เพราะตามบทเฉพาะกาลมาตรา 260 จะเลือกตั้ง สส. ได้ก็ต่อเมื่อบรรดากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมดรวมทั้งกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐมีผลใช้บังคับแล้ว ทั้ง ๆ ที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่วินัยการเงินการคลังนี่ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการจัดการเลือกตั้งโดยตรงเลย

น่าสังเกตว่าเมื่อกำหนดคุณสมบัติศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ปปช.ใหม่ บางคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่อาจคุณสมบัติไม่ถึง แล้วเขาจะเขียน พ.ร.บ.ประกอบยังไง หรือจะมีบทเฉพาะกาลให้อีก

ในบทเฉพาะกาล มาตรา 261 เขากำหนดให้บุคคลพวกนี้อยู่ในตำแหน่งต่อไป ในช่วงที่ยังทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่เสร็จให้การพ้นจากตำแหน่งของบุคคลพวกนี้ คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอะไรเหล่านี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ความตลกของเรื่องนี้ก็คือ เอารัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว (เว้นแต่หมวดพระมหากษัตริย์) กลับมาใช้ใหม่ จริง ๆ หลักแล้วน่าจะใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะองค์กรอื่นมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญของตัวอยู่ แต่นี่คือความประหลาด อธิบายให้เหตุผลอะไรไม่ได้ในทางกฎหมาย เพราะศาลรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญถูกฉีกแล้ว ต้องหมดสภาพไป เนื่องจากตัวเองถูกก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ แต่บ้านเราอยู่ได้ แล้วยังเนรมิตเอารัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกไปแล้ว กลับมาใช้ได้อีกในส่วนที่อยากให้ใช้

ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญเสียดีไหม

เวลาที่คนชอบอ้างกันว่า ศาลต้องเป็นอำนาจสูงสุด บอกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ แล้วเราจะยังอยู่ในหลักแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่ายได้อย่างไร แน่นอน ศาลตีความทุกคนต้องยอมรับ แต่ไม่ใช่บอกว่าศาลมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติ

ไม่ใช่ จริง ๆ อำนาจตุลาการเป็นอำนาจที่อยู่สุดท้ายเลยของระบบ ศาลรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน แต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างยุ่งยากหน่อยเพราะเกี่ยวพันกับอำนาจทางการเมือง เป็นศาลที่มีลักษณะพิเศษกว่าศาลอื่น คือ เป็นทั้งศาล และเป็นทั้งองค์กรทางรัฐธรรมนูญด้วย เขาถึงมีหลักอันหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจจำกัดเฉพาะเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนด เราเรียกว่ามีเขตอำนาจแบบ limited หรือ specific jurisdiction รัฐธรรมนูญจะเขียนอำนาจเฉพาะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นแต่ละเรื่องๆ ไป แต่กรรมการร่างชุดมีชัยไม่ทำแบบนั้น มีบางมาตราที่อาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายแดนการใช้อำนาจรับคดีออกไปได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งผิดระบบ โดยระบบทั่วไป ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนชี้ขาดปัญหาทางรัฐธรรมนูญ หรือข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจะถูกกำหนดไว้เฉพาะเป็นเรื่องๆ เรื่องไหนไม่มีก็เป็นเรื่องทางการเมือง คุณต้องไปตัดสินกันทางการเมือง มันไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมายที่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนชี้ เหมือนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา เมื่อไม่เขียนอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญคุณมาชี้ไม่ได้ แต่คราวนี้เขียนไว้ชัดเจน เขาเขียนแก้จากคราวที่แล้วหลายเรื่องรวมทั้งเรื่องยื่นคำร้องกรณีเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองด้วย

อย่างนี้เวลาอำนาจตุลาการมาชี้ขาดเรื่องทางการเมือง มันก็เหมือนการขยายอำนาจของศาล ไม่เป็นไปตามหลักแบ่งแยกอำนาจ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะเมืองไทยแต่เกิดหลายประเทศ

ถูก นี่เป็นปัญหาใหม่ในยุคปัจจุบัน เป็นประเด็นที่ดีเบตกันว่าอำนาจของศาลควรอยู่แค่ไหน และกระทั่งประเด็นว่าตกลงศาลรัฐธรรมนูญควรมีหรือเปล่า ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียไม่มีศาลรัฐธรรมนูญนะ เยอรมันประสบความสำเร็จเพราะประสบการณ์เฉพาะของชาติเขา แต่ศาลรัฐธรรมนูญเขาก็มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเพราะสภาผู้แทนราษฎรสหพันธ์ กับสภาผู้แทนมลรัฐระดับสหพันธ์ เป็นคนเลือก ซึ่งทั้งสองส่วนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งคู่ ในเชิงความชอบธรรมนั้นมี และในทางวิชาการเขามีความเข้มแข็งในการอธิบายกฎหมาย ดังนั้นถึงถูกล็อคหรือถูกคุมโดยหลักการอยู่ แม้จะมีคำวิจารณ์อยู่บ้างว่าอำนาจขยายออกไป แต่ก็ไม่ absurd เหมือนบางประเทศ

แต่ของเรามันไม่เหลือสปิริตแบบการคุ้มครองรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพราะแม้แต่มีการทำรัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยตรรกะทางกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ในรัฐธรรมนูญไทยทั้งฉบับ 2540 และ 2550 ชัดมาก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมายังไงก็เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญ มีอำนาจอะไรบ้างก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐธรรมนูญถูกฉีก ก็แปลว่ากฎหมายที่ให้กำเนิดตัวคุณโดยตรงไม่มีแล้ว อำนาจที่ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญก็ไม่มีแล้ว ไม่มีรัฐธรรมนูญให้คุ้มครองแล้ว แล้วจะอยู่ได้ยังไง   เพราะคุณมีหน้าที่พิทักษ์ตัวรัฐธรรมนูญที่ก่อกำเนิดอำนาจของคุณขึ้นมา พอเขารัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญปัง แล้วศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ นักกฎหมายมหาชนในโลกนี้งงหมดว่ามันอยู่ได้ยังไง แล้วอยู่แบบไม่มีงานหลักอะไรทำ กินเงินเดือนแต่ละเดือนแต่ไม่มีงานหลักๆตามที่ถูกกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญให้ทำ มีแต่งานเล็กๆ น้อยๆ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องตั้งเป็นองค์กรถาวรในระบบ แล้วทำไมเป็นแบบนี้

คำตอบที่อาจอธิบายได้ในทางวิชาการก็คือ เพราะโดยโครงสร้างทางกฎหมายปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหารไปเสียแล้ว สปิริตมันผิดจากการกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญทั้งหลายในโลกที่ต้องคุ้มครองนิติรัฐ ประชาธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทย transform ไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหาร อันนี้ไม่ได้หมายถึงตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจจะอ้างว่าเขาไม่ได้ยุบ ก็อยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่หมายถึงในเชิงโครงสร้าง ในส่วนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนมันเป็นเรื่อง consciousness ซึ่งผมไม่ก้าวล่วงไปตัดสินหรือพิพากษา หากในทางโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหาร รัฐประหารเสร็จต้องยุบศาลรัฐธรรมนูญ  จะเห็นว่าตอนรัฐประหารปี 49 ยังยุบ แล้วตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่ แต่รับเอาคดีที่เดิมอยู่ในกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกยุบไปมาทำต่อ ซึ่งจริง ๆ ก็คือ คดียุบพรรคการเมืองโดยเฉพาะไทยรักไทยเป็นสำคัญ อันนั้นก็เพี้ยนแล้ว เพราะฉีกรัฐธรรมนูญ ยุบศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้คดีความต่าง ๆ อยู่ต่อ ครั้งนี้ในทางกฎหมาย ในระบบรัฐธรรมนูญไทยมันเพี้ยนยกกำลังสอง ยกกำลังสาม รัฐธรรมนูญถูกยกเลิก ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อได้เหมือนไม่เคยมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ เหลือเชื่อมาก คือมันเหลือแต่ชื่อว่าคือศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในทางสาระของมันไม่เป็นศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่คุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญแล้ว มีศาลรัฐธรรมนูญที่ไหนในโลกดำรงอยู่ต่อไปได้ในรัฐธรรมนูญที่ถือกำเนิดขึ้นโดยตรงจากการรัฐประหาร หลังจากล้มเลิกรัฐธรรมนูญที่ก่อกำเนิดตัวเองขึ้นมาแล้ว เท่าที่ผมทราบ ไม่เห็นมีนะ คือถ้าพูดจากหลักนิติรัฐ ประชาธิปไตย หรือจากตรรกะทางนิติศาสตร์ นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ก็เป็นไปแล้วในบ้านเรา

การปล่อยให้มีศาลรัฐธรรมนูญที่สถาปนาอำนาจตัวเองจนคุมรัฐธรรมนูญได้มันผิด

ผิดสิ โดยไอเดียผม พัฒนาการทางกฎหมายของไทย ผมคิดว่าเราอาจจะยังไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ คือ อันนี้พูดจริง ๆ แม้ว่าผมจะเรียนจบจากเยอรมันซึ่งมีศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จก็ตาม แต่ถ้าจำเป็นต้องมี หรือถ้ามติมหาชนเห็นว่าควรจะต้องมี  ก็ต้องมีเงื่อนไขนี้ ไม่อย่างนั้นอย่ามี คือ 1. คุณต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีความเชื่อมโยงกับเจ้าของอำนาจ 2.การเขียนอำนาจต้องเฉพาะ ชัดเจนเป็นเรื่องๆ ไป แล้วก็รัฐสภาที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยต้องเป็นคนทำกฎหมายวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ

นอกจากการให้สภาทำกฎหมายวิธีพิจารณาเพื่อถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญแล้ว มีวิธีอื่นไหม เพราะตอนนี้การทำกฎหมายอะไรก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าใครแก้รัฐธรรมนูญลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็คงตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

ต้องดูอย่างนี้ว่า ในระบบการเมืองหนึ่ง จะให้ฟังก์ชั่นหรือให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในระดับไหน สปิริตของมันคืออะไร อย่างในเยอรมันอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเยอะเพราะสปิริตของเขาคือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของเราเอาแบบเขามาเขียนตอนปี 2540 แต่กลับถูกแปลงเป็นอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญมันถูกแปลงไปเป็นการทำอะไรก็ได้ให้กลไกเสียงข้างมากใช้ไม่ได้โดยไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนจัดการ ฉะนั้น โดยสภาวะในทางการเมือง ศาลและองค์กรอิสระที่ถูกตั้งขึ้นโดยเจตนาที่ดีของรัฐธรรมนูญปี 2540 มันจึงถูกแปลงสภาพไปหมด แน่นอนว่ามันมีข้อวิจารณ์ในเชิงโครงสร้าง ตำแหน่งแห่งที่ ระบบการได้มาขององค์กรอิสระ ซึ่งผมก็เคยวิพากษ์วิจารณ์อยู่ ตั้งแต่ก่อนขบวนการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณจะก่อตัวในราวปลายปี 2548 ถ้าเราบอกว่าตอนใช้ 2540 รัฐบาลทักษิณแทรกแซงองค์กรอิสระ ในทางข้อเท็จจริงเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีคนที่มีสายสัมพันธ์กันอยู่ แต่ตั้งแต่ปี 2549 มามันยิ่งหนักมากเลยแต่มันกลับด้านกัน

การกลับไปสู่ระบบถ่วงดุลคือ ต้องลดอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ

ผมว่าอำนาจในทางตุลาการต้องแยกชั้น หมายความว่า เป็นอำนาจระดับบน อำนาจอธิปไตยเสมอกับอำนาจนิติบัญญัติและบริหารหรือไม่ ถ้าเราพูดถึงเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบบของเราที่ควรจะเป็นตอนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญตั้งขึ้นโดยสภาพที่เป็นศาล ต้องมีระบบพิจารณาที่ดี ต้องมีระบบการทำคำพิพากษาที่ดี ตัวศาลมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย อำนาจต้องจำกัด หลัก ๆ ก็คือ การควบคุมตรวจสอบกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คุณต้องออกแบบแบบนี้ แต่ที่เราออกแบบศาลรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่หลังปี 2549 เป็นต้นมา เป็นการออกแบบให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมืออันหนึ่งในการที่จะคัดง้างกับอำนาจจากการเลือกตั้ง

ความพยายามทอนอำนาจจากการเลือกตั้งไม่สำเร็จตั้งแต่ยึดอำนาจปี 2549 เรื่อยมา เที่ยวนี้ถึงมาจัดการระบบเลือกตั้ง ขณะเดียวกันด้วยความกังวลว่ามันอาจจะไม่สำเร็จอีกถึงต้องเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญขึ้นไปอีก แล้วใช้ความเป็นศาลในการกดทับโดยเชื่อว่าสังคมไทยฟังศาล ไม่กล้าหือกับศาล ไม่กล้าตั้งคำถามกับศาล ใช้ทางจารีตกด ทำให้ภาพทางการเมืองเลวร้ายลง เพื่อขับเน้นให้ภาพศาลรัฐธรรมนูญสูงเด่นขึ้น

เวลาพูดว่าศาลมีอำนาจจำกัดหมายความว่าอย่างไร เวลาพูดในสังคมไทยแล้วมันตีความไปอีกอย่าง

คืออย่างนี้ ศาลต่าง ๆ จะเริ่มการเองไม่ได้ ไม่มีผู้พิพากษาถ้าไม่มีการฟ้องคดี ทีนี้ในการพิเคราะห์อำนาจศาล เราต้องดูว่าศาล ๆ นั้น ควรจะมีเขตอำนาจทั่วไป หรือเขตอำนาจเฉพาะเรื่อง ใครบ้างควรจะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล เหล่านี้คือตัวจำกัดอำนาจของศาลไม่ให้เข้ามาวุ่นวายในทุก ๆ เรื่อง อย่างศาลยุติธรรมเขามีเขตอำนาจเป็นการทั่วไป แต่คนที่จะฟ้องคดีในศาลยุติธรรมได้ ต้องเป็นผู้ถูกกระทบสิทธิ แต่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเหตุที่อำนาจเยอะ ในทางการเมืองเราให้ศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจเป็นการทั่วไปไม่ได้ เพราะถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจเป็นการทั่วไปในข้อพิพาททั้งหมดในทางรัฐธรรมนูญ เขาจะเป็นซูเปอร์องค์กรเลย ช่องทางในการเข้าสู่ศาล ประตูต้องไม่กว้าง ต้องแคบและเป็นประตูเล็ก ๆ คนที่จะยื่นคำร้องหรือคำฟ้องได้ ก็ต้องกำหนดให้ชัด และต้องมีเหตุผลว่าทำไมเรื่องนั้นต้ององค์กรนั้นเป็นผู้ยื่นคำร้อง เขาเกี่ยวพันกับเรื่องอย่างไร ระบบกฎหมายจะคุ้มครองสิทธิอะไรของเขา และต้องขัดเจนด้วยว่าโดยหลักแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญพึงมีอำนาจอะไร เช่น มีอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายนะ โอเค ก็ต้องคิดต่อไปอีกว่าเอาก่อนหรือหลังประกาศใช้ เงื่อนไขในการยื่นเรื่องคืออะไรบ้าง เมื่อล็อคตรงนี้ไว้ก็เท่ากับจำกัดอำนาจ

ผมว่าปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจาก 2540 นะ เพราะเปิดไว้เหมือนกัน

ตอนที่เราทำรัฐธรรมนูญ 2540 มันอาจก้าวกระโดดไป มีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้พัฒนาคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมาก่อนหน้านั้นเพื่อให้มีสภาพระบบวิธีพิจารณาที่ดี เราจะสังเกตได้ว่า พัฒนาการของระบบกฎหมายมหาชนไทยมีช่องว่างขนาดใหญ่มากๆ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองถึงปี 2540 มันไม่มี infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) แต่พอถึงปี 2540 เราไปตั้งองค์กรเต็มไปหมดซึ่งมันต้องใช้ความรู้ในทางกฎหมายมหาชนสมัยใหม่เยอะแยะไปหมด มันก็ช็อต ใช้แบบกลายเป็นเครื่องมือ แล้วเรามาเจอปัญหาการต่อสู้ระหว่างกลุ่มทุนใหม่กลุ่มทุนเก่า อำนาจทางจารีตต่อสู้กับอำนาจจากการเลือกตั้งเข้ามาพอดี

ยังมีอีกอันที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ เที่ยวนี้มีอำนาจอันหนึ่ง มาตรา 209 บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพมีสิทธิยื่นคำร้องให้วินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดรัฐธรรมนูญ โอเค เขาล็อคเอาไว้ว่าเงื่อนไขเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบซึ่งเราไม่รู้ว่าคืออะไร สมมติว่ามีคนร้องว่า ศาลฎีกาละเมิดสิทธิ หรือศาลปกครองชั้นต้นละเมิดสิทธิ หรือคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ละเมิดสิทธิ ก็ไปศาลรัฐธรรมนูญได้ใช่ไหม ถ้าไม่มีเงื่อนไขล็อคไว้จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้หมดในนามของการคุ้มครองสิทธิ แต่การคุ้มครองสิทธิจะถูกเล่นการเมืองตลอดเวลา โดยมาตรานี้ทำให้ประตูศาลรัฐธรรมนูญไทยกว้างมาก

ที่อื่นเขามีการคุ้มครองสิทธิแต่ไม่ได้เขียนแบบนี้ เขาเขียนเงื่อนไขจำกัดมากๆ เช่น คุณได้ใช้หนทางเยียวยาทางกฎหมายหมดทุกทางจนสิ้นหนทางแล้ว เขาถึงไปได้ แล้วประสบความสำเร็จน้อยมากในศาลรัฐธรรมนูญ แต่บ้านเราผมเกรงว่าถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน ข้ออ้างเรื่องการคุ้มครองสิทธินี้จะถูกอ้างกันเละเทะเปรอะไปหมด และจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตัดสินคดีแบบนี้ ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าเวลาศาลรัฐธรรมนูญทำคำพิพากษา คุณจะทำคำพิพากษาอะไรที่จะบอกว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ คุณจะสั่งอะไรได้มั่ง มันง่ายนะที่จะบอกว่ากระทบสิทธิละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะในสังคมไทยที่คอนเซ็ปท์เรื่องสิทธิในทางมหาชนยังไม่เป็นที่รู้จัก อันตรายเลยตรงนี้ อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ของเดิมไม่มีเรื่องนี้

ของเดิมก็มีแต่มันถูกล็อคว่าเมื่อไม่สามารถใช้สิทธิในหนทางอื่นได้แล้ว มันอยู่ในมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ 2550 จริงๆ รากเหง้าของเรื่องนี้เขาเรียกว่า การร้องทุกข์ในทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เดิมเขียนไว้ไม่ค่อยถูกหลัก แต่เป็นประเด็นในทางเทคนิคกฎหมายมาก ๆ ที่ผมต้องใช้พื้นที่อธิบายมาก คนที่สนใจไปหาอ่านงานวิจัยที่ผมเคยวิเคราะห์ไว้แล้วกัน แต่เที่ยวนี้ มาตรา 209 ยิ่งทำให้เพี้ยนไปอีกโดยการตัดเงื่อนไขออก

ถ้าเขตอำนาจขัดกันจะมีการพิจารณาไหม

ศาลรัฐธรรมนูญเขาไม่สนใจ ถือว่าคำวินิจฉัยของเขาผูกพันทุกองค์กร ประเด็นมันอยู่ตรงที่ หลักเกณฑ์เงื่อนไขบัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณา กั๊กไว้อีก

องค์กรอิสระ : มาเฟียอำนาจที่ 4

ร่างครั้งนี้นอกจากแยกหมวดศาลรัฐธรรมนูญ ยังเขียนหมวดองค์กรอิสระ เอามารวมกันชัดเจน 5 องค์กร ยกเว้นองค์กรอัยการไปอยู่หมวด 13 ถ้าเราย้อนไปดู 2540 ไม่ได้เขียนหมวดองค์กรอิสระ มันแสดงความสำคัญมากขึ้นอย่างชัดเจน

ปี 2540 เขียนไว้แบบกระจัดกระจาย ผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่หมวดรัฐสภา กกต.อยู่ในส่วนเรื่องการเลือกตั้ง กระจายไปอย่างนี้

ปัญหาเป็นอย่างนี้และผมวิจารณ์มาเป็นสิบปีตั้งแต่ช่วงปลายของรัฐบาลทักษิณ คือ การเกิดขึ้นขององค์กรอิสระในกฎหมายไทยมันเกิดขึ้นโดยไม่มีคอนเซ็ปท์ที่ชัดเจนในระดับรัฐธรรมนูญ ในโลกนี้หลายประเทศตั้งองค์กรอิสระขึ้นมา แต่เกือบทั้งหมดเป็นองค์กรอิสระในทางปกครอง รัฐธรรมนูญอาจเขียนรองรับไว้ แต่มันตั้งขึ้นได้เมื่อมีพ.ร.บ.ที่สภาตราขึ้น เป็นการดึงเอาอำนาจบริหารส่วนหนึ่งที่เดิมอยู่ครม.ไปให้กับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญบางอย่างเป็นคนทำ เช่น กสทช. เป็นองค์กรอิสระทางปกครอง เวลาใช้อำนาจก็เหมือนกระทรวงหรือกรมที่แยกขาดจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งการจะตั้งองค์กรลักษณะนี้ต้องคิดอยู่ 2 ประเด็น คือ 1. ที่มาจะมาจากไหนและ 2.มี accountability หรือความรับผิดชอบ ความพร้อมรับผิดกับใคร อย่างระดับกรม อธิบดีรับผิดชอบต่อปลัด ปลัดรับผิดชอบต่อรัฐมนตรี รัฐมนตรีรับผิดชอบต่อสภา สภารับผิดชอบต่อประชาชน มันมีโครงสร้างความรับผิดชอบในระบบเชื่อมกันอยู่ แต่เวลาตั้งองค์กรอิสระโดยเหตุที่มันหลุดออกมาจากครม. ผมจึงนิยามองค์กรอิสระไว้ว่า องค์ที่ใช้อำนาจบริหารที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง และในแง่นี้ต้องเขียนว่าจะสัมพันธ์กับสภาอย่างไร คุณทำอำนาจทางนโยบายได้ไหม ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหา กสทช.คุณบังคับใช้กฎหมายเฉยๆ หรือคุณกำหนดนโยบายเกี่ยวกับโทรคมนาคมด้วย จริงๆ แล้วนโยบายโทรคมนาคมควรเป็นของ ครม.เพราะเขามีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง ตรงนี้ต้องเคลียร์ นี่คือปัญหาขององค์กรอิสระในทางปกครอง แต่ที่ยุติตรงกันคือเมื่อองค์กรนี้ใช้อำนาจอะไรไปแล้วละเมิดสิทธิ คนที่ถูกละเมิดสิทธิก็สามารถฟ้องศาลได้

ทีนี้ตอนปี 2540 เราทำองค์กรอิสระขึ้นมาแต่เป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่แบบที่พูดไป เช่น ปปช. กกต. คตง. โดยไม่มีคอนเซ็ปท์ว่า องค์กรเหล่านี้ใช้อำนาจในทางปกครอง หรือใช้อำนาจทางรัฐธรรมนูญ ถ้าใช้อำนาจทางรัฐธรรมนูญ อำนาจคุณอยู่ในระนาบเดียวกันกับอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และอำนาจตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญในระดับบนสุดหรือไม่ แล้วทำไมมาตรา 3 ไม่พูดถึงในวรรคแรก พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทางรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ศาล ไม่มีทางองค์กรอิสระ เพราะอะไร เพราะคอนเซ็ปท์มันไม่เคลียร์ เพราะโดยคอนเซ็ปท์แต่ดั้งเดิมอำนาจแบ่งเป็น 3 ฝ่ายคือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ พอมีองค์กรอิสระในปี 2540 บางคนอธิบายว่ามี 3 อำนาจในองค์กรเดียว กึ่งนิติบัญญัติ กึ่งบริหาร กึ่งตุลาการ

ผมคิดว่าถ้าองค์กรใดก็ตามมี 3 อำนาจในองค์กรเดียว คุณคือองค์กรมาเฟีย เท่ากับระบบแบ่งแยกอำนาจถูกทำลายลงด้วยการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาในรัฐธรรมนูญใช่ไหม ฉะนั้น ปัญหาองค์กรอิสระในระบบกฎหมายไทยคือปัญหาในเชิงคอนเซ็ปท์ซึ่งมันไม่เคลียร์เลยว่าคุณตั้งองค์กรพวกนี้ขึ้นมาแล้วใช้อำนาจแบบไหน ถูกถ่วงดุลอำนาจยังไง แล้วรับผิดชอบต่อใคร ที่สำคัญคือ ไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอีก ตอนปี 2540 ยังผ่านวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นก็ผ่านวุฒิสภากึ่งเลือกตั้งกึ่งแต่งตั้ง เที่ยวนี้จะมีวุฒิสภาที่จะไม่เกี่ยวข้องอะไรโดยตรงกับประชาชนอีกต่อไป เป็นเรื่องกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เลือกกันเอง แล้วพวกนี้แหละจะมาใหั้ความเห็นชอบคนเข้าสู่ตำแหน่งในองค์กรอิสระ

การที่องค์กรอิสระมีแนวโน้มที่จะไม่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย มันเป็นปัญหาเฉพาะของรัฐธรรมนูญไทย ในแง่ที่ว่า อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ถูกมองว่าเป็นอำนาจทางการเมือง แล้วอำนาจตุลาการถูกแยกออกมา แล้วตั้งแต่เดิมมา มันไม่เคยมีการพูดกันถึงการเกาะเกี่ยวระหว่างอำนาจตุลาการกับประชาชน องค์กรอิสระจึงมีสภาพคล้ายๆ กับองค์กรตุลาการ ในลักษณะซึ่งพัฒนาตัวมันเองไปอีกขั้นหนึ่ง ในแง่นั้น elite หรือข้าราชการระดับสูงจะมีที่ทางในการเมืองระดับบน ปะทะกับนักการเมือง อันนี้คือที่มา เพราะฉะนั้น ไปๆ มาๆ เราจะเห็นว่าผุ้พิพากษาศาลจำนวนหนึ่งก็จะค่อยๆ ออกมาเป็นองค์กรอิสระ เขาไม่ไปลงเลือกตั้ง ไม่ไปเป็นรัฐมนตรี แต่เขาก็มาอยู่ในอำนาจแบบนี้ เพราะมันมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการขาดฐานความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

แล้วอำนาจพวกนี้ใช้ได้มากกว่าศาลอีก

ในหลายกรณี ใช่ เพราะว่ามันเป็นอำนาจในเชิงบริหารด้วยส่วนหนึ่ง เช่น อำนาจปราบทุจริต

ตอนนี้ยิ่งรวมชัด ยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น

ถูกต้อง เหมือนกับว่าสถาปนาเป็นอำนาจที่สี่ขึ้นมา แต่ว่าความไม่ชัดเจนของอำนาจที่สี่ในรอบนี้ก็คือองค์กรอิสระ คนร่างก็คิดไม่ออกว่าจะวางสถานะมันไว้อย่างไร เพราะคอนเซ็ปท์มันไม่เคลียร์ ดูมาตรา 3 "พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล" ไม่มีองค์กรอิสระ

แต่พอวรรคสอง มีการพูดถึง "องค์กรอิสระ"

ใช่ เดิมทีรัฐธรรมนูญ2540 ไม่เขียนเลย แต่ตอนรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้ว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ผมเคยวิจารณ์องค์กรตามรัฐธรรมนูญเอาไว้หนักหน่วงว่า ถ้าเขียนถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แล้วรัฐสภาไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือ ครม. ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือ เพราะว่าคนร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เคลียร์คอนเซ็ปท์เรื่องนี้ ครั้งนี้เขามาเขียนเป็นองค์กรอิสระ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเขียนอย่างไร ปัญหาที่ทุกคนแก้ไม่ตกตั้งแต่ปี 2540 คือแล้วมันมีสถานะในทางอำนาจแบบไหน

มีชัยให้สัมภาษณ์ว่า ศาล องค์กรอิสระไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน บอกว่ามีแต่คอมมิวนิสต์ที่มีศาลประชาชน

ถามต่อว่า ถ้าไม่ยึดโยงกับประชาชน แล้วมาตรา 3 เขียนทำไมว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" แล้วพวกนี้ไม่ได้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยหรือ แล้วศาลไม่ยึดโยงอย่างไรเพราะศาลเป็นหนึ่งในองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยของเจ้าของคือปวงชนชาวไทยนะ

อันนี้อธิบายได้อย่างเดียวว่ามันเป็นประเพณีการปกครองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบไทย คือสุดท้ายพอมาถึงจุดนี้ ก็จะอธิบายในลักษณะที่ว่าอ้างไปแบบทุบโต๊ะ เพราะอธิบายโดยตรรกะไม่ได้ สุดท้ายเวลาคุณเขียน คุณก็ต้องถูกบังคับให้ต้องเขียนแบบนี้ จริงๆ มันไม่เป็นประชาธิปไตยหรอก แต่คุณก็ต้องเขียนว่าเป็นประชาธิปไตย เวลาสู้กัน ผมก็พยายามจะ defend ว่าก็ให้มันเป็นตามนี้สิ  ก็เขียนมาเอง ไม่งั้นก็เลิกเขียนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ถ้าเขียนวางหลักไว้แบบนี้ เราก็ต้องใช้หลักอันนี้เป็นฐานในการวิจารณ์ได้สิว่าตกลงคุณเขียนรัฐธรรมนูญสม่ำเสมอสอดคล้องกันหรือไม่

หมวด 12 เป็นครั้งแรกที่มีบททั่วไปขององค์กรอิสระ ในรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มี

ประวัติศาสตร์การพัฒนาเป็นอำนาจที่สี่ เริ่มปรากฏชัดขึ้นเป็นลำดับ จาก 2540 ที่กระจัดกระจาย 2550 ถูกทำให้เรียกว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังแบ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีตรรกะและคอนเซ็ปท์ทางกฎหมายมหาชน พอเที่ยวนี้พัฒนาไปอีกชั้นหนึ่ง พยายามสร้างบททั่วไปขององค์กรอิสระขึ้นมาอีก นี่ก็คือการพยายามสร้างคอนเซ็ปท์อำนาจที่สี่ขึ้นมา อำนาจที่ “อประชาธิปไตย” คือไม่เป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ เดิมทีอยู่กับศาลส่วนหนึ่ง บัดนี้ ก็มีองค์กรอิสระขึ้นมา

แล้วการเขียนของมาตรา 211 นี้เขียนแล้วไม่มีความหมายอะไรเลย  "องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้มีความเป็นอิสระ" เป็นการเขียนที่ไม่ได้บอกอะไรเรา

นอกจากนี้ยังบอกว่า "การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม กล้าหาญ..." ผมว่ามันยังไม่ครบนะ มันต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หิริโอตตัปปะ ซื่อสัตย์ ยุติธรรม อดทน อดกลั้น อดออม อะไรอย่างนี้ ทำไมไม่ใส่ไปให้หมด ถ้าเขียนอย่างนี้ แล้วคำว่ากล้าหาญนี่คืออย่างไร จะไปรบกับใครหรือ คำว่า "กล้าหาญ" ในทางกฎหมาย ผมก็ไม่เคยเจอ "เที่ยงธรรม" นี่โอเค มันก็เป็นคุณค่าหนึ่งที่สัมพันธ์กับการปรับใช้กฎหมาย แต่ "กล้าหาญ" นี่แปลกดี ถ้าเขียนคุณสมบัตินี้ไว้ให้องค์กรอิสระ ทำไมไม่เขียนให้ข้าราชการ หรือศาล ฯลฯ ด้วยล่ะ แล้วจะวัดกันยังไง

กกต.ครั้งนี้เพิ่มจาก 5 เป็น 7 คนแต่สัดส่วนจากศาลฎีกายังมีแค่ 2 คน แล้วเพิ่มคุณสมบัติ

กกต. เพิ่มจาก 5 เป็น 7 คน คุณสมบัติที่กำหนดค่อนข้างกว้างขวาง "มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ... ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา" อันนี้คืออยู่ที่ กรรมการสรรหาเลย มี "ประสบการณ์ด้านกฎหมาย" ก็คือเอาผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์กับอธิบดีอัยการ

มีข้อสังเกตว่า ร่างของกรรมการร่างชุดมีชัย เหมือนไม่ค่อย refer ถึงศาลปกครองในบางเรื่อง เช่น คนดำรงตำแหน่ง กกต. "เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ หรือตำแหน่งไม่ต่ำหว่าอธิบดีอัยการ" แล้วศาลปกครองล่ะ? ถ้าว่าโดยหลักการ เรื่องกฎหมายเลือกตั้งมันมีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชน ถ้าจะอาผู้พิพากษาตุลาการ ควรคำนึงถึงศาลปกครองด้วย

ของเดิมก็ไม่มี

ของเดิมก็ไม่มี แต่ว่าอันนี้เขาเอาอธิบดีอัยการมาด้วย คือถ้าจะพูดถึง กกต. โดยลักษณะของการใช้กฎหมาย ถ้าจะว่าโดยระบบ ศาลปกครองก็ต้องเกี่ยวพันด้วยในด้านหนึ่ง คือ การวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีเลือกตั้ง ความจริงก็อย่างที่บอก เป็นเรื่องในทางกฎหมายมหาชนอยู่

อำนาจ กกต. ยังออกใบแดงได้ แต่ว่าเป็นใบแดงชั่วคราว 1 ปี ในมาตรา 220 (4)

เขาใช้คำว่า "ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง" แต่คำสั่งระงับสิทธิเลือกตั้งแบบนี้ มันเป็นคำสั่งที่เป็นที่สุด (มาตรา 221) เข้าใจว่าฟ้องศาลไม่ได้ ซึ่งมีปัญหาอยู่ว่าให้ กกต. มีอำนาจเสมือนกับอำนาจตุลาการ คือตัดสิทธิคนโดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาในทางศาล อันนี้ก็คือปัญหาเดิม

พอมาตรา 222 ให้ไปร้องศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอน

อันนี้ก็คือไอเดียเหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2550 คือ ก่อนเลือกตั้งเป็นอำนาจ กกต. หลังเลือกตั้งเป็นอำนาจศาลฎีกา

แต่ประเด็นมันก็คือมันไม่ใช้คำตัดสิน มันก็คือให้ศาลฎีกาแจกใบแดงเหมือนกัน เท่ากับกลับมาใช้ระบบใบแดง

ใช่ อันนี้มันไม่ได้เปลี่ยน แต่เพิ่มโทษ และก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง เปลี่ยนจากเพิกถอน เป็นระงับสิทธิเอาไว้หนึ่งปี ประเด็นคือว่า ถึงที่สุด อำนาจของ กกต.มันมีมาก ในแง่ของการตัดสิทธิ และปัญหาใหญ่คือ การที่ กกต.เป็นกำแพงขวางกั้นการแสดงเจตจำนงของประชาชน เพราะว่าโดยระบบทั่วไป จากหลักการ ประชาชนที่ไปเลือกตั้งคือคนที่แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะสังเกตว่า ตำแหน่ง ส.ส.ไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่มีการเสด็จมาเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรก ครม. ศาล มีถวายสัตย์ แต่ ส.ส. ไม่มี เพราะโดยตรรกะคือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจแล้วเขาตั้งผู้แทน เพราะการไปเลือกตั้งคือการไปแสดงเจตนาแต่งตั้ง พูดง่ายๆ คือ ประชาชนไปออกคำสั่งแต่งตั้งให้คนนี้เป็น ส.ส.

ทีนี้คำสั่งที่ประชาชนออกไปแต่งตั้งมันถูกเบรกโดย กกต. ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ คือ ประชาชนสั่งมาแล้วว่าตั้งคนนี้ แต่ กกต.บอกว่ายังไม่ประกาศนะ ไปตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อน ทั้งๆ ที่ความจริง ถ้า กกต.จะไม่ประกาศมันควรมีแค่กรณีเดียวคือ คะแนนนั้นเป็นโมฆะ ถ้าเป็นกรณีอื่นทั้งหมด ต้องประกาศ แล้วถ้าทุจริตต้องไปดำเนินคดีตามกฎหมาย เมื่อปี 2543 ราว ๆ นั้น ผมก็เคยออกแถลงการณ์กับอาจารย์หลายท่านในคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์  ตอนที่ กกต.ใช้อำนาจเบรกตอนเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรก ว่าเบรกแบบนี้ไม่ได้ เมื่อประชาชนตั้งคนมาแล้ว คุณต้องประกาศ พวกนั้นเขาบอกว่ามันต้องตรวจสอบก่อนว่าไม่มีทุจริตการเลือกตั้ง มันจะตรวจอย่างไรเพราะร้องเรียนกันเละเทะไปหมด เราก็เลยแก้ปัญหาแบบผิดทิศผิดทาง แบบว่าบอกว่าต้องได้กี่เปอร์เซ็นต์แล้วรอเปิดสภาได้ ซึ่งมันไม่เป็นเหตุเป็นผล สมมติบอกว่า ตรวจสอบแล้วทุจริต 40% แล้วเปิดสภาไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญก็บังคับว่าต้องเปิดภายในเวลาเท่าไหร่ คือที่สุดก็ต้องประกาศก่อนอยู่ดี

ตรรกะผมก็คือว่า ถ้ามีการนับคะแนนแล้ว หน้าที่ของ กกต.คือยืนยันผลคะแนน เจตจำนงของประชาชนแสดงออกผ่านคะแนน ถ้าเขาซื้อเสียงหรือทำผิดกฎหมายนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นคือไม่ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อเสียงแต่ประชาชนเลือกเขา ก็ต้องประกาศว่าเขาเป็น ส.ส. แล้วถ้ามีหลักฐานก็ดำเนินคดี ก็ติดคุกไป คือผมไม่มีปัญหานะ ถ้ามีหลักฐานก็ให้เขาติดคุกไปเลย แต่ที่ผ่านมา ก็คือไม่เห็นมีใครติดคุก มีแต่เพียง "เชื่อได้ว่าทุจริต"  เรื่องนี้เป็นประเด็นในทางหลักการ เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่ามันไม่เคยเคารพอำนาจของเจ้าของอำนาจ คือไม่รู้สึกว่าคะแนนของเจ้าของอำนาจมีความหมาย จะตั้งองค์กรอะไรขึ้นเบรกก็ได้ โดยรู้สึกว่าต้องจัดการนักการเมือง แล้วทำได้ไหม ซึ่งมันก็ทำไม่ได้

แล้วรัฐธรรมนูญปี 2550 กับปีนี้ก็เอาไปให้ศาล แล้วศาลออกใบแดง ไม่ใช่การตัดสินว่าทุจริต ติดคุก ตามมาตรา 222

ใช่ เรื่องนี้จะชอบอ้างสโลแกนที่อธิบายให้คนทั่วไปฟังยากว่าเขาทุจริตการเลือกตั้งแล้วจะปล่อยเป็น ส.ส.ได้อย่างไร ผมถามว่าแล้วใครตัดสินว่าทุจริต มันก็เป็นการกล่าวหาว่าทุจริตหรือทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ประเด็นอยู่ที่ว่าคะแนนต่างหากคือตัวเลขที่เขาได้เป็นรูปธรรมและมันเป็นภววิสัย ในแง่ที่ว่ามันไม่เอาอัตวิสัยอะไรเข้าไปจับในชั้นนี้ ก็คือว่าเมื่อได้คะแนนมา และไม่เป็นคะแนนเสีย ก็ต้องประกาศผลการเลือกตั้ง จากนั้นก็เปิดประชุมสภา แล้วดำเนินคดี

กรณีการกำหนดให้หลังประกาศผล กกต.ต้องยื่นคำร้องต่อศาล เมื่อปี 2550 เป็นผลจากการที่วิจารณ์ตอน 2540 ที่ กกต.ให้ใบแดง ที่วิจารณ์ว่าทำไมให้ กกต.ที่มีอำนาจบริหาร จัดการเลือกตั้ง มีอำนาจมาให้ใบแดงตัดสิทธิคนได้อย่างไร วิจารณ์หลายปี พอตอนเขียนรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ผ่อนตรงนี้ลง เป็นว่าพบกันครึ่งทาง ก่อนการเลือกตั้งให้เป็นอำนาจ กกต. พอประกาศไปแล้วให้ กกต.รวบรวมหลักฐานยื่นศาลฎีกา

แต่ศาลก็ไม่ได้ตัดสินทุจริต ก็เป็นศาลออกใบแดงเหมือนกัน

ก็เป็นคดีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพราะว่าจริงๆ โดยทั่วไปหรือโดยหลักแล้ว การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งควรเป็นโทษประกอบ หมายความว่า ควรที่จะมีการกระทำผิดอาญาเป็นความผิดหลัก ความผิดอาญานั้นอาจจะเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกับการเลือกตั้ง เช่น ทุจริตการเลือกตั้งที่เป็นความผิดอาญา แล้วได้ความว่าเขาผิดจริง พูดง่ายๆ คือใช้มาตรฐานในทางกฎหมายอาญา เมื่อเขาติดคุก ก็ระงับสิทธิเลือกตั้งตามมา แต่ของเรา เอาการเพิกถอนแยกออกมา ไม่ได้ใช้มาตรฐานทางกฎหมายอาญา และปล่อยเป็นแค่เชื่อได้ว่าทุจริต หรือมีหลักฐาน แต่ไม่ถึงขั้นว่าผิด

คตง.มีการเพิ่มอำนาจ มาตรา 241 วรรคสอง "ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบดังกล่าวให้ปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หากที่ประชุมร่วมเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้นให้ร่วมกันมีหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย"

ก็แปลว่าแทนที่จะให้การคุมนโยบายเป็นเรื่องของพรรคการเมือง เป็นเรื่องของประชาชนทั่วไป ก็ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คตง. กกต. ป.ป.ช. มาคุมแทน ปัญหาคือเวลาที่เขาเสนอนโยบาย มันจะยังไง

"การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง"

ในทางกฎหมาย มันเป็นการพยากรณ์ ซึ่งไม่มีใครพยากรณ์ได้แน่นอนเด็ดขาด มันจะมีการเถียงกัน รัฐบาลก็ต้องบอกว่ามันไม่เสียหาย เขาคำนึงแล้ว นี่เป็นงบลงทุนนู่นนี่นั่น อีกพวกหนึ่งบอกว่าเสียหาย ยกตัวอย่างเช่น ลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง ฝั่งหนึ่งบอกว่ารอให้ถนนลูกรังหมดก่อนไม่อย่างนั้นจะเสียหายทางการเงินการคลัง ไปกู้เงินมาเป็นหนี้สาธารณะ นี่เป็นเรื่องของการพยากรณ์การประเมิน คำถามคือทำไมต้องเอาเรื่องการประเมินขององค์กรนี้เป็นเด็ดขาด เพราะว่าเวลาประเมินมันพูดยาก อย่างเช่นเรื่องค่าเงินบาท คุณถูกโจมตีเรื่องค่าเงินบาท คุณจะสู้หรือไม่ แล้วใครจะรู้ว่าสู้แล้วเป็นอย่างไร ไม่สู้แล้วเป็นอย่างไร ในชีวิตของรัฐหรือแม้ชีวิตของมนุษย์มันมีความเสี่ยงอยู่ แล้วถ้าเกิดเขาตัดสินใจในบริบทที่เขาดูทุกอย่างรอบด้านแล้วเขาตัดสินใจแบบนั้น คือปัญหาในทางกลับกัน สมมติว่าการระงับยับยั้งมันก่อให้เกิดความเสียหายล่ะ สามองค์กรนี้จะรับผิดชอบอย่างไร เรามองในแง่ที่ว่า ระงับยับยั้งเป็นการป้องกันความเสียหาย แต่ถ้าเขาระงับยับยั้งแล้วผลของมันกลับก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อการเงินการคลังล่ะ

เขาน่าจะเขียนเพิ่มเพราะมีกรณีจำนำข้าว เที่ยวนี้ในด้านหนึ่ง เขาก็คงดูว่าฝ่ายนักการเมืองที่มีฐานคะแนนเสียงจากประชาชนใช้การมัดใจประชาชนโดยวิธีการทางนโยบาย เพราะฉะนั้น เขาจะล็อคตัวนี้ลงไป ให้ฝ่ายการเมืองขยับได้น้อยลง คิดนโยบายใหม่ๆ อาจจะลำบากหน่อย

มาตรา 236 ของเดิมไม่ละเอียดขนาดนี้ เช่น ข้อ 5 สั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

อันนี้มีร่องรอยมาในร่างของกรรมาธิการชุดที่แล้วที่ถูก สปช. คว่ำไปอยู่แล้ว ผมไม่รู้ว่าสั่งลงโทษทางปกครองมันคือโทษแบบไหนบ้าง เข้าใจว่าคงเป็นการปรับเป็นเงิน แต่อย่างน้อยเฉพาะประเด็นนี้ร่างนี้ในทางหลักการยังดี เพราะให้ คตง. เป็นผู้สั่ง ไม่ใช่ให้ศาลปกครองสั่งเอง

คล้าย พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดแล้วไปฟ้องศาลปกครองไหม

ประมาณนั้น จริงๆ เขาไม่เรียกว่าฟ้อง มันเขียนประหลาดเหมือนกัน มันคืออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด คืออะไรที่ คตง.สั่ง มันไปศาลปกครองสูงสุดเลย เหมือน คตง.เป็นศาลชั้นต้นไปด้วย เป็นคนที่ใช้อำนาจทางบริหารด้วย เริ่มกระบวนการเองได้ และสั่งลงโทษได้ แล้วก็ให้อุทธรณ์ไปศาลปกครองสูงสุด ซึ่งปกติถ้าเป็น พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดมันไปที่ศาลปกครองชั้นต้น คือพอถูกลงโทษ คนที่ถูกลงโทษจะฟ้องคดี แต่ในมาตรา 236 เขียนให้ "อุทธรณ์" ภายใน 90 วันต่อศาลปกครองสูงสุด ใช้คำว่า "อุทธรณ์" ทั้งที่ปกติเริ่มการที่ศาลมันต้องเป็นการฟ้องคดี

ข้าราชการโดนได้หมด

โดนได้หมด ทีนี้ต้องไปดูว่ากฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังมันคืออะไรบ้าง ยังไง คตง.ก็จะมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น

ก็จะไปอยู่ในสิบข้อที่มีชัยจะร่าง

เพราะฉะนั้นเวลาเราดูรัฐธรรมนูญ มันดูไม่หมด เพราะอำนาจมันจะถูกกั๊กไปเขียน ในทางปฏิบัติมันจะไปหนักที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหมด

กสม.ถูก ICC ลดเกรดแต่ยกระดับกลายเป็นองค์กรอิสระ

ใช่ เดิม กสม.เป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ จะอยู่กับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ กับอัยการ จะไม่อยู่ระดับเดียวกับ กกต. ป.ป.ช. คตง.  แต่ที่นี้ปัญหามันอยู่ตรงที่ มาตรา 244 (4) คือให้อำนาจหน้าที่ ชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในกรณีที่มีรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม

อันนี้ชัดเจนมาก เท่ากับ กสม.จะเป็นคู่ปรปักษ์กับองค์กรระหว่างประเทศเช่น ฮิวแมนไรท์วอชท์ ยูเอ็น แอมเนสตี้

ศาลฎีกานักการเมืองอุทธรณ์ได้แต่....

หมวดศาลมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไหม

มาตรา 190 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพิ่มให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายในสามสิบวัน เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายหรือในกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

เขาพยายามแก้เรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาที่ถูกวิจารณ์ว่าศาลชั้นเดียวไม่เป็นธรรม และไม่ถูกต้องตามมาตรฐานของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ  ICCPR ด้วย คือเดิมการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งฐานเริ่มมาจาก ป.ป.ช.ฟ้อง เดิมทีตอนรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีกรณีให้อุทธรณ์ก็มีการวิจารณ์กันว่าทำไมศาลฎีกาตัดสินแล้วจบ พอปี 2550 คนทำรัฐธรรมนูญ ก็เลยแก้ให้มีการอุทธรณ์ แต่ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาประมาณร้อยคน ก็เป็นปัญหา แต่ปัญหาสำคัญคือการอุทธรณ์ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ ภายในสามสิบวัน คือพอตัดสินแล้ว ต้องไปหาพยานหลักฐานใหม่ภายในสามสิบวันเพื่ออุทธรณ์ ซึ่งผิดหลักการอุทธรณ์ การอุทธรณ์โดยคอนเซ็ปท์ตามกฎหมายมันคือการที่จำเลยที่ถูกศาลชั้นล่างพิพากษาแล้ว เขาเห็นแย้งกับคำพิพากษานั้นว่าไม่ถูก จะประเด็นอะไรก็ได้ ก็อุทธรณ์ให้ศาลสูง ทบทวนคำพิพากษาของศาลล่าง ทีนี้ พอรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เขียนว่าต้องมีพยานหลักฐานใหม่ เท่ากับอุทธรณ์ไม่ได้

ซึ่งความจริงถ้ามีพยานหลักฐานใหม่ ก็แสดงว่าอีกยี่สิบปีก็อุทธรณ์ได้ มันเป็นการพิจารณาใหม่

มันเป็นการขอให้พิจารณาใหม่ ที่ผมเคยวิจารณ์อันนี้หลายปีแล้วว่าจริง ๆ มันคือการขอให้พิจารณาใหม่ แต่ตามหลักแล้วการพิจารณาใหม่มันจะไม่ถูกล็อคโดยสามสิบวัน เช่น ตัดสินถึงที่สุดไปแล้ว คดีอาญาจับแพะติดคุก แพะติดคุกอยู่สามปี เจอพยานหลักฐานใหม่ว่าแพะไม่ได้กระทำความผิด เขาก็รื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ มันไม่ใช่การอุทธรณ์ แต่ 2550 เอาสองเรื่องนี้มาปนกันแล้วก็เกิดเป็นอะไรบางอย่างที่มันประหลาดในระบบกฎหมาย คือมันจะเป็นการอุทธรณ์ก็ไม่ใช่ จะเป็นการพิจารณาใหม่ก็ไม่ใช่อีก มันเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่มีคอนเซ็ปท์ ทีนี้ มันก็ผิดหลักการใน ICCPR ที่บอกว่ากรณีบุคคลซึ่งถูกดำเนินคดี ต้องมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลระดับสูงได้ อันนี้เป็นสิทธิที่ถูกประกันและประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกใน ICCPR ทีนี้ถามว่ารัฐธรรมนูญเราได้มาตรฐาน ICCPR ไหม ก็ไม่ได้ เขาอาจจะไปบอกว่านี่ไงผมเขียนให้สิทธิอุทธรณ์ แต่การอุทธรณ์นี้ไม่ใช่การอุทธรณ์ในความหมายที่แท้จริง เพราะมันล็อคเรื่องข้อกฎหมายกับเรื่องมีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งมันผิดหลัก

อุทธรณ์มันต้องไม่ล็อคเลย?

ไม่ล็อคเลย คืออุทธรณ์มันอาจจะมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ถ้ามันผ่านสองชั้นมาแล้ว อาจจะห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง แต่ว่าเที่ยวนี้มันไปที่ประชุมใหญ่ โดยสภาพมันต้องอุทธรณ์ได้ ในบ้านเรา ผู้พิพากษาดูทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหมดในคดีอาญา ในสหรัฐฯ เป็นลูกขุนและอุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้ เพราะถือว่านี่คือการเอาคนติดคุก แต่ของเราไปสร้างระบบพิเศษ แบบว่าเป็นนักการเมืองก็ต้องเล่นเป็นพิเศษ ก็ผิดมาตรฐาน คือผิดมาตั้งแต่การมีไอเดียว่าจะต้องมีศาลเฉพาะสำหรับพวกนักการเมืองแล้ว มันแปลว่าในระบบศาลปกติเราเชื่อถือไม่ได้หรือ ในศาลปกติไม่มีมาตรฐานเพียงพอ ถ้าบอกว่ามันช้า มันก็เป็นเรื่องกระบวนพิจารณา แต่ประเด็นคือสุดท้ายคุณจะตัดสินลงโทษจำคุกใครสักคนหนึ่งในทางอาญา มันต้องได้เกณฑ์มาตรฐาน

แล้วทีนี้พอมันอุทธรณ์ในที่ประชุมใหญ่ คนมันเยอะ มีการเพิ่มขึ้นมาใหม่ในหมวดศาล ว่า พออุทธรณ์จะมีองค์คณะขึ้นมาอีกเก้าคนในชั้นอุทธรณ์ แต่ต้องไม่เป็นองค์คณะเดิม มาทำสำนวนแล้วส่งเข้าที่ประชุมใหญ่ เพราะผมเคยวิจารณ์ว่าถ้าเอาเข้าที่ประชุมใหญ่ แล้วไม่มีคนรับผิดชอบแล้วจะทำงานกันอย่างไร

เปลี่ยนอย่างนี้ดีขึ้นหน่อยหนึ่งไหม

โดยหลักการมันไม่ได้

หลักการมันต้องอุทธรณ์กว้าง?

ใช่ แต่ทีนี้มันให้ศาลฎีกาไปแล้วไง จะอุทธรณ์ไปไหน มันพันกันเอง ตั้งแต่ว่าพอเป็นนักการเมืองก็ต้องเป็นศาลพิเศษคือศาลฎีกา พอศาลฎีกาก็สูงสุดแล้ว เพราะฉะนั้นจะอุทธรณ์ไปไหนได้อีก ก็บอกว่า งั้นอุทธรณ์ไปที่ประชุมใหญ่ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาทุกคน

จริงๆ ปกติที่ประชุมใหญ่ จะเอาไว้ใช้ในกรณีที่มีปัญหาขัดแย้งกันในทางกฎหมาย แล้วมันต้องตัดสินทางใดทางหนึ่ง เพื่อวางแนวให้เป็นแนวเดียวกัน คืออำนาจจะอยู่ที่องค์คณะ แต่บางประเด็นถึงจะเข้าที่ประชุมใหญ่

เขาจะไม่พิจารณาเป็นตัวคดี

ไม่มี เท่าที่ผมทราบ มันไม่มีคดีที่อยู่ในอำนาจของที่ประชุมใหญ่หรอก คดีมันต้องเป็นขององค์คณะ

 ตามร่างนี้ชั้นแรกสุด คือองค์คณะพิจารณาเอาจาก 9 คนในศาลฎีกา ซึ่งที่ประชุมเป็นคนเลือก โดยให้เลือกเป็นรายคดี พออุทธรณ์ ที่ว่าจะต้องมีหลักฐานใหม่ เขาบอกให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ภายในสามสิบวัน การวินิจฉัยอุทธรณ์เขาบอกให้ทำโดยองค์คณะของศาลฎีกา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาที่ไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน แล้วที่ประชุมใหญ่เลือกอีกเก้าคน

มันก็คือศาลเดียวกัน โดยระบบการอุทธรณ์มันต้องเหลื่อมกัน คือศาลสูงตรวจสอบศาลล่าง แต่นี่คือศาลในระดับเดียวกัน เพียงแต่ว่าอาจจะเหลื่อมนิดนึง คือเขาใช้ตำแหน่ง ในชั้นแรกเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา แต่พออุทธรณ์เข้าที่ประชุมใหญ่ ที่ประชุมใหญ่ตั้งองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์เป็นหัวหน้าคณะในศาลฎีกา แต่มันคือศาลเดียวกัน

ตอนพิจารณา เก้าคนนี้คงเป็นคนเขียนแล้วให้โหวต แล้วอันนี้หลักเกณฑ์การพิจารณาการวินิจฉัย เขาให้ กรธ.ไปเขียน ออกเป็น พ.ร.บ.วิธีพิจารณาทางอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แล้วเปลี่ยน กต.ไหม

เขาไม่เขียน กต.กับ กศป.ไว้นะ เที่ยวนี้เขาเขียน refer ให้มันเป็นไปตามกฎหมายที่เป็นอยู่ มันอยู่ใน พ.ร.บ.แล้ว (มาตรา 191) ของ 2550 เขียนละเอียดกว่า มันจะบอกว่าชั้นศาลละกี่คนด้วย  ส่วน กศป.ก็เหมือนกัน อยู่ในมาตรา 193  

แต่อันนี้เขาก็เขียนอำนาจศาลปกครองกระชับดี คือมีอำนาจพิจารณาคดีปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งผมว่าก็โอเค เพียงแต่ขาดการให้นิยามคดีปกครองในทางเนื้อหา จริงๆ ควรจะต้องเขียนไว้สักนิดว่า หมายถึงข้อพิพาททางกฎหมายมหาชนที่ไม่มีลักษณะเป็นข้อพิพาทในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ และไม่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้คดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลอื่น ส่วนเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนในฉบับบวรศักดิ์ เรื่องชี้ขาดหน้าที่ระหว่างศาล เที่ยวนี้เขาไม่แตะนะ ในมาตรา 187 ก็คือเอาแบบเดิม "อำนาจศาลปกครองตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรอิสระซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ..." (มาตรา192) อันนี้ก็เหมือนเดิม ซึ่งก็จะเถียงกันอีกว่า แบบไหนเป็นใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ แบบไหนไม่ใช่ ปัญหาเดิม คือรัฐธรรมนูญไม่ได้แก้ปัญหาพวกนี้ด้วยในทางปฏิบัติ

เรื่องศาลในบททั่วไป มาตรา 183 มีการแก้ถ้อยคำ ของ 2550 เขียนว่า การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาลที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ เที่ยวนี้ตัดคำว่า “ยุติธรรม” กับ “ตามรัฐธรรมนูญ” ออก

แล้วถูกไหม

มันขึ้นอยู่กับการมอง คือการเขียนแบบนี้มันก็โอเค ถ้าต้องการความชัดเจนแน่นอน ไม่งั้นเดี๋ยวอ้างความยุติธรรมเรื่อยเปื่อย เพื่อปฏิเสธกฎหมาย และสำหรับคนที่ต้องการให้ผู้พิพากษาเป็นหุ่นยนต์กลไกของผู้ทรงอำนาจออกกฎหมาย คงจะชอบกฎเกณฑ์แบบนี้ แต่ในอีกทางหนึ่ง ถ้ากฎเกณฑ์นั้นมันอยุติธรรมอย่างรุนแรง เกินกว่าที่จะทนทานรับได้ เรายังจะนับว่าเป็นกฎหมายที่ผูกพันผู้พิพากษาให้ต้องใช้บังคับอยู่หรือไม่ ตรงนี้เป็นปัญหานิติปรัชญา โดยส่วนตัวผมเห็นว่าจะบัญญัติคำว่า ความยุติธรรม เที่ยงธรรมอะไรเหล่านี้ก็ได้ อาจจะช่วยกระตุ้นมโนสำนึกของผู้พิพากษาตุลาการในกรณีที่เกิดความอยุติธรรมอย่างรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันถ้ามีถ้อยคำแบบนี้ ระบบกฎหมายก็จะต้องกำหนดฐานความผิดเกี่ยวกับการบิดเบือนกฎหมายของผู้พิพากษาตุลาการ ตลอดจนความพร้อมรับผิดของผู้พิพากษาตุลาการเอาไว้ด้วย เพื่อคุมไม่ให้ผุ้พิพากษาตุลาการใช้เจตจำนงส่วนตัวของตนบิดเบือนกฎหมายในนามความยุติธรรม การเขียนเรื่องนี้จึงต้องดูกลไกในระบบกฎหมาย ตลอดจนการกำหนดฐานความผิดอาญา การกำหนดความรับผิดชอบ ความพร้อมรับผิด ตลอดจนที่มาของผู้พิพากษาตุลาการที่จะต้องเชื่อมโยงกับเจ้าของอำนาจด้วย การอภิปรายเรื่องนี้ทั้งหมดอย่างรอบด้าน ไม่มีเพดานเท่านั้นที่จะทำให้เราให้คำตอบอย่างถูกต้อง สมเหตุสมผลต่อคำถามข้างต้นได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แจงส่ง 'รด.จิตอาสา-ทหาร' ลงพื้นที่แค่สร้างความรับรู้รธน. กับประชาชน ปัดชี้นำ

$
0
0

ผบ.ทบ.โต้ จตุพร หยุดใส่ร้าย นศท. คสช. แจง รด.จิตอาสา แค่สร้างความรับรู้ ไม่ชี้นำเพื่อนำไปสู่การลงมติ  ประวิตร ยันส่งทหารลงพื้นที่ทำความเข้าใจ รธน.กับประชาชน ไม่ใช่การชี้นำ

หลังจากเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทยเดลินิวส์และผู้จัดการออนไลน์รายงานตรงกันถึง โครงการ “รด.จิตอาสา” ที่ พล.ท.วีระชัย อินทุโสภณ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า ได้ประสานกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งข้อมูลและประเด็นสำคัญเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับนักศึกษาวิชาทหาร(นศท.)ที่จะนำไปขยายความต่อ โดยเฉพาะช่วงทำประชามติจะมีการให้นักศึกษาวิชาทหารช่วยประชาสัมพันธ์ให้ตามหน่วยที่จัดลงประชามติ 

“การจัดตั้งรด.จิตอาสา เป็นองค์กรที่มั่นคง มีรายชื่อ มีการรับสมัคร ได้รับการรับรองจากผู้ ปกครอง  ต่อไปจะให้เด็กเหล่านี้เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ ช่วยแจกใบปลิว ช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อถึงเวลาลงประชามติ เด็ก ๆ จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ตามหน่วยที่จัดลงประชามติ จะได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งการสื่อสารในวัยเดียวกันก็จะทำให้เข้าใจกันง่ายตามดำริของพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารก” พล.ท.วีระชัย กล่าว

ผบ.ทบ.โต้ จตุพร หยุดใส่ร้าย นศท.

ล่าสุดวันนี้ (8 ก.พ.59) สำนักข่าวไทยรายงานถึงความเห็นของ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ระบุ กองทัพบกใช้ นศท. ชี้นำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผ่านการทำประชามติ นั้น โดย ผบ.ทบ. กล่าวว่า นักศึกษาวิชาทหาร เป็นจิตอาสา ทำประโยชน์ให้กับสังคม การพูดจาแบบนั้นทำให้เยาวชนเสียใจ เป็นการทำลายกำลังใจเพราะพวกเขาตั้งใจมากในการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนและกลุ่มวัยรุ่นด้วยกัน ว่ามีจุดประสงค์อะไรบ้าง ซึ่งก็มุ่งปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้าใครไม่เดือดร้อนก็ไม่ควรมาใส่ร้ายนักศึกษาวิชาทหารซึ่งเป็นจิตอาสาจริง ๆ

เมื่อถามว่า จะยืนยันให้แกนนำเสื้อแดงเข้าใจใช่ไหมว่านศท.เป็นเพียงการทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นการชี้นำประชามติ ผบ.ทบ.กล่าวว่า พูดไป 10 ครั้งแล้ว
 
คสช. แจง รด.จิตอาสา แค่สร้างความรับรู้ ไม่ชี้นำเพื่อนำไปสู่การลงมติ 
 
ขณะที่ พ.อ.ปิยพงค์ กลิ่นพันธุ์ รองหัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ส่วนงานรักษาความสงบสำนักงานเลขาธิการ คสช. ในฐานะทีมโฆษกคสช. แถลงกรณีกองทัพบกให้ นศท. ร่วมทำความเข้าใจและชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชนและกลุ่มวัยรุ่นในวัยเดียวกันว่า เป็น 1 ในภารกิจของ นศท. ภายใต้โครงการ “รด.จิตอาสา” ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 5 ข้อ คือ 1.เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.ช่วยเหลือประชาชน 3.การบรรเทาสาธารณภัย 4.การสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในเรื่องของโรดแม็พ คสช. ประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลและคสช. ทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ และ 5.เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์

พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญของนศท.เป็นเพียงการสร้างการรับรู้ไม่ใช่เป็นการชี้นำเพื่อนำไปสู่การลงมติ ขณะนี้นักศึกษาวิชาทหารสมัครเป็นรด.จิตอาสา ประมาณ 80,000 – 100,000 คน โดยรด.จิตอาสาจะได้รับการอบรมความรู้จาก กรธ. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้เข้าใจแนวทางระบอบประชาธิปไตย และไม่ให้ทำผิดกรอบกฏหมายเลือกตั้ง

ทีมโฆษกคสช. กล่าวว่า โครงการรด.จิตอาสาได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ตุลาคม 2558 ซึ่งนศท.ที่ร่วมโครงการจะมีเครื่องหมายและเครื่องแบบแสดงสัญลักษณ์ชัดเจน ทั้งนี้การทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญจะไม่มีการลงลึกในรายละเอียดถึงมาตราต่าง ๆ นศท.จะนำความคิดเห็นที่ได้มานำเสนอหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เหมาะกับสังคมไทยในปัจจุบัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยในอดีต ไม่ได้มุ่งหวังที่จะทำร้ายใคร

ประวิตร ยันส่งทหารลงพื้นที่ทำความเข้าใจ รธน.กับประชาชน ไม่ใช่การชี้นำ

วันเดียวกัน มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ให้ทหารชี้แจงลงพื้นที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและรณรงค์ให้ประชาชนออกมาทำประชามติ นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เราจะให้ทหารชักชวนประชาชนออกมาให้มากที่เราไม่ได้บอกให้ประชาชนออกมารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการสร้างความเข้าใจมีอยู่แล้วในแต่ละพื้นที่ซึ่งนำโดยกระทรวงมหาดไทย
 
เมื่อถามว่า การให้ทหารออกมาเชิญชวนจะถูกมองว่า กองทัพเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองหรือไม่เพราะน่าจะเป็นหน้าที่ของกกต.และพลเรือนมากกว่าในการรณรงค์ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ให้เขาออกมาจะการเมืองอะไร กกต.ยังมีอำนาจอยู่หรือไม่ ขณะนี้ คสช. มีอำนาจอยู่ คงไม่เสียหายเพราะให้ประชาชนออกมาลงประชามติไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ใช่การชี้นำ

 

กระทรวงต่างประเทศเสียใจเกาหลีเหนือยิงจรวด-เรียกร้องกลับโต๊ะเจรจา 6 ฝ่าย

$
0
0

หลังเกาหลีเหนือประกาศว่าได้ปล่อยจรวดส่งดาวเทียมสำรวจ "กวางเมียงซอง-4" ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์เสียใจที่เกาหลีเหนือ "ปล่อยจรวดพิสัยไกล" ละเมิดมติสหประชาชาติ เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และรื้อฟื้นการเจรจา 6 ฝ่าย

ภาพนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่แสดงความยินดีห้อมล้อม คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ภายหลังปล่อยจรวดเพื่อส่งดาวเทียมกวางเมียงซอง-4 ภาพดังกล่าวเผยแพร่โดยสำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) ลงในหนังสือพิมพ์โรดอง ซินมุน เมื่อ 8 ก.พ. 2559 ภายหลังจากที่เกาหลีเหนือประกาศว่าได้ปล่อยจรวดเพื่อส่งดาวเทียมกวางเมียงซอง-4 เมื่อ 7 ก.พ. 2559 (ที่มา: Rodong Sinmun

8 ก.พ. 2559 - ภายหลังเกาหลีเหนือปล่อยจรวดเพื่อส่งดาวเทียมกวางเมียงซอง-4 โดยระบุว่าเป็นการใช้สิทธิสำรวจอวกาศอย่างสันติ ขณะที่ทางการเกาหลีใต้ประณามว่าเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศของไทย ออกแถลงการณ์ต่อการปล่อยจรวดของเกาหลีเหนือ โดยในแถลงการณ์เลือกใช้คำว่า "ปล่อยจรวดพิสัยไกล" มีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ของประเทศไทยเกี่ยวกับการปล่อยจรวดพิสัยไกล โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559

1. ประเทศไทยขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งจากการที่ได้รับทราบเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงการปล่อยจรวดพิสัยไกลโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี โดยประกาศไว้ว่าเป็นดาวเทียมสังเกตการณ์โลก ซึ่งถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

2. การดำเนินการดังกล่าวนี้เป็นการแสดงออกถึงการไม่นำพาต่อข้อกังวลของประชาคมโลกในโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ที่เป็นภัยอย่างยิ่งต่อสันติภาพและความปลอดภัยของนานาประเทศ  

3. ประเทศไทยขอย้ำท่าทีเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 ที่เรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลียุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และเรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นการเจรจา 6 ฝ่ายโดยเร็ว

4. ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสันติภาพและความปลอดภัยของคาบสมุทรเกาหลี และพร้อมที่จะสนับสนุนและยังคงปฏิบัติตามข้อมติที่เกี่ยวข้องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต่อไปอย่างเต็มที่

000

อนึ่งทางการเกาหลีเหนือ ระบุเมื่อวานนี้ (7 ก.พ.) ว่า ดาวเทียมกวางเมียงซอง-4 มีเครื่องมือและอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารที่จำเป็นในการใช้สำรวจโลก และความสำเร็จในการส่งดาวเทียมกวางเมียงซอง-4 เป็นความภาคภูมิใจต่อผลสำเร็จของนโยบายพรรคแรงงานเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับเป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของชาติ รวมทั้งเทคโนโลยี เศรษฐกิจ ความสามารถในการป้องกันประเทศ ด้วยการใช้สิทธิในการใช้พื้นที่อวกาศอย่างเป็นอิสระและสันติ

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า เป็นการปล่อยดาวเทียมก่อนในช่วงของวันดาวจรัสแสง (Day of the Shining Star) ซึ่งเป็นวันหยุดของเกาหลีเหนือเพื่อรำลึกถึงวันเกิดของ คิม จองอิล ผู้นำรุ่น 2 ของเกาหลีเหนือ ตรงกับวันที่ 16 ก.พ. โดยในแถลงการณ์ระบุว่าการปล่อยดาวเทียมนี้เป็นของขวัญโดยเหล่านักวิทยาศาสตร์เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อผู้นำปัจจุบัน คิม จองอึน

ก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือเคยปล่อยจรวด โดยระบุว่าเพื่อปล่อยดาวเทียมกวางเมียงซอง-3 (ดาวจรัสแสง-3) เมื่อเดือนเมษายนปี 2555 อย่างไรก็ตามการปล่อยจรวดในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ และเกาหลีเหนือได้ส่งจรวดอีกครั้งเมื่อ 12 ธ.ค. 2555 ที่ผ่านมา (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรียก1ล้าน ศาลปกครองสั่งจ่าย 1หมื่น คดีเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ชี้ หน.อุทยานฯไม่ผิด

$
0
0

8 ก.พ.2559 สำนักข่าวไทยและเดลินิวส์รายงานตรงกันว่า ตุลาการศาลปกครองกลางออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีที่นายน่อแอะ หรือหน่อแอะ มีมิ ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีเป็นชาวเชื้อสายกะเหรี่ยง อยู่อาศัยที่บ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยเมื่อวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานร่วมกับพนักงานของอุทยานฯ เข้าไปรื้อทำลายบ้านเรือน และจุดไฟเผาบ้านและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีและกะเหรี่ยงในชุมชนดังกล่าว ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับความเสียหานจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ

ศาลได้พิจารณาในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้เผาทำลายบ้านของผู้ฟ้องคดี ตามแผนโครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่แนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนั้น ซึ่งจากการไต่สวนพบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในป่าลึกและมีการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อเปิดป่าดงดิบ ไม่ใช่ที่ดินทำกินในอุทยานที่มีการจัดสรรให้ทำกิน จึงถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 16 ของพ.ร.บ.อุทยาน และเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปเจรจา ได้จัดล่ามและชาวกระเหรี่ยงในพื้นที่ร่วมเจรจา รวมทั้งกำหนดเวลาให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง จึงไม่ถือเป็นการละเมิด แต่เป็นการทำหน้าที่ตามกฎหมายในกรณีผู้บุกรุกพื้นที่ป่า ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ
 
ทั้งนี้ ศาลเห็นว่าผู้ฟ้องไม่สามารถอ้างมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ได้ เพราะมติดังกล่าวจะคุ้มครองเฉพาะชาวกะเหรี่ยงในชุมชนดั้งเดิม ไม่รวมการบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตอุทยาน ในลักษณะการเปิดป่าใหม่ ไม่ใช่พื้นที่ที่ทางราชการจัดสรร หรือยกเว้นให้ ส่วนกรณีการเรียกค่าเสียหาย ศาลได้วินิจฉัยและกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องจ่ายค่าสินไหม 5,000 บาท ค่าเครื่องใช้ 5,000 บาท รวม 10,000 บาท ให้แก้ผู้ฟ้องคดีภายใน 30 วัน นับแต่วันคดีสิ้นสุด ส่วนคำขออื่นให้ยกฟ้อง
 
นายธนู เอกโชติ ทนายความของผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ต้องหารือกับคณะทำงานว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ ซึ่งทีมทนายของสภาทนายความยังเห็นแย้งในกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีเรื่องพื้นที่พิพาทที่ศาลเห็นว่าเป็นพื้นที่บุกรุกใหม่ ซึ่งในส่วนของทีมทนายเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เดิมที่ชาวกะเหรี่ยงได้อยู่อาศัย และนายน่อแอะไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินใหม่ รวมทั้งกรณีค่าเสียหายซึ่งจากเดิมได้ฟ้องจำนวนกว่า 1,000,000 บาท ที่ในจำนวนนี้เป็นเรื่องของวิถีชีวิต ทรัพย์สิน บ้าน และการละเมิดสิทธิความเป็นคน
 
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ กล่าวว่า คำพิพากษาที่ออกมาจะเห็นว่านายน่อแอะมีที่ทำกินชัดเจน ที่กล่าวหาเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เป็นการกล่าวอ้างที่ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเห็นพื้นที่จริง  ซึ่งที่ผ่านมาเราถูกกล่าวหาและในวันนี้ทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยชอบตามกฎหมาย มีการเจรจาและไม่มีพื้นที่เดิมที่อาศัยในป่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าสินไหมที่ศาลสั่งให้จ่ายแก่ผู้ฟ้องคดี ทางผู้ถูกฟ้องจะขอใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์การจ่ายค่าสินไหมดังกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

$
0
0

“รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ นักกฎหมายมหาชนในโลกนี้งงหมดว่าอยู่ได้อย่างไร..... คำตอบที่อาจอธิบายได้ในทางวิชาการก็คือ เพราะโดยโครงสร้างทางกฎหมายปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหารไปเสียแล้ว สปิริตมันผิดจากการกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญทั้งหลายในโลกที่ต้องคุ้มครองนิติรัฐ ประชาธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทย transform ไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหาร”

ในบทสัมภาษณ์ ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญเสียดีกว่า

รายงานเสวนา: #อวสานโลกสวย วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

$
0
0

8 ก.พ. 2559  ในการเสวนา หัวข้อ "อวสานโลกสวย: วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559"  จัดโดยโครงการรัฐศาสตร์เสวนา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมชั้น 13 ตึกเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  มีนักวิชาการ นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากที่สนใจเข้าร่วม รวมถึงวรัญชัย โชคชนะ นักกิจกรรมทางการเมืองอาวุโสที่นำพานรัฐธรรมนูญและ ม.44 ไปด้วยทุกงานเสวนา

ยกที่1: กรธ.ชี้แจง รัฐธรรมนูญแก้ง่ายตามยุคสมัย โจทย์ใหญ่ ปราบ(เฉพาะ) นักการเมืองโกง

อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เริ่มต้นด้วยการชี้แจงว่า ตนเองเข้าไปเป็น กรธ. โดยไม่ได้รู้ล่วงหน้า ก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่ได้คิดว่าจะได้กลับไปเป็นสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรือเปล่า การเมืองไม่ได้มีอะไรแน่นอน

ในที่ประชุมของ กรธ. มี 21 คน ความเห็นก็ไม่ได้เห็นสอดคล้องกันหมด เรื่องที่มา ส.ว.มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ หลายคนบอกว่าจะบล็อคโหวตได้ เช่นเดียวกับตอนสมัยการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ตนเองได้เอาประสบการณ์ที่เป็น สมช. ซึ่งมี 2,000 กว่าคนทั่วประเทศ มาเล่าให้ฟัง ถัดจากสมช. เป็นสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 คนมาจากหลากหลาย คนที่ได้รับความนิยมมีแน่ แต่ก็มีกลุ่มหลายกลุ่มที่อาศัยการจับมือกัน จึงมีการโต้เถียงกรณีระบบ ส.ส. แต่ก็ยอมรับได้ในท้ายที่สุดกับระบบ ส.ว.ที่ออกมา มีการโต้แย้งและรับไป เช่น เรื่องการเอาผิดกับคนที่ไม่มาประชุม ตนเองยืนยันว่า เอาผิดไม่ได้ การเขียนเช่นนั้นทำไม่ได้จริงและจะถูกหัวเราะเยาะ ที่ประชุมก็ยอมรับความเห็นตรงนี้ของตนเอง

“เรายืนยันว่าไม่มีธง สิ่งที่ทำมากลั่นกรองมากจากเจตนาดี สติปัญญาที่ดี ไม่ได้ตั้งใจส่งเสริมระบอบอะไรที่มุ่งร้าย” 

อมร กล่าวว่า สำหรับบรรยากาศการทำงาน ผมไม่ได้มีประสบการณ์เรื่องการเมือง อดีตที่ผ่านมาก็รับงานทุกรัฐบาล มีโอกาสเข้าเป็นกรรมาธิการหลายชุด สิ่งที่หล่อหลอมมาไม่ได้ช่วยอะไร เพราะงานที่ทำในเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นงานวิชาการมากกว่างานการเมือง มันต้องนำองค์ความรู้ ศึกษา รัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก่อนจะร่างแต่ละมาตรา ทุกคนทำการบ้านอย่างหนัก มีความระมัดระวังมาก และเตรียมตอบคำถามต่างๆ ต่อสังคม

“เรื่องรัฐธรรมนูญ เราภูมิใจที่ได้ทำงานที่คนให้ความสนใจ มีความสำคัญ” อมรกล่าว

พิชญ์ ถามว่า ในภาพรวมการร่าง อะไรคือโจทย์ใหญ่ที่ 21 คนคิด คือโจทย์ต้านโกงจริงๆ หรือเปล่า หรือไม่เอานักการเมือง

อมรตอบว่า วันแรกที่เข้าไปก็ได้คุยกันว่ารัฐธรรมนูญมีทิศทางอย่างไร บวรศักดิ์บอกว่า พลเมืองเป็นใหญ่ นั่นเป็นฉายา ผมมีส่วนร่วมในการคว่ำร่างที่แล้ว เราคุยกันไปคุยกันมา เราคิดกันว่าประเทศเราทำไมยังอยู่กันตรงนี้ ไม่ได้บอกว่าไม่เจริญ แต่สภาพมันเปลี่ยน การทุจริตคอร์รัปชันมันมากจริงๆ เป็นที่มาของฉบับปราบโกง แต่อันที่จริงเราก็คุยกันทุกเรื่อง

พิชญ์ตั้งคำถามว่า ความเปลี่ยนแปลงของระบบราชการจะเป็นอย่างไร เป็นรัฐราชการดังที่หลายคนกังวลหรือไม่

ศุภชัย ยาวะประภาษ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะ กรธ. ตอบว่า ก่อนอื่นอยากเล่าให้ฟังว่า นี่เป็นการเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกของตนเอง ในวันแรกๆ มีการคุยหลักการในการร่างว่า 1.ตัวรัฐธรรมนูญตั้งใจเขียนเฉพาะตัวหลักการ และต้องการให้อยู่นาน อะไรก็ตามที่จะเปลี่ยนตามเวลาและยุคสมัยจะให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารแต่ละช่วงก็ให้เปลี่ยนแปลงตามแต่ละยุคสมัย 2.อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่วางกรอบกติกาแล้วสามารถเอาไปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เขียนแล้วทำไม่ได้

“ข้อสาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกงไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามาใช่ไหม จริงๆ ที่เราคุยกันคือ ไม่ต้องการให้นักการเมืองที่ได้ชื่อว่าขี้โกงเข้ามามากกว่า เพราะจริงๆ แล้วยังไงประเทศก็ต้องมีนักการเมือง”

ภาพใหญ่ตอนร่างกันนั้นมีการแยกอนุกรรมการหลายเรื่อง แต่อนุกรรมการจะไม่ได้เป็นคนคิดเสร็จสรรพว่าอยากเห็นอะไร แต่เป็นคนหาข้อมูล เช่น เลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.มีกี่วิธี อะไรบ้างแล้วนำเสนอที่ประชุมใหญ่ ทำงานสักพักก็เริ่มมองว่า รัฐธรรมนูญไม่ว่าจะร่างอย่างไรก็ตามมันมี Key Success Factors (ปัจจัยแห่งความสำเร็จ) ที่ถ้าไม่ทำก็คงเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ คือ การปฏิรูปการศึกษา และการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปรากฏในบทเฉพาะกาล อันไหนที่เราไม่แน่ใจก็จะให้ผู้เชี่ยวชาญไปกำหนดกฎหมายลูก

“รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมามีคำว่าบัตรเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญนี้จะไม่เขียนว่าบัตรเลือกตั้ง เพราะโลกเปลี่ยนอาจไม่ลงคะแนนกับบัตร มันจะทำให้ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญก่อนอีก การร่างรัฐธรรมนูญคงทำอะไรครบถ้วนลำบาก พยายามคิดหลักใหญ่ ทำให้ต้องมีหลายเรื่องเอาไปไว้ในกฎหมายลูก” 

ช่วงต้นของการร่างรัฐธรรมนูญยังมีการเชิญองค์กรอิสระมาคุยด้วยว่า อยากเห็นอะไร ส่วนรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้กำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเสนอความเห็น แต่ กรธ.คิดว่า หลักเกณฑ์ที่ดีที่สุดก็คือ ไม่มีหลักเกณฑ์ ส่งมาทางไหนก็ได้ แต่ข้อกังวลคือ กรธ.จะย่อยได้หมดหรือไม่

แนวคิดที่ว่าอยากให้หลักการปฏิบัติได้ มาสู่คำถามว่าจะกลายเป็นรัฐราชการหรือเปล่า ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารที่ให้ประชาชนขอข้อมูลข่าวสารจากราชการได้ ขั้นตอนเยอะทำให้ใช้ไม่ได้จริง หน่วยงานของรัฐถ้าไม่กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ให้ชัดจะทำให้ขอทรัพยากรมาทำสิ่งต่างๆ ที่ประชาชนต้องการได้ยาก หากเขียนว่าเป็นสิทธิ หน่วยงานของรัฐอาจทำหรือไม่ทำก็ได้ และแม้อยากทำ เขาก็ไม่รู้จะเอาทรัพยากรที่ไหนมาจัดทำให้

“ในช่วงที่รับฟังความคิดเห็นมีเสียงสะท้อนค่อนข้างเยอะในเรื่องการเขียนเป็น “หน้าที่รัฐ” แทน “สิทธิของประชาชน” เราก็เงี่ยหูฟัง ดีไม่ดีเราต้องเขียนสองที่หรือเปล่า เป็นความข้องใจอันเนื่องจากความไม่ไว้ใจหน่วยงานของรัฐหรือเปล่า”

เรื่องไม่อยากให้ได้นักการเมืองทุจริต ถ้าเขาเข้ามาแล้วทำอย่างไรจึงจะทำให้คนทุจริตพวกนี้ต้องออกไป จึงมีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของ กกต. ยกตัวอย่าง กกต. สมัยก่อน กรธ.ท่านหนึ่งเป็นกกต.บอกว่าเวลาไปตรวจหน่วยเลือกตั้ง เวลานับคะแนน เวลาชูเป็นเบอร์ 5 แต่คนอ่านอ่านเบอร์ 2 ไปเรื่อย กกต.ไปเห็นจะสั่งให้หยุดนับหรือยกเลิกการเลือกตั้งก็ต้องประชุมก่อน 5 คน คราวนี้เราเลยคิดใหม่ว่าจะต้องให้อำนาจกับ กกต.แต่ละคน ถ้าใครเห็นว่าการนับคะแนนนั้นบิดเบี้ยวก็สามารถสั่งยกเลิกการเลือกตั้งตรงนั้นได้เลย เพื่อให้คนขี้โกงเข้ามาไม่ได้ และเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระในบางเรื่องอีก เหตุผลก็เพราะให้ได้นักการเมืองที่ไม่คดโกงเข้ามาในสภา

 


ยกที่ 2: สิริพรรณ นกสวน คำตอบระบบใหม่อยู่ที่พรรคขนาดกลาง ดุลยภาพคว่ำ เทไป ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’

สิริพรรณ นกสวน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ แบ่ง 4 ประเด็น  ได้แก่

หนึ่ง ลดการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลอ่อนแอ แต่รัฐเข้มแข็งขึ้น

นี่เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญ ที่ต่างไป ไม่ใช่รองรับสิทธิ แต่ถอดสิทธิหลายอย่าง เช่น สิทธิในการถอดถอนหายไป สิทธิในการทำประชามติเป็นอำนาจ กกต. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หายไป

รัฐธรรมนูญนี้จะมีผลต่อการทำให้สถาบันพรรคการเมือง รัฐสภาอ่อนแอลงจนแทบไม่มีความเป็นสถาบันเลย อย่าลืมว่า พรรคการเมืองจะดีหรือเลวอย่างไร เราขาดไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือ ทำให้เขาเป็นสถาบันการเมืองที่ประชาชนตรวจสอบได้มากที่สุด และมีส่วนร่วมในกระบวนการขององค์กรพรรคการเมืองมากที่สุด แต่ในทางกลับกัน ตัวระบบเลือกตั้งทำให้สิ่งเหล่านี้หายไป

เจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญนี้ คือต้องการลดอิทธิพลของพรรคใหญ่ เห็นด้วยเพราะที่ผ่านมาเอื้อพรรคใหญ่อย่างมาก ทำให้ที่นั่งเกินกว่าที่สมควรจะได้ แต่การลดอิทธิพลพรรคใหญ่ไม่ใช่ทำให้การจัดสรรคะแนนไม่เป็นธรรมแบบนี้ บัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็นคะแนน ส.ส.เขต ถูกรวมทั้งประเทศดูว่าพรรคการเมืองควรมีที่นั่งในสภาเท่าไร ทั้งที่ในทางปฏิบัติ คนแบ่งเป็น เลือกคน และ เลือกพรรค ที่ผ่านมาก็แยกเลือกไม่น้อย ประมาณ 37 เขต จาก 375 เขต หรือ 17-18% ถ้าต้องการลดอิทธิพลแบบพรรคใหญ่ ระบบในร่างของบวรศักดิ์จะเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า

“การจัดสรรแบบที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดจะทำให้พรรคใหญ่เสียเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่พรรคขนาดกลางได้ประโยชน์อย่างมาก พรรคขนาดเล็กยิ่งไม่สามารถแข่งได้เลย เพราะบังคับให้พรรคเล็กต้องส่ง ส.ส.เขต ผลที่ตามมาแน่ๆ คือ จะทำให้การซื้อเสียงสูงขึ้น เพราะทุกคนแข่งในสนาม ส.ส.เขต พรรคจะกว้านซื้อตัวบุคคล ที่สำคัญ พรรคจะมีแรงจูงใจในการนำเสนอนโยบายลดลงเพราะการแข่งขันเปลี่ยนจากบัญชีรายชื่อมาเป็น ส.ส.เขต

"ระบบเลือกตั้งนี้น่ากลัวอีกประการคือ ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ พรรคละ 3 ชื่อ เป็นใครก็ได้ แน่นอน พรรคใหญ่ก็คงเสนอชื่อคนเป็น ส.ส. แต่ในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญกำหนดว่า พรรคที่มีสิทธิโหวตชื่อผู้จะเป็นนายกฯได้ ต้องมีที่นั่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 5  ในสภา ที่ผ่านมา เรามีแค่สามพรรค เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ถูกกุมโดยพรรคใหญ่พอดี พรรคที่สามอาจไม่ได้ชนะ ส.ส.เขตมากนัก เมื่อไม่มีพรรคใดกุมเสียงข้างมากในสภา โดยกลไกมันยากมาก เมื่อเป็นอย่างนั้นพรรคอันดับสามจะเป็นพรรคตัวแปรหลัก ร่วมกับใครพรรคนั้นก็เป็นรัฐบาล พรรคขนาดกลางจะมีอำนาจต่อรองเยอะเหลือเกิน เสียงประชาชนอาจถูกบิดเบือนคือ กรธ.โฆษณาว่าระบบนี้กันอีแอบ เห็นว่าพรรคเสนอชื่อใคร แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อโหวตในสภา พรรค ก.อาจเลือกคนอื่นที่ตัวเองไม่ได้เสนอก็ได้ เสียงของประชาชนจะมีน้ำหนักตรงไหน”

อีกประเด็นเล็กๆ คือ ระบบเลือกตั้งนี้ ทำให้จำนวน ส.ส.ในสภาแกว่งเป็นปี เพราะคะแนนบัญชีรายชื่อกำหนดโดย ส.ส.เขต ซึ่งมีระบบใบเหลืองใบแดง ในทางสากลแล้วระบบแบบนี้มีจุดอ่อนมากเกินไปที่จะนำมาใช้

ประเด็น ส.ว. ความกังวลอยู่ที่ 200 คนเลือกกันเองจาก 20 กลุ่มโดยไม่ได้กำหนดว่าเป็นใคร จำนวนเท่าไร เป็นการกลับไปสู่ระบบราชการ จำนวน 6 กลุ่มใน 20 กลุ่มน่าจะเป็นราชการเก่า เช่น ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ สัดส่วนของแต่ละกลุ่มเป็นเท่าไรน่าจะกำหนดแต่ต้น สัดส่วนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกษตรกร แรงงาน เป็นสัดส่วนที่สูงถ้าได้สัดส่วนเท่ากลุ่มอื่นก็ไม่เป็นธรรม การไม่กำหนดแต่แรก เหมือนยังคิดไม่เสร็จทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมาก ประชาชนตื่นตัวแน่นอนว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มไหน นอกจากนี้ มี 20 กลุ่มไม่ได้เลือกกันเองในกลุ่ม แต่กลุ่มอื่นเลือก คำถามคือ กลุ่มที่จะมาเลือกจะรู้จักคนในกลุ่มได้อย่างไร เป็นการป้องกันการฮั้ว แต่ขณะเดียวกันจะทำให้คนมีชื่อเสียงอยู่แล้วได้รับเลือกแทนที่จะเป็นคนที่เป็นประโยชน์จริงๆ และโดยเฉพาะประเด็นเดิมที่ถูกวิจารณ์ ไม่อนุญาตให้หาเสียง ไม่หาเสียงใครจะรู้จัก

ดุลยภาพเอียงจนอาจคว่ำ มีความพยายามให้มาตรการคัดง้างเสียงข้างมากเข้ามาคุมเสียงประชาชน เลือกตั้งได้แต่การตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่องค์กรอิสระ มันเหมือนระบบ “คุณหลอกดาว”

ที่สำคัญมากๆ มาตรา 207 ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อรัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้ได้ อำนาจสุดท้ายในการตัดสินใจเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ คำถามคือ 1. ประเพณีการปกครองฯ คืออะไร สมมติ ศาลรัฐธรรมนูญหยิบรัฐธรรมนูญสมัยสฤษดิ์ทำอย่างไร 2. ฐานความชอบธรรมของศาลรัฐธรรมนูญมาจากไหน เชื่อได้อย่างไรว่าสังคมจะทำตาม ถ้าไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น วิกฤตรอบใหม่อาจมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ และยากจะแก้ไข

ประเด็นปราบคอร์รัปชัน เห็นเจตนาดีของผู้ร่าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งป้องกันไม่ให้นักการเมืองคอรัปต์เข้าสู่ระบบการเมือง แต่เราทราบดีว่าการคอรัปชันไม่ได้มาจากนักการเมืองอย่างเดียว สามเหลี่ยมเหล็กของการคอร์รัปชันคือ นักการเมือง ข้าราชการ กลุ่มทุน ทางที่ดีที่สุดต้องทำให้การตรวจสอบเข้มแข็ง ข้อมูลเปิดเผยโปร่งใส ที่ผ่านมาการคอร์รัปชันที่พบบ่อยคือ เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ใช้ช่องโหว่กฎหมาย สิ่งที่ทำให้คอร์รัปชันเกิดมากคือไม่เปิดข้อมูลและกลัวที่จะพูดเปิดเผยข้อมูล

เสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 มีผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สงสัยมากว่า กรณีที่ กรธ.บอกว่า รัฐธรรมนูญตั้งใจให้แก้ได้ง่าย เปลี่ยนตามยุคสมัย แต่ถ้าอ่านแล้วมันแก้ยากมาก

บทเฉพาะกาลให้อำนาจ คสช.และอำนาจต่างๆ อยู่ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ 15 เดือนหลังจากประชามติผ่าน สภาพที่เราจะเผชิญหลังรับร่างรัฐธรรมนูญ หากมีการทำประชามติ คือ มีกฎหมายสูงสุดคู่กันไป

ประเด็นสุดท้าย คสช. สนช.อยู่ตรงไหนหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะไม่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) จะชวนดูมาตรา 255 ซึ่งมิให้นำมาตรา 107 มาบังคับใช้ แสดงว่า ส.ว.ไม่ต้องเว้นวรรคแล้ว กลับมาได้เร็วอย่างที่ต้องการ สิ่งที่ต้องจับตาดูคือ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์แห่งชาติ ใกล้คลอดแล้วและมีอายุ 20 ปี แผนนี้มีมาเพื่อกำกับรัฐบาลใหม่ให้เข้ามาทำหน้าที่ตามที่ คสช.วางแผนไว้ นั่นคือ limited government รัฐบาลใหม่จะมีอำนาจน้อยมาก 

 

ยกที่ 3 พรสันต์ ชี้ปัญหาของ “ระบบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญโดยมีองค์กรตุลาการเป็นหลัก”

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ธรรมชาติของรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายพิเศษชนิดหนึ่ง มีความเชื่อมโยงกับสังคมมาก หน้าที่ของรัฐธรรมนูญคือ ใช้เป็นกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการแก้ไขวิกฤตในสังคม กระนั้นไม่ได้ประกันว่าเมื่อมีเจตจำนงว่าจะแก้ไขปัญหาประเทศแล้วจะแก้ไขได้เลย ต้องดูเนื้อหาสาระว่าร่างบนหลักการรัฐธรรมนูญหรือเปล่า รัฐธรรมนูญที่ร่างบนหลักการเท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหรือวิกฤตของสังคมได้

การจะปราบโกงไม่ใช่ว่าจะสามารถใช้วิธีการใดก็ได้ หากเราบอกจะแก้ปัญหาโจรเต็มประเทศ เราไม่สามารถใช้ศาลเตี้ยได้ฉันใด การปราบการทุจริตหรือปราบโกงก็ไม่สามารถใช้หลักตามอำเภอใจได้ฉันนั้น

ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เป็นกรอบให้ กรธ.นำไปร่างด้วยซ้ำ อะไรแย้งกับหลักการนี้มีปัญหา

อ่านคร่าวๆ เห็นว่าร่างนี้ค่อนข้างมีปัญหา 1. ปัญหาในทางหลักการและส่งผลในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2.สถาบันการเมืองจะมีปัญหาดุลยภาพ 3.Counter Majoritarian 4. เรื่องสิทธิเสรีภาพ และ 5.กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่ 1 มาตราที่อ่านแล้วตกใจคือ มาตรา 5 จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ บัญญัติให้การรับรองรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หมายถึงกฎเกณฑ์หรือกฎหมายอื่นใดจะมาขัดกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ที่ “การกระทำ” จะขัดรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติในร่างนี้ ในทางหลักวิชาการ การใส่คำนี้อธิบายไม่ได้ในทางหลักวิชา

ส่วนที่ผมใช้คำว่า constitutionality หรือความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีกอันหนึ่งคือ legality หรือความชอบด้วยกฎหมาย ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายใดๆ ขัดแย้งกับตัวรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่การกระทำสามารถขัดกฎหมายได้ น่าจะเป็นความสับสนของคนร่าง

เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จะควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ศาลปกครองจะควบคุมความชอบด้วยกฎหมาย จะส่งผลให้เขตอำนาจศาลทั้งสองศาลปนกันมั่วซั่วและเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ

ประเด็นที่ 2 สถาบันการเมือง ร่างนี้ออกแบบมาไม่ได้ดุลยภาพทางการเมืองซึ่งควรต้องได้สัดส่วน สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ แต่ร่างนี้อำนาจจะเทให้องค์กรตุลาการ ในเชิงหลักวิชาเรียกว่า การร่างรัฐธรรมนูญนี้สร้างระบบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญโดยมีองค์กรตุลาการเป็นองค์กรหลักในการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็น ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหลายตัวที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ร่างนี้ยืนยันหลักแบบนั้นซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการเข้าไปในดินแดนการเมือง ทั้งที่ไม่ควรเข้า เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบทางการเมือง เช่น 1. การออกพระราชกำหนด รัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีระบบนี้ซึ่งเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะพระราชกำหนดแตกต่างจากพระราชบัญญัติ เป็นความจำเป็นเร่งด่วนไม่ว่าด้านไหน รัฐธรรมนูญอนุญาตให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจประกาศใช้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจำเป็นหรือไม่ รัฐธรรมนูญบอกว่าถ้าสงสัยเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

คำถามคือ ความจำเป็นตรงนี้ใครควรเป็นคนตัดสิน โดยหลักการความจำเป็นเร่งด่วนต้องเป็นดุลยพินิจของฝ่ายการเมืองในฐานะบริหารราชการแผ่นดิน เขาย่อมรู้ ร่างมีชัยรับตรงนี้ต่อไม่ได้แก้ไข ขณะที่ร่างของบวรศักดิ์ตัดประเด็นนี้ออก เพราะถือว่านี่คือดุลยพินิจทางการเมืองโดยแท้

นอกจากนี้ยังมีหลักการใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติได้ คือ การวินิจฉัยแล้วสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง พูดง่ายๆ คือ impeachment ในรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 เราใส่อำนาจนี้ให้วุฒิสภา ตรงนี้มีผลอย่างไร ถูกต้องไหม คำตอบคือ 1.การที่ร่างนี้เปลี่ยนอำนาจถอดถอนมาให้ศาลรัฐธรรมนูญขัดกับหลักการตรวจสอบและความรับผิดชอบในทางรัฐธรรมนูญ หลักนี้กำหนดว่าคนที่จะใช้อำนาจต้องมีคนอนุญาตให้ใช้ และคนอนุญาตจะเป็นคนตรวจสอบคนที่ถูกอนุญาต พูดง่ายๆ ใครตั้ง คนนั้นถอดถอน เราจึงเห็นว่ารัฐสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจและถอดถอนนายกฯ ได้ เพราะรัฐสภาเป็นคนตั้งนายกฯ 2.ความชอบธรรม อำนาจในการถอดถอนมันเกิดในรัฐสมัยใหม่ที่อังกฤษก่อน แต่ใช้แล้วเกิดปัญหามากกลายเป็นอาวุธในทางการเมือง จากนั้นสหรัฐอเมริกาแยกประเทศออกมาแล้วนำกลไกนี้ไปใช้และโด่งดังกับสหรัฐฯ ไทยก็เอามาใช้บ้าง พัฒนาการของ impeachment เป็นกระบวนการในทางการเมืองที่ House of Commons (สภาล่าง) ของอังกฤษ และ Congress (รัฐสภา) ของอเมริกาใช้ในการถอดถอนประธานาธิบดี เป็นกระบวนการทางการเมืองทั้งนั้น แต่ร่างนี้เอากระบวนการทางการเมืองมาให้ศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่าแปลกไหม ไม่แปลก เพราะเทรนด์ในการให้อำนาจทางการเมืองให้ศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สิ่งที่เขาไม่เหมือนกับเราคือ ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญของเขามีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม นี่คือความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย

Counter Majoritarian แปลไทยว่า องค์กรในการถ่วงดุลองค์กรเสียงข้างมาก เราก็จะบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญถูกจัดตั้งมาตรวจสอบนักการเมืองจากการเลือกตั้ง แต่ไม่มีใครพูดว่า องค์กรที่จะคัดง้างเสียงข้างมากคือ เสียงข้างน้อย คุณก็ต้องยึดโยงจากเสียงข้างน้อยเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นองค์กรอะไรก็ได้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มอบอำนาจตรงนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนักการเมืองจึงต้องมีความยึดโยงกับประชาชนไม่ว่าทางตรงหรออ้อม

สุดท้ายการดีไซน์อำนาจ impeachment ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหามาก ถ้าระบบนี้ถูกเอาไปใช้จริงๆ นั่นคือการดึงเอาศาลเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งในทางการเมืองเต็มตัว ที่ผ่านมามีความขัดแย้งทางการเมืองเยอะมาก แต่ยังไม่ถูกวิจารณ์ตรงๆ เพราะมันอ้อม แต่นี่เป็นการดึงให้ศาลเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองเต็มตัว ผ่านรัฐธรรมนูญที่รับรองความเป็นทางการ ต่อไปองค์กรตุลาการจะมีปัญหาทันที มีคำวินิจฉัยก็จะถูกต่อต้านจากคู่ขัดแย้ง และประเทศใดอำนาจตุลาการใช้ไม่ได้ประเทศนั้นเสี่ยงต่อการล่มสลาย สิ่งเหล่านี้เห็นอยู่ในประเทศแถบละตินอเมริกา

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังเข้าไปคุมกฎความประพฤติในทางการเมือง กำหนดมาตรฐานในทางจริยธรรมคู่กับองค์กรอิสระ ใช้กับตัวเองและใช้กับฝ่ายการเมืองด้วย จึงฟังฝ่ายการเมืองเสียหน่อย กำหนดไว้ว่าให้การยกร่างกฎหมายนั้นรับฟังฝ่ายการเมืองด้วย ถ้าทำขัดกับมาตรฐานและถูกตัดสินว่าผิดต้องพ้นจากตำแหน่งและอาจลงเล่นการเมืองไม่ได้ตลอดชีวิต ข้อสังเกตคือ เวลาจะใช้กฎเกณฑ์กับฝ่ายการเมือง ฟังเขามากน้อยขนาดไหน อ่านตรงนี้แล้วรู้สึกเหมือนเวลาที่รัฐจะเวนคืนที่ดินแล้วกำหนดเรื่องผังเมือง เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน คำถามคือฟังจริงไหม ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญเขียนให้เปิดรับฟัง ถ้าฝ่ายการเมืองเสนอแนวคิดที่ขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ ผลคืออะไร นี่คือประเด็นที่ต้องดีเบต

อีกประเด็นหนึ่งที่กังวล คือ การมอบอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญในการตีความประเพณีการปกครอง ต้องถามเจตนารมณ์ผู้ยกร่าง เปลี่ยนจากเดิมรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่เขียนมาตรา 7 กรณีไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็ให้พิจารณาตามประเพณีการปกครองฯ ของเดิมอยู่หมวด 1  หมวดทั่วไป แต่ร่างนี้เปลี่ยนมาอยู่หมวดศาลรัฐธรรมนูญ นัยทางหลักวิชาคือ หมวดทั่วไป หมายถึงกฎเกณฑ์นี้ใช้กับทุกองค์กร ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ สามารถตีความได้ ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจ ไม่ใช่ผูกขาดให้ตุลาการตีความอย่างเดียว พอย้ายหมวดแปลว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญผูกขาดการตีความ ต้องถาม กรธ.ว่าเห็นอย่างไร

ที่กังวลมาก เพราะสายกฎหมายรัฐธรรมนูญ เวลาพูดถึงมาตรา 7 ทุกคนจะขนหัวลุกเพราะเป็นเรื่องที่ยากมาก มาตรา 7 ต้องหาตัวอย่าง ต้องเปรียบเทียบ สร้างหลักขึ้นมาใช้แก้ปัญหาในกรณีที่เกิดขึ้น

ด้วยความเคารพ ผมตั้งคำถามว่าท่านเหล่านั้นมีความรู้ความสามารถในการตีความไหม เรื่องนี้เป็นดีเบตในทางรัฐธรรมนูญทั่วโลก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศจึงนำผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญเข้าไปนั่งเป็นตุลาการ โครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญก็มีการเปลี่ยนด้วย จากเดิมให้โควตานักวิชาการรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ อย่างละ 2 คนร่างนี้ ให้โควตาอย่างละ 1 ที่ แล้วเอาส่วนที่หายไป ไปเพิ่มให้กับข้าราชการ

ยกที่ 4 ประภาส ปิ่นตบแต่ง รธน.ฉบับไร้จินตนาการ 'การเมืองภาคประชาชน' หายทั้งหลักการ-ภาคปฏิบัติ

ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ฐานคิด หลักการมันหายไป สิ่งที่ควรทำให้ปฏิบัติได้ก็หายไปด้วย นี่เป็นปัญหาใหญ่

ถ้ามองจากการเมืองภาคประชาชน จะเห็นความถดถอยอย่างชัดเจน  ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 นั้นชัดว่า เป็นการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันไร้จินตนาการเรื่องการเมืองภาคประชาชนโดยสิ้นเชิง

เรานิยามการเมืองภาคประชาชนได้ง่ายๆ ว่ามันเกิดขึ้นจาก ปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งขอย้ำว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่มันไม่พอ การเมืองภาคประชาชนจึงเป็นการขยายประชาธิปไตย ให้เพิ่มการมีส่วนร่วมหรือเป็นประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น เกิดปฏิบัติการเรื่องสิทธิ เรื่องการมีส่วนร่วมใช้อำนาจโดยตรง

อ่านร่างนี้แล้ว พยายามหาคำว่า การเมืองภาคพลเมือง ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ไม่มีเลย ไม่มีโดยสิ้นเชิง หลายเรื่องน่าสนใจในร่างของ อ.บวรศักดิ์ เช่น เรื่องสิทธิการรวมกลุ่ม องค์กรภาคประชาสังคม แต่ร่างนี้ถูกตัดออกเกลี้ยงเลย ไม่มีเหลือ ยกตัวอย่าง สิทธิชุมชน รัฐธรรมนูญ 40 ประชาชนผลักให้สิ่งนี้เป็นสิทธิที่ใช้อ้างอิงได้ หลักการนี้ก็หายไป กลไกในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญเก่าๆ ก็ได้เขียนพ่วงให้มีองค์กรอิสระคุ้มครองสิทธิด้านต่างๆ และกำหนดให้ออกฎหมายลูกให้เสร็จภายในกำหนด แต่ร่างนี้ไม่มีเลย เป็นต้น

ที่พูดว่ามันย้อนยุค มันจึงมีข้อเท็จจริงอยู่ในเชิงรายละเอียด เวลาพูดถึงการเมืองภาคประชาชน มันคือการถ่ายโอนอำนาจไปให้ประชาชนใช้ในการจัดการชีวิตสาธารณะของพลเมืองโดยตรง สิทธิแบบหลังต้องการการรับรองให้การเมืองเห็นหัวชาวบ้าน จะไปเขียนไว้ในหน้าที่ของรัฐไม่ได้

สำหรับประเด็นย่อย สิทธิของเกษตรกร สิ่งซึ่งหายไป คือ บทบัญญัติเรื่องรัฐต้องกระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม โดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีการอื่นๆ ถ้าดูรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เขียนไว้อย่างกว้างขวาง หรือสิทธิในการรวมกลุ่มในลักษณะสภาเกษตรกรแห่งชาติ เรื่องเหล่านี้ก็หายหมด และยังมีรายละเอียดอีกมากที่หายไป แล้วไปรวมในมาตราหนึ่งในหมวดหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสั้นมาก

เรื่องการถอดถอนโดยประชาชนเข้าชื่อสองหมื่นชื่อ ก็หายไปเลย

การเข้าชื่อหมื่นชื่อเสนอกฎหมาย แม้ยังมี แต่ก็หลบๆ ซ่อน ไม่ระบุหลักการที่สำคัญ

เรื่องประชามติ เขียนให้อำนาจไว้เบาบางมาก ในลักษณะเป็นการให้คำปรึกษา ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ออกแบบโดยหวังให้ผูกโยงกับนโยบายสาธารณะสำคัญๆ

ในเรื่องการกระจายอำนาจ มีเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่ไม่มีใครพูดถึง รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เราสู้กันเรื่องเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง แต่ฉบับนี้ผู้บริหารท้องถิ่นอาจจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือการยินยอมพร้อมใจของสมาชิกสภาท้องถิ่นก็ได้ หมายความว่า คนนอกก็มาได้ในระดับท้องถิ่น เรื่องนี้เถียงมานานมากจนเราได้เลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ชาวบ้านเขาอยากจะให้การเลือกตั้งโดยตรงไปถึงเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนันแล้ว แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับย้อนหลังไปไกล

“(ร่างรัฐธรรมนูญ) มันห่างไกลเหลือเกินกับผู้คนข้างล่าง สิ่งเหล่านี้มันไม่เคยอยู่ในจินตนาการของคณะร่างรัฐธรรมนูญเลย” ประภาส กล่าว

คำถามจากวง #อวสานโลกสวย ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และ คำเตือนจาก สุรชาติ บำรุงสุข

วรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายสมัย ถามตัวแทน กรธ. ว่า การร่างรัฐธรรมนูญ มีใบสั่ง จาก คสช.หรือไม่, รัฐธรรมนูญไม่ใช่มีแค่คุณสมบัติปราบโกง แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยด้วยใช่หรือไม่, หากไม่ผ่าน ท่านจะทำอย่างไร ขณะที่รองนายกฯ บอกว่าจะใช้มาตรา 44 ถามถึงอาจารย์ทั้ง 3 ท่านที่ร่วมเสวนาว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และอาจารย์พิชญ์คิดว่าจากนี้ไป บทบาทของนักศึกษา นักวิชาการ ที่จะแสดงออกเรื่องประชามติ ควรจะเคลื่อนไหวกันอย่างไร ซึ่งพิชญ์ตอบว่า บทบาทนักศึกษาให้ไปดูที่บอลประเพณีอาทิตย์หน้าเลยว่าจะเป็นอย่างไร

ผู้ร่วมฟังเสวนาคนหนึ่งถาม กรธ. ทั้ง 2 คน ว่า เหตุใด มาตรา 4 จึงตัดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมได้รับความคุ้มครอง ออกไป ขณะที่ผู้ร่วมฟังเสวนาองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้มีหลายจุดที่ดี การกำหนดหน้าที่ทำให้รัฐบาลต้องทำ เป็นจุดเด่น แต่ต้องเพิ่มเติมเรื่องสิทธิเข้าไปด้วย ที่สำคัญ กรธ.อย่าดึงดันไปเลยว่าจะเอาบัตรใบเดียว เพราะมันไม่ตอบความต้องการของผู้เลือกตั้งได้ครบถ้วน บัตรสองใบไม่ยากและไม่เบี่ยงเบนคะแนนเสียงมาก ถ้า กรธ.ทำได้แม้จะขยายเวลาออกไปก็เป็นเรื่องดี

อมร ตอบคำถามว่า เราหารือกันใน กรธ.คิดว่า คน 40 ล้านที่มีสิทธิเลือกตั้งจะมีสักกี่คนอ่านทั้งฉบับ เราเชื่อว่าแม้แต่คนใน สปท. สปช.ก็ไม่ได้อ่าน คงมีคนอ่านจริงๆ ไม่เกิน 1,000 คน เรื่องใบสั่ง คสช. ใบสั่งปรากฏในรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 มีอยู่ 10 ข้อ และข้อเสนอแนะของ คสช. 5 ข้อซึ่งเป็นเรื่องประกาศอยู่แล้ว เป็นเรื่องดีๆ ทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ได้มีใบสั่งเป็นพิเศษให้มาตรา 44 อยู่เป็นรัฐซ้อนรัฐอย่างที่พูดๆ กัน

อมร กล่าวต่อว่า เรื่องอำนาจการตีความพระราชกำหนดที่ยกให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่อาจารย์พรสันต์ท้วงติงไว้ อันที่จริงในร่างรัฐธรรมนูญระบุว่าไว้แล้วว่า การใดที่เร่งด่วนรัฐบาลทำได้อยู่แล้ว ทำไปก่อนเลย แต่ทำไปแล้วในที่สุด พระราชกำหนดต้องผ่านสภาในภายหลังจึงต้องให้ศาลวินิจฉัยว่าเร่งด่วนจริงหรือเปล่าซึ่งก็ต้องไปตีความที่ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่เร่งด่วนก็จะมีกลไกของมัน ยืนยันว่าไม่ได้ไปก้าวก่ายหรือทำลายการแบ่งแยกอำนาจ

นอกจากนี้ เราอาจจะวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกแผนพัฒนาก็ยังเป็นแผนระยะสั้น ไม่มีความเป็นบูรณาการ เราอย่าไปกลัวยุทธศาสตร์ชาติ มันเป็นวิสัยทัศน์ของชาติในอนาคต มาเลเซียก็ทำแล้ว ปี 2020 (พ.ศ.2563) มาเลเซียตั้งใจจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เราอาจจะบอกว่าจะเป็นประเทศที่ปราบคอร์รัปชันได้มากขึ้น อาชญากรรมน้อยลง ก็เป็นไปได้
 
กรณีที่แปลงสิทธิให้เป็นหน้าที่รัฐนั้นมีหลายเรื่อง แต่หมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพก็ไม่ได้ทิ้งไป การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เรายึดคำประกาศอิสรภาพและสิทธิพลเมืองของฝรั่งเศสปี 1789 (พ.ศ.2332) เป็นตัวตั้งในการร่าง อะไรก็ตามที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนห้ามไว้ทุกคนมีสิทธิที่จะทำได้ มันจึงไม่ใช่การละเลย หลงๆ ลืมๆ ในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อะไรต่างๆ ตามที่พูดกัน

อมรกล่าวต่อว่า แม้แต่มาตรา 7 ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านการมีมาตรานี้ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ผมเสนอตัดออกในที่ประชุม แต่ กรธ. หลายคนมองว่าการตัดทิ้งไม่มีประโยชน์ มันจะวนไปคำถามว่าจะเชื่อได้อย่างไรที่ 9 คนของศาลรัฐธรรมนูญจะมีความสามารถเพียงพอในเรื่องราชประเพณี เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เรามองกันรอบด้าน ยืนยันว่า ก่อนถึงการใช้โบราณราชประเพณีต้องตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรก่อน หากไม่มีกำหนดจึงไปดูเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากยังไม่มี จึงไปถึงเรื่องประเพณี เราก็ไม่ก้าวก่ายศาลรัฐธรรนูญแต่จะมีกรอบการพิจารณาอยู่ ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญทำให้เกิดการถกเถียงกันมาก เราตระหนักถึงปัญหานี้จึงจะเร่งร่งให้เสร็จภายในกำหนด และในอนาคตหากเผชิญสถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับการใช้มาตรานี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะตั้งกรรมการไต่สวนอิสระ หรือตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอย่างไรก็แล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญ

เรื่องประมวลจริยธรรม องค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องทำให้เสร็จในกำหนด และเป็นบททดสอบว่าเขากล้าพอจะเขียนอะไรที่ลิดรอนสิทธิของตนเองไหม ประชาชนจะพิจารณาเอง และมันจะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำไปบังคับใช้กับฝ่ายการเมืองด้วย

ด้าน สิริพรรณ ท้วงติงว่าอมรใช้คำผิด ไม่ใช่ “โบราณราชประเพณี” แต่เป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น หากจะย้อนไปได้อย่างมากก็แค่ปี 2475

ผู้ฟังเสวนารายหนึ่งถาม กรธ.ว่า 1.ถ้าสุดท้ายแล้วร่างนี้ไม่ผ่านประชามติ คสช.ในฐานะเป็นต้นทางร่างรัฐธรรมนูญสองฉบับแล้ว ควรต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่ 2.ที่ผ่านมามีการขู่การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่รัฐรณรงค์ให้รับไปแล้ว กระบวนการมันแฟร์หรือไม่ 3.ประชามติ จะมีแค่รับกับไม่รับ โดยไม่ระบุว่าหากไม่ผ่าน จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับไหน การที่เราต้องลงคะแนนโดยไม่รู้อนาคตเป็นกระบวนการที่แฟร์แล้วหรือไม่

ด้าน พิชญ์ กล่าวว่า เห็น อ.สุรชาติ มาด้วย อาจารย์มีความเห็นอย่างไรกับคำว่า ความมั่นคงของรัฐ ที่ปรากฏอยู่จำนวนมากในรัฐธรรมนูญ

สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ถ้ามองในทางรัฐศาสตร์ รัฐธรรมนูญคือการออกแบบโครงสร้างของระบบการเมือง เป็นการจัดระเบียบทางการเมือง กรณีของไทยจะเห็นโจทย์ 4 ส่วนที่กำลังเกิด โดยร่างใหม่นี้กำลังกำหนดรูปแบบของระบอบการปกครอง, กำหนดความสัมพันธ์ของอำนาจในระบอบ กำหนดความสัมพันธ์ของกลุ่มต่างๆ ในอำนาจ และกำหนดการแก้ปัญหา

เขากล่าวว่า เราวิจารณ์เพราะอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ดี แต่การร่างรัฐธรรมนูญในไทย ไม่เคยเกิดจากชัยชนะของประชาชน รัฐธรรมนูญปี 2517 ของคนยุคผมเกิดหลังเหตุการณ์ตุลาคม 2516 อีกรอบหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หลังรัฐธรรมนูญ 2540 สังคมไทยสนใจการร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น นี่ไม่ใช่กิจกรรมของชนชั้นนำอีกต่อไป วันนี้ รัฐธรรมนูญกำลังถูกทำให้เหมือนปี 2521 หลังการรัฐประหารของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ถอยสังคมไทยกลับไปสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ มีพรรคการเมืองก็ได้ แต่โอกาสเป็นนายกฯ ไม่มี นายกฯ มาจากคนกลาง ซึ่งมาจากการเลือกของผู้นำทหาร แต่วันนี้มีความกังวลของหลายคนว่ามันจะมากกว่าทหาร วันนี้ อ.สิริพรรณให้สัมภาษณ์ว่า ระบอบอำมาตยาธิปไตย หรือระบอบราชการกำลังฟื้น แต่ผมคิดว่ามันเป็นระบอบ MBA ระบอบเสนา+อำมาตย์+ความเป็นอำนาจนิยม ที่สำคัญมันเป็น MBA-C คือ บวก Capital หรือทุนเข้าไปด้วย เสนา+วาณิชย์+ราชการ สามส่วนนี้กำลังถูกผนวกเข้าด้วยกัน คนชั้นล่างหรือรากหญ้านั้นไม่ต้องฝันเลย เพราะตอนนี้เอ็นจีโอก็อยู่ในสภาพถดถอย

ความมั่นคงของระบอบยุคนี้ ภัยคุกคามส่วนหนึ่งมาจากความเคลื่อนไหวของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย อุดมการณ์ที่ถูกสร้างในสังคมไทยหลายปีมานี้สามารถย้อนดูตัวแบบในละตินอเมริกานั่นคือ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” ไม่เอาประชาธิปไตย ไม่เอาการเลือกตั้ง มองนักการเมืองเป็นผู้ร้าย มองว่าอนาคตของชาติฝากไว้กับคนส่วนเดียว คือ ผู้นำทหาร เรื่องนี้จบไปนานแล้วในละตินอเมริกา แต่มันกำลังย้อนกลับสู่บ้านเรา

นอกจากนี้นักรัฐศาสตร์มองอาหรับสปริงแล้วคิดคำว่า “มีการเลือกตั้งแต่ไม่มีประชาธิปไตย” นี่จะเป็นหัวใจที่น่ากังวล ในมุมนี้วาทกรรมของภาษาที่เกิดในต่างภูมิภาค สภาพอย่างนั้นจะเกิดกับบ้านเรา

อมร กล่าวตอบคำถามว่า ถ้าประชามติไม่ผ่านจะเป็นอย่างไรว่า เรื่องนี้อยู่นอกเหนืออำนาจ กรธ. มันเป็นไปได้ทุกกรณี ไม่ว่ากรณีไหนเราไม่สามารถคาดได้ แต่ ณ เวลานี้ตามที่เรามี รัฐธรรมนูญเราไม่ได้บอกว่าดีที่สุดในโลก แต่เรายืนยันว่าทำงานด้วยความทุ่มเทเสียสละและอยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น ถ้าท่านพอใจจะไม่ให้มันผ่าน ก็ต้องยอมรับว่าโรดแมปมันอาจต้องยืดไป ท่านต้องพิจารณาเอง อนาคตของประเทศอยู่ในกำมือของท่าน

ผู้ร่วมฟังเสวนาอีกคนอภิปรายว่า ท่านบอกว่าอยากให้รัฐธรรมนูญนี้ใช้ได้นานๆ ผมจะบอกว่า เรามีรัฐธรรมนูญมาเยอะแล้ว ที่อยู่ได้ไม่นาน ประชาชนไม่ใช่คนฉีก แต่เป็นเพราะอำนาจนอกระบบ ถ้าอยากให้รัฐธรรมนูญนี้อยู่นาน น่าจะเขียนทำโครงสร้างให้อำนาจนอกระบบไม่สามารถเข้ามาได้อีกครั้ง

ศุภชัย กล่าวว่า ที่ตั้งใจมาเพราะเป็นรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และอยากฟังเพื่อนนักวิชาการ ประเด็นที่ถาม โดยส่วนตัวไม่ได้มานั่งดีเฟนต์อะไร เพราะคิดว่าร่างนี้ยังร่างไม่เสร็จ เสร็จแล้วคงไม่มารับฟังความเห็น มาฟังเพราะอยากรู้ว่าจุดไหนมองข้าม จุดไหนต้องปรับปรุง ข้อคิดหลายอย่างที่ได้จากเพื่อนๆ โดยส่วนตัวได้เก็บประเด็นไปเยอะ และคิดว่าเดือนครึ่งที่เหลือจะได้นำไปปรับปรุงเท่าที่สติปัญญาจะพอทำได้ แต่ต้องเรียนว่า มาที่นี่ได้ความเห็นอย่างหนึ่ง ไปเวทีอื่นความเห็นก็อีกแบบ ทำออกมาถูกใจคนทุกคนคงจะยากเหมือนกัน แต่รับฟังและจะลองดู

สิริพรรณ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณอาจารย์ศุภชัย ที่ใจกว้างและมีหลักการ ตอบคำถามอย่างจริงใจ ขอเรียนฝากที่ กรธ. ทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญมีต้นทุน ต้นทุนแพงมาก งบประมาณ ความศรัทธาที่ประชาชน มีต่อประชาธิปไตย ความเชื่อมั่นของประชาคมโลก ถ้าจะถามว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญนี้มีต้นทุนต่ำลงอย่างไร คำตอบคือ ต้องใช้จินตนาการที่จะใส่ประชาชนเข้าไปในนี้มากขึ้น ให้อำนาจตรวจสอบถ่วงดุลที่เป็นดุลยภาพจริงๆ และลดอำนาจพิเศษของคนจำนวนหนึ่ง 

พรสันต์ เสนอว่า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญมีเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญซึ่งยังไม่เห็น คือ บันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จะบอกว่าเจตนารมณ์ผู้ร่างร่างมาตรานี้เพื่ออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร มีประโยชน์สองอย่าง หนึ่ง การสื่อสารกับประชาชนทำให้ศึกษาตัวรัฐธรรมนูญได้ง่าย และตัดสินใจทำประชามติได้ดีขึ้น สอง ถ้าผ่านการทำประชามติ ตัวบันทึกนี้จะสำคัญอย่างยิ่งในการตีความและบังคับใช้

 


วรัญชัย โชคชนะ 

 
 
หลังการเสวนาและตอบคำถาม พิชญ์ถามผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
 


นานาความเห็นจากผู้ร่วมงานเสวนา #อวสานโลกสวย วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images