Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

พล.อ.ประยุทธ์งัดมาตรา 44 งดเลือกตั้งท้องถิ่นกว่าพันแห่ง-ให้คนเดิมรักษาการ

$
0
0

นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พร้อมใช้อำนาจตามมาตรา 44 รธน.ชั่วคราว ให้ผู้บริหาร อปท. ที่กำลังจะหมดวาระต้นปี 58 รักษาการตำแหน่งเดิมต่อไป โดยยังไม่จัดเลือกตั้ง และจะไม่ใช้วิธีคัดคนนอกเข้ามาทำหน้าที่แบบก่อนหน้านี้ เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (กลาง) ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 25 พ.ย. 2557 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

25 พ.ย. 2557 - มติชนออนไลน์รายงานว่า วันนี้ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวถึงการสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการประชุม ครม. ครั้งที่ 11/2557 โดยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)จะมีการหมดวาระ และจะมีการเลือกตั้งประมาณต้นปี 2558 ประมาณ 1,000 กว่าตำแหน่ง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พร้อมที่ใช้อำนาจในรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ให้ผู้ที่หมดวาระดำรงตำแหน่งลงนี้รักษาการตำแหน่งเดิมต่อไป จะไม่คัดสรรเอาคนนอกเข้าไปทำหน้าที่ เหมือนที่เคยมีคำสั่ง คสช. ออกมาก่อนหน้านี้เพราะเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์ อ่านคำพิพากษาคดี ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ และพวกคดีปีนสภา 9.30 น.พรุ่งนี้

$
0
0

 

25 พ.ย.2557 ในวันพรุ่งนี้ (26 พ.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี 611 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เวลา 09.30 น. ศาลอุทธรณ์ จะมีคำพิพากษาคดี จอน อึ๊งภากรณ์ และพวกรวม 10 คน บุกเข้าไปชุมนุมบริเวณภายในอาคารรัฐสภา

ลำดับเหตุการณ์ของคดีดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2550 มีการชุมนุมคัดค้านของเครือข่ายภาคประชาชนที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา ต่อการทำหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งทำรัฐประหารในปี 2549 โดยภาคประชาชนเห็นว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติรีบพิจารณาผ่านร่างกฎหมายจำนวนมากอย่างเร่งด่วนโดยขาดการส่วนร่วมจากประชาชน  โดยเฉพาะการผ่านกฎหมายสำคัญหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติความมั่นคง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ 

ต่อมามีประชาชนจำนวนมากปีนข้ามรั้วเข้าไปภายในรัฐสภาเพื่อขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติขณะนั้น รับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน  และนำมาสู่การฟ้องคดีอาญา โดยพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง จอน  อึ๊งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน  เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในข้อหาบุกรุกรัฐสภา  ยุยงให้ประชาชนละเมิดต่อกฎหมาย และชุมนุมมั่วสุมเกิน 10 คนโดยเป็นแกนนำ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 มาตรา 116(3) มาตรา 215 วรรคสามตามลำดับ)  ศาลรับฟ้อง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.4383/2553 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 

โดยศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ (ฝ่ายพนักงานอัยการ)  และจำเลยทั้งสิ้นรวม  51 ปาก  โดยเริ่มสืบพยานนัดแรกตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์  2555 และสิ้นสุดการสืบพยานในวันที่ 7 มีนาคม 2556 ในช่วงการสืบพยานมีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน และผู้ร่วมสังเกตการณ์คดีทั้งภายในและจากต่างประเทศเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี 

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2556  ศาลอาญามีคำพิพากษา “ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 และที่ 8  คนละ 2 ปี  ปรับคนละ 9,000 บาท  จำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 และที่ 10  คนละ 1 ปี  ปรับคนละ 9,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา  มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 78  คนละหนึ่งในสาม  คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 และที่ 8  คนละ 1 ปี  ปรับคนละ 6,000 บาท  จำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 และที่ 10  คนละ 8 เดือน  ปรับคนละ 6,000 บาท  ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและจำเลยทั้งสิบกระทำความผิดไปโดยมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสำคัญ  โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี”

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ม.ทักษิณจับมือองค์กรสิทธิจัดสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ‘คืนสิทธิ์ คืนสุข (ศุกร์) ประชาชน’

$
0
0

ม.ทักษิณร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนจัดสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 3 ระหว่าง 24-27 พ.ย.นี้ ผู้จัดย้ำรัฐบาลต้องให้เสรีภาพ ปชช.มีส่วนร่วมปฏิรูปและแสดงความคิดเห็นโดยไม่ถูกจับกุม พร้อมเสนอยกเลิกกฎอัยการศึก

25 พ.ย.2557 ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ อ.เมือง จ.สงขลา จัดงานสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 พ.ย.นี้ โดยการการจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับนักศึกษา องค์กรร่วมจัดประกอบไปด้วย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดยในงานมีการจัดนิทรรศการ จัดฉายภาพยนตร์ และกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

การจัดงานในปีนี้ ผู้จัดเน้นการเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การเปิดรับความคิดเห็นต่าง การหยุดการจับผิดและคุกคามประชาชน

โดยภายใต้กฎอัยการศึก ชาวบ้านและชุมชนถูกกดดันและจำกัดเสรีภาพขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะในภาคใต้ หลายกิจกรรม คนทำงานถูกทหารจับกุมและนำไปปรับทัศนคติหลายครั้ง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ การเดินรณรงค์ปฏิรูปพลังงานของ “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถูกจับกุมหลายสิบคน หรือแม้แต่วิทยุชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ถูกปิดหลายร้อยสถานี โดยได้รับการเปิดเผยจากชาวบ้านที่จัดรายการวิทยุชุมชนว่า หากสถานีวิทยุชุมชนได้ปรับคลื่นกระจายเสียงตามเงื่อนไขแล้ว ก่อนจะได้รับต่ออนุญาตเปิดสถานี ต้องยอมรับเงื่อนไขของทหารด้วยว่า จะไม่จัดรายการที่เกี่ยวกับการเมือง ศาสนา และความขัดแย้ง รวมไปถึงต้องส่งสคริปต์ หรือเทปรายการให้ทหารตรวจสอบก่อนออกอากาศอีกด้วย นับเป็นครั้งแรกที่สื่อวิทยุชุมชนถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกเต็มรูปแบบ

ทางคณะผู้จัดงานสัปดาห์สิทธิมนุษยชนได้ตระหนักถึงบรรยากาศอึมครึมทางการเมืองในปัจจุบัน การจัดงานสัปดาห์สิทธิมนุษยชนครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “คืนสิทธิ์ คืนสุข (ศุกร์) ประชาชน” นัยเพื่อคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน ไม่ใช่การพูดและบังคับให้ประชาชนเชื่อฟัง ดังอย่างที่ผู้นำพูดออกอากาศสดทุกวันศุกร์ ดังนั้นการคืนวันศุกร์ให้กับประชาชนก็คือการคืนพื้นที่ความหลากหลายทางความคิด โดยไม่ถูกจับกุม  คืนบรรยากาศเสรีภาพประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชน

รศ.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและผู้คนในสังคมที่จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง แม้ในสถานการณ์ที่เปราะบางของบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่สังคมไทยและสังคมการเมืองกำลังเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงการเปิดพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้คนในสังคม อย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชัง การเลือกปฏิบัติ ปิดกั้นการแสดงออก ปิดหู ปิดตา รังแต่จะเพิ่มความขัดแย้ง ชิงชังให้บาดลึก ร้าวฉานในสังคมเพิ่มมากขึ้น ในสถานการณ์ของการสร้างประชาธิปไตยครั้งใหม่ ต้องสร้างหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานการแสดงออก การสะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ “กฎอัยการศึก” และหยุดจับจ้องจับผิดผู้ที่คิดต่าง

วัฒนา นาคประดิษฐ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กล่าวถึงการแนวทางที่ของรัฐบาลจะจัดพื้นที่ให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นได้ โดยให้สถาบันทางการศึกษาแห่งหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการว่า การที่จะมีพื้นที่ให้คนที่คิดต่างกับรัฐบาลเป็นเรื่องดี แต่ไม่จำเป็นต้องมีคนกลาง เพราะว่ารัฐบาลรู้จักแต่ละกลุ่มองค์กรเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ขอนแก่น อย่างกลุ่มดาวดิน หรือกลุ่มพี่น้องเขื่อนปากมูนที่อุบลราชธานี กลุ่มต่อต้านเหมืองโปแตซที่อุดรธานี หรือกลุ่มชาวบ้านกฎหมายที่มาเรียกร้องเรื่องกฎหมาย 4 ฉบับ

“รัฐบาลรู้จักคนเหล่านี้อยู่แล้ว รัฐบาลสามารถเปิดเวทีพูดคุยกับพวกเขาได้เลย และควรเป็นท่าทีที่รัฐบาลพร้อมจะแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้าน ไม่ควรเป็นท่าทีที่เห็นนักศึกษาและชาวบ้านเป็นศัตรู เชื่อว่าสังคมจะปฏิรูปได้จริงก็ต่อเมื่อท่าทีที่คุยกันนั้นพร้อมจะแก้ไขปัญหาได้จริงๆ แต่หากจะใช้วิธีการแก้ไขปัญหาโดยมีคนกลาง ก็ควรเป็นสถาบันที่เข้าใจมิติของชาวบ้านและชุมชนด้วย”  ผู้ประสานงานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมกล่าว

ผรัณดา ปานแก้ว รักษาการผู้อำนวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็น การชุมนุมของประชาชนเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และต้องได้รับการเคารพจากรัฐ รวมถึงต้องปฏิบัติอย่างเคารพสิทธิมนุษยชนของชุมชน การบังคับใช้กฎหมายภายใต้กฎอัยการศึกต้องคำนึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น ต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา ได้รับสิทธิปรึกษาทนายความ มีการติดต่อญาติทันทีที่ถูกควบคุมตัว

รักษาการผู้อำนวยการสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยังเรียกร้องด้วยว่า ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก เนื่องจากเป็นอุปสรรคต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และการดำเนินคดีต้องขึ้นศาลทหาร ทำให้กระบวนการต่อสู้ทางกฎหมายไม่เป็นไปตามปกติ รวมทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่มีสิทธิในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์จะเปิดเวทีให้นักศึกษา-นักวิชาการส่งตัวแทนเข้ามา-แต่อย่ามาด่า คสช.

$
0
0

พล.อ.ประยุทธ์ เผยฟัง 'เดช พุ่มคชา' แสดงความเห็นเรื่องปฏิรูปเข้าท่า ชี้หากจัดประชุม-ต้องคิดเรื่องแก้ไขปัญหา ไม่ใช่จัดเพื่อด่า คสช. ย้ำเรื่องนักศึกษาเคลื่อนไหว-จะไม่ลงโทษใคร และเมื่อจัดเวทีแล้วก็ขอให้ส่งตัวแทนเข้ามา อย่าให้เอาใจยาก เปิดเวทีมาแล้วก็คุยกันไป พร้อมถามพวกต่อต้าน "ความรู้สึกช้าไปหรือเปล่า" อย่ามาต่อต้านกันวันนี้เลย

คลิป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวโดยตอนหนึ่งกล่าวถึงการทำกิจกรรมของนักศึกษา

การแถลงข่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรีโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

วันนี้ (25 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี โดยตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องแนวทางเปิดเวทีให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นว่า "เท่าที่ฟังเมื่อวานมีการประชุมของสภาชุมชน ใช่ไหม ก็มีท่านที่มีหนวดเครา อะไรต่างๆ (หมายถึง เดช พุ่มคชา) ผมก็เข้ามานั่งฟังนะ ทนอยู่ ฟังหลายนาทีเหมือนกัน ดีนะ เขามีเหตุผลของเขา เขาคิดในแง่ของประชาชน แต่จะทำอย่างไรนำมาสู่การปฏิบัติให้ได้ ผมสั่งไปแล้ว บอกให้ไปรับเรื่องมาด้วย"

"คือถ้าประชุมในสถานที่แล้ว นี่คือปัญหาแล้วจะแก้อย่างไร ไม่ใช่ประชุมแล้วด่า คสช. ด่ารัฐบาล แบบนี้ไม่ได้ มันผิด มันผิดด้วยสถานการณ์นะ แล้วก็ในเมื่อบางอย่างเราขอร้องกันแล้ว ก็ต้องขอกัน จะเห็นว่าเราไม่ได้มาลงโทษใครเด็ดขาดในเรื่องเหล่านี้เลย เห็นใจผมบ้างสิ ผมรับหมดนะ ไม่ว่าจะเป็นประชุมธรรมศาสตร์ ผมก็บอกให้ไปรับเรื่องมา ประชุมสภาประชาชน ผมก็บอกว่าให้ไปรับเรื่องมา แถมผมบอกว่าให้ไปเปิดเวทีให้นักศึกษากับนักวิชาการ ส่งตัวแทนเข้ามาแล้วเข้ามา ถ้าอย่างนี้เขามา และถ้าไม่เข้ามาก็อย่าไปเรียกข้างนอก หรือเข้ามาแล้วถูกบังคับอีกไม่ได้อีก แหมมันเอาใจยากจริงๆ โว้ย นะ ก็เปิดมาแล้วก็คุยกันไป แล้วสรุปมาเป็นเอกสารมา แต่จะมาโน้นนี้ มาว่าความรู้สึกช้าไปหรือเปล่านะ อย่ามาต่อต้านกันวันนี้เลย"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19-25 พฤศจิกายน 2557

$
0
0

กสม.แถลงกรณีห้าม จนท.ตั้งครรภ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ได้ออกแถลงการณ์กรณีหน่วยงานในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้ติดประกาศว่า "ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2557 เจ้าหน้าที่ผู้หญิงทุกท่านให้กินยาคุมกำเนิด (ห้ามท้อง) ถ้าท้องให้ลาออกไปเลย" ซึ่งก่อนหน้าที่ทางโรงพยาบบาลได้ออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ออกประกาศดังกล่าว นอกจากนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ลงพื้นที่ให้ข้อมูลด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณชน
 
ทั้งนี้ กสม. ได้ชื่นชมกระทรวงแรงงาน ที่ได้นำข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เรื่องห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นผู้หญิงเพราะเหตุตั้งครรภ์ และข้อมูลข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ กสม. เห็นว่าการเลิกจ้างด้วยเหตุนี้ จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ควรให้สิทธิแก่สตรีในการตัดสินใจอย่างอิสระ
 
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนหรือผู้พบเห็นบุคคลใดถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน สามารถร้องเรียนมายัง 1777 เพื่อจะได้ดำเนินการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง และนำไปสู่การสร้างสังคมให้มีความเสมอภาค 
 
(ไอเอ็นเอ็น, 19-11-2557)
 
ขสมก.เรียกร้องค่า "ขับรถดี"
 
นายวีระพงษ์ วงแหวน ประธานสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) กล่าวเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า สร.ขสมก.จะเรียกร้องให้พิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นเช่น กัน
 
"ตามปกติอัตราเงินเดือนของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจจะมีช่องว่าง ที่ใช้เปรียบเทียบกันอยู่ หากข้าราชการปรับขึ้น รัฐวิสาหกิจก็ต้องปรับด้วย แค่มีการประกาศจะขึ้นเงินเดือนก็ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ จะปรับราคาขึ้นแล้ว" นายวีระพงษ์กล่าว
 
นายวีระพงษ์กล่าวว่า สำหรับอัตราเงินเดือนเริ่มต้นที่ สร.ขสมก.เคยเสนอให้ปรับขึ้นก่อนหน้านี้คือ 9,040 บาทต่อเดือน จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 6,800 บาทต่อเดือน ขณะเดียวกันจะขอเพิ่มค่าฝีมือให้กับพนักงานขับรถ ขสมก.ที่ขับรถดีอีก 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเคยเสนอเรื่องนี้ไปยัง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาแล้ว
 
นายวีระพงษ์กล่าวว่า ขสมก.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการขนส่งสาธารณะ เงินเดือนจะไม่มาก เช่นเดียวกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บ.ข.ส.) โดยเมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเดือนที่ได้รับจะต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันด้วยซ้ำ ส่วนค่าทำงานเกินเวลา 8 ชั่วโมง จะได้รับประมาณ 60-80 บาทต่อชั่วโมงเท่านั้น แตกต่างจากรัฐวิสาหกิจอื่นที่ได้ค่าล่วงเวลา 3 เท่าของการทำงานปกติ
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 19-11-2557)
 
เผยอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องการแรงงานอีกเพียบ
 
มล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการศึกษาแนวทางการพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ พบว่าในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558 – 2562 มีความต้องการแรงงานในกลุ่มผู้ประกอบการยานยนต์ 63,025 คน ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ 200,555 คน
 
หากแยกความต้องการตามระดับการศึกษาพบว่า มีความต้องการในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีประสบการณ์หรือผ่านการฝึกฝีมือ ร้อยละ 55 รองลงมา ระดับอาชีวศึกษา ร้อยละ 25 ระดับปริญญาตรีสายวิศวกรรมศาสตร์ คือ วิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิคส์ เมคคาทรอนิกส์และอุตสาหการ ร้อยละ 15 และระดับปริญญาตรีในสายอื่นๆ เช่น บริหารธุรกิจ ร้อยละ 5
 
มล.ปุณฑริก กล่าวอีกว่า กพร.มีแผนพัฒนากำลังคนในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ โดยจะพัฒนาแรงงานให้ได้ 800 คน ทั้งพนักงานที่ทำงานในสถานประกอบการ นักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาด้านยานยนต์ในระดับปวช. ปวส. ในสาขาที่เกี่ยวข้อง และในระดับวิทยากร ในสาขาต่างๆ อาทิ กลึงซีเอ็นซี กัดซีเอ็นซี เครื่องวัดละเอียด การเชื่อมแมกซ์ ระบบไฮโดรลิกส์ โดยเริ่มอบรมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 เป็นต้นไปซึ่งจะอบรมทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ มีระยะเวลาการอบรม 2 – 5 วัน
 
โดยจะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวะศึกษา สถาบันการศึกษาต่างๆ ผู้ประกอบการด้านยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ จัดอบรมทั้งในสถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลระดับกลางและสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1 สมุทรปราการเป็นเจ้าภาพหลักและบางส่วนจะอบรมในสถานประกอบการ เนื่องจากมีอุปกรณ์ในการฝึกครบถ้วน
 
“การพัฒนาบุคลากรด้านนี้ต้องเริ่มตั้งแต่การจัดทำหลักสูตร การพัฒนาครู การเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาและการฝึกงานในสถานประกอบการจริงเพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์ในสถานการณ์จริง มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ รวมทั้งความร่วมมือในลักษณะของเครือข่ายระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกมีความรู้อย่างรอบด้านจากอุปกรณ์ที่ทันสมัยในสถานประกอบการ”
 
ทั้งนี้ยอดการผลิตรถยนต์ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านคัน ต่อปี มีกำลังแรงงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 700,000 คน โดยไทยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2563 จะผลิตรถยนต์ให้ได้ 3.5 ล้านคัน ทำให้ต้องเพิ่มกำลังแรงงานอีก 200,000 คน 
 
(มติชนออนไลน์, 20-11-2557)
 
"อมรา" ชี้เศรษฐกิจ-ละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาใหญ่ระดับชาติ เหตุนายทุนข้ามชาติไม่เหลียวแลสิทธิแรงงาน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคล และสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิเตรียมชีวิต มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต แรงงานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้จัดเวทีเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "ประเทศไทยจะก้าวไปทางไหนกับการปฎิรูปประกันสังคม กรณีสถานะของแรงงานข้ามชาติ" โดยมีนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคล และสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "ทิศทางประกันสังคมไทย สู่ประชาคมอาเซียน(AEC)
 
โดยนางอมรา กล่าวตอนหนึ่งว่า เมื่อพูดถึงแรงงานข้ามชาติ ต้องรวมไปถึงคนไทยด้วย เพราะเราอาจข้ามชาติไปทำประเทศอื่นได้ เมื่อประชาคมอาเซียนเปิด รั้วไม่มี แรงงานเหล่านี้ก็ไปๆมาๆ ทุกคนก็เป็นแรงงานข้ามชาติได้หมด ในมิติของการเปิดประชาคมอาเซียน ต้องมองเรื่องแรงงานกันใหม่ เพราะต่อไปคำว่าแรงงานข้ามชาติจะหมดไป แต่จะกลายมาเป็นแรงงานอาเซียนแทน ดังนั้น ประชาคมอาเซียนต้องร่วมมือกันเรื่องแรงงาน โดยมีกลไกที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน 3 อย่างที่ควรเกิดขึ้น คือ คณะกรรมาธิการด้านอาเซียนสังคม คณะกรรมาธิการอาเซียนด้านผู้หญิงและเด็ก ซึ่งคณะกรรมาธิการทั้งสองคณะนี้เกิดขึ้นแล้ว แต่คณะกรรมาธิการอาเซียนด้านแรงงานข้ามชาติ ยังไม่ยอมเกิด เกิดยากมาก เพราะเวลาเราพูดถึงอาเซียน มักจะบอกว่าเราเป็นอันหนึงอันเดียวกัน แต่เมื่อมาดูมิติด้านแรงงานแล้วไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย อย่างไรก็ตาม ตนหวังว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้
 
"เราต้องติดตามดูว่าเมื่อเกิดเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ข้อตกลงแรงงานจะเป็นอย่างไร กรรมาธิการด้านแรงงานจะเป็นอย่างไร แรงงานข้ามชาติต้องได้รับการคุ้มครองดูแล ระบบประกันสังคมของแต่ละประเทศจะดูแลแรงงานที่ไม่มีสัญชาติของประเทศนั้นๆได้มากน้อยแค่ไหน แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยหรือประเทศต้นทางที่ส่งแรงงานข้ามชาติเข้ามามีความร่วมมืออะไรบ้าง เพื่อให้เเกิดความคุ้มครองแรงงานให้ได้รับสิทธิประโยชน์เข้าถึงประกันสังคม การคุ้มครองแรงงาน ไม่ถูกเอาเปรียบ ต้องให้การสนับสนุนแรงงานข้ามชาติด้วยการให้ความคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็ง จึงถือเป็นมาตรฐานสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของภูมิภาคได้"นางอมรา กล่าว
 
นางอมรา กล่าวต่อว่า ทุกประเทศในอาเซียนต้องตระหนักใน 3 เรื่อง ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียนควรร่วมมือทำความตกลงด้านประกันสังคมเพื่อคุ้มครองดูแลแรงงานและพลเมืองอาเซียนให้เป็นไปตามทิศทางเดียวกัน แรงงานข้ามชาติควรได้รับความคุ้มครองดูแลทางสังคมและประกันสังคมอย่างเท่าเทียมจากประเทศนั้นๆ และกลุ่มประเทศอาเซียนควรขยายความคุ้มครองทางสังคมโดยขยายระบบประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบให้ครอบคลุม ซึ่งขณะนี้สังคมโลกยอมรับว่าปัญหาทางสังคมที่มีอยู่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจ และปัญหาสิทธิมนุษยชน เนื่องจากนายทุนข้ามชาติมักไม่ดูแลเรื่องประกันสังคมของแรงงานในพื้นที่ ดังนั้น เห็นควรว่ารัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองให้ทุกคนไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ เอกชนต้องเคารพสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่ดูแลไม่ละเมิดสิทธิ และสุดท้ายรัฐและเอกชนต้องเยียวยาหากมีการละเมิดสิทธิอย่างครอบคลุม
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 20-11-2557)
 
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รอเข้าพบ รมว.แรงงาน 28 พ.ย. หารือปรับขึ้นค่าแรงงานตามเงินเฟ้อ 320 บาท
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยกับ รายการ ไอ.เอ็น.เอ็น. โฟกัสเศรษฐกิจ ว่า ส่วนตัวขอแสดงความยินดีการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขณะที่ค่าจ้างของแรงงานไทยนั้นเบื้องต้นได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แล้ว เพื่อขอเข้าพบในวันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พร้อมหารือเรื่องปรับขึ้นค่าแรงตามอัตราเงินเฟ้อ คือ ปรับขึ้นเป็น 320 บาท
 
ทั้งนี้ อยู่ระหว่างรอตอบรับจากทางกระทรวงแรงงานว่าจะให้เข้าพบในวันดังกล่าวหรือไม่ ส่วนผลสำรวจของ คสรท. ที่ระบุว่าค่าแรงที่เหมาะสมคือ 460 บาทต่อวัน เพื่อให้แรงงานมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ด้วยนั้น คงต้องดูถึงผลกระทบกับภาคธุรกิจด้วย 
 
(ไอเอ็นเอ็น, 20-11-2557)
 
จ.ตาก ขาดแคลนแรงงานกว่า 1 แสนคน วอน รง.ดัน กม.ให้ต่างด้าวเข้าทำงานเช้าเย็นกลับ
 
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อติดตามความคืบหน้าการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ และรับฟังข้อเสนอแนะการดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จากผู้ประกอบการเมื่อเร็วๆ นี้ทางกลุ่มผู้ประกอบการในจังหวัดตาก มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว 5 ข้อ ได้แก่ 1. ให้สามารถจ้างแรงงานต่างด้าวในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2. ให้เร่งดำเนินการตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ได้แก่ การจ้างแรงงานต่างด้าวแบบเดินทางเช้ามา - เย็นกลับ/การเดินทางไป - กลับ ที่มีช่วงระยะเวลาสั้น/การทำงานตามฤดูกาล (ภาคเกษตรกรรม) 3. การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ 4. กำหนดกรอบระยะเวลาการผ่อนผันที่ให้แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทำงานได้ ให้ชัดเจน หลังจากนั้น ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น การนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การกำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้แรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้ายไปสู่กิจการอื่นๆ หรือพื้นที่ชั้นใน 5. ให้นำเงินค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำงาน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยไม่ต้องรอส่วนกลางจัดสรรงบประมาณ
       
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า จังหวัดตากมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคเกษตรกรรม ดังนั้น สถานประกอบการจึงได้จ้างแรงงานต่างด้าวมาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีนายจ้าง/สถานประกอบการ จำนวน 19,300 ราย มีความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว จำนวน 126,851 คน เฉพาะในอำเภอแม่สอด ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว จำนวน 73,590 คน โดยล่าสุด จังหวัดตาก มีการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 26,403 คน ที่นำเข้ามาตาม MOU จำนวน 3,110 คน และมีแรงงานต่างด้าวที่ยื่นจดทะเบียน ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ จำนวน 45,083 คน โดยเป็นแรงงานต่างด้าวที่มายื่นจดทะเบียน ณ ศูนย์ฯ อำเภอแม่สอด จำนวน 30,264 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในประเภทกิจการผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป เกษตรและปศุสัตว์ กิจการต่อเนื่องการเกษตร งานบริการทั่วไป ส่วนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวใน จ.ตาก นั้น ขณะนี้มีแรงงานพม่าผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 7,836 คน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 21-11-2557)
 
หนุนให้นักโทษใช้กำไลข้อเท้า-ทำงานภาคประมง
 
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เข้าหารือกับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาค้ามนุษย์ โดยเสนอให้ส่งผู้ต้องขังไปทำงานในเรือประมง เพื่อลดปัญหาการใช้แรงงานค้ามนุษย์ว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการลดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยจะให้ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ หรือพักการลงโทษ มีโอกาสหาลู่ทางทำมาหากิน เตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว เนื่องจากภาคประมงถือว่ามีปัญหาการใช้แรงงานมาตลอด อีกทั้งคนไทยไม่นิยมทำ
 
ดังนั้น หากผู้ต้องขังรายใดที่มีความรู้ความเข้าใจงานประมงและสมัครใจทำงานในเรือก็จะได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการมีอาชีพทำให้รู้สึกกลมกลืนกับสังคมก่อนพ้นโทษ ขณะที่ภาคประมงก็ไม่ต้องใช้แรงงานเถื่อน จึงประสานงานกับปลัดกระทรวงแรงงานและอธิบดีกรมการจัดหางานเพื่อวางแนวทางผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ ย้ำว่าการค้ามนุษย์คือการบังคับใช้แรงงาน แต่แนวทางการให้ผู้ต้องขังใช้แรงงานในเรือประมงต้องเน้นสมัครใจเท่านั้น หรือหากทำแล้วไม่ถนัดก็สามารถเปลี่ยนใจกลับขึ้นฝั่งได้
 
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการทำงานของกรมคุมประพฤติ โดยมี นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุมประพฤติ ให้การต้อนรับ พร้อมนำเยี่ยมศูนย์ควบคุมการติดตามด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ( Electronic Monitoring : EM) หรือกำไลข้อเท้า ซึ่งกรมคุมประพฤติเพิ่งจะจัดซื้อลอตใหม่ 3,000 เครื่อง โดยใช้งบ 74 ล้านบาท โดยกำไลข้อเท้าลอตนี้ ได้เปลี่ยนมาใช้ระบบจีพีเอสแทนการใช้เครื่องควบคุมติดตั้งที่บ้านเพื่อลดระบบทำงาน ซึ่งการใช้งานล่าสุด จะขยายพื้นที่เพิ่มจากเดิมเฉพาะ กทม. และปริมณฑล ไปยังต่างจังหวัดอีก 22 จังหวัด ประกอบด้วยนนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ปทุมธานี สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา สมุทรปราการ อุดรธานี สกลนคร เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ พิษณุโลก นครปฐม เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และสงขลา
 
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า กำไลคุมประพฤติ เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามควบคุมพฤติกรรมผู้กระทำผิดได้โดยไม่ต้องคุมขัง เน้นใช้กับคดีที่ส่งผลกระทบกับสังคม เช่น คดีเมาแล้วขับ โดยเครื่องมือสามารถกำหนดเงื่อนไขการเดินทาง การห้ามเข้า-ออกพื้นที่ รวมถึงจำกัดระยะเวลาออกนอกพื้นที่ได้ ทำให้ผู้กระทำผิดไม่สามารถออกไปก่อเหตุซ้ำได้
 
(ไอเอ็นเอ็น, 22-11-2557)
 
เตือนคนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลี
 
นายคมสัน พัวศรีพันธุ์ จัดหางานจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า ได้รับเบาะแสจากคนหางานว่ามีสาย นายหน้าจัดหางานชักชวนคนหางานให้สมัครไปทำงานประเทศเกาหลีใต้โดยแอบอ้างว่า สมัครงานผ่านบริษัทจัดหางานที่ถูกต้องตามกฎหมาย และจะให้เดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ในลักษณะนักท่องเที่ยวและอยู่ลักลอบทำงาน โดยเรียกเก็บเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายคนละ 150,000 บาท ทำงานเกษตร ค่าจ้างเดือนละ 30,000 –40,000 บาท ทั้งนี้คนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีจะต้องสมัครเข้ารับการทดสอบความสามารถภาษาเกาหลีเพื่อสมัครไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ หรือ EPS และเมื่อสอบผ่านจึงจะสามารถสมัครเพื่อไปทำงานที่ประเทศเกาหลีได้ ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกาหลี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงแรงงานเกาหลี โดยมีกรมการจัดหางานเป็นหน่อยงานดูแลรับผิดชอบในการจัดส่งเท่านั้น และการลักลอบไปทำงานโดยการเดินทางไปในลักษณะนักท่องเที่ยวนั้น คนหางานอาจถูกระงับการเดินทางจากด่านตรวจคนหางานได้หรือหากสามารถเดินทางเข้าประเทศเกาหลีและอยู่ลักลอบทำงานได้อาจประสบกับปัญหาภาวะยากลำบากในต่างประเทศ และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน 
 
สำนักงานจัดหางานจังหวัดพะเยา จึงขอแจ้งเตือนคนหางานหากต้องการสมัครไปทำงานต่างประเทศ โปรดตรวจสอบตำแหน่งงานจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือขอรับคำปรึกษาก่อนตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศ ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดพะเยา หมายเลขโทรศัพท์ 054-887263 หรือที่เว็ปไซด์ www.doe.go.th/phayao 
 
(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 23-11-2557)
 
เผยธุรกิจขายปลีก-ส่ง ขาดแรงงานมากสุด
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้รายงานเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเปรียบเทียบกับค่าจ้างจริง ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ปี 2557 มี 17 จังหวัดที่มีค่าจ้างจริงเฉลี่ยต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จังหวัดที่มีค่าจ้างจริงเฉลี่ยสูงที่สุดทั้งปี 2556 และ 2557 คือ ภูเก็ต รองลงมาคือ กรุงเทพฯ ส่วนจังหวัดที่มีค่าจ้างจริงเฉลี่ยต่ำที่สุดในปี 2556 คือ นราธิวาส และปี 2557 คือ ศรีสะเกษ จังหวัดที่มีมาตรฐานการครองชีพสูงมากขึ้น ซึ่งอยู่นอกปริมณฑลและเป็นเมืองอุตสาหกรรม คือ ชลบุรี ระยอง และปราจีนบุรี ส่วนผลสำรวจข้อมูลความต้องการและการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการ ปี 2557 พบว่า ความต้องการแรงงานในกิจการขายส่ง ขายปลีกมากสุดอยู่ที่ร้อยละ 22.92 รองลงมาคือ ก่อสร้างร้อยละ 8.38 และที่พักแรมและบริการด้านอาหารร้อยละ 7.30 ตามลำดับ
       
ส่วนระดับการศึกษาที่ต้องการแรงงานมากที่สุดคือ ต่ำกว่า ม.3 อยู่ที่ ร้อยละ 23.04 รองลงมาคือ ป.ตรีและสูงกว่า ร้อยละ 22.53 และ ม.3 อยู่ที่ ร้อยละ 16.74 ตามลำดับ ขณะที่ทักษะฝีมือที่ต้องการมากที่สุดคือ แรงงานมีฝีมือร้อยละ 45.42 รองลงมาเป็นแรงงานกึ่งฝีมือร้อยละ 28.44 และแรงงานไร้ฝีมือ ร้อยละ 24.97 ตามลำดับ
       
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มเดือนตุลาคม 2557 พบว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวแต่ค่อนข้างช้าและไม่ชัดเจนในทุกภาคส่วนโดยอุปสงค์ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่บางส่วนถูกรั้งไว้ด้วยราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ภาระหนี้ในครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวเป็นลำดับ ความต้องการที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากอัตราการจองซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนเสถียรภาพในประเทศ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาพลังงานและอาหารสด ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผล ส่วนดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุล โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล ส่วนสถานการณ์การจ้างงานกันยายน 57 มีผู้ว่างงาน 118,680 คน อัตราการขยายตัว ร้อยละ10.28 อัตราการเติบโตของผู้ประกันตนมาตรา 33 เดือนตุลาคม 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.29
       
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า ขอให้สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง นำรายงานสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจแรงงานสรุปเป็นรายงานสำหรับผู้บริหาร โดยจะรายงานเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาสนั้นจะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการค่าจ้างก่อน เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบด้วย
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-11-2557)
 
แรงงาน 2.8 ล้านยังไม่ได้ 300 บาท
 
นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 57 ว่า มีผู้ว่างงาน 326,616 คน หรือ 0.84% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีอัตราการว่างงาน 0.77% โดยผู้ว่างงานเป็นกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน 171,117 คน เพิ่มขึ้น 14.6% เป็นการเลิกจ้าง 15,968 คน และลาออก 128,971 คน ทั้งนี้ เพราะจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการขยายกิจการและการจ้างงาน ส่วนค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนยังไม่รวมค่าล่วงเวลา และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น เพิ่มขึ้น 11.4% อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแรงงานที่ทำงานเต็มเวลา แต่ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 300 บาทอยู่ 2.8 ล้านคน ในจำนวนนี้ 64.4% มีการศึกษาต่ำกว่าประถมศึกษา และ 21% มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
 
สำหรับมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังคือการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 58 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น จะทำให้ต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานระดับล่างและแรงงานกึ่งฝีมือ ที่ปัจจุบันยังมีคุณลักษณะไม่ตรงกับความ ต้องการของตลาด ดังนั้น จะต้องเร่งเพิ่มสัดส่วนการศึกษาสายอาชีวะกับสายสามัญให้อยู่ที่ 45:55 ภายในปี 58 พัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงความ ต้องการของตลาด วางแผนการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ และเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยใช้เทคโนโลยีในการผลิตมากขึ้น
 
นอกจากนี้ ยังได้ติดตามการผิดนัดชำระหนี้เชื่อภายใต้การกำกับและบัตรเครดิต ซึ่งพบว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 90,157 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.8% คิดเป็น 2.7% ต่อสินเชื่อรวม ขณะที่สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 48.9% มูลค่า 14,644 ล้านบาท คิดเป็น 4.7% ของสินเชื่อภายใต้การกำกับรวม สำหรับยอดคงค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น 28.1% มูลค่า 8,153 ล้านบาท คิดเป็น 2.9% ของสินเชื่อภายใต้การกำกับรวม “แม้การผิดนัดชำระหนี้ยังไม่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อภาพรวม แต่ต้องเฝ้าระวัง เพราะสินเชื่อกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจกระทบทั้งความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินและคุณภาพชีวิตของครัวเรือน เพราะเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เมื่อเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาก อาจทำให้สถาบันการเงินต้องกันสำรองเงินเพิ่ม”
 
ขณะเดียวกัน สศช.ยังเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและผู้พยายามฆ่าตัวตาย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 55 มีผู้พยายามฆ่าตัวตาย 21,195 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 43,500 คนในปี 56 ซึ่งเกิดจากปัญหาด้านการสื่อสารและความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาเจ็บป่วยเรื้อรัง
 
(ไทยรัฐ, 25-11-2557)
 
แนะปรับสวัสดิการแรงงานไทย เน้น "ปั๊มบุตร-คลอดลูก-เงินสำรองยังชีพ"
 
ผศ.ดร.วิชัย โถสุวรรณจินดา ผู้บริหารโครงการปริญญาเอกสาขานโยบายสาธารณะและการจัดการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เปิดเผยว่า จากการศึกษาด้านสวัสดิการแรงงานของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบ พบว่า หลายประเทศเน้นสวัสดิการการคลอดบุตรและเลี้ยงดูบุตร เพื่อส่งเสริมให้ประชากรมีบุตรเพิ่มขึ้น การส่งเสริมสวัสดิการออมเงินผ่านกองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้แรงงานมีเงินไว้ใช้ในยามเกษียณจากการทำงาน และการรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บจากการทำงาน
       
ผศ.ดร.วิชัย กล่าวอีกว่า จากผลการศึกษามีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องปรับปรุงสวัสดิการแรงงานและระบบประกันสังคมเพื่อส่งเสริมให้ประชากรมีบุตรและรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยโดยในเรื่องสวัสดิการการคลอดบุตรและเลี้ยงดูบุตรนั้นควรเพิ่มวันลาคลอดจาก 90 วัน เพิ่มเป็น 120 วัน โดยได้รับค่าจ้างและรัฐบาลจัดสรรงบอุดหนุนการเลี้ยงดูลูก และสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไปมีสถานเลี้ยงเด็ก รวมทั้งสถานประกอบการต้องให้โอกาสแรงงานชายลางานเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตร ได้ 15 วันโดยได้รับค่าจ้าง
       
ทั้งนี้ ในส่วนของสวัสดิการออมเงิน รัฐบาลจะต้องปรับปรุงกฎหมายโดยให้ทุกสถานประกอบการต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนร้อยละ 10 ของค่าจ้างและลูกจ้างจ่ายร้อยละ 5 ของค่าจ้างหรือตามกำลังที่ลูกจ้างจะจ่ายได้ ขณะเดียวกัน สำนักงานประกันสังคมจะต้องขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปีและค่อยทยอยเพิ่มเป็น 65 ปี และเพิ่มอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของเงินสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพจากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3 เพิ่มเป็นร้อยละ 8 ภายในเวลา 5 ปี แรงงานจะได้มีเงินเพียงพอไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณ ซึ่งควรอยู่ที่เดือนละ 5 พันบาท ไม่ใช่เดือนละ 3 พันบาทเช่นปัจจุบัน ซึ่งไม่พอใช้จ่าย รวมทั้งส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุหากเกษียณแล้วยังจ้างงานต่อไปนายจ้างจ่ายค่าจ้างร้อยละ 80 และกองทุนประกันสังคมหรือรัฐบาลจ่ายร้อยละ 20
       
นอกจากนี้ การรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย หรือบาดเจ็บจากการทำงานควรยุบรวมกองทุนเงินทดแทนเข้ากับกองทุนประกันสังคม เพื่อให้แรงงานใช้สิทธิประโยชน์กรณี เจ็บป่วย/บาดเจ็บจากการทำงานได้อย่างคล่องตัวและนายจ้างไม่ต้องกังวลกับการถูกปรับต้องเพิ่มอัตราเงินสมทบ หากลูกจ้างเจ็บป่วย/บาดเจ็บจากการทำงานเพิ่มขึ้น
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25-11-2557)
 
ก.แรงงาน คาดปี 58 ศูนย์ Smart Job Center ช่วยลดตัวเลขผู้ว่างงานเขต กทม.- ปริมณฑล ได้ร้อยละ 10
 
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวในระหว่างเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ด้านแรงงาน ว่า กระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่จะเป็นเอเยนต์หางานให้กับคนไทยมีโอกาสได้งานทำอย่างเต็มรูปแบบโดยผ่านศูนย์ Smart Job Center ซึ่งจะใช้ทรัพยากรกระทรวงแรงงานที่มีอยู่อย่างเต็มที่ร่วมกัน การสร้างศูนย์ดังกล่าว แต่ถ้าทำดีตึกสวยงามแต่ไม่มีใครมาหา นั่นคือสิ่งที่ต้องคิด การต้อนรับการให้บริการบรรยากาศต้องอบอุ่น คือโจทย์ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมกันคิด ทั้งนี้ คนไทยต้องมีงานทำ แต่ปัจจุบันคนไทยบางส่วนอาจเข้าไม่ถึงการมีงานทำ เนื่องจากอาจไม่มีการบริหารจัดการเหมือนต่างประเทศที่มีเอเยนต์จัดหางาน กระทรวงแรงงานจึงต้องเข้ามาทำบทบาทเสมือนเอเยนต์รวมทั้งสร้างค่านิยมการใช้แรงงานให้ถูกต้อง
       
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นสถานการณ์ด้านแรงงานต่างชาติ มอบหมายให้กรมการจัดหางาน วิเคราะห์ลักษณะและศักยภาพของแรงงานต่างชาติ ชาติต่างๆ ที่ต้องการจะเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยประเด็นที่จะวิเคราะห์ ได้แก่ ความเหมาะสมกับลักษณะงานประเภทใด นิสัยใจคอ อารมณ์ วัฒนธรรม ทั้งนี้การวิเคราะห์ต้องครอบคลุมทุกมิติไม่ใช่เฉพาะด้านแรงงานเท่านั้น
       
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า คาดว่า เมื่อเปิดศูนย์ Smart Job Center จะมีส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มผู้หางานระดับกลางถึงระดับสูงได้ โดยได้มีการกำหนดเป้าหมาย โดยคาดว่าจะมีการขยายศูนย์ ไปยังปริมณฑล ทั้งนี้ ใน 2558 จะสามารถลดตัวเลขผู้ว่างงานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลงร้อยละ 8 - 10 จากตัวเลขผู้ว่างงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน สำหรับความก้าวหน้าของศูนย์ Smart Job Center ได้มีการรับมอบแปลนปรับปรุงอาคารจากสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ รวมถึงการเตรียมบุคลากรโดยซักซ้อมความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติงาน และจัดเตรียมสื่อประชาสัมพันธ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พร้อมที่จะให้บริการประชาชนตามกำหนดการเปิดศูนย์ ล่าสุดมีการดำเนินการไปแล้วกว่า 50% เบื้องต้นจะมีพิธีการเปิดศูนย์ฯ ได้ ในวันที่ 19 มกราคม 2558
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25-11-2557)
 
คร.เล็งตรวจวัดแร่ใยหิน เฝ้าระวังโรคในโรงงาน
 
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเอเชีย ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) กล่าวในการประชุมเรื่อง "เร่งเอเชียขจัดภัยใยหิน หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และสังคม" ว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 เห็นชอบยุทธศาสตร์สังคมไทยไร้แร่ใยหิน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถยกเลิกการนำเข้า การผลิต และการใช้แร่ใยหินได้อย่างจริงจัง ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนี้จะรวบรวมให้หน่วยงานที่มีอำนาจออกนโยบายกำหนดมาตรการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในไทย
 
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า หลักฐานที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นที่แน่ชัดว่าต้องยกเลิกแร่ใยหิน แต่ยังติดปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ และข้ออ้างที่เกี่ยวข้องกับการเปิดการค้าเสรี แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่าต้องยกเลิกใช้อย่างเด็ดขาด ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหินร่วมในการผลิต 100 แห่ง และมีโรงงานที่ใช้แร่ใยหินเป็นหลักในการผลิต 20-30 อุตสาหกรรม ซึ่ง คร.จะประสานไปยังกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงานและผู้ประกอบการ ในการตรวจวัดแร่ใยหินที่กระจายในอากาศภายในโรงงาน เพื่อให้คำแนะนำในการลดอันตรายให้ต่ำที่สุด รวมทั้งการใช้เครื่องป้องกัน ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ในอนาคตจะมีผู้ป่วยเกิดขึ้นประมาณ 100,0000 รายต่อปี ส่วนไทยคาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 5,000-10,000 คน ซึ่งต้องสร้างระบบติดตาม เพื่อให้แรงงานได้รับการตรวจรักษา โดยใน 3 ปีข้างหน้าต้องมีการเก็บข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบ
 
(ASTV ประชาติธุรกิจ, 25-11-2557)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กปปส. เสนอ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ-เลิกปาร์ตี้ลิสต์-ซือขายเสียงเพิกถอนสิทธิตลอดชีพ

$
0
0

ถาวร เสนเนียม-สาทิตย์ วงศ์หนองเตย-เอกนัฏ พร้อมพันธุ์-สุริยะใส กตะศิลา-แซมดิน เลิศบุศย์ ให้ข้อเสนอต่อการร่างรัฐธรรมนูญ โดยย้ำระบบพรรคการเมืองต้องปลอดซื้อเสียง ขจัดนายทุนพรรค ยกเลิก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ศาลมีอำนาจตัดสินการเลือกตั้งแทน กกต. ใช้ระบบแต่งตั้ง ส.ว. ประชาชนฟ้องคดีคอร์รัปชั่นได้และปลอดอายุความ

ที่มา: เว็บไซต์รัฐสภา

25 พ.ย. 2557 - เว็บไซต์รัฐสภา รายงานว่า ระหว่างเวลา 09.30 - 12.00 น. วันนี้ (25 พ.ย.) ที่ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทีประชุมได้รายงานความคืบหน้าในการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยในวันนี้เป็นการการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากพรรคการเมืองต่างๆ และกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองในหัวข้อ "จะยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรเพื่อให้สังคมไทยมีอนาคตที่ดีเพื่อส่งมอบให้ลูกหลานได้อย่างไร"

โดยที่ประชุมได้เชิญคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุข (กปปส.) มีนายถาวร เสนเนียม นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายสุริยะใส กตะศิลา และ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ เป็นผู้แทนในการเข้าประชุม

ทั้งนี้ในเว็บไซต์ไทยพีบีเอสได้เผยแพร่คำแถลงของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้เสนอต่อคณะกรรมาธิการ มีรายละเอียดดังนี้

000

วันนี้ กปปส. มาให้ข้อเสนอแนะกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเราเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูป เราหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งเราหวังว่า การที่ กมธ.ได้เชิญเรามาให้ความคิดเห็น ไม่ใช่เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น แต่จะมีการทำอย่างจริงจัง จากนี้ต่อไป เราจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมวลมหาประชาชนในการติดตามการทำงานของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและรวมไปถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ผลักดันการปฏิรูป จากนี้ต่อไปเราจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ซึ่งประกอบด้วยแกนนำกปปส.ทั้ง 5 คนที่มาเสนอความคิดเห็นในวันนี้ ซึ่งประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายถาวร เสนเนียม, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์, เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ และนายสุริยะใส กตะศิลา จะขอความร่วมมือกับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้แถลงความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชนเป็นระยะๆ

ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ กปปส.จะเสนอให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้  ได้แก่  หลักสำคัญที่ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ คือ ต้องระบุว่า ประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, ต้องมีระบบถ่วงดุลอำนาจ 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ รวมไปถึงองค์กรอิสระ อย่างชัดเจน, ต้องขจัดการผูกขาดอำนาจ-การรวมศูนย์อำนาจที่หน่วยราชการ และกระจายอำนาจไปสู่ประชาชน, รัฐธรรมนูญต้องปฏิบัติใช้ได้จริง

กปปส. ได้รวบรวมความคิดเห็นจากมวลมหาประชาชนตลอดระยะเวลา 204 วันที่ในช่วงที่มีการชุมนุม และได้ข้อสรุปในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ มานำเสนอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้  กล่าวคือ

พรรคการเมือง

หัวใจสำคัญของการออกแบบระบบการเมืองหรือการเลือกตั้ง คือ การกำจัดกระบวนการทุจริตคอรัปชั่น ทุจริตการเลือกตั้ง ซื้อสิทธิ์ขายเสียงในทุกระดับ ตั้งแต่นายทุนเข้ามาซื้อเสียง ซื้อ ส.ส. เข้าพรรค จากนั้น ส.ส.ก็ใช้เงินไปซื้อเสียงของประชาชนในการเลือกตั้ง พอเข้ามาอยู่ในอำนาจก็ใช้เงินใช้ผลประโยชน์แทรกแซงระบบราชการ การทำงานขององค์กรอิสระ และฝ่ายตุลาการ เราต้องทำให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค ไม่ใช่นายทุน ต้องระบุให้ชัดว่า พรรคการเมืองต้องมีฐานสมาชิกหรือประชาชนผู้ลงทะเบียนเป็นเจ้าของพรรคไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซนต์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด และต้องคำนึงตามสัดส่วนของภูมิภาคด้วย  ต้องกำหนดชัดเจนว่า พรรคการเมืองต้องได้รับเงินสนับสนุนเพื่อนำไปทำกิจกรรมของพรรคจากผู้ที่ลงทะเบียนเป็นเจ้าของพรรคอย่างเหมาะสม พอเพียง ต้องเปิดโอกาสให้เจ้าของพรรคได้สนับสนุนพรรคอย่างโปร่งใส เช่น การบริจาคเงินผ่านภาษี ซึ่งในปัจจุบันที่ให้ผู้เสียภาษีสนับสนุนพรรคการเมืองปีละ 100 บาทนั้นไม่พอเพียง ต้องกำหนดใหม่ตามสัดส่วนไม่เกิน 5 เปอร์เซนต์ของจำนวนเงินที่เสียภาษี  หรือ บริจาคเงินเป็นก้อนได้แต่ต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่จ่ายในแต่ละปี

รัฐธรรมนูญต้องกำหนดชัดเจนว่า กรรมการบริหารพรรคจะต้องถูกเลือกโดยเจ้าของพรรค และเจ้าของพรรคจะมีส่วนร่วมในการคัดเลือกตัวผู้สมัครของพรรคลงเลือกตั้งในทุกระดับ

ระบบการเลือกตั้ง-ยกเลิกสส.บัญชีรายชื่อ

ในส่วนของระบบการเลือกตั้ง ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า โทษของผู้ที่กระทำความผิดในการซื้อขายเสียงจะต้องถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต นอกจากนี้ กปปส.ยังได้เสนอให้ถอนอำนาจ "กึ่งตุลาการ" ออกจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อจากนี้ อำนาจการให้ใบเหลืองใบแดง ควรจะเป็นหน้าที่ของศาล อาจจะมีการตั้งศาลเฉพาะ หรือ สาขาของศาลขึ้นมาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ

ต้องการให้ยกเลิกระบบสส.บัญชีรายชื่อ เพราะกปปส.เห็นว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ได้ทำหน้าที่และไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมย์เดิม แต่ระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อกลับเป็นช่องทางให้นายทุนเข้ามาครอบงำกิจการของพรรค และไม่มีความยึดโยงกับประชาชน

อำนาจหน้าที่ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา  กปปส.เห็นว่าจะต้องคัดสรร ส.ว.จากอาชีพต่างๆ เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และเป็นที่ปรึกษาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

การกระจายอำนาจ-เลือกตั้งผู้ว่าฯ

กปปส.เสนอให้ยุบราชการส่วนภูมิภาค กระจายอำนาจการบริหาร รวมถึงงบประมาณไปสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมกับการบริหารท้องถิ่นของตนเอง

การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชัน

กปปส.เสนอให้ประชาชนถือว่าเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเองได้ ให้คดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชันไม่มีอายุความ และจะต้องเพิ่มโทษกับผู้ที่มีความผิดฐานทุจริตคอรัปชัน คือ ตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต รวมทั้งเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ให้มีการผ่าโครงสร้างตำรวจ ลดการรวมศูนย์อำนาจของตำรวจไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระจายอำนาจของตำรวจไปสู่จังหวัด ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้คุณให้โทษ การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในพื้นที่ได้

ลดความเหลื่อมล้ำ-ปฏิรูปพลังงาน

การปฏิรูปความเหลื่อมล้ำ ต้องสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้ประชาชนทุกประเทศในทุกระดับ เช่น โอกาสในการเข้าถึงที่ดินทำกิน สาธารณสุข การศึกษาฟรีตลอดชีพ

การปฏิรูปพลังงาน ต้องเปลี่ยนจากการผูกขาดเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด มาเป็นแนวคิดว่าพลังงานเป็นทรัพยากรของประเทศไทย ต้องถูกบริหารเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติ และประชาชน

ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอโดยย่อที่กปปส.จะเสนอต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ  เราหวังว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ เราหวังว่าการปฏิรูปและการร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วม รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศไทยที่ประชาชนมีส่วนร่วม

ในส่วนของการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น กปปส.ไม่มีความขัดข้อง แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลต้องหาหนทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความชอบธรรม ขอย้ำว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าการทำประชามติ คือ การทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการบ้านที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปต้องชี้แจงประชาชนให้ได้ว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไรภายใต้กฎอัยการศึกที่มีอยู่ในปัจจุบัน

วันนี้แม้ว่ามวลมหาประชาชนจะไม่ได้ออกมาชุมนุม แต่ก็ยังติดตามและคาดหวังว่าการปฏิรูปจะสำเร็จได้ เราไม่อยากให้การต่อสู้ของเราสูญเปล่า

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตองค์การนศ.หลายมหา’ลัย ร่อน จม.ถึง องค์การฯ ปจบ. โปรดปกป้องนศ.จากเผด็จการทหาร

$
0
0

อดีตสมาชิกองค์การและสโมสรนิสิตนักศึกษา จากหลากหลายมหาวิทยาลัย ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ สโมสร/สภา/องค์การ นิสิตนักศึกษา มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่กำลังถูกลิดรอนจากรัฐบาลเผด็จการทหาร

25 พ.ย.2557 อดีตสมาชิกองค์การและสโมสรนิสิตนักศึกษา จากหลากหลายมหาวิทยาลัย รวมลงชื่อจดหมายเปิดผนึกถึง สโมสร/สภา/องค์การ นิสิตนักศึกษา มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ “ได้โปรดปกป้องนักศึกษาของพวกท่าน” โดยเรียกร้องให้องค์กรนักศึกษาทั่วประเทศตระหนักถึงความสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่กำลังถูกลิดรอนจากรัฐบาลเผด็จการทหาร และแสดงบทบาทท่าทีในการปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ในการแสดงออกทางการเมืองมิให้ถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐที่พยายามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษา เพราะการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของนักศึกษาเป็นหน้าที่หลักของกลุ่มองค์กรข้างต้น ที่ได้รับความไว้วางใจผ่านการเลือกตั้งเข้ามาเป็นตัวแทนของพวกเขา

โดยมีรายละเอียดดังนี้

จดหมายเปิดผนึกถึง สโมสร/สภา/องค์การ นิสิตนักศึกษา มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ: ได้โปรดปกป้องนักศึกษาของพวกท่าน

 

จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าทำการควบคุมอำนาจการปกครอง และใช้ระบบเผด็จการทหารในการบริหารประเทศ ผ่านมาร่วม 6 เดือน และเป็นที่ปรากฏโดยทั่วไปว่ามีการการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่ออย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้แต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ที่มีการเรียกตัว จับกุม ข่มขู่ กดดัน อาจารย์และนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพียงเพราะพวกเขาแสดงออกในทางที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่แสดงออกได้ตามระบอบประชาธิปไตย ดังเช่นที่บางกลุ่มองค์กรก็เคยออกมาต่อต้านและแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก่อนๆหน้า

ทั้งนี้องค์การนักศึกษา หรือสโมสรนิสิตนักศึกษาในประเทศไทยก่อตั้งขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายในการเป็นสื่อกลางของนักศึกษาในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ รวมถึงเป็นกระบอกเสียง และองค์กรสำคัญในการปกป้องสิทธิของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ทั้งยังเป็นองค์กรของเหล่าปัญญาชนในการชี้นำสังคมรวมถึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตย แต่ในปัจจุบันองค์กรเหล่านี้กลับไม่ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิของนักศึกษาแต่อย่างใด และยังคงมีการคุกคามนักศึกษาทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อดีตสมาชิกองค์การและสโมสรนิสิตนักศึกษา จากหลากหลายมหาวิทยาลัยที่มีรายชื่อข้างต้น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแสดงจุดยืนประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ประชาชนและนิสิตนักศึกษาทุกคนพึงมี จึงขอเรียกร้อง ไปยังสโมสร/สภา/องค์การ นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ดังนี้

1.   ขอเรียกร้องให้ สโมสร/สภา/องค์การ นิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งสหพันธ์ สมาพันธ์ เครือข่ายองค์การ/สโมสรนิสิตนักศึกษาทั้งหลายไม่ว่าจะมีชื่อเรียกอย่างใด โปรดจงตระหนักถึงความสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่กำลังถูกลิดรอนจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ชิงอำนาจรัฐมาด้วยความไม่ชอบธรรม การปล่อยให้บรรยากาศอันไม่เป็นประชาธิปไตยนี้เกิดขึ้นต่อไป มีแต่จะทำให้มหาวิทยาลัยที่ควรเป็นสถาบันอุดมศึกษาถูกลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการลงไป เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีการห้ามจัดงานเสวนาทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมหลายๆงาน

2.   ขอเรียกร้องให้ สโมสร/สภา/องค์การ นิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งสหพันธ์ สมาพันธ์ เครือข่ายองค์การ/สโมสรนิสิตนักศึกษาทั้งหลายไม่ว่าจะมีชื่อเรียกอย่างใด แสดงบทบาทท่าทีในการปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ในการแสดงออกทางการเมืองมิให้ถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐที่พยายามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษา เพราะการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของนิสิตนักศึกษาเป็นหน้าที่หลักของกลุ่มองค์กรข้างต้น ที่ได้รับความไว้วางใจผ่านการเลือกตั้งเข้ามาเป็นตัวแทนของพวกเขา

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กลุ่มองค์กรนักศึกษาทั้งหลายจะเห็นประโยชน์และนำข้อเรียกร้องของเราไปพิจารณา

 

ด้วยจิตคารวะ

รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ อดีตอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2554)

ยรรยง ผิวผ่อง อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น (2551)

ศานนท์ หวังสร้างบุญ อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2553)

เจนวิทย์ เชื้อสาวถี อดีตประธานกรรมาธิการฝ่ายการเมือง สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2553)

ปรัชญา นงนุช อดีตประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2555)

วณัฐ โคสาสุ อดีตประธานฝ่ายการเมืองและการมีส่วนร่วม องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2552)

ณัชฎา คงศรี อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2551)

ปกรณ์ อารีกุล อดีตกรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (2552)

อนุธีร์ เดชเทวพร อดีตอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2551)

พีระพล เวียงคำ อดีตอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2551)

พรชัย ยวนยี อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (2554)

อุลัยรัตน์ ชูด้วง อดีตรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ ฝ่ายนักศึกษา (2550)

อิทธิพล หอมเกษร อดีตรองนายกองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา ฝ่ายวางแผนและพัฒนา (2553)

ธิวัชร์ ดำแก้ว อดีตกรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ (2552)

โชคชัย หลาบหนองแสง อดีตนายกองค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ (2547)

มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ อดีตรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ (2550)

ธรรมชาติ กรีอักษร อดีตเลขาธิการสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ (2554)

ศราวุฒิ  เรือนคง ประชาสัมพันธ์ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2555)

พัทธนิตย์ สุวรรณประดับ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (2554)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.หอพัก-แยกหอพักชาย-หญิง

$
0
0

มติ ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.หอพัก ใช้กับผู้กำลังศึกษาไม่เกิน ป.ตรี-อายุไม่เกิน 25 ปี กำหนดให้หอพักชายและหอพักหญิงไม่ปะปนกัน กำหนดหลักเกณฑ์เรียกเก็บค่าเช่า การทำสัญญาเช่า การขอใบอนุญาต-การเพิกถอนใบอนุญาต และการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพัก สังกัด พม.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

26 พ.ย. 2557 - ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (25 พ.ย.) ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม เว็บไซต์รัฐบาลไทยมีการเผยแพร่ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยหนึ่งในเรื่องที่มีการเห็นชอบคือร่าง "พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ. ...." โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและปรับแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในปัจจุบันแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา โดยให้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับ ..) พ.ศ. .... (แบ่งส่วนราชการในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ทั้งนี้ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สำรวจจำนวนหอพักที่เข้าเกณฑ์และได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการก่อนร่างพระราชบัญญัติจะมีผลใช้บังคับ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้หอพัก หมายความว่า สถานที่ที่รับเฉพาะผู้พักตามพระราชบัญญัตินี้เข้าพักอาศัยโดยมีการเรียกเก็บค่าเช่า โดยผู้พักได้แก่ ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาในสถานศึกษาทั้งของรัฐและของเอกชนที่จัดการศึกษาในระบบตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีและอายุไม่เกินยี่สิบห้าปี

2. หอพักที่อยู่ภายใต้บังคับแห่งร่างพระราชบัญญัตินี้ คือ หอพักสถานศึกษาซึ่งได้แก่ หอพักที่ผู้ประกอบกิจการหอพักเป็นสถานศึกษา และหอพักเอกชนซึ่งได้แก่ หอพักที่ผู้ประกอบกิจการเป็นบุคคลทั่วไป

3. กำหนดให้หอพักมี 2 ประเภท คือ หอพักชายและหอพักหญิง เพื่อป้องกันมิให้มีการปะปนกันระหว่างผู้พักชายและผู้พักหญิง ทั้งนี้ ไม่ได้ตัดสิทธิผู้ประกอบกิจการหอพักที่จะสร้างหอพักชายและหอพักหญิงอยู่ในบริเวณเดียวกันแต่ต้องแยกอาคารและใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักออกจากกัน

4. กำหนดหลักเกณฑ์การรับผู้พัก ดังนี้

4.1 หอพักสถานศึกษาสามารถรับผู้พักซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือระดับอุดมศึกษาได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้พักจะศึกษาอยู่ในสถานศึกษานั้นหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งได้กำหนดข้อยกเว้นให้หอพักสถานศึกษาสามารถรับบุคคลทั่วไปเข้าพักเป็นการชั่วคราวได้ในระหว่างปิดภาคการศึกษาที่ไม่มีผู้พัก

4.2 หอพักเอกชนกำหนดให้รับผู้พักได้เฉพาะผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เนื่องจากผู้พักดังกล่าวสามารถดูแลตนเองได้พอสมควร

5. กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการหอพักต้องทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือระหว่างผู้ประกอบกิจการหอพักและผู้พักตามแบบที่คณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักกำหนด เพื่อให้สัญญาเช่าหอพักมีมาตรฐานเดียวกัน

6. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินค่าเช่าล่วงหน้าและเงินประกันไว้ในกฎหมายให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบกิจการหอพักและผู้พัก

7. กำหนดให้ผู้ประสงค์จะประกอบกิจการหอพักสถานศึกษาและหอพักเอกชนต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักจากนายทะเบียน คือผู้บริหารองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งในเขตพื้นที่ที่หอพักตั้งอยู่ เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้โอนอำนาจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการหอพักให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้กำหนดให้บรรดาค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และรายได้อื่น ๆ เกี่ยวกับการประกอบกิจการหอพักตามพระราชบัญญัตินี้ ตกเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

8. กำหนดให้ใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักสถานศึกษาใช้ได้ตลอดไปโดยไม่มีอายุ แต่จะสิ้นผลเมื่อผู้ประกอบกิจการหอพักถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้จัดตั้งสถานศึกษาหรือเลิกกิจการ แล้วแต่กรณี และในกรณีผู้ประกอบกิจการหอพักดังกล่าวประสงค์จะประกอบกิจการหอพักต่อไป ให้ดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นหอพักเอกชน สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักเอกชนให้มีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

9. กำหนดให้หอพักสถานศึกษาได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการหอพัก และอาจได้รับสิทธิในการได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้เป็นกรณีพิเศษจากการประกอบกิจการหอพักโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากรหรือได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย หรือภาษีอื่นใดในทำนองเดียวกัน สำหรับหอพักเอกชนที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักอาจได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและการสนับสนุนด้านการเงินหรือวัสดุอุปกรณ์เช่นเดียวกับหอพักสถานศึกษา เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการหอพักเอกชนเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามพระราชบัญญัตินี้มากยิ่งขึ้น

10. กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการหอพักต้องจัดให้มีผู้จัดการหอพักเพื่อทำหน้าที่ควบคุมดูแลหอพัก รวมทั้งกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการหอพักจัดการหอพัก

11. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพัก เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริมกิจการหอพักโดยให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ รับผิดชอบเกี่ยวกับงานธุรการของคณะกรรมการและของคณะอนุกรรมการ

12. กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักของนายทะเบียนไว้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดแก่ผู้พัก โดยกำหนดเหตุที่จะเพิกถอนใบอนุญาตไว้เพียง 2 กรณีคือ 1. หอพักไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกอบกิจการหอพัก หรือ 2. ผู้ประกอบกิจการหอพักขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้

13. กำหนดบทเฉพาะกาล

13.1 กำหนดให้ใบอนุญาตหรือการอนุญาตใด ๆ ที่ได้ให้ไว้ตามพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2507 ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน

13.2 โดยที่ร่างพระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติห้ามผู้ใดใช้คำว่า “หอพัก” ในสถานที่ของตนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการหอพัก ซึ่งอาจกระทบต่อผู้ที่ใช้คำดังกล่าวอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงกำหนดให้บุคคลดังกล่าวเลิกใช้คำว่า “หอพัก” ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนการตาย 'ฮิโรยูกิ-ทศชัย-วสันต์' ตร.เบิกความ ระบุจากการสอบสวนถูกยิงตายโดยวิถีกระสุนมาจากฝั่งทหาร

$
0
0

ไต่สวนการตาย 'ฮิโรยูกิ-ทศชัย-วสันต์' เหยื่อกระสุน 10 เม.ย. 53 พนักงานสอบสวน สน.พลับพลาไชย 1 เบิกความ ระบุจากการสอบสวน ผู้ตายเสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูง โดยมีแนววิถีกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร

เมื่อว้นที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ ช.1/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการคดีพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 นายวสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ตายที่ 2 และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุม นปช. ผู้ตายที่ 3 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 โดยพนักงานอัยการนำ ร.ต.อ.อริย์ธัช อธิสุรีย์มาศ พนักงานสอบสวน สน.พลับพลาไชย 1 เข้าเบิกความต่อจากนัดที่แล้ว

ทนายญาติผู้ตายถามพยานว่า ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่มีการใช้อาวุธสงครามในการปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ โดยเบิกอาวุธของราชการไปใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ทราบว่ามีการเบิกอาวุธของราชการไปใช้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นอาวุธชนิดใด ส่วนระหว่างการชุมนุมจะมีผู้ชุมนุมก่อเหตุการณ์ความวุ่นวายหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่ทราบว่ามีการชุมนุมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก โดยขยายพื้นที่การชุมนุมจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปถึงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนดินสอ และสี่แยกคอกวัว

 พยานเบิกความอีกว่า ในวันที่ 10 เม.ย.2553 ทราบว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารขอคืนพื้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัวถึงถนนดินสอ ต่อมาเวลาประมาณ 20.00 น. ทราบข่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ตั้งแต่บริเวณกลางถนนดินสอและวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยพยานเห็นภาพถ่ายรถหุ้มเกราะของทหารที่กองพิสูจน์หลักฐานบันทึกไว้ขณะเข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ แต่ไม่ทราบว่ามีการใช้อาวุธสงครามหรือไม่

 พยานเบิกความต่อว่า หลังเกิดเหตุ ทราบว่า มีประชาชนเสียชีวิตทั้งหมด 11 ราย และมีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บด้วย โดยทราบว่า พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ถูกสะเก็ดระเบิดเสียชีวิต และมีเจ้าหน้าที่ทหารถูกยิงบาดเจ็บ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิงและยิงมาจากทิศทางใด เนื่องจากมีการสอบสวนแยกเป็นอีกคดี แต่ตนไม่ได้ร่วมสอบสวนด้วย จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดทราบว่า นายฮิโรยูกิ นายวสันต์ และนายทศชัย เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูง โดยมีแนววิถีกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงอีกหลายราย แต่หลังการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้น สน.พลับพลาไชย 1 ส่งสำนวนไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยไม่ได้ลงความเห็นว่า ใครเป็นผู้กระทำ

 ร.ต.อ.อริย์ธัช เบิกความต่อว่า ต่อมาดีเอสไอส่งสำนวนมาให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เพื่อส่งให้ สน.พลับพลาไชย 1 สอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากมีหลักฐานอ้างว่าเป็นการตายจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหารที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ บช.น.จึงตั้งคณะพนักงานสอบสวนชุดใหม่ จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ลงความเห็นว่า การตายของผู้ตายทั้ง 3 เกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่าปฏิบัติงานตามหน้าที่ จึงสรุปสำนวนส่งอัยการ เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลให้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

 ด้าน พล.ต.ต.วัลลภ ประทุมเมือง ผู้บังคับการกองโยธาธิการ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ตนได้รับมอบหมายจาก พล.ต.ท.อนุชัย เล็กบำรุง หัวหน้าคณะทำงานพนักงานสอบสวน ให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบบริหารงานสืบสวนคดีของนายฮิโรยูกิเพียงคนเดียว แต่ภายหลังดีเอสไอส่งสำนานของนายวสันต์และนายทศชัยมาให้สอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งดีเอสไอสอบสวนพยานหลักฐานไปเพิ่มเติมแล้ว สำหรับประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน คณะพนักงานสอบสวนได้เรียกพยานที่ดีเอสไอเคยสอบสวนไปแล้วและที่ยังไม่ได้สอบสวนมาสอบสวนเพิ่มเติม โดยสอบสวนพยานบุคคลทั้งสิ้น 52 ปาก ในจำนวนนี้เป็นพยานผู้กล่าวหา 2 ปาก คือน้องชายของนายฮิโรยูกิที่เดินทางมาจากประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้เป็นประจักษ์พยาน พยานแวดล้อม เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในจุดเกิดเหตุ พยานผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ พนักงานสอบสวนชุดเดิม พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีของดีเอสไอ พยานวัตถุ และพยานเอกสาร

 พล.ต.ต.วัลลภ เบิกความอีกว่า สำหรับพยานวัตถุเป็นซีดีคลิปวิดีโอ 13 รายการ รวม 15 แผ่น ส่วนพยานเอกสารเป็นรายงานการชันสูตรพลิกศพ รายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุ รายงานการตรวจร่องรอยวิถีกระสุน รายงานการตรวจสารพันธุกรรม รายงานการตรวจสอบวัตถุระเบิด ภาพถ่ายของผู้ตายทั้ง 3 รวมถึงเอกสารต่างๆ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ที่นำมามอบให้พนักงานสอบสวน รวมทั้งสิ้น 33 รายการ นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการสอบสวนของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่จ้างนักสืบเอกชนเข้ามาหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตายของนายฮิโรยูกิส่งมาให้พนักงานสอบสวนด้วย

 พล.ต.ต.วัลลภ เบิกความต่อว่า ในส่วนของพยานวัตถุที่สำคัญคือคลิปวิดีโอเหตุการณ์บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งบันทึกโดยนายฮิโรยูกิ และคลิปวิดีโอที่ได้รับจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอจากกล้องของนายฮิโรยูกิที่บันทึกไว้ขณะเกิดเหตุ หลังจากรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว คณะพนักงานสอบสวนตั้งประเด็นไว้ 4 ประเด็น ได้แก่ 1.สถานการณ์ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร  ผู้ตายเสียชีวิตบริเวณใดและเวลาใด จากการสอบสวนนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพให้การว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่มาขอคืนพื้นที่และพื้นผิวจราจรบริเวณถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณที่เกิดเหตุให้การว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมาย

 พยานเบิกความว่า จากการรวบรวมภาพของนายฮิโรยูกิ มีภาพนิ่งที่ถ่ายโดยนายสรณคมน์ บัวพึ่งน้ำ ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จำนวน 2 ภาพ นำมามอบให้พนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นภาพหลังจากนายฮิโรยูกิถูกยิงแล้วและถูกอุ้มออกจากที่เกิดเหตุ แต่จากการสอบสวนนายสรณคมน์ก็ได้ภาพขณะนายฮิโรยูกิกำลังทำข่าวการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บริเวณต่างๆ เพิ่มมาอีก 8 ภาพ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลา 15.20-21.10 น. และในการสอบสวนนายไพบูลย์ น้อยเพ็ง ผู้ชุมนุม นปช. ได้นำคลิปวิดีโอขณะนายฮิโรยูกิกำลังบันทึกเหตุการณ์การชุมนุมบริเวณจุดเกิดเหตุหน้าโรงเรียนสตรีวิทยามาประกอบคำให้การด้วย โดยในคลิปมีภาพของนายไพบูลย์ นายฮิโรยูกิ และนายวสันต์

 พยานเบิกความอีกว่า สำหรับประเด็นแรกที่ตั้งประเด็นว่า ผู้ตายเสียชีวิตบริเวณใดและเวลาใด สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า นายฮิโรยูกิเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ถ่ายภาพเหตุการณ์อยู่บิรเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ส่วนประเด็นที่ 2 ใครเป็นผู้ทำให้ผู้ตายทั้ง 3 ถึงแก่ความตาย จากการสอบสวนไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่า ใครเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้ง 3 คน แต่มีพยานที่ใกล้ชิดเหตุการณ์ คนแรกคือนายไพบูลย์ให้การยืนยันว่า อยู่ห่างจากนายฮิโรยูกิประมาณ 3 เมตร และเห็นผู้ตายถูกยิงล้มลง พร้อมนำคลิปวิดีโอประกอบคำให้การ

 พล.ต.ต.วัลลภ เบิกความต่อว่า คนที่ 2 คือนายอุดร วรรณสิงห์ ผู้ชุมนุม นปช. ยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุอยู่ห่างจากนายฮิโรยูกิประมาณ 5 เมตร และเห็นผู้ตายถูกยิงล้มลง คนที่ 3 คือ ด.ต.ชาตรี อุสารัมย์ ยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุอยู่ห่างจากนายฮิโรยูกิประมาณ 1 เมตร และเห็นผู้ตายถูกยิงล้มลง จึงเข้าไปช่วยเหลือและมีคราบโลหิตของนายฮิโรยูกิติดอยู่ที่กางเกงของ ด.ต.ชาตรี จากการส่งชิ้นส่วนจากกางเกงที่มีคราบเลือดไปตรวจสอบ พบว่าเป็นคราบโลหิตของนายฮิโรยูกิจริง  ซึ่งพยานทั้ง 3 ปาก เป็นพยานใกล้ชิดเหตุการณ์ให้การยืนยันว่า ในขณะที่นายฮิโรยูกิถูกยิงล้มลงนั้น มีแสงไฟและเสียงปืนมาจากฝั่งของเจ้าหน้าที่

 พล.ต.ต.วัลลภ เบิกความเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีพยานแวดล้อมอื่นๆ แต่อยู่ห่างจากผู้ตายออกมา คือนายดำเนิน ยาท้วม ให้การ่วา เห็นเหตุการณ์ขณะที่นายวสันต์ถูกยิง โดยได้ยินเสียงปืนและเห็นแสงไฟมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร ส่วนนายเพชรพงษ์ พงษ์สิทธิศักดิ์ นายณัชพงศ์ โพธิยะ นายควญคิต เชียงศิริ และพ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรรักษ์ ไม่เห็นนายฮิโรยูกิและนายวสันต์ในขณะถูกยิง ยกเว้นนายณัชพงศ์ให้การว่า เห็นนายทศชัยถูกยิง โดยพยานแวดล้อมทั้งหมดให้การสอดคล้องกันว่า ขณะผู้ตายที่ 1-3 ถูกยิง มีเสียงปืนและแสงไฟมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจาก พล.ต.วัลลภ ยังเบิกความไม่เสร็จสิ้น ศาลจึงนัดไต่สวนพยานปากนี้ครั้งต่อไปในวันที่ 28 พ.ย. เวลา 09.00 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

$
0
0

"คำว่าเผด็จการนี่คือการยึดอำนาจ ผลประโยชน์ อะไร การค้าการลงทุนหยุดหมด เอาเป็นสินทรัพย์ของตัวเอง ของผู้นำ ผมทำอะไรสักอันหรือยัง มีอะไรเป็นของผมสักชิ้นไหม สลึงหนึ่งได้สักอย่างไหม ..แต่ผมทำอะไร เพื่อใคร ดูเจตนาผมหน่อย"

26 พ.ย.2557

หลายองค์กรวิจารณ์คำตัดสินคดีตำรวจยิง 'ไมเคิล บราวน์'

$
0
0

หลังจากที่คณะลูกขุนใหญ่ในศาลเมืองเฟอร์กูสันตัดสินให้ไม่มีการดำเนินคดีต่อตำรวจที่ยิงวัยรุ่นคนผิวดำผู้ไม่มีอาวุธจนเสียชีวิต ทำให้ผู้คนแสดงความเจ็บแค้นออกมาประท้วงและมีส่วนหนึ่งลุกลามเป็นการจลาจล ขณะที่พ่อแม่ของบราวน์และหลายองค์กรแสดงความผิดหวังต่อคำตัดสิน

 

25 พ.ย. 2557 จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ ดาร์เรน วิลสัน ถูกกล่าวหาว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุโดยการยิงวัยรุ่นชาวผิวดำที่ชื่อไมเคิล บราวน์จนเสียชีวิต มีการตัดสินจากคณะลูกขุนใหญ่ในเมืองเฟอร์กูสันไม่ให้มีการดำเนินคดีกับวิลสัน เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากจนมีการประท้วงลุกลามทั่วสหรัฐฯ

กลุ่มชาวเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี แสดงความไม่พอใจอย่างมากจนลุกลามกลายเป็นการจลาจล มีการจุดไฟเผาสถานที่หลายแห่งและรถยนต์หลายคันในช่วงคืนวันจันทร์ตามเวลาในสหรัฐฯ ทำให้มีการวางกำลังของกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิในช่วงเช้าวันอังคาร

ทางด้าน เจย์ นิกสัน ผู้ว่าการรัฐมิสซูรีกล่าวว่า เขาพร้อมจะส่งกองกำลังเข้าไปเพิ่มในเฟอร์กูสันถ้าหากมีความจำเป็น โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนิกสันเคยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐมิสซูรีช่วงก่อนที่จะมีการประกาศคำตัดสิน ซึ่งถือเป็นการเปิดทางให้เรียกใช้กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเมื่อไหร่ก็ได้

นอกจากในเมืองเฟอร์กูสันแล้ว การประท้วงแสดงความไม่พอใจคำตัดสินของคณะลูกขุนใหญ่ยังลุกลามไปตามเมืองต่างๆ อย่างชิคาโก นิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส โอ๊คแลนด์ เป็นต้น ในเมืองเฟอร์กูสันมีการแสดงความไม่พอใจคำตัดสินของผู้ชุมนุมในพื้นที่ใกล้กับสำนักงานตำรวจ ทำให้ตำรวจปราบจลาจลพยายามสลายการชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตาใส่

ผู้กำกับการตำรวจเขตเซนต์หลุยส์ จอน เบลมาร์ กล่าวว่าเขาได้ยินเสียงยิงปืนในช่วงที่มีกลางคืนที่มีการก่อจลาจลและการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจส่งผลให้มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 29 คน ขณะที่ในโรงพยาบาลท้องถิ่นมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคนแต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ผู้ที่ไม่พอใจคำตัดสินมีทั้งครอบครัวของบราวน์ สมาชิกในชุมชน กลุ่มด้านสิทธิพลเมืองและด้านกฎหมาย ผู้จัดการประท้วง และนักข่าว พ่อแม่ของบราวน์ระบุในแถลงการณ์หลังรับทราบคำตัดสินว่าพวกเขารู้สึกผิดหวังที่ฆาตกรที่สังหารพวกเขาไม่ได้รับผลจากการกระทำของตัวเอง อย่างไรก็ตามพวกเขาได้เรียกร้องให้ผู้ที่รู้สึกเจ็บแค้นไปกับพวกเขาเปลี่ยนพลังความเจ็บแค้นนี้ให้กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงในแง่ดี อีกทั้งยังเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมไม่ใช้ความรุนแรง

"พวกเราต้องช่วยกันแก้ไขระบบที่ทำให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น" แถลงการณ์ของพ่อแม่บราวน์ระบุ

"ด้วยความเคารพ พวกเราขอเรียกร้องให้พวกคุณประท้วงอย่างสงบ การโต้ตอบความรุนแรงด้วยความรุนแรงไม่ใช่การโต้ตอบที่เหมาะสม อย่าเพียงแค่สร้างเสียงรบกวนขึ้นมา เราต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง" แถลงการณ์ของพ่อแม่บราวน์ระบุ

ทางด้านประธานสมาคมเพื่อความก้าวหน้าของคนผิวสีแห่งชาติสหรัฐฯ (NAACP) ออกแถลงการณ์ระบุว่าสมาคมของพวกเขาขอยืนหยัดร่วมกับพลเรือนและคนในชุมชนชาวผิวสีที่รู้สึกผิดหวังจากคำตัดสิน อีกทั้งยังยืนหยัดต่อต้านการกำหนดตัวผู้ต้องสงสัยอย่างเหมารวมทางเชื้อชาติ (racial profiling) ต่อต้านการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจ และต่อต้านการทำให้เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นมีความเป็นกองทัพมากขึ้น นอกจากนี้ยังระบุอีกว่ากรณีการสังหารบราวน์แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของตำรวจที่เริ่มนำมาใช้มากขึ้นต่อสังคมคนผิวสีในสหรัฐฯ

"แม้จะมีการตัดสินของคณะลูกขุนใหญ่แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการก่ออาชญากรรม (การสังหารบราวน์) ขึ้นจริงในเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี" แถลงการณ์ของ NAACP ระบุ

นอกจากนี้ยังมีองค์กรเกี่ยวกับเชื้อชาติและสีผิวกล่าวแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้อีก เช่นองค์กรเพื่อการต่อสู้ของคนผิวดำ โดยมอนทาค ซิมมอนส์ ประธานองค์กรกล่าวว่าพวกเขารู้สึกเสียใจอย่างมากที่คณะลูกขุนใหญ่ตัดสินไม่ดำเนินคดีต่อวิลสัน และตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากกรณีของบราวน์มีกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารคนดำที่ไม่ได้พกอาวุธเพิ่มมากขึ้น

"ทางชุมชนคนผิวดำต้องการเพียงแค่ความยุติธรรมเรียบง่าย วิลสันสังหารคนที่ไม่มีอาวุธเขาควรจะได้รับการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน แต่เขากลับได้ประโยชน์จากกระบวนการของคณะลูกขุนใหญ่ที่ผิดปกติ นำโดยพนักงานอัยการคนที่ทางชุมชนเรียกร้องให้เขาถูกถอดตัวออกจากคดี" ซิมมอนส์กล่าว

ทางด้านเจฟฟรีย์ มิตต์แมน ผู้อำนวยการบริหารสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันแห่งรัฐมิสซูรีระบุในแถลงการณ์ว่าการตัดสินของคณะลูกขุนใหญ่ไม่ได้ปฏิเสธความจริงที่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับคนผิวสีมากขึ้น และในกรณีส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่มักจะไม่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งคดีที่ก่อไว้ แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่บางส่วนทำงานด้วยความเคารพต่อชุมชนที่พวกเขารับใช้ แต่ก็ต้องมีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ที่ตัดขาดตัวเองและไม่เคารพชุมชนที่คนรับใช้ซึ่งเกิดขึ้นกับชุมชนคนผิวสีหลายชุมชน

มิตต์แมนวิจารณ์อีกว่าการทำงานของตำรวจในสหรัฐฯ มีกระบวนทัศน์แบบผู้ยึดครองพื้นที่ซึ่งแสดงความต้องการควบคุมชุมชนที่พวกเขารับใช้

"การทำงานแบบ 'แบ่งเขาแบ่งเรา' เช่นนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อชุมชนโดยการทำให้คนในชุมชนทั้งหมดดูเป็นผู้ต้องสงสัยโดยมักจะอ้างเรื่องการป้องกันอาชญากรรม" มิตต์แมนกล่าว

"เพื่อสร้างความเชื่อมั่น พวกเราต้องการระบบที่เป็นประชาธิปไตยในการดำเนินงานของตำรวจโดยให้ชุมชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเท่าเทียมกับเจ้าหน้าที่ในชุมชนที่ดูแลอยู่ มีการร่วมมือกัน ความโปร่งใส และการสื่อสารกันระหว่างตำรวจกับชุมชนโดยคำนึงถึงเป้าหมายคือความเท่าเทียม ความเป็นธรรม และความปลอดภัยของสาธารณชน นี่คือหนทางที่จะพัฒนาไปข้างหน้า" มิตต์แมนกล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Fires Burn As Community Feels Pain of Injustice: Dispatches from Ferguson, Commondream, 25-11-2014
http://www.commondreams.org/news/2014/11/25/fires-burn-community-feels-pain-injustice-dispatches-ferguson

BREAKING: Ferguson Grand Jury Will Not Indict Darren Wilson, CommonDream, 24-11-2014
http://commondreams.org/news/2014/11/24/breaking-ferguson-grand-jury-will-not-indict-darren-wilson

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ม.เที่ยงคืนแถลง ชวนสังคมกดดันเลิกอัยการศึก-คำสั่งคุกคามเสรีภาพของ คสช.

$
0
0

26 พ.ย. 2557 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์เรื่อง ร่วมกันหยุดยั้งการคุกคามเสรีภาพประชาชน ระบุขอเรียกร้องต่อสังคม ให้ทุกกลุ่มทุกองค์กรในภาคสังคมร่วมกันแสดงความคิดเห็นและร่วมกันกดดันเพื่อให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกและคำสั่งของ คสช. ที่ปิดกั้นและคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขอยืนยันว่าการร่วมกันปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะมีความเห็นตรงกันหรือแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับการนำสังคมไทยให้เดินไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่เอื้ออำนวยให้รัฐและสังคมไทยสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างสันติและเป็นธรรม

รายละเอียดมีดังนี้


แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง ร่วมกันหยุดยั้งการคุกคามเสรีภาพประชาชน


เนื่องด้วยในห้วงเวลาปัจจุบันได้มีการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและคำสั่งของคณะ คสช. รวมทั้งอำนาจของกลไกรัฐในการคุกคามประชาชนที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ โดยมีการคุกคามอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาการผลักดันผู้คนออกจากพื้นที่ป่า การรณรงค์ให้มีการออกกฎหมายที่ดิน การแสดงความคิดเห็นในเชิงสัญลักษณ์เพื่อคัดค้านการรัฐประหาร การจัดรายการทางโทรทัศน์เพื่อแสดงความเห็นต่อนโยบายของรัฐบาล การประชุมทางวิชาการเพื่อถกเถียงเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมและการปฏิรูปประเทศ ฯลฯ

การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติและสังคมไทยดังกล่าวข้างต้นนี้ต้องเผชิญกับมาตรการต่างๆ นับตั้งแต่การขอความร่วมมือ การควบคุมตัว การเรียกตัวไปเพื่อปรับทัศนคติ และการดำเนินการด้วยกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการใช้วาทกรรมใดก็ตามล้วนแต่คุกคามและบ่อนทำลายสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในสังคมอย่างรุนแรงทั้งสิ้น

ในสถานการณ์ปัจจุบัน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะภารกิจด้านต่างๆ ขององค์กรของรัฐที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายของรัฐบาล การเสนอและพิจารณาร่างกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตลอดจนการพิจารณาแนวทางในการปฏิรูปประเทศของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างกว้างขวาง ทั้งผลในด้านลบและด้านบวกต่อประชาชนในหลากหลายมิติ และยังมีผลผูกพันต่อไปในอนาคตอีกด้วย 

ดังนั้น จึงเป็นความชอบธรรมของประชาชนแต่ละกลุ่มในการแสดงความคิดเห็น เพื่อสะท้อนให้ผู้กุมอำนาจรัฐในองค์กรต่างๆ ตระหนักถึงความต้องการและผลกระทบที่ประชาชนแต่ละกลุ่มจะได้รับ รวมทั้งผลกระทบต่อสังคมไทยโดยรวมและต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การแสดงความเห็นหรือการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านหรือผลักดันให้กฎหมายหรือนโยบายหรือโครงการต่างๆ ดำเนินไปในทิศทางที่ตนเองปรารถนาจึงนับเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน อันจะนำไปสู่การถกเถียงแลกเปลี่ยนทั้งข้อมูลและความคิดเห็นที่จะช่วยให้การตัดสินใจของคณะบุคคลในองค์กรต่างๆ ของรัฐทุกองค์กรเป็นไปอย่างรอบคอบ เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

ความพยายามในการคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ด้วยการอ้างเหตุผลว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือการขอให้ทุกฝ่ายรอคอยให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติเสียก่อนนั้น นอกจากจะไม่เอื้อให้เกิดความเข้าใจที่รอบด้านและการตัดสินใจที่รอบคอบต่อประเด็นต่างๆ แล้ว ยังอาจกลายเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคณะรัฐประหารและองค์กรที่คณะรัฐประหารจัดตั้งขึ้นได้พ้นจากอำนาจไปแล้ว เพราะการจับกุมหรือควบคุมตัวเป็นการยุติการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่เห็นต่างได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น และจะไม่สามารถสร้างความเห็นพ้องต่อการดำเนินการใดๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นและถกเถียงกันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง ย่อมจะบังเกิดผลดีทั้งในปัจจุบันและในระยะยาว ต่างจากการปิดกั้นเสรีภาพด้วยกฎอัยการศึกและคำสั่งของ คสช. ที่เป็นการกดทับความเห็นต่างเอาไว้ และจะสร้างแรงกดดันจนกลายเป็นระเบิดเวลาที่นำไปสู่ความขัดแย้งหรือความเสียหายร้ายแรงในอนาคต
 
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอเรียกร้องต่อสังคม ให้ทุกกลุ่มทุกองค์กรในภาคสังคมร่วมกันแสดงความคิดเห็นและร่วมกันกดดันเพื่อให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกและคำสั่งของ คสช. ที่ปิดกั้นและคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขอยืนยันว่าการร่วมกันปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะมีความเห็นตรงกันหรือแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับการนำสังคมไทยให้เดินไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่เอื้ออำนวยให้รัฐและสังคมไทยสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างสันติและเป็นธรรม


      มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

      24 พฤศจิกายน 2557

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาระ+ภาพ : รวมเสรีภาพที่ต้องถูก คสช. ปรับทัศนคติ ในรอบ 6 เดือน

$
0
0

ผ่านมาแล้วครึ่งปีของการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ท่ามกลางประชาชนที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยบรรดาประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้มีในส่วนที่ออกมาแสดงออกในรูปแบบต่างๆ และถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าตักเตือน สั่งระงับ ควบคุมตัว และนำตัวเข้าสู่การสอบสวน ปรับทัศนคติ ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวออกมาด้วยเงื่อนไขการห้ามเคลื่อนไหว การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และบางส่วนถูกดำเนินคดีต่อ เช่น ข้อหาขัดคำสั่ง คสช. คดีความมั่นคง เป็นต้น โดยประชาไทได้ประมวลปรากฏการณ์การใช่เสรีภาพการแสดงออกของประชาชนในช่วงเวลานี้เฉพาะที่ปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อต่างๆไว้ เป็นอินโฟกราฟฟิคดังนี้

ดูภาพขนาดใหญ่

เอกสารอ้างอิง :

- คนที่ไปช่วยคนที่โดนจับ (humanrights.asia, 23 มิ.ย. 57)

- ชูกระดาษ A4 พร้อมข้อความ (ประชาไทออนไลน์, 24 พ.ค. 57)

- รวมตัวต่อต้ารัฐประหารที่ร้านแม็คโดนัลด์ (มติชนออนไลน์, 25 พ.ค. 57)

- ตะโกนว่า "ผมอายคับ ประเทศไทย ผมอาย ผมประชาชนธรรมดา ผมอายคับ ผมอายคับประเทศไทยมีรัฐประหารอีกแล้วคับ", (patrolnews.net, 25 พ.ค. 57)

- น.ศ. ม.มหาสารคาม ชูป้าย “ไม่เอารัฐประหาร”, “ไม่เอารัฐบาลโจร”, “ต่อต้านรัฐประหารทุกรูปแบบ” (ประชาไทออนไลน์, 25 พ.ค.57)

- ชูป้าย "ชูป้ายไม่ใช่อาชญากร" "ปล่อยลูกพ่อขุน" และป้ายไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร (ประชาไทออนไลน์, 25 มิ.ย. 57)

- ซื้อเสื้อ 'Peace Please' (ประชาไทออนไลน์, 29 พ.ค. 57)

- สวมหน้ากาก "People" (ประชาไทออนไลน์, 1 มิ.ย. 57)

- ทำท่า ปิดหน้า ปิดตา หรือปิดปาก (ประชาไทออนไลน์, 8 มิ.ย. 57)

- ใส่เสื้อ "Respect My Vote" (ประชาไทออนไลน์, 22 มิ.ย. 57)

- ชูสามนิ้วเลียนแบบหนัง (ประชาไทออนไลน์, 6 มิ.ย. 57)

- อ่านหนังสือ "1984" เปิดเพลงชาติฝรั่งเศส และกินแซนด์วิช (เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว’, 22 มิ.ย. 57)

- อ่านกวี วางดอกไม้ เป่าลูกโป่ง แสดงนัยยะการเมืองในงานรำลึก 24 มิ.ย. (ประชาไทออนไลน์, 24 มิ.ย. 57)

- คิดจัดฉายหนัง "1984" (ประชาไทออนไลน์, 25 มิ.ย. 57)

- กินแซนด์วิชนอกร้าน (ประชาไทออนไลน์, 27 มิ.ย. 57)

- ใส่เสื้อแดงขายปลาหมึกทอด (ประชาไทออนไลน์, 29 มิ.ย. 57)

- ประท้วงเดี่ยวหน้าสถานฑูตอเมริกา (ประชาไทออนไลน์, 29 มิ.ย. 57)

- เดินรณรงค์เรียกร้องปฏิรูปพลังงาน (ประชาไทออนไลน์, 24 ส.ค.57, 19 ส.ค.57)

- กลุ่มญาติเหยื่อสลายชุมนุม พ.ค.53 โปรยใบปลิวทวงความเป็นธรรม หลังศาลอาญาโอนคดีให้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง (ประชาไทออนไลน์, 31 ส.ค.57)

- ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนขอความร่วมมือให้ยกเลิกการจัดงานแถลงข่าวและเสวนา ‘ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง’ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) (ประชาไทออนไลน์, 2 ก.ย.57)

- จัดเสวนา ‘ห้องเรียนประชาธิปไตยบทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ’ ที่ มธ. (ประชาไทออนไลน์, 18 ก.ย.57)

- วิ่งแก้บนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันครบรอบ 8 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย.(ประชาไทออนไลน์, 19 ก.ย.57)

-  จัดงานเวทีเสวนาทางวิชาการ ประเด็น พ.ร.บ จัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่ หรือไม่ (ประชาไทออนไลน์, 23 ก.ย.57)

- ติดป้ายผ้ารำลึก  ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ (ประชาไทออนไลน์, 19 ก.ย.57)

- กรณีปัญหาข้อพิพาทที่ดิน ส.ป.ก.ชุมชนคลองไทรพัฒนา จ.สุราษฎร์ธานี(ประชาไทออนไลน์, 14 ต.ค.57)

- โพสต์เฟซ เล่าเรื่อง “เก็บตกงานพบปะ สนทนา กับนักเขียน ประจักษ์ ก้องกีรติ” (ประชาไทออนไลน์, 19 ต.ค.57)

- ขายเสื้อ "คุณซาบซึ้ง" ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (ประชาไทออนไลน์, 19 ต.ค.57)

- นักเรียนถือป้ายต้านค่านิยม 12 ประการ(ประชาไทออนไลน์, 22 ต.ค.57)

- สงสัยว่าจะเป็นผู้ปลุกระดมคนไปชุมนุมคัดค้านการอนุญาตสัมปทานบ่อขุดเจาะปิโตรเลียมรอบที่ 21(ประชาไทออนไลน์, 22 ต.ค. 57)

- คนงานรวมตัวรอฟังผลการเจรจาระหว่างสหภาพแรงานกับนายจ้าง(ประชาไทออนไลน์, 29 ต.ค.57)

- จัดประชุมเรื่อง “สิทธิชุมชนกับรัฐธรรมนูญ” (ประชาไทออนไลน์, 5 พ.ย.57)

- "เดิน ก้าว แลก เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย" (ประชาไทออนไลน์, 9 พ.ย.57)

- จัด รายการ "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฎิรูป" ทางไทยพีบีเอส(ประชาไทออนไลน์, 11 พ.ย.57)

-  ทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชนซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย จัดเวทีจัดประชุมเพื่อให้ความรู้และชี้แจงเกี่ยวชาวบ้านกับคดีไชยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง(ประชาไทออนไลน์, 11 -12 พ.ย.57)

- จัด  "ทอล์คโชว์-คอนสิร์ต ผืนดินเรา ที่ดินใคร" (15 พ.ย.57)

- ร่วมลงชื่อ "ไม่ปฏิรูปใต้ท๊อปบูท คสช."(ประชาไทออนไลน์, 15 พ.ย.57)

- รวมตัวคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพ้นท์ตัวเป็นลายเสือโคร่ง ชูป้ายข้อความ พร้อมตะโกนคำขวัญ "ขอทางเลือก จัดการน้ำ ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์" (ประชาไทออนไลน์, 18 พ.ย.57)

- นักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คนชูสามนิ้ว สวมเสื้อ ‘ไม่เอารัฐประหาร’ ต่อหน้า พล.อ. ประยุทธ์ (ประชาไทออนไลน์, 19 พ.ย.57)

- นั่งกินลาบ 'ชิมไปบ่นไป' ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ให้กำลังใจกลุ่มดาวดิน (ประชาไทออนไลน์, 19 พ.ย.57)

- โพสต์เฟซบุ๊ก ว่าเจ้าหน้าที่ทหารขอให้ปิดเฟซบุ๊ก เนื่องจากมีเนื้อหาที่สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้ใหญ่(ประชาไทออนไลน์, 20 พ.ย.57)

- จัดเสวนา "ที่ดิน เหลื่อมล้ำ ภาษี: ก้าวที่ต้องร่วมเลือก" ที่ห้องสมุดศิลปะรีดดิ้งรูม(ประชาไทออนไลน์, 20 พ.ย.57)

- ชู 3 นิ้วก่อนเข้าดูหนัง The Hanger Games (ประชาไทออนไลน์, 20 พ.ย.57)

- โพสต์ภาพชูป้าย “ยกเลิกกฎอัยการศึก” และ “ไม่เอา คสช.” บนดอยหลวงเชียงดาว ลงในเฟซบุ๊ก(ประชาไทออนไลน์, 20 พ.ย.57)

- ชูสามนิ้วที่ประตูท่าแพ(ประชาไทออนไลน์, 21 พ.ย.57)

- จัด เสวนาวิชาการ "สิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนไทยในยุคป-ะช-ธิ-ไ-ย" ที่ ม.บูรพา(21 พ.ย.57)

- ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ชู 3 นิ้วกลางทุ่งนาให้กำลังใจกลุ่มดาวดิน(ประชาไทออนไลน์, 23 พ.ย. 57)

- นักศึกษา โปรยใบปลิว 'คิดถึงสมเจียม' (ประชาไทออนไลน์, 24 พ.ย.57)

 

เป็นต้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการสิทธิฯ เรียกร้องยุติความรุนแรงสตรี-เด็กในจว.ชายแดนใต้

$
0
0

26 พ.ย. 2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ข้อเรียกร้องยุติการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  มีเนื้อหาดังนี้



แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เรื่อง ข้อเรียกร้องยุติการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

       
ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ และการล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาที่พบทั่วไปในสังคมไทยและนับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานับเป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวางทั้งด้านร่างกายและจิตใจแล้ว ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยผู้หญิงซึ่งเป็นทั้งผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ปัจจุบันมีหญิงหม้ายและเด็กกำพร้าหลายพันคนจากสถานการณ์ความไม่สงบและยังมีผู้หญิงและเด็กหญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยตรงจนถึงขั้นเสียชีวิตอีกจำนวนไม่น้อย โดยผู้หญิงที่เสียชีวิตเหล่านี้รวมถึงผู้หญิงที่เป็นบุคลากรทางสาธารณสุข หญิงมีครรภ์ หญิงพิการ หญิงสูงอายุและเด็กหญิง

นอกจากความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบแล้วผู้หญิงยังต้องเผชิญกับความรุนแรงซ้ำซ้อนจากปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่น ความรุนแรงทางเพศในครอบครัว เนื่องจากสังคมยังมองว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว และสาเหตุของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากผู้หญิงเอง จึงไม่มีมาตรการชัดเจนในการแก้ปัญหาเพื่อยุติความรุนแรงและการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่าผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎชุมชนซึ่งผู้นำชุมชนเป็นผู้ออกกฎระเบียบ เช่น มีการบังคับให้ผู้หญิงหรือเด็กหญิงแต่งงานโดยไม่สมัครใจและมีการลงโทษผู้หญิงหรือเด็กหญิงที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบที่ชุมชนเป็นผู้กำหนดขึ้น

ในโอกาสวันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างมาตรการในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้หญิงเพื่อป้องกันหรือลดระดับความรุนแรงที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ ความรุนแรงในครอบครัว หรือความรุนแรงทางเพศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม ดังนี้

1) รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และสร้างมาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้หญิงและเด็กหญิงจากความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงให้มีการฟื้นฟู เยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงที่ได้รับความรุนแรง

2) กลไกการทำงานในทุกภาคส่วนของสังคมต้องขจัดอุปสรรคต่างๆในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง ตามหลักกฎหมาย และหลักการศาสนาอิสลาม รวมถึงให้มีกระบวนการให้คำปรึกษาในทันทีที่ผู้หญิงและเด็กหญิงได้รับความรุนแรงทุกรูปแบบ

3) ให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพของสตรี ในการดำรงชีวิตและให้ความสำคัญกับการจัดตั้งครอบครัวเพื่อดำเนินชีวิตให้เป็นไปด้วยความอิสระ ปราศจากการบังคับ หรือ การคุกคามในทุกรูปแบบ

4) รัฐควรสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน โดยการปลูกฝังให้แก่เด็กและเยาวชนให้รู้จักการเคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเสมอเป็นของตนเอง ทุกคนทุกเพศทุกวัยควรมองเห็นปัญหาร่วมกันและมีส่วนร่วมในกระบวนการป้องกัน และแก้ไขปัญหา

5) รัฐต้องจัดให้มีกลไกการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างทั่วถึง สร้างความไว้ใจ และความเชื่อมั่นให้กับสตรีในทุกพื้นที่ โดยต้องนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน ของสหประชาชาติมาปฏิบัติในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง
      
6) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งเลิกใช้การต่อสู้ทางอาวุธและเคารพสิทธิของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กโดยยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนในอิสลามเพื่อให้ความคุ้มครองผู้หญิงและเด็กให้มีความปลอดภัย
                          
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
26 พฤศจิกายน 2557      
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.-ทหารจู่โจมรวบหนุ่มใหญ่คาบ้านพัก หลังโปรยใบปลิวต้านคสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

$
0
0

ทหาร-ตำรวจบุกจูโจมรวบหนุ่มใหญ่ โปรยใบปลิวต้าน คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยันทำด้วยอุดมการณ์ ไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง เผยเคยร่วมชุมนุมกับ นปช.มาก่อน และชอบไปชุมนุมกับ กปปส. เพื่อหาข่าว จนท.แจงคุมตัวตามกฎอัยการศึก เตรียมสอบสวน ดำเนินคดีและอาจจะต้องขึ้นศาลทหาร

หลังจากเช้ามืดวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ปรากฏใบปลิวที่มีข้อความโจมตี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาโปรยที่ถนนราชดำเนิน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้เก็บใบปลิวดังกล่าวมาหมดแล้ว ซึ่งมีข้อความอาทิเช่น ยกเลิกอัยการศึก , หยุดคุกคามประชาชน , อำนาจเป็นของประชาชน และ เสรีภาพ Freedom เป็นต้น

โดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและติดตาม รวมถึงต้องตรวจสอบว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังหรือไม่ ซึ่งหากใครทำผิดก็จะต้องดำเนินการต่อไป

ภาพใบปลิวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ล่าสุด ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. วันที่ 25 พ.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล และ ทหารจาก กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป.1รอ.) นำโดย พ.อ.คชาชาต บุญดี ผบ.ป.1รอ. ได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ขอเข้าควบคุมตัว นายสิทธิทัศน์ เหล่าวานิชธนาภา อายุ 54 ปี ผู้ต้องสงสัย ว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการแจกใบปลิวต้าน คสช. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อสอบสวน

พ.อ.คชาชาต เผยว่า จากการตรวจค้นบ้าน นายสิทธิทัศน์ พบใบปลิว อุปกรณ์การพิมพ์ หลักฐานทั้งหมด เสื้อผ้าลายพราง และเสื้อยืด ที่มีข้อความต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง ส่งผลให้นาย สิทธิทัศน์ จำนนด้วยหลักฐานและให้เหตุผลว่า ทำด้วยอุดมการณ์ ทำคนเดียว ไม่มีใครเกี่ยวข้อง หรืออยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้ ทหารได้ขอตรวจสอบ ภาพจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่ของ สน.สำราญราษฎร์ จนพบเบาะแสว่า มีรถจักรยานยนต์ไปรับใบปลิวจากรถยนต์ เมอร์เซเดส เบนซ์ แต่ภาพไกล เห็นแผ่นป้ายทะเบียนไม่ชัด ซึ่งทหารก็ได้พยายามตรวจสอบ และหาข่าวร่วมกับตำรวจ จนที่สุดได้เบาะแส จึงจู่โจมเข้าควบคุมตัวนายสิทธิทัศน์ ที่บ้านพัก โดยตอนนี้ นายสิทธิทัศน์ ถูกควบคุมตัว ด้วยอำนาจกฎอัยการศึก ในเขตทหาร เพื่อสอบสวน ดำเนินคดี และอาจจะต้องขึ้นศาลทหาร

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และ ป.วิอาญา ม.92(4) ร่วมกันนำตัว นายสิทธิทัศน์ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจค้นบ้านพักเลขที่ 18 ซ.พหลโยธิน 48 แยก 16-1 แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ กทม. ผลการตรวจค้น ปรากฏหลักฐาน เป็นเครื่องถ่ายเอกสารยี่ห้อเอชพี 1 เครื่อง, ปากกาเมจิกสีดำยี่ห้อตราม้า 1 ด้าม, มีดคัตเตอร์ 1 เล่ม, ไม้บรรทัดยาว 1 อัน, ตลับหมึกพรินเตอร์ 1 กล่อง, เสื้อยืดลายพรางทหาร 1 ตัว, เสื้อยืดคอกลมสีดำสกรีนข้อความ "เสรีชนคนราชดำเนิน" 1 ตัว, เสื้อยืดกลมสีดำสกรีนรูปนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ข้อความ "ภูผาขวางกั้นอธรรม" 1 ตัว, หมวกปีกลายพรางทหาร 1 ใบ, หมวกแก๊ปลายพรางทหาร 1 ใบ, เข็มขัดสีดำพร้อมซองปืนและซองกุญแจมือ 1 ชุด, ห่วงขาผ้า 1 คู่, กระดาษขนาด A4 ยี่ห้อโอเค 1 รีม,  แผ่นสติกเกอร์ข้อความ "รถคันนี้สีแดง" 1 แผ่น และ รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ รุ่น C200 หมายเลขทะเบียน 1 กม 200 กทม.

ภาพขณะเข้าจับกุม ที่มาเฟซบุ๊ก วาสนา นาน่วม

จากการสอบสวน นายสิทธิทัศน์ ได้ให้การยอมรับว่า เมื่อ 22 พ.ย.57 เวลาประมาณ 19.00 น. ได้เริ่มเขียนใบปลิวโจมตี คสช. ปรากฏตามหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ได้ทำการตรวจยึด โดยเป็นผู้ผลิตใบปลิวโจมตี คสช.เองทั้งหมด และพิมพ์สำเนาเสร็จเมื่อ 23 พ.ย.57 เวลาประมาณ 03.00 จากนั้นได้ทำการนัดพบกับ นายวชิระ ทองสุข หรือ บอย ภายใน ซ.สำราญราษฎร์ เขตพระนคร ซึ่งได้ถ่ายถุงใส่ใบปลิวจากท้ายรถเบนซ์รุ่น C200 สีดำ หมายเลขทะเบียน 1 กม 200 กทม. ใส่รถจยย.ของนายวชิระ โดยนายวชิระ อาสาเป็นผู้ขับขี่ จยย.ยี่ห้อฮอนด้าเวฟ นำใบปลิวดังกล่าวไปโปรยบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 23 พ.ย.57 เวลาประมาณ 05.00 น. หลังจากนั้นได้แยกย้ายกันหลบหนี กระทั่งถูกจับกุม ส่วนเสื้อที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของ กปปส.นั้น นายสิทธิทัศน์ อ้างว่า ชอบไปชุมนุม เพื่อหาข่าว จึงมีเสื้อ

ผู้จัดการออนไลน์รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า นายสิทธิทัศน์ ระบุถึงสาเหตุการโรยใบปลิวดังกว่า เนื่องจากตนเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.มาก่อนตั้งแต่ปี 2553 จากนั้นเมื่อมีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ก็ได้มาสังเกตการณ์ด้วย จนกระทั่ง คสช.ยึดอำนาจ ตนรู้สึกว่าถูกปิดกั้นสิทธิจึงอยากแสดงออกอะไรบางอย่าง และไม่ได้มีใครอยู่เบื้องหลัง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พีมูฟ' ถามความคืบหน้าปัญหาที่ดิน ขอรัฐเร่งดำเนินการ

$
0
0


วานนี้ (25 พ.ย. 2557) เวลาประมาณ 09.00 น. ณ อาคารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ตัวแทนองค์กรภาคประชาชน ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ กว่า 30 คน เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาของภาคประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ให้ภาครัฐเร่งพิจารณาดำเนินการ โดยมีนายสมเจตน์ โรจน์พัฒนากุล ตัวแทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นผู้รับเรื่องในที่ประชุม

การติดตามความคืบหน้าดังกล่าว สืบเนื่องจากตามที่ได้มีการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ณ ห้องประชุมอรรถไกลวัลย์วที อาคารสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี โดยมีหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม และเห็นชอบในกรณีเร่งด่วนว่า ให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหา และล่าสุดเมื่อ 17 พ.ย.2557 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ที่ตัวแทน ขปส.ได้เข้าร่วมประชุมหารือ กับพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้อง

โดยมีเรื่องติดตามในกรณีเร่งด่วน อาทิ 1. พิจารณาการทบทวนแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรป่าไม้
2. พิจารณาการดำเนินการของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน และโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 3. พิจารณาผลการดำเนินการโฉนดชุมชน  4. พิจารณาแนวทางผลักดันนโยบายการกระจายถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยกฎหมาย 4 ฉบับ 5. พิจารณาแนวทางการนำที่ดินในเขตป่าสงวนที่หมดสัญญาเช่า มาจัดสรรให้เกษตรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน  6. พิจารณาการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา เป็นต้น

ตัวแทนทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งในที่ประชุมทราบว่า การแก้ไขปัญหาการปฎิบัติการในเชิงนโยบาย ทางสำนักปลัดสำนักนายกฯได้รับเรื่องการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้นำเรื่องเข้าที่ประชุม เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาของ ขปส. เกือบเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งเรื่องคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา โดยมีตัวแทนของ ขปส.กว่า 20 คน อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้รวมอยู่ด้วย

ส่วนประเด็นพิจารณาการทบทวนแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรป่าไม้ เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบการทวงคืนผืนป่าว่าจะมีการทบทวนหรือไม่อย่างไร อยู่ในระหว่างดำเนินการจัดให้มีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับเรื่องที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วน ทาง สปน.จะเร่งรัดให้จัดการประชุม และเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาในการดำเนินการเป็นการต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ออกหมายจับเพิ่มอีก 5 คดีแอบอ้างเบื้องสูงทวงหนี้-กรรโชกทรัพย์ เอี่ยว ‘พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์’

$
0
0

โฆษกสตช. เผยสืบสวนพบว่ามีกลุ่มที่แอบอ้างสถาบัน ทำการทวงหนี้หาประโยชน์โดยมิชอบ โดยศาลได้ออกหมายจับทั้ง 5 คนแล้ว ระบุมีความเกี่ยวข้องกับ ‘พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์’ ถอดยศ ‘ว่าที่พ.ต.ณัฐพล อัครพงศ์ปรีชา’ หนึ่งในผู้ต้องหาแล้ว หลังวานนี้พระราชทานเครื่องราชฯ

26 พ.ย.2557 ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากการสืบสวนพบว่ามีกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างสถาบัน ทำการทวงหนี้ หน่วงเหนี่ยวกักขัง และกรรโชกทรัพย์ เพื่อหาประโยชน์โดยมิชอบ ตรวจสอบแล้วพบว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิดปรากฏรายชื่อ ดังนี้ 1. นายณัฐพล อัครพงศ์ปรีชา 2. นายสิทธิศักดิ์ อัครพงศ์ปรีชา 3. นายณรงค์ อัครพงศ์ปรีชา 4. นายสุทธิศักดิ์ สุทธิจิตต์ และ 5.นายชากานต์ ภาคภูมิ

พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าวว่า สำหรับบุคคลดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีต ผบช.ก. โดยมีส่วนร่วมในการกระทำผิด ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยื่นคำร้องขออนุมติหมายจับต่อศาล ศาลได้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ในความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือเสรีภาพ โดยมีอาวุธโดยร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น และร่วมกันลักทรัพย์ เหตุเกิดในเขตรับผิดชอบของ สน.พระโขนง และขณะนี้กลุ่มผู้ร่วมกระทำความผิดทั้งหมดได้ถูกจับกุมแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกฎหมาย

ทั้งนี้ เวลา 16.00 น. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะนำของกลางคดี พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ไปแสดงที่ ร.1 พัน.3

ต่อมา เมื่อเวลา 15.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงความคืบหน้าคดีการจับกุมตัว พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กับพวก ร่วมกันกระทำความผิดเรียกรับผลประโยชน์ทั้งบ่อนการพนันและส่วยน้ำมันเถื่อนว่า ล่าสุดสามารถออกหมายจับผู้ต้องหา ซึ่งเป็นเครือข่ายของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ เพิ่มเติมได้อีก 5 รายมีทั้งทหารและพลเรือน ขณะนี้กลุ่มผู้ร่วมกระทำความผิดทั้งหมดถูกจับกุมแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยหลังจากนี้จะทำการสืบสวนต่อไป หากสืบสวนพบว่าบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้องก็จะออกหมายจับทั้งหมด อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถบอกจำนวนที่แน่ชัดว่ามีผู้ร่วมขบวนการอีกกี่ราย

“กลุ่มคนพวกนี้มีการแอบอ้างสถาบันฯ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในทุกๆ ด้าน ซึ่งคดีนี้ตำรวจคงจะมีการขออกหมายจับเรื่อยๆ ไม่สามารถเร่งได้ หากพยานหลักฐานเกี่ยวข้อง หรือเชื่อมโยงไปถึงใครก็ต้องดำเนินการ ทุกอย่างว่ากันตามพยานหลักฐาน เป็นไปตามข้อเท็จจริง และยังตอบไม่ได้ว่ามีจำนวนกี่คน เพราะในการสอบสวน การจะออกหมายจับใครต้องมีพยานหลักฐานรองรับ” ผบ.ตร.กล่าว

ถอดยศ ‘ว่าที่พ.ต.ณัฐพล อัครพงศ์ปรีชา’ หลังวานนี้พระราชทานเครื่องราชฯ

ทั้งนี้ 1 ในผู้ที่ถูกออกหมายจับมีชื่อพ้องกับ ว่าที่ พ.ต. ณัฐพล อัครพงศ์ปรีชา ที่พึ่งมีราชกิจจานุเบกษาวานนี้ (25 พ.ย.) ที่เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 57 ให้แก่นายทหารสัญญาบัตรและนายทหารประทวนหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม

ซึ่ง โพสต์ทูเดย์รายงานว่า พล.ต.ต.ประวุฒิ โฆษกสตช. เปิดเผยว่า ว่าที่พ.ต.ณัฐพล อัครพงศ์ปรีชา เป็นคนเดียวกับ นายณัฐพล อัครพงศ์ปรีชา ซึ่งศาลได้อนุมัติออกหมายจับข้อหา“ร่วมกันข่มขืนใจให้กระทำการใดไม่กระทำการใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือเสรีภาพ โดยมีอาวุธโดยร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายและให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น และร่วมกันลักทรัพย์” กรณีมีส่วนพัวพันกับแก๊งพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผบช.ก. และได้ถูกถอดยศพ้นจากตำแหน่งทางราชการแล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกาสั่งปรับ 'พระเกษม' 2 พัน ฐานดูหมิ่นฯ ศาสนวัตถุ หลังใช้มือตบพุทธชินราชจำลอง

$
0
0

ศาลฎีกาสั่งปรับ ‘พระเกษม อาจิณณสีโล’ 2,000 บาท ในคดีความผิดดูหมิ่นเหยียดหยามต่อศาสนวัตถุ หลังใช้มือตบพุทธชินราชจำลอง เจ้าตัวยันไม่ผิดวินัย หนุนตรวจสอบทรัพย์สินพระ เผยพระก่อนบวชยากจนบวชเสร็จแล้วร่ำรวยเยอะแยะ

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์รายงาน ว่า ที่ศาลจังหวัดหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้พิพากษาได้นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่ นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.สำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นผู้เสียหายแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.น้ำหนาว ให้ดำเนินคดีกับ พระเกษม อาจิณณสีโล แห่งที่พักสงฆ์สามแยก บ้านห้วยยางทอง ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ในข้อหาดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนวัตถุ ช่วงปลาย ก.ค. 51 และศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 53 ให้ยกฟ้อง ต่อมาอัยการจังหวัดหล่มสักอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาวันที่ 13 มี.ค.  55 ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 10,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี จำเลยยื่นฎีกา

ผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ว่า ที่จำเลยยื่นฎีกาต่อสู้ว่า ผอ.สำนักพุทธ ไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องเข้าเป็นโจทก์นั้น และศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยโดยไม่ต้องส่งกลับไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำความผิดของจำเลยนั้นเป็นคดีอาญาแผ่นดิน เมื่อมีผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วก็สามารถดำเนินคดีกับจำเลยได้ ประเด็นที่จำเลยนำป้ายข้อความ “ทองเหลืองหล่อนี้ ไม่ใช่พุทธเจ้าแน่ ไม่ต้องกราบมัน” และการใช้มือตบพระพักตร์องค์พระพุทธชินราชจำลองนั้น ถือเป็นความผิดที่กระทำการดูหมิ่นเหยียดหยามต่อศาสนวัตถุ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ใครก็ยอมรับว่าพุทธรูปเป็นตัวแทนของพุทธเจ้าที่พุทธศาสนิกชนใช้กราบไหว้ แม้จำเลยต่อสู้ว่าเป็นการเผยแพร่พุทธศาสนานั้น จำเลยสามารถทำได้แต่ต้องไม่กระทำละเมิดต่อกฎหมาย ส่วนการลงโทษจำคุกและรอลงอาญาของศาลอุทธรณ์นั้นรุนแรงเกินไป

ทั้งนี้ จำเลยมีความมุ่งมั่นศึกษาในพระธรรมวินัยในพุทธศาสนา จึงพิพากษาให้ไม่ลงโทษจำคุกและรอลงอาญาจำเลย และให้ลงโทษปรับกระทงละ 2,000 บาท จำนวนสองกระทง รวม 4,000 บาท การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดค่าปรับให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือให้จำเลยจ่ายค่าปรับ 2,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ภายหลังฟังคำพิพากษา พระเกษม กล่าวว่า ได้ชำระค่าปรับไว้ที่ศาลอุทธรณ์ จำนวน 20,000 บาทไปแล้วนั้น เมื่อหักค่าปรับตามคำพิพากษาศาลฎีกา จำนวน 2,000 บาท ทำให้ต้องรับเงินคืนจำนวน 18,000 บาทนั้น ไม่สามารถเซ็นชื่อรับเงินคืนได้เพราะเป็นพระ คงจะต้องปล่อยให้ครบ 5 ปี และตกเป็นของหลวงไป ในวันนี้ถือเป็นที่สุดแล้ว โทษจำคุกไม่มี แต่มีความผิดเพราะไปกวนรูปปั้นเขาจึงต้องโดนปรับตามเรื่องของโลก แต่ทางธรรมไม่ผิด

พระเกษม กล่าวด้วยว่า กระแสโลกให้เราผิดก็จริง แต่ตนเองไม่เคยผิดวินัยและไม่ควรผิด พวกผิดวินัยเต็มบ้านเต็มเมืองก็คือพวกเถรสมาคม มีเงินเยอะก็ผิดเยอะ และเห็นด้วยว่าควรให้ตรวจสอบทรัพย์สินพระ บรรดาผู้ไปคัดค้านก็ถือว่าผิดวินัย ส่วนตัวแล้วพร้อมให้ตรวจสอบ พวกพระที่ก่อนบวชยากจนบวชเสร็จแล้วร่ำรวยเยอะแยะ ใครกล้าไหมพวกที่ไปตรวจสอบพระเหล่านี้ พอไปตรวจสอบพระเอาเงินยัดให้ก็รับเงินแล้วเดินออกจากวัดจบกันไป ขอให้คอยดูช็อตต่อไป จะมีอะไรเด็ดกว่านี้อีกเยอะ และขอเรียกร้องให้มีการจัดตั้งศาลสงฆ์ พระผู้ใหญ่กล้ากันหรือไม่ ตนพร้อมเป็นจำเลยในศาลสงฆ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มท.1 แจงเหตุระงับเลือกตั้งอปท. กันขัดแย้ง ‘พล.อ.ประวิตร’ เป็น ปธ.ศึกษาแนวทางคัดเลือกแทน

$
0
0

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เผยกรณี ครม.มีคำสั่งระงับการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง พร้อมมอบหมายให้ ‘พล.อ.ประวิตร’ เป็นประธานศึกษาแนวทางการคัดเลือก

หลังจากที่วานนี้(25 พ.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวถึงการสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการประชุม ครม. ครั้งที่ 11/2557 โดยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)จะมีการหมดวาระ และจะมีการเลือกตั้งประมาณต้นปี 2558 ประมาณ 1,000 กว่าตำแหน่ง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พร้อมที่ใช้อำนาจในรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ให้ผู้ที่หมดวาระดำรงตำแหน่งลงนี้รักษาการตำแหน่งเดิมต่อไป จะไม่คัดสรรเอาคนนอกเข้าไปทำหน้าที่ เหมือนที่เคยมีคำสั่ง คสช. ออกมาก่อนหน้านี้เพราะเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้ง

ล่าสุดวันนี้(26 พ.ย.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ระงับการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่จะหมดวาระลงกว่า 1,000 ตำแหน่ง ว่า นายกรัฐมนตรีเกรงว่าอาจจะมีปัญหาในการคัดเลือก เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จึงมีมติให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเดิม รักษาการไปก่อน พร้อมมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานศึกษาแนวทางการคัดเลือก เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้แบ่งพื้นที่ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามงานตามนโยบายของรัฐบาล ว่า รัฐบาลดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว และพล.อ.ประวิตรให้ความสำคัญญมาก ติดตามงานด้านความมั่นคงโดยยึดข้อมูลของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทยดูแลพื้นที่ ถือเป็นนโยบายที่ดีและเชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมติดตามงานและประสานข้อมูลกับกระทรวงมหาดไทยอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย, มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาตรา44กับการคืนความสุขให้คนท้องถิ่น

$
0
0

                                                                                                                                                

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชาได้ประกาศใช้อำนาจตามมาตรา44ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557[1]เพื่อระงับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นที่กำลังจะหมดวาระในปี พ.ศ. 2558 ประมาน 1000 คน หากย้อนกลับไปในช่วงเดือนกรกฎาคมจะพบว่าพลเอกประยุทธ ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้ออกประกาศ คสช ฉบับที่ 85-86 อันเกี่ยวเนื่องกับการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นในกรณีที่ตำแหน่งนั้นๆว่างเว้นลง โดยได้กำหนดเงื่อนไขต่างๆเช่น ต้องเป็นข้าราชการระดับ8ขึ้นไปหรือสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี เป็นต้น[2]หากพิจารณาเนื้อหาในประกาศ คสช. ฉบับที่ 85-86 และคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ถูกนำมาใช้เป้นครั้งแรกนั้นจะพบว่ามีเนื้อความที่ขัดหรือแย้งกันอย่างชัดเจน โดยที่ประกาศ คสช ฉบับที่ 85-86 นั้น ให้ทำการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่นจากการกำหนดคุณบัติไว้ตามประกาศแต่การประกาศล่าสุดโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา44ของรัฐธรรมนูญฯ กลับให้สมาชิกที่ครบวาระทำหน้าที่รักษาการณ์ต่อไปโดยห้ามจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกชุดใหม่

ความลักลั่นเกิดขึ้นเมื่อมีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่นขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 85-86ไปแล้วว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อ ในทางกลับกันหากอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ กลับให้สมาชิกที่ครบวาระรักษาการณ์ต่อไป จะเห็นได้ว่าแนวทางทางกฎหมายไม่ชัดเจนว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องปฏิบัติเช่นไรเพราะประกาศ คสช. ฉบับที่ 85-86 ก็ยังไม่ถูกยกเลิกและคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญนั้นมีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายเทียบเท่ากับประกาศ คสช ฉบับที่ 85-86 หรือไม่?

รัฐธรรมนูญมาตรา 44 บัญญัติว่า

“ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่งหรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”

ตามมาตรา 44 จะพบว่าการใช้อำนาจตามมาตรานี้มีเงื่อนไขคือ1.เพื่อความจำเป็นหรือประโยชน์ในการปฏิรูป 2. ส่งเสริมความสมานฉันท์ของประชาชน 3.ป้องกันปราบปรามการกระทำที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง

จากเงื่อนไขทั้ง3ประการข้างต้นเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าพลเอกประยุทธ์ใช้เงื่อนไขด้านใดในการงดเว้นการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่น หากอ้างความจำเป็นด้านการปฏิรูปหรือปรองดองรัฐบาลควรที่จะแสดงความจริงใจในการให้ประชาชนได้ใช้สิทธิตามกฎหมายในการเลือกตั้งผู้แทนท้องถิ่นเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ต้องการให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อเสนอต่อ สปช. ไม่ใช่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สกัดการแสดงออกของประชาชนโดยเฉพาะการแสดงออกผ่านการเลือกตั้ง หากพิจารณาเงื่อนไขประการที่2 ได้แก่เพื่อส่งเสริมความสมานฉันท์ของประชาชน นั่นยิ่งแสดงให้เห็นทัศนคติของรัฐบาลและ คสช.ได้เป็นอย่างดีว่า รัฐบาลและ คสช. มองว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นความเลวร้ายและก่อให้เกิดการแตกสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่าแท้จริงแล้วรัฐบาลและ คสช.ไม่มีความจริงใจในการไปสู่ระบอบประชาธิปไตยหรือกล่าวให้ถึงที่สุดคือ รัฐบาลและคสช. เองไม่ได้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยเลยแต่กลับมองว่าระบบราชการต่างหากที่สามารถเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนรัฐไทยไปได้ ส่วนเงื่อนไขประการสุดท้ายคือเพื่อความมั่นคง ต้องถามกลับไปยังรัฐบาลและ คสช. ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงอย่างไร?

จากประวัติศาสตร์ของกฎหมายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับมาตรา44 ได้แก่ มาตรา17 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ หรือมาตรา21 ในสมัยพลเรือเอกสงัด ซึ่งทั้งสองมาตราดังกล่าวเป็นการให้อำนาจเด็ดขาดแก่หัวหน้าคณะรัฐประหารเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและไม่ปรากฎว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ผ่านมาใช้อำนาจเผด็จการตามมาตราดังกล่าวเพื่อเข้าแทรกแซงการบริหารราชการในระดับท้องถิ่น หากแต่ใช้ในการรักษาความมั่นคงเท่านั้นเช่นใช้อำนาจตามมาตรา17 เพื่อประหารชีวิตผู้ค้ายาเสพย์ติดรายใหญ่เป็นต้น

เราไม่อาจกล่าวได้ว่านโยบายคืนความสุขของ คสช.นั้นเป็นการคืนความสุขที่แท้จริงเพราะคสช.ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการคืนสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนหากแต่ยิ่งลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ควรต้องเข้าใจก่อนว่าการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นนั้นเป็นสิทธิทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดเพราะประชาชนสามารถเลือกผู้แทนจากคนในท้องถิ่นเพื่อเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรในแต่ละท้องถิ่นได้ แต่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในคราวนี้แม้ว่าจะเป็นการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่นเดิมรักษาการณ์แทนไปก่อนก็ตามแต่นั่นหมายความว่าถ้าประชาชนในท้องถิ่นมีความตั้งใจที่จะไม่เลือกผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นชุดเดิมก็จำต้องทนรับสภาพเพราะรัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา44เพื่อระงับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นไว้โดยไม่มีท่าที่ว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อใด หากอ้างอิงตามการร่างรัฐธรรมนูญจะพบว่าประชาชนในระดับท้องถิ่นจำต้องทนรับความสุขที่ คสช. มอบให้ไปจนถึงประมานกลางปี พ.ศ. 2559 ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเสียก่อนจึงจะได้รับสิทธิในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นคืนมา ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นประชาชนคงจะสำลักความสุขจาก คสช.ไปเสียแล้ว

ความสับสนของรัฐบาลและ คสช.เอง ในแง่ของกฎหมายกล่าวคือตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 85-86 ที่กำหนดให้มีการสรรหาแต่ล่าสุดกลับบอกให้รักษาการณ์ต่อกรณีเช่นนนี้สร้างความสับสนแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่นค่อนข้างมากว่าสุดท้ายแล้วจะต้องปฏิบัติเช่นไรและประกาศ คสช.ฉบับที่ 85-86 ยังมีผลทางกฎหมายหรือไม่และหากเกิดการขัดกันจะใช้กฎหมายฉบับใดเป็นบรรทัดฐาน แต่หากมองในแง่ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยย่อมต้องตอบว่าทุกการกระทำทางกฎหมายของ คสช.นั้นไม่มีความชอบธรรมตามกฎหมายอยู่เลยเพราะเป็นผู้ทรงอำนาจที่มาจากการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน แต่ในเมื่อประชาชนไม่อาจต้านทานอำนาจของ คสช.ได้ก็คงได้แต่ก้มหน้ารับเอาความสุขที่ได้รับคืนมาให้อย่างเสียไม่ได้

 

 

[1] http://news.voicetv.co.th/thailand/137132.html

[2] http://prachatai.org/journal/2014/07/54590

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images

<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>
<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596344.js" async> </script>