Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live

ความเงียบที่รัก

$
0
0

 

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเดินมาสู่จุดหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง ในยุคสมัยรัฐบาล คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเด็นการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ นายนิคม ไวยรัชพานิช รวมถึงประเด็นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังใกล้ขึ้นมาทุกขณะ ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมไหวครั้งใหญ่ของกลุ่ม กปปส. ที่แกนนำได้ออกมาขยับเขยื้อนกายอีกครั้งเพื่อเตือนสติรัฐบาลประยุทธ์ ถึงความคาดหวังของกลุ่มกปปส.ในการล้างบางกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม (อย่าลืมว่ากปปส.นั้นคือกลุ่มพลังทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์)

อันเนื่องมาจากท่าทีของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) สายทหาร ที่ออกแนวอิดออด ทำเอาคาดเดากันได้ว่า การถอดถอนเหล่านี้จะ "ขัดลำกล้อง" ไปเสียทุกนัด แม้แต่การโหวตรับสำนวนถอดถอน สมศักดิ์-นิคม วันที่ 6 พฤศจิกายนจะดูเหมือนท่าทีสนช.จะฉลุย แต่ความจริงแล้วคือ สนช.สายทหารเกือบทั้งหมด โดดร่มการประชุม ทำให้สำนวนถอดถอนถูกโหวตรับสำเร็จ ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ทราบว่าสนช.สายทหารจงใจทำให้ดูเหมือนสนช.รับสำนวนเพื่อพยายามลดแรงกดดันภายนอกหรือไม่อย่างไร สุดจะคาดเดาได้

แน่นอน หลังจาก กปปส. ออกมาขยับ ขาดไม่ได้คือนปช. และแนวร่วมกลุ่มพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาคัดง้าง กปปส. ทำให้สถานการณ์คุกรุ่น ต่างฝ่ายพยายามขู่ด้วยมวลชน ว่าจะออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง  จึงเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเด็นการถอดถอนนี้ คือตัวจุดชนวนนำไปสู่ความร้อนแรงทางการเมืองที่ทุกคนต่างสัมผัสได้

ทั้งนี้ในการประชุมร่วม ครม. คสช. ที่ทั้งท่านนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. คือบุคคลคนเดียวกันได้เปรยในที่ประชุมถึงเค้าลางสถานการณ์นี้เช่นกัน โดยนายกรัฐมนตรี(และหัวหน้าคสช.) อยากให้มีการเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวทางการเมืองและการกระทำเข้าข่ายปลุกระดม จนถัดจากนั้นมาไม่กี่วัน สื่อมวลชนสายทหารท่านหนึ่งมีรายงานข่าวถึง ความเป็นไปได้ว่า คสช. จะมีการเรียกตัวรอบ 2 เพื่อลดระดับความร้อนแรงของสถานการณ์ ซึ่งเข้าเค้ากับการที่นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยออกมาพูดว่ามีนายทหารยศพันเอกสายตรงถึงตัว เพื่อให้ลดการแสดงความเห็นทางการเมือง ทั้งนี้เหล่าแกนนำม๊อบทั้งหลาย และนักการเมือง จะโดนสายตรงถึงตัวกี่คนไม่อาจทราบได้ เพราะคงไม่ทุกคนที่จะบอกกล่าวกับสื่อมวลชนไปได้ทั้งหมด

แน่นอนว่า "ความเงียบ" ที่มากขึ้นในขณะนี้หลังการสายตรง เป็นที่น่าพอใจของรัฐบาล เนื่องจากตอนนี้ รัฐบาลกำลังต้องการสิ่งนี้ที่สุดในการเดินหน้า "ปฏิรูป" หรืออะไรก็สุดแต่จะเรียก หรือไม่เพียงแต่รัฐบาล แต่เป็นประชาชนจำนวนหนึ่งก็รักในความเงียบนี้

ภายหลังการกู่ร้องตะโกนครั้งใหญ่ของมวลชนบนถนนราชดำเนิน (และจุดต่างๆ เกินกว่าจะนับไหว) เสียงนกหวีด เสียงตีนตบ เสียงปืน เสียงระเบิด ถูกกลบฝังด้วยเสียงเพลงปลุกใจ และเสียงคำประกาศ คสช. ในวันที่ 22 พฤษภาคม ความเงียบเข้าปกคลุมประเทศนี้พักใหญ่ ด้วยการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวไปนั่งกินนอนกินที่ค่ายทหาร (หรือมากกว่านั้น) เหล่า "แอคทีฟ ซิติเซน" ทั้งหลายในอดีตต่างก็ละทิ้งสิ่งที่เคยเป็น จากประชาชนผู้ตื่นรู้และจะไม่ยอมให้ใครใช้อำนาจแห่งปวงประชาไปในทางที่ผิด ประชาชนผู้ไม่ยอมสยบต่อรัฐที่ฉ้อฉล ประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังทุกย่างก้าวของรัฐบาล ผู้ประกาศตนเป็นเสรีชน และใช้การต่อสู้ด้วยสันติ อหิงสา มาวันนี้ แอคทีฟ ซิติเซน ต่างพักผ่อนหย่อนใจ ไปเที่ยว ไปกิน ไปช้อปปิ้ง คล้ายกับว่าการลุกฮือครั้งใหญ่นั่นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือ แอคทีฟ ซิติเซนนั้นเป็นเพียงสถานะชั่วคราวกันแน่ ก็ไม่ทราบได้

แน่นอนว่าความเงียบสงัดทางการเมืองนั้น ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือการรวมกลุ่มเรียกร้องอะไรก็ตามแต่ของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย คือการแผ้วถางเส้นทางของรัฐบาลประยุทธ์สู่การ "สะสาง" ปมปัญหาทั้งการถอดถอน การบริหารความพึงพอใจของประชาชน และการปฏิรูปประเทศ เพื่อจะเปิดไพ่ใบถัดๆ มา เพื่อให้คนในสังคมได้เห็นกันต่อไปอีกว่า ความจริงแล้วรัฐบาลนี้มีเจตนาจะเข้ามาสลายขั้วสีและทำเพื่อประเทศจริงๆ หรือสุดท้ายแค่ปาหี่หน้าม่าน ที่ความจริงก็แค่การเปลี่ยนมือคนแบ่งเค้ก และเพื่อทำลายฝ่ายการเมืองกันแน่

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ พวกเขาต้องการความเงียบจากประชาชน และถ้าจะให้ดี จงรักในความเงียบนี้เสียเลย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถือป้ายไล่ พล.อ.ประยุทธ์ หน้ากงสุลในแคนาดา-ม.ล.ปนัดดาเกรงชูสามนิ้วฮอลลีวูดจะหัวเราะ

$
0
0

มีคนไทย 3 คน ยืนประท้วง คสช. หน้ากงสุลไทยที่แคนาดา และขอชูสามนิ้วแทนคนที่อยู่ในประเทศ ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เห็นว่าเรื่องชูสามนิ้ว คนไทยไม่ควรเอาภาพยนตร์มาสร้างความแตกแยก เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ฮอลลีวูดจะหัวเราะเยาะเอา

24 พ.ย. 2557 - เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่หน้าสถานกงสุลใหญ่ประจำประเทศไทย  ถนนเบอร์ราร์ด นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา มีคนไทย 3 คน มาถือป้ายประท้วง โดยผู้ถือป้ายประท้วง ป้ายหนึ่งมีข้อความขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีข้อความระบุว่า "#District Thai is real" ส่วนอีกป้ายหนึ่งเขียนว่ารัฐบาลทหารไทยจับคนชูสามนิ้ว และข้อความ "Free #District Thai"

ผู้ใช้ชื่อว่า "นายเดช" กล่าวถึงสาเหตุที่มาประท้วงว่า เป็นเพราะรัฐบาลกดขี่ประชาชน แม้กระทั่งการชูสามนิ้วยังถูกทำให้กลายเป็นอาชญากรรม ตัวเขาซึ่งอยู่ในแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศเสรี ให้สิทธิประชาชนในการแสดงออกอย่างเต็มที่ จึงขอใช้สิทธินี้ออกมาถือป้าย และชูสามนิ้วเรียกร้องแทนคนไทย และส่งเสียงไปถึงชาวโลกว่า ให้ช่วยกดดันรัฐบาลฟาสซิสต์ ให้คืนอำนาจให้กับประชาชนและหยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน

"นายเดช" ยังกล่าวเชิญชวนคนไทยที่อยู่ในประเทศเสรีประชาธิปไตยต่างๆ แสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลด้วย

ส่วนผู้ประท้วงอีกรายกล่าวถึงเหตุผลที่มาถือป้ายประท้วงว่า "ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้งแต่เป็นการออกมาต่อต้านการยกเลิกการเลือกตั้ง อีกทั้งประชาธิปไตยคือการปกป้องสิทธิของคนที่ต้องการให้เราไม่มีสิทธิ ที่สำคัญการอยู่ประเทศที่เสรีแต่ยัดเยียด ไม่ยินดียินร้ายกับความเป็นทาสไร้สิทธิไร้เสียงให้ของบ้านเกิดถือว่าน่ารังเกียจอย่างยิ่ง"

อย่างไรก็ตามวันที่ผู้ประท้วงไปดังกล่าวเป็นวันที่สถานกงสุลติดป้ายปิดทำการ ทำให้ไม่มีเจ้าหน้าที่ออกมารับเรื่อง

 

ปนัดดากลัวคนไทยชูสามนิ้ว ฮอลลีวูดจะหัวเราะเยาะ

ส่วนความเห็นจากฝั่งรัฐบาล ไทยรัฐออนไลน์สัมภาษณ์ความเห็นของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชูสามนิ้วว่า เป็นเรื่องที่มาจากภาพยนตร์ฝรั่ง ที่ฮอลลีวูดสร้างขึ้น ไม่น่าเอาเรื่องภาพยนตร์มาสร้างความแตกแยก ซึ่งเราเป็นชนชาติไทยเดียวกัน เกรงว่าฮอลลีวูดจะหัวเราะเยาะเอา เท่าที่ทราบก็มีเพียงฉากเดียว ที่ชูมือ 3 นิ้ว ส่วนความหมายจะเป็นเช่นไรก็เป็นหนังฮอลลีวูด ไม่ใช่เรื่องที่จะมาสร้างความแตกแยกของผู้คน ดังนั้น เรารักกันดีกว่า พยายามทำความเข้าใจกัน ท้ายที่สุดจะเกิดความร่มเย็นต่อสังคมไทยของเรา

ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่ามีนายตำรวจใน จ.ขอนแก่น 5 ราย ถูกสั่งย้ายตามคำสั่ง ภ.4 ที่ 2396/2557 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2557 ให้ไปปฏิบัติราชการประจำศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธร ภาค 4 หลังจากเมื่อวันที่ 11 พ.ย. เกิดเหตุนักศึกษากลุ่มดาวดินใน จ.ขอนแก่น 5 ราย เข้าไปชูสามนิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนขับรถจ้างเหมาของเฟซบุ๊กเข้าร่วมสหภาพแรงงานระดับชาติ

$
0
0

หลังมีการเปิดเผยว่าเฟซบุ๊กใช้คนขับรถจากบริษัทเหมาช่วงในการรับส่งพนักงาน ส่วนคนขับรถกลับมีสภาพการทำงานและรายได้ย่ำแย่ ล่าสุดคนขับรถเหล่านั้นเข้าร่วมสหภาพแรงงานภาคขนส่งแล้ว หวังเจรจาต่อรองและกระตุ้นให้เฟซบุ๊กเห็นคุณค่าคนงานระดับล่างบ้าง

 

 

23 พ.ย. 2014 บริษัทเฟซบุ๊กที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นนายจ้างที่ดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมกับกลุ่มคนขับรถบัสรับส่งพนักงานของเฟซบุ๊ก ซึ่งคนขับรถเหล่านั้นเป็นคนงานจ้างเหมาช่วงของบริษัทลูป ทรานสปอร์เทชั่น (Loop Transportation) ที่เฟซบุ๊กจ้างมาเป็นผู้จัดบริการรถรับส่งพนักงานของตนอีกที

เมื่อกลางเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาคนขับรถเหล่านั้นได้ออกมาเปิดเผยกับสื่อว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติจากพนักงานเฟซบุ๊กเหมือนเป็นคนรับใช้ ต้องทำงานใช้เวลารวม (ขับรถจากที่พักรวมทั้งตระเวนรับส่งพนักงานเฟซบุ๊ก) ถึงวันละ 16 ชั่วโมง และได้รับค่าจ้างแค่ประมาณ 9.5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น

บริษัทลูป ทรานสปอร์เทชั่น จัดรถรับส่งพนักงานให้เฟซบุ๊กประมาณ 40 คัน วิ่งบนเส้นทางจากนครซานฟรานซิสโก-เมนโลพาร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย ตั้งแต่ 5.30-20.45 น. นอกจากคุณภาพชีวิตย่ำแย่แล้วเขาต้องจ่ายค่าแผนประกันสุขภาพเป็นเงินอีก 1,200 เหรียญสหรัฐต่อเดือนด้วย ซึ่งสวัสดิการที่พวกเขาได้รับนั้นต่างกันราวฟ้ากับเหวจากพนักงานค่าตัวแพงของเฟซบุ๊กที่พวกเขาเป็นคนรับส่งและดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนระหว่างการเดินทาง

ล่าสุดเว็บไซต์ของสหภาพแรงงานทีมสเตอร์ (Teamsters)รายงานเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2014 ที่ผ่านมาว่าคนขับรถ 87 คนของบริษัทลูป ทรานสปอร์เทชั่น ที่ขับรถให้เฟซบุ๊กนั้นได้เข้าร่วมกับสหภาพแรงงานขนส่งระดับชาติอย่างทีมสเตอร์แล้ว โดย International Brotherhood of Teamsters (IBT) หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ทีมสเตอร์" นั้นก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1903 อันเป็นการควบรวมกันของสหภาพแรงงานคนทำงานภาคการขนส่งท้องถิ่นทั้งในแคนานาและสหรัฐอเมริกา โดยทีมสเตอร์เคลื่อนไหวเรียกร้องสภาพการจ้างที่ดีด้วยวิธีการรณรงค์และเจรจาต่อรองกับนายจ้างให้กับสมาชิก และตัวเลขสมาชิกของทีมสเตอร์ล่าสุดจากการสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 2011 มีทั้งสิ้น 1,309,690 คน 

ทั้งนี้กลุ่มคนขับให้เฟซบุ๊กต่างมุ่งหวังว่าจะใช้สหภาพแรงงานเป็นตัวต่อรองกับผู้ว่าจ้างในเรื่องปรับค่าแรงให้สูงขึ้น และปรับแผนค่าประกันสุขภาพให้ลดลง รวมถึงมีชั่วโมงการทำงานที่เป็นธรรมมากขึ้น นอกจากนี้พวกเขายังหวังว่าเฟซบุ๊กจะตัดสินใจเลิกใช้บริษัทเหมาช่วงซึ่งเปรียบเหมือนนายหน้าขายแรงงานของพวกเขาอย่างบริษัทลูป ทรานสปอร์เทชั่น และหันมาจ้างพวกเขาเป็นพนักงานของเฟซบุ๊กโดยตรง เหมือนอย่างที่กูเกิล (Google) เคยตัดวงจรการจ้างเหมาช่วงของบริษัทรักษาความปลอดภัยออกไป และหันมาจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยไว้เองโดยตรง

อนึ่งเมื่อปี 2010 เฟซบุ๊กเคยคว้ารางวัลบริษัทนายจ้างที่ดีที่สุดในอเมริกาจากการจัดอันดับของ Glassdoor.com ซึ่งเว็บไซต์เกี่ยวกับเรื่องการจ้างงาน จากการสำรวจความคิดเห็นบรรดาพนักงานของบริษัท และผู้ใช้เว็บ Glassdoor.com โดยเฟซบุ๊กนั้นให้เงินและผลตอบแทนแก่พนักงานอย่างมากมาย เป็นบริษัทที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก โดยวิธีการดึงพนักงานที่เคยทำงานกับคู่แข่งด้านไอทีมาร่วมงานมากมาย นอกเหนือจากเงินเดือนงาม และผลประโยชน์มากมาย บริษัทยังนำเสนอหุ้นของบริษัทให้กับพนักงานด้วย และเมื่อเฟซบุ๊กเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ พนักงานหลายคนก็กลายเป็นเศรษฐีหน้าใหม่เมื่อขายหุ้นเฟซบุ๊กของตนเองให้แก่นักลงทุน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีมโฆษก คสช. เตือน "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" โพสต์ลบหลู่กองทัพไม่ใช่วิสัยอาจารย์

$
0
0

พ.อ.วินธัย สุวารี เตือนพาดพิงกองทัพใช้แต่ความรู้สึก ข้อมูลไม่ครบ ไม่ใช่วิสัยอาจารย์ จะกระทบความน่าเชื่อถือทางวิชาชีพ - มั่นใจโรงเรียนการทหารในประเทศได้มาตรฐานระดับสากล บุคลากรประสบความสำเร็จ มีผลงานจับต้องได้จริง ด้าน 'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' โพสต์ตอบล้ม รธน.- ผิด ม.113 มีสิทธิอะไรมาเตือนคนอื่น

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (แฟ้มภาพ)

24 พ.ย. 2557 - หลังจากเมื่อวานนี้ (23 พ.ย.) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศโพสต์เฟซบุ๊ควิจารณ์กรณีกองทัพเรียกคนจำนวนมากไปรายงานตัว และคนที่ถูกเรียกรายงานตัวได้เล่าว่าทหารที่มาสอบสวนพูดอะไรบ้าง ซึ่ง "บอกตรงๆ ฟังแล้วก็ได้แต่ "สายหน้า" นะ คนเหล่านี้ "ไม่ฉลาด" เอามากๆ สิ" พร้อมวิจารณ์การแสดงความเห็นทางรายการคืนความสุขให้คนในชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ว่า "หมอนี่ไปอยู่ที่ไหนมา? เกิดเมื่อศตวรรษที่แล้วหรือไง?" นั้น

ต่อมาวันนี้ (24 พ.ย.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมงานโฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีดังกล่าว โดยไทยรัฐออนไลน์รายงานความเห็นของ พ.อ.วินธัย ที่ระบุว่า นายสมศักดิ์มีอาชีพเป็นครูบาอาจารย์ สถาบันที่มีชื่อเสียง การแสดงความคิดเห็นในช่วงนี้ ควรเป็นในเชิงสร้างสรรค์ บางลักษณะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ควรต้องระมัดระวัง อย่างกรณีที่ใช้คำว่า "โง่" ก็ไม่อยากเชื่อ เพราะลักษณะคำพูดดังกล่าวเป็นการพูดในเชิงลบหลู่ ดูหมิ่นดูแคลน ไม่ใช่วิสัยของบุคลากรระดับอาจารย์ ซึ่งอาจมีลูกศิษย์มากมาย การเสนอข้อมูลใดๆ ในขณะที่มีข้อมูลไม่ครบไม่เพียงพอ หรือใช้เพียงความรู้สึกความเข้าใจเฉพาะในมุมมองของตัวเอง ไปพาดพิงบุคคล และองค์กรอื่นๆ อยากให้ได้ระมัดระวัง มิฉะนั้น อาจจะกระทบภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือทางด้านวิชาชีพได้

"มั่นใจว่าเรื่องระบบการศึกษาในโรงเรียนทหารทุกแห่งในประเทศไทย มีพัฒนาการมาตามกาลสมัย มีมาตรฐานในระดับสากลเป็นที่ยอมรับจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ นำไปสู่เมื่อบุคคลากรสำเร็จออกปฏิบัติราชการ จะมีผลงานให้เห็นสามารถจับต้องได้จริง ตั้งแต่การป้องกันประเทศ การรักษาความสงบภายใน การพิทักษ์ปกป้องสถาบัน และการช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช้ล้มเหลวอย่างที่กล่าวอ้าง"

หลังจากนั้นสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์ทางเฟซบุ๊คตอบ พ.อ.วินธัยว่า "แต่คุณวินธัยครับ คนที่ทำผิดกฎหมายร้ายแรงที่สุดของประเทศ คือล้มรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมายมาตรา 113 (โทษประหารชีวิตทั้งนั้น) มีสิทธิอะไรในการ "เตือน" คนอื่นเรื่องทำผิดโน่นผิดนี่อีกครับ?"

"ปล. สำหรับ "ข้ออ้าง" ของ คสช ประเภท "จำเป็นต้องทำ" คือ ผิดกฎหมาย 113 ล้มรัฐธรรมนูญ อะไร .. แหม ไม่มีกฎหมายอาญาไหน เขียนว่า ไม่สามารถกบฏได้ "ยกเว้นแต่มีความจำเป็น" อะไรแบบนั้นนะ คือ ใครคิดว่าข้ออ้างประเภทนี้มีความหมายอะไร ก็บ้าแน่ ปล.2 อ้อ แล้วกรณีที่มีมือปืนไปยิงผมถึงบ้าน ไม่กีวันหลังจากคุณวินธัย ในนามกองทัพบอกออกมาขู่ว่า ต้อง "ใช้มาตรการทางสังคม" เล่นงานผมน่ะ มีวี่แววจะจับได้หรือยังครับ?" สมศักดิ์โพสต์ตอบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลทหารลงโทษจำคุก 9 ปี บก.เว็บไทยอีนิวส์ ข้อหา ม.112

$
0
0

บก.เว็บไทยอีนิวส์ถูกลงโทษ 9 ปีแต่เนื่องจากรับสารภาพจึงรับโทษเพียงกึ่งหนึ่ง ฐานเผยแพร่บทความของ ใจ อึ๊งภากรณ์

24 พ.ย. 57 ศาลทหารลงโทษจำคุก บรรณาธิการเว็บไซต์ไทยอีนิวส์ เก้าปี ในข้อหาตามมาตรา 112 แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลงโทษเหลือสี่ปีหกเดือน จากการเผยแพร่บทความของใจ อึ๊งภากรณ์ ในเว็บเมื่อปี 2554

บรรณาธิการซึ่งมีนามปากกาว่า สมศักดิ์ ภักดีเดช ได้ให้การรับสารภาพต่อหน้าศาล ในการนัดสอบคำให้การในเช้าวันจันทร์

สมศักดิ์กล่าวกับประชาไทว่า ไม่รู้สึกเหนือความคาดหมาย กับการถูกจำคุก สี่ปีหกเดือน โดยส่วนตัว เชื่อว่าสรรพสิ่งทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง เบื้องต้นตนไม่ได้รับอนุญาตให้พูดอะไร แต่อยากฝากบอกคำว่า We shall overcome [เราจะชนะ]ถึงเพื่อนๆ

สมศักดิ์ถูกจู่โจมจับที่บ้านวันที่ 25 พค. ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจอาวุธครบมือประมาณยี่สิบคน ก่อนถูกนำมาสอบสวนในค่ายทหารและให้ตำรวจดำเนินการแจ้งความ ทนายของสมศักดิ์ได้เคยทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมศักดิ์หลายครั้ง แต่ศาลทหารไม่เคยมีคำสั่งให้สมศักดิ์ได้รับการประกันตัวเลย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลไม่ให้ประกัน รอบสี่ คดี 112 ลุงวัย 67 ปีเขียนผนังห้องน้ำห้าง

$
0
0

ที่ศาลทหาร เจ้าหน้าที่นำตัวนายโอภาส (สงวนนามสกุล) อายุ 67 ปี  ผู้ต้องหาคดี 112 จากกรณีเขียนข้อความในผนังห้องน้ำห้างสีคอนสแควร์ โดยผู้ต้องหาถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.และถูกคุมขังมาจนปัจจุบัน ก่อนหน้านี้เคยยื่นประกันตัวไปแล้วสามครั้งโดยใช้โฉนดที่ดินมูลค่า 2.5 ล้านบาทแต่ศาลไม่อนุญาต
 
ในวันนี้นายโอภาสถูกนำมาที่ศาลโดยปราศจากพนักงานสอบสวน เพื่อมายื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 ที่ศาลทหารในช่วงเช้า ทนายความผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งเป็นครั้งที่ 3 โดยคัดค้านว่าพนักงานสอบสวนไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ เนื่องจากคดีมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ไม่ซับซ้อน คำให้การของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนก็เป็นประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีนี้แล้ว ไม่มีเหตุที่ผูต้องหาจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้อีก
 
 
ศาลศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าพนักงานสอบสวนจะไม่ได้มาที่ศาล แต่เมื่อพิเคราะห์ความหนักเบาของคดี เห็นว่า เป็นคดีร้ายแรงและเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง จึงอนุมัติคำร้องฝากขัง
 
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความผู้ต้องหาแจ้งว่าในช่วงบ่ายได้ยื่นประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เดิม พร้อมแหตุผลประกอบด้านปัญหาสุขภาพ เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นโรคเส้นเลือดในจอรับภาพบวมซึ่งอาจแตกและทำให้ตาบอด ซึ่งโดยปกติผู้ต้องหาต้องพบแพทย์ทุก 2-3 เดือนหากพบว่ามีอาการจะยิงเลเซอร์เพื่อทำการรักษา
 
ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า ผู้ต้องหามีสิทธิไดรัการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดอาการอยู่แล้ว  ข้ออ้างจึงฟังไม่ขึ้น และศาลเคยมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวมาก่อนแล้ว ไม่มีเหตุให้กลับคำสั่ง 
 
ทั้งนี้ โอภาสถูกจับวันที่ 15 ต.ค.โดยเจ้าหน้าที่ของห้างซีคอนสแควร์เป็นผู้นำตัวส่งหทาร หลังเขายอมรับและเสียค่าปรับทำห้องน้ำห้างสกปรก 2,000 บาท ต่อมาพ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญได้นำตัวโอภาสมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่กองบังคับการปราบปรามก่อนนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลทหาร
 
โอภาส เป็นชายวัย 67  ปีชาวกรุงเทพฯ มีอาชีพขายของเบ็ดเตล็ด เขากล่าวว่า ไม่เคยร่วมชุมนุมแต่อย่างใด และเป็นผู้ติดตามการเมืองเพียงห่างๆ จนกระทั่งในราวปี 2552 ได้เจอคลื่นวิทยุชุมชนทั้งฝ่ายเหลืองและฝ่ายแดงโดยบังเอิญจึงรับฟังมานับแต่นั้นมา และพบว่าชอบฟังสถานีของฝ่ายเสื้อแดงมากกว่า แต่ก็จะเลือกฟังเฉพาะดีเจบางคน เขายืนยันว่าไม่ได้ถูกล้างสมองจากวิทยุชุมชนตามที่เจ้าหน้าที่ทหารพยายามแถลงข่าวไปในแนวทางดังกล่าว 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันคดี 112 มีอยู่เกือบ 20 คดี ผู้ต้องหาเกือบทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัว ในจำนวนนี้มีอยู่ 6 คดีที่ถูกส่งไปดำเนินคดียังศาลทหาร คดีล่าสุดคือคดีของโอภาสนับเป็นคดีที่ 2 ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิดหลังรัฐประหาร (คดีทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่จังหวัดเชียงรายนับเป็นกรณีแรก) นอกเหนือจากนั้นเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทวิเคราะห์ต่างประเทศ: การเต้นรำของ 2 มหาอำนาจ จีน-สหรัฐฯ

$
0
0

เมื่อไม่นานมานี้เรื่องความร่วมมือระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ บนเวทีระดับโลกเป็นเรื่องน่าติดตาม จอห์น เฟฟเฟอร์ ผู้อำนวยการ Foreign Policy In Focus วิเคราะห์ท่าทีและแนวทางที่ทั้งสองประเทศจะสามารถร่วมมือกันได้เพื่อแก้ปัญหาในระดับโลกได้อย่างแท้จริง


21 พ.ย. 2557 เว็บไซต์ Foreign Policy In Focus ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศต่อเอเชียภายใน 3 ปี โดยต้องการสร้างระบบการวางนโยบายในระยะยาวแทนการตอบโต้ต่อวิกฤติในทันที ซึ่งดูเหมือนว่าสหรัฐฯ พยายามจะเปลี่ยนเป้าหมายจากการปกป้องยุโรปจากภัยคุกคามจากตะวันออกกลางและยึดครองแหล่งน้ำมันไปพร้อมๆ กับหันมาหาตลาดในเอเชียและถ่วงดุลอำนาจกับจีน

ขณะที่รัฐบาลโอบามาต้องเผชิญกับวิกฤติโลกรอบด้านทั้งกรณีของสงครามรัสเซีย-ยูเครน กรณีความขัดแย้งของอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในกาซา และกรณีการเติบโตของกลุ่มไอซิสในซีเรียและอิรัก ขณะที่ทางการจีนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์เหล่านี้

FPIF ระบุว่า ในฐานะรัฐที่ท้าทายอำนาจความเป็นผู้นำโลก จีนวางตัวเหมือนรัฐใหญ่ๆ รัฐอื่นในโลกที่คาดเดาได้ง่ายว่าจะทำอะไรต่อไป และด้วยความเป็นมหาอำนาจจีนยังมีความทะเยอทะยานในระดับโลกซึ่งในบางเรื่องททางการสหรัฐฯ ก็อยากสนับสนุนถ้าหากมันเข้าทางผลประโยชน์ เช่น ในเรื่องเศรษฐกิจโลก เรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย การลดสะสมนิวเคลียร์ การรักษาสันติภาพ และประเด็นอื่นๆ

กรณีความร่วมมือดังกล่าวมีการหารือกันในที่ประชุม G20 ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีการตกลงด้านความร่วมมือเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนไปแล้ว อย่างไรก็ตาม FPIF ระบุว่าทางการสหรัฐฯ และจีนยังมองหน้ากันไม่ค่อยติดแม้แต่กับเรื่องที่ทั้งสองชาติต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมกัน

ก่อนหน้านี้ ซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ไปเยือนจีนแล้วกล่าวไว้สั้นๆ ว่า ปัญหาของโลกยุคศตวรรษที่ 21 จะไม่สามารถจัดการได้ถ้าสหรัฐฯ และจีนไม่ร่วมมือกัน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทางการสหรัฐฯ จะไม่ยอมทนต่อความทะเยอทะยานในระดับภูมิภาคของจีน แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ได้สนใจเรื่องแผนการด้านพลังงานของจีนในทางฝั่งตะวันออกของรัสเซีย แต่ในช่วงที่จีนเริ่มแสดงท่าทียกระดับต่อข้อพิพาทหมู่เกาะเตียวหยู หรือหมู่เกาะเซนกากุช่วงกลางปีที่ผ่านมาจะเป็นสัญญาณเตือนสหรัฐฯ ว่าทางการจีนเริ่มเปลี่ยนท่าทีแบบพร้อมใช้กำลังมากขึ้นจนทำให้สื่อสหรัฐฯ เขียนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะทางการทหารระหว่างสองชาติ

หลังจากนั้นจีนและสหรัฐฯ ก็เริ่มมีท่าทีอ่อนข้อลงจนนักคิดของสหรัฐฯ มองว่าทางการสหรัฐฯ ดำเนินการแบบใช้ความอดกลั้นและมีเล่ห์เหลี่ยมมากขึ้นเมื่อเทียบกับวิธีการพุ่งเข้าชนแบบผู้นำรัสเซีย จากปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าทำให้สหรัฐฯ ต้องการความช่วยเหลือจากจีนแม้ว่าจะยังคงมองจีนด้วยความระมัดระวัง

FPIF ระบุว่าสิ่งเหล่านี้คือใจกลางความย้อนแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากปัญหาวิกฤติต่างๆ ทำให้สองประเทศราวกับกำลังเต้นรำกันในหลายท่วงท่าซึ่งบางครั้งก็เข้าใกล้ บางครั้งก็ออกห่าง ปรับเปลี่ยนไปตาม "เพลงฉากหลัง" และบางครั้งก็มีการขัดผลประโยชน์กันโดยเฉพาะในเขตเอเชียตะวันออกจนต้องหยุดเพลงแล้วถกเถียงกันว่าควรจะเปิดเพลงแบบใด ใครจะเป็นคนเลือก

FPIF วิเคราะห์อีกว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนแตกต่างกันกับช่วงที่สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต โดยในกรณีของสหรัฐฯ กับโซเวียตนั้นมีความร่วมมือในระดับนานาชาติในเรื่องที่ไม่มีความสลักสำคัญแต่ก็ยอมให้ในเรื่องที่เกี่ยวกับอิทธิพลในพื้นที่ของตนเอง ส่วนในกรณีของจีนกับสหรัฐฯ นั้น สิ่งที่เป็นเรื่องท้าทายในอีก 10 ปีข้างหน้าคือการทูตของทั้งสองประเทศจะต้องไม่ทำให้ความไม่ลงรอยกันในระดับภูมิภาคมาทำลายความร่วมมือกันในระดับโลก


ความร่วมมือระดับโลก
ในช่วงปลายปี 2555 สีจิ้นผิง หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับความฝันของประเทศจีนไว้สี่ประการคือการทำให้ประเทศจีนมีความเข้มแข็ง ศิวิไลซ์ งดงาม และสามัคคี มีการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรขึ้นสองเท่าภายในปี 2563 เสริมความแข็งแกร่งเรื่องความมั่นคง และเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างเต็มตัว ผู้นำจีนยังพยายามขยายความฝันไปสู่ระดับภูมิภาคด้วย "กองทุนทางสายไหม" 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อพัฒนาโครงสร้างทั้งทางบกและทางทะเลโดยรอบประเทศจีน

แม้ว่าฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ จะมีความเห็นลงรอยกันกับจีนในเรื่องอำนาจและความมั่งคั่ง แต่ดูเหมือนว่าสภาคองเกรสจะยังคงมองจีนแบบไม่ไว้ใจและไม่ยอมให้มีอิทธิพลในสถาบันการเงินมากนัก

แต่ FPIF ก็วิเคราะห์ว่าสหรัฐฯ ดูเหมือนจะต้องพึ่งพาทางการเงินจากจีน จากการที่สหรัฐฯ เป็นหนี้จีนมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ อีกทั้งจีนยังเร่งซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2557 ทำให้เป็นการส่งเสริมการส่งออกของจีนโดยการทำให้ค่าเงินหยวนต่ำลง และทำให้ตลาดการเคหะเข้มแข็งขึ้นโดยการกดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ทางการสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาผู้ผลิตและผู้บริโภคในจีนในแง่การค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลกโดยรวม แม้ว่าในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นแล้วของจีนจะลดลง แต่สหรัฐฯ ก็ยังเรียกร้องให้ทางการจีนยังคงการค้าขายและการลงทุนกับต่างชาติไว้ในระดับสูง ซึ่งทางการจีนเองก็ต้องการทำตามด้วยหลายเหตุผลรวมถึงความมั่นคงของรัฐบาลเอง

แต่การเห็นพ้องด้านเศรษฐกิจก็ไม่ไปด้วยกันกับเรื่องปัญหาการใช้ทรัพยากรและเรื่องโลกร้อน เนื่องจากทางการจีนเน้นเรื่องการเติบโตโดยไม่สนใจในเรื่องอื่น ทำให้ทั้งสองประเทศนี้ไม่ลงรอยกันในเรื่องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน แม้ว่าจีนจะเสนอเพดานจำกัดการปล่อยก๊าซในระดับภูมิภาคแต่จีนเองยังคงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ระดับก๊าซคาร์บอนและปรากฏการณ์เรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อไม่นานมากนี้สหรัฐฯ ก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มเช่นกัน แม้ว่าทั้งสองประเทศจะพยายามเจรจาวางแนวทางปรับลดแต่ก็ยังไปด้วยกันไม่ได้ในเรื่องนี้

ในแง่ของกำลังการทหาร ทั้งสองประเทศนี้ก็มีผลประโยชน์คาบเกี่ยวกัน หนึ่งในนั่นคือการต่อต้านการก่อการร้าย โดยจีนร่วมมือกับนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งทางการจีนเองก็มีความกังวลในเรื่องแนวคิดการแบ่งแยกดินแดนในซินเจียงและความเกี่ยวข้องระหว่างการก่อการร้ายภายในประเทศและองค์กรก่อการร้ายภายนอกประเทศ แต่จนถึงตอนนี้ทางการจีนก็ยังไม่ได้ร่วมมือกับการโจมตีกลุ่มก่อการร้ายในอิรักและซีเรีย จีนยังคงทำตามนโยบายไม่แทรกแซงอย่างน้อยก็ในแง่ทางการ แต่พวกเขาก็อาจจะเปลี่ยนใจหลังจากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องระหว่างคนที่มีสัญชาติจีนกับกลุ่มติดอาวุธไอซิสรวมถึงความสนใจในแหล่งพลังงานในประเทศอิรัก

ทั้งสหรัฐฯ และจีนยังเป็นสมาชิกภาพความร่วมมือด้านการลดอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งสองชาติยังเคยร่วมมือกันเพื่อเจรจากับเกาหลีเหนือในเรื่องนี้แต่ก็ส่งผลเพียงเล็กน้อย และเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ กับอีกประเทศหนึ่งคืออิหร่าน จีนได้สนับสนุนให้มีการยับยั้งอาวุธนิวเคลียร์แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงในความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อิหร่านเช่น เรื่องความสัมพันธ์ทางการค้ารวมถึงการค้าอาวุธ

ในเชิงการทูต FPIF ระบุว่าแม้ก่อนหน้านี้จีนจะไม่ค่อยชื่นชมบทบาททางการทูตของสหรัฐฯ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในตอนนี้ดูเหมือนว่าจีนจะเริ่มเปลี่ยนท่าทีเนื่องจากจีนเริ่มทำข้อผูกมัดด้านเศรษฐกิจกับคนทั่วโลก จีนเคยมีบทบาทเชิญผู้นำอิสราเอลและปาเลสไตน์ร่วมเจรจาหารือกันในปี 2556 แต่ทั้งคู่ต่างก็ไปเยือนจีนคนละเมืองและไม่ได้พบกัน จีนยังเป็นคู่ค้าที่ดีกับกลุ่มประเทศละตินอเมริกาส่วนใหญ่ และเคยจัดประชุมกับกลุ่มผู้นำในทวีปแอฟริกาทุก 3 ปี มาตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว ขณะที่รัฐบาลโอบามาเพิ่งจะประกาศว่าจะขอให้ผู้นำแอฟริกันมารวมตัวประชุมที่วอชิงตันเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมานี้เอง

จีนยังแสดงท่าทีว่าจะเป็นคู่แข่งทางการเงินกับสหรัฐฯ เมื่อ 5 ประเทศกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้) ต่างร่วมจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาโดยตั้งสำนักงานใหญ่ในเซี่ยงไฮ้ แม้ว่าเหล่าผู้นำจะให้คำมั่นว่าจะมีการทำงานร่วมกับสถาบันเบรนตัน วูดส์ (ธนาคารโลก และไอเอ็มเอฟ) แต่ก็สามารถเป็นคู่แข่งในแง่การกำหนดบทบาทการพัฒนาตลาดได้ ซึ่งจีนไม่พอใจที่พวกเขาไม่สามารถสะท้อนอำนาจทางเศรษฐกิจได้ผ่านทางสถาบันเบรนตัน วูดส์ มานานแล้ว ธนาคารของ BRICS ยังมีการใช้เงินหลักเป็นเงินหยวนซึ่งจุดนี้อาจจะมาคานอำนาจเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการใช้อิทธิพลในสถาบันเบรนตัน วูดส์ อย่างไม่เหมาะสมของสหรัฐฯ ได้

เรื่องที่ดูมีเงื่อนงำที่สุดจากบทวิเคราะห์ของ FPIF น่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพสหรัฐฯ กับกองทัพจีนโดยตรง หลังจากที่ผู้นำทั้งสองประเทศพบกันเมื่อเดือน มิ.ย. 2556 เจ้าหน้าที่ทางทหารของจีนและสหรัฐฯ ก็พบปะกัน 4 ครั้ง และมีการเปิดเผยความร่วมมือทางการทหาร 8 จุด รวมถึงการที่จีนขอเข้าร่วมซ้อมรบ RIMPAC 2557 ที่ฮาวาย แต่ทางสภาคองเกรสยังคงไม่ไว้ใจจีนมากเท่าฝ่ายบริหาร

FPIF ระบุว่าแม้ว่าจะมีพื้นที่ให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโลก เปรียบเสมือนพื้นที่กลางฟลอร์เปิดให้ทั้งสองเข้าไปเต้นรำ แต่ปัญหามีอยู่ว่าใครจะเป็นคนขอเพลงในประเด็นของเอเชียตะวันออก


การเผชิญหน้าในระดับภูมิภาค
FPIF ระบุว่านอกจากเรื่องที่สหรัฐฯ กับจีนแข่งกันเรื่องความเป็นมหาอำนาจของโลกแล้วสิ่งที่ทำให้ทั้งสองชาติไม่สามารถมีความสัมพันธ์กันอย่างเต็มที่ได้คือเรื่องของการเผชิญหน้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ขณะที่สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรสองทางกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ มีพันธะทางการทหารในการช่วยปกป้องไต้หวัน และต้องรักษาผลประโยชน์ด้วยการรักษาช่องทางเดินทางทะเลในพื้นที่ไว้ ช่วงสงครามเย็นสหรัฐฯ ยังคงอำนาจด้วยการวางกำลังทหารไว้ แต่หลังการล่มสลายของโซเวียตและจีนเริ่มมีประสิทธิภาพทางการทหารมากขึ้น สหรัฐฯ ก็เริ่มปรับยุทธวิธี เลิกการเน้นตั้งฐานทัพอยู่กับที่ หันมาพัฒนาการรบทางทะเลและทางอากาศ รวมถึงดำเนินนโยบายศูนย์กลางแปซิฟิกแต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป้าหมายหลักๆ ไป

FPIF ระบุอีกว่าทางการสหรัฐฯ ยังรีรอที่จะเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติต่อจีนในเรื่องภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่นกรณีที่เกาะไห่หนานปี 2544 ที่เครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯ บินเข้าไปใกล้เกาะซึ่งเป็นพื้นที่ของจีนในระยะห่างราว 110 กม. จนทำให้จีนใช้เครื่องบินขับไล่ J-8 ติดตามจนมีการชนกันกลางอากาศ ซึ่งในกรณีนี้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมองว่าสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องนำเครื่องบินสอดแนมเข้าไปใกล้ขนาดนั้นเพราะพวกเขาได้รับข้อมูลที่เพียงพอแล้วจากการสอดแนมทางดาวเทียม ทางเรือดำน้ำ และทางบก แต่สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้จีนเห็นว่าตนอ่อนข้อและยอมลดปฏิบัติการทางอากาศตามที่จีนขอร้องซึ่งถ้าหากสหรัฐฯ ทำตามจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติ โดยสหรัฐฯ ยังคงอ้างว่าปฏิบัติการทางอากาศมีความจำเป็นเพราะประเทศจีนไม่มีความโปร่งใสมากพอในด้านการพัฒนาทางการทหาร

ไม่เพียงแค่การไม่ยอมเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐฯ เท่านั้น การที่จีนชอบอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนในแถบหมู่เกาะทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ เปิดโอกาสให้สหรัฐฯ ใช้จุดนี้เป็นการเสริมความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรและหาพันธมิตรเพิ่ม สหรัฐฯ สามารถผลักดันให้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายขอบเขตการใช้กำลังทหาร อีกทั้งยังเจรจาให้เกาหลีใต้มองว่าพัฒนาการทางทหารของจีนน่าเป็นห่วงรวมถึงการตั้งฐานทัพเรือที่เกาะเชจูโดยทางการเกาหลีใต้ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการสอดแนมและการป้องกันขีปนาวุธ นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังสามารถหารือข้อตกลงใหม่กับฟิลิปปินส์และได้รับความร่วมมือจากเวียดนามในเรื่องนโยบายความมั่นคง แม้กระทั่งมาเลเซียซึ่งก่อนหน้านี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนก็หันมาสนับสนุนที่ตั้งฐานทัพเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯ

นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งแถบทะเลจีนใต้ โดยพยายามคัดค้านการตั้งฐานขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทางทะเลที่มีข้อพิพาทกัน แต่ทางการจีนไม่ยอมรับแนวคิดการแทรกแซงเช่นนี้ แม้กระทั่งการนำข้อพิพาทเข้าสู่ศาลอนุญาโตตุลาการ จีนก็ไม่ยอมรับ

อย่างไรก็ตาม FPIF มองว่าทางการสหรัฐฯ เคยทำตัวไม่จริงใจมาก่อนโดยการเสนอตัวเป็นตัวกลางผู้เจรจาไกล่เกลี่ยทั้งๆ ที่พวกเขาเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจนโดยมีพันธมืตรอย่างฟิลิปปินส์และเวียดนาม นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับนโยบายการต่างประเทศแบบเดียวกับในตะวันออกกลางที่แม้จะแสดงตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยแต่ก็ยังส่งเงินสนับสนุนกองทัพอิสราเอล FPIF ระบุว่าถ้าสหรัฐฯ เชื่อเรื่องความร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายจะช่วยแก้ปัญหาได้จริง พวกเขาต้องเลือกเล่นบทเอาตัวเองเข้าว่าอย่างเดียวแล้วสนับสนุนกลไกหรือสถาบันที่มีความร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายจริง

โรเบิร์ต รอสส์ ศาตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตันคอลเลจและผู้ร่วมงานศูนย์จีนศึกษาที่ฮาร์วาร์ดระบุว่า รัฐบาลโอบามาต่างจากรัฐบาลอื่นตรงที่มีการท้าทายการพยายามขยายอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของจีน แต่ก็สร้างความย้อนแย้งในตัวเองเพราะแทนที่จะเป็นการถ่วงดุลอำนาจของจีนกลับกลายเป็นทำให้จีนมีท่าทีพร้อมสู้รบมากขึ้นเพราะการกระทำของพวกเขาทำให้ผู้นำจีนเชื่อว่าจะจีนต้องมีท่าทีแข็งกร้าวถึงจะขยายอำนาจได้อย่างมั่นคง

ความขัดแย้งของสหรัฐฯ และจีนยังขยายไปถึงเรื่องการค้า พวกเขาไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการค้าระดับภูมิภาคได้ สหรัฐฯ พยายามผลักดันหุ้นส่วนเศรษฐกิจทรานส์แปซิฟิก (TPP) โดยจีนสามารถร่วมได้แต่ต้องทำตามข้อกำหนดพื้นฐานซึ่งยากมากที่จีนจะทำได้ แต่ถ้าหาก TPP ดำเนินการต่อไปโดยไม่มีจีน ทางการจีนจะสูญเสียอย่างมาก ในขณะเดียวกันจีนก็มีข้อตกลงการค้าเอฟทีเอ (FTA) กับกลุ่มประเทศอาเซียนและเพิ่มข้อตกลงใหม่ๆ เข้าไป นอกจากนี้ยังพยายามผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยักษ์ใหญ่การส่งออกอย่างเกาหลีใต้

FPIF ระบุว่าขณะที่สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรค่อนข้างพอใจกับสถานะคงที่ในปัจจุบันของภูมิภาค แต่ดูเหมือนจีนจะไม่ได้พอใจด้วย จีนสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านการค้าและการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน จีนเคยยอมรับการมีอยู่ของกองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้มาก่อนแต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ จะมีอิสระมากขึ้นและเริ่มมีการพัฒนาทางการทหารมากขึ้นทำให้จีนเห็นว่าสถานะคงที่เช่นนี้เป็นเรื่องไม่ปลอดภัย อีกทั้งจีนยังไม่สนใจว่าสหรัฐฯ จะใช้แผนยุทธวิธีสร้างประสิทธิภาพและความเป็นอิสระให้กับประเทศพันธมิตรของเขาในภูมิภาคนี้ เมื่อระบบความมั่นคงในปัจจุบันของภูมิภาคไม่สามารถจัดการกับปัญหาความขัดแย้งจำนวนมากได้ อนาคตจะเป็นอย่างไร


ระบบพหุภาคีด้วยความไม่สมัครใจ?
FPIF ระบุว่าทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็มีความสัมพันธ์แบบพหุภาคีที่มีการตกลงนโยบายร่วมกันทั้งหลายฝ่ายในแบบที่กระท่อนกระแท่น ในฐานะประเทศมหาอำนาจทั้งคู่ต่างชอบใช้วิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยแบบร่วมกันสองฝ่ายหรือทวิภาคีมากกว่าเพราะพวกเขาจะได้คาดเดาและบรรลุเป้าหมายได้ง่ายกว่า พวกเขาไม่เก่งในเรื่องการสร้างผลลัพธ์แบบที่เป็นบวกสำหรับทุกฝ่ายผ่านระบบการตัดสินใจแบบพหุภาคีที่มีประเทศอื่นร่วมหารือด้วย ดูเหมือนว่าจีนจะคุ้นเคยระบบพหุภาคีน้อยกว่าสหรัฐฯ

ในประเด็นเรื่องภูมิภาคเอเชียตะวันออก สหรัฐฯ ยังคงไม่ยอมลดอำนาจนำเพราะกลัวว่าจะเปิดโอกาสให้จีนเพิ่มอำนาจตัวเองได้ ในขณะที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนทำตัวเป็นผู้ถือผลประโยชน์ที่ไม่มีความรับผิดชอบ ทางการจีนก็กล่าวหาสหรัฐฯ ว่าเป็นผู้ตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียว ข้อกล่าวหาของทั้งสองฝ่ายถือว่าถูกทั้งคู่ตราบใดที่ยังไม่มีการตัดสินใจแบบพหุภาคี

FPIF ระบุว่าทั้งสองประเทศต่างก็ต้องการ "ระบบพหุภาคีด้วยความสมัครใจ" ทางการสหรัฐฯ วางรากฐานระบบพหุภาคีในหมู่ประเทศพันธมิตรเช่นระบบไตรภาคีซึ่งร่วมกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จีนก็มีความพยายามในการสร้างโครงสร้งแบบเดียวกันจากองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ และระบบใหม่ของ BRICS ส่วนความท้าทายของประเด็นในเอเชียตะวันออกอยู่ที่การสร้าง "ระบบพหุภาคีด้วยความไม่สมัครใจ" ให้ได้

แม้ว่าการประชุม 6 ฝ่ายที่ผ่านมาซึ่งเกี่ยวกับการพยายามปลดอาวุธเกาหลีเหนือจะยังไม่ได้ผลตามเป้าหมายแต่ก็ถือเป็นแบบแผนที่ดีในการสร้างข้อตกลงชั่วคราวให้กับประเทศในภูมิภาค ตัวอย่างที่ดีกว่านี้ของพหุภาคีด้วยความไม่สมัครใจคือองค์กรเพื่อความร่วมมือและความมั่นคงในยุโรป (OSCE) ที่สหรัฐฯ และโซเวียตเคยร่วมหารือควบคุมด้านอาวุธกันในช่วงสงครามเย็น นอกจากนี้ OSCE ยังกลายเป็นพื้นที่หารือแบบพหุภาคีในประเด็นอื่นที่เกิดขึ้นจากสงครามเย็น เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องพรมแดน การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ

ทางการจีนและสหรัฐฯ อาจจะมีความร่วมมือแบบทวิภาคีแน่นแฟ้นขึ้นในประเด็นของโลกและอาจจะส่งผลในความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคเช่นเรื่องที่ตกลงกันว่าจะมีการประกาศเตือนก่อนหากจะมีการซ้อมรบในแถบเอเชียแปซิฟิก แต่สภาคองเกรสและการผลัดเปลี่ยนผู้นำของสหรัฐฯ มักจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศย้อนกลับไปเป็นแบบเดิม

บทความใน FPIF ระบุว่าแม้ทั้ง 2 ประเทศจะไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ในแบบการหารือระหว่างประเทศ วิธีที่ดีที่สุดคือการจัดตั้ง "ระบบพหุภาคีด้วยความไม่สมัครใจ" ในเอเชียตะวันออกจะช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศที่เล็กกว่าได้ แต่สหรัฐฯ และจีนจะต้องยอมประนีประนอมเพื่อให้เกิดผลลัพธ์

FPIF ระบุว่าถ้าหากสหรัฐฯ และจีนยังคงต้องการเล่นบทเจรจาแบบระหว่างสองประเทศต่อไป อาจจะดูเป็นการระแวดระวังป้องกันตัวแต่ก็อาจจะนำมาซึ่งการต้องจ่ายงบประมาณการทหารเพิ่มขึ้นและต้องแสดงท่าทีก้าวร้าวมากขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงการหารือกันเพียงสองฝ่ายคงไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงสำหรับทั้งสหรัฐฯ และจีนอีกต่อไป

 

เรียบเรียงจาก

The Dance of Superpowers, John Feffer, FPIF, 18-11-2014
http://fpif.org/dance-superpowers/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานวอลมาร์ทนัดประท้วงหยุดงานครั้งใหญ่ช่วง 'แบล็กฟรายเดย์'

$
0
0

คนงานวอลมาร์ท 23 คนถูกจับหลังปักหลักประท้วงที่แคลิฟอร์เนีย ในขณะที่กลุ่มคนงานทั่วสหรัฐฯ วางแผนประท้วงใหญ่วันที่มีการลดราคาสินค้าดึงดูดนักช้อปช่วงเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้า หวังจะมีผู้ประท้วงตามห้างค้าปลีกต่างๆ มากกว่า 1,600 แห่ง เพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำและปรับสภาพการจ้างงาน

23 พ.ย. 2557 คนงานวอลมาร์ท 23 คน ถูกจับกุมตัวหลังไปร่วมประท้วงปิดทางแยกในเมืองพิโค ริเวอรา รัฐแคลิฟอร์เนีย หน้าห้างวอลมาร์ทในย่านนั้นเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา

โดยกลุ่มคนงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนงานค่าแรงขั้นต่ำทั้งจากวอลมาร์ทและจากที่อื่นๆ ทั่วสหรัฐฯ ซึ่งพวกเขาไม่เพียงประท้วงเรียกร้องการขึ้นค่าแรงเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้มีการปรับชั่วโมงการทำงานและสภาพการจ้างงานที่ดีขึ้น และต้องการให้บรรษัทเลิกตอบโต้การเคลื่อนไหวของพวกเขา

คนงานกลุ่มดังกล่าวถูกจับตัวไปหลังจากร่วมปักหลักประท้วงครั้งสำคัญที่หน้าห้างค้าปลีกวอลมาร์ท โดยผู้ประท้วงเป็นคนงานที่ไม่ได้ทำงานในกะนั้น พวกเขาแสดงออกด้วยเขียนป้ายสีเขียวด้วยคำว่า "สไตร์ค" ที่หมายถึงการหยุดงานประท้วงพวกเขายังได้เดินไปตามช่องทางเดินที่มีลูกค้าผ่านไปมาพร้อมพากับตะโกนว่า "ลุกขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น! นั่งลง มีชีวิตที่ดีขึ้น!"

เว็บไซต์ Waging Nonviolence ระบุว่าการนั่งปักหลักประท้วงเป็นวิธีการเคลื่อนไหวของแรงงานที่มักจะใช้กันตั้งแต่ยุคเก่าซึ่งได้รับความนิยมจากช่วงคริสตศตวรรษที่ 1930 เมื่อกลุ่มสหภาพคนงานยูไนเต็ดออโต้นั่งปักหลักประท้วงที่สายพานประกอบชิ้นส่วนของโรงงานเจอเนอรัลมอเตอร์ที่เทศมณฑลฟลินท์ รัฐมิชิแกน ซึ่งในตอนนั้นการปิดโรงงานที่ฟลินท์ทำให้การผลิตของเจอเนอรัลมอเตอร์หยุดลงโดยสิ้นเชิงเพราะในตอนนั้นมีโรงงานของเจอเนอรัลมอเตอร์อยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้น

ฟิลิป เดรย์ นักประวัติศาสตร์แรงงานเคยเขียนในหนังสือเรื่องเกี่ยวกับสหภาพแรงงานว่า กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์จะได้รับผลกระทบจากการนั่งปักหลักประท้วงมากเพราะระบบการผลิตรถยนต์ต้องอาศัยการผลิตเป็นทอดๆ อย่างต่อเนื่องถ้าหากมีสายงานใดสายงานหนึ่งหยุดการผลิตจะทำให้โรงงานทั้งหมดไม่สามารถผลิตต่อได้ หลังจากการประท้วงหยุดงานจบลง สมาชิกของสหภาพก็มีเพิ่มมากขึ้นจาก 30,000 คนเป็น 500,000 คน ทั่วประเทศภายใน 1 ปี

ในกรณีของการประท้วงวอลมาร์ทล่าสุด มีการจัดตั้งแรงงานตั้งแต่เดือน ต.ค. 2555 ในตอนนั้นพวกเขาวางแผนนัดหยุดงานประท้วงที่ห้างวอลมาร์ทใน 12 เมือง เมื่อเดือนที่แล้วมีคนงานวอลมาร์ทราว 80 คนในไมอามีประท้วงด้วยการเดินออกจากที่ทำงาน หลังจากที่ในช่วง ก.ย. ปีนี้มีการประท้วงเพิ่มขึ้นอีก 15 เมือง จนถึงปี 2557 คนงานจากห้างวอลมาร์ท 2,100 สาขาร่วมลงนามเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 490 บาท) เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องของกลุ่มคนงานอาหารฟาสต์ฟู้ด

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานระบุว่าคนงานวอลมาร์ท 825,000 คน มีรายได้น้อยกว่า 25,000 ดอลลาร์ต่อปี (ราว 800,000 บาท) จากงานวิจัยของสภาคองเกรสระบุว่ามีคนงานวอลมาร์ทโดยเฉลี่ยในหนึ่งสาขาต้องการเงินช่วยเหลือโครงการสแตมป์อาหาร 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 32 ล้านบาท) เพื่อชดเชยค่าจ้างที่ต่ำ

ผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้มีการเพิ่มตำแหน่งงานแบบเต็มเวลามากขึ้น จากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อช่วงฤดูร้อนปีที่แล้วระบุว่าคนงานวอลมาร์ทมีพนักงานชั่วคราวอยู่ครึ่งหนึ่ง และคนงาน 600,000 คนในสาขาต่างๆ ถูกจ้างแบบไม่เต็มเวลา นอกจากนี้คนงานวอลมาร์ทยังบอกอีกว่าพวกเขาถูกเพ่งเล็งหรือแม้กระทั่งสั่งเลิกจ้างอย่างผิดกฎหมายจากการที่พวกเขาเป็นผู้จัดตั้งเพื่อนคนงาน

นอกจากนี้คนงานวอลมาร์ทยังวางแผนจัดประท้วงช่วงวันแบล็กฟรายเดย์ (วันที่ห้างต่างๆ ในสหรัฐฯ จะจัดลดราคาสินค้าถูกมากจนคนแห่กันไปจับจ่ายซื้อหาสินค้าจำนวนมาก) ครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งทางกลุ่ม OUR Walmart ร่วมกับสหภาพแรงงานอาหารและพาณิชยการเคยจัดการประท้วงในช่วงเวลาเดียวกันนี้ 2 ปีมาแล้ว เพื่อเป็นการสร้างความสนใจทั้งจากการปฏิบัติของบริษัทต่อลูกจ้างตลอดทั้งปีรวมถึงในช่วงเฉพาะเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าที่บริษัทเรียกตัวคนงานเพิ่มเพื่อใช้งานในวันแบล็กฟรายเดย์ โดยเมื่อปีที่แล้วมีการประท้วงของห้างค้าปลีกมากกว่า 1,500 แห่ง ซึ่งในปีนี้ผู้จัดหวังว่าจะมีการประท้วงเพิ่มขึ้นอีก 100 แห่ง

ในช่วงเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาทางวอลมาร์ทประกาศว่าจะเปิดห้างค้าปลีกในสาขาต่างๆ ตลอดช่วงเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าและขอให้คนงานมากกว่า 1 ล้านคนทำงานในช่วงวันหยุด ทางด้านการประท้วงของวอลมาร์ทจะมีสมาชิกชุมชนและสหภาพแรงงานสายอื่นๆ เข้าร่วมด้วยเช่นกลุ่มสมาพันธ์ครูอเมริกัน ซึ่งบอกว่าต้องการประท้วงแทนเด็กที่มาโรงเรียนโดยที่ยังหิวโหย ประธานของสมาพันธ์กล่าวว่านี่จะเป็น "การเคลื่อนไหวของครอบครัวแรงงานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคสมัยนี้"

วอลมาร์ทเป็นบรรษัทที่มีการจ้างงานมากที่สุดในสหรัฐฯ โดยมีลูกจ้าง 1.4 ล้านคนทั่วประเทศ นับเป็นร้อยละ 1 ของประชากรสหรัฐฯ ดั๊ก แมคมิลลัน ประธานบริหารของวอลมาร์ทตอบสนองต่อแรงกดดันด้วยการบอกว่าจะเลื่อนขั้นพนักงาน 6,000 คนทั่วประเทศที่ยังคงมีค่าแรงขั้นต่ำ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 230 บาท) ในขณะที่ค่าแรงโดยเฉลี่ยของคนงานวอลมาร์ทยังอยู่ที่ 8.81 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 280 บาท) แม้ทางบรรษัทจะอ้างว่าค่าแรงเฉลี่ยจริงๆ อยู่ที่ 11.83 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 380 บาท)

แต่ไม่ว่าค่าแรงเฉลี่ยจะเท่าใดก็ตาม สิ่งที่แน่ชัดคือความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากในวอลมาร์ทและในระบบเศรษฐกิจโดยรวม จากงานวิจัยของสถาบันนโยบายเศรษฐกิจระบุว่ามรดกของครอบครัววอลตัน (เจ้าของวอลมาร์ท) มีมูลค่าเทียบเป็นต่อปีมากกว่ารายได้ของครอบครัวคนผิวสีร้อยละ 79 ครอบครัวรวมกัน

เคียนนา โฮเวิร์ด คนงานวอลมาร์ทกล่าวผ่านถ้อยแถลงต่อสื่อว่า "พวกเรารู้ว่าวอลมาร์ทและครอบครัววอลตันสามารถจ่ายค่าแรงที่เป็นธรรมได้ พวกเรารู้ว่าพวกเรามีสิทธิ์ที่จะพูดถึงเรื่องนี้โดยไม่ต้องมีบรรษัทคอยข่มขู่คุกคามสิ่งที่พวกเรามีอยู่น้อยนิด"

กลุ่มแรงงานค้าปลีก แรงงานอาหารฟาสต์ฟู้ด กลายเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1930 แม้แต่ในช่วงแบล็กฟรายเดย์ การประท้วงวอลมาร์ทจึงเป็นหนทางในการทำให้ชีวิตคนงานจำนวนมากดีขึ้นและกลายเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการจัดตั้งคนในที่ทำงานค่าแรงต่ำผู้ที่เป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจในยุคนี้ทำให้ต้องพึ่งพาพวกเขามากขึ้น

 

เรียบเรียงจาก

Walmart workers strike as they gear up for largest Black Friday protest yet, Waging Nonviolence, 19-11-2014
http://wagingnonviolence.org/2014/11/walmart-workers-strike-black-friday-protest/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวบ 8 น.ศ. โปรยใบปลิว 'คิดถึงสมเจียม' ที่ท่าพระจันทร์

$
0
0








ภาพจากเพจ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย

 

24 พ.ย. 2557 มีรายงานว่า นักศึกษา 6 คน ซึ่งทำกิจกรรมโปรยใบปลิว 'คิดถึงสมเจียม' และนักศึกษาอีก 2 คนที่ถ่ายภาพกิจกรรม บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ชนะสงครามแล้ว

ข้อความในใบปลิวความว่า "ถึงยุคทมิฬมารจะครองเมืองด้วยควันปืน...แต่คนย่อมเป็นคน.." -จิตร ภูมิศักดิ์ โดยนำมาจากภาพ cover ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งเงียบไปหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. และกลับมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุดเมื่อเวลา 19.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปล่อยตัวนักศึกษา 2 คนสุดท้าย ที่ สน.สำราญราฏษร์ แล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านั้นมีการปล่อยตัว นักศึกษา 6 คนที่ สน.ชนะสงคราม โดยนักศึกษาทั้ง 8 ราย ต้องเซ็นรับในบันทึกการปรับทัศนคติ โดยไม่มีการดำเนินคดี แต่ถูกห้ามไม่ให้กระทำการดังกล่าวอีก หากกระทำอีกจะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป

บันทึกการปรับทัศนคติ

หลังจากนักศึกษาทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว ได้รวมตัวกันกินลาบที่ร้านอาหารใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบยืนควบคุมสถานการณ์อยู่ด้วย

ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ที่มาภาพ เพจ LLTD)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พรเพชร’ เผยยังไม่ได้รายงานถอด 38 ส.ว. และยังไม่ได้กำหนดแถลงเปิดคดี ‘สมศักดิ์ – นิคม’ และ ‘ยิ่งลักษณ์’

$
0
0

ปธ. สนช. เผยยังไม่ได้รับรายงานถอดถอน 38 ส.ว. จาก ป.ป.ช และยังไม่ได้กำหนดแถลงเปิดคดี ‘สมศักดิ์ – นิคม’ และ ‘ยิ่งลักษณ์’ โดยจะหารือในที่ประชุม สนช. ในสัปดาห์นี้

ที่มาภาพ : เว็บข่าวรัฐสภา

24 พ.ย. 2557 - ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการถอดถอน  นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และอดีตสมาชิกวุฒิสภา 38 คน ภายหลังจากให้การรับรองนายขิ่น อ่อง มินต์ ประธานสภาชาติพันธุ์สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าและคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

พรเพชร กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันแถลงเปิดคดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และคดีถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยต้องรอหารือในที่ประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 27-28 พฤศจิกายนนี้ เพื่อกำหนดวันแถลงเปิดคดีที่ชัดเจนอีกครั้ง หลังการรับฟังความเห็นของคู่ความทั้งสองฝ่ายประกอบกับการพิจารณาพยานหลักฐาน เอกสารเพิ่มเติมที่ได้มีการยื่นเข้ามาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ยืนยันว่า กรอบเวลาการพิจารณาที่ปรากฏในข่าวเป็นเพียงการคาดการณ์ของสื่อมวลชนเท่านั้น เท่านั้น ส่วนการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 38 คนออกจากตำแหน่ง กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานการไต่ส่วนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งหากได้รับรายงานก็จะดำเนินการเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่ รับไว้พิจารณาตามข้อบังคับ ขณะที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่อยู่ในกลุ่ม 38 อดีตส.ว.นั้น ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ แต่ไม่สามารถร่วมในกระบวนการพิจารณาคดีถอดถอนอดีต 38 ส.ว.ได้

ที่มาจาก : เว็บข่าวรัฐสภา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ ร้องไทยยกเลิก กม.จำกัดสิทธิ-ยุติปราบปรามปชช.

$
0
0


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 หลังจากที่กองทัพได้ยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารมากว่าหกเดือน โดยเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกกฎหมายจำกัดสิทธิดังกล่าว และให้ยุติการปราบปรามที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศที่อยู่ใต้การปกครองด้วยกฎอัยการศึก


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์ 
21 พฤศจิกายน 2557

ประเทศไทย: ผู้นำทหารต้องยุติการปราบปรามที่เพิ่มขึ้นหลังหกเดือนรัฐประหาร

ทางการไทยแถลงว่าไม่มีแผนการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกในเร็ววันนี้ หลังจากที่กองทัพได้ยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารมากว่าหกเดือน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้ทางการยกเลิกกฎหมายจำกัดสิทธิดังกล่าว และให้ยุติการปราบปรามที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศที่อยู่ใต้การปกครองด้วยกฎอัยการศึก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลว่า การปฏิเสธสิทธิมนุษยชนได้กลายเป็นมาตรฐานไปแล้ว ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการไทยยังคงใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเพื่อจับกุมคุมขังบุคคลหลายร้อยคนโดยพลการ และมีการนำตัวขึ้นไต่สวนในศาลทหารอย่างไม่เป็นธรรมที่ซึ่งไม่มีสิทธิอุทธรณ์คดี รวมทั้งยังมีข้อกล่าวหาการทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกหลายประการ

ผลจากมาตรการจำกัดสิทธิโดยสิ้นเชิงตามกฎอัยการศึก ซึ่งเดิมมีการประกาศว่าจะใช้เป็นมาตรการชั่วคราว เป็นเหตุให้มีหลายร้อยคนอาจได้รับโทษรวมทั้งการจำคุก โดยเป็นผลมาจากการใช้ สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ ทั้งการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม

ทางการใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อลงโทษบุคคลที่แสดงออกอย่างสงบ และยังปฏิเสธไม่ให้สิทธิประกันตัวตามกฎหมายต่อบุคคลจำนวนมากขึ้นที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย หรือมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี สำหรับการกระทำที่ถือว่าเป็น การดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอกระตุ้นให้ทางการแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงหกเดือน ที่ผ่านมา โดยต้องอนุญาตให้ประชาชนแสดงความเห็นและประท้วงได้อย่างสงบ ฟื้นฟูหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ ยกเลิกกฎหมายที่กดขี่ปราบปรามทั้งปวง และให้ยกเลิกบทลงโทษที่ไร้เหตุผลต่อผู้ประท้วงอย่างสงบ โดยรัฐอ้างว่าต้องลงโทษเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังเรียกร้องให้ทางการปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทย โดยให้ยุติการนำตัวพลเรือนขึ้นศาลทหาร และให้คืนความยุติธรรมและให้เยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งการควบคุมตัวโดยพลการ การซ้อมทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เทียนฉาย' ไม่หวั่นกระแสต้าน คสช. เชื่อไม่กระทบการปฏิรูป

$
0
0

ปธ. สปช. มั่นใจกระแสต้านรัฐบาลและคสช. ไม่กระทบการเดินหน้าปฏิรูป ด้านศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปเผยตัวเลข ประชาชน เสนอความคิดเห็น หลักพัน

ที่มาภาพ : เว็บข่าวรัฐสภา

24 พ.ย. 2557 - ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากรับฟังการยื่นข้อเสนอของกลุ่มปฏิรูปประเทศไทยเพื่อประชาชน ถึงประเด็นที่มีกลุ่มคนออกมาแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทำงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า มั่นใจว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการรวบรวมความเห็นของ สปช. และการปฏิรูปประเทศรวมทั้งไม่กังวลว่ากระแสต่อต้านดังกล่าวจะทำให้การปฏิรูปต้องสะดุดลง

เทียนฉายกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีข้อเสนอแนะเข้ามาจำนวนมาก ครอบคลุมทุกด้านทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และตั้งแต่สัปดาห์นี้จะมีความชัดเจนว่าจะเริ่มปฏิรูปในด้านใดก่อน โดยวันที่ 29 พ.ย.นี้ จะเป็นวันเริ่มต้นในการรวบรวมประเด็นจากคณะกรรมาธิการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทั้ง 18 คณะและจะมีเวลาถึง 20 วัน ก่อนจะสรุปประเด็นข้อเสนอแนะทั้งหมดจากทุกภาคส่วน เพื่อส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 19 ธ.ค. เพื่อนำไปประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมั่นใจว่าการดำเนินการจะเสร็จทันตามกรอบเวลา

ขณะเดียวกันศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติได้เปิดเผยตัวเลขขจำนวนครั้งที่ประชาชนได้เสนอความคิดเห็นเข้ามาที่ศูนย์ฯ ในสัปดาห์แรก ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชน 1,680 ครั้ง ผ่านช่องทางทั้ง 9 ช่องทาง โดยช่องทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเว็บไชต์ www.parliament.go.th/publicopinion ขณะที่ข้อมูลสถิติแบบแยกประเภทช่องทางการเสนอความคิดในช่วง 4 วันแรก (17-20 พ.ย. 2557) มีดังนี้

1. ยื่นด้วยตนเอง จำนวน 15 ครั้ง

 2. ทาง Call Center จำนวน 47 ครั้ง แยกเป็น เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2ครั้ง เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูป 44 ครั้ง เรื่องอื่นๆ 1ครั้ง

 3. ทางโทรศัพท์ 19 ครั้ง แยกเป็น เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 1 ครั้ง เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฎิรูป 12 ครั้ง เรื่องอื่นๆ 6 ครั้ง

 4. ทางไปรษณีย์ แยกเป็นทางตู้ ปณ.999 จำนวน 4 ครั้ง ไปรษณีย์ทั่วไป 12 ครั้ง

 5. ทางเว็บไซต์ มีผู้เข้าใช้บริการ 621 คน มีจำนวนผู้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 4 ครั้ง เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูป 6 ครั้ง เรื่องอื่นๆ 1 ครั้ง

6. ทางอีเมล์ 12 ครั้ง แยกเป็น เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 4 ครั้ง เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูป 8 ครั้ง

7. ทางไลน์ พบว่ามีจำนวนผู้แอดไลน์ 244 ไลน์ เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูป 28 ครั้ง และ

8.ทางเฟซบุ๊ก พบว่า มีผู้กดไลค์แฟนเพจ 323 เฟซบุ๊ก เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูป 16 ครั้ง เรื่องอื่นๆ 6 ครั้ง

 

เรียบเรียงจาก : เว็บข่าวรัฐสภา , ASTVผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘วรเจตน์’ ยื่นตีความประกาศคสช.ขัดรธน. ศาลทหารเลื่อนตรวจหลักฐาน ม.ค.ปีหน้า

$
0
0

‘วรเจตน์’ ขึ้นศาลทหาร นัดตรวจพยานหลักฐานสู้คดีขัดคำสั่งคสช. พร้อมทำคำร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอำนาจศาลทหาร ชี้ประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 และ38/2557 ขัดรธน.ชั่วคราว ศาลฯนัดอีกครั้ง 26 ม.ค.58

24 พ.ย.2557 ที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ ถ.หลักเมือง คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพได้นัดตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขดำ 32 ก./2557 ที่อัยการทหารเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค.2557 และฉบับที่ 57/2557 ลงวันที่ 9 มิ.ย.2557 ซึ่งความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยอัยการทหารยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา

จากนั้นเวลา 11.00 น. นายวรเจตน์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้เป็นการนัดตรวจพยานหลักฐานของฝ่ายโจทย์ ส่วนทางตนและทนายความได้มีการยื่นคำร้องในประเด็นที่ว่าประกาศของคสช. ฉบับที่ 37/2557 และ38/2557 ที่ให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหารกรุงเทพนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เนื่องจากประเทศไทยเป็นภาคีประเทศสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) ซึ่งในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้พันธะกรณีที่ไทยมีอยู่นั้นต้องผูกพันด้วย ทั้งนี้ในไอซีซีพีอาร์ระบุไว้ว่าศาลต้องเป็นอิสระ และในคดีอาญาทางจำเลยต้องมีโอกาสอุทธรณ์คำตัดสิน ในกรณีของตนนั้นมีปัญหาเรื่องความเป็นอิสระของศาล เพราะศาลทหารกรุงเทพเป็นองค์กรอยู่ในกระทรวงกลาโหม ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับไอซีซีพีอาร์ อีกทั้งคดีดังกล่าวเป็นการขึ้นศาลทหารฯช่วงที่ประกาศกฎอัยการศึก คือเมื่อศาลทหารฯตัดสินคดีก็จะจบทันที ตนไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ นายวรเจตน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติให้ประกาศหรือคำสั่งของคสช. ชอบตามรัฐธรรมนูญฯและเป็นที่สุด ทำให้สงสัยว่าจะสามารถโต้แย้งได้อย่างไร แต่มีประเด็นว่าในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญฯนั้นบัญญัติให้ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาด้วยความยุติธรรมตามกฎหมายดังนั้นการตีความของรัฐธรรมนูญจะต้องมีเรื่องความยุติธรรมด้วย การตัดสินคดีโดยศาลชั้นเดียวไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม ดังนั้นประกาศของคสช.จึงถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญฯมาตรา 47 ซึ่งคาดว่าจะขัดกับมาตรา 4 และมาตรา 26 ตนจึงทำคำร้องขอให้ศาลทหารส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ซึ่งศาลทหารได้รับคำร้องนี้ไว้และจะมีคำสั่งในวันที่ 26 ม.ค. 2558 พร้อมกับนัดตรวจพยานโจทย์

“วันนี้เราพูดถึงเรื่องประกาศของคสช.และอำนาจของศาลทหาร ที่ต้องดูว่าศาลทหารจะพิจารณาอย่างไรต่อไป เพราะยังไม่ทราบต้องรอวันที่ 26 ม.ค. 2558 ว่าจะเดินสถานะใดต่อไป ประกาศคสช.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว และเขียนข้อความทำให้เห็นได้ว่ามีการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพาะฉะนั้นต้องมีองค์กรชี้ก่อนว่าประกาศคสช.ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายวรเจตน์ กล่าว

ทั้งนี้ โดยการนัดตรวจพยานหลักฐานครั้งนี้ ทางคณะตุลาการศาลฯได้อนุญาตให้ตัวแทนสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฝรั่งเศสและเยอรมัน เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีดังกล่าวด้วย แต่ไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์สื่อสาร เครื่องบันทึกเทป หรือสมุดจดเข้าไปในห้องพิจารณาคดีอย่างเด็ดขาด

เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์, คมชัดลึกออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อคนรวยและมีอำนาจในบราซิล อาจจะไม่ได้อยู่เหนือกฎหมายอีกต่อไป

$
0
0

ในช่วงที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมในบราซิลเริ่มมีการปรับเปลี่ยนทำให้บุคคลร่ำรวยหรืออยู่ในระดับสูงไม่สามารถลอยนวลจากความผิดที่ก่ออีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงของบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่คอร์รัปชันหรือผู้พิพากษาที่เบ่งใส่ตำรวจจราจร


24 พ.ย. 2557 สำนักข่าวโกลบอลโพสต์รายงานว่าเมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พนักงานอัยการรัฐหลายคนในบราซิลเริ่มดำเนินการฟ้องร้องชนชั้นนำที่กระทำความผิด ทำให้ผู้สังเกตการณ์ประเทศบราซิลมีความหวังว่าบราซิลจะเริ่มเอาจริงเอาจังกับการดำเนินคดีกับผู้อยู่ในสังคมระดับสูง

นับตั้งแต่ประเทศบราซิลเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 1980 กลุ่มคนรวยและผู้มีอำนาจในบราซิลต่างก็กระทำความผิดต่างๆ แล้วยังลอยนวลอยู่ได้ โดยไม่เพียงแค่มีการทุจริตคอร์รัปชันแพร่กระจายไปทั่วเท่านั้น ความผิดต่างๆ เหล่านี้ยังไม่เคยถูกสอบสวนหรือมีการดำเนินการใดๆ เลย แต่จากเทรนด์ในบราซิลตอนนี้ดูเหมือนว่าเรื่องราวกำลังจะเปลี่ยนไป

ชาวบราซิลใช้ 'แฮชแท็ก' ในทวิตเตอร์เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับคดีความต่างๆ 3 คดี ซึ่งทั้ง 3 คดีเกี่ยวพันกับชนชั้นนำในบราซิลทั้งสิ้น

แฮชแท็กแรกคือ #Petrobras หรือกรณีบริษัทเปโตรบราส ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงานของบราซิลซึ่งเป็นแบบกึ่งรัฐกึ่งเอกชน บริษัทนี้ไม่เพียงแค่มีเงินมหาศาลหลายพันล้านดอลลาร์เท่านั้นแต่ยังถูกกล่าวหาว่ามีการฟอกเงินและตั้งราคาสูงทำกำไรเกินจริง (profit-skimming) ทำให้อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเปโตรบราสและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในบราซิลตกเป็นผู้ต้องหา ถือเป็นการกล่าวหากลุ่มผู้บริหารและคนของรัฐบาลในบริษัทที่อำนาจมากในบราซิล ในตอนนี้มีผู้ถูกจับกุมแล้ว 27 ราย

นอกจากนี้อัยการของบราซิลยังเปิดเผยอีกว่าเงินที่ยักยอกจากเปโตรบราสไปนั้นมีการนำไปใช้กับการรณรงค์ทางการเมืองรวมถึงพรรคแรงงานของประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ ด้วย ซึ่งรุสเซฟฟ์และพรรคการเมืองอื่นๆ ก็คอยปฏิเสธข้อกล่าวหานี้โดยตลอด

อย่างไรก็ตามรุสเซฟฟ์ยอมรับว่าคดีนี้มีความสำคัญในระดับที่อาจจะเป็นการเปลี่ยนประเทศได้จากการทำให้ 'การลอยนวล' เหนือความผิดหมดไป

เปาโล โซเตโร ผู้อำนวยการสถาบันบราซิลที่ศูนย์วิลสันวูดโรว์ในวอชังตันดีซีกล่าวว่าคดีเปโตรบราสเป็นคดีที่สะท้อนคดีใหญ่อีกคดีหนึ่งก่อนหน้านี้ที่ชื่อ "คดีเมนซาเลา" (คดีเงินเดือนสูง) ที่มีการดำเนินคดีในปี 2555 ในคดีนั้นทำให้มีนักการเมือง 18 คนถูกตั้งข้อหาเรื่องซื้อเสียงและทำให้เสนาธิการทหารในสมัยของประธานาธิบดีลุลา ดา ซิลว่า ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

โซเตโรกล่าวถึงคดีเมนซาเลาว่าในตอนนั้นผู้คนคิดว่าเรื่องจะจบลงโดยมีการจัดสรรผลประโยชน์กันในหมู่ชนชั้นนำแล้วก็จบไป แต่กลายเป็นว่ามีคนถูกพิจารณาให้มีความผิด 25 คน มีบางคนถูกส่งเข้าคุก คดีเมนซาเลาจึงเป็นคดีที่ยุติความคิดที่ว่าการดำเนินคดีกับชนชั้นนำจะยุติลงที่การ 'แบ่งเค้ก' และลอยนวลเหนือความผิด

โซเตโรกล่าวอีกว่าคดีเปโตรบราสก็เช่นเดียวกับกรณีเมนซาเลา มันเป็นสัญญาณว่าระบบยุติธรรมของบราซิลมีการเติบโตและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเน้นย้ำในเรื่องหลักนิติธรรม

คดีต่อมาที่ถูกกล่าวถึงคือ #EikeBatistaClasseMedia หรือ "คดีชนชั้นกลางไอเก บาติสตา" ซึ่งไอเก บาติสตา ถือว่าเป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในบราซิลจากการจัดอันดับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เขาสืบทอดกิจการต่อจากบรรษัทด้านเหมืองเงินและทอง รวมถึงการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่เมื่อปีที่แล้วมีการเปิดเผยว่าโครงการสำรวจนอกชายฝั่งของเขาล้มเหลว ทำให้บรรษัทของเขาล่มสลาย

บาติสตาสูญเสียทรัพย์สินของเขาไปหลังจากที่หุ้นของบรรษัทเขาดิ่งลงฮวบฮาบ เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาเขากล่าวให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ในบราซิลว่าการสูญเสียของเขาทำให้เขากลับไปเป็นชนชั้นกลางด้วย "เสียงร่วงตุ้บขนาดใหญ่" ซึ่งคำๆ นี้กลายมาเป็นสิ่งที่ถูกล้อเลียนทั่วเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย

แต่บาติสตาเจอปัญหามากกว่านั้นเมื่อเขากำลังถูกสอบสวนเรื่องการซื้อขายหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลวงใน (insider trading) และยังถูกกล่าวหาว่าเทขายหุ้นของบรรษัทตนหลายล้านดอลลาร์เพื่อไม่ให้สูญเสียทางการเงินไปมากกว่านี้ แต่บาติสตาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยพยายามชี้ให้เห็นว่าเขาสูญเสียไปหลายพันล้านในช่วงที่หุ้นตก

ในวอลล์สตรีท คดีซื้อขายหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลวงในอาจจะเป็นสิ่งที่ดูธรรมดาไปแล้วแต่สำหรับในบราซิลคดีของบาติสตาเป็นเรื่องใหม่เพราะไม่มีใครเคยต้องเข้าคุกจากคดีแบบนี้มาก่อน

เจมี คูเปอร์ ศาตราจารย์ด้านกฎหมายจากวิทยาลัยกฎหมายแคลิฟอร์เนียเวสเทิร์นในซานดิเอโก ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบกฎหมายอเมริกาใต้กล่าวว่า คดีของบาติสตาแสดงให้เห็นว่าบราซิลเริ่มมีการท้าทายเพื่อตรวจสอบบุคคลที่มีอำนาจด้วยวิธีการที่เป็นประชาธิปไตย แม้ว่าอาจจะยังสรุปให้ดูยิ่งใหญ่ไม่ได้แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี

คดีที่สามคือคดี #Juiznaoedeus ที่แปลว่า "ผู้พิพากษาไม่ใช่พระเจ้า" คดีนี้มาจากการพยายามเอาตัวเองพ้นผิดของผู้พิพากษาคนหนึ่งทำให้มีผู้ทราบเหตุการณ์ไม่พอใจอย่างมาก และเป็นบทสะท้อนว่าสำหรับในบราซิลไม่ใช่แค่ชนชั้นนำที่มีชื่อเสียงเท่านั้นจะถูกตัดสินไม่ให้ลอยนวล แต่ผู้พิพากษาที่ทำความผิดเสียเองก็หนีไม่พ้น

เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นมาจากรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้พิพากษาโจเอา คาร์ลอส เดอ เซาซา คอร์เรีย เขาถูกสั่งให้หยุดที่ด่านตรวจคนเมาแล้วขับที่ริโอเดอจาเนโร เขาขับรถโดยไม่มีใบขับขี่รวมถึงไม่มีป้ายทะเบียนทำให้ตำรวจจราจรชื่อลูเซียนา แทมบูรินี ออกใบสั่งแต่เซาซา คอร์เรีย ก็โต้ตอบด้วยความโมโหแล้วประกาศว่าเขาเป็นผู้พิพากษา แต่แทมบูรินีก้กล่าวตอบว่า "คุณอาจจะเป็นผู้พิพากษา แต่คุณไม่ใช่พระเจ้า"

จากนั้นแทมบูรินีก็ถูกตัดสินดำเนินคดีข้อหา "ล่วงละเมิดผู้มีบรรดาศักดิ์" ซึ่งหมายถึงผู้พิพากษาและถูกสั่งปรับเป็นเงิน 2,000 ดอลลาร์ (ราว 65,000 บาท) แต่การลงโทษก็ยังอยู่ในขั้นตอนการอุทธรณ์ หลังจากที่สื่อรายงานเรื่องราวนี้แล้วก็มีการลงขันบริจาคเพื่อเป็นเงินต่อสู้คดีให้กับแทมบูรินีมากกว่า 27,000 ดอลลาร์ (ราว 886,000 บาท)

นอกจากนี้ชาวบราซิลตามโซเชียลมีเดียก็เรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับ เซาซา คอร์เรีย ตามกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีการล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องให้ปลดเขาออกจากตำแหน่ง สมาคมนักกฎหมายบราซิลสาขาริโอเดอจาเนโรยังได้เรียกร้องให้มีการสั่งพักงานเขาทันที แม้ว่าเซาซา คอร์เรีย จะยังไม่ถูกดำเนินการใดๆ ในตอนนี้แต่การตอบโต้จากสาธารณชน จากสื่อ และจากสมาคมนักกฎหมายก็แสดงให้เห็นว่าเขามีปัญหาแล้ว

 

เรียบเรียงจาก

Brazil's rich and powerful may no longer be above the law, Global Post, 20-11-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/americas/brazil/141118/hashtags-brazilian-justice-cases-petrobras

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบปลิวต้าน คสช. โผล่ ห้องน้ำตึก อ.มช. นอกเครื่องแบบเฝ้าจับตากว่า 30 นาย

$
0
0

25 พ.ย. 2557 –  มีรายงานว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โปรยใบปลิวต้าน คสช. บริเวณห้องน้ำในตึกองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่(อ.มช.) หลังจากไม่สามารถจัดงานเสวนา "กินข้าวถกปัญหา กิจกรรมนักศึกษา ภายใต้กฏอัยการศึก"  ได้เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่หารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาเฝ้าจับตาอยู่บริเวณโดยรอบอาคารกว่า 30 นาย ซึ่งข้อความในใบปลิวระบุว่า “หยุดคุกคาม นักศึกษา” “Dictator get out” และ “No coup”  เบื้องต้นยังไม่มีการเข้าควบคุมตัวนักศึกษาแต่อย่างใด

หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมเสวนาให้ข้อมูลว่า วันนี้ตามเดิมจะมีการจัดเสวนาขึ้น โดยตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับนักศึกษามาพูดคุยกัน แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจนอกเครื่องแบบ เข้ามาบริเวณตึกอ.มช. จึงไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ได้จัดกิจกรรมประดับธงตึก อ.มช. ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของนักศึกษา เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการจัดกิจกรรมลักษณะนี้มาก่อน แต่มาจัดวันเดียวกับวันที่จะมีการจัดเสวนา

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมชาวนาขอสภาปฏิรูปแห่งชาติออกกฎหมายสงวนอาชีพกสิกร

$
0
0

เทียนฉาย กีระนันท์ รับหนังสือจากสมาคมชาวนาไทย ขอให้รัฐออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ รักษาอาชีพกสิกรรมคู่ประเทศไทย คุ้มครองพันธุ์ข้าว-พืช-สัตว์ สนับสนุนชาวนาให้ดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี คุณภาพชีวิตดี

25 พ.ย. 2557 - เว็บไซต์รัฐสภารายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  รับหนังสือจาก นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ว่าที่ประธานสหพันธ์สมาคมชาวนาไทย (สชท.) โดยได้รวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้การแก้ปัญหาชาวนามีทิศทางชัดเจนในระยะยาว จึงขอยื่นข้อเสนอแนะ ต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1. รัฐพึงธำรงรักษาอาชีพการทำกสิกรรมไว้คู่กับประเทศไทย

2. รัฐพึงคุ้มครองพันธุกรรมข้าว พืช และสัตว์ที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือเกษตรชาวนาไทย ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความยั่งยืนในการประกอบสัมมาชีพเกษตรกรรม

3. รัฐต้องออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องในข้อ 1 และ 2 และให้สามารถบังคับใช้ได้ภายใน 2 ปี

โดยประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้กล่าวขอบคุณสหพันธ์สมาคมชาวนาไทย ที่ช่วยกันคิดและพิจารณา และเสนอแนะความเห็นต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ  ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้นำมาเป็นกรอบกำหนดแนวทางในการปฏิรูปที่เกี่ยวข้องกับชาวนาต่อไป ทั้งนี้ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับชาวนานั้นมีความหลากหลาย และถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำการปฏิรูปเพื่อจะได้แก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ และเท่าเทียมต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์นกพิราบ lll

$
0
0

หกเดือนรัฐประหารสืบชะตา
เหล่าอีการุมทึ้งพิราบขาว
ไล่ล่าแห่ประจานจับขึงราว
บิดข่าวสารเบือนความจริงอ้างปรองดอง

จับหนึ่งเพิ่มข้อหาหากฝ่าฝื
แล้วจะคืนความสุขให้ไทยทั้งผอง
คนเป็นคนแค่เห็นต่างถูกจำจอ
ส่งฟ้องหนึ่งหนึ่งสองเป็นว่าเล่น

ดีแต่ข่มดีแต่ขู่สร้างความกลัว
ชั่วแต่พูดชั่วแต่พล่ามห้ามความเห็น
คำสั่งห้ามเคลื่อนไหวบีบให้เซ็น
ขู่เข็ญด้วยภัยมืดตามคุกคาม

ไล่ผู้คนออกจากถิ่นที่อยู่
ตู่ว่าปฏิรูปอยู่อย่าได้ถาม
หากนอกลู่นอกยามต้องปราบปรา
ชูสามนิ้วเข้าล้อมจับทั้งกรมกอง

วาทกรรมปรองดองเคลือบยาพิษ
ได้แต่ลิดรอนสิทธิชนทั้งผอง
กฎอัยการศึกคงอำนาจไว้คะนอง
คอยจับจ้องฟ้องข้อหาประชาชน

ทบทวีนักโทษการเมืองจนล้นคุ
นี้จะปลุกผู้คนล้นท้องถนน
ทั้งสามัญชนผู้ไม่ยอมจำนน
อีกผองชนให้ลุกตื่นจากฝันร้าย

เหล่าพิราบถูกหักปีกแหว่งวิ่น
แต่ยังโบยบินไม่สิ้นสูญสลาย
ท่านฆ่าเราเกิดใหม่ใช่ตกตาย
ปลุกสหายนกพิราบอีกร้อยพัน
.................................................................

“แม้แต่ระบอบเผด็จการทหารที่เข้มแข็งในฟิลิปปินส์ปี 1986 ก็ยังถูกโค่นล้มลงได้เมื่อประชาชนลุกฮือขึ้นและปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ”

#WeAreEverywhere #เราอยู่ทุกหนแห่ง
…………………………………………………………….

แถลงการณ์นกพิราบ lll

เราขอเรียกร้องให้คณะรัฐประหาร คสช. นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

1. ยกเลิกกฎอัยการศึก
กฎอัยการศึกคือเครื่องมือคุกคามสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาและประชาชน การใช้กฎอัยการศึกปิดปากผู้คนรังแต่จะทำให้สังคมไทยตกอยู่ในวงจรความขัดแย้งรุนแรงไม่สิ้นสุด เราเชื่อว่ากระบวนการปรองดองจะเกิดขึ้นได้ตราบที่ความยุติธรรมบังเกิด ตราบที่ผู้คนได้แสดงออกซึ่งความคิดความเห็นที่แตกต่างอย่างมีเสรีภาพ

2. ปล่อยนักโทษการเมือง
ให้พวกเขาได้มีสิทธิสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ หยุดนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ประชาชนมิใช่เชลยศึก พวกเขาเพียงแสดงออกซึ่งความเห็นต่าง พวกเขามิใช่อาชญากรที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

3. คืนอำนาจให้ประชาชน
เราเห็นว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย วิธีจัดการความขัดแย้งตามกลไกประชาธิปไตยคือการที่คนทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่าเทียมกันโดยถ้วนหน้า ขอให้เราได้เดินหน้าสู่การปฏิรูปประเทศด้วยกันโดยถ้วนทั่ว เพราะเราเป็นประชาชนของประเทศนี้เท่าๆ กับท่าน

จากฉันถึงเธอ
ในห้วงเวลา 6 เดือนหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
25 พ.ย. 2557

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธ.ทีดีอาร์ไอเตือนอนาคตไทยจะเป็นชาติ "แก่ก่อนรวย" หากหลุดไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง

$
0
0

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เตือนอีก 10 ปี ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ถ้าไม่หลุดกับดักรายได้ปานกลางจะเป็นชาติ "แก่ก่อนรวย" พร้อมฉาย 3 ภาพ เมืองไทยอีก 30 ปี ระบุ 4 กุญแจเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตที่พึงปรารถนาต้องมีทุนมนุษย์คุณภาพสูง จัดสรรเงินทุนก่อให้เกิดผลิตภาพ รัฐมีประสิทธิภาพ ระบบเศรษฐกิจเปิดกว้าง

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

แบบจำลองภาพเศรษฐกิจไทยใน 3 ทศวรรษข้างหน้า

25 พ.ย. 2557 - ในงานสัมมนาวิชาการทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2557 เรื่อง ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า : สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวเปิดประเด็น โดยระบุว่า

"ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อทำให้รัฐบาล ธุรกิจและประชาชนไทยสนใจเฉพาะปัญหาระยะสั้นมากกว่าปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้พ้น “กับดักรายได้ปานกลาง” การปฏิรูปการศึกษาและการรักษาสิ่งแวดล้อม

ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2025 และในอีก 30 ปีไทยจะมีคนสูงอายุถึง 36% หากไม่สามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ทัน ไทยจะกลายเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่ “แก่ก่อนรวย” และ “แก่โดยไม่มีสวัสดิการเพียงพอ” เพราะกองทุนประกันสังคมจะมีปัญหาจนถึงขั้นล้มละลายในประมาณปี 2045 หากไม่มีการปฏิรูปอย่างทันการณ์

ที่ผ่านมา ไทยเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมโดยไม่พัฒนาเทคโนโลยี เน้นส่งออกไปยังตลาดโลกโดยกดค่าแรงให้ต่ำเพื่อให้แข่งขันได้ และไม่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ การพัฒนาจึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและปัญหาสิ่งแวดล้อมมาก ในอนาคต ไทยจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับไปสู่ยุทธศาสตร์พัฒนาใหม่ ที่เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มบนฐานนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น"

สมเกียรติ อภิปรายว่า เพื่อให้เห็นถึงภาพอนาคตเศรษฐกิจไทยใน 3 ทศวรรษหน้า และความท้าทายต่างๆ บทความนี้จะยกตัวอย่างภาพสถานการณ์ที่เป็นไปได้ (possible scenario) 3 ภาพคือ

 

ภาพสถานการณ์ 1 “ประเทศไทยไปเรื่อยๆ”

การพัฒนาในภาพสถานการณ์นี้คล้ายกับแนวทางในปัจจุบัน แต่อัตราการเติบโตเฉลี่ยจะลดลงเหลือ 3.55% ต่อปี ซึ่งทำให้คนไทยมีรายได้ต่อหัว 17,000 ดอลลาร์ในปี 2045 และหลุดพ้นจากระดับรายได้ปานกลางในปี 2036 หรือหลังจากเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์กว่าทศวรรษ

ไทยจะมีแรงงานในระบบเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในปี 2045 และในปีนั้น ดัชนีความเหลื่อมล้ำ (Gini coefficient) จะอยู่ที่ระดับ 0.37 ซึ่งต่ำกว่าปัจจุบันเล็กน้อย จากแรงกดดันให้มีการกระจายรายได้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประเทศในแนวทางเดิมจะทำให้ไทยยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป นอกจากนี้ การคาดการณ์ว่าไทยจะพ้นระดับรายได้ปานกลางในปี 2036 นั้นยังมองโลกแง่ดีเกินไป เพราะไม่ได้พิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น หากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างรุนแรง การเปลี่ยนผ่านจะล่าช้าออกไป 2 ปี หากรัฐบาลดำเนินนโยบายประชานิยม โดยใช้เงินปีละ 1 แสนล้านบาท จะทำให้เปลี่ยนผ่านล่าช้าออกไป 4 ปี หากเกิดวิกฤติอัตราแลกเปลี่ยน หรือวิกฤติธนาคาร การเปลี่ยนผ่านจะล่าช้าออกไป 2 ปี และ 4 ปีตามลำดับ และหากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง การเปลี่ยนผ่านก็จะล่าช้าออกไปอีก ดังนั้น ในกรณีที่การบริหารความเสี่ยงผิดพลาด ไทยจะไม่พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางแม้ใน 3 ทศวรรษหน้า

 

ภาพสถานการณ์ 2 สู่ “ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า”

เศรษฐกิจไทยจะถูกขับเคลื่อนจากการยกระดับผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมจากการนำเอาระบบการผลิตแบบลีนมาใช้อย่างกว้างขวาง การทำ R&D การออกแบบและพัฒนาแบรนด์สินค้า ตลอดจนการย้ายการผลิตมูลค่าเพิ่มต่ำไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

คนไทยจะมีรายได้ต่อหัว 23,700 ดอลลาร์ในปี 2045 จากอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.6% ต่อปี ซึ่งทำให้พ้นระดับรายได้ปานกลางในปี 2028 หรือหลังจากเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์เล็กน้อย อุตสาหกรรมจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็น 64% ของ GDP และมีแรงงานในระบบเพิ่มเป็น 67% อย่างไรก็ตาม การเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมจะทำให้มีปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น เพราะประโยชน์ตกอยู่กับเจ้าของทุน

ในภาพนี้ รัฐบาลต้องมีนโยบายที่เหมาะสมเช่น เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพสูง พัฒนาวิศวกรและช่างเทคนิค รณรงค์ให้ภาคเอกชนเพิ่มผลิตภาพและสร้างนวัตกรรม ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลไม่ควรดึงดูดแรงงานข้ามชาติทักษะต่ำเข้ามาในไทย เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมพึ่งพาแรงงานราคาถูกต่อไป

 

ภาพสถานการณ์ 3 สู่ “ประเทศเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้”

การพัฒนาเศรษฐกิจไทยจะเน้นการพัฒนาภาคเกษตรดั้งเดิมให้เป็นภาคเกษตรทันสมัย โดยใช้เครื่องจักร เทคโนโลยี ทำวิจัยและพัฒนา บริหารการผลิตรองรับการผลิตอาหารปลอดภัย และการพัฒนาภาคบริการให้เป็นบริการฐานความรู้ โดยเปิดเสรีภาคบริการ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและพัฒนาแรงงานให้มีทักษะทั่วไปที่มีคุณภาพสูง

รายได้ต่อหัวของคนไทยในปี 2045 จะสูงขึ้นถึง 28,400 ดอลลาร์ โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 5.2% ต่อปี ทำให้ไทยพ้นระดับรายได้ปานกลางในปี 2028 ภาคบริการมีมูลค่าเพิ่มเป็น 59.3% ของ GDP โดยเป็นบริการฐานความรู้ 30.8% ในขณะที่ภาคเกษตรเล็กลงเหลือ 3.8% ของ GDP ในภาพนี้ ดัชนีความเหลื่อมล้ำจะลดลงเหลือ 0.33 เนื่องจากรายได้ของแรงงานเพิ่มขึ้น และจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง เนื่องจากใช้พลังงานต่ำกว่าอุตสาหกรรม

ในภาพนี้ รัฐบาลจะต้องไม่มีนโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรมากจนเกษตรกรมุ่งผลิตสินค้าในเชิงปริมาณ โดยไม่สนใจคุณภาพ และต้องไม่คุ้มครองบริการที่ผูกขาด ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนสูงต่อเศรษฐกิจ

 

เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยในปี 2045 ใน 3 ภาพสถานการณ์ (ดูตารางประกอบ) จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้ น่าจะเป็นภาพที่พึงปรารถนาที่สุดเพราะจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงสุด ซึ่งทำให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในปี 2028 หลังจากเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ไม่กี่ปี ขณะที่มีความเหลื่อมล้ำและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งมีสัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมใน GDP ในระดับสูง จะทำให้การเปลี่ยนสู่ภาพสถานการณ์ที่ 2 ง่ายกว่าในระยะสั้น ดังนั้น ภาพที่น่าจะเกิดขึ้นคือส่วนผสมของภาพสถานการณ์ที่ 2 และ 3 โดยมีจุดเชื่อมที่สำคัญคือ การพัฒนาบริการธุรกิจที่รองรับอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ซึ่งจะเชื่อมต่อระหว่างภาคเศรษฐกิจทั้งสาม

การเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อปัจจัย 4 ด้านเกิดขึ้นคือ มีทุนมนุษย์คุณภาพสูง การจัดสรรเงินทุนก่อให้เกิดผลิตภาพ รัฐมีประสิทธิภาพและระบบเศรษฐกิจเปิดกว้าง

โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปจะทำให้สังคมไทยในอนาคตมีความหลากหลาย และซับซ้อนกว่าปัจจุบันมาก อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง เพราะผลประโยชน์ ความเชื่อ และคุณค่าของคนแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกันมากขึ้น การป้องกันและระงับความขัดแย้งจากการเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากรัฐที่ควรเป็นผู้ป้องกันและระงับความขัดแย้ง มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ บริหารอย่างแยกส่วน ไม่เปิดกว้าง และไร้วินัย

การเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นจึงจำเป็นต้องมีภาครัฐที่เปิดกว้าง มีวินัยและกระจายอำนาจ ขณะที่ยังสามารถประสานนโยบายภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนผ่านของไทยในอีก 3 ทศวรรษคือ การปฏิรูปภาครัฐ

ประเทศไทยในปัจจุบันและประเทศไทยในปี 2045 ในภาพสถานการณ์ต่างๆ

ดัชนี

ประเทศไทย 2014

ประเทศไทยไปเรื่อยๆ

อุตสาหกรรมก้าวหน้า

เกษตรทันสมัย-บริการฐานความรู้

อัตราการเติบโตเฉลี่ย (% ต่อปี)

5.94

3.55

4.59

5.21

รายได้ที่แท้จริงต่อหัว ($)

          5,480

           17,016

     23,736

         28,402

ปีที่พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

 

2036

2028

2028

สัดส่วนมูลค่าเพิ่ม

 

 

 

 

  - เกษตรกรรม

12.3

4.4

3.1

3.8

  - อุตสาหกรรมการผลิต

37.9

49.9

63.8

37.0

  - บริการ

49.8

45.8

33.1

59.3

ดัชนีความเหลื่อมล้ำ (Gini coefficient)

0.39

0.37

0.42

0.33

มูลค่าเพิ่มต่อหน่วยการปล่อย CO2 ($ ต่อตัน)

1,109

3,584

3,901

5,464

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ บุกพบ สนช. ห่วงร่าง ก.ม.ชุมนุมสาธารณะลิดรอนสิทธิ ปชช.

$
0
0

25 พ.ย.2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เข้าพบประธานอนุกรรมาธิการกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อหารือเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ...  ระบุมีเนื้อหาบางมาตราลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน และไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และคณะ เดินทางเข้าพบพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการตำรวจ และคณะอนุกรรมาธิการกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อหารือเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยเฉพาะประเด็นที่ร่างกฎหมายเปิดช่องให้มีการตีความอย่างกว้างขวาง ที่อาจนำมาซึ่งการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน และข้อกังวลเกี่ยวกับการเอาผิดทางอาญากับผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ รวมถึงยังมีการนิยามหรือใช้ถ้อยคำที่มีมีความหมายคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน และอาจเกิดปัญหาการตีความและใช้บังคับกฎหมาย

ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทยกล่าวว่า “เรามีความกังวลอย่างยิ่งว่าในมาตรา 7 และมาตรา 12 (1) และ 18 (1) ที่ใช้คำว่า ‘ความสะดวก’ นั้นเปิดโอกาสให้มีการตีความและการใช้อำนาจอย่างกว้างขวาง เพื่อจำกัดการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งอำนาจดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชน อีกทั้งข้อกังวลโดยเฉพาะในเนื้อหาของมาตรา 7 ที่ระบุว่า การชุมนุมโดยสงบอาจถูกตีความว่า ‘ไม่เป็นการชุมนุมสาธารณะโดยสงบ’ และเป็นเหตุนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีและการใช้กำลังของตำรวจได้ เพียงเพราะเหตุที่ว่าการชุมนุมนั้นเป็นเหตุให้มีการ ‘กีดขวางมิให้ประชาชนใช้ทางหลวงหรือทางสาธารณะได้ตามปกติ’...”

ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ฯ กล่าวด้วยว่า การชุมนุมขนาดเล็กอย่างสงบ เช่น การชุมนุมบนถนนหรือตามจัตุรัสในเมืองย่อมทำให้เกิด “การขัดขวางการใช้ประโยชน์ตามปรกติ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่เมื่อกำหนดข้อกำหนดเช่นนี้ย่อมเปิดโอกาสให้ทางการสั่งห้ามหรือยุติการชุมนุมได้โดยง่าย แม้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบก็ตาม ในทำนองเดียวกัน คำว่า “การขัดขวาง” มีความหมายที่กว้างมาก และอาจถูกใช้โดยพลการเพื่อยุติการชุมนุมโดยสงบ

ทางด้าน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ รองประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การปฏิบัติตามร่างกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายต้องอาศัยดุลยพินิจส่วนตัวของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก เช่น เมื่อ “แจ้ง”ล่วงหน้าภายใน 24 ชั่วโมง แล้วก็ต้องรอการ “เห็นชอบ”เพื่อพิจารณาว่าผู้จัดการชุมนุมสามารถจัดได้หรือไม่ ในทางปฏิบัติจริงจึงอาจตีความได้ว่า ผู้จัดการชุมนุมต้อง ‘ขออนุญาต’ จากเจ้าหน้าที่ก่อนเพื่อจัดการชุมนุมหรือไม่ จึงไม่ใช่แค่เพียงการ ‘แจ้งล่วงหน้า’  ซึ่งอาจผิดไปจากเจตนารมณ์ของการแจ้งการจัดชุมนุมล่วงหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง

รองประธานกรรมการ แอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจทำให้ประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเกิดความสับสน เพราะประชาชนและเจ้าหน้าที่อาจมีความเข้าใจในตัวบทกฎหมายและตีความแตกต่างกัน เจ้าหน้าที่แต่ละคนอาจบังคับใช้กฎหมายในระดับมาตรฐานที่แตกต่างกัน และทำให้ประชาชนบางส่วนอาจปฏิเสธดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งต่อการสร้างบรรทัดฐานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต

ด้านพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวภายหลังการพูดคุยว่า จะนำข้อห่วงใยและเอกสารรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ไปมอบให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ทั้งนี้เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่มีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็นในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะรัฐบาลต้องการกฎหมายที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และสามารถให้การคุ้มครองทั้งผู้ชุมนุมและผู้ดูแลการชุมนุมด้วย

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังมีข้อเสนอแนะต่อต่อร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... โดยแบ่งเป็นข้อเสนอแนะในภาพรวม 5 ประการ ได้แก่

1. ถอนการประกาศการเลี่ยงพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่รัฐไทยได้แจ้งไปยังองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557

2. ประกันว่าจะมีการนำข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ระบุถึงการปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน ระบุในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการจัดทำขึ้นใหม่

3. ประกันว่ากฎหมายภายในประเทศทุกฉบับจะมีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทย

4. ยกเลิกข้อกำหนดใดๆ ที่ประกาศตามกฎอัยการศึก ซึ่งส่งผลกระทบในทางเสียหายต่อสิทธิมนุษยชน

5. กระตุ้นให้มีการยกเลิกประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติทุกฉบับที่จำกัดสิทธิมนุษยชนโดยรวม และจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นการเฉพาะ

และข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.ดังนี้

1. เปลี่ยนถ้อยคำในมาตรา 7 และมาตราอื่นๆ ที่จำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ โดยให้เหลือเงื่อนไขการจำกัดสิทธิเท่าที่กระทำได้ตามข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

2. ประกันว่า โดยการประกาศใช้กฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งใดๆ การจำกัดสิทธิต้องได้รับการตีความอย่างแคบทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ และเป็นไปตามหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน

3. เปลี่ยนถ้อยคำในมาตรา 11 เพื่อตัดเงื่อนไขที่อาจตีความให้ต้องขออนุญาตก่อนจัดการชุมนุม

4. จำกัดเงื่อนไขของผู้จัดการชุมนุมให้เหลือเพียงการแจ้งล่วงหน้า กรณีที่การชุมนุมนั้นอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในระดับหนึ่ง

5. ให้ตัดเนื้อหาใดๆ ที่มีข้อกำหนดให้ลงโทษทางอาญาหรือทางปกครอง ทั้งที่เป็นโทษจำคุกหรือค่าปรับ กรณีที่ผู้จัดการชุมนุมไม่ได้แจ้งล่วงหน้าก่อนการชุมนุม

6. ให้ตัดเนื้อหาใดๆ ที่มุ่งเอาผิดทางอาญากับผู้จัดและผู้ประท้วง โดยคำนึงว่าควรใช้กฎหมายอาญาทั่วไปกับผู้ประท้วง เช่นเดียวกับที่ใช้กับบุคคลอื่นๆ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่องดิจิทัลคอนเทนต์-ไทยยังรับจ้างผลิต-ตลาดเกมโตสูงสุด 26%

$
0
0

ผลสำรวจมูลค่าตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ประเทศไทย แอนิเมชั่น-เกม-อีเลินนิ่ง มูลค่าการบริโภครวม 1.4 หมื่นล้านบาท ส่งออกอยู่ที่ 926 ล้านบาท โดยส่งออกแอนิเมชั่นมากสุดคิดเป็นร้อยละ 81 แต่ยังเป็นงานรับจ้างผลิต คาดสิ้นปี 57 ตลาดเกมจะโตร้อยละ 26

25 พ.ย. 2557 - สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ซิป้า) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แถลงผลการสำรวจมูลค่าตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทยประจำปี 2556 ประมาณการปี 2557 และคาดการณ์ปี 2558  โดยนางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รักษาการผู้อำนวยการ ซิป้า กล่าวว่า การสำรวจตลาดดิจิทัลคอนเทนต์แบ่งเป็น 3 สาขาย่อย คือแอนิเมชั่น เกม และอีเลิร์นนิ่ง เป็นกิจกรรมที่ซิป้าให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามความก้าวหน้าตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของอุตสาหกรรม โดยในปีนี้เป็นปีแรกที่ได้ร่วมงานกับทีดีอาร์ไอในการสำรวจอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทย  

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอและ เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าการสำรวจตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ในปีนี้นับเป็นการสำรวจปีแรกโดยทีดีอาร์ไอ คณะผู้วิจัยจึงมุ่งเน้นการกำหนดวิธีการสำรวจให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยการดำเนินการในปีนี้เริ่มจากการสำรวจข้อมูลปีที่ผ่านมา (2556) และได้มีการประมาณการมูลค่าตลาด ณ สิ้นปีนี้ (2557) รวมทั้งการคาดการณ์การเติบโตของตลาดในปีหน้า (2558)   ทั้งนี้ ในการสำรวจ คณะผู้วิจัยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทย ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) และสมาคมอีเลิร์นนิ่งแห่งประเทศไทย (e-LAT)

จาตุรนต์ ศานต์ตระกูล นักวิจัยอาวุโส กล่าวรายงานผลการสำรวจตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ไทยในปี 2556 ที่ผ่านมา ว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยมีมูลค่าการบริโภคในแต่ละสาขาดังนี้ แอนิเมชั่น 3,968 ล้านบาท เกม 4,352 ล้านบาท และอีเลิร์นนิ่ง 6,448 ล้านบาท  ทั้งแอนิเมชั่นและเกมเป็นสาขาที่มีการบริโภคคอนเทนต์จากต่างประเทศเกินกว่าครึ่งของมูลค่าการบริโภคโดยรวม ส่วนอีเลิร์นนิ่งในปีนี้เป็นการสำรวจเฉพาะภาครัฐ ซึ่งมีมูลค่าการบริโภคเท่ากับ 6,448 ล้านบาท

ในด้านการส่งออกนั้น ประเทศไทยมีการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อการส่งออกรวมทั้งสิ้น 926 ล้าน โดยเป็นการส่งออกแอนิเมชั่นร้อยละ 81 ส่วนมากเป็นงานรับจ้างผลิต ร้อยละ 92 ตัวอย่างเช่น งานแอนิเมชั่นที่มีรูปแบบเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง (animated story content) และ งานรับจ้างผลิตเทคนิคพิเศษเฉพาะช็อต (Visual effects หรือ VFX) เป็นต้น  สำหรับเกมแม้จะมีสัดส่วนการส่งออกไม่มากนักคือร้อยละ 19 ของมูลค่าการส่งออกรวม แต่มีข้อสังเกตคือเป็นการส่งออกงานที่มีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเองถึงร้อยละ 57

ในด้านอัตราการเติบโตคาดว่า ณ สิ้นปี 2557 เกมเป็นสาขาที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดคือร้อยละ 26 โดยเฉพาะโมบายเกมและออนไลน์เกม  และน่าจะเติบโตต่อเนื่องถึงร้อยละ 30 ในปี 2558 สำหรับแอนิเมชั่น คาดว่าสิ้นปี 2557 จะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 4 และปี 2558 น่าจะเติบโตได้มากกว่าร้อยละ 4 เนื่องจากการแข่งขันในธุรกิจโทรทัศน์ที่เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจดิจิทัลทีวีที่มีการแข่งขันสูงมาก อย่างไรก็ตามมูลค่าที่เติบโตในส่วนของแอนิเมชั่นเกิดจากการนำเข้าคอนเทนต์จากต่างประเทศเป็นหลัก

กล่าวโดยสรุป ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ไทยมีการนำเข้าเพื่อบริโภคคิดเป็นมูลค่าสูง อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตไทยยังมีโอกาสอีกมากในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดการผลิตงานที่มีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง หากภาครัฐช่วยเร่งสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพในการผลิตงานดิจิทัลคอนเทนต์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live




Latest Images