Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: มาตรฐานความดีที่แตกต่าง

$
0
0

ประเทศไทยยังไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้จะมีความพยายามทำมาหลายสิบปีแล้ว และคงมีมือที่มองไม่เห็นกีดขวาง จะสังเกตได้ว่ากฎหมายอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อประชาชนโดยรวมเกิดได้ยากมาก บทความนี้ยังจะชี้ให้เห็นถึงความผิดชอบชั่วดีในมาตรฐานที่แตกต่างกันในสังคมอารยะและสังคมอุปถัมภ์แบบไทย ๆ  เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ต่อเรื่องภาษีนี้ จึงขออนุญาตยกตัวอย่างที่เห็นอยู่ทั่วไปเช่น ที่ดินว่างเปล่าแปลงหนึ่งอยู่ปากซอยนนทรี 5 ขนาดประมาณ 5.5 ไร่ หรือ 2,200 ตารางวา ประเมินตามราคาตลาดเป็นเงิน ณ ตารางวาละ 100,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 220 ล้านบาท ที่ดินว่างเปล่าเช่นนี้มีทั่วไปในใจกลางกรุงเทพมหานคร

เจ้าของที่ดินท่านเมตตาให้สำนักงานเขตยานนาวาเช่าใช้เป็นสนามกีฬาของเขต โดยคาดว่าให้เช่าในราคากึ่งให้ใช้เปล่า ข้อนี้ต้องยกความดีให้กับเจ้าของที่ดินที่มีใจกว้างและสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง สำนักงานเขตก็ปรับปรุงพื้นที่บางส่วนเป็นสนามบาสเก็ตบอล สนามมวย สนามตะกร้อ และสนามฟุตบอล ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า และมีผู้ไปใช้สอยพอสมควร

แต่หากมีการประกาศใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่าง เจ้าของที่ดินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินแปลงนี้ในฐานที่เป็นที่ดินว่างเปล่า ณ อัตรา 0.5% ต่อปี หรือเป็นเงิน 1.1 ล้านบาทต่อปี จะเห็นได้ว่าแทนที่เจ้าของที่ดินจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณตามค่านิยมความดีในสังคมปัจจุบัน กลับยังต้องเสียภาษีอีกนับล้านบาท การหลีกเลี่ยงไม่เสียภาษีอาจทำให้ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลอดเพื่อนำเงินมาชำระภาษีได้

เหตุผลที่เป็นสามัญสำนึกและเป็นอารยสากลที่ว่าทำไมเจ้าของที่ดินต้องเสียภาษีก็คือ การทำหน้าที่พลเมืองดีของชาติ เพราะขนาดสามัญชนที่มี 'ล้อเลื่อน' เช่น จักรยานยนต์ หรือมีเงินฝากในธนาคารก็ต้องเสียภาษี ดังนั้นคหบดีและชนชั้นนำของประเทศที่มีที่ดินผืนใหญ่ ๆ งาม ๆ ใจกลางเมืองเป็นทรัพย์จึงต้องเสียภาษีในฐานะคนไทยเช่นกัน ว่าไปแล้วการหลีกเลี่ยงภาษีถือเป็นอาชญากรรม (ทางเศรษฐกิจ) อย่างหนึ่งในอารยประเทศ

ยิ่งที่ดินนั้นได้รับประโยชน์จากสาธารณูปโภค ทำให้ทรัพย์ทวีค่า เจ้าของยิ่งต้องเสียภาษี แม้เราจะใช้สอยหรืออยู่อาศัยในทรัพย์นั้นหรือไม่ก็ตาม ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ หากเรามีห้องชุดราคาแสนถูกสักหน่วยหนึ่ง กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า เจ้าของทรัพย์มีหน้าที่ต้องเสียค่าส่วนกลาง ถ้าไม่เสีย ก็ต้องหักจากเงินที่ขายทรัพย์นั้นได้ในภายหลัง และห้ามการขายทรัพย์นั้นหากยังไม่มีการชำระค่าส่วนกลาง

การที่ประเทศไทยไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อเอาใจผู้มากทรัพย์นั้น จึงเกิดปรากฏการณ์หนึ่งเมื่อ พ.ศ.2553 ที่พบต้นจามจุรี (ฉามฉาหรือก้ามปู) อายุนับร้อยปีใจกลางเมืองติดถนนสุขุมวิท ตรงข้ามห้างเอ็มโพเรียม ตอนที่จะพัฒนาเป็นศูนย์การค้า มีนักอนุรักษ์ธรรมชาติออกมาเรียกร้องให้คงต้นไม้เหล่านั้นไว้ แต่ในที่สุดก็ถูกโค่นไป ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะเจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษี จึงเก็บที่ดินไว้ให้ลูกหลานเมื่อถึงเวลาอันควรนั่นเอง

ถ้าเจ้าของที่ดินต้องเสียภาษีก็คงไม่นิ่งนอนใจ ต้องขวนขวายหาทางพัฒนาหรือขายไป แต่ทุกวันนี้เจ้าของที่ดินรายใหญ่ ๆ จะ "หยิ่ง" ไม่ยอมขายที่ถ้าไม่ล้มละลายหรือจำเป็นจริง ๆ ในแง่หนึ่งก็ดูคล้ายเป็นคนดีรักแผ่นดิน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็แสดงถึงความเห็นแก่ตัวเป็นที่สุด เพราะราชการพัฒนาสาธารณูปโภคมาให้ถึงที่ กลับไม่อินังขังขอบ การใช้ที่ดินเมืองจึงไร้ประสิทธิภาพ เมื่อมีความต้องการซื้อบ้าน ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินจะสร้างโครงการบ้านก็ไม่สามารถหาที่ดินใกล้ๆ เมืองได้ เพราะถูกจับจองเก็งกำไรไว้หมด ก็จึงต้องไปซื้อนอกเมือง เมืองก็ขยายตัวอย่างไร้ขอบเขตไปรอบนอก สาธารณูปโภคก็ต้องขยายตัวตามไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นภาระของส่วนรวมเสียอีก

อันที่จริงทุกฝ่ายพึงทำความเข้าใจว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นสิ่งวิเศษ เป็นสิ่งที่ดีแท้แก่ทุกฝ่าย ยิ่งเราเสียภาษีนี้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีงบประมาณมาพัฒนาท้องถิ่นได้มากขึ้นเท่านั้น การก่อสร้างถนนหนทาง การบำรุงและพัฒนาสถานศึกษา การจัดพื้นที่สีเขียว ฯลฯ ก็จะเกิดขึ้น เมื่อท้องถิ่นเจริญ ที่ดินและอาคารของเราก็ยิ่งเพิ่มพูนมูลค่ามากกว่าภาษีที่เราเสียไปเสียอีก นี่จึงเป็นภาษีที่ "ยิ่งจ่าย ยิ่งได้"

บางคนพยายามจะบิดเบือนว่ายิ่งเราเสียภาษีไป ภาษีของเราก็จะยิ่งถูกนักการเมืองท้องถิ่นโกงไป แต่ในความจริงก็คือ ทุกวันนี้รายได้ของท้องถิ่นเฉลี่ยถึง 90% มาจากส่วนกลางจัดเก็บภาษีทางอ้อมแล้วจัดส่งมาให้ ดังนั้นทั้งนักการเมืองและประชาชนจึงไม่รู้สึกเป็นเจ้าของเงิน จึงเกิดอาการ "วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง" แต่ถ้าภาษีเก็บจากในท้องถิ่นเอง ชาวบ้านก็จะรู้สึกหวงแหนไม่ยอมให้ใครโกง

ในช่วงแรกของการมีเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ยังอาจมีการโกง แต่ต่อไปประชาชนในท้องถิ่นจะเรียนรู้และร่วมกันตรวจสอบมากขึ้น ความโปร่งใสก็จะเกิด ประชาธิปไตยจากขั้นรากฐานที่ทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่การจ่ายภาษีและการตรวจสอบก็จะเกิดขึ้นอย่างมั่นคง แต่เรื่องประชาธิปไตยนี้ ชนชั้นนำไม่ต้องการให้เกิดเป็นจริง จึงไม่อยากให้มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อจะยังได้สร้างระบบอุปถัมภ์จากการทุจริตโกงกินเงินที่ส่งมาจากส่วนกลาง เข้าทำนองแบ่ง ๆ กันโกงกินแบบ "บุฟเฟ่ต์" นั่นเอง

มาร่วมกันส่งเสริมภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อพัฒนาชาติไทยอันเป็นที่รักของเราเถิด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวสุรินทร์จี้อธิบดีฯ เปิดเผยข้อมูลหลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียม

$
0
0

ชาวอำเภอชุมพลบุรี ยึดเอาวันสิ่งแวดล้อมโลก เดินขบวนปิดทางเข้าหลุมขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมกลางทุ่งกุลาร้องไห้ เรียกร้องอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเปิดเผยข้อมูลการสำรวจ และปิดหลุมสำรวจให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

 

5 มิ.ย.56 เวลา 10.00 น.ที่บริเวณปากทางเข้าหลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียม บ้านโคกกลาง หมู่ที่ 15 ต.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ นายนิรันดร์ ศรีเมือง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลชุมพลบุรี ได้ร่วมกับหน่วยงานและสถานศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข อำเภอชุมพลบุรี ได้จัดกิจกรรม วันสิ่งแวดล้อมโลก เดินรณรงค์คัดค้านการการขุดเจาะสำรวจหลุมปิโตรเลียม ของบริษัทซ่านซี เหยียนฉาง ปิโตรเลียม (กรุ๊ป) จำกัด ซึ่งร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดหลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียม YPT2 ซึ่งเป็นหลุมแรกตามข้อผูกพันช่วงที่ 1 ปีที่ 3 ของแปลงสำรวจบนบก เลขที่ L31/50 ตามสัมปทานเลขที่ 6/2553/108 ที่ครอบคลุม จ.บุรีรัมย์ จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด และ จ.สุรินทร์ ซึ่งบริษัท ซ่านซี เหยียนฉาง ปิโตรเลียม (กรุ๊ป) จำกัด ได้รับสัมปทานเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 และเปิดหลุมเจาะสำรวจ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา

นายนิรันดร์ ศรีเมือง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลชุมพลบุรีระบุว่า การที่ชาวบ้านต้องออกมาประท้วง การเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมในวันสิ่งแวดล้อมโลก เพราะต้องการใช้ประชาชนชาวบ้านในเขตอำเภอชุมพลบุรีได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนที่จะได้รับจากการเจาะสำรวจปิโตรเลียม ตั้งอยู่ที่บ้านโคกกลาง ซึ่งจะสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้ชาวบ้านโดยตรงทั้งเรื่องกลิ่น เรื่องเสียงดัง และผลกระทบหนักจะตกถึงชาวบ้านโดยตรง ทุกคนจึงต้องเข้าใจต่อปัญหานี้ คุณครู โรงเรียน โรงพยาบาล สถานีอนามัย ต้องตื่นตัวในด้านสุขภาพของประชาชน นักเรียน รวมถึงผลกระทบใหญ่เรื่องนาข้าวหอมมะลิ ขณะนี้กำลังหว่านปลูกข้าวหอมมะลิ

นอกจากนี้เขายังเรียกร้องไปยังอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติให้เปิดเผยความจริงต่อชาวบ้านว่าการเจาะสำรวจปิโตรเลียมนั้นพบหรือไม่ เพราะตามแนวทางการศึกษาจะใช้เวลา 90 วัน หรือ 3 เดือนจะทราบผลการเจาะสำรวจ แต่ขณะนี้ยังมีการดำเนินงานต่อไป โดยไม่หยุดสำรวจ เหตุใดจึงไม่แจ้งชาวบ้านให้ทราบผลว่าพบหรือไม่ จึงขอเรียกร้องว่า ต่อไปนี้ชาวบ้านขอทราบข้อเท็จจริงจากอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และหากไม่พบก็จะต้องทำการปิดหลุมเจาะสำรวจตามหลักวิชาการและให้ชาวบ้านเข้าไปตรวจสอบได้ หากไม่ทำตามนี้ เราจะยึดเอาวันนี้เป็นวันต้านหลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียม และจะปิดเส้นทางเข้า-ออก หลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียมจนกว่าจะทราบข้อเท็จจริงต่อไป

ทั้งนี้ ในพื้นที่บ้านโคกกลาง หมู่ที่ 15 ต.ชุมพลบุรี แปลงสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมเป็นที่นา พื้นที่กว่า 10 ไร่ อยู่ในเขต เทศบาลชุมพลบุรี เทศบาลทุ่งศรีชุมพล และ ต.ศรีณรงค์ นอกจากนั้นยังมีการ เจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียม 2 หลุมใน จ.บุรีรัมย์ ที่หมู่ที่ 8 บ้านหนองไทร ต.หนองขมาร อ.เมือง และหมู่ที่ 4 บ้านหนองสรวง ต.สระบัวอ.แคนดง โดยการเจาะสำรวจทั้ง 3 หลุมเป็นการดำเนินการเพื่อประเมินศักยภาพของปิโตรเลียม ซึ่งหากพบปิโตรเลียม บริษัทจะพิจารณาความคุ้มทุนจากการประเมินปริมาณสำรอง และดำเนินการในขั้นตอนการขอพื้นที่พัฒนาและผลิตปิโตรเลียม เพื่อเสนอให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพิจารณาอนุมัติ แต่หากไม่พบหรือไม่คุ้มทุน บริษัทจะปิดหลุม และปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพเดิม คาดว่าจะใช้เวลาเจาะสำรวจ 90 วัน หรือ 3 เดือน

บริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด ได้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 22-27 ธันวาคม 2554 และครั้งที่ 2 วันที่ 10-11 พฤษภาคม 2555 พร้อมทั้งจัดทำอีไอเอ ซึ่งทำการศึกษาในรัศมี 5 กิโลเมตรต่อหลุม โดยหลุมหมู่ 15 บ้านโคกกลาง ต.ชุมพลบุรี ศึกษาผลกระทบครอบคลุมเขตเทศบาลชุมพลบุรี เทศบาลทุ่งศรีชุมพล และต.ศรีณรงค์ อ.ชุมพลบุรี

การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ได้ศึกษารวม 4 ด้าน คือ ด้านทรัพยากรทางภายภาพ ทรัพยากรทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งได้ดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ศึกษารัศมี 5 กิโลเมตร รอบพื้นที่ฐานเจาะ ทั้งการประชุมรับฟังความคิดเห็นระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน และระดับครัวเรือน

      

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง ร้อง กสทช.ลงดาบไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์

$
0
0

 

6 มิ.ย. 56 กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองกว่า 30 คน จาก มูลนิธิเครือข่ายครอบครอบครัว เครือข่ายครอบครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เข้ายื่นหนังสือ กทสช.ให้ลงโทษทางปกครองสูงสุดต่อรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ซีซัน 3  ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เหตุ “ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”  เข้ายื่นหนังสือต่อ  สุภิญญา กลางณรงค์  กสทช.ด้านกิจกรรมกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์   ขอให้จัดการรายการ ไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3      

สืบเนื่องรายการไทยแลนด์ก๊อตทาเลนต์ซีซัน 3  ที่ออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมแข่งขันที่ใช้ชื่อ "สิทธัตถะ เอมเมอรัล" แสดงการร้องเพลงจีน  และช่วงแนะนำตัวได้แสดงประพฤติที่กรรมการทั้ง 3 ท่านเห็นว่าไม่เหมาะสมต่อวัฒนธรรมไทย เช่น พูดลงท้ายไม่มีหางเสียง ไม่ทักทายสวัสดีและไม่ยกมือไหว้ เป็นต้น ทำให้กรรมการ 2 ท่าน กดปุ่มไม่ให้ผ่านทันทีพร้อมกับลุกออกจากที่นั่งและเดินออกจากที่ถ่ายทำรายการ  จากนั้นกรรมการทั้ง 2 ท่าน ได้ให้ความเห็นต่อกันและกันจากอีกห้องหนึ่งถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวฯ อธิบายเหตุผลในการเดินออกจากที่นั้นว่าไม่สนับสนุนผู้แสดงรายนี้ เนื่องจากไม่ให้ความเคารพและไม่ปฏิบัติตามวัฒนธรรมอันดีของไทย อาจทำให้คนดูอาจเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้ แต่ยังมีกรรมการที่เหลืออีกหนึ่งท่านนั่งอยู่และให้โอกาสผู้เข้าร่วมแข่งขันได้ทำการแสดงจนจบ

เมื่อการแสดงการร้องเพลงของผู้เข้าร่วมแข่งขันคนดังกล่าวเริ่มขึ้น ผู้ชมจำนวนมากในห้องส่งรวมถึงกรรมการแสดงท่าทีไม่พอใจต่อการแสดงนั้น  ด้วยแสดงสัญลักษณ์ของความไม่พอใจและเป็นไปในเชิงขับไล่ มีการส่งเสียงโห่ร้อง  การยกนิ้วโป้งชี้ลงพื้น และการไขว้แขนเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการปฏิเสธ ขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมแข่งขันไม่ได้มีการตอบสนองใดๆ ทางสีหน้าและพฤติกรรมในทางที่ไม่พอใจหรือเสียใจที่โดนขับไล่   ในท้ายที่สุดกรรมการคนสุดท้ายก็กดปุ่มสัญลักษณ์ไม่ให้ผ่านเข้ารอบซึ่งหมายความว่าผู้เข้าร่วมแข่งขันท่านนั้นตกรอบไป

อัญญาอร พานิชพึ่งรัถประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า การออกอากาศของรายการขัดกับ หมวดที่ 2 จริยธรรมของการแพร่ภาพและการกระจายเสียง ข้อ 2.5.1.3 ข้อ 25.1.6 และข้อ 2.5.1.8 แห่ง ข้อบังคับสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียงว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ซึ่งอาศัยความตามข้อ 18(4) แห่งธรรมนูญสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและกระจายเสียง (ประเทศไทย) 2554 เนื่องจากปัญหาที่พบคือ รายการไม่ระมัดระวังหรือรัดกุมเพียงพอในการนำเสนอเรื่องราว ภาพและเสียงเกี่ยวกับบุคคลผู้ที่อาจมีลักษณะของความเปราะบาง (vulnerable) หรือพิการในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

“รายการนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำเสนอที่ไม่เหมาะสมและผิดต่อข้อบังคับ ซึ่งออกอากาศทางฟรีทีวี ในช่วงพาร์มไทม์ เป็นช่วงเวลาที่มีผู้รับชมมาก  การแสดงรายการนี้เป็นเทปบันทึกรายการ   ผู้ผลิตสามารถควบคุมและดูแลการผลิตให้รัดกุมและเหมาะสมมากกว่านี้   สามารถตัดการนำเสนอได้ แต่ผู้ผลิตและสถานีได้แสดงความบกพร่องของการไม่รัดกุมและคำนึงตามข้อบังคับดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ารายการจงใจนำเสนอและสร้างความคลางแคลงใจให้แก่ผู้ชมถึงสุขภาพจิตของผู้แสดงอันอาจจะกระทบต่อการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ใน ข้อ 11 (ค)(3) แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556” อัญญาอร กล่าว

นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 4 ข้อ

ข้อแรกขอให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพจิตของผู้แสดงที่ใช้ชื่อว่า “สิทธัตถะ เอมเมอรัล” เพื่อสร้างความกระจ่างกับสังคมอันจะนำไปสู่การพิจารณาเรื่องของความเหมาะสมในการนำเสนอตามจริยธรรมและจรรยาบรรณรวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ

ข้อสองหากพบว่าผู้แสดงคนดังกล่าวมีสุขภาพจิตที่เปราะบางหรือพิการในลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้ดำเนินการต่อสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓  และ บริษัท เวิร์คพ้อยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ตามโทษที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายอย่างสูงสุดและเคร่งครัดพร้อมกับให้ผู้ผลิตรายการตลอดจนสถานีแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยถอดรายการนี้ออกจากผังรายการเพื่อสร้างมาตรฐานการผลิตรายการและการออกอากาศรายการที่รัดกุมโดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายทางสังคมตลอดจนการไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในอนาคตข้างหน้า

ข้อสามขอให้เชิญสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียงมาพิจารณาและดำเนินการใช้กลไกการกำกับดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ให้กรณีที่พิสูจน์แล้วว่าผิดจริงตามกฎข้อบังคับต่างๆ

และข้อสี่เรียกร้องให้ กสทช. ลงโทษทางปกครองสูงสุดต่อสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในฐานะผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 37 ของ พรบ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551ที่ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสือมทรามทางจิตใจของประชาชน"

เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนได้กล่าวถึงการเรียกร้องให้ กสทช.ลงโทษทางปกครองสูงสุดต่อผู้ประกอบการและรายการ ไทยแลนด์ก๊อตทาเลนท์ ตาม มาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจกรรมโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เพราะการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น ถือเป็นการสร้างผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนเช่นกัน

“การตีความว่าการละเมิดศีลธรรมอันดีของสังคมนั้น  ต้องตีความรวมถึงการสร้างให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มคนพิการ  กลุ่มคนออทิสติก  คนอ้วน  ฯลฯ ให้เกิดการดูหมิ่น ดูถูก  กีดกันการแสดงออกในความสามารถ และไม่ยอมรับในการอยู่ร่วมกัน ของคนที่หลากหลายในสังคม เป็นการสร้างอคติต่อคนที่มีความแตกต่าง  ซึ่งเข้าข่ายการสร้างผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจ”  น.ส.เข็มพรกล่าว

สุภิญญา กลางณรงค์คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวหลังได้รับหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุม กสท. เพื่อประชุมในวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2556 นี้ เพื่อให้คณะกรรมการลงมติการตัดสินกรณีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 37

“เรื่องของมาตรา 37เป็นเรื่องที่น่าจับตาว่าจะมีการตีความว่าเข้าข่ายการละเมิดศีลธรรมอันดีของสังคมหรือไม่ เพราะเท่าที่ผ่านมายังไม่เคยตีความในมาตรานี้ ต้องเข้าสู่การพิจารณาร่วมของบอร์ด กสท.ก่อน ในกรณีเรื่องจริยธรรมด้านสื่อนั้น กสทช.ไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมตรงนี้โดยตรงแต่จะส่งเรื่องนี้ให้สภาวิชาชีพดำเนินการพิจารณาว่าผิดจริยธรรมหรือไม่และจะมีกระบวนการดำเนินการต่อไปอย่างไร เพราะเป็นอำนาจสภาวิชาชีพในการกำกับดูแลตรวจสอบกันเอง และในกรณีนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการจัดการจัดเรตติ้งเพื่อปรับผังรายการให้เหมาะสม เพราะรายการนี้นำเสนออยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เด็กเยาวชนและครอบครัวดูมากที่สุด จึงต้องเป็นรายการที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์  เพื่อจัดระบบและคุณภาพเพื่อก้าวสู่ทีวีดิจิตอล” สุภิญญากล่าว

ส่วนในการเยียวยาเร่งด่วนจากเหตุการณ์นี้ เธอกล่าวว่า ทางกสทช.จะเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนจากช่อง 3 บริษัท เวิร์คพ้อยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิเครือข่ายครอบครอบครัว เครือข่ายครอบครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เพื่อหาวิธีทางเยียวยาทางสังคมต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’: บทวิพากษ์ ศาลรัฐธรรมนูญ-หัวใจการปฏิรูป สภาต้องแก้รธน.ให้ได้

$
0
0

 

เมื่อปรากฏการณ์ ‘ตุลาการภิวัตน์’ กำลังกลายเป็นความปกติอันน่าตระหนก ในขณะที่ 3 เสา แห่งอำนาจอธิปไตยกลับเริ่มไม่สมดุล ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ คือ กลไกสำคัญที่มีบทบาทสูงยิ่งในการขับเคลื่อนรุกคืบเข้าสู่พื้นที่เขตอำนาจทาง ‘นิติบัญญัติ’ ซึ่งเคยแบ่งแยกกันไว้ชัดตามหลักแห่งการดุลอำนาจ โดยเฉพาะหากเมื่อมองจากจากฝั่ง ‘รัฐสภา’ การแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งกำเนิดและถือเป็นผลพวงสืบเนื่องจาการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่น่าจะไม่มีปัญหาก็กลับกลายเป็นปัญหาขั้นวิกฤติ  

ความเกี่ยวพันของเหตุการณ์ยิ่งนำไปสู่ความซับซ้อน ‘ตุลาการณ์ภิวัตน์’ กับบทบาทของ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ เป็นตัวอย่างที่หนึ่งเดียวมากๆในโลกใบนี้ที่ ‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’ ถึงกับกล่าวว่า “ที่ผ่านมาผมก็ยังไม่เคยเห็นสภาพของการตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะแบบนี้เลย”  

ในบ่ายวันหนึ่ง ‘เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน’ หาโอกาสไปพูดคุยกับนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านนี้ ท่ามกลางสถานการณ์อันแปลกประหลาด เนื่องจากคงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า เขาคือผู้ที่ศึกษาโครงสร้าง ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ และวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งมีข้อเสนอมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศนี้ และทำอย่างสม่ำเสมอมาตลอดไม่ว่าจะเป็นเมื่อครั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่เคยมีคำตัดสินอันเป็นคุณแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาก่อนก็ตาม

ดังนั้น หากลองละวางอคติแห่งความขัดแย้งลง แล้วลองหันมาฟังหลักการแห่ง ‘นิติศาสตร์’ บ้าง ‘นิติรัฐ’ ที่ใครหลายคนใฝ่ฝันและเฝ้าพูดถึงก็อาจเกิดขึ้นได้จริง 

 

oooooooooooo

“เพราะเหตุว่าฝ่ายรัฐบาลเองก็กุมสภาพในคณะกรรมการสรรหา ฝ่ายค้านที่จะเข้ามาร่วมในการสรรหาก็น้อยลง จึงเป็นเหตุให้เวลาต่อมามีการอ้างว่าฝ่ายรัฐบาลครอบงำองค์กรอิสระ ซึ่งจะว่าไปมันก็มีส่วนถูกอยู่เหมือนกันในเชิงของการได้มาซึ่งตัวของบุคคลากรที่เข้าสู่องค์กร แต่ว่าถ้าพูดในทางหลักการแล้วมันควรจะเปิดให้มีการต่อรองกัน หรือว่ายอมให้ฝ่ายค้านมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาตัวบุคคลมากกว่านี้ ”

“เรื่องล่าสุดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีเลย ไม่มีตัวบทบัญญัติมาตราใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแม้แต่มาตราเดียว ซึ่งแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ วินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี วินิจฉัยเรื่องการยุบพรรค เรื่องสนธิสัญญา”

“แต่เมื่อปรากฏต่อรัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเหมือนกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้อำนาจที่ตัวเองไม่มีจากรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตัวเองมีอำนาจอะไรจากตัวรัฐธรรมนูญ สภาซึ่งทรงอำนาจตามรัฐธรรมนูญเหมือนกันเขาย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญได้”

“ถึงจุดหนึ่งเมื่อคุณก้าวล่วงออกจากกรอบขอบเขตอำนาจแล้ว องค์กรของรัฐเขาสามารถไม่ปฏิบัติได้ แน่นอนว่า จะนำมาซึ่งวิกฤตในทางกฎหมายไหม ก็นำมา แต่ถ้ายันกันได้ในทางกฎหมาย คำวินิจฉัยนั้นก็จะไม่มีผลในทางกฎหมาย”

“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร มันไม่ใช่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอะไรยังไงก็ได้ในรูปคำวินิจฉัยแล้วผูกพันองค์กรทั้งหมด ไม่งั้นก็ตัดสินอะไรก็ได้หมด มันต้องในความหมายความคำวินิจฉัยนั้นอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ แล้วจึงผูกพันอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ซึ่งเป็นองค์กรที่ทรงอำนาจในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน”

“ยังไม่เคยปรากฏว่าขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง บ้านเราเป็นตัวอย่างที่หนึ่งเดียวมากๆ ตอนนี้ ที่ผ่านมาผมก็ยังไม่เคยเห็นสภาพของการตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะแบบนี้เลย”

“คณะนิติราษฎร์เคยเสนอตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วว่าให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญไปก่อน เรียกว่า ‘คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ’ เพราะสิ่งที่จะพิทักษ์คือตัวระบอบรัฐธรรมนูญ หรือคุณค่าของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พิทักษ์ตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญ ”

“ต้องมีระบบความรับผิดหรือความพร้อมรับผิด อันนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแล้วแต่เกี่ยวกับการ reform ศาลทั้งระบบและ reform กฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับความผิดฐานบิดเบือนการตีความกฎหมายที่ต้องให้เป็นความผิดอาญา”

“ตอนรับเรื่องมาตรา 291 ไว้ ก็บอกให้แก้รายมาตราได้ แต่ว่ามาถึงคราวนี้ไม่ยอมแล้ว เพราะมาตรา 68 มันแปรสภาพมาเป็นศูนย์กลางของเรื่อง เป็นหัวใจ กล่องดวงใจของเรื่อง ถ้าสูญเสียมาตรา 68 ไปก็ถูก reform ได้”

๑๐

“..การ reform เขาทำได้เพราะเขาเป็นเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เขาต้องมีความชอบธรรมในการ reform ได้ตราบเท่าที่มันไม่ได้ไปกระทบกับหลักสิทธิเสรีภาพ หรือทำลายแก่นหลักของหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ ”

oooooooooooo

 

อยากให้อาจารย์ย้อนถึงที่มาที่ไปของ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’

ปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2550 กับ 2540 จะมีความแตกต่างกันอยู่ในแง่ขององค์ประกอบ ในแง่ที่มา แต่จะขอพูดถึงในเรื่องหลักการก่อนคือ ความจริงในระบบกฎหมายหนึ่งๆ ควรมีศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ในหลายประเทศไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ แต่อีกหลายประเทศก็มีศาลรัฐธรรมนูญ

ทีนี้บ้านเรากำเนิดของความคิดที่จะต้องให้มีองค์กรมาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาทางรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นในบริบทของคดีอาชญากรสงคราม เมื่อปลายปี พ.ศ. 2488 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี พ.ศ. 2489 ที่ตอนนั้นยังใช้รัฐธรรมนูญปี 2475 อยู่ แล้วมันมีประเด็นกันขึ้นมาคือสภาผู้แทนราษฎรไปตราพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามปี พ.ศ. 2488 แล้วก็มีการจับกุมบุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรสงครามขึ้นศาล ซึ่งตามพระราชบัญญัติที่ออกมากำหนดให้มีการตั้งศาลพิเศษขึ้นมาก็คือศาลอาชญากรสงคราม โดยให้ศาลฎีกามาทำหน้าที่ศาลอาชญากรสงคราม และก็มีศาลเดียวตัดสินแล้วจบเลย

ต่อมาก็มีคนถูกจับกุมหลายคน คนที่โด่งดังที่สุดที่ถูกจับกุมก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วต่อมาก็มีการดำเนินคดี ในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ถูกจับกุมในชั้นศาลอาชญากรสงคราม (หรือศาลฎีกา) จำเลยก็ได้ต่อสู้ว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรไปตรากฎหมาย กำหนดความผิดอาชญากรสงครามขึ้นนั้น เป็นการตรากฎหมายย้อนหลังลงโทษทางอาญาแก่บุคคล เพราะว่าในตอนกระทำความผิดนั้นมันไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การกระทำนั้น เช่น การช่วยเหลือญี่ปุ่น เป็นความผิดอาญา แล้วก็มีการต่อสู้ว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นนั้นมันขัดรัฐธรรมนูญ ที่ไปขัดกับเรื่องเสรีภาพในการกระทำเพราะว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการกระทำการตราบเท่าไม่มีกฎหมายห้าม เพราะกฎหมายอันนี้ออกมาทีหลัง

มันจึงกลายเป็นปัญหาถกเถียงกันว่ากฎหมายที่สภาออกมาและตราขึ้นมานั้นมันขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเวลานั้นศาลอาชญากรสงคราม (หรือศาลฎีกา) ก็ใช้อำนาจชี้ไปเอง โดยบอกว่าถ้าไม่ให้ศาลชี้ ก็ไม่รู้จะให้ใครชี้ว่ากฎหมายนี้ใช้ได้หรือไม่ได้ ก็ปรากฏว่าในคดีนั้น ศาลอาชญากรสงครามพิพากษาว่า พระราชบัญญัติอาชญากรสงครามขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ ยกฟ้องและปล่อยตัวจำเลยทั้งหมด หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็มีการประชุมกัน และก็มีความเห็นว่าถ้าเกิดปล่อยให้ศาลใช้อำนาจแบบนี้มันก็เป็นการก้าวล่วงอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการตรากฎหมาย เพราะว่า ส.ส.จำนวนหนึ่งมีความเห็นว่า เวลาสภาตรากฎหมายไปแล้ว ศาลมีหน้าที่ต้องใช้กฎหมายตามที่สภาตราขึ้น จะไม่ยอมใช้กฎหมายที่สภาตราขึ้นโดยอ้างว่ากฎหมายนั้นขัดรัฐธรรมนูญไม่น่าจะเป็นไปได้

แต่ในฝั่งศาลเองก็มีเหตุผลว่าถ้ากฎหมายที่สภาตราขึ้นมันขัดกับกฎหมายสูงสุดคือ รัฐธรรมนูญ มันจะต้องมีคนบอกว่า กฎหมายนั้นใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ซึ่งในเวลานั้นมันไม่มีใครที่จะบอกได้ ศาลซึ่งเป็นคนตัดสินคดีก็บอกว่าเขาต้องเป็นคนบอกเอง ตอนนั้นมันจึงคล้ายๆ ว่ามีความเห็นกันไปในคนละทาง ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลอยู่

สุดท้ายก็เกิดการแก้ปัญหา ในช่วงนั้นกำลังมีการทำรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2489 อยู่พอดี ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการบรรจุหมวดหมวดหนึ่งไว้ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2489 เรียกว่าหมวดที่ว่าด้วย ‘คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ’ คือมีการก่อตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรก มีอำนาจที่จะชี้ว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งองค์ประกอบของตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรกึ่งการเมืองกึ่งตุลาการ ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 ลงพระปรมาภิไธยนั้น กำหนดให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐสภาแต่งตั้งขึ้นเป็นประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง และตุลาการอื่นอีกสิบสี่คน  ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มามีการกำหนดองค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแตกต่างกันออกไป เช่น กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ มีประธานศาลฎีกา มีอธิบดีกรมอัยการ มีผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เข้ามาเป็นองค์ประกอบ อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรกึ่งการเมืองกึ่งตุลาการ ทำหน้าที่สำคัญ คือ ชี้ว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นและเป็นคดีอยู่ในศาล และศาลในคดีนั้นเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น จริงๆแล้วกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่  เราได้ใช้ระบบนี้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญ 2540

เมื่อถึงปี พ.ศ. 2540 ก็มีการเปลี่ยนโครงสร้าง จากที่เป็นองค์กรกึ่งการเมืองกึ่งตุลาการ มาเป็นองค์การตุลาการเต็มรูปแบบ คือ มีสภาพเป็นศาลที่เรียกว่า ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ และเพิ่มอำนาจหน้าที่อีกหลายประการ อำนาจที่มีแต่เดิมคืออำนาจในการวินิจฉัยว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยังเป็นอำนาจที่มีอยู่ต่อไป และบัดนี้เป็นของศาลรัฐธรรมนูญ แต่นอกจากอำนาจดังกล่าวแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจมากไปกว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญหลายประการ  เช่น มีอำนาจในการวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายที่ผ่านสภามาแล้วจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือที่เรียกว่าอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายก่อนที่จะประกาศใช้ มีอำนาจชี้เรื่องการยุบพรรคการเมือง มีอำนาจชี้ในเรื่องสมาชิกภาพของ ส.ส. มีอำนาจเรื่องที่จะชี้ว่าสนธิสัญญาไหนที่จะต้องขอความเห็นชอบจากสภาหรือไม่ คืออำนาจขยายออกไปกว้างขวางมากทีเดียว แต่หลักการสำคัญอันหนึ่งก็คือยังไม่ยอมให้ประชาชนฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 เลิกไปก็มีการใช้ ปี พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 ก็มีปัญหาอยู่คือ หนึ่ง คือ ไปให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจารณาเอง ซึ่งขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจที่ว่ากฎหมายวิธีพิจารณาที่ศาลใช้ในการตัดสินคดี สภาจะต้องเป็นคนออก รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ยกอำนาจนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญไปทำ โดยบังคับว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องออกข้อบังคับนี้โดยมติเอกฉันท์ของตุลาการทั้ง 15 คน แต่ตุลาการก็ตกลงกันไม่ได้เพราะไม่ได้คะแนนเสียงเอกฉันท์ เลยออกข้อกำหนดมาได้เพียงสามสิบกว่าข้อ มีเนื้อความที่ไม่สมบูรณ์หลายประการ

ปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรกเลยก็คือคดีซุกหุ้นของคุณทักษิณ ที่ในตอนนั้นตอนเริ่มต้นคดีมีตุลาการ 14 คน และในระหว่างการดำเนินการพิจารณาคดีก็มีการตั้งตุลาการเข้ามาอีกคนหนึ่งเป็น 15 คน แล้วคดีนี้ตัดสินมาในทางกฎหมาย คือ 7-4-4 แต่ 4 กับ 4 นี้มันรวมกันเป็น 8 ซึ่งจริงๆแล้วในทางกฎหมายถือว่าไม่ถูกต้องจากนั้นมีการบอกว่า กรณีคุณทักษิณไม่มีความผิดตาม ม.295 ของ รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 ซึ่งผมก็ได้วิจารณ์ประเด็นนี้เอาไว้ว่าระบบวิธีพิจารณาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งประเด็นเพื่อวินิจฉัยก็ดี การที่ยอมให้ตุลาการเข้ามาในองคณะภายหลังร่วมพิจารณาด้วยร่วมตัดสินด้วยก็ดี มันไม่ถูกต้อง รวมทั้งการตั้งประเด็นที่ไม่เป็นเสียง 8 ต่อ 7 แต่เป็น 7-4-4 ก็ไม่ถูกต้อง

 

“เพราะเหตุว่าฝ่ายรัฐบาลเองก็กุมสภาพในคณะกรรมการสรรหา ฝ่ายค้านที่จะเข้ามาร่วมในการสรรหาก็น้อยลง

จึงเป็นเหตุให้เวลาต่อมามีการอ้างว่าฝ่ายรัฐบาลครอบงำองค์กรอิสระ

ซึ่งจะว่าไปมันก็มีส่วนถูกอยู่เหมือนกันในเชิงของการได้มาซึ่งตัวของบุคคลากรที่เข้าสู่องค์กร

แต่ว่าถ้าพูดในทางหลักการแล้วมันควรจะเปิดให้มีการต่อรองกัน

หรือว่ายอมให้ฝ่ายค้านมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาตัวบุคคลมากกว่านี้ ”

 

พูดง่ายๆ มันก็มีปัญหาอยู่หลายประการตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 องค์คณะ 15 คนก็ใหญ่เกินไป กระบวนการการได้มาของตุลาการตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 มันก็เป็นกระบวนการที่พูดให้ถึงที่สุดแล้วแม้ว่ามันจะมีการคัดเลือกจากกรรมการคัดเลือก แต่ก็อาจจะกล่าวได้ว่าบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการคัดเลือกโดยปกติก็จะเป็นคนจากฟากรัฐบาลเป็นหลัก เพราะเหตุว่าฝ่ายรัฐบาลเองก็กุมสภาพในคณะกรรมการสรรหา ฝ่ายค้านที่จะเข้ามาร่วมในการสรรหาก็น้อยหรือไม่มีเลย จึงเป็นเหตุให้เวลาต่อมามีการอ้างว่าฝ่ายรัฐบาลครอบงำองค์กรอิสระ ซึ่งจะว่าไปมันก็มีส่วนถูกอยู่เหมือนกันในเชิงของการได้มาซึ่งตัวของบุคคลากรที่เข้าสู่องค์กร ถ้าพูดในทางหลักการแล้วมันควรจะเปิดให้มีการต่อรองกัน หรือว่ายอมให้ฝ่ายค้านมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาตัวบุคคลมากกว่านี้

ดังนั้นในตัวโครงสร้างของการได้มาตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 นี้ มันก็มีปัญหาอยู่จริง แต่การแก้ปัญหาควรจะต้องเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ไม่ใช่ใช้รถถังใช้ปืนมายึดอำนาจ แล้วอ้างกรณีปัญหาดังกล่าวเป็นความชอบธรรมในการยึดอำนาจซึ่งไม่ถูกต้อง หลังยึดอำนาจแล้ว มีการตรารัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงของการยึดอำนาจขึ้นใช้บังคับ การตรารัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นใช้บังคับ คือ รัฐธรรมนูญ 2550 กลับสร้างปัญหาหนักขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าบางส่วนจะมีความพยายามแก้ปัญหาที่ผมเคยวิพากษ์วิจารณ์ไว้ เช่น ลดจำนวนตุลาการเหลือ 9 คน ซึ่งผมเคยวิจารณ์ไว้ว่าองคณะ 15 คนมันใหญ่เกินไป แล้วก็มีการพยายามแก้ปัญหาเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนดเอง  อันเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ผมเคยวิจารณ์ว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญไปออกข้อกำหนดวิธีพิจารณาได้เอง เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการให้รัฐสภาออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีปัญหาใหม่ผุดขึ้นมาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็คือปัญหาที่ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ดันไปกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญนั่นแหละเป็นคนเสนอกฎหมายนี้เข้าสภา การกำหนดให้ศาลเสนอกฎหมายได้เอง ผมเห็นว่าขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ ตอนนี้ปัญหาที่เกิดก็คือศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนเสนอกฎหมายนี้เข้าสภา แต่ก็ยังคงค้างอยู่ที่สภา เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเสนอว่าควรมีเรื่องการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งเสียงข้างมากของสภาก็กลับเห็นว่ามันไม่ควรจะมี และก็ทำให้กฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่ผ่านสภา

ยิ่งไปกว่านั้นที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยิ่งเป็นปัญหาหนักไปกว่าเดิม คือ ตุลาการรัฐธรรมนูญ 9 คน 5 คนมีที่มาจากฝั่งศาล ศาลฎีกา 3 คน ศาลปกครองสูงสุด 2 คน ซึ่งการมาแทบจะเรียกได้เป็นว่าเป็นการมาแบบออโตเมติค คือแม้รัฐธรรมนูญเขียนว่าจะต้องมาจากวุฒิสภาก็ตาม แต่ว่าโดยสภาพแล้ววุฒิสภาก็ได้แต่รับรองเท่านั้น แทบที่จะเรียกว่าทำอย่างอื่นไม่ได้ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่าวุฒิสภาครึ่งหนึ่งก็ยังมาจากการสรรหา ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 4 คนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒินิติศาสตร์และรัฐศาสตร์นั้น ก็เห็นได้ว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหามีที่มาที่เชื่อมโยงกับประชาชนน้อยมาก กรรมการสรรหาส่วนใหญ่ก็คือประธานศาลต่างๆและประธานอง์กรอิสระ กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ถ้าดูในแง่ที่มา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันนี้เป็นสัญลักษณ์ของพวกอภิชน คือ มีลักษณะที่ตัวแทนของระบอบอภิชนาธิปไตยหรือคณาธิปไตย ไม่ใช่สัญลักษณของนิติรัฐและระบอบประชาธิปไตย ทั้งหมดนี้มาจากความคิดที่รังเกียจนักการเมือง ซึ่งในที่สุดแล้วก็คือความคิดที่รังเกียจประชาธิปไตยนั่นเองที่ทำให้ได้โครงสร้างในลักษณะแบบนี้ขึ้นมา ทำให้ตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขาดจุดยึดโยงเท่าที่ควรจะเป็นกับประชาชนผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจ

ในทางปฏิบัติเราจะเห็นว่าตัวบุคลากรที่เข้าสู่ตำแหน่ง ในศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา วิธีคิดของบุคคลากรเหล่านี้ รวมทั้งการปฏิบัติภารกิจในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมามันบ่งชี้แล้วว่าทิศทางแนวการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคดียุบพรรค คดีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคุณสมัคร สุนทรเวช คดีเรื่องปราสาทพระวิหาร เรื่องสนธิสัญญาที่จะต้องขอความเห็นชอบจากสภา คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเหล่านี้มีปัญหาในทางกฎหมายทั้งสิ้น จนมาถึงคดีที่ใหญ่มากที่สุดและมีปัญหามากที่สุด และสำหรับผมแล้ว นี่คือคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำหน้าที่พิทักษ์คุณค่าของนิติรัฐในระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว แต่สถาปนาตัวเองขึ้นไปอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ นั่นคือคดีเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

 

ทำไมอาจารย์มองกรณีล่าสุดว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก

เรื่องล่าสุดเห็นว่าใหญ่ที่สุด รุนแรงที่สุด ไม่ได้หมายความว่าเรื่องที่ผ่านมาไม่รุนแรง กรณีการยุบพรรคพลังประชาชน ก็มีสภาพซึ่งหลายคนกังขาในเชิงความเป็นกลาง ความโปร่งใส และความเป็นมืออาชีพในการตัดสินคดี เพราะมันมีการแถลงคดีด้วยวาจา หลังจากนั้นประมาณชั่วโมงหนึ่งก็ตัดสินคดีเลย ลักษณะการอ่านคำวินิจฉัยอ่านชื่อพรรคการเมืองก็ยังผิด และยังตัดสินในบริบทของการบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิของพวกพันธมิตรด้วย นี่เป็นปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญแสดงออกผ่านการทำงานที่เราก็คงพอเห็นได้ ยิ่งถ้าดูคำให้สัมภาษณ์ของประธานศาลรัฐธรรมนูญในตอนหลังที่พูดถึงเรื่องบริบทของการตัดสินคดียุบพรรคจะยิ่งเห็นได้ชัดว่าการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีปัญหาจริงๆ ไม่ใช่ผมอคติ แต่ดูจากภววิสัย ผมคิดว่าคนทั่วไปที่มีใจเป็นธรรมพอก็จะเห็นว่ามีปัญหาอย่างแน่นอน , คดีปราสาทพระวิหารที่ตัดสิน รัฐธรรมนูญเขียนว่า เป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ศาลรัฐธรรมนูญก็ไปเติมคำว่า “อาจ” ลงไป ซึ่งก็เป็นการขยายอำนาจของตัวเอง และสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นฝักเป็นฝ่าย , คดีการปฏิเสธไม่ยุบพรรค ปชป.ในเรื่องระยะเวลาในการยื่นคำร้อง อะไรเหล่านี้มันชวนให้สาธารณชนมีข้อกังขาได้ทั้งสิ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพิจารณาจากประโยชน์ได้เสียทางการเมืองในช่วงระยะเวลาหกถึงเจ็ดปีที่ผ่านมา และนำคำวินิจฉัยเหล่านั้นมาตรวจวัดกับคุณค่านิติรัฐประชาธิปไตย คนที่มีใจเป็นธรรมก็ตาสว่างแล้วตาสว่างอีก

 

“เรื่องล่าสุดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีเลย

ไม่มีตัวบทบัญญัติมาตราใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

ในการวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแม้แต่มาตราเดียว

ซึ่งแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

วินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี วินิจฉัยเรื่องการยุบพรรค เรื่องสนธิสัญญา”

 

แต่ความรุนแรงของความผิดพลาดในการตัดสินคดีที่ผ่านมาหลายๆ คดีในทางกฎหมาย มันยังไม่เท่ากับคดีที่เกิดขึ้นล่าสุด เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่บอกว่าล่าสุดนั้น หมายถึงคดีตั้งแต่เรื่องมาตรา 291 เมื่อปีที่แล้ว (2555) เรื่อยมาถึงมาตรา 68 ในปัจจุบัน (2556) สองคดีนี้เชื่อมโยงหรือเกี่ยวเนื่องกัน ที่บอกว่ารุนแรง เพราะว่าคดีอื่นๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดี อย่างน้อยที่สุดตอนคดีเข้าสู่ศาลเรายังพอบอกได้ว่าศาลมีเขตอำนาจเหนือคดี อย่างกรณียุบพรรค หนังสือสัญญาต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาหรือไม่ กรณีคุณสมัคร สุนทรเวช รัฐธรรมนูญเขียนให้อำนาจศาลสามารถวินิจฉัยเรื่องของสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนฯ หรือคุณสมบัติของนายกฯ  คืออย่างน้อยทางเข้ามันเห็นว่ามีตัวบทรองรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ถึงแม้ว่าในเชิงการพิจารณา การตัดสินคดี การตีความรัฐธรรมนูญ ผมจะเห็นว่ามีปัญหาอย่างยิ่งก็ตาม แต่ในทางการรับคดีเราต้องยอมรับว่าในหลายคดีศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจเหนือคดี

แต่เรื่องล่าสุดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีเลย ไม่มีตัวบทบัญญัติมาตราใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแม้แต่มาตราเดียว ซึ่งแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ วินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี วินิจฉัยเรื่องการยุบพรรค เรื่องสนธิสัญญา

แล้วศาลธรน.รับเรื่องนี้จากมาตราไหน คำตอบก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญนั้นอาศัยมาตรา 68 แต่มาตรา 68 มันเป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือพรรคการเมืองไปล้มล้างระบอบการปกครอง ปัญหาก็คือ มาตรานี้ไม่ใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัยเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ

การรับคดีที่ผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเป็นการล้มล้างระบอบการปกครอง มีข้อวิจารณ์ 2 ประการใหญ่ๆ ประการแรก ที่คนทั่วไปเขาก็พูดกันคือ ขั้นตอนของการเอาคดีนี้เข้าสู่ศาลไม่ถูกต้อง เพราะบทบัญญัติมาตรา 68 ที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อ้างเพื่อรับคดีไว้พิจารณานั้น  กำหนดสิทธิอัยการสูงสุดเท่านั้นเป็นคนยื่นเรื่อง ผู้ที่รู้เห็นการกระทำว่าจะเป็นการล้มล้างก็ต้องไปยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อไต่สวนว่ามีมูลหรือไม่ ถ้ามีมูลแล้วอัยการสูงสุดก็จะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไปดูการอภิปรายตัวรัฐธรรมนูญก็ได้ ไม่ว่าจะในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ดี หรือ 2550 ก็ดี ผู้อภิปรายก็อภิปรายในทิศทางนี้หมด แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะอ้างได้ว่า เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  ศาลรัฐธรรมนูญอาจตีความแตกต่างจากคนร่างก็ได้ถ้ามีเหตุผลที่ดีกว่า แต่คำถามคือมันมีเหตุผลที่ดีกว่าไหม การตีความนั้นขัดแย้งกับตัวถ้อยคำอย่างชัดแจ้งไหม ขัดวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งไหม ถามผม ผมเห็นว่าขัดแย้งกับถ้อยคำในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง เพราะเขาพูดถึงอัยการ ให้อัยการเป็นผู้รับเรื่องและยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่าขัดแย้งกับระบบของรัฐธรรมนูญไหม ถ้าตีความแบบ systematic interpretation คำตอบคือ ขัดแย้งกับระบบรัฐธรรมนูญ 

นอกจากจะขัดแย้งในเชิงถ้อยคำ ไวยากรณ์แล้ว ยังขัดแย้งกับตัวระบบ การขัดแย้งกับระบบคือ ถ้าตีความอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความ มันไม่มีความจำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเขียนคำว่าอัยการสูงสุดเอาไว้ ไม่อย่างนั้นรัฐธรรมนูญต้องเขียนว่า บุคคลจะไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองก็ได้หรือไปยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดก่อนก็ได้  โดยการตีความของศาลรัฐธรรมนูญแบบนี้ทำให้ function หรือภารกิจของอัยการสูงสุดไม่มีความหมาย พูดให้ชัดลงไปอีกก็คือ เท่ากับลบคำว่าอัยการสูงสุดออกจากรัฐธรรมนูญในทางปฏิบัติ เพราะต่อไปคนจะไม่ไปยื่นเรื่องที่อัยการสูงสุดแต่ไปยื่นโดยตรงที่ศาลรัฐธรรมนูญเลย  การตีความแบบนี้จึงขัดกับตัวระบบ

อันถัดไปคือ ขัดกับวัตถุประสงค์ของตัวรัฐธรรมนูญเองซึ่งดูได้จากผู้ร่างว่า เขาไม่ต้องการให้ใครก็ได้ไปยื่นเรื่อง ซึ่งมันอาจจะไม่มีมูลต่อศาลรัฐธรรมนูญเขาถึงให้ไปที่อัยการสูงสุดก่อน และในด้านหนึ่งก็เป็นการถ่วงดุลอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะไม่อย่างนั้นโดยอาศัยมาตรา 68 ถ้าประชาชนหรือบุคคลไปยื่นเรื่องได้โดยตรง ศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีอำนาจมาก สามารถรับเรื่องทุกประเภทเอาไว้เข้าสู่การพิจารณาได้ ขอเพียงแต่คนไปยื่นเรื่องอ้างว่าองค์กรของรัฐกระทำการเป็นการล้มล้างการปกครองเท่านั้นเอง มีมูลหรือไม่ก็สามารถรับเรื่องและเดินหน้าต่อไปได้ เท่ากับทำให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยช่องทางนี้กลายเป็นองค์กรที่ทรงพลานุภาพที่สุดในระบบรัฐธรรมนูญ  ก็ผิดกับเรื่องหลักของการตีความในเชิงวัตถุประสงค์ของตัวบทที่เรียกว่า theological interpretation และขัดกับความเป็นมาของตัวบทที่เรียกว่า histological interpretation การตีความมาตรา 68 จึงขัดกับหลักเกณฑ์การตีความกฎหมายในทุกมิติ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีเหตุที่จะอ้างได้

ประการที่สอง ในเชิงตัวบทเขาพูดถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพของบุคคล อันนี้หนักกว่าเรื่องอัยการสูงสุดอีก ถ้าไปอ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 จะเห็นว่ามาตรา 68 ระบุว่าการที่บุคคลจะยื่นเรื่องได้ต้องเป็นกรณีที่บุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพ ผมถามว่า รัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เขาใช้สิทธิและเสรีภาพตรงไหน การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องสิทธิและเสรีภาพเลย สิทธิและเสรีภาพเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ของประชาชน ของพรรคการเมือง แต่รัฐสภาในฐานะที่เป็นองค์กรที่ทรงอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเขาปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มันจึงไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพในความหมายของมาตรา 68 ถ้าตีความว่า เวลาองค์กรของรัฐปฏิบัติหน้าที่เท่ากับใช้สิทธิและเสรีภาพ ต้องตีความต่อไปว่า การที่ตำรวจไปจับผู้ร้าย เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ ทหารได้รับคำสั่งให้ไปรับ การออกรบก็เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ  อธิบดีกรมกรมหนึ่งออกใบอนุญาตบางอย่างก็เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ ศาลตัดสินคดีก็เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะตัดสินหรือใช้อำนาจยังไงก็ได้เพราะเป็นสิทธิและเสรีภาพของเขา ซึ่งผิด !!!

องค์กรของรัฐไม่ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพ แต่องค์กรเหล่านั้นเขากำลังปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ยิ่งไปกว่านั้นศาลรัฐธรรมนูญยังไปอนุโลมเอาตัวบทตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาสั่งคุ้มครองชั่วคราว คือ สั่งห้ามหรือยังไม่ให้ลงมติในวาระสามในตอนที่มีการฟ้องคดี อำนาจแบบนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ในข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีโดยตรง แต่ศาลรัฐธรรมนูญไปอนุโลมเอากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งในใช้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลธรรมดาด้วยกัน เวลาเป็นหนี้กันแล้วไปฟ้อง กลัวว่าลูกหนี้จะหนีหนี้ไปก่อน ก็สั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อน ระงับการโอนทรัพย์ได้ แต่นี่เป็นองค์กรของรัฐ ไปเอาอันนี้มาใช้ ก็เลยทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสกัดการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาได้

เราลองนึกดูง่ายๆ ถ้าใครยังไม่เข้าใจ ลองนึกดูว่า ขนาดรัฐธรรมนูญยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบการตรากฎหมายระดับพระราชบัญญัติ หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้กฎหมาย รัฐธรรมนูญก็ยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ในชั้นที่ผ่านรัฐสภาไปแล้วแต่เป็นชั้นก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ นี่ขนาดรัฐธรรมนูญยอมให้ตรวจสอบยังเขียนไว้ชัดขนาดนี้  ไม่มีรัฐธรรมนูญที่ไหนเลยเขียนว่า คุณสามารถเข้ามาตรวจสอบวาระที่ 1 หรือวาระ 2 หรือวาระที่ 3 พูดง่ายๆ ก็คือ ขนาดรัฐธรรมนูญยอมให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาร่างพระราชบัญญํติต่างๆ รัฐธรรมนูญก็ยอมให้กระทำได้ภายหลังจากที่ร่างพระราชบัญญํตินั้นๆ ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว เรื่องราวนั้นเสร็จสิ้นไปจากรัฐสภาแล้ว รัฐธรรมนูญไม่ยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญสอดเข้าไปยุ่งกับกระบวนการตรากฎหมายได้ นี่ขนาดเป็นกรณีที่เขียนไว้ชัดแจ้งนะ แต่กรณีของการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีเขียนไว้เลย ศาลรัฐธรรมนูญยังสอดเข้าไปห้ามการลงมติในวาระที่ 3 ซึ่งไม่มีบัญญัติใดให้อำนาจเลย ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมา จึงเห็นได้ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญได้กระทำการละเมิดตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเอง

 

แต่เมื่อปรากฏต่อรัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเหมือนกันว่า

ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้อำนาจที่ตัวเองไม่มีจากรัฐธรรมนูญ

และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตัวเองมีอำนาจอะไรจากตัวรัฐธรรมนูญ

สภาซึ่งทรงอำนาจตามรัฐธรรมนูญเหมือนกันเขาย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญได้

 

การดำเนินการของฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ อาจารย์พอใจกับการแสดงออกนี้ไหม หรือเหมาะสมหรือไม่

ผมคิดว่าถูกต้องแล้ว เพราะว่า ในแง่นี้ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไม่ได้วางสถานะของศาลรัฐธรรมนูญให้อยู่เหนือรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนเขียนแบบนั้นให้รัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมดูแลของศาลรัฐธรรมนูญ เขาวางโครงสร้างอำนาจเอาไว้เท่ากัน และใช้อำนาจคนละลักษณะ โดยการวางโครงสร้างแบบนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนใช้อำนาจคนสุดท้ายในข้อพิพาททางกฎหมายรัฐธรรมนูญก็จริง แต่การใช้อำนาจต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญด้วย คือต้องเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญเขียนอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจน

แต่เมื่อปรากฏต่อรัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเหมือนกัว่า ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้อำนาจที่ตัวเองไม่มีจากรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตัวเองมีอำนาจอะไรจากตัวรัฐธรรมนูญ รัฐสภาซึ่งทรงอำนาจตามรัฐธรรมนูญเหมือนกันย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญได้

 

ถึงจุดหนึ่งเมื่อคุณก้าวล่วงออกจากกรอบขอบเขตอำนาจแล้ว

องค์กรของรัฐเขาสามารถไม่ปฏิบัติได้ แน่นอนว่า จะนำมาซึ่งวิกฤตในทางกฎหมายไหม ก็นำมา

แต่ถ้ายันกันได้ในทางกฎหมาย คำวินิจฉัยนั้นก็จะไม่มีผลในทางกฎหมาย

 

ผลของการปฏิเสธจะออกมารูปไหนได้บ้าง

ผลในทางกฎหมายที่ตามมา ถ้ารัฐสภาปฏิเสธ ก็คือ รัฐสภาไม่ผูกพันตามผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มักมีคนอ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด ผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร ประเด็นคือ คำวินิจฉัยที่บอกให้มีผลเป็นเด็ดขาด ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นถูกต้องตามกรอบของรัฐธรรมนูญด้วย แต่คำวินิจฉัยอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นโดยเห็นประจักษ์ชัดว่ามันขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอย่างแน่แท้จะไปบังคับให้รัฐสภาเขาผูกพันไม่ได้ เพราะถ้าผูกพันก็เท่ากับไปผูกพันตามคำวินิจฉัยซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ

ทีนี้ก็มีคนบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนตีความรัฐธรรมนูญ ศาลตีความแบบนี้จะไม่เชื่อศาลได้อย่างไร อย่างที่ผมบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่เหมือนศาลยุติธรรมที่ตัดสินคดีระหว่างปัจเจกบุคคลด้วยกันในฐานะที่เศาลยุติธรรมมีอำนาจเหนือกว่าคู่ความในคดี แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในฐานะที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรหนึ่งในรัฐธรรมนูญเสมอกับองค์กรอื่นๆ ถ้าองค์กรอื่นๆ มีความเห็นว่าสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญทำอยู่มันฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งแล้ว องค์กรนั้นต้องไม่ปฏิบัติตาม เพราะถ้ายอมปฏิบัติตามก็เท่ากับยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญทำลายรัฐธรรมนูญได้ผ่านคำวินิจฉัย ตนเองก็จะกลายเป็นผู้ร่วมทำลายรัฐธรรมนูญไปด้วย  ซึ่งยอมให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้

ต่อไปถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดี อ้างมาตรา 68 สมมติสั่งห้ามนายกฯ ไปปาฐกถาในต่างประเทศเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจแต่มีคนไปร้องว่าการทำเช่นนั้นเป็นการล้มล้างการปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราว ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา แล้วสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามนายกฯ เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปแสดงปาฐกถา แล้วบอกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด ผูกพันทุกองค์กร แล้วมันจะเป็นยังไง เรายังจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยแบบนี้ไหม อย่าคิดว่าตัวอย่างพวกนี้เกิดขึ้นไม่ได้ ในยามที่สังคมเผชิญวิกฤติรุนแรง เอาเป็นเอาตายกันแบบนี้ เรื่องที่บ้าๆบอๆที่เป็นไปไม่ได้ มันก็เกิดขึ้นหลายเรื่องแล้ว

ผมยกตัวอย่างให้เห็นสำหรับคนที่ชอบอ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันองค์กรทุกองค์กรว่ามันมีพรมแดนของมัน ไม่ใช่สักแต่อ้าง ท่องอยู่นั่นแหละว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ตัดสินอะไรมาก็ต้องทำตาม คือ องค์กรอื่นเขาก็มีสมองเหมือนกัน เขาก็ใช้รัฐธรรมนูญเหมือนกัน เมื่อเขาเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ ตีความรัฐธรรมนูญทำลายอำนาจของเขา เขาก็ต้องไม่ปฏิบัติตาม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถึงจุดหนึ่งเมื่อคุณก้าวล่วงออกจากกรอบขอบเขตอำนาจแล้ว องค์กรของรัฐเขาสามารถไม่ปฏิบัติได้ ส่วนคำถามว่า จะนำมาซึ่งวิกฤตในทางกฎหมายไหม ก็นำมา แต่ถ้ายันกันได้ในทางกฎหมาย คำวินิจฉัยนั้นก็จะไม่มีผลในทางกฎหมาย

 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร

มันไม่ใช่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอะไรยังไงก็ได้ในรูปคำวินิจฉัยแล้วผูกพันองค์กรทั้งหมด

ไม่งั้นก็ตัดสินอะไรก็ได้หมด

มันต้องในความหมายความคำวินิจฉัยนั้นอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ

แล้วจึงผูกพันอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ซึ่งเป็นองค์กรที่ทรงอำนาจในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน

 

ในทางการเมือง พอทำนายได้ไหมจะเกิดอะไร

มันก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายการเมืองหนักแน่นแค่ไหนในการปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เราคาดหมายว่าศาลรัฐธรรมนูญเขาถือว่าเขาตีความในอำนาจของเขา ที่สุดแล้ว ถ้าเขาไม่ถอย เขาก็จะทำคำวินิจฉัยออกมา การไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าฝ่าฝืนคำวินิจฉัย  ก็อาจมีคนไปร้องขอให้ยุบพรรคการเมือง ที่สุดมันก็เหลืออยู่แต่ว่าฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องทำตามไหม เพราะที่บอกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร มันไม่ใช่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอะไรยังไงก็ได้ในรูปคำวินิจฉัยแล้วผูกพันองค์กรทั้งหมด ไม่งั้นก็ตัดสินอะไรก็ได้หมด มันต้องในความหมายที่ว่าคำวินิจฉัยนั้นอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ แล้วจึงผูกพันอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ซึ่งเป็นองค์กรที่ทรงอำนาจในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แล้วที่สำคัญก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจบังคับการตามคำวินิจฉัยเอง ถ้าองค์กรบริหารซึ่งเป็นองค์กรที่จะต้องบังคับการตามคำวินิจฉัยไม่บังคับให้ คุณจะวินิจฉัยอะไรก็เรื่องของคุณ สุดท้ายพอขัดแย้งกันอย่างนี้ ก็อยู่ที่ผู้ถืออาวุธว่าจะเดินตามข้างไหน

โดยปกติถ้ามันก้ำๆ กึ่งๆ เถียงกันประมาณนี้ องค์กรอื่นๆของรัฐก็ยอมผูกผัน เพื่อระบบกฎหมายดำรงอยู่ได้ แต่เมื่อใดที่เขาเห็นว่าอันนี้เป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญเสียเอง ผมถามว่าจะไปบังคับให้เขาผูกพันได้อย่างไร ยกตัวอย่างแบบ extreme ถ้ามีคนไปยื่นเรื่องว่าคณะรัฐมนตรีมุ่งประสงค์ล้มล้างรัฐธรรมนูญเป็นกบฏ  ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา แล้วก็เห็นว่าไม่มีวิธีอื่นใดที่จะระงับยับยั้งคณะรัฐมนตรีได้ จึงอนุโลมเอากฎหมายอาญามาใช้ ให้อำนาจตัวเองลงโทษประหารชีวิตบุคคล คือ ประหารชีวิตรัฐมนตรีทุกคน มีการทำคำสั่งดังกล่าวในรูปคำวินิจฉัย อย่างนี้ยังจะผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร ยังจะผูกพันราชทัณฑ์หรือ

 

“เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการตัดสินคดีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ถ้าดูในบริบทของการต่อสู้กันทางการเมืองหลังการแย่งชิงอำนาจเมื่อ 19 กันยา 49

บ้านเราเป็นตัวอย่างที่หนึ่งเดียวมากๆ ตอนนี้

ที่ผ่านมาผมก็ยังไม่เคยเห็นสภาพของการตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะแบบนี้เลย”

 

พอจะมีตัวอย่างในประเทศอื่นไหม ที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปดำเนินการในลักษณะนี้

ในต่างประเทศ ถ้าองค์กรตุลาการหรือศาลใช้อำนาจก้าวล่วงอำนาจขององค์กรอื่นมาก แต่ไม่ถึงขึ้นผิดพลาดชัดแจ้ง วิธีการของเขาคือออกกฎหมายตัดอำนาจศาล สภาเขาก็แก้กฎหมาย เพื่อให้ในอนาคตคุณไม่สามารถทำอย่างนี้ได้อีก แต่กรณีนั้นเขาก็รับไป ปฏิบัติไปก่อน หรืออาจจะออกกฎหมายที่มีผลเป็นการแก้ไขความบกพร่องของคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัย เช่น ออกกฎหมายนิรโทษกรรม  เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการตัดสินคดีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าดูในบริบทของการต่อสู้กันทางการเมืองหลังการแย่งชิงอำนาจเมื่อ 19 กันยา 49 บ้านเราเป็นตัวอย่างที่หนึ่งเดียวมากๆ ตอนนี้ ที่ผ่านมาผมก็ยังไม่เคยเห็นสภาพของการตีความรัฐธรรมนูญในลักษณะแบบนี้เลย 

 

 

คณะนิติราษฎร์เคยเสนอตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วว่าให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญไปก่อน

เรียกว่า ‘คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ’

เพราะสิ่งที่จะพิทักษ์คือตัวระบอบรัฐธรรมนูญ หรือคุณค่าของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พิทักษ์ตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญ

 

ถ้ามีโอกาสปรับโครงสร้าง อาจารย์มีข้อเสนออะไรบ้าง

การปรับโครงสร้างต้องมองสองระยะ ระยะหลังอาจไม่มีความจำเป็นต้องพูดกันตอนนี้ ระยะแรกถ้าเราลองดูโดยระบบของศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่แล้วเขาจะแก้มาตรา 291 เปิดทางให้มี สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วเอาไปออกเสียงประชามติ  ศาลรัฐธรรมนูญบอกประมาณว่าแก้ไม่ได้ ถ้าจะทำศาลเขียนเป็นกึ่งๆ คำแนะนำว่าต้องทำประชามติก่อน หรือเป็นความเหมาะสมที่จะแก้ไขรายมาตรา เป็นการเบรคสภา เรื่องนี้จึงค้างอยู่ในวาระสอง ยังไม่มีการลงมติในวาระสาม พูดง่าย คือ สภาเขาก็ยอมถอย ผมเห็นว่าตอนนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ถูกต้องแล้วที่ตีความมาตรา 68 แบบนั้น แต่สภาไม่สู้ ยอมแก้เป็นรายมาตรา ครั้นแก้เป็นรายมาตราก็ถูกเบรคอีก มันสะท้อนให้เห็นวิธีคิดของศาลรัฐธรรมนูญ และน่าสนใจว่าสภาจะยอมอีกไหม

อาจจะมีคนบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ทันเบรกเสียหน่อย เขาแค่รับเรื่องเอาไว้พิจารณา แต่การรับเรื่องเอาไว้ก็ไม่ได้แล้ว คือ ชอบมีคนแย้งว่าไปวิจารณ์ทำไมเขายังไม่ได้ตัดสินคดี มันไม่ต้องรอให้ตัดสินคดี เพราะมันผิดตั้งแต่รับเรื่องที่ตัวเองไม่มีอำนาจรับแล้ว

ในแง่นี้ถ้าจะแก้ปัญหาก็ต้องแก้โดยทำเป็นสองระยะ ระยะแรก  คือ การตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญในโครงสร้างแบบนี้ชั่วคราวไปก่อน เพื่อเปิดทางให้มีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยปลอดจากการแทรกแซงโดยศาลรัฐธรรมนูญ วิธีการเบื้องต้นคือ ต้องยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญที่สืบทอดมาจากรัฐประหารแบบที่เป็นอยู่ก่อน ตัวตุลาการอาจไม่ได้สืบเนื่องโดยตรง แต่โดยโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญ 50 หลายๆ เรื่องมันเชื่อมต่อจากรัฐประหารมา มันจึงปฏิเสธความเชื่อมต่อโดยอ้อมไม่ได้เสียทีเดียว มันจึงต้องยุบ เลิก ระบบนี้ไป

คณะนิติราษฎร์เคยเสนอตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วว่าให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญไปก่อน เรียกว่า ‘คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ’ เพราะสิ่งที่จะพิทักษ์คือตัวระบอบรัฐธรรมนูญ หรือคุณค่าของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พิทักษ์ตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญนะ ตัวหนังสือนั้นต้องถูกแก้ถูกเปลี่ยนด้วยซ้ำไป แต่เราพิทักษ์คุณค่ารัฐธรรมนูญ คุณค่านิติรัฐ

เราเคยเสนอไว้ว่าตั้งองค์กรนี้มาแทนที่ สวมเข้าไปเพื่อรับภาระที่ยังคั่งค้างอยู่ เพราะถ้ายุบทิ้งไม่มีอะไรมาแทน มันเหมือนฟันเฟืองมันหายไป รถหรือตัวรัฐธรรมนูญจะวิ่งไม่ได้ ต้องมีอะไรมาแทนที่ไปก่อนระหว่างปรับโครงสร้าง โดยคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ  ให้มีที่มาจากแหล่งต่างๆ กัน มีเพียง 8 คน พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของประธานรัฐสภา และมีที่มา 3 ทาง จากสภาผู้แทนราษฎร 3 คน จากวุฒิสภา 2 คน จากครม. 3 คน รวมแล้วคือ ฝั่งนิติบัญญัติ 5 คน ฝ่ายบริหาร 3 คน เพื่อให้มีความชอบธรรมย้อนกลับไปหาประชาชน คณะตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญนี้ที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร อย่างน้อย 1 คนต้องเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วที่มาจากวุฒิสภาอย่างน้อย 1 คน ต้องเป็นผู้พิพากษาในศาลฏีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เรียกว่าอย่างน้อย 2 ใน 8 ต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาอาชีพ และให้มีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี

อาจมีคนบอกว่าทำแบบนี้ก็แย้งกับที่ผมเคยบอกว่า ฝ่ายค้านไม่มีส่วนร่วม ทำแบบนี้ฝ่ายบริหารก็กินกันไปหมด แล้วก็จะกระทบกับอิสระของตุลาการ มีแต่คนของฝ่ายรัฐบาล คำตอบคือ ประการแรก มันไม่เป็นแบบนั้น ฝ่ายบริหารถูกล็อคเอาไว้แล้วว่าต้องเลือกจากผู้พิพากษา 2 ใน 8 ส่วนที่เหลือเราเปิดคุณสมบัติไว้กว้างก็จริง แต่ฝ่ายบริหารก็ต้องเลือกโดยรับผิดชอบต่อรัฐสภาอยู่ดี เราต้องไม่ลืมว่าสภาผู้แทนราษฎรเลือก 3 คน ฝ่ายค้านมีส่วนร่วมด้วย ในการท้วงติง ในการอภิปรายถึงตัวบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเลือก ฝ่ายค้านมีส่วนในกระบวนการเพราะเป็นการเลือกในสภาผู้แทน ไม่ใช่เลือกโดยคณะกรรมการสรรหาแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ผมเคยวิจารณ์ว่าในทางปฏิบัติ ฝ่ายค้านไม่มีโอกาสร่วมคัดเลือก เพราะไม่ได้อยู่ในกรรมการคัดเลือก ส่วนในวุฒิสภาก็มีวุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหาอยู่แล้ว วุฒิสมาชิกสรรหาเหล่านี้ก็เป็นอภิชนที่เรายอมให้มีส่วนในการเลือกตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งๆที่ว่ากันในทางระบบให้ถึงที่สุดแล้ว คนเหล่านี้ไม่ควรได้สิทธิในการเลือกตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญเลย  ส่วนอีก 2 คนให้มาจากครม.เปิดคุณสมบัติไว้ให้ค่อนข้างกว้าง และให้ ครม.รับผิดชอบทางการเมือง

มีคนบอกว่า กรณีแบบนี้แทรกแซงได้ คำตอบคือ แทรกแซงไม่ได้ เพราะเมื่อ 8 คนนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว เขาเป็นอิสระจากการสั่งการของ ครม.หรือรัฐสภา เขาได้รับการประกันความเป็นอิสระเหมือนผู้พิพากษาเลย

ก็มีคนบอกว่า สั่งไม่ได้ แต่ก็รู้กัน เพราะเป็นคนที่ตัวเองส่งไป คำตอบคือ มันยังมีระบบถ่วงดุลโดยการถอดถอนโดยวุฒิสภาอยู่ และวุฒิสภาก็ยังเป็นแบบเดิมอยู่คือครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา อีกครึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยระบบแบบนี้ถ้าปรากฏหลักฐานแบบนั้นมันก็ถอดถอนได้ แต่ถ้าไประแวงหมดมันก็ทำอะไรไม่ได้ แล้วในทางกลับกัน ผมถามว่าทุกวันนี้คุณเชื่อได้อย่างไรว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่คุณไม่ถูกสั่งหรือไม่ถูกแทรกแซง ถ้ามีคนไม่เชื่อว่าอิสระล่ะ เพราะองค์กรที่คัดเลือกก็ต้องรู้จักกัน คือ ถ้าเราไม่ไว้วางใจแบบนี้ก็ต้องใช้ตรรกะนี้กับศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันเหมือนกัน

ในด้านหนึ่งเวลาครม.เลือก ก็ต้องเลือกคนซึ่งได้รับการยอมรับ อย่างน้อยก็ต้องเป็นคนที่ฝ่ายค้านโจมตีน้อยที่สุด สุดท้ายก็ยังมีสาธารณชนดู และจะคอยดูว่าที่ตัดสินมันเอียงไหม เข้าข้างรัฐบาลตลอดเวลาไหม ระบบถอดถอนก็ยังมีอยู่ และเป็นโครงสร้างที่ใช้ไปชั่วคราว เพราะถ้าไม่ทำตรงนี้มันจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบถาวรไม่ได้

 

“ต้องมีระบบความรับผิดหรือความพร้อมรับผิด

อันนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแล้วแต่เกี่ยวกับการ reform ศาลทั้งระบบ

และ reform กฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับความผิดฐานบิดเบือนการตีความกฎหมายที่ต้องให้เป็นความผิดอาญา”

 

ส่วนโครงสร้างถาวรข้างหน้า ผมว่าต้องคิดกันเยอะ เราอาจจะคิดถึงแต่ตัวตุลาการไม่ได้ ผมคิดว่าต้องตั้งคำถามแต่แรกเลยด้วยซ้ำ ว่า เราควรมีศาลรัฐธรรมนูญไหม ถ้าจะ reform ทั้งระบบ มันมีความจำเป็นต้องมีหรือไม่ต้องมี ซึ่งเรื่องนี้มีโมเดลตั้งเยอะ บางประเทศเขาไม่ยอมให้มีศาลรัฐธรรมนูญเพราะเห็นว่าอำนาจเยอะเกินไป ถามว่าใครคุมการตรากฎหมาย เขาบอกว่า เวลาคุมก็ให้คุมโดยคณะกรรมการหรือคณะกรรมาธิการที่มีอำนาจและเลือกมาจากผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ และเป็นการคุมในขั้นตอนก่อนประกาศใช้กฎหมาย กฎหมายผ่านรัฐสภามาแล้วให้เอาให้คณะกรรมการชุดนี้ตรวจสอบ ถ้ากรรมการซึ่งมีความชอบธรรม มีที่มาจากหลายภาคส่วนชี้ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ปล่อยผ่านไป 

ก็มีคนบอกว่าระบบการควบคุมก่อนการประกาศกฎหมายก็มีข้อดีอยู่ในการที่จะกันการแทรกแซงของศาล แต่มันอาจจะมีข้อเสียคือ ตอนคุมก่อนประกาศใช้กฎหมาย บางทีถ้ากฎหมายยังไม่ถูกเอาไปใช้จริง มันไม่รู้หรอกว่าเวลานำไปใช้แล้วมันจะขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หลายประเทศเลยบอกว่าต้องมีระบบคุมหลัง ซึ่งระบบคุมหลังมีแนวทางให้เลือกหลายแนว หนึ่ง ใช้ระบบคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรกึ่งการเมือง กึ่งตุลาการ ไม่ต้องเป็นศาล เป็นคณะตุลาการในรูปแบบเดิม แล้วให้อำนาจเฉพาะเรื่องเอาไว้ ไม่ได้อำนาจมากแบบศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องตั้งขึ้นมาเป็นศาล หรือจะตั้งขึ้นมาเป็นศาลก็มีแนวทางว่าให้ศาลฎีกาตัดสินคดีแบบนี้ หรือตั้งเป็นศาลเฉพาะขึ้นมา

สรุป 1.ตั้งเป็นองค์กรการเมืองแท้ๆ ในรูปคณะกรรมการหรือคณะกรรมาธิการ 2.ตั้งเป็นองค์กรกึ่งการเมือง กึ่งตุลาการ ในรูปคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ 3.ตั้งในรูปของศาล ถ้าเป็นในรูปของศาล ไม่ควรให้ศาลฎีกามีอำนาจแบบนี้ในความเห็นผม ควรมีศาลพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นมา ซึ่งก็คือศาลรัฐธรรมนูญนั่นแหละ มันคงตั้งในรูปแบบนี้ เพียงแต่ที่มาของตุลาการจะต้องเปลี่ยนใหม่หมด ต้องวางระบบ กฎหมายวิธีพิจารณาใหม่หมด การกำหนดอำนาจหน้าที่ต้องเขียนใหม่หมด fixเป็นเรื่องๆ  และไม่ยอมให้สภาออกกฎหมายเพิ่มอำนาจให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องอะไรก็ได้ แต่ต้องเขียนว่าจะต้องให้สภาออกกฎหมายเพิ่มอำนาจในเรื่องอะไรบ้าง ถ้าสภาไม่ออกก็ตัดสินคดีไม่ได้ มันต้องเป็นแบบนี้

ที่มาในเบื้องต้น เราต้องดูเรื่องระบบถอดถอนคู่กันไป ผมมีโมเดลในใจของผมแล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะเสนอเรื่องนี้ออกไป แต่เราพูดในทางหลักการก่อนว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยสูงมากกว่าผู้พิพากษาตุลาการของศาลอื่น เพราะเขามาตัดสินคดีรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ที่มา โอเค อาจไม่ถึงกับมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง แต่ก็ต้องเชื่อมกับองค์กรที่มีที่มาทางประชาธิปไตย ก็คือ ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติในทางใดทางหนึ่ง จะเชื่อมแบบเข้มข้นหรือเจือจางก็แล้วแต่จะออกแบบ จะปล่อยให้มาจากศาลเองเกือบจะ automatic แบบนี้ไม่ได้

พูดง่ายๆ ว่า โมเดลที่ให้ศาลส่งมาแล้วผ่านวุฒิสภาในเชิงพิธีกรรมโดยไม่มีอำนาจปฏิเสธแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้ สอง ต้องมีระบบถอดถอน ซึ่งต้องมาพร้อมกับ สาม หลักการประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ หมายความว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะมี เขาจะแต่งตั้งมาจากทางใดเป็นเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แต่เมื่อตั้งแล้ว เขาต้องได้รับการประกันว่าเขาจะไม่ถูกแทรกแซงจากบุคคลใด เมื่อมีหลักประกันอิสระ ก็ไม่จำเป็นต้องฟังคนตั้ง แต่อิสระที่มีไม่ใช่ทำอะไรก็ได้ มันต้องตั้งอยู่บนระบบของการยอมให้มีการถอดถอนออกได้ ซึ่งเมื่อถึงขั้นการถอดถอน ผมเห็นว่า อาจมีระบบเดียวไม่พอ ต้องมีสองระบบคู่กัน ทั้งการถอดถอนโดยตรงในเหตุบางเหตุ และการถอดถอนโดยองค์กรของรัฐในอีกเหตุบางเหตุ แต่การถอดถอนนั้นจะต้องทำได้ยาก เพราะถ้าทำง่ายเขาก็ขาดอิสระ แต่ยังไงก็ต้องมีระบบถอดถอน ไม่ใช่ปล่อยว่า เอาเข้าไปแล้วหมดหนทางในการเอาออก

ถัดไปคือต้องมีระบบความรับผิดหรือความพร้อมรับผิด อันนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแล้วแต่เกี่ยวกับการ reform ศาลทั้งระบบและ reform กฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับความผิดฐานบิดเบือนการตีความกฎหมายที่ต้องให้เป็นความผิดอาญา ว่า ถ้าได้ความประจักษ์ว่าตุลาการตีความกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้เป็นคดีทางการเมืองก็ตาม ถ้าเห็นประจักษ์ชัด มีพยานหลักฐาน ตุลาการเข้าไปพบคนนั้นคนนี้ พบแล้วผลการตัดสินออกมาเป็นแบบนี้ หรือบางกรณีที่แอบถ่ายคลิปกันแล้วเงียบไปแล้ว กรณีเหล่านี้ต้องมีความพร้อมรับผิด มันจะเป็นไปได้ยังไง คลิปถ่ายออกมาเรื่องราวใหญ่โตแล้วเงียบไป อย่างนี้ไม่ได้ อันนี้คือสิ่งที่ต้องสร้างขึ้น

สุดท้ายคือ กฎหมายวิธีพิจารณา สภาต้องเป็นคนออก ทั้งการริเริ่มออกและการบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายเอง เพราะกฎหมายวิธีพิจารณาคือตัวกฎหมายที่คุมการทำงานของศาล แน่นอน ฝ่ายศาลเองต้องมีส่วนร่วมในการมีคน บุคลากรเข้ามาชี้แจงในสภาถึงความจำเป็นในเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่สภาต้องเป็นคนตัดสินใจสุดท้ายว่าวิธีพิจารณาของศาลต้องเขียนไว้ยังไง ศาลต้องทำยังไง เพราะตัววิธีพิจารณาคือตัวล็อคการทำงานของศาล ไม่อย่างนั้นจะไม่มีระบบคุม

นี่คือสิ่งที่เราต้องทำภายหลังจากที่เราก่อร่างสร้างรูปรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด รู้แต่ว่าต้องเกิดขึ้นแน่ๆ

 

ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากตอนนี้ ในทางกฎหมายแล้วมีอะไรที่จะเบรคศาลรัฐธรรมนูญได้บ้าง

ไม่มี ก็มีเรื่องการแจ้งความ ในหมู่ศาลเขาก็ตัดสินเอง ระบบที่รัฐธรรมนูญ 50 ออกแบบเอาไว้เป็นระบบซึ่งเน้นอำนาจตุลาการเยอะ บางคนอาจบอกไม่ได้เน้นเยอะเสียหน่อย  วรเจตน์พูดไปเองหรือเปล่า มีอคติหรือเปล่า คำว่าเน้น คือ หมายถึงเน้นความสำคัญของบรรดาผู้พิพากษาตุลาการ ทั้งในเชิงบุคคลและในเชิงองค์กร ในเชิงบุคลากร เช่น มีการเขียนอายุเกษียณของผู้พิพากษาไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน เพราะเรื่องอายุเกษียณมันเป็นผลประโยชน์ของบุคลากร แล้วเราบอกว่าผู้พิพากษาตุลาการไม่มีผลประโยชน์ได้ยังไง นี่เถียงไม่ได้เลย

ระบบบุคลากร ไม่เฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ระบบคณะกรรมการตุลาการฝ่ายศาลยุติธรรม ศาลปกครอง เป็นระบบปิด เป็นระบบที่ศาลดูแลกันเองหมด องค์กรหรือคนภายนอกแทบจะไม่มีส่วนเลย ถึงมีก็น้อยมาก ซึ่งเป็นระบบที่ไม่น่าจะถูกต้อง ในแง่นี้ ถ้าดูจากตัวรัฐธรรมนูญ 50 มันเน้นอำนาจศาล ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเยอะมาก อำนาจตัวเองก็มีเยอะอยู่แล้วแล้วยังตีความออกไปอีก แล้วดันไปให้อาญาสิทธิ์ให้คำวินิจฉัยเป็นเด็ดขาด ผูกพันองค์กรทุกองค์กรอีก คือ ใหญ่มากกว่าใครทั้งหมดได้เลย ถ้าไม่ระมัดระวัง วินิจฉัยอะไรมาก็กลายเป็น ให้นิ้วเพชรกับนนทก ไปชี้แล้วตายหมดเลย จริงๆ แล้วไม่ถูก

โดยโครงสร้างแทบจะเรียกว่ารัฐธรรมนูญ 50 ให้อำนาจศาลเยอะ แต่ความจริงถ้าไปยันเชิงระบบจริงๆ ศาลก็ไม่มีอำนาจทำแบบนี้หรอก อย่างมาตรา 68 ถ้าตีความตามหลักจริงๆ ศาลก็รับคดีแบบนี้ไม่ได้ ฉะนั้นจะว่า มันเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันทั้งรัฐธรรมนูญและการตีความ แต่โดยรัฐธรรมนูญเองในบริบทหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 บุคลากรที่มาอยู่ในตัวรัฐธรรมนูญที่เลือกๆ กันมา ทัศนคติของบุคลากรเหล่านั้นมันเสริมทำให้อำนาจของศาล โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญมีมาก จนทำให้โดยผลของการตีความมาตรา 291 เมื่อปีที่แล้ว เขาสถาปนาตัวเองขึ้นไปอยู่เหนือรัฐธรรมนูญไปแล้ว

 

“ตอนรับเรื่องมาตรา 291 ไว้ ก็บอกให้แก้รายมาตราได้ แต่ว่ามาถึงคราวนี้ไม่ยอมแล้ว

เพราะมาตรา 68 มันแปรสภาพมาเป็นศูนย์กลางของเรื่อง เป็นหัวใจ กล่องดวงในของเรื่อง

ถ้าสูญเสียมาตรา 68 ไปก็ถูก reform ได้

 

..การ reform เขาทำได้เพราะเขาเป็นเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

เขาต้องมีความชอบธรรมในการ reform ได้

ตราบเท่าที่มันไม่ได้ไปกระทบกับหลักสิทธิเสรีภาพ หรือทำลายแก่นหลักของหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ

 

สุดท้ายขอถามโดยสรุป ‘สภา’ ต้องทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

สภาต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ นี่คือหัวใจ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ จะทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ถ้าสภาจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะ ต้องขออนุญาตศาลรัฐธรรมนูญก่อน ก็ไม่มีทางที่จะแก้แก้รัฐธรรมนูญไปในทิศทางของการปฏิรูประบบโครงสร้างของรัฐธรรมนูญได้ ฉะนั้น สภาจะทำยังไงก็ได้เพื่อจะแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ แค่นี้ก็ยากแล้ว

ความจริงไม่ควรจะยากเลย เพราะรัฐธรรมนูญก็ให้อำนาจสภาในการแก้อยู่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญเองตอนตัดสินคดีเมื่อปีที่แล้วโดยหลักการทางกฎหมายก็ไม่ค่อยถูกต้อง ตอนรับเรื่องมาตรา 291 ไว้ แม้กระนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็บอกให้แก้รายมาตราได้ แต่ว่ามาถึงคราวนี้ดูเหมือนว่าจะศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ยอม ทั้งๆที่รัฐสภาก็ทำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำไว้ในคำวินิจฉัยก่อนนั้นนั่นแหละ  เพราะมาตรา 68 มันแปรสภาพมาเป็นศูนย์กลางของเรื่อง เป็นหัวใจ กล่องดวงในของเรื่อง ถ้าสูญเสียมาตรา 68 ไป ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจถูก reform ได้ ถึงขั้นอาจจะถูกยุบไปเลยก็ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญอาจลืมไปว่า การ reform ศาลทั้งระบบนั้น รัฐสภาทำได้เพราะเขาเป็นเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เขาต้องมีความชอบธรรมในการ reform ได้ตราบเท่าที่มันไม่ได้ไปกระทบกับหลักสิทธิเสรีภาพ หรือทำลายแก่นหลักของหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาผมยังไม่เห็นจะมีเลย มีแต่อ้างกันไปเอง

บ้านเรามันกลายเป็นว่าฝ่ายที่แพ้ เสียงข้างน้อยกว่าไม่ยอมเคารพผลของการวินิจฉัยของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ แล้วดันมาอ้างประชาธิปไตย นิติรัฐ แบบกำมะลอ ไม่อ้างตรงไปตรงมา มีคนบอกว่าประชาธิปไตยต้องดูเนื้อหา ดูที่การเลือกตั้งไม่ได้ ผมถามง่ายๆ ว่า แม้กระทั่งในทางรูปแบบคุณยังไม่เคารพ เขาเลือกตั้งกันมากี่ครั้งๆ คุณยังไม่เคารพ ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ยืนยันเจตจำนงซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านการเลือกตั้ง คุณยังไม่แยแสไยดี ยังอยากจะทำลายคณะรัฐมนตรีที่จะดีจะชั่วก็ผ่านการเลือกตั้งมาตามวิถีทางประชาธิปไตยอยู่นั่นแหละ ยังอยากทำลายพรรคการเมืองที่คุณเกลียดตั้งแต่เช้าจรดค่ำ และตั้งแต่ค่ำจรดเช้า แล้วคุณจะร้องหาเนื้อหาอะไร คุณอย่าพูดสวยๆ หรูๆ ในทางเนื้อหา ขนาดในทางรูปแบบคุณยังไม่มีความใจกว้างพอจะเคารพได้เลย คนที่อ้างเนื้อหาคือคนที่โดยเนื้อแท้แล้วไม่ได้เคารพประชาธิปไตย ต้องเคารพในเชิงรูปแบบก่อนในเบื้องแรก แล้วค่อยๆปรับเนื้อหา ไม่ใช่เอาเนื้อหามาปฏิเสธรูปแบบ อย่างนั้นไปอ้างหลักการอันอื่นเสียดีกว่า ที่อ้างกันอยู่อ้างเพื่อขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญทั้งนั้น ผมเห็นว่าเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยทั้งสิ้น แล้วยังมาอ้างประชาธิปไตยกันอยู่ได้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"สม รังสี" โฟนอินที่ FCCT วิจารณ์การเลือกตั้งกัมพูชาไม่มีความชอบธรรม

$
0
0
ผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชาแถลงทางไกลมายัง FCCT แปลกใจรอบนี้เข้าไทยไม่ได้ สงสัย รบ.กัมพูชาจะกดดันไทย พร้อมวิจารณ์เลือกตั้งกัมพูชาไม่ชอบมาพากลเพราะมีบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งปลอม ส่วนผู้มีสิทธิจริงกลับไม่มีสิทธิ และเรียกร้องนานาชาติอย่ารับรองความชอบธรรมของการจัดเลือกตั้งกัมพูชา เพราะครั้งก่อนๆ ก็เป็นไปอย่างไม่โปร่งใส

การแถลงข่าวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของนายสม รังสี ผู้นำพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ทั้งนี้นายสม รังสี ซึ่งอยู่ระหว่างลี้ภัยการเมือง และมีกำหนดเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อจัดเสวนาและเปิดตัวหนังสือ แต่ได้ถูกทางการไทยห้ามไม่ให้เข้าประเทศและถูกส่งตัวกลับ ทำให้ต้องแถลงข่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาจากสิงคโปร์แทน (ที่มาของภาพ: Takato Mitsunaga)

หลังจากมีข่าวว่า นายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา พรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งมีกำหนดเสวนาและเปิดตัวหนังสือ "เราไม่ใช่ตัวปัญหา: การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกัมพูชาของข้าพเจ้า" (We Didn't Start the Fire: My Struggle for Democracy in Cambodia) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แต่มีรายงานว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ไทยห้ามไม่ให้เข้าประเทศและถูกส่งกลับนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุด เมื่อเวลา 19.00 น. วานนี้ (5 มิ.ย. 56) ซึ่งเป็นกำหนดการเดิมที่เขาจะมาเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) นั้น ในเวลานัดหมายดังกล่าวเข้าได้ใช้วิธีแถลงข่าวและตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ผ่านทางวีดีโอคอนเฟอเรนซ์จากประเทศสิงคโปร์แทน โดยในการแถลงเขาได้กล่าวในหลายประเด็น ทั้งเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาที่จะมาถึงในปลายเดือนกรกฎาคม รวมทั้งเรื่องที่เขาถูกปฏิเสธจากทางการไทยไม่ให้เข้าประเทศ

นายสม รังสีกล่าวว่า รู้สึกแปลกใจมากที่ตนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ โดยเขากล่าวว่าได้เดินทางจากเกาหลีใต้เพื่อเข้าประเทศไทย แต่เจ้าหน้าที่ทางการระดับสูงของไทยกล่าวว่าไม่อนุญาตให้เข้า และชี้ว่าอาจกลับมาใหม่ได้ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไปกัมพูชา ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นการกดดันจากรัฐบาลกัมพูชามายังรัฐบาลไทยอีกทีหนึ่ง

เขากล่าวว่า เมื่อสองเดือนก่อนหน้านี้ได้เดินทางมายังประเทศไทยได้ตามปกติ และได้ไปเยือนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วยอาทิ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย พม่า โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาล  

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา เขาได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเปิดตัวหนังสืออัตชีวประวัติของตนเอง และบรรยายในที่ต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาทางสังคมและการเมืองในกัมพูชา

"ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่คึกคักต่างยินดีต้อนรับผมเป็นอย่างดีทั้งนั้น" สมกล่าว และระบุว่ารัฐบาลกัมพูชาคงรู้สึกหวั่นเกรงที่ตนเข้ามาใกล้ชิดกัมพูชามากเกินไป

ต่อการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ เขาเรียกร้องให้นานาชาติไม่ให้ยอมรับความชอบธรรมของการจัดการเลือกตั้งดังกล่าว เพราะชี้ว่าครั้งที่ผ่านๆ มาก็เป็นไปอย่างไม่โปร่งใส และยังกล่าวถึงรายงานของการสังเกตการณ์เลือกตั้งของสถาบัน National Democratic Institute ด้วยว่า มีบัญชีรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งปลอมออกมาถึงร้อยละ 10 ของผู้เลือกตั้งทั้งหมด เพื่อเพิ่มคะแนนให้กับพรรครัฐบาล และราวร้อยละ 15 มิได้รับสิทธิในการเลือกตั้ง

เมื่อตัวแทนจากสหภาพยุโรปถามเรื่องการส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้ ว่าตอนนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลให้ส่งผู้แทนเข้าไป ทั้งๆ ที่ครั้งก่อนสามารถร่วมสังเกตการณ์ได้ นายสมกล่าวว่า ประชาคมนานาชาติไม่จำเป็นต้องส่งผู้แทนเข้าไปสังเกตการณ์ เนื่องจากจะเท่ากับยอมรับความชอบธรรมของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น "ทำไมพวกเขาควรต้องเสียเงินเพื่อเข้ามาดูการเลือกตั้งที่มีบทสรุปไปล่วงหน้าแล้ว (ว่าไม่สะอาดและยุติธรรม)" สมกล่าว

ทั้งนี้การเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชา มีกำหนดจัดในวันที่ 28 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ โดยปัจจุบัน พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) นำโดยนายฮุน เซ็น ครองเสียงข้างมากอยู่ในสภาโดยมี ส.ส. 90 คน ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ที่มีนายสม รังสี เป็นผู้นำ ขณะนี้มีเสียงในสภา 26 ที่นั่ง

สำหรับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เดิมชื่อพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (KPRP) ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2524 โดยนายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ปกครองกัมพูชามาอย่างยาวนานกว่า 27 ปี และประกาศว่าจะอยู่ในอำนาจอีก 30 ปี ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) เกิดจากการรวมกันของพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา 2 พรรคคือพรรคสม รังสี และพรรคสิทธิมนุษยชนตั้งแต่กลางปี 2555 และจะร่วมกันแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคมนี้

อนึ่งกรณีส่งกลับหรือการห้ามไม่ให้นักการเมืองหรือนักกิจกรรมในประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยเพื่อแถลงข่าวหรือจัดประชุมนั้น ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยที่ก่อนหน้านี้ ในเดือนกันยายนปี 2553 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส คือ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Federation for Human Rights: FIDH) และคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเวียดนาม (the Vietnam Committee on Human Rights: VCHR) เคยมีกำหนดจะแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แต่ต้องยกเลิกการจัดงานเนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยขณะนั้น ไม่อนุมัติวีซ่าให้กับผู้ที่จะเข้ามาแถลงข่าว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จิบ‘กาแฟปฏิรูป’ แก้วแรกกับ อลงกรณ์ นัดหน้าเล็ง ภูมิธรรม-ธิดา

$
0
0

รายงานบทสนทนาในกิจกรรม ‘กาแฟปฏิรูป’ บก.ลายจุด จับเข่าคุย อลงกรณ์ พลบุตร เรื่องพิมพ์เขียวปฏิรูป ปชป.เสนอระบบ primary ในพรรคสู่สถาบันประชาชน รับ ‘ดีแต่พูด-อิงเผด็จการ’ ทำแบรนด์เสีย นัดหน้าเล็งซดกาแฟกับกุนซือเพื่อไทย ภูมิธรรม-ประธาน นปช.

วิดีโอส่วนหนึ่งจากการสนทนา "กาแฟปฏิรูป" ระหว่าง สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด และ อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ร้านสตาร์บัค สาขาอมรินทร์พลาซ่า ถ.เพลินจิต เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556

 

5 มิ.ย.56 เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ร้านกาแฟ Starbucks อัมรินทร์พลาซ่า ใกล้สี่แยกราชประสงค์ ​นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด และนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเพิ่งมีการเสนอร่าง “พิมพ์เขียวปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์” จนเป็นที่สนใจของคนในสังคม นัดสนทนากันภายใต้ชื่อกิจกรรม "กาแฟปฏิรูป" เพื่อสนทนาถกเถียงโดยการนำข้อเสียและสิ่งที่ตัวเองจะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อสร้างบรรยากาศ "ความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์" โดย บก.ลายจุด มีแผนว่าจะเชิญนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. สนทนาด้วยคำถามเดียวกันว่า “จะปฏิรูปองค์กรตัวเองอย่างไร” เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปประเทศไทยโดยเริ่มจากตัวเองหรือองค์กรตัวเองก่อน และหากกระแสสังคมตอบรับบก.ลายจุดยังระบุว่าอาจมีกระบวนการคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยโดยให้คนที่สังคมยอมรับคุย

สำหรับบรรยากาศในการสนทนาระหว่าง บก.ลายจุด กับ นายอลงกรณ์ เป็นไปโดยถ้อยทีถ้อยอาศัย ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ส่วนมากเป็นการนำเสนอทัศนะทางการเมืองและพิมพ์เขียวปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์โดยนายอลงกรณ์ ซึ่งทั้งคู่สั่งกาแฟร้อนพร้อมขนม โดย บก.ลายจุด เป็นผู้เลี้ยงในราคา 270 บาท พร้อมทั้งมีนายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าวข่าวเนชั่น ร่วมทวีตสดทางทวิตเตอร์ด้วย

นำการเมืองมาสู่ความเชื่อถือและศรัทธาในระบบรัฐสภา

นายอลงกรณ์ เปิดบทการสนทนาว่าเรื่องการปฏิรูปพรรคมีปฏิกิริยาทั้งภายในพรรคและโซเชียลมีเดียให้ความสนใจมาก และเห็น บก.ลายจุด เข้าใจและสนใจจึงมาสนทนากันในวันนี้ บริบทของการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์คือการหาทางออกให้กับประเทศไทย จะเป็นการก้าวไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย โดยมองประเด็นปัญหาของประเทศที่เป็นอยู่ในวันนี้ว่ามองไม่เห็นอนาคตและไม่รู้ว่าวันใดจะเกิดการรบราฆ่าฟันกัน เกิดการนองเลือก การรัฐประหารบ้านเมืองก็จะถอยหลังทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และคิดว่านักการเมืองควรเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นซ้ำรอย

“ย้อนกลับมาดูตัวเองมันก็เห็นว่ามันต้องแก้ ถ้าเราไม่แก้ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอีกต่อไป ผมอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง และเป็นระบบการเมืองที่เป็น 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพราะฉะนั้นมันต้องมีคนเริ่มต้น ผมก็คิดว่าถ้าเราสามารถปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นพรรคการเมืองที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีอุดมการณ์ และสามารถสร้างระบบการเมืองที่ดีในการแข่งขันเชิงคุณภาพ นำการเมืองมาสู่ความเชื่อถือและศรัทธาในระบบรัฐสภาได้” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่าข้อเสนอของการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นสิ่งที่พึ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งปี 2554 แต่ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น

กลับมาเป็นบริษัทมหาชนไม่ใช่บริษัทจำกัด บริษัทครอบครัว

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่าเรายังมีทุนทางการเมืองที่ดี ไม่ใช่แย่ไปเสียทั้งหมด อย่างน้อยประชาธิปัตย์ข้อดีคือเป็นสถาบันทางการเมือง ไม่มีใครเป็นเจ้าของเหมือนบริษัทมหาชน เพียงแต่ว่ามีวัฒนธรรมองค์กรที่เริ่มจะย้อนกลับไปเป็นบริษัทจำกัด คือ เหมือนเป็นบริษัทครอบครัว อยู่กันนานและใกล้ชิด ในที่สุดก็เหมือนกับว่าเป็นครอบครัว เป็นพ่อเป็นแม่เป็นปู่เป็นตา ลูกหลานไม่ว่าจบในจบนอก พอมาอยู่ในวัฒนธรรมของครอบครัวที่มีความใกล้ชิดกัน แต่ก็เป็นด้านหนึ่งที่ต้องมองว่าอาจส่งผลต่อความกล้าในการแสดงออก เนื่องจากถูกอิทธิพลของผู้อาวุโส

ในเรื่องความเป็นองค์กรทางการเมือง การบริหารองค์กรจะต้องไม่ใช่ทิศทางแบบนั้น ต้องกลับมาเป็นบริษัทมหาชน เมื่อมีปัญหาด้านการบริหารองค์กรก็ควร Re-engineering (การปรับรื้อระบบ) ปรับวิธีคิด และฝึกคนขึ้นมาเพื่อให้รองรับกับวัฒนธรรมองค์กรที่ทันสมัยและเป็นประชาธิปไตยเปิดกว้าง ยังคิดว่าพรรคเพื่อไทยง่ายกว่าเพราะเป็นบริษัทจำกัดที่บริหารโดยครอบครัว อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเริ่มต้นว่ากุญแจที่จะไขไปสู่การปฏิรูปประเทศได้ จะไขไปสู่ทางออกของประเทศได้มันต้องมีการเริ่มต้น และโดยหน้าที่เรารับผิดชอบต้องยอมเสียสละที่จะปฏิรูปตัวเอง หลังจากนั้นจะเกิดปฏิกิริยาเป็นลูกโซ่

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันด้วยว่า เขาไม่ใช่คนเดียวในพรรค แต่มีอีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปพรรค วันนี้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเห็นพ้องว่าเราต้องปฏิรูปใหญ่ เรื่องการบริหารจัดการ วัฒนธรรมองค์กร และภายในสัปดาห์เศษก็จะสรุปตัวร่างของการปฏิรูปของพรรค

ระบอบประชาธิปไตยอยู่บนความแตกต่าง จึงได้เกิดคำว่าเสียงข้างมาก-ข้างน้อย

บก.ลายจุด แลกเปลี่ยนด้วยว่า สังคมภายนอกขานรับ และคนที่ไม่ได้อยู่ในปีกสุดโต่งของแต่ละฝ่ายก็น่าจะขานรับกับเรื่องแนวทางการปฏิรูป เรื่องการคุย แม้ว่าในเรื่องที่ยังเถียงกันอยู่เห็นไม่ตรงกันมากๆ ก็ยังเถียงกันอยู่ได้ แต่เรื่องที่คุยกันได้ก็น่าจะได้คุยกัน

ขณะที่อลงกรณ์ มองว่า “พัฒนาการประชาธิปไตยของไทยลุ่มๆดอนๆ และมีการฉวยโอกาสในการสร้างแนวคิดที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแฝงเข้ามาในประชาธิปไตย ความจริงคนที่เป็นนักประชาธิปไตยจริงๆ ต้องยอมรับความแตกต่างได้ และไม่ใช่ความแตกแยกด้วย ผมจะคุยกับจ่าประสิทธิ์ หรือผมจะคุยกับ บก.ลายจุด หรือจะให้ผมไปคุยกับใครผมคุยได้ทั้งนั้น ระบอบประชาธิปไตยมันอยู่บนความแตกต่าง จึงได้เกิดคำว่าเสียงข้างมากข้างน้อย”

อลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า พรรคการเมืองต้องเป็นตัวอย่าง เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองเองก็ต้องแสดงความเป็นสถาบันประชาธิปไตย เป็นตัวอย่างความเข้าใจเรื่องความแตกต่างของความคิด

คนประชาธิปัตย์บางส่วนกลัวการปฏิรูปพรรคมากกว่าคุณทักษิณ

“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมงบประมาณมีเพื่อนๆ ทางพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยพูดสรุปตรงกันว่า คุณทักษิณกลัวการปฏิรูปของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะจะทำให้แข่งด้วยยากมาก แต่ว่าคนประชาธิปัตย์บางส่วนกลับกลัวการปฏิรูปมากกว่าคุณทักษิณ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

สำหรับการปฏิรูปพรรค อลงกรณ์ มองว่าหากทำได้ 100% เชื่อว่าประเทศไทยมีความหวังแน่นอน มันไม่ใช่ว่าเราผิดหรือเราไม่ดีอย่างที่หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์คิด แต่เรากำลังทำสิ่งที่ดีและสร้างสิ่งที่เป็นอนาคตเพื่อเป็นทางออกของประเทศ

“เราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา และถ้าเราเริ่มการเปลี่ยนแปลงเราก็จะเป็นผู้กำหนดการเปลี่ยนแปลง การที่เราเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มันหมายถึงว่าคู่แข่งของเราคือพรรคเพื่อไทยเขาจะตามเราไม่ทัน เขาเองก็ต้องปฏิรูปและก็ทำให้เกิดความเป็นบริษัทมหาชน เป็นพรรคของมหาชน” อลงกรณ์กล่าว

ความหวังอยู่ที่ 2 พรรคใหญ่

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่าในระบบการเมือง 2 พรรคใหญ่ มันก็มีความหวังอยู่ 2 พรรคเหมือนกับหัวรถจักร ก็มี 2 หัวรถจักรเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องทางเลือกที่ 3 นั้น มองว่ายาก ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นคือการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เพราะเมื่อมีการแข่งขันคนก็จะดูที่คู่เอก ไม่มีใครดูที่คู่รอง และพัฒนาการทางการเมืองทั่วโลกที่พัฒนาการในแนวทางประชาธิปไตยจะไปสู่ระบบการเมืองแบบ 2 ขั้ว

อลงกรณ์ กล่าวถึงข้อเสนอของตนเองในการปฏิรูปพรรค ปชป. ว่า ให้มีการจัดตั้งสำนักวิจัยและพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ประเทศ สำนักวิจัยและพัฒนากฎหมาย สำนักวิจัยและพัฒนางบประมาณแผ่นดิน ศูนย์ต่อต้านคอรัปชั่น ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักพัฒนาสาขาพรรคและสมาชิก เพราะตอนหลังประชาธิปัตย์แพ้เพราะนโยบายโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา เงินเป็นปัจจัยภายนอก แต่ปัจจัยภายในคือเราไม่มีสำนักงานที่จะทำนโยบายเป็นการเฉพาะ ดังนั้นการพัฒนานโยบายจึงไม่เกิด รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงเมื่อเราเป็นรัฐบาลเรามีปัญหาการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพราะการไม่เตรียมพร้อม

“ดีแต่พูด” แบรนดิ้งปัญหาการนำนโยบายไปปฏิบัติของพรรค

“ก่อนปี 44 พรรคประชาธิปัตย์แข่งกันเองกับนักการเมืองหรือว่าอดีตข้าราชการ วิธีคิด วิธีทำงานไม่ค่อยต่างกันเท่าไร แต่พอปี 44 นักธุรกิจหมื่นล้านมาแข่ง เพราะฉะนั้นวิธีคิดก็เปลี่ยนแปลง การบริหารก็เปลี่ยนแปลง ผมถึงบอกว่าสิ่งหนึ่งที่ผมยอมรับคือ เวลาที่พรรคไทยรักไทยหรือเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเขานำนโยบายมาปฏิบัติทันที ดีไม่ดี เหมาะสมหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่อีกประเด็นหนึ่ง แต่การเอานโยบายมาปฏิบัติทันที คนเกิดความเชื่อมั่น พูดจริง ทำจริง และพอเขาสะท้อนพรรคประชาธิปัตย์ว่า “ดีแต่พูด” เราก็ถูกแบรนดิ้งไปหมดแล้ว เพราะเวลาที่เราบริหารมันก็มีปัญหาจริงๆ ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

ต้องสร้าง Policy Choice(ทางเลือกนโยบาย)

อลงกรณ์ เสนอว่าต้องมี Policy Choice(ทางเลือกนโยบาย) เพราะเมื่อการเมืองพัฒนา คุณต้องมีทางเลือกให้เขาเลือก ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งมีทางเลือก อีกฝ่ายไม่มีทางเลือก ไม่ใช่ว่าวิจารณ์นโยบายนั้นไม่ดี แต่ไม่มีทางเลือกให้ประชาชน โดยยกตัวอย่างว่า เรื่อง 2 ล้านล้านนั้นคิดอยู่ในใจว่าตอนประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลทำไมไม่คิด ไม่ทำแบบนี้บ้าง คิดที่จะลงทุนประเทศ แต่ก็ติดตรงนั้นนี้ เราอาจไปคิดว่าเราสามารถลดหนี้สาธารณะต่อจีดีพีได้ รู้สึกภูมิใจที่ได้ลดและรักษาวินัยการคลัง ซึ่งมันอาจจะถูกเมื่อทศวรรษก่อน แต่ถึงวันนี้ไม่ใช่แล้ว เราต้องคิดถึงการเติบโต การแข่งขันด้วย แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่ได้เรื่องที่คิดแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ น่ามีการคิดด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม การสร้างคน เพิ่มงบวิจัยและการพัฒนา

“ต้องสร้างให้คนคิดอย่างเป็นลูกไก่ ไม่ใช่ลูกนก เพราะลูกนกจะคอยแต่อยู่ในรังอ้าปากรอแม่มาป้อน แต่ลูกไก่จะขุดคุ้ยหาอาหารด้วยตัวเอง” อลงกรณ์กล่าวถึงการพัฒนาคน

เปิดใจให้กว้าง เป็นประชาธิปไตย อย่าอิงแอบเผด็จการ อย่าเดินในทางลัด

“เรามาผิดทิศผิดทางเสียแล้ว และวันหนึ่งมันอาจจะถึงจุดที่เราเปลี่ยนกลับมาไม่ได้ คนที่จะเปลี่ยนได้คือพรรค ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ปฏิรูปตัวเอง สร้างความทันสมัยให้กับองค์กร มีวิธีคิดที่ทันโลก ทันสมัย เปิดใจให้กว้าง เป็นประชาธิปไตย อย่าอิงแอบเผด็จการ อย่าเดินในทางลัด ผมคิดว่าผมเองก็เดินผิด ผมเป็นส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ผมต้องรับผิดชอบ แต่ขอโอกาสให้ผม ผมจะแก้ตัว ผมว่าถ้าเราเริ่มต้นตรงนี้เหมือนกับพรรคเพื่อไทย ถ้าคุณทักษิณอาจจบอกว่าผมผิด ที่ผ่านมาขออภัย ให้โอกาสผมจะแก้ไข พรรคเพื่อไทยก็จะเป็นพรรคการเมืองแบบบริษัทมหาชน คนเสื้อแดงก็ยอมรับในการพัฒนาการเมืองในระบบรัฐสภา ส.ส.ก็สามารถที่จะสร้างสังคมที่เป็นธรรมสร้างระบบนิติธรรมที่เป็นธรรมกับทุกคนอย่างแท้จริง มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย” อลงกรณ์กล่าว

ระบบ Primary กุญแจพรรคสู่การเป็นสถาบันของประชาชน

“เราต้องสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่สถาบันของนักการเมือง” อลงกรณ์ กล่าว พร้อมอธิบายด้วยว่าต้องพัฒนาพรรคจากสถาบันของนักการเมืองไปสู่สถาบันทางการเมือง โดยระบบ Primary หรือระบบการคัดเลือกเลือกตั้งเบื้องต้นเป็นกุญแจที่จะเปิดให้พรรคกลับไปหาประชาชน ไปหาสมาชิกพรรค ตาเราจะเห็น หูเราจะได้ยิน เราอยู่ตึกสูงเราไม่ได้ยินว่ารากหญ้าเขาคิดอย่างไร เขาเดือดร้อนหรือไม่ ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร ระบบการคัดเลือกเลือกตั้งเบื้องต้นมันไม่ใช่แค่กลไกหนึ่งของการเลือกตั้งหรือการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ แต่จริงๆ มันคือการเป็นสถาบันของประชาชนต่อไป” อลงกรณ์กล่าว

บก.ลายจุด วอนสังคมหนุนอลงกรณ์

บก.ลายจุด ยังกล่าวหลังการพูดคุยด้วยว่าอยากให้สังคมสนับสนุนคุณอลงกรณ์ เนื่องจากเขาได้ลงเปิดสนามแล้ว โดยเริ่มด้วยการเสนอว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองและองค์กรอย่างไร เพราะหากไม่มีใครลงมาร่วม เกมส์นี้ก็ไปต่อไม่ได้ พร้อมฝันด้วยว่าหากกระแสสังคมตอบรับ เขาอาจเสนอให้มีวงสนทนาแบบนี้กับทักษิณ ชินวัตร ในฝั่งแดง ส่วนอีกฝั่งยังนึกไม่ออก แต่ในเบื้องต้นอาจเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งก็คงเป็นไปได้ยาก และไม่จำเป็นต้องเป็นตนที่เป็นคนไปคุย อาจเป็นคนที่พร้อมและสังคมยอมรับไปคุยก็ได้

สำหรับคำถามว่ากิจกรรมนี้เป็นการโหนกระแสอลงกรณ์เพื่อโจมตีพรรค.ปชป.หรือไม่ บก.ลายจุด กล่าวว่า จริงๆ เป็นการใช้กระแสที่คุณอลงกรณ์จุดเพื่อไปกดดันพรรคเพื่อไทยเพื่อให้มีการปฏิรูปด้วยเช่นกันมากกว่า

ต่อคำถามที่ เมื่อ 3 ปีก่อนมีวงปฏิรูปของหมอประเวศ วะสี แต่บก.ลายจุดไม่ร่วมด้วยนั้น เขาองว่าตอนนั้นบรรยากาศยังไม่พร้อม เพราะเพิ่งจะมีการสลายการชุมนุม มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก สำหรับกระบวนการที่จะเดินหน้าต่อไปนั้นอยากให้เกิดบรรยากาศ "ความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์" แต่หากประเด็นไหนที่ยอมกันไม่ได้ต้องขัดแย้งก็สู้ตามกระบวนการกันต่อไป 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อลงกรณ์ พลบุตร

$
0
0

“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมงบประมาณมีเพื่อนๆ ทางพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยพูดสรุปตรงกันว่า คุณทักษิณกลัวการปฏิรูปของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะจะทำให้แข่งด้วยยากมาก แต่ว่าคนประชาธิปัตย์บางส่วนกลับกลัวการปฏิรูปมากกว่าคุณทักษิณ”

5 มิ.ย.56, รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการนำเสนออร่าง “พิมพ์เขียวปฏิรูปพรรค” ในวง "กาแฟปฏิรูป" กับ บก.ลายจุด

กรรมการสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ รับน้องต้องเคารพสิทธิมนุษยชน

$
0
0

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ห่วงกิจกรรมรับน้อง แนะสถาบันการศึกษา ติดตาม ตรวจสอบการทำกิจกรรม ชี้หากมีการละเมิดสิทธิ-ทำผิดกฎหมาย ต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด


(6 มิ.ย.56) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์เรื่อง การรับน้องต้องเคารพสิทธิมนุษยชน ระบุ สถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์ของนักศึกษาในสถาบัน โดยจำเป็นต้องจัดให้มีการประชุมกับสโมสรนักศึกษาและนักศึกษารุ่นพี่ เพื่อให้ทราบถึงข้อควรปฏิบัติหรือข้อที่ไม่ควรปฏิบัติในการจัดกิจกรรม พิจารณารายละเอียดกิจกรรมก่อนการอนุญาตให้จัด โดยแต่ละกิจกรรมควรมีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิด  และสถาบันการศึกษาควรมีการตรวจสอบและติดตามการทำกิจกรรมดังกล่าวเพื่อป้องกันมิให้เกิดมีการละเมิดสิทธิของนักศึกษาที่เข้าร่วม หากปรากฏมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิของนักศึกษา หรือการกระทำผิดกฎหมาย สถาบันการศึกษาต้องพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาดต่อไป

-------------


แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เรื่อง การรับน้องต้องเคารพสิทธิมนุษยชน

ด้วยในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาเปิดภาคการศึกษาของสถาบันการศึกษาต่างๆ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์ของสถาบันการศึกษาหลายสถาบันว่า กิจกรรมรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์มีผลกระทบต่อสภาพร่างกาย และจิตใจ ของนักศึกษาน้องใหม่  แม้กิจกรรมดังกล่าวจะไม่ได้มีการบังคับให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม โดยนักศึกษาต้องสมัครใจในการเข้าร่วม แต่นักศึกษาใหม่ส่วนใหญ่เกรงว่าตัวเองจะไม่ได้รับการยอมรับ หรือเป็นแกะดำในคณะหรือในรุ่น จึงยอมเข้าร่วมกิจกรรมการรับน้องทั้งที่ตนไม่เต็มใจ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องในลักษณะนี้เป็นระยะๆ และได้เคยเชิญผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่ถูกร้องเรียนเข้าประชุมเพื่อปรึกษาหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว  และมีความเห็นร่วมกันว่าสถาบันการศึกษา ควรให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์ของนักศึกษาในสถาบัน จำเป็นต้องจัดให้มีการประชุม ซักซ้อมความเข้าใจกับสโมสรนักศึกษาและนักศึกษารุ่นพี่ เพื่อให้ทราบถึงข้อควรปฏิบัติหรือข้อที่ไม่ควรปฏิบัติในการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์ พร้อมทั้งชี้แจงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสถาบันการศึกษาและตัวนักศึกษาเอง  ในการพิจารณาอนุญาตให้จัดกิจกรรมรับน้องใหม่และการประชุมเชียร์ สถาบันควรพิจารณาในรายละเอียดของกิจกรรมว่าเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่จุดมุ่งหมายตามที่สถาบันการศึกษาต้องการจริงหรือไม่ และในการจัดกิจกรรมทุกครั้งต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิดและสามารถตัดสินใจในเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดหรือไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น และสถาบันการศึกษาควรมีการตรวจสอบและติดตามการทำกิจกรรมดังกล่าวเพื่อป้องกันมิให้เกิดมีการละเมิดสิทธิของนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมการรับน้อง หากปรากฏมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิของนักศึกษา หรือการกระทำผิดกฎหมาย สถาบันการศึกษาต้องพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาดต่อไป

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
6 มิถุนายน 2556

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลขาฯ สมช.รับศึกษาความเป็นไปได้ จัดการปกครอง 3 จว.ชายแดนใต้

$
0
0

เลขาฯ สมช. รับอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอนายกฯ มาเลเซีย ที่ให้พื้นที่ 3 จังหวัดเป็นเขตปกครองพิเศษ ชี้ไม่ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน ด้าน ยิ่งลักษณ์ สั่งพัฒนาเส้นทางคมนาคมเพื่อสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน


(6 มิ.ย.56) เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เวลา 11.30 น. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้มีการไปปรับแผนเพื่อให้การปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งอาจจะมีการเพิ่มเติมงบประมาณบ้าง โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ส่วนเรื่องการคมนาคมก็ให้มีการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟที่เป็นจุดล่อแหลมต่างๆ ส่วนจะต้องเพิ่มงบประมาณลงไปเท่าไหร่นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยให้สำนักงบประมาณ ไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจังหวัด กอ.รมน. และศอ.บต.โดยตรง เพราะทิศทางมีชัดเจนแล้ว เพียงแต่ให้ไปลงรายละเอียด และเสนอกลับมายัง สมช.เพื่อจะได้นำเข้า ศปก.กปต. ก่อนเสนอให้นายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ส่วนกำหนดการลงพื้นที่ภาคใต้ของนายกรัฐมนตรีนั้น ตอนนี้ยังไม่มีแผนงานแต่อย่างใด

เมื่อถามถึงกรณีที่นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรี มาเลเซีย เสนอให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยใช้รูปแบบการปกครองอิสระ คล้ายเขตปกครองพิเศษ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ประเด็นนี้ไม่กระทบ เพราะถือว่ายังอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญไทย คือไม่มีการพูดเรื่องการแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นเรื่องการปกครองท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ที่เหมาะสม เมื่อถามว่าแสดงว่าเห็นด้วยกับแนวทางที่นายนาจิบเสนอ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เราก็มีแนวทางของเราอยู่ แต่นัยที่นายนาจิบพูด ไม่ได้เป็นการมาแทรกแซงกิจการภายในของเรา เป็นกรอบที่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ

เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่ามีแนวโน้มที่จะให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ปกครองตนเอง พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ตอนนี้มีกระบวนการพูดคุย และมีกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้อยู่ในพื้นที่แล้ว ซึ่งมี 4-5 รูปแบบ แต่ยังไม่สามารถได้ข้อยุติว่าความเหมาะสมจะอยู่ตรงจุดไหน ต้องมีพัฒนาการต่อไป

“รูปแบบจะเป็นลักษณะการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เรามีตัวแบบอยู่แล้ว เหมือน กทม. พัทยา นครแม่สอดในอนาคตหรือแม้แต่ในปัจจุบันที่เป็นรูปแบบ ศอ.บต.ก็ถือเป็นรูปแบบการบริหารจัดการปกครองในระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ที่กำลังจัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง” พล.ท.ภราดร กล่าว

เมื่อถามว่าคิดว่ารูปแบบการปกครองดังกล่าวจะช่วยทำให้สถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลายลงไปได้หรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวยอมรับว่า เป้าหมายของปัญหาที่แท้จริง สุดท้ายจะไปจบที่เรื่องการปกครองที่เหมาะสมในพื้นที่ สำหรับการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในวันที่ 13 มิ.ย.นั้น ตอนนี้มีกรอบที่จะไปพูดคุยชัดเจนแล้ว เพียงแต่รอให้คณะทำงานสรุป จากนั้นจะนำเรียน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก่อนนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีทราบต่อไป

ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ที่เริ่มกระทำกับข้าราชการระดับสูงในพื้นที่นั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ความจริงเป้าหมายของผู้ก่อความไม่สงบคือฝ่ายข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว แต่อยู่ที่จังหวะที่เขาจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่  ดังนั้นต้องมีการระมัดระวังความปลอดภัยมากขึ้น สำหรับเหตุระเบิดที่เทศบาลเมือง อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เมื่อคืนวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น คนร้ายไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการเสียชีวิต เพียงแค่ป่วนให้เกิดสถานการณ์ในพื้นที่เท่านั้น
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการเลื่อนฟังคำสั่งคดีม็อบเสธ.อ้าย ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคง

$
0
0

อัยการเลื่อนฟังคำสั่งคดีผู้ชุมนุมกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ออกไปเป็นวันที่ 25 ก.ค.นี้ เนื่องจากยังพิจารณาสำนวนไม่แล้วเสร็จ

(6 มิ.ย.56)สำนักข่าวไทยรายงานว่า อัยการนัดฟังการสั่งคดีที่นายธเนศ หอมทวนลม ผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) กับพวกรวม 127 คน ผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 กรณีเมื่อวันที่ 24 พ.ย.55 พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

คดีดังกล่าวพนักงานสอบสวนกองปราบปรามส่งสำนวนให้อัยการ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.55 โดยสรุปความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 127 คน ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยแยกดำเนินคดี 3 สำนวน ประกอบด้วย สำนวนที่ 1 นายธเนศ หอมทวนลม กับพวกรวม 97 คน ที่ชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ในวันที่ 24 พ.ย.55 สำนวนที่ 2 นายยี่ไทย ปิตะวนิค กับพวกรวม 16 คน ที่ชุมนุมบริเวณแยกมิสกวัน ในช่วงเช้าของวันที่ 24 พ.ย.55 และสำนวนที่ 3 น.ส.พิชญ์สินี พิพลัชภามล กับพวกรวม 14 คน ที่ชุมนุมบริเวณแยกมิสกวัน ในช่วงบ่ายของวันที่ 24 พ.ย.55 อย่างไรก็ตาม อัยการมีคำสั่งเลื่อนฟังการสั่งคดีครั้งที่ 2 ออกไป เนื่องจากยังพิจารณาสำนวนไม่แล้วเสร็จ โดยนัดฟังการสั่งคดีอีกครั้ง วันที่ 25 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พ.ย.55 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ในเขตดุสิต พระนคร และป้อมปราบศัตรูพ่าย ต่อมาวันที่ 24 พ.ย.55 กลุ่มผู้ต้องหาได้ฝ่าฝืน โดยเข้าไปในพื้นที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งนายสมสมัย นิทาจิ๊ ผู้ต้องหาที่ 30 ได้ขับรถบรรทุก 6 ล้อ พุ่งชนแนวเจ้าหน้าที่ ซึ่งยืนควบคุมพื้นที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ อันเป็นความผิดฐาน ฝ่าฝืนประกาศของเจ้าพนักงานที่ห้ามบุคคลเข้า-ออกในพื้นที่ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ขณะที่ผู้ต้องหาบางรายมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 139 อีกด้วย ส่วนคดีที่นายสิงห์ทอง บัวชุม แจ้งความกับพนักงานสอบสวนนครบาล กล่าวหา พล.อ.บุญเลิศ หรือ เสธ.อ้าย ประธาน อพส. กับพวก ซึ่งเป็นแกนนำการชุมนุมรวม 11 คนนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ของพนักงานสอบสวน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โครงการจำนำข้าว: วิกฤตหรือโอกาสของคนทำนาเช่า ?

$
0
0


บทความชิ้นที่สามของ นิรมล ยุวนบุณย์ ในชุดบทความ ข้าวนาปรัง : ความสัมพันธ์ ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมไทยในชุมชนเกษตรภาคกลาง โดยจะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้นจำนวน 6ชิ้น

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, เกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,พืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน และการทำนาปรังในภาคกลางที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

 

จากตอนที่แล้ว  จะเห็นแม้แรงจูงใจจากราคาขายข้าวเข้าโครงการรับจำนำ จึงได้การกระจายที่นาจากผู้ถือครองที่ดินมายังผู้ทำนาเช่า  แต่หากมองในภาพรวมเมื่อราคาข้าวที่ขายได้เพิ่มขึ้น ราคาค่าเช่าก็เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย   คนเช่าและการเช่านาจึงมีรายละเอียดที่น่าสนใจ  ทั้งสภาพปัญหาของชาวนาเช่า  การปรับตัวและการรับมือของในรูปแบบต่างๆ

 

ใครบ้างที่ทำนา(เช่า) ?

สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของผู้เช่านาที่มีมากกว่าผู้ที่ทำนาของตัวเอง  ชี้ให้เห็นถึงความนิยมต่อโครงการจำนำข้าว ปี 2554  และสะท้อนให้เห็นการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินไปพร้อมๆ กัน    ในขณะที่พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524  จะมีข้อกำหนดที่ว่าด้วยสัญญาเช่า และ ระยะเวลาการเช่านา ในมาตรา 26  [2] แต่ในสภาพความเป็นจริงการบังคับใช้นั้นไม่เคร่งครัด แต่มีความยืดหยุ่น เช่นเดียวกันกับการกำหนดค่าเช่านาที่ขึ้นอยู่กับคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงกัน  ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ให้เช่ามักมีอำนาจเหนือกว่าผู้เช่า  

ที่นาในทุ่ง ม.11 ต.ผักไห่ นั้น  มีที่นาหลายแปลงที่พ่อแม่เก็บที่นาไว้ให้ลูกหลาน   หรือในทางกลับกันคือลูกหลานชาวนาที่ไปประกอบอาชีพอื่นแล้วมีเงินทุนก็กลับมาสะสมทุนแทนโดยหาซื้อที่ดินในทุ่งเก็บไว้    หลายแปลงเป็นที่นาของครูหลายคนซึ่งเกษียนอายุราชการแล้วกลับมาทำ      หลายรายทำนาเป็นอาชีพเสริมแต่ให้รายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าอาชีพหลัก อย่าง ครู ทหาร  พ่อค้า  เจ้าหน้าที่ อ.บ.ต.  เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย  ฯลฯ       โครงการรับจำนำข้าวนาปี 2555/56  ที่ผ่านมา มีครู 1 รายที่เพิ่งเกษียณอายุราชการ ก็เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นชาวนามือใหม่  เขาเรียกนาขนาด 21 ไร่ คืนจากผู้เช่าที่เช่าทำนามากว่า 10 ปี มาทดลองทำนาปรังและเพิ่งเกี่ยวไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา     

ชาวนาหน้าใหม่ อย่างธงชัย  นัยเนตร   (29 ปี) เพิ่งรับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ม. 5 ต.ลาดชิด มาได้เพียง 1 ปี   เล่าว่า  ผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่ในอำเภอผักไห่ทำนากันทั้งนั้น  มาก-น้อย แตกต่างกันไป   ส่วนเขาเองเพิ่งทำนาได้ 2 ปี ควบคู่กับการทำบ่อปลา   ก่อนนั้น ธงชัยทำงานขับรถให้กับบริษัทลอจิสติกส์ และรถร่วมบริการที่กรุงเทพฯ อยู่ 2 ปี  เขาก็อยากกลับบ้าน  เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี  ไม่ค่อยมีงาน อีกทั้งราคาน้ำมันแพง  แต่รายจ่ายมีมากกว่ารายได้   

เมื่อ ต้นปี 2555  ธงชัยเรียกที่นาราว 60 ไร่ ที่เคยให้ชาวนารายอื่นเช่าคืน     แล้วบุกเบิกนาฟางลอยบางส่วน ราว 20 ไร่ ให้กลายเป็นนาปรัง ลงทุนราว 100,000 บาท    และเช่าที่นาเพิ่มอีกหลายแปลงรวมเนื้อที่กว่า 30 ไร่ ค่าเช่านามีตั้งแต่ 1,000 – 1,500 บาท ซึ่งแปลงนาที่อยู่ติดริมคลองและถนนมักจะแพงกว่า  รวมพื้นที่นาปรังที่ทำ ณ ปัจจุบัน 80 – 90 ไร่   ควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลาสวาย 1 บ่อ ขนาด 4 ไร่  ชาวนาหน้าใหม่อย่างเขาบอกอีกว่า

“เราคิดว่า เราใช้ที่เราให้เป็นประโยชน์ เศรษฐกิจพอเพียงน่ะดีมากเลย  ผมก็อยากจะทำ   มีเนื้อที่ที่บ้าน 4 ไร่   อยากเปลี่ยนแปลงเป็นผสมผสาน  แต่ไม่มีเวลาจัดการ  เรามีค่าใช้จ่ายเยอะก็ต้องหาให้เยอะ  ทำนาก็ได้เงินเป็นก้อน    สมมติถ้าได้เงินเดือน 3 หมื่น ถ้าเกี่ยวข้าวได้กำไรหนึ่งแสน เฉลี่ยเดือนละ 3 หมื่นเหมือนกัน แต่หนึ่งแสนเราได้มาทีเดียว ถ้าเราได้มาทีละเดือน  เดือนละ 3 หมื่น เราจะเก็บให้ได้ถึงแสนไหม?   นี่เราได้ทีเดียวมาตูมนึงหนึ่งแสนเราเก็บเข้าธนาคารเลย เราไม่ได้ใช้ทีเดียวหมด แต่ถ้า 3 หมื่นเดือนหนึ่ง เดี๋ยวค่ากินค่าอะไรก็หมด”

ที่นากว่า 90 ไร่ มีเรื่องให้ผู้ใหญ่ชัยจัดการไม่น้อย  แต่ก็เขาก็สามารถจัดการนาได้โดยสะดวก ผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์คุยกับคนรับจ้างหว่านข้าว หว่านปุ๋ย ฉีดยา รถปั่นนา และรถเกี่ยวข้าวซึ่งส่วนใหญ่มักมาพร้อมกับรถ 6 ล้อสำหรับขนข้าวไปส่งโรงสี  ชาวนาที่มีทุนในกระเป๋ามากพออย่างเขายังเลือกใช้พันธุ์ข้าวในระดับเกรดA แทนการเก็บพันธุ์เอง เพราะคิดว่าให้ผลผลิตสูงและแน่นอนกว่าการเก็บพันธุ์เอง  และเลือกได้ว่าจะซื้อปุ๋ยและสารเคมีจากร้านค้าหรือสั่งตรงจากเซลล์ที่มาขายถึงบ้านพร้อมกับแผนโปรโมชั่นชนิดต่างๆ   เขายังเล่าถึงปัญหาการเรื่องความขัดแย้งในผลประโยชน์การใช้ที่นาไว้ด้วยว่า

“มียิงกันตาย  ชาวนาเดี๋ยวนี้ดุ เรื่องเช่านาบ้าง เรื่องทางน้ำบ้าง  เรื่องทางขึ้นลง  บีบกัน นาบางแปลงโดนล้อม  นาที่อยูข้างในจะเข้าไปทำต้องผ่านนาที่อยู่ริมถนน ริมคลอง  ต้องผ่านแผ่นดินของเขา  ถ้าเขาไม่ให้ผ่าน  ที่ไม่ให้ผ่านเพราะต้องทำถนนของคนที่อยู่ต้นน้ำ  ถ้าเจ้าของที่ต้นถนนไม่ให้ทำ คนข้างหลังก็ทำไม่ได้  กลายเป็นว่าเช่าริมถนนนาล้อมนาข้างอีก 100 – 200 ไร่ ไม่ได้ทำ ถ้าข้างหน้าไม่ให้ผ่าน  พอข้างในไม่ได้ทำ เจ้าของนาข้างในก็ให้คนริมคลองเช่าทำ  บังคับเอา   บางคนทำถนนเข้าไปแล้ว มีถนนแล้วแต่ทำไม่ได้  เพราะเจ้าของถนนเรียกค่าเข้า มีคลองแล้วสูบน้ำไม่ได้   ก็กลายเป็นทะเลาะกัน”

นั่นเป็นเพียงบางส่วน  ชาวนาที่นาตาบอดบางรายอาจยอมทำข้อตกลงจ่ายค่าผ่านทางกับเจ้าของที่นาที่อยู่ต้นทาง  เพื่อทำถนนและลำรางส่งน้ำเข้าไปใช้ในนาตัวเอง  ซึ่งมีทั้งซื้อที่ขายขาด หรือจ่ายเป็นค่าเช่าทางในแต่ละฤดูปลูก ตามแต่จะตกลงกัน

ชาวนาข้าราชการครู อย่าง สำราญ  ม่วงศรีทอง  (58 ปี) ซึ่งทำนาควบคู่ไปกับข้าราชการครูที่สอนวิชาเกษตรในโรงเรียนขยายโอกาส เป็นคนหนึ่งที่ทำนามาตั้งแต่เด็กมาจนถึงปัจจุบัน   พ่อของเขาเคยมีที่นา 40 ไร่ ในทุ่ง ม.11 ต.ผักไห่  อ.ผักไห่  แต่ต้องขายที่นาทั้งหมดเพื่อใช้เงินส่วนหนึ่งส่งลูกชาย 2 คน เรียนหนังสือจนถึงขั้นจบอุดมศึกษา ส่วนลูกสาวคนโตถูกพาไปเมืองกาญจนบุรีด้วยกันเพื่อบุกเบิกที่ดินแห่งใหม่เพื่อทำไร่ได้ไม่กี่ไร่ ทำอยู่ไม่นานก็กลับมาเลี้ยงวัว 40 ตัวในทุ่งนาน 10 ปี  ก็ต้องเลิกขายเพราะทุ่งและตัวอำเภอถูกพัฒนาจนหาหญ้าเลี้ยงวัวยากขึ้น   ราวปี 2527 สำราญเพิ่งเรียนจบราชภัฎพระนครศรีอยุธยา เขาต้องกลับมาทำนาเช่าอีกครั้งควบคู่ไปกับการอาชีพครูที่โรงเรียนในอำเภอเสนาซึ่งไม่ไกลจากบ้านเกิดนัก  และทำนามาจนปัจจุบัน

ปัจจุบัน สำราญยังคงเช่านาผืนเดิมของพ่อจากเจ้าของนาคนใหม่ 2 คน จำนวน 3 แปลงรวมพื้นที่  32 ไร่  ดีที่ว่าเจ้าของที่นาคนใหม่นั้นไม่ต้องคิดค่าเช่าและให้สำราญทำนาเสมือนผู้ดูแลที่ดิน   ส่วนนาแปลงขนาด 9.5 ไร่ ซึ่งเจ้าของนาคนละคนกันนั้น  เขาก็จ่ายค่าเช่าถูกกว่าผู้เช่ารายอื่น คือแค่ ปีละ 10,000 บาท เท่านั้น  

เขาทำนาโดยใช้แรงงานตัวเองอย่างเข้มข้นเพื่อประหยัดต้นทุน และต้องจ้างงานญาติอีก 1 คน มาช่วย    เขายังเลือกรูปแบบการทำนาโดยเน้นการประหยัดต้นทุนการทำนา  เช่น  ดูปริมาณการแพร่ระบาดของแมลงมากน้อยจึงค่อยตัดสินใจฉีดพ่นสารกำจัดแมลง    นาปรังครั้งที่ 1 ปี 2556 ที่ปลูกระหว่าง ธันาคม – มีนาคม ที่ผ่านมา  นาขนาด 9 ไร่ 1 แปลงเขาฉีดพ่นแค่เพียง 3 หนเท่านั้นเพราะแมลงศัตรูข้าวไม่แพร่ระบาดมาก   เขาไม่เลือกใช้ปุ๋ยชีวภาพเพราะเห็นว่า ปุ๋ยเคมีผสมปุ๋ยอินทรีย์ที่เสริมธาตุอาหารรองให้ผลผลิตได้มากกว่าและคุ้มค่ากว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวซึ่งมีราคาแพงมาก   อีกทั้งสหกรณ์ครูที่เขาเป็นสมาชิกก็มีปุ๋ยเคมีอินทรีย์ที่เขาต้องการใช้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด  นอกจากนี้เขายังเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ธาตุอาหารเสริมแบบสารละลายที่ภรรยาของเขาเป็นสมาชิกขายตรงเพื่อให้รวงข้าวมีน้ำหนักดีอีกด้วย   

“ถ้าทำอาชีพอื่นด้วย   คนหนึ่งทำเต็มที่ได้ดีแค่ 20 – 30 ไร่  ดูแลได้ทั่วถึง  ทำให้ดี ดีกว่ารายได้จากที่เป็นครู เพราะว่าได้เงินเป็นกอบเป็นกำ  เหนื่อยมันก็คุ้มค่าเหนื่อย  ทำนาต้นทุนเฉลี่ยประมาณกว่า 4,000 บาท/ไร่  ถ้าข้าวราคาตันละกว่าหมื่นบาท ชาวนาจะได้กำไร 6,000 – 7000 บาท/ไร่   อยู่ที่ราคาด้วย  สมัยทักษิณดี  สมัยอภิสิทธิ์ไม่ดี   พอสมัยยิ่งลักษณ์ดี  สมัยอภิสิทธิ์ ได้ตันละ 6,500 – 8,500 บาท  บวกค่าชดเชยแล้วอย่างมากที่สุดก็ตันละ 10,000 บาท  สมัยทักษิณได้ตันละ 14,000 บาท   ยิ่งลักษณ์ได้ตันละกว่า 12,000 – 14,000 บาท  มันก็ดี ชาวนาตอนนี้ลืมตาอ้าปากได้   สมัยนี้ทำ 2 ปี 30 ไร่กว่า ชาวนาเดี๋ยวนี้มีรถกันทุกคนแล้ว  ดูรู้เลย”

สมชาย ม่วงศรี (64 ปี)  ชาวนาในทุ่ง ม.11 ต.ผักไห่ อีกราย ซึ่งแต่เดิมเป็นคนรับจ้างทำนาในทุ่งนี้มาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งได้แต่งงานกับลูกสาวชาวนาซึ่งมีที่นาอยู่ 13 ไร่  เขาเป็นคนแรกในทุ่งที่บุกเบิกนาฟางลอยมาเป็นนาปรังเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อทำนาปรังได้ผลดีก็ค่อยๆ เช่าที่นาเพิ่มขึ้น   เขาเห็นว่าแนวโน้มราคาเช่านาเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดตามราคาข้าว จากแต่เดิมเคยจ่ายค่าเช่าเป็น ปีต่อปี เมื่อถึงยุค นายกสมัคร สุนทรเวช ซึ่งราคาข้าวดี ก็หันมาจ่ายค่าเช่าเป็น ฤดูปลูกต่อฤดูปลูก   ปัจจุบันเขาทำนาตัวเองและเช่า รวม 34 ไร่ ค่าเช่าที่นาของเขายังคงไร่ละ 1,000 บาท เท่ากับยุคประกันรายได้ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะทำสัญญาเช่ากับเจ้าของนาซึ่งมีอายุสัญญา 5 ปี และ 6 ปี  และแม้เขาจะอยากเช่าที่นาเพิ่มอีก แต่ก็หาที่นาทำได้ยาก เพราะคนเช่านาแข่งกันเช่าและสู้ราคาไม่ไหว 

“ปรับทำนาปรังก่อนสมัครเป็นนายกไม่กี่ปี ตอนนั้นค่าน้ำมันถูกกว่าสมัยนี้ ค่าปรับเลยไม่แพง เริ่มทำ 13 ไร่ก่อน ครั้งแรกเจ๊ง ครั้งที่ 2 ถึงได้ทุนคืน  พอถึงสมัครเป็นนายกก็ได้กำไร แต่โดนโรงสีโกง จ่ายให้แค่ 60 % ของราคาข้าวเต็ม 140,000 บาท [3]   โครงการจำนำข้าวยิ่งลักษณ์ดี เที่ยวนี้ข้าวดีด[4]  เยอะหน่อยก็ยังได้ไม่มาก  รุ่นอภิสิทธิ์แย่หน่อย ได้ตันละ 5,000 – 6,000 ส่วนต่างนิดหน่อย  บ้านนอกอย่างเราก็ต้องเลือกพรรคที่ให้ผลตอบแทนเราดี แบบนี้พอเหลือมั่ง ลืมตาอ้าปากได้  ของประชาธิปัตย์ได้น้อยมากแต่ไม่ขาดทุน”

 

ความหวังปลดหนี้และได้เป็นเจ้าของที่นาของ สมดี    

นายสมดี ตันติโน (49 ปี)  หนุ่มมหาสารคาม เคยมีอาชีพหลากหลาย ตั้งแต่ ทำงานก่อสร้าง และเป็นลูกจ้างอยู่ในเรือประมงอยู่ 7 – 8 ปี  จนเมื่ออายุ 30 ปีเขากลับมาอยู่ ม. 9 ต.หนองน้ำใหญ่ บ้านเกิดของ บุญนาค -ภรรยา  จึงเริ่มอาชีพปั่นไอศครีมกะทิเร่ขายปลักอยู่ราว 2 ปี ควบคู่ไปกับการทำนา 30 ไร่  แล้วค่อยๆ หาที่นาเช่าเพิ่มขึ้นกว่า 100 ไร่ ได้จึงเลิกขายไอศครีมไปในที่สุด 

สมดีเล่าว่า นาแถบนี้มักมีนายทุนมากว้านซื้อทีเดียวเป็นแปลงติดต่อกัน  ในทุ่งหน้าโคกที่เขาเช่านาทำนั้น ก็มีบ่อดูดทรายอยู่หลายแห่ง และมีแนวโน้ว่าธุรกิจบ่อทรายจะต้องการทรายเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง      ชาวนาบางรายซึ่งขายที่นาที่เป็นแหล่งขุดทรายมักขายนาได้ราคาดีก็จะไปหาซื้อที่นาแห่งใหม่ที่ราคาถูกกว่าทำนา หรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น 

“ตอนนี้มีนายทุนมากว้านซื้อไร่ละ  120,000 บาท  ปีนี้ (2556) ค่าที่มันเพิ่งจะมาขึ้น    มาซื้อ 1,000 กว่าไร่ ในทุ่งหน้าโคกไปยันอมฤต  แต่ก่อน 10 ปีมาแล้วไร่ละ 80,000 บาท ยังขายไม่ได้เลย ไม่มีใครเอา   ตรงที่เช่าทำนายังไม่ได้ขาย แต่เจ้าของเขาก็อยากได้เงิน  เขาก็บอกว่าขาย  ถ้าเขาขาย เจ้าของใหม่เขาไม่ให้ทำเลย  แต่คนเช่าเขารั้นทำกัน ก็ซื้อของเตรียมไว้หมดแล้ว” 

ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2552  หลังชาวนาขายข้าวได้ราคาข้าวแพงจากรัฐบาลสมัคร  สุนทรเวช ไม่นาน  เจ้าของนาคนเดิมขายที่สมดีเคยเช่าทำนาขายที่นาให้คนชาวกรุงเทพฯ และห้ามไม่ให้เขาทำนานั้นอีก ทั้งที่มีสัญญาเช่า 6 ปี     ทำให้เขาขาดที่นาทำกินไปหลายสิบไร่  เขาตัดสินใจขอยืมเงินจากน้องสาวซึ่งทำงานอยู่ต่างประเทศมาซื้อที่นา 38 ไร่ ในทุ่งลาดชะโด ม.11 ด้วยมูลค่า 3 ล้านบาทโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย   แล้วลงทุนปรับที่เป็นนาปรังและเช่าที่นาเพิ่ม    แต่ปีต่อมา การทำนากว่า 140 ไร่ ของเขากลับไม่ประสบความสำเร็จ    เพราะนาปรังครั้งที่ 1 ปี 2553 นั้นเขามีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่แพร่ระบาดรุนแรง  ส่วนนาปรังครั้งที่ 2 ปีเดียวกันเจอภัยแล้งต้นฤดูจนต้องทอยน้ำจากแม่น้ำใหญ่เข้านาถึง 4 ทอด แต่ในช่วงก่อนเกี่ยวข้าวกลับมีน้ำเหนือไหลบ่าจนคลองชลประทานต้องระบายเข้าทุ่งนาปกติกว่า 10 วัน  จนต้องเกี่ยวเขียวแต่ขายข้าวไม่ได้  เขาขาดทุนกว่า 500,000 บาท และเป็นหนี้ปัจจัยการผลิตที่ร้านให้เครดิตในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท/เดือน ซึ่งโดยปกติลูกหนี้มักต้องชำระกันหนี้หลังการเก็บเกี่ยวเพื่อที่จะนำปัจจัยการผลิตงวดใหม่มาใช้ในรอบถัดไป 

เมื่อประกอบกับความไม่พอใจกับแหล่งรับซื้อข้าวของโครงการรับจำนำที่มีเพียงแห่งเดียวในอำเภอผักไห่  ซึ่งเขาเห็นว่าโรงสีที่สุพรรณบุรีมักซื้อข้าวในราคาที่ให้ชาวนาดีกว่าที่ผักไห่ แถมยังไม่ต้องจ่ายค่าขนข้าวให้กับรถรับจ้างด้วย เพราะโรงสีจ่ายส่วนนี้แทน    ส่วนโรงสีที่ผักไห่มักกดราคาโดยอ้างความชื้นข้าวและทำให้เขาขายข้าวได้ราคาแค่เพียงตันละ  10,700 – 11,000 บาท ในฤดูนาปรังครั้งที่2 ปี 2555 ที่ผ่านมา และยังได้รับเงินสดช้ากว่ากำหนด  อีกทั้งกระบวนการขั้นตอนในโครงการจำนำข้าวมีความยุ่งยาก  ทำให้เขาเห็นว่า โครงการประกันรายได้ตอบสนองกับเขามากกว่าโครงการรับจำนำข้าว  แม้การขายข้าวและได้รับค่าชดเชยส่วนต่างอัตราประกันราคาข้าวไม่เคยถึงตันละ 10,000 บาท  แต่ก็ยังทำให้เขาได้รับเงินสดทันทีที่นำข้าวไปขายเพื่อนำเงินสดนั้นมาลงทุนรอบใหม่ และหากผลผลิตต้องประสบภัยหายนะจากแมลงระบาดและน้ำท่วม เขาก็ยังได้ค่าชดเชยส่วนต่างจากราคาขายข้าวด้วย แม้จะได้ตามโควต้าครอบครัวละ 25 ตัน/ครอบครัวก็ตาม 

 

สมดีปรับเทคนิคการผลิตเตรียมรับเปิดเสรี AEC

เมื่อมีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์   สมดียังจ่ายค่าเช่านาเท่าเดิม  ค่าปุ๋ยค่ายาไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก เช่นเดียวกับค่าจ้างฉีดพ่นสารเคมี  ค่าเกี่ยวข้าว และค่าขนข้าว  ส่วนการตีเทือกและปั่นนานั้นเขาลงแรงเอง   เขาหาวิธีประหยัดต้นทุนโดยการเช่ายืมรถปั่นนาจากญาติที่ทำนาอยู่ด้วยกัน คิดค่าเช่าเป็นเงินไร่ละ 100 บาท และต้องจ่ายค่าน้ำมันเอง ซึ่งเนื้อที่นา 1 ไร่ใช้น้ำมันประมาณ 2 ลิตร   ในขณะที่หากญาติผู้นั้นต้องการปั่นนา 40 กว่าไร่นั้น ก็ต้องจ้างเขาขับรถปั่นในอัตราจ้างไร่ละ  20 บาท  ส่วนค่าจ้างปั่นนาทั่วไปมีราคาไร่ละ  200 – 300 บาท  

เขายังติดตามฟังข่าวและรายการความรู้ทางการเกษตรเป็นประจำจากรายการ “สีสันชีวิตไทย  วิทยุเพื่อการเกษตรและอาชีพเสริม” ทางคลื่นวิทยุกองพล ปตอ.   และนำความรู้การทำน้ำหมักสมุนไพรแบบต่างๆ มาปรับใช้รวมทั้งยังบริโภคปัจจัยการผลิตบางชนิดที่โฆษณาในรายการนี้ด้วย    

“มีเวลาอีก 2 ปี  คนจัดรายการเป็นทหาร รายการนี้ดังมาก  เขาบอกให้เราลดต้นทุน   จะลดต้นทุนจริงๆ ก็ตอนเปิดอาเซียนนี่แหละ  เขาว่าเปิดเสรีข้าวก็จะเอาของนอกเข้ามาได้  อย่างเรารัฐบาลเคยช่วยเหลือเกวียนละหมื่นกว่าก็สู้กับเขาสิ  ถ้าสู้ไม่ได้ก็ต้องลดราคาต่ำกว่า  อย่างของเขา 6,000 บาท คุณก็ต้องขาย 6,000 บาท   ที่เขาเอาข้าวเวียดนามมาขาย  ถังละ 30 – 40 บาท ทำไมถูกอย่างนั้น    ตอนนี้ก็ลดต้นทุนอยู่  ลดปุ๋ยไปเยอะแล้วนะ  ทุกทีใช้ 5 ตัน นี่แค่ตันเดียว  ยาเราก็เอาจำเป็นที่ฉีด”  

นอกจากจะใช้น้ำหมักสมุนไพรแล้ว เขายังใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช สารเคมีกำจัดแมลง ฮอรโมน  โดยนำอุปกรณ์เครื่องฉีดพ่นแบบลากสายมาใช้เพื่อประหยัดค่าจ้างแรงงานที่ฉีดแบบเครื่องฉีดพ่นสะพายหลังได้ถึงไร่ละ  25 – 30 บาท  และการใช้เครื่องหว่านปุ๋ยเคมีผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ อัตราส่วน 2 : 1  ทำให้การหว่านปุ๋ยกระจายตัวได้มากขึ้น  ปริมาณปุ๋ยที่ใช้ลดลจากไร่ละ 50 – 70 กก. เป็น ไร่ละ 25 - 30 กก.  ซึ่งทำให้เขาได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจคือไม่ต่ำกว่าไร่ละ  85 ถัง   เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่าปุ๋ยอินทรีย์ดีต่อต้นข้าวก็จริง แต่หากใส่มากเกินไปจะทำให้ดินนุ่มและทำให้รถเกี่ยวข้าวตกหล่มได้ง่าย

สิ้นปีการเพาะปลูก 2555/56  เขาทำนาได้กำไรเพิ่มขึ้น และเพิ่งล้างหนี้เก่าเมื่อปี 2553  จากการทำนา  120 ไร่  โดยแบ่งส่วนที่ดินในการขึ้นทะเบียนชาวนา ให้กับตัวเอง   ลูกเขยคนโตซึ่งทำงานเป็นขับรถรับ-ส่ง คนงานในโรงงาน กับ ลูกเขยคนเล็กที่เพิ่งปลดประจำการทหารเกณฑ์เมื่อไม่นาน   และลูกชายคนเล็ก คนละ 40 ไร่     และเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2556 นี้  ครอบครัวของสมดีทยอยเกี่ยวข้าวไปเกือบหมดแล้ว   ด้วยสภาพแล้งจัดตอนเกี่ยวทำให้ปีนี้ขายข้าวได้ตันละ  12,500 – 13,000 บาท  เขาคิดว่าราคานี้น่าพอใจ   และทำให้เหลือกำไรจากขายข้าวอยู่ราว 500,000 บาท  ค่าเช่านาปีนี้ยังจ่ายอยู่ที่ไร่ละ 13 ถัง  ส่วนปีหน้าเจ้าของนาเช่าขอขึ้นค่าเช่าเป็น 15 ถัง โดยเก็บค่าเช่า ณ วันที่ขายตามราคาใบเสร็จจากโรงสี     อย่างไรก็ตามเขายังกังวลว่าเขาต้องรอเงินสดจาก ธกส. นาน  และในเดือนพฤษภาคมอาจจะไม่ได้ทำนาปรังครั้งที่ 2 ถ้าไม่มีน้ำปล่อยมา   แต่หากยังพอมีน้ำในลำรางเหลืออยู่บ้าง เขาอาจจะต้องปรับตัวไปปลูกพืชผักอายุสั้นที่ทนแล้ง ตามหัวคันนาแทน

 

การปรับตัวของชาวนาเช่าที่ถูกเรียกนาคืน

ประทุม มหาชน (62 ปี) ชาวนา ม. 9 ต.หนองน้ำใหญ่ ไม่โชคดีจากการเช่านาอย่าง สำราญ และสมชาย และไม่มีกำลังทุนสะสมมากพอที่จะจับจองที่นาเป็นของตัวเองได้อย่างสมดี

ประทุม เป็นชาวนาในทุ่งลาดชะโดอีกรายที่ถูกเรียกนาคืน    ปี 2555  เจ้าของนาเรียกคืนนาเช่า 18 ไร่ ล่วงหน้าก่อน 1 ปี  ทำให้เธอได้ขายข้าวนาปรังเข้าโครงการได้ 2 เที่ยว ปัจจุบันเธอทำแค่ที่นาตัวเองขนาด 11 ไร่ ในทุ่งนาคูที่อยู่ห่างออกไปจากทุ่งลาดชะโดราว 6 กิโลเมตร  นาของเธอได้ผลผลิตดีไม่เคยต่ำกว่า 90 ถัง/ไร่  และแม้อยากจะทำนาอีกแต่ก็ไม่มีที่นาให้เช่าทำ และไม่คิดลงทุนเช่าที่นาฟางลอยเพื่อบุกเบิกดินที่เป็นนาปรังอีก    อย่างไรก็ตาม เสน่ห์  สามีวัย 64 ปีของประทุม เปิดร้านเหล็กดัดในหมู่บ้านมาหลายปีแล้ว  โดยมีลูกชายคนโต วัย 39 ปี ช่วยงานทั้งในนาและในร้านเหล็กดัดและทำไร่ที่นครสวรรค์ซึ่งเป็นที่ดินของภรรยา   ส่วนลูกสาวอีก 2 คน นั้นเป็นนางพยาบาลและทำงานโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ พระนครศรีอยุธยา   

ประเสริฐ พุ่มพวง (46 ปี)   หลังจากเรียนจบชั้น ม.6 และเคยทำงานทั้งในโรงงานเย็บหนัง เป็นช่างในบริษัท และวิ่งขายกุ้งอยู่ 6 ปี แม้จะมีเงินสดผ่านเข้าออกมือของเขาจำนวนมาก แต่ประเสริฐเริ่มเหนื่อยหน่ายกับงานแล้วหันกลับมาทำนา  ด้วยความคิดว่า ทำนาอิสระกว่าทำงานในโรงงาน  และโอกาสถูกโกงจากการทำนาน้อยกว่าการเป็นช่างรับเหมาของบริษัท 

เขาต้องการเช่าที่นาประมาณ 30 ไร่/ฤดูปลูก  นอกจากเขาจะเช่าแปลงนาหลังบ้านขนาด 10 ไร่ ซึ่งเป็นของพี่สาวแล้ว เขายังต้องหานาเพิ่มอีกหลายแปลง  ทั้งในทุ่งลาดชะโดม.9 และที่ทุ่งลำตะเคียน ต.ลำตะเคียน  ซึ่งห่างจากบ้านเขาไปราว 10 กม.     

นาเช่าที่ลำตะเคียนขนาด 6 ไร่ ซึ่งประเสริฐเช่ามากว่า 10 ปี นั้นเจ้าของนาคนเดิมเพิ่งขายให้กับเจ้าของใหม่เมื่อ 6 – 7 ปีก่อน  ดีที่เขายังตกลงของเช่าต่อจากเจ้าของนาใหม่ได้  และทำสัญญาปีต่อปีมาโดยตลอด   เมื่อมีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปี 2555  ค่าเช่านายังคงค่าเช่าที่ไร่ละ 1,000 บาท   ส่วนแปลงนาอีกแปลงที่ประเสริฐเช่าในทุ่งลาดชะโด ม. 9 ขนาด 6 ไร่ ซึ่งเช่าทำนามานานกว่า 10 ปีนั้น เขาทำสัญญาเช่า ฤดูปลูกต่อฤดูปลูก โดยมีเงื่อนไขเหมือนกันทุกปีว่า ในช่วงฤดูนาปรังครั้งที่ 2    ประเสริฐต้องงดทำนาเพื่อให้เจ้าของนาเรียกนากลับไปทำนาฟางลอยเอง   เมื่อเริ่มเข้าสู่การทำนาปรังครั้งที่ 1 ต้นปี 2555 นั้น จุกต้องจ่ายค่าเช่านาปรังแปลงนี้เพิ่มจากไร่ละ  1,000 บาท เป็น 1,400 บาท  โดยที่เจ้าของนาให้เหตุผลว่าราคาข้าวที่ขายได้เพิ่มขึ้น

ทำนาลดต้นทุนของประเสริฐ

เมื่อต้นทุนค่าเช่านาเพิ่มขึ้น ประเสริฐจึงหันมาลดต้นทุนการผลิตในด้านอื่นแทน   เขาเคยดูรายการโทรทัศน์เพื่อฟังเช็คข่าวการเกษตรอยู่เป็นประจำในช่วงเช้ามืด และหันมาสนใจทดลอง บิเวอเรีย [5]สมุนไพร และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อควบคุมศัตรูพืชแทนสารเคมีกำจัดแมลง   แต่จะต้องรักษา ผลผลิต/ไร่ ให้ไม่ต่ำกว่า 80 ถัง   เขาจึงใช้วิธีหว่านพันธุ์ข้าวหนาไร่ละ 3  ถัง  โดยเลือกซื้อพันธุ์ข้าวจากนาที่เขาเห็นว่าสวยดีแล้วนำมาตากแห้งเองเพื่อประหยัดต้นทุน แต่ยังจำเป็นต้องควบคุมวัชพืชด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืช     

การทำนาปรังลดต้นทุนนาในฤดูปลูกครั้งแรก ปี 2555 นั้นเขายังใช้ปุ๋ยเคมีผสมกับปุ๋ยอินทรีย์  และเมื่อผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ  เขาจึงขยายการทดลองเพิ่มในแปลงนาปรังครั้งที่ 2 ที่เขาทำทั้ งหมด แต่งดการใช้ปุ๋ยเคมี และใช้ปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จรูป และฮอร์โมนไข่ ทดแทน    ซึ่งผลผลิตน่าพอใจคือไร่ละ 90 – 100 ถัง เขายังบอกด้วยว่าที่ทุ่งลำตะเคียน เริ่มมีคนทดลองนาลดต้นทุนอย่างเขาราว 100 ไร่แล้ว  เขายังหวังว่าผลกำไรที่ได้จากการทำนา จะมีมากพอเพื่อสะสมทุนไว้ซื้อที่นาเป็นของตัวเอง   และการเป็นสมาชิก ธกส. จะช่วยให้เขาสามารถนำโฉนดเข้าไปฝากธนาคารเพื่อให้เป็นหลักค้ำประกันเงินกู้ได้    

เมื่อเปรียบเทียบ ต้นทุน – กำไร จากการทำนาในโฉนดเช่าระบุขนาด 10 ไร่ ซึ่งพื้นที่ใช้ทำนาจริง 7 ไร่  ประเสริฐเสียค่าเช่านาในราคาเต็มตามโฉนดและได้ค่าชดเชยส่วนต่างราคาประกันในโครงการประกันรายได้ เมื่อปี 2554 ตรงตามที่นำโฉนดไปขึ้นทะเบียน  คือไร่ละ 78 ถัง จากอัตราชดเชยตันละ 2,818 บาท ณ วันที่เกี่ยวข้าวขายตามที่ขึ้นทะเบียนไว้  ปีนี้มีเพลี้ยระบาดพอสมควร เขาผลิตข้าวได้ 6.69 ตัน และขายได้ในราคาตันละ 6,800 บาท เมื่อเทียบ ต้นทุน-กำไร ที่เขาขายข้าวในโครงการรับจำนำปี 2555 ในราคา 11,000 บาท ซึ่งได้ใช้วิธีการผลิตเพื่อลดต้นทุน   ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยคือ 7 ตัน  และใช้ตัวเลขของการผลิตปี 2555 เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของผลกำไร ระหว่างการเช่านาในระบบปกติ กับระบบที่โฆษณาปุ๋ยอินทรีย์ที่ระบุว่าจะบริษัทดังกล่าวมีที่นาอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งให้ชาวนาที่อยากทำนาอินทรีย์เข้าไปใช้ประโยชน์จากการทำนาอินทรีย์  และหากขายข้าวได้กำไรบริษัทต้องการเพียงผลกำไรครึ่งหนึ่งเท่านั้น

จะเห็นชัดเจนว่า  ระบบการผลิตแบบลดต้นทุนของประเสริฐในปี 2555  ลดต้นทุน/ไร่  และต้นทุน/ตัน  จากปี 2554 ได้ ถึง 18 และ 23 %     ข้าวที่ขายเข้าโครงการจำนำมีผล กำไร/ไร่ และกำไร/ตัน สูงสุด ที่ 5,741 บาท  รองลงมาคือ  ปี 2554 ที่ขายในโครงการประกันราคา คือ 4,450 และ  4,660 บาท   ส่วนการผลิตในระบบโฆษณา ประเสริฐได้ประโยชน์น้อยที่สุด คือเพียง  3,174  บาทเท่านั้น  (ดูตารางข้างล่างประกอบ)ที่น่าสนใจก็คือ ในระบบโฆษณาดังกล่าว หากประเสริฐยิ่งขวนขวายหาวิธีลดต้นทุนมากเท่าไหร่ ผลกำไรที่ได้เพิ่มขึ้นของประเสริฐก็จะถูกหักครึ่งหนึ่งเสียก่อนทุกครั้งเสมอ  จึงเป็นที่น่าดีใจว่า นี่เป็นเพียงภาพจำลองที่ประเสริฐยังไม่ได้เข้าไปใช้ที่ดินของบริษัทปุ๋ยอินทรีย์นี้เพื่อทำการผลิตของบริษัทดังกล่าว  

นอกจากการทำนาแล้ว ประเสริฐยังรับจ้างหว่านปุ๋ย ฉีดพ่นสารกำจัดแมลง ทั้งในทุ่งลาดชะโดและลำตะเคียน  เขามีลูกค้าประจำกว่า 40 ราย    เมื่อมีการขยายที่นาปรังในทุ่งลาดชะโดเพิ่มขึ้น   เขามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำนาลดต้นทุนแต่เสียโอกาสในการออกรับจ้างฉีดพ่นสารกำจัดแมลง    และเขายังคงหารายได้เสริมจากการรับจ้างหว่านปุ๋ย    ตีเทือก และรับเหมาทาสีบ้านแทน    

“ตอนที่รับจ้างออกฉีดยาหว่านปุ๋ยก็เยอะทุกวัน    ถ้ารับทุกวันก็มีทุกวัน  ใน 1 ฤดูปลูก ถ้ารับจ้างฉีดยาหว่านปุ๋ยหว่านข้าวประมาณ 30 วัน ค่าจ้างไร่ละ 50 บาท  เฉลี่ยวันละ 400 บาท  ประมาณวันละ 10 ไร่  แต่เราไม่ได้รับ   เพราะห่วงทำของตัวเองมากกว่า  จังหวะชนกัน    ตอนนี้หันมารับจ้างย่ำนา (ตีขลุบหรือตีเทือก) ได้ไร่ละ 200 บาท  ปีนี้รับไป 2 แปลง  10 กว่าไร่  แต่รุ่นเปิดใหม่ไม่แน่ เพราะมีหลายเจ้า  ปีนี้เปิดเยอะ ทุ่งนี้ตอนนี้วิ่งไปเปิดหมดแล้ว  เมื่อก่อนเป็นนาปีหมดเดี๋ยวนี้ไปดูใหม่เป็นนาปรังหมดแล้ว”

เขายังหวังว่าผลกำไรที่ได้จากการทำนา จะมีมากพอให้เขาสะสมทุนไว้ซื้อที่นาเป็นของตัวเอง   ซึ่งมีจ่ายค่าใช้จ่ายประจำวัน วันละ 300 บาท  และมีค่าใช้จ่าย 2,000 บาท/สัปดาห์ จากการที่เขาต้องพาภรรยาที่ป่วยจากที่เคยทำงานในโรงงานอุตสากรรมไปล้างไตที่โรงพยาบาลในตัวเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งห่างจากบ้านราว 25 ก ม. แม้เธอจะมีบัตรทอง 30 บาทยุคใหม่ก็ตาม    

จะเห็นว่า ทุกกรณีศึกษาที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น  ชาวนาได้เข้าสู่ระบบการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมเต็มรูปแบบ  แต่ละรายต่างพยายามหาช่องทางเข้าถึงปัจจัยการผลิตสำคัญอย่าง ที่ดิน และน้ำ และทำนาในขนาดที่มากพอจะให้เกิดความประหยัดจากการเพิ่มขนาดการผลิต (economic of scale) ควบคู่ไปกับการแสวงหาความรู้ และนำมาปรับใช้เทคนิคการผลิตเพื่อลดต้นทุนในแบบต่างๆ      ส่วนชาวนารายย่อยที่ขาดแคลนทุนจะปรับตัวเป็นแรงงานรับจ้างในอุตสาหกรรมข้าวภาคกลางอย่างไร  โปรดติดตามตอนหน้า




[1] บทความชุดที่สังเคราะห์ขึ้นจาก กรณีศึกษา  “โครงการจำนำข้าว: โอกาสและกลยุทธ์การลดต้นทุนและพัฒนาการผลิตของชาวนารายย่อยและแรงงานในอุตสาหกรรมข้าว”  กรณีศึกษา  ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา  และ  ต.สระแก้ว  อ.เมือง  จ.สุพรรณบุรี   ระหว่าง มกราคม – พฤษภาคม 2556   โดยการสนับสนุนของ ประชาไท และ  ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

[2]ดูเพิ่มเติมที่  http://www.reic.or.th/law/lawfile/law030826120223.pdf

[3]ดูเพิ่มเติมที่   “ชาวนาร้อง"ดีเอสไอ"ถูกโกงค่าข้าว”  มติชน 23-03-2551  และ  ‘ดีเอสไอ’ ช่วยเคลียร์โรงสีเบี้ยวชาวนา” มติชน 24 ส.ค. 51  

[4]ข้าวดีด เป็น วัชพืชที่ขึ้นปนในนาข้าว มีลักษณะคล้ายต้นข้าวมาก เมื่อปลูกข้าว ข้าวดีดจะโตไปพร้อมกับข้าว สังเกตแยกแยะได้ยาก จนกระทั่งข้าวดีดออกรวง ต้นจะสูงกว่าและออกรวงไวกว่าข้าว ช่วงนี้ชาวนาในเขตผักไห่และสุพรรณบุรีมักจะใช้วิธีกำจัดข้าวดีดด้วยวิธีการตัด(เฉาะข้าวดีดทิ้ง) เพราะปล่อยให้ข้าวดีดแก่และเมล็ดร่วงหล่นจะทำให้ผลผลิตนาข้าวเสียหาย 10 – 100 %

[5]ชื้อราบิวเวอร์เรีย ( Beauveria bassiasna )  จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลง  สามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด  กลไกการเข้าทำลายคือ เมื่อสปอร์ของเชื้อราสัมผัสกับผิวของแมลงในสภาพความชื้นที่เหมาะสม  จะงอกเส้นใยแทงผ่านผิวหนังเข้าไปในลำตัวแมลง แล้วขยายจำนวนเจริญอยู่ภายในโดยใช้เนื้อเยื่อของแมลงเป็นอาหาร แมลงจะตายในที่สุด ภายในระยะเวลาต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และวัยของแมลง โดยทั่วไปประมาณ 3 - 14 วัน ในข้าว ใช้กำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ บั่ว และหนอนห่อใบ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การเมืองว่าด้วย ‘พลังงานไทย’ (6): ความจริงเกี่ยวกับก๊าซแอลพีจี

$
0
0
 
พันธมิตรเสื้อเหลืองที่สวมเสื้อคลุม “กลุ่มทวงคืนพลังงาน” และ “กลุ่มทวงคืน ปตท.” ยังมีประเด็นโจมตีรัฐบาลที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ นโยบายก๊าซแอลพีจี
 
ก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในประเทศไทยได้มาจาก 3 แหล่งคือ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง (ซึ่งนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น) ได้จากอ่าวไทยผ่านโรงแยกก๊าซของ ปตท. และได้จากการนำเข้าจากต่างประเทศ สาเหตุหนึ่งของราคาน้ำมันแพงในประเทศไทยคือ การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้อุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี
 
เช่น ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 น้ำมันเบนซินมีราคาขายปลีกลิตรละ 45.15 บาท เป็นเงินสมทบกองทุนฯ ถึง 9.70 บาท ขณะที่น้ำมันดีเซลต้องจ่ายเข้ากองทุนฯ ลิตรละ 3.40 บาท แก๊ซโซฮอล 95 E10 สมทบลิตรละ 3.50 บาท
 
ประมาณตัวเลขในวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 มีเงินเข้าสมทบกองทุนฯ ทั้งสิ้น 254.58 ล้านบาท โดยได้จากน้ำมันดีเซลมากที่สุดคือ 192.20 ล้านบาท จากน้ำมันเบนซิน 18.62 ล้านบาท น้ำมันก๊าซโซฮอล 95 E10 จำนวน 30.42 ล้านบาท และน้ำมันก๊าซโซฮอล 91 E10 จำนวน 12.74 ล้านบาท รัฐบาลจัดเก็บเงินสมทบกองทุนฯสูงมากเพราะเหตุใด?
 
ข้อมูลแสดงว่า ในวันเดียวกัน กองทุนมีรายจ่ายรวม 57.86 ล้านบาท รายการใหญ่ที่สุดคือ อุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี สูงถึง 52.28 ล้านบาท นอกนั้น เป็นการอุดหนุนราคาก๊าซโซฮอล 95 E20 และก๊าซโซฮอล 95 E85 รวมกันประมาณ 5 ล้านบาท แต่ทำไมถึงต้องอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี?
 
ราคาก๊าซแอลพีจีหน้าโรงกลั่นจะกำหนดตามราคาตลาดโลก (เช่นเดียวกับ ราคาหน้าโรงกลั่นของน้ำมันเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่กลั่นได้) ซึ่งใกล้เคียงกับราคาก๊าซแอลพีจีนำเข้า ปัจจุบัน ราคาตลาดโลกแกว่งตัวในช่วง 750-1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือประมาณ กก.ละ 20-30 บาท ส่วนต้นทุนก๊าซแอลพีจีจากอ่าวไทยที่โรงแยกก๊าซอยู่ที่ 550 ดอลลาร์ต่อตัน หรือ กก.ละ 16.92 บาท
 
แต่ปัจจุบัน รัฐบาลกำหนดราคาก๊าซแอลพีจีหน้าโรงกลั่นไว้ที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เท่ากับ กก.ละ 9.72 บาท ซึ่งต่ำกว่าทั้งราคาตลาดโลกและต้นทุนที่โรงแยกก๊าซ รัฐบาลจึงต้องชดเชยส่วนต่างให้กับโรงกลั่น โรงแยกก๊าซ และผู้นำเข้า ในปี 2555 กองทุนน้ำมันต้องอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีเป็นจำนวนถึง 3.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก๊าซหุงต้มในราคาขายปลีกเพียง กก.ละ 18.13 บาท และภาคขนส่งเพียง กก.ละ 21.38 บาท ซึ่งต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ เมื่อเทียบกับเวียดนาม (59 บาท) ลาว (49 บาท) กัมพูชา (45 บาท) พม่า (34 บาท) อินโดนีเซีย (23 บาท) และมาเลเซีย (20 บาท)
 
นโยบายอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีเป็นความผิดพลาดมาตั้งแต่การเปิดเสรีโรงกลั่นน้ำมันเมื่อปี 2534 โดยรัฐบาลเวลานั้นได้ใช้นโยบายลอยตัวราคาน้ำมัน เพื่อจูงใจให้มีการลงทุนสร้างโรงกลั่นเพิ่ม แต่กลับตรึงราคาก๊าซแอลพีจีไว้ และกลายเป็นมาตรการที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันในขณะที่ราคาก๊าซแอลพีจีในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นโดยตลอด
 
การอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่สะท้อนความหาได้ยากที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก เป็นผลให้ประเทศไทยมีการใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงกว่าร้อยละ 10 ต่อปี และเกิดการบิดเบือนการใช้พลังงาน โดยในภาคขนส่ง ได้มีการดัดแปลงยานพาหนะเบนซินมาใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นจำนวนมาก (ปี 2555 เพียงปีเดียว เพิ่มถึง 2 แสนคัน รวมเป็นทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านคัน) ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็เลิกใช้น้ำมันเตา หันมาใช้ก๊าซแอลพีจีแทน จนประเทศไทยกลั่นได้น้ำมันเตาเหลือใช้ ต้องส่งออกจำนวนมากทุกปี
 
ผลก็คือ ประเทศไทยจากที่เคยผลิตก๊าซแอลพีจีเหลือใช้และส่งออกได้ถึงวันละ 3 หมื่นบาร์เรล กลายเป็นติดลบ ผลิตไม่พอใช้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2551 โดยในปี 2555 ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีถึงวันละ 55,000 บาร์เรล เป็นภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจนถึงขั้นติดลบ
 
รัฐบาลที่ผ่านมาจึงพยายามที่จะลดการอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี แต่ก็ถูกต่อต้านจากพันธมิตรเสื้อเหลือง “กลุ่มทวงคืนพลังงาน” มาโดยตลอด ในทางตรงข้าม คนพวกนี้กลับโยงประเด็นราคาก๊าซแอลพีจี ไปโจมตีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นวัตถุดิบอีก โดยกล่าวหาว่า รัฐบาลขึ้นราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีเพื่อไปอุดหนุนกำไรของ ปตท.และให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อก๊าซแอลพีจีในราคาต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรม
 
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลุ่มโอเลฟินส์ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นวัตถุดิบขั้นต้นในการผลิตเม็ดพลาสติกประเภท PP ได้รับการส่งเสริมในช่วงปลายยุค 2520 โดยใช้วัตถุดิบก๊าซจากอ่าวไทยผ่านโรงแยกก๊าซของ ปตท.โดยตรง ขณะที่ครัวเรือนในยุค 2530 ได้รับก๊าซหุงต้มจากโรงกลั่นเป็นหลัก แต่การอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีก็ทำให้การใช้ก๊าซในภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรมขยายตัวมากจนผลผลิตจากโรงกลั่นไม่พอใช้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่ปตท.ก็ต้องแบ่งก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซมาให้ด้วยเช่นกัน
 
ราคาก๊าซแอลพีจีที่ ปตท.ขายเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีนั้น ถูกกำหนดให้แปรผันขึ้นลงตามราคาเม็ดพลาสติก PP ในตลาดโลก โดยมีช่วงราคาระหว่างต้นทุนที่โรงแยกก๊าซ 16.92 บาทต่อ กก.แต่ไม่เกินราคานำเข้าหรือราคาตลาดโลก (ประมาณ 30 บาท ต่อกก.) ฉะนั้น ราคาก๊าซแอลพีจีที่อุตสาหกรรรมปิโตรเคมีซื้อไปนั้นจึงมีราคาขึ้นลง บางช่วงอาจสูงถึงราคาตลาดโลก
 
“กลุ่มทวงคืนพลังงาน” อ้างว่า ปัจจุบัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจ่ายเงินสมทบกองทุนน้ำมันในอัตราเพียง กก.ละ 1 บาท ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องจ่ายสมทบถึง กก.ละ 10.87 บาท ทำให้ราคาก๊าซแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมมีราคาขายปลีกสูงถึง กก.ละ 28.07 บาท ซึ่งก็เป็นจริงบางส่วน แต่เบื้องหลังคือ ก๊าซแอลพีจีที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับนั้นมีจุดเริ่มต้นที่หน้าโรงกลั่นในราคาเพียง กก.ละ 9.72 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รัฐบาลได้ใช้เงินกองทุนไปอุดหนุนตั้งแต่ต้นน้ำเรียบร้อยแล้วแต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายลดการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มแรก ฉะนั้น เมื่อถึงราคาขายปลีก รัฐบาลจึงได้จัดเก็บเงินสมทบกองทุนจากก๊าซแอลพีจีเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ให้ราคาขายปลีกเข้าใกล้ราคาตลาดโลก
 
นัยหนึ่ง รัฐบาลจัดเก็บเงินสมทบกองทุนจากราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมก็เพื่อ “เอาคืน” เงินอุดหนุนราคาหน้าโรงกลั่นที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับไปก่อนหน้านั้นนั่นเอง
 
แน่นอนว่า เราอาจเรียกร้องให้รัฐบาลจัดเก็บเงินสมทบกองทุนน้ำมันจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอัตราสูงกว่า 1 บาท ต่อ กก. ได้โดยอ้าง “ความเป็นธรรม” แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีข้อแตกต่างสำคัญจากผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีภาคอื่นๆ คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่ได้ซื้อวัตถุดิบก๊าซแอลพีจีในราคาที่ได้รับการอุดหนุนจากกองทุน หากแต่ซื้อในราคาที่เคลื่อนไหวตามราคาเม็ดพลาสติกในตลาดโลก การจัดเก็บเงินกองทุนจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงเป็นเสมือนการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจากวัตถุดิบต้นน้ำ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นผลผลิตไปด้วย
 
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเม็ดพลาสติกมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างกว้างขวาง เม็ดพลาสติก PP เป็นพลาสติกหลัก (นอกเหนือไปจาก PVC) ที่ใช้ในระบบเศรษฐกิจไทย เป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมไทยแทบทุกสาขา ตั้งแต่รถยนต์ อิเล็กโทรนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเด็กเล่น ไปจนถึงภาชนะในครัว เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตครัวเรือนไทยทุกด้าน ยิ่งกว่านั้น เม็ดพลาสติก PP ยังเป็นสินค้าส่งออกในอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมไทยอีกด้วย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งสิ้นหลายแสนล้านบาทต่อปี การจัดเก็บเงินสมทบกองทุนในอัตราสูงจะมีผลกระทบลูกโซ่ถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำของไทยทั้งหมด ต่อสินค้าอุปโภคของครัวเรือนไทย และต่อการแข่งขันส่งออกเม็ดพลาสติกของไทย แน่นอนว่า รัฐบาลจะต้องพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ประกอบในการกำหนดนโยบาย
 
ถึงกระนั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะจัดเก็บเงินสมทบจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสักเท่าไร ก็ไม่มีผลให้ราคาก๊าซแอลพีจีที่ประชาชนใช้มีราคาถูกลง เพราะข้อเท็จจริงคือ ราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนและภาคขนส่งยังต่ำกว่าความเป็นจริงในตลาดโลก จนเกิดการใช้เกินตัวและใช้ผิดประเภท เป็นภาระแก่ผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ อยู่ดี และหนทางแก้ไขคือ ต้องลดเลิกการอุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีทั้งหมดด้วยมาตรการที่เหมาะสมและเป็นขั้นตอน
 
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน 'โลกวันนี้วันสุข' ฉบับวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2556
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยื่น ‘กสทช.-อย.’ ฟันสปอตวิทยุโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ-ความงาม ผิด กม.

$
0
0

มีเดียมอนิเตอร์-กพย.สุ่มศึกษาสปอตวิทยุโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม พบ 96% ผิด กม. ผู้บริโภคเสี่ยง ‘เสียรู้-เสียทรัพย์-เสียสุขภาพ-เสียชีวิต’ เสนอ อย. กสทช. สตช. ดำเนินการอย่างเข้มงวด จริงจัง ฉับพลัน เพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน

 
 
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.56 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ร่วมกับ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสนอผลการศึกษา เรื่องการศึกษาวิเคราะห์ สปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามทางวิทยุกระจายเสียงที่ปรากฏในเว็บไซต์ พร้อมข้อเสนอแนะต่อ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
 
จากการศึกษาพบว่าปี 2555-2556 จำนวน 71 ชิ้นสปอต จาก 52 ผลิตภัณฑ์ ที่ส่วนใหญ่เป็นสปอตวิทยุ การใช้ข้อความที่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย แบ่งตามประเภทผลิตภัณฑ์ คือ โฆษณายา 26 ชิ้นสปอต จาก 18 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ทางสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่าผลิตภัณฑ์ยาทั้งหมดที่ส่งให้ตรวจสอบนั้นไม่ได้รับการอนุญาตโฆษณา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 
 
ในส่วนของเนื้อหาการโฆษณามีข้อความที่พบมากที่สุด คือ การโอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาดทั้งหมด 12 ชิ้นสปอต จาก 7 ผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างข้อความ เช่น ไม่มีผลข้างเคียงปลอดภัยสูงสุด ช่วยฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ คืนความสวยตัวช่วยดีๆ ไม่มีอันตราย สมุนไพรมหัศจรรย์ 14 ชนิดเกิดคุณประโยชน์อย่างมหาศาล
 
รองลงมา คือ การแสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินจริง พบ 11 ชิ้นสปอต จาก 9 ผลิตภัณฑ์ เช่น มีพลังอย่างน่าตื่นตาตื่นใจในการขับไล่เลือดเน่าเลือดเสียที่คอยจะจับกันเป็นลิ่มเลือด ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ตึงกระชับ บรรเทาอาการเจ็บปีกมดลูก ช่วยวัยสาวกลับคืนมา ไล่จับไขมันส่วนเกินที่ร่างกายคุณไม่ต้องการ
 
ด้านการโฆษณาอาหาร 41 ชิ้นสปอต จาก 30 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ทางสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่าสปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายเป็นอาหารทั้งหมด ซึ่งตรวจพบว่าไม่ได้รับการอนุญาตโฆษณาจำนวน 39 ชิ้นสปอต จาก 29 ผลิตภัณฑ์ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 และมีการอวดอ้างว่ารักษาโรคได้สารพัด เช่น อ้างว่าช่วยในการบำบัดโรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคเอดส์ โรคไขข้ออักเสบ โรคเก๊าท์ โรคไต ฯลฯ
 
ส่วนที่เหลือเป็นการโฆษณาเครื่องสำอางจำนวน 4 ชิ้นสปอต จาก 4 ผลิตภัณฑ์ แต่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา
 
 
ทั้งนี้ทางมีเดียมอนิเตอร์และแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยามีข้อเสนอแนะ ดังนี้ คือ
 
1. กสทช. ควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเฝ้าระวัง ในระดับภูมิภาค เช่น กสทช.เขต และควรร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบการปราบปรามผู้กระทำความผิด เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการเพื่อให้มีการระงับการเผยแพร่อย่างทันเหตุการณ์ เร่งให้มีมาตรการหรือหลักเกณฑ์ ในทางจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองของสื่อในด้านการโฆษณาผลิตภัณฑ์ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติกำกับดูแลกันเอง
 
2. การบังคับใช้กฎหมาย ต้องดำเนินคดีในประเด็นโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร เนื่องจากมีบทลงโทษถึงขั้นจำคุก ต้องพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบการที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ควรมีฐานข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณาและฐานข้อมูลความผิดของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมายระหว่าง อย.กับกสทช. เช่น การขอหลักฐานบันทึกรายการที่ได้ออกอากาศไปแล้ว โดยให้ กสทช.เรียกผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ส่งหลักฐานให้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ออกอากาศแล้วพบโฆษณาที่ผิดกฎหมาย 
 
3. ผู้ประกอบการหากพบว่ามีผู้แอบอ้างโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนโดยผิดกฎหมาย ควรดำเนินคดีกับผู้แอบอ้างนั้น เพื่อยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการโฆษณานั้นแต่อย่างใด
 
4. ประชาชน ควรงดการฟังวิทยุ และการรับชมโทรทัศน์ ที่มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ผิดกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลจากการถูกกล่อมจนเกิดความหลงเชื่อในโฆษณานั้น รู้เท่าทันการโฆษณา ร่วมกันเฝ้าระวัง เป็นนักร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการปัญหา เช่น ร้องเรียนไปยังสายด่วน อย. หมายเลข 1556 หรือร้องเรียนไปยังสำนักงาน กสทช.หมายเลข 1200
 
5. ด้านการปรับปรุงกฎหมาย ควรเร่งให้เกิดมาตรการการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ โดยไม่ให้มีการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ในลักษณะโอ้อวดเกินจริง ซึ่งสามารถใช้สื่อสารในการโฆษณาได้ และไม่ให้ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ชื่อเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถโฆษณาได้ ควรปรับปรุงบทลงโทษในส่วนของการโฆษณาให้มีโทษหนักขึ้น เนื่องจากปัจจุบันบทลงโทษโดยเฉพาะค่าปรับต่ำมาก มีความคุ้มค่าที่จะดำเนินการกระทำผิดกฎหมาย ควรเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … (ฉบับประชาชน) ให้มีผลบังคับใช้จริง
 
 
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.กล่าวว่า จะนำเรื่องร้องเรียนเสนอเข้าคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อนำเสนอต่อ กสท.ในเร็วๆ นี้ และในทางปฏิบัติจะรวบรวมข้อมูลและนำเสนอต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป
 
ด้าน ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาระบุ จะนำข้อมูลจากผลการศึกษานี้ไปตรวจสอบและดำเนินตามกฎหมายต่อไป ในขณะเดียวกัน อย.อยู่ในระหว่างการจัดทำหลักสูตรอบรมผู้ประกอบการด้านวิทยุชุมชน และสร้างวิทยุชุมชนสีขาวที่เป็นแบบอย่างในการนำเสนอข้อมูลอาหารและยาที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

6 เหตุผล ปลด ‘ประดิษฐ’ พ้น รมว.สธ.- ปธ.แพทย์ชนบทชี้อยู่ที่ดุลพินิจนายกฯ

$
0
0

ส่วนวงเจรจาร่วมรัฐบาล ผลตั้ง ‘ดร.คณิต แสงสุพรรณ’ เป็นประธานออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนใหม่ ชมรมแพทย์ชนบทรอดูท่าทีเคลื่อนไหว จากมติ ครม.อังคารหน้า ขณะที่เรื่องปลด รมว.สธ.อยู่ที่ดุลพินิจของนายกฯ

 
วันที่ 6 มิ.ย.56 ชมรมแพทย์ชนบทเผยแพร่เอกสาร ‘เหตุผลที่เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพขอให้นายกรัฐมนตรี ปลด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข’ ในการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแพทย์ชนบท นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท จากปัญหาความขัดแย้งประเด็นการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) กับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) โดยมีนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นคนกลางในการเจรจาหาทางออก วันนี้ (6 มิ.ย.56) 
 
เอกสารดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
 
เหตุผลที่เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพขอให้นายกรัฐมนตรี
ปลด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
 
1.ไม่มีความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารภาครัฐ บริหารกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่ตนเองดูแลเป็นบริษัทส่วนตัว สั่งการตามอำเภอใจ ทำให้เกิดปัญหาและความเสียหายมากมาย ตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า เป็นการบริหารตามอำเภอใจก็เช่น การมีนโยบายสั่งการบังคับให้โรงพยาบาลทุกแห่งทำ P4P และลดและเลิกระบบแรงจูงใจเดิมในการทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานในชนบทอย่างเช่นมาตรการเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย คิดว่าข้าราชการเป็นเหมือนพนักงานบริษัท บังคับให้ทำก็ต้องทำ ทำให้เกิดแรงต้านอย่างกว้างขวาง
 
2.กรณีของนโยบาย P4P นั้น เป็นการนำแนวทาง P4P มาใช้อย่างผิดๆ ไม่มีความเข้าใจต่อเรื่อง P4P อย่างแท้จริง ไม่มีการเตรียมการและไม่มีการศึกษาผลดีผลเสียอย่างถ่องแท้แล้วจึงมาดำเนินการ เมื่อนำมาดำเนินการแล้วเกิดแรงต้านคัดค้านกว้างขวางทั่วประเทศก็ยังดันทุรังเดินหน้า ไม่คิดจะทบทวนยอมรับผิด แนวคิด P4P ที่สำคัญคือต้อง win win win กล่าวคือ ผู้ป่วยได้ วิชาชีพสุขภาพได้ และองค์กรก็ได้ประโยชน์ แต่กรณีกลับตรงกันข้าม ไม่มีใครได้ มีผลเสียมากกว่าผลดี และที่สำคัญ สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขผลักดันนั้นไม่ใช่ P4P แต่เป็น workpoint ซึ่งไม่สามารถนำมาทดแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายได้ คนละหลักการกัน แต่กระทรวงนำมาปะปนกันจนเลอะเทอะ และหากมีการนำ P4P มาใช้ในโรงพยาบาลชุมชน ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในชนบทจะรุนแรงขึ้น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะได้รับความเสียหาย เป็นการทำลายระบบสุขภาพที่สำคัญยิ่งโดยเฉพาะในเขตชนบท
 
3.เมื่อเกิดแรงค้าน อารยะขัดขืนจากโรงพยาบาลชุมชนเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ แทนที่ รมต.ประดิษฐจะตรวจสอบนโยบายตนเอง ตรวจสอบแนวปฏิบัติในนโยบายที่มีปัญหามากมาย ทำหน้าที่หาทางออก สร้างการมีส่วนร่วม ชวนผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยอย่างเป็นมิตรอย่างพี่อย่างน้อง (ไม่ใช่อย่างเจ้านายลูกน้อง) รมต.ประดิษฐ กลับทำในสิ่งที่ตรงข้ามคือ สั่งการให้มีการจัดเวทีชี้แจง P4P ทั่วประเทศแบบชี้แจงฝ่ายเดียว เสี้ยมหรือส่งสัญญาณให้เกิดการชนกันระหว่างโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กับโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่แย่มาก ทั้งๆที่ชมรมแพทย์ชนบทก็พูดไว้ชัดเจนแล้วว่า ข้อเสนอคือหนึ่งกระทรวงสองระบบ รพศ./รพท.ก็ทำ P4P ไป ส่วน รพช.ขอกลับไปใช้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเหมือนเดิม แต่ รมต.ประดิษฐ ปลัดณรงค์ และรองปลัดสุพรรณ กลับจงใจเจตนาทำให้เกิดการเข้าใจผิดและผิดใจกันระหว่าง รพศ./รพท.กับ โรงพยาบาลชุมชน ทำให้ระบบส่งต่อผู้ป่วยที่เดิมเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมีปัญหาและความแตกแยกมากขึ้น ผู้ป่วยคือคนที่รับเคราะห์กรรม
 
4.กรณีองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จสูงยิ่ง ในปี 2550 ที่คุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล เข้ามาเป็นผู้อำนวยการนั้นมียอดขายปีละ 5,449 ล้านบาท และเพิ่มปีละนับพันล้านจนปี 2554 เพิ่มขึ้นมาเป็น 11,455 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าในเวลาเพียง 5 ปี การที่บอร์ดสั่งปลดคุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล ซึ่งเป็นคนดี มีประสิทธิภาพนั้นสะท้อนชัดเจนว่าองค์กรเภสัชกรรมกำลังโดนแทรกแซง เพราะผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมคือคุณหมอวิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นคนเก่งบริหารที่ซื่อตรงและไม่สยบยอมต่อคนคด ปฏิบัติการจึงเริ่มด้วยการที่รัฐมนตรีประดิษฐสั่งตรงให้ นายกมล บันไดเพชร เลขานุการ รมว.สาธารณสุข แจ้งความส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) เพื่อสอบสวนข้อมูลโรงงานวัคซีนสร้างล่าช้าและวัตถุดิบยาพาราเซตามอล เพื่อดิสเครดิตคุณหมอวิทิต และหาเหตุปลดให้ได้ การปลดคุณหมอวิทิตอย่างไม่เป็นธรรม คือฟางเส้นท้ายๆที่สะท้อนความไม่มีธรรมาภิบาลของ รมต.ประดิษฐ
 
5.กรณี สปสช. ได้ถูกแทรกแซง โดย รมต.ประดิษฐมีการบังคับให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เป็นผู้ขอตั้งรองเลขาธิการเพิ่มเองอีก 2 ตำแหน่ง เพื่อเอาคนขอตนเข้าไปเสียบ เพราะเดิมรองเลขาธิการที่มีอยู่แล้วทั้ง 3 ตำแหน่งนั้นการเมืองสั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้ เมื่อบีบจนหมอวินัยหน้าเขียวจนยอมทำตามที่การเมืองขอ รมต.ประดิษฐก็ส่งคนของตนเข้ามา เป็นรองเลขาธิการ 2 คน แต่งตัวคอยท่า รอเวลาขึ้นตำแหน่งเลขาธิการในอนาคต รองเลขาธิการใหม่หนึ่งในสองคนชื่อ นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ อดีต สส.พรรคไทยรักไทยนั่นเอง ที่แต่งตัวรอท่าจะได้ทำหน้าที่เลขาธิการ สปสช.คนต่อไป
 
6.การจัดซื้อเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดกว่า 80,000 เครื่อง แจก อสม.เพื่อให้ไปคัดกรองเบาหวานนั้น ก็มีกลิ่นผิดปกติ ส่อทุจริตหลายประการ ทั้งในเรื่องของการจัดซื้อเครื่องซึ่งมีราคาแพง แทนที่จะจัดซื้อแถบตรวจน้ำตาลแล้วแถมเครื่อง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ทำโดยทั่วไปและได้แถบในราคาที่ถูกกว่า อีกทั้งจำนวนเครื่องที่มีเป้าหมายจัดซื้อ 80,000 เครื่องก็เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมาก ทั้งๆที่ความจริงอาจจัดซื้อเพิ่มเพียง 8,000 เครื่องก็อาจจะเพียงพอต่อการคัดกรองตามโครงการและตามหลักวิชาการ
 
รัฐมนตรีประดิษฐเป็นรัฐมนตรีที่ได้รับการต่อต้านมากที่สุดในประวัติศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข ความแตกแยกในกระทรวงจะเพิ่มขึ้นหาก รมต.ประดิษฐยังอยู่ ความไร้ประสิทธิภาพจากการสั่งการบังคับบัญชาไม่ได้จะเกิดขึ้นต่อไปจากวิกฤตศรัทธาต่อผู้นำองค์กร วันนี้น่าจะสามารถกล่าวอย่างเต็มปากว่า “30 บาทรักษาทุกโรค ทักษิณสร้าง ประดิษฐทำลาย” ขอให้นายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการเดินต่อไปข้างหน้าได้ของระบบสุขภาพไทย
 
 
สงบศึกชั่วคราว ให้เยียวยา รพ.กระทบจาก P4P
 
ในวันเดียวกัน ไทยโพสต์รายงานผลการการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแพทย์ชนบท หลังจากเคยมีการเจรจารอบแรกเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ในวันนี้ (6 มิ.ย.56) จึงมีการเจาจาอีกครั้งว่า ในช่วงเช้ายังไม่สามารถตกลงกันได้ จนนายสุรนันท์ต้องสั่งหยุดพักการเจรจา ให้แต่ละฝ่ายรับประทานอาหารกลางวันพร้อมพูดคุยในวงเล็ก ก่อนจะมาแถลงข้อสรุปในเวลา 14.00 น. รวมใช้เวลาพูดคุยกว่า 4 ชั่วโมง
 
นายสุรนันทน์แถลงว่า ดีใจที่มีการคุยกัน ซึ่งคงไม่จบในวันเดียว เพราะไม่ได้แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่มีเรื่องศักดิ์ศรีอยู่ด้วย ส่วนรายละเอียดอื่นขอให้ไปคุยนอกรอบ เวทีนี้ยังเปิดอยู่หากจำเป็นก็ยินดีเปิดเวทีให้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้ นพ.ประดิษฐต้องไปทำงานต่อโดยคณะทำงานหรือคณะกรรมการแล้วมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนมาคุยกันด้วยบรรยากาศแบบนี้ และมีการกำหนดระยะเวลา ซึ่งนายกฯ ไม่อยากให้ใช้เวลานาน ซึ่งอะไรที่เยียวยา ชดเชย ทาง รมว.สธ.จะไปดำเนินและมีการรายงานให้ ครม.รับทราบในการประชุมสัปดาห์หน้า
 
นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ข้อสรุปจากการเจรจาในวันนี้จะมีการเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งทุกเห็นฝ่ายด้วยกับความสำคัญในการดึงบุคลากรให้อยู่ในชนบท ผ่านมาตรการสำคัญคือด้านการเงิน เพื่อลดความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำรายได้บุคลากรทางการแพทย์ โดยในการทำ P4P เป็นเรื่องที่ต้องมีบริบทการทำงานของแต่ในละพื้นที่ ในระดับสถานพยาบาลที่แตกต่างกัน
 
นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า ได้พูดแต่ต้นแล้วว่าการทำ P4P ต้องมีกติกากลางเพื่อให้แต่ละหน่วยงานทำร่วมกันได้ จึงมีข้อตกลงกันว่าจะมีการตั้งคณะทำงานประกอบด้วยแพทย์จาก รพ.ทุกระดับ สัดส่วนแพทย์ชนบทอาจมากหน่อย มาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และระหว่างให้มีการเยียวยา หน่วยบริการที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการและที่ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบ P4P หวังว่าต่อจากนี้จะคุยกันด้วยเหตุผลพัฒนา P4P ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ โดยไม่มีทิฐิ
 
 
เผยตั้ง ดร.คณิต แสงสุพรรณ เป็นประธานออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทนใหม่
 
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ประเด็นหลักคือเรื่องแรงจูงใจให้แพทย์ยังทำงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน โดยยึดหลักการในระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนฉบับที่ 4 และฉบับที่ 6 และใช้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2556 ให้มีการเยียวยาความเสียหายย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่จะสามารถออกระเบียบฉบับใหม่ในวันที่ 1 ต.ค.2556 ตามที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยตัวแทนโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน โดยมี ดร.คณิต แสงสุพรรณ ประธานอนุกรรมการการเงินการคลัง สปสช. เป็นประธานคณะ ทั้งนี้ ในส่วนของรายระเบียบการจ่ายเงินที่จะออกใหม่นั้นต้องเหมือนกับฉบับที่ 4 และ 6
 
“เรื่องระเบียบ P4P นั้น ทาง สธ.เข้าใจว่าเกิดจากความไม่พร้อมของโรงพยาบาล จึงได้สั่งให้ชะลอการบังคับใช้ ส่วนจะนำการจะนำกลับมาใช้ได้นั้นก็อยู่ที่ว่า สธ.จะมีวิธีการทำให้โรงพยาบาลชุมชนใช้ในวันที่ 1 ต.ค. ได้อย่างไร ส่วนจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อหรือไม่นั้นขอดูมติ ครม.ในวันอังคารหน้าก่อนว่าจะเป็นอย่างไร ถ้า ดร.คณิตมีความจริงใจ รัฐบาลไม่หักหลังเรา ก็จะยุติการเคลื่อนไหว” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
 
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่าใน ส่วนข้อเรียกร้องให้ปลด นพ.ประดิษฐออกจากตำแหน่งนั้นได้ยื่นข้อเสนอให้กับนายกฯ ไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่ดุลพินิจของนายกฯ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการเจรจาสิ้นสุดลงพร้อมกับแถลงมติการเจรจาเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ทั้งฝ่ายเครือข่ายผู้บริหาร สธ. และฝ่ายเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ต่างล้อมวงของตัวเองเพื่อปรึกษาหารือกันต่อ โดยในฝั่งของเครือข่ายฯ เกิดความไม่เข้าใจในมติที่ออกมา ซึ่ง นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า เป็นการคุยกันเนื่องจากยังมีความไม่เข้าใจในบางคำพูดเท่านั้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กะเหรี่ยง-อุทยาน ประชุมร่วมแก้ปัญหาคนกับป่า วันสิ่งแวดล้อมโลก

$
0
0

ปมขัดแย้งกะเหรี่ยงบ้านห้วยกระทิงกับอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ ‘สุรพงษ์’ เสนอตั้งกรรมการร่วมอุทยานแห่งชาติ-ฝ่ายปกครอง-ท้องถิ่น-นักวิชาการ พิสูจน์พื้นที่พิพาทพร้อมกำหนดขอบเขตการใช้ที่ดิน ด้านนายอำเภอรับเป็นตัวกลางถกทางออก

 
วันที่ 7 มิ.ย.56 - ชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยกระทิง อ.แม่ระมาด จ.ตากกว่า 500 คน ร่วมกันปลูกป่าเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย.56 และจัดประชุมร่วมกับอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ โดยมีนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพยากรและสิทธิเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง กระทรวงวัฒนธรรม และนายนรภัทร ปลอดทอง นายอำเภอแม่ระมาด เพื่อร่วมหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงบ้านห้วยกระทิงกับอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ
 
สืบเนื่องจากในช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติขุนพะวอ ได้จับกุมชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยกระทิงหลายครั้ง จนทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน จนชาวบ้านกะเหรี่ยงหวาดระวงไม่กล้าออกนอกพื้นที่ไปทำกิน หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยร่วมกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุ และชาวบ้านห้วยกระทิงจัดประชุมเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
 
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐมีแนวนโยบาย และหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค.53 ซึ่งส่งเสริมให้ชาวกะเหรี่ยงได้อยู่ร่วมกับป่าเพื่อรักษาทรัพยากรป่าไม้ โดยให้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ที่พิพาทที่มุ่งเน้นการส่งเสริมแนวทางการจัดการความขัดแข้งในเชิงสร้างสรรค์
 
ดังนั้น จึงเสนอให้มีการตั้งกรรมการร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติ อำเภอแม่ระมาด อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้าน และนักวิชาการ เพื่อพิสูจน์ว่าที่พิพาทเป็นที่ทำกินดั้งเดิมหรือหรือพื้นที่บุกรุกใหม่ ตลอดจนร่วมกันกำหนดขอบเขตการใช้ที่ดินโดยไม่มุ่งเน้นการทำพืชเชิงเดี่ยว แต่ส่งเสริมเกษตรพอเพียงหรือเกษตรทางเลือก ที่ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงตลอดจนการสนับสนุนการทำ ไร่หมุนเวียนที่รักษาป่า
 
ด้านนายนรภัทร กล่าวว่า ทางอำเภอยินดีเป็นตัวกลางที่จะช่วยให้เกิดการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยกำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องนำข้อมูลที่มีมาตกลงกันในรายละเอียดใน วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่ทำการกำนัน ต.พระธาตุ จ.ตาก ซึ่งทางอำเภอมีโครงการที่จะสนับสนุนอาชีพที่ไม่กระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ เช่นการทำไม้กวาดดอกหญ้า หรือปลูกพืชที่กลมกลืนกับผืนป่าต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สตช.ยันไม่ได้สั่งห้ามขายหน้ากากขาว ด้านกลุ่มหน้ากากเคลื่อนจี้รัฐปลด ‘ปลอดประสพ’

$
0
0

สตช. เตือนอย่าหลงเชื่อ มีขบวนการบิดเบือนข่าวในโลกออนไลน์ ชี้ มีความผิดอาญา - พ.ร.บ.คอมฯ ด้านกลุ่มหน้ากากขาว ใช้เพจเฟซบุ๊ก V For Thiland นัดหมายชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้ชื่อ ‘ยุทธการดอกไม้จะบานทั่วประเทศไทย’

สตช.ยันไม่ได้สั่งห้ามขายหน้ากากขาว
 
6 มิ.ย.56 - INNรายงานว่า พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยถึง กรณีที่มีประชาชนไปโพสต์ข้อความในสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่า สตช.สั่งห้ามขายหน้ากากขาว หรือ หน้ากากกาย ฟอว์กส์ (Guy Fawkes) โดยหากมีการซื้อขายจะถูกจับดำเนินคดีนั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง สตช.ไม่เคยมีคำสั่งเช่นนี้ออกมา ทั้งนี้ ถือเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของบุคคล เพียงแต่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น
 
ขณะเดียวกัน โฆษก สตช.ยังฝากเตือนไปยังประชาชนบางกลุ่มที่มีพฤติกรรมนำข้อมูลของ สตช.ไปบิดเบือนความจริง และเผยแพร่ออกทางสังคมออนไลน์ให้ประชาชนรับทราบอย่างไม่ถูกต้อง ให้หยุดการกระทำดังกล่าว เพราะไม่เพียงแต่จะมีความผิดกฎหมายอาญาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วย โดยขณะนี้ สตช. ได้มอบให้ฝ่ายกฎหมาย และ ปอท.ลงไปตรวจสอบว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายให้ สตช.และเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือไม่ พร้อมกันนี้ ฝากเตือนไปยังประชาชน ให้ตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจนก่อนที่จะหลงเชื่อ
 
 
หน้ากากขาวบุกทำเนียบ จี้รัฐบาลปลด ‘ปลอดประสพ’
 
6 มิ.ย.56 - โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. กลุ่มผู้สวมใส่หน้ากากขาวซึ่งได้มีการนัดหมายกันผ่านเพจเฟซบุ๊ก V For Thilandเริ่มทยอยมาชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปลดนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง และขอให้ปลดทุกตำแหน่งที่รับผิดชอบอยู่ในปัจจุบัน เพราะไม่ให้เกียรติประชาชนจากกรณีปราศรัยใช้คำรุนแรงกับภาคประชาชนที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแสดงความจริงใจต่อประชาชน
 
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมยังระบุคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบันด้วย
 
ทั้งนี้ ในเพจเฟซบุ๊ก V For Thilandได้มีการนัดหมายกิจกรรมชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้ชื่อ "ยุทธการดอกไม้จะบานทั่วประเทศไทย" อย่างต่อเนื่อง
 
ภาพจาก: V For Thiland
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัว 'หน่วยรบไซเบอร์' โพสต์รัวๆ 1.69 ล้านข้อความเทิดทูนฯ ภายใน 4 เดือน

$
0
0

ฉก.ทหารพรานที่ 45 โพสต์คลิปสรุปผลงาน 'เทินทูนสถาบัน' ระบุสนองนโยบาย 'เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทบ.' ทำหน้าที่สอดส่อง-โพสต์ตอบโต้เว็บหมิ่น ระบุ 4 เดือนโพสต์แล้ว 1.69 ล้านข้อความ ปัญหาคือเมื่อโพสต์ไปนานๆ จะโพสต์ไม่ติด และถูกบล็อก พบหลายหน่วยงานกองทัพทำหน้าที่คล้ายกัน

ภาพจากเว็บไซต์ของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 (ฉก.ทพ. 45) แสดงคลิป "สรุปผลการดำเนินงานเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทบ.ภ.๔ ประเภทเทิดทูนสถาบัน" โดยคลิปดังกล่าวซึ่งมีความยาวประมาณ 6 นาที ระบุว่าเป็นการบรรยายผลการปฏิบัติงาน "การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค" ของหน่วยขึ้นตรง (นขต.) ของกรมทหารพรานที่ 45 (ทพ.45)

 

คลิป "สรุปผลการดำเนินงานเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทบ.ภ.๔ ประเภทเทิดทูนสถาบัน" ของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 (ฉก.ทพ. 45)

 

ภาพจากคลิป "สรุปผลการดำเนินงานเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทบ.ภ.๔ ประเภทเทิดทูนสถาบัน" ของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 (ฉก.ทพ. 45) แสดงผลการดำเนินงาน "การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค" โดยในคลิประบุด้วยว่าภายในระยะเวลา 4 เดือน ระหว่างมิถุนายน ถึง กันยายน 2555 สามารถโพสต์ข้อความเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไปแล้ว 1.69 ล้านข้อความ

 

ตัวอย่างการโพสต์ข้อความข้อนามแฝง "ฉก.ทพ.45" ในเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมาในกระดานสนทนา BKK.in.th

 

การโพสต์ข้อความในลักษณะคล้ายกัน โดยหน่วยงานกองทัพอื่นๆ เช่นกระดานข่าวของ "กรมทหารพรานที่ 48: ร่วมตอบโต้การหมิ่นสถาบัน" มีการตั้งกระทู้เพื่อโพสต์ข้อความเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และตอบโต้การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 จนถึงปัจจุบัน (7 มิ.ย. 56)

 

การแบ่งหมวดหมู่ของเว็บบอร์ด http://webboard.sanook.com/ในส่วนของหมวด "ชุมชนสนุก!"ซึ่งมีห้องย่อย "ร่วมเทิดไท้องค์ราชันย์" เป็นหนึ่งในห้องย่อย โดยปัจจุบัน (7 มิ.ย. 56) มีจำนวนกระทู้ทั้งสิ้น 3,492 กระทู้ มีข้อความทั้งสิ้น 279,860 ข้อความ เมื่อเปิดเข้าไปดูจะมีข้อความถวายพระพร พระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท โดยผู้โพสต์หากไม่ใช้นามแฝง ก็จะใช้ชื่อย่อของหน่วยงานทางทหาร โดยห้องย่อยดังกล่าวมีข้อความมากรองจากห้องย่อย "สนุก!ซุบซิบ" ซึ่งมี 1,057,527 ความคิดเห็น และ "ผู้ใหญ่วัยทำงาน" ที่มีข้อความ 487,673 ข้อความ

 

(7 มิ.ย. 56) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเว็บไซต์ของ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 (ฉก.ทพ. 45) ซึ่งขึ้นตรงกับกองทัพภาคที่ 4 มีที่ตั้งหน่วยอยู่ที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ได้มีการโพสต์วิดีโอคลิปหัวข้อ "สรุปผลการดำเนินงานเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทบ.ภ.๔ ประเภทเทิดทูนสถาบัน" ซึ่งเป็นคลิปที่อัพโหลดไว้ในเว็บไซต์ YouTube มีผู้ใช้นามว่า aekfocuslansaka ซึ่งโพสต์เอาไว้ตั้งแต่ตุลาคมปี 2555 ใต้คลิปเขียนคำบรรยายว่า "สรุปผลการดำเนินงานเครือข่ายผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทบ.ภ.๔ ประเภทเทิดทูนสถาบันโดยกรมทหารพรานที่ ๔๕"

โดยคลิปดังกล่าวซึ่งมีความยาวประมาณ 6 นาที เป็นการบรรยายผลการปฏิบัติงาน "การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค" ของหน่วยขึ้นตรง (นขต.) ของกรมทหารพรานที่ 45 (ทพ.45) โดยมีเสียงบรรยายว่า

"ด้วยปณิธานที่แน่วแน่ เพื่อจะเป็นข้าราชการที่ดีของพระองค์ท่าน จึงนำมาซึ่งการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยการโพสต์ข้อความและตอบโต้ข้อความ รวมถึงเว็บไซต์ที่ดูหมิ่นสถาบัน ตามที่ ผบ.ทบ. ได้กรุณาอนุมัติให้จัดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทบ. เพื่อส่งเสริมและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เฝ้าตรวจสอบเว็บไซต์และกระดานสนทนาที่มีเนื้อหาพาดพิง หมิ่นเหม่สถาบัน และเข้าแสดงการเทิดทูนสถาบัน ตลอดจนตอบโต้ และด้อยค่ากลุ่มต่อต้าน"

ในคลิปดังกล่าวระบุโครงสร้างการดำเนินงานว่า มี พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล ผบ.กรมทหารพรานที่ 45 เป็นผู้มอบนโยบายและสั่งการ ขณะที่มีฝ่ายยุทธการของ ฉก.ทพ.45 เป็นผู้สนับสนุนในการจัดเตรียมข้อมูล กำหนดเป้าหมายยอดการโพสต์ กระตุ้นการปฏิบัติ ค้นหาเว็บไซต์เทิดทูนสถาบันและเว็บไซต์ที่หมิ่นเหม่ หรือพาดพิงสถาบัน

ขณะที่ส่วนปฏิบัติการ ประกอบด้วยกองร้อยหน่วยขึ้นตรง (นขต.) ของกรมทหารพรานที่ 45 และกองร้อยทหารพรานหญิงในหน่วย โดยกำหนดให้ผู้ปฏิบัติการ "โพสต์ให้ได้ตามเป้าที่กำหนดหรือมากกว่า" และเมื่อมีอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาให้ทราบ

ทั้งนี้ในคลิปดังกล่าวระบุว่าหน่วยได้เริ่มปฏิบัติงานมาตั้งแต่พฤษภาคม 2553 และในระหว่างเดือนมิถุนายน 2555 - กันยายน 2555 ได้โพสต์ข้อความรวมทั้งสิ้น 1,699,038 ข้อความ หรือวันละ 13,927 ข้อความต่อวัน ผู้บรรยายในคลิปยังอ้างด้วยว่าได้ทำให้กองทัพภาคที่ 4 เป็นกองทัพภาคที่โพสต์ข้อความแสดงความจงรักภักดีมากที่สุดเมื่อเทียบกับกองทัพภาคอื่นๆ

ผู้บรรยายในคลิปกล่าวด้วยว่า ที่หน่วย ทพ.45 ประสบความสำเร็จเนื่องจากมี Unit School หรือการอบรมความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้กำลังพล มีการกำหนดเป้าหมายยอดการโพสต์ นอกจากนี้สนับสนุนข้อมูล จัดทำข้อความ จัดหาข้อความสำหรับโพสต์โดยฝ่ายอำนาจการ ที่สำคัญมีการมอบรางวัลให้กำลังพลที่ปฏิบัติงานดีเด่น โดยมีการพากำลังพลไปทัศนศึกษาที่ประเทศมาเลเซียด้วย

ในท้ายคลิป มีการสรุปอุปสรรคที่เกิดขึ้นจาก "การปฏิบัติ" ซึ่งพบว่า "เว็บไซต์ที่เปิดให้มีการโพสต์ข้อความถวายพระพร เมื่อมีการโพสต์ข้อความในแต่ละวันของหลายๆ หน่วย พร้อมกัน เป็นจำนวนมาก เป็นระยะติดต่อกันไม่เกิน 1 เดือน จะพบปัญหา" โดยในคลิประบุไว้ 3 เรื่อง โดยบรรยายว่า"1. โพสต์ข้อความไม่เข้า หรือที่เรียกว่า Error 2. มีการปิดกั้นไม่ให้โพสต์ข้อความ หรือที่เรียกว่าถูกบล็อก 3. ข้อความเต็มความจุ ทำให้ผู้ให้บริการระงับการใช้ชั่วคราว หรือที่เรียกว่า เว็บแตก"

ในคลิประบุวิธีแก้ปัญหาของหน่วยว่า จะใช้วิธีนำเว็บไซต์สำรอง หรือจัดหาเว็บไซต์ตามช่องทางต่างๆ ให้กับหน่วยขึ้นตรงไปโพสต์แทนเว็บเดิม และจัดทำเว็บไซต์สำหรับโพสต์ข้อความเองได้แก่ เว็บไซต์ของกองร้อยทหารพรานที่ 4503 และ 4513

"ด้วยความจงรักภักดีที่แน่วแน่ของพวกเราชาวกองทัพภาคที่ 4 โดยกรมทหารพรานที่ 45 ขอเป็นส่วนหนึ่งของการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และสนองปณิธานของท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ว่า ผมจะนำพากองทัพภาคที่ 4 ให้ไปยืนอยู่ในแนวหน้าของกองทัพบกสืบไป" คำบรรยายท้ายคลิประบุ

นอกจากคลิปบรรยายผลการปฏิบัติงานของ ฉก.ทพ.45 ดังกล่าวแล้ว ยังพบการโพสต์ข้อความในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยใช้ชื่อผู้โพสต์เป็นชื่อหน่วยงานในกองทัพหน่วยอื่น เช่นกระดานข่าวในเว็บบอร์ด BKK1.in.th มีการตั้งกระทู้ "กรมทหารพรานที่ 48: ร่วมตอบโต้การหมิ่นสถาบัน" เพื่อโพสต์ข้อความเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และตอบโต้การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 และมีการโพสต์ข้อความทุกวัน จนถึงปัจจุบัน (7 มิ.ย. 56)

นอกจากนี้ใน YouTube ยังมีคลิปที่โพสต์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชื่อคลิปว่า "สอนเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์" โดยผู้ใช้นามว่า Kampanart Somklar เนื้อหาเป็นการสอนกำลังพลให้โพสต์ภาพเทิดทูนสถาบันลงในโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง facebook พร้อม Tag ผู้ใช้ facebook ด้วย โดยหลังการโพสต์แล้ว ในคลิปตั้งแต่นาทีที่ 6 จะมีการสอนให้ทำการคัดลอก URL ข้อความ พร้อมพิมพ์ชื่อผู้โพสต์ และจำนวนที่ถูกแท็ก เพื่อรายงานส่ง "ศูนย์กรรมวิธีข้อมูล" โดยในคลิปดังกล่าวบรรยายว่าเพื่อเป็นการ "ส่งยอด" ไปยังจังหวัดทหารบก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อสำรวจในเว็บไซต์ที่มีกระดานสนทนาสำหรับแสดงความคิดเห็นจะพบว่า เว็บไซต์หลายแห่งจะสร้างหมวดหมู่ย่อย เพื่อรวบรวมข้อความเทินทูนสถาบันที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แยกออกมาจากหมวดหมู่อื่นๆ อย่างเช่น เว็บไซต์ Sanook.com ซึ่ง truehits.net ระบุว่ามีผู้เข้าชมวันละ 9.35 แสน IP นั้น ในเว็บบอร์ดหมวด "ชุมชนสนุก!" ได้สร้างห้องย่อย "ร่วมเทิดไท้องค์ราชันย์" แยกออกมาจากประเด็นสนทนาของห้องย่อยอื่นๆ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการโพสต์ข้อความในทำนองนี้โดยเฉพาะ

โดยปัจจุบัน (7 มิ.ย. 56) ห้องย่อยดังกล่าว มีจำนวนกระทู้ทั้งสิ้น 3,492 กระทู้ มีข้อความทั้งสิ้น 279,860 ข้อความ เมื่อเปิดเข้าไปดูจะมีข้อความถวายพระพร พระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท โดยผู้โพสต์หากไม่ใช้นามแฝง ก็จะใช้ชื่อย่อของหน่วยงานทางทหาร โดยห้องย่อยดังกล่าวมีจำนวนข้อความมากรองจากห้องย่อยอื่นๆ "สนุก!ซุบซิบ ซึ่งมี 1,057,527 ความคิดเห็น และ "ผู้ใหญ่วัยทำงาน" ที่มีข้อความ 487,673 ข้อความ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ระดมพลหน้าศาลากลางอุบลฯ ปกป้อง มติ ครม.แก้ปมเขื่อนปากมูล

$
0
0

ชาวบ้านกรณีเขื่อนปากมูลประกาศระดมพลชุมนุมหน้าศาลากลางอุบลฯ ปกป้อง มติ ครม.-MOU รัฐบาล จวกพ่อเมืองอุบลฯ ไม่ยอมรับแนวทางนโยบายของฝ่ายการเมือง เรียกประชุมด่วนชาวบ้าน ทั้งที่ผ่านมาเป็นตัวถ่วงการแก้ปัญหา

 
 
 
7 มิ.ย.56 เวลา 10.00 น.ชาวบ้านปากมูนนัดหมายรวมตัวเคลื่อนขบวนไปชุมนุมยังศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อปฏิบัติการปกป้อง มติ ครม.เมื่อวันที่ 28 พ.ค.56 เรื่องการแก้ปัญหาผลกระทบเขื่อนปากมูลร่วมกับรัฐบาล รวมทั้งบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.56 ที่เห็นชอบร่วมกันในการแต่งตั้งกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลขึ้นใหม่ จนถึงที่สุด

จากกรณี เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดอุบลราชธานี ได้ประสานงานทางโทรศัพท์ถึงแกนนำผู้เดือดร้อนจากเขื่อนปากมูลว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีขอเชิญไปร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ในเวลา 13.30 น.
 
ชาวบ้านปากมูน ตั้งคำถามต่อการดำเนินการของผู้ว่าฯ ในครั้งนี้ว่า มีข้อน่าสงสัยหลายประการ คือ 1.ขณะนี้ รัฐบาลได้มี มติ ครม.เมื่อวันที่ 28 พ.ค.56 เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหา ตามข้อตกลงกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-move แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการระหว่างรัฐบาล กับ P-move ซึ่งเรื่องปากมูล เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ในระดับนโยบาย ผู้ว่าเป็นราชการปฏิบัติการในระดับท้องถิ่น แต่ทำไมจึงดำเนินการโดยไม่รอนโยบายก่อน

2.ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ ไม่เคยดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลเลย ขณะเดียวกันกลับเป็นตัวปัญหาสำคัญ ที่ทำให้การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ไม่มีความคืบหน้า 3.การดำเนินการของ ผู้ว่าฯ ดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการแข็งข้อของกลไกราชการ และระบบราชการที่ล้าหลัง ที่ไม่ยอมรับแนวทางของนโยบายของฝ่ายการเมือง ซึ่งหากปล่อยไว้ ย่อมจะเป็นอุปสรรค ต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และ 4.พฤติกรรมของผู้ว่าฯ ได้สะท้อนให้เห็นว่า ราชการไม่ยอมรับ MOU ที่รัฐบาลทำไว้กับ P-move
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อเสนอเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ : สารพัดปัญหาที่ต้องแก้

$
0
0

ข้อเสนอในการเจรจาระหว่างเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ กับ ผู้แทนนายกรัฐมนตรี

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และ นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ
วันที่ 4 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ และ วันที่ 6 มิถุนายน 2556ณ ทำเนียบรัฐบาล

 

หลักการสำคัญ

การเจรจาครั้งนี้ เป็นการเจรจาระหว่างเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ สหภาพองค์การเภสัชกรรม และ เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน กับ ผู้แทนนายกรัฐมนตรีฯ ไม่ใช่การเจรจา กับ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ และคณะ

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทยโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

 
  ต้องไม่ใช้ระบบร่วมจ่าย (Co-Payment) และยกเลิกการเก็บ 30 บาทในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

1. การจัดหา(ซื้อ)บริการสาธารณสุขให้เป็นหน้าที่ของ สปสช.เท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่จัดบริการให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การดึงอำนาจการจัดสรรงบประมาณของ สปสช.มายังเขตบริการของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการถอยหลังเข้าคลองและผิดหลักการ ต้องยกเลิก

2. ต้องยุติการแทรกแซงการบริหารของ สปสช. เน้นหลักการแยกบทบาทผู้จัดหา(ซื้อ)บริการ กับผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นหลักธรรมาภิบาลที่ดี ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องมีความเป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุข และ ต้องยุติความพยายามในการแทรกแซงการทำงานของสปสช.

3. ให้คืนความเป็นธรรมและเยียวยาแก่ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล โดยเร็ว

4. ให้ตัดต้นตอของปัญหาคือ ให้นายกรัฐมนตรีสั่งให้นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทันที

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทยโดยสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม

 

1. รัฐบาลต้องไม่แปรรูปองค์การเภสัชกรรม ต้องคงสถานภาพรัฐวิสาหกิจไว้ตามเดิม และจะต้องทำหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมเพิ่มเติมจากที่ได้ทำมาแล้ว

2. ให้ยุติการใช้เงินสะสมขององค์การเภสัชกรรมโดยมิชอบ เช่น การสั่งการให้ใช้เงิน 4,000 ล้านบาทสร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข

3. ให้ยุติการใช้เงินตามโครงการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐโดยมิชอบ เช่น กรณีสั่งจ่ายเงิน 75 ล้านให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

4. ให้เร่งรัดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมดำเนินคดีกับ กลุ่มต่างๆ ที่ให้ร้าย บิดเบือนองค์การเภสัชกรรม เช่น กรณีวัตถุดิบยาพาราเซตามอล และการสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก

5. ให้คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดปัจจุบันลาออกทั้งคณะ

6. ให้ตัดต้นตอของปัญหา คือ ให้ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขทันที

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทยโดยเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน

 

1. คงระเบียบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 และ 6 ไว้ตามเดิม

2. ปรับปรุงระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นดังนี้

2.1 ตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนจากทุกวิชาชีพที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในการพัฒนาเบี้ยเลี้ยง รวมถึงกลุ่มงานบริหาร (Back Office)

2.2 ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน

3. ตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนจากทุกภาคส่วนในการพิจารณาทบทวนกำหนดพื้นที่ใหม่ทั้งหมดโดยเร็ว

4. ให้ยกเลิกการบังคับทำ P4P ในรพ.ชุมชน

5. ให้ตัดต้นตอของปัญหา คือ ให้ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทันที

 
 

อรรถาธิบาย

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทยโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

1. ต้องไม่ใช้ระบบร่วมจ่าย (Co-Payment) และยกเลิกการเก็บ ๓๐ บาทในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เหตุผล

1. หลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือ คุ้มครองสิทธิมนุษยชน คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้ระบบเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข โดยการจัดงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษา การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ สำหรับประชาชนทุกคนโดยเฉลี่ยตามจำนวนการเข้ารับการรักษาในแต่ละปี รัฐรับประกันว่าประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาได้โดยเสมอภาคกัน ไม่ถูกกีดกัน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจ

 

2. งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ประชาชนร่วมจ่ายผ่านระบบภาษีมาโดยตลอดนั้น ได้ยืนยันการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบระบบหลักประกันสุขภาพ

 

3. การร่วมจ่ายมีหลักการที่สำคัญคือ การลดการใช้บริการฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น ไม่ใช่แหล่งรายได้ของระบบหลักประกัน โดยที่งานวิชาการที่ผ่านมาทั้งจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ข้อมูลตรงกันว่า ยังไม่มีปรากฏการณ์ในภาพรวมของการใช้บริการเกินจำเป็น เนื่องจากการไม่ต้องร่วมจ่าย

4. งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่ากลุ่มข้าราชการคือกลุ่มที่มีแนวโน้มการใช้บริการเกินจำเป็น และส่งผลต่อการเพิ่มของงบประมาณรัฐในการรักษาพยาบาลเป็นสัดส่วนมากที่สุด ดังนั้นการจะเพิ่มงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย รัฐควรดำเนินการลดค่าใช้จ่ายของภาคข้าราชการ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นระบบเดียว มีหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดการซื้อบริการหน่วยเดียวที่สามารถดูแลประชาชนทุกคนได้

5. ข้อมูลภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนมากกว่าความต้องการมาใช้บริการโดยไม่จำเป็น งานวิจัยพบว่าประชาชนที่มีรายได้น้อย ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการมาโรงพยาบาลเป็นสัดส่วนสูง เช่น หากต้องเดินทางจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด หรือแม้แต่ค่าเหมารถแท๊กซีในเขตเมืองเพื่อ ส่งคนชรา คนป่วยพิการ คนป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต่างมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้รายวันที่ได้รับ จากการรวบรวมข้อมูลครอบครัวที่ต้องส่งคนป่วยไปหาหมอ ญาติต้องหยุดงาน คนป่วยหยุดงาน ส่งผลให้ขาดรายได้โดยเฉพาะคนที่ทำงานรับจ้างรายวัน หรือค้าขายรายวัน เป็นต้น

6. การจำแนกประชาชนเพื่อใช้สิทธิไม่จ่าย 30 บาทสร้างภาระให้สถานพยาบาล การเรียกเก็บเงิน 30 บาทที่จุดบริการ ณ ปัจจุบัน มีข้อยกเว้นบุคคลประเภทต่างๆถึง 21 ประเภท ทำให้ต้องมีการชี้แจงตนเองว่าอยู่ในข้อยกเว้นใด ต้องชี้แจงว่าตนเองยากจนจริง เป็นการเสียเวลา เสียศักดิ์ศรี และเงินที่ได้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการจัดการเพื่อจำแนกประชาชนที่จะใช้หรือไม่ใช้สิทธิ และในความเป็นจริงสถานพยาบาลจำนวนมากเลือกที่จะไม่ดำเนินการในเรื่องนี้

 

5. การจัดหา(ซื้อ)บริการสาธารณสุขให้เป็นหน้าที่ของ สปสช.เท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่จัดบริการให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การดึงอำนาจการจัดสรรงบประมาณของ สปสช.มายังเขตบริการของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการถอยหลังเข้าคลองและผิดหลักการ ต้องยกเลิก

เหตุผล

2.1 เป็นข้อกำหนดในพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ให้มีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่จัดหาบริการให้ประชาชนทุกคนผ่านการกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุน และกำกับควบคุมมาตรฐานการบริการจากหน่วยบริการ และมีกำหนดโครงสร้างระดับเขตและระดับจังหวัดคือ อนุกรรมการหลักประกันสุขภาคระดับเขต และระดับจังหวัด โดยมีทุกภาคส่วนร่วมกำหนดนโยบาย ถือเป็นหลักการสำคัญของการสร้างธรรมาภิบาลของระบบ ได้แก่ การคานอำนาจของผู้จัดหาบริการ และภาคผู้ให้บริการ โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานสปสช.เขต เป็นหน่วยงานอิสระในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้การกำหนดนโยบายของคณะกรรมการฯ และอนุกรรมการฯ

2.2 การโอนอำนาจการตัดสินใจใช้งบประมาณไปที่เขตบริการที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจคือกระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นการดำเนินการที่ขัดกับข้อกำหนดของกฎหมาย จากการสั่งการให้มีการทำข้อตกลงระหว่างสปสช.และเขตบริการ โดยโอนอำนาจการตัดสินใจใช้งบประมาณไปยังเขตบริการสาธารณสุขเป็นสิ่งขัดกับกฎหมาย เพราะอำนาจการตัดสินใจต้องอยู่ที่คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต รวมทั้งเป็นการบริหารที่ผิดหลักธรรมาภิบาล ทำให้เกิดประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนในการบริหารจัดการ ขัดกับหลักการแยกบทบาทระหว่างผู้จัดหา(ซื้อ)บริการ กับผู้ให้บริการ

 

5. ต้องยุติการแทรกแซงการบริหารของ สปสช. เน้นหลักการแยกบทบาทผู้จัดหา(ซื้อ)บริการ กับผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นหลักธรรมาภิบาลที่ดี ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องมีความเป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุข และ ต้องยุติความพยายามในการแทรกแซงการทำงานของสปสช.

เหตุผล

3.1. การที่กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้การบริหารระบบหลักประกันสุขภาพในรูปของคณะกรรมการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานฯ มิใช่ การให้อำนาจต่อประธานโดยลำพัง มิใช่การใช้อำนาจแทรกแซงการตัดสินใจของคณะกรรมการโดยเฉพาะคณะกรรมการที่มาจากส่วนราชการต่างๆ การบริหารจะทำเหมือนกับการบริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจเต็มในการสั่งการมิได้

3.2. มีความชัดเจนของรูปธรรมที่สำคัญที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขพยายามเข้ามาแทกแซงการทำงานของสปสช. ดังปรากฎเห็นได้ชัดตามสื่อต่างๆ เช่น การส่งคนที่จะสั่งการได้เข้ามาเป็นผู้บริหารสปสช.แทนการสนับสนุนคนในที่มีความสามารถขึ้นมาทำหน้าที่รองเลขาธิการสปสช., การสั่งการให้มีการสร้างสำนักงาน สปสช. ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งอยู่ในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวา ๒๕๕๐ ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งถือเป็นการใช้พื้นที่ของระบบราชการอยู่แล้ว และความพยายามในการข่มขู่การทำงานของผู้บริหารที่ไม่ยอมก้มหัวให้ฝ่ายการเมือง เป็นต้น ซึ่งเป็นการใช้อำนาจกดดันผ่านการทำงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

4. ให้คืนความเป็นธรรมและเยียวยาแก่ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล โดยเร็ว

เหตุผล

4.1. กระบวนการสอบสวนความผิดของ นพ.วิทิต ผิดขั้นตอน ทั้งการดำเนินการสอบสวนภายในองค์การเภสัชกรรม และของดีเอสไอ เป็นการดำเนินการที่เร่งรีบ เร่งรัด ไม่ได้มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม ถือเป็นการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส สร้างความคลางแคลงใจต่อภาคประชาชน

4.2. มีการปลดนพ.วิทิต โดยไม่มีข้อมูลหลักฐานแสดงความผิดที่ชัดเจนที่แสดงถึงความบกพร่องของการทำงานของนพ.วิทิต จากผลการสอบสวน ของคณะกรรมการสอบสวนภายใน รวมถึงผลการสอบสวนของ ดีเอสไอ ตามที่นายประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ไปแจ้งต่อดีเอสไอ ดังนั้น การดำเนินการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นการกดดันผ่านคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ที่รับคำสั่งให้ดำเนินการโดยไม่มีหลักฐานยืนยันความผิดชัดเจน ดังจะเห็นได้จากในการประชุมคณะรัฐมนตรี มีผู้เสนอให้เป็นประเด็น “วาระเพื่อทราบ” แทน “วาระเพื่อพิจารณา” เพราะเกรงกลัวการฟ้องร้องกลับของ นพ.วิทิต

 

5. ให้ตัดต้นตอของปัญหาคือ ให้นายกรัฐมนตรีสั่งให้นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทันที

เหตุผล เนื่องจากปัญหาทั้ง 4 ข้อที่เสนอมา นายประดิษฐ สินธวณรงค์ ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทยโดยสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม

 

1. รัฐบาลต้องไม่แปรรูปองค์การเภสัชกรรม ต้องคงสถานภาพรัฐวิสาหกิจไว้ตามเดิม และจะต้องทำหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมเพิ่มเติมจากที่ได้ทำมาแล้ว

เหตุผล ดูเอกสารแนบ เรื่อง เหตุผลที่องค์การเภสัชกรรมต้องธำรงสถานภาพรัฐวิสาหกิจ

2. ให้ยุติการใช้เงินสะสมขององค์การเภสัชกรรมโดยมิชอบ เช่น การสั่งการให้ใช้เงิน 4,000 ล้านบาทสร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข

เหตุผลเงินสะสมขององค์การเภสัชกรรม ต้องมุ่งใช้เพื่อการพัฒนาความเข้มแข็งของระบบยาของประเทศ ตามภารกิจที่กำหนดใน พรบ. องค์การเภสัชกรรม จะนำไปใช้เพื่อการอื่นมิได้ กรณีจะนำไปสร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข ไม่น่าเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้จริง โดยเฉพาะกรณีที่ตัวตั้งตัวตีเรื่องนี้คือผู้ที่เคยบริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (Thailand Center for Excellence in Life Science หรือ TCELS) ซึ่งล้มเหลวมาแล้ว

3. ให้ยุติการใช้เงินตามโครงการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐโดยมิชอบ เช่น กรณีสั่งจ่ายเงิน 75 ล้านให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เหตุผลเงินดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาหน่วยงานที่เป็นลูกค้าองค์การเภสัชกรรม ต้องไม่นำไปเพื่อ “แจกจ่าย” กันในหมู่ผู้มีอำนาจ

4. ให้เร่งรัดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมดำเนินคดีกับ กลุ่มต่างๆ ที่ให้ร้ายบิดเบือนองค์การเภสัชกรรม เช่น กรณีวัตถุดิบยาพาราเซตามอล และการสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ / ไข้หวัดนก

เหตุผลผู้ที่ออกมาให้ข่าวในลักษณะ “ให้ร้าย” ทำให้องค์การเภสัชกรรมเสียหาย ได้แก่ นายประดิษฐ สินธวณรงค์, นายกมล บันไดเพชร, นายธาริต เพ็งดิษฐ์, นายธานินทร์ เปรมปรีด์ และ สถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมมีหน้าที่ต้องปกป้ององค์การเภสัชกรรม โดยต้องพิจารณา มีมติและมอบให้ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมไปแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว ดังที่คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดก่อนหน้าเคยมีมมติให้ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมไปแจ้งความดำเนินคดีกับยูเอสเอฟอร์อินโนเวชั่น (USA for Innovation) ที่ซื้อสื่อโฆษณาทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษ และใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ โจมตีว่ายาจีพีโอเวียร์ขององค์การเภสัชกรรมคุณภาพต่ำ ทำให้มีเชื้อดื้อยาสูงที่สุดในโลก ซึ่งไม่เป็นความจริง การแจ้งความดำเนินคดีครั้งนั้น ทำให้การโจมตีให้ร้ายของยูเอสเอฟอร์อินโนเวชั่น ยุติทันที

5. ให้คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดปัจจุบันลาออกทั้งคณะ

เหตุผลคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดนี้ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่ปกป้ององค์การเภสัชกรรม ยอมให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงทำความเสียหายให้แก่องค์การเภสัชกรรมอย่างร้ายแรง

6. ให้ตัดต้นตอของปัญหา คือ ให้ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขทันที

เหตุผล

นายประดิษฐ์ สินธวณรงค์ มีพฤติกรรมมุ่งร้ายต่อองค์การเภสัชกรรม ใช้อำนาจแทรกแซงการดำเนินงาน และสร้างความเสียหายให้แก่องค์การเภสัชกรรมอย่างร้ายแรง ดังนี้

1) มุ่งปลดผู้บริหารโดยไม่เป็นธรรม และใช้วิธีการที่มิชอบ แทนที่จะส่งให้ชี้แจงหรือตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามอำนาจหน้าที่มาตรา 21 แห่ง พรบ.องค์การเภสัชกรรม กลับส่งเรื่องให้ดีเอสไอเข้าไปสอบ โดยไม่มีเหตุผลสมควร

2) ออกข่าวทำให้ อภ. เสียหายหลายกรรมหลายวาระ ทั้งกรณียาพาราเซตามอล โรงงานวัคซีน โรงงานยาเอดส์ ยาหัวใจโคลพิโดเกรล และยาไข้หวัดใหญ่ / ไข้หวัดนก (ดูสมุดปกขาว 2 เล่ม)

3) มีพฤติกรรมบีบบังคับเอาเงินสนับสนุนภาครัฐขององค์การเภสัชกรรม 75 ล้าน ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว

4) มุ่งทำลายองค์การเภสัชกรรมโดยการจะเอาเงินสะสมไปสร้างศูนย์ความเป็นเลิศในกระทรวงสาธารณสุข

5) แทรกแซง สั่งการคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมอย่างต่อเนื่อง

6) มุ่งทำลายรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างองค์การเภสัชกรรม โดยเตรียมการแปรรูป อย่างเป็นขั้นตอน

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทยโดยเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน

 

สืบเนื่องจากจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขได้นำระบบการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P มาใช้แทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามมติ ครม.วันที่ 26, 31 มีนาคม 2556 และมีการคัดค้านแสดงอารยะขัดขืนอย่างกว้างขวางในทุกจังหวัด เพราะนโยบายดังกล่าวมีข้อเสียอย่างมากต่อระบบสุขภาพและโรงพยาบาลชุมชน ที่สำคัญคือจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของโรงพยาบาลให้ติดหล่มอยู่ในวัฒนธรรมการนับแต้ม การทำงานแลกเงิน การใส่ใจแต่ตัวเลขเชิงปริมาณ ทำลายอุดมการณ์และอุดมคติในการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ เป็นการนำวัฒนธรรมระบบการแพทย์พาณิชย์เข้ามาทำลายวัฒนธรรมการทำงานเพื่อประชาชนเพื่อผู้ป่วยด้วยจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพ ดังจะเห็นได้ว่า การคัดค้านขยายตัวจากเฉพาะกลุ่มเฉพาะวิชาชีพไปเป็นการปฏิเสธนโยบายของทุกวิชาชีพทั้งโรงพยาบาล และขยายไปสู่การแสดงออกหน้าทำเนียบรัฐบาลและหน้ากระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งทุกเวทีชี้แจงที่กระทรวงสาธารณสุขเดินสาย

เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน จึงขอประกาศจุดยืนและข้อเสนอต่อกรณีนโยบาย P4P ของกระทรวงสาธารณสุขดังนี้

 

1. คงระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 และ 6 ไว้ตามเดิม

เหตุผลเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเป็นมาตรการลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพในชนบท และมีการออกประกาศฉบับที่ 4,6 ตามมติ ครม.ดังกล่าวในปี 2551 ในสมัยที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนับเป็นมาตรการที่สำคัญยิ่งมาตรการเดียวที่มีอยู่ของประเทศไทยในการคงให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกวิชาชีพจูงใจในการทำงานในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สามารถสร้างขวัญกำลังใจ เพิ่มจำนวนผู้ปฏิบัติงานในชนบทให้มากขึ้น และทำให้คุณภาพดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคของรัฐบาล ที่จะมีคุณภาพได้ ประชาชนเข้าถึงบริการได้ ต้องมีบุคลากรวิชาชีพสุขภาพมากพอในระดับโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งเบี้ยเลี้ยเหมาจ่ายตามประกาศฉบับ 4,6 ตอบโจทย์นี้ จึงไม่ควรยกเลิก แต่กลับควรพัฒนาให้ดีขึ้นมากขึ้นด้วยซ้ำ

 

2. การปรับปรุงระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

เหตุผลสำหรับประกาศฉบับที่ 4, 6 ที่เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชนขอให้นำกลับมาใช้เช่นเดิมทั้งฉบับนั้น ขอให้คงอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของแพทย์ ทันตแพทย์ ในอัตราเดิม และคงกลุ่มบุคลากรที่มีอายุงานเกิน 21 ปีไว้เช่นเดิมด้วย โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมดังนี้

- ชมรมแพทย์ชนบทขอให้มีการปรับลดความแตกต่างของค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายระหว่างวิชาชีพ โดยเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับวิชาชีพเภสัชกร พยาบาล และวิชาชีพสุขภาพอื่นๆ รวมทั้งวิชาชีพสาย back office หรือสายบริหาร ทั้งที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้ได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในอัตราที่สูงขึ้น

- โดยให้มีการตั้งกรรมการจากทุกวิชาชีพเพื่อกำหนดอัตราเพิ่มของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในวิชาชีพอื่นนอกจากแพทย์ ทันตแพทย์ ให้ได้รับในที่เหมาะสมต่อไป แม้ว่าจะเป็นภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้น แต่ก็คุ้มค่ากับการสนับสนุนให้บุคลากรคงอยู่ดูแลสุขภาพของคนชนบท

- สนับสนุนงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่เงินบำรุงของสถานบริการ เงินบำรุงนั้นๆจะได้นำไปใช้ในการพัฒนาสถานบริการและเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาลเพื่อผู้ป่วยต่อไป

3. ตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนจากทุกภาคส่วนในการกำหนดระดับพื้นที่

เหตุผลการนิยามพื้นที่กันดาร ปกติ เขตเมืองในปัจุบันมีความไม่เหมาะสมกับข้อเท็จจริงหลายประการ ดังนั้นสำหรับการจัดแบ่งระดับพื้นที่เป็นพื้นที่ประเภทต่างๆ ขอให้กลับไปใช้การประกาศเขตพื้นที่เดิม ก่อนที่จะมีมติ ครม.วันที่ 31 มีนาคม 2556 และหากจะมีการเปลี่ยนการจัดแบ่งระดับพื้นที่ใหม่ ให้ตั้งกรรมการที่มีส่วนร่วมหลายภาคส่วนมากำหนดแทนการกำหนดฝ่ายเดียวจากสำนักนโยบายและแผนของกระทรวงสาธารณสุข

 

4. ให้ยกเลิกการนำนโยบาย P4P มาใช้ในรพ.ชุมชนอย่างไม่มีเงื่อนไข

เหตุผลขอให้ทางรัฐบาลยกเลิกมติ ครม.วันที่ 26 และ 31 มีนาคม 2556 ที่เป็นที่มาขอการบังคับให้โรงพยาบาลในทุกระดับใช้ P4P  โดยในส่วนของโรงพยาบาลชุมชนนั้น ขอยืนยันที่จะไม่ทำ P4P ในทุกกรณี ไม่แม้แต่การทำโดยสมัครใจ เพราะมีโทษอย่างมากต่อระบบสุขภาพมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ และขอให้คณะรัฐมนตรีออกมติ ครม.ใหม่ ให้สอดคล้องกับการใช้ระบบการจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามประกาศฉบับ 4, 6 เช่นเดิมโดยไม่มีการทำ P4P ในโรงพยาบาลชุมชน ส่วนการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปนั้น จะเป็นระบบ P4P หรือไม่นั้นตามแต่ความประสงค์ของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

 

5. ให้ตัดต้นตอของปัญหา คือ ให้ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขทันที

เหตุผลความแยกแยกในกระทรวงสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดจากการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด แต่นายประดิษฐ สินธวณรงค์ ก็ยังดื้อรั้นดันทุรังเดินหน้า โดยไม่มีการฟังเสียงที่เห็นต่าง ไม่รับรู้ต่อปัญหาอุปสรรคและผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งๆที่การคัดค้านนั้นกระจายทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีการส่งสัญญาณให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงต้องสนับสนุนนโยบายที่ผิดพลาดโดยไม่สามารถสะท้อนความจริงได้ ความแตกแยกและความหมดศรัทธาของบุคลากรสุขภาพทุกระดับต่อการนำของนายประดิษฐ ทำให้นายประดิษฐควรต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขโดยทันที เพื่อการเดินหน้าต่อไปได้ของกระทรวงสาธารณสุขในการทำหน้าที่ดูแลระบบสาธารณสุขของประเทศต่อไป

 

ทั้งนี้เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน ขอทำความเข้าใจว่า ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนี้ข้างต้น เป็นข้อเสนอที่ต้องไปด้วยกันคือ ไม่มีการพิจารณาแยกข้อ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต้องรับทั้งหมดหรือไม่รับทั้งหมดเท่านั้น (all or none) ไม่อาจแบ่งแยกพิจารณารายข้อได้

 

************************

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน Red Research(1): ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย เสื้อแดงคือใคร?

$
0
0

 

ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ หากกล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึง “คนเสื้อแดง” ด้วยจำนวนอันมหาศาลและการเคลื่อนไหวต่อเนื่องยาวนานตลอดหลายปี

ใบหน้าหยาบกร้านมากมายของคนชนบทและคนจนเมืองในเสื้อสีแดงฉาน นั่งตากแดดตากฝนหน้าเวทีปราศรัย หรือขบวนมอเตอร์ไซด์-รถกระบะที่เคลื่อนขบวนยาวเหยียดพร้อมธงแดงไปในที่ต่างๆ ดูจะเป็นภาพประทับใหญ่ที่สุดสำหรับสังคมและสื่อมวลชน อันที่จริงคนเหล่านี้ถูกตราหน้าว่าเป็นมวลชนที่ใช้เงินซื้อได้ด้วยซ้ำในช่วงแรกๆ ของการเคลื่อนไหว เมื่อเวลาผ่านไปข้อหานี้ก็เริ่มเบาบางลง แต่ยังคงหลงเหลือภาพของความ “โง่ จน เจ็บ” และเพิ่มภาพ “ความรุนแรง” เข้าไปอีกหลังเหตุการณ์ปะทะทหารและควันไฟกลางเมืองเมื่อสามปีก่อน

นอกเหนือไปจากนี้ ดูเหมือน “เรา” ก็ไม่รู้จักอะไรพวกเขามากนัก

คำถามนี้คุกรุ่นอยู่ในวงวิชาการบางส่วน แต่ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 นั้นเองที่เป็นแรงขับสำคัญให้เกิดโครงการวิจัยเพื่อสำรวจ agent ทางการเมืองกลุ่มนี้  คณาจารย์หลากหลายสาขาวิชา หลายสถาบัน ร่วมกันสำรวจในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจากสายมานุษยวิทยา พวกเขาตั้งโจทย์ในการศึกษาการก่อตัวและพลวัตรของคนเสื้อแดงทั้งในพื้นที่อีสาน เหนือ กลาง รวมไปถึงภาคใต้ซึ่งค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะ

 ประชาไทพูดคุยกับทีมวิจัยหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งจะเริ่มต้นเล่าภาพรวมและข้อค้นพบหลักๆ ในงานชิ้นนี้  โดยเฉพาะข้อโต้แย้งกับคำอธิบายหลักทางวิชาการตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ว่าด้วย “สองนครา ประชาธิปไตย”


ยุกติกล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ ชื่อ “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” เริ่มดำเนินการกันหลังเหตุการณ์ พ.ค.53 ไม่นาน โดยตั้งโจทย์เรื่อง “การก่อตัวของชนชั้นใหม่”  เนื่องจากเวลานั้นเสื้อแดงโดนโจมตีมาก แต่ไม่ใครพยายามอธิบาย แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อ เพื่อให้โจทย์กว้างขึ้น ไม่เพียงแต่ตอบคำถามว่าเสื้อแดงคือใคร  เพราะทีมวิจัยพบว่ายังไม่เพียงพอ จึงตั้ง theme ใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

“เราดูว่าคำอธิบายภาพของสังคมตอนนี้ตันอยู่ตรงไหน ก็พบว่าอยู่ที่คำอธิบายของอาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์เรื่องสองนคราประชาธิปไตย ที่บอกว่าคนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล คนกรุงเทพล้มรัฐบาล เราคิดว่า คำอธิบายนี้ไม่เพียงพอ หรือแม้จะมีคำอธิบายอื่นก็ไม่พ้นไปจากสองนคราเท่าไร”  

อย่างไรก็ตาม งานชิ้นนี้ไม่ได้ศึกษาเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ศึกษาคนเสื้อเหลืองด้วย แม้ว่าในหลายปีที่ผ่านมาพลังของเสื้อเหลืองจะลดน้อยลงแล้วก็ตาม ทีมวิจัยก็ยังได้สัมภาษณ์แกนหลักของพรรคการเมืองใหม่ รวมถึงการเก็บข้อมูลกลุ่มคนต่างๆ ด้วย

งานวิจัยชิ้นนี้แบ่งการวิธีการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ คือ

1. ทำ Survey Research เพื่อหาภาพกว้างตามที่ตั้งสมมติฐานไว้

2. ทำ Focus Group สัมภาษณ์คนกลุ่มต่างๆ ที่สุ่มมาจากทั่วประเทศ เพื่อหาภาพรวมเชิงลึกว่าเดิม เพราะได้นำหลายพื้นที่มาเปรียบเทียบกัน

3. ทำวิจัยแบบมานุษยวิทยาเชิงลึกในหมูบ้าน โดยไม่เลือกหมูบ้านที่ประกาศตัวว่าเป็นเสื้อแดง แต่ไปพื้นที่ที่คลุมเครือ

สำหรับรายละเอียดนั้น การ Survey จะแบ่งคำถามเป็นสองชุด ชุดที่หนึ่ง เพื่อหาคำตอบว่า ใครคือคนเสื้อเหลือง ใครคือคนเสื้อแดง โดยให้ผู้ตอบเลือกเองว่าจะเป็นอะไร แล้วดูข้อมูลทางประชากร เช่น อาชีพ รายได้ ที่อยู่อาศัย ชุดที่สองหาคำตอบเรื่องทัศนคติทางการเมือง โดยนำวาทกรรมทางการเมืองที่กลุ่มสีเสื้อต่างๆ พูดถึงมาให้ตอบว่าเห็นด้วยกับข้อความต่างๆ หรือไม่ เช่น ประชาธิปไตยคืออะไร เสียงข้างมาก การเลือกตั้ง ไม่สองมาตรฐาน หรืออื่นๆ ซึ่งก็ได้คำตอบสอดคล้องกับคำถามในเชิงเศรษฐกิจพอสมควร เช่น เรื่องระดับรายได้ คนที่ระบุว่าตัวเองเป็นเสื้อเหลืองจะมีรายได้สูงกว่าเสื้อแดง ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ขณะที่เสื้อแดงก็ไม่ใช่คนจน ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางระดับล่าง  ประกอบอาชีพอิสระเสียมาก ซึ่งหมายถึงไม่มีเงินเดือนประจำ มีความมั่นคงในชีวิตน้อยกว่า

“ที่น่าสนใจก็คือมีคนเกลียดทักษิณมากๆ และรักทักษิณมากๆ อยู่น้อย เพียงร้อยละ 1-2  นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ว่าควรมีบทบาททางการเมืองหรือไม่ ก็มีคนตอบแบบเหวี่ยงออกไปไม่มากเลย เอาเข้าจริงคนสองกลุ่มนี้ก็มีความคิดร่วมกัน อย่างน้อยก็เอาประชาธิปไตยเหมือนกัน เอาการเลือกตั้งเหมือนกัน และไม่มีใครปฏิเสธการมีอยู่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”  

 

เมื่อถามถึงการศึกษาในเชิงมานุษยวิทยาว่า มีข้อค้นพบอะไรเกี่ยวกับคนเสื้อแดงที่น่าสนใจ เขากล่าวว่า เรื่องที่น่าตื่นเต้นคือเรื่อผู้ประกอบการ เพราะแทนที่จะเป็นคนจีนแต่กลับพบว่ามีผู้ประกอบการที่เป็นคนอีสานมากขึ้น เรียกว่า “เจ๊กหายไปแต่ลาวมากขึ้น” เป็นผู้ประกอบการที่เติบโตในท้องถิ่นชนบท ข้อค้นพบนี้บอกว่า การกระจุกตัวของทุนในท้องถิ่นไม่ได้เป็นแบบเดิมอีกต่อไป เพราะมีโครงการทางเศรษฐกิจที่ลงไปในชนบทมากขึ้น คนชนบทก็กู้เงินหมื่นจากธนาคารไปลงทุนทำไร่ได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งนายทุน แต่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเองได้

“พอเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ ก็นำมาซึ่งอิสระทางการเมือง การตัดสินใจทางการเมือง จินตนาการทางการเมืองก็ไม่ได้อยู่แค่ในพื้นที่เล็กๆ อีกต่อไป แต่พวกเขาจะมองอนาคตที่ไกลขึ้น มองภาพของสังคมที่กว้างขึ้น ผลก็คือระบบอุปถัมภ์เบาบางลง”

ระบบอุปถัมภ์เบาบางลง นั่นคือข้อสรุปแรกที่ดูชนกับคำอธิบายหลักของสังคม

เขากล่าวต่อว่า สิ่งที่ตื่นเต้นอย่างต่อมาคือ ภาคการเกษตรไทยก็เป็นหลังให้คนพึ่งอยู่ได้ แต่ไม่ใช่เต็มร้อย เพราะยังมีความเคลื่อนไหวในสังคมสูงมาก คนที่อยู่ในภาคการเกษตรก็มีหลายอาชีพ แม้ไม่ได้เป็นภาคหลักแต่ก็ยังมีชีวิตชีวาอยู่ ถือว่าภาคอุตสาหกรรมและเกษตรก็ไม่ได้แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง

ส่วนสิ่งที่พบจากการทำโฟกัสกรุ๊ปคือ การได้เห็นความตื่นตัวทางการงานเมืองกระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะกับกลุ่มนายทุนน้อย ซึ่งจะมีเวลาติดตามข่าวสารจนเห็นโลกต่างไปจากเกษตรกรที่ไม่มีเวลากับเรื่องนี้ แต่ก็เป็นกลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง หากแต่รับรู้เรื่องราวจากสื่อ

“นั่นหมายความว่าสังคมที่เปลี่ยนไปได้สร้างคนรุ่นใหม่ๆให้พร้อมเข้าสู่การเมืองแล้ว คนจึงรู้จักประชาธิปไตยมากขึ้น รู้จักสิทธิทางการเมืองมากขึ้น ไม่ได้กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นี่เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น และมาจากการกระจายอำนาจทางการเมืองของการเมืองท้องถิ่น ชาวบ้านจะหวงแหนตัวแทนที่ได้เลือกตั้งขึ้นมา นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2540 ยังสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็งขึ้นมา พรรคการเมืองก็มีนโยบายที่ทำให้คนรู้สึกว่าเสียงของเขามีความหมายและมีผลจริง”

อีกคำอธิบายที่สำคัญคือเรื่อง “การซื้อเสียง”

ยุติตอบคำถามนี้ว่า หากมองในระดับใหญ่ การซื้อเสียงในอดีตเป็นเพราะการจำกัดโครงสร้างอำนาจของนักการเมือง การซื้อเสียงเกิดจากระบบอำนาจนิยม ไม่ใช่เพราะนักการเมืองชั่ว ชาวบ้านโง่ เมื่ออำนาจอยู่กับคนแค่บางกลุ่ม ประชาชนก็ไม่มีส่วนกำหนด พรรคการเมืองก็ไม่สามารถขายนโยบายของตัวเองได้ ดังนั้น โครงสร้างการเมืองต่างหากที่ทำให้เกิดการซื้อเสียง

แน่นอนว่าปัจจุบันก็ยังมีการซื้อเสียงอยู่ แต่ถามว่าทำอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้เงินสูญเปล่า ไม่ใช่ซื้อไปแล้วประชาชนไม่เลือก ก่อนอื่นเขาจะดูเครือข่ายว่าใครบ้างจะเลือก ใครไม่เลือกแน่ๆ และใครอาจจะเลือกหรืออาจจะไม่เลือก วิธีการซื้อก็คือ กลุ่มที่เลือกแน่ๆ ก็ให้บ้าง กลุ่มที่ไม่เลือกแน่ๆ ก็อย่าไปเสียงเงินฟรี กลุ่มที่ก้ำกึ่งนี่เองที่จะได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ทั้งนี้คนก็มองการเลือกตั้งแต่ละระดับต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใครมาทำอะไร นักการเมืองระดับ อบต. อบจ. และสส. ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน เรียกว่าจะอาศัยกระแสพรรคเดียวกันมาลงการเมืองท้องถิ่นไม่ได้ง่ายๆ ชาวบ้านไม่ได้หวังการพัฒนาจาก ส.ส. แต่หวังจากนักการเมืองท้องถิ่น



 

เขากล่าวด้วยว่า สำหรับภาคใต้เป็นโจทย์ที่เป็น “ยาขม” ของงานวิจัย คือ เป็นภาคที่คิดว่ามีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง ในขณะที่พรรคอื่นๆ ก่อนไทยรักไทยนั้นไม่เคยเป็น จะพูดว่าประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมาก่อนแล้วก็ได้ อย่างไรก็ตาม ภาคใต้มีสภาพภูมิศาสตร์สองแบบคือ ชายทะเลกับที่ไกลทะเลไปจนถึงอยู่ในเมือง เศรษฐกิจชายทะเลย่ำแย่มากเพราะระบบนิเวศเปลี่ยนจากการทำนากุ้ง ในขณะที่พวกทำสวนยางสวนปาล์มก็แย่ลงด้วย แต่ก็ยังนิยมพรรคประชาธิปัตย์เพราะคิดว่าจะพึ่งได้ นักการเมืองพรรคนี้เองก็มีทั้งคนใต้และคนกรุงเทพ คนใต้ยังให้ความเชื่อมั่นกับ “ชวน หลีกภัย” เพราะนำนายชวนไปโยงกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์และคิดว่า “มั่นคง” ทว่าเมื่อถามก็ตอบไม่ได้ว่าจะได้อะไรจากพรรคประชาธิปัตย์ ฉะนั้นอุดมการณ์จึงมีส่วนสำคัญในภาคใต้

เขาเล่าว่า ข้อค้นพบอีกอย่างที่ได้มาโดยไม่ได้ตั้งใจศึกษาคือ การจัดกลุ่มคน คนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยแต่ไม่ใช่เสื้อแดง มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของเสื้อแดงทั้งหมด คนเลือกเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องบอกว่าตัวเองเป็นเสื้อแดง และอาจไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเสื้อแดง ส่วนคนเสื้อแดงก็ยังเป็นคนละกลุ่มกับ นปช.ก็มาก มีแดงอิสระ แดงวิจารณ์พรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่เป็น นปช.ก็ไม่จำเป็นต้องเป็น นปช.เนื้อเดียวกับในกรุงเทพฯ  

“ขบวนการเสื้อแดงจึงไม่ใช่องค์กรจัดตั้งที่ชัดเจน มีการบังคับบัญชาจากพรรค คนมักจะคิดว่าจัดการทั้งหมดได้แค่ทักษิณกดปุ่มเดียว ข้อพิสูจน์ที่สำคัญก็คือเรื่อง 112 จะเห็นว่ามวลชนเดินคนละทางกับพรรค ต่อมาคือเรื่องสถาบันกษัตริย์ ก็มีคนที่คิดแล้วก็แสดงความคิดเห็นของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องจำเอาคำหรือวาทกรรมของใครมา แต่เรื่องแบบนี้ก็พูดไม่ได้ในงานวิจัย”

หากพูดกันนอกเหนือเนื้อหาที่ปรากฏในงานวิจัย แต่จากการสัมผัสกับชาวบ้านตัวเป็นๆ คำถามหนึ่งท้าทายมากคือมุมมองต่อสถาบันกษัตริย์และข้อหา “แดงล้มเจ้า”

ยุกติตอบว่าเขาไม่พบคนที่มีแนวคิดสุดโต่งในเรื่องนี้ หากสังคมเปิดให้เลือกระหว่างสาธารรัฐกับราชอาณาจักร  พวกเลือกสาธารณรัฐย่อมแพ้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม พบว่ามีคนที่วิพากษ์วิจารณ์บทบาทสถาบันกษัตริย์ แต่ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันระดับหนึ่งจึงกล้าพูดกัน และพบว่าคนกลุ่มที่จะมีบทบาทขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเขตเมืองของแต่ละจังหวัด ซึ่งไม่ต่างจากคนที่มีความคิดก้าวหน้าในกรุงเทพ เพราะพูดภาษาเดียวกัน เสพข่าวสารเดียวกับคนกรุงเทพ สื่อก็ถ่ายเทกันไปมาจนแทบไม่มีพรมแดน

สำหรับ “การเมือง” ของผู้วิจัยเองที่หลายคนอาจถูกมองว่า “แดง” และอาจศึกษาโดยมีเป้าหมายสร้างความชอบธรรมให้คนเสื้อแดง

“คำถามนี้ คิดว่าไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง เพราะทีมวิจัยก็วิพากษ์เรื่องนี้กันมากอยู่แล้ว แต่บางคนเอง เดิมทีก็ไม่ได้ชอบคนเสื้อแดง พอหลังพฤษภาคม 2553 จึงหันมาสนใจเสื้อแดงมากขึ้น ในภาพรวมถ้าคนมองว่าเป็นแบบนั้นก็มีส่วน ที่ผ่านมางานอื่นๆ ให้ภาพลบกับคนเสื้อแดงมาก และงานวิจัยนี้ก็มีส่วนที่จะไปปะทะกับงานวิจัยเฉดสีอื่นๆ เหมือนกัน”

สำหรับคำถามที่ว่า การศึกษานี้เป็นการโรแมนติไซด์ชาวบ้านหรือไม่ ยุกติตอบว่า “งานวิจัยทางมานุษยวิทยามีความเป็นไปได้ที่นักวิจัยจะเข้าข้างชาวบ้าน เพราะเราอยากจะพูดแทนเขา แต่ต้องไม่ให้การตีความของนักวิจัยไปทับคำพูดของชาวบ้านมากเกินไป เราจึงพยายามจะให้เขาพูดออกมาจากปากมากที่สุด แต่ชาวบ้านก็พูดหลายแบบ เริ่มแรกจะพูดแบบหนึ่ง เมื่อถามไปเรื่อยๆ ก็จะพูดอีกแบบ เราก็จะต้องพูดถึงสิ่งที่เขาเป็นด้วย จึงไม่ง่ายที่จะบอกว่าเราคล้อยตามเขาตลอด แต่ความสำเร็จของงานก็ต้องขึ้นอยู่กับสังคม ว่ามองงานนี้อย่างไร รับได้หรือไม่ได้ เอียงเกินไปหรือไม่”

ข้อพิสูจน์เล็กๆ ของความไม่โรแมนติกในหมู่คนเสื้อแดงคือการที่ผู้วิจัยก็ยอมรับว่า มีกลุ่มที่มีอิทธิพลที่นิยมใช้ความรุนแรง ปิดกั้นสิทธิ์ของคนอื่น หรือเป็นนักการเมืองแบบฉวยโอกาส ไม่มีอุดมการณ์จริงๆ ในขบวนการเช่นกัน

“แต่ขบวนการในภาพรวมก็ไม่ได้มีทิศทางที่จะเป็นแบบนั้น เพราะหากจะพูดกันจริงๆ สิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ทุกที่ในโลก”

ท้ายที่สุด เขากล่าวว่า สมรภูมิการต่อสู้อันดุเดือดชนิดแทบจะอยู่ร่วมกันไม่ได้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด สังคมนอกกรุงเทพฯ ไม่ได้แตกและแยกมากเท่าในโซเชียลมีเดีย

“การอยู่ร่วมกันไม่เป็นปัญหา ในชนบทคนเป็นญาติกัน กลุ่มต่างๆ มันซ้อนทับกันตลอดเวลา แต่ก็อยู่ด้วยกันได้ เพราะมีกลไกจัดการไม่เหมือนคนในเมือง ความแตกแยกรุนแรงจริงๆ แล้วอาจมีอยู่มากชนชั้นกลางระดับบนในกรุงเทพมากกว่า”

นี่เป็นมุมมองหนึ่งเกี่ยวกับ “คนเสื้อแดง” จากงานวิจัยที่ “แหลม” ในทางการเมืองที่สุดชิ้นหนึ่ง (จนสถานศึกษาที่ให้ทุนไม่ขอเปิดเผยตัว) เป็นงานที่ดำเนินการเก็บข้อมูลมาเกือบ 3 ปี มีการสอบทานระหว่างทางจากนักวิชาการทั้งที่เรียกว่า “เหลือง” และ “แดง” อยู่หลายยก ไม่ว่าใครจะมองเห็นอย่างไร อย่างน้อยๆ ก็นับเป็นการอัพเดทภูมิทัศน์การเมืองไทย ขยายการรับรู้ของเราให้กว้างกว่าภาพที่เห็นในทีวี และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะให้เราได้เถียงกันต่อ

 

ติดตามเรื่องราวของ ภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ในตอนหน้า

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images