Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

โสภณ พรโชคชัย: ผังเมือง กทม. ฉบับเพิ่มโลกร้อนและทำลายสิ่งแวดล้อม

$
0
0

แม้สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร จะพยายามออกแบบผังเมืองให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  แต่เชื่อว่าความพยายามดังกล่าวนอกจากจะไม่บรรลุผลแล้ว ยังจะส่งผลในทางตรงกันข้าม

ในพื้นที่ใจกลางเมือง ผังเมืองกำหนดให้สามารถก่อสร้างได้พื้นที่สูงสุดเพียง 10 เท่าของขนาดที่ดิน ซึ่งมีเพียงบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ก่อสร้างได้ประมาณ 4-8 เท่า ๆ นั้น  หลายแห่งก็ไม่สามารถก่อสร้างที่อยู่อาศัยรวมได้หากถนนหน้าที่ดินกว้างน้อยกว่า 30 เมตร เป็นต้น  ดังนั้นการพัฒนาต่าง ๆ ก็ต้องออกไปสู่นอกเมือง  ก็เท่ากับว่าประชากรต้องเดินทางออกไปนอกเมือง  การเดินทางเช่นนี้ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เวลาในการเดินทาง ความตึงเครียด ฯลฯ ให้เกิดกับบุคคล ครอบครัว และชุมชนโดยรวม

นอกจากนี้การที่ประชากรย้ายออกนอกเมืองไกล ๆ ยังทำให้สาธารณูปโภคต่าง ๆ ต้องขยายออกไป เป็นการสูญเสียทรัพยากรของชาติ สิ้นเปลืองน้ำมันและพลังงานต่าง ๆ  การขยายตัวของเมืองในแนวราบก็ไม่สิ้นสุด ก็เท่ากับความสิ้นเปลืองเกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุดเช่นกัน  การนำเข้าพลังงานจำนวนและมูลค่ามหาศาล ก็จะหลีกเลี่ยงไม่พ้น  และทำให้ประเทศชาติตกอยู่ในความเสี่ยงต่อความมั่นคงที่ไม่อาจพึ่งพาตนเองได้ในด้านพลังงาน

การเดินทางเข้าสู่เมืองมาก ๆ ยิ่งก่อให้เกิดมลภาวะอย่างไม่ต้องสงสัย  เช่นนี้แล้ว ผังเมืองจะช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร จะเร่งสร้างภาวะโลกร้อนจากการเผาผลาญพลังงานอีกต่างหาก  มลภาวะในที่นี้ประกอบด้วยมลภาวะทางอากาศจากการใช้น้ำมัน  นอกจากนี้ยังรวมถึงมลภาวะทางเสียงอีกด้วย  การที่เมืองขยายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพราะผังเมืองไม่ยอมให้ก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานคร ย่อมทำให้เกิดมลภาวะด้านขยะกระจัดกระจายตัวมาก ทำให้ประสิทธิภาพการจัดเก็บต่ำลงไปอีก

ในช่วงที่ผ่านมา ประชากรของกรุงเทพมหานครเองลดลงตามลำดับ  แต่ประชากรในเวลากลางวันกลับเพิ่มขึ้น  เพราะประชาชนต้องเดินทางจากนอกเมืองในพื้นที่ปริมณฑล ที่เสมือนเป็นเมืองพักอาศัย (Bed City) เข้ามาในเมืองมากขึ้น  ถ้าระบบขนส่งมวลชนขยายออกไป ก็จะขยายไม่สิ้นสุด  แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีระบบขนส่งมวลชน อย่างน้อยก็ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า  มลภาวะต่าง ๆ ก็ยิ่งกระจายตัว

พื้นที่สีเขียวในเขตรอบนอกของกรุงเทพมหานครถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ โดยที่กรุงเทพมหานครขาดการวางผังให้มีความหนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowdedness) จึงทำให้พื้นที่บางนา ที่เคยปลูกข้าวได้ดีที่สุดของประเทศไทย สูญหายไปหมด ทำให้พื้นที่ปลูกส้มบางมด พื้นที่ปลูกทุเรียน นนทบุรี หดหายไป  และยังรุกเข้าไปเรือกนาไร่สวนอื่น ๆ ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร นนทบุรี และนครปฐม

การทำลายพื้นที่สีเขียวชานเมืองและนอกเมือง ก็เท่ากับเราส่งเสริมให้เกิดภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น  ในระยะเวลานับสิบปีที่ผ่านมา  เขตชนบทของปริมณฑล ถูกทำลายไปหลายร้อยตารางกิโลเมตร  หรือราว 200,000 ไร่   พื้นที่รับน้ำ พื้นที่แก้มลิง ก็หดหายไปหมด  เมื่อเกิดอุทกภัย ก็ไม่มีโอกาสที่จะแก้ไขอะไรได้  แม้แต่ปัจจุบันฝนตกลงมาพักใหญ่ น้ำก็ท่วมกรุงเทพมหานครแล้ว

มาตรการต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครล้วนไม่ได้ผลในการลดโลกร้อน เป็นเพียงมาตรการปลีกย่อย เช่น การกำหนดให้มีพื้นที่ส่วนโล่งของที่ดินมาก ๆ ถึงราวหนึ่งในสามของพื้นที่ดินทั้งหมด การกำหนดให้มีพื้นที่ที่น้ำซึมผ่านได้ น่าจะเป็นมาตรการกีดกันการพัฒนาในเขตเมืองมากกว่าจะส่งเสริมให้เกิดความหนาแน่นแต่ไม่แออัด   ส่วนมาตรการที่ดูคล้ายการส่งเสริม เช่น การให้โบนัสพัฒนาที่ดินใจกลางเมือง หรือรอบ ๆ สถานีรถไฟฟ้า ก็ได้แค่ "น้ำจิ้ม" "ได้ไม่คุ้มเสีย" ในสายตาของนักพัฒนาที่ดิน  ส่วนมาตรการป้องกันน้ำท่วมอย่างขนานใหญ่และอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ไม่ปรากฏชัดเจนในผังเมืองแต่อย่างใด

การที่ทำให้กรุงเทพมหานครดูโล่งๆ ใจกลางเมืองก็เพื่อให้ลูกหลานเจ้าของที่ดินรายใหญ่ ๆ ที่จะเก็บที่ดินไว้ได้อีกนานเท่านาน เพราะประเทศไทยไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมา "จี้ก้น" ให้ทำการพัฒนาที่ดิน  แต่การทำเช่นนี้ เป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม เพราะการที่มีการไปผุดโครงการนอกเขตกรุงเทพมหานคร ก็แสดงว่าประชาชนเจ้าของกรุงเทพมหานคร ต้องการที่อยู่อาศัย แต่ในเมืองถูกกีดกันไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ก็ต้องไปซื้อบ้านอยู่นอกเมือง  และหากในอนาคตนนทบุรีและสมุทรปราการมีการควบคุมเช่น กรุงเทพมหานคร คนกรุงเทพมหานครคงต้องไปซื้อบ้านไกลถึงฉะเชิงเทรา อยุธยา สุพรรณบุรีหรืออำเภอรอบนอก ๆ ของนครปฐม

การซุกปัญหาอยู่ใต้พรมเช่นนี้เป็นการขาดความรับผิดชอบในฐานะนักวิชาชีพ  อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การขีดเอาพื้นที่ของชาวบ้านในเขตรอบนอก เป็นพื้นที่สีเขียว จำกัดการพัฒนาที่ดินของพวกเขา  ก็เป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบเช่นกัน  ถ้าจะกีดกันไม่ให้เจ้าของที่ดินพัฒนา ปล่อยให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือเขียว ๆ ไว้ ก็ควรเวนคืน หรือจ่ายค่าทดแทนการเสียสิทธิ แทนการใช้อำนาจบาตรใหญ่ตามกฎหมายผังเมืองอย่างขาดความรับผิดชอบ เพราะพวกเขาไม่สามารถพัฒนาที่ดินได้ แต่หากข้ามไปฝั่งจังหวัดปริมณฑล กลับสามารถพัฒนาได้เต็มที่เพราะไม่ได้มีข้อห้ามไว้

ช่วยกันคิดใหม่เดี๋ยวนี้ เพื่อผังเมืองที่ดีของประชาชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.เห็นชอบปรับระบบอินเทอร์เน็ตเป็น IPv6 เพื่อรองรับ 3จี 4จี

$
0
0

ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการของกระทรวงไอซีที ในการวางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเวอร์ชั่น 6 (IPv6) แทนระบบเดิม เพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือระบบ 3จี, 4จี

4 มิ.ย.56 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน IPv6 (Internet Protocol version 6) เพื่อดำเนินการวางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเวอร์ชั่น 6 ในประเทศไทย แทนระบบ IPv4 ที่มีอยู่เดิมตามข้อเสนอของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ทั้งนี้ เนื่องจาก IPv4 ซึ่งมีหมายเลขรหัสการใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 4,000 ล้านหมายเลขนั้น เป็นระบบที่ใช้มานานและหมายเลขกำลังจะหมดลง ขณะที่ IPv6 มีจำนวนหมายเลขรหัสหรือ IP ซึ่งเป็นชุดตัวเลขสัญลักษณ์ที่ใช้ในการอ้างอิงเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เครือข่ายต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตมากถึง 340 ล้านล้านล้านล้านหมายเลข

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากวางระบบ IPv6 แล้วเสร็จ จะสามารถรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือในระบบ 3จี, 4จี ได้อย่างไม่มีปัญหา และสามารถรองรับแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ การเข้าสู่ IPv6 จึงถือเป็นการปรับปรุงอินเทอร์เน็ตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ตั้งแต่เริ่มใช้งานระบบอินเทอร์เน็ต โดยมีเป้าหมายระยะสั้น 3 ปี (2556-2558) ในการให้หน่วยงานภาครัฐระดับกรมขึ้นไป มีการเชื่อมต่อสู่อินเทอร์เน็ตที่รองรับ IPv6 ภายในเดือนธันวาคม 2558

ส่วนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายทั้งในระบบใช้สายและไร้สาย จะเปิดให้บริการเชื่อมต่อและใช้งาน IPv6 ได้ภายในธันวาคม 2557 โดยจะมีโครงข่ายสถาบันการศึกษาของรัฐทุกระดับสามารถใช้งาน IPv6 ได้อย่างน้อย 10,000 แห่ง ภายในเดือนธันวาคม 2558

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กู้เงินในประเทศวงเงิน 5,848 ล้านบาท เพื่อลงทุนในแผนงานระยะยาว เช่น แผนงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระยะที่ 3 วงเงินดำเนินการ 5,686.96 ล้านบาท ใช้เงินกู้ในประเทศ 4,265 ล้านบาท เป็นเป็นรายได้จาก กฟภ. 1,421.96 ล้านบาท, แผนงานบำรุงรักษาอุปกรณ์ในสถานีไฟฟ้า และการวางเครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง เพื่อรองรับการใช้อินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมมากขึ้น

ที่มา สำนักข่าวไทย (1), (2)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกฯ สั่ง ‘คลัง’ ตามข้อมูลใกล้ชิด หลังมูดี้ส์เผยจำนำข้าวขาดทุน 2 แสนล้าน

$
0
0

นายกรัฐมนตรีสั่งกระทรวงการคลังติดตามข้อมูลการวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด หลังมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส รายงานตัวเลขขาดทุนโครงการจำนำข้าวกว่า 200,000 ล้านบาท มอบกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง จัดเวทีสัญจรชี้แจงเกษตรกรทั่วประเทศ

4 มิ.ย.56 ในการประชุม ครม.วันนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าว รวมผลการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริง หลังมีกระแสข่าวสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส รายงานตัวเลขการขาดทุนกว่า 200,000 ล้านบาทของโครงการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2554/2555 โดยระบุว่าอาจกระทบความเชื่อมั่นต่อการบริหารนโยบายเศรษฐกิจประเทศ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้ให้กระทรวงการคลังติดตามข้อมูลการวิเคราะห์อย่างใกล้ชิดและพร้อมส่งข้อมูลข้อเท็จจริงต่อมูดีส์ ส่วนตัวเลขการขาดทุน รัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่าเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยยังไม่ได้รับรายงานตัวเลขที่ชัดเจนจากกระทรวงพาณิชย์ จึงต้องให้มีการตรวจสอบข้อมูลก่อน

ทางด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีคำสั่งด่วนให้กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบข้อมูลหลังจากกระทรวงการคลังรายงานและจัดทำข้อมูลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล โดยระบุว่าขาดทุนสะสมมากกว่า 2 แสน 6 หมื่นล้านบาท จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจัดส่งข้อมูลดังกล่าวมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำมาตรวจสอบและเปรียบเทียบข้อมูล โดยคาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะมีความชัดเจนได้ในระดับหนึ่ง

นายณัฐวุฒิกล่าวด้วยว่า การเปิดโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ 7 ต.ค.2554 จนถึงขณะนี้ สามารถคืนเงินให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) แล้วจำนวน 1 แสน 4 หมื่นล้านบาท และยังมีข้าวในสต๊อกของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งเจรจาขายข้าว จึงยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่โครงการรับจำนำข้าวจะขาดทุนสูงถึง 2 แสน 6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลยังอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังร่วมกันจัดโครงการรับจำนำข้าวสัญจรตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจให้กับเกษตรกร โดยจะเริ่มที่พิษณุโลกเป็นจังหวัดแรก

ที่มา กรมประชาสัมพันธ์, สำนักข่าวไทย (1), (2)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีมูฟเผยยังมีการฟ้องชาวนาข้อหาบุกรุก - แม้ทำ MOU กับรัฐบาลแล้ว

$
0
0

ขปส.ระบุแม้จะมีข้อตกลงร่วมกับรัฐบาล 5 ข้อ แต่ในพื้นที่ยังคงมีการดำเนินคดีชาวนาที่เชียงใหม่ 9 ราย ในข้อหาบุกรุก โดยจะต้องขึ้นศาล 2 ก.ค. นี้

ผู้ชุมนุม "ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)" เมื่อ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ตามที่ผู้ชุมนุมกลุ่ม "ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)" หรือพีมูฟ ซึ่งเดินทางมาชุมนุมเพื่อเจรจากับรัฐบาลเป็นเวลา 18 วัน ก่อนที่จะมีข้อตกลงร่วม หรือ MOU กับรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และได้เดินทางกลับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. นั้น

ล่าสุด ขปส. ได้เผยแพร่จดหมายระบุว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายศาลจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งมายังนายดิเรก กองเงิน กับพวกรวม 9 คน เพื่อให้ไปขึ้นศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 2 ก.ค. นี้ ในข้อหาบุกรุกที่ดิน 13 แปลงของนางนางจินตนา บุญวานิช เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2546 โดยนายดิเรกถูกฟ้องทั้งหมด 4 ข้อหา ได้แก่  1. ร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ 2. ร่วมกันบุกรุกเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์และเคหสถานของผู้อื่นในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ 3. ร่วมกันยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขตแห่งอหังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือเอาอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม และ 4. ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์

ขปส. ระบุว่า นายดิเรก กองเงินกับพวก เป็นชาวบ้านไร้ที่ดิน ซึ่งกำลังจะได้รับการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาล ภายใต้โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ ซึ่งรัฐบาลได้มี มติ ครม. เห็นชอบ ให้ดำเนินการแล้ว เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการ แต่ก็ยังมีหมายศาล มาเป็นอุปสรรคระหว่างการดำเนินงานอยู่

อนึ่ง MOU ที่ทำระหว่าง ขปส. กับรัฐบาลนั้น เป็นข้อตกลงว่ารัฐบาลจะดำเนินการในเรื่องต่าง 5 เรื่อง ดังนี้ 1.เร่งรัดเสนอเรื่องโฉนดชุมชน และเขื่อนปากมูล ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันอังคารที่ 28 พ.ค.56 2.เร่งรัดคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการนโยบายเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิต และแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล รวมทั้งคณะอนุกรรมการอื่นๆ ให้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ พิจารณาในวันที่ 28 พ.ค.56

3.คุ้มครองพื้นที่ที่กำลังดำเนินการแก้ปัญหา โดยให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน 4.ให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จัดประชุมคณะกรรมการอย่างน้อย 3 เดือน/ครั้ง และคณะอนุกรรมการกับคณะทำงานจัดประชุมอย่างน้อย 2 เดือน/ครั้ง และ 5.แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่มีตัวแทนพีมูฟร่วมเป็นกรรมการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘วันชัย’ ผู้ต้องขังคดี 112 ได้รับอภัยโทษ – คุมตัวต่อ ตม.รอส่งกลับสิงคโปร์

$
0
0

วันชัย แซ่ตัน 1 ใน 3 ผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ ที่ขอพระราชทานอภัยโทษ ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษแล้ว แต่ยังถูกคุมตัวต่อที่ ตม.สวนพูล ก่อนส่งกลับสิงคโปร์


ภาพจาก ไอลอว์
 

4 มิ.ย.56 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  เวลาประมาณ 14.15 น. นายวันชัย แซ่ตัน สัญชาติสิงคโปร์ซึ่งถูกคุมขังจากความผิดตามมาตรา 112 ได้รับการอภัยโทษและปล่อยตัว หลังจากอยู่ในเรือนจำมากว่า 4 ปี  โดยมีภรรยาและเพื่อน รวมทั้งสุดา รังกุพันธุ์ จากกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลคอยรอให้กำลังใจ และทางกลุ่มปฏิญญาได้มอบเงินให้ 3,000 บาท จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ดุสิต เจ้าของคดีได้มารับตัวเขาไปส่งยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทัน ก่อนดำเนินการส่งกลับสิงคโปร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันชัยเป็นหนึ่งในนักโทษคดีมาตรา 112 ที่ได้ขอพระราชทานอภัยโทษ โดยอีก 2 คนที่ได้ดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษไปแล้วเช่นกัน ได้แก่ นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (12 ปีครึ่ง) และ นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือหนุ่ม เรดนนท์ (จำคุก 13 ปี)

ขณะที่ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 รายอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดี ได้แก่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข (จำคุก 10 ปี) อยู่ระหว่างอุทธรณ์, ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล (จำคุก 15 ปี) อยู่ระหว่างอุทธรณ์, นายยุทธภูมิ (สงวนนามสกุล) อยู่ระหว่างพิจารณาคดี นัดสืบพยานเดือนสิงหาคมนี้

ทั้งนี้ วันชัย อายุ 63 ปี เป็นชาวสิงคโปร์ที่อยู่ในประเทศไทยมา 36 ปี พูด อ่าน เขียนภาษาไทยได้ เดิมมีอาชีพมัคคุเทศก์ และมีภรรยาเป็นชาวไทยมีอาชีพค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2552 ในที่ชุมนุมของ นปช.บริเวณทำเนียบรัฐบาลขณะที่กำลังแจกเอกสารให้กับผู้ชุมนุม ซึ่งถูกระบุว่ามีเนื้อความเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และถูกคุมขังตั้งแต่นั้นมา นอกจากนี้เขายังถูกฟ้องอีกคดีหนึ่งในข้อหาเดียวกัน จากกรณีนำใบปลิวทางการเมืองไปวางไว้ในบริเวณโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในคดีแรกถูกตัดสินจำคุก 10 ปี ส่วนคดีหลังถูกตัดสินจำคุก 5 ปี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดับ(ลด)ไฟขัดแย้ง : ต้องเริ่มต้นจากการพูดความจริง

$
0
0

สังคมไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ เพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา และสิ่งที่มักจะใช้เป็นตัวชี้วัดขั้นต้นสำหรับการเป็นชาวพุทธที่ดี ก็คือ ตัวชี้วัดการปฏิบัติตนอยู่ในศีลห้าประการคือ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ประพฤติผิดลูกเขาเมียใคร ไม่พูดเท็จพูดโกหก และไม่ดื่มสุรา เครื่องดองของเมาทั้งหลาย บุคคลที่สามารถปฏิบัติตนโดยไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามเหล่านี้ได้ ก็ถือได้ว่าเป็นชาวพุทธที่ดีระดับหนึ่ง

ในเชิงอุดมคติดูเหมือนไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร แต่ในเชิงข้อเท็จจริงกลับพบว่าคนไทยจำนวนมาก ยังไม่ได้ปฏิบัติหรือไม่สามารถปฏิบัติตามศีลห้าประการนี้ได้ ในบรรดาการกระทำฝ่าฝืนศีลห้าประการนี้ การทำผิดศีลข้อสี่ การไม่พูดเท็จพูดโกหก เป็นการกระทำผิดที่เกิดขึ้นมากกว่าข้ออื่นๆ แต่คนไทยก็ไม่รู้สึกว่าเป็นจะเรื่องอันตรายร้ายแรงใดๆ เพราะการพูดโกหกพูดเท็จไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นโดยฉับพลันทันใด และการพูดโกหกหรือพูดเท็จ(รวมถึงการเขียน การโฆษณาสื่อสารเท็จด้วยวิธีการอื่น) เป็นสิ่งที่พบเห็นจนเคยชินกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับคนไทย บ่อยครั้งที่เราพูดโกหกโดยไม่ได้ฉุกคิดหรือตระหนักว่ากำลังพูดเท็จหรือพูดในสิ่งที่ไม่ใช่ความจริง เป็นการพูดการเขียนเท็จโดยไม่ได้เจตนา พูดเท็จเขียนเท็จเพราะไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร พูดหรือเขียนตามที่คนอื่นเขาเล่ามาฟังเขามา เชื่อตามเขาโดยไม่ใช้หลักกาลามสูตรมากลั่นกรอง ถือเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของคนไทย กลายเป็นโกหกมาก็โกหกต่อไป

การโกหกพูดเท็จในลักษณะนี้แพร่หลายมากที่สุดในสื่อสังคมออนไลน์ แต่บ่อยครั้งเหมือนกันที่คนพูดโกหก ก็รู้ตัวดีว่ากำลังพูดหรือกำลังเขียนโกหก แต่กลับคิดว่าการพูดการเขียนเท็จเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เช่นนี้ถือว่าเป็นการโกหกโดยเจตนา มีวัตถุประสงค์ในการโกหก การโกหกในลักษณะนี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับคนที่เป็นคนฉลาด มีความรู้มีการศึกษาดีๆมีอำนาจ ยิ่งฉลาดมากมีความรู้มากก็ยิ่งโกหกพูดเท็จได้แยบยลมากขึ้น

การโกหกโดยเจตนาหรือการตั้งใจโกหก ยังจำแนกย่อยได้เป็นสองกลุ่มคือ คนบางคนพูดโกหกพูดเท็จด้วยเจตนาเชิงบวกหรือเจตนาที่ดี แต่บางคนบางกลุ่มพูดโกหกพูดเท็จด้วยเจตนาเชิงลบ ในกลุ่มคนที่สถาปนาตัวเองว่าเป็นผู้ดีเป็นชนชั้นสูง การพูดโกหกถือเป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติผู้ดี ผู้ดีไม่นิยมพูดจาอะไรแบบตรงไปตรงมา เพราะดูก้าวร้าวไม่น่ารัก แต่นิยมการพูดจาด้วยถ้อยคำที่สวยงาม สละสลวยไพเราะหูคนฟัง สามารถประณามศัตรูด้วยคำชมที่งดงาม หรือในยามที่ต้องการชื่นชมคนพวกนี้ก็สามารถโกหกด้วยการสรรหาคำพูด คำชื่นชมที่เหนือกว่าความเป็นจริงมาสรรเสริญเยินยอกันจนทำให้คนธรรมดาคนหนึ่งกลายเป็นเทวดา เป็นปราชญ์หรือเป็นอรหันต์ไปได้ในพริบตา แต่ในทางกลับกันหากชิงชังคนพวกนี้ก็สามารถพูดโกหกให้คนดีๆ กลายเป็นปีศาจ กลายเป็นคนเลวที่ยากจะหาใครมาเท่าเทียมได้ในพริบตาเช่นกัน

ในวงการทหารการโกหก พูดอย่างทำอย่าง ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์การรบที่ชาญฉลาด เป็นเรื่องลับ ลวง พราง งานถนัดของบรรดาทหารนักรบ เพราะฉะนั้นการสร้างสถานการณ์ที่ไม่จริงใดๆขึ้นมาเพื่อให้ได้เปรียบในการรบการต่อสู้ จึงถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือในวงการเมืองที่เต็มไปด้วยการแข่งขันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง การพูดโกหกพูดเท็จในลักษณะเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น เพื่อให้ฝ่ายตนเป็นผู้ชนะได้อำนาจจึงถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนกัน เราจึงมักจะพบเห็นการพูดโกหกพูดเท็จของคนในวงการเหล่านี้อยู่เสมอ ทั้งในรูปของการพูดในสิ่งที่ตรงข้ามกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง พูดดำให้เป็นขาว พูดขาวให้เป็นดำหรือพูดความจริงเพียงครึ่งๆกลางๆเฉพาะในส่วนที่ตน พวกตนได้ประโยชน์

การพูดโกหกพูดเท็จไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด แม้จะมีคุณประโยชน์อยู่บ้างโดยเฉพาะแก่ผู้พูดหรือผู้ถูกพูดถึง แต่ส่วนใหญ่มักจะก่อผลที่ไม่ดีตามมามากมาย ความชั่วความไม่ดีทั้งหลายมักมีการพูดเท็จพูดโกหกเป็นองค์ประกอบร่วมอยู่ด้วยทั้งสิ้น ถ้ามองถึงความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทย ไม่ต้องมองไกลไปถึงสมัยอยุธยา ธนบุรี หรือต้นรัตนโกสินทร์มองเฉพาะตั้งแต่ยุคตุลา16 จนถึงปัจจุบันจะเห็นว่าการพูดโกหกพูดเท็จโดยเจตนาเพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามที่มีความคิดเห็นต่าง ได้กลายเป็นต้นเหตุหลักอันหนึ่งที่นำไปสู่การรบราฆ่าฟันระหว่างคนไทยด้วยกันเสมอมา

ในยุคตุลา 19 การพูดการเขียนการโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐ จากสื่อมวลชนขวาจัดมาเป็นเวลานาน ให้เห็นว่าลัทธิคอมมิวนิสต์และนักศึกษาประชาชนที่เห็นด้วยกับลัทธินี้เป็นปีศาจ เป็นคนเลว ทำลายชาติ ทำลายศาสนาและทำลายพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่คนไทย ทำให้เกิดการแขวนคอฆ่านักศึกษาอย่างสยดสยองกลางสนามหลวง ท่ามกลางความสะใจของคนไทยจำนวนมากที่ยืนมองฆาตกรรมด้วยความเบิกบานใจ การหลอกหลอนกันด้วยปีศาจคอมมูนิสต์ทำให้คนไทยต้องจับอาวุธสงครามมาฆ่ากันเอง ล้มตายไปจำนวนมาก เสียดายที่ไม่ได้มีการบันทึกจำนวนชัดเจนไว้เป็นหลักฐาน โดยเฉพาะฝ่ายประชาชนที่ถูกเรียกว่า “พวกคอมมิวนิสต์” คงมีจำนวนมากกว่าเพราะอาวุธยุทโธปกรณ์ ความเป็นมืออาชีพในการรบด้อยกว่าฝ่ายทหารอยู่หลายเท่าตัว

มาถึงปัจจุบันความขัดแย้งทางการเมืองยังมีอยู่เหมือนเดิม เป็นความขัดแย้งเดิมๆคือการแย่งชิงการควบคุมอำนาจรัฐ ซึ่งควรจะเป็นการแย่งชิงกันระหว่างพรรคการเมืองสองฝ่าย แต่สังคมไทยกลับกลายเป็นการต่อสู้ของฝ่ายแนวคิดเชิงอนุรักษ์นิยมซึ่งส่วนหนึ่งไม่ได้อยู่ในกลไกการเมืองและพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ กับฝ่ายแนวคิดเสรีตรงข้ามกับพวกอนุรักษ์นิยม จะแตกต่างกันบ้างก็ในแง่ตัวบุคคล คนหลายคนที่แต่ก่อนถูกจัดเป็นพวกฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายนิยมประชาชน วันนี้กลับข้างไปเป็นขุนพลหลักให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยม

หรือในแง่โครงสร้างแต่เดิมมีแต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเท่านั้นที่มีกลไกพรรคการเมือง (ทุกพรรค) ที่ให้สามารถเข้าไปควบคุมอำนาจรัฐเป็นทางการได้ วันนี้ฝ่ายประชาชนก็พลอยมีกลไกพรรคการเมือง ให้สามารถเข้าไปยึดอำนาจรัฐที่เป็นทางการได้เช่นกัน เพราะพรรคการเมืองอย่างพรรคไทยรักไทย(ไม่ว่าต่อมาจะใช้ชื่อพรรคอะไรก็ตาม) ถูกผลักไส ถูกรังเกียจจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่ยอมรับเข้าเป็นพวกและดูเหมือนจะไม่ต้องการให้ได้เป็นรัฐบาลด้วย พรรคนี้จึงต้องกลายเป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาชน(รากหญ้า) แม้ชนะการเลือกตั้งได้อำนาจรัฐมาแล้ว ก็ยังต้องลุ้นความอยู่รอดกันอยู่ตลอดเวลา

ในความขัดแย้งทางการเมืองนี้ การพูดโกหกพูดเท็จยังเป็นเครื่องมือหลักที่จะใช้ทำลายฝ่ายตรงข้าม สร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายตน หลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา การพูดโกหกพูดเท็จในสังคมไทยได้พัฒนาการไปอีกระดับหนึ่ง เมื่อศาลปกครองให้ความคุ้มครองชั่วคราวสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอเอสทีวี ประกอบกับศาลอาญาได้ตัดสินคดีหมิ่นประมาทนักการเมืองโดยเฉพาะนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมด้วยข้อความอันเป็นเท็จหลายคดี ว่าสามารถทำได้เพราะนักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะ นั่นหมายถึงศาลได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ ว่าการพูดการโฆษณาอันเป็นเท็จต่อบุคคลอื่นโดยเฉพาะนักการเมืองผ่านสื่อต่างๆเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ การพูดการโฆษณาด้วยข้อความอันเป็นเท็จจึงมีบทบาทในความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

นักการเมือง นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชนคอลัมนิสต์ที่เลือกข้างชัดเจน ได้ผลิตคำพูดข้อเขียน วาทกรรม บทวิพากษ์ต่างๆที่มีลักษณะเป็นการพูดโกหกพูดเท็จขึ้นมามากมาย แต่ละฝ่ายมีการจัดตั้งหรือให้การสนับสนุนหนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุชุมชน สถานีวิทยุโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เพื่อใช้เป็นช่องทางในการส่งผ่านคำพูดข้อเขียนที่มีลักษณะจริงบ้างเท็จบ้างของฝ่ายตนออกไปโจมตีฝ่ายตรงข้าม และเป็นช่องทางให้ข่าวสารข้อมูล ปลูกฝังความคิด ความเชื่ออุดมการณ์ให้กับมวลชนของตน ให้รู้สึกเกลียดชัง อยากทำลายฝ่ายตรงข้าม เรียกได้ว่ายุคนี้เป็นยุคเฟื่องฟูที่สุดของการพูดเท็จพูดโกหกในสังคมไทย

วันนี้เราพูดเราเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเรื่องไม่จริงเป็นเรื่องโกหกกัน จนคนในสังคมเริ่มไม่รู้ว่าอะไรเป็นเรื่องจริง อะไรเป็นเรื่องไม่จริง ใครพูดจริงหรือใครพูดเท็จ ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ในสื่อสารมวลชนทั้งในหนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์ทั้งฟรีทีวีและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง เพราะเป็นการโกหกทับถมกันจนยากจะแยกแยะได้

ความจริงสำหรับคนไทยวันนี้จึงขึ้นอยู่กลุ่มฝ่ายที่เลือกสังกัด ความจริงสำหรับคนปักษ์ใต้ ก็คือคำพูดหรือข่าวสารที่ได้มาจากนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์อย่างนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต นายเทพไท เสนพงษ์ ความจริงที่ได้จากสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมบลูสกาย เอเอสทีวี หนังสือพิมพ์แนวหน้า ไทยโพสท์ ฯ ตรงกันข้ามความจริงสำหรับคนเสื้อแดง คนภาคอีสานภาคเหนือ กลับเป็นข่าวสารข้อมูลที่ได้จากนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ความจริงวันนี้ที่ได้จากสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดต หรือหนังสือพิมพ์ที่เป็นเครือข่ายของคนเสื้อแดงทั้งหลาย

จึงกล่าวได้ว่าขณะนี้การพูดการเขียนโกหกพูดเท็จที่ กำลังส่งผลกระทบถึงความมั่นคงของชาติ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะความมั่นคงของสถาบันใดสถาบันหนึ่ง แต่หมายความถึงสถาบันชาติที่เป็นองค์รวมทั้งหมด ความแตกแยกในสังคมที่เกิดการพูดเท็จปลุกระดมล้างสมองประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์ ผ่านหนังสือพิมพ์หรือผ่านทางกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ กำลังออกดอกออกผล สังคมไทยมาถึงจุดที่ดูเหมือนคนไทยสองฝ่ายสองสีจะไม่สามารถอยู่รวมกันได้อย่างสงบสุขอีกต่อไป แต่ละฝ่ายมีกระบวนทัศน์(paradigm ) หรือวิธีคิดมุมมองต่อสิ่งต่างๆที่เกิดมาจากความคิด ความเชื่อเชิงอุดมการณ์ เชิงทฤษฎีที่ถูกปลูกฝังจากกลุ่มตน ต่างฝ่ายต่างมองว่าฝ่ายตรงข้ามพวกตน ไม่รักชาติ ขายชาติ ไม่รักสถาบัน อยากขับไล่ผลักไสให้ไปอยู่บ้านอื่นเมืองอื่น รวมไปถึงอยากเห็นความหายนะความสูญเสียของฝ่ายตรงข้าม

พูดง่ายๆก็คือคนไทยสองฝ่ายอยู่ในสภาพที่พร้อมจะรบราฆ่าฟันกันอีกครั้งหนึ่ง ถ้าปล่อยให้พ้นเลยจากจุดนี้ไป เราอาจได้เห็นภาพที่คนไทยสองฝ่ายจับอาวุธสงครามเข้ามาสู้รบกันเอง ทำร้ายทำลายกันเอง จนเลือดนองแผ่นดินอีกครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งก็เป็นได้

หากเราต้องการลดหรือชะลอความขัดแย้งทางการเมืองไม่ให้เลยเถิดไปถึงจุดแตกหักที่กล่าวมา ไม่ต้องการเห็นคนไทยทำร้ายกันเอง ไม่อยากเห็นรัฐบาลใช้กำลังทหาร พร้อมอาวุธสงครามที่สมควรนำไปใช้ในการป้องกันประเทศมาเข่นฆ่าคนไทยด้วยกันกลางเมืองหลวงของประเทศ เหมือนเดือน ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 หรือล่าสุดเดือนพฤษภา 2553 เราคงต้องช่วยกันแก้ไขที่สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นั่นคือ การกลับมาพูดความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมนี้ คนไทยกำลังขัดแย้งกันในเรื่องอะไร เพราะเหตุใดแน่นอนบางคนอาจคิดว่าความจริงบางอย่างคนไทยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรู้ หรือรู้ไปก็ไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น ดีไม่ดีการพูดความจริงอาจจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเหมือนที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์นายกฯยิ่งลักษณ์ไปพูดความจริงที่ประเทศมองโกเลีย

แต่การปล่อยให้ทุกฝ่ายพูดโกหกพูดเท็จกันไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมเพิ่มมากขึ้นและเป็นการขัดแย้งที่ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง เป็นเรื่องที่เถียงกันไปไม่รู้จบสิ้น ยากที่จะแก้ไขเยียวยา ดังนั้นการลดหรือการดับไฟความขัดแย้งในสังคมวันนี้ จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการลดการพูดการโฆษณาสิ่งที่เป็นเท็จทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจให้น้อยลง เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ในส่วนของรัฐบาล การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เกินจริงไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ในการเชิดชูยกย่องรัฐบาลหรือบุคคลใดๆก็ควรให้ลดน้อยลง เพราะอะไรก็ตามที่ทำมากเกินไป คุณค่าแท้จริงก็จะน้อยลงตามหลักธรรมชาติ

พรรคการเมืองนักการเมือง ก็ควรเอาชนะกันด้วยการนำเสนอนโยบายที่ทำได้จริง มากกว่าการเอาชนะคู่ต่อสู้ด้วยการพูดโกหกพูดเท็จทำลายกัน หรือสื่อมวลชนทั้งหลายในฐานะเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสารหลักแก่ประชาชน ก็ควรแสดงความคิดความเห็นที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงให้มากที่สุด หากช่วยกันได้เช่นนี้ความขัดแย้งในสังคมไทยก็จะลดน้อยลงไปได้ โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนต้องเสียเลือดเสียเนื้อ เสียชีวิตไปกับความขัดแย้งที่พวกเขาบางคนไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด.

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวสวนยางพาราอีสาน (1): การทดลองและการจัดการความเสี่ยง

$
0
0
บทความชิ้นที่สองในชุดบทความ พืชเศรษฐกิจกับความเปลี่ยนแปลงของชุมชนอีสาน โดย พฤกษ์ เถาถวิล จะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้น ได้แก่
1.ยางพารา กับการจัดการแรงงาน
2.มันสำปะหลัง กับการจัดการที่ดิน
3.ปาล์มน้ำมัน กับการจัดการเงินทุน
4.ข้าว กับการหวนกลับมาเป็นเกษตรกร
5.สรุป ปัญหาเชิงโครงสร้าง การปรับตัว โอกาส และความเสี่ยงของเกษตรกร

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, ชุมชนชนบทกับการทำเกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,ชุมชนชนบทกับการทำนาปรังในภาคกลางและพืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้
 

ในตอนที่ผ่านมาผู้เขียนได้กล่าวถึงปรากฏการณ์การขยายตัวจากของสวนยางพารา และการที่ยางพาราได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆของภาคอีสาน และได้เสนอว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวถูก “มอง” ด้วยสายตาแตกต่างกัน ที่อาจแบ่งได้เป็น 2 ขั้ว  คือฝ่ายหนึ่งเห็นว่ายางพาราเป็นพืชที่มีอนาคตและเป็นโอกาสอันดีของชาวอีสาน  แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็มองด้วยความวิตกกังวลว่า การทำสวนยางพาราต้องลงทุนสูง และมีความเสี่ยงสูงที่จะนำไปสู่หนี้สิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร    

จากมุมมองของ “คนนอก” ที่กล่าวมา จึงน่าสงสัยว่า แล้วเกษตรกรคิดอย่างไร บทความนี้ผู้เขียนจะทำความเข้าใจการทำสวนยางพาราจากมุมมองของเกษตรกร หรืออาจจะเรียกว่ามุมมองของ “คนใน”  โดยจะหยิบยืมส่วนหนึ่งของบทวิเคราะห์ของ Andrew Walker ในบทความเมื่อไม่นานนี้ของเขา[1]คือการพิจารณาว่าการตัดสินใจของเกษตรกรทางการผลิตเป็นเรื่อง “การทดลอง” (experimental orientation) ดังที่บทความซึ่งศึกษาเกษตรกรในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ในการตัดสินใจเข้าสู่การผลิตพืชแบบพันธะสัญญากับบริษัทการเกษตร  Walker เห็นว่าการเลือกตัดสินใจปลูกพืชของเกษตรกร เป็นเรื่องการทดลอง หมายถึง มันมีฐานมาจากประสบการณ์ในอดีต การประเมินทางเลือกในปัจจุบัน แล้วก็ “ลองทำดู”  และการทำดูก็เป็นไปพร้อมๆกับการต่อรองกับตลาด (เช่นเจ้าที่ดิน พ่อค้าคนกลาง นายทุนเงินกู้ นายหน้าบริษัทส่งเสริมการผลิต)  ภายใต้บรรทัดฐานเชิงคุณค่าในสังคมวัฒนธรรมของพวกเขา

จากแนวคิดเรื่องการทดลอง ผู้เขียนจะนำมาใช้พรรณนาวิเคราะห์ข้อมูลในหมู่บ้านศึกษาของตัวเอง แต่จะนำแนวคิดการทดลองมาผนวกกับ “การจัดการความเสี่ยง”  เพราะผู้เขียนเห็นว่าในหมู่บ้านแห่งนี้ ชาวสวนยางได้แสดงให้เห็นการจัดการความเสี่ยงในการผลิตอย่างชัดเจน สำหรับการจัดการความเสี่ยงผู้เขียนให้นิยามว่า “การตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายของการผลิต และการหาหนทางหลบเลี่ยงความเสี่ยง หรือบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดจากความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด ”

 บทความนี้อาศัยข้อมูลจากการวิจัยของผู้เขียน[2]ที่เก็บข้อมูลภาคสนามที่หมู่บ้านศรีเจริญ ใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อปี 2553 หมู่บ้านแห่งนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ คือประมาณร้อยละ 45 มีอาชีพทำสวนยางพารา พื้นที่สวนยางพาราคิดเป็นจำนวนประมาณร้อยละ 80 ของที่ดินทำกินของหมู่บ้าน[3]

 

การตัดสินใจ

เราอาจเริ่มต้นเรื่องชาวสวนยางพาราอีสานด้วยคำถามว่า อะไรคือเหตุผลของการตัดสินใจหันมาลงทุนลงแรงทำสวนยางพารา ซึ่งคนส่วนหนึ่งอาจมีคำตอบตามที่เชื่อกันมาว่า การตัดสินใจปลูกพืชของเกษตรกรมักเป็นไปตามกระแสนิยม ประกอบกับแรงส่งจากการสนับสนุนของรัฐ และเทคนิคการขายของบริษัทการเกษตรเป็นแรงดึงดูด คำตอบนี้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อเห็นว่าในที่สุดแล้วเกษตรกรผู้ไม่ประสีประสา และมักตกเป็นเหยื่อ ก็ต้องมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องหนี้สินและราคาพืชผล ครั้งแล้วครั้งเล่า              

แต่ข้อมูลในหมู่บ้านกรณีศึกษาพบว่ามีเหตุผลซับซ้อนกว่านั้นมาก ผู้เขียนพบว่า การตัดสินใจปลูกพืชเป็นกระบวนการไตร่ตรอง และพยายามหาทางเลือกในการดำรงชีวิตเท่าที่จะทำได้  โดยปกติการตัดสินใจปลูกพืชที่ไม่คุ้นเคย  เกษตรกรใช้ประสบการณ์จากการปลูกพืชที่ผ่านมา มาพิจารณาความเหมาะสมที่จะปลูกพืชชนิดใหม่  ดังที่ชาวบ้านแห่งนี้ได้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังมาก่อน พืชทั้งสองเคยเป็นแหล่งรายได้ที่ดี แต่นานวันเข้าก็พบว่าปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาผลผลิตไม่แน่นอน ดินเสื่อมความสมบูรณ์ และต้องอยู่ภายใต้การพึ่งพาเถ้าแก่รับซื้อผลผลิตที่มีไม่กี่เจ้า สถานการณ์ที่ชาวบ้านสรุปตรงกันก็คือ การฝากชีวิตไว้กับพืชชนิดเดิมไม่ค่อยมีอนาคต ท่ามกลางทางเลือกที่มีไม่มากนัก การมีพืชชนิดใหม่อย่างยางพารา จึงถูกพิจารณาว่า เป็นทางเลือกที่เหมาะสมหรือไม่   

ดังนั้นในช่วงต้นศตวรรษ 2530 เมื่อทางการเริ่มเข้ามาส่งเสริมการปลูกยางพารา จึงไม่มีผู้หันมาปลูกยางกันมากอย่างที่คิด แต่ชาวบ้านต่างประเมินและเลือกหนทางเลี้ยงครอบครัวแตกต่างกันออกไป บางคนยังปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังสืบมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ได้ค่าตอบแทนน้อยลง แต่คุ้ยเคยและได้เงินเร็วกว่า” บางคนหันมาปลูกพืชสวนครัวหรือพืชสวนชนิดอื่นๆเสริม บางคนหันมาทดลองปลูกยางพาราในพื้นที่ส่วนหนึ่ง เพราะ “ลองเบิงก่อน”  ในขณะที่หลายครอบครัวก็ใช้วิธีการเหมือนชาวบ้านทั่วไปในอีสานคือ หันไปพึ่งพารายได้จากนอกภาคเกษตรด้วยอาชีพที่หลากหลาย ทั้งในท้องถิ่นหรือย้ายไปทำงานต่างถิ่น อย่างไรก็ตาม ในต้นทศวรรษ 2540 ชาวบ้านได้หันมาปลูกยางพารากันมากขึ้น จนกระทั่งยางพาราได้กลายเป็นอาชีพหลักของหมู่บ้าน

               

การจัดการทรัพยากรการผลิต  

การทำสวนยางพาราให้ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ              

อาจประมวลปัญหาหรือ “โจทย์” ของการทำสวนยางพารา ตามมุมมองของชาวบ้าน ได้หลายประการดังนี้ หนึ่ง ยางพาราเป็นพืชสวน ใช้เวลาหลังจากปลูกปีแรกถึงปีที่ 7-8 จึงจะเริ่มให้ผลผลิต ลักษณะเช่นนี้หมายความว่าการทำสวนยางต้องใช้เงินทุนสูง ทั้งในช่วงปีแรก และใช้ต่อเนื่องมาหลังจากนั้น ความกังวลก็คือ ในระหว่างรอผลผลิตจะมีรายได้จากที่ใดมาเลี้ยงดูครอบครัว สอง ยางพาราเป็นพืชยืนต้น ที่ดินเพาะปลูกต้องมีความมั่นคงในการถือครอง ควรเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ที่มั่นคง อีกทั้งจะต้องมีที่ดินในเนื้อที่มากพอที่จะให้ผลตอบแทนในระดับที่คุ้มกับการลงทุน สาม ยางพาราต้องใช้แรงงานสูงและใช้แรงงานแบบสม่ำเสมอเกือบทั้งปี นับจากปีแรกที่ได้ปลูกต้นยางจนถึงกรีดยางและแปรรูปยาง ดังที่ทราบกันดีว่า ชาวสวนยางปักษ์ใต้และภาคตะวันออกต้องจ้างแรงงานจากอีสานไปกรีดยาง เพราะขาดแคลนแรงงาน สี่ เมื่อได้ผลผลิตแล้วจะนำไปขายที่ใด การขนส่งยางไปขายที่ไกลๆเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิต   

โจทย์ทั้งหมดนี้อาจแปลความหมายได้ว่า เกษตรกรต้องมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรการผลิต 4 ประการ คือ ความรู้ ที่ดิน เงินทุน และแรงงาน ในหมู่บ้านแห่งนี้พบว่า โดยทั่วไปชาวบ้านมีแบบแผนการจัดการทรัพยากรการผลิตแต่ละประเภทตามลักษณะดังต่อไปนี้            

ความรู้  ความรู้เป็นสิ่งสำคัญของการผลิต ในฐานะที่ทำไร่ข้าวโพดและมันสำปะหลังมาก่อน จึงกล่าวได้ว่าชาวบ้านศรีเจริญ มีทักษะและความรู้ทางการเกษตรเป็นพื้นฐาน สำหรับยางพาราซึ่งเป็นพืชชนิดใหม่ แหล่งความรู้มาจากการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐ ได้แก่เกษตรอำเภอ และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวยยางพารา (สกย.) สำหรับเงื่อนไขพิเศษของหมู่บ้านนี้ ต้องยกให้เป็นคุณูปการของทรัพยากรบุคคลคนสำคัญ ที่เป็นนักบุกเบิกและทดลอง และกลายเป็นแหล่งความรู้ของชาวบ้านคนอื่นๆ คือ  “พ่อใหญ่ทอง”  

นายทองเป็นบรรพบุรุษรุ่นบุกเบิกของหมู่บ้าน เป็นบุคคลแรกที่ปลูกเริ่มปลูกข้าวโพด เมื่อเกษตรอำเภอได้เข้ามาส่งเสริมครั้งแรกในทศวรรษ 2510 จากนั้นได้ทดลองปลูกพืชหลากหลายชนิด แม้กระทั่งที่ไม่น่าจะปลูกได้ในท้องถิ่น เช่น กาแฟ มะขามหวาน เงาะ ทุเรียน มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ ในวัยหนุ่มด้วยความอยากเรียนรู้ได้ไปรับจ้างกรีดยางที่ภาคใต้ และเมื่อเข้าบั่นปลายชีวิตในช่วงปี 2530 เมื่อทางการมาสนับสนุนให้ทำสวนยาง ท่านเป็นคนแรกที่ได้ทำสวนยางพารา และประสบความสำเร็จสามารถกรีดยางขายได้เป็นคนแรก จากนั้นชาวบ้านคนอื่นๆจึงได้ทดลองทำตาม    

ที่ดิน เมื่อมีความรู้ความมั่นใจพอจะลงมือทำสวนยางพารา ปัจจัยต่อมาคือการมีที่ดินที่เหมาะสม และดังได้กล่าวมาแล้วว่า การทำสวนยางพาราเป็นการลงทุนระยะยาว มีความเสี่ยง และชาวบ้านก็ต้องคำนึงถึงการประคับประคองครอบครัวในระยะเฉพาะหน้าด้วย ดังนั้น เกษตรกรแต่ละครัวเรือนจะคำนึงถึงปริมาณที่ดินที่มี  ที่ตั้ง และความมั่นคงในการถือครอง[4]และหารูปแบบการผลิตที่เหมาะสม

ในหมู่บ้านแห่งนี้พบว่า ได้เกิดแบบแผนการจัดการที่ดินเพื่อลดความเสี่ยง ที่อาจเรียกว่า กระบวนการจัดสรรที่ดินครัวเรือนเพื่อลดความเสี่ยงหรือ “เฮ็ดเป็นส่วนๆ”  คือชาวบ้านจะวางแผนการผลิตเหนือที่ดินทำกินทั้งหมด โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ แล้วจะใช้ที่ดินสำหรับทำสวนยางพาราที่ละส่วน ในขณะที่ที่ดินส่วนอื่นๆก็ยังปลูกพืชที่จะให้ผลตอบแทนในระยะสั้น (ผักสวนครัว ข้าวโพด มันสำปะหลัง) ต่อไป การเพิ่มพื้นที่สวนยางพาราจะค่อยๆเพิ่มไปตามกำลัง หลายครอบครัวไม่ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดสำหรับทำสวนยาง แต่จะเหลือไว้ปลูกพืชอื่นๆเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพืชชนิดเดียว และแต่ละครัวเรือนจะมีสูตรการจัดสรรที่ดินในแบบที่แตกต่างกัน นอกจากนี้หากเราสังเกตจะเห็นอีกว่า ในแปลงสวนยางพาราที่เริ่มต้น ก็จะใช้ที่ว่างระหว่างแถวปลูกพืชระยะสั้น เรียกว่า ปลูกพืชแซมยาง เป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดผลตอบแทนในขณะที่รอคอยผลผลิตจากยาง การปลูกพืชแซมยางทำได้จนกระทั่งยางเติบโตถึงปีที่ 5-6  ทั้งหมดนี้ทำให้ภูมิทัศน์สวนยางพาราในอีสานหลายพื้นที่ มีความแตกต่างจากสวนยางพาราในภาคใต้ ที่เป็นแปลงใหญ่ติดต่อกัน แต่ในอีสานจะเป็นแปลงย่อยๆ สลับหรือแซมไปด้วยพืชชนิดอื่น ซึ่งเป็นวิธีจัดการความเสี่ยงในการผลิตรูปแบบหนึ่ง

เงินทุนสิ่งที่เรียกว่าทุน อาจรวมเอาปัจจัยหลายประเภท เช่น ที่ดิน เงินสด ทรัพย์สิน ความรู้  เครือข่ายทางสังคม ฯลฯ แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะเงินทุน โดยปกติชาวบ้านไม่ได้แยกเงินทุนอย่างชัดเจน ระหว่างทุนในการผลิต กับเงินใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัวประจำวัน ดังได้กล่าวแล้วว่าชาวบ้านจะปลูกพืชระยะสั้นไปด้วยเพื่อให้มีเงินทุนหนุนเวียน ในระหว่างที่ยางพารายังไม่ให้ผลตอบแทน ผู้เขียนพบว่า ชาวบ้านหลายครอบครัวมองว่ายางพาราเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต (ในขณะที่ปัจจุบันก็พึ่งพาพืชระยะสั้น และรายได้จากทางอื่นๆไปด้วย) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งยางพาราเป็น “เงินออม” หรือชาวบ้านบางคนเรียกว่าเป็น “ออมสิน” ที่จะได้เก็บกินเก็บใช้ในอนาคต โดยนัยนี้จึงหมายความว่า ชาวบ้านได้วางทางเลือกทางเศรษฐกิจไว้หลายทาง ไม่ได้ทุ่มไปที่ยางพารา หรือรายได้จากทางใดทางหนึ่งเพียงอย่างเดียว   

สำหรับเงินทุนที่ใช้ในการทำสวนยางพาราของชาวบ้านศรีเจริญ มีแหล่งเงินสินเชื่อจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์  นอกจากนั้นยังได้รับทุนจากหน่วยงานรัฐในหลายวาระโอกาส เช่น จาก สกย. ในรูปปุ๋ย โครงการสินเชื่อพิเศษ ในปี 2543 – 2549 มีโครงการส่งเสริมการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ สนับสนุนต้นกล้ายางพารา และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ  ในช่วงเดียวกันนี้มีกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งเงินกู้สำคัญที่ช่วยประคับประคองครัวเรือนฐานะปานกลาง และยากจน ที่ต้องการจะทำสวนยางพาราให้สามารถทำได้   

แรงงานเป็นตัวแปรสำคัญ เมื่อชาวบ้านปลูกพืชชนิดอื่น พร้อมกับการทำสวนยางพารา ทำให้มีความต้องการแรงงานสูงขึ้น ยิ่งสวนยางพาราขยายตัวมากขึ้น ความต้องการแรงงานยิ่งมากขึ้น ทำให้แรงงานเข้าสู่ภาวะใกล้ขาดแคลนหรือขาดแคลนในบางโอกาส โดยปกติชาวบ้านจะใช้แรงงานของครัวเรือนเป็นหลัก มีการแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างเครือญาติบ้าง แต่ทำได้จำกัด ในการผลิตที่เกินกำลังจะจ้างแรงงานมาช่วยเท่าที่จำเป็น สภาวะแรงงานเข้าใกล้ขาดแคลน เป็นปัญหาของผู้จ้างงานที่เผชิญกับค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่สำหรับแรงงานรับจ้าง (ส่วนใหญ่เป็นคนมีที่ดินทำกินน้อยหรือไม่มี) นี่คือโอกาสอันดี   

จากประสบการณ์ของชาวสวนยางในพื้นที่นี้พบว่า พื้นที่ทำสวนยางพาราประมาณ 20 ไร่ จะเหมาะสมกับครัวเรือนที่มีแรงงาน 3 คน (พ่อ-แม่-ลูก) เพื่อจะรับมือกับงานประจำวันในการกรีดยาง และแปรรูปยางเป็นแผ่น  นั่นหมายความว่า หากจะทำการผลิตในพื้นที่มากขึ้นก็จะต้องจ้างแรงงานมาช่วย ซึ่งเจ้าของสวนต้องคำนวณว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ สำหรับค่าจ้างแรงงานสวนยางในพื้นที่นี้ ในช่วงปี 2553   ราคาอยู่ในช่วง 180-250 บาท/วัน วิธีการจ้างแรงงานแบบหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมา (ในทำนองเดียวกับในภาคใต้) คือ การจ่ายค่าแรงเป็นส่วนแบ่งผลผลิตในอัตรา 60 : 40 หมายถึงเมื่อกรีดยางและเก็บน้ำยางได้แล้ว เจ้าของสวนจะได้ผลผลิตร้อยละ 60 ส่วนแรงงานจะได้ผลผลิตร้อยละ 40 เป็นค่าตอบแทน สำหรับเจ้าของสวนการจ้างแรงงานแบบนี้ถือเป็นการจ่ายค่าจ้างที่สูง  แต่นายจ้างก็ไม่มีทางเลือกอื่น สถานการณ์นี้แสดงให้เห็นภาวะขาดแคลนแรงงาน และการที่แรงงานเป็นต้นทุนการการผลิตที่สำคัญในพื้นที่นี้   

 ความขาดแคลนแรงงานนำไปสู่การหาทางออก ที่ชาวสวนคิดคำนวณแล้วว่าเป็นทางที่พอรับได้ คือเปลี่ยนจากการขายยางแผ่น มาขายยางก้อน ในการทำยางแผ่น ชาวสวนจะต้องรวบรวมน้ำยาง ที่ได้จากการกรีดยางในแต่ละวัน มาผ่านกรรมวิธีที่ต้องใช้เวลาและแรงงานมาก แต่การทำยางก้อน เมื่อได้น้ำยางในถ้วยที่ติดอยู่ที่ต้นยางแล้ว หยดกรดชนิดหนึ่งลงไป ยางจะจับเป็นก้อน แล้วรวบรวมก้อนยางขายได้เลย ซึ่งเป็นการประหยัดแรงงาน แต่ราคายางก้อนจะต่ำกว่าราคายางแผ่นประมาณ 1/3 ถึง 1/4 เท่า แม้จะน้อยกว่าแต่ชาวสวนในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่ก็พากันขายยางก้อน เพราะคิดแล้วว่าเป็นทางออกที่ดีกว่า จึงอาจเรียกได้แนวทางนี้คือการทดลองและหาทางเลือกอีกหนทางหนึ่ง  

ทรัพยากรการผลิตทั้ง 4 ประเภท คือปัจจัยที่เกษตรกรต้องบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ จะเห็นว่าทรัพยากรทั้ง 4 ประเภท สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก และยังแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไข ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆด้วย ในทางปฏิบัติครัวเรือนเกษตรกรมีความสามารถไม่เท่ากันในการจัดการทรัพยากร  ผู้เขียนพบว่า ความสามารถแปรตามฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ทั้งนี้ฐานะทางเศรษฐกิจมีพื้นฐานมาจากจำนวนการถือครองที่ดินที่ได้สะสมมาก่อน ครัวเรือนฐานะเศรษฐกิจต่างกัน[5]มีความสามารถจัดการทรัพยากรการผลิตเพื่อทำสวนยางพาราแตกต่างกันดังนี้

ครัวเรือนร่ำรวย ซึ่งในหมู่บ้านนี้ได้แก่กลุ่มที่มีที่ดินมากกว่า 20 ไร่ ขึ้นไป กลุ่มนี้มีทางเลือกมากกว่าในการจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยาง บางครอบครัวทำสวนยางในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 80   ของที่ทำกิน ขณะที่ครอบครัวอื่นๆมีขนาดการทำสวนยางแตกต่างกันไป ในกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่า เนื่องจากสามารถใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมได้มากกว่า มีทางเลือกในการใช้แรงงานมากกว่า บางครัวเรือนใช้แรงงานของตน บางครัวเรือนจ้างชั่วคราว บางครัวเรือนจ้างแบบแบ่งส่วนผลผลิต กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ปรับตัวเข้าสู่สวนยางพาราได้ราบรื่น มีความเสี่ยงและความกดดันจากการปรับเปลี่ยนการผลิตน้อย สวนยางพาราสามารถเป็นอาชีพหลักของครอบครัว และสามารถสร้างสมฐานะให้ร่ำรวยขึ้นอีก  

ครัวเรือนปานกลาง ได้แก่กลุ่มมีที่ดินมากกว่า 10- 20 ไร่  กลุ่มนี้มีข้อจำกัดในการจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยางพารา  หลายครอบครัวต้องปลูกพืชแซมยางในช่วงการปรับเปลี่ยนการผลิต การเข้าถึงสินเชื่อทำได้จำกัด เพราะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่มาก กลุ่มนี้จะถูกบีบคั้นจากการต้องหารายได้เลี้ยงครอบครัวก่อนที่ยางจะให้ผลผลิต นับจากช่วงปี 2543 กองทุนหมู่บ้านกลายเป็นที่พึ่งสำคัญของคนกลุ่มนี้ การใช้แรงงาน จะอาศัยแรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก มีการจ้างงานเท่าที่จำเป็น กลุ่มนี้ค่อนข้างมีความเคร่งเครียดและคร่ำเคร่งทำงานหนัก แต่หากสามารถทำสวนยางในขนาด 20 ไร่ได้ ก็สามารถถีบตัวไปสู่การมีรายได้ที่มั่นคงมากกว่าเดิม

ครัวเรือนยากจน ได้แก่ผู้มีที่ดินมากว่า 0 ไร่ – 10 ไร่  กลุ่มนี้มีข้อจำกัดมากในการจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยางพารา  พบว่าผู้ที่ตัดสินใจทำสวนยาง ส่วนใหญ่จะใช้ที่ดินประมาณ 4- 5 ไร่ เพื่อทำสวนยาง ในขณะที่จัดสรรที่ดินส่วนหนึ่งไว้ปลูกพืชระยะสั้น  โดยหวังว่าในอนาคตสวนยางจะเป็นรายได้เสริมทางหนึ่งของครอบครัว กลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อได้น้อย พึ่งพาแหล่งเงินสินเชื่อระยะสั้นหลายแหล่ง รวมทั้งกองทุนหมู่บ้าน ที่มีความสำคัญต่อพวกเขามาก  ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก หากมีโอกาสก็จะไปรับจ้างแรงงาน  กลุ่มนี้มีความคร่ำเคร่งและต้องทำงานหนักมากที่สุด แต่หากสามารถทำสวนยางพาราได้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมาย  จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น  

การปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่สวนยางของเกษตรกรดังกล่าวมานี้ ต้องเน้นด้วยว่าความสำเร็จเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขสำคัญ  คือราคาพาราอยู่ในช่วง “ขาขึ้น”[6]และพวกเขาก็ยังเผชิญความเสี่ยงสูงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง (จะกล่าวถึงตอนหน้า) เราอาจเปรียบเทียบแบบแผนการจัดการทรัพยากรการผลิตเพื่อทำสวนยางพาราของเกษตรกรทั้งสามกลุ่มได้ดังตารางต่อไปนี้

 

แบบแผนการจัดการทรัพยากรการผลิตเพื่อทำสวนยางพาราของเกษตรกร

จำแนกตามระดับการถือครองที่ดิน/ฐานะเศรษฐกิจ

การถือครองที่ดิน/ระดับฐานะ

การจัดการที่ดิน

การจัดการเงินทุน

การจัดการแรงงาน

ผลที่เกิดขึ้น

ที่ดินมาก/ฐานะรวย

(ที่ดินมากกว่า 20ไร่)

การจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยาง และปลูกพืชแซมยางได้ดี

 

สามารถเข้าถึงเชื่อได้ดีกว่าและ

ในวงเงินสูง (เนื่องจากมีที่ดินเป็นหลักหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวนมาก)

ใช้แรงงานในครัวเรือน แต่ก็สามารถจ้างแรงงานมาช่วยหากจำเป็น บางกรณีจ้างแรงงานประจำ ทำให้มีความมั่นคงด้านแรงงาน

ปรับตัวเข้าสู่สวนยางได้อย่างราบรื่น  ความเสี่ยงและความตึงตัวด้านการลงทุนน้อย ไม่คร่ำเคร่งทำงานหนักมาก สร้างสมฐานะได้ดี ยึดสวนยางพาราเป็นอาชีพหลักได้สบายๆ

ที่ดินปานกลาง/ฐานะปานกลาง

(ที่ดินมากกว่า 10 ไร่ – 20 ไร่)

การจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยางพาราและการปลูกพืชแซมยางทำได้ค่อนข้างจำกัด

 

สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ค่อนข้างจำกัดและในวงเงินจำกัด เพราะมีหลักทรัพย์ที่ดินจำกัด พึ่งพาแหล่งสินเชื่อชุมชน เช่นกองทุนหมู่บ้านสูง

ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก

และจ้างแรงงานชั่วคราวเท่าที่จำเป็น

ปรับตัวเข้าสู่สวนยางพาราได้อย่างค่อนข้างลำบาก มีความตึงตัวและความเสี่ยงในการจัดการเงินทุนสูง ต้องทำงานหนักทั้งในการทำสวนยางและหารายได้ด้วยหนทางอื่นๆ 

ที่ดินน้อย/ฐานะยากจน

(ที่ดินมากกว่า 0  ไร่ -10 ไร่

การจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยางพาราและปลูกพืชแซมยางยางพาราทำได้น้อยหรือไม่ได้เลย เพราะมีที่ดินน้อย

เข้าถึงสถาบันสินเชื่อได้จำกัด

และในวงเงินน้อย พึ่งพาแหล่งสินเชื่อชุมชนมากและหลายแหล่ง โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้าน

ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก ไม่มีการจ้างแรงงานเลย

ปรับตัวเข้าสู่สวนยางพาราได้ยากลำบาก  มีความตึงตัวและความเสี่ยงด้านการลงทุนสูง ต้องทำงานหนักทั้งในสวนยางและเพื่อหารายได้จากงานอื่นๆ  สวนยางพารามีฐานะเป็นรายได้เสริมของครัวเรือน

 

ความรู้สึกนึกคิด

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมชนบทท่านหนึ่งเสนอว่า ที่ผ่านมาการศึกษาสังคมชนบทหรือสังคมเกษตรกรรมในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทย  มักให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เรื่อง “การผลิต” เป็นหลัก สิ่งที่ควรปรับปรุงก็คือ การให้ความสำคัญกับการเข้าใจสังคมชนบทผ่านแง่มุมของ “การบริโภค” เพื่อจะสามารถเข้าใจชนบทท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนได้มากขึ้น

 การวิเคราะห์การบริโภค จะนำไปสู่ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งคือเรื่อง “ความหมาย”  ชนบทเกี่ยวข้องกับเรื่องความหมายอย่างน้อยในสองแง่มุม ในแง่มุมหนึ่งชนบทเป็นพื้นที่ที่ “ถูกบริโภค” กล่าวคือ ชนบทคือพื้นที่ที่ถูกให้ความหมาย เพื่อสนองจินตนาการหรือเป้าหมายทางการเมืองบางประการของชนชั้นนำ ดังที่ชนบทไทยถูกให้ความหมายว่า เป็นรากฐานของสังคมไทย มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เคยอิสระจากรัฐและตลาด มีความสามารถในการพึ่งตัวเอง มีความสุขได้ท่ามกลางความพอเพียง  ฯลฯ ชนบทยังถูกบริโภคอีกหลากหลายแบบ เช่นในยุคการท่องเที่ยว ชนบทถูกนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า ความเป็นชนบท “ดั้งเดิม”  ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อตอบสนองตลาดการท่องเที่ยว ฯลฯ [7]

แต่ชนบทไม่ได้ถูกบริโภคเท่านั้น ในอีกแง่มุมหนึ่งชาวชนบทก็เป็น “ผู้บริโภค” ความหมายด้วย ในภาวะที่ชนบทไม่เคยแยกขาดจากรัฐและตลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ ที่มีทั้งการย้ายถิ่นไปมาของคนชนบท และการติดต่อสัมพันธ์หรือรับข่าวสารอย่างเข้มข้น จึงทำให้ชาวชนบทบริโภคความหมายอย่างกว้างขวาง เกิดเป็นความรู้สึกนึกคิด ความใฝ่ฝัน ความคาดหวัง และบรรทัดฐานทางสังคมแบบใหม่ๆ[8]  ในแง่มุมที่สองนี้เอง ที่ผู้เขียนเห็นว่าช่วยทำให้เข้าใจชาวสวนยางบ้านศรีเจริญได้ดีขึ้น

ในระหว่างทำวิจัยภาคสนาม เมื่อผู้เขียนถามชาวบ้านว่า ทำไมจึงทำสวนยาง หลายคนตอบอย่างไม่ลังเลว่า “อยากเป็นเถ้าแก่” ในหมู่บ้านนี้มีเถ้าแก่สวนยางหลายคนเป็นตัวอย่างให้เห็น สัญลักษณ์ของเถ้าแก่สวนยางคือ รถปิคอัพรุ่นใหม่ล่าสุดคันโต  การเปลี่ยนบ้านให้เป็นบ้านคอนกรีตทันสมัย การมีเครื่องเสียงร้องคาราโอเกะดังๆ และสามารถจัดงานเลี้ยงในโอกาสสำคัญได้อย่างเอิกเกริก  ความอยากเป็นเถ้าแก่อาจเป็นเหตุผลที่ “ไม่ค่อยมีเหตุผล” ในสายตาชาวเมือง แต่สำหรับชาวบ้านจำนวนมาก ปฏิเสธได้ยากว่านี่คือแรงผลักดันสำคัญ

ในทางวิชาการการ ความอยากมีชีวิตทันสมัยไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง  แต่ที่สงสัยกันมานานก็คือ เหตุใด เมื่อชาวบ้านได้กำไรจากการผลิต จึงไม่นำเงินนั้นไปลงทุนให้การผลิตก้าวหน้าขึ้น เช่นซื้อเครื่องจักรเครื่องยนต์ ปรับปรุงที่ดินหรือสถานประกอบการ แต่กลับนำเงินไปทุ่มกับสิ่งของฟุ่มเฟือย

การเก็บข้อมูลภาคสนามทำให้พบว่า ในความจริงชาวบ้านมีความพยายามค้นคิดทดลองอย่างมาก ในการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต แต่สิ่งที่ไม่อนุญาตให้ทำได้ก็คือ ข้อจำกัดจากราคาพืชผลการเกษตร ในกรณียางพารา ชาวบ้านตระหนักดีว่าราคายางมีขึ้นมีลง ซึ่งเป็นไปนอกเหนือการควบคุมของพวกเขา การลงทุนในสวนยางมากเกินไปทั้งที่ไม่มีหลักประกันด้านราคาจึงเป็นเรื่องไร้เหตุผล ยังไม่รวมถึงถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขอื่นๆ คือหมู่บ้านนี้ไม่สามารถขยายที่ดินทำกินได้อีกแล้ว จะซื้อที่ดินเพื่อนบ้านก็ไม่มีใครขาย และที่สำคัญคือเรื่องแรงงานซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากของการผลิต เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับ   

เมื่อไม่สามารถจะลงทุนทางการผลิตทางการเกษตรได้ สิ่งที่ดูจะมีเหตุผลและสัมผัสได้ก็คือการลงทุนกับการบริโภค การบริโภคที่ดี ไม่เพียงนำความสุขสบายมาให้ แต่เป็นการแสดงถึงการเป็นผู้มี “บารมี” และการมีบารมีก็หมายถึงการมีโอกาสที่ดีในชีวิต เช่นได้เป็นเอเย่นต์ขายปัจจัยการเกษตร เป็นหัวคะแนน เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ฯลฯ เรื่องที่เป็นไปในทำนองเดียวกันที่เห็นได้ชัดอย่างมากคือ การลงทุนกับการศึกษาของบุตรหลาน ดังที่ชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนที่มีเงิน จะส่งเสียให้ลูกเรียนชั้นสูงที่สุดในสถาบันที่ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่ดีข้างหน้า ซึ่งอยู่ไกลจากภาคเกษตรออกไป ดังที่พวกเขามักกล่าวว่า ไม่มีใครอยากมีอนาคตเป็นชาวไร่ชาวสวนต่อไป  

ดังนั้นผู้เขียนเสนอว่า ชาวบ้านไม่ได้แยกมิติทางการผลิตและการบริโภคจากกัน แต่ทั้งสองรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตครอบครัว เป็นการลงทุนเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคในชีวิตประจำวัน การคิดคำนวณถึงอนาคต และเป็นปฏิบัติการทดลอง และจัดการความเสี่ยง ท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ  เราอาจเข้าใจเรื่องนี้ได้มากขึ้นจากการแสดงออกทางการเมืองของพวกเขา

ดังได้กล่าวมาแต่ต้นแล้วว่า การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของสวนยางพาราในหมู่บ้านแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อมีโครงการส่งเสริมการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ และโครงการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อครัวเรือนฐานะปานกลางและยากจน โครงการทั้งสองนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และยังมีเรื่องปัจจัยภายนอกที่ไม่เกี่ยวกับพรรคไทยรักไทยโดยตรง แต่ชาวบ้านก็รู้สึกว่าเป็นผลงานของรัฐบาลก็คือ ในระหว่างทศวรรษ 2540 เป็นช่วงที่ยางพาราราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ทำให้เศรษฐกิจของชาวบ้านดีขึ้นกว่าเดิมมาก จึงไม่น่าประหลาดใจที่จะพบว่า เกือบทั้งหมู่บ้านเป็นผู้นิยมพรรคไทยรักไทย

ในช่วงที่ผู้เขียนเก็บข้อมูลระหว่างปี 2553 เป็นช่วงเดียวกันกับการชุมนุมที่กรุงเทพฯ มีชาวบ้านในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งภูมิใจแสดงตนว่าเป็นคนเสื้อแดง อีกจำนวนหนึ่งลงทุนลงแรงไปร่วมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในการชุมนุมที่กรุงเทพฯ  อะไรคือแรงผลักดันนี้ ? กล่าวให้ง่ายที่สุด ในความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา เรื่องสวนยางกับการชุมนุมทางการเมือง ได้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน การแสดงออกทางการเมืองในครั้งนี้ อาจมองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการ “ทดลอง” (ในแง่มุมของ “การต่อรอง” ตามที่ Walker เสนอ) และการจัดการความเสี่ยง เพราะที่ผ่านมาไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดให้โอกาสที่ดีในการทำมาหากิน ดังที่ได้รับจากพรรคนี้มาก่อน การไปร่วมชุมนุมจึงเป็นทั้งการปกป้อง พร้อมกันนั้นก็สร้างข้อผูกมัดเพื่อต่อรองต่อกับพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุน

ขณะเดียวกันในอีกมิติหนึ่งการแสดงออกทางการเมือง ก็เป็นการบริโภคความหมายด้วย เพราะการเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหว  ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของคนกลุ่มเดียวกันที่ถูกละเลย กล่าวให้กว้างออกไปอีก ความหมายใหม่ทางการเมืองนี้ ยังสอดคล้องกับสำนึกความเป็นเกษตรกรยุคใหม่ ที่อยากจะก้าวหน้า ทันสมัย ร่ำรวย มีปากมีเสียง มีคนนับหน้าถือตา เหมือนกับที่คนกลุ่มอื่นๆในสังคมเป็น.

บทความนี้พยายามให้แนวคิดและข้อมูล เพื่อช่วยทำความเข้าใจอาชีพและความรู้สึกนึกคิดของชาวสวนยางพาราอีสาน ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมชนบท คาดว่าบทความจะช่วยลดช่องว่างของความเข้าใจที่มีต่อชาวชนบท ซึ่งช่องว่างดังกล่าวกลายเป็นเงื่อนไขของปัญหาทางการเมืองและปัญหาการพัฒนา ที่ท้าทายเราอย่างแหลมคมในปัจจุบัน.    

 




[1] Walker, Andrew. 2009.  “ “Now the company have come” : Local values and contract farming in northern Thailand” in Caouette , D. and S. Turner. (eds.) Agrarian angst and rural resistance in contemporary Southeast Asia . UK. : Routledge.

[2]พฤกษ์ เถาถวิล และนิตยา บุญมาก. 2554. “การปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่สวนยางพาราของเกษตรกรในตะวันออกเฉียงเหนือ  : นโยบายรัฐ ตลาด และกลยุทธ์การผลิตของครัวเรือน” ใน วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสรีนิยมใหม่ในเศรษฐกิจอีสาน.ฉบับพิเศษ (1) 

[3]ประชากรบ้านศรีเจริญในปัจจุบัน (2553) มี 134 ครัวเรือน แบ่งสัดส่วนอาชีพหลักได้ดังนี้

สวนยางพารา         60           ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ       45            ของครัวเรือนทั้งหมด

รับจ้างทั่วไป          27            ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       20            ของครัวเรือนทั้งหมด

ข้าราชการ              15            ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       11            ของครัวเรือนทั้งหมด

สวนทั่วไป             14            ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       10            ของครัวเรือนทั้งหมด

บ้านเช่า                   11            ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       8              ของครัวเรือนทั้งหมด

ค้าขาย                     7              ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       6              ของครัวเรือนทั้งหมด

    การจำแนกกลุ่มผู้ทำสวนยางตามจำนวนเนื้อที่ จากจำนวนทั้งหมด 60 ครัวเรือน  (พ.ศ. 2553 )

0 – 10     ไร่                           19            ครัวเรือน

มากกว่า 10 ไร่  – 20ไร่         26            ครัวเรือน

มากกว่า 20 ไร่                        5              ครัวเรือน

[4]หมู่บ้านนี้ที่ดินส่วนใหญ่ มี นส.3 และ นส.4 (โฉนด) ที่ดินส่วนหนึ่งเป็นที่ สปก.

[5]การแบ่งกลุ่มฐานะทางเศรษฐกิจใช้จำนวนการถือครองที่ดินเป็นเกณฑ์ เพราะถือว่าที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกร  เนื่องจากในหมู่บ้านนี้จำนวนการถือครองที่ดินค่อนข้างคงตัวนับจากต้นทศวรรษที่ 2530 หรือในทศวรรษที่เริ่มทำสวนยางพารา  เพื่อลดความซับซ้อนจนเกินไปของการเคราะห์ผู้เขียนจะถือว่า โครงสร้างการถือครองที่ดินนับจากทศวรรษ 2530 จนถึงปัจจุบัน มีค่าคงตัว ซึ่งทำให้แบ่งกลุ่มทางเศรษฐกิจตามจำนวนการถือครองที่ดินได้ดังนี้

ระดับชั้นทางเศรษฐกิจ

การถือครองที่ดิน (ไร่)

จำนวน (ครัวเรือน)

เกษตรกรรวย

เกษตรกรปานกลาง

เกษตรกรยากจน

เกษตรกรไร้ที่ดิน (จนมาก)

 

>  20

> 10  -  20

> 0 -10 ไร่

ไม่มีที่ดินทำกินเลย

10

67

50

7

รวม  134

 

[6] ราคายางในทศวรรษ 2540 เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เช่นราคายางแผ่น กิโลกรัมละ 40-50 บาท สูงขึ้นในระดับร้อยบาทหรือสูงกว่านั้น  ดูสถิติราคายางเวปไซต์สถาบันวิจัยการยางกรมวิชาการเกษตร  http://www.rubberthai.com/statistic/stat_index.htm 

[7] Rigg, Jonathan and Mark Ritchie 2002. “Production, consumption and imagination in rural Thailand” . in Journal of Rural Studies 18 : 359-371.

[8]อานันท์  กาญจนพันธุ์ 2554. “ชนบทอีสานปรับโครงสร้าง ชาวบ้านปรับอะไร”  ใน วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเสรีนิยมใหม่ในเศรษฐกิจอีสาน. ฉบับพิเศษ (1) 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาที่ประชุมสภาหนังสือพิมพ์โลกครั้งที่ 65

$
0
0

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปาฐกถาที่ประชุมสภาหนังสือพิมพ์โลกครั้งที่ 65 ย้ำบทบาทสื่อลดขัดแย้งสังคม ระวังมือที่ 3 บิดเบือน ระวังการเปิดพรมแดนโลกไซเบอร์อาจมีการนำข้อมูลข่าวสารไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง

000

หมายเหตุ: เฟซบุ๊คของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ปาฐกถาที่กล่าวในการประชุมสภาหนังสือพิมพ์โลก ครั้งที่ 65 เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดังนี้

คำกล่าวปาฐกถานายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
การประชุม 65th World News Paper Congress
วันอังคารที่ 3 มิถุนายน 2556
กรุงเทพฯ


ในลำดับแรก ดิฉันต้องขออภัยที่เมื่อวานนี้ดิฉันไม่สามารถเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมได้ เนื่องจากยังติดภารกิจการเยือนต่างประเทศ ดิฉันทราบมาว่าในการประชุมมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์ และดิฉันหวังว่าจะได้รับทราบประเด็นต่างๆที่ได้หารือกัน และพูดคุยถึงความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นได้เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ร่วมกัน

ประการที่สอง ดิฉันขอขอบคุณคณะกรรมการของ WAN-IFRA ที่เลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมในปีนี้ ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้เห็นผู้เชี่ยวชาญด้านการหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ บรรณาธิการ และนักโฆษณาจากทั่วทุกมุมโล

ดิฉันขอต้อนรับและขอขอบคุณที่ทุกท่านเชื่อมั่นในประเทศไทย WAN-IFRA นั้นเป็นองค์กรที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลสูง ดิฉันจึงภูมิใจที่ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาไม่เหมือนใคร ดิฉันจึงหวังว่าทุกท่านจะมีเวลาไปเที่ยวชมและสัมผัสความเปลี่ยนแปลงและประสบการณ์ใหม่ๆตามวิถีไทยด้วย

ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่ได้อยู่ในภูมิภาคนี้ของโลก และหากศตวรรษของเอเชียแปซิฟิกได้เริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริงแล้ว ดิฉันขอให้ท่านเชื่อมั่นได้ว่า อาเซียนจะเป็นหนึ่งในเครื่องจักรกลหลักของการเจริญเติบโต ด้วยจำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน ที่มีรายได้และกำลังการซื้อสูงขึ้น ศักยภาพของการเติบโตทางธุรกิจมีมหาศาล

ประเทศสมาชิกทั้งสิบประเทศของอาเซียน ต่างเร่งทำงานกันอย่างหนักเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน และดิฉันมั่นใจว่าการเป็นประชาคมอาเซียนจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในปี 2015

นอกจากนี้ เรากำลังร่วมมือกันเพื่อสร้างความเชื่อมโยงเป็นจริง ซึ่งมีหลากหลายมิติที่จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันได้ ดิฉันขอยกตัวอย่างเพียงบางประเด็น

อันดับแรกคือ ความเชื่อมโยงทางกายภาพ การไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้าและบริการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากปราศจากสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียงพอ เอเชียและอาเซียนนั้นเป็นทวีปที่ต่อเนื่องแผ่นดินและผืนน้ำ การเชื่อมโยงจึงหมายถึงการเดินทางและขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพไปสู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์ทุกแห่ง และศูนย์กลางความเจริญเติบโตแห่งใหม่ๆ

ทั้งนี้ประเทศไทยมีแผนการลงทุนกว่า 66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งรางรถไฟและการเชื่อมต่อทางถนน โดยมีการสร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง และเสริมด้วยรถไฟรางคู่ เพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านทางเหนือสู่ใต้ และตะวันออกสู่ตะวันตก

หากโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จ ก็จะมีรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งผ่าน ไทย ลาว และเข้าสู่จีน ขณะเดียวกันจะสามารถจะเชื่อมเอเชียใต้ เอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรปเข้าด้วยกัน

ท่าเรือและสนามบินกำลังมีการปรับปรุงและมีการวางแผนสร้างใหม่ อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งไทยและพม่ากำลังร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นประตูแห่งใหม่ที่มีท่าเรือน้ำลึก เชื่อมต่ออินเดียและศรีลังกา ไปยังตะวันออกกลางและแอฟริกา เราจะเชื่อมจุดต่างๆเพื่อทำให้การเชื่อมโยงบรรลุผลสำเร็จ

การเชื่อมโยงที่สอง คือ การเชื่องโยงระหว่างประชาชนต่อประชาชน เอเชียนั้นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเมือง แนวคิดทางเศรษฐกิจ และวิถีการดำเนินชีวิต ในความหลากหลายอาจมีความแข็งแกร่ง แต่ขณะเดียวกันก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าได้

เราจำเป็นต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างประชาชน องค์กร ชุมชน และสังคม การศึกษาเพื่อเสริมสร้างพื้นฐานร่วมกัน และความร่วมมือทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ดิฉันจึงเชื่อว่าทุกท่านในที่ประชุมแห่งนี้มีบทบาทที่สำคัญที่ทำให้สิ่งที่กล่าวถึงเป็นจริง

บทบาทของสื่อและสื่อสารมวลชนไม่เคยมีความสำคัญไปกว่าในปัจจุบัน สำนักพิมพ์ ผู้สื่อข่าว บรรณาธิการ และนักโฆษณา คือคนกลางหลักในการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ และข่าวสารในรูปแบบต่างๆ

ความรับผิดชอบและเสรีภาพของสื่อสารมวลชนช่วยทำให้สาธารณชนได้รับรู้ข้อมูล และสาธารณชนที่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อความเข้าใจในมุมมองซึ่งกันและกัน

มีคำกล่าวทั่วไปที่ว่า “ลองยืนในรองเท้าของคนอื่น” ซึ่งในสำนวนไทยคือ “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา”

ดิฉันเชื่อว่า ในก้นบึ้งของหัวใจ มนุษย์นั้นมีจิตใจที่งดงาม ดังนั้นการเข้าอกเข้าใจกันนั้นไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่ยังจะทำให้มนุษย์ทุกคนใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพที่ขาดความรับผิดชอบ สามารถสร้างความสับสน การเข้าใจผิด และหรือความวุ่นวายให้เกิดขึ้นได้ เสรีภาพของสื่อมวลชนจึงไม่ใช่จะไม่มีข้อจำกัด แม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว

ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของสาธารณชน ความสงบเรียบร้อย สิทธิส่วนบุคคล และแม้แต่ความมั่นคงของชาติด้วย นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องตระหนักเสมอด้วยว่า ยังมีบุคคลที่สามที่ต้องการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

ดังนั้น ความรับผิดชอบของสื่อและสื่อสารมวลชนบนพื้นฐานของมาตรฐานของความเป็นมืออาชีพและสามัญสำนึกที่สูงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดั่งคำสอนของศาสนาพุทธที่ให้ดำรงอยู่บนทางสายกลาง จึงต้องมีความสมดุลระหว่างเสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่อมวลชน สำหรับดิฉันเชื่อเสมอว่าสื่อและสื่อสารมวลชนจะต้องเป็นผู้หาจุดสมดุลนี้ด้วยตนเอง

ประเด็นดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปิดพรมแดนใหม่ของสื่อมวลชนในโลกไซเบอร์ สื่อสิ่งพิมพ์ปัจจุบันใช้ประโยชน์จากโลกไซเบอร์เพิ่มขึ้นมาก แม้ช่องทางนี้มีทั้งศักยภาพที่นำไปใช้อย่างถูกต้องและไม่ถูกต้องเช่นกัน โดยที่ข้อมูลหรือข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง สามารถแพร่ขยายสู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

และเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ก็เป็นการยากที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในระหว่างผู้ที่เป็นบรรณาธิการ เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลและข่าวสารในอินเทอร์เน็ตนั้น สะท้อนความสมดุลระหว่างเสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่อมวลชนเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนอย่างแท้จริง

กล่าวโดยสรุปดิฉันเชื่อว่า อุตสาหกรรมข่าวสารและการผลิตอยู่ในช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น โดยบทบาทของท่านมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนชาติต่างๆ ด้วยพวกท่านมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าถึงผู้อ่านได้อย่างกว้างขวางรวดเร็วแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ดิฉันขออวยพรให้ท่านประสบความสำเร็จในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงนี้ และขณะเดียวกัน ดิฉันหวังว่าท่านจะมีเวลาท่องเที่ยวชมและเพลิดเพลินกับการดูแลตามวิถีไทยด้วย

ขอบคุณคะ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธรรมศาสตร์เตรียมให้นักศึกษา 2 ที่นั่งในสภามหาวิทยาลัย

$
0
0

ด้านกลุ่ม “ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” ออกแถลงการณ์ทางเฟซบุ๊ค ขอบคุณกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้นักศึกษามีที่นั่งในสภามหาวิทยาลัย ระบุที่ผ่านมานักศึกษาไม่เคยมีส่วนร่วม

4 มิ.ย.56 กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)ออกแถลงการณ์ทางแฟนเพจเฟซบุ๊คของกลุ่ม แสดงความขอบคุณกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... โดยเฉพาะกรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทยที่แก้ไขร่าง พรบ.ให้องค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องมีสัดส่วนของกรรมการที่เป็นนักศึกษารวมอยู่ด้วย 2 คน

ในแถลงการณ์ระบุว่า ที่ผ่านมานักศึกษาซึ่งเป็นสมาชิกที่มีสัดส่วนมากที่สุดของประชาคมธรรมศาสตร์ ไม่เคยเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารของสภามหาวิทยาลัยแต่อย่างใด แม้ทางมหาวิทยาลัยจะมีการร่าง พรบ.ขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของนักศึกษา

“ดังเช่นในมาตรา 20 เกี่ยวกับกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่จำกัดเฉพาะในหมู่ผู้บริหาร คณาจารย์ ศิษย์เก่า และบุคคลภายนอก ไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วม จึงไม่อาจสะท้อนถึงสมาชิกของมหาวิทยาลัยได้อย่างครบถ้วน และไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย

“กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยจึงได้มีข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมของประชาคมธรรมศาสตร์มากขึ้น โดยในส่วนของมาตรา 20 ได้มีข้อเสนอให้สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะต้องมีกรรมการที่เป็นนักศึกษารวมอยู่ด้วยเป็นจำนวน 2 คน ได้แก่ 1. นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 2. ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ด้านพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรครัฐบาลเมื่อได้รับทราบถึงข้อเรียกร้องของนักศึกษา และให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ด้วยความเข้าใจถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2556 กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทยได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ร่วมกับกรรมาธิการท่านอื่นๆ เห็นชอบต่อข้อเสนอของนักศึกษาในมาตรา 20 ดังกล่าว สำเร็จลุล่วงด้วยดี”

ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า การให้นักศึกษาร่วมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของประชาคมธรรมศาสตร์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัย และการดำเนินการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นไปตามเป้าประสงค์ของสมาชิกมหาวิทยาลัยทุกฝ่าย เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขร่าง พรบ.ดังกล่าวจะทำให้ธรรมศาสตร์จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่มีนักศึกษาอยู่ในโครงสร้างการบริหารในมหาวิทยาลัยของตนเอง

สำหรับรายละเอียดของแถลงการณ์กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) มีดังนี้

000

แถลงการณ์กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)

เรื่อง: ขอบคุณกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... ที่ลงมติเห็นชอบการมีตัวแทนนักศึกษาเข้าเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตามข้อเสนอมาตราที่ 20

ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... ได้มีการพิจารณาองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา 20 ว่าควรเปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยหรือไม่นั้น

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ในฐานะส่วนหนึ่งของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... อันเป็นกฎหมายที่กำหนดโครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมาชิกของมหาวิทยาลัย ทั้งอาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยทุกคนนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของประชาคมธรรมศาสตร์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัย เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นไปตามเป้าประสงค์ของสมาชิกมหาวิทยาลัยทุกฝ่าย เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมานักศึกษาไม่เคยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารของสภามหาวิทยาลัยเลย ทั้งที่นักศึกษาเป็นสมาชิกของประชาคมธรรมศาสตร์ที่มีสัดส่วนมากที่สุดในมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตามแม้ทางมหาวิทยาลัยจะมีการร่างพระราชบัญญัติใหม่ ก็มิได้มีบทบัญญัติข้อใดที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมดังกล่าว ดังเช่นในมาตรา 20 เกี่ยวกับกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่จำกัดเฉพาะในหมู่ผู้บริหาร คณาจารย์ ศิษย์เก่า และบุคคลภายนอก ไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วม จึงไม่อาจสะท้อนถึงสมาชิกของมหาวิทยาลัยได้อย่างครบถ้วน และไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยจึงได้มีข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมของประชาคมธรรมศาสตร์มากขึ้น โดยในส่วนของมาตรา 20 ได้มีข้อเสนอให้สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะต้องมีกรรมการที่เป็นนักศึกษารวมอยู่ด้วยเป็นจำนวน 2 คน

ได้แก่

1. นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ

2. ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้านพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรครัฐบาลเมื่อได้รับทราบถึงข้อเรียกร้องของนักศึกษา และให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ด้วยความเข้าใจถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2556 กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทยได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ร่วมกับกรรมาธิการท่านอื่นๆ เห็นชอบต่อข้อเสนอของนักศึกษาในมาตรา 20 ดังกล่าว สำเร็จลุล่วงด้วยดี

ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่มีนักศึกษาอยู่ในโครงสร้างการบริหารในมหาวิทยาลัยของตนเอง

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารมหาวิทยาลัยของนักศึกษาอันเป็นหลักหมุดที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย และขอเป็นกำลังใจให้พรรคเพื่อไทยและกรรมาธิการท่านอื่นๆได้ปฏิบัติหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย

4 มิถุนายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใจ อึ๊งภากรณ์: อะไรกำลังเกิดขึ้นในตุรกี

$
0
0

การลุกฮือของประชาชนตุรกีตามเมืองใหญ่ๆ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม เป็นการท้าทายรัฐบาลอย่างแรง และเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลนี้ได้รับการคัดค้านจากมวลชนจำนวนมาก สิ่งที่จุดประกายคือแผนการทำลายและสร้างตึกทับสวน เกซิ กลางเมืองอิสตันบูล การประท้วงครั้งนี้ไม่มีพรรคหรือกลุ่มไหนวางแผนจัดการล่วงหน้า แต่มีหลายองค์กรที่ตอนนี้เข้ามาแข่งแนวเพื่อแย่งชิงการนำ เช่น พวกชาตินิยมฝ่ายขวาที่สนับสนุนทหาร และฝ่ายซ้ายที่ต้านทหารแต่ไม่สนับสนุนรัฐบาล นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ประท้วงมีมวลชนของพรรครัฐบาลส่วนหนึ่งด้วย ประชาชนไม่พอใจการที่รัฐบาลมั่นใจในตนเองจนไม่ยอมปรึกษาใคร และไม่พอใจความรุนแรงของตำรวจที่มีต่อผู้ประท้วง นอกจากนี้ตุรกีอยู่ในภาวะการเปลี่ยนแปลงจากยุคเผด็จการทหาร และคนจำนวนมากอยากกวาดล้างกฏหมายเผด็จการให้หมดไป ก้าวหนึ่งที่ผ่านไปแล้วคือการสร้างสันติภาพกับชาวเคอร์ด แต่มีก้าวอื่นๆ ที่ต้องเดิน

ประเด็นสำคัญคือฝ่ายซ้ายจะขยายอิทธิพลในมวลชน หรือฝ่ายชาตินิยมจะดึงทหารเข้ามา เพราะในกลุ่มผู้ประท้วงมีความคิดหลากหลาย

 

เบื้องหลังสถานการณ์การเมืองในตุรกี

รัฐบาลตุรกีเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย พรรครัฐบาลคือพรรคมุสลิมหรือ “พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา” (AKP) พรรคนี้ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2002 และชนะการเลือกตั้งมาหลายรอบ ล่าสุดในปี 2011 พรรคนี้ได้คะแนนเสียง 50% นโยบายของรัฐบาลเน้นกลไกตลาดเสรีของกลุ่มทุน แต่มีนโยบายให้คนจนบ้าง รัฐบาลไม่ได้คลั่งศาสนาเหมือนที่ฝ่ายค้านอ้าง อย่างไรก็ตามระบบการเมืองในตุรกีมีซากของเผด็จการหลงเหลือจากสมัยเผด็จการทหาร เช่น มีการจำคุกนักข่าว หรือทนายความที่เห็นต่างจากรัฐ และนักกิจกรรมชาวเคอร์ดที่อยากแบ่งแยกดินแดนก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง นอกจากนี้พรรค AKP มักจะเน้นศีลธรรมจารีตที่มองว่าผู้หญิงควรจะมีลูกอย่างน้อยสามคน และนายกรัฐมนตรี เอร์โดแกน อยากเห็นการยกเลิกกฏหมายที่อนุญาตให้สตรีทำแท้งอย่างเสรี

พรรคฝ่ายค้าน (CHP) อ้างว่าเป็นพรรคในรูปแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย และคอยสร้างภาพว่ารัฐบาลจะหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคมืดแห่งกฏหมายอิสลาม อย่างไรก็ตามฐานเสียงหลักของพรรคนี้มาจากคนชั้นกลางและคนรวย และพรรค CHP นี้เป็นพรรคที่ใครๆ มองว่าเป็นปากเสียงของทหารเผด็จการ กองทัพตุรกีมีประวัติการแทรกแซงการเมืองผ่านการทำรัฐประหารพอๆ กับในไทย และในช่วงปี 2002-2007 มีการวางแผนเพื่อพยายามโค่นรัฐบาล AKP ที่มาจากการเลือกตั้ง

การเมืองตุรกีหันมาเน้นการคลั่งชาติ และการสร้างสังคมที่ไร้ศาสนาประจำชาติ ในยุคพัฒนาหลังการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน โดยที่ คามาล อัตตาเทอร์ค ปฏิวัติสังคมและขึ้นมาเป็นผู้นำเผด็จการ นโยบายคลั่งชาตินี้ถูกใช้เพื่อกดขี่เชื้อชาติอื่นๆ ภายในประเทศ เช่นชาวอาร์มีเนีย ชาวยิว ชาวกรีก และชาวเคอร์ด และตุรกีมีกฏหมายคล้ายๆ 112 ของไทยที่ห้ามไม่ให้ใครวิจารณ์ คามาล อัตตาเทอร์ค หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว

ในยุคเผด็จการของ อัตตาเทอร์ค คนส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรยากจน และนับถืออิสลาม ถูกเขี่ยออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยที่มีการเน้นบทบาทของชนชั้นกลางที่มีวัฒนธรรมตะวันตก สามมาตราแรกรัฐธรรมนูญที่เขียนในยุคนั้น เน้นบทบาทของกองทัพในการปกป้อง “สาธารณรัฐสมัยใหม่ ที่ไร้ศาสนาแห่งชาติ และใช้ลัทธิชาตินิยมของ อัตตาเทอร์ค” มีการ “ห้าม” ไม่ให้แก้ไขสามมาตราดังกล่าวด้วย

หลังชัยชนะของพรรค AKP ในปี 2002 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งรอบแรกหลังยุคเผด็จการทหาร พวกนายพลพยายามใช้ศาลยุบพรรครัฐบาล และในปี2007 มีการพยายามใช้ศาลเพื่อห้ามไม่ให้คนจากพรรคนี้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี อย่างไรก็ตามกองทัพไม่ประสบความสำเร็จ และหลังจากนั้นรัฐบาลเริ่มดำเนินคดีกับพวกนายพลที่พยายามล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผลคืออิทธิพลของกองทัพในการเมืองลดลง และการทำรัฐประหารยากขึ้น แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าทหารหมดอำนาจโดยสิ้นเชิง

ในหลายๆ แง่รัฐบาลพรรค AKP ไม่ต่างจากรัฐบาลอนุรักษ์นิยมคริสเตียนในยุโรปตะวันตก และนายทุนก็พึงพอใจกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ เศรษฐกิจตุรกีได้รับผลกระทบจากวิกฤษเศรษฐกิจโลกบ้างแต่ไม่มากเท่าเขตยูโร และการปฏิวัติในตะวันออกกลางในสองสามปีที่ผ่านมา มีผลให้ตุรกีขยายอิทธิพลในการเมืองระหว่างประเทศได้

ความขัดแย้งระหว่างกองทัพและรัฐบาลในหลายปีที่ผ่านมา เป็นความขัดแย้งภายในรัฐ ซึ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ถูกกดขี่เริ่มแสดงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะชาวเคอร์ด ซึ่งตอนนี้กำลังเจรจาทำข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาล รัฐบาลเองก็ถูกกดดันให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการที่กดขี่ชาวเคอร์ด เช่นกฏหมายที่ห้ามไม่ให้เขาพูดภาษาของตนเองเป็นต้น ฝ่ายนายทุนและประชาชนส่วนใหญ่ก็ต้องการเห็นสันติภาพด้วย แต่พรรคฝ่ายค้าน CHP ที่เน้นแนวคลั่งชาติไม่พอใจ

 

ไทยกับตุรกี

เมื่อเราศึกษาสถานการณ์ในตุรกี เราจะเห็นหลายเรื่องที่มีลักษณะคล้ายไทย เพราะในทั้งสองประเทศผู้รักประชาธิปไตยกำลังต่อสู้กับอิทธิพลของเผด็จการทหาร และในทั้งสองประเทศฝ่ายที่สนับสนุนเผด็จการคือพวกคนชั้นกลางและคนรวยที่อ้างว่า “รักประชาธิปไตย” และต้องการ “ปกป้องสถาบันศักดิ์สิทธิ์” ในตุรกีสถาบันศักดิ์สิทธิ์คือ “ลัทธิชาตินิยมไร้ศาสนาของอัตตาเทอร์ค” ในทั้งสองประเทศมีความพยายามที่จะใช้ศาลเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในมุมกลับรัฐบาลดังกล่าว คือเพื่อไทยในไทย และ AKP ในตุรกี ไม่ใช่รัฐบาลก้าวหน้าที่พร้อมจะสร้างความเท่าเทียมทางสังคม และปฏิรูประบบอย่างแท้จริง  และทั้งในไทยและตุรกี คนจนส่วนใหญ่เลือกรัฐบาลดังกล่าวที่มีอิทธิพลของกลุ่มทุน เพราะคนจนหรือกรรมาชีพยังไม่ได้สร้างพรรคทางเลือกที่เข้มแข็งพอ

ประเด็นเสรีภาพของคนเชื้อชาติหลากหลายมีความสำคัญและนำไปสู่สงคราม ในตุรกีจะเป็นสงครามระหว่างรัฐกับชาวเคอร์ด ในไทยจะเป็นสงครามระหว่างรัฐกับชาวมุสลิมมาเลย์แห่งปัตตานี ในทั้งสองประเทศจะต้องมีข้อตกลงทางการเมือง ไม่ใช่เน้นการทหาร และประชาชนทุกเชื้อชาติต้องสนับสนุนเสรีภาพของทุกฝ่าย โดยไม่คลั่งชาติหรือปกป้องพรมแดนเพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครอง

จุดยืนของฝ่ายซ้ายในตุรกีหรือไทย ควรจะเป็นการร่วมต่อสู้ในขบวนการของมวลชนเมื่อมีข้อเรียกร้องเพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและลดอิทธิพลของทหาร ดังนั้นเราร่วมกับพี่น้องเสื้อแดงในไทย และฝ่ายซ้ายในตุรกีต้องยืนเคียงข้างมวลชนที่ปะทะกับรัฐบาลในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามเราจะไม่คล้อยตามพรรคเพื่อไทยหรือแกนนำ นปช. เมื่อมีการหักหลังวีรชนและนักโทษการเมือง หรือเมื่อมีการหันหลังกับผลประโยชน์ของคนจน เช่นในเรื่องสาธารณสุข สิทธิแรงงาน หรือรัฐสวัสดิการ ในตุรกีสถานการณ์ไม่เหมือนไทยในทุกเรื่อง แต่ฝ่ายซ้ายจะต้องแยกตัวออกและแข่งแนวทางความคิดอย่างชัดเจนจากพวกคลั่งชาติที่จับมือกับทหาร เพราะพวกนี้หวังนำมวลชนไปในทางที่ผิด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

24 ปีเหตุการณ์เทียนอันเหมิน จีนแบน 'เป็ดเหลืองยักษ์' หลังถูกใช้เป็นภาพล้อขบวนรถถัง

$
0
0

ในวาระครบรอบ 24 ปี เหตุการณ์การปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มิ.ย.ปีนี้ คำว่า "เป็ดเหลืองยักษ์" ถูกเพิ่มเข้าไปในคำที่ต้องบล็อคในระบบค้นหาด้วย หลังมีผู้ใช้เว็บเวยป๋อ ไมโครบล็อกของจีน โพสต์ภาพล้อเหตุการณ์ชายนิรนามยืนขวางขบวนรถถัง โดยแทนภาพรถถังด้วยเป็ดเหลืองยักษ์ ผลงานของศิลปินชาวดัตช์  ฟลอเรนติน ฮอฟแมน ซึ่งตอนนี้จัดแสดงอยู่ที่ฮ่องกง


ภาพที่ถูกแชร์ในเวยป๋อ
 

ขณะที่ในช่วงเวลารำลึกเหตุการณ์ มักมีการชักชวนให้จุดเทียนไว้อาลัย @Edourdoo ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งระบุว่า ก่อนวันครบรอบเหตุการณ์สังหารหมู่เทียนอันเหมิน เว็บท่า ซิน่า เวยป๋อ ได้เอาอิโมติคอนรูปเทียนออกไป (ดูที่มุมล่างขวา)

#Tiananmen Massacre eve:Sina weibo temporarily removes the candle emoticon from its stock. pic.twitter.com/8NKNk8b5IQ

 


ภาพจาก https://twitter.com/Edourdoo/status/341552389192552448/photo/1


 

นอกจากนี้ @yifanxxx ผู้ใช้ทวิตเตอร์เผยแพร่ภาพของผู้ใช้เวยป๋อในการรำลึกถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมิน (8964 มาจาก ปี 1989 เดือน 6 วันที่ 4 ซึ่งเกิดการสังหารหมู่, AK47 คือปืนอาก้า ที่กองกำลังทหารยิงใส่ผู้ชุมนุม)


Another weibo photo remembering #tiananmen #june4 #1989 #8964 #64 pic.twitter.com/fwywhRiEoD


ภาพจาก https://twitter.com/yifanxxx/status/341807325423751168/photo/1
 

ด้านโกลบอลไทมส์ สื่อของรัฐบาลจีน ไม่ได้กล่าวถึงวันครบรอบดังกล่าว แต่ตีพิมพ์บทบรรณาธิการสองชิ้น อธิบายถึงความสำคัญของการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ ไชน่าดิจิตอลไทมส์ รายงานว่า ศัพท์ 118 คำที่ถูกบล็อคโดยระบบค้นหาของเวยป๋อเมื่อปี 2012 ในช่วงครบรอบเหตุการณ์สังหารหมู่ หลายคำถูกบล็อคอีกครั้งในปีนี้ โดยหลายคำเป็นคำที่พยายามหลบการเซ็นเซอร์ แต่ก็ยังโดน อาทิ 63+1 (เท่ากับ 64 หมายถึงเดือน 6 วันที่ 4), 65-1 (เท่ากับ 64), หกบวกสี่, หก 4, 6 สี่, แปดแปด (คูณกันได้ 64) นอกจากนี้ยังมีคำที่จะใช้กล่าวถึงการรำลึกด้วย เช่น 24 ปี (ครบรอบ 24 ปี) วันนี้ พรุ่งนี้ ปีนั้น วันนั้น วันพิเศษ  เป็นต้น

 


ที่มา:
Trying to remember Tiananmen
http://stream.aljazeera.com/story/201306041941-0022802

Sensitive Words: The Tiananmen Edition (Update)
http://chinadigitaltimes.net/2012/06/sensitive-words-the-tiananmen-edition/
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮ่องกงชุมนุมรำลึก 24 ปีสลายชุมนุม 'เทียนอันเหมิน'

$
0
0

จีนกักบริเวณฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และวางกำลังเข้มทั่วปักกิ่ง รับมือวันครบรอบ 24 ปีเหตุสลายชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ขณะที่ในฮ่องกงมีผู้ร่วมรำลึกเหตุสลายชุมนุมนับหมื่นที่วิคตอเรีย ปาร์ค

 

ชาวฮ่องกงหลายหมื่นคนมาชุมนุมที่สวนสาธารณะวิคตอเรีย ปาร์ค เพื่อรำลึกครบรอบ 24 ปี เหตุสลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1898 (ที่มา: Pacific Chillino/flickr.com/by-sa/2.0/)

 

ชาวฮ่องกงหลายหมื่นคนชุมนุมเมื่อคืนวานนี้ (4 มิ.ย.) ที่สวนสาธารณะวิคตอเรีย ปาร์ค เพื่อรำลึกครบรอบ 24 ปี เหตุทหารจีนสลายการชุมนุมผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2532 อย่างไรก็ตามแม้จะผ่านมานับ 2 ทศวรรษ แต่ทางการจีนก็ยังไม่ออกมาขอโทษ หรือยอมรับว่าได้เกิดอะไรขึ้น ไม่มีการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริง โดยมีเพียงตัวเลขประมาณการผู้เสียชีวิตระหว่าง 200 คนจนถึงหลายพันคน

โม จี้สือ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซึ่งยังคงอยู่ในปักกิ่ง กล่าวกับหนังสือพิมพ์เทเลกราฟว่า ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ประสบความสำเร็จในการลบเหตุการณ์ 4 มิถุนายนออกจากประวัติศาสตร์จีน "ผมไม่คิดว่าประวัติศาสตร์ช่วงนี้จะถูกลืมเลือนเมื่อเวลาผ่านไป เหตุการณ์นี้ได้แสดงให้เห็นถึงการกบฎของประชาชนที่มีต่อผู้นำเผด็จการ" เขากล่าว

นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ยังเรียกร้องรัฐบาลจีน "ให้ยุติการคุกคามต่อผู้ที่เข้าร่วมการประท้วง และรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อผู้ที่เสียชีวิต ถูกควบคุมตัว หรือสูญหาย" ขณะที่ฮิวแมนไรท์ ว็อทซ์ เรียกร้องให้ผู้นำใหม่ของจีนอนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมรำลึกการสังหารในวันที่ 4 มิถุนายนอย่างเปิดเผย เพื่อรับรอง "ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่มีต่อการสังหารหมู่พลเรือนที่ไม่มีอาวุธ"

 

ภาพคัดลอกจากวิดีโอเมื่อปี 2532 ของนางเผิง ลี่ หยวน ภรรยาของประธานาธิบดีจีน กำลังร้องเพลงขับกล่อมทหารจีน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมิน โดยภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ในไมโครบล็อกของจีน 'เว่ยป๋อ' และต่อมาบัญชีของผู้ใช้รายดังกล่าวก็ถูกลบออกไป (ที่มา: Ibtimes.com)

 

อย่างไรก็ตามทางการจีนได้เซ็นเซอร์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับจัตุรัสเทียน อัน เหมิน ออกไปจากอินเทอร์เน็ต โดยการค้นหาคำว่า "วันนี้" "วันพรุ่งนี้" "การสังหารหมู่" และ "จัตุรัส" ถูกบล็อค และข้อความที่เป็นนัยถึงวันที่ 4 มิถุนายน ก็ถูกทำให้หายไป ทั้งนี้เทเลกราฟของอังกฤษรายงานว่า บางทีแม้แต่การโพสต์ไว้เพียงไม่กี่วินาที และมีการลบภาพของนางเผิง ลี่ หยวน ภรรยาประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำของจีน ที่กำลังร้องเพลงขับกล่อมทหารกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการที่จัตุรัสเทียนอันเหมินด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากนี้ทางการจีนได้แบนคำว่า "เป็ดเหลืองยักษ์" หลังมีผู้ตัดต่อภาพ "Tank Man" ชายนิรนามที่ยืนขวางรถถัง แทนที่ด้วยภาพเป็ดเหลืองยักษ์ จากผลงานของศิลปินชาวดัตช์  ฟลอเรนติน ฮอฟแมน ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ฮ่องกง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทั้งนี้นักกิจกรรมชาวจีนมีการรณรงค์แบบออนไลน์ล่วงหน้าถึง 2 เดือน เรียกร้องให้มีการสวมเสื้อยืดสีดำและออกมาบนท้องถนนเพื่อเป็นการรำลึกเงียบถึงผู้เสียชีวิต โดยนายหู เจี้ย นักกิจกรรมชาวจีนผู้มีชื่อเสียง กล่าวว่า การสวมเสื้อสีดำ และเข้าร่วม "การเดินของพลเมือง" จะทำให้ประชาชนได้แสดงออกถึงความเสียใจ โดยที่ไม่ต้องเผชิญกับผลกระทบเหมือนกับการประท้วง

อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานการประท้วงในเมืองใหญ่ หรือที่ไหนเลยในแผ่นดินใหญ่ "ที่ปักกิ่งมีการรักษาการอย่างหนาแน่นในวันนี้" นายหูกล่าว "หากมีคนเกินสามคนสวมเสื้อดำรวมตัวกันจะถูกล้อมและห้ามปราม"

ทั้งนี้เทเลกราฟรายงานว่า ในเช้าวันอังคารนี้ จัตุรัสเทียน อัน เหมิน ยังคงเปิด แต่เต็มไปด้วยกองกำลังด้านความมั่นคงของจีน รวมทั้งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ และยังมีรายงานว่า มีผู้สื่อข่าวชาวฮ่องกงถูกควบคุมตัวประมาณ 1 ชั่วโมง และถูกสั่งให้ลบภาพที่บันทึกเอาไว้ นอกจากนี้เหตุไม่ปกติอีกอย่างก็คือ สถานที่บรรจุร่างของประธานเหมา เจ๋อ ตงวันนี้ได้ปิดทำการ โดยคนงานรายหนึ่งระบุว่าเนื่องจากมีการก่อสร้างถนน

ทั้งนี้ในรอบไม่กี่สัปดาห์ ทั่วประเทศจีนมีความพยายามกดดันต่อผู้ที่เข้าข่ายว่าจะสร้างปัญหา ทั้งนี้มีนักรณรงค์และผู้ต่อต้านรัฐบาลจีนจำนวนหนึ่งกล่าวว่าพวกเขาถูกกักบริเวณภายในบ้าน หรือถูกสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด ในขณะที่หมายเลขโทรศัพท์ของนักกิจกรรมหลายคนก็ไม่สามารถใช้การได้

สำหรับสื่อมวลชนในแผนดินใหญ่นั้นได้หลีกเลี่ยงการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 4 มิถุนายน อย่างไรก็ตามในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของจีน แต่ผ่อนปรนด้านสิทธิทางการเมืองนั้น สื่อมวลชนฮ่องกงได้สัมภาษณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบ หลังจากที่พวกเขาได้พูดถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเทียนอันเหมิน

ทั้งนี้ นี่เป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีจีน นายสี จิ้น ผิง ไม่อยู่ในประเทศจีนในช่วงครบรอบเหตุการณ์ 4 มิถุนายน โดยเขาอยู่ในระหว่างเยือนละตินอเมริกา แคริบเบียน และสหรัฐอเมริกา

ซึ่งนายหู เจี้ย นักกิจกรรมจีนกล่าวว่า "นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดของเขา (ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง) ที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาละเอียดอ่อน"

 

เรียบเรียงจาก Huge protests in Hong Kong on Tiananmen anniversary, Telegraph, By Tom Phillips, in Shanghai and Kathleen McLaughlin in Beijing, 04 Jun 2013

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แบรดลีย์ แมนนิง ให้ปากคำในศาล ต้องการเปิดเผยความโหดร้ายของสหรัฐ

$
0
0

แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง นายสิบตรีประจำการกองทัพสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ส่งข้อมูลลับของทางการให้วิกิลีกส์กำลังถูกดำเนินคดีในชั้นศาล โดยขณะที่นักวิชาการสหรัฐฯ ออกมาแสดงความกังวลเรื่องผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อ 


เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2013 ทางการสหรัฐฯ ได้เริ่มการดำเนินคดีในชั้นศาลกับแบรดลีย์ แมนนิ่ง ทหารสหรัฐฯ ที่ถูกจับกุมตัวเมื่อราวสามปีที่แล้วเนื่องจากเป็นผู้ทำให้ข้อมูลลับของทางการสหรัฐฯ รั่วไหลและถูกนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์วิกิลีกส์

เขาถูกตั้งข้อหา 22 กระทง ซึ่งแมนนิ่งยอมรับผิด 10 กระทง เว้นแต่ข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดคือ "ให้ความช่วยเหลือศัตรู" ซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะประกาศว่าจะไม่มีการลงโทษหนักสุดแต่แบรดลี่ย์ก็ยังมีโอกาสถูกสั่งจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการภาคทัณฑ์บน

การดำเนินคดีมีขึ้นที่ศาลทหาร ฟอร์ทมี้ด แมรี่แลนด์ โดยที่แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง ถูกกล่าวหาว่าได้ส่งข้อมูลโทรเลขทางการทูต 250,000 ข้อความ และรายงานจากพื้นที่สงคราม 500,000 ฉบับ จากสงครามอิรักและอัฟกานิสถานในช่วง ปี 2009 ถึง 2010

ในการดำเนินคดีเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา เริ่มต้นโดยการที่ร้อยเอก โจ มอร์โรว์ กล่าวต่อศาลว่า แมนนิ่งทำไปเพราะต้องการสร้าง "เรื่องอื้อฉาว" ขณะที่คำแถลงจากฝ่ายอัยการระบุว่าแมนนิ่งมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับจูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์จากการช่วยตัดต่อวิดีโอเฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐฯ โจมตีใส่พลเรือนในกรุงแบกแดด และศาลก็แสดงหลักฐานการแชทกันระหว่างแมนนิ่งกับอัสซานจ์

แบรดลีย์ แมนนิ่งกล่าวว่า ที่เขาปล่อยข้อมูลให้กับวิกิลีกส์เนื่องจากต้องการเผยให้เห็นความโหดเหี้ยมของกองทัพสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติอย่างไม่ใยดีต่อชีวิตมนุษย์ในอิรักและอัฟกานิสถาน โดยที่เขาไม่เชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวจะถือว่าเป็นภัยต่อสหรัฐฯ

สำหรับข้ออ้างเรื่องการให้ความช่วยเหลือศัตรูนั้น พันเอก เดนิส ลินด์ หนึ่งในผู้พิพากษาศาลอาญาทหารกล่าวว่าฝ่ายอัยการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง ได้ให้ข้อมูลด้านการข่าวอย่างจงใจแก่กลุ่มอัล-เคด้า แม้ว่าจะเป็นช่องทางอ้อมอย่างวิกิลีกส์ก็ตาม และตัวผู้ต้องหาเองต้องมี "เจตนาชั่วร้ายในแบบที่เขารู้ตัวว่าเขากำลังทำ"

ลอวเรนซ์ ไทรบ์ ศาตราจารย์ด้านกฏหมายรัฐธรรมนูญจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เคยสอนวิชากฏหมายแก่ปธน.โอบามา และเคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลโอบามาสมัยแรกแสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า การฟ้องร้องแมนนิ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

"การสั่งฟ้องบุคคลใดก็ตามด้วยข้อหาร้ายแรงอย่าง 'ให้ความช่วยเหลือศัตรู' โดยตัดสินจากข้อเท็จจริงเพียงแค่ว่าบุคคลผู้นั้นได้โพสต์ข้อความลงบนเว็บ และด้วยวิธีนี้ทำให้เขา 'ได้ให้ข้อมูลด้านการข่าวอย่างจงใจ' แก่ใครก็ตามที่สามารถเข้าถึงมันได้ เป็นการตัดสินที่อันตราย" ไทรบ์กล่าว

ลอวเรนซ์ ไทรบ์ กล่าวอีกว่ากรณีของแมนนิ่งจะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็น บรรยากาศที่ชวนให้รู้สึกไม่ปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต และอาจจะส่งผลเสียต่อเรื่องความมั่นคงของชาติในแบบที่มองไม่เห็น

ก่อนหน้านี้ในปี 1971 ก็มีชายผู้หนึ่งชื่อ แดเนียล เอลส์เบิร์ก ถูกกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้ปล่อยข้อมูลของกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ ในเรื่องสงครามเวียดนามให้กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ซึ่งปัจจุบันนี้คดีของเขาถูกยกเลิกไปแล้ว

แดเนียลบอกว่า การดำเนินคดีแมนนิ่งถือเป็นเรื่องหนักหนากว่าที่เขาเคยเจอมา เขายังบอกอีกว่ารัฐบาลโอบามาพยายามทำให้การรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนกลายเป็นอาชญากรรม และหากรัฐบาลยังทำเช่นนี้ต่อไปก็เป็นการยากที่จะเปิดโปงการทุจริตและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

 

ชวนย้อนดูข้อมูลที่แบรดลีย์เผยแพร่

นอกจากเรื่องการดำเนินคดีในศาลแล้ว แมนนิ่งก็ตกอยู่ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องข้อมูลลับทางราชการในยุคดิจิตอล และการต่อสู้ระหว่างกองทัพสหรัฐฯ และวิกิลีกส์

ขณะเดียวกันก็มีปฏิกิริยาหลากหลายในเรื่องนี้ บ้างก็อ้างว่าข้อมูลจากโทรเลขทางการทูตบางอย่างก็เป็นแค่เรื่องซุบซิบนินทา และข้อมูลสงครามก็ช่วยยืนยันสิ่งที่พวกเราสงสัยกันอยู่แล้ว ขณะที่คนอื่นๆ เช่นผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง เกลน กรีนวัลด์ กล่าวว่าข้อมูลที่รั่วไหลได้เผยให้เห็นถึงความฉ้อฉลหลอกลวง ความโหดเหี้ยม และอาชญากรรมของฝ่ายสหรัฐฯ

ซึ่งทางเว็บไซต์ Channel4 ก็ได้ย้อนนำเสนอข้อมูลที่รั่วไหลบางส่วนและผลกระทบ

กรณีแรกคือข้อมูลที่วิกิลีกส์ตั้งชื่อว่า "Collateral Murder" ซึ่งเผยแพร่ภาพวิดีโอทีมทหารอากาศของสหรัฐหัวเราะหลังจากที่ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศได้คร่าชีวิตประชาชนไปสิบกว่าคน รวมถึงผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ชาวอิรักสองคน วิดีโอคลิปนี้เชื่อว่าเป็นวิดีโอคลิปตัวแรกที่พลทหารแมนนิ่งปล่อยออกมาในเดือน เม.ย. 2010 และทำให้ทราบว่ากองทัพสหรัฐฯ พยายามปกปิดข้อมูลเรื่องการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวและประชาชน

กรณีต่อมาคือ ตัวเลขการเสียชีวิตของพลเรือน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการอ้างว่าไม่มีบันทึกตัวเลขประชาชนผู้ถูกสังหารจากปฏิบัติการในอิรัก แต่ในข้อมูลที่เผยแพร่จากแมนนิ่งไปสู่วิกิลีกส์ทำให้ทราบว่า มีบัญชีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการในอิรักอยู่จริง

โดยจากข้อมูลระบุว่า มีผู้เสียชีวิตราว 109,000 คน จากปฏิบัติการ 6 ปีในอิรัก ในจำนวนนั้นมี 66,081 คนที่เป็นพลเรือนไม่มีอาวุธ ซึ่งองค์กร Iraq Body Count ของอังกฤษก็ได้ระบุตัวตนของพลเรือนผู้เสียชีวิตได้ 15,000 คน จากข้อมูลที่รั่วไหลจากบันทึกสงคราม

กรณี่ต่อมาคือเรื่องการทรมาน ข้อมูลจากบันทึกสงครามในอิรักยังได้เปิดเผยหลักฐานแสดงการทรมานผู้ต้องขัง โดยที่สำนักงานข่าวสืบสวนสอบสวนได้ทำการวิเคราะห์แฟ้มข้อมูล 400,000 แฟ้ม จนกระทั่งพบเอกสารลับที่เผยให้เห็นการใช้กำลังกับผู้ต้องขังชาวอิรัก แม้กระทั่งหลังจากเกิดกรณีอื้อฉาวในเรือนจำอาบู การิบ*

โดยรายงานดังกล่าวพูดถึงการที่ทหารและนาวิกโยธินสหรัฐฯ ใช้กำลังกับผู้ต้องขัง บังคับให้พวกเขาขุดหาระเบิดที่ทำขึ้นเอง และการกระทำทารุณอื่นๆ

มีเหตุการณ์หนึ่งถูกบันทึกเมื่อปี 2007 ผู้ต้องขังรายหนึ่งเปิดเผยว่าเขาถูกแทงด้วยไขควงที่ด้านขวาและส่วนบนของหลัง ถูกจับเฆี่ยนด้วยสายไฟและสายยางที่แขน ขาและหลัง ถูกจับช็อตไฟฟ้า และถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยสายยางฉีดน้ำ

มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าตกใจพอๆ กับเรื่องการทรมานคือการที่มีรายงานเรื่องการใช้กำลังกับชาวอิรักแต่ไม่มีการสืบสวนเรื่องดังกล่าว มีแฟ้มข้อมูลเปิดเผยว่าทางการสหรัฐฯ ล้มเหลวในการสืบสวนข้อมูลรายงานเรื่องการที่ตำรวจอิรักทรมานและกระทั่งสังหารผู้คน มีคดีราว 1,300 คดีเกี่ยวกับการทรมานและล่วงละเมิดผู้ต้องขังชาวอิรักในสถานีตำรวจและในฐานทัพโดยชาวอิรักด้วยกันเอง

ข้อมูลบ่งชี้ว่า กองกำลังผสมที่เข้าร่วมสงครามอิรักได้รับทราบหรือได้รายงานเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุบตี, การใช้ไฟฟ้าช็อต, การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งทั้งหมดนี้มีการบันทึกเป็นรายวัน แต่ก็มีคำสั่งทหารที่มอบให้กับกองทัพสหรัฐฯ สองฉบับหลังจากเหตุการณ์เรือนจำอาบู การิบ ที่บอกว่าพวกเขาต้องรายงานเรื่องการล่วงละเมิดที่เกิดจากชาวอิรักด้วยกันเอง แต่ถ้าหากว่ากองกำลังผสมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่จำเป็นต้องมีการสืบสวนต่อจากนั้น

อีกกรณีหนึ่งคือเรื่องที่รั่วจากข้อมูลทางการทูต เผยให้เห็นว่าบริษัท DynCorp ซึ่งเป็นบริษัทการทหารภายใต้การจ้างวานของกลาโหมสหรัฐฯ ได้มีส่วนพัวพันกับการค้ามนุษย์ที่เป็นเด็ก และมีการนำเด็กผู้ชายหลายคนที่ถูกซื้อตัวจากผู้ค้ามนุษย์มาเป็นผู้ให้ความบันเทิงแก่เจ้าหน้าที่ทหารเกณฑ์ชาวอัฟกัน

การเปิดเผยในเรื่องดังกล่าว ทำให้มีการเรียกร้องให้มีการนำเหล่าผู้ถูกจ้างวานออกจากประเทศอัฟกานิสถาน


เชิงอรรถ

*กรณีเรือนจำ อาบู การิบ เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2003 ถึง ต้นปี 2004 โดยทหารในเรือนจำดังกล่าวกระทำทารุณทางร่างกาย จิตใจ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้ต้องขัง


เรียบเรียงจาก

What did WikiLeaks and Bradley Manning do for us?, Channel4, 03-06-2013

Bradley Manning trial begins three years after arrest, The Guardian, 03-06-2013

Bradley Manning trial 'dangerous' for civil liberties – experts, The Guardian, 03-06-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธานนสพ.โลกร่วมถกปัญหากม.หมิ่นกับยิ่งลักษณ์

$
0
0

ประธานนสพ.โลกเผยได้คุยปัญหากม.หมิ่นกับนายกฯ โดยยิ่งลักษณ์รับมีปัญหาจริงแต่กระบวนการแก้ยาก ในขณะที่ภรรยาสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่ประธานสมาคมฯ คนใหม่ ร้องหนุนนายกฯ ผ่านกม.นิรโทษกรรม

5 มิ.ย. 56 - ที่งานประชุมสภาหนังสือพิมพ์โลกครั้งที่ 56 (World Newspaper Congress) ณ โรงแรมแกรนด์เซ็นทารา นายจาคอบ แมทธิว ประธานสมาคมสื่อหนังสือพิมพ์และผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์โลก เปิดเผยแก่ผู้สื่อข่าวประชาไทว่า วานนี้ หลังจากที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้กล่าวปาฐกถาในการประชุมสภาหนังสือพิมพ์โลก ตนได้พูดคุยกับนายกฯ เรื่องปัญหาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ขัดต่อหลักเสรีภาพสื่อในประเทศไทย 
 
นายจาคอบ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีระบุว่า รับทราบแล้วว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกใช้ในทางที่ผิด แต่ด้วยกระบวนการทางกฎหมายที่ซับซ้อน ทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่รับว่ากำลังดำเนินการอยู่ 
 
ในขณะเดียวกัน สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารนิตยสารที่ถูกตัดสินจำคุก 11 ปี ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่นายแลรี่ คิลแมน ประธานสมาคมฯ คนใหม่ที่ได้รับตำแหน่งในวันนี้ โดยนอกจากจะกล่าวถึงผลกระทบของมาตรา 112 ต่อเสรีภาพของนักข่าว ยังระบุถึงการขอการสนับสนุนในประเด็นเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อปลดปล่อยนักโทษการเมืองและนักโทษมโนธรรมสำนึก และให้ศาลอาญาให้การประกันตัวผู้ต้องขังอย่างเป็นธรรม
 

(จากซ้ายไปขวา) จาคอบ แมทธิว, สุวรรณา ตาลเหล็ก, สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข, แลรี่ คิลแมน
 
นายแลรี่กล่าวว่า ทางสมาคมฯ สนใจเป็นอย่างมากถึงกรณีปัญหามาตรา 112 โดยได้ส่งจดหมายเพื่อย้ำถึงประเด็นนี้ถึงนายกรัฐมนตรี และหวังว่าจะสามารถส่งแรงกดดันต่อปัญหาดังกล่าวได้
 
สุวรรณา ตาลเหล็ก แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย ยังได้แจกจ่ายเอกสารดังกล่าวรวมถึงข้อมูลกรณีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุขให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมงานบางส่วนด้วย โดยในงานมีบุคลากรด้านสื่อสารมวลชน ทั้งบรรณาธิการ ผู้สื่อข่าว และนักโฆษณาเข้าร่วมราว 1,000 คน 
 
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา นสพ.บางกอกโพสต์และเดอะเนชั่นได้รายงานว่า นายจาคอบ แมทธิว ได้กล่าวระหว่างการประชุมว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว และขัดกับหลักเสรีภาพสื่อ และแสดงความกังวลต่อการจับกุมบรรณาธิการ ผู้ทำสื่อสิ่งพิมพ์ และนักข่าวด้วยมาตรา 112 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"สม รังสี" ถูกห้ามเข้าไทย-หลังเตรียมเปิดตัวหนังสือที่ FCCT

$
0
0
ผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา "สม รังสี" ถูกทางการไทยส่งตัวกลับ - หลังเข้าประเทศเพื่อเตรียมเปิดตัวหนังสือและถกเรื่องการเมืองกัมพูชาที่ FCCT เย็นนี้ โดยเปลี่ยนเป็นการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เข้ามาแทน ขณะที่ทั้งนักการทูตไทยและกัมพูชา รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศของไทยต่างปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องนี้

นายสม รังสี นักการเมืองฝ่ายค้านชาวกัมพูชา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างลี้ภัยการเมืองได้พบปะผู้สนับสนุนของเขาที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อ 2 มิ.ย. ล่าสุดเขาถูกห้ามเข้าประเทศไทยและถูกส่งกลับ หลังมีกำหนดจะเข้ามาเสวนาและเปิดตัวหนังสือ "We Didn't Start the Fire: My Struggle for Democracy in Cambodia" ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เวลา 19.00 น. วันนี้ (5 มิ.ย.) โดยต้องเปลี่ยนเป็นการเสวนาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เข้ามาในที่ประชุมแทน (ที่มา: เฟซบุค Sam Rainsy)

ป้ายพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่หน้าสำนักงานสาขาพรรคย่านบึงกัก กรุงพนมเปญ ภาพนี้ถ่ายในเดือนพฤศจิกายนปี 2555 ทั้งนี้ พรรคประชาชนกัมพูชาเป็นพรรครัฐบาลที่ครองอำนาจในกัมพูชามาอย่างยาวนานตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ขณะที่นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาประกาศว่าจะครองอำนาจไปอีก 30 ปี (ที่มา: ประชาไท)

 

นายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา พรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งมีกำหนดเสวนาและเปิดตัวหนังสือ "เราไม่ใช่ตัวปัญหา: การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกัมพูชาของข้าพเจ้า" (We Didn't Start the Fire: My Struggle for Democracy in Cambodia) ในเวลา 19.00 น. วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCTนั้น มีรายงานว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ไทยห้ามไม่ให้เข้าประเทศและถูกส่งกลับ

โดยนายสม รังสี ให้สัมภาษณ์ พนมเปญโพสต์จากสิงคโปร์เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.) ว่าเขาถูกส่งกลับโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง "พวกเขาบอกผมว่า ผมสามารถเข้ามาได้ภายหลังการเลือกตั้ง (ของกัมพูชา)" อย่างไรก็ตาม นายสม รังสี ไม่ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมโดยระบุว่ากำลังยุ่ง

ทั้งนี้ในเว็บของ FCCT ระบุว่า กิจกรรมเสวนาและเปิดตัวหนังสือดังกล่าว เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้สนับสนุนให้จัดโดย FCCT แต่ผู้จัดกิจกรรมเป็นผู้เช่าสถานที่ และขณะนี้ยังไม่มีการเผยแพร่แถลงการณ์ใดๆ ออกมาจาก FCCT ขณะที่ผู้สื่อข่าวซึ่งโทรศัพท์ไปสอบถาม ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ FCCT ว่ากำหนดการเสวนาและเปิดตัวหนังสือยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม แต่เปลี่ยนเป็นการเสวนาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เข้ามาในที่ประชุมแทน

ด้านนายจอร์จ แมคคลาวด์ กรรมการบริหาร FCCT ระบุว่า ทางสมาคมได้รับแจ้งว่าการปฏิเสธดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่ไม่อนุญาตให้มีกิจกรรมทางการเมืองของชาวต่างประเทศภายในประเทศ

ทั้งนี้ตามกำหนดการเดิม ประเด็นที่นายสม รังสีกับเสวนาจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความยากจนในประเทศ การคอรัปชั่น ความไม่ยุติธรรมในประเทศ และถกเถียงในเรื่องการปฏิรูปด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจอย่างแท้จริงในกัมพูชา

โดยขณะนี้นายสม รังสี อยู่ระหว่างลี้ภัยที่ฝรั่งเศส หลังถูกเล่นงานทางการเมือง จนทำให้เขาถูกศาลตัดสินจำคุก 12 ปี และถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปกัมพูชาที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ ขณะเดียวกันเขาได้เดินทางไปในสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เพื่อทำการอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันในกัมพูชา และเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา เขาเพิ่มเดินทางไปปราศรัยกับผู้สนับสนุนของเขาที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ทั้งนี้การเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชา มีกำหนดจัดในวันที่ 28 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ โดยปัจจุบัน พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) นำโดยนายฮุน เซ็น ครองเสียงข้างมากอยู่ในสภาโดยมี ส.ส. 90 คน ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ที่มีนายสม รังสี เป็นผู้นำ ขณะนี้มีเสียงในสภา 26 ที่นั่ง

สำหรับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เดิมชื่อพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (KPRP) ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2524 โดยนายฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ปกครองกัมพูชามาอย่างยาวนานกว่า 27 ปี และประกาศว่าจะอยู่ในอำนาจอีก 30 ปี ส่วนพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) เกิดจากการรวมกันของพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา 2 พรรคคือพรรคสม รังสี และพรรคสิทธิมนุษยชนตั้งแต่กลางปี 2555 และจะร่วมกันแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคมนี้

ส่วนปฏิกิริยาของนักการทูตนั้น พนมเปญโพสต์ รายงานว่า นางยู ออย เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำกรุงเทพมหานคร ได้หัวเราะและวางสายโทรศัพท์ หลังผู้สื่อข่าวพนมเปญโพสต์โทรศัพท์ไปสอบถาม ขณะที่นายนายธัชชยุติ ภักดี เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญระบุว่าเขาไม่ทราบเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น

โดย พนมเปญโพสต์ ได้สัมภาษณ์ความเห็นของเคม เล นักวิเคราะห์การเมืองชาวกัมพูชา ซึ่งเห็นว่าปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินของไทยน่าจะรวมถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน และอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ยังมีเรื่องความตึงเครียดตามแนวชายแดน รวมทั้งความพยายามล่าสุดของรัฐบาลกัมพูชาที่พยายามเชื่อมโยงกลุ่มของนายสม รังสีกับกลุ่มก่อการร้าย

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า อนึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายนปี 2553องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส คือ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Federation for Human Rights: FIDH) และคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเวียดนาม (the Vietnam Committee on Human Rights: VCHR) ได้จองห้องของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เพื่อจัดการแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน "จากวิสัยทัศน์สู่ความเป็นจริง: สิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ภายใต้การเป็นประธานอาเซียน 2010"

อย่างไรก็ตาม นายธานี ทองภักดี รักษาการอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นได้ขอให้ FCCT ยกเลิกการแถลงข่าวดังกล่าว และขอให้ FCCT ทีสื่อสารกับองค์กรดังกล่าวว่า ประเทศไทยตั้งใจจะระงับการออกวีซ่าให้แก่ผู้ร่วมแถลงข่าว แต่ทาง FCCT ปฏิเสธที่และว่าการแถลงข่าวครั้งนี้เป็นการเช่าสถานที่ FCCT ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุน และออกแถลงการณ์ที่หน้าเว็บด้วยว่า FCCT ทีเองก็ให้ความสำคัญกับหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและความหลากหลายทางความคิด และขอให้รัฐบาลไทยทบทวนวิธีการ อย่างไรก็ตามองค์กรผู้จัดงานก็ได้ยกเลิกการแถลงข่าว โดยให้เหตุผลกับ FCCTว่า ทางการไทยปฏิเสธที่จะออกวิซ่าให้ผู้แถลงข่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TDRI แนะรัฐใช้ความรอบคอบจัดโครงสร้างเงินอุดหนุนด้านพลังงาน

$
0
0

เมื่อเร็ว ๆ นี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ร่วมกับ International Institute for Sustainable Development (IISD) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Civil Society Workshop on Fuel and Electricity Subsidies” โดยมีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปการอุดหนุนพลังงานของประเทศไทย จากผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม

คณะวิจัยจาก IISD และ ทีดีอาร์ไอ ได้นำเสนอภาพรวมความเข้าใจต่อการอุดหนุนพลังงานโดยระบุว่า ประเทศไทยมีการใช้พลังงานค่อนข้างสูง โดยมีการนำไปใช้ในภาคครัวเรือน ขนส่ง อุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้า  สำหรับโครงสร้างราคาพลังงานนั้น จากจุดเริ่มต้นที่ราคาหน้าโรงกลั่น ภาคปิโตรเคมีจ่ายเพิ่มเพียงภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.63%  ขณะที่ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม มีภาระต้องที่ต้องจ่ายเพิ่มคือภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล เงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าการตลาด ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการอุดหนุนราคาพลังงานหลายตัวทั้งแอลพีจี  เอ็นจีวี ดีเซล  ค่าไฟฟ้า และเอทานอล  จึงทำให้ราคาขายปลีกในแต่ละภาคการใช้งานมีความแตกต่างกัน   และยากที่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะจะกระทบกับผู้มีรายได้น้อย  

ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า  การออกแบบโครงสร้างภาษีและเงินอุดหนุนพลังงานต้องมีเป้าหมายในการออกแบบ 3 เรื่องคือ

1. ลดการนำเข้าพลังงานให้น้อยลง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องพึ่งพาหรือผูกติดกับความผันผวนในตลาดโลก

2. หลีกเลี่ยงหรือลดการใช้พลังงานฟอสซิลฟิวด์ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่สามารถทดแทน ไปเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือชีวมวล เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

3. โครงสร้างราคาหรือการสนับสนุนผู้มีรายได้น้อย เช่น การใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับบ้านที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน

ในส่วนของเป้าในการลดความผันผวนจากราคาน้ำมันในตลาดโลกนั้นจากการลดการนำเข้าน้ำมันแล้วผลิตน้ำมันเอง แล้วจะส่งผลให้เราปลอดจากปัญหาราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนนั้นมองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะราคาน้ำมันภายในประเทศจะผันผวนตามราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วหากราคาพลังงานในตลาดโลกแพงขึ้น

แต่เป้าหมายที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และหันมาสนับสนุนพลังงานจากชีวภาพ หรือชีวมวล ซึ่งอาจมีข้อจำกัด เพราะในส่วนของธุรกิจน้ำมันที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว นักธุรกิจอาจจะอยากทำการค้ากับน้ำมันตัวเดิม เนื่องจากมีฐานธุรกิจเดิมอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น การยกเว้นค่าไฟฟ้าและน้ำประปาให้กับผู้ที่ใช้ไม่เกินจากที่รัฐบาลกำหนดไว้นั้นถือเป็นแนวคิดที่ดีและควรทำต่อไป แต่ก็จำเป็นต้องหามาตรการที่ดีเพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง

ดร.อดิศร์  แนะนำว่า สำหรับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยรัฐบาลอาจจะออกนโยบายที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่แท้จริงผ่านการกรอกแบบฟอร์มภาษี ซึ่งทำได้ทั้งน้ำมัน ค่าไฟ และเรื่องอื่น ๆ ก็ให้การช่วยเหลือได้โดยทำให้อยู่ในแบบฟอร์มภาษีกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตามในเรื่องของเงินอุดหนุนพลังงานเป็นเรื่องที่ล่อแหลม ในทางเศรษฐกิจอาจจะนำไปสู่ความบิดเบือนเพราะจะจูงใจให้คนใช้พลังงานตัวนั้นเยอะขึ้น และมีปัญหาในเชิงธุรกิจแอบแฝง ซึ่งในหลายประเทศนั้นการกำหนดนโยบายสาธารณะนั้นจะไม่อยากเห็นเงินอุดหนุนเท่าไรนัก เพราะเมื่อมีการอุดหนุนก็เหมือนกับเป็นการกระตุ้นพลังงานตัวนั้น  ทำให้มีการนำเข้าและผลิตมากขึ้น นอกจากนี้ก็จะข้อครหาได้หากคนในภาครัฐเข้าไปมีส่วนในธุรกิจพลังงานนั้นด้วย ก็เป็นเหมือนการให้เงินช่วยเหลือพวกพ้องในการทำธุรกิจ นอกจากนี้การให้เงินอุดหนุนอาจเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมเพื่อเอาใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้การให้เงินอุดหนุนพลังงานต้องเป็นนโยบายที่ต้องดำเนินไปด้วยความระมัดระวัง

Ms. Tara Laan

ด้าน Ms. Tara Laan จากสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Institute for Sustainable Development หรือ IISD)กล่าวว่า การอุดหนุนราคาพลังงานนั้น ทางภาครัฐได้มองประเด็นนี้มานานแล้ว แต่มีกระบวนการที่ค่อนข้างยาก และไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกประเทศ ต้องยอมรับว่าในต่างประเทศที่เขาประสบความสำเร็จแล้วนั้นต้องผ่านอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านของภาคประชาชน เพราะฉะนั้นหากภาครัฐต้องการดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน จะต้องมีมาตรการเยียวยาและปกป้องผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งถ้าหากจะเปรียบเทียบประเทศไทยกับต่างประเทศนั้นค่อนข้างยากเพราะแต่ละประเทศมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่จากการรวบรวมของ IISD พบว่า ในประเทศไทยยังมีสัดส่วนในการสนับสนุนเงินอุดหนุนพลังงานติดอันดับ 20 ประเทศที่มีการสนับสนุนค่อนข้างสูง การแก้ปัญหาพลังงานนั้นนอกจากลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานให้น้อยลง เพิ่มการใช้เพลังงานทางเลือกที่ผลิตได้เองมากขึ้น และเพื่อให้ได้ผลควรทำไปพร้อมกับการออกแบบระบบภาษีให้มีประสิทธิภาพและการอุดหนุนราคาพลังงานเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น

 อย่างไรก็ตามส่วนที่สำคัญคือการสร้างความตระหนัก สร้างความเข้าใจของประชาชนต่อการอุดหนุนพลังงาน ซึ่งก็ถือเป็นจุดประสงค์ที่ทางเราได้ผลิตหนังสือ A Citizens’ Guide to Fossil-Fuel Subsidy Reform“ ซึ่งเป็นเรื่องของการอุดหนุนพลังงาน โดยหวังว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อธิบดี DSI แถลงเตรียมสั่งฟ้อง อภิสิทธิ์-สุเทพ คดีเหยื่อกระสุน พ.ค.53 ศุกร์นี้

$
0
0

ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(แฟ้มภาพ/ประชาไท)

5 มิ.ย.56 - มติชนออนไลน์รายงาน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.ฐานก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล กรณีการเสียชีวิต ของนายพัน คำกอง / เด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา และฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นพยายามฆ่า นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส จากการเข้าควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ว่า พนักงานสอบสวนเตรียมสรุปสำนวนคดี พร้อมความเห็นสั่งฟ้องในวันศุกร์นี้ เวลา 16 นาฬิกา ซึ่งถือเป็นการปิดสำนวนคดีแรกเกี่ยวกับการเสียชีวิตของกลุ่มคนเสื้อแดง

ขณะเดียวกัน นายธาริต ยังกล่าวถึง กรณีการส่งสำนวนการเสียชีวิตของกลุ่มคนเสื้อแดง อีก 3 ศพ ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลทำการสืบสวนและชันสูตรพลิกศพ หาหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งรวมกับของเดิมที่ก่อนหน้านี้ดีเอสไอได้ส่งให้แล้วเป็น 39 ศพ แล้ว

ส่วนกรณีที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีภาพผู้ต้องสงสัยเป็นผู้วางเพลิงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์รวม 31 รายซึ่งสามารถยืนยันใบหน้าชัดเจนได้เพียง 6 ราย นั้นขณะนี้ ดีเอสไอ ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ตรวจสอบแล้ว

ขณะที่ Voice TVรายงานด้วยว่า  ดีเอสไอ ได้ส่งสำนวนการชันสูตรพลิกศพ นายอินแปลง เทศวงศ์ นายเสน่ห์ นิลเหลือง และนายวุฒิชัย วราห์คัม ซึ่งเสียชีวิตที่บริเวณถนนพระราม 4 ให้พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพิ่มเติมจาก 36 ศพก่อนหน้านี้ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนไต่สวนหาสาเหตุการตายต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจรจาปมที่ดินสุราษฎร์ฯ คืบ ตั้งคณะกรรมการร่วมฯ แต่ม็อบยังปักหลักศาลากลาง

$
0
0

กลุ่มผู้เรียกร้องที่ดินทำกินจาก 18 เครือข่าย ปักหลักชุมนุมหน้าศาลากลาง จ.สุราษฎร์ ต่อเนื่อง รอดูเอกสารสรุปการประชุม ฟังผล 3 ข้อ ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบ-สัมมนาเชิงปฏิบัติการ-ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษามติ ครม.26 ส.ค.46

 
 
วันนี้ (5 มิ.ย.56) ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นประธานการประชุมร่วมกลุ่มผู้เรียกร้องที่ดินทำกินจาก 18 เครือข่ายองค์กร จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 27 คน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
จากกรณีที่ กลุ่มผู้เรียกร้องที่ดินทำกินจาก 18 เครือข่ายองค์กร ประมาณ 1,000 คน ปักหลักชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกร้องที่ดินทำกิน ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแสดงพลังยืนหยัดขอที่ดินทำกินจากรัฐบาลซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลายาวนาน ขณะที่แกนนำส่วนหนึ่งเดินทางจาก จ.สุราษฎร์ธานีเข้าร่วมเจรจากับตัวแทนรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาที่กรุงเทพมหานคร
 
ผลการเจรจาตกลงตามที่เสนอทั้ง 3 ข้อ คือ 1.ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการที่ดินเชิงระบบแบบบูรณาการ จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีตัวแทนกลุ่มผู้เรียกร้องที่ดินทำกินจาก 18 เครือข่ายองค์กร เข้าร่วมโดยเท่าเทียม 2.จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องสภาพปัญหาที่ดินและแนวทางการบริหารจัดการแบบบูรณาการ 3.ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษามติ ครม.26 ส.ค.46 ที่ให้นำที่ดินที่หมดสัญญาเช่าจากนายทุนมาดำเนินจัดสรรให้ประชาชนไม่มีที่ดินทำกิน
 
สำหรับการชุมนุมบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ รายงานว่า ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักอยู่ต่อไป เพื่อรอผู้แทนที่เข้าร่วมเจรจากับรัฐบาลกลับไปรายงานผลการประชุมพร้อมเอกสารสรุปให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้รับทราบโดยตรง จึงจะไว้วางใจและสลายการชุมนุม
 
ทั้งนี้ ผู้ชุมนุม จาก 18 เครือข่ายองค์กร เสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อ คือ ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกร ตามที่เคยแถลงไว้ในนโยบายของรัฐบาล ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคยตกลงไว้กับทาง จ.สุราษฎร์ธานี ในการชุมนุมก่อนหน้านี้หลายครั้ง โดยเฉพาะการเรียกร้องให้โยกย้าย นางสุวรรณา ทรัพย์มี ธนารักษ์พื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี จากเหตุผลปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เข้าข้างนายทุน รังแกชาวบ้าน
 
อีกทั้ง ให้ตั้งกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหา โดยให้ภาคประชาชนเป็นกรรมการร่วม และให้การเปิดเผยสัญญาเช่าที่ดินของรัฐทุกแปลงต่อสาธารณชน ในระหว่างการเจรจาและแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ห้ามดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักการศึกษาอุบลฯ-ผู้ปกครอง ค้านยุบรวมโรงเรียน หวั่นกระทบเด็ก-ชุมชน

$
0
0


                

5 มิ.ย.56 ที่ศูนย์อาหาร Citymall โรงแรมสุนีย์ แกรนด์แอนคอนเวนชั่นเซนเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี  โดยโครงการสะพานจากการสนับสนุนของ USAID เชิญนักการศึกษาทั้งเอกชนและรัฐถกนโยบายยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กได้หรือเสีย โดยมีผู้ปกครอง อดีตผู้บริหารสถานศึกษา ประชาชนทั่วไปสนใจร่วมรับฟัง

นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการได้สอบถาม ดร.อภิสิทธิ์ บุญยา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 ถึงความจำเป็นที่กระทรวงศึกษาต้องยุบรวมโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนน้อย โดยมีเหตุผลสำคัญจากอะไร ซึ่งนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คนในจังหวัดอุบลราชธานี แต่มีครูถึง 4-5 คน มีอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีความจำเป็นต้องยุบไปรวมกับโรงเรียนอื่น เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของนักเรียน และลดภาระด้านงบประมาณรายจ่ายประจำที่เป็นเงินเดือนของครู ซึ่งปัจจุบันครูแต่ละคนมีเงินเดือนเฉลี่ย 2-3 หมื่นบาท เมื่อมีการยุบรวม ทำให้ครูทำงานให้กับรัฐได้คุ้มค่ากับเงินเดือน สำหรับเด็กนักเรียนที่ถูกยุบรวมและอาจต้องเดินทางไกลจากถิ่นที่อยู่ กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายจัดรถตู้มาช่วยรับ-ส่งให้กับนักเรียนเหล่านั้นให้เดินทางได้สะดวกด้วย

สำหรับคำถามเกี่ยวกับมูลค่าการสั่งซื้อรถตู้ที่มีราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาด ดร.อภิสิทธิ์บอกว่า เป็นการตั้งงบในราคากลาง เมื่อมีการจัดซื้อจริงราคาจะต่ำกว่านั้น แต่เรื่องการจัดซื้อรถตู้เป็นเรื่องของกระทรวงไม่เกี่ยวกับสถานการศึกษาแต่ละแห่ง

นักการศึกษารายนี้บอกอีกว่า การจะยุบหรือไม่ยุบโรงเรียนของจังหวัดอุบลราชธานี คำตอบสำคัญขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของชุมชนด้วย โรงเรียนบางแห่งที่มีนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ 60 คน แต่มีระบบการจัดการเรียนการสอนดีกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนมาก โรงเรียนแบบนี้จะไปยุบก็ไม่ได้ เพราะชุมชนไม่ยอมแน่นอน

ขณะที่นายเสมอ หาริวร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าลัง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนชายขอบติดแม่น้ำโขงกล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนของตนมีนักเรียนเพียง 39 คน ครู 3 คน แต่โรงเรียนแห่งนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน
มีระบบจัดการเรียนการสอนเน้นให้นักเรียนนำไปใช้ดำรงชีวิตประจำวันได้จริง ไม่เน้นการสอนใช้ทำคะแนนแข่งขันระบบโอเน็ตเอเน็ต

หากมีการเอามาตรฐานการสอบโอเน็ตเข้ามาเป็นตัวชี้วัด นักเรียนสอบไม่ผ่านแน่นอน แต่นักเรียนที่เรียนจบจากโรงเรียนนี้ไปแล้วสามารถเอาความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพและดำรงชีวิตของตนเองได้เพราะโรงเรียนสอนให้เอาความรู้ไปใช้สร้างความสุข และเอาความสุขของชุมชนมาเป็นตัวชี้วัด มีการจัดระบบการเรียนการสอนโดยเอาปราชญ์ของหมู่บ้านมาแนะนำ

"แต่หากมองความเจริญคือ เป็นบ้านหลังใหญ่ แต่ต้องสร้างรั้วขังตัวเองเอาไว้ แต่หมู่บ้านนี้ มีบ้านหลังเล็ก
แต่ทุกคนในหมู่บ้านเดินไปมาหาสู่กันได้ สิ่งของไม่เคยหาย จึงเป็นความเจริญแบบมีความสุข จึงมีการจัดระบบการสอนเพื่อตอบสนองชุมชน ไม่ได้จัดการสอนเพื่อตอบสนองการสอบเอาคะแนนอย่างเดียว"

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าลังยังกล่าวแนะนำให้นักการศึกษาที่คิดยุบโรงเรียนขนาดเล็กลองเข้าไปศึกษาเรียนรู้ที่ชุมชนจะทราบความจริงคุณภาพการศึกษาไม่ใช่เอาขนาดของโรงเรียนหรือจำนวนเด็กมาวัดแต่คุณภาพการศึกษาคือ ต้องสอนเด็กให้มีความรู้อย่างมีความสุข นำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้

ขณะที่ ผศ.ดร.อารี หลวงนา รองอธิการบดีฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวถึงการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน เช่นกัมพูชาก็มีครูและนักเรียนในโรงเรียนแต่ละแห่งน้อยเช่นกัน แต่สามารถจัดระบบการเรียนการสอนได้ และในประเทศยุโรปที่มีการศึกษาตามอัธยาศัยที่ให้ผู้ปกครองที่มีความรู้เป็นผู้สอนลูกหลานหรือโฮมสคูล ก็ทำได้ดี โรงเรียนในต่างประเทศถือว่า การมีนักเรียนจำนวนน้อยเป็นเรื่องดีและท้าทายความสามารถของครูผู้สอน และรัฐยิ่งสนับสนุนระบบไอทีให้มาก เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงได้มาก พร้อมติงว่าแนวความคิดยุบโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการขณะนี้ ถือเป็นการทำร้ายพ่อแม่และตัวเอง เพราะก่อนจะได้เรียนในโรงเรียนใหญ่ ต้องผ่านโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้มาก่อน การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จึงเท่ากับไม่สามารถรักษามรดกทรัพย์สินที่พ่อแม่ให้ไว้ได้

เขายังแนะทางออกของการศึกษาที่โรงเรียนมีเด็กนักเรียนจำนวนน้อยคือต้องจัดระบบการบริหารจัดการ เพราะถ้าเทียบระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ก็ถือว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏอยู่ได้มาถึงวันนี้ เพราะมีระบบการบริหารที่ดี
ครูที่ดีต้องเป็นครูที่มีความคิดสร้างสรรค์

ขณะที่นายคิด แก้วคำชาติ นักการศึกษาจากเครือข่ายการศึกษาทางเลือกของจังหวัดระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการเกาไม่ถูกที่คัน ที่คิดยุบโรงเรียนตามชุมชน เพราะการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องมีรากเหง้าเกิดจากชุมชนก่อนต่อยอดไปสู่ด้านนอก
การยุบโรงเรียนชุมชนเท่ากับผลักดันให้เด็กออกห่างจากชุมชน ส่วนการแก้ระบบการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ต้องไปแก้ที่ตัวกระทรวงศึกษาธิการ แก้หลักสูตร และแก้บุคลากรให้ครูเป็นครูของจริง ไม่ใช่นักขายสินค้าในคราบครู แล้วโทษว่าเด็กโง่ ที่อ่านเขียนหนังสือไม่ได้ กระทรวงศึกษาธิการต้องยอมรับความจริงข้อนี้ก่อน

การที่โรงเรียนมีนักเรียนจำนวนน้อย ยิ่งถือเป็นเรื่องดีที่นักเรียนได้ใกล้ชิดเข้าถึงตัวผู้สอนได้ง่าย หากคนที่สอนเป็นครูของจริง นักเรียนยิ่งได้ประโยชน์ ส่วนที่มองว่าต้องสูญเสียงบประมาณด้านเงินเดือนครูอยู่ที่ไหนก็สอนได้ โรงเรียนไหนมีครูมากเกินไป ก็เกลี่ยไปให้โรงเรียนที่ขาดแคลนครูเท่านี้ก็เป็นการแก้ปัญหาครูมากกว่านักเรียนได้

นายคิดเสนอว่าไม่ต้องเอาเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอน หรือรถตู้มาหลอกเด็ก เพราะการใช้รถตู้ขนส่งนักเรียน
ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณกว่าการจ้างครูมาสอนเสียอีก อดีตกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายคืนครูสู่ท้องถิ่น
เมื่อคนในหมู่บ้านเรียนจบก็บรรจุเข้าเป็นครูให้สอนอยู่ในชุมชน นอกจากครูจะเข้าใจวัฒนธรรมของชุมชนที่ตัวเองเติบโตขึ้นมาแล้ว ยังช่วยประหยัดทั้งเรื่องค่าที่พัก ค่าเดินทางมาสอน

นักการศึกษาทางเลือกรายนี้ ยังชี้ต่อว่า ปัจจุบันการจัดระบบการศึกษาของไทยตอบสนองระบบทุนการศึกษามากกว่าตอบสนองชุมชน นักเรียนปัจจุบันจึงเป็นนักเรียนประเภท "ท่องจำ แต่ทำไม่เป็น" เพราะมองแต่ตัวเลขที่ใช้เป็นเกณฑ์มาวัด และการยุบโรงเรียนขนาดเล็กตามชุมชนยังเป็นการทำลายเสาหลักทางวัฒนธรรมของชุมชนที่ต้องมีบ้าน วัด และโรงเรียน ที่ต้องอยู่ด้วยกันด้วย

ด้านผู้ฟังที่เป็นผู้ปกครองและอดีตผู้บริหารการศึกษาแสดงความเห็นว่า รัฐบาลควรสนับสนุนการศึกษาโดยลดภาษีให้กับโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก เหมือนการลดภาษีรถหรือบ้านหลังแรก เพราะการศึกษามีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ขณะนี้กระทรวงศึกษามองถึงการลงทุนทางการศึกษาว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มหรือไม่คุ้มทุนซึ่งเป็นการมองที่ผิดพลาดอย่างมากโรงเรียนในชนบทขนาดเล็กบางแห่งใน อ.นาตาล นักเรียนสามารถสอบทำคะแนนโอเน็ตได้เป็นที่หนึ่งของเขตการศึกษา จึงไม่ควรหว่านแหมองโรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนขาดคุณภาพ ทั้งที่ความจริงโรงเรียนขนาดใหญ่คือ ธุรกิจการศึกษาที่ให้กับผลกำไรกับผู้บริหารการศึกษา แต่สร้างความทุกข์ให้กับผู้ปกครอง ปัญหาเด็กนักเรียนน้อยไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของครูแต่ปัญหาอยู่ที่เด็กเกิดมาน้อย ครูก็ต้องปรับวิธีบริหารการจัดการ ไม่ใช่มีเด็กน้อยก็ไม่อยากสอน แล้วแก้ปัญหาโยนเด็กให้ไปหาที่เรียนใหม่ จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด

ผู้ปกครองกล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาเรื่องบประมาณใช้จ่ายในโรงเรียนชุมชน ทั้งพื้นกระดานชำรุด เก้าอี้พัง ผนังร้าว ชุมชนจัดผ้าป่าหาเงินมาซ่อมแซมแก้ไขกันเอง ชุมชนไหนเข้มแข็งร่วมกันสร้างตัวอาคารใช้เรียนใช้สอนใหม่กันเองแค่รัฐจัดหาคนที่เป็นครูมาสอนให้เท่านั้น งบประมาณที่สูญเสียไปมากขณะนี้ และตกลงมาไม่ถึงเด็ก ก็เพราะมีการตั้งตำแหน่งทั้งครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ต่อไปอนาคตจะมีตำแหน่งครูชำนาญการพิเศษที่พิเศษยิ่งกว่าขึ้นมากอีก เพื่อครูหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง โดยเด็กไม่ได้รับประโยชน์จากตำแหน่งเหล่านี้ ที่กระทรวงตั้งขึ้นมาเลย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไม “ประชาธิป’ไทย” (Paradoxocracy) ไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ

$
0
0
 
เป็นที่ฮือฮาในโซเชียลมีเดียกันพอสมควร สำหรับภาพยนตร์สารคดี "ประชาธิปไทย" (Paradoxocracy)ที่นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงทุกวันนี้ ผ่านภาพเหตุการณ์สำคัญๆ ของความขัดแย้งทางการเมือง และผ่านมุมมองของนักคิด นักวิชาการจำนวนมาก เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, จิระนันท์ พิตรปรีชา, ธงชัย วินิจจะกูล, ไชยันต์ ไชยพร, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ สมบัติ บุญงามอนงค์(บก.ลายจุด) เป็นต้น

แต่ที่น่าแปลกใจ หรือน่าประหลาดใจมากคือ เมื่อผู้ทำหนังสารคดีเรื่องดังกล่าว คือ “เป็นเอก รัตนเรือง" กับ "ภาสกร ประมูลวงศ์" ให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์ (5 มิถุนายน 2556 http://www.youtube.com/watch?v=NUe1M4XIK1g&feature=player_embedded#t=41s) ว่า “ก่อนถ่ายหนังเรา research มาปีกว่า” แต่พอถึงประเด็นคำถามว่า ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในภาพยนตร์เรื่องนี้ คำตอบกลับเป็นว่า “...ส่วนตัวผมก็ไม่รู้จักแกเลยเพิ่งมารู้จักตอนออกรายการตอบโจทย์ แล้วเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น...” ขอคัดคำถาม-ตอบเกี่ยวกับ “ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ” จากมติชนออนไลน์มาให้อ่านดังนี้

@ทำไมไม่มีสัมภาษณ์ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล”
 
เป็นเอก : ไม่มี ไม่ได้ติดต่อเขา คือก็มีเพื่อนบอกผมว่าต้องไปหาคนนี้ แต่พอถึงเวลาก็จะด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้มีเขาอยู่
 
@ ทำไมไม่มี “สมศักดิ์ เจียมฯ” ทั้งที่ เขาเป็นผู้นำทางความคิดทางการเมืองขั้วหนึ่งเลย
 
เป็นเอก : มันมีคนเต็มไปหมดเลย ที่เป็นผู้นำทางความคิด ทางการเมือง ไม่ได้มีเขาคนเดียว
 
ภาสกร : ถ้าถามว่า ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ ก็จะมีคำถามตามมาว่า ทำไมไม่มีคนโน้นคนนี้
 
เป็นเอก : ใช่ คือถ้ามีสมศักดิ์ เจียมฯ เดี๋ยวก็จะตามมาด้วยคำถามอีกว่า ควรจะมีป๋าเปรมหรือเปล่า ควรมีคนโน้นคนนี้ หรือควรจะมีทักษิณ ซึ่งเราก็ติดต่อทักษิณนะ ไม่ใช่ไม่ติดต่อ แต่ว่าเขาไม่ว่าง ถ้าก่อนหน้านั้นหน่อยเขาคงว่าง ช่วงที่เราจะไปเขาไม่ว่าง
 
@สมศักดิ์ เจียม อาจจะเป็นภาพตัวแทนความคิดคนอีกจำนวนมาก
 
เป็นเอก : อันนี้เป็นความเห็นของบางคน แต่สำหรับหลายๆ คน เขาก็เป็นตัวแทนของความกวนตีนนะ อันนี้ผมพูดตามที่ได้ยินมา แล้วส่วนตัวผมก็ไม่รู้จักแกเลยเพิ่งมารู้จักตอนออกรายการตอบโจทย์ แล้วเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น พอผมไปดูก็พบว่า หลายอย่างที่แกพูด ผมเห็นด้วยมาก เป็นหลักการที่ถูกต้อง ปัญหาอย่างหนึ่งคือ แกมีท่าทีที่ provoke ขนาดนั้น น่าเสียดายที่ทำให้คนจำนวนมากแทนที่จะอยากฟังสิ่งที่แกพูด กลับอยากจะถีบหน้าแก ไม่ได้ฟังสิ่งที่แกพูด
 
(นิ่ง) หนังเรื่องนี้ ตั้งใจให้การศึกษา ไม่ได้ต้องการจะทำตัวให้ดูดตีน หรือประกาศตัวว่า ฉันมีความคิดแบบนี้ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มี “สติ” มาก ไม่ต้องการจะเล่นกับความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในประเทศนี้ แต่ต้องการให้ความรู้แบบง่ายๆ ดังนั้น คนที่เป็นฮาร์ดคอร์เหลืองหรือแดง จะไม่ได้รสแซ่บกลับไป หรือไม่ได้รสชาติถูกปากคุณ แต่หนังเรื่องนี้ สำหรับคนที่กำลังอยู่กลางศูนย์กลางของความงงงวย คล้ายๆ ผมกำลังงงว่าเหตุการณ์ในประเทศนี้เกิดอะไรขึ้นวะ
 
อ่านสัมภาษณ์นี้แล้ว ผมมีข้อคิดเห็นดังนี้
 
1.ไม่ทราบว่าเหตุผลที่ไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ คืออะไรกันแน่? ที่ภาสกรว่า “ถ้าถามว่า ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ ก็จะมีคำถามตามมาว่า ทำไมไม่มีคนโน้นคนนี้ แล้วเป็นเอกก็ตอบว่า “ใช่ คือถ้ามีสมศักดิ์ เจียมฯ เดี๋ยวก็จะตามมาด้วยคำถามอีกว่า ควรจะมีป๋าเปรมหรือเปล่า ควรมีคนโน้นคนนี้ หรือควรจะมีทักษิณ...”
 
แต่จริงๆ ประเด็นคำถามอยู่ที่ว่า ในเมื่อหนังเรื่องนี้มีนักคิด นักวิชาการที่เป็นตัวแทน (หรือต่อสู้) ทางความคิดอยู่หลายคน ทำไมไม่มีสมศักดิ์ เจียมฯ แต่คนตอบกลับอ้างถึงป๋าเปรม ทักษิณ ที่อยู่นอกวงการนักคิด นักวิชาการ
 
2.ไม่น่าเชื่อว่า “ทำ research มาปีกว่า” ก่อนลงมือทำหนัง แต่กลับไม่รู้จักสมศักดิ์ เจียมฯว่าเขาเสนอ “ประเด็นสำคัญ” อะไรที่เป็น “ปัญหาแกนกลางของความเป็นประชาธิปไตย” เพิ่งมารู้จักตอน “ไปออกรายการตอบโจทย์ แล้วเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา” จากนั้นก็วิจารณ์ว่า “ท่าทีที่ provoke ขนาดนั้น น่าเสียดายที่ทำให้คนจำนวนมากแทนที่จะอยากฟังสิ่งที่แกพูด กลับอยากจะถีบหน้าแก ไม่ได้ฟังสิ่งที่แกพูด”
 
ทำให้สงสัยว่า “คนจำนวนมากแทนที่จะอยากฟังสิ่งที่แกพูด กลับอยากจะถีบหน้าแก” นั้น ผู้ทำหนังไป “สำรวจ” มาจากคนกลุ่มไหน ใช้วิธีสำรวจอย่างไรจึงได้ข้อสรุปนี้มา หรือเป็นแค่ “ความรู้สึก” ของผู้ทำหนังเอง หรือแค่ “อนุมาน (คาดคะเน/เดา)” จากที่ฟังต่อๆ กันมาจากคนในกลุ่มสีหนึ่งเท่านั้น (ทว่ากลับบอกว่าหนังเรื่องนี้ “ไม่มีสี” อยากให้คน “ถอดเสื้อดูหนัง”)
 
3.ประเด็นสำคัญคือ ถ้าผู้ทำหนังประกาศว่า “หนังเรื่องนี้ ตั้งใจให้การศึกษา ไม่ได้ต้องการจะทำตัวให้ดูดตีน หรือประกาศตัวว่า ฉันมีความคิดแบบนี้ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มี “สติ” มาก ไม่ต้องการจะเล่นกับความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในประเทศนี้...”
 
คำถามก็คือว่า ผู้ที่ประกาศตนว่า “ตั้งใจให้การศึกษา” โดยเฉพาะเป็นการศึกษาในเรื่อง “ประชาธิปไตย” แก่ประชาชนนั้น เหคุใดจึงไม่สามารถก้าวข้ามประเด็น “ท่าที” ไปสู่ประเด็นเรื่อง “หลักการ” ให้ได้
 
ก็ในเมื่อผู้ทำหนังบอกเองว่า “...หลายอย่างที่แกพูด ผมเห็นด้วยมาก เป็นหลักการที่ถูกต้อง...” แล้วไง ต่อให้สมศักดิ์จะมี “ท่าทีที่ provoke ขนาดนั้น” จริงๆ มันจะมีปัญหาอะไร ขึ้นอยู่กับผู้ทำหนังจะสัมภาษณ์ หรือตั้งประเด็นถามอย่างไรเพื่อให้ได้ความคิดเห็นหรือคำอธิบาย “เชิงหลักการ” มิใช่หรือ
 
โดยเฉพาะที่ว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มี “สติ” มากนั้น วัดอย่างไร ถ้าไม่วัดจากการที่ผู้ทำหนังมี “สติ” ก่อนตั้งแต่เริ่มแรกที่จะเผชิญกับ “การอภิปรายปัญหาเชิงหลักการ” ของ “ประเด็นสถาบันกษัตริย์” ซึ่งเป็นประเด็นที่สมศักดิ์พูดและเรียกร้องให้นักวิชาการ ปัญญาชนอภิปรายประเด็นนี้มากว่าสิบปีหรือยี่สิบปีแล้ว
 
ซึ่งการอภิปรายเชิงหลักการเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยตามที่สมศักดิ์ทำและเรียกร้องมาตลอด ก็ไม่ใช่เรื่อง “เล่นกับความเป็นฝักฝ่าย” หรือทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ “ดูดตีน” ไปได้แต่อย่างใด กลับจะเป็นการก้าวข้ามความเป็นฝักฝ่ายไปช่วยกันคิดในประเด็นหลักการ ซึ่งตรงตามความหมายของการ “ให้การศึกษา” เรื่อง “ประชาธิปไตย” ได้ตรงจุดหรือตรงหัวใจสำคัญมากกว่า
 
4.ตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ เป็นเอกบอกว่า “หนังเรื่องนี้ ก็คงถูกแต่ละฝ่าย เอาไปตีความให้เข้าข้างฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุน ผมว่าดูเรื่องนี้ มันไม่สับสน เพราะตั้งใจจะให้การศึกษา ซึ่งจริงๆ แล้ว ควรจะฉายในห้องเรียนมากกว่าฉายในโรงหนัง เพราะ ปมด้อยของเราอย่างหนึ่งในฐานะคนที่เกิดมาเติบโตในประเทศไทย คือว่า ความรู้ทางประวัติศาสตร์ในหนังสือเรียนที่เราเรียนมา มันบอกไม่หมด มันมีแต่ความดีความดี แล้วหนังเรื่องนี้ ก็แค่เปิดให้เห็นกว้างขึ้น จากหนังสือเรียนที่เคยเรียนกันมา”
 
น่าเสียดายที่แม้ผู้ทำหนังจะคิดอย่างที่ว่านี้ได้ และต้องการ “ให้การศึกษา” (ดูเหมือนจะ “ย้ำ” คำนี้บ่อยมาก) เกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย” เห็นว่าหนังสือเรียนบอกไม่หมด บอกแต่ “ความดี ความดี” แต่กลับไม่ได้ไปสัมภาษณ์คนที่เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ที่พยายามจะบอกความจริงทุกด้านให้หมด และพยายามจะตั้งคำถามกับสิ่งที่ปลูกฝังกันมาว่า “ความดี ความดี” นั้น พิสูจน์กันได้อย่างไร หากจะพิสูจน์ควรจะมีหลักการ กติกากันอย่างไร และทำไมประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจต้องมีสิทธิที่จะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เรียกว่า “ความดี ความดี” นั้น เป็นต้น
 
กลายเป็นว่า การที่คนทำหนัง “Paradoxocracy” ไม่รู้จักสมศักดิ์ เจียมฯ และประกาศทำหนังเพื่อต้องการให้การศึกษาประชาธิปไตยแก่ประชาชน แต่กลับไม่สามารถแม้แต่จะก้าวข้าม “ท่าที” ของสมศักดิ์ ไปสู่การอภิปรายเชิง “หลักการ” ของเขา อันเป็นหัวใจสำคัญของการทำความเข้าใจ “ปัญหาแกนกลาง” ของประชาธิปไตยไทย จึงทำให้แม้แต่ในกระบวนการทำหนัง “Paradoxocracy” นี้ ก็ยังมีความเป็น “Paradox ในตัวมันเองเองอย่างที่ไม่น่าจะเป็น!
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images