Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50848 articles
Browse latest View live

'เจ้ย' อภิชาติพงศ์ ได้รางวัลฟูกุโอกะสาขาศิลปะและวัฒนธรรม

$
0
0

ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รับรางวัลฟูกุโอกะซึ่งเป็นรางวัลของประเทศญี่ปุ่นมอบให้ผู้ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมเอเชียและส่งเสริมสันติภาพดีเด่น

7 มิ.ย. 56 - รางวัลวัฒนธรรมเอเชียแห่งฟูกูโอกะ ซึ่งเป็นรางวัลมอบให้แก่ศิลปินและนักวิชาการนานาชาติที่ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมเอเชีย มอบรางวัลดีเด่นสาขาศิลปะและวัฒนธรรมให้แก่ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล โดยในปีนี้ยังมีผู้ได้รับรางวัลในสาขาอื่น เช่น นากามูระ เท็ตสึ แพทย์ชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้อำนวยการบริการการแพทย์เพื่อสันติภาพญี่ปุ่น ได้รับรางวัลแกรนด์ไพรซ์ เท็สซ่า มอร์ริส ซูซูกิ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้รับรางวัลสาขาวิชาการดีเด่น
 
ในเว็บไซต์ระบุว่า งานของอภิชาติพงศ์เป็นงานที่ได้สร้างความฮือฮาในวงการภาพยนตร์ ด้วยวิธีการใหม่ๆ ในการเล่าเรื่องเช่น การบรรยายทางทัศนา (visual narration) มีเรื่องราวที่มีฐานมาจากนิทานและตำนานท้องถิ่นซึ่งผสมผสานกับความทรงจำส่วนตัว และเกี่ยวข้องกับประเด็นร่วมสมัยในปัจจุบันด้วย
 
"อภิชาติพงศ์ ในฐานะที่เป็นผู้ตั้งมาตรฐานสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ จากวิธีการเล่าเรื่องที่แหวกขนบไปจนถึงการแสดงออกทางทัศนา ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับวงการภาพยนตร์ทั่วโลก และยังคงสร้างสรรค์ในพื้นที่หลากหลายโดยไม่ติดอยู่ในกรอบเรื่องการแบ่งประเภทเดิมๆ สำหรับความสำเร็จนี้ เขาจึงสมควรเป็นผู้ได้รับรางวัลฟูกุโอกะสาขาศิลปะและวัฒนธรรมอย่างแท้จริง" เว็บไซต์รางวัลฟูกุโอกะระบุ 
 
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เติบโตในจังหวัดขอนแก่น สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาโท ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาพยนตร์ จากสถาบันศิลปะชิคาโก (Art Institute of Chicago) เริ่มต้นผลิตภาพยนตร์และวิดีโอตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2533 เป็นหนึ่งในผู้ผลิตภาพยนตร์ไม่กี่คนในประเทศไทยที่ทำงานนอกระบบสตูดิโอ อภิชาติพงศ์มักทดลองโดยยึดหลักโครงเรื่องที่อิงมาจากละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ การ์ตูน และภาพยนตร์เก่า ๆ มักได้แรงบันดาลใจมาจากเมืองเล็ก ๆ มักใช้นักแสดงที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่ใช่มืออาชีพ และใช้บทสนทนาสด
 
พ.ศ. 2543 ภาพยนตร์สารคดีเรื่องยาวเรื่องแรกของเขา ดอกฟ้าในมือมาร (Mysterious Object at Noon) ได้เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมากมาย และได้รับคำวิจารณ์พร้อมรางวัล 4 รางวัล และเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในปี 2543 โดยนักวิจารณ์นิตยสาร The village voice 
 
อภิชาติพงศ์เปิดบริษัทภาพยนตร์ Kick the Machine โดยผลิตภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (Blissfully Yours) ได้รับรางวัล Un Certain Regard ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival) ประจำปี พ.ศ. 2545 ณ ประเทศฝรั่งเศส ถูกจัดเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่คานส์โดยนิตยสาร Le Cahiers du Cinema พ.ศ. 2547 
 
ภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) ซึ่งร่วมกับบริษัท Anna Sanders Films ประเทศฝรั่งเศส ได้รับรางวัล Jury Prize และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับเข้าเลือกในสายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
 
ภาพยนตร์เรื่องที่ 6 ของเขา ลุงบุญมีระลึกชาติ (พ.ศ. 2553) ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 นับเป็นภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้
 
ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าว ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1990 โดยผู้ได้รับรางวัลที่ผ่านมา รวมถึง เจมส์ ซี สก็อต นักวิชาการชาวสหรัฐด้านมานุษยวิทยา แอนโทนี รีด นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ไทย คลิฟฟอร์ด กีแอร์ตซ์ นักมานุษยวิทยา และคึกฤทธิ์ ปราโมทย์ นักเขียนและรัฐบุรุษไทย และเมื่อปีที่แล้ว ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลดังกล่าวในสาขาวิชาการดีเด่น 
 
 
ที่มาเนื้อหาบางส่วนจาก เว็บไซต์วิกิพีเดีย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกิจกรรมอุบลฉายหนัง V for Vendetta ถกเรื่องหน้ากากในสังคมไทย

$
0
0
นักกิจกรรมอุบลจัดงาน "Cinema ข้างฝาบ้าน" ฉายภาพยนตร์ " V for Vendetta เพชฌฆาตหน้ากากพญายม"  แลกเปลี่ยนมุมมอง-สร้างบรรยากาศการสนทนาอย่างมีเหตุผล

 
 
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา กลุ่มแว่นขยาย ร่วมกับ เครือข่ายนักศึกษา และนักพัฒนาภาคประชาสังคม จัดงาน "Cinema ข้างฝาบ้าน" ฉายภาพยนตร์แลกเปลี่ยนมุมมอง และเป็นการสร้างบรรยากาศการสนทนาอย่างมีเหตุผลขึ้น โดยได้ฉายภาพยนตร์ที่ฉายเรื่อง "V for Vendetta เพชฌฆาตหน้ากากพญายม" ณ ฟรีดอมโซน อุบลราชธานี
 
กิจกรรมเริ่มต้นจากตัวแทนกลุ่มแว่นขยายกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และกล่าวถึงที่มาของภาพยนตร์พร้อมทั้งบรรยายถึงความสำคัญของการจัดฉาย ภาพยนตร์ และกล่าวถึงสถานการณ์การใช้หน้ากากเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสังคมไทย ปัจจุบัน
 
หลังจากกิจกรรมฉายหนังเสร็จสิ้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ที่สะท้อนจากภาพยนตร์ที่หลากหลาย และเป็นที่น่าสนใจที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสวมหน้ากากในระหว่างการสนทนา ซึ่งผู้เข้าร่วมทุกคนเข้าใจว่าในการสวมหน้ากากเพื่อการสนทนานี้มิได้มีความหมายว่าเข้าข้างฝ่ายการเมืองใด หรือมีทัศนคติในแง่ลบต่อสังคม แต่เป็นการสร้างบรรยากาศให้ผู้เข้าร่วมสนุกสนาน
 
นางสาวสิรินทรา พุฒจันทร์ ผู้เข้าร่วมกล่าวถึงเนื้อหาในภาพยนตร์ที่สะท้อนสังคมไทย "หน้ากาก เป็นเรื่องราวที่สะท้อนสังคมที่ภาพยนตร์ต้องการสื่อให้เห็นถึงคนในสังคมที่ ทุกคนคือหน้ากากขาววีเป็นเพียงตัวแทนที่ภาพยนตร์ต้องการให้เป็นสัญลักษณ์เพื่อการอธิบาย ซึ่งการใส่หน้ากากในภาพยนตร์เป็นการขับเคลื่อนทางการเมืองอย่างหนึ่ง ที่คนในสังคมจะต้องต่อต้านกับจิตใต้สำนึกของตนเองภายใต้หน้ากากขาวนั้น หน้ากากขาวที่แทนกับคนที่มีอุดมการณ์เพื่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองที่มิใช่ เพียงนักขับเคลื่อนรุ่นเก่า หากแต่หมายถึงนักพัฒนารุ่นใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมเอง"
 
นายศรีรุ่งเรือง บุราไกร กล่าวถึง "หน้ากากเป็นการ ยกขึ้นมาเพื่อการต่อต้านอำนาจรัฐที่เกิดขึ้นจากพลเมือง ในภาพยนตร์ที่สื่อให้เห็นถึงการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวของประชาชน รัฐจะไม่มีอำนาจในการต่อต้านประชาชน แต่บางครั้งประชาชนถูกทำให้ยอมแพ้จำนนกับอำนาจรัฐ และผู้นำจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจประชาชน เพราะหากผู้นำไม่สนใจประชาชนแล้วการต่อต้านก็จะตามมา" 
 
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมได้ถกประเด็นการขับเคลื่อนทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ ในสังคมที่ไทยที่มีการนำหน้ากากขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว และผู้เข้าร่วมระดมความเห็นเพื่อเสนอการใช้หน้ากากในการเคลื่อนไหวทางการ เมือง ดังนี้
 
1. อยากให้คนในสังคมไทยติดตามที่มาของหน้ากากว่ามีความเป็นมาอย่างไร เพื่อที่จะได้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของการนำมาเป็นสัญลักษณ์ในการขับเคลื่อน
 
2. การใช้สัญลักษณ์หน้ากากในการขับเคลื่อนเป็นผลดีที่จะทำให้เกิดความสนใจของคนในสังคมโดยในสังคมออนไลน์ ทำให้คนได้ติดตามในประเด็น
 
3. สัญลักษณ์เป็นการก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมในการขับเคลื่อนของคนที่มี อุดมการณ์เดียวกัน หลังจากการขับเคลื่อนนั้นแล้วอยากให้คนในสังคมเข้าใจกัน อย่าใช้สัญลักษณ์มาเป็นข้อจำกัดในสังคม
 
4. ก่อนจะเชื่อในประเด็นประชาชนจะต้องศึกษาทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการใช้ สัญลักษณ์ อันจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจในสังคมอย่างมีเหตุผล และสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมตามวิถีประชาธิปไตย
 
5. สื่อที่นำเสนอประเด็นที่มีการใช้สัญลักษณ์ทั้งหน้ากาก และสัญลักษณ์อื่นๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นกลาง และให้โอกาสผู้ชมได้พิจารณาตัดสินเองว่าสิ่งใดเหมาะสม
 
ช่วงท้ายตัวแทนจากกลุ่มแว่นขยายได้กล่าวสรุป "สภาพสังคมที่มีความแตก ต่างหลากหลาย คนในสังคมต้องมีกระบวนการพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีเหตุผล ให้รับฟังความคิดของคนที่คิดต่างไม่ปิดโอกาสในการรับฟังและมองข้ามในสิ่งที่ คนคิดต่างได้นำเสนอออกมา และสื่อจะต้องให้ความสำคัญและเป็นกลางอันจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจให้กับ คนในสังคม"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

7 เรื่องความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับกรณีของแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง

$
0
0
ขณะที่สื่อหลายแห่งนำเสนอเรื่องของ แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง โดยพยายามลบล้างวาระทางการเมือง หรือสื่อว่าเรื่องที่เขาทำเป็นการต่อต้านอเมริกัน เชส มาดาร์ ทนายความเพื่อสิทธิพลเมือง ได้ชี้ให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด

 
จากกระแสข่าวการดำเนินคดีกับแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง นายทหารสหรัฐฯ ผู้ถูกกล่าวหาว่าได้ส่งข้อมูลแฉการกระทำละเมิดสิทธิฯ ของกองทัพสหรัฐฯ ให้กับเว็บไซต์วิกิลีกส์ เชส มาดาร์ ทนายเพื่อสิทธิพลเมืองได้เผยแพร่บทความลงในเว็บไซต์ thenation.com กล่าวถึงเรื่องที่สร้างความเข้าใจผิด (myth) เกี่ยวกับแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง
 
เชส มาดาร์ กล่าวในบทความว่า สื่อส่วนมากมักจะนำเสนอเรื่องในประเด็นใหญ่ๆ โดยปราศจากบริบทและมุมมองทำให้เกิดความผิดพลาดหรือการบิดเบือนข้อมูล เช่น การรายงานว่าเรื่องที่รั่วไหลออกไปเป็น "เรื่องลับสุดยอด" หรือการที่วิกิลีกส์กำลังสร้างโลกอุดมคติด้วยการทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องโปร่งใส หรือเรื่องที่ว่าสิ่งที่แมนนิ่งทำไม่ใช่เรื่องทางการเมืองแต่เป็นเรื่องทางจิตวิทยา (หรือแม้กระทั่งเรื่องทางเพศ) ทำให้ตัวผู้เขียนบทความต้องออกมากล่าวถึงความเชื่อผิด 7 อย่างในเรื่องของ   แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง
 
 
1.) แรงจูงใจของแมนนิ่งเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนสติฟั่นเฟือน
 
เรื่องแรกคือการที่สื่อมักกล่าวว่า แมนนิ่งออกมาเปิดเผยรายงานทหารและข้อมูลทางการทูตที่ควรเป็นความลับเป็นเพราะว่าแมนนิ่งเป็นพวก "ไม่เต็ม" บ้างก็บอกว่าเพราะเขาเป็นเกย์หรือทั้งสองอย่าง แต่ในความจริงแล้ว แมนนิ่งได้เปิดเผยแรงจูงใจของตัวเองออกมาว่าเป็นเรื่องทางการเมือง เขาบอกว่า "ผมต้องการให้คนรู้ความจริง ...ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นใครก็ตาม... เพราะถ้าหากไม่มีข้อมูลพวกนี้แล้ว คุณก็ไม่สามารถทำให้สาธารณชนตัดสินใจด้วยตัวเองโดยอาศัยข้อมูลได้"
 
เราอาจเห็นต่างกันในเรื่องผลกระทบที่มาจากการเผยแพร่ข้อมูลโดยแมนนิ่ง แต่ในเรื่องแรงจูงใจที่เขาเปิดเผยข้อมูล แมนนิ่งได้บอกด้วยตัวเองตรงไปตรงมาแล้ว และมันก็ไม่ใช่เรื่องอะไรเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือเรื่องเพศ เช่นเดียวกับที่อดีตนายทหาร อีธาน แมคคอร์ด (คนเดียวกับที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่ได้รับบาดเจ็บในวีดิโอ "Collateral Murder" ที่เป็นวีดิโออื้อฉาวที่กองทัพสหรัฐฯ ใช้เฮลิคอปเตอร์ไล่ยิงนักข่าวและประชาชนอิรัก) กล่าวไว้ว่า การยึดติดกับเรื่องเพศสภาพของแมนนิ่ง เป็นแนวคิดที่พยายามกลบเกลื่อนวาระทางการเมืองของแมนนิ่ง
 
 
2.) ทั้งแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง และ วิกิลีกส์ เป็น "พวกนิยมโลกในอุดมคติ" (utopian)
 
คำว่า "พวกนิยมโลกในอุดมคติ" (utopian) เปรียบเสมือนเป็นคำด่าที่แรงมากในกลุ่มคนอังกฤษที่มีการศึกษา มีความหมายโดยนัยระดับเดียวกับคำว่า "หัวรุนแรง" และ "พวกไม่ยอมรับความเห็นต่าง" หรือบางครั้งก็เป็นการด่าว่า "อุดมคตินิยม" ในเชิงลบ ซึ่งก็ดูแย่พอๆ กัน
 
เชส กล่าวว่า แม้การปล่อยข้อมูลลับของรัฐบาลของแมนนิ่งจะเป็นการฝ่าฝืนระบบความปลอดภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ แต่สิ่งที่แมนนิ่งทำก็ไม่ได้เข้าใกล้ "การทำให้ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องโปร่งใส" ซึ่งแม้แต่แมนนิ่งและวิกิลีกส์เองก็ไม่ได้เรียกร้องหรือกล่าวถึงแนวคิดอุดมคตินี้ 
 
แต่เชสคิดว่า สิ่งที่นายทหารแมนนิ่งทำน่าจะเป็นการตั้งรับในเชิงปฏิบัติต่อการปกปิดข้อมูลของรัฐบาล และข้อมูลลับที่แมนนิ่งเปิดโปงก็มีเพียงร้อยละ 1 จากเอกสารทั้งหมด 92 ล้านฉบับที่ทางการสหรัฐฯ อ้างว่าเป็นเอกสารลับ
 
 
3.) วิกิลีกส์ เป็นสิ่งที่ต่อต้านอเมริกัน
 
เชสกล่าวว่าที่คนคิดเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะวิกิลีกส์ต่อต้านการบุกอิรักของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน แต่ทว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่แทบจะทั้งหมดล้วนมีความเห็นคล้อยตามวิกิลีกส์ในประเด็นนี้
 
วิกิลีกส์เองก็มีแถลงการณ์ภารกิจที่กล่าวอ้างถึงอดีตปธน. โทมัส เจฟเฟอร์สัน และศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ซึ่งถ้าหากเรียกพวกเขาว่าเป็นพวกต่อต้านอเมริกันก็คงฟังดูแปลก เชสบอกว่า พวกเขาดูเหมือนคนมีอุดมการณ์แบบเสรีนิยมคลาสสิกที่บังเอิญมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และมาจากซิลิคอน วัลเลย์ (ย่านธุรกิจไอทีในสหรัฐฯ) อีกทั้งเมื่อประเมินจากแถลงการณ์ของแมนนิ่งและวิกิลีกส์ (ทั้งแถลงการณ์ส่วนตัวและแถลงการณ์สาธารณะ) แล้วก็ไม่พบว่าพวกเขามีอคติใดๆ กับสหรัฐฯ
 
 
4.) แบรดลี่ย์ ทำให้ข้อมูล "ความลับสุดยอด" รั่วไหล
 
จริงอยู่ที่ว่านายทหารแบรดลี่ย์ดูจะชอบการเข้าถึงข้อมูลด้านความมั่นคงที่เป็น "ความลับสุดยอด" แต่เชสก็บอกว่าแบรดลี่ย์ก็เป็นเช่นเดียวกับประชาชนรายอื่นๆ จำนวนราว 1.4 ล้านคน ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล "ความลับสุดยอด" ด้านความมั่นคง ซึ่งถ้าหากมีคนได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลได้จำนวนมากกว่าจำนวนประชากรในวอชิงตันดีซี ข้อมูลเหล่านั้นยังจะถือว่าเป็น "ความลับ" อยู่หรือไม่
 
เชส ระบุอีกว่าในหมู่เอกสารของแมนนิ่งที่มีการเผยแพร่ ไม่มีเอกสารใดๆ เลยที่ถือว่าอยู่ในระดับ "ความลับสุดยอด" ข้อมูลโทรเลขทางการทูตมากกว่าครึ่งไม่ถือว่าเป็นความลับทางราชการ และภาพวีดิโอคลิปที่มีเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่สังหารชาวอิรักหลายคนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความลับทางราชการเช่นกัน
 
และแม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะไม่ยอมออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่ประชาชนในอิรักหลายแสนคนเสียชีวิตในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็มักจะอ้างว่า การเผยแพร่ข้อมูลของแมนนิ่งทำให้มีคนถูกสังหาร หรืออย่างน้อยก็ส่งผลเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งจะพูดถึงในข้อต่อไป 
 
 
5.) การเผยแพร่ข้อมูลของแบรดลี่ย์ ทำให้มีคนถูกสังหาร ทำให้ประเทศสหรัฐฯ เสียผลประโยชน์
 
แต่ในช่วงสามปีหลังจากที่ข้อมูลถูกเผยแพร่ออกมา ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีพลเรือน ทหาร หรือแม้กระทั่งสายลับคนใดได้รับอันตรายจากการเผยแพร่ข้อมูลเลย อาจจะจริงที่ว่ามีเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ 2 คนถูกเรียกตัวกลับจากประเทศในแถบละตินอเมริกา แต่มันก็ไม่ถึงขั้นว่าเป็นวินาศภัยทางการทูต และฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ในสมัยนั้นก็ได้ให้คำมั่นพวกเราไว้แบบนี้เช่นกัน
 
 
6.) สิ่งที่แมนนิ่งเผยแพร่ออกมา ไม่ได้มีความสำคัญอะไร
 
อาจจะมองต่างจากข้ออื่นๆ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องเท็จพอๆ กัน ในความจริงแล้ว การเผยแพร่ข้อมูลของแบรดลี่ย์อาจจะมีบทบาทเล็กๆ แต่ก็เป็นบทบาทสำคัญในการประท้วงของตูนีเซีย และทำให้กองทัพสหรัฐฯ ไม่ขยายเวลาการวางกำลังในอิรัก นอกจากนี้ข้อมูลที่ถูกเปิดโปงกลายมาเป็นเรื่องตามข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์และนิตยสารชั้นนำหลายร้อยชิ้นในหลายประเทศ ทั้งสื่อของเยอรมนี อินเดีย และกระทั่งสื่อสหรัฐฯ ถ้าหากสิ่งที่แมนนิ่งเผยแพร่ออกมาเป็นเรื่องไม่สำคัญจริง มีหรือที่สื่อจะนำมาตีพิมพ์
 
 
7.) ความรู้ในเรื่องดังกล่าวจะทำให้เรามีความเสี่ยง แต่ความไม่รู้จะทำให้เราปลอดภัย
 
เชส บอกว่าแนวคิดนี้เป็นความเข้าใจผิดที่ใหญ่ที่สุด การที่ทหารอเมริกันสามารถเข้าไปละเมิดสิทธิมนุษยชนในอิรักได้เป็นเพราะว่ารัฐบาลมีความสามารถสูงในการกุมความลับเอาไว้ได้ และบางครั้งก็มีการบิดเบีอนความจริง หรือกระทั่งมีการโกหก
 
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ก็เคยใช้วิธีการเดียวกันในสงครามแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการเก็บความลับของรัฐบาลทำให้มีการนองเลือด (และสูญเสียเงิน) ทั้งจากฝ่ายสหรัฐฯ และจากประเทศที่ถูกสหรัฐฯ รุกรานซึ่งสูญเสียมากกว่าหลายเท่า จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่นโยบายการต่างประเทศใหญ่ๆ กลายเป็นวินาศกรรมและความล้มเหลวเมื่อไม่มีข้อมูลสำคัญ
 
 
 
เชส มาดาร์ เป็นทนายความเพื่อสิทธิพลเมืองในนิวยอร์ก และเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง เรื่อง "The Passion of Bradley Manning: The Story behind the Wikileaks Whistleblower"
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Seven Myths About Bradley Manning, The Nation, 03-06-2013

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แกนนำแพทย์ชนบทเผยหากรัฐเบี้ยวข้อตกลง ชุมนุมหน้าบ้านนายกแน่

$
0
0

7 มิ.ย. 56 - ชมรมแพทย์ชนบทเปิดเผยว่าหลังจากการเจรจาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา นั้นถือว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในการขับเคลื่อนของภาคประชาชน และชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายได้สรุปผลการเจรจาว่าไม่ใช่เป็นแค่ชัยชนะในเรื่อง P4P เท่านั้น แต่เราสามารถหยุดนโยบายที่ไม่เป็นธรรมในหลายเรื่อง เช่น หยุดการผลักดัน co-payment ให้ประชาชนร่วมจ่าย หยุดการทำลายหลัก purchaser-provider split โดยกลไก 12 เขตสุขภาพ และรัฐบาลยอมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปลดผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมอย่างไม่เป็นธรรม โดยเป็นคำสั่งที่ลงนามโดยนายกรัฐมนตรี 
 
นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช แกนนำชมรมแพทย์ชนบท ได้กล่าวต่อกรณีที่ รมต.ประดิษฐ และสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาให้ข่าวที่ไม่ตรงกับสาระการเจรจาโดยเฉพาะในประเด็นเบี้ยเลี้ยงเหม่จ่ายและ P4P ว่า  “หัวใจอยู่ที่การนำสาระและข้อสรุปการเจรจาเข้าที่ประชุม ครม.ในวาระแจ้งเพื่อทราบอย่างช้าในวันอังคาร 11 มิถุนายนนี้ หากสาระบิดเบือนไม่ใช่อย่างที่ตกลงกัน เราก็พร้อมจะชุมนุมหน้าบ้านนายก และจะไม่มีการเจรจาอีก และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ต้องรับผิดชอบกับการบิดเบือนนี้เพราะเป็นผู้จัดการเจรจาและเป็นผู้ทำสรุปรายงานผลการเจรจา  ผมจะเชื่อคุณสุรนันทน์อีกครั้ง กว่าจะถึงวันที่ 20 ที่นัดชุมนุมหน้าบ้านนายกปูนั้น ยังมีเวลาอีกตั้งเป็นสิบวัน เราเตรียมตัวทันอยู่แล้ว เพราะทุกคนพร้อมอยู่แล้วที่จะมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมที่หน้าบ้านนายก
 
นายแพทย์อารักษ์ ยังกล่าวเสริมว่า “รายงานการประชุมที่นำเข้าในการประชุม ครม.นั้น ไม่ได้มีแต่ผลการเจรจาเท่านั้น แต่รวมถึงเหตุผลที่ทำไมเครือข่ายและชมรมแพทย์ชนบทต้องขอเปลี่ยนตัว รมต.สาธารณสุขด้วย และจะมีการส่งต่อเอกสารชิ้นนี้แก่นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ”  ซึ่งนายแพทย์อารักษ์ได้แถลงเหตุผลนี้ก่อนการเริ่มเจรจา เปรียยดังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีประดิษฐนอกสภา โดยใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นที่แถลง
 
นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา แกนนำชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า “ในระหว่างการขับเคลื่อนนโยบาย P4P ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา เป็นคนสำคัญที่จัดทำรายละเอียดนโยบาย P4P ที่ผิดพลาดไปเป็นการเก็บแต้มรายกิจกรรม จนเกิดความเสียหายมากมายต่อระบบในกระทรวงสาธารณสุข อีกทั้งยังแอบอ้างว่าการบรรจุพยาบาลสองหมื่นอัตราเป็นผลงานสำคัญของตนเอง ชอบให้ร้ายผู้อื่น เอาดีเข้าตัว จึงเป็นอีกคนที่แพทย์ชนบทเสนอให้ไล่ไปให้พ้นจากกระทรวงสาธารณสุข” 
 
นายแพทย์วชิระ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่สำคัญ นพ.สุพรรณ ได้พูดชัดเจนจากการสัมมนาชี้แจงนโยบาย P4P ที่อุบลราชธานีและที่เชียงใหม่ว่า “พวกหมอที่ค้าน P4P มี 2 ทางเลือกคือ เลิกค้านเสียแล้วหันมาทำ P4P หรือหากไม่คิดจะทำตามนโยบายก็ให้ลาออกไป ”  ประโยคนี้หลุดออกมาจากปากของรองปลัดสุพรรณ สะท้อนเป็นความในใจของผู้ใหญ่ในกระทรวงที่คงอยากพูดนานแล้ว  แต่เก็บไว้จนทนไม่ไหวจากการเดินสายไปที่ไหนโรงพยาบาลชุมชนตามไปค้านทุกที่ สะท้อนถึงความบ้าอำนาจ ตาบอดมืดมัว ไม่เคยคิดย้อนกลับเลยว่า ทำไมนโยบายนี้ถึงมีการคัดค้านกันมามากถึงขนาดนี้  ดังนั้นชมรมแพทย์ชนบทจึงขอเรียกร้องต่อ นพ.สุพรรณ ที่ต้องรับผิดชอบต่อความแตกแยกที่เกิดขึ้นด้วยการลาออกจากรองปลัดกระทรวง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องไม่ตั้งให้เป็นคนเช่นนี้เป็นใหญ่เป็นโตเป็นอันขาด”
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

P-move ชุมนุมศาลากลางอุบล ปฏิบัติการปกป้องมติ ครม. แก้ปัญหาเขื่อนปากมูล

$
0
0
ชาวบ้านปากมูนกว่า 200 คน ชุมนุมศาลากลางอุบล หลังจากทราบว่าผู้ว่าอุบลเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากมติ ครม. หวั่นไม่ยอมรับ มติ ครม. ท้ายสุดรองผู้ว่ายอมถอยยกเลิกประชุม รอนโยบายจากคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล

 
 
 
 
 
 
 
 
ที่มาภาพ: ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
 
7 มิ.ย. 56 - ชาวบ้านปากมูน กว่า 200 คนได้เดินทางไปชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี หลังจากทราบว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากมติ ครม. วันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ซึ่งเป็นมติ ครม ที่เป็นแนวทางการแก้ไขปญหาเขื่อนปากมูล
 
ชาวบ้านระบุว่าพฤติกรรมของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล ที่อ้างว่าต้องประชุมเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากมติ ครม. นั้นสะท้อนอย่างชัดเจนว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล ไม่ยอมรับ มติ ครม. ดังกล่าว ในขณะที่ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล ซึ่งต้องชุมนุมเรียกร้องหลายครั้ง กว่าจะได้ มติ ครม. ฉบับนี้มา 
 
จากสาเหตุดังกล่าวชาวบ้านปากมูนระบุว่าจึงจำเป็นต้องจัดการชุมนุมขึ้นเพื่อปกป้อง มติ ครม. ที่ได้มาอย่างแสนอยากลำบาก แต่สุดท้ายรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลยอมถอย โดยยกเลิกประชุมไป เพื่อรอนโยบายจากคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการแต่งตั้งอยู่ แล้วเสร็จ พร้อมกับจัดประชุมเพื่อวางกรอบในการทำงานต่อไป
 
ทั้งนี้ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ก็ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีนี้โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
 
แถลงการณ์ฉบับพิเศษ (กรณีเขื่อนปากมูล)
ปฏิบัติการปกป้อง มติ ครม. แก้ปัญหาเขื่อนปากมูล
 
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ประชุมกันเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ลงมติเห็นชอบทั้ง ๓ ข้อ ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ นั้น โดยสาระสำคัญคือการบูรณาการ การแก้ไขปัญหาที่เป็นองค์รวม ให้มีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม ตามกรอบและแนวทางที่ระบุไว้ใน MOU ที่รัฐบาลกับP-move ได้ลงนามร่วมกัน
 
เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ตัวแทน P-move ได้หารือกรอบและแนวทางในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งการหารือดังกล่าวได้เห็นร่วมกันว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จะเร่งลงนามในคำสั่งแต่งตั้งกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล โดยเร็ว ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนตามระเบียบของทางสำนักนายกรัฐมนตรี
 
การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (นายวันชัย สุทธิวรชัย) ได้เรียกประชุมด่วน ผู้เกี่ยวข้องในวันนี้ (๗ มิถุนายน ๒๕๕๖) โดยอ้างว่าเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล นั้น พวกเราผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล เห็น ดังนี้
 
๑. ในระหว่างที่รัฐบาลกำลังดำเนินการแต่งตั้งกรรมการอำนวยการ ฯ ผู้ว่าราชการ ซึ่งเป็นหน่วยงานในระดับปฏิบัติการในท้องถิ่น ไม่ควรดำเนินการใด ใด ทั้งสิ้น ควรที่จะรอให้คณะกรรมการอำนวยการ ฯ ได้มีการประชุมและมีมติ สั่งการมาก่อน
 
๒. การดำเนินการใด ใด ของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในขณะนี้ ถือว่า เป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง และแสดงเจตนาว่าจะฉีก มติ ครม. เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่จะแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล
 
๓. การดำเนินการใด ใด ของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในขณะนี้ ถือว่าเป็นการละเมิด และฝ่าฝืน MOU ที่รัฐบาลกับ P-move ได้ทำร่วมกันไว้
 
ดังนั้น เพื่อเป็นการปกป้อง มติ ครม. ฉบับดังกล่าว (มติ ครม. ๒๘ พ.ค.๕๖) พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กรณีกลุ่มผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล จึงมีข้อเสนอ ดังนี้
 
๑. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ยุติการกระทำ และการดำเนินการใด ใด ไว้ก่อนโดยเด็จขาด จนกว่าจะมีคำสั่งจากคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล
 
๒. เพื่อปิดช่องว่าง และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล รัฐบาลควรรีบดำเนินการแต่งตั้งกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล โดยเร็ว
 
อย่างไรก็ตาม พวกเรายืนยันว่า เราจะปกป้อง มติ ครม. ฉบับ ดังกล่าว จนถึงที่สุด
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
 
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ (หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลฯ)
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวสุรินทร์ต้านโรงงานผลิตปูนนกอินทรีย์หวั่นมลพิษ

$
0
0
ชาวบ้านสลักได จ.สรินทร์ โวยได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งโรงงานของบริษัทนครหลวงคอนกรีต ยืนยันค้านการก่อสร้างโรงงาน เผยการดำเนินการไม่เคยมีการฟังเสียงคนในชุมชนมาก่อน

 
 
 
 
 
 
7 มิ.ย.56 - ที่ศาลาประชาคมบ้านสลักได ม.1 ต.สลักได อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายมานพ แสงดำ นายก อบต.สลักได เป็นประธานการประชุม เพื่อแก้ไขปัญหาการร้องเรียนของชาวบ้านสลักได และชาวบ้านปวงตึก ต.สลักได ซึ่งได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จเพื่อจำหน่าย ของบริษัทนครหลวงคอนกรีต โดยมีนายปิยะ ยิมขุนทด ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ ตัวแทนบริษัทนครหลวงคอนกรีต ผู้ผลิตปูนตรา นกอินทรีย์ เจ้าของแฟรน์ชาย  และบริษัท ไชยรุ่งเรืองคอนกรีต จำกัด ซึ่งมีนายพีรศักดิ์ หล่อวิฒนพงษ์ และนายบัญชา หล่อวิฒนพงษ์ เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ตาม พรบ.โรงงาน พ.ศ.2553 เพื่อประกอบการ ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จเพื่อจำหน่าย ตั้งอยู่ ณ โฉนดเลขที่ 25432 25433 25434 25389 27028  ม.1 ต.สลักได อ.เมือง จ.สุรินทร์ ผู้ใหญ่บ้านสลักได ผู้ใหญ่บ้านปวงตึก ผู้นำชุมชนและชาวบ้านจาก 2 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ กว่า 140 คน เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงในเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ประชาชนและมาตรการป้องกัน หลังชาวบ้านได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายกรัฐมนตรี และฟ้องศาลปกครองให้มีการชลอการก่อสร้างโครงการจัดตั้งโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จเพื่อจำหน่าย ไปก่อนจนกว่าจะมีการทำประชาวิจารณ์รับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนก่อน
 
ซึ่งตัวแทนบริษัทนครหลวงคอนกรีต ผู้ผลิตปูนตรา นกอินทรีย์ เจ้าของแฟรน์ชาย  ได้ชี้แจงข้อมูลความมีมาตรฐานของบริษัท ในการจัดการผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงสถานที่ตั้งโรงงาน และวิธีป้องกันเหตุเดือนร้อนรำคาญ ความเสียหาย การควบคุมการปล่อยของเสียมวลพิษ ไม่ว่าจะเป็น ผลกระทบด้านฝุ่นละอองจากการขนส่ง การสเปรย์น้ำป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง สิ่งปฏิกูล เศษคอนกรีตผสม น้ำล้างโม่คอนกรีต
 
ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังหวั่นวิตกและกังวล เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบในเรื่องของฝุ่นเสียง ฝุ่นละออง และมลภาวะที่เกิดขึ้นตามมา รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ วัด โรงเรียน หมู่บ้านจัดสรร ชาวบ้านสลักได ชาวบ้านปวงตึก กว่า 2,000 ครัวเรือน ที่อยู่ใกล้เคียงโรงงาน
 
ด้านนางสาวพชรพรรณ ระตาภรณ์ อายุ 27 ปี กล่าวว่า หากมีโรงงานผลิตปูนอยู่ในชุมชน ตนหวั่นมลภาวะที่จะเยอะมากตามกระบวนการผลิต ที่สำคัญจะกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านเป็นอย่างมาก ตนไม่ยอมรับการสร้างโรงงานเพราะมันไม่คุ้มกับสภาวะแวดล้อมที่สูญเสียไป
 
จากการสอบถามมติที่ประชุมชาวบ้านทั้งหมดกว่า 140 คน ยืนยันไม่ให้มีการก่อสร้างโรงงาน ตามที่อุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ได้อนุญาตไว้ โดยไม่เคยมีการฟังเสียงคนในชุมชน และระหว่างที่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นอยู่นั้น ชาวบ้านได้นำป้ายข้อความ “ผิดกฎหมายสร้างโรงงานในเขตชุมชน” “ชาวสลักไดไม่เอาโรงงานมลพิษ”
 
นายประสงค์ จุฑาไกร ข้าราชการบำนาญ อดีต ผอ.โรงเรียนบ้านสลักได กล่าวว่า ผลการทำประชาพิจารณ์จะเป็นอย่างไรขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ตนได้ฟังกระแสความรู้สึกของชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ หากเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นเพื่อนกับชุมชนและเป็นมิตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมชาวบ้านก็คงไม่ออกมาต่อต้าน
 
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมติว่า ให้ตัวแทนของบริษัทกลับไปหารือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ส่วน อบต.สลักได ก็จะดำเนินการผลักดันประกาสผังเมือง ที่กำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อกำหนดให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยต่อไป

ถกหลังหน้ากากกับ ‘แดงสยิว’ ปฏิบัติการแจมมิ่งหน้ากากขาว กายฟอคซ์

$
0
0

ทำไมต้องมีหน้ากากแดง “ล้อเลียนนะไม่ใช่เลียนแบบ” ปฏิบัติการป่วนความหมายหน้ากากขาวกายฟอคซ์ กับข้ออ้างขัดวัฒนธรรมและข้อความ “ปกป้องสถาบัน” พร้อมวิจารณ์การทำงานโซเชียลเน็ตเวิร์คของเพื่อไทยและก้าวต่อไปกับ “วอร์รูมภาคประชาชน”

การชุมนุมของหน้ากากแดงเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา

จากปรากฏการณ์ที่มีการนำหน้ากากขาวกายฟอคซ์ มาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับข้อความที่มีการโพสต์ฟลัดในเฟซบุ๊กซ้ำๆ ว่า "ขณะนี้กองทัพประชาชนได้ลุกขึ้นมาแล้ว ข้าขอประกาศว่า ข้าจะล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย" เมื่อช่วงปลายเดินที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อวันอาทิตย์(2 มิ.ย.) มีการออกมาชุมนุมที่ลานเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ เราจะเห็นว่าไม่ได้มีเพียงกลุ่มดังกล่าวเท่านั้น หากแต่มีการปรากฏตัวของกลุ่มที่ออกมาชุมนุมในพื้นที่ใกล้เคียงกันในบริเวณหน้าโรงหนังสยามเพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “หน้ากากขาว” กลุ่มนี้ใช้สัญลักษณ์เป็น “หน้ากากแดง” โดยการนำของชายขายหมูวัย 31 ปี ที่ใช้นามแฝงว่า “อุลตร้าแดง แดงสยิว

นี่ไม่เพียงการชุมนุมแจมมิ่งหรือการป่วนล้อเลียนเท่านั้น แต่ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการปะทะกันของทั้งสองฝ่ายบนโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วย ประชาไทมีโอกาสพูดคุยกับคนขายหมูผู้นี้ซึ่งอธิบายที่มานามแฝงตัวเอง  “แดงสยิว” ว่า “ไม่มีอะไร มันกวนประสาทดี”

0000

ประชาไท : อยากให้เล่าที่มาของ “อุลตร้าแดง แดงสยิว” ว่าเป็นมาอย่างไร เพราะสื่ออื่นลงว่านี่เป็นชื่อของกลุ่มเคลื่อนไหว

แดงสยิว : ไม่ได้เป็นกลุ่มอะไรเลย เป็นเพียงเพจ(เฟซบุ๊ก)ส่วนตัวของผม แต่วิจารณ์การเมืองทำให้คนสนใจเข้ามาอ่าน พอเห็นกลุ่มหน้ากากขาวออกมา จึงเขียนโจมตีฝ่ายนั้นว่าสัญลักษณ์ที่ใช้มันผิด คนที่ตามในเพจผมก็เห็นด้วยว่ามันไม่ควรนำมาใช้ แต่ไม่มีใครออกมาบอกคนกลุ่มนี้ว่าไม่ควรใช้สัญลักษณ์นั้น จึงเห็นว่าควรออกมาแสดงออกและบอกกับสังคมเสียเอง ทุกคนที่เห็นด้วยก็เลยออกมา

มองปรากฏการณ์ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลนำหน้ากากกายฟอคซ์ มาเป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงว่าอย่างไร ?

แดงสยิว : ถ้าเรียกร้องในทางการเมืองนั้นทุกคนมีสิทธิทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักประชาธิปไตยและกฎหมาย ผมไม่ได้มีปัญหากับการที่เขาออกมาเรียกร้องโวยวายอะไรทั้งสิ้น แต่มีปัญหากับแค่สัญลักษณ์ที่เขาใช้ เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของการล้มระบอบการปกครองในยุโรปซึ่งไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทย โดยชนชั้นกลางในเมืองไทยจะทราบว่าสัญลักษณ์นี้มันคืออะไร แต่ระดับรากหญ้าเขาอาจจะยังไม่เข้าใจ ดังนั้นจึงควรมีคนออกไปชี้กับสังคมว่าหน้ากากขาวอันนี้มันคืออะไร อยากให้เขาเลิกใช้สัญญาลักษณ์นี้ก็จบแล้ว

เขาอาจจะบอกว่าที่เขาต้องการล้มคือระบอบทักษิณ?

แดงสยิว : คำว่าล้มระบอบทักษิณมันคือการล้มระบอบประชาธิปไตยด้วยหรือเปล่า อย่างที่เรารู้กันว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาหากเลือกเพื่อไทยก็จะได้ทักษิณ มันจะเป็นการเล่นคำเพราะมันอาจจะถือว่ากำลังจะล้มรัฐบาลนี้ โดยใช้คำว่าล้มทักษิณ โดยการเล่นคำ ร่ายนวัตกรรมทางคำพูดใหม่ๆ แต่มีเจตนาแฝงด้วยสัญลักษณ์ของหน้ากากนั้นว่าคิดอะไร และมันสอดคล้องกับเมื่อสัปดาห์ก่อนที่มีคนใส่ชุดคอมมิวนิสต์มายืนกลางสนามหลวง ทั้งคอมมิวนิสต์และหน้ากากขาวมันเป็นสัญลักษณ์ของอะไรก็ทราบกันอยู่ ดังนั้นจะมาบอกว่าล้มเพียงระบอบทักษิณ มันจึงฟังไม่ขึ้น

ภาพโดย เฟซบุ๊ก เสรีไทย เราจะสู้เพื่อความยุติธรรม

มีคนวิจารณ์ว่าหน้ากากกายฟอคซ์มได้กลายเป็นสัญลักษณ์นิรนาม แม้เริ่มต้นอาจมาจากกายฟอคซ์ที่ต้องการเปลี่ยนกษัตริย์ คือพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ของอังกฤษ แต่เมื่อมีหนัง V For Vendetta ออกมาฉายในปี 2005 หลายๆ กลุ่มจึงเอาหน้ากากออกมาใช้ บางกรณีถึงกับมีผู้ชุมนุม 2 ฝ่ายที่คิดเห็นไม่เหมือนกันแต่ใช้หน้ากากนี้มาเผชิญหน้ากันเอง ความหมายของมันจึงค่อนข้างลื่นไหลไปแล้วไม่ใช่หรือ

แดงสยิว : หากมองว่ามันเป็นสัญลักษณ์ที่มีการลื่นไหลไปแล้ว ก็ถือว่าตามเกมส์กันไป หากมองในแง่ความเป็นจริงแล้วเขาคงไม่เลิกใช้สัญลักษณ์นี้ คงมีการใช้ต่อ แต่ก็มีบางคนที่รู้สึกละอายใจและเลิกไป เช่นนั้นการเลือกใช้มันอยู่ก็เท่ากับว่าสัญลักษณ์นี้หมดพลังไปแล้ว เพราะหากยังมีพลังอยู่ทุกคนก็คงต้องใส่อยู่ หากใช้กันประปราย ใช้กันตามน้ำ ตามสถานการณ์ ก็เท่ากับว่ามันไม่มีพลังแล้ว ซึ่งหมายถึงแพ้ด้วย

กรณีเพจ Occupy Wall St.นำภาพผู้ชุมนุมหน้ากากขาวในไทยไปแชร์พร้อมสนับสนุนการต่อสู้ดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นการสมานฉันท์กับการเคลื่อนไหวที่ตุรกีด้วยนั้น คุณมองว่าอย่างไร

แดงสยิว : มองว่าผู้ชุมนุมในไทยพยายามโหนเหตุการณ์เหล่านั้น และที่สหรัฐอเมริกาก็ปกครองด้วยระบอบประธานาธิบดีแล้วซึ่งต่างจากไทย ดังนั้นการเอาหน้ากากนี้มาใช้จึงไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการปกครองไทย รวมทั้งมีการนำภาพผู้ชุมนุมที่ใช้หน้ากากกายฟอคซ์ในต่างประเทศมาโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อบอกว่าเป็นการชุมนุมที่สีลมด้วย ทั้งๆ ที่ในรูปนั้นมีรถเมล์ 2 ชั้นซึ่งต่างจากประเทศไทย

เพจ Occupy Wall St.โพสต์แสดงความสมานฉันท์กับกลุ่มหน้ากากขาวในไทย

สรุปแล้วหน้ากากแดงต้องการอะไร

แดงสยิว : ต้องการให้หน้ากากขาวยุติการใช้หน้ากากกายฟอคซ์เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหว มันไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทย สัญลักษณ์อันนี้เขารู้กันทั่วโลกว่าล้มระบอบอะไร จะไปวางระเบิดรัฐสภาหรือลอบปลงพระชนม์ใครถึงใช้สัญญาลักษณ์แบบนี้

หากเขาถามกลับมาว่า กลุ่มหน้ากากแดงใช้หน้ากากแดงก็จริง แต่เป็นกายฟอคซ์เหมือนกัน จะตอบอย่างไร

แดงสยิว : หน้ากากที่ใช้ไม่ใช่หน้ากากกายฟอคซ์ แต่เป็นหน้ากากหน้าเหลี่ยมและเขียนสีกัน รวมทั้งมีหน้ากากอื่นด้วยไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอุลตร้าแมน หน้ากากไอรอนแมน ฯลฯ แต่เป็นสีแดง เพราะเป็นสีของประชาธิปไตย และไม่ได้ยึดติดกับสัญลักษณ์ ที่ทำหน้ากากมาก็เพื่อล้อหน้ากากขาวเฉยๆ

ฝ่ายหน้ากากขาวมีการวิจารณ์หน้ากากแดงว่าทำไมไม่คิดอะไรที่เป็นของตัวเอง เหมือนตีนตบก็เลียนแบบมือตบ

แดงสยิว : จะบอกว่าเลียนแบบไม่ได้ เพราะว่ากิจกรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานั้นพวกผมเองนัดก่อนฝ่ายหน้ากากขาว รวมทั้งกิจกรรมที่มีการระดมคนไปยิง(รุมรีพอร์ต)ในเพจเฟซบุ๊กของพวกเสื้อแดงก็เหมือนกัน เพราะทางฝ่ายนั้นเห็นทางผมระดมพวกเรดไซเบอร์ในเน็ตได้ ส่วนการใช้หน้ากากนั้นก็ไม่ได้เลียนแบบ แต่เป็นการล้อเลียน

เพจ Dislike Yingluck For Concentration Citizen วิจารณ์ว่าหน้ากากแดงเลียนแบบหน้ากากขาว

หมายความว่าฝ่ายเสื้อแดงไปยิงเพจเฟซบุ๊ก(รุมรีพอร์ต) ของฝ่ายหน้ากากขาวก่อนหรือ

แดงสยิว : พวกเราไม่รู้มาก่อนว่าในพื้นที่ไซเบอร์มีฝ่ายเสื้อแดงหรือผู้รักประชาธิปไตยอยู่เท่าไร ที่ผ่านมาเราคิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่า อีกฝ่ายพูดอะไรแล้วเสียงดังกว่า จึงลองเช็คชื่อในเฟซบุ๊กโดยให้ทุกคนทำกิจกรรมร่วมกันอย่างหนึ่งคือ พวกผมจะเข้าไปที่เพจนักการเมืองฝ่ายประชาธิปัตย์และเข้าไปพูดคุยกันในนั้นเหมือนว่าพื้นที่นั้นเป็นบ้านของพวกผม เช่น เข้าไปโพสต์ว่าวันนี้มีข่าวนั้นนี้ หรือเข้าไปพูดว่ากินข้าวหรือยัง อากาศร้อน ฯลฯ เมื่อเริ่มทำก็มีแนวร่วมเข้ามาร่วมจำนวนมากจึงรู้ว่าเรามีฝ่ายประชาธิปไตยไซเบอร์มาก เมื่อทางโน้นเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจึงรวมตัวกันแล้วมาล้างแค้นแสดงความไม่พอใจที่พวกผมไปป่วนในเพจฝ่ายเขาโดยการมาไล่ยิงไล่รีพอร์ตเพจเสื้อแดง

แต่ทางฝ่ายผมเพียงเข้าไปเยี่ยมเข้าไปพูดคุยในเพจเขาเท่านั้นโดยไม่ได้รีพอร์ตใคร แต่ทางนั้นเน้นรีพอร์ตอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ผลปรากฏว่าฝ่ายแดงไม่มีเพจไหนที่โดนยิงดับเลยเนื่องจากฝ่ายโน้นมีน้อยมาก มีเพียงหลักสิบ แต่ทางฝ่ายแดงเท่าที่ตามอยู่ยิงดับไปได้หลายเพจเหมือนกัน

สรุปว่าฝ่ายแดงก็มีการไปไล่ยิงรีพอร์ตเขาเหมือนกันใช่ไหม

แดงสยิว : มี แต่เป็นการทำหลังจากที่ฝ่ายโน้นตอบโต้ด้วยการไล่ยิงเพจฝ่ายแดงก่อน จึงมีเสื้อแดงบางส่วนแยกตัวออกไปต่างหากโดยไม่ร่วมกิจกรรมกับผมแล้ว แล้วไปใช้วิธีการไปไล่ยิง ซึ่งยอมรับว่ามีแต่ก็ยังเป็นจำนวนไม่มาก

แล้วมองปรากฏการณ์รีพอร์ตกันไปมาว่าอย่างไร เป็นทางออกหรือวิธีการที่ดีไหม

แดงสยิว : มองว่ามันไร้สาระมาก ผมจะบอกกับทุกคนว่าเราต้องยกระดับตัวเอง ด้วยการตั้งคำถามกับสังคมและชี้นำสังคม ไม่ใช่คอยรับแต่กระแสสังคมอย่างเดียว เคยพาพวกที่ร่วมกิจกรรมกับผมไปถามในเพจเฟซบุ๊กของ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพื่อไปโพสต์ตั้งคำถามว่า “ใครสั่งฆ่าประชาชน” “ใครสั่งยิงประชาชน” เป็นต้น น่าสนใจว่ากว่า 1,000 คอมเมนท์ไม่มีคำหยาบ เราต้องสร้างความเข้าใจกับสังคมและการใช้คำหยาบไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย รวมทั้งเจตนาของผมที่รวมคนกลุ่มนี้เข้ามานอกจากจะเช็คกำลังแล้วอยากจะทำ “วอร์รูมภาคประชาชน” จึงหากิจกรรมร่วมกันสร้างความสัมพันธ์กันไป ตอนนี้ได้อยู่ประมาณ 200 คน ที่สามารถไปบอกกับสังคมได้ว่าฝ่ายไหนจริงไม่จริง และทุกคนเป็นอาสาสมัครหมด เพราะเรามองว่าตั้งแต่ตั้งรัฐบาลมา ในพื้นที่ออนไลน์เราเป็นฝ่ายตั้งรับทางด้านการข่าวมาโดยตลอด

มีคนวิจารณ์ว่ากิจกรรมของคุณทำให้จากเดิมที่หน้ากากขาวเหมือนจะจุดกระแสไม่ติด แต่เมื่อมีหน้ากากแดงโผล่มา ทำให้ดูน่าสนใจมากขึ้นและจุดติดหรือไม่

แดงสยิว : ฝ่ายโน้นเขามีสื่อในมือและมีสื่อลูกข่ายนักการเมืองที่คอยเชียร์มากและตลอดเวลา ยังไงกระแสก็ไม่ดับ 24 ชม. ถ้าคุณเปิดเคเบิลทีวีจะได้ยินแต่เรื่องของหน้ากากขาว ดังนั้นจึงต้องมีอะไรบางอย่างออกไปติง ออกไปจิ้ม ให้เห็นว่าไม่ชอบธรรม ทุกวันนี้ออกไปถนนถามถึงความหมายของหน้ากากขาวคืออะไรเขาก็อาจจะบอกว่า “ล้มเจ้า” ก็ได้ คิดว่าการที่สังคมโดยรวมพูดถึงหน้ากากขาวในแง่นี้กับการปล่อยให้หน้ากากขาวเงียบไปเองแบบไหนมันเจ็บปวดกว่ากันสำหรับคนใส่หน้ากากขาว

สัญญาลักษณ์นี้ถ้ากลับกันเป็นฝ่ายแดงหยิบเอามาใช้คิดว่าโดนโจมตีหนักแน่นอน หน้ากากขาวมันเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของฝ่ายโน้น เป็นความผิดพลาดของคนคุมเกมส์เขา แต่ทางฝั่งนี้กลับไม่เล่นสวนกลับ ในขณะที่ความผิดเล็กๆ น้อยๆ ของฝ่ายแดง อย่างนายกฯ พูดผิด ฝ่ายนั้นกลับหยิบเอามาโจมตีเป็นเรื่องเป็นราว

ภาพโดย เฟซบุ๊ก Prainn Rakthai

คุณและกลุ่มที่ร่วมกิจกรรมหน้ากากแดงเมื่อวันอาทิตย์ จะมีกิจกรรมต่อเนื่องหรือจะเคลื่อนต่อไปหรือไม่ อย่างไร

แดงสยิว : คิดว่าจะไม่ไปแจมมิ่งกลุ่มหน้ากากขาวแล้ว เนื่องจากสังคมพิพากษาเขาไปแล้วว่าไม่มีความชอบธรรมในการเอาหน้ากากดังกล่าวมาใช้ ส่วนการเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์ต่อไปนั้นจะมีการตั้งกลุ่มแดงวิชาการขึ้นมา รวมประชาชนในหลายสาขาวิชาทั้ง หมอ สถาปนิก วิศวะ พ่อค้าแม่ค้า ฯลฯ ทุกสาขาอาชีพ มารวมอยู่ด้วยกันคุยกันในกลุ่มในเฟซบุ๊ก แล้วจะแยกเป็นห้องย่อยตามสาขาวิชาเพื่อนำเสนอข้อมูลความเห็นในโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพราะทางพรรคเพื่อไทยไม่ทำเรื่องนี้ ไม่ให้ราคากับการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำให้เขาโดนอยู่เรื่อยๆ เพราะเขามั่นใจในฐานเสียงของเขา แต่กับคนกลางๆ ที่รอเสพข่าวเขาไม่สนใจ แต่พวกผมเองสนใจคนกลุ่มนี้จึงตั้งกลุ่มขึ้นมา

เพื่อไทยไม่ให้ความสำคัญกับโซเชียลเน็ตเวิร์คไม่เหมือนประชาธิปัตย์ที่แม้แต่ ส.ส.ตัวเล็กๆ ของเขา คนมากดไลค์เพจกันเป็นแสน ดังนั้นจึงต้องมีคนทำ

ทำไมคุณถึงมองว่าพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์คจึงมีความสำคัญ

แดงสยิว : จุดเริ่มต้นทุกอย่างในโลกนี้มันมาจากข่าวลือ ถ้าไม่มีใครไปจัดการข่าวลือมันก็จะลุกลาม อย่างจุดเริ่มต้นกรณีคุณทักษิณล้มก็เพราะ Forward mail ทำไมไม่มีใครให้ความสำคัญกับตรงนี้ ดังนั้นพวกผมจึงตั้งกลุ่มนึ้ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลข้อมูลข่าวสารให้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘สุเทพ’ เบิกคดี ‘6 ศพวัดปทุม ย้ำไม่ได้สลายชุมนุม แต่กดดันให้เลิกไปเอง

$
0
0

ไต่สวนการตาย 6 ศพวัดปทุม สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ เบิกความชี้หลังเหตุ 10 เม.ย.จำเป็นต้องมีอาวุธหยุดผู้ก่อการร้าย ระบุศาลแพ่งเคยพิพากษาว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ  เชื่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่มีคำสั่ง พบเขม่าดินปืน 2 ใน  6 ศพวัดปทุม

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ  ที่มาของภาพ: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล

6 มิ.ย.56 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคำร้องชันสูตรการเสียชีวิต ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของ นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1, นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2, นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3, นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4, น.ส.กมนเกด ฮัคอาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5, และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 โดยทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.  สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยพนักงานอัยการนำ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ขึ้นเบิกความต่อศาล ซึ่งเบิกความโดยสรุปว่า 7 เม.ย.53 รัฐบาล(ขณะนั้น)ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ จังหวัดนนทบุรี และบางอำเภอในจังหวัดสมุทรปราการ  และออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 ฉบับ คือ

  1. คำสั่งตามมาตรา 11 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่หน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  2. คำสั่งตามมาตรา 9  ห้ามดำเนินการชุมนุมมั่วสุมเกิน 5 คน การนำเสนอข่าวและการใช้เส้นทางคมนาคม

และวันเดียวกันนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 1/2553 ให้ตั้งศูนย์อำนายการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)  และตั้งนายสุเทพเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. โดยมีเจ้าหน้าที่อื่นๆ เป็นคณะกรรมการร่วมด้วย และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 2/2553 ตั้งผู้กำกับการปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่  โดยตนเป็นหัวหน้าผู้กำกับการปฏิบัติหน้าที่และหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ภายหลังการตั้ง ศอฉ. แล้วได้มีมติและออกคำสั่งปฏิบัติงาน ศอฉ. ที่ 1/2553 กำหนดขอบเขตหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และระบุถึงการประกอบกำลังในการปฏิบัติการ ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในผนวกท้ายคำสั่ง เช่น ในผนวก ก. กำหนดวิธีการใช้กำลังในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะระบุขั้นตอน เช่น

  1. หากพบการกระทำที่ผิดกฎหมายต้องมีการแจ้งเตือนด้วยเครื่องขยายเสียงก่อน
  2. ไม่ใช้โล่ทุบหรือใช้สันโล่ในการผลักดัน
  3. การใช้คลื่นเสียงและใช้รถฉีดน้ำได้ก็ต่อเมื่อเพื่อรบกวนและผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่
  4. เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามหลักสากลในการปฏิบัติ จะต้องปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก ซึ่งมี 7 ขั้นตอนคือ 1. แจ้งเตือน 2. ประกอบกำลัง 3. โล่ดัน 4.ใช้รถฉีดน้ำ 5.กระบอง 6. รถคลื่นเสียง 7. ปืนลูกซองกระสุนยาง เพื่อยับยั้งผู้ชุมนุม ซึ่งจะมีการกำหนดว่าจะต้องใช้โล่กระบอง และรถฉีดน้ำอย่างไร

ในช่วงแรกที่มีการตั้งเวทีที่ผ่านฟ้าลีลาศก่อนที่จะมีการขยายไปชุมนุมที่ราชประสงค์นั้น รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แก้ปัญหาโดยตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เป็นผู้ดำเนินการ  การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้นประกาศใช้ภายหลังเกิดเหตุรุนแรงโดยมีการบุกรัฐสภาในวันที่ 7 เม.ย. และก่อนหน้านั้นวันที่  5 เม.ย. รัฐบาลได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้ผู้ชุมนุมออกจากราชประสงค์ ซึ่งศาลก็ได้มีคำพิพากษาว่า การชุมนุมกีดขวางการจราจร การคมนาคม เป็นการจำกัดสิทธิประชาชน ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ  เมื่อประกาศแล้วรัฐบาลสามารถดำเนินการจับกุมได้ทันที่โดยไม่ต้องยื่นเรื่องต่อศาลอีก

นายสุเทพเบิกความถึงวันที่ 10 เม.ย.53 ว่า ศอฉ. ได้ออกคำสั่ง 0407.45/4 เนื่องจากเกิดปัญหาจราจรอย่างรุนแรงที่ถนนราชดำเนินและราชประสงค์ รัฐบาลโดย ศอฉ. เจ้าหน้าที่ขอพื้นที่ถนนราชดำเนิน ในส่วนที่รองรับจราจรจากสะพานปิ่นเกล้าและสะพานพระราม 8 เพื่อแก้ปัญหาจราจร ซึ่งในคำสั่งกำหนดการใช้อาวุธไว้ในข้อกำหนด 3 ว่า

  1. ให้ยึดถือแนวทางและขั้นตอนตามคำสั่งปฏิบัติการที่ 1/53
  2. อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธในการป้องกันตนเองและรักษาความปลอดภัยให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งจะต้องทำการเตือนด้วยวาจา ยิงเตือนขึ้นฟ้า และใช้อาวุธตามลหักเกณฑ์และเงื่อนไขในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและสมควรแก่เหตุ

อดีต ผอ.ศอฉ เบิกความต่อว่า วันที่ 13 เม.ย. ออกคำสั่ง 0407.45/84  ให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ปืนลูกซองในการควบคุมฝูงชนได้เพราะไม่อานุภาพไม่ร้ายแรงและสามารถควบคุมวิถีกระสุนได้ซึ่งเหมาะแก่การป้องกันตนเองและประชาชน  ซึ่งจะใช้ก็ต่อเมื่อปรากฏภัยคุกคามหรือกลุ่มติดอาวุธที่มีท่าทีคุกคามต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยจะใช้ในระยะ 30-50 ม.ขึ้นไปเพื่อเป็นการควบคุมวิถีกระสุนและควบคุมความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และห้ามใช้กับผู้หญิงและเด็ก การใช้ต้องไม่ประสงค์เอาชีวิตเป้าหมายให้เล็งส่วนล่างของร่างกาย  โดยนายสุเทพให้เหตุผลว่า ในปฏิบัติการขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เม.ย. เจ้าหน้าที่ได้รับอุปกรณ์ตามหลักสากลคือ โล่ กระบอง รถฉีดน้ำ และปืนลูกซองกระสุนยาง และมีเจ้าหน้าที่มีอาวุธประจำกายอยู่แถวหลัง ซึ่งก็ได้มีผู้ก่อการร้ายใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 5 นาย ประชาชน 20 กว่าคน และบาดเจ็บ 800 กว่าคน ศอฉ. จึงจำเป็นต้องมีอาวุธหยุดผู้ก่อการร้ายได้จึงให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ปืนลูกซองเพื่อแก้ปัญหาได้

ในวันที่ 15 เม.ย. ศอฉ. ออกคำสั่ง 0407.45/113  เป็นคำสั่งตั้งด่านแข็งแรงเพื่อป้องกันผู้ก่อการร้ายและผู้ชุมนุม และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารร่วมมือกันในการปฏิบัติงาน และจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อเป็นกำลังเสริมตามจุดต่างๆ และจัดอาวุธให้กับด่านแต่ละจุดอย่างเพียงพอในการใช้  ในวันที่ 16 เม.ย. นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งที่พิเศษ 93/2553 ตั้งพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบแทนนายสุเทพ

นายสุเทพ เบิกด้วยว่า วันที่ 22 เม.ย. นายจตุพร พรหมพันธุ์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพต่อศาลแพ่งว่า ในการปฏิบัติงานในวันที่ 10 เม.ย. เป็นการปฏิบัติโดยมิชอบด้วยกฎหมายและให้ห้ามทั้งสองคนไม่ให้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมอีก ศาลแพ่งได้มีคำสั่งว่าไม่มีเหตุผลในการห้ามจึงยกคำร้องและศาลได้ให้ทั้ง 2 คนยังสามารถออกคำสั่งในการใช้อาวุธและกำลังได้ตามหลักสากล  จากนั้นในวันที่ 14 พ.ค. นายจตุพรยื่นคำร้องให้คุ้มครองชั่วคราวต่อศาลแพ่งอีกครั้งมิให้นายอภิสิทธิ์ สุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ สั่งการปิดกั้นคมนาคม ซึ่งศาลได้มีคำสั่งว่าศาลไม่สามารถก้าวล่วงการปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเป็นการปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย

เมื่อเกิดเหตุการณ์ 10 เม.ย. ผู้ชุมนุมได้ยุบเวทีที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ มาที่แยกราชประสงค์และประกาศขยายไปสีลมและเยาวราช ซึ่งจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ จึงให้ตั้งด่านแข็งแรงที่สีลมและเยาวราช เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนไปที่บริเวณดังกล่าว แต่ทาง ศอฉ. ไม่ได้มีเจตนาสลายการชุมนุม แต่เป็นการกดดันเพื่อให้เลิกการชุมนุมไปเองโดยทำให้ไม่ได้รับความสะดวกที่จะทำการชุมนุม  และมีการตั้งด่านปิดกั้นพื้นที่เพื่อไม่ให้มีผู้ชุมนุมเข้าไปและมีการนำอาวุธเข้าไปได้  เพราะมีผู้ก่อการร้ายปะปนอยู่และได้ใช้พื้นที่สวนลุมพินีเป็นฐานใช้ M79 M16 และปืนอาก้าโจมตีใส่เจ้าหน้าที่ที่ถนนพระราม 4 และรถไฟฟ้าทำให้มีเจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิต จึงได้มีการควบคุมที่เข้มข้นยิ่งขึ้น 26 เม.ย. ศอฉ. มีคำสั่ง 0407.45/296   ตั้งด่านรอบแยกราชประสงค์ 6 จุดได้แก่ 1. แยกพงษ์พระราม 2.แยกศาลาแดง 3.อโศกมนตรี 4.พญาไท 5.อังรีดูนังค์ 6. นราธิวาศ  เป็นการป้องกันไม่ให้ ไม่ให้ยกกำลังออกจากราชประสงค์ไปก่อปัญหาได้ หลังจากนั้นมีการตั้งด่านเพื่อกระชับพื้นที่เพิ่มขึ้นเพื่อกดดันให้ไม่ได้รับความสะดวกในการชุมนุมและนำอาวุธเข้าออกได้เพราะ 6 จุดเดิม ไม่เพียงพอ  โดยได้เพิ่มด่านสำคัญอีก 4 ด่านคือ แยกปทุมวัน ถนนราชปรารภ ถนนพระราม 4 และเพลินจิตและจุดสกัดประกอบ 13 จุด ที่เข้าราชประสงค์ และคำสั่งหยุดการเดินรถไฟฟ้าตั้งแต่6 โมงเย็น ของวันที่ 13 พฤษภาคม  เป็นต้นไป รวมทั้งมีคำสั่งห้ามการคมนาคมทั้งทางน้ำและบก หยุดให้บริการไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ในพื้นที่ราชประสงค์

นายสุเทพ เบิกความถึงเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.53 ว่ามีคำสั่งปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมและพื้นที่ต่อเนื่อง และปรับกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อคุมพื้นที่ราชประสงค์และจัดการจราจรโดยรอบเพราะ ศอฉ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ยึดพื้นที่สวนลุมพินีตั้งแต่ถนนพระราม 4 ถึงสารสินคืนเพราะผู้ก่อการร้ายใช้เป็นฐานในการโจมตีด้วย M79 และอาวุธสงครามอื่นๆ ใส่เจ้าหน้าที่แบะประชาชน และมีการเข้ายึดโรงพยาบาลจุฬาฯของฝ่ายผู้ชุมนุม  จากนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมพื้นที่สวนลุมถึงสารสินได้แล้วแกนนำก็ประกาศเลิกการชุมนุมในเวลา 13.00 น. เศษ  เมื่อแกนนำยกเลิกการชุมนุมและเข้ามอบตัวกับตำรวจแล้วยังมีผู้ชุมนุมเหลือที่หน้าเวทีราว 3000 คน จึงได้จัดรถส่งกลับภูมิลำเนาซึ่งบางส่วนก็กลับ บางส่วนก็หลบเข้าไปในวัด

ราวบ่าย 2-3 โมง เป็นต้นไปมีคนร้ายวางเพลิงสถานที่ต่างๆ เช่น โรงหนังสยาม เซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารบริเวณนั้น และนอกพื้นที่การชุมนุมเช่น สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ศอฉ.จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยเข้าไประงับเหตุ เพราะมีคนร้ายใช้อาวุธสงครามสกัด

ขณะประชุมกับตำรวจนครบาลและภูธรเพื่อดำเนินการให้ผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนา มีโทรศัพท์หาชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เพื่อร้องขอรถพยาบาลเข้าไปรับคนเจ็บในวัดเพราะมีคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงคนได้รับบาดเจ็บหลายคนให้เข้าไปรับ  จึงสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดรถพยาบาลเข้าไปรับคนเจ็บ ต่อมาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ตำรวจแจ้งว่าเข้าไปรับคนเจ็บไม่ได้เพราะว่ามีคนร้ายซุ่มยิงอยู่ แต่ได้รับแจ้งจากสาธารณสุขว่าได้มีรถอาสาพยาบาลเข้าไปรับแล้ว   ในวันนั้นไม่ได้รับรายงานว่ามีคนตายจนกระทั่งวันรุ่งขึ้น

ต่อมาได้รับรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษและตำรวจเกี่ยวกับการเสียชีวิตทั้ง 6 ราย ผลจากการชันสูตรศพคาดว่าจะเสียชีวิตจากที่อื่นแล้วนำร่างมาไว้ที่ข้างศาลา และในรายงานของตำรวจ 2 ครั้ง ผลชันสูตรพบว่ามี 2 รายมีเขม่าดินปืนที่มือในปริมาณที่น่าจะใช้อาวุธมาก่อน คือนายรพ สุขสถิตย์และนายสุวัน ศรีรักษา

เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจทางดีเอสไอมีบันทึกการเสียชีวิตของทั้ง 6 รายนำมาให้ใช้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยในรายงานระบุว่าไม่มีหลักฐานว่าเสียชีวิตเพราะเจ้าหน้าที่หรือผู้ใดทำให้ตายและมีรายเรื่องเขม่าดินปืน 2 ราย ต่อมาดีเอสไอ แจ้งว่าอาจมีเหตุเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่จึงให้ตำรวจทำการสอบสวนใหม่ ภายหลังได้แจ้งอีกว่าบรรดาผู้ตายมีอยู่ 12 ราย เป็นการตายจาก นปช. และ 13 ราย เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ เป็นรายงานที่ทราบทั้งหมดเกี่ยวกับการตาย 6 ศพ

นายสุเทพเบิกความต่อศาลว่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนตามคำสั่ง และได้เสริมอีกว่าไม่เคยถูกเรียกสอบในกรณีการเสียชีวิต 6 ศพ วัดปทุมฯนี้ เป็นการเฉพาะ

ทั้งนี้หลังเบิกความตามสำนวนจบลง ทนายได้ขอเลื่อนการซักถามพยานไปในตอนบ่าย นายสุเทพกลับขอเลื่อนออกไปอีกโดยให้เหตุผลว่าในตอนบ่ายต้องไปร่วมประชุมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซ่อมเขตดอนเมือง การซักถามของทนายจึงต้องเลื่อนออกไปนัดหน้า

เรียบเรียงจาก : บันทึกการไต่สวยการเสียชีวิตโดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปักหมุดพลังหญิง นำทางสันติภาพชายแดนใต้

$
0
0

เปิดวงถกผู้หญิงชายแดนใต้กับกระบวนการสันติภาพปาตานี ขุดข้อกังวล ส่งเสียงความต้องการ กำหนดบทบาทพร้อมสร้างความพร้อมร่วมร่างโรดแมปสันติภาพ สร้างช่องทางสื่อสารจากรากหญ้า ผู้หญิงขอร่วมโต๊ะเจรจา เปิด 11 ข้อขอมีส่วนร่วมสร้างสันติภาพ

 

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556 ที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมและศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จัดเสวนา “ผู้หญิง +การสื่อสาร + กระบวนการสันติภาพ” เพื่อดึงความเห็นของตัวแทนผู้หญิงจากองค์กรต่างๆ รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ที่เข้าร่วม 35 คน ซึ่งมีทั้งไทยพุทธและมุสลิม

นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมผู้หญิงที่จะเป็นตัวแทนเข้าร่วมร่างแผนที่นำทางหรือโรดแมปสันติภาพชายแดนใต้ในวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่ ม.อ.ปัตตานี โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ ความหวัง ความกังวล ความต้องการและข้อเสนอ

 

‘ผู้หญิง’ ข้อต่อสำคัญสร้างความเข้าใจสันติภาพ

นางสาวฐิตินบ โกมลนิมิ จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมครั้งนี้ว่า เป็นการรวบรวมความคิดเห็นของผู้ที่มีความแตกต่างทั้งภูมิหลังและความคิดเห็นทางการเมืองเพื่อสร้างและเปิดพื้นที่กลางแก่คนในพื้นที่ และย้ำว่า ผู้หญิงยังเป็นข้อต่อในการเชื่อมความรู้ความเข้าใจในเรื่องกระบวนการสันติภาพแก่คนในชุมชนตนเองด้วย ตลอดจนความกังวลและข้อเสนอต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ PATANI

 

กลัวสันติภาพล่มและความรุนแรงจะกลับมา

ในวงเสวนามีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย โดยกลุ่มผู้หญิงได้แสดงความกังวลว่า การพูดคุยระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่ม BRN อาจจะล่มได้ กังวลในเรื่องผู้สื่อสารเองที่จะส่งผลทำให้สังคมไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจต่อกระบวนการสันติภาพ รวมถึงความเห็นต่างๆ ที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook ซึ่งบางครั้งมีการนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน ส่งผลให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดไปด้วย

ผู้หญิงบางส่วนแสดงความเห็นต่อข้อเสนอของขบวนการบีอาร์เอ็นว่า อาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายรัฐไทย แต่ก็ยังมีความหวังที่จะให้กระบวนการสันติภาพมีความชัดเจนขึ้นและดำเนินการต่อไป เนื่องจากไม่มั่นใจว่า ถ้ากระบวนการสันติภาพครั้งนี้ล่มลงแล้ว กระบวนการสันติภาพครั้งต่อไปจะได้เริ่มอีกเมื่อไหร่ และจะเกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมหรือไม่

 

ห่วงเยาวชนจะโตอย่างไรท่ามกลางความรุนแรง

อย่างไรตาม ที่ผ่านมาพวกเธอทั้งหลายต้องแบกรับความยากลำบากจากสถานการณ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งยังกังวลในประเด็นที่อาจจะมีมือที่สามเข้ามาแทรกแซงกระบวนการ จนทำให้กระบวนการสันติภาพไม่สามารถดำเนินต่อไปได้

กังวลเรื่องการเติบโตของเยาวชนปาตานีว่า จะเติบโตต่อไปได้อย่างไรท่ามกลางความรุนแรง เพราะกว่าสันติภาพจะเกิดขึ้น ต้องใช้เวลานานแน่นอน และไม่อยากให้มีมือที่สามเข้ามาแทรกแซง

         

ขอมีส่วนร่วมในวงพูดคุยเพื่อสันติภาพ

ในประเด็นเรื่องความต้องการ กลุ่มผู้หญิงส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องความปลอดภัยในชีวิตเป็นหลัก และไม่อยากให้มีความรุนแรงอีกต่อไป เพราะถ้าการเจรจาสันติภาพครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ อาจเนื่องจากฝ่ายรัฐไทยไม่ยอมรับข้อเสนอของคู่เจรจา หรือแต่ละฝ่ายไม่มีความจริงใจต่อกัน อาจทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจและใช้ความรุนแรงที่หนักขึ้นกว่าเดิมอีก จึงต้องการให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพดำเนินต่อไป และพัฒนาไปสู่การเจรจา

กลุ่มผู้หญิงอยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีพูดคุยสันติภาพ เช่น เป็นผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการพูดคุย อยากให้ประเด็นของผู้หญิงถูกหยิบยกเป็นประเด็นในการพูดคุย และอยากเป็นตัวแทนผู้หญิงในพื้นที่เข้าร่วมเจรจาด้วย

 

จี้รับ 5 ข้อบีอาร์เอ็น สร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงรากหญ้า

กลุ่มผู้หญิงส่วนหนึ่งต้องการให้รัฐไทยรับพิจารณา 5 ข้อเสนอของขบวนการบีอาร์เอ็น โดยให้เหตุผลว่า การรับข้อเสนอดังกล่าว เสมือนการสานต่อความหวังของในพื้นที่ที่อยากให้มีสันติภาพโดยเร็ว

อยากให้ปล่อยตัวคนถูกคดีความมั่นคง และให้เปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้หญิงระดับรากหญ้าได้เรียกร้องความต้องการของตัวเองได้ และสร้างความมั่นใจให้ผู้หญิงสามารถเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพตั้งแต่แรกเริ่มได้

 

สร้างพื้นที่สื่อสาร ผู้หญิงรากหญ้ากับสันติภาพ

นางโซรยา จามจุรี ประธานเครือข่ายผู้หญิงประชาสังคมชายแดนใต้ ระบุว่า กำลังจะถ่ายทำรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอประเด็นผู้หญิงกับสันติภาพ เพื่อนำเสนอในระหว่างเดือนถือศีลอดที่กำลังจะถึงในเดือนกรกฎาคม 2556 นี้ เป็นการต่อยอดจากปีที่แล้วนำเสนอประเด็นผู้หญิงกับการเยียวยา

เป็นรายการที่นำเสนอในช่วงก่อนฟ้าสางทางช่องมอเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวมุสลิมจะตื่นมารับประทานอาหารก่อนถึงช่วงเวลาเริ่มถือศีลอด หรือเวลาประมาณ 04.00 น.ชื่อรายการรอมฎอนไนท์

ส่วนนางสาวอัสรา รัฐการัณย์ จากเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ได้นำเสนอโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชียและมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาในการจัดรายการวิทยุ 20 ตอน เกี่ยวกับความเห็นของผู้หญิงจากระดับรากหญ้าสู่สาธารณะ

รายการวิทยุดังกล่าว ชื่อรายการ “We Voice” เพื่อหนุนเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ ซึ่งนาวสาวอัสรา กล่าวว่า เป็นรายการสนทนาเชิงสารคดี ตอนละ 15 นาที โดยมีแนวคิดหลัก คือการสร้างบรรยากาศสันติภาพ โดยการสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจของคนในชุมชน และการพูดคุยเพื่อสันติภาพ

 

สร้างจุดเชื่อมกลุ่มคนที่มีความคิดต่างกัน

นาวสาวอัสรา กล่าวว่า รายการวิทยุจะพูดคุยในประเด็นต่างๆ คือ เรื่องความสัมพันธ์พุทธและมุสลิมในชุมชนที่ได้รับผลกระทบต่อเหตุการณ์ความไม่สงบ มุมมองต่อเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพและการมีส่วนร่วมเพื่อสันติภาพในพื้นที่ของผู้คนในชุมชน และคนทำงานภาคประชาสังคม และร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อภาพยนตร์และสารคดี ที่เกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพหรือสิทธิมนุษยชน

นางสาวอัสรา กล่าวว่า การสื่อสารจะช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างคนไทยพุทธกับมุสลิมได้ ซึ่งในการลงพื้นที่เพื่อถามความเห็นของชาวบ้านพบว่า มีความรู้สึกอ่อนไหวกับคนต่างศาสนิก แต่ก็มีหลายประเด็นที่สามารถถามความเห็นร่วมระหว่างสองศาสนิกได้ นอกจากนี้รายการของตนจะเป็นกระบอกเสียงของคนรากหญ้าที่แสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพ

 

แนะเคลียร์ความหมายนักโทษการเมือง

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ประสานงานกลุ่มด้วยใจซึ่งทำงานประเด็นสิทธิของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ให้ความเห็นเกี่ยวข้องกับข้อเสนอที่ให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีการเมืองว่า ข้อเสนอนี้ทำให้คนในสังคมไทยที่ยังไม่เข้าใจกระบวนการสันติภาพในภาพใหญ่เกิดอาการต่อต้าน เพราะไม่อยากให้ปล่อยนักโทษการเมือง ทั้งๆที่เป็นประเด็นสำคัญในการต่อรองของขบวนการบีอาร์เอ็น

นางสาวอัญชนา เห็นว่า สำหรับประเด็นนี้ จะสามารถลดปฏิกิริยาต่อต้านจากสังคมภายนอกได้โดยการนำเสนอให้เห็นว่า ผู้ต้องขังบางส่วนถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความรุนแรงในพื้นที่ทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานมัดตัวจริงๆ แต่ก็ทำให้พวกเขาต้องถูกขังซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิ ดังนั้นต้องให้ความเป็นธรรมแก่พวกเขา

“แต่การคืนความยุติธรรมให้แก่ชาวบ้านคนหนึ่งได้นั้น สังคมใหญ่ต้องเข้าใจกระบวนการนี้ด้วย นั่นคือ ต้องตีความคำว่านักโทษการเมืองที่สมควรปล่อยตัวออกมาก่อน เพราะถ้าสังคมใหญ่เข้าใจประเด็นนี้ ก็อาจจะไม่มีการต่อต้าน" นางสาวอัญชนา กล่าว

 

สรุปข้อเสนอต่อการร่างโรดแมปสันติภาพ

สรุปข้อเสนอของกลุ่มผู้หญิงต่อการร่างโรดแมปสันติภาพ หลักๆ จำนวน 11 ข้อ ดังนี้

-           ให้มีผู้หญิงเป็นผู้สังเกตการณ์การพูดคุย

-           ให้หยิบยกประเด็นผู้หญิงในการพูดคุย

-           ปล่อยผู้ต้องหาที่ไม่มีความผิด

-           จัดเวทีพูดคุยเรื่องกระบวนการสันติภาพในระดับรากหญ้าให้มากขึ้น

-           ให้ประชาชนระดับรากหญ้ามีเสียงในการนำเสนอความต้องการที่แท้จริง

-           อยากให้ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ

-           ไม่ทำร้ายเป้าหมายอ่อนแอหรือผู้ที่ไม่มีอาวุธ

-           เรียกร้องให้ออกมารับผิดชอบในเหตุการณ์ที่ตัวเองทำ และบอกวัตถุประสงค์ด้วยว่า เพราะอะไร ทำเพื่ออะไร

-           เลิกเผาโรงเรียน ทำร้ายครู เพราะจะทำให้เด็กไม่มีที่เรียน ถ้าเด็กไม่ได้รับการศึกษาแล้วจะฝากอนาคตของพื้นที่ไว้กับใคร

-           ให้รับและนำความต้องการของประชาชน ให้ฟังเสียงของผู้หญิงในพื้นที่โดยเฉพาะผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางตรง

-           เปิดโอกาสให้ทุกหน่วยงาน ทั้งองค์กรของรัฐ เอกชน ประชาสังคม สถาบันทางศาสนา สามัญ ทำงานร่วมกันทุกฝ่าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักศึกษาชายแดนใต้ 5 สถาบันร่วมสร้างโรดแมปสันติภาพ

$
0
0
นักศึกษาชายแดนใต้จาก 5 สถาบันเริ่มขยับร่วมสร้างโรดแมป หนุนสันติภาพชายแดนใต้ เสนอบทบาทสร้างพื้นที่กลาง เปิดพื้นที่แสดงความเห็นที่ปลอดภัย

 
 
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมาสมาพันธ์นักศึกษารักสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนสต.) ร่วมกับ ชมรมนักศึกษารักสันติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพื้นที่กลางสร้างสันติภาพและหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ณ ห้องประชุมชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี มีนักศึกษาจากหลายสถาบันเข้าร่วม เช่น ม.อ.ปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาและวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี
 
เอกสารโครงการระบุว่า สนสต.เห็นความสำคัญในการหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีและหนุนเสริมการพูดคุยเพื่อสันติภาพจึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดตัวตนของสมาพันธ์ฯ ในกระบวนการสร้างสันติภาพให้ชัดเจน และกำหนดแผนขับเคลื่อน เพื่อหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพต่อไป
 
โดยในช่วงเช้ามีการเปิดเวทีเสวนากระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนักวิชาการของ ม.อ.ปัตตานีและตัวแทนภาคประชาสังคมบรรยายให้ความรู้ 
 
นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch – DSW) ได้บรรยายถึงแผนที่นำทาง หรือ โรดแมปสู่สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับแนะนำว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาต้องเป็นอิสระ ไม่จำเป็นต้องทำตามความต้องการของผู้ให้ทุนสนับสนุนเสมอไป เพื่อให้เกิดความคิดที่บริสุทธิ์และเกิดการเรียนรู้
 
นายอัสรี จะมะจี นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวแสดงความเห็นว่า นักศึกษาเป็นกลุ่มคนที่มีความคิด แต่บางครั้งไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะกลัวจะไม่ได้รับความปลอดภัย จึงขอให้มีพื้นที่กลางที่ชัดเจนและปลอดภัยต่อการแสดงความคิดเห็น
 
จากนั้นในช่วงบ่าย สนสต.ได้แบ่งกลุ่มให้นักศึกษาแต่ละสถาบันหารือแนวทางในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ โดยได้ข้อสรุปแต่ละสถาบันดังนี้ ม.อ.ปัตตานี เสนอให้แนะนำ สนสต.ให้สังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รู้จักและทำโครงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความเข้าใจและความรู้สึกของคนในพื้นที่ และผลิตสื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี เสนอให้มีการสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่เกี่ยวกับความจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น
 
มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เสนอจะทำกิจกรรมเกี่ยวกับสันติภาพร่วมกับสถาบันอื่นๆ จะเปิดเวทีให้ประชาชนในพื้นที่แสดงความคิดเห็นและความต้องการ โดยนำผู้หลงผิดหรือผู้ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความไม่สงบมาเป็นวิทยากร เสนอจะก่อตั้งชมรมรักบ้านเกิด และผลิตสื่อทาเลือกเพื่ออธิบายและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์
 
มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาและมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีข้อเสนอคล้ายๆกัน คือ เสนอให้นำประเด็นศาสนามาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยจะมีกิจกรรมประจำวัน ประจำสัปดาห์และประจำเดือน
 
นายสุไลมาน เจ๊ะและ ประธาน สนสต. เปิดเผยหลังการประชุมว่า หลังจากนี้จะทบทวนข้อเสนอของสถาบันต่างๆ โดยอาจเรียกประชุมอีกครั้งเพื่อนำมาสร้างโรดแมปการหนุสนเสริมสันติภาพที่สมบูรณ์ของสนสต. เพราะจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สนสต.สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
นายอัสรี จะมะจี นักศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวหลังการประชุมว่า นักศึกษาเป็นกลุ่มสำคัญและต้องมีความกล้าในการแสดงความคิดเห็น เพื่อช่วยในการสร้างกระบวนการสันติภาพ อย่างน้อยขอให้พูดดีกว่าเงียบและไม่แสดงออกอะไรเลย
 
“แม้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีพื้นที่กลางที่ขาวสะอาด แต่ก็ใช่ว่าจะดำสนิท อย่างน้อยก็ยังเป็นสีเทา เพราะเป็นไปไม่ได้ที่พื้นที่ความขัดแย้งจะมีพื้นที่ขาวสะอาด แต่เราต้องรู้ว่า เราควรทำอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ ก็เหมือนกับการหารือเราต้องทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เสียงดังเกินไป ไม่ให้คนอื่นโกรธ ไม่รบกวนคนอื่น” นายอัสรี กล่าว
 
นายอับดุลเลาะ นิลา นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี กล่าวว่า เราต้องให้ความสำคัญประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจ เพราะเป็นฝ่ายที่ได้รับความสูญเสียมากกว่าฝ่ายรัฐและขบวนการบีอาร์เอ็น บางคนเสียญาติพี่น้อง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีเดียมอนิเตอร์เผยพบสปอตวิทยุผลิตภัณฑ์สุขภาพโฆษณาเกินจริง

$
0
0
สรุปผลการศึกษาพบสปอตวิทยุโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม สร้างความเสี่ยงต่อประชาชน ให้ "เสียรู้- เสียทรัพย์- เสียสุขภาพ -เสียชีวิต" มีเดียมอนิเตอร์และ กพย. เสนอ กสทช. อย. สตช. ดำเนินการอย่างเข้มงวด จริงจัง ฉับพลัน 

 
 
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมาที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้แทนจากโครงการมีเดียมอนิเตอร์ และ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) นำโดย ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ร่วมกับ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. และภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคณะ ได้นำเอกสารสรุปผลการศึกษา เรื่องการศึกษาวิเคราะห์ สปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามทางวิทยุกระจายเสียงที่ปรากฏในเว็บไซต์ พร้อมข้อเสนอแนะ ไปเสนอต่อ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ .พร้อมด้วย ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
 
จุดมุ่งหมายของการศึกษา ครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ของผลการศึกษา พร้อมข้อเสนอแนะ ให้หน่วยงานกำกับดูแลสื่อ และ เนื้อหาการโฆษณา มีมาตรการการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจริงจัง เพื่อการปกป้องคุ้มครองดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการโฆษณาขายผ่านสื่อ จนอยู่ในภาวะความเสี่ยงอย่างรุนแรง ทั้งเสี่ยงต่อการเสียทรัพย์ เสียสุขภาพ ไปจนถึงเสียชีวิต การศึกษาครั้งนี้ได้สุ่มเลือกหน่วยการศึกษา เพื่อการวิเคราะห์เนื้อหา โดยไม่คำนึงถึงช่องทางและความถี่ในการเผยแพร่ ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า การโฆษณาขายทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ปรากฎมากมายในท้องถิ่นทั่วประเทศ จนมีการร้องเรียนมาที่ กสทช. เป็นระยะ
 
การศึกษาครั้งนี้ ได้สุ่มเลือกสปอตวิทยุกระจายเสียง โดยสืบค้นข้อมูลบนเว็บไซต์ google.co.th, youtube.com และ4shared.com ในช่วงวันที่ 11-15 มี.ค.2556 ด้วยการกำหนดคำสำคัญ คือ สปอตวิทยุ และ ชื่อผลิตภัณฑ์จากรายงานการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ในสื่อเคเบิ้ลทีวีและวิทยุชุมชนของ กพย. ที่ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ เมื่อปี 2554 พบไฟล์เสียงสปอตวิทยุที่เผยแพร่ในช่วงปี 2555-2556 จำนวน 71 ชิ้นสปอต จาก 52 ผลิตภัณฑ์ ที่ส่วนใหญ่เป็นสปอตวิทยุโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อแตกต่างจากชื่อที่ใช้ค้นหา จากนั้นถอดความจากไฟล์เสียงเพื่อทำการวิเคราะห์ โดยจำแนกประเภทผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายเป็น “ยา” และ “อาหาร” ด้วยการเปรียบเทียบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ. ยา พ.ศ.2510 พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2551 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ.2556 คู่มือการตรวจสอบโฆษณาสำหรับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ร่วมกับการวิเคราะห์เนื้อหาการโฆษณา
 
จากสปอตวิทยุที่เป็นหน่วยการศึกษา 
 
จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์ยาได้ 26 ชิ้นสปอต ของ 18 ผลิตภัณฑ์ จำนวนนี้มี 12 ผลิตภัณฑ์ที่มีเลขทะเบียน อย. ได้แก่ ยาสมุนไพรเกร็กคู ยาสตรีเด่นเจริญ ยากษัยเส้นพลังภูผา ยาบรรเทาริดสีดวงทวารตราภูหลวง ยาน้ำสมุนไพรวัยทองยาดองมะกรูด ยาสมุนไพรเก้ายอด ยาน้ำสมุนไพรสตรีวรรณภา สมุนไพร BL99 สมุนไพรโบโบถิ่น สมุนไพรลิลลี่ ยาสมุนไพรไทยทิพย์โอสถ ยาสตรีสมุนไพรฟลอร่า ส่วนอีก 6 ผลิตภัณฑ์ ไม่พบเลขทะเบียน อย. ได้แก่ ยาบำรุงเลือดพลังภูผา ยามดลูกกาโน่ ยาบรรเทาริดสีดวงทวารหนักตรา 3 ก๊ก ยาป๊อกตรามือรับเหรียญทอง ยาสมุนไพรวี 888 ยาสตรีอนาริช 
 
ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่าผลิตภัณฑ์ยาทั้งหมด 26 ชิ้นสปอตไม่ได้รับการอนุญาตโฆษณา (พ.ร.บ.ยา 2510 มาตรา 88ทวิ)
 
จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ได้จำนวน 41 ชิ้นสปอต ของ 30 ผลิตภัณฑ์ จำนวนนี้มีเพียง 10 ผลิตภัณฑ์ที่มีเลขทะเบียน อย. ได้แก่ ซันคลารา เจนิฟู้ด คาวตองพลัส Galaxy ออไรท์ ไมก้า เมอรินด้า กาแฟอชิ น้ำผลไม้ดีเจพลัสโกลด์ มีเลิฟคอลลาเจน ที่เหลือ 20 ผลิตภัณฑ์ ไม่พบเลขทะเบียน อย. ได้แก่ เอ็นไซม์น้ำย่านาง โกลด์สตาร์เอนไซม์ กาแฟคอฟฟี่วิล กาแฟออกาโน่โกลด์ กาแฟรีเฟรชคอฟฟี่ กาแฟวันแฟน กาแฟลิลลี่ น้ำมังคุดแซนสยาม เคน่าพลัส เควันพลัสและเคโอพลัส ไลโป 8 เบิร์นสลิม เอ็นไซม์เอนซี่ คาวตองแมกซ์ คาวตองเทวดล บีลิฟว์เฮิร์บ เคลซีทีพลัสพลูคาวตอง นิวไลฟ์ คาวตองคาลินก้า เคลพลูคาวตอง สพาร์ค
 
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่าผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมด 41 ชิ้นสปอตไม่ได้รับการอนุญาตโฆษณา (พ.ร.บ.อาหาร 2522 มาตรา 41) 
 
จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้จำนวน 4 ชิ้นสปอต ของ 4 ผลิตภัณฑ์ จำนวนนี้มี 2 ผลิตภัณฑ์ คือ มะมาสมุนไพร และ สบู่ธิดาทิพย์ ที่มีการจดทะเบียนหลายชื่อ จนไม่สามารถระบุได้ว่า มีเลขทะเบียน อย.หรือไม่ ส่วนอีก 2 ผลิตภัณฑ์ คือ ไอด้ามิราเคิล และ เพอร์เฟคแฮร์เซรั่ม ไม่พบเลขทะเบียน อย.
 
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่า เครื่องสำอางทั้ง 4 รายการ ไม่พบการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม และพบข้อความโฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญอันเกี่ยวกับเครื่องสำอางจำนวน 1 รายการ คือเครื่องสำอางสมุนไพรแก้ผมร่วงมะมา
 
ผลการศึกษาวิเคราะห์ในมิติด้านกฎหมาย 
 
ผลิตภัณฑ์ประเภทยา จากจำนวน 26 สปอต ของ 18 ผลิตภัณฑ์ เนื้อหาที่อาจเข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามทางกฎหมาย ที่พบมากที่สุด คือ การโอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด(พ.ร.บ.ยา 2510 มาตรา88(1)) ทั้งหมด 12 ชิ้นสปอต จาก 7ผลิตภัณฑ์ ด้วยข้อความ เช่น ไม่มีผลข้างเคียงปลอดภัยสูงสุด(ยาสมุนไพรเกร็กคู) ช่วยฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ(สมุนไพรBL99) คืนความสวยตัวช่วยดีๆ ไม่มีอันตราย (ยาสตรีอนาริช) สมุนไพรมหัศจรรย์ 14 ชนิดเกิดคุณประโยชน์อย่างมหาศาล(ยาสตรีอนาริช) 
 
รองลงมา คือ การแสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินจริง (พ.ร.บ.ยา 2510 มาตรา88(2))พบ 11 ชิ้นสปอต จาก 9 ผลิตภัณฑ์ เช่น มีพลังอย่างน่าตื่นตาตื่นใจในการขับไล่เลือดเน่าเลือดเสียที่คอยจะจับกันเป็นลิ่มเลือด(ยาบำรุงเลือดพลังภูผา) ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ตึงกระชับ บรรเทาอาการเจ็บปีกมดลูก ช่วยวัยสาวกลับคืนมา(สมุนไพรฟลอร่า ชนิดน้ำ) นี่เป็นเสียงของสมุนไพรลิลลี่ที่กำลังไล่จับไขมันส่วนเกินที่ร่างกายคุณไม่ต้องการ(สมุนไพรลิลลี่)
 
นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาที่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมายในมาตราอื่นๆ อีกเช่น
 
- มาตรา 89 ห้ามมิให้ขายยาโดยไม่สุภาพ หรือโดยการร้องรำทำเพลง หรือแสดงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย พบ 4 ชิ้นสปอตจาก 4 ผลิตภัณฑ์ 
 
- มาตรา 88(5)การให้เข้าใจว่าเป็นยาบำรุงกามหรือยาคุมกำเนิด พบ 3 ชิ้นสปอต จาก 2 ผลิตภัณฑ์
 
- มาตรา 88(6)การแสดงสรรพคุณยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษพบ 3 ชิ้นสปอตจาก 2 ผลิตภัณฑ์
 
- มาตรา 88(7)การรับรองหรือยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น พบ 2 ชิ้นสปอตจาก 2 ผลิตภัณฑ์
 
- มาตรา 88(8)การโฆษณาว่า สามารถบำบัดบรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค หรืออาการของโรคที่รัฐมนตรีประกาศตามมาตรา 77 (ได้แก่ โรคเบาหวาน มะเร็ง อัมพาต วัณโรค โรคเรื้อน โรคหรืออาการของโรคของสมอง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต) พบ 2 ชิ้นสปอต จาก 2 ผลิตภัณฑ์
 
ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร จากจำนวน 41 ชิ้นสปอต ของ 30 ผลิตภัณฑ์ พบว่า เกือบทั้งหมด คือ 39 ชิ้นสปอต จาก 29 ผลิตภัณฑ์ (ยกเว้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซันคลาร่า เฉพาะสปอตตัวที่ 4 จากจำนวนทั้งหมด 5 สปอต และกาแฟออกาโน่โกลด์) มีการนำเสนอข้อความโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร(พ.ร.บ.อาหาร 2522 มาตรา 40) ได้แก่ การโฆษณาในลักษณะสรรพคุณทางยา เช่น ช่วยในการบำบัดโรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคเอดส์ โรคไขข้ออักเสบ โรคเก๊าท์ โรคไต โรคผิวหนัง โรคตับ โรคหอบหืด โรคโลหิตจาง โรคความดันสูง ความดันต่ำ ไขมันอุดตัน โรคไมเกรน โรคไซนัส...(สมุนไพรคาวตองเทวดล) สุดยอดงานวิจัยระดับโลก....ดื่มแล้วได้ผลเร็วตั้งแต่ขวดแรก....ช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง เซลล์เนื้องอก ไขมัน ความดัน เบาหวาน และช่วยขับล้างสารพิษ สารเคมีออกจากร่างกาย ผิวหน้าใสไร้ฝ้า (สมุนไพรเคลซีทีพลัส พลูคาวตอง) 
 
การโฆษณาสรรพคุณด้านความงามและสุขภาพเพศหญิง ส่วนใหญ่พบการโฆษณาสรรพคุณที่เน้นความงามทางสรีระ และ สื่อถึงความสัมพันธ์ทางเพศที่ดีขึ้น เช่น ขาวอมชมพูดูมีออร่า กระจ่างใสทันตาใน 7 วัน(มีเลิฟ คอลลาเจน) ผิวสวยหน้าใส ไร้ริ้วรอย ภายในฟิตกระชับ หน้าอกเต่งตึง(เคน่าพลัส) ฟิตเฟิร์ม กระชับ ช่วยให้ระบบภายในสะอาด มั่นใจไร้กลิ่น(ซันคลาร่า) สุขภาพเพศชาย พบสรรพคุณส่วนใหญ่เน้นสมรรถภาพทางเพศ เช่น ทั้งใหญ่ ทั้งแข็งดี ทนนาน ไมก้าทำให้คุณเป็นชายเหนือชายได้อีกครั้ง(ไมก้า) นกเขาที่ไม่เคยขัน จะกลับมาขันถี่ๆ ตีปีกอีกครั้ง (กาแฟวันแฟน)
 
ผลการศึกษาวิเคราะห์ในมิติการใช้และการผลิตซ้ำค่านิยมทางสุขภาพ ความงาม เพศ 
 
พบว่า มักมีการใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่แสดงสรรพคุณที่เป็นสำนวนซึ่งสะท้อนค่านิยมในเรื่องสุขภาพและความงาม เช่น “ดูสวยใส เปล่งปลั่ง หน้าตามีราศีขึ้นเยอะ” “ผิวพรรณสวยงามมีน้ำมีนวล” “ทำให้หน้าใสมีเลือดฝาด” “ขับไล่เลือดเน่าเลือดเสีย” รวมทั้งค่านิยมทางสุขภาพ ความงาม ที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น “ขาวเด้งเปล่งออร่ากว่าใคร” “หุ่นฟิตเฟิร์ม” “ฟิตกระชับ หุ่นเฟิร์ม” “หุ่นเซี๊ย” และยังพบว่า มีการผลิตซ้ำความคิดในมิติทางเพศ และ ความสัมพันธ์ของหญิง-ชาย โดยเน้นการสร้างความสนใจ หรือ ความกังวล เช่น “มั่นใจไร้กลิ่น” “ภายในกระชับดับกลิ่น” “สำหรับคุณผู้ชายที่มีปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ล่มปากอ่าว” กับการชี้สู่ผลที่พึงประสงค์ เช่น “สามีรักสามีหลงไปไหนไม่รอด” “ทั้งใหญ่ ทั้งแข็งดี ทนนาน” “เพิ่มความเป็นชายได้ทุกสนาม” นอกจากนั้นยังมีการอ้างอิงธรรมชาติ เช่น “ผลิตจากยาสมุนไพรตำรับดั้งเดิม” “สกัดจากธรรมชาติ” และ การกล่าวอ้างข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น “ไม่มีสเตียรอยด์ล้านเปอร์เซ็นต์” “ช่วยต้านอนุมูลอิสระ” และ สปอตโฆษณาจำนวนไม่น้อย ที่ระบุสรรพคุณหลากหลายในลักษณะครอบจักรวาล ทั้งยังพบการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ให้มีนัยยะของสรรพคุณยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ เช่น ยาสมุนไพรเก้ายอด ยาสมุนไพรไทยทิพย์โอสถ ยาบำรุงเลือดพลังภูผา ยามดลูกกาโน่
 
ส่วนใหญ่ของสปอตที่ทำการศึกษา จะเน้นในเรื่อง ความงาม สุขภาพและสมรรถภาพทางเพศ 
 
สุขภาพเพศหญิง เช่น ผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล(ยาสตรีเด่นเจริญ,ยาสตรีฟลอร่า) ฟิตกระชับหุ่นเฟิร์ม”(ซันคลาร่า,ยาสตรีอนาริช) หน้าอกเต่งตึง (เคน่าพลัส,ออไรท์,เมอรินด้า) ช่วยให้ระบบภายในสะอาด มั่นใจไร้กลิ่น (ซันคลาร่า) 
 
สุขภาพเพศชาย เช่น มั่นใจกลับคืนสู่ความเป็นชายได้อีกครั้ง นกเขาไม่ขันจะกลับมาขันถี่ๆ ตีปีกอีกครั้ง(กาแฟวันแฟน) ทั้งใหญ่ ทั้งแข็งดี ทนนาน บำรุงระบบสืบพันธุ์ (ไมก้า)
 
เปรียบเทียบกับผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ เรื่อง สินค้า/บริการด้านสุขภาพและความงามในทีวีดาวเทียม ที่ศึกษาระหว่างวันที่ 11-26 พฤศจิกายน 2554 พบว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือ ไม่มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ ยังคงมีการนำเสนอที่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น รักษาหายทุกโรคราวปาฏิหาริย์ และสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้เป็นอย่างดี โฆษณาอาหารในลักษณะโอ้อวดสรรพคุณเป็นยา ยังคงมีการใช้ถ้อยคำแสดงสรรพคุณ ในลักษณะการผลิตซ้ำค่านิยมทางเพศ คือ เพศหญิง ถูกนำเสนอในความหมายเชิงรูปลักษณ์เพื่อดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้าม เช่น ผิวขาวอมชมพู สดใสเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ไร้ริ้วรอย อกโตเต่งตึง รูปร่างผอมเพรียวฟิตกระชับ คืนความสาว เพศชาย ถูกนำเสนออย่างเน้นในเรื่องสมรรถภาพทางเพศ ทำให้สมรรถภาพทางเพศที่เสื่อมถอยกลับมาสมบูรณ์เหมือนเป็นหนุ่มอีกครั้ง 
 
ข้อห่วงใย
 
1.จากหน่วยการศึกษาที่ใช้วิธีการสุ่มเลือกจากไฟล์เสียงในเว็บไซต์ ที่พบสปอตโฆษณาฯ จำนวน 71 ชิ้นสปอต จาก 52 ผลิตภัณฑ์ นับเป็นเพียงส่วนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนสถานีวิทยุเพื่อธุรกิจในท้องถิ่นและชุมชน ที่มีจำนวนมากกว่า 7,000 สถานี และส่วนใหญ่ไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งตามแนวทางปฏิบัติของ กสทช. จะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้จับกุมฐานประกอบกิจการโดยไม่มีใบอนุญาต แต่จะไม่ดำเนินการด้านเนื้อหา โดยเฉพาะกรณีการใช้สื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพ เพื่อโฆษณาโน้มน้าวเชิญชวนให้มีการซื้อผลิตภัณฑ์ โดยส่วนใหญ่เป็นการขายตรงส่งถึงบ้าน ทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะเสี่ยงในการ “เสียรู้ เสียทรัพย์ เสียสุขภาพ ไปจนถึงเสียชีวิต” อย่างไร้การปกป้องคุ้มครองที่จริงจัง ด้วยความรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
2. การโฆษณาทางสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพ เน้นการใช้ถ้อยคำเพื่อการโน้มน้าวเชิญชวน ซึ่งเมื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. ยา พ.ศ.2510 พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ฯลฯ พบว่า สาระในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องถ้อยคำและภาษา มีการกำหนดไว้อย่างกว้าง ซึ่งอาจเปิดช่องให้มีการตีความ ทั้งโดยผู้กำกับดูแลการโฆษณา และโดยผู้ผลิตสื่อโฆษณา อีกทั้ง สาระสำคัญในกฎหมายยังไม่เท่าทันการใช้ภาษาโฆษณาของธุรกิจการค้าและการโฆษณา เช่น ที่ระบุว่า “แนวทางการโฆษณายาจะต้องไม่ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม” (แนวการโฆษณาขายยาต่อประชาชนทั่วไป ตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่าด้วยหลักเกณฑ์การโฆษณขายยา พ.ศ. 2545) “ห้ามมิให้โฆษณาขายยาโดยไม่สุภาพ หรือโดยการร้องรำทำเพลง หรือแสดงความทุกขฺทรมานของผู้ป่วย”( มาตรา 89 พ.ร.บ. ยา พ.ศ.2510) “ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมาย หรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ” (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 )
 
ข้อเสนอแนะจากมีเดียมอนิเตอร์ และ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) 
 
1. ข้อเสนอแนะต่อ กสทช. 
 
เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วประเทศ กสทช. ควร
มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเฝ้าระวัง ในระดับภูมิภาค เช่น กสทช. เขต และควรร่วมมือกับหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญและรับผิดชอบด้านเนื้อหาการโฆษณาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และหน่วยงานที่รับผิดชอบการปราบปรามผู้กระทำความผิด เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเพื่อให้มีการระงับการเผยแพร่อย่างฉับพลันทันเหตุการณ์ เมื่อพบโฆษณาที่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย 
 
กสทช. ควรเร่งให้มีมาตรการหรือหลักเกณฑ์ ในทางจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองของสื่อในด้านการโฆษณาผลิตภัณฑ์รวมทั้งบริการด้าน อาหาร ยา สุขภาพ ความงาม โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการกำกับดูแลเนื้อหาการโฆษณา ทั้งภาครัฐ และ ภาคเอกชน รวมทั้ง หน่วยงานวิชาการ และ องค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของสื่อ และคู่มือให้คำแนะนำ ในด้านการใช้ภาษา ข้อความ ภาพ เสียง รวมทั้งการนำเสนอทางสื่อ ที่ถูกต้อง ที่ไม่ถูกต้อง ที่เหมาะสม ที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ เพื่อเผยแพร่ให้สื่อมวลชนทุกประเภทและระดับ ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ กำกับดูแลกันเอง และเพื่อให้เครือข่ายผู้บริโภค ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ใช้ในการตรวจสอบการนำเสนอของสื่อ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการขจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์ อาหาร ยา สุขภาพ ความงาม ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือ ทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะความเสี่ยง ให้หมดไปโดยเร็วที่สุด 
 
2. ข้อเสนอแนะในการบังคับใช้กฎหมาย
 
(1) ควรดำเนินคดีโฆษณายาและอาหาร นอกจากการดำเนินคดีเรื่องโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามกฎหมายยาและอาหาร สำหรับอาหารควรต้องดำเนินคดีในประเด็นโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ตามมาตรา 40 ด้วย เนื่องจากมีบทลงโทษถึงขั้นจำคุก 
 
(2) ควรพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบการที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย
 
(3) ควรมีฐานข้อมูลเพื่อให้ประชาชนและผู้สนใจสามารถตรวจสอบการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา ได้แก่ ฐานข้อมูลเลขที่อนุญาตโฆษณา และฐานข้อมูลความผิดผลิตภัณฑ์ยาและอาหาร 
 
(4) ควรเพิ่มการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมายระหว่าง อย.กับกสทช. เช่น การขอหลักฐานบันทึกรายการที่ได้ออกอากาศไปแล้ว โดยให้ กสทช.เรียกผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ส่งหลักฐานให้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ออกอากาศแล้วพบโฆษณาที่ผิดกฎหมาย 
 
3. ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการ
 
หากผู้ประกอบการพบว่า หากมีผู้แอบอ้างโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตน โดยผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการควรดำเนินคดีกับผู้แอบอ้างนั้น เพื่อยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการโฆษณานั้นแต่อย่างใด 
 
4. ข้อเสนอแนะต่อประชาชน 
 
ควรงดการฟังวิทยุ และการรับชมโทรทัศน์ ที่มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ผิดกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลจากการถูกกล่อมจนเกิดความหลงเชื่อในโฆษณานั้น ควรมีความรู้เท่าทันการโฆษณา ควรร่วมมือกันเป็นพลเมืองเฝ้าระวัง เป็นนักร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการปัญหา เช่น ร้องเรียนไปยังสายด่วน อย. หมายเลข 1556 หรือร้องเรียนไปยังสำนักงาน กสทช.หมายเลข 1200 
 
5. ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย 
 
(1) ควรเร่งให้เกิดมาตรการการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ โดยไม่ให้มีการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ในลักษณะโอ้อวดเกินจริง ซึ่งสามารถใช้สื่อสารในการโฆษณาได้ และไม่ให้ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ชื่อเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถโฆษณาได้ 
 
(2) ควรปรับปรุงบทลงโทษในส่วนของการโฆษณาให้มีโทษหนักขึ้น เนื่องจากปัจจุบันบทลงโทษโดยเฉพาะค่าปรับต่ำมาก มีความคุ้มค่าที่จะดำเนินการกระทำผิดกฎหมาย 
 
(3) ควรเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … (ฉบับประชาชน) ให้มีผลบังคับใช้จริง
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อุบลฯ จี้รัฐหนุนเกษตรไร้สารอาหารปลอดภัย จังหวัดชี้มีคนทำน้อยโตยาก

$
0
0
มูลนิธิประชาสังคมอุบลฯ รวมพลคนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอุบลฯ จังหวัดไร้ยุทธศาสตร์หนุน เครือข่ายชี้เป็นวิกฤตินโยบายเพราะไปขัดผลประโยชน์มหาศาล แนะคนทำจริงรวมพลังแลกเปลี่ยนขยายเครือข่าย ท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตเผยแนวโน้มสดใสคนรักสุขภาพเพิ่มแต่คนผลิตยังน้อย

 
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556 ที่หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี  มูลนิธิประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมภาคีเครือข่ายจัดเวทีปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปอุบล ฮ่วมเฮ็ด ฮ่วมส่าง อนาคตเมืองอุบลในปี2565 ว่าด้วยการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ มีการเสวนาในหัวข้อ “เกษตรอินทรีย์จะก้าวผ่านวิกฤติและโอกาสทางการตลาดได้อย่างไร” มีนายวิสิฏฐ มณีวรรณ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดฯ , นายอุดร ชมาฤกษ์ เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี , นายสมชาติ พงคพนาไกร รองประธานหอการค้าจ.อุบลราชธานี , นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดยโสธร , นายปิยทัศน์ ทัศนิยม เครือข่ายกสิกรรมไร้สารอำเภอสำโรง , นายทศพล เมืองชินบัญชร ผู้จัดการบริษัทท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตจำกัด สาขาอุบลราชธานี ดำเนินรายการโดยนายสุชัย เจริญมุขยนันท
 
นายปิยทัศน์ ทัศนิยม เครือข่ายกสิกรรมไร้สารอำเภอสำโรง กล่าวว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทำเกษตรอินทรีย์เพราะทำยากต้องใช้เวลามาก คนทำได้ต้องเปลี่ยนความคิดจากกระแสหลักของคนส่วนใหญ่ และจะเป็นไปได้มากขึ้นหากฝ่ายวิชาการและรัฐสนับสนุนอย่างจริงจัง และการจดทะเบียนเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นไปได้โดยง่ายด้วย
 
นายอุดร ชมาฤกษ์ เกษตรจังหวัดอุบลราชธานีเผยเกษตรกรยังทำเกษตรอินทรีย์จำนวนน้อย ที่อุบลฯมีประมาณ 20,000 ไร่เท่านั้น การทำอินทรีย์เป็นเรื่องยาก หากในระดับปลอดภัยจะง่ายกว่าคือใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นและเก็บผลผลิตในระยะที่ปลอดภัย ทางจังหวัดยินดีสนับสนุนแต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไป
 
นายสมชาติ พงคพนาไกร รองประธานหอการค้าจ.อุบลราชธานีแสดงความเห็นด้วยกับเกษตรจังหวัดว่าการทำอินทรีย์ เป็นเรื่องที่ยากต้องค่อยเป็นค่อยไป น่าจะเริ่มจากในระดับปลอดภัยก่อน ในทางการตลาดต้องดูความต้องการว่าผู้บริโภคชอบกินอะไร อะไรที่ขายได้ อะไรที่คนกลัว จับจุดให้ได้ และอินทรีย์ทำยากกว่าเคมีต้องราคาแพงกว่าจึงจะคุ้มค่า เสนอให้เริ่มที่ร้านอาหารซื้อแต่ผักปลอดภัย ทำตลาดที่โรงพยาบาล,โรงเรียนก่อน ทางหอการค้าอุบลเคยเสนอเรื่องเกษตรอินทรีย์กับทางจังหวัดไปแล้วแต่ยังไม่มีการตอบรับกลับมา
 
นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดยโสธรชี้เกษตรอินทรีย์ไม่ได้วิกฤติเหมือนหัวข้อเรื่อง มีการเติบโตปีละ 20-30% ทั้งในและต่างประเทศ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ห้างต่าง ๆ ไม่พอขาย แต่ที่วิกฤติคือนโยบายของภาครัฐ ไม่มีนโยบายที่ชัดเจน อาจเป็นเพราะผลประโยชน์การค้าของสารเคมีที่มีมากมายมหาศาล แต่ถ้าผู้นำเอาจริงเช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์นำให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ส่วนราชการชาวบ้านก็ทำตาม เป็นจริงได้  คนอุบลราชธานีมีต้นทุนทางความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์อยู่มากมายหากทางราชการหนุนจะไปได้ แต่ต้องเริ่มต้นด้วยสร้างความเข้มแข็ง ศรัทธาให้ผู้ที่ทำอยู่แล้วขยายวงแลกเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ 
 
นายวิสิฏฐ มณีวรรณ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดฯ กล่าวว่ายุทธศาสตร์จังหวัดเน้นเรื่องข้าวหอมมะลิ การท่องเที่ยว การค้าชายแดน ไม่มีเรื่องเกษตรอินทรีย์โดยตรง การที่บอกว่ามีการเติบโตมีความต้องการมาก ห้างไม่พอขายนั้นก็มีคำถามว่าแล้วทำไมคนยังปลูกน้อย จากสี่ล้านไร่ปลูกเพียง 2 หมื่นไร่ เป็นเรื่องน่าคิด ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าในระดับปลอดภัยก็มีโอกาสเป็นไปได้ 
 
นายทศพล เมืองชินบัญชร ผู้จัดการบริษัทท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตจำกัด สาขาอุบลราชธานีเปิดเผยว่าทุกวันนี้คนดูแลสุขภาพตัวเองมากยิ่งขึ้น ท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตพยายามตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และพยายามจะนำสินค้าที่ผลิตโดยคนอุบลฯเอง แต่ที่ผ่านก็ยังมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ หากเกษตรกรที่ปลูกพืชแบบปลอดสารพิษสนใจสามารถติดต่อได้ที่ท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ตห้างเซ็นทรัลอุบลฯได้ ทางห้างยินดีสนับสนุน
 
นายบุญยง สาระ กลุ่มเกษตรคุณธรรม จังหวัดอำนาจเจริญผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาแสดงความเห็นว่า ทำไมเกษตรอินทรีย์ไม่เกิดสักที  เป็นเพราะโครงสร้างของประเทศ ผลประโยชน์ของพ่อค้า เสนอข้อมูลว่าไทยนำเข้าสารเคมี สารปราบศัตรูพืช ยาฆ่าหญ้าในปี 2542 1,600 ตันต่อ ปี  ปัจจุบัน 160,000 ตันต่อปี  ประชาชนจ.อำนาจเจริญได้รวมตัวกันเสนอธรรมนูญคนอำนาจเจริญ เพื่อแก้ไขปัญหา จัดการตัวเอง โดยเน้นเป็นเมืองธรรมะเกษตร คนมีธรรมะและทำเกษตรอินทรีย์ อุบลฯเป็นเมืองพี่น่าจะทำได้ไม่ยาก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความขัดแย้งที่ห้วยกระทิง: เสียงเพรียกหาความยุติธรรม และความฝันลมๆ แล้งๆ ของมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553

$
0
0
(1) บ้านห้วยกระทิง : บ้านของคนกะเหรี่ยง เมืองหน้าด่านชาวสยาม
 
ทุกๆ ครั้งที่รถแล่นผ่าน ณ บริเวณนี้ ริมถนนสายเอเชียตาก-แม่สอด หลักกิโลเมตรที่ 62-63 ไม่มีรถคันใดที่จะไม่บีบแตรเพื่อแสดงความเคารพต่อ “ศาลเจ้าพ่อพะวอ” นักรบกะเหรี่ยงผู้ดูแลเทือกเขาผาวอแห่งนี้
 
เรื่องเล่าที่สืบทอดต่อๆกันมากว่าสองร้อยปีบอกว่า พะวอเป็นนายด่านหรือนายบ้านที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแต่งตั้งให้มีหน้าที่ดูแลด่านแม่ละเมา คอยลาดตระเวนหาข่าวให้แก่เจ้าเมืองระแหง (หรือเมืองตากในปัจจุบัน)ด่านแม่ละเมาเป็น 1 ใน 2 ด่าน ยามที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาจะต้องผ่านช่องทางสองแห่งนี้ อีกช่องทางหนึ่ง คือ ด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี
 
ล่วงมาถึงตุลาคม พ.ศ. 2318 ทัพสุดท้ายของกองทัพพม่าที่อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพแห่งกรุงอังวะได้ยกทัพมาตีกรุงธนบุรีโดยผ่านทางด่านแม่ละเมา พะวอและลูกบ้านชาวกะเหรี่ยงได้ลุกขึ้นต่อสู้กับทัพพม่าระหว่างประวิงเวลารอคอยทัพจากเมืองตากมาช่วย จนพ่ายแพ้และถอยร่นมายังเทือกเขาผาวอและถูกฆ่าตายในที่สุด
 
อาจเป็นเพราะพะวอเป็นแค่ไพร่พลระดับล่าง เป็นชาวบ้านกะเหรี่ยงเมืองชายแดนอันไกลโพ้น เรื่องราวของนักรบผู้กล้าชาวกะเหรี่ยงที่อุทิศชีวิตเพื่อแผ่นดินมาตุภูมิ จึงไม่มีพื้นที่ทางหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย
 
ว่าไปแล้วเรื่องราวของ “พะวอ” ก็ไม่ต่างจากเรื่องราวของชาวบ้านกะเหรี่ยงคนตัวเล็กๆที่นี่ เรื่องที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านจึงเป็นเพียงดั่งสายลมผ่าน
 
ณ เทือกเขาผาวอแห่งนี้ ปี พ.ศ.2473 หมู่บ้านห้วยกระทิง (หรือบ้านพะกอยวาในภาษากะเหรี่ยง) ได้ถูกตั้งขึ้นมา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 9,000 ไร่ หมู่บ้านอยู่ลึกจากถนนใหญ่เข้าไปในป่าประมาณ 4 กิโลเมตร มีลำห้วยแม่จะเราไหลผ่าน สังกัดหมู่ที่ 6 ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก อยู่ห่างจากอำเภอแม่ระมาดประมาณ 30 กิโลเมตร มีพี่น้องกะเหรี่ยงอาศัยอยู่กว่า 183 หลังคาเรือน รวม 524 คน นับถือศาสนาคริสต์ หมู่บ้านแห่งนี้มีไฟฟ้าใช้บางจุด นอกนั้นก็ใช้แผงโซล่าเซลล์ มีโรงเรียนขนาดเล็กสอนระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1 แห่ง เด็กนักเรียน 56 คน ชาวบ้านอาศัยกระจายอยู่ตามบริเวณสันเขา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาข้าว ไร่ข้าวโพดและรับจ้างทั่วไป มีฐานะยากจน
 
เพราะเป็นชาวบ้านกะเหรี่ยงที่ต้องอาศัยป่าเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต ชาวบ้านที่นี่จึงทำการเกษตรในระบบไร่หมุนเวียน เพื่อรักษาสภาพทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณนั้นให้คงสภาพอยู่เหมือนเดิม เกิดการหมุนเวียนของระบบนิเวศน์ เพื่อให้คนก็อยู่ได้ ธรรมชาติก็อยู่ได้ พื้นที่ตามลำห้วยแม่จะเราท้ายหมู่บ้านที่เหมาะกับการทำนาก็ทำเป็นที่นาทอดยาวไปตามลำห้วย
 
ผ่านไปกว่า 77 ปี ล่วงมาจนถึงกันยายนปี 2550 คณะรัฐมนตรีในสมัยที่มีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบกำหนดให้ที่ดินบริเวณป่าสามหมื่น ป่าแม่ระมาด และป่าแม่ละเมา ในท้องที่ตำบลสามหมื่น ตำบลขะเนจื้อ ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด และตำบลพะวอ ตำบลแม่กาษา ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ให้เป็นอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ความขัดแย้งของชาวบ้านห้วยกระทิงกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติขุนพะวอก็เริ่มต้นขึ้น
 
(2) จุดเริ่มต้นความขัดแย้งที่ห้วยกระทิง : “ไม่มีแม้ข้าวจะกิน จะเอาเงินที่ไหนสู้คดี”
 
24 พฤศจิกายน 2552 พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ พื้นที่หมู่บ้านห้วยกระทิงกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนพะวอโดยทันที
 
เรื่องเล่าซ้ำซากที่ปรากฏในทุกที่ของ “อุทยานแห่งชาติทับที่ดินทำกินชาวบ้าน” ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับฉายหนังซ้ำ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า “เมื่อมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติปี 2552 หรือ 4 ปีมานี้เอง เจ้าหน้าที่อุทยานได้เริ่มเข้ามาทำการปักป้ายในพื้นที่ทำไร่ของชาวบ้านให้เป็นพื้นที่ปิด ห้ามชาวบ้านเข้าไปทำกิน ทั้งๆที่พื้นที่ทำไร่เหล่านั้นชาวบ้านได้ทำกินมาก่อน ไม่มีการกันเขตพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออกจากเขตพื้นที่อุทยาน มีเพียงกันเฉพาะพื้นที่ตั้งหมู่บ้านและที่นาบางแห่งตามลำห้วยท้ายหมู่บ้านเท่านั้น อีกทั้งยังมีการข่มขู่ ทำร้าย รวมถึงจับกุมชาวบ้านที่เข้าไปทำกินตามปกติ และส่วนใหญ่ชาวบ้านก็จะให้การรับสารภาพ เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตนเอง อีกทั้งไม่มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี”
 
เฉพาะปี 2556 มีชาวบ้านกะเหรี่ยงถึง 12 ราย ที่กำลังอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีข้อหา ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งบางคนยังถูกข้อหาต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อันเป็นข้อหาประจำที่เจ้าหน้าที่อุทยานมักนำมาใช้จัดการกับชาวบ้านในพื้นที่ ด้วยข้ออ้างว่าชาวบ้านมีมีดพร้าและจอบเป็นอาวุธไว้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทั้งๆที่นี้คืออุปกรณ์ในการทำไร่ทำนาถางหญ้าทั้งสิ้น
 
ชาวบ้านอีกคนเล่าว่า“ทุกวันนี้ชาวบ้านที่นี่หวาดกลัวเจ้าหน้าที่อุทยานมาก พอเห็นคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้านก็จะวิ่งหลบหนีไว้ก่อน ไม่กล้าให้ความร่วมมือกับรัฐ ทุกวันนี้ไม่สามารถทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้ ฐานะก็ย่ำแย่ลง เพราะที่ดินทำกินได้ถูกยึดไปเป็นของรัฐภายใต้กฎหมายอุทยานหมดแล้ว อีกทั้งถ้าเข้าไปอยู่ในคุก ก็ไม่มีใครเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย พอเจอปัญหาแบบนี้ บางทีก็อยากตาย ถ้าตายแล้วปัญหาทุกอย่างสามารถจบลงได้ ชาวบ้านจะได้ไม่โดนรังแกก็จะยอมตายให้ เพราะว่าไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ความขัดแย้งที่นี่จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ต้องมีการสูญเสียฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแน่ๆ เพราะชาวบ้านไม่สามารถทำมาหากินได้”
 
ดังตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2556 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติได้จับกุมชาวบ้านกะเหรี่ยงครอบครัวหนึ่งรวม 4 คน
 
นายก่าลี่ ตระกูลพสุพชระ และครอบครัวที่ถูกจับ เล่าให้ฟังว่า “วันนั้นตนเองและครอบครัวได้ไปทำไร่บนดอยแถวๆหมู่บ้าน ซึ่งไร่แห่งนี้ทำกินมากว่า 24 ปีแล้วตั้งแต่รุ่นพ่อ ตอนประมาณ 9 โมงเช้า มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากอุทยานแห่งชาติขุนพะวอเข้าไปหา 2 คน และได้ถือไม้ท่อนขนาดเท่าแขนเข้าไปด้วย นายก่าลีได้พูดกับทั้งสองคนว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่ป่า จะมาจับลุงไม่ได้นะ ทั้งสองคนบอกว่าให้ลุงลงไปคุยกับหัวหน้าประสาท (หัวหน้าอุทยาน) ที่รถก่อน
 
พอลงไปถึงที่รถของหัวหน้าประสาท หัวหน้าประสาทบอกว่าให้ไปคุยกันที่หมู่บ้าน (แต่จริงๆแล้วพาไปโรงพัก) ทุกคนไม่อยากขึ้นรถเพราะกลัวว่าเจ้าหน้าที่อุทยานไม่ทำตามที่พูด แต่เจ้าหน้าที่ก็ข่มขู่อีกทั้งยังได้ใส่กุญแจมือชาวบ้าน พอถึงที่โรงพัก ชาวบ้านก็ถูกบังคับให้เซ็นชื่อโดยที่ไม่เข้าใจว่าเซ็นชื่อเพื่ออะไร และพอร้อยเวรสอบสวนเสร็จ ก็แจ้งว่านายอำเภอไม่อยู่ ทำให้ไม่สามารถประกันตัวได้ ตนเองต้องอยู่ที่โรงพักแม่ระมาดถึง 2 คืน และต่อมาเช้าวันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2556 จึงถูกนำตัวส่งไปที่โรงพักแม่สอด และต้องขอยืมหลักทรัพย์จากเพื่อนบ้านเป็นเงิน 40,000 บาท ถึงประกันตัวออกมาได้”
 
หรือเหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
 
นายปุที เจษฎากุลอนุชิต  ได้ถูกเจ้าหน้าที่ใช้ก้อนหินขว้างปาที่บริเวณศีรษะท้ายทอยจนเป็นแผลต้องเย็บถึง 7 เข็ม พร้อมกับตั้งสองข้อหาเดิมที่ชาวบ้านคนอื่นๆถูกตั้งมาก่อนหน้านี้แล้ว คือ ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่าหรือกระทำด้วยประการการใดๆอันเป็นการทำลายป่า กับต่อสู้ขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ขณะนี้ทางครอบครัวได้มีการประกันตัวออกมาแล้ว แต่นายปุทียังมีความหวาดกลัว ไม่กล้าไปทำไร่ทำนา และเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในระหว่างการดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่ระมาด
 
เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นระหว่างที่ได้ไปทำนาตามปกติ จนเวลาประมาณ 17.00 น.  ได้มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติขุนพะวอเข้ามาที่นา เมื่อนายปุทีเห็นดังนั้นจึงตกใจกลัว และวิ่งหนีไปทางลำห้วยที่อยู่ทางด้านตะวันออกของที่นา ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติจึงใช้ก้อนหินขว้างปาเพื่อให้หยุด
 
(3) อย่าให้มติครม. 3 สิงหาคม 2553 เป็นเพียง “ฝันลมๆแล้งๆ”: สิทธิของคนกะเหรี่ยงต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครอง
 
มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 คือเครื่องมือสำคัญที่ยืนยันว่า “คนกะเหรี่ยงอยู่กับป่าได้” ในเมื่อเจ้าหน้าที่และลูกจ้างจากกรมอุทยานแห่งชาติขุนพะวอส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ ก็ย่อมเข้าใจวิถีชาวกะเหรี่ยงดีอยู่แล้ว แต่นั่นเองเมื่อตัดสินใจสวมหมวกในอีกบทบาทหนึ่ง การจัดการป่าที่มาพร้อมกับวิธีคิดทางตะวันตกที่มองว่าในป่ามีเพียงสัตว์และต้นไม้จึงเข้ามาแทนที่  ป่าต้องปลอดคนการจัดการป่าถึงทำได้ดีและยั่งยืน แม้ว่าในประเทศไทยจะไม่เหมือนป่าตะวันตกที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง ป่าทุกป่าในประเทศไทยมีคนอาศัยอยู่มาก่อนทั้งนั้น แต่เจ้าหน้าที่ก็กลับทำเป็นมองไม่เห็นและหลงลืมชั่วขณะ
 
แต่ไม่ว่าความเข้าใจจะเป็นอย่างไร แต่ความจริงก็แจ่มชัดว่าคนกะเหรี่ยงมีภูมิปัญญาที่สะสมถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษเรื่องการจัดการทรัพยากร และเคารพธรรมชาติมาหลายร้อยปีผ่าน ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นชุมชนวิถีคนกะเหรี่ยงบนแผ่นดินไทย จึงทำให้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในเรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร การสืบทอดทางวัฒนธรรม และการศึกษา
 
รวมทั้งให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม รวมถึงการเคารพต่อสิทธิของบุคคลที่จะร่วมกับชุมชน และสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ
 
มติคณะรัฐมนตรีนี้เองที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้พี่น้องกะเหรี่ยงที่บ้านห้วยกระทิงนี้มีความหวังที่จะดำเนินชีวิตต่อ
 
เพราะเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีแล้ว เพื่อยืนยันว่า มติครม. 3 สิงหาคม 2553 ไม่ได้เป็นเพียง “ฝันลมๆแล้งๆ” อีกทั้งสิทธิของคนกะเหรี่ยงต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครอง หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย จึงได้มีการทำงานร่วมกับคริสตจักรบ้านห้วยกระทิง และคริสตจักรพระพร บ้านจบปิ ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ในการสร้างความตระหนักต่อการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ดินในชุมชน มีการจัดทำแผนที่ชุมชน ประวัติการตั้งถิ่นฐานของชุมชน กฎระเบียบชุมชน ตลอดจนการสำรวจขนาดที่ดินแต่ละแปลงของชาวบ้านรวม 200 แปลง ผ่านเครื่องมือ GPS (เครื่องมือหาตำแหน่งพิกัดพื้นที่)
 
สอดคล้องกับที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพยากรและสิทธิเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง กระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า “ปัจจุบันรัฐมีแนวนโยบาย และหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค.53 ซึ่งส่งเสริมให้ชาวกะเหรี่ยงได้อยู่ร่วมกับป่าเพื่อรักษาทรัพยากรป่าไม้ กรณีความขัดแย้งที่บ้านห้วยกระทิงนี้ เสนอให้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ที่พิพาท ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมแนวทางการจัดการความขัดแย้งในเชิงสร้างสรรค์ และให้ยุติหรือชะลอการดำเนินคดีแก่ชาวบ้านห้วยกระทิงจนกว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกันก่อน โดยให้มีการตั้งกรรมการร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ อำเภอแม่ระมาด อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้าน และนักวิชาการ เพื่อพิสูจน์ว่าที่พิพาทเป็นที่ทำกินดั้งเดิมหรือหรือพื้นที่บุกรุกใหม่ ตลอดจนร่วมกันกำหนดขอบเขตการใช้ที่ดินโดยไม่มุ่งเน้นการทำพืชเชิงเดี่ยว แต่ส่งเสริมเกษตรพอเพียงหรือเกษตรทางเลือก ที่ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ตลอดจนการสนับสนุนการทำไร่หมุนเวียนที่รักษาป่า”
 
เพราะเทือกเขาผาวอเป็นผืนป่าสำคัญแถบชายแดนตะวันตกของจังหวัดตาก แต่เมื่อมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับซ้อนพื้นที่ทำกินเดิมของชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ทำมาหากินอย่างเกื้อกูลกับธรรมชาติมาก่อน ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่รายล้อมป่าเขา เนื่องจากไม่มีกระบวนการจัดการและวางแผนที่ดี ทำให้ที่ดินทำกินจำนวนมากไม่ได้รับการกันแนวเขตออกก่อน และเมื่อนำกฎระเบียบของทางการเข้ามาบังคับใช้โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นศูนย์กลาง จึงเกิดเรื่องกระทบกระทั่งกับชาวบ้านมาโดยตลอด เป็นปัญหาเรื้อรังปัญหาหนึ่งที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของภาครัฐที่ไม่ลงตัวเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ
 
นายนรภัทร ปลอดทอง นายอำเภอแม่ระมาดกล่าวว่า “ทางอำเภอยินดีเป็นตัวกลางที่จะช่วยให้เกิดการพูดคุยเพื่อหาทางออกใสเรื่องนี้ร่วมกัน โดยกำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องนำข้อมูลที่มีมาตกลงกันในวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2556 ณ ที่ทำการกำนัน ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด จ.ตาก เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป”
 
ว่าไปแล้วความเป็นธรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่หัวใจสำคัญ คือ การมีอยู่มีกินอย่างพอเพียง หากท้องไม่อิ่ม ที่ดินที่เคยเป็นที่ทำมาหากินมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ไปทับซ้อนกับการประกาศเขตอุทยาน หากชีวิตยังคงมีความยากลำบาก ไม่มีที่ดินประกอบอาชีพ เป็นเพียงคนงานรับจ้างรายวันแล้ว เช่นนี้ก็ยากที่จะเกิดความเป็นธรรมบนผืนแผ่นดินไทยได้จริง 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Believe it or not จดหมายน้อยข้างคันแทนา

$
0
0


คุณเชื่อหรือไม่?

อะไรเอ่ย ?

คนกินทั้งประเทศ แต่คนปลูกทำไมยังไม่รวยซักที  จนเพื่อชาติ ?

เขาว่า ซื้อแพง ขายถูก ยังไงก็ขาดทุน

ขาดไปเท่าไหร่ ตอบไม่ได้ ตอบไม่ชัด  ไม่กล้าตอบ

เก็บไว้จนโรงสีไม่มีที่จะเก็บ ไม่รู้ไปขายที่ไหน ไม่รู้จะขายตอนไหน  คนรับจ้างเก็บชอบใจ อยากให้เก็บนานๆ

คำก็ว่าเอาเงินภาษีของประชาชนมาอุ้ม สองคำก็ว่าอุ้ม  สามคำก็ว่าอุ้ม    ขี่หลังกันมากี่ชาติแล้วจำได้ไหม

ฯลฯ ฯลฯ

รัฐบาลขาดทุนเท่าไหร่  ประเทศเสียงบประมาณไปกับโครงการนี้เท่าไหร่  บางคนก็ว่า นี่มันเงินภาษีของพวกเรานะ ต้องจับตาดู  นโยบายประชานิยมแบบนี้ จะพากับฉิบหายทั้งประเทศ

เสียงสะท้อนส่วนใหญ่นั้น ดังอยู่ในฟากของผู้ค้านทั้งหลาย ที่เป็นห่วงเป็นใย กับสถานการณ์ของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดนี้

ทั้งอ่านข่าว ทั้งดูทีวี  ยังไม่นับกระทู้ในเฟสบุ๊ค ที่อ่านผ่านหูผ่านตา จนแทบจะตาลายเลยก็ว่าได้  *^*@*?*.. ...ทั้งนี้ทั้งนั้นชาวนายินดีรับฟังกับข้อเสนอต่างๆ ของท่านเหล่านั้น แม้จะนึกน้อยใจอยู่บ้างว่า น่าจะด่าโครงการรถคันแรกให้มันสมน้ำสมเนื้อกันบ้าง  งบเหยียบๆแสนล้านเหมือนกันนี่น่า  หรืออาจจะด่าแต่ว่าเสียงเบาไปนิด  อยากให้ด่าดังๆสักหน่อย...

แม้จะเป็นชาวนาปรังที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ จากโครงการนี้  จนเกือบจะได้เป็นชาวนาเงินล้านอยู่แล้ว  อาจจะเรียกได้ว่าเป็นชาวนาเงินล้านบนความฉิบหายของประเทศก็ว่าได้  ชาวนาก็รู้สึกเป็นห่วงเป็นใยต่อเพื่อนชาวนาด้วยกันเป็นอย่างยิ่ง

หากพิจารณาในส่วนของงบประมาณ ที่นำมาใช้ และกำไรจากการขายข้าวนั้น ทุกฝ่ายต่างฟันธงว่า  เจ๊งแน่นอน  ซึ่งชาวนาก็ค่อนข้างเชื่อว่าถ้ามองในแง่นี้แง่เดียว เจ๊งก็คือเจ๊ง นั่นแหละ ชาวนา อยากให้รัฐบาลออกมายอมรับตรงนี้อย่างตรงไปตรงมา จุดอ่อนที่สำคัญเรื่องการระบายข้าวนั้น ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน  เจ๊ง ก็คือเจ๊ง นั่นแหละ …

ตอนนี้แนวโน้มของโครงการคือการปรับราคารับจำนำใหม่  อาจจะอยู่ที่ 12,000-13,000 บาทต่อตัน สำหรับข้าวนาปรัง   เอาเถอะ ยังไงก็รับได้ แค่ขอให้ราคาข้าวไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อตันก็พอ ชาวนาขอแค่นี้ จริงๆ  จะให้กลับไปขายข้าวตันละ 6 – 7 พัน เหมือนแต่ก่อน  มันทำใจลำบากเหมือนกัน ต้นทุนทำนาตอนนี้อยู่ที่ 5-6 พันบาทต่อไร่ แล้ว ขอรับ .... มาถึงตรงนี้ก็จะมีเสียงแซ่ซ้องกันมาอีกว่าก็ชาวนาไทยทำนาต้นทุนแพง  ไปลดต้นทุน ไปลดต้นทุน ๆๆๆ 

ครับๆๆๆๆ ข้าก็พยายามลดอยู่เนี่ย  เอ็งหยุดเปรียบเทียบแล้วมาดูข้าก่อน....ข้าไม่อยากเสียสักบาทโน่นหล่ะเอ็งเอ้ย

ท่ามกลางเสียงบ่นกันอื้ออึงว่า เจ๊งแล้ว เจ๊ง แล้ว  (โปรดสังเกต ชาวนาใช้คำนี้เกือบทุกย่อหน้า แสดงว่า น่าจะเจ๊งจริง) ชาวนามองเห็นอะไรบ้าง ในสังคมเพื่อนชาวนาด้วยกัน  นอกจากคำว่า เจ๊ง  ที่บรรดาผู้เป็นห่วงเป็นใยกำลังเป็นห่วงกัน

ถ้าชาวนาพูด คุณจะเชื่อหรือไม่ว่า เม็ดเงินจากโครงการรับจำนำในช่วงเวลาสองปีมานี้ ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาให้ดีขึ้น  อย่างเห็นได้ชัดเจน

คุณเชื่อหรือไม่ ว่าชาวนานำเงินจากการขายข้าวมาปรับปรุงที่นาของตนเองให้มีศักยภาพในการทำนามากขึ้น เช่น การยกร่อง ขุดคัน  การถมถนนเข้านา  การปรับแปลงนาให้สม่ำเสมอมากขึ้น  แน่นอนว่าเที่ยวต่อไปผลผลิตข้าวต้องเพิ่มขึ้น  และช่วยลดต้นทุนเรื่องการจัดการน้ำในแปลงนาของชาวนาลงได้ด้วย เราเคยรู้/เห็นสิ่งเหล่านี้บ้างไหม

คุณเชื่อหรือไม่ว่า ชาวนานำเงินจากการขายข้าว มาลงทุนเพิ่มในกิจการทำนาของตนเอง ซื้อรถไถคันใหม่ ที่เครื่องแรงขึ้น ซื้อเครื่องมือย่ำเทือกชุดใหม่  รวมแล้ว ราคา 6-7 หมื่น  เครื่องมือเหล่านี้นอกจากใช้งานในนาของตนเองแล้ว ยังนำมาเป็นเครื่องมือหากินสำหรับรับจ้างเพื่อนชาวนาด้วยกันได้อีกด้วย  นี่คือการลงทุนใหม่ๆ ของชาวนา  คุณจะไม่ให้เขามีโอกาสอย่างนี้เลยหรือ

คุณเชื่อหรือไม่ว่า ชาวนานำเงินจากการขายข้าว ไปถอยรถเกี่ยวข้าว พร้อมกับรถเทรลเลอร์คันใหม่ สำหรับรับจ้างเกี่ยวข้าว  ทั้งหมดนี้รวม ราคา ล้านกว่าๆ นี่คือการลงทุนทางธุรกิจใหม่ของชาวนาจากฐานเดิมของตนเอง  มีใครเห็นสิ่งเหล่านี้บ้าง  นี่มันอนาคตของชาวนาที่เราอยากเห็นไม่ใช่รึ

คุณเชื่อหรือไม่ว่า คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวนา หลังจากถอยรถคันแรกแล้ว จากชีวิตที่เคยอยู่แต่แถวในหมู่บ้าน เข้าจังหวัดนานๆที   รถคันแรกได้พาเพื่อนชาวนาเต็มคันรถ ไปเชียร์ทีมฟุตบอลที่เขารัก  มีเงินซื้อเสื้อทีม ตัวละแปด เก้า ร้อย ใส่ไปเชียร์ทีมบอลประจำจังหวัด ไปกันทุกแมทซ์     คุณจะให้เขาคอยดูแต่ในจอทีวีอยู่ได้ไง  อะไรมันจะมันส์เท่ากับไปเชียร์ข้างขอบสนาม จริงมั้ย  ถ้าใครไม่เล่นบอล คงไม่รู้....  ถึงจะเป็นชาวนา เราก็อยากมีเวลาพักผ่อนหย่อนใจบ้าง จริงมั้ย ....

คุณเชื่อรึไม่ว่า ชาวนาบางคนทำนาแค่สิบกว่าไร่ แต่มีเงินดาวน์รถอีโคคาร์ให้ลูกขับไปสอนหนังสือในโรงเรียนเอกชน  นี่ยังไม่รวมถึงว่า ชาวนาบางคนเอาเงินจากการทำนาไปดาวน์บ้านให้ลูกที่ทำงานในกรุงเทพ ฯ   นี่มันเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตชัดๆ

คุณเชื่อรึไม่ว่า  ระบบนาปรังภาคกลางนั้นสามารถดูดซับแรงงานได้อย่างมากมาย  ชาวนาแปลกใจมาก เมื่อเริ่มเป็นชาวนาใหม่ๆ ชาวนาเห็นบรรดาลูกหลานชาวนาปรังจำนวนมาก มีแต่คนหนุ่มๆ สาวๆ พวกเขาแค่จบชั้น ม.3 เขาหลังจากนั้นก็อยู่ช่วยครอบครัวทำนา และเป็นแรงงานรับจ้างในแปลงนาไปพร้อมกัน  บางคนขยับฐานะขึ้นมาเป็นเจ้าของรถเกี่ยวข้าวแล้วก็มี  คนที่ทำงานฝีมือดี  แต่ละวันรับโทรศัพท์แทบจะไม่ว่าง   ต้องรอคิวกันเลยทีเดียว   ขนาดหนุ่มคนพิการทางหูคนหนึ่ง  เมื่อครอบครัวมีทุนออกรถไถนา คูโบต้า ให้เขารับจ้างทำเทือก  ในฤดูทำนาหนึ่งๆ เขาแทบไม่ว่างเลย   ถึงจะพูดคุยกันไม่ได้ แต่หนุ่มชาวนาคนนี้ขับรถไปยังแปลงนาถูกเป้าหมายทุกแปลง  รายได้ของเขาสามารถเลี้ยงดูภรรยา ได้อย่างสบายๆ  อึ้งล่ะสิ  นี่มันเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต ชัดๆ (ย้ำอีกที)

จะทำอย่างไร ในขณะที่เราพูดกันว่า ปีนึงชาวนาประเทศไทยปลูกข้าวได้ประมาณ 30 ล้านตันเศษๆ    นำมาบริโภคภายในประเทศและแปรรูปประมาณ 20 ล้านตัน และส่งออกประมาณ 10 ล้านตัน (ข้อมูลประมาณการ  ตอนนี้คงส่งออกต่ำกว่าเป้า จะเจ๊งแล้ว)   คิดเป็นมูลค่าเท่าใด ...ไม่รู้  คิดไม่ทัน ต้องถาม นักเศรษฐศาสตร์

ทำไมภาคการผลิตสินค้าที่มีคนกินกันทั้งประเทศ ส่งออกไปขายทั่วโลก กลับพากันรวยอย่างช้าๆ  ในขณะที่บรรดาพ่อค้าโรงสีพากันรวยเอา ๆ  ทำไมช่องว่างมันถ่างออกมากขึ้นทุกที

การจัดการปัญหาของโครงการนี้มีผู้เสนอไว้มากแล้ว เข้าท่าบ้าง ไม่เข้าท่าบ้าง รัฐบาลควรที่จะหยิบไปพิจารณาให้หมด ชาวนาไม่ขอเสนออะไร (ขี้เกียจคิด)  

รัฐบาลนี้  ////  โครงการรับจำนำ//// จะทำอย่างไร//// จะอุ้มใครกันแน่  ////จะขายข้าวที่ราคาไหน  //////ข้าวในสต๊อค จะขายใคร /////จะเจ๊งแล้ว ///// มีนโยบายอะไรที่ดี ก้าวหน้า กว่านี้มั้ย ? ///// มีแน่ๆ แต่รอรัฐบาลโน้นนน....ดีมั้ย

สุดท้ายแล้ว ชีวิตชาวนามัสโกออน......   ไม่ว่าข้าวจะราคาเท่าไหร่ ก็คงยังไม่หยุดทำนา  ตราบที่ยังมีนาให้ทำ  จุดยืนของพวกเราก็คือฝ่าเท้าของพวกเรานั่นเอง ......แน่นอนว่าเราไม่มีฟูกมารองหลัง อย่างเวลาคนรวยล้ม ......  ไม่อุ้มเราไม่เป็นไร แต่อย่ามาขี่หลังเราได้มั้ย  มิตรสหายคนหนึ่งกล่าวไว้....

สุดท้ายอีกที ขอดราม่า มั่งได้มั้ย ชาวนารู้สึกเศร้าใจมากๆ ถึงมากที่สุด เมื่อได้เห็นบรรดาผู้ไม่ได้ทำนา พากันก่นดาชาวนา กันอย่างไม่หยุดยั้ง ชาวนาขอได้ไหม ขอนิดเดียว   ถ้าคุณไม่อยากกินข้าว ขอให้ไปกินหญ้าแทนได้ไหม  เวลาอ่านที่คุณด่ามันเศร้านะ ......

 

 

หมายเหตุ: ภาพประกอบโดย นิรมล ยุวนบุณย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อวัตถุศึกษากับอธิป: บริษัทเกม Zynga ไล่พนักงาน 520 คน และปิด สนง.หลายแห่ง

$
0
0

‘อธิป จิตตฤกษ์’ นำเสนอข่าวสารด้านลิขสิทธิ์รอบโลก สัปดาห์นี้นำเสนอข่าวกรรมาธิการคองเกรสสหรัฐเสนอมาตรการรุกหนักผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ - ผู้ประท้วงตุรกีระดมทุนแบบ Crowdfunding - ตำรวจเดนมาร์ครับการสอดส่องข้อมูลเน็ตไม่ช่วยจับอาชญากร - Games of Thrones: Season 3 สร้างสถิติโหลดทอร์เรนต์พร้อมกันมากสุด

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

04-06-2013

บริษัทเกมชื่อดัง Zynga ไล่พนักงานออกไป 520 คนและปิดสำนักงานไปหลายแห่ง

Zynga เป็นบริษัทเกมที่โตมากับเกมที่เล่นตามเว็บเครือข่ายสังคมต่างๆ ซึ่งเกมที่น่าจะรู้จักกันดีก็คือ Mafia Wars และ Farmville น่าจะจัดว่าเป็นบริษัทเกมที่โตเร็วมากเพราะใช้เวลาหลังตั้งบริษัทในปี 2007 เพียง 4 ปีในการเข้าไปเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหุ้นสหรัฐ

อย่างไรก็ดีในช่วงหลังการโตของ Zynga ก็ชะลอตัวลง ผลประกอบการไม่ได้ดังที่คาดไว้และติดลบ ซึ่งการไล่พนักงานออก 520 คนและปิดสำนักงานหลายแห่งไปก็น่าจะเป็นการสะท้อน "ขาลง" ของ Zynga

ทั้งนี้พนักงานที่ออกไป 520 คนนั้นคิดเป็น 18% ของพนักงานของ Zynga ทั้งหมด

News Source: http://www.gamasutra.com/view/news/193513/Zynga_laying_off_520_staff_shuttering_multiple_offices__Report.php

 

จอร์แดนแบนเว็บไซต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรมสื่อและสิ่งพิมพ์

นี่เป็นผลมาจากการแก้กฎหมายสื่อและสิ่งพิมพ์ของจอร์แดนในปี 2012 ที่ระบุให้เว็บข่าวออนไลน์ต้องมีการลงทะเบียนและได้รับใบอนุญาติถึงจะดำเนินการได้ถูกกฎหมาย และมันส่งผลให้เว็บข่าวของจอร์แดนกว่า 300 เว็บถูกบล็อคไป

News Source: https://www.eff.org/deeplinks/2013/06/jordan-takes-disappointing-turn-toward-censorship

 

ศาลสูงอเมริกาตัดสินว่าการเก็บ DNA ของผู้ต้องหาของเจ้าพนักงานมีความชอบธรรม

ผลคือตอนนี้ตำรวจอเมริกานั้นมีสิทธิ์ในการเก็บตัวอย่าง DNA ของผู้ต้องหาได้ในการจับกุมทุกสถานการณ์ ไม่ได้ต่างจากการเก็บรอยนิ้วมือแต่อย่างใด

เรื่องแปลกอีกเรื่องคือผู้พิพากษา Scalia ที่เป็นปีกอนุรักษ์นิยมอันโด่งดังของศาลสูงในกรณีนี้กลับมองว่าการเก็บ DNA เป็นการละเมิดบทแก้ใช่รัฐธรรมนูญครั้งที่สี่ (Fourth Amendment) ที่ว่าด้วยเสรีภาพของบุคคลที่จะไม่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสืบค้นและยึดสิ่งต่างๆ ไปอย่างไม่มีเหตุผล

อนึ่ง คดีต้นเรื่องเกิดจากผู้ต้องหาคนหนึ่งโดนจับคดีทำร้ายร่างกายในปี 2009 แล้วตำรวจก็เก็บรอยนิ้วมือและ DNA ของเขาไปตรวจ พบว่าเขาเชี่ยมโยงกับคดีข่มขืนที่ปิดไม่ได้ในปี 2003 เขาพยายามจะอุทธรณ์ว่าการที่ตำรวจเอา DNA ของเขาเป็นเป็น "การค้นที่ผิดกฏหมาย" (illegal search) ซึ่งจะส่งผลให้หลักฐาน DNA ที่จะใช้เอาผิดเขาในคดีข่มขืนเป็นหลักฐานที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายตามมา

News Source: http://www.popsci.com/technology/article/2013-06/us-supreme-court-rules-dna-testing-legal-search

 

05-06-13

รัฐบาลไต้หวันระงับการแก้กฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อให้อำนาจรัฐในการบล็อคเว็บไซต์ต่างประเทศหลังพลเมืองเน็ตเตรียมประท้วงด้วยการ "จอดำ"

หากจะกล่าวโดยย่นย่อแล้ว ก่อนหน้านี้สำนักงานลิขสิทธิ์ใต้หวันได้พยายามจะเสนอการแก้กฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อเพิ่มอำนาจรัฐในการบล็อคเว็บไซต์ต่างประเทศที่ละเมิดลิขสิทธิ์ (นี่ทำให้กฎหมายนี้มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า “SOPA ฉบับไต้หวัน” ตามกฎหมายเล่นงานเว็บไซต์ต่างประเทศอันฉาวโฉ่ของอเมริกาที่ถูกประท้วงจนโดนแขวนการพิจารณาไว้อย่างไมมีกำหนด)

อย่างไรก็ดีด้วยภาษาทางกฎหมายที่คลุมเครือ ก็มีผู้เกรงกันว่ารัฐจะนำอำนาจนี้ไปใช้บล็อคเว็บไซต์ต่างประเทศตามใจชอบภายใต้ข้ออ้างของการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นการละเมิดเสรีภาพในการพูดของชาวไต้หวัน

ผลคือเหล่าพลเมืองเน็ตไต้หวันที่มีหัวหอกคือมูลนิธิ Wikimedia ของไต้หวัน รวบรวมผู้สนับสนุนกว่า 45,000 คน และเว็บไซต์อีกจำนวนหนึ่งเตรียมประท้วงการแก้กฎหมายด้วยการจอดำในวันที่ 4 มิ.ย. 2013

อย่างไรก็ดีรัฐเห็นท่าทีนี้จึงถอนร่างแก้กฎหมายนี้ไปก่อนมีการประท้วงหนึ่งวัน และก็บอกไปตามสูตรว่าประชาชนนั้นตื่มตูมเกินไป กฎหมายนี้ไม่มีอะไรเลวร้าย

News Source: http://infojustice.org/archives/29805

 

09-06-13

ผู้ประท้วงในตุรกีระดมทุนออนไลน์เพื่อซื้อโฆษณาในนิตยสาร New York Times 1 หน้าเต็มๆ เพื่อลงข่าวพวกเขา ซึ่งการระดมทุนก็สำเร็จอย่างรวดเร็ว

เนื่องจากผู้ประท้วงตุรกีเห็นว่าสื่อกระแสหลักลงข่าวของพวกเขาน้อยไป พวกเขาจึงระดมทุนผ่านฝูงชน (Crowdfunding) บนเว็บ Indiegogo เพื่อลงข่าวของพวกเขา

ผลคือพวกเขาระดมทุนสำเร็จอย่างรวดเร็ว (ดูหน้าระดมทุนได้ที่ http://www.indiegogo.com/projects/full-page-ad-for-turkish-democracy-in-action?c=home )

ดูรูป "โฆษณา" ที่ลงใน New York Times เต็ม 1 หน้ากระดาษของพวกเขาได้ีที่ http://i.imgur.com/a13jvEA.jpg

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130607/00022723355/crowdfunding-protests-turkish-protesters-raise-over-100000-to-buy-ny-times-ad.shtml

 

เจ้าของเว็บ Proxy Pirate Bay ในอังกฤษโดนตำรวจไปเคาะประตูให้ปิดเว็บถึงบ้าน

เรื่องที่แปลกคือเว็บของเขาเปิดมาหลายเดือนแล้วก็จริง แต่แทบจะไม่มีคนใช้เป็นช่องทางเข้าไป Pirate Bay เลย

เขาสันนิษฐานว่าตำรวจต้องรวมมื่อกับกลุ่มต่อต้านลิขสิทธิ์ในอังกฤษที่ไปเจอเขาโดยบังเอิญจากผลการสืบค้นใน Google

News Source: http://torrentfreak.com/police-visit-pirate-bay-proxy-owners-home-demanding-a-shutdown-130609/

 

Games of Thrones ตอนจบ Season 3 สร้างสถิติการโหลดทอร์เรนต์พร้อมกันมากที่สุดใหม่เป็นที่เรียบร้อย

โดยมีการอัปโหลดและดาวน์โหลด (ภาษาทอร์เรนต์ให้ตรงกว่านั้นคือมี Seeder และ Leecher) พร้อมกันกว่า 170,000 คน ในเวลาไม่นานหลังจากที่มีการฉายตอนจบ Season ในอเมริกา

ความนิยมอย่างล้นหลามนี้เกิดจากการที่ตอนรองสุดท้ายนามว่า The Rains of Castamere (ซึ่งมีชื่อเรียกกันเล่นๆ ว่า "The Red Wedding") เป็นปรากฎการกว้างขวางในการมีเนื้อหาที่ช็อคผู้ติดตามชมจนมีปฏิกริยากว้างขวางบนอินเทอร์เน็ตไปทั่ว (ถึงกับมีการแซวกันว่าตัวละครใน Games of Thrones ตายนั้นทำให้ผู้คนสนใจกว่าความเป็นความตายของผู้ประท้วงในตรุกี)

ที่น่าสนใจคือคนจากประเทศที่ดาวน์โหลดเยอะที่สุดคือออสเตรเลียที่ซึ่งไม่มีช่องทางถูกกฎหมายใดๆ ที่จะสามารถรับชม Games of Thrones ตอนล่าสุดได้พร้อมๆ อเมริกา

และความนิยม "โหลด" อย่างล้นหลามในการโหลดนี้ก็สร้างปรากฎการณ์ที่ช็อคพอควรเมื่อผู้สร้าง Games of Thornes มองว่ามันเป็น "คำชม" และไม่มีปัญหาอะไร ในขณะที่บรรดาคนของทางการสหรัฐมักจะยกมาเป็นตัวอย่างของการ "ขโมย" ทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกาอย่างหน้าด้านๆ

ทั้งนี้สถิติเก่าของการโหลดทอร์เรนต์พร้อมกันมากที่สุดที่ถูกทำลายไปก็ไม่ใช่อะไรอื่นตอนจากตอนแรกของ Season 3 ของ Game of Thrones นั่นเองที่มี Seeder และ Leecher พร้อมกันกว่า 160,000 คน

News Source: http://torrentfreak.com/games-of-thrones-season-finale-sets-new-piracy-record-130610/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ พบยิ่งลักษณ์ เน้นยกระดับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

$
0
0

 

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.56 นายซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นายสมชาย หอมลออ ประธานกรรมการ และนางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล และผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เข้าพบนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ ห้องสีม่วงตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลเวลา 13.30 น. เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย พร้อมทั้งมอบรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2556 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อนายกรัฐมนตรี

นายซาลิล เช็ตติ เปิดเผยว่าการหารือกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้มีหลากหลายประเด็น ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในอาเซียน แอมเนสตี้ฯ ขอให้ไทยเป็นผู้นำในการผลักดันให้อาเซียนมีการทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น นอกเหนือจากการทำงานด้านการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งหวังว่าจะมีการทบทวนปรับปรุงปฎิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอาเซียน ให้สอดคล้องตามหลักการ และมาตราฐานสิทธิมนุษยชนสากล       

แอมเนสตี้ฯ ยังสนับสนุนการถอดตรวนผู้ต้องขัง ยืนยันเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศพักการประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ อีกทั้งเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษประหารชีวิต เพื่อแสดงถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการให้คุณค่ากับชีวิตมนุษย์ทุกคน

ในประเด็นผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองทางแอมเนสตี้ฯได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 โดยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้เข้าเมืองโดยเฉพาะผู้ที่ขึ้นฝั่งโดยทางเรือ

“ในกรณีของชาวโรฮิงญา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสนับสนุนรัฐบาลไทยกับอาเซียน ร่วมมือกับรัฐบาลพม่าในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งซึ่งเป็นสาเหตุการลี้ภัยของชาวโรฮิงญา และเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพต่อหลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งไม่ให้มีการส่งกลับบุคคลไปยังประเทศที่เสี่ยงจะเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ให้ยุตินโยบายการกักและผลักดันเรือของผู้อพยพให้ออกสู่ทะเล ปล่อยตัวผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้เข้าเมืองทุกคนที่ถูกควบคุมตัวโดยขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 (Convention relating to the Status of Refugees) และพิธีสาร พ.ศ. 2510 และกำหนดให้มีระบบการแสวงหาที่พักพิงที่เป็นธรรมและเป็นผล สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ”  

สำหรับการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีความกังวลที่พลเรือนและผู้บริสุทธิ์รวมทั้งผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการใช้กฎหมายพิเศษ อาทิเช่น พรก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก เป็นต้น การลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง การซ้อมทรมาน และเรียกร้องรัฐบาลให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย

สำหรับประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกได้เรียกร้องให้ปฏิรูปหรือยกเลิกการออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดยยึดหลักมาตรฐานสากลและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ และเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางความคิดทุกคนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

ด้านนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าทางรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในประเด็นสิทธิมนุษยชน และพร้อมที่จะยกระดับให้สอดคล้องตามหลักการและมาตราฐานสิทธิมนุษยชนสากล

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 4 - 10 มิ.ย. 2556

$
0
0

ม.เกษตรเพิ่มเงินพนักงานมหาวิทยาลัย

รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณบดี มก. ครั้งที่ 7/2556 มีมติอนุมัติให้ใช้เงินรายได้ส่วนกลาง ในการปรับเงินเพิ่มตามคุณวุฒิ ของปีงบประมาณ พ.ศ.2555 จำนวน 76 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 105 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 181 ล้านบาท ให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย ที่บรรจุก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 โดยจ่ายเป็นเงินตกเบิก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 รวม 17 เดือน และจะได้รับค่าจ้างในอัตราที่ปรับใหม่ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 เป็นต้นไป เพื่อให้พนักงาน มก.ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากร

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 มีมติเห็นชอบการปรับเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษาของข้าราชการและ เจ้าหน้าที่ของรัฐระหว่างปี พ.ศ.2555-2557 โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 และสำนักงาน ก.พ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเงินเดือนให้กับข้าราชการใหม่ โดยปรับอัตราเงินเดือนให้สูงขึ้น รวมถึงข้าราชการที่บรรจุก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 จะได้รับเงินปรับเพิ่มตามคุณวุฒิตามเกณฑ์ที่ ก.พ.กำหนดด้วย อย่างไรก็ตาม มก.ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานแก่บุคลากรทุกระดับกว่า 10,000 คน ทั้ง 4 วิทยาเขต คือ บางเขนกำแพงแสน ศรีราชา และเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อขวัญกำลังใจและประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อดัชนีความสุขของประชากรในประเทศอีกด้วย

(บ้านเมือง, 4-6-2556)

 

บอร์ด สปสช. เตรียมดึงสถานพยาบาลเอกชนให้บริการฟันเทียมผู้สูงอายุ

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถึงข้อเสนอเรื่องการเข้าถึงบริการทันต กรรมประดิษฐ์ของผู้สูงอายุที่ใช้บริการของภาคเอกชนว่า จากข้อมูลศูนย์สารสนเทศทางประชากรศาสตร์ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 8.9 ล้านคนทั่วประเทศหรือคิดเป็นร้อยละ 13.7 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2563 ตัวเลขของผู้สูงอายุจะมีถึง 15.3 ล้านคน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีปัญหาด้านสุขภาพทางช่องปาก โดยเฉพาะระบบการเคี้ยวบดอาหาร ไร้ฟันบดเคี้ยว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากอย่างมาก โดยเฉพาะ อาหารไม่ย่อย ท้องอืด เฟ้อ เกิดภาวะทุพโภชนาการ รวมทั้งการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆตามมา

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติของผู้สูงอายุในปี 2555 พบว่าผู้สูงอายุที่มีฟันบดเคี้ยวหรือมีฟันน้อยกว่า 20 ซี่ มีเพียง 42.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่อีก 7.2 เปอร์เซ็นต์ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหารเลย โดยเฉพาะผู้สูงอายุในที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และภาคใต้ซึ่งประมาณมีมากถึงร้อยละ 10

นอกจากนี้แล้ว จากข้อมูลการให้บริการจากฐานข้อมูลการเบิกจ่ายชดเชยของ สปสช. พบว่า มีจำนวนผู้รับบริการฟันเทียมที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพตั้งแต่ปี 2551- 2555 ของจำนวนประชากรทุกกลุ่มอายุมีจำนวน 2.58 แสนคน โดยเป็นกลุ่มผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 1.43 แสนคนที่ได้รับบริการฟันเทียมซึ่งพบว่า ผู้สูงอายุยังเข้าถึงบริการในสถานพยาบาลของรัฐได้น้อยเนื่องจากต้องรอคิว มากกว่า 6 เดือน อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถเข้าถึงการให้บริการ แต่ยังมีปัญหาทางด้านอัตราการจ่ายค่าชดเชยในหลายประเด็น ดังนั้น จึงมีแนวทางที่จะกำหนดอัตราค่าบริการและการเบิกจ่ายในสถานพยาบาลเอกชนเพื่อ ให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึงมาก

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติได้มีการหารือเรื่องของการแก้ไข ปัญหาคิวการรับบริการของผู้สูงอายุ กรณีจัดทำฟันเทียม ซึ่งมีแนวคิดว่าจะให้นำสถานพยาบาลเอกชนเข้าร่วม เนื่องจากมีความสามารถในการบริการ ลดขั้นตอนและการรอคิว ด้วยมีผู้ใช้บริการมาก แต่ทั้งนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาเรื่องอัตราค่าบริการ ค่าแรงงาน ในการจ่ายให้กับเอกชนอย่างเหมาะสม เนื่องจากการรักษาในรพ.ของรัฐ ไม่มีค่าแรง ทั้งนี้จะส่งเรื่องดังกล่าวให้ชุดคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ โดยคาดว่าใช้เวลาในการหารือภายใน 60 วัน จากนั้นเสนอมายัง บอร์ดสปสช.พิจารณาอีกครั้ง และใช้เวลาอีก 60 วันในการพิจารณาตัดสินใจอีกครั้ง

(บ้านเมือง, 4-6-2556)

 

แรงงานไทยเสียชีวิต 1 รายในเกาหลี

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน สาธารณรัฐเกาหลี ว่าในวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา เกิดการระเบิดของอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งเป็นสถานที่ก่อสร้างรถไฟด่วน และมีกำแพงหินถล่มส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต2 ราย จากการตรวจสอบพบว่ามีแรงงานไทยทำงานในสถานที่ดังกล่าวจำนวน 19 คน และ 1ในผู้เสียชีวิตคือคนงานไทย เป็นชายอายุ 34 ปี มีภูมิลำเนาที่จังหวัดลำปางเดินทางไปทำงานได้ 1 ปี ในเบื้องต้นได้สั่งการณ์ไปยังเจ้าหน้าที่ในจังหวัดลำปางประสานญาติผู้เสีย ชีวิตและแจ้งให้รับทราบว่าผู้ตายจะได้รับสิทธิ์ค่าทำศพ 40,000 บาท จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ พร้อมทั้งกำชับในเจ้าหน้าที่ของสำนักแรงงานไทยในเกาหลี เร่งประสานนำร่างผู้เสียชีวิตกลับมาประกอบพิธีทางศาสนาที่ประเทศไทยรวมทั้ง สิทธิอื่นๆในเกาหลีที่แรงงานจะได้รับด้วย ส่วนแรงงานไทยที่เหลืออีก 18 คนปลอดภัยดี และผู้เสียชีวิตอีก 1 คนเป็นแรงงานจากประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตามสาเหตุที่มีเปิดเผยชื่อของผู้เสียชีวิตเนื่องจากเกรงว่าจะเกิด ผลกระทบทางจิตใจกับญาติผู้เสียชีวิต

(เนชั่นทันข่าว, 5-6-2556)

 

ก.แรงงานแจง กมธ.งบประมาณปี 57

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 วันนี้ (6 มิ.ย.) มี นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รองประธานกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุม ได้เชิญกระทรวงแรกที่ได้รับการจัดสรรเข้าชี้แจงคือกระทรวงแรงงาน
 
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า กระทรวงแรงงานได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2557  จำนวนกว่า 33,400 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากงบประมาณปี 2556 ประมาณ 3 พันล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน 1,236 ล้านบาท กรมการจัดหางาน 1,118 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 2,153 ล้านบาท กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 1,082 ล้านบาท และสำนักงานประกันสังคม 27,898 ล้านบาท โดยงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจำแนกตามยุทธศาสตร์ที่ต้องดำเนินการ คือ การสร้างรากฐานการพัฒนาที่สมดุล ส่งเสริมการคุ้มครองแรงงาน การรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพัฒนาฝีมือแรงงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  กรรมาธิการเสียงข้างน้อย  อาทิ นายวิฑูรย์ นามบุตร และ นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าการได้รับการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงแรงงานมีความเหมาะสม เพราะถือเป็นกระทรวงสำคัญที่เป็นหลักในการดูแลแรงงานทั้งในและนอกระบบ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ  แต่การจัดสรรงบประมาณในส่วนของหน่วยงานในสังกัดยังไม่เหมาะสม โดยเฉพาะงบประมาณของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่เป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาขีดความ สามารถของแรงงานในการแข่งขันตามนโยบายของรัฐบาล  แต่กลับได้รับการจัดสรรที่น้อยเกินไปหากเทียบกับสำนักงานประกันสังคมที่ได้ รับการจัดสรรงบมากเกินความจำเป็น ทั้งที่สำนักงานประกันสังคมมีเงินคงค้างจำนวนมาก จึงขอให้กระทรวงแรงงานทำการจัดสรรงบในส่วนนี้ใหม่ รวมถึงปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นลงด้วย.

(สำนักข่าวไทย, 6-6-2556)

 

คาดศพแรงงานไทยถึงมาตุภูมิ 11 มิ.ย.-นายจ้าง ประกันเกาหลี จ่ายร่วม 4 ล้าน

นายสิงห์ หล้าสุภา อายุ 76 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1582/ ม.6 บ้านฮ่องฮี ต.เสริมกลาง อ.เสริมงาม จ.ลำปาง บิดาของนายวิเชียร หล้าสุภา อายุ 34 ปี แรงงานไทยชาว ที่เดินทางไปทำงานก่อสร้างในเกาหลีใต้ผ่านกรมการจัดหางาน ซึ่งเสียชีวิตจากการเข้าทำงานระเบิดอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งเป็นสถานที่ก่อสร้างรถไฟด่วน เมื่อ 3 มิ.ย.56 ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางครอบครัว และญาติ นับวันรอศพของลูกชายที่จะถูกส่งกลับมาประเทศไทย

ล่าสุดได้รับการยืนยันจากกระทรวงแรงงาน ว่า จะมีการนำศพของนายวิเชียร จากประเทศเกาหลีใต้ มาถึงประเทศไทย ในวันที่ 11 มิถุนายน 2556 นี้ บรรดาญาติที่เป็นผู้ชายจึงได้เตรียมตัว ที่จะเดินทางไปรับศพ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ด้านนางกัญจนา กลิ่นทอง แรงงานจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า ตน ได้เดินทางไปยังบ้านของ นายวิเชียร หล้าสุภา อายุ 34 ปี ที่ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง แล้ว โดยได้ไปให้คำปรึกษาและช่วยเหลือครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิตจาก อุบัติเหตุครั้งนี้ พร้อมกับประสานงานกับนายจ้าง ในประเทศเกาหลีใต้โดยตรง จนได้รับสิทธิต่าง ๆ รวม 6 รายการ เป็นเงินเกาหลี กว่า 120 ล้านวอน คิดเป็นเงินไทยกว่า 4 ล้านบาท เป็นเงินค่าประกันอุบัติเหตุจะได้รับ 2 ล้านบาท ค่าปลอดขวัญอีกเกือบ 1 ล้านบาท โดยนายจ้างจะเป็นผู้จ่ายให้กับผู้เสียชีวิต ส่วนทางแรงงานประเทศเกาหลี จะจ่ายให้อีกกว่า 1 ล้านบาท เป็นค่าทำศพ และเงินคืนภาษี ถือว่าได้รับสิทธิอย่างเต็มที่

โดยเงินดังกล่าว จะมีการจัดสรรแบ่งให้กับบุคคลในครอบครัวของแรงงานที่เสียชีวิต ได้แก่ ภรรยา บุตร พ่อ และแม่ ส่วนการรับเงินนั้น ทางนายจ้างแรงงานเกาหลี จะส่งมาให้ภายใน 3 สัปดาห์ ซึ่งทางสำนักงานแรงงานจังหวัดลำปาง จะเป็นผู้ประสานติดตามขั้นตอนให้ครอบครัวได้ทราบทุกระยะต่อไป

ด้านนางนิตยา พงษ์พานิช นายอำเภอเสริมงาม จ.ลำปาง กล่าวว่า หลังได้รับการประสานงานจากญาติของผู้เสียชีวิต ตนก็ให้เจ้าหน้าที่ทางทะเบียนอำนวยความสะดวกในการรวบรวมเอกสารที่จะต้องใช้ ทั้งหมด ทั้งของผู้เสียชีวิต-ญาติ และดำเนินการจัดส่งให้กับกงสุลในประเทศเกาหลีใต้ จนเสร็จสิ้นเรียบร้อย ซึ่งทางญาติก็จะรอเพียงกำหนดการที่ทางประเทศเกาหลีจะนำศพกลับประเทศไทยเท่า นั้น

(ASTVผู้จัดการออนไลน์, 6-6-2556)

 

กนกชี้อนาคตกองทุนประกันสังคมล้มละลาย

นายกนก วงษ์ตระหง่าน  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เมื่อวันที่ 4-7 มิ.ย. กรรมาธิการงบประมาณ ได้พิจารณางบประมาณของกระทรวงแรงงาน จำนวน 33,489 ล้านบาท ประเด็นที่น่าสนใจคือ กองทุนประกันสังคม (กรณีชราภาพ) ได้คาดการณ์จำนวนเงินที่เก็บเข้ากองทุนและเงินที่ต้องจ่ายให้ผู้ประกันตน ระหว่าง พ.ศ. 2552 - 2587 พบว่า

1. ปี 2577 เงินกองทุนสูงสุด 4.59 ล้านล้านบาท มีผู้รับบำเหน็จ 69,950 คน และรับบำนาญ 3.3 ล้านคน รวมจ่ายบำเหน็จและบำนาญ 444,610 ล้านบาท

2. ปี 2578 รายรับของกองทุนจะเท่ากับรายจ่าย (จากปี 2578 เป็นต้นไป เงินเข้ากองทุนจะน้อยกว่าเงินออกจากกองทุน กองทุนจะเริ่มติดลบมากขึ้นทุกปีจนหมดเงิน)

3. ในปี 2587 กองทุนจะติดลบ มีผู้รับบำเหน็จและบำนาญ 6.3 ล้านคน (ตั้งแต่ปี 2587 เป็นต้นไปเงินของกองทุนจะเป็นศูนย์หรือติดลบ)

แสดงว่า เมื่อถึงปี 2587 กองทุนจะหมดเงิน และไม่สามารถจ่ายบำเหน็จและบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนได้อีกต่อไป พูดภาษาชาวบ้านคือ กองทุนล้มละลาย ประเด็นที่สำคัญยิ่งต่อกองทุนประกันสังคมและรัฐบาล คือจะแก้ไขอย่างไรไม่ให้กองทุนล้มละลาย เพราะจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแรงงานกว่า 10 ล้านคน ที่ได้จ่ายเงินให้กองทุนไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกองทุนเมื่อเกษียณอายุคนทำงานที่จ่ายประกันสังคม ต้องคิดเรื่องนี้
และติดตามการแก้ไขปัญหาในอนาคตของกองทุนและรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ถ้าปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง อีก 30 ปี ประเทศไทยเกิดวิกฤติที่สาหัสอย่างไม่เคยพบมาก่อนแน่นอน

(ไอเอ็นเอ็น, 7-6-2556)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ญาติฯ เม.ย.-พ.ค.53 ร้องนายกเร่งคดี ย้าย ‘ธาริต’ ไม่หนุน พรบ.นิรโทษกรรมฉบับวรชัย

$
0
0

กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตฯ เม.ย. – พ.ค. 53 ร้องนายก ย้าย ‘ธาริต’ จากดีเอสไอ เหตุเป็นผู้มีส่วนได้-เสีย เร่งคดีที่ผ่านการไต่สวนสู่การพิจารณาของศาลอาญา ตั้งคณะกรรมการเร่งรัดคดี วอน รบ.ไม่สนุน ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ที่ไม่เอาผิดผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติการในการสังหารหมู่ประชาชน

กลุ่มญาติฯ ขณะรอเข้ายื่นหนังสือ / ภาพโดย นิธิวัต วรรณศิริ

11 มิ.ย.56 เวลา 09.15 น. ที่ประตูฝั่งถนนราชดำเนิน ทำเนียบรัฐบาล นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา นางสาวกมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม 19 พฤษภาคม 2553 และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของน้อง “เฌอ” (สมาพันธ์ ศรีเทพ) พร้อมด้วยกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมือง เม.ย. – พ.ค. 53 เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้โยกย้ายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ออกไปจากการทำหน้าที่ในดีเอสไอ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่งตั้งคณะกรรมการเร่งรัดคดีโดยมีข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ดีเอสไอ อัยการ แพทย์ ฯลฯ เร่งรัดคดีที่ผ่านการไต่สวนขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลอาญา และรัฐบาลต้องไม่สนับสนุน ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ที่มีเนื้อหาไม่เอาผิดผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติการในการสังหารหมู่ประชาชน

โดยมีนายสุพร อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับหนังสือ โดย มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า นายสุพร รับปากว่าจะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ตนไม่อยากให้มีการออกมาชุมนุมปิดล้อมบริเวณทำเนียบรัฐบาล แต่หากนางพะเยาว์ต้องการมายื่นหนังสือขอให้ติดต่อมายังตนที่ห้องทำงานหรือห้องรับเรื่องร้องทุกข์ได้ตลอดเวลา

ขณะที่นายพันธ์ศักดิ์ศรีเทพ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมษายน - พฤษภาคม 2553 มีแนวคิดว่าจะทำ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ที่จะล้างผิดให้กับประชาชนผู้ชุมนุมทุกกลุ่มทุกสี แต่จะไม่รวมผู้ปฏิบัติและสั่งการฆ่าประชาชน โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ในเรื่องของเทคนิคด้านกฎหมายจะขอให้อาจารย์จากคณะนิติราษฎร์ เป็นที่ปรึกษา และจะประสานให้ ส.ส.เสื้อแดงของพรรคเพื่อไทย นำไปให้ ส.ส.ในพรรคลงชื่อให้การสนับสนุน นำส่งต่อรัฐสภาให้ทันก่อนเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้สามารถพิจารณาร่วมกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับอื่น ๆ ได้ ส่วนพรรคเพื่อไทยจะสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องของพรรค แต่เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการแปรญัตติแล้วเนื้อหาก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี

นางพะเยาว์ อัคฮาด กล่าวด้วยว่า ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับของ นายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย นั้น ในตอนแรกไม่ได้ดูร่างทั้งหมด แต่เมื่อได้มีการเปิดดูทั้งหมดแล้ว ถึงได้ทราบว่า ร่าง พรบ.ดังกล่าวมันมีการนิรโทษกรรมให้กับทหารด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการสอดไส้ ปกปิดประชาชน

หนังสือที่กลุ่มญาติฯ ยื่นต่อนายกฯ :

กลุ่มญาติวีรชน เมษายน - พฤษภาคม 2553

 

                                                            วันที่ 11 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556

เรื่อง      ขอให้เร่งรัดคดีสังหารหมู่ประชาชน ในการสลายการชุมนุม เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553

เรียน     ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ข้าพเจ้านางพะเยาว์ อัคฮาด ในฐานะตัวแทนกลุ่มญาติวีรชน เมษายน - พฤษภาคม 2553 ขอเรียนให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ทราบว่ากลุ่มญาติวีรชนเมษายน - พฤษภาคม 2553 ได้มีการประชุมปรึกษาหารือถึงการดำเนินคดีสังหารหมู่ประชาชน ในการสลายการชุมนุม เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 พบว่าเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้หลักฐานทั้งวัตถุพยาน และ/หรือ พยานบุคคลได้สูญหายและไม่สามารถติดตามมาร่วมเป็นพยานในคดีจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มญาติฯเกรงว่าหากปล่อยให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างล่าช้าตามกระบวนการของทางราชการที่ไร้ประสิทธิภาพแล้วอาจจะทำให้คดีเหล่านี้ในหลายสำนวนมีปัญหาได้ในอนาคต

กอปรกับผู้รับผิดชอบหลักคือนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีดังกล่าวด้วย เนื่องจากดำรงตำแหน่งกรรมการในศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ความตามรายละเอียดซึ่งฯพณฯทราบดีอยู่แล้ว

นอกจากนั้น การที่คดีเหล่านี้ไม่มีการเร่งรัดใดๆ จากรัฐบาล ก็อาจทำให้ รัฐบาลของ ฯพณฯ ถูกกล่าวหาจากนานาอารยะประเทศว่าไม่มีความจริงใจในการสะสางปัญหาที่เชื่อได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายสถาน มีประชาชนจำนวนมากกว่า 100 คนต้องเสียชีวิต บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน รวมถึงผู้ต้องขังเพราะเหตุทางการเมืองนี้กว่า 200 คน ทั้งที่พ้นโทษเพราะถูกจำขังมาจนครบกำหนด รวมถึงผู้ที่ยังต้องขังตามคดีอยู่

และที่สำคัญในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการเสนอร่าง พรบ.นิรโทษกรรมจำนวนหลายฉบับ แต่ต่างมีเนื้อความคล้ายกันแทบทั้งสิ้น นั่นคือ การนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดและผู้มีอำนาจสั่งการในการประกอบอาชญากรรมร้ายแรงในคดีสังหารหมู่ประชาชน ในการสลายการชุมนุม เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 ทางกลุ่มญาติฯจึงมีข้อเรียกร้องเพื่อให้ ฯพณฯ พิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

  1. ออกคำสั่งโยกย้ายนายธาริต เพ็งดิษฐ์ จากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ไปดำรงตำแหน่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีคดีสังหารหมู่ประชาชน ในการสลายการชุมนุม เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีดังกล่าว ตามที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้
  2. เร่งรัดคดีด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ อัยการ แพทย์ ฯลฯ ที่จะทำหน้าที่เร่งรัด สืบสวน สอบสวน และนำคดีขึ้นไต่สวนการตาย รวมถึงเป็นโจทย์ร่วมกับผู้เสียหายในการฟ้องร้องเอาผิดผู้กระทำผิดและผู้มีอำนาจสั่งการในการประกอบอาชญากรรมร้ายแรงในคดีสังหารหมู่ประชาชน ในการสลายการชุมนุม เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 เพื่อให้การเร่งรัดคดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของ ฯพณฯ มิได้นิ่งนอนใจต่อการดำเนินคดีอาชญากรรมร้ายแรงดังกล่าว
  3. เนื่องจากคดีจำนวนหนึ่งผ่านการไต่สวนและพิสูจน์การตายจากศาลอาญาแล้ว แม้จะไม่ระบุผู้กระทำความผิดแต่พบแนวโน้มว่าน่าจะมาจากปฏิบัติการทางทหาร จึงขอให้มีการเร่งรัดคดีที่ผ่านการไต่สวนแล้วให้มีผลในทางปฏิบัติด้วยการนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลโดยเร็วยิ่งขึ้น
  4. ขอให้ ฯพณฯ และรัฐบาล ฯพณฯ ยืนยันต่อสาธารณะและนานาอารยะประเทศว่าจะไม่ให้การสนับสนุนใดๆ ต่อร่าง พรบ.ปรองดอง และ/หรือ ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ที่มีเนื้อหานิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดและผู้มีอำนาจสั่งการในการประกอบอาชญากรรมร้ายแรงในคดีสังหารหมู่ประชาชน ในการสลายการชุมนุม เมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 โดยเด็ดขาด

ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนกลุ่มญาติฯ และกลุ่มญาติฯ ต่างหวังว่า ฯพณฯ จะเร่งรัดให้มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้องนี้ เพื่อทำให้ปาฐกถาของ ฯพณฯ ที่กล่าวถึงความสำคัญของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยได้เกิดการปฏิบัติตามสิ่งที่ ฯพณฯ เคยได้กล่าวไว้ในที่ต่างๆ เป็นจริง มากกว่าที่จะเป็นคำกล่าวลอยๆ ที่มิได้มีการปฏิบัติใดๆอย่างเป็นรูปธรรม

 

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา

ด้วยความเคารพอย่างสูง

 

นางพะเยาว์ อัคฮาด

ตัวแทนกลุ่มญาติวีรชน เมษายน - พฤษภาคม 2553

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....  ฉบับที่นำโดย นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พร้อมด้วย ส.ส. พรรคเพื่อไทยอีก 21 คน

หลักการ

ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554

 

เหตุผล

เนื่องจากสังคมไทยที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะที่สร้างความแตกแยกทางความคิดมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้แก่ชาติบ้านเมืองจนปัจจุบัน ด้วยสืบเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองตกอยู่ในความคิดที่ไม่เคารพในระบอบประชาธิปไตย มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนนำไปสู้การยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์นี้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคมที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทำให้เกิดการใช้บังคับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมสร้างความรู้สึกสับสนและไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในทางความคิดทางการเมืองของประชาชนเป็นวงกว้างจึงมีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองของประชาชนจนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองอันนำไปสู่การกล่าวหาและมีการดำเนินคดีกับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมากทำให้ถูกจำกัดเสรีภาพและอิสรภาพในระหว่างการถูกกล่าวหาทางอาญา อันเป็นผลมาจากภาครัฐได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดและขาดความยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวได้เกิดเป็นปัญหาร้าวลึกลงไปสู้สังคมไทยในทุกระดับและนำมาซึ่งความหวั่นไหวขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขของประชาชนทั่วไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติทั้งทางด้านความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย ทั้งนี้ เมื่อได้คำนึงว่าบรรดาการกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของประชาชน ซึ่งมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งในทางการเมืองอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนในกรณีดังกล่าวเพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศและเป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยโดยใช้หลักนิติธรรม อันจะเป็นรากฐานที่ดีต่อการลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจของการกระทำที่ประชาชนได้แสดงออกทางการเมืองเพื่อจะทำให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุขเรียบร้อยมีความสมัครสมานสามัคคีร่วงแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา 1พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ..."

มาตรา 2พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว

มาตรา 4เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา 5การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 6 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 7ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

นายกรัฐมนตรี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมอชนบทไม่ร่วมประชุม สธ.ตั้งคณะแก้ P4P รอดูท่าทีรัฐบาล

$
0
0

 

สืบเนื่องจากนายประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงจัดประชุมตัวแทนกลุ่มวิชาชีพในหน่วยบริการทุกระดับ ในวันนี้ (12 มิ.ย. 56) เวลา 16.00 น.ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยเชิญผู้แทนจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้แทนจากทุกวิชาชีพ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง เข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานพัฒนาระบบค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือP4P และตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการนั้น

นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า แพทย์ชนบทมีจุดยืนที่ไม่เปลี่ยน และผลการเจรจาก็ตรงกันและได้มีการระบุไว้ชัดเจนว่า

1. ยืนยันการมีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเช่นเดิมมีความสำคัญในการคงวิชาชีพสุขภาพในชนบท ดังนั้นชมรมแพทย์ชนบทขอคงอัตราและแนวทางเดิมในประกาศฉบับ 4,6 ไว้ทุกประการ

2.สนับสนุนให้มีการปรับอัตราเพิ่มของวิชาชีพอื่นๆ ให้เหมาะสมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ต้องคงหลักการนี้ไว้โดยไม่ปรับลดก่อน 

3.ระหว่างการร่างประกาศเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่ใน 60 วัน กระทรวงสาธารณสุขจะมีการเยียวยาทุกคนให้ได้ค่าตอบแทนเหมือนการใช้ประกาศฉบับ 4,6

4. กรณี P4P จะต้องเป็นการทำโดยสมัครใจไม่ใช่บังคับ ข่มขืน  ณ 1 ต.ค.56 หากการปรับแต่งเกณฑ์การวัด P4P ใหม่ออกมาไม่น่าทำยังเป็นการเก็บแต้มรายกิจกรรม ก็เป็นสิทธิของ รพ.ที่จะไม่ทำต่อไป

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สถานการณ์วันนี้ ต้องติดตามการประชุมชิงการนำจากผลการเจรจาที่มีข้อสรุปให้ตั้งกรรมการมาทบทวนเรื่องเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย การเยียวยา และการปรับเกณฑ์ P4P เชิญคนมาเต็มห้องประชุมก็เปล่าประโยชน์ ประเด็นไม่ใช่การรีบจัดประชุมหารือ แต่ประเด็นคือ รมต.ยังแถลงบิดเบือนเอาแต่ความคิดตนเองมาเป็นมติว่า จะไม่เยียวยาคนค้าน P4P ไม่ยืนยันการคงอยู่ของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แถมยังจะบังคับทำ P4P ตั้งแต่ 1 ต.ค.56 โดยไม่กล้าให้ทำโดยสมัครใจ เพราะรู้อยู่เต็มอกว่า P4P เป็นของไม่ดีมีปัญหามาก หากสมัครใจก็คงไม่มีใครทำ เช่นนี้แล้วแพทย์ชนบทจะเข้าไปร่วมประชุมพูดคุยไปทำไม ทำงานในพื้นที่ไม่ดีกว่าหรือ

นพ.อารักษ์กล่าวต่อว่า แพทย์ชนบทไม่เข้าร่วมการหารือครั้งนี้ และจะไม่เข้าจนกว่าทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีท่าทีที่ถูกต้องเสียก่อน อยากให้ทุกฝ่ายจับตาดูว่าเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมจะได้ใครมาเป็นประธานกรรมการ เป็นกรรมการ และมีบทบาทหน้าที่แค่ไหน กรรมการที่ไม่มีกรอบจุดยืนการทำงานที่ชัดเจนก็เป็นแค่ฝักถั่วตรายาง และการตั้งกรรมการชุดดังกล่าว หากให้มีความเหมาะสมต้องตั้งโดยสำนักนายกรัฐมนตรี มีคนนอกเป็นประธาน เพราะกระทรวงสาธารณสุขโดยรัฐมนตรีและปลัดเป็นคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกับแพทย์ชนบท จะมาตั้งตนเป็นประธานและควบคุมทิศทางการประชุมซึ่งคงไม่ใช่ และยอมรับไม่ได้”

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวว่า ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่าในการประชุม ครม.ที่กำแพงเพชรนั้น กระทรวงสาธารณสุขนำผลการหารือฉบับกระทรวงเข้า ครม.เพื่อแจ้งให้ทราบในวาระที่ 6 และเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนำเรื่องเข้าในวาระที่ 17 ซึ่งวาระที่ 17 นี้มีสาระตรงกับความเห็นของเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ทำให้ ครม.รับทราบผลจากการนำเสนอของทั้งสองฝ่าย จึงเกิดความคลุมเครือในทางปฏิบัติ เช่นปลัดกระทรวงก็ยังดื้อดึงที่จะไม่ให้กลับไปใช้สาระของประกาศฉบับที่ 4,6 ยังจะบังคับทำ P4P ในเดือนตุลาคม 56 ทั้งๆที่การเจรจามีการสรุปจากฝั่งชมรมแพทย์ชนบทด้วยว่า จะต้องเป็นไปโดยสมัครใจภายใต้ฐานการมีอยู่ของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามประกาศฉบับที่ 4,6  

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ ขอให้พี่น้องชาวโรงพยาบาลชุมชนจะยังไม่ไปชุมนุมที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี แต่จะมาร่วมประชุมกันเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน แสดงจุดยืนและกำหนดท่าทีที่โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร ส่วนจะไปที่ไหนต่อหรือไม่ขอรอดูความคืบหน้าจากฝั่งรัฐบาล เป็นการให้เวลาอีกเล็กน้อยในการดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อ ที่ ครม.รับทราบแล้ว  อย่างไรก็ตาม ชมรมแพทย์ชนบทหวังว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะมีสัญญาณที่ดีจากรัฐบาลในการดำเนินการตามผลการเจรจาฉบับสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘4 Laws For Poor’ ชู 4 นิ้ว สนับสนุน 4 ร่างกฎหมายคนจน

$
0
0

13 มิ.ย.56  คนรุ่นใหม่รณรงค์ชู 4 นิ้ว ‘4 Laws For Poor’ ในสังคมออนไลน์ เพื่อให้เกิดกระแสการติดตามข้อมูลข่าวสารสนับสนุนร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาคนจน 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.สิทธิชุมชน พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ร.บ.ภาษีทีดินอัตราก้าวหน้า พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม


“เราไม่อยากที่จะไปนอนตากแดดตากฝน เราไม่อยากให้คนบางกอก ก่นด่า อย่างรำคาญในปัญหาการจราจร เราไม่อยากที่จะไปเยี่ยมนายกทุกยุค ทุกสมัย เราไม่อยากร้องไห้เพียงเพราะญาติถูกจับกุม ในคดีที่ไม่สมควรที่จะโดนจับด้วยซ้ำไป ดังนั้น เราจึงหาทางออกให้รัฐบาลแล้ว และจะเกิดความสันติสุข มากขึ้นระหว่าง รัฐกับชุมชน กรณีการใช้ที่ดิน การจัดการที่ดิน ที่รัฐไม่เคยเห็นมันเลย” ข้อความจากแฟนเพจเฟสบุ๊ค “กฎหมายเพื่อคนจน 4 ฉบับ” ที่รวบรวมข้อมูลกฎหมายเผยแพร่สำหรับประชาชน พร้อมทั้งเชิญชนประชาชนให้ร่วมกัน "ชู 4 นิ้ว" แสดงสัญญะสนับสนุนกำหมายแก้ไขปัญหาของคนจนด้วย  พ.ร.บ. 4 ฉบับ

“ พ.ร.บ. 4 ฉบับสำคัญอย่างไร เพราะชาวเลทุ่งหว้าอาศัยอยู่มากว่า 150 ปี แล้วรัฐประกาศเป็นที่สาธารณะ เมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา แล้วปี 2547 มีนโยบายจะพัฒนาพื้นที่และไล่ชาวเลออก ถ้ามี  พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ชาวเลกลุ่มนี้และชุมชนอื่นๆที่อยู่มายาวนาน จะมีแผ่นดินอยู่อาศัยและทำกิน”  โพสต์แสดงความคิดเห็นจากผู้เล่นเฟสบุ๊คชื่อ “Maitree Jongkraijug” พร้อมทั้งบอกอีกว่าเริ่มต้น เพื่อให้สังคมเข้าใจ กังขา ค้นหา แล้ว เมื่อเราสร้างความเข้าใจได้ เมื่อถึงช่วงล่ารายชื่อประชาชนจะได้เข้าใจทิศทางและความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ขณะเดียวกันเพื่อสร้างกระแสสังคม สื่อมวลชนก่อน และพิจารณากระแสตอบรับจากประชาชน

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปที่สนใจ พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่


1.http://issuu.com/67916/docs/130606______________________________572f11de8f76bc
2.http://issuu.com/67916/docs/130606______________________________1f3168dc485b3d
3.http://issuu.com/67916/docs/130606______________________________e1b53a4c7e7bf8
4.http://issuu.com/67916/docs/130606______________________________4acd0c6c964042

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50848 articles
Browse latest View live




Latest Images