Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

ความคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์และการไม่ยืนเคารพในโรงหนังของ ศ.ดร.สมภาร พรมทา

$
0
0


“ การอ้างความเสมอภาค

เพียงเพื่อจะบอกว่าไม่นับถือพระ ไม่นับถือเจ้า

อันนี้ในทางวิชาการถือว่าไร้สาระ

-ศ.ดร.สมภาร พรมทา –

http://www.stc.arts.chula.ac.th/WisdomMag/I%20Think%20Therefore%20I%20Speak.rar

 

บทไหว้ครู

ไม่ได้หมายความว่าผมจะเริ่มชกมวยดอกครับ แต่อยากจะเรียนว่าผมนั้นเป็นลูกศิษย์อาจารย์สมภาร พรมทา ตั้งแต่เป็นเณรน้อย ติดตามอ่านหนังสืออาจารย์มาตลอดตั้งแต่ยุคที่อาจารย์เป็น “พิลาปเหลือง” จนปัจจุบันก็ยังตามอ่านวาสารปัญญา (วารสารออนไลน์) ของอาจารย์อยู่เป็นประจำ ได้ความรู้เกี่ยวกับปรัชญา และพุทธศาสนาจากอาจารย์มาก แถมยังได้อ่านบกวี ดูภาพวาดสวยๆ ฟังดนตรีเพราะๆ อันเป็นผลงานที่ไหลมาเทมาจากพลังภายในอันล้นเหลือของอาจารย์อีกต่างหาก ที่จะวิจารณ์ต่อไปนี้คือวิจารณ์ “ความคิด” ของอาจารย์ที่เป็นของสาธารณะที่ใครจะวิจารณ์ก็ได้ ไม่เกี่ยวกับตัวตนของอาจารย์ที่ผมเคารพนับถือแต่อย่างใด

 

บทวิจารณ์เชิงแลกเปลี่ยน

ผมเพิ่งได้อ่านคำให้สัมภาษณ์เรื่อง “มังสวิรัติ การเมือง และเรื่องสถาบันกษัตริย์”ของอาจารย์สมภาร (ใน "ฉันคิด ฉันจึงพูด" รวมบทสัมภาษณ์ช่วง 5 ปี วารสารปัญญา) เนื้อหาส่วนใหญ่ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ โดยเฉพาะที่อาจารย์เสนอว่า “สถาบันกษัตริย์ควรมีบทบาททางวัฒนธรรมเท่านั้น” แต่เวลาที่อาจารย์อภิปรายประเด็นต่างๆ เหมือนกับว่าสภาพที่เป็นอยู่จริงเป็นดังข้อเสนอนั้นแล้ว ผมจึงอยากตั้งข้อสังเกตเชิงแลกเปลี่ยนดังนี้

1) ที่อาจารย์สมภารชมในหลวงว่าแปลเรื่องของติโตผู้เป็นคอมมิวนิสต์นั้น แสดงว่าในหลวงรู้พุทธศาสนาดี ยกย่องคนที่การกระทำ ถึงติโตจะเป็นสามัญชนแต่ก็เสียสละจนประชาชนรัก ทำนองว่าในหลวงใจกว้าง ไม่มองความสำคัญเรื่องชนชั้นของพระองค์เองหรือเรื่องที่เขาเป็นคอมมิวนิสต์เป็นหลักอะไรประมาณนี้

คำถามคือ ก็ในเมื่ออาจารย์ยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนว่า “คนเราเกิดมาเท่ากัน” แต่อัตราโทษของ ม.112 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจำคุก 3 ปี ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็น 7 ปี ในสมัยเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเป็น 15 ปี หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 จะอธิบายว่ามีความสัมพันธ์สอดคล้องกับ “คนเราเกิดมาเท่ากัน” ตามคำสอนของพุทธศาสนาอย่างไร 

2) ที่ว่าผู้ต้องการประชาธิปไตย "จินตนาการกันไปเองว่ามีอำมาตย์ มีไพร่ มีความไม่เท่าเทียมกันอยู่” นั้น คำถามคือ ถ้าเป็นแค่จินตนาการกันไปเอง อะไรคืออุปสรรคของการแก้ไข/ยกเลิก ม. 112 ครับ ก็ถ้าไม่ระบบมีชนชั้น แต่มีความเสมอภาคอยู่แล้ว ทำไมจำเป็นต้องมี ม.112 (เป็นต้น) อยู่ต่อไป?

3) ที่ว่า “ฝ่ายนิยมกษัตริย์นั้นเขาเรียกร้องเพียงว่า ในระหว่างนี้ฝ่ายที่นิยมประชาธิปไตย กรุณารักษาน้ำใจของคนที่รักพระเจ้าแผ่นดินบ้าง คนเราเห็นต่างกันได้ แต่อย่าเหยียดหยามน้ำใจของอีกฝ่าย ด้วยการแสดงความไม่เคารพ หรือแม้แต่ดูหมิ่นดูแคลนสิ่งที่เขาเคารพ”

ผมคิดว่าปัญหามันซับซ้อนกว่านั้นมาก โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่น่าจะใช่ประชาชนอีกฝ่ายต้องการ “เหยียดหยามน้ำใจของอีกฝ่าย” คำถามง่ายๆ คือ คนรักเจ้าเขาไม่มีที่ยืน ไร้พื้นที่ทางสื่อ และทาง ฯลฯ จะสรรเสริญเจ้าหรือครับ? ไม่มีพื้นที่ให้เขาแสดงความเป็นคนดีที่จงรักภักดีสรรเสริญเจ้าหรือครับ? ไม่ใช่เลยครับ พื้นที่ของคนรักเจ้ามีอยู่ทุกอณูของแผ่นดิน อีกฝ่ายต่างหากที่เขาไม่มีพื้นที่จะวิจารณ์ด้วยเหตุผล พูดสิ่งที่เขาสงสัยออกมาตรงๆ ก็ไม่ได้ คนเขาถูกกระทำ ถูกฆ่าในนามข้ออ้างปกป้องสถาบันมากี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว พวกเขาทนไม่ไหวก็ระบายออกแบบนั้นในพื้นที่แคบๆ แต่ยังถูกไล่ล่า... ถามจริงๆ ครับคำด่าอย่างที่ดา ตอร์ปิโดด่าแล้วจำคุก 18 ปีนั้น (เป็นต้น) เปิดโอกาสให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงหักล้างได้หรือเปล่าครับ

ยิ่งถ้าอาจารย์ยืนยันว่าเรื่องอำมาตย์ เรื่องไพร่ ความไม่เสมอภาคไม่มีแล้ว จินตนาการกันไปเอง ถ้าเช่นนั้นไม่มีอำมาตย์ ไม่มีไพร่ ก็ต้องมีความเสมอภาคตามหลักการประชาธิปไตย ก็ต้องไม่มีการจำคุกประชาชนที่ทำผิดด้วยคำพูด/ข้อความ ตั้ง 18 ปี – 20 ปี ใช่ไหมครับ

ว่าตามจริงแม้แต่การใช้ “เหตุผล” ก็อาจถูกปฏิบัติจากอีกฝ่ายอย่างหยาบคายได้ เช่นโพสต์ในเฟซบุ๊คของอาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร (30 พ.ค.56) ช้างล่าง

วรเจตน์เล่าให้ผมฟังว่า... 

ตอนบ่ายวันนี้ ขณะลงไปที่ชั้นล่างของคณะฯ เจอผู้ชายและผู้หญิงแปลกหน้าโดยบังเอิญ เมื่ออยู่ใกล้กัน ผู้หญิงคนนั้นเปรยขึ้นมาว่า "วันนี้ โชคไม่ดี มาเจอเหี้ยที่นี่"

วรเจตน์ถามกลับด้วยความสุภาพว่า "ด่าผมหรือครับ" ผู้หญิงคนนั้น ก็ตอบกลับมาว่า "พูดลอยๆ ใครอยากรับ ก็รับไป"

หลังจากนั้น เมื่อคนแปลกหน้าทั้งคู่ เดินออกจากตึกคณะฯ ได้ประมาณ ๑๐ เมตร ผู้หญิงคนเดียวกัน ก็หันหน้ายื่นนิ้วกลางขึ้นมา พร้อมกับถอดรองเท้าแตะสะบัดใส่ แล้วก็เดินจากไป โดยวรเจตน์มองเห็นตัวหนังสือสีส้ม บนเสื้อสีดำด้านหลัง อย่างชัดเจนว่า "พสกนิกรผู้จงรักภักดี"

หลังเหตุการณ์นี้ วรเจตน์กับผมเห็นพ้องกันว่า ผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนใหญ่ คงไม่เป็นอย่างนี้หรอกครับ

4) ส่วนที่อาจารย์ว่าเรื่องนายกรัฐมนตรีหมอบกราบในหลวงเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม รักษาไว้ไม่เสียหายอะไรนั้น เท่าที่ผมอ่านปาฐกถาของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์หลายเรื่องยืนยันว่า รัชกาลที่ 5 ทรงให้เลิกพิธีหมอบคลานไปแล้ว การเข้าเฝ้าใช้วิธีโค้งคำนับ แต่พิธีหมอบคลานถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในยุคเผด็จการสฤษดิ์นี้เอง


อาจารย์สมภารกล่าวว่า

“พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่สอนว่าทุกคนเกิดมาเท่ากัน ชาติกำเนิดต่างกันไม่เป็นปัญหา เพราะชาติกำเนิดไม่ใช่สาระความเป็นคน สาระความเป็นคนอยู่ที่มีปัญญาฝึกฝนได้ ความเชื่อว่าคนเราเท่ากันหรือไม่เท่ากันนั้นในทางปรัชญาสำคัญมากนะครับ เราถือว่านี่เป็นจุดตั้งต้นของระบบคิดในทางสังคมการเมืองที่มีอะไรต่างๆ ตามมาอีกมากมาย”

แต่อาจารย์กลับแสดงความเห็นเรื่อง “ไม่ยืนเคารพในหลวงที่โรงหนัง” ไว้ดังนี้

“การอ้างความเสมอภาคเพียงเพื่อจะบอกว่าไม่นับถือพระ ไม่นับถือเจ้า อันนี้ในทางวิชาการถือว่าไร้สาระ บางคนไปดูหนังไม่ลุกยืนเพื่อถวายความเคารพในหลวง เพราะคนเราเท่ากัน ก็ไม่ว่ากันครับ จะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่พวกเราที่เป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า แม้ข้างในคนเราจะเท่ากันในความหมายของการที่จะถูกฝึกสอนให้ดีให้งามได้ แต่ข้างนอกเราก็ต้องมีวัฒนธรรม ผมแปลกใจอยู่หน่อยหนึ่งคือ คนที่ไม่ลุกในโรงหนังนั้น เขาก็น่าจะเคยไหว้ใครอยู่บ้าง เช่นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เขาเคารพ คนเราหากถือเคร่งในเรื่องที่เกิดมาเท่ากัน ที่สุดแล้วก็อาจเหมือนคนบ้า อย่าเอาจริงเอาจังกับชีวิตมากขนาดนั้นเลยครับ สมมติว่าคนผู้นั้นไปบวช แล้วในหลวงเสด็จไปทอดกฐินที่วัดนั้น พระรูปนั้นลงมารับกฐิน ในหลวงก็ต้องไหว้ท่าน เห็นไหมครับ นี่คือวัฒนธรรม อย่าให้ความถือเคร่งเรื่องคนเราเท่ากัน ไปไกลเกินเลยขนาดนั้น เครียดเสียเปล่าๆ”


ผมมีข้อสังเกตดังนี้

1) การนับถือ ไม่นับถือใครเป็นสิทธิส่วนบุคคลไม่ใช่หรือครับ ทำไมการอ้างความเสมอภาคในเรื่องสิทธิที่จะนับถือไม่นับถือใคร (รวมทั้งพระ และเจ้า) จึงเป็นเรื่องไร้สาระทางวิชาการ

2) ถ้าพุทธะสอนว่า “ข้างในของคนเท่ากัน” สิ่งที่ตามมาก็ควรจะเป็นการสร้าง “วัฒนธรรมที่เคนเราเท่ากัน” ให้แสดงผลการปฏิบัติออกมาข้างนอก ดังระบบสังฆะที่เลิกระบบชนชั้นไป นี่หมายความว่าพุทธะเห็นว่าการสร้างวัฒนธรรมที่คนเราเท่ากันเป็นสิ่งจำเป็น ฉะนั้น การมีแบบแผนวัฒนธรรมรองรับสิทธิเท่าเทียมของทุกคนที่จะแสดงความเคารพหรือไม่เคารพใครก็ได้ก็คือการทำความหมายของความเสมอภาคให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ หรือเป็นวิถีชีวิตจริงๆ โดยวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่นั้น การไปแสวงหาความบันเทิงในโรงหนังก็ไม่ควรจะมีกฎข้อบังคับให้ใครต้องทำความเคารพบุคคลใดเป็นพิเศษไม่ใช่หรือ

3) ถึงแม้คนที่ไม่ยืนในโรงหนัง เขาจะเคยไหว้อาจารย์ และฯลฯ แต่เขาก็ทำด้วยความสมัครใจ มีเสรีภาพ ไม่มีใครบังคับเขา ไม่มีกฎหมายให้ใครคอยแจ้งความเอาผิดเมื่อเขาไม่อยากทำ

4) ทำไมจึงมองเพียงว่าคนที่ไม่ยืนในโรงหนังเป็นคนเอาจริงเอาจังกับชีวิตขนาดนั้นล่ะครับ คิดว่าการกระทำของเขาเป็น “เรื่องส่วนตัว” ล้วนๆ เลยหรือครับ คำถามคือ การกระทำของคนที่ไม่ยืนในโรงหนังต่างอย่างไรกับการที่พุทธะชี้ให้เห็นปัญหาของระบบวรรณะ ทำไมอาจารย์สรรเสริญการที่พุทธะชี้ให้เห็นปัญหาของระบบวรรณะ แต่เห็นการกระทำในความหมายคล้ายกัน (ชี้ให้เห็นปัญหาวัฒนธรรมความไม่เท่าเทียม-แม้แต่การไม่ยืนเคารพก็ต้องถูกกล่าวหาในทางกฎหมาย) ของคนที่ไม่ยืนในโรงหนังไปในทำนองว่า “อาจเหมือนคนบ้า” เพราะเอาจริงเอาจังกับชีวิตมากเกินไป เครียดเปล่า ๆ ตกลงการกระทำอะไรที่มี “เนื้อหา” คล้ายกัน มันไม่มีค่าเป็นความดีเหมือนกันหรือ

(บางคนบอกว่า คนที่มองการ “ไม่ยืน” เป็นปัญหา คอยสอดส่องจับผิด น่าจะเป็นพวกจริงจังกับชีวิตจนเกินไปมากกว่า ช่างไม่รู้จักปล่อยวางเรื่องของคนอื่นๆ บ้างเบย)

 

บทสรุป

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงต้องการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและข้อเสนอส่วนใหญ่ของอาจารย์สมภารในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นไปในทางอยากให้แต่ละฝ่ายเปิดใจรับฟังและเข้าใจเหตุผลของกันและกัน เพื่อในที่สุดแล้วจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์มีบทบาททางวัฒนธรรมเท่านั้น โดยไม่ต้องเกิดความขัดแย้งหรือความรุนแรงนองเลือดขึ้นอีก ซึ่งผมขออนุโมทนาในเจตนารมณ์อันดีนี้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอเอสทีวีประกาศขายสติกเกอร์ "กายฟอว์กส์"

$
0
0

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์เชิญชวนให้ประชาชนซื้อสติ๊กเกอร์หน้ากากกายฟอว์กส์ ระบุเป็นสัญลักษณ์ต่อต้าน "รัฐบาลเผด็จการทักษิณ" และประกาศให้โลกรู้ถึงการใช้อำนาจมิชอบของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" พร้อมลงท้ายว่าสามารถหาซื้อได้ที่ร้าน 'ASTV Shop' หรือแถมฟรีใน 'ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์'

ต่อปรากฎการณ์ที่เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา ผู้ใช้เว็บโซเชียลมีเดีย ได้เปลี่ยนหน้าโพรไฟล์เป็นรูป หน้ากากกายฟอว์กส์ (The Guy Fawkes mask) และโพสต์ข้อความในเพจต่างๆ พร้อมกันว่า "ขณะนี้กองทัพประชาชนได้ลุกขึ้นมาแล้ว ข้าขอประกาศว่า ข้าจะล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย" โดยที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการปิดพื้นที่การเมืองนั้น [อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง]

ภาพที่ปรากฏในพาดหัวข่าว "รวมปฏิบัติการ 'หน้ากาก V' !! ใน ASTVผู้จัดการออนไลน์ เชิญชวนประชาชนให้หาซื้อสติกเกอร์มาติดเพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อต้าน "รัฐบาลเผด็จการภายใต้ระบอบทักษิณ"

ล่าสุดวันนี้ (31 พ.ค.) ASTVผู้จัดการออนไลน์ ได้รายงานข่าวโดยพาดหัวว่า ร่วมปฏิบัติการ 'หน้ากาก V' !! โดยมีข้อความว่า

"ปฏิเสธไม่ได้ว่าปฏิบัติการ 'หน้ากากV' ที่ใช้หน้ากากขาวของ "กาย ฟอว์กส์" (Guy Fawkes) (ซึ่งมีต้นแบบมาจากภาพยนตร์เรื่อง 'V for Vendetta') อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านผู้นำเผด็จการซึ่งกำลังกระหึ่มไปทั้งสังคมออนไลน์อยู่ในขณะนี้นั้นนับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่รัฐบาลเพื่อไทยมิอาจมองข้าม อีกทั้งยังเป็นการประกาศให้ประชาคมโลกรับรู้ถึงพฤติกรรมการในการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของ 'น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' นายกรัฐมนตรี

'ASTVผู้จัดการ' ขอเชิญท่านร่วมขยายเครือข่ายปฏิบัติการ 'หน้ากาก V' จากโลกไซเบอร์ สู่ท้องถนนและทุกซอกมุมในสังคม ด้วยการติด 'สติกเกอร์หน้ากากV' เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการภายใต้ระบอบทักษิณ ซึ่งเดินหน้าทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องโดยไม่ฟังเสียงประชาชน" ข้อความใน ASTVผู้จัดการออนไลน์ระบุ

ทั้งนี้ท้ายข่าวได้เชิญชวนให้ประชาชนมาซื้อ 'สติ๊กเกอร์กายฟอว์กส์" ที่ 'ASTV Shop' บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ โดยเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันนี้ (31 พ.ค.) หรือซื้อ “ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์” ฉบับล่าสุดที่มีสติ๊กเกอร์แถมในเล่ม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักโทษทางการเมือง ความคิดต่างที่ต้องโทษ

$
0
0
 
หลังจากวันที่ 1 พ.ค. 2556 โลกออนไลน์โดยเฉพาะสังคม facebook เริ่มมีการเคลื่อนประเด็นที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก 12 ปี ฐานเป็นกบฏและสมาชิกขบวนการ BRN Coordinate ต่อนายมะกอรี และพวกรวม 9 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ นักสื่อสารภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ (ปาตานี) หรือเป็นเจ้าของบล็อกคอลัมน์ Patani Design ในเว็บศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)[1]
 
กระแสการรณรงค์เริ่มขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วผ่านเพจ “เพื่อนอันวาร์ Save Anwar” ซึ่งเป็นเพจที่สร้างความกังวลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในคำตัดสิน จนทำให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องออกมาแถลงถึงกรณีที่ศาลฎีกาตัดสินเช่นนี้ว่าเพราะเหตุใด[2]
 
บทสรุปสุดท้ายในคำพิพากษาศาลฎีการะบุว่า ศาลเชื่อว่าจำเลยเป็นสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน BRN Coordinate จริง[3] เราเคารพในคำตัดสิน แต่ไม่ได้แสดงว่าเรายอมรับการกระทำผิดซึ่งหน้า มิได้แสดงว่าเมื่อคิดต่างจากรัฐแล้ว จะต้องเข้าไปเป็นสมาชิก BRN หรือองค์กรใด แต่มันสะท้อนให้เห็นว่าเรามีความผิดที่คิดต่างทางการเมืองกับรัฐไทย
 
การคิดเห็นต่างทางการเมือง แล้วแสดงออกโดยการสื่อสารทั้งการสื่อสารแบบเก่าหรือแบบใหม่ หรือแสดงออกโดยวิธีการไม่เสียเลือดเนื้อของผู้คน การถ่ายทอดออกมาในรูปแบบสันติวิธีทั้งหลายเหล่านี้ เรากระทำโดยมิได้ผิดต่อหลักกฎหมายบ้านเมือง หรือข้อห้ามแต่อย่างใด ในทางกลับกันลองพลิกดูนโยบายการแก้ปัญหาภาคใต้ของ สมช. ที่เป็นตัวแทนของรัฐไทยที่ไปนั่งเก้าอี้พูดคุยบนโต๊ะเจรจากับ BRN ที่มาเลเซีย นั้นเขียนระบุไว้อย่างไร ในวัตถุประสงค์ข้อที่ 8 ที่ว่าด้วยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพูดคุย หลักประกันการเข้ามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง และในข้อที่ 2 ที่ระบุว่า ส่งเสริมกระบวนการพูดคุยกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ
 
กรณีศึกษาจากการตัดสินจำคุก 12 ปี นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะและพวกอีก 9 คน ที่มีการซัดทอดว่าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRN แต่มิได้มีความผิดฐานการกระทำผิดซึ่งหน้า หรือคดีฆ่าตัดคอตามที่เป็นข่าว หากมองขึ้นไปที่นโยบายข้างต้น แทบไม่มีประโยชน์ที่จะออกแถลงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาใต้ หากในทางปฏิบัติของหน่วยงานรัฐต่างๆ ไม่นำไปปฏิบัติตาม
 
นักโทษทางความคิด คิดต่างทางการเมือง ที่มาจากความเป็นอยู่ ภาษา วัฒนธรรม การศึกษา ศาสนา ที่ต่างกัน รัฐไทยคงจะต้องสร้างที่กักขังอีกหลายแห่งเพื่อรองรับบุคคลที่มีความเห็นต่างกลุ่มนี้ คงมิได้มีแต่เพียง อันวาร์ และเพื่อนอันวาร์เท่านั้น
 
สิ่งที่จำเป็นระดับระดับต้น ไม่ใช่นโยบายที่สวยหรู ไม่ใช่การประดิษฐ์คิดวาทกรรมทางการเมืองใหม่ๆ ออกมาผ่านนโยบายแถลงของรัฐ สิ่งที่รัฐไทย แม้จะนำโดยพรรคใดก็ตาม ต้องคำนึงคือ “ยอมรับ” ในความต่าง ในทุกๆ บริบทของชาวปาตานี ซึ่งมันจะสะท้อนถึงอุดมการณ์แนวคิดคนละขั้วจากความเป็นสยามออกมา
 
ท่านผู้ปกครองที่ใช้กฎหมาย มีอำนาจในมือ ปลายปากกา และกระบอกปืน สันติภาพที่สันติสุข สังคมไร้ซึ่งเสียงกระสุน เสียงดังของระเบิดจะไม่เกิดขึ้นถึงแม้ว่าจะจับกุม ควบคุมแนวร่วม แกนนำของขบวนฯ BRN ตัวจริงหรือเทียม มากเพียงใดก็ตาม เพราะสังคมเมอลายูปาตานีคงไม่มีวันที่จะเปลี่ยนสีฐานความคิด ฐานทางสังคม วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ให้กลายหรือเหมือนผู้ปกครองอย่างรัฐไทยได้ ผู้ปกครองควรจักต้องเข้าใจ ยอมรับ รับฟัง ให้มากกว่าเดิมหลายเท่า และอย่าได้พยายามเปลี่ยนสีฐานความคิด หรือป้ายสีชาวเมอลายูปาตานี
 
เรายอมรับในความต่างที่คุณเป็นสยาม แต่เราไม่ยอมนอบน้อมในความอธรรมและอยุติธรรมจากการกระทำจากผู้ปกครอง
 
เมอลายูปาตานีจะไม่เลือนหายจากแผนที่แห่งความคิด เราจักรักษามันให้คงอยู่ เราจักปกป้องให้มันคงไว้ โดยวิถีสันติ มิใช่ความก้าวร้าว
 

 




[1] กรุณาคลิกดูรายละเอียดของบล็อกดังกล่าวได้ที่  http://www.deepsouthwatch.org/blog/1033
[2] กรุณาคลิกดู “บทแถลงข่าว” ของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ที่http://www.southpeace.go.th/th/News/explain/news-560507-3.html
[3] กรุณาคลิกอ่านรายละเอียดของคำพิพากษาศาลฎีกาได้ ที่นี่

 

 

 

ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/node/4304

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวทีวิพากษ์ความพร้อมไทยสู่ TPP ชี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวแข่งขันสูงขึ้น

$
0
0
สภาที่ปรึกษาฯ จัดวิพากษ์ความพร้อมของประเทศไทยต่อการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) กรมเจรจาการค้าชี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับมาตรฐานการค้าและการแข่งขันที่สูงขึ้น

 
31 พ.ค. 56 - วานนี้ (30 พ.ค. 56) คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้ผู้บริโภค  จัดสัมมนาเรื่อง “ ข้อตกลงทางการค้ากับการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค กรณี TPP และ EU-ไทย FTA”” เพื่อศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค  นักวิชาการ ภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนและสื่อมวลชน ในการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP)   ห้องประชุม 1  สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
 
โดยมี ศาสตรเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้ผู้บริโภค สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวเปิดสัมมนา โดยกล่าวว่า TPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีลักษณะกว้างขวาง มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดภาษี ในประเทศสมาชิกลง 90 % ในปี 2549และมุ่งให้ภาษีเป็นศูนย์ภายในในปี 2558 นอกจากนี้ยังมีการเจรจาครอบคลุมประเด็นหลักอื่นๆ อาทิ การค้าสิ้นค้า กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า การเยียวยาทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญาและนโยบายการแข่งขันและการจัดซื้อจัดหาโดยรัฐ ซึ่งสหรัฐอเมริกาเองก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การเจรจา TPP ประสบความสำเร็จ โดยประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่จะเข้าร่วมในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนดังกล่าว ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว แสดงการคัดค้านของกลุ่มนักวิชาการและภาคประชาชน ว่าอาจจะเกิดปัญหาขึ้น หากมิได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบอย่างรอบครอบและรอบด้าน
 
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค ด้านบริการ กล่าวว่า หัวข้อในการสัมมนาจะศึกษาผลกระทบจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP และ การเจรจาความตกลง FTA ไทย EU ซึ่งประเด็นเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขไม่แตกต่างกันในนัยยะสำคัญ หลังจากที่ทางสภาที่ปรึกษาฯ เสนอให้รัฐบาลกำหนดให้ (ร่าง) กรอบการเจรจาฯ ระบุอย่างชัดเจนให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้าขององค์การการค้าโลก 
 
นางพิราภรณ์ กิจไพฑูรย์ ผู้อำนวยการส่วนบูรณาการ ๒ (อเมริการิเหนือ) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP มีพัฒนาการมาจาก P4 ประกอบด้วย ประเทศชิลี นิวซีแลนด์ สิงค์โปร และบูรไน ต่อมาในปี 2551 ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศเข้าร่วมเจรจากับประเทศสมาชิก P4 ในปี 2553 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศว่า ความตกลง TPP จะเป็นต้นแบบสำหรับการเจราจาทำความตกลงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจการค้าในกลุ่มเอเปค (Free Trade Area of the Asia Pacific : ETAAP) ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ เวียดนาม แคนนาดา และเม็กซิโก โดยที่ TPP เป็นต้นแบบในการเปิดการค้าเสรีในเศรษฐกิจยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ที่มีมาตรฐานสูงและมีกรอบกว้างขวาง ขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นมีความสนใจเข้าร่วม แม้ประเทศสมาชิก 11  ประเทศก็มีฉันทามติให้ประเทศญี่ปุ่นสามารถเข้าร่วมเป็น
 
สมาชิกลำดับที่ 12 ได้ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันทีเพราะต้องรอให้ประเทศสมาชิกปรับแก้ไขข้อกฎเกณฑ์ในประเทศก่อน ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ คือ การรักษาส่วนแบ่งตลาดของไทย เนื่องจากไทยทำการค้ากับสมาชิก TPP 11 ประเทศมีมูลค่าสูง ทำให้สินค้าส่งออกของไทยได้รับสิทธิพิเศษเรื่องภาษีนำเข้าสหรัฐฯเป็นศูนย์เป็นการถาวร อีกทั้งช่วยรักษาและดึงดูดการค้า การลงทุนจากสมาชิก TPP และประเทศคู่ค้าอื่นๆ ให้ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต การค้า ในภูมิภาค และมีส่วนช่วยผลักดันการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบเศรษฐกิจการค้าของไทย ในส่วนผลกระทบที่จะตามมาคือ การนำเข้าสินค้าและบริการจากสมาชิก TPP เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนกฏระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการค้าและการแข่งขันที่สูงขึ้น ตามเงื่อนไขและมาตรฐานของ TPP ด้วย
 
ดร.บัณทูร เศรษฐศิโรตน์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับประเด็นการเจรจาในเรื่องสิ่งแวดล้อมภายใต้ TPP มีข้อเรียกร้องสำคัญหลายประการที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางบวกและทางลบ เช่น สหรัฐฯ มีข้อกำหนดให้คู่เจรจาต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม 7 ฉบับ  ซึ่งมีในนัยว่า สหรัฐต้องการให้ประเทศคู่เจรจายอมรับสิทธิและพันธกรณีในความตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมที่สหรัฐฯเป็นสมาชิกอยู่เท่านั้น ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อม ต้องศึกษาข้อมูลต่างๆให้รอบครอบก่อนที่จะดำเนินการขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ประเทศไทยต้องคำนึงถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจ ต้องมีการศึกษาในภาพรวมมิใช่มองส่วนใดส่วนหนึ่ง จำเป็นที่ต้องมีเครื่องมือในการประเมินผลกระทบด้านต่างๆ ของ TPP ด้วย
 
ด้านคุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล เลขานุการและสมาชิกคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นมีการศึกษามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี เกี่ยวกับการเข้าร่วม TPP ในขณะที่อเมริกาเองก็มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในกลุ่มประเทศอาเซียน ในส่วนของประเทศไทยยังไม่มีการวิจัยเรื่อง TPP โดยเฉพาะ แต่มีเอกสารอ้างอิงมางานวิจัยของบริษัท ไบรอัน เคฟ ที่ร่วมกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ร่วมกันทำการศึกษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย FTA ไทยสหรัฐฯ โดยการสัมภาษณ์ข้อมูลเชิงลึก ซึ่งสหรัฐอเมริกาต้องการใช้ TPP ในการคานอำนาจกับประเทศจีน ไทยควรเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ TPP โดยมีเงื่อนไขว่า 1.ประเทศสมาชิก TPP ยอมรับที่จะไม่ผลักดันให้ไทยขยายอายุสิทธิบัตรยา มากไปกว่าระดับความคุ้มครองภายใต้กรอบความตกลงหรืออนุสัญญาด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยเป็นสมาชิก 2. ประเทศสมาชิก TPP ยอมรับที่จะไม่ผลักดันบทบัญญัติด้านบริการทางการเงินมากกว่าหลักการภายใต้ GATS 3.ประเทศสมาชิก TPP ยอมรับที่ไทยจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกอนุสัญญา UPOV
 
ดร.นุศราพร เกษสมบูรณ์ นักวิจัย HIA ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่า ทริปส์พลัส ซึ่งนั่นจะบ่อนทำลายศักยภาพของประเทศไทยในการผลิตยาชื่อสามัญทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ จะเกิดผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เพราะว่ายาจะมีราคาที่แพงขึ้น จากสถิติแล้วคนไทยเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยามีน้อยถ้าเทียบกับ เจ้าของสิทธิบัตรจากต่างประเทศ ทำให้ไทยมีแนวโน้มในการนำเข้ายาจากต่างประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงร้อยละ 70 ขณะที่ประเทศไทยมีการอัตราการผลิตยาได้เองร้อยละ 30 
 
นายจักรชัย โฉมทองดี กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน กล่าวว่า สิ่งที่สังคมไม่ทราบว่า  การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ประเทศไทยจะได้อะไรบ้าง เกิดประโยชน์อะไร  ข้อตกลง FTA แทบจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศโซนยุโรปเลย  ทุกวันค่าเงินบาทแข็งค่าเพราะนักลงทุนจากต่างประเทศนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนตลอด ถ้ามีการเปลี่ยนก็ไม่อยู่ในปริมาณที่มีนัยยะสำคัญแต่อย่างใด แต่อาจจะมีนักลงทุนชาติอื่นมาใช้ฐานการผลิตของไทยเพื่อมาส่งออกสินค้าไปสู่ยุโรปส่วนนี้ก็อาจจะมีผลบ้าง จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบ ออกมาชี้แจงผลดีผลเสียที่ได้พิจารณาและนำมาสู่ข้อสรุปในการแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วม TPP เพราะจนถึงขณะนี้สังคมยังไม่ทราบเลยว่า คณะรัฐมนตรีตัดสินใจบนฐานข้อมูลใด
 
และในช่วงบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย เพื่อเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเจรจาความตกลงดังกล่าวรวมทั้งการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการสัมมนาของคณะทำงานจะได้นำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แพทย์ชนบท 7 จังหวัดภาคใต้ประณามการจัดประชุม 6 มิ.ย. ชี้บิดเบือนข้อเท็จจริง

$
0
0

31 พ.ค. 56 - สืบเนื่องจากการที่ทางรัฐบาลโดยนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ขอเจรจากับแพทย์ชนบทและเครือข่ายสุขภาพที่ออกมาขับไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และฏิเสธนโยบาย P4P ซึ่งจะมีการจัดการเจรจาในวันที่ 4 และ  6 มิ.ย. 56 โดยเป็นการเจรจาตามข้อเรียกร้องของแพทย์ชนบท, ทันตภูธร, เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน, เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกัน, สหภาพองค์การเภสัชกรรม, เครือข่ายผู้ป่วยและองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งมุ่งแก้ปัญหาและพิจารณาข้อเรียกร้องทีละประเด็นนั้น 
 
ต่อประเด็นนี้ นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ จ.นราธิวาส ได้กล่าวว่าแพทย์ชนบท 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ขอประนามการบิดเบือนสาระการหารือที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่ง รมว.ประดิษฐ ไม่ได้ร่วมประชุมด้วย 
 
"การจัด workshop P4P ในวันที่ 6 มิ.ย. ซึ่งเป็นการเจตนาบิดเบือนที่น่าละอายยิ่ง และเป็นการแสดงถึงธาตุแท้แบบนักธุรกิจสามานย์ที่มุ่งบรรลุผลประโยชน์ส่วนตน โดยไม่สนใจวิธีการ แม้การบิดเบือนผลการประชุมที่ตนไม่ได้เข้าร่วมก็ทำได้ นี่ไม่ใช่ workshop P4P เพราะ P4P คือยาพิษจะไม่มีการเจรจาลงรายละเอียดเรื่อง P4P แต่อย่างใด ไม่รับทั้งหมดและไม่มีการโอนอ่อน" นพ.สมชาย กล่าว
 
นพ.สมชาย กล่าวถึงจุดยืนว่าชมรมแพทย์ชนบท 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ขอยืนยันข้อเรียกร้องที่ลดหย่อนไม่ได้เลยของแพทย์ชนบทและเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนนั่นคือ 
 
1. การยกเลิกนโยบาย P4P สำหรับโรงพยาบาลชุมชนโดยสิ้นเชิง แล้วเอาเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4,6 กลับมาใช้เช่นเดิม รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราสำหรับวิชาชีพอื่นที่นอกเหนือจากแพทย์ ทันตแพทย์ด้วย เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานและลดปัญหาการสมองไหลจากโรงพยาบาลชุมชน จะไม่มีการเจรจารายละเอียดใดๆในเรื่อง P4P  
 
2. รัฐบาลต้องเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ออกจากการเป็นรัฐมนตรี และมอบหมายให้ รัฐมนตรีช่วยว่าการ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รักษาการแทน  และให้เป็นผู้แทนการเจรจาในฝั่งกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การเจรจาดำเนินไปได้ เพราะ รมต.ประดิษฐเป็นโมฆะบุรุษและเป็นเชื้อโรคร้ายที่บ่อนทำลายระบบสุขภาพ จึงไม่อาจให้มาทำหน้าที่ตัวแทนฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขได้
 
ด้าน นพ.รอซาลี ปัตยบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา กล่าวย้ำว่าการที่ผู้แทนท่านนายกรัฐมนตรีคือ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาขอร้องให้ชมรมแพทย์ชนบทยอมรับการเจรจานั้น ไม่ได้แปลว่าชมรมแพทย์ชนบทและโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมดจะยุติความเคลื่อนไหวในการชุมนุมหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี แต่ทางชมรมแพทย์ชนบท โดยเฉพาะแพทย์ชนบทและโรงพยาบาลชุมชนใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ยังพร้อมที่จะมาออกให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรีทุกวัน และพร้อมจะชุมนุมยืดเยื้อหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี หากการเจรจาไม่นำไปสู่การตอบสนองข้อเรียกร้องทุกข้อ 
 
"การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ระบบสุขภาพให้ไม่ถูกทุนสามานย์ยึดครองไป เป็นการต่อสู้เพื่อระบบสุขภาพที่เอื้อให้กับการดูแลสุขภาพคนทุกคนในสังคมไทยไม่เฉพาะคนจนคนชนบท เป็นบทบาทการแพทย์เพื่อสังคมที่ต้องยืนหยัด และขอเชิญคนไทยทั้งประเทศติดตามและเข้าร่วมการปกป้องระบบสุขภาพไทยในครั้งนี้ด้วย" นพ.รอซาลี กล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มเพื่อนมหิดลออกแถลงการณ์ป้อง 'หมอวิทิต'

$
0
0
 
31 พ.ค. 56 - กลุ่มเพื่อนมหิดลออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 “ร่วมกันปกป้องคนดีในวงการสาธารณสุข : กรณีการสั่งปลดหมอวิทิต” และการใช้อำนาจการเมืองแทรกแซงองค์การเภสัชกรรม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์กลุ่มเพื่อนมหิดล ฉบับที่ 2
“ร่วมกันปกป้องคนดีในวงการสาธารณสุข : กรณีการสั่งปลดหมอวิทิต”
และการใช้อำนาจการเมืองแทรกแซงองค์การเภสัชกรรม
 
จากกระแสข่าวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายประดิษฐ สินธวณรงค์) ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าตรวจสอบการบริหารของผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กรณีการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อการผลิตพาราเซตามอล และกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน โดยจงใจสร้างให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่องค์การเภสัชกรรม และยกเป็นเหตุให้บอร์ดองค์การเภสัชกรรมมีมติปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ในฐานะผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม แล้วเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาอย่างมีเงื่อนงำ นำมาซึ่งข้อสงสัยของประชาชนโดยทั่วไป ถึงความไม่โปร่งใสและไม่ถูกต้องชอบธรรมในการดำเนินการดังกล่าว 
 
กลุ่มเพื่อนมหิดล ในฐานะองค์กรภาคีความร่วมมือของบุคลากรในแวดวงวิชาชีพสาธารณสุข วิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม และมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม จึงติดตามกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใยต่อระบบสุขภาพโดยรวม และมีความเห็นร่วมกันว่า
 
(1) จากประวัติและผลงานที่โดดเด่นของ นพ.วิทิตฯที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเป็นผู้บริหารระดับต้นที่โรงพยาบาลชุมชนบ้านแพ้ว จนถึงการเป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวคือ
 
1.1) เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (ช่วงปี 2530 - 2550) ได้สร้างผลงานและความก้าวหน้าให้แก่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เช่น ผลักดันให้เกิดการผ่าตัดที่ยากๆ ได้โดยสามารถเชิญอาจารย์จากศิริราชไปช่วยผ่าตัดให้ จัดบริการ “เชิงรุก” โดยออกไปตั้งคลินิกผู้ป่วยนอกในชุมชน เพื่อให้ประชาชนสะดวกขึ้นและลดความแออัดในโรงพยาบาล จนเป็นที่ยกย่อง ได้รับการยอมรับและความร่วมมือเป็นอย่างมากจากประชาชนในพื้นที่ และในที่สุดก็สามารถพัฒนาให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็น “องค์การมหาชน”แห่งแรกของประเทศไทยที่มีการบริหารงานแบบอิสระ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 นอกจากนี้ยังได้ขยายการให้บริการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้วพร้อมมิตร คลินิกบ้านแพ้วที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคาร A และอาคาร B  เป็นต้น    
 
1.2) จากการบริหารงานโรงพยาบาลบ้านแพ้วของหมอวิทิตฯ ด้วยความทุ่มเทอุตสาหะมาเป็นระยะเวลายาวนานจนประสบความสำเร็จ จึงกลายเป็นต้นแบบของการปรับเปลี่ยนโรงพยาบาลของรัฐให้เป็นองค์กรมหาชนที่เป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.วิทิตฯได้รับรางวัลมหิดล-บีบราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 อันเป็นการแสดงถึงความสำเร็จในเรื่องนี้
 
1.3) นอกจากนี้ รูปแบบการบริหารโรงพยาบาลบ้านแพ้วนี่เอง ได้กลายเป็นต้นแบบของโครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” เพราะ นพ.วิทิตฯ ได้บริหารงานโรงพยาบาลบ้านแพ้วโดยได้รับงบประมาณเป็นก้อนไปจากรัฐบาล แล้วดำเนินการรักษาพยาบาลให้ประชาชนในเขตอำเภอ โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพียงครั้งละ 40 บาท เท่านั้น และเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ รับนโยบายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงใช้รูปแบบจากบ้านแพ้ว แต่ให้ปรับลดเก็บค่าบริการลงเหลือ 30 บาท
 
1.4) ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 เมื่อ นพ.วิทิตฯ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ก็ได้สร้างผลงานที่มีคุณูปการต่อระบบสุขภาพอย่างมากมาย โดยเฉพาะการทำ CL ยา และการจัดบริการยาเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งช่วยให้คนไข้โรคเอดส์ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง รวมทั้งประชาชนโดยเฉพาะผู้สิทธิบัตรทอง(UC) สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นและราคาแพงได้อย่างทั่วถึง เช่น โอเซลทามิเวียร์ (ป้องกัน/รักษาโรคไข้หวัดนก H1N1) ยาขับเหล็ก Deferipone ให้กับคนไข้ Thalassemia หลายหมื่นคน (จากราคาเม็ดละ 30 บาทของอินเดีย ลดเหลือเม็ดละ 3.50 บาท) หรือ ยาจิตเวช Resperidone, Sertraline (จากราคาเม็ดละ 40-50 บาท ลดเหลือเม็ดละ 3 บาท ถึง 5 บาท) เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยจำนวนมากในระบบ UC แล้วยังทำให้ประเทศไทยประหยัดงบประมาณไปหลายพันล้านบาท
 
1.5) ในช่วงสถานการณ์อุบัติภัยน้ำท่วมเมื่อปี 2545 องค์การเภสัชกรรมโดยการนำของ นพ.วิทิตฯ ก็ยังได้สนับสนุนช่วยเหลือยาสามัญประจำบ้าน ข้าวสารอาหารแห้ง น้ำบรรจุแกลลอน เครื่องกรองน้ำ RO ส่งไปช่วยประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ จ.ปทุมธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี รวมทั้งสนับสนุนเรือท้องแบนให้โรงพยาบาลใหญ่ๆ แม้กระทั่งโรงพยาบาลในกรุงเทพหลายแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลใน จ.ปทุมธานี และ จ.ลพบุรีด้วย
 
(2) ด้วยผลงานและคุณูปการต่อระบบสุขภาพของไทยของ นพ.วิทิตฯข้างต้น จึงถือได้ว่า นพ.วิทิตฯ เป็นนักบริหารรุ่นใหม่ที่เก่งดีมีความสามารถ หนึ่งในวงการสาธารณสุข สมควรได้รับการสนับสนุนเชิดชูและยกย่อง แต่กลับถูกผู้บังคับบัญชาทั้งฝ่ายการเมืองและบอร์ดองค์การเภสัชกรรมใช้กระบวนการตรวจสอบที่รวบรัด โดยไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งแสดงเหตุผลอย่างเพียงพอ ตามหลักธรรมาภิบาลอย่างโปร่งใส รวมทั้งกระบวนการตัดสินใจที่มีการตั้งธงไว้ของฝ่ายการเมืองแล้วชี้นำคณะกรรมการ(บอร์ด)อย่างมีอคติ โดยปราศจากการชั่งน้ำหนักถึงผลงานเชิงประจักษ์จากการบริหารองค์การเภสัชกรรมของผู้อำนวยการ(นพ.วิทิตฯ)ที่ผ่านมา กับ ผลกระทบของประเด็นที่หยิบขึ้นมาตรวจสอบ ด้วยความยุติธรรม 
 
กลุ่มเพื่อนมหิดลจึงขอคัดค้านมติของบอร์ดและมติคณะรัฐมนตรีในการปลด นพ.วิทิตฯ ออกจากตำแหน่ง “ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม” ครั้งนี้ และขอให้คณะรัฐมนตรีเพิกถอนคำสั่งปลดและคืนความเป็นธรรมให้ นพ.วิทิตฯ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมต่อไป
 
(3) ด้วยกระบวนการการปลดออกจากตำแหน่งอย่างเร่งรัด และหวังเข้าครอบงำองค์การเภสัชกรรม สร้างความกังวลใจให้กับกลุ่มเพื่อนมหิดลเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะ“องค์การเภสัชกรรม” ถือเป็นกลไกของรัฐเพียงแห่งเดียว(ที่ไม่เน้นการแสวงหากำไร) ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ในด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศและประชาชนที่เจ็บป่วย ด้วยการทำการผลิต จัดซื้อ/นำเข้ายาเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานในราคาต่ำ ลดการผูกขาดราคายาของบริษัทยาข้ามชาติได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบสุขภาพที่หน่วยบริการจะสามารถให้การรักษาพยาบาลและการป้องกันโรคได้อย่างทั่วถึง
  
นอกจากนี้ ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรมให้มีการยุติการสั่งการในการใช้เงินสะสมขององค์การเภสัชกรรมจำนวน 4 พันล้านในการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข หรือการสั่งการให้องค์การเภสัชกรรมแทรกแซงการซื้อยาโรคหัวใจจำนวน 2,000 ล้านบาท และคัดค้านการแปรรูปองค์การเภสัชกรรม เพื่อพิทักษ์ระบบยา อันมีความสำคัญยิ่งต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และความมั่นคงของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ผู้รับผิดชอบทั้งในภาครัฐและภาคการเมืองต้องใส่ใจอย่างจริงจัง
 
กลุ่มเพื่อนมหิดลจึงขอสนับสนุนสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรมในการเคลื่อนไหวปกป้ององค์การเภสัชกรรมให้ปราศจากการครอบงำและแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจสุขภาพเชิงพาณิชย์ และขอเรียกร้องให้ภาคประชาสังคม กลุ่มสหวิชาชีพด้านสุขภาพ กลุ่มผู้ป่วย ชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายภาคีความร่วมมือด้านสุขภาพ รวมทั้งสื่อสารมวลชน ได้ร่วมกันติดตามตรวจสอบความเป็นไปขององค์การเภสัชกรรมอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย
 
ด้วยจิตคารวะ
กลุ่มเพื่อนมหิดล
31 พฤษภาคม 2556
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นัดพิพากษาคดีคนงาน ‘ก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง’ สมัยรบ.อภิสิทธิ์ 11 ก.ค.นี้

$
0
0

เบิกคดีคนงานไทรอัมพ์ฯ เอนี่ออนและเวิลด์เวลล์การ์เม้น ‘ก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง’ สมัย รบ.อภิสิทธิ์ พยานจำเลยเบิกยันชุมนุมโดนสงบตาม รธน. อดีตที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ชี้สหภาพฯชุมนุมเป็นเรื่องปกติ  ส่วหน้าทำเนียบ-สภา มีการชุมนุมเป็นประจำออยู่แล้ว นัดฟังคำพิพากษา 11 ก.ค.นี้

ภาพคนงานไทรอัมพ์ฯ ชุมนุมหน้ารัฐสภา 27 ส.ค.52

เมื่อวันที่ 29 - 30 พ.ค.56 ที่ห้องพิจารณาคดี 707 ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานจำเลย ในคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.บุญรอด สายวงศ์ นายสุนทร บุญยอด และ น.ส.จิตรา คชเดช ในความผิดฐานมั่วสุมกันก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 ว่าด้วยการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป จากกรณีการชุมนุมของคนงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือ และคนงานเวิลด์เวลล์การ์เม้น เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552

โดยหลังพยานจำเลยเปิกความครบทุกปากแล้วศาลนัดฟังคำพิพากษา 9.00 น. วันที่ 11 ก.ค.56 ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญารัชดา ทั้งนี้ศาลได้ขอตัดพยานจำเลยออกหลายปาก เช่น ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมที่สาธารณะ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น โดยศาลให้เหตุผลว่าต้องการเพียงข้อเท็จจริงในการพิจารณาเป็นหลักไม่ใช่ความเห็น ส่วนข้อกฎหมายนั้นศาลทราบอยู่แล้ว

สุนทร บุญยอด จำเลยที่ 2 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ เป็นเจ้าหน้าที่ของสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ และให้การศึกษากับสมาชิก โดยช่วงดังกล่าว สมาชิกของสภาฯ คือ สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) ประสบปัญหาถูกเลิกจ้างจำนวน 300 กว่าคนและไม่ได้รับค่าชดเชย จึงช่วยเหลือในการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยแม้มีคำสั่งจากพนักงานตรวจแรงงาน ชลบุรี ให้บริษัทจ่ายเงินชดเชย แต่บริษัทไม่ปฏิบัติตาม จนเมื่อ 26 ส.ค.52 บรรจง บุญรัตน์ ซึ่งเป็นประธานสภาฯ แจ้งว่าได้ประสานกับลูกจ้างที่ประสบปัญหา ได้แก่ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์และคนงานเวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ ว่าจะไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบในวันที่ 27 ส.ค.

สุนทร เล่าว่า ในวันดังกล่าว พบกับคนงานทั้งสามกลุ่มที่บ้านหน้าพิษณุโลก ซึ่งคนงานเอนี่ออนนั้นนำโดยกันยาภรณ์ ดวงเกิด รองประธานสหภาพฯ ส่วนลูกจ้างบริษัทอื่น ไม่ทราบว่าใครเป็นแกนนำ ทั้งนี้ ในส่วนของสภาฯ และเอนี่ออน ตัวแทนที่เข้าไปยื่นหนังสือคือ บรรจงและกันยาภรณ์ ขณะที่ตนเองไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้า

ขณะเดินไปทำเนียบและรัฐสภา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกให้ตลอดทาง การจราจรทั้งที่ทำเนียบและรัฐสภา ไม่ได้ปิดตาย ยังสัญจรได้ แม้จะผ่านสถานที่ราชการต่างๆ เวลานั้น ผู้คนก็เข้าทำงานกันหมดแล้ว ขณะที่หน้ารัฐสภา บริเวณเขาดินที่ผู้ชุมนุมอยู่กันก็ไม่ใช่ทางเข้าหลัก ทั้งนี้ ตนเองได้ขึ้นปราศรัยนำเสนอปัญหาของคนงานเอนี่ออน ทั้งที่หน้าทำเนียบและรัฐสภา โดยไม่ได้มีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือ พล.ต.ต.วิชัย แต่อย่างใด

อัยการถามว่า พนักงานตรวจแรงงานให้จ่ายค่าชดเชยโดยกำหนดระยะเวลาให้จ่ายด้วยใช่หรือไม่ โดยคำสั่งลงวันที่ 17 ส.ค. สุนทร ตอบว่า ใช่ โดยให้ปฏิบัติใน 30 วันหลังรับทราบคำสั่ง ซึ่งไม่ทราบว่านายจ้างได้รับทราบคำสั่งเมื่อใด สุนทรตอบทนายซักค้านด้วยว่า ตามคำสั่งดังกล่าว นายจ้างมีสิทธิฟ้องเพิกถอนคำสั่งได้ใน 30 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง จนปัจจุบันนี้นายจ้างก็ยังไม่จ่ายค่าชดเชย

ภาพคนงานทั้ง 3 โรงงานชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล 27 ส.ค.52

เทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าวประชาไท พยานในเหตุการณ์ เบิกความว่า ขณะนั้นเป็นผู้สื่อข่าวอิสระและนักศึกษาปริญญาโทคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีความสนใจเรื่องนโยบายของรัฐด้านสวัสดิการ จึงไปติดตามการชุมนุม และได้บันทึกภาพนิ่งและวิดีโอ เพื่อรายงานข่าวและเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์

เทวฤทธิ์ ระบุว่า ผู้ชุมนุมมีจำนวนพันกว่าคน โดยเป็นผู้ชายราว 5% ในวันดังกล่าว ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ไม่มีใครออกมารับหนังสือ คนงานจึงตัดสินใจเดินขบวนไปหน้ารัฐสภา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจโบกรถให้ และเมื่อไปถึงมีการวางแผงเหล็กกั้นปิดท้ายขบวน เพื่ออำนวยความสะดวกในการชุมนุม ไม่ให้รถเข้ามาในบริเวณดังกล่าว ต่อมา ในช่วงบ่าย มีการใช้เครื่อง LRAD รบกวนการชุมนุม โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บที่แก้วหู

เทวฤทธิ์ กล่าวว่า ในการปราศรัยของผู้ชุมนุมทั้งที่หน้าทำเนียบและรัฐสภา มีการพูดถึงปัญหาการถูกเลิกจ้าง ขอความเป็นธรรม และพูดถึงการแถลงนโยบายของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯในขณะนั้น ที่จะประกันการเลิกจ้าง โดยไม่ได้มีการชักชวนให้ทำผิดกฎหมาย  ทั้งนี้ มองว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวไม่ได้สร้างความวุ่นวายใดๆ 

ภาพเครื่อง LRAD บริเวณรั้วด้านในรัฐสภา 27 ส.ค.52

พงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงานฝ่ายการเมือง สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้ติดตามปัญหาแรงงานสัมพันธ์และรับผิดชอบติดตามกรณีปัญหาการเลิกจ้างคนงานไทรอัมพ์ฯ เบิกความว่า ติดตามการชุมนุมของคนงานไทรอัมพ์ฯ ตั้งแต่เริ่มที่หน้าโรงงาน มาสวัสดิการสังคมจังหวัด กระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องทางสังคม เนื่องจากได้รับมอบหมายให้ติดตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งฝ่ายคนงานไม่ต้องการถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้ปกติคนงานก็จะแสดงออกหากไม่พอใจ ก็จะมีการชุมนุม เช่น ชุมนุมหน้าโรงงาน แรงงานจังหวัดและกระทรวงแรงงาน รวมทั้งที่หน้าทำเนียบ

พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า วันเกิดเหตุพยานอยู่สภา เนื่องจากเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการด้านแรงงาน  ซึ่งนอกจากคนงานไทรอัมพ์ฯ แล้ว ยังมีอีก 2 บริษัท ต้องการมายื่นหนังสือต่อรัฐบาล ผ่าน รมว.แรงงาน และในวันนั้นได้ยื่นหนังสือด้วย โดยก่อนหน้านั้น คนงานไทรอัมพ์ฯ มีการยื่นมาเป็นระยะด้วย โดยคนงานกลุ่มนี้เป็น สหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง สมาชิกของเขาร่วมกันเต็มที่ การชุมนุมในวันนั้นผู้ชุมนุมไม่มีการใช้อาวุธหรือใช้ความรุนแรง เป็นการไปใช้สิทธิด้านแรงงาน กับรัฐบาล โดยที่ผ่านมาการชุมนุมลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องปกติ เป็นช่องทางในการเรียกร้องให้รัฐดำเนินการ โดยเฉพาะการมีปัญหารุนแรงก็จะมาชุมนุมจำนวนมากอย่างกรณีไทรอัมพ์ฯ ก็ประสบปัญหารุนแรง และการชุมนุมดังกล่าวก็ทำให้การแก้ปัญหาหรือจัดการโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้รับการพิจารณาเร็วขึ้น อีกทั้งขณะนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ มีนโยบายชะลอการเลิกจ้าง รวมทั้งรัฐบาลให้ประชาชนใช้สิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญได้ และโดยปกติจะมีการจัดระเบียบการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาอยู่แล้ว

พงษ์ศักดิ์ กล่าวถึงกระบวนการการทำลายสหภาพแรงงานด้วยว่า ส่วนมากนายจ้างจะใช้การเลิกจ้างกรรมการสสหภาพแรงงาน และกรณีไทรอัมพ์ฯ ก็มีการเลิกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงานด้วย สำหรับการเลิกจ้างคนงานนอกจากบริษัทต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายในการเลิกจ้างแล้ว ต้องทำตามสภาพการจ้างที่มีการตกลงกับสหภาพแรงงานไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้นายจ้างได้มีการจ่ายค่าชดเชยขั้นต่ำตามกฎหมาย แต่ฝ่ายลูกจ้างประท้วงเรื่องการยุติการเลิกจ้าง และปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้าง รวมถึงสิทธิขั้นที่สูงกว่าที่กฎหมายไทยกำหนด ซึ่งข้อตกลงสภาพการจ้างดังกล่าวเป็นประเด็นที่ นายจ้างกับคนงานมีกระบวนการเจรจากัน และมีเส้นตายของการที่คนงานไทรอัมพ์ฯ 1959 คนจะถูกเลิกจ้างในวันที่ 29 ส.ค. 52 เขาจึงมาชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาในวันที่ 27 ส.ค.52

บรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานศูนย์กลางแห่งประเทศไทย เบิกความว่า สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์ และแม็คคานิคส์ในเครือ เป็นสหภาพของคนงานเอนี่ออน ซึ่งร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุนั้นเป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างฯ ซึ่งสหภาพฯ เริ่มมีข้อพิพาทแรงงานเมื่อปี 51 และมาร้องเรียนว่านายจ้างจ่ายเงินไม่ถูกต้อง จึงมีการไปร้องกับกระทรวงแรงงาน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต่อมามีการปิดกิจการและเลิกจ้างคนงานประมาณ 300 คนในเดือน ส.ค. 52 สหภาพฯ จึงร้องเรียนให้สภาองค์การลูกจ้างฯช่วย จึงร้องเรียนทั้งในระดับจังหวัด และกระทรวง แต่ก็ไม่เป็นผล จนยื่นเรื่องต่อนายก

บรรจง ระบุว่า หลังจากนั้น รองประธานสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์ฯ ได้ประสานกับคนงานไทรอัมพ์ฯ เพื่อเดินทางไปทวงถามความคืบหน้าดับนายกฯ ในวันที่ 27 ส.ค. 52 พยานจึงคุยกับนายสุนทร บุญยอด จำเลยที่ 2 ที่เป็นเจ้าหน้าที่สภาองค์การลูกจ้างฯ ให้ไปดูแลคนงาน ที่นัดกันที่ บ้านพิษณุโลก ลูกจ้างของเอนี่ออนมาประมาณ 300 กว่าคน ของไทรอัมพ์ ประมาณ 600-700 คน รวมแล้วกว่าพันคน เดินไปหน้าทำเนียบ ระหว่างเดินไปทำเนียบรถก็เดินทางไปได้ ขณะนั้นสถานที่ราชการเข้าทำงานหมดแล้ว เพราะประมาณ 10.00 น. อยู่หน้าทำเนียบประมาณ 1 ชม. ทราบว่านายกไม่อยู่ และอยู่ที่รัฐสภา จึงเดินทางกันไปหน้ารัฐสภาโดยมีตำรวจนำขบวน และอำนวยความสะดวกให้ไปรัฐสภา

บรรจง  เบิกความต่อว่า ขณะอยู่หน้ารัฐสภา ประตูถูกปิดโดยตำรวจ สักพักตำรวจเปิดเสียงรบกวน ส่งผลกระทบมาก ขณะนั้น สวนสัตว์เขาดินสามารถเข้าได้เพราะทางซื้อบัตรเข้าออกไม่ได้อยู่บริเวณนั้น หลังจากนั้น 14.00 น. ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ได้เชิญพยานไปพบ รัฐมนตรีในรัฐสภา และได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีและรับปากว่าจะช่วยเหลือ รวมถึงกรณีของสหภาพฯ อื่นด้วย เมื่อเสร็จจากยื่นหนังสือแล้วก็เลิก โดยพยานสั่งการให้ผู้ชุมนุมคนงานเอนี่ออนเลิกจึงยุติการชุมนุม

ส่วนสุนทร จำเลยที่ 2 ที่อยู่ทั้งหน้าทำเนียบและรัฐสภานั้นไม่ได้เป็นผู้นำ และไม่ได้เข้าพบรัฐมนตรี แต่มีการปราศรัยปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้างที่มายื่นหนังสือ โดยคนงานทั้งหมดที่มาวันนั้นเพียงแค่ต้องการให้ รัฐบาลแก้ปัญหา ไม่มีความคิดที่จะมาสร้างความวุ่นวายหรือยึดอำนาจรัฐ และจำเลยทั้ง 3 ไม่ได้เป็นหัวหน้าคนงาน เป็นเพียงตัวแทนของคนงาน

ประธานสภาองค์การลูกจ้างฯ เบิกความด้วยว่า พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างเอนี่ออนจ่ายค่าชดเชยกับแล้ว แต่นายจ้างยังไม่ปฏิบัติตาม และนายจ้างได้หายไปจึงเรียกร้องให้นายกช่วยประสาน อย่างไรก็ตามในตอนนี้นายจ้างก็ยังไม่ปฏิบัติตาม

ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ นักสิทธิมนุษยชน ชึ่งในช่วงเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (Forum Asia) ทำหน้าที่ตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน เบิกความว่า ก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุม สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้ขอให้ไปเป็นล่ามในการแปลระหว่างเจรจาด้านสวัสดิการและค่าจ้าง โดยลักษณะการทำงานของสหภาพแรงงานนี้ ตัวกรรมการไม่สามารถตัดสินใจได้ในทันทีเพราะต้องกลับไปคุยกับสมาชิกสหภาพก่อน

ต้นปี 52 พยานทราบจากคนงานว่าจะมีการเลิกจ้างจำนวนมาก รวมทั้งกรรมการ 13 คนจาก 20 คน สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯจึงยื่นข้อเสนอกับบริษัทเพื่อให้ยุติการเลิกจ้าง รวมทั้งให้รับจิตรา จำเลยที่ 3 ที่เป็นประธานสหภาพคนก่อนและถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน แต่การเจรจาไม่เป็นผล จนทำให้คนงานไปยื่นข้อเรียกร้องกับนายกในวันที่ 6 ส.ค. 52 ซึ่งพยานไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย การชุมนุมวันนั้นใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากมีคนออกมารับแล้วคนงานก็กลับ

แต่หลังจากยื่นหนังสือรัฐบาลไม่ได้มีการแจ้งความคืบหน้ากับคนงาน จึงทำให้สหภาพแรงงานเดินทางมาอีก วันที่ 27 ส.ค. และพยานได้ไปสังเกตการณ์ด้วยมีผู้ชุมนุมมีประมาณ 1500 คน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวกรวมทั้งมีแผงเหล็กของเจ้าหน้าที่กันรถไว้ รวมทั้งบริเวณที่ชุมนุมหน้าทำเนียบรถยังสามารถสัญจรไปได้

ปกป้อง เบิกความต่อว่า จากนั้นผู้ชุมนุมประชุมกันเนื่องจากทราบว่านายกฯ อยู่ที่รัฐสภา ก่อนเที่ยงจึงเดินทางไป ระหว่างทางมีตำรวจ อำนวยความสะดวก เมื่อมาถึงสภาขณะนั้นไม่มีรถสวนทางออกมา เพราะตำรวจกันรถเตรียมพื้นที่ชุมนุมไว้ให้ ตลอดการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ เนืองจากส่วนมากเป็นผู้หญิง โดยมีการปราศรัยเรื่องปัญหาเดือดร้อนที่คนงานประสบ แต่ยังไม่มีตัวแทนรัฐบาลออกมารับ จนกระทั่งตำรวจเปิดเครื่องขยายเสียงระดับไกลหรือ LRAD ผู้ชุมนุมจึงประสานไปกับตัวแทนฝ่ายค้านเพื่อยื่นหนังสือแทน

สำหรับเหตุผลที่เข้าไปสังเกตการณ์ชุมนุมนั้น ปกป้อง เบิกความว่า เนื่องจากการชุมนุมเป็นสิทธิ องค์กรของพยานก็ได้ติดตามการชุมนุมและประเด็นเรื่องสิทธิ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในไทย ได้เดินทางไปสังเกตการชุมนุมในประเทศอื่นในเอเชียด้วย การชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันนั้นเนื่องจากมีวัตถุประสงค์มาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเดือดร้อน และส่วนมากผู้ชุมนุมเป็นผู้หญิง และมีอายุค่อนข้างมาก รวมทั้งมีการพาเด็กที่เป็นลูกหลานมาร่วมชุมนุมด้วย จึงถือเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อธิบดีศาลอาญากรุงเทพฯใต้ แถลงย้ำหลักฐานไม่ชัดใครยิงฟาบิโอ

$
0
0
ศาลอาญากรุงเทพใต้ แถลงไม่ฟันธงใครยิงผู้สื่อข่าวอิตาลี เหตุหลักฐานยังไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ลงมือยิง ขออย่าบิดเบือนข้อเท็จจริง ในขณะที่ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนค้านการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิด
 
31 พ.ค. 56 - สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ แถลงชี้แจงถึงการแถลงข่าวที่ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของ นายฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพอิสระ ชาวอิตาลี โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคำสั่งของศาลไม่ชัดเจน และไม่ชี้ชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือยิง นายฟาบิโอ และได้มีการวิพากษ์วิจารณ์อีกว่ามีคลิปวิดีโอ ที่ปรากฏว่าใครเป็นผู้ลงมือยิง นายฟาบิโอ มายื่นต่อศาล แต่ศาลไม่รับไว้พิจารณานั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยยืนยันว่า ศาลมีการไต่สวน และพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน ซึ่งในการไต่สวนไม่มีพยานปากใดที่เห็นว่าใครเป็นผู้ยิง มีแต่พยานที่เห็นภาพรวมในเหตุการณ์ทั่วไปเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม นายอุดม กล่าวด้วยว่า การพิจารณาคดีของศาลนั้นเป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ได้มีการนำความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปตัดสินคดี ส่วนกรณีที่เกิดขึ้น ยังไม่ถึงกับต้องฟ้องร้องหรือดำเนินคดีข้อหาละเมิดศาล หรือทำหนังสือไปยังสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แต่ต้องการออกมาแถลงชี้แจง เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงคำสั่งศาลเท่านั้น
 
ในขณะที่วันนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คัดค้านการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โดยระบุว่าต้องให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามขั้นตอน และยุติการให้นิรโทษกรรม 
 
"ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต้องถูกระบุตัวให้ชัดเจนและนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อที่ไม่ให้การเสียชีวิตของนักข่าวผู้นี้ ไม่ว่าจะเป็นไปโดยอุบัติเหตุหรือไม่ก็ตาม เป็นไปอย่างไม่ได้รับการลงโทษ" ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกล่าว
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภารับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบ 57 แล้ว ปชป.โวยถูกหั่นโควตาแปรญัตติ

$
0
0
สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการใน ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 แล้ว ด้วยเสียง 292 เสียง กำหนดแปรญัตติ 30 วัน ปชป.โวยสภาหั่นโควตา กมธ.แปรญัตติ อัด ส.ส.ภูมิใจไทยข้ามห้วยนั่ง กมธ.เพื่อไทย จ่อยื่นศาล รธน.ตีความ

 
 
31 พ.ค. 56 - ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 แล้ว ด้วยเสียง 292 เสียง กำหนดแปรญัตติ 30 วัน
 
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 หลังการอภิปรายอย่างเข้มข้นกว่า 2 วันครึ่ง ด้วยคะแนน 292 ไม่เห็นด้วย 155 งดออกเสียง 27 ไม่ลงคะแนน 4 จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 478 คน พร้อมตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 63 คน ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีจำนวน 15 คน ส.ส.จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย 25 คน ประชาธิปัตย์ 15 คน ภูมิใจไทย 3 คน ชาติไทยพัฒนา 2 คน พลังชล 1 คน และพรรครักประเทศไทย พรรครักสันติ พรรคมาตุภูมิ พรรคมหาชน และประชาธิปไตยใหม่รวม 1 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ เป็นเวลา 30 วัน ประชุมนัดแรกในวันจันทร์ที่ 3 มิ.ย. 56
 
อย่างไรก็ตามที่ประชุมมีการถกเถียงกรณี นางนันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย ได้รับการเสนอชื่อเข้าเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย  และก่อนเสร็จสิ้นการประชุม รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้อ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556
 
ปชป.โวยสภาหั่นโควตา กมธ.แปรญัตติงบปี 57
 
วันเดียวกันนี้ (31 พ.ค.) เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าเวลา 14.30 น.ที่รัฐสภา นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี สส.สมุทรสงคราม และนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงตอบโต้การทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ภายหลังการประชุมสภามีการลดจำนวนคณะกรรมาธิการในโควตาสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ  
 
นายบุญยอด กล่าวว่า หากเทียบสัดส่วน ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ในปีงบประมาณ 2556 พรรคมี ส.ส. 159 คนได้สัดส่วนโควตาในคณะกรรมาธิการ 16 คน แต่ปีนี้พรรคมี ส.ส.เพิ่มมากขึ้นเป็น 160 คน แต่กลับได้สัดส่วนกรรมาธิการลดลงเหลือเพียง 15 คน เมื่อสอบถามไปยังนายวิสุทธิ์กลับยืนยันว่า ได้มีการพูดคุยร่วมกันเเล้วให้สัดส่วนที่ปรับลดของพรรคประชาธิปัตย์ลง 1 คนไปให้กับพรรคเล็ก โดย จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ สส.รักสันติ เป็นกรรมาธิการในส่วนพรรคเล็ก
 
นายบุญยอด กล่าวต่อว่า สัดส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการของพรรคเพื่อไทยจำนวน 25 คนที่ได้เสนอชื่อนางนันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน แต่กลับได้ที่นั่งในโควตาของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลนั้น ถึงแม้ให้เหตุผลว่าเป็นการตกลงส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทย แต่การนั่งคณะกรรมาธิการข้ามพรรคเช่นนี้เท่ากับลดทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมือง และเดิมมีข้อครหาว่า ส.ส.ขายตัวข้ามพรรคอยู่แล้ว เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า นางนันทนาต้องย้ายพรรคไปสังกัดพรรคเพื่อไทยแน่นอน  แต่ขณะนี้ยังเป็นฝ่ายค้าน หากต้องการนั่งคณะกรรมาธิการโควตารัฐบาล ควรลาออกจากพรรคภูมิใจไทยก่อน         
 
ขณะที่ น.ส.รังสิมา กล่าวยืนยันว่า การเสนอชื่อของ ส.ส.ข้ามพรรคเพื่อเป็นคณะกรรมาธิการผิดข้อบังคับการประชุมข้อที่ 83 ที่ระบุว่าสัดส่วนของกรรมาธิการแต่ละพรรคต้องเสนอรายชื่อกรรมาธิการในส่วนของพรรคที่ตนเองสังกัด ไม่ใช่เสนอข้ามพรรค ถือเป็นความตั้งใจที่จะทำให้ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในมาตรา 135 ทั้งนี้จะมีการหารือกับฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป และหากผิดจริงขอท้าให้นายวิสุทธิ์ที่กล่าวในที่ประชุมว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบให้ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ และต้องรับผิดชอบผลพวงที่จะตามมาจากากรใช้กฎหมายงบประมาณปี 57 ด้วย
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: วิทยุรัฐสภา, โพสต์ทูเดย์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขึ้นโรงพัก-ใช้ ม.112 แจ้งจับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่พิษณุโลก - มุกดาหาร

$
0
0
ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฟ้องคนเล่นเฟซบุ๊ก 2 กรณี - รายแรก "คณะคนรักในหลวงฯ" ขึ้นโรงพักฟ้องที่พิษณุโลก อีกรายเป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ "สาธิต ปิตุเตชะ" ไป สน.ดุสิตฟ้องแกนนำ นปช.มุกดาหารเล่นเฟซบุ๊กหมิ่นเบื้องสูง พร้อมติงซีทีไอซีทีตั้งงบ 335 ล้านบาทจัดการความผิดคอมพิวเตอร์ แต่เว็ยหมิ่นยังอื้อ

โพสต์ทูเดย์ รายงานเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมากลุ่ม "คณะคนรักในหลวงจังหวัดพิษณุโลก" นำโดยนางแน่งน้อย อัศวกิตติกร และนายทวี ทองถัน  ได้เดินทางไปยัง สภ.อ.เมืองพิษณุโลก เพื่อแจ้งความ โดยกล่าวหาว่ามีบุคคลใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งลงข้อความ-รูปภาพ เข้าข่ายผิด ม.112 ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยขอให้ตำรวจตรวจสอบและดำเนินคดี

ด้านนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.พิษณุโลก ได้คัดลอกและเผยแพร่ข่าวดังกล่าวลงในเฟซบุคบัญชีของเขา โดยมีผู้ใช้เฟซบุคจำนวนมากเข้าไปกดไลค์ และโพสต์สนับสนุนการกระทำของกลุ่มคนดังกล่าว

ขณะเดียวกันวันนี้ (31 พ.ค.) เดลินิวส์รายงานว่า นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์  เดินทางพร้อมนำเอกสารหลักฐานเข้าพบ พ.ต.อ.ภัทรภณ สนิทวงศ์ ณ.อยุธยา ผกก.สน.ดุสิต เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับนายวรินทร์ อัฐนาค คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการแก้ปัญหาความยากจน และเป็นแกนนำคนเสื้อแดง จ.มุกดาหาร โดยกล่าวหาว่ามีการโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กผิด ม.112 ประมวลกฎหมายอาญา แต่ข้อความดังกล่าวนายสาธิตระบุว่าไม่สามารถเปิดเผยได้  

นายสาธิต กล่าวผ่านโพสต์ทูเดย์ด้วยว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ตั้งงบจำนวน 335 ล้านบาท เกี่ยวกับการจัดการความผิดด้านคอมพิวเตอร์ แต่พบว่ามีคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ รัชทายาท  กลับไม่มีทีท่าลดลง และเมื่อไปเปิดดูจำนวนความผิดก็ยังเต็มไปหมด หากเปิดในเฟซบุ๊กก็จะพบอย่างแพร่หลาย จึงอยากรู้ว่าทำไมการกระทำความผิดยังมีสูง แต่การปิดกั้นและการดำเนินคดีกลับน้อยลง ซึ่งถ้าหากเปิดตอนนี้ก็จะพบการกระทำความผิด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงนักการเมืองใต้ จี้ 2 ทีมเจรจาตกลงให้ชัดเรื่องคนกลาง-ความยุติธรรม

$
0
0
อดีต ส.ส.ปัตตานี เผยผลการเสวนานักการเมืองชายแดนใต้ จี้ 2 ทีมเจรจาตกลงให้ชัดเอาคนกลางหรือไม่ ชี้ใครก็ได้ที่เป็นกลางและมีทักษะ ไม่จำเป็นต้องมาเลเซียเท่านั้น เร่งตกลงหาทางสร้างความเป็นธรรมที่พอใจทั้งสองฝ่าย แนะรัฐรีบคว้าโอกาสแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ เพราะยิ่งเพิ่มทหารและทุ่มงบมหาศาลก็ไม่ได้ผล 

 
 
มุข สุไลมาน
 
นายมุข สุไลมาน สมาชิกกลุ่มวาดะห์และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปัตตานี เปิดเผยผลการสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 12 ณ โรงแรมปาร์ควิว อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีนักการเมืองจากพรรคต่างๆ ได้แก่ เพื่อไทย มาตุภูมิ ความหวังใหม่ เพื่อนเกษตรไทย ดำรงไทย ชาติไทย ภูมิใจไทย และนักการเมืองไม่สังกัดพรรค 
 
นายมุข เปิดเผยว่า การสานเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
นายมุข เปิดเผยว่า ในเวทีสานเสวนาครั้งนี้ มีการพูดถึงข้อเสนอ 5 ข้อของขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งในวงเสวนาเห็นว่ามี 2 ประเด็นใหญ่ ประเด็นแรก คือ คนกลางในการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการ ซึ่งในวงเสวนาเห็นว่า จำเป็นต้องมีคนกลาง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศมาเลเซียเท่านั้น หากฝ่ายรัฐไทยไม่เห็นด้วย 
 
นายมุข เปิดเผยต่อไปว่า ในวงเสวนาเห็นว่า ตัวกลางอาจเป็นตัวแทนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี (OIC) เพราะที่มีหน้าที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ของพี่น้องมุสลิมทั้งในประเทศมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม รวมทั้งมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมานาน
 
นายมุข เปิดเผยอีกว่า ประเด็นที่ 2 ความยุติธรรมในพื้นที่ จำเป็นต้องมีการพูดคุยเจรจาในเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกฝ่าย ทั้งประชาชนพื้นที่ ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นและฝ่ายรัฐบาลไทย ได้หาจุดร่วมด้านความยุติธรรมที่ทุกฝ่ายต่างพึงพอใจ
 
นายมุข กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว เห็นว่ารัฐบาลไทยแก้ปัญหาความไม่สงบยังไม่เต็มที่เท่าที่ควร เห็นได้จากการใช้วิธีการเดิมๆ เหมือนกับรัฐบาลสมัยก่อน เพียงแต่มีความคืบหน้าในส่วนที่ยอมเปิดให้มีการเจรจากับขบวนการบีอาร์เอ็นเท่านั้น 
 
“วิธีการเดิมๆ เช่น การส่งกำลังทหารเพิ่ม หรือการทุ่มงบประมาณทำโครงการต่างๆ แต่ไม่ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ ทำให้บางครั้งอาจก่อให้เกิดจากความไม่เข้าใจ เพราะรัฐไม่ได้รับรู้ปัญหาอย่างแท้จริงเกี่ยวกับสังคมมุสลิมในพื้นที่ เช่น อัตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิม วิถีชีวิตความเป็น กระทั่งภาษา จนเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมของคนในพื้นที่” นายมุข กล่าว
 
นายมุข กล่าวด้วยว่า หากการเจรจาครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลไทยควรให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ อาจเป็นการทดลองใช้ก่อน เพื่อประเมินว่าความไม่สงบจะลดลงหรือไม่ เพราะอย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย
 
นายมุข กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายขบวนการได้เปิดช่องให้มีการพูดคุยเจรจากันแล้ว เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาข้อตกลงระหว่างกันในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญและคิดอย่างละเอียดรอบคอบกับโอกาสที่ได้มา เพื่อให้รัฐบาลได้แสดงถึงความจริงใจ และความร่วมมือกับขบวนการบีอาร์เอ็นในการหาข้อตกลงต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ให้สงบลง
 
“ในขณะเดียวกัน มุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีและไม่มีอำนาจต่อรอง ทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาและสนับสนุนสังคมของตนเองให้เหมือนสังคมอื่นๆได้ จึงจำเป็นที่คนในพื้นที่ต้องเข้าสู่การเมืองเพื่อให้เข้าถึงอำนาจและสามารถต่อรองให้สังคมอื่นๆ ได้รับรู้และเข้าใจถึงความต้องการของคนในพื้นที่ได้” นายมุข กล่าว
 
นายมุข กล่าวอีกว่า ประชาชนในพื้นที่มีความสำคัญในการสนับสนุนนักการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนในการเข้าถึงอำนาจ เพราะไม่มีทางอื่นที่จะเข้าไปถึงอำนาจได้ ดังนั้น ต้องให้คนในพื้นที่ทำหน้าที่ของตนให้ดีและสมบูรณ์ที่สุดในการให้ความรู้ความเข้าใจว่า ประชาชนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรในการส่งตัวแทนให้เข้าถึงอำนาจ เพราะถ้าตัวแทนคนในพื้นที่เข้าถึงอำนาจได้ ก็จะเป็นทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้
 
สำหรับผลการเสวนาครั้งนี้ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สรุปข้อเสนอและความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วม ทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้
 
1.วงเสวนาสนับสนุนการสานเสวนาหรือพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งในการสานเสวนาสันติภาพควรให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย ตลอดจนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ทั้งในประเทศมาเลเซียและในประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
 
อย่างไรก็ดี การสานเสวนาสันติภาพเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่จะต้องพัฒนาไปสู่ขั้นตอนการเจรจาสันติภาพต่อไป
 
2.ในขั้นตอนการเจรจาสันติภาพนั้น วงเสวนายืนยันให้ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ หาข้อตกลงในเบื้องต้นว่า จะหาประเทศหรือองค์กรที่มีความเป็นกลาง มีทักษะและได้รับความไว้วางใจจากทั้งสองฝ่ายมาทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา
 
”ทั้งรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็น ควรพิจารณาข้อเสนอของบีอาร์เอ็น ที่ขอให้รัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา โดยพิจารณาจากคุณลักษณะของความเป็นคนกลางว่า มาเลเซียหรือองค์กรอื่นใดบ้างที่มีความเหมาะสมหรือไม่ โดยที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ”
 
3.ความไม่เป็นธรรม เป็นต้นเหตุหนึ่งของความขัดแย้ง ความเป็นธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ขณะนี้ในประเทศไทยกำลังมีการโหยหาความเป็นธรรมอยู่อย่างกว้างขวาง 
 
ในเรื่องนี้ในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ข้อ 2 (3) ความว่า “เร่งรัดการคลี่คลายเหตุการณ์ที่เป็นข้อสงสัยของประชาชน และต่างประเทศให้กระจ่างชัด โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในกระบวนการตรวจสอบค้นหาความจริง มีการเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ และนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว เพื่อขจัดวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด ปลดเงื่อนไขของความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม”
 
ดังนั้น รัฐบาลพึงดำเนินการตามนโยบายนี้เห็นเกิดผลโดยเร่งด่วนด้วย
 
4.ในวงเสวนาขอสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เป็นความพยายามเข้าถึงและรับฟังเสียงของประชาชนทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและลดความหวาดระแวงในพื้นที่
 
5.การสานเสวนา/พูดคุยสันติภาพเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สังคมไทยโดยรวมตลอดจนสังคมในพื้นที่ ควรได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน ในการนี้ควรมีพื้นที่ในการแสดงออก โดยผ่านสื่อสารมวลชนและการจัดเวทีสาธารณะทั้งในพื้นที่และในส่วนกลาง โดยเฉพาะเวทีสำหรับชาวมุสลิมและชาวพุทธในพื้นที่ ได้นำเสนอปัญหา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ อย่างต่อเนื่อง 
 
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้อ 6 ของนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ความว่า “ให้สังคมไทยเกิดการรับรู้มีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เป็นจริง และตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้”
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[วิดีโอ] "คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง"

$
0
0

ตามที่เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา ประชาไทได้นำเสนอข่าว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และมูลนิธิมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดเสวนาสาธารณะ“คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเสวนาสาธารณะเศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้ 'Economy of Tomorrow' โดยวิทยากรประกอบด้วย นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อัมมาร สยามวาลาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมาบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbook นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โอกาสนี้ประชาไทนำเสนอวิดีโอส่วนหนึ่งของการเสวนา “คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง” ดังกล่าว โดยวิดีโอการอภิปรายที่นำเสนอ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้

000

ช่วงแรก สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประเมินนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย สองช่วงคือสมัยทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามด้วยการอภิปรายของเกษียร เตชะพีระ กล่าว 4 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับนโยบายประชานิยม และอภิปรายเรื่องการเมืองแบบเทคโนแครต ที่ไม่มีน้ำยา เพราะไม่อาจคัดค้านการเมืองแบบประชานิยมได้ “ไม่มีน้ำยา” และข้อเสนอให้ฝ่ายต่างๆ "repositioning ให้พ้นการเมืองเสื้อสี และการเมืองแบบประชานิยม"

ขณะที่นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวถึงเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดนโยบายประชานิยมในโลกคือ หนึ่ง สังคมที่ผลิตสินค้าและบริการขาย ไม่ใช่สังคมเกษตร สอง สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง นอกจากนี้ความสัมพันธ์เชิงประเพณีที่กำหนดให้เกิดความมั่นคงสำหรับคนเล็กๆ ได้หมดไปแล้ว เพราะฉะนั้นหลังรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อการเมืองแบบเลือกตั้งในไทยค่อนข้างมั่นคง นักการเมืองที่เข้ามาใหม่ก็มองเห็นทันทีว่าต้องเล่นเรื่องประชานิยม นอกจากนี้นิธิ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเงื่อนไขการเกิดประชานิยมในไทย และในลาตินอเมริกามีเงื่อนไขที่คล้ายกัน

นอกจากนี้นิธิเตือนด้วยว่านโยบายประชานิยมเหมาะอย่างยิ่งในการทำให้เกิดระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้นได้ ถ้าไล่ดูจะเห็นว่าเผด็จการมีช่วงของการใช้นโยบายลักษณะนี้หรือฝันว่าจะใช้นโยบายกระจายทรัพยากร ด้วยเหตุดังนั้น ถ้าเราไม่เอาใจใส่เรื่องที่มา ความถูกต้อง ความชอบธรรมของอำนาจ เราจะเปิดโอกาสให้เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จได้

000

ช่วงที่สอง เป็นการอภิปรายโดย อัมมาร์ สยามวาลากลายว่านโยบายประชานิยมบางเรื่องก็เป็นนโยบายที่เห็นด้วย เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อย่างไรก็ตามแต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ ข้อสังเกตอันหนึ่งของความไม่เอาไหนของระบบประชานิยมคือ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในร้อยประเทศที่ไม่มีดัชนีค่าจ้างแรงงาน ไม่มีใครแคร์ ถ้าขาดแคลนแรงงานก็เอาพม่ามา เขมรมา ตรงนี้ผมเป็นชาตินิยม เพราะเป็นการตัดช่องน้อยแต่พอตัว แทนที่จะเพิ่มค่าแรงและปรับปรุงตัวเอง

อัมมาร์กล่าวถึงบทบาทของสถาบันวิจัยทีดีอาร์ไอด้วยว่า ดูทุกนโยบายของรัฐบาล ปัญหาก็คือ คราวที่แล้วทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอนโยบายประชานิยมทั้งคู่ และระบบการเลือกตั้งพอลงคะแนนเสียง ได้เสียงข้างมากไปแล้วก็มีอำนาจล้นฟ้า ขณะที่พรรคฝ่ายค้านไม่มีน้ำยา ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีน้ำยาจริงๆ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดให้ฝ่ายค้านมีน้ำยา นอกจากนี้อัมมาร์ได้กล่าวยอมรับว่าได้ร่วมมือกับรัฐบาลหลังการรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทบทวน และว่ายุคทหารครองเมืองจากการปฏิวัติมันหมดแล้ว และมันสร้างพิษในระบบการเมืองของเราจนถึงทุกวันนี้ ผมหวังว่ามันค่อยๆ จางลงไปแล้ว"

ขณะที่เกษียร เตชะพีระมีข้อเสนอให้มีการปรับจุดยืน (Repositioning) ทั้งนี้พอหลังเลือกตั้ง รัฐบาลเมื่อมีอำนาจมากขึ้นก็เริ่มแสดงท่าแบบที่เคยทำก่อนรัฐประหาร บวกกับความจริงทีว่า การเมืองเสื้อสีตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การถกเถียงเชิงนโยบายลำบาก ดังนั้นจึงต้องต้องปรับจุดยืนตัวเองแล้วเป็นตัวแทนบทสนทนาที่หลากหลาย ต้องสร้างบทสนทนาของประชาชนกับผู้มีอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ

000

ช่วงที่สาม เป็นการอภิปรายช่วงท้ายของ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่กล่าวถึงจุดยืนของนักวิชาการว่า อยากเห็นนักวิชาการและทีดีอาร์ไอเป็นนักวิชาการ ไม่ได้เป็นแอคติวิสต์ การที่พรรคฝ่ายค้านไม่เข้มแข็ง ไม่ควรเป็นเหตุให้สถาบันวิชาการทำหน้าที่แทนพรรคฝ่ายค้าน และว่าทีดีอาร์ไอยังอยากจะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเป็นชิ้นๆ มากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเมือง เพราะมันเสี่ยงและเลี่ยงได้ยากมากที่จะพัวพันกับเสื้อสีต่างๆ การวิจารณ์นโยบาย ไม่ว่ารัฐบาลไหนมันมีทั้งนโยบายที่ดีและไม่ดี

ขณะที่ เกษียร เตชะพีระเสนอให้กลุ่มประชาชนกลุ่มต่างๆ กลุ่มอาชีพ กลุ่มนักวิชาการ ที่ไม่ทะเลาะกันเรื่องสีแล้วสร้างบทสนทนากับรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งได้ เพราะสภาก็ไม่สามารถพูดแทนปัญหาจำนวนมากได้ ซึ่งการจะทำให้ประชาธิปไตย Healthy จำเป็นต้องการบทสนทนาที่แข็งแรงหลากหลาย

ต่อข้อเสนอปรับจุดยืนของเกษียรนั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวว่า เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่มีความยุ่งยาก คนกลุ่มหนึ่งสามารถทำได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจทำไม่ได้ และคนจำนวนมากทำไม่ได้ อย่างเช่น จำนวนมากของคนเสื้อแดง เขาไม่ได้เห็นพ้องต้องกันกับธิดา หรือเกษียร แต่เขาเห็นร่วมกันว่าอย่าเผลอ ไม่อย่างนั้นทหารจะยึดอำนาจ เขาจึงต้องเล่นสุดโต่งต่อ

ขณะที่ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ยังเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีวินัยการคลัง เพื่อไม่ให้การเมืองทั้งสองฝ่ายแข่งขันกันจนทำลายตัวเองและระบบเศรษฐกิจ เขาเตือนด้วยว่าแม้ว่าประเทศไทยขณะนี้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีไม่สูง แต่มันสามารถกระโดดขึ้นได้ถ้าเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ เกิดแรงกระทบจากภายนอก เช่นในปี 1997 หนี้ต่อ GDP เคยกระโดดจาก 16% เป็น 61% ในเวลาปีสองปี และหนี้ต่อ GDP ขณะนี้อยู่สามารถ 44% ก็สามารถกระโดดขึ้นไปได้ เพราะขณะนี้กำลังจะมีโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ เกิดขึ้นมา และถ้าเกิดภาวะเช่นนั้นความเดือดร้อนจะเกิดกับประชาชนทุกกลุ่ม

ขณะที่อัมมาร สยามวาลาเสนอว่าเงินทุกบาทที่รัฐบาลใช้จ่าย จะต้องอยู่ในงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการอนุมัติจากสภา เท่าที่ผมอ่านประวัติศาสตร์เมืองนอก ประชาธิปไตยเกิดขึ้นเพราะข้อถกเถียงเรื่องการใช้เงินรัฐและการเก็บภาษีประชาชน จะขาดดุลก็ได้ตราบใดที่รัฐสภาตัดสินใจได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: เมื่อนักวิทยาศาตร์ ปะทะนักการเมือง ปรากฏการณ์ แต่งดำในกระทรวงวิทย์

$
0
0

แต่ไหนแต่ไรมา คนทั่วไปอาจจะมีภาพความรับรู้เกี่ยวกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีห่างไกลตัวพอสมควร ขณะเดียวกัน ด้วยความเป็นกระทรวงที่ไม่ได้เป็นที่หมายปองของนักการเมืองนัก และไม่ค่อยมีข่าวคราวใดๆ ออกมา นอกจากเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต้องยอมรับว่า ยากที่จะเป็นข่าวที่ถูกไฮไลท์

ทว่า ราวสัปดาห์กว่าที่ผ่านมา ข่าวคราวข้าราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนัดกันแต่งชุดดำประท้วงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล โดยกำหนดวันเคลื่อนไหวในวันจันทร์ที่ 20 พ.ค. เล็ดลอดออกมาสู่สื่อมวลชน พร้อมจดหมายเปิดผนึกที่ระบุว่า “ไว้ทุกข์ให้กับความถถดถอยของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย”

จดหมายเปิดผนึกระบุประเด็นปัญหาหลักๆ อยู่ สองประการ คือ

ประการแรก การตัดงบประมาณสำหรับการวิจัยในเรื่องสำคัญลง อย่างเช่นการวิจัยเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ งานวิจัยเทคโนโลยีรากฐานสำหรับการประยุกต์ใช้ในกาพัฒนาด้านต่างๆ ในระยะยาว ก็ถูกตัดงบประมาณลง โดยงบประมาณปี 2557 นั้น ถูกปรับลดงบวิจัยลงประมาณร้อยละ 30 ของที่เคยได้รับในปี 2556

ประการต่อมาก็คือระเบียบใหม่ที่ขาดความคล่องตัว เช่น การลงนามข้อตกลง แม้เป็นกรณีที่ได้รับทุนวิจัยจากต่างประเทศซึ่งเป็นความผูกพันระดับหน่วยงาน และการจัดซื้อจัดจ้างที่มีจำนวนตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีก่อน แม้ว่าการวิจัยและการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ จะถูกระบุอยู่ในแผนแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นปัญหาเทคนิคที่ทำให้บุคลาการถูกจำกัดกรอบการทำงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่คนในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ส่วนหนึ่งคิดว่า การแทรกแซงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นเสมือนการบั่นทอนอนาคตของชาติเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ที่อาจคุ้นเคยกับการแก้โจทย์ยากๆ ในห้องทดลอง เมื่อมาเจอกับการตอบโต้เร็วจากนักการเมืองอย่างนายวรวัจน์ ผลก็คือการนัดหมายแต่งดำถูกยกเลิกไปหลังจากที่นายวรวัจน์เรียกนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าพบเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเพียงสามวันก่อนการนัดประท้วง และสั่งให้นายทวีศักดิ์สั่งไม่ให้พนักงาน สวทช.เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว พร้อมกับชี้แจงข้อเท็จจริงซึ่งปรากฎในใบปลิว ให้กับพนักงาน สวทช. เป็นเหตุให้ผู้อำนวยการ สวทช.ส่งอีเมล์ไปยังพนักงานของสวทช.ทุกคน ไม่ให้แต่งชุดดำประท้วง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ในวันที่ 20 พ.ค.

ไม่เพียงเท่านั้น แหล่งข่าวในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บางรายยังระบุว่า นายวรวัจน์ยังสั่งให้ตรวจสอบคอมพิวเตอร์และอีเมลภายในทั้งสำนักงาน สวทช. เพื่อค้นหาว่าใครเป็นผู้ทำใบปลิวและจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว

 

รัฐมนตรีมีปัญหา ?

กล่าวสำหรับนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล เป็นส.ส. จากจังหวัดแพร่ ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็น ครม. ชุดแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากนั้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นลำดับ ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในวันที่ 27 ต.ค. 2555

แม้เขาจะอธิบายว่าตัวเองเป็นคนประสานงานง่าย ใช้ความนุ่มนวล ไม่มีปัญหาเรื่องความไว้วางใจจากคนในพรรค แต่ก็หนีไม่พ้นถูกต่อต้านจากคนในกระทรวงที่เขาเข้าไปดำรงตำแหน่ง

ในสมัยดำรงตำแหน่งที่กระทรวงศึกษาธิการ นายวรวัจน์ก็เคยตั้งเป้า “ยกเครื่อง” กระทรวงศึกษาฯ โดยบอกว่าจะเน้นการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่ขณะเดียวก็เผชิญกับการต่อต้านตั้งแต่เรื่องการปรับปรุงห้องทำงานขนาดใหญ่ มีการเปิดเพจเฟซบุ๊ก จับตาอย่าให้วรวัจน์ เอื้ออภิญญากุลโกงประเทศ แต่เมื่อไปดูข้อมูลในเพจ พบว่าเป็นข้อมูลที่ปรากฎในสื่อผสมด้วยอารมณ์เป็นส่วนใหญ่ บางประเด็นก็เป็นเรื่องจับแพะชนแกะไป มีผู้ติดตามเพจอยู่ประมาณ 1300 คน

เมื่อมาอยู่กทระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เขาให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจระบุมีเป้าหมายว่ากระทรวงต้องพัฒนาเทคโนโลยีตัวเองออกไป โดย หนึ่ง ต้องบูรณาการในกระทรวง เทคโนโลยีต้องรองรับระบบการผลิตของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มองเป็นรายชิ้น นักวิจัยอยากทำอะไรก็ทำ ต่อไปต้องขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์รัฐบาล รองรับการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง

“เมื่อผมไปอยู่กระทรวงนี้ก็จะแก้ปัญหาเป็นรายชนิด ตอนผมอยู่สำนักนายกฯ ก็ทำงานคู่กับกระทรวงพาณิชย์ เกษตรฯ ผมจะเข้าไปดูแลการผลิตทั้งภาครัฐและเอกชน ก็จะเพิ่มขีดความแข่งขันของประเทศได้ ซึ่งนโยบายจะชัดเจน เพราะคนไม่เคยรู้ว่ากระทรวงนี้ทำอะไร”

แต่ข่าวใหญ่เกี่ยวกับตัวเขาคงไม่พ้นประเด็นเรื่องการเลื่อนลงนามความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างไทยกับสหรัฐ ที่ซึ่งเขาขอเลื่อนกำหนดการไป แม้เจ้าตัวจะอธิบายว่าการเลื่อนเดินทางไม่เกี่ยวกับกระแสข่าวการปรับ ครม. แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องความพร้อมของกระทรวงมากกว่า เพราะการลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีผลผูกพันกับยุทธศาสตร์ และงานวิจัยต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องหารือโดยรอบคอบ และต้องหาข้อสรุปให้ชัดเจนและรัดกุม ขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในกลุ่มข้าราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถึงการเลื่อนการลงนาม MOU ไทย-สหรัฐฯ ในเรื่องวิทยาศาสตร์ออกไป ทั้งที่เจรจาตกลงร่วมกันระหว่างสองประเทศมานานนับสิบปี จนทำให้ฝ่ายสหรัฐฯ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก

แทรกแซงกระทรวงวิทย์ บั่นทอนอนาคตชาติ!!?

จากข้อมูลที่ค่อยๆ ทยอยปรากฏออกมา นั้น ส่วนงานที่ได้รับผลกระทบและเป็นส่วนที่เป็นคลื่นใต้น้ำลูกใหญ่ในกระทรวงก็คือ สวทช. ซึ่งเป็นส่วนงานที่ใช้งบประมาณส่วนใหญ่ของกระทรวง กว่าร้อยละ 80

หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น อยู่บนวัฒนธรรมการบริหารที่ค่อนข้างเป็นอิสระ โดยมีหน่วยงานที่เป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติองค์กรในกำกับของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรมหาชน มีหน่วยงานที่ขึ้นตรงในระดับกรมอยู่เพียงสี่หน่วยงานเท่านั้น ประเด็นนี้เองที่น่าจะเป็นประเด็นใหญ่ใจความของเรื่อง เมื่อหน่วยงานภายใต้การกำกับของรัฐรู้สึกว่ากำลังถูกแทรกแซงจากข้าราชการการเมืองซึ่งลงรายละเอียดยิบย่อยในด้านการบริหารจัดการงบประมาณทำให้การทำงานไม่คล่องตัว ขาดความเป็นอิสระ

สวทช. เป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติในกำกับของรัฐที่มีบุคลากรวิจัยในระดับปริญญาโท-เอกอยู่กว่า 870 คน และกว่าร้อยละ 43 เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ ตามแนวนโยบายของรมว.คนปัจจุบัน บุคลากรสายงานวิจัยบางส่วนต้องไปศึกษางานด้านที่ไม่ถนัด ไปทำงานส่งเสริมรัฐบาลในประเด็นที่น่าจะไม่ใช่เรื่องของ สวทช. โดยตรง

อย่างไรก็ตาม ด้วยความห่างไกลจากความรับรู้ของประชาชน แม้นักวิทยาศาสตร์บางคนจะกล่าวว่า การแทรกแซงการทำงานของคนในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือการบั่นทอนอนาคตชาติ แต่ขณะนี้ ดูเหมือนว่า นักวิทยาศาสตร์ในกระทรวงจะยังหาแนวร่วมที่จะมาทำความเข้าใจในประเด็นปัญหาได้น้อย ต่างกับกระทรวงอื่นๆ ที่ “เป็นการเมือง” อย่างเช่น กระทรวงสาธารณสุขที่กำลังก่อหวอดอย่างมีประสิทธิภาพขับไล่รมว. จากการประกาศจะนำนโยบาย P4P มาใช้

จากบทความ ‘การเมืองร้อน ๆ ในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย’ โดย paceyesตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์นี้ ไม่ใช่ประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างเจ้ากระทรวงกับพนักงาน สวทช. เท่านั้น แต่มันได้แพร่กระจายไปทั่วองค์กรต่างๆ ภายใน กวท. อย่างไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน ตั้งแต่ก่อตั้งกระทรวง และการตีความและความเข้าใจต่อระบบวิจัยและระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (National innovation System) ของ นักการเมืองและบุคลากรมีความแตกต่างกันมาก (โดยเฉพาะในกรณีนี้)

“บุคคลากรวิจัย ถือได้ว่าเป็นมันสมองของชาติ การที่มีเจ้ากระทรวงที่มีวิสัยทัศน์และเข้าใจการบริหารพวกเขาเหล่านั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองในรัฐบาล ที่จะต้องสรรหาบุคคลที่มีวุฒิภาวะเหมาะสมและเข้าใจงาน มาเป็นเจ้ากระทรวง และไม่เพียงแต่ กวท. เท่านั้น กระทรวงอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ก็เช่นกัน คงต้องฝากประเด็นนี้ไปถึงพรรคเพื่อไทยให้พิจารณาอย่างระมัดระวัง” บทความพยายามเสนอทางออก อย่างไรก็ตามหากมองในอีกมุมหนึ่ง บุคลากรภายในกระทรวงวิทย์ก็อาจจะต้องขยันให้ข้อมูลที่ไปพ้นประเด็นตัวบุคคลมากกว่านี้ และอธิบายให้สังคมเกิดความเข้าใจถึงประเด็นปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่ออนาคตการวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมกว่านี้ด้วยเช่นกัน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การเมืองร้อน ๆ ในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย

วรวัจน์...รัฐมนตรี "เก้าอี้เจ๊แดง" "ท่านเยาวภา ผมว่าไม่มากเลย Low Profile"

ฟัง คน สวทช. เผยเบื้องหลังใบปลิว “มันอัดอั้น...เกินที่จะทน!”

“วรวัจน์” แจงปมใบปลิวยิบ เชื่อถูกต้านเพราะกลัวเปลี่ยนตัว ผอ.สวทช.

ผอ.สวทช.ร่อนอีเมล์ถึง พนง.ทุกคน ให้งดการเข้าร่วมกิจกรรมแต่งดำประท้วงในวันที่ 20 พ.ค.นี้.-หลัง “วรวัจน์” เรียกพบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Nike พึ่งไหวตัวเรียกร้องโรงงานกัมพูชาเคารพสิทธิการรวมตัว แต่ปัดไม่เกี่ยวเรื่องการจ่ายค่าแรง

$
0
0
 

 
คลิปการประท้วงของคนงานในโรงงาน Sabrina จ.กำปงสปือ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 56 ที่ผ่านมา 
 
 
31 พ.ค. 56 - หลังจากที่เกิดเหตุสลายการชุมนุมการนัดหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานในประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Nike ก็ได้ออกมาแสดงวิตกกังวลต่อการใช้กำลังตำรวจสลายการประท้วงของกลุ่มคนงานครั้งนี้
 
รายงานข่าวระบุว่ามีคนงานบาดเจ็บมากกว่า 20 คน หลังจากตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เพื่อยุติการหยุดงานประท้วงเรื่องค่าจ้างที่โรงงาน Sabrina ใน จ.กำปงสปือ ทางตะวันตกของกรุงพนมเปญ โดยโรงงานแห่งนี้เป็นผู้รับจ้างผลิตให้แก่แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังอย่าง Nike และ Lululemon Athletica 
 
โดย CNN ระบุว่าคนงานกว่า 4,000 คนของโรงงานดังกล่าว ได้หยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการจ่ายค่าแรงเพิ่มให้แก่คนงานอีกเดือนละ 14 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 420 บาท) จากที่ได้รับเพียง 74 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,220 บาท)
 
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากสหภาพแรงงานที่ระบุว่า ในการปะทะส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บที่เป็นหญิงตั้งครรภ์และแท้งลูกหลังจากถูกผลักล้มลงอีกด้วย
 
ต่อกรณีนี้ Nike แบรนด์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกาได้ออกมาแถลงโดยระบุว่าตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ (Code of Conduct) ของบริษัทนั้น บริษัทผู้ที่ผลิตสินค้าให้ Nike จะต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของคนงาน แต่ในแถลงการณ์ก็ยังระบุว่าคนงานที่ออกมาเรียกร้องเป็นคนงานของโรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้าให้ Nike ไม่ใช่คนงานที่ Nike จ้างโดยตรง ซึ่งเรื่องค่าจ้างต่างๆ โรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้าย่อมต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง 
 
ทั้งนี้แม้ว่ากัมพูชาจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา 20% โดยคนงานที่ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่รับตัดเย็บเสื้อผ้าให้บรรษัทข้ามชาติจะถูกปรับค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนจาก 61 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นเป็น 75 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,830 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 2,250 บาท) แต่กลุ่มสหภาพแรงงานสิ่งทอของกัมพูชาก็ได้ประท้วงเรียกร้องรายได้ขั้นต่ำเดือนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,000 บาท) อยู่เป็นระยะๆ 
 
โดยภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป สร้างรายได้หลักให้แก่กัมพูชา เม็ดเงินการส่งออกเมื่อปี 2012 อยู่ที่ประมาณ 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแรงงานส่วนใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปนี้ประมาณ 650,000 คน เป็นแรงงานหญิง
 
 
ที่มาข่าวบางส่วนเรียบเรียงจาก:
 
Garment workers, police clash in Cambodia (Gregory Pellechi and Elizabeth Joseph, CNN, 31/5/2013)
http://edition.cnn.com/2013/05/31/world/asia/cambodia-garment-workers-strike/
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ครูนอกกระทรวง” สอนศิลปะ นอกหลักสูตรนักเรียนชายแดน ไทย-กัมพูชา

$
0
0
อาสาสมัคร “ครูนอกกระทรวง” สอนศิลปะให้โรงเรียนติดเขตชายแดนไทย-กัมพูชา หวังคนเห็นคุณค่าทางการศึกษาของเด็กนักเรียนไทยในชนบทถิ่นธุรกันดาร บริจาคสิ่งของจำเป็นสำหรับการศึกษา

 
 
 
 
 
 
 
 
1 มิ.ย.56 - ผู้สื่อข่าวประจำจ.สุรินทร์ รายงานว่า นสพ.สุรินทร์นิวส์ และกลุ่มครูนอกระทรวง กว่า 10 คน ได้เดินทางไปสอน "เทคนิคการเขียนภาพ ระบายสี อย่างง่ายๆ" ที่ โรงเรียนไทยนิยมพัฒนา ม.17 ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนติดเขตชายแดนไทย-กัมพูชา อยู่ห่างปราสาทตาควายเพียง 5 กม. และมีครูเพียง 3 คน นักเรียน 30 คนเท่านั้น เพื่อเป็นการปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่ครู นักเรียน ชายแดน หลังสอนศิลปะแล้ว นายดำรงพล พาชื่น บรรณาธิการบริหาร นสพ.สุรินทร์นิวส์ และคณะได้มอบเงินเพื่อเป็นทุนอาหารกลางวันจำนวนหนึ่ง
 
นายธนพนธ์ เล็กสิงโต (คบ.ศิลปศึกษา) วค.มหาสารคาม กล่าวว่า โครงการครูนอกกระทรวง เกิดจากแรงบันดาลใจของตนและเพื่อนๆ ที่ผ่านประสบการณ์การทำงานด้านศิลปะมายาวนาน เล็งเห็นว่าการศึกษาไทยยังขาดการเรียนรู้ที่เน้นอาชีพทางศิลปะ ซึ่งสามารถดัดแปลงไปใช้งานได้จริง ทุกๆ สาขาอาชีพในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้นจึงได้คิดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่ขาดแคลนครูสอนศิลปะที่มีฝีมือ เพราะประเทศไทยยังขาดแคลนครูสอนศิลปะที่มีฝีมือที่แท้จริงอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของโรงเรียนที่ยังขาดแคลน ครูศิลปะและทุนทรัพย์ในการจัดซื้ออุปกรณ์ขั้นพื้นฐานในการเรียนรู้วิชาศิลปะศึกษา
 
กลุ่มครูนอกกระทรวง เป็นการร่วมตัวของคนที่มีความรู้ ความสามารถ ทุกสาขาอาชีพ ที่มีจิตอาสาเข้าร่วมโครงการ เช่น การสอนการปั้นหล่อหินทราย การแกะโฟม การสอนสีน้ำสีน้ำมัน การวาดภาพการ์ตูนล้อเลียน การหล่อหุ่นไฟเบอร์ เป็นต้น การสอนวิชากฎหมายใกล้ตัว การสอนการทำของที่ระลึก และการสอนการอาชีพต่างๆ แก่ชุมชนที่ลงพื้นที่ เพื่อสร้างงานเสริมรายได้
 
ทั้งนี้จะระดมทุนจากผู้ใหญ่ใจดี สร้างห้อมคอมพิวเตอร์เพื่อห้องโรงเรียนชายแดน จำนวน 1 ห้อง พร้อมอุปกรณ์ เพื่อใช้เป็นแหล่งสำหรับผลิตครู นักเรียนและผู้ที่สนใจ ในการเรียนคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน ซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ แทปเลต ตามโครงการของรัฐบาล
 
ทั้งเปิดรับสมัครผู้ใหญ่ใจดีทุกท่าน ที่เห็นคุณค่าทางการศึกษาของเด็กนักเรียนไทยในชนบทถิ่นธุรกันดาร บริจาคอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ตู้คอนเทรนเนอร์ ที่เหลือใช้และร่วมบริจาคทุนทรัพย์ สามารถแจ้งความประสงค์และติดต่อประสานงานได้ที่ นายธนพนธ์ เล็กสิงโต ผู้อำนวยการโครงการครูนอกกระทรวง โทรศัพท์ 084-6067203 หรือโอนเงินเข้าบัญชี ธนาคาร กรุงไทย สาขา พุธไธสง จ.บุรีรัมย์ ชื่อบัญชี นายธนพนธ์ เล็กสิงโต หมายเลขบัญชี 3340044899  และนายธนินท์ทัศน์ ภูแก้ว เลขานุการโครงการครูนอกกระทรวง และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สุรินทร์นิวส์ 091-0179989
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เอาทักษิณกลับบ้าน

$
0
0
 
เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้แถลงที่สนามทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุดรธานี อธิบายอย่างชัดเจนว่า สาเหตุสำคัญในการเสนอมพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติ ก็เพื่อที่จะนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทย และยังแสดงการคาดหมายว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะได้กลับบ้านก่อนปีใหม่อย่างแน่นอน ประเด็นอยู่ที่ว่า การนำเอา พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศไทย คงไม่ใช่เรื่องที่ผิด และเป็นสิ่งที่สมควรด้วยซ้ำ แต่ต้องไม่แลกเปลี่ยนกับการนิรโทษให้กับกลุ่มฆาตกรที่สังหารประชาชน
 
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกโค่นอำนาจโดยการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ในระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการลี้ภัยครั้งแรก จนถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ พ.ต.ท.ทักษิณได้กลับมาประเทศไทย ในสมัยที่ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณก็ต้องลี้ภัยจากประเทศไทยอีกครั้งตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม ปีเดียวกัน เพราะถูกศาลตัดสินคดี มาจนถึงขณะนี้ มีคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังค้างอยู่ทั้งสิ้น ๙ คดี แต่เป็นคดีที่ศาลตัดสินแล้ว ๕ คดี นอกนั้นยังอยู่ในชั้นศาล
 
อย่างไรก็ตาม คงจะต้องอธิบายว่า คดีทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินคดีที่มาจากกระบวนการอันไม่ชอบธรรม และเป็นผลพวงรัฐประหารทั้งสิ้น เพราะหลังจากการยึดอำนาจ คณะรัฐประหารได้ออกประกาศคณะ คปค. ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อมุ่งที่จะสอบสวนความผิดในการดำเนินงานของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี คณะกรรมชุดนี้มีระยะเวลาการทำงานจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๑ ปัญหาแรกสุด คือ ตัวบุคคลในคณะ คตส.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายรัฐประหาร ล้วนแต่มิได้เป็นคนที่ใจเป็นกลาง แต่เป็นพวกอคติและเป็นศัตรูของ พ.ต.ท.ทักษิณแทบทั้งสิ้น ความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณจึงถูกตั้งไว้ล่วงหน้า
 
ถึงกระนั้น คณะกรรมการชุดนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จเลยในการพิสูจน์ให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่า มีการทุจริตคอรับชั่นอย่างมโหฬารในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะไม่สามารถที่จะหาหลักฐานความผิดที่เป็นจริงมาแสดงต่อสาธารณชน นอกจากนี้ การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นก็ขัดหลักการยุติธรรมที่ควรจะเป็น กล่าวคือ การดำเนินคดีโดยทั่วไปจะถือหลักการแยกผู้สอบสวนกับผู้พิจารณาสั่งฟ้อง เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหา ดังนั้นในคดีทั่วไป ตำรวจเป็นผู้สอบสวน แต่จะไม่มีอำนาจในการยื่นฟ้อง ต้องเสนอให้อัยการเป็นผู้พิจารณาฟ้อง แต่ในกรณีนี้ คตส.เป็นผู้สอบสวนและยื่นฟ้องต่อศาลเองเสีย ๔ คดี และยื่นต่ออัยการสูงสุดให้พิจารณาฟ้อง ๗ คดี แต่ศาลไทยก็ยังอุตส่าห์รับฟ้องทุกคดี
 
คดีสำคัญที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกศาลตัดสินลงโทษจนต้องหนีไปต่างประเทศนั้นคือ คดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ ๑ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตรเป็นจำเลยที่ ๒ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  โดยคดีนี้เริ่มจาก เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ คุณหญิงพจมานได้ทำการประมูลซื้อที่ดินริมถนนเทียมร่วมมิตร ย่านถนนรัชดาภิเษก ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื้อที่ประมาณ ๓๓ ไร่ ด้วยราคา ๗๗๒ ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามยินยอมในฐานะคู่สมรส ปรากฏว่าศาลตัดสินว่า การซื้อที่ดินนั้นถือเป็นถือโมฆะให้คุณหญิงพจมานคืนที่ดิน และให้กองทุนคืนเงินแก่คุณหญิงพจมานพร้อมดอกเบี้ย แต่ พ.ต.ท.ทักษิณแต่เพียงผู้เดียวที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิดต้องโทษจำคุก ๒ ปี คำตัดสินของศาลในกรณีนี้จึงไม่อาจหาเหตุผลรองรับได้ และเรื่องนี้ก็ไม่สามารถเป็นข้อพิสูจน์ถึงการทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ
 
ต่อมา ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓ องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ยึดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของตน อันมีผลทำให้มูลค่าหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น สูงขึ้น จึงให้ยึดเงินค่าขายหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลรวม ๔.๖ หมื่นล้านให้ตกเป็นของแผ่นดิน ปัญหาของคดีนี้คือ ศาลไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นได้เลยว่า พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจหน้าที่ผิดอย่างไร ก็ในเมื่อสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ หุ้นก็ขึ้นทั่วทั้งตลาด
 
สำหรับ คดีเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น มูลค่า ๓๗๘ ล้านบาท ซึ่ง คตส.ได้มอบหมายให้อัยการส่งฟ้อง คุณหญิงพจมาน นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน โดยศาลอาญาได้พิพากษาให้จำคุกคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ คนละ ๓ ปี ส่วนนางกาญจนาภา ๒ ปี ปัญหาของคดีนี้ก็คือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐ ก่อน พ.ต.ท.ทักษิณตั้งพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ จึงไม่อาจโยงกับการทุจริตอันใดได้เลย ยิ่งกว่านั้น ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องคดีนี้แล้วตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔ และอัยการสูงสุดไม่ฏีกา
 
ส่วนคดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา ๙๐ ล้านต้น ที่มีการยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับพวก รวม ๔๔ คน ศาลฎีกาให้ยกฟ้องจำเลยเนื่องจากพบว่าไม่ได้กระทำความผิด
 
คดีทุจริตโครงการออกสลากเลขท้ายพิเศษ ๒ ตัว ๓ ตัว หรือเรียกกันว่า หวยบนดิน ซึ่ง คตส.ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งคณะและผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ศาลฎีกาฯตัดสินให้จำคุกนายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ๒ ปี นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลังและประธานคณะบอร์ดกองสลาก ๒ ปี และ นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีต ผอ.กองสลาก ๒ ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสามไม่เคยทำผิดมาก่อน ให้รอลงอาญา สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เดินทางมารับฟังคำพิพากษา จึงมีการออกหมายจับ ปัญหาของคดีนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน ก็คือไม่อาจจะอธิบายการทุจริตของคณะรัฐบาลได้เลย เพราะการออกหวยบนดินทำให้รัฐได้เงินเพิ่ม การลงโทษของศาลต่อจำเลย ๓ คนเป็นเพียงความผิดทางข้อกฎหมายเท่านั้น
 
ส่วนคดีอื่นที่ศาลออกหมายจับ พ.ต.ท.ไว้ ก็เช่น ๑. คดีแจ้งทรัพย์สินเป็นเท็จเพราะไม่ได้แจ้งการครอบครองหุ้นชินคอร์ปฯ ๖ ครั้ง ๒.คดีปล่อยเงินกู้รัฐบาลพม่า ๔,๐๐๐ ล้าน ๓. คดีทุจริตออกพระราชกำหนดแปลงค่าภาษีสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิตเพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปฯ ๔. คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทกฤษดามหานครทั้งหมดล้วนเป็นคดีที่หลักฐานอ่อน และไม่สามารถพิสูจน์การทุจริตหรือฉ้อโกงประเทศชาติของ พ.ต.ท.ทักษิณได้เลยแม้แต่คดีเดียว
 
จากตัวอย่างคดีเหล่านี้ จึงสรุปได้ว่า คดีทั้งหลายที่สอบสวนและดำเนินการโดย คตส.จึงเป็นเรื่องเหลวไหล และถือได้ว่าเป็นเรื่องใช้อำนาจศาลมากลั่นแกล้งทางการเมืองต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ การนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้านด้วยวิถีทางอันเหมาะสม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรที่จะใช้การออกพระราชกำหนดล้มล้างผลพวงคณะรัฐประหาร โดยถือว่า คำสั่งคณะรัฐประหารทั้งหมดเป็นโมฆะ และปราศจากผล แล้วนำคดีทั้งหลายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาพิจารณาใหม่ ในกฎหมายปกติ ภายใต้กระบวนการอันโปร่งใส
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะกลับบ้านได้อย่างภาคภูมิ และไม่ต้องไปนิรโทษกรรมฆาตกร
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานพฤษภาคม 2556

$
0
0
แรงงานทั่วเอเชียเดินขบวนวันแรงงาน
 
1 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ว่า แรงงานราคาต่ำหลายหมื่นคน ชุมนุมประท้วงตามท้องถนนในวันแรงงาน หรือเมย์ เดย์ 1 พฤษภาคม เพื่อเรียกร้องขึ้นค่าแรง,ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ดีขึ้น และปรับปรุงสภาพการทำงานในหนึ่งสัปดาห์ หลังจากอาคารที่ตั้งของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในบังกลาเทศ พังถล่ม มีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คนแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความปลอดภัยที่หย่อนยาน ทำให้การทำงานตกอยู่ในอันตรายในประเทศยากจนทั้งหลาย
 
แรงงานในอินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศ ต่างเดินขบวน และตะโกนพร้อมกันอย่างกึกก้องในวันแรงงานวันนี้ ขณะที่ บางคนก็แสดงความไม่พอใจต่อการเอารัดเอาเปรียบของธุรกิจขนาดใหญ่ ท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภูมิภาคเอเชีย เป็นฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลกหลายบริษัท
 
คนงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าหลายพันคนในบังกลาเทศ ก็เดินขบวนไปตามถนนสายต่าง ๆ ด้วย พร้อมเรียกร้องหาความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน และให้ลากคอเจ้าของโรงงานนรก รับโทษประหารชีวิต
 
 
บังกลาเทศประท้วงวันแรงงาน ยอดตายตึกถล่มพุ่ง 402 ศพ
 
1 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ว่า คนงานในบังกลาเทศจำนวนมาก เดินขบวนประท้วงเนื่องในวันแรงงานสากล ภายในกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุอาคาร 8 ชั้นถล่มในเขตซาวาร์ เพิ่มขึ้นเป็น 402 รายแล้ว และมีผู้บาดเจ็บกว่า 2,500 คน
 
เมื่อวันพุธ เจ้าหน้าที่สามารถขนย้ายเศษซากปรักหักพังของอาคาร 'รานา พลาซ่า' น้ำหนักกว่า 600 ตันออกได้ราว 350 ตันแล้ว ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 402 ราย โดย 399 รายถูกพบใต้ซากอาคาร ขณะที่อีก 3 รายคือผู้รอดชีวิต ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล
 
วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ดำเนินการฝั่งร่างผู้เสียชีวิตในเหตุตึกถล่มที่ไม่อาจระบุตัวตนได้ 18 ร่าง ขณะที่ยังมีผู้สูญหายในเหตุดังกล่าวอีกอย่างน้อย 149 ราย โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ร่างรายชื่อของผู้สูญหาย และได้รับการยืนยันจากนาย ซิลลูร์ เราะห์มาน ชอว์ดูรี ผู้บริหารเขตในกรุงธากา
 
ขณะเดียวกัน คนงานและประชาชนราว 20,000 คน ออกมาเดินขบวนประท้วงในพื้นที่ต่างๆของกรุงธากา และเมืองอื่นๆ โดยผู้ประท้วงบางคนชูป้ายเรียกร้องให้ประหารชีวิตเจ้าของอาคารรานา พลาซ่า และเจ้าของโรงงาน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าบังคับลูกจ้างให้ทำงาน แม้ถูกเตือนว่าพบรอยร้าวในอาคาร ผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้มีการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานอีกด้วย
 
ทั้งนี้ เมื่อวันอังคาร ศาลสสูงบังกลาเทศมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ นายโมฮัมเหม็ด โซเฮล รานา เจ้าของอาคารรานา พลาซ่า และสั่งให้อายัดทรัพย์สินของเหล่าเจ้าของโรงงานทั้ง 5 ที่อยู่ในตึกรานา พลาซ่า เพื่อนำเงินไปจ่ายเป็นค่าแรงแก่คนงาน
 
อีกด้านหนึ่ง พระสันตะปาปาฟรานซิส (ที่1) ตรัสในพิธีมิสซาช่วงเช้าที่นครรัฐวาติกันว่า สถานภาพของคนงานผู้เสียชีวิตในบังกลาเทศ ไม่ต่างจากแรงงานทาสที่ได้ค่าแรงอย่างไม่ยุติธรรม ไม่มีงานทำ เพราะผู้จ้างเอาแต่จ้องตัวเลขงบดุล จ้องหาแต่ผลกำไร
 
 
ผู้นำมาเลเซียพูดในวันแรงงานให้คำมั่นเพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน
 
1 พ.ค. 56 - เนื่องในโอกาสที่วันนี้เป็นวันแรงงาน ผู้นำมาเลเซียหาเสียงโดยให้คำมั่นว่าจะเพิ่มคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น หากพรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้ง 
 
นายกรัฐมนตรีนาจิ๊บ ราซัค กล่าวว่า พรรคบาริซาน นาเซียนัล จะสร้างหลักประกันที่จะทำให้ทุกคนมีงานทำและสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมเสริมทักษะอาชีพเพื่อให้มีโอกาสที่จะมีรายได้สูงขึ้น นอกจากนี้จะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีเพื่อให้แรงงานและครอบครัวมีชีวิตที่มีความสุข เขาบอกด้วยว่า แรงงานชาวมาเลเซีย 13 ล้านคนมีเหตุผลมากมายที่จะดีใจที่ประเทศมีอัตราว่างงานประจำเดือนม.ค.ปีนี้เพียง 3.3% ซึ่งเป็นระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับในชาติยุโรป เช่น สเปนที่มีอัตราสูงถึง 26.2% 
 
นอกจากนี้เขาบยอกด้วยว่า ค่าครองชีพยังอยู่ในระดับควบคุมได้โดยอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนม.ค.ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ 1.3% อัตราคนยากจนลดลงเหลือ 1.7% และรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 29,000 ริงกิตเมื่อปีที่แล้วหรือกว่า 275,000 บาท ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความพยายามของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์สุขของประชาชนเป็นอันดับแรก และรัฐบาลจะยังสานต่องานอีก 5 ปีข้างหน้าหากชนะเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันนาจิ๊บกล่าวแสดงความมั่นใจว่ารัฐบาลจะชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 หากไม่มีความขัดแย้งภายในพรรค ขณะที่บรรยากาศเลือกตั้งเริ่มคึกคักขึ้นแล้วโดยเปิดให้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวาน และเป็นครั้งแรกที่ทหารและตำรวจพร้อมด้วยคู่สมรสได้มีสิทธิลงคะแนนเสียงล่วงหน้า นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้สิทธิล่วงหน้าเช่นกัน
 
 
ชาวกรีกประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจเนื่องในวันแรงงาน
 
1 พ.ค. 56 - กรีซระงับการให้บริการเรือข้ามฟากไปยังเกาะต่าง ๆ รวมทั้งบริการขนส่งสาธารณอื่น ๆ ในกรุงเอเธนส์วันนี้ ก่อนที่ประชาชนจะจัดชุมนุมประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเนื่องในวันแรงงาน 1 พฤษภาคม
 
ขณะที่เรือข้ามฟากมีกำหนดหยุดบริการทั้งวันในวันนี้ เนื่องจากสมาชิกสหภาพแรงงานในธุรกิจบริการเรือข้ามฟากเข้าร่วมในการประท้วงใหญ่ซึ่งจัดโดยสหภาพ 2 แห่งหลักของกรีซ  บริการขนส่งสาธารณะในกรุงเอเธนส์กลับสู่สภาพปกติเมื่อช่วงเช้าหลังจากยุติการให้บริการรถไฟฟ้าและรถโดยสารในช่วงสั้น ๆ ไปก่อนแล้ว ขณะที่ร้านค้าหลายแห่งยังคงเปิดให้บริการ
 
 
กลุ่มนักเคลื่อนไหวเดินขบวนหลายเมืองในวันแรงงานสหรัฐ
 
1 พ.ค. 56 - เนื่องในวันแรงงาน สมาชิกสหภาพแรงงานและกลุ่มนักเคลื่อนไหวจัดการเดินขบวนไปตามท้องถนนสายต่าง ๆ หลายเมืองในสหรัฐ
 
บรรยากาศวันแรงงานที่นครซานฟรานซิสโก แรงงานอพยพและบรรดาผู้สนับสนุนเคลื่อนขบวนไปชุมนุมหน้าศาลากลางพร้อมเรียกร้องให้มีการยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานอพยพในสหรัฐ กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้เรียกร้องขอความเสมอภาคทางสังคมและการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติไหน
 
ขณะที่ในนครลอสแองเจลิส บรรยากาศการชุมนุมเนื่องในวันแรงงาน เต็มไปด้วยสีสันของการเต้นรำ ผู้ชุมนุมราว 2,000 คน เรียกร้องให้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เร่งแก้ปฎิรูปกฎหมายแรงงานอพยพ
 
ส่วนการชุมนุมเนื่องในวันแรงงานที่นครนิวยอร์ค บรรยากาศการชุมนุมส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ มีเพียงผู้ชุมนุมบางคนเท่านั้นที่ถูกตำรวจควบคุมตัวไป
 
 
พักงาน! นักบินแอบหลับ ให้แอร์คุมห้องนักบิน
 
4 พ.ค. 56 - สายการบินแอร์อินเดีย สายการบินแห่งชาติของอินเดีย สั่งพักงานนักบิน นายบี.เค.โซนี,นายรวินธรา นาธ นักบินผู้ช่วย,น.ส.กรรณิกา กาลา  และ น.ส.เจ บัตต์ และพนักงานต้อนรับ อย่างไม่มีกำหนด ฐานร่วมกันละเลยหน้าที่ ด้วยการตั้งระบบออโต้ ไพล็อต หรือ ระบบการควบคุมอัตโนมัติ 
 
โดยนักบินแอบงีบในห้องโดยสารชั้นธุรกิจที่ไม่มีผู้โดยสาร ปล่อยให้พนักงานต้อนรับควบคุมห้องนักบิน ราว 4 ชั่วโมง แล้วเข้ามาดูความเรียบร้อยในห้องนักบินเป็นระยะ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดเมื่อวันที่ 12 เม.ย. บนเที่ยวบินที่ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้ากรุงนิวเดลี โดยเครื่องบินแอร์บัส รุ่นเอ-320 บรรทุกผู้โดยสาร 166 คน
 
 
ตำรวจอินโดฯรวบเจ้าของโรงงานทรมานและบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส
 
5 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอินโดนีเซีย จับกุมตัวนายยูกี อิราวัน เจ้าของโรงงาน พร้อมหัวหน้าคนงานอีก 4 คน ในข้อหาทรมานคนงาน และกักขังหน่วงเหนี่ยวพวกเขาอย่างผิดกฎหมาย โดยชินโต ซิลิตองกา หัวหน้าสอบสวน กล่าวว่า นายอิราวัน และพรรคพวกอีก 4 คนถูกกล่าวหาว่าทรมานและทำให้คนงาน 34 คนสูญเสียอิสรภาพ หลังจากเจ้าหน้าที่บุกจู่โจมบริษัทผลิตหม้ออะลูมิเนียมผิดกฎหมายในเมืองทังเกรัง นอกกรุงจาการ์ตา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
 
คนงานชาย ซึ่งรวมทั้งวัยรุ่นอายุ 17 ปี ถูกบังคับให้ทำงานอย่างน้อยวันละ 16 ชั่วโมง พร้อมอาหาร 2 มื้อต่อวัน และไม่จ่ายค่าจ้าง มานานตั้งแต่ 2 เดือนจนถึง 1 ปีครึ่ง คนงานเหล่านี้ ถูกทรมานร่างกายสารพัดวิธี ซึ่งรวมทั้งใช้บุหรี่จี้ตามตัว และราดด้วยน้ำร้อน หากพวกเขาไม่เชื่อฟัง ในคืนวันที่ ตำรวจบุกจู่โจมนั้น ทั้งหมดถูกล็อกอยู่ในห้องขนาด 8x6 เมตรและบังคับให้นอนบนพื้นคอนกรีตและเสื่อบาง ๆ และไม่มีทางหลบหนีด้วย
 
ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีความหวาดกลัวว่า การขึ้นค่าแรงจะกระตุ้นให้ธุรกิจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเวียดนาม แต่คนงานในโรงงานอินโดนีเซีย ก็ยังได้รับค่าแรงต่ำที่สุดในเอเชีย รายได้ต่ำกว่าคนงานในจีน หรืออินเดียด้วยซ้ำ
 
 
กู้ภัยซูดานยุติค้นหา ปล่อยคนงานเหมืองตายนับ 100
 
5 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 5 พ.ค. ว่า ปฏิบัติการช่วยเหลือคนงาน หลังทางเดินภายในเหมืองทองคำ จีเบล อามีร์ พังถล่ม ถูกยกเลิกกลางคัน เนื่องจากมีความเสี่ยงและอันตรายมากเกินไป ส่งผลให้คนงานราว 100 ชีวิต ที่ติดค้างอยู่ลึก 40 เมตร อาจไม่รอดทั้งหมด 
 
เหมืองทองคำดังกล่าว อยู่ทางตอนเหนือของแคว้นดาฟูร์ ประเทศซูดาน โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาทีมกู้ภัย 9 นาย ที่ลงไปช่วยเหลือคนงาน ก็ติดค้างอยู่ใต้ดินเช่นกันและคาดว่าเสียชีวิตแล้ว เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจยกเลิกการค้นหา นอกจากนี้ยังพบผู้เสียชีวิตด้วย 8 ศพ แต่ไม่ทราบว่าเป็นคนงานหรือทีมกู้ภัยในเบื้องต้น
 
อนึ่ง เมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา เกิดการต่อสู้รุนแรงระหว่างชนเผ่าอาหรับ เพื่อแย่งชิงการควบคุมดูแลเหมืองแห่งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน ประชาชนนับแสนต้องอพยพย้ายถิ่น ทางการจึงสั่งปิดเหมือง แต่อย่างไรก็ดี เหมืองดังกล่าวยังคนมีการใช้งานจนถึงทุนวันนี้.
 
 
คนงานท่าเรือสินค้าในฮ่องกงยุติหยุดงานประท้วงแล้ว หลังตกลงค่าแรงได้
 
7 พ.ค.56 คนงานท่าเรือสินค้าในฮ่องกงยุติหยุดงานประท้วงที่มีมานาน 40 วันแล้ว หลังสามารถตกลงเงื่อนไขขึ้นค่าแรงได้
 
คนงานประมาณ 450 คน ยอมรับเงื่อนไขที่ทางนายจ้างตกลงขึ้นค่าแรงร้อยละ 9.8 ได้แล้ว หลังตอนแรกเรียกร้องค่าแรงสูงกว่าร้อยละ 20 โดยผลการประท้วงส่งผลให้สินค้าที่โกดังเก็บของขนส่งล่าช้า
 
ประธานสหภาพ เปิดเผยว่า ข้อตกลงครั้งนี้ คือความสำเร็จ ไม่เพียงคนงานที่มาประท้วงจะได้ขึ้นค่าแรงเท่านั้น  แต่รวมไปถึงคนงานทุกคนด้วย โดยกลุ่มผู้ประท้วง สัญญาจะกลับมาทำงานโดยเร็ว หลังก่อนหน้านี้ มีการประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ของนายลี กา-ชิง ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองฮ่องกง เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน
 
ด้าน ฮัทชินสัน บริษัทท่าเรือ ที่เจ้าของเป็น นายลี กา-ชิง มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง และรวยที่สุดในเอเชียระบุว่า ท่าเรือจะเริ่มกลับมาเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เร็วๆนี้ เนื่องจากเมื่อเดือนก่อน การหยุดงานประท้วงส่งผลให้เรือขนส่งสินค้าไปใช้ท่าเรือคู่แข่ง 
 
ขณะที่ สมาคมการค้าฮ่องกง ประเมินว่า การหยุดงานดังกล่าวส่งผลให้มีตู้สินค้าตกค้างประมาณ 80,000-90,000 ตู้
 
สำหรับฮ่องกงเป็นท่าเรือพักสินค้าขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ต่อจากนครเซี่ยงไฮ้ ของจีน และสิงคโปร์ ตามลำดับ
 
 
พนักงานสหภาพยุโรปนัดหยุดงานประท้วง หลังมีข้อเสนอลดเงินเดือน เพื่อรัดเข็มขัด
 
7 พ.ค. 56 - พนักงานประจำกว่า 3,500 คน ที่ทำงานให้กับสภาแห่งสหภาพยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของสหภาพยุโรป (อียู) พร้อมใจกันหยุดงานเมื่อวันที่ 7 พ.ค. เพื่อประท้วงข้อเสนอรัดเข็มขัดทางการเงินของยุโรป ที่รวมถึงการลดรายจ่ายพนักงานอียูมูลค่ากว่า 7,000 ล้านยูโร (ราว 2.8 แสนหมื่นบาท) 
 
สหภาพแรงงานระบุว่า พนักงานจะมีอำนาจซื้อลดลง 60% ในอีก 15 ปีข้างหน้า หากมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในตอนนี้
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอัตราเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ของพนักงานของอียูกว่า 5.5 หมื่นคน เป็นหัวข้อที่ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวาง โดย ได เวลท์ หนังสือพิมพ์เยอรมนี รายงานว่า มีพนักงานสหภาพยุโรปกว่า 4,365 คน ในปีนี้ที่มีรายรับมากกว่านายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่มีรายได้ 2.1 หมื่นยูโร (ราว 8.4 แสนบาท) ต่อเดือน เสียอีก
 
อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกมาปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าว โดยอ้างว่าพนักงานประจำจะได้รับค่าจ้างราว 2,600 ยูโร (ราว 1 แสนบาท) ถึง 4,400 ยูโร (ราว 1.7แสนบาท) ต่อเดือน ส่วนผู้เชี่ยวชาญได้ค่าจ้างราว 4,400 ยูโร ถึง 1.84 หมื่นยูโรต่อเดือน โดยได้โบนัส 16% ของเงินเดือน และได้รับรายได้เพิ่มเติม 400 ยูโรต่อเดือน หากมีลูก 1 คน จนกว่าจะมีอายุครบ 26 ปี และยังได้รับค่าเล่าเรียนจากสหภาพยุโรปอีกด้วย
 
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปอยู่ในระหว่างการปฏิรูประบบฐานเงินเดือนของพนักงานภายใน ซึ่งอาจส่งผลให้มีการลดค่าจ้าง 5% เพิ่มชั่วโมงการทำงานจาก 37.5 ชั่วโมง เป็น 40 ชั่วโมง และขยายอายุการเกษียณ จาก 63 ปี เป็น 65 ปี
 
 
คนงานสิ่งทอบังกลาเทศไม่พอใจเงินชดเชยเหตุตึกถล่ม
 
9 พ.ค. 56 - คนงานที่รอดชีวิตจากเหตุอาคารรานาพลาซาในบังกลาเทศพังถล่มวันที่ 24 เมษายน ไม่พอใจจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับ เพราะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายรักษาอาการบาดเจ็บและการว่างงานไม่มีรายได้
 
คนงานแม่ลูกสองวัย 30 ปี ที่เลี้ยงลูกคนเดียวและเป็น 1 ในคนงาน 3,000 คนที่ทำงานเป็นกะในอาคารรานาพลาซา ชานกรุงธากาเผยว่า ได้รับเงิน 8,500 ตากา (ราว 3,200 บาท) เป็นเงินชดเชยเหมาจ่ายจากสมาคมผู้ผลิตและส่งออกสิ่งทอบังกลาเทศ ทั้งที่เธอมีอาการปวดศีรษะไม่หาย เดินไม่สะดวกและไม่มีงานทำ ซ้ำยังไม่ได้รับเงินล่วงเวลาที่ทำในเดือนเมษายนทั้งหมด 150 ชั่วโมงแม้แต่ธากาเดียว คนงานวัย 25 ปีรายหนึ่งที่สูญเสียพี่น้องสองคนในเหตุดังกล่าวประกาศไม่ยอมรับเงินชดเชย 6,000 ธากา (ราว 2,400 บาท) เพราะไม่พอแม้แต่จะจ่ายค่ายารายเดือนที่เธอต้องกินบรรเทาอาการปวดศีรษะแทบแตก
 
ปกติแล้วคนงานสิ่งทอบังกลาเทศได้เงินเดือนไม่ถึง 3,200 ธากา (ราว 1,280 บาท) แต่เมื่อเกิดเหตุโรงงานสิ่งทอ 5 แห่งพังพร้อมกับอาคารดังกล่าว คนงานจำนวนมากจะยิ่งมีชีวิตลำบากขึ้นเมื่อใช้จ่ายเงินชดเชยจนหมด จำนวนเงินชดเชยของแต่ละคนแตกต่างกัน และบางส่วนขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่ทำงาน ผู้นำสหภาพแรงงานระบุว่า เงินชดเชยทั้งต่ำและไม่เป็นธรรม ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าผู้รอดชีวิตจำนวนมากทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง ด้านรองประธานสมาคมผู้ผลิตและส่งออกสิ่งทอบังกลาเทศยืนยันว่า เป็นการจ่ายเงินชดเชยตามมาตรฐานของกฎหมายแรงงาน คาดว่าจะต้องจ่ายให้คนงานหรือญาติผู้เสียชีวิตรวมประมาณ 3,400 คน.
 
 
บิลด์ แทบลอยด์เยอรมัน ปลดพนักงาน
 
12 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ว่า บิลด์ หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี อาจปลดพนักงานมากถึง 200 คน ขณะที่ สื่อสิ่งพิมพ์แห่งนี้ ต้องการประหยัดงบประมาณจำนวนประมาณ 20 ล้านยูโร หรือ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหนังสือพิมพ์เดอร์ สปีเกล รายสัปดาห์ รายงานอ้างแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้หลายแห่งว่า อาเซล สปริงเกอร์ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของแทบลอยด์ชื่อดังเมืองเบียร์ กำลังพิจารณาที่จะปรับลดพนังงานลงระหว่าง 170-200 ตำแหน่งของหนังสือพิมพ์บิลด์ หนังสือพิมพ์รายวันที่มีผู้อ่านมากที่สุดในยุโรป
 
สปีเกล รายงานว่า อาเซล สปริงเกอร์ เชื่ออย่างชัดเจนว่า การลดพนักงานเป็นสิ่งจำเป็นในกิจกรรมหนังสือพิมพ์ของบริษัท และกำลังพิจารณาที่จะประหยัดงบประมาณให้ได้ทั้งสิ้น 20 ล้านยูโร อย่างไรก็ตาม อาเซล สปริงเกอร์ เคยระงับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างมูลค่า 50 ล้านยูโรมาแล้ว
 
ทั้งนี้ พนักงานที่หนังสือพิมพ์บิลด์, เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ และบี.แซด.แทบลอยด์ท้องถิ่นของเบอร์ลิน จะถูกย้ายไปยังบริษัทสาขา บิลด์ ดิจิทัล
 
 
ประกาศปิด โรงงานเสื้อผ้าบังกลาเทศ หลังคนงานประท้วงรุนแรงจากเหตุตึกโรงงานถล่ม
 
14 พ.ค. 56 - ประธานสมาคมสิ่งทอบังกลาเทศเปิดเผยว่า เจ้าของโรงงานประกาศปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย หลังจากคนงานเริ่มก่อเหตุรุนแรง ส่วนรัฐบาลเตรียมอนุญาตให้คนงานจัดตั้งสหภาพแรงงานได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากนายจ้าง ท่ามกลางแรงกดดันที่ต้องการให้มีการปรับปรุงกฎหมายด้านสภาพการทำงาน
 
หน่วยกู้ภัยของบังกลาเทศประกาศยุติการค้นหาผู้รอดชีวิตจากใต้ซากอาคารรานา พลาซา ที่เมืองซาวาร์ ชานกรุงธากา ที่พังถล่มเมื่อวันที่ 24 เม.ย. หลังใช้เวลาทั้งสิ้น 20 วัน ในการขุดค้นหาผู้ที่อาจรอดชีวิตจากใต้ซากอาคาร 8 ชั้น ทั้งนี้ กองทัพบังกลาเทศเตรียมส่งมอบภารกิจต่อให้แก่ทางการท้องถิ่นในวันนี้ (14 พ.ค.) ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตศพสุดท้ายได้ถูกนำขึ้นมาจากใต้ซากเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้ยอดจำนวนผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 1,127 ราย
 
โดยเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปฏิบัติการค้นหา หน่วยกู้ภัยได้ยกเอาแผ่นซีเมนต์ขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ฐานรากของอาคารออกมา ทหารที่ถูกระดมกำลังมาช่วยรื้อถอนสิ่งปรักหักพังได้รับคำสั่งให้กลับสู่กรมกอง เช่นเดียวกับเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ที่ช่วยในการรื้อถอนหรือเคลื่อนย้าย ได้เคลื่อนออกไปจากบริเวณที่เกิดเหตุและมีการสร้างรั้วไม้ไผ่ล้อมรอบ พร้อมปักธงแดงไว้เป็นสัญลักษณ์ว่าห้ามเข้าไปในบริเวณดังกล่าว
 
นายโมฮัมหมัด อาติกูล อิสลาม ประธานสมาคมผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าบังกลาเทศ เปิดเผยว่า เจ้าของโรงงานหลายแห่งตัดสินใจปิดโรงงานเพื่อความปลอดภัย หลังจากคนงานก่อเหตุรุนแรงแทบทุกวันหลังเกิดเหตุตึกถล่ม โดยคนงานกว่าร้อยละ 80 ในเขตอาชูเลีย ก่อเหตุนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องขึ้นค่าจ้าง และเรียกร้องให้มีการประหารชีวิตเจ้าของอาคารรานา พลาซา
 
คนงานหลายหมื่นคนออกเดินประท้วงไปตามท้องถนน ทุบทำลายยานพาหนะและร้านค้าต่างๆ ก่อนที่จะถูกตำรวจจับกุมตัว ขณะที่รัฐบาลเห็นชอบอนุญาตให้คนงานจัดตั้งสหภาพแรงงานได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากนายจ้าง ที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแรงงานฉบับปี 2006 นอกจากนั้น รัฐบาลยังตั้งคณะกรรมการเพื่อเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงานและคนงาน เพื่อพิจารณาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า
 
ด้านบริษัทค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่ของโลก 4 แห่ง อาทิ เอชแอนด์เอ็ม, ซีแอนด์เอ, ไพรมาร์ค และซารา เปิดเผยวานนี้ว่า จะให้การสนับสนุนข้อตกลงด้านความปลอดภัยของสถานประกอบการ ที่มีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอเป็นแกนนำ ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งจะเพิ่มการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร การซ่อมแซมพื้นที่ และการยุติการทำธุรกิจกับบริษัทที่ปฏิเสธการปรับปรุงสภาพการทำงาน
 
 
ธนาคาร HSBC จ่อลอยแพพนักงานเพิ่มอีก 14,000 ตำแหน่ง
 
14 พ.ค. 56 - ธนาคารเอชเอสบีซี เผยเตรียมปรับลดพนักงานทั่วโลกเพิ่มเติมอีก 14,000 ตำแหน่ง ส่วนหนึ่งในแผนปฏิรูปเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเสริมกำไร
 
ด้วยมาตรการนี้ ธนาคารวางเป้าหมายประหยัดค่าใช้จ่ายอีก 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หลังต้นทุนเหล่านี้ส่งผลร้ายต่อการกำไรของบริษัทอย่างยิ่ง และแผนเลิกจ้างดังกล่าว เป็นผลให้ช่วง 3 ปีข้างหน้าหรือ 2016 เอชเอสบีซี จะเหลือพนักงานทั่วโลกราว 240,000 ถึง 250,000 ตำแหน่ง
 
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เอชเอสบีซี เผยว่าได้ตัดลดค่าใช้จ่ายรายปีลง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับลดพนักงานไปแล้ว 46,000 ตำแหน่ง ภายใต้แผนปฏิรูปเดิม 3 ปี นับตั้งแต่นายสจ๊วร์ต กัลลิเวอร์ เข้ามาดำรงตำแหน่งซีอีโอในปี 2011
 
ทั้งนี้นายกัลลิเวอร์ วางเป้าหมายปรับปรุงความกระฉับกระเฉงด้านปฏิบัติการต่างๆของธนาคาร ด้วยพุ่งเป้าไปที่ตลาดซึ่งกำลังขยายตัวสูงในเอเชีย ขณะที่แบงค์แห่งนี้ได้ปิดหรือขายกิจการไปแล้วกว่า 52 ธุรกิจ
 
 
พนักงานสายการบินตุรกีแอร์ไลน์สผละงานประท้วง
 
15 พ.ค.56 - พนักงานของสายการบินตุรกี แอร์ไลน์ส 14,000 คน นัดกันผละงานประท้วงในวันนี้ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทรับเพื่อนพนักงานกว่า 300 คนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม หลังจากพวกเขาถูกปลดเมื่อปีที่แล้ว ฐานจัดการประท้วงในลักษณะเดียวกันนี้ พนักงานพวกนี้ยังเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน และปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีกว่าเดิม ทั้งนี้ พนักงานของตุรกี แอร์ไลน์ส มีประมาณ 16,000 คน เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ตุรกี แอร์ไลน์ส ปลดพนักงาน 305 คนฐานผละงานประท้วงหลายวัน
 
แม้ว่าจะมีการเจรจากันหลายเดือน แต่ตัวแทนของสหภาพแรงงานและเจ้าหน้าที่ของสายการบิน ก็ไม่สามารถลงนามในข้อตกลงแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์เอ็นทีวี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายฮัมดี ท็อปคู ประธานบริหารของสายการบิน กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายมารองรับสำหรับการประท้วงครั้งนี้ เราจะไม่กดดันพนักงานที่ต้องการเคารพข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน แต่เขาคิดเป็นการส่วนตัวว่า ในช่วงเช้าของวันนี้ สายการบินทั้งหมดจะต้องขึ้นบินโดยไร้ปัญหา
 
ขณะที่ นายเมเหม็ต ซิมเซค รัฐมนตรีคลังแดนไก่งวง ก็กล่าวว่า เราจะไม่อนุญาตให้การบริการของสายการบินตุรกีแอร์ไลน์ส ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนฤดูการท่องเที่ยว
 
 
โรงงานรองเท้า 'กัมพูชา' ถล่ม มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอย่างน้อย 11 ราย
 
16 พ.ค. 56 - เหตุการณ์ชั้นลอยโรงงานผลิตรองเท้าในกัมพูชาถล่ม เมื่อเช้าวันนี้ ได้มีการปรับตัวเลขผู้เสียชีวิตเป็น 2 คน นำมาซึ่งความวิตกเกี่ยวกับความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน หลังเกิดเหตุอาคารโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปทรุดและพังถล่มในบังคลาเทศ เมื่อเดือนที่แล้ว
                        
เจ้าหน้าที่กู้ภัยในท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนจากทหาร ได้ค้นหาคนที่ติดอยู่ใต้ซากคอนกรีตที่ถล่มลงมา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นชั้นลอยที่สร้างเอาไว้ผลิตรองเท้าผ้าใบ / ตำรวจในจังหวัดกำปง สปือ ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ เปิดเผยว่า มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 11 คน บางคนอาการสาหัส และการกู้ภัยได้สิ้นสุดลงแล้วเช่นกัน ส่วนคนงานที่เสียชีวิตเป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน
                        
บริเวณชั้นลอยที่ถล่มลงมา ถูกใช้ในการเก็บเครื่องมือและวัตถุดิบในการผลิตรองเท้าด้วย ซึ่งเชื่อว่า ได้ถล่มลงมาเพราะรับน้ำหนักไม่ไหว อันเนื่องมาจากโครงสร้างที่ไม่แข็งแรง ตัวแทนของสหภาพการค้ากัมพูชา ซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ระบุว่า บริษัทวิง สตาร์ ชูส์ เป็นของไต้หวัน และผลิตรองเท้ากีฬายี่ห้อ เอซิคส์ ให้กับญี่ปุ่น
                        
ตำรวจระบุว่า เจ้าของโรงงานได้ถูกสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า โรงงานแห่งนี้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ และมีการก่อสร้างอย่างไร / คนงานหญิงคนหนึ่ง บอกว่า มีคนงานที่โรงงานแห่งนี้กว่า 100 คน แต่เธอไม่ทราบว่า มีคนงานเท่าใดในช่วงที่เกิดเหตุ
                        
นายรง ชุน ประธานสหภาพฯ ของกัมพูชา บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งสร้างความวิตกเพราะโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชา ไม่ได้มาตรฐานสากลในด้านความปลอดภัย ไม่มีหลักประกันเกี่ยวกับคุณภาพของอาคาร และคนงานต่างทำงานในสภาพเสี่ยง
                        
ทั้งนี้กัมพูชาได้มีการลงทุนอย่างเร่งด่วนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้า เนื่องจากเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกที่ดึดดูดนักลงทุนเอเชียและตะวันตก ทำให้อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชา เป็นแหล่งจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดและมีรายได้จากการส่งออกมากที่สุด และเชื่อว่า มีคนงานในอุตสาหกรรมแห่งนี้มากกว่า 5 แสนคน และเพิ่งจะมีการขึ้นค่าแรงจากเดือนละ 61 ดอลลาร์ หรือราว 1,800 บาท เป็น 75 ดอลลาร์ หรือราว 2,200 บาท ส่วนใหญ่ผลิตเสื้อผ้าส่งตลาดสหรัฐและยุโรป
                        
หนังสือพิมพ์พนมเปญ โพสต์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคมคนงานของโรงงานแห่งนี้ ได้นัดหยุดงานและกีดขวางถนนที่เป็นเส้นทางหลัก นานประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อประท้วงขอขึ้นค่าแรงและให้ปรับปรุงสภาพการทำงาน
                        
การประท้วงขอขึ้นค่าแรงและเรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพการทำงาน เป็นเรื่องปกติในกัมพูชาซึ่งคล้ายคลึงกับบังกลาเทศ ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่ตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าราคาถูกให้กับบรรดาผู้ค้าปลีกจำนวนมากของตะวันตก ซึ่งโศกนาฎกรรมที่เกิดกับโรงงานในบังคลาเทศหลายระลอกได้ดึงดูดความสนใจจากชาวโลก ในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยในประเทศที่อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปกำลังเบ่งบาน และได้ชื่อว่า เป็นแหล่งส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองรองจากจีน
                        
เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุอาคารที่เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป เกิดการทรุดตัวและพังถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,100 คน ทำให้เกิดการรณรงค์ในประเทศตะวันตกเรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพการทำงานในประเทศที่ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์เนมส่งให้ตะวันตก ซึ่งพบว่ามีบริษัทยุโรปมากกว่า 10 แห่ง รวมทั้ง ไพรมาร์ค และเทสโก ของอังกฤษ ได้ลงนามรับรองกฎใหม่ที่จะผูกมัดให้บรรดาโรงงานที่เป็นซัพพลายเออร์ ปรับปรุงสภาพการทำงาน แต่บริษัทของสหรัฐ เช่น แกปและวอลมาร์ท ไม่ได้เข้าร่วมด้วย
 
 
สั่งหยุดงานเหมืองอินโดนีเซียหลังอุโมงค์ถล่ม
 
16 พ.ค. 56 - บริษัทเหมืองแร่ของสหรัฐตัดสินใจระงับการดำเนินงานของเหมืองทองแดงในอินโดนีเซีย หลังเกิดเหตุอุโมงค์พังถล่มเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้คนงานเสียชีวิตไป 4 คน
 
บริษัท ฟรีพอร์ท อินโดนีเซียซึ่งเป็นบริษัทสาขาของฟรีพอร์ท-แม็คโมแรน คอปเปอร์ แอนด์ โกลด์  ของสหรัฐ ตัดสินใจระงับการดำเนินงานของเหมืองแกรสเบิร์กในจังหวัดปาปัวตะวันตก ซึ่งเป็นเหมืองทองแดงใหญ่อันดับ 2 ของโลก หลังเกิดเหตุอุโมงค์ใต้ดินใกล้กับเหมืองพังถล่มลงมาเมื่อวันอังคาร เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิตไป 4 คน และยังมีผู้ที่ติดอยู่ในเหมืองอีก 25 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงเดินหน้าให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้ จุดที่เกิดเหตุอุโมงค์ถล่มอยู่นอกเขตตัวเหมือง ห่างจากทางเข้าเหมืองราว 500 เมตร ซึ่งขณะที่เกิดเหตุมีคนงานกำลังรับการฝึกอบรมในบริเวณดังกล่าว 39 คน สำหรับผู้รอดชีวิตทั้ง 10 คน ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บในโรงพยาบาล
 
 
รอยัล แบงค์ ออฟ สก๊อตแลนด์ จะปลดพนักงานกว่า 1,000 ตำแหน่ง ในช่วง 2 ปีข้างหน้า
 
17 พ.ค. 56 - ซีอีโอของธนาคารอาร์บีเอส ออกแถลงการณ์ ปลดพนักงาน จำนวน 1,400 ตำแหน่ง เพื่อเป็นการปรับโครงสร้าง การปฎิบัติงานภาย ในสำนักงานใหญ่ ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ โดยได้แสดงความเสียใจ และว่าจะว่าจ้างพนักงานที่ปลดออกไปอีกครั้ง หากมีโอกาส
 
ก่อนหน้านี้ ธนาคารอาร์บีเอส ได้ปลดพนักงาน ออกไปแล้วกว่า 35,000 ตำแหน่ง นับตั้งแต่ ธนาคารต้องมาตรการรัดเข้มขัด และรับความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากรัฐบาลอังกฤษ ในช่วงที่สก็อตแลนด์ ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ หลังจากที่ข่าวการปลดพนักงานของธนาคารอาร์บีเอสออกมา ทำให้หุ้นของธนาคาร ในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.35
 
ขณะที่ยูไนท์ ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดในอังกฤษ วิพากษ์วิจารณ์การปลดพนักงานของธนาคารอาร์บีเอสว่า เป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบและว่าจะส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคารอีกด้วย
 
 
โรงงานสิ่งทอในบังกลาเทศเปิดทำการอีกครั้ง
 
17 พ.ค. 56 - โรงงานสิ่งทอหลายร้อยแห่งในแหล่งผลิตสินค้าของบังกลาเทศเริ่มเปิดทำการอีกครั้งในวันนี้ หลังจากถูกสั่งปิดไปเนื่องจากเหตุความไม่สงบซึ่งปะทุขึ้นสืบเนื่องจากเหตุการณ์ตึกถล่มครั้งใหญ่เมื่อเดือนที่ผ่านมา   
 
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสิ่งทอของบังกลาเทศ (บีจีเอ็มอีเอ) ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ผลิตสิ่งทอ 4,500 รายทั่วประเทศ ได้สั่งปิดโรงงานในเขตอุตสาหกรรมอาชูเลีย ชานกรุงธากา หลังจากคนงานหลายหมื่นคนต่างพากันออกมาประท้วงเรียกร้องให้ประหารชีวิตเจ้าของอาคารรานา พลาซ่า ที่พังถล่มลงมาและปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้พวกเขา  แต่บีจีเอ็มอีเอได้ตัดสินใจให้เปิดทำการโรงงานเหล่านี้อีกครั้ง หลังจากรัฐบาลออกมาให้ความมั่นในว่าโรงงานของพวกเขาได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยระดับสูงสุด
 
นายชาฮิดุลเลาะห์ อาซิม รองประธานบีจีเอ็มอีเอ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการประท้วงหรือเหตุรุนแรง แม้ว่าจะมีแรงงานเพียงราวร้อยละ 60-70 เข้ามาทำงานในโรงงงานวันนี้ เนื่องจากวันนี้เป็นวันศุกร์ซึ่งโดยปกติจะเป็นวันหยุดในบังกลาเทศ  ด้านผู้บัญชาการตำรวจในเขตอาชูเลียก็กล่าวเช่นกันว่า ยังไม่มีรายงานการประท้วง หรือเหตุรุนแรงใด ๆ หลังจากโรงงานเปิดทำการอีกครั้ง และตำรวจก็ดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการเกิดเหตุรุนแรงและมีการนำรถหุ้มเกราะกันกระสุนมาจอดไว้ในเขตอาชูเลียด้วย
 
 
คนงานฟ็อกซ์คอนในจีนโดดตึกฆ่าตัวตาย 3 รายซ้อน
 
18 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ว่า กลุ่มสิทธิแรงงาน เปิดเผยวันนี้ว่า มีคนงานของบริษัทฟ็อกซ์คอน 3 คน ฆ่าตัวตายที่โรงงานแห่งหนึ่งในจีน ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทั้ง 3 คนกระโดดจากอาคารโรงงานลงมาเสียชีวิตในเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ภาคกลางของจีน ซึ่งโรงงานดังกล่าวบริหารงานโดยบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของไต้หวัน
 
รายงานข่าวระบุว่า ชายแต่งงานแล้ววัย 30 ปี ฆ่าตัวตายเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หลังจากมีเหตุฆ่าตัวตายลักษณะเดียวกันของหญิงสาววัย 23 ปีเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา และชายวัย 24 ปี เมื่อ 3 วันก่อนหน้า กลุ่มสิทธิมนุษยชนแรงงานจีน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในนิวยอร์ก ระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า เหตุผลของการกระโดดตึกฆ่าตัวตายนี้ ยังไม่ชัดเจน
 
บริษัทฟ็อกซ์คอน ซึ่งผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนป้อนให้บริษัทโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ทั้งแอปเปิล โซนี และโนเกีย ถูกจับตามองอย่างหนัก หลังจากมีเหตุการณ์ฆ่าตัวตายและการก่อความวุ่นวายของแรงงาน ที่โรงงานในจีนตั้งแต่ปี 2553 โดยในปีดังกล่าว มีคนงานอย่างน้อย 13 คนของฟ็อกซ์คอนในจีน เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งนักเคลื่อนไหวระบุว่า เกิดจากสภาพการทำงานที่ตึงเครียด กระตุ้นให้มีเสียงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการทำงานและดูแลคนงานให้ดีขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ฟ็อกซ์คอนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ทางบริษัทก็ได้ขึ้นค่าแรงเกือบร้อยละ 70 ในโรงงานที่จีนเมื่อปี 2553
 
 
เหมืองทองแดงอินโดฯถล่มคนงานดับ 14 ศพ
 
20 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองทิมิกา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ว่า หน่วยกู้ภัยอินโดนีเซียพบผู้เสียชีวิตแล้ว 14 ศพ จากเหตุเหมืองทองแดงทางตะวันออกของประเทศถล่มลงมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
 
พันตำรวจโท เกเด สุเมอร์ตา จายา จากสำนักงานตำรวจจังหวัดปาปัว กล่าวว่า เหมืองทองแดง “เดอะ พีที ฟรีพอร์ต อินโดนีเซีย” พังถล่มลงมาเมื่อวันอังคารที่ 14 พ.ค. ฝังกลบคนงานทั้งเป็น 38 คน ในจำนวนนี้ 10 คน สามารถเอาชีวิตรอดออกมาได้ แต่ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่เบื้องล่างเป็นไปอย่างยากลำบาก ด้วยอุปสรรคจากสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยโขดหิน ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถกู้ศพออกมาได้เพียง 9 ศพเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่พบศพผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 5 ศพ แต่ประเมินว่า คนงานที่ยังติดอยู่เบื้องล่างอีก 14 คน อาจเสียชีวิตแล้วทั้งหมด เนื่องจากขาดทั้งอาหารและน้ำมาเกือบ 7 วันเต็ม ทว่าจะเดินหน้าค้นหาต่อไปจนกว่าจะพบผู้สูญหายครบทั้งหมด ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม
 
ด้านนายริชาร์ด แอ็ดเคอร์สัน ประธานบริษัทฟรีพอร์ต แมคโมแรน คอปเปอร์ แอนด์ โกลด์ อิงค์ ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองทองแดงที่เกิดเหตุ ประกาศจะให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกคนอย่างเต็มที่ ขณะที่ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน ผู้นำอินโดนีเซีย มีคำสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมถึงผู้บริหารบริษัทเหมืองทองแดงดังกล่าว เร่งสืบสวนหาสาเหตุและส่งรายงานโดยตรงมายังทำเนียบประธานาธิบดีด้วย
 
 
ชาวชิคาโก้ประท้วงแผนปิดโรงเรียน 54 แห่งเพื่อประหยัดงบ
 
20 พ.ค. 56 - ผู้ปกครอง นักเรียน และครู หลายร้อยคนในเมืองชิคาโก้ของสหรัฐ เดินขบวนประท้วงเป็นวันที่สองเมื่อวานเพื่อคัดค้านแผนการปิดโรงเรียน 54 แห่งเพื่อประหยัดงบประมาณ หลังประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณมหาศาล
 
คณะกรรมการบริหารการศึกษาเมืองชิคาโก้จะตัดสินใจในวันพุธนี้ว่าจะปิดโรงเรียน 54 แห่งหรือไม่ แต่บรรดาผู้ปกครอง นักเรียน และครูเริ่มชุมนุมประท้วงเป็นเวลา 3 วันตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อคัดค้านแผนการปิดโรงเรียนที่จะส่งผลกระทบต่อนักเรียนอย่างน้อย 50,000 คนในโรงเรียนประถม 53 แห่ง และโรงเรียนมัธยมอีก 1 แห่งในเขตเซาท์ไซด์สและเวสต์ไซด์ส
 
เมื่อวานนี้ผู้ประท้วงราว 150 คนเดินขบวนจากโรงเรียนประถมพาร์คแมน ไปยังโรงเรียนมัธยมไดเอ็ท และผ่านโรงเรียนประถมโอเวอร์ตัน หนึ่งในโรงเรียนซึ่งถูกสั่งปิด และอยู่ห่างไม่กี่ช่วงถนนจากสถานที่เกิดเหตุยิงกันเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งผู้ปกครองบอกว่า หากปิดโรงเรียน เด็กๆที่ต้องย้ายที่เรียน ก็จะต้องเดินผ่านเส้นทางอันตรายเพื่อไปโรงเรียนทุกวัน ผู้ประท้วงถือป้ายที่มีข้อความสนับสนุนโรงเรียนของเรา อย่าปิดโรงเรียน
 
จิทู บราวน์ ผู้ปกครองซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดการชุมนุมครั้งนี้บอกว่า ไม่มีทางที่โรงเรียนของรัฐจะดูแลความปลอดภัยของนักเรียนได้ถ้าต้องเดินทางผ่านเขตที่อันตรายแบบนั้น 
 
นอกจากนี้ระหว่างทางที่เดินขบวนนั้น ผู้ขับขี่รถยนต์หลายคันต่างบีบแตรสนับสนุนด้วย และในวันจันทร์นี้ ผู้ชุมนุมจะจบการประท้วงด้วยการเดินขบวนที่ดาลีย์ พลาซ่า ช่วงเวลา 16.30 น. นอกจากนี้สหภาพครูจะยื่นฟ้องต่อศาลในสัปดาห์นี้เพื่อคัดค้านการปิดโรงเรียนด้วย
 
 
ชาวฟิลิปปินส์ประท้วงไต้หวันทำร้ายแรงงานฟิลิปปินส์
 
22 พ.ค. 56 - แรงงานชาวฟิลิปปินส์เดินขบวนประท้วงไต้หวัน เพื่อต่อต้านการทำร้ายชาวฟิลิปปินส์ในไต้หวัน ขณะที่ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายกำลังตึงเครียด
 
กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานชาวฟิลิปปินส์ราว 50 คน รวมตัวชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานทูตไต้หวันในกรุงมะนิลา หลังมีรายงานว่า แรงงานชาวฟิลิปปินส์ในไต้หวันถูกทำร้ายหลายคน ภายหลังจากเกิดเหตุชาวประมงไต้หวันถูกหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา โฆษกของพรรคแรงงาน กล่าวว่า คนงานชาวฟิลิปปินส์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และว่า แรงงานอพยพทั่วโลกจะต้องได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายระหว่างประเทศ
 
อย่างไรก็ดี ทางการฟิลิปปินส์ได้ร้องขอให้ไต้หวันดูแลความปลอดภัยของชาวฟิลิปปินส์กว่า 85,000 คน ที่ทำงานในไต้หวัน ซึ่งประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ของไต้หวัน เรียกร้องให้อยู่ในความสงบ และรับปากจะดูแลให้
 
 
ตำรวจกัมพูชาปะทะคนงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า เจ็บ 23 คน
 
27 พ.ค. 56 - คนงานและผู้แทนสหภาพแรงงานกัมพูชา เปิดเผยว่า มีคนงานบาดเจ็บอย่างน้อย 23 คน ในวันนี้ หลังจากตำรวจใช้กระบองไฟฟ้าเข้าสลาย เพื่อยุติการประท้วงเรื่องค่าจ้างที่โรงงานแห่งหนึ่งที่ตัดเย็บเสื้อผ้าให้แก่บริษัทไนกี้ของสหรัฐ
 
ตำรวจพร้อมด้วยอุปกรณ์ปราบจลาจลถูกส่งไปสลายการชุมนุมของคนงานราว 3,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และปิดขวางถนนด้านนอกโรงงาน ซึ่งเป็นของบริษัท ซาบรีนา (กัมพูชา) การ์เมนต์ แมนูแฟคเจอริ่ง ในจังหวัดกำปงสปือ ทางตะวันตกของกรุงพนมเปญ ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานของบริษัท ซาบรีนาฯ กล่าวว่า ผู้บาดเจ็บมีทั้งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน และแท้งลูกหลังจากถูกผลักล้มลงบนพื้น คนงานเริ่มประท้วงตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้มีการจ่ายเงินเพิ่มให้แก่พวกเขาอีกเดือนละ 14 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นค่าเดินทาง ค่าเช่า และค่ารักษาพยาบาล
 
 
คนงานเหมืองในอินโดนีเซียที่เกิดอุบัติเหตุยังไม่ยอมกลับเข้าทำงาน
 
31 พ.ค. 56 - สหภาพแรงงานแถลงวันนี้ว่า พนักงานหลายพันคนที่เหมืองของบริษัทสหรัฐทางตะวันออกของอินโดนีเซียยังไม่ยอมกลับเข้าทำงานจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจสอบอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นในเหมืองเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา
 
บริษัทฟรีพอร์ต-แมคมอแรน เริ่มดำเนินงานบางส่วนที่เหมืองทองคำและทองแดงกลาสเบิร์กในจังหวัดปาปัวตั้งแต่วันอังคาร ภายหลังต้องปิดเหมืองนานเกือบ 2 สัปดาห์ จากเหตุผนังด้านบนอุโมงค์ถล่ม ทำให้คนงานเสียชีวิต 28 คน และช่วยเหลือออกมาได้ 10 คน
 
อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานซึ่งมีตัวแทน 18,000 คน จากพนักงานกว่า 24,000 คน ในเหมืองแถลงว่า พนักงานจะไม่กลับเข้าทำงานจนกว่าจะเสร็จสิ้นการสอบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐบาลและบริษัทต่างมีการสอบสวนอุบัติเหตุดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปถึงสาเหตุอุโมงค์ถล่มเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ในช่วงที่พนักงาน 38 คน กำลังฝึกอบรมด้านความปลอดภัยอยู่ในชั้นใต้ดิน คาดว่ากระบวนการสอบสวนจะกินเวลาประมาณ 1-2 เดือน
 
พานาโซนิคประกาศโล๊ะพนักงาน 5 พันตำแหน่ง-หลังขาดทุนกว่า 7 พันล้าน
 
31 พ.ค. 56 - บริษัท พานาโซนิค ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น ประกาศลดกำลังคนงานที่ผลิตสินค้าหลายรายการ ตั้งแต่ชิปความจำไปจนถึงระบบนำทางในรถยนต์ราว 5,000 ตำแหน่ง จากพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ราว 111,000 ตำแหน่ง ภายใน 3 ปี ในฝ่ายธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม หลังประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักบวกกับการแข่งขันสูงขึ้นทำให้รายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากพานาโซนิคเผยยอดขาดทุนสุทธิ 754,250 ล้านเยน (225,000 ล้านบาท) ในปีการเงินที่นับจนถึงเดือนมีนาคม 2556
 
'แอปเปิล' เลิกจ้าง 'ฟ็อกซ์คอนน์' หันหน้าซบพันธมิตรรายใหม่
 
31 พ.ค. 56 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 31 พ.ค. หลังจากมีข่าวว่าโรงงาน ฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิตและประกอบสินค้าให้กับ แอปเปิล บริษัทไอทีรายใหญ่ของโลกสัญชาติสหรัฐฯ ต้องการยุติการทำธุรกิจด้วย ล่าสุด แอปแปิล เป็นฝ่ายเพิกถอนการว่าจ้างกับ ฟ็อกซ์คอนน์ ก่อน โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับปัญหาของโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน 
 
ทั้งนี้ แอปเปิล หันหน้าไปเกี่ยวก้อยกับบริษัท เพกาทรอน เทคโนโลยีแทน ซึ่งวอลสตรีทเจอร์นัล ระบุว่า เพกาทรอนและได้เริ่มสายการผลิต  iPad Mini และ iPhone รุ่นใหม่ไปแล้ว และอาจรวมถึง iPhone ราคาประหยัด ที่คาดว่าจะเปิดตัวในปลายปีนี้ด้วย นอกจากนี้สื่อยังรายงานด้วยว่า แอปเปิล และ ฟ็อกซ์คอนน์ เป็นคู่ค้ากันมาต่อเนื่องยาวนาน แต่เหตุบกพร่องเกี่ยวกับการผลิต iPhone 5 ทำให้ แอปเปิล ตัดสินใจเปิดใจรับพันธมิตรรายใหม่
 
อย่างไรก็ดี บรรดานักวิเคราะห์มองด้วยว่า ค่าแรงของฟ็อกซ์คอนน์นั้นปรับสูงขึ้น เพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตและการทำงาน ขณะที่เพกาทรอน ยังคงยอมรับผลกำไรที่น้อยกว่าได้ นอกจากนี้ ฟ็อกซ์คอนน์ ยังแอบรำคาญ แอปเปิล อยู่เนืองๆ ด้วย อย่างเช่นการเปลี่ยนชิ้นส่วนโดยไม่แจ้งล่วงหน้า และไม่ปลื้มความจุกจิกยุ่งยากของผลิตภัณฑ์แอปเปิล เป็นต้น.
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ประชาไท, สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, โพสต์ทูเดย์, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐ, เดลินิวส์, ไอเอ็นเอ็น, ครอบครัวข่าว, คมชัดลึก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิวยอร์กไทมส์: คราบการปกครองของทหารยังปรากฎในโรงเรียนไทย

$
0
0
วางความคิดเรื่องเมืองไทย ดินแดนแห่งการท่องเที่ยว ไนท์คลับเลื่องชื่อ และชีวิตเรื่อยเปื่อยแสนสบายที่คุณคุ้นเคยลงสักครู่ 
 
สำหรับนักเรียนไทยทั้งหลาย ชีวิตในโรงเรียนหาได้หอมหวานเช่นนั้น โรงเรียนไทยสำหรับนักเรียนส่วนมากคิอแดนสวรรค์ของจ่าฝึกทหารใหม่ มันมีธรรมเนียมปฏิบัติเยี่ยงทหารที่มีรากหยั่งลึกถึงยุคสมัยเผด็จการครองอำนาจ ระเบียบวินัยและการบังคับให้นอบน้อมยินยอมยังคงอยู่เรื่อยมา
 
ในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งย่านชานเมืองกรุงเทพ ครูหลายคนกวัดแกว่งไม้เรียวไผ่ไปมา พลางตำหนิทรงผมยาวที่ผิดระเบียบ และสั่งให้กร้อนผม ณ ที่นั้นในทันที นักเรียนโดนตรวจสอบความสะอาดของเล็บ สีของถุงเท้า หรือการทำผิดระเบียบอื่นใดของกฏเครื่องแต่งกายโรงเรียน
 
“โดยระดับพื้นฐานแล้ว นักเรียนทุกคนต้อง(แต่งกาย)เหมือนกันทั้งหมด” ครูอรุณ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ระหว่างที่เธอดูแลการเข้าแถวเคารพธงชาติ ของเหล่านักเรียนที่มีทรงผมเกรียน (นักเรียนห้ามย้อมผม) ร้องเพลงชาติ สวดมนต์ไหว้พระในศาสนาพุทธ สาบานว่าจะสละชีพเพื่อชาติและกษัตริย์ และสัญญาว่าจะ ”ไม่ก่อปัญหา” 
 
อย่าไรก็ดี เมื่อม่านหมอกของมรดกเผด็จการทหารจางลง นักเรียนบางคนก็ยืนหยัดขึ้นต่อต้านระบบที่ต้องการ การเชื่อฟังโดยไม่มีเงื่อนไขนี้ และบางคนก็ประสบความสำเร็จ พวกเขามีพันธมิตรในรัฐบาลที่ต้องการลดบทบาท(วัฒนธรรม) ทหารในชีวิตพลเรือนลงเช่นกัน เหล่านักเรียนและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาของประเทศอย่างกว้างขวาง
 
เมื่อปลายปีที่แล้ว นักเรียนมัธยมที่มีความคิดอิสระคนหนึ่ง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ซึ่งใช้ชื่อเล่นว่าแฟรงค์  ได้ริเริ่มตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อลบล้างระบบการศึกษาเยี่ยงโรงงานของประเทศ เขาและกลุ่มเพื่อนที่เห็นพ้องกันได้ตั้ง สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฎิวัติระบบการศึกษาไทย และเคลื่อนไหวผ่านเฟสบุ๊ก กลุ่มของแฟรงค์ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเมื่อได้ออกรายการเรทติ้งสูงรายการหนึ่งทางโทรทัศน์ของไทย 
 
“โรงเรียน(ทุกวันนี้) เหมือนโรงงานปั้มนักเรียนให้ออกมาเป็นพิมพ์เดียวกันทุกคน” แฟรงค์ให้สัมภาษณ์กับเราในเช้าวันหนึ่ง ที่โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โรงเรียนเดียวกันกับ ครูอรุณ วันเพ็ญเป็นรองผู้อำนวยการ
 
แฟรงค์อธิบายถึงคุณครูในโรงเรียนว่าเป็นเหมือน ”เผด็จการ” ที่คอยสั่งให้นักเรียน “เคารพ เคารพ และเคารพ” และอย่าได้คิดคัดค้านเป็นเด็ดขาด
 
สารของกลุ่มสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฎิวัติระบบการศึกษาไทย ได้รับการตอบรับ (จากผู้มีอำนาจตัดสินใจ) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณพงษ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา เห็นพ้องด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่ม คุณพงษ์เทพได้สัญญาจะให้เด็กนักเรียนไทยมีเสรีภาพในการใว้ผมมากชึ้น นอกจากนี้ยังได้เสนอให้มีลดการเรียนด้วยการท่องจำให้น้อยลง และเพิ่มการถกปัญหาอย่างวิเคราะห์วิจารณ์มากขึ้น.
 
“เราไม่ต้องการนักเรียนที่เป็นสำเนาจากต้นแบบเหมือนๆ กันหมด โดยเฉพาะต้นแบบที่ทำได้แค่ตามคำสั่งเท่านั้น” คุณพงษ์เทพกล่าวในการสัมภาษณ์ “เราไม่ต้องการให้เด็กทำสำเนาความรู้แล้วเอาไปเก็บในหัว เราอยากให้เขาเป็นปัจเจกชนที่ใช้เหตุผลในการคิด
 
ท่าน รมว. เสนอให้นักเรียนทำการบ้านน้อยลง และใช้แผนวิชาการที่เน้นการฝึกภาษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ท่านกล่าวว่า ในยุคของวิกิพีเดีย มันไม่มีเหตุผลอะไรที่เด็กจะต้องจำชื่อแม่น้ำอะไรสักอย่างในอัฟริกา หรือท่องข้อมูลคลุมเครือที่ไม่มีความสำคัญ เหมือนที่เขาเองเคยต้องทำในวัยเด็ก
 
คุณพงษ์เทพ อดีตผู้พิพากษาที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน กล่าวว่าการสนับสนุนให้เด็กสร้างข้อคิดเห็นของตัวเองและรู้จักศาสตร์และศิลป์ของการโต้วาที เป็นเรื่องดีต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศที่ปัจจุบันก็อยู่อย่างกระท่อนกระแท่นมากว่า 8 ทศวรรศแล้ว 
 
“หากนักเรียนไม่รู้จักออกความคิดเห็นในห้องเรียนแล้ว เขาจะรู้จักใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของเขาในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร?” 
 
ต้นปีนี้ ท่าน รมว. ได้ประกาศว่าเขาจะอลุ่มอล่วยเรื่องความยาวผม ซึ่งมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญ เพราะเป็นกฏที่ตั้งขึ้นมาโดยคณะรัฐบาลทหารในปี 2515 ซึ่งบังคับให้ความยาวผมของนักเรียนหญิงไม่เลยติ่งหู และนักเรียนชายต้องไถหัวด้านข้างให้เกลี้ยงเหมือนนักเรียนทหาร กฏใหม่นี้กำลังอยู่ในวาระพิจารณาจากที่ประชุม ครม. 
 
“เราต้องการให้เด็กโตขึ้นเป็นคนมีเหตุผล แล้วเราจะบอกจะสอน ให้เด็กทำอะไรโดยไม่มีเหตุผลได้อย่างไร?”
 
การเปลี่ยนแปลงนี้กระเทือนไปถึงหัวใจของระบบการศึกษาของประเทศ การเรียนเป็นเวลายาวนานและอย่างเข้มงวดเป็นปัจจัยหนึ่งของ “ปาฏิหารย์แห่งเอเชียตะวันออก” ที่ประเทศไทยพยายามอย่างหนักที่จะเลียนแบบเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจของเอเซีย
 
อย่างไรก็ดี คุณพงษ์เทพกล่าวว่า ภาระเกินตัวนี้ ตกไปอยู่กับเด็กไทย และแม้แต่รายงานผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก็ทำให้เห็นว่ายังต้องปรับปรุงอีกมาก คะแนนสอบทั่วประเทศตกต่ำลงเรื่อยๆ นักเรียนไทยโดยรวมอยู่อันดับ 52 ในโครงการวัดผลนักเรียนโลก (Program for International Student Assessment) ซึ่งเป็นมาตรฐานการวัดผลในระดับโลก ซึ่งอันดับนี้อยู่ต่ำกว่ามาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่มความร่วมมือทางการค้าและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development) (นักเรียนเซี่ยงไฮ้และสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับในตามข้อมูลปี 2552)
 
ผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงบอกว่าเนื้อหาวิชาการเรียนในตอนนี้มีเนื้อหาที่เน้นการท่องจำมากไป ไม่มีช่องให้นักเรียนคิดด้วยตัวเอง
 
“ผมได้พูดมานานมากแล้วว่า (ภายใต้ระบบปัจจุบัน)คุณยิ่งเรียน คุณยิ่งโง่” คุณสมพงษ์ จิตระดับ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา และคณะกรรมการปรับปรุงเนื้อหาวิชาการของกระทรวงศึกษาธิการกล่าว “ที่เด็กเราทำคือท่องจำ ไม่มีการคิดอย่างวิพากษ์ ไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิด”
 
คุณสมพงษ์กล่าวว่าแรงต่อต้านส่วนใหญ่มาจากข้าราชการ  เพราะการปฏิรูปเนื้อหาเป็นเรื่องใหญ่และลำบาก นอกจากนั้น เนื้อหาใหม่ยังต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์อีกหลายครั้งก่อนจะได้รับการยอมรับ
 
ในกรณีเรื่องเครื่องแต่งกายและทรงผมนั้น ขณะนี้ก็มีสัญญาณมาบ้างแล้วว่าผู้บริหารโรงเรียนบางส่วนอาจไม่เชื่อฟังคำสั่งของกระทรวง ครูอรุณ รองผู้อำนวยการที่เข้มงวดได้บอกเราว่า เขาอาจเลือกที่จะไม่สนใจกฎกระทรวงหากเขาเห็นว่ามันเบาเกินไป ท่านรอง และผู้สนับสนุนกล่าวว่ากฏเหล่านี้จำเป็นต่อการต่อต้านพิษภัยทางสังคมที่กำลังเกาะกุมเยาวชนในประเทศไทย เช่น ยาเสพย์ติด และการตั้งครรภ์ในวัยเรียน และการยกพวกตีกัน
 
“รัฐบาลมีนโยบายของเขา แต่เราเป็นนักปฏิบัติ” ท่านรอง อรุณบอก “ถ้าทางรัฐออกนโยบายออกมาใหม่ เราก็จะดูว่าอันไหนเหมาะกับสถาณการณ์ของเรา และจะรับอันที่เหมาะสมมาปฏิบัติ” 
 
ท่านรอง อรุณสรุปว่า “ทหารเขามีปืน ครูเรามีไม้เรียว บางทีเราก็ต้องตีเด็กบ้าง แต่แค่ที่บั้นท้ายเท่านั้น”   
 
ในขณะที่ผู้ที่สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด เห็นจะเป็นเหล่านักเรียน
 
“เด็กนักเรียนไม่มีโอกาสหาความรู้ใส่ตัวเองด้วยตัวเอง” นายจิรพัฒน์ ฮ้อแสงไชย วัย 16 สมาชิกกลุ่มสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฎิวัติระบบการศึกษาไทยบอก ”พวกเขาแค่รอให้(ครู) มาป้อนความรู้ให้เท่านั้น”
 
กลุ่มสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฎิวัติระบบการศึกษาไทยมีสมาชิกที่แก่กล้าเกินวัย และนิยมการโต้เถียง หนึ่งในสมาชิกชอบโต้แย้งเว็บไซต์วิทยาศาสตร์ด้วยการเถียงเรื่องความน่าเชื่อถือของทฤษฎีการวิวัฒนาการ  และวิจารณ์คนโพสท์กระทู้ว่าไม่มีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ส่วนอีกคนเคยแฮคเวบกระทรวงศึกษาธิการมาแล้ว และขณะนี้กระทรวงก็จ้างให้เขาช่วยปรับปรุงความปลอดภัยของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
 
นส.นัชชา พิบูลย์วัฒนา วัย 16 หนึ่งในสมาชิกหญิงไม่กี่คนในกลุ่มบอกว่าเธอมีจุดหมาย 2 ประการ หนึ่งคือเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา สองคือสนับสนุนให้เด็กหญิงของไทยที่โดนฝึกมาให้อ่อนน้อมว่าง่าย ให้มีความกล้ามากขึ้น
 
“เด็กผู้หญิงคิดตามกรอบมากไป“ หญิงสาวพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล ผมของเธอโดนรวบด้วยโบว์สีน้ำเงินอันใหญ่ “พวกเราเรียนเก่งกันทั้งนั้น แต่หนูอยากให้ทุกคนรู้ว่ายังมีโลกทั้งใบอยู่นอกโรงเรียน” 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์

$
0
0
"..วิธีที่จะเอาใจ คุณจะเอาใจขวาจัดก็ได้ เอาใจซ้ายจัดก็ได้ คนที่ไปชุมนุมกันเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ประชานิยมชัดๆ เลยนะครับ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพนับถือในประเทศไทย ในหมู่ประชาชนกว้างขวางมาก แต่ไม่ค่อยมีใครพูดว่า พวกเสื้อเหลืองก็ประชานิยม ขวาจัดก็ได้ ซ้ายจัดก็ได้ เผด็จการก็ได้ ประชาธิปไตยก็ได้ ได้หมดทุกอย่างตราบเท่าที่คุณเอาใจประชาชนเพื่อการสนับสนุน.."
 
30 พ.ค.56, อธิบายถึง "การเอาใจประชาชน" ซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะของ "ประชานิยม" ในงานนเสวนาสาธารณะ “คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง”

อภิชาตพงศ์เสนอ คว่ำกม.เซ็นเซอร์หนัง ตั้ง "สภาภาพยนตร์"

$
0
0

ผู้กำกับหนังเมืองคานส์ เสนอโมเดล ตั้งสภาภาพยนตร์ ให้อุตสาหกรรมคนทำหนังและโรงภาพยนตร์กลั่นกรองกันเอง คนทำหนังพ้อ ภาพยนตร์ตกขอบของสื่อที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ นักกฎหมายชี้ ภาพยนตร์เป็นสื่อเดียวที่ยังต้องถูกตรวจ “ก่อน” การนำเสนอ

1 มิ.ย. 56 สาขาวิชาการภาพยนตร์ วีดีทัศน์ ม.เกษมบัณฑิต สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย มูลนิธิหนังไทย และ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดงานเสวนาเรื่อง "สิทธิหนังไทย: ฐานะสื่อและการกำกับดูแล" ณ ห้อง Auditorium ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ กล่าวถึง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ. 2551 ฉบับปัจจุบัน ซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับคนวงการภาพยนตร์เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำระบบเรตติ้งมาใช้ แต่กลับติดปัญหาว่ายังคงมีระบบการแบนภาพยนตร์อยู่ โดยที่ผ่านมา มีภาพยนตร์ที่โดนแบนไปสามเรื่อง คือ Insects in the Backyard เชคสเปียร์ต้องตาย(Shakespeare Must Die)และ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ที่เดิมมีคำสั่งแบน แต่ได้รับแจ้งในภายหลังว่าให้ฉายได้แต่ต้องตัดบางส่วนของภาพยนตร์ออกไป

 

ปรับทุกข์ แลกประสบการณ์การโดนเซ็นเซอร์

นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับฟ้าต่ำแผ่นดินสูง กล่าวถึงเหตุการณ์การแบนภาพยนตร์ของเขาว่า ภาพยนตร์ของเขามีเนื้อหาเกี่ยวกับเขาพระวิหาร เมื่อส่งภาพยนตร์เข้าตรวจพิจารณาในแผนกดีวีดี ผลการพิจารณาออกมาว่าห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย เมื่อถามเจ้าหน้าที่ว่ามีปัญหาตรงไหน เจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่า “ก็มีปัญหาทั้งเรื่อง”

จากนั้นเขาก็โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าภาพยนตร์ของเขาถูกแบน ปรากฏว่ามีกระแสสนใจและนำไปสู่การเสนอข่าวทั่วโลก สองวันต่อมา ทางคณะกรรมการภาพยนตร์โทรศัพท์มาแจ้งว่าขอโทษในความผิดพลาด เพราะขั้นตอนที่ถูกต้องนั้นจะต้องเรียกคนทำภาพยนตร์เข้ามาชี้แจงก่อน และก็แจ้งเขาว่า ภาพยนตร์ของเขามีฉากที่เป็นปัญหา คือ ฉากงานปีใหม่ที่ราชประสงค์ ในฉากชวนคนเคาท์ดาว์นและผู้ประกาศบอกว่า มาร่วมเฉลิมฉลองให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนนทวัฒน์ยอมที่จะดูดเสียงตรงนี้ไป

"ผมกลัวว่าถ้าไม่ยอมดูดเสียง หนังผมจะถูกแบน และอาจถูกดึงไปเกี่ยวข้องในเรื่องอื่นๆ" นนทวัฒน์กล่าว

ด้านพันธ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องไอ้ฟักเล่าประสบการณ์ที่เคยมีกับการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์เช่นกันว่า หนังเรื่องไอ้ฟักที่เขาทำ เขาเขียนบทให้ไอ้ฟักรักกับสมทรงแล้วแต่งงานกัน แต่ไอ้ฟักก็ไม่ยอมจะมีเซ็กส์กับสมทรงเพราะเป็นเมียพ่อ พอยื่นหนังให้คณะกรรมการฯ ตรวจ ก็ได้รับแจ้งว่า ให้ตัดฉากที่สมทรงทายาหม่องให้ไอ้ฟัก โดยคณะกรรมการฯให้เหตุผลว่า ฉากดังกล่าวดูแล้วเกดอารมณ์ทางเพศ ซึ่งพันธ์ธัมม์บอกว่า ตัดไม่ได้ เพราะผมต้องการให้เกิดอารมณ์ทางเพศ

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย

ด้านธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เล่าประสบการณ์ว่า กรณีการแบนที่พบมาต่างจากกรณีเช็คสเปียร์ต้องตายและกรณีฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เพราะไม่มีโอกาสได้ชี้แจงเหตุผล มีแต่เจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาถามว่า "จะตัดไหมคะ จะตัดไหม" เมื่อถามว่าจะให้ตัดตรงไหนก็ได้รับคำตอบว่า ก็ทุกตรงที่มันผิดศีลธรรม สุดท้ายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ก็ถูกแบน และนำไปสู่การฟ้องศาลปกครอง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฎหมายจาก iLaw กล่าวถึงประเด็นหนึ่งในการฟ้องศาลปกครองว่า คณะกรรมการภาพยนตร์จะใช้คำสั่งลอยๆ เพียงว่า ภาพยนตร์นั้นมีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรม จึงสั่งไม่อนุญาตให้ฉายไม่ได้ แต่ต้องระบุเหตุผลให้ชัดเจน ปัจจุบันคดีผ่านมาสามปี แม้ยังไม่มีคำพิพากษาแต่ความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเห็นได้คือ พบว่าคณะกรรมการภาพยนตร์ได้ทำงานตามขั้นตอนมากชึ้น เช่น ก่อนพิจารณามีการเรียกตัวแทนคนทำภาพยนตร์เข้าไปชี้แจง และมีการออกคำสั่งโดยละเอียด ดังที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์เรื่องเช็คสเปียร์ต้องตายและฟ้าต่ำแผ่นดินสูง

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ต้านเซ็นเซอร์ คนทำภาพยนตร์ต้องรวมพลัง

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ และตัวแทนกลุ่ม Free Thai Cinema เล่าถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Free Thai Cinema ว่าเมื่อ 4-5 ปีก่อนหน้านี้ หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษของเขาถูกตัด ก็มีการเคลื่อนไหวในกลุ่มคนทำภาพยนตร์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การรณรงค์ก็แผ่วเบาลงไป มันทำให้เห็นความอ่อนแอว่าเราไม่ได้สนใจสังคมที่เราอยู่เลย จนทุกวันนี้ พอเกิดการแบนหนังครั้งหลัง เราก็มารวมกลุ่มและรณรงค์กัน ซึ่งการเคลื่อนไหวมันก็ซ้ำรอย มันเดจาวูมาก

รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาภาพยนตร์ วีดิทัศน์ ม.เกษมบัณฑิต กล่าวว่านับแต่อดีตจนปัจจุบัน ภาพยนตร์ไทยเหมือนถูกคุมกำเนิดอยู่ตลอดเวลา ตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2540 วงการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ต่อสู้กันอย่างเต็มที่ให้ตื่นตัวเรื่องเสรีภาพสื่อ แต่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทย สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์ไม่มีใครสนใจ

"พวกเรา ผู้สร้างภาพยนตร์ควรต้องรวมพลังกันหน่อยไหม อาจจะรวมพลังต้องการที่จะพูดหรือแสดงออก ซึ่งมันจะไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว หลายท่านบอกว่า ผมพูดมาซ้ำๆ ซากๆ ก็ไม่เห็นเกิดผล แต่สิ่งเหล่านี้มันจำเป็นที่จะต้องพูดกันไป" รศ.บรรจง กล่าว

อภิชาติพงศ์กล่าวว่า มันมีภาวะที่น่ากลัว คือ ภาวะของการสมยอมของคนทำงาน อย่างในหนังเรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูงหรือเช็คสเปียร์ต้องตาย ที่คนทำหนังจะไปสู่ว่าเราไม่ได้ทำหนังเข้าข้างใครหรือเราเป็นกลาง เขาเห็นว่าในแง่การให้เหตุผล คนทำหนังต้องไม่ใช้เทคนิคการปรองดอง ซึ่งมันเป็นเทคนิคของรัฐบาล ดังนั้น ไม่ต้องแก้ตัว เราไม่ต้องหน่อมแน้มกับเขา ถ้าผมไม่เป็นกลางก็ต้องมั่นใจว่าไม่เป็นกลาง ถ้าสังคมมันจะแตกแยกก็ต้องแตกแยก อย่างไรก็ดี การควบคุมภาพยนตร์ก็ยังมีความจำเป็นในกรณีการปกป้องเด็กและเยาวชน

 

"ภาพยนตร์" ก็เป็น "สื่อ" ไม่ควรต้องส่งตรวจก่อนออกฉาย

ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่ององก์บาก เล่าถึงกระบวนการเคลื่อนไหวจนมาถึงพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ที่สู้เรื่องระบบเรตติ้ง แต่ทำไปทำมาก็ยังมีระบบแบนอยู่ ซึ่งแม้ในรัฐธรรมนูญจะรับรองเสรีภาพสื่อไว้ แต่ในนิยามก็ไม่ได้รวมถึงภาพยนตร์ว่าเป็นสื่อ เขากล่าวว่าตรงนี้มันเหมือนเป็นอุบัติเหตุแค่นิดเดียวเองที่ทำให้ภาพยนตร์ไม่ถูกรวมอยู่ในสื่อที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐก็ทำตามตัวอักษร มันแค่ไม่มีคำว่า "ภาพยนตร์" ในมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฎหมายจาก iLaw

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw กล่าวถึงรัฐธรรมนูญที่กำหนดคุ้มครองสื่อว่า “การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้” จากท่อนนี้ของกฎหมายก็กำหนดชัดแล้วว่ารัฐธรรมนูญคุ้มครองสื่อจำพวกหนังสือพิมพ์ แต่ยังคลุมเครือในกรณีที่เป็นสื่อภาพยนตร์ ไม่เพียงเท่านั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรค 5 ให้การคุ้มครองไว้ว่า การตรวจเนื้อหาของสื่อ “ก่อน” นำเสนอเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เลย แต่ปัจจุบัน ภาพยนตร์เป็นสื่อเพียงประเภทเดียวที่ยังคงต้องส่งให้รัฐพิจารณาก่อนออกฉาย ซึ่งนี่เป็นปัญหาเชิงเทคนิคทางภาษากฎหมาย หากภาพยนตร์ถูกจัดเป็นสื่อแล้ว การส่งให้ตรวจก่อนก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เลย

เขากล่าวว่า ถ้าจะแก้ไขกฎหมายยังสามารถทำได้ผ่านกระบวนการเสนอกฎหมายภาคประชาชนที่อาจใช้วิธีระดมหนึ่งหมื่นชื่อ และหากอยากให้ภาพยนตร์เป็นสื่อ ก็อาจแก้ไขโดยเพิ่มนิยามของคำว่าภาพยนตร์ ว่าเป็นสื่อมวลชนได้เช่นกัน

 

ยกเครื่อง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ เสนอตั้งสภาภาพยนตร์

รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ นักวิชาการด้านภาพยนตร์ จาก ม.เกษมบัณฑิต กล่าวว่า ตอนนี้พ.ร.บ.ฉบับนี้กลายเป็นล็อกสองชั้น คือมีทั้งเรตติ้งและเซ็นเซอร์ แต่ยังไงก็ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับนี้ไม่มีประโยชน์อะไร สามารถยกเลิกได้เลย เพราะถ้ากลัวคนทำหนังโป๊ หรือทำเรื่องกระทบต่อความมั่นคง แม้ไม่มีพ.ร.บ.ภาพยนตร์เราก็ทำไม่ได้อยู่ดี เพราะมีประมวลกฎหมายอาญากำหนดอยู่

ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทย

ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากเป้าหมายของการแก้ไขพ.ร.บ.ภาพยนตร์คือ การตัดมาตรา 29 ที่กำหนดอำนาจให้คณะกรรมการภาพยนตร์สั่ง “ไม่อนุญาตให้ฉาย” ภาพยนตร์ได้ แต่กลวิธีในการตัด ไม่ใช่แค่การยื่นข้อเสนอ เพราะถ้าทำแบบนั้น สุดท้ายคณะกรรมการกฤษฎีกาก็คงไม่ยินยอม แต่ต้องหาวิธีเช่น หาคนที่สามารถเข้าถึงแล้วเจรจากับประธานกรรมการกฤษฎีกาชุดที่จะพิจารณากฎหมายฉบับนี้ได้

เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ และตัวแทนกลุ่ม Free Thai Cinemaก็รำพึงว่า "วิธีดังกล่าว "ไทย" มากเลย" และเสนอว่า สิ่งที่เราต้องการคือ เลิกระบบเดิม ที่ปัจจุบันคณะกรรมการภาพยนตร์มีทั้งหมด 7 คน มี 4 คนจากภาครัฐ 3 คนจากภาคอุตสาหกรรม ควรเปลี่ยนใหม่แล้วมาใช้องค์กรอิสระด้านภาพยนตร์แทน เช่น เป็นสมาคมวิชาชีพดูแลกันเอง

อภิชาติพงศ์ กล่าวว่า ทางกลุ่ม Free Thai Cinema เห็นปัญหาถึงความไม่โปร่งใสของการแต่งตั้งคณะกรรมการ และการคัดสรรของกระทรวงวัฒนธรรมก็เอาข้าราชการเกษียญอายุแล้วมาอยู่ในโควต้าของภาคเอกชน ซึ่งเป็นระบบพวกพ้องและละเลยเจตนารมณ์ของกฎหมายไป

อภิชาติพงศ์เสนอว่า เราควรมีสภาภาพยนตร์ โดยให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ดูแลกันเองเหมือนสมาคมวิชาชีพสื่อแบบอื่นๆ หรือเหมือนแบบที่อเมริกา โดยสภาจะทำหน้าที่ "แนะนำ" การใช้เรท ซึ่งสุดท้ายแล้วคนทำภาพยนตร์จะไม่เชื่อตามเรทนั้นก็ได้

ด้านปรัชญา ปิ่นแก้ว เล่าว่ากรณีละครเหนือเมฆ 2 ที่ถูกเซ็นเซอร์ตอนจบนั้น เป็นรูปแบบที่ทางช่องเซ็นเซอร์เอง แล้วก็จะเห็นว่าสังคมมันจัดการกันเอง เวลามีการแบนก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งนี่เป็นตัวอย่าง กรณีภาพยนตร์ก็ควรเป็นอย่างนั้น

 

ที่มา : โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) http://ilaw.or.th/node/2792

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images