Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50704 articles
Browse latest View live

ศาลสรุปช่างภาพอิตาเลียนตายจากกระสุนฝั่งทหาร

0
0
ศาลอาญากรุงเทพฯ ใต้สรุปการไต่สวนสาเหตุการตายฟาบิโอ โปเลนยี ช่างภาพอิตาเลียนที่ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายชุมนุมเสื้อแดง พ.ค. 53 ว่าทิศทางของกระสุนมาจากฝั่งของทหาร แต่ระบุยังไม่ทราบใครเป็นคนกระทำ

 
29 พ.ค. 56 - ห้องพิจารณาคดี 602 เวลา 9.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ สรุปการไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ การเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพชาวอิตาลี ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) บริเวณแยกศาลาแดงถึงราชประสงค์ โดยสรุปว่านายฟาบิโอเสียชีวิตจากกระสุนที่มาจากฝั่งทหาร อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่า ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ 
 

เอลิซาเบ็ตต้า โปเลนยี น้องสาวฟาบิโอ โปเลนยี พร้อมด้วยมารดา ลาวร่า คิโอริ และพี่สาว อาเรียนนา โปเลนยี
เดินทางมาจากอิตาลีเพื่อร่วมรับฟังคำสั่งศาลที่ศาลอาญากรุงเทพใต้
 
ด้านทนายความของญาติผู้เสียชีวิต นายคารม พรพลกลาง กล่าวว่ารู้สึกค่อนข้างพอใจกับผลที่ออกมาในวันนี้ เนื่องจากหลักฐานต่างๆ เช่น วิถี หรือลักษณะของกระสุน ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าน่าจะเป็นกระสุนจากเจ้าหน้าที่ทหาร และกล่าวว่าจะดำเนินการฟ้องร้องในขั้นต่อไปในอนาคต ในขณะที่เอลิซาเบ็ตต้า โปเลนยี น้องสาวของผู้เสียชีวิต กล่าวว่าค่อนข้างพอใจกับผลที่ออกมา ส่วนขั้นต่อไปจะทำอะไรต่อต้องปรึกษาครอบครัวก่อน 
 
ในวันนี้ เวลา 19.00 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ถ.เพลินจิต จะมีการแถลงข่าวโดยเอลิซาเบ็ตต้า โปเลนยี และนายชอวน์ คริสปิน ตัวแทนจากคณะกรรมการเพื่อพิทักษ์นักข่าว (Committee to Protect Journalists) ต่อคำสั่งของศาลในคดีดังกล่าวด้วย
 
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว หรือ คดีหมายเลขดำที่ ช.10/2555 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ชันสูตรการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพชาวอิตาลี เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 55 เพื่อทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
 

0000

คำสั่งชันสูตรพลิกศพ นายฟาบิโอ โปเลงกี
คดีหมายเลขดำที่ ช.10/2555
(เอกสารสรุปโดยศาลอาญากรุงเทพใต้)
 
วันนี้ เวลา 9 นาฬิกา ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำสั่งใต่สวนชันสูตรพลิกศพกรณีการถึงแก่ความตายของนายฟาบิโอ โปเลงกี (Fabio Polenghi) ระหว่างการชุมนุมที่บริเวณถนนราชดำริ
 
คดีสืบเนื่องจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ศาลใต่สวนชันสูตรพลิกศพการตายของนายฟาบิโอ โปเลงกี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลากลางวัน ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ขอให้ศาลทำการใต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 
 
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและมารดาผู้ตายแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งใช้ชื่อว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ แต่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธคำเรียกร้อง กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติจึงมีการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังแยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จึงได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและอีกหลายพื้นที่ นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งที่พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ และมีข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการและคำสั่งที่พิเศษ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และได้มีการออกข้อกำหนดโดยประกาศของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามการชุมนุม การยุงยงให้เกิดความไม่สงบ ประกาศการห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามใช้ยานพาหนะ รวมทั้งงดการให้บริการสาธารณูปโภค เช่น การตัดน้ำตัดไฟ ลดการใช้เรือโดยสารสาธารณะ และรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ 
 
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลา 5.45 น. ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินมีคำสั่งให้ทหารกองพันทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ซึ่งเป็นหจ้าพนักงานเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี ตั้งแต่แยกศาลาแดงจนถึงแยกราชดำริ และใช้รถสายพานลำเลียงในการเข้าทำลายแนวกั้นของผู้ชุมนุม เจ้าพนักงานดังกล่าวมีอาวุธปืนประจำกาย ได้แก่ อาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม 16 อาวุธปืนเล็กนาวแบบ 11 (HK 33) อาวุธปืนลูกซอง และอาวุธปืนพก โดยได้รัคำสั่งให้ใช้กระสุนปืนจริงและกระสุนปืนซ้อมรบกับอาวุธปืนลูกซอง ส่วนอาวุธปืนเล็กยาวให้ใช้แต่เพียงกระสุนปืนซ้อมรบเพียงอย่างเดียว ระหว่างที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่และเคลื่อนเข้ากระชับพื้นที่นั้น ได้มีนักข่าวซึ่งรวมผู้ตาย เข้าไปทำข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเหตุการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น กลุ่มผู้ขุมนุม นักข่าว และผู้ตายได้วิ่งหลบหนีจากแยกราชดำริไปยังแยกราชประสงค์ เมื่อผู้ตายวิ่งมาถึงบริเวณเกาะกลางถนนหน้าบริษัทสายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด ปรากฎว่าผู้ตายถูกยิงล้มลง จากนั้นมีคนนำผู้ตายไปส่งที่โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาล 
 
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร เห็นว่า ผู้ร้องมีพยานปากนักข่าวในประเทศและต่างประเทศเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่าเห็นผู้ตายถูกยิงล้มลงขณะที่วิ่งหลบหนีไปทางเยกราชประสงค์ระหว่างที่เจ้าหนักงานกำลังเคลื่อนมาจากแยกศาลาแดง พยานทั้งสองปากเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยานผู้เขี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนปืนยิงมาจากทางเเยกศาลาแดงซึ่งเป็นทิศทางที่เจ้าพนักงานกำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จนถึงแยกราชดำริ อีกทั้งแพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายและผู้แปลผลการชันสูตรพลิกศพยังเบิกความสอดคล้องต้องกันโดยสรุปว่าบาดแผลของผู้ตายน่าจะเป็นบาดเเผลที่เกิดจากกระสุนปืนที่ยิงออกมาจากอาวุธปืนที่มีความเร็วสูง เมื่อไม่ปรากฎจากการไต่สวนว่ามีบุคคลอื่นเข้ามาก่อเหตุใดๆ ทั้งกระสุนปืนที่เจ้าพนักงานใช้ประจำการในการเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุเป็นกระสุนปืนขนาด .223 ที่ใช้กับอาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม 16 และอาวุธปืนเล็กยาวแบบ 11 (HK 33) ที่มีประสิทธิภาพในการยิงวิถีไกลและมีความเร็วสูง และได้ความจากนักข่าวต่างประเทศ พยานมารดาผู้ตาย ว่าในขณะเกิดเหตุพยานได้วิ่งไปทิศทางเดียวกับผู้ตายและถูกยิงด้วยกระสุนปืนในบริเวณใกล้เคียงกับผู้ตายที่บริเวณด้านหลังข้างขวาและกระสุนปืนฝั่งใน
 
ต่อมาแพทย์ได้ผ่าตัดเอาหัวกระสุนปืนออก พบว่าเป็นหัวกระสุนปืนจากอาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ซึ่งสอดคล้องกับอาวุธปืนที่เจ้าพนักงานใช้ประจำกายในวันเกิดเหตุ พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงผู้ตาย ถูกยิงมาจากด้นเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเจ้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ 
 
จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายฟาบิโอ โปเลงกี ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลตำรวจ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลา 11.30 น. เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน เป็นเหตุให้เกิดบาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โต้ กกพ.-‘ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก’ หนุนประชามติตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินใน กทม.

0
0

ลดเสี่ยงไฟฟ้าดับ หลังประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยากทำประชามติขอความเห็นสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกหนุนหากจะมีการสร้างในกรุงเทพฯ เพื่อความมั่นใจให้คนพื้นที่อื่น ทั้งตรงหลักการใช้มากที่ไหนสร้างที่นั่น

 
28 พ.ค.56 - นางสาวกรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กล่าวตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีนายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ อยากให้มีการทำประชามติ เพื่อขอความเห็นจากประชาชนทั้งประเทศในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน (คลิกอ่านข่าว) ว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้มีประสิทธิภาพสูง หลักการคือควรสร้างใกล้ศูนย์กลางพื้นที่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง ในกรณีไฟฟ้าดับภาคใต้ กฟผ.บอกชัดเจนว่า สายส่งของ กฟผ.มีความอ่อนไหวสูงต่อกรณีฟ้าผ่า ถ้ายิ่งสร้างโรงไฟฟ้าไกลพื้นที่ใช้ไฟฟ้าสูงสายส่งยาวจะยิ่งเสี่ยงสูงต่อไฟฟ้าดับ
 
นางสาวกรณ์อุมา กล่าวด้วยว่า ไฟฟ้าสำรองของประเทศปัจจุบันมีกว่า 5,000 เมกกะวัตต์ ภาคใต้มีความต้องการด้านการใช้ไฟฟ้าที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ แค่ 200 เมกะวัตต์ ส่วนต่างไม่มากไม่ได้เป็นภาระต่อระบบ ปีหน้าโรงไฟฟ้าจะนะผลิตไฟฟ้าเพิ่มได้อีก 800 เมกะวัตต์ จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ในการจัดการ
 
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็ยังควรสนับสนุนให้มีโครงการการจัดการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ลงได้อีก และสั่งการให้ กฟผ.เปิดสายส่งรับซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้ ภาคใต้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศด้านการท่องเที่ยว เกษตร ประมง จึงมีความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมสูงไม่ควรสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 
นางสาวกรณ์อุมา แสดงความเห็นต่อมาว่า หากจะทำประชามติ หัวข้อที่เหมาะสมที่สุดคือ คนทั้งประเทศเห็นด้วยหรือไม่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่กรุงเทพมหานครก่อนอย่างน้อย 4,000 เมกกะวัตต์ หรือ 5 โรง และถ้าสามารถพิสูจน์ว่าการบริหารแบบไทยๆ  เอาอยู่ในการคุมมลพิษก็ให้สร้างเพิ่มได้อีกและพื้นที่อื่นๆ ก็น่าจะสบายใจขึ้น
 
ข้อเท็จจริงกรุงเทพฯ ใช้ไฟฟ้าสูงถึง 8,000 เมกะวัตต์ คิดเป็น 30%ของการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ และมีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้นทุกปี อนาคตจะมีโครงการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกมากมายแต่กรุงเทพฯ มีโรงไฟฟ้าเป็นของตนเองเพียง 2 โรงคือพระนครเหนือ และพระนครใต้ กำลังการผลิตรวม 2,850 เมกะวัตต์ โดยรับก๊าซจากพม่า ซึ่งหากพม่าปิดซ่อมท่อก๊าซในฤดูร้อนไม่มีเหลือไฟฟ้าเลย จะหวังพึ่งไฟฟ้าจากสายส่งของ กฟผ.เพียงอย่างเดียวถือว่าเสี่ยงสูงเกินไป อีกทั้งอาจเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติเราคงห้ามไม่ได้
 
“ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรุงเทพคือแหล่งเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นหน้าตาของประเทศ เราจะปล่อยให้เสี่ยงไฟฟ้าดับอยู่อย่างนี้ได้อย่างไรกัน เหมาะสมที่จะพิจารณาให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดก่อนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า กระจายความเสี่ยงของเชื้อเพลิง และเป็นธรรม คือผู้ใช้ไฟฟ้าเยอะต้องรับความเสี่ยงจากมลพิษเยอะตามไปด้วย”  นางสาวกรณ์อุมาระบุ
 
หากผลการทำประชามติ ออกมาว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศเห็นด้วยให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดในกรุงเทพ ก็ต้องยอมรับ แบบนี้คงไม่เป็นปัญหา รับได้
 
ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก กล่าวด้วยว่า อยากเสนอให้เรกูเลเตอร์ ทำประชามติแถมไปด้วยว่าคนไทยทั้งประเทศเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ลดเงินเดือนของเรกูเลเตอร์จาก 350,000 บาท เหลือ 50,000 บาทพอ เพราะเห็นว่า  มีผลงานไม่คุ้มเงินเดือน  เช่น ไม่กล้าเปิดรับซื้อไฟฟ้าช่วงพีค ไม่กล้าเช็คบิลค่าเสียหายจากบริษัทปตท.เป็นหลักหลายพันล้านกรณีไม่ส่งก๊าซให้โรงไฟฟ้าของกฟผ.ตามสัญญาอย่างซ้ำๆซากๆ แต่ไปอนุมัติขึ้นค่าเอฟทีแทน หรือแม้แต่กรณีไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้เรกูเลเตอร์ก็มีส่วนต้องรับผิดชอบตามที่ กฟผ.บอกคือไม่ปรับระบบให้ไฟฟ้าดับในวงแคบเป็นต้น
 
“เพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและแสดงความรับผิดชอบจริง เรกูเลเตอร์น่าจะขอลดเงินเดือนตัวเองได้เลยโดยไม่ต้องรอทำประชามติ แบบนี้ก็รับได้” นางสาวกรณ์อุมากล่าว
 
ทั้งนี้ กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ได้ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนบ่อนอก-บ้านกรูด-ทับสะแก ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินได้สำเร็จ โดยรัฐบาลได้สั่งย้ายโครงการสร้างโรงไฟฟ้าออกไปจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2547 แต่ต้องพบกับการสูญเสียนาย เจริญ วัดอักษร อดีตประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรากรณ์ สามโกเศศ: จงลดจำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก

0
0

การยุบโรงเรียนขนาดเล็กเป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับอนาคตของชาติมากกว่าที่อาจเข้าใจกัน การลดจำนวนหมายถึงคุณภาพการศึกษาที่เพิ่มขึ้น การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กมากขึ้น และการเท่าเทียมระหว่าง เด็กเล็กในชนบทด้วยกันเองมากขึ้

การยุบโรงเรียนขนาดเล็กมีมานานแล้วเพียงแต่ยังไม่มีใครกล้าทำอย่างจริงจัง ในอดีตเมื่อ 10 กว่าปีก่อนมีการทำอยู่บ้างแต่ก็เลิกไป สภาพการณ์ความเป็นจริงในเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กมีดังต่อไปนี้

(1) สังคมเรามีเด็กเกิดน้อยลงเป็นลำดับ ในช่วงเวลา ค.ศ. 1955 ถึง 1995 เรามีเด็กเกิดเกินกว่า 1 ล้านคนต่อปีต่อเนื่องกัน แต่ในช่วง 1995-2000 เหลือ 955,000 คนต่อปี 2000-2005 เหลือ 914,000 คน 2005-2010 เหลือ 872,000 คน และระหว่าง 2010-2015 คาดว่าจะเกิดเฉลี่ยปีละไม่ถึง 750,000 คน เมื่อหักลบการตายในแต่ละปีของคนไทย ปัจจุบันก็จะมีจำนวนประชากรเพิ่มสุทธิ ปีละ 300,000 คนเศษ ๆ เมื่อเทียบกับกว่า 1 ล้านคนในช่วง 1965-1975 มีการประมาณการว่าจำนวนประชากรไทย 67 ล้านคนในปัจจุบันอาจสูงขึ้นไปไม่เกิน 70 ล้านคนและจะลดลง หลักฐานสนับสนุนขั้นหนึ่งก็คืออัตราเจริญพันธุ์ของหญิงไทย (Total Fertility Rate) ลดลงเป็นลำดับจากการมีลูกตลอดชีวิตเฉลี่ย 6.14 คนในปี 1950 เหลือ 1.63 คนในปัจจุบัน ซึ่งแสดงว่าไม่สามารถมีลูกถึง 2 คน เพื่อทดแทนพ่อแม่ได้

(2) โรงเรียนที่ให้การศึกษาขั้นพื้นฐานภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ มีประมาณ 30,000 โรงเรียน มีนักเรียนประมาณ 7.57 ล้านคนในปัจจุบัน (ในปี 2551 มี 9.93 ล้านคน) โรงเรียนที่มีนักเรียน 20-40 คน มีประมาณ 2,000 โรงเรียน 40-60 คน มี 3,163 โรงเรียน ต่ำกว่า 60 คน มี 5,962 โรงเรียน และต่ำกว่า 120 คน มี 17,000 โรงเรียน หรือกว่าครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั้งหมด โรงเรียนเล็กขนาดต่ำกว่า 120 คนนี้เกือบทั้งหมดอยู่ในเขตนอกเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท พ่อแม่มีฐานะไม่ดีนัก

(3) กระทรวงศึกษาธิการใช้งบประมาณปีละ 460,000 ล้านบาท (มากที่สุดของกระทรวงทั้งหมด) กว่าร้อยละ 75 ของยอดนี้เป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนของครูและบุคลากรทางการศึกษา ประมาณเกือบ 500,000 คน (ครู 450,000 คน บุคลากรทางการศึกษา 50,000 คน)

(4) ในประเพณีของการโยกย้ายครูนั้นจะโยกย้ายครูไปโรงเรียนอื่นมิได้ยกเว้นแต่จะเป็นความเห็นพ้องของเจ้าตัว ถึงแม้ว่าจะมีโรงเรียนจำนวนมากที่มีครูไม่ครบจำนวน 8 คน ตามมาตรฐานสาระการเรียนรู้ (8 วิชา) และสัดส่วนครูไม่ถึงนักเรียน 20-25 คนต่อครู 1 คนก็ตามที แต่ก็ไม่อาจบังคับให้ย้ายไปอยู่ได้

กระทรวงศึกษาธิการพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องการกระจายตัวของครูในโรงเรียน ต่าง ๆ ท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองทุกระดับ (ใครก็อยากเป็นครูในโรงเรียนใหญ่ ๆ ในเมืองใหญ่ ๆ สัดส่วนนักเรียนกับครูจึงต่ำกว่าเกณฑ์) โดยบรรจุครูใหม่ในโรงเรียนที่มีครูเกษียณอายุในโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท

อัตราครูก็ไม่ได้เพิ่มมาเป็นเวลานานเพราะถูกบีบให้กระจายครู เพราะจำนวนครูโดยรวมไม่น้อยเลยแต่กระจุกอยู่ในบางพื้นที่ อีกทั้งการจ้างข้าราชการ 1 คน ทางการคำนวณว่าจะใช้เงินถึง 35 ล้านบาท (คำนวณล่าสุดโดยตัวเลขสูงขึ้นจาก 18 ล้านบาท เพราะมีสวัสดิการพ่อแม่ คู่ชีวิต และลูกครู เงินเดือนปรับใหม่สูงขึ้น คนมีอายุยืนมากขึ้น ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น)

การขาดแคลนครูในโรงเรียนในชนบทเป็นเวลาเนิ่นนานนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ได้ยินกัน ซึ่งทำให้เกิดครูมีสอนไม่ครบทุกวิชา (ต้องเอาครูพละไปสอนภาษาอังกฤษ ครูศิลปะไปสอน พลศึกษาฯ) สัดส่วนครูกับนักเรียนไม่เข้าเกณฑ์
จากสภาพการณ์เช่นนี้ถ้าไม่แก้ไขอะไรเลย สิ่งต่อไปนี้จะเกิดขึ้น

(1) นับหมื่นโรงเรียนจะไม่มีเด็กเข้าโรงเรียนเพราะจำนวนเกิดจะน้อยลงเป็นลำดับ โรงเรียนที่เล็กและเล็กมาก เช่น 20-60 คน จะไม่มีนักเรียน ครูที่มีอยู่เพียง 2-4 หรือ 6 คน จะไม่มีงานทำ แต่หลวงต้องจ่ายเงินเดือนให้ตลอด หากไม่ปิดโรงเรียนและมีเด็กน้อยมากอีกทั้งครูไม่ยอมย้ายก็จะเป็นการสูญงบประมาณไปอย่างมาก

(2) เด็กชนบทยากจนซึ่งมีจำนวนกว่า 4-5 ล้านคน จะไม่มีวันได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเลยด้วยครูจำนวน 2-3 คนที่สอน 8 วิชา และบางแห่งอาจมีครูเพียง 2 คนก็เป็นได้ จะเรียนกันกระพร่องกระพร่องแบบนี้เรื่อยไปอีกนานจนโรงเรียนไม่มีนักเรียน จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

(3) ปัจจุบันเด็กชนบทในโรงเรียนขนาดเล็กที่พ่อแม่พอมีตังค์ก็นั่งรถตู้ที่มารับไปเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ไกลออกไปซึ่งพ่อแม่รู้ว่ามีคุณภาพสูงกว่า คนที่ไม่มีตังค์ก็ต้องอดทนกับโรงเรียนเล็กใกล้บ้านต่อไปเพราะไม่มีทางเลือก ความเหลื่อมล้ำนี้มีอยู่มาก ใครที่เข้าไปดูโรงเรียนในชนบทจะเห็นชัดเจน

(4) เงิน 460,000 ล้านบาทถูกใช้ไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน ถ้าเอาคุณภาพการศึกษาที่สังคมต้องการมาเป็นเกณฑ์วัด เราไม่สามารถใช้เงินทุ่มไปที่โรงเรียนขนาดเล็กในชนบทได้ถนัดมือเพราะโรงเรียนกระจายตัวอยู่ทั่วไปหมด (สมัยก่อนสร้างไว้จำนวนมากเพราะการคมนาคมไม่สะดวก แต่เมื่อสะดวกแล้วก็ยังค้างเติ่งอยู่) ห้องสมุดดี ๆ สำหรับนักเรียนทุกโรงเรียนเป็นไปไม่ได้ นอกจากลดจำนวนลงไปมา

หากจะจ้างครูใหม่อีกมากมายเพื่อสอนในโรงเรียนเหล่านี้ก็จะกินเงินมาก และในไม่กี่ปีจะเอาครูเหล่านี้ไปไว้ที่ไหนเพราะไม่มีเด็กให้สอน

ทางออกของเรื่องนี้ไม่ใช่การยุบโรงเรียนอย่างไม่ดูตาม้าตาเรือ หากโรงเรียนอยู่ในที่ทุรกันดารหรือทำไว้แล้วดีมาก (มีการช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กกันอยู่แล้วโดยการวิ่งรอกครู เอานักเรียนใส่รถเอาไปเรียนร่วมกับโรงเรียนอื่น ๆ) อยากเป็น home school ที่ชุมชนช่วยกันและทำได้ดีก็ควรสนับสนุนให้ทำต่อไป

โรงเรียนเล็กใดที่ท้องถิ่นอยากรับโอนไปดูแลเองไม่ว่าจะเป็น อบต. หรือ อบจ. ก็ควรพิจารณาปล่อยไป โรงเรียนใดที่ไม่ไหวจริง ๆ ก็โปรดได้เห็นแก่สิทธิอันชอบธรรมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็ก จงยุบด้วยการควบรวมกับโรงเรียนอื่นพร้อมกับให้เงินอุดหนุนค่ารถเพื่อการเดินทางแก่พ่อแม่เด็กเถิด

คะแนนสอบที่ต่ำของเด็กไทยในเกือบทุกวิชาส่วนหนึ่งก็มาจากคะแนนสอบของเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้แหละที่ช่วยฉุดลงมาเนื่องจากโรงเรียนไม่มีครูที่มีคุณภาพครบทุกสาระการเรียนรู้ และไม่มีสัดส่วนระหว่างครูกับเด็กที่เหมาะสม
ปัญหาเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กจะลุล่วงได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขด้วยการพิจารณาเป็นราย ๆ ด้วยหลายมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์

เรื่องลดจำนวนโรงเรียนลงนั้นเป็นเรื่องอื้อฉาวเพราะมีคนได้เสียมาก อัตราผู้อำนวยการโรงเรียนจะหายไปหลายพันอัตรา นักการเมืองท้องถิ่นไม่ชอบเพราะบางชุมชนไม่พอใจ กลุ่มอำนาจต่าง ๆ ชอบใช้ประเด็นนี้สร้างความสำคัญให้ตนเอง มีหลายคนเสียอำนาจ แต่คนสำคัญที่เราลืมนึกถึงไปก็คือเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้

การมีโรงเรียนขนาดเล็กไม่ควรเกี่ยวกับความโรแมนติกของการมีโรงเรียนใกล้ชุมชน หากควรคำนึงปัญหาคุณภาพและสิทธิในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในภาพรวมของชาติ

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่:คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ อังคาร 21 พ.ค. 56

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรจักร ศิริบริรักษ์ 'สตีเฟ่น คิง เมืองไทย' เสียชีวิตแล้ว

0
0

สรจักร ศิริบริรักษ์ เจ้าของผลงานเรื่องสั้นแนวเขย่าขวัญ อาทิ ศพใต้เตียง ศพข้างบ้าน ศพท้ายรถ เสียชีวิตแล้ววานนี้ ในบ่อปลาคาร์ฟในบ้านพัก

หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 29 พ.ค. 56 รายงานว่า สรจักร ศิริบริรักษ์ นักเขียนเรื่องสั้นแนวเขย่าขวัญ ได้รับฉายา "สตีเฟ่น คิง เมืองไทย" ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อเวลา 14.00น. วันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยคนในบ้านพบเป็นศพในบ่อปลาคาร์ฟ บริเวณใกล้ห้องนอน ในบ้านพักย่านพหลโยธิน เขตสายไหม

สุรศักดิ์ รักหมาน อายุ 37 ปี ผู้อยู่อาศัยร่วมในบ้านหลังดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับ "มติชน" ว่า อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้เพียง 2 คน ทำหน้าที่ดูแลนายสรจักร ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันมากว่า 13 ปีแล้ว เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน นายสรจักรเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากมีอาการปอดบวมแทรกซ้อน

นายสุรศักดิ์กล่าวว่า วันเกิดเหตุ เวลา 11.00 น. นายสรจักรได้รับประทานยาและนอนหลับไป โดยมีนายสุรศักดิ์นอนเฝ้าบนเตียงข้างๆ เนื่องจากมีอาการเหนื่อยและนอนหลับไม่สนิท เนื่องจากต้องปลุกนายสรจักรรับประทานยาทุกวันเวลา 0.00 น. และ 4.00 น.  จนเมื่อเวลา 14.00 น. ตนตื่นขึ้นและไม่พบนายสรจักรบนเตียง จึงตามหาและพบว่า ร่างนายสรจักรคว่ำหน้าในบ่อน้ำลึกราว 2 เมตร โดยมีน้ำและขนมวางอยู่ขอบบ่อ ซึ่งเป็นบริเวณที่นายสรจักรชอบมานั่งเล่นเป็นประจำ

สรจักร ศิริบริรักษ์ เกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2498 จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต จากหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นในปี พ.ศ. 2521 สรจักรเลือกทำงานในตำแหน่งลูกจ้างของโรงพยาบาลขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช มีประสบการณ์ช่วยแพทย์ผ่าตัด ชันสูตรศพ ฉีดศพ ฯลฯ จึงกลายเป็นข้อมูลที่สำคัญในการผลิตงานเขียนในเวลาต่อมา

ผลงานที่สร้างชื่อของสรจักร อาทิ ศพใต้เตียง ศพข้างบ้าน ศพท้ายรถ ผีหลอก ผีหัวขาด ผีหัวเราะ เป็นต้น สำหรับผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนที่นายสรจักรจะหยุดอาชีพนักเขียน เนื่องจากปัญหาสุขภาพคือ นักฆ่าบ้ากาม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนค้านจัดฟอร์มูล่า-วัน ใน พท.ประวัติศาสตร์

0
0

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ ค้านการใช้พื้นที่ประวัติศาสตร์ในการแข่งรถฟอร์มูล่า-วัน ประกาศพร้อมเป็นศัตรูทุกองค์กร/หน่วยงานที่สนับสนุนการจัดงาน เตรียมฟ้องร้องศาลปกครองระงับเพิกถอนโครงการ

28 และ 29 พ.ค. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับ ค้านการใช้พื้นที่ประวัติศาสตร์ในการแข่งรถฟอร์มูล่า-วัน ประกาศพร้อมเป็นศัตรูทุกองค์กร/หน่วยงานที่สนับสนุนการจัดงาน จากกรณีที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันรถสูตร 1 ชิงแชมป์โลก “ฟอร์มูล่า-วัน” ในปี 2558 โดยใช้เส้นทางหลักผ่านถนนราชดำเนิน ระยะทาง 5.995 กม. เริ่มที่กรมอู่ทหารเรือ ท่าราชวรดิษฐ์ พร้อมผ่านสถานที่สำคัญ อาทิ พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง ป้อมพระอาทิตย์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฯลฯ โดยอ้างประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนมองว่าจะเป็นการนำไปสู่ความเดือดร้อนและเสียหายเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมระบุด้วยว่าสมาคมฯ และชาวชุมชนในเกาะรัตนโกสินทร์ที่หวงแหนโบราณสถานและทรัพย์สมบัติของชาติ จะนำเรื่องดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อระงับเพิกถอนโครงการทันที

00000

แถลงการณ์

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

คัดค้านการใช้พื้นที่ประวัติศาสตร์ในการแข่งรถฟอร์มูล่า-วัน

..............................................

กรณีที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำตัวเป็นนอมินีให้กับบริษัทเอกชนเพื่อโปรโมทแบรนด์สินค้า เตรียมการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันรถสูตร 1 ชิงแชมป์โลก “ฟอร์มูล่า-วัน” ในปี 2558 โดยใช้เส้นทางหลักผ่านถนนราชดำเนิน ระยะทาง 5.995 กม. เริ่มที่กรมอู่ทหารเรือ ท่าราชวรดิษฐ์ พร้อมผ่านสถานที่สำคัญ อาทิ พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง ป้อมพระอาทิตย์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฯลฯ โดยอ้างประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว โดยความเห็นชอบของกรุงเทพมหานครนั้น

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนขอคัดค้านนโยบายและแผนการดำเนินการดังกล่าว 100% เหตุเพราะการจัดการแข่งขันดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง มีความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยจากอุบัติเหตุซึ่งมักจะเกิดเป็นปกติในการแข่งรถประเภทนี้ จากการแหกโค้งซึ่งจะทำให้อาคารสิ่งปลูกสร้างในแนวถนนตลอดระยะทางของการจัดแข่งอาจได้รับความเสียหาย เพราะทุกตารางเมตรของพื้นที่จัดแข่งรถล้วนเป็นพื้นที่ทางโบราณสถาน ที่เต็มไปด้วยรากเง้าทางประวัติศาสตร์ของเกาะรัตนโกสินทร์และของชาติ และที่สำคัญเสียงดังและแรงสั่นสะเทือนของรถแข่งจำนวนมากจะทำให้โครงสร้างของพระบรมหาราชวัง อาคารประวัติศาสตร์และโบราณสถาน วัดสำคัญๆ ต่าง ๆ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติได้รับผลกระทบเสียหาย

นอกจากนั้นการจัดการแข่งขันดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายฉบับ เช่น ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 74 มาตรา 290 ประกอบมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 และมาตรา 87 และขัดต่อ พรบ.การจาจร 2522 พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 พรบ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 2504 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2535 ซึ่งเป็นขั้นตอน วิธีการ ที่กฎหมายกำหนด โดยมีหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลหลายหน่วยงาน รวมทั้งคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนคนกรุงเทพมหานครทั้งหมด i

การที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะใช้อำนาจโดยพละการ นำไปสู่การเห็นชอบหรืออนุมัติ/อนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนนำรถ “ฟอร์มูล่า-วัน” มาแข่งขันเพื่อโปรโมทแบรนด์สินค้าของเอกชน โดยสมอ้างว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่กล่าวแล้ว สมาคมฯจึงใคร่เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำลังดำเนินการดังกล่าวยุติการกระทำและการใช้อำนาจทางปกครอง ที่อาจนำไปสู่ความเดือดร้อนและเสียหายเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวเสีย และหากหน่วยงานดังกล่าวยังดื้อดึงที่จะดำเนินการต่อไป สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวชุมชนในเกาะรัตนโกสินทร์ที่หวงแหนโบราณสถานและทรัพย์สมบัติของชาติ จะนำเรื่องดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อระงับเพิกถอนโครงการทันที

ประกาศมา ณ วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2556

นายศรีสุวรรณ จรรยา

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

..............................................

 

แถลงการณ์ ฉบับที่ 2

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

สมาคมฯต้านโลกร้อนพร้อมเป็นศัตรูทุกองค์กร/หน่วยงานที่สนับสนุนการจัดแข่งฟอร์มูล่า-วัน

.............................

ตามที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เรื่อง คัดค้านการใช้พื้นที่ประวัติศาสตร์ในการแข่งรถฟอร์มูล่า-วัน ไปแล้วนั้น เพราะสมาคมฯเห็นว่าการจัดการแข่งขันดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เท่านั้น แต่เหตุผลที่แท้จริง คือ การสนับสนุนแบรนด์สินค้าและบริการ ที่จะได้ประโยชน์จากการโฆษณาสินค้าและบริการตลอดการดำเนินการจัดการแข่งขันเท่านั้น

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงใคร่ขอประกาศและยืนยันมา ณ ที่นี้ว่า สมาคมฯพร้อมเป็นศัตรูกับทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชนที่ให้การสนับสนุนการจัดการแข่งขันรถฟอร์มูล่า-วันดังกล่าว เพราะจะถือได้ว่าหน่วยงาน/องค์กร/บริษัทดังกล่าว มิได้รู้คุณค่าของแหล่งโบราณสถานหรือพื้นที่ประวัติศาสตร์ของชาติของแผ่นดิน ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์หรือรักษาไว้ หากแต่หวังผลเพียงการได้ประโยชน์จากการโฆษณา ประชาสัมพันธ์แบรนด์สินค้าและบริการหรือชื่อเสียงของหน่วยงานตนเท่านั้น

ทั้งนี้สมาคมฯมิได้ต่อต้านการจัดการแข่งขันรถฟอร์มูล่า-วัน ซึ่งเป็นกีฬาที่มีชื่อเสียงในระดับโลก หากแต่เป็นการต่อต้านการเลือกใช้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์มาเป็นพื้นที่ในการจัดการแข่งขันต่างหาก และหากรัฐบาลหรือ กกท. จะจัดการแข่งขันจริง ก็ยังมีพื้นที่อื่นของประเทศอีกมากมายให้เลือกในการใช้เป็นพื้นที่ในการจัดการแข่งขัน

ดังนั้น สมาคมฯขอวิงวอนผ่านการแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอให้ทุกหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชนที่คิดจะสนับสนุนการแข่งขันรถฟอร์มูล่า-วัน ในครั้งนี้ได้โปรดคิดและทบทวนในการจัดหรือการสนับสนุนการจัดแข่งรถฟอร์มูล่า-วันในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ในครั้งนี้เสีย เพื่อรักษาแหล่งโบราณสถานหรือพื้นที่ประวัติศาสตร์ของชาติของแผ่นดิน ที่อาจเสียหายจากการดำเนินการแข่งขันรถฟอร์มูล่า-วัน ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ต่อไป

ประกาศมา ณ วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2556

นายศรีสุวรรณ จรรยา

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จอม เพชรประดับ: สันติภาพปลายด้ามขวาน - ยุทธศาสตร์ “รัฐไทย” ยังห่างไกล “บีอาร์เอ็น”

0
0

เป็นไปตามความคาดหมาย ที่ ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมาลายูปาตานี หรือ บีอาร์เอ็น ก็ได้ออกแถลงการณ์ผ่านยูทูป อีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2  เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา  ก่อนการ พูดคุย รอบที่ 4 ในวันที่ 13 มิถุนายนที่จะถึงนี้

แม้แถลงการณ์ ครั้งที่ 2   ดูเหมือนจะไม่มีอะไร เพราะไม่มีข้อเรียกร้องใหม่เพิ่มเติม จากข้อเรียกร้องเดิม 5 ข้อที่ออกมาก่อนหน้าที่จะมีการพูดคุยรอบที่ 3 เพียงไม่กี่วัน    ครั้งนี้  เป็นเพียงการตอกย้ำ ให้เหตุผลเพิ่มเติม และเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐไทยให้ปฎิบัติตามข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อเดิม

แต่ที่น่าวิเคราะห์จากแถลงการณ์ ครั้งที่ 2 นี้ก็คือ บีอาร์เอ็น มีการวางยุทธศาสตร์การเจรจา หรือยุทธวิธีการต่อรอง อย่างเป็นระบบ เป็นมืออาชีพในระดับสากลอย่างมาก  จนเป็นผลให้  บีอาร์เอ็น  บรรลุเป้าหมายในขั้นแรก ไปเรียบร้อย หรือ หรือจะเรียกได้ว่าคว้าชัยชนะ ในขั้นที่ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว

กล่าวคือ นอกจากจะทำให้กลุ่ม บีอาร์เอ็น กลายเป็น “องค์กรปลดปล่อยอิสรภาพให้กับประชาชนมาลายูปาตานี” อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว บีอาร์เอ็น ถูกยกฐานะขึ้นเทียบเท่าระดับรัฐ หรือ ระดับสากล  เป็นผลสำเร็จด้วย

หากพิจารณา แถลงการณ์ ครั้งที่ 2 นี้ จะเห็นว่า นี่คือการ รุกคืบทางการเมือง ที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อ กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่กำลังดำเนินอยู่อย่างยิ่ง  เพราะทำให้เห็นว่า นับจากนี้ไป ไม่ใช่เพียงแต่ รัฐไทย  ฝ่ายเดียว ที่จะกำหนดทิศทางการพูดคุย โดยการแถลงหรือชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวโลก หรือกับประชาชนคนไทยว่า การพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นอย่างไร ทิศทางการพูดคุยจะเป็นไปในทิศทางไหน ผ่านสื่อในประเทศ หรือต่างประเทศเท่านั้น   แต่  บีอาร์เอ็น ก็มี ยูทูป เป็นช่องทางการสื่อสารต่อชาวโลก และต่อชาวไทย ได้อย่างทรงพลังด้วยเช่นเดียวกัน และอาจจะเข้าถึงประชาชนในระดับสากลได้มากกว่าด้วย

แถลงการณ์ผ่าน ยูทูป ของ บีอาร์เอ็น ครั้งที่ 2  ทำให้  ชาวโลก และคนไทยได้เห็นข้อแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ ระหว่างความคิดของ บีอาร์เอ็น กับ รัฐไทย ต่อ กระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพปาตานี ว่า มีความแตกต่างและขัดแย้งกันอย่างไร

รวมทั้งคำอธิบายเพื่อเพิ่มน้ำหนัก ข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อเดิม ก็มีน้ำหนักและ สอดคล้องกับ หลักการสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประชาคมระหว่างประเทศให้ความสำคัญ ซึ่งอาจจะวิเคราะห์ให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นได้ดังนี้  

ประการแรก – บีอาร์เอ็น เชื่อและคิดว่า กระบวนการสร้างสันติภาพปาตานี ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ได้พัฒนาไปสู่กระบวนการเจรจา  (ใช้ภาษามาลายูว่า  “Rudingan Damai” ) เรียบร้อยแล้ว  จากแถลงการณ์ฉบับแรกที่ยังคงใช้ การพูดคุย ( ใช้ภาษามาลายูว่า “Pembicaraan” ) 

ขณะที่ รัฐไทย ยังคงอธิบายต่อชาวไทยและชาวโลกว่า นี่เป็นเพียงการพูดคุย (Dialogue)    เพื่อปรับทุกข์ ผูกมิตร สืบสภาพ หยั่งดูท่าทีระหว่างกันเท่านั้น  และรัฐไทยยังคงยืนยันว่า  ไม่ต้องการที่จะยกระดับการพูดคุยนี้ ขึ้นสู่ระดับสากล  ชัดเจนว่า ความคิดที่แตกต่างนี้ จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างสันติภาพปาตานีอย่างมาก

ประการที่สอง –  นี่เป็นการรุกทางการเมืองที่สำคัญอีกครั้ง ของบีอาร์เอ็น  และเป็นอีกครั้ง ที่เป็นการ ดิสเครดิต รัฐไทย    เพราะเมื่อ บีอาร์เอ็น คิดว่า กระบวนการสร้างสันติภาพปาตานี ได้เข้าสู่ ขั้นตอนของการเจรจา (Negotiation)  แล้ว  จึงเสนอแนวทาง กระบวนการสร้างสันติภาพที่เป็นสากล นั่นคือ ตอกย้ำข้อเรียกร้องเดิมที่จะให้ มาเลย์เซีย มาเป็น คนกลางทำหน้าที่ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Mediatur ) ไม่ต้องการให้ ทำหน้าที่เพียงแค่ เลขานุการของการพูดคุย หรือเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย ( Faciliatur ) เหมือนอย่างที่รัฐไทยต้องการ

อีกทั้งยังย้ำในข้อเสนอที่จะให้มี ผู้สังเกตการณ์ หรือสักขีพยาน  คือ โอไอซี (OIC – Organization of islamic Co-operation ) หรือ เอ็นจีโอ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาคมระหว่างประเทศ ที่ทำงานด้านสันติภาพ ที่ต้องการเห็นสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

ประการสุดท้าย – แถลงการณ์ บีอาร์เอ็น ครั้งที่ 2  เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า   ยุทธศาสตร์ เพื่อปลดปล่อยปาตานี ของ บีอาร์เอ็น นั้น มีกำหนดยุทธศาสตร์อย่างขั้นเป็นตอน  และเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องในระดับสากล สอดคล้องกับความสนใจหรือความต้องการที่จะเห็นสันติภาพของประชาคมระหว่างประเทศ

สำหรับ รัฐไทย  ได้อะไรบ้าง  ระหว่างที่ กระบวนการสร้างสันติภาพปาตานี กำลังจะเข้าสู่ เดือนที่ 4   คำตอบ คงมีเพียงอย่างเดียวคือ ความกล้าหาญ ที่ยอมเปิดพื้นที่ พูดคุย ขึ้น จนได้รู้จักตัวตนที่แท้ ของ กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้  ตามความเข้าใจของรัฐไทย  หรือพอจะได้เครดิตทางการเมืองภายในประเทศบ้าง  แต่จะเป็นเพียงการได้ ระยะสั้น หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาตร์

และจะเทียบกันไม่ได้กับสิ่งที่กำลังจะสูญเสียไปในอนาคต  โดยไม่รวมความสูญเสีย และความตายที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่รัฐ และกับประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นในระหว่างนี้และที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว   ถ้าเป็นเช่นนี้ จะให้ ประชาชนคนไทย เชื่อได้อย่างไรว่า รัฐไทย กำลังอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในกระบวนการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

หรือ รัฐไทย  ยังไม่รู้อีกว่า กำลังต่อสู้ หรือ เจราจาอยู่กับ กลุ่มก่อการร้ายสากล ที่ ได้ปรับเปลี่ยนตัวเองมาเป็น ขบวนการปลดปล่อยอิสรภาพมาลายูปาตานี ที่เป็น องค์กรสากล ไปเรียบร้อยแล้ว

ถึงเวลานี้ รัฐไทย  ยังไม่ยอมรับความเป็นจริงอีกหรือว่า ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ปัญหาภายในอีกต่อไป  แต่เป็นสงครามระหว่างชาติพันธุ์ 1 ใน 50 แห่งของโลกที่ นานาชาติเฝ้าจับตามอง และหลายประเทศก็ได้เข้ามามีบทบาทอยู่ใน พื้นที่แล้วขณะนี้ ในด้านต่าง ๆ 

ถ้า รัฐไทย กล้าที่จะยอมรับความจริงว่า ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พัฒนาเป็นปัญหาในระดับสากลแล้ว  ก็ควรจะที่รีบปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้ หมายถึง กระบวนการต่อสู้เพื่อสร้างสันติภาพ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากลด้วย  เหมือนที่คนไทยเคยได้เห็นความมุ่งมั่นทุ่มเทของรัฐไทย ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้อย่างเป็นมาตรฐานสากลใน คดีปราสาทพระวิหาร ที่ ศาลโลก มาแล้ว

คงไม่ต้องถามด้วยซ้ำว่า   ระหว่าง พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่ทับซ้อนกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่ง อาจจะไม่มีคนไทยอาศัยอยู่เลย   กับพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา ในชายแดนภาคใต้  และมีคนไทยอาศัยอยู่เกือบ 2 ล้านคน รัฐไทย ควรจะให้ความสำคัญ และทุ่มเทแก้ปัญหาเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ใดมากกว่ากัน.   


   
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

0
0

“ทหารก็มีหลักฐานก็ไปสู้กันในศาล อย่ามาพูดกันนอกศาล ต้องให้ความเคารพต่อศาลและกระบวนการยุติธรรม ผมไม่เห็นด้วยกับการเอาเรื่องต่างๆ มาพูดนอกศาล ไม่ใช่ว่าผมไม่ห่วงลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา ใครมาพูดอย่างไรก็แล้วแต่ผมจะไม่พูดนอกศาล”
 

29 พ.ค.56, ผบ.ทบ. กล่าวหลังศาลมีคำสั่ง 'ฟาบิโอ' ช่างภาพอิตาเลียนเสียชีวิตจากกระสุนฝั่งทหาร

อานันท์ กาญจนพันธุ์: ทางออกจากภาวะสังคม “สามสูง”

0
0

นำเสนอ 7 ปัญหาชายขอบ “ผู้สูงอายุ - คนไร้บ้าน – แรงงานนอกระบบ – มุสลิมชายแดนใต้ - ผู้พิการ – คนไร้สัญชาติ - แท็กซี่” ถูกทำให้ล่องหนในสังคมไทย “อานันท์ กาญจนพันธ์” ชี้สังคมอยู่ในภาวะ “สูญเสียตัวตนสูง - ความเสี่ยงสูง – ขูดรีดสูง” แนะขับเคลื่อนเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับกลไกเชิงสถาบัน และปฏิรูประบบภาษี

000

ในการประชุม “สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ในช่วงบ่าย เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น มีการประชุมกลุ่มย่อยหัวข้อ "ฟังเสียงคนที่ไม่ค่อยได้ยิน” และ “ทำอย่างไรเพื่อให้สังคมเป็นธรรม” โดยมีการนำเสนอประเด็นปัญหาของกลุ่มชายขอบ 7 หัวข้อ ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน แรงงานนอกระบบ มุสลิมจากชายแดนใต้ ผู้พิการ คนไร้สัญชาติ คนขับรถแท็กซี่

อรุณีศรีโตประธานเครือข่ายบำนาญ นำเสนอปัญหาของผู้สูงอายุ โดยชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุไทยจำนวนมากไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบบำนาญ และเสนอให้นำ “พ.ร.บ. การออมแห่งชาติ” ซึ่งผ่านสภามาแล้ว นำมาบังคับใช้ และกล่าวด้วยว่าสังคมไทยจะยั่งยืนต่อเมื่อชุมชนแข็งแรงเพราะมีกองทุนการออมแห่งชาติ

ส่วน สุทินเอี่ยมอินจากศูนย์พักคนไร้บ้านบางกอกน้อย กล่าวว่าคนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีผู้สูงอายุจำนวนมากตัดสินใจออกจากบ้าน เพราะไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน โดยกลุ่มคนไร้บ้านได้ตั้งศูนย์เพื่อดูแลกันเอง 3 แห่งใน กทม. และอีก 1 แห่งที่เชียงใหม่ มีการตั้งทีมสำหรับเจรจา ในกรณีที่ต้องขอให้โรงพยาบาลรับรักษาคนไร้บ้านที่เจ็บป่วย นอกจากนี้นายสุทินยังเรียกร้องให้รัฐบาลไม่แก้ปัญหาแบบสังคมสงเคราะห์ แต่เปลี่ยนมาเป็นการสนับสนุนการทำงานเครือข่าย และทำให้คนไร้บ้านสามารถยืนอยู่ในสังคมได้เอง

ด้าน วันเพ็ญจำปาจีนศูนย์แรงงานนอกระบบ จ.ราชบุรี กล่าวว่าแรงงานนอกระบบ มักไม่ได้รับข้อมูลว่างานที่ทำอยู่มีอันตราย หรือมีความเสี่ยงอย่างไร โดยเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสาธารณสุขประจำตำบลควรเน้นให้ความรู้กับอาชีพที่มีความเสี่ยง

ส่วน ปาตีเมาะเปาะอิแตดาโอะกลุ่มสตรีมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่าเป็นหนึ่งในผู้สูญเสียสมาชิกครอบครัวในช่วงเหตุไม่สงบในพื้นที่ โดยขณะนี้รวมกลุ่มสตรีซึ่งสูญเสียสมาชิกครอบครัวได้กว่า 871 รายในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อเป็นอาสาสมัครชุมชนช่วยเหลือดูแลกันเวลาเกิดปัญหา ทั้งนี้ชาวมลายูอยากเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหา แต่ที่ผ่านมาเสียงของชาวบ้านไม่ได้ถูกทำให้ได้ยิน และคนจากข้างนอกมักสั่งให้หันซ้ายทีหันขวาที ทั้งๆ ที่ คนจะบอกหันซ้ายหันขวาควรเป็นตัวเรา โดยหวังว่าพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่ของทุกๆ คน ไม่ใช่แค่ของตัวเขา ไม่ใช่ของคนปัตตานี ยะลา นราธิวาสเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ของคนไทยทุกๆ คน

ด้าน ธีระยุทธสุคนธวิทจากศูนย์ดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ จ.นนทบุรี เล่าว่าการเดินทางของคนพิการมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะระบบขนส่งมวลชนไม่เอื้ออำนวย ซึ่งพลอยกระทบกับสิทธิการเข้าถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เมื่อค่าเดินทางสูง คนพิการจะไปเรียนหนังสือทุกวันได้อย่างไร การอยู่เฝ้าบ้านจึงกลายเป็นหน้าที่คนพิการ หรืออย่างบริการสาธารณสุขถึงฟรีก็ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ เพราะค่าเดินทางไม่ฟรี ยังไม่นับกรณีคนพิการรุนแรง ประเภทสี่คนหามสามคนแห่ นั่งไม่ได้ นอนไปอย่างเดียว ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางแพงมาก จะไปไหนมาไหนต้องเหมารถ

โดยขณะนี้ธีระยุทธและเพื่อนผู้พิการได้ร่วมกันตั้งกลุ่ม เพื่อออกเยี่ยมเยียนผู้พิการรุนแรง ที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ โดยออกเยี่ยมเยียนเพื่อไปให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา รวมถึงรับฟังความทุกข์และความในใจของพวกเขาด้วย

ธีระยุทธ ยังเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสาธารณูปโภค รวมถึงระบบขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ รวมถึงโอกาสอื่นๆ ด้วยรวมทั้งการศึกษา สาธารณสุข และอยากให้ทุกคนเปิดใจเห็นคนพิการเป็นเพื่อนมนุษย์ เป็นพี่น้อง เป็นสมาชิกหนึ่งของชุมชน เพื่อที่จะได้มีสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

ลาเคละจะทอชาวลาหู่ นายกเทศมนตรีหญิงจาก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าที่ผ่านมามีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และตกสำรวจจากข้าราชการทำให้ไม่ได้รับสัญชาติ ซึ่งการไม่มีสัญชาติทำให้เสียโอกาสทั้งด้านการศึกษา และการรับบริการสาธารณสุข นอกจากนี้พอไม่มีสัญชาติ บางทีก็ถูกมองจากสังคมว่าเป็นคนอื่น จึงอยากขอร้องให้มองกลุ่มชาติพันธุ์เป็นมนุษย์เหมือนกัน และเป็นเพื่อนร่วมโลก

ส่วน สำอางค์ขันธนิธิตัวแทนคนขับรถแท็กซี่ ได้เรียกร้องความเท่าเทียมของคนทุกอาชีพ ไม่อยากให้มีการเปรียบเทียบว่าอาชีพนี้ด้อยกว่าอาชีพนี้ โดยที่ผ่านมากลุ่มของเธอมีการรวมตัวกันตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนขับแท็กซี่เพื่อรวมตัวกันสร้างประโยชน์ให้สังคมด้วย

 

000

อานันท์กาญจนพันธุ์: สังคมสามสูง และทางออก

โดยหลังการนำเสนอปัญหา ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญคือภาวะการสูญเสียตัวตน คนสนใจแต่เรื่องของตัวเอง และไม่สนใจผู้อื่น โดยผู้ที่นำเสนอปัญหาทั้ง 7 เหล่านี้ล้วนมีสภาพไม่ต่างจากมนุษย์ล่องหนเพราะถูกลืม และยิ่งปัจจุบันที่สังคมอยู่ในสภาพสังคมข้อมูลข่าวสาร แต่กลับมีการครอบงำข้อมูลข่าวสารสูง มีการนำเสนอข้อมูลด้านเดียว ทำให้เกิดการฉายภาพบ้างด้าน ก็ยิ่งซ้ำเติมสิ่งที่เป็นอคติ ยิ่งทำให้ปัญหาที่มีอยู่นี้หนักข้อขึ้น

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเรามองปัญหาระดับผิวเผินไม่ได้ เพราะปัญหาที่มองเห็นเกิดจากการสะสม ซับซ้อน ทับถมมานาน ซ้อนกันหลายระดับ และยิ่งสังคมที่เข้าสู่ระบบโลภาภิวัตน์ ก็เป็นไปอย่างที่เขาเรียกว่า “ยิ่งสูง ยิ่งหนาว ยิ่ง ว้าเหว่” ทั้งนี้รากฐานสำคัญของโลกาภิวัตน์ก็คือมันจะอยู่อย่างปัจเจกมากขึ้น ต่างคนต่างอยู่ เห็นตัวเองเป็นหลัก มองไม่เห็นคนอื่น คุณเป็นใครเขาไม่สน เขาสนใจตัวเอง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” คำแบบนี้ไม่มีแล้วในยุคนี้ กลายเป็น “ไม่มีหัวอกหัวใจ” มีแต่พูดว่ากูจะอยู่อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ลึกๆ แล้วมันกำลังแพร่กระจายอยู่ในใจของทุกคน

อาจารย์อานันท์ กล่าวว่าระหว่างเดินทางมาที่ประชุมได้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS อย่างนักมานุษยวิทยา โดยพบว่าทุกคนที่นั่งรถไฟฟ้า BTS ไม่มีใครมองหน้าใคร กดมือถือตลอด อยู่ในโลกของตัวเอง “ผมก็เฝ้าสังเกตเพราะเป็นนักมานุษยวิทยา และผมอาจเป็นคนสุดท้ายในโลกนี้ยังไม่ใช้มือถือ เพราะผมกลัวมากว่าจะไม่เอาใจเขาไปใส่ใจเรา”

000

โดยลักษณะปรากฏการณ์นี้เกิดมาจากสิ่งที่เรียกว่า “สามสูง” ได้แก่ หนึ่ง “สูญเสียตัวตนสูง”เพราะมองเห็นแต่ตัวเอง สนใจตัวเอง ไม่เห็นปัญหาของคนอื่น ทำให้คนอื่นถูกทำให้กลายเป็นมนุษย์ล่องหน

สูงที่สองคือ “ความเสี่ยงสูง”โดยจะเห็นได้จากผู้ที่นำเสนอปัญหาชายขอบทั้ง 7 ประเด็นนั้น บางกลุ่มก็ทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจภาคไม่เป็นทางการ ซึ่งมีความเสี่ยง เป็นการประกอบอาชีพที่เขาโละออกจากภาคเศรษฐกิจทางการไปแล้ว

โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบนับเป็นบุคคลล่องหนแท้จริง ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเจริญมาได้เพราะเขา แต่เรามองไม่เห็นหัวเขา ปล่อยให้เขาอยู่ในสภาพความเสี่ยงจากการทำงาน รวมทั้งความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

“ที่เชียงใหม่ ผมเจอหลายคน คนทำงานประเภทที่เขาโละออกไปแล้ว ซึ่งมีแต่ความเสี่ยง อย่างช่างประกอบไฟสำหรับติดต้นคริสต์มาส เวลาประกอบไฟเสร็จเขาต้องทดสอบนะครับ บางคนก็กระเตงลูกไป เสียบปลักไป ถ้าเกิดไฟช็อต ก็ไม่ได้ค่าชดเชยอะไร”

“ขณะที่กลุ่มเกษตรพันธะสัญญาที่รับพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์มาจากบริษัทใหญ่มาเลี้ยง ถ้านำปลาเลี้ยงไปกระชัง แล้วแม่น้ำเน่า ปลาตาย บริษัทก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ที่บอกว่าเกษตรพันธะสัญญานั้น จริงๆ ไม่มีสัญญานะครับ เพราะเกษตรกรรับความเสี่ยงคนเดียว แทนที่เป็นการร่วมทุน และพอถึงเวลามีปัญหา เกษตรกรก็รับภาระคนเดียว แล้วอย่างนี้จะอยู่กันได้อย่างไร”

สูงที่สามคือ“ค่าเช่าสูง”หรือ “ขูดรีดสูง” ทั้งนี้ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ระบบทุนนิยมเป็นผู้เอาผลประโยชน์ส่วนเกินออกไปจากระบบ และเอาออกไปมากกว่าส่วนที่คืนกลับมา เช่น ระบบจ่ายภาษีปัจจุบัน ที่ไม่ว่าคนงานรับค่าแรงวันละ 300 บาท หรือคนเงินเดือนเป็นหมื่นเวลาซื้อสบู่ก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT 7% เท่ากัน คือทั้งที่คนมีความสามารถในการจ่ายไม่เท่ากัน แต่กลไกทางเศรษฐกิจกลับผลักภาระให้คนด้อยโอกาสต้องจ่ายภาษีมากกว่า

นอกจากนี้ ประเทศไทยเก็บภาษีทางตรงกับคนไม่เกิน 2 ล้านคน แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่หลบเลี่ยงได้ นอกจากนี้มาตรการภาษีก้าวหน้า รวมทั้งภาษีที่ดิน และมรดกก็ยังไม่เกิดขึ้น โดยกลไกเศรษฐกิจที่พิกลพิการเช่นนี้ เกิดมาจากความเชื่อเรื่องเสรีนิยมใหม่ ที่เชื่อว่า กลไกตลาดดี 100% ถ้าให้ตลาดทำงานแล้วจะสบาย แต่จริงๆ แล้ววิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 หรือวิกฤตแฮมเบอเกอร์ในสหรัฐอเมริกาก็เป็นตัวอย่างที่ฟ้องว่ากลไกตลาดก็ล้มเหลวได้ โดยการที่ไม่มีกลไกควบคุมตลาดที่เพียงพอ ทำให้มันดึงส่วนเกินจากผู้คนมากจนเกินไป

อาจารย์อานันท์ ยกตัวอย่างการทำงานของคนงานในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ซึ่งมียุคหนึ่งที่คนงานหลักเลิกงานแล้ว กลับบ้านแล้วหลับจนเสียชีวิต ที่เรียกว่าไหลตาย ซึ่งหาสาเหตุไม่ได้ แต่แพทย์กลับระบุว่าเป็นโรคเอดส์ ซึ่งที่จริงแล้วคนงานเหล่านี้ทำงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ และสัมผัสกับสารเคมีและรังสีปนเปื้อน คำถามก็คือในเวลานี้เมืองไทยมีแพทย์ที่รู้เรื่องสาเหตุความเจ็บป่วยในโรงงานกี่คน จะมีแพทย์คนไหนที่ศึกษาว่าโรงงานสร้างปัญหาให้กระทบให้กับคนงาน

ทั้งนี้คนงานทำงานให้โรงงาน แต่โรงงานกลับไม่เห็นคุณค่าคนงาน เอาจากมากกว่าที่คืนให้เขา ทั้งที่เขาเป็นคนงานของโรงงาน แต่กลับไม่ได้รับการดูแลเหมือนกับเป็นสมาชิกในบ้าน สิ่งนี้คือการที่ทุนดึงเอาส่วนเกินมากเกินไปจากคนที่ทำงาน

โดยอาจารย์อานันท์เสนอว่าหากจะแก้ภาวะ “สามสูง” นี้ จะให้คนชายขอบแต่ละกลุ่มปัญหารวมตัวช่วยเหลือกันคงไม่พอ เพราะชีวิตเขาตอนนี้ก็ลำบากอยู่แล้ว อย่างกลุ่มผู้พิการ นอกจากนี้สมัยก่อนเชื่อว่า “บ้าน วัด โรงเรียน” จะแก้ปัญหา แต่สมัยนี้ปัญหาใหญ่ระดับโลกาภิวัตน์คงไปไม่รอด จะให้เขารวมตัวแก้ไขปัญหาตัวเองคงแก้ได้ระดับหนึ่งแต่การแก้ไขปัญหาระดับรากโคน สังคมต้องสร้างกลไกแบบใหม่ขึ้นมา ต้องเปลี่ยนกลไกภาษี และต้องพูดกันอีกหลายชนิดภาษีทั้งภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน เพราะภาระความสามารถในการจ่ายภาษีไม่เท่ากัน แต่เราดันเก็บภาษีเท่ากัน ซึ่งทำให้เกิดสังคมที่ไม่เป็นธรรม

ในตอนท้ายอาจารย์อานันท์ กล่าวด้วยว่า การออกจากภาวะ “สามสูง” นี้ ต้องการพลังขับเคลื่อนทางสังคมอย่างยิ่ง โดยต้องรวมตัว ต่อรอง เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมกลไกเชิงสถาบัน ซึ่งที่ผ่านมาการรวมตัวเพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ยังไม่ค่อยมีเท่าใดนัก

บทบาทของนักวิชาการ หรือนักพัฒนาในองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างเดียวคงไม่พอ แต่จำเป็นที่กลุ่มทางสังคมต่างๆ จะต้องเข้ามาสร้างเครือข่ายโยงใยเพื่อขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ “ถ้าแก้สามสูงไม่ได้ก็ต้องนั่งพูดกันอีกหลายสิบปี เรื่องทำอย่างไรให้สังคมเป็นธรรม ป้าย (บนเวที) นี้ก็เก็บไว้ได้เลย เพราะต้องพูดอีกนานเลยคุณเอ๋ย” ศ.ดร.อานันท์กล่าว

 

000

ความหวังว่าสังคมจะมีโอกาสเข้าใจ

ขณะที่ .สุริชัยหวันแก้วผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการนำเสนอประเด็นปัญหาของคนชายขอบเหล่านี้ สิ่งที่พบก็คือ เราแทบไม่มีโอกาสรับรู้ความจริงในสังคมเลย สังคมข้อมูลข่าวสารแต่กลับมืดบอดด้านความรับรู้ ทั้งนี้เรากำลังให้ผลักความเสี่ยงที่เกิดขึ้น กลายเป็นเรื่องของคนอื่นไปหมด และคิดว่าถ้าเรื่องนี้กวนใจมาก ก็จะร่วมบริจาคเสียหน่อย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้น่ากลัวและเราเองไม่รู้ตัว

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสังคมปัจจุบัน มีคนตื่นตัว และไม่ได้งอมืองอเท้า อย่างไรก็ตามระบบหน่วยงานราชการ ที่จะแก้ไขปัญหาสังคม ยังมีวิธีคิดแบบสงเคราะห์ ขณะที่สื่อมวลชนให้ความสนใจกับบางเรื่องเท่านั้น เช่น ไปให้น้ำหนักกับการตามผู้ใหญ่บ้านเมืองไปแจกของ แต่จะสื่อหรือใครที่ให้ความสนใจเวลาที่กลุ่มผู้พิการลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเอง สร้างงานด้วยตัวเอง ทั้งนี้เรายังไม่ได้หันมามองผู้เสียหายที่ลุกมาแก้ไขปัญหาตัวเองเท่าที่ควร แต่จากการฟังการนำเสนอปัญหาเหล่านี้ ชวนให้รู้ว่าที่ผ่านมาระบบได้ทำลายศักยภาพของเราไปเยอะ

ส่วน “ประทีปอึ้งทรงธรรมฮาตะจากมูลนิธิดวงประทีป ซึ่งทำงานพัฒนาและจัดการศึกษาในชุมชนคลองเตยมาหลายสิบปี กล่าวว่า เชื่อว่าในที่สุด สังคมไทยจะมีทางออกอย่างหนึ่ง คือถึงแม้จะมีปัญหา แต่ในที่สุดจะสามารถพูดคุยกัน เข้าใจ และร่วมแก้ไขปัญหาได้ “ทั้งนี้ทุกปัญหามีประตูทางออกเสมอ แต่เราต้องมีความอดทน และต้องอาจจะต้องอดทนต่อการถูกด่าว่าดูถูกสารพัดเรื่อง แต่ขอให้คิดอย่างเดียวว่าเขาอาจจะไม่เข้าใจเรา จะได้ไม่ต้องแบกความไม่เข้าใจหรือทัศนคติลบเหล่านั้น และขอให้พยายามสร้างกำลังใจ และวันหน้าเขาจะมีโอกาสเข้าใจเรา และเราก็มีโอกาสทำงาน ได้คิดสร้างสรรค์ต่อไป”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะกก.พิทักษ์ผู้สื่อข่าวชี้คำสั่งคดีฟาบิโอเป็นก้าวแรกสู่ยุติธรรม

0
0
ชอว์น คริสปิน ตัวแทนจากคณะกรรมการพิทักษ์ผู้สื่อข่าวระบุผิดหวังกับคำสั่งศาลกรณีช่างภาพอิตาลี เนื่องจากใช้เวลาถึง 3 ปีแต่ยังมีความคลุมเครือ อย่างไรก็ตามชี้เป็นก้าวแรกของความยุติธรรม

 
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 56 เวลา 19.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย มีการแถลงข่าวสืบเนื่องจากกรณีการออกคำสั่งศาลในคดีการไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตของช่างภาพชาวอิตาลี ฟาบิโอ โปเลนกี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตบริเวณถนนราชดำริระหว่างการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 โดยผู้ร่วมแถลงได้แก่ ชอว์น คริสปิน ตัวแทนจากคณะกรรมการเพื่อพิทักษ์ผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists) และเอลิซาเบ็ตต้า โปเลนกี น้องสาวของฟาบิโอ โปเลนกี 
 
ชอว์น คริสปิน กล่าวว่า คำสั่งที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ออกมาในวันนี้ ซึ่งชี้ว่ากระสุนที่ยิงนายฟาบิโอเสียชีวิตมาจากทิศทางของทหาร แต่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิงนั้น ถือว่าเป็นก้าวแรกของความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ยังมีความคลุมเครืออยู่มาก แม้ระยะเวลาหลังการเกิดเหตุจะราว 3 ปีแล้ว แต่คำสั่งของศาลที่ออกมากลับยังมีความไม่ชัดเจน ทั้งๆ ที่มีพยานหลักฐานและพยานแวดล้อม รวมถึงผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ให้การเป็นพยานว่าทหารน่าจะเป็นผู้ยิงกระสุนที่ทำให้ฟาบิโอเสียชีวิต
 
ชอว์น กล่าวถึงการพิจารณาของศาลด้วยว่า ฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตได้พยายามยื่นพยานหลักฐาน เช่น คลิปวิดีโอ และพยานบุคคลซึ่งเป็นนักข่าวต่างประเทศเพิ่มเติม แต่ศาลปฏิเสธไม่รับพิจารณา เนื่องจากกล่าวว่าซ้ำซากกับพยานอื่นๆ ที่ได้เบิกไปแล้ว ซึ่งชอว์นมองว่า ฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตควรต้องสามารถยื่นหลักฐานเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องกลัวจะถูกปฏิเสธ
 
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังแสดงความกังวลต่อกรณีที่ตำรวจกดดันให้นักข่าวส่งมอบหลักฐานต่างๆ เช่น คลิปวิดีโอ นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่ามีการบุกค้นห้องนักข่าว และการคุกคามในรูปแบบอื่นๆ ต่อนักข่าวในช่วงหลังการชุมนุม และชี้ว่าควรให้เป็นไปตามความสมัครใจมากกว่า 
 
เขากล่าวว่า ทางคณะกรรมการฯ เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มความพยายามในการค้นหาชายสวมหมวกสีเงิน ซึ่งมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายว่าเป็นคนเอากล้องถ่ายรูปของฟาบิโอไป ซึ่งจนบัดนี้ยังคงค้นหากล้องดังกล่าวไม่พบ รวมถึงเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้คัดค้านการผ่านร่าง พ.ร.บ. ปรองดองแห่งชาติของ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นการนิรโทษกรรมเหมาเข่งแก่ผู้กระทำผิด
 
ด้านเอลิซาเบ็ตตา เห็นด้วยเช่นกันว่า พ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่ให้แก่ทุกฝ่าย จะเป็นสิ่งที่ "เลวร้ายที่สุดที่รัฐบาลจะกระทำต่อประชาชนของตนเอง" และหวังว่ารัฐบาลจะไม่ผ่าน พ.ร.บ. ดังกล่าว 
 
"การให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันร้ายแรงเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่รัฐบาลจะกระทำต่อประชาชนของตนเอง เพราะถือว่าพวกเขาเป็นพี่น้อง เป็นพลเมืองของตนเอง และสำหรับ 90 กว่าชีวิตที่เสียไป ก็เหมือนกับจะไม่มีค่าอะไรทั้งสิ้น" เธอกล่าว "ไม่เพียงแต่เท่านั้น แต่ครอบครัว และญาติๆ ของพวกเขา ก็รู้สึกสูญเสียเช่นเดียวกัน" 
 
เอลิซาเบ็ตตากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาตนได้รับการติดต่อจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีเพื่อขอเข้าพูดคุยเป็นการส่วนตัว แต่ตนไม่ได้พบ และในวันนี้ได้เชิญนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีมาร่วมที่งานแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศต่อกรณีคำสั่งคดีฟาบิโอด้วย แต่มิได้ให้การตอบรับแต่อย่างใด
 
ทั้งนี้ ในงานดังกล่าว เอลิซาเบ็ตตาได้เปิดตัวหนังสือรวมภาพถ่ายของฟาบิโอ ในชื่อ "Bangkok Last Pictures 2010" โดยภาพบางส่วนจัดแสดงอยู่ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย และขายแก่ผู้ที่สนใจทั่วไป รายได้ที่ได้จากการขายหนังสือและภาพถ่าย เอลิซาเบ็ตต้ากล่าวว่า จะนำไปมอบให้แก่โรงเรียนต่างๆ ที่ขาดแคลนทรัพยากรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อิสราเอลขู่ห้ามรัสเซียส่งอาวุธต้านอากาศยานให้รัฐบาลซีเรีย

0
0

เหตุสงครามกลางเมืองในซีเรียเริ่มส่อเค้าของการเป็นสงครามตัวแทนของประเทศอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากรัสเซียประกาศส่งอาวุธต้านอากาศยาน S-300 ทำให้อิสราเอลออกเตือนในเชิงข่มขู่ ขณะเดียวกันกลุ่มฮิชบอลเลาะห์ในเลบานอนก็เข้าไปช่วยรัฐบาลซีเรียล้อมยึดเมืองยุทธศาสตร์ชายแดน


29 พ.ค. 2013 ทางการอิสราเอลได้ประกาศเตือนรัสเซียว่าพวกเขาจะมีการตอบโต้หากทางการรัสเซียส่งอาวุธต่อต้านอากาศยาน S-300 ให้กับรัฐบาลซีเรียซึ่งเป็นมิตรกับรัสเซีย

โดยเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ทางการรัสเซียได้ประกาศว่าจะมีการส่งอาวุธจรวดต่อต้านอากาศยานให้กับรัฐบาลซีเรียหลังจากที่สหภาพยุโรปยกเลิกการคว่ำบาตรอาวุธกับฝ่ายกบฏ ทำให้เกิดการประเมินว่าอาจมีการยกระดับการทำสงครามตัวแทน (proxy war) หากการเจรจาสันติภาพที่เจนีวาในเดือนหน้าไม่เป็นผล

โมเช บาลอน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอิสราเอลออกประกาศเตือนวันเดียวกันในเชิงขู่ โดยบอกว่าแม้ในตอนนี้รัสเซียยังไม่มีการส่งอาวุธ S-300 เข้าไป แต่ถ้าหากอาวุธถูกส่งเข้าไปในซีเรียแล้วทางการอิสราเอลก็รู้ว่าควรจะต้องทำอย่างไร คำเตือนของโมเชมีการกล่าวก่อนหน้าที่ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนยามิน เนทันยาฮู สั่งให้คณะรัฐบาลอย่าแสดงความเห็นในประเด็นนี้

โดยเมื่อเดือนที่แล้ว อิสราเอลได้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศยานในซีเรียโดยอ้างว่าพวกเขามุ่งโจมตีเป้าหมายเป็นอาวุธที่มีการลำเลียงให้กับกลุ่มฮิชบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าร่วมสงครามกลางเมืองเพื่อช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาลซีเรีย

เซอกี เรียปคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย โต้แย้งอิสราเอลว่า การส่งอาวุธ S-300 ให้กับซีเรียเป็นเรื่องที่มีการตกลงกันมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้เป็นเรื่องปัจจัยด้านเสถียรภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้ "พวกเลือดร้อนบางคน" เข้ามาแทรกแซงความขัดแย้ง


กลุ่มฮิชบอลเลาะห์หนุนรบ. ซีเรียยึดเมืองยุทธศาสตร์ชายแดน

หลังจากที่กลุ่มฮิชบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบมุสลิมนิกายชีอะในเลบานอนออกมายอมรับว่าฝ่ายตนได้ส่งกองกำลังสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลชองซีเรีย ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมาฝ่ายนักกิจกรรมในซีเรียก็เปิดเผยว่ากองกำลังผสมประกอบด้วยหน่วยรบพิเศษและกลุ่มนักรบฮิชบอลเลาะห์ได้เข้าเสริมกำลังกองทัพรัฐบาลในเมืองคูซายีร์ ซึ่งเป็นเมืองยุทธศาสตร์ชายแดน เพราะเป็นแหล่งขนส่งอาวุธและนักรบข้ามแดนมาจากเลบานอน

นักกิจกรรมในคุเซยร์บอกว่ารัฐบาลได้ใช้เครื่องบินเจ็ทหกลำโจมตีเขตที่มั่นของฝ่ายกบฏในเมือง ฮาดี อัล-อับดัลลาห์ ขณะที่มีการสู้รบระหว่างฝ่ายประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด และฝ่ายต่อต้านในหลายพื้นที่แนวหน้าหลายแห่ง มีรถถังราว 40 คัน และรถกระบะติดปืนกลอีก 40 คันมุ่งหน้าจากเมืองคาลามูน

รามี-อับดุล ราห์มัน จากศูนย์เฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรียกล่าวว่า การเสริมกำลังดังกล่าวเป็นการเตรียมการเพื่อทำการรุกครั้งใหญ่ในเขตภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศที่อยู่ภายใต้การยึดครองของฝ่ายกบฏ อับดุล ราห์มัน บอกอีกว่าแม้จะถูกโจมตีอย่างหนักแต่ฝ่ายกบฏก็ทำการต่อต้านอย่างดุเดือด

โดยกลุ่มฮิชบอลเลาะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านและเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับอัสซาดได้ส่งตัวนักรบราว 1,700 คนเข้าไปยังคูซายีร์มาตั้งแต่ช่วงราวหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกลุ่มนักรบได้เข้าล้อมเมืองขณะที่กองทัพรัฐบาลเตรียมตัวบุกโจมตีเมือง ฮัสซัน นาสราลลาห์ ผู้นำฮิชบอลเลาะห์ให้คำมั่นว่าจะช่วยรัฐบาลซีเรียยึดเมืองคูซายีร์มาให้ได้

ทางด้านซาลิม อิดริส สภาที่ปรึกษาสูงสุดของกลุ่มกบฏปลดปล่อยชาติซีเรีย (Free Syrian Army) ออกมากล่าวเตือนเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า หากนักรบฮิชบอลเลาะห์ยังไม่เลิกรุกรานเข้ามาในซีเรียภายใน 24 ชั่วโมง พวกเขาจะมีมาตรการไล่ล่า "แม้กระทั่งในนรก"

 

เรียบเรียงจาก

Russia to deliver arms to Syria as fears rise of proxy war, 29-05-2013, The Guardian

Israel warns Russia over Syria arms delivery, 29-05-2013, Aljazeera

Syria and Hezbollah bolster forces in Qusayr, 29-05-2013, Aljazeera
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

B.R.N. แถลงรอบ3 ย้ำเจรจาเดินหน้า ห้ามก่อเหตุต่อ ปชช.ปาตานี

0
0

นายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น (B.R.N.) หรือแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani : B.R.N.) ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ยูทูปอีกครั้ง โดยระบุว่า การพูดคุยในกระบวนการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการกับตัวแทนรัฐบาลไทยในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 นี้จะดำเนินต่อไปแน่นอน แต่ยังคงยึดข้อเสนอเดิม 5 ข้อ

คลิปดังกล่าว ใช้ชื่อว่า Pengisytiharan dari Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani ( B.R.N ) K – 3 เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา ความยาว 3.34 นาที โดยใช้ชื่อผู้เผยแพร่ว่า BRNVoices (ลิงค์ http://www.youtube.com/watch?v=9vCoPDi80Rc)

คลิปนี้ แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ ซึ่ง 2 หัวข้อแรก นายอับดุลการิม คอลิบ ซึ่งเป็นคนเดิมกับที่เคยออกแถลงผ่านเว็บไซต์ยูทูปครั้งแรกคู่กับนายฮัสซัน เป็นผู้แถลง และหัวข้อที่ 3 นายฮัสซันเป้นคนแถลง

สำหรับทั้ง 3 หัวข้อ ได้แก่ 1.นิยามคำว่าสันติภาพตามทัศนะของชาว(Bangsa)ปาตานี 2.ข้อสังเกตต่อกองกำลังติดอาวุธของสยาม 3.ท่าทีของบีอาร์เอ็นต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพในครั้งต่อไป

เนื้อหาของในคลิปดังกล่าว ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ดังนี้

 

นิยามคำว่าสันติภาพตามทัศนะของชาว(Bangsa)ปาตานี โดยนายอับดุลการิม คอลิบ

“ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮผู้ทรงเมตตาและปราณีเสมอ

 ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน กระผม นายอับดุลการิม กาลิบ ตัวแทนคณะพูดคุยสันติภาพและตัวแทนบีอาร์เอ็น

คำว่าสันติภาพตามความหมายของนักล่าอาณานิคมสยาม คือการยอมคุกเข่าสยบต่อสยามตลอดไป แต่สันติภาพตามความหมายของชาวปาตานี คือสันติภาพที่วางอยู่บนฐานความเป็นจริง”

 

ข้อสังเกตต่อกองกำลังติดอาวุธของสยาม

“กองกำลังติดอาวุธของสยามขาดความเป็นเอกภาพในการคลี่คลายปัญหาปาตานี มีบางส่วนอิงกับรัฐ บางส่วนอิงกับระบอบศักดินา และมีบางส่วนที่สูญเสียผลประโยชน์ จนนำไปสู่การก่อเหตุรุนแรง

ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ในวันที่ 29 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา หลังจากมีการยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ (ของบีอาร์เอ็น) นั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงไม่เห็นด้วย หลังจากนั้นในคืนวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ก็มีเหตุการณ์สังหาร 6 ศพในปัตตานี

ในวันรุ่งขึ้นของวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 เต็มไปใบปลิวปลอม และท้ายสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีปากเสียงกับนักข่าวช่องไทยทีวี 3 เพราะเริ่มเห็นความผิดปกติ

เช่นเดียวกับเหตุสังหารครอบครัวที่บ้านกะทอง บองอ ที่ร้านน้ำชาบ้านดามาบูเวาะห์ ที่มัสยิดไอร์ปาแย จังหวัดนราธิวาส เหตุการณ์ที่ร้านน้ำชาบ้านกาโสด อ.บันนังสตา จ.ยะลา เหตุการณ์กราดยิงประชาชนที่ปูโละปูโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เหตุการณ์กราดยิงที่ปอเนาะบูกิตโตแร(ควนหรัน) อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา และอื่นๆ รวมถึงเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะและตากใบ ซึ่งเป็นที่รับรู้ทั่วกัน

คำเตือนถึงนักล่าอานานิคมสยาม ห้ามก่อเหตุรุนแรงต่อประชาชนปาตานี โต๊ะอิหม่าม ครู โต๊ะครู ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อุสตาซ อบต.และอื่นๆ มิฉะนั้น เราจะโต้ตอบ ขอบคุณครับ”

 

ท่าทีของบีอาร์เอ็นต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพในครั้งต่อไป โดยนายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยและตัวแทนบีอาร์เอ็น

“ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮผู้ทรงเมตตาและปราณีเสมอ

ขอความสันติสุขจงประสบแด่ท่าน กระผม นายฮาซัน ตอยิบ ในฐานะหัวหน้าทีมพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็น

ในระหว่างที่ปาตานีตกอยู่ภายใต้การปกครองของนักล่าอาณานิคมสยาม การกดขี่ข่มเหงต่อชาวปาตานีได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้เกิดการก่อตัวของขบวนการบีอาร์เอ็น เพื่อรวมความเป็นหนึ่งของชาวปาตานี เพื่อปลดแอกจากอาณานิคมสยาม

เพื่อรับภาระกอบกู้ความทุกข์ของประชาชนชาวปาตานี การพูดคุยในกระบวนการเจรจาสันติภาพที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 จะดำเนินต่อไปหลังจากได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นทางการจากรัฐสภาสยาม ต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556

กระบวนการเจรจาสันติภาพ จะต้องเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่เป็นการชำระมลทินและสนองความต้องการของใครคนใดคนหนึ่ง ขอบคุณครับ”

 

ทหารชี้ออกคลิปเพื่อชิงพื้นที่สื่อ

ขณะที่ข่าวค่ำของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นำเสนอความเห็นของพล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 ต่อการเผยแพร่คลิปดังกล่าว เป็นการชิงพื้นที่สื่อของขบวนการบีอาร์เอ็น เพื่อกลบเหตุการณ์รุนแรงที่ฝ่ายขบวนการเป็นคนก่อนเหตุมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิ้นสุดไต่สวนการตาย 4 ศพ ปุโละปุโย นัดฟังคำสั่ง 31 ก.ค.นี้

0
0

29 พ.ค. 56 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม รายงานว่า  เมื่อวันที่ 23-24 เม.ย.56 เวลา 9.00-16.00 น. ศาลจังหวัดปัตตานี นัดไต่สวนพยานของพนักงานอัยการผู้ร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพ จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย โดยพยานที่พนักงานอัยการนำมาสืบเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ใน เหตุการณ์ โดยคดีนี้ ญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คน ได้แต่งตั้งทนายความเพื่อซักถามและนำเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นศาลด้วย

สำหรับเหตุของคดีนี้ เจ้าหน้าที่ทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 4302 บ้านน้าดา ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ้างว่าได้นากาลังติดตามคนร้าย และตั้งจุดสกัดกั้นบริเวณทางเบี่ยงจากถนนสี่เลนส์ เข้าบ้านหมู่ที่ 1 ตำบลปุโละปุโย พบรถยนต์กระบะของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ทหารพรานได้สกัดกั้นรถคันดังกล่าว และได้ยิงปืนเข้าใส่ จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านเสียชีวิต 4 ราย และ ชาวบ้านรับบาดเจ็บอีก 5 ราย ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ได้ยื่นคาร้องขอไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้ตายทั้ง 4 ราย เพื่อให้ศาลทาการไต่สวนและทาคาสั่งว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามม. 150 ป.วิฯอาญา เนื่องจากเป็นความตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทาของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จานวน 5 ราย ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการทาละเมิดของเจ้าหน้าที่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต่อศาลปกครองสงขลาด้วยอีกคดีหนึ่ง ซึ่งในวันที่ 23 เม.ย.56 เวลา 14:00 น. ศาลปกครองสงขลาได้นัดไต่สวนยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ญาติผู้เสียชีวิตได้รับเงินเยียวยาจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แล้ว รายละ จำนวน 7.5 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอแก่ความเสียหายที่ได้รับแล้ว แต่กรณีผู้บาดเจ็บนั้น ได้รับเงินเยียวยาจานวน 500,000 - 765,000 บาท ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่ได้รับ จึงได้ยื่นฟ้องโดยฟ้องกองทัพบกและสานักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดต่อศาลปกครองสงขลา เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา คนรุ่นใหม่-สื่อใหม่-ในสังคม-การเมือง หลากมุมถกข้อดีข้อเสีย

0
0

29 พ.ค.56  ที่โรงแรมเดอะเวสทิน  แกรนด์ สุขุมวิท กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ (Media Inside Out) โดยความสนับสนุนของ USAID Sapan Program จัดสัมมนาหัวข้อ คนรุ่นใหม่-สื่อใหม่-ในสังคม-การเมือง ในช่วงบ่ายมีวิทยากรต่างสาขาอาชีพที่เกี่ยวกับการใช้สื่อรูปแบบใหม่มาร่วมพูดคุย 5 คน ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวจากบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป บรรณาธิการข่าวจากประชาไท อดีตนักศึกษาผู้ก่อตั้งกลุ่มกิจกรรมทางการเมือง “กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” นักวิชาการด้านสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และตัวแทนจากกลุ่ม Save Anwar มีผู้ดำเนินรายการเป็นที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชน

สมฤทธิ์ ลือชัยสื่อมวลชนและนักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิธีกรในงานกล่าวเปิดประเด็นว่าบทบาทของสื่อใหม่มีผลต่อสังคมการเมืองอย่างมาก เราได้เห็นว่าเว็บไซต์เผยแพร่ข่าวสารมากขึ้นๆ การเผยแพร่นั้นจึงไม่ใช่แค่การนำเสนอแต่เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองของประชาชนต่อรัฐมากขึ้นด้วย เพื่อจะตรวจสอบตรวจตรา คานอำนาจรัฐ ยกตัวอย่างในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่เรียกว่า “ม็อบมือถือ” มือถือเป็นสื่อใหม่ในขณะนั้น ตอนนี้ผ่านมา 21 ปี สื่อใหม่มีพัฒนาการมากขึ้น ส่งข้อมูลเร็วกว่าในอดีต และเผยแพร่ได้ทันทีทันใด

นภพัฒน์จักร อัตตนนท์ผู้สื่อข่าวภาคสนามและผู้ดำเนินรายการของเนชั่นแชนแนล พูดถึงการใช้สื่อใหม่ในอาชีพนักข่าวว่า เริ่มทำงานข่าวในยุคที่สื่อใหม่ได้รับความนิยมและมีความสำคัญแล้ว ถ้าจะให้เปรียบเทียบความแตกต่างของสื่อเก่ากับสื่อใหม่จึงเป็นเรื่องยาก

สำหรับสื่อใหม่ที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือบล็อก มีข้อดีที่ใช้ต้นทุนต่ำ นำเสนอง่าย ทำได้รวดเร็ว คนก็เข้าถึงมากขึ้น ทำให้แข่งขันกับสื่อกระแสหลักใหญ่ๆ ที่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีมากกว่าได้ดีขึ้น ทั้งที่ยังลงทุนต่ำกว่า นอกจากนี้สื่อใหม่ยังทำให้เข้าถึงแหล่งข่าว หรือสื่อสารกับแหล่งข่าวได้โดยตรงได้ง่ายมากๆ ไม่ต้องกังวลว่าจะผ่านตัวกลางที่ต้องตรวจสอบกันว่าได้มาจากแหล่งข่าวจริงหรือไม่ เช่น การติดต่อนักวิชาการมี่แสดงความเห็นในโลกออนไลน์ต่างๆ สื่อใหม่ทำให้เห็นความหลากหลายของผู้คนทั่วๆไป จากการที่เข้ามาแสดงความเห็นตอบโต้กับข่าวที่เผยแพร่ออกไป

แต่ทั้งนี้ การใช้สื่อใหม่มากๆ ก็อาจจะมีข้อเสียที่ทำให้มีความรอบคอบน้อยลงได้ เพราะการนำเสนอไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองจากบรรณาธิการ ไม่ต้องให้ตรวจสอบก่อนเผยแพร่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักข่าวจะไม่มีความรอบคอบเลย นักข่าวเองเมื่อนำเสนออะไรออกไปแล้ว คนจำนวนมากได้อ่าน มีผลตอบรับหรือแรงปะทะกลับมาจากหลายทิศทาง แน่นนอนว่านักข่าวก็จะได้เรียนรู้ที่จะตรวจสอบตัวเองทุกๆ ครั้ง อย่างไรก็ตาม ถ้ามองว่ายอดไลค์ยอดแชร์ เป็นสิ่งที่สะท้อนความนิยม ก็มีข้อควรระวังไม่ให้มันกลายเป็นหลุมพราง สนุกไปกับการผลิตซ้ำข่าวหรือแสดงความเห็นเพื่อเอาใจคนอ่านโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง นอกจากนี้ที่ต้องระวังอีกก็คือการถูกแฮกค์ข้อมูล  

พิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ประชาไท พูดถึงการทำสื่อใหม่ในฐานะสื่อหลักของการทำข่าวแบบประชาไทว่า

ตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง ประชาไทเกิดมาเพื่อเป็นสื่อใหม่ เพราะสื่อกระแสหลักที่นำเสนอกันมามักตัดบางประเด็นออกไป หรือเสนออยู่ในเกร็ดข่าวเล็กๆ น้อยๆ แต่ประชาไทได้หยิบประเด็นเหล่านั้นมานำเสนอให้กว้างขึ้น ให้ความสำคัญมากขึ้น เช่นเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆ โดยนำเสนอทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นช่องทางที่มีมีต้นทุนต่ำและนำเสนอได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งงานเขียน ภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือวิทยุก็ได้

พิณผกากล่าวว่า สื่อใหม่มีข้อดี คือ ทำเห็นการตอบรับของคนได้ง่ายมากว่าในขณะหนึ่งคนในสังคมสนใจอะไร ไม่สนใจอะไร เพราะนอกจากจะนำเสนอแล้วสื่อใหม่ยังสามารถเปิดพื้นที่ให้คนที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วยได้เข้ามาแสดงความเห็น ความสนใจจึงดูได้จากผลตอบรับ ถ้าคนสนใจมาก มีผลตอบรับมาก เช่นเดียวกับที่ประชาไทได้รับความนิยมเพิ่มจากเดิมอย่างมากนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร แต่ก็เป็นเพราะการเปิดให้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นนี้เองที่ทำให้ผอ.ประชาไทถูกดำเนินคดีจนตัดสินใจปิดตัวลงตอนนั้น และปรับระบบให้คนที่ไปแสดงความเห็นแสดงตัวเพื่อให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศ เราไม่อาจบอกได้ว่าตัวเลขที่ปรากฏในสื่อใหม่จะสะท้อนความจริงของสังคม การเคลื่อนไหวบางอย่างในสื่อใหม่อาจดูมีพลังมาก มีคนเข้าไปแสดงความเห็นอย่างคึกคัก แต่เอาจริงๆ ให้ออกมาเคลื่อนไหวกัน กลับมีน้อยมากๆ ที่สำคัญก็คือคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ต ตัวอย่างที่สะท้อนได้ชัดก็คือ จำนวนคนติดตามผู้มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างอภิสิทธิ์ที่มีมากกว่ายิ่งลักษณ์ แต่ในความเป็นจริง อภิสิทธิ์ไม่ใช่คนที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากการเลือกตั้ง

สำหรับประชาไท การใช้สื่อใหม่ทำข่าว เช่น โทรศัพท์มือถือ  มีข้อดี คือทำให้คล่องตัวมาก เพราะพกพาไปได้ทุกที่ นอกจากนี้เว็บไซต์ก็ยังมีพื้นที่ไม่จำกัดอย่างหนังสือพิมพ์ ดังนั้นการนำเสนอจึงไม่มีข้อจำกัดด้านปริมาณเนื้อหาด้วย

แต่หากจะมีข้อบกพร่องก็คงเป็นการตรวจสอบ เช่น พบคำผิดบ่อย แต่ทั้งนี้ก็เปิดโอกาสให้คนอ่านสามารถท้วงติงได้

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ผู้ก่อตั้ง “กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” พูดถึงการใช้สื่อใหม่เพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว หันมาใช้สื่อใหม่อย่างเฟซบุ๊คเป็นที่ประชาสัมพันธ์ แทนที่จะแปะโปสเตอร์ตามสถานที่จริง ถ้ามีงบประมาณเพื่อรณรงค์อะไรสักอย่างก็เลือกทำในเฟซบุ๊ค ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดคือการประชาสัมพันธ์งานชำแหละคำพิพากษาคดีจ้างวานฆ่าเจริญ วัดอักษร ก็ซื้อโฆษณาจากเฟซบุ๊คโดยเลือกเผยแพร่ไปยังกลุ่มคนที่สนใจข่าวของประชาไท แล้วก็มีคนเข้ามาดูจำนวนมาก มากกว่าการประชาสัมพันธ์แบบอื่นๆ ทั้งที่ใช้ต้นทุนเท่ากัน คนรุ่นนี้ใช้สื่อเหล่านี้โดยไม่ได้มองว่านี่เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่มองว่านี่คือทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งใช้มากขึ้นก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องทำ แต่แน่นอนว่าการประชาสัมพันธ์ไม่ใช่แค่การโฆษณา ต้องดูจังหวะเวลาการเผยแพร่ด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าสารต้องเข้ากลุ่มคนที่ต้องการแน่ๆ

ปราบแสดงความเห็นต่อวลี  “ยาวไปไม่อ่าน” ว่าเป็นเรื่องที่เจออยู่แล้ว คนในโลกออนไลน์ชอบอ่านอะไรสั้นๆ ย่อยง่าย จนกลายเป็นว่าคนที่อ่านยาวๆเป็นเพียงคนส่วนน้อย แต่คนจำนวนมากคนอ่านและแชร์อะไรสั้นๆโดยไม่ได้สนใจข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่ได้อ่านเนื้อหาสาระจริงๆ ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะสุดท้ายแล้วจะมาดูแพ้ชนะกันตรงที่ว่าฝั่งไหนมีคนสนับสนุนมากกว่ากัน แต่ในทางปฏิบัติการนำเสนออะไรสั้นๆก็ต้องทำ เพื่อให้เข้าถึงคนจำนวนมากได้ วิธีการก็คือ ต้องเสนอประเด็นที่ผูกพันกับอารมณ์คนอ่าน เพื่อโยงเขาไปสู่ประเด็นที่เรานำเสนอและต้องการให้เขาคล้อยตาม และไม่ให้เข้าใจประเด็นที่ต้องการสื่อคลาดออกไป

ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ ฝ่ายสื่อสาธารณะ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เห็นว่าสื่อใหม่ตอบสนองความต้องการของคนกลุ่ม LGBT มาก สำหรับตัวเองนั้นไม่ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่เสียทีเดียว เป็นกลางเก่ากลางใหม่มากกว่า เพราะมีโอกาสทำสื่อวารสารแบบเก่าที่ลงมือทำเองตั้งแต่ซีร็อก เย็บเล่ม ส่งไปต่างจังหวัด ซึ่งตอนนั้นไม่มีสื่ออินเตอร์เน็ตใดทั้งสิ้น ก็ถือว่าสนุกดี แต่มีปัญหาตรงการเผยแพร่เนื้อหา เพราะส่งหนังสือไปให้สมาชิกตามต่างจังหวัด ก็มีโอกาสที่คนรับจะไม่ใช่คนสั่ง หนังสือตกไปอยู่ในมือของคนอื่น ซึ่งมองว่าเนื้อหาที่คนรักเพศเดียวกันอ่านเป็นสิ่งผิดปกติ ดังนั้นสื่อเก่าจึงอาจสร้างผลกระทบต่อผู้รับสารมาก

สำหรับสื่อใหม่ เริ่มมาใช้เมื่อปี 2546 ที่เริ่มมีอินเตอร์เน็ต ตอนนั้นแม้จะใช้อะไรได้ไม่มากแต่ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ แล้วก็มีคนเข้ามาแสดงความเห็นเยอะมาก รู้สึกว่าสื่อใหม่ตอบโจทย์ LGBT เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่อาจจะไม่เปิดเผยตัวเองในที่สาธารณะ แต่อินเตอร์เน็ตทำให้เขามีตัวตนอย่างเต็มที่ ในขณะที่สื่อเก่า เช่น หนังสือ มีราคาแพง ต้นทุนสูง เสี่ยงที่วางขายไม่ได้ แต่สื่อใหม่เปิดโอกาส เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายกว่า เร็วกว่า ราคาถูกจนถึงฟรี เหลือแค่เราที่จำนำเสนอประเด็นอะไรไปเท่านั้น แต่อีกทางหนึ่ง ก็น่ากังวลว่า เมื่อสื่อใหม่มีครบทุกอย่างแล้ว คนก็จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวจริง แต่อยู่กับโลกออนไลน์มากกว่าโลกจริง กลายเป็นว่าเราทำงานโดยไม่มีคนสนับสนุน ไม่มีคนออกมาแสดงตัวว่ามีปัญหา ที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนั้น ในโลกออนไลน์คึกคัก แต่กิจกรรมออฟไลน์เงียบเชียบมาก

อิสมาอีล ฮายีแวจิ บรรณาธิการสำนักสื่อ Wartani ตัวแทนจากกลุ่ม Save Anwar (กลุ่มเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายมูฮัมหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ซึ่งถูกขัง 12 ปีฐานเป็นสมาชิก BRN) 

อิสมาอีล เล่าถึง Wartani ว่าเป็นสื่อที่เกิดจากคนในพื้นภาคใต้ที่รวมตัวกัน รวมทั้งอันวาร์ด้วย เพราะต้องการนำเสนอเรื่องราวในพื้นที่ที่ยังตกหล่นจากสื่อหลักหรือสื่อนอกพื้นที่ นำเสนอทำประเด็นต่างๆ ที่คิดว่าสื่ออันยังเสนอได้ไม่ครอบคลุม เพราะสื่อเหล่านั้นทำข่าวเพื่อตอบสนองความต้องการของคนนอกพื้นที่และยังไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จริงๆซึ่งอาจเป็นเพราะข้อจำกัดที่ตัวเนื้อหาก็ได้ นอกจากนี้ก็ต้องการเป็นกระบอกเสียงให้แก่ชาวบ้าน แน่นอนว่าเราสามารถนำเสนอได้มากกว่า เพราะมีข้อดีคือการเป็นคนในพื้นที่ที่เหมือนกับชาวบ้านทั่วไป ชาวบ้านจึงไว้ใจและมีความหวังว่าจะช่วยเหลือพวกเขาได้

สำหรับสื่อใหม่ ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะใช้ง่ายและมีราคาถูก มีโอกาสที่จะถูกควบคุมจากรัฐน้อย เพราะมีพลังมาจากคนข้างล่าง สื่อใหม่เข้าถึงชาวบ้าน รับฟังความเห็นของชาวบ้านที่ไม่กล้าหรือไม่เคยบอกสื่อหลักเนื่องจากความกลัวการถูกข่มขู่ หรืออะไรก็ตาม แต่เราได้นำเสนอความเห็นเหล่านั้น แม้ว่าจะเป็นความเห็นที่ตรงกันกับBRN อิสมาอิลจึงเห็นว่า สื่อใหม่ให้โอกาส เปิดพื้นที่ให้คนได้ดีมาก

“วันนี้คุณจะฆ่าหรือกักขังคนที่คิดต่างได้ แต่คุณจะฆ่าหรือกักขังความคิดไม่ได้ คุณจะฆ่ามะโซหรือกักขังอันวาได้ หรือจะฆ่าอีกสิบอีกร้อยคนก็ได้ แต่อย่าลืมว่าคุณไม่สามารถฆ่าความคิดของคนได้” อิสมาลีลกว่า

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์นักข่าว นักเขียน บรรณาธิการและที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชนสรุปข้อดีของสื่อใหม่เพิ่มเติมว่า สื่อใหม่ เป็นของคนรุ่นใหม่ซึ่งอยู่ในสังคมที่ต่างจากคนรุ่นเก่า สื่อใหม่ช่วยเปิดพื้นที่ใหม่ให้คนในสังคมที่มีความหลากหลาย แต่สื่อหลักได้มองข้ามไปอย่างเคยชิน เนื่องจากเน้นการทำงานกับคนที่มีอำนาจในสังคม มีอำนาจกำหนดนโยบาย แต่ไม่สนใจชาวบ้าน แต่สื่อใหม่ทำให้คนมีเสียงดังมากขึ้น คนรุ่นใหม่ได้นำเสนอสิ่งใหม่ๆให้สังคมได้เห็นอย่างกว้างขวาง เรื่องนี้จึงสะท้อนว่าถึงเวลาแล้วที่สื่อหลักควรจะเปิดพื้นที่ให้คนมากกว่านี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรื่องเล่าจากฮ่องกง: Domestic helpers in Hong Kong

0
0

หากใครเคยเดินไปแถวเขต Central ที่เกาะฮ่องกง เดินออกมาจากMTR exit A ในวันอาทิตย์ แม้ว่าอากาศจะเหน็บหนาวสักเพียงใด จะเห็นคนจำนวนมากที่ไม่น่าจะใช่คนฮ่องกงนั่งพูดคุยบ้าง ล้อมวงทานข้าวบ้าง บางคนมีกล่องลังกระดาษมากั้นลมหนาว ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ชินตาสำหรับคนฮ่องกง ไม่ใช่เฉพาะที่นี่เท่านั้น ตามสวนสาธารณะต่างๆ เราก็จะพบเห็นคนเหล่านี้เช่นกัน ฉันมาทราบภายหลังว่า คนเหล่านี้เป็นแรงงานต่างด้าวประเภทที่เรียกว่า “Domestic helpers” หรือจะเรียกในภาษาไทยว่า “ผู้ช่วยแม่บ้าน”

ผู้ช่วยแม่บ้านในฮ่องกงจำนวนมากมาจากประเทศฟิลิปปินส์ รองลงมาคืออินโดนีเซีย และลำดับสามคือประเทศไทย

ฉันได้มีโอกาสคุยกับคุณ Rey Asisเจ้าหน้าที่จาก APMM  (Asia-Pacific Mission for Migrants) Rey เล่าให้ฉันฟังว่าคนฟิลิปปินส์มาเป็นผู้ช่วยแม่บ้านที่นี่เยอะมาก เป็นหลักแสน เนื่องจากนายจ้างพอใจที่คนฟิลิปปินส์พูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งแรงงานในฮ่องกงนั้นจะเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายทั้งหมด จะไม่มีแรงงานนอกระบบเลย และนายจ้างก็ไม่กล้าจ้างแรงงานผิดกฎหมาย เพราะค่าปรับที่ฮ่องกงสูงมาก ไม่คุ้มกับความเสี่ยง แรงงานจะเดินทางเข้ามาโดยมีหนังสือเดินทางและวีซ่าตามประเภทงานที่ทำ ใบอนุญาตทำงาน (work permit) และอยู่ได้ตามระยะเวลาในสัญญาจ้าง หากใครอยู่เกินกำหนดเวลาที่อนุญาตไว้ ก็จะถูกกักขังและส่งออก

Rey แนะนำฉันให้ไปคุยกับพี่บังอร สอนธรรมซึ่งเป็นประธาน สมาคมรวมไทยในฮ่องกง Thai Regional Alliance in Hong Kong และแล้วบ่ายวันอาทิตย์ฉันมาพบพี่บังอรที่โรงเรียนแห่งหนึ่งที่เก๋าหล่งเซ่ง หรือ Kowloon city ที่แห่งนี้ฉันได้พบเจอผู้ช่วยแม่บ้านคนไทยจำนวนมาก ทางเครือข่ายฯ จะมีกิจกรรมทุกวันอาทิตย์ มีสอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกวางตุ้ง และบางทีก็มีกิจกรรมอื่นๆ บ้างตามโอกาส และที่สวนเล็ก Rose Garden มีจุดนัดพบกับอาสาสมัครแรงงานไทยในฮ่องกง เพื่อติดต่อสอบถาม และติดตามข่าวสาร ซึ่งเป็นบริการของสำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง จะมีแรงงานไทยนั่งล้อมวงพูดคุย ทานข้าว ขายของจากเมืองไทย เช่น น้ำพริก ข้าวเหนียว วัตถุดิบทำอาหาร และรายรอบไปด้วยร้านอาหารไทยจำนวนมาก ทั้งร้านเล็กร้านใหญ่ ป้ายชื่อร้านเป็นภาษาไทย สำหรับคนอยู่ไกลบ้านห่างเมืองแบบนี้ การได้มาพบปะพูดคุยภาษาเดียวกัน หัวอกเดียวกัน กับเพื่อนร่วมชาติเสียงพูดคุย ปนเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม แค่นี้คงทำให้เพิ่มพลังที่จะทำงานและอาศัยอยู่ต่างแดนต่อไป

แรงงานไทยในฮ่องกงมีประมาณ สองหมื่นกว่าคน แบ่งประเภทได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.  แรงงานผู้เชี่ยวชาญ (Employment as Professional)

2.  การนําเข้าแรงงานต่างชาติ (Employment as Imported Workers) ภายใต้โครงการเสริมด้านแรงงาน (Supplementary Labour Scheme) (SLS)

3.  แรงงานผู้ช่วยแม่บ้าน (Employment as Domestic Helpers from Abroad) มีกําหนดระยะเวลาการจ้างงานคราวละ 2 ปีและนายจ้างสามารถต่อสัญญาจ้างต่อไปได้อีกโดยไม่จํากัดระยะเวลา อัตราค่าจ้างเดือนละ 3,740 เหรียญฮ่องกง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2554 โดยนายจ้างต้องจัดที่พักและอาหารให้กับลูกจ้าง หากไม่จัดอาหารให้ ต้องจ่ายค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 775 เหรียญฮ่องกง[2]

สำหรับผู้ช่วยแม่บ้านที่มาจากเมืองไทย ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะแรงงานไทยไม่สามารถสื่อสารกับนายจ้างได้ พูดกวางตุ้งไม่ได้ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ทำให้มีปัญหาในการสื่อสาร แม้ว่านิสัยของแรงงานไทยจะเป็นที่พอใจของนายจ้างก็ตาม คนที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่อยู่ที่นี่มานาน พูดภาษากวางตุ้งได้แล้ว ต่อสัญญากับนายจ้างเรื่อยๆ โดยปัจจุบันสัญญาจ้างผู้ช่วยแม่บ้าน มีระยะเวลา 2 ปี โดยหากทำงานกับนายจ้างคนเดิมเกิน 5 ปีติดต่อกันแล้วนายจ้างให้ออก ผู้ช่วยแม่บ้านคนนั้นมีสิทธิได้รับเงินที่เรียกว่า long service และหากถูกเลิกสัญญาแล้วสามารถอยู่ในฮ่องกงต่อได้เพียง 14 วันเท่านั้น แม้ว่าจะเหลือระยะเวลาที่อนุญาตไว้ในวีซ่ามากกว่านี้ แต่ถ้าหากเป็นแรงงานอาชีพอื่น หากถูกเลิกจ้าง แต่ระยะเวลาที่อนุญาตในวีซ่ายังเหลือ สามารถอยู่ได้จนสิ้นสุดการอนุญาต

สวัสดิการอื่นๆ ของผู้ช่วยแม่บ้าน เช่น ในเรื่องการรักษาพยาบาล นายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบในค่ารักษาพยาบาลของผู้ช่วยแม่บ้าน ซึ่งแตกต่างจากแรงงานประเภทอื่น ที่สามารถซื้อประกันด้วยตัวเอง และมีกองทุนที่เรียกว่า Mandatory provident fund (MPF)

หรือในกรณีที่แม้จะอาศัยอยู่ในฮ่องกงต่อเนื่องเกิน 7 ปี ผู้ช่วยแม่บ้านก็ไม่สามารถมีสิทธิยื่นคำร้องขอสิทธิอาศัยถาวร Hong Kong Permanent Residence ได้ เพราะเป็นอาชีพที่อยู่ในข้อยกเว้นตาม Section 2(4) of the Immigration Ordinance[3]ข้อกฎหมายและทางปฏิบัตินี้ได้ถูกยืนยันอีกครั้งโดยคำพิพากษาในคดี FACV Nos 19&20 of 2012 in the court of final appeal of the Hong Kong Special Administrative Region

ชีวิตแรงงานไทยในต่างแดน ไม่ได้สุขสบาย ทั้งยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากปัญหาการสื่อสาร วัฒนธรรม ในการใช้ชีวิตในต่างแดน แต่ก็ต้องอดทน เพราะแบกภาระทางบ้านไว้เยอะ เหมือนกับที่ชาวบ้านชอบพูดว่า “มาตกทอง” แต่ถ้าใครไม่ได้มายืนอยู่ ณ จุดนี้คงไม่รู้ว่า กว่าจะได้เงินมานั้นลำบากเพียงใด

 




[1]บทความนี้เขียนขึ้นในขณะที่เป็นนักกฎหมายฝึกงานที่ Asian Human Rights Commission-AHRC เมื่อ 11 มกราคม – 10 พฤษภาคม 2556

[2] http://www.thai-consulate.org.hk/internet/attachments/640.pdf

[3]http://www.legislation.gov.hk/blis_pdf.nsf/6799165D2FEE3FA94825755E0033E532/ED717360D64A043E482575EE003DBF1A/$FILE/CAP_115_e_b5.pdf

 

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการได้ที่ 
              www.statelesswatch.org
Blog1 ; https://statelesswatch.wordpress.com
Blog2 ; https://gotoknow.org/portal/statelesswatch-swit

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปรากฏการณ์ไทยกายฟอกซ์ : ภาวะหลังสมัยใหม่ที่คนไทยไม่อยากเรียน

0
0

เกริ่นนำ


ที่ประเทศไทย ในสังคมจำลองอย่างระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ได้เกิดปรากฎการณ์ “หน้ากากกายฟอกซ์” (Guy Fawkes mask) ซึ่งเคลื่อนไหวมาจากกลุ่มที่สนับสนุนให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ และแน่นอน ผู้ริเริ่มเคลื่อนไหวเหล่านั้น คงได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา (V For Vendetta, 2005) เป็นส่วนใหญ่ และอาจรู้จักที่มาที่ไปทางประวัติศาสตร์เป็นส่วนน้อย ที่น่าสนใจ คือ “ภาวะลักลั่นย้อนแย้ง”ซึ่งแสดงให้เห็นร่องรอยความไม่ต่อเนื่องของระบบคิดที่ยืนอยู่บนรากฐานเดิมๆ ของโลกทัศน์เก่า กำลังเปิดเผยให้เราเห็นพรมแดนของการปะทะกันของโลกสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ โดยที่ “ความไม่ต่อเนื่อง” (Discontinuity) อันเป็นตัวแทนของโลกหลังสมัยใหม่ กำลังบ่งบอกเราว่า “ภาวะลักลั่นย้อนแย้ง”ของวาทกรรมทางการเมืองหรือแนวคิดทางการเมืองในประเทศไทย ไม่เพียงแต่เป็นตรรกะวิบัติ (Fallacy Logic) เท่านั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึง “ความสับสนภายในตนทางจิตวิทยา”ซึ่งแสดงออกให้เห็นจากพฤติกรรมไม่ต่อเนื่องที่ยากจะอำพรางอีกด้วย เพราะการผลิตซ้ำผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อสร้างปรากฏการณ์สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องการผลิตซ้ำแบบนักโฆษณาการตลาดมือทองแล้ว ก็จะเกิดภาวะที่จะยากควบคุมได้ ที่สุด การกระทำดังกล่าวย่อมกลายเป็นไม่สำเร็จตามความตั้งใจไป เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีข้อจำกัดคือเรียกร้องให้มีการอธิบายอย่างหลังสมัยใหม่ (Post-Modern Trend) ซึ่งเป็นเรื่องที่นักคิดชาวไทยไม่คุ้นชินกระนั้น การอธิบายแบบนี้ก็กลับลักลั่นย้อนแย้งในตัวเองอีก เพราะประเทศไทยมิได้ยอมรับเกี่ยวกับการคืนสิทธิความเท่าเทียมของมนุษย์ในประเทศนี้โดยการปฏิบัติ?แต่ก็นั่นแหละ “ความลักลั่นย้อนแย้ง เป็นงานของหลังสมัยใหม่โดยตรง”
 

เนื้อหา

1. การผลิตซ้ำเป็นคำสำคัญของศตวรรษที่ 21
ในภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา จงใจแสดงให้เห็น “การผลิตซ้ำ” ของรัฐบาลเผด็จการ ในระดับที่เรียกว่า ครอบงำ ก็ว่าได้ ซึ่งการ “ผลิตซ้ำ” นี้มีผลโดยตรงต่อผู้บริโภคสื่อ หรือที่จะเรียกว่า ผู้เสพสัญญะ ก็ได้ บทพูดของท่านผู้นำในท้องเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจแห่งการกดบังคับอย่างชัดเจน เป็นต้นประโยคที่กล่าวว่า “Any unauthorized personnel, will be subject to arrest. This is for your protection.”(บุคคลที่ไม่ได้รับการอนุญาตจะถูกจับกุม เพื่อความปลอดภัยของคุณ) คำว่า “ความปลอดภัยของคุณ” เป็นสิ่งที่ตรงกับความรู้สึกเบื้องลึกของมนุษย์ที่รักตัวกลัวตาย แน่นอนที่สุด จะมีมนุษย์ส่วนหนึ่งเห็นด้วยที่จะฆ่าชีวิตมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งได้ด้วยคำๆนี้ นั่นเป็นตรรกะของโลกทัศน์เดิม “Disease-ridden degenerates. They had to go.” (ภัยร้ายของสังคมต้องหายไป) ซึ่งในศตวรรษที่ 21 เรื่องนี้ถูกพิสูจน์กันในระดับประสบการณ์และปฏิบัติการเชิงนโยบายแล้วว่า “ไม่จริง” เป็นศิลปะแห่งการชวนเชื่อรูปแบบหนึ่ง เราไม่อาจกำจัดสิ่งที่เรียกว่าภัยร้ายนี้ได้อย่างสิ้นซาก และในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีใครทำสำเร็จ แต่ที่สำเร็จคือการถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของ “พวกชาตินิยม” (Nationalism) เพราะการผลิตซ้ำแบบที่ว่า (ในภาพยนตร์เสนอให้เห็นว่าท่านผู้นำควบคุมสื่อและครอบงำประชาชนผ่านสื่อสารมวลชนทุกรูปแบบ) ทำให้เกิด “ภาวะเกินจริง/เสมือนจริง” (Hyper-reality) กล่าวคือ ไม่จำเป็นว่าสิ่งที่กำลังสื่ออยู่เป็นความจริงเอาเป็นว่าผลิตซ้ำให้มากพอจนเชื่อว่าจริงเป็นใช้ได้
 

2. ความจริงในโลกหลังใหม่ไม่ผูกขาดกับสัจธรรมหรือตัวแบบในอดีต
โบดริยาร์ด (Baudrillard) นักคิดหลังสมัยใหม่เสนอว่า ผู้คนในศตวรรษนี้ ตกอยู่ภายใต้โลกที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ทางสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างและผลิตซ้ำ นั่นคือโลกของการจำลองและสร้างภาพใหม่ (Simulacra and Simulation) กล่าวคือ ทุกอย่างถูก “ผสมใหม่” (Re-mix) และไม่จำเป็นว่าต้องสอดคล้องตรงกันกับความจริง แต่เป็นเรื่องของความเชื่อว่าจริง และจากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการผลิตซ้ำ จนสามารถสถาปนาความจริงใหม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าเรื่องของกายฟอกซ์และภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา จะย้อนแย้งกับการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการมากเพียงไร แต่ถ้ามีการผลิตซ้ำที่มากพอ และการครอบงำที่เบ็ดเสร็จ ชุดความคิดนี้จะกลายเป็นความจริงใหม่ ถึงเราก็กล่าวหรือพิสูจน์ว่า เรื่องนี้ไม่จริงเมื่ออ้างหลักฐานจากต้นกำเนิดหรือจุดประสงค์ของการกำเนิด ก็ไม่อาจจะลบความจริงใหม่ที่ถูกสถาปนาขึ้นได้ เว้นแต่จะตกลงใจกันลดทอนความสำคัญของวาทกรรมนี้ลง เรื่องนี้ ใช้กับประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างใหม่ได้เช่นกัน เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่อะไรจริงหรือเท็จอีกแล้วในศตวรรษที่ 21ประเด็นอยู่ที่เสพสัญญะมาอย่างไร? และอยากจะเชื่ออย่างไร? ฉะนั้น ความคิดแบบสมัยใหม่ (Modernity) แม้กระทั่งความคิดแบบปฏิฐานนิยม (Positivism) จึงขาดความต่อเนื่องไปโดยปริยายในศตวรรษที่ 21 เพราะความจริงเดิมถูกฉีกทึ้งและแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ใครที่อ้างว่าเป็นความจริงแท้จึงน่าสงสัยมากในศตวรรษที่ 21 เพราะอาจเกิดปัญหาเรื่องการพิสูจน์ดังกล่าว นี่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยุคนี้
 

3.โฉมหน้าที่ถูกเปิดเผยของปีศาจในคราบนักบุญ
“That with devotion's visage and pious action, we do sugar o'er the devil himself.” (ใบหน้าที่เปี่ยมด้วยศรัทธาและความเคร่งศาสนา คือหน้ากากของปีศาจที่สร้างขึ้นในตน) ประโยคนี้ถูกใช้(ผลิตซ้ำ) ในภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตาด้วย แต่เป็นประโยคที่ยืมมาจาก แฮมเล็ต ของ เช็กสเปียร์ (Hamlet III,I) ซึ่งตัวเอกของเรื่อง กลับใส่หน้ากากเสียเอง ทั้งยังพูดติดตลกว่า “I'm merely remarking upon the paradox of asking a masked man who he is.” (ไม่ย้อนแย้งหรือที่จะมาถามว่าคนใส่หน้ากากอย่างผมคือใคร?) บทสนทนานี้สะท้อนให้เห็นว่า เรามักสงสัยคนที่ปกปิดตัวเองเสมอ แต่ไม่สงสัยการปกปิดความชั่วร้ายที่ถูกสร้างขึ้นอย่างแนบเนียน ซึ่งความชั่วร้ายนั่นอาจมีผลกับเราเสียด้วย เรื่อง “หน้ากาก” (Mask) นี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความไม่รู้อะไรจริงอะไรเท็จในศตวรรษนี้ได้ดี เพราะถ้าผ่านการผลิตซ้ำด้วยสื่อแล้ว อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เราจะหาความจริงได้อย่างไร? ถึงแม้จะไม่ง่ายนักแต่เราอาจทำได้จากการวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) หรือไม่ก็รื้อดูที่มาที่ไปอันไม่ต่อเนื่องของระบบคิดตามแนวคิดหลังสมัยใหม่ ซึ่งวิธีการแบบสมัยใหม่ไม่รองรับในเรื่องนี้ เนื่องจากยังเรียกร้องจารีต แบบแผน ความสม่ำเสมอ จึงมีข้อด้อยทำให้ไม่เท่าทันความคิดที่ผันแปร ในศตวรรษที่ 21 นี้เองด้วยท่าทีแบบช่างสงสัย (Skeptics) ก็ได้ช่วยเผยโฉมหน้าของปีศาจในคราบนักบุญไม่มากก็น้อย นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการยอมรับ แต่ในชีวิตจริงการเปิดเผยเช่นนี้กลับเป็นสงครามแห่งการสาดโคลนผ่านสื่อไปเสียอีก?
 

4.การเล่นคำของหลังสมัยใหม่:การติดตามความซับซ้อนของมนุษย์?
ข้อวิจารณ์สำคัญประการหนึ่งที่นักคิดหลายคนมีต่อแนวคิดหลังสมัยใหม่ คือ พฤติกรรมที่ราวกับเป็นการเล่นคำ ฟังแล้วไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนนัก (ปลายเปิด) หรือเป็นลักษณะการตั้งคำถามซ้อน (ตอบคำถามด้วยคำถาม) หรือแม้แต่การยินดีและเบิกบานที่จะใช้ตรรกะวิบัติบางประเภทอย่างมีศิลปะ รวมถึงการแสดงอารมณ์ความรู้สึกด้วย นั่นทำให้การสื่อสารผ่านแนวคิดหลังสมัยใหม่มีลักษณะที่ซับซ้อน (Complexity) หลายครั้งคลุมเครือ (Obscure) แต่ที่จริงแล้ว นั่นเป็นเพียงผลของความพยายามที่จะอธิบายสังคมหรือมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างซับซ้อนเท่านั้น เพราะในเมื่อประวัติศาสตร์เริ่มให้เบาะแสกับเราว่า บางสิ่งก็เป็นเรื่องที่ประกอบสร้างและผลิตซ้ำขึ้นโดยรัฐเพื่อให้เกิดผลทางจิตวิทยากับประชาชน และเรื่องนั้นห่างไกลจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงดังที่มีหลักฐานในประวัติศาสตร์ แบบนี้จึงทำให้การเสพสัญญะหรือข้อมูลสำเร็จรูปไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ทุกอย่างจึงมีบริบท (Context) ของมันเอง มีทิศทางและเจตนาที่แสดงออกผ่านประวัติศาสตร์ ซึ่งการถอดรื้อ-รื้อสร้าง (Re/Deconstruct) เป็นผลให้มีการนิยามหรือทบทวนความหมายเสียใหม่ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ของมนุษย์และสังคมด้วยวิธีใหม่ๆ เป็นต้น การนิยามเรื่อง “ความเหนือจริง” (Hyper-reality)  ของโบดริยาร์ด นั่นเอง ตราบใดที่ยังมีระบบสังคมเงินเดือน มีผู้บริโภค มีสื่อสารมวลชน การบริโภคสัญญะย่อมเกิดขึ้นจริงวันยันค่ำ อาจกล่าวได้ว่า ถ้าเราไม่เปิดใจกับความซับซ้อนดังกล่าว เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า รู้เท่าทันโฆษณาชวนเชื่อ? ซึ่งก็เป็นภาพยนตร์เรื่องนี้อีกที่สร้างรูปแบบประโยคผ่านการเขียนบทได้อย่างน่าสนใจ ทั้งคลุมเครือและซับซ้อน
 

5.พรมแดนที่บีบคั้นให้ต้องคิดด้วยตัวเอง
ภาพยนตร์เรื่องวี ฟอร์ เวนเด็ตตา มีฉากสำคัญที่ “วี” สร้างเรื่องขึ้นเพื่อให้สอนอะไรบางอย่างให้กับ “อีวี่” กล่าวคือ “วี” เองก็ใช้เรื่องที่ประกอบสร้างขึ้นเพื่อสอนให้อีวี่ได้เข้าใจอะไรบางอย่าง ซึ่งมิตินี้คู่ขนานกันไปกับภาพพจน์ของการประกอบสร้างเรื่องของรัฐบาลเผด็จบาลเพื่อครอบงำประชาชน ทั้งสองพฤติการณ์ล้วนเป็น “การประกอบสร้างขึ้น” ทั้งสิ้น หากแต่ ต่างเป้าหมายกัน โดยอ้างถึงคำกล่าวที่ว่า “that artists use lies to tell the truth.”(ศิลปินใช้เรื่องโกหกเพื่อบอกความจริง) และ “Because you believed it, you found something true about yourself.” (เพราะคุณเชื่อเรื่องโกหกนั่น ที่สุด คุณพบความจริงภายในตัวคุณ) ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ “จริงหรือเท็จ” อีกต่อไป หากแต่อยู่ที่ “ความจริงภายในตัว” ซึ่งถ้าเราคล้อยตามความคิดที่ว่า เป็นการยากมากที่เราจะรู้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จในโลกแห่งการผลิตซ้ำ สิ่งเดียวที่เราจะรู้ได้ชัดเจนคือความจริงภายในตัวเรา และภาพยนตร์ได้สะท้อนความกราดเกรี้ยวของอีวี่เป็นตัวแทนจิตใจของมนุษย์ทุกคนได้เป็นอย่างดี เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนนี้คือ “คิดด้วยตัวเอง” (จากห้องขัง) และ “สงบนิ่งไม่หวาดกลัว” ดังที “วี” บอกไว้ว่า “Beneath this mask there is an idea, and ideas are bulletproof.”(ภายใต้หน้ากากมีความคิด และหลายๆ ความคิดกันกระสุนได้) ประเด็นในภาพยนตร์ คือ เพื่อที่จะคิดเองได้นั้น (เสรีภาพ) จำเป็นต้องผ่านการตระหนักรู้ว่าเราเป็นผู้ถูกคุมขัง เป็นผู้ถูกกระทำ จนก้าวข้ามอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลาย จนรู้ว่าอะไรจำเป็นกับชีวิตของเราที่สุด ไม่ใช่แค่เพียงกันเลียนแบบกันหรือเอาการตัดสินใจของคนหมู่มากมาเป็นที่ตั้งเท่านั้น
 

6.ภาวะย้อนแย้งของระบบคิด ความเกรี้ยวกราด และเรื่องโกหก?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ทำให้ข้อมูลกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และบางครั้งขาดบริบท (Context) ที่ควรจะเป็นไปโดยปริยาย ในทางปฏิบัติใครสักคนสามารถใช้เมาส์คัดลอกคำพูดเพียงประโยคเดียวของใครคนหนึ่งและนำไปตีความในทางไม่สร้างสรรค์ได้มากมาย รวมถึงการผลิตซ้ำเพื่อสื่อสารการตีความดังกล่าว ซึ่งในระบบเดียวกันนี้เอง จึงทำให้เกิดภาวะย้อนแย้งของระบบคิดอย่างสูงมากและเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามีผลทางจิตวิทยากับผู้ที่เสพสัญญะเหล่านั้น แน่นอนที่สุด ไม่ต่างอะไรจากการไฮด์ปาร์คเพื่อปลุกระดมประชาชนผู้กำลังอยู่ในความรู้สึกที่สับสน ให้ก่อเหตุรุนแรง ความกราดเกรี้ยวดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความไม่สำเร็จของเป้าหมายตามที่คิด และความยึดมั่นอยู่กับเรื่องโกหกหรือเรื่องจริงก็ทำบดบังปัญญาของผู้เสพสัญญะจาก “การคิดด้วยตัวเอง” เพราะที่จริง ลึกๆแล้วอาจเป็นไปได้ว่า ผู้เคลื่อนไหวมีความสับสนในตนเองอยู่ลึกๆ ว่า การแสดงออกหรือสื่อสารไปอย่างง่ายดายในที่สาธารณะนั้น เพื่อประโยชน์ของเพื่อนร่วมสังคม หรือเพื่อบอกต่อสังคมว่า ฉันยังอยู่ตรงนี้ โปรดสนใจฉัน? หรือไม่ก็เป็นเพียงแต่การร่วมกระแสในฐานะผู้บริโภคสัญญะคนหนึ่งเท่านั้น (เพื่อให้สังคมมองตนเองในทางที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องเป็นทางที่จริง)
 

7.เสรีภาพในศตวรรษที่ 21 ย่อมซับซ้อนกว่านิยามในศตวรรษที่ 17
ทั้งที่ผู้บริโภคกระตือรือร้นที่จะใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารและรับบริการที่สะดวกสบายขึ้น ในขณะเดียวกันความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แม้กระทั่งเรื่องสิทธิเสรีภาพยังจำกัดวงอยู่แต่ในศตวรรษอดีต ด้วยเหตุที่ไม่ติดตามและจะติดตามในฐานะ “ลูกศิษย์ของสาขาวิชา” (Disciple of Discipline) เท่านั้น ซึ่งสำหรับหลังสมัยใหม่นั้นไม่จำเป็น เนื่องจาก ความรู้สามารถเรียบเรียงและสื่อสารออกมาแบบเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ โครงสร้างไม่จำเป็นต้องเป็นโครงสร้างระดับมหึมาอีกต่อไป แต่เป็นอิสระต่อกันในระดับท้องถิ่นหรือหน่วยที่ย่อยไปกว่านั้นได้ แต่ในเชิงปรัชญาแล้ว ถ้าเรายังรู้จักแต่แนวคิดซึ่งอาจเหมาะสมมากๆ กับบริบทของศตวรรษนั้น แต่มีบางอย่างไม่เหมาะสมแล้วกับศตวรรษนี้ ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะย้อนแย้งของระบบคิดดังกล่าว เพราะที่จริง วิธีการแก้ไขปัญหาที่นิยมมากหรือมักนำมาใช้เป็นตัวแบบในปัจจุบัน คือ การบูรณาการศาสตร์ ซึ่งควรจะเป็นการสร้างสรรค์การตั้งคำถามและตอบด้วยวิธีวิทยาที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษามากที่สุด ฉะนั้น เราคงหยุดอยู่ที่ ฮอบส์ (Hobbes) แล้วปวารณาตนเป็นศิษย์ของเขาแต่เพียงผู้เดียวก็คงไม่เหมาะ แม้กระทั่งจะมาหยุดที่ ฟูโกต์ (Foucault) และทำแบบเดียวกันนั้นก็คงไม่เหมาะ เพราะเป้าหมายคือการผลิตตัวแบบที่ใช้แก้ปัญหาสำหรับศตวรรษนี้ ในบริบทที่มีความซับซ้อน เชื่อมโยงที่สูงในสัดส่วนเดียวกันกับเทคโนโลยี นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ตัวแบบที่หนาแน่นด้วยความคิดแบบเก่า-ผูกขาดอำนาจหรืออนุรักษ์นิยมนับวันยิ่งบังคับใช้ไม่สำเร็จในสากลโลก เป็นต้น รัฐประหารในประเทศไทย ระบอบเผด็จการทหารของพม่า หรือแม้กระทั่งคอมมิวนิสต์ของประเทศจีน ที่จริงแม้กระทั่ง การสร้างเรื่องเสมือนจริงของอเมริกาด้วย อาจกล่าวได้ว่า วิธีเดิมๆใช้แก้ปัญหาไม่ได้ผลกับคนรุ่นใหม่อีกต่อไป

สรุป
ปรากฏการณ์ไทยกายฟอกซ์สะท้อนให้เห็นความผิดปกติเกี่ยวกับการผลิตซ้ำของชาวไทย ซึ่งเป็นร่องรอยของความไม่รอบคอบด้านข้อมูลจนทำให้เกิดความลักลั่นย้อนแย้ง มีบางสถิติซึ่งชาวไทยเป็นผู้ครอบครองเป็นต้น จำนวนประชากรชาวไทยผู้ใช้เฟซบุ๊ก นั่นย่อมหมายถึงประสิทธิภาพในการผลิตซ้ำ บิดเบือนความหมาย และการแสดงให้เห็นถึงภาวะขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนของเทคโนโลยีอีกด้วย (ดังที่เป็นมาโดยตลอดในฐานะผู้บริโภคเทคโนโลยี มิใช่ผู้ประกอบสร้างเทคโนโลยี) นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงถูกกดบังคับด้วยทุนจากผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงไม่รู้ตนเองเลยว่ากำลังถูกกดบังคับอยู่ นั่นเพราะสายตาของเราเสพอยู่กับแต่สัญญะภายนอก และล่องลอยไปตามกระแสที่ตอบสนองปัจจัยทางจิตวิทยาของตนเอง โดยที่ไม่เคยผ่านกระบวนแบบ “อีวี่” ซึ่งจะนำไปสู่การถูกบีบบังคับให้คิดด้วยตนเอง เช่นนั้นเราก็ไม่ควรพูดถึงเสรีภาพ และเช่นนั้นก็ไม่ควรพูดว่าได้ดูและเข้าใจภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา จนนำมาเป็นสัญลักษณ์จะดีกว่า


               

การอ้างอิง
http://www.thaisubtitle.com/manage/view_subtitle.php?mid=2691&start=1
http://en.wikiquote.org/wiki/V_for_Vendetta_(film)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูนิเซฟเรียกร้องสังคมเปิดโอกาสให้เด็กพิการมีส่วนร่วมมากขึ้น

0
0

(30 พ.ค.56) องค์การยูนิเซฟออกรายงานสภาวะเด็กโลกประจำปี 2556 ซึ่งปีนี้ว่าด้วยเรื่องเด็กพิการ (The State of the World’s Children – Children with Disabilities) และเรียกร้องให้สังคมยอมรับในความสามารถและศักยภาพของเด็กพิการ และเปิดโอกาสให้เด็กพิการได้มีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น

“เมื่อคุณมองที่ความพิการก่อนมองความสามารถของเด็ก นอกจากจะเป็นเรื่องที่ผิดต่อเด็กแล้ว ยังทำให้สังคมเสียโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากศักยภาพของเด็กพิการอีกด้วย เมื่อเด็กขาดโอกาสสังคมก็เสียประโยชน์ ฉะนั้นเมื่อเด็กได้รับโอกาส สังคมก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน” นายแอนโทนี่ เลค ผู้อำนวยการบริหารขององค์การยูนิเซฟกล่าว

ในประเทศไทย จากการสำรวจความพิการ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2550 พบว่ามีผู้พิการจำนวน 1.87 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 2.9 ของประชากรทั้งหมด มีเด็กพิการอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่มาจดทะเบียนคนพิการจำนวน 74,502 คน อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีเด็กพิการอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ลงทะเบียน เด็กพิการส่วนใหญ่ในประเทศไทยคือกลุ่มพิการทางสติปัญญา นอกจากนี้ ยังพบว่าประชากรที่พิการอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 24.3 ไม่ได้รับการศึกษา และมีประชากรพิการวัยแรงงาน เพียงร้อยละ 53.3 ที่มีงานทำ

รายงานสภาวะเด็กโลกปี 2556 ระบุว่า เด็กพิการมักเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลทางสุขภาพหรือไปโรงเรียนน้อยที่สุด และเสี่ยงต่อความรุนแรง การทารุณกรรม การถูกแสวงประโยชน์และถูกทอดทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เด็กพิการที่เข้าถึงยาก หรือที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ในศูนย์ผู้พิการต่างๆ อันเป็นผลมาจากการถูกตีตราทางสังคม หรือการที่ครอบครัวไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลพวกเขาได้ ปัจจัยหลายอย่างนี้ทำให้เด็กพิการกลายเป็นกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่ง รายงานยังระบุอีกว่าเด็กพิการเพศหญิงมักได้รับอาหารและการดูแลน้อยกว่าเด็กพิการเพศชาย

รายงานฉบับนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) และดำเนินการเพื่อประกันสิทธิของเด็กและคนพิการ ตลอดจนสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถเลี้ยงดูเด็กพิการได้ ที่ผ่านมา หนึ่งในสามของประเทศทั่วโลกยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ สำหรับประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาฯ นี้แล้วเมื่อ พ.ศ. 2550

นอกจากนี้ รายงานเน้นถึงความสำคัญในการให้เด็กและผู้พิการมีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการและบริการต่างๆ สำหรับผู้พิการ อีกทั้งยังเรียกร้องให้ประชาชนทั่วไป ผู้บริหารประเทศ และหน่วยงานต่างๆ เช่น โรงเรียน และสถานพยาบาล ยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการด้วย

 

 

ดาวน์โหลดรายงานสภาวะเด็กโลก ปี 2556 และเอกสารข้อมูลมัลติมีเดียที่เกี่ยวข้อง(เฉพาะภาษาอังกฤษ)ได้ที่ http://www.unicef.org/sowc2013/ และ http://weshare.unicef.org/SOWC2013Media

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อ 4 เสือวิเคราะห์ประชานิยมไทย นิธิ-อัมมาร-เกษียร-สมเกียรติ

0
0


(30 พ.ค.56) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานเสวนาสาธารณะ “คิดใหม่ประชานิยม: จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง” วิทยาการประกอบด้วย  นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbook เนื้อหาการเสวนามีดังนี้

ลักษณะสำคัญของประชานิยม

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เริ่มต้นนิยาม “ประชานิยม” ซึ่งที่ใช้อยู่นั้นคับแคบเกินไป ประชานิยมเป็นสิ่งเก่าแก่ตั้งแต่กรีก ลักษณะสำคัญคือ 1.เอาใจประชาชน ระดับล่าง การเอาใจนั้นเพื่อเพิ่มคะแนนเสียงก็ได้ ยึดอำนาจก็ได้ คนชุมนุมปกป้องสถาบันกษัตริย์ก็ประชานิยมชัดๆ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดในคอนเซ็ปท์นี้ ดังนั้นจะใช้มันในทางขวา ซ้าย ประชาธิปไตยได้หมด 2.เป็นการกระจายทรัพยากรถึงประชาชนในรูปใดก็ได้ แจกแปรงสีฟันก็ได้ ทำกองทุนหมู่บ้านก็ได้ 3.มีลักษณะชาตินิยม เป็นตัวกระตุ้นเร้าให้คนเข้าร่วมได้ง่าย หรือจะเน้นประชาคมพลเมืองก็ได้ 4.มีในทุกสังคม และมีตลอดมา ต้องเข้าใจในลักษณะนี้เท่านั้นถึงจะอธิบายได้ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด

รัฐบาลบอกแต่ข้อดี ไม่บอกราคาต้นทุนนโยบาย

อัมมาร สยามวาลา กล่าวว่า ที่ดูนั้นคือประชานิยมในเชิงนโยบายเศรษฐกิจ ค่อนข้างเห็นด้วยกับประชานิยมในแง่การกระจายทรัพยากร แต่ที่เกิดในประเทศไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น เสน่ห์ของประชานิยมไทยตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนโยบายระดับชาติที่เอาใจประชาชน ก่อนหน้านั้นเป็นประชานิยมในระดับพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มันทำให้ประชาธิปไตยก้าวไปสู่จุดที่ดีขึ้น คือ รัฐบาลสัญญาอะไรกับประชาชน ได้รับเลือกตั้งมาก็ปฏิบัติตาม ซึ่งให้เกียรติกับทักษิณมาโดยตลอด เป็น accountability หรือความรับผิดชอบ แต่ที่ค้านมาโดยตลอดคือ รับผิดชอบครึ่งเดียว เพราะนโยบายทุกอย่าง มีคนได้ เขาจะพูดแต่ว่าใครได้อะไร แต่ไม่มีการพูดถึงข้อเสีย เพราะหน้าที่นักการเมืองต้องพยายามรวมเสียงได้เกินครึ่งอยู่แล้ว โอบามาก็ทำ เป็นตรรกะที่มาจากประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง และเป็นผลดีด้วยหากมีการตรวจสอบ คานเสียงกันอย่างเต็มที่ บังเอิญสหรัฐอเมริกามีประเพณีปฏิบัติด้านการเมืองว่ารัฐบาลไม่ควรทำอะไรบ้าง แต่ไทยไม่มีแบบนั้น เราต้องการทำให้รัฐบาลทำได้ทุกอย่าง

“มันไม่ใช่ความผิดพรรคเพื่อไทยที่ (ให้) มั่วไปหมดทุกอย่าง เขาทำเพราะเขาได้คะแนนเสียง ผมไม่บอกว่าเขาทำสุ่มสี่ทุ่มห้าเพราะเขาทำวิจัย แต่มันไม่ใช่แนวนโยบายที่ coherent สุดท้าย ที่ผมไม่ชอบประชานิยม อย่างที่เกิดขึ้นในไทย มันทำให้การเมืองถูกกลบ ใน sense ของ cheap ทุกคนคิดว่าฉันจะได้อะไรจากรัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลจะทำอะไรเพื่อสังคมโดยรวม”

“มันเป็นประเด็นว่า จะใช้ทรัพยากรสาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างไร ดีเบตนั้นไม่เคยเกิดขึ้น อย่างจำนำข้าว บางเวลาผมอาจเห็นด้วย แต่ผมคิดว่าระบบที่สร้างขึ้นมาในโครงการนี้เอื้อชาวนาระดับบน ระดับล่างได้อานิสงส์ และระดับบนจะช่วย organize เสียงอื่นๆ ให้รัฐบาลได้ เป็นแนวทางที่ชาญฉลาดพอสมควร สอง คุณกำลังเห็นใช่ไหมว่าเวลานี้ต้นทุนที่ตามมาทีหลัง ส่วนนี้รัฐบาลไม่ต้อง accountable ต้นทุนจะมากแค่ไหน ผลเสียจะตกกับใคร”

“ความรับผิดชอบต่อต้นทุน ผลเสียต่างๆ ของนโยบายไม่อยู่ในสัญญา ไม่อยู่ในส่วนที่รัฐบาล accountable มันทำให้รัฐบาลถูกลง การดีเบตบทบาทรัฐบาลในการทำประโยชน์สาธารณะไม่ไปไกลเท่าที่ควร และนโยบายประชานิยมมันกลบเกลื่อนเรื่องที่จะไปถึง มองแต่ว่าข้าจะได้อะไร มันทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปด้วย  และไม่มองรัฐบาลอย่างที่ควรจะมอง”

ระวังอคติในการประเมิน อะไรดี-ไม่ดี

นิธิกล่าวว่า ผมไม่ได้คิดว่าการกระทำรัฐบาลดีทั้งหมด แต่มองว่านโยบายจำนำข้าวทำก็ได้ ถ้ามีการระบายข้าว โรงสีไม่โกง สอง อย่างที่ อ.อัมมารพูดนั้นพูดใหม่ว่า ตั้งใจให้ชาวนาจนได้ประโยชน์ และชาวนารวยเป็นผลพลอยได้ก็ได้ สาม เวลาพูดว่ารัฐบาลมันถูกลง (cheap) เรามีอคติบางอย่างอยู่ในใจ ถ้าประชาชนอยากได้รถคันแรก ราคาลดแสนหนึ่ง มึงคนไม่ค่อยดี อยากได้เขาพระวิหารคืน มึงคนดี เสื้อแดงอยากได้ความยุติธรรม ไม่รู้คืออะไร แต่ใกล้จะเป็นเทวดาแล้ว เพราะต้องการสิ่งที่สวยงาม เรื่องนี้ต้องระวังอคติเราเอง เพราะเรารวยแล้ว ถ้าเป็นวัตถุไม่ดี แต่ถ้าเป็นอุดมคติมันสวยงาม

อัมมาร กล่าวว่า ผมก็อยากให้เสื้อแดงได้สิ่งที่เขาต้องการ นั่นเป็นความต้องการจากรัฐ อาจเป็นความลำเอียงของผม แต่ผมให้ความหวังกับรัฐมาก เพราะเป็นองค์กรสูงสุดของประเทศ ถ้าหากว่ารัฐบาลประชานิยมไหนๆ ก็ตามมีนโยบายชัดเจนว่าฉันจะพยายามเจาะจงไปที่คนยากจน คนด้อยโอกาส

"เราควรจะนึกถึงนโยบายรัฐบาลที่จะให้กับคนที่อ่อนแอที่สุดในทางเศรษฐกิจ โดยพยายามให้ผลได้ต่อเขามากที่สุด และไม่สูญเสียไปให้กับคนที่ฐานะดีอยู่แล้ว อย่างนโยบายจำนำข้าวสร้างล็อบบี้ทางการเมืองที่ powerful มากอยู่ในใจกลางรัฐบาล"

ยิ่งเฉพาะกลุ่ม ยิ่งเป็นประชานิยมด้อยคุณภาพ

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับ อ.นิธิ เรามุ่งทางเศรษฐกิจเยอะ เลยไม่ได้มุ่งเรื่องชาตินิยมหรือไม่ แต่เราอยากให้ความสนใจเป็นพิเศษกับด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่การเมือง

ผมคิดว่ามีมิติสำคัญที่ทำให้แตกต่างกับนโยบายทั่วไปที่พูดกันมา คือ มันไม่ได้มุ่งสร้างความสามารถของประชาชน ทั้งด้านการแข่งขัน การอยู่รอดในสังคม นโยบายจำนวนมากมีลักษณะเป็นนโยบายลด แลก แจก แถม  แม้รุ่นแรกๆ จะมีเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค เราไม่เรียกประชานิยม เพราะเป็นความพยายามสร้างความสามารถประชาชนด้านสุขภาพ หรือโอท็อป ก็เป็นด้านการแข่งขัน แต่ช่วงหลังไม่มีสีสันแบบนี้ เช่น รถคันแรก เคยได้คุยกับวงใน เขาบอกว่านโยบายนี้เกิดขึ้นมาตอบสนองนักลงทุนญี่ปุ่นที่ประสบอุทกภัยในช่วงน้ำท่วมใหญ่ โดยคนซื้อรถคนไทยเป็นผลพลอยได้ อ.นิธิอาจพูดกลับกันได้ แต่ถ้าดูกระบวนการล็อบบี้ชัดว่ามาจากธุรกิจยานยนต์ข้ามชาติ

ประชานิยมในช่วงสอง (ยิ่งลักษณ์) เริ่มแบ่งเป็นแต่ละ segment และแต่ละกลุ่มก็มีผลประโยชน์ในแต่ละเรื่อง การแบ่งแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นโยบายประชานิยมช่วงหลังด้อยคุณภาพลงเรื่อยๆ

ปัญหาอยู่ที่ "การเมือง" ไม่ใช่ "นโยบาย"

เกษียร เตชะพีระ  กล่าวว่า 1.นโยบายประชานิยมเป็นกระแสหลักของการเมืองทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย 2.ปัญหาแท้จริงไม่ใช่นโยบายประชานิยมแต่คือการเมืองแบบประชานิยม อำนาจนิยม  นโยบายที่ทีดีอาร์ไอพูดเป็นปัญหาเพราะมันเข้าไปอยู่ในการเมืองแบบอำนาจนิยม 3.คิดถึงทีดีอาร์ไอเลยเตรียมมา การเมืองแบบเทคโนแครต ไม่อาจคัดค้านการเมืองแบบประชานิยมได้ “ไม่มีน้ำยา” 4.ฝ่ายต่างๆ ต้อง repositioning ให้พ้นการเมืองเสื้อสี และการเมืองแบบประชานิยม

ขยายความ

1. ประชานิยมเป็นกระแสโลก มันเป็นเรื่องปกติ ระดับโลกเกิดขึ้นเป็นผลจากแพร่ขยายแนวทางเสรีนิยมใหม่ ท่าทีแบบประชานิยม ด้านหนึ่งเดินตามเสรีนิยมใหม่ที่แย่งชิงทรัพยากรจากส่วนรวม อีกด้านออกประชานิยมทำเพื่อให้คนตัวเล็กๆ สามารถอยู่ได้ แต่ในประเทศไทยมีปัญหาเฉพาะของตัว ประชานิยมแบบนี้ทำมานานท่ามกลางความเป็นประชาธิปไตย อำนาจทางการเมืองหลุดจากมือชนชั้นนำหรืออำมาตย์ ไปสู่ผู้เลือกตั้งมากขึ้น ขยับจาก non-majoritarian institution ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ องคมนตรี ไปอยู่กับประชาชนมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีประชานิยม ผมไม่อยากให้มองว่าผู้เลือกตั้ง passive เพราะเขา active กว่านั้น อย่าคิดว่าไอ้เบื้อกคนหนึ่งคิดอยู่บนหอคอยแล้วโยนไป เผลอๆ อาจกลับกัน มันมี interaction มากกว่านั้น

2. ปัญหาแท้จริงไม่ใช่นโยบาย แต่คือการเมืองประชานิยม อำนาจนิยม จริงๆ นโยบายที่ผิดทางมีเยอะ ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ ถ้ากระบวนการกำหนดนโยบายเปิดให้สังคม กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มีส่วนร่วม ปัญหาคือ การเมืองแบบประชานิยมที่ผ่านมาเป็นกระบวนการที่ปิดแคบ ไม่มี check and balance ไม่มี polarization  มองประชาชนเป็นก้อนเดียวกัน พวกคิดต่างเป็นเอเลี่ยน  ที่น่ากลัวคือ นิยามความบริสุทธิ์ของประชาชนคือ คนดี คนไม่ดี ระบบแบบนี้ไม่มีพื้นที่ให้ดีเบต ไม่ให้คนทะเลาะกัน  ถ้าจะแก้ปัญหาไม่ใช่ทะเลาะนโยบายแต่ละเรื่อง แต่ต้องฟันลงไปที่การเมืองแบบประชานิยม ไม่อย่างนั้นเปิดพื้นที่ให้กลุ่มต่างๆ มาถกเถียงไม่ได้

ความผิดพลาดของการดูเบา "ที่มา" อำนาจ

เกษียรกล่าวต่อว่า 3. ทำไมผมถึงพูดแรง ว่าการเมืองแบบเทคโนแครต ไม่อาจคัดค้านการเมืองแบบประชานิยมได้ นั่นเพราะที่ผ่านมาเทคโนแครตละเลยปัญหาที่มาของอำนาจ  ขอแต่ใช้อำนาจให้ถูกหลักวิชาและเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นพอ ดูเบาปัญหาความชอบธรรมของอำนาจ ทีดีอาร์ไอดูเบาเรื่องนี้หลังจากเกิดรัฐประหาร ดังนั้น ถึงแม้ที่มาไม่ชอบธรรมแต่ถ้าเอาปัญญาทางวิชาการไปประกอบเพื่อผลักดันนโยบายได้ก็เอา ผมคิดว่าวิธีคิดแบบนี้ไม่เวิร์ค คุณกลายเป็นผู้ที่ถูก disenfranchised ในวงการถกเถียงประชาธิปไตยได้ง่าย

ที่ตลกคือการเมืองเทคโนแครตกับการเมืองประชานิยม ใกล้กันกว่าที่คิด มีหลายอย่างแชร์กันได้ คือ หนึ่ง มี one solution ตามหลักวิชาหรือ ประชานิยมที่มองประชาชนเป็นก้อนเดียว เหล่านี้เป็นข้อถกเถียงทางการเมืองที่แคบ สอง ทั้งคู่ปฏิเสธความสามารถของประชาชนที่จะเป็นผู้กระทำการทางการเมือง ประชานิยมนำโดยผู้นำ แบบเทคโนแครตก็คิดว่าประชาชนอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ โง่ จน เจ็บ

“ทั้งสองแบบ denying political agent of the people ผมคิดว่าต้องมองพวกเขาใหม่ อย่ามองว่าการที่เขาโหวตให้พรรคเพื่อไทยเป็นเรื่องระบบอุปถัมภ์”

วางสถานะทางการเมืองใหม่ ห่างไกลเสื้อสี

เกษียร กล่าวต่อว่า 4.ดังนั้นถ้าจะแก้ ฝ่ายต่างๆ ต้อง repositioning ตัวเองทางการเมือง กล่าวคือ ไม่ได้คิดว่าการเมืองเสื้อสีจบพรุ่งนี้ แต่ยิ่งเราทำให้การถกเถียงเชิงเหตุผล ขยับออกจากเสื้อสีให้มาก เราจะเป็นคู่สนทนากับรัฐบาลได้ดีขึ้น อุปสรรคอย่างหนึ่งคือ การเมืองมันแยกมา 5-6 ปีแม้ระวังตัวยังไงเราก็โดนแขวนป้าย ถ้ายังอยู่ในกรอบแบบนี้ไม่มีทางสร้างฝ่ายค้านที่มีน้ำยาในระบบประชาธิปไตยที่จะทัดทานพรรครัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็งได้ พรรคประชาธิปัตย์ถูกตรึงและทับจมลงเรื่อยๆ  โหมดการต่อสู้หลักของประชาธิปัตย์ตอนนี้คือฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ภาวะแบบนี้จำเป็นต้องมีพลังฝ่ายค้านที่เข้มแข็งในสังคม พูดคุยแบบที่รัฐบาลต้องฟัง และบทสนทนาจะเริ่มได้บ้างต้องออกห่างจากการเมืองเสื้อสี

เทียบ 'ทักษิณ' กับ 'ชาเวซ' ตัวกลางเชื่ออำมาตย์-ประชาชน

นิธิ กล่าวว่า ผมอาจมีทัศนะต่อประชานิยมไม่เลวร้ายเท่า อ.เกษียร เราต้องเข้าใจประชานิยมให้ดี เพราะมันเป็นลักษณะเด่นในโลกแล้ว เฉพาะประเทศไทย มีเงื่อนไขที่สำคัญคือ มันเกิดขึ้นในสังคมสองอย่างด้วยกันที่อยู่ด้วยกัน อันแรก สังคมที่ผลิตสินค้าและบริการขาย ไม่ใช่สังคมเกษตร อันที่สอง มีความเหลื่อมล้ำสูง เมื่อสองอย่างอยู่ด้วยกันจะเกิดประชานิยมแบบอันตราย ที่ผ่านมาความสัมพันธ์เชิงประเพณี ในการกำหนดให้เราเกิดความมั่นคงสำหรับคนเล็กๆ หมดไปแล้ว ฉะนั้น หลังรัฐธรรมนูญ 40 เมื่อการเมืองแบบเลือกตั้งในไทยค่อนข้างมั่นคง นักการเมืองที่ฉลาดและเข้ามาใหม่มองเห็นทันทีว่าต้องเล่นเรื่องประชานิยม

ประเด็นต่อมา มีข้อสังเกตว่า ไทยกับละตินอเมริกาคล้ายกันมาก ในละตินอเมริกากำลังเปลี่ยนจากเกษตรยังชีพมาเป็นสังคมผลิตสินค้าและบริการในเวลาใกล้เคียงกับเรา เมื่อเกิดความจำเป็นที่กลุ่มชนชั้นนำไม่ยอมกระจายทรัพยากร ก็จะเกิดผู้นำกลุ่มประชานิยมที่ประสบความสำเร็จ แม้อำมาตย์จะเกลียดชาเวซอย่างมากๆ แต่อย่างน้อยที่สุด ชาเวซก็ไม่ทำให้เกิดการปฏิวัติชนชั้น เป็นตัวกลางระหว่างกลุ่มอำมาตย์กับประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมือง ทำให้การปฏิวัติทางชนชั้นยุติลง กลับมาคิดถึงทักษิณ ผมว่าแกทำอย่างเดียวกัน ถ้าอยู่ภายใต้การเมืองแบบเก่าวิธีดำเนินนโยบายแบบเก่า ผมคิดว่าความตึงเครียดของสังคมไทยจะสูงมากขึ้นกว่านี้

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ redistributive policy ของทักษิณ กระทบต่อผลประโยชน์ของอำมาตย์น้อย เป็นการนำเอาทรัพยากรกลางไปเอาใจคนชั้นล่าง แต่ลักษณะการใช้นโยบายนี้โดยไม่กระทบคนอื่นเป็นไปไม่ได้ มันขยายไปสู่การเข้ากระเป๋าคนอื่น ไม่ว่ารัฐบาลดีหรือเลวหนีไม่พ้นเหมือนๆ กัน นโยบายดีไม่ดียังเถียงกันได้ แต่มันหนีไม่พ้นที่จะเอามือล้วงกระเป๋าคนอื่นจนได้ เพราะทรัพยากรจำกัด

"ความแตกต่างสำคัญระหว่างทักษิณกับยิ่งลักษณ์ คือ มือเริ่มล้วงเข้ากระเป๋าคุณมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างพลังที่จะกำกับมือนั้นได้ดีขึ้น หรือสอนให้มือนั้นล้วงได้ถูกต้อง นำไปใช้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนดีขึ้น"

นโยบายประชานิยมเหมาะอย่างยิ่งในการทำให้เกิดระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้นได้ ถ้าไล่ดูจะเห็นว่าเผด็จการมีช่วงของการใช้นโยบายลักษณะนี้หรือฝันว่าจะใช้นโยบายกระจายทรัพยากร ด้วยเหตุดังนั้น ถ้าเราไม่เอาใจใส่เรื่องที่มา ความถูกต้อง ความชอบธรรมของอำนาจ เราจะเปิดโอกาสให้เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จได้

สปิริตเทคโนแครตยังมีประโยชน์-ทบทวนการร่วมงานคณะรัฐประหาร

อัมมารกล่าวว่า ผมไม่มีข้อกังขาในหลายเรื่องที่ อ.เกษียร กับ อ.นิธิ พูด หลายนโยบายอย่าง 300 บาท เป็นนโยบายที่ผมก็เห็นด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ ข้อสังเกตอันหนึ่งของความไม่เอาไหนของระบบประชานิยมคือ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในร้อยประเทศที่ไม่มีดัชนีค่าจ้างแรงงาน ไม่มีใครแคร์ ถ้าขาดแคลนแรงงานก็เอาพม่ามา เขมรมา ตรงนี้ผมเป็นชาตินิยม เพราะเป็นการตัดช่องน้อยแต่พอตัว แทนที่จะเพิ่มค่าแรงและปรับปรุงตัวเอง อย่างไรก็ตาม ทีดีอาร์ไอในอดีตที่ผ่านมาอาจจะบกพร่องในการเปิดเวที แต่เราก็พยายามจะเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ

"เรายอมรับว่าทีดีอาร์ไอมีกลิ่นอาย เทคโนแครต เพราะผู้ก่อตั้งก็เป็นเทคโนแครต และภูมิใจที่เป็นเทคโนแครต มีจรรยาบรรณบางอย่างของเทคโนแครต แต่อย่างน้อยคนรุ่นต่อๆ มาเขาเข้าใจดีว่ายุคของเทคโนแครตมันหมดไปแล้ว แต่เราอยากให้มีบางส่วนของจิตวิญญาณนั้นมาแก้ปัญหาของประชานิยม ไม่ใช่จะลบล้างทั้งหมด"

ยกตัวอย่างนโยบาย 30 บาทผมเชียร์เต็มที่และจะเชียร์ต่อไป เป็นนโยบายที่ยั่งยืนที่ให้ประโยชน์กับคนจน  นี่คือสิ่งที่เราต้องการให้รัฐทำ มีหน้าที่ดูแลสิ่งพื้นฐานของประชาชน ปล่อยเป็นเรื่องกลไกตลาดไม่ได้ แต่นโยบายประชานิยมกิมมิคใหม่ๆ ในยุคยิ่งลักษณ์นั้นมีต้นทุน และกระทบต่อส่วนอื่นๆ เช่นงบของประกันสุขภาพทั่วหน้าถูก freeze หรือปรับลดลงด้วยซ้ำในปีแรกเพราะน้ำท่วม

โดยส่วนตัว ผมอยากจะให้ประชาชนเห็นและเข้าใจว่าเราเห็นว่ามีปัญหาอะไร เราไม่ได้ค้านนโยบายทั้งหมด จริงๆ ประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่ ให้เขาตัดสิน แต่ที่ผ่านมาประชาชนอาจเห็นภาพไม่หมด และไม่เห็นว่ามีทางเลือกอื่นใดที่เหมาะสมกว่าหรือไม่ และอยากเห็นทีดีอาร์ไอปรับบทบาทว่า เราดูทุกนโยบายของรัฐบาล ปัญหาก็คือ คราวที่แล้วทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอนโยบายประชานิยมทั้งคู่ ระบบการเลือกตั้งของเรามีคะแนนเสียงหย่อนบัตร พอได้เสียงข้างมากก็มีอำนาจล้นฟ้า ที่ประชาธิปัตย์ไม่มีน้ำยา ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีน้ำยาจริงๆ อีกส่วนหนึ่งเพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดให้ฝ่ายค้านมีน้ำยา

"แต่การ่วมมือกับรัฐบาลที่ได้มาจากการปฏิวัติ อย่างน้อยมีผมที่ร่วมกับ สนช. คงต้องทบทวน ยุคทหารครองเมืองจากการปฏิวัติมันหมดแล้ว และมันสร้างพิษในระบบการเมืองของเราจนถึงทุกวันนี้ ผมหวังว่ามันค่อยๆ จางลงไปแล้ว"

นิธิ กล่าวว่า เราพูดถึงประชานิยม คล้ายๆ ว่าถ้าประชาชนเปล่งเสียงว่าต้องการอะไร แล้วนักการเมืองตอบสนองเป็นเรื่องดี แต่ความจริง การให้ประชาชนแสดงออกมันไม่ใช่ง่าย และแต่ละกลุ่มก็ขัดแย้งกัน ทีดีอาร์ไอก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะแสดงออกถึงความต้องการของประชาชนได้ด้วย สหภาพแรงงาน สมาคมวิชาชีพต่างๆ ก็อ่อนแอมาก ประชานิยม ถ้าจะมีอันตราย ไม่ว่าทางเศรษฐกิจหรือการเมืองก็ตาม ก็เพราะมันขาดกระบวนการตรงนี้

เกษียรกล่าวว่า ในห้าหกปีที่ผ่านมามีเรื่องให้ตัดสินใจเยอะ evil อันไหนใหญ่กว่า แต่การเรียนรู้ว่ามีผลกระทบอย่างไรแล้วเดินออกจากผลกระทบนั้นได้เร็วเป็นเรื่องที่ดี

ผมเห็นด้วยกับ อ.นิธิ การเมืองเป็นการเมืองมวลชนมากขึ้น นโยบาย redistributive มีมากขึ้นแน่  แต่ที่แน่ๆ ที่ทำกันอยู่ มันทิ้งปัญหาไว้จำนวนหนึ่ง และปิดกระบวนการในการมีส่วนร่วม ตลกมาก ที่พอรัฐบาลมีอำนาจมากขึ้นก็เริ่มแสดงท่าแบบที่เคยทำก่อนรัฐประหาร บวกกับความจริงทีว่า การเมืองเสื้อสีตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การถกเถียงเชิงนโยบายลำบาก ดังนั้นผมจึงคิดว่าต้องปรับโพสิชั่นตัวเองแล้วเป็นตัวแทนบทสนทนาที่หลากหลาย  ผมเลยรู้สึกว่า ประชานิยมเป็นนโยบายกระจายทรัพยากรที่เฮงซวย เราน่าจะฝันถึงนโยบายกระจายทรัยากรที่ดีกว่านี้ น่าจะต้องสร้างบทสนทนาของประชาชนกับผู้มีอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ อันนี้ที่อยากเห็น การเมืองชนชั้นแบบประชาธิปไตย

ทีดีอาร์ไอต้องเป็นหน่วยวิชาการ ไม่ยุ่งระบบการเมือง

สมเกียรติ กล่าวว่า ในวงการการเมือง มีพรรคการเมือง นักการเมือง แอคติวิสต์ นักวิชาการ ผมอยากเห็นนักวิชาการและทีดีอาร์ไอเป็นนักวิชาการ ไม่ได้เป็นแอคติวิสต์ การที่พรรคฝ่ายค้านไม่เข้มแข็ง ไม่ควรเป็นเหตุให้สถาบันวิชาการทำหน้าที่แทนพรรคฝ่ายค้าน เรายังอยากจะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเป็นชิ้นๆ มากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเมือง เพราะมันเสี่ยงและเลี่ยงได้ยากมากที่จะพัวพันกับเสื้อสีต่างๆ การวิจารณ์นโยบาย ไม่ว่ารัฐบาลไหนมันมีทั้งนโยบายที่ดีและไม่ดี เรายังอยากเป็นแบบที่เป็นอยู่ แต่แน่นอนว่า ต้องทำอย่างไรให้ไม่ตกยุค แต่การเปลี่ยนระบอบการเมือง สิ่งแวดล้อมทางการเองเป็นเรื่องใหญ่ ไกลเกินกว่าที่เราจะเข้าไปทำ ที่สำคัญ เรามีพื้นที่เล่นของนักวิชาการอยู่ เป็นเสียงเสียงหนึ่งสำหรับภาคประชาสังคม คนไม่มีปากมีเสียงในสังคม ในระบบประชาธิปไตยมีกลไกการตัดสินใจของมันอยู่แล้ว อาจมีปัญหาในบางมุม แต่เป็นระบบที่เลวร้ายน้อยที่สุด เราเคยคุยกันตอนที่มีนักวิจัยทีดีอาร์ไอไปนั่งอยู่ในรัฐบาลหนึ่ง เราสรุปว่าเราไม่ควรเดินในเส้นทางแบบนั้นอีก เราอยากเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แบบที่สมดุล และคุ้มครองคนเล็กๆ น้อยๆ เราจึงวิตกทุกข์ร้อนกับนโยบายประชานิยม ไม่ใช่เพราะเราเป็นเสรีนิยมใหม่ แต่เห็นว่ามันจะวิ่งไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจแน่นอน  ประชาชนไม่ใช่คนที่ passive รอพรรคเสนอ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่รอบรู้ รู้เต็มที่แสดงออกได้อย่างถูกต้อง มันเป็นไปไม่ได้ถ้ารัฐบาลไม่พูดเรื่องต้นทุนนโยบาย เราจึงอยากมีส่วนช่วยให้ระบบสมบูรณ์มากขึ้น เราตั้งหน่วยวิเคราะห์งบประมาณรัฐบาล เพื่อให้รัฐสภามีข้อมูลดีขึ้น แต่มิได้หมายความว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการเมือง

เกษียรกล่าวว่า เป็นจุดยืนที่น่านับถือ แต่ผมมองในภาพรวมแล้วคิดว่าปัญหาใหญ่ แล้วนโยบายประชานิยมที่มีปัญหามากน้อยต่างกันในแต่ละอันเป็นแค่เงาสะท้อนของการเมืองประชานิยม แต่ผมก็เข้าใจบทบาทและภารกิจของทีดีอาร์ไอ แต่มันคงไม่เป็นพิษเป็นภัยถ้าจะได้ยินว่าสิ่งที่คิดอยู่นั้นโยงกับเรื่องที่ใหญ่กว่า

ผมอยากให้กลุ่มประชาชนกลุ่มต่างๆ กลุ่มอาชีพ กลุ่มนักวิชาการ ที่ไม่ทะเลาะกันเรื่องสีแล้วสร้างบทสนทนากับรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งได้ เพราะสภาก็ไม่สามารถพูดแทนปัญหาจำนวนมากได้ หลุดไปเยอะ จะให้ประชาธิปไตย Healthy จำเป็นต้องการบทสนทนาที่แข็งแรงหลากหลาย 

ถ้าจริงว่า ม็อบยึดโน่นนี่ไม่เกิดขึ้นง่ายๆ ถ้าจริงว่าระบอบรัฐสภาเข้มแข็ง ก็ยิ่งต้องการบทสนทนาเหล่านั้น และถ้าจะทำอย่างนั้นได้ต้องเลิกแนวทางการเมืองสุดโต่ง การเมืองนอกระบบ เลิกดึงสถาบันเบื้องสูงมาเกี่ยวข้อง ถ้าทำได้ก็มีโอกาสที่จะเริ่มเปิดความเป็นไปได้ใหม่ทางการเมือง

โจทย์ยังอยู่ ให้มวลชน reposition ไม่ง่าย

นิธิกล่าวว่า "เห็นด้วยเรื่อง repositioning แต่คิดอีกที แม่งยุ่งยาก (หัวเราะ) ผม reposition ทำได้ ทีดีอาร์ไอทำได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจทำไม่ได้ แต่คนจำนวนมากทำไม่ได้ และน่าเห็นใจ ยกตัวอย่าง จำนวนมากของคนเสื้อแดง เขาไม่ได้เห็นพ้องต้องกันกับธิดา เกษียร แต่เขาเห็นร่วมกันว่า อย่าเผลอนะเว้ย ไม่อย่างนั้นจะทหารยึดอำนาจ เขาจึงต้องเล่นสุดโต่งต่อ ความเป็นจริงมีคนอย่างพวกเราที่ reposition ได้ แต่คนจำนวนมากทำไม่ได้"

เสนอแก้ รธน. รัฐบาลต้องมีวินัยการคลัง

สมเกียรติกล่าวว่า อาการน่ากลัวเพื่อให้ได้อำนาจทางการเมือง ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งสู่ประชานิยม และจะเป็นกระแสต่อไป การที่เราจะทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่แข่งขันกันจนทำลายตัวเองและระบบเศรษฐกิจ จำเป็นต้องกำหนดกติกาบางอยางที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ คือ แก้ให้มีวินัยการคลัง ตั้งแต่เกิดวิกฤต 40 จนปัจจุบัน ไทยขาดดุลการคลังทุกปี ยกเว้น ปี 2548 ปีเดียว มันสะสม แม้ว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีไม่สูง แต่มันกระโดดขึ้นได้ถ้าเกิดวิกฤตที่กระทบจากภายนอก เคยกระโดดจาก 44% เป็น 66% มาแล้ว แล้วความเดือดร้อนจะเกิดกับประชาชนทุกกลุ่ม

อัมมาร กล่าวว่า ผมอยากเสนอว่าทุกบาทที่รัฐบาลใช้จ่าย จะต้องอยู่ในงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการอนุมัติจากสภา เท่าที่ผมอ่านประวัติศาสตร์เมืองนอก ประชาธิปไตยเกิดขึ้นเพราะข้อถกเถียงเรื่องการใช้เงินรัฐและการเก็บภาษีประชาชน จะขาดดุลก็ได้ตราบใดที่รัฐสภาตัดสินใจได้

เกษียรกล่าวว่า ผมเห็นด้วยที่มวลชนทั้งสองฝ่ายเขายังไม่อาจรีโพสิชั่นนิ่ง เพราะมีเรื่องตกค้างเยอะ ทั้งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและคดี 91 ศพ แต่ผมก็รู้สึกว่า จำนวนมากมันเหมือนสร้างผีหลอก ระวังรัฐประหารๆๆๆๆๆ ระวังล้มเจ้าๆๆๆๆๆๆ เพื่อตรึงมวลชนไว้ เอาเข้าจริง threat มันไม่ได้สูงขนาดนั้น ผมรู้ว่าผมพูดแบบนี้ ผมโดนด่าแน่ แต่ถ้าไม่พูดมันแย่

นิธิกล่าวว่า "ผม ยังรู้สึกว่า threat ถ้ามองจากสายตาอย่างพวกเราที่ repositioning ได้ง่าย อาจเห็นว่า threat นั้นมัน unreal นี่หว่า แต่สำหรับเขา [มวลชนเสื้อแดง] เขาคิดว่า real มากๆ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับที่จะวินิจฉัยมาตรา68 จะบอกว่าไม่จริง เป็นเรื่องฝัน ก็มันจริง เห็นชัดเลย ทำให้คนรู้ว่ามันมีภัยคุกคามบางอย่างในที่ลับ ในที่แจ้งอยู่ตลอดเวลา แล้วจะบอกว่ามึงหยุดสิๆ ก็ไม่ได้อีก เพราะมันเกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมาระหว่างสองฝ่าย สำหรับเราเราอาจบอก เฮ้ย มึงไม่มีกึ๋นหรอก ยังไงมันก็ต้องออกมาแบบนี้ แต่สำหรับเขาที่โดนมาอย่างเจ็บแสบแล้ว ผมก็เห็นใจเขา"
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถก 5 ข้อเสนอ BRN คณะทำงานปฏิเสธตีความคำอ่อนไหว ‘ผู้ปลดปล่อยปาตานี’

0
0

ประชุมคณะทำงานพูดคุยสันติภาพ ถก 3 ใน 5 ข้อเสนอบีอาร์เอ็น รับประเด็นความยุติธรรม ช่วยคนถูกคดีจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ยังไม่ถึงเวลาให้มาเลเซียเป็นคนกลาง ปฏิเสธเรียก “ผู้ปลดปล่อย” ชี้เป็นประเด็นอ่อนไหว แต่ให้ตั้งคณะทำงานศึกษาความหมายให้ชัดเจน แนะ สมช.ตั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นทีมที่ปรึกษาคณะเจรจาฝ่ายไทย


อาซิส เบ็ญหาวัน
 

 

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี มีการประชุม “คณะทำงานพิจารณาแนวทางการพูดคุย เพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ที่มีความเห็นต่างกัน” ซึ่งตั้งโดยสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) เป็นครั้งแรก มีผู้เข้าร่วม 14 คน โดยมีนายอาซิส เบ็ญหาวัน เป็นประธาน

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล เลขานุการคณะทำงานฯ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาข้อเสนอของขบวนการบีอาร์เอ็นจำนวน 3 ข้อจากทั้งหมด 5 ข้อ ซึ่งผลการพิจารณาของคณะทำงานจะนำเสนอต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อนำเสนอต่อคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย ก่อนวันนัดพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ต่อไป

นายไชยยงค์ เปิดเผยว่า สำหรับทั้ง 3 ข้อที่คณะทำงานพิจารณา ได้แก่ 1.ประเด็นความยุติธรรม ที่ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นเรียกร้องให้ปลดปล่อยผู้ที่ถูกคดีความมั่นคงทั้งหมดนั้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นนิติรัฐ (ปกครองด้วยกฎหมาย) คณะทำงานจึงมีความเห็นว่า สำหรับผู้ที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ ก็ต้องปล่อยให้ดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม

นายไชยยงค์ เปิดเผยต่อไปว่า แต่สำหรับบุคคลที่ถูกคดีที่มาจากการออกหมายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) คณะทำงานจะพิจารณาว่า มีการดำเนินการด้วยความยุติธรรมหรือไม่ เนื่องจากผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่ถูกควบคุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาก่อน มีจุดอ่อนตรงที่เป็นการถูกซัดทอดจากบุคคลอื่น ทั้งที่ผู้ที่จะตกเป็นผู้ต้องหาได้มี 2 กรณีเท่านั้นคือ มีพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานยืนยัน
นายไชยยงค์ เปิดเผยว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัย มันง่ายมากที่จะเกิดความผิดพลาด ซึ่งคณะทำงานฯ จะเข้าไปพิจารณาว่าเป็นอย่างไร หากพบว่ามีความผิดพลาดจริง คณะทำงานก็จะดำเนินการในส่วนนี้

นายไชยยงค์ เปิดเผยอีกว่า ข้อที่ 2 ประเด็นที่ขบวนการบีอาร์เอ็นต้องการให้มาเลเซียเป็นคนกลาง (Mediator) ในการเจรจา และการให้องค์การการประชุมอิสลาม หรือ โอไอซี (OIC) หรือตัวแทนกลุ่มประเทศอาเซียนมาเป็นสักขีพยานนั้น คณะทำงานฯ มองว่ายังไม่ถึงเวลา เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการพูดคุย ยังไม่ถึงระดับการเจรจา

“กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้ยังอีกยาวไกล หากถึงขั้นการเจรจาเมื่อไหร่ ทางคณะทำงานฯ จะพิจารณาอีกครั้งในอนาคต” นายไชยยงค์ กล่าว

นายไชยยงค์ เปิดเผยต่อไปว่า ส่วนข้อที่ 3 ประเด็นที่ให้รัฐไทยเรียกขบวนการบีอาร์เอ็นว่า เป็นองค์กรปลดปล่อยชาวมลายูปาตานี ทางคณะทำงานฯ เห็นว่า ต้องกลับไปศึกษาคำว่า “ผู้ปลดปล่อย” ว่ามีความหมายว่าอย่างไร เช่น หมายถึงปลดปล่อยผู้ต้องขัง หรือ ปลดปล่อยอัตลักษณ์ หรือปลดปล่อยรัฐกันแน่ เป็นเรื่องที่จะต้องไปศึกษาให้ชัดเจนเพราะเป็นประเด็นที่อ่อนไหว

นายไชยยงค์ เปิดเผยด้วยว่า คณะทำงานฯ มีข้อเสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติภาพขึ้นมา เพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะตัวแทนพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย เช่น คณะทำงานผู้ที่เชี่ยวชาญภาษามลายู เพื่อแปลเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพหรือเอกสารของขบวนการบีอาร์เอ็น เป็นต้น

นายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานคณะทำงานฯ เปิดเผยหลังการประชุมว่า คณะทำงานฯ เสนอให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญภาษามลายูและเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่มาแปลข้อเสนอของขบวนการบีอาร์เอ็นทั้งหมด เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าว เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และเพื่อป้องกันการคลาดเคลื่อนตามความต้องการของบีอาร์เอ็น
 

ประธานสภาประชาสังคมวอน 2 ฝ่ายอย่าสร้างทางตัน
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาภาคประชาสังคมชายแดนภาคใต้ กล่าวแสดงความเห็นกรณีขบวนการบีอาร์เอ็นเผยแพร่คลิปวิดีโอครั้งที่ 3 ว่า ส่วนตัวมองว่า คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายไม่ควรเร่งรีบให้เสียบรรยากาศ แต่ละฝ่ายยังไม่ควรยกประเด็นที่จะเป็นประเด็นที่จะถึงทางตัน เช่น ฝ่ายบีอาร์เอ็น ก็ไม่น่าที่จะรีบช่วงชิงโอกาสทางการเมือง ตั้งประเด็นที่ทำให้ฝ่ายรัฐถึงทางตันเร็ว

“ส่วนฝ่ายรัฐบาลไทยก็เช่นกัน เรื่องที่จะหยิบขึ้นมาพูดก็ไม่ควรให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นถึงทางตัน ในช่วงนี้เพราะเป็นช่วงการสร้างบรรยากาศความไว้วางใจ ต้องค่อยพูดค่อยคุยอย่างสร้างสรรค์ ถ้าไปยกประเด็นซึ่งเป็นประเด็นทางเทคนิคเช่น คดีก่อเหตุต่างๆ คดีทำร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของฝ่ายใด ก็ควรจะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไป สอบสวน พิสูจน์หลักฐาน นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ให้ดำเนินการไป บีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทย ไม่ควรเอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นข้อขัดแย้ง หรือข้อขัดข้องที่จะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพ” นายประสิทธิ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า การพูดคุยระหว่างกันในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 นี้ ควรเป็นประเด็นที่สร้างสรรค์ ที่จะนำไปสู่กระบวนการสันติภาพ และเกิดสันติสุข ต้องค่อยๆ พยายาม อย่าเร่งรีบทำให้เสียกระบวน ถ้าหากกระบวนการสันติภาพล้มลง ก็จะไม่มีใครได้ประโยชน์ ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทย และฝ่ายบีอาร์เอ็น

“การพูดคุยถือเป็นการดีที่ได้พูดคุยระหว่างกัน อย่ายกประเด็นที่เป็นเรื่องเทคนิคมาเป็นประเด็นปัญหา ซึ่งกรณีฝ่ายบีอาร์เอ็น นำประเด็นทางเทคนิคขึ้นมาพูดนั้น ก็คงต้องย้อนกลับไปดูว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547  ใครที่ออกมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ 300-400 คน อย่าไปพูดถึงเฉพาะ ตากใบ ไอปาร์แย กรือเซะ สะพานกอตอ  ซึ่งบางกรณีก็ผ่านมา 30-40 ปีแล้ว” นายประสิทธิ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาทำให้บรรยากาศสันติภาพเสีย เพราะโอกาสในการพูดคุยครั้งนี้เป็นนาทีทองของทั้งสองฝ่าย ต้องคุยกันไป ไม่ทำลายบรรยากาศการพูดคุย เพราะตนเห็นว่าไทยสามารถยุติสงครามคอมมิวนิสต์ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นกรณีตัวอย่างของโลก และถ้าสามารถยุติความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ทั่วโลกก็จับตามอง บรรยากาศที่สร้างสรรค์เช่นนี้ ก็หวังให้เกิดสันติภาพและสันติสุขได้จริง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายระหว่างประเทศกับการบรรเทาการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดภาคใต้

0
0

บทนำ

ปัญหาความขัดแย้ง 3 จังหวัดภาคใต้เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานหลายทศวรรษและนับวันจะทวีความโหดร้ายทารุณมากขึ้นเรื่อยๆ พลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เด็ก คนชรา พระสงฆ์ ล้วนตกเป็นเป้าหมายในการทำลายตามไปด้วยซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law: IHL) และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Human Rights) อย่างชัดเจน การทำร้ายพลเรือนผู้บริสุทธิ์ยังดำเนินต่อไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะยุติแม้ว่าจะมีนิมิตหมายที่ดีที่ทางพลโท ภราดร พัฒนถาบุตร ในฐานะเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติได้เริ่มเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นก็ตาม ข้อเขียนนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอแนวทางในการใช้กฎหมายระหว่างประเทศมาช่วยบรรเทาการการสูญเสียชีวิตและการถูกทำร้ายของพลเรือนผู้ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทางทหารหรือการใช้กำลังอาวุธ โดยข้อเขียนนี้จะกล่าวถึงมาตรา 3 ร่วมของอนุสัญญาเจนีวาสี่ฉบับ ค.ศ. 1949 และร่างอนุสัญญาการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty: ATT) ว่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาที่พลเรือนผู้บริสุทธิ์ได้ตกเป็นเป้าหมายในการใช้ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ได้อย่างไร

1. การใช้มาตรา 3 ร่วม (Common article 3) ของอนุสัญญาเจนีวา สี่ฉบับค.ศ. 1949

1.1 มาตรา 3 ร่วม (Common article) 3 คืออะไร

มาตรา 3 ร่วมคือบทบัญญัติของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law: IHL) ขั้นต่ำที่มีวัตถุประสงค์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมีมนุษยธรรมเป็นหลักที่มุ่งคุ้มครองพลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำสงครามหรือการปฏิบัติการทางทหารให้รอดพ้นจากการถูกโจมตีโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ว่าพลเรือนผู้นั้นจะมีเชื้อชาติ สีผิว ศาสนาหรือความเชื่อ เพศ กำเนิดใดก็ตาม พลเรือนนั้นจะต้องไม่ตกเป็นเป้าในการทำลายล้าง โดยมาตรา 3 ร่วมนี้จะใช้บังคับกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศที่เรียกว่า “armed conflict not of an international character” สำหรับบทบัญญัติของมาตรา 3 ร่วมมีดังนี้ [1]

มาตรา 3 ในกรณีที่ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธไม่ใช่ความขัดแย้งระดับระหว่างประเทศ หากแต่เกิดขึ้นภายในอาณาเขตของรัฐภาคี อย่างน้อยที่สุด ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งมีพันธะผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานดังต่อไปนี้

(1) บุคคลใดที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง รวมถึงสมาชิกของกองกำลังที่วางอาวุธ และสมาชิกของกองกำลังที่เจ็บป่วย, บาดเจ็บ, ถูกคุมขัง หรือเหตุอื่นๆ ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว ศาสนาหรือความเชื่อ เพศ กำเนิดหรือความมั่งมี หรือเกณฑ์อื่นที่ใกล้เคียงกันจนถึงที่สุดแล้ว การกระทำต่อไปนี้ถือเป็นการกระทำต้องห้าม ไม่ว่าจะเป็นในเวลาหรือสถานที่ใด ต่อบุคคลที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในข้างต้น

(a) การใช้ความรุนแรงต่อชีวิตและบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆาตกรรมทุกชนิด การทำให้พิการ การปฏิบัติที่โหดร้าย และการทรมาน

(b) การจับเป็นตัวประกัน

(c) การประทุษร้ายต่อศักดิ์ศรีของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติที่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการทำให้อับอาย

(d) การลงโทษจำคุกและประหารชีวิตโดยไม่ผ่านการพิพากษาของศาล ซึ่งรับรองอำนาจในการพิจารณาคดีและจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากอารยชน

(2) ผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลรักษา

องค์กรด้านมนุษยธรรมที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใด เช่น คณะกรรมการกาชาดสากล อาจเสนอความช่วยเหลือให้แก่ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งควรพยายามนำมาตราอื่นในอนุสัญญาไปปฏิบัติโดยวิธีสร้างข้อตกลงพิเศษ การนำอนุสัญญาทั้งหมดไปปฏิบัติจะไม่มีผลต่อสถานะทางกฎหมายของฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง

1.2 องค์ประกอบของ common article 3

องค์กระกอบที่สำคัญของมาตรา 3 ร่วมมีอยู่สองประการคือ ประการแรกจะต้องมีความรุนแรงของการใช้กำลังทางทหารระหว่างกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลกับกองกำลังติดอาวุธ (armed force) ประการที่สอง กองกำลังติดอาวุธนี้จะต้องมีลักษณะเป็นองค์กรที่มีการจัดตั้ง มีสายบังคับบัญชาหรือมีการปฏิบัติการในการใช้กำลังอย่างเป็นกิจจะลักษณะ [2]

1.3 ลักษณะพิเศษทางกฎหมายของมาตรา 3 ร่วม

มาตรา 3 ร่วมมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวที่แตกต่างจากมาตราอื่นดังนี้ ประการแรกเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า มาตรา 3 ร่วมนั้นมิได้มีสถานะแค่ “สนธิสัญญา” ที่ผูกพันเฉพาะรัฐที่เป็นภาคีอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 เท่านั้น แต่มาตรา 3 ร่วมมีสถานะเป็น “กฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ” (Customary international law) ด้วยซึ่งหมายความว่า พันธกรณีตามมาตรา 3 ร่วมนั้นผูกพันรัฐที่มิได้เป็นภาคีอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 และกองกำลังติดอาวุธด้วย แม้ว่ารัฐใดและกองกำลังติดอาวุธใดๆ จะมิได้ร่วมสัตยาบันหรือแสดงเจตนาผูกพันมาตรา 3 ร่วมก็ตาม หลักกฎหมายนี้ได้รับการยืนยันจากศาลระหว่างประเทศหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นศาลโลกในคดีนิคารากัวได้ยืนยันว่ามาตรา 3 ร่วมของอนุสัญญาเจนีวามีสถานะเป็นกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ [3]รวมทั้งศาลอาญาระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นที่รวันดาก็รับรองว่ามาตรา 3 มีสถานะเป็นกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ [4]กล่าวโดยสรุปก็คือทั้งรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นต่างมีพันธกรณีทั้งในทางกฎหมายและทางศีลธรรมที่จะต้องเคารพและปฏิบัติตามมาตรา 3 ร่วมอย่างเท่าเทียมกัน ประการที่สองมาตรา 3 ร่วมไม่ได้สร้างพันธกรณีต่างตอบแทน (no reciprocity clause) [5]หมายความว่า ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งต่างมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 3 ร่วมโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะปฏิบัติตามด้วยหรือไม่ การที่ฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามไม่เป็นข้ออ้างให้อีกฝ่ายหนึ่งจะไม่ปฏิบัติตามไปด้วย เหตุผลเพราะว่า มาตรา 3 ร่วมต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักความมีมนุษยธรรมเป็นสำคัญ การที่ฝ่ายหนึ่งไม่มีมนุษยธรรมก็ไม่เป็นข้ออ้างให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องโหดร้ายทารุณตามไปด้วย และประกาศสุดท้ายมาตรา 3 ร่วมจะใช้บังคับทันทีที่มีสถานการณ์การขัดกันด้วยอาวุธเกิดขึ้นภายในประเทศโดยไม่ต้องสนใจว่ารัฐบาลจะให้การรับรองกลุ่มกำลังติดอาวุธหรือไม่ เพราะมาตรา 3 ร่วมมีเจตนารมณ์หลักในการคุ้มครองพลเรือนที่มิได้มีส่วนในการใช้กำลังทางทหารเป็นสำคัญ

1.4 สถานะทางกฎหมายของกลุ่ม BRN ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ประเด็นที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ สถานะทางกฎหมายของกลุ่ม BRN คืออะไร ในสายตาของรัฐบาลไทยจะถือว่ากลุ่มก่อความไม่สงบหรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในขณะที่กลุ่ม BRN ถือว่ากลุ่มตนเองเป็นกลุ่มปลดปล่อยทางการเมือง (Political liberation movement) แต่ไม่ว่าจะเรียกขานอย่างไรก็ตามหากถือเกณฑ์ตามมาตรา 3 แล้ว กลุ่มของ BRN ก็เข้าข่ายเป็น “non-governmental armed groups” หรือ non state actors ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และถือว่าเป็น “ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง” (each Party to the conflict) ตามความหมายของมาตรา 3 แล้ว ผลในทางกฎหมายก็คือกลุ่ม BRN มีจะหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีตามมาตรา 3 ร่วม เช่น บุคคลใดที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม การใช้ความรุนแรงต่อชีวิตและบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆาตกรรมทุกชนิด การทำให้พิการ การปฏิบัติที่โหดร้าย และการทรมานการจับเป็นตัวประกัน ฯลฯ นั้นจะกระทำมิได้ เป็นต้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็อยู่ในฐานะของฝ่าย “ที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง”ด้วย ดังนั้น รัฐบาลไทยก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 3 ร่วมด้วยเช่นกัน ในประเด็นของความหมายคำว่า “ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง” (each Party to the conflict) นั้น นักกฎหมายระหว่างประเทศเห็นว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลและกองกำลังติดอาวุธหรือฝ่ายกบฏต่างก็อยู่ในความหมายของคำว่า “each Party” และตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 3 ร่วมอย่างเท่าเทียมกัน [6]

1.5 การใช้มาตรา 3 จะมีผลเป็นการรับรองสถานะของกลุ่ม BRN หรือไม่

ข้อวิตกกังวลของรัฐบาลไทยมาโดยตลอดก็คือจะต้องไม่พยายามยกระดับหรือรับรองสถานะของกลุ่มBRN ให้มีสถานะเป็นผู้เป็นฝ่ายในสงครามหรือสถานะใดก็แล้วแต่ แต่ก่อนที่จะพูดถึงประเด็นนี้ขอทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่าตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น สถานะของกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่ “รัฐอธิปไตย” (Sovereign state) มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท เช่น กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหรือฝ่ายกองกำลังกบฏ (insurgent) ซึ่งหากกองกำลังที่เป็น insurgent ได้รับการรับรองจากฝ่ายรัฐบาลก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นผู้เป็นฝ่ายในสงครามที่เรียกว่า Belligerent ซึ่งความแตกต่างนี้นำมาซึ่งสิทธิและหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศที่แตกต่างกันตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี การนำบทบัญญัติของมาตรา 3 มาใช้กับสถานการณ์ armed conflict ภายในรัฐนั้นได้บัญญัติอย่างชัดเจนว่า “การนำอนุสัญญาทั้งหมดไปปฏิบัติจะไม่มีผลต่อสถานะทางกฎหมายของฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง” ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการรับรองสถานะของกองกำลังนั้นได้มีการถกเถียงกันมาตั้งแต่ตอนร่างอนุสัญญาเจนีวาแล้วและในที่ประชุมก็มีมติให้ใส่ข้อความที่ว่า “การนำอนุสัญญาทั้งหมดไปปฏิบัติจะไม่มีผลต่อสถานะทางกฎหมายของฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง” เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิด

กล่าวอีกนัยหนึ่ง วัตถุประสงค์หลักของมาตรา 3 ตั้งอยู่บนเหตุผลมนุษยธรรมเป็นสำคัญไม่เกี่ยวกับเหตุผลทางการเมืองแต่อย่างใด การปฏิบัติตามพันธกรณีตามมาตรา 3 ไม่ก่อให้เกิดการรับรองกลุ่มกำลังติดอาวุธให้มีสถานะเป็น “ผู้เป็นฝ่ายในสงคราม” แต่อย่างใดไม่กองกำลังติดอาวุธนั้นก็จะคงมีสถานะเหมือนเดิมและรัฐบาลก็ยังมีความชอบธรรมในการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธตามภายใต้กฎหมายภายในของตนต่อไป

2. สนธิสัญญาค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty: ATT)

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติเห็นชอบ “สนธิสัญญาค้าอาวุธ” (Arms Trade Treaty (ATT) วัตถุประสงค์หลักของสนธิสัญญา ATT ก็คือต้องการควบคุมการเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เป็นอาวุธตามแบบ (Conventional arms) และอาวุธเล็ก-อาวุธเบา (Small arms and light weapons) โดยเฉพาะอาวุธเล็กอาวุธเบาที่เคลื่อนย้ายและใช้งานได้ง่ายรวมทั้งมีราคาถูก มิให้ตกไปอยู่ในการครอบครองของพวกก่อการร้าย กลุ่มอาชญากรข้ามชาติหรือกลุ่มกบฏต่างๆ สนธิสัญญานี้จะป้องกันมิให้อาวุธยุทโธปกรณ์มาใช้เป็นอาวุธทำร้ายล้างพลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่ปีหนึ่งๆ ได้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายล้านคนทั่วโลก สนธิสัญญานี้กำหนดให้รัฐภาคีจัดหามาตรการควบคุมและป้องกันมิให้มีการส่งออกหรือเคลื่อนย้ายอาวุธที่จะละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหรือกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งจัดหามาตรการป้องกันเกี่ยวกับการเป็น “ทางผ่าน” หรือ “การขนถ่ายลำเลียง” อาวุธเหล่านี้ด้วย ฉะนั้น หากสนธิสัญญาการค้าอาวุธมีผลใช้บังคับและประเทศไทยรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านเป็นภาคีสนธิสัญญา ATT แล้วก็อาจมีผลช่วยป้องกันมิให้มีการลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธไปใช้ใน 3 จังหวัดภาคใต้ไม่มากก็น้อย

บททิ้งท้าย

กระบวนการสันติภาพใน 3 จังหวัดภาคใต้เพิ่งจะเริ่มขึ้นและเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความอดทนมากพอสมควร ซึ่งผู้เขียนหวังว่าการใช้มาตรา 3 ร่วมน่าจะมีส่วนช่วยในการสร้างแผนสันติภาพไม่มากก็น้อย และหากเป็นไปได้ ทั้งฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นควรพิจารณาเรื่องการใช้มาตรา 3 ร่วมของอนุสัญญาเจนีวาสี่ฉบับ ค.ศ. 1949 ในบริเวณ 3 จังหวัดภาคใต้ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยควรเปิดฉากเจรจากับประเทศมาเลเซียและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนในเรื่องความเป็นไปได้ที่กลุ่มประเทศอาเซียนจะเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาค้าอาวุธเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนอันจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียนในด้านความร่วมมือในด้านการเมืองและความมั่นคงด้วย

 

อ้างอิง:

  1. โปรดดูคำแปลมาตรา 3 ร่วมในบทความของ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, ว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และสถานการณ์ชายแดนใต้
  2. Jelena Pejic, The protective scope of Common Article 3: more than meets the eye, Volume 93 Number 881 March 2011 International Review of the Red Cross, หน้า 4
  3. International Court of Justice (ICJ), Case concerning Military and Paramilitary Activities in and against Nicaragua (Nicaragua v. United States of America), 27 June 1986, Judgment, para. 218.
  4. See International Criminal Tribunal for Rwanda (ICTR), Prosecutor v. Akayesu, Case No. ICTR-96-4-T (Trial Chamber), September 2, 1998, paras. 608–609.
  5. George MOUSOURAKIS, APPLYING HUMANITARIAN LAW TO NONINTERNATIONAL
  6. ARMED CONFLICTS, http://dspace.unav.es/dspace/bitstream/10171/21626/1/ADI_XIV_1998_06.pdf, หน้า 297
  7. Marco Sassli,Taking Armed Groups Seriously: Ways to Improve their Compliance with International Humanitarian Law International Humanitarian Legal Studies 1 (2010), หน้า12; - Lindsay Moir, The Law of Internal Armed Conflict , (the United Kingdom: Cambridge University Press,2002),หน้า 52;Antonio Cassese, The Status of Rebels under the 1977 Geneva Protocol on Non-International Armed Conflicts, International and Comparative Law Quarterly / Volume 30 / Issue 02 / April 1981, หน้า 424
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรนันทน์คุยแพทย์ชนบท จัดเวทีหารือ 6 มิ.ย. แทนชุมนุมหน้าบ้านนายกฯ

0
0

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ เผยจัดเวิร์กช้อปกับชมรมแพทย์ชนบท-เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ วันที่ 6 มิ.ย. ที่ทำเนียบ แทนการชุมนุมหน้าบ้านยิ่งลักษณ์ ด้าน FB แพทย์ชนบทแจง ยังไม่เลิกชุมนุม แค่เลื่อนไปสองสัปดาห์

(30 พ.ค.56) สำนักข่าวไทยรายงานว่า นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ  แถลงข่าวร่วมกัน ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยนายสุรนันทน์ กล่าวว่า  วันที่ 6 มิถุนายน 2556  เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล จะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์กชอป เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาข้อเรียกร้องของเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ 4 กลุ่ม ที่ออกมาเรียกร้อง แทนการออกมาชุมนุมคัดค้านหน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรีตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

“ผมและนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นตัวกลางในการอำนวยความสะดวกและร่วมพูดคุยด้วย  โดยจะมีตัวแทนจากกลุ่มเรียกร้องจำนวน 20 คน นำโดย นพ.เกรียงศักดิ์ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อมาร่วมกันหาข้อสรุป” นายสุรนันทน์ กล่าว

นายสุรนันทน์ ยืนยันว่า ข้อเรียกร้องที่จะมีการพูดคุยกันในวันดังกล่าว หากสามารถตกลงกันได้ ก็นำไปปฏิบัติได้ แต่หากประเด็นใดที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้พิจารณาแก้ปัญหา โดยต้องอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม และไม่ได้หมายความว่า วันที่ 6 มิถุนายน จะได้ข้อสรุปทุกเรื่อง เนื่องจากบางเรื่องมีรายละเอียด ที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ภายในวันเดียว  

“ขอยืนยันว่า การเปิดโอกาสให้มีการพูดคุย ไม่เกี่ยวกับการที่กลุ่มผู้ชุมนุมขู่จะชุมนุมหน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรี แต่เห็นว่าปัญหาดังกล่าว เป็นเรื่องที่ควรร่วมกันหาทางออก เพราะรัฐบาลไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับการชุมนุมลักษณะเคลื่อนไหวกดดัน” นายสุรนันทน์ กล่าว

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ ยืนยันว่า การออกมาเรียกร้อง จะออกมาชุมนุม ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีรับทราบความเดือดร้อนของกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และว่าเชื่อมั่นในตัวคนกลาง และเชื่อมั่นว่า ข้อมูลจะถึงมือนายกรัฐมนตรี แต่ท้ายที่สุด หากไม่สามารถหาทางออกได้ นายกรัฐมนตรีก็จะเป็นผู้ตัดสินใจ

 

FB แพทย์ชนบทแจง ยังไม่เลิกชุมนุม แค่เลื่อน
ขณะเพจเฟซบุ๊กของชมรมแพทย์ชนบทแอดมินเพจโพสต์ข้อความชี้แจงโดยย้ำว่า แพทย์ชนบทยังไม่เลิกการชุมนุม แต่เลื่อนไปอีกสองสัปดาห์

"วันนี้มีการเจรจาจริง ระหว่างชมรมแพทย์ชนบท สุรนันท์ เวชชาชีวะ ตำรวจนครบาล เรื่องการชุมนุมวันที่ 6 มิถุนายน ที่จะไปไล่ประดิษฐหน้าบ้านนายกครับ และหลังการประชุม มีข่าวออกมาจาก voice TV ว่าผลการประชุมนั้นเลิกการชุมนุมวันที่ 6 มิย. ซึ่งไม่จริง และชมรมแพทย์ชนบทจะมีการแถลงข่าวเป็นทางการตามมาเร็วๆ นี้"

"การเจรจาวันนี้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า เลื่อนการชุมนุม แต่ไม่ยกเลิก จะมีการตั้งกรรมการสามฝ่าย คือฝ่ายเราที่ประกอบด้วยชมรมวิชาชีพต่างๆ โรงพยาบาลชุมชน สหภาพองคืการเภสัช กลุ่มคนรักหลักประกัน กลุ่มผู้ป่วย หนึ่งฝ่าย ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งฝ่าย และฝ่ายรัฐบาลอีกหนึ่งฝ่าย จะมีการหารือในรายละเอียดเจรจาเต็มคณะสามฝ่ายตั้งแต่วันที่ 4-6 ที่ทำเนียบ จึงเลื่อนการชุมนุมไปสองสัปดาห์ ไม่ได้ยกเลิกการชุมนุม
หากผลการเจรจาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง จะยืนยันชุมนุมหน้าบ้านนายกต่อแน่นอน

"พี่น้องครับ เรายังยืนยันจุดยืน ไล่ประดิษฐออกไป ไม่เอา P4P เตรียมพร้อมการชุมนุมต่อไป เลื่อนแต่ไม่เลิกจนกว่าเราจะชนะแบบไม่มีการต่อรอง รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งครับ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50704 articles
Browse latest View live