Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

สนช.ผ่าน 3 วาระรวด ถวายคืนพระราชอำนาจกษัตริย์สถาปนาสังฆราช - ตัดมหาเถรสมาคมชงชื่อ

$
0
0

สนช. พิจารณา 3 วาระ ก่อนมีมติเอกฉันท์เห็นชอบการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ถวายคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ  ตัดมหาเถรสมาคมชงชื่อ

ที่มาภาพ เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

29 ธ.ค. 2559 จากกรณี เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ที่ผ่านมา เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระการเข้าชื่อของสมาชิกสนช. จำนวน 84 คน เพี่อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ในมาตรา 7 เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งคณะกรรมาธิการศาสนา และศิลปวัฒนธรรม นำโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและได้พิจารณาเสร็จแล้ว คือ “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” โดยให้กลับไปใช้ตามข้อความตามลักษณะเดิมตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ปี พ.ศ.2505 โดยยกเลิกข้อความในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.สงฆ์ ปี พ.ศ.2505 แก้ไข เพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ที่ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถานปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีที่สมเด็จพระราชคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปกิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช” นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดวันนี้ (29 ธ.ค. 59) เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภารายงานว่า  สนช.พิจารณา 3 วาระ ก่อนมีมติเอกฉันท์เห็นชอบการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ถวายคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ       

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)  ที่มี พรเพชร ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาแบบสามวาระรวด ก่อนมีมติในวาระ 3 เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง  จากผู้เข้าร่วมประชุม 188 คน ให้มีการประกาศใช้ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขจากกฎหมายฉบับเดิมคือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ในมาตรา 7 ที่กำหนดให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมก่อน โดยให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ร่างที่ สนช.เสนอแก้ไขนี้ เสนอมาตรา 3 ให้เป็นการแก้ไขมาตรา 7 ดังกล่าว บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
 
สำหรับการแก้ไขร่างกฎหมายคณะสงฆ์นี้เกิดขึ้นจากกรณีที่ พล.ต.อ.พิชิต ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว กับคณะสมาชิก สนช. รวม 81 คน เป็นผู้เข้าชื่อเสนอขอแก้ไข โดยระบุเหตุผลว่า ตามโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานั้นเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และได้มีการบัญญัติใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พระพุทธศักราช 2484 เป็นต้นมา จึงควรคงไว้ซึ่งการสืบทอดและรักษาโบราญราชประเพณีดังกล่าวไว้
 
ขณะที่ ออมสิน ชีวพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตัวแทนรัฐบาล กล่าวต่อที่ประชุมสภาฯ ว่ารัฐบาลไม่ขัดข้องในการที่สภาจะดำเนินการพิจารณาต่อไป  ทำให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาต่อในวาระรับหลักการและต่างแสดงความเห็นด้วยให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ อาทิ สมพร เทพสิทธา ที่ระบุ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พระพุทธศักราช 2484 และ พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 บัญญัติไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสังฆราช และมีการใช้ติดต่อมาถึง 51 ปี ถือเป็นราชประเพณี แต่ต่อมามีการแก้ไขในปี พ.ศ. 2535 เพิ่มเงื่อนไขให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ดังนั้น เมื่อกฎหมายมีปัญหาจึงต้องแก้ไขที่กฎหมาย เช่นเดียวกับ สมชาย แสวงการ ที่เห็นว่าการยึดความอาวุโสเพียงอย่างเดียวในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช อาจทำให้เกิดปัญหา ซึ่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ถูกแก้ไขเมื่อปี พ.ศ. 2535 ขณะที่ สมเด็จพระสังฆราชองค์ล่าสุด ได้รับการสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2532 กฎหมายฉบับดังกล่าว จึงไม่เคยถูกใช้มาก่อน จึงไม่เคยเกิดปัญหา รวมถึง ตวง อัณฑะไชย เจริญศักดิ์ สาระกิจ มณเฑียร บุญตัน และ เจตน์ ศิรธรานนท์ ที่เห็นควรให้มีการแก้ไขเพราะมองว่าจะทำให้กฎหมายกลับไปสู่ฉบับเดิมที่ไม่เคยมีปัญหา เป็นการการถวายคืนพระราชอำนาจในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และการแก้ไขครั้งนี้ไม่ได้ยุ่งยาก และไม่กระทบหรือเกี่ยวพันกับมาตราอื่น ที่ประชุมจึงเห็นควรรับหลักการให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ด้วยเสียง 184 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย ก่อนเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ด้วยกรรมาธิการเต็มสภาแบบเรียงลำดับรายมาตราจนครบทั้งร่าง และพิจารณาทั้งร่าง ท้ายที่สุดมีจึงมติเห็นชอบในวาระ 3 นำไปสู่การประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานเสวนา: 19 ปี ปฏิรูปสื่อไป(ไม่)ถึงไหน

$
0
0

27 ธ.ค. 2559 ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และโครงการสื่อสันติภาพ และสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง "19 ปีปฏิ-Loop สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ไทย...ไปต่ออย่างไร"

สุภาพร โพธิ์แก้ว หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นการปฏิรูปสื่อถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ปีนี้เข้าปีที่ 19 แล้ว เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่า เราจะก้าวไปอย่างไรต่อ ทั้งนี้ นับแต่ปี 2540 มีเหตุการณ์ฝุ่นตลบทางการเมืองและวิบากกรรมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง เส้นทางปฏิรปสื่อเป็นหนึ่งในความหวังและการมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย อย่างไรก็ตาม เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 ข้อ 1-6 พูดเรื่องการเยียวยากิจการทีวีดิจิตอล ส่วนข้อ 7-9 เป็นเรื่องการขยายการไม่เรียกคืนคลื่นวิทยุต่อไปอีก 5 ปี เวทีวันนี้จะหาคำถามว่า เมื่อมีแผนเช่นนี้ การปฏิรูปสื่อจะเป็นอย่างไรต่อไป


ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย
- เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา และอดีตอนุกรรมการด้านพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นในกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์
- จักร์กฤษ เพิ่มพูล อนุกรรมาธิการด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ในกรรมาธิการด้านสื่อสารมวลชน สปท.
- วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ
- สุเทพ วิไลเลิศ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) 
- พิรงรอง รามสูตร รองอธิการบดีจุฬาฯ และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

000000

พิรงรอง รามสูตร

การปฏิรูปสื่อมีมามากกว่า 19 ปี จุดเริ่มต้นจริงๆ คือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เท่ากับนับเป็น 25 ปีหรือหนึ่งไตรมาสของหนึ่งศตวรรษแล้ว

การปฏิรูปหรือ reform คือการทำให้เกิดรูปแบบใหม่ แสดงว่า การปฏิรูปต้องเกิดรูปแบบใหม่ ถ้าไม่เกิดรูปแบบเท่ากับไม่มีการปฏิรูป มูลเหตุของการปฏิรูปเกิดเมื่อ 25 ปีก่อนคือ มีการปิดกั้นสื่อ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เพราะโครงสร้างสื่ออยู่ในมือของรัฐ ส่วนหนังสือพิมพ์ ที่พยายามใช้เสรีภาพในการนำเสนอ ก็มี 3 ฉบับถูกปิด คือเนชั่น ผู้จัดการ และแนวหน้า

ดังนั้น "รูป" ที่ต้องการเปลี่ยน คือ โครงสร้างความเป็นเจ้าของ โครงสร้างในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทรัพยากรการสื่อสาร

ที่มาที่ไปของการปฏิรูปสื่อ
ที่มาที่ไปของการปฏิรูปสื่อสอดคล้องไปกับการปฏิรูปการเมือง รัฐธรรมนูญ 40 ที่คนมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปสื่อนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเมืองด้วย

ผลจากรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อให้เกิดองค์การอิสระมากมาย ไม่ว่า สตง. ป.ป.ง. ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่นอกเหนือโครงสร้างอำนาจรัฐ มีขึ้นเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนองค์กรอิสระด้านการสื่อสาร ก็มี กสทช. ตามที่ระบุในมาตรา 40 ซึ่งมีขึ้นเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ โดยให้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม

ดังนั้น ถ้าประชาชนเข้าไม่ถึงทรัพยากรคลื่นความถี่หรือการสื่อสารที่เท่าเทียม ก็ไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำ ดูได้จากการที่คลื่นความถี่วิทยุ คลื่นหลัก 500 กว่าคลื่นเป็นของรัฐทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่กับ อสมท. และ กองทัพ ส่วนทีวี ก็เป็นของรัฐทั้งหมด โดยเป็นของ อสมท. กองทัพบก สำนักนายกฯ ประชาชนเข้าไม่ถึงสื่อเหล่านี้ คนที่จะเข้าถึงคลื่นคือรัฐ และสัมปทานอภิสิทธิ์ ซึ่งไม่มีความโปร่งใสในการเข้าถึง เห็นได้จากสัมปทานระยะยาวของไทยทีวีสีช่อง 3 ที่ได้ตั้งแต่ 2506-2563 เท่ากับช่วงชีวิตนี้เราจะเห็นแต่บริษัทนี้ครอบครองคลื่นนี้

กฎหมายและแนวทางควบคุม
ในช่วงวิกฤตไม่ว่าสื่อของรัฐหรือสื่อที่ได้สัมปทานจากรัฐ ก็ล้วนถูกรัฐเข้ามาควบคุม

เงื่อนไขการปฏิรูปสื่อประกอบด้วย
- การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ทรัพยากรที่เคยขาดแคลน มีมากขึ้นและนำมาจัดสรรกันได้มากขึ้น
- การขาดความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของสื่อ สื่อถูกเหมารวมว่าเป็นแบบนี้ ทั้งที่สื่อมีความหลากหลายสูงมาก
- วิกฤตการณ์ สิ่งที่เคยวางแผนไว้ พอเจอมาตรา 44 ก็จบ

สำหรับกระแสปฏิรูปสื่อในต่างประเทศนั้น ครอบคลุมตั้งแต่การปฏิรูปนโยบายหรือโครงสร้าง ปฏิรูปเนื้อหา การสร้างวิถีปฏิบัติที่ดี การทำให้เกิดสื่อที่เป็นอิสระ เช่น วิทยุชุมชน และการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ดู ผู้ชม ผู้ฟัง เพื่อภูมิทัศน์การบริโภคสื่อที่ดี

ถามว่าปฏิรูปสื่อกันไปทำไม โจทย์คือ ทำอย่างไรให้สื่อทุกประเภททำเพื่อสาธารณะ Damian Tambini อาจารย์ด้านสื่อมวลชนศึกษา วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) เคยกล่าวไว้ว่า สื่อไม่ว่าอยู่ในระบอบใดก็ต้องรับใช้ประชาชน เพราะการมีสื่อในมือเป็นอำนาจสำคัญ

ระลอกคลื่นแห่งการปฏิรูปสื่อไทย
1. หลัง พ.ค.2535 เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 มีมาตรา 40 วางพื้นฐานการปฏิรูปสื่อ ทั้งเชิงโครงสร้างและสารัตถะ

2. จากเหตุการณ์ปี 2553 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ขณะนั้นประกาศแผนปรองดองแห่งชาติ โดยบรรจุแผนปฏิรูปสื่อไว้ด้วย มีการดำเนินการศึกษาในบางแง่มุม แต่ไม่มีการดำเนินการ ไม่มีผลที่จับต้องได้

3. หลังรัฐประหาร 2557 การปฏิรูปสื่อถูกรวมไว้ใน 11 วาระของปฏิรูปของ คสช. ซึ่งย้อนแย้ง เพราะการใช้อำนาจของรัฐไม่เอื้อต่อการปฏิรูป แม้มีการตั้งกลไกและโครงสร้างต่างๆ เพื่อการปฏิรูปสื่อ

พิเคราะห์ปฏิรูปสื่อ
ดูรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ พบว่าจากรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 มาจนถึงร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ทิศทางโดยรวมเปลี่ยนจากเดิมที่เน้นการกระจายอำนาจสู่ประชาธิปไตยทางการสื่อสาร ไปเป็นการหวนคืนสู่การควบคุมโดยรัฐ

เช่น จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 การันตีเสรีภาพสื่อของรัฐให้พึงได้เท่าเอกชน ในร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นสื่อมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่ต้องสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานที่สังกัด

หรือด้านเสรีภาพในการสื่อสาร ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ระบุว่า การดักฟังทำไม่ได้ จะทำได้ต้องมีกฎหมายเฉพาะ แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ระบุว่า ทำไม่ได้ เว้นแต่มีคำสั่ง หมายศาล หรือเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการปูทางให้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่

นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ยังกำหนดให้บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพ ตราบเท่าที่ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ตรงนี้มีการวิจารณ์ว่าอาจเกิดการตีความที่กระทบการใช้สิทธิเสรีภาพทั้งหมดได้

มีการย้ายคลื่นความถี่จากหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไปอยู่หมวดหน้าที่ของรัฐ แปลว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดให้

เรื่องสิทธิในคลื่นความถี่ จากเดิม รัฐธรรมนูญ 2540 บอกให้มีองค์กรอิสระในการจัดสรรคลื่น ซึ่งมีศักดิ์เท่า สตง. ป.ป.ง. แต่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 บอกว่า ให้มี "องค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่" ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่เคยมีมาก่อน



สุเทพ วิไลเลิศ

เวลาเราพูดถึงการปฏิรูปสื่อ มันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ เรากำลังพูดถึงการเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งผูกพันกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

จากพฤษภาทมิฬ 2535 ไปถึงรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 มีการเปลี่ยนผ่านในเชิงโครงสร้างหลายอย่าง

ในปี 2540 เรามี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2540 มีการตั้ง กสช. (คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ) ขึ้น แต่ก็ถูกฟ้องร้อง ต่อมา เกิดรัฐประหาร 2549 มีการแก้รัฐธรรมนูญและแก้กฎหมาย จนปี 2553 จึงมี พ.ร.บ.กสทช. และมี กสทช.ขึ้น โดยมีสัดส่วนทหารตำรวจ 6 นายต่อพลเรือน 5 คน

5 ปีที่ผ่านมาของ กสทช. เราเห็นการเปลี่ยนผ่าน ของทีวี วิทยุ และโทรคมนาคม โดยปรากฏการณ์สำคัญคือ การมีทีวีดิจิตอล แต่ยังไม่เกิดทีวีชุมชน เพราะต้องรอการคืนคลื่น นี่เป็นสิ่งที่ทอดเวลาออกไป

ส่วนวิทยุ ซึ่งโดยหลักการ หน่วยงานรัฐทั้งหมดซึ่งเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่จะต้องคืน กสทช. เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ และแบ่งให้ประชาชนใช้ 20% สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อ กสทช. มีมติให้คืนคลื่นของหน่วยงานรัฐทั้งหมด ในปี 2560 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ไม่ถึงสัปดาห์ มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 มาอุ้มทีวีดิจิตอล ขยายเวลาชำระเงินประมูล และให้ขยายการคืนคลื่นไปอีก 5 ปี จากปี 2560 ไป 2565 เท่ากับวิทยุทดลองประกอบกิจการที่เกิดขึ้น 5,000 กว่าสถานี ต้องต่ออายุปีต่อปี ต้องทดลองออกอากาศต่อไปโดยไม่มีอนาคต ขณะที่หน่วยงานรัฐยังคงสิทธิประกอบกิจการตามกฎหมาย

ทั้งนี้ แม้เราจะมีสื่ออินเทอร์เน็ตแล้ว ก็ไม่ใช่ว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ เราเสียค่าบริการอินเทอร์เน็ตอาจจะมากกว่าค่าน้ำค่าไฟเสียอีก ย้ำว่า เราควรได้ใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะ

ตั้งคำถามว่า ถ้าจะมองการปฏิรูปใหม่ จะมองใหม่อย่างไรให้เป็นได้จริง, ในความต้องการจัดสรรคลื่นความถี่ที่แตกต่างกัน เมื่อมีการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งแบบนี้ สื่อกระแสหลักที่รัฐถือครอง ออกข่าวเรื่องเหล่านี้ขนาดไหน วิทยุที่รัฐถือครองพูดเรื่องนี้หรือไม่ และภาคส่วนต่างๆ ที่เคยพูดเรื่องการปฏิรูปสื่อ ทุกวันนี้ยังยืนหยัดและมีเจตนารมณ์แบบนั้นอยู่หรือไม่

 

 

วิชาญ อุ่นอก

รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหัวใจของการปฏิรูปสื่อสำหรับภาคประชาชน เพราะบอกว่าสื่อไม่ใช่ของรัฐอย่างเดียวอีกต่อไป แต่จากคำสั่ง คสช. ที่ออกมา เราไม่รู้อนาคตเลยว่าการจัดสรรคลื่นจะเป็นอย่างไร

ถอยหลังดูสื่อชุมชน ที่ผ่านมา ภาคประชาชนตั้งแต่ปี 2535 หลายภาคส่วนร่วมกันผลักดันเรื่องการปฏิรูปสื่อ โดยคาดหวังว่าถ้ามีองค์กรอิสระ น่าจะทำให้การสื่อสารในบ้านเรามีความเป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพมากขึ้น จนมีการกำหนดเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และมี กสทช.

พอเกิดองค์กรอิสระอย่าง กสทช.ขึ้น เราฝากความหวังไว้เยอะ คิดว่าการมี กสทช. จะเป็นหน่วยงานจัดการปัญหาหมักหมมได้อย่างดี แต่เท่าที่ฟังวิทยากรสองท่านมา จะเห็นข้อจำกัดภายใน คือ แม้มีตัวแทนของภาคประชาชน แต่ก็เป็นเสียงข้างน้อย ดันวาระสำคัญๆ ออกมาไม่ค่อยได้

นี่น่าจะเป็นบทเรียนว่าเรามัวแต่ฝากความหวังไว้กับองค์กรอิสระ โดยตัดหัวใจสำคัญอย่างบทบาทของภาควิชาการ วิชาชีพและชุมชนไป

วิทยุชุมชนนั้นเกิดขึ้นในปี 2545 หลัง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2543 อย่างไรก็ตาม มองว่าที่ผ่านมา วิทยุชุมชนโดนแช่แข็งมาสิบกว่าปีไม่ให้โต

โดยในปี 2547 กรมประชาสัมพันธ์ออกมาบอกว่า วิทยุชุมชนโฆษณาได้ ทั้งที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ห้ามมีโฆษณา ทำให้เกิดวิทยุ 2,000-3,000 คลื่นตามมา ช่วงวิกฤตการเมือง มีกลุ่มสี ทหาร พระ อาชีวะ ตั้งวิทยุของตัวเองขึ้นมา รวมๆ เรียกเป็นวิทยุชุมชน กลายเป็น "โศกนาฏกรรมทางย่านคลื่น" วิทยุชุมชนถูกวิจารณ์ว่า เกิดแล้วสัญญาณรบกวนคลื่นกันเอง ขายยาผิดกฎหมาย ส่งเสริมคนตีกัน ตอนนั้นรัฐก็ไม่แยกประเภทให้ชัด ทำให้ภาพสื่อชุมชนที่ดูสวยงาม ลดลงไป

ต่อมา หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 วิทยุชุมชนถูกปิดหมด การจะกลับมาเปิดรอบสอง เงื่อนไขยากมาก ต้องเอาเครื่องไปตรวจ ทำ MoU กับทหาร แค่งบก็ต้องใช้ไม่ต่ำว่า 50,000 บาท เป็นค่าตรวจ ค่าซ่อมบำรุง ฯลฯ

ขณะนี้วิทยุประเภททดลองออกอากาศที่ได้ยินหลังรัฐประหาร จากก่อนรัฐประหาร มี 7,000-8,000 คลื่น ตอนนี้เหลือ 4,000 กว่าคลื่น เป็นวิทยุธุรกิจเกือบ 3,000 คลื่น ประเภทสาธารณะ เช่น อาชีวะ วัด อบต. 1,000 คลื่น ที่เป็นชุมชน จากที่ 500 คลื่น ติดเงื่อนไขเรื่องค่าใช้จ่ายและ MoU ทำให้ออกอากาศได้ 200 คลื่น 

แล้ววิทยุที่ออกอากาศตอนนี้ ทำอะไรก็ไม่ได้เพราะเป็นคลื่นทดลอง ถูกกำหนดรัศมีออกอากาศห้ามเกิน 20 กม. กำลังส่งห้ามเกิน 500 วัตต์ โตไม่ได้ พัฒนาไม่ได้ แม้แต่คลื่นธุรกิจก็ไม่กล้าลงทุน เพราะไม่รู้จะได้คลื่นเดิมไหม

สิบกว่าปีที่ผ่านมา เฉพาะการปฏิรูปสื่อชุมชน จะเห็นว่า ไม่ได้ก้าวหน้าเลย ซ้ำภาพลักษณ์ยังตกต่ำ 

ที่ผ่านมา ชุมชนตั้งใจมากในการลุกมาจัดการการสื่อสารของชุมชนเอง แต่สิบกว่าปีที่ผ่านมาไม่มีการส่งเสริมและยังโดนขัง วิทยุชุมชนอีก 200 คลื่นจะเริ่มตาย เพราะทำอะไรไม่ได้เลย แล้วในช่วงห้าปีต่อไปจะเหลือสักเท่าใด

 

จักร์กฤษ เพิ่มพูล

สิ่งที่จะพูดวันนี้มี 3 เรื่อง
1. การปฏิรูปสื่อที่พูดถึงกันทุกวันนี้คือการพยายามบริหารจัดการสื่อด้วยอำนาจบางอย่าง ทั้งนี้ เนื้อหาที่จะพูดวันนี้ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขว่าเป็นรัฐบาลไหน หรือผู้มีอำนาจคนไหน

2. สิ่งที่เราสมมติว่าเป็นการปฏิรูปสื่อวันนี้ เริ่มมาอย่างไร และขณะนี้ทำอะไรกันอยู่

3. คำสั่งตามมาตรา 44  มีลักษณะสำคัญคือ มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน และผลประโยชน์ทับซ้อน

////

1. สิ่งที่เราพูดกันทุกวันนี้ ไม่ใช่การปฏิรูปสื่อ การปฏิรูปสื่อในสังคมไทยเคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวคือ การปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และคลื่นโทรคมนาคม ปี 2540 ซึ่งเป็นผลพวงจากพฤษภา 2535 ต้องให้เครดิต อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่ริเริ่มให้แนวคิดนี้ และเขียนในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 40

แต่เมื่อมี กสทช.แล้ว ผิดหวัง เพราะไม่เคยพบเลยว่า เสียงส่วนใหญ่ของ กสทช. มีแนวคิดเรื่องการปฏิรูปสื่อในความหมายที่ควรจะเป็น

2. ยุค 'ปฏิรูปสื่อสมมติ' เริ่มหลังรัฐประหาร 2557 มีการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งกำหนดการปฏิรูปเร่งด่วน 11 ด้าน ด้านหนึ่งคือการปฏิรูปสื่อเพราะเชื่อว่าสื่อทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม

คณะรัฐประหารมีความรู้เรื่องสื่อสารมวลชนเป็นศูนย์ ตอนนั้นมีการตั้งคณะทำงานเตรียมการเพื่อการปฏิรูปขึ้นคณะหนึ่งขึ้น และมีการเชิญตัวแทนองค์กรสื่อไปให้ข้อมูล ซึ่งตนเองได้เข้าไปให้ข้อมูล เริ่มต้นจากศูนย์เลยว่า สื่อสารมวลชนคืออะไร การส่งสารคืออะไร ท้ายที่สุด มีการเอาข้อมูลให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาต่อ แต่ไม่พบว่า สปช. เอาข้อมูลเหล่านั้นไปทำอะไร มีการดำเนินการใหม่ทุกอย่าง โดยนอกจากเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ มีการกำหนดวาระเรื่องการกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมา การกำกับดูแลสื่อไปไม่ถึงไหน เมื่อสื่อละเมิด ก็ไม่มีกลไกบังคับให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้จริง ดังนั้น เพื่อให้เกิดสภาพบังคับขึ้น กมธ.ปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สปช.ซึ่งมี อ.จุมพล รอดคำดี เป็นประธาน มีตนเองและ อ.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ไปนั่งร่างกฎหมาย

ร่างกฎหมายนี้ มีหลักการบังคับให้กระบวนการกำกับดูแลกันเองทำงาน หมายความว่า อำนาจหน้าที่สภาวิชาชีพเดิมยังมีอยู่ครบถ้วน ยังตรวจสอบ สอบสวนได้ แต่กฎหมายนี้ จะทำหน้าที่เป็นศาลสูง ถ้าไม่จบ จะเดินต่อได้ด้วยกระบวนการนี้

มาถึงตอนนี้ ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรายังเอาร่างกฎหมายนี้ไปทำต่อ ปรับปรุง จัดโครงสร้างเล็กน้อย และเสร็จไปเมื่อไม่นานนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีการสอดไส้ในสาระสำคัญสองเรื่อง คือ เรื่องการให้มีใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพและให้อำนาจเพิกถอน และการมีตัวแทนรัฐเข้าไปนั่งในองค์กรสภาวิชาชีพซึ่งมีอำนาจวินิจฉัย อันขัดกับหลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2540

3. ทีวีดิจิตอลที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ 22 ช่อง ถ้าไม่มีการเอื้อมมือไปช่วย ตายแน่นอน คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 ที่ออกมานั้นมีเนื้อหาเกื้อกันอยู่ในที โดยบอกว่า กสทช.อาจผ่อนปรนให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลผ่อนชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ได้

ที่บอกว่าต่างตอบแทนเพราะไม่เห็นว่าสื่อทีวีดิจิตอล ซึ่งได้ประโยชน์จากการยื้อเวลา จะนำเสนอข่าวหรือบทวิเคราะห์เรื่องนี้เลย นี่คือการไม่ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของสื่อมวลชน ไม่เสนอข้อเท็จจริงที่รอบด้าน ถามว่ามันมีอะไรที่ปิดปากไว้

นอกจากนี้คำสั่ง คสช. ยังบอกว่า เมื่อครบวาระคืนคลื่นวิทยุใน เม.ย. 60 ให้ต่ออีก 5 ปี สำหรับหน่วยงานราชการ กองทัพ ตั้งคำถามว่า คนออกคำสั่งนี้ได้รับประโยชน์ด้วยหรือไม่

 


เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ 

ก่อนหน้านี้ ได้ขอลาออกจากอนุกรรมการพิจารณาสัญญาสัมปทานและพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ของ กสทช. เมื่อ 14 พ.ย. แต่เนื่องจากยังไม่มีคนใหม่มาแทน เลยยังถือว่าดำรงตำแหน่งอยู่

อนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 เพื่อทำหน้าที่ให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ ที่ถือครองคลื่น แจ้งความจำเป็นไปในการใช้ ทำงานกันอย่างระมัดระวังมาก หากมองในแง่ดี ตั้งแต่ตนเองเป็นนักวิชาชีพ ไม่มีครั้งไหนที่มีข้อมูลกิจการกระจายเสียงมากเท่านี้มาก่อน โดยนอกจากพิจารณาจากเอกสารแล้ว ยังมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมจากบางหน่วยงาน รวมถึงสุ่มถอดผังรายการที่ออกอากาศอยู่มาตรวจสอบด้วย

ผลการศึกษาของคณะอนุฯ มีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.ให้กำหนดระยะเวลาแน่นอนในการคืนคลื่น 2.เพื่อการใช้คลื่นให้มีประสิทธิภาพ ให้มีหน่วยงานกำกับดูแล 3.ให้ กสทช. เร่งหารือกับหน่วยงานภาครัฐ ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ 1) ถือครองคลื่นในปริมาณที่มาก 2) ถือครองคลื่นที่ให้บริการในพื้นที่ที่ซ้ำซ้อน 3) ใช้คลื่นไม่สอดคล้องกับภารกิจ ให้เรียกมาเจรจาเพื่อให้เกิดการคืนคลื่น ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นก่อนแผนแม่บทสิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของอนุกรรมการฯ นี้เป็นความลับ ตนเองเคยเสนอให้จัดแถลงข่าวผลการศึกษาให้สาธารณะทราบ เพราะการทำงานล่าช้าไปมากแล้ว แต่ประธานอนุกรรมการสั่งห้ามเผยแพร่

ทั้งนี้ รู้สึกแปลกใจกับมติของ กสท. เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่เสียงส่วนใหญ่ 2 ใน 4 (อีกคนงดออกเสียง) กลับมีมติว่า 1.กำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นให้สิ้นสุดตามแผนแม่บท คือ เม.ย. 2560 2.การคืนคลื่นก่อน เม.ย.2560 ให้เป็นภาคสมัครใจ  ซึ่งต่อมา กสทช. ก็เห็นชอบมตินี้เมื่อ 14 ธ.ค. ประกอบกับการมีคำสั่ง คสช. ยิ่งเป็นการตอกหมุดการปฏิรูปสื่อ หากเอาคลื่นอนาล็อกคืนมาไม่ได้ การปฏิรูปสื่อล้มเหลวสิ้นเชิง

จากการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นห่วง คสช. ว่าเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ โดยจากการศึกษาของอนุกรรมการฯ พบว่า หน่วยงานความมั่นคงของรัฐ 6 หน่วยงาน ปัจจุบันถือครองคลื่น 47.58% หรือ 256 คลื่น อีกกลุ่มซึ่งยอดสูงไม่แพ้กัน เพราะกรมประชาสัมพันธ์ไปอยู่ที่นั่นคือกลุ่มหน่วยงานระดับกระทรวง ทบวง กรม 32.34% หรือ 174 คลื่น รัฐวิสาหกิจ มี อสมท. เจ้าเดียว

ผลการศึกษาของอนุกรรมการฯ พบว่า หน่วยงานภาครัฐ 28 หน่วยงาน ใช้คลื่นสอดคล้อง 21% ไม่สอดคล้อง 79% แต่มีอนุกรรมการฯ ปรับถ้อยคำเป็น "ไม่สอดคล้องกันบางส่วน" โดยกรณีกองทัพบก 138 คลื่น เป็นหน่วยงานที่อยู่ในทั้งกลุ่มที่สอดคล้องและไม่สอดคล้อง เพราะจาก 138 คลื่น กองทัพบกใช้คลื่นสอดคล้องกับภารกิจ 11 คลื่น โดยเป็นคลื่นเฉพาะกิจ เช่น คลื่นเคลื่อนที่ตามแนวชายแดน

นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้ กสทช. เปิดเผยผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ สู่สาธารณะ รวมถึงใน 5 ปีต่อไปนี้ ขอให้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่จะได้ประโยชน์จากการขยายเวลาการคืนคลื่น แจ้งต่อสาธารณะทุกปีว่าได้ประโยชน์จากการประกอบการเท่าไหร่

 

สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผอ.วิทยุจุฬา

การปฏิรูปสื่อจะดูบริบทแค่คำสั่งหัวหน้า คสช. นี้ไม่ได้ ต้องดูหลายอย่างประกอบกัน
-กำลังจะมีการแก้ พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งจะมุ่งสู่การชดใช้ราคาค่าคลื่นความถี่ เมื่อเกิดความจำเป็นต้องเรียกคืน และแก้ไขคุณสมบัติของกรรมการ กสทช.
-วิชาชีพสื่อจะถูกปฏิรูปด้วย เพราะกำลังจะมีการบิดเบือนแนวคิดสภาวิชาชีพสื่อ โดยให้ปลัดกระทรวง 4 กระทรวง เข้ามาดำรงตำแหน่งในสภาวิชาชีพสื่อ ซึ่งไม่เคยมีกฎหมายสภาวิชาชีพที่ไหนกำหนดแบบนี้มาก่อน
-การผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข ซึ่งจะเข้ามากำกับดูแลเนื้อหาสื่อออนไลน์

เราทิ้งบริบทที่เชื่อมโยงมาสู่การรัดรึง ครอบงำ เกาะกุม ควบคุมทั้งหมดนี้ไม่ได้
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปีหน้า ‘สวัสดิการสุขภาพ’ มุ่งสู่ ‘สังคมสงเคราะห์’ (?) เมื่อรัฐลดบทบาท เพิ่มภาระประชาชน

$
0
0

ทิศทางสวัสดิการสุขภาพปีหน้า ภาคประชาชนหวั่นจากสวัสดิการมุ่งสู่สังคมสงเคราะห์ในอนาคต คาดมีความพยายามแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพลดการมีส่วนร่วมภาคประชาชน นักวิชาการทีดีอาร์ไอมองว่ายังไม่มีการความเปลี่ยนแปลงสำคัญ แต่เนื้อหารัฐธรรมนูญชัดเจนว่ารัฐต้องการลดบทบาท ให้ประชาชนรับภาระมากขึ้น

ภาพจาก เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

30 บาทรักษาทุกโรค บัตรทอง หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าหลักประกันสุขภาพ เป็นนโยบายที่ผลักดันโดย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และถูกทำให้เป็นจริงโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นนโยบายที่สร้างความนิยมล้นหลาม ทว่า นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สวัสดิการสุขภาพนี้ก็ถูกท้าทายมาตลอด

ปี 2559 เป็นอีกปีหนึ่งที่หลักการว่าด้วยสวัสดิการสุขภาพต้องเจอแรงเสียดทาน หนักที่สุดเห็นจะเป็นถ้อยคำที่ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม โดยในมาตรา 47 ที่ระบุในวรรค 2 ว่า บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่ารัฐกำลังลดระดับสวัสดิการสุขภาพให้เหลือเพียงการสังคมสงเคราะห์ จากนั้นมาตรการที่ตามมาของรัฐอย่างการขึ้นทะเบียนคนจนก็ถูกตั้งข้อสังเกตจากภาคประชาชนว่า เป็นขั้นแรกๆ ของการคัดกรองคนจนออกจากคนมีเพื่อจัดการ ‘สงเคราะห์’ ให้แก่ผู้ที่มาขึ้นทะเบียน

ไม่ใช่เพียงหลักประกันสุขภาพเท่านั้น สวัสดิการสุขภาพข้าราชการเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนปลายปีที่แนวคิดการให้บริษัทประกันของเอกชนเข้ามารับหน้าที่แทนกรมบัญชีกลาง ทำให้เกิดกระแสต้าน จนต้องพับเก็บไปในที่สุด

(ยังไม่นับเรื่องยิบย่อยอย่างการแช่แข็งตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ที่ยังไม่สามารถหาคนมานั่งตำแหน่งได้ เนื่องจากเกิดการร้องเรียน ซึ่งฝ่ายหนุนระบบหลักประกันฯ มองว่า เป็นความพยายามบ่อนเซาะระบบที่มีมาตลอด)

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เคยกล่าวเกี่ยวกับประเด็นการขึ้นทะเบียนคนจนว่า รัฐควรขึ้นทะเบียนคนรวยด้วย โดยให้เหตุผลว่า รัฐให้คนจนไปลงทะเบียนเพื่อจัดสวัสดิการ ซึ่งการลงทะเบียนนั้นเพื่อที่จะรู้ว่าแต่ละคนมีรายได้เท่าไหร่ ถ้าทุกคนในประเทศไทยที่มีบัตรประชาชนไปลงทะเบียนว่าเป็นใคร ทำงานอะไร และชี้แจงเรื่องรายได้ เพื่อจ่ายภาษี ไม่ว่าจะรวยหรือจน จะทำให้รัฐรู้ได้ว่าใครมีรายได้มากหรือน้อย จะเป็นธรรมกว่า และรัฐสามารถจัดสวัสดิการให้คนมีรายได้น้อยได้จริง ไม่ใช่สงเคราะห์ ไม่ใช่มาแอบอ้างลงทะเบียนเป็นคนจน

“รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีวิธีคิดเชิงหลักการเปลี่ยนไป ทั้งที่ควรรับรองสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคน เช่น ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ได้รับการศึกษาทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อสูงวัยก็ได้รับบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ไม่ใช่ระบุว่า ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีรายได้ไม่เพียงพอ มีสิทธิได้รับสวัสดิการของรัฐ ทั้งที่สวัสดิการควรเป็นของทุกคน และรัฐควรต้องจัดหาให้ ซึ่งการเขียนแบบนี้สามารถตีความได้ เช่น ออกกฎหมายให้เบี้ยยังชีพเฉพาะคนแก่ที่จนเท่านั้น หรือแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพให้เป็นสำหรับผู้ยากไร้เท่านั้น คนเกือบจน คนเกือบรวย ก็อาจต้องเสียเงินค่ารักษา เป็นต้น”

ถ้าดูภาพรวมและเจตนารมณ์รวมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ค่อนข้างชัดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการลดบทบาทของรัฐลงในเรื่องเหล่านี้ และให้ประชาชนเข้ามารับภาระมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณสุข ยังมีเรื่องการศึกษา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมาแนวนี้ตลอด

ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า

“เรื่องการสังคมสงเคราะห์มันมีวิธีคิดที่ไปทางนั้นอยู่ ที่ไม่ได้มองเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นหัวใจหลัก คือถ้ายึดเรื่องนี้ ก็ต้องเชื่อว่าคนทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการได้อย่างเสมอภาค ทั่วถึง และเท่าเทียม แต่วิธีคิดนี้หายไป เนื่องจากมองว่าถ้ามีการจัดรัฐสวัสดิการแบบนั้นจะเป็นภาระของประเทศ ที่ง่ายที่สุดสำหรับคนที่มาบริหารประเทศก็คือทำเป็นการสงเคราะห์หรือช่วยเฉพาะกลุ่ม แล้วบอกว่าได้แก้ปัญหาแล้ว เพราะว่ามีเฉพาะคนกลุ่มนี้เท่านั้นที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ คนชั้นกลางหรือคนมีสตางค์ควรจะช่วยตัวเอง มันกลายเป็นวาทกรรมนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะถ้ามีความเชื่อว่ารัฐสวัสดิการทำไม่ได้ เป็นภาระ จึงมีความคิดเรื่องขึ้นทะเบียนคนจนเกิดขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าน่าห่วงอันเนื่องจากมีการเขียนแบบนี้ในรัฐธรรมนูญด้วย”

แต่นิมิตร์แสดงทัศนะว่า จากความเข้าใจ ความเติบโตของระบบหลักประกันสุขภาพที่มีรากฐานมาจากกฎหมาย รัฐคงไม่สามารถทำอะไรได้ง่ายนัก เพราะการจะเปลี่ยนระบบสวัสดิการสุขภาพแบบถอนรากถอนโคนจากสวัสดิการเป็นการสงเคราะห์ไม่สามารถทำได้ เว้นเสียแต่จะยกเลิก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ เนื่องจากในกฎหมายนี้ให้สิทธิคนไทยทุกคนที่ไม่ใช่ข้าราชการและผู้ประกันตนให้เข้าถึงบริการสุขภาพ

“แต่ว่าในเชิงรายละเอียดของการดำเนินการอาจจะมีการแซะกัน เช่น พูดถึงเรื่องการร่วมจ่าย ใครที่มีระดับฐานะเท่านี้ๆ ให้ร่วมจ่าย ซึ่งเป็นวิธีคิดที่มีมาตลอดของคนในวิชาชีพสาธารณสุข คือมีแนวโน้มว่ารัฐคิดเรื่องรัฐสงเคราะห์ ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ แต่ผมยังศรัทธาและเชื่อในแนวต้านของประชาชนที่จะส่งเสียงและต้านอยู่”

เหตุนี้ นิมิตร์เห็นว่าจะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในช่วงเวลาสองสามปีนี้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการลดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งนิมิตร์มองเห็นสัญญาณดังกล่าว

“มีความพยายามที่จะแก้กฎหมาย ในปีหน้าหรือภายในเร็วๆ อันที่น่าห่วงในการแก้กฎหมายคือกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนที่เป็นความก้าวหน้าในตัวกฎหมายอาจจะหายไป เช่น มีการปรับสัดส่วนของภาคประชาชนลดลง ไปเพิ่มสัดส่วนของภาควิชาชีพ ซึ่งจะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้ง ผมเป็นห่วงในเรื่องนี้”

 

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการลดบทบาทของรัฐและให้ประชาชนเข้ามารับภาระมากขึ้น” วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร

ในมุมมองของนักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้ วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศหรือ ทีดีอาร์ไอ เชื่อว่าจะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็เห็นชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการลดบทบาทการจัดสวัสดิการต่างๆ ของรัฐลงและให้ประชาชนเข้ามารับภาระมากขึ้น

“เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างน้อย 15-20 ปีแล้ว และไม่เคยมีฉันทามติไปในทางหนึ่งทางใด ที่ผ่านมามักเป็นการผลักดันของฝ่ายต่างๆ ขึ้นกับว่าฝ่ายไหนมีอำนาจก็ดันวาระของฝ่ายตัวเองออกมาได้มากหน่อย แต่ก็ยังแทบไม่มีผลในทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่นในรัฐบาลนี้ พลเอกประยุทธ์ก็จะพูดบ่อยๆ ว่า นโยบาย 30 บาท ประเทศอื่นที่รวยกว่าเรา เขาก็ยังไม่ทำกัน ขณะเดียวกันก็มีการผลักดันของบางฝ่ายให้แก้ระเบียบการใช้เงินของ 30 บาท ห้ามใช้เงินกับกิจกรรมที่ไม่ใช่การรักษาโดยตรง เมื่อแก้เสร็จแล้วก็ปรากฏว่าโรงพยาบาลหลายแห่งมีปัญหาไม่กล้าใช้เงินในส่วนที่จำเป็นต้องใช้ ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องออกมาตรา 44 มาแก้ปัญหาจากประกาศของรัฐบาลอีกทีหนึ่ง โดยบอกว่าโรงพยาบาลสามารถใช้เงินเพื่อวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติ นโยบาย 30 บาท ก็คงยังไม่น่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงในปีหน้า ถึงแม้ว่าภายใต้รัฐบาลแบบนี้ วันดีคืนดีก็อาจประกาศอะไรออกมาได้ แต่ถ้ารัฐบาลยังไม่ได้ใช้วิธีปุบปับแบบนั้น ผมคิดว่าก็ยังไม่มีฉันทามติอะไรที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่โตในส่วนนี้ในปีหน้า

“ส่วนที่ 2 ประกันสังคม  ตอนเริ่มนโยบาย 30 บาท คนที่พยายามดันเรื่อง 30 บาท ต้องการรวม 3 โครงการนี้เข้าด้วยกัน ในช่วงแรกคนที่มีส่วนได้เสียกับประกันสังคม รวมทั้งเอ็นจีโอต่างๆ ก็ค้านเสียงแข็ง เพราะมองว่า 30 บาทน่าจะเป็นอะไรที่แย่กว่าประกันสังคม แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ก็มีเอ็นจีโอออกมารณรงค์ไม่ให้จ่ายเงินประกันสังคมส่วนที่ใช้สำหรับสุขภาพ โดยอ้างว่ามีแต่ผู้มีสิทธิ์ประกันสังคมต้องจ่าย ขณะที่ 30 บาท กับข้าราชการไม่ต้องจ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมวิจารณ์มาโดยตลอดว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่เห็นแก่ตัว เพราะในขณะนั้นคนที่อยู่ในประกันสังคมได้รับเงินจากรัฐประมาณร้อยละ 2.75 ของเงินเดือน หรือร้อยละ 2.75 ของ 15,000 บาท ในกรณีที่เงินเดือนสูงกว่านั้น ซึ่งมากกว่าค่าหัวของ 30 บาทที่รัฐบาลจ่ายให้

“ในขณะนี้ มีความพยายามของสำนักงานประกันสังคมให้ขยายเพดานเงินเดือนจาก 15,000 เป็น 20,000 และต่อไป 25,000 บาท ในอนาคตอันใกล้ ถ้าขยายเพดานเงินเดือนไปถึง 20,000 ก็น่าจะช่วยทำให้การรักษาพยาบาลพของประกันสังคมดีขึ้น ซึ่งในระยะหลังนี้ ผมเข้าใจว่ามีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งถอยไปจากประกันสังคม โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเงินค่าหัวและอื่นๆ ที่ประกันสังคมให้โรงพยาบาลโตช้ากว่างบ 30 บาท ส่วนนี้ก็เป็นความพยายามเปลี่ยนแปลงข้อหนึ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไป

“ส่วนที่ 3 สวัสดิการข้าราชการ ปีที่ผ่านมาเป็นข่าวมากที่สุดจากข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ที่จะให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผมเชื่อว่าฝั่งนี้เป็นฝั่งที่มีความรู้เกี่ยวกับประกันสุขภาพน้อยที่สุด ทำให้มีข้อเสนอออกมาแบบนี้ หลายคนคิดว่าภาคเอกชนวางแผนเข้ามากินรวบ แต่ข้อเสนอจริงๆ ไปจากภาครัฐ และดูเหมือนว่าภาคเอกชนเองก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะที่รัฐบอกว่าจะไปกำหนดเงื่อนไขที่มัดมือเขา โดยบอกว่าตอนนี้งบอาจอยู่ที่ปีละ 6.8 หมื่นล้าน ต่อไปจะต้องไม่เกิน 7 หมื่นล้าน ซึ่งผมคิดว่าเรื่องประกันสุขภาพ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะทำแบบนี้ได้

“สาเหตุหลักก็เพราะปกติค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลมักจะเพิ่มขึ้นด้วย 2 ปัจจัยหลักๆ คือ ส่วนแรกโครงสร้างประชากร ถ้าเรามีผู้สูงอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็จะมากขึ้น ส่วนที่ 2 คือเพิ่มจากการใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น ถ้าโครงสร้างประชากรเป็นแบบนี้และต้องการให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ไม่ใช่แช่แข็งเทคโนโลยี ทำยังไงก็ไม่สามารถแช่แข็งงบเอาไว้ได้

“ผมเข้าใจว่าความเชื่อหนึ่งที่จะโยนสวัสดิการข้าราชการให้ประกันภัย เพราะเชื่อว่ามีการคอร์รัปชั่นและไร้ประสิทธิภาพอยู่เยอะ ความเห็นส่วนตัวผม การคอร์รัปชั่นไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ความไร้ประสิทธิภาพต่างหากที่เป็นประเด็น แต่ส่วนหนึ่งมันผูกมากับสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ ซึ่งหมายความว่าถ้าจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณต้องไปจำกัดสิทธิของเขาในระดับหนึ่ง เช่น ข้าราชการต้องผูกกับโรงพยาบาลใดเป็นหลัก ยกเว้นกรณีฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เป็นต้น

“แต่ถ้าคุณไม่จำกัดสิทธิของข้าราชการ มันจะยากมากที่จะคุมค่าใช้จ่าย หรือถ้าคุณไปจำกัดสิทธิเขา ก็ยากที่จะคุมให้งบนี้อยู่ไปได้เป็นสิบปี อย่างทุกวันนี้ สวัสดิการข้าราชการเพิ่มไม่สูง เราอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาทมาอย่างน้อยห้าหกปีแล้ว เพิ่มมาปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อคิดออกมาก็ตกปีละร้อยละ 3 ซึ่งผมคิดว่าไม่สูงสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ผมเข้าใจว่าส่วนหนึ่งที่สามารถคุมค่าใช้จ่ายได้ระดับนี้ นั่นเป็นเพราะสวัสดิการข้าราชการมีส่วนที่เป็นร่วมจ่ายมากกว่าสิทธิอื่น

“สำหรับในเรื่องนี้ ข่าวหนึ่งที่ได้ยินมาคือข้าราชการรวมทั้งกระทรวงกลาโหมเองก็ออกมาคัดค้าน นายกฯ เองก็สั่งให้หยุดไปก่อน ดังนั้น เรื่องนี้คงไม่มีอะไรคืบหน้าในเร็ววัน เว้นแต่มีใครไปทำให้นายกฯ เชื่อว่าควรทำแบบนั้นแบบนี้ แล้วมีการตัดสินใจแบบฉับพลันทันใด นอกเหนือจากกรณีนั้นแล้ว ทั้งสามโครงการคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

“สำหรับ 30 บาท นั้น ไม่ว่าจะภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับไหนหรือรัฐบาลไหน ก็มีแนวโน้มที่จะถูกทำให้เป็นสวัสดิการชั้น 2 หรือชั้น 3 อยู่แล้ว ตั้งแต่แรก 30 บาทได้รับงบในระดับที่ไม่สามารถจัดบริการที่มีคุณภาพที่ได้มาตรฐานได้อยู่แล้ว งบถูกแช่แข็งตั้งแต่ช่วง 2 ปีแรกสมัยทักษิณ มาช่วงหลัง สมัยคุณหมอประดิษฐ์ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ก็มีความคิดที่จะแช่แข็งงบ 30 บาทไว้ 3 ปี ซึ่ในที่สุดจะเรียกว่าทำสำเร็จก็คงได้

“คนจำนวนมากและรัฐบาลก็มีความเชื่อว่า ถ้าปล่อยให้งบ 30 บาทขึ้นไปจะทำให้เป็นภาระกับประเทศมาก และจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง ความเชื่อนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดในยุครัฐประหาร แต่เกิดมาในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย โครงการ 30 บาทได้เพิ่มงบครั้งแรกในปีที่ 3 ในสมัยทักษิณ จากนั้นก็เพิ่มอย่างช้าๆ หลังจากนั้นมาเพิ่มอีกทีสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุฬานนท์ แนวโน้มจริงๆ เป็นการเพิ่มแบบช้าๆ แต่เนื่องจากเวลาผ่านไปแล้วเกือบ 15 ปี งบจึงขึ้นมาจาก 1,200 มาเป็น 3,000 บาท ซึ่งอัตราการเพิ่มไม่ได้สูง และเป็นการเพิ่มจากอัตราที่ต่ำมากตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

“เพราะฉะนั้นถ้ามันอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ คือต่อให้ไม่มีใครไปแตะมันเลย  30 บาทก็จะยังเป็นประเด็นเป็นปัญหา  การที่จะจัดบริการ 30 บาทให้มีคุณภาพจริงๆ ด้วยเงินขนาดนี้เป็นเรื่องที่ยากมากๆ ที่ผ่านมา ฝั่งที่คัดค้าน 30 บาท ก็ต้องการให้เก็บเงินจากผู้ป่วยหรือการร่วมจ่าย และอาจารย์ด้านประกันภัยจากนิด้ารายหนึ่งก็เสนอให้ประชาชนร่วมจ่ายอีกเท่าตัวแล้วยกไปให้บริษัทประกันเอกชนทำ แบบเดียวกับโมเดลที่ได้ยินเกี่ยวกับสวัสดิการสุขภาพข้าราชการ โดยมองว่าวิธีนี้จะสามารถปรับปรุงคุณภาพ 30 บาทได้ โรงพยาบาลก็อยู่ได้ แต่การเสนอให้ประชาชนร่วมจ่ายอีกเท่าตัวเป็นเรื่องใหญ่และคงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ

“ถ้า 30 บาทได้เงินเท่าที่เป็นอยู่ เราก็จะเห็นสถานการณ์ที่โรงพยาบาลประมาณร้อยละ 10-20 มีปัญหาการเงินต่อไป ตัวเลขนี้ในภาพรวมอาจดูไม่สูงมาก  แต่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติแน่ และผู้บริหารและแพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลเหล่านั้นก็อาจจะต้องทำงานภายใต้ความกดดันที่สูงกว่าปกติ

“ที่พูดมานี้เป็นส่วนที่ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับไหนทั้งสิ้น แต่ถ้าจะถามว่ารัฐธรรมนูญนี้มีแนวโน้มทำให้สภาพปัญหาแย่ลงหรือเปล่า ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามเขียนป้องกันรัฐบาลมากขึ้น เช่น แทนที่จะเขียนตามโครงการที่เกิดขึ้นจริงที่ปัจจุบันรัฐบาลให้บริการฟรี  ก็เขียนแค่ว่ารัฐบาลมีหน้าที่จัดบริการให้ทุกคนและจัดบริการฟรีให้แก่ผู้ยากไร้ แต่หลายคนที่หนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ ก็เขียนทำนองนี้เช่นกัน ซึ่งก็จริง คือไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่กำหนดว่าจะให้บริการฟรีแก่ประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ออกมาก่อน 30 บาท  แต่ถ้าดูภาพรวมและเจตนารมณ์รวมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ค่อนข้างชัดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการลดบทบาทของรัฐลงในเรื่องเหล่านี้ และให้ประชาชนเข้ามารับภาระมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณสุข ยังมีเรื่องการศึกษา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมาแนวนี้ตลอด

“แต่ก็อีกนั่นแหละ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะยุคไหน รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีผลน้อยที่สุดและฉีกง่ายที่สุด รัฐธรรมนูญอาจจะสะท้อนแนวคิดที่ถกเถียงกันอยู่ แต่รวมๆ แล้ว ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยตรงจากรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในระยะเวลาอันสั้นก็คงไม่มี”

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์ ยก ประยุทธ์ นาคี และ กราบรถกู ที่สุดแห่งปี 59

$
0
0

29 ธ.ค.2559 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ที่สุดแห่งปี 2559” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,160 คน พบว่า ที่สุดของข่าวในประเทศที่ประชาชนสนใจ ติดตาม และเกาะติดแห่งปี ได้แก่ ข่าวการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 และการ เข้าเฝ้าฯ ถวายสักการะพระบรมศพของประชาชน

ที่สุดของบุคคลในสังคมไทยที่น่าชื่นชมยกย่อง ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเรื่อง การบริหารและการปฏิรูปประเทศไทย เช่น ปราบทุจริต ปราบอิทธิพล และจัดระเบียบต่างๆ ฯลฯ ที่สุดของบุคคลในวงกีฬาที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ชื่นชอบ ได้แก่  ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง  ที่สุดของดารา/นักร้องชายที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ชื่นชอบ ได้แก่ ตูน Bodyslam

ที่สุดของดารา/นักร้องหญิงที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ชื่นชอบ ได้แก่ แต้ว ณฐพร ที่สุดของละครไทยที่ชื่นชอบ ได้แก่ เรื่อง “นาคี” ช่อง 3 ที่สุดของคำพูดหรือวลีเด็ดแห่งปี ได้แก่ “กราบรถกู ! ”

โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ข่าวในประเทศที่สนใจ ติดตาม และเกาะติดมากที่สุดในรอบปีนี้ 5 อันดับแรก คือ   (เลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

อันดับ

 

ร้อยละ

1

ข่าวการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 และการ เข้าเฝ้าฯ ถวายสักการะพระบรมศพของประชาชน

96.0

2

ข่าวออกหมายจับพระธัมมชโยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

50.6

3

ข่าว ตูน บอดี้สแลม วิ่งการกุศลเพื่อระดมเงินซื้ออุปกรณ์การแพทย์ รพ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

49.0

3

ข่าว  คดี “น็อต” กราบรถกู!

49.0

4

ข่าวเกี่ยวกับการออกมาขายข้าวเองของชาวนา

45.2

5

อาการป่วยและการจากไปของ ปอ ทฤษฎี สหวงษ์

40.0

2. บุคคลในสังคมไทยที่น่าชื่นชมยกย่องมากที่สุดในรอบปี 5 อันดับแรก คือ (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)

อันดับ

 

ร้อยละ

1

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เรื่อง การบริหารและ การปฏิรูปประเทศไทย เช่น ปราบทุจริต ปราบอิทธิพล และจัดระเบียบต่างๆ เป็นต้น

51.0

2

นายอาทิวราห์ คงมาลัย (ตูน Bodyslam)

เรื่อง วิ่งการกุศลเพื่อระดมเงินซื้ออุปกรณ์การแพทย์ รพ.บางสะพาน ภายใต้“โครงการก้าวคนละก้าว เพื่อโรงพยาบาลบางสะพาน”

31.7

3

นายเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง (ซิโก้) หัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทย

เรื่อง สามารถพาทีมไทยไปสู่ฟุตบอลโลก2018 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้าย และคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน (ซูซุกิคัพ) ปี 2016

5.2

4

นายบิณฑ์ บันลือฤทธิ์

เรื่อง การออกช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนไม่ว่าจะ พิการ ยากจน ประสบภัยพิบัติ อุบัติเหตุ โศกนาฏกรรม ฯลฯ จนได้รับฉายาว่า “พ่อพระของคนยาก”

4.3

5

นางปวีณา หงสกุล

เรื่อง การช่วยเหลือเด็กและสตรี ในนาม “มูลนิธิ ปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี” (องค์การสาธารณประโยชน์)

4.1

3.  บุคคลในวงการกีฬาที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดในรอบปีนี้ 5 อันดับแรก คือ (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)

อันดับ

 

ร้อยละ

1

ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง

34.1

2

ชนาธิป สรงกระสินธ์

17.8

3

เมย์ รัชนก อินทนนท์

17.6

4

ปลื้มจิตร์ ถินขาว

6.0

5

บัวขาว บัญชาเมฆ

5.3

4. ดารา/นักร้อง ที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดในรอบปีนี้ 5 อันดับแรก คือ (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)

อันดับ

ฝ่ายชาย

ร้อยละ

อันดับ

ฝ่ายหญิง

ร้อยละ

1

ตูน Bodyslam

16.8

1

แต้ว ณฐพร

27.6

2

ณเดช คูกิมิยะ

13.0

2

ญาญ่า อุรัสยา

13.7

3

เคน ภูภูมิ

12.8

3

อั้ม พัชราภา

12.6

4

เบิร์ด ธงชัย แมคอินไตย

8.3

4

ต่าย อรทัย

9.1

5

เวียร์ ศุกลวัฒน์

7.1

5

ดา เอ็นโดรฟิน

7.0

5. ละครไทยที่ชื่นชอบที่สุดแห่งปี 5 อันดับแรก (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)

อันดับ

 

ร้อยละ

1

เรื่อง “นาคี” ช่อง 3

71.6

2

เรื่อง “สายโลหิต”(รีรัน) ช่อง 7

5.2

3

เรื่อง “เพชรตัดเพชร” ช่อง 7

4.9

4

เรื่อง “พิษสวาท” ช่อง ONE HD

4.4

5

เรื่อง “ดวงใจพิสุทธิ์” ช่อง 3

3.1

6. คำพูดหรือวลีเด็ดที่สุดแห่งปี 5 อันดับแรก คือ  (เลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

อันดับ

 

ร้อยละ

1

“ กราบรถกู ! ”

75.2

2

“ ได้หมด ถ้าสดชื่น ”

27.5

3

“ วนไปค่ะ ”

19.3

4

“ แม่ก็คือแม่...จบป่ะ ”

13.5

5

“ พี่ไม่ได้มาเล่นๆ ”

10.5

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์ในการสำรวจ  เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับเรื่องที่สุดแห่งปี 2559 ในด้านต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงเรื่องและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดปี 2559 ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน รวมถึงเพื่อสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของประชาชนให้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ

ระเบียบวิธีการสำรวจ การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกสาขาอาชีพที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล  โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) จากนั้นจึงสุ่มถนนและประชากรเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบ ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,160 คน เป็นเพศชายร้อยละ 48.2 และเพศหญิงร้อยละ 51.8

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)  ในการประมาณการขนาดตัวอย่างมีความคลาดเคลื่อน ± 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว (Face-to-face Interview) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุคำตอบเองโดยอิสระ (Open Ended) จากนั้นจึงนำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล   :       16 - 20 ธันวาคม 2559

วันที่เผยแพร่ผลการสำรวจ   :       29 ธันวาคม 2559


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สพฉ.สรุปสถิติ 10 อันดับ การนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินตลอดปี 59

$
0
0

สพฉ.สรุปสถิติการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ตลอดปีพ.ศ. 2559 พบว่ามีการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งสิ้น 1.49 ล้านคน พร้อมเปิด 10 อันดับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลเยอะที่สุด อุบัติเหตุยานยนต์ครองแชมป์อันดับหนึ่ง รองลงมาด้วยป่วยอ่อนเพลีย ปวดท้อง ปวดหลัง และพลัดตกหกล้ม

29 ธ.ค. 2559 รายงานข่าวจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แจ้งว่า นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้สรุปสถิติการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ตลอดปี พ.ศ. 2559 พบว่ามีการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งสิ้น 1,491,460 คน โดย 10 ลำดับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลผ่านสายด่วน 1669 มากที่สุดคือ  1. อุบัติเหตุยานยนต์  387,009 คน  2. ป่วย อ่อนเพลีย อัมพาตเรื้อรัง 298,446 คน 3. ปวดท้อง ปวดหลัง เชิงกรานและขาหนีบ 162,701 คน 4. พลัดตกหกล้มอุบัติเหตุเจ็บปวด 113,510 คน 5. หายใจลำบากติดขัด 109,405 คน 6. หมดสติไม่ตอบสนอง หมดสติชั่ววูบ 61,619 คน 7. การเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดกับเด็กหรือกุมารเวช 60,402 คน 8. ชัก หรือมีสัญญานบอกเหตุของการชัก44,135 คน 9. ปวดศีรษะ ภาวะผิดปรกติทางตา หู จมูก และคอ 39,010 คน 10. เจ็บแน่นทรวงอก หัวใจ หรือมีปัญหาด้านหัวใจ 34,246 คน
 
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า 10 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลในส่วนของลำดับแรกที่เป็นอุบัติเหตุจากยานยนต์นั้น อยากให้ประชาชนทุกคนระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นพิเศษควรขับรถด้วยความไม่ประมาท มีสติ ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ง่วงหรือเมาไม่ควรขับรถเพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติมากยิ่งขึ้นได้ นอกจากนี้นอกจากการเกิดอุบัติจากยานยนต์แล้ว 10 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลยังเป็นอาการของการเจ็บป่วยฉุกเฉินในหลายโรคโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง หรือ(STROKE) ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองคือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก จนส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้มีหลายปัจจัยทั้งที่ป้องกันได้และป้องกันไม่ได้ อาทิ อายุมากขึ้น หลอดเลือดสมองจะเสื่อมตามไปด้วย หรือเกิดภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ และคนที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น คือ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย หรือผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง เป็นโรคหัวใจ สูบบุหรี่เป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย  ซึ่งโรคนี้จะสังเกตอาการได้ง่ายๆ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน มึนงง วิงเวียน ทรงตัวไม่ได้  ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ ซึ่งส่วนมากทุกอาการจะเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างฉับพลัน ดังนั้นผู้พบเห็นต้องรีบขอความช่วยเหลือทางการแพทย์  โทรสายด่วน 1669  เพื่อนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างทันที โดยต้องระลึกเสมอว่าการรักษาผู้ป่วยโรคนี้จะต้องรีบส่งเข้ารักษาภายในเวลา3 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยจะลดอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือพิการลงได้
 
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ใน 10 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ถูกนำส่งผ่านสายด่วน 1669 นั้นยังมีอาการของโรคภาวะหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (STEMI)  ซึ่งแต่ละปีจะมีแนวโน้มผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรคนี้ในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันนั้นเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่นำเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการแข็งตัว มีไขมัน หรือแคลเซียมไปเกาะที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย โดยอาการของผู้ป่วยนั้น จะมีอาการเจ็บแน่น จุกเสียดที่หน้าอกหรือท้องส่วนบน หรือมีอาการแน่นเหนื่อยขึ้นมาทันที ร่วมกับอาการหายไจไม่สะดวก หอบเหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ  ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าว ให้รีบนั่งลงพักทันที อย่าตื่นเต้นโวยวาย เพราะการใช้แรงจะทำให้เจ็บมากยิ่งขึ้น จากนั้นโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยจะต้องส่งผู้ป่วยให้เข้าสู่กระบวนการรักษาภายใน 3 ชั่วโมงซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
 
“ผมอยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีเพื่อให้ปลอดจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินในทุกๆ โรค สำหรับปีใหม่ที่จะถึงนี้ใครที่ยังไม่ได้เริ่มในการดูแลตนเองก็ใช้โอกาสของการเริ่มต้นปีใหม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ตรวจเช็คสุขภาพประจำปี ขับรถหรือเดินทางด้วยสติไม่ประมาทและหากท่านเจ็บป่วยฉุกเฉินก็ให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 พวกเราพร้อมดูแลประชาชนทุกคนตลอด 24 ชั่วโมง ในทุกๆ ปี” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดิอิโคโนมิสต์ตอบคำถามสำคัญก่อนเปิดศักราชใหม่ "ประชานิยม" คืออะไรกันแน่

$
0
0

ในปี 2016 ประเด็นหนึ่งที่พูดกันมากในระดับโลก แต่อาจจะพูดถึงกันมาหลายปีแล้วในประเทศเรา คือเรื่องของ "ประชานิยม" ซึ่งเป็นคำที่ยังมีความลื่นไหลและนำมาใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อจนชวนให้ตั้งคำถามว่าคำๆ นี้มีความหมายที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ นิตยสารดิอิโคโนมิสต์มีการอธิบายประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาของถ้อยคำนี้

ในนิตยสารดิอิโคโนมิสต์ฉบับเมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาจึงมีพยายามอธิบายความหมายของศัพท์คำนี้ ซึ่งผู้ใช้ "ประชานิยม" อาจจะเป็นได้ทั้งสายทหารนิยมหรือสายอิสรนิยม (Libertarians - แนวคิดต่อต้านการแทรกแซงจากรัฐซึ่งอาจจะเป็นฝ่ายเอียงขวาที่สนับสนุนทุนหรืออาจจะเป็นฝ่ายเอียงซ้ายที่เน้นเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจก็ได้ เป็นคนละความหมายกับเสรีนิยมหรือ Liberalism)

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้คำๆ นี้ถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งคือการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในสหรัฐฯ ถูกเรียกว่าเป็น "นักประชานิยม" เขามีนโยบายส่งตัวผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารรับรองออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันก็มีพรรคฝ่ายซ้ายของสเปนที่ชื่อโปเดมอสถูกมองว่าเป็น "นักประชานิยม" เช่นกันแต่พวกเขากลับมีแนวคิดต้องการให้ผู้อพยพมีสิทธิในการเลือกตั้ง ในเนเธอร์แลนด์ก็มีเคียร์ต วิลเดอร์ส นักการเมืองฝ่ายขวา "นักประชานิยม" ผู้ต้องการยกเลิกกฎหมายเฮชสปีช ในโปแลนด์ก็มียาโรสลอว์ คักชินสกี นักการเมืองฝ่ายขวาที่พยายามหลักดันกฎหมายห้ามใช้คำว่า "ค่ายกักกันแห่งความตายโปแลนด์"

ในละตินอเมริกา เอโว โมราเลส ประธานาธิบดีโบลิเวียก็ถูกเรียกว่าเป็น "นักประชานิยม" เขาต้องการส่งเสริมสิทธิชนพื้นเมืองในการปลูกพืชโคคา โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ผู้มีนโยบยปราบปรามยาเสพตดอย่างรุนแรงก็ถูกเรียกว่าเป็น "นักประชานิยม" จนราวกับว่าในยุคนี้ใครๆ ก็ถูกเรียกเป็นนักประชานิยมได้หมด ไม่ว่าจะเป็นพวกสายทหาร คนที่มีอุดมการณ์เดียวกับเช เกวารา หรือนักทุนนิยมผู้ปฏิเสธรัฐ เป็นได้ทั้งนักสิ่งแวดล้อมผู้ต่อต้านท่อส่งน้ำมันหรือจอมถลุงผู้ปฏิเสธเรื่องโลกร้อน ดิอิโคโนมิสต์ตั้งคำถามว่าอะไรทำให้พวกนี้กลายเป็น "นักประชานิยม" กันได้หมด และคำๆ นี้มีความหมายจริงหรือไม่

ดิอิโคโนมิสต์บอกว่ามีการใช้คำๆ นี้กันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ช่วงราวปี ค.ศ. 1900-1910 แล้ว โดยในตอนนั้นขบวนการประชานิยมในสหรัฐฯ นำกลุ่มคนในชนบทร่วมมือกับพรรคโดโมแครตในยุคนั้นต่อต้านพรรครีพับลิกันในยุคนั้นที่เข้าหาคนในเมืองมากกว่า พอถึงช่วงปี ค.ศ. 1940-1950 พวกนักวิชาการและนักข่าวเอาคำนี้มาขยายความหมายให้กว้างกว่าเดิมจนกลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นพวกฟาสซิสต์ พวกคอมมิวนิสต์ พวกหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์แบบสุดโต่งในสหรัฐฯ แนวคิดการเมืองในแบบของฮวน เปรอง ที่ เอาทั้งชาตินิยม สังคมนิยม และประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม เข้ามารวมกัน

การนำมาใช้เฝือมากเช่นนี้ทำให้นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เบนยามิน มอฟฟิตต์ เขียนไว้ในหนังสือเขาว่าถึงแม้คำๆ นี้จะมีประโยชน์แต่มันถูกเอามาใช้กันอย่างเละเทะจนไม่สามารถอธิบายได้ในแบบเดียว บางคนโยงเรื่องประชานิยมกับการที่คนไม่พอใจเรื่องสถานะหรือสวัสดิการตกต่ำลง บ้างก็โยงกับการโหยหาชาตินิยมในอดีต แต่บ้างก็มองว่าเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ผู้นำที่ดึกดูดผู้คนใช้ชักจูงมวลชนในการเอาชนะอำนาจเดิม (แม้ว่าขบวนการประชานิยมไม่จำเป็นต้องมีผู้นำแบบที่ว่า) แม้คำๆ นี้จะใช้กันเรื่อยเปื่อยมาก แต่ก็ถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

กาส มุดเด นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งจอร์เจียกล่าวไว้เมื่อปี ค.ศ. 2004 ว่า คำว่าประชานิยมเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเขาแล้วคำๆ นี้เป็น "อุดมการณ์หลวมๆ" ที่มีกรอบความคิดว่าเป็นเรื่องของ "ประชาชนที่แสนบริสุทธิ์" ปะทะกับ "ชนชั้นนำที่เสื่อมทราม" ซึ่งตรงกันข้ามกับพหุนิยมที่ยอมรับว่าในโลกนี้มีความชอบธรรมของกลุ่มคนหลายๆ กลุ่มที่แตกต่างกัน ความที่มันเป็นอุดมการณ์หลวมๆ ทำให้มันไแปะติดอยู่กับ "อุดมการณ์หนาๆ" แบบไหนก็ได้ไม่ว่าจะเป้นสังคมนิยมหรือชาตินิยม ฝ่ายต้านจักรวรรดิ์นิยมหรือฝ่ายเหยียดเชื้อชาติสีผิว

ดิอิโคโนมิสต์อธิบายต่อไปว่าหนึ่งในตัวอย่างของการเอา "อุดมการณ์หลวมๆ" ดังกล่าวมาใช้คือการที่ชาวอังกฤษลงประชามติออกจากการเป็นสมาชิกภาพสหภาพยุโรป (Brexit) พวกเขาอ้างตัวเองว่าเป็น "กลุ่มประชาชน" ผู้ไม่สนใจผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายและประกาศว่าจะ "ขยี้ชนชั้นนำ" โดยที่ Brexit เองก้ไม่มี "อุดมการณ์หนาๆ" ที่รวมกลุ่มได้ชัดเจน ทั้งนี้หลายคนก็มองว่าคำว่า "ประชานิยม" นั้นทำให้ไม่มีการมองอะไรในมิติอื่นๆ นักรัฐบาลศาสตร์อย่าง ญาณ แวร์เนอร์ มุลเลอร์ กล่าวว่าคำว่า "ประชานิยม" ยังมีคนนำมาอ้างเพื่อให้ตัวเองดูเหมือนเป็นตัวแทนของประชาชนเพียงหนึ่งเดียวและอะไรอย่างอื่นถือว่าไม่มีความชอบธรรมอีกด้วย

ดิอิโคโนมิสต์ยังชี้ว่ามีการแยกย่อยประชานิยมใหญ่ๆ ออกเป็นสองสายคือสายที่ "กีดกันคนอื่นออกไป" (exclusive) อย่างกลุ่มที่ต่อต้านผู้ลี้ภัยและสายที่ "รวมคนเข้าหา" (inclusive) อย่างกลุ่มที่เปิดกว้างให้คนที่ถูกเหมารวมตีตราอย่างคนจนและคนกลุ่มน้อยให้มีส่วนร่วมทางการเมืองงด้วยซึ่งประชานิยมสายนี้มักจะปรากฎในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา มุดเดกล่าวว่าประชานิยมอาจจะมีข้อดีทำให้กลุ่มชนชั้นนำต้องหันมาหารือกันถึงประเด็นที่พวกเขาเคยละเลยมาก่อน แต่ประชานิยมที่อ้างว่า "ประชาชนถูกเสมอ" นั้นเป็นข่าวร้ายทั้งสำหรับเสรีนิยมประชาธิปไตยและสิทธิของชนกลุ่มน้อยรวมถึงหลักนิติธรรม

 

เรียบเรียงจาก

What is populism?, The Economist, 19-12-2016 http://www.economist.com/blogs/economist-explains/2016/12/economist-explains-18

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมนักข่าวฯ ชี้ปี 59 รัฐคุมแทรกแซงสื่อทุกแขนง วอนช่วยกันเร่งกู้วิกฤติศรัทธา

$
0
0

30 ธ.ค. 2559 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้รายงานภาพรวมสถานการณ์สื่อมวลชนในประเทศไทยประจำปี 2559 โดยระบุว่า อำนาจรัฐใช้กฎหมายคุม แทรกแซง สื่อทุกแขนงตกอยู่ในภาวะรัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า พร้อมประกาศจุดยืนคัดค้านทุกรูปแบบ และเรียกร้ององค์กรสื่อมวลชนรีบเร่งปรับตัว เพื่อฟื้นฟูศรัทธาให้เกิดต่อสาธารณะและให้สังคมเกิดความหวัง

โดยมีรายละเอียดดังนี้

“รัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สรุปภาพรวมสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2559 พบว่า ยังคงตกอยู่ในภาวะ “อึมครึม หวาดระแวง” อย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำงานยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของประกาศ คำสั่งอำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ตลอดจนท่าทีและทัศนคติของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อการทำงานของสื่อมวลชน
 
ขณะเดียวกันรัฐก็มีความมุ่งหมายที่จะออกกฎหมายควบคุมและแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนทุกแขนง ถึงขั้นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เข้าไปแทรกแซงอำนาจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ออกคำสั่งให้ขยายเวลาชำระค่าประมูลสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลออกไปและขยายอายุการคืนคลื่นวิทยุของกองทัพ-หน่วยงานของรัฐออกไปอีก 5 ปี
 
ในท่ามกลางสถานการณ์ที่วงการสื่อมวลชนกำลังเผชิญหน้ากับการปรับตัว รีดไขมันองค์กรของตัวเอง อันมีสาเหตุมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ และในปี 2559 นี้เอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต ถือเป็นความสูญเสียและความวิปโยคอย่างใหญ่หลวงที่สุดของปวงชนชาวไทยรวมถึงวงการสื่อสารมวลชน
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขอยกสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2559 ให้เป็นปีแห่ง “รัฐซึมลึก สื่อซึมเศร้า” โดยขอประมวลภาพรวมสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปีในด้านต่างๆ ดังนี้

ความวิปโยคและความสูญเสีย

นับได้ว่าปี 2559 เป็นปีแห่งความ “ซึมเศร้า”ของคนในวงการสื่อสารมวลชน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต ในวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้รวมพลคนในวงการจัดงานอาลัยและระลึกถึงในชื่องาน “รวมใจคนสื่อน้อมเกล้าฯ แสดงความอาลัยพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อวงการสื่อมวลชนไทยมาอย่างยาวนาน
 
ในวาระดังกล่าว กสทช.โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีมติกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคต ให้ถือปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อปฏิบัติของสำนักพระราชวังโดยเคร่งครัด โดยการถ่ายทอดเสียงหรือภาพเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคต ให้เชื่อมโยงสัญญาณโดยตรงจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยและสถานี วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มิให้นำเอาภาพและเสียงไปออกอากาศซ้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตและการเผยแพร่รายการต่างๆของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ให้งดรายการที่แสดงถึงความรื่นเริงเป็นเวลา 30 วัน โดยขอให้คำนึงถึงความเหมาะสมด้วย

ข้อกังขาการปฏิรูปสื่อภายใต้ สนช.และ สปท.

ด้วยรัฐพยายามเข้ามาแทรกแซง ควบคุมสื่อในทุกรูปแบบ โดยการอ้างถึงการปฏิรูปสื่อ ล่าสุด คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ได้ยกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยพบว่าได้มีแนวทางที่จะเปิดประตูให้นักการเมือง ข้าราชการ สามารถใช้อำนาจแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่ของนักข่าวมืออาชีพ ผ่านสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยให้มีปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติโดยตำแหน่งและยังเปิดช่องให้กรรมการอื่นอีก 4 คนที่จะเป็นใครก็ได้ถูกอำนาจรัฐเลือกเข้ามา
 
เท่ากับคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติทั้งหมด 13 คน จะเป็นผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพแค่ 5 คน กรรมการที่เหลืออีก 8 คน เท่ากับยืนอยู่ฝ่ายรัฐ มีอำนาจชี้ขาดให้ออกหรือเพิกถอนใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงในประเทศไทย เป็นการคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จ ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ที่กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้ประกาศจุดยืนขอคัดค้านทุกรูปแบบให้ถึงที่สุดต่อแนวคิดดังกล่าวของสปท.โดยไม่เอาตัวแทนของรัฐเข้ามาเป็นกรรมการในองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่และไม่ยอมรับให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีอำนาจในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่สมควรมีกติกาที่บังคับกลไกให้องค์กรสื่อกำกับดูแลกันเอง ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ “6 องค์กรสื่อวิชาชีพสื่อมวลชน” เสนอร่างประกบ กับร่างของ กมธ.เพื่อให้สมกับที่เสรีภาพของสื่อมวลชนคือเสรีภาพของประชาชน เป็นนักข่าวมืออาชีพนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน มีเสรีภาพบนความรับผิดชอบต่อสังคม ตามกรอบจริยธรรมสื่อมวลชน คอยเป็นหูเป็นตาตรวจสอบประเด็นสาธารณะ  ให้ผลประโยชน์สูงสุดตกแก่ประชาชน
 
ร่างกฎหมายอันมีลักษณะควบคุม บังคับสื่อ ยังมีการดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติ (สนช.) คู่ขนานกันไปอีกฉบับหนึ่งด้วย ทั้งนี้ยังไม่นับรวมร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ที่ออกแบบตีกรอบสภาพบังคับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน จะต้องจดทะเบียนเป็นสมาชิกองค์กรสภาวิชาชีพก่อนขอใบอนุญาตเปิดหัวหนังสือ และหัวหน้า คสช.ยังใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปแทรกแซงอำนาจ กสทช.ออกคำสั่งให้ขยายเวลาการคืนคลื่นวิทยุของกองทัพ-หน่วยงานของรัฐออกไปอีก 5 ปี เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า การปฏิรูปสื่อล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะดึงคลื่นกลับไปเป็นของรัฐเหมือนเดิม ไม่ได้เป็นคลื่นของสาธารณะอีก  จึงขอยกให้ปี 2559 เป็นปีแห่ง “รัฐซึมลึก” เพื่อควบคุมสื่อ
 
จากสถานการณ์การปฏิรูปสื่อ ที่รัฐพยายามออกแบบกฎหมายหลายฉบับ เพื่อใช้กลไกอำนาจควบคุม แทรกแซง คุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนและยังมีการใช้อำนาจกำกับสื่อมวลชน ขณะที่สื่อมวลชนเองก็ยังนำเสนอข่าวที่ละเมิดจริยธรรมสื่อในหลายกรณี เปิดช่องให้รัฐใช้เป็นข้ออ้างในความพยายามเข้าควบคุม
 
ถึงเวลาแล้วที่องค์กรสื่อมวลชนและคนในวงการสื่อมวลชนทุกแขนงจะต้องรีบเร่งปรับตัว เพื่อฟื้นฟูศรัทธาให้เกิดต่อสาธารณะและให้สังคมเกิดความหวัง  แม้ว่าในยุคอุตสาหกรรมสื่อปัจจุบันนี้ จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี จนสถานประกอบการสื่อหลายแห่งจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้องค์กรอยู่รอด ทำให้คนในวงการเกิดสภาพ “สื่อซึมเศร้า”
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอส่งกำลังใจในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ให้คนในวงการข่าวรวบรวมพลังฝ่าวิกฤติในช่วงนี้ไปให้ได้พร้อมๆ กัน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หาม 'จตุพร' เข้า รพ.ราชทัณฑ์ แพทย์วินิจฉัยติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนต้น

$
0
0

ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เผยขณะนี้จตุพรมีอาการปวดบริเวณกลางท้อง มีอาการหนาวสั่น และไข้สูง แพทย์ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์วินิจฉัยแล้วพบป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนต้น

แฟ้มภาพประชาไท

30 ธ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.39 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์' โพสต์รายงานว่า จตุพร ประธาน นปช. จำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ซึ่งถูกถอนประกันตัวและถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ป่วย หนาวสั่น ไข้สูง ไม่อนุญาตให้เยี่ยม แพทย์เรือนจำเข้าตรวจอาการ คาดจะนำตัวรักษาที่โรงพยาบาล เปิดให้เยี่ยมได้อีกครั้งในวันพุธที่ 4 ม.ค. 2560 หลังเทศกาลวันหยุดยาว

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ส่งตัวนายจตุพร พรหมพันธุ์ เข้ารักษาตัวที่โรงพยายาลราชทัณฑ์ สาเหตุเกิดจากมีไข้ ปวดท้อง พร้อมสั่งกำชับให้ กอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ ผอ.โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ดูแลอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ กฤช กระแสทิพย์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เผยว่า ขณะนี้ จตุพรมีอาการปวดบริเวณกลางท้อง มีอาการหนาวสั่น และไข้สูง แพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์วินิจฉัยแล้วพบว่า จตุพร ป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนต้น หลังจากนี้แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อและดูแลรักษาตามขั้นตอนของแพทย์ต่อไป 

โพสต์ทูเดย์และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานด้วยว่า กอบเกียรติ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่า จตุพร  มีอาการป่วย ปวดท้อง และมีไข้ พัศดีเรือนจำจึงส่งตัวไปเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ผลการวินิจฉัยเบื้องต้นแพทย์แจ้งว่านายจตุพรติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ค่าไตขึ้น แพทย์ได้รับตัวไว้รักษาอาการในทัณฑสถานโรงพยาบาล คาดว่าอาการจะทุเลาภายใน 1-2 วัน จากนั้นจะส่งตัวกลับมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯตามเดิม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพฯรถไฟค้านตั้ง 'กรมการขนส่งทางราง' ย้ำกรมฯควรเป็นผู้กำกับไม่ใช่เป็นผู้เข้ามาบริหาร

$
0
0

30 ธ.ค. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ อนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง  2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และ   ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป 3. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลา และแผนการขนส่งทางราง  ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง และ 4. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการจัดตั้งบริษัทใหม่รวม 3 บริษัท โดยเร็ว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.59 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการจัดตั้งกรมขนส่งทางรางและการจัดตั้งบริษัทเดินรถบริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อนและบริษัทบริหารทรัพย์สิน และหลังจาก ครม.มีมติดังกล่าว วันนี้(30 ธ.ค.59) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรื่อง ความเคลื่อนไหว กรณีการจัดตั้ง "กรมการขนส่งทางราง"

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า อำพน ทองรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวถึง การจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางที่ ครม. มีมติดังกล่าวว่า สหภาพฯรถไฟคัดค้านการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยากจะฝากข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า บทบาทหน้าที่ของกรมขนส่งทางรางควรเป็นแค่ผู้กำกับดูแลนโยบาย ไม่ใช่เป็นผู้เข้ามาบริหารงานอย่างที่ระบุไว้ในเนื้อหาที่ครม.อนุมัติ นอกจากนี้มองว่าการเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งบันบนระบบรางอย่างเสรี การตั้งบริษัทลูกคือ บริษัทเดินรถและบริษัทซ่อมบำรุง เป็นการสอดไส้ในเนื้อหาที่ทางสหภาพฯ ไม่เห็นด้วย

“เนื้อหาที่สอดแทรกทั้งการให้อำนาจกรมการขนส่งทางรางเข้ามาบริหาร การตั้งบริษัทลูกคือ บริษัทเดินรถและบริษัทซ่อมบำรุง ทางสหภาพฯการรถไฟไม่เห็นด้วย และจะดำเนินการคัดค้านให้ถึงที่สุด เนื่องจากมองว่าจำเป็นต้องตั้งกรมการขนส่งทางราง ปัจจุบันสามารถดำเนินการบริหารจัดการภายในองค์กรได้อยู่แล้ว หากให้อำนาจในการบริหาร โดยเฉพาะการเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันบนระบบรางอย่างเสรีอาจจะเกิดปัญหากับการรถไฟฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากหยุดเทศกาลปีใหม่ทางสหภาพฯ จะนัดประชุมสมาชิกเพื่อหารือและกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน” อำพนกล่าว

อำพน กล่าวว่า สำหรับการตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน ทางสหภาพฯ เห็นด้วย เนื่องจากการบริหารพื้นที่รถไฟกว่าแสนไร่ ที่ผ่านมายังไม่มีผู้ชำนาญการที่จะมาดูแลในเรื่องนี้ จึงมองว่าหากมีการตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินนี้ขึ้นจะทำให้มีการจัดการที่ดินทางรถไฟให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะที่ดินในเชิงพาณิชย์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนอากาศหนาวช่วงส่งท้ายปี-ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักถึง 3 มกราคม

$
0
0

กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนหลังลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมประเทศไทย ภาคใต้และอ่าวไทย ขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำ จะทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ขณะที่พื้นที่ตอนบน หย่อมความกดอากาศสูงจะปกคลุมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ทำให้พื้นที่ตอนบนมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-3 องศาเซลเซียส บริเวณเทือกเขาสูงอุณหภูมิต่ำสุด 3-8 องศาเซลเซียส

31 ธ.ค. 2559 กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 8 "อากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทยตอนบน ฝนตกหนักถึงหนักมากภาคใต้ตอนล่าง และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย" เมื่อเวลา 23.00 น. ของคืนวันที่ 30 ธ.ค. มีรายละเอียดดังนี้

แผนที่อากาศผิวพื้นวันที่ 30 ธันวาคม 2559 เวลา 19.00 น. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงยังคงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ โดยมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะบอร์เนียว ส่วนแนวปะทะอากาศบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย

ภาพจากดาวเทียม Himawari ของหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น แสดงลักษณะเมฆเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 เวลา 17.25 น. ตามเวลา UTC หรือ 00.25 น. เข้าสู่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ตามเวลาประเทศไทย

 

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "อากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทยตอนบน ฝนตกหนักถึงหนักมากภาคใต้ตอนล่าง และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย" ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2559

มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมประเทศไทย ภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับในช่วงวันที่ 30 ธันวาคม 2559 - 3 มกราคม 2560 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งส่วนมากบริเวณจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ปริมาณฝนที่ตกสะสม น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากที่จะเกิดขึ้นได้ สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักในบางพื้นที่ระหว่างวันที่ 1-3 มกราคม 2560 ส่วนมากบริเวณจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 4 มกราคม 2560 ไว้ด้วย

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 1-3 มกราคม 2560 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน และลำปาง

สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย และจะปกคลุมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-3 องศาเซลเซียส ในภาคเหนือ โดยบริเวณเทือกเขาในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 3-8 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงในระยะนี้

ประกาศ ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 23.00 น.
กรมอตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 05.00 น.

(ลงชื่อ) วันชัย ศักดิ์อุดมไชย
(นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย)
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมกรณีปฏิเสธแรงงานข้ามชาติ

$
0
0
แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่ายื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมกรณีปฏิเสธแรงงานข้ามชาติ เข้าถึงเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนและคำสั่งสำนักงานประกันสังคมขัดต่ออนุสัญญา ILO ฉบับที่ 19

 
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา นายไซ เคน หรือ SAI KEIN แรงงานข้ามชาติ ชาวพม่า ได้มอบอำนาจให้ตัวแทน ยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคม จังหวัดนครปฐม เป็นจำเลยที่ 1 และ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแรงงาน เขตพื้นที่สมุทรสาคร สืบเนื่องจากคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ได้มีหนังสือ เลขที่ นฐ 0030.1/33948 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 เรื่องแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเรื่องเงินทดแทน เห็นว่า นายไซเคน ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 แต่ให้นายไซ เคน ได้รับเงินทดแทนจากบริษัท ฟิลลิ่งแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะนายจ้าง
 
นายไซ เคน ไม่เห็นด้วย ต่อคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จึงใช้สิทธิทางศาลยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ต่อศาลแรงงาน เพื่อให้ขอให้ศาลพิจารณาและออกคำพิพากษาเพิกถอนหนังสือคณะกรรมการเงินทดแทน เลขที่ นฐ 0030.1/33948 เนื่องจากนายไซ เคน เป็นแรงงานข้ามชาติ ชาวพม่า ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท ฟิลลิ่งแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในตำแหน่งพนักงานฝ่ายผลิต มีหน้าที่นำใยสังเคราะห์ เข้าเครื่องตีใยสังเคราะห์ ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ขณะที่นายไซ เคน ปฏิบัติงานควบคุมเครื่องตีใยสังเคราะห์ นายไซ เคน ได้ถูกเครื่องจักรตัดมือซ้ายขาดระดับฝ่ามือ เหลือเพียงนิ้วหัวแม่มือซ้าย นายไซเคน ได้รักษาอาการบาดเจ็บและต้องหยุดงานเพื่อรักษาตัว เป็นระยะเวลา 45 วัน จากนั้นจึงได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานประกันสังคม จังหวัดนครปฐม เพื่อให้ออกคำสั่งให้นายไซ เคน ได้รับเงินทดแทน กรณีประสบอันตรายจากการทำงานให้กับนายจ้าง โดยวันที่ 30 ธันวาคม 2558 สำนักงานประกันสังคม  ได้ออกคำสั่งว่า นายไซเคน ประสบอันตรายจากการทำงานให้กับนายจ้าง จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง จำนวน 309,504 บาท แต่นายไซเคน ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก นายไซ เคน เป็นแรงงานข้ามชาติ ขึ้นทะเบียนตามนโยบายของรัฐบาลไทย มีเอกสารการเดินทาง และใบอนุญาตทำงานที่ออกโดยสำนักงานจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ทำงานให้กับนายจ้าง ที่ประกอบกิจการ ที่กระทรวงแรงงานประกาศให้นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ตามกฎหมาย แต่หากนายจ้างไม่ได้แจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างและจ่ายเงินสมทบโดยฝ่าฝืนกฎหมาย สำนักงานประกันสังคมยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนให้กับนายไซเคน แล้วสำนักงานประกันสังคมไปใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยกับนายจ้างแทน
 
คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของนายไซ เคน ได้แจ้งผลคำสั่งยืนยันว่านายไซเคน ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุน โดยเห็นว่า นายไซเคน เป็นแรงงานข้ามชาติ ใช้เอกสารการเดินทางและอยู่ระหว่างขอโควตาการทำงานกับกรมการจัดหางาน ได้ประสบอันตรายขณะทำงานให้กับบริษัท และใบอนุญาตทำงานที่ออกโดยกระทรวงแรงงาน  แต่เมื่อพิจารณาเอกสารที่เป็นใบอนุญาตทำงาน พบว่า นายไซ เคน ยังเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดิม นายจ้างคนปัจจุบันยังมิได้แจ้งการรับนายไซ เคน เข้าทำงานกับสำนักงานจัดหางาน ขณะที่นายไซ เคน ประสบอันตรายจากการทำงานให้กับบริษัทฟิลลิ่งแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างที่ลักลอบจ้างนายไซ เคน โดยไม่มีหลักฐานขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม นายจ้างจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนเอง ซึ่งความเห็นของคณะกรรมการเงินทดแทนเรื่องการลักลอบทำงานให้กับบริษัทนั้น นายไซเคน เห็นว่า จะต้องไปว่ากันด้วยพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว มิใช่เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธสิทธิของนายไซ เคน ในการเข้าถึงเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนซึ่งได้รับรองไว้ในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537
 
การฟ้องสำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ครั้งนี้ นอกจากจะขอให้ศาลแรงงานพิจารณาพิพากษา เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้ว นายไซ เคน เห็นว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อการคุ้มครองลูกจ้าง ที่รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติ โดยกฎหมายได้กำหนดให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้นมา เพื่อให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย ระหว่างการทำงานให้กับนายจ้าง แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม กลับกำหนดเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอันตรายจากการทำงาน เข้าถึงเงินทดแทนได้นั้นจะต้องมีสถานะการเข้าเมือง เอกสารแสดงตน และใบอนุญาตทำงาน หากลูกจ้างไม่มีเอกสารตามเงื่อนไข สำนักงานประกันสังคมจะออกคำสั่งให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบเอง จึงทำให้เกิดขั้นตอนการเจรจา ต่อรองราคา เกิดความเสียเปรียบต่อตัวลูกจ้าง ในขณะที่สำนักงานประกันสังคม วางบทบาทตัวเองเป็นคนกลางในการเจรจา ไกล่เกลี่ย และจะทำการบันทึกผลการเจรจาในการจ่ายเงินทดแทน และหลายกรณีพบว่า ภายหลังที่สำนักงานประกันสังคมทำบันทึกข้อตกลงจ่ายเงินทดแทนจากนายจ้างแล้ว แต่นายจ้างกลับหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินหรือไม่สามารถติดต่อกับนายจ้างในการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง นอกจากนี้คำสั่งของคณะกรรมการฯ ยังมีลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงเงินทดแทนจากกองทุน ที่แตกต่างจากแรงงานไทย อันเป็นการขัดต่ออนุสัญญาองค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 19 ว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม (เรื่องเงินทดแทน กรณีอุบัติเหตุ) พ.ศ.2468 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญา มาตั้งแต่ปี 2511
ศาลแรงงาน พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร รับคำฟ้องของนายไซ เคน และศาลแรงงาน กำหนดนัดไกล่เกลี่ย พิจารณา และสืบพยานโจทก์ ณ ศาลแรงงานกลาง (สมุทรสาคร) ในวันที่ 14 มีนาคม 2560 เวลา 09.00 น.
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

7 วันอันตรายวันที่ 2 ตายแล้ว 113 ราย เจ็บ 1,299 คน

$
0
0
ศปถ.สรุปสถิติวันที่ 2 ตั้งด่าน 2,070 จุด ดำเนินคดีรวม 102,594 ราย ความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 29,618 ราย ไม่ใส่หมวกนิรภัย 27,753 ราย ตายแล้ว 113 ราย เจ็บ 1,299 ราย 'อุดรธานี' ยอดอุบัติเหตุและเสียชีวิตมากสุด

 
 
 
 
31 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่าศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ประจำปี 2560 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 30 ธ.ค.2559 ซึ่งมียอดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 680 ครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้น 90 ครั้งเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีผู้เสียชีวิต 71 ราย บาดเจ็บ 734 คน ส่วนยอดรวมสะสม 2 วัน ระหว่างวันที่ 29-30 ธ.ค. มีอุบัติเหตุรวม 1,204 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 113 ราย บาดเจ็บ 1,299 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นในทุกรายการเมื่อเทียบกับวันเดียวกันของปี 2558 โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุคือเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกำหนด ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์ โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน 20-49 ปี โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี เกิดอุบัติเหตุ 35 ครั้ง รองลงมา ได้แก่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดบุรีรัมย์ เกิดอุบัติเหตุ 30 ครั้ง และจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดได้แก่จังหวัดอุดรธานี มีผู้เสียชีวิต 7 ราย รองลงมาได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดร้อยเอ็ดมีผู้เสียชีวิต 5 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุดของวันที่ 2 ในช่วง 7 วันอันตราย ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี มีผู้บาดเจ็บ 43 ราย จังหวัดอุดรธานี 36 คน และจังหวัดเชียงใหม่ 31 คน ทั้งนี้จังหวัดที่ไม่มีอุบัติเหตุคือจังหวัดชัยภูมิ ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต หรือตายเป็นศูนย์มีทั้งหมด 29 จังหวัด ส่วนการดำเนินการศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน มีการตั้งจุดตรวจหลัก 2,070 จุด มีการดำเนินคดีรวม 102,594 ราย โดยมีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 29,618 ราย ไม่ใส่หมวกนิรภัย 27,753 ราย 
 
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในเทศกาลปีใหม่ 2560 มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลเข้มงวดการลดอุบัติเหตุทางบกและทางน้ำ แต่ต้องยอมรับว่าในปีนี้ยอมรับว่าอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากกว่าปี่ที่ผ่านมา เป็นเหตุมาจากมีรถมากขึ้น และมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการใช้รถใช้ถนนถี่ขึ้น ทั่งนี้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ขอความร่วมมืผู้ประกอบการโรงแรม ให้ช่วยดูแลนักท่องเที่ยวด้วย หากมีอาการมึนเมาก็ให้ช่วยห้ามไม่ให้ใช้รถใช้ถนน อย่างไรก็ตามอยากให้ประชาชนดูแลตัวเองในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ผู้ที่ใช้รถใช้ถนนขอให้มีสติ อย่าประมาณ และไม่ควรเมาแล้วขับ นอกจากนั้นขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
 
7 วันอันตรายวันแรก 29 ธ.ค. 2559 เกิดอุบัติเหตุ 524 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 42 ราย สาเหตุหลักยังเป็นเมาแล้วขับและขับรถเร็ว
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29 ธ.ค. 2559 วันแรกของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 524 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 42 ราย บาดเจ็บ 565 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุราและขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 29.77 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.09 โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 21 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ปทุมธานี 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี และพิษณุโลก 23 ราย
 
ทั้งนี้ ศปถ.ได้กำชับจังหวัดและกองบัญชาการตำรวจนครบาลเข้มข้นการจัดตั้งจุดตรวจบนเส้นทางขาออกสู่ภูมิภาค กวดขันการขับรถเร็ว การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย และการขับรถย้อนศร พร้อมเพิ่มการเรียกตรวจรถโดยสารสาธารณะ คุมเข้มการตรวจสอบสภาพรถและการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของพนักงานขับรถ ตลอดจนเตรียมความพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้เข้าถึง และส่งต่อผู้ประสบอุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่
 
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า คาดว่าประชาชนบางส่วนเดินทางถึงพื้นที่และเริ่มเฉลิมฉลองแล้ว จึงได้กำชับให้จังหวัดดูแลถนนสายรองโดยใช้กลไกของจุดตรวจร่วมและด่านชุมชนกวดขันการดื่มแล้วขับ โดยเฉพาะบริเวณสถานบันเทิงและสถานที่จัดกิจกรรม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' ส่งความสุขถึงสื่อ ขอร่วมสร้างสรรค์งานกับรัฐบาล

$
0
0
'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' เขียนข้อความส่งความสุขถึงพี่น้องสื่อมวลชน ขอร่วมสร้างสรรค์งานกับรัฐบาล เพื่อประเทศชาติและประชาชน  และขอให้ประชาชนเจริญรุ่งเรือง  ขณะเดียวกันห่วงใยการเดินทางช่วงปีใหม่ แนะทุกคนปฏิบัติตามกฎ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเต็มที่

 
 
 
31 ต.ค. 2559 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เขียนข้อความส่งความสุขถึงพี่น้องสื่อมวลชนว่า ให้สำนักพิมพ์ สื่อ สมาชิก ผู้ประกอบการ มีความสุขความเจริญ สำเร็จ ปลอดภัย แข็งแรง ร่วมสร้างสรรค์งานกับรัฐบาลในปี 2560 เพื่อประเทศชาติ ประชาชนของเรา และตลอดไป
 
“นายกรัฐมนตรียังฝากถึงประชาชนทุกคนว่า ขอให้นำความรู้และประสบการณ์ในปีที่ผ่านมา ปรับใช้ในการดำเนินชีวิตในปีใหม่นี้ ด้วยสติปัญญาและความไม่ประมาท ตลอดจนใช้ความสามัคคีและความร่วมแรงร่วมใจกัน เป็นแรงผลักดันนำพาตนเองและประเทศชาติไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น และขอให้ทุกคนประสบแต่ความสุขความเจริญ มีสุขภาพแข็งแรง จิตใจมั่นคง แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
 
พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่านอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยเรื่องการเดินทางของพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลนี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยวในพื้นที่ต่าง ๆ เพราะยังพบว่ามีสถิติอุบัติเหตุเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขันวินัยจราจร โดยเฉพาะมาตรการ “ดื่มไม่ขับ จับยึดรถ” และการตรวจสอบใบขับขี่ของผู้ใช้รถ รวมถึง ดูแลอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างเต็มที่
 
“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า หากพบผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น โดยอาจพิจารณาลงโทษให้หนักขึ้นมากกว่าการปรับ เช่น ยึดรถ หรือไม่อนุญาตให้ขับขี่ เพื่อให้ผู้กระทำผิดรู้สึกหลาบจำ และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและผู้อื่น” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
 
ทั้งนี้ รัฐบาลบูรณาการทุกหน่วยงานดูแลความปลอดภัยทางถนนภายใต้แนวคิด ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.59 – 4 ม.ค.60 มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน ทั้งการเน้นควบคุมพฤติกรรมผู้ขับขี่ ตรวจสอบมาตรฐานยานพาหนะ ปรับปรุงสภาพถนน และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนเตรียมความพร้อมก่อนเดินทาง ไม่ดื่มสุราก่อนหรือขณะขับขี่รถ มีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.มั่นใจประเมินแล้วพระไม่ชุมนุมต้าน 'พ.ร.บ.สงฆ์' ชี้มีเลือกตั้งกลางปี 2561

$
0
0
สนช. มั่นใจประเมินแล้วพระไม่ชุมนุมต้าน 'พ.ร.บ.สงฆ์' อ้างก่อนลงมติประเมินกันแล้วรัฐบาลรับมือไหว ระบุมีกฎหมายอีกร้อยกว่าฉบับต้องพิจารณาก่อนเลือกตั้งประมาณกลางปี 2561

 
31 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่านายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2559 โดยไม่ทราบว่าจะเกิดม็อบพระสงฆ์ออกมาต่อต้านหรือไม่หลังจาก สนช.มีมติเอกฉันท์ผ่าน 3 วาระรวดร่างแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยตัดอำนาจของมหาเถรสมาคม (มส.)ในการเสนอชื่อแต่งตั้งออกไป
 
"เรื่องที่มีการต่อต้านหรือจะมีม็อบพระนั้น ผมไม่ทราบว่าจะมีหรือไม่ เพราะเราแก้ไขให้กลับไปใช้แบบโบราณราชประเพณี หมายถึงแก้ไขไปสู่ก่อนการแก้ พ.ร.บ.คณะสงค์ปี 2535 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจากแก้ไขเมื่อ 2535 แล้วก็ยังไม่เคยมีการตั้งสมเด็จพระสังฆราชเลย" นายพรเพชรกล่าว
 
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากังวลหรือไม่ว่าจะเกิดม็อบพระขึ้นนายพรเพชร กล่าวว่าเรื่องนั้นก็ศึกษามาอยู่แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร เราเป็นผู้รับผิดชอบในการออกกฎหมาย ส่วนเรื่องความสงบเรียบร้อย เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องดูแล เชื่อว่ารัฐบาลจะทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้
 
ขณะที่นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. กล่าวว่าเรื่องที่มีแรงต้านก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดูแล แต่ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดการออกมาชุมนุมต่อต้านของพระสงฆ์ในตอนนี้ เพราะก่อนหน้านี้เรามีข้อสังเกตไปยังรัฐบาลว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาแล้วว่า ไม่น่าจะเกิดการชุมนุมของพระ และเท่าที่ฟังทางคณะกรรมาธิการฯ ก็บอกว่ามีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ไม่ใช่มีแต่คนค้านอย่างเดียว ดังนั้นจึงเชื่อว่ารัฐบาลมีข้อมูลและรับมือได้
 
ระบุมีกฎหมายอีกร้อยกว่าฉบับต้องพิจารณาก่อนเลือกตั้งประมาณกลางปี 2561
 
ด้าน มติชนออนไลน์รายงานว่านายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง กล่าวถึงการทำงานของ สนช.ตลอดปี 2560 จะมีงานสำคัญ คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 50 ฉบับ รวมแล้วประมาณ 60 ฉบับ ซึ่งต้องทำตามกรอบเวลาของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี มีมติเร่งรัดเป็นพิเศษอีก 41 ฉบับ รวมทั้งหมดแล้วประมาณ 100 ฉบับ และยังมีกฎหมายที่อยู่ในบัญชีตามโรดแมปของคณะรัฐมนตรีอีกมากกว่า 100 ฉบับ ซึ่งเป็นภารกิจในปี 2560 ที่ต้องรับผิดชอบเพื่อออกกฎหมายให้เป็นเครื่องมือกับรัฐบาลบริหารประเทศ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโรดแมปก่อนนำไปสู่การเลือกตั้งประมาณกลางปี 2561
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าตลอดปีที่ผ่านมาประเมินผลงานของ สนช.อย่างไร นายสุรชัยกล่าวว่า ในภาพรวมส่วนตัวให้ 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บางฉบับที่ล่าช้า เพราะขอขยายเวลาหลายครั้ง หรือบางฉบับมีข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ จนนำกลับมาแก้ไข อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านของบ้านเมืองมีเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดเยอะๆ ทำอย่างไรไม่ให้กลับไปสู่วังวนเดิม ทำอย่างไรที่จะเห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุ่มเทไปกับการบริหารการเมืองให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมือง
 
เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะมีตามโรดแมป นายสุรชัยกล่าวว่า คงไม่ยืนยันในเรื่องนี้เพราะไม่ได้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง แต่ยืนยันว่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 60 วันตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมารัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าจะทำตามโรดแมป เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาทำไมยังไม่เห็นร่างกฎหมายที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศในเชิงโครงสร้าง เพราะกฎหมายที่เข้าสู่ สนช.ส่วนใหญ่จะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปรับการทำงานของส่วนราชการ นายสุรชัยกล่าวว่า ส่วนตัวก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน การปฏิรูปยังขับเคลื่อนไปได้ช้า ซึ่งอาจติดขัดในบางส่วน ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่ายที่ผ่านมาก็หารือในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะการออกแบบการทำงานที่มีขั้นตอนเยอะเกินไป ทั้งๆ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้คิดเสร็จหมดแล้ว
 
“ผมกลับมองเห็นว่า สปท. (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ควรเข้ามาขับเคลื่อนสิ่งที่ สปช.คิดให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เพียงแค่นี้ก็จบ แต่ปรากฏว่ามีการนำเรื่องนั้นเรื่องนี้มาถกเถียงกันทั้งๆ ที่มีการศึกษากันจบแล้วในชั้นของ สปช. และมาเจอเงื่อนไขว่าถ้า สปท.มีมติขับเคลื่อนเรื่องไหนก็ส่งไปที่รัฐบาลและเข้าสู่คณะทำงานศึกษาของรองนายกฯอีก ซึ่งตามปกติรองนายกฯ มีภารกิจมากอยู่แล้ว ดังนั้น ผมจึงเห็นด้วยกับการที่นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการปฏิรูป” นายสุรชัยกล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-31 ธ.ค. 2559

$
0
0
 
กสร.ย้ำนายจ้างยื่นแบบรายงานสภาพการจ้างฯ ภายในเดือนม.ค. ฝ่าฝืนมีโทษอาญา
 
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตือนนายจ้างที่มีลูกจ้างร่วมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน (คร.๑๑) ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติ มีโทษทางอาญาปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างร่วมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปยื่นแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน(คร.๑๑) ภายในเดือนมกราคมของทุกปี ทั้งนี้พนักงานตรวจแรงงานจัดส่งแบบแสดงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน(คร.๑๑) ให้กับนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างครบสิบคนภายในเดือนธันวาคมของทุกปี จึงขอเตือนให้นายจ้างที่ได้รับแบบฯ จัดเตรียมข้อมูลตามที่กำหนดและส่งให้พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขต หรือที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมีโทษอาญาปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างลดลงไม่ครบสิบคนและได้รับแบบรายงานสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน (คร.๑๑) ขอให้แจ้งข้อมูล ณ ปัจจุบันพร้อมหลักฐานเพื่อพนักงานตรวจแรงงานจะได้นำไปปรับฐานข้อมูลต่อไป สำหรับสถานประกอบกิจการที่เพิ่งมีลูกจ้างครบสิบคนและไม่ได้แบบรายงานสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน (คร.๑๑) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.protection.labour.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขต สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด หรือที่สายด่วนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ๑๕๔๖
 
 
สปส.ตรวจสุขภาพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2560
 
วันนี้ (22ธ.ค.59) นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงเรื่องมาตรา 63(2) เรื่องการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน ของพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไขว่า สปส.เล็งเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน เนื่องจากเป็นสิทธิที่ควรได้รับ และจากมาตรา 63(2) เรื่องการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตนของ พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขนั้น ล่าสุด สปส.ได้จัดทำข้อกำหนดในการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตนกว่า 12 ล้านคนเสร็จแล้ว ซึ่งทางคณะกรรมการแพทย์ได้ลงนามแล้ว โดยอยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกำหนดไว้ว่ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560
นพ.สุรเดชกล่าวต่อว่า สิทธิประโยชน์การให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้กำหนดให้ผู้ประกันตนทุกคนเข้ารับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยการตรวจสุขภาพได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องรับบริการในโรงพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ประกันตนได้เลือกเอาไว้ ซึ่งเบื้องต้นในปีแรกคาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,500 - 1,800 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ เลขาธิการ สปส.กล่าวต่อว่า ผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการตรวจสุขภาพนั้น จะสามารถตรวจสุขภาพพื้นฐานได้ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจการทำงานของไตเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติหรือโรค ซึ่งนำไปสู่การป้องกันการส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกันตน หรือหากพบความผิดปกติจะได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรกตามรายการ และหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์กำหนด ซึ่งจะดูตามอายุและความจำเป็น เช่น การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกันตนอายุ 30 - 39 ปี ตรวจได้ทุก 3 ปี แต่หากอายุ 40 - 54 ปีตรวจได้ทุกปี หรือการตรวจน้ำตาลในเลือดอายุ 35 - 54 ปี ตรวจทุก 3 ปี แต่หากอายุ 55 ปีขึ้นไปตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี หรือการเอ็กซเรย์ทรวงอก Chest x–ray ได้ปีละ 1 ครั้งอายุ 15 ปีขึ้นไป
 
 
เครือข่ายประกันสังคมฯ ยังไม่พอใจมาตรการตรวจสุขภาพฟรี
 
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เปิดเผยว่าในวันที่ 24 ธ.ค. ที่โรงแรมเบย์ ศรีนครินทร์ คปค. จะร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข และสภาพัฒนาแรงงาน จัดประชุมหารือกรณีการตรวจสุขภาพมาตรา 63(2) ของพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไข ฉบับที่ 4/2558 โดยจะหารือถึงเรื่องสิทธิการตรวจสุขภาพที่ทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 ซึ่งมองว่ายังมีปัญหาในเรื่องสิทธิที่ด้อยกว่ากองทุนบัตรทอง
 
นายมนัส กล่าวว่าอย่างการตรวจเอ็กซเรย์ทรวงอก ทางบัตรทองไม่ได้กำหนดอายุ แต่ดูตามความจำเป็น ขณะที่ประกันสังคมกลับระบุอายุไว้ว่าต้อง 15 ปีขึ้นไป ซึ่งตรงนี้มองว่า ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ ไม่น่าจะต้องมาถูกจำกัดเช่นนี้ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ในการประชุมหารือวันพรุ่งนี้จะมีการคุยกันว่า ควรมีสิทธิตรวจสุขภาพอย่างไร เพื่อให้เท่าเทียมกับกองทุนบัตรทอง เพื่อนำเสนอต่อ เลขาธิการ สปส. ในวันที่ 26 ธ.ค.นี้
 
นายมนัส กล่าวอีกว่าในมาตรา 63(2) อนุบัญญัติ 7 ของพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ นั้น ยังมีกรณีเยียวยาผลกระทบจากการบริการทางการแพทย์ ซึ่งสิทธิบัตรทองมีเยียวยาช่วยเหลือ เบื้องต้น 240,000 บาท สูงสุด 400,000 บาท แต่ประกันสังคม ยังไม่ออกระเบียบมารองรับจุดนี้ ทำให้ทุกวันนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีการเยียวยาผู้ประกันตนกรณีได้รับผลกระทบทางการแพทย์ด้วยหรือไม่ และนอกจากประเด็นตรวจสุขภาพแล้ว ในเรื่องผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 2 ล้านคนนั้น จะมีข้อเสนอให้เพิ่มสิทธิ อย่างค่าปลงศพได้ที่ 20,000 บาท ให้เพิ่มเป็น 40,000 บาท เทียบเท่ากับผู้ประกันตนทั่วไปตามมาตรา 33 และขอให้เพิ่มเงินขาดรายได้จากเดิม 200 บาทต่อวันเป็น 300 บาทต่อวัน โดยทั้งหมดจะมีการนำเข้าหารือกับเลขาธิการ สปส. เช่นกัน
 
สำหรับรายละเอียดการตรวจสุขภาพพื้นฐานที่ สปส. จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 60 อาทิ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจการทำงานของไต เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติ หรือโรค ซึ่งนำไปสู่การป้องกันการส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกันตน หรือหากพบความผิดปกติจะได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรกตามรายการ และหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์กำหนด ซึ่งจะดูตามอายุ และความจำเป็น อาทิ การตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือบุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกันตนอายุ 30-39 ปี ตรวจได้ทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 40-54 ปี ตรวจได้ทุกปี หรือการตรวจน้ำตาลในเลือด อายุ 35-54 ปีตรวจทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 55 ปีขึ้นไปตรวจได้ 1 ครั้งต่อปีหรือการเอ็กซเรย์ทรวงอก Chest x-ray ได้ปีละ 1 ครั้งอายุ 15 ปีขึ้นไป
 
 
ก.แรงงานทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเด็กอาชีวะ เตรียมพร้อมก่อนทำงาน รับค่าจ้างกว่า 400 บาทต่อวัน
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่มุ่งเน้นให้คนทำงานได้มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีรายได้สูงขึ้น กระทรวงแรงงานโดยพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้กำหนดให้การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงานเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศให้มีมาตรฐานสากล พร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ประการสำคัญจะได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งขณะนี้ประกาศแล้ว 67 สาขา โดยอัตราค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 320 บาทต่อวัน และสูงสุด 815 บาทต่อวัน โดยเฉพาะมุ่งเน้นการพัฒนาเด็กอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญของประเทศ เพื่อมุ่งส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือ ให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทัดเทียมระดับสากลได้อย่างมีคุณภาพ กพร.จึง.ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกระบวนการพัฒนาทักษะเด็กอาชีวะ ทั้งการฝึกอบรมฝีมือแรงงานและการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พร้อมกันไปด้วยเพื่อมีความพร้อมก่อนทำงาน
 
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา กพร.ได้มีการลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตั้งแต่ปี 2557 ใน 5 ประเด็นหลัก ประเด็นแรกเป็นการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้กับนักศึกษา ปวช. ปวส. ปีสุดท้าย เพื่อฝึกอบรมภาคปฏิบัติในด้านทักษะฝีมือ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2559 มีผู้ผ่านการอรมแล้ว 1,822 คน ประเด็นที่ 2 การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับนักศึกษา ปวช. และปวส. ปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2560 มีผู้ผ่านการทดสอบ 12,681 คน ประเด็นที่ 3 หน่วยงานของ สอศ. ได้รับอนุญาตเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 166 แห่ง จำนวน 48 สาขา เพื่อดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับ นักศึกษา ปวช. ปวส.และประชาชนทั่วไป
 
 
สถานทูตไทย ในโตเกียว เตือน! คนไทย ลักลอบทำงานในญี่ปุ่น
 
วันที่ 25 ธันวาคม 2559 มีรายงานเฟซบุ๊คของ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่ข้อความ ว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีคนไทยที่ลักลอบทำงานภายหลังเดินทางเข้าญี่ปุ่น โดยการยกเว้นวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว และถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นจับกุมในข้อหาหนีวีซ่าและลักลอบทำงาน ซึ่งทุกคนล้วนแล้วแต่ให้ข้อมูลเป็นเสียงเดียวกันว่า
 
1. ไม่คุ้มที่จะลักลอบทำงานในญี่ปุ่น คนไทยส่วนใหญ่คาดหวังว่า จะมาขุดทองได้เงินกลับประเทศ แม้จะต้องหลบซ่อนทำงานก็ตาม แต่พอมาถึงญี่ปุ่นจริง ๆ แล้ว กลับไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง ถูกนายหน้าที่โฆษณาว่า จะแนะนำงานรายได้ดีให้ ขูดรีดเงินค่าแนะนำงาน (ค่าโช) จนบางคนไม่เหลือแม้แต่เงินที่จะเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางกลับประเทศไทย
 
2. งานที่ได้ทำ ถ้ามีบ้างเป็นครั้งคราว ก็เป็นงานหนัก ลำบาก เช่น งานเกษตร (เฉพาะตอนเช้า) งานรื้อถอนบ้าน (ไคไต) งานก่อสร้าง (เก็มบะ) ซึ่งงานส่วนใหญ่ต้องเข้าใจภาษาญี่ปุ่นจึงจะสามารถทำงานได้
สถานทูตฯ จึงขอเตือนมายังคนไทยที่จะคาดหวังมาลักลอบทำงานในญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายญี่ปุ่น จะถูกฝ่ายญี่ปุ่นแบล็กลิสต์ไม่ให้เข้าญี่ปุ่นอีก และที่สำคัญที่สุด ไม่สามารถหารายได้พอ ไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยงอีกต่อไป
 
หนึ่งในคนไทยที่ถูกจับกุมในข้อหาลักลอบเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นแบบผิดกฎหมาย เปิดเผยว่า "การทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยไม่มีวีซ่าลำบากมาก งานก็หายาก ต้องหาที่อยู่อาศัยเอง กว่าจะหางานทำก็ยาก และค่าเรงก็น้อย สำหรับคนที่ไม่มีวีซ่าความเป็นอยู่ไม่ดี ขออย่าเชื่อนายหน้าว่าจะได้รับเงินเดือนมาก ไม่มีจริงหรอก เมื่อมาถึงญี่ปุ่นแล้ว ก็ปล่อยทิ้ง ไม่สนใจหรอก
 
 
ลูกจ้างนิปปอนสตีลถูกนายจ้างปิดงานก่อนปีใหม่
 
สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะ แถลงนายจ้างนิปปอนสตีล ปิดงานเฉพาะลูกจ้างที่เป็นสมาชิก หลังเจรจามากว่า 2 เดือน ตกลงได้ 2 ข้อ คือโบนัส และเงินขึ้น จาก 4 ข้อเรียกร้อง
 
สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์หลังนายจ้างบริษัทนิปปอนสตีล แอนด์ ซูมิคิน สตีลโพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัดได้ยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 เพื่อขอยุติการเจรจาและปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานฯโดยให้มีผลในวันที่ 23 ธันวาคม 2559 เวลา 13.00 น. หลังจากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทยสาขาอีสเทิร์น1,2ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อนายจ้างบริษัทนิปปอนสตีล แอนด์ ซูมิคิน สตีลโพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559ได้มีการเจรจาตามขั้นตอนของตามกฎหมายแต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ทางสหภาพแรงงานฯ จึงได้ทำหนังสือแจ้งพิพาทต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดระยอง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2559 หลังจากนั้นพนักงานประนอมข้อพิพาทได้มีการไกล่เกลี่ยทั้งหมด 5 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ผลการเจรจาก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นัดไกล่เกลี่ยครั้งที่ 6 ในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2559 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง แต่นายจ้างได้ยื่นเพื่อขอปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงาน
 
นายไพฑรูย์ บางหลง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวถึงกรณีสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลหะแห่งประเทศไทย ลูกจ้างของบริษัทนิปปอนสตีล แอนด์ ซูมิคิน สตีลโพรเซสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ถูกนายปิดงานเฉพาะส่วน 160 กว่าคนโดยไม่จ่ายค่าจ้าง เนื่องจากการเจรจาตกลงกันไม่ได้นั้น เป็นเรื่องที่สร้างความรู้สึกเสียใจให้กับลูกจ้างมาก เพราะการเจรจาก็สามารถตกลงกันได้แล้วในข้อหลักจำนวน 2 ข้อ คือนายจ้างตกลงจ่ายโบนัส และปรับเงินขึ้นให้ ซึ่งโบนัสที่ตกลงกันตามเกรดอายุงานต่ำสุดอยู่ที่ 3 เดือนบวกอีก 22,000 บาท เหลือแต่เรื่องการหักเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กับเรื่องการจัดสวัสดิการให้เท่าเทียมกัน เนื่องจากบรัทนิปปอนสตีลฯ มี 2 โรงในพื้นที่เดียวกันแต่ว่าสวัสดิการมีความต่างกัน อย่างการคำนวณการทำงานล่วงเวลาหรือ OT เป็นต้น ข้อเรียกร้องอื่นๆได้ถอนกันไปแล้ว จึงเหลือที่เจรจาทั้งหมด 4 ข้อ ตกลงกันแล้ว 2 ข้อ การปิดงานจึงมองว่าไม่สมเหตุสมผล แม้ว่าตัวแทนนายจ้างจะอ้างว่าเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เรียกร้องนั้นมีลูกจ้างบ้างส่วนไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะผู้แทนเจรจาฝ่ายสหภาพแรงงานก็ให้นายจ้างสอบถามความต้องการแล้วหักเฉพาะส่วนที่ลูกจ้างต้องการ
 
นายไพฑรูย์กล่าวอีกว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินในอนาคตเป็นการสะสมเพื่อสร้างหลังประกันให้กับลูกจ้างเมื่อเกษียณอายุซึ่งถือเป็นนโยบายที่กำหนดเป็นกฎหมายแม้ว่าจะไม่ใช่การบังคับให้ต้องมีและให้เป็นความสมัครใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในการสะสมเป็นกองทุน ล่าสุดพนักงานประนอมได้แจ้งว่าจะนัดไกล่เกลี่ยครั้งต่อไปในวันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2559 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ปัจจุบันสมาชิกสหภาพแรงงานฯได้ชุมนุมอยู่ที่สำนักงานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกพื้นที่บ่อวินในเขตพื้นที่พันเสด็จใน ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
 
“วันนี้สหภาพแรงงานยังหวังที่เจรจากับนายจ้างเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน แม้ว่านายจ้างจะปฏิเสธในการเจรจาตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคมแล้วก็ตาม ลูกจ้างกับนายจ้างต้องอยู่ร่วมกันอย่างไรก็ต้องคุยกัน แม้ว่าลูกจ้างจะเสียใจกับการที่นายจ้างปิดงานก็ตาม ต้องเข้าใจว่าการยื่นข้อเรียกร้องเป็นไปตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ต้องมีการปรับเรื่องสภาพการจ้างประจำปี และลูกจ้างเองก็หวังจะได้โบนัสกลับบ้านต่างจังหวัดไปให้ครอบครัว บางคนต้องเอาไปจ่ายค่าเกี่ยวข้าว ไปใช้หนี้กันอีก เราไม่ใช่แค่แรงงานแบบเพรียวๆคนเดียวเรายังมีครอบครัวที่รอเงินจากการขายแรงงานไปหล่อเลี้ยงชนบทด้วย ทำงานทั้งปี และทั้งชีวิตก็อยากเห็นสิ่งที่เรียกว่าหลักประกันอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่ออนาคตด้วย” นายไพฑรูย์กล่าว
 
ทั้งนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยเงินของกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสะสม“ และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “เงินสมทบ” กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นลักษณะของสวัสดิการที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินให้แก่ลูกจ้างที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐผ่านกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกอบด้วย
 
เงินสะสมของลูกจ้าง เป็นเงินที่ลูกจ้างยินยอมให้นายจ้างหักจากค่าจ้างสะสมเข้ากองทุนทุกเดือนในอัตราไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 2 (สอง) แต่ไม่เกินร้อยละ 15 (สิบห้า) ของค่าจ้าง โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนดไว้ใน ข้อบังคับกองทุนของแต่ละนายจ้าง
 
เงินสมทบของนายจ้าง เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนลูกจ้างที่เป็นสมาชิกในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 (สอง) แต่ไม่เกินร้อยละ 15 (สิบห้า) ของค่าจ้าง โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนดไว้ใน ข้อบังคับกองทุนของแต่ละนายจ้าง
 
อัตราการจ่ายเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างอาจแตกต่างกันตามเงื่อนไข ระยะเวลาการทำงานหรือ ระยะเวลาการเป็นสมาชิกหรือ ตามตำแหน่งหรือ ตามอัตราเงินเดือนของลูกจ้างนั้นๆ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการจูงใจหรือเป็นสวัสดิการส่วนเพิ่มให้กับลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างเป็นเวลานาน
 
เนื่องจากเงินกองทุนนี้เป็นสวัสดิการเพิ่มให้กับลูกจ้าง นายจ้างจึงมีสิทธิกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินออกสำหรับเงินสมทบของนายจ้างและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่จะกำหนดให้ลูกจ้างได้รับตามอายุงาน เช่นลูกจ้างออกจากงานและมีอายุการทำงานน้อยกว่า 5 ปี ได้รับเงินส่วนของนายจ้าง 50% ถ้าครบ 5 ปี ขึ้นไปได้ 100% เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการจูงใจให้ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างเป็นเวลานานเช่นกัน(ข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางส่วนจาก http://www.cimb-principal.co.th/)
 
 
ผู้ตรวจฯ รับร้องเรียนเพิ่มจากคนไทยใน ตปท.และ ต่างชาติในไทย จัดสัมมนา 29-30 ธ.ค.
 
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ขยายเครือข่ายความร่วมมือการสร้างความเป็นธรรมไปสู่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในประชาคมอาเซียน ผ่านกลไกการจัดการเรื่องร้องเรียนระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนอันเกิดจากการใช้อำนาจรัฐ ทั้งประชาชนไทยในต่างประเทศ และชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านพรมแดนและเชื้อชาติ ดังนั้น เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา และเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่อาจมีความซับซ้อนมากขึ้นจากการดำเนินนโยบายตามกรอบประชาคมอาเซียน ป้องปรามปัญหาที่อาจเกิดขึ้นทั้งการค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของรัฐ การตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงการปลอมแปลงเอกสารแสดงตนของชาวต่างชาติ รวมถึงปัญหาอื่นที่อาจเกิดขึ้น จึงจะมีได้จัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “การพัฒนากลไกเพื่อคุ้มครองประชาชนในประชาคมอาเซียน” ขึ้นในวันที่ 29 - 30 ธันวาคม 2559 ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเทล แอนด์ ทาวเวอร์ส กรุงเทพฯ โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงานเข้าร่วม
 
เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า รวมทั้งมีการบรรยายเรื่อง “ประชาคมอาเซียน : ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย” โดย ดร.เกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน การเสวนาหัวข้อ “บทบาทหน่วยงานภาครัฐเพื่อคุ้มครองประชาชนในประชาคมอาเซียน” โดย นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวุฒิโรตม์ รัตนะสิงห์ นักการทูตชำนาญการ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล นายสันติ นันตสุวรรณ ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมการจัดหางาน และ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา และในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 มีการบรรยาย หัวข้อ “การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามเจตนารมณ์ “ร่าง” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ....” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
“ปัญหาต่างๆ อาจเกิดขึ้นและมีความสลับซับซ้อนต่างกันไป ดังนั้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ จะทันกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลานำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนขององค์กรตรวจสอบของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในประชาคมอาเซียนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้บูรณาการการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองประชาชนในประชาคมอาเซียนอีกด้วย” เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว
 
 
กสร.ตั้งมุมนมแม่ ในโรงงาน1พันแห่ง เพื่อลูกจ้างหญิงได้ ให้นม-กอดลูก ลดภูมิแพ้ในเด็ก
 
กิจการอย่างยั่งยืนว่า ปัจจุบันผู้หญิงทำงานนอกบ้านมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของลูกจ้างทั้งหมดการเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้หญิงที่ออกมาทำงานได้ทำหน้าที่แม่ให้สมบูรณ์ เพื่อดูแลประชากรซึ่งเป็นอนาคตของประเทศให้เติบโตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งที่กสร.ส่งเสริมให้นายจ้างและสังคมเห็นความสำคัญ การจัดสวัสดิการมุมนมแม่เป็นสวัสดิการให้โอกาสลูกจ้างหญิงได้เลี้ยงดูบุตร ด้วยนมตนเองตามระยะเวลาที่เหมาะสมต่อพัฒนาการของบุตร
 
นายอภิญญา กล่าวอีกว่า กสร.ได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ผลการดำเนินงานได้รับการตอบรับจากนายจ้าง ลูกจ้าง มีสถานประกอบกิจการที่จัดตั้งมุมนมแม่แล้ว 1098 แห่ง มีลูกจ้างหญิงใช้บริการมุมนมแม่ จำนวน 8,617 คน สามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 200 ล้านบาทต่อปี สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 กรมจัดสรรเป้าหมายการจัดตั้งมุมนมแม่ จำนวน 80 แห่ง และขยายการจัดตั้งเพิ่มอีกตามนโยบายกรม จำนวน 328 แห่งรวมเป้าหมายการส่งเสริมการจัดตั้งมุมนมแม่ ทั้งสิ้น 404 แห่ง
 
"ที่สำคัญกว่าตัวเงินคือเด็กที่ได้ดื่มนมแม่ พร้อมอยู่ในอ้อมกอดของแม่จะได้รับทั้งอาหารทางกายและอาหารอารมณ์ที่เหมาะสม ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรง ฉลาด อารมณ์แจ่มใสอีกทั้งยังช่วยลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคม"นายอภิญญากล่าว
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมการเสริมสร้างองค์ความรู้และประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการอย่างยั่งยืนในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการแรงงานในพื้นที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และบุคลากรของกรมอนามัย รวมจำนวน 200 คน ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับลูกจ้างและครอบครัว อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
 
 
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเตือนโรงงาน คุมเข้มมาตรการด้านความปลอดภัย ระวังเหตุเพลิงไหม้ช่วงเทศกาลปีใหม่
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า วันหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่ส่วนใหญ่สถานประกอบกิจการจะประกาศให้เป็นวันหยุดตามประเพณี ซึ่งปีนี้มีวันหยุดยาวติดต่อกันถึง 4 วัน ประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอัคคีภัยได้ ดังนั้น กสร. จึงขอความร่วมมือนายจ้าง ลูกจ้าง คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการทุกแห่งให้กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบ ควบคุมดูแลเป็นพิเศษในเรื่องของระบบไฟฟ้า การป้องกันการเกิดอัคคีภัย ตลอดจนช่วยกันเฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัย อุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบต่าง ๆ รวมไปถึงการดำเนินงานของผู้รับเหมาภายนอก หรือ การกระทำที่เป็นความเสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรง และกำชับ ตรวจสอบให้ลูกจ้างปิดการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักรที่ไม่ได้ทำงานให้เรียบร้อยก่อนช่วงวันหยุดยาว เพื่อมิให้เกิดความไม่ปลอดภัย หรือความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้
 
นายสุเมธ กล่าวต่อว่า นอกจากมาตรการด้านความปลอดภัยที่เคร่งครัดแล้ว กสร. ขอความร่วมมือนายจ้าง สถานประกอบกิจการทุกแห่ง ร่วมกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยและให้ความรู้ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแก่ลูกจ้างของท่าน เช่น อบรมเทคนิคการขับขี่อย่างปลอดภัย การไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสม ของแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสารเสพติด และตรวจสภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ความพร้อมของยานพาหนะให้อยู่ในสภาพ ที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ในช่วง 7 วันอันตราย คือระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2559 - 4 ม.ค. 2560
 
กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดจุดบริการตรวจเช็คสภาพและซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ รถจักรยานยนต์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ฟรีแก่ประชาชน ตามจุดบริการประชาชนบนเส้นทางสายหลัก สายรอง ทั่วประเทศหรือจุดที่มีการจราจรหนาแน่น เพื่อให้มีความพร้อมในการเดินทาง ความปลอดภัย มีความสุข สมหวังในวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ร่วมกัน
 
 
ก.แรงงาน คุมเข้มกฎหมายงานก่อสร้าง หลังพบปี 59 คนงานตาย-เจ็บ 9 พันคน
 
กระทรวงแรงงาน คุมเข้มกฎหมาย ข้อบังคับ งานก่อสร้าง หลังพบปี 2559 มีคนงานประสบอุบัติเหตุ เจ็บ–ตายกว่า 9 พันคน ส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท และทุกครั้งที่เกิดเหตุมักไม่พบวิศวกรผู้ควบคุมงานอยู่ในพื้นที่
 
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 59 พล.อ.เจริญ นพสุวรรณ ผู้ช่วย รมว.แรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการปั้นจั่นปลอดภัยร่วมใจรักษ์ชีวิตแรงงาน ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดขึ้น เพื่อประกาศเจตนารมณ์ลดอุบัติเหตุรุนแรงในการทำงานเกี่ยวกับปั้นจั่นหรือเครนในงานก่อสร้าง หลังพบสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานในปี 2559 งานก่อสร้างมีลูกจ้างประสบเหตุอันตรายมากที่สุด 9,262 คน หรือร้อยละ 9.68 โดยพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท และทุกครั้งที่เกิดเหตุมักไม่พบวิศวกรผู้ควบคุมงานอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากต้องคุมงานหลายแห่งพร้อมกัน บางคนคุมถึง 10-30 ไซต์งาน
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีอุบัติเหตุปั้นจั่นล้มบ่อยครั้ง เกิดความรุนแรง และส่งผลกระทบกับสาธารณชนที่อยู่ใกล้เคียง ล่าสุด เมื่อ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ปั้นจั่นเครนก่อสร้างล้มที่บริเวณก่อสร้าง ถนนพระราม 9 ทำให้ลูกจ้างเสียชีวิต 5 คน ย้อนกลับไปในเดือน ก.ย. ก็เกิดเหตุรถปั้นจั่นล้มทับรถยนต์หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล มีคนบาดเจ็บ 1 คน กสร.จึงนำมาเป็นปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ที่ต้องป้องกันแก้ไข โดยอาศัยความร่วมมือในรูปแบบกลไกประชารัฐ ระหว่างหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง คือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจ ตลอดจนภาคเอกชน เพื่อลดความสูญเสีย
 
"กสร. จะบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างเข้มงวด โดยจะให้พนักงานตรวจความปลอดภัยใช้คำสั่งหยุดการใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ อาคารสถานที่ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อลูกจ้าง สร้างความรับรู้การปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย และร่วมกับกรมโยธาธิการฯ ใช้กลไกและมาตรฐานของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในกิจการก่อสร้างทั่วประเทศ" นายสุเมธ กล่าว
 
 
ดีเดย! 1 ม.ค.60 ตรวจสุขภาพผู้ประกันตน คปค.ขอเพิ่มตรวจช่องปาก ตรวจตั้งครรภ์
 
เครือข่ายผู้ประกันตน 17 องค์กร รวมตัวยื่นหนังสือ เลขาฯสปส. ขอเพิ่มตรวจสุขภาพช่องปาก ตรวจตั้งครรภ์ ด้าน ‘หมอสุรเดช’ รับลูก แต่กรณีตรวจตามกลุ่มวัย คงแก้ไขไม่ได้
 
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่กระทรวงแรงงาน ภาคีเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ประกอบด้วย องค์กรภาคีเครือข่าย 17 องค์กร อาทิ เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ นำโดย นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เข้าร่วมประชุมหารือและยื่นหนังสือต่อ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรณีติดตามความคืบหน้าการปฏิรูประบบประกันสังคม ทั้งนี้ ข้อเสนอในการหารือมีทั้งหมด 5 ประเด็น คือ 1.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มาตรา 63(2) และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประกันตนกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ มาตรา 63(7) (2) การเพิ่มและขยายสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนแรงงานนอกระบบ ตามมาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 39 3.การเร่งรัดการออกอนุบัญญัติ ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 จำนวน 17 ฉบับ 4.สิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมแก่ผู้ประกันตน 5.กรณีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพถูกตัดสิทธิการรักษาจากประกันสังคมไปใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
 
นายมนัสกล่าวว่า กรณีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งมีการจัดตรวจสุขภาพฟรีนั้น มองว่ายังขาดการประสานงานกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ซึ่งมีกฎหมายบังคับให้กิจการบางประเภทที่มีความเสี่ยงต้องจัดตรวจสุขภาพให้แก่ลูกจ้างอยู่แล้ว และเมื่อพบว่าป่วยก็ต้องดูแลรักษาโดยใช้เงินจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งมีเพดานการเบิกอยู่ที่ 1 ล้านบาท ซึ่งหากเกินเพดานจากนี้ก็ต้องประสานการรักษาจากกองทุนรักษาพยาบาลของประกันสังคม แต่ที่ผ่านมายังขาดการประสานข้อมูลกันในการดูแลความต่อเนื่องการรักษาของผู้ประกันตน สำหรับสิทธิตรวจสุขภาพฟรีนั้นยืนยันว่าไม่ควรมีการกำหนดอายุ เพราะทุกคนมีการจ่ายเงินสมทบเหมือนกันถือเป็นการจำกัดสิทธิ
 
"นอกจากนี้ ยังขอเสนอให้เพิ่มการตรวจสุขภาพช่องปากและการฝากครรภ์ ให้อยู่ในสิทธิตรวจสุขภาพฟรีดังกล่าวด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่าในส่วนของผู้ประกันตนนั้นมักไปใช้สิทธิรักษาทันตกรรมช่วงปลายปีก่อนที่จะหมดสิทธิ ทั้งที่อาจไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพช่องปากจะช่วยให้ผู้ประกันตนรู้ว่าสุขภาพช่องปากของตัวเองเป็นอย่างไร ต้องรักษาในเรื่องใดบ้าง ขณะที่การฝากครรภ์นั้นมักพบว่า ผู้ประกันตนที่ตั้งครรภ์ไม่ค่อยมาฝากครรภ์เหมือนคนในสิทธิบัตรทอง เพราะต้องเสียเวลาในการทำงานและมีค่าใช้จ่าย จึงอยากเก็บเงินไว้ใช้ในช่วงหลังคลอดมากกว่า การให้สิทธิตรวจสุขภาพครอบคลุมเรื่องการฝากครรภ์ด้วยก็จะช่วยเพิ่มอัตราการฝากครรภ์ได้" นายมนัสกล่าว
 
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องต่างๆนั้น ทางสปส.ยินดีรับไว้พิจารณา เบื้องต้นข้อเสนอการตรวจสุขภาพผู้ประกันตนที่จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 นั้น ทางเครือข่ายเสนอขอให้มีการตรวจสุขภาพช่องปาก ในเรื่องทันตกรรม รวมทั้งเรื่องการตรวจการตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ อยากให้อยู่ในการตรวจสุขภาพนั้น สปส.ก็จะรับไว้พิจารณา มองว่าน่าจะปรับปรุงเพิ่มเติมได้ แต่ในเรื่องผู้ประกันตนที่เกษียณอายุไปแล้ว และอยากให้ สปส.ดูแลการรักษาพยาบาลต่อนั้น เรื่องนี้ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป
 
เมื่อถามว่า ข้อเสนออยากให้การตรวจสุขภาพไม่ต้องแบ่งตามอายุ นพ.สุรเดชกล่าวว่า ขอย้ำว่าที่แบ่งอายุ กำหนดช่วงวัยเริ่มที่อายุ 15 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงตามกฎหมายประกันสังคม ซึ่งกำหนดการทำงานอายุ 15 ปีขึ้นไปและการตรวจสุขภาพตามกลุ่มวัยก็เป็นการจำแนกแล้วว่า กลุ่มวัยนั้นจำเป็นตรวจอะไรบ้าง เพราะบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ ซึ่งตรงนี้อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าอิงข้อมูลวิชาการจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
 
นพ.สุรเดชกล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำหนังสือเวียนไปยังโรงพยาบาลคู่สัญญาทุกแห่งแล้ว คาดว่าจะได้รับพร้อมกันทั้งหมดไม่เกิน 2 วันนับจากนี้ ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการตรวจสุขภาพได้ตามกลุ่มวัย โดยเข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ สปส.http://www.sso.go.th เมื่อถามว่า การบริหารจัดการงบ 1,500-1,800 ล้านบาทสำหรับการตรวจสุขภาพนั้น นำมาจากส่วนไหน นพ.สุรเดช กล่าวว่า เป็นงบจากกองทุนฯ แต่ผ่านการคำนวณตามหลักทางคณิตศาสตร์แล้ว ซึ่งไม่ใช่การเหมาจ่าย แต่จะจ่ายตามจริงที่ทางรพ.เสนอมาว่า มีผู้ประกันตนตรวจสุขภาพกี่คน และอะไรบ้าง ตรงนี้จะป้องกันไม่ให้ รพ.นำเงินไปใช้ โดยไม่มีผู้ประกันตนเข้ารับบริการ
 
รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า การเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพฟรีให้แก่ผู้ประกันตนนั้น ก่อนอื่น สปส.ต้องคุยเรื่องค่าใช้จ่ายรายการตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลที่รับผู้ประกันตนก่อน ว่าค่าใช้จ่ายรายการตรวจแต่ละอย่างให้เท่าไร นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาลด้วย เพราะอย่างโรงพยาบาลขนาดเล็กอาจไม่สามารถตรวจสุขภาพได้ทุกรายการตามที่ สปส.กำหนด บางแห่งที่ทำไม่ได้ อาจต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการภายนอก ซึ่งราคาจะสูงเกินกว่าที่ราคาที่ สปส.ให้หรือไม่ ตรงนี้ก็จะกลายเป็นภาระแก่โรงพยาบาลอีก ที่สำคัญ คือ โรงพยาบาลที่รองรับผู้ประกันตนจำนวนมากหลักเรือนแสนคน จะมีศักยภาพเพียงพอในการรองรับจำนวนคนที่ตรวจหรือไม่
 
"อย่างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เรามีการตรวจสุขภาพอยู่แล้ว รวมถึงมีการออกตรวจสุขภาพนอกพื้นที่ เชื่อว่าไม่มีปัญหาในการให้บริการตรวจสุขภาพ เพราะจำนวนผู้ประกันตนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เองก็อยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่าคน อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายแต่ละรายการตรวจที่ต้องชัดเจนแล้ว มองว่าหากตรวจสุขภาพแล้วเจอความผิดปกติ แล้วต้องมีการตรวจอย่างอื่นเพิ่ม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตรงนี้ สปส.รองรับด้วยหรือไม่ เช่น ตรวจพบความผิดปกติของตับ หรือตรวจเจอนิ่ว ที่จะต้องมีการอัลตราซาวนด์เพิ่ม ค่าใช้จ่ายตรงนี้ สปส.ครอบคลุมหรือไม่ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน หรือถือว่าเป็นค่ารักษารายหัวที่ สปส.ให้แต่ละโรงพยาบาลก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน เพื่อไม่เป็นภาระแก่โรงพยาบาล" รศ.นพ.จิตตินัดด์กล่าว
 
พญ.จริยา แสงสัจจา ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ทางสถาบันรับดูแลคนไข้ในสิทธิประกันสังคม ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถบอกยอดแน่นอนได้ คาดว่ามีประมาณ 10,000 คน สาเหตุที่ยังบอกไม่ได้เพราะยอดยังไม่นิ่งต้องรอทางสำนักงานประกันสังคมโอนผู้ประกันตนส่วนหนึ่งจากโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ที่จะหยุดรับผู้รับบริการในสิทธิประกันสังคม ซึ่งในเรื่องการตรวจสุขภาพนั้น ทางสถาบันมีความพร้อมให้บริการ
 
 
"สภาการพยาบาล" จี้บริษัทประกันขอโทษโฆษณาก้มกราบพยาบาล ชี้กระทบระบบสุขภาพรัฐ
 
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ดร.กฤษฎา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลกล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตัวโฆษณาดังกล่าวนับว่ามีผลกระทบมาก ไม่เฉพาะกับวิชาชีพพยาบาลอย่างเดียว แต่ประการสำคัญคือกระทบกับระบบสุขภาพภาครัฐทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมคนไทยทุกคนอยู่แล้วทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม ข้าราชการ และนโยบายล่าสุดคือเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตก็ยังสามารถเข้าได้ทุกโรงพยาบาลโดยไม่ไม่ต้องสำรองจ่าย โรงพยาบาลเอกชนเองก็ให้ความร่วมมือ แต่โฆษณาชุดนี้ทำเหมือนกับว่าประเทศไทย คนไทยไม่มีหลักประกันสุขภาพอะไรเลย และจะไม่ได้รับการดูแลต้องซื้อประกันเอกชนของเขาแล้วจะมีตัวแทนขายรีบวิ่งมาดูแลให้ นี่เป็นการสื่อสารผิด
 
ส่วนที่พยาบาลไม่พอใจมากคือ ตัวแสดงที่เป็นพยาบาลในโฆษณานั้นแสดงสีหน้าร้ายกาจ ไม่เห็นใจคนไข้จนเป็นเหตุให้มีการกดไม่ชอบใจวิดีโอ และแสดงความเห็นไม่พอใจต่อโฆษณาดังกล่าวผ่านโซเชียลมีเดียจำนวนมาก
 
ต่อมาสภาการพยาบาลได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีโฆษณาดังกล่าวที่สร้างความเสื่อมเสียให้แก่วิชาชีพระบุว่า สภาการพยาบาลในนามผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ รู้สึกเสียใจที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จัดทำและเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาประกันชีวิตเรื่อง "โอกาส" ทางสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ ยูทูป ซึ่งมีภาพตัวแทนประกันชีวิตก้มลงกราบพยาบาล สื่อให้เข้าใจประหนึ่งว่า เป็นการอ้อนวอนพยาบาลให้ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยที่ซื้อประกันสุขภาพจากบริษัท ภาพดังกล่าวทำให้ผู้ชมและสังคมทั่วไปเกิดความเข้าใจผิด เป็นการบิดเบือนความจริงที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบวิชาชีพนี้ เป็นภาพที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างที่บริษัทฯ จะมุ่งโฆษณาเฉพาะผลประโยชน์ของบริษัทแต่เพียงอย่างเดียว โดยขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม
 
สภาการพยาบาล ขอเรียนว่าผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลสุขภาพประชาชน ในปัจจุบันผู้ประกอบวิชาชีพนี้มีจำนวนกว่า 200,000 คน ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ให้การดูแลสุขภาพผู้ป่วยและประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ในทุกสภาวะของการเจ็บป่วย โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าผู้ป่วยผู้รับบริการจะมีเศรษฐานะ ภาวะสุขภาพ มีหรือไม่มีประกันสุขภาพใดก็ตาม เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมและประชาชนทั่วไป สภาการพยาบาลจึงขอให้บริษัทฯ ดำเนินการดังนี้ 1.ประกาศขอโทษผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และโซเชียลมีเดีย และ 2.งดการเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาเรื่อง "โอกาส" ทันที
 
 
กกจ. เตือน 30 ธ.ค. วันสุดท้าย จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวกิจการประมงทะเล และแปรรูปสัตว์น้ำ
 
วันที่ 29 ธ.ค. 59 นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า การจดทะเบียนต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ในกิจการประมงทะเล และกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในปี 2559 ได้เปิดให้จดทะเบียนตามมติ ครม. ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.-30 ธ.ค. 59 มีนายจ้างพาแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดในจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเลและกรุงเทพมหานคร ที่สำนักงานเขตบางขุนเทียน จนถึงวันที่ 26 ธ.ค. มีจำนวน 30,612 คน เป็นกิจการประมงทะเล 9,702 คน แยกเป็นกัมพูชา 3,878 คน ลาว 247 คน เมียนมา 5,577 คน นายจ้าง 2,358 ราย ส่วนกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ 20,910 คน เป็นกัมพูชา 2,209 คน ลาว 277 คน เมียนมา 18,424 คน นายจ้าง 1,706 ราย
 
นายสิงหเดช กล่าวว่า ขอให้นายจ้างและสถานประกอบการที่ยังไม่นำแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียนให้รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธ.ค. หากพ้นกำหนด นายจ้างจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มีโทษปรับสูงสุด 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน
 
ส่วนแรงงานต่างด้าว ที่ลักลอบทำงานจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับสูงสุด 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หลังจากพ้นกำหนดแล้ว จะไม่มีการขยายเวลาการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั้ง 2 ประเภทกิจการอีกต่อไป ซึ่งกรมการจัดหางานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันตรวจสอบ หากพบผู้กระทำผิดจะดำเนินคดีอย่างเข้มงวด ซึ่งสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
 
เหมืองทองอัคราฯ เตรียมจ่ายเงินชดเชยลูกจ้าง 441 คน เป็นเงิน 45,881,700 บาท พร้อมนัดจ่ายเงิน 3 มกราคม 2560 นี้
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) นายสุเมธ มโหสถ เปิดเผยว่า กรณีบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จังหวัดพิจิตร ซึ่งประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศโดยมีผลตั้งแต่ธันวาคม 2559 ว่า บริษัท อัคราฯ มีลูกจ้างของบริษัท 364 คน และลูกจ้างจากบริษัทรับช่วงเหมา 10 บริษัท ซึ่งเจ้าของกิจการ ยืนยันว่า บริษัทยินดีที่จะจ่ายเงินค่าชดเชยเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน ทั้งนี้ บริษัทรับช่วงเหมาได้มีการเลิกจ้างลูกจ้างทุกตำแหน่ง 441 คน โดยจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นเงินชดเชยรวม 45,881,700 บาท มีกำหนดจ่ายเงินในวันที่ 3 มกราคม 2560 นี้ ส่วนการเลิกจ้างก่อนหน้านี้ พบว่า ได้ปฏิบัติถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
 
 
รมว.ศึกษาฯ เร่งคุ้มครองอาจารย์ถูกเลิกจ้าง
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เตรียมแก้ไขปัญหากรณีมหาวิทยาลัยหลายแห่งปลดหรือเลิกจ้างอาจารย์ที่ออกมาร้องเรียนเรื่องทุจริตภายในสถาบันอุดมศึกษา จนบานปลายกลายเป็นปัญหาธรรมาภิบาลที่สร้างความเดือดร้อนให้กับอาจารย์จำนวนมาก ตามการเสนอข่าวของทีมล่าความจริง NOW26
 
นายธีระเกียรติ เดินทางมาเยือนสตูดิโอ นาว แอด สยาม เมื่อค่ำวานนี้ เพื่อตอบทุกคำถามเรื่องของการศึกษากับ นายสุทธิชัย หยุ่น อดีตบรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น ที่ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายธีระเกียรยติ ในฐานะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ พร้อมเปิดรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาหลายท่าน โดยทั้งหมดถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ด้วย
นายธีระเกียรติ ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า รับทราบปัญหาธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะกรณีอาจารย์ที่ออกมาร้องเรียนทุจริต ถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยปลดออกหรือเลิกจ้างจำนวนมาก โดยทีมงานได้นำข้อมูลมารายงานหลังจากทีมล่าความจริง พิกัดข่าว NOW26 ได้นำเสนอข่าวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ บอกว่า ได้ให้ทีมกฎหมายศึกษาปัญหานี้ เพื่อหาช่องทางคุ้มครองอาจารย์ที่ออกมาร้องเรียน แต่ก็ต้องสร้างสมดุลเพื่อให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาด้วย
 
 
โชเฟอร์ทิ้งผู้โดยสาร ประท้วง บ.ขับทำยอด-ไม่ได้พัก
 
กรณีเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. โชเฟอร์รถทัวร์สีฟ้า-ขาว ทะเบียน 15-9952 กรุงเทพมหานคร ข้างรถหมายเลข 18-10 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระบุชื่อคนขับ นายศักย์วริษฐ์ ปะวัณเทา อายุ 40 ปี จอดรถทิ้งผู้โดยสาร 48 ชีวิต ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ริมถนนพหลโยธินขาขึ้นภาคเหนือ บ้านทรงธรรม หมู่ 3 ต.ทรงธรรม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร แล้วหายตัวไป ทำให้ทั้งผู้โดยสารและคนที่ทราบข่าวต่างตั้งข้อสงสัยว่าโชเฟอร์คนนี้หายตัวไปไหน และทำไมถึงทิ้งรถและผู้โดยสารไว้กลางทางเช่นนี้
 
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คนขับรถคันดังกล่าว ไม่พอใจนายจ้างก็คือเจ้าของบริษัทรถทัวร์ เนื่องจากให้ขับรถหลายวันติดต่อกันไม่ได้หยุดพัก จึงจอดรถทิ้งผู้โดยสารไว้ข้างทางแล้วเดินข้ามถนนหายตัวไป ต้องให้เด็กรถไปตามตัวอยู่นาน จนกระทั่งผู้โดยสารต้องโทร.แจ้งตำรวจ สภ.ทรงธรรม อ.เมืองกำแพงเพชร ให้ช่วยประสานบริษัทรถทัวร์ให้ส่งรถมารับ เพื่อนำผู้โดยสารไปส่งถึงที่หมาย แม้ต้องเสียเวลาไปหลายชั่วโมงแล้วก็ตาม ก่อนที่เด็กรถจะตามตัวคนขับเจอแล้วขับรถคันดังกล่าวกลับกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ทางตำรวจยังไม่ได้แจ้งข้อหาใด ๆ กับโชเฟอร์ เป็นเรื่องของบริษัทต้องจัดการต่อไป
 
 
ช่วยด่วน ! ลูกเรือขนส่งน้ำมัน ลอยลำน่านน้ำสิงคโปร์
 
ลูกเรือ 13 ชีวิตของเรือดนัย 8 ส่งหนังสือร้องสำนักงานแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ให้ช่วยเหลือส่งกลับประเทศไทยและเรียกค่าจ้างค้างจ่ายกว่า 4 เดือนจากนายจ้าง
 
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์ (สนร.สิงคโปร์) ได้รายงานกระทรวงแรงงานทราบว่า ลูกเรือรวม 13 คน ซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างของเรือชื่อ ‘ดนัย 8’ ได้ยื่นหนังสือถึง สนร.สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ให้ดำเนินการช่วยเหลือเรื่องค่าจ้างค้างจ่าย และส่งกลับประเทศไทย เนื่องจากนายจ้างปฏิบัติไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง ‘คนประจำเรือ’ โดยค้างจ่ายค่าจ้าง เป็นเวลา 4 เดือน 12 วัน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ทำให้ไม่มีรายได้ส่งกลับไปเลี้ยงดูครอบครัว รวมทั้ง ไม่ใส่ใจดูแลสภาพความเป็นอยู่ระหว่างทำงานบนเรือ ลูกเรือทั้งหมดจึงยื่นจดหมายลาออกต่อนายจ้าง แต่ยังไม่ได้รับความชัดเจนจากนายจ้างว่าจะดำเนินการอย่างไร จึงขอความช่วยเหลือจาก สนร.สิงคโปร์
 
สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายแรงงาน) สนร.สิงคโปร์ ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการช่วยเหลือลูกเรือทั้งหมดในเบื้องต้นแล้ว โดยในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 นี้ กระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้เชิญผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของเรือมาเจรจาดำเนินการเรื่องการจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากลูกเรือทั้งหมดยังยืนยันประสงค์จะลาออก กระทรวงแรงงาน พร้อมให้บริการด้านการจัดหางานทดแทน รวมถึงการพัฒนาทักษะฝีมือในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ให้ด้วย หากลูกเรือมีความสนใจ
 
“การให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน เป็นเรื่องที่ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญโดยให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือให้เป็นไปตามกฎหมายโดยไม่ชักช้า ส่วนความคืบหน้าของการเจรจากับเจ้าของเรือลำดังกล่าวนี้ กระทรวงแรงงานจะเสนอข่าวให้ทราบต่อไป” โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด
 
ที่มา: กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน, 29/12/2559
 
กระทรวงแรงงาน ยันไม่เลือกปฏิบัติ คุ้มครองต่างด้าว ชี้เท่าเทียมลูกจ้างไทย
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือ กสร.เปิดเผยว่า กสร.มีบทบาทหน้าที่ในการคุ้มครองแรงงานให้มีสภาพการจ้างการทำงานที่เป็นธรรม ได้ยึดถือหลักความเสมอภาคและเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับแรงงานไทยโดยคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับเมื่อทำงาน กล่าวคือ มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมมีสวัสดิการที่ดี ไม่ถูกบังคับใช้แรงงาน นอกจากนี้ กสร.ได้จัดทำสื่อเรื่องสิทธิหน้าที่ของนายจ้าง ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุเป็นภาษา พม่า ลาว กัมพูชา รวมถึงได้จัดสื่อวีดิทัศน์ช่วยสอนหรือสื่อมัลติมีเดียด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับงานก่อสร้าง 6 ภาษา อาทิ ไทย อังกฤษ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถรับทราบสิทธิและเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น
 
นอกจากนี้กสร.ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน เช่น มูลนิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือชี้เบาะแสเกี่ยวกับการใช้แรงงานไม่เป็นธรรมเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวเป็นไปอย่างทั่วถึง
 
 
กสร.วอนนายจ้าง จัดวันหยุด 31 ธ.ค.-3 ม.ค.60 ให้ลูกจ้าง
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติ ได้ให้วันที่ 3 มกราคม 2560 เป็นวันหยุดราชการช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นกรณีพิเศษ กสร. จึงได้ออกประกาศขอให้นายจ้างพิจารณาจัดให้วันที่ 31 ธันวาคม 2559 - 3 มกราคม 2560 เป็นวันหยุดตามประเพณีในช่วงเทศกาลปีใหม่ให้แก่ลูกจ้าง เพื่อจะได้เปิดโอกาสให้ลูกจ้างได้เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวและร่วมกิจกรรมตามประเพณี
 
สำหรับ ลูกจ้างที่ต้องทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะ ส่วนงานขนส่งทางบก นายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง แต่หากจะต้องทำงานล่วงเวลาต้องไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง โดยต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง และห้ามเริ่มต้นทำงานในวันถัดไปก่อนครบ 10 ชั่วโมง พร้อมขอให้ลูกจ้างทุกคนใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะเดินทาง และขอให้วางแผนการเดินทางไปกลับเพื่อความสะดวกและปลอดภัย พร้อมกลับมาทำงานโดยสวัสดิภาพ
 
อย่างไรก็ตาม กสร. ขอเตือนไปยังลูกจ้างทุกท่านให้กลับมาทำงานตามวันเวลาที่กำหนด โดยไม่ขาดงานติดต่อกันเกิน 3 วัน เพราะอาจเป็นสาเหตุให้นายจ้างบอกเลิกจ้างได้
 
 
ทัพเรือภาค 3 ให้การช่วยเหลือลูกเรือประมงโบลิเวีย หลังนายจ้างชาวไต้หวันลอยแพ
 
พล.ร.ท.สุรพล คุปตะพันธ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 3 (ศรชล.เขต 3) พร้อมด้วย พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานและเลขานุการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้ให้การช่วยเหลือลูกเรือประมงต่างชาติ จำนวน 10 คน ที่เป็นชาวอินโดนีเซีย 9 คน และชาวฟิลิปปินส์อีก 1 คน โดยลูกเรือทั้งหมดนี้เป็นลูกเรือของเรือประมงสัญเบ็ดราวทูน่าสัญชาติโบลิเวีย ที่ถูกศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 3 ควบคุม และดำเนินคดีไว้ที่ภูเก็ตจำนวน 7 ลำ เนื่องจากสวมทะเบียนเรือเป็นสัญชาติโบลิเวีย และเข้ามาโดยผิดกฎหมาย โดยได้มอบผ้าปูละหมาด ให้ชาวอินโดนีเซีย น้ำ อาหารแห้ง และเงินสดคนละ 500 บาท พร้อมทั้งตรวจสุขภาพ และให้ลูกเรือทั้ง 10 คน พักอาศัยอยู่ภายในบ้านรับรองของทัพเรือภาคที่ 3 จนกว่าพนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนลูกเรือทั้ง 10 คน แล้วเสร็จในฐานะพยานในคดี
 
โดยหลังจากที่เรือประมงสัญชาติโบลิเวียได้ถูกควบคุมไว้ที่ภูเก็ต เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2559 ที่ผ่านมา ทำให้ลูกเรือทั้ง 10 คน ไม่สามารถที่จะเดินทางกลับประเทศได้ เนื่องจากทางนายจ้างคือ เจ้าของเรือยังไม่จ่ายเงินเดือน ทำให้ลูกเรือไม่สามารถซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับประเทศได้ ประกอบกับการสอบสวนของพนักงานสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จึงให้ลูกเรือพักอยู่ในเรือประมง แต่สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างที่จะลำบาก ขาดอาหาร จึงได้ย้ายไปอยู่ยังบ้านมิตรไมตรี ในฐานะพยานของคดีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทางนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทางกองทัพเรือเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือลูกเรือทั้ง 10 คน ตามหลักมนุษยธรรม เพราะลูกเรือทั้ง 10 คน เข้ามาทำงานในเรือประมงดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มีการลักลอบเข้ามาทำประมงแต่อย่างใด จึงได้ย้ายลูกเรือทั้ง 10 คน เข้ามาพักในบ้านรับรองของทัพเรือภาคที่ 3 จนกว่าจะสอบสวนแล้วเสร็จ และนายจ้างจ่ายเงินเดือนที่ยังค้างอยู่ โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของอาหารทั้ง 3 มื้อ
 
พล.ร.ท.สุรพล คุปตะพันธ์ กล่าวว่า ลูกเรือทั้ง 10 คน เป็นลูกเรือที่ตกค้างจากเรือประมงสัญชาติโบลิเวีย หลังจากที่ทางราชการได้ควบคุมเรือประมงสัญชาติโบลิเวียทั้ง 7 ลำมาทำการตรวจสอบ ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งลูกเรือทั้ง 10 คนนี้ไม่ได้เป็นผู้ต้องหาแต่อย่างใด เพราะเข้ามาทำงานในเรือประมงถูกต้องผ่านทางนายหน้าจัดหาคนงาน โดยก่อนหน้านี้ ทางเจ้าของเรือประมงดังกล่าวได้จัดซื้อตั๋วเครื่องบิน และจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกเรือเพื่อเดินทางกลับประเทศไปแล้วบางส่วน ยังเหลืออีก 10 คน ที่นายจ้า งหรือเจ้าของเรือยังไม่จ่ายค่าจ้างและขณะนี้เจ้าของเรือซึ่งเป็นชาวไต้หวันได้หายตัวไปแล้ว เหลือแต่เพียงพนักงานที่เป็นคนไทยซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นเพียงพนักงานของบริษัท หรือเป็นหุ้นส่วนบริษัทดังกล่าว
 
“ลูกเรือเป็นผู้เสียหาย ในช่วงที่ผ่านมา มีการติดต่อประสานงานกับกงสุลอินโดนีเซีย ประจำจังหวัดสงขลา มาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการร้องขอว่าให้ช่วยสนับสนุน ในระหว่างที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำ เพื่อคลี่คลายคดีเกี่ยวกับเรือประมงเบ็ดราวทูน่า น้ำลึก เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ เนื่องจากลูกเรือทั้งหมดถือว่าเป็นพยานในคดี และเป็นผู้เสียหายในคราวเดียวกัน เพราะเหมือนกับถูกลอยแพ คือ นายจ้างไม่ได้ดูแลอีกต่อไป ดังนั้น ทัพเรือภาคที่ 3 จึงพยายามช่วยเหลือตามศักยภาพที่มีอยู่โดยจัดห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร ให้พักในระหว่างการสอบปากคำเพิ่มเติม และรอทางการอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์มารับตัวกลับประเทศต่อไป เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ถึงแม้จะมีหนังสือเดินทางถูกต้อง แต่พิธีการเข้าเมืองตามขั้นตอนของชาวเรือต่างประเทศเข้ามาในน่านน้ำไทย หรือตรวจคนเข้าเมือง หมดอายุตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา”
 
ด้าน พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานและเลขานุการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กองทัพเรือสนับสนุนช่วยเหลือลูกเรือต่างประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการประมงระหว่างประเทศ และหรือถูกควบคุมเอาไว้เพื่อตรวจสอบแล้วดำเนินการในคดีเนื่องจากเป็นเรือที่กระทำผิดตามพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทยอย่างชัดเจนและทราบว่าในขณะนี้เจ้าของเรือหลบหนีไปแล้ว ทางกองทัพเรือ และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรวิชิต กำลังหารือกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานแรงงานจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือดูแลตามความจำเป็นต่อไป
 
ในขณะเดียวกัน ในแนวทางการสืบสวนของพนักงานสอบสวน พบว่า บริษัทที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 3 บริษัท มีนักธุรกิจ หรือนายทุนทั้งที่เป็นชาวไต้หวัน และชาวไทย ภูมิลำเนาจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมหุ้นอยู่ด้วย กำลังอยู่ระหว่างการสอบปากคำลูกเรือทั้งหมด 10 คน จึงทราบข้อมูลที่ชัดเจนที่จะดำเนินการต่อเนื่องต่อไป
 
ทางเจ้าหน้าที่มีหลักฐาน ระบุว่า เรือประมงเบ็ดราวทูน่าน้ำลึกบางส่วนเจ้าของเดิมเป็นชาวมาเลเซีย แต่มีการซื้อขายให้แก่ชาวไต้หวัน และได้เข้ามาทำการประมงอย่างถูกต้องตามกฎหมายบริเวณ 200 ไมล์ทะเลห่างจากฝั่งประเทศพม่า แต่เมื่อได้สัตว์น้ำแล้วจะต้องนำไปขึ้นที่ประเทศพม่า แต่เลือกที่จะเดินทางเข้ามาในน่านน้ำจังหวัดภูเก็ตแทน และก่อนที่จะถูกควบคุมไว้เรือเหล่านี้ได้เข้าออกภูเก็ตอย่างน้อย 3 ครั้ง จนกระทั่งถูกตรวจสอบ และถูกควบคุมในที่สุด ในเบื้องต้นถือว่าเป็นเรือไร้สัญชาติ เพราะมีการตรวจสอบไปยังประเทศโบลิเวียแล้วแต่ไม่พบว่าเรือทั้งหมดมีการจดทะเบียนที่ประเทศโบลิเวียแต่อย่างใด
 
พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว กล่าวอีกว่า ในเรื่องนี้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะแหล่งที่มาของสัตว์น้ำ เพราะประเทศไทยต้องการที่จะปลดล็อกปัญหาความถูกต้องของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไม่ผิด IUU จึงจำเป็นที่จะต้องระบุที่มาของสัตว์น้ำอย่างถูกต้อง การดำเนินการของเรือดังกล่าวเสมือนเป็นการนำสัตว์น้ำเข้ามาไม่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศไทย
 
 
ด่านพรมแดนหนองคายคึกคัก! แรงงานไทยลาวแห่กลับบ้าน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดหนองคาย วันนี้ (31 ธ.ค. 59) ที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ที่จังหวัดหนองคาย เริ่มคึกคักตั้งแต่เช้า เนื่องจากมีนักท่องเที่ยว และชาวลาวพร้อมครอบครัวที่ไปอยู่ต่างประเทศ รวมไปถึงแรงงานชาวลาวที่เข้ามาทำงานในจังหวัดหนองคาย และตามจังหวัดใหญ่ ๆ ในประเทศไทย เดินทางเพื่อกลับไปเยี่ยมบ้านและฉลองปีใหม่ในช่วงวันหยุดยาวที่บ้านของตนเองเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีแรงงานไทยที่ไปทำงานใน สปป.ลาว รวมไปถึงนักธุรกิจไทยที่ไปทำธุรกิจใน สปป.ลาว ได้เริ่มเดินทางกลับไทยเพื่อฉลองปีใหม่ที่บ้านของตนเองเช่นกัน
 
จากการที่มีผู้ที่เดินทางเข้า-ออกด่านฯเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย และด่านศุลกากรหนองคาย ได้มีการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ให้บริการ อำนวยความสะดวก และให้คำแนะนำเพิ่มขึ้น พร้อมเปิดตู้ให้บริการทุกตู้ ในขณะที่ ผกก.ตม.จว.หนองคาย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าอำนวยความสะดวกและเข้มงวดให้การตรวจเอกสารยืนยันตัวบุคคลอย่างละเอียด พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนแฝงตัวหาข่าวเพื่อป้องกันผู้ต้องหาคดีต่าง ๆ ตามหมายจับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่อาจจะฉวยโอกาสที่มีคนผ่านเข้า-ออกด่านฯจำนวนมากหลบหนีออกนอกประเทศ
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

10 อันดับข่าวปี 2559 ที่มีผู้อ่านสูงสุด

$
0
0

ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปี 2560 ที่กำลังมาถึงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ประชาไทชวนทบทวนข่าวน่าสนใจที่เกิดขึ้นในรอบปี 2559 โดยขอนำเสนอ 10 อันดับข่าวที่มีจำนวนผู้อ่านสูงสุดในปี 2559 ไล่เรียงจากอันดับ 10 ไปถึงอันดับ 1 ดังนี้

ที่มาของภาพประกอบฉากหลัง: Kemal ATLI/Flickr/Wikipedia (CC-BY-SA 2.0)

 

[อันดับ 10] อ่าน! แถลงการณ์ทรงพลังของหญิงสาว คดีข่มขืนในสแตนฟอร์ด

มีผู้อ่าน 144,932 ครั้ง (อ่านข่าวที่นี่)

15 มิ.ย. 2559 คืนหนึ่งในเดือนมกราคม 2558 ในงานปาร์ตี้หอชายของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด บร็อก เทอร์เนอร์ นักศึกษาและนักกีฬาว่ายน้ำของมหาวิทยาลัย ข่มขืนหญิงสาวคนหนึ่งหลังถังขยะ เหตุการณ์ถูกขัดจังหวะโดยนักเรียนปริญญาเอกชาวสวีเดนที่ขี่จักรยานผ่านมา

ที่มาของภาพประกอบ: คำถามของทนายฝ่ายจำเลย

เรื่องนี้ใช้เวลาสู้คดี 1 ปีในศาล บร็อก เทอร์เนอร์ สู้คดีว่าเขาไม่ได้ข่มขืน มันเป็นความยินยอมของทั้งสองฝ่ายที่อยู่ในอาการเมา สิ่งที่เขาทำอาจจะผิด แต่มันเป็นความประมาทที่เกิดจากอาการเมา นอกจากนี้ ตามกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้เขาหลุดจากข้อหา "ข่มขืน" เพราะบร็อกไม่ได้ใช้อวัยวะเพศของตัวเองสอดใส่เข้าไปในตัวหญิงสาว แต่ใช้นิ้วและสิ่งอื่นๆ ทำให้ข้อหาเหลือเพียง "การล่วงละเมิดทางเพศ"

"ฉันถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีคนบอกฉันอย่างนั้น พวกเขายังบอกด้วยว่า แต่เพราะฉันจำสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นในทางเทคนิคจึงพิสูจน์ไม่ได้ว่าฉันไม่ได้ปรารถนาที่จะมีเพศสัมพันธ์ และนั่นช่างบิดเบือนความรู้สึกและทำร้ายจิตใจจนฉันแทบเป็นบ้า" ส่วนหนึ่งของคำแถลงของหญิงสาว

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2559 คณะลูกขุนทั้ง 12 คนมีคำตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่า บร็อก เทอร์เนอร์ มีความผิด ผู้พิพากษาตัดสินให้จำคุก 6 เดือน และหากประพฤติตัวดี อาจได้รับการลดโทษเหลือเพียง 3 เดือน

ด้วยอัตราโทษที่เบา ทัศนคติของผู้พิพากษาที่เห็นว่า บร็อก เทอร์เนอร์ ไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อใคร ความเห็นของพ่อของบร็อกที่เห็นว่านี่เป็นราคาที่จ่ายแพงเกินไปจากการกระทำแค่ 20 นาที และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอกสารคำแถลงของหญิงสาว สิ่งเหล่านี้ล้วนกระตุกความรู้สึกของคนและจุดกระแสให้คนสนใจคดี

คำแถลงของหญิงสาว ความยาวกว่า 7,000 คำ ได้รับการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ buzzfeed มันกลายเป็นเอกสารทรงพลังที่ส่งต่อเป็นไวรัลในอินเทอร์เน็ต สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นให้เวลาอ่านคำแถลงทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ โดยประชาไทขอขอบคุณทีมอาสาสมัครเร่งด่วนจำนวน 14 คน ที่ช่วยกันแปลงานดังกล่าว โดยสามารถอ่านคำแถลงทั้งหมดที่นี่

 

[อันดับ 9] ประยุทธ์ ชี้คนจะตกงานไปเรื่อยๆ เหตุ รบ.ที่ผ่านมาผลิตคนไม่ตรงความต้องการตลาดแรงงาน

มีผู้อ่าน 153,967 ครั้ง (อ่านข่าวที่นี่)

ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย

11 ก.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2559 จัดโดยกระทรวงการคลัง ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งถึงปัญหาการเลิกจ้างคนงาน โดยระบุว่า คนงานจะต้องถูกถอดไปเรื่อยๆ เพราะมีการเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยี พร้อมตั้งคำถามถึงการเตรียมความพร้อมของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะการศึกษาที่ผลิตคนไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน

"แรงงานถูกปลด 4,000 ตำแหน่ง มันจะต้องถูกถอดไปเรื่อยๆ เพราะเขาเปลี่ยนเครื่องมือ เปลี่ยนเครื่องจักร เปลี่ยนเทคโนโลยีเข้ามา จะให้ทำยังไงอะ ผมถามรัฐบาลผ่านมาเตรียมความพร้อมแบบนี้ไว้ไหม วันนี้เราขาดแรงงานเท่าไหร่ แสนกว่าคน เรามีแรงงานที่จบจากมหาวิทยาลัยเท่าไหร่ ล้านกว่าคน ผมถามมันน่าขาดไหมแบบนี้ แต่มันขาดเพราะอะไร มันผลิตคนที่ไม่ได้ต้องการตรงกับแสนกว่าคนตรงนี้ จบมานี่ วันนี้สถิติมีสถาบัน 11 แห่งเท่านั้น ในประเทศไทยที่บริษัทอยากจ้างงาน ไปหาดูนะ ในยูทูบในอะไรมี มี 11 สถาบันเท่านั้น แล้วที่เหลืออยู่ที่ไหน ทำไมเขาไม่อยากจ้าง นั่นล่ะคืออันตราย เขาขาดอะไรล่ะ วิศวกร เทคนิเชียนนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ผลิตออกมาเท่าไหร่พวกนี้ โน้นกระทรวงศึกษาไปรื้ออยู่โน้น วง ดร. ไปทะเลาะกันอยู่โน้น ดร. ยังต้องมาขอผมใช้ ม.44 เลย แล้วมันยังไงกัน แล้ววันหน้าไม่มี ม.44 แล้วจะทำกันยังไง จะอยู่กันยังไง ฝากคิดด้วยแล้วกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

[อันดับ 8] 'โตโต้' ฉีกบัตรประชามติ หลังตะโกน "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ตร.คุมตัวทันที

มีผู้อ่าน 166,479 ครั้ง (อ่านข่าวที่นี่)

ที่มาของภาพ: เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์'

7 ส.ค. 2559 ในวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 7 สิงหาคมนั้น เมื่อเวลา 12.00 น. ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ นายกสมาคมเพื่อเพื่อน FFA ได้ฉีกบัตรลงคะแนนเสียงลงประชามติ ที่สถานที่ออกเสียงประชามติ สำนักงานเขตบางนาโดยก่อนฉีกโตโต้ตะโกนว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวทันที

ต่อมาอัยการสั่งฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อ 13 ธ.ค. และส่งฝากขัง 1 คืน ก่อนที่ในวันที่ 14 ธ.ค. ศาลจังหวัดพระโขนงมีคำสั่งให้ประกันปิยรัฐและเพื่อนที่ถูกดำเนินคดีพร้อมกันอีก 2 คน คือ จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัตร และทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ โดยมีนายประกันคือ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ยื่นคำร้องพร้อมวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 200,000 บาท รวม 600,000 บาท โดยศาลระบุว่า นายบุญเลิศมีความสัมพันธ์เป็นอาจารย์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

โดยคดีดังกล่าวมีการนัดหมายคดีไปแล้วเมื่อ 27 ธ.ค. ที่ศาลจังหวัดพระโขนง แยกเป็นนัดสมานฉันท์ในเวลา 8.30 น. และนัดพร้อมสอบคำให้การตรวจพยานหลักฐานในเวลา 9.00 น. คาดว่าจะมีการไต่สวนในช่วงปีหน้า (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

[อันดับ 7] ไม่ซื้อไม่ใช้แบรนด์เนม? เปิดทรัพย์สิน พล.อ.ประยุทธ์ พบ เบนซ์ BMW Rolex Seiko Patek ฯลฯ

มีผู้อ่าน 168,860 ครั้ง (อ่านข่าวที่นี่)

20 ม.ค. 2559 หลังจากเมื่อวันที่ 19 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แนะนำว่า ขอให้คนไทยหันมาใช้ของไทย ไม่จำเป็นต้องใช้สินค้าแบรนด์แนมชื่อดังก็ไม่ต้องใช้ โดยส่วนตัวตนมีเงินซื้อ แต่ไม่ใช้ของแบรนด์เนม ถึงใช้ก็จะใช้ให้น้อยที่สุด ขอให้ช่วยกันสนับสนุนสินค้าไทย โดยเฉพาะตอนนี้ต้องช่วยกันใช้สินค้าที่ผลิตมาจากยางพาราช่วยเกษตรกร

ที่มา: เว็บไซต์ ป.ป.ช.

ผู้สื่อข่าวจึงย้อนกลับไปสำรวจทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ และคู่สมรสที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อเข้ารับตำแหน่ง 4 กันายน 2557 ซึ่งมีรายการแสดงทรัพย์สินที่น่าสนใจหลายรายการ เฉพาะส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ ในส่วนของทรัพย์สินลำดับที่ 7 ยานพาหนะ 5 คัน มีเป็นรถยนต์ เมอร์ซิเดส เบนซ์ S600L ปี 2011 รถยนต์ BMW 740Li ปี 2009

ในส่วนของทรัพย์สินลำดับที่ 9 ประเภททรัพย์สินอื่น ที่มีราคา 200,000 บาทขึ้นไปต้องแสดงบัญชีต่อ ป.ป.ช. มีจำนวน 50 รายการ ในจำนวนนี้มีนาฬิกา Patek Philippe 2 เรือน นาฬิกา Rolex รุ่นต่างๆ 3 เรือน นาฬิกา Radiomir Penerai 2 เรือน นาฬิกา Breitling 1 เรือน นาฬิกา Seiko 1 เรือน ปืนพกและปืนลูกซอง 9 กระบอก สร้อยคอทองคำและแหวนอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น

 

[อันดับ 6] Sex in Jails: เรื่องเซ็กส์ในที่ลึก แต่ไม่ลับในเรือนจำชาย

มีผู้อ่าน 226,782 ครั้ง (อ่านข่าวที่นี่)

ที่มาของภาพประกอบ: Adam Jone/Flickr (CC BY-SA 2.0)

23 พ.ย. 2559 ผลงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนโดย "ทวีศักดิ์ เกิดโภคา" เปิดเรื่องเซ็กส์ในแดนสนธยาอย่างเรือนจำชาย โดยชี้ให้เห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์มีให้เห็นเป็นปกติในเรือนจำชาย ทั้งมีพิธีการแต่งงานและทะเบียนสมรส รวมถึงในรูปแบบการซื้อขายบริการ อย่างไรก็ตามปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศยังคงมีอยู่ และการเข้าถึงถุงยางอนามัยยังเป็นเรื่องยากในบางเรือนจำ ในรายงานยังสัมภาษณ์อดีตผู้ต้องขัง และนักวิชาการ ซึ่งเสนอว่าคุกควรเปิดโอกาสให้นักโทษได้มีเซ็กส์กับแฟนปีละ 2 ครั้ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหลายประการ

 

[อันดับ 5] เพจ 'ออนซอนอีสาน' ไม่ง้อรัฐพ่อค้า เสนอชาวนารวมกันสี-ขายเอง แก้ปัญหาข้าวราคาตก คนแชร์กว่า 4 หมื่น

มีผู้อ่าน 257,345 ครั้ง (อ่านข่าวที่นี่)

ที่มาของภาพ: เพจออนซอนอีสาน

28 ต.ค. 2559 ในช่วงราคาข้าวเปลือกต้นฤดูกาลราคาตกต่ำในช่วงปลายเดือนตุลาคม เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ออนซอนอีสาน' ได้โพสต์สเตตัสเสนอให้ชาวนาไม่ต้องง้อรัฐ ไม่ต้องง้อโรงสี ไม่ต้องง้อคนรับชื้อข้าวเปลือก โดยให้ชาวนารวมตัวกัน สีข้าวเองขายเอง ซึ่งมียอดผู้เข้ามากดไลค์กว่า 7 หมื่น แชร์กว่า 4 หมื่น หลังโพสต์ไปเพียง 4 ชั่วโมง

"ขายถูกกว่าตลาด 10 บาทต่อกิโล ข้าวใหม่ๆ ให้คนไทยได้กินข้าวราคาถูก ๆ แชร์ให้ด้วยครับ ทำแบบนี้ได้ทุกจังหวัด โรงสีข้าวขาย ร้องแน่ครับ ไม่แน่ราคาข้าวอาจจะขึ้นก็ได้ครับ แชร์ไปครับแชร์ไปให้ พ่อค้าคนกลางเห็นครับ ให้รัฐเห็น คนไทยต้องกินข้าวราคาถูกครับ" เพจ 'ออนซอนอีสาน' ระบุ

ต่อมาโพสต์ดังกล่าวของเพจนี้ถูกลบออกไป โดยแอดมินเพจโพสต์ชี้แจงด้วยว่า เป็นการโพสต์เพื่อหาทางออกและให้กำลังใจชาวนา แต่ว่าแอดมินไม่ได้ขายข้าว

 

[อันดับ 4] เปิดค่าอาหาร-เครื่องดื่มคณะประยุทธ์ระหว่างบินรัสเซีย 1.7 ล้าน

มีผู้อ่าน 299,251 ครั้ง (อ่านข่าวที่นี่) และ

เปิดค่าเครื่องบิน 20.9 ล้าน คณะประวิตรบินฮาวายฯ ประชุม รมว.กห.อาเซียน-รมว.กห.สหรัฐ

มีผู้อ่าน 174,444 ครั้ง (อ่านข่าวที่นี่)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางเยือนสหพันธรัฐรัสเซียระหว่าง 17 ถึง 21 พฤษภาคม 2559 (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมทั้งบรรดารัฐมนตรีกลาโหมชาติสมาชิกอาเซียนและคณะ ระหว่าง 29 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม 2559 (ที่มาของภาพ: สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์)

อันดับที่ 4 เป็นรายงาน 2 ชิ้นที่มีความต่อเนื่องกัน โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 2 ตุลาคม ในรายงานข่าว “เปิดค่าเครื่องบิน 20.9 ล้าน คณะประวิตรบินฮาวาย ประชุม รมว.กห.อาเซียน-รมว.กห.สหรัฐ” รายงานอ้างถึงเว็บไซต์ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ประกาศราคากลางจัดซื้อ-จัดจ้าง ประจำปี พ.ศ. 2559 ในการจ้างการรับขนคนโดยสารทางอากาศโดยเครื่องบินพาณิชย์ ณ เมืองฮอนโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม 2559 โดยมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายรวม 20,953,800 บาท โดยมีค่าอาหารและเครื่องดื่มระหว่างเที่ยวบิน 600,000 บาท ซึ่งเป็นการเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา อย่างไม่เป็นทางการ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุม จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคุ้มค่า (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวตรวจสอบจากเว็บไซต์ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเผยแพร่ประกาศราคากลางจัดซื้อ-จัดจ้าง ประจำปี พ.ศ. 2559 โดยได้เผยแพร่ราค่าจ้างการรับขนคนโดยสารทางอากาศโดยเครื่องบินพาณิชย์ กรณีคณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหพันธรัฐรัสเซีย สมัยพิเศษ ณ เมืองโซซี สหพันธรัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 17 – 21 พ.ค. 2559 เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก-เมืองโซซี-กรุงเทพฯ ระบุรวมเป็นเงิน 16,234,500 บาท โดยมีค่าอาหารและเครื่องดื่มระหว่างบิน เป็นเงิน 1,770,000 บาท (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

 

[อันดับ 3] ขนส่งสั่งเลิก Grab Bike-Uber MOTO สร้างความไม่สงบ-แก่งแย่งผู้โดยสารวิน จยย.

มีผู้อ่าน 302,973 ครั้ง (อ่านข่าวที่นี่)

ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ Grab ประเทศไทย

17 พ.ค. 2559 หลัง Grab Bike เริ่มบริการขนส่งผู้โดยสารด้วยมอเตอร์ไซต์ในราคาเริ่มต้น 10 บาท ราคาเฉลี่ยกิโลเมตรละ 5 บาท และต่อมาถูกกรมการขนส่งทางบกสั่งให้ยุติดำเนินการมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมนั้น

ต่อมากรมการขนส่งทางบก ร่วมกับทหารกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และฝ่ายเทศกิจเขตปทุมวัน เชิญบริษัทผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นสำหรับเรียกรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล Grab Bike และ Uber MOTO เข้าหารือเพื่อชี้แจงกฎระเบียบ และสั่งเลิกบริการ

ณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดว่า ระบบเรียกรถจักรยานยนต์รับจ้างทั้ง 2 ระบบ สร้างความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมให้กับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่เข้าสู่ระบบการจัดระเบียบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก่อให้เกิดความแตกแยกและมีผู้ได้รับผลกระทบซึ่งสร้างความไม่สงบในสังคม และอาจเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลเรียกเก็บผลประโยชน์จากการให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ ดังนั้น ขอให้ทั้งสองบริษัทยุติการให้บริการโดยทันที หากยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง จะดำเนินการตามระเบียบของ คสช. ต่อไป โดยที่ผ่านมามีการจับกุมแล้ว 66 ราย มีารบันทึกประวัติไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ หากพบความผิดซ้ำจะพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป

อนึ่ง เว็บไซต์ ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) สำรวจ ' ซุ้ม-เสื้อวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง' พบส่วนต่างเป็นเหตุดึงค่าโดยสารสูงเกินจริง บางวินราคาสูงถึงครึ่งล้าน ระบุค่าโดยสารที่แพงเพราะบวกราคาเสื้อวิน ขณะที่บริการเรียกรถออนไลน์ถูกกว่า เพราะคิดจากราคาจริงตามระยะทาง นักวิชาการแนะรัฐเปิดแข่งขัน เพื่อประโยชน์ผู้บริโภค (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

[อันดับ 2] ตร.ยันป้าถูกกล่าวหาว่าหมิ่นฯ บนรถเมล์ มีบัตรผู้ป่วยจริง หลายคนระบุพูดถึงเจ้าเมืองบาดาล

มีผู้อ่าน 318,644 ครั้ง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ภาพขณะหญิงวัยกลางคนถูกทำร้าย

18 ต.ค. 2559 กรณีหญิงวัยกลางคนรายหนึ่งเมื่อลงจากรถเมล์ แล้วถูกหญิงวัยกลางคนอีกรายตามลงไปตบปาก โดยอ้างว่าเพราะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2559 ซึ่่งเป็นที่กล่าวถึงในโลกออนไลน์ พร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้น ต่อมา ร.ต.ท.วีระยุทธ ศรีสุพัฒน์ รองสารวัตร (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ ว่า เหตุการณ์ในคลิปเกิดขึ้นที่บริเวณแยกสะพานขาว แขวงสี่แยกมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เมื่อเชิญหญิงวัยกลางคนที่ถูกตบมาที่สถานีตำรวจจึงพบว่าเป็นคนวิกลจริต มีปัสสาวะใส่กางเกง พูดจาไม่รู้เรื่อง และตรวจพบว่าบัตรประจำตัวผู้ป่วย จากนั้นจึงนำตัวส่งโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งแพทย์ก็ได้ยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลจริง แต่ผู้ป่วยขาดยาและหนีออกจากบ้าน จึงแจ้งญาติให้มารับตัวกลับ

ละครเรื่องนาคี ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เริ่มวันแรก 26 กันยายน 2559 (ที่มา: สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3)

ในโลกโซเชียลมีเดีย มีผู้ใช้เฟซบุ๊คเข้ามายืนยันว่าหญิงคนดังกล่าวสติไม่ดี และยืนยันว่าคำว่า "เจ้า" ที่หญิงวัยกลางคนดังกล่าววิจารณ์นั้นเป็นเจ้าในละคร เจ้าเมืองบาดาล ฯลฯ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว มีการเผยแพร่ละครเรื่องนาคี ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ทุกวันจันทร์และอังคาร เริ่มตอนแรกมาตั้งแต่ 26 กันยายน 2559

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยข้อมูลว่าหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นอกจากการจับกุมดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเพิ่มขึ้นมากแล้ว ยังมีกรณีผู้ต้องหาที่เป็นผู้ป่วยจิตเภท (Schizophrenia) ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างน้อย 7 ราย

อนึ่งในช่วงเวลาหลังวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นต้นมา เกิดเหตุระดมกำลังไล่ล่าต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่สวมเสื้อดำไว้ทุกข์ หรือต่อผู้แสดงความเห็นในพื้นที่ออนไลน์ และพื้นที่สาธารณะ หรือที่เรียกว่าการล่าแม่มด โดยผู้ที่รวมตัวกันบางส่วนมีพฤติกรรมรุนแรง ถึงขั้นประจานทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เหตุปิดล้อมบ้านของลูกชายเจ้าของร้านน้ำเต้าหู้ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อ 14 ตุลาคม 2559 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)ฝูงชนใน จ.พังงา ปิดล้อมร้านโรตีไล่ล่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์หมิ่น เมื่อ 15 ตุลาคม 2559 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)ตำรวจ-ฝ่ายปกครองเกาะสมุยจับสตรี 1 ราย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการโพสต์ข้อความพาดพิง พล.อ.เปรม และเรื่องงานพระบรมศพ โดยก่อนดำเนินคดี มีการนำตัวมาขอขมาต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์และฝูงชนที่มายืนมุงและโห่ร้อง เมื่อ 16 ตุลาคม 2559 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)เหตุประชาทัณฑ์คนงานวัยรุ่นที่ จ.ชลบุรี โดยถูกกล่าวหาโพสต์หมิ่นฯ เมื่อ 18 ตุลาคม 2559 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)หรือเปิดปิดล้อมบ้านของบุคคลเป้าหมายรายหนึ่งที่ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 โดยกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก่อนมีการเผยแพร่ใบนัดพบแพทย์แผนกคลีนิกจิตเวชของบุคคลเป้าหมายดังกล่าว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทั้งนี้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้อ้างคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เสนอว่าขอให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้ามาดำเนินการ จะเหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือไม่ให้เผยแพร่ภาพและเสียงเหตุการณ์ที่อาจกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความรู้สึกไม่พอใจและใช้กำลังเข้าทำร้ายกัน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

[อันดับ 1] โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา เป็น 'พล.ท.' หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย รักษาพระองค์

มีผู้อ่าน 1,257,864 ครั้ง (อ่านข่าวที่นี่)

27 ส.ค. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 ตอนพิเศษ 191 ง วันที่ 26 สิงหาคม 2559 เผยแผร่ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีเรื่อง ให้นายทหารรับราชการ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ พล.ต.หญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา เสนาธิการหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย รักษาพระองค์ (อัตรา พล.ต.) เป็น นายทหารปฏิบัติการพิเศษสํานักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษ ในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย รักษาพระองค์ (อัตรา พล.ท.) ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2559 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหถาพแรงงานฯ ชี้ ธ.กรุงเทพ ปรับตารางการทำงานใหม่ขัดต่อคำสั่งศาล

$
0
0
31 ธ.ค. 2559 สหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ ได้ออกแถลงการณ์ด่วนเรื่อง 'ธนาคารปรับตารางการทำงานใหม่ ขัดต่อคำสั่งศาล' โดยระบุว่าตามที่ธนาคารกรุงเทพได้มีคำสั่งให้สาขาที่เปิดทำการ 7 วันทั่วประเทศ เปลี่ยนแปลงตารางการทำงานของพนักงานที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2558 และ 2559 โดยให้เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไปนั้น
 
สหภาพแรงงานฯ ขอให้ธนาคารทบทวนปัญหาของการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเรื่องตารางการทำงานอีกครั้ง โดยระบุว่า เมื่อปี 2550-2551 ธนาคารออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากทำงาน 3 วัน หยุดงาน 3 วัน มาเป็นทำงาน 4 วัน หยุดงาน 2 วัน ในสาขานครหลวงและปริมณฑลให้ปฏิบัติโดยใช้อำนาจบีบบังคับให้พนักงานจำยอม จากนั้นปี 2555 ธนาคารออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกับสาขาต่างจังหวัดทั่วประเทศโดยใช้อำนาจบีบบังคับเช่นเดิม สหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพจึงได้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จนถึงเดือน ธ.ค. 2557 ธนาคารยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลมีคำสั่งพิพากษาตามสัญญาประนีประนอม โดยธนาคารยอมจ่าย 3,500 บาท/เดือน แก่พนักงานสาขา 7 วัน และกำหนดตารางการทำงานใหม่ที่ใช้ในปี 2558 เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประณีประนอมยอมความ และมีคำสั่งพิพากษาตามยอมเมื่อเดือน ธ.ค. 2557 และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2559
 
ทั้งนี้เมื่อธนาคารจะเปลี่ยนแปลงตารางดังกล่าว สหภาพแรงงานฯ ได้ทราบเรื่องและได้ทักท้วงเมื่อวันเจรจาข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559 ได้รับคำตอบจากแรงงานสัมพันธ์ว่าจะมีการจ่ายค่าทำงานในวันหยุด คือ 1 ม.ค., 13 เม.ย. และ 1 พ.ค. แก่พนักงานทุกคน ซึ่งสหภาพแรงงานฯ ได้ทักท้วงเรื่องคำสั่งเปลี่ยนแปลง เพราะต้องการให้พนักงานได้รับประโยชน์จากวันหยุดที่เท่าเทียมกันทุกคน 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารส่งแฮกเกอร์ให้ ปอท. ตั้งข้อหา 'อั้งยี่-พ.ร.บ.คอม'

$
0
0
เผยทหารส่งตัวผู้ต้องหากลุ่มแฮกเกอร์ให้กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจำนวนทั้งสิ้น 4 ราย แล้ว ระบุจะมีการดำเนินคดีในความผิดหลายข้อหา ทั้งหา 'อั้งยี่' และ 'พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์' 

 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่าพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวถึงกรณีการติดตามดำเนินคดีกับกลุ่มแฮกเกอร์ว่าล่าสุดทหารได้ส่งตัวผู้ต้องหากลุ่มแฮกเกอร์ให้กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จำนวนทั้งสิ้น 4 ราย 
 
โดยรายแรกมีการส่งมอบตัวให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตั้งแต่วันจันทร์ที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา ส่วนเพิ่มเติมอีก 3 ราย ที่เหลือได้มีการรับตัวไว้แล้วที่ บก.ปอท. มีการดำเนินคดีในความผิดหลายข้อหา ทั้งหาอั้งยี่ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209,ความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 5 ว่าด้วยการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบโดยมิชอบ มีโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท 
 
ความผิดฐานเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ มาตรา 7 มีโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ,ความผิดในข้อหาร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลายระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ มีความผิดตามมาตรา 9 มีโทษ จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และความผิดฐานร่วมกันชะลอ ขัดขวาง ระบบคอมพิวเตอร์ มาตรา 10 มีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท 
 
ทั้งนี้กลุ่มบุคคลเหล่านี้เจ้าหน้าที่มีหลักฐานชัดเจนในการดำเนินคดีศาลจึงอนุมัติออกหมายจับบุคคลดังกล่าวหลังจากนี้จะมีการสืบสวนสอบขยายผลต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานคัดสรร 2559: 10 เรื่องที่อยากให้อ่าน

$
0
0

ก่อนปีนี้จะผ่านไป 'ประชาไท' ชวนอ่านรายงานที่ กอง บ.ก. คัดสรรมา 10 เรื่อง บางชิ้นผู้อ่านอาจเห็นผ่านตาแล้วแต่ยังไม่ได้อ่าน หรือหลายคนอาจจะเคยคลิกเข้ามาแล้ว แต่ยังอ่านไม่จบ เราถือโอกาสวันหยุดยาว ขอเชิญชวนอ่านอีกครั้ง (คลิกที่ชื่อเรื่องเพื่ออ่าน)

1. รำลึก 10 ปี 19 กันยาใต้รัฐบาล คสช. รู้จัก ‘ทหาร’ ให้มากขึ้นกับ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
 

งานชิ้นนี้ออกมาในวาระ 10 ปี 19 กันยา 2549 หรือรัฐประหารคราวก่อน หากแต่เนื้อหาโดยรวม ชวนย้อนกลับไปถึง 2430 ในยุคก่อร่างสร้างตัวของระบบทหารเลยทีเดียว ในห้วงเวลาที่เรายังไม่รู้ว่า ประเทศไทยจะออกจากอำนาจการปกครองของทหารทั้งทางตรงและทางอ้อมเมื่อใดเช่นนี้ จึงขอเชิญชวนผู้อ่านทำความรู้จัก 'ทหาร' ให้มากขึ้น

 

2. ลาก ‘เก้าอี้’ มานั่งคุย: กนกรัตน์ เลิศชูสกุล #1 The Rise of the Octobrists
 


"คือมันสอดรับกับความสำเร็จในการ Rewrite ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา ทำให้ 14 ตุลากับ 6 ตุลา เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันอย่างแนบสนิท คือถ้าเราไม่ได้เป็นพวกเขา เราจะรู้สึกว่ามันคล้ายๆ กัน เหมือนกับนักศึกษาต่อสู้ล้มเผด็จการ แล้วก็ยังต่อสู้ต่อไป แต่รัฐไทยกลัวนักศึกษา ก็เลยปราบ เด็กเลยต้องหนีเข้าป่า ทั้งสองเหตุการณ์เป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน มันเป็นการเติบโตขึ้นของการเคลื่อนไหวคนละอุดมการณ์”

หนึ่งในรายงานชุด "ลาก ‘เก้าอี้’ มานั่งคุย" ในวาระ 40 ปี 6 ตุลา 2519 อธิบายการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และตกต่ำของคนเดือนตุลาในสังคมไทยปัจจุบัน ทำไมพวกเขาจึงอยู่ในทุกวงการ ทำไมพวกเขาจึงเป็นผู้ขีดเขียนความหมายของคำว่าประชาธิปไตยของไทยมาเนิ่นนาน

 

3. “เรียกรายงานตัวอีกครั้งก็ยังจะอารยะขัดขืน” คำเบิกความ 'รุ่งศิลา' กวีหลังกรงขัง
 


ที่มาภาพ: ปรับแต่งจาก iLaw

ที่มาที่ไปของกวีหนุ่มใหญ่วัย 53 ปี 'รุ่งศิลา' ผู้ไม่ไปรายงานตัวตามประกาศของ คสช. ไม่กี่วันหลังรัฐประหาร ปัจจุบัน แม้ศาลจะตัดสินให้เขามีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. โดยให้จำคุก 1 ปี ปรับ 18,000 บาท ก่อนจะลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือโทษจำคุก 8 เดือน ปรับ 12,000 บาท และให้รอลงอาญา 2 ปี แต่ตอนนี้ เจ้าตัวยังอยู่ในเรือนจำ เฝ้ารอที่จะสู้คดี 112 ในศาลทหารอีกคดี

“เป็นความซ้ำซาก ย้อนแย้งและล้าหลัง ผมคิดว่าประเทศนี้มีอาการเจ็บป่วยอย่างหนักหนาเหลือเกิน” เขาเคยบอกไว้

 

4.ภาวะกลับไม่ได้ ไปไม่ถึง: ประชากรย้ายถิ่นจากรัฐฉานและนโยบายสัญชาติ 

เมื่อประเทศไทย ไม่ได้มีแค่คนที่มีบัตรประชาชน สำรวจความฝันและความเป็นอยู่ของประชากรย้ายถิ่นจากรัฐฉานที่พำนักอยู่ในประเทศไทย หลายครอบครัวยังหวังกลับไปพร้อมหน้าพร้อมตาที่บ้านเกิด แต่ก็มีอีกหลายครอบครัวหวังเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่ ขณะที่ลูกหลานของพวกเขาเติบโตขึ้นในสังคมไทยพร้อมความรู้สึกว่าที่นี่ก็คือบ้าน พร้อมติดตามนโยบายด้านสัญชาติและสถานะบุคคลของรัฐไทย และแนวโน้มการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ประชากรข้ามแดน และภาวะสังคมผู้สูงอายุ

 

5. รายงานพิเศษ: ภาษามลายู-รัฐไทยนิยม การกลืนชาติทางภาษา แกะปมขัดแย้งชายแดนใต้

แกะปมขัดแย้ง ‘ภาษามลายู’ สามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อรัฐไทยพยายามกลืนความเป็นปาตานีผ่านภาษา หนึ่งในชนวนความรุนแรง ที่ก่อให้เกิดความกังวลว่าอัตลักษณ์ปาตานีจะสิ้นสูญ

 

6. เราจะไปทางไหน#6: เกษียร เตชะพีระ ‘Deep state ปะทะ Deep society’ สู้อย่างไรในศึกยาว

บทสัมภาษณ์ชิ้นปิดท้ายในชุด "เราจะไปทางไหน" ที่สำรวจหน้าตาการเมืองไทยหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ - เกษียร เตชะพีระ พาเราวิเคราะห์ให้เห็นเส้นทางประชาธิปไตยขึ้นๆ ลงๆ ยาวนานในประวัติศาสตร์การเมือง โดยใช้กรอบ ‘รัฐพันลึก’ หรือ Deep state เพื่อให้เห็นรากของปัญหา และยังมีส่วนที่เขาคิดต่อ นั่นคือ Deep society ที่ปะทะขัดแย้งกับ Deep state มายาวนาน ชวนมองศึกนี้ในระยะยาวและรักษาหลักบางอย่างเพื่อให้สังคมไทยสู้กันในนานโดยไม่ต้องสูญเสียเพิ่มเติมอีก



7. รายงานพิเศษ: ‘หญิงพิการ(1)’ ชีวิตที่ถูกกระทำซ้ำซ้อน ข่มขืน-ทำหมัน

ขณะที่ปัญหาของคนไม่พิการกับเรื่องเพศยังไม่เคยจบสิ้น คู่ขนานกันไป คนพิการหลายคนก็ไม่เคยเรียนรู้เรื่องเพศ บ้างโดนกีดกันให้อยู่ห่าง  บ้างหวาดกลัวเพราะความไม่รู้ จนทำให้คนพิการและครอบครัวจำนวนมากเลือกที่จะปกปิดและขุดหลุมฝังเรื่องเหล่านี้ให้ลึกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และมีจำนวนไม่น้อยที่หลีกหนีปัญหาด้วยการ ‘ทำหมัน’

รายงานชิ้นนี้ จะฉายภาพคนพิการ-ครอบครัว แท้จริงแล้วคนพิการไร้เพศหรือสังคมพยายามผลักให้คนพิการไร้เพศ อะไรทำให้มุมมองเรื่องเพศของคนพิการถูกมองข้าม จนหญิงพิการหลายคนถูกจับทำหมันไม่รู้ตัวและจมอยู่กับความคิดเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

 

8. Sex in Jails: เรื่องเซ็กส์ในที่ลึก แต่ไม่ลับในเรือนจำชาย

เปิดเรื่องเซ็กส์ในแดนสนธยาอย่างเรือนจำ ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศยังคงมีอยู่ และการมีเพศสัมพันธ์มีให้เห็นเป็นปกติในเรือนจำชาย ทั้งมีพิธีการแต่งงานและทะเบียนสมรส แต่พบปัญหาการเข้าถึงถุงยางอนามัยเป็นเรื่องยากในบางเรือนจำ

คุณภาพชีวิต สิทธิมนุษยชน กระบวนการยุติธรรม การค้าบริการทางเพศ การเข้าถึงถุงยางอนามัย สิทธิทางเพศ มารวมอยู่ด้วยกันในรายงานชิ้นนี้ 
 

9. รายงาน: รัฐไทยกับโลกออนไลน์ อดีต ปัจจุบัน อนาคต(อันน่าสะพรึง)


ภาพโดย Thomas Leuthard (CC BY 2.0)

ย้อนดูความพยายามของรัฐบาลไทยในการเข้ามาควบคุม สอดส่อง การใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมคุยกับ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ที่ติดตามมอนิเตอร์นโยบายรัฐต่อโลกออนไลน์มาตลอด ถึงข้อเสนอต่อแนวทางที่ควรจะเป็น



10. เมื่อ ‘รัฐไทย’ จัดระเบียบความเศร้า (มานุษยวิทยาของความเศร้าโศก)

บทสัมภาษณ์นักมานุษยวิทยา ที่ชวนมองความพยายามของ ‘รัฐไทย’ ในการจัดระเบียบการแสดงออกความเศร้าให้เหมือนกัน ขณะที่ความโกรธคือรูปแบบหนึ่งของความเศร้าและใช้กับผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับความเศร้าของตน สะท้อนวิธีคิดแบ่งขั้วดี-เลวในสังคมไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2560

$
0
0

โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเผยแพร่พระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ รัชกาลที่ 10 พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ "ข้าพเจ้าขอปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับประชาชนชาวไทยโดยเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานเช่นกัน"

ที่มา: YouTube ช่อง ThaiTV6

31 ธ.ค. 2559 เมื่อเวลา 20.00 น. สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เผยแพร่พระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2560 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ความว่า

"ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดี เพื่ออำนวยพรแก่ท่านทั้งหลายทั่วกัน และขอบใจท่านเป็นอย่างมากที่มีไมตรีจิตสนับสนุนข้าพเจ้าในภารกิจทุกอย่างเสมอมา

ในปีที่แล้วบ้านเมืองของเรามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร ได้เสด็จสวรรคตเมื่อเดือนตุลาคม กล่าวได้ว่านำความโศกเศร้าอาดูร และนับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวไทยทั้งประเทศ ข้าพเจ้ารู้สึกตื้นตันและประทับใจที่ได้เห็นประชาชนทุกเพศ ทุกวัยถ้วนหน้า มีจิตจงรักภักดี และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ พรั่งพร้อมกันมาถวายสักการะพระบรมศพอย่างต่อเนื่อง

ขอขอบใจทุกท่านที่ร่วมมือร่วมใจช่วยงานพระบรมศพอย่างพร้อมเพรียง ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ข้อนี้น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า คนไทยนั้นมีจิตใจดี มีความกตัญญูกตเวที มีความเอื้ออารีต่อกัน มีความรักชาติ รักแผ่นดิน เป็นคุณสมบัติประจำชาติ และมีความรู้ความสามารถไม่แพ้ชนชาติอื่นใด ดังนั้น ไม่ว่าจะมีอุปสรรค ปัญหา หรือเหตุไม่ปรกติใดๆ เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา ก็เชื่อได้ว่า ถ้าเราจะร่วมกันคิดอ่าน และช่วยกันปฏิบัติแก้ไข ทุกสิ่งทุกอย่าง จะสามารถคลี่คลายลุล่วงไปได้ด้วยดีอย่างแน่นอน

ในปีใหม่นี้ ขอให้ชาวไทยทุกคน ตั้งใจให้แน่วแน่ที่จะรักษาคุณสมบัตินี้ให้เหนียวแน่น และทำความคิดจิตใจให้แจ่มใส ด้วยปัญญาที่กระจ่าง พิจารณาทุกสิ่งที่เกิดมีขึ้นตามความเป็นจริง โดยปราศจากอคติ ให้มีความมุ่งมั่น มีกำลังใจ ในอันที่จะร่วมกันปฏิบัติสรรพกิจน้อยใหญ่ ในภาระหน้าที่ตามแนวพระบรมราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รมนารถบพิตร ได้พระราชทานไว้ ให้งานทุกอย่างสำเร็จผล เป็นความดีความเจริญ ทั้งแก่ตนเอง แก่ส่วนรวม และประเทศชาติ เป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

ในการนี้ ข้าพเจ้าขอปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับประชาชนชาวไทยโดยเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานเช่นกัน

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวไทย อีกทั้งพระบารมีแห่งสมเด็จพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต มีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร เป็นอาทิ จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคนให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย ให้มีความสุขกาย สุขใจ และประสบแต่สิ่งที่พึงปรารถนาตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images