Quantcast
Channel: ประชาไท
Viewing all 51097 articles
Browse latest View live

ประชุมใหญ่มาราปาตานี ครั้งที่ 4 หวังยกระดับการต่อสู้ทางการเมือง

$
0
0

มาราปาตานีจัดประชุมใหญ่ครั้งที่ 4 หวังยกระดับการต่อสู้ทางการเมือง เชิญภาคประชาสังคมและผู้นำศาสนาเข้าร่วม เปิดเผยไดอารี่ตนกูอับดุลกาเดร์ ราชาคนสุดท้ายของปาตานีในยุค 7 หัวเมืองสมัย ร.5

 

16 ต.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มมาราปาตานี (Majlis Syura Patani : MARA Patani) จัดประชุมใหญ่ครั้งที่ 4 ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งริมชายทะเลบือซุ รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซียเป็นเวลา 3 วันระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2565 โดยเชิญตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมและผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมด้วยหลายสิบคน

โดยการประชุมใหญ่ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเปลี่ยนความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีจากการใช้ความรุนแรงมาสู่การใช้แนวทางทางการเมือง การสร้างเอกภาพและสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณะในการร่วมกำหนดอนาคตของปาตานี

ในงานเริ่มด้วยการเชิญนักประวัติศาสตร์ปาตานีชาวมาเลเซียชื่อ อะหมัด ฟัตธี อัลฟาฏอนีย์ มาบรรยายประวัติของตนกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดีน Tengku Abdul Kadir Kamaruddin หรือ พระยาวิชิตภักดี รายา(กษัตริย์)หรือเจ้าเมืองปัตตานีคนสุดท้ายปาตานีในยุค 7 หัวเมือง ก่อนที่ปาตานีจะตกเป็นของสยามโดยสมบูรณ์หลังจากอังกฤษให้การรับรองอธิปไตยของสยามเหนือปาตานีในปี พ.ศ.2452 ภายใต้สนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม (Anglo-Siamese Treaty of 1909) ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยตนกูอับดุลกาเดร์ถูกจับข้อหากบฏ เมื่อถูกปล่อยตัวก็ได้ลี้ภัยไปอยู่ที่กลันตันที่อยู่ในเขตปกครองอังกฤษกระทั่งเสียนชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2476

นอกจากนี้ในงาน อาบูฮาฟิส อัลฮากีม แกนนำกลุ่มมาราปาตานียังได้แนะนำหนังสือเล่มใหม่ที่มีการตีพิมพ์จำหน่ายอยู่ในมาเลเซีย ชื่อว่า SON OF PATANI เขียนโดย Fadilah Merikan ความยาว 164 หน้าโดยมีเนื้อหาเป็นบันทึกประจำวันหรือไดอารี่ที่เขียนด้วยมือของตนกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดีนเอง โดยเขียนเป็นภาษาอังกฤษซึ่งมีทั้งเรื่องสุขและเศร้า โดยเฉพาะเนื้อหาเกี่ยวการต่อรองเรื่องดินแดนกับสยาม

สำหรับกลุ่มมาราปาตานี ก่อตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อปี 2558 โดยการรวมกลุ่มของตัวแทนจากกลุ่มขบวนการต่างๆ โดยเฉพาะบีอาร์เอ็น พูโล บีไอพีพี เพื่อเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับคณะพูดคุยฝ่ายไทย หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีนโยบายสานต่อการพูดคุย หลังจากกระบวนการพูดคุยในสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นล่มไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มมาราปาตานีไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติสุขระหว่างฝ่ายไทยที่มี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะ กับฝ่ายบีอาร์เอ็นที่มีอานัส อับดุลเราะมาน เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งเดิมที่มีกำหนดที่จะพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งที่ 6 ในเดือนตุลาคม 2565 นี้ แต่ก็ถูกเลื่อนออกไป โดยคาดว่าจะมีการพูดคุยออกไปเป็นเดือนพฤศจิกายน ทว่ายังไม่แน่นอนเนื่องจากอยู่ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย และมีความกังวลว่าอาจส่งผลกระทบถึงการพูดคุยและบทบาทของนาย อับดุลรอฮีม มุฮัมมัดนูร หัวหน้าคณะฝ่ายผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ด้วยเช่นกัน

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจชาวต่างชาติของ ‘อองซานซูจี’ ถูกย้ายไปเรือนจำอินเส่ง

$
0
0

'ชอน เทิร์นเนล' วัย 58 ปี ที่ปรึกษาเศรษฐกิจชาวออสซี่ของ ‘อองซานซูจี’ วัย 58 ปี ผู้ถูกกองทัพพม่า ลงดาบจำคุกจากข้อหาละเมิดความลับราชการ 3 ปี และละเมิดกฎหมายเข้าเมือง 3 ปี ถูกส่งตัวไปเรือนจำอินเส่ง นครย่างกุ้ง

 

17 ต.ค. 2565 สื่อสัญชาติพม่า 'อิรวดี' รายงานเมื่อ 14 ต.ค. 2565 อ้างรายงานจากฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า นายชอน เทิร์นเนล วัย 58 ปี นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย และเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของอองซานซูจี ผู้ถูกศาลพม่าจำคุกข้อหาละเมิดกฎหมายเอกสารลับราชการ ถูกส่งตัวจากกรุงเนปิดอ ไปที่เรือนจำอินเส่ง นครย่างกุ้ง

ชอน เทิร์นเนล ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของอองซานซูจี (ที่มา: Global News Light of Myanmar)

แหล่งข่าวเผยว่า เทิร์นเนล ถูกส่งตัวไปที่เรือนจำนานกว่า 1 สัปดาห์

การส่งตัวเกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำพิพากษาจำคุก ชอน เทิร์นเนล เป็นเวลา 3 ปี จากข้อหาละเมิดกฎหมายข้อมูลลับราชการ และอีก 3 ปี จากการละเมิดกฎหมายคนเข้าเมือง โดยข้อหาทั้งหมดจะเริ่มนับโทษพร้อมกัน ซึ่งหมายความว่า เทิร์นเนล จะถูกจำคุกทั้งหมด 3 ปี  

ทั้งนี้ เทิร์นเนล ถูกจับกุมเมื่อ ก.พ. 2564 หลังมีการทำรัฐประหารโดยกองทัพพม่า

สำหรับรายละเอียดข้อหาการจับกุมของเทิร์เนล ข้อหาของเทิร์นเนล ไม่มีการเผยแพร่สาธารณะ แม้ว่าเผด็จการทหารพม่าจะระบุว่า “เขาครอบครองข้อมูลความลับเกี่ยวกับการเงินของรัฐบาลพม่า” และพยายามหลบหนีออกนอกประเทศเมียนมา 

นักเศรษฐศาสตร์ วัย 58 ปี ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาระหว่างการพิจารณาแบบปิดของศาลทหาร ในกรุงเนปิดอ 

เทิร์นเนล ปัจจุบันถูกควบคุมมานานกว่า 20 เดือนแล้วนับตั้งแต่ถูกจับกุม และ ‘ฮาวู’ ภรรยาของเขาเรียกร้องให้ทางการพม่าส่งตัวเทิร์นเนล กลับประเทศบ้านเกิด

ฮาวู กล่าวกับสื่อว่า เทิร์นเนล เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนคนสำคัญของเมียนมา มานานกว่า 20 ปี และทำงานอย่างไม่เหน็ดไม่เหนื่อย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และเขาได้รับโทษส่วนใหญ่ไปแล้ว ดังนั้น เขาควรได้รับการปล่อยตัว 

คนรอบตัว ‘อองซานซูจี’ โดนลงดาบต่อเนื่อง

นอกจากกรณี ‘ชอน เทิร์นเนล’ ช่วงที่ผ่านมา มีกรณีที่คนใกล้ตัวของอองซานซูจี ถูกกองทัพพม่าดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง

โดยสื่อ 'อิรวดี' รายงานเมื่อ 14 ต.ค. 2565 ว่า ศาลทหารพม่าในกรุงเนปิดอ มีคำพิพากษา ‘อ่องหน่ายอู’ หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยของอองซานซูจี จำนวน 10 ปี เมื่อ 13 ต.ค. 2565 

อ้างอิงข้อมูลแหล่งข่าวจากศาล เผยว่า อ่องหน่ายอู ถูกจำคุกจากข้อหาละเมิดกฎหมายความลับราชการ หลังกองทัพพม่ากล่าวหาว่า เขาทำข้อมูลฝ่ายความมั่นคงรั่วไหลไปถึงมือ ‘โกจิมมี’ หรือจ่อมินยู นักกิจกรรมรุ่นใหญ่จากเหตุการณ์ ‘ปฏิวัติ 8888’ ซึ่งถูกประหารชีวิตเมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ อ่องหน่ายอู เคยได้รับมอบหมายให้จับตาดูอองซานซูจี ระหว่างเธอถูกกักบริเวณให้อยู่ภายในบ้านที่นครย่างกุ้ง ในช่วงรัฐบาลทหารพม่าราวทศวรรษ ค.ศ. 1990 หรือช่วงปี 2533

ช่วงที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติ หรือ NLD เป็นแกนนำรัฐบาล อ่องหน่ายอู เป็นรองผู้อำนวยการความปลอดภัยที่สำนักงานของประธานาธิบดีแห่งเมียนมา และเป็นผู้จัดการความปลอดภัยสำหรับการเดินทางของอองซานซูจี

อ่องหน่ายอู ถูกจับกุมเมื่อเดือน ต.ค. 2564 และเขาถูกควบคุมตัวในเรือนจำกรุงเนปิดอ เขาถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายพม่า

ก่อนหน้านี้ กองทัพพม่าจำคุก ‘เชอร์ แท็ต’ บอดีการ์ด ‘อองซานซูจี’ สูงถึง 5 ปี ภายใต้กฎหมายยุยงปลุกปั่น และกฎหมายตำรวจ อดีตบอดีการ์ด วัย 30 ปี ถูกส่งไปคุกขังที่เรือนจำ ‘ยะแมสิน’ จากเรือนจำกรุงเนปิดอ หลังถูกตัดสินจำคุกรอบที่ 2  

หลัง ก.ค.ที่ผ่านมา ซอหน่ายวิน ผู้ช่วยของอองซานซูจี และรองผู้อำนวยการกระทรวงการต่างประเทศ ถูกตัดสินจำคุก 7 ปี จากข้อหาละเมิดความไว้วางใจโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หลังเข้าร่วม ‘ขบวนการอารยขัดขืน’ (Civil Disobedience Movement หรือที่ชาวพม่าเรียกชื่อเล่นว่า ‘CDM’) ต่อต้านกองทัพพม่า  

ปัจจุบัน กองทัพพม่า ลงโทษตัดสินจำคุกอองซานซูจี 26 ปี ในเรือนจำ จาก 14 คดี

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สะเมิง เชียงใหม่ : ถกก่อนรับฟังความเห็นประกาศอุทยานฯ ออบขาน ย้ำข้อจำกัดจัดการทรัพยากรตามวิถี

$
0
0

เครือข่ายประชาชนเข้าพื้นที่สะเมิง เชียงใหม่ ชวนมองข้อกฎหมาย-ผลกระทบ ก่อนเข้าเวทีรับฟังความเห็นประกาศอุทยานฯ ออบขานพรุ่งนี้ ย้ำข้อกังวลหากินในอุทยานฯ จัดการทรัพยากรตามวิถีไม่ได้ นักกฎหมายย้ำ กฎหมายอุทยานฯ ปัจจุบันไม่รองรับสิทธิประชาชนในพื้นที่

17 ต.ค. 2565 เครือข่ายภาคประชาชน ได้แก่ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ทนายความ และนักวิชาการ ร่วมกับชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ลานคำและบ้านป่าคา ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ได้จัดให้มีวงพูดคุยประเมินสถานการณ์ก่อนเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน โดยชาวแม่ลานคำและป่าคายืนยันว่าตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 18 ต.ค. นี้ ยังขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่

นันทวัฒน์ เที่ยงตรงสกุล ผู้ใหญ่บ้านแม่ลานคำ หมู่ที่ 6 ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้ค้านการประกาศอุทยานฯ ทั้งผืน แต่คัดค้านการประกาศทับพื้นที่ของุชมชนที่ยืนยันแล้วว่าได้รับผลกระทบ ชาวบ้านยังคงกังวลถึงผลกระทบจากการประกาศอุทยานฯ อย่างมาก โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่กับป่ามาอย่างยาวนาน ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานฯ ที่ยังทับพื้นที่ป่าชุมชนอยู่มีขนาด 24,513 ไร่ ซึ่งก็มีผลการสำรวจจากคณะทำงานของพีมูฟ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ จนเห็นแล้วว่าชาวบ้านใช้ประโยชน์อยู่ 300 กว่าจุด มีทั้งการเก็บหาของป่า เก็บเห็ด เก็บหน่อ เลี้ยงวัว ควาย ใช้ไม้ ใช้ฟืนตามวิถี ซึ่งทั้งหมดถือว่าผิดกฎหมาย 

นอกจากนั้นนัทวัฒน์ยังย้ำว่า ชุมชนทั้ง 2 หมู่บ้านมีภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนมาตลอด เช่น ช่วงไฟป่า จะมีการทำแนวกันไฟ รวมถึงจัดการไร่หมุนเวียนตามความจำเป็นของเราในพื้นที่การเกษตร ซึ่งมีระบบการจัดการทั้งหมดตามกลไกของชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด ส่วนหน้าฝนก็ทำฝายชะลอน้ำ ดักตะกอน และฝายกั้นน้ำสู่ระบบเกษตร แต่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม บางฝายก็จะทำให้พื้นที่ป่าที่ชุมชนดูแลชุ่มชื้นด้วย การดักตะกอนก็เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ทั้งหมดนี้เพื่อชุมชนและเพื่อป่าไม่ให้เสื่อมสลายได้ ได้ประโยชน์ทั้งคน สัตว์ป่า และผืนป่า 

“เราเคยต่อสู้กับการสัมปทานป่าไม้ ฟื้นฟูจนอุดมสมบูรณ์ขนาดนี้ เพราะเราอยู่กับป่า ต้องใช้ประโยชน์จากป่า ตั้งแต่ลืมตาอ้าปากมา ถ้าพูดตามกฎหมายเราก็ผิดไปหมด แต่ตามวิถีชีวิตนั้นเราจะได้รับผลกระทบ กฎหมายมันบังคับเราอยู่แล้ว ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตอย่างยึดโยงกับธรรมชาติและยืดหยุ่น แต่ยั่งยืน ถ้าประกาศอุทยานฯ เราก็เกรงกลัวเรื่องคดีความ ชุมชนจะไม่มีสิทธิอะไรในการเรียกร้องเลย รวมถึงเราก็คงจะจัดการทรัพยากรแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว” ผู้ใหญ่บ้านแม่ลานคำย้ำ

สุมิตรชัย หัตถสาร

สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ยืนยันว่าชุมชนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหากถูกอุทยานแห่งชาติออบขานประกาศทับ เนื่องจากพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่มีการสำรวจพื้นที่ทำกินของราษฎรตามบทเฉพาะกาลมาตรา 64 และการใช้ประโยชน์จากป่า หรือการเก็บหาของป่า ตามมาตรา 65 นั้น ระบุไว้ในกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้เฉพาะอุทยานแห่งชาติที่ประกาศก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งหมายความว่าหากอุทยานฯ ประกาศทับวันนี้ กฎหมายจะไม่รองรับสิทธิอะไรเลย

“หากชุมชนไม่มีการกันพื้นที่ออกจากแนวเขตอุทยานฯ ชุมชนหรือชาวบ้านจะไม่ได้สิทธิที่พึงได้ เช่น การเลี้ยงสัตว์ ชุมชนต้องทำการขออนุญาตการเลี้ยงสัตว์และการทำมาหากินต่างๆ ขอใบอนุญาตเลี้ยงสัตว์ต่อใบ 10,000 บาท ตามกฎหมายลำดับรอง หรือแม้กระทั่งการเก็บของป่าในพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 20,000 กว่าไร่ ก็จะไม่ได้การรับรองใดๆ ตามกฎหมาย ฉะนั้นจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชุมชนกว่า 30 ปี จนถึงวันนี้ก็คือการต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนชาติพันธุ์ ต่อสู้เพื่อชีวิตของลูกหลาน” สุมิตรชัยกล่าว

ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ย้ำว่า ขั้นตอนกระบวนการของรายงานผลการรับฟังความเห็นหลังจากนี้ จะมีการสรุปผลการรับฟังความเห็นชงเข้าคณะรัฐมนตรี ให้เห็นชอบออกมาเป็นกฤษฎีกาแนบท้ายประกอบการประกาศอุทยานฯ อาจมีระยะเวลาในการเขียนรายงานสรุปการรับฟังความเห็นประมาณ 30 วัน และทำการติดประกาศในพื้นที่ต่างๆ เช่น สำนักงานอุทยานฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องโต้แย้งรายงาน ซึ่งชุมชนอาจใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 43 ในการต่อสู้ต่อไปได้

ธนากร อัฐฏ์ประดิษฐ์ นักวิชาการผู้ติดตามนโยบายและกฎหมายด้านป่าไม้-ที่ดิน กล่าวว่า ทั่วประเทศมีการเตรียมการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวน 22 แห่ง โดยจะเห็นว่าตลอดเวลาการต่อสู้ของชุมชนนั้นมีความพยายามจากหน่วยงานรัฐที่จะอพยพคนออกจากป่าอย่างไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถเอาชาวบ้านออกจากป่าได้จริง ความต้องการของรัฐในวันนี้คือการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หลายล้านไร่ จึงมีความพยายามหาพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นเป้าหมายในการประกาศป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม และมีการออกกฎหมายที่เข้มข้นกว่าอดีตโดยการเพิ่มโทษค่าปรับหลักล้านบาท โทษจำคุกอีกหลายปี หากไม่คัดค้าน ชีวิตของชาวบ้านต้องเปลี่ยนไปภายใต้กฎหมายอุทยานฯ แน่นอน รวมถึงสังคมก็จะไม่ได้อะไรจากการประกาศเขตป่าทับป่าที่ชาวบ้านดูแล เพราะพื้นที่นั้นก็เป็นป่าอุดมสมบูรณ์อยู่แล้วแม้ไม่ได้เป็นอุทยานฯ

“จากกกฎหมายนโยบายของรัฐที่ต้องการพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น กลับมาสู่การตั้งคำถามว่าแล้วพื้นที่ที่ชุมชนใช้ประโยชน์และดูแลในปัจจุบันนี้ไม่ใช่พื้นที่ป่าหรือ? เราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์สิทธิหรือพิสูจน์แนวทางการดูแลรักษาป่าของชุมชนแต่อย่างใดแล้ว เพราะสภาพพื้นที่ป่าที่ชุมชนใช้ประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งยืนยันได้แล้วว่าชุมชนสามารถอยู่กับป่าได้” ธนากรย้ำ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 ได้มีประกาศสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เรื่อง ขอเชิญชวนรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีเนื้อที่ 141,756.26 ไร่ โดยระบุว่าอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 6 และมาตรา 8 ประกอบกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับลงวันที่ 25 พ.ย. 2564 เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียฯ ซึ่งหากดำเนินการรับฟังความเห็นแล้วจะได้เสนอไปยังคณะรัฐมนตรีประกาศกฤษฎีกาแนบท้าย ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติออบขานต่อไป โดยมีนัดหมายรับฟังความคิดเห็นที่ อ.สะเมิง ในวันที่ 18 ต.ค. นี้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2565 ก่อนหน้านี้ ชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ลานคำ หมู่ที่ 6 และบ้านป่าคา หมู่ที่ 11 ได้ออกมายื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการคัดค้านกรณีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออบขานจะทับที่ชุมชนกว่า 24,000 ไร่ ทับป่าชุมชน ที่ทำกินของชุมชนที่ใช้ประโยชน์ตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่มายาวนาน เช่น ไร่หมุนเวียน พื้นที่จิตวิญญาณ พื้นที่เก็บหาของป่าตามฤดูกาล เลี้ยงสัตว์และแหล่งน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตและการทำเกษตรของชุมชน รวมถึงความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่จะมากขึ้น ไปจนถึงการที่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีในการบุกรุกป่าในอนาคต 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ยูนิเซฟ'ร้องไทยเพิ่มการลงทุนในเด็ก และช่วยให้เกิดการฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างเท่าเทียม

$
0
0

วันขจัดความยากจนสากล ยูนิเซฟเรียกร้องให้ไทยเพิ่มการลงทุนในเด็กและเพิ่มมาตรการเพื่อจัดการกับอัตราความยากจนที่สูงในกลุ่มครอบครัวที่มีเด็ก ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

17 ต.ค.2565 ยูนิเซฟ ประเทศไทย รายงานว่า เนื่องในวันขจัดความยากจนสากล ยูนิเซฟเรียกร้องให้ประเทศไทยเพิ่มการลงทุนในเด็กและเพิ่มมาตรการเพื่อจัดการกับอัตราความยากจนที่สูงในกลุ่มครอบครัวที่มีเด็ก ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความเปราะบางและทวีความเหลื่อมล้ำให้กับประชากรทุกกลุ่มในประเทศไทย แต่ครอบครัวที่มีเด็กมักเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยมักต้องเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในขณะที่รายได้กลับลดลง นอกจากนี้ ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาความยากจนและลงทุนในทรัพยากรมนุษย์โดยรวมของประเทศไทยช

ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2564 พบว่า อัตราความยากจนในเด็กสูงถึงร้อยละ 9.9 และสูงกว่าอัตราความยากจนเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งอยู่ร้อยละ 6.3

คยองซอน คิม ผู้อำนวยการยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มฟื้นตัวจากโควิด19 แต่ประชากรทุกกลุ่มกลับไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเท่าเทียม หลายครอบครัวที่มีเด็กยังคงเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

“การต่อสู้กับความยากจนในเด็กจึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของประเทศไทย ไม่ใช่เพียงเพราะการแพร่ระบาดทำให้ครอบครัวจำนวนมากต้องตกไปอยู่ใต้เส้นความยากจน แต่ยังเป็นเพราะประเทศไทยกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว การจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ต้องอาศัยนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็ก ๆ และคนกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะสามารถฟื้นตัวอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน และนอกเหนือจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วแล้ว เราต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อการเติบโตและความเจริญก้าวหน้าในระยะยาว” ผอ.ยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดอัตราความยากจน โดยประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงจากร้อยละ 67 ในปี 2529 เหลือเพียงร้อยละ 6.3 ในปี 2564 นอกจากนี้ นโยบายของรัฐในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19  ยังสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการศึกษาพบว่า อัตราความยากจนในประเทศไทยอาจต้องเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า หากไม่มีการประกาศใช้มาตราการคุ้มครองทางสังคมในด้านต่าง ๆ  เช่น การให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กเพิ่มเติมแก่ครอบครัวยากจนในช่วงแรก ๆ ของการแพร่ระบาด

ตัวอย่างในอดีตชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถจัดการกับความยากจนได้ แต่ต้องลงทุนและดำเนินการมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในเด็กและมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเปราะบาง ยกตัวอย่างเช่น สวัสดิการที่มุ่งเน้นไปที่ประชากรเด็กจะสามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจนในประชากรทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การลงทุนในเด็กไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกเท่านั้นแต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เราไม่สามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวหรือการสนับสนุนเด็ก เพราะจริง ๆ แล้วการเริ่มต้นที่ดีสำหรับเด็กทุกคนก็คือการลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ซึ่งจะเป็นการประกันอนาคตที่ก้าวหน้าของคนรุ่นต่อ ๆ ไป” ผอ.ยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ปชช.รำลึก 2 ปี รัฐใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม หน้าศูนย์การค้า 'สยามสแควร์วัน'

$
0
0

ประชาชนร่วมทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 2 ปี รัฐใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมทางการเมืองที่ศูนย์การค้า 'สยามสแควร์วัน'พร้อมจุดเทียนรำลึกให้ 2 ผู้เสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุม ได้แก่ วาฤทธิ์ สมน้อย และมานะ หงษ์ทอง

 

17 ต.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (17 ต.ค.) ที่หน้าศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน เมื่อเวลา 17.16 น. ประชาชนรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 2 ปี ที่รัฐเริ่มใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม นัดหมายโดยมวลชนอิสระ บรรยากาศกิจกรรมวันนี้ มีการนำภาพถ่ายบาดแผลของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมการเมือง มาวางไว้ที่บริเวณทางเท้าให้ผู้สัญจรผ่านไป-มาได้มองเห็น

นอกจากนี้ ทางผู้จัดงานระบุด้วยว่า พวกเขาต้องการเรียกร้องให้รัฐมีการยุติการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวทางหาทางการเมือง 1,860 ราย รวมจำนวน 1,139 คดี พร้อมเสนอ 'ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. …'

'ทศพร'ชี้มีผู้บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต หลังรัฐใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมเมื่อปี'63

เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ที่บริเวณหน้าสยามสแควร์วัน ‘ทศพร’ ปราศรัยในกิจกรรม รำลึกครบรอบ 2 ปี รัฐเริ่มใช้ความรุนแรงปราบผู้ชุมนุม 

ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่เขามาจัดงานวันนี้เนื่องจากตรงกับเมื่อ 16 ต.ค. 2563 ซึ่งถือเป็นวันแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมทางการเมืองที่สยาม และหลังจากนั้นถึงมีการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมอย่างต่อเนื่องจนมีผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต

ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย

“พอถึงตุลา 63 …มีการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง หลังจากนั้น ก็มีผู้ถูกกระสุนจริงยิงกระดูกหัก 2-3 ราย ซึ่งผมมีรูปเอ็กเรย์ให้ดู มีคนที่โดนยิงลำไส้แตก 3 คน คนที่โดนยิงปอดแตก 1 คน มีคนที่โดนยิงเข้ากระดูกสันหลัง เป็นอัมพาตทุกวันนี้ 1 คน มีผู้สูญเสียดวงตา 2 คน และก็มีผู้สูญเสียชีวิตอีก 2 คน”

“มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีกว่า 1,139 คดี มีผู้ต้องหากว่า 1,860 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี 283 คน เป็นเยาวชน …และก็ยังมีคนที่อยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัวอีกนับสิบคน โดนขังมาร้อยสองร้อยวัน ผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหลายมีปัญหากับการดำเนินชีวิต หลายๆ คนต้องขึ้นศาลทั้งเดือน เดือนละหลายๆ ครั้ง หลายๆ คนต้องติดกำไล EM และก็กำไล EM ก็มีผลต่อการดำรงชีวิต เท้าเปื่อย ข้อเท้าเปื่อย การจะไปไหนมาไหนก็เป็นสิ่งที่ยากลำบาก จะไปทำงานก็มีปัญหา จะไปเรียนก็มีปัญหา หลายๆ คนเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย มีปัญหาไปหมด”

ชง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง

ทศพร มองว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญของประเทศ และของครอบครัว ดังนั้น หลังจากหารือหลายฝ่าย เขาอยากเสนอทางออก เพื่อดึงบุคคลเหล่านี้กลับมาเป็นบุคลากรของชาติและพัฒนาประเทศ ให้พวกเขาเรียนหนังสือ สามารถไปเรียนต่างประเทศ หรือทำงานได้อย่างเป็นปกติ

สำหรับข้อเรียกร้อง ทศพร เสนอว่า ภาครัฐต้องหยุดคดีทุกอย่างเกี่ยวกับคดีการเมือง ตำรวจต้องหยุดคดีไม่ต้องส่งฟ้องอัยการ หรืออัยการไม่ส่งฟ้องศาล

ประการต่อมา ทศพร เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ซึ่งเขาระบุว่าร่างนี้ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นร่างที่สมบูรณ์ทุกอย่าง แต่เป็นร่างที่ต้องการทุกฝ่ายเข้ามาช่วยแก้ไข ปรับปรุงให้ดีขึ้น และตั้งใจจะไม่รอไปถึงรัฐบาลหน้า เพราะถ้ารัฐบาลนี้อยู่ครบเทอม กว่าจะมีรัฐบาลใหม่อาจต้องรอถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งช้าเกินไป 

หลังจากนี้ ทางทศพร พร้อมด้วยคณะทำงาน จะเดินสายคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ และจะไปที่รัฐสภา เพื่อคุยประธานรัฐสภา และคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน คณะกรรมาธิการกฎหมาย และสุดท้าย ไปเจรจากับรัฐบาล ซึ่งถ้ารัฐบาลเห็นด้วย ก็อาจจะมีการประกาศ พ.ร.ก.ออกมา ยิ่งทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้

เวลา 18.25 น. ประชาชนทำกิจกรรมจุดเทียนรำลึกให้ผู้เสียชีวิต 2 รายจากการถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม เมื่อปีที่แล้ว (2564) ได้แก่ วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี (อายุขณะเสียชีวิต) ผู้ถูกกระสุนปืนที่หน้า สน.ดินแดง และนายมานะ หงษ์ทอง ประชาชนผู้ถูกลูกหลงโดยถูกกระสุนยางเข้าที่บริเวณศีรษะจากการสลายชุมนุมม็อบดินแดง

ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อ 16 ต.ค. 2563 ถือเป็นวันแรกที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยวันนั้นมีการรถฉีดน้ำแรงดันสูง หรือที่เรียกชื่อเล่นว่า ‘รถจีโน่’ ฉีดน้ำผสมแก๊ซน้ำตาและสี รวมถึงใช้แก๊ซน้ำตา เข้าใส่ฝูงชนที่มาชุมนุมขับไล่รัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า ‘บีทีเอส’ สยาม แยกปทุมวัน และบนสกายวอล์ก และมีการตามจับประชาชนที่มาร่วมชุมนุมอีกเป็นจำนวนมาก

บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า ในวันดังกล่าวตำรวจมีการจับประชาชนไปมากกว่า 100 คน โดยหนึ่งในนั้นมีนายกิตติ พันธภาค อดีตผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกจับกุมระหว่างปฏิบัติหน้าที่ด้วย

รายละเอียดร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. ...

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกายอนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว

มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการมาตรา 3 วรรคหนึ่ง ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และปล่อยตัวผู้นั้น     

มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ

มาตรา 6 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัติ และทำให้คนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมายเหตุ - เมื่อ 17 ต.ค. 2565 เวลา 23.28 น. มีการอัปเดตคำปราศรัยของ ทศพร เสรีรักษ์ 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ฝ่ายค้าน จ่อเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา สภาถกโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภูและปัญหาน้ำท่วม

$
0
0
  • ฝ่ายค้าน เตรียมเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา พิจารณาเหตุโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภูและปัญหาน้ำท่วมต่อที่ประชุมสภา วันที่ 3 พ.ย.นี้ ขณะการยื่นเปิดอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 ขอประเมินสถานการณ์อีกครั้งหลังการประชุมเอเปค
  • 'ชลน่าน'เผยจ่อยื่นยุบ พรรค ‘ภูมิใจไทย’ ส่อผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง ด้าน 'ศุภชัย'ระบุ หาก 'เพื่อไทย'จ้องใช้วิธียุบพรรคเล่นงานภูมิใจไทย ปมกัญชาเสรีลวงคะแนนนิยม จะจัดให้หนักหน่วงในไม่ช้า เผยเคยเห็นใจตอนถูกยุบ 'ไทยรักไทย-พลังประชาชน'ในอดีต ชี้เป็นการลงโทษทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรมที่สุด

 

17 ต.ค.2565 ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมแถลงข่าวภายหลังประชุมวิปพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ที่ประชุมได้มีมติร่วมกันในประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย เรื่องความก้าวหน้าของการดำเนินคดีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผลพวงจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีความเห็นว่าจะเสนอขอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยประชุมวิสามัญพิจารณากรณีโศกนาฏกรรม จังหวัดหนองบัวลำภู แต่เนื่องจากเมื่อวานนี้ (16 ต.ค.65) ได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2565 เป็นต้นไป พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงมีมติไม่ดำเนินการขอเปิดสมัยประชุมวิสามัญดังกล่าว เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและค่อนข้างใช้เวลาในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม จะยื่นเป็นญัตติด่วนด้วยวาจาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 3 พฤศจิกายน นี้ แทน เพื่อพิจารณาเหตุโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภูและปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้สภาร่วมแสวงหาทางออกร่วมกัน

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมจะเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง พร้อมมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อของรัฐบาล นั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านจะขอประเมินสถานการณ์หลังการประชุมเอเปคเสร็จสิ้นอีกครั้ง เนื่องจากสาระสำคัญในการอภิปรายได้มีการยื่นญัตติด่วนด้วยวาจาแล้ว ซึ่งมีทั้งการพิจารณาปัญหายาเสพติด รวมทั้งปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย สำหรับการประเมินสถานการณ์จะพิจารณาว่าจะมีโอกาสยุบสภา หรือไม่ ซึ่งหากมีการยุบสภาจะเร่งยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปทันที เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ประเทศชาติ

จ่อยื่นยุบพรรคที่เกี่ยวกับนโยบายกัญชา

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีการเตรียมยื่นยุบพรรคที่เกี่ยวกับนโยบายกัญชาว่า เบื้องต้นคือพรรคภูมิใจไทย เพราะการประกาศนโยบายกัญชาเสรีนั้น เข้าข่ายพฤติกรรมที่นำไปสู่การยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 ในประเด็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยไม่ชอบ เนื่องจากการประกาศนโยบายที่หาเสียงเมื่อตอนปี 2562 เกี่ยวกับนโยบายกัญชา อาทิ การให้ครัวเรือนปลูก การปลดล็อก ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ ประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งรัฐสภาให้ความเห็นชอบ

ชลน่านกล่าวต่อว่า กรณียุบพรรคที่เกี่ยวข้องซึ่งออกนโยบายที่เป็นปัญหา และเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นการใช้นโยบายพรรคเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางปกครอง ที่เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการยื่นยุบพรรคนั้นจะยื่นให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฐานะองค์กรที่กำกับดูแลพรรคการเมือง ทั้งนี้ การยื่นคำร้องนั้นจะพิจารณาในรายละเอียดให้รอบด้าน ทั้งการนำเสนอนโยบาย การปฏิบัติตามนโยบาย การโฆษณา ที่เข้าข่ายหลอกลวง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการปกครอง ส่วนในรายละเอียดนั้นฝ่ายกฎหมายของพรรคฝ่ายค้านอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด และคาดว่าวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้นั้น จะทราบความชัดเจน

ชลน่านกล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นการยื่นศาลปกครองให้มีคำสั่งคุ้มครองและมีคำสั่งให้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ทำให้ทุกส่วนของกัญชากัญชงไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสารทีเอชซีเกิน 0.2% นั้นออกไม่ชอบตามกฎหมาย เพราะสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนให้กับประชาชนและมีผลกระทบต่อสังคม

'ศุภชัย'เตรียมสวนให้หนักหน่วงในไม่ช้า

ด้าน ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทยโพสต์เฟซบุ๊ก 'Suphachai Jaismut'กรณีมติพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นยุบพรรคภูมิใจไทย ว่า เราทำถูกต้อง ตนมั่นใจว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยหลายคนก็เคยน้ำตาตก เมื่อครั้งพรรคไทยรักไทย ไปจนถึงพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ตอนนั้นมีการพูดไปว่าเป็นการลงโทษทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรมที่สุด เนื่องจากทำลายความหวังของประชาชนนับล้านที่เลือกพรรคการเมืองนั้น

ศุภชัย ระบุต่อว่า เพราะการยุบพรรคการเมืองเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยหลักเหตุผลที่ว่า พรรคการเมืองมิใช่เป็นของแค่คณะกรรมการบริหารพรรค แต่แท้จริงเป็นของสมาชิกพรรคทั้งปวง การพิจารณาโทษของพรรคการเมือง ควรพิจารณาโทษเฉพาะคณะกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น ไม่ควรลงโทษสมาชิกพรรคด้วยการยุบพรรคที่สมาชิกทั้งหมดเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งการยุบพรรคการเมืองไม่ได้ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง

“การยุบพรรคผิดหลักประชาธิปไตย แต่กลับกลายเป็นว่าพรรคที่พยายามกอดประชาธิปไตย อย่างพรรคเพื่อไทย รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านอื่น กลับจะมายื่นยุบพรรคภูมิใจไทย เพราะนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงเมื่อปี 2562 และเราเป็นพรรคการเมืองเพียงไม่กี่พรรคที่ดำเนินการตามกฎหมายในการทำนโยบาย และได้ยื่นให้กกต.ตรวจสอบและเห็นชอบ ซึ่งต่อมานโยบายนี้ก็ได้ถูกกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ 4 ของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา” ศุภชัย ระบุ

ศุภชัย ระบุด้วยว่า ย้อนกลับไป เราคือพรรคที่เห็นอกเห็นใจตอนที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ และเราเห็นว่าการยุบพรรคนั้น เป็นกระบวนการเล่นงานทางการเมือง ที่บั่นทอนความเข้มแข็งของประชาธิปไตย แต่วันนี้ พรรคเพื่อไทยกลับเลือกใช้เป็นวิธีเล่นงานพรรคภูมิใจไทย เราไม่กังวลเลยว่านโยบายของเรา จะนำไปสู่การที่พรรคจะต้องถูกยุบ เพราะนโยบายนี้ได้รับการตรวจสอบจาก กกต.แล้ว

ส่วนการปลดล็อกกัญชาหรือที่เรียกว่าประกาศ ยส.5 ที่รมว.สาธารณสุขลงนาม ก็เป็นการออกประกาศตามคำเสนอของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการของรัฐมนตรีที่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติทุกประการ และไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง

“ผมเพียงแปลกใจที่ท่านใช้การยุบพรรคมาเล่นงานเรา เท่ากับว่าพรรคท่านก็เห็นดีเห็นงามกับการใช้เรื่องของการยุบพรรคมาเล่นงานทางการเมือง และถ้าคิดว่าการยุบพรรคการเมืองคือสิ่งที่ท่านโหยหา ผมจะจัดให้ในไม่ช้าด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงที่แน่นหนาและหนักหน่วง” ศุภชัย ระบุ

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไปความว่า  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่สภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ตามความในมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รพ.ธรรมศาสตร์-สปสช. เปิดโครงการผ่าตัด ‘ข้อเข่า-สะโพกเทียม’ ปี 66 ให้บริการผู้ยากไร้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย 

$
0
0

มธ. ผนึกกำลัง “โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ - สปสช.” เดินหน้าโครงการ “ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า-สะโพก” ปี 2566 เตรียมให้บริการผู้ยากไร้อีก 100-200 ข้อ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดรับสมัครเดือน พ.ย.นี้ ด้าน เลขาธิการ สปสช. ระบุ พร้อมสนับสนุนงบประมาณ-ระบบส่งต่อ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพที่สุด  

17 ต.ค.2565 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดกิจกรรม “การเฉลิมฉลองความสำเร็จการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อสะโพกเทียม ครบ 200 ข้อ ประจำปี 2565” เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2565 ภายหลังทั้ง 3 หน่วยงานร่วมกันให้บริการผ่าตัดข้อเข่า-ข้อสะโพกเทียมแก่ประชาชนผู้ยากไร้ฟรี-ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ครบตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมทั้งประกาศเดินหน้าโครงการปี 2566 อีก 100-200 ข้อ 

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดทรมานแก่ผู้สูงอายุ และก่อให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างสูง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณข้อเข่าและข้อสะโพกซึ่งเป็นตำแหน่งที่รับน้ำหนักมาก โดยหนึ่งในวิธีการรักษาโรคข้อเสื่อมคือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ร่วมกับ มธ. และ สปสช. ในการดำเนินโครงการจิตอาสาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า-ข้อสะโพกเทียม รวมทั้งสิ้น 283 ราย นับเป็นจำนวนข้อประมาณ 400 ข้อ 

รศ.นพ.ณัฐพล ธรรมโชติ ประธานคณะกรรมการโครงการจิตอาสา ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าการผ่าตัดข้อเข่า-ข้อสะโพกเทียมยังเป็นที่ต้องการอยู่มาก ซึ่งปีที่ผ่านมา มีผู้ยากไร้ที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท/ครอบครัว เข้าร่วมโครงการครบจำนวนภายใน 1 เดือน ขณะที่ในปี 2566 จะเปิดให้บริการอีก 100-200 ข้อ โดยเปิดรับสมัครประมาณเดือน พ.ย. 2565 

“โครงการนี้นับได้ว่าเป็นปีที่ 3 ที่ได้ดำเนินการ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยในปี 2563 และปีต่อมาของโครงการ ทำการผ่าตัดได้ปีละ 100 ข้อ และปี 2565 นี้ได้อีก 200 ข้อ รวมทั้งสิ้นได้ให้บริการประชาชนไปแล้ว 400 ข้อ ตรงนี้สะท้อนถึงปณิธานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน และศักยภาพของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในการให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพก” รศ.นพ.ณัฐพล กล่าว 

ทางด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)กล่าวว่า แม้ สปสช. จะมีสิทธิประโยชน์การให้บริการด้านการผ่าตัดข้อเข่าและสะโพกกับพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนมากกว่าที่ระบบจะรองรับได้ จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ไม่มากพอต่อความต้องการ ฉะนั้น สปสช. พร้อมเป็นกลไกสนับสนุนด้านระบบส่งต่อและงบประมาณแก่โครงการ เพื่อขยายการบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น 

“ความสำเร็จของโครงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและสะโพกจึงถือเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันของแพทย์และเจ้าหน้าที่จิตอาสาที่มาให้บริการผู้ป่วยนอกเวลาราชการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับประชาชน มีเพียงค่าบริการที่ทาง สปสช. เป็นกลไกในการสนับสนุนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการช่วยหนุนเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยข้อเสื่อมที่ไม่สามารถหาสถานพยาบาลในการผ่าตัดได้รวมถึงผู้ยากไร้ โดยที่ท่านไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ๆ โรงพยาบาลอย่างเดียวเท่านั้น จะมาจากที่ใดก็ได้ ทางรพ.ธรรมศาสตร์พร้อมให้บริการ และ สปสช.ก็พร้อมสนับสนุนงบประมาณ 

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทั้งทาง สปสช. และทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่ร่วมกันกับ มธ. ในการดำเนินโครงการและประสบความสำเร็จอย่างน่าภาคภูมิใจ โดยโครงการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเมตตาของทุกฝ่ายที่มาร่วมกันคิดว่าเราจะทำอะไรกันได้อีกที่จะทำให้ประชาชนคนไทยของเรานั้นมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้สมกับการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน และเราจะทำสิ่งที่ดีๆ ต่อจากนี้ร่วมกันต่อไป เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยทั้งมวล 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โทร 02-926-9999 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ราชวงศ์อังกฤษ คนตะโกนวิจารณ์ได้-โดนปรับ แต่ไทยรับคดี ม.112

$
0
0

การตะโกนวิจารณ์ สถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) โดยมากเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้อย่างเสรี และไม่ถูกดำเนินคดีจากทางการ แต่ในไทยนั้น ประชาชนตะโกนวิจารณ์กษัตริย์กลับถูกจับกุม ข้อหา ม.112 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ‘อติรุจ’ วัย 25 ปี ถูกจับที่ศูนย์สิริกิติ์ เหตุไม่ยอมนั่งลง และตะโกนวิจารณ์ ระหว่างขบวนเสด็จรัชกาลที่ 10-พระราชินี เคลื่อนผ่าน หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดศูนย์ประชุมฯ ล่าสุด (17 ต.ค. 65 เวลา 17.00 น.) สำนักข่าวราษฎรรายงานว่าอติรุจได้รับการปล่อยตัวแล้ว 

ประชาไทชวนดูกรณีประชาชนตะโกนวิจารณ์สถาบันกษัตริย์อังกฤษ หลังการสวรรคตของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2  ไล่เรียงตั้งแต่คำที่ตะโกนวิจารณ์ บริบทที่ทำให้เกิดการวิจารณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ตลอดจนกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิการประท้วงสหราชอาณาจักร มาตรการรักษาสงบเรียบร้อยที่ไม่ทิ้งเรื่องการรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน

มัดรวมเหตุการณ์ ตะโกนวิจารณ์ราชวงศ์อังกฤษ

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 65 ที่เมืองออกซ์ฟอร์ด มีเหตุการณ์ชายคนหนึ่งตะโกน ‘ใครเลือกท่านเข้ามา’ ในช่วงพิธีประกาศให้กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ

ชายคนนี้คือ ‘ไซมอน ฮิลล์’ เป็นครูสอนประวัติศาสตร์วัย 45 ปีผู้ที่ได้ร่วมฟังประกาศดังกล่าวด้วยความบังเอิญขณะกำลังเดินกลับบ้าน เขาเปิดเผยกับสำนักข่าวอินดิเพนเดนท์ยูเคว่า หลังจากที่ตะโกนถ้อยคำดังกล่าวออกมา ก็มีประชาชนบางคนในฝูงชนบอกให้เขาหุบปากไปซะ แต่เขาก็ไม่ได้ตอบโต้กลับไป แต่ตอบกลับด้วยการยืนยันว่า ‘ประมุขของประเทศได้รับการแต่งตั้งโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากเรา’ หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรีบพุ่งเข้ามาชาร์จ เขาถูกตำรวจนำตัวขึ้นรถตู้ ตำรวจระบุว่า ฮิลล์ถูกจับกุมตัวโดยตั้งข้อสงสัยว่าก่อความไม่สงบในที่สาธารณะ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความสงบเรียบร้อยของประชาชนปี 1986 (Public Order Act 1986) ซึ่งกำหนดความผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการข่มขู่ คุกคาม หรือทำให้ผู้อื่นรู้สึกไม่สบายใจ โดยมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 ปอนด์ แต่สุดท้ายเขาได้รับการปล่อยตัวจากสถานีตำรวจ อินดิเพนเดนท์ยูเครายงานเพิ่มเติม อ้างอิงจากข้อความในทวิตเตอร์ของ ‘อลัน ไวท์’ นักข่าวที่อยู่ร่วมในพิธีระบุว่า คนในฝูงชนบอกให้เขาเงียบปากซะ แต่เท่าที่เห็นก็ไม่มีใครขอให้ตำรวจเข้ามาจัดการ

เหตุการณ์ต่อมาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 ที่เมืองเอดินบะระ สกอตแลนด์ สื่อหลายสำนักรายงานเหตุการณ์ที่ชายคนหนึ่งตะโกน ‘ตาเฒ่าจิตป่วย’ ใส่เจ้าชายแอนดรูว์ พระราชโอรสองค์ที่ 2 ของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ขณะอัญเชิญพระบรมศพของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จากพระราชวังโฮลีรูดไปยังมหาวิหารเซนต์ไจลส์ โดยการตะโกนวิจารณ์ดังกล่าวนั้นอ้างถึงกรณีอื้อฉาวของเจ้าชายแอนดรูว์ที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ 

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น จากคลิปวีดิโอจากเดอะการ์เดียน หลังจากที่เขาตะโกนถ้อยคำดังกล่าวแล้วผู้เข้าร่วมงานที่อยู่รอบๆ ลากตัวเขาออกไปจากพิธี ก่อนถูกตำรวจเข้ามาจับกุม ข้อหาทำลายความสงบ โดยความผิดฐานทำลายความสงบในสกอตแลนด์ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 ปอนด์ และจำคุกไม่เกิน 12 เดือน ก่อนถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่ยืนยันว่าการสืบสวนคดีของชายคนนี้จะดำเนินต่อไปหรือไม่

ภาพเหตุที่ชายชาวเวลส์ ตะโกน ‘ดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่าไฟที่บ้าน แล้วยังต้องมาจ่ายค่าจัดงานให้ท่านอีก’ ใส่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

สำนักข่าวนิวส์จากออสเตรเลียรายงานเหตุการณ์ที่ชายชาวเวลส์ ตะโกน ‘ดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่าไฟที่บ้าน แล้วยังต้องมาจ่ายค่าจัดงานให้ท่านอีก’ ใส่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ขณะเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนในแคว้นเวลส์ครั้งแรกหลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถ โดยการวิจารณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากสถานการณ์วิกฤตค่าครองชีพในสหราชอาณาจักร ที่ทำให้ประชาชนรับภาระหนักขึ้น โดยเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อนานกว่า 7 เดือนแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ หน่วยรักษาความปลอดภัยรีบกันชายคนดังกล่าวออกไปทันที ประชาชนคนอื่นตะโกนสรรเสริญว่า ‘ก็อดเซฟเดอะคิง’ (God Save the King) ด้านกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ก็เดินออกจากบริเวณนั้นเพื่อไปพูดคุยกับประชาชนตรงอื่นแทน นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่พระองค์เสด็จเยือนเวลส์ มีผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์คลิปวีดิโอที่ประชาชนส่งเสียงโห่ต้านกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 และราชินีคามิลลา ณ ปราสาทคาร์ดิฟ แคว้นเวลส์ 

 

กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการประท้วง ในสหราชอาณาจักร

สำนักข่าวเดอะสแตนดาร์ดแปลและเรียบเรียงเรื่องนี้ไว้ อ้างอิงจากเดอะการ์เดียนโดยกฎหมายระบุไว้ว่า ‘ทุกคนมีสิทธิที่จะประท้วงได้อย่างสันติ’ โดยประชาชนมีสิทธิ์ที่จะแสดงออกอย่างเสรี และมีเสรีภาพในการชุมนุม ตามพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชน (Human Rights Act) ซึ่งบัญญัติตามมาตรา 10 และ 11 ของอนุสัญญาคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพลเมืองยุโรป (European Convention on Human Rights)

อย่างไรก็ตาม สิทธิในการประท้วงตามกฎหมายของอังกฤษและเวลส์นั้น ‘มีข้อจำกัด’ ตามที่ระบุในพระราชบัญญัติความสงบเรียบร้อยของประชาชนปี 1986 หรือ พ.ศ.2529 (Public Order Act 1986) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะโดยเฉพาะ ที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการก่อจลาจล การก่อความไม่สงบเรียบร้อย การทะเลาะวิวาท และการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงระหว่างการชุมนุม อีกทั้งยังให้อำนาจเจ้าพนักงานในการควบคุมความสงบในการชุมนุมด้วย

นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติตำรวจ อาชญากรรม การพิจารณาพิพากษา และศาล (Police, Crime, Sentencing and Courts Act: PCSC) ที่เพิ่งบังคับใช้ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มอำนาจให้ตำรวจในการควบคุมและปราบปรามการประท้วงมากกว่าในอดีต เช่น เจ้าหน้าที่สามารถกำหนดเงื่อนไขได้ว่าการชุมนุมต้องเริ่มและจบลงเวลาใด หรือการชุมนุมใช้เสียงดังได้เท่าไร อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการสั่งห้ามการประท้วงอย่างเด็ดขาด

ส่วนในสกอตแลนด์ก็มีการใช้กฎหมายที่คล้ายคลึงกันในรูปแบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) และตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการออกใบอนุญาตปี 2010 หรือ พ.ส.2553 (Criminal Justice and Licensing (Scotland) Act 2010) ส่วนในไอร์แลนด์เหนือนั้นจะมีกฎหมายด้านการควบคุมการประท้วงของตนเองโดยเฉพาะ ตามที่ระบุในคำสั่งด้านความสงบเรียบร้อยปี 1987 หรือ พ.ศ.2530 (The Public Order (Northern Ireland) Order 1987)

สหราชอาณาจักร มีกฎหมายคล้าย ม.112 หรือไม่ 

สำหรับกฎหมายของสหราชอาณาจักรที่พอเทียบเคียงได้กับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยนั้น คือ พระราชบัญญัติความผิดอาญาฐานกบฎ ค.ศ. 1848 หรือ พ.ศ.2391 (Treason Felony Act) ว่าด้วยใครก็ตามที่เรียกร้องให้มีการยกเลิกสถาบันกษัตริย์อาจถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาซึ่งมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ทั้งนี้เป็นความคล้ายคลึงในทางเทคนิคเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงกฎหมายฉบับนี้ไม่เคยถูกนำไปใช้ดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 1879 หรือ พ.ศ.2422 แล้ว 

ฉะนั้นการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ พลเมืองอังกฤษจะไม่ถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์เจ้าในสหราชอาณาจักรโดยส่วนใหญ่แล้วสามารถกระทำได้อย่างเสรี ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ที่ถูกจับกุมตัวส่วนมากจะโดนข้อหาก่อความไม่สงบในพื้นที่สาธารณะหรือไม่ก็ถูกกันตัวออกไปจากพิธี แต่ไม่ใช่การตั้งข้อหาที่ร้ายแรงอย่างการดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายราชวงศ์

ปัจจุบัน เมื่อมีการฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์สมาชิกเชื้อพระวงศ์ของอังกฤษ ศาลจะใช้เพียงกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปหรือกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวเช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากกรณีของความขัดแย้งระหว่างเจ้าชายแฮรี และเมแกน แมร์เคิล กับเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ และสื่อที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

เมื่อ พ.ย.64 บีบีซีไทยรายงานย้ำด้วยว่า "ปัจจุบันสหราชอาณาจักรไม่ได้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"ย้อนไปเมื่อปี 2010 หรือ พ.ศ.2553 สกอตแลนด์ได้ยกเลิกกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยความผิดฐานปลุกระดมและดูหมิ่นประมุขของรัฐนั่นก็คือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ไปแล้ว

จากรายงานการประชุมพิจารณายกเลิกกฎหมายในครั้งนั้น เฟอร์กัส อิววิง รัฐมนตรีด้านความปลอดภัยชุมชนของสกอตแลนด์ บอกว่า ถึงเวลาที่สกอตแลนด์ต้องยกเลิกความผิดอาญาฐานปลุกระดมและการดูหมิ่นตามชาติอื่น ๆ ในสหราชอาณาจักรแล้ว

รัฐมนตรีด้านความปลอดภัยชุมชนของสกอตแลนด์ บอกว่า บทบัญญัติเหล่านี้เป็นแค่ของแปลกไว้ให้นักเรียนกฎหมายได้ครุ่นคิดเพื่อความสนุกสนาน และที่สำคัญกว่านั้น การที่สหราชอาณาจักรมีกฎหมายเหล่านี้อยู่เป็นการเปิดทางให้คณะผู้ปกครองในประเทศต่าง ๆ ที่กดขี่ประชาชนตัวเองใช้เป็นข้ออ้างง่าย ๆ ที่จะใช้กฎหมายในลักษณะเดียวกัน พร้อมระบว่าการยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือที่ใช้คำว่า "leasing-making"ในกฎหมายสกอตแลนด์ จะช่วยให้สหราชอาณาจักรมี "อำนาจทางศีลธรรม"มากขึ้นเวลาต้องเจรจากับรัฐที่กดขี่ประชาชน

อย่างไรก็ดี การยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในครั้งนั้นก็เป็นการกระทำในเชิงทฤษฎีเท่านั้น โดย อิววิงบอกว่าไม่มีรายงานว่ามีการดำเนินคดีนี้ตั้งแต่ปี 1715 หรือ พ.ศ.2258 แล้ว

นักกิจกรรมยืนยัน การประท้วงเป็นสิทธิ

สำนักข่าวเดอะสแตนดาร์ด แปลและเรียบเรียงความคิดเห็นจากนักรณรงค์ด้านเสรีภาพอ้างอิงจากบีบีซีระบุว่า ‘รูธ สมีธ’ หัวหน้าผู้บริหารของอินเดกซ์ออนเซนเซอร์ชิบ (Index on Censorship) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก กล่าวว่า การจับกุมตัวผู้ประท้วงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายงดใช้สถานการณ์นี้มาเป็นสิ่งที่ทำลายเสรีภาพในการแสดงออกที่ประชาชนทั้งประเทศพึงมี

ด้าน ‘ซิลกี คาร์โล’ ผู้อำนวยการบิ๊กบราเธอร์วอทช์ (Big Brother Watch) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งต่อต้านการคุกคามต่อเสรีภาพของพลเมือง กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชนในการประท้วงด้วยเช่นกัน ตราบเท่าที่พวกเขามีหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชนที่แสดงออกถึงการสนับสนุน แสดงความเสียใจ หรือแสดงความเคารพต่อราชวงศ์ 

สอดคล้องกันกับความคิดเห็นของ ‘โจดี เบก’ เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายและการรณรงค์ของลิเบอตี (Liberty) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สนับสนุนสิทธิพลเมืองที่กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งที่ได้เห็นตำรวจบังคับใช้อำนาจในลักษณะที่เป็นบทลงโทษหนักต่อประชาชน พร้อมย้ำว่า การประท้วงไม่ใช้ของขวัญที่รัฐมอบให้ แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้ว

ตะโกนวิจารณ์ขบวนเสด็จ รับคดี ม.112

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (อัพเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2565) นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 63 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 216 คน ใน 235 คดี โดยคดีล่าสุดนั้น คือ คดีของอติรุจ (สงวนนามสกุล) ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 65 และนำตัวไปแจ้งข้อหาที่ สน.ลุมพินี เหตุมาจากไม่ยอมนั่งลงและตะโกนวิจารณ์ ‘ไปไหนก็เป็นภาระ’ ระหว่างการเสด็จกลับจากการเปิดศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

วันนี้ (17 ต.ค. 65) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทวีตว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ฝากขังอติรุจ เป็นเวลา 12 วัน หลังพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินียื่นฝากขังครั้งที่ 1 ทนายความจึงได้ยื่นประกันตัวต่อทันที ซึ่งต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันด้วยวงเงิน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ อติรุจจึงจะได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมตัวอยู่นาน 2 คืน

เวลา 17:00 น.สำนักข่าวราษฎรรายงานว่าอติรุจได้รับการปล่อยตัวแล้วโดยมีมวลชนที่มารอให้กำลังใจได้เข้ามอบดอกไม้ และ ส.ส เบญจา แสงจันทร์ ก็ได้มามอบดอกไม้ให้กำลังใจด้วย

เรียบเรียงจาก:

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศาลไต่สวนสื่อพลเมืองคดีละเมิดอำนาจศาล เหตุไลฟ์สดเกาะติด 'บุ้ง-ใบปอ'หน้าศาล เสร็จแล้ว นัดฟังคำสั่ง 26 ต.ค.นี้

$
0
0
  • ศาลไต่สวน 'ลุงดร'สื่อพลเมืองในคดีละเมิดอำนาจศาลเสร็จแล้ว คดีนี้สืบเนื่องมาจากเหตุไลฟ์สดเกาะติดบุ้ง-ใบปอหน้าศาล นัดฟังคำสั่ง 26 ต.ค.นี้
  • ศาลออกหมายจับ 'มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ'หลังไม่มารายงานตัวคดี 112 อัยการสั่งฟ้อง 'มานี-จินนี่'ข้อหาดูหมิ่นศาล กรณีร่วมปราศรัยวิจารณ์ศาล 

 

17 ต.ค.2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เช้าวันนี้ (17 ต.ค.) ศาลอาญากรุงเทพใต้ดำเนินการไต่สวน ภราดร เกตุเผือก สื่อพลเมือง เจ้าของเพจ “ลุงดร เกตุเผือก” สื่อพลเมืองในคดีละเมิดอำนาจศาลเสร็จแล้ว คดีนี้สืบเนื่องมาจากเหตุไลฟ์สดที่หน้าศาล เพื่อเกาะติดสถนการณ์ที่ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง และณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ 2 นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ถูกเบิกตัวมาศาลในนัดตรวจพยานหลักฐาน รวมถึงรอฟังคำสั่งประกันตัวของทั้งคู่ เมื่อวันที่  18 ก.ค.ที่ผ่านมา 

โดยศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 26 ต.ค. 2565 เวลา 09.30 น.

 

 

ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เป็นคดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ในวันเกิดเหตุ (18 ก.ค.65) ศาลออกนั่งพิจารณาคดี และชี้แจงว่าผู้อำนวยการศาลอาญากรุงเทพใต้ทำรายงานเสนอว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำศาลได้มารายงานให้ทราบว่า ภราดรได้ทำการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ (Live) อยู่ที่บริเวณบันไดทางขึ้นหน้าอาคารศาลอาญากรุงเทพใต้ 

ผู้อำนวยการศาลอาญากรุงเทพใต้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญากรุงเทพใต้ เรื่อง มาตรการการรักษาเรียบร้อยและความปลอดภัยในบริเวณศาล ฉบับลงวันที่ 8 มี.ค. 2564 อันเป็นการละเมิดศาล ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ประกอบประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 

ด้านภราดรได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยแถลงต่อศาลว่า ตนเองเป็นผู้สื่อข่าวอิสระ ไม่ทราบว่าไลฟ์สดดังกล่าวจะเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาล และยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะละเมิดอำนาจศาล ทั้งตนเคยไลฟ์สดเกาะติดสถานการณ์ที่ศาลนี้และศาลอื่นหลายครั้ง ตำรวจศาลหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ไม่ได้เข้ามาตักเตือน และที่ศาลนี้ ก็ไม่พบว่ามีป้ายประกาศข้อกำหนดมาตรการของศาลเกี่ยวกับการไลฟ์สดติดให้ทราบแต่อย่างใด

ต่อมาศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวภราดร โดยไม่ต้องวางหลักประกัน แต่ให้ภราดรสาบานตนแทน พร้อมทั้งกำหนดนัดไต่สวนคดีนี้อีกครั้งในวันนี้ (17 ต.ค.) 

ศูนย์ทนายฯ รายงานข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ “ลุงดร” หรือ ภราดร เกตุเผือก ว่า เขา อายุ 55 ปี เป็นผู้สื่อข่าวอิสระที่ทำหน้าที่เสร็จสรรพด้วยตัวคนเดียว โดยจะถ่ายทอดสดรายงานสถานการณ์ (Live) ในประเด็นการแสดงออกทางการเมืองและการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย อาทิ การชุมนุม กิจกรรมยืนหยุดขัง นัดหมายคดีของผู้ต้องคดีการเมือง เป็นต้น 

ลุงดรมักจะเป็นคนแรกและคนสุดท้ายที่ไปเกาะติดสถานการณ์เหตุการณ์ต่างๆ เสมอ อย่างเช่นในวันที่มีนัดพิจารณาคดีที่ศาล เขาก็มักจะไปถึงก่อนเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 

ในคืนที่ไม่มีสื่อมวลชนสำนักไหนเกาะติดสถานการณ์ ลุงดรก็มักจะเป็นคนที่ยังรายงานข่าวด้วยการไลฟ์สดอยู่ อาทิ สถานการณ์ในคืนที่ผู้ชุมนุมทะลุแก๊สถูกจับตัวไปอยู่ที่ บช.ปส. และฝนตกกลางดึก ลุงดรนั่งตากฝนและไลฟ์สดไปด้วยเพื่อให้ผู้ติดตามทราบความเคลื่อนไหววินาทีต่อวินาที

ก่อนหน้านี้ ลุงดรไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีและการรายงานข่าว แม้กระทั่งโทรศัพท์ก็ยังใช้ไม่เป็น แต่สื่ออิสระ “กะเทยแม่ลูกอ่อน” หรือ สถิตย์ คำเลิศ ได้ชักชวนลุงดรมาเป็นหนึ่งในแอดมินของเพจเฟซบุ๊กกะเทยแม่ลูกอ่อน เพื่อทำหน้าที่ไลฟ์สดและรายงานข่าว 

หลังจากเรียนรู้การถ่ายทอดสดและรายงานสถานการณ์กับเพจดังกล่าวอยู่พักใหญ่ ลุงดรตัดสินใจออกมาเปิดช่องทางการสื่อสารของตัวเอง โดยเป็นผู้ลงมือทำเองเพียงคนเดียวทั้งหมด ในชื่อช่องยูทูปและเพจเฟซบุ๊กในการถ่ายทอดสดว่า “ลุงดร เกตุเผือก” 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน https://tlhr2014.com/archives/46156

ศาลออกหมายจับ 'มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ'หลังไม่มารายงานตัวคดี 112

ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้ออกหมายจับ กัลยมน สุนันท์รัตน์ หรือ เจ๊เขียว หรือ มิ้นท์ นักกิจกรรมกลุ่มนาดสินปฏิวัติ อายุ 29 ปี ในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีที่ผู้ต้องหาที่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวไม่มารายงานตัวตามกำหนด โดยมิได้เเจ้งเหตุขัดข้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้จึงให้ออกหมายจับ ปรับนายประกัน 200,000 บาท

อัยการสั่งฟ้อง 'มานี-จินนี่'ข้อหาดูหมิ่นศาล กรณีร่วมปราศรัยวิจารณ์ศาล 

คดีความเคลื่อนไหวทางการเมืองและเกี่ยวข้องกับศาลอีกคดี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (17 ต.ค.) อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีของ เงินตา คำแสน หรือ “มานี” อายุ 44 ปี และ จิรัชยา สกุลทอง หรือ “จินนี่” อายุ 54 ปี  ข้อกล่าวหาร่วมกันดูหมิ่นศาล, ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยคดีมีรองอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้มอบอำนาจให้กล่าวหาทั้งสองคน เหตุจากการปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาลระหว่างกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของ “บุ้ง-ใบปอ” ที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 ก่อนที่ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคน

โดยศาลอาญากรุงเทพใต้รับฟ้องไว้ และให้ประกันตัวทั้งคู่ กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 28 พ.ย. 65

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน https://tlhr2014.com/archives/47562

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

‘แดก ดื่ม ดูด’ เสวนาที่บอกเล่าเสรีภาพการท่องราตรีของคนพิการที่ถูกกั้นกลางด้วยทัศนคติ-สถาปัตย์

$
0
0
  • ประชาไทสรุปเสวนาหัวข้อ ‘เสรีภาพหรือเสรีพร่อง’ ตอน “แดก ดื่ม ดูด” เสวนาที่บอกเล่าเสรีภาพการเที่ยวกลางคืนของคนพิการ จัดโดย thisable และศูนย์ดำรงชีวิตอิสระฯ พุทธมณฑล เมื่อ 8 ต.ค. 65
  • วงเสวนาชวนคนพิการมาร่วมแลกเปลี่ยนว่า คนรอบตัวหรือคนในสังคมมีทัศนคติอย่างไรเมื่อเห็นคนพิการไปเที่ยวกลางคืน 
  • กำแพงที่กั้นขวางไม่ให้คนพิการเข้าถึงเสรีภาพการใช้ชีวิต และการท่องเที่ยวกลางคืน ยังสะท้อนผ่านสถาปัตย์ขั้นบันได และห้องน้ำอันคับแคบ ในร้านเหล้า และร้านอาหารต่างๆ
  • จากปัญหาสู่ข้อเสนอ ‘มองคนพิการให้เป็นคนเท่ากัน’ และการพัฒนาเมืองที่เอื้อให้คนพิการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่นๆ

เมื่อ 8 ต.ค. 2565 ‘thisable.me’ สื่อที่นำเสนอเรื่องราวของคนพิการ และศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ พุทธมณฑล จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ 'เสรีภาพหรือเสรีพร่อง' ตอน 'แดก ดื่ม ดูด' ชวนผู้ฟังสำรวจความคิดของคนในสังคมเวลาเห็นผู้พิการเที่ยวยามราตรี ปาร์ตี้ และใช้ชีวิต และข้อเสนอของผู้พิการต่อการสร้างสถานประกอบการที่ทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ ที่ดีคอมมูเน (Die Kommune) เลียบคลองทวีวัฒนา กทม.

ลิงก์ชมเสวนา ‘เสรีภาพ เสรีพร่อง’ ตอน 'แดก ดื่ม ดูด' เมื่อ 8 ต.ค. 2565

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย เอกชัย ศิริผล 'จ๋า' รุจิเรข และ รณภัฎ วงศ์ภา มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับผู้พิการ และมี อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ จากศูนย์การดำรงชีวิตอิสระฯ พุทธมณฑล เป็นผู้ดำเนินรายการ

อรรคพล เล่าว่าเสวนาครั้งนี้เริ่มจากแนวคิดที่ทางผู้จัดเชื่อว่า 'ผู้พิการ คือ มนุษย์' มีชีวิต จิตใจ ตลอดจนเสรีภาพในการใช้ชีวิตไม่ต่างจากคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้จัดก็ตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องราวของผู้พิการต้องนำเสนอผ่านมิติงานวิชาการหรือทางการแพทย์เท่านั้น แต่มิติเสรีภาพการใช้ชีวิตและเรียบง่าย กลับไม่ค่อยได้รับการนำเสนอผ่านหน้าสื่อเลย ดังนั้น งานเสวนานี้มุ่งหวังว่าผู้ฟังไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเข้าใจผู้พิการในด้านที่เป็นมนุษย์มากขึ้น

บรรยากาศวงเสวนา 'แดก ดื่ม ดูด'

เสรีภาพการใช้ชีวิตที่ถูกขวางกั้นโดยทัศนคติ (?)

วงเสวนาเริ่มต้นจากการชวนทุกคนคุยว่า หลังจากต้องเป็นผู้พิการแล้ว คนรอบตัวมีความเป็นห่วง หรือมีทัศนคติอย่างไรบ้าง เวลาที่ผู้พิการไปเที่ยวกลางคืน

'จ๋า' รุจิเรข ผู้พิการหญิงที่ต้องใช้วีลแชร์ เล่าให้ฟังว่า ตอนช่วงมหาวิทยาลัยเธอเป็นคนชอบไปเที่ยวกลางคืนมากๆ เวลาไปบางร้านจะมีสายตาจากคนรอบข้างที่อาจจะแปลกใจที่เห็นผู้พิการมาเที่ยว และด้วยความที่เธอเป็นคนชอบทานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เที่ยวแบบสุดตัว เวลาเมาก็เมาหนัก ทำให้เมื่อก่อนเวลาเมาแทบทุกครั้งมักจะได้แผลกลับมา หรือสร้างวีรกรรมมากมาย ซึ่งนี่เป็นปัจจัยที่ทำให้หลายคนห่วงว่า ถ้าผู้พิการเมาจะทำยังไง โดยเฉพาะคนในครอบครัว

'จ๋า'รุจิเรข ผู้หญิงพิการ

"เราไม่ได้มองว่าเราพิการแล้วเราจะต้องถนุถนอมตัวเองเซฟตัวเอง หรือจะต้องเหนียมอาย เราก็รู้สึกว่า เราก็คนพิการคนหนึ่งที่อยากใช้ชีวิต อยากใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป ความพิการเป็นแค่อุปสรรคในร่างกาย แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต" จ๋า กล่าว

จ๋า กล่าวว่า สำหรับการปรับความเข้าใจกับครอบครัว เธอเริ่มจากใช้วิธีคุย หรือพูดติดตลก เพื่อให้ครอบครัวยอมรับ หรือเปิดโลกเกี่ยวการใช้ชีวิตของผู้พิการมากขึ้น เธอกล่าวว่าที่ใช้วิธีนี้เพราะอยากบอกกับครอบครัวว่าไม่จำเป็นต้องโอบอุ้มผู้พิการขนาดนั้น ซึ่งปัจจุบันก็ได้ผล และเวลาที่เธอไปเที่ยวช่วงกลางคืน ครอบครัวเองก็ถามเพียงว่าตอนนี้อยู่ไหน หรือทำอะไรอยู่ ไม่ได้เป็นห่วงมาก 

"ภาพจำของทุกคนจะมองว่า ผู้พิการจะต้องติดเตียง ผู้พิการจะต้องแบบแต่งตัวโทรมๆ จะต้องอยู่กับบ้าน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ นอนติดเตียง แต่นั่นมันคือในยุคในช่วงที่ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมันเอื้อขนาดนี้ หรือการออกมาขับเคลื่อนให้ชีวิตคนพิการมันมีการพัฒนา ซึ่งพอมองไปมันเลยทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องค่อยๆ ปรับความเข้าใจก่อนกับคนในครอบครัว กับคนรอบข้าง เหมือนเราอยู่กับใครเราก็ปรับความคิด ปรับมายด์เซตเขา ชีวิตเรามันสามารถที่จะใช้ได้ ทำไมเราต้องรอให้อุปสรรคนั้นมันถูกแก้ไขก่อน ทำไมเราไม่ออกไปจนกว่าอุปสรรคนี้มันจะถูกพัฒนา หรือมีความเปลี่ยนแปลง" จ๋า กล่าว

ด้าน 'เอก' เอกชัย ศิริผล อีกหนึ่งคนพิการที่ต้องใช้วีลแชร์ มาร่วมคุยว่า โดยพื้นฐานเขาไม่ใช่คนกลัวการออกไปอยู่ข้างนอก และครอบครัวก็พยายามผลักดันให้เขาไปเที่ยวอยู่ตลอด ไม่อยากให้เก็บตัวอยู่ในบ้านอย่างเดียว 

เอก เล่าว่าเขาไม่มีปัญหากับสายตาคนรอบข้างมากนัก เพราะเขารู้สึกว่า พื้นฐานของคนในสังคมเป็นคนใจดีและมีน้ำใจ ดังนั้นเวลาที่มีคนมอง เขาจะจัดการตัวเองหรือมองตัวเองว่า ‘เป็นคนธรรมดา’ เหมือนกับคนอื่นๆ  

ขณะที่ 'ออม' รณภัฎ วงศ์ภา ผู้พิการที่ต้องใช้วีลแชร์อีกราย บอกว่า เวลาไปเที่ยว ครอบครัวก็เป็นกังวล เพราะว่าที่เขาต้องนั่งวีลแชร์มีสาเหตุมาจากการไปเที่ยวกลางคืน แต่เขาก็ใช้วิธีคุยกับครอบครัวจริงจังว่า วันนี้ไม่เที่ยวที่ไหน หรือยังไงบ้าง เพื่อให้เขาคลายความกังวล และรู้สึกว่าเขาดูแลตัวเองได้

ส่วนเรื่องสายตาคนรอบข้างนั้น ออม เจอสายตามองบ้างมีทั้งมองในแง่ดี กับมองแบบว่าทำไมพิการยังออกมาเที่ยวเหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขารู้สึกได้

อยากเที่ยว แต่สถาปัตย์ไม่เอื้อ

จากวงเสวนา ร่วมสะท้อนว่าการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมสถานที่เที่ยวบางแห่งเป็นอุปสรรคต่อผู้พิการการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการไม่มีทางลาดทางเข้าร้านจนบ่อยครั้งต้องให้คนช่วย  หรือห้องน้ำที่มีความคับแคบ 

จ๋า สังเกตว่า ร้านเหล้าส่วนใหญ่ถูกสร้างโดยไม่อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการมากเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นบันไดทางเข้าร้าน หรือต้องขึ้นไปชั้น 2 แต่เธอโชคดีที่เพื่อนเป็นคนช่วยจัดการ หรือโทรสอบถามร้านว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการหรือไม่ 

ด้าน 'เอก' กล่าวว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่ชอบไปเที่ยวมากไปคอนเสิร์ต ไปปาร์ตี้ หรือไปชมภาพยนตร์ ซึ่งถ้าไม่ติดปัญหาเรื่องทางเข้า และห้องน้ำ เขาพร้อมจะไปทุกที่ 

เอก สะท้อนปัญหาว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือทุกที่โดยเฉพาะถ้าเป็นตึก มักจะมีขั้นบันไดบริเวณทางเข้าทุกครั้ง ร้านเกือบเท่าพื้นก็ต้องมียกพื้นขึ้นมานิดหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้พิการใช้วีลแชร์ไม่สามารถเข็นเข้าไปในร้านได้เลย และต้องมีคนช่วยยกเข้าไป  อีกปัญหาหนึ่งที่เอก ร่วมสะท้อนคือเรื่องห้องน้ำ ซึ่งบางครั้งมีขนาดเล็กเกินไป เมื่อเข็นวีลแชร์เข้าไปแล้วปิดประตูไม่ได้ เขาก็ไม่สามารถใช้ได้ 

เอก แบ่งปันประสบการณ์ต่อว่า นอกจากร้านเหล้า หรือผับบาร์ การออกแบบภายในโรงภาพยนตร์ที่ไม่มีทางลาดก็สร้างความลำบากให้กับผู้พิการที่ต้องใช้วีลแชร์ด้วย 

ประเทศที่ดีคนพิการต้องมีเสรีภาพการใช้ชีวิต

เอก เล่าว่า เขาเองไม่แน่ใจว่าจะผลักดันเรื่องการออกแบบโครงสร้างหรือสถาปัตย์ที่เอื้อต่อคนพิการได้อย่างไรเพราะเขาเชื่อว่าไม่สามารถเปลี่ยนใจใครได้ ถ้าคนๆ นั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับคนพิการ แม้แต่เขาก็เริ่มมาคิดเรื่องนี้จริงจังตอนที่ต้องนั่งวีลแชร์ 

อย่างไรก็ตาม เอกเชื่อว่าประเทศที่ดีต้องทำให้คนพิการมีเสรีภาพในการไปเที่ยวได้ อย่างการเดินทางบนเกาะไต้หวันที่เขาสามารถเดินทางเองได้ โดยไม่ต้องขอให้ใครมาช่วยเป็นพิเศษ

'เอก'เอกชัย ศิริผล

"ผมไปประมาณ 7 วัน เดินทางไปไหนได้หมดเลย ผมคิดว่าสิ่งนี้เกิดที่เมืองไทย ตอนนั้นผมอาจจะไม่ซื้อรถเลยก็ได้ ผมเคยมีประสบการณ์เรื่องรถยนต์ เคยขึ้นแท็กซี่เดินไม่ได้ ผมมีวีลแชร์รับผมไหม เขาบอกเดี๋ยวเบาะพี่ขาด ไม่รับ"

"ถ้ามันเจริญขนาดนี้ผมคงไม่ซื้อรถ คนพิการที่นั่นออกจากบ้านเข็นไปถึงสถานีรถไฟใต้ดิน ลงได้สะดวก ในสถานีมีห้องน้ำคนพิการด้วย ไปที่ไหนที่รถไฟฟ้าไปไม่ถึง คุณขึ้นรถเมล์ได้ เปิดกูเกิลแอปฯ มาตรงมาก ตรงเป๊ะ มาถึงไม่มีกระเป๋ารถเมล์ คนขับมาเปิดทางลาดให้ ใช้บัตรเดียวกับรถไฟฟ้าจ่าย บัตรเดียวกับรถไฟฟ้าจ่ายของที่เซเว่นได้ บัตรเดียวทำได้ทุกอย่าง ขึ้นเรือได้หมดเลย ผมเลยรู้สึกว่าอยากให้ประเทศเราเป็นแบบนั้น" เอก กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม เอกมองว่าร้านเหล้าที่เขาได้ไปในไต้หวันมีปัญหาคล้ายคลึงของไทย โดยเฉพาะห้องน้ำคือห้องน้ำขนาดเล็ก เนื่องจากอยู่ในตึกแถว แต่เขาแก้ปัญหาไปเข้าห้องน้ำที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแทน

ปรับเปลี่ยนมุมมองให้ ‘คนพิการเป็นคนเท่ากัน’

ในเรื่องข้อเสนอ จ๋า มองว่า ปัญหาเรื่องที่สถานประกอบการหลายแห่งไม่ได้มีการสร้างที่คำนึงถึงคนผู้พิการ อาจเป็นเพราะพวกเขาอาจมองแค่ว่าคนพิการเป็นแค่ลูกค้ากลุ่มเดียวที่ขาดไป ก็คงไม่ได้กระทบเรื่องรายได้ของเขา ซึ่งเธออยากให้เจ้าของสถานประกอบการปรับเปลี่ยนความคิด และอาจมองว่าคนทุกคนทุกกลุ่มควรมีเสรีภาพในการใช้ชีวิต และการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน 

นอกจากนี้ เธอ กล่าวต่อว่า การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทางลาด หรือห้องน้ำผู้พิการ ไม่ใช่แค่คนพิการที่ได้รับประโยชน์ แต่ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากตรงนั้น ซึ่งเธอมองว่า ผู้ประกอบการไม่น่าจะเสียประโยชน์ หรือเดือดร้อนตรงไหน จากการต่อเติมหรือสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงได้ทุกคน 

"รัฐอาจจะต้องเพิ่มงบประมาณในการจัดสรรตรงนั้นมากขึ้น หรือภาษีที่เพิ่มตรงนั้นมากขึ้น แต่ตรงนั้นก็มีการใช้สิ่งที่อำนวยความสะดวกจากตรงนั้นอยู่แล้ว ลองมองว่ามีทางลาดหนึ่งอัน ลองไปนั่งดูสิ มีคนทั่วไปที่ไม่ขึ้นทางนั้นไหม และคุณจะรู้ว่าสิ่งพวกนั้นมันเข้าถึงคนพิการทุกกลุ่ม มันไม่ใช่แค่กลุ่มคนพิการกลุ่มเดียว แต่มันแค่ช่วยเอื้อให้กลุ่มคนพิการเข้าถึงสังคมได้ง่ายขึ้น" จ๋า กล่าว

สุดท้าย ผู้หญิงพิการมองคำถามว่าทำไมผู้พิการต้องมีเสรีภาพการใช้ชีวิต อาจจะไม่ต้องแบ่งแต่แรกว่าใครพิการหรือไม่พิการ เพราะว่าทุกคนควรมีเสรีภาพการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียม 

"ให้นึกถึงคนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้พิการ ถ้าไม่มีเสรีภาพเขาจะใช้ชีวิตยังไง และทำไมต้องมองว่าพิการหรือไม่พิการที่จะต้องมีเสรีภาพ เพราะคนพิการก็คือคนหนึ่งๆ ที่อยากมีชีวิต อยากใช้ชีวิต อยากทำอะไรได้เหมือนกันทุกคน" จ๋า กล่าว

สำหรับเรื่องข้อเสนอ เอก มองว่า เรื่องทางเข้าอาจแก้ไม่ยาก เพราะทำทางลาดก็เสร็จแล้ว แต่ปัญหาห้องน้ำเล็กไปอาจจะแก้ยากกว่า ส่วนที่เขาอยากได้มากที่สุด เป็นเรื่องห้องน้ำสาธารณะที่อยากให้มีมากขึ้น และเอื้อต่อผู้พิการ

การใช้ชีวิตอย่างอิสระ โดยไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่น

ออม มองว่า เสรีภาพการใช้ชีวิตของผู้พิการ และการได้ไปทุกสถานที่โดยไม่ต้องให้คนอื่นๆ มาคอยช่วยเหลือเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่สภาพแวดล้อมในไทยปัจจุบันผลักให้คนพิการออกมา และการไปเที่ยวเขาไม่ได้อยากให้คนรอบๆ มาช่วยเหลือตลอดเวลา ผู้พิการก็อยากทำอะไรได้ด้วยตัวเองเช่นกัน เขาคงจะรู้สึกดีใจหากมีร้านเหล้า ผับ บาร์ มีโครงสร้างที่คนเข้าถึงได้ทุกลุ่ม

'ออม'รณภัฎ วงศ์ภา (ซ้าย)

ออม เสนอว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะแม้ว่าในไทยจะมีกฎหมายที่บังคับให้ผู้ประกอบการต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ แต่มันไม่ได้ไปเปลี่ยนความคิดคนด้วย

"อยากให้สถานประกอบการทุกที่ ไม่ใช่แค่ผับแค่บาร์ หรือร้านอาหารก็แล้วแต่ ให้เขาคำนึงหรือเข้าใจว่าไม่ได้มีแค่กลุ่มคนพิการกลุ่มเดียวนะ มันยังมีกลุ่มคนผู้สูงอายุด้วย ที่อนาคตประเทศไทยเราก็จะเกิดกลุ่มผู้สูงอายุที่เยอะมาก ก็อยากทำให้เขาสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมานั่งคอยช่วยเหลือ" ออม ทิ้งท้าย

ทั้งนี้เสวนา ‘เสรีภาพหรือเสรีพร่อง’ จัดทุกวันเสาร์เว้นเสาร์ที่ ดิคอมมูเน โดยครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นวันที่ 22 ต.ค.ว่าด้วยประเด็น ‘เย็ด ยัง ยาก’ เสวนาที่ว่าด้วยเซ็กส์ของคนพิการ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

เอสโตเนีย-ลัตเวีย-ลิทัวเนีย เรียกร้องอียูตั้งศาล 'เอาผิด'รัสเซีย ฐานรุกรานยูเครน

$
0
0

รัฐมนตรีต่างประเทศของเอสโตเนีย, ลัตเวีย และ ลิทัวเนีย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเรียกร้องให้สหภาพยุโรปและประเทศแนวร่วมอื่นๆ ช่วยเหลือยูเครนในการจัดตั้งศาลยุติธรรมพิเศษเพื่อการสืบสวนกรณีอาชญากรรมการรุกรานของรัสเซีย และเพื่อให้มีการอุดช่องโหว่ทางกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่ ทำให้สามารถเอาผิดกับรัสเซียในข้อหารุกรานยูเครนได้

 

18.ต.ค.2565 เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา มีการออกแถลงการณ์จาก กระทรวงการต่างประเทศของเอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทัวเนีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ติดทะเลบอลติกและมีพรมแดนติดกับทางตะวันตกของรัสเซีย ระบุเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับรัสเซียในเรื่องอาชญากรรมที่พวกเขาก่อกับยูเครน

ในแถลงการณ์ระบุว่า ก่อนที่สหภาพยุโรปจะจัดให้มีการหารือในเรื่องที่รัสเซียรุกรานยูเครน กระทรวงต่างประเทศของเอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทัวเนีย ขอเรียกร้องให้สหภาพยุโรปใช้ความพยายามในการสนับสนุนยูเครนในการทำให้รัสเซียต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมการรุกราน

กลุ่มประเทศติดทะเลบอลติกระบุว่า ระเบียบโลกที่ตั้งอยู่บนการเคารพในกฎเกณฑ์ร่วมกันจะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ถ้าหากมีการปล่อยให้ผู้ที่ละเมิดกฎนานาชาติอย่างเห็นได้ชัด ลอยนวลไม่ต้องรับผิด ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมสงคราม, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, และอาชญากรรมการรุกราน

กระทรวงการต่างประเทศของเอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทัวเนีย ยังได้พูดถึงกรณีที่รัสเซียโจมตียูเครนโดย "จงใจตั้งเป้าหมายโจมตี"ต่อบ้านเรือนประชาชน, โรงเรียน และสนามเด็กเล่น รวมถึงต่อโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของพลเรือนทั่วยูเครน และอียูควรจะมีนโยบายหลักเป็นการแสวงหาความยุติธรรม ทำให้แน่ใจว่ารัสเซียจะต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมอันเลวร้ายของพวกเขา

"พวกเราควรจะสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนที่กำลังดำเนินอยู่นี้ให้ดำเนินต่อไปได้ ซึ่งเป็นการสืบสวนที่มาจากยูเครนและจากรัฐอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงจากศาลอาญาระหว่างประเทศ เนื่องจากศาลนี้มีบทบาทสำคัญในการเก็บรวบรวมหลักฐานทางวัตถุ, ตรวจหาและลงโทษคนที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงคราม, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กระทำในยูเครน"กระทรวงต่างประเทศของสามประเทศระบุในแถลงการณ์

เอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทัวเนีย ยังระบุอีกว่าความพยายามของยุโรปไม่ควรหยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะในปัจจุบันยังไม่มีศาลนานาชาติหรือศาลยุติธรรมที่จะนำตัวเจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือทหารระดับสูงของรัสเซียมารับผิดชอบต่ออาชญากรรมการรุกรานยูเครน พวกเขาจึงเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง "ศาลยุติธรรมพิเศษเพื่อการลงโทษอาชญากรรมการรุกรานต่อยูเครน"เพื่ออุดช่องโหว่ทางกระบวนการกฎหมายนี้ และมีการขอให้อียูกับประเทศพันธมิตรเป็นตัวการในการจัดตั้งศาลพิเศษนี้

ตัวแทนจาก เอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทัวเนีย ระบุอีกว่าการจัดตั้งศาลยุติธรรมพิเศษจะเป็นการช่วยเอื้อต่อบทบาทของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ด้วย ในขณะที่ ICC จะทำหน้าที่ลงโทษบุคคลที่ก่ออาชญากรรมสงคราม, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ศาลยุติธรรมพิเศษจะทำหน้าที่จัดการกับอาชญากรรมการรุกราน

เอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทัวเนีย ระบุในแถลงการณ์ว่า "ตัวการที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง, ผู้บงการ และผู้เอื้ออำนวยให้เกิดการรุกรานในเชิงฆ่าฟันจะได้ไม่สามารถหนีพ้นจากกระบวนการยุติธรรมได้เพียงเพราะมีช่องโหว่ในกระบวนการกฎหมายอาญาของนานาชาติ"

 

 

เรียบเรียงจาก

The ministers of Estonia, Latvia and Lithuania call to establish a Special Tribunal to investigate the crime of Russia's aggression, Ministry of Foreign Affairs of Republic of Lithusnia, 16-10-2022

https://urm.lt/default/en/news/the-ministers-of-estonia-latvia-and-lithuania-call-to-establish-a-special-tribunal-to-investigate-the-crime-of-russias-aggression

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ศรีสุวรรณ'โดนต่อยยับ ระหว่างแถลงข่าวร้องสอบ 'โน้ส อุดม'ปมเดี่ยว 13

$
0
0

ศรีสุวรรณ จรรยา ถูกชายคนหนึ่งบุกต่อยยับ ระหว่างแถลงข่าวร้องสอบ 'โน้ส อุดม'เดี่ยว 13 ผู้ก่อเหตุอ้างว่าทำร้ายเพราะศรีสุวรรณแจ้งความดำเนินคดีผู้ชุมนุมมาหลายคดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

18.ต.ค.2565 เวลา 10.30 น. ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้าหนังสือร้องเรียนที่ศูนย์รับแจ้งความ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (กองปราบปราม) ให้เอาผิด โน้ส-อุดม แต้พานิช จากกรณีการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน 13 โดยศรีสุวรรณ ร้องเรียนว่า เดี่ยว 13 “มีการใช้ถ้อยคำ บางคำพูดอันอาจมีลักษณะส่งเสริมให้บุคคลร่วมชุมนุมสาธารณะที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจขัดต่อความมั่นคงของรัฐและหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ประกอบ พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 หรือไม่ อย่างไร”

ขณะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่มาด้านหน้ากองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ศรีสุวรรณถูกชายคนหนึ่งบุกเข้าชกต่อยระหว่างแถลงข่าว

 

 

นายกสมาคมทนายความฯ ชี้ 'โน้ส อุดม'เดี่ยว 13 'ไม่ผิดกฎหมาย'เป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

จากการสอบถามของนักข่าวบริเวณที่เกิดเหตุ ชายคนดังกล่าว ระบุว่า ตนเองตั้งใจมาตบเพื่อสั่งสอน ตนเองอายุ 62 ปี จะเกิดอะไรขึ้นตนเองไม่สนใจ วันนี้ยอมทิ้งงานเพื่อมาสั่งสอนศรีสุวรรณ และต้องขอโทษกองปราบปรามที่มากระทำการดังกล่าว เนื่องจากไม่มีโอกาส แม้จะถูกดำเนินคดีก็พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ผู้ก่อเหตุระบุว่า โกรธที่ศรีสุวรรณคอยแจ้งความจับประชาชนที่ออกมาชุมนุม

“ผมตบเพื่อสั่งสอนให้รู้ว่าคนเห็นต่างก็มี อย่าเลียจนเกินไป คำว่าประชาธิปไตยทุกคนต้องยอมรับความเห็นต่าง หลายปีมานี้ นายนี่ (ศรีสุวรรณ) เป็นนักร้องดังกว่านักร้องแร็ป นักร้องลูกทุ่ง เกินไป เหตุผลนี้ผมจึงมาตบสั่งสอน” ผู้ก่อเหตุ กล่าว

 

ต่อมาทราบชื่อชายคนดังกล่าว คือ วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล

บีบีซี ไทยรายงานว่า หลังถูกทำร้ายร่างกายศรีสุวรรณได้เดินทางไปที่ สน.พหลโยธิน เพื่อแจ้งความในข้อหาทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา 295 เพื่อดำเนินการฟ้องศาลต่อไป เจ้าตัวยืนยันว่า จะไม่ยอมความเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด "เมื่อกล้าทำร้ายร่างกายบุคคลอื่น ก็ต้องกล้าจะรับผิดชอบ ตามครรลองของกฎหมาย" 

"ความเห็นทางการเมืองจะขัดแย้งอย่างไร มันทำได้ แต่ไม่ควรลงไม้ลงมือกันอย่างนี้ ปากว่ารักประชาธิปไตย แต่สุดท้ายก็ต้องมาลงไม้ลงมือ เขาเรียกว่าย้อนแย้งต่อคำพูดและกลุ่มของตนเอง สังคมไทยก็คงจะประณามบุคคลประเภทนี้" ศรีสุวรรณ กล่าว

ศรีสุวรรณ ยอมรับว่า วิตกที่ความรุนแรงที่ตนเองเผชิญ จะเป็นแบบอย่างให้เกิดกรณีคล้ายกันกับบุคคลอื่นที่เป็น "นักร้อง"เหมือนตนเอง และเตือนว่า จากนี้จะต้องมีเพื่อนหรือคนคอยรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น แต่ยืนกรานจะเดินหน้าทำหน้าที่ของตนเองต่อไป

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สปสช.เผย 18 ปี กองทุนบัตรทอง จ่ายชดเชยค่าเสียหายบริการด้าน สธ. เกือบ 14,000 ราย 2.6 พันล้านบาท

$
0
0

สปสช. เปิดข้อมูล กว่า 18 ปีของกองทุนบัตรทอง จ่ายชดเชยให้ผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการด้านสาธารณสุขแล้วเกือบ 1.4 หมื่นรายทั้งกรณีเสียชีวิต พิการ บาดเจ็บและรักษาต่อเนื่อง รวมเป็นเงินช่วยเหลือ 2,622 ล้านบาท จนสามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบเยียวยากรณีแพ้วัคซีนโควิด

18 ต.ค.2565 ฝ่ายสื่อของ สปสช. รายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขภายใต้ “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บัตรทอง) สปสช. กระทรวงสาธารณสุข แพทย์สภา ราชวิทยาลัยและสภาวิชาชีพทางการแพทย์ ตลอดจนหน่วยบริการสังกัดหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมดำเนินการเพื่อจัดสิทธิประโยชน์บริการรักษาพยาบาลและสาธารณสุขที่จำเป็นให้กับประชาชนผู้มีสิทธิอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน

เลขาฯ สปสช.กล่าวต่อว่าในการให้บริการมีโอกาสที่จะเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ จึงต้องมีมาตรการรองรับเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการเข้ารับบริการและเป็นการดูแลช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ป่วยหากเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยลดความขัดแย้งและการฟ้องร้องระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการในระบบสุขภาพได้

นพ.จเด็จกล่าวว่าด้วยเหตุนี้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 จึงกำหนดให้คณะกรรมการของ สปสช. กันเงินจำนวนหนึ่งไม่เกินร้อยละ 1 ของเงินที่จ่ายให้กับหน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการในกรณีที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด โดยในช่วงแรก สปสช. กำหนดประเภทความเสียหายและอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็น 3 กรณี คือ กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 200,000 บาท, กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 120,000 บาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 50,000 บาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ได้มีการปรับเพิ่มจำนวนการจ่ายเงินช่วยเหลือ โดยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 100,000 บาท

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นของการใช้มาตรา 41 นี้ยังมีจำนวนผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยได้ขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ไม่มาก โดยปี 2547 ที่เป็นปีเริ่มต้น มีจำนวน 73 ราย เป็นเงินช่วยเหลือ 4.86 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแม้ว่าต่อมาจำนวนการยื่นคำร้องและการช่วยเหลือจะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำนวนเงินการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ แต่ถือว่าเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับการเข้ารับบริการของประชาชนผู้มีสิทธิ และเมื่อดูข้อมูลการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ตามมาตรา 41 ตั้งแต่ปี 2547–2565 หรือในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ทั้งสิ้น 13,913 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 773 ราย

ในรายละเอียดแบ่งเป็นกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร 7,210 ราย กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ 1,902 ราย และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง 4,801 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,622.75 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 145.71 ล้านบาท โดยปี 2565 เป็นปีที่มีผู้ที่ได้การช่วยเหลือเบื้องต้นฯ สูงสุด 1,140 ราย และเป็นปีที่จ่ายเงินช่วยเหลือสุดสุดเช่นกัน 297.32 ล้านบาท

“จากข้อมูลจะเห็นได้ว่ากลไกการช่วยเหลือนี้ แต่ละปีมีจำนวนไม่มาก รวมถึงงบประมาณที่จ่ายไป แต่ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งยังได้รับการยอมรับ โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ถูกนำไปเป็นต้นแบบการช่วยเหลือผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อกระตุ้นและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ที่สำคัญกลไกนี้ยังมีส่วนผลักดันการพัฒนาให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีคุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'รมช.คลัง'รับไม่รู้ เงินเยียวยาเกษตรกรยาสูบ 50 ล้านบาท หายไปไหน

$
0
0

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รับไม่รู้ว่าเงินเยียวยาเกษตรกรยาสูบ จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 50 ล้านบาท หายไปไหน โดยที่สำนักงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 159.69 ล้านบาทไปแล้ว

 

18 ต.ค. 2565 สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รับไม่รู้ว่าเงินเยียวยาเกษตรกรยาสูบ จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 50 ล้านบาท หายไปไหน

หลังเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการสอบถามถึงเงินเยียวยาเกษตรกรยาสูบ จ.เพชรบูรณ์ ดังกล่าว ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยในวันนี้ (18 ต.ค. 2565) ก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับเงินเยียวยาเกษตรกรยาสูบว่าเป็นเรื่องที่ต้องขอไปสอบถามผู้อำนวยการสำนักงบประมาณก่อนว่ามาจากไหน โดยจะสอบถามหลังการประชุมครม.แล้วจะแจ้งให้ทราบ

เมื่อถามย้ำว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้จะมีการชี้แจงให้นายกรัฐมนตรี ทราบใช่หรือไม่ สันติ กล่าวว่า “คือไม่รู้ จะต้องถามเขาก่อนว่า เงิน 50 ล้านหายไปไหน เพราะยังไม่รู้ว่าเป็นเงินอะไร จะต้องถามผู้อำนวยการสำนักงบฯ ก่อน เพราะวันนั้นนายกฯ ถามผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ก็ไม่รู้ว่าเขาตอบอย่างไร”

เงินเยียวยาเกษตรกรยาสูบ จ.เพชรบูรณ์ 50 ล้านบาท ดังกล่าวเป็นเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการลดโควตารับซื้อใบยา ตามโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบและผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย จำนวน 50 ล้านบาท โดยที่สำนักงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 159.69 ล้านบาทไปแล้ว

ต่อมา รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ได้ชี้แจงแล้วว่า การยาสูบฯ ได้ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรผู้มีสิทธิ์ได้รับตามเกณฑ์ของโครงการแล้ว จำนวน 12,936 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 125,095,308.94 บาท ในสัดส่วนตามต้นทุนดำเนินการระหว่างผู้บ่มอิสระกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกขายใบยาสด ในอัตรา 70:30 ของเงินช่วยเหลือ สำหรับใบยาเวอร์จิเนียราคากิโลกรัมละ 17.50 บาท ผู้บ่มอิสระจะได้รับเงินช่วยเหลือ 12.25 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเกษตรกรผู้เพาะปลูกขายใบยาสดจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5.25 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับเกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบเบอร์เลย์ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 9.80 บาทต่อกิโลกรัม และเกษตรกรผู้เพาะปลูกยาสูบเตอร์กิซ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 14.00 บาทต่อกิโลกรัม รวมทั้งการจัดสรรค่าธรรมเนียมการบริการโอนเงินแก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีกรายละ 7 บาท

 

 

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ราชกิจจาฯ เผยแพร่กำหนดการพระราชพิธีฯ ถวายผ้าพระกฐิน โปรดเกล้าฯ ให้ 'เจ้าคุณพระ'เป็นผู้แทนไปวัดเบญจมบพิตรฯ

$
0
0

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน 2565 โดย 22 ต.ค.นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าคุณพระสินีนาฏฯ เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการถวายผ้าพระกฐิน ยังวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

18 ต.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (URL : https://ratchakitcha2.soc.go.th/pdfdownload/?id=139B043N0000000000100 )เผยแพร่หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2565

โดยระบุว่า 

เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินปีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดดังรายการต่อไปนี้

  • วันที่ 18 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
  • วันที่ 19 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร และวัดมกุฏกษัตริยาราม
  • วันที่ 20 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และวัดอรุณราชวราราม
  • วันที่ 21 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม และวัดโสมนัสวิหาร
  • วันที่ 22 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพร้ตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยังวัดเทพศิรินทราวาส และวัดราชโอรสาราม
  • วันที่ 24 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางคว้ฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จฯ ไปยังวัดราชาธิวาสวิหาร
  • วันที่ 25 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จฯ ไปยังวัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • วันที่ 26 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จฯ ไปยังวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
  • วันที่ 27 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
  • วันที่ 22 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการถวายผ้าพระกฐิน ยังวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ชลน่านย้ำยังไม่ได้ยื่นยุบ ภจท. อนุทินแย้งนโยบายกัญชาไม่ผิดกฎหมาย

$
0
0

ชลน่านย้ำยังไม่ได้ยื่นยุบภูมิใจไทย แต่ยังอยู่ระหว่างให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคร่วมฝ่ายค้านพิจารณา ย้ำเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้ยุบพรรคได้ง่ายจนเสนอแก้ไขแม้จะไม่ผ่านสภาก็ตาม อนุทินโต้นโยบายผ่าน กกต.ตั้งแต่ตอนหาเสียง ขอให้ประชาชนตัดสินใจเลือก

18 ต.ค.2565 หลังจากช่วงค่ำเมื่อวานนี้สื่อมวลชนรายงานการแถลงข่าวของ ชลน่าน ศรีแก้วหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะประธานวิปถึงผลหลังการประชุมวิปพรรคร่วมฝ่ายค้านในหลายประเด็นเกี่ยวกับสมัยประชุมสภาสุดท้ายที่จะมีขึ้นตั้งแต่ 1 พ.ย.นี้ และมีประเด็นเรื่องพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นยุบ พรรคภูมิใจไทย กรณีเสนอนโยบายกัญชา

ชลน่านได้โพสต์ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กเพิ่มเติมว่ายังไม่มีการยื่นยุบพรรคการเมืองใดๆ แต่ยังเป็นเพียงขั้นตอนการทำงานเบื้องต้นจากคณะทำงานของผู้อภิปรายในเรื่องนั้นๆ ได้ยกร่างขึ้นมา เพื่อนำมาเสนอต่อคณะกรรมการกฎหมายของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อพิจารณากลั่นกรองว่ามีข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่ยื่นฟ้องร้องได้หรือไม่

หัวหน้าพรรคกล่าวต่อถึงประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องกัญชาที่คณะทำงานของผู้อภิปรายเบื้องต้นได้เสนอให้ดำเนินการตามกฎหมาย 2 เรื่อง คือ

1.ยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว กรณีประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องกำหนดประเภทยาเสพติดประเภทที่ 5 ทำให้กัญชาถูกปลดล็อคจากยาเสพติด ทำให้เข้าใจว่าเป็นกัญชาเสรี มีการนำไปใช้เพื่อสันทนาการอย่างแพร่หลาย

2. เสนอยื่นคำร้อง เพื่อยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง ในการออกนโยบาย เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีแห่งรัฐธรรมนูญ

ชลน่านระบุว่าทั้งสองเรื่องข้างต้นนี้ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านมีความเห็นว่าให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการฝ่ายกฎหมายของพรรคร่วมฝ่ายค้านพิจารณาว่ามีความเหมาะสมมีหลักฐานเพียงพอถึงขั้นร้องยุบพรรคได้หรือไม่ และย้ำว่ายังไม่ได้มีการยื่นยุบพรรคแต่อย่างใดและเชื่อว่าคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะพิจารณาอย่างรอบคอบถ้าพยานหลักฐานไม่เพียงพอคงมีมติให้ยุติเรื่องและไม่ส่งฟ้องยุบพรรค

“ในเรื่องการยุบพรรคการเมือง ทางพรรคเพื่อไทย ได้มีจุดยืนชัดเจน ว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่มีกฎหมายพรรคการเมือง ม.92 บัญญัติให้มีการยุบพรรคการเมืองได้อย่างง่ายดาย เป็นการทำลายพรรคการเมือง ทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ม.45 ให้มีการยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุผลเดียว คือมีการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น แต่เสียดายรัฐสภาตีตก ไม่รับหลักการ ไม่ผ่านความเห็นชอบ” ชลน่านระบุในโพสต์

อนุทินแย้ง พท.ไม่ควรทำแบบนี้ จะแลนสไลด์ให้แข่งทำดีกับประชาชน

สื่อหลายแห่งรายงานความเห็นต่อเรื่องนี้ของอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขโดยเขาระบุว่านักการเมืองเหมือนกันไม่ควรทำลายกันแบบนี้และพรรคที่ประกาศว่าจะแลนด์สไลด์เข้ามาก็ต้องแข่งกันทำดีกับประชาชน

หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยระบุว่านโยบายกัญชาทางการแพทย์ที่ใช้หาเสียงเมื่อปี 2562 เป็นนโยบายที่คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบแล้ว และต่อมานโยบายก็เป็นนโยบายของรัฐบาล รัฐบาลจะทำงานไม่ได้ ถ้าไม่มีการแถลงนโยบายและนโยบายนี้ก็เป็นนโยบายเร่งด่วน และยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

สรุปเสวนาเปิดตัวหนังสือ 'สถาบันกษัตริย์: ความจริงที่ถูกบิดเบือน'-มองเรื่อง ‘กษัตริย์’ ผ่านแว่น ‘อนุรักษ์นิยม’

$
0
0

สรุปเสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘สถาบันกษัตริย์: ความจริงที่ถูกบิดเบือน’ เขียนโดย อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการจาก ‘นิด้า’ สะท้อนความคิดอนุรักษ์นิยมต่อการถกเถียงประเด็นเรื่อง 'กษัตริย์'เช่น ความชอบธรรมการใช้มาตรา 112 พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ งบสถาบันฯ และอื่นๆ พร้อมมองนักวิชาการฝ่ายซ้ายติดกรอบ ไม่มองความจริง

 

เมื่อ 13 ต.ค. 2565 สำนักพิมพ์ ‘บ้านพระอาทิตย์’ เผยแพร่ไลฟ์สดเสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘สถาบันกษัตริย์ : ความจริงที่ถูกบิดเบือน’ เขียนโดย อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ซึ่งงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้เขียนหนังสือ นิรันดร์ เยาวภาว์ บรรณาธิการหนังสือ และเว็บไซต์ข่าว ‘ผู้จัดการออนไลน์’ และ ยุทธิยง ลิ่มเลิศวาที เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ไลฟ์สดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ 'สถาบันกษัตริย์ ความจริงที่ถูกบิดเบือน'เขียนโดย อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า 

ต้องช่วยกันเอาความจริงออกมา

อานนท์ กล่าวว่า เหตุผลที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้เนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2563 เขาเห็นขบวนการเคลื่อนไหวที่บิดเบือนข่าวสารเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง และทำเป็นขบวนการทั้งบนโลกออนไลน์ และออฟไลน์ โดยเขาเป็นเห็นว่าข้อมูลข่าวสารเหล่านี้มีลักษณะ ‘บิดเบือน’  และ ‘ใส่ร้ายป้ายสี’ ดังนั้น เขามีความเชื่อว่าการสู้กับข่าวลวง หรือเฟกนิวส์ ต้องสู้ด้วย ‘สัจจะ’ หรือ ‘ความเป็นจริง’ จึงไปแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อนำมาเขียน เพื่อให้สังคมได้ตื่นรู้ และเท่าทันข้อเท็จจริง "ต้องเอาความจริงออกมา" 

อานนท์ ระบุต่อว่า ความจริงที่นำเสนอต้องนำเสนออย่างรัดกุม และให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รู้ขอบเขตที่เหมาะสม 

“เราต้องเอาความจริงขึ้นมาตีแผ่ เราต้องมั่นใจว่าเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง และมีหลักฐานยืนยันแบ็กอัปอยู่ด้านหลัง และเราก็ต้องรู้ว่าเราจะพูดได้แค่ไหน เผยแพร่ได้แค่ไหนในขอบเขตที่เหมาะสม และพอดีกับสถานการณ์” อานนท์ กล่าว

ยุทธิยง ลิ่มเลิศวาที (ซ้าย) นิรันดร์ เยาวภาว์ (กลาง) และอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้เขียนหนังสือ (ขวา)

อานนท์ กล่าวว่า ไม่ง่ายนักสำหรับการค้นคว้าหาข้อมูล เพราะว่าเรื่องราวของทางวังค่อนข้างจำกัด และเข้าถึงได้ยาก หลายบทความต้องใช้เวลาในการค้นคว้า และอ่านกฎหมายหลายสิบฉบับ นอกจากอ่านแล้ว ต้องอาศัยถามผู้เชี่ยวชาญ หรือไปสืบเอกสารชั้นต้น 

ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สิ่งประดิษฐ์ภายหลัง 

นิรันดร์ กล่าวว่า อานนท์ อธิบายตั้งแต่ระบอบการปกครองที่มีอยู่ทุกวันนี้ที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่แท้จริงเป็น “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” เหตุที่เป็นเช่นนี้ระบอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กลุ่มผู้ก่อการมีแนวคิดแยกออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกต้องการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐไปเลย และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ยอมรับสภาพความจริงว่าสถาบันกษัตริย์ยังมีความจำเป็น และมีความสำคัญต่อประเทศไทย เลยได้ข้อสรุปว่ายังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรอยประเทศอังกฤษ เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยอันมีสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง

“ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Constitutional Monarchy” ส่วนคำว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุขเกิดขึ้นภายหลัง เพราะอยากใส่คำว่า “ประชาธิปไตย” อยู่ แต่ว่าจริงๆ แล้ว คือ ระบอบราชาธิปไตย สิ่งนี้สะท้อนว่าสังคมยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ” นิรันดร์ กล่าว

ขาดสถาบันกษัตริย์ ประเทศแตกแยก-นักการเมืองจะแย่งชิงอำนาจ

อานนท์ กล่าวว่า ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ประเทศจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ทะเลาะกัน พร้อมยกตัวอย่าง ประเทศจีนหลังสิ้นสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีการรบสงครามกลางเมืองเป็นเวลานานถึง 60 ปี ตายไปเกือบร้อยล้านคน รวมถึงกรณีของอังกฤษมีการยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็มีสงครามกลางเมือง และต้องกลับไปรื้อฟื้นสถาบันฯ กลับมาใหม่อีกครั้ง 

อานนท์ ระบุต่อว่า ถ้าไม่มีสถาบันกษัตริย์ นักการเมืองจะเริ่มทะเลาะแย่งชิงอำนาจ และสุดท้าย ประชาชนจะขาดศูนย์รวมจิตใจ

“นี่คือสภาพที่จะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมพยากรณ์ได้เลยว่า เมื่อวันนั้นมาถึงประเทศไทยจะแตกเป็นเสี่ยงๆ แล้วคนไทยก็จะฆ่ากันเองอย่างแน่นอน” นักวิชการจากนิด้า กล่าว

บรรยากาศงานเสวนาที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์

ฝ่ายซ้ายติด ‘กรอบ’ ไม่มองโลกความจริง

นิรันดร์ ระบุว่า ฝ่ายซ้ายที่ไม่เอาสถาบันกษัตริย์ได้รับแนวคิด ‘วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์’ ของคาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) นักปรัชญาชาวเยอรมัน โดยทฤษฎีดังกล่าวระบุว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เริ่มจากสังคมคอมมิวนิสต์ หรือสังคมบรรพการ ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของทรัพยากร ก่อนพัฒนามาเป็นสังคมทาส ซึ่งคนที่มีกำลังเหนือกว่าจะบังคับให้คนที่อ่อนแอกว่าทำงานรับใช้

ต่อจากนั้น สังคมจะพัฒนาสู่สังคมศักดินา ซึ่งมีผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ และพัฒนามาเป็นสังคมทุนนิยม ซึ่งมีนายทุนเป็นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิต และมีอิทธิพล 

คนที่ไม่เอาสถาบันฯ จะเชื่อว่า สังคมหลังจากยุคทุนนิยม จะพัฒนามาเป็น “สังคมนิยม” มีผู้ใช้แรงงานขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง และมีการจัดสรรปันส่วนให้ทรัพยากรให้เท่าเทียมกัน 

หนังสือ มาร์กซ ความรู้ฉบับพกพา

ดังนั้น ฝ่ายซ้าย หรือคนไม่เอาสถาบันฯ ก็จะมีมุมมองว่า สถาบันกษัตริย์ เป็นสิ่งที่ “ล้าหลัง” และเป็นสัญลักษณ์ของสังคมศักดินา เขาจึงพยายามไม่ให้มีสถาบันกษัตริย์ 

อานนท์ มองว่า พวกนักวิชาการเป็นพวกติดกรอบ หรือ ‘Dogmatism’ และเขาเลือกใช้ความจริงเข้าสู้ ซึ่งทฤษฎีของมาร์กซ เป็นแนวคิดที่ตกยุคไปแล้ว ในเยอรมนีเองก็ไม่มีใครที่สนใจ แต่กลับยังแพร่หลายในนักวิชาการฝ่ายซ้ายไทย

"ยึดติดกับกรอบจนลืมดูว่าข้อเท็จจริงมันคืออะไร สัจจะเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้เรามองไม่เห็นความจริง เราจะเห็นแต่กรอบ ซึ่งเป็นเปลือกนอก ซึ่งทำให้เรามองเห็นเป็นอย่างนั้น เหมือนเรามองเห็นเป็นสีของเลนส์แว่นตา แต่ไม่ได้มองเห็นข้อเท็จจริง นั่นคือปัญหาการวิเคราะห์สังคมในมุมมองของผม งั้นผมก็เขียนจากข้อเท็จจริงเป็นหลัก ไม่ได้ใช้กรอบอะไรเลย"  

"มันเป็นสิ่งตกค้างจากการเป็นปฏิวัติอุตสาหกรรมมาก่อน การมี Modernization บ้านเมืองเป็นสมัยใหม่มาก่อน เราเลยยึดถือลัทธิกรอบความคิดอะไรของเขาบางอย่างดีกว่าเรา เราไปตามเขาโดยที่เราไม่ได้ดูว่า สิ่งเหล่านั้นมันเหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองเรามากแค่ไหน มันไม่มีทางเหมือนเลย เพราะว่าผู้คนจิตใจความคิดก็ต่างกัน ความรู้ความคิดก็ต่างกัน สภาพอากาศก็ต่างกัน เราไปเรียนอะไรก็ต้องอาจจะปรับให้เหมาะสมกับบ้านเมืองเราซะก่อน"อานนท์ กล่าว

ด้านนิรันดร์ กล่าวว่า หากต้องการจะหลุดจากความเชื่อนักวิชาการฝ่ายซ้ายแบบนี้ ประชาชนต้องดูที่ความจริง หรือสัจจะเป็นหลัก การยึดติดทฤษฎีหรืออุดมการณ์ รังเกียจการกดขี่ข่มเหงมันเป็นทฤษฎี และก็ไปมองว่าการมีสถาบันฯ เป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ข่มเหง และการแบ่งชนชนั้น ซึ่งอันนั้นเป็นทฤษฎี แต่ในข้อเท็จจริง สถาบันกษัตริย์กดขี่ข่มเหงมันเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ และสิ่งที่คุณเชื่อและทำให้คุณเท่ ในข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

บิดเบือนงบฯ สถาบันกษัตริย์ สร้างวาทกรรม “เงินรายปี”

อานนท์ กล่าวว่า ตอนที่ขบวนการล้มล้างสถาบันฯ เริ่มเคลื่อนไหวเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เขาลองไปสำรวจสื่อโซเชียลมีเดียพบว่า ร้อยละ 95 ไม่พอใจเรื่องภาษี และงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์

อานนท์ ระบุต่อว่า เมื่อเขาเริ่มค้นหาข้อเท็จจริง ก็พบว่าเรื่องงบประมาณถูกหยิบยกขึ้นมา เนื่องจากง่ายที่จะทำให้คนผิดใจกัน ดังนั้น จึงมีความพยายามใส่ไฟ และบิดเบือน เรื่องงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการประดิษฐ์วาทกรรมใหม่ คือ ‘เงินรายปี’

นักวิชาการนิด้า แย้งว่าเขาไม่เคยได้ยินคำว่า “เงินรายปี” เพราะในประเทศไทยปกติจะมีคำว่า “เงินปี” หรือเป็นเงินที่รัฐบาลถวายให้องค์พระมหากษัตริย์ เพื่อใช้เป็นการส่วนตัว และพระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีต่างประเทศก็มีเหมือนกันอย่างในประเทศอังกฤษ และญี่ปุ่น และเงินปีส่วนนี้ไม่ได้จำนวนมาก นอกจากนี้ จะยังมีงบประมาณประจำปีของหน่วยราชการในพระองค์ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีคนที่พยายามเอางบประมาณส่วนราชการในพระองค์ภายใต้สำนักพระราชวัง สำนักองคมนตรี และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ มารวมกัน ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานมีบุคลากรจำนวนราว 14,000 คน และมาเรียกงบฯ ทั้งหมดว่า “เงินรายปี” และมีการนำมาตีความว่าเป็น “เงินปี” ซึ่งเป็นเงินที่ในหลวงใช้ส่วนพระองค์ ซึ่งอานนท์ มองว่า ‘เงินปี’ และงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ฯ สำนักองคมนตรี และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยฯ เป็นงบฯ คนละส่วน ต้องมองแยกกัน

“อันหนึ่งเป็นเรื่องใช้ส่วนพระองค์ คือ เงินปี ส่วนเงินงบประมาณประจำปี เป็นเรื่องของงบประมาณแผ่นดิน กับราชการส่วนพระองค์ มาประดิษฐ์คำใหม่ว่า ‘เงินรายปี’ ให้คนงงเล่นๆ ใช้วิธีการในการโกหกได้ง่ายที่สุดคือการประดิษฐ์คำพูดใหม่” อานนท์ กล่าว

นอกจากนี้ อานนท์ ระบุว่าในความเป็นจริง พระมหากษัตริย์และพระราชินีไม่เคยรับเงินปีที่รัฐบาลถวาย และพระราชทานคืน ‘กรมบัญชีกลาง’ ทั้งหมด และเงินในส่วนที่ถวายให้พระบรมวงศานุวงษ์ ในหลวงใช้เงินส่วนพระองค์เองทั้งหมด ซึ่งไม่เกี่ยวกับที่รัฐบาลถวาย 

พ.ร.บ.โอนกำลังพล ไม่ได้สร้างกองทัพ แต่เป็นการจัดสรรสายบังคับบัญชา

สืบเนื่องจากเมื่อปี 2563 ทางรัฐบาลมีการออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก ไปเป็นหน่วยบัญชาการความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทำให้ฝ่ายต่อต้านสถาบันฯ ออกมาวิจารณ์ว่าเป็นการสร้างกองทัพส่วนพระองค์

อานนท์ กล่วถึงประเด็นนี้ว่า นี่เป็นเรื่องปกติที่ประมุขของทุกประเทศต้องได้รับการคุ้มครอง อย่างในสหรัฐฯ การดูแลความปลอดภัยของประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ปีหนึ่งใช้งบฯ ประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท และมีคนในหน่วยงานหลายหมื่นคน 

ในบริบทของประเทศไทย การถวายอารักขานั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตัวข้าราชการที่ทำงานจะต้องมาทำงานในวัง แต่เจ้านายที่ให้คุณให้โทษอยู่ที่ต้นสังกัด เช่น สตช. กองทัพบก กองทัพอากาศ และอื่นๆ จึงเกิดเป็นปัญหา “ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย” ซึ่งไม่รู้จะขึ้นกับต้นสังกัดไหน ส่งผลให้การบังคับบัญชาไม่มีประสิทธิภาพตามมา

ดังนั้น พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ คือการโอนกำลังพลที่เคยทำหน้าที่ถวายอารักขาพระมหากษัตริย์ ให้มาสังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์โดยตรง โดยมีเจตนาเพื่อให้มีสายบังคับบัญชาที่ชัดเจน และเกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ แก้ปัญหา “ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย” 

นอกจากนี้ อานนท์ ระบุว่า เป็นการโอนเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจำนวน 8,000 รายเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เยอะมากพอจะไปตั้งเป็นกองทัพส่วนพระองค์ตามที่ถูกกล่าวอ้าง และเป็นคนเดิมที่ถวายงานอารักษาให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว และการโอนอัตรากำลังพลครั้งนี้ โอนมาแค่กำลังพล และไม่มีการโอนอาวุธยุทโธปกรณ์มาด้วย

นักวิชาการสถิติศาสตร์ ระบุว่า ตามประวัติศาสตร์ กองพันทหาร ราบ 1 และราบ 11 แต่เดิมเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 แต่พอเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัย 2475 คณะราษฎรกังวลว่า พระเจ้าแผ่นดินจะมีทหารรักษาความปลอดภัยในมือ ก็มีการโอนทหารไปขึ้นอยู้กับกองทัพบก สุดท้ายก็แค่โอนกลับไปอยู่ทางพระราชวังเหมือนเดิม เป็นกองบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ 

นิรันดร์ เสริมว่า กำลังพลที่โอนมามีจำนวนทั้งหมดคิดเป็นร้อยละเพียง 2.7% เมื่อเทียบกับกำลังพลของกองทัพ และสำนักงานตำรวจทั้งประเทศ เป็นไปไม่ได้ที่จะเรียกว่าเป็นกองทัพ 

มาตรา 112 ไม่ใช่ ‘Lese Majeste Law’

อีกประเด็นที่ถูกวิจารณ์และรณรงค์ให้มีการยกเลิก คือ มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ เนื่องจากฝ่ายต่อต้านสถาบันฯ มองว่า เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และขัดต่อเสรีภาพการวิจารณ์สถาบันฯ 

อานนท์ มองว่า นักวิชาการฝ่ายตรงข้ามสถาบันฯ มักเขียนมาตรา 112 ให้น่ากลัวกว่าความเป็นจริง โดยใช้คำว่า “Lese Majeste Law” หรือแปลเป็นไทยว่า “Do wrong to the king” ซึ่งอานนท์ ไม่เห็นด้วย และระบุว่า มาตรา 112 ไม่ใช่ ‘Lese Majeste Law’ เนื่องจากมีการยกเลิกกฎหมายนี้ในสมัยยุคอาณานิคม หรือสมัยรัชกาลที่ 5 

อานนท์ กล่าวต่อว่า เหตุที่มีการยกเลิก 'Lese Majeste Law' เนื่องจากสมัยรัชกาลที่ 5 มีปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และมีการเขียนกฎหมายใหม่ให้ไทยโดยชาวต่างชาติ ชื่อว่ากฎหมาย ‘โรลังยัคมินส์’ หรือเจ้าพระยาอภัยราชาสยามนุกูลกิจ เสนาบดีไทยชาวเบลเยียม 

ในครั้งนั้นมีการยกเลิกกฎหมาย ตรา 3 ดวง ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวคือ Lese Majeste Law หรือกฎหมายลงโทษคนหมิ่นหรือให้ร้ายพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางไพศาล แต่ในมาตรา 112 ปัจจุบัน มีการลดขอบเขตการกระทำผิดเหลือแค่ 2 กรณี คือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ และขู่อาฆาตมาดร้ายประมุขของรัฐ 

อานนท์ มองว่า มาตรา 112 มีไว้เพื่อคุ้มครองประมุขของรัฐ แต่ให้ความคุ้มครองพิเศษกว่าในฐานะองค์รัฏฐาธิปัตย์

“ไม่มีใครเดือดร้อน ถ้าคุณไม่จ้องทำร้ายใคร” อานนท์ กล่าว 

นอกจากประเด็นทั้งหมด เสวนามีการพูดคุยประเด็นอื่นๆ เช่น ทำไมแนวคิดฝ่ายซ้ายยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน การยกระดับสื่อเพื่อต่อสู้กับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และอื่นๆ 
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ชาวบ้านคำโตนดค้านเหมืองทรายแก้วกระทบสิ่งแวดล้อม จี้สอบผลประชามติ อ้างมีคนนอกพื้นที่มาลงคะแนน

$
0
0

นักปกป้องสิทธิฯ กลุ่ม “คำโตนดไม่เอาเหมืองทรายแก้ว” บุก กพร. จี้เลิกคำขอประทานบัตรเหมืองในพื้นที่ หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม-สุขภาพชุมชน ซัดประชามติไม่ชอบ พร้อมตั้งข้อสังเกตมีคนนอกย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ในชุมชนออกเสียงโหวต ระบุชาวบ้านถูกข่มขู่คุกคาม ด้านรองอธิบดี กพร. รับเรื่องตรวจสอบ ระบุขอเช็คทะเบียนราษฎร์กับจังหวัดก่อนพิจารณาให้เป็นโมฆะหรือไม่ ระบุกรณีมีเรื่องร้องเรียนยังไม่อนุมัติให้ดำเนินการแน่นอน

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 เวลา 10.00 น.ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว ต.คำโตนด อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี กว่า 20 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อขอให้ยกเลิก/เพิกถอนคำขอประทานบัตรของเอกชน และกระบวนการขอประทานบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากชุมชนมีข้อห่วงกังวลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยมีนายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดี กพร. เป็นตัวแทนรับหนังสือ

จี้เลิกคำขอประทานบัตรเหมืองในพื้นที่ หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม-สุขภาพชุมชน

พิรุฬห์พิช สิทธิมงคล ผู้ประสานงานกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว กล่าวว่า สืบเนื่องจากบริษัทเอกชนได้มีการยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ ชนิด แร่ทรายแก้วในพื้นที่ ต.คำโตนด อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2560 แก่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 3 คำขอ รวมพื้นที่ประมาณ 527 ไร่ โดยที่ผ่านมามีชาวบ้านแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการทำเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ดังกล่าว แต่ปรากฏว่าก็ยังมีการดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2565 กลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว รวมตัวกันประมาณ 80 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ขอให้ยุติกระบวนการประชามติ เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ทรายแก้ว เนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับความชอบธรรมในกระบวนการดังกล่าว

พิรุฬห์พิช กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยังมีการเดินหน้าต่อไป โดยวันที่ 8 พ.ค.2565 มีการจัดทำประชามติ โดยกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้ว ได้ติดตามสังเกตการณ์การลงประชามติในวันดังกล่าวด้วย พบว่าผลการลงประชามติมีผู้มาใช้สิทธิ 190 คน เห็นด้วย 91 คน ไม่เห็นด้วย 82 คน ไม่ประสงค์ลงคะแนน 7 คน บัตรเสีย 10 คน

ทางกลุ่มฯ จึงมีข้อสังเกตว่าผลการประชามติอาจไม่ถูกต้อง เนื่องจากพบว่ามีคนนอกพื้นที่ที่ไม่เคยอยู่อาศัยในชุมชนเดินทางเข้ามาลงประชามติถึง 35 คน ซึ่งผลการลงประชามติที่เกิดขึ้นอาจไม่สะท้อนเสียงของผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้มีส่วนได้เสียในชุมชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีประเด็นการยื่นคำขอประทานบัตรของเอกชนที่อาจไม่เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.แร่ฯ กำหนดไว้ รวมถึงชุมชนมีข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบจากมลพิษที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง

พิรุฬห์พิช ถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1.ยกเลิก/เพิกถอน หรือให้มีคำสั่งให้การทำประชามติคำขอประทานบัตร ที่ 3/2560 ของบริษัท สินทรัพย์ธรรมชาติ จำกัด ในวันที่ 8 พ.ค. 2565 เป็นโมฆะเสีย

2.ขอให้ยกเลิก/เพิกถอน หรือให้มีคำสั่งให้เอกสารคำขอประทานบัตรที่ 3/256 ของบริษัท สินทรัพย์ธรรมชาติ จำกัด เป็นโมฆะเสีย เหตุเนื่องจากว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรา 54 ที่ผูกพันกับมาตรา 188 ในเรื่องการยื่นคำขอประทานบัตรที่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้ครบถ้วน โดยเอกสารการสำรวจแร่ที่บริษัทฯ นำมายื่นไม่ระบุถึงปริมาณแร่สำรองของแหล่งแร่ อันเป็นเนื้อหาหรือสาระสำคัญที่ละเว้นมิได้ตามระเบียบกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ว่าด้วยหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าพบแร่ชนิดที่ประสงค์จะทำเหมือง พ.ศ. 2561

3. ขอให้มีคำสั่งให้บริษัท สินทรัพย์ธรรมชาติ จำกัด ไปดำเนินการขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษเสียก่อน จึงค่อยมาดำเนินการยื่นคำขอประทานบัตรที่ 3/2560 ในภายหน้า เพื่อจะได้มีรายงานผลการสำรวจแร่ที่สามารถคำนวณปริมาณแร่สำรองของแหล่งแร่ได้อย่างโปร่งใส ไม่ปกปิดข้อมูลหรือปิดบังอำพราง หรือแสดงออกถึงความตั้งใจ มุ่งมั่น จริงจังในการที่จะทำเหมืองที่ใส่ใจหรือไม่ละเลยต่อกระบวนการ/ขั้นตอนต่าง ๆ อันมีสาระสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการมีส่วนร่วมและการรับรู้ของประชาชนในพื้นที่

และ4. ขอให้ กพร.ประสานร่วมมือกับคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติไปดำเนินการกำหนดพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรที่ 3/2560 ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมตามมาตรา 17 วรรคสี่ ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเสียก่อน จึงค่อยปิดประกาศอนุญาตให้เอกชนมาดำเนินการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินทรายแก้วได้ในภายหน้า

รองอธิบดี กพร.รับเรื่องตรวจสอบ

ด้าน อดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดี กพร. กล่าวว่า ถึงการทำประชามติตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ และเมื่อดำเนินการทำประชามติครั้งแรกคะแนนเสียงระหว่างคนที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยมีเท่ากัน แต่การทำประชามติครั้งที่ 2 ในเดือน พ.ค. ฝ่ายที่อยากให้ทำเหมืองมีคะแนนมากกว่า ซึ่งชาวบ้านมีการร้องว่ามีผู้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในพื้นที่ กรมฯ ก็จะต้องตรวจสอบว่ากระบวนการถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งขอให้ความมั่นใจกว่ากรมฯ ให้ความสำคัญต่อผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

รองอธิบดี กพร.กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรณีที่มีเรื่องร้องเรียนอยู่ คณะกรรมการแร่ก็ไม่เคยพิจารณาอนุญาตแต่อย่างใด ขอให้ความมั่นใจว่ากรมฯ มีหน้าที่กำกับดูแลการทำเหมืองและขอให้ความมั่นใจว่าเราเป็นกลาง ซึ่งอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นสิ่งจำเป็นในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ดังนั้นก็ขอรับปากชาวคำโตนดว่าจะพิจารณาตรวจสอบทุกสิ่งทุกอย่างๆ ครบถ้วน ขอใช้เวลาพอสมควร เพราะข้อมูลต่างๆ เยอะพอสมควร เมื่อได้ผลออกมาเป็นอย่างไรก็จะแจ้งให้ทราบต่อไป

“ส่วนประเด็นที่ระบุว่ามีผู้ย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนนั้น กรมฯ ก็จะตรวจสอบขอให้ไม่ต้องกังวล ซึ่งเป็นข้อดีของ พ.ร.บ.แร่ 2560 ที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนจะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบนานแค่ไหนนั้น มีข้อมูลเยอะพอสมควรที่ต้องตรวจสอบ ซึ่งก็ขึ้นกับทางจังหวัดในการตรวจสอบทะเบียนราษฎร์ด้วย ถ้ามันผิดปกติจริงๆ ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าจะทำประชามติอีกครั้งหรือยกเลิกตามที่ชาวบ้านร้องเรียนมาหรือไม่ และต้องดูข้อกฎหมายด้วยถ้ามันเป็นไปตามระเบียบแล้วไปยกเลิก ทาง ก.พ.ร.อาจจะเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบเองก็ได้ ซึ่งกรมต้องเป็นกลางในเรื่องนี้ด้วย โดยจะพยายามเร่งรัดให้เร็วที่สุด ส่วนในเรื่องขั้นตอนการอนุมัติเหมืองแร่นั้นก็ต้องตรวจสอบว่าถึงขั้นตอนไหนแล้ว ยืนยันว่าตอนนี้กระบวนการยังไม่มีการอนุมัติอนุญาตใดๆ ทั้งสิ้น”รองอธิบดี กพร.กล่าว

ขณะที่พิรุฬห์พิช กล่าวภายหลังยื่นหนังสือ ว่า วัตถุประสงค์หลักในการมาวันนี้ คือ การยกเลิกการขอประทานบัตรและยกเลิกการทำประชามติเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2565 เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหมืองเลย การมายื่นหนังสือเพราะเรารู้สึกว่าอย่างน้อยก็มีคนที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือเราอยู่ แต่ผลออกมาจะเป็นยังไงเราก็ต้องรอดูต่อไป ในเรื่องความกังวลถ้าเกิดยังอยู่กับที่มันก็จะไม่เกิดผลอะไรต่อเรา ถ้าเราดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนมันก็จะมีผลต่อเราแน่ ๆ เราเชื่อว่าไม่ได้มีคนเดียวที่ออกมาสู้ตรงนี้ คนอื่นก็อยากมาแต่ไม่มีโอกาส แต่เราก็เชื่อว่าเขาส่งกำลังใจมาให้

เปิดเสียงผลกระทบ

ขณะที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มคำโตนดไม่เอาเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบในการทำเหมืองในครั้งนี้ กล่าวว่า ไม่อยากให้เหมืองอนุมัติผ่าน เพราะจะทำให้ชาวบ้านลำบาก ไม่ใช่แค่หมู่ที่ 8 , 10 , 12 แต่ลำบากแทบทุกหมู่บ้านที่เป็นทางออก ตนจึงมีความกลัวแต่ก็ต้องสู้ คนอื่นเขาสู้ได้ ทำไมเราจะสู้ไม่ได้ ตนมีที่ดินใกล้พื้นที่ทำเหมืองก็เลยมีความกังวลว่าอาจจะมีปัญหาทีหลัง เราก็ค่อยเป็นค่อยไป คอยดูไปเรื่อยๆ ว่าเขาจะมาในรูปแบบไหนบ้าง ถ้ามีญาติพี่น้องช่วยกันสู้ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องหมู่ 8 หมู่ 10 หรือหมู่ 12 ถ้าเหมืองเกิดขึ้นจริงๆ จากที่เคยเห็นมาระยะทาง 3 กม. เขาจะไม่ให้คนนอกเข้าเลย ระยะขอบที่เขาทำไว้ก็ไม่สามารถที่จะไปเดินดูได้ เพราะมีลูกน้องคอยดูตลอด ตอนแรกเขาบอกชาวบ้านว่าเป็นเรื่องดีทำให้มีงานทำ แต่หากเหมืองเกิดขึ้นแล้วเท่าที่เคยเห็นไม่มีทางปฏิบัติได้จริงเลย

แม่ทองซ้อน เชิงกราน จากหมู่ 8 ต.คำโตนด กล่าวว่า การมาวันนี้เพื่อขอให้ล้มเลิกการอนุมัติเหมืองแร่เพราะตนได้รับความลำบากมาก มีที่ดินติดถนน รถวิ่งทั้งวัน แล้วลูกหลานของตนจะอยู่อย่างไรต่อไป จะไปไร่ไปนาไปสวน ลูกหลานไปโรงเรียนก็ลำบากและฝุ่นละอองก็จะเพิ่มขึ้น ถ้าไม่เดือดร้อนก็ไม่มาร้องเรียน หากทางกรมฯไม่ช่วยพวกเราจะเป็นเรื่องแย่มาก

ศรัญญา ธีรศาสตร์ หมู่ 8 ต.คำโตนด กล่าวว่า ชาวบ้านมาวันนี้เพื่อขอให้อธิบดี กพร. ยกเลิกการทำเหมืองแร่ ไม่ให้มีการทำเหมืองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะชาวบ้านเดือดร้อน ซึ่งบ้านเราเป็นแหล่งน้ำซับซึมจากเขาใหญ่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ หากมีเหมืองก็จะเกิดปัญหาฝุ่นละอองขึ้นกระทบกับสุขภาพของชาวบ้านโดยเฉพาะเด็กๆ ด้วย ความกังวลของชาวบ้านคือกลัวว่าเหมืองแร่จะได้รับการอนุมัติและสามารถดำเนินการได้ ทุกวันนี้ชาวบ้านกินไม่ได้นอนไม่หลับ กลัวว่าจะไม่มีใครช่วยเหลือ ชาวบ้านช่วยกันเองไม่รู้กฎหมาย ก่อนที่จะมาก็มีคนข่มขู่ เราต้องอยู่กันอย่างระวังตัว 4-5 โมงเย็นต้องรีบกินข้าวและปิดบ้านแล้ว เพราะไม่รู้ใครจะถูกหมายหัวบ้างตนก็เคยได้รับการติดต่อให้ไปพบแต่ตนไม่ไป และที่ผ่านมาก็มีคนถูกชาย 7-8 คนเข้ามาข่มขู่ตามบ้านในเวลากลางคืน ซึ่งชาวบ้านกังวลในเรื่องภัยมืดลักษณะนี้มาก

สมหมาย ขยันชิด หมู่ 8 ต.คำโตนด กล่าวว่า การมาวันนี้เพราะไม่อยากให้เขาทำเหมืองแร่ทรายแก้ว เพราะชาวบ้านเดือดร้อน มองภาพไปข้างหน้าลูกหลานจะเดือดร้อนมาก เกิดความเสียหายกับในชุมชน ถนนหนทางก็ลำบาก ชำรุดและพัง ตากเสื้อผ้าก็จะลำบากเพราะมีฝุ่น น้ำใต้ดินก็จะเหือดหายเพราะพื้นที่เป็นแหล่งน้ำซับซึม น้ำบ่อ น้ำบาดาลก็จะหมด ทั้งนี้รู้สึกภูมิใจและอบอุ่นใจที่รองอธิบดีลงมารับหนังสือ ความหวังของชาวบ้าน คือการไม่อยากให้มีความเสียหายต่อไปในวันข้างหน้า ถ้าเสียหายไปแล้วก็จะแก้ไขไม่ได้ และกลัวว่าเหมืองจะมีการอนุมัติผ่าน ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อชาวบ้านและชุมชน วันนี้รู้สึกว่าในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรถ้าเราไม่ปกป้องไว้ให้เป็นที่ทำมาหากินของลูกหลาน

 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ศูนย์วิจัยฯรัฐสวัสดิการ ย้ำ ‘เรียนฟรี’ เป็นไปได้ ขอสิทธิ์เท่าลูกข้าราชการ คาดใช้งบฯ 4 หมื่นล้านต่อปี

$
0
0

นักวิชาการศูนย์วิจัยการเรียนรู้รัฐสวัสดิการ มธ. ระบุเรียนมหาวิทยาลัยฟรี 1 ปี ใช้งบประมาณ 40,000 ล้าน ขอ ‘เรียนฟรี’ เท่าลูกข้าราชการ ชี้ กยศ.ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ระบุล้างหนี้คือ เปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุน ขณะที่พ.ร.บ.กยศ.ฉบับล่าสุดที่เพิ่งผ่านในสภาไม่มีความเข้าใกล้การเป็นสวัสดิการ

 

จากการการเรียกร้องให้มีการล้างหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเป็นกระแสโด่งดังบนโลกออนไลน์เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา มีผู้คนจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นกับการล้างหนี้ข้างต้น โดยความคิดเห็นเหล่านั้นมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการล้างหนี้ รวมถึงการผลักดันการแก้กฎเกณฑ์การชำระหนี้กยศ.ในสภาที่ได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการเก็บดอกเบี้ยและค่าปรับ นำไปสู่การหาคำตอบของคำถาม “ความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้กยศ.เป็นรัฐสวัสดิการ” โดยการสัมภาษณ์ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี หัวหน้าศูนย์วิจัยการเรียนรู้รัฐสวัสดิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

กยศ.ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า กยศ.ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ แต่กยศ. คือ กระบวนการการที่รัฐผลักดันให้คนรับผิดชอบชีวิตตัวเองโดยรัฐอำนวยความสะดวกให้ผ่านการกู้ที่มีดอกเบี้ยและค่าปรับ โดยสิ่งที่ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการพยายามเสนอ คือ การเรียนมหาวิทยาลัยฟรี 

‘เรียนฟรี’ เท่าลูกข้าราชการ

ษัษฐรัมย์กล่าวต่อว่า การเรียนมหาวิทยาลัยฟรีฟังแล้วดูเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วสวัสดิการสำหรับข้าราชการสามารถให้ลูกข้าราชการเรียนฟรีได้ภายใต้เงื่อนไขค่าใช้จ่ายในการศึกษาปีละ 25,000 บาท ตนจึงลองเสนอว่าบันไดขั้นแรกสู่การเรียนมหาวิทยาลัยฟรี คือการให้นักศึกษาที่ไม่ใช่ลูกข้าราชการมีสิทธิ์เท่าลูกข้าราชการ โดยตนคำนวณแล้วว่ามีค่าใช้จ่ายในหนึ่งปีประมาณ 40,000 ล้านบาท

ล้างหนี้กยศ.คือ เปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุน

หัวหน้าศูนย์วิจัยการเรียนรู้รัฐสวัสดิการ มธ. กล่าวว่าต่อมาขั้นที่สอง คือ การล้างหนี้กยศ. โดยกระบวนการล้างหนี้กยศ.ที่เคยเสนอไปสามารถปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุน เช่นการล้างหนี้กยศ.ในนอร์เวย์ที่มีการล้างหนี้ให้นักศึกษาหลังเรียนจบ 40% โดยไทยสามารถนำรูปแบบข้างต้นมาใช้ได้ อาทิ เป็นหนี้ 200,000 บาท ล้างหนี้ให้ 40% หรือ 80,000 บาท อีก 120,000 บาท หรืออีก 60% ให้วางเงื่อนไขการใช้หนี้ เช่น ทำงานในสื่อสารมวลชน หรือธุรกิจที่ไม่แสวงหากำไร การทำ SME ที่มีการจ้างแรงงานเพิ่ม ก็ยกหนี้อีก 60% ให้กับผู้กู้ โดยงบประมาณในการล้างหนี้ 40% อยู่ที่ประมาณแสนล้านบาท คิดเป็น 3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศ 

“ประเทศนี้มีทหาร 400,000 คน จ่ายบำนาญให้ทหารเกษียณปีละ 20,000 ล้านเป็นอย่างต่ำ ระหว่างให้เด็กได้เรียนหนังสือ ให้เด็กหมดหนี้ กับการมีกองทัพขนาดใหญ่ขนาดนี้ การยกเว้นภาษีให้กลุ่มทุนมากมาย ทำไมเราไม่สามารถที่จะคิดเรื่องนี้ได้ ผมเชื่อว่าสังคมตอนนี้ก็มีสติแล้วก็ฟังมากขึ้น เรื่องเหล่านี้เป็นขั้นตอนที่เป็นไปได้ ผมยืนยัน” ษัษฐรัมย์กล่าว

พ.ร.บ.กยศ.ฉบับล่าสุดที่เพิ่งผ่านในสภาไม่มีความเข้าใกล้การเป็นสวัสดิการ

หัวหน้าศูนย์วิจัยการเรียนรู้รัฐสวัสดิการ มธ. แสดงความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.กยศ.ฉบับล่าสุดที่เพิ่งผ่านในสภาว่ายังไม่เข้าใกล้ความเป็นรัฐสวัสดิการ ยังคงเป็นการกู้ที่ไม่คิดดอกเบี้ย แต่ก็เป็นเส้นทางที่ดี แต่ยังคงไม่เข้าใกล้แนวคิดการศึกษาฟรี ประชาชนต้องช่วยกันเรียกร้องและกดดันพรรคการเมืองต่าง ๆ ให้ออกมาพูดและสนับสนุนความต้องการของประชาชนเพื่อให้เกิดการเรียนฟรี

“เราต้องกดดันพรรคการเมืองให้กล้าพูดเรื่องนี้ ว่าไม่ควรมีใครเป็นหนี้จากการมีความฝัน” หัวหน้าศูนย์วิจัยการเรียนรู้รัฐสวัสดิการ มธ. กล่าวทิ้งท้าย

สภาผ่านร่างพ.ร.บ.กยศ. ไม่เก็บดอกเบี้ยและค่าปรับ

14 ก.ย. 65 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี ชวน หลีกภัย เป็นประธานสภา ในการประชุมวาระที่ 4 เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินทุนให้กู้ยืมการศึกษา ฉบับที่… พ.ศ.…มีการกล่าวถึงการประชุมเมื่อ 31 ส.ค. 2565 ที่ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับข้างต้น มีการแก้ไขมาตรา 44 ที่ประชุมเห็นชอบการแก้ไขมาตรา 44 ในเนื้อหา แต่เนื่องจากมีผู้สงวนมติหลายท่าน จึงให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติใหม่ในครั้งนี้ (14 ก.ย. 65) โดยมีการสงวนความเห็นจำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่ 1 ของอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย พร้อมคณะ สงวนความเห็นให้มีการแก้ไขให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนโดยไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ

  • กลุ่มที่ 2 ของประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะสงวนความเห็นให้มีการแก้ไขให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และกำหนดเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี

  • กลุ่มที่ 3 ของชุมพล นิติธรางกูร ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย และนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. สงวนความเห็นให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 2 ต่อปี และกำหนดเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี หรือตามร่างพ.ร.บ.กยศ.ฉบับเดิม

  • กลุ่มที่ 4 ของณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมคณะ สงวนความเห็นให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และกำหนดเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี แต่ให้เริ่มชำระเมื่อผู้กู้ยืมมีเงินได้พึงประเมินเพียงพอจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายในระยะเวลา 30 ปี หรือมอบทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดแทนการชำระเงินกู้ยืมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

  • โดยกลุ่มที่ 5 ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และกลุ่มที่ 6 ของซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ ขอถอนความเห็น

ผลการประชุมในครั้งนี้คือความเห็นกลุ่มที่ 1 ของอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ที่มีความเห็นให้มีการแก้ไขให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนโดยไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับได้รับเสียงเห็นชอบมากที่สุด ด้วยคะแนน 218 ต่อ 109 งดออกเสียง 53 ไม่ออกเสียง 1 เสียง 

เสียงแตก กยศ.คือกองทุนหมุนเวียนถ้าไม่เก็บดอกเบี้ยไม่ได้

ขณะเดียวกันสาทิตย์ วงศ์หนองเตยที่ไม่เห็นด้วยกับการไม่เก็บดอกเบี้ยกยศ.แสดความคิดเห็นเกี่ยวกับการการชำระเงินกยศ.คืนโดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย และจ่ายค่าปรับล่าช้า โดยประชาไทรายงานในข่าวสภาผู้แทนฯ เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ให้การกู้ยืมปลอดดอกเบี้ย-ไม่คิดค่าปรับเผยแพร่เมื่อ 14 ก.ย. 2565 ว่าสำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรค้างการพิจารณาอยู่ ว่า เมื่อต้นเดือนนี้ที่ประชุมสภาฯลงมติไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ที่กำหนดให้จัดเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 โดยเห็นด้วยกับเสียงข้างน้อย ซึ่งเสียงข้างน้อยมีความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ไม่เก็บดอกเบี้ย 2.ให้จัดเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 1 และ 3. อื่นๆ ดังนั้น วันนี้(14 ก.ย.) วิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านต้องหารือกันถึงทางออกว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางใด

“ในที่ประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ได้พูดคุยกันเรื่องนี้และแสดงถึงความวิตกว่าหากถือเอาความถูกใจอย่างเดียว แต่ลืมไปว่ากยศ. คือกองทุนหมุนเวียน จึงจำเป็นต้องมีเงินหมุนเวียน เพื่อให้เด็กได้กู้ยืมต่อไปได้ ถ้ายกเลิกดอกเบี้ยไปแล้ว กองทุนนี้ก็จะไม่เป็นกองทุนหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นปัญหามาก ดังนั้น จุดยืนของพรรคคือต้องให้กองทุนกยศ.เป็นกองทุนหมุนเวียนต่อไป ส่วนจะเก็บอัตราดอกเบี้ยจำนวนเท่าใดสามารถพูดคุยกันได้” สาทิตย์ กล่าว

ส่วนจะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลถึงการชูนโยบายประชานิยม แต่สร้างภาระให้กับงบประมาณประเทศหรือไม่นั้น สาทิตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความวิตกกังวลของทุกพรรคการเมืองที่ภาระงบประมาณของรัฐจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การกำหนดนโยบายในลักษณะใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้นก็จะเป็นภาระของประเทศ หากกองทุนกยศ.จะไม่ได้เป็นกองทุนหมุนเวียนอีกต่อไป จะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะจะกระทบถึงงบประมาณ

หมายเหตุ : สำหรับผู้รายงานข่าว ฉัตรลดา ตั้งใจ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ โครงการสองปริญญาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะเขียนรายงานชิ้นนี้ฝึกงานอยู่กับกองบรรณาธิการข่าวไทย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

นักศึกษาแถลงจัดรำลึก 18 ปี โศกนาฏกรรมตากใบ 19 และ 25 ต.ค. นี้ ที่จุฬาฯ 

$
0
0

นิสิตจุฬาฯ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิม ร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้า แถลงเตรียมจัด  “รำลึกตากใบ รัฐไทยไม่ยอมจํา” 19 และ 25 ต.ค.นี้ ที่จุฬาฯ เพื่อรำลึกเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ

19 ต.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก 'ทะลุฟ้า - Thalufah'เผยแพร่ถ่ายทอดสด ฝ่ายวิชาการ องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาฯ ร่วมกับกลุ่มนิสิตจุฬาฯ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย และกลุ่มทะลุฟ้า อ่านแถลงการณ์กิจกรรม “รำลึกตากใบ รัฐไทยไม่ยอมจํา” ณ ตึกกิจกรรมนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  ซึ่งกิจกรรมจะจัดขึ้นในวันที่ 19 และ 25 ต.ค. ที่จะถึงนี้ เพื่อรำลึกเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ

โดยมีรายละเอียดคำแถลงดังนี้  

แถลงการณ์ : กิจกรรมงานรำลึกตากใบ รัฐไทยไม่เคยจำ

ประเทศไทยนั้นไม่ได้มาจากเขาอัลไต แต่เกิดจากความหลากหลายของผู้คน ทั้งเชื้อชาติ ความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรม ก่อนที่จะถูกทำให้รวมกันผ่านแนวคิดของการสร้างรัฐชาติ บังคับให้ทุกคนพูดภาษาเดียวกัน เชื่อในสิ่งเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน และ มีวัฒนธรรมเดียวกัน รัฐไทยไม่เคยเข้าใจ และไม่ให้คุณค่ากับความแตกต่างหลากหลาย และปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชน ชนชั้นปกครองเพียงต้องการให้ทุกคนเหมือนกันโดยใช้อำนาจรัฐกดทับและควบคุม ไม่ได้สร้างให้คนเท่ากันเคารพและยอมรับความแตกต่างหลากหลายของความเป็นมนุษย์ ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่การสร้างรัฐชาติของไทย เกิดขึ้นจากอคติและการสร้างความกลัวในการปกครอง ความต้องการผูกขาดอำนาจที่ส่วนกลาง การเรียนการสอนที่ต้องใช้ภาษากลางศาสนาพุทธเป็นศาสนาในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่โรงเรียน มหาลัย แม้แต่ในคุก สิ่งที่เกิดขึ้นเล่านี้ เป็นผลมาจากการสถาปนาแนวคิดชาตินิยม ซึ่งความเป็นจริงนั้น ประเทศไทยมีความแตกต่างหลากหลาย ในแต่ละภูมิภาค แต่สุดท้ายก็ถูกหล่อหลอมให้มีความคิดความเชื่อเหมือนกัน ผ่านอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา มหากษัตริย์

ในปาตานีเป็นปราการด่านสุดท้ายของความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ที่ชนชั้นปกครองไทยต้องการควบคุมความคิดความเชื่อ ศาสนา และ วัฒนธรรม รัฐไทยได้ใช้ความรุนแรงผ่านกฏอัยการศึกที่ปกครองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 โดยใช้กำลังทหารในนามของการดูแลความเรียบร้อย ทั้งที่ความเป็นจริง ทหารเองกลับเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งและความรุนแรงที่ไม่เคยถูกพื้นถึง ชนวนเหตุสำคัญที่เกิดเหตุความขัดแย้งนั้น เกิดจากการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุ และเหล่าทหารนั้นก็ได้หากินกับความขัดแย้งภายใต้อำนาจของกฏอัยการศึก งบประมาณต่างๆที่ถูกแบ่งสันลงไปจำนวนมาก บำนาญที่ได้เพิ่มขึ้นจากการเป็นกำลังพลในพื้นที่ปาตานี เป็นต้น

เมื่อมองย้อนกลับไปกว่า 18 ปีก่อน ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หรือที่เราเรียกกันว่า “เหตุการณ์ตากใบ” เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุม ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คน ด้วยสงสัยว่าเป็นสายให้กับกลุ่มผู้เห็นต่าง ทำให้ชาวบ้านหลายร้อยคนออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมและให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหก ก่อนที่ความรุนแรงจะเริ่มบานปลาย ตำรวจได้ขอให้ทหารเข้ามาช่วยในการสลายการชุมนุม จนนำไปสู่การใช้กระสุนจริง ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตถึง 7 ราย ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารจึงนำตัวผู้ชุมนุม จำนวน 1350 คน ขึ้นรถบรรทุกโดยให้นอนซ้อนกันเป็นชั้นๆกว่าห้าชั้นในรถห้าคัน เดินทางจากตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ระยะทางกว่า 150 กิโล เป็นเวลา 6 ชม. ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตระหว่างการเดินทางกว่า 78 คน และมีหนึ่งคนที่ต้องกลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิต นอกจากนั้นในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้นเองก็ยังคงมีอีกหลายต่อหลายครั้งที่ทหารใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและการอุ้มหายซ้อมทรมานผ่านอำนาจกฏอัยการศึก

จวบจนกระทั่งวันนี้ ในพื้นที่จังหวัด ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส ยังคงมีการประกาศใช้กฏอัยการศึกมาโดยตลอด ซึ่งทุกท่านก็คงจะทราบกันดีว่า ในสมัยที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้กฏอัยการศึกภายหลังจากการทำรัฐประหาร ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2558 นั้นเลวร้ายอย่างไรบ้าง ผู้เห็นต่างที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ต่อการกระทำที่เกิดขึ้น หรือผู้ที่เรียกร้องในสิทธิเสรีภาพอันเป็นหลักพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนนั้นกลับถูกดำเนินคดี ใช้ความรุนแรง และอุ้มหาย อย่างไม่สามารถสืบสวนเอาความได้ เราจึงอยากเรียกร้องให้รัฐไทยประกาศยกเลิกกฏอัยการศึกในพื้นที่จังหวัด ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ให้สังคมได้เป็นปกติ อยู่ภายใต้กฏหมายอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่อยู่ภายใต้บรรยากาศของเผด็จการอำนาจนิยมทหารที่สร้างความรุนแรงขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา

พวกเราในนามทะลุฟ้า ขอประณามการใช้ความรุนแรงต่อเหตุการณ์ตากใบ การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่มีสำนึกในความเป็นมนุษย์ และ ไม่เคารพซึ่งหลักสิทธิมนุษยชน
เราขอให้ชนชั้นปกครองเลิกอ้างความเป็นไทย เพื่อลดทอนความเป็นคน
เอาทหารออกจากสมการการแก้ปัญหาในพื้นที่ปาตานี คืนพื้นที่แห่งเสรีภาพ ที่ทุกคนเคารพซึ่งกันและกัน เสมอหน้ากันภายใต้กฏหมายอย่างเท่าเทียม

เปลี่ยนจากการควบคุมเป็นเคารพ เปลี่ยนจากกฏอัยการศึกเป็นกฏหมาย

มาร่วมกันรำลึกเหตุการณ์ตากใบ ที่ชนชั้นปกครองไทยพยายามลืม
วันที่ 19 ตุลาคมนี้ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และวันที่ 25 ตุลาคม ที่ลานจักรพงศ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai
Viewing all 51097 articles
Browse latest View live


<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>