Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

คนไทยพลัดถิ่นที่ห้วยส้าน : วิถีไทยในประเทศพม่า

$
0
0

ปิ๊แดง ทาสุก

“เราเป็นคนไทยที่รักเคารพในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินี” ปิ๊แดง ทาสุก วัย 60 ปี คนไทยพลัดถิ่นบ้านห้วยส้าน ในเขตพม่า กล่าวด้วยภาษาไทยสำเนียงล้านนา

“ปู่ย่าตายายเกิดที่นี่และตายที่นี่  แต่เก๊า(บรรพบุรุษ)อพยพมาจากลำปาง  สมัยก่อนบ้านห้วยส้านมีแต่คนไทย  ตอนนี้เริ่มมีคนพม่าเข้ามาอาศัยทำกินในหมู่บ้านมากขึ้น”

ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินี  เป็นที่เคารพรักของคนไทยพลัดถิ่นห้วยส้าน

บรรยากาศหมู่บ้านห้วยส้าน ต้นมะพร้าวต้นหมากสูงใหญ่เพราะอยู่กันนาน

บ้านห้วยส้านเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ขึ้นกับอำเภอเมียวดี จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า อยู่ห่างจากชายแดนไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประมาณ 10 กิโลเมตร มีคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่หลายพันคน  ทั้งหมดพูดภาษาไทยล้านนา มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมเช่นเดียวกับคนไทยในล้านนา

พระสองเมือง สิงห์ตา 

“คนไทยพลัดถิ่นที่นี่มีนามสกุลกันทุกคน เพราะมาจากเมืองไทย  มีญาติพี่น้องอยู่ในไทยจำนวนมาก ทั้งแม่สอด แม่ระมาด แม่พริก ลำปาง เชียงใหม่ หรือบางคนมาจากน่าน” พระสองเมือง สิงห์ตา วัย 38 ปี บวชมา 7 พรรษา ที่วัดสว่างอารมณ์เล่า

“พ่อแม่เล่าให้ฟังว่า นานมาแล้วบรรพบุรุษหนีการสู้รบมาอยู่ที่นี่  มาตั้งแต่สมัยอยุธยา  เพราะสมัยก่อนดินแดนแถบนี้เป็นของไทย  อาณาเขตประเทศไทยครอบครองไปทั้งรัฐกะเหรี่ยง เมืองมะละแหม่ง เมืองมะริด เมืองทวาย”

วัดสว่างอารมณ์ วัดไทย ศิลปล้านนา ที่ห้วยส้าน พม่า

แม้บ้านห้วยส้านจะตกไปเป็นแผ่นดินของพม่าในช่วงหลัง แต่คนไทยพลัดถิ่นห้วยส้านก็ยังติดต่อไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องที่ฝั่งไทยตลอดมา พระสองเมืองเองก็มีโอกาสไปเล่าเรียนที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากแต่เด็ก  จนได้รับชื่อว่า “สองเมือง” เพราะอยู่ทั้งเมืองพม่าและเมืองไทย

การบวชลูกแก้ว(บวชเณร)ของชาวไต ที่วัดสว่างอารมณ์

นอกจากวัดสว่างอารมณ์ ที่พระสองเมืองจำพรรษา ยังมีวัดบัวสถาน วัดศรีบุญเรือง วัดสุวรรณคีรี วัดป่าเลไลย์ และวัดศิริมงคล ซึ่งเป็นวัดไทยของคนไทยพลัดถิ่น  ทุกวัดยังรักษาวิถีวัฒนธรรมไทย  มีใบลานเก่าแก่จารเรื่องเกี่ยวกับพระศาสนาเป็นตัวอักษรตัวเมืองของชาวล้านนา คนไทยพลัดถิ่นซึ่งเรียกตนเองว่า “ไต” ยังสืบทอดพระพุทธศาสนาแบบล้านนาด้วยการบวชเรียน  โดยเฉพาะการบวชเณรที่เรียกกันว่า “บวชลูกแก้ว”

สมบัติ  เอื้องหมี

สมบัติ  เอื้องหมี ชาวห้วยส้าน วัย 50 ปี เล่าว่า “วัดยังเป็นศูนย์กลางทางประเพณีของคนไทย  มีการจัดงานปอย(งานบุญประเพณี)ตามช่วงต่างๆ  เด็กชายและเด็กหญิงได้เรียนรำไต  มีการรดน้ำดำหัวครูบา งานสงกรานต์ และที่วัดศรีบุญเรืองมีการสอนภาษาไทย ซึ่งเด็กเรียนกันมากช่วงปิดเทอม  โดยมีพระเป็นผู้สอน”

แม้ปัจจุบันดูเหมือนว่าบ้านห้วยส้านเงียบสงบ  แต่ก็ยังเป็นพื้นที่ที่คนภายนอกเดินทางเข้าออกไม่ง่ายนัก  เพราะเป็นพื้นที่ในการดูแลของกองกำลังทหารพม่าและกองกำลังทหารกะเหรี่ยงพุทธ(DKBA)

“สมัยก่อนมีการยิงกันในหมู่บ้านบ่อยครั้ง” ปิ๊แดง เล่า

“บางครั้งผู้ชายก็โดนเกณฑ์ไปหาบลูกปืน  แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว  ทางพม่าทำบัตรประจำตัวประชาชนพม่าให้  เลือกตั้งที่ผ่านมาหลายคนก็เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง”

เมื่อบ้านห้วยส้านถูกการแบ่งปันอาณาเขตไปสู่เขตการปกครองของพม่า และมีการสู้รบกันของกลุ่มชาติพันธุ์  ทำให้เมื่อ 40-60 ปีก่อน คนไทยพลัดถิ่นจำนวนหนึ่งอพยพกลับสู่ประเทศไทย  มาอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องที่อำเภอแม่สอดและแม่ระมาด จังหวัดตาก  ต่อมาเมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้สำรวจและจัดทำบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อย เป็น ”ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย” ให้  โดยได้สิทธิอาศัยชั่วคราว แต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย

ในปีพ.ศ. 2555 คนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้ร่วมกับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และตราด ได้เรียกร้องในการคืนสัญชาติไทย  จนมีการแก้ไขพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555 กำหนดให้คืนสัญชาติไทยให้คนกลุ่มนี้ ที่จัดทำทะเบียนไว้แล้ว มีจำนวนในฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทยประมาณ 20,000 คน

เมื่อดำเนินการยื่นขอคืนสัญชาติ คนไทยพลัดถิ่นจากประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และตราด ได้รับการรับรองให้คืนสัญชาติไทย  แต่สำหรับกลุ่มจากอำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นกลับไม่รับรองให้คืนสัญชาติไทย โดยอ้างว่าไม่ใช่กลุ่มตามกฏหมาย

สมบัติ กล่าวถึงญาติพี่น้องไทยพลัดถิ่นที่อำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตากว่า “คนอยู่ที่พม่านี่ได้บัตรพม่ากันหมดแล้ว เลือกตั้งในพม่าครั้งที่ผ่านมาก็ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  แต่กลุ่มที่อพยพไปอยู่ไทย บางคนก็ได้บัตรได้สัญชาติไทย  แต่ยังมีอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะรุ่นเก่าๆ ยังไม่ได้สัญชาติไทย  คนพวกนี้น่าสงสาร จะกลับมาทางห้วยส้านอีกก็ไม่ได้ เพราะอพยพย้ายไปนานมากแล้ว ที่ดินที่ทำกินทางนี้ก็มีเจ้าของหมดแล้ว”

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

ขณะที่ ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำนักศึกษาธรรมศาสตร์ลงพื้นที่ศึกษาสภาพความเป็นอยู่และประวัติศาสตร์คนไทยพลัดถิ่นที่บ้านห้วยส้าน ให้ความเห็นว่า “คนเหล่านี้ถูกแบ่งแยกโดยมิติพรมแดนและรัฐชาติซึ่งมาภายหลัง วิถีชีวิตและสำนึกทางวัฒนธรรมยังเชื่อมโยงกับสังคมไทย เช่น ภาษาที่สื่อสารกันได้ มีความกลมกลืนกันทางสังคม เมื่อคนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้กลับเข้ามาประเทศไทย ซึ่งเข้ามาเนิ่นนานหลายสิบปี  ต้องให้สิทธิ  เพราะเขาปฏิบัติเหมือนคนไทยทุกอย่าง ทั้งเสียภาษีให้รัฐ  รัฐไทยต้องให้สัญชาติกับเขา โดยมีขั้นตอน เช่น อยู่อาศัยนาน 5 ปี ให้ได้ถิ่นที่อยู่ถาวร  และเมื่ออยู่ครบ 10 ปี ก็ให้ได้สัญชาติไทย เช่นเดียวกับการดำเนินการของหลายประเทศ”

“ไม่ว่าจะมองแง่ประวัติศาสตร์ไทย แง่คนเชื้อสายไทย  แง่วัฒนธรรมไทย และความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมไทย  คนเหล่านี้คือคนไทยเช่นเดียวกับพวกเรา” ดร.อรอนงค์ กล่าวในที่สุด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรธ. เผยร่างแรก พ.ร.บ.พรรคการเมือง ยันไม่กีดกันพรรคเล็ก ถ้าไม่พร้อมตั้งเป็นชมรมไปก่อน

$
0
0

กรธ. เผยเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ยันไม่เซตซีโร่ แต่ปรับเปลี่ยนกติกาใหม่ มุ่งให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน กำหนดโทษยุบพรรค-ตัดสิทธิ์กรรมการบริหาร 10 ปี หากปล่อยให้มีการกระทำล้มล้างการปกครอง และปล่อยให้คนนอกเข้าครอบงำ

7 ธ.ค. 2559 อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พร้อมด้วย ธนาวัฒน์ สังข์ทอง เลขานุการฯ และ ศุภชัย ยาวะประภาษ กรธ. แถลงเผยเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า ประกอบด้วย 10 หมวด 129 มาตรา เนื้อหามุ่งให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ประชาชนควรเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์บุคคลบางกลุ่ม แม้ที่ผ่านมานักการเมืองจะตีปลาหน้าไซ ว่ากฎหมายฉบับนี้ต้องการบีบพรรคให้ขาดอิสระการทำงาน ง่อยเปลี้ยเสียขาจนทำอะไรได้ แต่กรธ.ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันพิจารณาเนื้อหาฉบับนี้ด้วยว่าเป็นจริงดังที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

อุดม กล่าวต่อว่า ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดให้การตั้งพรรคต้องรวมตัวกันให้ได้ 500คน จ่ายเงินทุนประเดิมอย่างน้อยคนละ 2,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และในปีแรกต้องมีสมาชิกให้ได้ 5,000 คน จากนั้นภายใน 4 ปี ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 20,000 คน ต้องตั้งสาขาพรรคอย่างน้อย 1 แห่งในแต่ละภาคที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด มีตัวแทนประจำจังหวัดในแต่ละจังหวัด ไม่น้อยกว่า 100 คน และพรรคการเมืองต้องจดทะเบียนพรรคกับ กกต. อย่างไรก็ตาม กรธ. ไม่มีเจตนาเซตซีโร่พรรคการเมืองเก่า แต่พรรคการเมืองต้องปรับเปลี่ยนกติกาใหม่

อุดม กล่าวต่อว่า ได้ยืดหยุ่นอย่างเต็มที่แต่หากใครทำไม่ได้ก็ต้องขอห้ามว่างั้นอย่าเพิ่งลงสมัครรับเลือกตั้งหลายคนกังวลว่าการเคลียร์สมาชิกและบัญชีอาจเปิดช่องให้มีการไปหานายทุนพรรคได้อีกก็ต้องระวังเพราะหากบัญชีสมาชิกและการเงินพรรคที่แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคไม่ถูกต้องก็จะต้องได้รับโทษในเรื่องของการเงินพรรคส่วนหนึ่ง จะมาการช่วยเหลือตัวเองเช่นค่าบำรุงสมาชิกส่วนการบริจาคของประชาชนหรือนิติบุคคลก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้และอีกส่วนจะมาจากการได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนของกกต.ที่ส่วนใหญ่ก็มาจากงบประมาณของรัฐจ่ายสมทบตามสัดส่วนคะแนน

อุดม กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา มีหลายฝ่ายมองกันว่าพรรคเล็ก จะอยู่ลำบากใช่หรือไม่ แต่ถ้าพรรคเล็กอยู่กันเป็นกุฎิเป็นสภากาแฟคุยเรื่องการเมือง ก็ไปตั้งเป็นกลุ่มหรือชมรมก็ได้ เพราะการจะส่งผู้สมัครหรือนำแนวคิดทางการเมืองไปสู่การบริหารประเทศ จำเป็นต้องมีกำลังหรือองคาพยพที่ใหญ่พอสมควร ดังนั้นสิ่งที่ กรธ. กำหนดใหม่นี้ก็ เพื่อต้องการให้พรรคเล็กทำงานมวลชนให้คนที่มีความคิดทางการเมืองชวนพรรคชวนพวกมาร่วมอุดมการณ์ทำงานด้วยความคิด ไม่ใช่รอให้คนเข้ามาร่วมเอง

โฆษก กรธ. กล่าวต่อไปว่า ร่างดังกล่าว ได้วางหน้าที่พรรคการเมืองไว้ 4 ข้อ ว่าจะต้องเสริมสร้างให้สมาชิกพรรค และประชาชนเข้าใจระบอบประชาธิปไตย ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้อง เสนอแนวทางพัฒนาประเทศและแก่ปัญหาอย่างเหมาะสม ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างมีเหตุผล ส่งเสริมให้ประชาชนสามัคคี ปรองดอง และแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศอย่างสันติวิธี หากพรรคไม่ปฏิบัติตามมีโทษถึงขั้นยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคด้วย นอกจากนี้ ยังกำหนดโทษการกระทำผิดนำไปสู่การยุบพรรค อาทิ กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปล่อยปะละเลยให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเข้ามาครอบงำการดำเนินกิจการภายในของพรรค ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคแล้ว ห้ามบุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ ตราสัญลักษณ์พรรคการเมืองนั้นซ้ำ หรือพ้องกับพรรคที่ถูกยุบ ห้ามกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ ไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นภายใน 10 ปี

นอกจากนี้ กรธ.เตรียมจัดเวทีชี้แจงเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักการเมือง และพรรคการเมือง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในวันที่ 14 ธ.ค.2559 ณ สโมสรสันนิบาตสหกรณ์ โดยจะนำความเห็นมาปรับแก้ไขเนื้อหาต่อไป ส่วน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. คาดว่าจะมีการเปิดเผยเนื้อหาได้ภายในสัปดาห์หน้า

เรียบเรียงจาก : กรุงเทพธุรกิจ , เว็บข่าวรัฐสภา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' ระบุยังไม่มีการปรับ ครม. ตอนนี้ แต่ให้ 'วิษณุ' รักษาการแทน รมว.ยุติธรรม

$
0
0

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

7 ธ.ค. 2559 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุว่า เมื่อเวลา 13.20 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีของขวัญที่รัฐบาลเตรียมให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า รัฐบาลได้เตรียมของขวัญผ่านมาตรการต่าง ๆ ไว้แล้ว เช่น การนำค่าใช้จ่าย อาทิ การท่องเที่ยวมาหักลดหย่อนภาษี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะใช้ประโยชน์จากมาตรการเหล่านี้หรือไม่

ส่วนความคืบหน้าการปรับคณะรัฐมนตรีนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรีในตอนนี้ แต่ได้มอบหมายให้วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และมอบหมายให้ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร แต่ขอให้เป็นผู้ที่สามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลได้

กรณีรถเมล์เอ็นจีวี พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น และจะต้องทำให้ถูกตามกฎระเบียบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของของภาษี จะต้องตรวจสอบให้ถูกต้อง ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ปล่อยปะละเลยในเรื่องดังกล่าว

ส่วนเรื่องมาตรการควบคุมสถานบันเทิงนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ได้สั่งการย้ำเตือนให้ฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยคอยควบคุมตรวจสอบสถานบันเทิง โดยเฉพาะสถานบันเทิงที่ประกอบกิจการขึ้นมาใหม่ภายหลังจากการออกคำสั่ง มาตรา 44 จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ การดำเนินการจะต้องดูตามกรอบที่สามารถดำเนินการ จะต้องไม่เกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวม นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาปัญหาเกิดการปล่อยปะละเลย และได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดว่าให้ตรวจสอบและบังคับใช้ตามกฎหมายให้มากที่สุด ส่วนการตรวจสอบโรงแรมที่ผิดกฎหมาย โรงแรมเถื่อน รวมถึงการขึ้นทะเบียนเกสเฮ้าส์ นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้สั่งย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับเจ้าหน้ากระทรวงมหาดไทยตรวจสอบร่วมกัน และให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

สำหรับการออกออกกำลังของส่วนราชการทุกวันพุธนั้น  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้บังคับให้ข้าราชการทุกคนออกกำลังกาย แต่เป็นการขอความร่วมมือข้าราชการที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ให้ออกกำลังกายภายหลังเวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งการออกกำลังกายจะต้องไม่กระทบต่อการปฎิบัติหน้าที่ราชการ และการให้บริการประชาชน พร้อมกล่าวยืนยันว่าไม่ได้เป็นการบังคับให้ข้าราชการออกกำลังกาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.สั่งระงับออกอากาศช่องธรรมกาย 15 วัน

$
0
0

กสทช.สั่งระงับออกอากาศช่องธรรมกาย 15 วัน หลังดีเอสไอส่งหนังสือแจงอยู่ระหว่างกำหนดแผนจับกุม "พระธัมมชโย" หวั่นเป็นช่องทางปลุกปั่นมวลชน ด้านวัดพระธรรมกายเตรียมยื่นคัดค้านคำสั่งระงับออกอากาศ ชี้ขัดเสรีภาพในการรับข่าวสาร

7 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์ไทยพีบีเอสรายงานว่า ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า คณะกรรมการประชุมและมีมติสั่งปิดสถานีโทรทัศน์วัดพระธรรมกาย (DMC TV) เป็นเวลา 15 วัน ตาม มาตรา 64 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 โดยเห็นว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม

โดยก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการ สำนักงาน กสทช. เพื่อขอให้พิจารณาระงับการเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านสถานีโทรทัศน์วัดพระธรรมกาย (DMC TV) เป็นการชั่วคราว โดยระบุว่าดีเอสไออยู่ระหว่างการกำหนดแผนเพื่อเข้าตรวจค้นและจับกุมพระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา จากคดีร่วมกันฟอกเงิน ร่วมสมคบคิดกันฟอกเงิน และร่วมรับของโจร กรณีรับเช็คจากอดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด

ดีเอสไอระบุด้วยว่า สถานีโทรทัศน์ DMC TV ทำการเผยแพร่ข่าวสารให้ปรากฏแก่บุคคลทั่วไป เชิญชวน เรียกร้องให้บุคคลที่มีความเชื่อถือและศรัทธาต่อวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโยมารวมตัวที่วัดพระธรรมกายเพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนา แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางไม่ให้พนักงานปฏิบัติหน้าที่ ช่วยเหลือไม่ให้ผู้ต้องหาถูกจำกุมไปดำเนินคดีตามกฎหมาย อันเข้าข่ายมีพฤติการณ์กระทำความผิดอาญา ซึ่งหากปล่อยให้สถานีโทรทัศน์ DMC TV เผยแพร่ข้อมูลที่เข้าข่ายชักชวน ยุยง เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน อาจก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่จนเกิดเป็นเหตุรุนแรงต่อความมั่นคงแห่งรัฐได้

วันเดียวกัน พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ออกแถลงการณ์ระบุว่า ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ DMC ขอปฏิเสธข้อกล่าวหาอันขาดรายละเอียดและหลักฐานยืนยันใดๆ พร้อมขอร้องเรียนความเป็นธรรม หากมีความเชื่อว่าทางสถานีฯ มีพฤติการณ์ตามที่มีการกล่าวหา ขอให้ผู้กล่าวหาได้ระบุพฤติการณ์นั้นๆ ให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ เพราะการกล่าวหาลอยๆ นำมาสู่ความเสื่อมเสียชื่อเสียงของสถานีฯ เป็นอย่างยิ่ง

"ขณะนี้ทางสถานีฯ กำลังเตรียมยื่นคัดค้านการระงับเผยแพร่ภาพและเสียง ทั้งนี้ การกระทำของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอถือว่าขัดกับหลักเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน" พระสนิทวงศ์ระบุ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไปถึงไหน สปท.ย้ำทำงาน 1 ปี ไม่สูญเปล่า ยึดนโยบายรบ.-คสช. เคร่งครัด

$
0
0

ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ย้ำ ผลการดำเนินงานของ สปท.ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ไม่สูญเปล่า และทำตามนโยบายรัฐบาล และ คสช. อย่างเคร่งครัด เร่งผลักดันกฎหมาย 183 ฉบับ อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันกฎหมายอีก 104 ฉบับ

7 ธ.ค. 2559 รายงานจากเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา ระบุว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จัดงานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงาน สปท. ครบรอบ 1 ปี ภายใต้หัวข้อ “1 ปี สปท. 108 เรื่องการปฏิรูป” โดยมี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. พร้อมด้วยประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้ง 12 ด้าน ร่วมแถลงผลงาน

ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. กล่าวว่า ช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาว่า สปท.เร่งผลักดันกฎหมายเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูป จำนวน 183 ฉบับ อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันกฎหมายอีก 104 ฉบับ ซึ่งกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้ว ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการทุจริต การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ไทยมีพันธกรณีกับต่างประเทศ กฎหมายเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนออกกฎหมายใหม่ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องเตรียมการเพื่อให้การปฏิรูปเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะมาตรการในการปฏิรูปประเทศมีจำนวน 38 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่สอดคล้องกับเรื่องที่ สปท. นำเสนอต่อรัฐบาลไปแล้ว และรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 ไว้เพื่อการปฏิรูปแล้ว 57 เรื่อง จากที่เสนอไป 97 เรื่อง โดยได้ตั้งงบประมาณสำหรับงานปฏิรูปคิดเป็นร้อยละ 64 จากเรื่องที่นำเสนอไป จึงนับเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญของงานปฏิรูปของ สปท.

ทั้งนี้ สปท.มีส่วนสำคัญในการศึกษาและเสนอแนะให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่างรัฐธรรมนูญให้มีหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ รวมทั้งระบุให้มีกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และได้ร่วมกับ สนช.กำหนดให้มีคำถามพ่วงในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ รวมทั้ง ยังให้ทุกส่วนราชการนำข้อเสนอประเด็นตามแผนการปฏิรูปที่ สปท. ส่งไปยังรัฐบาลไปพิจารณา โดยแนวทางการปฏิรูปทั้งหมด จะนำไปใช้กับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ ต้องดำเนินการตามแผนดังกล่าว

ประธาน สปท. กล่าวย้ำว่า ผลการดำเนินงานของ สปท.ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ไม่สูญเปล่า และทำตามนโยบายรัฐบาล และ คสช. อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สปท.จะต้องเร่งเสนอกฎหมาย เพื่อการปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หรือ 4 เดือน หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นับจากนี้ สมาชิก สปท.ทุกคน จะใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

กมธ.ด้านการศึกษาชู 22 แผนปฏิรูป 3 พ.ร.บ. พัฒนาการศึกษาไทย 

วิวัฒน์  ศัลยกำธร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ(สปท.)ด้านการศึกษา  กล่าวถึงผลงานของคณะกรรมาธิการฯ ว่า  คณะกรรมาธิการฯ ได้เสนอแผนปฏิรูปไปแล้วทั้งหมด 11 แผน   โดยได้เสนอผ่าน สปท. แล้ว 10 เรื่อง และนอกจากนี้ยังมีอีก 12 แผนปฏิรูป ที่เสนอตรงต่อกระทรวงศึกษาธิการเพื่อปฏิรูปการศึกษาของไทย โดยจากแผนปฏิรูปทั้งหมดได้เสนอออกมาเป็นร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ที่แล้วเสร็จแล้ว 3 ฉบับ  ได้แก่  ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ  ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต และร่าง พ.ร.บ.การศึกษาปฐมวัย ทั้งนี้ ในแผนปฏิรูป ได้มุ่งเป้าหมายทุกช่วงชั้น โดยมุ่งเน้นให้เด็กเป็นคนดีและเก่ง  รับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ  รวมถึงเชี่ยวชาญตามความถนัด ตลอดจนจัดกลุ่มเป้าหมายการศึกษาที่มุ่งเริ่มต้นตั้งแต่ครรภ์มารดา จนถึงก่อนเข้าการศึกษาภาคบังคับ  นั่นหมายถึง  การศึกษาต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็กก่อนวัยเรียน และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของครอบครัวซึ่งเป็นครูคนแรกของเด็ก ควบคู่ไปด้วย     ขณะเดียวกัน ตามแผนปฏิรูป ได้เสนอการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูประบบการประกันคุณภาพการศึกษา ที่จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษาให้สอดรับกับระบบประกันคุณภาพการศึกษาใหม่  ซึ่งขณะนี้ ทาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีหนังสือคำสั่ง ให้ชะลอการประเมินสถานศึกษาไปจนกว่าจะปฏิรูประบบการประเมินและประกันคุณภาพการศึกษาจะแล้วเสร็จ   นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังได้เสนอแผนการจัดระบบกระบวนการศึกษาที่ออกแบบให้ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างครบถ้วน  รวมถึงการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัยเพื่อนวัตกรรม   ระบบการเงินการคลัง  การเรียนรู้แบบใหม่  ที่เน้นสถานการณ์จริง  ที่จะทำให้เด็กได้ฝึกทั้งทักษะและสาระไปพร้อม ๆ กัน 

กมธ.สปท. ด้านเศรษฐกิจเสนอ 4 ยุทธศาสตร์ 26 แผนปฏิรูป 

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศ(สปท.)ด้านเศรษฐกิจ  กล่าวสรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ ว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อน ออกเป็น 4 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์การก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว  ยุทธศาสตร์การลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  และยุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนทางการคลังและการเงิน โดยในรอบปีที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เสนอต่อ ที่ประชุม สปท. 26 แผน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว 17 แผน  ได้แก่ การปฏิรูประบบเกษตรพันธสัญญาให้เป็นธรรม  การปฏิรูปประกันภัยการเกษตร ธนาคารที่ดิน และร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน พ.ศ. ....  การปฏิรูประบบสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน  แนวทางการปฏิรูประบบการเงินฐานรากและร่างพระราชบัญญัติสถาบันการเงินชุมชน พ.ศ. .... การปฏิรูปการให้ความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน  การปฏิรูปเศรษฐกิจชีวภาพ  การปฏิรูปเศรษฐกิจดิจิทัล  การปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และเชิงวัฒนธรรม การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสังคม เศรษฐกิจผู้สูงวัย การปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การปฏิรูปกฎหมายแข่งขันทางการค้า การเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมสาขาหลัก การปฏิรูปการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์และการปฏิรูปการสร้างสังคมผู้ประกอบการ ทั้งนี้  ในการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปนั้น  คณะกรรมาธิการฯ มุ่งผลสัมฤทธิ์ที่จับต้องได้   ลดจำนวนคนยากจนและคนเกือบยากจนให้มากที่สุด  ก้าวสู่ประเทศมีรายได้สูง  และมุ่งให้เศรษฐกิจเติบโต และเติบโตอย่างทั่วถึง 

กมธ.ปฏิรูปด้านการเมือง หวังขจัดปัญหาทุจริตเลือกตั้งและความแตกแยก

เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่า กมธ.ได้เสนอรายงานแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองไว้ 6 เรื่อง คือ 1.การให้ได้ นักการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ดี 2.มีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม 3.ปฏิรูป ระบบพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงและไม่ถูกครอบงำจาก นายทุน4.การปฏิรูปการเมืองโดยการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ 5.การ สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย และ 6.การแก้ปัญหาความขัดแย้งและการ สร้างความปรองดอง

เสรี กล่าวด้วยว่า จากการศึกษาของ กมธ.พบว่า ประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย ขาดความเชื่อถือ นักการเมืองรวมถึงเบื่อการเลือกตั้งที่มีแต่การทุจริต เพื่อแสวงหาอำนาจและสร้างความแตกแยก การปฏิรูปการเมืองจึงถือเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหาบ้านเมืองในทุกด้าน สปท.ด้านการเมืองจึงได้เสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อจะได้สอดคล้องกับโรดแมปของรัฐบาล โดยมีข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมในหลายประเด็น อาทิ ขจัดกลุ่มทุนธุรกิจทางการเมือง แก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียง การให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง สนับสนุนให้ประชาชนเป็นสมาชิกพรรค และบทลงโทษทางการเมืองที่รุนแรง ทำให้นักการเมืองไม่กล้ากระทำผิด เพราะจะได้รับโทษทางอาญา ทั้งนี้หวังว่า การปฏิรูปการเมืองจะสำเร็จได้ จะต้องปฏิรูปนักการเมืองควบคู่ไปด้วย โดยควรต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับประชาชน และพรรคทางเลือกใหม่ ควรต้องเสนอชื่อบุคคลชื่อใหม่ ไม่ใช่นักการเมืองชื่อเดิมหรือหน้าเดิม เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการตัดสินใจมากขึ้น

สปท.ด้านสื่อสารมวลชน ครอบคลุมสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ฯ

พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงสรุปผลงานว่า ได้กำหนดแผนปฏิรูปไว้ทั้งหมด 12 เรื่อง ตาม 3 ประเภทของกลุ่มสื่อ ได้แก่ กลุ่มสื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม กลุ่มสื่อออนไลน์ และกลุ่มสื่อสิงพิมพ์ โดยได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับเดิมในปี 2553 เพื่อให้การจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติเกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งขณะนี้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาวาระ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จึงเชื่อจะประกาศใช้ในอีกไม่นาน จะเกิดการรวมบอร์ดบริหารด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์เข้ากับบอร์ดโทรคมนาคม โดยมีจำนวนกรรมการและวาระดำรงตำแหน่งเท่าเดิม และได้เพิ่มหน้าที่ให้ในการเจรจาขอคืนคลื่นความถี่ที่กรมไปรษณีย์ฯเคยให้สัมปทานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อมาบริหารจัดการใหม่และนำไปสู่การประมูลสร้างรายได้เข้ารัฐ สำหรับสื่อออนไลน์ กรรมาธิการได้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ประสานงานกับตำรวจและผู้ประกอบการสื่อออนไลน์(ISP)ระหว่างประเทศ เพื่อดูแลด้านความปลอดภัย และสร้างความเข้าใจในบริบทของสังคมไทย อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อความมั่นคงของชาติ ขณะแผนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์นั้น ได้กำหนดการตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน การรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กร และองค์การรวมถึงให้มีคณะกรรมการจริยธรรม  ดูแลมาตรฐานและสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย

ด้านพลังงาน แจง 7 ผลงานเด่น

คุรุจิต นาครทรรพ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวถึงผลงานของคณะกรรมาธิการฯ ว่า  คณะกรรมาธิการได้สานต่องานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยนำผลการศึกษาของ สปช. เรื่อง ระบบพลังงาน  มาจัดทำเป็นแผนการขับเคลื่อนการปฏิรูปเร่งด่วนเสนอต่อ สปท. 5 เรื่อง และได้รับความเห็นชอบแล้ว  ได้แก่  รายงานเรื่อง บทบาทหน้าที่และการใช้ประโยชน์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ...   ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้นำไปสานต่อ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา  ก่อนเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป    ขณะที่ อีก 2 เรื่องสำคัญที่เป็นมาตรการทางบริหาร  ได้แก่  รายงานเรื่องการอนุรักษ์พลังงานโดยใช้ข้อบัญญัติเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน ที่จะทำให้การออกแบบอาคารในอนาคตของภาคเอกชน ประหยัดพลังงานเชิงโครงสร้างในระยะยาวได้   และรายงานเรื่องการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานโดยใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงานสำหรับหน่วยงานภาครัฐ   ที่เน้นให้ภาครัฐลงทุนเพื่อประหยัดพลังงาน  และได้ผลลัพธ์กลับมาในรูปของการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน    และอีก 2 รายงาน   คือ รายงานเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมพลังงานทดแทน พ.ศ. .... และรายงานเรื่องการพัฒนาศูนย์ข้อมูลพลังงานแห่งชาติ  อยู่ระหว่าง การเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการ  และนอกจาก 5 เรื่องเร่งด่วน  ยังมี 2 เรื่อง ที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ คือ  รายงานการปรับปรุงโครงสร้างน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ  และแนวทางปฏิรูปกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม  ประธานคณะกรรมาธิการฯ  มั่นใจว่า จะสามารถจัดทำแผนขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ อีกอย่างน้อย 5 เรื่อง ได้แล้วเสร็จภายในวาระที่เหลืออยู่อย่างแน่นอน  ได้แก่เรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน การผลิตและซื้อขายไฟฟ้าเสรีระดับชุมชนด้วยโครงข่ายไฟฟ้าเสริม การสร้างความรู้ความเข้าใจและสื่อข่าวสารด้านพลังงาน และการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ตอบแทนในการเลือกรับซื้อกระแสไฟฟ้าแต่ละประเภทเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะองคมนตรีเฝ้าฯถวายสัตย์ - สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส "ได้ป๋ามาเป็นประธานก็อุ่นใจแล้ว"

$
0
0
 

7 ธ.ค. 2559 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เมื่อเวลา 18.49 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นำคณะองคมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จำนวน 10 คน เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณว่า "ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

โอกาสนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชดำรัสกับคณะองคมนตรีที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณว่า

"ขอบใจและแสดงความยินดี ขอบใจที่มีน้ำใจช่วยงาน ที่ว่าคณะองคมนตรีในยุคนี้ ปัจจุบันนี้ก็จะได้รับการมอบภารกิจ ตลอดจนได้รับโอกาสหรือหน้าที่ที่จะให้คำแนะนำ ตลอดจนช่วยกันดำรงความมั่นคงสถาบันของประเทศชาติ ตลอดจนแบ่งงานกันให้ละเอียดอีกครั้งว่าใคร ทำอะไร เรื่องทำงานก็จะให้ขอคำแนะนำ ตลอดจนปรับความสำคัญในการทำงานของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายเกี่ยวกับสถาบันและประเทศชาติ เป็นเรื่องของแผ่นดิน มีเรื่องต่างๆ ที่จะมอบให้ก็มาก ดังที่ได้คุยกันนอกรอบแล้ว ขอขอบคุณและได้ป๋ามาเป็นประธานก็อุ่นใจแล้ว ทุกคนก็เคยทำหน้าที่ถวายรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน มีความสุข ตั้งใจทำงานได้ ขอบคุณ" 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้า เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย.ลดลงเป็นเดือนที่ 2

$
0
0

8 ธ.ค. 2559 สำนักข่าวไทยรายงานว่า ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2559 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2  อยู่ที่ 72.3 จาก 73.1 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมลดลงมาอยู่ที่ 61.2 จาก 62 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต (ใน 6 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลงอยู่ที่ 74.9 จากระดับ 75.3 การปรับตัวลดลงของดัชนีเกือบทุกรายการ เนื่องจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันและในอนาคตที่ยังปรับตัวดีขึ้นไม่มากเท่าที่ควร ประกอบกับสถานการณ์ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าวที่มีราคาต่ำจะส่งผลต่ออำนาจซื้อในปัจจุบันและในอนาคตของประชาชน

ธนวรรธน์  กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอลงอย่างชัดเจนและยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 2 เดือน ซึ่งหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะมีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีประมาณ  50,000-80,000 ล้านบาท ทั้งมาตรการดูแลราคาพืชผลทางการเกษตร ซึ่งเม็ดเงินจะเริ่มโอนให้เกษตรกร และคาดว่าจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเดือนธันวาคมนี้ ประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาท  ส่วนมาตรการเที่ยวช่วยชาติจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่ม 5,000 -10,000 ล้านบาท และมาตรการช้อปช่วยชาติ หากกำหนดวงเงินซื้อสินค้าที่นำมาลดหย่อนภาษี 15,000 บาทต่อคน  จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 15,000 – 20,000 ล้านบาท แต่หากรัฐบาลเพิ่มวงเงินช้อปช่วยชาติเป็น 30,000 บาท จะมีเม็ดเงินมากขึ้นเป็น 25,000- 30,000 ล้านบาท ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2559 ขยายตัวร้อยละ 3  ส่วนจีดีพีปี 2559 ยังขยายตัวตามเป้าหมายที่ร้อยละ 3.2

ธนวรรธน์ กล่าวว่า ผลจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจปี 2560 ประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 2,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งถือว่ายังไม่แรงเพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลยังต้องอัดฉีดเม็ดเงินสู่ภูมิภาคและเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ครึ่งแรกของปีหน้ามีแรงส่งทางเศรษฐกิจ เพราะแม้ว่าการส่งออกปี 2560 จะดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1  จากปีนี้อยู่ที่ 0 ถึงหดตัวร้อยละ 1  แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่ชัดเจนนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้คาดว่าเอกชนและต่างชาติจะชะลอการลงทุนไป 3 – 6 เดือน  ดังนั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2560  โดยยังคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวตามศักยภาพที่ร้อยละ 3.5 -4 ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าร้อยละ 4 จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยระยะยาว

 

ที่มา สำนักข่าวไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนใช้เฟซบุ๊กโดนด้วย! ตำรวจเริ่มมาตรการใหม่เรียกตัวคนกดไลก์-ติดตาม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

$
0
0

หลังปรากฏการณ์ BBC Thai และไผ่ ดาวดิน ตำรวจเริ่มเรียกประชาชนธรรมดาผู้ใช้เฟซบุ๊กไป “ปรับทัศนคติ” บางกรณีบุกถึงบ้าน คุยครอบครัว ระบุชัดเพราะกดไลก์ติดตามเฟซบุ๊ก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์-ผู้ลี้ภัย-นักวิเคราะห์การเมือง

ที่มาภาพจาก pixabay

เป็นข่าวครึกโครมสำหรับการดำเนินคดีกับจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ตามมาด้วยการให้สัมภาษณ์ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ที่เน้นย้ำถึงการดำเนินการตามกฎหมายกับ BBC Thai

นอกเหนือจากนั้นยังมีปรากฏการณ์ “ดึงเพดานเสรีภาพต่ำ” ที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา นั่นคือ การดำเนินการเรียกปรับทัศนคติประชาชนผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าอาจกระทำการเข้าข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เท่าที่รวบรวมข้อมูลในปัจจุบัน พบว่ามี 6 รายที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียก โดยทั้งหมดมาจากกรณีกดติดตามหรือกดไลก์บางสเตตัสเฟซบุ๊กของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 4 ธ.ค. 2559

ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งชื่อ พิมพ์ (นามสมมติ) ซึ่งเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. เพื่อเรียกเข้าไปพูดคุยปรับทัศนคติ โดยเจ้าหน้าที่ระบุสาเหตุว่า เนื่องจากพิมพ์ไปกดไลก์ กดแชร์โพสต์ที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พิมพ์ ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบค้นที่อยู่ของตนเองมาล่วงหน้าและได้สอบถามกับตนเองว่าอยู่ตามที่อยู่นั้นจริงหรือไม่ เมื่อพิมพ์ระบุว่าอยู่ต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่ได้ถามกลับมาว่าจะกลับเมื่อไร และเดินทางกลับมาอย่างไร ท่าทีดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เธอรู้สึกเป็นกังวล และไม่สบายใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตนเองหรือไม่

“เราก็เป็นแค่คนหนึ่งที่สนใจการเมืองบ้าง แล้วพอดีมีข่าวกรณีบทความ BBC แล้วก็เห็นอาจารย์สมศักดิ์โพสต์เรื่องนี้ในเฟซบุ๊ก ปกติเราก็กดติดตามไว้ กดไลก์ไว้ แต่ไม่แชร์ ตั้งใจว่าหลังเลิกงานจะกลับมาอ่าน คืออยากรู้ไงว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลังจากนั้นประมาณ1-2 วัน ก็มีโทรศัพท์ โทรเข้ามาเลย เป็นผู้ชาย แนะนำตัวว่าโทรมาจาก ปอท. โทรมาบอกว่า ผมต้องการคุยกับคุณ เนื่องจากที่คุณมีการกดแชร์ กดไลก์ข้อความที่สุ่มเสี่ยง และหมิ่นเหม่”

“ทีนี้เราก็เริ่มรู้สึกว่า อะไรเนี่ย มันรู้สึกว่าเราไม่ปลอดภัยทันที หลังจากนั้นเขาก็ถามซักใหญ่เลยว่า ตอนนี้อยู่ที่ไหนอยู่กรุงเทพหรือเปล่า พอเราบอกว่าอยู่ต่างจังหวัด เขาก็ถามว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ เขาต้องการเข้ามาคุยกับเราเพื่อให้เกิดความปรองดอง”

พิมพ์ เล่าด้วยว่าเจ้าหน้าที่พยายามหว่านล้อม และสร้างบรรยากาศในการการสนทนาให้ปลอดจากความกลัว โดยการพยายามบอกว่าตัวเองก็เป็น “คนเสื้อแดง” เหมือนกัน ทั้งที่พิมพ์เองไม่เคยนิยามตัวเองว่าเป็น “คนเสื้อแดง” และไม่เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มการเมืองใดๆ เลย จากความพยายามทำให้คู่สนทนารู้สึกปลอดภัยนั่นเองที่ทำให้เธอรู้สึกไม่ปลอดภัย เธอย้ำอีกครั้งว่า เจ้าหน้าที่พูดอยู่หลายครั้งว่า “ไม่ต้องกลัวนะไม่มีอะไร” ซึ่งเธอรู้สึกเหมือนกับว่านั่นเป็นคำพูดของผู้ใหญ่ที่เอาไว้ใช้หลอกเด็ก

“เราก็แค่กดไลก์ ปกติเราอ่านอะไรเราก็กดไลก์เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว และเราก็ติดตามอาจารย์สมศักดิ์ และ บก.ลายจุด ไม่รู้ว่าเพราะเรื่องนี้หรือเปล่า หรือว่าเกิดอะไรขึ้นอยู่ๆ ถึงมีคนโทรมาคุกคาม มาทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย คือเราเป็นคนทั่วไป ไม่ได้รู้จักใครมาก ไม่มีเครือข่ายอะไร พอเกิดเรื่องก็นึกถึงอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ก็เลยโทรไปบอกอาจารย์ก่อน ก็เลยได้มาคุยกับคนที่ทำงานด้านสิทธิหลังจากนั้น เรารู้สึกว่าเรายังโชคดีมากที่ยังพอมีคอนเน็คชั่น แล้วถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่มีอะไรเลยเขาจะแย่แค่ไหน เขาจะทำอย่างไร จะคิดมาก จนเครียดขนาดไหน” พิมพ์กล่าว

พิมพ์ให้ข้อมูลอีกว่า เจ้าหน้าที่พยายามถามย้ำหลายครั้งว่า เธอจบจากธรรมศาสตร์หรือไม่ ซึ่งสำหรับเธอคิดว่าการเรียนจบจากที่ไหนไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ควรสนใจมากขนาดนั้น แต่เธอถูกถามคำถามดังกล่าวถึง 3 ครั้งตลอดบทสนทนา แม้ว่าเธอจะรู้สึกว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการคุกคามอย่างหนึ่ง แต่เธอก็ยินดีไปพบเจ้าหน้าที่ตามที่ติดต่อมา โดยเจ้าหน้าที่ได้นัดพบกับเธออีกครั้งในเร็ววันนี้

ก่อนหน้ากรณีพิมพ์ 1 วัน สมศักดิ์แจ้งข่าวว่า เขาได้ข้อความจากเฟซบุ๊กที่แจ้งว่าโพสต์ของเขาเรื่องบทความใน BBC Thai เกี่ยวกับประวัติกษัตริย์องค์ใหม่ "looks like spam" คือ เหมือนจะเป็นสแปม พร้อมกับให้ยืนยันว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นสแปมหรือไม่ แม้สมศักดิ์จะกดตอบไปว่า "ไม่ใช่สแปม" แต่เฟซบุ๊กกลับบล็อคกระทู้นั้นไปพร้อมกับมีข้อความว่า "ขอบคุณที่ feedback" สร้างความประหลาดใจให้เจ้าของโพสต์อย่างมาก ขณะเดียวกันแฟนคลับของเขาหลายรายก็เข้ามายืนยันว่าพวกเขาก็ไม่สามารถเข้าถึงโพสต์นั้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวตรวจสอบอีกครั้งในวันนี้ (8 ธ.ค. 59) พบว่าโพสต์ดังกล่าวของสมศักดิ์สามารถเข้าถึงได้ตามปกติแล้ว

ปรากฏการณ์เรียกปรับทัศนคติผู้ใช้เฟซบุ๊กในลักษณะเดียวกันยังมีเกิดขึ้นอีกในหลายพื้นที่ เช่น ในจังหวัดสุโขทัยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเป็นเพศชาย อายุ 23 ปีมาสอบสวน หลังจากพบว่ามีการใช้เฟซบุ๊กไปกดติดตาม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ไผ่ ดาวดิน โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าวทำการคำขอขมาต่อ “การกระทำอันไม่เหมาะสม” ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และพระราชินี พร้อมทั้งยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่ได้มีเจตนาคิดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการปรับทัศนคติ

ผู้สื่อข่าวได้รับการยืนยันข้อมูลอีกว่าด้วยว่า มีการเรียกพบในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นกับผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่ง เป็นเพศชาย อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยเขาถูกเรียกตัวไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กองปราบปราม หลังจากกดไลก์โพสต์สเตตัสของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หลังเข้าพบหารือกับตำรวจเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจก็กลับออกมาโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กอีก 2 รายในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และสมุทรปราการ ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากกองปราบปรามว่ามีพฤติกรรมหมิ่นเหม่จากการกดไลก์สเตตัสของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และต้องการนัดวันเวลาในการเข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้แหล่งข่าวไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดในส่วนอื่นๆ

ขณะเดียวกัน ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ การ์ตูน หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าอบรมกับภาคประชาสังคมในต่างประเทศให้ข้อมูลว่า หลังจากเกิดกรณีจับกุม ไผ่ ดาวดิน เธอได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กโดยมีใจความสำคัญคือ ข้อเสนอให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และขอให้ยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ โดยหลังจากที่เธอโพสต์สเตตัสดังกล่าวได้มีทหารไปพบกับครอบครัวของเธอที่อยู่ในไทย โดยบอกกับครอบครัวของเธอว่า เธอมีโอกาสที่จะถูกกักตัวที่สนามบินเมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย หรืออาจจะถูกกักตัวในขณะที่เดินทางไปขึ้นศาลในคดีส่องโกงราชภักดิ์ ในวันที่ 23 ธ.ค. 2559 เนื่องจากโพสต์ดังกล่าวมีลักษณะที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ทั้งนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มีผู้กดติดตามประมาณ 286,000 ราย (16.00 น. 8 ธ.ค.) หลังมีข่าวการเรียกบุคคลเผยแพร่สู่สาธารณะราว 1 ชม.กว่า ปรากฏว่าผู้ติดตามลดลงเหลือ 283,400 ราย (17.20 น. 8 ธ.ค.) 


หมายเหตุ มีการอัพเดทเนื้อหา (18.43 น.)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิตยสารไทม์ เลือก 'ทรัมป์' เป็นบุคคลแห่งปี 2016

$
0
0

ที่มา เฟซบุ๊กเพจ TIME

8 ธ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 19.35 น. วานนี้ (7 ธ.ค.59) เฟซบุ๊กเพจ TIMEของ นิตยสารไทม์ โพสต์ภาพปกและข้อความระบุว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐเป็นบุคคลแห่งปี 2016 หรือ พ.ศ.2559

โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า นับเป็นครั้งที่ 90 ที่นิตยสารมีการจัดอันดับบุคคลแห่งปี โดยระบุว่า ทรัมป์ทำให้พลเมืองสหรัฐแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย และมีอิทธิพลอย่างมากทั้งต่อผู้ที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนทรัมป์

โดย ไทม์ ระบุว่า นับตั้งแต่สงครามอิรัก ชาวอเมริกันมีความรู้สึกว่าสหรัฐกำลังย่ำแย่ลง ซึ่งส่งผลให้ผู้สมัครหลายคน เช่น เบอร์นี แซนเดอร์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมเครต ประณามความละโมภของบรรดาเศรษฐี หรือ มาร์โค รูบิโอ ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกัน ระบุว่า สหรัฐกำลังสูญเสียอเมริกันดรีมไป
 
ด้านทรัมป์ กล่าวขอบคุณนิตยสารไทม์ผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ในรายการ ทูเดย์ ของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี
 
"ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง มันมีความหมายสำหรับผมมาก" ทรัมป์ กล่าว
 
ขณะที่เมื่อปี 58 นิตยสารไทม์ ได้ยกให้ อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี เป็นบุคคลแห่งปี ส่วนปี 55 นิตยสารไทม์ ได้ยก บารัค โอบาม่า ผู้ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เป็นบุคคลแห่งปี 55
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

2 องค์กรวิชาชีพสื่อ-สภาทนายฯ ลงนามร่วมความช่วยเหลือด้านคดี หวังป้องสื่อถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ

$
0
0

8 ธ.ค. 2559 รายงานจาก สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แจ้งว่า วันนี้ (8 ธ.ค.59) วันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ พร้อมด้วย เทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงนามความร่วมมือในบันทึกข้อตกลง “ความช่วยเหลือด้านการดำเนินอรรถคดีและการส่งเสริมทางวิชาการ” ณ อาคารสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์  (บางเขน)

วันชัย กล่าวถึงเจตนารมณ์ของความร่วมมือครั้งนี้ว่าเนื่องจากสื่อมวลชนมีหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริง ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม สะท้อนภาพที่แท้จริงแก่ประชาชน เพื่อช่วยในการคิดและตัดสินใจต่อการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง บางกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยสุจริต อาจไปกระทบหรือโต้แย้งต่อสิทธิบุคคลหรือองค์กรอื่นที่สูญเสียผลประโยชน์ อาจทำให้เกิดการแทรกแซง ถูกคุกคาม ข่มขู่ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออาจใช้ช่องทางกระบวนการยุติธรรมฟ้องร้องสื่อมวลชนให้หยุดการเสนอข่าว หรือฟ้องคดีเพื่อข่มขู่ตัวผู้สื่อข่าวหรือบุคคลในกองบรรณาธิการข่าวให้เกิดความกลัว ให้หยุดหรือชะลอการเสนอข่าว หรือเสนอให้เบาลงหรือบิดเบือนไป หรือในอีกด้านหนึ่ง ผู้สื่อข่าวอาจได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ จนนำไปสู่ปัญหาคดีแรงงาน คดีลิขสิทธิ์ คดีปกครองฯลฯ

การลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมมือ ประสานงาน ส่งเสริมและช่วยเหลือสื่อมวลชนที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ในการดำเนินคดีตามกฎหมายและการร่วมมือทางวิชาการ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่หวั่นกลัวต่อการคุกคามสิทธิและปราศจากความวิตกต่อการปฏิบัติงาน

สาระสำคัญของความร่วมมือมีดังนี้

                ข้อ 1 ช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์ เมื่อถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต รวมถึงคดีเกี่ยวพันกับการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้เปล่าตลอดทุกชั้นศาล ยกเว้นการเสียค่าธรรมเนียมศาล ค่าฤชาธรรมเนียมต่างๆ ทั้งนี้ โดยผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการที่สมาคมนักข่าวฯ แต่งตั้งขึ้น

                ข้อ 2 ช่วยเหลือ สนับสนุนด้านการดำเนินคดี เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์ เป็นผู้กล่าวหา หรือเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่ง อาญา ปกครอง โดยให้เปล่าตลอดในชั้นสอบสวน ทุกชั้นศาล ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ค่าฤชาธรรมเนียมต่างๆ ทั้งนี้โดยผ่านการพิจารณาและการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการที่สมาคมนักข่าวฯ แต่งตั้งขึ้น

                ข้อ 3 สนับสนุนด้านการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่สื่อมวลชน

                ข้อ 4 สนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและการประชาสัมพันธ์ระหว่างสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์กับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช. ลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.แร่ วาระ 3 ไม่สนเสียงค้านจากภาคประชาชน

$
0
0

สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.แร่ กำหนดพื้นที่การทำเหมืองแร่ พร้อมมาตราการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุ้มครองสุขภาพประชาชน ด้านภาคประชาชนชี้ยังมีข้อเสียหลายจุด พร้อมออกแถลงการณ์จี้รัฐถอน พ.ร.บ. ออกจากการพิจารณา แต่ไม่เป็นผล

8 ธ.ค. 2559 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมหรรณพ เดชวิทักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.แร่ พ.ศ... มีทั้งหมด 188 มาตรา และมีบัญชีแนบท้ายเกี่ยวกับอัตราร่าธรรมเนียม โดยร่างพ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ... ฉบับนี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบในลักษณะที่ไม่เห็นด้วยจากหลายภาคส่วน และเป็นร่างพ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้รับเรื่องร้องเรียนพร้อมข้อเสนอแนะจากองค์กรต่างๆ อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรพิทักษ์มนุษยชน กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ กลุ่มเครือข่ายฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กลุ่มองค์การโลกสีเขียว รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการอิสระ คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงได้เชิญผู้แทนจากองค์กรดังกล่าวเข้ามาเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และเป็นผู้สังเกตการณ์ และได้เข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ

มหรรณพ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคำนึงถึงดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างรอบด้าน โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญได้นำหลักการให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ตามร่างระเบียบสำนักนายรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ พ.ศ.2559 มากำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเพื่อให้ร่างพ.ร.บ.มีความสมบรูณ์มากยิ่งขึ้นด้วย

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรียงลำดับรายมาตราจนครบทุกมาตรา โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมาธิการฯได้ดำเนินการ และที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 183 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

สำหรับร่างพ.ร.บ.แร่ พ.ศ... เป็นการนำพ.ร.บ.พิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2509 และพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ที่ใช้บังคับมานานซึ่งไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน มาปรับปรุง โดยนำหลักการของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมาบัญญัติไว้ในกฎมายฉบับเดียวกัน เพื่อให้การอนุญาตและการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่เป็นไปอย่างมีระบบ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ มีนายกฯ หรือรองนายกฯ ที่นายกฯ มอบหมายเป็นประธานกรรมการ ให้กรมทรัพยากรธรณี เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่เสนอยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การบริหารจัดการแร่เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องมีการทบทวนแผนแม่บททุกๆ5 ปี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจประกาศให้มีการประมูลแหล่งแร่ในพื้นที่และให้ผู้ชนะการประมูลได้สิทธิในการสำรวจแร่และทำเหมืองแรในพื้นที่นั้น

นอกจากนี้ได้มีการกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ต้องไม่ใช่พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติหรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซึมซับ พร้อมกับกำหนดมาตราการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และให้มีการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมืองการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ส่วนการขออาชาบัตรสำรวจแร่ในท้องที่ใดให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนั้น .ทั้งนี้ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ยังมีบัญชีแนบท้ายกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมต่ออายุ โอนสิทธิการทำเหมืองและใบอนุญาต

จากนั้นที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่... ) พ.ศ... และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่... )พ.ศ.. ซึ่งเป็นการขยายเวลา ครั้งที่ 4 ออกไปอีก 30 วัน

ภาพถ่ายขุมเหมือง เหมืองแร่ทุ่งคำ จังหวัดเลย (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (7 ธ.ค. 2559) เครือข่ายภาคประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐ ถอน พ.ร.บ.แร่ ออกจากการพิจารณาของ สนช. โดยระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. แร่ ฉบับที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังมีจุดอ่อนอีกมากจนทำให้เป็นร่างฯ ที่ไม่ดีพอต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ตัวจริง โดยเฉพาะ หนึ่ง-บทบัญญัติเกี่ยวกับ ‘เขตสัมปทานแร่’ หรือ ‘ไมนิ่งโซน’ ที่ถูกแก้ไขเสียจนทำให้ไมนิ่งโซนไม่สมบูรณ์แบบ  เพราะไม่สามารถเฉือนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  เขตโบราณสถาน  โบราณวัตถุ  พื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด  พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ  และพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมออกมาเป็นเขตสัมปทานแร่ได้ สอง-บทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ที่ กพร. มีอำนาจเต็มเพียงหน่วยงานเดียว โดยไม่ต้องขออนุญาตใช้พื้นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมายอื่น ก็ถูกแก้ไขเสียจนทำให้ กพร. ไม่สามารถมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ได้เพียงหน่วยงานเดียวอีกต่อไป

ในแถลงการณ์ยังระบุอีกว่า บทเฉพาะกาลในร่างฯ มีลักษณะจงใจเขียนซ่อนเอาไว้เพื่อต้องการคุ้มครองสัญญาสัมปทานผูกขาดหลายฉบับที่ทำขึ้นมาก่อนหน้านี้โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเป็นสัญญาที่ทำขึ้นภายใต้มติคณะรัฐมนตรีที่ไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้กระทำสัญญาในรูปแบบ ‘สัมปทานผูกขาด’ ที่ไปจับจองพื้นที่ขนาดใหญ่หลายแสนไร่โดยไม่มีวันหมดอายุได้ ดังเช่น สัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำแปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของเหมืองทองคำที่มีปัญหาผลกระทบและความขัดแย้งรุนแรงกับชาวบ้านในพื้นที่รอบเหมืองในเขตตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นต้น ก็ถูกแก้ไขในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯเสียจนอาจทำให้สัญญาฯดังกล่าวและสัญญาในทำนองเดียวกันนี้อีกหลายฉบับถูกยกเลิกเพิกถอนได้หากว่าร่างกฎหมายแร่ฉบับนี้ผ่านวาระสองและสามของ สนช. และตราเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป

ที่มาส่วนหนึ่งจาก: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสั่งจำคุก 2 ปี ปรับ 1 แสน หนุ่มโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์กรณี ฮ.กองทัพบกตก

$
0
0

8 ธ.ค. 2559 ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์รายงานว่า ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 913 ศาลอาญารัชดา ศาลมีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท ธนพร หนุ่มโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์กรณีเฮลิคอปเตอร์กองทัพบกตก แต่เนื่องจากศาลเห็นว่า การลงสถานหนักจะไม่เป็นประโยชน์แก่การที่จำเลยจะสำนึกผิดและกลับตัวกลับใจ จึงให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ 2 ปี 

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ รายงานถึงคำพิพากษา โดยศาลวินิจฉัยว่า แม้ข้อความที่จำเลยโพสต์ในเฟซบุ๊กไม่ได้ให้รายละเอียดหรือข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายเป็นอย่างไร แต่การเปรียบเปรยว่า "น่าจะตายสักห้าพัน แผ่นดินจะได้สูงขึ้น" ก็เป็นการทำให้บุคคลทั่วไปทราบว่า ผู้เสียหายหรือผู้เสียชีวิตจากกรณีเฮลิคอปเตอร์กองทัพบกตกเป็นผู้ทรยศต่อแผ่นดิน เป็นเสนียดของสังคม ทั้งที่ อาชีพททารเป็นอาชีพที่มีเกียรติและเสียสละควรค่าแก่การยกย่องสรรเสริญ ดังนั้น การโพสต์ข้อความของจำเลยในลักษณะดังกล่าวก็เพียงพอที่จะครบองค์ประกอบความผิด ไม่ใช่แค่การกระทำที่ไม่เหมาะสมแต่เพียงอย่างเดียว และการใส่ความดังกล่าวก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ญาติของผู้เสียชีวิตได้รับความเสียหายจากการถูดูหมิ่นเกลียดชัง แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบว่ามีความเสียหายใดเกิดขึ้น

ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่า เหตุที่โพสต์ข้อความเสียดสีผู้เสียชีวิตในกรณีเฮลิคอปเตอร์กองทัพบกตกเกิดจากความโกรธแค้นที่เจ้าหน้าที่ทหารสลายการชุมนุมในปี 2553 และเห็นกับตาว่ามีบุคคลสามคนรวมทั้งผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุนถูกทหารยิงจนเสียชีวิต รวมทั้งตัวจำเลยเองก็ถูกยิงจนได้รับบาดเจ็บนั้นฟังไม่ขึ้นเพราะไม่ปรากฎว่าจำเลยเป็นญาติกับผู้เสียชีวิต อีกทั้ง เหตุการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นมากว่า 4 ปีแล้ว และไม่ปรากฎว่าผู้เสียหายหรือผู้เสียชีวิตจากกรณีเฮลิคอปเตอร์กองทัพบกตกเป็นผู้เกียวข้องกับการสลายการชุมนุมดังกล่าว

ส่วนเรื่องอำนาจการจับกุมที่ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าจับกุมจำเลยที่กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้ตายเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะคดีหมิ่นประมาทผู้ตายไม่ใช่กฎหมายที่อยู่ท้ายบัญชีตามประกาศกฎอัยการศึกนั้น เห็นว่ากฎอัยการศึกให้อำนาจเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ทหารจึงเป็นการจับกุมที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยจึงมีความผิด

ทั้งนี้ คำพิพากษาคดีนี้ไม่ได้ยึดตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ฝ่ายจำเลยได้แถลงปิดคดีไว้ว่า ในความผิดฐานหมิ่นประมาท จำเลยจะต้องบรรยายข้อเท็จจริงให้ปรากฎว่า โจทก์หรือผู้เสียหายมีพฤติการณ์ที่ไม่ดีอย่างไร

อ่านรายละเอียดคดีที่ https://freedom.ilaw.or.th/case/648

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษกบีบีซีมั่นใจบทความพระราชประวัติ ร.10 ไม่ขัดต่อหลักปฏิบัติในการเสนอข่าว

$
0
0

8 ธ.ค. 2559 จากกรณีเว็บไซต์และเฟซบุ๊กแฟนเพจบีบีซีไทย ได้รายงานพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จนได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางเนื่องจากเขียนเล่าเรื่องที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากสื่ออื่นๆ ในโลกของ “ภาษาไทย” ต่อมาได้เกิดโจมตีบีบีซีไทยและตัว บก.คนไทย ทั้งจากเซเลปและสำนักข่าว จากนั้น จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ 'ไผ่ ดาวดิน' นักกิจกรรมผู้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร ซึ่งแชร์รายงานดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมคัดลอกข้อความบางส่วนจากรายงานดังกล่าวมาโพสต์ประกอบด้วย ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันต่อมา ด้วยหลักทรัพย์ประกันตัว 400,000 บาท (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ล่าสุดวันนี้ (8 ธ.ค.59) เว็บไซต์บีบีซีรายงานว่า โฆษกของบีบีซีชี้แจงข่าวนี้ว่า "การก่อตั้งบีบีซีไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข่าวสารอย่างไม่เลือกข้าง มีความเป็นอิสระ และถูกต้อง ในประเทศที่สื่อมวลชนต้องเผชิญกับข้อจำกัด และเรามั่นใจว่าบทความชิ้นนี้ไม่มีสิ่งใดที่ขัดต่อหลักปฏิบัติในการเสนอข่าวบีบีซี"

ที่มา เว็บไซต์บีบีซี 

สื่อทั่วโลกพร้อมใจเสนอข่าวรัฐบาลไทยเตรียมดำเนินคดีบีบีซี

นอกจากนี้ บีบีซี ยังรายงานด้วยว่า  สื่อทั่วโลกพร้อมใจเสนอข่าวรัฐบาลไทยเตรียมดำเนินคดีบีบีซี โดยระบุว่าสำนักข่าวหลักระดับโลก ได้แก่ รอยเตอร์ ของอังกฤษ เอพี ของอเมริกา และ เอเอฟพี ของฝรั่งเศส ต่างรายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ถึงความพยายามของทางการไทยในการดำเนินคดีกับเว็บไซต์ของบีบีซีไทย ในข้อหาเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ที่ว่าด้วยการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท 

'ประวิตร' แจงจะปิดบีบีซีต้องว่าไปตามกฎหมาย 

วันเดียวกัน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงการดำเนินการกับเว็ปไซดต์บีบีซีไทย ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบัน จะสามารถปิดได้หรือไม่ว่า ต้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบดูก่อน ไม่ใช่จะไปบอกว่าให้ปิดหรือไม่ปิด ต้องว่าไปตามกฎหมาย 

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเท็จจริงกรณีมีการเผยแพร่ภาพสำนักงานบีบีซีไทยถูกถอดป้ายออกเป็นอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า สื่อต้องไปดูว่าเป็นอย่างไรตนยังไม่เห็นอะไร ส่วนมีเจ้าหน้าที่ไปพูดคุยกับ บีบีซีไทยหรือยังนั้นตนไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการ อะไรที่ไม่ถูกกฎหมายต้องดำเนินการเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ไม่ทำไม่ได้ ตนสั่งไปหมดแล้วอะไร ทำให้เกิดความขัดแย้งและเป็นเรื่องผิดกฎหมายจะต้องดำเนินการในทุกเรื่องทุกคนไม่ละเว้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้แจ้งความคืบหน้าเข้ามา 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีรายงานข่าวว่ากลุ่มคนเสื้อแดงใต้ดิน กลับมาจัดรายการวิทยุผ่านทางประเทศลาวได้อีกครั้งจริงหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีการจัดรายการวิทยุแบบเก่า ถ้ามีก็จะแจ้งไปทางประเทศลาวเพื่อจัดการอีก ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตรวจสอบอยู่แล้ว แต่คงมีการเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊คเล็กน้อยซึ่งเราก็ประสานงานในการดำเนินการตลอด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ว่างงานเพิ่มจากปีก่อน 'จัดหางาน' พบ 10 เดือนที่ผ่านมายอด 3.86 แสนคน แต่อยู่ในสภาวะปกติ

$
0
0

8 ธ.ค. 2559 รายงานข่าวจากกรมการจัดหางาน แจงสถานการณ์การว่างงานปี 2559 ว่า อยู่ในสภาวะปกติ พบอัตราการว่างงาน 1% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีอัตราการว่างงาน 0.9% แต่อัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2559 ลดลงจากเดือนตุลาคม ขณะที่อัตราการกลับเข้าสู่การมีงานทำ จ้างงานในปี 2559 (มกราคม-พฤษภาคม) สูงกว่าปี 2558 จำนวน 4%

วิวัฒน์  จิระพันธุ์วานิช รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากข้อมูลภาวะการมีงานทำของประชากรปี 2559 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าเดือนมกราคม-ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้ว่างงาน จำนวน 3.86 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีอัตราการว่างงาน 0.9% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกำลังแรงงานโดยพบว่าอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานในรอบ 5 ปี (2555-2559) ที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไปไม่หางานทำ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในระบบการศึกษายาวนานขึ้น ประกอบกับเป็นสังคมผู้สูงอายุจำนวนมากซึ่งไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน ดังนั้นจึงทำให้กำลังแรงงานโดยรวมลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาจะพบว่ามีอัตราการว่างงานลดลง จาก 1.2% เป็น 1% ในส่วนของอัตราการมีงานทำปี 2559 (มกราคม-ตุลาคม 2559) คิดเป็น 98.4% ขณะที่ปี 2558 มีจำนวน 98.7% ซึ่งต่างกันเพียง 0.3% แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานยังคงใกล้เคียงกับปี 2558 ขณะเดียวกันอัตราการกลับเข้าสู่การมีงานทำในปี 2559 (มกราคม-พฤษภาคม 2559) พบว่ามีลูกจ้างถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน จำนวน 298,248 คน สามารถกลับเข้าสู่การมีงานทำ/จ้างงานได้ 185,321 คน หรือคิดเป็น 62% สูงกว่าปี 2558 จำนวน 4% ที่มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน จำนวน 639,183 คน สามารถกลับเข้าสู่การจ้างงานได้ 374,754 คน หรือคิดเป็น 58%

วิวัฒน์ฯ กล่าวต่อว่า ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้รับแจ้งความต้องการแรงงาน จำนวน 32,728 อัตรา มีผู้สมัครงาน จำนวน 34,776 คน และสามารถบรรจุงานได้ จำนวน 20,149 คน โดยตำแหน่งงานที่นายจ้าง/สถานประกอบการต้องการแรงงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.แรงงานทั่วไป 2.แรงงานด้านการผลิต 3.พนักงานขายและผู้นำเสนอสินค้า 4.พนักงานธุรการ และ5.พนักงานขับรถยนต์ ซึ่งแสดงว่ายังมีตำแหน่งงานว่างรองรับและสามารถบรรจุงานได้ โดยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตผู้ลี้ภัยโซมาเลียซึ่งชนะเลือกตั้งท้องถิ่นสหรัฐฯ ถูกเหยียดเชื้อชาติบนแท็กซี่

$
0
0

สตรีเชื้อสายโซมาเลียและเป็นอดีตผู้ลี้ภัย ซึ่งชนะการเลือกตั้งในสภาของรัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าเธอถูกข่มขู่คุกคามด้วยความเกลียดชังจากคนขับรถแท็กซี่ในวอชิงตัน ดีซี

อิลฮาน โอมาร์ ผู้ชนะการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นรัฐมินนิโซตา (ที่มา: ilhanomar.com)

บีบีซีรายงานว่า อิลฮาน โอมาร์ ผู้แทนพรรคเดโมแครตที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาของรัฐมินนิโซตาอายุ 34 ปี ถูกข่มขู่จากคนขับรถแท็กซี่ให้ถอดฮิญาบซึ่งเป็นผ้าคลุมศรีษะของเธอออก เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมาหลังจากที่เธอเสร็จจากการเข้าร่วมการอบรมด้านนโยบายที่ทำเนียบขาว

โอมาร์เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านโซเชียลมีเดียว่า "ขณะที่ฉันกำลังกลับไปที่โรงแรม ฉันเข้าไปในแท็กซี่คันหนึ่งที่ใช้คำพูดในเชิงเกลียดชัง เหยียดหยาม หวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผล เย้ยหยันและข่มขู่ในทางเหยียดเพศหนักที่สุดเท่าที่ฉันเคยเจอมา"

เธอเล่าต่อไปว่าแท็กซี่กล่าวหาเธอว่าเป็นพวกกลุ่มก่อการร้ายไอซิสและขู่ว่าจะเอาฮิญาบของเธอออก เธอบอกอีกว่าไม่รู้ว่าการกระทำของแท็กซี่จะเลยเถิดไปถึงจุดใดถ้าหากเธอไม่รีบลงจากรถไปพร้อมกับข้าวของของเธอ จนถึงตอนที่เธอเขียนเรื่องนี้เธอยังรู้สึกสั่นไหวและไม่เข้าใจว่าทำไมคนถึงแสดงออกความเกลียดชังชาวมุสลิมมากขึ้นอย่างไม่ละอาย

"ฉันขอสวดมนต์ให้กับความเป็นมนุษย์ของเขาและกับทุกคนที่เก็บความเกลียดชังไว้ในจิตใจ" โอมาร์กล่าว

กองตำรวจนครบาลกรุงวอชิงตันดีซีเปิดเผยว่าพวกเขาไม่ได้รับแจ้งเหตุในเรื่องการคุกคามแบบที่โอมาร์เล่า อย่างไรก็ตามโอมาร์ตอบคำถามด้วยเฟซบุ๊กเพจของเธอว่าเธอจะแจ้งเรื่องนี้เมื่อกลับถึงเมืองมินนิแอโพลิส เธอบอกอีกว่าเธอรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะคนขับแท็กซี่รู้ว่าเธอพักอยู่ที่ใด

โฆษกประจำตัวโอมาร์กล่าวว่าเธอไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลมากกว่านี้เพราะอยากเน้นใช้สมาธิไปกับเรื่องการเข้าร่วมฝึกอบรมและการประชุมของเธอมากกว่า

โอมาร์เดินทางเข้าสหรัฐฯ จากค่ายผู้ลี้ภัยในเคนยาเมื่อเธออายุได้ 12 ปีหลังจากที่หนีตายจากสงครามกลางเมืองในบ้านเกิดตัวเอง เรื่องราวที่เธอเอาชนะผู้แทนพรรครีพับลิกันได้เมื่อเดือนที่แล้วทำให้เธอกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้โอมาร์ยังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการด้านนโยบายของเครือข่ายสตรีที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงในแอฟริกาตะวันออกมีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำพลเมืองด้วย

โอมาร์ยังชนะการเลือกตั้งได้แม้ในช่วงก่อนหน้าวันลงคะแนนโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากรีพับลิกันกล่าวหาว่าผู้อพยพชาวโซมาเลียในมินนิโซตา "แพร่กระจายแนวคิดแบบหัวรุนแรง" โดยจากการสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ ระบุว่าในมินนิโซตาเป็นพื้นที่ทีมีประชากรโซมาเลียมากที่สุดในสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 50,000 คน

เรียบเรียงจาก

First US Somali lawmaker gets 'Islamophobic threats' in taxi, BBC, 08-12-2016 http://www.bbc.com/news/world-us-canada-38245278

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพธนาคมฯ ย้ำบริการแท็กซี่วีลแชร์ฟรี-ดึงเอกชนเข้าร่วม หวังเพิ่มลูกค้า

$
0
0

หลังให้บริการฟรีแท็กซี่วีลแชร์ตั้งแต่ปี 2555 และมีนโยบายเก็บค่าโดยสารจนถูกคัดค้าน มานิต เตชอภิโชค กรรมการอำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม ย้ำจุดยืน บริการฟรี-หนุนดึงเอกชนเข้าร่วม เพื่อให้การบริการทั่วถึง- ครอบคลุมผู้ใช้วีลแชร์มากขึ้น


ภาพจาก เฟซบุ๊ก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

9 ธ.ค. 2559 มานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ประกอบการบริการแท็กซี่วีลแชร์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา ถึงนโยบายให้บริการฟรีและแนวคิดที่จะให้เอกชนเข้าร่วมบริการด้วย หลังได้รับร้องเรียนจากคนพิการ และผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์ถึงปัญหาเรื่องการโทรเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ เช่น โทรติดต่อลำบาก ฯลฯ อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า จะต้องหารือเรื่องนี้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสียก่อน

มานิตกล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์บริการแท็กซี่วีลแชร์ของกรุงเทพธนาคมมีพนักงาน จำนวน 30 คน โดยทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ไม่มีการให้อภิสิทธิ์แก่ผู้ใดทั้งสิ้น ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคนพิการและผู้สูงอายุที่ต้องใช้วีลแชร์ 40,000-60,000 คน แต่ทางบริษัทมีรถแท็กซี่ที่ให้บริการเพียง 30 คัน หรือสามารถบริการประชาชนได้ประมาณ 10,000 คนต่อเดือน  ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเกิดแนวคิดที่จะให้บริษัทเอกชน เช่น นครชัยแท็กซี่ ฯลฯ เข้ามาร่วมให้บริการกลุ่มผู้ใช้วีลแชร์ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการรถแท็กซี่หลายรายให้ความสนใจ

เขาเสริมว่า การให้บริการดังกล่าวเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ของบริษัท โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนต่างๆ เช่น บริษัท โตโยต้า ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการตรวจสอบสภาพและบำรุงรักษารถ บริษัทมิชลิน ซึ่งให้ยางรถยนต์ปีละ 100 เส้น โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย อีกส่วนมาจากการสนับสนุนงบประมาณของกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเงินเดือนของพนักงานขับรถและพนักงานรับโทรศัพท์ โดยตั้งแต่ให้บริการมา 7 ปี บริษัทกรุงเทพธนาคมฯ ใช้งบประมาณส่วนนี้เป็นจำนวนเงิน 138 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า ยังต้องมีการเจรจาถึงแนวทางการดำเนินงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก่อน ถึงเรื่องที่จะให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมในการให้บริการกลุ่มผู้ใช้วีลแชร์

ก่อนหน้านี้ต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และกรรมการรวม 15 คน ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้ผู้ว่าฯ กทม.แต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ โดยสภากรุงเทพมหานครกล่าวว่า การลาออกยกชุดของกรรมการในบอร์ดถือเป็นเรื่องปกติ และไม่มีสิ่งผิดปกติใดๆ เนื่องจากบอร์ดชุดนี้ผู้ว่าฯ กทม.คนเก่าเป็นผู้แต่งตั้ง เมื่อหมดหน้าที่แล้ว บอร์ดที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาจึงต้องลาออกตามมารยาท นอกจากนี้ หากบอร์ดชุดดังกล่าวออกไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ที่จะต้องแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่แทน ซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นบอร์ดนั้น เป็นที่รู้กันดีว่า จะต้องเป็นคนที่ผู้ว่าฯ กทม.ไว้ใจ และเชื่อใจมากเป็นพิเศษ

รถแท็กซี่วีลแชร์นั้นเปิดให้บริการฟรีตั้งแต่ปี 2555 แต่เมื่อกลางปี 2558 มีนโยบายกำหนดให้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2558 เริ่มเก็บค่าโดยสารแท็กซี่วีลแชร์ในอัตราเดียวกับแท็กซี่ ซึ่งมีอัตราเริ่มต้น 35 บาท และในวันที่ 1 มี.ค.2559 จะเก็บค่าเรียกใช้บริการ 50 บาท ฝั่งผู้ใช้บริการจึงเปิดประเด็นทวงสัญญาที่อดีตผู้ว่าฯ กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เคยพูดว่าจะจัดเก็บค่าโดยสารครึ่งราคา และตั้งคำถามว่า ค่าเรียกใช้บริการ 50 บาทนั้นแพงเกินไปหรือไม่

จากสถิติการให้บริการมีการเรียกใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน 1,648 ครั้ง จากจำนวนรถ 30 คัน สถานที่เป้าหมายการเดินทางสูงสุดคือ โรงพยาบาล ร้อยละ 31 ห้างสรรพสินค้าและตลาด ร้อยละ 25 ศูนย์คนพิการร้อยละ 14 บ้านเพื่อนหรือญาติ ร้อยละ 11 ที่เหลือเดินทางไปยังสถานที่ทั่วไป เช่น สถานที่ราชการ สถาบันการศึกษา วัด ฯลฯ
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.จับมือ 5 ค่ายมือถือ แจกบัตรเติมเงิน 50 บาท 15,000 ใบ ให้ปชช.ที่มาถวายบังคมพระบรมศพ

$
0
0

สำนักงาน กสทช. ร่วมกับโอเปอเรเตอร์มือถือทั้ง 5 ค่าย แจกบัตรเติมเงินมูลค่า 50 บาทจำนวน 15,000 ใบให้กับประชาชนที่เดินทางไปร่วมถวายบังคมพระบรมศพ ในวันอาทิตย์ที่ 18 ธ.ค. 2559

9 ธ.ค. 2559 ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 ราย ได้แก่ AIS DTAC TRUE CAT และ TOT แจกบัตรเติมเงินมูลค่า 50 บาท จำนวน 15,000 ใบ คิดเป็นเงิน 750,000 บาท ให้กับประชาชนที่เดินทางไปร่วมถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ในวันอาทิตย์ที่ 18 ธ.ค. 2559 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

สำหรับการแจกบัตรเติมเงินในครั้งนี้จะแจกให้กับประชาชนผู้ที่มาเข้าคิวรอถวายบังคม  พระบรมศพ โดยในเวลา 05.00 น. จะแจกบัตรเติมเงิน จำนวน 5,000 ใบ และในเวลา 08.00 น. จะแจกเพิ่มอีก 10,000 ใบ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักปรัชญาชายขอบ: เราไม่ใช่ ‘มนุษย์’ สมัยใหม่

$
0
0

 


อะไรคือโลกแห่งความจริง เรามักคิดว่าเมื่อหลับและฝันเราอยู่ในโลกแห่งความฝัน ความฝันขณะที่หลับย่อมไม่ใช่ความจริง เรารู้ว่าเรื่องราวในความฝันไม่ใช่ความจริง ก็เพราะว่าสิ่งที่เรารับรู้ในความฝันต่างจากที่เรารับรู้ในขณะที่ตื่นอยู่ แต่เรารู้ได้อย่างไรว่าโลกขณะที่ตื่นอยู่ไม่ใช่เป็นเพียงความฝัน

เช่น เราอาจกำลังฝันไปว่าตนเองเป็น “มนุษย์” เนื่องจากเราอาจเคยเรียนรู้มาว่า ความหมายของ “มนุษย์” ในโลกสมัยใหม่ คือโลกยุคศตวรรษที่ 17, 18 เป็นต้นมา ความเป็นมนุษย์หมายถึง ความเป็นปัจเจกบุคคลที่มีเจตจำนงอิสระในการกำหนดตนเอง (autonomous will)

เพื่อปกป้องความเป็นมนุษย์ในความหมายดังกล่าว คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN’s Human Rights Commission) ได้ร่างกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ระบุให้ “การกำหนดเจตจำนงของตัวเอง” ของปัจเจกบุคคลเป็น “สิทธิ” ที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ดังข้อความในมาตรา 1 ว่า

ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง โดยอาศัยสิทธินั้น ประชาชนจะกำหนดสถานะทางการเมืองของตนอย่างเสรี รวมทั้งดำเนินการอย่างเสรีในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของตน

เมื่อเราตื่นอยู่ เรารู้ตัวว่าตนเองกำลังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 และเราคือมนุษย์สมัยใหม่ที่เป็น Subject หรือเป็นองค์ประธานผู้กระทำที่มีเจตจำนงอิสระของตนเอง มีสิทธิ์ที่จะคิด พูด ทำอย่างเสรี มีสิทธิ์เลือกการมีชีวิตที่ดีตามแนวทางของตนเอง มีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองและอื่นๆ เพราะเราคือมนุษย์ที่เป็น Subject ไม่ใช่ Object ผู้ถูกกระทำหรือมนุษย์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือดังมนุษย์ยุคทาส

แต่จู่ๆ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐมาเคาะประตูบ้าน ตั้งคำถามว่า “คุณไปกดไลค์...ใช่ไหม รู้หรือเปล่าว่าคุณอาจมีความผิดร้ายแรง!”เราจึงสะดุ้งตื่นจากสภาวะที่ไม่ได้กำลังนอนหลับ แล้วก็นึกทบทวนความหมายของความเป็น “มนุษย์” ในโลกสมัยใหม่ว่าคือมนุษย์ที่มีเหตุผล อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเอง มีโลกของเสรีภาพเป็น “พื้นที่เพื่อการเติบโต” แต่นี่คือความฝัน ไม่ใช่ความจริง

พราะความจริงคือ เรามีชีวิตอยู่อย่างไม่สามารถจะเป็น “มนุษย์” ในความหมายสมัยใหม่ได้!  

0000

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันต้านคอร์รัปชันสากล ประยุทธ์ ชูแนว 'ประชารัฐ' นำทางปราบทุจริต

$
0
0

พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการคอร์รัปชัน ย้ำปัญหาคอร์รัปชันเป็นศัตรูร้ายต่อการพัฒนาประเทศ ชู  'ประชารัฐ' ป้องกันและปราบปรามการทุจริต อาศัยรวมพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน

พิธีเปิดงานเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพุทธมณฑลสาย 4 จ.นครปฐม 9 ธ.ค. 2559 (ทีมาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

9 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.20 น. ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดและประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) โดยมี รองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ ตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ มูลนิธิ องค์กรเครือข่าย และประชาชนเข้าร่วมงาน

สำหรับการประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนดจัดงานดังกล่าวเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้สังคมและทุกภาคส่วนตระหนักในผลเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นขึ้นจากการทุจริต รวมทั้งเพื่อสนับสนุนให้สังคมตระหนัก ถึงความเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการทุจริต และร่วมสร้างจิตสำนึกในการป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันในประเทศ ภายใต้แนวคิดการจัดงาน “สุจริตตามรอยพ่อ ขอทำดีเพื่อแผ่นดิน” ซึ่งดำเนินกิจกรรมพร้อมกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ

พิธีเปิดงานเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพุทธมณฑลสาย 4 จ.นครปฐม 9 ธ.ค. 2559 (ทีมาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

โดยในฐานะประธานพิธีประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการคอร์รัปชัน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 9 ธ.ค. ของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล เพื่อให้ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงภัยร้ายแรงที่เกิดจากการคอร์รัปชัน และเพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทยเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน ต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่างในการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคน และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพราะปัญหาคอร์รัปชันเป็นศัตรูร้ายต่อการพัฒนาประเทศทั้งในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ และทำให้การบริหารราชการล้มเหลว สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการศึกษา ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้งบประมาณอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น ส่วนราชการต้องเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ โปร่งใสสามารถตรวจสอบ รวมทั้ง ทำความเข้าใจต่อกัน ช่วยตรวจสอบเฝ้าระวัง เพื่อให้ผลลัพธ์ของการดำเนินงานเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นประชาชน ท้องถิ่น จังหวัด หรือในภาพรวมระดับประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า ประเด็นสำคัญ คือสังคมต้องสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และต้องช่วยกัน เมื่อรู้ว่ามีการกระทำการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการหรือองค์กรใด ต้องร่วมมือกันเพื่อให้การต่อต้านการทุจริตเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทยต่อไปในอนาคต ซึ่งจากการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เมื่อปี 2557 ประเทศไทยได้อันดับที่ 85 ในปี 2558 ได้อันดับที่ 76 ส่วนปี 2559 ก็หวังว่าอันดับความโปร่งใสคงจะดีขึ้นอีก ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์การทุจริตในประเทศไทยดีขึ้น ผู้ที่ทุจริตจะถูกต่อต้านและถูกลงโทษทั้งจากกฎหมายและสังคม รวมทั้งมาตรการเสริมทั้ง 5 ด้าน ที่รัฐบาลนำมาใช้ ได้แก่ ด้านที่ 1 เสริมกลไกการแก้ปัญหาการทุจริตใน 3 ระดับ คือระดับชาติที่เรียกว่าคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช) ระดับการขับเคลื่อนที่เรียกว่า ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช) และระดับปฏิบัติการที่เรียกว่า ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกระทรวง (ศปท) ด้านที่ 2 ส่งเสริมให้ส่วนราชการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และอยู่ในกรอบธรรมาภิบาล ด้านที่ 3 เสริมกลไกการปฏิบัติ ด้านที่ 4 เสริมมาตรการทางกฎหมาย และด้านที่ 5 เสริมสร้างความเชื่อมั่นและการรับรู้ให้กับสังคม

พร้อมกับต้องมีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน 3 เป้าหมาย คือ เป้าหมายที่ 1 คนทุจริตรายเก่าหมดไป ด้านการปราบปรามอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายที่ 2 คนทุจริตรายใหม่ต้องไม่เกิด ด้านการป้องกันอย่างครบถ้วน และเป้าหมายที่ 3 ไม่เปิดโอกาสให้ทุจริต ให้มีการบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง สร้างพลังและเปิดพื้นที่ข่าวสารในการปลุกกระแสต่อต้านการทุจริต

พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า แนวทางในการที่จะช่วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ แนวทางประชารัฐ โดยต้องรวมพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน “รัฐ” หรือ “รัฐบาล” จะเป็นผู้อำนวยความสะดวก สนับสนุน และเปิดช่องทางให้ “ประชา” หรือภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบการทำงานของรัฐ โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายประชารัฐในทุกด้าน ทุกพื้นที่ อันจะเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน นับว่าเป็นการทำงานร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างยั่งยืน

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ทุ่มเทเสียสละแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง พร้อมกับกล่าวนำประชาชนทั่วประเทศ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ดังนี้ “ข้าพเจ้า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า จะประพฤติปฏิบัติตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำการทุจริต จะยึดมั่นในความยุติธรรม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน และจักปกป้องเทิดทูลสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ตลอดไป” โดย นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกคนปฎิบัติตามประกาศเจตนารมณ์ เพราะจำทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักการทุจริตคอร์รัปชัน และขอให้ทุกคนช่วยกันสร้างประวัติสร้างให้กับประเทศชาติ ให้เกิดความก้าวหน้า มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลือกปฏิบัติไปไหมกับ “ไผ่ ดาวดิน”

$
0
0

เชื่อว่าหลายคนคงต้องเคยรู้สึกหรือเคยมีคำถามนี้ “ทำไมเราโดนอยู่คนเดียวเนี่ย”ไม่ว่าในเวลาใดก็เวลาหนึ่งในชีวิต หลายคนเคยใช่ไหมเวลาเล่นบอลกับเพื่อนสมัยเรียนแล้วเราดันเป็นคนเตะไปโดนกระถางต้นไม้หล่นแตก เพื่อนสมัยมัธยมชวนโดดเรียนแล้วเราเป็นคนเดียวที่โดนครูไล่จับได้ เอาการบ้านเพื่อนคนเดียวกันมาลอกแต่โดนหักคะแนนอยู่คนเดียว เคยไหม? จองเซกชั่นเรียนพร้อมกันกับเพื่อนแต่ตัวเองหลุดไปเรียนกับอาจารย์ที่ตัวเองไม่ได้จองเซกชั่นนั้นไว้(เพราะขึ้นชื่อว่าให้ผ่านไม่ถึงครึ่งห้อง)หรือสารพัดเรื่องราวที่เราต้องตกเป็นจำเลยอยู่คนเดียวทั้งที่ก็มีคนตั้งมากมายทำแบบเดียวกัน จะเป็นเพราะมีคนจงใจจับผิดและลงโทษเราคนเดียว หรือเป็นเพราะโชคชะตาที่เราถึงคราวเคราะห์ก็ไม่อาจรู้ได้ แม้ใจจริงจะไม่ได้ต้องการให้ใครมาร่วมรับผิดด้วยก็ตาม แต่ก็อดน้อยใจในดวงของตัวเองไม่ได้

ในตอนนี้ถ้าผมเป็น “ไผ่ ดาวดิน” ผมคงรู้สึกแบบเดียวกันกับที่ผมว่ามาไม่ผิดเพี้ยน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 มีบทความบทหนึ่งที่กล่าวถึงสถาบันเบื้องสูงของไทยจากสำนักข่าว BBC Thai ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์และแฟนเพจเฟซบุ๊ก (ณ ขณะนี้บทความดังกล่าวได้ถูกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทยบล็อกเว็บไซต์ไว้ ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงไม่ได้) หลังจากการเผยแพร่บทความได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 2,600 คนแชร์บทความนี้ออกไป ซึ่งหนึ่งในบุคคลที่ได้แชร์บทความนั้นออกไปก็คือ 'ไผ่ ดาวดิน'  ทำให้เช้าวันที่ 3 ธันวาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายศาลจังหวัดขอนแก่นไปจับกุมตัวไผ่ด้วยการตั้งข้อกล่าวหากับไผ่ว่า“ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” คำถามที่สำคัญคือ “ทำไมไผ่โดนอยู่คนเดียว”

ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนทั่วไป เพราะไผ่ ดาวดิน เป็นนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยภาคอีสาน เป็นที่รู้จักตามหน้าสื่อทั่วไปจากการทำกิจกรรมทางการเมืองในทางปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล คสช. ไผ่เคยอดอาหารประท้วงการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่และปฏิเสธการประกันตัวจากกรณีการแสดงจุดยืนทางการเมืองในช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ไผ่เคยถูกดำเนินคดีเนื่องจากการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแล้วหลายครั้ง และล่าสุดการเคลื่อนไหวของไผ่กลายมาเป็นที่จับตามองของรัฐบาลอีกครั้ง

บทความที่ BBC Thai เผยแพร่คือพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ชาวโซเชียลเน็ตเวิร์คให้ความสนใจกับบทความนี้เป็นอย่างมาก เพราะไม่บ่อยนักที่จะมีสื่อมวลชนกล้าที่จะนำเสนอข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์สถาบันฯ  ในลักษณะนี้ ต่างคนต่างคาดการณ์กันไปถึงขั้นว่าสำนักข่าวบีบีซีไทยอาจต้องถึงคราวล่ำลาจากหน้าโซเชียลมีเดียแล้วหรือไม่ แต่จนถึงขณะนี้บทความของบีบีซีไทยยังคงอยู่บนเว็บไซต์และตามหน้าวอลล์ส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ส่วนไผ่ก็ได้กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศอีกคดีหนึ่ง

ถ้าเราลองนึกๆถึงกรณีของคนที่ได้รับความเสียหายจากการประชาสัมพันธ์ข่าวที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของตนเอง เราจะเห็นภาพของบุคคลนั้นๆ ลุกขึ้นมาชี้แจงต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณะ เราจะเห็นภาพของการประสานงานเพื่อติดต่อแหล่งต้นตอของข้อมูลนั้นๆ เพื่อขอให้ยุติการเผยแพร่ข้อมูลพร้อมกับชี้แจงรายละเอียดต่างๆ และหากเป็นกรณีดาราหรือบุคคลที่มีสถานะทางสังคม ที่เมื่อมีกรณีข่าวเสียหายเกิดขึ้น ก็จะจัดงานแถลงข่าวชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงของตนเอง จะผิดหรือไม่ผิด จริงหรือไม่จริงอย่างไรก็ว่ากันไป การเอาผิดกับคนเผยแพร่หรือบอกต่อ นอกจากจะไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว อาจยังวิเคราะห์ได้ว่าเจ้าของเรื่องไม่สามารถจัดการกับแหล่งต้นตอของข้อมูลได้จึงต้องเอาผิดกับผู้ที่ “บอกต่อ” แทน คล้ายกับการข่มขู่ว่าห้ามพูดมิฉะนั้นจะโดนลงโทษ ซึ่งถ้าคิดตามความเป็นจริงแล้ว การห้ามบอกต่อนั้นคือการกระตุ้นความอยากรู้ของผู้คนมากขึ้นไปอีก หลังจากข่าวการจับกุมไผ่ได้แพร่ออกไปบทความชิ้นนั้นได้กลายเป็นข้อมูลที่คนรับรู้กันอย่างทั่วถึงแล้วโดยปริยาย

หากคิดในอีกแง่การจับกุมไผ่นั้นอาจไม่ใช่เพราะแชร์บทความนี้โดยตรง เนื่องจากยังมีทางแก้ไขความเสียหายที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้มาก สิ่งที่เกิดขึ้นกับไผ่จึงดูเหมือนเป็นการตั้งข้อหากับบุคคลที่ปลายทางเสียมากกว่า ถึงแม้จะคิดว่าไผ่เป็นนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียง มีผู้คนติดตามการเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่การเลือกเจาะจงการจับกุมไปที่ไผ่ที่เป็นคนแชร์ข่าวต่อจากเขามาก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นการทำตามหน้าที่จริงๆ หรือเป็นเพราะตั้งใจกลั่นแกล้งกันแน่ จึงไม่แปลกถ้าจะมีคำถามตามมาว่า บุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการเขียนบทความของบีบีซีไทยและบุคคลอื่นที่ได้แชร์บทความนั้นออกไปจะมีความผิดดังเช่นไผ่ ดาวดินหรือไม่?

ขณะนี้ศาลจังหวัดขอนแก่นให้อนุญาตประกันตัวไผ่ชั่วคราวในวงเงิน 400,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่เทียบเท่ากับวงเงินในการประกันตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในข้อหาเจตนาฆ่าผู้อื่น ถ้าจะเอามาเปรียบเทียบกัน ข้อหาของไผ่คือความผิดที่กระทบความมั่นคงของประเทศ ซึ่งทางกฎหมายถือว่าร้ายแรงพอๆกัน หรือจะมากกว่าความผิดที่จงใจทำต่อคนๆ เดียวเสียอีก ถึงแม้ความผิดนั้นจะเป็นการฆ่าคนก็ตาม เพราะในทางกฎหมายถือว่าผลกระทบต่อส่วนรวมร้ายแรงกว่าผลกระทบที่เป็นรายบุคคล ดังนั้นที่เหลือจึงขึ้นอยู่กับการตีความถึงส่วนที่กระทบความมั่นคงของประเทศว่าจะมีขอบเขตแค่ไหน และสิ่งที่ไผ่ทำถึงขั้น “กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ” หรือไม่

ความผิดต่อความมั่นคงของประเทศได้กลายมาเป็นหัวข้อในการพูดคุยของคนไทยบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจุบันความผิดที่ดูเป็นเรื่องไกลตัว กลายเป็นความผิดที่คนธรรมดาก็โดนได้ด้วยการคลิ๊กเพียงครั้งเดียว ผ่านการโยงเข้ากับ พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 คือ หากการเผยแพร่ข่าวเสียหายเกี่ยวกับสถาบันฯ เป็นความผิดต่อความมั่นคงแล้ว เมื่อเอาไปทำในระบบคอมพิวเตอร์ก็กลายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้เกิดมาจากใครที่ไหน จริงๆแล้วก็เกิดมาจากวิถีชีวิตของเราที่เปลี่ยนไปนี่แหละ การที่ผู้คนปรับวิถีชีวิตมาในโลกเสมือนจริงมากขึ้น การกระทบกระทั่งผ่านการพิมพ์หรือโพสต์มากขึ้นเรื่อยๆจนต้องออกกฎหมายที่ควบคุมการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นการเฉพาะ เพราะการคลิ๊กครั้งเดียวคนเห็นมีได้ไม่จำกัด หากไม่มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้ว การพิสูจน์ความผิดต่อความมั่นคงต้องชัดเจนว่า อะไรที่ถือเป็นความมั่นคง เกิดผลเสียหายต่อประเทศแบบไหน และการกระทำคืออะไร แต่ถ้ามี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์การพิสูจน์ความผิดก็จะง่ายขึ้น

กรณีของไผ่อาจเป็นหนึ่งตัวอย่างของการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จริงก็ได้ แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาคือ การเลือกปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ผู้น้อยมักต้องถูกกล่าวหาเสมอ ไม่ต่างจากกรณีคนเก็บขยะเอาซีดีละเมิดลิขสิทธิ์มือสองไปขายแล้วถูกจับ แต่ผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังการผลิตแผ่นซีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์จริงๆ มีกำไรมากมาย ได้รับการปกป้องจากพรรคพวก และไม่เคยต้องเดือดร้อนจากข้อหาใดๆ ความรู้สึกแบบนี้จะยังคงอยู่ในสังคมไทยต่อไปอีกนานแค่ไหน จะหมดไปเมื่อใด ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับบรรดาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะตระหนักรับรู้มากน้อยแค่ไหน และคนในสังคมจะแสดงความเห็นสร้างแรงกดดันต่อผู้ปกครองได้มากแค่ไหนคำถามเหล่านี้จะยังคงถูกถามไปทุกยุคทุกสมัยใช่หรือไม่

0000

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live


Latest Images