Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50697 articles
Browse latest View live

รัฐสภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอนประธานาธิบดี พัก กึนเฮ ข้อหาเอี่ยวคอร์รัปชั่นโดยคนสนิท

0
0

รัฐสภาของสาธารณรัฐเกาหลีลงมติท่วมท้นเกิน 2 ใน 3 ถอดถอนประธานาธิบดีพัก กึนเฮ หลังพัวพันข้อกล่าวหาให้คนทรงเจ้าเพื่อนสนิท เข้าถึงความลับของราชการ ช่วยแก้ไขสุนทรพจน์ จนถึงมีส่วนตัดสินใจนโยบายสำคัญ แถมช่วยประธานาธิบดีดูฤกษ์ เลือกสีเสื้อผ้า โดยหลังจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาต่อ

ด้านประธานรัฐสภาย้ำว่าแม้หน้าที่ของประธานาธิบดีจะสิ้นสุดลง แต่การบริหารกิจการของรัฐจะดำเนินต่อไปตามปกติ และขอให้สมาชิกสภาโฟกัสที่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และแก้ไขเรื่องเศรษฐกิจ

การประชุมรัฐสภาเกาหลีใต้เพื่อลงมติลับถอดถอน ประธานาธิบดีพัก กึนเฮ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 (ที่มา: JTBC News)

 

สำนักข่าวยอนฮัปรายงานเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ว่า รัฐสภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอน ประธานาธิบดีพัก กึนเฮ ต่อข้อล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุคอร์รัปชั่นโดยคนใกล้ชิด ซึ่งเหตุอื้อฉาวนี้เป็นชนวนทำให้เกิดการชุมนุมขับไล่พัก กึนเฮ ทุกสุดสัปดาห์ ติดต่อกัน 6 สัปดาห์

โดยที่ประชุมของรัฐสภาเกาหลีลงมติ 234 เสียง ถอดถอนพัก กึนเฮ โดยได้คะแนนเสียงมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 2 ใน 3 ของสภา หรือเกิน 200 เสียง โดยผลการลงมติจะทำให้อำนาจของประธานาธิบดีในฐานะประมุขของรัฐถูกระงับไป ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนโดยศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้

ในภาพการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ จอง แซกุน ประธานรัฐสภาเป็นผู้ประกาศผลการลงมติ และได้ใช้ฆ้อนทุบโต๊ะประกาศผลการลงมติถอดถอนพัก กึนเฮ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีของสมาชิกรัฐสภา

ทั้งนี้มี ส.ส. 299 คนจาก 300 คน เข้าร่วมการลงมติแบบลับ มี ส.ส. เพียง 56 คนที่คัดค้านการถอดถอน อีก 2 คนงดลงมติ อีก 7 คน คะแนนลงมติเป็นโมฆะ

ประธานรัฐสภากล่าวว่า "แม้หน้าที่ของประธานาธิบดีจะสิ้นสุดลง แต่การบริหารกิจการของรัฐจะดำเนินต่อไปตามปกติ" เขากล่าวด้วยว่า "ในรอบหลายเดือนมานี้ การบริหารกิจการของรัฐเกิดชะงักงัน และนับตั้งแต่กระบวนการถอดถอนเริ่มขึ้น จากนี้ไปความสับสนจะต้องยุติ" ทั้งนี้เขาหวังด้วยว่าหลังการลงมติจะทำให้ความไม่แน่นอนต่างๆ ต้องยุติลง

ประธานรัฐสภาผู้เป็น ส.ส. มาแล้ว 6 สมัย ยังเรียกร้องสมาชิกรัฐสภาให้มุ่งให้ความสำคัญไปที่การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเขายังกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่กินเวลายาวนานซึ่งส่งผลกระทบต่อเกาหลีใต้ด้วย

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้จะทบทวนความชอบทางกฎหมายของมติถอดถอน ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 180 วัน โดยกรณีก่อนหน้านี้ในปี 2547 ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ใช้เวลาพิจารณา 64 วัน ก่อนมีมติไม่เห็นชอบต่อกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี โน มูฮย็อน มาแล้ว

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เดิมกำหนดไว้ที่เดือนธันวาคม 2561 หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินถอดถอนพัก กึนเฮ กำหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะร่นมาเร็วขึ้น โดยตามกฎหมายของเกาหลีใต้ การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องจัดภายใน 60 วัน หลังจากประธานาธิบดีลงจากตำแหน่ง หรือถูกขับให้พ้นจากตำแหน่ง

ด้าน ชู มีแอ ผู้นำฝ่ายค้านพรรคประชาธิปไตยเกาหลี กล่าวว่ามติถอดถอนประธานาธิบดีวันนี้เป็นชัยชนะของประชาชน และยังเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้พิจารณาอย่างฉับไว

 

ชนวนไม่พอใจเมื่อคนทรงมีอำนาจเหนือประธานาธิบดี

อดีตประธานาธิบดีพัก จุงฮี (ซ้าย) และพัก กึนเฮ (กลาง) เมื่ออายุ 24 ปี และด้านขวาคือ ชเว แทมิน เจ้าลัทธิยองแซเกียว ระหว่างเยือนโรงพยาบาลสำหรับผู้อาวุโสเมื่อ ค.ศ. 1976 (Hani.co.kr/Yonhap News)

ภาพเมื่อปี ค.ศ. 1979 ชอย ซุนซิล อายุ 23 ปี (ซ้าย) ตามประทบ พัก กึนเฮ อายุ 27 ปี (ขวา) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สตรีหมายเลข 1 แทนมารดาที่ถูกลอบสังหาร ในภาพเป็นการเยือนมหาวิทยาลัยฮันยาง กรุงโซล (ที่มา: แฟ้มภาพ/Koreatimes)

 

ทั้งนี้กระแสไม่พอใจพัก กึนเฮ ประธานาธิบดีวัย 64 ปี ลูกสาวอดีตผู้นำเผด็จการ พัก จุงฮี จนนำมาสู่การชุมนุมขับไล่ในมาตั้งแต่ 29 ตุลาคม และเกิดขึ้นตลอดทุกวันเสาร์ติดต่อกันมานั้น มีชนวนเหตุมาจากการที่เมื่อปลายเดือนตุลาคมนี้สำนักงานอัยการสูงสุดเกาหลีใต้ ตรวจสอบพบเรื่องอื้อฉาวที่ ชเว ซุนซิล อายุ 60 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของประธานาธิบดีที่รู้จักกันมา 40 ปี ที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองแต่สามารถเข้าถึงเอกสารลับของราชการ และมีส่วนในการตรวจสอบและแก้สุนทรพจน์ของประธานาธิบดี รวมทั้งมีส่วนในการดูฤกษ์ การเลือกเสื้อผ้าและโทนสี จนทำให้สาธารณชนวิจารณ์ว่าประธานาธิบดีพึ่งพาคนทรงเจ้า

นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาว่า ชเว ซุนซิล มีส่วนกำหนดคัดเลือกตัวบุคคลเข้ามาทำงานกับรัฐบาล รวมทั้งมีส่วนต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือ

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ที่มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (Ewha Womans University) ก็มีกรณีอื้อฉาว ที่ ชอง ยูรา บุตรสาวของชเว ซุนซิล นักศึกษาปี 2 ได้รับเลือกมาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยด้วยโควตาพิเศษของนักกีฬาขี่้ม้า ที่เปิดรับเป็นกรณีเฉพาะและได้รับเลือกเพียงคนเดียว นอกจากนี้เมื่อมาเรียนก็ยังขาดเรียนบ่อย แต่ก็ยังมีผลการเรียนดี จนกระทั่งมีผู้เปิดโปงและมีการประท้วงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จนอธิการบดีต้องประกาศลาออก

ทั้งนี้ประธานาธิบดีพัก กึนเฮ เคยแถลงขอโทษ และปลดเจ้าหน้าที่อาวุโสในทำเนียบประธานาธิบดีไป 10 ตำแหน่ง แต่ก็ยังไม่อาจสร้างความพอใจให้กับสาธารณชน  (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และยังทำให้ความนิยมในสัปดาห์ล่าสุดของประธานาธิบดีพัก กึนเฮ ตกลงไปอยู่ต่ำกว่า 4% โดยเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Parliament passes President Park's impeachment over corruption scandal, Yonhap, 2016/12/09

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: รัฐไทยกับโลกออนไลน์ อดีต ปัจจุบัน อนาคต(อันน่าสะพรึง)

0
0

ทบทวนร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่อาจจะผ่านการพิจารณาในปีนี้ รวมถึงย้อนดูความพยายามของรัฐบาลไทยในการเข้ามาควบคุม สอดส่อง การใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชน อย่างต่อเนื่อง พร้อมคุยกับ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ที่ติดตามมอนิเตอร์นโยบายรัฐต่อโลกออนไลน์มาตลอด ถึงข้อเสนอต่อแนวทางที่ควรจะเป็น

หลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 กฎหมายแรกที่ถูกผลักดันให้ผ่าน สนช. คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แม้ว่าในช่วงที่ร่างกฎหมายนี้จะมีการอภิปรายถึงความจำเป็นต้องมีเพื่อให้ครอบคลุมอาชญากรรมอันกระทำผ่านระบบคอมพิวเตอร์ อย่างการแฮกหรือฟิชชิ่ง แต่เมื่อมีการนำมาใช้ ก็กลับเกิดการใช้มาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาทผ่านระบบคอมพิวเตอร์จำนวนมาก

โดยเนื้อหาในมาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่มาตรา 14(1) เขียนว่านำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

งานวิจัยหัวข้อ ‘ผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และนโยบายของรัฐกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น’ ของศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ระบุว่า ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2550 ถึงธันวาคม 2554 มีคดีความทั้งสิ้น 325 คดี โดยคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาลเป็นคดีที่เกี่ยวกับการเผยแพร่เนื้อหาร้อยละ 66.15 ขณะที่คดีที่กระทำต่อตัวระบบ หรือที่เรียกว่าอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ มีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งมอบให้กับองค์กรสิทธิอย่างฟอร์ติฟายไรท์ ระบุว่า จำนวนข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่เข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล เพิ่มขึ้นจาก 6 ข้อหาในปี 2554 สู่ 13 (2555), 46 (2556), 71 (2557), 321 (2558) และ 399 ข้อหา (ม.ค.-ส.ค.59)

ที่ผ่านมา มีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กันมาหลายเวอร์ชั่น โดยในงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เล่าในงานว่า การแก้ไขมาตรา 14 ยังไม่ตกผลึก แต่พยายามแก้ไขให้ตรงวัตถุประสงค์หลักของมาตรา คืออุดช่องว่างเรื่องปลอมแปลงเอกสารและฉ้อโกง พร้อมชี้ว่า เดิมก็มีมาตรา 16 ที่มีเนื้อหาคล้ายกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องใช้มาตรา 14(1) ที่เป็นเรื่องปลอมแปลง ฉ้อโกง และยังยอมความกันได้ด้วย

แต่ปรากฏว่าร่างล่าสุดที่ออกมา เมื่อวันที่ 18 พ.ย. กลับยังไม่มีการแก้ไขมาตราดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้น มีเพียงการให้คำอธิบายจากไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการวิสามัญ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ในงานรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ที่รัฐสภาว่า มาตรา 14(1) นี้ไม่เกี่ยวกับกรณีหมิ่นประมาท


มีอะไรน่ากังวลในร่าง พ.ร.บ.คอมฯ

มาตรา 14(1) ที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ชัด ทำให้อาจถูกนำมาฟ้องหมิ่นประมาทออนไลน์ได้เหมือนเดิม

มาตรา 14(2) มีการเพิ่มฐานความผิดในลักษณะกว้างขวาง โดยระบุว่า หากมีการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายต่อ ‘การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน’ ให้มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

มาตรา 14 มักถูกนำมาใช้กับเนื้อหาอยู่แล้ว ทำให้มีความกังวลว่า การเพิ่มฐานความผิด อาจทำให้ในอนาคต เราไม่สามารถโพสต์วิจารณ์นโยบายรัฐหรือตรวจสอบการทุจริตใดๆ ได้เลย เพราะอาจถูกตีความว่าเข้าข่ายมาตรา 14(2) นี้

มาตรา 15 เรื่องภาระความรับผิดของตัวกลาง เดิมกำหนดให้ตัวกลางหรือผู้ให้บริการ (ซึ่งมีนิยามกว้างขวาง ตั้งแต่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เจ้าของเน็ตคาเฟ่ ตลอดจนเจ้าบ้านที่ปล่อยสัญญาณไวไฟ) ต้องรับผิดเท่ากับผู้โพสต์ ต่อมามีความพยายามแก้ไขโดยกำหนดว่า จะเอาผิดกับผู้ให้บริการที่ ‘ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ’ ซึ่งเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยาก อีกทั้งระบุว่า หากมีผู้แจ้งแล้วนำข้อมูลออก จะไม่ต้องรับโทษ แต่ในร่างประกาศกฎกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องกลับเปิดให้ใครก็แจ้งลบได้ โดยที่ผู้ให้บริการต้องลบในสามวัน อาจส่งผลให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง บล็อคไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย

มาตรา 20 ที่เปิดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ขอให้ศาลสั่งบล็อคเว็บได้ มีการเพิ่มเรื่องของความผิดตามกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายอื่นขึ้นมา อาจส่งผลให้เกิดการบล็อคอย่างกว้างขวาง

มาตรา 20/1 เพิ่มคณะกรรมการกลั่นกรองจำนวน 5 คน มาทำหน้าที่ส่งเรื่องต่อศาลพิจารณาบล็อคเว็บ ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นำมาซึ่งคำถามว่าจะมีเกณฑ์อย่างไร เนื่องจากไม่ได้อิงกับกฎหมายใดๆ เลย ขณะที่ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้นเป็นปัญหามาตลอดว่าคืออะไร

การบล็อคตามมาตรา 20 และ 20/1 นั้น กระทรวงดิจิทัลฯ จะตั้งศูนย์ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดการเรื่องดังกล่าว โดยอาจมีการเชื่อมโยงระบบการบล็อคเข้ากับระบบของผู้ให้บริการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้เองด้วย

มาตรา 26 กำหนดว่าในกรณีจำเป็น เจ้าหน้าที่อาจสั่งให้ผู้ให้บริการเก็บข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้บริการ จากเดิมไม่เกิน 90 วัน เป็นไม่เกิน 2 ปี รวมถึงมาตรา 18 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สั่งให้เก็บข้อมูลที่เป็นหลักฐานในการกระทำความผิดเอาไว้ก่อนได้ โดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา

มาตรา 18 และ 19 มีการขยายฐานอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นตรวจสอบ จากเดิมที่มีเฉพาะในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ ให้รวมถึงความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย


 

ขอบเขตเสรีภาพที่จะน้อยลง

ถ้าร่างฉบับนี้ ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต มองว่า สำหรับกรณีที่ซีเรียสมากๆ อย่างความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ผลที่ได้ก็อาจไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก เพราะอย่างไรรัฐก็คงใช้ทรัพยากรตามจับอยู่แล้ว และคนก็อยู่กับสถานการณ์แบบนี้มานานแล้ว หลังรัฐประหารก็เข้มข้นขึ้น ต่อให้ไม่มี พ.ร.บ.คอมฯ แบบใหม่ ก็มีประกาศ คสช. ต่างๆ ที่ใช้ได้อยู่แล้ว ในแง่นี้ จึงไม่ได้ต่างกัน คือแย่เท่าเดิม สิ่งที่ต่างคือ สเกลใหญ่ขึ้น มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำให้ตามจับได้สะดวกขึ้น

"แต่อีกทางอาจเป็นความเห็นเรื่องทั่วไปที่วิจารณ์ธุรกิจบ้าง กลุ่มคนอื่นบ้าง หรือพูดถึงนักการเมือง หรือรัฐ แต่ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ทำให้ใครสักคนไม่พอใจ เรื่องพวกนี้มีความเสี่ยงที่พื้นที่จะหดแคบลง เพราะ พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ กว้างขึ้น ไม่ต้องผิดกฎหมายก็บล็อคได้ หรือขยายไปเรื่องลิขสิทธิ์ มันก็สามารถตีความเรื่องนี้ให้ครอบคลุมเรื่องอื่นได้ เรียกว่าขอบเขตของกฎหมายมันกว้างขึ้น

"พอขอบเขตของการควบคุมมากขึ้น ขอบเขตของเสรีภาพย่อมน้อยลง"

นอกจากนี้ อาทิตย์บอกว่า การตั้งศูนย์บล็อคขึ้นมาจะทำให้เกิดการปิดกั้นอย่างกว้างขวางขึ้นอีก เพราะจากเดิมที่อาจมีขั้นตอน ต้องเดินทาง มีค่าใช้จ่ายในการกรอกแบบฟอร์ม พอมาเป็นแบบรวมศูนย์ที่เจ้าหน้าที่ทำทุกอย่างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทำทีเดียวส่งถึงทุกไอเอสพีได้สะดวก ก็มีแนวโน้มที่จะทำกับเว็บหรือตัวเนื้อหาที่ก่อนหน้านี้รู้สึกว่าไม่คุ้มค่าที่จะเสียเวลาทำ เรียกว่าใช้กับเรื่องที่หยุมหยิมมากขึ้น

พอสองเรื่องนี้มันประกอบกัน เรื่องที่จะถูกควบคุม ระงับ ลบ น่าจะมากขึ้น

แต่เขาเองก็ยังมองแง่ดีว่า สุดท้ายขึ้นอยู่กับผู้ใช้แต่ละระบบด้วยว่าจะยอมแค่ไหน ถ้ามีเรื่องที่สุดท้ายลบแล้วคนไม่ยอม ผู้ให้บริการก็คงต้องจัดการอะไรบางอย่างเช่นกัน เพราะผู้ใช้ถึงจะใช้ฟรีแต่ก็คือฐานลูกค้า ถ้าเห็นว่านี่คือฐานที่ใหญ่ ผู้ให้บริการก็ต้องหาวิธีไม่ให้เกิดการตีความที่เกินเลยไปและต่อรองกับรัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมาย อย่างกรณีคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งในร่างประกาศกฎกระทรวงฯ ฉบับล่าสุดบอกว่าจะมีมากกว่าหนึ่งคณะก็ได้ ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องการใช้ดุลพินิจและความสม่ำเสมอของการพิจารณา บังคับใช้กฎหมาย

ทั้งนี้ ในการตัดสินใจส่งเรื่องต่อศาลเพื่อขอคำสั่งบล็อคของคณะกรรมการกลั่นกรองนี้ มีการเปลี่ยนวิธีจากการใช้มติเอกฉันท์ เป็นเสียงข้างมาก แปลว่าสถานการณ์จะแย่ลงเพราะไม่ใช่แค่ความไม่ยุติธรรมในแง่เสรีภาพในการแสดงออก แต่อาจจะเกิดการเลือกปฏิบัติเพิ่มขึ้นด้วย เพราะมีพื้นที่ที่เปิดให้ตีความมากขึ้น การพิจารณาที่ไม่สม่ำเสมอ ผู้ประกอบการที่สามารถเข้าถึงคณะกรรมการฯ ที่มีอำนาจตัดสินใจก็อาจจะได้เปรียบมากกว่าเมื่อเทียบกับรายเล็กๆ

 


ภาพโดย Thomas Leuthard (CC BY 2.0)


นอกจากกฎหมายนี้แล้ว เราจะเห็นความพยายามเข้ามาควบคุมสอดส่องกิจกรรมประชาชนในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่องจากทุกรัฐบาล

หลังรัฐประหาร 2549 ในปี 2550 ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กองทัพกำลังเตรียมเครื่องมือดักฟังโทรศัพท์พื้นฐานของทีโอทีทุกคู่สาย โดยใช้เงินบริจาค 8,000 ล้านบาทจากทีโอที

ปี 2553 กระทรวงไอซีทีในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอให้ติดระบบดักจับข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตหรือ สนิฟเฟอร์ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและเพื่อช่วยคัดกรองเว็บไซต์ไม่เหมาะสม

ปี 2554 ในสมัยรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พูดถึงแผนการจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อดักรับข้อมูลที่อาจละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112

ปี 2556 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) โดย พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการ ปอท. ในขณะนั้น ออกมาบอกว่า จะตรวจสอบผู้ใช้บริการสื่อสังคมในทางผิดกฎหมาย กระทบต่อความมั่นคง และศีลธรรมอันดี

ต่อมา ก่อนเกิดรัฐประหาร 2557 ไม่กี่วัน มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก พร้อมจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ซึ่งออกคำสั่งหลายฉบับ ครึ่งหนึ่งเกี่ยวกับการทำงานของสื่อมวลชน การระงับการเผยแพร่ข่าวสาร และการตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ และวันถัดมา มีการออกคำสั่งเชิญผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายเข้าหารือและขอความร่วมมือตรวจสอบและปิดกั้นเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและอาจส่งผลต่อความสงบเรียบร้อย

หลังรัฐประหาร 2557 มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายฉบับซึ่งออกมาเพื่อกำกับสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ฉบับที่ 12 ขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์, ฉบับที่ 14 ห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฏิบัติงานของ คสช., ฉบับที่ 17 การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต, ฉบับที่ 18 การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ, ฉบับที่ 26 การดูแลและสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และฉบับที่ 97 การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ

ด้านกระทรวงไอซีทีมีการพูดถึงความพยายามในการประสานงานกับสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ และไลน์ เพื่อขอความร่วมมือระงับการเข้าถึงเนื้อหาที่ขัดประกาศ คสช. ตลอดจนมีการกล่าวถึงแผนสอดส่อง ‘เราจะเป็นเพื่อนกับท่าน’ ในแอปพลิเคชันไลน์ ที่มีคนไทยใช้บริการจำนวนมาก

28 พฤษภาคม ไม่กี่วันหลังการรัฐประหาร ยังมีเหตุการณ์ที่เฟซบุ๊กในประเทศไทยเข้าไม่ได้นานเกือบหนึ่งชั่วโมง ขณะที่ผู้ใช้ในต่างประเทศยังสามารถเข้าถึงได้ตามปกติ วันเดียวกัน คสช. และสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดไอซีทีในขณะนั้น ให้ข่าวไม่ตรงกัน โดยทวิตเตอร์ทางการของ คสช. ยืนยันว่า คสช. ไม่มีนโยบายปิดระบบเฟซบุ๊ก โดยพบว่าเกิดจากข้อขัดข้องทางเทคนิคที่เกตเวย์ ขณะที่มีรายงานว่า ปลัดไอซีทีในขณะนั้นบอกว่าได้รับคำสั่งให้ระงับเฟซบุ๊กเป็นระยะ เพราะเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ใช้ในการสร้างกระแส ยุยงปลุกปั่น ก่อให้เกิดความไม่สงบ ตามประกาศ คสช. แต่ต่อมา ปลัดกระทรวงไอซีที ออกมาบอกว่า ไอซีทีไม่ได้สั่งบล็อคเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นการทั่วไป แค่ปิดเฉพาะเพจที่มีปัญหาเท่านั้น ส่วนที่มีข่าวออกไปก่อนหน้านี้ว่าตัวเองสั่งปิดนั้น ยืนยันว่าเป็นการเข้าใจผิดของผู้รับสาย พร้อมระบุว่า ปัญหาการเข้าใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ไม่สามารถใช้งานได้ในขณะนี้ เกิดขึ้นจากเกตเวย์ที่เชื่อมเข้าประเทศไทยล่ม เพราะวันดังกล่าวมีทราฟฟิกใช้งานในไทยสูงมาก 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เว็บไซต์จอมแฉ อย่างวิกิลีกส์ ปล่อยอีเมลของบริษัทผู้ผลิตมัลแวร์ของอิตาลี ชื่อ ‘แฮกกิ้งทีม’ ซึ่งชี้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพไทยเคยจัดซื้อสปายแวร์จากบริษัท เมื่อปี 2556-2557 เพื่อสอดแนมพฤติกรรมเเละข้อมูลการใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของพลเมืองไทย

รวมถึงกรณีซิงเกิลเกตเวย์ซึ่งคือการเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศทั้งหมดเข้าด้วยกัน เรื่องนี้เคยมีการกล่าวถึงโดยเจ้าหน้าที่รัฐหลายครั้ง ความชัดเจนของเรื่องนี้ ได้รับการยืนยันจาก เอกสารข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ที่มีการระบุเรื่องนี้ไว้ถึง 4 ครั้งว่าให้เร่งดำเนินการ ตอนนั้น ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่างหวั่นว่าจะเกิดการควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลในอินเทอร์เน็ตที่จุดเดียว จนเกิดแคมเปญต่อต้านกันในชื่อ Thailand F5 Cyber Army against Single Gateway ซึ่งจะนัดแนะกันไประดมกดเรียกดูเว็บราชการถี่ๆ เพื่อทำให้เว็บนั้นๆ ล่ม


ความพยายามปิดกั้นบอกอะไร
อาทิตย์ชี้ว่า ทั้งหมดนี้เชื่อมกับความมั่นคงของกลุ่มทางการเมืองหรือมากกว่านั้น อย่างชนชั้นนำบางกลุ่ม ทั้งในสมัยพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็มีการเรียกเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ อดีตนักข่าวไทยพีบีเอส กล่าวหาว่าปล่อยข่าวลือเรื่องรัฐประหาร หรือกรณีพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลมีการพูดถึงสนิฟเฟอร์

"คือมันเกี่ยวข้องกับเสถียรภาพ ความมั่นคงบางอย่างของรัฐบาล แต่อาจไม่จำเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ" อาทิตย์กล่าวและว่า แม้ว่าเราไม่สามารถพูดมันอย่างแยกขาดออกจากกันได้ เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองอ้างไปถึงสถาบันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องจริงหรือไม่ เพราะที่ไหนๆ ก็อ้างความมั่นคงของรัฐในการทำเรื่องนี้ทั้งนั้น เพียงแต่ในบริบทประเทศไทย ความมั่นคงของรัฐ มันไปอยู่กับสถาบันกษัตริย์เสียเยอะ มันเป็นเหตุผลหลักที่อ้างใช้มาตรา 112 พ.ร.บ.คอมฯ ไล่จับคนด้วยวิธีการต่างๆ ก็เพื่อให้จับคนเหล่านี้ได้

"ภาพหลักทั่วโลก ทุกที่เลวลงพอกัน ถ้าทรัพยากรของรัฐมีพอ เขาก็อยากที่จะทำเรื่องพวกนี้ (การเซ็นเซอร์) ไม่ว่าจะเป็นรัฐเผด็จการ อิหร่าน หรือประชาธิปไตยอย่างสหรัฐฯ ก็ตาม

"ต่อให้รัฐจะใช้หรือไม่ใช้กฎหมายเหล่านี้ตามจับหรือไม่ สถาบันฯ ก็เป็นเหตุผลที่ดีที่รัฐสามารถชูใช้ได้ตลอดเวลา คือต่อให้เขาอยากจะใช้เรื่องอื่น แต่เขาอาจจะพูดไม่ได้ แต่ถ้าบอกว่าเอามาเพื่อปราบเว็บหมิ่น มันจะเป็นเหตุผลที่เมคเซนส์ สังคมยอมรับ หรือถึงไม่ยอมรับก็จะเถียงไม่ได้

"การควบคุมอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่รัฐสมัยใหม่ทุกที่ที่มองว่าการไหลเวียนอย่างเสรีของข้อมูลข่าวสาร เป็นภัยต่อความมั่นคงในการดำรงอยู่ของตัวเอง มันทำทุกที่" อาทิตย์ชี้



จะอยู่กับมันอย่างไร
ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกเหนือจากเนื้อหาที่ถูกมองเป็นภัยคุกคามแล้ว ประเทศไทยยังตกเป็นเป้าของอาชญากรรมไซเบอร์ด้วย ข้อมูลจากไทยเซิร์ต ภายใต้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) ระบุว่า เฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 ไทยมีภัยคุกคามไซเบอร์ถึง 1,017 กรณี โดยเป็นภัยคุกคามจากการบุกรุกเจาะระบบ (Intrusion) มากที่สุดถึง 348 กรณี หรือคิดเป็นร้อยละ 34.21 โดยที่ภัยคุกคามประเภทนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 47.45 ของช่วงเดียวกันใน 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตจึงมีข้อเสนอให้การควบคุมกระทำอย่างรัดกุม


ภาพโดย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล


อาทิตย์แบ่งสื่อเป็น 3 ระดับคือ ตัวเนื้อหา (Content) ถัดลงมาคือแพลตฟอร์ม เช่น โทรทัศน์, หนังสือพิมพ์, สำนักพิมพ์, ยูทูบ, เฟซบุ๊ก และชั้นล่างสุดคือเครือข่ายหรือ ‘Physical’ Medium เช่น กระดาษ, คลื่นวิทยุ, อินเทอร์เน็ต

ช่วงแรก รัฐใช้กฎหมายควบคุมตามลักษณะของสื่อ คือมองว่าเผยแพร่โดยใครก็จัดการที่จุดๆ นั้น เกิดที่หนังสือพิมพ์ก็ยึดแท่นพิมพ์ หรือสถานีโทรทัศน์ก็เข้าไปปิด หรือรัฐประหารทีหนึ่ง ก็ส่งคนไปประจำที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ จะไม่ให้ฉายหนังก็ใช้ พ.ร.บ.วีดิทัศน์ เนื้อหาในอินเทอร์เน็ต ก็ใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ซึ่งมันก็ใช้งานได้อยู่พักหนึ่ง สำหรับเมืองไทยก่อนยุค 2.0 หรือโซเชียลมีเดีย

เขาตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าตอนออก พ.ร.บ.คอมฯ ออกมาเมื่อปี 2550 ประเทศอื่นเริ่มเข้าสู่ยุค 2.0 หรือใช้โซเชียลมีเดียกันแล้ว แต่เมืองไทย สื่อหลักยังเป็นสื่อแบบเดิมๆ อยู่ มีลักษณะกำกับดูแลแต่ละสื่อ คนที่เป็นเจ้าของเว็บหรือพื้นที่ก็เป็นเจ้าของเนื้อหาด้วย ทำให้จัดการง่าย โดยปิดพื้นที่แสดงความเห็นไป ส่วนเนื้อหาก็เซ็นเซอร์ตัวเอง แต่เว็บที่ใช้เนื้อหาจากคนอื่นเป็นจุดขายอย่างพันทิป จะเริ่มลำบาก ต้องมีคนมอนิเตอร์ คือพันทิปปิดความเห็นมันก็เหมือนไม่ใช่พันทิป ก็เลยเริ่มได้รับผลกระทบ มีคนจำนวนหนึ่งย้ายจากเว็บบอร์ดพันทิปไปที่อื่นบ้าง ปิดก็ไปที่ใหม่ แต่ด้วยความที่คนจำนวนมากยังไม่ได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ดังนั้น พ.ร.บ.คอมฯ ที่เกิดในยุคที่คิดว่าเจ้าของพื้นที่คือเจ้าของเนื้อหาก็ยังพอใช้ได้

โดยการควบคุมที่เนื้อหา คนที่ได้รับผลกระทบ คือ คนที่ทำสื่อและคนที่ติดตามอ่านสื่อนั้นๆ ได้รับโดยตรง รวมถึงสาธารณะโดยรวมอาจจะได้รับผลกระทบด้วย ถ้าเป็นประโยชน์สาธารณะ

หลัง 2553 คนจำนวนมากอยู่ในเฟซบุ๊กมากขึ้น มันเริ่มลำบาก พอเจ้าของเว็บกับเจ้าของเนื้อหาเป็นคนละคน ทำให้การไล่จับคนโพสต์และให้เจ้าของพื้นที่ลบก็ยากขึ้น มันเริ่มขยับจากการกดดันควบคุมที่ตัวเนื้อหา (คนโพสต์) ไปที่เจ้าของพื้นที่ ซึ่งก่อน 2553 ใช้ได้ เพราะเจ้าของพื้นที่อยู่ในประเทศ หลัง 2553 พื้นที่ในประเทศถูกปิด คนไม่มีที่แสดงออก หนีไปแพลตฟอร์มต่างประเทศหมด พอทำอย่างนี้ ทำให้ใช้มาตรา 15 กดดันไม่ได้แล้ว เพราะไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลไทย สิ่งเดียวที่พอทำได้คือใช้มาตรา 20 บล็อค ไม่ให้คนในประเทศดูได้

การควบคุมที่ระดับแพลตฟอร์มนี้ คนที่ได้รับผลกระทบคือทุกคนที่ใช้แพลตฟอร์มนั้น คนที่ไม่เกี่ยวข้องก็โดนไปด้วย เช่น ข้อความหนึ่งในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งผิดกฎหมาย แล้วเว็บนั้นโดนดำเนินคดี เลยปิดเว็บทิ้งไปเพราะรับความเสี่ยงไม่ไหว หรือเว็บอย่างยูทูบและเฟซบุ๊กถูกบล็อค คนที่ได้รับความเดือดร้อน ก็คือทั้งเว็บ ไม่เฉพาะห้องหรือช่องที่มีปัญหา

ต่อมา หลังเหตุการณ์การเปิดโปงแผนสอดส่องประชาชนของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เว็บใหญ่ๆ เริ่มห่วงเรื่องความปลอดภัย ไปเข้ารหัสเว็บของตัวเองมากขึ้น การบล็อคแบบเดิมทำไม่ได้แล้ว เพราะมองไม่เห็นยูอาร์แอล ทำให้รัฐต้องขยับอีกรอบ เพราะวิธีแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้ วิธีทางกฎหมายไปไม่ถึง ไล่จับคน กดดันผู้ให้บริการ บล็อค ต้องแก้การบล็อคด้วยเครื่องมือ อย่างซิงเกิลเกตเวย์ สนิฟเฟอร์ ให้รู้ได้ว่าที่เข้ารหัส ข้างในคืออะไร เพราะไม่รู้ก็บล็อคไม่ได้ เลยจำเป็นในมุมคนอยากควบคุมว่า เครื่องมือในเลเยอร์บนใช้ไม่ได้ ต้องขยับเข้ามาที่ระบบเครือข่าย เพื่อให้ควบคุมได้

การถอดรหัสต่างๆ จะต้องขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เวลาทำอะไรกับเครือข่ายทุกคนที่ใช้เครือข่ายจะได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งมีจำนวนมาก เฉพาะประเทศไทย ผู้ให้บริการที่เป็นเว็บไซต์ แพลตฟอร์ม อาจจะมีหลักหมื่น แต่เครือข่าย มีหลักสิบ เช่น 3BB ดีแทค ทรู ผู้ใช้บริการต่อหนึ่งรายระดับล้านๆ คน การทำอะไรกับตัวระบบ กระทบคนอีกเยอะมากที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ดังนั้น ในแง่สิทธิเสรีภาพ ถ้าคุณไม่ได้เป็นอาชญากร ไม่ได้ทำผิด ทำไมต้องได้รับผลกระทบขนาดนี้ด้วย มันไม่ได้สัดส่วน เพราะบางครั้งกระทบการธุรกรรมหรือความลับทางการค้า

"ไม่ได้บอกว่ารัฐไม่ควรมีเครื่องมือเครื่องไม้ในการจัดการอาชญากร แต่ต้องจำกัดความเสียหายต่อผู้ไม่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด" เขาชี้และว่า เข้าใจได้ว่า อาจกระทบบ้าง แต่ถ้าโดยสัดส่วนจะเกิดเยอะมากๆ ก็ควรต้องหามาตรการอื่นมาใช้กับมัน หรือมาตรการที่คิดว่าจะใช้ได้ผลเหลือเกินก็ต้องยอมเสียสละบ้าง สุดท้ายอาจไม่ได้ผลก็ได้ เช่น การลงทะเบียนโทรศัพท์ วุ่นวาย เสียเวลา เก็บข้อมูลส่วนบุคคลไปแล้ว มีโอกาสจะรั่ว บางคนบอกต้องยอมจะจับผู้ก่อการร้ายได้ แต่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน พบว่าคนร้ายเมื่อรู้ว่าต้องลงทะเบียนจะได้ถูกตามตัวได้ ก็มีวิธีหาซิมที่ลงทะเบียนในชื่อคนอื่น หรือเปลี่ยนวิธีจุดระเบิดจากมือถือไปใช้วิธีอื่น ดังนั้น มาตรการลงทะเบียนเพื่อจับผู้ก่อการร้าย การแก้ปัญหาแบบนี้อาจจะไม่เมคเซนส์อีกต่อไปแล้ว แต่ความยากลำบากและผลกระทบกับผู้บริสุทธิ์ก็ยังอยู่ หรือการที่ผู้ให้บริการไวไฟ ต้องเก็บล็อกไฟล์ ลงทะเบียน กรอกเลขบัตรประชาชน ปรากฏว่าก็ดูแลข้อมูลไม่ได้ หรือเก็บแล้ว คนร้ายจริงๆ จะกรอกหรือเปล่า หรือสุดท้ายไม่มีใครตรวจสอบ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร

เขาตั้งคำถามว่าจะมีมาตรการอื่นที่ตามตัวคนร้ายได้ไหม เช่น เก็บล็อกก็ได้ แต่เก็บแบบไม่ยุ่งกับข้อมูลส่วนบุคคลเลย เช่น เก็บเฉพาะหมายเลขเครื่อง ว่าเครื่องไหนต่อไวไฟจุดไหนอยู่ ณ เวลาไหน แล้วพอมีปัญหาเกิดขึ้น ก็สามารถรู้ได้ว่าเป็นคอมฯ เครื่องนี้ บริเวณนี้ เวลานี้เพราะ Wireless Access Point บอกหมายเลขเครื่องได้ ถ้าเป็นพื้นที่ปิด ก็ถามคนเหล่านั้นได้ หรือดูกล้องวงจรปิด พร้อมยกตัวอย่างสนามบินที่คนเข้าออกคับคั่ง อย่างอินชอน นาริตะ ว่าก็ไม่ได้มีการถามหาเลขหนังสือเดินทางหรือให้ลงทะเบียนมือถือ เปิดเครื่องแล้วใช้ไวไฟได้เลย ซึ่งไม่ใช่ว่าเขาไม่มีอาชญากร แต่มีมาตรการอื่นที่ได้ผลกว่า

“วิธีลงทะเบียนให้ทุกคนที่ใช้แจ้งข้อมูลส่วนตัว ไม่ใช่วิธีเดียวที่ป้องกันและตามจับคนร้ายได้ อาจมีวิธีอื่นที่กระทบน้อยกว่า แต่เราไม่ค่อยได้นึกถึงวิธีนั้น มักจะคิดแต่ว่าเก็บข้อมูลไว้ก่อน โดยไม่คิดว่าใช้ได้ผลจริงไหม และผลที่อาจตามมามีอะไรบ้าง” อาทิตย์กล่าวและว่า สุดท้าย กฎหมายลักษณะนี้ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หรือการคุมเนื้อหาที่อาจรู้สึกว่าจำเป็น อย่างไรก็ต้องมีกฎหมายมาดูแล แต่มาตรการต่างๆ ต้องสมเหตุผล สร้างผลกระทบน้อยที่สุด และมีประสิทธิภาพ

การตัดสินใจใช้มาตรการไหนต้องมีการเรียงลำดับ เช่น ผลกระทบระดับน้อย-มากสุด เริ่มใช้จากที่จะมีผลกระทบน้อยสุดก่อน ไม่ใช่เอาสะดวกผู้บังคับใช้ อย่างการเพิ่มอำนาจ ตั้งศูนย์ ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งปัจจุบันเป็นแบบนั้น เอะอะก็ขอข้อมูลโดยไม่ได้แสดงให้ศาลเห็น หรือศาลก็อาจไม่ได้พิจารณาว่ามีมาตรการอื่นๆ ดังนั้น ต้องเอาความปลอดภัยและสิทธิเสรีภาพของสาธารณะมาคิดด้วย อาทิตย์ทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตั้​งไต่สวน 'เต่านา' ละเมิดอำนาจศาลคดีจำนำข้าว - 'พันศักดิ์' ชี้โครงการนี้มีเหตุผลกระตุ้นเศรษฐกิจ

0
0
 

ยิ่งลักษณ์ โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Yingluck Shinawatra' พร้อมข้อความว่า "เห็นแฟนคลับมารอให้กำลังใจที่หน้าศาลวันนี้ พร้อมของฝากทั้งกับข้าว และผลไม้อร่อยๆจากหลายจังหวัด ต้องขอขอบคุณและขอเก็บภาพบรรยากาศหน้าศาลฯมาฝากให้ติดตามด้วยนะคะ" 

9 ธ.ค. 2559 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ ชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าว พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 7 คดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

โดย วอยซ์ ทีวี  รายงานด้วยว่า หัวหน้าองค์คณะแถลงตั้งองค์ผู้พิพากษา 3 รายเข้าพิจารณา และไต่สวน โดยแยกสำนวนต่างหากกับคดีรับจำนำข้าว หลังไม่สามารถส่งหมาย และหาตัวไม่พบ วอยซ์ ทีวี อ้างถึงแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือเปิดเผยว่า ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล หรือ หม่อมเต่านา ได้แสดงพฤติกรรม อาทิ จ้องตา เขม่น ต่อหน้าพนักงานอัยการ เป็นผลให้พวกเขาส่งคำร้องให้ศาลพิจารณา 
 
วอยซ์ ทีวี รายงานด้วยว่า ม.ล.มิ่งมงคล มักร่วมเข้ารับฟังการไต่สวนพยานโจทก์ และจำเลยในคดีที่อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยฐานปล่อยปละละเลยทุจริต และสร้างความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวอยู่เสมอ และมักนั่งฟังร่วมกับแกนนำพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ ม.ล.มิ่งมงคล เป็นบุตรคนโตของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ม.ล.มิ่งมงคล ยังเป็นผู้กำกับภาพยนต์ เขียนบท และผู้อำนวยการสร้าง
 
ในกรณีนี้ มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า นรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความจำเลย เปิดเผยว่า วันนี้ศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณา โดยมีคำสั่งในคำร้องที่พนักงานอัยการ โจทก์ยื่นคำร้องกรณีถูกคุกคาม โดยองค์คณะได้มีคำสั่งให้ตั้งสำนวนไต่สวนละเมิดอำนาจศาล ให้มีองค์คณะ 3 คนเป็นผู้ไต่สวน พร้อมทั้งออกหมายเรียก ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล และผู้ถูกกล่าวหาอีกหนึ่งราย ตนจำชื่อ-สกุลไม่ได้ เพื่อมาไต่สวนต่อไป
 

'พันศักดิ์' เบิกความ การใช้จ่ายของรบ.ในโครงการนี้มีเหตุผล ชี้เป็นภาระที่ควรจะมี

สำหรับการไต่สวนวันนี้ มติชนออนลน์ รายงานว่า ฝ่ายจำเลยเตรียมพยานขึ้นไต่สวน 2 ปาก มี พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านโยบายเศรษฐกิจ และ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย
 
โดย พันศักดิ์ เบิกความตอบคำถามอัยการสรุปว่า ไม่ทราบเรื่องการทุจริตโครงการจำนำข้าว และไม่ทราบถึงการซื้อขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เพราะไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง หลังจากนั้น พันศักดิ์ เบิกความตอบคำถามทนายจำเลยว่า การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจะส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดความเคลื่อนไหว มีแรงกระเพื่อม ไม่ว่าเงินที่นำมาใช้นั้นจะเป็นในส่วนใด ผลก็คือก่อให้เกิดการอุปโภคบริโภค ส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรม ทำให้รักษาระดับการจ้างงานคงอยู่ การดำเนินโครงการสาธารณะเปรียบเหมือนการนำเงินของประชาชนเอาไปให้ประชาชน โดยผลสุดท้ายเงินก็จะย้อนกลับสู่รัฐในรูปของภาษี
 
พันศักดิ์ เบิกความต่อว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลในโครงการนี้มีเหตุผล จะคงไว้ซึ่งความสงบของบ้านเมืองและความน่าเชื่อถือ ดังนั้น จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะมีการระบุรายได้ย้อนกลับมาเท่าใด แต่ความมั่นคงทางบัญชีและความสงบของบ้านเมืองจะส่งผลกลับมาที่ไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้ ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในบริบทโลกที่ผันผวนในขณะนั้น ประเทศไทยได้พึ่งพิงการส่งออกกว่าร้อยละ 70 สิ่งสำคัญคือต้องทำให้อัตราการเติบโตภายในประเทศที่เหลือมีความนิ่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การอัดฉีดหรือกู้เงินเพื่อสร้างเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ โครงการจำนำข้าวเป็นการนำเงินเข้าสู่ในระบบและหิ้วระบบไว้ไม่ให้ล้ม
 
ส่วนที่ว่าโครงการจำนำข้าวจะเป็นภาระต่อประเทศหรือไม่นั้น พันศักดิ์ กล่าวว่า โครงการจำนำข้าวเป็นภาระที่ควรจะมี และรัฐบาลควรจะบริหารภาระเพื่อประชาชน

'เรืองไกร' ชี้การตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ต้องคำนึงถึงประเด็นความยุติธรรม

ต่อมาทนายจำเลยนำ เรืองไกร ขึ้นไต่สวนพยาน ทางพนักงานอัยการโจทก์ไม่ติดใจสอบถามพยานจำเลยปากนี้ เรืองไกรจึงได้เบิกความตอบทนายจำเลยถึงประเด็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2558 ในวันที่ 18 พ.ค. 2558 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน มีการระบุถึง พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะประธาน นบข. สั่งการให้สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าวให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาส่งฟ้องในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยไม่ต้องคำนึงถึงประเด็นความยุติธรรม
 
เรืองไกรเบิกความว่า ได้ข้อมูลมาจากการค้นหาผ่านเว็บไซต์กูเกิล มีรายละเอียดไม่ครบถ้วน จึงขออนุญาตอ่านเอกสารฉบับเต็มดังกล่าวเพื่อเบิกความในประเด็นได้อย่างถูกต้อง โดยองค์คณะพิจารณาแล้วอนุญาตให้นำเอกสารเกี่ยวกับการประชุม นบข.ดังกล่าวให้พยานจำเลยอ่าน และอนุญาตให้ทำคำเบิกความมายื่นในภายหลังได้ พร้อมกำชับให้ทนายจำเลยบริหารจัดการพยานเพื่อนำมาเบิกความต่อศาลได้ทันกำหนด วันที่ 21 ก.ค. 2560 ตามระบบราชการศาลไม่อาจเลื่อนการพิจารณาออกไปไกลกว่านี้ได้อีก
 
ภายหลังเบิกความเสร็จ ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยปากต่อไปอีกครั้งในวันที่ 14 ธ.ค. นี้
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.พัฒนาดิจิทัล แล้ว

0
0

9 ธ.ค. 2559 สยามรัฐออนไลน์รายงานว่า ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. .... ในวาระสามด้วยคะแนน 161 ไม่เห็นด้วย 2 และงดออกเสียง 4 พร้อมให้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

เสาวณี สุวรรณชีพ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารร่าง พ.ร.บ.ฯ ชี้แจงว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งส่งผลต่อฐานความรู้ และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้วย ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ได้รวมร่างพระราชบัญญัติทั้งสามฉบับไว้ด้วยกัน โดยร่างกฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้กับทุกภาคส่วน ทั้งนี้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อจัดนโยบายแผนระดับชาติ รวมทั้งออกระเบียบและประกาศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งได้ทันทีที่ร่างพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนโดยได้รับการจัดสรรทุนจากกสทช.เริ่มแรกในอัตราร้อยละ 15 ของรายได้จากการจัดสรรคลื่นความถี่

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีการถกเถียงเกี่ยวกับมาตรา 44 วรรคสามที่ระบุว่า ทรัพย์สินของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดีเงินและทรัพย์สินของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เพราะเกรงว่าหากมีทรัพย์สินที่เหลือและไม่ตกเป็นรายได้แผ่นดินจะทำให้ประเทศสูญเสียรายได้โดยเปล่าประโยชน์ กระทั่งประธานได้สั่งพักการประชุมเพื่อให้ปรับแก้ถ้อยคำ และเมื่อกลับเข้าสู่การประชุมอีกครั้งคณะกรรมาธิการ ยินยอมให้ปรับแก้เป็น“เงินและทรัพย์สินของสักนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ต้องส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ยกเว้น รายได้จากดอกผลและผลประโยชน์หรือรายได้อื่นใดที่เกิดจากการดำเนินการของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล”

ก่อนหน้านี้ ในการประชุม สนช.เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2559 ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเรียงตามมาตราจนถึงมาตรา 8 เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่คณะกรรมาธิการได้แก้ไขไปจากร่างเดิมที่ครม.เสนอมา แต่สมาชิกส่วนใหญ่ได้อภิปรายคัดค้านจนที่สุดที่ประชุมได้มีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ทำให้คณะกรรมาธิการได้ขอถอนร่างกลับไปทบทวนเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาของร่างเนื่องจากมติดังกล่าวส่งผลกระทบในหลายมาตรา ก่อนที่นำกลับมาพิจารณาในการประชุมวันนี้

ดูร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. .... ที่นี่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มีชัย เชื่อนักการเมืองรุมวิจารณ์พ.ร.บ.พรรคการเมือง เพราะกรธ. ร่างมาดี

0
0

ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุการที่นักการเมือง ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์ พ.ร.บ.พรรคการเมือง แสดงว่า กรธ. ร่างกฎหมายออกมาดี พร้อมระบุ หากประกาศใช้แล้วมีเลือกตั้ง รัฐสภาใหม่ต้องการแก้ไข ก็ทำได้

แฟ้มภาพ เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา

9 ธ.ค. 2559 ผู้จัดการออนไลน์และมติชนออนไลน์รายงานตรงกันว่า  เมื่อเวลาประมาณ 13.45 น. ที่รัฐสภา มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ กรธ. ได้เผยแพร่ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แล้วมีพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์ว่า การออกมาวิพากษ์ วิจารณ์นั้นได้แสดงให้เห็นว่า กรธ. ได้ร่างกฎหมายออกมาดีแล้ว จึงทำให้พรรคการเมืองออกมาท้วงติง แต่ทาง กรธ. ก็พร้อมจะรับฟัง เนื่องจากเห็นว่าผู้ที่ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์นั้นเป็นผู้ที่มากด้วยประสบการณ์ทางการเมือง โดยในวันที่ 14 ธ.ค. 2559 กรธ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เวลา 13.30 น. ที่สโมสรสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถนนพิชัย ดุสิต กทม. หรือหากพรรคการเมืองใดไม่มาในวันดังกล่าวก็สามารถส่งเอกสารมาที่ กรธ.ได้

เมื่อถาม่า มีพรรคการเมืองปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 14 ธ.ค. นี้แน่นอน มีชัยกล่าวว่า คงไม่สามารภบังคับใครได้ แต่พรรคการเมืองก็ยังสามารถส่งเอกสารมายัง กรธ. ได้ ส่วนกรณีพรรคการเมืองระบุว่า ที่ไม่มาเข้าร่วมโดยให้เหตุผลว่าเกรงเรื่องผลประโยชน์ขัดกันเนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนั้น เรื่องนี้ตนจะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายและก็ไม่เคยเปิดเผยที่มาของแหล่งข่าว ดังนั้นจึงอยากให้ส่งความคิดเห็นเข้ามายัง กรธ.

เมื่อถามย้ำว่า หากมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ไม่เข้าร่วมจะมีผลอะไรหรือไม่กับร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง รวมถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ ประธาน กรธ.กล่าวว่า ไม่มีผล เพราะกติกาก็ว่ากันไป เมื่อถามต่อว่า ถ้าท้ายที่สุดนักการเมืองได้เข้ามาสู่อำนาจแล้วมาแก้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในภายหลังจะทำอย่างไร มีชัยกล่าวว่า ตรงนี้ก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของเขา

ขณะที่ ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน กรธ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งจดหมายแจ้งข่าวไปยังพรรคการเมืองทุกพรรคแล้ว เพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมงานสัมมนาและเสนอความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับเบื้องต้นในวันที่ 14 ธ.ค. นี้ โดยประเด็นเบื้องต้นที่อยากรับฟังความเห็นจากฝ่ายการเมือง อาทิ การจ่ายค่าบำรุงพรรค การจ่ายทุนประเดิมเพื่อทำกิจกรรมพรรคการเมือง การกำหนดให้พรรคการเมืองมีหน้าที่ตามร่างมาตรา 23 ซึ่งระบุไว้ 4 ประเด็น การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของพรรคการเมือง ส่วนร่างกฎหมายนั้น ได้แจ้งให้ตัวแทนพรรคดาวน์โหลดในเว็บไซต์ของ กรธ. เพื่อศึกษาก่อนร่วมงานสัมมนา อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าวตนไม่เชื่อว่าจะเกิดความวุ่นวายใดๆ ระหว่างการจัดงาน

“เจตนารมณ์ของ กรธ. นั้นไม่ได้กลั่นแกล้งหรือเลือกที่รักมักที่ชังพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เราตั้งใจให้พรรคการเมืองถูกปฏิรูป และให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน รวมถึงจรรโลงประชาธิปไตย ส่วนที่นักการเมืองออกมาท้วงติงนั้น ผมเข้าใจว่าเนื้อหาที่เขียนนั้นสร้างภาระงานให้เพิ่มมากขึ้น คล้ายกับคนชอบกินเผ็ด แต่บนโต๊ะอาหารมีแต่แกงจืด จึงต้องออกมาทวงถาม” ชาติชายกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่องกรุทรัพย์สิน 30 นายพล สนช.ใหม่ รวยระดับเศรษฐีหลักสิบ-ร้อยล้าน

0
0

9 ธ.ค. 2559 จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยการยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา จำนวน 31 ตำแหน่ง เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2559 จำนวน 2 ตำแหน่ง และกรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา อีกจำนวน 1 ตำแหน่ง

โดยตั้งแต่วันที่ 8-22 ธ.ค 2559 พบว่า ผู้ที่มีทรัพย์สินมากสุด คือ เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีทรัพย์สินรวมคู่สมรส 339,115,360.83 บาท ไม่มีหนี้สิน โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนประเภทกองทุน พันธบัตรรัฐบาล และที่ดิน

รองลงมา คือ พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 มีทรัพย์สินรวมคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ กว่า 282 ล้านบาท (282,638,875.98 บาท) โดยไม่มีหนี้สิน ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากและที่ดินใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จำนวนหลายแปลง มีอาวุธปืน 45 กระบอก มูลค่า 2 ล้านบาท และมีงาช้าง 6 กิ่ง มูลค่า 200,000 บาท

ส่วนผู้ที่มีทรัพย์สินมากเป็นอันดับ 3 คือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ มีบัญชีทรัพย์สินรวมคู่สมรสมากกว่าหนี้สิน 187 ล้านบาท (187,610,307.90 บาท) โดยคู่สมรสมีหนี้สิน 680,512 บาท ทั้งนี้ พบว่ามีการแจ้งทรัพย์สินอื่นเป็นพระเลี่ยมทอง จำนวน 20 องค์ ซึ่งประเมินค่าไม่ได้

ผู้ที่มีทรัพย์สินน้อยสุด คือ พล.ร.อ.สุชีพ หวังไมตรี ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ โดยมีทรัพย์สินรวมคู่สมรส 5,703,230.93 บาท มีหนี้สิน 4,401,044 บาท จึงมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 1,302,186.93 บาท

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลที่น่าสนใจ คือ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มีบัญชีทรัพย์สินรวมคู่สมรส โดยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 93 ล้านบาท (93,231,353.44 บาท) และมีหนี้สินเพียง 11.71 บาท ซึ่งเป็นการเบิกเงินเกินบัญชีของคู่สมรส

พล.ต.วุฒิชัย นาควานิช ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 น้องชายของ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช อดีตผู้บัญชาการทหารบก แจ้งบัญชีทรัพย์สินรวมคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 92 ล้านบาท (92,669,132.78 บาท) มีหนี้สิน 718,586 บาท

พล.อ.ธรรมนูญ วิถี รองแม่ทัพภาคที่ 1 แจ้งบัญชีทรัพย์สินรวมคู่สมรส โดยมีบัญชีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 11 ล้านบาท (11,444,737.22 บาท) มีหนี้สิน 2,718,215.78 บาท โดยแจ้งบัญชีทรัพย์สินอื่น เช่น พระเครื่อง 42 องค์ จำนวน 420,000 บาท

ส่วนคนอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งภรรยาและบุตร เช่น พล.ต.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 18,453,475.10 บาท, เจริญศักดิ์ ศาลากิจ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 29,152,677.81 บาท, พล.ต.เจริญชัย หินเธาว์ ทรัพย์สินรวม 47,937,418.17 บาท, ปรีดี ดาวฉาย มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 129,253,376.09 บาท, พล.ท.ศิริชัย เทศนา  มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 13,772,611.94 บาท, พล.อ.อ.สุรศักดิ์ ทุ่งทอง มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 40,228,927.01 บาท, พล.ท.สุรใจ จิตต์แจ้ง มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 16,986,192 บาท, พล.อ.อ.สุทธิพงษ์ อินทรียงค์  มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 16,986,192 บาท, สุชาติ ตระกูลเกษมสุข (ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กทม.)  มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 5,899,571.69 บาท, พล.ต.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 20,238,125.86 บาท, พล.ท.สรรชัย อจลานนท์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 8,542,702.84 บาท, 

พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 26,236,625 บาท, พล.อ.ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 56,528,678.77 บาท, วิทยา ผิวผ่อง (อดีตผู้ช่วย รมว.เกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าฯหลายจังหวัด) มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 32,242,847.48 บาท, พล.ร.ท.รัตนะ วงษาโรจน์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 32,155,366.2 บาท, พล.ต.พัลลภ เฟื่องฟู มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 12,804,997.55 บาท, พล.ร.อ.พลเดช เจริญพูล มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 8,384,762.20 บาท, พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 51,129,043.73 บาท, พล.อ.ธนดล สุรารักษ์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 58,987,394.40 บาท,  พล.ร.อ.ทวีชัย บุญอนันต์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 23,500,915.29 บาท, พล.ท.ณัฐพล นาคพาณิชย์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 27,445,941.94 บาท, พล.ต.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 165,753,858.12 บาท, พล.อ.อ.ชูชาติ บุญชัย มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 23,805,820 บาท, พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 282,638,875.98 บาท, พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 161,717,520.67 บาท, พล.อ.ท.จิรวัฒน์ มูลศาสตร์ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 8,214,232.14 บาท และ พล.ท.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 44,864,046.76 บาท
 
ส่วนสมาชิก สนช.ที่พ้นจากตำแหน่ง พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ ที่เสียชีวิตจากโรคประจำตัว แจ้งบัญชีทรัพย์สินรวมคู่สมรส โดยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 26 ล้านบาท (26,451,711 บาท) มีหนี้สิน 505,068 บาท เป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงิน

 

ที่มา เว็บไซต์ ป.ป.ช. และสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฟผ. ชี้ยังมีหลายประเทศที่ใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนผลิตกระแสไฟฟ้าถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ

0
0

กฟผ. ขอบคุณ พรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอให้สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ LNG แทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ชี้ เยอรมัน-ออสเตรเลีย-ญี่ปุ่น-เกาหลี สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ระบุไทยใช้พลังงานถ่านหินไม่ถึง 12 % จึงจำเป็นต้องกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพิ่มขึ้น

9 ธ.ค. 2559 สำนักข่าวไทยรายงานว่า ศานิต นิยมาคม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยเสนอขอให้สร้างโรงไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG แทนโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นั้น  กฟผ.ขอขอบคุณที่พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสนใจต่อการพัฒนาไฟฟ้าในภาคใต้ ซึ่งเห็นตรงกันว่ากำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ไม่เพียงพอ รวมทั้งเข้าใจถึงภารกิจของ กฟผ.ที่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

ศานิต  กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2015) เพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงการจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าหลักและเชื้อเพลิงพลังงานที่เหมาะสมมีเสถียรภาพมั่นคง รวมถึงใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซใกล้เคียงกับถ่านหินนำเข้า ซึ่ง กฟผ. ติดตามและประเมินอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพราะ กฟผ. จำเป็นต้องทบทวนลำดับการผลิตโรงไฟฟ้า (Merit Order) และแผนการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์

ภาพจาก : GREENPEACE

ทั้งนี้  โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่มีแผนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2564 – 2565  ซึ่งช่วงดังกล่าวจะมีการนำเข้า LNG มาใช้ผลิตไฟฟ้าในปริมาณสูงมากและจะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงกว่าถ่านหินนำเข้า หากคิดที่โรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ต้นทุนค่าไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินจะถูกกว่าประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี และจากการคาดการณ์ราคาเชื้อเพลิงในอนาคต แม้จะประเมินโดยสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญก็ตามก็ไม่อาจจะยืนยันได้ตามนั้น  ดังนั้น เรื่องสำคัญที่สุดตามหลักสากลประเทศต่างๆ ใช้หลักการกระจายความเสี่ยงโดยการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่มีความหลากหลาย โดยมีสัดส่วนเฉลี่ยของประเทศต่างๆ ในโลกในการใช้ถ่านหินประมาณร้อยละ 30 ขึ้นไป และใช้ก๊าซประมาณร้อยละ 20 – 25 จึงทำให้หลายประเทศยังคงมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เช่น ประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโลกอย่าง เยอรมัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้แต่ มาเลเซีย ซึ่งมีแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมากยังเลือกใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 30 – 40 เพราะมีต้นทุนถูกกว่า  เเละยังส่งก๊าซธรรมชาติออกไปขายนอกประเทศเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้ถ่านหินเพียงไม่ถึงร้อยละ 12 จึงจำเป็นต้องกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

ศานิต กล่าวว่า กฟผ.สนับสนุนให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับพลังงานหลักที่มั่นคงเชื่อถือได้ รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นำมาใช้เป็นระบบ Ultra Super Critical (USC) ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึงร้อยละ 30 ซึ่งได้บรรจุไว้ในแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยตามที่ได้ให้สัตยาบันไว้ในการประชุม COP 21 ซึ่ง กฟผ. ตระหนักเสมอว่าการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีการติดตั้งเครื่องกำจัดมลสารที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง เพื่อควบคุมให้ดีกว่ามาตรฐานสากลที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ตลอดจนให้ชุมชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการดำเนินงาน เพื่อแสดงความโปร่งใสและสร้างความมั่นใจให้กับชุมชน

“กฟผ. ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นเหตุเป็นผล โดยเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ รวมถึงคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและยึดมั่นในประโยชน์โดยรวมเป็นสำคัญ” ศานิต กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นัดสืบพยานคดีลอบยิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินชุมชนคลองไทรพัฒนา 14 ธ.ค. นี้

0
0
ศาลนัดสืบพยานคดีอาญาฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิต กรณีลอบยิง 'สุพจน์ กาฬสงค์' นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินชุมชนคลองไทรพัฒนา และสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ 14 ธ.ค. นี้

 
11 ธ.ค. 2559 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนแจ้งข่าวว่าในวันจันทร์ที่ 14 ธ.ค. 2559 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในคดีหมายเลขดำที่ 1723/2559 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเวียงสระ โจทก์ และนายสันติ วรรณทอง จำเลย จากกรณีลอบยิงนายสุพจน์ กาฬสงค์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ขณะกำลังเดินทางเข้าชุมชนคลองไทรพัฒนา
            
คดีนี้สืบเนื่องมาจากนายสุพจน์ การสงค์ สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และนักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินชุมชนคลองไทรพัฒนา ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถูกลอบยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559  สาเหตุของการลอบยิงครั้งนี้เชื่อว่ามาจากความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) ซึ่งนายสุพจน์ กาฬสงค์ถือเป็นแกนนำคนสำคัญในการเข้าตรวจสอบการครอบครองที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายของกลุ่มทุนต่างๆ ผู้มีอิทธิพลในท้องที่ และเป็นพยานคนสำคัญในคดีลอบสังหารนายใช้บุญทองเล็กด้วย ทั้งนี้นายสุพจน์ กาฬสงค์ ได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ โดยมีทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนให้การช่วยเหลือในด้านการดำเนินคดี
            
ทั้งนี้ชุมชนคลองไทรพัฒนาเป็นชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้านเข้าตรวจสอบพื้นที่ซึ่งบริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด ครอบครองปลูกปาล์มน้ำมันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐนำที่ดินมาจัดสรรให้กับเกษตรกร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้และต่อมาทางกรมป่าไม้ได้ประกาศเป็นพื้นที่ปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม มีชาวบ้านที่ร่วมกันตรวจสอบและตั้งชุมชนประมาณ 120 ครัวเรือน ตั้งแต่ปี 2546-2551 โดยชุมชนคลองไทรพัฒนาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ สกต. และดำเนินการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีต รมว.พลังงาน ระบุคน กฟผ. ล็อบบีให้หยุดวิจารณ์ กรณีซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินอินโดนีเซีย

0
0
'พิชัย นริพทะพันธุ์' อดีต รมว.พลังงานเผย กฟผ. พยายามล็อบบีให้หยุดวิจารณ์ กรณีซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินอินโดนีเซีย จี้ตอบ 4 คำถามชี้แจงสังคม และให้เปิดเอกสารการประเมินราคาว่าคำนวณราคาถ่านหินอนาคตอย่างไร 

 
11 ธ.ค. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ตามที่ได้ออกมาวิจารณ์การที่บริษัทลูกของ กฟผ. จ่ายเงิน 1.17 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้นของเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย เพียง 11 - 12% นั้น เป็นการตำหนิตามหลักการการบริหารธุรกิจ เป็นไปตามเหตุผล ใครที่อยู่ในวงการธุรกิจและการค้าหลักทรัพย์ ได้เห็นการซื้อขายที่ผิดปกติแบบนี้ก็ต้องมีความเห็นเหมือนกับตน ซึ่ง กฟผ. ควรจะต้องชี้แจงให้ความกระจ่างกับประชาชน มากกว่าที่จะใช้วาจาที่ไม่สุภาพ และ ผู้ว่าการ กฟผ. ควรจะต้องมีวุฒิภาวะและสัมมาคารวะ เพราะตนก็เคยเป็น รมว.พลังงาน และ เป็นอดีตผู้บังคับบัญชา กฟผ. โดยตรง ย่อมมีสิทธิที่จะวิพากษ์การดำเนินการที่เห็นว่าผิดปกติได้ เพราะหลังจากที่ตนออกมาเปิดเผยทุกคนต่างเห็นด้วยว่าน่าจะผิดปกติ โดย กฟผ. ต้องตอบปัญหาที่สังคมสงสัย ดังนี้
       
1) เหตุใดจึงจ่าย 1.17 หมื่นล้าน เพื่อซื้อหุ้นเพียง 11 - 12% เป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือไม่ กฟผ. อินเตอร์ มีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารเหมืองถ่านหินนี้หรือไม่ ถ้าถือหุ้นเพียงเท่านี้ ความเสี่ยงที่จะเกิดหากการบริหารผิดพลาดแล้วบริษัทเกิดเจ๊ง ใครจะรับผิดชอบ
       
2) กฟผ. ทราบหรือไม่ว่า อนาคตของโลก จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานอื่นที่ไม่ใช่ถ่านหินแล้ว บางสำนักวิเคราะห์ยังพูดถึงการหยุดใช้ถ่านหินในปี 2025 ด้วยซ้ำไป กฟผ. ที่อยู่ในธุรกิจนี้ก็น่าจะทราบดี
       
3) กฟผ. มองอนาคตราคาถ่านหินอย่างไร ขอให้เปิดเผยเอกสารการทำข้อตกลงทั้งหมดเพื่อขอตรวจสอบ เพราะหากถ่านหินจะหมดความสำคัญในอนาคต ราคาถ่านหินควรเป็นเท่าไร
 
4) ถ้าแนวโน้มการใช้ถ่านหินลดลง ราคาถ่านหินก็มีแนวโน้มที่จะราคาต่ำลง กฟผ. ควรซื้อถ่านหินในตลาดสากลปกติมากกว่าจะเข้าไปถือหุ้นเหมืองถ่านหินเอง แถมยังไม่มีสิทธิบริหารใช่หรือไม่ บริษัทที่ผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซยังไม่เห็นต้องไปขุดก๊าซเองเลย อีกทั้งราคาก๊าซเองก็จะมีแนวโน้มราคาที่คงที่หรือต่ำลงในอนาคต
       
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ได้มีรองผู้ว่าการ กฟผ. ท่านหนึ่ง ได้โทร.มาขอร้องตนเพื่อให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ซึ่งตนก็ขอให้นำเอกสารเข้ามาชี้แจงจะได้ทราบเหตุผล โดย รองผู้ว่าการ กฟผ. จะขอให้ กรรมการผู้จัดการ กฟผ. อินเตอร์ โทร.มาชี้แจง ตนจึงขอให้นำเอกสารแล้วนัดเข้ามาชี้แจงเลย จะได้ซักถามได้ แต่ก็ได้หายเงียบไป แล้วผู้ว่าการ กฟผ. ก็ออกมาพูดแบบนี้ ส่วนข่าวสารที่อาจจะมีการทุจริตนั้น ตนได้รับข้อมูลจากวงการพลังงานในประเทศอินโดนีเซีย ที่ตนได้ข้อมูลมาตลอดแม้กระทั่งเรื่องการลงทุนของ ปตท. ในอินโดนีเซียที่มีการทุจริตกันอย่างมากซึ่ง บอร์ด ปตท. ได้มีมติลงโทษ และเรื่องอยู่ใน ป.ป.ช. แล้ว
       
ในฐานะที่เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ควรจะตัองมีวุฒิภาวะและความเป็นมืออาชีพ ซึ่งควรจะตอบข้อสงสัยของสังคม มากกว่าจะมาพูดจาไม่สุภาพกับคนที่ออกมาเปิดเผยความไม่ชอบมาพากล หากตนยังเป็น รมว.พลังงาน แล้วเกิดมีข้อสงสัยทุจริตแล้วผู้นำรัฐวิสาหกิจตอบโต้กับใครก็ตามในลักษณะเช่นนี้ ผู้นำรัฐวิสาหกิจคนนั้นก็ไม่น่ามีวุฒิภาวะเหมาะสมที่จะนำองค์กรต่อไปได้ ไม่ต้องพูดถึงตนที่เป็นอดีตผู้บังคับบัญชามาก่อน ซึ่ง รมว.พลังงาน ปัจจุบันควรจะต้องพิจารณา และอย่าให้พูดแล้วดูเหมือนกับร้อนตัว โดยหากรัฐวิสาหกิจใดมีการตกลงธุรกิจที่ไม่สมเหตุสมผลย่อมจะหลีกเลี่ยงข้อครหาการทุจริตไม่พ้นอย่างแน่นอน และตนเชื่อว่า หาก กฟผ. ไม่สามารถชี้แจงให้สังคมเข้าใจได้ กฟผ. ประธานบอร์ด กฟผ. รมว.พลังงาน รวมถึง ครม. ก็ควรจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้ได้ผ่าน ครม. แล้ว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนชายขอบ: เสวนาจากงาน PeopleGO Network Forum

0
0

ฮีรมี เจะแม, ลลิตา หาญวงษ์, เคท ครั้งพิบูลย์, นิติ ภวัครพันธุ์, ภาสกร อินทุมาร ร่วมถกถึงอคติที่รัฐและสังคมมีต่อคนชายขอบว่าสร้างผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้อย่างไร พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออก

ในงาน "PeopleGO Network Forum" ใส่ใจรัฐธรรมนูญกับสิทธิมนุษยชน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในช่วงบ่ายมีเสวนาหัวข้อ "คนชายขอบ" เพื่อชี้ให้เห็นถึงอคติที่รัฐและสังคมมีต่อคนชายขอบ ในมิติต่าง ๆ ทั้งชาติพันธุ์ ศาสนาในภูมิภาค เพศสภาวะอื่น ฯลฯ ซึ่งสร้างปัญหาและผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะส่งผลกระทบต่อเขามากขึ้นอย่างไร และพวกเขาจะมีข้อเสนออย่างไรในเชิงนโยบายและทางออก

โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ฮีรมี เจะแม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา ตัวแทนเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น ลลิตา หาญวงษ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคท ครั้งพิบูลย์ เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย นิติ ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ภาสกร อินทุมาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ: แกะตัวเลข 'บิลค่าไฟฟ้า' เราจ่ายค่าอะไรไปบ้าง

0
0

รายงานพิเศษจาก TCIJ แกะตัวเลขในบิลค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายทุกเดือน พบว่าคิดคำนวณมาจากต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง ระบบจำหน่าย ค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งนโยบายด้านพลังงานต่าง ๆ  และแม้เดือนไหนไม่ได้ใช้ไฟฟ้า ก็ยังต้องจ่ายค่าบริการรายเดือน ด้าน กกพ. เผยเตรียมปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ปี 2560-2563 ประกาศใช้ปี 2561

ใบแจ้งค่าไฟฟ้าหรือบิลค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  ซ้ายมือเป็นรูปแบบเก่าที่ใช้มาก่อนเดือน มิ.ย. 2558 ส่วนขวามือคือรูปแบบใหม่

หลังจากที่ปี 2558 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้เริ่มใช้ใบแจ้งค่าไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ที่มีการระบุรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นนั้น เป็นกระแสซึ่งสังคมพูดถึงในวงกว้างมาช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะการปรากฏขึ้นของ  ตัวเลข‘ค่าบริการ’ ที่นอกเหนือจากค่าการใช้พลังงานไฟฟ้าในแต่ละเดือน

ซึ่งในเรื่องนี้คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทำการศึกษาพิจารณาโดยได้เรียกผู้เกี่ยวข้องทั้ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มาชี้แจง และได้ออกรายงาน ‘พิจารณาหลักเกณฑ์และรายละเอียดที่ระบุในใบแจ้งค่าไฟฟ้า’  เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน สนช. ระบุว่า สืบเนื่องจากการประกาศหรือ ประชาสัมพันธ์  เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และรายละเอียดที่ระบุในใบแจ้งค่าไฟฟ้า มีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ แผ่นป้ายประกาศ แผ่นพับและสื่อต่าง ๆ ที่เนื้อหาบางส่วนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ไม่ถูกต้องครบถ้วน อาจจะทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารคลาดเคลื่อน โดยทางคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าจากกรณีดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป จึงพิจารณาหลักเกณฑ์และรายละเอียดที่ระบุในใบแจ้งค่าไฟฟ้า รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหวังว่าผลการพิจารณาจะสามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามที่กล่าวมาได้อย่างเป็นรูปธรรม

มีอะไรบ้างในบิลค่าไฟฟ้ารูปแบบใหม่

จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ พบว่าการไฟฟ้าฯได้พัฒนารูปแบบใบแจ้งค่าไฟฟ้าแบบใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยการเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลค่าไฟฟ้า พร้อมแจกแจงค่าบริการรายเดือนและประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง ซึ่งค่าบริการรายเดือนเป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว ตามอัตราโครงสร้างไฟฟ้าที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน โดยรายละเอียดที่ระบุในใบแจ้งค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัย ประกอบไปด้วย

1. ค่าพลังงานไฟฟ้า คิดมาจากต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง ระบบจำหน่าย และค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าที่คงที่ระดับหนึ่ง จะจัดเก็บอัตราต่อหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละเดือน

2. ค่าบริการรายเดือน คิดมาจากต้นทุนประจำที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนของผู้ประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้า จะจัดเก็บอัตราคงที่ในแต่ละเดือน แม้ว่าจะไม่มีการใช้ไฟฟ้าเกิดขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ค่าบริการรายเดือน ประกอบด้วยค่าใช้จ่าย 4 กิจกรรม คือ 1) การจดหน่วยไฟฟ้า (Meter Reading) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าตอบแทนตัวแทนจดหน่วย และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจดหน่วย 2) การพิมพ์และการจัดส่งใบแจ้งค่าไฟฟ้า (Billing) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าตอบแทนตัวแทนแจ้งหนี้ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์บิล 3) การรับชำระเงิน (Collection) เช่น เงินเดือนพนักงานรับชำระเงิน ณ สำนักงาน ค่าตอบแทนตัวแทนเก็บเงิน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเก็บเงิน และ 4) การดูแล การให้ข้อมูลลูกค้า (Customer Handling) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าใช้จ่าย Call Center และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้า

3. ค่าไฟฟ้าผันแปร (หรือค่า Ft) คำนวณจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงจากค่าไฟฟ้าฐานคือ ค่าเชื้อเพลิงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), ค่าซื้อเชื้อเพลิงจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รวมทั้งบริษัทลูกของ กฟผ.,ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP), การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาลที่คณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนด (ตัวอย่างนโยบายก็เช่น ค่า Adder, กองทุนพัฒนาไฟฟ้า, การใช้น้ำมันปาล์มดิบมาผสมน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น) ทั้งนี้โดยปกติแล้วค่า Ft นี้จะมีการปรับทุก 4 เดือน

4. ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดร้อยละ 7 ของค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าผันแปร เนื่องจากไฟฟ้าฯถือเป็นสินค้าและบริการ โดยการไฟฟ้าฯจะเป็นผู้รวบรวมเงินส่วนนี้เพื่อส่งให้สรรพากร

ต้นทุนจริงในการบริการรายเดือนประเภทบ้านอยู่อาศัย ของ กฟน. และ กฟภ.

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าก็ถูกนับรวมเข้าไปในค่าบริการที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายด้วย

องค์ประกอบหลักของค่าบริการรายเดือน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัยขนาดเล็ก (มีประมาณ 10.45 ล้านราย) มิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะมีต้นทุนเฉลี่ย 40.90 บาทต่อรายต่อเดือน แต่ภาครัฐมีนโยบายอุดหนุนราคาต่ำกว่าทุน -32.71 บาทให้ จึงมีการเรียกเก็บเหลือเพียง 8.19 บาท ส่วนประเภทที่ 2 คือ บ้านอยู่อาศัยขนาดใหญ่ (มีประมาณ 8.89 ล้านราย) มิเตอร์เกิน 5 แอมป์ หรือมีการใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ต้นทุนเฉลี่ย 40.90 บาทต่อรายต่อเดือน ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนที่ 38.22 บาท เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

จากการชี้แจงของของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แสดงถึงรายละเอียดรายการต้นทุนจริงสำหรับการบริการรายเดือนให้แก่ผู้บริโภคประเภทบ้านอยู่อาศัยของ กฟน. มีดังนี้ 1) การจดหน่วยไฟฟ้า (Meter Reading) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าตอบแทนตัวแทนจดหน่วย และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจดหน่วย จำนวน 13.28 บาทรายต่อเดือน 2) การพิมพ์และการจัดส่งใบแจ้งค่าไฟฟ้า (Billing) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าตอบแทนตัวแทนแจ้งหนี้ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์บิล จำนวน 14.69 บาทต่อรายต่อเดือน 3) การรับชำระเงิน (Collection) เช่น เงินเดือนพนักงานรับชำระเงิน ณ สำนักงานค่าตอบแทนตัวแทนเก็บเงิน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเก็บเงิน จำนวน 18.34 บาทต่อรายต่อเดือน และ และ 4) การดูแล การให้ข้อมูลลูกค้า (Customer Handling) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าใช้จ่าย Call Center และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้า จำนวน 29.20 บาทต่อรายต่อเดือน

ส่วนการชี้แจงของของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่แสดงถึงรายละเอียดรายการต้นทุนจริงสำหรับการบริการรายเดือนให้แก่ผู้บริโภคประเภทบ้านอยู่อาศัยของ กฟภ. มีดังนี้ 1) การจดหน่วยไฟฟ้า (Meter Reading) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าตอบแทนตัวแทนจดหน่วย และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจดหน่วย จำนวน 4.50 บาทต่อรายต่อเดือน 2) การพิมพ์และการจัดส่งใบแจ้งค่าไฟฟ้า (Billing) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าตอบแทนตัวแทนแจ้งหนี้ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์บิล จำนวน 5.89 บาทต่อรายต่อเดือน 3) การรับชำระเงิน (Collection) เช่น เงินเดือนพนักงานรับชำระเงิน ณ สำนักงานค่าตอบแทนตัวแทนเก็บเงิน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเก็บเงิน จำนวน 15.86 บาทต่อรายต่อเดือน และ และ 4) การดูแล การให้ข้อมูลลูกค้า (Customer Handling) เช่น เงินเดือนพนักงานที่เกี่ยวข้อง ค่าใช้จ่าย Call Center และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้า จำนวน 1.03 บาทต่อรายต่อเดือน

ในด้านการว่าจ้างเอกชนหรือพนักงานภายนอก (Out Source) เป็นตัวแทนจดหน่วยมิเตอร์จะมี 2 ระบบคือ ระบบที่ 1 กลุ่มชุมชนเมือง จะมีตัวแทนไปจดหน่วยมิเตอร์ โดยจะเป็นการจดหน่วยและแจ้งหนี้ทันที ประชาชนต้องไปชำระที่สำนักงาน บริษัทหรือพนักงานภายนอก จะมีต้นทุนที่ออกใบแจ้งหนี้จำนวน 6.15 บาทต่อราย ระบบที่ 2 กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าในชนบท จะมีตัวแทนไปจดหน่วยและกลับมาเข้ากระบวนการออกใบแจ้งหนี้ที่สำนักงาน จะมีต้นทุน 3.37 บาทต่อราย เมื่อออกใบแจ้งหนี้แล้วก็จะนำใบแจ้งหนี้ไปเรียกเก็บค่าไฟตามบ้าน โดยจ้างตัวแทนเก็บเงินที่เป็นคนละคนกับตัวแทนจดหน่วยเพื่อป้องกันการทุจริต โดยการจ้างตัวแทนเก็บเงินมีต้นทุนรายละ 8.68 บาท

ทั้งนี้วิธีการเรียกเก็บค่าบริการนั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คำนวณจากข้อมูลต้นทุนค่าบริการในโครงสร้างอัตราไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมกับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดอัตราเรียกเก็บให้มีความเหมาะสม

 

ต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแต่ละชนิดไม่เท่ากัน

ที่มาภาพ : การไฟฟ้าฝ่ายผลิต

ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ระบุว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้านั้น เฉลี่ยมาจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและซื้อไฟฟ้าที่อยู่ในระบบทั้งหมดตามปริมาณการผลิตจริง ข้อมูลเบื้องต้น ณ เดือน ม.ค. 2559 นั้นพบต้นทุนการผลิตจากพลังงานทดแทน มีราคาสูงสุด เฉลี่ย 6.37 บาทต่อหน่วย แต่เนื่องจากมีการผลิตในสัดส่วนร้อยละ 6 จึงยังไม่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้ามากนัก ต้นทุนการผลิตที่แพงรองลงมา คือ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก แบบใช้ไอน้ำและความร้อนร่วมกัน ที่มีต้นทุนการผลิต 3.24 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาดใหญ่ ต้นทุนการผลิต 2.83 บาทต่อหน่วย ซึ่งระบบผลิตไฟฟ้า มีการใช้ก๊าซธรรมชาติรวมกันราวร้อยละ 67 จึงมีผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด การผลิตจากถ่านหินนำเข้า ลิกไนต์หงสาประเทศลาว และลิกไนต์แม่เมาะ ต้นทุนต่ำที่สุด คือ 2.02 บาทต่อหน่วย 1.63 บาทต่อหน่วย และ 1.25 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ มีการใช้ผลิตไฟฟ้ารวมกันราวร้อยละ 20 ส่วนการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้งในประเทศ และนอกประเทศ ที่มีต้นทุนราว 1.60 บาทต่อหน่วย ใช้ผลิตไฟฟ้ารวมกัน ราวร้อยละ 6


เตรียมปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ปี 2560-2563 ประกาศใช้ปี 2561

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยเมื่อเดือน ส.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่า กกพ.เตรียมปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ปี 2560-63 เพื่อประกาศใช้ปี 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะแผนการลงทุน ของ 3 การไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินและระบบสายส่ง รวมไปถึงจะมีการพิจารณาอัตราค่าบริการที่รวมเก็บอยู่ในบิลค่าไฟประชาชน 38 บาทต่อเดือนเพื่อให้โครงสร้างค่าไฟมีความเป็นธรรมต่อทั้งผู้ลงทุนและผู้บริโภค

กกพ. ระบุว่าโครงสร้างค่าไฟฐานที่ปรับใหม่จะปรับทุก ๆ 3-5 ปี ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง  ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยปรับไปแล้วเมื่อ พ.ย. 2558 แต่ครั้งนั้นประกาศใช้ค่อนข้างช้า โดยครั้งนั้นค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.27 บาทต่อหน่วย เมื่อรีเซ็ตค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เป็นศูนย์ ทำให้ค่าไฟฐานจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 3.7556 บาทต่อหน่วย ซึ่งค่าไฟฐานใหม่ที่เตรียมจัดทำก็ต้อง     รีเซ็ตค่า Ft เป็นศูนย์เช่นกัน ส่วนค่าไฟฐานจะปรับขึ้นหรือไม่คงต้องดูหลายปัจจัย แต่ยอมรับว่ามีการลงทุนของ 3 การไฟฟ้า (กฟผ., กฟภ. และ กฟน.) นั้นจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะระบบสายส่ง ซึ่งน่าจะมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 5-6 แสนล้านบาท 

อ่าน 'จับตา': “ประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าของไทยปี 2552-2558"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6592

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานวิจัยเผยแรงงานเด็กในชุมชนแออัดบังกลาเทศทำงาน 64 ชั่วโมง/สัปดาห์

0
0
เผยผลสำรวจพบแรงงานเด็กที่อาศัยในชุมชนแออัดประเทศบังกลาเทศทำงานมากกว่า 64 ชั่วโมง/สัปดาห์ มากกว่ามาตรฐานปกติของผู้ใหญ่ในยุโรปที่ทำงานเพียง 48 ชั่วโมง/สัปดาห์ นอกจากนี้ในรอบปีที่ผ่านมาพบแรงงานเด็กยังเป็นเหยื่อฆาตกรรมจากผู้ใหญ่ที่ทำงานในโรงงานเดียวกันด้วย

 
 
(ที่มาภาพประกอบ odi.org)
 
11 ธ.ค. 2559 เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา The Overseas Development Institute หรือ ODIได้เปิดเผยรายงาน Child labour and education A survey of slum settlements in Dhakaโดยในรายงานระบุว่าจากการสำรวจเด็กอายุ 6-14 ปีที่อาศัยในชุมชนแออัดในกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ ร้อยละ 15 ไม่ได้ไปโรงเรียนและทำงานแบบเต็มเวลา และในกรณีเด็กหญิงมีสัดส่วนทำงานแบบเต็มเวลาอยู่ในโรงงานเสื้อผ้ามากถึง 2 ใน 3 เมื่อเทียบตามช่วงอายุ พบว่าสัดส่วนเด็กที่ต้องทำงานในกลุ่มอายุ 10 ปีอยู่ที่ร้อยละ 8 และเพิ่มเป็นร้อยละ 45 ในกลุ่มอายุ 14 ปี ในด้านเพศพบเป็นเด็กผู้ชายร้อยละ 36.1 และเด็กผู้หญิงร้อยละ 34.6 โดยเด็กผู้หญิงจาก 2 ใน 3 คน ในชุมชนแออัดในกรุงธากานั้นทำงานอยู่ในโรงงานผลิตเสื้อผ้า
 
ในด้านชั่วโมงการทำงาน พบว่าเด็ก ๆ ในชุมชนแออัดเหล่านี้ทำงานถึงสัปดาห์ละ 64 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่ามาตรฐานปกติของผู้ใหญ่ในสหภาพยุโรป (EU) ด้วยซ้ำ ที่ทำงานเพียง 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในรายงานยังระบุว่าแม้เด็กเหล่านั้นอยากไปโรงเรียนมากเพียงใด แต่เพราะความยากจนทำให้ต้องมาเป็นแรงงานเต็มเวลาเพื่อช่วยจุนเจือครอบครัว แม้พวกเขาจะรู้ตัวดีก็ตามว่ามันจะเป็นผลเสียต่ออนาคตของพวกเขาระยะยาว
 
 
 
(ที่มาภาพประกอบ odi.org)
 
อีกหนึ่งปัญหา 'การก่ออาชญากรรมต่อเด็กในที่ทำงาน'
 
การใช้แรงงานเด็กในบังกลาเทศ นอกเหนือจากสภาพการทำงานที่เลวร้ายแล้ว อีกปัญหาที่บังกลาเทศเจอก็คือการฆาตกรรมเด็กในโรงงาน โดยเมื่อเดือน ก.ค. 2559 ที่ผ่านมา theguardian.comรายงานว่า ตำรวจบังกลาเทศจับกุมชายคนหนึ่งในโรงงานสิ่งทอแห่งหนึ่งหลังก่อเหตุฆาตกรรมเด็กชายวัย 10 ปี ที่ทำงานในโรงงานสิ่งทอเดียวกัน ด้วยการใช้หัวฉีดแรงดันสูงเสียบทวารหนัก เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปีที่ 2558 เด็กชายวัย 13 ปีคนหนึ่ง ผู้ทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แห่งหนึ่งในบังกลาเทศ ถูกเพื่อนร่วมงานใช้เครื่องปั๊มลมพ่นลมเข้าใส่ทวารหนักทำให้เด็กชายเสียชีวิต ส่วนผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานชายในวัยผู้ใหญ่ 2 คน อ้างว่าต้องการลงโทษที่เด็กชายทิ้งงาน เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ และชายผู้ก่อเหตุทั้งสองรายถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาชนประกาศ 'วาระประชาชน 2560' เหนือยุทธศาสตร์ชาติ

0
0

ตัวแทน People Go Network forum จาก 109 องค์กรภาคประชาชน แถลงประกาศ 'วาระประชาชน 2560' ต้องอยู่เหนือยุทธศาสตร์ 20 ปี ในรัฐธรรมนูญมีชัย

พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับใหม่ คืนสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิเกษตรกร และสิทธิชุมชน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือก ออกแบบ และคัดค้านการดำเนินการของภาครัฐที่สร้างความทุกข์ยาก เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยบริสุทธิ์และยุติธรรมโดยเร็ว

 

 แถลงประกาศ 'วาระประชาชน 2560' ต้องอยู่เหนือยุทธศาสตร์ชาติ


 

11 ธ.ค. 2559 ตัวแทน People Go Network forum จาก 109 องค์กรภาคประชาชน แถลงข่าว “ประกาศวาระประชาชน 2560” ต้องอยู่เหนือยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีใจความสำคัญ คือการวางรากฐานทิศทางการพัฒนาประเทศด้วยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะบังคับใช้ เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควรสร้างความสมดุลย์ให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และจะติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะจะไม่ให้ลิดรอนสิทธิการเลือกตั้งของประชาชน 

นอกจากนี้ ตัวแทน People Go Network forum ยังเรียกร้องว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับใหม่ คืนสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิเกษตรกร และสิทธิชุมชน ที่มีหน้าที่กำหนดความเป็นไปในทิศทางของประเทศ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือก ออกแบบ และคัดค้านการดำเนินการของภาครัฐที่สร้างความทุกข์ยากให้กับพี่น้องประชาชน จัดให้มีการเลือกตั้งโดยบริสุทธิ์และยุติธรรมโดยเร็ว และจัดให้มีการกระจายอำนาจการปกครอง และให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมืองแทนที่จะเป็นองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้ง

โดยรายละเอียดของ “ประกาศวาระประชาชน 2560” มีดังต่อไปนี้

 

คำประกาศ People Go 2560

เราเครือข่ายประชาชน“People Go Network Forum” ซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านเกษตรกรคณาจารย์นักวิชาการองค์กรพัฒนาเอกชนกลุ่มแรงงานสื่อมวลชนนิสิตนักศึกษาและผู้ประกอบอาชีพอิสระ 109 องค์กรได้ร่วมกันทบทวนสถานการณ์ของประเทศภายหลังรัฐประหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาและความเดือดร้อนที่เกิดกับพี่น้องประชาชนซึ่งเป็นผลมาจากอคติที่มีต่อกลุ่มบุคคลข้างต้นเราเครือข่ายประชาชนจึงขอประกาศดังนี้

1. เราขอย้ำเตือนให้สังคมตระหนักว่าการวางรากฐานทิศทางการพัฒนาประเทศด้วยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะบังคับใช้เช่นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและการดำเนินการของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาได้วางทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่

1.1 ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่จะขยายวงกว้างขึ้นจากการลดสวัสดิการและการปรับเปลี่ยนระบบสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นการสงเคราะห์ให้กับคนเฉพาะกลุ่มที่ไปลงทะเบียนหรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด

1.2 การขาดสมดุลของการพัฒนาระหว่างคนสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเน้นการพัฒนาที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจละเลยมิติการพัฒนาคนและสังคมแต่ให้ความสำคัญกับบรรษัทเอกชนซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์

1.3 การสร้างระบบการศึกษาที่ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยการกระจายอำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการบ่มเพาะค่านิยมการท่องจำและเชื่อฟังผู้มีอำนาจให้กับเด็กและเยาวชนผ่านระบบการศึกษาซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนไทยมีลักษณะอำนาจนิยมโอนอ่อนผ่านตามผู้มีอำนาจทำเองไม่เป็นคิดเองไม่ได้เชื่อฟังคำสั่งเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์                

1.4 การทำลายวัฒนธรรมคนท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์เกษตรกรชาวนาชาวประมงพื้นบ้านด้วยการลิดรอนสิทธิเสรีภาพจำกัดพื้นที่การแสดงออกเอื้ออำนวยให้กลุ่มทุนเข้ามาลงทุนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเดิมที่กลุ่มคนเหล่านี้เคยได้อาศัยทำกินประเทศไทยจะขาดความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพเกษตรกรชาวนาชาวประมงจะกลายเป็นแรงงานรับจ้างชีวิตมีความทุกข์ยากเพิ่มขึ้น

1.5 การมีผู้แทนทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งองค์กรอิสระที่ถูกอำนาจครอบงำและไม่ยึดโยงกับความต้องการของประชาชนการทำประชามติที่คลุมเครือและการข่มขู่คุกคามและการขัดขวางการเคลื่อนไหวของประชาชน

2. เราจะติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลในด้าน

2.1 การลิดรอนสิทธิการเลือกตั้งของประชาชนจากการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งที่จะทำให้เสียงของประชาชนลดความสำคัญลง

2.2 การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและพวกพ้องซึ่งถอยไปอยู่หลังฉากและยังคงมีอำนาจกำกับการทำงานของคณะรัฐมนตรีและกลไกรัฐที่จะมีขึ้นหลังการเลือกตั้ง

2.3 กฎหมายกฎประกาศและคำสั่งที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิชุมชนที่ได้มีผลบังคับใช้แล้วเช่นพ.ร.บ.ชุมนุมการใช้อำนาจตามมาตรา 44คำสั่งและประกาศคสช. ฉบับต่างๆอาทิ 64/2557 66/2557 97/2557 3/2558 3/2559 4/2559 9/2559 พ.ร.บ.แร่และที่เตรียมการที่จะยกร่างประกาศบังคับใช้อาทิกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกฎหมายที่แย่งยึดที่ดินและทรัพยากรของประชาชนมาเป็นของรัฐประกาศและคำสั่งที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเข้ามาดำเนินการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทำลายสิ่งแวดล้อมและทำลายวัฒนธรรมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

2.4 การใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนในชาติและต่างชาติผ่านการเจรจาการค้าและการทำข้อตกลงหรือหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตลอดจากการส่งเสริมการเกษตรพันธะสัญญาที่เอื้อต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ตลอดจนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

3. เราขอเรียกร้องพี่น้องประชาชนภาครัฐและเอกชนดังต่อไปนี้

3.1 ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับใหม่

3.2 คืนสิทธิความเป็นพลเมืองสิทธิเกษตรกรและสิทธิชุมชนที่มีหน้าที่กำหนดความเป็นไปในทิศทางของประเทศมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกออกแบบและคัดค้านการดำเนินการของภาครัฐที่สร้างความทุกข์ยากให้กับพี่น้องประชาชน

3.3 จัดให้มีการเลือกตั้งโดยบริสุทธิ์และยุติธรรมโดยเร็วและจัดให้มีการกระจายอำนาจการปกครองและให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมืองแทนที่จะเป็นองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้ง

3.4 ปฏิรูปสถาบันหลักของชาติทั้งสถาบันในกระบวนการยุติธรรมสถาบันการศึกษาระบบราชการโดยเฉพาะสถาบันด้านความมั่นคงจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ตามกฎหมายและเจตจำนงของประชาชน

3.5 เปลี่ยนแบบแผนและโครงสร้างการกระจายประโยชน์จากการพัฒนาประเทศการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ทั่วถึงและเป็นธรรมมีการปฏิรูปที่ดินที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้เปราะบางคนยากจน

3.6 รัฐต้องลดบทบาทลงเป็นเพียงผู้กำกับดูแลสร้างความเป็นธรรมและอำนวยความยุติธรรมโดยส่งเสริมบทบาทและสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาสังคมร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนเป็นภาคส่วนหลักในการพัฒนาประเทศ

3.7 ให้รัฐสวัสดิการเป็นวาระแห่งชาติทุกฝ่ายร่วมผลักดันให้เกิดระบบอาทิรระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวระบบบำนาญพื้นฐานโครงสร้างภาษีและอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเรียนที่เป็นธรรมการประกันรายได้ระบบค่าจ้างที่เป็นธรรมการจ้างงานที่เป็นธรรมและคุ้มครองแรงงานเสมอภาคเท่าเทียมซึ่งจะเป็นทางออกของปัญหาความเหลื่อมล้ำแตกต่างของคนในสังคมจะต้องเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น

3.8 พัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืนให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้วยังต้องดูแลรักษาให้มีใช้อย่างยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไป

3.9 เร่งสร้างการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นสถานะทางเศรษฐกิจสังคมชาติพันธุ์ศาสนาวงศ์ตระกูลเพศสภาวะหรือว่าจุดยืนทางการเมืองเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม

3.10 ประชาชนต้องมีส่วนร่วมและตรวจสอบการเจรจาทางการค้าข้อตกลงและหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตลอดจนฝ่ายนิติบัญญัติที่ยึดโยงกับอำนาจจากประชาชนจะต้องสามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารในการเจรจาและทำข้อตกลงดังกล่าวได้เพื่อประโยชน์ของสาธารณะอย่างแท้จริง

3.11 มีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถทำเกษตรได้ด้วยตนเองและอย่างยั่งยืน

11 ธันวาคม 2559
เครือข่ายประชาชน People Go Network Forum

 

องค์กรเครือข่าย People Go Network Forum ในงาน People Go! ก้าวไปด้วยกันใส่ใจรัฐธรรมนูญกับสิทธิมนุษยชนระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม 2559 ณคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง

2. สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

3. สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

4. โครงการรัฐศาสตร์เสวนาหลักสูตรรัฐศาสตร์บัณฑิตสาขาการเมืองและการจัดการปกครองภาควิชาการเมืองการปกครองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

5. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

6. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-บำนาญแห่งชาติ

7. มูลนิธิบูรณะนิเวศ

8. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก

9. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)

10. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย

11. สมัชชาคนจน

12. กลุ่มละครมะขามป้อม

13. เครือข่ายพลเมืองเน็ต

14. สมัชชาอู่ข้าวอู่น้ำภาคกลาง

15. มูลนิธินโยบายสุขภาวะ

16. ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM)

17. กลุ่ม Mini Drama

18. กลุ่มการเมืองครั้งแรก

19. กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

20. Focus on the Global South

21. เครือข่ายสลัม 4 ภาค

22. มูลนิธิโลกสีเขียว

23. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา

24. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย

25. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน(พื้นที่คัดค้านเหมืองแร่ทองคำต.เขาหลวงอ.วังสะพุงจ.เลย)

26. กลุ่มรักษ์บ้านแหง(พื้นที่คัดค้านสัมปทานทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ต.บ้านแหงอ.งาวจ.ลำปาง)

27. ชมรมอนุรักษ์ลุ่มน้ำสรอยต.สรอยอ.วังชิ้นจ.แพร่ (พื้นที่การขอสัมปทานสำรวจแร่เหล็กและทองคำ)

28. กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเนินมะปรางอ.เนินมะปรางจ.พิษณุโลก

29. กลุ่มฮักบ้านฮั่นแน้วต.เชียงกลมอ.ปากชมจ.เลย

30. กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์อ.บำเหน็จณรงค์จ.ชัยภูมิ

31. สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาต.คูหาใต้อ.รัตภูมิจ.สงขลา

32. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD)

33. กลุ่มลูกชาวบ้านม.บูรพา

34. กลุ่มเยาวชนบ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชนปัตตานี

35. กลุ่มแก็งข้าวกล่องม.รามคำแหง

36. กลุ่มเพื่อนประชาชน

37. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

38. เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)

39. กลุ่มกระเหรี่ยงภาคเหนือ

40. เครือข่ายเพื่อนตะวันออกวาระเปลี่ยนตะวันออก

41. โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

42. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

43. กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง(กสรก.)

44. กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

45. สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย

46. กลุ่มแม่โจ้เสรีเพื่อประชาธิปไตย

47. สมัชชาสิทธิเสรีภาพนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่

48. กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่(NGC)

49. กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา

50. กลุ่มพลเรียน

51. ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษาสถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาเชียงใหม่

52. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)

53. กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย

54. แนวร่วมนักเขียนแห่งประเทศไทย

55. Cafe Democracy

56. กลุ่มรักษ์เขาชะเมา

57. สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR)

58. เครือข่ายประชาชนชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS)

59. กลุ่มอนุรักษ์อ่าวบางละมุง

60. สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย

61. เครือข่ายรักษ์อ่าวอุดม

62. กลุ่มประมงต้นแบบบ้านอ่าวอุดม

63. กลุ่มประมงต้นแบบบ้านนาเกลือ

64. กลุ่มประมงต้นแบบบ้านบางละมุง

65. เครือข่ายสภาพลเมืองจังหวัดชลบุรี

66. โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนคนไร้รัฐจ.อุบลราชธานี

67. เครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก

68. คณะทำงานนักเกรียนเปลี่ยนโลก

69. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)

70. มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน

71. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)

72. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

73. องค์กรสิทธิเสรีภาพของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

74. เครือข่ายการศึกษาทางเลือก

75. สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา

76. กลุ่มเสรีนนทรี

77. กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์

78. กลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย

79. สมาคมแรงงานนอกระบบประเทศไทย

80. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

81. มูลนิธิเข้าถึงเอดส์

82. แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย

83. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล

84. มูลนิธิชีววิถี (Biothai)

85. Thai Climate Justice

86. เครือข่ายพลเมืองสงขลา

87. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)

88. กลุ่ม Save Krabi

89. กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำท่าสะท้อนและสิ่งแวดล้อมสุราษฎร์ธานี

90. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้

91. เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลาสตูล

92. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน

93. เครือข่ายรักษ์ชุมพร

94. เครือข่ายพลเมืองพัทลุง

95. เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

96. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล

97. ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชนจะนะ

98. สภาทรัพยากรพันธุกรรมพื้นบ้านภาคใต้

99. สภาประชาชนอำเภอรัตภูมิ

101. สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ

102. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

103. เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

104. กลุ่มกรณีปัญหาที่สาธารณะประโยชน์โคกภูกระแตจ.นครพนม

105. กลุ่มกรณีปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ดงคัดเค้าจ.นครพนม

106. กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ

107. ชุมชนโคกอีโด่ย

108. กลุ่มกรณีปัญหาทหารประกาศพระราชกฤษฎีกาเขตหวงห้ามฯ 2479 จ.นครสวรรค์ทับที่ดินทำกิน

109. สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์

0
0

พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2559 โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ต้องโทษได้รับพระราชทานอภัยโทษ หรือได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ โดยในแต่ละจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษาศาลหรือตุลาการศาลทหาร พนักงานอัยการหรืออัยการทหาร รวม 3 คน เป็นคณะกรรมการตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

11 ธ.ค. 2559 ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 ตอนที่ 104 ก วันที่ 11 ธันวาคม 2559 มีการเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2559 ให้ไว้ ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2559 มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

พระราชกฤษฎีกา
พระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2559

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2559
เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า เนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และมาตรา 261 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2517 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2559”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้

“ผู้ต้องกักขัง” หมายความว่า ผู้ต้องโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือผู้ถูกกักขังแทนค่าปรับซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลถึงที่สุดก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

“ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ” หมายความว่า ผู้ต้องโทษปรับ ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับตามมาตรา 30/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ โดยผู้นั้นได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลและมิได้กระทำผิดเงื่อนไขแต่อย่างใด

“ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ” หมายความว่า นักโทษเด็ดขาดซึ่งเป็นผู้ได้รับการพักการลงโทษตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร หรือได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก ตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ ซึ่งมิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษหรือการลดวันต้องโทษจำคุกก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

“นักโทษเด็ดขาด” หมายความว่า ผู้ซึ่งในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับเป็นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือนักโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร

“กำหนดโทษ” หมายความว่า กำหนดโทษที่ศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุด หรือกำหนดโทษตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้ลงโทษ หรือกำหนดโทษดังกล่าวที่ได้ลดโทษลงแล้วโดยการได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือโดยเหตุอื่น

“ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก” หมายความว่า ต้องโทษเพราะถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี โดยมิได้ถูกศาลพิพากษาให้เพิ่มโทษฐานกระทำความผิดอีก ตามมาตรา 92 หรือมาตรา 93 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือตามกฎหมายอื่น

มาตรา 4 ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ

มาตรา 5 ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป

(1) ผู้ต้องกักขัง

(2) ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ

(3) ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ เว้นแต่ผู้ซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ หรือผู้ซึ่งต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินแปดปี ในความผิดฐานผลิตนำเข้า หรือส่งออก หรือผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และผู้ซึ่งต้องโทษในความผิดตามมาตรา 286 วรรคสาม มาตรา 277 มาตรา 277 ทวิ มาตรา 277 ตรี มาตรา 280 มาตรา 285 หรือมาตรา 343 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด และยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี

มาตรา 6 ภายใต้บังคับมาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป

(1) ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินหนึ่งปีและได้รับโทษมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษตามกำหนดโทษ

(2) ผู้ต้องโทษจำคุกซึ่งมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นคนพิการโดยตาบอดทั้งสองข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้งสองข้าง หรือเป็นบุคคลซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าเป็นคนทุพพลภาพมีลักษณะอันเห็นได้ชัด

(ข) เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) หรือโรคจิต ซึ่งทางราชการได้ทำการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้ และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่าสามปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ เว้นแต่เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ระยะสุดท้ายซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่าสองคนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจำให้หายได้

(ค) เป็นหญิงซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ

(ง) เป็นคนมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่าห้าปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษตามกำหนดโทษและต้องมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

(จ) เป็นผู้ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก และมีอายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือทะเบียนรายตัวของเรือนจำในกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษตามกำหนดโทษ หรือ

(ฉ) เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

มาตรา 7 ภายใต้บังคับมาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 นักโทษเด็ดขาดซึ่งมิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปตามมาตรา 6 ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษดังต่อไปนี้

(1) ผู้ต้องโทษประหารชีวิต ให้ลดลงเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต

(2) ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้

ชั้นเยี่ยม 1 ใน 2

ชั้นดีมาก 1 ใน 3

ชั้นดี 1 ใน 4

โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่นให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น

(3) ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารตาม (2)

(4) ผู้ต้องโทษจำคุกเพราะความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ไม่ว่าจะมีความผิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่ให้ลดโทษจากกำหนดโทษลง 2 ใน 3 เฉพาะความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

มาตรา 8 ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ต้องโทษประหารชีวิต ให้ลดลงเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต

(2) ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้

ชั้นเยี่ยม 1 ใน 3

ชั้นดีมาก 1 ใน 4

ชั้นดี 1 ใน 5

โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่นให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น

(3) ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารตาม (2) ว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้

ชั้นเยี่ยม 1 ใน 5

ชั้นดีมาก 1 ใน 6

ชั้นดี 1 ใน 7

มาตรา 10 ภายใต้บังคับมาตรา 11 และมาตรา 12 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินแปดปี จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ก่อนหรือในวันที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับ ในความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออกหรือผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ต้องโทษประหารชีวิต ให้ลดลงเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต

(2) ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุกห้าสิบปี แล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้

ชั้นเยี่ยม 1 ใน 6

ชั้นดีมาก 1 ใน 7

ชั้นดี 1 ใน 8

โดยให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่นให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนั้น

(3) ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหารตาม (2)

มาตรา 11 ภายใต้บังคับมาตรา 12 นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมซึ่งถูกศาลพิพากษาให้เพิ่มโทษฐานกระทำความผิดอีกตามมาตรา 92 หรือมาตรา 93 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจากกำหนดโทษลง 1 ใน 6

มาตรา 12 นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้

(1) ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินแปดปี จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตภายหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับในความผิดฐานผลิต นำเข้าหรือส่งออก หรือผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

(2) ผู้ซึ่งถูกศาลพิพากษาให้เพิ่มโทษฐานกระทำความผิดอีกตามมาตรา 92 หรือมาตรา 93แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น และมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม

(3) นักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ชั้นเลว หรือชั้นเลวมาก

มาตรา 13 ภายใต้บังคับมาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นพิเศษอีกหนึ่งปี

มาตรา 14 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษในความผิดตามมาตรา 276 วรรคสาม มาตรา 277

มาตรา 277 ทวิ มาตรา 277 ตรี มาตรา 280 มาตรา 285 และมาตรา 343 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา 15 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ ผู้พิพากษาศาลแห่งท้องที่หรือตุลาการศาลทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน และพนักงานอัยการแห่งท้องที่หรืออัยการทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน รวมสามคนเป็นคณะกรรมการ มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลแห่งท้องที่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อความสะดวกแก่ศาลแห่งท้องที่นั้นพิจารณาออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือออกคำสั่งยกเลิกการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี

ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ซึ่งถูกลงโทษจำคุกตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษให้คณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบและส่งรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาออกคำสั่งปล่อยหรือลดโทษ แล้วแต่กรณีเมื่อได้มีหมายหรือคำสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือคำสั่งยกเลิกการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับแล้ว ให้คณะกรรมการทำบัญชีผู้ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษเก็บไว้ที่เรือนจำหรือทัณฑสถานหนึ่งฉบับ ส่งศาลหนึ่งฉบับ ส่งกระทรวงยุติธรรมหนึ่งฉบับ และทูลเกล้าฯ ถวายอีกหนึ่งฉบับ

ถ้าการแต่งตั้งกรรมการบางคนไม่สะดวกในการปฏิบัติ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการตามที่เห็นสมควรเป็นกรรมการแทนได้

ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด

มาตรา 16 ในส่วนที่เกี่ยวกับนักโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งข้าราชการเป็นคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลทหารกรุงเทพ ศาลมณฑลทหาร หรือศาลจังหวัดทหารแล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อความสะดวกแก่ศาลทหารดังกล่าวพิจารณาออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือออกคำสั่งยกเลิกการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี

ให้นำมาตรา 15 วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนำบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกานี้มาใช้บังคับแก่นักโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร นอกจากที่ได้บัญญัติไว้แล้วในพระราชกฤษฎีกานี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพิจารณาสั่งเทียบกรณีให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา 17 ให้นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน

 

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

 

บัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ
เนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2559

(ๅ1) ความผิดในภาค 2 ความผิด แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ลักษณะ 1/1 ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย

มาตรา 135/1 ถึงมาตรา 135/4

ลักษณะ 2 ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง

หมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงาน

มาตรา 139 มาตรา 140

มาตรา 143 และมาตรา 144

หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

มาตรา 147 ถึงมาตรา 166

ลักษณะ 3 ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม

หมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม

มาตรา 167 มาตรา 172

มาตรา 173 มาตรา 174

มาตรา 175 มาตรา 177

มาตรา 179 มาตรา 180

มาตรา 181 มาตรา 187

มาตรา 189 มาตรา 191

มาตรา 192 และมาตรา 198

 

หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

มาตรา 200 ถึงมาตรา 205

 

ลักษณะ 5 ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน

มาตรา 209 ถึงมาตรา 213

 

ลักษณะ 6 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน

มาตรา 218 มาตรา 220 วรรคสอง มาตรา 221

มาตรา 222 มาตรา 224 มาตรา 228

มาตรา 229 มาตรา 230 มาตรา 231

มาตรา 232 มาตรา 234 มาตรา 235

มาตรา 236 มาตรา 237 และมาตรา 238

 

ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ

มาตรา 276 วรรคหนึ่ง มาตรา 282 และมาตรา 283

 

ลักษณะ 10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย

หมวด 1 ความผิดต่อชีวิต

มาตรา 288 มาตรา 289 และมาตรา 290

 

หมวด 2 ความผิดต่อร่างกาย

มาตรา 297 และมาตรา 298

 

ลักษณะ 11 ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง

หมวด 1 ความผิดต่อเสรีภาพ

มาตรา 313 ถึงมาตรา 315 และมาตรา 317

 

ลักษณะ 12 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

หมวด 2 ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์

มาตรา 339 วรรคห้า

มาตรา 339 ทวิ วรรคห้า

มาตรา 340 วรรคห้า

มาตรา 340 ทวิ วรรคหก

และมาตรา 340 ตรี

(2) ความผิดที่มีโทษตาม มาตรา 78 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 249จ0

(3) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ

(4) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(5) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ

(6) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

(7) ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ กฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกระทำโดยกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของสถาบันการเงินนั้น

(8) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

(9) ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #135 เสื้อผ้าผู้นำหญิง: จากโลกถึงไทย

0
0

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คำ ผกา และเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี พูดคุยถึงเสื้อผ้าหน้าผมของผู้นำหญิงทั่วโลก เมื่อต้องเข้ามาอยู่ในพื้นที่การเมืองซึ่งผู้ชายเป็นใหญ่ ตั้งต้นที่ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งมักสวม “แพนต์สูท” เป็นชุดประจำ เทียบกับสไตล์การแต่งตัวของผู้นำหญิงในโลกอย่างมาร์กาเรต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ รวมทั้งเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอังกฤษ ฯลฯ พร้อมออกตามหาชุด “แพนต์สูท” ว่ากลายมาเป็นชุดเก่งของนักการเมืองหญิงในต่างประเทศตั้งแต่เมื่อไหร่

ในช่วงที่สอง คำ ผกา ยังวิเคราะห์เสื้อผ้าเครื่องกายของผู้นำหญิงในไทยด้วยโดยเฉพาะกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่น่าเสียดายที่ประวัติศาสตร์เสื้อผ้าของไทยไม่มีด้านที่ผูกพันกับประเด็นเพศสภาพมากนัก หลายเรื่องหลายแนวปฏิบัติ ก็ตอบกันได้แต่เพียงเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม โดยไม่มีคำอธิบายหรือเหตุผลรองรับ

ทั้งนี้คำ ผกา ยังตั้งคำถามด้วยว่าจำเป็นหรือไม่ที่นักการเมืองหญิงจำเป็นต้องแต่งตัว “แมน” เพื่อสร้างบุคลิกเกรงขาม จำเป็นแค่ไหนที่ต้องแต่งตัวปิดซ่อนรูปร่าง เมื่อไหร่ผู้นำหญิงจึงจะได้แต่งตัวสวยอย่างใจชอบ พร้อมแนะนำลิสต์นักการเมืองหญิงต่างประเทศที่แต่งตัวสุดร้อนแรง

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แนะลงทะเบียนรายได้คนจน-คนรวย เพื่อจัดรัฐสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำ

0
0

11 ธ.ค. 2559 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ - บำนาญแห่งชาติ จัดกิจกรรมแถลงข่าว “หนุนสังคมเป็นธรรม ลงทะเบียนคนจน ต้องลงทะเบียนคนรวยด้วย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
         
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้สัมภาษณ์ว่า การจัดรัฐสวัสดิการนั้น รัฐต้องให้สวัสดิการกับประชาชนอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะ 3 เรื่องคือ หลักประกันสุขภาพ หลักประกันด้านการศึกษา และหลักประกันเมื่อสูงวัย โดยใช้เงินภาษีจัดสวัสดิการให้ ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือรวย ก็มีสิทธิได้รับ สวัสดิการถ้วนหน้าจะช่วยลดรายจ่ายสำหรับคนจน หากไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าเทอมค่าการศึกษา และมีบำนาญประชาชน ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนคนรวยก็ต้องจ่ายภาษีความมั่งคั่งที่กระจุกตัวในกลุ่มคนรวย เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน เป็นการกระจายความมั่งคั่งของรัฐกลับคืนในรูปแบบสวัสดิการถ้วนหน้า ตอนนี้คนรวยที่สุดมีรายได้ต่างกับคนจนที่สุดถึง 22 เท่า

สุรีรัตน์ ให้ความเห็นว่า รัฐให้คนจนไปลงทะเบียนเพื่อจัดสวัสดิการ ซึ่งการลงทะเบียนนั้นเพื่อที่จะรู้ว่าแต่ละคนมีรายได้เท่าไหร่ ถ้าทุกคนในประเทศไทยที่มีบัตรประชาชนไปลงทะเบียนว่าเป็นใคร ทำงานอะไร และชี้แจงเรื่องรายได้ เพื่อจ่ายภาษี ไม่ว่าจะรวยหรือจน จะทำให้รัฐรู้ได้ว่าใครมีรายได้มากหรือน้อย จะเป็นธรรมกว่า และรัฐสามารถจัดสวัสดิการให้คนมีรายได้น้อยได้จริง ไม่ใช่สงเคราะห์ ไม่ใช่มาแอบอ้างลงทะเบียนเป็นคนจน
         
ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีวิธีคิดเชิงหลักการเปลี่ยนไป ทั้งที่ควรรับรองสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคน เช่น ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ได้รับการศึกษาทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อสูงวัยก็ได้รับบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า แต่รัฐธรรมนูญนี้กลับระบุว่า ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีรายได้ไม่เพียงพอ มีสิทธิได้รับสวัสดิการของรัฐ ทั้งที่สวัสดิการควรเป็นของทุกคน และรัฐควรต้องจัดหาให้ ซึ่งการเขียนแบบนี้สามารถตีความได้ เช่น ออกกฎหมายให้เบี้ยยังชีพเฉพาะคนแก่ที่จนเท่านั้น หรือแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพให้เป็นสำหรับผู้ยากไร้เท่านั้น คนเกือบจน คนเกือบรวย ก็อาจต้องเสียเงินค่ารักษา เป็นต้น

ด้าน ม้วน ถิ่นวิลัย แกนนำกลุ่มผู้หญิงจากอีสาน กล่าวว่า “เราหวังให้สังคมไทยมีรัฐสวัสดิการ แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นอุปสรรคในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยเท่าเทียมกัน แต่เครือข่ายภาคประชาชนจะไม่นิ่งเฉยและท้อถอยกับอุปสรรคนี้ จะร่วมกันติดตามสถานการณ์การบังคับใช้รัฐธรรมนูญว่าออกไปในทิศทางไหน อย่างไร และจะนำเสนอแนวคิด ข้อท้วงติง หรือร่างกฎหมายฉบับประชาชนให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม โดยเฉพาะการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประชาชนอย่างเราต้องได้ร่วมกำหนดด้วย”

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ประชาชนต้องทำ คือ มีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม โดยดูว่ารัฐสวัสดิการควรจัดได้แค่ไหน อย่างไร ส่วนรัฐนั้นจะจัดเก็บภาษีอย่างไรให้เป็นธรรม เช่น การขยายฐานคนเสียภาษี การกำหนดกติกา หรือวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะให้ประเทศมีฐานภาษี มีรายได้ที่มากขึ้น ซึ่งประชาชนควรมีส่วนร่วม ไม่ใช่กำหนดจากคนกลุ่มเล็กๆ

“ประชาชนมีสิทธิกำหนดว่าประเทศควรพัฒนาไปทางไหน เพราะถ้ารัฐมีงบประมาณจำกัดก็ควรใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด หากรัฐมีสวัสดิการที่ดี คนก็พร้อมที่จะเสียภาษี เพราะว่าก็จะได้รับประโยชน์กลับคืนมา” นิมิตร์ กล่าวและว่า การออกนโยบายให้คนจนมาลงทะเบียนไม่แก้ปัญหาในระยะยาว เพราะไม่ได้คำนึงถึงว่าเป็นสิทธิพื้นฐานในการสร้างความมั่นคงในชีวิต และยังลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย

ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวต่อไปว่า การที่รัฐจ่ายเงินเป็นครั้งๆ เช่น ลงทะเบียนคนจนแล้วได้รับ 3,000 บาท ไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ช่วยทำให้ความเหลื่อมล้ำหายไป แล้วคนเหล่านั้นเขาจะอยู่ต่ออย่างไรเมื่อเงินหมด ซึ่งรัฐควรจัดสวัสดิการให้เป็นหลักประกันที่ยั่งยืนให้กับประชาชนมากกว่า  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: อีกกี่ปีประชาชนพ้นเงื้อมเงา

0
0




ตั้งแต่ยึดอำนาจประกาศกล้า
แล้วได้มาอ้างชาติอำนาจชั่ว
ประชาชนอกสั่นหวาดหวั่นกลัว
อำนาจปืนยืนทั่วประเทศไทย

เหมือนมาดมั่นไม่ก้มอุดมการณ์
เหล่าทหาร พลเรือนหลังเคลื่อนไหว
สมบูรณาฯจนมาประชาธิปไตย
ประชาชนได้อะไรในวังวน

ตกอยู่ในเงื้อมเงาเหล่าทหาร
บูทสามานย์เดินทัพขยับปล้น
อำนาจพลเรือน ประชาชน
กี่สิบปีไม่พ้นจนวันนี้

แย่งกันมาอย่างหมาชอบล่าเนื้อ
แบ่งกันถือมีดเถือเมื่อนั่งเก้าอี้
อำมาตย์กับทหารท่านอ้วนพี
ประชาชนเป็นผีหลังประท้วง

แล้ววิวัฒนาการ ชาร์ล ดาร์วิน
แข็งแกร่งและกอบกินในโซ่ห่วง-
อาหาร, อำนาจล้นคนทั้งปวง
จึงอำมาตย์ควงทหารร่วมสืบพันธุ์

เป็นทหารอำมาตย์ในมาดใหม่
เบื้องหลังชักใยหยากไย่สวรรค์
สืบทอดเผ่าพงศ์วงศ์พัลวัน
แบ่งศรัทธาชนชั้นให้ชั้นชน

มาในรูปรัฐประหารในกาลนี้
ยุคสมัยสองสีที่สับสน
ในความหมายเพื่อชาติสัปดน
อีกกี่ปีประชาชนพ้นเงื้อมเงา

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกสิทธิ์ หนุนภักดี: คำที่ไม่ต้องถามของนักเศรษฐศาสตร์

0
0

 

 

ดร. ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ประจำธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทยได้นำเสนอประเด็นค่าแรงขั้นต่ำโดยใช้ข้อมูลจากงานวิจัยที่ท่านเขียนร่วมกับ Celicia Poggi เรื่อง “From Many to One: Minimum Wage Effects in Thailand” โดยสรุปเป็นบทความชื่อ “ค่าแรงขั้นต่ำ บทเรียนจากนโยบาย 300 บาท” เผยแพร่โดย Puey Ungphakorn Institute for Economic Research (PIER) ในงาน PIER research brief เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

คำถามหลักของบทความดังกล่าวคือ อะไรคือผลกระทบของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทที่ประกาศใช้ในปี 2555 ต่อคนงานในกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเป็นชุดคำถาม วิธีการวิจัยและข้อสรุปที่คล้ายคลึงกันกับการนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของ ดร. ดิลกะในเวทีต่าง ๆ เช่น ในงานสัมมนาวิชาการสาธารณะเรื่อง “ค่าจ้างขั้นต่ำ: ข้อเท็จจริงและทิศทางที่ควรเป็นในอนาคต” จัดโดยทีดีอาร์ไอในวันที่ 21 กรกฎาคม 2558

การอ้างถึงประเด็นที่ ดร. ดิลกะพูดต่อจากนี้จะนำมาจากงานทั้ง 3 ชิ้นดังกล่าว

ดร. ดิลกะศึกษาประเด็นผลกระทบของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทโดยเลือกช่วงเวลาการวิเคราะห์ทั้งก่อนหน้าการประกาศใช้นโยบาย 4 ไตรมาสและหลังจากประกาศใช้นโยบายไปแล้ว 6 ไตรมาส กลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาคือประชากรในวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 15-65 ปี (ไม่รวมนักเรียนนักศึกษา) และได้จัดประเภทคนงานหลัก ๆ เป็น 2 ประเภทคือ คนงานทักษะต่ำ (คนงานผู้จบการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาลงมา) กับคนงานทักษะสูง (คนงานผู้จบการศึกษามากกว่ามัธยมศึกษาขึ้นไป)

ผลการศึกษาของท่านได้ให้ข้อมูลและการตีความที่น่าสนใจเช่น ระหว่างปี 2540 – 2554 หรือหลังวิกฤตเศรษฐกิจจนกระทั่งถึงก่อนการประกาศใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดนั้น ดร. ดิลกะอธิบายว่าข้อมูลนี้ “สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจต่อรองของฝ่ายนายจ้างที่มีเหนือฝ่ายลูกจ้าง” สอดคล้องกับความเห็นของทีดีอาร์ไอที่ชี้ว่าระหว่างปี 2544-2554 ค่าแรงขั้นต่ำนั้นเพิ่มน้อยกว่า GDP ผลิตภาพแรงงานและเงินเฟ้อมาโดยตลอด ซึ่งในความเห็นของ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์เห็นว่า “ไม่เป็นธรรม” (สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, “ค่าจ้างขั้นต่ำ – ข้อเท็จจริงและทิศทางที่ควรเป็นในอนาคต,” 2558)

จากข้อมูลนี้แสดงว่าคนงานในประเทศไทยได้รับค่าจ้างน้อยกว่าความสามารถและแรงของตนเองที่ลงไปเป็นเวลาต่อเนื่องกันอย่างน้อยกว่า 1 ทศวรรษ และระดับค่าแรงนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของผลิตภาพแรงงาน เงินเฟ้อ หรือการขยายตัวของ GDP อย่างที่เชื่อกันในวงกว้างแต่เป็นเรื่องของอำนาจต่อรองเพราะหากค่าแรงเป็นเรื่องของดังกล่าวแล้วล่ะก็ คนงานในประเทศไทยควรจะได้รับค่าจ้างแรงงานเพิ่มมากกว่าที่เป็นอยู่ตั้งแต่เมื่อกว่าทศวรรษก่อน

ดร. ดิลกะยังสรุปด้วยว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันสามารถลดความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างค่าจ้างได้ค่อนข้างมาก การเพิ่มค่าแรงให้แก่คนงานที่มีรายได้ต่ำส่งผลกดดันให้นายจ้างเพิ่มค่าแรงให้กับคนงานที่มีรายได้สูง อีกทั้งยังส่งผลให้บริษัทใหญ่ต้องปรับตัวทำการเพิ่ม “ผลิตภาพของบริษัท” ด้วยการพยายามพัฒนาหรือนำเข้าเทคโนโลยีการผลิต

ผลกระทบในด้านลบจากนโยบายนี้คือ คนงานที่มีอายุน้อยการศึกษาน้อยและประสบการณ์น้อยอาจจะถูกให้ออกจากงานจากการปิดตัวของบริษัทขนาดเล็ก หรือการปรับตัวของบริษัทใหญ่ที่รับคนงานมีทักษะฝีมือสูงแทนคนงานทักษะฝีมือต่ำ สะท้อนผ่านอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 หลังการประกาศใช้นโยบาย กับปัญหาใหญ่คือ มีคนงานจำนวนมากที่ทำงานในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดอันเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลข้อสรุปจากประเด็นคำถามหลักที่ ดร. ดิลกะ นำเสนอในงานดังกล่าวซึ่งในงานวิจัยที่ท่านใช้เป็นข้อมูลในการนำเสนอท่านก็ได้ให้ข้อเสนอว่า

“บทความวิชาการนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอ ซึ่งพวกเราเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นการกระจายค่าแรงโดยไม่ส่งผลลบต่อการจ้างงาน ในขณะเดียวกันก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการสูญเสียผลกำไรที่มากเกินไปและการปิดกิจการของฝ่ายหนึ่งกับการถอยไปสู่ภาคธุรกิจอย่างไม่เป็นทางการโดยไม่จำเป็นของอีกฝ่ายหนึ่งได้ (ภาคธุรกิจอย่างไม่เป็นทางการในที่นี้คือ ผู้ที่ทำงานอยู่กับบ้านและคนงานรับจ้างอิสระ)” (Dilaka Lathapipat and Cecilia Poggi, 2016, 30)

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์มติชนได้ลงข้อความที่อ้างว่าเป็นคำพูดตรงของ ดร. ดิลกะจากงาน PIER brief ว่า “สำหรับมติการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่เห็นชอบให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 69 จังหวัดทั่วประเทศ ในอัตรา 5-10 บาท ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างภายใต้ระบบไตรภาคีเสนอนั้น มองว่ามีทิศทางที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 2% ซึ่งจะไม่กระทบกับต้นทุนและการลงทุนในอนาคตของภาคเอกชน” (“‘เวิลด์แบงก์’ชม’บิ๊กตู่’ขึ้นค่าแรง2%เหมาะสม-ชี้หากขึ้นพรวดเดียวเหมือนปี 56 จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานระยะยาว,” มติชนออนไลน์, 23 พฤศจิกายน 2559)

การปรับค่าแรงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอ อัตราค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 5 – 10 บาท และการปรับค่าแรงขั้นต่ำประมาณร้อยละ 2 นั้นเป็น “อัตราที่เหมาะสม” ตามความเห็นของ ดร. ดิลกะ เพราะ “ไม่กระทบกับต้นทุนและการลงทุนในอนาคตของภาคเอกชน” นั้นค่อนข้างชัดว่าเป็นข้อเสนอที่ธุรกิจเอกชนได้ประโยชน์โดยตรง แต่ใช่หรือไม่ว่านี่เป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ได้แพร่หลายอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว คำถามคือ จริงหรือไม่ที่ข้อเสนอดังกล่าวเป็นทิศทางที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย?

ข้อเท็จจริงในประเทศไทยให้ข้อมูลว่ากว่าทศวรรษที่อัตราค่าแรงเพิ่มขึ้นน้อยกว่าผลิตภาพ เงินเฟ้อและ GDP แต่ธุรกิจเอกชนไทยก็ยังไม่สามารถพาประเทศไทยให้ก้าวพ้น “กับดักประเทศปานกลาง” ได้อยู่ดี

ข้อมูลเปรียบเทียบสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพกับค่าแรงของคนงานในญี่ปุ่นกับคนงานในยุโรปและสหรัฐบ่งชี้ว่าผลิตภาพของคนงานญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าแรงอย่างมากในช่วง 2538 – 2556 ซึ่งหมายความว่าค่าแรงคนงานนอกจากจะไม่ได้เพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้วในทางกลับกันต้องถือว่าลดลง แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาซบเซาของเศรษฐกิจญี่ปุ่น


ที่มา:“Labor Situation in Japan and Its Analysis: General Overview 2015/2016,”
by The Japan Institute for Labour Policy and Training, 2016.

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นทั้งในกรณีประเทศไทยและในกรณีต่างประเทศจึงมิได้ให้ตัวแบบว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมแต่อย่างใด

อาจจะมีข้อถกเถียงกันได้อีกมากกว่านโยบายนี้ให้ประโยชน์แก่คนงานอย่างทั่วถึงหรือไม่และส่งผลกระทบในด้านลบต่อคนงานบ้างหรือไม่ แต่มีนโยบายใดบ้างที่ให้ประโยชน์แก่ทุกคนอย่างทั่วถึงเท่ากัน?

ที่ไม่เป็นข้อถกเถียงเลยคือ หากไม่มีนโยบายค่าแรง 300 บาทหรือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ผู้ที่จะได้ประโยชน์คือบริษัทต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่อยู่บนโครงสร้างที่ได้ประโยชน์เดิมอยู่แล้วโดยมีคนงานเป็นผู้แบกรับต้นทุนดังที่เป็นมากว่าครึ่งศตวรรษการพัฒนาของประเทศไทย

ในขณะที่ผลด้านลบในระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยคือ ภาคธุรกิจขาดแรงจูงใจที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของบริษัทด้วยความรู้ เทคโนโลยี หรือหนทางอื่น ๆ นอกจากการขูดรีดแรงงานราคาถูกของคนงานที่ถูกทำให้หมดอำนาจต่อรองลงไปทั้งทางโครงสร้างการเมืองและมิติทางวัฒนธรรม

คำถามที่ ดร. ดิลกะไม่ได้ถามหรือให้แนวทางไว้คือ การเพิ่มขึ้นของค่าแรงอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนงานอย่างไร? 

ยิ่งไปกว่านั้น หากข้อมูลเชิงประจักษ์เห็นชัดแจ้งอยู่แล้วว่าคนงานถูกขูดรีดแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ที่เกิดจากอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าฝ่ายคนงานของฝ่ายนายจ้างดังที่นักเศรษฐศาสตร์ทราบกัน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอสามารถช่วยแก้ไขได้หรือไม่อย่างไร

การที่นักเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถามและค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อธุรกิจโดยไม่กล่าวถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อคนงานที่เห็นชัดนั้นหมายความว่าอย่างไร?

หากนี่ไม่ใช่ประเด็นคำถามที่นักเศรษฐศาสตร์ (จำนวนหนึ่ง) ให้ความสนใจ ก็หมายความว่า “ความรู้” ที่นักเศรษฐศาสตร์นำมาประกอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนั้น เป็นความรู้ที่ไม่ครบถ้วนและส่วนที่ขาดหายนั้นสำคัญยิ่งหากยึดถือว่ามนุษย์ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลจากการ 'รัฐประหาร' ของบราซิลพยายามผลักดัน กม. ตัดสวัสดิการประชาชน 20 ปี

0
0

แม้ว่าประชาชนจะประท้วงอย่างหนัก แต่รัฐบาลใหม่ของบราซิลที่เข้าสู่อำนาจด้วยการโค่นล้มผู้นำจากการเลือกตั้งก็ยังจะให้มีการลงมติกฎหมายใหม่ชื่อ PEC55 ที่เป็นการมัดมือรัฐบาลในอีก 20 ปี ข้างหน้าให้ต้องทำตามมาตรการตัดงบประมาณการศึกษา สุขภาพ และสวัสดิการประชาชน ทำให้ตัวแทนจากสหประชาชาติและฝ่ายซ้ายแถบลาตินอเมริกาวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้

12 ธ.ค. 2559 เจ้าหน้าที่สหประชาชาติวิจารณ์รัฐบาลบราซิลที่ได้อำนาจจากการโค่นล้มรัฐบาลเดิมจากการเลือกตั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาในเรื่องการออกมาตรการรัดเข็มขัด "แช่แข็ง" สวัสดิการสังคม ซึ่งนอกจากจะล้าหลังอย่างมากแล้วยังถูกวิจารณ์ว่าเป็น "มาตรการที่สุดโต่ง ไม่คำนึงถึงความแตกต่างและขาดความเห็นใจผู้อื่น"

บราซิลในปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดี มิเชล เทเมร์ ผู้ได้ตำแหน่งมาจากการถอดถอน ดิลมา รุสเซฟฟ์ ผู้มาจากการเลือกตั้งในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการถอดถอนเธอเป็น "การรัฐประหาร" โดยที่เทเมร์ผู้หนุนกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่กำลังจะนำเรื่องการแช่แข็งสวัสดิการประชาชนระบุลงไปในรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีการลงมติข้อเสนอนี้ภายในวันที่ 13 ธ.ค. ในที่ประชุมวุฒิสภา

ฟิลิป อัลสตัน ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องความยากจนระดับแร้นแค้นและสิทธิมนุษยชนกล่าวต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าวที่มีชื่อว่า PEC55 อัลสตันบอกว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการทำร้ายคนจนจากที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ทำการระงับสวัสดิการของประชาชนอย่างไม่เหมาะสมและจะเป็นการมัดมือรัฐบาลในอนาคตให้ต้องทำตามต่อไปอีก 20 ปี

ผู้คนจำนวนมากกังวว่านโยบายแบบฝ่ายขวาของเทเมร์จะทำให้บราซิลกลับสู่สภาพที่ผู้คนไม่เท่าเทียมกันอย่างหนัก นิโกลาส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาก็เคยประณามการยึดอำนาจในบราซิลว่าไม่เพียงแค่เป็นการกระทำต่อรุสเซฟฟ์เท่านั้นแต่ยังเป็นการกระทำต่อประเทศแถบลาตินอเมริกาและแคริบเบียน รวมถึงต่อการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายก้าวหน้าด้วย

สื่อเทเลซูร์เคยวิจารณ์ร่างกฎหมาย PEC55 ว่าเป็นกฎหมายที่ระงับสวัสดิการประชาชนโดยอ้างอัตราเงินเฟ้อในปีที่แล้วแทนที่จะอ้างอิงอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ กฎหมายนี้จะจำกัดงบประมาณทั้งด้านสุขภาวะ ด้านการศึกษา และสวัสดิการสังคม ทำให้กลุ่มคนจนและคนชายขอบในสังคมบราซิลต้องแบกรับภาระการตัดงบประมาณตรงนี้และถือเป็นการลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญบราซิล

ซึ่งอัลสตันก็วิจารณ์ร่างกฎหมายฉบับนี้ในแบบเดียวกัน และกล่าวเพิ่มเติมว่า PEC55 ของบราซิลยังเป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่บราซิลให้สัตยาบันในปี 2535 ในกติการะบุห้ามไม่ให้มีการจงใจออกมาตรการที่ทำให้เกิดความล้าหลังเว้นแต่ไม่มีหนทางอื่นและมาตรการต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ระยะยาวและมีการแก้ไขผลกระทบทางลบอย่างเร่งด่วนทันทีเพื่อคุ้มครองคนจนระดับล่างสุดในสังคม

กฎหมายฉบับนี้ยังทำให้มีผู้คนในบราซิลจำนวนมากออกมาประท้วงตั้งแต่เดือน พ.ย. ที่ผ่านมา จอร์จ ดาร์เซ ประธานสหภาพแพทย์แห่งริโอ เดอ จาเนโร กล่าวแสดงความกังวลว่ากฎหมายใหม่นี้จะทำให้เกิดการตัดงบประมาณระบบสุขภาพที่ได้รับงบประมาณน้อยอยู่แล้วและเป็นการทำลายการหารือกันระหว่างองค์กรทางสังคมกับทางการ ดาร์เซยังมองว่านโยบายนี้จะไม่สามารถแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจได้และจะยิ่งทำให้ปัญหาสังคมเลวร้ายลงเรื่อยๆ

สื่อเทเลซูร์รายงานว่าหลังจากที่เทเมร์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลอย่างเป็นทางการจากการถอดถอนรุสเซฟฟ์ รัฐบาลภายใต้การนำของเขาก็มีข้อเสนอในเชิงเอื้อประโยชน์ต่อทุนและตัดงบประมาณโครงการทางสังคม ตัวเทเมร์และรัฐบาลของเขาเองก็มีแต่เรื่องอื้อฉาวที่ถูกเปิดโปงติดต่อกันโดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชัน


เรียบเรียงจาก

Brazilians Revolt as Post-Coup Govt. Pushes 'Deliberately Retrogressive' Austerity Package, Common Dreams, 09-12-2016
http://www.commondreams.org/news/2016/12/09/brazilians-revolt-post-coup-govt-pushes-deliberately-retrogressive-austerity-package

Brazil's austerity package decried by UN as attack on poor people, The Guardian, 09-12-2016
https://www.theguardian.com/world/2016/dec/09/brazil-austerity-cuts-un-official

Brazil's Senate Passes PEC 55 Austerity Bill, Telesur, 29-11-2016
http://www.telesurtv.net/english/news/Brazils-Senate-Passes-PEC-55-Austerity-Bill-20161129-0004.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหาร-ตร.เบรคงานแถลงข่าวแก้วิกฤตศาสนา อ้างไม่ขออนุญาต -รอง ผบ.ตร.ขอมวลชนธรรมกายอย่าขวาง

0
0

ทหาร ราบ 11 และ ตำรวจ สภ.ทุ่งสองห้อง นำกำลังเข้าเจรจากับทีมผู้จัดงานแถลงข่าวการแก้วิกฤติของพระพุทธศาสนา ระบุจัดโดยไม่ขอความร่วมมือจากจนท. อาจขัดคำสั่ง คสช. ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ขอมวลชนธรรมกายอย่าขวางเจ้าหน้าที่ รับยังไม่พร้อมเข้าตรวจค้น ต้องให้เวลาไปเตรียมการ ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าจะพร้อมเมื่อใด

12 ธ.ค. 2559 จากกรณี คณะผู้นำองค์กชาวพุทธ เตรียมจัดแถลงข่าวการแก้วิกฤติของพระพุทธศาสนา เพื่อความรักสามัคคี ในสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีความพยายามใช้มาตรฐานทางกฎหมาย และความรุนแรงต่อพระสงฆ์ ชาวพุทธ รวมถึงวัดในพระพุทธศาสนา โดยตามกำหนดการจะเริ่มในเวลา 14.00น. วันนี้ (12 ธ.ค.59) เป็นต้นไป ณ ห้องมาร์ ชั้น3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดี-รังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

ล่าสุด มติชนออนไลน์รายงานว่า ก่อนเริ่มการจัดงานแถลงข่าวดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ทุ่งสองห้อง นำโดย พ.ต.อ.ภาณุเดช สุขวงศ์ รอง ผบก.น.2 ได้นำกำลังเข้าเจรจากับทีมผู้จัดงานขอความร่วมมืองดจัดงาน เนื่องจากเป็นการร่วมจัดงานสัมมนาโดยไม่ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ในการจัดงาน จึงเกรงว่าอาจจะขัดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่งดการชุมนุมเกิน 5 คน

ด้าน ณพลเดช มณีรังกา ผู้จัดงาน กล่าวว่า ต้องขออภัยและงดจัดงานดังกล่าวในครั้งนี้ เนื่องจากทางผู้จัดงานไม่ได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ หากในครั้งต่อไปจะมีการจัดงาน ทางผู้จัดจะเรียนให้ทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม ทางผู้จัดได้เจรจากับทางเจ้าของสถานที่คือโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ แล้วว่าทางโรงแรมจะคืนเงินค่าเช่าสถานที่ให้ทุกบาททุกสตางค์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
 

รอง ผบ.ตร.ขอมวลชนธรรมกายอย่าขัดขวางตร.

ด้านคืบหน้าคดีพระธัมมชโย วันเดียวกัน สำนักข่าวไทย รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.)  ประชุมร่วมกับอธิบดีดีเอสไอ ฝ่ายปกครอง ทหาร และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นัดที่ 2 เพื่อวางแผนและเตรียมความพร้อม ก่อนปฏิบัติการจับกุมตัวพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย หลังสั่งเตรียมกำลังกองร้อยควบคุมฝูงชนจากจังหวัดต่างๆ กว่า 2,000 นาย ไว้พร้อมในที่ตั้ง รวมถึงเตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นขอหมายค้นต่อศาล ท่ามกลางกระแสข่าวเจ้าหน้าที่จะลงมือปฏิบัติการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย เพื่อจับกุมเช้าตรู่วันพรุ่งนี้

พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวก่อนร่วมประชุมวางแผนออกหมายค้นเพื่อจับกุมพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฟอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ที่กรมสอบสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ว่า ต้องดูผลการประชุมว่าจะมีสรุปหรือไม่ วันนี้(12 ธ.ค.) เป็นการหารือทุกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการตามแนวทางที่ดีเอสไอวางไว้ ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่จะนำกำลังเข้าจับกุมภายในเร็ววันนี้ ยืนยันว่าทุกอย่างปฏิบัติตามกฎหมาย หากศาลอนุมัติหมายค้น ตำรวจจึงจะสามารถเข้าจับกุมได้ แต่จนถึงขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอดีเอสไอดำเนินการ

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า องอาจ ธรรมนิทา โฆษกวัดพระธรรมกาย พยายามเชื่อมโยงคดีพระธัมมชโยกับสถาบัน พล.ต.อ.ศรีวราห์  กล่าวว่า เรื่องนี้มีกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และทหารจับตาดูอยู่ หากเข้าข่ายกระทำผิดก็จะดำเนินการตามกฎหมาย แต่เบื้องต้นยังไม่พบว่าเข้าข่ายกระทำผิด เช่นเดียวกับการให้ข่าวของโฆษกวัดพระธรรมกาย ที่จะเข้าข่ายปลุกระดมหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น หากเข้าข่ายความผิดก็จะดำเนินคดีเช่นกัน

เมื่อถามถึงการที่องค์กรสงฆ์หลายประเทศทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ไม่ดำเนินคดีกับพระธัมมชโย พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่มีคำสั่งใดจากนายกรัฐมนตรี และเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ เพราะภาพลักษณ์ขณะนี้คือการยังไม่สามารถติดตามผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้

“เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำลายสถาบันพุทธศาสนาตามที่ องอาจ ธรรมนิทา โฆษกวัดพระธรรมกายกล่าวอ้าง เพราะเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ฝากถามถึงนายองอาจว่า องอาจ เองหรือไม่ที่พยายามทำลายสถาบัน ยืนยันว่าการที่จะนำกำลังเข้าไปจำนวนมากเพื่อป้องกันมือที่สามฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์  หากไม่มีมวลชนขัดขวาง เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตามกฎหมายโดยไม่มีการใช้กำลัง ส่วนมวลชนที่จะสวดมนต์ก็ไม่ห้าม แต่อย่าขวางการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เชื่อว่าการเข้าค้นวัดจะไม่เกิดเรื่องราวบานปลาย แต่หากพระธัมมชโยจะเข้ามอบตัว สามารถปรับแผนได้ตามเหตุการณ์และสถานการณ์ทันที เบื้องต้นจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อเข้ามา" พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าว

รับยังไม่พร้อมเข้าตรวจค้น

ต่อมา สำนักข่าวไทยรายงานภายหลัง การประชุมวางแผนออกหมายค้นเพื่อจับกุมพระธัมมชโย ดังกล่าว  โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวว่า การประกอบกำลังของเจ้าหน้าที่ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายป.วิอาญา ทีมนิติวิทยาศาสตร์รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ยังไม่พร้อม จึงยังไม่สามารถขอหมายค้นวัดพระธรรมกายได้ ต้องให้เวลาไปเตรียมการ ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าจะพร้อมเมื่อใด แต่ยืนยันว่าในส่วนของพยานหลักฐานมีมากพอที่จะขอศาลอนุมัติหมายค้น แต่ติดตรงที่การรวบรวมหลักฐานและแผนปฏิบัติการเข้าตรวจค้นยังไม่พร้อมเท่านั้น เชื่อว่าการยืดเวลาออกไปจะไม่ส่งผลทำให้เกิดความยุ่งยากในการเข้าตรวจค้นวัดธรรมกาย เพราะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50697 articles
Browse latest View live