Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

ออกอิโมจิคนพิการเพิ่ม 18 แบบ หวังสร้างภาพลักษณ์ที่ดี-เปลี่ยนทัศนคติต่อคนพิการ

$
0
0

เว็บไซต์อังกฤษปล่อยอิโมจิคนพิการ 18 คาแรคเตอร์ รับพาราลิมปิก 2016 ที่กำลังจะจัดในบราซิล ประกอบไปด้วยหลากหลายคาแรคเตอร์คนพิการและชนิดกีฬา เชื่อช่วยเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติและแสดงให้เห็นความหลากหลายของคน


อิโมจิจากสโคปทั้ง 18 คาแรคเตอร์

25 ก.ค. 2559 เว็บไซต์องค์กรสนับสนุนคนพิการในลอนดอนที่ใช้ชื่อว่า สโคป (Scope) สร้างชุดอิโมจิใหม่ 18 คาแรคเตอร์ แสดงให้เห็นถึงคนในมุมหลากหลายอย่างความพิการ เนื่องในวันอิโมจิ ซึ่งตรงกับวันที่ 17 ก.ค. ด้วยแนวคิดที่ว่า อิโมจิเกี่ยวกับคนพิการคาแรคเตอร์เดียวที่เคยมีอย่างรูปวีลแชร์นั้นไม่เป็นอิโมจิที่ดีพอ และหวังว่าการสร้างชุดอิโมจิใหม่นี้จะช่วยสร้างภาพลักษณ์และทัศนคติที่ดีขึ้นต่อคนพิการ

ปัจจุบัน อิโมจิถูกใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการส่งผ่านโซเชียลมีเดีย จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ มีความพยายามที่จะทำสติกเกอร์หรืออิโมจิที่มีความหลากหลายในเรื่องเพศ คู่รักเพศเดียวกัน หรือสีผิว อย่างไรก็ดี อิโมจิที่แสดงให้เห็นถึงความพิการก็ยังคงมีเพียงอันเดียว ได้แก่  สัญลักษณ์รูปวีลแชร์ที่มักถูกใช้เป็นป้ายห้องน้ำคนพิการ นี่จึงทำให้เกิดแนวคิดเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าว

เว็บไซต์สโคปได้ทำการถามผู้ใช้ทวิตเตอร์กว่า 4,000 คน ว่าสัญลักษณ์คนพิการที่มีอยู่อันเดียวนั้นเพียงพอต่อการนำเสนอคำว่าพิการหรือไม่ และพบว่ากว่าร้อยละ 65 กล่าวว่า มันไม่พอ

คาแรคเตอร์ของอิโมจิที่สร้างขึ้น ประกอบไปด้วยคนนั่งวีลแชร์ คนใส่ขาเทียม สุนัขนำทาง คนพิการทางการได้ยิน รวมถึงคนพิการประเภทอื่นๆ ในการทำกิจกรรมที่แตกต่างกัน อิโมจิหลายตัวสื่อถึงนักกีฬาพิการในท่าทางเล่นกีฬาหลากหลายชนิด เพื่อให้สอดคล้องกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2016 ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในเดือนกันยายน ที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล

“โดยทั่วไปอิโมจิสามารถใช้แสดงความรู้สึกได้มากกว่า 1,800 คาแรคเตอร์  จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่คนพิการถูกนำเสนอด้วยอิโมจิรูปวีลแชร์มาตลอด” โรสแมรี่ ฟราเซอร์ เจ้าหน้าที่ผู้ใช้วีลแชร์ของสโคป ซึ่งเป็นคนจัดการแคมเปญนี้กล่าว

“สัญลักษณ์รูปวีลแชร์ไม่สามารถบ่งบอกถึงตัวฉัน และคนพิการรอบข้างที่ฉันรู้จักได้เลย เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงโลกที่เราเป็นอยู่ คนพิการจะต้องถูกรวมเข้า และเสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของการอาศัยอยู่ด้วย” เธอกล่าว

อิโมจินี้ อ้างอิงจากคาแรคเตอร์ของนักกีฬาพิการประเภทต่างๆ เช่น จอร์แดน วิลเลย์ นักเทนนิสหญิงประเภทวีลแชร์, แอลลี่ ซิมมอนด์ นักกีฬาว่ายน้ำพิการหญิงเจ้าของ 4 เหรียญทอง รวมทั้งมีอิโมจินักกีฬาประเภทคู่อีกด้วย


อิโมจินักกีฬาว่ายน้ำพิการ

วิลเลย์ พิการด้วยโรคกระดูกเปราะ เธอชื่นชอบอิโมจิเหล่านี้มาก พร้อมเสริมว่า ตั้งแต่เกิดจนโต เธอไม่เคยเห็นคนที่เหมือนกับเธอในทีวี แมกกาซีน หรือบนภาพยนตร์เลย เธออยากให้คนรุ่นใหม่มองว่า มันไม่สำคัญว่าขนาดร่างกายหรือ รูปร่างของเขาเป็นอย่างไร ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน ทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และเป็นสิ่งดีที่สามารถทำให้ภาพของคนพิการอยู่ในอิโมจิได้

“ตอนนี้การใช้อิโมจินั้นเป็นที่นิยมมาก ใครๆ ก็ใช้อิโมจิ ดังนั้นคนทุกคนก็ควรได้ถูกนำเสนออยู่ในอิโมจิเช่นกัน มันเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่อิโมจิเดียวที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ คืออิโมจิรูปวีลแชร์” เธอกล่าว


อิโมจิผู้ชายทำสัญลักษณ์ภาษามือว่า ‘ขอโทษ’

ฟราเซอร์หวังว่า อิโมจินี้จะช่วยผลักดันให้องค์กรต่างๆ ที่ปัจจุบันใช้รูปวีลแชร์ เปลี่ยนความคิดให้สร้างสรรค์และหาหนทางในการนำเสนอความพิการในแบบที่แตกต่างออกไป รวมทั้งแนะว่า หากต้องการนำอิโมจิดังกล่าวไปใช้สามารถดาวน์โหลดโดยการคลิกขวาที่พวกมัน และกดเซฟได้ทันที

 

แปลและเรียบเรียงจาก

https://www.disabilityscoop.com/2016/07/20/new-emojis-range-abilities/22509/
https://blog.scope.org.uk/2016/07/15/one-disability-emoji-isnt-enough-so-weve-made-18-for-world-emoji-day/
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์: ปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์ ศิลปะในประเทศที่รัฐผูกขาดศิลปะและไร้เสรีภาพ

$
0
0

ตั้งคำถาม-หาคำตอบของปัญหาสังคมจากงานศิลปะแขนงต่างๆ ผ่านศิลปินร่วมสมัย ชี้ให้เห็นความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออก-การศึกษา-ปัญหาของวงการศิลปะไทย

ปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์

เพศ คนชายขอบ และการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นปัญหาร่วมสมัยที่เห็นได้ชัดเจนในยุคสมัยนี้ และน้อยครั้งที่ศิลปะร่วมสมัยจะเข้ามามีบทบาทในการสะท้อน ตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบ เช่นเดียวกับปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์ ศิลปินร่วมสมัยด้านสหศาสตร์ ผลงานของเธอได้รับแรงบันดาลใจจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งก่อให้เกิดคำถามต่อตัวเธอเองและสังคมด้วยเทคนิคภาพเคลื่อนไหว (Video) และศิลปะจัดวาง (Installation) เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารความคิด

ผลงานบางส่วนที่ผ่านมา เธอจับประเด็นเรื่องความเป็นพ่อ-แม่ในสังคมไทย ตั้งข้อสงสัยส่วนตัวว่า แท้จริงแล้ว ครอบครัวคืออะไร และถ่ายถอดออกมาเป็นงานภาพถ่าย นอกจากนั้น เธอยังลงพื้นที่ ใช้ชีวิต และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับกลุ่มแรงงานภาคเหนือ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานจากสถานที่จริง ในแบบที่ศิลปินน้อยคนจะทำ เพราะตัวตนที่น่าสนใจนี้เอง ทำให้เธอติด 1 ใน 5 ศิลปินร่วมสมัยที่ดีที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนิตยสารเซาท์อีสเอเชีย โกลบ (Southeast Asia Globe) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

อะไรทำให้เลือกหยิบเอาประเด็นทางสังคมมาทำเป็นงานศิลปะ ทั้งที่ศิลปินหลายคนเลือกที่จะหยิบประเด็นส่วนตัวมาทำงาน

จุดเริ่มต้นเกิดจากเรามีความสนใจ มีคำถามกับบางสิ่งบางอย่าง ที่สำคัญเราชอบอ่านหนังสือ ส่วนมากก็เกี่ยวข้องกับความรู้ด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ช่วงอยู่ที่ฝรั่งเศสได้มีโอกาสเรียนด้านปรัชญา โดยเฉพาะด้านปรัชญาสังคมวิทยา จนพบว่า จุดเปลี่ยนทางความคิดล้วนมาจากการอ่านหนังสือ การอ่านทำให้เราสงสัยและอยากรู้เรื่องปรากฏการณ์ต่างๆ รอบตัว รวมทั้งเราสามารถหยิบทฤษฎีบางอย่างมาเป็นกรอบในการมองโลก ในการทำงานตั้งแต่สมัยเรียน

งานเราไม่ได้พูดเรื่องตัวเอง แต่พูดเรื่องสังคมรอบข้างและปรากฏการณ์รอบตัว ซึ่งไม่ได้ชี้ชัดเฉพาะในเรื่องการเมือง แต่ออกไปในแนวเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำ ส่วนตัวคิดว่า ชีวิตเราไม่ได้มีความน่าสนใจจนต้องสื่อสารออกมาเป็นงานศิลปะ เราพร่ำถามตัวเองตลอดว่าเราเป็นใคร จะทำอะไร และจะทำอย่างไรต่อ เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างตลอดเวลา ทั้งเพื่อนที่เรียน เพื่อนที่ทำงาน หรือแม้แต่เพื่อนข้างบ้าน เราเลยอยากพูดถึงสิ่งเหล่านี้มากกว่า และแน่นอนว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็ล้วนมีผลกระทบกับงานอย่างมาก

“ศิลปะไม่เพียงเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ แต่ยังมีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์ และมีส่วนในการก่อรูปของโลกทัศน์อีกด้วย”

การทำงานศิลปะของเราก็เหมือนกับการทำความเข้าใจตัวเอง ยิ่งเราไม่เข้าใจสิ่งรอบข้าง ไม่เข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ มีคำถามกับบางสิ่งบางอย่างเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งต้องอ่าน คิด วิเคราะห์ และลงลึกหาข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจกับความคิดตัวเองและแปลมันออกมาทางสื่อศิลปะ

การทำงานศิลปะบอกเล่าเรื่องราวอะไรได้บ้าง

ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางสังคม อาจเป็นการวิพากษ์สังคม หรือเป็นก้อนตะกอนที่เปรียบเสมือนบทสรุปว่าสังคมนี้เกิดอะไรขึ้น ศิลปินควรมีความคิด ทัศนคติ มุมมองของการวิพากษ์อย่างไรก็ได้ต่อสังคมของเขาอย่างอิสระ ในมุมของเราคิดว่า ศิลปะยุคนี้ไม่ควรเป็นศิลปวัตถุที่นอนเอื่อยเฉื่อย เมื่อผ่านเหตุการณ์และบทสรุปมากมายเช่นตอนนี้ ศิลปะควรมีบทบาทที่แอคทีฟมากขึ้น เรายังถามตัวเองว่าพอมีหนทางอื่นอีกไหมที่จะทำให้ศิลปะมีบทบาทมากกว่านี้ เพราะศิลปะไม่เพียงเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ แต่ยังมีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์ และมีส่วนในการก่อรูปของโลกทัศน์อีกด้วย

ทำไมงานที่เป็นแทรดดิชั่นนอล (Traditional) หรือแนวขนบ ถึงได้รับความนิยมในไทย

ส่วนตัวไม่ได้เรียกร้องให้คนทำงานศิลปะทุกคนต้องทำงานเพื่อสังคมหรือการเมือง เพราะทุกคนต่างมีความสนใจและความชอบ ความถนัดต่างกัน วงการศิลปะมีระบบเศรษฐศาสตร์ของมัน มีศิลปิน ภัณฑารักษ์หรือคิวเรเตอร์ (Curator) แกลเลอรี่ หอศิลป์ นักสะสมงาน บริษัทรับติดตั้งงาน บริษัท Shipping ฯลฯ ปัญหาคือบ้านเราขาดนักสะสม เพราะนักสะสมบ้านเราส่วนใหญ่มักนิยมสะสมแต่งานที่ได้รับรางวัล หลายสิบปีที่ผ่านมามีการประกวดรางวัลระดับชาติต่างๆ ซึ่งทำให้งานศิลปะแทรดดิชั่นนอลกลายเป็นระบบคุณค่าที่ถูกสถาปนามาแล้ว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐเข้าไปกำหนดควบคุมว่าสิ่งไหนดีหรือสิ่งไหนไม่ดี จะเห็นได้ว่า งานศิลปกรรมแห่งชาติที่ถูกมองว่ามีคุณค่าหรือดีงาม จึงมีอยู่สไตล์เดียวคือรับใช้อุดมการณ์หลักของชาติ ได้แก่ รัฐ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และแน่นอนว่าเมื่อมีคนให้คุณค่าแบบนั้น นักสะสมก็ย่อมตามเก็บซื้อผลงาน

ในช่วงหลังที่มีหอศิลป์ใหม่ๆ เกิดขึ้น พื้นที่ของศิลปะร่วมสมัยก็มีมากขึ้น แต่ผู้ชมก็ยังคงวนเวียนอยู่ในวงแคบ เฉพาะกลุ่ม บางคนยังสงสัยว่า งานศิลปะอะไร คือการระบายสีเท่านั้นเหรอ ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อศิลปะร่วมสมัยนั้นยังห่างไกลจากชีวิตประจำวันอยู่มาก

ทำไมประเทศไทยจึงขาดแคลนนักสะสม ในต่างประเทศประสบปัญหาเดียวกันไหม

ถึงแม้จะมีนักสะสมรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง แต่ส่วนมากก็ยังเลือกเก็บงานของศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงในระดับโลก มีรางวัลการันตี ผ่านเทศกาล หรือองค์กรศิลปะต่างประเทศแล้ว หากเป็นศิลปินเด็กๆ ก็ค่อนข้างอยู่ยากในวงการนี้ ที่อินโดนีเซียค่อนข้างแข็งแรงกว่าทั้งด้านคนทำงานศิลปะ องค์กรที่จัดรวมข้อมูลศิลปิน และผลงานศิลปิน ซึ่งช่วยให้นักสะสมสามารถติดตามผลงานของศิลปินแต่ละคนได้อย่างต่อเนื่องและง่ายต่อการสะสมรวบรวมผลงาน

เมื่อก่อนคนในแวดวงศิลปะจะรู้สึกว่า ศิลปะไม่ขยับขยายเพราะเราขาดคิวเรเตอร์ แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีคนในแวดวงหลายๆ คนที่เรียนจบและทำงานในด้านนี้ ทั้งการจัดการ และคิวเรท จึงน่าจับตาว่าต่อไปจะมีการเปลี่ยนแปลงวงการศิลปะได้มากน้อยเพียงไหนในบ้านเรา

งานของคุณได้รับการตอบรับอย่างไรบ้างจากสังคม

คงต้องพูดเป็นชิ้นๆ ไป อย่างเซต ‘Queerness’ ซึ่งเป็นโฟโต้ซีรี่ย์ คนที่ให้ความสนใจส่วนมากอยู่นอกแวดวงศิลปะ เห็นได้จากสื่อที่ให้ความสนใจก็ไม่ได้มาจากนิตยสารศิลปะ แต่กลับมาจากแมกกาซีนทั่วไปที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรม เขาอยากจะรู้ว่าเราคิดอะไร อาจเพราะตัวเราเองไม่ได้ยึดติดกับทักษะ แต่เน้นเรื่องคอนเซ็ปท์และการตีความในการแปลออกมาเป็นงานศิลปะ งานเราจึงไม่แมส และไม่อยู่ในความสนใจของคนเท่าที่ควร

ตัวอย่างงานจากชุด Queerness

Jenny & Ye

2012. Photograph 60 cm x 60 cm, Giclée Print

(ที่มาภาพ http://www.piyaratpiyapongwiwat.com)

งานเซตนี้ เกิดขึ้นเพราะเรารู้สึกคัลเจอร์ ช็อค หลังกลับจากเมืองนอก ว่าทำไมจึงมีป้ายแบนเนอร์เกี่ยวกับสถาบันครอบครัว ที่แทนค่าความเป็นครอบครัวด้วยพ่อและแม่เต็มไปหมด มันเกิดคำถาม จึงเริ่มถ่ายภาพพอร์ทเทรตครอบครัวให้มากที่สุด ในลักษณะภาพพอร์ทเทรตสมัยโบราณอิริยาบทต่างๆ คล้ายกับเป็นการสังเกตการณ์ เราไปเจอครอบครัวของหญิงรักหญิงหลายคู่ จนยิ่งทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ความเป็นครอบครัวนั้นต้องเป็นพ่อ แม่ ลูกหรือเปล่า แล้วหากเป็นหญิง-หญิง ชาย-ชาย โดยไม่ต้องมีลูก สามารถเป็นครอบครัวได้หรือเปล่า การทำงานจึงปรับเปลี่ยนมาเจาะถ่ายแต่คู่ที่เป็น หญิง-หญิง และชาย-ชาย จนได้คัดบางภาพมาแสดง และพบว่ายังมีบางปัจจัยที่ขาดอยู่ เช่น ภาพชุดนี้ยังเน้นกลุ่มคนที่เป็นชนชั้นกลาง ทั้งๆ ที่เรื่องเพศสภาพและเพศวิถีมีความสลับซับซ้อนกว่านั้น อาจเป็นกะเทยคู่กับกะเทย หรือทอมคู่กับกะเทยก็ได้เช่นกัน

“ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐเข้าไปกำหนดควบคุมว่าสิ่งไหนดีหรือสิ่งไหนไม่ดี จะเห็นได้ว่า งานศิลปกรรมแห่งชาติที่ถูกมองว่ามีคุณค่าหรือดีงาม จึงมีอยู่สไตล์เดียวคือรับใช้อุดมการณ์หลักของชาติ ได้แก่ รัฐ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

เลือกประเด็นที่นำมาทำงานอย่างไร

ก่อนทำงานทุกครั้งจะมีโจทย์ อย่างงานที่ร่วมกับ ‘อังกฤษแกลเลอรี่’ พื้นที่ทางเลือกที่เชียงราย โจทย์ที่ทำในครั้งนั้นคือความเกี่ยวโยงกับพื้นที่ที่ไปทำงาน เราเคยตามพ่อไปเชียงรายบ่อยสมัยตอนเป็นเด็ก หลังจากนั้นก็ไม่มีความทรงจำร่วมอีกกว่า 10 ปี เราเลยเริ่มจากการถามพ่อ แม่ และคนใกล้ตัวว่า เชียงรายเป็นอย่างไร และพบว่ามันเปลี่ยนไปเยอะ รวมทั้งกำลังจะกลายเป็นเมืองท่า และมีบริเวณที่น่าสนใจคือ พื้นที่ข้อพิพาทเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชียงของ เชียงแสนและแม่สาย หลังจากเข้ามาคลุกคลีก็ได้พบว่า มีการต่อสู้เพื่อต่อต้านพื้นที่นี้ แต่สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้ อย่างที่รู้ๆ ว่าอำนาจรัฐนั้นรวมศูนย์สำเร็จเด็ดขาด อย่างมากชาวบ้านก็ทำได้แค่ประท้วง แรงของคนประท้วงนานเข้าก็แผ่วลงๆ จนสุดท้ายก็ต้องปล่อยเลยตามเลย เราเลยสนใจประเด็นนี้ และนำมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ แรงงานข้ามชาติ และค่าแรง

การสื่อสารประเด็นสังคมนั้นยากอย่างไร

ถ้าเป็นสิ่งที่เราสนใจ เราก็จะไม่รู้สึกว่ามันคือการส่งงานหรือส่งการบ้าน ยิ่งค้นไปเราก็ยิ่งเจอประเด็นใหม่ๆ ที่มันน่าสนใจ อย่างนิคมแม่สอดที่เคยอ่าน พบว่าแรงงานที่นั่นส่วนมากเป็นแรงงานเช้า-เย็นกลับ ได้ค่าแรงเป็นวันๆ สภาพความเป็นอยู่เขาย่ำแย่ โดนเอาเปรียบจากนายจ้าง ทำงานโอทีบางทีไม่ได้ค่าจ้างหรือได้ค่าจ้างเป็นมาม่า 1 ห่อ เราเลยสนใจลงพื้นที่ไปหาข้อมูล เพื่อพูดคุยกับแรงงานที่ทำงานในโรงงาน รองเท้า เย็บส่งเสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่งส่วนมากเป็นคนพม่าที่พูดไทยไม่ค่อยได้

โจทย์ก็มีแค่นี้ สุดท้ายเมื่อเราไปลงพื้นที่ แล้วระหว่างทางที่ลงไปสำรวจ ค้นคว้า ก็มีประเด็นใหม่ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด บางเรื่องมันคนละประเด็น แต่มันมีจุดเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอยู่

งานเซทที่สาม ‘TRANCE’ จัดร่วมกับ อานน นงเยาว์ ศิลปินซาวน์อาร์ท (Sound Art) ช่วงแรกมีความลำบากในการหาจุดร่วมที่เข้ากันได้ เพราะเราไม่ได้มีพื้นฐานเรื่องซาวน์ ช่วงนั้นเป็นช่วงก่อนการรัฐประหาร ม็อบ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) เสื้อหลากสี เกิดขึ้นตอนอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรรักษาการ อีกทั้งมีม็อบ พ.ร.บ. เหมาเข่ง อะไรเยอะไปหมด บรรยากาศที่บ้านก็อินเรื่องการเมืองมาก จะเปิดช่องทีวีที่ถ่ายทอดสดจากเวทีปราศรัยทั้งวัน ซึ่งเราก็จะได้ยินเพลงก่อนขึ้นปราศรัย พวกเพลงปลุกใจ เราเห็นคนดูรายการเหล่านั้นในทีวีแล้วปากสั่น น้ำตาคลอ จนรู้สึกว่า เฮ้ย มันเอฟเฟคขนาดนั้นเลยเหรอ ก็เลยหยิบเพลงเหล่านี้ทั้งในแนวชวนเชื่อและปลุกใจเอามาทำงาน ระหว่างทำก็ค่อยๆ แตกไปเป็นประเด็นยิบย่อย

ทำไมถึงหยิบโมเม้นท์การยืนตรงเคารพธงชาติมาใช้ในงานเซตที่ชื่อ เดอะ รูทีนส์ (The Routine)

เซตนี้เป็นงานช่วงแรก ตอนนั้นเพิ่งกลับจากต่างประเทศ ยังคงคัลเจอร์ ช็อค เมื่อกลับบ้านที่เชียงใหม่ แล้วไปตลาดกับแม่ พอถึงเวลานั้นทุกคนก็หยุดนิ่ง เมื่อก่อนเราก็ทำมันจนเป็นกิจวัตรประจำวันโดยไม่ได้นึกอะไร  เพลงมาตอนเช้า 8 โมง และ 6 โมงเย็นก็ไม่ได้นึกอะไร เราก็หยุดเหมือนกับมันเป็นความออโตเมติก และเคยชิน จนเราเริ่มตั้งคำถามและอยากลองบันทึกโมเม้นท์ตรงนี้ไว้ จึงเลือกตลาดเป็นสถานที่ถ่ายทำ เพราะที่นี่ทำให้ได้เห็นชีวิต เห็นอะไรในอีกแง่มุมหนึ่ง เราลงไปเก็บฟุทเทตอยู่หลายวัน จนเราได้ภาพจังหวะพอดีเพื่อสื่อสิ่งที่เราต้องการ

The Routine (Still #3)

2011 l Single-Channel HD Video l 5 min 22 sec l sound

(ที่มาภาพ http://www.piyaratpiyapongwiwat.com)

คนเราต้องออกไปข้างนอกบ้างเพื่อที่จะมองกลับมา ในต่างประเทศค่อนข้างอิสระ มีเว็บไซต์ มีข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจ ที่ตอนอยู่เมืองไทยไม่สามารถเข้าไปดูได้ เพราะมีการปิดกั้นและโดนบล็อก พอยิ่งได้ไปเรียนต่างประเทศบวกกับความอยากรู้ แค่เคาะเดียวก็เปิดดูได้แล้ว มันเหมือนเป็นการเปิดโลกมาก ไม่คิดว่าจะมีอะไรแบบนี้ มีข้อมูลหลายอย่างที่ได้อ่าน คิด วิเคราะห์มาเปรียบเทียบ ตอนเราอยู่ไทย เราก็อ่านประวัติศาสตร์ที่ไทยเป็นคนเขียน พอเราไปต่างประเทศโอกาสได้ไปเห็นข้อมูลบางอย่าง จับต้นชนปลายต่อจิ๊กซอว์ มันก็ทำให้เกิดมุมใหม่ๆ เปลี่ยนมุมมองในการคิดเหมือนกัน

เสรีภาพนั้นส่งผลต่องานศิลปิน

ส่งผลมาก ถ้าอยู่ในประเทศหรือสังคมที่ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก ก็ไม่มีทางที่คนทำงานจะสามารถคิดค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานได้อยู่แล้ว

เสรีภาพที่เมืองนอกต่างจากต่างประเทศไทยมาก เหมือนหน้ามือหลังมือ ยิ่งช่วงนี้อยู่ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ด้วยแล้วมันแทบจะขยับทำอะไรไม่ได้เลย ตอนเรียนที่ฝรั่งเศษ เสรีภาพทางการแสดงออกนั้นมีเต็มเปี่ยม ศิลปินทุกคนมีสิทธิที่จะพูด แสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะขัดกับอุดมการรัฐ หรือขัดกับนโยบายรัฐ ก็สามารถทำได้ต่างกับบ้านเราโดยสิ้นเชิง โดยคนดูหรือสาธารณะชน จะเป็นคนตัดสินเอง อีกทั้งไม่ค่อยเห็นข่าวว่ารัฐมาถอดงานออก เข้ามาจำกัด หรือลิดรอนสิทธิ

ปัจจุบันมีศิลปินรุ่นใหม่หลายคนที่พยายามทำและหลบเลี่ยงด้วยการไม่พูด ไม่วิพากษ์และไม่แอนตี้ตรงๆ แต่ใส่สัญลักษณ์ หรือรหัสต่างๆ เข้าไปในงานแทน

แล้วทำไมประเทศไทยถึงกลัวนักกับการแสดงความเห็นต่างๆ ของศิลปิน

นั่นสิ ไม่รู้เหมือนกัน ศิลปินบางคนเคยบอกว่า โดยทั่วไปแล้วพื้นที่ทางศิลปะเป็นพื้นที่ที่รัฐไม่ค่อยเข้ามายุ่งด้วยซ้ำ เลยคิดว่า เขาอาจกลัวการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เสียมากกว่า เช่น บก.ลายจุดที่ต้องรายงานตัว หลังแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่่ว่า ‘ไม่รับ ไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลทหารเผด็จการ’ เขากลัวการแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่ไปวิพากษ์หรือต่อต้านเขา กลัวการปลุกระดมมวลชน หรือแม้กระทั่งกลัวนักศึกษา ล่าสุด กลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ออกไปให้กำลังใจกลุ่มที่โดนจับ ถือลูกโป่งไปก็โดนยึดลูกโป่ง ซึ่งไม่เข้าท่า

“ถ้าอยู่ในประเทศหรือสังคมที่ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก ก็ไม่มีทางที่คนทำงานจะสามารถคิดค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานได้”

ด้วยความที่พื้นที่ในการแสดงงานยังมีน้อยทำให้งานของศิลปินรุ่นใหม่หลายคนที่แสดงออกจุดยืน ความคิดวิพากษ์ ต่อต้านภาวะการที่อยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาลทหารนั้นไม่ได้ถูกเผยแพร่ งานของเราถึงแม้ไม่ได้เป็นงานที่เล่นเรื่องการเมืองโดยตรง เน้นพูดเรื่องเสียงคนเล็กคนน้อย เสียงที่ไม่เคยถูกรับฟัง เรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ น้ำท่วม น้ำไม่ไหล เศรษฐกิจไม่ดี นักท่องเที่ยวหนี การเข้าถึงสวัสดิการ ฯลฯ เห็นได้ว่าไม่ได้ไปแตะหรือวิพากษ์ชนชั้นปกครองโดยตรง แต่เมื่อประกอบกับประโยคที่หยิบใช้หลายคำซึ่งไม่ได้รุนแรง แต่กลับสุ่มเสี่ยงเมื่ออยู่ภายใต้สภาวะการณ์แบบนี้ จึงทำให้บางทีเราก็เลือกขอเซ็นเซอร์บางส่วนออกไปเอง เพื่อเป็นการปกป้องตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง

เชื่อไหมว่าศิลปะจะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงสังคม

เชื่อ ทุกวันนี้จึงยังทำงานศิลปะอยู่ ถ้าคิดว่าศิลปะคือวัตถุเอื่อยเฉี่อย มีเพื่อขาย มีเพื่อตั้งไว้ที่บ้านเฉยๆ โดยไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เราคงไม่ทำงานศิลปะ เพราะเราคิดว่าชีวิตมันมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจ ที่เรายังทำอยู่ก็เพราะเราเชื่อว่าศิลปะเป็นสัญลักษณ์เล็กๆ ส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปประกอบกับอีกหลายๆ ส่วนเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เรานับถือและชื่นชมศิลปินนักแสดงหลายกลุ่มที่ต้องคดี เช่น กลุ่มละครประกายไฟ การจับกุมก็เหมือนกับเฉือดไก่ให้ลิงดู ทำให้ศิลปินทุกคนอยู่ภายใต้สังคมแห่งความกลัว หลายคนพอทำงานศิลปะปากอาจบอกว่าไม่ได้กลัว แต่ทำไมเราจึงต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะเรารู้สึกว่าหากชนตรงๆ แล้วต้องเข้าไปอยู่ในคุก ศิลปินจึงต้องหากลยุทธ์ พลิกเเพลงไม่ให้สารที่สื่อนั้นตรงเกินไป

ถ้ามีโอกาสก็อยากแสดงในหอศิลป์ที่เเมสกว่าเดิม ที่ผู้ชมไม่เฉพาะเจาะจงมากนัก แต่เพราะงานของเราไม่ได้แสดงในด้านที่สวยงามนัก จึงยากที่หอศิลป์ต่างๆ จะดึงเข้าไปร่วมงานด้วย หอศิลป์สาธารณะใหญ่ๆมักได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ อย่าง กทม. หรือกระทรวงวัฒนธรรม จึงทำให้มีระบบจัดการ คัดสรร และประเมินคุณค่าที่เป็นแบบแผน ไม่ว่าจะเป็นจากคณะกรรมการและคนจัดการ

“(ในฝรั่งเศส) ศิลปินทุกคนมีสิทธิที่จะพูด แสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะขัดกับอุดมการรัฐ หรือขัดกับนโยบายรัฐ ก็สามารถทำได้ต่างกับบ้านเราโดยสิ้นเชิง โดยคนดูหรือสาธารณะชน จะเป็นคนตัดสินเอง อีกทั้งไม่ค่อยเห็นข่าวว่ารัฐมาถอดงานออก เข้ามาจำกัด หรือลิดรอนสิทธิ”

ภายใต้ภาวะแบบนี้ไม่มีหลักการและเหตุผลอะไรมารองรับ หากจะโดนจับก็ไม่รู้ว่าจะเป็นข้อหาอะไร อยู่ที่เขายัดมาให้ ยิ่งเราโตมาในครอบครัวคอนเซอร์เวทีฟมากๆ กฎ กรอบ ระเบียบ โรงเรียนรัฐ มาสายก็โดนจับแยกเข้าแถวให้เกิดความรู้สึกผิดบาป ละอาย ตอน ม.ต้น ก็ต้องตัดผมห้ามเกินติ่งหู หากเกินมาเขาก็ตัดโดยที่ไม่ได้ขออนุญาต พอไปเรียนโรงเรียนสหศึกษา ตอน ม.ปลาย เพื่อนผู้ชายโดนเอามือเเทรกเข้าไปในผม หากเลยออกมาครูก็จับกร้อน จับโกน ทุกคนอยู่ภายใต้ความกลัวเพื่อให้รักษาวินัย เสมือนสังคมพยายามทำให้เราเชื่อง จนเรารู้สึกต่อต้านในใจ ยิ่งพอเจอภาวะแบบนี้ มันจึงระเบิดออกมา ถ้าเราอยู่ในประเทศเสรี มีอิสระในการพูด เราอาจจะไม่ต้องมานั่งคุยกันตอนนี้เลยก็ได้ เราอาจได้ทำเรื่องอื่นที่คิดว่ามันน่าสนใจมากกว่านี้

แนวโน้มของวงการศิลปะในอนาคตจะเป็นอย่างไร

คิดว่าคนจะขยับมาทำประเด็นสังคมมากขึ้น ยิ่งพอมีอะไรกดทับ เหมือนรอวันที่จะปะทุและระเบิดออก ตอนนี้มีศิลปินหลายคนที่ขยับที่เข้ามาทำงานการเมือง เลือกวิพากษ์หรือพูดถึงประชาธิปไตยในทางอ้อม หรือบางคนที่พูดตรงๆ เลยก็มี

บ้านเรามีศิลปินหลายคนที่ไปเรียนต่อและกลับมาเป็นนักเคลื่อนไหว ไม่เพียงแค่ศิลปินเท่านั้น พวกเขายังกลับมาเป็นคิวเรเตอร์ เป็นนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ และนักเคลื่อนไหว หลายคนที่ได้คุยเล่าว่า ความคิดเขาเปลี่ยนจากการอ่าน จากตัวอย่างหลายๆ ตัวอย่างที่แตกต่างจากที่ที่เราจากมา ทั้งเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก และเรื่องรัฐสวัสดิการ ก่อนมา อ่านข่าวก็อาจจะอินแล้ว แต่เมื่อได้ไปอยู่ในที่นั้นจริงๆ มันได้เห็นผลพวงของการต่อสู้ ความคิดและมุมมองเราก็ขยับขยาย

บทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษาก็มีส่วนสำคัญ ที่เมืองนอกพวกเขาจะไม่มาครอบงำ มีชี้แนะบ้างแต่ก็ออกไปในเชิงการวิจารณ์ เน้นการสอนโดยศิลปิน การเวิร์คช็อปต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ และเปิดกว้างจากประสบการณ์จริง และถึงแม้การทำงานจะยังมีโจทย์อยู่ แต่หากผลงานที่ออกมานั้นหลุดออกนอกโจทย์ที่ตั้งไว้ก็ไม่เป็นไร สุดท้าย งานเหล่านั้นก็จะถูกโชว์ในห้อง วิจารณ์โดยเพื่อนร่วมชั้นเรียน บางคนรุมสับ บางคนเถียงกันจนหน้าดำหน้าแดง ซึ่งนี่ช่วยทำให้เกิดวัฒนธรรมการวิจารณ์ที่ดี โดยมีอาจารย์เป็นเสมือนจิตแพทย์ที่คอยนั่งคุย และแลกเปลี่ยนว่าพวกเขาเห็นอะไรในงานเรา นักเรียนไม่ต้องเน้นสกิล แต่หนักไปทางประวัติศาสตร์ศิลป์ และปรัชญา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความคิดของเราจนทุกวันนี้

ต่างจากบ้านเราที่ขาดวัฒนธรรมการวิจารณ์ อาจเป็นเพราะระบบอาวุโส พวกพ้อง การอวย สรรเสริญ เยินยอกันนั้นมีมากกว่า แต่ก็แอบหวังว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์นี้จะเกิดขึ้นในอนาคต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์เตรียมแถลงจุดยืนต่อ ร่างรธน. 27 ก.ค.นี้ ระบุไม่ใช่มติพรรค

$
0
0

ระบุส่วนตัวมองถึงอนาคตของประเทศ โดยมองข้ามการทำประชามติและร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว เผยจุดยืนที่ออกมา ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ในพรรคแล้ว จึงไม่หนักใจ เพราะทุกคนยอมรับในความเห็นที่แตกต่างกัน และสมาชิกทุกคนมีสิทธิที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง

ที่มาเฟซบุ๊ก Abhisit Vejjajiva

25 ก.ค.2559 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จะแถลงจุดยืนที่ชัดเจนต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์  ในนามหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วันพุธที่ 27 ก.ค. นี้  ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่มติของพรรค เพราะมีคำสั่ง คสช.ที่ห้ามทำการประชุมพรรค

“จุดยืนที่ออกมา ได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ในพรรคแล้ว จึงไม่หนักใจ เพราะทุกคนยอมรับในความเห็นที่แตกต่างกัน และสมาชิกทุกคนมีสิทธิที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่มีใครปิดกั้นใคร แต่เชื่อว่าทุกคนจะรอดูท่าทีของผมก่อน“ อภิสิทธิ์ กล่าว

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัว วันนี้  มองถึงอนาคตของประเทศ  โดยมองข้ามการทำประชามติและร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่เป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว เพราะปัญหาของประเทศวันนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่มีปัญหาอีกหลายมิติที่สำคัญ เช่น ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษา ตลอดจนการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น  ที่เป็นโจทย์สำคัญ ที่ต้องแก้ไขให้ได้อย่างจริงจัง

“รัฐธรรมนูญต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งหากทุกคนมองปัญหาร่วมกันแล้ว คงเป็นเรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จในทิศทางเดียวกัน และสามารถทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง” อภิสิทธิ์ กล่าว

 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผูกไมตรี กกต.พิจิตรนำผลไม้เลี้ยงฝูงลิงฉีกบัญชีผู้มีสิทธิประชามติ

$
0
0

25 ก.ค.2559 จากกรณี วานนี้(24 ก.ค.59)เกิดเหตุฝูงลิงป่า บุกศาลาวัดหาดมูลกระบือ หมู่ 1 ต.ย่านยาว อ.เมือง จ.พิจิตร ซึ่งเป็นสถานที่ติดประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงประชามติ ฝูงลิงจำนวนมากทำการฉีกบัญชีรายชื่อจนเสียหาย (อ่านรายละเอียด)

ล่าสุดวันนี้ (25 ก.ค.59)  สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ประยูร จักรพัชรกุล ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ จ.พิจิตร และ ดร.สุรชัย มณีประกร นายอำเภอเมืองพิจิตร พร้อมด้วยชาวบ้านร่วมกันนำผลไม้ กล้วย แตงโม ถั่วฝักยาว แตงกวา จำนวนมาก ไปเลี้ยงฝูงลิงดังกล่าวเพื่อเป็นการผูกมิตรไมตรี อีกทั้งยังได้มีการนำบัญชีรายชื่อชุดใหม่ไปติดประกาศ โดยจุดที่ติดประกาศครั้งใหม่ มีกระจกใสจึงมั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาจากที่เคยเกิดขึ้นได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สามชาย ศรีสันต์: ทำไมชาวบ้านจึงประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

$
0
0


จากการที่ได้ฟังตัวแทนชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของ 43 องค์กร แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทำให้เข้าใจว่า รัฐธรรมนูญ เกี่ยวข้องกับชาวบ้านอย่างลึกซึ้ง เป็นเรื่องความเป็นอยู่หลับนอนในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ที่คนเมืองอย่างผมไม่อาจจะเข้าใจอะไรได้มากไปกว่า ประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพในการเลือกตั้ง การพูด การแสดงความคิดเห็น

ชาวบ้านได้พูดให้ฟังถึงความทุกข์ยากที่พวกเขาได้รับจากรัฐบาล จากนโยบาย กฎหมาย ประกาศ คำสั่ง ที่ออกมาลิดรอนความสุข เชื่อมโยงไปถึงข้อความในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ที่กำลังจะลงประชามติ ได้อย่างน่าสนใจ ทำให้มองเห็นภาพและเข้าใจว่า ทำไมชาวบ้านในชนบท ในป่า บนดอย เหล่านี้ เข้าใจการเมืองได้ลึกซึ้งในมิติที่มันเกี่ยวข้องกับชีวิตและร่างกายของพวกเขา มากกว่าคนเมืองที่เข้าใจการเมืองเพียงถ้อยคำสวยหรูในเชิงคุณธรรม จริยธรรม

โดยพบว่ามีเหตุผลสำคัญ 4 ประการ ที่ตัวแทนองค์กรผู้ขึ้นพูดบนเวทีได้ชี้ให้เห็น

1. การทวงคืนผืนป่า การไล่รื้อ เผาทำลาย ที่อยู่อาศัย และพืชไร่ พืชสวนของชาวบ้าน เป็นการทำลายทรัพย์สิน และคุกคามต่อการดำรงชีวิตของประชาชนโดยตรง “การไล่รื้อไม่เคยดำเนินการกับรีสอร์ท บ้านคนรวย” การที่รัฐธรรมเขียนไว้ว่า การใช้สิทธิของประชาชนทำได้ แต่... “ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น” ดังนั้นการทวงคืนผืนป่า การทวงคืนที่สาธารณะ การปราบปรามการชุมนุม เคลื่อนไหว เรื่องเหล่านี้อ้างเหตุผลเป็นไปเพื่อความไม่มั่นคงของรัฐได้ทั้งสิ้น ทั้งยังไม่มีมาตราใดในรัฐธรรมนูญที่ชาวบ้านจะมั่นใจได้ว่า จะคุ้มครองไม่ให้รัฐมาอ้างความเป็นเจ้าของทรัพยากร และทวงคืนเอาจากประชาชนภายหลังจากที่ประชาชนได้ลงทุนลงแรงไปกับทรัพยากรเหล่านั้นแล้ว นี่คือประเด็นแรกที่ทำให้ชาวบ้านไม่ไว้วางใจรัฐธรรมนูญฉบับนี้

2. การนำกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐ เข้าไปควบคุม จับกุมตัว ชาวบ้านที่ต่อต้าน เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า โรงงานกำจัดขยะ และอำนวยความสะดวกให้กลุ่มทุนภาคธุรกิจ เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อน โดยกันชาวบ้านไม่ให้แสดงความคิดเห็นคัดค้านต่อต้าน ทำให้เข้าใจได้ว่า สิทธิที่เคยมีอยู่ของชาวบ้านที่จะออกมาต่อต้านการกลุ่มทุนเหล่านี้ จะถูกอ้างว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนดังที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เหมือนกันที่ใช้เป็นข้ออ้างจับกุมตัวไปอบรมความประพฤติ นำกองกำลังเข้ามาควบคุมไม่ให้เคลื่อนไหว โดยอ้างคำสั่งฉบับที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ในปัจจุบัน และอาจเลยไปถึงองค์กรของรัฐทุกองค์กรยืนอยู่ข้างนายทุนตามแนวนโยบาย “ประชารัฐ” ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย

3. การเตรียมการยกเลิกระบบสวัสดิการต่างๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ความพยายามที่จะยกเลิกนโยบายบัตรทอง ลดระดับชั้นเรียนฟรีที่รัฐจะจัดให้ สิ่งเหล่านี้ทำให้สวัสดิการซึ่งเป็นสิทธิกลายเป็นการสงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ ประชาชนที่ที่ยากจนข้นแค้น โดยมีมาตรการการลงทะเบียนคนยากจนเตรียมการไว้รองรับ จะเห็นได้จากการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าจะให้สิทธิการรักษาพยาบาล เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ(เฉพาะ)แก่ผู้ยากไร้ ทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ยากไร้ในคำนิยามของรัฐธรรมนูญนี้ เกิดความไม่มั่นใจว่าสิทธิเหล่านี้จะยังคงมีอยู่ต่อไปหรือไม่

4. กฎหมาย คำสั่ง ประกาศ ที่ผ่านมา เป็นคำสั่งประกาศที่ล้วนลิดรอนสิทธิของชาวบ้าน และเพิ่มสิทธิให้กับผู้ประกอบการ เช่นคำสั่งหัวหน้า คสช. 4/2559 ยกเว้นผังเมืองสำหรับกิจการพลังงานและขยะ ซึ่งหมายความว่า ต่อไปจะนำขยะ ไปกำจัด ฝังกลบ ตั้งโรงงานรีไซเคิล ในพื้นที่ใดก็ได้โดยไม่ถูกจำกัดควบคุมด้วยผังเมือง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกประกาศยกเว้นให้โรงไฟฟ้าขยะไม่ต้องจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ร่าง พ.ร.บ. เหมืองแร่ที่ทำให้การขออนุญาตทำเหมืองง่ายขึ้น โดยโอนอำนาจการอนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ตกอยู่แก่ระบบราชการฝ่ายเดียว ทำให้อนุมัติให้สั้นลงโดยไม่ต้องไปถามความเห็นของประชาชน พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ควบคุม จำกัด การเคลื่อนไหวของประชาชนแทบทุกรูปแบบ สิ่งเหล่านี้ล้วนลดทอนความเป็นประชาชนลง และเพิ่มสิทธิอำนาจให้กับผู้ประกอบการ

ประชาชนในความหมายทางปฏิบัติของรัฐธรรมนูญ จึงอาจไม่ใช่ประชาชนคนส่วนใหญ่ แต่เป็นรัฐและนายทุน โดยประชาชนในความหมายเดิมกลายเป็นผู้ก่อความไม่สงบที่ทำลายความมั่นคงของรัฐ

ท้ายที่สุดรัฐบาลชุดนี้สร้างบรรยากาศของการหมิ่นแคลนชาวบ้านว่า เป็นผู้ไม่รู้ ไม่ประสีประสา “คนตัดหญ้าหน้าทำเนียบจะไปรู้อะไร” เกษตรกร ชาวนา เป็นภาระและรอรับความช่วยเหลือตลอดเวลา ไม่ปรับปรุงพัฒนา รูปแบบการผลิต และหลงอยู่กับนโยบายประชานิยม แน่นอนว่าในฐานะคนที่เท่าเทียมกันไม่มีใครต้องการถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประกอบกับ 2 ปีที่ผ่านมา นโยบาย มาตรการ การกระทำที่ออกมาก็ล้วนคุกคามใช้กำลังต่อชาวบ้าน ต่อคนเล็กคนน้อยมาโดยตลอด ซึ่งแทนที่จะทำให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้กลับยิ่งจะสร้างความขัดแย้งรุนแรง และแตกแยกมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ ชาวบ้าน ประชาชน คนเล็กคนน้อย ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

0000

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ปฏิรูปกองทัพ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

$
0
0

หากประเทศไทยจะสามารถก้าวต่อไปในระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ อย่างไรเสียก็หนีไม่พ้นการปฏิรูปกองทัพ มิฉะนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะบรรลุสู่ระบอบประชาธิปไตยได้

เป้าหมายของการปฏิรูปกองทัพก็คือ ทำให้กองทัพเป็นกลไกรัฐปกติที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนซึ่งมาจากการเลือกตั้ง กองทัพไม่มีสมรรถนะที่จะแทรกแซงทางการเมือง ทั้งโดยเปิดเผยด้วยการกดดัน หรือโดยวิธีลับอย่างอื่น โดยเฉพาะในการวางนโยบายสาธารณะ ในขณะเดียวกัน กองทัพต้องเป็นกลไกรัฐที่มีประสิทธิภาพด้วย เพราะภารกิจที่กองทัพต้องกระทำตามคำสั่งรัฐบาลพลเรือนในหลายกรณีด้วยกันนั้น มีความสำคัญระดับคอขาดบาดตายแก่ชาติทีเดียว เราจึงต้องมีกองทัพที่เมื่อสั่งให้ไปทำอะไรแล้ว ก็ทำสำเร็จ ในเวลาที่สมควรด้วย ที่สำคัญคือไม่ทำให้ปัญหายิ่งซับซ้อนและแก้ไขยากขึ้น อย่างที่เราต้องเผชิญในสามจังหวัดภาคใต้ทุกวันนี้

ในประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ กองทัพได้แทรกแซงการเมืองมาอย่างยาวนาน มีผลประโยชน์ปลูกฝังหลากหลายชนิด ที่ยากจะไถ่ถอนออกมาได้ง่ายๆ ฉะนั้นปฏิรูปกองทัพด้วยเป้าหมายดังกล่าวจึงไม่ง่าย และอาจสำเร็จได้เท่าๆ กับล้มเหลว

ถึงเวลาที่คนไทยต้องช่วยกันเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่น และคิดปรับกลวิธีต่างๆ จากที่อื่นมาประยุกต์ใช้กับกรณีของไทยให้ได้ผล

หนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกกองทัพแทรกแซงทางการเมืองมานานคืออินโดนีเซีย จนเมื่อระเบียบใหม่ของนายพลซูฮาร์โตถูกทำลายลงใน พ.ศ.2541 กรณีอินโดนีเซียน่าสนใจแก่เราเป็นพิเศษ เพราะกองทัพไม่ได้ถูกลดอำนาจลงจากพลังภายในอื่นๆ เพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศ (เช่นกรณีติมอร์ตะวันออก และการเปลี่ยนนโยบายของมหาอำนาจหลังสงครามเย็น)

ผมคิดว่าวันหนึ่งที่กองทัพไทยจะต้องลดอำนาจลง ก็จะมีลักษณะคล้ายอย่างนี้ คือไม่ได้เกิดจากพลังภายในที่ต่อต้านการเมืองของกองทัพเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยจากสถานการณ์ระหว่างประเทศหรือภายนอกเข้ามาผสมโรงด้วย

ดังนั้นอำนาจของฝ่ายรัฐบาลพลเรือนทั้งในกรณีอินโดนีเซียที่ผ่านมา และไทยในอนาคตจึงย่อมค่อนข้างเปราะบาง โอกาสจะปฏิรูปกองทัพได้สำเร็จก็มี หรือปฏิรูปกองทัพกลายเป็นชนวนให้ทหารกลับเข้ามาคุมการเมืองอีกครั้งหนึ่งก็มีเหมือนกัน ดังในกรณีอินโดนีเซียเองนั้น ก็มีข้อถกเถียงกันระหว่างสองฝ่ายว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง หรือล้มเหลวจนไม่ได้เปลี่ยนสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างทหาร-พลเรือนไปแต่อย่างไร นอกจากกฎเกณฑ์ระดับบนเท่านั้น

ในการประเมินของ Marcus Mietzner (ใน The Politics of Military Reform in Post-Suharto Indonesia) เขาเห็นว่า หากแบ่งการปฏิรูปกองทัพออกเป็นสองชั่วอายุคน คือเมื่อเริ่มต้น ยังมีนายทหารที่มาจากระบอบเก่าอยู่จำนวนมาก ดำเนินการปฏิรูปไประยะหนึ่ง นายทหารรุ่นนี้ปลดบำนาญออกไป จะมีนายทหารรุ่นใหม่ที่เติบโตมาท่ามกลางการปฏิรูปขึ้นมาคุมกองทัพแทน (โดยอาศัยการเปรียบเทียบกับการปฏิรูปกองทัพในยุโรปตะวันออกหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์) ก็อาจกล่าวได้ว่า อินโดนีเซียประสบความสำเร็จพอสมควรในการปฏิรูปช่วงชั่วอายุคนแรก

กองทัพถูกดึงออกจากการเมืองที่เป็นทางการ อภิสิทธิ์เชิงสถาบันหลายอย่างของกองทัพถูกยกเลิกไป ระบอบปกครองใหม่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ลิดรอนอำนาจวีโต้ของกองทัพออกไปได้ ดังกรณีที่รัฐบาลอินโดนีเซียสามารถนำเสนอแผนการสันติภาพในอาเจะห์ได้ โดยกองทัพไม่ขัดขวาง แม้มีนายทหารของกองทัพหลายคนไม่พอใจ

การดึงกองทัพออกจากการเมืองที่เป็นทางการนั้นง่าย และเราก็เคยทำได้มาแล้วหลัง 2535 สืบมาจน 2549 แต่กองทัพไทยยังเข้ามายุ่งเกี่ยวกับ “การเมือง” ระดับที่ไม่เป็นทางการอีกมาก เช่นเป็นกำลังหลักในการปราบยาเสพติด บัดนี้ดูเหมือนกำลังจะกลายเป็นกำลังหลักในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป่าและที่ดินอีกด้วย บทบาทเหล่านี้เป็น “การเมือง” อย่างยิ่ง เพราะอาจใช้เพื่อทำลายศัตรูของกองทัพ และสร้างพันธมิตรของกองทัพขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีอภิสิทธิ์เชิงสถาบันอีกหลายอย่างที่กองทัพไทยครอบครองมาอย่างยาวนาน เช่น กอ.รมน. มีบทบาทอำนาจหน้าที่แค่ไหน ควรจะต้องทบทวนแก้ไขให้ต้องถูกถ่วงดุลอย่างได้ผลจากฝ่ายพลเรือน อำนาจของกองทัพในพื้นที่ซึ่งถูกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม ประกาศกฎอัยการศึกก็ตาม เป็นอำนาจอิสระที่ปล่อยให้กองทัพมีไม่ได้ จำเป็นต้องแก้กฎหมายให้กองทัพไม่มีอำนาจเช่นนั้นอีก

อันหลังนี่แหละที่ยาก แต่ด้วยเจตจำนงทางการเมืองที่แรงพอ ก็หาได้ยากเกินกว่าที่รัฐบาลพลเรือนจะไม่สามารถฟันฝ่าไปได้ (หากรู้จักหาฐานสนับสนุนในสังคมให้กว้างและแข็งแกร่งเอาไว้) ประธานาธิบดีวาฮิดได้อาศัยฐานสนับสนุนที่ได้รับอย่างกว้างขวางในระยะแรก เข้าไปแทรกแซงการจัดสรรอำนาจในกองทัพเลยทีเดียว เป็นต้นว่าตั้งพลเรือนเป็นรัฐมนตรีกลาโหม (ดูเหมือนจะเป็นรัฐมนตรีกลาโหมพลเรือนคนแรกของอินโดนีเซีย) ยิ่งกว่านี้ นายทหารที่ขัดขวางการปฏิรูปกองทัพ ก็ถูกปลดประจำการ (เพราะมีส่วนในทารุณกรรมร้ายแรงที่กองทัพกระทำต่อชาวติมอร์) แต่ชดเชยให้ด้วยการเชิญให้มาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาล นับตั้งแต่หลังประธานาธิบดีซูการ์โนเป็นต้นมา ไม่มีประธานาธิบดีพลเรือนคนใดของอินโดนีเซีย ที่มีเจตจำนงในการปฏิรูปกองทัพอย่างหนักแน่นเท่าวาฮิด แม้ว่าการกระทำของเขาเป็นผลให้การเมืองระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซียเข้าสู่วิกฤตที่เกือบเปิดโอกาสให้กองทัพกลับเข้ามาใหม่ในช่วงท้ายก็ตาม

แต่อินโดนีเซียโชคดี หากไม่นับพรรคโกลคาร์ซึ่งเผด็จการทหารตั้งขึ้นมาก่อนเป็นเวลานานแล้ว พรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งแม้เป็นศัตรูกับวาฮิด ก็ไม่คิดจะไปร่วมมือกับทหารเพื่อนำตัวเองเข้าสู่อำนาจเลย ตรงกันข้ามกับในประเทศไทย ไม่เฉพาะแต่พรรคการเมืองใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดเท่านั้น เรายังมีนักการเมืองที่เติบโตมากับการร่วมมือกับทหารอย่างยาวนาน (ทั้งทางเศรษฐกิจส่วนตัวของแกนนำพรรค และอำนาจการเมืองในท้องถิ่น) คนเหล่านี้พร้อมจะนำพรรคการเมืองของตน หรือตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อไป “หากิน” กับกองทัพได้อีกทุกเมื่อ

การมีเจตจำนงอย่างแน่วแน่ในการปฏิรูปกองทัพของนักการเมืองไทย ซึ่งแม้ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น จึงเกิดได้ยาก และมักเลือกวิถีทางที่ไม่ใช่การปฏิรูปกองทัพจริง เช่น เอาญาติของตนเองไปคุมกองทัพ เพื่อให้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมืองส่วนตัวของตนเอง นั่นคือเปิดให้กองทัพแทรกแซงทางการเมืองตามเดิม เพียงแต่ขอให้แทรกแซงมาทางฝ่ายตนเท่านั้น หรือมิฉะนั้นก็ยอมจำนนศิโรราบแก่กองทัพ ด้วยความหวังว่ากองทัพจะปล่อยให้ตนได้ครองอำนาจต่อไปเท่านั้น

เราจะแก้ให้นักการเมืองมีเจตจำนงและกึ๋นพอจะปฏิรูปกองทัพได้อย่างไร ผมก็จนปัญญาครับ นอกจากทำให้ “วาระ”-ปฏิรูปกองทัพเป็น “วาระ” ของสังคมไทยอย่างจริงจัง (อย่างที่เราเคยทำได้ในการผลักดันรัฐธรรมนูญ 2540) แรงกดดันทางสังคมที่แข็งแกร่งเช่นนี้เท่านั้น ที่จะบังคับให้นักการเมืองและพรรคการเมืองจำเป็นต้องมีเจตจำนงในการปฏิรูปกองทัพอย่างหนักแน่น

เช่นเดียวกับกองทัพอินโดนีเซีย ใช่ว่านายทหารในกองทัพไทยจะไม่มี “แผล” เสียเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจีที 200, บอลลูนมหัศจรรย์, หรือเหตุการณ์ใน พ.ศ.2553 ปัญหาอยู่ที่ว่านักการเมืองไทยในอนาคตจะใช้ “แผล” เหล่านี้เพื่อปฏิรูปกองทัพหรือไม่ หรือใช้เพียงเพื่อนำกองทัพมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองส่วนตน

แม้ประสบความสำเร็จในการดึงเอากองทัพออกจากการเมืองที่เป็นทางการ แต่อินโดนีเซียล้มเหลวในการจำกัดอำนาจของกองทัพหลายเรื่อง ที่สำคัญที่สุดก็คือโครงสร้างการบังคับบัญชาทหารในภาคต่างๆ ของประเทศ ระบบ “มณฑลทหาร” หรือ “กองทัพภาค” ของอินโดนีเซีย คือฐานอำนาจของกองทัพในเขตภูมิภาคต่างๆ ฐานอำนาจนี้ทหารใช้ไปในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ตนคุมอยู่ นับตั้งแต่ขายบริการคุ้มครองกิจการทางธุรกิจ, ตั้งสหกรณ์ของตนเอง, ทำวิสาหกิจในพื้นที่ของตนเอง ฯลฯ อย่าลืมว่าการจัดการบริหารกองทัพอินโดนีเซีย เริ่มจากการจัดการบริหารกองโจรซึ่งทำสงครามกับฮอลันดาเพื่อกู้เอกราช กองโจรในพื้นที่ต่างๆ จึงมีอิสระในตนเองสูง รวมทั้งต้องสามารถเลี้ยงตนเองได้ด้วย โครงสร้างอำนาจกองทัพอินโดนีเซียจนถึงทุกวันนี้ก็ยังวางบนพื้นฐานการจัดการกองทัพในสมัยกู้เอกราช

ทำให้กองทัพอินโดนีเซียไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไรนัก ระหว่างนโยบายคอนฟรอนตาซีของซูการ์โน ทหารอินโดนีเซียที่รุกล้ำเข้าไปในดินแดนที่เป็นมาเลเซียซึ่งประธานาธิบดีซูการ์โนต่อต้าน ถูกกองทัพอังกฤษและมาเลเซียสะกัดจนต้องถอยหรือถูกจับเป็นเชลยหมด นโยบายคอนฟรอนตาซีที่มีแต่กองทัพลิเกหนุนหลังเช่นนี้ จึงไม่เป็นภัยคุกคามแก่ใครอย่างวาทศิลป์ของซูการ์โนชวนให้เกรง

กองทัพที่เข้าไปยุ่งกับการเมือง ไม่เคยเป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพเลยสักกองทัพเดียว (ทำได้แต่ปราบปรามประชาชนผู้ปราศจากอาวุธ) และกองทัพประเภทนี้จำกัดอำนาจการต่อรองของชาติในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในบรรดาปัจจัยต่างๆ ที่บังคับให้อินโดนีเซียต้องวางมือจากการยึดติมอร์ ก็คือความไม่มีประสิทธิภาพของกองทัพอินโดนีเซียเอง ไม่เคยปราบเฟรติลินได้-อย่างราบคาบจริงสักครั้งเดียว ได้แต่ใช้อาวุธยุทธภัณฑ์ที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐ, อังกฤษ และออสเตรเลียทำทารุณกรรมแก่ประชาชนติมอร์อย่างเหี้ยมโหดด้วยประการต่างๆ เท่านั้น

การปฏิรูปกองทัพของอินโดนีเซียจึงหมายถึงการจัดโครงสร้างกองทัพใหม่ให้เหมาะกับสภาวะของโลกปัจจุบัน ที่กองทัพอาจต้องเผชิญด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือปฏิรูปกองทัพ ไม่ได้หมายเพียงเอากองทัพออกจากการเมืองเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงทำให้กองทัพ “รบเป็น” ด้วย

กลับมาสู่ฐานอำนาจในส่วนภูมิภาคของกองทัพอินโดนีเซีย เป็นแหล่งรายได้สำคัญของทั้งกองทัพและทหาร แต่ก็ทำความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างมาก จะมีใครอยากไปลงทุนในส่วนที่ต้องเสียค่าต๋งให้กองทัพท้องถิ่นอยู่ตลอดเวลา รัฐมนตรีกลาโหมพลเรือนของประธานาธิบดีวาฮิดประเมินว่ารายได้ที่กองทหารในต่างจังหวัดหาเองนี้เป็นค่าใช้จ่ายของกองทัพถึง 70% หมายความว่ากองทัพอินโดนีเซียพึ่งรายได้จากงบประมาณแผ่นดินเพียง 30% เท่านั้น ฉะนั้นการปฏิรูปในส่วนนี้จึงหมายถึงภาระในงบประมาณส่วนกลางเป็นจำนวนมากด้วย ซึ่งอาจทำให้ข้าราชการในกระทรวงทบวงกรมฝ่ายพลเรือนเองไม่สนับสนุนการปฏิรูปกองทัพก็ได้

โครงสร้างการบริหารของกองทัพไทยไม่ได้เป็นอย่างนี้ ส่วนใหญ่ของรายได้กองทัพมาจากงบประมาณแผ่นดิน เราไม่มีปัญหาแบบอินโดนีเซีย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทหารและกองทหารในส่วนภูมิภาค ทั้งที่ประจำการอยู่ถาวร หรือลงปฏิบัติราชการชั่วคราว ไม่มีช่องทางหารายได้เลย ทั้งที่ถูกกฎหมาย ปริ่มกฎหมาย และผิดกฎหมาย (ค่าคุ้มครอง, ค้าไม้, ค้าที่ดิน, ค้าคน, ค้าอาวุธ ฯลฯ) แต่นี่เป็นปัญหาของอำนาจรัฐไทยซึ่งกระจายออกไปอย่างไม่ทั่วถึง รัฐบาลกลางไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหารก็ต้องแก้เหมือนกัน แต่หากการปฏิรูปกองทัพทำอย่างได้ผล กลไกรัฐอื่นๆ เช่นตำรวจ, ป่าไม้, กรมอุทยาน, ส.ป.ก. ฯลฯ ก็อาจบังคับใช้กฎหมายกับนายทหารเหล่านั้นได้โดยไม่ถูกขัดขวางจาก”ผู้ใหญ่”

รายได้นอกงบประมาณของกองทัพอีกอย่างหนึ่งคือ รายได้จากการผูกขาดทรัพยากรสาธารณะ ที่สำคัญคือคลื่นความถี่ และที่ดินที่สงวนไว้ใช้ในการทหาร ฯลฯ การปฏิรูปกองทัพไทยต้องหมายถึงการสร้างกลไกตรวจสอบ และสร้างระเบียบการได้มาและใช้ซึ่งรายได้ส่วนนี้อย่างรัดกุมด้วย เช่นไม่ปล่อยให้เป็นรายได้ที่อยู่พ้นการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สตง., กรมบัญชีกลาง, และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะกองทัพอาจใช้รายได้ส่วนนี้ซึ่งไม่น้อยในการเป็นฐานเพื่อแทรกแซงการเมืองได้ (เช่นซื้อสื่อ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม)

ทั้งหมดนี้คงเป็นตัวอย่างว่ามีประสบการณ์ของสังคมอื่นให้เราช่วยกันเรียนรู้ได้มาก เพื่อจะได้ช่วยกันคิดต่อไปว่าเราจะปฏิรูปกองทัพกันอย่างไร เพื่อให้ประเทศของเราเดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางเงื่อนไขใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

0000

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 25 กรกฎาคม 2559

ที่มา: Matichon Online

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: Harm Reduction แก้ปัญหายาเสพติด ผู้ใช้ยาไม่ใช่อาชญากร

$
0
0

เสนอแนวคิดลดอันตรายจากการใช้ยา หรือ Harm Reduction แก้ปัญหายาเสพติด เครือข่ายผู้ใช้ยาชี้กฎหมายเหมารวม ลงโทษไม่ได้สัดส่วน เรียกร้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้ใช้ยาไม่ใช่อาชญากร รองอธิบดีกรมการแพทย์ เสนอแก้ปัญหายาเสพติดต้องควบคุมให้การค้าขายยาเสพติดอย่างเสรีในขอบเขตกฎหมายและการควบคุมดูแล

ที่มา Nikki David/Neon Tommy/flickr/CC BY-SA 2.0

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2559 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทย โดยการปลดเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ให้ใช้ในแนวทางในการเป็นยารักษาโรค พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ปัจจุบันการปราบยาเสพติดโดยใช้วิธีการอย่างรุนแรงอาจจะไม่ได้ผล อีกทั้งมีผลวิจัยระบุว่า องค์ประกอบของยาเสพติดจากพืชกัญชาและฝิ่น สามารถนำมาเป็นยารักษาโรคได้ ที่ผ่านมาภาครัฐประกาศสงครามกับยาเสพติด ใช้วิธีทำลายแหล่งผลิต และจับผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าคุก แต่วิธีดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดผลสำเร็จเท่าที่ต้องการ อีกทั้งยังนำมาซึ่งปัญหานักโทษล้นคุกอีกด้วย

นอกจากการปลดสารบางชนิดออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่เรียกว่า การลดอันตรายจากการใช้ยา หรือ Harm Reduction ซึ่งประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ยกตัวอย่างประเทศโปรตุเกสที่สามารถลดจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดและลดจำนวนการแพร่เชื้อ HIV จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันได้ ภาครัฐจะเป็นผู้มอบสารเสพติดและอุปกรณ์การเสพให้แก่ผู้ใช้ยา โดยมอบในปริมาณที่กำหนดเพื่อควบคุมดูแลมิให้ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ใช้ ซึ่งพบว่าวิธีการดังกล่าวช่วยลดการแพร่เชื้อ HIV ได้มาก

การลงโทษไม่ได้สัดส่วน เหมารวมผู้ใช้ยาเป็นอาชญากร

แม้ว่าแนวคิดการลดอันตรายจากการใช้ยาจะดูเหมือนเป็นแนวคิดที่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ แต่ศักดา เผือกชาย ประธานเครือข่ายผู้ใช้ยาในประเทศไทย บอกว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมต่อผู้ใช้ยา การใช้ยามีหลายบริบท บันเทิง การแพทย์ การตัดสินว่าคนที่ใช้ยาเป็นคนเลว เป็นผู้ร้ายในสังคม จะทำให้ปัญหาต่างๆ แย่ลง

ศักดา กล่าวว่า ผู้ที่ติดยาเสพติดถึงขนาดควบคุมตัวเองไม่ได้ จนนำไปสู่การก่ออาชญากรรมต่างๆ มีอยู่ในอัตราส่วนที่ต่ำมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นสังคมหรือกฎหมายกลับลงโทษโดยใช้มาตรฐานที่เท่ากัน ความผิดที่กระทำกับโทษที่ได้รับไม่ได้สัดส่วนกัน เป็นการจัดการแบบเหมารวม การลงโทษไม่ได้พิจารณาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น มีกรณีที่มีผู้ใช้ยาเผลอนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศไทย แต่โดนโทษจำคุกตลอดชีวิตเทียบเท่าผู้ค้ารายใหญ่ ทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นเรือนจำตามมา โดยสถิติเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 นักโทษคดียาเสพติดมีจำนวนมากถึง กว่าร้อยละ 70 ของนักโทษทั้งหมดการนำเอาผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเข้าไปอยู่ร่วมกันจำนวนมากเช่นนี้ กลับให้ผลตรงกันข้าม เพราะเท่ากับเป็นการขยายเครือข่ายยาเสพติดจากการนำนักโทษเข้าไปอยู่ด้วยกันในเรือนจำ

ศักดา ยังกล่าวต่ออีกว่า ผู้ที่เสพติดเกินไปควรถูกบำบัด แต่ไม่ใช่ผู้ใช้ยาทั้งหมด บางคนเสพเพื่อความบันเทิง ไม่ได้เสพติดการใช้ยา ที่ผ่านมาไทยมีการบำบัดผู้ใช้ยา แต่เป็นไปในแนวทางของการบังคับบำบัด มิใช่ด้วยความสมัครใจ มาตรการดังกล่าวตอบย้ำความไม่เท่ากันและกดฐานะทางสังคมผู้ใช้ยาลงไป การนำผู้ใช้ยาเข้าไปบำบัดที่ผ่านมา จะต้องลงชื่อบันทึกไว้ว่าคนผู้นี้เป็นผู้ใช้ยาหรือเคยเป็น ประกอบกับทัศนคติของคนในสังคมที่มีในแง่ลบ ทำให้การเข้าไปบำบัดหรือขอความช่วยเหลือต่างๆ จากผู้ใช้ยาแทบจะไม่เกิดขึ้น

ผู้ที่ติดยาเสพติดถึงขนาดควบคุมตัวเองไม่ได้ จนนำไปสู่การก่ออาชญากรรมต่างๆ มีอยู่ในอัตราส่วนที่ต่ำมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นสังคมหรือกฎหมายกลับลงโทษโดยใช้มาตรฐานที่เท่ากัน ความผิดที่กระทำกับโทษที่ได้รับไม่ได้สัดส่วนกัน เป็นการจัดการแบบเหมารวม

ผู้ใช้ยาไม่ใช่คนชั่ว

ศักดา เสนอว่า สิ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดคือการเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมต่อผู้ใช้ยา ทัศนคติของคนในสังคมจะเป็นตัวที่ส่งผลกระทบแก่ผู้ใช้ยาอย่างมาก อดีตผู้ใช้ยาหลายรายไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ การมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทำให้หางานทำยากขึ้น เราต้องมองผู้ใช้ยาอย่างเข้าใจ ผู้ใช้ยาไม่ได้เป็นคนชั่ว ความเข้าใจและการให้โอกาสจะเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างดี

เช่นเดียวกันกับวุฒิพงษ์ พาณิชย์สวย นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องปรับปรุงระบบการศึกษาในการแก้ทัศนคติของประชาชนต่อผู้ใช้ยา ลดการกีดกันการทำงาน ในปัจจุบัน หน่วยงานราชการหรือโรงงานต่างๆ ที่ใช้นโยบายโรงงานสีขาวหรือการไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนที่มีประวัติการใช้ยาเสพติด เป็นการกีดกันผู้ใช้ ผลักให้เขาเหล่านั้นหวนกลับไปสู่วงจรเดิมๆ  ไม่สามรถลืมตาอ้าปากได้

วุฒิพงษ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันการแก้ไขปัญหายาเสพติดเปลี่ยนไป จะลดความเป็นคดีอาญาของยาเสพติดลง  เปิดช่องทางให้มีการศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์จากยาเสพติดในทางการแพทย์ และให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยาแก่ประชาชน เนื่องจากจะเป็นแนวทางในการลดอันตรายจากการใช้ยาและลดปัญหาต่างๆ ที่ตามมา การร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหลังจากนี้จะเป็นไปในแนวทางการสร้างความเข้าใจใหม่แก่ประชาชน ไม่ให้มองว่าคนใช้ยาเสพติดเป็นคนร้าย

จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาคมโลกใช้มาตรการไม่อดกลั้นต่อยาเสพติด คือปราบปรามกำจัดให้สูญหายไป ต่อมาเมื่อรับรู้แล้วว่าการปราบปรามดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน จึงทำให้เกิดการแพร่ของโรคขึ้น กลุ่มดังกล่าวไม่สามารถมาปรากฏตัวเพื่อรับความช่วยเหลือจากรัฐได้ เนื่องจากต้องการหลบซ่อนเพราะโทษจากการใช้ยาเสพติดค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความหนาแน่นในเรือนจำ คนที่ถูกจับจากคดียาเสพติดส่วนมากเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา ไม่ใช่นายทุน ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำให้ยาเสพติดเป็นอาชญากรรม ประชาคมโลกจึงเปลี่ยนนโยบายมาเป็นการไม่ทำให้ยาเสพติดเป็นอาชญากรรมแทนเช่นในโปรตุเกส ที่การใช้นโยบายดังกล่าวประสพผลสำเร็จ ปัจจุบันยาเสพติดไม่มีโทษในเชิงอาญาอีกต่อไป มีก็เพียงโทษปรับเท่านั้น

ทางแก้ปัญหายาเสพติดไม่ใช่การทำให้มันถูกกฎหมาย แต่เป็นการถูกควบคุมให้การค้าขายอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย การค้ายาเสพติดอย่างเสรีทำได้ ภายใต้การควบคุมดูแลและการลงทะเบียนผู้ซื้อ-ผู้ขาย

ต้องควบคุมให้การค้าขายยาอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย

จอน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้ยา ต้องเคารพความเป็นมนุษย์ ต้องรณรงค์ลดความเข้าใจผิด ลดอคติต่อผู้ใช้ยา ผู้ใช้ยาไม่ใช่อาชญากร ถ้าผู้ใช้ยายังถูกเลือกปฏิบัติ ปัญหายาเสพติดจะไม่สามารถแก้ไขได้ พร้อมทั้งเสนอว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ควรมีตัวแทนจากเครือข่ายผู้ใช้ยาร่วมเป็นกรรมการในการวางแผนนโยบาย ต้องฟังความเห็นจากผู้ใช้ยา

ด้าน ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เสนอว่า ทางแก้ปัญหายาเสพติดไม่ใช่การทำให้มันถูกกฎหมาย แต่เป็นการถูกควบคุมให้การค้าขายอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย การค้ายาเสพติดอย่างเสรีทำได้ ภายใต้การควบคุมดูแลและการลงทะเบียนผู้ซื้อ-ผู้ขาย ซึ่งการควบคุมปริมาณการใช้ยาสามารถทำได้ผ่านกระบวนการดังกล่าว โดยในประเทศโปรตุเกส นโยบายดังกล่าวที่ถูกนำมาใช้ ทำให้การควบคุมดูแลยาเสพติดเป็นไปได้

ภาสกร เสนออีกว่า การลดจำนวนผู้ใช้ยาสามารถทำได้ โดยยกตัวอย่างการทดลองที่เสนอเงินจำนวนหนึ่งกับยาเสพติดให้กับผู้ใช้ยา โดยถ้าเป็นจำนวนเงินที่มากพอ ผู้ใช้ยาเสพติดก็จะเลือกเงินมากกว่ายาเสพติด โดยการทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราให้ทางเลือกแก่ผู้ใช้ยา จะทำให้จำนวนผู้ใช้ยาลดลง ภาสกรบอกว่า ผู้ที่ใช้ยาเสพติดส่วนมากไม่ได้มาจากการติดยาอย่างรุนแรง

จะเห็นได้ว่า การจะแก้ไขปัญหายาเสพติดและปัญหาต่างๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องมานั้น นอกจากการใช้แนวคิดการลดอันตรายจากการใช้ยา แนวคิดการลดความเป็นอาญากรรม สิ่งที่สำคัญคือการสร้างทัศนคติให้เคารพผู้ใช้ยาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่มองผู้ใช้ยาเป็นผู้ร้ายในสังคม ให้โอกาสในการเข้าทำงานเพื่อทำให้ชีวิตของคนเหล่านั้นมีทางเลือกมากขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดเก็บบัญชีผู้มีสิทธิประชามติไว้ไกลมือ 'เด็ก ลิง แดด ฝน'

$
0
0

25 ก.ค. 2559 จากกรณีเหตุทำลายหรือความเสียหายของบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงประชามติในหลายพื้นที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้ (25 ก.ค.59) สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ จ.พิจิตร และ ดร.สุรชัย มณีประกร นายอำเภอเมืองพิจิตร พร้อมด้วยชาวบ้านร่วมกันนำผลไม้ กล้วย แตงโม ถั่วฝักยาว แตงกวา จำนวนมาก ไปเลี้ยงฝูงลิงที่ทำการฉีกบัญชีดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมาเพื่อเป็นการผูกมิตรไมตรี อีกทั้งยังได้มีการนำบัญชีรายชื่อชุดใหม่ไปติดประกาศ โดยจุดที่ติดประกาศครั้งใหม่ มีกระจกใสจึงมั่นใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาจากที่เคยเกิดขึ้นได้
 

ขอนแก่น จับเด็กปวช.วัย 16 ปี เผาไล่ยุง ตั้งข้อหาหนัก

จ.ขอนแก่น วันนี้(25 ก.ค.59) มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่ ศูนย์ปฎิบัติการส่วนหน้า (ศปก.) สภ.ชุมแพ พล.ต.ท.บุญเลิศ ใจประดิษฐ ผบช.ภ.4 ร่วมกันแถลงผลการจับกุม เอก (นามสมมุติ) เยาวชนชายอายุ 16 ปี นักศึกษาระดับชั้น ปวช.วิทยาลัยอาชีวศึกษาแห่งหนึ่งในเขต อ.ชุมแพ  หลังถูกเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสอบสวน บก.สส.ภ.4 ร่วมกับชุดสืบสวน ภ.จว.ขอนแก่น และ สภ.ชุมแพ จับกุมตัวได้ หลังก่อเหตุทำลายและเผาเอกสารประกาศ กำหนดหน่วยออกเสียงและที่ออกเสียง หรือ อส.4 และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงหรือ อ.ส. 6 ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 36 ชุมชนใหม่สามัคคี เขตเทศบาลเมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ส.ค.

พล.ต.ท.บุญเลิศ ผบช.ภ.4 กล่าวว่า หลังเกิดเหตุชุดสืบสวนสอบสวนได้ลงพื้นที่เพื่อสอบปากคำพยาน รวมทั้งการตรวจสอบจากกล้องวงจรปิด โดยรอบจุดที่เกิดเหตุ จนกระทั่งพบชายต้องสงสัยขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนเข้ามาก่อเหตุโดยใช้เวลาในการก่อเหตุไม่นานนัก เจ้าหน้าที่จึงได้กระจายกำลังกันลงพื้นที่และการสอบปากคำพยานจนทราบว่า นายเอก เป็นผู้ที่ลงมือก่อเหตุจึงติดตามจับกุมตัวได้ในที่สุด

“ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาก่อเหตุจริง โดยตั้งใจจะมารับแฟนซึ่งอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าว แต่เนื่องจากฝนตกหนักจึงเข้าไปหลบภายในศาลาซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ แต่เนื่องจากโดนยุงกัดเยอะ จึงได้ฉีกเอาแผ่นเอกสารดังกล่าวลงมาเผาจุดไล่ยุง โดยไม่ทราบว่าเอกสารดังกล่าวนั้นเป็นเอกสารที่สำคัญของทางราชการ” พล.ต.ท.บุญเลิศ กล่าว

ผบช.ภ.4 กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา โดยคดีนี้ เจ้าหน้าที่กฎหมายของ กกต.ขอนแก่น ได้เข้าแจ้งความเอาผิดกับผู้ที่ก่อเหตุแล้วที่ สภ.ชุมแพ โดยตั้งข้อกล่าวหาในฐานความผิดเกี่ยวตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ฐานขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการเลือกตั้ง ฯลฯ และเข้าข่ายความผิดมาตรา 188 และ 360 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ฐาน ผู้ใดทำให้เสียหายทำลายซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือเสียประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และฐาน ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ พร้อมทั้งควบคุมตัวนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ชุมแพ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
 

ราชบุรี ตากแดด-ฝน ตัวหนังสือจาง

จ.ราชบุรี วานนี้ (24 ก.ค.59)  ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ชาวบ้านในชุมชนทิพย์นิเวศน์ เขตเทศบาลเมืองราชบุรี  จ.ราชบุรี ได้แจ้งให้ผู้สื่อข่าวขอให้มาร่วมตรวจสอบเกี่ยวกับรายชื่อที่มีหน่วยงานนำเอามาติดไว้กลางแจ้งตากแดดตากฝนตัวหนังสือแทบมองไม่เห็น ที่บริเวณด้านหน้าทางเข้าชุมชนทิพย์นิเวศน์  จึงเดินทางไปตรวจสอบพบ ด้านบนมีกระดาษสีเหลืองเขียนว่าปิดประกาศออกเสียง อีกชุดเป็นบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และด้านร่างจะเป็นประกาศ โดยทั้ง 3 ชุดติดอยู่บนแผ่นไม้ป้ายชื่อของชุมชนทิพย์นิเวศน์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว  ใกล้กันมีบอร์ดที่ผุพังใช้ไม่ได้  และยังมีแผ่นบอร์ดคล้ายกับเอามาทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งาน 1 แผ่น            
 

เด็กม.ต้น ระยอง ฉีกเพราะคิดว่าเป็นกระดาษเก่า ยันไม่มีใครว่าจ้าง

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ จ.ระยอง ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ที่บริเวณศาลาอเนกประสงค์ที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านสตรี ชากคา หมู่ 7 ต.ชากพง อ.แกลง ซึ่งใช้เป็นสถานที่หน่วยออกเสียงประชามติหน่วยที่ 17 จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง จำนวน 380 ราย ถูกฉีกขาดหายไปรวม 3 แผ่น ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านกร่ำ ได้นำตัวเด็กนักเรียนชั้น ม.1และ ม.2 รวมทั้งหมด 4 คน ไปสอบสวนปากคำที่สถานีเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา
       
โดยมี วิทยา ชพานนท์ นายอำเภอแกลง เดินทางมาสอบปากคำเด็กนักเรียนที่สถานีตำรวจภูธรบ้านกร่ำ ด้วยตนเอง เพื่อสอบถามว่ามีใครว่าจ้าง หรือมีผู้อยู่เบื้องหลังการฉีกกระดาษบัญชีรายชื่อหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ ทราบจากปากของเด็กนักเรียนว่า ไม่มีใครว่าจ้าง หรือมีใครอยู่เบื้องหลังแต่อย่างใด ซึ่งเด็กนักเรียนยอมรับว่า มีเพื่อนร่วมกันทั้งหมดรวม 4 คน ชวนกันมาเล่นที่ศาลาอเนกประสงค์ในช่วงวันหยุดหลายวันที่ผ่านมาจริง และให้การยอมรับว่า ฉีกกระดาษบนกระดานที่หน่วยเลือกตั้งจริงรวม 3 ใบ

โดยคิดว่าเป็นกระดาษเก่าแล้วจึงฉีกทิ้ง ไม่ทราบว่าเป็นบัญชีรายชื่อ ส่วนเด็กนักเรียนอีกคนยอมรับว่า ไม่ได้เป็นคนฉีก แต่ยอมรับเป็นคนยืมไฟแช็กเพื่อนที่มาด้วยกันจุดไฟเผากระดาษบริเวณริมคลองด้านหลังหน่วยเลือกตั้ง ส่วนคนที่ขยำกระดาษที่ฉีกแล้วนำไปทิ้งริมคลอง และเจ้าของไฟแช็กไม่ยอมรับ และในเช้าวันที่ 23 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจบ้านกร่ำ ได้นำตัวเด็กนักเรียน 2 คน ที่ให้การรับสารภาพไปส่งฟ้องศาลเด็กและเยาวชนและครอบครัว จ.ระยอง
 

ชาวบ้านตำหนิ ควรติดให้ไกลมือเด็ก

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบบริเวณหน่วยเลือกตั้งที่ 17 ศาลาอเนกประสงค์ หมู่ 7 ต.ชากพง แต่ชาวบ้านต่างปิดปากเงียบไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียด พร้อมขอตำหนิกรณีการติดหนังสือราชการเรื่องสำคัญควรจะติดให้สูงๆ หน่อย เด็กมันไม่รู้เรื่องว่าเป็นกระดาษอะไร ขยำทิ้งเอาไฟแช็กจุดเผา ซึ่งเด็กก็ยอมรับความจริง และอ้างว่าทั้งตำรวจ และนายอำเภอห้ามพูดเรื่องนี้เดี๋ยวนักข่าวรู้ กลัวนำไปลงข่าวจะกลายเป็นเรื่องใหญ่จะเดือดร้อนกันไปหมด 
 

หมวดเจี๊ยบชี้เด็กรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ควรถูกดำเนินคดี

ขณะที่ วานนี้ (24 ก.ค.59) สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.รายงานว่า ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต หรือ หมวดเจี๊ยบ อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เด็กและเยาวชน ที่ฉีกทำลายบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ เพราะความซุกซนและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ควรถูกดำเนินคดีและไม่ควรถูกสั่งฟ้อง เนื่องจากไม่ได้มีเจตนาที่จะล้มหรือขัดขวางการลงประชามติ แต่ฉีกกระดาษเพียงเพราะความซุกซน จึงอาจไม่ครบองค์ประกอบความผิดอาญาตามกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานรัฐ ควรดำเนินการเรื่องนี้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่ออนาคตของเด็ก และไม่ควรปิดคดีแบบง่าย ๆ โดยโยนความผิดให้เด็ก หรือบีบให้ผู้ปกครองยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ที่สำคัญสิ่งที่เกิดขึ้นจะโทษเด็กฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่สะท้อนว่าการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ เกี่ยวกับการลงประชามติอาจทำไม่ทั่วถึง ดังนั้น การที่เด็กยืนยันว่าไม่รู้ว่ากระดาษที่ฉีกคือเอกสารอะไร จึงเป็นคำชี้แจงที่มีเหตุผลและเป็นไปได้

ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีความจริงใจและมีความปราณีต่อเด็ก ควรหาทางออกที่ดีกว่าการทำให้เด็กมีคดีติดตัวไปชั่วชีวิต และรัฐบาลว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก ในขณะที่ผู้ใหญ่ฉีกรัฐธรรมนูญ สร้างความเสียหายต่อประเทศ แต่ยังคงใช้ชีวิตเหมือนไม่มีเรื่องใดเกิดขึ้น รวมถึงยังนิรโทษกรรมให้ตัวเองไม่ต้องรับโทษได้อีก 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส.นักกฎหมายสิทธิฯ ร้องรัฐยุติคดี 3 นักสิทธิหลังฟ้องปมรายงานซ้อมทรมาน

$
0
0

25 ก.ค. 2559 องค์กรสิทธิมนุษยชน นำโดย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL) ออกแถลงการณ์ ขอให้ยุติการดำเนินคดีกับ 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากกรณีเผยแพร่รายงานการซ้อมทรมานฯ

โดยแถลงการณ์ระบุว่า จากกรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กับ สมชาย หอมลออ  พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากการเผยแพร่ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2557-2558” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่าน โดยทั้งสามจะเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานี ตามหมายเรียกในวันที่ 26 ก.ค. 2559 นี้ (วันพรุ่งนี้) ซึ่งสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอให้กำลังใจกับนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน และมีความเห็นต่อกรณีการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว ต่อไปนี้

ประการแรก  การจัดทำรายงานเป็นไปตามหลักวิชาการและมีมาตรฐาน กล่าวคือ การจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558  เป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย หลายภาคส่วน โดยมีกระบวนการดำเนินการที่เป็นวิชาการภายใต้หลักการสากลที่เรียกว่า “Istanbul Protocol” ซึ่งเป็นคู่มือสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐานกรณีการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nation Fund for Victims of Torture) ภายใต้หลักการตาม“อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี”ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

ประการที่สอง การดำเนินงานของนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน เป็นการดำเนินการในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) โดยวิธีการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งกระทำไปในฐานะตัวแทนแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการถูกซ้อมทรมานฯ เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการคุ้มครองและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ดังนั้น พวกเขาจึงได้รับการคุ้มครองภายใต้ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Declaration on Human Rights Defenders) ซึ่งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่หลักในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และยอมรับด้วยว่า “การทำงานของบุคคล กลุ่ม และสมาคมเพื่อส่งเสริมให้มีการกำจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทุกรูปแบบเป็นสิ่งที่มีคุณค่า” ดังนั้น การดำเนินคดีของกอ.รมน.ภาค 4 สน.กับนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคนนี้ ต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติที่สวนทางกับหลักการสากล

ประการที่สาม การฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ถือเป็นการดำเนินคดีในลักษณะที่เรียกว่า SLAPP (Strategic Litigation Against Public Participation) เพื่อให้หยุดพูด หรือระงับการมีส่วนร่วมสาธารณชน หรือยุติการดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งกรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวในอีกหลายกรณีที่มีการดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่ไร้อำนาจต่อรองจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองหรือชุมชนของตัวเอง ซึ่งกรณีแม้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามคนจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงพอสมควร ก็ยังถูกใช้กฎหมายและการดำเนินคดีมาข่มขู่ให้พวกเขาหยุดดำเนินการตรวจสอบได้ ดังนั้น การดำเนินการแบบนี้ ย่อมจะส่งผลต่อเสถียรภาพและความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งที่เป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้เสียเปรียบและตกเป็นเหยื่อการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมให้เกิดความหวาดกลัว หวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานรัฐ หรือแม้กระทั่งรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อประชาคมโลก

ประการที่สี่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ไม่มีสิทธิแจ้งความดำเนินคดีกับนักสิทธิทั้งสามในข้อหาดังกล่าวได้ เนื่องจาก รัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรของรัฐ ไม่มีสิทธิเช่นเดียวกับบุคคล ไม่มีเกียรติยศ ชื่อเสียง ที่ต้องรักษา เพราะรัฐมีเพียงอำนาจและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจให้ทำหน้าที่ปกป้องส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานรัฐ หรือกระทั่งรัฐบาลละเลยหรือละเว้นไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ประชาชนก็มีสิทธิโต้แย้ง ตำหนิ หรือกระทั่งกล่าวหาได้ และรัฐมีหน้าที่ต้องรับฟังและนำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขปรับปรุงการทำหน้าที่  ไม่ใช่นำเอาข้อกล่าวหานั้นมาไล่ฟ้องดำเนินคดีกับประชาชนในข้อหาหมิ่นประมาท อีกทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน มิได้มุ่งหมายจะคุ้มครองหน่วยงานรัฐแต่อย่างใด และหากเป็นการหมิ่นประมาทตัวเจ้าพนักงานของรัฐ ก็มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาคุ้มครองตัวเจ้าพนักงานอยู่แล้ว แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด ดังนั้น การดำเนินการของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประการที่ห้า ปัจจุบันค่อนข้างจะมีความเห็นสอดคล้องกันในทางวิชาการและเป็นเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปัจจุบันว่า เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 นั้น ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะไปใช้กับกรณีหมิ่นประมาท แต่มุ่งเน้นจะใช้กับเรื่องการโจมตีระบบ หรือกรณีปลอมแปลง หรือฉ้อโกงเท่านั้น อีกทั้งยังมีคำพิพากษาศาลในคดีภูเก็ตหวานที่วินิจฉัยยืนยันเจตนารมณ์ดังกล่าวไว้ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550  มาตรา 14  ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา การดำเนินการของ กอ.รมน. ภาค 4 สน. ในการแจ้งความดำเนินคดีข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทต่อสามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขัดต่อหน้าที่ของรัฐและก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของประเทศต่อประชาคมโลก

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตาม “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558” ที่มีความเป็นกลาง โดยคัดเลือกจากบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเข้ามาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยใช้หลักการสากลที่เรียกว่า “Istanbul Protocol”และนำเสนอผลการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อประชาชนและต่อประชาคมโลกถึงความจริงใจและตั้งใจของประเทศไทยที่จะปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่ประเทศไทยเป็นภาคี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต.พาชมโรงพิมพ์บัตรประชามติ มั่นใจปลอมไม่ได้ เผยพร้อมแล้ว 95%

$
0
0

สมชัย พาสื่อ ตรวจโรงพิมพ์บัตรประชามติ แจงระบบรักษาความปลอดภัย 5 ขั้นตอน ยืนยันว่าขณะนี้การออกเสียงประชามติที่ กกต.ดำเนินการมีความพร้อมแล้ว 95% 

25 ก.ค. 2559 สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) พร้อมผู้บริหารของสำนักงาน กกต. และสื่อมวลชน เดินทางไปตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการพิมพ์และการจัดส่งบัตรออกเสียงประชามติ ณ โรงพิมพ์ บริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

สมชัย กล่าวว่า การดำเนินการพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติได้เริ่มพิมพ์ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.-28 ก.ค. 2559 รวม 34 วัน จำนวน 54,600,000 ฉบับ โดยมีคณะกรรมการกำกับและตรวจสอบการจัดพิมพ์บัตรออกเสียง พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมการจัดพิมพ์บัตรตลอด 24 ชั่วโมง และแบ่งการตรวจรับและส่งมอบ โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจรับดำเนินการตรวจรับบัตรออกเสียงประชามติตามวันเวลาที่กำหนด แบ่งเป็น 3 งวด คือ งวดที่ 1 ภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญา โดยกำหนดภายในวันที่ 9 ก.ค. 2559 ส่งมอบบัตรออกเสียง 10,000,000 ฉบับ ตรวจรับเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 โดยจัดส่งบัตรออกเสียง แบบพิมพ์และวัสดุอุปกรณ์ ให้จังหวัดทางภาคใต้ ระหว่างวันที่ 18-20 กรกฎาคม 2559

สมชัย กล่าวอีกว่า งวดที่ 2 ภายใน 25 วัน นับแต่วันทำสัญญา โดยกำหนดภายในวันที่ 19 ก.ค. 2559 ส่งมอบบัตรออกเสียง รวม 25,000,000 ฉบับ ตรวจรับเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2559 โดยจัดส่งบัตรออกเสียง แบบพิมพ์และวัสดุอุปกรณ์ ให้จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ค. 2559  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดส่ง และงวดที่ 3 ภายใน 34 วัน นับแต่วันทำสัญญา โดยกำหนดส่งมอบบัตรออกเสียง รวม 19,600,00 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 ก.ค. 2559 ทั้งนี้ได้ดำเนินการตรวจรับ 2 ครั้ง คือวันที่ 25 ก.ค. 2559 และวันที่ 27 ก.ค. 2559 โดยจัดส่งบัตรออกเสียง แบบพิมพ์และวัสดุอุปกรณ์ ให้จังหวัดทางภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 25-27 ก.ค. 2559 และจัดส่งให้จังหวัดภาคกลาง ระหว่างวันที่ 25-28 ก.ค. 2559 นอกจากนี้บัตรออกเสียงประชามติแล้ว ยังมีการส่งบัตรตัวอย่างอีก 500,000 ฉบับด้วย

สมชัย กล่าวด้วยว่า การที่ กกต.เลือกโรงพิมพ์ จันวาณิชย์ เพราะเป็นโรงพิมพ์ที่มีขีดความสามารถสูง ราคาประมูลประหยัดคุ้มค่า ทั้งนี้ในการพิมพ์บัตรได้พิมพ์บัตรเกินร้อยละ 8 เพราะเนื่องจากบางหน่วยออกเสียงใช้บัตรไม่เต็มจำนวนเล่ม ซึ่งเล่มหนึ่งจะมีจำนวน 20 ใบ จึงต้องส่งไปให้เต็มทั้งเล่ม ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่พิมพ์เกินมาเหมือนเช่นทุกครั้งที่จะอยู่ร้อยละ 8-10

“การพาสื่อฯ มาชมการพิมพ์บัตรและจัดส่งในวันนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าบัตรไม่สามารถปลอมแปลงได้ และมีการรักษาความปลอดภัยในระดับสูงยิ่ง มีการตรวจการเข้าออก ตรวจนับจำนวนบัตรที่พิมพ์ รวมทั้งในกรณีที่พิมพ์เสีย” สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวอีกว่า ในการพิมพ์บัตรฯ ได้มีการออกแบบระบบรักษาความปลอดภัยไว้ 5 ขั้น สามารถเปิดเผยกับสื่อฯ ได้ 3 ขั้น อีก 2 ขั้นเป็นความลับที่ กกต.จะใช้ในกรณีการตรวจสอบเมื่อเกิดเหตุบัตรปลอม สำหรับ 3 ขั้นที่เปิดเผยได้ คือ ในบัตรออกเสียงประชามติจะมี 2 สีที่แตกต่างกันในส่วนที่ 1 และ 2 ซึ่งก่อนถึงวันออกเสียงประชามติจะมีเจ้าหน้าที่ กกต.รู้ว่าสีอะไรไม่เกิน 10 คน ทั้งนี้ยืนยันว่า กกต.บางคนก็ไม่ทราบ และประชาชนจะรู้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่กรรมการประจำหน่วยมาตรวจรับบัตรออกเสียงประชามติ

สมชัย กล่าวว่า ขั้นที่ 2 มีการซ่อนตัวอักษรขนาดเล็กจิ๋วไว้ในบัตรฯ ซึ่งต้องใช้แว่นขยายพิเศษในการอ่าน ขั้นที่ 3 มีการพิมพ์ลายน้ำที่ใช้หมึกพิเศษที่จะต้องใช้แสงสีม่วงในการสแกน จึงจะเห็นลายดังกล่าว นอกจากนี้ในขั้นที่ 4 และ 5 ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งไม่ขอเปิดเผย
 
“ยืนยันว่าขณะนี้การออกเสียงประชามติที่ กกต.ดำเนินการมีความพร้อมแล้วร้อยละ 95 เพราะทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนและแผนที่กำหนดไว้ และในวันนี้เหลือแค่เพียงการส่งบัตรฯ ซึ่งก่อนวันออกเสียงประชามติ 2 วัน กรรมการประจำหน่วยก็จะมารับบัตรฯ ในวันนั้นประชาชนก็จะรู้ว่าบัตรออกเสียงประชามติสีอะไร และขอยืนยันว่าประเทศอื่นไม่ใช้การพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติพิเศษขนาดนี้ แต่การที่ กกต.ไทยได้พิมพ์บัตรที่มีลักษณะพิเศษเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน” สมชัย กล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใส่ใจประชามติ: อัษฎางค์ ปาณิกบุตร-อนุสรณ์ อุณโณ 'ถกร่างรัฐธรรมนูญ'

$
0
0

อนุสรณ์ อุณโณ ถาม อัษฎางค์ ปาณิกบุตร ตอบเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ชี้ไม่มีที่มาจากประชาชน อำนาจอธิปไตยไม่เป็นของประชาชนแท้จริง กลไกองค์กรอิสระและวุฒิสภาไม่ได้ยึดโยงประชาชน อยากแก้ปราบโกงเริ่มได้เลยที่ตัวใหญ่ไม่ใช่เล่นงานระดับเสมียน

24 ก.ค. 2559 บนเวที "ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กำหนดอนาคตประชาชน" ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่วงสนทนา “ถกร่างรัฐธรรมนูญ” โดย อัษฎาค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชวนถกโดย อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในรายงานของมติชนออนไลน์ตอนหนึ่งอัษฎางค์กล่าวว่า ท่ามกลางรัฐธรรมนูญที่เรามีมาตั้งแต่อดีตมาจนถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คล้ายกับวิทยานิพนธ์ คือหยิบยืมจากหลากหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาเราร่างโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือตอบสนองต่อผู้มีอำนาจ โดยไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ไม่ยึดโยงกับสังคม วัฒนธรรมของประเทศไทย ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงไม่เคยมีสักฉบับศึกษาปัญหาความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

โดยหลักแล้วรัฐธรรมนูญจะต้องสั้น ไม่เกิน 100 มาตรา และสาระสำคัญหรือรายละเอียดจะต้องใส่ไว้ในกฎหมายประกอบร่างรัฐธรรมนูญ เวลาแก้ไขก็แก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ควรมีที่มาจากประชาชน ประชาชนมีสิทธิเสียงทักท้วงได้ มีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมและใช้เวลาร่างราวๆ ปีกว่านั่นคือหลักการ แต่สิ่งที่เห็นคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีมากถึง 279 มาตรา ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แย่กว่าทุกฉบับ ที่พูดนั้นไม่ได้เป็นการบิดเบือน เพราะหากไปไล่ดูโดยอ้างอิงหลักการประชาธิปไตย เราจะเห็นได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยไม่ได้มีที่มาจากประชาชน แต่มาจากคนถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลเผด็จการ และอำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

สิ่งที่เราเห็นอีก คือมีการให้อำนาจเพิ่มลงในองค์กรอิสระโดยองค์กรอิสระเหล่านี้ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน องค์กรอิสระได้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน แต่กลับไม่มีการเลือกตั้งทั้งทางตรง และทางอ้อม อีกประเด็นที่ส่วนตัวรับไม่ได้คือระบบเลือกตั้ง ความจริงแล้วเป็นระบอบประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนใช้อำนาจเลือกได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงที่มาของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดคือหลักการ หากใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนแล้วจะต้องมีการเลือกตั้งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ ส.ว.ที่มีอำนาจมหาศาลกลับไม่มีการยึดโยงกับประชาชนเลยแม้แต่น้อย

สิ่งที่เห็นในร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศนี้ดูถูกประชาชนอย่างถึงที่สุด รวมไปถึงสิทธิเสรีภาพที่อ้างถึงในร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่มีกลไกที่ช่วยให้มีการปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

ส่วนทางออกหลังจากการมีประชามติ คือสถานการณ์ในตอนนี้ สิ่งที่ผู้มีอำนาจกระทำอยู่เป็นการฝืนมติของประชาคมโลก ถ้าคุณรักประชาชนจริงก็ควรคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่ส่วนตัวยังไม่เชื่อว่าคนมีอำนาจเผด็จการจะเปลี่ยนใจทิ้งอำนาจของตัวเอง ดังนั้นการแสดงออกของประชาชนที่มีต่อสิ่งไม่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ ประชาชนจะต้องแสดงให้พวกเขาเห็น ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

คำแนะนำที่มีต่อประชาชนในการอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของประเทศที่ทำลายระบบการศึกษา ทำให้ประชาชนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง ยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนในการอ่านให้ครบทั้งฉบับ เน้นไปตั้งแต่ที่มาของร่างรัฐธรรมนูญและรายละเอียดในหมวดหมู่ต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังนั้น ก่อนวันที่ 7 สิงหาคม ท่ามกลางโฆษณาชวนเชื่อเป็นจำนวนมากที่พูดถึงแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพ พูดถึงแต่เรื่องการปราบโกง ทั้งที่มีกฎหมายเอาไว้จัดการอยู่แล้ว และแก้ไขทุจริตต้องแก้ที่ตัวใหญ่ ถ้าที่ระดับเสมียนชาติหน้าก็แก้ไม่ได้ ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชน สิ่งที่ต้องทำคือบอกต่อๆ กันไป แบบแตกหน่อแตกเซลล์ พูดต่อไป นี่คือวิธีการที่หลายๆ ประเทศใช้ดำเนินการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิดโรงงานแปรรูปผลไม้ส่งออกที่ชุมพร คนงานกว่าพันเคว้ง โวยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

$
0
0

25 ก.ค.2559 ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชุมพร สุชาติ พรหมมิตร สมโชค สักคานา หัวหน้าช่าง ประจำแผนก บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม หมู่ 10 ต.ท่าแซะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแปรรูปผลไม้กระป๋องส่งออกต่างประเทศรายใหญ่ พร้อมด้วยกลุ่มพนักงาน คนงาน ลูกจ้าง กว่า 200 คน เข้าขอความช่วยเหลือต่อหน่วยงานเกี่ยวข้อง เนื่องจากช่วงเช้าที่ผ่านมาพนักงานและคนงานของบริษัท ได้เดินทางไปทำงานที่โรงงานดังกล่าว แต่ต้องตกใจเมื่อพบว่าประตูโรงงานปิดล๊อกอย่างดี โดยมีตำรวจ ทหาร และ อ.ส.และ รปภ. ยืนคุมรักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณหน้าประตูและห้ามบุคคลภายนอกเข้าอย่างเด็ดขาด
       
สุชาติ  เปิดเผยว่า ตนได้พยายามสอบถามไปยังผู้บริหารบริษัทก็ทราบว่า บริษัทได้สั่งปิดโรงงานลงอย่างถาวรในวันนี้ ด้วยอ้างว่าจะย้ายฐานการผลิตไปรวมกับ จ.ประจวบคีรีขันธ์และ จ.ระยอง และบอกว่าหากพนักงาน คนงาน รายใดต้องการจะทราบรายละเอียดต่างๆให้เดินทางมายังโรงแรมแห่งหนึ่งกลางใจเมืองชุมพร เพื่อจะได้รู้ถึงข้อมูลต่างๆซึ่งพวกตนก็ได้เดินทางไปตามที่ทางบริษัทจัดเตรียมไว้ แต่ก็ถูกผู้บริหารจัดแยกให้เข้าประชุมเป็นแผนกเป็นกลุ่มไม่ให้รวมกัน 

สุชาติ กล่าวต่อว่า ได้มีพนักงานบางส่วนที่เข้าไปแล้วออกมาบอกต่อกันว่าทางบริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ที่ จ.ชุมพร ได้ปิดตัวลงจริงและจะย้ายฐานการผลิตไปรวมกันที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และ จ.ระยอง แต่พนักงานและคนงานบริษัทยังคงจ้างอยู่เช่นเดิม แต่ต้องเลือกว่าจะไปทำที่จังหวัดไหน หรือจะยื่นใบลาออกตามความสมัครใจ ทำให้ทุกคนไม่พอใจเพราะว่าการจะปิดหรือย้ายโรงงานจะต้องแจ้งกล่าวล่วงหน้า ไม่ใช่นึกจะปิดก็ปิดเลย ซ้ำยังให้เลือกข้อใดข้อหนึ่งอีก จึงได้เดินทางมาเพื่อขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างทีเป็นคนไทยกว่า 1,300 คน และแรงงานต่างด้าวกว่า 200 คน รู้สึกเคว้งขว้างตกงาน 

ด้าน กุลรัฐ วิวัฒนานนท์ รักษาราชการแทนสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชุมพร ได้ลงมาพบพนักงานและคนงานดังกล่าวและเปิดเผยว่า สมดี คชายั่งยืน ผวจ.ชุมพร ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและช่วยเหลือด้านสวัสดิการตามกฎหมาย และจะเชิญทางบริษัทมาชี้แจงถึงสาเหตุในการปิดโรงงานพร้อมกับจะหาตำแหน่งงานรองรับตามความสมัครใจต่อไป 

ขณะที่ ฉัตรปวีณ์ จิระวัฒนผลิต ผอ.ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.ชุมพร ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ฐานของการผลิต เนื่องจากปัญหาด้านผลผลิตในพื้นที่มีน้อย ต้องซื้อจากจังหวัดอื่นทำให้ต้นทุนสูง ประกอบกับเราเป็นบริษัทผลิตแปรรูปผลไม้ส่งออกไปต่างประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องขนส่งสินค้าที่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูง จึงต้องย้ายฐานการผลิตไปรวมกับที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ระยอง ส่วนแรงงานทั้งหมดเราจะปฏิบัติดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยทำความเข้าใจกันเองเป็นการภายในกับพนักงานและลูกจ้างอยู่เท่านั้น 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทนายยก 8 ประเด็น ยันไม่มีกฎหมายห้ามถ่ายคลิปตำรวจขณะตรวจค้น

$
0
0

26 ก.ค.2559 จากกรณีที่ จาตุรงค์ สุขเอียด ผู้สื่อข่าวช่อง 3โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งห้ามบันทึกภาพขณะที่ตรวจค้นรถ จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดยมีผู้แชร์ต่อโพสต์ดังกล่าวกว่า 70,000 ครั้ง พร้อมทั้งในโซเชียลเน็ตเวิร์กยังมีการนำภาพป้ายที่มีสัญลักษณ์ห้ามบันทึกภาพหรือวิดีโอ ยิ่งส่งผลต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงสิทธิในการบันทึกภาพขณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนั้นทำได้หรือไม่ อย่างไร

 

เกิดผล แก้วเกิดทนายความ ได้โพสต์อธิบายกรณีดังกล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ยืนยันว่าสามารถถ่ายได้ไม่ผิดกฏหมาย โดยยก 8 เหตุผล ดังนี้ 

เรื่องนี้ผมเคยโพสต์ไว้นานมากแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับ การให้สัมภาษณ์ของอดีตรองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท. ประวุฒิ ถาวรศิริ ว่า การถ่ายรูป ถ่ายคลิป วีดีโอ ในขณะเจ้าพนักงานตำรวจปฎิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการค้น หรือจับกุม ...

สามารถถ่ายรูป หรือคลิปได้ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิ และไม่ผิดกฎหมาย แต่อย่างใด

เพราะ...

1. ไม่มีกฎหมายใดๆ ห้ามประชาชนถ่ายรูป ถ่ายคลิป วีดีโอ ของเจ้าพนักงานตำรวจขณะปฎิบัติหน้าที่

2.ไม่มีกฎหมาย รับรอง หรือคุ้มครอง เจ้าพนักงานตำรวจ ให้อ้างได้ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล กล่าวคือ การปฎิบัติหน้าที่นั้นๆ ไม่ใช่เหตุปกติในชีวิตประจำวันของเจ้าพนักงานตำรวจท่านนั้น แต่เป็นเรื่องระหว่างการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งแตกต่างจากเวลานอกราชการ เช่น ขณะพักผ่อนอยู่กับครอบครัว มีคนไปถ่ายรูปโดยเจ้าตัวไม่อนุญาต ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ดังนั้น เวลาตำรวจปฎิบัติหน้าที่ในเวลาราชการ จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

การที่ตำรวจอ้างว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ตรงตามความจริง

ประชาชาชน ที่ถูกค้น ถูกจับ หรือ บุคคลทั่วไป ที่สงสัยการทำงาน จึงถ่ายรูปได้

3. เวลาประชาชนที่ถูกค้น ถูกจับ มีสิทธิถ่ายรูป ถ่ายคลิป ไว้เป็นพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิของตนเอง และป้องกันการยัดเยียดข้อหา หรือของกลางได้ เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ จึงเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามกฎหมาย ที่ผู้ถูกค้น ถูกจับ รวมทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง จะรวบรวมพยานหลักฐานไว้เบื้องต้นได้

4. การถ่ายรูป ถ่ายคลิป วีดีโอ เป็นการป้องกันการกระทำมิชอบบางอย่างของตำรวจ หากตำรวจบริสุทธิใจ และเจตนาสุจริต ปฎิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ก็ไม่จำเป็นต้องเกรงการตรวจสอบ โดยการถ่ายรูป ถ่ายคลิป

นอกจากนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 102 ก็บัญญัติว่า เจ้าพนักงานตำรวจ หรือ ฝ่ายปกครอง จะทำการตรวจค้นที่รโหฐาน ต้องแสดงความบริสุทธิต่อหน้าเจ้าของบ้าน หรือผู้ถูกค้นเสียก่อน

การค้นในที่สาธารณะ ก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงความบริสุทธิก่อนทำการตรวจค้น ขณะตรวจค้น และภายหลังตรวจค้น

คุณไม่ผิด คิดชั่ว คุณจะกลัวอะไรกับกล้อง

5. เวลามีคนถ่ายรูป ตำรวจชอบข่มขู่ว่า

ขออนุญาตหรือยัง หรือ ห้ามถ่าย เพราะคุณละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของตำรวจ

ผมได้อธิบายมาแล้วในข้อ 2 ว่า ไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ดังนั้นผมจึงขออนุญาตถามตำรวจที่ชอบพูดคำนี้ว่า

คุณปฎิบัติหน้าที่อยู่ ทำไมประชาชนต้องขออนุญาตคุณก่อนถ่ายรูป หากคุณไม่อนุญาตให้ถ่าย จะเป็นความผิดอย่างไร และ

ที่คุณบอกว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล (ย้ำในขณะปฎิบัติหน้าที่) เป็นความผิดในกฎหมายใด มาตราใหน ?

6.การถ่ายรูป ถ่ายคลิป ต้องไม่เป็นการขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ ของเจ้าพนักงานตำรวจ

7.การนำรูป นำคลิป มาอัพโหลด และแชร์ในโซเชี่ยล ห้ามตัดต่อในลักษณะนำความเท็จมาเผยแพร่ ซึ่งเป็นความผิด ตาม พรบ.คอมฯได้

8.การนำคลิป รูปถ่าย ที่พบเห็นการกระทำผิดของตำรวจ มาเปิดเผย ไม่เป็นการหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329

ทั้งหมดนี้ คือหลักกฎหมาย ที่ประชาชนมีสิทธิถ่ายรูป เจ้าพนักงานตำรวจขณะปฎิบัติหน้าที่ได้

แต่การเผยแพร่ต้องไม่ใช่การดัดแปลงแก้ไข อันเป็นความเท็จ

หากเป็นความจริง ท่านไม่ต้องกลัว..

และตำรวจบางคน ชอบข่มขู่ประชาชนจังว่าจะจับกุม คนนำคลิปตำรวจมาเปิดเผย

สงสัยท่านเห็นประชาชนเป็นศัตรู หรืออย่างไร?

 

เกิดผล ยังได้อ้างอิงถึง ประมวลกฎหมายอาญา ม.329 และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.102 ด้วย

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัย ของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิด เผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102 การค้นในที่รโหฐานนั้น ก่อนลงมือค้นให้เจ้าพนักงาน ผู้ค้นแสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน และเท่าที่สามารถจะทำได้ให้ค้นต่อ หน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น หรือถ้าหา บุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคน ซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.คุมตัวหลานสาว ‘พลทหารวิเชียร’ เหตุโพสต์หมิ่นประมาท น้าชายถูกซ้อมตายในค่ายทหาร

$
0
0

จับตัวตามหมายจับหลานสาวที่เปิดโปงเรื่องการตายของน้าชาย 'พลทหารวิเชียร เผือกสม' ในค่ายนราธิวาส คาดข้อหาหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เตรียมส่งตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่นราธิวาส เจ้าตัวยันปฏิเสธทุกกรณี พร้อมต่อสู้คดี 

ตำรวจ สน.มักกะสัน ส่งหลานพลทหารวิเชียรฟ้องศาลนราธิวาส หลังร้องเรียนน้าเสียชีวิตในค่ายทหาร ยืนยันขอต่อสู้คดีที่ผ่านมาโพสต์ในข้อเท็จจริง และร้องเรียนผ่านช่องทางกระบวนการยุติธรรม


นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ (ที่มาภาพ profile ใน LINE)


ภาพสกู๊ป Voice TV อ่านได้ที่นี่ 


ให้สัมภาษณ์ภายหลังทำบันทึกการจับกุมและลงบันทึกประจำวัน ที่สน.มักกะสัน

26 ก.ค. 2559 เวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ อายุ 25 ปีหลานสาวของพลทหารวิเชียร เผือกสม ซึ่งถูกทำโทษจนเสียชีวิตในค่ายทหารจังหวัดนราธิวาสเมื่อปี 2554 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.มักกะสัน 3 นายเข้าควบคุมตัวในที่ทำงาน โดยแสดงหมายจับข้อหาหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ทหารและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

การจับกุมเป็นไปตามหมายจับที่ 104/2559 ออกโดยศาลจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 กล่าวหาว่า "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร และ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" ทั้งนี้ ตำรวจสถานีตำรวจมักกะสันแจ้งว่า แม้หมายจับออกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ที่เพิ่งมีการจับกุมในวันนี้เพราะตำรวจจากนราธิวาสเพิ่งติดต่อมาวันนี้

15.30 น. ขณะนี้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนริศราวัลถ์เพื่อทำบันทึกการจับกุม และเตรียมส่งตัวไปยังสภ.เมืองนราธิวาส  เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีต่อไป

นริศราวัลถ์ ซึ่งทำงานที่กรมสวัสดิการเด็กให้ข้อมูลกับทนายความว่า การเข้าควบคุมตัวครั้งนี้เป็นการเข้าจับกุมตามหมายจับ คาดว่าเกิดเหตุที่กรณีการตายของน้าชายเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2558 หลังสปริงนิวส์มาทำสกู๊ปเรื่องนี้และมีการนำเรื่องนี้ไปโพสต์ในพันทิปจนมีผู้มาวิพากษ์วิจารณ์มากมาย อย่างไรก็ตาม เธอจะปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและสู้คดีในชั้นศาล เพราะต้องการพิสูจน์ว่าสิ่งที่พูดเป็นความจริง และเวลาโพสต์ไม่ได้โพสต์พาดพิงหรือเอ่ยชื่อใครเป็นการเฉพาะเจาะจง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางจะเดินทางโดยรถตู้ไปกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากนราธิวาส และตำรวจหญิง รวมทั้งจะมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมเดินทางไปด้วย 2 คน  

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความของนริศราวัลถ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้สัมภาษณ์ระหว่างลูกความทำบันทึกการจับกุมว่า ในเบื้องต้นยังไม่ทราบพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาและยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กล่าวหาหรือกล่าวโทษ ก่อนหน้านี้นริศราวัลถ์ไม่เคยได้หมายเรียกให้ไปรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาก่อนแต่อย่างใด ซึ่งตามกฎหมายข้อหาที่มีโทษสูงไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกก็ได้ แต่ในฐานะทนายเห็นว่ากรณีนี้ลูกความมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและพฤติการณ์ความผิดไม่ได้ร้ายแรง ควรออกหมายเรียกก่อน

พูนสุขกล่าวอีกว่า นริศราวัลถ์เรียกร้องความยุติธรรมให้น้าชายมาตลอดแต่กลับถูกกระทำหลายอย่างทั้งถูกข่มขู่ และกระทั่งถูกดำเนินคดี สิ่งที่สังคมควรต้องตอบคือ ทำไมไม่มีใครถูกฟ้องอาญาในคดีที่น้าชายของเขาเสียชีวิต นอกจากนี้วันนี้ก็ยังมีนักกิจกรรมที่ทำเรื่องการละเมิดสิทธิ 3 คนที่ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาท รัฐควรตรวจสอบการละเมิดมากกว่ามาฟ้องคนตรวจสอบ

“ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องคนที่ปกป้องสิทธิมาโดยตลอด แม้จะพิสูจน์ได้ในภายหลังว่าไม่ผิด แต่ก็เป็นภาระอย่างมากสำหรับคนทำงาน” พูนสุขกล่าว

17.20 น.นริศราวัลถ์  ออกมาจากห้องในสน.มักกะสัน หลังทำบันทึกการจับกุม ลงบันทึกประจำวันเสร็จสิ้น และให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสั้นๆ ก่อนถูกนำตัวส่ง สภ.เมืองนราธิวาส ตามหมายจับ เธอให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า จะถูกแจ้งข้อหา หมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2554 พลทหารวิเชียร วัย 26 ปีจบการศึกษาปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหารและเข้าฝึกที่หน่วยฝึกทหารใหม่ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ต่อมาวันที่ 1 มิ.ย.2554 เจ้าหน้าที่ทหาร 10 นาย ได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียรโดยทรมานและกระทำทารุณโหดร้าย โดยอ้างว่าพลทหารวิเชียร เผือกสม หลบหนีการฝึก ทำให้พลทหารวิเชียร ได้รับบาดเจ็บสาหัส และได้เสียชีวิตในวันที่ 5 มิถุนายน 2554 โดยสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากไตวายเฉียบพลันจากกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง

พูนสุข ให้ข้อมูลว่า สำหรับคดีของพลทหารวิเชียรนั้น ปัจจุบันคดีแพ่งสิ้นสุดแล้ว (อ่านที่นี่) ขณะที่คดีอาญานั้นยังไม่มีการพิจารณาคดีในศาล แต่อยู่ในชั้นของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันเดียวกันนี้ ( 26 ก.ค.) เอ็นจีโอซึ่งจัดทำและออกรายงานเรื่องการซ้อมทรมานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ต้องเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฐานหมิ่นประมาทกับ พนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานี ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเหตุดังกล่าวสืบเนื่องจาก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กับ สมชาย หอมลออ, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากการเผยแพร่ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2557-2558” เมื่อเดือน ก.พ. 2559 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ งัด ม.44 แช่แข็ง นายกฯ อบจ.เชียงใหม่ ระหว่างสอบสงสัยเอี่ยว จม.แย้งร่างรธน.

$
0
0

26 ก.ค.2559 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 44/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 5 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ลงนาม

คำสั่งระบุว่า ตามที่จะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. 2559 และเจ้าหน้าที่ ได้เข้าดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายนั้น เจ้าหน้าที่ได้รับรายงานและตรวจค้นพบว่าผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งมีการกระทําซึ่งอาจเป็นความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จําเป็นต้องดําเนินการโดยด่วนเพื่อป้องกันหรือระงับ มิให้เป็นการทําลายความสงบเรียบร้อยหรือเกิดความเสียหายต่อราชการแผ่นดิน

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ระงับการปฏิบัติ ราชการหรือหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคําสั่ง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน

ข้อ 2 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมายดําเนินการตรวจสอบ หรือดําเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็ว ในกรณีพบว่ามีผู้บริหารหรือข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้อื่นเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิด หรือไม่พบว่าบุคคลตามข้อ 1 มีความผิด ให้หน่วยงานดังกล่าว รายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาหรือเปลี่ยนแปลงคําสั่งต่อไป

ข้อ 3 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สั่ง ณ วนที่ 26 ก.ค. 2559

ตระกูล 'บูรณุปกรณ์' แจงไม่เกี่ยว จม.

ขณะที่เมื่อ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าจากกรณีเจ้าหน้าที่ค้นบริษัท เชียงใหม่ทัศนาภรณ์ จำกัด ถ.เชียงใหม่-สันกำแพง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกันกับบ้านของ วิศรุต คุณะนิติสาร อายุ 35 ปี ถูกดำเนินคดีแจกจ่ายจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญตามตู้ไปรษณีย์ในเขตพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งในบริษัทพบของกลางจำนานมากที่เกี่ยวข้องกับการบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นซองจดหมาย เครื่องปริ๊นเตอร์ คอมพิวเตอร์ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการบิดเบือนเนื้อร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น 
 
ทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตนพอจะทราบเรื่องดังกล่าวอยู่บ้างจากข่าวที่ออกมา แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายบ้านเมืองและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงผู้กระผิด ทำผิดอะไรไว้ก็รับโทษกันไปตามกฏหมาย 
 
ส่วนเรื่องการเกี่ยวข้องกับตระกูลบูรณุปกรณ์นั้น ส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างแน่นอน เพราะต่างฝ่ายต่างทำงาน ขณะที่ทางด้านของนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ไปต่างประเทศจริง เพื่อเยี่ยมลูกสาวในต่างประเทศ ซึ่งได้แจ้งลาล่วงหน้าแล้ว ไม่ได้หลบหนีตามเสียงลือเสียงเล่าอ้าง พร้อมยืนยันความบริสุทธ์เมื่อเดินทางกลับจากต่างประเทศ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กังขาสื่อดังฮ่องกง ปมบทสัมภาษณ์นักกิจกรรมหลังปล่อยตัวมีเงื่อนงำ เหตุแม้แต่สามียังติดต่อเจ้าตัวไม่ได้

$
0
0

สื่อดังฮ่องกงเผชิญข้อกังขาครั้งใหญ่หลังเผยแพร่ "บทสัมภาษณ์" นักกิจกรรมที่เพิ่งมีประกาศปล่อยตัวแต่คนใกล้ชิดยังไม่สามารถติดต่อเธอได้ รวมถึงลักษณะคำให้สัมภาษณ์คล้ายตอนที่คนต้านรัฐบาลจีนถูกบังคับให้ "สารภาพ" จึงกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ่งที่นำเสนอนี้เป็น "การเขียนบท" ของรัฐบาลจีนหรือไม่ ท่ามกลางความกังวลว่าสื่อฮ่องกงเริ่มถูกรัฐบาลจีนกลางครอบงำ

25 ก.ค. 2559 ทอม ฟิลิปส์ นักข่าวเดอะการ์เดียนที่ประจำในกรุงปักกิ่งประเทศจีน ระบุถึงกรณีที่หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ซึ่งเป็นสื่อในฮ่องกง ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากลายเป็นปากกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากที่มีการนำเสนอบทสัมภาษณ์ของนักกิจกรรมชื่อ เจ้าเวย ผู้เคยถูกทางการจีนกักขังไว้ แต่ทนายความและสามีของเธอกลับไม่สามารถติดต่อกับเธอได้

กลายเป็นคำถามว่าเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์นำบทสัมภาษณ์เธอมาจากไหนถ้าหากทนายความและสามีของเจ้าเวยไม่สามารถติดต่อเธอได้และสงสัยว่าเธอยังคงถูกคุมขังอยู่ที่ใดสักแห่ง ก่อนหน้านี้เซาท์ไช่นามอร์นิงโพสต์ หรือ SCMP นำเสนอบทสัมภาษณ์ของเจ้าเวย นักกิจกรรมและผู้ช่วยด้านกฎหมาย อายุ 24 ปี เธอถูกรัฐบาลจีนกักขังอย่างลับๆ เป็นเวลา 1 ปี ในบทสัมภาษณ์ของ SCMP เจ้าเวยบอกว่าเธอรู้สึกเสียใจกับกิจกรรมที่เธอทำ อย่างไรก็ตาม บทสัมภาษณ์นี้ถูกตั้งคำถามจากทั้งนักกิจกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ และนักข่าวของ SCMP เอง ถึงเรื่องความน่าเชื่อถือ

อดีตนักข่าวและบรรณาธิการของ SCMP ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้เช่นอดีตบรรณาธิการรายหนึ่งกล่าวว่าบทสัมภาษณ์เจ้าเวยน่าสงสัยมาก อดีตนักข่าวอีกคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าบทสัมภาษณ์ดังกล่าวอาจจะเป็นสิ่งที่ทางการจีนจัดเตรียมมาให้ และอดีตพนักงานของ SCMP รายหนึ่งกล่าวว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่หนังสือพิมพ์ที่เคยเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียกำลังกลายเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลจีน ทางทนายความและสามีของเจ้าเวยก็สงสัยเช่นกันว่าการสัมภาษณ์ในครั้งนี้อาจจะเป็นการจัดฉากของรัฐบาลจีน

เดอะการ์เดียนระบุว่า SCMP พูดคุยกับเจ้าเวยผ่านทางความช่วยเหลือของตัวกลางลึกลับที่ไม่เปิด เผยตัวต่อพนักงาน SCMP ซึ่งทาง SCMP ออกแถลงการณ์ผ่านอีเมลในนาม "กองบรรณาธิการ" ว่าการตั้งคำถามต่อ SCMP ในเรื่องนี้เป็นการพยายาม "ป้ายสี" ให้ SCMP ถูกมองในแง่ลบ พวกเขายังระบุอีกว่าพวกเขาไม่แน่ใจว่าเจ้าเวยให้สัมภาษณ์ในขณะที่เธออยู่ภายใต้การควบคุมสอดส่องหรือไม่ และทาง SCMP ปฏิเสธซ้ำๆ ที่จะอธิบายว่าพวกเขาจัดแจงให้มีการสัมภาษณ์เจ้าเวยได้อย่างไร และปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าบทสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทางการจีนเขียนให้

การวิพากษ์วิจารณ์ SCMP มาพร้อมกับความกังขาต่อสื่อฉบับนี้หลังจากที่แจ็ค หม่า นักธุรกิจผู้มั่งคั่งที่สุดคนหนึ่งของจีนผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อาลีบาบาซื้อกิจการสื่อ SCMP ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทำให้มีคนกังวลว่าสื่อ SCMP จะถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนกดดันทางการเมือง และหลังจากนั้นก็มีความไม่พอใจเกิดขึ้นทั้งในห้องประชุมข่าวและจากผู้อ่านที่อ้างว่า SCMP สูญเสียจุดยืนสื่อแบบเดิมไปแล้ว

เจ้าเวยเป็นนักกิจกรรมอายุน้อยที่สุดที่ตกเป็นเป้าหมายการกวาดล้างทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรอบล่าสุดในจีน สื่อ SCMP ระบุว่าพวกเขาสัมภาษณ์เจ้าเวยทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลา 3 วันหลังจากมีการประกาศปล่อยตัวเจ้าเวย ในบทสัมภาษณ์ที่เป็นปัญหานี้มีการอ้างว่าเจ้าเวยบอกว่า "ฉันเริ่มเข้าใจว่าฉันเดินทางผิดมาตลอด" และ "ฉันขอแสดงความสำนึกผิดต่อสิ่งที่ทำลงไป นับจากนี้ฉันจะเป็นคนใหม่"

เดวิด บันดูร์สกี นักวิเคราะห์สื่อฮ่องกง ตั้งข้อสังเกตว่าการสารภาพครั้งล่าสุดมีลักษณะคล้ายกับที่ทางการจีนเคยบังคับให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสารภาพออกสื่อซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้งมากนับตั้งแต่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจในปี 2555

อย่างไรก็ตามอดีตคนที่เคยทำงานใน SCMP บางคนชี้ว่า SCMP เริ่มเบี่ยงออกจากทิศทางเดิมตั้งแต่ก่อนแจ็ค หม่า จะซื้อกิจการแล้ว มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของ SCMP เกิดขึ้นตั้งแต่หลังจากช่วงนำเสนอข่าวการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงปี 2557 ซึ่งในช่วงนั้นทำให้เว็บไซต์ SCMP มีผู้เข้าชมจำนวนมากและเป็นช่องทางที่ทั่วโลกใช้จับตาดูสถานการณ์ฮ่องกง ทำให้ฝ่ายบริหารของหนังสือพิมพ์รู้สึกยินดีไปพร้อมๆ กับกังวลว่าข่าวของพวกเขาจะเอียงข้างผู้ประท้วงมากเกินไปหรือไม่ ทำให้มีบรรยากาศในที่ทำงานเปลี่ยนไป อดีตนักข่าวรายหนึ่งบอกว่าเขารู้สึกได้ถึงความตึงเครียดหลังจากการประท้วง 79 วันในฮ่องกงที่ทิศทางของสื่อฉบับนี้มีความเป็นปรปักษ์กับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้น

พอล มูนนีย์ นักข่าวอาวุโสชาวอเมริกันที่เคยทำงานกับ SCMP จนถึงปี 2555 และได้รับรางวัลจากประเด็นสิทธิมนุษยชนในจีนหลายรางวัลกล่าวว่า SCMP ยังคงนำเสนอได้ดีในประเด็นที่มีความอ่อนไหวและยังคงพยายามรักษาความเป็นกลางไว้ อย่างไรก็ตามมูนนีย์เห็นตรงกับนักข่าว SCMP หลายคนว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา SCMP เริ่มมีการแก้ไขเนื้อหาหนักขึ้นหรือยกเลิกการนำเสนอบางมุมที่อาจจะทำให้ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ไม่พอใจ อดีตพนักงานสองคนบอกว่ามีโครงการเกี่ยวกับการครบรอบ 25 ปีเหตุการณ์ปราบผู้ชุมนุมจัตุรัสเทียนอันเหมินถูกคัดค้านจากบรรณาธิการแต่ก็ได้รับการตีพิมพ์ในที่สุด นักข่าวผู้ทำโครงการที่ได้รับรางวัลหลายคนลาออกจาก SCMP แล้ว รวมถึงมูนนีย์ผู้บอกว่าตนเองถูกขับออกจาก SCMP ด้วย "เหตุผลทางการเมือง"

สมาคมผู้สื่อข่าวฮ่องกงก็แสดงความกังวลต่อการที่ทางการจีนแผ่นดินใหญ่พยายามควบคุมฮ่องกงมากขึ้นเช่นกันในรายที่ชื่อว่า "หนึ่งประเทศ สองฝันร้าย" ซึ่งระบุว่าจีนพยายามควบคุมฮ่องกงมาตั้งแต่หลังเหตุสังหารหมู่ที่เทียนอันเหมินปี 2532 แล้ว และในตอนนี้รัฐบาลจีนหรือบรรษัทจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็สามารถควบคุมสื่อหลักของฮ่องกงได้แล้ว 8 ใน 26 แหล่ง คิดเป็นร้อยละ 31 ของทั้งหมด และการที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มลงทุนในสื่อฮ่องกงมากขึ้นก็ชวนให้เกิดความกังวล

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนก็เคยตั้งคำถามต่อการที่อาลีบาบากรุ๊ปเข้ายึดครอง SCMP ผู้ที่พวกเขาเรียกว่าเป็น "สื่ออิสระแหล่งสุดท้ายของฮ่องกง" เช่นกัน

ทางด้าน SCMP ออกแถลงการณ์วิจารณ์เดอะการ์เดียนว่ามีอคติจากการเลือกผู้ให้สัมภาษณ์ในการรายงานข่าวเรื่องเกี่ยวกับพวกเขา ในแถลงการณ์ของพวกเขายืนยันว่าจุดยืนของพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนไปหลังจากที่มีการเปลี่ยนเจ้าของโดยอ้างว่ายังมีการทำข่าวที่เป็นอิสระและมีแนวคิดวิพากษ์วิจารณ์อยู่ รวมถึงระบุในเชิงต่อว่าเดอะการ์เดียนว่า "ขอให้มีมาตรฐานของสื่ออิสระเชิงวิพากษ์วิจารณ์แบบเดียวกับที่คาดคั้นจากพวกเราก็แล้วกัน"

อย่างไรก็ตามมีอดีตคนทำงาน SCMP ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ SCMP ในทางลบ เช่น เดวิด ลาค อดีตบรรณาธิการบริหารช่วงปี 2542-2544 กล่าวว่าพวกเขามีอิสระในการทำงานมากโดยไม่กลัวการเซนเซอร์ ขณะที่อดีตผู้สื่อข่าวรายอื่นๆ บอกว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการวิจารณ์เพื่อนร่วมงานของพวกเขาที่ยังคงทำงานอยู่ในนั้น โดยเชื่อว่าพวกเขาเหล่านั้นยังคงทำงานข่าวในประเด็นต่างๆ ได้อย่างเป็นมืออาชีพแม้จะต้องถูกเจ้านายของพวกเขาไม่ชอบ แต่อดีตนักข่าวและบรรณาธิการก็ไม่ได้ตั้งความหวังกับอนาคตของ SCMP นัก และเชื่อว่านักข่าวมืออาชีพเหล่านี้คงอยากออกจากงานของที่นั่นถ้ามีโอกาส

 

เรียบเรียงจาก

Mysterious confession fuels fears of Beijing's influence on Hong Kong's top newspaper, The Guardian, 25-07-2016
https://www.theguardian.com/world/2016/jul/25/south-china-morning-post-china-influence-hong-kong-newspaper-confession

 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

3 นักสิทธิผู้เปิดการซ้อมทรมานรับทราบข้อหาหมิ่นประมาททหาร พร้อมโต้ ทหารไม่เปลี่ยน-ไม่แก้ปัญหา

$
0
0

3 นักปกป้องสิทธิฯ รับทราบข้อกล่าว หลัง กอ.รมน. ภาค 4 ฟ้องหมิ่นประมาท-พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากกรณีที่ออกรายงานซ้อมทรมานภาคใต้ ผู้ทำรายงานโต้ ทหารไม่เปลี่ยน-ไม่แก้ปัญหา

สมชาย หอมลออ ,พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ,อัญชนา หีมมิหน๊ะ  ตามลำดับ

26 ก.ค.2559 เวลา 13.00 น. ที่ สภ.เมืองปัตตานี นักสิทธิมนุษยชน 3 คน ประกอบด้วย สมชาย หอมลออ, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ ได้เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนในกรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 แจ้งความดำเนินคดีด้วยข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 มาตรา 14 จากการเผยแพร่ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2557– 2558” โดยรายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจและองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูแตะ ทนายความของทั้งสามกล่าวว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งรายละเอียดข้อกล่าวหาในส่วนของความผิดฐานหมิ่นประมาทว่าเกิดในวันที่ 10 ก.พ.2559 ที่ทางเครือข่ายมีการเปิดเผยรายงาน ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ในวันที่ 14 ก.พ.2559 หลังจากมีการเผยแพร่รายงานผ่านเว็บไซต์ต่างๆ

”ผมสังเกตเห็นว่าถ้าในหนังสือมีคำว่าเจ้าหน้าที่ทหาร หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับทหาร เขาก็จะอ้างว่าไม่เป็นความจริง" อับดุลกอฮาร์ กล่าวและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าทั้งสามให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวโดยไม่ต้องประกันตัว ส่วนรายละเอียดในเรื่องข้อต่อสู้นั้นทีมทนายจะมีการจัดทำบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง

แอมเนสตี้แถลงต้องยกเลิกสอบสวนโดยทันที

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International-AI) ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการแจ้งข้อหาแก่นักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนโดยเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการสอบสวนทางอาญาแก่ทั้งสามโดยทันที แถลงการณ์ยังกล่าวว่า หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลทหารของไทยได้มีความพยายามในการปราบเสียงที่เห็นต่างทุกรูปแบบ อีกทั้งยังมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเเสดงออกอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่ทางการได้ตั้งข้อหาต่อบุคคลกว่า 100 คน เนื่องจากการต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ

“ทางการไทยควรยุติการสอบสวนทางอาญาโดยทันที โดยยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักกิจกรรมทั้งสามคนและดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรมต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่พวกเขาเปิดโปง เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ปกป้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากความรับผิด” ซาลิล เช็ตตี้ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

“กรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งสามคนนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลทหารว่า ไม่มีบุคคลใดที่ปลอดภัยและอยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขาได้”ซาลิลกล่าว

ผู้จัดทำออกแถลงการณ์การที่รัฐเข้าแจ้งความ สะท้อนถึงการพยายามไม่แก้ปัญหา

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีการจัดทำและเผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ 2557-2558 โดยเนื้อความบางส่วนกล่าวว่า กรณีการแจ้งความร้องทุกข์ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้านั้น สะท้อนให้เห็นท่าทีที่ไม่เปลี่ยนแปลงต่อการแก้ปัญหาการทรมานของรัฐบาลไทย การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลยข้อเสนอแนะของรายงานแต่กลับดำเนินคดีต่อผู้จัดทำแทนนั้นแสดงให้เห็นว่าทางการไทยและผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้รู้เห็นเป็นใจ หรือยินยอมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคนใช้วิธีการทรมานการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีต่อผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบต่อไป

อีกทั้งแถลงการณ์ยังกล่าวอีกว่าผู้จัดทำได้ส่งรายงานชิ้นดังกล่าวให้กับเจ้าหน้าที่ก่อนเผยแพร่เป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาแต่อย่างใด มีเพียงเฉพาะเจ้าหน้าที่บางคนได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามเพื่อขอทราบรายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์เท่านั้น 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์ 

ประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและนักกิจกรรมอีกสองคนอาจได้รับโทษจำคุกเนื่องจากเปิดโปงการทรมาน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยต้องยกเลิกการสอบสวนทางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงทั้งสามคนโดยทันที รวมทั้งต่อประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งอาจถูกแจ้งข้อหาในวันนี้เนื่องจากการจัดทำและตีพิมพ์เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการทรมานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย 

นายสมชาย หอมลออ นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเมื่อเดือนที่แล้ว อาจต้องได้รับโทษจำคุกห้าปีและถูกปรับเป็นเงินประมาณ 170,000 บาท หากพบว่ามีความผิดฐาน “หมิ่นประมาททางอาญา” และ “ความผิดทางคอมพิวเตอร์” โดยบุคคลทั้งสามจะเข้าพบตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้

ซาลิล เช็ตตี้ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยสัญญาจะประกาศใช้กฎหมายต่อต้านการทรมาน แต่นับเป็นความขัดแย้งที่พวกเขากลับคุกคามนักกิจกรรมที่พยายามเปิดโปงการกระทำอันน่ารังเกียจเช่นนี้

“ทางการไทยควรยุติการสอบสวนทางอาญาโดยทันที โดยยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักกิจกรรมทั้งสามคน และดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรมต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่พวกเขาเปิดโปง เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ปกป้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากความรับผิด” 

นายสมชาย หอมลออ นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เป็นสมาชิกของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.) และกลุ่มด้วยใจ พวกเขาได้ร่วมกันตีพิมพ์เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เสนอ 54 กรณีของการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพไทย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความอ่อนไหว และมีรายงานการทรมานเกิดขึ้น

ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ และเป็นหน่วยงานที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษในรายงานการทรมานฉบับนี้ ได้แจ้งข้อหาต่อบุคคลทั้งสามเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559  

ข้อกล่าวหาต่อบุคคลทั้งสามเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของการข่มขู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยที่จะต้องคุ้มครองสิทธิของพวกเขา

ภายหลังรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลทหารของไทยเพิ่มความพยายามในการปราบปรามเสียงที่เห็นต่างทุกรูปแบบ มีการจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม และการสมาคมอย่างกว้างขวาง เฉพาะในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ทางการได้ตั้งข้อหาต่อบุคคลกว่า 100 คน เนื่องจากต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม

“กรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งสามคนนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลทหารว่า ไม่มีบุคคลใดที่ปลอดภัยและอยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขาได้” ซาลิล เช็ตตี้กล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นว่าบุคคลซึ่งถูกคุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกเป็นนักโทษทางความคิด และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวพวกเขาโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

นายสมชาย หอมลออเป็นนักกิจกรรมอาวุโสและเป็นอดีตประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดทำข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติเป็นผู้อำนวยการของมูลนิธิ

เมื่อเดือนที่แล้ว นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติได้รับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเป็นการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระจากการทำงานให้กับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลและการตีพิมพ์รายงานการทรมานดังกล่าว 

ในวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 128 รัฐภาคีสหประชาชาติที่แสดงความเห็นชอบสนับสนุนมติขององค์การสหประชาชาติที่เรียกร้องให้ทางการงดเว้นการข่มขู่และตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 

 

แถลงการณ์ 

คำชี้แจงกรณีการจัดทำและเผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ 2557-2558

จากกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า อ้างว่าเป็นผู้เสียหาย  ได้แจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานี ให้ดำเนินคดี นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ในข้อหา “ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กล่าวคือ ผู้เสียหายตรวจพบว่า มีการนำเอาเอกสารรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี พ.ศ. 2557-2558 ซึ่งเป็นความเท็จ ไปเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในเวปไซต์  http://voicefromthais.wordpress.com”   โดยผู้ต้องหาทั้งสามได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เวลา 13.00 น. ณ สภ.ปัตตานีนั้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรที่ร่วมกันจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558  ขอแถลงว่า

1. การกระทำทรมาน เป็นอาชญากรรมร้ายแรง ทั้งตามกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ และประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกของ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รัฐมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว

2. นับตั้งแต่ก่อนและหลังเหตุการณ์ความไม่สงบกล่าวคือกรณีปล้นปืนค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) ในปี 2547เป็นต้นมาปรากฎว่ามีการกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ และการประหัตประหารนอกกระบวนการยุติธรรม เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้เสมอมา โดยที่ทางการไทยไม่มีมาตรการในการป้องกัน ปราบปรามและเยียวยาอย่างได้ผลแต่อย่างใด 

3. แม้ผู้ตกเป็นเหยื่อจากการกระทำดังกล่าว จะได้ร้องเรียน ร้องทุกข์หรือดำเนินมาตรการต่างๆด้วยตนเอง หรือโดยการช่วยเหลือสนับสนุนขององค์กรสิทธิมนุษยชน เพื่อแสวงหาความเป็นธรรมและการชดใช้เยียวยา แต่มักไม่ได้ผล เนื่องจากวัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวลในหมู่เจ้าหน้าที่ยังเข้มแข็ง กระบวนการยุติธรรมอ่อนแอ ผู้ที่ร้องทุกข์ร้องเรียนและเรียกร้องความเป็นธรรมถูกข่มขู่ คุกคามจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้เสียหายจากการทรมานจำเป็นต้องแสวงหาการช่วยเหลือเยียวยาจากองค์การและกลไกระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกสหประชาชาติ  

4. การจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558  ผู้จัดทำได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อเหยื่อจากการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nations for Victims of Torture) โดยรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงจากคำบอกเล่าของผู้ตกเป็นเหยื่อของการทรมาน ระหว่างปี 2547-2558 เพื่อหาหนทางในการแสวงหาความเป็นธรรมและเยียวยาต่อไป โดยใช้แบบประเมินผลกระทบจากการทรมานเพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งออกแบบโดย Physicians for Human Rights (PHR) และ American Bar Association Rule of Law Initiative (ABAROLI)  ทั้งผู้เก็บรวบรวมข้อมูลก็ได้ผ่านการฝึกอบรมในการใช้แบบสอบถามดังกล่าวหลายครั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นรายงานดังกล่าวจึงมีความถูกต้องแม่นยำในทางวิชาการ

5. ในการเขียนรายงาน ผู้จัดทำรายงานมิได้ประสงค์ที่จะระบุชื่อของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทรมาน เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรม วิธีการ สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมของการกระทำทรมาน ความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดกับผู้เสียหายจากการทรมานเป็นสำคัญ โดยพบว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีการทรมานอย่างเป็นระบบ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ กล่าวคือเป็นการกระทำทรมานเป็นประจำ โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี เป็นการกระทำที่แพร่หลาย กว้างขวางในจังหวัดชายแดนใต้ เช่น การข่มขู่ให้กลัว การจำลองวิธีการประหารชีวิต การซักถามที่ใช้เวลานานโดยไม่ให้พักผ่อน การขังเดี่ยว การทำให้สูญเสียประสาทสัมผัส  การทุบตีทำร้ายร่างกาย การทำให้สำลักหรือบีบคอ การทำให้จมน้ำหรือจุ่มน้ำ และการให้อยู่ในห้องร้อน ห้องเย็น เป็นต้น 

6. ร่างรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558 ผู้จัดทำได้ส่งให้แก่เจ้าหน้าที่เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน ก่อนที่จะเผยแพร่ต่อประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ไม่เคยติดต่ออย่างเป็นทางการกับหน่วยงานที่จัดทำรายงานแต่อย่างใด มีเฉพาะเจ้าหน้าที่บางคน ได้โทรศัพท์สอบถามผู้เขียนรายงานบางคน เพื่อขอทราบรายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์เท่านั้น ซึ่งผู้จัดทำรายงานไม่สามารถให้ได้ โดยปราศจากความยินยอมของผู้ให้สัมภาษณ์ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา นอกจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐ ไม่สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดมาลงโทษและชดใช้เยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานแล้ว ยังไม่สามารถคุ้มครองความมั่นคง ปลอดภัยของผู้เสียหายด้วย ทำให้เกิดเป็นบรรยากาศของความหวาดกลัว ไม่เชื่อมั่นหน่วยงานของรัฐและกระบวนการยุติธรรม หลายคนมีอาการคับแค้นด้านจิตใจและวิตกกังวล ซึ่งในภาวะดังกล่าวอาจทำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้

7. การที่กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อนายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ  และนโยบายของทางราชการในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนท่าทีที่ไม่เปลี่ยนแปลงต่อการแก้ปัญหาการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีที่ยังคงเกิดขึ้นเสมอ การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลยไม่นำพาต่อข้อเสนอแนะของรายงานแต่กลับดำเนินคดีต่อบุคคลทั้งสาม ไม่อาจเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ นอกเสียจากว่าทางการไทยและผู้บังคับบัญชาระดับสูง ได้รู้เห็นเป็นใจ หรือยินยอมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคน ใช้วิธีการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีต่อผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบต่อไป โดยยังไม่ได้ตระหนักว่า การทรมานอย่างอย่างกว้างขวางและอย่างเป็นระบบที่ยังดำเนินต่อไปในจังหวัดชายแดนใต้เช่นนี้ อาจนำไปสู่การกล่าวหาโดยนานาชาติว่าเป็น “การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity)” ได้   

วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.แรงงานแจงพร้อมเจรจาไตรภาคีคุ้มครองลูกจ้าง 'โดล' กว่าพันคนตามกฎหมาย

$
0
0
 
ที่มาภาพเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน

26 ก.ค.2559 จากกรณีวานนี้ (25 ก.ค.59) บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม หมู่ 10 ต.ท่าแซะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแปรรูปผลไม้กระป๋องส่งออกต่างประเทศรายใหญ่ ได้ปิดงานโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่งผลให้ทำให้ลูกจ้างทั้งที่เป็นคนไทยและแรงงานข้ามชาติกว่าพันคนต้องตกงาน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น

วันนี้ (25 ก.ค.59) ธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความห่วงใยต่อสถานการณ์ด้านแรงงานโดยได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งให้ความช่วยเหลือลูกจ้างในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรณีลูกจ้างของบริษัท โดลไทยแลนด์ จำกัด ผู้ผลิตแปรรูปผลไม้ส่งออกที่ปิดโรงงานแปรรูปผลไม้ส่งออกที่ จ.ชุมพรนั้น ล่าสุดหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดชุมพร ได้เข้าไปดำเนินการดูแลช่วยเหลือคนงาน ซึ่งวันนี้ (26 ก.ค.59) เวลา 09.00 น. จะมีการนัดหารือกันเพื่อตกลงในรายละเอียดในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า ลูกจ้างประมาณ 1,000 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างตามฤดูกาล จะสิ้นสุดสัญญาจ้างในเดือนกรกฎาคมนี้ บริษัทฯ พร้อมจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 2 เดือน และเงินชดเชยตามกฎหมาย เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ส่วนลูกจ้างต่างด้าวจำนวน 254 คน จะดำเนินการย้ายไปทำงานที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตามความสมัครใจ สำหรับลูกจ้างส่วนหนึ่งที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกพื้นที่ให้พิจารณาตามความสมัครใจเพื่อไปทำงานที่จ.ประจวบคีรีขันธ์และจ.ระยองต่อไป

ธีรพล กล่าวต่อว่า สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชุมพร ได้ไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานตามสิทธิผู้ประกันตนแล้วขณะที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดชุมพรได้ประสานกับจังหวัดในพื้นที่มารับสมัครงานจำนวนกว่า 1,000 อัตราแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.59) ซึ่งทั้งหมดเป็นตำแหน่งงานว่างในบริษัทฯ ผลิตอาหารทะเลจำนวน 300 อัตรา ส่วนศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดชุมพร จะดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้คนงานตามความต้องการของบริษัทที่จะรับเข้าทำงานใหม่ โดย บริษัทโดลฯ จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกจากนี้บริษัท โดลฯ ยืนยันว่าจะจัดทำรายละเอียดการดำเนินการให้แก่ลูกจ้างเป็นรายคน ส่งให้ภายในกลางเดือนสิงหาคมนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธเนตร มอบตัวกองปราบฯ คดีนั่งรถไฟส่องโกงราชภักดิ์ ประกัน 1 หมื่น

$
0
0

26 ก.ค.2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ เวลา 11.00 น. ธเนตร อนันตวงษ์ หรือตูน เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปราม ถนนพหลโยธิน เนื่องจากตกเป็นผู้ต้องหาในคดีโพสต์ภาพแผนผังทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และสถานะคดีของธเนตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอส่งตัวให้อัยการศาลทหารเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ภายหลังการรายงานตัวเสร็จสิ้นพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวธเนตรกลับและนัดส่งตัวให้อัยการศาลทหารในวันที่ 28 ก.ค. นี้ ที่ศาลทหาร

ธเนตร ถูกดำเนินคดีในฐานความผิดในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบที่จะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3)

โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา ธเนตร ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี จากคดีร่วมกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2558 ในฐานความผิดฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ข้อ 12 พนักงานสอบสวนได้ให้ธเนตรประกันตัวด้วยเงินสด 10,000 บาท โดยสถานะคดีของธเนตรขณะนี้อยู่ระหว่างการรอส่งตัวให้อัยการศาลทหารเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องอีกเช่นกัน

 คลิป ธเนตร ให้สัมภาษณ์ขณะเข้ามอบตัวที่ สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี (ที่มาFahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)

ทั้งนี้ก่อนที่ธเนตรจะเดินทางเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนทั้งสองคดี ธเนตรได้หายตัวไปและไม่ไปตามนัดรายงานตัวระหว่างฝากขังครั้งที่ 2 ของศาลทหาร

"ไม่อยากหลบหนี อยากให้คดีสิ้นสุด ก็อยากให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และอยากบวชให้พ่อ จึงกลับมาสู้ในกระบวนการยุติธรรม" ธเนตร กล่าว พร้อมระบุว่าที่ผ่านมาเกรงเรื่องความไม่ปลอดภัยจึงหลบหนีไป รวมทั้งกลัวถูกอุ้ม พร้อมยืนยันต่อสู้ให้ถึงที่สุดและยืนยันเจตจำนงค์ว่าตนเองไม่ผิด 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยกฟ้องคดีเหมืองทองฟ้องประธานสภา อบต.เขาหลวง ศาลชี้หลักฐานไม่ชัด

$
0
0

บริษัททุ่งคำฟ้องประธาน อบต.เขาหลวงฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่นำเรื่องขอต่อใบอนุญาตใช้พื้นที่เข้าที่ประชุม อบต. ศาลพิพากษายกฟ้องระบุ หลักฐานฝ่ายโจทก์ไม่ชัดเจน

26 ก.ค 2559 เวลา 09.00 น.ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย ประมาณ 80 คน เดินทางมาที่ศาลจังหวัดเลย เพื่อฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.687/2558 ที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องนายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในกรณีที่ประธานสภาฯ ไม่นำเรื่องการขอต่อใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ เข้าที่ประชุมสภา อบต.เขาหลวง

ต่อมาเวลา 09.50 น. ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานทางฝ่ายโจทก์ไม่ชัดเจน ไม่สามารถรับฟังได้ว่านายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภาอบต.เขาหลวง ผิดจริง

ตามคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2558 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยนายสราวุธ สารวงษ์ ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ ฟ้องนายสมัย ภักดิ์มี เป็นจำเลย ในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยระบุว่า โจทก์ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและทองแดง ณ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2555 ได้ยื่นขอต่อใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย เนื่องจากหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติของโจทก์ใกล้จะสิ้นอายุ (26 ธ.ค. 2555) ซึ่งตามระเบียบกรมป่าไม้ กำหนดว่า โจทก์จะต้องไม่มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงและต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลท้องที่ที่ที่ดินตั้งอยู่ แต่เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2555 หลังจากที่โจทก์ยื่นเรื่องต่อ อบต.เขาหลวงเพื่อให้ได้รับความเห็นชอบแล้ว จำเลยซึ่งมีหน้าที่จัดการนำเรื่องของโจทก์เสนอเข้าที่ประชุม อบต.เขาหลวง แต่จำเลยหาได้กระทำเช่นนั้นไม่ กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และจำเลยยังเป็นแกนนำพาชาวบ้านในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่ตั้งของบริษัทโจทก์มาชุมนุมประท้วงการทำงานของโจทก์ โดยมีเจตนาเพื่อที่จะไม่ให้โจทก์ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เป็นการปฏิบัติหรือละเวันการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157  

คดีดังกล่าวนี้ได้ผ่านขั้นตอนการสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยเรียบร้อยแล้ว และรอฟังคำพิพากษาในวันนี้ (26 ก.ค. 2559) ณ ศาลจังหวัดเลย ทั้งนี้ ตามมาตรา 157 ว่าด้วยความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการฟังคำพิพากษาคดีว่า ชาวบ้านกลุ่มฅนรักบ้านเกิดฯ เข้ารับฟังผลด้วยความคาดหวังว่าศาลจะยกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องการเมือง ทว่าบริษัทได้นำเข้าสู่พื้นที่ของศาลสถิตย์ยุติธรรม ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ควรได้รับการแก้ไขทางการเมือง อีกทั้งกลุ่มชาวบ้านไม่ต้องการให้ต่ออายุการอนุญาตใช้พื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากประกอบกิจการเหมืองทองคำ ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพของชาวบ้าน

ทั้งนี้ บริษัทได้ฟ้องร้องประธาน อบต.เขาหลวง เป็นคดีความอีก 1 คดี ในข้อหาเดียวกันนี้ คือ ข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นคดีดำหมายเลข อ.244/2559 ภายหลังจากที่นายสมัยในฐานะประธานสภา อบต.เขาหลวง ได้นำเรื่องการขอต่ออายุหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองทองคำของบริษัทฯ เข้าสู่การประชุมสภา อบต.เขาหลวง และได้มีการนำเหตุผลการคัดค้านของกลุ่มฅนรักบ้านเกิดเข้ามาพูดคุยด้วย ส่วนสมาชิกอบต.เขาหลวงโซนบนจำนวน 16 คน ได้อ้างการพัฒนาจึงต้องการให้บริษัทดำเนินกิจการต่อไป รวมถึงเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีงานทำ และขอให้มีการลงมติเห็นชอบ นำไปสู่ความวุ่นวาย จนทำให้ต้องปิดประชุมสภา อบต.เขาหลวง และได้มีความพยายามที่จะเปิดประชุมสภา อบต.เขาหลวง เพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีกอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยสมาชิกอบต.โซนบนจำนวน 16 คน พยายามให้มีการเปิดประชุมเพื่อขอมติความเห็น พร้อมร้องขอให้มีการประชุมลับ ทำให้เกิดปัญหากับชาวบ้านที่ต้องการเข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงมีการนำเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร จำนวนหลายร้อยคนเข้ามาควบคุมพื้นที่ในการประชุมสภา อบต.เขาหลวง ครั้งต่อๆ มา จนการประชุมสภา อบต.ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2559 ได้เกิดความวุ่นวายในการประชุม สภา อบต. และต่อมาสมาชิก อบต.เขาหลวงโซนบน 16 คนได้ฟ้องร้องชาวบ้านต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังสะพุง ในข้อหาข่มขืนใจและทำร้ายร่างกาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live


Latest Images