Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

รัฐ ประชาชาติ และปัญหาปาตานี

$
0
0



 

หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาของรัฐ(เกือบทั่วโลก)#ต่อการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการ ความอยุติธรรม ความชั่วร้าย การกดขี่ ความเหลื่อมล่ำ ฯลฯ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐนั้นๆ ก็คือ การสร้างอำนาจหรือให้การสนับสนุนแก่ประชาชนอีกกลุ่มที่เห็นด้วยกับรัฐขึ้นมา (อาจด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ อาทิ รัฐให้เงินแก่พวกเขา หรือเหตุผลด้านทัศนคติ อาทิ ถูกเป่าหูว่าอีกฝ่ายนิยมความรุนแรง ชั่วช้า มีผลประโยชน์แอบแฝง ฯลฯ) #เพื่อให้ประชาชนต่อสู้กับประชาชนด้วยกันเอง เมื่อการต่อสู้มาถึงจุดนี้ ตัวปัญหาจริงๆซึ่งเป็นรัฐก็จะลอยตัวและกลายมาเป็นผู้ที่อยู่ในสถานะเหนือปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นเอง และจากการสังเกตการณ์ในหลายๆกรณี รัฐก็จะแปรตัวเองมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหา แม้ในความเป็นจริงแล้ว #รัฐคือคู่ขัดแย้งกับประชาชนของตัวเอง

ขอยกตัวอย่างเช่น กรณีเสื้อเหลืองเสื้อแดงในประเทศไทย การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายเกือบทุกครั้ง จะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลขุนศึก(ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในประเทศนี้จริงๆและมีสถานะความเป็นรัฐเผด็จการมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของประเทศนี้)ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชนและร่วมกันขึ้นมาเสวยสุขแบ่งผลประโยชน์ของแผ่นดินอย่างหน้าด้านและไม่สามารถตรวจสอบได้ ในขณะที่ประชาชนทั้งสองฝ่าย ก็ยังคงต้องทนทุกข์ทรมานจากการกดขี่ทางการเมือง/เศรษฐกิจ ความอยุติธรรม ความเหลื่อมล่ำ ถูกข่มขู่คุกคามต่างๆนาๆ เป็นต้น

อีกกรณีตัวอย่างคือ ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี จากการศึกษาประวัติศาสตร์พบว่า หนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดการต่อต้านอำนาจรัฐจากประชาชนในพื้นที่ก็คือ การกดขี่ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความเหลื่อมล่ำและการกลืนกลายทางชาติพันธ์ ความอยุติธรรมต่างๆ ความไม่เท่าเทียมกัน การถูกละเลยจากการพัฒนาและการยกระดับการศึกษา เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ถูกหมักหมมจนพัฒนามาเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อต่อต้านอำนาจของรัฐ(และมีการยกระดับข้อเสนอของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากรัฐไทย) แต่กระนั้น ก็ยังคงมีบางส่วนของประชาชนในพื้นที่ที่ยังคงเรียกร้องและต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี อาทิ กลุ่มนักศึกษาปัญญาชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มผู้หญิง นักสิทธิ นักกฎหมาย ฯลฯ

แต่เมื่อหันมาดูแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐต่อประเด็นปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ เราจะพบว่า รัฐพยายามเบี่ยงประเด็นการเรียกร้องของประชาชนที่ประสบปัญหาเหล่านั้นให้กลายเป็นความต้องการของคนแค่ไม่กี่กลุ่ม/คนเท่านั้นเอง มีการโฆษณาชวนเชื่อให้สถานการณ์และกลุ่มบุคคลดูโหดร้ายต่างๆนาๆ มีการประโคมใช้วาทกรรมที่มุ่งสร้างความเกลียดชั่งระหว่างศาสนาและชาติพันธ์ มีการปลุกปั่นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการให้รู้สึกเกลียดชังต่อคนในพื้นที่ก่อนและระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐยังเข้ามาจัดตั้งและแทรกแซงกลุ่มภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักศึกษา ฯลฯ เพื่อต่อกรและต่อสู้กันเองกับกลุ่มภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักศึกษา ฯลฯ ที่กำเนิดมาจากความเป็นประชาชนในพื้นที่จริงๆ

อนึ่ง ปรากฏการณ์ความรุนแรง(การยิง วางระเบิด วางเพลิง ฯลฯ)ที่ยังคงมีอยู่อย่างคุกรุ่นในพื้นที่นั้น ก็อันเนื่องมาจากการคงอยู่ของกองกำลังติดอาวุธฝ่ายปฏิวัติประชาชนปาตานี ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหานั้น รัฐควรหาทางพูดคุยกับฝ่ายตรงข้ามเพื่อหาแนวทางลดปฏิบัติการทางอาวุธและพยายามเปิดพื้นที่ทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างจริงๆจังๆ(ไม่กลับกลอก ไม่คุกคาม ไม่ตีสองหน้า ไม่ใส่ร้าย ต้องจริงใจ บริสุทธิ์ใจ มีความน่าเชื่อใจ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล มิใช่แบบไทยๆ) เพื่อให้อีกฝ่ายสามารถมีพื้นที่ต่อสู้ เสนอความต้องการที่แท้จริง และมีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ด้วยแนวทางสันติวิธีได้

แต่ในทางกลับกัน รัฐยังคงมีการเพิ่มจำนวนอาวุธและบุคคลติดอาวุธในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งและฝึกซ้อมกองกำลังติดอาวุธในระดับชุมชน (อาทิ ชรบ., อรบ., ทหารพราน, อส.,ตำรวจคอร์สระยะสั้น 6 เดือน เป็นต้น) มีการคุกคามกลุ่มคนเห็นต่าง(หรือแค่สงสัยว่าเห็นต่าง) ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการตรวจเก็บดีเอ็นเอของประชาชนอย่างเสรี โดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายรองรับและหลักสิทธิมนุษยชน

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ รัฐก็แค่ต้องการเพื่อสยบกองกำลังติดอาวุธฝ่ายปฏิวัติประชาชนปาตานีเท่านั้น หาใช่เพื่อแก้ปัญหาที่คาราคาซังมาเป็นเวลานับร้อยปีไม่ และยังเป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ๆเพิ่มขึ้นมาอย่างไม่รู้จบ

การสร้างสังคมที่เสมอภาค เท่าเทียม และยุติธรรม รัฐมีส่วนสำคัญในการอำนวยเพื่อให้มันเกิดขึ้นมา และเช่นเดียวกัน ประชาชนเองก็มีส่วนสำคัญเฉกเช่นเดียวกับรัฐ รัฐไม่ควรดูแคลนประชาชนของตัวเอง รัฐไม่ควรสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนเพื่อสถาปนาอำนาจนิยมและแนวคิดทุนนิยมของตัวเอง รัฐไม่ควรส่งเสริมและเป็นแบบอย่างในการใช่ความรุนแรงต่อประชาชน รัฐต้องอำนวยและจัดสรรความสะดวกสบายให้กับประชาชน รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ฯลฯ สุดท้ายนี้ รัฐต้องฟังเสียงของประชาชน เคารพและให้เกียรติ เพราะรัฐเป็นของประชาชน มิใช่ประชาชนเป็นเครื่องมือของรัฐ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โครงการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของ กทม.และโครงการบ้านมั่นคง ใครสนับสนุน ใครคัดค้าน ? และเสียงจากคนริมคลอง

$
0
0

 

ความเป็นมา

หลังมหันตภัยน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2554  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5  มิถุนายน 2555  เห็นชอบการจัดการสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ  โดยจะมีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตตลอดแนวคลองความยาวประมาณ 45 กิโลเมตร  เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างคล่องตัว  และจะต้องมีการรื้อย้ายบ้านเรือนที่สร้างรุกล้ำลงไปในคลอง  แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ  เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจเสียก่อน  ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม 2558  พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  จึงมีคำสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับโครงการนี้ไปดำเนินการต่อ

โครงการดังกล่าวในช่วงแรก (พ.ศ.2558-2560) ประกอบด้วยการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล.และประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว  คลองบางบัว  คลองถนน  คลองสอง  และคลองบางซื่อ  จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9-รามคำแหงไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้  เขตสายไหม  เพื่อระบายน้ำลงทะเลต่อไป  โดยจะสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล.(สมอยึดด้านหลัง)  ความยาว 40,000 เมตร  และ  5,300  เมตร  รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร  และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง  ระยะเวลาก่อสร้าง  1,260 วัน  งบประมาณจำนวน  2,426 ล้านบาทเศษ  หน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างเขื่อนคือ  กองระบบคลอง  สำนักการระบายน้ำ  กรุงเทพมหานคร  ทั้งนี้สำนักการระบายน้ำมีเป้าหมายที่จะก่อสร้างเขื่อนให้มีความกว้างของคลองขนาด 38 เมตรตลอดทั้งโครงการ   และจะมีการขุดลอกคลองให้ลึกจากเดิมอีก 3 เมตรด้วย

อย่างไรก็ดี  เนื่องจากโครงการนี้มีผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลองต่างๆ  ซึ่งส่วนใหญ่จะบุกรุกปลูกบ้านเรือนบนที่ดินของราชพัสดุ  (กรมธนารักษ์ดูแล) และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  และบางส่วนปลูกรุกล้ำลงไปในคลองมายาวนานหลายสิบปี   แต่รัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมา  รวมทั้ง กทม.  ไม่มีฝ่ายใดกล้าเข้ามาจัดระเบียบชุมชนริมคลองต่างๆ เหล่านี้  เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นปัญหาด้านมวลชนหรือกระทบต่อฐานคะแนนเสียงในกรุงเทพฯ  แต่เมื่ออยู่ในยุคของ คสช.ที่ไม่ต้องกังวลต่อประเด็นปัญหาเหล่านี้ รัฐบาล คสช.จึงสั่งให้เดินหน้าโครงการนี้เต็มที่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา  พลเอกประยุทธ์ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะขึ้นมา  โดยมีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯ เป็นประธาน  มี รมว.มหาดไทย, รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ, ผู้ว่าฯ กทม.เป็นรองประธาน  ฯลฯ  มีผู้บัญชาการทั้ง 4 เหล่าทัพ  รวมทั้งปลัดกระทรวงต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ  มีอำนาจหน้าที่กำหนดกรอบแนวทาง  มาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง  เพื่อให้การพัฒนาชุมชนรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำดำเนินไปอย่างเป็นระบบ  มีประสิทธิภาพ

ขณะที่สำนักการระบายน้ำ กทม.ได้เปิดประมูลงานก่อสร้างเขื่อนในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา และต่อมาในเดือนตุลาคมจึงได้บริษัทที่รับเหมางานในวงเงินประมาณ 1,600 ล้านบาทเศษ  ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาจ้างกับทาง กทม.  เนื่องจากต้องรอให้ทางกระทรวงมหาดไทยอนุมัติวงเงินในการก่อสร้าง รวมทั้งยังต้องรอให้ชาวบ้านที่ปลูกบ้านอยู่ในคลองหรือแนวเขื่อนรื้อย้ายออกมาก่อน เพื่อให้บริษัทรับเหมาเข้าไปก่อสร้างเขื่อนได้  อย่างไรก็ตาม  คาดว่าการลงนามในสัญญาจ้างจะเกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคมนี้  หลังจากนั้นจึงจะเริ่มงานก่อสร้างได้


โครงการบ้านมั่นคงกับการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม

ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคูคลองถูกรุกล้ำทั้งหมดจำนวน  1,161 คลอง จำนวนครัวเรือนที่รุกล้ำ  23,500 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 94,000 คน  ซึ่งจำนวนบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลองนี้ สำนักการระบายน้ำระบุว่าทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดน้อยลง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ดังนั้นจึงต้องรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลอง


สภาพบ้านริมคลองลาดพร้าว

ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.มีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งในเมืองและชนบทในรูปแบบ “บ้านมั่นคง” มาตั้งแต่ปี 2546 รวมทั้งได้แก้ไขปัญหาชุมชนริมคลองลาดพร้าว บางบัว ฯลฯ มาก่อนหน้านี้แล้ว จึงได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนฯ โดยพอช.ได้จัดทำแผน 3 ปี (พ.ศ.2558-2560) มีเป้าหมาย 66 ชุมชนริมคลอง จำนวนบ้าน 11,004 หลังคาเรือน เพื่อรองรับชาวบ้านจำนวน  58,838 คน

โดยมีรูปแบบการจัดที่อยู่อาศัยคือ 1.กรณีชาวบ้านรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองและอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้  จะต้องมีการจัดผังชุมชนใหม่  เพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถสร้างบ้านใหม่ได้  2.กรณีที่ดินเดิมไม่พอเพียง  อาจจะต้องจัดหาที่ดินใหม่ในรัศมี 5-10 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม เพื่อสะดวกต่อการทำงาน สถานศึกษา โดยอาจขอซื้อที่ดินจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ กระทรวงการคลัง และ 3.จัดหาที่อยู่อาศัยของการเคหะ เช่น บ้านเอื้ออาทร ฯลฯ

สยาม นนท์คำจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก พอช.กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองนั้น เพื่อให้ชาวบ้านได้อยู่ในที่ชุมชนเดิม ในกรณีนี้ ชาวบ้านจะต้องแบ่งปันที่ดินกัน คนที่มีบ้านใหญ่หรือมีเนื้อที่มาก จะต้องเสียสละเพื่อให้คนที่ปลูกบ้านอยู่ในคลองได้มีที่อยู่อาศัย ส่วนรูปแบบก็จะต้องมีรื้อบ้านทั้งชุมชนเพื่อจัดทำผังชุมชนใหม่แล้วแบ่งแปลงที่ดินให้เท่าๆ กัน เช่น จัดทำเป็นบ้านแฝด 2 ชั้น สร้างสาธารณูปโภคมารองรับ เช่น มีบ่อบำบัดน้ำเสีย ทางเดินเลียบคลอง มีสวนหย่อม  มีศูนย์เด็กเล็ก หรือแล้วแต่ความต้องการของชาวบ้าน  ส่วนในกรณีที่ดินเดิมไม่พอก็อาจจะต้องจัดหาที่ดินของรัฐที่ใกล้เคียงชุมชนเดิม หรือจัดหาที่อยู่อาศัยของการเคหะฯ เพื่อรองรับชาวบ้านต่อไป โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะสนับสนุนชาวบ้านในเรื่องของสินเชื่อเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่และเงินอุดหนุนเพื่อสร้างสาธารณูปโภค

“โครงการบ้านมั่นคงจะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้ชาวบ้านในชุมชนที่เป็นเจ้าของปัญหาเป็นตัวตั้ง และเป็นแกนหลักในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา หน่วยงานภายนอก เช่น พอช.มีบทบาทในการเป็นฝ่ายสนับสนุน รวมทั้งให้สินเชื่อเพื่อสร้างบ้านระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ โดยชุมชนจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อมาบริหารงานกันเอง”สยามกล่าวถึงหลักการของบ้านมั่นคง


ใครคัดค้าน ?

โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วม ในช่วงแรกซึ่งจะเริ่มดำเนินงานในช่วงต้นปี 2560 ในคลองสายหลักคือ  คลองลาดพร้าว เริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อระหว่างคลองแสนแสบ-คลองลาดพร้าว บริเวณย่านถนนพระราม 9  ลอดใต้ทางด่วนเอกมัย-รามอินทรามายังคลองลาดพร้าว-บางซื่อ-วังหิน-บางบัว-คลองถนน-คลองสอง  เขตสายไหม  ขณะที่เขื่อนอีกแนวหนึ่งจะเชื่อมจากคลองบางซื่อ (เขตห้วยขวาง) มายังคลองลาดพร้าว บริเวณวัดลาดพร้าว  และแนวเขื่อนในคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่และดอนเมือง ซึ่งแนวเขื่อนเหล่านี้จะมีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่ประมาณ 66 ชุมชน  จำนวนบ้าน 11,004 หลังคาเรือน ชาวบ้านจำนวน 58,838 คน


สำนักงานเขตหลักสี่ห้ามก่อสร้างบ้าน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า  ชาวบ้านในชุมชนริมคลองส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ปลูกสร้างอยู่อาศัยในที่ดินของกรมธนารักษ์มานาน โดยกรมธนารักษ์ไม่ได้เข้ามาจัดการหรือจัดเก็บค่าเช่าแต่อย่างใด บางครอบครัวอยู่อาศัยมาก่อนปี 2500 ซึ่งเมื่อก่อนน้ำในคลองยังใสสะอาด  ชาวบ้านใช้เรือพายไปมา  มีเรือค้าขายอยู่ในคลอง ชาวบ้านยังใช้น้ำในคลองอาบหรือซักเสื้อผ้าได้ บ้างก็มีอาชีพในการจับปลาในคลอง อย่างไรก็ดี  น้ำในคลองต่างๆ เริ่มเน่าเสียภายหลังปี 2520  หลังจากที่เมืองเจริญขึ้น  และระบบท่อน้ำทิ้งของ กทม.ก็ไม่ได้มีการบำบัดก่อนปล่อยลงคลอง

ขณะเดียวกัน  ในชุมชนริมคลองต่างๆ ก็มีผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า หรืออยู่อาศัยมาก่อน ทำการปลูกสร้างบ้านเช่า  ห้องเช่าให้แก่ผู้ที่มาอยู่ที่หลัง โดยเฉพาะในชุมชนที่อยู่ใกล้กับสถาบันการศึกษา ย่านศูนย์ราชการ และย่านการค้า หรือมีการซื้อขายที่ดินมือเปล่า (ที่ดินกรมธนารักษ์) ให้แก่ผู้ที่ต้องการ  เพื่อสร้างร้านอาหาร  บ้านเช่า  ฯลฯ  ซึ่งตามหลักการบ้านมั่นคงนั้น หากมีการรื้อบ้านออกจากคลอง ชาวบ้านที่อยู่บนตลิ่งก็จะต้องแบ่งปันที่อยู่อาศัยให้แก่เพื่อนบ้านรายอื่น โดยการจัดทำผังชุมชนใหม่ แบ่งเนื้อที่ให้เท่าๆ กัน และ 1 ครอบครัวจะมี 1 สิทธิ์  หรือมีบ้าน 1 หลังเท่ากัน  ยกเว้นครอบครัวใดมีสมาชิกมากเกินกว่า 8 คน บางชุมชนก็จะอนุญาตให้ครอบครัวลักษณะนี้มีสิทธิ์เพิ่มอีก 1 สิทธิ์

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เจ้าของบ้านเช่า เจ้าของร้านอาหาร  หรือเจ้าของบ้านหลังใหญ่ๆ ที่มีพื้นที่มาก จึงไม่อยากจะเข้าร่วมบ้านมั่นคง  เนื่องจากจะกระทบต่อการครอบครองบ้านของตน (บนที่ดินกรมธนารักษ์)  ขณะที่ชาวบ้านที่มีฐานะยากจนจริงๆ ก็ไม่อยากจะเข้าร่วมโครงการ  เพราะกลัวว่าจะเป็นภาระเรื่องการผ่อนส่งบ้าน  เนื่องจากกระบวนการสร้างบ้านมั่นคงนั้น  รัฐบาลไม่ได้สร้างบ้านให้ฟรีๆ  แต่ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  หรือ พอช.สนับสนุนสินเชื่อในระยะยาว  ระยะเวลาผ่อนส่งประมาณ15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี และ พอช.จะสนับสนุนงบประมาณในการสร้างสาธารณูปโภค เช่น  ถนน ทางเดิน ศูนย์พัฒนาเด็ก สวนหย่อม บ่อบำบัดน้ำเสีย  ระบบประปา  ไฟฟ้า  ฯลฯ  นอกจากนี้ก็จะสนับสนุนงบช่วยสร้างบ้านจำนวนหนึ่งให้แก่ชาวบ้านด้วย

ตัวอย่างการสร้างบ้านใหม่นั้น ในชุมชนที่ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ปี 2549  เช่น ชุมชนบางบัว ชาวบ้านจะได้ที่อยู่อาศัยต่อ 1 ครอบครัวประมาณ 4 X 8 ตารางเมตร ราคาประมาณไม่เกิน 200,000 บาท และผ่อนชำระเงินกู้ประมาณเดือนละ 1,500-2,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่มีการประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของชาวบ้านแล้ว ขณะที่กรมธนารักษ์ก็จะให้ชาวบ้านเช่าที่ดินในราคาถูกไม่เกิน 2 บาทต่อตารางเมตร/เดือน ระยะเวลา 30 ปี หลังจากนั้นจึงทำสัญญาต่อได้อีก

ดังนั้นกลุ่มบุคคลที่กลัวจะสูญเสียผลประโยชน์จึงรวมกลุ่มกับชาวบ้านที่ไม่อยากจะรื้อย้ายบ้านเรือนไปพบกับนักการเมืองในท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้กว้างขวางในย่านหลักสี่ และร่วมกับนักเคลื่อนไหวทางสังคมหยิบยกประเด็นเรื่องบ้านมั่นคงมาโจมตีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. เพื่อจะเยื้อการรื้อย้ายบ้านเรือนออกไป  โดยตั้งเป้าหมายว่า  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นรัฐบาลได้ไม่เกินปี 2560 

ดังนั้นเมื่อ คสช.หมดอำนาจไปแล้ว โครงการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมและการรื้อย้ายชาวบ้านก็จะระงับไป  เช่น มีการไปยื่นหนังสือต่อ ปปช.เพื่อให้เอาผิดต่อผู้อำนวยการเขตหลักสี่และ ผอ.พอช.ในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ ในกรณีบ้านมั่นคงเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมทั้งมีแผนที่จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองด้วย  หากโครงการสร้างเขื่อนจะเริ่มขึ้น โดยก่อนหน้านี้แกนนำกลุ่มคัดค้านก็ได้มีการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้มาก่อนแล้ว  รวมทั้งการให้ข่าวตามสื่อต่างๆ โจมตีโครงบ้านมั่นคง  ทั้งที่โครงการบ้านมั่นคงเป็นเพียงโครงการที่รองรับประชาชนที่ดีรับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนเท่านั้น

จึงเป็นเรื่องน่าวิเคราะห์ว่า  เหตุใดกลุ่มแกนนำเหล่านี้จึงไม่กล้าคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมโดยตรง หรืออาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า  หากจะเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวก็จะเป็นการเดินหน้าชนกับ คสช.โดยตรง  จึงเลือกโจมตีเป้าหมายที่อ่อนแอกว่า  นอกจากนี้แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวบางคนที่กล้าหาญขนาดจะยื่นฟ้องผู้นำรัฐบาลไปเมื่อเร็วนี้ๆ และโดน คสช.เชิญไปพูดคุยปรับทัศนะคติมาแล้ว  จึงต้องผ่อนท่าทีของตัวเองลง


ใครสนับสนุน ?

ชาวบ้านในชุมชนริมคลองต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ  เริ่มมีการรวมตัวกันตั้งแต่ปี 2543 หลังจากที่ชุมชนป้อมมหากาฬริมคลองโอ่งอ่าง  ใกล้สะพานผ่านฟ้าฯ ได้พยายามต่อสู้กับการไล่รื้อของ กทม.เพื่อสร้างเกาะรัตนโกสินทร์จนเป็นที่มาของ “เครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลอง” ซึ่งมีสมาชิกในปัจจุบันมากกว่า 40 ชุมชนริมคลองในเขตกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันเครือข่ายชาวบ้านกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาชุมชนและบ้านเรือน  หากทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกับชาวบ้านในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การไล่รื้อเหมือนในอดีตที่ผ่านมา  โดยเฉพาะการเข้าร่วมกระบวนการสร้างบ้านมั่นคงจะทำให้ชาวบ้านได้เช่าที่ดินอย่างถูกกฎหมายและมีศักดิ์ศรี ในฐานะของผู้เช่าไม่ใช่ผู้บุกรุก  และพร้อมที่จะพัฒนาชุมชนและดูแลรักษาคลองให้สะอาด

ดังเช่นโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมของ กทม.ที่จะเริ่มดำเนินการนี้  รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาชุมชนจัดทำแผนงานรองรับหรือแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวบ้านตามที่ได้กล่าวไปแล้ว  โดยชาวบ้านมีส่วนร่วม  เช่น  การสำรวจชุมชน  การออกแบบผังชุมชน  การออกแบบบ้าน  การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อระดมเงินเป็นทุนในการสร้างบ้าน ฯลฯ  มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบโครงการ
 
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ  หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเช่น สำนักการระบายน้ำยังไม่สามารถชี้ชัดระบุตรงๆ ได้ว่าแนวเขื่อนที่จะสร้างผ่านในแต่ละชุมชนนั้น  มีความกว้างกี่เมตร เนื่องจากแต่เดิมสำนักการระบายน้ำต้องการแนวเขื่อนที่ 38 เมตรตลอดลำคลอง แต่เสียงจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีใครเห็นด้วย เพราะลำคลองในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะกว้างไม่ถึง 38 เมตร  หากจะเอาขนาด 38 เมตร เกือบทุกชุมชนจะต้องโดนกวาดออกไปจากแนวคลองทั้งหมด ขณะที่ทีมงานของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่รับผิดชอบการจัดการสิ่งรุกล้ำลำคลองได้ลงมาสำรวจแนวคลองเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีความเห็นว่า  แนวเขื่อนไม่จำเป็นต้องกว้าง 38 เมตร ให้ดูตามสภาพและลักษณะคลองในแต่ละชุมชน“เพื่อให้คนอยู่ได้ เขื่อนสร้างได้”


ชุมชนแจ้งวัฒนะ 5 ยกเสาร์เอกตั้งแต่เดือน พย.ที่ผ่านมาแต่ยังก่อสร้างไม่ได้

ความล่าช้าในการดำเนินงานของสำนักการระบายน้ำทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน  เนื่องจากบางชุมชนได้รื้อถอนบ้านเรือนพ้นแนวคลองไปแล้วเพื่อเตรียมที่จะก่อสร้างบ้านเช่น แจ้งวัฒนะ 5 และชุมชนคนรักถิ่น ริมคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่  รวมประมาณ 20 หลังได้ตอกเสาเข็มไปแล้ว  แต่เมื่อสำนักการระบายน้ำยังไม่ชี้ชัดเรื่องแนวคลองว่าจะกว้างกี่เมตร  ชุมชนจะเหลือพื้นที่เพื่อสร้างบ้านกี่เมตร  กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของที่ดินจึงยังไม่ทำเรื่องให้ชาวบ้านเช่าที่ดิน  และแม้ชาวบ้านจะไปขออนุญาตจากทางสำนักงานเขตหลักสี่เพื่อสร้างบ้าน แต่กลุ่มคัดค้านก็มาร้องเรียนและกดดันต่อทางสำนักงานเขตฯ ทั้งที่ไม่ใช้เป็นผู้เสียหาย  แต่ก็กลัวว่าถ้าชาวบ้านรื้อบ้านออกจากคลองและสร้างบ้านได้ เขื่อนก็จะเริ่มสร้างได้  ชุมชนอื่นๆ รวมทั้งพวกคัดค้านก็จะต้องรื้อย้ายบ้านด้วย 


นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่กลุ่มคัดค้านออกมาโจมตีบ้านมั่นคง และทำให้ชาวบ้านที่เตรียมจะสร้างบ้านต้องถูกคำสั่งจากสำนักเขตหลักสี่ให้ระงับการก่อสร้าง โดยอ้างเหตุผลว่าก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต จนถึงวันนี้เป็นเวลานานกว่า 4 เดือนแล้วที่ชาวบ้านยังเคว้งคว้าง ไม่มีที่อยู่อาศัย ทั้งๆที่พวกเขายอมรื้อบ้านเรือนเพื่อสนองนโยบายการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลแล้ว

“เราทำตามนโยบายของทางรัฐบาล เพื่อให้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้  และชาวบ้านก็ยอมรื้อบ้านออกจากคลองแล้ว  ชาวบ้านก็หวังว่าเมื่อรื้อบ้านแล้วจะได้สร้างบ้านใหม่เร็วๆ แต่ตอนนี้ก็ยังสร้างไม่ได้  ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน  เพราะนานกว่า 4 เดือนที่ชาวบ้านต้องไปอาศัยบ้านคนอื่นอยู่  เด็กๆ และคนแก่ก็ลำบาก  บางครอบครัวมีคนพิการก็ไม่สะดวกที่จะไปอาศัยคนอื่นอยู่ต้องหาบ้านเช่าทั้งๆ ที่มีรายได้ไม่มากนัก  จึงอยากให้รัฐบาลลงมาดูแลมาช่วยเหลือชาวบ้านด้วย”นี่คือเสียงสะท้อนจากคนริมคลอง


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้ง: รัฏฐาธิปัตย์ "หม่าฮั่น"

$
0
0

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อ่อนน้อมถ่อมตนน่ารักจัง เปรียบตัวเองเป็นหวังเฉา หม่าฮั่น ไม่ใช่ท่านเปา (หน้าดำ) และไม่ใช่ "พระเอก" อย่างจั่นเจา เป็นแค่เจ้าพนักงานจับนักการเมืองเข้าเครื่องประหารหัวสุนัขตามคำสั่งศาล

โห อุตส่าห์เสี่ยงทำรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ท่านมีอำนาจเท่านั้นเองหรือครับ

มองมุมหนึ่งก็ใช่ รัฐประหารไทยแต่โบราณไม่ยุ่งกับศาล ขณะที่ศาลฎีกาก็รับรองรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ (ใครอย่าบังอาจฟ้องร้อง) ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่เกิดโน้น

รัฐประหารไทยจึงอยู่คู่ "กระบวนการยุติธรรม" (เฉยเลย) เว้นแต่จะใช้อำนาจ ม.17 ปุปุ โดยไม่ต้องขึ้นศาล หรือเว้นแต่ใช้ศาลทหาร ทั้งที่มองอีกด้าน ศาลต้องใช้ประกาศคำสั่งคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย เช่นสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ศาลจะตัดสินว่าไม่ผิดได้ไง หรือต่อให้ผู้พิพากษากล้าตัดสินไม่กลัวใคร ก็ยังต้องถาม ตำรวจ อัยการอยู่ใต้อำนาจใด สังคมที่ปิดกั้นเสรีภาพ จำเลยมีโอกาสสู้คดีแค่ไหน

แต่สังคมไทยก็เชื่อตลอดมา ว่าศาลยุติธรรมอยู่นอกอำนาจรัฐประหาร จนหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ตั้งองค์กรอิสระ เราเกิดรัฐประหาร 2 ครั้ง ระบบ "แยกอำนาจ" ยิ่งพิลึกพิลั่น เพราะยกเลิกรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ยุบองค์กรอิสระ มีที่ไหนในโลกที่ Human Rights Watch ด่าฉอดๆ เป็นเผด็จการ แต่เรายังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก้มหน้าก้มตาทำงานจนครบวาระ (เลือกเข้ามาใหม่อีกต่างหาก)

ยุค คสช.เคารพศาลและองค์กรอิสระยิ่งกว่า คมช.อีกนะครับ เพราะไม่ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่ยุบ กกต.ทั้งที่ไม่มีเลือกตั้ง ไม่ยุบศาลปกครอง แต่ใช้ ม.44 ย้ายข้าราชการ ไม่แตะต้อง ป.ป.ช.ปล่อยให้ทำหน้าที่ "ปราบโกง" รัฐบาลที่แล้วอย่างตรงไปตรงมา

เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูล อัยการสูงสุดก็สั่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตามกระบวนการ เมื่อป.ป.ช.ยื่นถอดถอน สนช.ก็ลงมติอย่างเป็นอิสระ และเมื่อ ป.ป.ช.ชี้ว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำประเทศเสียหาย หวังเฉา หม่าฮั่นทำไงได้ ก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของหน้าที่

และเมื่อ ป.ป.ช.ครบวาระ สนช.ก็ตั้งใหม่ 5 คน อยู่ไป 9 ปี (กว่าจะครบ 9 ปีก็คงมีรัฐประหารอีกที)

นี่คือความพยายามบอกชาวบ้านว่า "1 ระบอบ 2 อำนาจ" ไม่เกี่ยวกัน ทั้งที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เช่นเดียวกับบอกให้ประชาชนเคารพกฎหมาย รักษากติกา แต่กฎหมายคืออะไร กฎหมายคือมาตรา 44

"กฎหมายเขาว่าอย่างไร เขาห้ามพูดก็อย่าพูดตอนนี้" ฉะนั้น อาจารย์ที่ต้องสอนให้เด็กไม่ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง (ไม่กลัวกฎหมายก็ตามใจ)

คำถามก็คือ "1 ระบอบ 2 อำนาจ" นี้ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ใครคือคนถือเผือกเผา ท่านเปา หรือหวังเฉา หม่าฮั่น ไม่ต้องตอบก็รู้กัน ใครที่อึดอัดอยู่ทุกวัน (มองต่างมุมก็น่าเห็นใจนะครับ ตั้งใจทำงานเพื่อชาติ แต่ทำอะไรๆ ไม่ได้ดังใจ)

เรามาไกลมากจากยุคสฤษดิ์ แล้วยังกลับไปแก้ปัญหาแบบยุคสฤษดิ์ แต่แทนที่จะบอกว่า "ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่ผู้เดียว" ก็พยายามจะบอกว่าเรามีอารยะ มีกลไก มีกระบวนการ แต่ไปๆ มาๆ กลับทำลายความเชื่อมั่นต่อกลไกกระบวนการ

อ๊ะ อ๊ะ พูดอย่างนี้ไม่ใช่เอะอะก็โทษ คสช. เพราะ "รัฐประหารตุลาการภิวัฒน์" ทำเละไว้ตั้งแต่ปี 2549 รัฐประหาร ตุลาการ องค์กรอิสระ บอกไม่เกี่ยวกัน แต่ไขว้ขาหลอกสลับฟันปลา เดี๋ยวเป็น คตส. สนช. สสร. กมธ. เดี๋ยวก็นั่งในรัฐบาล เดี๋ยวกลับไปเป็นศาล เป็นองค์กรอิสระ 9 ปีผ่านไปความเชื่อมั่นเหลือแค่ไหนว่าตรงไปตรงมา

อย่าทำให้กฎหมายต้อง วิบัติไปกว่านี้เลย ร้อนถึงนักวิชาการต้องกลับมาอธิบายหลักการตื้นๆ "กฎหมายคืออะไร" อันไหนคืออำนาจ อันไหนคือกฎหมาย เพราะสังคมสับสนไปหมด

อยากใช้อำนาจก็ใช้สิครับ ถ้าตรงไปตรงมาไม่เห็นมีใครว่าอะไร เรื่องที่ท่านใช้อำนาจแล้วเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองก็มีเยอะไป พูดตรงๆ โดยไม่ต้องอ้างกฎหมาย บางครั้งยังได้ใจคนมากกว่า เช่น ที่บอกซื่อๆ ว่ารู้นะ มาไม่ถูกต้อง แต่ทำไงได้ มันจำเป็น บ้านเมืองอยู่ในภาวะคับขัน

ท่านไม่ใช่หวังเฉา หม่าฮั่น แน่นอน ประการแรก หวังเฉา หม่าฮั่น ไม่มี ม.44 ป้ายอาญาสิทธิ์เหนือท่านเปา ประการที่สอง เปาบุ้นจิ้นเป็นนิทานเก่าๆ พันกว่าปี ตกยุคไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ถึงวันนี้ความเชื่อมั่นเชื่อถือเปาบุ้นจิ้น จะสู้หวังเฉา หม่าฮั่นได้หรือเปล่าก็ไม่รู้

 

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป้าย “กองพันเกษตรศาสตร์ #มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” โผล่มก.

$
0
0

28 พ.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าเมื่อช่วงค่ำวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา พบป้ายผ้าสีดำมีข้อความว่า “กองพันเกษตรศาสตร์  #มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ขึ้นที่สะพานลอยหน้าป้ายรถประจำทางประตูงามวงศ์วาน 1  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พร้อมกันนั้น  ยังมีใบปลิวแปะตามจุดต่างๆ ในมหาวิทยาลัย  มีข้อความว่า “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร !” โดยไม่ทราบว่าเป็นการดำเนินการโดยกลุ่มไหน 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อความว่า “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” นั้น เริ่มต้นมาจากกรณีที่ “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ยืนยันในเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ในการเรียนการสอน อย่างไรก็ตาภายหลังคณาจารย์ที่ร่วมกันแถลงดังกล่าวกลับถูกออกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  (รายละเอียดเพิ่มเติม) และเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะอาจารย์ทั้ง 6 คนได้เดินทางเข้ามอบตัวที่ สภ.ช้างเผือกตามหมายเรียก “ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และพวก” ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คน แล้ว (อ่านรายละเอียด)

ขณะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เอง เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ ร่วมด้วย กลุ่มเสรีนนทรี และ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เตรียมจัดกิจกรรมห้องเรียนสาธารณะ รู้ทันเผด็จการซีรีย์ 2 # “จากทุ่งบางเขนสู่ราชดำเนิน : เกษตรศาสตร์กับการเมืองไทย" พร้อมชมคอนเสิร์ต จิบกาแฟ ทำแซนด์วิชไส้ต่างๆ และรับประทานแซนด์วิชร่วมกัน  โดยตามกำหนดการ จะจัดในเวลา 16.00-19.00 น. ของวันนี้ ณ ลานกิจกรรมหน้าตึก 8 (อยู่ติดโรงอาหารกลาง 1 หรือ "บาร์ใหม่") มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) แต่กลับถูกขัดขวางการจัดงานดังกล่าว เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการยกกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ โดยอ้างว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตก่อน มีการให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเก็บเก้าอี้ และช่วงค่ำมีการตัดไฟฟ้าบริเวณสถานที่จัดกิจกรรม (อ่านรายละเอียด)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ห้างค้าปลีกและร้านอาหารชื่อดังในสหรัฐฯ ปฏิเสธไม่ขายปลาแซลมอนจีเอ็มโอ

$
0
0

หลังจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ รับรองปลาแซลมอนตัดต่อพันธุกรรมหรือ GMO ของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ 'อควาเบาน์ตี' ก็มีการต่อต้านจากร้านอาหารบางแห่งในสหรัฐฯ และห้างค้าปลีกอย่างคอสโค (Costco) ห้างค้าปลีกใหญ่ซึ่งมี 487 สาขาทั่วสหรัฐ โดยแถลงว่าร้านจะไม่ขายแซลมอนจีเอ็มโอ ด้านวอลมาร์ทและพับลิกซ์ยังไม่มีการแถลงต่อเรื่องนี้

ปลาแอตแลนติกแซลมอนทั่วไป (หน้า) เทียบขนาดกับปลาแซลม่อนตัดต่อพันธุกรรมของบริษัท AquaBounty (ที่มา: AquaBounty Technologies, Inc./NPR)

28 พ.ย. 2558 เว็บไซต์เนชันออฟเชนจ์รายงานว่าห้างคอสโคซึ่งเป็นห้างค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับสองมีร้านค้าอยู่ 487 แห่งทั่วสหรัฐฯ ที่มีการค้าปลีกแซลมอนและอาหารทะเลจำนวนมากประกาศเจตนารมณ์ของตัวเองว่าพวกเขาจะไม่ขายแซลมอนจีเอ็มโอ

แถลงการณ์ของบริษัทระบุว่า "ถึงแม้องค์การอาหารและยาจะให้การรับรองปลาแซลม่อนดัดแปลงพันธุกรรม แต่คอสโคก็ไม่เคยขายและไม่ต้องการจะขายปลาแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรมในตอนนี้ด้วย"

แถลงการณ์ของคอสโคออกมาหลังจากที่นักกิจกรรมต่อต้านจีเอ็มโอในสหรัฐฯ แสดงออกต่อต้านในเรื่องนี้อย่างแข็งขัน โดยองค์กรเฟรนด์ออฟดิเอิร์ธซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่าในขณะที่ร้านค้าปลีกมากกว่า 60 แห่งทั่วสหรัฐฯ เช่น เซฟเวย์, โครเกอร์, ทาร์เก็ต, เทรดเดอร์โจส์, โฮลฟู้ด, อัลดิ และห้างอื่นๆ ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะไม่ขายแซลมอนจีเอ็มโอ แต่ก็ยังมีห้างอย่างวอลมาร์ทและพับลิกซ์ก็ยังคงไม่แสดงออกต่อต้านในเรื่องนี้

นอกจากห้างค้าปลีกแล้วร้านอาหารอย่างเรดล็อบสเตอร์ที่มีสาขาอยู่ 705 แห่งทั่วอเมริกาเหนือและอีก 40 แห่งทั่วโลกให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าพวกเขาจะไม่ขายแซลมอนที่มาจากการตัดต่อดัดแปลงพันธุกรรม

เนชันออฟเชนจ์ยังระบุถึงความกังวลว่าผู้บริโภคอาจจะไม่รู้ตัวว่าแซลมอนที่พวกเขาได้ทานเป็นแซลมอนจีเอ็มโอหรือไม่เนื่องจากภายใต้หลักการปฏิบัติขององค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ไม่มีการระบุบังคับให้ต้องติดฉลากจีเอ็มโอ และยังไม่แน่นอนว่ากฎหมายซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงอยู่ในตอนนี้ของสหรัฐฯ จะมีมาตรการให้ต้องติดฉลากเพื่อผู้บริโภตจะได้มีทางเลือกหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ส.ส. สหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายที่ห้ามไม่ให้รัฐต่างๆ ออกกฎบังคับให้มีการติดป้ายฉลากจีเอ็มโอ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการพยายามปกป้องอาหารจีเอ็มโอไม่ห้ถูกแบนโดยรัฐ เช่นที่เคยมีกรณีรัฐเวอร์มอนต์เมื่อปีที่แล้วออกกฎให้พืชจีเอ็มโอต้องมีการแปะป้ายเตือนประชาชนอย่างไม่มีเงื่อนไข

กลุ่มคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Working Group) กล่าวหาว่ามีการล็อบบี้ ส.ส. ในสภาสหรัฐฯ ให้รีบผ่านร่างกฎหมายเพื่อใช้อำนาจยับยั้งไม่ให้รัฐเวอร์มอนต์สามารถอ้างใช้กฎหมายแปะฉลากจีเอ็มโอได้ ในเรื่องนี้เว็บไซต์อีโควอทช์เคยรายงานว่าองค์กรอุตสาหกรรมอาหารที่ทรงอิทธิพลในสหรัฐฯ ได้ใช้เงินหลายล้านดอลลาร์ไปกับการฟ้องร้องคดีและการล็อบบีให้มีการห้ามออกกฎหมายบังคับแปะฉลากจีเอ็มโอ

อย่างไรก็ตามสมาคมผู้ผลิตสินค้าในร้านขายของชำ (Grocery Manufacturers Association) กำลังร่วมมือกับวุฒิสมาชิก เดบบี สตาเบนาว และคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านการเกษตรเพื่อหวังจะให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายให้มีการแปะคิวอาร์โคด (QR Code) บนผลิตภัณฑ์เพื่อบ่งบอกผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ชั้นนั้นๆ มีวัตถุดิบจีเอ็มโอผสมอยู่

 

เรียบเรียงจาก

Costco and Red Lobster Say No to GMO Salmon, Nation Of Change, 25-11-2015 http://www.nationofchange.org/2015/11/25/costco-and-red-lobster-say-no-to-gmo-salmon/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายคืออะไร 5# ตอบโจทย์บทบาทศาลยุครัฐประหารและเนติบริกรชั้นเซียน

$
0
0

รอบสองของเวทีอภิปรายกฎหมายคืออะไร ฟังคำตอบจากนิธิ เอียวศรีวงศ์-เกษียร เตชะพีระ-วรเจตน์ ภาคีรัตน์-สมภาร พรมทา สองประเด็น (1) บทบาทศาลยุติธรรม ทำไมยอมรับอำนาจรัฐประหาร และ (2) สิ่งที่เนติบริกรชั้นเซียนเขียนเป็นกฎหมายหรือไม่

 

29 พ.ย. 2559 ประชาไทสรุปความการเสวนา "กฎหมายคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา" จัดโดย โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น 5 ตอน คือ

ตอน 1 นิธิ เอียวศรีวงศ์: จะอยู่อย่างไร ใต้ระบอบที่ไม่เคารพกฎหมาย [อ่านคำอภิปราย][ชมวิดีโอ]
ตอน 2 เกษียร เตชะพีระ: ฐานคิดกฎหมายสมัยใหม่ยอมรับว่า “ชีวิตคุณเป็นของคุณ” [อ่านคำอภิปราย][ชมวิดีโอ]
ตอน 3 สมภาร พรมทา: อย่าดูแค่คำสั่งใคร ให้ดูว่าคนสั่งชอบธรรมหรือไม่ [อ่านคำอภิปราย][ชมวิดีโอ]
ตอน 4 วรเจตน์ ภาคีรัตน์: คำสั่งรัฐอันธพาล เป็นกฎหมายหรือไม่-วิธีเช็คบิลย้อนหลัง [อ่านคำอภิปราย][ชมวิดีโอ]

และตอนที่ 5 เป็นตอนที่รวมคำถามแหลมคมของผู้ดำเนินรายการและคำตอบเข้มข้นของวิทยากรเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันหลังจากมีการปูพื้นฐานความรู้ด้านต่างๆ จากวิทยากรทั้ง 4 คนมาแล้ว เป็นการวิพากษ์สถาบันหลักของสังคมอย่างศาลยุติธรรม และบรรดานักกฎหมายที่พัฒนาถึงขีดสุด “เขียนรัฐธรรมนูญแบบนไหนก็ได้”

000

นิธิ เอียวศรีวงศ์-เกษียร เตชะพีระ-วรเจตน์ ภาคีรัตน์-สมภาร พรมทา สองประเด็น (1) บทบาทศาลยุติธรรม ทำไมยอมรับอำนาจรัฐประหาร และ (2) สิ่งที่เนติบริกรชั้นเซียนเขียนเป็นกฎหมายหรือไม่

 

ปิยบุตร:ที่อาจารย์บรรยายมานี้ ผมคิดว่ามันอาจเป็นความรู้ เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ปฏิบัติงานทางกฎหมายที่เข้าไปอยู่ในองค์กรของรัฐ โดยเฉพาะผู้พิพากษาตุลาการ ให้ขบคิดดูว่าถึงวันหนึ่งถ้าเขาสู่ระบบปกติ เราไม่เรียกร้องวันนี้ก็ได้ แต่เมื่อผ่านไปเรามีวิธีจัดการกับเผด็จการ จัดการกับรัฐประหารอย่างไรบ้าง ด้วยการใส่คำอธิบายอย่างไรไปในคำพิพากษา โดยไม่จำเป็นต้องท่องแต่ว่ายึดอำนาจแล้วเป็นรัฐฏาธิปัตย์ จบ มันมีวิธีการที่จะค่อยๆ เอารัฐประหารออกจากแวดวงกฎหมาย 

อีกเรื่องที่น่าสนใจที่ อ.วรเจตน์ชี้ไว้คือ นักกฎหมายที่สมาทานสำนัก legal positivism ไม่ได้เป็นปีศาจชั่วร้าย เพราะหลายคนเป็นฝ่ายสนับสนุนเสรีประชาธิปไตย แต่ที่น่าสนใจคือ นักนิติศาสตร์ในไทย โดยเฉพาะที่ธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เข้าเรียนปีหนึ่งทุกคนจำกันติดหูติดตาเลยว่ากฎหมายไม่ใช่คำสั่งของรัฐฏาธิปัตย์ ทุกคน anti positivism กันหมด แต่พอถึงเวลาก็มีนักกฎหมายที่จบจากธรรมศาสตร์จำนวนมากที่ยอมรับคำสั่งรัฐฏาธิปัตย์ที่ยึดอำนาจได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

รอบแรกวิทยากรแต่ละท่านได้พูดในทางทฤษฎีไปแล้ว รอบที่สองขอตั้งคำถามให้เข้าสู่ทางปฏิบัติมากขึ้น ประเด็นแรกอาจเกี่ยวกับศาลเพราะศาลเป็นคนนำกฎหมายของคณะรัฐประหารไปใช้ อาจให้วิทยากรแต่ละคนช่วยอธิบายว่าวิธีคิดของศาลเป็นอย่างไร บทบาทศาลกับรัฐประหารเป็นอย่างไร

ขออนุญาตเท้าความนิดหนึ่งว่า แนวโน้มของศาลไทยตั้งแต่ปี 2490 ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกายอมรับรัฐประหารครั้งแรกมาถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร แรกๆ จะใช้วิธียึดอำนาจได้แล้วเป็นรัฐฏาธิปัตย์ เป็นอันสำเร็จ จบ ต่อมาช่วงหลังมีพัฒนาการมากขึ้น มีคดีแปลกๆ ใหม่ๆ หลุดรอดออกมา เช่น รัฐประหาร 2549 มีผู้พิพากษาศาลฎีกาเสียงข้างน้อยท่านหนึ่ง “กรีติ กาญจรินทร์” ที่กล้าปฏิเสธลงไปในความเห็นส่วนตนของท่านว่าการรัฐประหารไม่ถูก ประกาศ คปค. จึงไม่เป็นกฎหมาย จากนั้นเรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ฟ้องที่ศาลอาญา ฟ้อง คปค. สภานิติบัญญัติ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญทุกคน ปรากฏว่าศาลชั้นและศาลอุทธรณ์ไม่รับคำฟ้องโดยให้โดยให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 มาตรา 37 ได้นิรโทษกรรมให้กับ คปค.ในการยึดอำนาจเรียบร้อยแล้ว เขาไม่อ้างรัฐฏาธิปัตย์แล้วแต่อ้างตัวบท พอมายุค คสช. เรืออากาศตรีฉลาดก็ไปฟ้องอีก แต่คราวนี้แตกต่างกัน วันที่ไปฟ้องนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เรียกว่ารัฐธรรมนูญยังไม่มี จึงยังไม่มีกฎหมายมาตราใดนิรโทษกรรมให้คสช. แต่ศาลออกมาด้วยการอธิบายว่าเรืออากาศตรีฉลาดไม่ใช่ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาเองไม่ได้ หลังจากนั้นมีนิรโทษกรรมเกิดขึ้น มีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ 4 คนไปฟ้อง คสช. ศาลตัดสินว่าการยึดอำนาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 แต่เนื่องจากมีมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญ 2557 นิรโทษกรรมให้หมดแล้ว ตอนนี้ผู้ฟ้องไปอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ว่าควรจะต้องรับฟ้องไว้ ก็ต้องตามดูต่อไปในคดีนี้ แต่เทรนด์มันเริ่มมาเป็นแบบนี้ คือ อ้างตัวรัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือบางทีก็ออกทางเทคนิคว่าไม่มีอำนาจฟ้อง 

ประเด็นที่สอง มันไปโยงกับคนเขียนกฎหมายหรือเนติบริกรต่างๆ ในระยะหลังเราพบเห็นเทรนด์ใหม่ๆ เนติบริการไทยนี่เรียกว่าบรรลุหมดแล้ว ผมไปสำรวจบทนิรโทษกรรมในรัฐธรรมนูญต่างๆ ไม่มีที่ไหนเขียนเก่งเท่าประเทศไทย ความเก่งกาจมันพัฒนามาตามยุคสมัย หลังๆ อะไรก็ตามที่ตัวเองต้องการให้เป็นอย่างนั้นก็จะเขียนใส่ในรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ไม่ชอบก็เขียนว่ามันชอบในรัฐธรรมนูญ มันจึงโยงใยว่าสิ่งที่เรียกกว่ากฎหมายกับสิ่งที่เนติบริกรเขียนมันเป็นอย่างไร และด้านหนึ่งมันก็สะท้อนด้วยว่าพวกเผด็จการก็เล็งเห็นเหมือนกันว่ากฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งที่จริงเขาใช้อำนาจก็ได้ทำไมต้องเขียนลงในรัฐธรรมนูญ สุดท้ายคือกฎหมายจะไม่มีคุณค่าอะไรเลยหรือ เมื่อเนติบริกรเขียนตามคำสั่งคนยึดอำนาจเสร็จแล้วก็จบอย่างนั้นหรือ

000

นิธิ เอียวศรีวงศ์:ผมคงตอบคำถามของอาจารย์ตรงไปตรงมาไม่ได้ ไม่ใช่กลัวอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นเพราะไม่มีความรู้จะตอบ ผมเพียงแต่มีข้อสังเกตว่า ข้อแรก การที่เนติบริกรในประเทศไทยร่างรัฐธรรมนูญมา 20 ฉบับ ถามว่ามึงเชื่อหรือว่ารัฐธรรมนูญที่่ร่างจะอยู่ไปชั่วกัลปาวสาน ผมว่าไม่มี

คือทุกคนร่างรัฐธรรมนูญด้วยความเข้าใจว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ประชาชนพอรับได้ชั่วครั้งชั่วคราว พูดตรงไปตรงมาเลย คณะรัฐประหารลงจากอำนาจได้อย่างไร กูจะร่างรัฐธรรมนูญให้พวกกูลงจากอำนาจได้ รักษาอำนาจเท่าที่พอจะรักษาได้ แต่ทุกคนรู้ว่าไอ้ที่กูร่างนี้อย่างมาก 2 ปี 3 ปี เดี๋ยวแม่งก็เลิกใช้ จะเลิกโดยประชาชนลุกฮือ เลิกโดยอะไรก็แล้วแต่ โดยทหารปฏิวัติเอง ปฏิวัติซ้อนอะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่มีหรอกครับรัฐธรรมนูญที่คนร่างคิดว่าจะเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ยุคสมัยที่ยืดยาวเป็นเวลานานๆ ยกเว้นรัฐธรรมนูญปี 2540 ตอนนั้นอาจจะมีความหวังสูงมาก ในการจะอยู่กันไปได้นานๆ นอกนั้นแล้วผมว่าไม่ใช่ ผมจะขอทิ้งไว้ก่อนว่าการที่เนติบริกรคิดอย่างนี้ได้เพราะอะไร

เช่นเดียวกับเรื่องของศาลกับเรื่องการรัฐประหาร อย่างความพยายามของศาลในการแก้รัฏฐาธิปัตย์ อย่างความพยายามของศาลฎีกาปี 2490 ไม่ได้ใช้คำว่ารัฏฐาธิปัตย์ แต่บอกว่าทำไปแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร ซึ่งในทัศนะของผมก็คิดว่าตรงไปตรงมาดี แต่ในภายหลังต่างหากที่เริ่มมายุ่งกับคำว่ารัฏฐาธิปัตย์

อย่างไรก็ตามการที่ผู้พิพากษาพยายามหากลวิธีต่างๆ แทนการอ้างรัฏฐาธิปัตย์เฉยๆ ผมคิดว่าเป็นความสำนึกอยู่นะว่า คำพิพากษาของกูมันไม่ได้เรื่อง คนเขาหัวเราะตลอดมา และผมว่าเขาโชคดีที่เขาสำนึกได้ว่าต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องหาวิธีการเปลี่ยนแปลงทำให้คำพิพากษาฟังดูน่าเชื่อมากขึ้น

ทั้งสองอย่างนี้ สะท้อนสิ่งหนึ่งซึ่งฟังหลังจากฟังที่อาจารย์วรเจตน์พูดไปแล้ว ผมยังยืนยันอยู่ว่า ไม่เกี่ยวกับกฎหมายธรรมชาติ หรือศีลธรรมทั้งสิ้น ผมเชื่อว่ากฎหมายที่จะเป็นกฎหมายได้ คุณหนีเรื่อง Consent หรือ หลักความยินยอมไม่ได้ ประชาชนอาจจะไม่ได้ให้ความยินยอมโดยทันทีได้ แต่ความยินยอมจะทำให้กฎหมายดำรงอยู่ต่อได้เป็นเวลานานพอสมควร

ในประเทศไทยขอให้สังเกตว่ามีระเบียบหรือกฎหมายออกโดยคณะรัฐประหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ที่ถูกล้มเลิกไปก็มี ไม่ใช่ว่าล้มเลิกได้เพราะสำนึกในประชาธิปไตย เช่น กฎหมายสิ่งพิมพ์ อาจจะเป็นไปได้ว่านายทุนสิ่งพิมพ์เริ่มมองเห็นแล้วว่าตลาดสิ่งพิมพ์ใหญ่ขึ้น อย่ามีกฎหมายนี้บนหลังกู แล้วกูจะได้ค้าขายดีขึ้น ด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ กฎหมายสิ่งพิมพ์ที่ออกมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ทำให้การค้าสิ่งพิมพ์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เมื่อตลาดเปลี่ยน ฉะนั้นผู้ค้าสิ่งพิมพ์ก็ต้องการเอาสิ่งนี้ออก

ตกลงกฎหมายไม่ได้มาจากอำนาจล้วนๆ มีอำนาจที่ใหญ่กว่าผู้มีอำนาจ ผมขอเรียกว่าอำนาจทางสังคมก็แล้วกัน อำนาจของค่านิยมที่เปลี่ยนไป อำนาจของระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่มันเปลี่ยนไป ผมเชื่อว่าหลายคำสั่ง หลายกฎหมายที่ออกมาในปัจจุบันโดย คสช. มันออกท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงไปแล้วของสังคม

ขอยกตัวอย่างรูปธรรมก็ได้ ถ้าคุณใช้วิธีออกกฎหมายเพื่อเรียกทหารกองเกินแบบนี้ ผมว่ามัน Impractical (ปฏิบัติไม่ได้) ในเศรษฐกิจปัจจุบัน ดีหรือเปล่าผมไม่รู้ ถูกศีลธรรมหรือเปล่าก็ช่างเถิด แต่มันปฏิบัติไม่ได้ในทางเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้ นายทุนไทยคุณก็เห็นอยู่พวกนี้ยิวทั้งนั้น จ่ายเงินเดือนคนสามเดือน งานก็ไม่ได้เห็นเลย ไปวิ่งในสนามที่ไหนไม่รู้ เฉพาะปัจจัยเรื่องการปฏิบัติไม่ได้อย่างเดียว ผมว่ากฎหมายนี้เลิก เมื่อไหร่ผมไม่รู้ แต่อาจจะเลิกตอนที่ อ.วรเจตน์ สบายใจแล้วก็ได้ แต่เลิกแน่ ไม่ใช่เลิกเพราะมันผิดศีลธรรม การเลิกกฎหมายนี้ในเหตุผลที่นายทุนต้องการอาจจะผิดศีลธรรมกว่าก็ได้ แต่ผมคิดว่าเราปฏิเสธเรื่องหลักการให้ความยินยอมของกฎหมายไม่ได้

เช่นเดียวกับเรื่องของศาลและการรัฐประหาร ผมว่าการให้ความยินยอมกับศาลมันหายไปแล้วในสังคมไทยปัจจุบัน สำหรับผมถือว่าโชคดีที่หายไปแล้ว

การให้ความยินยอมที่เคยให้กับเนติบริกรก็หายไปแล้ว ผมคิดว่าคนชั่วอายุขนาดผมเนี่ย คุณออกชื่อมีชัย ฤชุพันธุ์ บางคนก็อาจบอกว่า "คุณจะไปเถียงอะไรกับมันวะ เขาออกกฎหมายแบบชนิดยอดเลย" ผมจำได้สมัยผมยังเป็นหนุ่มอยู่ มีคนลงข่าวในหนังสือพิมพ์ ในยุคที่คนเพิ่งเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ เขียนทำนองว่า "แกเก็บกฎหมายทุกฉบับ แบ่งประเภทเสร็จ กดฉับเดียวกฎหมายออกมาเลย อะไรต่างๆ นานา" ใครๆ ก็ยอมรับหมด ปัจจุบันนี้ พอออกชื่อมีชัยมา คนครึ่งประเทศก็บอก "เฮ้ย ไม่ใช่ๆ" ถูกไหมครับ ผมคิดว่าสังคมไทยก้าวหน้ากว่า ไปไกลกว่าที่ คสช. จะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ออกมาในปัจจุบันนี้ แล้วบอกว่าเป็นกฎหมายนั้น ในช่วงสั้นๆ นี้ถามว่าผิดกฎหมายไหม อันนี้เถียงกันได้นะครับ แต่ในระยะยาวหลายกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบัน ใช้ไม่ได้ แม้แต่จะเกิดรัฐประหารซ้อน คณะรัฐประหารก็ต้องแก้ไขกฎหมายนี้เสีย หรือจะเลิกใช้กฎหมายนี้ ฯลฯ อะไรก็ตามแต่

คำถามว่าที่ อ.วรเจตน์ ถามว่า "ในระยะสั้นจะทำอย่างไร" ผมคิดว่า เท่าที่ชาวบ้านทำมา มีการใช้กลไกของกฎหมายมาคานกันเอง เพื่อให้กฎหมายนั้นไม่สามารถใช้บังคับได้ คือทำให้อำนาจของกฎหมายหายไป เช่น ชาวบ้านที่โดนเหมืองทองรุกราน ชาวบ้านที่ถูกริบที่จากแม่สอด เยอะแยะไปหมดที่ไปร้องศาลปกครอง อาจจะแพ้ แต่เหนื่อยชิบเป๋งว่ะ คือถ้าผมเป็นคนออกกฎหมายนะ เหยื่อยชิบเป๋งว่ะ

ถามว่าที่ชาวบ้านทำควรทำไหม ควรทำอย่างยิ่ง คือเราไม่มีปัญหาหรอกที่จะเอาปืนไปยิงเขา แค่จับปืนนะ ขอประทานโทษ ไม่ใช่จับไม่ไหว เยี่ยวจะแตกเอา เหตุดังนั้นการใช้กลไกของกฎหมายในการคานกันเองเพื่อทำให้สภาพบังคับหายไป ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ

000

เกษียร เตชะพีระ: วิธีคิด และลำดับเหตุผลอาจจะต่างกันไปบ้าง แต่ผมอยากจะเริ่มด้วยการแย้งอาจารย์นิธิ และก็แย้งอาจารย์วรเจตน์หน่อย เพราะว่าเดี๋ยวเขาจะหาว่านัดกันมาซึ่งจริงๆ ไม่ได้นัดนะครับ (หัวเราะ) ถึงแม้ผมจะนั่งรถมากับอาจารย์วรเจตน์ก็ตาม

ประการแรก อาจารย์นิธิพูดไว้ น่าขำ ผมฟังแล้วก็หัวเราะ ว่าไอ้ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมา ทุกคนแม่งรู้ใช้แป๊ปเดียว เดี๋ยวก็เลิกใช้มันไม่เชิงจะให้มันอยู่ชั่วฟ้าดินสลายหรอก หาทางขึ้นให้มันนั่นแหละ ลงได้ปลอดภัยก็เป็นบุญแล้ว 

ผมเห็นด้วย แต่ผมคิดว่าตอนหลัง แม่งแย่กว่านั้นอาจารย์  คืออย่างน้อยไอ้คนร่างมันต้องมีความหวังว่าคงได้ผ่านไปใช้ล่ะวะ (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้ร่างเสร็จยังไม่ทันผ่านเลย  คือแท้งง่ะ แท้งง่ะ คลายๆ กับระยะเลิกใช้ แม่งสั้นลงอย่างเหลือเชื่อ

ทีนี้มีเรื่องตามมาแต่อาจารย์ไม่ควรประมาณ คือผมเห็นด้วยอยู่ว่า อาจารย์มองอย่างนี้ practicality ไอ้พวกนี้มันก็รู้อยู่ แม่งเล่นใช้แป๊ปเพื่อเชิญให้ท่านลงอย่างปลอดภัย เดี๋ยวก็เลิกใช้ มันไม่คิดว่าจะอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย แต่ผมคิดว่าจังหวะที่คนเหล่านี้ ได้เข้าไปกุมนั่งตำแหน่งบ้างที่แล้วได้ใช้อำนาจสมบูรณ์ มันทำให้ hallelujah กูจะได้ทำฝันให้เป็นจริง กูฝันเรื่องนี้มาทั้งชีวิตแล้ว หน่วยงานกู ตัวกูเอง กูย้ากอยาก ย้ากอยาก วันนี้แหละ hallelujah คือโอ้โฮ จะได้มาร่างรัฐธรรมนูญน่ะ แล้วจะได้มาออกกฎหมาย ดังนั้น ในเมื่อออกกฎหมาย กำลังสำรอง ไอ้พวกที่แม่งจบ รด.  หนีเกณฑ์ทหาร ผมก็ด้วยคนหนึ่ง ลากมันกลับมาฝึกใหม่ให้หมด นึกออกมั้ย นี้คือความฝันของสิบโททุกคนน่ะ ที่แม่งเล่นงานไอ้เด็ก รด. แล้วมันออกไปมันเป็นนายกู มันจบปริญญาตรี ดังนั้นพอขึ้นมามีอำนาจสมบูรณ์ ตรรกะ และผลประโยชน์ของหน่วยงานมันกำกับ มาช่วยกันทำฝันให้เป็นจริง ซึ่งแน่นอนมันเป็นความฝัน มัน impractical และไม่ใช่เฉพาะเรื่องกำลังสำรอง ผมนึกถึงอะไรรู้ป่ะ แล้วก็เรียบร้อยไปแล้วด้วย หลังจากรัฐประหารไม่นาน กองทัพดีใจมาก ผมนึกไม่ออกว่ามันเป็นกฎหมายอะไร แต่ว่าต่อไปนี้สถาบันการศึกษาของกองทัพสามารถประสิทธิประสาทปริญญาเองได้ ไอ้ห่า ไม่ต้องเพิ่งธรรมศาสตร์ จุฬาอ่ะ เออ... ไม่ต้องมาเรียนกับวรเจตน์และเกษียรอ่ะ ให้เกรดโหดด้วย เผลอๆ ไม่ให้ผ่าน เราประสิทธิประสาทออกปริญญาเอกของสถาบันการศึกษาของทหารเองได้ โอ้โฮ้ อันนี้ฝันปรากฎเป็นจริง

ดังนั้นผมไม่แปลกใจ ตอนร่างรัฐธรรมนูญ ผมเห็นด้วยว่าร่างรัฐธรรมนูญต้องมีการทำบันไดทางลงให้ท่านสะดวก แต่แบบไหนๆ ร่างทั้งทีทำฝันให้เป็นจริงวะ อินเหลือเกินกับไอ้เรื่องคนดี ความดีเนี่ย ใช่ป่ะ คือก็ด้วยความเคารพนะครับ ก็คงแบบมีความเชื่อมั่นในหลักอันนี้ เอามาเขียนเป็นรัฐธรรมนูญเลย แทนที่จะเป็นหลักศีลธรรมให้คนเข้าใจและปฏิบัติตาม โดยไม่ต้องมี อำนาจบังคับ มาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลยว่า มีสมัชชาคุณธรรม เอาคนดีมามีอำนาจจริงๆ เลย เรียกว่าทำฝันให้ปรากฎเป็นจริง อันนี้ต่างหากที่ผมคิดว่ามันน่ากลัวเหมือนกัน มันน่าขำและมันก็น่ากลัวด้วย

ทีนี้มาที่อาจารย์วรเจตน์ ผมก็เข้าใจนะ นั่งรถมาแกก็แบไต๋ผมว่า สถานการณ์บ้านเมืองทำให้แกคิดถึงปัญหากฎหมาย และกฎหมายของช่วงเยอรมันสมัยไวมาร์และนาซี และหลังนาซี Hans Kelsen, Radbruch เดี๋ยวผมต้องไปหาโหลดมา บทความที่มีอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20 ไอ้ห่า กูไม่รู้ว่า อายฉิบหายเลย (หัวเราะ)

แต่อย่างนี้นะอาจารย์วรเจตน์ ฮิตเลอร์นะ ไม่ใช่พลเอกประยุทธ์ พรรคนาซีนะ ไม่ใช่ คสช. มันมีความต่างเยอะไม่ใช่เหรอ ผมพูดอันนี้เพื่อจะดึงไปสู่ ผมคิดว่า ระเบียบอำนาจที่เราเจอมันไม่ใช่แบบนั้น ผมเข้าใจว่า สิ่งที่เราเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการประกอบเข้าด้วยกันของสองส่วน ส่วนหนึ่ง คือ ระเบียบอำนาจของอีลิท แต่อีลิทมีหลายกลุ่ม ที่เป็นข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน เทคโนแครต นายทุนใหญ่ นักวิชาการ การเมืองไทยสมัยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีอีลิทหลายกลุ่ม แต่ทั้งหมดรักษาความเป็นอีลิทไว้ได้ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งด้วยคือ อยู่ใต้พระบรมราชูปภัมถ์ ผมคิดว่าสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดของอำนาจแบบนี้ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคือว่าสโมสรสันนิบาตหลังวันเฉลิมพระชนม์พรรษา 5 ธันวา จะมีงานสโมสรสันนิบาตครั้งใหญ่ ซึ่งทั่วไปจัดที่ทำเนียบรัฐบาล จะเชิญข้าราชการต่ำกว่า ซี 9 ซี 10 เข้าไม่ได้ คือ คนประมาณ 3,000 คน จะได้ไปร่วมอยู่ในงานนั้น เรียกว่าระดับบิ๊กของไทย นั่นแหละคือที่ชุมนุมอีลิทใหญ่ของไทย คืนวันนั้นประมาณ 3,000 คน และต้องรักษาความปลอดภัยสูงสุดเลย และทั้งหมดไปชุมนุมกันด้วยเงื่อนไขเพื่อไปเฉลิมพระชนม์พรรษา และถ้าเมื่อไรคุณทำให้คนสงสัยว่าคุณมีปัญหาเรื่องนี้คุณก็จะไม่ได้เป็นอีลิทต่อ เช่น จักรภพ เพ็ญแข ซึ่งยังไม่ได้ถูกฟ้องด้วยซ้ำ เพียงแต่มีข้อสงสัย และพอมีข้อสงสัยสิ่งที่คุณอภิสิทธิ เวชชาชีวะ บอกคือในฐานะที่คุณเป็นรัฐมนตรี คุณมีข้อสสงสัยเรื่องนี้ คุณออกเถอะ ผมคิดว่าอันนี้แหละคือเกณฑ์การอยู่ด้วยกันของอีลิทไทย

อีกอันหนึ่งคือ ในตัวรัฐหรือตัวระบบราชการไทย ผมคิดว่ามันมีบุคคลิกแบบนี้ ซึ่งความจริงผมเอามาจากหลายอย่างที่มีคนวิจัย เช่น งานของอาจารย์นิธิ ผมว่ามันเป็นรัฐที่รวมศูนย์สูงมาก มันรวบอำนาจมาไว้ที่ศูนย์กลาง แต่มันไม่เป็นเอกภาพ ทำให้มันหวงอำนาจจากชาวบ้าน แต่ทำงานไม่เป็นโล้เป็นพาย เพราะงานเรื่องเดียวมีหน่วยงานเกี่ยวข้องเป็นสิบๆ หน่วยงาน เช่นจราจรกรุงเทพ เป็นต้น มีหลายงานเกี่ยวข้องเกือบ 20 หน่วยงาน ทุกเรื่องมันเลยเป็นรัฐที่ในภาษาอาจารย์นิธิคือ เป็นได้แค่ตัวตลก ทำให้เรารำคาญ เดือดร้อน

ผมคิดว่าอันนี้คือระเบียบอำนาจแต่เดิม เหมือนปรีมิดที่แตกเป็นเสี่ยง แต่เวิร์กเพราะอะไร เพราะมีอำนาจนำทางการเมือง มีอำนาจทางการเมืองที่ทรงพลังพอที่จะเหนี่ยวเอารัฐที่แตกออกเป็นเสี่ยงให้ทำงานรวมกันได้ในภารกิจที่สำคัญๆ ผมคิดว่าปัญหาคือ อำนาจนำนี้ไม่มีอีกแล้ว ผมคิดว่ารัฐในตอนนี้แตกเป็นเสี่ยงๆ ดังนั้นกลับไปที่คำถามของอาจารย์ปิยบุตร

ผมคิดว่าอาญาสิทธิ์ของ คสช. ไม่ใช่อาญาสิทธิ์ที่มีผลปฏิบัติจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เชื่อผม ผมคิดว่าในสนามพื้นที่อำนาจในสังคมไทย มันเป็นเขตอำนาจของหน่วยราชการต่างๆ รวมทั้งฝ่ายตุลาการ คือถ้านึกย้อนหลังจาก คสช. ขึ้นมากุมอำนาจไม่นาน จะมีแบบศาล คณะตุลาการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่ผู้พิพากษาโวยวายที่สงขลาว่าทำไม่ปล่อยทหารเข้ามา นึกออกมั้ย ผมคิดว่าถ้า คสช. มีอำนาจอาญาสิทธิ์สมบูรณ์จริงๆ เรื่องพวกนี้ไม่เกิด ผมคิดว่าสนามอำนาจในเมืองไทยมันแตกเป็นเสี่ยงๆ และมีเขตอำนาจ พูดง่ายๆ คสช. บริหาร และในทางทฤษฎีมีอำนาจอาญาสิทธิ์ ในท่ามกลางพื้นที่ซึ่งอำนาจถูกแบ่งส่วนเรียบร้อยแล้ว นั่นแปลว่าเขาต้องระวัง ไม่ใช่เขานึกจะทำอะไรก็ทำได้ มันมีทั้งอำนาจเปิดเผยว่าอะไรเป็นขอบเขต และมีทั้งรัฐในเงา คือมีพื้นที่อำนาจบางแห่งที่ไม่มีกฎหมายบอกว่าเป็นอำนาจของใคร แต่รู้กันว่า พื้นที่นี้คนนี้ เรื่องนี้หน่วยงานนี้ 

ดังนั้นอำนาจอาญาสิทธิ์ แม้จะมี ม.44 รองรับในทางปฏิบัติเขาใช้ไม่ได้เต็มที่ ดังนั้นที่อาจารย์ถาม คำตอบจึงไม่เชิงเหมือนกับคำถามของอาจารย์ปิยบุตรเท่าไร อาจารย์ถามว่ามีทางทำอย่างไรให้ศาลทัดทานอำนาจคณะรัฐประหารได้ ผมคิดว่ามันทัดทานกันอยู่ แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลดีๆ ที่เราอยากจะให้เป็น แต่เพราะมันเป็นเขตอำนาจของเขา นี่เขตอำนาจกู มึงอย่ามายุ่ง

ปิยบุตร: ได้อ่านบทความที่ อ.สมภาร เขียนในวารสารปัญญาแล้วก็รู้สึกหดหู่ แต่ก็สะท้อนความเป็นจริง คืออาจารย์เขียนไว้ว่ากฎหมายแก้ไขปัญหารัฐประหารไม่ได้ เพราะถึงจะเขียนข้อห้ามไว้ แต่สุดท้ายเขาก็จะมาฉีกหรือยกเลิกมาตราที่ห้ามทำรัฐประหารอีก จึงอยากถามสองประเด็นที่ถามไว้

สมภาร : ผมคิดว่าท้ายที่สุดแล้ว เท่าที่ฟังอ.วรเจตน์พูด ผมก็เห็นด้วย ความต่างระหว่างสองสายนี้ไม่มาก แม้แต่ตัวเองที่คิดว่าน่าจะอยู่สายธรรมชาติ เวลาเราอ่านงานอีกสายที่เราถกเรื่องกฎหมายกับศีลธรรม ก็คิดต่างกันไม่มาก

ปัญหาว่า เราจะทำอย่างไรที่จะสกัดกั้นไม่ให้เกิดการทำรัฐประหารในประเทศไทย เป็นปัญหาที่เราต้องช่วยกันคิดและทำให้เกิดให้ได้ในอนาคต เพราะมันอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ และในทางสังคมวิทยาการเมือง สิ่งนี้เป็นตัวสกัดกั้นทำให้การเมืองในประเทศไทยไม่ก้าวหน้า ปัญหาคือวิธีการใดที่จะทำให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้ยาก

ผมเห็นว่าการเขียนกฎหมายอย่างเดียวอาจจะไม่มีประสิทธิภาพพอ

สิ่งที่อยากจะเสนอ เมื่อกี้ที่ อ.วรเจตน์พูด เหมือนอาจารย์คิดว่า สายกฎหมายธรรมชาตินิยมมันไม่ชัดเจน อันนี้เห็นด้วย แต่ความไม่ชัดเจนของสำนักกฎหมายธรรมชาติ มันอยู่ที่การอธิบายว่าอะไรคือกฎหมาย อะไรไม่ใช่กฎหมาย แล้วศีลธรรมควรจะเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญของกฎหมายยังไง เกณฑ์มันไม่ชัด เพราะฉะนั้นความไม่ชัดของสำนักธรรมชาตินิยม มันอยู่ที่การออกกฎหมายให้มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายแท้ๆ กับคุณค่าอย่างอื่น เช่น ความยุติธรรม 

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับสำนัก Positivism สำนักธรรมชาตินิยมมีข้อเด่นอันหนึ่งคือ การสร้างสิ่งที่เรียกว่า "จารีตทางกฎหมาย" ซึ่งเรามองได้สองอย่าง คณะนิติศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัย มีพันธกิจในการผลิตนักศึกษาซึ่งจบกฎหมาย เพื่อที่จะไปทำงานเป็นบุคลากรด้านกฎหมาย เช่น ผู้พิพากษา และในขณะเดียวกัน คณะของทุกมหาวิทยาลัยก็มีพันธกิจสำคัญก็คือ จะต้องมีนักวิชาการด้านกฎหมายที่เป็นหลักให้กับสังคม 

ทีนี้ ประเด็นที่ อ.ปิยบุตรถามเรื่องศาล ในระยะยาว หากคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เราสามารถพัฒนาสิ่งที่ผมเรียกว่า จารีตทางกฎหมายแนวธรรมชาติ ซึ่งก็คืออยู่ๆ จะมาบอกว่า นี่คือกฎหมายเพราะว่า มันมาจากคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ พูดดื้อๆ อย่างนี้ไม่ได้ ในอนาคต เราต้องคิดกันในรายละเอียดว่าแค่ไหนเพียงใด ซึ่งอ.วรเจตน์พูดค่อนข้างจะละเอียดแล้ว 

สมมติว่าเราทำสิ่งนี้ได้พอสมควร เราก็จะมีลูกศิษย์เราซึ่งจะไปทำงานเป็นผู้พิพากษา ซึ่งมีความคิดแบบนี้ คราวนี้คนซึ่งมีความคิด ถ้าโยงเอาเรื่องอื่น เช่น  เรื่องศีลธรรม ความยุติธรรม การเมือง รัฐศาสตร์ เข้ามาปนกับกฎหมายด้วย คุณภาพของผู้พิพากษาจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่าในอนาคต ถ้าคนเหล่านี้เติบโตถึงขั้นเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ท้ายที่สุด สมมติว่าวันหนึ่ง เมื่อคณะรัฐประหารลงจากอำนาจแล้ว เราทำบางอย่างกับเขาย้อนหลัง เป็นไปได้ที่เวลาที่คำฟ้องย้อนหลังเหล่านี้ไปอยู่ในมือของผู้พิพากษาซึ่งคุ้นเคยกับจารีตแบบธรรมชาตินิยม เป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นการตัดสินซึ่งมันไม่เหมือนกับเวลานี้

พันธกิจในเรื่องนี้จึงอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัย

000

วรเจตน์ ภาคีรัตน์: จริงๆ ผมก็ทราบว่า volume ของ คสช.กับนาซีคงต่างกันเยอะ คงจะเทียบกันลำบาก

ประเด็นอยู่ตรงนี้ว่า ผมเห็นประเด็นนี้คล้ายๆ กันกับ อ.เกษียร ผมเคยสมมติว่า อำนาจของ คสช. เหมือนกับเราหยิบก้อนดินขึ้นมา มันมีอะไรหลุดไปตลอดเวลาจากนิ้ว เพราะฉะนั้นมันไม่เสถียรในแง่ที่ว่ามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดๆ แต่ประเด็นคือในขณะที่เขาครองอำนาจอยู่  ในทางปฏิบัติ เราไม่ทราบหรอกว่า วิธีการใช้อำนาจที่ลงสู่ชาวบ้าน ลงสู่คนธรรมดา ที่ไม่ใช่ในเขตเมือง ในต่างจังหวัด เขาใช้อำนาจในลักษณะแบบไหน อย่างไร ในแง่นี้ในอนาคต การตระหนักถึงประเด็นที่ผมได้นำเสนอไปมันจะมีผล อย่างน้อยถ้าเรื่องนี้เข้าสู่ความรับรู้ของคนซึ่งครองอำนาจอยู่ เขาจะได้ไม่ประเมินอะไรบางอย่างสูงจนเกินไป

ปัญหาใหญ่สำคัญที่สุดของคณะรัฐประหาร ไม่ได้อยู่ตรงตอนยึด แต่อยู่ตรงตอนลง โอเค เราก็รู้ว่าการยึดเป็นเรื่องยาก  ในบ้านเรา เราก็รู้ว่ามันมีปัจจัยอันหนึ่งซึ่งเป็นตัวชี้ขาดว่าจะสำเร็จหรือไม่ซึ่งขอละไว้ไม่พูดถึงในที่นี้

ทีนี้ พอได้มาแล้ว และครองอยู่ ตอนลงจะลงอย่างไร หากมองในสภาวะธรรมดาก็น่าเห็นใจว่าคนที่ครองอำนาจจะลงอย่างไรไม่ให้เป็นปัญหาในอนาคต  ในอดีตที่ผ่านมา เขาอาจจะค่อนข้างมั่นใจเรื่องทางกฎหมายได้พอสมควร มีการเขียนเรื่องนิรโทษกรรมรองรับเอาไว้เรียบร้อยพอสมควร

แต่ไอเดียแบบที่ถูกนำเสนอหรือที่นิติราษฎร์เคยนำเสนอในอดีต อาจจะมีผลสำคัญในทางจิตวิทยาในแง่ของช่วงที่ใช้อำนาจว่าคุณใช้อย่างไร เพราะสุดท้าย พอพ้นแล้ว ทุกอย่างอาจจะถูกรื้อฟื้นกลับมาได้ทั้งสิ้น ในแง่นี้ไอเดียที่บอกว่าไม่ใช่ทุกอย่างที่อ้างในนามของกฎหมายจะอยู่แบบนั้นได้ตลอดไป มันถูกจัดการได้ในภายหลัง จะมีผลสำคัญให้คนที่มีอำนาจตระหนักในประเด็นแบบนี้อยู่ คือวันหน้าอาจจะต้องคิดด้วยว่าควรจะเป็นยังไง

ผมจึงมองว่า การเขียนบางอย่าง ซึ่งเมื่อนักกฎหมายไทยพัฒนาระดับการเขียนแบบนี้ไปถึงที่สุด บางทีมันไปสู่การขัดหลักการบางอย่างอย่างสิ้นเชิง เพราะเขียนให้การกระทำบางอย่างซึ่งยังไม่รู้เลยว่าคืออะไร มันชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นที่สุด มีผลทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ถามว่าโดย common sense ธรรมดา บรรทัดฐาน แบบนี้มีผลทางกฎหมายได้ไหมโดยสภาพ ผมว่ามันขัดกับสามัญสำนึกอย่างมากทีเดียว

ผมอยากจะเตือนว่า คนที่ครองอำนาจอยู่อย่าเชื่อนักกฎหมายมากนัก คือนักกฎหมายให้เขียนอะไรก็เขียนให้ได้ แต่เขียนแล้วมันจะเป็นไปได้จริงหรือเปล่า มันเป็นอีกประเด็นหนึ่ง คือตอนเขียนเขียนได้ อาจขาดเพียงการรับรองถึงชาติภพถัดไปที่ยังไม่ได้ทำ (ผู้ฟังหัวเราะ)

เพราะฉะนั้นไอเดียแบบนี้ในทางปฏิบัติอาจจะพอมีประโยชน์อยู่ จริงๆ เห็นไม่ต่างจากอาจารย์เกษียร ว่า volume ของระดับตรงนี้อาจจะต่างกัน แต่ไอเดียของความไม่ยุติธรรมอย่างมาก เราไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติเกิดการตายในกระบวนการยุติธรรมขึ้นมา ทำกันยังไงมันถึงเกิดแบบนั้นขึ้น คำถามแบบนั้นอาจจะถูกถามขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ในอนาคต ไอเดียแบบนี้มันอาจจะช่วย

สำหรับแนวความคิดเรื่องกฎหมายธรรมชาติ ผมเห็นพ้องกับหลายส่วนที่ อ.สมภารพูดมา แต่ในทางปฏิบัติ ในบ้านเราเอาเฉพาะไอเดียแบบที่ธรรมศาสตร์สอน มันถูก dominate (ครอบงำ) ด้วยแนวคิดแบบกฎหมายธรรมชาตินี่แหละ แต่ปัญหาที่มันน่าสงสัยคือ ทำไมเวลาที่เกิดเหตุการณ์บางอย่างที่อาจจะขัดหรือฝืนกับหลักกฎหมายธรรมชาติบางเรื่อง ทำไมมันไม่มี react หรือปฏิกิริยาจากคนที่ถูกสอนหรือกล่อมเกลาให้เชื่อในความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมในทางธรรมชาติ ผมว่าเหตุผลสำคัญก็คือ วิธีคิดแบบกฎหมายธรรมชาติมันมีความเลื่อนไหลในตัวมันอยู่ มันอาจจะถูกอ้างได้ในลักษณะต่างๆ กัน แล้ววิธีคิดแบบนี้มันลงตัวพอดีกับความคิดเรื่องคนดีคนมีคุณธรรมในสังคมไทย จริงๆ โดยเนื้อแท้กฎหมายธรรมชาติ มันมีสภาพอีกอย่างเช่น เรื่องความเคารพในสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ทำไมพอเข้ามาในสังคมไทยถึงถูกพลิก หรือเปลี่ยนไปอีกแบบ ลดทอนเหลือแค่ว่า คนดีมีคุณธรรม

ในทางกลับกัน ผมกลับรู้สึกว่า วิธีคิดแบบกฎหมายธรรมชาติอาจจะปรับไปสนับสนุนการทำรัฐประหารโดยไม่รู้ตัว เพราะถ้าอ้างถึงการทำความดี คนที่เชื่ออาจจะไม่ตั้งคำถาม เพราะมองว่าทำไปเพื่อไปสู่ความถูกต้องดีงาม ผมจึงค่อนข้างระมัดระวังมากๆ เวลาจะอ้างถึงลักษณะแบบนี้ แม้จะรู้ว่าถึงที่สุดไอเดียที่มุ่งไปถึงคุณค่าบางอย่าง ซึ่งมนุษย์ทุกคนรับรู้กัน มีประโยชน์จริงๆ  

ไอเดียกฎหมายธรรมชาติ ในสภาพที่มีความยุติธรรมอย่างมาก มันช่วยได้เยอะ มันมีประโยชน์เยอะ แต่ว่าในสังคมไทย บางทีก็ต้องระมัดระวัง หลายอย่างมันถูกแปลง บางทีเรามักจะบอกว่า เนติบริกรเป็นพวก positivism ผมไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นแบบนั้น ผมคิดว่าเนติบริกรในสังคมไทยไม่ได้เป็นอะไรเลยในบรรดาสำนักพวกนี้ (ผู้ฟังหัวเราะ) อย่าเอาฉลากบางอย่างที่มีรายละเอียดในทางเนื้อหาเยอะ มาแปะง่ายๆ ผมว่าในบ้านเรา ไม่มีอะไรมาก มันก็เพียงรับใช้อำนาจ ได้ประโยชน์ ไม่ต้องคิดซับซ้อน มองว่าอยู่ฝั่งไหนได้ประโยชน์ก็อยู่ตรงนั้น ใช้ skill ที่เรียนมารับใช้ไป ขาดในมุมอื่นซึ่ง positivism เขามี เราอาจจะเรียกแบบนี้ว่าเป็นแบบไทยดีกว่า

แต่ถามว่ากฎหมายจะมีส่วนในการป้องกันรัฐประหารไหม  รัฐธรรมนูญ ปี 2517 เป็นฉบับเดียวที่เขียนเรื่องการห้ามนิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่มีลักษณะของการล้มล้างสถาบันกษัตริย์กับการทำรัฐประหาร แต่ต่อมาสองปีก็ถูกฉีก เพราะฉะนั้นมีอาจารย์สมภารพูดจึงไม่ใช่เรื่องของการเขียน มันมีวัฒนธรรรมบางอย่างซึ่งห่อหุ้มตัวกฎหมายอยู่ กฎหมายจึงไม่ใช่อย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกัน กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือ

เพราะฉะนั้นในการอธิบายว่ากฎหมายคืออะไร ที่สุดเราตัดเรื่องคุณค่าออกไปไม่ได้ โดยส่วนตัว ผมคิดว่า กฎหมายที่จะยั่งยืนได้ต้องการ consent (ความยินยอม) แต่ในระยะชั่วคราว ในบางห้วงเวลามันไม่มี consentแต่ทำไมสภาพการณ์บางอย่างมันจึงตั้งมั่นอยู่ได้ มันมีบางอย่างซึ่งมีลักษณะเป็นการกดทับอยู่ แต่เราเชื่อว่าการกดทับอย่างนี้มันไม่ดำรงอยู่ถาวร วันหนึ่งมันต้องคลายตัวออก มันต้องถูกบีบให้ปรับ เพียงแต่ว่ากว่าจะถึงช่วงถูกบีบให้ปรับ ราคาการสูญเสีย ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อกลับไปสู่ระบบที่มี consent มากแค่ไหนนั้นตอบยาก เป็นสิ่งซึ่งทุกคนต้องประเมิน ผมว่าราคาของการกลับสู่ consent การกลับสู่กฎหมายซึ่งเป็นอารยะ มันมากเกินไปแล้ว แล้วเราก็ยังไม่เคยใช้ cost แบบนั้นคุ้มค่าสักครั้งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทนายแจ้งความ พนง.สอบสวน โต้ผู้ต้องหาอยู่เรือนจำไม่เกี่ยวคดีขอนแก่นโมเดล

$
0
0
ทนายผู้ถูกกล่าวหาคดีขอนแก่นโมเดล เข้าแจ้งความเอาผิดคณะพนักงานสอบสวน ฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ตาม ป.อาญา ม. 157 แจ้งความเท็จและหมิ่นประมาท หลังพบว่ามีการออกหมายจับที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ระบุผู้ถูกกล่าวหาอยู่ในเรือนจำไม่สามารถพบปะหรือวางแผนร่วมกับบุคคลภายนอกได้

 
 
เบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายธนกฤต ทองเงินเพิ่ม 1 ใน 9 ผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดล เข้าแจ้งความความเอาผิดคณะพนักงานสอบสวนคดีขอนแก่นโมเดล (ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย)
 
29 พ.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่า นางเบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายธนกฤต ทองเงินเพิ่ม 1 ใน 9 ผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดล ที่ตำรวจออกหมายจับล่าสุด เนื่องจากพบหลักฐานเตรียมก่อเหตุความวุ่นวายช่วงกิจกรรมสำคัญ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นำพยานหลักฐานซึ่งเป็นภาพถ่ายและเอกสารรับรองจากเรือนจำจังหวัดขอนแก่น เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เพื่อเอาผิดกับพลตรีวิจารณ์ จดแตง ฝ่ายกฎหมาย คสช. และพลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้ทั้งหมด ในความผิดฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ความผิดฐานแจ้งความเท็จ และข้อหาหมิ่นประมาท
 
นางเบญจรัตน์ ยืนยันว่านายธนกฤต รับโทษอยู่ในเรือนจำจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2557 ในความผิดเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2557 และขณะนี้รับโทษในความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร จึงเป็นไปไม่ได้ที่นายธนกฤตจะกระทำผิด ตามที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาและยืนยันว่า การควบคุมตัวนายธนกฤตภายในเรือนจำจังหวัดขอนแก่น มีความเข้มงวด ไม่สามารถพบปะหรือวางแผนร่วมกับบุคคลภายนอกได้ โดยหลังจากที่นายธนกฤตทราบข่าว ว่าถูกออกหมายจับเพิ่มเติม จึงมอบหมายให้มาแจ้งความเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
 
ด้านพนักงานสอบสวน ได้รับเรื่องไว้ก่อนเสนอผู้บังคับบัญชาดำเนินการต่อไป
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตัวแทนทูตอียู ลงพื้นที่พบกลุ่มชาวบ้านค้านเหมืองทองวังสะพุง

$
0
0
คณะผู้แทนสถานทูตยุโรปลงพื้นที่วังสะพุง พูดคุยกับกลุ่มชาวบ้านคัดค้านเหมืองทองคำ ระบุมุ่งประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนยืนยันไม่แทรกแซงการเมืองไทย

 
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมาเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าที่วัดโนนสว่างบ้านนาหนองบงต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย คณะผู้แทนคณะผู้แทนสถานทูตประเทศยุโรป 8 ชาติประกอบด้วย ประเทศโปแลนด์ ออสเตรีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์โปรตุเกส เยอรมันนี แคนาดาและสาธารณรัฐเช็ก นำโดยนางซานดรา เดอเวเล่ หัวหน้าฝ่ายการเมืองสหภาพยุโรป (EU) พร้อมคณะผู้ติดตามรวม 20 คนเดินทางมาพบสมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านเกิด ที่เคลื่อนไหวต่อการการทำเหมืองทำคำในพื้นที่โดยมีชาวบ้านร่วมให้ข้อมูล และพูดกับคณะของนางซานดร้าประมาณ 150 คน นำโดยนายสุรชัย รุจิไชยวัฒน์ ท่ามกลางการเฝ้าสังเกตการณ์และดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และ อส. ทั้ในและนอกเครื่องแบบกว่า 20 คน
 
ทั้งนี้การพูดคุยใช้สถานที่ในศาลาวัดโดยได้เชิญให้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมทั้งสื่อมวลชนออกนอกห้องประชุมหลังจากนั้นคณะของนางซานดรา ได้สอบถามแกนนำกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด เกี่ยวกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดช่วงเวลาของการเคลื่อนไหวคัดค้าน ต่อต้านเหมืองทองคำทั้งจากภาครัฐและกลุ่มนายทุน ซึ่งนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แกนนำกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบอกว่า เหตุที่ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เพราะนับตั้งแต่มีการเข้ามาตั้งเหมืองทองคำเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เริ่มมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม ชาวบ้านไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติสุขได้เหมือนดังเดิมสำนักงานธารณสุขจังหวัดออกประกาศห้ามนำน้ำและสัตว์น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะขึ้นมาอุปโภคบริโภคได้และมีสารโลหะหนักปนเปื้นในเลือดชาวบ้านหลายราย
 
แกนนำกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดกล่าวว่าการลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชุมชนได้ถูกกลุ่มบุคคลฝ่ายตรงข้ามเข้ามาข่มขู่คุกคามเรื่อยมาจนกระทั่งเหตุการณ์รุนแรงที่สุดคือวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 มีกลุ่มชายฉกรรจ์เข้ามาทำร้ายชาวบ้านในกลางดึก ได้รับบาดเจ็บหลายคน เพื่อเปิดทางขนแร่ออกจากเหมืองทองนอกจากนี้ชาวบ้านและแกนนำกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดได้ถูกผู้ประกอบการเหมืองทองคำฟ้องร้องหลายคดี ทั้งแพ่งและอาญาจนถึงปัจจุบันการพิจารณาคดีก็ยังไม่เสร็จสิ้น
 
นางซานดรา เดอเวเล่ หัวหน้าฝ่ายการเมืองสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้เป็นเพียงการมาพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองทองคำซึ่งประเด็นที่สนใจเป็นพิเศษคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนสำหรับข้อมูลที่รวบรวมได้จะนำไปปรึกษากับรัฐบาลไทยและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศพร้อมให้คำแนะนำ หาแนวทางเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไปขอยืนยันว่า จะไม่มีการแทรกแซงกิจการทางการเมืองภายในของไทยอย่างแน่นอน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นางซานดรา ให้สัมภาษณ์สื่อมวชนนั้นได้กล่าวแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ไม่พอใจที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาสังเกตการณ์คณะของตน ขัดแนวทางการพัฒนาการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของรัฐบาลไทยที่กำลั'ดำเนินอยู่ขณะนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข่าวสารการประท้วงทั่วไทย 23-29 พ.ย. 2558

$
0
0
กำนัน-ผญบ.พร้อมลูกบ้านรวมตัวขับเจ้าอาวาส “วัดคลองบางไผ่” บริหารเงินไม่โปร่งใส
 
(22 พ.ย.) ชาวบ้านคลองบางไผ่ ต.สำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง กว่า 50 คน นั่งชูป้าย “ไม่เอาเจ้าอาวาส” “ออกไป” “ทำไมวัดไม่มีกรรมการวัด” บริเวณภายในวัด โดยมีนายชวลิต ร่มรื่น กำนันตำบลสำนักท้อน นายธวัชชัย ทองอิ่ม ที่ปรึกษากำนัน นายมนตรี คุ้มครอง สารวัตรกำนัน นายวุฒิชัย ทรงศิริ และนายวินัย นิลไพร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 ต.สำนักท้อน เข้าร่วมกับชาวบ้าน โดยมี นายนรินทร์ แซ่จู ปลัดอำเภอบ้านฉาง พ.จ.ท.เจริญศักดิ์ แสงสว่าง เจ้าหน้าที่ชุด รปภ.ทร.ที่ 4 ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านฉาง นำกำลังมาดูแลความสงบเรียบร้อย
       
นายชวลิต ร่มรื่น กำนันตำบลสำนักท้อน เปิดเผยว่า ชาวบ้านต้องการขอเปลี่ยนเจ้าอาวาสวัดคลองบางไผ่คนปัจจุบัน เนื่องชาวบ้านไม่พอใจเจ้าอาวาสหลายเรื่อง โดยเก็บความรู้สึกที่สะสมมานาน สาเหตุแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ชาวบ้านหมู่ 4 ต.สำนักท้อน รวมทั้งสิ้น 184 ครัวเรือน ถูกน้ำท่วมบ้านมิดหลังคาเป็นวันมหาวิปโยค หนักที่สุดประสบความเดือดร้อนแสนสาหัสไม่มีที่พักอาศัยต้องอพยพมาอยู่กันบริเวณริมถนน
       
ตนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ได้พาชาวบ้านซึ่งเป็นคนสูงอายุ เด็ก และสตรี จำนวน 70 คน มาขอพักอาศัยที่วัดเป็นการชั่วคราว โดยให้ผู้ชายคอยเฝ้าสิ่งของที่บ้าน แต่เจ้าอาวาสไม่ให้เข้าพักอาศัยที่ศาลาวัดติดกับโรงครัว โดยให้มานอนที่บริเวณด้านนอกหน้าศาลาเมรุฌาปนกิจศพ ทั้งที่ฝนกำลังตกหนัก จึงต้องย้ายมานอนศาลาบริเวณหน้าโรงเรียน สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง
       
นายชวลิต ร่มรื่น กำนันตำบลสำนักท้อน กล่าวต่อว่า ชาวบ้านไปยืมของเครื่องใช้เพื่อจะนำไปใช้ในการทำบุญก็ไม่ให้ยืม รวมทั้งบริหารวัดโดยไม่เอาคณะกรรมการวัด ทำให้ชาวบ้านสงสัยเรื่องรายรับรายจ่ายการเงินของวัด แต่จะตั้งกรรมการวัดเฉพาะกรณีที่มีงานทอดกฐิน หรืองานพิธีต่างๆเท่านั้น ปัจจุบันเบิกจ่ายเงินบริหารการเงินของวัดเพียงผู้เดียว และยังมีอีกหลายเรื่องซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่พอใจมารวมตัวต้องการให้เปลี่ยนเจ้าอาวาสโดยเร็ว
       
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่มารวมตัวกันจะเข้าไปพบเจ้าอาวาสบนวัด แต่ถูกชาวบ้านส่วนหนึ่งกีดกันไม่ให้เข้าไปบนวัด จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารต้องเข้าไปเจรจา และขอให้ส่งตัวแทนเข้าไปคุย จำนวน 20 คน
       
ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านยื่นคำถามให้เจ้าอาวาสตอบว่าทำไมบริหารการเงินรายรับรายจ่ายไม่แต่งตั้งคณะกรรมการวัดเข้ามาร่วมตรวจสอบ ทำไม่ยืมสิ่งของเพื่อจะนำไปใช้งานบุญก็ไม่ให้ และอยากทราบว่า ปัจจุบันเงินของวัดมีเหลืออยู่เท่าไหร่ ทำให้เกิดมีปากเสียงกับชาวบ้านส่วนหนึ่งที่อยู่กับเจ้าอาวาส เมื่อการเจรจากันไม่รู้เรื่อง เจ้าหน้าที่จึงต้องให้ชาวบ้านลงจากวัดมารวมตัวกันด้านล่าง สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวบ้าน และบอกว่าไม่ต้องการให้เจ้าอาวาสอยู่ต่อไปขอให้เปลี่ยนเจ้าอาวาสใหม่ 
 
 
คนไทยพลัดถิ่นหัวหิน ประท้วงตร.หนองพลับจับกุมตั้งข้อหามั่ว
 
(23 พ.ย.58) นายศึกฤทธิ์ เต็มฟอม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นตัวแทนนำคนไทยพลัดถิ่นกว่า 300 คน จากหมู่บ้านแพรกตะคร้อ และบ้านท่าไม้ลาย ต.บึงนคร เดินทางไปรวมตัวประท้วง ที่บริเวณด้านหน้า สภ.บ้านหนองพลับ อ.หัวหิน เนื่องจากไม่พอใจกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมคนไทยพลัดถิ่น 3 ราย ประกอบด้วย นายน้อย ปลอดโปร่ง นางมูนะ เวนะ และนางดาว ปลอดโปร่ง  พร้อมตั้งข้อหาเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต 
 
ต่อมานายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม นายอำเภอหัวหิน พ.ต.อ.บุญธรรม วรรณรัตน์ รองผบก.ภ.จว.ประจวบคีรีขันธ์ พ.ต.อ.ฤทธิ์รงค์ กันยาประสิทธิ์ ผกก.สภ.บ้านหนองพลับ ร.อ.ธีระพงษ์ นามสละ ตัวแทนจากมณฑลทหารบกที่ 15 (มทบ.15) นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครองดูแลความสงบเรียบร้อย เดินทางมารับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม พร้อมรับฟังข้อเท็จจริงจากตัวแทนชาวบ้าน พอสรุปได้ว่าเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมคนไทยพลัดถิ่น 3 ราย ขณะรับจ้างทำไร่สับปะรดในพื้นที่ ต.บึงนคร พร้อมตั้งข้อหาเป็นคนต่างด้าว หลบหนีเข้าเมือง ทั้งที่มีบัตรประจำตัวแสดงเป็นคนไทยพลัดถิ่น รอการพิสูจน์สัญชาติ จากกระทรวงมหาดไทยและมีสิทธิทำงานรับจ้างได้ หลังจับกุมเจ้าหน้าที่ได้นำตัวคุมขัง 3 วัน เพื่อรอให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนส่งฟ้องศาลจังหวัดหัวหิน 
 
ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาบานปลาย นายอำเภอหัวหินได้ใช้ตำแหน่งยื่นประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย พร้อมประสานพนักงานสอบสวนทำสำนวนสั่งไม่ฟ้องและหาทางเยียวยาผู้เสียหายหลังโดนคุมขัง จากนั้นจะขอให้พิจารณาย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมออกนอกพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านพอใจและสลายการชุมนุมอย่างสงบ
 
 
ชาวบ้าน 4 จังหวัดบุก ป.ป.ช.ยื่นหลักฐานเพิ่ม-ยกเลิกอาชญาบัตรเหมืองทองคำ
 
วันที่ 23 พ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ ตัวแทนประชาชน นำโดยนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์, นางอารมณ์ คำจริง ชาวบ้านจากจังหวัดพิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, ลพบุรี พร้อมตัวแทนชาวบ้านประมาณ 40 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เพื่อเป็นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ในคดีเหมืองทองคำ หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้ตั้งกรรมการไต่สวนแล้ว
 
ทั้งนี้ เพื่อขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบกรณีมีการยกเลิกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินของประชาชน ในพื้นที่เดียวกับมีการขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ของกลุ่มบริษัทคิงส์เกท ที่เข้าสู่ลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว ในหลายจังหวัดนั้นว่าอาจเกี่ยวข้องกันหรือไม่ โดยมีนายสุทธิ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ เป็นผู้รับหนังสือแทน
 
 
กลุ่ม"คนไทยไร้ที่ทำกิน"เดินเท้าไปทำเนียบ ร้องถูกอาญาเถื่อนกลั่นแกล้ง "ลอบยิง-เผาบ้าน"
 
วันที่ 24 พ.ย. กลุ่มชาวบ้านสมาชิกสมาคมคนไทยไร้ที่ดินทำกิน กว่า 10 คน รวมกันที่บริเวณศาลากลางจังหวัดกระบี่ ก่อนออกเดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอความเป็นธรรมกับนายกรัฐมนตรี หลังจากเกิดเหตุ กลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่าย บุกเผา ทำลายที่พัก ทรัพย์สิน ของชาวบ้านกลุ่มผู้เรียกร้องที่ทำกิน ในนามสมาคมคนไทยไร้ที่ดินทำกิน เสียหาย จำนวน 20 หลัง  ทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก ภายในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด เหตุเกิดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
นายปรีดิ์ปราโมทย์ เลิศวรภัทร  ตัวแทนชาวบ้าน เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุ ผ่านมากว่า 1 สัปดาห์ ขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบแต่อย่างใด ยังมีกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่าย ลอบยิงใส่กลุ่มชาวบ้านต่อเนื่อง จึงต้องเดินเท้าไปกรุงเทพมหานครเพื่อให้นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้าช่วยเหลือชาวบ้าน
 
สำหรับกลุ่มชาวบ้านในนามสมาคมคนไทยไร้ที่ดินทำกินได้เข้ายึดพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของบริษัท สหอุตสาหกรรม จำกัด  ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ มากว่า 1 ปี เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ เอกสารสิทธิครอบครอง เป็น สปก 4-01 หลังพบว่า บริษัทให้คนงาน ลูกจ้าง ถือครองแทน ลักษณะเป็นนอมินี  ที่ผ่านมาสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดกระบี่ ตรวจสอบพบว่า เป็นการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงได้เพิกถอน สปก 4-01 แล้ว  รวม 109 แปลง พื้นที่ 4,998 ไร่  แต่กลุ่มผู้เรียกร้องยังคงอาศัยในพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้  ทำให้เกิดความขัดแย้ง กับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่  ซึ่งที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นหลายครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 คน บาดเจ็บจำนวนมาก
 
 
มุ่งหน้าเข้ากรุง! ม็อบสวนปาล์มกระบี่เดินเท้าเข้าพบนายกฯ ขอความเป็นธรรมถุูกเผาที่พัก
 
(25 พ.ย.) ที่วัดควนสบาย ต.กระบี่ใหญ่ อ.เมือง จ.กระบี่ กลุ่มสมาคมคนไทยไร้ที่ทำกินกว่า 20 คน นำโดย นายปรีดีปราโมทย์ เลิศวรภัทร์ ตัวแทนสมาคมฯ ได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดก่อนที่จะเคลื่อนขบวนออกเดินเท้าไปยังถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าไปยังอำเภออ่าวลึก โดยมีจุดหมายที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี
       
จากกรณีกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่ายบุกเผาทำลายที่พัก และยิงปืนข่มขู่สมาชิกของกลุ่มสมาคมคนไทยไร้ที่ดินทำกิน ที่ปักหลักในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มฯ ที่ถูกเพิกถอน ส.ป.ก.4-01 ได้รับความเสียหาย จำนวนกว่า 20 หลัง ทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา 
 
นายปรีดีปราโมทย์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องเดินเท้าไปยังทำเนียบเนื่องจากที่ผ่านมา กลุ่มสมาชิกฯ ไม่ได้รับความปลอดภัย ไม่มีการดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งที่มาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบที่ดินของนายทุนที่ครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับถูกรังแก กลั่นแกล้ง ข่มขู่จากกลุ่มอิทธิพลต่อเนื่อง ทำให้ไม่ได้รับความปลอดภัย จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือชาวบ้านที่เรียกร้องด้วยความสงบ และดำเนินการเอาผิดต่อกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว
       
สำหรับกลุ่มสมาคมคนไทยไร้ที่ดินทำกิน ได้เข้ายึดพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของบริษัท สหอุตสาหกรรม น้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ม.4 ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ มานานกว่า 2 ปี 8 เดือน เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ ส.ป.ก 4-01 ที่บริษัทดังกล่าวทำประโยชน์โดยใช้ชื่อคนงาน ลูกจ้างเป็นเจ้าของ ส.ป.ก.จำนวน 109 แปลง เนื้อที่กว่า 4,998 ไร่
       
จนกระทั่งสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดกระบี่ (ส.ป.ก.) ตรวจสอบพบว่า เป็นการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.โดยมิชอบ จึงได้มีคำสั่งเพิกถอน ส.ป.ก.ทั้ง 109 แปลง เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ของผู้เสียสิทธิก่อนที่จะมีกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายบุกเข้าเผาทำลายที่พักจนได้รับความเสียหาย และใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่จนสมาชิกต้องอยู่อย่างหวาดผวา เพราะมีเสียงปืนดังต่อเนื่อง 
 
 
ชี้ออก น.ส.3 ป่าชายเลนไม่ได้-ชาวบ้านตั้งกลุ่มอนุรักษ์
 
จากกรณีกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านบ้านบางใหญ่ ต.ทุ่งคา อ.เมืองชุมพร เข้าร้องขอความเป็นธรรมกับศูนย์ดำรงธรรม จ.ชุมพร เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนถูกนายทุนอ้างเอกสารสิทธิที่ดิน (น.ส.3) ในป่าชายเลนอ่าวทุ่งคา-สวี ฟ้องขับไล่รื้อบ้าน พร้อมกับตั้งข้อสงสัยมี น.ส.3 โผล่กลางป่าชายเลน ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ทั้งที่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านรวมทั้งผู้ใหญ่บ้านที่อาศัยทำกินมานานตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังไม่มีใครมีเอกสารสิทธิใดๆ
 
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 26 พ.ย.นายรักพงษ์ บุญย่อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเฉพาะภูมิภาค “ไทยรัฐ” ว่า ทางอุทยานฯ เคยเข้าไปตรวจสอบที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วทราบเจ้าของที่ดินชื่อนางชลธิชา เชิดชู อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 99/1 หมู่ 4 ต.ทุ่งคา อ.เมืองชุมพร และเป็นเจ้าของร้านอาหาร “ยิ้มโภชนา” ซึ่งได้นำเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) มาแสดง มีเนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวา เมื่อทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรลงไปตรวจสอบพื้นที่ว่าที่ดินแปลงนี้ได้มาอย่างไร ได้มาโดยชอบตามกฎหมายหรือไม่ก็ได้ทำเรื่องเสนอไปยังต้นสังกัดคือสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ น.ส.3 ฉบับดังกล่าวว่าตรงกับภาพถ่ายทางอากาศหรือไม่
 
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร กล่าวอีกว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี ได้ส่งเรื่องการตรวจสอบมาที่ จ.ชุมพร แล้ว และยังไม่ทราบว่าผลการตรวจสอบจะออกมาเป็นอย่างไร เนื่องจากยังไม่ได้เห็นหนังสือฉบับนั้น แต่สภาพพื้นที่หมู่ 4 ต.ทุ่งคา โดยทั่วไปเท่าที่ทราบไม่มีใครมีเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร การออกสารสิทธิจะกระทำไม่ได้ และจะต้องตรวจสอบการได้มาของ น.ส.3 ฉบับนี้โดยละเอียดต่อไป
 
ทางด้านนายวิษณุ เซียงเจ็น อายุ 37 ปี หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน และบ้านพักที่อยู่อาศัยถูกทุบทิ้ง เปิดเผยว่า พวกตนมีอาชีพทำประมงพื้นบ้านหาเช้ากินค่ำ ขณะนี้ได้รวบรวมชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านบางใหญ่ ต.ทุ่งคา ประมาณ 60 คน จัดตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนขึ้นมา โดยตั้งชื่อ “กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน บางใหญ่ อ่าวทุ่งคา” เพื่ออนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลน ไม่ให้กลุ่มนายทุนผู้มีอิทธิพล หรือใครก็ตามเข้าไปบุกรุกทำลายระบบนิเวศวิทยา โดยเฉพาะป่าโกงกาง ป่าแสม แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญ
 
“พวกตนถูกรังแกมานานแล้ว นับจากนี้จะไม่ยอมอีกต่อไปจะร่วมกันต่อสู้ และตรวจสอบเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด อยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับป่าชายเลนและลงมาตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย ถึงแม้ว่าเอกสารสิทธิที่ได้มาจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ตาม แต่ก็ได้ประกาศให้คนทั้งประเทศได้รู้ว่ามีผู้ได้เอกสารสิทธิครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร โดยเฉพาะผู้ครอบครองป่าชายเลนในท้องที่หมู่ 4 ต.ทุ่งคา เพียงคนเดียวเท่านั้น” ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อสอบถามเจ้าของที่ดินที่มีปัญหาแล้วแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งข่าวคืบหน้าจะนำเสนอต่อไป
 
 
แม่ค้าสามง่ามบุกร้องศูนย์ดำรงธรรมถูกแขวงการทางไล่ที่ทำกิน
 
นายอาวุธ เดชอุปการ และ นางวดีคูณ ลิ่มสกุล อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 191 หมู่ 4 ต.สามง่าม อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งเป็นแกนนำพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ริมทางหลวงบริเวณหน้าตลาดสามง่ามพร้อมด้วย พ่อค้า-แม่ค้า ประมาณ 20 คน ได้ร่วมกันเดินทางมายื่นหนังสือร้องทุกข์ให้กับ พ.ต.ท.ถนอม จินาวา รองหัวหน้าชุดเฉพาะกิจศูนย์ดำรงธรรม จ.พิจิตร เพื่อขอความเห็นใจว่า พวกของตนค้าขายริมถนนหน้าตลาดสามง่าม ซึ่งเป็นทางเบี่ยงไม่ได้กีดขวางการจราจรบนถนนเส้นหลักแต่อย่างใด ค้าขายเช่นนี้กันมานานนับสิบปี
       
เดิมทีเดียวก็เป็นตลาดกลางร่ม ตลาดปูเสื่อ แต่ต่อมาเทศบาลสามง่ามก็ได้ใช้งบประมาณของทางราชการมาตั้งเป็นเต็นท์เป็นเพิงให้ขายของ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไร่ ชาวนา เก็บผักหาปลาได้ก็นำมานั่งขายริมถนน พอมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
       
แต่มาวันนี้แขวงการทางพิจิตรได้ทำหนังสือมาไล่ที่และจะรื้อถอนเต็นท์และเพิงขายของ จึงมาร้องทุกข์ขอให้ศูนย์ดำรงธรรมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำด้วย 
 
 
ชาวบ้านร้องศูนย์ดำรงธรรม-ปปช. โวยอบจ.สุดชุ่ย ใช้งบ 1.4 ล้านทำถนน แค่ 2 เดือนพังแล้ว
 
ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 นายวิสูตร คีรีพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ต.พรหมโลก อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านกว่า 10 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม กรณีถนนคอนกรีตความกว้าง 4 เมตร ยาว 676 เมตร ภายในหมู่บ้านมีสภาพชำรุด หักและแตกร้าว สร้างเสร็จประมาณ 2 เดือน โดยขอให้ทางศูนย์ดำรงธรรมช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างดังกล่าว มีนายวีระพรรณ สุขขะวัลลิ หน.ศูนย์ดำรงธรรม เป็นผู้รับเรื่อง
 
นายวิสูตร กล่าวว่า ถนนคอนกรีต สายบ้านยางปากสระ-บ้านทุ่งนาชง ขนาดความกว้าง 4 เมตร ยาว 676 เมตร สร้างโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากสร้างเสร็จแล้ว พบว่า บางจุดยังมีเหล็กโผล่ขึ้นมาบนผิวจราจร มีรอยแตกหักและรอยร้าวเกิดขึ้นหลายจุด ซึ่งสันนิษฐานว่าการก่อสร้างใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน มีอัตราส่วนการผสมของปูนน้อยเกินไป และความหนาไม่ตรงตามแบบแปลน สร้างแล้วเสร็จเพียง 2 เดือน หาผู้รับผิดชอบไม่ได้
 
ที่สำคัญความแปลกประหลาดของป้ายโครงการ ที่ระบุแต่เพียงจำนวนเงินงบ ประมาณ 1,438,000 บาท และชื่อโครงการเท่านั้น แต่ไม่ได้บอกถึงระยะทาง ระยะเวลาของการก่อสร้าง ใครเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ชาวบ้านจึงไม่มั่นใจในความโปร่งใส การตรวจรับงานผ่านไปได้อย่างไร ซึ่งอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น  และเกรงว่าหากปล่อยไว้อย่างนี้ ความเสียหายจะต้องเกิดขึ้น
 
นายวิสูตร กล่าวว่า ถนนสายนี้เป็นถนนสายหลักที่ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางขนส่งลำเลียงผลิตผลทางการเกษตรออกสู่ภายนอกมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ชาวบ้านดีใจเมื่อได้มีการสร้างถนนคอนกรีตให้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้นแต่เมื่อพบว่าการก่อสร้างดังกล่าวมีปัญหา เกิดความเสียหายขึ้นหลายจุด จึงวอนร้องผ่านศูนย์ดำรงธรรมให้ช่วยตรวจสอบการก่อสร้างดังกล่าวด้วย
 
 
ประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐ จี้ ถอด "กลิน เดวีส์"
 
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานการประท้วงที่นำโดย "พระพุทธอิสระ" ที่นำกลุ่มประชาชนราว 200 คนประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย เมื่อช่วงวันศุกร์ (27 พ.ย.) ที่ผ่านมา หลังไม่พอใจความคิดเห็นที่เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย "กลิน เดวีส์" ที่วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ในประเทศไทย และเรียกร้องให้สหรัฐถอดถอนเอกอัครราชทูต
 
รายงานจากสำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า พระพุทธอิสระได้ประณามเอกอัครราชทูตสหรัฐว่า ดำเนินพฤติกรรมไม่เหมาะสม และสหรัฐไม่มีสิทธิในการพยายามกดดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับราชวงศ์ ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้วสถาบันกษัตริย์ถือเป็นเรื่องสูงส่งและต้องปกป้องด้วยชีวิต
 
การประณามของพระพุทธอิสระ สืบเนื่องจากการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเดวีส์ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเอกอัครราชทูตสหรัฐแสดงความกังวลว่า ศาลทหารของประเทศไทยมีการสั่งจำคุกประชาชนในกรณีหมิ่นเบื้องสูง ว่าเป็นโทษที่ยาวนาน และแสดงความเห็นว่าไม่ควรมีผู้ใดถูกจำคุก เนื่องจากต้องการแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย และยกเลิกการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก
 
ทั้งนี้ ตามกฎหมาย โทษจำคุกในคดีหมิ่นสถาบันมีโทษจำคุกเป็นระยะเวลา 15 ปี อย่างไรก็ตาม ภายใต้รัฐบาลทหารในช่วงที่ผ่านมา มีการตัดสินจำคุกนักโทษที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันในเฟซบุ๊ก 2 ราย เป็นระยะเวลาถึง 28 ปี และ 30 ปี ด้านนักวิเคราะห์ต่างประเทศหลายฝ่ายระบุว่า กฎหมายหมิ่นสถาบัน หลายครั้ง อาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมือง แม้ว่ารัฐบาลทหารของไทยจะอ้างว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องกำจัดผู้ที่ดูหมิ่นสถาบัน
 
 
บุกสภาฯ ร้องโรงงานโฉ่ทิ้งน้ำเสียลงน้ำลำโดมใหญ่
 
นายปรเมษฐ์ ศรีหล้า สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่าตนพร้อมด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และชาวบ้านที่อาศัยบริเวณรอบลุ่มแม่น้ำลำโดมใหญ่ ได้เข้ายื่นหนังสื่อต่อ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่รัฐสภา เพื่อขอให้ช่วยเหลือชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง จากการดำเนินการของกลุ่มบริษัทเอกชนที่เข้ามาตั้งโรงงานไบโอก๊าซและโรงงานเอทานอล โดยอาจทำผิดกฎหมายหลายฉบับ เพราะถมดินและก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียทับแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์ ส่งผลให้แม่น้ำเน่าเสียและมีสัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งลำน้ำดังกล่าวเป็นลำห้วยสาขาของแม่น้ำลำโดมใหญ่ อันเป็นแหล่งเพาะพันธ์และอนุบาลสัตว์น้ำจืดที่สำคัญ 4 แห่ง ลำห้วยคำนางอ้วน ร่องคำงูเหลือม ห้วยคำค่า ห้วยคำผักย้า ส่งผลทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป
 
นอกจากนี้กลุ่มบริษัทดังกล่าวได้มีการก่อสร้างวัตถุปิดกั้นทางสาธารณะประโยชน์หลายเส้นทางที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ดินของบริษัท โดยการล้อมรั้วและการห้ามประชาชนเข้าใช้ประโยชน์เหมือนที่เคยใช้สัญจรไปมาในอดีต ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจรและดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บผักหาของป่า การหาสัตว์น้ำเลี้ยงชีพ
 
นายปรเมษฐ์ กล่าวด้วยว่า กลุ่มโรงงานดังกล่าวอาจดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ มีการทำลายสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติสาธารณสมบัติของแผ่นดินอย่างร้ายแรง ทำผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ ไม่ว่าประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายที่ดิน พระราชบัญญัติโรงงาน พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกฎกระทรวงอุตสาหกรรม จึงอยากให้หน่วยงานราชการเข้าไปตรวจสอบ
 
ทั้งนี้แม่น้ำลำโดมใหญ่ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของชาวบ้าน เนื่องจากเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำจืดและสัตว์อื่นๆ นานาชนิด เป็นแม่น้ำต้นน้ำที่ไหลผ่านหลายอำเภอก่อนลงสู่แม่น้ำมูล ชาวบ้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำลำโดมใหญ่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหลายหมู่บ้าน คือ บ้านสะพานโดม บ้านห้วยขาม บ้านใหม่ศรีเจริญ บ้านแก่งโดม บ้านคำหมากอ่อน บ้านพึ่งโดม บ้านดอนผึ้ง อยู่ในตำบลแก่งโดม อำเภอสว่างวีระวงศ์
 
อย่างไรก็ตาม แม้ได้มีการร้องทุกข์ไปยังหน่วยงานราชการหลายแห่งที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า และเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงมายื่นร้องต่อรัฐสภาเพื่อขอให้ช่วยแก้ปัญหา โดยให้ดำเนินการตรวจสอบและมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการหรือเพิกถอนใบอนุญาต เนื่องจากทำผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งขอให้สอบการอนุญาตให้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
 
นอกจากนี้ อยากให้ สปช.ประสานไปยัง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ใช้นโยบายการปราบปรามอิทธิพลและผู้ที่บุกรุกที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดินมาดำเนินการอย่างเด็ดขาด เนื่องจากกลุ่มบริษัทดังกล่าวเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่และมีอิทธิพลมากในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าฟ้องร้อง และถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศกำลังมีการปฏิรูปอย่างรอบด้านที่จะได้ดำเนินการปฏิรูปด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย เพื่อไม่ให้มีการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบความเดือดร้อนต่อชาวบ้านในพื้นที่
 
 
ชาวบ้านโวยแนวเขต น.ส.3 สลับไปมาไม่ตรงกับพื้นที่จริง
 
จาก​กรณี​กลุ่ม​ชาว​ประมง​พื้นบ้าน​บ้าน​บาง​ใหญ่ หมู่​ที่ 4 ต.​ทุ่ง​คา อ.​เมือง​ชุมพร เข้า​ร้องขอ​ความ​เป็น​ธรรม​กับ​ศูนย์​ดำรง​ธรรม จ.​ชุมพร เนื่องจาก​ได้​รับ​ความ​เดือดร้อน​ถูก​นายทุน​อ้าง​เอกสาร​สิทธิที่ดิน​ (น.ส.3) ใน​ป่าชายเลน​อ่าว​ทุ่ง​คา-สวี ซึ่ง​อยู่​ใน​เขต​อุทยาน​แห่งชาติ​หมู่​เกาะ​ชุมพร ฟ้อง​ขับ​ไล่​ที่​และ​เข้าไป​รื้อ​ทุบ​ทำลาย​บ้านเรือน​ชาว​ประมง ท่ามกลาง​ความ​เคลือบแคลง​สงสัย​ของ​สาธารณชน​ทั่วไป​ว่าที่​ดิน  น.ส.3 ดัง​กล่าว​ไป​โผล่​อยู่​กลาง​ป่าชายเลน​ได้​อย่างไร ทั้งๆที่​ผืน​ป่าชายเลน​แห่ง​นี้ ไม่​มี​ใคร​เคย​ได้​เอกสาร​สิทธิครอบครอง​เลย​แม้แต่​ราย​เดียว​นั้น
 
ความ​คืบ​หน้า​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้ เมื่อ​เวลา 13.00 น.​วัน​ที่ 28 พ.ย. ​นาย​จรัส กำเนิด​โทน อายุ 62 ปี อยู่​บ้าน​เลข​ที่ 95/2 หมู่ 4 บ้าน​บาง​ใหญ่ ต.​ทุ่ง​คา อ.​เมืองชุมพร ประธาน​กลุ่ม​อนุรักษ์​ป่าชายเลน​บาง​ใหญ่ อ่าว​ทุ่ง​คา เปิดเผย​กับ​ผู้สื่อข่าว​เฉพาะกิจ​ภูมิภาค “ไทยรัฐ” ว่า หลังจาก​กลุ่ม​ชาว​ประมง​พื้นบ้าน​ที่​ถูก​นายทุน​อ้าง​เอกสิทธิ น.ส.3 ใน​ที่ดิน​ป่าชายเลน​ฟ้อง​ขับ​ไล่​รื้อ​ทุบ​ทำลาย​บ้านเรือน​ที่​อยู่​อาศัย อ้าง​ว่า​รุก​ล้ำ​เข้าไป​ใน​เขต​ที่ดิน​พิพาท​ของ​นายทุน​คน​ดัง​กล่าว​ออก​ไป​นั้น กลุ่ม​ชาว​ประมง​พื้นบ้าน​ที่​ได้​รับ​ความ​เดือดร้อน รวม​ทั้ง​ชาว​บ้าน​ที่​อาศัย​ใน​พื้นที่​หมู่​ที่ 4 บาง​ใหญ่ ต.​ทุ่ง​คา เกิด​ความ​เห็นใจ​และ​สงสาร​ชาว​บ้าน​ที่​ถูก​รังแก จึง​รวม​ตัว​กัน​จัดตั้ง​เป็น “กลุ่ม​อนุรักษ์​ป่าชายเลน​บาง​ใหญ่ อ่าว​ทุ่ง​คา” และ​มอบหมาย​ให้​ตน​เป็น​ประธาน​กลุ่มฯ เพื่อ​ต่อสู้​กับ​กลุ่ม​นายทุน​อิทธิพล​และ​ร่วม​กัน​ปกป้อง​ผืน​ป่าชายเลน แหล่ง​เพาะ​พัน​ธุ์สัตว์​น้ำ​ที่​สำคัญ
 
นาย​จรัสเปิดเผย​อีก​ว่า จาก​การ​เข้าไป​ตรวจสอบ​พื้นที่​จริง​ที่​นายทุน​ราย​นี้​อ้าง​ว่า​มี​เอกสาร​สิทธิ น.ส.3 ครอบครอง​ป่าชายเลน​นั้น​ใน​เบื้องต้น​พบ​ว่า​มี​ข้อ​พิรุธ​หลาย​อย่าง​ซึ่ง​ไม่​ตรง​กับ​ข้อเท็จจริง​ที่​ปรากฏ​ใน​เอกสาร​สิทธิ น.ส.3 อาทิ แนว​เขต​ที่ดิน น.ส.3 ที่​ระบุ​ว่า​ด้าน​ทิศ​เหนือ​จด​คลอง​บาง​มูล หรือ​ที่​ชาว​บ้าน​เรียก​ว่า​คลอง​บาง​กะ​บูน​นั้น​ปัจจุบัน​พบ​ว่า​เป็น​คู หรือ​ร่องน้ำ​เล็กๆที่​ถูก​ขุด​ขึ้น​มา​ใหม่ มี​ขนาด​ความ​กว้าง​ประมาณ​ 4 เมตร ส่วน​คลอง​บาง​มูล​หรือ​คลอง​บางกะ​บูน ลำ​คลอง ธรรมชาติ​เดิม มี​ขนาด​ความ​กว้าง​ประมาณ 2 เมตร ปัจจุบัน​อยู่​บริเวณ​กลาง​ที่ดิน​ของ​นายทุน​ราย​นี้​นั้น​ก็​หมายความ​ว่า​พื้นที่​ของ​นายทุน​คน​นี้​ได้​ขยาย​เพิ่ม​ขึ้น​จาก​เดิม​และ​มี​การ​นำ​เสา​คอนกรีต​ไป​ปัก​กั้น​เป็น​แนว​เขต​รอบๆพื้นที่​ หาก​ประมาณ​ด้วย​สายตา​คาด​ว่า​บุกรุก​ครอ​บ​คลุม​พื้นที่​มาก​กว่า20 ไร่ ซึ่ง​เกิน​กว่า​เนื้อที่ น.ส.3 ที่​อ้าง​ไว้
 
“ตั้งแต่​ตน และ​ชาว​บ้าน​เข้า​มา​อาศัย​อยู่​ใน​พื้นที่ ยัง​ไม่​เคย​พบ​เห็น​ใคร​เข้า​มา​ครอบครอง​ที่ดิน​ป่าชายเลน และ​เข้า​มา​ทำ​ประโยชน์​ใน​ที่ดิน​แต่​อย่าง​ใด การ​ที่​นายทุน​คน​นี้​จะ​นำ​ไป​ใช้​อ้าง​กับ​ทาง​ที่ดิน​จังหวัด​ชุมพร​เพื่อ​เตรียม​ออก​โฉนด​นั้น​กลุ่ม​ชาว​บ้าน​จะ​ออก​มา​คัดค้าน​และ​ไม่​ยอม​อย่าง​แน่นอน” ประธาน​กลุ่ม​อนุรักษ์​ป่าชายเลน​บาง​ใหญ่​อ่าว​ทุ่ง​คา กล่าว​ใน​ที่สุด ขณะ​ที่​ผู้สื่อข่าว​ไม่​สามารถ​ติดต่อ​เจ้าของ​ที่ น.ส.3 ได้ ซึ่ง​ข่าว​คืบ​หน้า​จะ​นำ​เสนอ​ต่อ​ไป
 
 
ไร้ข้อยุติ! ผู้ว่าฯเชียงรายถอดใจยกเลิกลงพื้นที่ หลังชาวบ้านค้านไม่ให้ใช้ทำเขตเศรษฐกิจฯ
 
ที่ศาลาวัดบ้านบุญเรือง ม.2 ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ปัญญา คอนซัลแทนต์ จำกัด เอกชนที่ปรึกษาของจังหวัด ไปพบปะกับชาวบ้าน เพื่อชี้แจงโครงการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภายหลังมีการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการใช้พื้นที่ ต.บุญเรือง จำนวน 3,021 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา ซึ่งจังหวัดได้ศึกษาแล้วเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เลือกดำเนินการ
       
โดยมีชาวบ้านร่วมประมาณ 200 คน และมี นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชน นายระวี ถาวร ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์แม่น้ำอิง เข้าร่วมด้วย ซึ่งนายบุญส่งให้เจ้าหน้าที่และบริษัทที่ปรึกษาให้ข้อมูลความเป็นมาของโครงการ และคณะกรรมการระดับจังหวัดมีการคัดเลือกพื้นที่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ เพื่อจัดตั้งเพราะมีความเหมาะสม คือ อ.แม่สาย โดดเด่นด้านการค้าและการเงิน เชียงแสนโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวพักผ่อนและการศึกษา และเชียงของโดดเด่นด้านโลจิสติกส์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และแปรรูปการเกษตร 
       
 ขณะที่ชาวบ้านจัดเป็นนิทรรศการด้านหน้าห้องประชุมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของป่าชุมชนบุญเรืองซึ่งเรียกชื่อพื้นที่แตกต่างจากจังหวัด ที่ระบุว่า เป็นที่เลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์บุญเรือง ทางโครงการให้ข้อมูลการวิจัยพื้นที่ประกอบภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวทางอากาศว่า พื้นที่นี้มีความสมบูรณ์
       
โดยเฉลี่ยมีไม้หนาแน่นเฉลี่ย 124 ต้นต่อไร่ ซึ่งมากกว่าป่าเสื่อมโทรม 8 เท่า แบ่งเป็นไม้หนุ่มสูงไม่เกิน 2 เมตร 63 ต้นต่อไร่สูงกว่าป่าเสื่อมโทรม 3 เท่า วัดรอบระดับอกได้ 50 - 100 ซม. มี 44 ต้นต่อไร่มากกว่าป่าเสื่อมโทรม 5.5 เท่า และไม้ที่วัดรอบอกได้มากกว่า 100 ซม. มี 17 ต้นต่อไร่ หรือมากกว่าป่าเสื่อมโทรม 8 เท่า กักเก็บคาร์บนเหนือดิน 17,247 ตัน มีลูกไม้ทดแทนและไม้หนุนที่ขึ้นแทนในอัตราสูง เป็นป่าชุ่มน้ำและสมบูรณ์ด้วยสัตว์ไม่รวมแมลงกว่า 211 ชนิด ที่สำคัญคือ มีเสือปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ นาก ชะมด แมวดาว ฯลฯ ที่เป็นสัตว์หายาก
       
นายบุญส่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับความสมบูรณ์ของพื้นที่ แต่สิ่งที่จะนำไปใส่ในพื้นที่ไม่ใช่ยาพิษ แต่เป็นสิ่งที่ดีและแม้จะมีอุตสาหกรรม แต่เป็นเชิงนิเวศ เพราะไม่มีมลภาวะ หากจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็จะให้กระทบน้อยที่สุด และเชื่อว่า สาเหตุที่ไม่เห็นด้วยเกิดจากไม่เคยมีเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ข้อมูลที่ถูกต้องและมีผู้ที่ได้หรือเสียผลประโยชน์เข้าไปให้ข้อมูลกับชาวบ้านแทน
       
กรณีที่เลือกที่ ต.บุญเรือง เพราะที่ดินอื่นราคาพุ่งสูงมาก จนนักธุรกิจไม่สามารถซื้อแล้วเข้าไปประกอบการจนได้ผลตอบแทนในอัตราที่รวดเร็วได้ ดังนั้น ที่ ต.บุญเรือง จึงเหมาะสมและตนก็เห็นถึงความสมบูรณ์เรื่องสัตว์ป่าและพันธุ์พืชตามที่นำเสนอแต่ก็สามารถปรับให้เหมาะสมได้โดยจะขอพื้นที่เพียง 1 ใน 3 ของเนื้อที่ทั้งหมดหรือราว 1,000 ไร่ โดยที่สมควรสงวนเอาไว้ เราก็จะสงวนเอาไว้ส่วนที่จำเป็นน้อยลงก็นำไปดำเนินการดังกล่าว ส่วนการซื้อขายที่ดินที่เป็นปัญหาก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐจัดหาที่ดินให้เองและการให้ข้อมูลไปต่าง ๆ นานา ก็จะยุติ กระนั้นยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเอกชนรายใดแน่นอน
       
นายบุญส่ง กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีข่าวการสร้างศูนย์ขนส่งสินค้าเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย - สปป.ลาว ที่ อ.เชียงของ และหากมีการสร้างศูนย์นี้ที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ก็จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อยู่ฝั่งเดียว แต่หากมีการจัดตั้งในฝั่งไทยในนามเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ก็มีงบประมาณให้แล้วอำเภอละ 50 ล้านบาท เพื่อเข้าไปสร้างสาธารณูปโภค เช่น ถนน ไฟฟ้า ฯลฯ ให้ต่อไป
       
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นชาวบ้านได้แสดงความเห็น ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านการจัดตั้งเขตฯ แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ที่ ต.บุญเรือง เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบโดยเฉพาะน้ำเสีย โดยไม่ไว้ใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบขึ้นจริง เพราะเอกชนที่เคยจะลงทุนในทุ่งสามหมอน ต.สถาน และ ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) เคยศึกษาให้เป็นเขตจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะย้ายจากทุ่งสามหมอนไปลงทุนในป่าชุมชนบุญเรืองแทนด้วยสาเหตุของราคาที่ดินพุ่งสูงดังกล่าว
       
ขณะที่บางส่วนเห็นว่ารัฐบาลในปัจจุบันมีนโยบายให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พื้นที่แก้มลิง ฯลฯ จึงควรปฏิบัติตาม และป่าชุมชนบุญเรืองอยู่ที่ลุ่มชุ่มน้ำติดแม่น้ำอิงหากว่าต้องสร้างแม้จะเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด และใช้เพื่ออุตสาหกรรมเบาก็ต้องถมดินอยู่ดี ซึ่งจะทำให้พื้นที่หลายตำบลโดยรอบได้รับผลกระทบกันหมด เพราะน้ำอิงโดยเฉพาะฤดูน้ำหลากจะทะลักเข้าท่วม บางคนถึงขนาดระบุว่าหากแสดงการคัดค้านตามกฎหมายไม่ได้ผลก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อคัดค้านต่อไป
       
นางเตือนใจ กล่าวว่า พื้นที่ป่าชุมชนบุญเรืองเป็นป่าชุ่มน้ำที่มีพืชมากมายและมีสัตว์ป่าหลากหลายพันธุ์โดยบางชนิดเป็นสัตว์ป่าหายาก จึงเป็นป่าชุมชนที่สมบูรณ์กว้างใหญ่มากที่สุดของลุ่มแม่น้ำอิง ดังนั้น การที่รัฐบาลมียุทธศาสตร์ฟื้นฟูระบบนิเวศ ป่าไม้ ดังนั้น เมื่อมีพื้นที่เช่นนี้ควรอนุรักษ์เอาไว้ส่วนจะจัดตั้งเขตฯ ควรไปหาพื้นที่อื่นที่ยังมีอีกหลายแห่งแทน
       
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า จากการรับฟังความเห็นที่ ต.บุญเรือง ครั้งนี้ไม่ได้ข้อยุติ จนทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายต้องเดินทางกลับโดยยกเลิกกำหนดไปดูพื้นที่ด้วย
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การตรวจสอบทุจริต: อย่างสุจริต-เที่ยงธรรม

$
0
0

ที่มา: ประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

กรณีการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์กำลังเป็นที่สนใจของสังคมอย่างกว้างขวาง นับวันดูจะมีข้อมูลข้อเท็จจริงถูกเปิดเผยออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สาธารณชนมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันการตรวจสอบโครงการนี้กลับเป็นไปอย่างล่าช้าและยังไม่มีวิธีการที่น่าเชื่อถือ

เมื่อปรากฏเป็นข่าวว่ามีการทุจริตในโครงการนี้ บุคคลสำคัญในรัฐบาลรีบออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยบอกว่าเป็นเรื่องของกองทัพ ไม่เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหมและรัฐบาล แต่ต่อมาก็ปรากฏเอกสารยืนยันว่าโครงการนี้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้เสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.ซึ่งก็เท่ากับแสดงว่าโครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงกลาโหมและรัฐบาล

ต่อมา มีข้อสงสัยว่ามีการใช้งบประมาณของราชการหรือไม่ คนในรัฐบาลก็บอกว่าไม่มี แต่ปรากฏว่ามีการค้นพบการใช้งบประมาณของทางราชการ จนกระทั่งคนในรัฐบาลต้องออกมายอมรับ

พล.อ.อุดมเดช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและอดีต ผบ.ทบ.ยอมรับว่า มีการทุจริตเกี่ยวกับการรับบริจาคจริง แต่ได้มีการนำเงินนั้นไปบริจาคแล้ว ทำให้ใครที่พอเข้าใจหลักกฎหมายง่ายๆย่อมรู้ว่าความผิดสำเร็จได้เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนั้นก็ยังมีข่าวอื้อฉาวว่ามีการทุจริตในขั้นตอนต่างๆอีกหลายขั้นตอน จะจริงหรือไม่ยังไม่มีการพิสูจน์

มีการตรวจสอบเกี่ยวกับโครงการนี้โดยผบ.ทบ.คนปัจจุบัน เบื้องต้นสรุปว่าไม่พบการทุจริต พร้อมกับมีเสียงตามหลังมาว่าเมื่อกองทัพบกตรวจสอบแล้วว่าไม่พบการทุจริตก็จบได้แล้ว แต่ต่อมาก็พบว่าที่ ผบ.ทบ.ตรวจสอบนั้นเป็นเพียงเรื่องเกี่ยวกับบัญชีรายได้และรายจ่ายจากการบริจาคเท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบการทุจริตแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่พากันบอกว่าจะตรวจสอบได้ต้องมีคนไปร้องทุกข์กล่าวโทษหรือกล่าวหาเสียก่อน บางองค์กรอย่าง เช่น ปปช.ยังไม่ทันจะตรวจสอบก็รีบออกมาบอกว่ายังไม่พบการทุจริต ฟังคล้ายกับจะบอกว่าไม่มีการทุจริต

ปัญหาจึงมาอยู่ที่การตรวจสอบซึ่งดูจะมีปัญหามากและยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของสังคมได้ นี่คือโจทย์ข้อใหญ่และยากสำหรับ คสช.และรัฐบาลในวันนี้

ผู้ต้องสงสัยหรือถูกกล่าวหาจากสังคม ขณะที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ.และ รมช.กลาโหม ปัจจุบันยังคงเป็น รมช.กลาโหมอยู่ การที่ รมว.กลาโหมตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มีรองปลัดกระทรวงเป็นประธานและกรรมการส่วนใหญ่ก็อยู่แต่ในกระทรวงจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่น่าเชื่อถือว่า คณะกรรมการจะสามารถทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้ การตั้งกรรมการสอบสวนที่จะมีผลทางวินัยนี้ควรให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการควรเป็นระดับปลัดกระทรวง

ที่เป็นปัญหายิ่งขึ้นไปอีก คือ การตรวจสอบโดยศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอ.ตช. ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลอาจจะใช้ตรวจสอบเพื่อให้เห็นว่ากำลังเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ แต่กลับจะยิ่งแสดงให้เห็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเรื่องการทุจริตในโครงการนี้เสียอีก นั่นคือ ปัญหาระบบของการจัดการกับการทุจริตที่ คสช.และรัฐบาลนี้ได้ออกแบบและสร้างไว้

คณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานนั้นตั้งโดย คสช. ในคณะกรรมการนี้มีทั้ง ปปช. สตง. อัยการสูงสุดและองค์กรอื่นที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปราบการทุจริตอยู่ด้วย หมายความว่าโดยระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ องค์กรอิสระทั้งหลายที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการปราบการทุจริตไม่มีความเป็นอิสระหรือไม่ใช่องค์กรอิสระแล้ว นั่นคือ ปัญหา

แต่ยังไม่จบแค่นี้ ศอตช.และองค์กรต่างๆที่ไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติที่อยู่ใต้คำสั่งของคสช.นี้ กำลังจะตรวจสอบโครงการที่ดำเนินการมาโดยอดีตเลขาธิการ คสช.และปัจจุบันยังเป็นกรรมการคสช.อยู่ ย่อมมีคำถามว่าการตรวจสอบที่ทำโดยระบบกลไกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางอำนาจหน้าที่และผลประโยชน์เช่นนี้ จะเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมได้อย่างไร

ทางที่ดี เฉพาะหน้านี้จึงไม่ควรใช้ ศอตช.ทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการนี้ แต่ควรส่งเสริมและให้ความร่วมมือให้องค์กรที่มีหน้าที่ทั้งหลายทำหน้าที่ไปอย่างเป็นอิสระจาก คสช.และรัฐบาล ส่วนขั้นตอนต่อไปควรจะทบทวนระบบการจัดการกับการทุจริตเสียใหม่ อย่าให้อีนุงตุงนังหาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจเตรียมเปิดตัวคนโพสต์ป่วนบ้านเมืองพรุ่งนี้ ชี้คนละกลุ่มกับขอนแก่นโมเดล

$
0
0
เปิดตัวละครลับกลุ่มใหม่ เมื่อตำรวจเตรียมนำตัวคนโพสต์ข้อความ ยุยง ปลุกปั่นสร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองแถลงข่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติพรุ่งนี้ (30 พ.ย.) ระบุกลุ่มบุคคลนี้เป็นคนละกลุ่มกับผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดล

 
30 พ.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่าพลตำรวจเอกเดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งให้พลตำรวจตรีอัคราเดช พิมลศรี ผู้บังคับการกองปราบปรามไปช่วยราชการศูนย์ปฎิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศปก.ตร. นั้น ส่วนตัวเชื่อว่า พลตำรวจตรีอัคราเดช เป็นคนมีความรู้ความสามารถจึงทำให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องการมอบหมายภารกิจที่เหมาะสมให้ แต่ไม่ขอแสดงความเห็นถูกโยกย้ายเพราะปล่อยปละละเลยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าไปเกี่ยวข้อง กับขบวนนการแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงหาผลประโยชน์หรือไม่
 
ส่วนกรณีที่กระทรวงหลาโหม ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยินดีที่จะให้ข้อมูลหากประสานงานผ่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพราะเชื่อว่าพนักงานสอบสวนมีข้อมูลบางส่วน
 
โฆษกสำนักงานตำรวจยังกล่าวถึง การออกหมายจับ นายธนกฤต ทองเงินเพิ่ม 1 ใน 9 ผู้ต้องหา คดีขอนแก่นโมเดล ล่าสุด ว่าเป็นไปตามพยานหลักฐานที่ศาลทหารกรุงเทพ ออกหมายจับ ส่วนรายละเอียดทางคดี ต้องพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นคนชี้แจงเท่านั้น ส่วนการที่ทนายความของนายธนกฤต เข้าแจ้งความเอาผิด กับคณะพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีทุกนาย ก็เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่สามารถทำได้  ซึ่งต้องนำข้อมูลกลับไปตรวจสอบรายละเอียดตามคำฟ้องว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร
 
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังเปิดเผยว่าวันพรุ่งนี้ จะควบคุมตัวบุคคลที่โพสต์ข้อความ ยุยง ปลุกปั่น สร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองมาแถลงข่าว โดยกลุ่มบุคคลนี้เป็นคนละกลุ่มกับผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดล
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย : พุทธศาสน์ในไสยศาสตร์

$
0
0

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ยังสนทนากันในประเด็นเกี่ยวกับพุทธศาสนากับความเชื่อพื้นถิ่นที่ผสานกลมกลืนกันจนเกิดความรุ่มรวยและหลากหลาย เช่น สยามในอดีต หรือในดินแดนพุทธศาสนาอื่นๆ ที่ยังคงลักษณะดังกล่าวมาจนกระทั่งปัจจุบัน เช่น ทิเบต และดินแดนตามเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งนิยามหรือให้ความหมายความเชื่อ-พิธีกรรมดั้งเดิมด้วยวิธีหรือปรัชญาแบบพุทธ เช่น สุญญตา ปัญญา อวิชชา ทำให้พุทธศาสนาดำรงอยู่อย่างมั่นคงท่ามกลางความหลากหลายของนิกายต่างๆ

พบกับคำ ผกา และแขกรับเชิญพิเศษ คมกฤช อุยเต็กเค่ง หรือเชฟหมี ครัวกากๆ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร

คลิกไลค์เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของรายการได้ที่ facebook.com/maihetpraphetthai


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘กลุ่มลูกเหรียง’ เล่าอีกมุมหนึ่งที่ 'โน้ส อุดม' มายะลา ช่วยเหลือเด็ก

$
0
0

29 พ.ย. 2558 จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งบวกและลบต่อคลิปบางส่วนทอล์คโชว์ 'เดี่ยวฯ 11' ของ 'โน้ส อุดม' ที่ตอนหนึ่งได้เล่าประสบการณ์หลังได้ไปเที่ยวที่ จ.ยะลา (ดูคลิปดังกล่าวที่เพจ ‘โปรดใช้วิธีการ ปั่นจักรยาน ในการรับชม つづ く’ ) จนมีการออกมาชี้ว่าคนในจังหวัดชายแดนใต้ไม่ขำด้วย พร้อมระบุว่าเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์และกระทบท่องเที่ยว จนกระทั่งเรียกร้องให้ออกมาขอโทษ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘กลุ่มลูกเหรียง

ล่าสุดวันนี้(29 พ.ย.58) วรรณกนก เปาะอีแตดาโอะ หรือ ชมพู่ ผู้ดูแลกลุ่มลูกเหรียง และเป็นกลุ่มที่โน้ส อุดม แต้พานิช ได้ลงมาอาศัยอยู่ด้วย พร้อมทั้งช่วยดูแลเด็กเยาวชนในกลุ่มช่วงที่เดินทางมายัง จ.ยะลา โดย วรรณกนก ได้โพสต์ข้อความชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘กลุ่มลูกเหรียง’ มีข้อความชี้แจงว่า

“สวัสดีค่ะทุกท่าน

หลังจากที่เงียบมาหลายวัน ได้ยินข่าวมาหลายครั้งถึงกรณีคลิปวีดีโอเดี่ยว 11 ที่ตัดต่อมา กรณีพี่โน้สพูดถึงจังหวัดยะลา และมีกระแสพาดพิงออกมา ในฐานะที่เป็นน้องสาวพี่โน้สคนหนึ่ง ไม่มีอะไรจะพูดนอกจากอยากบอกเล่าถึงผู้ชายคนหนึ่งที่มาใช้ชีวิตอยู่กับลูกเหรียง 2 ปีที่ผ่านมา

พี่โน้สมาที่ลูกเหรียงยะลาหลายครั้ง และมาอยู่ครั้งละหลายๆวัน ครั้งที่นานที่สุดคือครั้งที่พี่โน้สกับน้องๆและพี่ๆหลายคนมาช่วยกันสร้างห้องน้ำให้ที่บ้านลูกเหรียง ใช้เวลาสร้าง 15 วัน กว่าจะเสร็จใช้งานได้ ท่ามกลางฝนตกหนัก แดดจ้าในบางวัน พี่โน๊สเป็นแค่คนธรรมดาทั่วไปที่มาใช้ชีวิตที่นี่ เข้าครัวทำอาหารกินกับน้อง ๆ ไปจ่ายตลาด และปั่นจักรยานเล่นกับเด็กๆในซอยใกล้ๆบ้าน และอาจจะมีมื้อพิเศษที่ไปกินข้าวร้านข้างนอกบ้าง (ซึ่งดิฉันยืนยันว่าไม่เคยมีการปิดร้านสักครั้งที่ไปกิน และอาจจะด้วยจำนวนของคนไปกินหลายคน ก็อาจจะทำให้ดูแน่นร้าน หรืออาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในบางครั้ง) และเวลาไปที่ร้านไหนเป็นธรรมดาที่มีเจ้าของร้านขอให้พี่โน๊สได้เซ็นข้อความไว้ที่ร้าน ซึ่งบรรยากาศก็น่ารักมาก

ทุกครั้งที่มายะลา พี่โน้สจะต้องจัดวันลงไปเยี่ยมน้องๆในโครงการเด็กทุน ลูกเหรียง ที่ทางพี่โน้ส และพี่ๆหลักสูตร ABC อุปถัมป์อยู่หลายสิบคน ในจังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส เรานั่งเบียดรถเก๋งและรถกระบะกระเตงๆกันไปตามพื้นที่ต่าง ๆ อึดอัดหน่อย แต่เราก็มีความสุขดี หลายบ้านที่พี่โน้สไปเห็นความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของน้องๆ แล้วช่วยเหลือทันที เป็นเงินให้ครอบครัวเด็ก ๆ และส่งเงินตามมาเพื่อซ่อมแซมบ้านหลายหลัง เพื่อให้น้องๆมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในกรณีที่มีเด็กสูญเสียจากเหตุการณ์รายใหม่ๆ ที่ทางลูกเหรียงลงไปแล้วเรารู้สึกว่าควรช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พี่โน้สจะเป็นคนแรกทุกครั้งที่ยื่นมือมา บอกพี่ช่วยเอง พี่โน้สจึงมีลูกสาว ลูกชายรับอุปถัมภ์ไว้ที่นี่ และรับไปเรียนที่กรุงเทพหลายคน นี่เป็นเรื่องที่ผู้ชายคนนี้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เขาไม่เคยพูด ไม่เคยอยากเล่าออกสื่อแค่นั้นเอง

ถามว่าทำไมที่ผ่านมาไม่เห็นสื่อ หรือดิฉันพูดอะไรถึงการมาของพี่โน้สเลย มีแต่คนได้ข่าว และพบเห็นพี่โน้สบ้างตาม 7-11 เวลาพี่โน้สพาเด็กๆ ไปซื้อของ หรือเวลาไปปั่นจักรยานเล่น ดิฉันต้องเรียนตรงนี้เลยว่า แค่มีคนตั้งใจลงมาช่วยเหลือเด็ก ๆและใช้ชีวิตกับพวกเราที่นี่ครั้งละหลายๆ วัน ก็เป็นเรื่องที่ดิฉันนับถือในหัวใจของเขามากแล้ว และเคารพในความเป็นส่วนตัวของพี่โน้ส

ตั้งแต่ครั้งแรกที่พี่โน้สมายะลา พี่โน้สบอกว่าพี่อยากมาเยี่ยมเด็กๆ เท่านั้น อยากมาเงียบๆ ดิฉันถามว่าต้องใช้รถคุ้มกันไหมตอนไปรับพี่ และพี่จะนอนโรงแรมที่ปัตตานีไหม ดิฉันจะได้จัดการเรื่องรับส่ง แต่พี่โน้สบอกว่า พี่นอนที่ลูกเหรียงได้ไหม ดิฉันบอกว่ามันเล็ก น่าจะไม่สะดวกสบาย เรามีแต่ฟูก หมอน เก่าๆ ไม่มีผ้าเช็ดตัวให้พี่ แต่พี่โน้สบอกว่าไม่เป็นไรพี่อยู่ได้

ต้องยอมรับว่าในครั้งแรกที่พี่โน้สมายะลา ดิฉันค่อนข้างกังวลมาก เป็นห่วงความปลอดภัยของพี่โน๊ส จึงติดต่อแคท ซึ่งเป็นน้องทหารที่ช่วยเหลืองานจิตอาสาด้วยกันหลายครั้ง แคทมีรถตู้ จึงขอให้มาขับรถตู้รับพี่โน้สจากสนามบิน ดิฉันเข้าใจว่าคนที่มายะลาครั้งแรก รู้สึกอย่างไร ย่อมมีความกังวลใจอยู่ลึกๆ เพราะพึ่งผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นไม่นาน แต่บรรยากาศก็สนุกสนาน เพราะโชเฟอร์อารมณ์ขันของเราคนนี้ดูแลพวกเราเป็นอย่างดี สร้างความประทับใจต่อการมายะลาครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ดิฉันแค่ขอเป็นส่วนหนึ่งที่อยากบอกเล่าเรื่องราวของที่นี่ให้คนข้างนอกได้รับรู้บ้าง ว่าผู้ชายคนนี้ทำอะไรมากมายที่ดิฉันอาจจะเล่าได้ไม่หมด เพื่อช่วยเหลือเด็กที่นี่ ในหลายเวทีที่กรุงเทพ พี่โน้สมักจะบอกเล่าให้คนอื่นๆฟังเรื่องอาหารอร่อยของยะลา ร้านขนมไทยที่เขาติดใจ ร้านอาหารใต้ที่เขามาทุกครั้งต้องไปกิน รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่สันติ2 อำเภอบันนังสตา ว่ามันอเมซิ่งยะลาขนาดไหน ซึ่งพี่โน๊สกับน้องๆลูกเหรียงได้ไปนอนที่ 1 คืน พี่โน๊สประทับใจมาก เพราะแม้แต่ดิฉันเอง ดิฉันก็ไม่เคยไปสัมผัสที่นั่น การบอกเล่าถึงความประทับใจที่นี่ให้คนข้างนอกได้รับรู้ ทำให้หลายคนอยากมา รวมทั้งรายการต่าง ๆที่อยากมาถ่ายทำที่นี่ นั่นเป็นสิ่งที่พี่โน๊สทำมาตลอด

ดิฉันขอโทษถ้าการสื่อสารทำให้เข้าใจผิดกัน และขอบคุณทุกๆท่านที่กรุณาอ่านข้อความของดิฉัน เพื่อจะได้รับรู้อีกมุมหนึ่งของคนที่ยังไม่เข้าใจ ดิฉันไม่มีสื่ออะไรที่จะบอกเล่า จึงขอเล่าอนุญาตใช้พื้นที่นี้ในการสื่อสาร ขอบคุณมากๆ ค่ะ”

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘กลุ่มลูกเหรียง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตรติงทูตสหรัฐฯคิดให้ดีก่อนพูด ม.112 ยันดำเนินการทุกอย่างโดยเคารพสิทธิมนุษยชน

$
0
0

30 พ.ย. 2558 จากกรณีเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา นายกลิน ที. เดวีส์  ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ ณ เวทีเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯ ขณะที่การดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพุ่งสูงขึ้น ภายใต้ปกครองของคณะรัฐประหาร โดยนายกลิน ที. เดวีส์  เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ราวๆ 9 สัปดาห์ ย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีความเคารพอย่างยิ่งและรู้สึกชื่นชมพระมหากษัตริย์ไทย แต่ก็อ้างถึงสิทธิการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสรเสรี “เราเชื่อว่าไม่ควรมีใครควรถูกจำคุกต่อการแสดงมุมมองอย่างสันติ และเราสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อความสามารถของบุคคลหรือองค์กรอิสระใดๆ ในการค้นคว้าวิจัยและรายงานประเด็นสำคัญๆ โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกแก้แค้น” (อ่านรายละเอียด)

ล่าสุดวันนี้ (30 พ.ย.58) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง กรณีดังกล่าวว่า นายกลินก็ต้องคิดเวลาพูดอะไรออกมา เพราะทางไทยก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่ารัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามดำเนินการทุกอย่างโดยเคารพสิทธิมนุษยชน ตนคิดว่าคงไม่มีรัฐบาลใดที่ยึดอำนาจมาแล้วจะให้เรื่องสิทธิมนุษยชนได้ถึงขนาดนี้ เราก็ปล่อยทุกอย่าง

“ไม่มีรัฐบาลไหน ที่ยึดอำนาจมา แล้วปล่อยให้มีการแสดงความเห็นอย่างเสรี เช่นปัจจุบัน ขณะนี้ รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด และพยายามทำให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่ถาวร แต่ขอให้รอ เพราะตอนนี้ต้องแก้ปัญหาหลายด้าน  เพื่อวางรากฐานให้ประเทศ  ทุกอย่างยังเดินตามโรดแมป และจะมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน” พล.อ.ประวิตร กล่าว

“ผมยืนยันว่าประเทศในอาเซียน ไทยไม่ด้อยไปกว่าใคร เพราะคนไทย 60-70 ล้านคน มันใช้ได้เลย รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มี และคนที่มีอยู่ในขณะนี้เก่งมาก เพียงแต่อย่ามีเรื่องมารบกวนและอย่าไปเล่นการเมืองกันมาก อย่างไรก็ตามยืนยันว่ามีเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเราเดินตามโรดแมป แต่ถ้าไปไม่ได้จริงๆ จะทำอย่างไร หากสถานการณ์เป็นแบบนี้พอไปได้ก็ไป” พล.อ.ประวิตร กล่าว

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทยและกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนริมโขง หวั่นศาลไม่เข้าใจผลกระทบข้ามพรมแดน กรณี กฟผ. ซื้อไฟจากเขื่อนลาว

$
0
0

เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัด ลุ่มน้ำโขง หวั่นความเห็นตุลาการผู้แถลงคดี  ยังไม่เข้าใจปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน กรณี กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

30 พ.ย. 2558 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 8 ศาลปกครอง แจ้งวัฒนะ ได้มีการนัดพิจารณาคดีครั้งแรก กรณีเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง อันได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ยื่นฟ้อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ผู้ถูกฟ้องที่1 และอีก 4 หน่วยงานของรัฐ คือคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ , กระทรวงพลังงาน , กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 2-5 ตามลำดับ อันสืบเนื่องจากกรณี การลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี โดยทางกลุ่มผู้ฟ้องเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับการพิจารณาคดีครั้งนี้ สอ รัตนมณี พลกล้า ทนายความของคดีนี้ ได้ให้ข้อมูลหลังเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีครั้งแรกว่า ตุลาการผู้แถลงคดี มีความเห็น ยกฟ้อง โดยมีการสรุปประเด็นที่พิจารณาไว้สองเรื่องคือ ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดละเลยต่อหน้าที่ไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี โดยตุลการผู้แถลงเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการทำที่ตรงกับนิยาม โครงการของรัฐ เป็นเพียงการทำสัญญาซื้อไฟฟ้า มีลักษณะเป็นเพียงข้อตกลงระหว่างประเทศ ฉะนั้นจึงมองว่าการลงนามดังกล่าวไม่ใช่โครงการของรัฐ ที่จะต้องดำเนินการตามระเบียบ ซึ่งจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือจัดทำรายการผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ตุลาการผู้แถลงจึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องจึงไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวก่อนลงนามในสัญญา

ทนายความกล่าวต่อไปว่า ศาลได้เข้าไปพิจารณาดูด้วยว่า ในข้อตกลงของการลงนามในสัญญาซึ่งมีการกำหนดว่า ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรีต้องมีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตราฐานสากล โดยในกรณีนี้ ศาลเห็นว่า การทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมฯ นั้นทางเจ้าของโครงการได้ดำเนินการไปเสร็จสิ้นแล้วตามกฎหมายของประเทศลาว เท่ากับว่ามีการดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนไม่ได้มีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่

ส่วนในประเด็นที่สอง โดยศาลตั้งประเด็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ละเลยต่อมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ในกรณีที่กำหนดว่า ก่อนที่จะมีการลงนามจะต้องมีการดำเนินการ อย่างน้อย 3 ประการคือ สัญญาจะต้องมีการผ่านการพิจารณาของสำนักงานอัยการ โครงการจะต้องดำเนินการตามกระบวนการ PNPCA ((Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement) และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของโครงการ โดยศาลมองว่า รูปแบบของ PNPCA กำหนดให้มีการปรึกษาหารือ และจัดทำข้อตกลง ซึ่งศาลเห็นว่า กระบวนการเหล่านี้ได้ดำเนินการไปแล้ว

ต่อกรณีที่กลุ่มผู้ฟ้องเห็นว่า การดำเนินการต่างๆ ไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ศาลเห็นไม่มีข้อกำหนดใดๆ ที่กล่าวถึงหลักการดังกล่าวไว้ ฉะนั้นจึงไม่มีความจะเป็นต้องดำเนินการ ในส่วนของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ศาลมองว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ไม่ใช่โครงการของรัฐ การจะนำข้อมูลมาเผยแพร่จะต้องได้รับการอนุญาติจากเจ้าของโครงการ และในสัญญาของโครงการได้กำหนดว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ ฉะนั้นการที่หน่วยงานซึ่งถูกฟ้องนำข้อมูลมาเผยแพร่เท่าที่ดำเนินการได้ ก็ถือว่ามีการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้อง

ทนายความกล่าวต่อว่า คำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดี ไม่ได้มีผลใดๆ ต่อการพิจารณาวินิจฉัยของตุลาการเจ้าของสำนวน ซึ่งศาลจะมีการกำหนดให้มีการฟังคำพิพากษาต่อไป

ด้าน นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ตั้งข้อสังเกตุต่อประเด็นดังกล่าวว่า เป็นการให้ความเห็นที่ยังไม่เข้าใจเรื่องของผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดถึง มีการแก้ไขกันที่ตัวกฎหมายต่อไป

“เมื่อเราฟังตุลาการแถลงแล้ว เห็นชัดเจนเลยว่ามีข้อบกพร่องมากมาย ที่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมในเรื่องการจัดการทรัพยากร เพราะมีข้อกฎหมายและระเบียบมากมาย... การจัดการทรัพยากรร่วมกันกฎหมายต้องไปให้ถึง ไม่อย่างนั้นแม่น้ำโขงตายแน่ ตายจริงๆ ตายแบบไม่มีทางสู้ นี่คือสิ่งที่มองเห็นชัด”นิวัฒน์ กล่าว

สอ รัตนมณี ทนายความของคดีฝ่ายผู้ฟ้อง ให้ความเห็นต่อไปว่า ประเด็นปัญหาตอนนี้คือ กฎหมายของไทยและในประเทศเพื่อนบ้านยังไม่คุ้มครองปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน แม้ตอนนี้จะยังไม่มีคำตัดสินออกมา ก็ยังคงมีความหวังว่า ตุลาการเจ้าของสำนวนจะเห็นว่า การวินิจฉัยคดีนี้ สามารถสร้างบรรทัดฐานที่จะสนับสนุนการดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน อันเกิดจากปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน

ด้าน ชานณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มฮักเชียงคาน หนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ให้ความเห็นว่า การเดินทางมาวันนี้ เพื่อต้องการพึ่งพาความยุติธรรมจากศาล แต่สิ่งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า รัฐไทยไม่สามารถปกป้องคุ้มครองทรัพยากร และประชาชนของตัวเอง ทั้งที่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นแล้ว แต่ในด้านของกฎหมายยังไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

 

สรุปคดีและคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณีฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีคดีหมายเลขดำที่ ส.493/2555 ศาลปกครองกลาง

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขง ทั้งในด้านระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน อย่างร้ายแรง ได้ร่วมกันให้ตัวแทน ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าของกฟผ. (PPA) เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.493/2555 ระหว่าง นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ที่ 1 กับพวกรวม 37 คน ผู้ฟ้องคดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 1 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ 2 กระทรวงพลังงาน ที่ 3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 4 คณะรัฐมนตรี ที่ 5 ผู้ถูกฟ้องคดี

โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษา ดังนี้

1. ให้มีคำพิพากษาว่า โครงการสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้มีคำสั่งให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวเสีย

2. ให้มีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี

3. ให้มีคำพิพากษาว่า ให้ยกเลิกมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ในการอนุมัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินโครงการสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

ต่อมา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยออกเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 59/2556 ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 21 มีนาคม 2556 เพื่อขอให้ศาลพิจารณารับคำฟ้องคดีไว้พิจารณา โดยศาลปกครองสูงสุดรับเป็นคำร้องที่ คส.11/2556

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.57 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ตามคำสั่งที่ 8/2557 ให้มีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจาณาบางส่วน 

โดยศาลปกครองสุงสุดได้วินิจฉัยพอสรุปได้ ดังนี้

ศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 ได้ยื่นฟ้องเป็น 3 ข้อหา จึงพิจารณารายข้อหา ดังนี้

ข้อหาที่หนี่ง มติของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ที่อนุญาตให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ของประเทศลาว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การมีมติให้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อ นำไปสู่การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด จึงยังไม่มีผลทางกฎหมายออกสู่ภายนอกไปกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ ของผู้ฟ้องทั้ง 37 คน ดังนั้น ผู้ฟ้องทั้ง 37 คนจึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ศาลไม่รับข้อหานี้ไว้พิจารณา

ข้อหาที่สอง สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับ บริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน มีความประสงค์อันแท้จริง คือ ต้องการให้ศาลปกครองมีคำบังคับให้เพิกถอนหรือยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ. กับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด แต่ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีไม่ปรากฏว่า ผู้ฟ้องทั้ง 37 คนเป็นคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง จึงไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน จะมีสิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวได้ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน จึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีข้อหาที่สองต่อศาลปกครองได้ ตามมาตรา 42 วรรค 1 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แม้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน อุทธรณ์ว่า สัญญาซื้อไฟฟ้าก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ในฐานะที่เป็นผู้เสียภาษี และผู้รับประโยชน์จากสัญญา แต่ศาลเห็นว่า การเสียภาษีอากรถือว่าเป็นหน้าที่ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน จะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ศาลไม่รับข้อหานี้ไว้พิจารณา

ข้อหาที่สาม ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติ หน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม ทั้งในฝ่ายไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าโครงการเขื่อนไซยะบุรี

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องทั้ง 37 คน เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบโดยตรงและมากเป็นพิเศษกว่า บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อน  หรือเสียหาย ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ได้รับจำต้องมีคำบังคับโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ตามมาตรา 72 วรรค 1(2) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 โครงการเขื่อนไซยะบุรีสร้างในแม่น้ำนานาชาติ ต้องปฎิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น PNPCA เนื่องจากเป็นกติกาที่ใช้ในการจัดการแม่น้ำนานาชาติร่วมกัน โครงการไซยะบุรีเป็นโครงการที่กั้นแม่น้ำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียตนาม ซึ่งเป็นผลกระทบข้ามพรมแดน จึงทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ฟ้องโดยใช้สิทธิชุมชนในการฟ้องคดีเป็นการใช้สิทธิ เพื่อคุ้มครองไม่ให้ตนได้รับผลกระทบ จึงใช้สิทธิในการฟ้องได้

ศาลจึงมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 37 คน เฉพาะข้อหาที่ 3 ในส่วนที่ฟ้อง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ปฏิบัติ หน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การประเมินผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ไว้พิจารณา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนรวย คืนถิ่น: ปัญหาการสื่อสาร เมื่อต้องการไล่คนกลับบ้าน

$
0
0

 

ทำงานในเมือง ดีกว่าทำสวนที่บ้าน?

ถ้าคุณเบื่อชีวิตมนุษย์เงินเดือน คลิปนี้มีคำตอบข้อมูลเพิ่มเติม คลิก www.facebook.com/konglakuentin/photos/a.441285489355996.1073741828.441230242694854/541760302641847/?type=3&permPage=1

Posted by คนกล้าคืนถิ่น on Thursday, September 24, 2015


เพื่อนส่งวิดีโอ ‘คนกล้าคืนถิ่น’ ซึ่งกระหน่ำแชร์ร่วม 70,000 ครั้งบนหน้าเฟซบุ๊ก ด้วยเป็นธรรมดาของชนชั้นกลางผู้ขี้ขลาดตาขาวเกินกว่าจะแบกรับผลกระทบในภายหลัง ส่วนตัวจึงพยายามหลบเลี่ยงจะพาดพิง วิพากษ์ วิจารณ์ อะไรก็ตามแต่ที่บั่นทอนน้ำใจมิตรสหาย ซึ่งรายล้อมด้วยคนดี แต่ถึงกระนั้นแล้ว 70,000 แชร์ ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่ควรค่าแก่การหลบเลี่ยงจะพูดถึงในต่างแง่มุมไม่

คนกล้าคืนถิ่น เป็นโครงการความร่วมมือขององค์กรเกษตรพอเพียงทั้งหลาย ตั้งแต่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิปิดทองหลังพระ หนึ่งไร่หนึ่งแสน สภาหอการค้าไทย สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มธ. ม.ลาดกระบัง เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิธนาคารต้นไม้ โครงการ 100 โครงการเปลี่ยนประเทศ (โครงการหนึ่งในโครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย) ม.หอการค้าไทย โครงการผูกปิ่นโตข้าว มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มูลนิธิพิทักษ์ประชาชาติ ม.เกษตรศาสตร์ มูลนิธิข้าวขวัญสันติอโศก เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย และกองทัพบก ด้วยหวังจะเพิ่มปริมาณแรงงานเกษตรมีความสามารถให้ชุมชน

นอกเหนือจากการเติมเต็มมายาคติชุมชนให้อุดมสมบูรณ์ ในหมู่คนชั้นกลาง และประสบความสำเร็จในการสานต่อวาทกรรม ‘มิตรสหายชาวทุ่ง’ ซึ่งมีมาตั้งแต่เริ่มเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่ กทม. หรือในอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อ กทม. กลายเป็นศูนย์กลางกระจุกความเจริญแล้ว กระบวนการสื่อสารก็ไม่มีมากไปกว่าความพยายามหาแพะรับบาป เพื่อง่ายต่อการโยนความโง่ จน เครียด ให้ใครก็ตาม ซึ่งอยู่ในฐานะต่ำกว่าผู้เล่าเรื่อง การใช้ fear approach ดังกล่าวจึงเป็นวิธีการสื่อสารเดียวที่องค์กรคนดีใช้อย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จยิ่งในจินตนาการของหมู่ชนชั้นกลาง หากแต่ไม่สามารถทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาจริง ๆ ได้ เช่น การถาโถมงบประมาณมหาศาลไปกับการทำสื่อ เพื่อจะบอกว่า คนสูบบุหรี่คือความอัปยศของครอบครัว คือความน่ารังเกียจของสังคม คือฆาตกร ฆ่าลูก ฆ่าเมีย โดยดูจะชัดเจนกว่า ความพยายามจะเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม หรือ จน เครียด กินเหล้า ที่มีผู้วิจารณ์จนช้ำเลือดช้ำหนองแล้ว แต่ ‘ภาคีเครือข่าย’ ก็ยังคงนำไปพูดถึงอย่างภาคภูมิ โดยตั้งใจลืมไปว่า ถ้า รวย มีความสุข ก็กินเหล้าได้ ไม่เป็นไร การหยิบยกตัวละครชาวบ้าน คนจน เกษตรกร แรงงาน มาอยู่ในสื่อดังกล่าว จึงไม่ได้อยู่ในสถานะของการสื่อสารบนความเข้าใจ หรือในบทบาทตัวละครที่สะท้อนภาพลักษณ์ของตัวคนต่างจังหวัดเองในทางปัจเจก หากแต่เป็นสัญญะแสดงถึงต้นแบบที่ไม่น่าเอาเยี่ยงอย่าง เป็นตัวแทนแห่งความโง่ ความไม่รู้ ไม่ประสีประสา สร้างความมักง่ายต่อการกล่าวโทษคนต่างจังหวัดอย่างเฉยชาว่า ประเทศไทยมีทุกอย่าง แต่ที่คนยังจนเพราะคนบ้านนอกมันโง่ เป็นต้น

วิดีโอ ‘คนกล้าคืนถิ่น’ ฉบับ ดร.เกริก ก็เช่นกัน คลิปเริ่มด้วยการโยนความผิดบาปให้กลุ่มพนักงาน แรงงาน ในเมืองกรุง ที่ทนรถติด ทนเสียงบ่นด่าจากเจ้านาย ทนรับเงินเดือนอันน้อยนิด ที่เมื่อเทียบกับผู้พูดแล้วช่างต่างราวนรกสวรรค์ วิดีโอจึงสร้าง ‘โลกจำลอง’ ให้ผู้พูดและผู้ถูกพูดถึงเกี่ยวดองกันด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ลักษณะเดียวกับครู-นักเรียน พ่อแม่-ลูก คนรวย-คนจน ด้วยยกให้ผู้พูดเหนือกว่าในทุกกรณี และเมื่อสร้างให้ผู้พูดฉลาดกว่า ย่อมหมายถึง ผู้ถูกพูดถึงโง่กว่าโดยปริยาย นอกจากนี้ยัง กระหน่ำซ้ำเติมกลุ่มคนผู้หนีความอาภัพ มาใช้ชีวิตรอดในกรุงเทพอย่างยากลำบาก ด้วยการบอกต่อว่า การได้มาซึ่ง รถไม่ติด เงินเดือนมหาศาล ไม่ต้องถูกเจ้านายด่านั้น ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ทำ ‘ชิล ๆ’ เป็นเกษตรสายชิล ทำไปบันเทิงเริงรมย์ไป

จากนั้น ก็ตามจารีตนิยมของวิธีการสื่อสารที่ออกผ่านองค์กรลักษณะนี้ คือการสรุปทุกสิ่งที่รับชมว่า หากจะถึงพร้อมด้วยอะไรเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องยาก แค่เริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองมี หนทางแห่งความร่ำรวย ไม่มีหนี้สิน ช่างง่ายดายเสียยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น กระบวนการสรุปจบสำเร็จรูป ไม่ต้องการความซับซ้อน ขายได้ดีเสมอในหมู่ผู้ต้องการความง่าย พอ ๆ กับการขายคอร์สกำลังใจ ดูแล้วแทบจะโยนแมคบุ๊คทิ้ง ไปจับจอบถางหญ้า พรวนดิน แหม วิถีเกษตรสายชิล  ช่างง่ายดายอะไรเสียจริง แต่อย่าพูดถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตร ภัยแล้ง แมลงศัตรูพืชนะ ไม่เอา ไม่ยากได้ยิน รับไม่ได้

ไม่มีใครอยากทำงานแทบตายแล้วได้เงินน้อย อยากเสียเวลากับรถติด หรือมีความสุขกับเสียงเจ้านายบ่นด่าหรอกครับ เพียงแค่คนส่วนใหญ่ของโลกใบนี้ ไม่ได้มี ‘privilege’ (อภิสิทธิ) พอที่จะเลือกชีวิตเยี่ยง ดร.เกริก ได้เท่านั้นเอง มีคนอีกมากที่ทำงานเท่าไรก็ไม่เคยพอ เพราะต้องส่งเงินช่วยพ่อแม่ ต้องแก้ปัญหาลูกติดยา เพราะ(กว่าจะ)ได้ค่าแรงแค่ 300 บาท จะออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมที่ไม่เคยได้รับ ก็โดนด่าในฐานะผู้ทำรถติดเสียแล้ว

ในทางการสื่อสาร เสียงของคนเหล่านี้จึงไม่เคยถูกพูดด้วยเสียงและท่าทีของเขาเอง หากแต่ถูกพากษ์ด้วยเสียงคนดี เสียงผู้รู้ เสียงองค์กรทำงานเพื่อสังคม (ทว่า สังคมที่ว่านั้น พาสเจอร์ไรซ์คนที่ไม่เข้าพวกออกไปแล้ว) เสียงประชาชน ในความหมายของผู้มีเลือด มีเนื้อ มีสุข มีทุกข์ มีความขัดแย้ง มีผลประโยชน์ มีน้ำตา มีความต้องการจะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศพอ ๆ กับคนที่เข้าถึงโอกาสมากกว่า มีความต้องการใช้อินเตอร์เน็ต และรถไฟฟ้าเช่นเดียวกัน จึงไม่เคยถูกสื่อสารผ่านช่องทางเหล่านี้แม้แต่น้อย

กระนั้นแล้ว อย่าได้ตกใจไป “ในเมื่อตีวัวกระทบคราดขนาดนี้ ยังมีทั้งวัว ทั้งคราด กดแชร์ กันมากมาย” นับตั้งแต่ไทยทำสนธิสัญญาเปิดประเทศในสมัย ร.4 ก็เริ่มรับแรงงานข้ามชาติมาทำงานจำนวนมาก ชาวจีนเข้ามามีบทบาทในภาคแรงงานนานนับศตวรรษ ด้วยคนไทยส่วนใหญ่ยังพอใจกับรายได้และชีวิตไร่นา จนปี 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ดำเนินเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีนิยม ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม และจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ แรงงานไทยก็เริ่มเคลื่อนย้ายออกจากชนบทเข้ามามีชีวิตในเขตอุตสาหกรรมอย่างแข็งขัน

ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับวิธีคิดของหมู่คนกรุงเดิมที่เริ่มรับไม่ได้กับการเจริญเติบโตของกลุ่มคนต่างจังหวัด ที่เข้ามาตัดส่วนแบ่งเค้ก ซึ่งแต่เดิมตนเคยสวาปามอย่างสุขหนำสำราญ วาทกรรมกลับไปใช้ชีวิตชนบท จึงเริ่มกล่อมประสาทสังคมไทยนับแต่นั้นมา ดังจะเห็นได้จากเพลงชาวทุ่ง ซึ่งขับร้องโดยเลิศ ประสมทรัพย์ “พวกเราทั้งหลายมิตรสหายชาวทุ่ง  คร้านเคยพบเคยเห็นกรุง  รู้เพียงกรุงนั้นยุงคลุ้งไป ฝุ่นกรุงฟุ้งเฟ้อ สังคมเพ้อเป็นไข้  แสงและสีมีพิษภัย  หาลมจะหายใจไม่มี ...อยู่นาประสาเขาเรา ไร้ของมอมเมาเคล้าคลุกกคลี  อยู่เมืองสวรรค์นั่นซี มีแต่ที่พิกลพิการ อย่ามัวสงสัย คิดไปไหนไกลบ้าน รักดินฟ้านาสำราญ เพราะมันเป็นวิมานสุขจริง” เพลงพร่ำสอนคนต่างจังหวัด ซึ่งขับร้องโดยคนกรุงเทพ ให้ชวนจินตนาการว่า กรุงเทพมันน่ากลัว ยุงก็เยอะ ฝุ่นก็ฟุ้ง หายใจยังลำบาก พวกเราอย่าสงสัยอยากเข้าไปทำงาน อย่าเข้าไปให้คนกรุงเทพ (ที่เขาฉลาดกว่า) หลอกเลย อยู่ป่า อยู่นา อยู่เขา นี่แหละดีแล้ว พอแล้ว เหมาะกับตัวเราดี หนำซ้ำยังตามมาด้วยเพลงอย่าง ข้างขึ้นเดือนหงาย พล็อตหนังละครที่ชีช้ำไปด้วยคนบ้านนอกมาหลงแสงสีในเมืองกรุงจนใจแตก หรือการสร้างตัวละครให้คนต่างจังหวัด ดูตลก เด๋อด๋า ก็ย่อมทำลายความจริงที่เป็นอยู่ เพื่อสร้างความเสียเปรียบทางการต่อรองของคนต่างจังหวัดในทุกกรณี วาทกรรมไล่คนกลับถิ่นที่ไม่มีอะไรกิน จึงเคียงข้างสังคมไทยมาช้านาน

แม้ว่าเสียงของกลุ่มคนผู้ถูกพูดถึงโดยคนกรุง จะถูกสื่อสารผ่านตัวเขาเองมากขึ้น ในยุคสมัยแห่งสังคมออนไลน์ เสียงของคนเหล่านี้เริ่มย่างกรายเข้ามาหลอกหลอน และท้าทายมายาคติอันผิดพลาดของคนกรุง ดังนั้นจึงไม่ผิดแปลกที่จะเห็นโครงการสร้างความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในนามของความห่วงใย อย่างการสร้างภาพให้อินเทอร์เน็ตเป็นศัตรูบ่อนทำลายวัฒนธรรมไทยอันดีงาม แม้จะยอมรับการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นในระยะหลัง เพราะทุกฝ่ายหยั่งรู้ถึงประโยชน์ในการเผยแพร่วิธีคิดฝั่งฝ่ายของตนเองได้เช่นกัน แต่ด้วยอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางเดียวในการเข้าถึงและถ่ายทอดความจริงของกลุ่มคนที่ไม่ได้มี privilege หรือเข้าไม่ถึงทรัพยากร เมื่อคนต่างจังหวัด คนรุ่นใหม่ เด็กเยาวชน เริ่มคล่องแคล่วกับการใช้เครื่องมือเหล่านี้ ย่อมเป็นภัยคุกคามครั้งสำคัญของกลุ่มอำนาจเก่าที่หมดอายุแล้วในทางวิธีคิด ทว่ายังดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ในประเทศอย่างอายุวัฒนะ

ทั้งนี้ ก็มิได้สรุปว่า การถึงพร้อมด้วยองค์ความรู้ ความสามารถประสบการณ์ และกลับไปทำงานสบาย เงินดีที่บ้าน จะเป็นเรื่องผิดแต่ประการใด หากแต่ต้องไม่ละเลยปัญหาความไม่ธรรม ความเหลื่อมล้ำ การจัดสรรที่ดินอันแปลกประหลาด ปัญหาค่าครองชีพ และสรุปเอาเองอย่างมักง่ายว่า ที่ประเทศไทยยากจน เพราะคนต่างจังหวัดโง่ คอยถ่วงความเจริญ

สื่อสารมวลชน จะต้องไม่ตอกย้ำมายาคติชนบทไทย ไล่คนต่างจังหวัดกลับบ้าน โดยไม่สนใจมิติอื่นใด หากแต่ต้องใช้ความจริง พูดคุย สื่อสาร ถ่ายทอด ด้วยความเข้าใจ เป็นมิตร และเป็นธรรม

 

 

อ้างอิง

คลิปวิดีโอจาก แฟนเพจเฟซบุ๊ก คนกล้าคืนถิ่น : ทำงานในเมือง ดีกว่าทำสวนที่บ้าน ? 
คุณวริศ ลิขิตอนุสรณ์ และคุณภัทธา สังขาระ ที่ช่วยตรวจทานบทความ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษก คสช. อัด ′ตู่-เต้น′ ใช้คำว่า "ทุจริต" ปมราชภักดิ์ เป็นการใช้เพียงความรู้สึก

$
0
0

30 พ.ย. 2558 จากกรณีที่ จตุพร พรหมพันธุ์ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ถุกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว กลางตลาดมหาชัย จ.สมุทรสาคร ท่ามกลางสื่อมวลชนที่รอทำข่าว และประชาชน ระหว่างแถลงข่าวก่อนเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา

‘สมหวัง-ธนาวุฒิ’ โดนด้วยขณะ แวะร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน ราชบุรี

ข่าวสดออนไลน์รายงานด้วยว่า ล่าสุดเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงได้เข้าไปพูดคุยและคุมตัวแกนนำนปช.อีก 2 คน คือ สมหวัง อัสราษี และ ธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ ซึ่งมาแวะพักที่ร้านกาแฟภายในปั๊มน้ำมัน จ.ราชบุรี

โฆษก คสช. อัด ′ตู่-เต้น′ ใช้คำว่า "ทุจริต" ปมราชภักดิ์ เป็นการใช้เพียงความรู้สึก

สำนักข่าวไทยรายงานด้วยว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า  เนื่องจากเจ้าหน้าที่มองว่าเป็นการพยายามเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจน  พฤติกรรมเริ่มจากการป่าวประกาศเชิงชี้นำ ในทำนองปลุกปั่นให้เกิดความไม่เรียบร้อย  ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาจากพฤติกรรมในหลายวาระ รวมทั้งการกล่าวต่อสาธารณะโดยใช้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนมาตลอด

“โดยเฉพาะการใช้คำว่าทุจริต ซึ่งหน่วยงานหรือผู้มีหน้าที่โดยตรงยังไม่มีใครกล่าวถึง เป็นการใช้เพียงความรู้สึกทั้งสิ้น  ปัจจุบันจะเห็นว่าภาครัฐไม่นิ่งนอนใจเมื่อสังคมต้องการทราบ หลาย ๆ หน่วยงานก็กำลังร่วมกันดำเนินการภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบเพื่อคลี่คลายไขความกระจ่างให้” พ.อ.วินธัย กล่าว

โฆษก คสช. กล่าวว่า หลังจากนี้อาจจะมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการให้ข้อมูลใด ๆ กับสังคม  ถ้ายังไม่มีข้อพิสูจน์ที่สมบูรณ์ชัดเจน  แล้วมีบุคคลใดนำมาใช้กล่าวอ้างจนส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงองค์กร  ก็จะมีการใช้มุมทางกฎหมายเข้ามาพิจารณาดำเนินการอย่างจริงจัง

“การเคลื่อนไหวของนายณัฐวุฒิ ในลักษณะเช่นนี้ ไม่น่าเกิดประโยชน์ต่อกระบวนการไขความกระจ่างเพราะไม่ใช่ผู้มีหน้าที่  ซึ่งจะทำให้หลายฝ่ายเคลือบแคลงในท่าทีที่อาจดูไม่ต่างจากรูปแบบเดิม ๆ  ซึ่งมิได้เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อสังคมอย่างแท้จริง  และในความเป็นจริงทุกคนที่สนใจในเรื่องนี้ สามารถติดตามได้ตลอดจากช่องทางที่เหมาะสมต่าง ๆ และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ก็ใช้แนวทาง ขอความร่วมมือ และทำความเข้าใจเป็นลำดับแรก” โฆษก คสช. กล่าว

ประจิน มองไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์บานปลาย ควรพูดคุยกันให้รู้เรื่อง

ก่อนหน้านั้น มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 11.30 น. พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารไปจับ จตุพรและ ณัฐวุฒิ แต่มองว่าเจ้าหน้าที่ทหารไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์บานปลายเช่นนี้

"ควรพูดคุยกันให้รู้เรื่องและไม่ทราบว่าอำนาจในการสั่งจับครั้งนี้เป็นของใครเพราะต้องดูเป็นกรณีๆ ไป ส่วนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เตรียมสอบเรื่องนี้จากที่พบว่ารัฐบาลมีการอนุมัติงบประมาณส่วนหนึ่งของรัฐไปใช้ในโครงการนั้น ขั้นต้นทราบว่าเจตนาของมูลนิธิใช้เงินบริจาค แต่ไม่ทราบมีส่วนงบส่วนราชการอย่างไร" พล.อ.ประจิน กล่าว

เมื่อถามว่าสังคมมีความสงสัยอยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงว่ากรณีอุทยานราชภักดิ์ดำเนินการอย่างไรใช้งบจากไหนเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจไม่ควรออกมาโต้เถียงกันจนกลายเป็นเรื่องการเมือง พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า “ได้ยินข่าวโครงการอุทยานราชภักดิ์ก็มีความชื่นชมที่ทางมูลนิธิสามารถทำโครงการนี้ได้ และท่านอยากให้เป็นไฮไลต์ของงานท่าน แต่พอมาพูดในแง่ลบคนทำก็เสียความรู้สึก เสียกำลังใจ ต้องช่วยกัน ซึ่งผมจะไปเรียนรมว.กลาโหมให้ทราบตามที่สื่อแนะนำ เพื่อไม่ให้เป็นประเด็นการเมือง ไม่อยากให้เรื่องดีๆ กลายเป็นเรื่องการเมือง ส่วนจะส่งผลต่อภาพลักษณ์รัฐบาลหรือคสช.หรือไม่นั้น มองว่าทำให้เสียความรู้สึกต่อผู้ที่ปรารถนาดีต่อโครงการ"

โฆษกกลาโหม แจงเชิญ ‘ตู่-เต้น’ ไปคุย - หวั่นม็อบชนม็อบ

มติชนออนไลน์รายงานอีกว่า พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้จับกุม จตุพร และ ณัฐวุฒิ เพียงแต่เชิญตัวมาพูดคุยเท่านั้น เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาม็อบชนม็อบขึ้น เนื่องจากทราบว่ามีมวลชนจาก จ.ราชบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปรอต่อต้านกลุ่มของ จตุพรและ ณัฐวุฒิ อยู่จึงอาจเกิดการปะทะกันขึ้น เพราะ จตุพรเอง ก็นำมวลชนไปจำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน จึงได้เชิญตัวไปทำความเข้าใจ แต่ทั้งนี้ขอปฏิเสธที่จะบอกสถานที่การพูดคุย และจำนวนวันในการควบคุมตัว

นปช. ร้องคสช.ปล่อยตัว ‘จตุพร-ณัฐวุฒิ’ ก่อนจะบานปลาย

ด้าน ธิดา ถาวรเศรษฐ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจระบุว่า ไม่ทราบว่าจตุพรและณัฐวุฒิ ถูกควบคุมตัวไปที่ไหนและชตากรรมเป็นอย่างไร พร้อมระบุว่า พวกเขาไม่ได้นัดหมายขับเคลื่อนทางการเมืองใดๆ ในการต่อต้านคสช. พวกเขาทำหน้าที่พลเมืองดีด้วยซ้ำ เพื่อช่วยตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลนี้และบรรดาผู้มีคุณธรรมทั้งหลาย

“คำถามจากสังคมต่อคณะคสช.ก็จะอื้ออึง และถ้ามีเรื่องไม่ถูกต้องเกิดขึ้นต่อ คุณจตุพรและคุณณัฐวุฒิ ก็น่าจะสงสัยได้ว่าคสช.ต้องการสร้างและขยายความขัดแย้งเพื่อวัตถุประสงค์ใด หรือการทำรัฐประหารปีกว่ามานี้ยังแก้ความขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครองทั้ง” ธิดา ระบุ

นอกจากนี้ ธิดา ยังให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Thaivoicemediaเรียกร้องให้คสช.ปล่อยตัวทั้ง 2 คนด้วย ก่อนจะบานปลาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.สส.กองทัพพม่า - ปธน.เต็ง เส่ง เตรียมหารือเปลี่ยนผ่านการเมืองกับ 'ออง ซาน ซูจี' พุธนี้

$
0
0

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.สส.กองทัพพม่า เผยว่าพุธที่ 2 ธ.ค. นี้เตรียมหารือ "การปรองดองแห่งชาติ" กับออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีและผู้ชนะการเลือกตั้ง ขณะที่ปธน.เต็ง เส่ง ตอบรับการเจรจาเช่นกัน โดยเป็นการแยกหารือที่ทำเนียบประธานาธิบดีพม่า

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผบ.สส.กองทัพพม่า (ซ้าย) และหนังสือตอบรับการเจรจากับ ออง ซาน ซูจี ประธานพรรคเอ็นแอลดี (ขวา) (ที่มา: เฟซบุ๊ค Min Aung Hlaingและ สำนักข่าวเมียวดี)

(ภาพซ้าย) ออง ซาน ซูจี ส่งจดหมายจดหมายเชิญหารือปรองดองแห่งชาติรวม 3 ฉบับ โดยฉบับนี้เป็นฉบับที่ส่งไปยัง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า (ที่มา: วิกิพีเดียและเฟซบุ๊ค NLDParty)

 

30 พ.ย. 2558 - พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่าได้โพสต์เอกสารในเฟซบุ๊คเพจยืนยันว่าจะมีการหารือกับออง ซาน ซูจี ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ในวันพุธที่ 2 ธันวาคมนี้

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ออง ซาน ซูจี  ได้ทำจดหมายเรียนเชิญ 3 ฉบับ ไปยัง (1) ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย,  (2) ประธานาธิบดีพม่า เต็ง เส่ง และ (3) ประธานรัฐสภา ฉ่วย มานน์ เพื่อหารือถึงกระบวนการปรองดองแห่งชาติ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ทั้งนี้เนื้อหาในจดหมายทั้ง 3 ฉบับ ที่มีการเผยแพร่ในเฟซบุ๊คของพรรสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย มีข้อความในจดหมายคล้ายกัน โดยจดหมายฉบับที่เขียนถึงฉ่วย มานน์ ประธานรัฐสภาพม่านั้น ข้อความตามที่แปลฉบับภาษาอังกฤษในเมียนมาร์ไทม์ระบุว่า

"เพื่อทำให้ความต้องการของประชาชนเกิดผลในทางปฏิบัติ ตามที่พวกเขาแสดงออกผ่านการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นไปอย่างสันติและมีความสำคัญอย่างแท้จริงต่อความมีศักดิ์ศรีของชาติเรา และความผาสุกของพลเมืองนั้น"

"ด้วยเหตุนี้ ดิฉันขอเรียนเชิญพบท่านประธานรัฐสภาเพื่อหารือถึงกระบวนการปรองดองแห่งชาติ เพื่อทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ดิฉันขอเรียนเชิญให้มีการหารือในสัปดาห์หน้า"

 

ขณะที่ ออง ซาน ซูจี ได้ลงชื่อท้ายจดหมายว่า "ออง ซาน ซูจี ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย"

โดยภายในวันที่ 11 พ.ย. นั้นเองบุคคลทั้ง 3 ได้ตอบรับการหารือ "เพื่อความปรองดองแห่งชาติ" ที่เสนอโดยออง ซาน ซูจี โดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ออกแถลงการณ์ในนาม "กองทัพพม่า" ในช่วงบ่ายวันนั้น แสดงความยินดีต่อประชาชนพม่าที่ลงคะแนนในการเลือกตั้งที่ "มีวินัยและเป็นระบบแบบแผน" และยินดีที่พรรคเอ็นแอลดีคะแนนนำ รวมทั้งตอบรับคำเชิญจาก ออง ซาน ซูจี และยินดีร่วมเจรจา "ปรองดองแห่งชาติ" ก่อนที่อีก 3 สัปดาห์ต่อมา จะมีการกำหนดวันเวลา และสถานที่เจรจาดังกล่าว

000

ทั้งนี้ สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า ในเฟซบุ๊คของมิน ออง หล่าย เขาระบุว่าจะหารือกับออง ซาน ซูจี ในเวลา 14.00 น. วันพุธนี้ ณ ที่ทำงานของเขาในกรุงเนปิดอว์ ขณะที่อีก 15 นาทีต่อมา ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้โพสต์ระบุว่าจะพบกับ ออง ซาน ซูจี ในวันพุธที่ 2 ธันวาคม เช่นเดียวกัน แต่เป็นช่วงเช้าที่ทำเนียบประธานาธิบดีพม่า ในกรุงเนปิดอว์
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ฉ่วย มานน์ ประธานรัฐสภาพม่า ซึ่งในการเลือกตั้ง 8 พ.ย. แพ้การเลือกตั้ง ส.ส. ที่บ้านเกิดของเขาในอำเภอผิ่ว ภาคพะโค ให้กับผู้สมัครจากพรรคเอ็นแอลดี ได้หารือกับออง ซาน ซูจี แล้ว โดยทั้ง 2 ฝ่าย ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ ขณะที่ก่อนหน้านี้เต็ง เส่ง และ มิน อ่อง หล่าย ระบุว่าพวกเขาจะพบกับออง ซาน ซูจี ภายหลังจากที่ กกต.พม่า จัดการกระบวนการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรวมถึงกระบวนการวินิจฉัยผลการเลือกตั้งในเขตที่มีการร้องเรียนภายในวันที่ 23 ธันวาคม 2558
 
อนึ่ง การเจรจาเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเดือนเมษายนปีนี้ โดย ออง ซาน ซูจี เคยร่วมหารือ 4 ฝ่ายที่ทำเนียบประธานาธิบดีพม่า ผู้เข้าร่วมได้แก่ ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง, แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ออง ซาน ซูจี, ผู้บัญชาการกองทัพพม่า มิน อ่อง หล่าย และ ประธานสภาชนชาติ เอ หม่อง ซึ่งเป็นแกนนำพรรคชาติยะไข่ (ANP) โดยมีการหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญพม่าและการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามไม่มีผลความคืบหน้าสำคัญหลังการเจรจาดังกล่าว จนกระทั่งจะมีการเจรจาครั้งล่าสุดในวันพุธที่จะถึงนี้ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทูตสหรัฐแถลงเปิดรับไทย พร้อมตอบคำถาม TPP–เอ็นจีโอค้านดันในรัฐบาลทหาร

$
0
0

30 พ.ย.2558 นายกลิน ที เดวีส์ (Glyn T. Devies) เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเรื่องความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) โดยนายเดวีส์เริ่มต้นการพูดคุยว่าเขาขอพูดและตอบคำถามเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับทีพีพีและเรื่องการประชุมโลกร้อนเท่านั้น ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เพียง 3 วัน พุทธอิสระได้นำประชาชนออกมาประท้วงการให้สัมภาษณ์ของทูตสหรัฐที่ให้ความเห็นว่าไม่ควรมีใครติดคุกจากการแสดงความคิดเห็นโดยสันติ โดยผู้ประท้วงไม่พอใจต่อการวิพาษ์การใช้มาตรา 112 ของไทย

สำหรับเนื้อหาการแถลข่าวนั้น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาและ Kristina Kvein ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจระบุว่า  การประชุม รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ COP21 ที่ปารีสนั้นสหรัฐได้เป็นผู้นำในข้อตกลงความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์ การใช้พลังงานสะอาด โดยสิ่งที่สหรัฐจะทำคือการผลักดัน 1.การลดมลพิษ 2.วางรอบการทำงานระยะยาวในการสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศต่างๆ 3. ให้การสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ทั้งในทางการเงินและวิชาการ

ส่วนเรื่องทีพีพีนั้นก็เกี่ยวพันกับการยกระดับมาตรฐานต่างๆ ที่ว่ามาเช่นกัน โดยเดวีส์กล่าวว่า ทีพีพีเป็นความตกลงทางการค้าที่มีมาตรฐานสูงในทุกเรื่อง ไม่ว่ามาตราฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ความโปร่งใสในกฎระเบียบ การส่งเสริมอินเตอร์เน็ตเสรี การลดความยากจน โดยเป็นการค้าระหว่างประเทศที่มีมูลค่าสูงถึง 40% ของจีดีพีโลก และสหรัฐยินดีต้อนรับประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและเคยแสดงความสนใจเข้าร่วม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการผูกขาดสิทธิบัตรโดยเฉพาะกับการผลิตยาและนโยบายเปิดเสรีภจีเอ็มโอที่บรรจุอยู่ในทีพีพี เดวีส์กล่าวว่า ข้อตกลงนี้ไม่ใช่การหาสมดุลระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ แต่เป็นมันเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตยารายใหม่ด้วย ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างสูงในการผลิตยาชื่อสามัญหลายตัวและนับเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งในเรื่องนี้ ส่วนจีเอ็มโอนั้นอาจจะยังไม่มีคำตอบที่ดีให้กับไทยนัก

ด้าน Kvein ระบุว่า ขณะนี้มี 12 ประเทศที่กำลังเจรจาทีพีพีร่วมกัน โดยยังอยู่ระหว่างการต่อรองผลประโยชน์กันในทุกประเด็น ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกมาก ส่วนไทยนั้นยควรดูในรายละเอียดข้อตกลงที่ตอนนี้มีออกมาแล้วเป็นพันหน้าให้ละเอียดและให้ประชาชนไทยตัดสินใจร่วมกันด้วยว่าจะเข้าร่วมกับข้อตกลงนี้หรือไม่ ส่วนที่จะเป็นอุปสรรคในการเข้าร่วมทีพีพีของไทยอย่างสำคัญก็คือมาตรฐานแรงงานของไทยเองที่ยังไม่ถึงเกณฑ์

เดวีส์ ยืนยันว่า การแถลงครั้งนี้ไม่ได้ต้องการเร่งรัดให้ไทยเข้าร่วมแต่เป็นเพียงการมาตอบคำถามหากประเทศไทยสงสัยเกี่ยวกับทีพีพี เพราะแม้สหรัฐเองก็ยังต้องศึกษาเรื่องต่างๆ ที่มีรายละเอียดซับซ้อนและอยู่ระหว่างการเจรจาของ 12 ประเทศรวมถึงข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่มต่างๆ ภายในของสหรัฐ
ทูตสหรัฐกล่าวว่า หวังว่านี่จะเป็นเพียงโรดแม็พอันหนึ่งในการเดินทางต่อป แต่ยังไม่จำเป็นต้องต้องเจาะจงหรือเร่งรัด เพราะเป็นเพียงระยะเริ่มต้น เราเพียงแต่พูดถึงหลักโดยกว้างๆ ทั่วไป ส่วนการตัดสินใจเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีออกมาตอบโต้การแสดงความเห็นของเดวีส์เรื่อง 112 ว่าอาจกระทบกับเรื่องเศรษฐกิจ โดยคำถามแรกถามว่าคิดว่าจะกระทบการค้าหรือไม่ และคำถามที่สอง คิดว่าจะมีโอกาสที่จะสังคมไทยจะถกเถียงเรื่องนี้อย่างมีเหตุผลหรือไม่ เดวีส์กล่าวว่า ในคำถามที่สองนั้นเขาไม่มีคุณสมบัติที่จะตอบได้ เขาแค่หวังเกี่ยวกับการเปิดการสนทนาในหัวข้อต่างๆ ที่กระทบต่ออนาคตคนไทยทั้งหมดเพราะมันสำคัญในการลงหลักปักฐานของประชาธิปไตย และขออภัยที่ต้องขออนุญาตไม่ตอบคำถามนี้ ส่วนเรื่องการค้านั้นเขาเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์และอนาคตของประเทศ

นอกจากนี้ยังมีผู้ถามว่าทูตจะร่วมงาน Bike for Dad หรือไม่ เดวีส์กล่าวว่า คิดว่าจะร่วมงานนี้อย่างแน่นอน เพราะมีความเคารพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในบ้านก็มีพระบรมฉายาลักษณ์ที่พระองค์ฉายพระรูปร่วมกับ เอลวิส เพรสลีย์ แต่คงไม่ได้ร่วมในระยะทางหมด แต่อยู่ในส่วนเส้นทางของทูตซึ่งมีระยะทางสั้นกว่า

ด้านกรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากกลุ่มจับตาข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ วอทช์ ให้ความเห็นต่อการแถลงข่าวของทูตสหรัฐในครั้งนี้ว่า ทีพีพีเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯมากกว่าฝ่ายไทย สหรัฐจึงยอมวางหลักการส่งเสริมประชาธิปไตยที่พร่ำเทศนานานาชาติ เปิดอ้อมแขนรับรัฐบาลทหารของไทยที่มีข้อกล่าวหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้น ซึ่งก็ตรงกับการทำข้อมูลของ อย.ของไทยที่เคยประเมินผลกระทบจากแค่ทริปส์พลัสเรื่องยาประเด็นเดียว ผลประโยชน์จะตกอยู่กับบริษัทข้ามชาติทั้งหมด บนรายจ่ายของระบบสุขภาพของไทยและชีวิตคนไทย

กรรณิการ์แสดงความกังวลว่า ค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มไม่ต่ำกว่าปีละแสนล้าน ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์อีกไม่ต่ำกว่า 1.4 แสนล้าน ขณะที่ผลประโยชน์ที่สหรัฐฯมาล่อ เป็นแค่สิทธิพิเศษทางการค้าด้านภาษี ระยะสั้นๆ เท่านั้น

“การเข้า TPP มีผลผูกพันระยะยาวต่อประชาชนคนไทย เหตุใดจึงไม่รอรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยซึ่งน่าจะสะท้อนความต้องการของประชาชนได้มากกว่า ถ้าสหรัฐอ้างว่ากระบวนการกว่าจะเข้าได้ มันใช้เวลายาวนาน อีก 2 ปี TPP จึงจะเปิดรับสมาชิกใหม่ได้ ถึงตอนนั้นอาจจะมีการเลือกตั้งแล้ว ก็แสดงว่า รัฐบาลสหรัฐยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาลรัฐประหาร ยอมรับการปกครองของรัฐบาลทหารที่จะผูกมัดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตด้วยใช่หรือไม่”

กรรณิการณ์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รัฐบาล คสช. เล่นบทในเรื่องนี้ไปกันคนละทิศคนละทาง นายกรัฐมนตรีสั่งให้ทุกหน่วยราชการไปศึกษาข้อมูล text แล้วทำความเห็น ขณะที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประกาศว่าจะเข้า TPP ให้ได้ และไปขอร้องญี่ปุ่นให้ช่วย ทั้งที่ยังไม่มีการประชุมรวบรวมความเห็นหรือถกข้อมูลระหว่างหน่วยงานเลย

“มีข่าวลือหึ่งว่า ในการประชุม ครม.นัดพิเศษวันที่ 4 ธ.ค.นี้ จะดันเรื่อง TPP เต็มแรง ถ้าข่าวนี้จริง ก็ต้องถือว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีความสามารถในการเลียนแบบนักการเมืองที่ตัวเองเคยกร่นด่า เพราะเมื่อ 3 ปีที่แล้ว วันที่ 4 ธ.ค. ครม.ยิ่งลักษณ์ ก็เคยนำกรอบการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป เข้าอนุมัติทั้งที่ไม่เคยผ่านการรับฟังความคิดเห็น โดยอาศัยช่วงเวลาวันสำคัญในการดึงความสนใจของสาธารณชนออกไป” กรรณิการ์กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชามติเปิดผลโหวต ผู้ใช้เน็ต 92% ไม่เอา พ.ร.บ. กำลังพลสำรอง

$
0
0

เปิดผลโหวตประชามติ 92 % ไม่เห็นด้วยเรียก ‘กำลังพลสำรอง’ แนะควรเพิ่มประสิทธิภาพกองทัพด้วยเทคโนโลยี หวั่นเปิดช่องคอร์รัปชั่น

30 พ.ย. 2558 เว็บไซต์ประชามติ (www.prachamati.org) เปิดผลโหวต ในประเด็นเรื่อง การเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหาร เห็นด้วยหรือไม่ พบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 92 % ไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า กำลังพลปัจจุบันมีจำนวนมากอยู่แล้ว การเรียกกำลังพลจะส่งผลกระทบต่อนายจ้างที่ยังต้องจ่ายเงินเดือนโดยที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน มองว่าเป็นการเพิ่มภาระทางครอบครัวต่อคนทำงาน และอาจเปิดช่องให้มีการคอร์รัปชั่น บางความคิดเห็นแนะควรเพิ่มประสิทธิกองทัพด้วยเทคโนโลยีมากกว่าปริมาณกำลังพล หากต้องการกำลังพลสำรองจริงควรเป็นระบบสมัครใจ

หลัง จากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง ในเดือน ก.ค. 2558 เว็บไซต์ prachamati.org ได้ตั้งคำถามให้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นใน ประเด็น ‘การเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการ เห็นด้วยหรือไม่?’ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เห็นชอบให้ประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว และตามมาด้วยเสียงคัดค้านและการรณรงค์ต่อกฎหมายดังกล่าวจำนวนมากในโลกออนไลน์

ผลการออกเสียงผ่านเว็บไซต์ prachamati.org ตั้งแต่เปิดให้โหวตจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2558 รวมเวลากว่า 4 เดือน มีผู้ใช้เน็ตร่วมโหวตและแสดงความคิดเห็นจำนวน 1,724 คน ผลคือ มีผู้เห็นด้วย 8 % และ ไม่เห็นด้วย 92 % ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็นในเว็บไซต์ และเฟซบุ๊กประชามติ พบว่ามีผู้แสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มไปในทางไม่เห็นด้วยกับการเรียกกำลังพลสำรอง

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลไว้หลากหลาย เช่น ไม่เห็นด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีกำลังพลมากพออยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดสรรไม่ดี ด้วยเหตุที่พลทหารบางส่วนไปทำงานในบ้านของผู้บังคับบัญชา หรือมีชื่อฝึกอยู่แต่ไม่ได้มาฝึกจริง จึงต้องแก้ไขที่การจัดสรรกำลังพลให้มีประสิทธิภาพก่อน เพราะปริมาณที่มากก็ อาจไม่ช่วยอะไร และยังมีความเห็นว่าการให้ชายไทยที่อายุเกินสามสิบกลับมาฝึกอาจจะมีปัญหา เรื่องสภาพร่างกายไม่พร้อม

อีกประเด็นหนึ่ง คือ ประเทศไทยไม่มีแนวโน้มจะมีภัยสงคราม โดย มีผู้แสดงความคิดเห็นว่า ควรเอางบประมาณส่วนนี้ไปลงทุนกับการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศดีกว่า นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่างบประมาณกำลังพลสำรองจะเป็นการสิ้นเปลืองและเปิดช่องให้มีการคอร์รัปชั่น เช่น อาจมีการยอมจ่ายเงินแทนการไปฝึกจริง อย่างไรก็ตามฝ่ายที่เห็นด้วย มองว่า ระบบการเรียกำลังพลสำรองเป็นการเตรียมก่อนเกิดภัยสงคราม เพื่อฝึกฝนให้มีวินัย ฝึกใช้ยุทธโธปกรณ์ เพราะหากเกิดสงครามขึ้นจริงๆ จะไม่มีเวลามาทบทวนฝึกซ้อม

อีกหนึ่งเหตุผลหนึ่งที่มีคนไม่เห็นด้วย คือ จะส่งผลต่อการจ้างงาน อาชีพ รายได้ และภาระทางครอบครัว ของ คนที่จะเป็นกำลังพลสำรอง ความเห็นในมุมของผู้ประกอบการมองว่า อาจกระทบต่อบริษัทต่างๆ เพราะระหว่างการเรียกกำลังพลไปฝึกทางบริษัทยังคงต้องจ่ายค่าจ้าง ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ในมุมของผู้ประกอบอาชีพส่วนตัว หรืออาชีพอิสระก็จะได้รับผลกระทบเพราะต้องขาดรายได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ ภาระทางครอบครัว เพราะผู้ชายบางคนเป็นเสาหลักของครอบครัวในการหารายได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เสนอว่า ควรมีระบบชดใช้หนี้สินแทนคนที่ถูกเรียกไปฝึกกำลังพลสำรองด้วย 

นอกจากข้อเสนอใช้หนี้ให้กำลังพลสำรองแล้ว ชาวเน็ตยังแสดงความเห็นด้วย แต่เห็นว่าการรับกำลังพลสำรองควรเปิดรับสมัครอย่างเดียว โดยให้เงินเดือนและสวัสดิการให้ดี ซึ่ง หากเปิดรับสมัครจะช่วยให้ได้คนที่มีใจเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ควรให้เงินเดือนที่สูงและสวัสดิการที่ดี เพราะจะทำให้มีการแข่งขันและทำให้ได้คนเก่งเข้ามาเป็นทหาร อย่างไรก็ดีมีผู้เห็นแย้งว่าคนไทยยังคงเห็นแก่ตัวถ้าจะรอคนที่สมัครใจ คงรักตัวกลัวตายกันอยู่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่อยากเสียสละ ดูแลปกป้องประเทศ ซึ่งความเห็นทำนองนี้ก็ถูกแย้งกลับอีกเช่นกันว่า การรักชาติไม่จำเป็นต้องเป็นทหารก็ได้ การทำงานและเสียภาษีเพื่อไปใช้เป็นเงินเดือนทหารหรือไปชื้ออาวุธก็ก็เป็นการช่วยชาติเช่นกัน

ทั้งนี้ มีผู้แสดงความคิดเห็นด้วยว่า การที่ภาครัฐจะทำอะไรที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ควรยึดหลักการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของประชาชนด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images