Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

นักวิจัย CFR เผยรอยร้าวเศรษฐกิจไทยหลังรัฐประหารปี 2557

$
0
0

นักวิจัยอาวุโสจากองค์กรความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวิเคราะห์ว่าแม้ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติในหลายด้านมาตลอด 15 ปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังผยุงเศรษฐกิจอยู่ได้เว้นแต่หลังการรัฐประหารปี 2557 ที่สารเคลือบคุ้มกันเศรษฐกิจไทยเริ่มเกิดรอยร้าวจนทำให้เศรษฐกิจไทยทรุดหนัก


29 มี.ค. 2558 โจชัวร์ คูร์แลนท์ซิกค์ นักวิจัยอาวุโสจากองค์กรคณะมนตรีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CFR) เขียนบทความเกี่ยวกับความตกต่ำของเศรษฐกิจประเทศไทยหลังการรัฐประหาร 2557

โดยบทความระบุว่าถึงแม้ไทยจะเกิดวิกฤติทางการเมืองและภัยธรรมชาติในตลอดช่วง 15 ปีก่อนหน้านี้แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังคงประคับประคองตัวมาได้ซึ่งคูร์แลนท์ซิกค์เปรียบเทียบว่าราวกับมีสาร "เทฟลอน" คอยเคลื่อบไม่ให้เศรษฐกิจไทยเสื่อมลง แต่ดูเหมือนว่าหลังรัฐประหารปี 2557 สารเคลือบ "เทฟลอน" ที่คอยคุ้มกันเศรษฐกิจไทยมาตลอดก็ยังไม่สามารถป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีวิกฤติปัญหามากมายเช่น วิกฤติอุทกภัยในช่วงฤดูมรสุมปี 2554 ที่ทำให้อุตสาหกรรมทางตอนบนของกรุงเทพฯ เสียหายจำนวนมาก ในปี 2553 ก็เคยมีเหตุการณ์ทหารปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยมใจกลางย่านธุรกิจ แต่หลังจากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวก็ยังคงเดินทางเข้าประเทศไทย และอัตราการเติบโตของจีดีพีก็ยังคงเพิ่มขึ้น หลายคนมองว่าหลังรับประหารปี 2557 เศรษฐกิจไทยก็จะกลับมาฟื้นตัวได้เหมือนเดิมเช่นที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ แต่ในบทความในเว็บไซต์ควอทซ์ระบุว่า "ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถทนทานต่อความวุ่นวายทางการเมืองและเรียกนักท่องเที่ยวและนักลงทุนกลับมาได้นั้นเป็นช่วงเวลาที่จบสิ้นลงแล้ว"

คูร์แลนท์ซิกค์ระบุว่าความวุ่นวายทางการเมืองของไทยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเบี่ยงเบนความสนใจของนักการเมืองจากการดำเนินนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือระบบการศึกษาทำให้ไม่มีการพัฒนาเพื่อตอบรับกับเศรษฐกิจที่ประชาชนมีรายได้ระดับกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นเรียนเรื่องภาษาอังกฤษและเทคโนโลยีสารสนเทศประเทศไทยล้าหลังกว่าคู่แข่งอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างมาก

เมื่อไม่นานมานี้บทความในหนังสือพิมพ์ 'ทูเดย์' ของสิงคโปร์ระบุว่า "ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 จากทั้งหมด 60 อันดับในดัชนีความสามารถด้านภาษาอังกฤษซึ่งจัดว่าต่ำที่สุดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ถึงแม้ว่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศอื่นๆ จะมีทรัพยากรน้อยกว่าในการส่งเสริมด้านภาษาก็ตาม คูร์แลนท์ซิกค์ระบุอีกว่าภาษาอังกฤษจะมีความจำเป็นต่อการดึงดูดนักลงทุนในภูมิภาคและมีความสำคัญต่อแรงงานในหลายสายงานที่ต้องการมองหาโอกาสช่วงที่มีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

คูร์แลนท์ซิกค์ระบุว่าในขณะที่ประเทศไทยมีความดึงดูดนักลงทุนในแง่ทรัพยากรแต่ความวุ่นวายทางการเมืองก็ทำให้นักลงทุนถอยหนีไปในขณะที่ประเทศอย่างฟิลิปปินส์ พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีการส่งเสริมนโยบายดึงดูดนักลงทุนมากกว่า

คูร์แลนท์ซิกค์วิเคราะห์อีกว่าหลังจากเกิดรัฐประหารปี 2557 แล้วดูเหมือนทางการญึ่ปุ่นก็ยังคงให้การสนับสนุนไทยแต่เป็นไปเพราะต้องการขจัดอิทธิพลจากจีนเท่านั้น เช่นกรณีให้กู้ยืมสร้างทางรถไฟ แต่ภาคส่งนเอกชนของญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในไทยเกิดความไม่มั่นใจและเริ่มหันไปลงทุนในประเทศอื่นของภูมิภาคนี้ขณะที่นักลงทุนประเทศอื่นๆ ก็เริ่มระมัดระวังในการทำโครงการใหม่ๆ ในไทย

เมื่อไม่นานนี้สำนักข่าวบลูมเบิร์กวิเคราะห์ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงราวครึ่งหนึ่งของประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย นับตั้งแต่ปี 2553 ทางด้านธนาคารโลกประเมินว่าในปี 2558 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะอยู่ในระดับต่ำสุด และเมื่อไม่นานมานี้แม้แต่ธนาคารกลางของไทยเองก็ประเมินว่าอัตราการเติบโตจะลดลงในปี 2558


เรียบเรียงจาก

Thailand’s Teflon economy finally seems to be cracking, Quartz, Joshua Kurlantzick, 25-03-2015
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จุดสุดยอดแห่ง One Night Stand กับ Citizenfour และจุดยืน Open Relationship แบบวาสลาฟ ฮาเวล

$
0
0

(แหล่งภาพ http://www.bangkokpost.com/lifestyle/27925_editorialDetail_one-night-stand.html?reviewID=3297)

 “คุณคิดอยากขายตัวหรือเปล่า” เป็นคำถามที่คุณวิทุรา อัมระนันทน์ โยนเป็นก้อนหินถามทางไปยังกลุ่มผู้ชมที่นั่งอึ้งทึ่งเสียวกับ One Night Stand การแสดงเต้นเดี่ยวร่วมสมัยของเธอ ผู้เขียนเองอยากจะตอบเหลือเกินว่าคำถามของคุณวิทุรานั้นละมุนละม่อมไปหน่อย ด้วยผู้เขียนขายตัวมานานแล้ว แถมขายอย่างมีอารยะและจรรยาบรรณ คือไม่เคยคิดตังค์หรือถ้า (มโนว่า) ได้อะไรตอบแทนก็ได้แค่เศษถั่วเศษขี้เถ้า ที่พูดถึงนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเรือนกายที่พลีให้กับความรักและความปรารถนาตามประสาปุถุชนแต่หมายถึงเรื่องการตีพิมพ์งานทางวิชาการ ที่ใช่ว่าตีพิมพ์ในวารสารทุกฉบับและหนังสือทุกเล่มจะถือว่ามีค่าในสายตาของระบบพี่ชายใหญ่ที่ประเมินคุณค่านักวิชาการด้วยระบบฐานข้อมูลแห่งแดนลับแล คืนวันแห่งการโหมงาน แกลลอนกาแฟและกระทิงแดงที่ทำให้กระแสเลือดเป็นพิษไม่เคยแลกผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ นักเรียนของผู้เขียนเองก็เช่นกัน หลายคนตรากตรำกรำงาน เขียนบทความ เขียนบทวิจารณ์หนังสือลงวารสารที่มีคนอ่านเพียงหยิบมือเดียวเพียงเพื่อแลกเอาประโยคสองประโยคไปตัดแปะในซีวีประวัติการทำงานว่าฉันมีผลงานทางวิชาการนะ จ้างฉันสิ โอ หนุ่มสาวเอ๋ย ในวังวนมหาสมุทรแห่งความสิ้นหวัง ประภาคารแห่งภูมิปัญญาดับมืดปิดตาย ประโยคสองประโยคที่เขียนเป็นบรรณานุกรมในซีวีเป็นแค่เปลวแผ่นสาหร่ายที่ลอยมาแตะเล็บเท้าคนรุ่นใหม่ คุณคงจะไร้เดียงสามากหากเชื่อว่ามันจะเป็นห่วงยางช่วยชีวิต รู้มั้ยว่าวงวิชาการกำลังจมดิ่ง… สุดขั้วสุดติ่ง ขอแนะนำให้เปลี่ยนสายงานอาชีพ

“คุณคิดอยากขายตัวหรือเปล่า ถ้าอยาก คุณจะตีราคาตัวเองเท่าไหร่” หากคุณวิทุราลองโยนหินก้อนนี้ถามเส้นทางการใช้เหตุผลของประชากรในรัฐเผด็จการที่ไม่ใกล้ไม่ไกล ผู้เขียนเชื่อว่าคำตอบที่ได้นั้นไม่ต่างอะไรกับการขายตัวทางวิชาการมากนัก เราขายตัวกันทุกคน หลายคนขายไปตั้งแต่ออกมาเดิน ขึ้นเวที สวมเสื้อสี เป่า เปล่งเสียงเรียกร้องให้ปิดตายฝาหีบเลือกตั้ง หลายคนขายตัวไปตั้งแต่ถอดใจเลิกฟูมฟายและหันมารับความสุขที่มโนว่ากำลังถูกส่งคืน หลับหูหลับตาเชื่อสัญญาที่ขอเวลาไม่นาน ไม่นำพาต่อ “เดฌา-วูว์” แห่งการแช่แข็งประเทศและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่นำพาต่อคลื่นลมแห่งความไม่เป็นธรรม คำถามของคุณวิทุราสำหรับใครหลายคนที่ขายตัวไปนานจนลืมและมือเริ่มถือสากประณามการชายตัว คงไม่ใช่ก้อนหินถามทางหากเป็นเหมือนตัวอับเฉาในสำเภาทอง(ชุบ)ที่ “ล่องลิ่วไปตามลม สรรพสัตว์ก็จะชื่นชมโสมนัส” ใช่ โสมนัสกับการชักธง “มโนหมู่” ที่หลายคนโทมนัส สำเภาทองชุบแห่งความสุขอันไม่นำพาต่อชะตากรรมของลูกเรือขายแรงงาน ไม่นำพาต่อความทุกข์ระทมของบิดาที่สูญเสียบุตรแล้วยังต้องสูญเสียเสรีภาพ ทานใดอันสูงสุดในโลกนี้ก็กู้สิ่งที่เสียไปไม่ได้ ทานนี้มิเพียงไร้ค่าตอบแทน แต่ยังแลกมาด้วยการถูกข่มขู่ขืนใจอีกคำรบหนึ่ง “น้ำพระเนตรเธอไหลหยาดหยดเป็นสายเลือด ไม่เว้นวายหายเหือดซึ่งโศกา จึงเอาพระปัญญาวินิจฉัยเข้ามาข่มโศก ว่าบุตรวิโยค” เราได้แต่ทอดอาลัย ในขณะที่หลายคนอยากจะโยนตัวอับเฉาที่คอยถ่วงสำเภาทองชุบนี้ทิ้งกลางมหาสมุทรไปให้สิ้น

เราตีราคาตัวเองเท่าไหร่ คำตอบคือ… น้อยมากถึงศูนย์ ที่แย่คือหลายคนไม่ปรารถนาแม้แต่จะคิดและพูดถึงคำถามนี้ ความสำส่อนทางอุดมการณ์ทางการเมือง เช่นเดียวกับสิ่งที่สังคมเรียกว่า “สำส่อนทางเพศ” แท้จริงไม่ควรเป็นเรื่องน่าอาย การขายบริการทางเพศไม่ใช่เรื่องแย่ตราบใดที่มีกฏหมายคุ้มครองและมาตรฐานรับรอง เพื่อสุขอนามันและความปลอดภัย การขายตัวทางการเมืองไม่ใช่เรื่องแย่ตราบใดที่เราตั้งคำถามและยอมรับทางเลือกของเราพร้อมๆ กับยอมรับทางเลือกที่แตกต่างของผู้ที่คิดต่าง ไม่ใช่อยู่ด้วยความเกลียดความกลัวจนไม่อยากเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ติดโรคเริมเรื้อรังมาก็ปฏิเสธแถมประณามคนที่ไม่ยอมร่วมเพศร่วมอุดมการณ์สุขสุดยอดไปด้วยกัน ตรงนี้แหละคือปัญหา

“คุณคิดอยากขายตัวหรือเปล่า” ในหนังสารคดี Citizenfour หลายคนไม่อยากขายตัว เราเข้าใจไปว่าในมหาสมุทรแห่งความวุ่นวายนี้เรายังคงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีเจตจำนงเสรี แต่จริงๆ ข้อมูลส่วนตัวถูกขายหรือส่งมอบแบบฟรีๆ เน้นๆ ให้รัฐเผด็จการแบล็คเมล์โดยที่เราไม่รู้ตัวและไม่สมยอม เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เป็นเพียงทุ่นหนึ่ง หรือทุ่นดุ้นกระแทกที่ทำให้ทองชุบที่ฉาบสำเภารัฐเผด็จการร่อนกร่อนไปได้สักนิ้วสองนิ้ว ปลาเทศบาลว่ายเป็นเกลียวขึ้นมาดูดกลืนเปลวทองจนหมดไร้ร่องรอยความผิด หนังสารคดีชวนให้ประชากรโลกรู้สึกวิตกจริต ไม่อยากพิมพ์เสิร์ชกูเกิลหาคลิปโป๊ ไม่อยากคิดว่าเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องสอดแนมอันเอกของพี่ชายใหญ่ที่เฝ้า(ถ้ำ)มองเราอยู่ ไม่อยากคิดว่ามีคนคอยจ้องจับผิดหรือลักลอบเก็บข้อมูลส่วนตัวที่เราขายให้ฟรีเพียงเชื่อมต่อเข้าเพจต่างๆ ผ่านโปรไฟล์เฟซบุ๊กบ้าง เช็คอินผ่าน Swarm หรือออร์จี้ทางสไกป์กับคนที่เราสมควรออร์จี้ด้วยหรือกับคนที่อาจทำให้ชีวิตเราลำบากบ้าง ความจริงในโลกปัจจุบันที่ทำให้มนุษย์ใต้ดินในงานเขียนของดอสโตเยฟสกีที่วิตกจริตอย่างสุดขั้วอยู่แล้ว (ผู้เขียนกำลังพูดถึงตัวละครที่มุดลงไปอยู่ใต้ดินสมชื่อเพราะเกลียดและกลัวความโปร่งแสงแห่งโลกบนดิน รังเกียจสถาปัตยกรรมที่เน้นการเฝ้ามองควบคุมทุกความเคลื่อนไหวอย่าง Crystal Palace หรือปราสาทเรือนแก้วในประเทศอังกฤษ สุดยอดนวัตกรรมแห่งความเป็นสมัยใหม่ที่มาพร้อมการสละความเป็นส่วนตัว) วิตกจริตหนักยิ่งขึ้นจนต้องรีบมุดหัวลงไปอยู่อเวจี หรือชั้นที่อยู่ใต้ของใต้ของใต้ดินด้วยความขยาด เชื่อว่าหลายคนกำลังรู้สึกวิตกจริต หูแว่ว ได้ยินเสียงในหัวที่คอยบอกให้เซนเซอร์ตัวเอง คอยห้ามใจไม่ให้เขียนอะไรในที่สาธารณะที่จะทำให้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานเอามาใช้เป็นข้อตั้งแง่สร้างกำแพงอคติ

 

(แหล่งภาพ http://www.london-architecture.info/LO-009.htm)


หลายคนอาจรู้สึกว่าตนตาพร่าตาฝาด ระหว่างพิมพ์ข้อความทางโซเชียลมีเดียและอีเมล์พลันเห็นหัวลูกศรเม้าส์ขยับได้เอง ควบคุมด้วยมือที่มองไม่เห็น มือของสิ่งที่มีหรือไม่มีชีวิตที่แย่ยิ่งกว่าพี่ชายใหญ่เพราะเป็นสสารนิรนามที่เรามโนว่าคอยนั่งอ่านนั่งเช็คข้อความของเรา จับตามองนิ้วมือที่วางอยู่คาแป้นพร้อมวิจารณ์เรื่องความดำของขี้เล็บ ขนาดความสั้นยาว หนาบาง… ของพิซซ่าที่อาจเผลอกดสั่งออนไลน์ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ โรควิตกจริตนั้นเป็นของคู่กันกับรัฐเผด็จการ ไม่ต้องรู้จักหรือนั่งดูหนังเชโกสโลวะเกียที่ถ่ายทำในช่วงทศวรรษ 70 แต่ไม่ได้ฉายจนถึงปี 1989 ชื่อ “อูโค” (Ucho) ที่แปลว่า “หู” ก็สามารถเดาได้ว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับเครื่องดักฟังอันเป็นเครื่องมือควบคุมหลักแห่งรัฐเผด็จการก่อนอินเตอร์เน็ตและเกี่ยวกับความวิตกจริตสุดขั้วที่ระบอบเบ็ดเสร็จสังคมนิยมโซเวียตได้บ่มเพาะเป็นไวรัสวายร้ายทำลายชีวิตหลายคนที่แม้ไม่ได้ถูกดักฟังจริงๆ แต่หลอนเอง มโนเอง จนแทบเสียสติ


                                          (แหล่งภาพ http://www.hunter.cuny.edu/classics/russian/courses-1/td)


(แหล่งข้อมูลhttp://www.mzv.cz/washington/en/culture_events/news/v4_film_series_runs_april_4_25.html)


“คุณชอบกลืน (น้ำว่าว) หรือไม่” เป็นคำถามเด็ดอีกคำถามหนึ่งที่คุณวิทุราโยนถามผู้ชมกุลสตรีศรีสยามและสตรีชาวต่างประเทศ ใจจริงผู้เขียนอยากให้ถามผู้ชมบุรุษด้วย แต่ผู้เขียนได้คืบแล้วก็คงไม่หวังจะเอาศอก ไม่เพียงเพราะการใช้ศอกนั้นต้องเจ็บและแสบน่าดู แต่แค่ได้เห็นผู้ชมพูดเรื่องเพศอันเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมไทยอันศิวิไลซ์ สังคมคนดีไม่ปี้ในที่แจ้ง (ไม่แย้งว่าเย็ดในที่ลับ) ก็ถือเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์แล้ว ผู้เขียนรู้สึกว่า One Night Stand มีความเป็นไทยสูงมาก ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมจึงรู้สึกอย่างนั้น แล้วทำไมสิ่งที่กลืนลงคอระหว่างชมการแสดงนั้นขมและขื่นเหลือเกิน เป็นเพราะสังคมเราไม่มีการนั่งจับเข่าคุยกันเรื่องเพศในที่แจ้งอย่างเปิดเผย หรือเพราะการแสดงอันน่าอัศจรรย์ใจนี้ยังไม่ได้แตะประเด็นเรื่องเพศและความต้องการของ LGBT มากเท่าที่ควร หรือทุกข้อที่กล่าวมา ก็เป็นได้ พนันได้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ชอบกลืน แต่ใน Citizenfour เราทุกคนได้ถูกบังคับฝืนกลืนน้ำว่าวจากปลายกระบอกระบอบเผด็จการที่บรรลุจุดสุดยอดแห่งการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งสิ้น คำถามของคุณวิทุราทำให้เห็นว่ามหาสมุทรที่สำเภาทองชุบแล่นไปตามบัญชาของคลื่นลมที่มองไม่เห็นนั้น เป็นมหาสมุทรของน้ำกามอันเป็นผลของความ(เบ็ด)เสร็จของอำนาจที่สอดเสียบเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต   

ในโลกแห่งโรควิตกจริต เราจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร ข้อมูลส่วนตัว คนที่เรารัก ล้วนเป็นเบี้ยประกันต่อรอง รอวันมือที่มองไม่เห็นนำมาใช้สำเร็จความใคร่ทางอำนาจ เรารู้สึกไร้ค่า เรารู้สึกกลัว กลัวโดนข่มขืน กลัวการมองคนรักถูกกระทำชำเราต่อหน้าต่อตา โรควิตกจริตและการหาหนทางถอนพิษวิตกจริตทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังจะเห็นในจดหมายเปิดผนึกที่วาสลาฟ ฮาเวล (สมัยที่ยังไม่เป็นประธานาธิบดีคนแรกแห่งเชโกสโลวะเกียหลังกำแพงเบอร์ลินและระบอบคอมมิวนิสต์พังทลาย) เขียนถึง กุสตาฟ ฮุซาก ซึ่งในขณะนั้น—เดือนเมษายน ปี 1975—ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเชโกสโลวะเกีย ช่วงเวลาที่ฮุซากเป็นผู้นำเชโกสโลวะเกียนั้นเรียกว่า “ยุคแห่งการทำให้เป็นปกติ” หรือ “ยุคแห่งการกลับคืนสู่ปกติ” (Normalisation) คำว่า “ปกติ” ในที่นี้หมายถึงการรับคำสั่งจากมอสโก ปวารณาตัวเป็นรัฐในบังคับโซเวียตอย่างเต็มดุ้นเต็มด้าม ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่มุ่งดับฝันและขยี้หวังของผู้ที่ปรารถนาจะปฏิรูประบอบสังคมนิยมในเชโกสโลวะเกียให้เป็น “ประชาธิปไตย” มากกว่าเดิม ทั้งหมดนี้มีอเล็กซานเดอร์ ดุบเช็ก ผู้ที่เชื่อมั่นในระบอบสังคมนิยมอย่างสุดจิตสุดใจเป็นผู้ผลักดัน ดุบเช็ก—เจ้าของสโลแกน “สังคมนิยมใบหน้ามนุษย์” เป็นผู้รณรงค์ให้พรรคสังคมนิยมแห่งเชโกสโลวะเกียปกครองตัวเองแทนที่จะโค้งคำนับรับคำสั่งจากมอสโกตลอดเวลา ช่วงเวลาแห่งความหวังนี้เรียกว่า “ฤดูใบไม้ผลิแห่งปราก” (Prague Spring) มีการลดละเลิกการเซนเซอร์งานศิลปะ นับเป็นยุคทองที่ไม่ใช่ทองชุบ ทว่ายุคทองแท้มักเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ อย่างกรณีใบไม้ผลิแห่งปรากนี้กินเวลาระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม ในปี 1968 เท่านั้น วันที่ 21 สิงหาคมประเทศในกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอพากันมาเยี่ยมปรากพร้อมรถถังและกำลังทหาร เป็นอันสิ้นสุดยุควิกลจริต ต่อมาการเซนเซอร์โหดกว่าเดิม ศิลปินและนักวิชาการถูกปิดปากหรือโยนเข้าคุกเพื่อให้สังคมเป็นปกติสุขสไตล์สตาลินอีกครั้งหนึ่ง เล่าย้อนหลังมานาน สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะกล่าวถึงคือจุดยืนเรื่อง open relationship ของวาสลาฟ ฮาเวล ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักเขียนที่ถูกขึ้นบัญชีดำตั้งแต่ปี 1969 งานเขียนถูกแบน ตัวเขาและภรรยาถูกจับตามอง จดหมายฉบับนี้เริ่มด้วยคำถามที่ว่าอะไรคือความหมายของคำว่า “ปกติ” ของฮุซาก แม้รัฐจะใช้การที่ผู้คนไปทำงาน หาเงินซื้อรถผ่อนบ้าน มีชีวิตดูจะปกติสุขเป็นดัชนีชี้วัดความสุขและความพอใจของประชาชน ฮาเวลกล่าวว่าจะไม่ให้ทุกอย่างดูจะเป็นปกติสุขได้อย่างไรในเมื่อสังคมใต้รัฐเผด็จการเป็นสังคมที่ไม่ได้ใส่ใจความรู้สึกอันแท้จริงของประชาชน มัวแต่ไปให้ความสำคัญเรื่องวัตถุสิ่งของและการแสดงออกที่เป็นแค่เปลือกนอก หากฮาเวลนั่งดู One Night Stand ด้วยคนก็คงจะอธิบายด้วยภาษาทำนองนี้ “ถ้ากะเทาะเปลือกของการใส่เสื้อสีต่างๆ เพื่อแสดงความจงรักภักดี มองเนื้อนมไข่ใต้เสื้อชั้นใน รัฐเป็นดั่งคู่นอนที่ไร้รัก ไม่แคร์หรอกว่าคุณจะถึงจุดสุดยอดหรือไม่” แล้วอะไรกันเล่าที่ทำให้ประชาชนพร้อมใจกันแสดงความเป็น “ปกติ” หรือ “เฟคว่าถึง” ในความหมายของรัฐ คำตอบของฮาเวลคือ ความกลัว ไม่ใช่กลัวตัวสั่น แต่เป็นความกลัวที่แฝงอยู่ในใจ:

ประชาชนถูกผลักดันด้วยความกลัว กลัวว่าจะถูกไล่ออกจากงาน ครูบาอาจารย์สอนสิ่งที่ตนไม่เชื่อจริงๆ เพียงเพราะหวั่นเกรงว่าตนจะไม่มีอนาคต นักเรียนก็ว่าไปตามครูด้วยกลัวว่าจะไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนต่อ ชายหนุ่มเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์เยาวชนสังคมนิยมและร่วมทำกิจกรรมทุกกิจกรรมก็เพราะความจำเป็น ภายใต้ระบบการให้แต้มและคะแนนต่างๆ คนเป็นพ่อย่อมรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงว่าลูกชายและลูกสาวของเขาจะได้รับแต้มคะแนนที่ไม่เพียงพอต่อการสมัครเข้าโรงเรียน จึงต้อง “อาสา” ทำทุกอย่างที่รัฐต้องการ  ความกลัวผลที่ตามมาของการขัดขืนอำนาจรัฐได้ผลักดันให้ผู้คนออกจากบ้านไปยังคูหาเลือกตั้ง ลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัครที่ระบอบได้คัดสรรมาแล้ว และความกลัวนี้ได้ผลักดันให้ประชาชนหลับหูหลับตามองพิธีกรรมอันน่าขันนี้ในนามของการเลือกตั้งอันชอบธรรม เพราะกังวลเรื่องการทำมาหากิน ตำแหน่งหน้าที่การงาน และอนาคตของตน ประชาชนจำต้องไปร่วมประชุม ลงมติในทุกเรื่องที่จำเป็น หรือไม่ก็ปิดปากเงียบเฉยไป

(จาก “เรียน ดร. ฮุซาก” “Dear Dr Husák” โดยวาสลาฟ ฮาเวล)

วาสลาฟ ฮาเวล เมื่อปี 1975

(แหล่งภาพ http://salon.eu.sk/en/5435/english-visegrad-mirror-v%C3%A1clav-havel-at-dusk/)

ฮาเวลมองว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ หากวิปริตและวิกลจริต หนทางที่จะแก้ปัญหานี้  (เห็นได้จากประกาศกฎบัตร77 ซึ่งเกิดขึ้นสองปีภายหลังจดหมายเปิดผนึกได้รับตีพิมพ์) คือการสู้ความกลัวด้วยความไม่กลัว สู้ความ “ปกติ” แห่งโรควิตกจริต ด้วยความ “ไม่ปกติ” แห่งใจที่พร้อมจะวิกลจริต คือใจที่พร้อมเผชิญความจริงอย่างกล้าหาญ Open Relationship ในความหมายความสัมพันธ์ปลายเปิดระหว่างประชาชนกับรัฐในลักษณะนี้จะทำให้รัฐถูกตอนอำนาจ ไม่สามารถขู่เข็ญและแบล็คเมล์ประชาชนได้ ดังนั้นผู้เขียนต้องการถามคำถามปลายเปิดบ้าง ฤา “วิกลจริต” จะเป็นชื่อยาถอนพิษแห่งโรควิตกจริตในรัฐเผด็จการ แทนที่จะกลัวว่าจะถูกล้วงความลับ ก็ล้วงควักชีวิตในที่แจ้งให้ดูให้เห็นกันไปเลย เฟซบุ๊กเป็นได้ทั้งกรงขังและพื้นที่แห่งเสรีภาพในฝันของแดร์ริดาซึ่งเห็นว่าความหมายนั้นขึ้นอยู่กับการตีความ แม้แต่คำหรือตัวบทที่ดูเหมือนจะตายตัวถาวร status เฟซบุ๊ก ที่ดูสามัญตายตัวก็ยังสามารถเป็นฟาร์มากอนคือทั้ง ยาพิษ ยาถอนพิษ ยาเสน่ห์ ความจริง และความเท็จในเวลาเดียวกัน แฮชแทค#ชีวิตและความรักก็เป็นเช่นนั้น หากเราจะต้องเสียตัวให้กับรัฐ หรือขายตัวแบบมีอารยะและจรรยาบรรณ คือให้ฟรีๆ อยู่แล้ว ก็ทำให้มันเต็มที่ไปเลย กลืนความขมขื่นให้หมดก่อนถ่มมันออกมา ขจัดความกลัวไปให้สิ้น ใช้โซเชียลมีเดียเป็น sex toy ของเล่นที่มิเพียงสำเร็จความใคร่ของระบอบ(เบ็ด)เสร็จนิยม แต่สำเร็จความใคร่ของเราในหนทางที่จะทำให้พอจะรับมือกับโลกที่เสรีภาพกลายเป็นเรื่องผิดปกติและประชาธิปไตยกลายเป็นเรื่องวิกลจริตไป ใส่ข้อมูลส่วนตัวในเฟซบุ๊กไปให้หมด คุณชอบกลืน ชอบขายตัว ขายในราคาใด กิน ปี้ ที่ไหนอย่างไร ท่าไหน บางทีความสัมพันธ์ปลายเปิด ความโปร่งใสที่เปิดให้ตรวจสอบอย่างโจ่งแจ้งอาจทำให้รัฐเผด็จการเงิบ ตกม้าตาย แพ้เกมตัวเอง tabula rasa กระดานขาวที่โปร่งใสเป็นแค่กระดานขาวที่โปร่งใส รัฐไม่รู้อะไรเกินเลยไปกว่าที่เราเปิดเผย และหากรู้อะไรมากกว่านั้นนิดนึง อย่างมากอาจมีไฟล์ภาพโป๊ เสียงเซ็กส์โฟน ข้อความอันตรายของพวกเราไว้เป็นเบี้ยประกัน แต่หากเราพร้อมใจกันถึงจุดสุดยอดด้วยเจตจำนงเสรีของการไม่แคร์และพร้อมใจกันอยู่ในความสัมพันธ์แบบเปิดกับรัฐ กับมวล(ไม่มหา)ประชาชน เปิดผ้าเลิกเสื้อให้เห็นตับไตเครื่องในไปเลย เราพูดได้หรือไม่ว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติธรรมชาติของมนุษย์

คงต้องมานั่งค้นใจและถามตัวเองว่าเรากลัวอะไร มีอะไรที่เราจำต้องกลัว

คงต้องมาวัดใจกันว่านี่สมควรถึงแก่เวลาแห่งเซ็กส์หมู่และการคุยกันเรื่องเซ็กส์หมู่สไตล์วิกลจริตในโลกเผด็จการที่เน้นความปกติและสุขสุดยอดแล้วหรือยัง… เพราะอย่างที่ One Night Stand ได้พยายามย้ำแกมปลอบประโลมสังคมไทย:

ความเงี่ยนและการเปิดเผยเรื่องความเงี่ยนของเราทุกคนนั้นเป็นเรื่องที่… โอเคเสมอ

 

(แหล่งภาพ http://ink361.com/app/users/ig-449798506/cheryllyone/photos)

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขึ้นภาษี: สะท้อนความหนักหน่วงของปัญหาเศรษฐกิจ

$
0
0


 

การเสนอให้ขึ้นภาษี ถ้าเป็นในอเมริกาย่อมเป็นเรื่องใหญ่และย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามสิทธิเสรีภาพและวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบฉบับอเมริกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าภาษีที่จะจัดเก็บในอัตราที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นภาษีประเภทไหน มีความสำคัญหรือมีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่อย่างไร ภาษีบางประเภทอาจไม่มีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่มากนัก เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินที่มีลักษณะการซื้อขายเก็งกำไร เป็นต้นนั้น อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือมีผู้แสดงความเห็นคัดค้านน้อยกว่าการขึ้นภาษีประเภทอื่น   เนื่องจากความสมเหตุสมผลของการจัดเก็บภาษีในอันที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยกับคนจน แต่ถึงกระนั้นแม้คนส่วนใหญ่จะยอมรับความสมเหตุสมผลของการขึ้นภาษีกับคนรวยดังกล่าวก็ตาม แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมทุนเสรีอเมริกัน อย่างเช่น ทีปาร์ตี้ และบางกลุ่มในพรรครีพับลิกัน ก็ยังออกโรงคัดค้าน เพียงแต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้ต่อประชามติ

ในอเมริกามีภาษีอยู่หลายประเภท แต่หากดูจากลักษณะการปกครองส่วนท้องถิ่นกับการปกครองส่วนกลางแล้ว การจัดเก็บภาษีในอเมริกาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาษีท้องถิ่น (local tax) กับภาษีส่วนกลาง (federal tax) แน่นอนว่าทั้งไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลท้องถิ่นใดก็ตามพลเมืองทุกคนมีหน้าที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลกลางเท่ากัน ซึ่งก็คือภาษีเงินได้ (income tax)  ส่วนภาษีท้องถิ่น บางรัฐบาลท้องถิ่น เช่น ระดับรัฐ (state) หรือเมือง (city) อาจมีการเก็บภาษีไม่เหมือนกัน ขึ้นกับนโยบายของแต่ละรัฐบาลท้องถิ่นนั้น เช่น รัฐบาลของรัฐเนวาดาเก็บภาษีจากการขายสินค้า (state sales tax) ในอัตรา 6.85% ขณะที่รัฐบาลโอเรกอนไม่มีการเก็บภาษีประเภทนี้ เป็นต้น นอกจากนี้อเมริกาใช้ระบบที่เรียกว่า “ความยุติธรรมทางภาษี” เพื่อบรรเทาเบาบางความได้เปรียบทางสังคมของคนมีรายได้สูง ด้วยการเก็บภาษีมรดก  ภาษีซื้อขายที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อการเก็งกำไร (ตามระยะเวลาการถือครองสั้นยาว) ในอัตราที่สูง โดยอัตราการจัดเก็บขึ้นกับจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์ที่มีการทำธุรกรรม

ปกติแล้วไม่ว่านักการเมืองอเมริกันหรือประเทศใดก็ตามมักไม่ค่อยกล้าเสี่ยงออกนโยบายหรือแผนขึ้นภาษีกับประชาชน โดยเฉพาะภาษีที่กระทบต่อคนจำนวนมาก เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคลภาษีบ้านหรือที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำจนถึงราคาปานกลาง (พิจารณาว่าควรเก็บหรือไม่และอัตราเท่าใดจากฐานค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ)  เพราะกลัวผลกระทบทางการเมือง คือ กลัวว่าจะสูญเสียคะแนนความนิยมจากประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง หากเป็นไปได้บรรดานักการเมืองที่มาจากประชาชนจะเลือกหนทางอื่นเพื่อหารายได้เข้ารัฐมากกว่าการเลือกแนวทางการขึ้นภาษี ยกเว้นประเทศที่มีผู้นำเผด็จการ หรือประเทศมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในขั้นวิกฤต ขั้นข้าวยากหมากแพง ไม่มีทางเลือก แต่ทางเลือกในการขึ้นภาษีที่กระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ ก็จะนำประเทศสู่หายนะทางด้านเศรษฐกิจในที่สุด ดังนั้น ประเทศส่วนใหญ่ ในยามที่เศรษฐกิจย่ำแย่ กลับต้องใช้วิธีลดภาษีลงด้วยซ้ำ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะเมื่อประชาชนเดือดร้อนปัญหาต่างๆ ย่อมตามมามากมาย

โดยรวมแล้วนโยบายด้านภาษีของพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต ต่างกันตรงที่พรรครีพับลิกันต้องการย้อนไปสู่เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีแบบเดิม อ้างว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน รีพับลิกันมองว่าสวัสดิการของรัฐคือตัวบั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะสร้างนิสัยขี้เกียจ  พรรคนี้จึงไม่ต้องการให้มีการเก็บภาษีหลายประเภทเกินไป ใครทำงานมากสมควรได้ค่าตอบแทนมาก รีพับลิกันยังได้เสนอให้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้ 2 ประเภทลงอีกด้วย ขณะที่พรรคเดโมแครตมองว่าหากไม่มีเครื่องมือด้านภาษี จะทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างออกมากขึ้น เดโมแครตต้องการให้รัฐมีสวัสดิการในระดับที่เหมาะสม  และมองว่าคนที่มีรายได้น้อยสมควรได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเพื่อให้การดำเนินชีวิตของพวกเขาไม่อัตคัตเกินไป
ส่วนการจัดเก็บภาษีของประเทศรัฐสวัสดิการที่คิดจากฐานรายได้ส่วนบุคคลของพลเมืองในประเทศนั้นเป็นคนละส่วนกับการขึ้นอัตราเก็บภาษีของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหารายได้ของรัฐที่ไม่เข้าเป้า รัฐสวัสดิการ เช่น ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียหรือแม้แต่แคนาดา จัดเก็บภาษีสวัสดิการ (social tax) ในอัตราที่สูงเพื่อสวัสดิการของพลเมืองซึ่งเป็นการคุ้มครองประชาชนในด้านการศึกษา และสาธารณสุขทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ภาษีของรัฐสวัสดิการไม่ได้เกิดจากรัฐบาลขาดเงินรายได้แต่อย่างใด

สำหรับนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย การขึ้นภาษีที่ส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง จึงเป็นสิ่งที่น่าเกลียด ในอเมริกาสาเหตุส่วนหนึ่งแห่งชัยชนะของบารัก โอบามา แห่งพรรคเดโมแครต  ก็คือนโยบายการขึ้นภาษีเอากับผู้มีรายได้สูงหรือกลุ่มอีลิทชน (elite) ไม่ว่าโอบามาจะทำสำเร็จหรือไม่ แต่คนส่วนใหญ่พอใจนโยบายที่ว่านี้   หากทุรนโยบายของรัฐบาลบางประเทศที่เป็นเผด็จการกลับกระทำในทางตรงกันข้าม คือ ไม่กล้าดำเนินการเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินเพื่อการเก็งกำไร เช่น ที่ดินที่ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า เป็นต้น

การหาทางออกจากปัญหาเศรษฐกิจ มิใช่กระทำโดยขึ้นภาษีเพียงอย่างเดียว แต่มีวิธีการอื่นๆ อีก ได้แก่  การอาศัยวิธีการทางด้านการเงิน เช่น การใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นแรงจูงใจในการกระต้นเศรษฐกิจ เป็นต้น   การอาศัยวิธีการทางด้านการคลัง เช่น การใช้นโยบายปรับลดอัตราภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจการซื้อการขายให้มีมากขึ้น ทำให้เงินทุนมีการหมุนเวียน เกิดสภาพคล่องในวงจรเศรษฐกิจ เป็นต้น  การอาศัยมาตรการอุดหนุนของรัฐนอกเหนือไปจากวิธีการทางด้านการเงินการคลัง เช่น การค้ำประกันหรือรับจำนำสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งมีผลทำให้วงจรเศรษฐกิจหรือเงินทุนถูกขับเคลื่อนไหลเวียนดียิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากการปฏิบัติเชิงนโยบายของตัวองค์กรบริหารสำคัญคือรัฐบาล ที่จะต้องควบคุมและทางปรับลดค่าใช้จ่ายลงภาครัฐลง รายจ่ายไหนไม่จำเป็นก็ไม่ต้องจ่าย เช่น รายจ่ายยุทโธปกรณ์ด้านทหาร ซึ่งรายจ่ายประเภทนี้แทบทุกประเทศพอเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจต้องมีการพิจารณาปรับลดก่อนรายจ่ายประเภทอื่นๆ แม้กระทั่งรัฐบาลอเมริกันเองก็มีการปรับลดรายจ่ายด้านกลาโหมลง ช่วงที่บารัก โอบามา เข้ารับตำแหน่งใหม่สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในช่วงวิกฤตซับไพรม์ รัฐบาลโอบามาเสนอแผนระยะยาวในการปรับลดงบกลาโหม จากปี 2010 ที่งบกลาโหมอยู่ที่ 722.1 พันล้านเหรียญ หรือ 4.9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เป็นลดลงเหลือ 698.2 พันล้านเหรียญ หรือ 3.6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2015 

นอกจากนี้สิ่งที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่ง คือ มาตรการด้านการคลังด้วยการขึ้นภาษีหากขึ้นซี้ซั้ว ดีไม่ดีก็ขัดกับหลักการเปิดเสรีเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะภาษีจากสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้าซึ่งนับวันกำแพงภาษีจะถูกทลายลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น การแนวทางการแสวงหารายได้จากการขึ้นภาษีทั่วไปคือภาษีที่เก็บจากประชาชนและภาคธุรกิจทั่วไป ยกเว้นภาษีเงินได้ 2 ประเภทแล้วจึงหดสั้นลงทุกที รัฐบาลที่ดีจึงต้องวางแผนหาทางหารายได้เข้ารัฐทางอื่น เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุน มิใช่ มุ่งไปที่การเก็บภาษีอันเป็นแนวทางวิบัติในโลกสมัยใหม่

หากเป็นในช่วงขาลงของเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ ผลกระทบของการขึ้นภาษีที่จะต้องสำเหนียกอย่างยิ่งก็คือ มันอาจนำไปสู่ความย่อยยับทางด้านเศรษฐกิจ นั่นคือ การล้มเป็นลูกโซ่ของระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ อาจเป็นเช่นเดียวกับเมื่อคราวที่เคยเกิดกับประเทศไทยสมัยต้มยำกุ้งปี 2540 ก็เป็นได้ หากรัฐไม่สามารถควบกุมกลไกเศรษฐกิจมหภาคได้

การขึ้นภาษีของรัฐในยามเศรษฐกิจวิกฤต ย่อมนำไปสู่ความตึงหรือความหนืดทางด้านเศรษฐกิจ  เช่น หากมีการขึ้นอัตราภาษีเอากับเจ้าของที่อยู่อาศัยก็จะทำให้เจ้าของหรือผู้ซื้อที่พักอาศัยที่มีความลำบากจากเงื่อนไขของรายได้ที่น้อย (จากพิษเศรษฐกิจ) อยู่แล้ว ต้องลำบากขึ้นไปอีก จนต้องทิ้งที่อยู่อาศัยนั้นในที่สุด ส่งผลให้หนี้เสียในระบบเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดก็กระทบกับสถาบันการเงินในประเทศ และระบบเศรษฐกิจของทั้งหมด

จะสังเกตเห็นว่า เมื่อคราววิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 และลากยาวมาจนถึงปี 2012  เมือง หลายเมืองในสหรัฐอเมริกาถึงขั้นล้มละลาย  (bankruptcy) เมืองหรือแม้แต่รัฐบาลกลางอเมริกันเองหันมาใช้นโยบายลดภาษีหรือเว้นภาษีให้สำหรับการลงทุนในเมืองที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ  เช่น เมือง Vallejo ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ล้มละลายจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการยกเว้นการจัดเก็บภาษีกับผู้ที่ไปลงทุนในเมืองนี้ในขณะนั้น

การแสดงออกด้วยทีท่าว่าจะขึ้นภาษีเอากับประชาชนคือสิ่งที่แสดงออกอย่างหนึ่งว่าฐานะการคลังของประเทศนั้นกำลังมีปัญหา (อาจถึงขั้นรุนแรง) อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในอาการย่ำแย่ ทางออกด้านนโยบายการคลัง มิใช่การขึ้นภาษีเอากับประชาชน หากควรลดภาษีให้กับประชาชนเสียด้วยซ้ำ

ประเทศส่วนใหญ่ที่ปกครองโดยระบบประชาธิปไตยเลือกแนวทางการขึ้นภาษีกับประชาชนทั่วไปเป็นทางเลือกท้ายสุดทว่ามักจบลงด้วยเรื่องเศร้า แต่ส่วนใหญ่รัฐบาลของประเทศประชาธิปไตยเหล่านี้มักไม่เลือกแนวทางการขึ้นภาษี เพราะการขึ้นภาษีกับประชาชนทั่วไปนั้นแสดงว่ารัฐไร้กึ๋นในการบริหารเศรษฐกิจ หรือไม่ก็เศรษฐกิจประเทศนั้นใกล้ถึงกาลวิบัติเต็มที.

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลายองค์กรจี้ทีมสอบเหตุทุ่งยางแดง ทำงานรอบด้าน นำคนผิดมาลงโทษ

$
0
0

หลายองค์กรร่วมแถลงการณ์กรณียิงปะทะบ้านที่โต๊ะชูด ทุ่งยางแดง ให้กรรมการค้นหาความจริงทำงานอย่างรอบด้านและเป็นธรรม นำคนผิดมาลงโทษให้ได้ไม่ใช่แค่เยียวยาอย่างเดียว เผยมุ่งค้นหาทำไมถึงตาย 4 ศพและการใช้อาวุธ พร้อมเปิดชื่อทีมสอบข้อเท็จจริงเหตุทุ่งยางแดง แต่งตั้งโดยผู้ว่าปัตตานี

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2558 องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายองค์กรประกอบด้วยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา นายอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย นายฮัมดี ขาวสะอาด มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก นางสาวสุวรา แก้วนุ้ย และนางสาวตัสนีม เจ๊ะตู มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า ร่วมออกแถลงการณ์กรณีเหตุรุนแรงที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ที่มีผู้เสียชีวิต 4 คน และถูกควบคุมตัวอีก 22 คน โดยขอให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ฝ่ายรัฐตั้งขึ้นไม่ใช่แค่เพื่อการเยียวยาผู้เสียหาย แต่ต้องนำผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ด้วย

แถลงการณ์ดังกล่าวมีข้อเรียกร้องต่อการดำเนินการของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว 4 ข้อ ประกอบด้วย


1. มีอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรมและได้รับข้อมูลรอบด้าน เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้ได้ข้อเท็จจริง

2. ควรมีเป้าหมายในการตรวจสอบมิใช่เพียงการเยียวยาผู้เสียหายเท่านั้นแต่ต้องให้ความสำคัญกับการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษทางวินัยและตามกฎหมาย

3. ถ้าพบว่าเป็นการกระทำความผิดผู้รับผิดชอบหมายรวมถึงผู้บังคับบัญชาโดยตรงด้วย

4. ควรทบทวนนโยบายการปิดล้อมตรวจค้นและแนวทางการในการปฏิบัติด้วยอาวุธ

ในตอนท้ายของแถลงการณ์ระบุด้วยว่า “...เหตุการณ์นี้จะไม่กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวหากมีการดำเนินการอย่างเป็นธรรม ให้สังคมได้รับรู้ จึงขอเรียกร้องอย่างจริงจังในการดำเนินงานและติดตามผลของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง”


เปิดชื่อทีมสอบข้อเท็จจริงเหตุทุ่งยางแดง

ด้านนายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ยิงปะทะพื้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี คำสั่งจังหวัดปัตตานีที่ 3639/2558 สั่ง ณ วันที่ 28 มีนาคม 2558 โดยมีรายชื่อประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายต่างๆ จำนวน 15 คน ดังนี้

1.รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี (นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ) เป็นประธานคณะกรรมการ ส่วนกรรมการประกอบด้วย 2.รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีที่ได้รับมอบหมาย 3.รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีที่ได้รับมอบหมาย 4.ปลัดจังหวัดปัตตานี 5.ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี 6.อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีหรือผู้แทน
7.ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดปัตตานี 8.ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ 9.นายมูฮำหมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ 10.นายมูฮำหมัดอาลาวี บือแน 11.ประธานชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ.ทุ่งยางแดง 12.นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิเทน 13.ประธานชมรม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ.ทุ่งยางแดง 14.ป้องกันจังหวัดปัตตานี เลขานุการ และ 15.ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดปัตตานี ผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ ได้แก่ 1.ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้ได้รายละเอียดที่เกี่ยวเหตุการณ์ดังกล่าว 2.ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วภายใน 7 วัน นับแต่รับทราบคำสั่ง 3.เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จรายงานผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีทราบ 4.ดำเนินการอื่นๆ ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้สั่งการและมอบหมาย

คำสั่งนี้ระบุว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 52/1(2) ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและเป็นธรรมในสังคม


มุ่งค้นหาทำไมถึงตาย 4 ศพและการใช้อาวุธ

นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ หนึ่งในกรรมการชุดนี้ในนามตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า คณะกรรมการชุดนี้ได้ประชุมนัดแรกวันที่ 29 มีนาคม 2558 ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดปัตตานี ที่ประชุมได้กำหนดระยะเวลาค้นหาความจริงภายใน 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2558 เป็นต้นไป โดยจะรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ที่อยู่เหตุการณ์และชาวบ้านที่อยู่รอบบริเวณที่เกิดเหตุ

“เป้าหมายของการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อค้นหาความจริงว่า เหตุการณ์เป็นอย่างไร ทำไมถึงมีผู้เสียชีวิต 4 ศพ จุดที่ใช้อาวุธเกิดจากสาเหตุอะไร” นายประสิทธิ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้มีความสำคัญมาก เพราะหากรัฐจัดการไม่ดีก็จะส่งผลให้การพูดคุยสันติภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีความลำบากมากขึ้นไปด้วย

“จริงๆแล้วเจ้าหน้าที่รัฐควรเน้นการเจรจาการพูดคุย อดทนให้ถึงที่สุดก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีกรณีปิดล้อมตรวจค้นมาแล้วซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ใช้เวลาพูดคุยหรือเจรจาถึง 6 ชั่วโมง สุดท้ายก็จบลงด้วยดี แต่ครั้งนี้ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงใช้อาวุธด้วย ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่คณะกรรมการต้องค้นหาความจริงมาให้ได้”

นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต้องคำนึงว่าทุกคนคือคนไทย ต้องดำเนินการจากเบาไปหาหนัก ต้องมีการพูดคุยกัน มีการเจรจากัน ใช้ความอดทนถึงที่สุด หากอีกฝ่ายใช้อาวุธก่อนเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้อาวุธได้ ซึ่งทุกครั้งเจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการอย่างนี้ แต่ครั้งนี้รู้สึกว่ามีความผิดปกติ มีการใช้อาวุธเร็วและไม่รู้มีอะไรอยู่เบื้องหลัง ดังนั้นต้องค้นหาความจริงภายใน 7 วัน

นายประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ตนยืนยันมาตลอดว่าการทำงานองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี สันติวิธีเป็นแนวทางเดียวเท่านั้นที่จะต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองหรือทางสังคม ต้องความอดทนและอดกลั้น ต้องเข้าใจว่าคนที่กำลังต่อสู้อยู่ในขณะนี้มีความกดดัน ดังนั้นเราต้องเอาสิ่งเหล่านั้นออกมา ซึ่งในกระบวนการเหล่านี้ต้องมีความอดทนสูงมากและต้องให้โอกาสประชาชน ผู้นำศาสนา และผู้นำชุมชนในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด

 

แถลงการณ์ฉบับเต็ม


แถลงการณ์ ร่วมองค์กรพัฒนาเอกชน กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ทุ่งยางแดง จ. ปัตตานี
ขอให้คณะกรรมการตรวจสอบมิใช่ แค่เยียวยาผู้เสียหาย ต้องนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

(เผยแพร่วันที่ 29 มีนาคม 2558)


เมื่อวันที่ 25 มี.ค.58 เวลาประมาณ 17.00 น. มีการสนธิกำลังระหว่างฉก.ปัตตานี 25 นปพ. 431 ฉก ทพ.41 กำลังตำรวจจาก สภ.ทุ่งยางแดง จนท. ฝ่ายปกครอง และ ทหารจากร้อย ร.35314 ฉก.ปัตตานี ได้เข้าปฏิบัติการตรวจสอบความผิดปกติในพื้นที่ ม.6 บ.โต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี การปฏิบัติการดังกล่าว ส่งผลให้มีการจับกุมประชาชนจำนวน 22 คน และวิสามัญฆาตกรรม จนมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 4 ศพ แต่ในวันรุ่งขึ้นกลับปรากฏข้อเท็จจริงจากชาวบ้านและครอบครัวผู้สุญเสียที่แตกต่างจากข่าวที่ปรากฏ

ต่อมาทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลางตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเหตุการณ์ยิงในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุพร้อมให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยปราศจากการแทรกแซง และเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนภายใต้การทำงานของเจ้าหน้าที่ จึงขอเรียกร้องต่อการดำเนินการของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.มีอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรมและได้รับข้อมูลรอบด้าน เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้ได้ข้อเท็จจริง

2.ควรมีเป้าหมายในการตรวจสอบมิใช่เพียงการเยียวยาผู้เสียหายเท่านั้นแต่ต้องให้ความสำคัญกับการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษทางวินัยและตามกฎหมาย

3.ถ้าพบว่าเป็นการกระทำความผิดผู้รับผิดชอบหมายรวมถึงผู้บังคับบัญชาโดยตรงด้วย

4.ควรทบทวนนโยบายการปิดล้อมตรวจค้นและแนวทางการในการปฏิบัติด้วยอาวุธ

คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และคงไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสียไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม เหตุการณ์นี้จะไม่กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวหากมีการดำเนินการอย่างเป็นธรรม ให้สังคมได้รับรู้  จึงขอเรียกร้องอย่างจริงจังในการดำเนินงานและติดตามผลของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ลงนามโดย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
กลุ่มด้วยใจ
องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)
สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา
อับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
ฮัมดี ขาวสะอา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
สุวรา แก้วนุ้ย
ตัสนีม เจ๊ะตู มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มายาคติเกี่ยวกับ “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ในระบอบรัฐธรรมนูญไทย (2)

$
0
0


 

"มาตรา 69 กับแนวความคิดว่าด้วยสิทธิต่อต้านขัดขืนผู้ปกครอง"

 


5. “สิทธิต่อต้านขัดขืนผู้ปกครอง” (Widerstandsrecht) – แม่แบบความคิดของคำว่า “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ”?

หลังจากที่ได้วิเคราะห์บทบัญญัติมาตรา 68 (รัฐธรรมนูญ 50) โดยละเอียดแล้วว่าไม่ได้มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการก่อตั้งหรือประกัน “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” แต่อย่างใด เป็นก็แต่เพียงบทบัญญัติที่มีผลเป็นการทั่วไปในการจำกัดหรือตีกรอบการใช้สิทธิเสรีภาพอื่น ๆ ที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้เท่านั้น นอกจากนี้กระบวนการต่าง ๆ ที่บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 68 ก็มีความไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางความเป็นจริงและในทางกฎหมายหลายประการ ข้อสรุปของการมีอยู่ของบทบัญญัติมาตรา 68 คงเป็นได้แต่เพียงตัวอย่างหนึ่งของการ “ลอก” กฎหมายต่างประเทศเข้ามาอย่างไม่ยึดโยงกับหลักการหรือความคิดที่อยู่เบื้องหลัง แล้วนำมาทำให้เป็น “แบบไทยๆ” (ไม่ว่าจะโดยไม่รู้หรือจงใจ) อันทำให้บทบัญญัตินั้นกลายเป็น “สิ่งแปลกปลอม” ในระบบรัฐธรรมนูญ (และยิ่งตลกขึ้นอีก เมื่อบทบัญญัตินี้ถูกนำมาใช้อย่างจงใจบิดเบือนโดยคณะ “ตลก” รัฐธรรมนูญในห้วงปี 2555-57)

บทบัญญัติอีกมาตราหนึ่งที่บัญญัติไว้ในหมวดว่าด้วย “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ก็คือมาตรา 69 (รัฐธรรมนูญ 50) ที่บัญญัติไว้ว่า“บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”ซึ่งความคิดของบทบัญญัตินี้สืบเนื่องมาจากมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ 40 ที่บัญญัติถ้อยคำเช่นเดียวกันไว้เป็นครั้งแรกในระบบรัฐธรรมนูญไทย

บทบัญญัติในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญนานาประเทศ ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นแนวทางหรือแม่แบบในการนำไปบัญญัติในรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ก็คือ มาตรา 20 วรรค 4 แห่งกฎหมายพื้นฐานสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“ชาวเยอรมันทุกคนมีสิทธิในการต่อต้านขัดขืนบุคคลใดก็ตามที่กระทำการเพื่อล้มล้างระบอบ(รัฐธรรมนูญ)นี้ หากหนทางในการปัดป้องด้วยวิธีการอื่นไม่สามารถเป็นไปได้”

แนวความคิดเบื้องหลังของบทบัญญัติมาตรา 20 วรรค 4 ของกฎหมายพื้นฐานนี้เป็นเรื่องของ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ซึ่งมีรากฐานความคิดมาจากแนวความคิดกฎหมายธรรมชาติ กล่าวคือ เมื่อผู้ปกครองใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามธรรมชาติของประชาชนที่จะลุกขึ้นขัดขืนการกดขี่ภายใต้การปกครองดังกล่าว เพื่อปฏิเสธอำนาจการปกครองเดิม และสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ขึ้นมาหรือย้อนกลับไปสู่ระบอบการปกครองเดิมที่เป็นไปเพื่อประชาชน

ความคิดว่าด้วย “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นี้มีปรัชญาเบื้องหลังเชื่อมโยงได้ทั้งจากแนวความคิดกฎหมายธรรมชาติในยุคสมัยกลางที่มีความเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับศาสนาคริสต์ และกฎหมายธรรมชาติยุคใหม่ที่เน้นความสำคัญของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล

ในขณะที่แนวความคิดกฎหมายธรรมชาติแบบคริสต์อธิบายว่าผู้ปกครองไม่ใช่องค์รัฏฐาธิปัตย์แต่อยู่ภายใต้ระเบียบการปกครองของพระเจ้า ดังนั้นหากผู้ปกครองใช้อำนาจไปในทางที่ผิด ศาสนจักรและประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะต่อต้านขัดขืนเพื่อสถาปนาระเบียบการปกครองของพระเจ้าขึ้นมาอีกครั้ง แนวความคิดกฎหมายธรรมชาติสมัยใหม่อธิบายความคิดเรื่องสิทธิต่อต้านขัดขืนโดยยึดโยงกับทฤษฎีสัญญาก่อตั้งรัฐ (ทฤษฎีสัญญาประชาคม) กล่าวคือ เมื่อผู้ปกครองละเมิดพันธกรณีที่ตกลงกับประชาชนเพื่อก่อตั้งระบบการปกครองให้คุ้มครองชีวิต เสรีภาพ และกรรมสิทธิ์ ประชาชนย่อมไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อฟังผู้ปกครองอีกต่อไป และอาจนำไปสู่การลุกขึ้นสู้เพื่อสถาปนาระบอบการปกครองที่ชอบธรรมขึ้นมาใหม่

แนวความคิดว่าด้วยสิทธิต่อต้านขัดขืนนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญทั้งในการประกาศอิสรภาพของอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส ใน Virginia Bill of Rights ค.ศ. 1776 มาตรา 3 ได้รับรองสิทธิต่อต้านขัดขืนของประชาชนในการที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มรัฐบาลที่ไม่ได้ปกครองโดยเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้ในคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีสัญญาก่อตั้งรัฐตามแนวความคิดกฎหมายธรรมชาติ กล่าวไว้ว่า

“เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลกลายเป็นอุปสรรคทำลายเป้าประสงค์(เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน) ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างรัฐบาลนั้น เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่และวางรากฐานหลักการดังกล่าวขึ้นใหม่และจัดระเบียบอำนาจในรูปแบบตามที่จะเห็นสมควรว่าจะเป็นประโยชน์ได้มากที่สุดต่อความปลอดภัยและความสุขของประชาชน”

ในขณะที่คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ได้รับรอง “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ไว้ในมาตรา 2 โดยรับรองให้การธำรงไว้ซึ่งสิทธิต่อต้านขัดขืนการถูกกดขี่ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนตามธรรมชาติที่ไม่อาจถูกพรากไปได้นั้น เป็นวัตถุประสงค์ของทุกสังคมการเมือง

ปัจจุบัน แนวความคิดว่าด้วย “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นั้นถูกเปลี่ยนแปลงจากแนวความคิดตามกฎหมายธรรมชาติให้กลายมาเป็นแนวความคิดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

กล่าวคือ จากเดิมการอ้างสิทธิต่อต้านขัดขืนอ้างอิงอยู่กับสิทธิตามธรรมชาติ เพื่อก่อตั้งหรือฟื้นฟูระบอบความเป็นธรรมที่แท้จริงขึ้นมา ในระบอบรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและประกันความเป็นนิติรัฐ-ประชาธิปไตยได้รับรองสิทธิต่อต้านขัดขืนไว้ในฐานะสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดเป้าหมายของการต่อต้านขัดขืนไม่ใช่เป็นไปเพื่อสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ขึ้น แต่เป็นไปเพื่อปกป้องหรือรื้อฟื้นระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ระบอบรัฐธรรมนูญกำลังหรือได้ถูกทำลายลงไป สิทธิต่อต้านผู้ปกครอง(ตามธรรมชาติ) จึงกลายมาเป็น “สิทธิต่อต้านขัดขืนการล้มล้างรัฐธรรมนูญ”

การรับรอง “สิทธิต่อต้านขัดขืนการล้มล้างรัฐธรรมนูญ” นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกลไกของ “ระบอบประชาธิปไตยที่ปกป้องตัวเองได้” ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อไม่ให้ระบอบนิติรัฐ-ประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญสถาปนาขึ้นนั้นถูกทำลายลง

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าการรับรองสิทธิต่อต้านขัดขืนการล้มล้างรัฐธรรมนูญนั้นจะมีปัญหาในตัวเอง กล่าวคือ เมื่อเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้ว สิทธิดังกล่าวจะมีผลหรือมีความหมายอย่างไรเมื่อรัฐธรรมนูญถูกฉีกหรือทำลาย?

หากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรถูกยกเลิกหรือทำลายไป เช่นนี้บทบัญญัติที่รับรอง “สิทธิต่อต้านขัดขืนการล้มล้างรัฐธรรมนูญ” ก็ย่อมสิ้นผลไปทำให้สิทธิดังกล่าวก็ไม่ได้หลงเหลืออยู่ด้วย เช่นนี้บทบัญญัติดังกล่าวจะมีไว้ทำไม? ในเมื่อไม่มีทางมีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด?

ในบทความเรื่อง “When to Overthrow your Government: The Right to Resist in the World’s Constitutions” ของ Tom Ginsburg และคณะ ซึ่งได้ศึกษาเปรียบเทียบบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนานาประเทศที่มีลักษณะเป็นการกล่าวถึง “สิทธิต่อต้านขัดขืน” เอาไว้นั้น แยกความมุ่งหมายของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่รับรอง “สิทธิต่อต้านขัดขืน” เอาไว้เป็นสองความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน

กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญบางประเทศที่การสถาปนารัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการปฏิวัติ-รัฐประหาร ล้มล้างการปกครองในระบอบเก่า เป้าหมายสำคัญของการรับรองสิทธิดังกล่าวไว้นั้น ก็เพื่อให้มีผลย้อนไปเป็นการรับรองความชอบธรรมในการกระทำของตนในอดีตที่ได้เคยทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารเพื่อโค่นล้มระบอบเก่า

ในขณะที่ความมุ่งหมายอีกด้านหนึ่งนั้น เป็นไปเพื่อมองไปข้างหน้า กล่าวคือ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำรงอยู่ของระบอบรัฐธรรมนูญใหม่ที่ถูกก่อตั้งขึ้นไม่ให้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองนั้นถูกทำลายลง การรับรองสิทธิต่อต้านขัดขืนจึงเป็นการกระตุ้นความรับรู้ในการมีอำนาจของประชาชนว่าสิทธิต่อต้านขัดขืนที่ตนมีนั้น เป็นพลังอำนาจที่สำคัญในการจำกัดอำนาจผู้ปกครอง

หากพิจารณาจากความมุ่งหมายประการที่สอง สิทธิต่อต้านขัดขืนจึงมีความหมายในเชิงเป็น “สัญลักษณ์” ของการปฏิเสธการล้มล้างรัฐธรรมนูญ โดยลักษณะเฉพาะของ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นี้เมื่อเปรียบเทียบกับ “สิทธิ” อื่น ๆ ที่รัฐธรรมนูญรับรองนั้น มีความแตกต่างกัน กล่าวคือในขณะที่สิทธิตามรัฐธรรมนูญอื่น ๆ นั้นถูกรับรองและคุ้มครองโดยโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ จึงมีผลบังคับใช้ได้เมื่อระบอบรัฐธรรมนูญดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นั้นแม้จะถูกรับรองในรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน แต่การกล่าวอ้างและยกสิทธิต่อต้านขัดขืนขึ้นสู้นั้น จะเกิดขึ้นก็แต่ในสภาวะที่ระบอบรัฐธรรมนูญไม่ทำงานแล้ว นั่นคือ การที่ระบอบรัฐธรรมนูญถูกทำลายหรือล้มล้าง

ผลของการรับรอง “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ไว้ในรัฐธรรมนูญ จะเกิดขึ้นก็แต่ในกรณีที่ว่า การต่อต้านขัดขืนนั้นได้รับชัยชนะ และมีผลเป็นการรื้อฟื้นระบอบรัฐธรรมนูญที่ถูกทำลายลงไปแล้วนั้นขึ้นมาใหม่ เช่นนี้สิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จึงถือว่าเป็นฐานความชอบธรรมทางกฎหมายในบรรดาการกระทำต่าง ๆ ที่ได้กระทำไปเพื่อการต่อต้านขัดขืน แม้การนั้นจะมีผลเป็นการฝ่าฝืนหรือขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่ว่าจะในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางมหาชนก็ตาม

เมื่อได้ทราบอุดมการณ์และความมุ่งหมายของการรับรอง “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ต่อไปจะขอยกตัวอย่างคำอธิบายเกี่ยวกับ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ในระบอบรัฐธรรมนูญเยอรมนี ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของการนำมาบัญญัติในรัฐธรรมนูญไทย

กล่าวคือ มาตรา 20 วรรค 4 แห่งกฎหมายพื้นฐานสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีบัญญัติไว้ว่า ““ชาวเยอรมันทุกคนมีสิทธิในการต่อต้านขัดขืนบุคคลใดก็ตามที่กระทำการเพื่อล้มล้างระบอบ(รัฐธรรมนูญ)นี้ หากหนทางในการปัดป้องด้วยวิธีการอื่นไม่สามารถเป็นไปได้”

มาตรานี้รับรอง “สิทธิต่อต้านขัดขืน” แก่ชาวเยอรมันทุกคนว่าเป็นผู้ทรงสิทธิ โดยรับรองแก่ชาวเยอรมันเฉพาะในฐานะที่เป็นพลเมือง (ไม่รวมถึงการกล่าวอ้างในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หากบุคคลใดมีสองสถานะ) โดยการใช้สิทธินี้อาจใช้โดยลำพังหรือใช้แบบรวมกลุ่มก็ได้ โดยเป็นการต่อต้าน “ผู้ใดก็ตาม” ที่ต้องการล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นต่อตัวบุคคล หรือต่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้น และไม่ว่าจะเป็นการกระทำของเอกชนหรือว่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยกรณีที่จะใช้สิทธิต่อต้านขัดขืนได้นั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขสามประการที่ว่า (1.) มีอันตรายต่อหลักการพื้นฐานที่กฎหมายพื้นฐานรับรอง นั่นก็คือ หลักการของระเบียบพื้นฐานทางเสรีประชาธิปไตย ได้แก่ หลักประชาธิปไตย, หลักนิติรัฐ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่ากรณีใด ๆ ที่มีการละเมิดหลักการดังกล่าวนี้แล้วทุกกรณี จะก่อให้เกิดสิทธิต่อต้านขัดขืนทั้งสิ้น แต่จะต้องถึงขนาดว่าการละเมิดหลักการดังกล่าวกระทบต่อโครงสร้างของรัฐที่รัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครอง ทั้งนี้ “อันตราย” ที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องปรากฏให้เห็นอยู่อย่างชัดเจน (2) มี “การกระทำ” ไม่ใช่เพียงแค่ขั้นตอนการตระเตรียม โดยอย่างน้อยจะต้องถึงขนาดอยู่ในขั้นของการพยายามกระทำแล้ว ทั้งนี้สิทธิต่อต้านขัดขืนนี้ยังมีผลอยู่ แม้ว่าการล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นผลสำเร็จแล้ว (ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ภายหลังระบอบรัฐธรรมนูญได้ถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกครั้ง) และ (3) ไม่มีหนทางในการปัดป้องด้วยวิธีการอื่นแล้ว กล่าวคือ กลไกอื่น ๆ ที่รัฐธรรมนูญและระบอบกฎหมายรับรองไว้ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป โดยการใช้สิทธิต่อต้านขัดขืนนั้นเป็นเครื่องมือท้ายที่สุดในการรักษาไว้ซึ่งระบอบรัฐธรรมนูญ หากปรากฏว่ายังมีช่องทางดำเนินการด้วยวิธีอื่นได้อยู่ เช่น ด้วยกลไกกระบวนการทางกฎหมายผ่านองค์กรตุลาการ เช่นนี้ก็ยังไม่สามารถอ้างสิทธิต่อต้านขัดขืนนี้ได้

อย่างไรก็ตามกฎหมายพื้นฐานไม่ได้กำหนดเอาไว้แต่อย่างใดว่าการต่อต้านขัดขืนนั้นเป็น “หน้าที่” แต่เป็นเจตจำนงเสรีของประชาชนในการตัดสินใจที่จะใช้ “สิทธิ” ปกป้องระบอบรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รูปแบบของการใช้สิทธิต่อต้านขัดขืนนั้นอาจเป็นได้ทั้งการแสดงออกในเชิงปฏิเสธ คือ ไม่เชื่อฟังผู้มีอำนาจที่ได้อำนาจมาโดยทำลายระบอบรัฐธรรมนูญ หรือการแสดงออกในเชิงรุก โดยการใช้กำลังต่อวัตถุหรือบุคคล

แม้กฎหมายพื้นฐานจะไม่ได้กำหนดขอบเขตการใช้สิทธิต่อต้านขัดขืนไว้ (เมื่อเทียบกับของไทยที่จำกัดว่า “โดยสันติวิธี”) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการอ้างสิทธิต่อต้านขัดขืนนั้นจะเป็นไปอย่างไร้ขอบเขต กล่าวคือ การต่อต้านขัดขืนเพื่อป้องกันระบอบรัฐธรรมนูญนั้นต้องเป็นไปภายใต้หลักความพอสมควรแก่เหตุ โดยพิจารณาทั้งความเหมาะสม ความจำเป็น และการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่มหาชนได้รับกับประโยชน์ที่เอกชนต้องเสียหาย

 

6. สิทธิต่อต้านขัดขืน กับ Civil Disobedience

ก่อนที่จะวิเคราะห์บทบัญญัติเกี่ยวกับ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ในระบบรัฐธรรมนูญไทย มีประเด็นทั่วไปที่ต้องกล่าวถึงอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ ความแตกต่างระหว่าง “สิทธิต่อต้านขัดขืน” กับกรณี Civil Disobedience ที่ถูกแปลเป็นไทยว่า “การดื้อแพ่ง” หรือ “อารยะขัดขืน”

กรณีการใช้ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นั้น ไม่ใช่ Civil Disobedience เนื่องจากมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งในเรื่องขอบเขตทางกฎหมายและการเมือง รวมไปถึงเป้าหมายและวิธีการ

กล่าวคือ Civil Disobedience นั้นหากถือตามนิยามของ John Rawl หมายถึงการกระทำโดยปราศจากการใช้กำลังและเปิดเผย ที่เป็นไปตามมโนธรรมสำนึก แต่มีผลเป็นการขัดต่อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ ทั้งนี้โดยมีเป้าประสงค์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือแนวนโยบายของรัฐ โดยเป็นการดำเนินอยู่ในกรอบของระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

ในขณะที่ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นั้นจะถูกใช้ในสถานการณ์ที่ระบอบรัฐธรรมนูญถูกทำลายลง ไม่ใช่เพียงกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่เคารพรัฐธรรมนูญเป็นรายประเด็นหรือรายกรณี Civil Disobedience นั้นเกิดขึ้นในบริบทภายใต้รัฐเสรีประชาธิปไตย โดยเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเห็นร่วมจากสาธารณะ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยกรอบที่รัฐธรรมนูญนิติรัฐ-ประชาธิปไตยรับรองไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม

ทั้งนี้ “เป้าหมาย” ของการใช้ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นั้นเพื่อฟื้นฟูหรือสถาปนาระเบียบรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แต่ Civil Disobedience มีเป้าหมายเพื่อลดทอนความชอบธรรมหรือเพื่อให้นำไปสู่การยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือการตัดสินใจทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง

สุดท้ายแล้วการใช้ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” และ Civil Disobedience นั้นแตกต่างกันในแง่ของวิธีการ โดยเงื่อนไขของ Civil Disobedience นั้นจะต้องเป็นไปโดยปราศจากการใช้กำลังใด ๆ แต่การใช้ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นั้นภายใต้หลักความพอสมควรแก่เหตุแล้ว สามารถดำเนินการใด ๆ ก็ได้ที่จำเป็น รวมไปถึงการใช้กำลังไม่ว่าต่อทรัพย์สินหรือต่อบุคคลอื่น

ด้วยเหตุนี้ การอ้าง Civil Disobedience นั้นไม่ได้อยู่บนฐานของ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” และไม่สามารถอาศัยเป็นเหตุให้มีอำนาจกระทำได้ การอ้าง Civil Disobedience อาศัยฐานของเสรีภาพในโครงสร้างรัฐธรรมนูญโดยเป็นหนึ่งในการสร้างความเห็นร่วมในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเสรีภาพดังกล่าวผูกพันบรรดาองค์กรของรัฐที่ต้องเคารพ อย่างไรก็ตามหากนำไปสู่การละเมิดกฎหมาย ลำพังการอ้าง Civil Disobedience ไม่ถือเป็นเหตุให้ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายได้ แต่หากการกระตุ้นความเห็นร่วมของสังคมเป็นผลสำเร็จ ก็ย่อมมีผลต่อการลงโทษอาญา ไม่ว่าจะเป็นการลดโทษหรือนิรโทษกรรม เพราะว่าการกระทำความผิดเพราะเหตุ Civil Disobedience ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ที่เป็นอาชญากร

 

7. “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ตามมาตรา 69 รัฐธรรมนูญ 50

สำหรับรัฐธรรมนูญไทยนั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 69 ว่า“บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”

แม้มาตรา 69 นี้จะมีรากเหง้ามาจากบทบัญญัติมาตรา 20 วรรค 4 ของกฎหมายพื้นฐานสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเจตนารมณ์ในการบัญญัติครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 40 จะเป็นไปเพื่อต่อต้านการรัฐประหารยึดอำนาจ แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบันความเข้าใจและการนำไปใช้มาตรา 69 ในฐานะสิทธิประการหนึ่งตามหมวด “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ดูจะต่างไปราวเหมือนเป็นคนละเรื่อง

ในชั้นยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 มีความพยายามอธิบายการใช้ “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” (ทั้งกรณีมาตรา 68 และ 69) ให้รวมไปถึงการต่อต้านการทุจริตการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ในทางปฏิบัติมีการกล่าวอ้าง “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ตามมาตรา 69 รัฐธรรมนูญ 50 หลายกรณี โดยเฉพาะในช่วงการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา (อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงดูเหมือนว่าบรรดาบุคคลที่อ้าง “สิทธิ” ดังกล่าวนั้น ไม่ได้ต้องการ “ต่อต้านขัดขืน” เพื่อ “พิทักษ์” แต่กลับเป็นไปเพื่อมุ่ง “ทำลาย” รัฐธรรมนูญ)

คณะ “ตลก” รัฐธรรมนูญ เคยยกมาตรา 69 ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการรับคำร้องกรณีตามมาตรา 68 มาขยายเขตอำนาจในการรับฟ้องตรง โดยยกคำว่า “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาส่งเสริม

ขณะเดียวกัน บทบัญญัติเช่นเดียวกันในรัฐธรรมนูญ 40 มาตรา 65 (ซึ่งมีถ้อยคำทุกอย่างเหมือนมาตรา 69 รัฐธรรมนูญ 50) เคยถูกยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเป็นเหตุในการกระทำฉีกบัตรเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน 2549

ในคดีฉีกบัตรเลือกตั้งนั้น ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11850/2554 ว่าสิทธิตามมาตรา 65 นั้น “ต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย” โดยเป็นสิทธิประการหนึ่งตามรัฐธรรมนูญเรียกว่า “การใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี” ซึ่งจะอ้างได้ “เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” ด้วยเหตุนี้การฉีกบัตรเลือกตั้งอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภานั้นจึงไม่สามารถอ้าง “สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี” (ตามคำของศาลฎีกา) กรณีตามมาตรา 65 ได้

หากเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการนำเข้า “สิทธิต่อต้านขัดขืน” เข้ามาในระบอบรัฐธรรมนูญไทย เพื่อให้เกิด “ระบอบประชาธิปไตยที่ปกป้องตนเองได้” ตามแบบของระบอบรัฐธรรมนูญเยอรมัน แต่จากคำพิพากษาของศาลฎีกานี้ ศาลฎีกาได้ “ทำลาย” หลักการ, อุดมการณ์ และคุณค่าของ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ลงโดยสิ้นเชิง ด้วยการจำกัดให้เป็นเพียงสิทธิประการหนึ่งภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้มีสถานะใดเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ก็แทบจะไม่เคยมีการให้คำอธิบาย “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ใน “ความหมาย” และ “คุณค่า” แบบที่ควรจะเป็นดังที่ถูกอธิบายในระบอบรัฐธรรมนูญต่างประเทศ

จึงไม่ต้องแปลกใจที่ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ไทยจึงไม่ได้มีค่าใด ๆ ในเรื่องการสร้างความมั่นคงให้ระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และจะสิ้นไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญแบบไร้ความหมาย

 

 

หมายเหตุ:เรียบเรียงจากบทความของผู้เขียนซึ่งเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข คอลัมน์สนามรบกฎหมาย ฉบับวันที่ 21-27 กุมภาพันธ์ 2558, 28 กุมภาพันธ์- 6 มีนาคม 2558 และ 7-13 มีนาคม 2558

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

#BoycottIndiana ชาวสหรัฐฯ ร่วมต่อต้านกฎหมายศาสนารัฐอินเดียนา หวั่นใช้กีดกันทางเพศสภาพ

$
0
0

ชาวสหรัฐฯ รวมถึงนักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศต่างพากันต่อต้านกฎหมาย 'ฟื้นฟูเสรีภาพทางศาสนา' ซึ่งกลัวว่าจะถูกนำมาอ้างใช้เพื่อกีดกันทางเพศสภาพ อย่างเช่นการไม่ต้อนรับหรือให้บริการคนรักเพศเดียวกัน

 

30 มี.ค. 2558 หลังจากที่ ไมค์ เพนซ์ ผู้ว่าการรัฐอินเดียน่าจากพรรครีพับรีกันลงนามอนุญาตใช้กฎหมายกีดกันกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ทำให้เกิดกระแสต่อต้านทั้งจากนักกิจกรรม ศิลปิน เจ้าของธุรกิจ และนักกีฬา จากทั่วประเทศสหรัฐฯ ที่ประกาศบอยคอตต์ทางเศรษฐกิจต่อรัฐอินเดียน่าในนามการเคลื่อนไหว #BoycottIndiana จนทำให้ ส.ส. รัฐอินเดียน่าเริ่มคำนึงว่าควรย้อนกลับมาพิจารณากฎหมายใหม่อีกครั้งหรือไม่

กฎหมายกีดกันทางเพศฉบับดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "กฎหมายฟื้นฟูเสรีภาพทางศาสนา" ที่มีการลงนามอนุญาตใช้เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในเนื้อความกฎหมายนี้ระบุห้ามไม่ให้มีกฎหมายของรัฐใดๆ ที่เป็นการ "สร้างภาระอย่างหนัก" ต่อการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของประชาชนทั่วไป สถาบันทางศาสนา สมาคม หรือธุรกิจ

นักวิจารณ์กล่าวว่ามาตรการนี้จะกลายเป็นการสนับสนุนให้บุคคลหรือธุรกิจกระทำสิ่งที่ล่วงละเมิดกฎหมายห้ามการกีดกันซึ่งมีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมกังวลว่ากฎหมายที่อ้างถึงเสรีภาพทางศาสนานี้จะถูกนำมาใช้เหยียดหรือกีดกันกลุ่มคนรักเพศเดียวกันโดยเจ้าของธุรกิจที่ไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน

อย่างไรก็ตามมีการประท้วงจากหลายฝ่าย โดยมีการติดสติ๊กเกอร์ตามหน้าร้านค้าทั่วรัฐอินเดียนาซึ่งระบุข้อความว่า "ธุรกิจแห่งนี้เปิดรับทุกคน" และเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมานักกิจกรรมหลายร้อยคนก็พากันเดินขบวนนอกที่ว่าการรัฐเพื่อเรียกร้องให้เพนซ์ลาออกจากตำแหน่ง

นอกจากนี้สมาคมนักกีฬามหาวิทยาลัยแห่งชาติสหรัฐฯ (N.C.A.A.) ยังแสดงความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะกระทบนักกีฬาและผู้เข้าชมกีฬาของตน ซึ่งนักกีฬาซูเปอร์สตาร์เอ็นบีเอชื่อ ชาร์ลส บาร์ตลีย์ ประท้วงด้วยการเรียกร้องให้การจัดแข่งบาสเก็ตบอลรอบสุดท้ายของ N.C.A.A. ในรัฐอินเดียน่าไปจัดในรัฐอื่น เจสัน คอลินส์ นักกีฬาเอ็นบีเออีกคนหนึ่งวึ่งเปิดเผยตัวเองว่าเป็นคนรักเพศเดียวกันยังโพสต์แสดงความกังวลถึงกฎหมายนี้ในทวิตเตอร์ของเขาด้วย

อย่างไรก็ตามเพนซ์กล่าวปกป้องกฎหมายฉบับนี้อ้างว่าเป็นการคุ้มครองย้อนหลังให้กับผู้ที่รู้สึกว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาของตนกำลังถูกโจมตีโดยการกระทำของรัฐบาล เขากล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออีกว่าแม้จะมีผู้ประท้วงแต่เขาก็จะไม่เปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ เพนซ์ยังปฏิเสธอีกว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เจตนาทำให้เกิดการเหยียดหรือการกีดกัน

ทางด้านผู้อำนวยการด้านกฎหมายของกลุ่มสิทธิคนรักเพศเดียวกัน ซาราห์ วอร์บิโลว์ กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้สะท้อนถึงความอดกลั้นต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และเธอคิดว่ากฎหมายฉบับนี้สามารถส่งผลให้เกิดการกีดกันกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้จริง

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนในวงการไอทีอย่างทิม คุก หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารของแอปเปิ้ล และเจเรมี สต็อปเปลแมน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Yelp ต่างก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงผู้นำคนอื่นๆ อย่าง ฮิลลารี่ คลินตันรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และ เกรก บัลลาด นายกเทศมนตรีเมืองอินเดียนาโปลิสสังกัดพรรครีพับรีกัน ก็พากันต่อต้านกฎหมายฉบับนี้


เรียบเรียงจาก

Indiana Law Denounced as Invitation to Discriminate Against Gays, New York Times, 27-03-2015

National #BoycottIndiana Movement Drives Officials to Backpedal on Anti-LGBTQ Law, CommonDreams, 29-03-2015
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวบหนุ่มวัย 17 โพสต์คลิปชวนฉลองการตายและวิพากษ์อดีตผู้นำสิงคโปร์

$
0
0

เด็กหนุ่มชาวสิงคโปร์แพร่คลิปวิพากษ์ลีกวนยู เป็นผู้นำที่เลวร้าย ควบคุมประเทศด้วยโฆษณาชวนเชื่อและการปิดกั้นสื่อ ถูกจับกุม พร้อมกระแสวิพากษ์ตัวเขาเองทั้งด้านดีและร้าย ขณะที่ครูรายหนึ่งบอก แง่คิดจากเหตุการณ์ดังกล่าวคือ สิงคโปร์ล้มเหลวในการผลิตคนรุ่นใหม่ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์

เอมอส ยี ในคลิปที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ลีกวนยู

เอมอส ยี วัย 17 ปี สัญชาติสิงคโปร์ เผยแพร่คลิปแสดงความยินดีในการเสียชีวิตของอดีตผู้นำที่ได้รับการนับถือว่าเป็นบิดาแห่งชาติของสิงคโปร์ ลีกวนยูเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเรียกลีกวนยูว่า "เผด็จการ" ทั้งยังท้าให้นายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันผู้เป็นบุตรชายของลีกวนยู ฟ้องดำเนินคดีกับเขาด้วย

ต่อมาในบ่ายของวันอาทิตย์ เขาก็ถูกจับกุม โดยเว็บไซต์ Strait Time ระบุว่าเขาถูกจับกุมหลังจากที่มีผู้ไปร้องเรียนที่สถานีตำรวจร้องทุกข์กล่าวโทษต่อยี ถึงกว่า 20 ราย นับตั้งแต่เขาโพสต์คลิปขึ้นยูทูบ ในวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยสเตรทไทม์ระบุว่า เนื้อหาของคลิปนั้นหมิ่นประมาทลีกวนยู และมีบางส่วนหมิ่นศาสนาคริสต์

ทั้งนี้บางส่วนของคลิประบุว่า ในที่สุดลีกวนยูเป็นผู้นำที่เลวร้ายที่สุดของประเทศนี้ แต่พยายามบอกกับโลกว่าสิงคโปร์เป็นประชาธิปไตย ขณะที่ทำเหมือนว่าให้โอกาสกับประชาชนในการเลือกแต่กลับปิดกั้นสื่อ และเสรีภาพ พร้อมๆ ไปกับการโฆษณาชวนเชื่อชาตินิยมให้กับประชาชนทุกเมื่อเชื่อวัน “แล้วพอถึงวันที่เขาตายคุณก็จะเห็นว่าบรรดาสื่อต่างๆ ก็พากันเสนอข่าว “เลียไข่” ลีกวนยู” เขากล่าวด้วยภาษาที่รุนแรง

ยีวิจารณ์ต่อไปด้วยว่า ลีกวนยูนั้นมีชื่อเสียงในการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อคนที่วิพากษ์วิจารณ์เขา ด้วยการฟ้องร้อง เอาเข้าคุกและทำให้ล้มละลาย ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้คนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์เขาเพราะกลัวจะต้องมีปัญหาทางกฎหมายในการถูกดำเนินคดีภายใต้ระบบยุติธรรมที่ลีกวนยูควบคุม ดังนั้นสิ่งที่คนได้ฟังกันก็มีแต่เรื่องว่าลีกวนยูยิ่งใหญ่อย่างไร
ในบางตอนของคลิปเขาได้เปรียบเทียบลีกวนยูกับพระเยซูถึงความเหมือนในการได้รับความนิยมของประชาชน ซึ่งบางอย่างนั้นไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

สำหรับคลิปดังกล่าวมีการเผยแพร่ยูทูปเมื่อวันที่ 27 มี.ค. โดยมีผู้แชร์ไปแล้ว ประมาณ 50,000 ราย อย่างไรก็ตามคลิปที่โพสต์ลงยูทูปว์ถูกตั้งค่าส่วนตัวแล้ว และมีผู้ทำสำเนาและโพสต์ซ้ำใหม่

คลิปดังกล่าวยังถูกเผยแพร่ในเฟซบุ๊กของ Temasek Review และน่าสนใจว่า ความเห็นนั้นมีทั้งชื่นชมและตำหนิติเตียน เช่น ในวัย 17 ปี แทนที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำผู้สร้างคุณูปการต่อชาติ  ยีควรจะตั้งคำถามว่าได้ทำอะไรให้กับชาติได้เท่ากับที่ลีกวนยูเคยทำหรือไม่

บางส่วนของความเห็นที่มี่ต่อ เอมอส ยี จากเพจ Temasek Review

 

เว็บไซต์ The Real Singapore ได้เผยแพร่บทความจากครูรายหนึ่งใช้ชื่อว่า Basheer Khan ซึ่งแสดงความเห็นต่อกรณีของเอมอส ยีว่า ในฐานะครูคนหนึ่ง ถ้ามองข้ามเรื่องการใช้อารมณ์ของเขาไปแล้ว การกล้าแสดงออกและกล้าวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าคุณสมบัติเหล่านี้จึงไม่ค่อยมีอยู่ในเด็กของสิงคโปร์ ดูเหมือนว่าบรรดาบุคลากรทางการศึกษาของสิงคโปร์จะภาคภูมิใจกับความสำเร็จของระบบการศึกษาในศตวรรษที่ 20 ที่เน้นการเรียนการสอนให้เชื่อตามครู แต่ล้มเหลวที่จะสร้างเด็กที่สามารถถกเถียงอภิปราย การมีความคิดเชิงวิพากษ์และสร้างสรรค์อย่างที่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ควรจะมี

อย่างไรก็ตาม ต้นทางของบทความซึ่งมาจากเฟซบุ๊กของ  Basheer Khan นั้น เมื่อคลิกเข้าไปอ่าน ก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อความได้แล้ว

 

เรียบเรียงจาก

17YR OLD S'POREAN ACTOR REJOICES OVER THE DEATH OF LEE KUAN YEW

Amos Yee, who made insensitive remarks on Christianity in anti-LKY video, arrested 

LOCAL TEACHER SAYS 'WE HAVE ONLY OURSELVES TO BLAME FOR AMOS YEE'
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

8 องค์กรสิทธิค้านใช้ม.44 ชี้แย่ยิ่งกว่าอัยการศึก

$
0
0

 


24 พ.ค. 2557 สนามเป้า กรุงเทพฯ
แฟ้มภาพ: ประชาไท

กรณี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ระบุว่า กำลังพิจารณานำมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ซึ่งประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 จนปัจจุบัน 

ล่าสุด (30 มี.ค. 2558) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน 8 องค์กรออกแถลงการณ์คัดค้านการบังคับใช้ มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ ทบทวนการบังคับใช้มาตราดังกล่าว เนื่องจากมาตราดังกล่าวนั้นขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักนิติรัฐ และขัดต่อพันธกรณีด้วยสิทธิมนุษยชน  ซึ่งจะนำมาซึ่งขาดการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ และอาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ และส่งผลประชาชนขาดหลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรงยิ่งไปกว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึก และไม่อาจบรรลุเจตนารมณ์ตามที่ประชาคมโลกเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกได้

อนึ่ง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ศูนย์ข้อมูลชุมชน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
 

มาตรา 44รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557
ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว


แถลงการณ์คัดค้านการบังคับใช้ มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557

เผยแพร่วันที่ 30 มีนาคม 2558

ตามที่ปรากฏข่าวในวันที่ 27 มีนาคม 2558 ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  กำลังพิจารณานำมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาบังคับใช้แทนพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 นั้น องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายนี้ขอแสดงความห่วงกังวลถึงแนวคิดดังกล่าวต่อไปนี้

1. การเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึกของหลายองค์กรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้เกิดการละเมิด เนื่องจากพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวางในการค้น การยึด การเกณฑ์ การห้าม การควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน ตามมาตรา 15 ทวิ และทำให้การพิจารณาคดีในศาลทหารไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตลอดมา

2. หากมีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกโดยนำมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) มาบังคับใช้ แทนพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 ก็ไม่อาจถือเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา แต่จะยิ่งทำให้ประชาชนขาดหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมาตราดังกล่าวได้ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติเหนือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ โดยให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว นั้นชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ซึ่งหมายความว่า การกระทำหรือคำสั่ง รวมถึงการปฏิบัติการตามคำสั่งดังกล่าวนั้นไม่อาจถูกตรวจสอบโดยองค์กรใดได้เลยแม้กระทั้งองค์กรตุลาการ อาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากเกิดความเสียหายขึ้นจากการกระทำดังกล่าวประชาชนก็ไม่อาจได้รับการเยียวยา และไม่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด (Impunity)

3. โดยที่การยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น เป็นไปเพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และประเทศมีกฎหมายที่ให้อำนาจในการควบคุมดุแลความสงบเรียบร้อยอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎอัยการศึกหรือมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อข้างท้ายจึงขอเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทบทวนการบังคับใช้มาตราดังกล่าว เนื่องจากมาตราดังกล่าวนั้นขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักนิติรัฐ และขัดต่อพันธกรณีด้วยสิทธิมนุษยชน  ซึ่งจะนำมาซึ่งขาดการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ และอาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจโดยอำเภอใจ และส่งผลประชาชนขาดหลักประกันต่อสิทธิเสรีภาพอย่างร้ายแรงยิ่งไปกว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึก และไม่อาจบรรลุเจตนารมณ์ตามที่ประชาคมโลกเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกได้

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ศูนย์ข้อมูลชุมชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สั่งจอดำ 7 วัน 'ทีวี 24-Peace TV' เหตุเนื้อหายั่วยุปลุกปั่น ขัดประกาศ คสช.

$
0
0

30 มี.ค.2558เว็บสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส Thai PBS รายงานว่า นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการรองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการออกอากาศรายการโทรทัศน์ช่องทีวี 24 (ช่องเอเชีย อัพเดท เดิม)  ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาผังรายการที่ตรวจสอบเนื้อหาเห็นว่า เนื้อหารายการเข้าข่ายให้ข้อมูลข่าวสารยั่วยุ ปลุกปั่น ขัดต่อประกาศ คสช.ฉบับ 97 และ 103 โดยที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 1 เห็นด้วยตามที่คณะอนุกรรมการเสนอฯและหน่วยงานความมั่นคงส่งมาว่า ขัดประกาศ คสช.จริง จึงมีมติให้พักใช้ใบอนุญาตการออกอากาศช่องดังกล่าว เป็นเวลา 7 วัน นับตั้งแต่วันได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง และให้มีหนังสือแจ้งผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดาวเทียมไทยคม เพื่อระงับการออกอากาศ

สำหรับรายการที่ออกอากาศ ขัดประกาศ คสช.ได้แก่ รายการ Awakened ออกอากาศ วันที่ 2, 5 และ 10 มี.ค. 2558, รายการ News Room ออกอากาศ 28 ก.พ. 2558 , วันที่ 2 และ 10 มี.ค. 2558 และ รายการ The Clear ออกอากาศ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2558

ที่ประชุมยังมีมติให้พักใช้ใบอนุญาตช่อง Peace TV (ช่อง DNN เดิม) เป็นเวลา 7 วัน หลังหน่วยงานความมั่นคงส่งความเห็นมาว่า มีเนื้อหาขัดประกาศ คสช. โดยที่ประชุมเสียงข้างมาก มีมติว่า การออกอากาศดังกล่าว มีเนื้อหายั่วยุปลุกปั่น ขัดต่อประกาศ คสช.ตามที่ผู้รับใบอนุญาตเคยทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับ สำนักงาน กสทช. ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาผังรายการเสนอ

สำหรับรายการที่มีเนื้อหาขัดต่อ ประกาศ คสช. ได้แก่ รายการมองไกล ออกอากาศ  28 ก.พ.2558 และ 7 มี.ค. 2558 รายการคิดรอบด้าน ออกอากาศ 4 และ 5 มี.ค.2558 รายการเดินหน้าต่อไปออกอากาศ  4 - 6 มี.ค. 2558  และรายการเข้าใจตรงกัน ออกอากาศ 4 -5 มี.ค.2558

 

สุภิญญาชี้ลงโทษเกินกว่าเหตุแนะควรลงโทษตามลำดับขั้น ไม่ใช่ลัดขั้นตอน
ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสท. แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ว่า กรณีการพักใช้ใบอนุญาต 7 วัน  ช่อง TV 24 มติ กสท. 3:2 และช่อง PeaceTV มติ กสท. 4:1 ตนเองอยู่ฝ่ายเสียงข้างน้อยทั้งสองกรณี

"ดิฉันอยู่ฝ่ายเสียงข้างน้อย เพราะเห็นว่ารายการดังกล่าวของ 2 ช่อง เป็นการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์การเมือง แม้เลือกข้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นปลุกปั่น อีกทั้งถ้าบางรายการของช่อง 24TV และ PeaceTV มีปัญหาสุ่มเสี่ยง แต่การให้พักใช้ใบอนุญาตทั้งสถานี อาจเข้าข่ายลงโทษเกินกว่าเหตุได้" สุภิญญาระบุและว่า "มากไปกว่านั้นดิฉันเห็นว่า กสท. ควรพิจารณาความผิดบนฐานกฏกติกาของ กสทช.เองก่อนจะใช้คำสั่ง หรืออิงประกาศฯ คสช."

สุภิญญา ระบุว่า การลงโทษผู้รับใบอนุญาตควรเป็นไปตามลำดับขั้นตอน เช่น เตือน ปรับ พักใช้ เพิกถอน เหมือนกรณีความผิดอื่นๆ ไม่ใช่การเมืองแล้วใช้โทษทางลัด

"กสท.ควรใช้ดุลยพินิจว่า การวิพากษ์การทำงานรัฐบาล สนช. สปช. หรือ แม้แต่ คสช. ยังไม่ใช่ความผิดฐานขัดความมั่นคงในตัวของมันเอง ต้องดูสาระด้วย" สุภิญญากล่าว
 

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๗ / ๒๕๕๗
เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฎิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ


เพื่อให้การปฎิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นไปได้ความเรียบร้อย และเพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือนและความเข้าใจผิด อันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
                                   
(๑) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๔/๒๕๕๗ เรื่อง ห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฎิบัติงานของประกาศคณะรักษาความสงบแห่ง ชาติ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
                                   
(๒) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๘/๒๕๕๗ เรื่อง การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
                                   
ข้อ ๒ ห้ามมิให้บุคคลใด รวมทั้งบรรณาธิการ พิธีกร สื่อมวลชน และเจ้าของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ รายการวิทยุโทรทัศน์ และรายการวิทยุกระจายเสียง เชิญบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นนักวิชาการ หรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการ รวมทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติงานในศาลและกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระ มาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดหรือขยายความขัด แย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับสังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง
                                  
ข้อ ๓ ผู้ประกอบกิจการและผู้ให้บริการด้านสื่อมวลชนทุกประเภท ทั้งที่เป็นของราชการและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอลและโทรทัศน์อินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ วารสาร หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งผู้บริการด้านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทอันรวมถึงการสื่อสารทาง สังคมสื่อออนไลน์ มีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ ให้บุคคลดังกล่าวรวมทั้งบุคคลอื่นใดงดเว้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะ ดังต่อไปนี้
                                   
(๑) ข้อความอันเป็นเท็จ หรือที่ส่งไปในทางหมิ่นประมาท หรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
                                   
(๒) ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งหมิ่นประมาทบุคคลอื่น
                                   
(๓) การวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
                                   
(๔) ข้อมูลเสียง ภาพ วีดิทัศน์ ความลับของการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่างๆ
                                   
(๕) ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร
                                   
(๖) การชักชวน ซ่องสุม ให้มีการรวมกลุ่มก่อการอันเกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
                                   
(๗) การขู่จะประทุษร้ายหรือทำร้ายบุคคล อันนำไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน
                                   
ข้อ ๔ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ระงับการชุมนุมหรือกิจกรรมที่ต่อต้านการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่ง ชาติในโอกาสแรก ทั้งนี้ หากเกินขีดความสามารถให้รายงานให้ผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ใกล้เคียงทราบ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
                                  
ข้อ ๕ ในกรณีที่ปรากฎว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ ๒ หรือข้อ ๓ ให้ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อพิมพ์ รวมทั้งการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตาม กฎหมาย
                                  
ข้อ ๖ การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๔/๒๕๕๗ เรื่อง ห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฎิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๘/๒๕๕๗ เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับและยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการ ตามกฎหมายในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงเป็นความผิดและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้  ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ    ณ    วันที่     ๑๘     กรกฎาคม    พุทธศักราช ๒๕๕๗

พลเอก    ประยุทธ์   จันทร์โอชา
(ประยุทธ์   จันทร์โอชา)
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 


ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๓ / ๒๕๕๗
เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๗/๒๕๕๗

         
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะ รักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๗/๒๕๕๗ เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน และความเข้าใจผิด อันจะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีประกาศดังต่อไปนี้
                                   
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของข้อ ๒ แห่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๗/๒๕๕๗ เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                                   
“(๓) การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยมีเจตนาไม่ สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วยข้อมูลอัน เป็นเท็จ”
                                   
ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความในข้อ ๕ แห่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๙๗/๒๕๕๗ เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                                   
ข้อ ๕ ในกรณีที่ปรากฏว่าบุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ ๒ หรือข้อ ๓ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกดำเนิน การสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ”

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ    ณ    วันที่     ๒๑     กรกฎาคม    พุทธศักราช ๒๕๕๗

พลเอก    ประยุทธ์   จันทร์โอชา
(ประยุทธ์   จันทร์โอชา)
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คาดพระสงฆ์ชุมนุมกันหลักหมื่นต้าน ปฏิรูป-จัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ

$
0
0

เว็บไซต์มติชนรายงาน ว่า พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) ที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา(สนพ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการนัดชุมนุมสวดเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อคัดค้านรายงานและข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตราการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน ที่ให้มีการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ

รวมถึงเสนอให้ปรับปรุงกฎมหาเถรสมาคม(มส.)ฉบับที่ 24 พ.ศ.2541 ว่าด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนพระสังฆาธิการ ว่า พระสงฆ์และฆราวาสจะมาร่วมกันสวดมนต์ในวันที่ 31 มีนาคมแน่นอน โดยจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็น 10,000 รูป / คน จากเดิม 5,000 รูป / คน  ถึงแม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ แต่ทางสนพ.ยืนยันว่าจะไม่ถอยอีกแล้ว
  
แหล่งข่าวจาก สนพ.กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตัวแทนรัฐบาลได้เข้าหารือผู้แทน มส.เพื่อหาทางออกกรณีที่พระสงฆ์ระบุว่าจะออกมาสวดมนต์ ทำให้มส.ต้องเชิญตัวแทนสนพ.เข้าหารือ แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ทางผู้แทนมส.จึงต้องเชิญผู้แทนสนพ.มาหารืออีกรอบ แต่ครั้งนี้สนพ.ปฏิเสธ
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจมาเลเซียบุกสำนักงานจับ 2 บก.มาเลเซียนอินไซเดอร์

$
0
0

บรรณาธิการ "มาเลเซียนอินไซเดอร์" 2 ราย ถูกตำรวจมาเลเซียควบคุมตัวและดำเนินคดีตามกฎหมายปลุกระดมยั่วยุ หลังเผยแพร่บทความระบุว่า ในการประชุมประมุขของสหพันธรัฐในมาเลเซีย มีการปฏิเสธเรื่องแก้ไขกฎหมายศาลชารีอะห์ ขณะที่ต่อมาเจ้ากรมลัญจกรของมาเลเซียได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าวและแจ้งความให้ตำรวจสอบสวน

ภาพหน้าแรกจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ "เดอะมาเลเซียนอินไซเดอร์" รายงานข่าวตำรวจบุกจับบรรณาธิการเดอะมาเลเซียนอินไซเดอร์ ช่วงเย็นวันนี้ (30 มี.ค.)

30 มี.ค. 2558 - หนังสือพิมพ์มาเลเซียกินีรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียหลายสิบนาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการคมนาคมและมัลติมีเดียมาเลเซีย (MCMC) ได้บุกสำนักงานหนังสือพิมพ์เดอะมาเลเซียนอินไซเดอร์ (The Malaysian Insider) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ มีสำนักงานอยู่ที่ย่านปัตตาลิงจายา รัฐสลังงอร์

ทั้งนี้ มีการควบคุมตัวบรรณาธิการ 2 คน คือลีโอเนล โมเรส และซูคิฟลี สุหลง เพื่อสอบสวน โดยเป็นไปตามกฎหมายฐานการปลุกระดมยั่วยุ

ในรายงานเพิ่มเติมของหนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ระบุว่า เมื่อวันพุธสัปดาห์ก่อนมาเลเซียนอินไซเดอร์ได้เผยแพร่บทความระบุว่า ในการประชุมของสุลต่าน 9 รัฐ และผู้ว่าการรัฐ 4 รัฐ หรือที่เรียกว่า "the Conference of Rulers" เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ปฏิเสธการแก้ไขกฎหมายศาลชารีอะห์ ค.ศ. 1965

ในบทความดังกล่าวซึ่งอ้างถึงแหล่งข่าวระบุว่า การปฏิเสธการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประชุมของประมุขจากรัฐต่างๆ ในมาเลเซีย อย่างไรก็ตามเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (26 มี.ค.) ซายิด ดาเนียล ซายิด อาหมัด ตำแหน่งเจ้ากรมลัญจกร ซึ่งเป็นผู้รักษาพระราชลัญจกรของประมุขมาเลเซีย ปฏิเสธว่าไม่มีแถลงการณ์ใดๆ ต่อเรื่องกฎหมายฮูดุดในรัฐกลันตัน และได้แจ้งความต่อตำรวจให้ดำเนินการสอบสวนเรื่องดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลื่อนนัดตรวจหลักฐานคดีมือปืนป๊อบคอร์น อัยการกำลังพิจารณาแก้ฟ้องเป็นความผิดฐานเจตนาฆ่า

$
0
0

อัยการขอเลื่อนนัดตรวจหลักฐานคดี ระบุอยู่ระหว่างพิจารณาทำคำสั่งแก้ฟ้อง “มือปืนป๊อบคอร์น” เนื่องจาก นายอะแกว แซ่ลิ้ม ผู้เสียหายที่ 2เสียชีวิต จากความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 มีนาคม ที่ห้องพิจารณาคดี 808 ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขคดีดำ อ.1626/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ฟ้องนายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ หรือทอป มือปืนป๊อปคอร์น อายุ 24 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พกพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และนำอาวุธปืนออกนอกเคหสถานภายในพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกมีปืนเล็กยาวไม่ทราบชนิดและขนาด ติดตัวไปที่ทางแยกหลักสี่ เขตหลักสี่ เป็นพื้นที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และยิงปืนเข้าไปในอาคารศูนย์การค้าไอทีสแควร์ ทำให้น.ส.สมบุญ สักทอง ผู้เสียหายที่ 1 นายอะแกว แซ่ลิ้ม ผู้เสียหายที่ 2 นายนครินทร์ อุตสาหะ ผู้เสียหายที่ 3 และนายพยนต์ คงปรางค์ ผู้เสียหายที่ 4 ได้รับอันตรายสาหัส เหตุเกิดที่แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม.

แต่เมื่อถึงเวลาพนักงานอัยการแถลงต่อศาลขอเลื่อนนัดออกไปอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2เนื่องจากพนักงานอัยการยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทำคำสั่งแก้ฟ้อง หลังจากการเสียชีวิตของนายอะแกว แซ่ลิ้ว ผู้เสียหายที่ 2 จากความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ศาลถามทนายความจำเลยแล้วไม่คัดค้าน จึงมีคำสั่งให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยาน ออกไปเป็นวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 เวลา 13.30 น. 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารไม่มาชี้แจง-‘หมอนิรันดร์’ บุกเรือนจำอีก 3 เม.ย.เยี่ยมผู้ต้องหาที่อ้างถูกซ้อม

$
0
0

 30 มี.ค.2558 เวลา 14.00 น. ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ มีการประชุมของคณะอนุกรรมการสิทธิสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน ที่ประชุมหารือถึงกรณีเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย 9 ราย คดีวางระเบิดหน้าศาลอาญา โดยมีตัวแทนจากสำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผู้แทนกองบังคับการปราบปราม ผู้แทนกองบังคับการตำรวจนครบาล ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในส่วนของตัวแทนจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่มีการตอบรับเข้าร่วมการประชุม เนื่องจากปัญหาเอกสารที่ยังไม่ได้ส่งถึงผู้บัญชาการทหารบกเพื่อขออนุมัติ

นพ.นิรันดร์ กล่าวในที่ประชุมว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กสม.มีการตรวจสอบเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหา โดยเมื่อ 25 มี.ค. ตนกับเจ้าหน้าที่ กสม.และพญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ยื่นจดหมายไปที่เรือนจำเพื่อเข้าพบผู้ต้องหาและทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตรวจสอบร่างกาย แต่เมื่อเดินทางไปถึงทางเรือนจำ เจ้าหน้าที่เรือนจำชี้แจงว่ายังไม่มีหนังสือจากกรมราชทัณฑ์ ทางเรือนจำยืนยันว่าไม่มีคำสั่งจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ จึงได้ทำการเชิญตัวแทนจากหน่วยงานทั้งหมดเข้ามาชี้แจงในที่ประชุม เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงไม่ได้กล่าวหาหน่วยงานใดว่าทำการซ้อมทรมาน

“ผมทำตามหน้าที่ไม่เกี่ยวกับคดีวางระเบิด ผมรู้ว่าอะไรควรพูด ไม่ควรพูด ผมเข้าใจ แต่ถ้าอธิบดีกรมราชทัณฑ์ไม่ให้เข้าไป ทางกรมราชทัณฑ์ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าทำไมไม่อนุญาตให้ กสม. เข้าไปตรวจสอบ ขอยืนยันว่านี่ไม่เกี่ยวข้องเรื่องคดี แต่แม้ว่าจะใช้กฎอัยการศึกก็ไม่มีสิทธิไปซ้อมผู้ต้องหาไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ฝากไปบอกอธิบดีกรมราชทัณฑ์ด้วย ผมปฏิบัติหน้าที่มา 6 ปีจนจะหมดวาระ ยังไม่เคยมีปรากฏกรณีว่ากรมราชทัณฑ์ไม่อนุมัติ” นายนิรันดร์กล่าว

พลตำรวจตรี  จิตติ รอดบางยา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับตัวผู้ต้องหาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ทั้ง 9 ราย โดยเรียกตัวแพทย์ผู้เข้าเวรในเวลาดังกล่าวจากโรงพยาบาลตำรวจเป็นผู้ตรวจร่างกายและรับมอบสิ่งของส่วนตัวของผู้ต้องหา ในวันส่งมอบตัวผู้ต้องหาทั้งหมดได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักการ มีหมายศาลทหารที่ออกในวันส่งหมอผู้ต้องหา มีการแจ้งข้อกล่าวหา แจ้งสิทธิผู้ต้องหา แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนอยู่ในห้องกระจกที่สื่อและประชาชนทั่วไปสามารถเห็นได้ชัดเจน ไม่สามารถมีการทำร้ายผู้ต้องหาอย่างแน่นอน จากนั้นได้ควบคุมตัวเพื่อฝากขังที่ศาลทหารในกรุงเทพฯ และเข้าสู่กระบวนการขังที่เรือนจำชายและเรือนจำหญิง ขอยืนยันว่าไม่มีการทำร้ายแน่นอนในระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจ และเป็นอันสิ้นสุดภาระหน้าที่ของพนักงานสอบสวน

ตัวแทนจากกองบังคับการปราบปราม พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แสงนุ่ม พงส.ผทค.กลุ่มงานสอบสวน บก.ป. กองบังคับการปราบปราม กล่าวว่า ในรายชื่อทั้งหมด 9 ราย มีเพียง แหวน ณัฎฐธิดา มีวังปลา คนเดียวที่ทางเจ้าหน้าที่ทหารร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ต้องหาว่ามีการติดต่อผ่านไลน์ในกลุ่มที่มีการหมิ่นสถาบันฯ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจำเป็นต้องมีการดำเนินคดี

ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ชี้แจงต่อว่า สามารถชี้แจงได้เฉพาะในส่วนที่รับตัวผู้ต้องหาต่อมาจากเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ทราบในส่วนเรื่องการจับกุมหรือการควบคุมตัวก่อนหน้า ในเรื่องการตรวจร่างกายได้ดำเนินการก่อนที่จะมีการสืบสวนสอบสวน รายละเอียดจากการตรวจของแพทย์เท่าที่ทราบไม่มีการได้รับบาดเจ็บตามที่เผยแพร่ในสื่อ เรื่องของข้อมูลการทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาหากมีการแจ้งความเจ้าหน้าที่ก็รับแจ้งความตามปกติ

จากนั้นคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องการตรวจร่างกายก่อนรับมอบส่งตัวผู้ต้องหาหากเป็นแค่แพทย์เวรไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถบอกว่าบาดแผลเกิดขึ้นเมื่อไร หรือเวลาอาจมีความคลาดเคลื่อน

ด้านตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าในส่วนของเรือนจำชายได้ทำการตรวจร่างกายโดยพยาบาล เนื่องจากหมดเวลาทำการของแพทย์ แต่หลังจากนั้นมีแพทย์เข้าตรวจร่างกายหรือไม่ต้องขอกลับไปตรวจสอบข้อมูล ประเด็นที่เป็นไปตามสื่อ ทางกรมราชทัณฑ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการซ้อมทรมานผู้ต้องหา ส่วนกระบวนการตรวจร่างกายมีการสอบถามปากคำ ไม่มีการกักตัวผู้ต้องหาในที่ลับ มีการถ่ายรูปหน้าตรง ด้านข้างและถอดเสื้อถ่ายรูป เพื่อทำทะเบียนประวัติ หาก กสม. ต้องการขอภาพถ่ายตรวจร่างกายและแบบฟอร์มการตรวจร่างกายให้ทำการยื่นหนังสือขอไป

ตัวแทนจากทัณฑสถานหญิงได้ชี้แจงว่า เมื่อมีผู้ต้องหาฝากขังจะมีการตรวจสอบร่างกาย และกรอกแบบฟอร์มการตรวจร่างกาย มีการเขียนว่าที่ร่างกายมีร่องรอยการทำร้ายหรือไม่และให้ผู้ต้องขังเซ็นกำกับ พร้อมมีรูปถ่าย ในส่วนกรณีรับตัวผู้ต้องขังฝ่ายทะเบียนจะมีระเบียนประวัติ สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ มีการถ่ายรูปด้านหน้า ด้านข้าง เพื่อทำทะเบียนประวัติผู้ต้องขังและสำหรับผู้ต้องหาหญิงวางระเบิดศาลอาญาทั้งสองราย ไม่มีรายละเอียดเรื่องการถูกซ้อมแต่อย่างใด

ขณะที่ จอน อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในอนุกรรมการตั้งข้อสงสัยว่าการที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ปฏิเสธไม่ให้เยี่ยม เปรียบเสมือนเป็นการยอมรับว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นจริงเพราะปกติไม่เคยมีกรณีที่ทาง กสม. ยื่นหนังสือแล้วมีการปฏิเสธไม่ให้เยี่ยม แต่กรณีของ 9 ผู้ต้องหาวางระเบิดหน้าศาลอาญากลับมีการปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยม แม้ว่ากรมราชทัณฑ์จะไม่มีการทำร้ายผู้ต้องหา แต่กรมราชทัณฑ์ปกป้องไม่ให้ กสม. เข้าตรวจสอบว่าใครผิด ที่สำคัญ ควรออกมาตรการแนวปฏิบัติระหว่าง กสม. กรมราชทัณฑ์ กรมตำรวจ และทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

เรื่องขั้นตอนการดำเนินการต่อไปนั้น นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ได้ฝากตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์เขียนบันทึกถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อตอบจดหมายที่ได้ขออนุญาตเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาทั้ง 9 รายไปแล้วก่อนหน้านี้ และกำหนดจะเดินทางเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาทั้งหมดอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 3 เม.ย. เวลา 09.30 น. โดยเน้นย้ำขอให้อธิบดีตอบจดหมายฉบับเดิมมาให้ชัดเจน และทาง กสม.จะไม่ยื่นจดหมายฉบับใหม่ไปเนื่องจากยังไม่ได้รับการตอบจากจดหมายฉบับดังกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยหลังฉายหนัง CITIZENFOUR: เมื่อโลกไซเบอร์ไม่อาจรักษาความลับ

$
0
0

เสวนา " Citizenfour หนัง-คอมพ์-คน-พลเมืองดิจิทัล" หลังชมภาพยนตร์ Citizenfour ก้อง ฤทธิ์ดี ชี้ว่าความคิดของเราเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรที่จะให้คนล่วงรู้ตลอดเวลาในนาม "ความมั่นคงของชาติ" อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กล่าวว่า หากออกกฎหมายหรือเทคโนโลยีด้านไซเบอร์แล้วทำให้ "คนอีกฝั่ง" มีอำนาจเหนือตัวเรา แบบนี้ไม่เข้าท่า

 

 

 

ไฮไลท์จากการเสวนา "Citizenfour หนัง-คอมพ์-คน-พลเมืองดิจิทัล" ติดตามคลิปจากการเสวนาฉบับเต็มเร็วๆ นี้

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ SF Cinema เซ็นทรัลเวิร์ด มีการเสวนา "Citizenfour หนัง-คอมพ์-คน-พลเมืองดิจิทัล" โดยเป็นการเสวนา ในช่วงที่มีการฉายภาพยนตร์ Citizenfour หรือ พลเมืองสี่: แฉกระฉ่อนโลก โดย Documentary Clubซึ่งฉายสารคดีเรื่องดังกล่าวในโรงภาพยนตร์เครือ SF ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. และมีการเพิ่มรอบฉายจนถึงวันที่ 31 มี.ค.

โดยวิทยากรในการเสวนาประกอบด้วย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network), พิชญพงษ์ ตันติกุล กลุ่ม 2600 Thailand และ ก้อง ฤทธิ์ดี คอลัมน์นิสต์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ดำเนินรายการเช้าทันโลก FM 96.5 MHz

000

พิชญพงษ์ ตันติกุล กล่าวว่า จากที่เห็นในภาพยนตร์ ในชีวิตจริงก็เคยเห็นคนพกอุปกรณ์หลายอย่าง เช่น พกมือถือหลายเครื่อง เผื่อระบบล่ม จะใช้อีกเครื่องอีกเครือข่ายเพื่อติดต่อได้ หรือพกโน๊ตบุคหลายเครื่องเผื่อถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบข้อมูลในโน๊ตบุ๊ค ก็จะมีการเข้ารหัสข้อมูลในโน๊ตบุคเพื่อไม่ให้คนเข้ามาถือ

หรือการส่งข้อมูลทางอีเมล์ เราสามารถถูกโจมตีได้ตลอดเวลา เราใช้อินเทอร์เน็ตหรือไวไฟ อาจถูกคนที่ใช้ไวไฟเดียวกับเรา ถ้าเราไม่เข้ารหัสข้อมูล ก็อาจถูกขโมยข้อมูล ในภาพยนตร์จะเห็นการถอดรหัสข้อมูลแบบ GnuPG และสุดท้ายก็ออกมาเป็นข้อความที่อ่านได้

กรรณิการ์ ถามด้วยว่า รู้สึกตกใจไหมว่าประเทศสหรัฐอเมริกาทำขนาดหรือ ประเทศที่ร่วมมือกันทำแบบนี้ พิชญพงษ์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้หากประเทศหลายฝ่ายร่วมมือกัน ทุกวันนี้เวลาเราส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ด้านหลังจากไอเอสพี เราไม่รู้เลยว่าระหว่างทางที่เราส่งข้อมูลจนถึงสหรัฐอเมริกา จนถึงเฟซบุ๊ค จะมีใครดักเก็บข้อมูลหรือเปล่า เป็นเรื่องที่เราคาดเดาไม่ได้ เรารู้แค่จากจุดเราไปถึงจุดนี้เท่านี้เอง

ก้อง ฤทธิ์ดี กล่าวว่า ประเด็นของหนังก็คือ ความสมดุลระหว่างความมั่นคงของชาติ กับ สิทธิส่วนบุคคล ความสมดุลอยู่ที่ไหน แต่ละที่ความสมดุลอาจต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น กับคำพูดที่ว่า "ถ้าไม่ทำผิดก็ไม่ต้องกลัวอะไร" นั่นก็แปลก หรือ "ถ้าอย่างนั้นผมขอพาสเวิร์ดได้ไหม ผมไม่เอาไปทำอะไรหรอก ผมเป็นคนดี" นึกออกไหมครับ

"สำหรับผมคิดว่าความคิดของเราเป็นของศักดิ์สิทธิ์ คือเราจะเลือกแชร์ความคิดนั้นกับใครอยู่ที่เรา ไม่ควรมีใครจะบอกว่า "ผมสามารถรู้ความคิดคุณได้ตลอดเวลาเพราะนี่คือเรื่องความมั่นคงของชาติ" ผมไม่คิดว่าเป็นบรรยากาศที่ดีสำหรับในสังคมซึ่งต้องการมีประชาธิปไตย หรือสังคมซึ่งสนับสนุนให้เกิดการถกเถียง มี "Free discussion" เพราะเรามีคนที่รู้ตลอดเวลาว่าเราคิดอะไร และเป็นคนที่เราไม่อยากให้รู้ หรือไม่พร้อมจะให้รู้ มันคือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ข้ออ้างที่ว่า "ความมั่นคงของชาติ" โอเคมันมี แต่กลไกทางกฎหมายที่จะล็อคไว้เป็นชั้นๆ จะมีแค่ไหน"

"จากในภาพยนตร์ จะเห็นว่าการขอข้อมูลในสหรัฐอเมริกา กับพลเมืองตัวเองต้องขอหมายศาล แต่คนที่ไม่ใช่พลเมืองตัวเองไม่ต้องขอหมายศาล ซึ่งสำหรับเอ็ดเวิร์ด สโนวเดนเขาคิดว่าไม่แฟร์ ผมก็คิดว่าไม่แฟร์ ผมคิดว่าขั้นตอนการล็อคทางกฎหมายควรมีอยู่กี่ขั้น ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่ผมเชื่อว่าต้องมีเพื่อการรักษาสมดุลระหว่างความคิดของเรากับประโยชน์ส่วนร่วม เรื่องนี้ถกเถียงกันได้ แต่กลไกทางกฎหมายมันแน่นหนาพอหรือเปล่า และกลไกนั้นเราสามารถถกเถียงกันหรือแชร์กันเพื่อตกลงกันว่ากลไกอยู่แค่ไหนหรือเปล่า ไม่ใช่อยากได้แบบนี้ก็จะเอาแบบนี้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่กระทบสิทธิส่วนบุคคลของเรา"

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กล่าวว่าถึง ระบบอินเทอร์เน็ตแบบไม่ได้เข้ารหัสเปรียบเทียบกับระบบไปรษณีย์ว่า "ทุกๆ ครั้งเวลาเราส่งข้อมูล เหมือนเราส่งโปสการ์ด เราเขียนข้อความไปหย่อนที่ตู้ ถึงเวลามีบุรุษไปรษณีย์มาไขตู้ เอาโปสการ์ดไปที่ไปรษณีย์ที่เขต และเขตจะรวบรวมไปศูนย์คัดแยก และศูนย์คัดแยกก็ส่งที่เขตนั้น จังหวัดนั้น ส่งไปที่ไปรษณีย์ย่อย และบุรุษไปรษณีย์ของเขตจะนำไปหย่อนที่บ้านเพื่อนเรา"

"ทุกคนที่อยู่ในกระบวนการส่งไปรษณีย์ อ่านข้อความของเราได้หมด คือเราไม่ได้เข้ารหัส การส่งข้อมูลทั่วไปในอินเทอร์เน็ตเหมือนส่งโปสการ์ด ส่วนการเข้ารหัส จะช่วยหน่อยหนึ่ง คืออาจไม่ได้รับประกันความลับ การเข้ารหัสในโลกยังถูกถอดรหัสได้ ปัญหาคือนานแค่ไหนกว่าจะถอดรหัสได้ จะใช้เวลา 1 วันในการถอดรหัส หรือ 10 วัน หรือ 100 ปี มันถอดรหัสได้หมด ถ้าเมื่อเราพูดการประเมินความเสี่ยง เช่นอีก 1,000 ปีถอดรหัสได้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเราได้แล้ว ถ้าข้อมูลลับมากๆ เอาการเข้ารหัสอีก 1,000 ปีถอดได้ก็น่าจะปลอดภัยอยู่ แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่มันก็ไม่ได้สำคัญอะไรก็ไม่ต้องเข้ารหัสก็ได้ ประเด็นของการเข้ารหัสคือมันประวิงเวลาได้แค่ไหน"

"ถ้าดูในภาพยนตร์ตอนที่สโนวเดนพยายามติดต่อคนทำสารคดี เขาบอกเลยได้ว่า การเข้ารหัสนี้ไม่ใช่เกราะกันกระสุน เพียงแต่ขอให้มีที่โล่งให้หายใจได้ สโนวเดนประเมินไว้เรียบร้อยแล้วว่าต้องเปิดหน้า เพราะสุดท้ายการที่เขาทำงานให้กับรัฐ แล้วอยู่ดีๆ หายตัวไป ต้องมีคนผิดสังเกตและสาวถึงตัวเขาได้อยู่แล้ว แต่การเข้ารหัสเขาคิดว่าช่วยประวิงเวลาได้ อาจทำให้เขามีเวลาเพิ่มขึ้นได้อีก 10 วัน และในเวลา 10 วันเขาสามารถจัดการบางอย่าง เช่น ติดต่อนักข่าว ติดต่อคนทำสารคดีได้ และหลังจากนั้น 10 วันต่อให้ถูกถอดรหัส ที่ทำงานสืบหาเขาได้ ก็ไม่เป็นไรแล้ว เขาหมดภาระกิจแล้ว เขาอาจจำเป็นต้องมีความลับ 10 วันนี้ แต่หลังจาก 10 วันนี้ เขาต้องการเปิดหน้า เขาขอระยะเวลาพอได้ทำภารกิจจบปุ๊บ เขาโอเคแล้ว"

สุดท้ายแล้ว คิดว่าเราอาจจะคาดหวังความลับ 100% ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ในโลกทุกวันนี้ แต่กลไกทางกฎหมายบางอย่างที่ว่าคุณต้องผ่านขั้นตอน หรือเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต ช่วยประวิงเวลาให้เราได้ ทำให้เราตั้งตัวได้ว่าจะเอาอย่างไรต่อดี และทำให้ตัวเราเองยังมีอำนาจในการควบคุมชีวิตเราอยู่บางประการ คือไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหรือเทคโนโลยี ต้องถามว่าสุดท้ายมันทำให้เราควบคุมชีวิตเราได้หรือเปล่า แต่ถ้ากฎหมายหรือเทคโนโลยีออกมาแล้วกลับทำให้คนอีกฝั่ง มีอำนาจเหนือเราแบบนี้มันไม่เข้าท่าแล้ว

สำหรับเรื่องย่อของภาพยนตร์ Citizenfour เราเรื่องช่วงที่เอ็ดเวิร์ด สโนวเดน เตรียมเปิดเผยข้อมูลของโครงการสอดแนมอินเทอร์เน็ตหรือ NSA ของสหรัฐอเมริกา โดยเขาใช้นามแฝงว่า "พลเมืองสี่" เพื่อส่งอีเมล์ถึง "ลอร่า พอยทราส" ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว นำไปสู่การเปิดโปงโครงการดังกล่าว โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ปีล่าสุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ. ประยุทธ์ ยันจะใช้ มาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ ถามจะกลัวอะไรนักหนา ขอให้เข้าใจกันบ้าง

$
0
0

นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยันไม่ใช้มาตรา 44 รุกรานใคร ชี้ พ.ร.บ. ฉุกเฉิน เอาไม่อยู่ ถามจะกลัวอะไรกันนักหนา แม้จะขัดแย้งสามอำนาจ ก็จะใช้อย่างสร้างสรรค์

ที่มาภาพ : ศูนย์สื่อทำเนียบ เว็บไซด์รัฐบาลไทย

31 มี.ค. 2558 มิติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 30 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ที่หอประชุมกระทรวงคมนาคม ถึงการใช้อำนาจมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ที่ระบุไว้ในกรณีหัวหน้า คสช.เห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้า คสช.โดยความเห็นชอบของ คสช.มีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการ กระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ว่าจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์ มาตรา 44 เป็นการให้อำนาจในฐานะหัวหน้ารัฐบาล สามารถทำอะไรที่ให้เกิดความสงบเรียบร้อยในประเทศชาตินี้ได้ สามารถทำได้เลย ไม่ต้องอาศัยอำนาจทางสามแท่ง

"ถามว่าคนอย่างผมจะทำเพื่อไปรุกรานหรือแกล้งใคร ผมไม่ทำ แต่มันจำเป็นเข้าใจหรือยัง อะไรก็ได้ มาตรา 47 ก็มียังไม่ใช้ ตรงนี้ขอให้เข้าใจบ้าง ทำไมกลัวนักหนามาตรา 44 วันนี้ไม่กลัวหรือกฎอัยการศึก ซึ่งหนักกว่ามาตรา 44 ควบคุมทุกเรื่อง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าทางพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แทน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ลองไปถามทั้งสองพรรคสองรัฐบาลที่ผ่านมา 10 ปีที่ผ่านมาประกาศหรือเปล่า ทั้ง พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ก็ยังตีกันเหมือนเดิม แล้วทั้งสองรัฐบาลก็โดนทั้งคู่ หากไปใช้แบบนี้แล้วจะเอาอยู่ไหมล่ะ

ที่มาภาพ : ศูนย์สื่อทำเนียบ เว็บไซด์รัฐบาลไทย

เมื่อถามว่าแสดงว่านายกฯจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่มีอยู่อย่างจำกัดใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า

"พูดไปร้อยครั้งแล้ว ใช้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ได้ใช้เพื่อสร้างความขัดแย้ง ฉะนั้นต้องเข้าใจ แต่คนที่ขัดแย้งอ้างว่าใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญ บ้านเมืองปลอดภัย ผมว่ามีเจตนาอะไรกัน ไม่แน่ใจนะ ไม่อยากไปกล่าวอ้าง ขอถามว่ายกเลิกกฎอัยการศึกแล้วจะเกิดอะไรขึ้น 1.การประท้วง 2.แกนนำออกมาเคลื่อนไหว ท้าทายรัฐบาลใช่หรือเปล่า ใช่ไหม ไม่มีใครตอบ ตอบสิ อย่างไรก็ตาม มาตรา 44 ให้ผมทำอะไรก็ได้ ถึงจะไปขัดแย้งกับสามอำนาจศาล ผมก็ทำได้ ถ้ามันทำแล้วไม่เกินกว่าเหตุหรือสร้างสรรค์ ผมไม่มีความผิด เป็นการใช้อำนาจอาศัยตามมาตรา 44 จะออกเป็นคำสั่งตามอำนาจ คสช.หรือรัฐบาลก็ได้"

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุก 50 ปี! สารภาพลดกึ่งหนึ่ง ศาลทหารพิพากษาคดี 112 'ใหญ่ แดงเดือด'

$
0
0

 

31 มี.ค. ช่วงสายที่ผ่านมา ศาลทหารพิพากษาคดีที่นายเธียรสุธรรม หรือผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า 'ใหญ่ แดงเดือด' ว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 5 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 10 ปี รวม 50 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 25 ปี

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึงเป็นทนายจำเลยกล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า การอ่านคำพิพากษาเป็นไปอย่างปิดลับ ญาติจำเลยและผู้สังเกตการณ์เข้าฟังไม่ได้ ในการอ่านคำพิพากษาศาลไม่อ่านข้อความที่กระทำผิด ระบุเพียงว่าเป็นการกระทำผิดตามฟ้อง นอกจากนี้ศาลยังให้เหตุผลที่ไม่รอลงอาญาว่าเนื่องจากเป็นการกระทำผิดต่อสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักเทิดทูนของปวงชนชาวไทย ประกอบกับศาลลงโทษสถานเบาแล้วจึงไม่รอลงอาญา โทษจำคุกให้นับรวมการคุมขังในเรือนจำที่ผ่านมาด้วย แต่ไม่นับวันที่ถูกคุมตัวตามกฎอัยการศึก 7 วัน

เธียรสุธรรมอายุ 58 ปี จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว เขาถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.57 ถูกนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายทหารก่อนส่งให้ตำรวจเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา ทำการฝากขัง และขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรื่อยมาจนปัจจุบัน เคยยื่นประกันตัวแต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน

ไอลอว์ระบุว่า “ใหญ่ แดงเดือด” มักโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การเมือง และโจมตีการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) รวมทั้งการทำงานของคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเรื่อยมา โดยมีการทำกราฟฟิคภาพพร้อมข้อความที่มีเนื้อหาเสียดสีการทำงานของรัฐบาล และพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ คำฟ้องระบุการโพสต์ของเขา 5 ข้อความในระหว่างเดือนกรกฎาคม –พฤศจิกายน 2557

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คดี 112 'บัณฑิต อานียา' ศาลทหารนัดพร้อม 22 มิ.ย.

$
0
0

 

31 มี.ค.58  เวลาประมาณ 9.30 น.ศาลทหารมีการพิจารณาคดีที่ บัณฑิต อานียา นักแปลนักเขียนวัย 73 ปีเจ้าของสมญา นักเขียนกึ่งบ้ากึ่งอัจฉริยะ เป็นจำเลย ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยในวันนี้เป็นการสอบคำให้การจำเลยว่ายอมรับตามฟ้องโจทก์หรือไม่ บัณฑิตให้การปฏิเสธ

ศาลถามว่าจำเลยได้เคยกระทำความผิดคดีลักษณะเดียวกันนี้จนศาลฎีกาเคยพิพากษาจำคุก 4 ปีแต่รอลงอาญาไว้ 3 ปี เมื่อวันที่ 17 ก.พ.57 จริงหรือไม่ จำเลยกล่าวยอมรับว่าเป็นความจริง

ศาลทหารจึงนัดให้มีการไต่สวนนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 22 มิ.ย.58

บัณฑิต ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.57 หลังจากไปร่วมงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยพรรคนวัตกรรม ซึ่งเป็นพรรคตั้งใหม่ยังไม่ได้จดทะเบียน การเสวนานี้เป็นการระดมความเห็นเกี่ยวกัการปฏิรูปในประเด็นต่างๆ เช่น อำนาจ กกต., ที่มา ส.ส., สถาบันกษัตริย์ ฯลฯ เพื่อรวบรวมความเห็นส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 15 คน โดยขณะที่บัณฑิตกำลังแสดงความคิดเห็นอยู่ก็โดนรวบตัวทันทีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สังเกตการณ์อยู่ในงานโดยที่ยังพูดไม่จบประโยค หลังจากนำตัวมาสอบปากคำที่ สน.สุทธิสารและถูกควบคุมตัวไว้หนึ่งคืน วันที่ 28 พ.ย. ตำรวจนำตัวเขาไปขออำนาจฝากขังต่อศาลทหาร ศาลอนุญาตให้บัณฑิตประกันตัวโดยมี 'วาด รวี' เพื่อนร่วมอาชีพเป็นนายประกัน และใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 400,000 บาท ขณะที่ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเขียนคำร้องประกอบระบุถึงปัญหาสุขภาพที่ผู้ต้องหาเหลือไตเพียงข้างเดียวและต้องมีถุงปัสสาวะติดลำตัวมาตลอดหลายปี จากนั้นบัณฑิตเข้ารายงานตัวต่อศาลในทุกนัดฝากขังจนครบ 7 ผลัด และมีการสั่งฟ้องในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในคำฟ้องระบุคำพูดของจำเลยเพียง 2 ประโยค ประโยคแรกกล่าวถึงความแตกแยกของสังคมไทยและสถานะของสถาบันกษัตริย์กับกฎหมาย ประโยคที่สองกล่าวถึงระบอบการปกครองว่าจะเลือกแบบใด

ทั้งนี้คดีนี้นับเป็นคดีที่ 2 ที่เขาตกเป็นจำเลยหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในครั้งแรกนั้นเขาถูกขังในเรือนอยู่นาน 70 กว่าวัน รวมทั้งถูกส่งตัวไปรักษาในสถาบันจิตเวชด้วยก่อนได้รับการประกันตัว ต่อมาศาลอาญาลงโทษจำคุก 4 ปีแต่ให้รอลงอาญาเนื่องจากจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเวช ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญา กระทั่งเมื่อต้นปี 2557 ศาลฏีกาจึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ฉบับที่ 1/2558 กรณีวิสามัญฆาตกรรมทุ่งยางแดง

$
0
0

เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ชี้เหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมที่ทุ่งยางแดง เป็นเชื้อเพลิงหล่อเลี้ยงความขัดแย้ง จี้รัฐลงโทษเจ้าหน้าที่ที่มีความผิด เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพ พร้อมขอสื่ออย่าเสนอความจริงด้านเดียว

เมื่อวานนี้ 30 มี.ค. 2558 เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีวิสามัญฆาตดรรม 4 ศพ โดยที่ 2 ใน 4 เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฎอนี และการควบคุมตัวชาย 22 คน ชี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวแปรหล่อเลี้ยงความขัดแย้ง ซึ่งส่งผลต่อบรรยากาศของขบวนการสันติสุข พร้อมยื่นข้อเสนอต่อรัฐลดเชื้อเพลิงความขัดแย้ง

แถลงการณ์เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ฉบับที่ 1/2558
กรณีวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพกับอีก 22 คนถูกควบคุมตัวที่ทุ่งยางแดง

เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2558 เวลาประมาณ 17.00 น.ได้เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงและขัดกับหลักมนุษยธรรม สากลอย่างปฏิเสธไม่ได้นั่นคือเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าได้ปิดล้อมจับตายเยาวชน 4 คน ซึ่ง 2 ใน 4 คน ที่เสียชีวิตนั้น เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และควบคุมตัวชายฉกรรจ์จำนวนทั้งหมด 22 คน ที่บ้านโต๊ะชูด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสสูงของกระบวนการสันติภาพสันติสุข ซึ่งส่งผลให้อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่มีความคาดหวังสูงว่า สันติภาพสันติสุขคงเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่ความคาดหวังสูงดังกล่าวก็ต้องมาติดลบอีกครั้งด้วยเหตุการณ์สลดใจสะเทือนขวัญในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหตุการณ์ครั้งนี้ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญของการขยายตัวเป็นเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความขัดแย้งจนส่งผล กระทบต่อบรรยากาศของกระบวนการสันติภาพสันติสุขนั้นคือ การสรุปและมองเหตุการณ์ในครั้งนี้ของทางภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะญาติๆ ผู้สูญเสียและเพื่อนพ้องน้องพี่ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับ มหาวิทยาลัยฟาฏอนีนั้น สรุปและมองเหตุการณ์ครั้งนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวการสรุปเหตุการณ์ของภาครัฐ โดยผ่านการชี้แจงเบื้องต้นหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นได้ 1 วัน ของโฆษก กองอำนวยการรักษาความั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ดังนี้

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เผยกับคลื่นข่าว 100.5 ว่า “จาก การที่เจ้าหน้าที่ปะทะผู้ก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี วานนี้ คนร้ายเสียชีวิต 4 คน สามารถควบคุมแนวร่วมได้ 22 คน ยึดอาวุธปืน 4 กระบอก เป็นปืนอาก้า 3 กระบอก ปืนพก 1 กระบอก ระบุ เหตุดังกล่าวเป็นไปตามปฏิบัติการทุ่งยางแดงโมเดล หลังประชาชนแจ้งเบาะแสพบความเคลื่อนไหวของผู้ก่อเหตุความรุนแรงเตรียมเข้ามาโจมตีฐานปฏิบัติในพื้นที่ โดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้วยความระมัดระวัง”

แต่ข้อสรุปของบรรดาญาติๆ และชาวบ้านต่อ เหตุการณ์นี้คือ ผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คนนั้นไม่ใช่คนร้าย และไม่ใช่แนวร่วมขบวนการฯแต่อย่างใด อีกทั้ง 2 ใน 4 คน ที่เสียชีวิตนั้นยังเป็นนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วยซ้ำ

เมื่อข้อสรุปของภาครัฐและประชาชนต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ต่างกันสุดขั้วนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เกิดแรงกระเพื่อมขยายสร้างและเพิ่มเงื่อนไขหล่อเลี้ยง ความขัดแย้งยืดเยื้อโดยปริยาย กล่าวคือ

1.เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบไปบั่นทอนบรรยากาศของกระบวนการสันติภาพสันติสุขที่กำลังเป็นกระแสสูง และยิ่งตอกย้ำ ความรู้สึกของประชาชนว่าไม่สามารถไว้วางใจต่อนโยบายหรือข้อตกลงหรือการรณรงค์ใดๆ ซึ่งคาบเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพสันติสุขที่มาจากภาครัฐ

2.เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมหรือหลักนิติรัฐแห่งประเทศไทยโดยตรง หากปลายทางของการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งมาจากกลไกที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่นั้นสรุปว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีความผิดจริง แต่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถลงโทษทางอาญาได้ ยิ่งทำให้ประชาชนเพิ่มความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและยิ่งเพิ่มความรู้สึกร่วมกับขบวนการปลดปล่อยปาตานีอย่างเข้าใจว่า ที่ขบวนการฯได้ใช้กิจกรรมทางอาวุธต่อสู้กับรัฐนั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรม โดยภาวะวิสัยตามสภาพความเป็นจริงแล้ว

เพื่อเป็นการลดทอนน้ำหนักการเป็นเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความขัดแย้ง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ในครั้งนี้และเชื่อว่าภาครัฐเองก็คงเห็น ด้วยที่จะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความขัดแย้ง เสมือนเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีเป็นอันแน่

เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพจึงมีข้อเรียกร้องต่อภาครัฐ ดังต่อไปนี้

1.ระดับนโยบายของภาครัฐต้องแสดงความจริงจังต่อการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อกระบวนการสันติภาพสันติสุข โดยการเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏต่อสาธารณและหากผลสรุปตรงตามข้อมูลข้อ เท็จจริงของชาวบ้าน คือ เจ้าหน้าที่รัฐมีความผิดจริงนั้น รัฐต้องลงโทษทางอาญาอย่างไม่มีข้อยกเว้นใดๆ

2.หากกลไกการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของ ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ มีผลสรุปออกมาว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปะทะกับผู้ก่อเหตุรุนแรงจริง อีกทั้งผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คน และผู้ถูกควบคุมตัว 22 คน ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับอาวุธปืนทั้ง 4 กระบอกดังกล่าว ขอให้ภาครัฐระดับนโยบายทำการแถลงข่าวชี้แจงเพื่อแก้ข่าวให้ตรงตามความเป็นจริงด้วยในทันที

3.ขอเรียกร้องต่อสื่อ อย่าทำตัวเสมือนเป็นโฆษก กอ.รมน. เสียเอง เมื่อมีเหตุการณ์อ่อนไหวที่สร้างความสูญเสียชีวิตต่อประชาชนดังเช่น เหตุการณ์ในครั้งนี้ ขอความกรุณาอย่านำเสนอข้อมูลจาก กอ.รมน. เพียงด้านเดียว มิเช่นนั้นสื่อเสียเองที่จะสร้างเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความขัดแย้งระหว่างรัฐ กับประชาชน

ด้วยจิตรักสันติภาพและประชาธิปไตย
เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ
30 มีนาคม 2558

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลทหารชลฯ ให้ประกันคนงานระยองโปรยใบปลิว ‘ประชาธิปไตยจงเจริญ’ แล้ว

$
0
0

ตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง หนุ่มคนงานระยองโปรยใบปลิว “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” คุมตัวเข้าสอบค่ายทหาร ก่อนศาลทหารจังหวัดชลบุรีให้ประกันด้วยหลักทรัพย์ 7 หมื่น

หลังจากเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ต.ชุมพล ฉันทะจำรัสศิลป์ ผบก.ภ.จว.ระยอง เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้คุมตัวนายพลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล อายุ 22 ปี อยู่บ้านเลขที่ 33/73 หมู่ 4 ต.ทับมา อ.เมืองระยอง มือโปรยใบปลิวต่อต้านเผด็จการ มาจากค่ายทหาร จ.ชลบุรีแล้ว หลังให้การรับสารภาพ เป็นผู้ลงมือโปรยใบปลิว เพื่อมาควบคุมที่สภ.เมืองระยอง พร้อมควบคุมตัวและนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายทหารใน จ.ชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา

จากกรณีที่ 02.00 น. วันที่ 21 มี.ค. 58 ได้มีชายลึกลับขี่รถจักรยานยนต์ นำใบปลิวมีข้อความปลุกระดมให้ลูกขึ้นสู้ และมีรูปชูสามนิ้ว มาโปรยที่หน้าหอพระพุทธอังคีรส สวนศรีเมือง หน้าโรงเรียนระยองวิทยาคม และวิทยาลัยเทคนิคระยอง ล่าสุด เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้แล้ว เป็นพนักงานบริษัท ปตท.จีซี จ.ระยอง

ล่าสุดเมื่อวันที่ (30 มี.ค.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลทหารจังหวัดชลบุรี (มณฑลที่ 14) ให้ประกันตัวนายพลวัฒน์ หนุมโปรยใบปลิวระยอง ด้วยหลักทรัพย์ 70,000 บาท

โดยนายพลวัฒน์ ถูกจับกุมในข้อหายุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ที่ห้ามวิพากษ์ วิจารณ์ คสช. ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 จากการโปรยใบปลิวต่อต้านเผด็จการที่จังหวัดระยอง

สำหรับข้อความในใบปลิวดังกล่าว คือข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ถูกใช้เป็นกระแสมาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา บนป้ายผ้าด้านหลังอัฒจันทร์ 2 ผืน ที่สนามศุภชลาศัย ระหว่างงานฟุตบอลเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70  จากนั้น มีผู้นำป้ายผ้าข้อความลักษณะดังกล่าวติดไว้ที่บริเวณสะพานลอยหน้า มหาวิทยาลัยบูรพา รวมทั้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งข้อความนี้มาจากคำกล่าวของครูครอง จันดาวงศ์ กล่าวก่อนถูกประหารชีวิตที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อ 31 พ.ค.2504 ตามมาตรา 17 ของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในข้อหากบฏต่อความมั่นคง และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 

และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่นายพลวัฒน์ถูกตั้งข้อหานั้น บัญญัติไว้ว่า ผู้ใด กระทำให้ปรากฏ แก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือ วิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำ ภายในความมุ่งหมาย แห่ง รัฐธรรมนูญ หรือมิใช่ เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือ ติชม โดยสุจริต

                (1) เพื่อให้ เกิดการเปลี่ยนแปลง ในกฎหมายแผ่นดิน หรือ รัฐบาล โดย ใช้กำลัง ข่มขืนใจ หรือ ใช้กำลังประทุษร้าย

                (2) เพื่อให้ เกิดความปั่นป่วน หรือ กระด้างกระเดื่อง ในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะ ก่อความไม่สงบขึ้น ใน ราชอาณาจักร หรือ

                (3) เพื่อให้ ประชาชน ล่วงละเมิด กฎหมายแผ่นดิน

            ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 7 ปี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

น.ศ.-ภาคประชาสังคม ‘ตรัง-ปาตานี’ ชี้ปัญหาประชาธิปไตยไทย ชาตินิยมยังครอบงำการศึกษา

$
0
0

รายงานเสวนา “สังคมคู่กับประชาธิปไตย#ความรักก็เช่นกัน” น.ศ.-ภาคประชาสังคมตรัง-ปาตานี เห็นพ้องประชาธิปไตยคือความเท่าเทียม ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ วิพากษ์การศึกษาไทยถูกอุดมการณ์ชาตินิยมครอบงำ มหาวิทยาลัยปิดกั้นนักศึกษาไม่ให้เรียนรู้ปัญหาสังคม-ชุมชน

วันที่ 26 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ที่ห้อง L2121 อาคารเรียนรวม 2 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง (ม.อ.ตรัง)  เครือข่ายส่งเสริมสิทธิชุมชนจังหวัดตรัง (คสช.ตรัง) ร่วมกับปาตานีฟอรั่ม และกลุ่มนักศึกษา Scholar of people ม.อ.ตรัง ร่วมกันจัดงานสานเสวนา “สังคมคู่กับประชาธิปไตย#ความรักก็เช่นกัน” โดยมีการจัดเสวนาหัวข้อย่อยหลายหัวข้อ เช่น ความรักใช้กับประชาธิปไตยได้หราา, ความเป็นประชาธิปไตยในระบบการศึกษาไทย และบทบาทนักศึกษากับการสร้างสังคมประชาธิปไตย โดยมีนักศึกษาและประชาชนสนใจเข้าร่วมฟังราว 100 คน

เวทีเริ่มด้วยการขับขานบทเพลงโดย ‘ตู่ ลมเถื่อน’ ศิลปินจากกลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน ต่อด้วยการแนะนำความเป็นมาขององค์กรผู้ร่วมจัด

นายศิลป์เรืองศักดิ์ สุขใส ผู้ประสานงานเครือข่ายส่งเสริมสิทธิชุมชนจังหวัดตรัง แนะนำที่มาว่า เครือข่ายก่อเกิดมาตั้งแต่ปี 2551 โดยนักกิจกรรมในแวดวงภาคประชาสังคมในจังหวัดตรัง ซึ่งเห็นการลิดรอนสิทธิในด้านต่างๆ  ทั้งสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ทั้งทางด้านทรัพยากร แผนพัฒนาของรัฐกับชุมชน มีการดำเนินการจัดกิจกรรมนักศึกษาออกค่ายอาสาตามชนบท ต่อมาก็วิวัฒนาการและเชื่อมร้อยกับนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ และวิวัฒนาการกลายเป็นกลุ่มแตกต่อประชาธิปไตยประชาชน ขยายแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยโดยพยายามดึงคนเล็กคนน้อยมาเรียนรู้ร่วมกัน

นางสาวนูรีมะห์ บือราเฮง ผู้ประสานงานปาตานีฟอรั่ม เล่าว่า ปาตานีฟอรั่มกำเนิดขึ้นจากการร่วมมือของนักกิจกรรมทางสังคมรวมตัวกันโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะแห่งการตื่นรู้ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสาธารณะ เปิดให้แสดงทัศนะคติของตัวเองบนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย มีเป้าประสงค์ที่ส่งเสริมการสื่อสารเองจากพื้นที่ปาตานี (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) สู่พื้นที่อื่นในประเทศไทย มีการพยายามเชื่อมร้อยสร้างความเข้าใจปัญหาร่วมกันของปาตานี  กับปัญหาสังคมไทยที่เหลื่อมล้ำ และละเมิดสิทธิมนุษยชน

นายธิติวัฒน์ เงินสองศรี ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา Scholar of people ม.อ.ตรัง เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า เกิดจากการที่เขาสนใจปัญหาสังคมและแนวคิดประชาธิปไตย อยากเรียนรู้นอกมหาวิทยาลัยโดยเดินทางไปศึกษาปัญหาตามชนบทในจังหวัดตรัง พบว่ามีปัญหาเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน จึงมีแนวคิดอยากตั้งกลุ่มนักศึกษาใน ม.อ.ตรัง จึงชวนเพื่อนๆ น้องๆ มาร่วมศึกษาเรียนรู้ปัญหาร่วมกันผ่านการออกค่ายอาสาโดยโบกรถ กินข้าว ทำนา เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน ต่อมาจึงมีการรวมตัวอย่างจริงจัง 6-7 คน ตั้งเป็นกลุ่ม ซึ่งมีความหมายว่า ‘ปัญญาชนเพื่อประชาชน’ ซึ่งเป็นรูปเป็นร่างมาได้ประมาณครึ่งปี และมีการจัดออกค่ายอาสาอิสระอย่างต่อเนื่อง

จากนั้น จึงเริ่มต้นเวทีสานเสวนา หัวข้อ ‘ความรักใช้กับประชาธิปไตยได้เหรอ?’ ดำเนินการอภิปรายโดย นางสาวพรพิมล รัตนกุล ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาศักยภาพนักข่าวภาคพลเมืองภาคใต้

รัฐประชา  พุฒนวล ตัวแทนจากกลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน ให้นิยามของประชาธิปไตยในทัศนะของตัวเองว่า ถ้าแปลกันตรงตัวประชาธิปไตยก็คือประชาชน บวกกับอธิปไตย นั่นหมายถึงอำนาจเป็นของประชาชน อันประกอบไปด้วยหลักการเสรีภาพ เสเมอภาค และภราดรภาพ แล้วโยงภาพมายังความรักและครอบครัวว่าในครอบครัวมีความเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า ถ้าไม่มีประชาธิปไตยก็หมายถึงเผด็จการ เช่น ปิตุธิปไตยอันหมายถึงพ่อเป็นใหญ่ หรือมาตุธิปไตยอันหมายถึงแม่เป็นใหญ่ ยกกรณีหากลูกทำจานข้าวแตกพ่อแม่ตีลูก แต่ถ้าพ่อแม่ทำจานข้าวแตกกลับไม่เป็นไร

นายปรัชญา โต๊ะอีแต ผู้จัดการปาตานีฟอรั่ม เห็นว่า ความรักกับประชาธิปไตยมีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงกันมาก เพราะเป็นเรื่องของความผูกพันระหว่างคน 2 คน ต้องมีลักษณะของการแบ่งปันกัน การยอมรับความเข้าใจของกันและกัน ถ้าใครอีกคนหนึ่งไม่ยอมรับข้อเสนอของคนอีกคนหนึ่งก็จะไม่ก่อเกิดการผูกพัน หรือมองเห็นคุณค่าของกันและกัน

นายซัยด์ วาเตะ  ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา Scholar of people ม.อ.ตรัง สะท้อนว่า ประชาธิปไตย คือสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ผู้คนที่อยู่ร่วมในสังคมต้องเข้าใจกัน ถ้าไม่ยอมรับความเห็นของคนอื่นสังคมนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ทั้งนี้การแสดงความเห็นของใครที่จะให้คนอื่นในสังคมยอมรับได้นั้นต้องมีขอบเขตทางศีลธรรม วัฒนธรรมไม่เกินขอบเขตการเคารพสิทธิความเชื่อของผู้อื่นด้วย มุสลิมเชื่อว่าหากใครแสดงความเห็นของตัวเองจนเกินเลยก็ต้องตักเตือนกัน เสนอสิ่งที่ดีต่อกัน ไม่ใช่การประจานกัน

นายซูการไน รอแม ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาตูปะ ม.อ. ปัตตานี มองว่า ประชาธิปไตยคือเรื่องความเท่าเทียม และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ไม่มีใครต่ำกว่าใคร ซึ่งมันเกี่ยวโดยตรงกับความรักซึ่งคู่รักต้องมีความเท่าเทียมกัน ถ้าแค่คาดหวังผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เอาแต่ใจตัวเอง เป็นเผด็จการหรือเปล่า ความรักที่เป็นประชาธิปไตยนั้นต้องเคารพความคิดเห็นของกันและกัน  เคารพความต่าง  โดยร่วมกันออกแบบครอบครัว หรือเรายอมให้ใครคนๆ เดียวออกแบบครอบครัวแบบเผด็จการ

นายอนวัช จันทร์หงษ์  ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาสภาแตออ  ม.อ. ปัตตานี แสดงทัศนะว่า ความรักกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน ความรักคือการให้ แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การให้ ประชาธิปไตยซับซ้อนกว่าความรัก ประชาธิปไตยไม่โรแมนติคเหมือนความรัก ประชาธิปไตยยืนอยู่บนฐานของหลักการคนเท่ากัน อาศัยประชาธิปไตยแบบตัวแทน มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง เข้าไปเรียกร้องผลประโยชน์ให้คนจังหวัดตรัง อีกทางหนึ่งคืออาศัยประชาธิปไตยทางตรง เช่น ขบวนการชาวบ้านค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา คัดค้านเขื่อนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน  เป็นต้น ซึ่งเรียกร้องสิทธิชุมชนของตัวเองสู้รบกับวาทกรรมต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม ซึ่งชาวบ้านคนเล็กคนน้อยถูกบังคับให้เป็นผู้เสียสละอยู่ตลอด รวมถึงการเมืองเสื้อเหลือง เสื้อแดงที่มีสิทธิสู้ตามสิทธิที่มี แต่ไม่ควรเลยกรอบของกฎหมายไปสู่ความรุนแรง

พรพิมล ผู้ดำเนินการเสวนาแสดงความเห็นว่า ความรักเป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติคือสัตว์ใหญ่รังแกสัตว์เล็ก ปลาใหญ่กินปลาน้อย ขณะที่ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่คนร่วมกันสร้างขึ้นในการอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันก็มีขัดแย้งกันอยู่ในตัว พร้อมๆ กับตั้งคำถามต่อผู้ร่วมเสวนาว่า สามารถใช้บรรทัดฐานความรักกับประชาธิปไตยได้หรือไม่ ?

รัฐประชา มองความรักแบบสัญชาติญาณมนุษย์ ซึ่งเป็นสัญชาตญาณการแสดงออกเพื่อประสงค์ดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ เป็นแค่กระบวนการหนึ่งในการสืบพันธุ์ของมนุษย์ แล้วต่อมาก็ก่อเกิดเป็นความผูกพัน และความรัก การสืบพันธุ์ของมนุษย์สืบพันธุ์โดยลำพังไม่ได้ต้องมีคู่ เมื่อจำเป็นต้องมีคู่มีความสัมพันธ์กันตั้งแต่คน 2 คนก็เริ่มมีการเมือง ข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน การออกแบบข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันต้องดูว่าใครเป็นผู้มีอำนาจออกแบบ ซึ่งผู้มีอำนาจออกแบบย่อมออกแบบเข้าข้างตัวเองอยู่แล้ว ถ้ากระบวนการออกแบบการอยู่ร่วมกันของคน 2 คนเป็นประชาธิปไตยก็จะรักกันยืนยาว หากอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดก็เป็นเผด็จการ เป็นแค่การฝืนจำอยู่  ผู้หญิงก็เป็นแค่วัตถุทางเพศ ไม่มีความเท่าเทียมผู้ชาย

ปรัชญา มองว่า ความรักคือความผูกพัน ซึ่งเริ่มจากการผูกพันทางใจ ไม่ใช่ผูกพันทางความคิด ผูกพันทางร่างกาย เรารักสิ่งแวดล้อมได้ เรารักทะเล รักสัตว์ รักเพื่อนมนุษย์ รักเพื่อน รักสังคมด้วยการผูกพันทางใจ  มนุษย์ไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวลำพังได้ และโหยหาใครอีกคนมาเติมเต็มกลบฝังความโดดเดี่ยวด้วยความผูกพัน รู้สึก คนต้องมีสังคม ต่างคนต่างอยู่ไม่ได้ ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันมีกรอบกฎกำหนด ศีลธรรมกำหนด ไม่ว่าศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือลัทธิอศาสนา ก็เชื่อว่าต้องมีศีลธรรมมากำหนด

“ธรรมชาติของมนุษย์สนใจเพศตรงข้าม มีภาพอุดมคติในเพศตรงข้ามที่สามารถดึงดูดเสน่ห์ ดึงดูดให้มีความผูกพันทางใจ นำไปสู่การผูกพันทางความคิด การอยู่ร่วมกันต้องให้คุณค่า ประชาธิปไตยคือการกำหนดสิ่งต่างๆ เท่ากันด้วยการให้คุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เท่ากัน”  ปรัชญากล่าว

ด้านซัยด์  ให้นิยามประชาธิปไตยเชื่อมกับความรักว่าคือการให้ เมื่อรู้จักการการก็รู้จักการรัก ขณะที่ประชาธิปไตยคือสิทธิและความเท่าเทียมกัน แม้มีวัฒนธรรมและศีลธรรมที่แตกต่างกันก็ต้องเคารพกัน ยอมรับความเห็นของคนอื่น ไม่ว่าความคิดเชื่อของเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือความเชื่อของต่างศาสนิก จะไม่มีความขัดแย้งกันหากรู้จักการให้  กรณีเดียวกับการออกนโยบายต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หากรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือกฎต่างๆ ขัดแย้งกับศีลธรรมความเชื่อของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ยอมรับความแตกต่างของท้องถิ่นก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแตกแยก

ส่วนในมุมทัศนะที่ถูกศาสนิกอื่นมองว่าในอิสลามคือสังคมชายเป็นใหญ่นั้น  ซัยด์อธิบายว่า พระเจ้าสร้างให้ผู้ชายคุณลักษณะทางร่างกายแข็งแกร่งมีความอดทนกว่าจึงเหมาะกับการเป็นผู้นำครอบครัว ขณะที่พระเจ้าสร้างให้ผู้หญิงอ่อนโยนมีบทบาทหลักในการทะนุถนอมเลี้ยงดูลูกซึ่งเป็นประชากรของสังคม

ปรัชญา ขยายความประเด็นที่ถูกศาสนิกอื่นมองว่าในอิสลามคือสังคมชายเป็นใหญ่ว่า อิสลามไม่ได้มีปัญหาเรื่องสิทธิผู้หญิง แต่องค์ประกอบทางร่างกายที่พระเจ้าสร้างเป็นตัวกำหนดทางกายภาพที่แตกต่าง ศาสนาอิสลามจึงวางบทบาทชายกับหญิงที่แตกต่างกัน ความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในแนวคิดอิสลาม คือ พื้นทางทางความเชื่อต้องถูกหลอมให้เหมือนกันก่อน โดยอิสลามพยายามสลายกรอบความเชื่อให้เป็นความเชื่อเดียวกันก่อนใช้ชีวิตคู่กัน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าหากใครอยากใช้ชีวิตคู่กับมุสลิมต้องรับศาสนาอิสลามก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อปรับความเชื่อให้อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน

“สำหรับการให้อิสรภาพ เสรีภาพ ในการปรึกษาหารือร่วมของทั้งชายและหญิง ซึ่งนำมาซึ่งมีผู้หญิงมุสลิมหลายต่อหลายคนทำงานนอกบ้าน มีการออกแบบร่วมกันว่าอาจให้ฝ่ายชายช่วยงานบ้านบ้าง”  ปรัชญากล่าว

ซูการไน  อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างความรักกับประชาธิปไตยในทัศนะของเขาว่า ความรักคือความจริงใจต่อกัน ไม่ใช่แค่การให้อย่างเดียว ประชาธิปไตยก็เช่นกันไม่ใช่แค่การที่ผู้ใหญ่ซึ่งอยู่เหนือกว่าให้ลงมาอย่างเดียว บังคับให้คนข้างล่างต้องรับอย่างเดียวโดยไม่มีความจริงใจ ทั้งที่ควรมีความจริงใจด้วย

ขณะที่อนวัช มองว่า ทั้งนิยามของประชาธิปไตย และความรักสามารถให้คำจำกัดความได้หลายนิยาม แล้วแต่ใครเป็นผู้กำหนด จาที่ตนศึกษาประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย การก่อเกิดเริ่มจากแรกมีผู้เป็นใหญ่คือชนชั้นนำ ต่อมามีพัฒนาการให้ขุนนางเข้ามาต่อรองอำนาจ ต่อมาก็ประชาชนเข้ามาต่อรองอำนาจ เมื่อมีการต่อรองอำนาจย่อมมีความขัดแย้งเป็นธรรมดา มีการต่อสู้ อย่างเมื่อก่อนลักษณะในสังคมไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์มีอำนาจ ครั้นเมื่อมีการปฏิวัติเมื่อปี 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งไม่มีการนองเลือด แต่ขณะเดียวกันก็มีขบวนการโตกลับของเครือข่ายชนชั้นนำ และค่อยวิวัฒนาการมาสู่การลุกขึ้นต่อรองอำนาจโดยชนชั้นกลางในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

“สังคมภาคใต้ เป็นชนชั้นกลางนิยมพรรคประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกันสังคมเหนือ อีสาน ซึ่งส่วนใหญ่คือคนเสื้อแดงเป็นชนชั้นกลางใหม่ ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผมไม่ได้บอกว่าทักษิณเป็นคนดี แต่ทักษิณคือตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้วในการเข้าถึงทรัพยากรของชนชั้นกลางใหม่ หากประเทศไทยมีตัวเลือกนักการเมืองที่ดีกว่านี้คนเสื้อแดงก็คงจะไม่เลือกทักษิณ ประชาธิปไตยมันไม่ได้โรแมนติคแบบเอื้ออาทร” อนวัชกล่าว

จากนั้น ผู้ดำเนินการเสวนาตั้งคำถามและประเด็นแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยในระบบการศึกษาไทย รวมถึงบทบาทนักศึกษากับการสร้างสังคมประชาธิปไตยต่อผู้ร่วมเสวนา

อนวัช เห็นว่า วิชาประวัติศาสตร์ไทยในระบบการศึกษาไทย ยัดเยียดเอกลักษณ์ชาติผ่านภาพรัฐชาติ โดยตนมองเป็น 2 ส่วนคือ รัฐเหมือนร่างกาย ชาติหมายถึงจิตวิญญาณ เอกลักษณ์ชาติไทยไม่ได้เป็นจริงโดยตัวเอง แต่ถูกนิยามขึ้นมา และตั้งคำถามว่าใครเป็นคนนิยามขึ้นมา มีลักษณะการช่วงชิงการนิยามโดยโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทย ฝังไปในความคิดนักศึกษามีอิทธิพลส่งผลต่อระบบคิดนักศึกษาในการมองคนในชาติว่าใครคือคนไทย ซึ่งหากคำนิยามว่าชาติถูกนิยามมาในหลักสูตรการศึกษาแบบนั้นหากเราไม่เชื่อก็จะถูกมองว่าไม่ใช่คนชาติไทย

“นอกจากเอกลักษณ์ชาติแล้ว ยังมีเอกลักษณ์ทางพื้นที่ชุมชนความทรงจำ นั่นคือท้องถิ่น ซึ่งต่างเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย แต่ประวัติศาสตร์ชุมชนไม่ได้ถูกพูดถึงและให้ค่า จึงไม่แปลกที่ประวัติศาสตร์ปาตานีขัดแย้งกับความเป็นชาติไทย ประวัติศาสตร์ชาติไทยถูกสร้างขึ้นมาจากหลักการมองคนไม่เท่ากัน ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แม้แต่วันชาติดั้งเดิม คือ 24 มิถุนายน อันเป็นวันปฏิวัติการปกครองของคณะราษฎรจากระบบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย ก็ถูกยกเลิกในรัฐบาลเผด็จการทหารยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นการลบเลือนความทรงจำประชาธิปไตยจึงไม่แปลกที่เด็กไทย นักศึกษาไทยไม่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย มันเป็นการถูกทำให้ลืม” อนวัชกล่าว

ซัยด์ ย้ำว่าระบบการศึกษาไทยมีปัญหาเช่นกัน ซึ่งหลักสูตรถูกกำหนดโดยรัฐอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย คือ เลือกที่จะซ่อนเนื้อหาความเป็นจริงบางอย่าง พยายามรักษาความจริงนั้นไว้โดยไม่ใส่ในหลักสูตร หลักสูตรถูกกำหนดโดยปิดกั้นคำตอบของเรา ถ้าเราตอบออกจากกรอบที่เขาวางไว้ก็จะผิด สอนแบบไม่ให้นักศึกษาแสดงความเห็นของตัวเอง

“หน้าที่ของนักศึกษาต้องกล้าเรียกร้องสิทธิของตัวเอง กล้าแสดงออก ทุกวันนี้มีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยขึ้นมาโดยการจัดขององค์กรเอ็นจีโอสายสิทธิมนุษยชนสานเสวนาบ้างเล็กน้อยให้ประชาชนและนักศึกษาได้พูดในสิ่งที่อยากพูด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบรรยากาศในมหาวิทยาลัยมันน่าจะมีเวทีมากกว่านี้เสียด้วยซ้ำ เพื่อสะท้อนและรับฟังความคิดเห็นหลากหลาย เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนบ้าง สังคมเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ทุกวันนี้เพียงก็แค่ชื่อ แต่จริงๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตย”

ซูการไน  มองว่า การออกแบบหลักสูตรโดยรัฐเลือกที่จะใส่ชุดความคิดไหนให้นักศึกษา และซ่อนอำพรางอีกชุดความคิดที่ไม่ต้องการให้นักศึกษารู้ ซูการไนยกตัวอย่างกรณีความเป็นประชาธิปไตยใน ม.อ.ปัตตานี มหาวิทยาลัยมีการพยายามสกัดการรณรงค์คัดค้านออกนอกระบบของนักศึกษา โดยอธิบายกับนักศึกษาว่า นักศึกษายังเป็นเด็กจะขอเข้าร่วมกำหนดแนวทางว่ามหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบหรืออยู่ในระบบไม่ได้ และหากเกิดผิดพลาดนักศึกษาจะรับผิดชอบไหวหรือไม่

ซูการไน  ยังมองว่า กิจกรรมใน ม.อ.มีการจำกัดนักศึกษาไม่ให้ออกไปเรียนรู้กับกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยด้วยการกำหนดชั่วโมงกิจกรรม ซึ่งปิดกั้นการเรียนรู้ปัญหาสังคม ปัญหาชุมชนภายนอก ซูการไน  เห็นว่า การกำหนดชั่วโมงกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเป็นโซ่ตรวนล่ามนักศึกษาเอาไว้ การกำหนดบังคับให้ทำกิจกรรมเฉพาะแค่ในมหาวิทยาลัยโดยไม่ให้ทำกิจกรรมในชุมชน เรียนรู้ปัญหาของพื้นที่ปาตานี ทั้งที่นักศึกษาเป็นคนพื้นที่ปาตานีเองถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จะไม่ให้พวกเขาเรียนรู้ปัญหาบ้านของพวกเขาเองได้อย่างไร

“ผมก็ยังมองเห็นเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้างนะในมหาวิทยาลัย ที่อาจารย์บางคนไม่ได้บังคับให้ผมต้องใส่นักศึกษาเข้าเรียน ผมไม่ใส่ชุดนักศึกษาเข้าเรียนอาจารย์ไม่ได้มีปัญหา ผมมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ชุดนักศึกษาแต่อยู่ที่ความรู้”  ซูการไนกล่าว

ปรัชญา เชื่อมโยงปัญหาระบบการศึกษาไทยที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยอธิบายผ่านข้อสะกิดของสังคมผ่านทอล์คโชว์ของโน้ต อุดม แต้พานิช เขายกตัวอย่างเช่น การให้ร้องเพลงลูกเสือ การผูกเงื่อนเชือกต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง รวมไปตั้งคำถามว่าทำไมต้องท่องจำสูตรคูณ ทั้งที่รู้ว่าในที่สุดแล้วก็ใช้เครื่องคิดเลขในการคำนวณ ปรัชญารู้สึกว่าระบบการศึกษาไร้สาระพอสมควร เขายกตัวอย่างการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของคนไทยตั้งแต่ชั้นประถมปลาย จนถึงมหาวิทยาลัย แต่กลับพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ทว่าปรัชญากลับชี้ไปที่ข้อดีอย่างหนึ่งของการศึกษาไทย คือ ทำให้เขาตั้งคำถาม

ปรัชญา ชี้ว่า ระบบการศึกษาไทยเป็นกลยุทธ์ควบคุมคนในชาติ ให้เป็นไปในทิศทางที่รัฐฝังใส่หัวตั้งแต่เด็ก ปัญหาที่เขาค่อนข้างข้องใจคือ ประวัติศาสตร์ปาตานี ที่ไม่ได้มีอยู่ในหลักสูตรของระบบการศึกษาไทยไม่ว่าระดับชั้นไหนๆ ทั้งที่มีประวัติศาสตร์อาณาจักรล้านนา ล้านช้าง ขณะที่ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นทับถมมาหลายสิบปี มีคนตายไป 5-6 พันคน แต่ไม่มีใครรู้ว่ามีที่มาจากอะไร

ปรัชญา เห็นค่อนข้างชัดว่าผลของระบบการศึกษาไทยที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ฉายภาพผ่านการขาดวุฒิภาวะของคนในสังคมไทย ขาดวุฒิภาวะทางการเมือง ขาดการยอมรับความเห็นต่าง

“โลกนี้มีแค่ผิดกับถูกเท่านั้นเหรอ ทำไมคนไทยมองว่าคนที่ไม่ใช่เสื้อเหลืองก็ต้องเป็นเสื้อแดง ถ้าไม่เอารัฐประหารมึงมีปัญหา มองปัญหาขาวดำ ไม่มีสีเทาเลยเหรอ การไม่ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไทย ผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่จึงไม่เห็นโครงสร้างปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทย”   ปรัชญากล่าว

รัฐประชา  ชี้ถึงปัญหาหลักสูตรการศึกษาที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นสูง มหาวิทยาลัยจึงเป็นแค่คอกขังนักศึกษาไม่ให้ออกไปแสวงหาความจริงในสังคม เขายกตัวอย่างหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ที่เรียนแค่การชนช้างยุทธหัตถี บอกว่าทำสงครามห้ำหั่นกับพม่า ทว่างานศึกษาของสุจิตต์ วงศ์เทศ ระบุว่า พม่าไม่เคยรบกับไทย แต่ชนชั้นสูงพม่ารบกับชนชั้นสูงไทยต่างหาก

รัฐประชา  กล่าวว่า ระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยมีลักษณะเป็นเผด็จการ โดยที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนระบบโซตัสอยู่ การต้องปฏิบัติตามคำสั่งตามระบบอาวุโสโดยไร้เหตุผลสิ้นเชิงเป็นการสืบทอดแนวคิดอำนาจนิยม และระบบอุปถัมภ์

รัฐประชา กล่าวว่า การปฏิบัติตามคำสั่ง ยึดมั่นในประเพณี ระบบว้าก ระบบเชียร์ ระบบโซตัส เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งรุ่นพี่ไม่เห็นว่ารุ่นน้องเป็นคนเท่ากัน ใช้ความเป็นรุ่นพี่กดขี่ข่มเหงรุ่นน้อง สั่งการโดยไม่มีเหตุผล เหยียดความศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของรุ่นน้อง มหาวิทยาลัย และอาจารย์มหาวิทยาลัยมีผลประโยชน์กับระบบโซตัสที่ถูกสะกดให้เคารพรุ่นพี่ แล้วมันง่ายที่จะสะกดให้เคารพอาจารย์อีกทอดหนึ่ง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images