Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

เตรียมออกใบอนุญาตวัดเรทติ้ง-กำกับการควบรวมกิจการสื่อ

$
0
0
เตรียมออกใบอนุญาตวัดเรทติ้ง-กำกับการควบรวมกิจการสื่อ พร้อมเตรียมสรุปความคิดเห็นร่างส่งเสริมรวมกลุ่มวิชาชีพตามกรอบจรรยาบรรณ

 
26 ก.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่านางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 ก.ค. นี้จะมีประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 31/57 โดยวาระการประชุมพิจารณาเกี่ยวข้องกับร่างประกาศและนโยบายของ กสทช. ได้แก่ การสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและแนวทางดำเนินการต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการแบบประยุกต์ประเภทการสำรวจความนิยมในกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. ...
 
ทั้งนี้ หลังจาก กสท. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีสักระยะหนึ่งแล้ว จากนี้เป็นจุดเริ่มต้นจริงจังของการกำกับดูแลการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการรายใหม่กังวลกันมากคือ เรื่องการวัดเรทติ้ง ที่ผ่านมามีความเห็นแตกต่างเกี่ยวข้องกับร่างฯ ฉบับนี้ อาทิ ร่างฯ นี้จะเป็นเครื่องมือช่วยกำกับบริษัทให้มีความน่าเชื่อถือ หรือจะเป็นการกีดกันให้เกิดการผูกขาดในระบบของผู้ทำกลุ่มเดิม รวมถึงประเด็นข้อระวังทางกฎหมายว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่มากำกับเอกชนในเรื่องของการวัดเรทติ้งได้หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงอย่างเข้มข้นต่อไป ก่อนนำเข้าพิจารณาอีกครั้งในบอร์ดใหญ่ อย่างไรก็ดี กสทช. ควรมีมาตรการอื่นเพื่อส่งเสริมให้มีการวัดเรทติ้งจากเอกชนรายอื่นๆ ด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรายใหม่
 
“ส่วนร่างประกาศฯ ที่ภาคสื่อรอคอย ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... หลังมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าหลังประกาศใช้จริงจะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นของการส่งเสริมให้สื่อกำกับดูแลกันเองตามกรอบจริยธรรม และยังเป็นการช่วยงาน กสทช. ในการกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น” น.ส.
สุภิญญา กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม กสท. เตรียมพิจารณาร่างประกาศ เรื่องการกำหนดลักษณะและมาตรการกำกับดูแลการควบรวมกิจการ การถือหุ้นไขว้ และการครอบงำกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... ซึ่งร่างฯ นี้จะเป็นการวางแนวทางป้องกันปัญหาในอนาคต หากการดำเนินกิจการเอกชนในระยะหนึ่งประสบปัญหาปัจจัยทางเศรษฐกิจอาจทำให้เกิดการควบรวมกิจการ ซึ่งตอนนี้เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นมากในต่างประเทศ ถ้าปล่อยให้มีการควบรวมกิจการง่ายเกินไปอาจทำให้เกิดการเอาเปรียบกับผู้ชม ผู้บริโภคที่จะไม่มีทางเลือกที่รับชมอย่างหลากหลาย เพราะไม่มีการแข่งขัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ กสท. จะเริ่มออกประกาศฯ เพื่อใช้กำกับดูแลไม่ให้เกิดปัญหาต่อไปในอนาคต
 
นอกจากนี้ยังมีวาระการตรวจสอบแบบสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาฯ ของบริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด รอบที่ 2 จึงฝากถึงรายอื่นๆ ที่ยังไม่ส่งให้เร่งส่ง และฝากถึงผู้บริโภคควรศึกษาสัญญามาตรฐานก่อนเซ็น จากนั้นรักษาสิทธิตนเองที่ระบุไว้ในสัญญา หากพบปัญหาสามารถร้องเรียนได้ที่ กสทช. 1200 ซึ่งเร็วๆ นี้ทางอนุคุ้มครองผู้บริโภคฯ จะไปเยี่ยมเพื่อหารือกับทางผู้บริหาร CTH หลังจากระยะหลังมีเรื่องร้องเรียนเรื่องสัญญาณและการบริการเข้ามามาก เหมือนที่เคยไปหารือกับผู้บริหาร True Visions ก่อนหน้านี้ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ดีขึ้น
 
ส่วนวาระอื่นๆ ที่น่าติดตาม ได้แก่ การพิจารณาวาระผลการวิเคราะห์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น/เพิ่มทุนของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ และการรายงานผลการทดลองแพร่ภาพออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล DVB-T2 ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ตามที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการทดลองแพร่ภาพต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กอ.รมน.เปิดหลักสูตร 'ออฟโรดไทย ใจรักษ์แผ่นดิน'

$
0
0
ผอ.สำนักกิจการมวลชน กอ.รมน. เปิดหลักสูตร "ออฟโรดไทย ใจรักษ์แผ่นดิน" เสริมสร้างอุดมการณ์รักชาติ เป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนและเข้าร่วมปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการแก้ไขปัญหาภัยคุกคาม ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

 
 
ตารางการอบรมหลักสูตร "ออฟโรดไทยใจรักษ์แผ่นดิน รุ่นที่ 1/57
 
26 ก.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าพล.ท.ภาณุวัชร นาควงษม์ ผู้อำนวยการสำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นประธานเปิดการอบรมขยายเครือข่ายมวลชน หลักสูตร "ออฟโรดไทย ใจรักษ์แผ่นดิน" รุ่นที่ 1 ประจำปี 2557 ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 200 คน ณ ศาลากลางน้ำ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก มณฑลทหารบกที่ 11 หลักสูตร "ออฟโรดไทย ใจรักษ์แผ่นดิน" จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ การยึดมั่นในความจงรักภักดี มีความรักความสามัคคี และความศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเพื่อให้กลุ่มมวลชน ออฟโรดไทย ใจรักษ์แผ่นดิน เป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนและเข้าร่วมปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการแก้ไขปัญหาภัยคุกคาม ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
 
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ มีทั้งการบรรยาย "สำนึกบุญคุณแผ่นดิน" และการบรรยาย "สถาบันศาสนากับความมั่นคงของชาติ" ให้กับผู้เข้าร่วมอบรมด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารบุกขอ ‘แดง’ เลิกจัดวัดเกิด ‘ทักษิณ’ - ผู้แทน ‘ประยุทธ์’ นำกระเช้าอวยวันเกิด ‘ชวน’

$
0
0

26 ก.ค.2557 ที่ศูนย์การค้า อิมพีเรียล ลาดพร้าว มีการจัดทำบุญวันเกิดให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า กลุ่มคนเสื้อแดงที่ทำงานในตึกศูนย์การค้า อิมพีเรียล ลาดพร้าว ได้รวมตัวจัดงานวันเกิดให้พ.ต.ท.ทักษิณโดยการทำบุญเลี้ยงพระ  ในงานได้มีการขึ้นป้ายรูปพ.ต.ท.ทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย ต่อมาเวลาประมาณ 13.30 น. มีกลุ่มนายทหารได้เข้ามาขอให้ปลดป้ายภาพดังกล่าวออก พร้อมกับขอให้เลิกจัดงานด้วย

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ทางทหารทราบว่าจะมีการจัดงานที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ลาดพร้าว ซึ่งเกรงว่า จะมีการจัดการชุมนุมทางการเมือง จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารราบที่3 กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ (ร.12พัน3) ที่ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยบริเวณดังกล่าวเข้าไปร่วมสังเกตการณ์
 
รองโฆษกกองทัพบก กล่าว ยืนยันว่าทหารไม่ได้เป็นผู้ปลดป้ายภาพดังกล่าวแต่มีการพูดขอร้องกับผู้จัดงานว่า ขอให้เลิกจัดงานดังกล่าวซึ่งทางผู้จัดงานก็เข้าใจและให้ความร่วมมือโดยดี

ขณะที่วันเดียวกัน เมื่อเวลา 14.15 น. ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ พ.ท. สิโรตม์ ทศานนท์ เป็นผู้แทน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้ามอบกระเช้าดอกไม้ อวยพรวันคล้ายเกิด นายชวน หลีกภัย (28 ก.ค.)

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.พลภัทร วรรณภักตร์ เลขานุการกองทัพบก ผู้แทน พล.อ.ประยุทธ์  นำกระเช้าดอกไม้เข้าเยี่ยมนายชวน ซึ่งเพิ่งออกจากโรงพยาบาลรามาธิบดี หลังเข้ารับการรักษาตัวเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

เรียบเรียงจาก : มติชนออนไลน์(1,2), โพสต์ทูเดย์ แนวหน้า

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตา! 28 ก.ค.นี้ ศาลนัดฟังคำสั่ง โอนคดี 99 ศพไป ป.ป.ช. ?

$
0
0

ข่าวสดรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา จากกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4552/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อ หรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากกรณีร่วมกับนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 เป็นเหตุให้นายพัน คำกอง อายุ 43 ปี ด.ช.คุณากร หรือน้องอีซา ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ถูก เจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ย่านราชปรารภ กทม. และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส

โดยคำร้องดังกล่าวระบุว่า นายอภิสิทธิ์ในขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และอยู่ในอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยแย้งว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่มีอำนาจสอบสวน และอัยการสูงสุดไม่มีอำนาจฟ้อง จากนั้นศาลจึงเห็นสมควรให้มีหนังสือสอบถามป.ป.ช.เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเพื่อให้ได้ความชัดเจน ขณะเดียวกันพนักงานอัยการก็ยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน และศาลอาญานัดฟังคำสั่งในวันจันทร์ที่ 28 ก.ค.นี้

จากกรณีดังกล่าวนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิต ในฐานะโจทก์ร่วม กล่าวว่า ฝ่ายอัยการโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตามที่ ฝ่ายจำเลยร้องต่อศาล โดยมีประเด็นโต้แย้งดังนี้ 1.ความผิดที่ฟ้องนายอภิสิทธิ์เป็นความผิดในข้อหาร่วมกันกระทำความผิด หรือก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มาตรา 83 มาตรา 84 และมาตรา 80 ซึ่งการกระทำความผิดที่อัยการฟ้องดังกล่าวเป็นการกระทำที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี

นายโชคชัยกล่าวว่า การกระทำความผิด ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่นั้น หาก ผู้กระทำมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือเล็งเห็นผลต่อชีวิต หรือร่างกายของผู้ถูกกระทำ จะถือว่าเป็นการกระทำนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ราชการ พนักงานอัยการได้หยิบยกตัวอย่างคดีที่มีการส่งเรื่องกลับไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ โดยไม่อยู่ในอำนาจป.ป.ช.ที่สำคัญคดีหนึ่ง คือ คดีที่ตำรวจเข้าจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และใช้อาวุธปืนยิงถูกด.ช.จักรพันธุ์ ศรีสอาด หรือน้องฟลุกเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ ซึ่งคดีนี้พนักงานอัยการฟ้อง เจ้าหน้าที่ในข้อหาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่า ศาลพิพากษาลงโทษแล้ว และตัดสินเป็นที่สิ้นสุดที่ศาลอาญาเช่นกัน

"เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเคยมีแนวปฏิบัติในทางกฎหมาย และการสั่งฟ้องในคดีลักษณะเดียวกันมาแล้ว สรุปได้ว่าแม้เจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่ แต่มีเจตนาเล็งเห็นผลต่อชีวิตของผู้อื่น ทางหลักกฎหมายถือว่าเป็นความผิดนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีน้องฟลุกถือว่าเป็นตัวอย่างคดีที่แสดงให้เห็นบรรทัดฐานที่สอดคล้องกับข้อกฎหมาย และชี้ให้เห็นถึงแนวปฏิบัติที่ป.ป.ช.เคยใช้ด้วย คิดว่าน่าจะมีน้ำหนักให้ศาลรับฟังได้พอสมควร" นายโชคชัยกล่าว

ทนายความญาติผู้ตายกล่าวต่อว่า 2.คดีที่เกี่ยวข้องกับการตายทั้งหมดในเหตุสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 มีการไต่สวนการตายและศาลมีคำสั่งแล้วว่าการตาย ทั้งนายพัน คำกอง ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ คดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม หรือคดีนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ล้วนเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเมื่อศาลมีคำสั่งดังนี้แล้วการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา ตามวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคท้าย และการออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง อัยการมีอำนาจออกคำสั่งทั้งคดี รวมทั้งตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนด้วย

นายโชคชัยกล่าวว่า 3.คดีที่เกี่ยวกับการตายทั้งหมดเป็นคดีพิเศษที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ในสมัยนายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ ดำรงตำแหน่ง จึงเห็นว่าดีเอสไอมีอำนาจในการสอบสวน 4.ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เฉพาะในกรณีร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น แต่ในเรื่องการกระทำที่อัยการฟ้องในคดีสลายการชุมนุมนี้เป็นการกระทำที่นอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ และสุดท้าย 5.พระราชบัญญัติ ป.ป.ช. มาตรา 84 ห้ามป.ป.ช.รับเรื่อง หรือยกข้อกล่าวหาในเรื่องเดียวกันที่ศาลประทับรับฟ้องคดีไว้แล้ว ซึ่งคดีของนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ศาลประทับรับฟ้องไปแล้ว

"คดีนี้เป็นคดีฆาตกรรม ไม่ใช่เรื่องการทุจริต หรือทำผิดต่อหน้าที่อื่นๆ แม้ว่าตอนนั้นคุณจะอยู่ในตำแหน่งจริง แต่การฆ่าไม่ใช่หน้าที่ที่คุณต้องฆ่า อย่างไรก็ตาม ในฐานะทนายผู้ร้องร่วมผมเห็นว่าคำคัดค้านของพนักงานอัยการสมบูรณ์แล้ว จึงไม่ได้ดำเนินการใดเพื่อเป็นการซ้ำซ้อน" นายโชคชัยกล่าว

ทนายความญาติผู้ตายกล่าวอีกว่า ในวันที่ 28 ก.ค.นี้ศาลจะมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องดังกล่าวในเบื้องต้น คือสั่งว่าดีเอสไอมีอำนาจในการสอบสวนหรือไม่ และอัยการมีอำนาจฟ้องหรือไม่ หากศาลสั่งว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวนเรื่องก็ต้องไปที่ป.ป.ช. และส่งต่อไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่หากดีเอสไอมีอำนาจสอบสวน ซึ่งเป็นช่องทางให้อัยการมีอำนาจฟ้อง ทางทนายความก็จะดำเนินคดีต่อไป นอกจากประเด็นการชี้ขาดข้อกฎหมายแล้วยังต้องรอว่าศาลจะพิจารณาให้รวมคดีนายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพเป็นคดีเดียวกันหรือไม่ด้วย ถ้าชี้ขาดว่าอัยการมีอำนาจฟ้องก็จะรวมสำนวนคดีนาย สุเทพเข้ามาด้วยกันอย่างแน่นอน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คสช.' เตือน 'ผู้จัดการสุดสัปดาห์' อ้างเผยแพร่ข้อมูลเท็จแต่ไม่ระบุหน้าไหน

$
0
0
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 108 ตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม 'ผู้จัดการสุดสัปดาห์' อ้างแพร่ข้อมูลเท็จแต่ไม่ระบุชัดเจนหน้าไหน บทความใด สั่งองค์กรวิชาชีพดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแล้ว

 
26 ก.ค. 2557 เมื่อเวลา 18.15 น. ได้มีการเผยแพร่คำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 108 /2557 เรื่องการตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม โดยระบุว่า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 253 วันที่ 26 ก.ค. - 3 ส.ค. 2557 ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่อง ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จโดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช.
 
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ฉบับที่ 108/2557
เรื่อง การตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม
 
เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 และฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการหรือผู้ให้บริการด้านสื่อมวลชนทุกชนิดนำเสนอหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชนด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จอันส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม
 
ปรากฎว่า หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 วันที่ 21 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2557 ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่อง ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จโดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ในชั้นนี้เห็นควรตักเตือนผู้เขียนบทความ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนอีกจะดำเนินการตามกฎอัยการศึก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา และส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายด้วย
 
อนึ่ง ให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้ฝ่าฝืนดังกล่าวข้างต้นที่เป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพกับบุคคลเหล่านั้น แล้วรายงานผลการดำเนินการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบโดยเร็ว
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
สั่ง ณ วันที่ 26 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อาหารอินทรีย์ วิถีแห่งอนาคต ‘ทุกคำที่กิน สามารถเปลี่ยนโลกทั้งใบ’

$
0
0
เสวนาวิชาการ ‘อาหารอินทรีย์ วิถีแห่งอนาคต’ งาน ‘มหกรรมอาหารและสุขภาพ วิถีไท ครั้งที่ 1’ เผยข้อมูลในผัก-ผลไม้ กว่าร้อยละ 40 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน แนะบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของเรา เท่ากับทำเพื่อสุขภาพที่ดีของโลก
 
 
26 ก.ค. 2557 เสวนาวิชาการ ‘อาหารอินทรีย์ วิถีแห่งอนาคต’ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2557 ระหว่างเวลา 10.00-12.00 น. ในงาน ‘มหกรรมอาหารและสุขภาพ วิถีไท ครั้งที่ 1’ ณ ห้องฟินิกส์ บริเวณฮอลล์ 8 เมืองทองธานี ร่วมเสวนาโดย นพ.ประพจน์ เภตรากาศ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี(Biothai) และปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประกาศข่าวจากสถานีวิทยุ อสมท. คลื่น 96.5 Fm
 
 
เผยในผัก-ผลไม้ กว่าร้อยละ 40 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน
 
ปรกชล อู๋ทรัพย์ เปิดเผยข้อมูลผลการวิเคราะห์ภาพรวมและการตรวจสอบสารปนเปื้อน คือ คาร์บาเมต ออร์แกโนฟอสเฟต ออร์แกโนคลอรีน ไพรีทรอยด์ ในผักผลไม้ว่า จากการสุ่มเก็บตัวอย่างพืชผักและผลทั้งหมด 118 ตัวอย่าง จากตลาด ห้างค้าปลีก และสินค้าตรา “Q” พบว่า ในผักผลไม้ 118 ตัวอย่างนี้ ร้อยละ 44.1 ไม่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ร้อยละ 9.3 มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ แต่ไม่เกินค่า MRLs (Maximum Residue Limits หมายถึง ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่กำหนดให้มีได้ในสินค้าเกษตร) และ อีกร้อยละ 46.6 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่า MRLs
 
เมื่อแยกประเภทแหล่งที่มาของสินค้าเหล่านี้เป็น 3 แหล่งคือ ผักผลไม้ที่มากจากตลาดทั่วไป ผักผลไม้ตรา Q และผักผลไม้ที่มาจากห้างค้าปลีกแล้ว ผักผลไม้จากตลาดทั่วไปร้อยละ 53.8 ไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ร้อยละ 6.2 มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ แต่ไม่เกินค่า MRLs ที่เหลือร้อยละ 40 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ เกินค่า MRLs ส่วนในผักผลไม้ตรา Q พบว่ามีเพียงร้อยละ 12.5 ไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ขณะที่ร้อยละ 25.0 มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ แต่ไม่เกินค่า MRLs ที่เหลืออีกถึงร้อยละ 62.5 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ เกินค่า MRLs สุดท้ายคือผักผลไม้ที่มาจากห้างค้าปลีก พบว่าร้อยละ 35.6 ไม่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ร้อยละ 11.1 มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ แต่ไม่เกินค่า MRLs และอีกร้อยละ 53.3 พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ เกินค่า MRLs
 
10 ใน 118 ชนิดคือผักผลไม้ที่เรานิยมบริโภคและหาซื้อได้ง่ายในตลาดสด ห้างสรรพสินค้า หรือแผงขายผักผลไม้ทั่วไปคือ คะน้า ถั่วฝักยาว พริกจินดา ผักชี กะเพรา ส้ม แอปเปิ้ล ฝรั่ง แตงโมง และสตรอเบอร์รี่
 
 
บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของเรา เท่ากับทำเพื่อสุขภาพที่ดีของโลก
 
ด้านนพ.ประพจน์ เภตรากาศ นำเสนอ 3 ประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกันคือ ประเด็นแรก เรื่องอาหารกับร่างกาย ประเด็นที่สอง คือ เรื่องแนวความคิดเรื่องอาหารกับสุขภาพ และประเด็นที่สามคือ เรื่องอาหารอินทรีย์กับสุขภาพ โดยระบุว่า ทางเดินอาหารของคนเริ่มต้นจากปากไปสิ้นสุดที่รูทวารหนัก ความยาวของทางเดินอาหารประมาณ 7-8 เมตร หรือประมาณ 25 ฟุต เมื่อเรากินอาหารเข้าไป ทุกอย่างที่เราหยิบ ที่เรากิน จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ ทุกอย่างที่หลุดเข้าไปในปากจะถูกย่อยเป็นโมเลกุลเดี่ยวหรือโมเลกุลที่ละเอียดที่สุด เพื่อที่จะดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กไปใช้ในร่างกาย อาหารที่ถูกดูดซึมจะไปทำหน้าที่สร้างพลังงาน ซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายของเรา
 
อาหารใช้เวลาเดินทางจากปากของเราไปจนถึงรูทวารหนักประมาณ 24 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย โดยเฉลี่ยแล้วอาหารจะอยู่ในกระเพาะอาหาร 2-4 ชั่วโมง ในลำไส้เล็ก 6 ชั่วโมง ในลำไส้ใหญ่ 12-24 ชั่วโมง และออกทางรูทวารหนัก การใช้งานคือ พลังงานจะถูกดูดซึมเพื่อไปใช้ประโยชน์ น้ำมันจะช่วยเรียกน้ำย่อย และกากอาหารจะช่วยในการระบายของเสีย กากใยที่เรากินเข้าไปจะทำหน้าที่ไปครูดของเสียตามผนังลำไส้ให้ขับออกมาคล้ายๆ กับการดีท็อกซ์ อาหารที่เรากินเข้าไป ถ้าเป็นประเภทโปรตีนส่วนเกินจะถูกขับถ่ายออกมา เนื่องจากร่างกายมีความสามารถในการดูดซึมได้แค่ประมาณ 20-30% ของปริมาณอาหารที่เรากินเข้าไปเท่านั้น ร่างกายจะดูดซึมเท่าที่จะใช้ประโยชน์เท่านั้น ที่เหลือจะขับออกมา
 
ในประเด็นเรื่องอาหารและสุขภาพ นพ.ประพจน์ กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา มนุษย์มีความเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ ผ่านรากฐานทางวัฒนธรรมของแต่ละสังคม ซึ่งก่อให้เกิดความหลากหลายของวิธีการบำบัดรักษา ป้องกัน การเจ็บไข้ได้ป่วย การให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีอายุยืนยาว ยกตัวอย่างอย่างเช่นประเทศจีน ที่มีความเชื่อในเรื่องสุขภาพตามปรัชญา หยินและหยาง ว่าทั้งหยินและหยางดำรงอยู่ในร่างกายของมนุษย์อย่างได้สมดุลเช่นเดียวกันกับความสมดุลของจักรวาล หรือการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ
 
“ส่วนในระบบการแพทย์พื้นบ้านหรือดั้งเดิมทั่วโลกจะมีลักษณะเป็นการแพทย์แบบองค์รวม ซึ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับการรักษา การฟื้นฟู ความสมดุลในร่างกายมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เช่น การแพทย์อายุรเวท การแพทย์พื้นบ้านแอฟริกา ชนเผ่าซูลู มีความเชื่อว่าสุขภาพไม่ใช่เพียงสภาพหรือสภาวะ แต่เป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่อง”
 
นพ.ประพจน์ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนผ่านจากการแพทย์เชิงวัฒนธรรมสู่การแพทย์เชิงวิทยาศาสตร์ เป็นการเปลี่ยนผ่านทีละเล็กทีละน้อยตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งใช้เวลาหลายร้อยปี ในตะวันตกการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นในกรีก ระหว่าง 400 – 500 ปีก่อนคริสตกาล และถือว่าเป็นการแพทย์ที่พยายามใช้ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ การมีเหตุผลน่าเชื่อถือ ในการอธิบายโรคภัยไข้เจ็บ วิทยาศาสตร์การแพทย์มีแนวโน้มที่จะเน้นการบริโภค โปรตีน และผัก ผลไม้ ให้มากขึ้น แต่ให้ลดการบริโภคแป้ง ไขมันให้น้อยลง การมองว่าแป้งเป็นหมู่อาหารที่เป็นอันตรายจึงขัดแย้งกับวัฒนธรรมการบริโภคดั้งเดิมของประเทศต่างๆ ซึ่งนิยมการบริโภคข้าวและธัญพืชเป็นอาหารหลัก จนกระแสการบริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ (low-carb diet) เป็นที่นิยมกันในคนหนุ่มสาว และยังใช้ในการเป็นอาหารรักษาเบาหวานอีกด้วย
 
แนวความคิดใหม่ที่ทวนกระแสวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น แนวคิดเรื่องการกินอาหารมังสวิรัติของกลุ่มเซเวนธ์เดย์แอ๊ดเวนติส ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการทำการวิจัยขนาดใหญ่เกี่ยวกับสุขภาพของผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติ และพบว่า ผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติมีสุขภาพและอายุที่ยืนยาวกว่า เป็นโรคเรื้อรังโดยเฉพาะมะเร็งน้อยกว่าอย่างชัดเจน มีหนังสือดีหลายเล่มที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น “ปฏิวัติสุขภาพด้วยอาหารบนจานคุณ” ที่เขียนโดย T.Colin Campbell, Ph.D และ Thomas M. Campbell แปลเป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ.2555 หนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ “ขอบฟ้าแห่งอายุร้อยปี (Blue zone)” เขียนโดย เดวิด บุทเนอร์ ซึ่งเดินทางสำรวจวิถีชีวิตของผู้ที่มีอายุเกินหนึ่งร้อยปี ในดินแดน 4 แห่งทั่วโลก ได้แก่ โอกินาวา คอสตาริกา เกาะซาร์ดิเนีย และ กลุ่มเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนติสในอเมริกา ซึ่งพบว่า วิถีชีวิตของคนอายุเกินหนึ่งร้อยปี จะมีวิถีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ หยุดกินก่อนจะอิ่ม (ฮารา ฮาจิบุ) กินผักให้มาก เข้าเกียร์ต่ำ ใช้ชีวิตให้ช้าลง มีส่วนร่วม คนที่เรารักมาอันดับแรก อยู่ในกลุ่มชนที่ถูกต้อง และมีการดื่มไวน์
 
ประเด็นเรื่อง ‘อาหารอินทรีย์กับสุขภาพ’ นพ.ประพจน์ กล่าวว่า มีหนังสือชื่อ ‘Anticancer: A new way of life’ ซึ่งสำนักพิมพ์โกมลคีมทองมีแผนที่จะจัดพิมพ์ในเร็วๆ นี้ หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ดร.เดวิด ชไรเบอร์ ได้ให้ความสำคัญของอาหารอินทรีย์ ซึ่งจะมีความสมดุลของโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 โอเมก้า-3เอส และโอเมก้า-6 เอส ที่มีในร่างกายจะคอยปกป้องเพื่อควบคุมการทำงานต่างๆ ของร่างกาย โอเมก้า-6 เอส ช่วยเก็บสะสมไขมัน และส่งเสริมความแข็งตัวในเซลล์รวมทั้งการเกิดการแข็งตัวของเลือดและการอักเสบเพื่อตอบสนองการคุกคามจากภายนอก มันยังกระตุ้นการสร้างเซลล์ไขมันที่มีมาตั้งแต่เกิดต่อไป ในทางตรงกันข้าม โอเมก้า-3 เอส มีส่วนในการพัฒนาระบบประสาท ทำให้เยื่อหุ้มเซลล์มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและลดการอักเสบ และยังช่วยจำกัดการสร้างเซลล์ไขมัน
 
“ความสมดุลทางสรีรวิทยาของเราขึ้นกับความสมดุลของโอเมก้า-3 เอส และโอเมก้า-6 เอส ในร่างกายเป็นอย่างยิ่งซึ่งเกี่ยวกับอาหารที่เรากิน” นพ.ประพจน์กล่าว
 
ในช่วงท้าย นพ.ประพจน์ ได้กล่าวในช่วงท้ายว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องการย้ำเพิ่มเติมก็คือ ถ้าเราบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีให้กับตัวเรา เท่ากับเราทำเพื่อสุขภาพที่ดีของโลกใบนี้ที่เราได้อาศัยอยู่ การบริโภคอาหารที่มีพืชเป็นหลักเท่ากับการลดการใช้น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการลดการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และลดการทำร้ายสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์ม ต้องกินให้หลากหลายชนิดถึงจะช่วยดูแลสุขภาพและรักษาโรคได้
 
“บางคนเห็นว่าย่านางดี ก็จะแต่ย่านางอยู่นั่น อันนี้ก็ไม่ใช่ เราต้องกินให้หลากหลาย ต้องออกกำลังกาย หยุดกินก่อนอิ่ม ถึงที่สุดแล้ว ความมั่นคงทางอาหารจะสำคัญอย่างมาก ถ้าเราถามว่ากินอะไรดีที่สุด ผมว่าเราต้องกลับไปกินอาหารดั้งเดิม กินอาหารพื้นบ้านที่พ่อแม่เรากินมาแต่ไหนแต่ไร กินความหลากหลาย ยิ่งกินความหลากหลายเท่าไหร่เรายิ่งได้ประโยชน์” นพ.ประพจน์กล่าว
 
 
โภชนาการที่ดี ควรต้องมาจากระบบเกษตรที่ดี
 
คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ หยิบยกคำนิยามหรือวลีต่างๆ มานำเสนอเช่น วลีหนึ่งจากหนังสือชื่อ an AGRICULTURAL TESTAMENT’ เขียนโดยเซอร์อัลเบิร์ต โฮวาร์ด ผู้บุกเบิกเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ ว่า “The health of soil, plant, animal and man is one and indivisible” แปลเป็นไทยว่า “สุขภาพของดิน พืช สัตว์ และมนุษย์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แบ่งแยกมิได้” วลีอีกอันชื่อ “กงล้อแห่งสุขภาพ” ซึ่งให้รายละเอียดว่า สุขภาพขึ้นอยู่กับองค์รวมทั้งหมดของสิ่งแวดล้อม ระบบอาหารและโภชนาการคือปัจจัยที่สำคัญที่สุด แต่โภชนาการที่ดีมิได้มีความหมายเพียงเราหาอาหารจากที่ใดก็ได้เท่านั้น แต่ต้องมาจากระบบเกษตรกรรมการผลิตที่ถูกต้องด้วย จากการศึกษาและทดลอง เราพบความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และผืนดินว่า สุขภาพที่ดีนั้นเกิดขึ้นจากดินสู่พืชพันธุ์ต่างๆ และจากพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ สู่มนุษย์
 
นอกจากนิยาม 2 นิยามด้านบนแล้ว คุณวิฑูรย์ ยังได้ยกคำคมของปราชญ์ชาวบ้านบ้านเราคือ นายฉลวย แก้วคง ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า ร่างกายของเราประกอบไปด้วยธาตุ 4 ก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมกัน เรียกว่ารูป เช่นกันกับไร่นาเกษตรก็ต้องมี ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันเป็นรูป จึงจะถูกต้องตามธรรมะ ตามธรรมชาติ จะขาดอย่างใดไม่ได้เลย ส่วนมนุษย์เรา เราก็เกิดจากสายเลือดของบิดา-มารดา สายเลือดของบิดา-มารดาเกิดจากอะไร ถ้าเราสาวเข้าไปจะเห็นว่าบิดา - มารดากินอะไร สายเลือดของท่านก็เกิดจากสิ่งนั้น และเลือดเนื้อของเราก็เกิดจากสิ่งนั้นด้วย เพราะฉะนั้นเราเกิดจากสิ่งใดก็เอาสิ่งนั้นมาเลี้ยง เช่น ผักทุกชนิด ผลไม้ทุกชนิด เนื้อทุกชนิด น้ำทุกชนิด ถ้าเราทำลายสิ่งแวดล้อมก็เท่ากับเราทำลายตัวเอง ทำลายบรรพบุรุษของเราด้วย เพราะท่านทิ้งร่างกายเอาไว้ ใครทำลายสิ่งแวดล้อมเปรียบเสมือนคนอกตัญญูไม่รู้คุณบรรพบุรุษ
 
วิฑูรย์กล่าวต่อมาในเรื่องสารเคมี ว่า ในประเทศตะวันตกหลายประเทศ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มประเทศที่นำหน้ากลุ่มประเทศอื่นทั่วโลกในเรื่องเทคโนโลยีแทบทุกด้าน กระทั่งในเรื่องอาหารและสารเคมีที่ใช้ในอาหารเช่นกัน แต่เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเมื่อพบว่าสารเคมีส่งผลต่อความเสียหายด้านสุขภาพของมนุษย์ กลุ่มประเทศเหล่านี้จึงได้เลิกที่จะใช้สารเคมีทั้งในพืชและสัตว์ในอาหาร ข้อมูลที่เรามีปัจจุบันพบว่าประมาณ 10-20% ของประเทศในแถบตะวันตก ได้ลดการใช้สารเคมีลงไปมากแล้ว ในขณะที่ประเทศของเรายังใช้สารเคมีอยู่อย่างเข้มข้น สิ่งนี้เป็นเรื่องน่าคิดและตั้งคำถามอย่างยิ่งว่าประเทศของเราคิดอะไรอยู่
 
วิฑูรย์กล่าวด้วยว่า ประเด็นเรื่องข้าวพื้นเมืองหรือข้าวอินทรีย์ กำลังขยายแนวคิดออกไปอย่างหลากหลาย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตร ได้มีการรวบรวมและพัฒนาพันธุ์ข้าวหลายสายพันธุ์ หรือได้มีการทดสอบคุณค่าทางโภชนาการ หรือสารอาหารในข้าว เช่น ‘ทองแดง’ ในข้าวทั่วๆ ไปที่เรากินกับข้าวพื้นบ้านพบว่า ในข้าวที่เรากินทั่วๆ ไป 1 จาน จะเท่ากับการกินข้าวกล้องเพียง 1 ใน 5 ของจานเท่านั้น
 
นอกจากนี้แล้วยังมีงานศึกษาเกี่ยวกับโภชนาการของข้าวพื้นเมืองหลายชิ้นที่น่าสนใจ เช่น การศึกษาคุณค่าโภชนาการของข้าวพื้นเมือง ในพื้นที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร โดย รัชนี คงคาฉุยฉาย และริญ เจริญศิริ -2551 หรืองานศึกษาคุณค่าทางโภชนาการ สารต้านอนุมูลอิสระ ประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระและดัชนีน้ำตาลในข้าวพื้นเมืองสายพันธุ์ ต่างๆ ที่เป็นเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานโดย รัชนี คงคาฉุยฉาย ริญ เจริญศิริ และพัชราวรรณ มาทีฆะ-2553 เป็นต้น
 
ในประเด็นเรื่องข้าวไรซ์เบอร์รี่ วิฑูรย์กล่าวว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่ถูกส่งเสริมให้มีการปลูก และโฆษณาชวนเชื่อเรื่องคุณค่าสารอาหาร และมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงเกินจริงนั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้าวพื้นบ้านหลายสายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมนิล ก่ำเปลือกดำ ขาวใหญ่ ดอหางฮี และข้าวอีกหลายสายพันธุ์กลับพบว่า ข้าวพื้นบ้านสายพันธุ์ต่างๆ เหล่ามีคุณค่าทางโภชนาการและมีสารอาหารหลายชนิดเทียบเท่ากับไรซ์เบอร์รี่ และมีสารอาหารหลายชนิดมากกว่าไรซ์เบอร์รี่หลายเท่า เพราะฉะนั้นจึงมีคำพูดในหมู่ชาวบ้านที่พูดหยิกแกมหยอกกันเล่นๆ ว่า ข้าวพื้นบ้านคือ ‘ซุปเปอร์ไรซ์เบอร์รี่’ หรือที่บอกว่า ‘เลิกปลูกเถอะไรซ์เบอร์รี่ หันมาปลูกซุปเปอร์ไรซ์เบอร์รี่กันดีกว่า’ หมายถึงว่า ชาวนาหรือผู้ปลูกข้าวทั้งหลายไม่ควรไปหลงใหลกับคำโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ของข้าวไรซ์เบอร์รี่ แต่ควรหันมาดูข้อเท็จจริง หันมาดูข้อมูลที่เป็นจริงของตนเองดีกว่า
 
“เงินที่เราจ่ายซื้อข้าวอินทรีย์แม้จะราคาสูงกว่าข้าวทั่วๆ ไปบ้าง แต่ผมว่าเงินที่เราจ่ายจะให้ผลที่มีคุณค่าต่อร่างกายอย่างมากๆ เมื่อเทียบกับการจ่ายราคาถูกแต่ได้คุณค่าทางอาหารน้อยมาก ผมว่าเป็นเรื่องที่เราควรลงทุนเพื่อสุขภาพของเรา เราอาจเชื่อว่าเราจ่ายสตางค์ซื้อลูกพลับ แอปเปิ้ล กีวี องุ่นแดง ราสเบอร์รี่ สตอเบอร์รี่ ลูกไหน บลูเบอร์รี่ หรืออื่นๆ เพื่อให้ได้สารต้านอนุมูลอิสระ ในขณะที่เรามองข้ามข้าวพื้นบ้านของเราที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเพียงพออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมว่าเราหันมากินข้าวกล้องพื้นบ้านดีกว่าไหม” วิฑูรย์ให้ความเห็น
 
วิฑูรย์ จบท้ายวงเสวนาวิชาการด้วยวลีจากต่างประเทศว่า "The most political act we do on a daily basis is to eat, as our actions affect farms, landscapes and food businesses" แปลเป็นภาษาไทยแบบสั้นๆ ว่า “ทุกคำที่เรากิน สามารถเปลี่ยนโลกทั้งใบได้”
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. ต่อเหมืองทองคำจังหวัดเลย

$
0
0
 

 

 
1. การกล่าวโทษของ ก.ล.ต.
 
1.1 การกล่าวโทษครั้งที่หนึ่ง[1]
 
30 กรกฎาคม 2556 นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของเหมืองทองคำจังหวัดเลยตามสัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำแปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ถูกกล่าวโทษโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จากความไม่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ THL ที่มิได้ดูแลจัดการให้ THL ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ต้องนำส่ง (1) งบการเงินไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2555 (2) งบการเงินไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2555 (3) งบการเงินประจำงวดการบัญชีประจำปี 2555 (4) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2555 (แบบ56-1) และ (5) รายงานประจำปี 2555 (แบบ 56-2) ต่อสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด จึงต้องรับโทษเช่นเดียวกับบริษัท 
 
ถึงแม้ว่าในระหว่างพิจารณาคดี THL จะนำส่ง (1) งบการเงินไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2556 (2) งบการเงินไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2556 (3) งบการเงินประจำงวดการบัญชี ประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2556 (4) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2555 (แบบ 56-1) เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 และ (5) รายงานประจำปี 2555 (แบบ 56-2) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ต่อสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการตลาดทุนประกาศกำหนดใหม่ก็ตาม ก็ยังส่งผลให้ต้องรับโทษเช่นเดิม กล่าวคือ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 (THL) และจำเลยที่ 2 (นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล) มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 56 , 274 วรรคหนึ่ง ประกอบ 199 วรรคสอง เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษกรณีงบการเงินไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2555 ปรับคนละ 20,000 บาท และปรับรายวัน คนละวันละ 200 บาท รวม 313 วัน เป็นเงินคนละ 62,600 บาท กรณีงบการเงินไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2555 ปรับคนละ 20,000 บาท และปรับรายวัน คนละวันละ 200 บาท รวม 206 วัน เป็นเงินคนละ 41,200 บาท กรณีงบการเงินประจำงวดการบัญชี ประจำปี 2555 ปรับคนละ 20,000 บาท และปรับรายวัน คนละวันละ 200 บาท รวม 175 วัน เป็นเงินคนละ 35,000 บาท กรณีแบบแสดงรายการข้อมูล ประจำปี 2555 ปรับคนละ 20,000 บาท และปรับรายวัน คนละวันละ 200 บาท รวม 193 วัน เป็นเงินคนละ 38,600 บาท และกรณีรายงานประจำปี 2555 ปรับคนละ 20,000 บาท และปรับรายวัน คนละวันละ 200 บาท รวม 168 วัน เป็นเงินคนละ 33,600 รวมปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงินคนละ 311,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 155,500 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 โดยให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปี
 
1.2 การกล่าวโทษครั้งที่สอง[2]
 
19 กันยายน 2556 นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ THL ถูกกล่าวโทษจาก ก.ล.ต. อีกครั้ง จากการที่มิได้ดูแลจัดการให้ THL ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ต้องนำส่ง (1) งบการเงินไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2556 และ (2) งบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2556 ต่อสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด จึงต้องรับโทษเช่นเดียวกับบริษัท 
 
ในการพิจารณาคดีวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 (THL) มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 56, 274 วรรคหนึ่ง, 199 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 (นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล) มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 56, 274 วรรคหนึ่ง, 199 วรรคสอง, และ 300 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันไม่จัดทำและส่งงบการเงินไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2556 ปรับคนละ 20,000 บาท และปรับรายวัน คนละวันละ 200 บาท นับแต่วันฝ่าฝืนจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 363 วัน เป็นเงินคนละ 72,600 บาท ฐานร่วมกันไม่จัดทำและส่งงบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2556 ปรับคนละ 20,000 บาท และปรับรายวัน คนละวันละ 200 บาท นับแต่วันฝ่าฝืนจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 273 วัน เป็นเงินคนละ 54,600 บาท รวมปรับจำเลยทั้งสองถึงวันฟ้องเป็นเงินคนละ 167,200 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 83,600 บาท และคงปรับรายวัน คนละวันละ 100 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะได้จัดทำและส่งงบการเงินไตรมาสที่ 1 และที่ 2 ประจำปี 2556 หากไม่ชำระค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 1 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 สำหรับจำเลยที่ 2 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 หากกักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 1 ปี 
 
ซึ่งไม่มีรายงานในหน้าเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ได้นำส่ง (1) งบการเงินไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2556 และ (2) งบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2556 ต่อสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนดใหม่หรือไม่ อย่างไร
 
1.3 การกล่าวโทษครั้งที่สาม[3]
 
16 มิถุนายน 2557 นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ซึ่งรับผิดชอบเป็นกรรมการผู้จัดการ THL เช่นเดิม มิได้ดูแลจัดการให้ THL ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ต้องนำส่ง (1) งบการเงินประจำรอบปีบัญชีประจำปี 2556 และ (2) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2556 (แบบ56-1) ต่อสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด จึงต้องรับโทษเช่นเดียวกับบริษัท 
 
การพิจารณาคดีครั้งนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการของพนักงานสอบสวน และไม่มีรายงานในหน้าเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ได้นำส่ง (1) งบการเงินประจำรอบปีบัญชีประจำปี 2556 และ (2) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2556 (แบบ56-1) ต่อสำนักงานและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนดใหม่หรือไม่ อย่างไร
 
 
2. ข้อกฎหมายของ ก.ล.ต.
 
ตามกฎหมายหลักทรัพย์ หรือ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ หรือพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ถูกกล่าวโทษตามมาตรา 300 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษผู้บริหารนิติบุคคลที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ดังนี้ “ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตาม มาตรา 268 มาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 มาตรา 273 มาตรา 274 มาตรา 279 มาตรา 280 มาตรา 281 มาตรา 284 มาตรา 286 มาตรา 290 มาตรา 292 มาตรา 296 มาตรา 297 มาตรา 298 หรือมาตรา 299 เป็นนิติบุคคล ถ้าพิสูจน์ได้ว่าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการ การกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้ใดผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย”
 
สำหรับ THL ถูกกล่าวโทษตามมาตรา 56 และมาตรา 199 วรรคสอง ซึ่งมาตรา 56 เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน โดย
 
“ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตาม มาตรา 32 มาตรา 33 หรือมาตรา 34 จัดทำและส่งงบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัทต่อสำนักงานดังต่อไปนี้
 
            (1) งบการเงินรายไตรมาสที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทานแล้ว
            (2) งบการเงินประจำงวดการบัญชีที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว
            (3) รายงานประจำปี
            (4) รายงานการเปิดเผยข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับบริษัทตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
 
งบการเงินและรายงานตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด การกำหนดดังกล่าวให้คำนึงถึงมาตรฐานที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชีได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้วด้วย”
 
มาตรา 199 ทั้งมาตรา กำหนดไว้ว่า
 
“ให้นำความใน มาตรา 51 มาตรา 52 มาตรา 53 และมาตรา 55 รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับแก่การโอนและการจัดทำทะเบียนหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียนอันมิใช่ตั๋วเงินโดยอนุโลม
 
ให้นำความใน มาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 59 มาตรา 61 และมาตรา 62 รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้อง มาใช้บังคับแก่การเปิดเผยข้อมูลและผู้สอบบัญชีของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์จดทะเบียนอันมิใช่พันธบัตรที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือหลักทรัพย์อื่นใดตามที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์กำหนดโดยอนุโลม แต่ในกรณีที่บริษัทดังกล่าวได้จัดทำและส่งรายงานการเปิดเผยข้อมูลต่อสำนักงานตาม มาตรา 56 ไว้แล้ว บริษัทจะส่งสำเนารายงานข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ก็ได้
 
ในกรณีที่บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. ให้ถือว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ หรือคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แล้วแต่กรณี”
           
โดยจำเลยทั้งสองมีบทกำหนดโทษบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ผู้บริหารและผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับการไม่เปิดเผยข้อมูลและการชี้แจงเพิ่มเติมตามมาตรา 274 คือ
 
“บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 56 มาตรา 57 หรือ มาตรา 58 (1) หรือ (3) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
 
กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทใดไม่มาชี้แจงตามมาตรา 58 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
 
 
3. คำถาม
 
ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดในกฎหมายหลักทรัพย์ที่ระบุว่าการกล่าวโทษเช่นนี้จะมีได้กี่ครั้งถึงจะสิ้นสุด และเมื่อถูกพิจารณาคดีตามการกล่าวโทษกี่ครั้งจึงถือว่าผู้บริหารหมดความสามารถในการบริหารจัดการบริษัท หรือถ้าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่รับโทษเองให้ถือว่าบริษัทควรถูกปลดออกจากตลาดหลักทรัพย์ได้
 
คำถามที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นมา เมื่อนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ไล่ทุบตี จับมัดมือไพล่หลังและกักขังชาวบ้านที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในเขตตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จนถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสหลายราย ด้วยการใช้กองกำลังอำพรางใบหน้าจำนวน 300 คน พร้อมอาวุธครบมือ ทั้งท่อนเหล็ก มีด และปืน โดยการนำของ พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค และลูกชาย คือพันโทปรมินทร์ ป้อมนาค เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 เพื่อขนแร่เถื่อน ซึ่งเป็นแร่ทองแดงผสมทองคำและเงิน 300 ตัน นั้น ก.ล.ต. จะสามารถกล่าวโทษต่อพฤติกรรมป่าเถื่อนของ THL เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไปได้อย่างไร.
 

[1]เนื้อหาในหัวข้อนี้คัดลอกจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เข้าถึงข้อมูลได้ที่ http://capital.sec.or.th/webapp/enforce/criminalquerythai_p2.php?trans_date=2013-07-30&offender_thai_name=&content_id=5&query_type=เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557
โดยผู้เขียนได้นำเนื้อหาที่คัดลอกมาเรียบเรียงและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่
[2]เนื้อหาในหัวข้อนี้คัดลอกจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เข้าถึงข้อมูลได้ที่ http://capital.sec.or.th/webapp/enforce/criminalquerythai_p2.php?trans_date=2013-09-19&offender_thai_name=&content_id=5&query_type=เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557
โดยผู้เขียนได้นำเนื้อหาที่คัดลอกมาเรียบเรียงและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่
[3]เนื้อหาในหัวข้อนี้คัดลอกจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เข้าถึงข้อมูลได้ที่ http://capital.sec.or.th/webapp/enforce/criminalquerythai_p2.php?trans_date=2014-06-16&offender_thai_name=&content_id=5&query_type=เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557
โดยผู้เขียนได้นำเนื้อหาที่คัดลอกมาเรียบเรียงและแก้ไขเพิ่มเติมใหม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ท่ามกลางความสงบสุข

$
0
0





วิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วง 6-7 เดือนของการออกมาเคลื่อนไหวขับไล่นายกรัฐมนตรีของมวลมหาประชาชนสืบเนื่องจากสาเหตุการออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมสุดซอย หรือ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ลักหลับในคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน เวลาตี 4 พร้อมกับการลุกฮือออกมาของมวลมหาประชาชนจำนวนมากตามท้องถนน และจบลงด้วยการก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจโดย คสช. ของ 6 โมงเย็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อคืนความสุขให้กับคนในชาติ

สถานการณ์ที่วุ่นวายในช่วง 6-7 เดือนตลอดมาได้สงบลงในวันต่อมาหลังจากมีการยึดอำนาจของ คสช.  สื่อวิทยุ โทรทัศน์กระแสหลักเปิดเพลงปลุกใจรักชาติกันอย่างพร้อมเพียง สลับกับมีการนำเสนอประกาศคำสั่งของ คสช. เป็นระยะ พร้อมกับมีการเรียกผู้ประชาชนไปรายงานตัวโดยอ้างว่าเพื่อเป็นการปรับทัศนคติ ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

ผ่านมาสองเดือนที่ คสช. ได้ทำการยึดอำนาจ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ กระแสหลัก นำเสนอรายการและข่าวตามปกติแต่ก็ยังมีการขอความร่วมมือจาก คสช. ไม่ให้สัมภาษณ์นักวิชาการหรือนักการเมืองต่อความเห็นทางการเมืองเพื่อไม่ให้เกิดการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกในสังคม

หากมองภาพรวมโดยทั่วไปจากการดูข่าวประจำวันจะพบได้ว่าบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ประชาชนใช้ชีวิตประจำวันตามปกติพร้อมกับการแถลงผลงานของ คสช. ทุก 6 โมงเย็น และกิจกรรมคืนความสุขต่างๆที่ทางคณะ คสช. ที่ได้จัดเพื่อสลายสีเสื้อ สลายความขัดแย้งระหว่างขั้วทางการเมืองที่เผยแพร่ออกมาตามสื่อกระแสหลักมากมาย มองไปแล้วทำให้คิดได้ว่าบ้านเมืองกำลังกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และมีความสุข อย่างที่ คสช. ได้ให้คำมั่นไว้

แต่ท่ามกลางความสงบสุขที่เราเห็นผ่านหน้าจอทีวีและฟังจากวิทยุ ข่าวความเดือดร้อนและปัญหาความไม่เป็นธรรมของคนตัวเล็กๆได้หายออกไปจากหน้าสื่อกระแสหลัก โดยมีข่าวกิจกรรมคืนความสุขเข้ามาแทนที่พื้นที่ข่าวปัญหาของคนชายขอบเช่น ราคายางพาราตกต่ำ การไล่รื้อคุกคามชาวบ้านโนนดินแดง การเข้าจับกุมนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน เป็นต้น

ในสถานการณ์คืนความสุขให้กับคนในชาติ คนตัวเล็กๆและปัญหาความไม่เป็นธรรมได้หายไปจากพื้นที่ข่าว เพื่อกลบเกลื่อนความไม่มีความสุขในท้องถิ่นที่ห่างไกลจากกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ตามภูมิภาค

หากเป็นในช่วงสถานการณ์ปกติที่เป็นประชาธิปไตยการนำเสนอข่าวเหล่านี้ย่อมนำเสนอได้อย่างเปิดเผยและมีการติดตามตรวจสอบความคืบหน้าทั้งจากนักข่าวและสังคมอย่างต่อเนื่อง แม้ข่าวเหล่านี้จะสะท้อนความเป็นจริงของสภาพปัญหาทางสังคม ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมของคนที่เข้าไม่ถึงโอกาสและความเป็นธรรม สื่อสารมวลชนย่อมทำหน้าที่ตัวกลางในการเปิดเผยปัญหาที่คนห่างไกลความเจริญจะต้องพบเจอในชุมชนในท้องถิ่นของเขา เพื่อให้สาธารณะชนได้รับรู้ แม้ว่าสิ่งทีนำเสนอจะค่อนข้างขัดแย้งกับความเชื่อและจินตนาการที่สวยงามที่มีต่อคนท้องถิ่นและชุมชนที่ห่างไกล

ในช่วงระยะเวลาของการปกครองประชาธิปไตย การเดินขบวนเรียกร้องหรือการออกสื่อเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมนั้นสามารถทำได้ และเป็นเครื่องมือสำคัญของเหล่าผู้คนที่จนอำนาจในการต่อรอง ระบบประชาธิปไตยอนุญาตให้คนเหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหวตามสื่อและตามท้องถนนได้อย่างเสรีและไม่มีความผิดอะไรเพื่อจะบอกต่อสังคมถึงความไม่เป็นธรรมที่ตนต้องประสบและเรียกร้องให้สังคมช่วยร่วมกดดันในการแก้ปัญหาความทุกข์ยากเหล่านี่ ซึ่งในระบบประชาธิปไตยมองการเคลื่อนไหวเหล่านี้ว่า ไม่ใช่ปัญหาที่น่ากลัว ไม่ใช่ความวุ่นวายและไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ แต่เป็นสิทธิและเสรีภาพในการเข้ามามีพื้นที่ต่อรองผลประโยชน์และเรียกร้องความเป็นธรรมของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน หรือไร้อำนาจอย่างไร

การควบคุมสื่อในการเสนอข่าวในสภาวการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นการปฎิเสธความมีอยู่ของปัญหาและนำปัญหาลงไปซุกไว้ใต้พรม เพื่อสั่งสมและรอวันปะทุออกมาในวันที่บ้านเมืองกลับมาสู่สภาวะที่เป็นประชาธิปไตย  เหมือนกับช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  ซึ่งเกิดการเดินขบวนเรียกร้องจากปัญหาสังคมที่สั่งสมมานานของประชาชน ในสภาวะการที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500-2516 ประมาณครั้งของการเดินขบวนตลอด 3 ปีตั้งแต่ช่วง 14 ตุลา 2516-6 ตุลา 2519 ประมาณ 900 กว่าครั้ง

ถึงอย่างนั้นแล้วในความสงบสุขของประเทศชาติที่เราดูผ่านโทรทัศน์ ฟังจากวิทยุ ผิวเผินนั้นอาจจะดูเรียบร้อยเป็นระเบียบ ทุกคนมีรอยยิ้มให้แก่กันหลังจากผ่านช่วงวิกฤตการทางการเมืองมาแล้ว แต่ภายใต้ความสุขและความเงียบสงบที่เราเห็นนั้น ยังมีปัญหาที่สั่งสม รอวันระเบิดขึ้น ในวันที่ คสช. จากไป และบ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตย เราอาจจะได้ตาสว่างจากความสุขชั่วขณะจากปัญหาที่ถูกเก็บงำไว้ไม่นำเสนอในพื้นที่สื่อกระแสหลัก ก็เป็นได้

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทบาทภาคประชาชนกับการริเริ่มเสนอร่างกฎหมายในช่วงปฏิรูปประเทศไทย

$
0
0

 

บทความวิชาการนี้ผู้เขียน[1]มีจุดประสงค์หลักนำเสนอเฉพาะกระบวนการนิติบัญญัติกรณีกระบวนการริเริ่มเสนอกฎหมายภาคประชาชน โดยไม่พิจารณาถึงกระบวนการตราพระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชกำหนด และกฎหมายลำดับรองแต่อย่างใด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชนในสภาวการณ์ที่บ้านเมืองอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านที่ต้องอาศัยหลักการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ  ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสภาพปัญหาที่สะสมมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ที่จะสามารถสะท้อนภาพของปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาจากฐานล่างหรือเชิงพื้นที่ในรูปแบบของการร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ความเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีรายละเอียดดังนี้

นับแต่มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินปี 2475 โดยคณะราษฎร์ ประเทศไทย
ได้ยึดถือรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภามาเป็นระยะเวลา 82 ปี มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาแล้ว 18 ฉบับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557[2]ถือเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับที่ 19 ของประเทศไทย ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดโครงสร้างทางการเมืองและกำหนดหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนกลไกควบคุมและถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ[3]การกำหนดหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น มองเตสกิเออกล่าวไว้ในหนังสือเจตนารมณ์แห่งกฎหมายในประเด็นที่ว่าอะไรคือเสรีภาพไว้ว่า “ควรจะใส่ไว้ในสมองเลยว่าอะไรคืออิสรภาพ และอะไรคือเสรีภาพ เสรีภาพคือสิทธิที่จะทำทุกสิ่งที่กฎหมายอนุญาต และหากพลเมืองสามารถทำสิ่งที่กฎหมายห้ามได้ประชาชนก็ไม่มีเสรีภาพอีกแล้ว เพราะคนอื่นก็จะมีอำนาจที่จะทำอย่างเดียวกัน”[4]มองเตสกิเออได้นำเสนอหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย (Seperation of Powers) โดยมีหลักสำคัญว่า เมื่อใดอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ อยู่มือคน ๆ เดียวกัน เสรีภาพย่อมจะไม่มีอีกต่อไป[5]ซึ่งย่อมเห็นได้ชัดว่า
มีเจตจำนงในการจะรักษาปกป้องไว้ซึ่งเสรีภาพของบุคคล

สิทธิ (Rights) หมายถึง ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้แก่บุคคลในอันที่จะกระทำการเกี่ยวข้องกับทรัพย์หรือบุคคลอื่น[6]เช่น สิทธิในชีวิตร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน ฯลฯ

เสรีภาพ (Liberty) หมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของผู้อื่น มีอิสระที่จะกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ[7]เช่น เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร เสรีภาพในการเดินทาง ฯลฯ

การประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมาจะพบว่ารัฐธรรมนูญบางฉบับก็มิได้รับรองเรื่องสิทธิและเสรีภาพไว้ ได้แก่ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520 ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 รวมทั้งสิ้นจำนวน 6 ฉบับ อาจด้วยเหตุผลที่ว่าเพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นมาโดยมีวัตถุบางประการเป็นการชั่วคราวเท่านั้นและมักเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการยึดอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน อย่างไรก็ดี สิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนก็มีได้หลากหลายรูปแบบวิธีการ เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น

พลันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เรื่อยมาถึงการยึดอำนาจหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จวบจนถึงการถือกำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่มีโครงสร้างสถาบันทางการเมืองประกอบไปด้วย 5 สถาบัน ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งกระบวนการนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญที่สุดเปรียบเสมือนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา[8]ในยามที่บ้านเมืองอยู่ในสภาวการณ์ปกติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีสมาชิกไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ความหลากหลายของบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ และภาคอื่น[9]ทำหน้าที่ในการออกกฎหมายโดยตรงเป็นหลัก

การเสนอร่างพระราชบัญญัติให้สภานิติบัญญัติพิจารณาให้ความเห็นชอบในการประกาศใช้เป็นกฎหมาย หมายความรวมถึง กระบวนการตั้งแต่ริเริ่มเสนอกฎหมายจนประกาศใช้บังคับกฎหมายด้วย ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนขอนำเสนอเปรียบเทียบให้เห็นช่องทางริเริ่มเสนอร่างกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เท่านั้น ดังนี้

1.  ผู้มีอำนาจเสนอร่างพระราชบัญญัติ

1.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา โดยการเสนอร่างพระราชบัญญัติมี 4 ฝ่าย[10] ได้แก่

1) คณะรัฐมนตรี

2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

3) ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดองค์กรและกฎหมายที่ประธานศาลและประธานองค์กรนั้นเป็นผู้รักษาการ และ

4) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 10,000 คน ตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ[11]

1.2 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา โดยร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดย 3 ฝ่าย[12]ได้แก่

1) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกันจำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน

2) คณะรัฐมนตรี

3) สภาปฏิรูปแห่งชาติ

2.  การริเริ่มเสนอกฎหมายโดยประชาชน

ตามหลักทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจนั้น ฝ่ายบริหารมีหน้าที่นำเอากฎหมายที่ได้รับจากความเห็นชอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติไปปฏิบัติดำเนินการบริหารประเทศ รัฐบาลซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารงานของรัฐ ย่อมอยู่ในฐานะที่รู้ซึ้งถึงปัญหาขัดข้องและความต้องการโดยรวมอย่างแท้จริงของประชาชนโดยผ่านหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ[13]รัฐบาลจึงมีส่วนร่วมในการริเริ่มตรากฎหมายเพื่อใช้บริหารประเทศร่วมกันกับฝ่ายนิติบัญญัติที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยด้วย เพราะหากบุคคลซึ่งจะต้องลงมือปฏิบัติการกับบุคคลซึ่งมีหน้าที่ตรากฎหมายไม่ใช่บุคคลคนเดียวกันแล้ว[14]การพิพาทโต้เถียงระหว่างบุคคลทั้งสองคณะก็จะเกิดขึ้น การบัญญัติให้องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารร่วมกันออกกฎหมายโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจและถ่วงดุลซึ่งกันและกันจึงเป็นเรื่องปกติ
ในสมัยปัจจุบัน[15]อีกทั้งบุคคลในองค์กรดังกล่าวเป็นผู้แทนประชาชนชาวไทย นี่คือเหตุผลเบื้องหลังแนวคิดการที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจริเริ่มเสนอกฎหมาย

สำหรับการการร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน ปรากฏให้เห็นครั้งแรก
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ตลอดเรื่อยมาถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550[16]

การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย[17]  คือ สิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชนโดยการร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เป็นกลไกเสริมสำหรับการพิจารณาออกกฎหมายบังคับใช้ในสังคม ตามแนวคิดกระบวนการนิติบัญญัติทางตรง (Direct Legislation) กล่าวคือ เป็นการให้สิทธิประชาชน
ใช้อำนาจนิติบัญญัติได้โดยตรง โดยการริเริ่มเสนอกฎหมายได้เอง ไม่ต้องผ่านทางผู้แทนประชาชน แต่ต้องนำมาให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้การรับรองก่อน นอกจากนี้การมีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติทางตรงมีได้ในหลายกรณี ดังนี้

1) การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายโดยตรง ได้แก่ การเสนอแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายโดยประชาชนเข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย ให้ประชาชนลงคะแนนโดยตรงว่าจะรับหรือปฏิเสธ โดยไม่ต้องผ่านผู้แทน

2) การริเริ่มเสนอกฎหมายทางอ้อม ได้แก่ การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย โดยยื่นร่างกฎหมายนั้นก่อนวันประชุมสมัยสามัญ เพื่อให้สภานิติบัญญัติพิจารณาร่างกฎหมาย หากร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบหรือมีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งผู้ริเริ่มเสนอร่างกฎหมายไม่เห็นด้วย ผู้ริเริ่มอาจเสนอร่างกฎหมายนั้นให้ประชาชนออกเสียงประชามติโดยตรงว่าจะรับหรือปฏิเสธร่างกฎหมายนั้น

3) การออกเสียงลงคะแนนรับรองร่างกฎหมาย ประชาชนมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนว่าจะรับหรือปฏิเสธร่างกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติ หากประชาชนเหล่านี้เป็นผู้เข้าชื่อกันเสนอให้สภาพิจารณาภายหลังจากสมัยประชุมถูกเลื่อนไป ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อกันตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้นำร่างกฎหมายนั้นมาออกเสียงประชามติ ซึ่งร่างกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อมีการออกเสียงรับรองในการออกเสียงประชามติแล้ว

4) ร่างกฎหมายที่เสนอโดยผู้แทนประชาชน สมาชิกสภานิติบัญญัติอาจเสนอร่างกฎหมายแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนออกเสียงประชามติได้ ทั้งโดยความสมัครใจและ
โดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องมีการเข้าชื่อของประชาชน

การริเริ่มเสนอกฎหมายโดยประชาชนจึงเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามหลัก “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” (Participatory Democracy) ตามแนวคิดกระบวนการนิติบัญญัติทางตรง (Direct Legislation)  ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเมืองภาคพลเมือง อันจะช่วยหนุนเสริมและอุดช่องว่างในระบบการเมืองภาคตัวแทนหรือประชาธิปไตยทางผู้แทน (Representative Democracy) ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นนั่นเอง

3.  วิเคราะห์สภาพปัญหา

3.1 โครงสร้างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภาปฏิรูปแห่งชาติ

3.1.1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นรูปแบบสภาเดี่ยว เปรียบเสมือนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 220 คน มีอำนาจหน้าที่ในการตรากฎหมายใช้บังคับ รวมถึงการเสนอร่างพระราชบัญญัติ โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติร่วมกันไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ

3.1.2 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนไม่เกินสามสิบห้าคนตามที่นากยกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินการปฏิรูปด้านต่าง ๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมาฉันท์ของประชาชนในชาติ

3.1.3 สภาปฏิรูปแห่งชาติประกอบไปด้วยสมาชิกไม่เกิน 250 คน พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ โดยบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการสรรหาโดยแบ่งจากจังหวัดต่าง ๆ 77 จังหวัดที่สรรหากันมา ซึ่งจะมีคณะกรรมการสรรหาคณะละหนึ่งชุดต่อหนึ่งจังหวัดๆ ละ 5 คน และให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติเลือก1 คนใน 5 คนเท่านั้น ส่วนอีกจำนวนที่เหลือ 173 คนเพื่อจะรวมกันให้เป็น 250 คน จะกระจายมาจากทั่วประเทศ ไม่ยึดติดกับพื้นที่จังหวัดใด แต่ขึ้นอยู่กับแนวทางการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ 11 ด้าน[18]ซึ่งมีคณะกรรมการสรรหาประจำด้านละ 1 ชุด บุคคลที่เป็นคณะกรรมการสรรหาจะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปมิได้ โดยให้เสนอชื่อเข้ามาโดยมีองค์กรที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลรองรับองค์กรละ 2 คน และคณะกรรมการสรรหาจะสรรหาบุคคลไม่เกิน 50 คน หากได้ประมาณ 50 คน 11 ด้าน จะเท่ากับ 550 คน และส่งรายชื่อไปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 173 คน ไปรวมกับ 77 คนจาก 77 จังหวัด เป็น 250 คน

จะเห็นได้ว่า ด้วยลักษณะการได้มาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจในการตรากฎหมาย การบริหารราชการแผ่นดิน และการปฏิรูปประเทศ มิได้มาจากการเลือกตั้งหรือมีหลักยึดโยงความสัมพันธ์กับประชาชนแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อพิจารณาดูบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็มีความเกี่ยวพันกับอำนาจในการกำกับดูแลการทำงานขององค์กรทั้งสามค่อนข้างเคร่งครัด การที่ประชาชนมิได้เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยหรือมีหน้าที่รับผิดชอบไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เท่ากับว่าเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนถูกละเลยและให้ความสำคัญในระบบกฎหมาย

3.2 องค์กรและกลไกการเสนอร่างกฎหมาย

ผู้มีอำนาจเสนอร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ได้แก่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกันจำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน คณะรัฐมนตรี และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (โปรดดูแผนผังกระบวนการตราพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557)

 

 

แผนผังกระบวนการตราพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

 

จากแผนผังข้างต้นแสดงให้เห็นว่า องค์กรที่สามารถริเริ่มเสนอร่างกฎหมายได้นั้นมีเพียง 3 ฝ่าย ประชาชนไม่มีสิทธิหรือมีส่วนร่วมในการริเริ่มเสนอร่างกฎหมายได้เลย หากมองอย่างผิวเผินแล้วการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเขียนรัฐธรรมนูญโดยให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นกลไกหนึ่งทำหน้าที่ในห้วงแห่งการปฏิรูปประเทศก็ถือเป็นเรื่องที่ดี การที่จะให้ประชาชนทั้งประเทศเข้าไปนั่งในองค์กรทั้งสามย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ประกอบกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีความต้องการสร้างบรรยากาศแห่งความสงบเรียบร้อยและปรองดอง ปฏิรูปกฎเกณฑ์บางเรื่องที่เป็นชนวนความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมกับชนในชาติ และไม่ต้องการให้การปฏิรูปครั้งนี้ต้องสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ ทางเลือกหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเพราะเป็นรากเหง้าสำคัญที่ประสบปัญหาและมีความพยายามรวมกลุ่มต่อสู้ขับเคลื่อนกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนั่นคือ ภาคประชาชน ด้วยความเชื่อมั่นว่าการตัดสินใจของประชาชนที่มีข้อเสนอต่าง ๆ จะได้รับการแก้ไขและคุ้มครองอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เพราะประชาชนฉลาดกว่า มีการศึกษาที่สูงกว่าผู้ที่มีอำนาจรัฐ หากแต่พวกเขาต้องสามารถตัดสินใจและรับผิดชอบในการตัดสินใจหรือการกำหนดเจตจำนงของตนเองได้ ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทุกรัฐบาลต้องเป็นสิ่งที่ประชาชนเป็นผู้เลือกหรือชี้นำสังคม มิใช่จากบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่ง เพราะฉะนั้นประชาชนสมควรได้รับการตอบสนองจากการปฏิรูปประเทศชาติด้วยการมีสิทธิมีส่วนร่วมใน “การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย” การเข้าชื่อกฎหมายของประชาชนในสภาวการณ์บ้านเมืองปกติ ประชาชนผู้ทรงสิทธิภายในรัฐสามารถมีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ ดังนั้นในสภาวการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติยิ่งต้องสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ มิใช่นิ่งเฉย เพราะประชาชนเองจะทราบดีกว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวหลาย ๆ อย่างในประเทศมีความแนบชิดอย่างสนิทกับความรับผิดชอบของตนเอง

4.  ข้อเสนอแนะ

แม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 จะไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้
ผู้เขียนเห็นว่า

(1) ประชาชนสามารถร่วมกันจัดทำความเห็น ข้อเสนอแนะ และร่างกฎหมายภาคประชาชน
ในประเด็นปัญหาเพื่อการปฏิรูป ไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และ
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งผู้บริหารสูงสุดของส่วนราชการ หรือองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิรูปได้โดยตรง

(2) องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ประชาชนเสนอ ตามข้อ 1) จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้าร่วมรับฟัง ชี้แจง หรือแสดงความคิดเห็นในการพิจารณานั้นได้เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูป

(3) ร่างกฎหมายใดที่ภาคประชาชนเสนอ และผ่านการพิจารณาเห็นชอบในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติทุกครั้ง หรือโดยการทำสัตยาบันร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอแนะข้างต้นถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมืองโดยสันติวิธีอย่างชอบธรรม ต่อองค์กรผู้มีอำนาจหน้าที่ในระหว่างที่ประเทศชาติต้องการการปฏิรูป เพื่อให้หยุด เปลี่ยนแปลง หรือริเริ่มกระทำการบางอย่าง อันเป็นพัฒนาการทางการเมืองของสังคมที่สมควรได้รับการดำเนินการให้บรรลุผลเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

             




[1]นายเลิศศักดิ์ ต้นโต (อีเมล : Publiclert@gmail.com)

[2]ข้อความที่ปรากฏในเอกสารฉบับนี้ผู้เขียนขอเรียกแทนว่า “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557” เพื่อให้เนื้อหามีความกระชับขึ้น

[3]อมร จันทรสมบูรณ์.  (2528).  คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (constitutionalism).  หน้า. 7.  กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา, มปท.

[4]มองเตสกิเออ.  วิภาวรรณ ตายานนท์ (แปล).  เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย.  หน้า. 183.  สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[5]เรื่องเดียวกัน.  หน้า. 180

[6]วรพจน์ วิศรุตพิชญ์.  (2538).  สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ. หน้า 22.  กรุงเทพฯ : วิญญูชน

[7]เรื่องเดียวกัน.  หน้า 7.

[8]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557, มาตรา 6.

[9]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557, มาตรา 7.

[10]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, มาตรา 90.

[11]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, มาตรา 142 และมาตรา 163.

[12]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557, มาตรา 14.

[13]อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป.  การเสนอและพิจารณาร่างกฎหมายการเงิน ในหนังสือรวบรวมบทความวิชาการเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม.  หน้า. 162.  กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน

[14]สังเคราะห์จาก วรพจน์ วิศรุตพิชญ์. ลักษณะเฉพาะของความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและรัฐสภาในระบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษ.  นิติศาสตร์ 14 (กันยายน 2527 ).  หน้า. 14

[15]โกสินทร์ วงศ์สุรวัฒน์.  รัฐสภา, เอกสารประกอบชุดวิชาสถาบันและกระบวนการทางการเมืองไทย หน่วยที่ 1-7 (พิมพ์ครั้งที่ 2).  หน้า 239.  กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

[16]ยกเว้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549.

[17]สถาบันพระปกเกล้า.  (2553).  รายงานศึกษา เรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย.  หน้า 11 และหน้า 15.

[18]มาตรา 27 ให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(1) การเมือง

(2) การบริหารราชการแผ่นดิน

(3) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

(4) การปกครองท้องถิ่น

(5) การศึกษา

(6) เศรษฐกิจ

(7) พลังงาน

(8) สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

(9) สื่อสารมวลชน

(10)      สังคม

(11)      อื่น ๆ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุสรณ์ ธรรมใจ: การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และการจัดการทรัพย์สินของประเทศ (3)

$
0
0

 

เมื่อรัฐหรือรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงความล้มเหลวของระบบตลาด เพื่อจัดการปัญหามลพิษจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การเอารัดเอาเปรียบในตลาดแรงงาน การดูแลให้เกิดรายได้ที่เป็นธรรม กลไกของรัฐเองก็มีข้อจำกัด และอาจเกิดความล้มเหลวได้เช่นเดียวกัน ความล้มเหลวหรือปัญหาประสิทธิภาพของภาครัฐอาจเกิดจากข้อจำกัดด้านข้อมูล ข้อจำกัดของระบบราชการ ข้อจำกัดของกระบวนการทางการเมือง ปัญหาการไม่มีแรงกดดันด้านการแข่งขัน (ทำให้เกิดปัญหาไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ปรับปรุงคุณภาพ เป็นต้น)

นอกจากนี้ยังเกิดกรณีที่นโยบายหรือมาตรการที่ดีไม่สามารถผลักดันให้เกิดเป็นจริงได้ เพราะนักการเมืองต้องคำนึงถึงคะแนนนิยมเฉพาะหน้า รวมทั้งความขัดแย้งกับกลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุนพรรคการเมือง นโยบายหรือมาตรการบางอย่างที่เข้าไปจัดการกับโครงสร้างตลาดผูกขาดแล้วกระทบต่อฐานทางการเมืองจึงไม่เกิดขึ้น แม้นจะเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของระบบตลาด และเกิดผลดีระยะยาวต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมได้ก็ตาม 

แต่ความเป็นจริงก็คือ ทุกฝ่ายล้วนมีผลประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง ผลประโยชน์อาจไม่ได้เป็นตัวเงิน  ซึ่งผลประโยชน์บางส่วนก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ควรจะได้รับ เมื่อมีผลประโยชน์ วิธีที่ดีที่สุด คือ เอาผลประโยชน์ทุกอย่างมาวางบนโต๊ะ และให้มีการจัดสรรอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และมีส่วมร่วมจากทุกฝ่าย และมีการจัดทำประชาพิจารณ์อย่างละเอียดรอบคอบ ฉะนั้น การปฏิรูปหรือการแปรรูปจึงต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการพอๆ กับเป้าหมาย ต้องรอบคอบและเตรียมความพร้อมอย่างเป็นขั้นตอน แต่ละรัฐวิสาหกิจก็ควรมีรูปแบบในการแปรรูปที่แตกต่างกัน  

ความหมายของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ก็คือ การเพิ่มบทบาทของเอกชนในกิจการต่างๆ ซึ่งรัฐวิสาหกิจดำเนินการอยู่ จึงไม่ใช่การขายรัฐวิสาหกิจ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจมี 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างของการเป็นเจ้าของกิจการ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างของการเป็นเจ้าของกิจการ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเองก็มีหลายระดับ ตั้งแต่สัญญาจ้างให้บริหารงาน สัญญาเช่า การให้สัมปทาน การร่วมลงทุน การกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือการขายองค์กรหรือสินทรัพย์บางส่วนให้เอกชน การขายรัฐวิสาหกิจหรือการขายทรัพย์สินไม่ใช่การปฏิรูป แต่อาจเป็นวิธีการหนึ่งในการจัดการทรัพย์สินของชาติได้ แต่ต้องทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

การแปรรูปโดยการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จะเป็นการลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐในรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ประชาชนและนักลงทุนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ การใช้วิธีการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ยังจะทำให้การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจมีความโปร่งใสขึ้น เนื่องจากต้องได้รับการตรวจสอบมากขึ้นจากกลไกตลาดหลักทรัพย์ กลต. และผู้ถือหุ้น นักลงทุน หรือถ้ากังวลว่า คนส่วนใหญ่จะไม่ได้ประโยชน์ก็อาจขายหุ้นให้ประชาชนผู้ใช้น้ำใช้ไฟฟ้าตามสัดส่วนที่เหมาะสมและเป็นธรรม

ในกรณีที่เป็นบริการพื้นฐานอย่างกิจการไฟฟ้าหรือน้ำประปานั้น รัฐยังคงถือหุ้นใหญ่อยู่ กิจการยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดิมและสามารถให้บริการทางสังคม และดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้ต่อไป หากดำเนินการแปรรูปได้อย่างดีและเหมาะสมแล้ว ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจ

การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะนำมาสู่ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ลดภาระทางการคลัง บริการที่มีคุณภาพดีขึ้น และสามารถระดมทุนเพื่อลงทุนขยายบริการพื้นฐานให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต 

มีความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับการแปรรูป การแปรรูปนั้นไม่ใช่การขายรัฐวิสาหกิจออกไปให้เอกชน หรือกลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่ง แต่เป็นการกระจายหุ้นและความเป็นเจ้าของมายังประชาชนส่วนใหญ่ เป็นการเปลี่ยนลักษณะองค์กรจากสถานะรัฐวิสาหกิจ ที่ใช้กฎหมายเฉพาะรับรอง ให้เป็นองค์กรที่มีรูปแบบเป็นบริษัทมหาชน ที่สามารถระดมทุนจากเอกชนมาสร้างความแข็งแกร่งให้กิจการ และขยายการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต โดยไม่ต้องกู้เงินซึ่งค้ำประกันโดยรัฐ อันถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ

เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ในยุคสมัยรัฐบาล คมช. นโยบายรัฐวิสาหกิจเกือบถึงจุดพลิกผันที่สำคัญ แต่ก็ไม่มีการเดินหน้าต่อแต่อย่างใดคาดเดาว่า น่าจะมีการทักท้วงโดยฝ่ายข้าราชการประจำ โดยเฉพาะกระทรวงการคลังที่ยังเชื่อเรื่องการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนอยู่ แต่รัฐมนตรีบางท่านในยุคนั้นจะส่งสัญญาณ การเปลี่ยนจากการแปรรูป (Privatization) มาเป็นการดึงกลับมาเป็นของรัฐ (Nationalization) แต่ในที่สุดแนวทางแบบนี้ก็ไม่ได้รับการขานรับเท่าที่ควร คงต้องมาดูยุค คสช. ว่าจะเดินแนวไหนนะครับ 

สภาพการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในละตินอเมริกาก่อนหน้านี้ มีความเคลื่อนไหวของโบลีเวียยึดกิจการของเอกชนต่างชาติมาเป็นของรัฐ หลังจากที่รัฐบาลฝ่ายซ้ายของประธานาธิบดีอีโว โมราเลส ชนะการเลือกตั้ง สร้างความปั่นป่วนสับสนพอสมควร แต่เป็นทางเลือกที่โบลีเวียอาจถูกบังคับให้เลือกเดิน เหมือนเวเนซูเอลาและประเทศอื่นๆ เพื่อลดปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ และแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนหรือไม่???

การถกเถียงแนวทางที่พวกเขาทำอยู่เหมาะสมหรือไม่ เป็นการดำเนินนโยบายที่ฉลาดหรือไม่ อาจต้องรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ชะตากรรมของประชาชนและประเทศเหล่านี้คงต้องผูกกับนโยบายของผู้นำหัวสังคมนิยมผสมชาตินิยม ซึ่งเราก็หวังแต่เพียงว่า จะไม่เกิดสภาพเหลือบฝูงเก่าในคราบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์จากไป เหลือบฝูงใหม่ในคราบของความรักชาติและสังคมนิยมจะมาเกาะกินผลประโยชน์ของชาติ และทิ้งวิกฤตการณ์ไว้ดูต่างหน้าเหมือนเช่นเคยครับ 

หากพิจารณาจะเห็นได้ว่า ฝ่ายซ้ายละตินอเมริกาไม่ได้ยึดแนวทางการต่อสู้ด้วยกำลัง แต่มุ่งเอาชนะในระบบรัฐสภา นำเอาชาตินิยมมาสร้างความเป็นธรรมให้แก่คนยากจน สร้างแนวร่วมอันแข็งแกร่งกับทุนชาติ และต่อต้านทุนข้ามชาติ

ความสำเร็จของแนวทางนี้ต้องรอการพิสูจน์???

หากแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยรัฐยังคงถือหุ้นใหญ่ ฉะนั้น จึงไม่ต้องวิตกกังวลในการทำหน้าที่ในการให้บริการทางสังคม การแปรรูปที่ทำไปพร้อมๆ กับการออกหุ้นเพื่อระดมทุน กระจายหุ้นให้กับนักลงทุนทั่วไปนั้น นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันด้านราคา และพัฒนาคุณภาพการให้บริการ อย่างกรณีของ บมจ. บางจากปิโตรเลียม ซึ่งมีการแปรรูปแล้วก็ทำให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น และไม่เป็นภาระต่อประชาชนผู้เสียภาษี สามารถระดมทุนเพื่อขยายการให้บริการหรือธุรกิจโดยไม่ต้องพึ่งพิงเงินงบประมาณ นอกจากนี้ ยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

การแปรรูปที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ ต้องนำมาสู่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการดำเนินการต้องมีความรอบคอบและมีการเตรียมการอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การปรับโครงสร้างสาขาหรือกิจการ การปรับปรุงองค์กรให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การแยกบัญชีหรือภารกิจเชิงสังคมออกจากเชิงธุรกิจ เปิดโอกาสให้กลไกราคาทำงานอย่างเต็มที่สำหรับภารกิจเชิงธุรกิจ ขณะที่ให้เงินอุดหนุนสำหรับภารกิจบริการสังคม แล้วแปรสภาพกิจการให้อยู่ในรูปบริษัทจำกัด วางกรอบการกระจายหุ้นที่เป็นธรรมและโปร่งใส สร้างระบบและองค์กรกำกับดูแลที่มีความเป็นอิสระ มีบุคลากรที่มีคุณธรรม มีขีดความสามารถสูงทั้งด้านเทคนิค การเงิน เศรษฐศาสตร์ และการบริหารเป็นคณะกรรมการในองค์กรกำกับดูแล เปิดโอกาสให้ประชาชนและสหภาพแรงงานมีส่วนร่วมในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และที่สำคัญองค์กรกำกับดูแลควรถูกจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติมากกว่ามติ ครม. หรือกฤษฎีกา เพื่อให้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกแทรกแซงโดยฝ่ายนโยบาย หรือมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เมื่อได้ดำเนินการตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน

 

รัฐวิสาหกิจกลุ่มสถาบันการเงิน (SFls) 10 แห่ง

งบดุล (ลบ.)

2554

2555

YTD 2556*

สินทรัพย์

5,843,695

6,472,548

7,013,510

เงินให้สินเชื่อ/เงินค้ำประกัน

เงินลงทุนให้ลูกหนี้

4,798,984

4,909,816

5,219,323

หนี้สิน

5,430,916

5,981,492

6,483,672

เงินฝาก

4,493,095

5,144,001

5,605,740

ทุน

412,778

491,055

529,839

 

งบกำไรขาดทุน (ลบ.)

2554

2555

YTD 2556*

รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล

272,064

318,590

323,724

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย

33,535

42,694

44,912

รายได้รวม

305,599

361,286

368,638

ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย

112,629

144,515

144,656

ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ย

97,423

99,417

103,603

ค่าใช้จ่ายรวม

250,780

299,697

287,452

หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ

40,725

55,765

39,032

ภาษีเงินได้

5,777

7,863

7,778

กำไร (ขาดทุน) สุทธิ

49,042

53,725

73,182

 

ข้อมูลอื่นๆ (ลบ.)

2554

2555

YTD 2556*

สินเชื่อคงค้าง

4,798,984

4,909,816

5,219,323

สินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)

218,203

228,189

303,344

NPL/สินเชื่อ (%)

4.55%

4.65%

5.81%

แหล่งที่มา: สคร. กระทรวงการคลัง 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  ปัจจุบัน ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ  เป็น รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตาโลกออนไลน์: สังคมเสพติดความรุนแรงและความบิดเบี้ยวของชุดศีลธรรมแบบพุทธ

$
0
0

 

หากท่านผู้อ่านได้ติดตามความเคลื่อนไหวบน Social Network ในช่วง ๑-๒ เดือนที่ผ่านมาก็คงจะเคยได้ยิน หรือได้พบเห็นความเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง อาทิเช่น กรณีนักเรียนชายพยายามรุมข่มขืนเพื่อนร่วมชั้นเรียน กรณีคนร้ายฆ่าข่มขืนเด็กสาวบนรถไฟ กรณีพิพาทระหว่างโค้ชและนักกีฬาเทควันโด หรือกรณีล่าสุดในอย่างการที่ดาราสาวถูกสามีทำร้ายร่างกาย ไปจนกระทั่งประเด็นในต่างประเทศอย่างการปะทะระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เหตุการณ์ที่ยกมาทั้งหมดนี้มีจุดร่วมกันอยู่ประการหนึ่งคือ”การใช้ความรุนแรง”ในบริบทที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งบริบทหรือองค์ประกอบของเหตุการณ์ที่ว่านี้ก่อให้เกิดการบิดเบี้ยวในทางปฏิบัติของชุดศีลธรรมที่แสดงออกต่อกรณีต่างๆ

หากยังจำกันได้กรณีข่าวการฆ่าข่มขืนนี้สร้างกระแสสังคมที่เรียกได้ว่าเป็นคลื่นลูกใหญ่ในเรื่องการเข้าชื่อเรียกร้องให้แก้ไขบทลงโทษเพื่อให้บังคับใช้”โทษประหาร”กับนักโทษในคดีข่มขืน [แม้ว่าจะมีบทลงโทษนี้ตามประมวลกฏหมายอาญาอยู่แล้วก็ตามที] ซึ่งแน่นอนว่าได้รับการตอบรับอย่างมหาศาล ความเคลื่อนไหวนี้บ่งบอกให้เรารับรู้ว่าสำนึกเรื่องศีลธรรมแบบพุทธในสังคมไทยนั้นในทางปฏิบัติแล้วมันเกิดการบิดเบี้ยวและดูเหมือนจะย้อนกลับไปหาการใช้มาตรการแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ในการลงโทษโดยละเลยในเรื่องศีลธรรมที่ว่าด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้นเป็นบาป [แน่นอนว่าศีลธรรมข้อนี้ถูกนำมาใช้เช่นกัน แต่ถูกนำมาใช้ในมิติความผิดบาปตกอยู่ที่ตัวคนร้ายที่ฆ่าคนอื่น การฆ่าคนร้ายจึงไม่ใช่สิ่งผิด]

ปรากฏการณ์ที่ยืนยันความคิดนี้อย่างชัดเจนคือในทุกครั้งที่มีคดีฆ่าข่มขืน หรือกระทำชำเราแล้วต้องนำตัวผู้ต้องหาไปทำการประกอบแผนคำรับสารภาพมักจะปรากฏ”ไทยมุง”มารอรุมทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาแทบทุกครั้งไป ปรากฏการณ์นี้ชวนให้ตั้งคำถามต่อไปว่าไทยมุงเหล่านั้นมีความชอบธรรมอะไรในการเข้าไปทำร้ายร่างกายหรือรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหา? และสิ่งที่เขากำลังทำนั้นเป็นการตอบสนองอุดมการณ์ตามกรอบศาสนา [อาจจะเข้าขั้นแสวงบุญ] หรือเป็นการสร้างที่ยืนทางสังคมด้วยการทำร้ายร่างกายผู้อื่นกันแน่

การใช้ความรุนแรงแก้ปัญหานั้นยังปรากฏชัดเจนขึ้นมาอีกในกรณีพิพาทระหว่างโค้ชเทควันโดชาวเกาหลี กับนักกีฬาสาว ที่มีการนำเสนอว่าโค้ชชาวเกาหลีลงโทษนักกีฬาเกินกว่าเหตุด้วยการทำร้ายร่างกาย กรณีพิพาทนี้นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง [ซึ่งในช่วงท้ายนักกีฬาทีมชาติหลายคนก็ออกมายอมรับว่าเคยถูกทำร้ายร่างกายเช่นกัน กระทั่งตัวโค้ชเองก็ออกมายอมรับว่าทำร้ายร่างกายนักกีฬาสาวจริง แต่ตีที่ใบหน้า และต่อยที่ท้องเบาๆเท่านั้น] กรณีนี้ก็ตอกย้ำสำนึกคิดที่เสพติดความรุนแรง ในระหว่างการถกเถียงอย่างกว้างขวางมีการยกเอาภาษิตไทยที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ขึ้นมาใช้เป็นเหตุผลรองรับในการถกเถียง ความบิดเบี้ยวนี้แสดงให้เห็นว่าคนในสังคมสนใจใน”ผลลัพธิ์”มากกว่า”วิธีการ” กล่าวคือจะใช้วิธีการใดก็ได้หากสามารถทำให้ผลลัพธิ์ออกมาดี หรือตรงตามที่สังคมคาดหวังไม่ว่าวิธีการนั้นจะเลวร้ายแค่ไหนก็ถือว่าสามารถ”ยอมรับได้” [สำนึกนี้ไม่จำกัดเฉพาะในเรื่องกีฬาเท่านั้น แต่ดูเหมือนจะแทรกซึมอยู่ในทุกๆมิติของสังคมนี้ ที่เด่นชัดอีกตัวอย่างนึงก็เช่นในทางการเมือง]

ถัดมาในอีกกรณีหนึ่งคือกรณีการปะทะระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่สร้างความเคลื่อนไหวบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ไม่น้อยในการออกมาต่อต้านความรุนแรงในปาเลสไตน์และฉนวนกาซ่า ตาม Campaign Free Gaza ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใดนับว่าเป็นเรื่องน่าชื่นชมด้วยซ้ำที่เราออกมาต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อเพื่อมนุษย์ กระนั้นในขณะเดียวกันเองคนกลุ่มนี้กลับเรียกร้องให้มีการจัดการกับผู้ก่อความสงบในสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างเด็ดขาด (?) ในกรณีนี้หากพิจารณาตามประวัติศาสตร์แล้วรัฐไทยออกจะคล้ายกับอิสราเอลที่รุกเข้าไปยึดครองดินแดนของปาเลสไตน์เสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดีในกรณีนี้มีอุดมการณ์ในรูปแบบอื่นเข้ามาเป็นปัจจัยร่วมด้วยคือ อุดมการณ์แบบชาตินิยม ที่สร้างสำนึกในเรื่องรัฐเดี่ยวที่จะแบ่งแยกไม่ได้ กระนั้นจากเหตุการณ์นี้ก็จะเห็นว่าคนในสังคมสามารถละเลยศีลธรรมบางข้อลงเพื่อตอบสนองต่ออุดมการณ์อีกชุดที่อยู่เหนือกว่าได้ [ในที่นี้คืออุดมการณ์แบบชาติ ศาสน์ กษัตริย์]
  
กล่าวโดยสรุปความเคลื่อนไหวของเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ทำให้เราสามารถอ่านความคิดและพิจารณาการตอบสนองของคนในสังคมนี้ต่อประเด็นทางสังคมต่างๆได้อย่างง่ายดายนั้นบ่งบอกให้รู้ว่าชุดศีลธรรมในไทยไม่ได้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อนำจิตใจผู้คนให้สูงขึ้น แต่ชุดศีลธรรมนี้กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรง อาจกล่าวได้ว่าชุดศีลธรรมถูกควบคุมโดยรัฐและกลายเป็นกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐอย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากในทางปฏิบัติเราไม่ได้นำเอาชุดศีลธรรมทั้งหมดมาใช้อย่างจริงจังตลอดเวลา หากแต่เราพร้อมจะวางศีลธรรมบางข้อหรืออาจจะวางชุดศีลธรรมเหล่านี้ลงทั้งชุดเพื่อการกระทำที่ตอบสนองต่ออุดมการณ์สูงสุดอีกอย่างหนึ่ง แน่นอนว่าขณะที่เราวางชุดศีลธรรมทั้งหมดลงและกระทำสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรมนั้น เราก็ยังสามารถอ้างว่าทำตามศีลธรรมได้เสียอีก

ถึงที่สุดเราควรตั้งคำถามต่อมาตรฐานของการใช้ศีลธรรมของคนในสังคมนี้ ว่าแท้จริงแล้วเราใช้ศีลธรรมนั้นเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าหรือใช้มันเป็นเครื่องมือหนึ่งในการยกตนให้สูงขึ้นผ่านการเหยียบย่ำคนอื่นๆกันแน่?

 

 

ปล. กรุณาดูเนื้อหาข่าวเพิ่มเติม
กรณีนร.ชายพยายามรุมกระทำชำเรานร.หญิงร่วมชั้นเรียน
กรณีฆ่าข่มขืนเด็กสาวบนรถไฟ 
แคมเปญ ข่มขืน=ประหาร
กรณีดาราสาวถูกสามีทำร้ายร่างกาย
กรณีพิพามอิสราเอลและปาเลสไตน์
กรณีพิพาทระหว่างโค้ชและนักกีฬาเทควันโด้

 

เกี่ยวกับผู้เขียน  จักรพล ผลละออ เป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 ศึกษาอยู่ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย : ประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ยามราตรี

$
0
0

เรื่องราวชีวิตผู้คนในกรุงเทพฯ หลังอาทิตย์อัสดง ในทางประวัติศาสตร์แล้วไม่ค่อยมีการศึกษารวบรวมข้อมูลและพูดถึงอย่างจริงจังมากนัก ว่าในยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีรถยนต์ ผู้คนใช้ชีวิตกับความบันเทิงนอกบ้านในยามค่ำคืนกันอย่างไร

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ สนทนากันถึงเรื่องราวชีวิตหลังอาทิตย์ลับขอบฟ้าของผู้คนในอดีตในกรุงเทพมหานคร พบกับ ‘อรรถ บุนนาค’ และแขกรับเชิญพิเศษ ‘วีระยุทธ ปิสาลี’ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ยามค่ำคืน และผู้เขียนหนังสือ ‘กรุงเทพฯ ราตรี’ สนทนาถึงรูปแบบและความเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตบันเทิงยามค่ำคืนนอกบ้าน ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้า จนถึงยุคที่แสงสว่างจากไฟฟ้าทำให้สามารถใช้ชีวิตในแต่ละวันได้ยาวนานขึ้น และการเข้ามารถยนต์ทำให้มีอิสระในการเดินทางในยามค่ำคืนได้มากขึ้น รวมถึงย้อนมองความบันเทิงตั้งแต่ครั้งอดีตทั้งบ่อนพนันกาสิโนถูกกฎหมาย สถานบริการทางเพศโคมเขียว การแสดงระบำเปลือยตามงานวัด และสถานเริงรมย์กินดื่มต่างๆ

ท่านผู้ชมสามารถร่วมสนุกกับรายการหมายเหตุประเพทไทย ตอน ‘ประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ยามราตรี’ ได้ โดยเข้าไปกดไลค์-แสดงความคิดเห็น-และแชร์รายการจากแฟนเพจเฟซบุค หมายเหตุประเพทไทยความเห็นใดถูกใจพิธีกรทั้งสองท่าน จะได้รับหนังสือ ‘กรุงเทพฯ ราตรี’ ฟรีท่านละ 1 เล่ม

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสท. เตรียมออกใบอนุญาตวัดเรตติ้ง - กำกับการควบรวมกิจการสื่อ

$
0
0

จับตาวาระ กสท. จันทร์ 28 ก.ค. นี้ พิจารณาร่างประกาศ 2 ฉบับหลังรับฟังความเห็น ได้แก่ ใบอนุญาตวัดเรตติ้ง และประกาศรวมกลุ่มส่งเสริมวิชาชีพสื่อกำกับกันเอง

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ 28 ก.ค. 57 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 31/57 มีวาระการประชุมพิจารณาเกี่ยวข้องกับร่างประกาศและนโยบายของ กสทช.  ได้แก่ การสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและแนวทางดำเนินการต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการแบบประยุกต์ประเภทการสำรวจความนิยมในกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. ... 

สุภิญญา กล่าวว่า หลังจากที่ กสท.ออกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีสักระยะหนึ่งแล้ว จากนี้เป็นจุดเริ่มต้นจริงจังของการกำกับดูแลการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการรายใหม่กังวลกันมาก คือ เรื่องการวัดเรตติ้ง  ที่ผ่านมามีความเห็นแตกต่างเกี่ยวข้องกับร่างฯฉบับนี้ อาทิ ร่างฯนี้จะเป็นเครื่องมือช่วยกำกับบริษัทให้มีความน่าเชื่อถือ  หรือจะเป็นการกีดกันกีดกันให้เกิดการผูกขาดในระบบของผู้ทำกลุ่มเดิม รวมถึงประเด็นข้อระวังทางกฎหมาย ว่า กสทช.มีอำนาจหน้าที่มากำกับเอกชนในเรื่องของการวัดเรตติ้งได้หรือไม่  จึงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงอย่างเข้มข้นต่อไป ก่อนนำเข้าพิจารณาอีกครั้งในบอร์ดใหญ่ อย่างไรก็ดี กสทช. ควรมีมาตรการอื่นเพื่อส่งเสริมให้มีการวัดเรตติ้งจากเอกชนรายอื่นๆด้วย  แน่นอนว่า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรายใหม่ฝากให้ช่วยจับตา

“ส่วนร่างประกาศฯ ที่ภาคสื่อรอคอย ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... หลังมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในช่วงที่ผ่านมา  ซึ่งคาดว่าหลังประกาศใช้จริง จะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นของการส่งเสริมให้สื่อกำกับดูแลกันเองตามกรอบจริยธรรม และยังเป็นการช่วยงาน กสทช. ในการกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น” สุภิญญา กล่าว

ทั้งนี้ กสท.เตรียมพิจารณาร่างประกาศ  เรื่อง การกำหนดลักษณะและมาตรการกำกับดูแลการควบรวมกิจการ การถือหุ้นไขว้ และการครอบงำกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... ซึ่งร่างฯนี้จะเป็นการวางแนวทางป้องกันปัญหาในอนาคต หากการดำเนินกิจการเอกชนในระยะหนึ่งประสบปัญหาปัจจัยทางเศรษฐกิจอาจทำให้เกิดการควบรวมกิจการ ซึ่งตอนนี้เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นมากในต่างประเทศ ถ้าปล่อยให้มีการควบรวมกิจการง่ายเกินไปอาจทำให้เกิดการเอาเปรียบกับผู้ชม ผู้บริโภคที่จะไม่มีทางเลือกที่รับชมอย่างหลากหลายเพราะไม่มีการแข่งขัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ กสท. จะเริ่มออกประกาศฯเพื่อใช้กำกับดูไม่ให้เกิดปัญหาต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้มีวาระการตรวจสอบแบบสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาฯ  ของ บริษัท ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด รอบที่ 2 จึงฝากถึงรายอื่นๆที่ยังไม่ส่งให้เร่งส่ง และฝากถึงผู้บริโภคควรศึกษาสัญญามาตรฐานก่อนเซ็น จากนั้นรักษาสิทธิ์ตนเองที่ระบุไว้ในสัญญา หากพบปัญหา สามารถร้องเรียนได้ที่ กสทช. 1200 ซึ่งเร็วๆนี้ ทาง อนุคุ้มครองผู้บริโภค ฯ จะไปเยี่ยมเพื่อหารือกับทาง ผู้บริหาร CTH หลังจากระยะหลังมีเรื่องร้องเรียนเรื่องสัญญาณ และการบริการเข้ามามาก เหมือนที่เคยไปหารือกับ ผู้บริหาร True Visions ก่อนหน้านี้ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาวาระผลการวิเคราะห์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น/เพิ่มทุนของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ และการรายงานผลการทดลองแพร่ภาพออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล DVB-T2 ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ตามที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการทดลองแพร่ภาพ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกร็ดเลือกตั้งอินโดนีเซีย มองรายละเอียดสองคู่แข่งผู้มาจากพื้นเพที่แตกต่าง

$
0
0

แม้ว่าโจโค วิโดโด นักการเมืองสายบริหารผู้มีพื้นเพติดดินจะถูกประกาศให้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการแล้ว แต่คู่แข่งคือปราโบโว สุเบียนโต อดีตทหารระดับสูงคนสนิทของ 'ซูฮาร์โต' ยังคงเดินหน้ากล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง จึงขอนำเสนอเกร็ดประวัติของทั้งสองคนรวมถึงข้อมูลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้


หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดในอินโดนีเซียที่เพิ่งมีการประกาศผลคะแนนในช่วงวันที่ 22-23 ก.ค. ที่ผ่านมา อินโดนีเซียก็เดินทางมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง เนื่องจากในการขับเคี่ยวกันระหว่าง โจโค วิโดโด นักการเมืองผู้มีพื้นเพติดดินซึ่งสามารถสร้างผลงานได้อย่างมากก่อนหน้านี้ สังกัดพรรคพีดีไอพีกับปราโบโว สุเบียนโต นักการเมืองผู้เคยมีตำแหน่งทางการทหารและมีพื้นเพเกี่ยวโยงกับชนชั้นนำ สังกัดพรรคเกรินดรา

ก่อนหน้าการนับคะแนนมีการสำรวจที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้คือโจโค วิโดโด ทำให้ปราโบโวซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามไม่พอใจและเริ่มแสดงท่าทีไปในเชิงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง
ปราโบโวแสดงออกอย่างชัดเจนในวันที่ 22 ก.ค. ซึ่งเป็นวันประกาศผลคะแนนวันแรก เขากล่าวหาว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมี "การโกงกันในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ"

ปราโบโวกล่าวหาอีกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งของอินโดนีเซียบกพร่องในหน้าที่ อย่างไรก็ตามเขาได้ประกาศถอนตัวจากการเลือกตั้งซึ่งทำให้เขาไม่สามารถฟ้องร้องเรื่องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียได้ นอกจากนี้การถอนตัวจากการเลือกตั้งประธานาธิบดียังถือว่าผิดกฎหมายในอินโดนีเซียซึ่งมีบทลงโทษจำคุก 6 ปี และปรับเป็นจำนวนเงิน 100,000 ล้านรูเปียห์ (ราว 270 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งอินโดนีเซียหลายแหล่งระบุตรงกันข้ามกับข้อกล่าวหา โดยบอกว่าการเลือกตั้งในอินโดนีเซียโดยทั่วไปมีความอิสระและเป็นไปอย่างยุติธรรม เช่นมาสวาดี รอฟ จากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียกล่าวว่าไม่มีสิ่งที่ส่อเค้าของการโกงการเลือกตั้งครั้งนี้เลย

หลังจากการถอนตัวของปราโบโว ทำให้ผู้สังเกตการณ์ของพรรคเกรินดราถอนตัวออกจากการเข้าร่วมพิธีการประกาศผลอย่างเป็นทางการด้วย

การประกาศผลการเลือกตั้งถูกเลื่อนเวลาออกไป 4 ชั่วโมงจากเวลาเดิม ผลเป็นไปตามคาดคือวิโดโดได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียง 70.99 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 53.15 ทางด้านปราโบโวได้รับคะแนนเสียง 62.57 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 46.85 ซึ่งเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งอิสระภายในอินโดนีเซียก่อนหน้านี้แล้ว ในครั้งนี้ถือว่ามีคะแนนเสียงใกล้เคียงกันที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของอินโดนีเซีย โดยในครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 69.58

หลังประกาศผลแล้วฝ่ายปราโบโวยังคงปฏิเสธไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยอ้างว่าพวกเขาไม่เชื่อถือผลการนับคะแนนของ กกต. อินโดนีเซีย แต่เชื่อการนับคะแนนของพรรคพีเคเอส ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายเดียวกับปราโบโวและเป็นพรรคการเมืองที่เคยมีเรื่องอื้อฉาวอย่างหนัก อย่างไรก็ตามทางด้านโจโค วิโดโด ยังคงกล่าวชื่นชมปราโบโวต่อสื่อหลังการประกาศผลแล้ว

"ผมเชื่อว่าคุณปราโบโวเป็นรัฐบุรุษผู้ที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติอยู่เหนือเรื่องอื่น" วิโดโดกล่าว

อย่างไรก็ตามวิโดโดคิดว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่โปร่งใสที่สุดนับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2548 เนื่องจากมีอาสาสมัครและผู้สังเกตการณ์สามารถตรวจสอบผลได้ แม้ว่าอาจจะมีข้อผิดพลาดในเรื่องกระบวนการนับคะแนนอยู่บ้าง

วิโดโดถือเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนแรกที่ไม่ได้มีประวัติมาจากกองทัพหรือจากชนชั้นนำทางการเมือง นักวิจารณ์การเมืองที่ชื่อซาลิม ซาอิด บอกว่า วิโดโดเป็นนักการเมืองที่เป็นเสมือน "คนที่เป็นเพื่อนบ้าน" สำหรับชาวอินโดนีเซีย

ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ แสดงความยินดีต่อผู้นำอินโดนีเซียคนใหม่ผ่านทวิตเตอร์ ขณะที่โทนี แอบบอตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวถึงการที่วิโดโดได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งว่าถือเป็นพัฒนาการสำคัญของประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย

ทางฝ่ายปราโบโวยังคงไม่ลดละ ในคืนวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา พวกเขาถึงขั้นจ้างหมอผีมาทำพิธีก่อนที่ปราโบโวจะแจ้งความเรื่องผลการเลือกตั้งต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยหมอผีที่ทำพิธีชื่อซูเรียว บูโวโน เปิดเผยว่าพวกเขาทำพิธีเพื่อขอร้องให้วิญญาณของอดีตผู้นำและคนในประวัติศาสตร์ชาติอินโดนีเซียช่วยเหลือให้ปราโบโวได้รับชัยชนะ

เรื่องนี้ทำให้ดูชัดเจนยิ่งขึ้นว่าปราโบโวพยายามแสดงออกถึงความเป็นตัวแทนของสิ่งที่เก่าและดั้งเดิม ขณะที่โจโค วิโดโด แสดงออกถึงความเป็นสมัยใหม่และได้รับความชื่นชมจากต่างชาติที่คิดเห็นไปในทางนี้


โจโค วิโดโด นักสร้างเมืองผู้มีพื้นเพติดดิน

โจโค วิโดโด มีชื่อเล่นที่มักจะเรียกย่อๆ ว่า โจโควี เป็นผู้มีประวัติได้รับการยกย่องทางการเมืองอย่างมากในอินโดนีเซีย เขาเคยเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองสุระการ์ตา (ชาวอินโดนีเซีย มักจะเรียกว่า "โซโล") และต่อมาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาในปี 2555

โจโควี ถูกมองว่าเขาเป็นภาพแทนที่แสดงให้เห็นว่าชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่นิยมผู้นำที่มี "ความใหม่" และ "ความสะอาด" มากกว่าผู้นำการเมือง "แบบเก่า" แม้ว่าในตอนนี้เขาจะอายุมากกว่า 50 ปีแล้ว

โจโควี มีเชื้อสายเป็นชาวชวาซึ่งเป็นเชื้อสายที่มีประชากรมากที่สุดในอินโดนีเซีย เขามีชีวิตวัยเด็กที่ยากลำบากทางการเงิน ต้องทำงานพร้อมกับเรียนไปด้วยตั้งแต่ชั้นประถมเพื่อนำเงินมาซื้ออุปกรณ์การเรียนและเป็นเงินค่าขนมของตนเอง เขาเริ่มช่วยงานร้านเฟอร์นิเจอร์ของพ่อตั้งแต่อายุ 12 ปี

สื่ออินโดนีเซียระบุถึงวัยเด็กของโจโควีว่า เขามีประสบการณ์ที่ครอบครัวถูกไล่ที่ถึง 3 ครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อแนวความคิดของเขาเมื่อได้ตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีซูราการ์ตาในแง่ของการจัดการที่อยู่อาศัยในเมือง

โจโควี ยังได้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการใช้งานของไม้ในขณะที่เขาศึกษาในคณะวนศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกัดจามาดา โดยมีผลงานวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

เขามีผลงานมากมายขณะที่ได้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองซูราการ์ตา ทั้งเรื่องการสร้างศูนย์ประชุมและจัดนิทรรศการ เรื่องสวัสดิการสุขภาพ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและขนส่งมวลชน การส่งเสริมสื่อท้องถิ่น การส่งเสริมเรื่องวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยการสร้างแบรนด์ให้เมืองว่า "โซโล จิตวิญญาณแห่งชวา" โดยผู้สนับสนุนโจโควีบอกว่าพวกเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงทางบวกอย่างมากเกิดขึ้นกับเมืองซูราการ์ตาในช่วงที่โจโควีเป็นนายกเทศมนตรี

แม้ว่าโจโควีจะไม่อ่อนข้อต่อนักลงทุนที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการของเขา แต่บุคลิกลักษณะแบบ "ทำได้" ของโจโควีทำให้เขามีลักษณะของนักประชานิยมที่สร้างความสัมพันธ์กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก และส่งผลต่อตัวเขาในอีกไม่กี่ปีถัดมา

โจโควียังเคยได้รับรางวัลและการจัดอันดับจากสื่อต่างๆ เช่น นิตยสาร 'เทมโพ' ในอินโดนีเซียจัดให้เขาติด 1 ใน 10 นายกเทศมนตรีดีเด่นประจำปี 2551 ถูกจัดเป็นหนึ่งในผู้นำนักคิดของโลกประจำปี 2556 โดยนิตยสาร Foreign Policy  อีกทั้งยังเคยได้รับรางวัลจากประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโนเมื่อปี 2554

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวเขาเล็กน้อยในแง่ที่เป็นคอเพลงร็อก โดยสื่อ The Economist ระบุว่าโจโควีเป็นคนชื่นชอบ "เพลงร็อกเสียงดังๆ" มาก เขาเป็นแฟนเพลงวงดนตรีอย่าง เมทัลลิกา, แลมป์ ออฟ ก็อด และเล็ด เซปเปลิน อีกทั้งยังมีเครื่องดนตรีเบสที่มีลายเซ็นของสมาชิกวงเมทัลลิกาด้วย

โจโควีลงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2557 ในสังกัดพรรคพีดีไอพี ซึ่งมีชื่อเต็มว่า "พรรคประชาธิปไตยการต่อสู้" ซึ่งมีผู้นำพรรคคือเมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี ผู้เคยเป็นประธานาธิบดีในช่วงปี 2544-2547 แต่ในคราวนี้พยายามวางตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากนัก พรรคพีดีไอพียังมีอุดมการณ์ของพรรคตามแนวหลักปัญจศีลา แต่ก็วางตัวเป็นพรรคสายเสรีนิยมกลางๆ


ปราโบโว สุเบียนโต ผู้เคยพ่ายแพ้ศึกชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ

ปราโบโว สุเบียนโต เป็นทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง และอดีตทหารยศพลโทของกองทัพอินโดนีเซีย เขาเป็นลูกของซุมิโตร โยโจฮาดิกุสุโม นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงของอินโดนีเซีย

ปราโบโวมีปู่ชื่อมาร์กาโนเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารเนการาอินโดนีเซีย เป็นผู้นำคนแรกของสภาที่ปรึกษาเฉพาะกาล และคณะกรรมการเพื่อการเตรียมการสู่เอกราชของอินโดนีเซีย ปราโบโวยังเคยแต่งงานกับลูกสาวคนหนึ่งของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตด้วย

หลังจากที่เขาเรียนจบจากวิทยาลัยในกรุงลอนดอนช่วงปี 2509-2511 สุมิโตร บิดาของปราโบโวก็ส่งเสริมให้เขาเข้าเรียนโรงเรียนทหาร โดยที่ปราโบโวมีต้นแบบในดวงใจคือ 'อตาเติร์ก' เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี กลุ่มเพื่อนและคนรู้จักกล่าวถึงปราโบโวว่าเขาเป็นคนที่เก่งในเรื่องกลอุบายและมีความ "กระหายอำนาจทางการเมือง"

ปราโบโวจบจากโรงเรียนทหารในปี 2517 พร้อมกับคนอื่นๆ ที่ต่อมากลายได้รับตำแหน่งผู้นำอินโดนีเซียเช่น ซุซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน

ปราโบโวเคยมีบทบาทในหน่วยพิเศษ 'คอมปาสซัส' ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยคอมมานโดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ติมอร์ตะวันออก เขาเคยนำทัพเข้าจับกุมรองประธานกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติมอร์ตะวันออกแต่ก็ยิงเป้าหมายจนเสียชีวิต

ด้วยความที่เขามีความใกล้ชิดกับซูอาร์โต ปราโบโวยังเคยมีอิทธิพลในการปิดปากสื่อและนักวิจารณ์ทางการเมือง ในช่วงราวปี 2533 โดยอาศัยของชายผู้เป็นเศรษฐีชื่อฮาชิม เป็นผู้ร่วมมือด้วย

นอกจากนี้ปราโบโวยังมีบทบาทในปฏิบัติการทหารอื่นๆ อีก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้กำลังกับกลุ่มต่อต้านในท้องถิ่นจนกระทั่งในปี 2541 เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการหน่วยยุทธศาสตร์กองหนุนที่ชื่อ 'คอนสตราด' ซึ่งเป็นหน่วยทหารสำคัญที่อดีตผู้นำซูฮาร์โตเคยเป็นผู้บัญชาการมาก่อน หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ "กบฏเดือนพฤษภาฯ 2541"

ในช่วงนั้นปราโบโวยังได้ท่าทีแบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนาอย่างโจ่งแจ้งในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและมีความไม่พอใจผู้นำซูฮาร์โตเพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชนช่วงปี 2541 ปราโบโวก็เป็นผู้นำออกมาเรียกร้องให้ชาวมุสลิมในอินโดนีเซียร่วมต่อสู้กับ "ผู้ทรยศต่อชาติ" โดยกล่าวหาว่าคนเชื้อสายจีนในอินโดนีเซียและผู้นับถือศาสนาคริสต์เป็นผู้ที่พยายามล้มล้างผู้นำซูฮาร์โต ซึ่งเป็นกลอุบายในการสร้างสถานการณ์โกลาหลและให้ร้ายฝ่ายตรงข้าม

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนมากเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการต่อสู้กันเองภายในของกลุ่มชนชั้นนำในวงการทหารเพื่อสืบทอดอำนาจจากซูฮาร์โตระหว่างผู้นำทหารระดับสูงสองคนคือปราโบโวและนายพลวิรานโต โดยหลังจากซูฮาร์โตลงจากตำแหน่งก็มีการแต่งตั้งให้บีเจ ฮาบีบี ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน ปราโบโวพยายามเรียกร้องให้ฮาบีบีมอบตำแหน่งผู้นำกองทัพแก่เขาแทนวิรานโต แต่ฮาบีบีไม่ยอมรับและสั่งลดตำแหน่งปราโบโวแทน

ในช่วงก่อนหน้าเหตุการณ์ "กบฏเดือนพฤษภาฯ 2541" ไม่กี่เดือน กองกำลังในหน่วยของปราโบโวยังได้ลักพาตัวและทรมานนักกิจกรรมสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างน้อย 9 ราย ในเวลาต่อมาเขายอมรับต่อหน่วยสืบสวนของกองทัพว่าได้มีการลักพาตัวนักกิจกรรมจริง จนถูกปลดออกจากหน่วยทหาร

เมื่อปราโบโวคิดลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2557 หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าปราโบโวมีคุณสมบัติเพียงพอหรือไม่เนื่องจากเขาเคยถูกปลดจากการเป็นทหารในข้อหา "ตีความคำสั่งผิดพลาด" ในปี 2541

ปราโบโวยังมีอิทธิพลในด้านเศรษฐกิจ เขาและครอบครัวมีหุ้นในบริษัทด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ เขาเคยมีปัญหาขัดแย้งเรื่องใบอนุญาตกับบรรษัทเหมืองแร่เชอร์ชิลของชาวอังกฤษ มีการพยายามฟ้องร้องแต่ก็ไม่เป็นผล และบรรษัทเชอร์ชิลยังฟ้องกลับเรียกค่าชดเชยซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินคดี

ในช่วงระหว่างปี 2547 เป็นต้นมาปราโบโวยังเข้าไปมีบทบาทในกลุ่มองค์กรเอ็นจีโอ เช่นกลุ่มสมาคมชาวนาอินโดนีเซียซึ่งเขาถูกเลือกให้เป็นประธาน 2 ครั้ง เขายังเคยถูกเลือกให้เป็นประธานสมาคมผู้ค้าตลาดสดเมื่อปี 2551 อีกทั้งยังเคยเป็นประธานสมาคมกีฬาปันจักสีลัต ซึ่งเป็นศิลปะป้องกันตัวประจำชาติอินโดนีเซียถึง 3 สมัย

ปราโบโวเคยลงสมัครเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับเมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี ในการเลือกตั้งปี 2553 แต่ก็พ่ายแพ้ต่อพรรคเดโมแครตซึ่งนำโดยซุซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปราโบโวสังกัดพรรคเกรินดรา หรือ "พรรคขบวนการอินโดนีเซียอันเกรียงไกร" ซึ่งมีนโยบายเน้นสร้างความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและอธิปไตยของอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยีงมีเป้าหมาย "ปฏิรูป" ประเทศโดยนำแนวทางรัฐธรรมนูญปี 2498 มาใช้เพราะกลัวว่าอินโดนีเซียกำลังกลายเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยมากเกินไป และเชื่อว่าอินโดนีเซียกำลังต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม นโยบายของพรรคเกรินดราในด้านอื่นๆ ดูจะเน้นไปที่การพัฒนาและค่อนข้างให้สิทธิในด้านต่างๆ เช่นเสรีภาพในการนับถือศาสนาและสิทธิสตรี แต่นโยบายในด้านสิทธิมนุษยชนยังระบุไว้ค่อนข้างวกวนและพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นโดยอ้างว่าพลเมืองของประเทศต้องมีความเคารพต่อ "สิทธิของรัฐ" เสียก่อน ฝ่ายรัฐจะเคารพต่อสิทธิของประชาชนตามกฎหมาย

 


เรียบเรียงจาก

Prabowo Subianto 'withdraws' from Indonesian presidential election on day vote was to be declared , Sydney Morning Herald, 22-07-2014
http://www.smh.com.au/world/prabowo-subianto-withdraws-from-indonesian-presidential-election-on-day-vote-was-to-be-declared-20140722-zvte5.html#ixzz38bdWUoQb

Jokowi praises Prabowo, Jakarta Post, 22-07-2014
http://www.thejakartapost.com/news/2014/07/22/jokowi-praises-prabowo.html

Shamans perform rituals while Prabowo files report at MK, Jakarta Post, 27-07-2014
http://www.thejakartapost.com/news/2014/07/27/shamans-perform-rituals-while-prabowo-files-report-mk.html

http://en.wikipedia.org/wiki/Joko_Widodo
http://en.wikipedia.org/wiki/Indonesian_presidential_election,_2014
http://en.wikipedia.org/wiki/Prosperous_Justice_Party
http://en.wikipedia.org/wiki/Prabowo_Subianto
http://en.wikipedia.org/wiki/Indonesian_Democratic_Party_%E2%80%93_Struggle
http://en.wikipedia.org/wiki/Great_Indonesia_Movement_Party

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช.แถลงผลการดำเนินงานในรอบ 2 เดือน

$
0
0

รายการ "เดินหน้าประเทศไทย" เผยแพร่ผลงาน คสช. ในรอบ 2 เดือน ตั้งเป้าคืนความสุขประชาชน-ลดความหวาดระแวง-ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ลดทุจริต สร้างความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม สร้างกระบวนความคิด ความรู้ให้ประชาชนเข้มแข็ง มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก

28 ก.ค. 2557 - เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 57 เวลา 18.00 น. รายการเดินหน้าประเทศไทย ซึ่งออกอากาศโดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของ คสช. ในรอบ 2 เดือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มงานบริหารราชการแผ่นดิน กลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อย และกลุ่มงานสร้างความปรองดอง และการปฏิรูป โดยมีรายละเอียดเผยแพร่อยู่ใน  เว็บไซต์รัฐบาลไทย ดังนี้

000

สรุปผลการปฏิบัติงานของ คสช. เดือนที่ 2 (ห้วงวันที่ 21 มิถุนายน - 22 กรกฎาคม 2557)

การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ในห้วงระยะเวลา2 เดือน เป็นการปฏิบัติตามแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยหรือ โรดแมป ระยะที่ 1 โดยการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ คสช. ได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ต่อไป และเพื่อเตรียมการเข้าสู่โรดแมป ระยะที่ 2 ในกรอบเวลา 2 - 3 เดือน ซึ่ง คสช. ได้พบปัญหาที่ต้องแก้ไขหลายปัญหาด้วยกัน อาทิ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การพนัน ยาเสพติด การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การปราบปรามอาวุธสงคราม การปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ การดูแลผู้ประกอบการรถรับจ้างที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขบวนการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าว รวมไปถึงมาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องค่าครองชีพ การช่วยเหลือเกษตรกร การปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบ เพื่อปลดล็อคปัญหาอุปสรรคในด้านการค้า การลงทุน โดยทุกๆ มาตรการได้รับฟังความเห็น และข้อเสนอแนะจากทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อให้ผลการดำเนินการเป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนและเกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ภารกิจทั้งหมดได้ดำเนินการผ่านการปฏิบัติงานที่แบ่งเป็น 3 กลุ่มงานคือ กลุ่มงานบริหารราชการแผ่นดิน กลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อย และกลุ่มงานสร้างความปรองดอง และการปฏิรูป

กลุ่มงานบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ฝ่าย และ 1 ส่วนงานต่างเดินหน้าปฏิบัติตามนโยบายที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้

1.  ฝ่ายความมั่นคง โดย พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้า และพลเอกอักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก เป็นรองหัวหน้า ยังคงเดินหน้าปฏิบัติการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศด้วยการบูรณาการการทำงานที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ในทุกด้านทั้งฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายสังคมจิตวิทยา หรือฝ่ายอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของความเห็นต่างทางการเมือง จนนำไปสู่ความแตกแยก การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมที่เน้นเรื่องผลกำไร รวมทั้งเรื่องแรงงานราคาถูก โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วน ทั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ประชาชน ภาคประชาสังคม นิสิตนักศึกษาที่ต้องมีจิตสำนึก และมีความรับผิดชอบในการที่จะช่วยกันทำให้ประเทศชาติปลอดภัย ควบคู่ไปกับการชี้แจงทำความเข้าใจกับนานาชาติถึงสถานการณ์ และแนวทางของ คสช. รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งจากการที่หัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ได้พบปะพูดคุยกับเอกอัครราชทูต สภาหอการค้า และกลุ่มผู้ประกอบการต่าง ๆ ของต่างประเทศ อาทิ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ระหว่างหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง กับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยซึ่งได้ผลตอบรับในทางที่ดี โดยมีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และยืนยันถึงความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ คสช. แก้ไขปัญหาเหล่านั้น  ส่งผลให้สื่อต่างประเทศนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ของไทยในเชิงบวกมากขึ้น เห็นได้จากในการจัดกิจกรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงจากภาคส่วนต่าง ๆ มีโอกาสเดินทางมาสัมผัสกับสถานการณ์ในประเทศไทยด้วยตนเอง เช่น การเป็นเจ้าภาพประชุม ระดับ รมว. แห่งอาเซียนว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 6 มีผู้แทนทั้งระดับรัฐมนตรี  และอธิบดีมาร่วมประชุมถึง 63 ประเทศ

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยกับมิตรประเทศนั้น ผู้นำกองทัพมิตรประเทศ โดยเฉพาะประเทศใน ASEAN ล้วนมีท่าทีสนับสนุนกองทัพไทย  อาทิ กองทัพอินเดียได้เชิญ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร  ผู้บัญชาการทหารสูงสุด  ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ไปเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ และการเตรียมจัดการฝึกประจำปีของกองทัพไทยภายใต้รหัสการฝึก Pirap Jabiru และการฝึก Pitch Black ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้ ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาได้แสดงความประสงค์ที่จะมีการฝึกร่วมผสม Cobra Gold 2015 ในไทยต่อไป และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคม ASEAN  ฝ่ายความมั่นคงได้จัดประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อวางแผนดำเนินงานในระยะเฉพาะหน้า ระยะเร่งด่วน และระยะยาว โดยมีลักษณะเป็น Single Command และมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อน 3 เสาหลักได้แก่ คณะอนุกรรมการฯด้านการเมืองและความมั่นคง คณะอนุกรรมการฯ ด้านสังคมและวัฒนธรรม  คณะอนุกรรมการฯ ด้านเศรษฐกิจ และคณะอนุกรรมการฯ ด้านประชาสัมพันธ์    ซึ่งทำงานเกื้อกูลกัน เพื่อขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินการที่หยุดชะงัก รวมทั้งเตรียมการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องตามนโยบายของหัวหน้า คสช.

สำหรับการดูแล และให้บริการประชาชน ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายของ คสช. เป็นไปอย่างรวดเร็ว และเป็นรูปธรรม โดยยังคงสานงานต่อจาก 1 เดือนแรกที่ให้ความสำคัญกับการให้บริการ  และดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน รวมถึงการดำเนินการกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งต่อสถาบันสำคัญของชาติ การป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติ การเล่นการพนัน การติดตามทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย การแก้ปัญหาการทุจริต การแพร่ระบาดของยาเสพติด และอาวุธสงคราม โดยสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นผลงานได้อย่างชัดเจนคือการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ ที่ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จหรือ One Stop Service เพื่อนำแรงงานผิดกฎหมายมาจดทะเบียนให้สามารถตรวจสอบและดูแลได้ตามหลักมนุษยธรรมแล้ว 8 จังหวัด โดยในสัปดาห์นี้ได้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนฯ จำนวน 6 ศูนย์ใน กทม. นอกจากนี้ ยังให้ผู้ที่ประกอบกิจการเรือประมงที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ จัดทำบัญชีรายชื่อ สัญชาติ และจำนวน แจ้งกับแรงงานจังหวัด และจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้า และจะมีการจัดชุดออกตรวจแรงงาน นายจ้าง และผู้ประกอบการอย่างจริงจัง

2.  ฝ่ายเศรษฐกิจ โดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นหัวหน้า  และพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกเป็นรองหัวหน้า ยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งในระยะสั้น ได้เร่งรัดดูแลเรื่องค่าครองชีพ และราคาสินค้าด้วยการให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจัดโครงการธงฟ้าราคาประหยัด มีการจัดอาหารสำเร็จรูป และสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพมาจำหน่ายในราคาถูกให้กับประชาชนรวม 21 ครั้ง สามารถลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน คิดเป็นมูลค่ากว่า 27 ล้านบาท พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการ และห้างค้าปลีกค้าส่งกว่า 1,000 ราย ตรึงราคาจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นจำนวน 205 รายการเป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งขอความร่วมมือให้ลดราคาจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จที่ประชาชนนิยมบริโภค 10 รายการอยู่ที่จานหรือ ชามละ 35 – 40 บาท

ส่วนปัญหาผลผลิตทางการเกษตร คสช. ได้อนุมัติงบประมาณ 163 ล้านบาท เพื่อกระจายผลไม้ที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาดนอกแหล่งผลิต แยกเป็นลำไยจาก 8จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 74.5 ล้านบาท เงาะและลองกองจากภาคตะวันออกจำนวน 51 ล้านบาท มังคุดและลองกองจากภาคใต้จำนวน 37.5 ล้านบาท ส่วนปัญหาราคายางพารานั้นได้กำหนดแผนดำเนินการเป็น 2 ระยะคือ ระยะสั้น ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 6,160 ล้านบาทให้กับเกษตรกร 112,253 ราย เพื่อช่วยเหลือปัจจัยการผลิตครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ในอัตราไร่ละ 2,520 บาท เฉพาะที่เปิดกรีดแล้ว ขณะที่ระยะยาวจะสนับสนุนให้มีการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งยังได้เตรียมมาตรการสร้างเสถียรภาพราคาอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรนให้แก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการแปรรูปยางพารา การเปิดตลาดใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการกำหนดพื้นที่เหมาะสมในการปลูกยางหรือโซนนิ่ง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน คสช. ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจาณาจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผลผลิตทางการเกษตร ให้กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อเชื่อมต่อการดำเนินงานของทุกหน่วยงานให้มีการบูรณาการ ในการติดตามกำกับดูแลทุกมาตรการให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ขณะเดียวกันยังช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก และสามารถเสนอแนะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับปัญหาข้าวนั้น ภายหลังการปลดล็อคปัญหาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/2557 สำเร็จ คสช. ได้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบาย และบริหารจัดการข้าว” ที่มีหัวหน้า คสช. เป็นประธานกรรมการ ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาข้าวให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและมีการบูรณาการ โดยเน้นการเพิ่มผลผลิต และมูลค่าข้าวให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้มากขึ้น โดยแบ่งกรอบเวลาดำเนินการเป็น 3 ระยะคือ

การแก้ปัญหาระยะสั้น ให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือชาวนาในช่วงการผลิตข้าวนาปี ปี 2557 /2558 ให้มีรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยการช่วยลดต้นทุนการผลิต และสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่

การแก้ปัญหาระยะกลาง ซึ่งต้องใช้เวลา 1–3 ปี จะมุ่งหาแนวทางให้การปลูกข้าวมีต้นทุนที่ต่ำ และมีผลผลิตต่อไร่ที่สูง รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพของข้าว เพื่อให้เกษตรกรมีกำไรจากการขายข้าวเปลือก และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 สำหรับการระบายข้าวจะไม่เร่งระบายข้าวเร็ว จนทำให้เสียราคา และการกำหนดราคาต้องให้เป็นไปตามกลไกตลาด

สุดท้ายคือ การแก้ปัญหาระยะยาวซึ่งต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 3 ปีนั้น การแก้ปัญหาต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยกำหนดเขตพื้นที่ปลูกข้าว Zoning ให้เหมาะสมกับการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด การส่งเสริมการตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวให้เป็นไปตามกลไกตลาด การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและที่สำคัญคือ การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปลูกพืชทดแทน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐบาลอุดหนุน

และเพื่อเป็นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน คสช. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก หรือ Eastern Sea Board และคณะกรรมการขับเคลื่อนความพร้อมเข้าสู่อาเซียน รวมทั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการ BOI ที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติโครงการไปแล้วเกือบ 100 โครงการ มูลค่าการลงทุนเกือบ 200,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต  โดยสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย นอกจากนี้ ยังได้มีการร่วมประชุมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อรับฟังข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูลกับกลุ่มนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งเอกอัครราชทูตต่างประเทศที่ประจำการในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอีกด้วย ล่าสุด คสช. ได้เห็นชอบตามที่กรมสรรพากรเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาจำนวน 3 ฉบับ คือให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 7 ขั้น การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 20 และการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 7 ที่จะสิ้นสุดในปี 2557 เลื่อนเป็นสิ้นสุดในปี 2558 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมี พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำอุปโภค/บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงการดูแลคุณภาพน้ำ ล่าสุด ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 5 กลุ่ม เพื่อให้การวางแผนและดำเนินการเป็นไปตามระบบลุ่มน้ำ เป็นกลุ่มลุ่มน้ำที่มีความเชื่อมโยงกัน และสามารถนำน้ำต้นทุนมาบริหารจัดการแบ่งปันกันได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยได้กำหนด Road Map ในการดำเนินการไว้ 3 ระยะ คือ

ระยะแรก เป็นการจัดทำโครงร่าง แผนงาน โครงการ ตามความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการทั้ง 5 กลุ่มกำหนดเวลาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2557

ระยะที่ 2 เป็นการจัดทำร่างแผนบริหารจัดการน้ำ แนวทางดำเนินการและมาตรการแก้ปัญหา กำหนดเวลาให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2557

ระยะที่ 3 การจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฉบับสมบูรณ์ ประกอบด้วย แผนงาน โครงการ และงบประมาณ กำหนดเวลาให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2557 ก่อนจะเสนอให้หัวหน้า คสช. พิจารณา และอนุมัติเป็นแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน และจะสามารถแถลงแผนดังกล่าวได้ภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2557

3.  ฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม โดยพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า และพลโท ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นรองหัวหน้า รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้อง และผลกระทบที่เกิดจากข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานอำนวยความสะดวกให้ประชาชน  ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และการลดความเห็นต่าง โดยตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา  ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้เดินหน้าแก้ไขโครงสร้างอำนาจของฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง คสช. ได้มุ่งเน้นที่จะแก้ไขกฎหมายด้านต่าง ๆ ให้สามารถปราบปรามการทุจริตภาครัฐ การปราบปรามยาเสพติด และการปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยดำเนินการไปพร้อม ๆ กับผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมาได้ผลักดันกฎหมายให้มีผลบังคับใช้แล้วจำนวน 11 ฉบับ เช่น การเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญที่ได้รับเงินต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท และการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งได้เตรียมเสนอร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่สังคมในวงกว้างให้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระแรกรวม 5 ฉบับ เช่น ร่าง พ.ร.บ.การทวงหนี้ และร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ และผู้ค้ำประกัน เป็นต้น

ส่วนผลงานในภาคปฏิบัติ นโยบายสำคัญที่เร่งเดินหน้าคือ การปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด  โดยหลังจากหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมได้ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 15 กระทรวงได้มีความเห็นร่วมกันให้เร่งรัด 6 มาตรการ เพื่อปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด อาทิ การเพิ่มความเข้มข้นในการสกัดกั้น และปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด  การจัดระเบียบสถานบริการและสถานประกอบการ การสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การยึด และอายัดทรัพย์สินผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ เป็นต้น ทั้งนี้ ได้มีการประเมินผลครั้งแรกใน 30 วัน ซึ่งผลจากการการบูรณาการหน่วยงานความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดหรือ ป.ป.ส. สายงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. และภาคอื่น ๆ ทำให้สามารถติดตามจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดทั้งรายย่อย และรายใหญ่ได้ 49,386 คดี ผู้กระทำผิด 52,200 คน ของกลางยาบ้า 10,677,441 เม็ด ยาไอซ์ 246.40 กิโลกรัม กัญชา 1,606 กิโลกรัม ยึดและอายัดทรัพย์สินได้มูลค่า 305.82 ล้านบาท จับกุมเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ 32 คน

ขณะที่ในส่วนของเรือนจำ หลังดำเนินการย้ายนักโทษคดียาเสพติดที่เสี่ยงต่อการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด 415 คนไปคุมขังที่เรือนจำกลางเขาบิน จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูงสุดแล้ว  ยังกำหนดให้แต่ละเรือนจำและทัณฑสถาน เอ็กซ์เรย์เจ้าหน้าที่ทุกนายตามโครงการ  " เจ้าหน้าที่สีขาว " ซึ่งต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกประเภทด้วย โดยทุกแห่งต้องดำเนินการให้เห็นผลภายใน 30 วัน นอกจากนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.ยังได้ส่งบัญชีที่ต้องสงสัยเกี่ยวกับการกระทำผิดมาให้ คสช. ตามที่ได้ขอความร่วมมือไว้รวม 470 บัญชี  แบ่งเป็นบัญชีความผิดเกี่ยวกับแก๊งค์คอลเซนเตอร์ 324 บัญชี บัญชีเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงภาษี 112 บัญชี บัญชีเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด 20 บัญชี และบัญชีเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ต 14 บัญชี

และนอกจากการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังเดินหน้าปราบปรามอาวุธสงครามตามนโยบายของ คสช. อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง อาทิ การจับกุมผู้ต้องหาพร้อมอาวุธสงครามเป็นจำนวนมาก อาทิ อาวุธปืนอาก้า อาวุธปืนเอ็ม 16 ระเบิด กล้องเล็งยิง และเครื่องกระสุนนับพันนัด และการจับกุมผู้ต้องหายิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่บริเวณพื้นที่ชุมนุมหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ราชดำริ มีผู้เสียชีวิต 3 ราย พร้อมของกลางเป็นเครื่องยิง ทั้งลูกระเบิด แบบเอ็ม 79 อาวุธปืนเอ็ม 16 และลูกระเบิดอีกนับสิบลูก ซึ่งของกลางทั้งหมดอยู่ในสภาพใช้งาน สามารถใช้ยิงทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินได้

4.  ฝ่ายสังคมจิตวิทยา โดยพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นหัวหน้า และพลโทสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็นรองหัวหน้า รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาที่ทำให้สังคมไทยอ่อนแอ ซึ่งนอกจากการจัดกิจกรรมคืนความสุขให้กับคนในชาติรูปแบบต่าง ๆ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีแล้ว ฝ่ายสังคมจิตวิทยาได้เร่งขับเคลื่อนงานในทุกด้าน โดยด้านสิ่งแวดล้อมได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาขยะและมลพิษ หลังเกิดเหตุไฟไหม้สถานที่กำจัดขยะหลายครั้ง และหลายพื้นที่ที่มีกองขยะตกค้างสะสมได้ทำความเดือดร้อนแก่สุขภาพอนามัยของประชาชน จึงได้จัดทำ Road Map และแผนปฏิบัติการทั้งระยะเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะยาวจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนก่อนเสนอให้ คสช. พิจารณา โดยแผนปฏิบัติการที่จัดทำขึ้นได้มีการ บูรณาการ การบริหารจัดการขยะในภาพรวม การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การกำจัดแบบรวมศูนย์ การเลือกวิธีการกำจัดขยะที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และการนำขยะมาใช้ประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

ส่วนการปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ นอกจากมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำ Road Map การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าไม้แล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับกุมผู้กระทำความผิดพร้อมของกลางได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาคดีทำลายทรัพยากรป่าไม้ได้ทั้งหมด 123 คดี ผู้ต้องหา 125 คน ยึดของกลางไม้พะยูง ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ คิดเป็นปริมาตร 261,574 ลูกบาศก์เมตร มูลค่าส่งออกกว่า 260 ล้านบาท รถยนต์ใช้ในการกระทำผิด 25 คัน รถจักรยานยนต์ 9 คัน เลื่อยโซ่ยนต์ 14 เครื่อง รถไถนา 1 คัน พร้อมอายัดทรัพย์เครือข่ายลักลอบตัดไม้พะยูงข้ามชาติมูลค่ากว่า 88 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเดินหน้าทวงผืนป่าคืนแผ่นดิน ตามนโยบายของ คสช. อย่างจริงจัง จนพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่จังหวัดสระบุรีคือ ป่าท่าฤทธิ์,ป่าลำทองหลางและป่าพญากลางนับพันไร่  เพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างเป็นรีสอร์ท พร้อมจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินคดี และล่าสุดยังได้ร่วมกันเปิดยุทธการลุยผู้บุกรุกอุทยานแห่งชาติสิรินาถ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อทวงคืนผืนป่า 2,743 ไร่ มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนกรณีนี้แล้ว โดยแบ่งกลุ่มที่เชิญมาไต่สวนเป็น 4 กลุ่มคือ ข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้าราชการสังกัดกรมที่ดิน และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน

ส่วนด้านการศึกษา ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ ศึกษารวบรวมข้อมูล และระดมความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนในการจัดทำ Road Map การปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาคนระยะยาว  โดยประเด็นสำคัญที่จะมีการปฏิรูป นอกจากการผลิตบุคลากรครูหรือบุคลากรทางการศึกษาที่จะมาเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน  ตลอดจนการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาแก่โรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ และโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลแล้ว ยังได้มีการปรับปรุงหลักสูตรให้เพิ่มวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม โดยแยกออกจากสังคมศึกษา เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ภาคภูมิใจในความเป็นไทย ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ มีจิตสำนึกความรับผิดชอบเห็นประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน โดยเริ่มใช้ในภาคการศึกษาหน้า นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรม นำนโยบายการสร้างค่านิยมของคนไทย 12 ประการ ตามนโยบายหัวหน้า คสช. ไปสู่การปฏิบัติ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุค่านิยมของคนไทย 12 ประการให้อยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมจะรับผิดชอบการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างเสริมค่านิยมไทยส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย  ส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย

และในฐานะเสาประชาสังคมและวัฒนธรรม ฝ่ายสังคมจิตวิทยาได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านประชาคมสังคม และวัฒนธรรมอาเซียน ปี 2557 - 2559 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีทิศทาง และรูปแบบการดำเนินการเป็นไปตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน นอกจากนี้ได้เสริมสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนถึงความสำคัญของการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการส่งเสริมให้มีตัวแทนอาเซียนภาคประชาชนเสนอแนะความต้องการควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้  ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการสร้างประชาคมอาเซียน ให้กับอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สภาเด็ก และเยาวชนทุกระดับเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป

5.  ฝ่ายกิจการพิเศษ โดย พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นหัวหน้า มี พลโทสุชาติ หนองบัว เป็นรองหัวหน้า ได้เตรียมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 12 สิงหาคม 2557 ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีหัวหน้า คสช. เป็นประธานกรรมการ เห็นชอบจัดกิจกรรมหลัก 4 กิจกรรม ประกอบด้วย

1) กิจกรรมเผยแพร่พระเกียรติคุณ จัดสร้างภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติฯ เป็นภาพยนตร์สารคดี 2 เรื่อง คือเรื่องทศวรรษแรกของการทรงงาน กับเรื่องชัยชนะบนแผ่นดินอีสาน และเป็นภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติฯ 2 เรื่อง คือ เรื่องด้วยรัก กับเรื่องเสียงจากแดนใต้

2) กิจกรรมโครงการจัดสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวารสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในโอกาสพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559

3) กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯระหว่างวันที่ 9 - 12 สิงหาคม 2557 โดยภาครัฐ และเอกชน ณ บริเวณสวนอัมพร ลานพระราชวังดุสิตและท้องสนามหลวง รวมถึงกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ในส่วนภูมิภาคทุกจังหวัด

4) พิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคล ณ บริเวณท้องสนามหลวง วันที่ 12 สิงหาคม 2557 นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯอื่น ๆ อาทิ การลงนามถวายพระพร

ส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน ผ่านช่องทางร้องเรียน 1111 นั้น ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมามีประชาชนร้องทุกข์และแสดงความคิดเห็น 26,024 เรื่อง แก้ไขปัญหาได้ 22,497 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 86.45 และอยู่ระหว่างการดำเนินการ 3,527 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสังคมและสวัสดิการมากที่สุด ส่วนเรื่องที่ประชาชนเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปมากที่สุดคือการปฏิรูปประเทศ การปฏิรูประบบราชการ การปรองดอง/สมานฉันท์ และการป้องกันและปราบปรามการทุจริต นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงพื้นที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มายื่นข้อร้องเรียน และเร่งรัดกระบวนการติดตามและแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งแจ้งผลการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทราบโดยเร็ว

นอกจากการรับเรื่องราวร้องทุกข์แล้ว การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคก็เป็นเรื่องที่ประชาชนมีความคาดหวังสูง ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น คสช. ได้ยกระดับ และขับเคลื่อนการคุ้มครองผู้บริโภคของไทยให้ครอบคลุมปัญหาทุกประเด็น โดยช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนที่มีการรับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 1,590 เรื่อง แก้ไขสำเร็จ  158 เรื่อง อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ย 1,317 เรื่อง ที่เหลือจำนวน 145 เรื่องอยู่ในขั้นตอนการกลั่นกรอง  สำหรับเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือ ปัญหาเรื่องรถยนต์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว อาคารชำรุด สินค้าและบริการ ตามลำดับ ส่วนการแก้ปัญหากลุ่มผู้ค้าแผงลอยตลาดโบ๊เบ๊นั้น  ภายหลังจากการประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล กระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และตัวแทนกลุ่มผู้ค้าแผงลอยตลาดโบ๊เบ๊ เพื่อร่วมกันจัดระเบียบ ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยขึ้นมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งการดำเนินงานในขั้นต้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทำให้การจราจรมีความคล่องตัวมากขึ้น ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดระเบียบในระยะยาว กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามแผนการจัดระเบียบ ประกาศให้มีการลงทะเบียนผู้ประกอบการ และเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

สำหรับส่วนงานที่เป็นหน่วยขึ้นตรงกับหัวหน้า คสช. โดย พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. และ พลโทชาตอุดม ติตถะสิริ เป็นรองเลขาธิการ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่าง ๆ ของ คสช. รวมถึงการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนต่าง ๆ ของประชาชนโดยเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหาปากท้องของประชาชน  จากการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่าง ๆ ของ คสช. พบว่าส่วนใหญ่มีความคืบหน้าไปอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการในเรื่องการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมสำคัญตามนโยบาย จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาคดีสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีสถานการณ์การชุมนุมและคดีที่มีการใช้อาวุธสงครามก่อเหตุ ส่วนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนให้แก่ประชาชน และการปรับปรุงโครงสร้างการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพและรวดเร็วตามแนวทาง “ พื้นที่ปลอดเหตุ ประชาชนปลอดภัย ” พบว่าสถิติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา เช่น เดือนมิถุนายน 2556 เกิดจำนวน 141 ครั้ง เดือนมิถุนายน ปีนี้เกิด 102 ครั้ง เป็นต้น เมื่อ คสช. ได้จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ขึ้นทั่วประเทศในทุกระดับมาตั้งแต่ 28 พ.ค. 57 เพื่อยุติความเห็นต่างและสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองสมานฉันท์ ด้วยการจัดกิจกรรมคืนความสุขให้กับประชาชน และการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เสนอความต้องการในการปฏิรูปประเทศแล้วเสร็จใน 30 กรกฎาคมนี้ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ สังเกตได้จากสถานการณ์ความขัดแย้งได้ลดลงจำนวนมาก แนวโน้มทางเศรษฐกิจดีขึ้น ครอบครัวที่เห็นต่างกันก็กลับมาคุยกัน ทำให้ปัญหาที่เคยหมักหมมมาค่อยคลี่คลายไป และสำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ที่ คสช. มีมติให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 2,575,000 ล้านบาท โดยเป็นนโยบายขาดดุล จำนวน 250,000 ล้านบาท รายได้สุทธิจำนวน 2,325,000 ล้านบาท งบประมาณ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จำนวน 50,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.0 นั้น คาดว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจะดำเนินการพิจารณาภายในห้วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้ และจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในวันที่ 15 กันยายน 2557 และสามารถประกาศใช้ได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ส่วนการเปรียบเทียบการเบิกจ่ายงบประมาณ ภายหลังจาก คสช. เข้ามาบริหารประเทศหน่วยงานต่าง ๆ มีความชัดเจนในการดำเนินงาน ทำให้การเบิกจ่ายเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 240,363 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.5

ในส่วนของกลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อย ยังคงมีความจำเป็นต้อง เชิญบุคคลที่อยู่ในความขัดแย้งทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเข้ารายงานตัวเพื่อสร้างความเข้าใจ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความมั่นคงของประเทศ และประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี และในช่วงเดือนที่ 2 นี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศลดความกังวลลง กลับมาใช้ชีวิตตามปกติสุข ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการกลับมามีความคล่องตัวดังเดิม อย่างไรก็ตาม คสช. ยังจําเป็นต้องเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา

ส่วนการจัดระเบียบรถบริการขนส่งสาธารณะ คสช. ได้ดำเนินการจัดระเบียบรถรับจ้างหรือรถบริการขนส่งสาธารณะ โดยส่วนของรถตู้มีการจัดระเบียบไม่ให้จอดรถที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งกีดขวางการจราจร และเคลื่อนย้ายจุดจอดไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ สำหรับการจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซด์มีการขจัดผู้มีอิทธิพลที่แสวงหาประโยชน์จากวินเถื่อน และจัดให้มีการจดทะเบียนวินมอเตอร์ไซด์รับจ้างให้เกิดความถูกต้อง สำหรับการจัดระเบียบรถแท็กซี่ ต้องไม่ให้เอาเปรียบผู้โดยสารโดยคิดเกินกว่าอัตราค่าเดินทางจริงอย่างเข้มงวด สำหรับการดำเนินการได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกคือการบังคับใช้กฎหมายและจัดระเบียบอย่างเข้มงวด ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 คือการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันสภาพปัญหาต่อไป

สำหรับกลุ่มงานสุดท้ายคือกลุ่มงานสร้างความปรองดอง และการปฏิรูป โดย พลเอก  สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบ มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป มีพลโทกัมปนาท รุดดิษฐ์ เป็นหัวหน้า และคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ มีหน้าที่กำหนดแนวทางในการเสริมสร้างบรรยากาศความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งได้เดินหน้ารวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อเสริมสร้างความรักความสามัคคีและคืนความสุขแก่คนในชาติอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัดครบทุกจังหวัดในเดือนแรก เดือนที่ 2 ได้รวบรวมและจัดทำหัวข้อการรับฟังความคิดเห็นจากส่วนต่าง ๆ อาทิ ผลงานที่มีอยู่เดิม งานวิจัย วิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง ส่วนราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม และองค์กรอิสระต่าง ๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะของประชาชนจากทั่วประเทศนำมาสังเคราะห์ เพื่อให้ได้หัวข้อการรับฟังความคิดเห็น โดยคณะทำงานได้รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วน ทางช่องทางโทรศัพท์,จดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-mail ไปรษณียบัตร จำนวน 2,787 เรื่อง รวมทั้งได้สังเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัย จำนวน 418 เรื่อง จากข้อมูลดังกล่าวคณะทำงานฯ ได้สรุปประเด็นในการปฏิรูปขั้นต้น โดยพิจารณาจาก ความสำคัญและความเร่งด่วนได้ 11 ประเด็น อาทิ การขจัดปัญหาทุจริตคอรัปชั่น การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการยุติธรรม  พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคม เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้จัดสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ทรงคุณวุฒิ, ผู้มีประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญ ทั้งส่วนราชการ นักวิชาการ ผู้แทนพรรคการเมือง ภาคธุรกิจ องค์กรอิสระ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กลุ่มเห็นต่าง รวมถึงภาคประชาชนอื่น ๆ รวม 53 ครั้ง จัดการประชุมกลุ่มย่อย 5 ครั้ง ครั้งละ 50 – 80 คน และจัดเสวนา 3 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 2,000 คน เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของแนวความคิดเห็นเพิ่มเติมใน 11 ประเด็น

และจากการรวบรวมผลการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปจัดทำ “กรอบความเห็นร่วม” ในประเด็นการปฏิรูปการเมือง และการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน สรุปได้ว่าการปฏิรูปการเมืองมีอยู่ 4 เรื่องคือ โครงสร้างทางการเมือง การคัดสรรบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ปราศจากการครอบงำจากนายทุนพรรคการเมือง กระบวนการถ่วงดุลอำนาจการบริหาร และกระบวนการถอดถอนบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนของการปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นมีแนวทางสำคัญรวม 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการป้องกัน ด้านการปราบปราม ด้านโปร่งใส และด้านเป็นธรรม ซึ่งผลสรุปดังกล่าวจะสามารถรายงานให้ คสช. ทราบ เพื่อนำไปพิจารณาใช้ได้ในสิ้นเดือนนี้

ส่วนผลงานที่สำคัญสามารถทำให้กลุ่มคู่ขัดแย้งกลับมาสามัคคีและร่วมมือร่วมใจกันเดินหน้าประเทศไทยอีกครั้ง ผ่านการจัดกิจกรรมลักษณะเสริมสร้างบรรยากาศปรองดองสมานฉันท์โดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปของ กอ.รมน. ภาค 1 – 4 จนถึงขณะนี้รวมกิจกรรมทั้งหมด 84,252 ครั้ง และได้จัดทำ MOU ระหว่างผู้นำทางความคิดที่เคยเห็นต่างกันในแต่ละพื้นที่ มาแล้วกว่า 177 ฉบับ ครอบคลุมกว่า 403 แกนนำ กว่า 3,003 จังหวัดถึงระดับตำบล และเวทีเสวนาจัดแล้ว 176 เวที ครอบคลุมกว่า 30,842 หมู่บ้าน

หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เห็นได้จากสังคม ถึงแนวทางการขับเคลื่อนประเทศของ คสช. แล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าสถานการณ์และปัญหาในด้านต่าง ๆ ได้เริ่มคลี่คลายลงตามลำดับ หลังได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน โดยเฉพาะการจัดระเบียบสังคมและสิ่งผิดกฎหมายที่มีการดำเนินการอย่างเฉียบขาด อย่างไรก็ตามปัญหาต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการจัดการแก้ไขนั้น เป็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน ซึ่งหลายปัญหาต้องใช้ระยะเวลาในการสะสาง และหลายปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย คสช. เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน และสิ่งที่สำคัญที่สุดอันเป็นเจตนารมณ์ของ คสช. คือการคืนความสุขให้กับประชาชน โดยการลดความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ลดการทุจริตคอรัปชั่น สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้ได้โดยเร็ว พร้อมกับนำทุกปัญหาที่มีผลกระทบโดยเร่งด่วนกับความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน การสร้างอาชีพรายได้ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย สร้างกระบวนความคิด ความรู้ ให้กับประชาชนเพื่อให้เป็นประชาชนที่เข้มแข็ง มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และเพื่อให้พร้อมก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกในโอกาสต่อไปโดยเร็วที่สุด

และในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวันครบรอบ 2 เดือนของการบริหารราชการแผ่นดิน โดย คสช. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว โดยมีทั้งหมด 17 หน้า ประกอบด้วย 48 มาตรา ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ ให้รัฐบาล ฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรี รับผิดชอบงานเฉพาะด้านการบริหาร โดย คสช. รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีสมาชิก 220 คน ทำหน้าที่ออกกฎหมาย สภาปฏิรูป (สปร.) มีสมาชิก 200 คน ทำหน้าที่คล้ายสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คือ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอมาและยังมีหน้าที่กำหนดวาระการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ คสช. มุ่งหวังให้การบริหารราชการแผ่นดิน นับจากนี้ต่อไป เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนชาวไทย ทุกพวก ทุกฝ่าย มีความรัก ความสามัคคี และมีความปรองดองสมานฉันท์ อันเป็นแนวทางสำคัญและมั่นคง เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสมบูรณ์ และยั่งยืนในทุกมิติ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิพิฏฐ์เชื่อเลือกตั้งใหม่เพื่อไทยมาอีก-แต่หวังให้ฟังเสียงฝ่ายค้านบ้าง

$
0
0

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป. โพสต์บทความ "อุดมคติ กับ ความจริง" เชื่อเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยก็คงกลับมาเป็นรัฐบาลอีก แต่ปรารถนาให้ "พระ ชี โจร เด็ก สตรี คนจน คนรวย" อยู่ร่วมกันได้ หากได้เป็นฝ่ายค้านก็หวังว่ารัฐบาลจะฟังเสียงบ้าง และให้ความเป็นธรรมกับคนที่เลือกมาด้วย

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ที่มา: แฟ้มภาพ/เพจนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ)

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์บทความลงเฟซบุ๊คเพจ "ส.ส.นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ" หัวข้อ "อุดมคติ กับ ความจริง" มีรายละเอียดดังนี้

000

*อุดมคติ กับ ความจริง

-วันนี้เช้า ไปร่วมงานทอดผ้าป่าหาเงินสร้างศาลาหมู่บ้าน ที่ ต.ปันแต อ.ควนขนุน จากนั้นไปงานศพที่สี่แยกเบญจมะ จ.นครศรีธรรมราช เย็นกลับมาให้ทันงานศพที่ จ.พัทลุง (วันนี้ได้เท่านี้เพราะต้องไปต่างจังหวัดด้วย)

-ผมเกริ่นอย่างนี้ ก็คิดว่า ที่ จ.สุรินทร์ จ่าประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ก็คงทำอยู่เช่นเดียวกับผม หรือที่จ.อุดรธานี คุณขวัญชัย หรือภรรยาคุณขวัญชัย อดีต ส.ว.ก็คงทำอยู่อย่างนี้

-ผมคิดต่อไปว่า เลือกตั้งปีหน้าจ่าประสิทธิ์,คุณขวัญชัย ก็ "น่าจะ" เข้ามาเป็น ส.ส. ส่วนผมหากลงเลือกตั้งอีกก็ "น่าจะ" ได้เข้ามาเป็น ส.ส.อีกเช่นกัน (หรืออาจไม่ได้ ก็ได้) และพรรคเพื่อไทยก็คงกลับมาเป็นรัฐบาลอีก นี่คือความเป็นจริง!

-ผมไม่ใช่คนโลกสวยหรือโลกไม่สวยหรอก แต่ผมเป็นคนสบายๆ ยอมรับความเป็นจริงของสังคมขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า สังคมต้องมีอุดมคติกำกับไปด้วย

*ผมปรารถนาเพียง ให้พระ ชี โจร เด็ก สตรี คนจน คนรวย อยู่ร่วมกันได้ ให้เห็นแก่ตัวกันในระดับที่พอรับกันได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ให้ผมสามารถเดินทางไปไหนมาไหนบนแผ่นดินนี้ได้โดยไม่ถูกทำร้าย หากผมเป็นฝ่ายค้านผมก็หวังว่ารัฐบาลจะฟังผมบ้าง และให้ความเป็นธรรมกับคนที่เลือกผมมาด้วย แค่นี้ก็พอแล้ว นี่คืออุดมคติ!*

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศจุฬาราชมนตรี-28 ก.ค. เป็นวันอีฏิ้ลฟิตริ

$
0
0

จุฬาราชมนตรีประกาศว่าวันอีฏิ้ลฟิตริ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1435 ตรงกับวันจันทร์ที่ 28 ก.ค.

28 ก.ค. 2557 - เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ก.ค. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เผยแพร่ ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง กำหนดวันอีฎิ้ลฟิตริ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1435 มีรายละเอียดดังนี้

000

ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง กำหนดวันอีฎิ้ลฟิตริ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1435

ตามที่ได้ประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนเซาวาล ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1435 ในวันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้านั้น ปรากฏว่า ในวันและเวลาดังกล่าว มีผู้เห็นดวงจันทร์

จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า วันอีฎิ้ลฟิตริ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1435 ตรงกับวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2557

ประกาศ ณ วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

(นายอาศิส พิทักษ์คุมพล)
จุฬาราชมนตรี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับฮิวแมนไรท์ วอทช์: สถานการณ์สิทธิมนุษยชน 2 เดือนหลังรัฐประหาร

$
0
0

 

อาจมีข้อกังขาต่อเรื่องความสม่ำเสมอในการติดตามวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและแนวการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของ’รัฐ’ในแต่ละช่วงสมัยจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนไทย  แต่สำหรับองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์Human Right Watch ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในระดับสากลแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์จนอาจถูกทำให้มองเหมือนกับเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและ’รัฐไทย’มาโดยตลอด นับจากกรณีสงครามยาเสพติด ฆ่าตัดตอน ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้การใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในยุครัฐบาลสมัครและรัฐบาลอภิสิทธิ การผลักดัน พรบ.นิรโทษกรรมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์การขัดขวางการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557โดยกลุ่มนิยมกษัตริย์  เรื่อยขึ้นมาถึง การประกาศกฏอัยการศึก และการทำรัฐประหารโดยคณะทหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

สุณัย ผาสุข นักวิจัยอาวุโส และที่ปรึกษาประจำประเทศไทยขององค์การเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ เป็นผู้ที่เกาะติดสถานการณ์สิทธิในไทยมาโดยตลอด ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับประชาไท ถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย กับ 2 เดือน หลังการรัฐประหาร คสช
 

 

ประชาไท: Human Right Watch มองสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยหลังรัฐประหารเป็นอย่างไรบ้าง

สุณัย: ผมมองว่ามันเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงประกาศกฎอัยการศึกก่อนรัฐประหารแล้ว เพราะมันคือการดึงอำนาจจากประชาชนให้กลับไปอยู่กับกองทัพ เปรียบเหมือนกับการรัฐประหารโดยไม่มีรถถัง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนทั้งประเทศ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ และเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนถูกลิดรอน ซึ่งทาง Human Right Watch ก็ได้ออกมาต่อต้านการกระทำดังกล่าวตั้งแต่ต้น เมื่อเกิดการรัฐประหาร การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีการเรียกบุคคลไปรายงานตัว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ กลุ่มแกนนำของฝ่ายการเมืองต่างๆ ที่เข้าไปนั่งประชุมในเย็นวันที่เกิดรัฐประหาร และกลุ่มที่ถูกเรียกตัวมาภายหลัง ซึ่งเป้าหมายของการเรียกรายงานตัวดังกล่าวก็เพื่อขยายผลไปสู่การจับกุมเครือข่ายเสื้อแดงทั่วประเทศอีกทั้งรูปแบบการเรียกรายงานตัวก็มีปัญหาเช่นกัน ประการแรกคือ เป็นการใช้อำนาจบังคับให้บุคคลมารายงานตัวในลักษณะไม่มาไม่ได้ เพราะจะเป็นการขัดต่อกฎอัยการศึก

ประการที่สองคือ หลังจากเรียกไปรายงานตัวแล้ว กองทัพทำอะไรกับคนเหล่านี้ เนื่องจากกองทัพไม่เปิดเผยอะไรเลย ทั้งเป้าหมายของการเรียกรายงานตัว สถานที่ควบคุมตัว ไม่อนุญาตให้ติดต่อกับโลกภายนอก การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการบังคับควบคุมตัวโดยพลการในสถานที่ไม่เปิดเผย ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตย โดยสรุปแล้วเราจะสามารถเห็นได้ว่า ขอบเขตการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพเริ่มจากภาพกว้างคือการประกาศกฎอัยการศึกซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนทั้งประเทศ และภาพย่อยคือการเรียกบุคคลไปรายงานตัวโดยไม่แจงเหตุผล ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขณะนี้มีมากกว่า 300 คนแล้ว ยอดดังกล่าวยังไม่รวมคนที่ถูกจับกุม หรือคนที่ถูกเรียกรายงานตัวอย่างไม่เป็นทางการ

ประชาไท: บุคคลที่ถูกเรียกไปรายงานตัวส่วนมากมีทัศนะทางการเมืองไปในในทิศทางใด

สุณัย: ในช่วงแรกจะเป็นทีมงาน และนักการเมืองของพรรคเพื่อไทย ต่อมาเริ่มขยายออกไปสู่แกนนำเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ จนไปถึงคนที่ไม่ใช่เสื้อแดง แต่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เช่น คุณประวิตร โรจนพฤกษ์ คุณธนาพล อิ่วสกุล แม้จะมีการเรียกแกนนำ นักวิชาการ กปปส. คปท. และพรรคประชาธิปัตย์ไปรายงานตัวด้วยเช่นกัน แต่ก็ในจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับฝ่ายเสื้อแดง ทั้งจำนวนผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัว และระยะเวลาที่ควบคุมตัว ซึ่งมันแสดงให้เห็นถึงความลำเอียงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ เราจะเห็นกองทัพออกมาแถลงข่าวเรื่องการตรวจพบอาวุธจากฝ่ายเสื้อแดงเยอะมาก ในขณะที่แทบไม่เห็นอาวุธจากทางฝ่าย กปปส. เลย ทั้งๆ ที่อาวุธใน คปท. กับ กปปส. ก็มีจำนวนมากไม่แพ้กัน

ประชาไท: มีกรณีใดบ้างที่ Human Right Watch คิดว่ารุนแรงที่สุด

สุณัย:กรณีของ กฤชสุดา ถือว่าหนักที่สุด เพราะมีการควบคุมตัวนานเกิน 7 วัน อีกทั้งยังมีสื่อสามารถจับภาพขณะที่เจ้าหน้าที่ทำการจับกุมได้ กรณีของกฤชสุดาน่าสนใจ เนื่องจากจริงอยู่ที่เธอเป็นนักเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักที่กองทัพต้องการตัว เหตุใดจึงต้องควบคุมนานเกินกว่า 7 วันด้วย ซึ่งทางญาติของเธอก็ได้เข้ามาติดต่อกับทาง Human Right Watch ทีมงานของเราก็ออกไปตามหาตามเรือนจำต่างๆ ที่กองทัพมักจะนำคนไปฝากขังก็ไม่เจอ แสดงว่าไม่มีการส่งฟ้อง เมื่อถามไปกับกองทัพก็ได้คำตอบแค่ว่าปลอดภัยดี แต่ไม่ยอมให้ข้อมูลกับหน่วยงานใดๆ ถึงแม้ทุกวันนี้กฤชสุดาได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในกระบวนการทำงาน (Due Process) ของกองทัพ และนำไปสู่คำถามที่ว่า ยังมีคนอย่างกฤชสุดาอีกกี่คนที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เพราะหากไม่มีนักข่าวสามารถถ่ายภาพเธอได้ในวันนั้น เธออาจจะยังหายสาบสูญอยู่ก็ได้ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การที่กฤชสุดาออกมาบอกว่า เธอเป็นคนที่ขออยู่ต่อเองหลังจากครบกำหนด 7 วัน โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัย ทาง Human Right Watch จึงอยากจะคุยกับกฤชสุดามากว่าอะไรเป็นเหตุให้เธอหวาดกลัวขนาดนั้น จนถึงขั้นยอมละทิ้งอิสรภาพ

นอกจากกรณีของกฤชสุดาแล้ว การจับกุมผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงทั้งสิ้น หลังจากที่กองทัพออกแถลงการณ์มาว่า การกระทำใดๆ อันเป็นการต่อต้านกองทัพไม่สามารถทำได้ ก็เริ่มมีการจับกุมผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มจากการจับกุมซึ่งหน้า ณ จุดที่ชุมนุม จนกลายเป็นการตามไปจับนอกสถานที่ชุมนุม ซึ่งทางกองทัพใช้คำว่า “ปรับทัศนคติ” อีกทั้ง ยังมีการนำประชาชนขึ้นศาลทหารอีกด้วย ถึงแม้จะให้รอลงอาญา แต่ก็ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการนำตัวพลเมืองขึ้นศาลทหาร และมีการตัดสินโทษด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่สามารถทำได้

ประชาไท:  บทบาทการทำงานของ Human Right Watch ต่อการรัฐประหารในครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง

สุณัย: จริงๆ แล้วก็มิได้มีอะไรเป็นพิเศษ เราแค่ทำเหมือนมาตรฐานที่ผ่านมา คือเรายืนหยัดอยู่บนหลักการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนที่เชื่อว่า คนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะรวยหรือจน คนเมืองหรือชนบท ซึ่งเราออกมาตั้งคำถามในประเด็นดังกล่าวตั้งแต่ กปปส. รวมถึงต่อต้านการขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เราออกมาทุกครั้งที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเราก็ยืนอยู่บนหลักการนี้มาโดยตลอดอย่างไม่มีการลำเอียงใดๆ ซึ่งเราก็ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เราพยายามชี้ให้เห็นว่าการกระทำใดคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่กองทัพก็มักจะตอบกลับมาว่า มันเป็นข้อจำกัดของเขา แต่เราถือว่ามันคือการละเมิด

กองทัพในครั้งนี้ค่อนข้างจะอ่อนไหวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะมันกระทบต่อภาพลักษณ์ในเวทีนานาชาติ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เขาใช้เกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชนในการปรับระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กองทัพจึงยังไม่ได้สั่งปิดหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนมากนัก แต่ใช้วิธีการแถลงข่าวตอบโต้แทน เราจึงยังพอที่จะทำงานได้ท่ามกลางแรงกดดันที่มีเข้ามาตลอดเวลา และในบรรยากาศแบบนี้เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจึงควรจะออกมาแสดงท่าทีได้แล้ว

 

ประชาไท: ปฏิกิริยาของต่างชาติในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนส่งผลต่อการทำงานของกองทัพอย่างไร

สุณัย:จะเห็นได้ว่าในตอนนี้ต่างชาติยังทำแค่ลดระดับความสัมพันธ์ และระงับความช่วยเหลือในบางด้าน เพื่อแสดงออกว่าไม่พอใจกับกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เรายังไม่เห็นภาพการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบในพม่า เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวจะกินเวลายาวนานหลายทศวรรษ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะทางกองทัพก็ออกมากำหนดเงื่อนเวลาชัดเจนว่าจะใช้เวลา 15 เดือน ซึ่งประกาศตรงนี้ก็ช่วยลดความตึงเครียดกับนานาชาติลงได้พอสมควร แต่ก็ต้องดูต่อไปอีกว่าธรรมนูญชั่วคราวที่จะออกมา จะเป็นการวางรากฐานอำนาจให้กองทัพสามารถอยู่ในอำนาจต่อหลังจาก 15 เดือนนี้หรือเปล่า

ประชาไท: รู้สึกแปลกใจไหมที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนไม่ออกมาเคลื่อนไหวมากเท่าที่ควร

สุณัย:  ไม่แปลกใจ แต่ผิดหวัง เพราะองค์กรเหล่านี้ก็โดนสั่งห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกองทัพอยู่แล้ว หรือแม้แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งก็เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า พวกเขายอมรับอำนาจของกองทัพ และละทิ้งหลักการของตัวเองหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง เช่น องค์กรสิ่งแวดล้อมที่ไม่ออกมาสนับสนุนกลุ่มต่อต้านเหมืองแร่เมืองเลย ซึ่งถูกกดดันจนเงียบลงไปมากหลังการรัฐประหาร หรือกลุ่มที่ทำงานด้านสาธารณสุขที่ปกติจะเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งมากเมื่อมีการปรับโครงสร้างสาธารณสุขของประเทศ แต่ครั้งนี้กลับแผ่วๆ กับการที่ คสช. ประกาศจะยกเลิกโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านเก้าบาตร ก็ไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มใดเลย ทั้งๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิของคนในชุมชนอย่างชัดเจน แนวคิดเรื่องการจัดการตนเองก็ต้องหยุดชะงัก แต่เหล่าองค์กรที่เรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจก็นิ่งเฉย ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะสิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนท้องถิ่นเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน มันเหมือนกับว่าตอนนี้ประเทศกำลังถูกปกคลุมไปด้วยบรรยากาศแห่งความกลัว จริงอยู่ว่ากลุ่มเหล่านี้ในบางครั้งก็ขัดแย้งกันเอง จนกองทัพอ้างว่าจะเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยหาทางออกร่วมกัน แต่นี่คือการไปหยุดกระบวนการทุกอย่าง แล้วก็ตัดสินใจเองแทนเขา โดยที่ไม่มีใครกล้าแย้ง ซึ่งผมแปลกใจมาก เพราะกองทัพก็ยังไม่ได้มีท่าทีในการใช้ความรุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น รัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งมีการใช้อาวุธสงครามสังหารประชาชนอย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีกลุ่มที่ออกมาต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ในครั้งนี้กลับเงียบกันหมดซึ่งมันทำให้การเก็บข้อมูลทำได้ยากมาก จึงน่าสนใจว่าพวกเขากลัวอะไรกันอยู่

ประชาไท:  หลังจากการรัฐประหาร มีคนที่โดนจับในข้อหาคดี 112 เยอะมาก จนถึงตอนนี้ 16 คนแล้ว ทาง Human Right Watch มีความเห็นอย่างไรบ้าง

สุณัย:  มันทำให้เราเห็นถึงแนวโน้มใหม่ของกองทัพ เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะโดนคดี 112 มาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้ว แต่ก็มาเร่งรัดกันในช่วงรัฐประหาร ซึ่งทางเราก็เห็นถึงปัญหาในประเด็นนี้มานานแล้ว ในเรื่องของความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาคดี สิทธิในการประกันตัวที่ขัดต่อหลักการสากล

ประชาไท:  คุณสุณัยเคยให้สัมภาษณ์ว่า ทักษิณใช้ล็อบบี้ยิสต์ในการทำให้สหรัฐฯ เชิญตัวไปอธิบายสถานการณ์รัฐประหารในประเทศไทย อยากให้ช่วยขยายความประเด็นนี้หน่อย

สุณัย: เป็นการลงข่าวที่ไม่มีบริบทใดๆ เลย ผมไม่ได้บอกว่าทักษิณคนเดียวที่ใช้ล็อบบี้ยิสต์ ใครๆ ก็ใช้กันทั้งนั้น ทั้งกองทัพ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย เพียงแค่ล็อบบี้ยิสต์ของทักษิณเขาเก่งกว่า ใจถึงกว่า เพราะค่าตัวสูงกว่า ทักษิณก็เลยถูกเชิญไป ล็อบบี้ยิสต์ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย มันเป็นสิ่งจำเป็นด้วยซ้ำในการเมืองระหว่างประเทศ และทุกอย่างก็ทำภายใต้กรอบกฎหมายสามารถตรวจสอบได้

ประชาไท: คิดว่าปัญหาของการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ณ ขณะนี้คืออะไร

สุณัย:  ผมว่าเรื่องสำคัญที่สุดคือ เรื่องทัศนคติของคนทั่วไป NGO ถูกคาดหวังจากสังคมให้ต้องสังกัดฝ่ายการเมืองใดการเมืองหนึ่ง และไม่สามารถแย้งได้ เคยมีเหมือนกันที่ NGO ออกมาแย้งฝ่ายที่ตัวเองเคยเชียร์ ผลสุดท้ายคือ โดนด่าจากทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อเป็นเช่นนี้การทำงานของ NGO จะลำบากมาก เพราะพวกเราทำงานโดยยืนอยู่บนหลักการที่เป็นกลาง เราวิพากษ์วิจารณ์ทุกฝ่ายที่ทำผิดไปจากหลักการของเรา เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพเช่นนี้ การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนก็จะยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ เพราะอำนาจทุกอย่างถูกรวบไว้กับกองทัพ และไม่มีใครสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ยิ่งการรวมอำนาจมีมากขึ้นเท่าไหร่ แนวโน้มที่รัฐบาลจะคืนอำนาจสู่ประชาชนก็จะน้อยลงเท่านั้น การปกครองประเทศด้วยความกลัวเช่นนี้ มันไม่ใช่การสลายสีเสื้อเหมือนที่กองทัพพยายามพูด แต่มันคือการปิดปากประชาชน

ประชาไท: คิดอย่างไรกับกลุ่ม NGO ที่ออกมาสนับสนุนกองทัพ

สุณัย:  ผมคิดว่า มันเป็นภาพสะท้อนของอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ กลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องการกระจายอำนาจ กลุ่มเหล่านี้เริ่มไม่เห็นด้วยกับกระบวนการประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงที่ กปปส. ชุมนุมแล้ว รวมไปถึงเชื่อในแนวคิดคนไม่เท่ากันด้วย มันน่าสนใจว่า อะไรที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนความคิด อาจเป็นเพราะแนวคิดเรื่องคนเท่ากันยังไม่เคยเป็นที่พูดถึงมากนักในประวัติศาสตร์การถกเถียงทางการเมืองไทย

 

หมายเหตุ:ภายหลังการสัมภาษณ์ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ได้มีแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษย์ชนไทยออกมาด้วยเนื้อหาดังนี้ 
 

*******************

ประเทศไทย: รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้อำนาจอย่างกว้างขวาง
ผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับความคุ้มครองจากการรับผิด

(นิวยอร์ก 24 กรกฎาคม 2557) – ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองของไทยควรแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ประกาศใช้ และให้อำนาจกับพวกตนอย่างกว้างขวาง โดยปราศจากการต้องรับผิด หรือมาตรการสำหรับป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน 


เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งมี 48 มาตรา และได้รับการลงพระปรมาภิไธยโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อนึ่ง คณะที่ปรึกษาของคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ขึ้นโดยปราศจากการหารือใดๆ กับสาธารณะ 

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า "รัฐธรรมนูญชั่วคราวพยายามให้ความชอบธรรมทางกฎหมายกับอำนาจที่กว้างขวาง และปราศจากการต้องรับผิดของคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครอง" "แทนที่จะปูทางไปสู้การฟื้นฟูประชาธิปไตย คณะทหารกลับให้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบแก่พวกตนในการที่แทบจะทำอะไรก็ได้ทุกอย่างตามต้องการ ซึ่งรวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ต้องรับผิด" 

ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวมีเนื้อหาที่อ่อนมากเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และยังอนุญาตให้ คสช. สามารถดำเนินนโยบาย และมาตรการต่างๆ โดยปราศจากการตรวจสอบควบคุมที่มีประสิทธิภาพเพือป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นก็ไม่ต้องมีการรับผิดใดๆ ทั้งนี้ ถึงแม้มาตรา 4 จะให้การยอมรับอย่างกว้างๆ ต่อสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพตามประเพณีประชาธิปไตย และพันธะกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย แต่ คสช.มีอำนาจตามมาตรา 44 และ 47 ในการจำกัด ระงับ หรือยับยั้งการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 

มาตรา 44 ให้อำนาจอย่างกว้างขวางต่อ คสช.ในการออกคำสั่ง และดำเนินการต่างๆ ตามที่เห็นสมควรได้ ไม่ว่าจะมีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไรก็ตาม กล่าวคือ "ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคี และความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายใน หรือภายนอกราชอาณาจักร" ให้หัวหน้า คสช. มีอํานาจ "สั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่ง หรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว ... ชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด" อย่างไรก็ตาม อำนาจที่กว้างขวางเช่นนี้ไม่มีการตรวจสอบควบคุมจากฝ่ายตุลาการ หรือสถาบันอื่นใด หัวหน้า คสช. เพียงแค่ต้องรายงานการดําเนินการดังกล่าวให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีทราบหลังจากนั้นเท่านั้น 

มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้การกระทำทั้งหลายของสมาชิก คสช. และผู้ที่กระทำการในนาม คสช. ซึ่งรวมถึงการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม "พ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง" ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าววว่า ถึงแม้จะมีบทบัญญัติตามมาตรานี้ แต่กฏหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศรับรองสิทธิในการได้รับการเยียวยาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกำหนดให้รัฐบาลต้องสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 6, 30 และ 32 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้สร้างระบบการเมืองแบบปิด และไม่เป็นประชาธิปไตย โดย คสช.เป็นผู้คัดเลือกบุคคลเป็นเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีข้อกำหนดให้ต้องทำการหารือใดๆ กับสาธารณะ หรือต้องผ่านการทำประชามติ ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้นมีหน้าที่ศึกษา และเสนอแนะเพื่อให้เกิดการสร้างความเป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่เสรี และเป็นธรรม และการปฏิรูปในด้านต่างๆ 

มาตรา 8 และ 33 กำหนดข้อห้ามอย่างกว้างๆ ไม่ให้ผู้ที่ดํารงตําแหน่ง หรือเคยดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมาสามารถเป็นมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีข้อห้ามไม่ให้สมาชิก คสช. ทหาร ตำรวจ และข้าราชการอื่นๆ ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ข้อกำหนดเช่นนี้เปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่พลเอกประยุทธ์จะรับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะที่ยังคงมีฐานะเป็นหัวหน้า คสช. ถ้าหากเขาประสงค์ที่จะทำเช่นนั้น

ตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เก็บบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากที่เกิดขึ้นโดยคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครอง คสช. ซึ่งประกอบด้วยเหล่าทัพต่างๆ และตำรวจได้ปิดกั้นการแสดงออกอย่างกว้างขวาง ควบคุมตัวบุคคลต่างๆ มากกว่า 300 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการตั้งข้อหาความผิด ห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ และออกคำสั่งที่มีลักษณะกดขี่ข่มเหงต่อนักกิจกรรม และกลุ่มรากหญ้า มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย โดยระบุว่า ประกาศ หรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติทั้งหมดของ คสช. ตั้งแต่ที่มีการยึด และควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดิน "ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด"

แบรด อดัมส์ กล่าวว่า "คำกล่าวอ้างของ คสช.ว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง และการปกครองโดยพลเรือนนั้นเป็นฉากบังหน้าให้คณะทหารควบคุมอำนาจต่อไป" "โดยการกระชับอำนาจการควบคุมมากขึ้น บรรดานายพลกำลังทำผิดคำสัญญาที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อเผด็จการ"


 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ฉลาด วรฉัตร' มอบตัวฐานต้าน คสช. ตร.แจงยังไม่คุมตัว ต้องสอบสวนก่อน

$
0
0


แฟ้มภาพ
 

28 ก.ค.2557 ร.ต.ฉลาด วรฉัตร นักเคลื่อนไหววัย 71 ปีให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ขณะนี้อยู่ที่ สน.ดุสิต เพื่อเข้ามอบตัวต่อพนง.สส.ในข้อหาต่อต้าน คสช. หลังจากก่อนหน้านี้มีการรื้อเต๊นท์หน้าสวนสัตว์ดุสิต ตรงข้ามรัฐสภา

"ยังไงก็ต้องมารื้อกันอีก จับก็ไม่จับ ไม่ผิดแล้วมารื้อทำไม" ฉลาดกล่าวพร้อมบอกว่า มาให้จับเพื่อพิสูจน์ชะตากรรมประเทศ หากถูกจำคุก 20 ปีในข้อหากบฏแผ่นดินที่ต่อต้านรัฐบาลจากรัฐประหาร

ด้าน พ.ต.ท.จารุภัทร ทองโกมล รอง ผกก.สส.บก.น.1 กล่าวว่า นายฉลาดประสงค์เข้ามอบตัวเนื่องจากมองว่าตนเองขัดขืนคำสั่งห้ามต่อต้าน คสช. แต่เนื่องจากไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า ตำรวจก็ต้องทำการสอบสวนก่อน จะให้คุมตัวหรือส่งไปที่ไหนเลยคงไม่ใช่ ทั้งนี้มีขั้นตอนอยู่ เช่น หากการกระทำไม่รุนแรงก็พูดคุยปรับทัศนคติ แล้วก็ให้กลับ หากมีการขัดคำสั่งเรียกรายงานตัว ก็เข้าค่าย หรือกระทำผิดกฎหมายก็ส่งศาลดำเนินคดี

พ.ต.ท.จารุภัทร กล่าวว่า ที่ผ่านมา นายฉลาดต่อต้านอย่างสงบมาตลอด มีหลักฐานเป็นเอกสาร เป็นภาพที่เผยแพร่ตามสื่อ ก็ต้องให้ พนง.สส.สอบสวนก่อน เบื้องต้น ก็คงลงบันทึกประจำวัน เหมือนรายอื่นๆ ที่ออกมาต่อต้าน คสช.ก่อนหน้านี้ 

อนึ่ง ตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วงการรัฐประหารบริเวณเต๊นท์หน้าสวนสัตว์ดุสิต ตรงข้ามรัฐสภาเป็นเวลากว่า 45 วันก่อนจะประกาศยุติอดอาหารเมื่อวันที่ 6 ก.ค. หลังต้องเข้ารักษาตัวที่ รพ.วชิระ 2 ครั้ง เนื่องจากปัญหาสุขภาพ แต่ยังคงนั่งประท้วงอยู่ที่เต๊นท์ต่อจนกระทั่งเริ่มมีการรื้อเต๊นท์ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ประยุทธ์"คาดโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง สนช. ภายในสิ้นเดือนนี้

$
0
0

หัวหน้า คสช. คาด ไม่เกินสิ้นเดือนนี้จะมีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และจัดกิจกรรมวันเฉลิมฯ ให้ประชาชนเที่ยวชมงานวันที่ 8-13 สิงหาคม ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า 

28 กรกฎาคม 2557 ไทยพีบีเอสรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า คสช. คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนนี้จะมีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ก่อนที่ สนช.จะเริ่มต้นปฏิบัติงานมีการเปิดประชุมได้ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม จากนั้นก็จะมีการดำเนินการสรรหานายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรี แล้วจะมีการรับสมัครสมาชิกสภาปฏิรูป โดยก่อนจะมีสภาปฏิรูปได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการจัดงานคิกออฟเปิดตัวสภาปฏิรูปแล้ว ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี คาดว่าจะดำเนินการได้ไม่เกินวันที่ 10 สิงหาคมนี้ เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย เพื่อทำการปฏิรูปประเทศให้เสร็จในเวลา 10 เดือน รวมถึงยังได้มอบหมายงานให้เร่งดำเนินการจัดทำคำแถลงนโยบายรัฐบาลและคำแถลงงบประมาณ ให้เสร็จภายในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

นอกจากนี้ การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาระหว่างวันที่ 8-13 สิงหาคมนั้นจะมีการจัดงานขึ้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จะมีรูปแบบการจัดงานคล้ายกับที่ท้องสนามหลวง เพื่อให้ประชาชนได้เที่ยวชมงานและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ  ซึ่งขอให้ทุกหน่วยงานจัดกิจกรรมอย่างดีที่สุด

หัวหน้า คสช.ยังกล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยว่า ขอให้เจ้าหน้าเร่งดำเนินการจับกุมตัวผู้กระทำผิดใช้อาวุธสงครามสร้างความรุนแรงต่อประชาชนมาลงโทษ และทำการทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัย อาทิ เรื่องของที่จอดรถ การตรวจสอบจุดเสี่ยงต่าง ๆ  พร้อมยืนยันว่าการที่ผู้ก่อความไม่สงบจะดำเนินการแบ่งแยกประเทศนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
 
ขณะที่ในเรื่องของสื่อบางส่วนที่ยังมีการละเมิดประกาศของ คสช.อยู่ ได้ขอให้สมาคมสื่อได้ไปกำกับดูแลกันเอง เพื่อให้การทำงานของทั้งสื่อและ คสช.สามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live


Latest Images