Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

สภาประชาสังคมชายแดนใต้กับบทบาทสร้างสันติภาพ ตามทัศนะ 'มันโซร์ สาและ'

$
0
0

สภาประชาสังคมในบทบาทสร้างกระบวนการสันติภาพที่ดำเนินมากว่าหนึ่งปี หนึ่งในบุคคลที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน คือ นายมังโซร์ สาและ 

 

มันโซร์ สาและ ขณะพูดคุยกับผู้รายงาน ณ ศูนย์อัลกุรอานและภาษา QLCC, จะนะ จังหวัดสงขลา

อันเนื่องมาจากการทำงานของสภาประชาสังคมดำเนินการมาปีกว่า และการสร้างกระบวนการสันติภาพเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญ หนึ่งในบุคคลที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้คือ นายมังโซร์ สาและ จึงขอนำทัศนะมาเผยแพร่ให้เห็นวิวัฒนาการการขับเคลื่อน

0 0 0

               หนึ่งใน 5 ยุทธศาสตร์หลักของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ คือการหาข้อยุติความรุนแรงทางตรง ซึ่งนำไปสู่งานเฉพาะหน้าในเรื่อง การส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการเจรจาระหว่างรัฐกับขบวนการก่อความไม่สงบ (ตามชื่อเรียกของรัฐไทย)หรือกลุ่มที่ทำงานปลดเอกราชปตานี  (ตามชื่อเรียกของขบวนการ) เพื่อยุติความรุนแรง[1] ทั้งๆ ที่เป็นความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงนัก เกินที่สถานะของสภาจะแบกรับได้

                แต่เมื่อสภาประชาสังคมชายแดนใต้เป็นองค์ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของตัวแทนองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว มันก็เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ความจริง คำว่า สันติภาพและสันติสุข เป็นวาทกรรมที่ได้ป่าวประกาศจากฝ่ายรัฐในรูปแบบต่างๆ อย่างหนักหน่วงในช่วงต้นๆ หลังเกิดสถานการณ์ความรุนแรงระลอกใหม่ในปี พ.ศ. 2547

                รัฐไทยได้ทุ่มเทงบประมาณอย่างมหาศาล พร้อมๆ กับดำเนินกิจกรรมทุกอย่างเพื่อสันติภาพ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่รัฐได้ทำลงไปนั้น รัฐอาจลืมคิดไปว่า บริบท ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลานั้น รัฐได้เป็นตัวละครหลักตัวหนึ่งที่สร้างปมปัญหาความขัดแย้งเช่นเดียวกัน

                สันติภาพเป็นวาทกรรมคู่กับความขัดแย้งหรือสงคราม ดังนั้น ก่อนที่จะขยับไปที่บริบทของสันติภาพ ก็ควรต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทของความขัดแย้ง ซึ่งความขัดแย้งถือเป็นลักษณะธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหมู่มวลมนุษยชาติอยู่เนืองนิตย์

ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขัดขวาง กดทับหรือบีบบังคับอีกฝ่ายหนึ่ง และอีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่า มันเป็นการคุกคามสิทธิของตนเอง โดยปกติแล้ว การแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้น มักจะต้องใช้คนที่สามหรือคนกลางในการไกล่เกลี่ยเสมอ ทั้งนี้เพี่อให้เป็นไปตามหลักการสากลที่ถูกต้อง หรือในหลักธรรมก็เช่นเดียวกัน

                 การเข้าใจบริบทความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป คนในสังคมนั้นจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงสาเหตุหรือรากเหง้าแห่งความขัดแย้งนั้นๆ เสียก่อน อาทิ การจำแนกลักษณะ ประเภท ระดับสาเหตุ ปัจจัย และองค์ประกอบเป็นต้น บางครั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะของปัจเจกบุคคล ครอบครัว สังคม ประชาชนกับรัฐ รัฐกับรัฐและอื่นๆ เมื่อความขัดแย้งมีลักษณะที่แตกต่างกันเช่นที่กล่าวมาข้างต้น หลักการสร้างกระบวนการสันติภาพในแก้ปัญหาความขัดแย้งเหล่านั้นก็ย่อมแตกต่างไปด้วย

                ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปตานี เป็นลักษณะความขัดแย้งแนวดิ่งระหว่างประชาชนชาวปตานีชาติพันธุ์มลายู นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่เดิมกับรัฐไทยและกลไกรัฐ นับตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นลักษณะความขัดแย้งอันเกิดจากโครงสร้างอำนาจการเมืองการปกครองที่ไปกดทับและคุกคามสิทธิของพวกเขาที่ควรจะต้องมี อย่างน้อยที่สุด ก็คือ สิทธิของชนกลุ่มน้อย เป็นต้น ต่อมาความขัดแย้งนี้มันได้ขยายไปในลักษณะแนวราบ หมายถึงระหว่างประชาชนชาวพุทธ ชาติพันธุ์ไทยกับประชาชนมุสลิม ชาติพันธุ์มลายู

                แม้ว่า รัฐและกลไกของรัฐได้พยายามอธิบายว่า ความขัดแย้งในพื้นที่นั้นเกิดจากสาเหตุอื่น อันมิใช่โครงสร้างอำนาจการเมืองและการปกครองก็ตาม แต่คำถามที่จะต้องถามรัฐและกลไกรัฐก็คือ ทำไมความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงไม่สามารถแก้ไขและสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนได้สักที ทั้งๆที่รัฐได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง เสมือนหนึ่งเป็นการเอาอกเอาใจประชาชนในพื้นที่แห่งนี้เป็นพิเศษ มากกว่าประชาชนและกลไกรัฐในพื้นที่อื่น ไม่ว่าการจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค4 ส่วนหน้า) และกลไกอื่นอีกมากมาย รวมทั้งการทุ่มงบประมาณด้านการพัฒนาและความมั่นคงจำนวนมหาศาล และแนวโน้มแห่งอนาคตก็ยังไม่มีใครยืนยันและให้หลักประกันได้ว่า ความขัดแย้งครั้งรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2547 จะไม่หวนกลับมาประทุอีกครั้ง ดังนั้น กระบวนการสันติภาพที่เกิดจากความต้องการและการมีส่วนร่วมของประชาชน น่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งในอนาคต

                ตลอดระยะเวลาการดำรงอยู่ของความขัดแย้งในพื้นที่ ทัศนะและมุมมองระหว่างรัฐและกลไกรัฐกับคนมลายูมุสลิมในพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้ว่า รัฐจะพยายามอ้างว่า ความแตกต่างนี้เป็นเพียงคำกล่าวอ้างจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหรือกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนก็ตาม แต่ความเห็นแตกต่างกันนี้มีการกล่าวอ้างอยู่ทั่วไปในหมู่ประชาชนทุกระดับ เพียงแต่รายละเอียดและคำอธิบายความแตกต่างนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของประชาชนแต่ละคน

สำหรับเครื่องชี้วัดง่ายๆต่อประเด็นดังกล่าวคือ ประชาชนมลายูมุสลิมส่วนใหญ่จะตอบว่า พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนระดับรากหญ้า แม้เขาเคยได้รับของแจกของแถมจากรัฐผ่านโครงการใดๆ ก็ตาม หรือการเยียวยาด้วยตัวเงินและสิ่งของ แต่สามัญสำนึกลึกๆ ของพวกเขาก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม

                บทบาทภาคประชาสังคมกับกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ เริ่มมีการกล่าวถึงในช่วงกลางปี พ.ศ.2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากการสัมมนาในหัวข้อ ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ: การขยายพื้นที่ภาคประชาชนเพื่อแก้ไขความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้[2] เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2552 ซึ่งจัดโดยศูนย์ศึกษาความขัดแย้งและสันติภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานสันติวิธีและธรรมาภิบาลสถาบันพระปกเกล้า และมูลนิธิเฟรดดริก ณ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดซ์รีสอร์ท อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 153 คน จากตัวแทนองค์กรทั้งในและนอกพื้นที่ พร้อมทั้งได้สรุปผลของการสัมมนาในประเด็นสำคัญดังนี้

               1. การสร้างกระบวนการสร้างสันติภาพ
               2. ลักษณะและประเภทของงานที่สภาประชาสังคมจะทำได้ในกระบวนการสร้างสันติภาพ
               3. ตัวอย่างงานที่ภาคประชาสังคมทำได้ในกระบวนการสันติภาพ
               4. ปัญหาบางอย่างที่ภาคประชาสังคมอาจต้องเผชิญในกระบวนการสสร้างสันติภาพ

               สิ่งที่เป็นข้อสังเกตสำคัญจากการจุดประเด็นเรื่องนี้ในการประชุมครั้งนั้นพบว่า ไม่มีกลุ่มประสังคมใดสามารถขับเคลื่อนในเชิงปฏิบัติ ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจาก สภาพการณ์ที่แท้จริงของกลุ่มหรือองค์กรในพื้นที่ไม่มีการพูดคุยทิศทางการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และต่างกลุ่มต่างก็ทำงานตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มหรือองค์กรของตนเองเป็นหลัก นอกจากนั้น การจุดประเด็นบางประเด็นดังกล่าว เกิดจากกลุ่มหรือองค์กรภายนอก โดยไม่มีกลุ่มหรือองค์กรในพื้นที่สืบสานเจตนารมณ์อย่างจริงจัง

                 การก่อตั้งสภาประชาสังคมชายแดนใต้ที่ประกอบด้วย นักเคลื่อนไหวด้านสังคมนักพัฒนาองค์กรเอกชน นักวิชาการ กลุ่มสตรี กลุ่มสื่อและอื่นๆ รวม 20 องค์กรในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญในมิติของภาคประชาชนชายแดนใต้ เพราะสภาแห่งนี้จะได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนดูแล ปกป้องสิทธิต่างๆของประชาชนหลากหลายกลุ่มท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไทยพุทธและมุสลิม

                 การริเริ่มกระบวนการสันติภาพปตานีภายใต้วาทกรรม และนวัตกรรมใหม่ “กระบวนการสร้างสันติภาพปตานีในบริบทอาเซียน ” ( Patani Peace Process in Asean context – PPP ) เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555 ณ หอประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ โดยสภา ฯ และพันธมิตรนั้น ถือเป็นการริเริ่มโดยประชาชนในพื้นที่จริงๆ และยิ่งได้รับการหนุนเสริมด้านวิชาการจากนักวิชาการด้านความขัดแย้งและสันติวิธีทั้งในและต่างประเทศตลอดจนการช่วยเหลือด้านงบประมาณจากองค์กรภาคี ก็ยิ่งทำให้บทบาทภาคประชาสังคมในพื้นที่กับกระบวนการสันติภาพมีความชัดเจนมากขึ้น

                แม้ว่า ณ เวลานี้ ประชาชนในพื้นที่ยังไม่สามารถทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อกระบวนการสันติภาพก็ตาม แต่ยุทธศาสตร์และกิจกรรมที่ดำเนินการโดยสภา เช่น การจัดเวทีชายแดนใต้จัดการตนเอง การเยียวยา การเรียกร้องให้ทบทวนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และอื่นๆ ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่เป็นต้นทุนเพื่อนำไปสู่กระบวนการสันติภาพทั้งสิ้น

                ถึงกระนั้นก็ตาม แม้คำจำกัดความสันติภาพที่แท้จริงนั้นไม่สามารถจะกำหนดรูปแบบที่ตายตัวและชี้วัดด้วยเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ที่สำคัญยิ่งนั้น มันจะต้องอยู่บนพื้นฐานของสัจธรรมหรือธรรมะ มิฉะนั้นแล้วก็จะเกิดความสับสนในการขับเคลื่อนกระบวนการนี้ ตัวอย่างเช่น สันติภาพและสันติสุขในมิติและความต้องการของรัฐ คือการยุติการใช้อาวุธหรือก่อความรุนแรงต่อประชาชนและต่อกลไกของรัฐ ส่วนในแง่มุมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอาจคิดว่า การที่ผู้เสียหายและญาติพี่น้องของผู้สูญเสียได้รับค่าชดเชย การเยียวยา หรือการช่วยเหลือจากรัฐและอื่นๆ ก็อาจจะกล่าวได้ว่า นี่คือสันติภาพก็เป็นได้ ส่วนกลุ่มที่ต่อต้านรัฐ ก็ย่อมมีทัศนะอีกอย่างหนึ่ง

                อย่างไรก็ตาม กระบวนการสันติภาพที่ควรต้องมีในพื้นที่ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานที่จะทำให้เกิดความสันติสุข เสมอภาค เที่ยงธรรมและสัจธรรมเป็นสำคัญ

 

 

 

[1] โปรดดูแผ่นพับแนะนำสภาประชาสังคมชายแดนใต้ หน้า 3 และ หน้า 5 หรือ ใน http://www.southcso.com สืบค้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555                                 

[2] ดูเอกสารสรุปการประชุม ใน http://portal.in.th/peace-strategy/pages/5479/

สืบค้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

 

 

                                        

 

                                        

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'มหากาพย์ 3G' ประมวลข้อท้วงติง-คำโต้แย้ง-6 คำวินิจฉัยศาลปกครอง

$
0
0

เปิดบทวิเคราะห์สถานการณ์ 7 ข้อ กสทช.โต้วิพากษ์ประมูล 3G พร้อมประมวล 6 คำฟ้อง-คำสั่งศาลปกครองกรณีทักท้วงการประมูล ด้านการตรวจสอบ ป.ป.ช.รับลูกเตรียมประชุมสรุปฮั้วประมูลพรุ่งนี้ ส่วน กมธ.วุฒิเรียกกสทช.ผู้วิจัยจุฬาฯ ร่วมประชุม

 
หลังการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz อันถือเป็นประวัติศาสตร์การประมูลคลื่นครั้งแรกของไทย เมื่อวันที่ 16 ต.ค.55 ผ่านพ้นไป และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค.ได้มีมติเห็นชอบผลการประมูล (อย่างไม่เป็นเอกฉันท์) แล้ว แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงกรณีการทุจริตในการประมูล-ราคาตั้งต้นการประมูลที่ไม่เหมาะสม-การแข่งขันที่ไม่เกิดขึ้นจริง ก็ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ไม่หยุดหย่อน
 
ภาพข่าว: 'กสทช.' นำเอกสารประมูลคลื่นความถี่ 2.1GHz ยื่น 'ป.ป.ช.' ตรวจสอบ ยืนยันความโปรงใส
 
ความเคลื่อนไหวล่าสุด เพื่อเป็นการทานกระแสคัดค้านการประมูล เมื่อวันที่ 24 ต.ค.55 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ได้เดินทางด้วยตนเองไปยื่นเอกสารเกี่ยวกับการประมูลทั้งหมดที่สำนักงาน กสทช.จัดรวบรวมขึ้น แก่หน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจในการตรวจสอบ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
 

กสทช.เปิดบทวิเคราะห์สถานการณ์ 7 ข้อ โต้วิพากษ์ประมูล 3G

ก่อนหน้านี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช.และหนึ่งใน กทค.เปิดเผยผลการวิเคราะห์สถานการณ์ของการคัดค้านการประมูล 3G ใน 7 ประเด็น ดังนี้
 
1.การเคลื่อนไหวต่อต้านการประมูล มีการนำประเด็นเรื่องสัมปทานมาเกี่ยวข้องทั้งๆ ที่มีหลายคนมีแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับระบบสัมปทานมาก่อน รวมทั้งเคยผลักดันให้มีการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบการแข่งขัน แต่ตอนนี้มีความพยายามนำเรื่องการประมูลมาเปรียบเทียบกับข้อดีของระบบสัมปทาน ทั้งๆ ที่ระบบการประมูลคลื่นความถี่จะเป็นการช่วยลดการผูกขาดอำนาจของหน่วยงานของรัฐ เพิ่มการแข่งขันให้ภาคเอกชน ส่งผลให้คุณภาพบริการดีขึ้น และราคาค่าบริการถูกลง การนำประเด็นเรื่องราคาตั้งต้นการประมูลมาโจมตีว่า กสทช.ตั้งราคาตั้งต้นการประมูลต่ำไป โดยมีการสื่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่คลาดเคลื่อนและนำมาเปรียบเทียบกับมูลค่าสัมปทาน ทั้งๆ ที่การประมูลครั้งนี้เป็นการนำคลื่นความถี่ที่ไม่อยู่ภายใต้สัมปทานมาจัดสรรให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยมิได้เข้าไปแทนที่ระบบสัมปทาน จึงเป็นเรื่องที่น่ากังขาอย่างยิ่ง
 
2.การเคลื่อนไหวคัดค้านการประมูลในครั้งนี้เคลื่อนไหวในประเด็นที่ต้องการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล โดยการพยายามให้ กสทช.หารายได้ให้รัฐบาลเยอะๆ และมุ่งโจมตีว่ารัฐบาลจะเสียผลประโยชน์จากการประมูลในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ กสทช.เป็นองค์กรของรัฐก็จริงแต่เป็นอิสระจากรัฐบาลและมิได้มีหน้าที่หารายได้ให้รัฐบาล แต่ต้องจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน จึงมีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงเคลื่อนไหวเช่นนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อบทบาทอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
 
3.การให้ กสทช.กำหนดราคาตั้งต้นการประมูลสูงเกินไปโดยไม่มีหลักวิชาการรองรับ ทำให้ส่งผลเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายย่อยไม่ให้เข้าร่วมการประมูลได้ ทำให้ตลาดผูกขาดเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น เหตุใดการคัดค้านจึงต้องการให้ กสทช.กำหนดราคาตั้งต้นที่สูงอย่างไม่มีเหตุผล โดยมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงจากผลการศึกษาของคณะผู้วิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คลิกอ่านรายงานฉบับเต็ม) เช่นนี้ หาก กสทช.ทำตามข้อเรียกร้อง ย่อมเป็นการทำให้ กสทช.กระทำผิดกฎหมาย เนื่องจากถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่และมุ่งหารายได้ให้รัฐบาล โดยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน
 
4.กระบวนการโจมตีการทำงาน และ discredit กสทช.ถูกทำอย่างเป็นระบบ มีการเคลื่อนไหวตั้งแต่ก่อนการประมูล มีการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ส่งต่อกันเป็นทอดๆ มีการปลุกระดมโดยใช้สื่อหลายแขนง ซึ่งถ้ากระบวนการนี้ยังดำเนินต่อไปอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนบางกลุ่มอาจถูกโน้มน้าวให้เกิดความเข้าใจผิดๆ จนต้องการให้ล้มการประมูล 3Gครั้งนี้
 
5.มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า กระบวนการเคลื่อนไหวนี้มิได้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการอย่างสุจริตใจ เนื่องจากมีการปลุกเร้าให้คนไทยเกลียดชังและหวาดระแวงว่า กสทช.ทำให้รัฐสูญเสียรายได้นับหมื่นล้าน ทั้งที่จริงๆ แล้วคลื่นความถี่ที่นำมาประมูลครั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้มีต้นทุนใดๆ เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่มีอยู่แล้วและใช้ได้ตลอดไปโดยสามารถกำหนดระยะเวลาการใช้ตามอายุของใบอนุญาตได้ เมื่อหมดใบอนุญาตก็สามารถนำมาจัดสรรได้ใหม่ และที่ผ่านมาคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz จำนวน 45 MHz ก็ถูกทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ใดๆ ตรงกันข้าม หากไม่มีการนำคลื่นความถี่นี้มาจัดสรร หรือประวิงเวลาให้การจัดสรรคลื่นย่านความถี่นี้ต้องล่าช้าออกไป จะทำให้เกิดวิกฤตต่อระบบโทรคมนาคมของไทยและเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล
 
6.อีกไม่ถึง 2 ปี เราก็จะเข้าสู่ AEC แล้ว หากประเทศไทยยังมีระบบโทรคมนาคมที่ไม่มีประสิทธิภาพเราก็จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ไม่ได้ และเมื่อบริษัทโทรคมนาคมของต่างชาติเข้ามาแข่งขัน บริษัทโทรคมนาคมของไทยจะไม่มีโอกาสเติบโตได้ การขัดขวางผลการประมูล 3G จะทำให้ต่างชาติได้ประโยชน์แต่ประเทศไทยเสียหายย่อยยับ จึงมีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเรื่องที่ผิดปกติที่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้โดยทำให้ประเทศชาติเสียหาย แต่ต่างชาติได้ประโยชน์
 
7.มีการโจมตีการทำงานของ กทค.เช่น โจมตีว่า กทค.เร่งรับรองผลการประมูล และ รีบให้ใบอนุญาตโดยพิรุธ ทั้งๆ ที่สื่อมวลชนก็เห็นแล้วว่าเราได้มีการถ่ายทอดเสียงในวันพิจารณาผลการประมูล โดยมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ได้มุบมิบแอบทำ และไม่ได้ลุกลี้ลุกลนแต่ต้องดำเนินการตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้มีการกล่าวหาว่า กสทช.เร่งรัดออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูล ซึ่งไม่เป็นความจริง ดังจะเห็นได้จากวันที่ 22 ต.ค.55 ที่ กทค.ได้แถลงการณ์ยืนยันว่ามีเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการก่อนให้บริการ 3G (คลิกอ่านแถลงการณ์) ซึ่งเราต้องแน่ใจก่อนว่าผู้ประกอบการต้องทำตามเงื่อนไขที่เรากำหนดก่อนว่าประชาชนผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์สูงสุด
 
 

คอมเมนต์ส่งตรงถึง กสทช.การประมูลเข้าข่ายฮั้วประมูล?!?

แม้ กสทช.และกทค.บางส่วนจะออกมาให้ข่าวยืนยันว่าทำเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชน แต่ในอีกฟากฝั่งหนึ่งของคนที่เฝ้าจับตาและตั้งคำถาม ก็ยืนยันเหตุผลเดียวกันนี้ว่า พวกเขาตั้งคำถามและตรวจสอบการประมูลก็เพื่อผลประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเช่นกัน

1.นายณกฤช เศวตนันท์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ พ.อ.เศรฐพงษ์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค.มีหนังสือแนะนำให้มีการประมูลใหม่เพราะเข้าข่ายฮั้วประมูล
 
 
2.น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ทำหนังสือ "ด่วนที่สุด" ที่ กค (กพวอ) 0421.3/42301 ลงวันที่ 18 ต.ค.2555 ส่งตรงถึงประธาน กสทช.
 
 
 

ประมวล 6 คำฟ้อง-คำสั่งศาลปกครอง กรณีการทักท้วงประมูลคลื่น

นอกจากนี้ช่วงเวลาก่อนการประมูลคลื่นความถี่ กลุ่มบุคคล ทั้งองค์กรภาคประชาสังคม พนักงาน บมจ.ทีโอที และนักวิชา​การอิสระด้าน​โทรคมนาคม ได้ยื่น​ฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครอง กรณีการจัดประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz จำนวนทั้งสิ้น 6 คดี ต่อมาคดีทั้งหมดศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
 
อย่างไรก็ตาม คำฟ้องดังกล่าวในหลายคดีมีรายละเอียดที่น่าสนใจ แม้อีกหลายคดีจะถูกมองว่ายื่นฟ้องโดยมีเป้าหมายต้องการล้มการประมูลอย่างเห็นได้ชัดจากระยะเวลายื่นอันกระชั้นชิดกับการประมูล
 
ทั้งนี้ 6 คดี ดังกล่าวประกอบด้วย
 
1.นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว หรือกลุ่มกรีนและพวก ฟ้อง กสทช.เมื่อวันที่ 15 ต.ค.55 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยฟ้องให้เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1 GHz เนื่องจากเห็นว่า กสทช.กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและราคาการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้รัฐสูญเสียรายได้ โดยขอให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและไต่สวนฉุกเฉินการเปิดประมูลใบอนุญาตฯ ของ กสทช.จนกว่าการปรับแก้จะแล้วเสร็จ
 
เมื่อวันที่ 22 ต.ค.55 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีไว้พิจารณา โดยศาลเห็นว่า ผู้ที่จะมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อให้ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งทางปกครองทั่วไปในกรณีนี้ได้แก่ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่หากเป็นบุคคลทั่วไป บุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพและได้ความเดือดร้อนเสียหายโดยตรงจากประกาศของ กสทช. แม้ว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีของนายสุริยะใสกับพวกที่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำฟ้องจะมีข้อเท็จจริงพวกสมควรที่ทำให้ศาลในคดีนี้เห็นว่าอาจจะมีประเด็นที่สมควรตรวจสอบการใช้ดุลพินิจและความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ กสทช. แต่เมื่อนายสุริยะใสกับพวกเป็นประชาชนทั่วไปมิได้มีส่วนได้เสียกับประกาศของ กสทช.จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้เดือดร้อนเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง อย่างไรก็ตามหากในอนาคตเห็นว่า กสทช.มีการกระทำทางปกครองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะและละเมิดสิทธิเสรีภาพของนายสุริยะใสกับพวกก็อาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้
 
 
2.นายนราพล ปลายเนตร พนักงาน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และพวกรวม 3 คน ฟ้อง กสทช.และสำนักงาน กสทช. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยขอให้มีคำสั่งชะลอการประมูลคลื่นความถี่ และเพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้คลื่นความถี่ผ่าน 2.1 GHz ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือต่อ ประธาน กสทช.ขอให้ตรวจสอบการโอนทรัพย์สินของบริษัทที่ได้สัมปทานให้แล้วเสร็จก่อนอนุญาตให้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ และชะลอการเปิดประมูลคลื่นไว้ก่อนจนกว่าจะมีการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต พร้อมเปิดเผยข้อมูลและการตรวจสอบต่อสาธารณะ
 
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.55 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีไว้พิจารณา โดยศาลเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากประกาศดังกล่าว ส่วนการระบุว่า กสทช.ไม่ปฏิบัติตามบทเฉพาะกาลมาตรา 82 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กรณีจะต้องตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาดังกล่าว พร้อมเปิดเผยข้อมูลและการตรวจสอบต่อสาธารณะ ตามที่ได้ยื่นหนังสือถึงประธาน กสทช.ไปก่อนหน้านี้ ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิฟ้องศาลให้ กสทช.ปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ยังไม่ใช่ในคดีนี้ (เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่ขอให้มีคำสั่งชะลอการประมูลคลื่นความถี่ และเพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้คลื่นความถี่ผ่าน 2.1 GHz)
 
 
3.นายบุญชัย รุ่งเรืองไพศาลสุข ฟ้อง กสทช.คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์และจัดการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ คดีนี้นายบุญชัยประสงค์จะโต้แย้งการกระทำของ กสทช.ที่มิได้นำความคิดเห็นที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป อันได้แก่ ข้อเสนอเรื่องอัตราค่าบริการจากโครงการ “3G-200” คือให้ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายสูงสุดในการใช้โทรศัพท์ในระบบ 3G ในอัตรา 200 บาทต่อเดือน หากใช้ไม่ถึง 200 บาท ก็ให้จ่ายตามจริง ที่เสนอโดยเครือข่ายโทรคมนาคมเพื่อประชาชน กำหนดไว้ในประกาศของ กสทช.
 
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.55 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีไว้พิจารณา โดยศาลเห็นว่า การดำเนินการของ กสทช.ยังไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของนายบุญชัย ตามมาตรา 28 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนายบุญชัยในฐานะประชาชนทั่วไปในคดีจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการประมูลเกิดขึ้น และผู้ชนะประมูลซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยมีอัตราค่าบริการที่สูงเกินไป และ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการ หรือละเลยไม่ดำเนินการกับผู้รับใบอนุญาต เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างถูกต้องเป็นธรรม นายบุญชัยจึงจะเป็นผู้เดือดร้อนเสียหายจากการงดเว้นการกระทำของ กสทช.
 
4.สมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค ฟ้อง กสทช.และสำนักงาน กสทช.เมื่อวันที่ 10 ต.ค.55 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศ กสทช.และสำนักงาน กสทช.เรื่องรายชื่อผู้เข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ที่ประกาศให้เอไอเอส ดีแทค และทรู มีสิทธิเข้าร่วมประมูล 3G โดยเฉพาะในกรณีผู้ขอรับใบอนุญาตบางรายไม่มีคุณสมบัติเนื่องจากเป็นคนต่างด้าว พร้อมขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินและมีคำสั่งระงับเปิดการประมูลเป็นการชั่วคราว จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น 
 
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.55 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีไว้พิจารณา โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ขณะนี้ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของ กสทช.และสำนักงาน กสทช.ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 อีกทั้งมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้าง อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นในอนาคต หากในอนาคตเป็นไปตามที่กล่าวอ้าง ก็ยังมีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลได้ภายหลัง
 
 
5.พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ และพวกรวม 3 คน ฟ้อง กสทช.คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีประกาศหลักเกณฑ์และจัดการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz โดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เพราะการเรียกเก็บเงินประมูลขั้นต่ำ 4,500 ล้านบาท อาจทำให้ กสทช.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้ตามกฎหมาย โดยขอให้ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนประกาศดังกล่าว และขอทุเลาการบังคับตามประกาศ
 
เมื่อวันที่ 15 ต.ค.55 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีไว้พิจารณา โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เงินที่ได้จากการประมูลหลังหักค่าใช้จ่ายย่อมตกเป็นของแผ่นดิน กสทช.จึงไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แต่อย่างใด และหากมีกรณีที่ กสทช.จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้เงินประมูลคลื่นความถี่หรือหนี้อื่นใดก็เป็นเพียงการดำเนินการแทนรัฐเท่านั้น
 
 
6.นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชา​การอิสระด้าน​โทรคมนาคม ฟ้อง กสทช.เมื่อวันที่ 10 ต.ค.55 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1 GHz ไม่มีข้อกำหนดที่จะแสดงให้เห็นว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการประมูล โดยเฉพาะใน 3 ประเด็น คือ 1.พื้นที่และระยะเวลาที่จะได้รับบริการต้องครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศในเวลาที่ทัดเทียมกัน โดยไม่แบ่งตัวเมืองและชนบท 2.คุณภาพการให้บริการต้องครอบคลุมและมีความเสถียรของโครงข่ายและคุณภาพสัญญาณดี ซึ่ง กสทช.ไม่ได้กำหนดความชัดเจน และ 3.อัตราค่าบริการขั้นสูงที่ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บได้
 
เมื่อวันที่ 15 ต.ค.55 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีไว้พิจารณา เนื่องจาก ผู้ฟ้องไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยตรงตามคำร้อง และการฟ้องเป็นการกล่าวหาและการคะเนล่วงหน้า ซึ่งความเสียหายอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ ผู้ฟ้องในคดีนี้จึงยังไม่ได้เป็นผู้เสียหาย
 
 

ในความเคลื่อนไหว กระบวนการตรวจสอบ ‘การประมูลคลื่น’

ขณะนี้ กระบวนการการจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1 GHz อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาดำเนินการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่ผู้ผ่านการประมูล
 
ในส่วนกระบวนการตรวจสอบ คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภาได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ และจะมีการเชิญคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. คณะผู้วิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสำนักงาน กสทช.เป็นผู้ว่าจ้างให้ทำ เพื่อประเมินมูลค่าคลื่นความถี่และมูลค่าขั้นต่ำฯ  ตัวแทนผู้ตรวจการแผ่นดิน ตัวแทนเอกชน 3 ราย รวมไปถึงนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง มาร่วมประชุมพร้อมกัน วันที่ 25 ต.ค.นี้
 
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. นำโดย นายสุรศักดิ์ ศิริพรอุดมสิน อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยคณะลูกศิษย์ลูกตามหาบัว ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 57,904 รายชื่อ ยื่นต่อ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้วุฒิสภาถอดถอน กสทช.ทั้งคณะจำนวน 11 คน ออกตากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 (2) เมื่อวันที่ 18 ต.ค.55
 
เนื่องจากเห็นว่า มีพฤติการณ์ 1.ส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่ในกรณีการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G เป็นความผิดตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้วประมูล) 2.ส่อว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 3.ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3G โดยถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 วรรคสาม ที่ระบุว่า การดำเนินการของ กสทช.จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมทั้งต้องจัดให้ประชาชนมีส่วนในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ
 
และ 4.ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายโดยใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.2555 โดยใช้กฎหมายอย่างไม่มีความเสมอภาค ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาและมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม นอกจากนั้นยังมีพฤติกรรมส่อว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยจงใจละเว้นการอนุญาตการใช้คลื่นความถี่และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมให้กับสถานีวิทยุที่ทดลองออกอากาศ และจงใจไม่ออกระเบียบหรือประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตกิจการกระจายเสียงประเภทบริการชุมชนให้ครอบคลุมตามกฎหมาย

ขณะที่ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) เข้ายื่นหนังสือต่อ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ประธาน กมธ.ศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่รัฐสภาเช่นกัน ขอให้ตรวจสอบการฮั้วและธรรมาภิบาลในการประมูล 3G ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การกระทำของ กสทช.เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดการฮั้วประมูลตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้วประมูล) หรือไม่
 
2.มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การกำหนดเงื่อนไขของการให้บริการ การประกาศสัญญามาตรฐานในการให้บริการ ราคาค่าบริการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะผลการประมูลเอื้อประโยชน์กับผู้ให้บริการ (ราคาต่ำกว่าทรัพย์สิน) และ 3.แนวทางในการกำหนดกติกาที่ชัดเจนในการให้ผู้ประมูลหรือผู้รับใบอนุญาตในอนาคตใช้โครงข่ายร่วมกัน 
 
 

ป.ป.ช.รับลูกเตรียมประชุมสรุปฮั้วประมูล 3G พรุ่งนี้

ด้านความเคลื่อนไหวล่าสุด วันนี้ (24 ต.ค.55) น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ในฐานะ กมธ.ศึกษา ตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา พร้อมคณะ ยื่นหนังสือต่อนายนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบการประมูลคลื่น 3G ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่ามีการทำผิด พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือไม่
 
จากการที่ คณะอนุกรรมการกฎหมายป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคมที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ตรวจสอบพบว่า การประกาศรับรองผลการประมูล 3G ของ กทค.มีเจตนาเอื้อประโยชน์ต่อผู้เสนอราคา ส่อทุจริตในการกำหนดราคาโดยมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เห็นได้จากการตั้งราคาเริ่มต้นการประมูลที่ต่ำเกินไป พฤติกรรมบริษัทที่เข้าประมูลไม่มีการแข่งขัน และพฤติกรรมของ กทค.ที่เร่งรีบลงมติเห็นชอบผลการประมูล แม้จะมีผู้คัดค้านจำนวนมาก จึงนำข้อมูลยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใส
 
ขณะที่เดลินิวส์ รายงานว่า ในวันเดียวกันที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ โดยหากที่ประชุม ป.ป.ช.เห็นว่าหลักฐานที่มีอยู่เข้าองค์ประกอบที่ ป.ป.ช.จะสามารถรับเรื่องมาพิจารณาได้ กล่าวคือมีมูลเหตุที่ส่อให้เห็นว่าการกระทำที่เกิดขึ้นอาจขัด พ.ร.บ.การฮั้วประมูล ป.ป.ช.จะรับเรื่องไว้ พร้อมตั้งอนุกรรมการมาศึกษาเรื่องนี้อย่างเร็วที่สุด แต่หากพบว่าไม่เข้าเงื่อนไขก็ถือว่าคำร้องนั้นยุติไป
 
ทั้งนี้ ข้อร้องเรียนที่เข้ามายื่นให้ ป.ป.ช.พิจารณาประกอบไปด้วย ข้อร้องของกระทรวงการคลัง กลุ่มกรีน และคณะกรรมาธิการวุฒิสภาตรวจสอบการทุจริตฯ วุฒิสภา รวมถึงกรณีที่ กสทช.แสดงเจตนาขอรับการตรวจสอบด้วยตัวเอง
 
 

ย้ำอีกครั้ง... อำนาจ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ไม่ใช่พิพากษา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรื่องจะเข้าสู่ ป.ป.ช. แล้ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การประมูลที่ผ่านมาจะถูกล้มเลิกไป โดยเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา นายวิชัย วิวิตเสวี หนึ่งในคณะกรรมการ ออกมาระบุว่า อำนาจของ ป.ป.ช.นั้น เป็นการวินิจฉัยเพียงว่า กสทช.ได้กระทำความผิดทางอาญา ฐานทุจริตต่อหน้าจริงหรือไม่เท่านั้น 

ขณะที่การดำเนินการเพื่อให้ล้มเลิกการประมูลที่เกิดขึ้นไปแล้ว เป็นอำนาจของศาลปกครอง เนื่องจากมติของ กทค.ที่ได้รับรองการประมูลไป ถือว่าเป็นสัญญาหรือนิติกรรมทางปกครอง ซึ่งอยู่ในข่ายอำนาจวินิจฉัยของศาลปกครองแต่เพียงผู้เดียว โดยผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำร้องไปยังศาลปกครองได้ 

หากมีข้อมูลข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า กสทช.ในฐานะผู้จัดการประมูลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฮั้วประมูลตามกฎหมาย ป.ป.ช.ก็ไม่สามารถดำเนินการกับบริษัทเอกชนทั้ง 3 รายได้ เพราะเป็นอำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และพนักงานสอบสวน แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพรัฐฉาน SSA และรัฐบาลพม่านัดเจรจากันอีก เน้นเรื่องปราบยาเสพติด

$
0
0

คณะเจรจาสันติภาพสภากอบกู้รัฐฉาน / กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) และรัฐบาลพม่าเตรียมพบเจรจากันอีกครั้งในระดับสหภาพครั้งที่ 3 ฝ่าย (RCSS/SSA) เตรียมเสนอโครงการนำร่องปลูกพืชทดแทนฝิ่น เผย เจ้าหน้าที่ UNODC จะร่วมสังเกตการณ์ด้วย

เจ้าหน้าที่สภากอบกู้รัฐฉาน / กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ คณะเจรจาสันติภาพสภากอบกู้รัฐฉาน / กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) และคณะเจรจาสันติภาพรัฐบาลพม่า จะพบเจรจากันอีกครั้งซึ่งเป็นการพบเจรจากันในระดับสหภาพครั้งที่ 3 โดยคณะเจรจาสันติภาพฝ่าย (RCSS/SSA) ที่จะเข้าร่วมนำโดยพลจัตวาป๋องเครือ ฝ่ายรัฐบาลพม่านำโดยอูอ่องมิน  รัฐมนตรีประจำสำนักประธานาธิบดี และรองคณะทำงานสันติภาพรัฐบาลพม่า โดยจะเน้นหารือในเรื่องยาเสพติด ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย แต่ขณะนี้การเจรจายังไม่ได้กำหนดวันและสถานที่ที่ชัดเจน

พ.อ.จายหาญ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามยาเสพติดสภากอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) เปิดเผยว่า การเจรจาครั้งนี้ ทางฝ่าย (RCSS/SSA) เตรียมเสนอแผนการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเป็นแผนสืบเนื่องจากการเจรจาตกลงกันครั้งก่อน โดยจะเสนอโครงการนำร่องปลูกพืชทดแทนฝิ่น การบำบัดผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนการให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยยาเสพติด นอกจากนี้จะเสนอเปิดสำนักงานประสานงานเกี่ยวกับยาเสพติดในพื้นที่ โดยให้มีเจ้าหน้าที่ตัวแทน 3 ฝ่าย ทำงานร่วมกัน ได้แก่ เจ้าหน้าที่จาก (RCSS/SSA) เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลพม่า และเจ้าหน้าที่สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) โดยโครงการนำร่องปลูกพืชทดแทนฝิ่นจะเริ่มในพื้นที่รัฐฉานตอนใต้ก่อน

ทั้งนี้ สภากอบกู้รัฐฉาน / กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) ภายใต้การนำของเจ้ายอดศึก ได้เจรจาสร้างสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลพม่าในระดับรัฐเมื่อ 2 ธ.ค. 53 สองฝ่ายมีการลงนามข้อตกลงหยุดยิงร่วมกัน ต่อมาในวันที่ 16 ม.ค. 55 คณะเจรจาสันติภาพสองฝ่ายพบเจรจากันในระดับสหภาพครั้งที่ 1 ที่เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน เกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่ครอบครองและสิทธิด้านการพัฒนาสำหรับ (RCSS/SSA) ต่อมาวันที่ 19 พ.ค. 55 คณะเจรจาสันติภาพของฝ่ายได้พบเจรจากันอีกครั้งในระดับสหภาพครั้งที่ 2 ที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก ฝ่าย (RCSS/SSA) นำโดยพล.ท.เจ้ายอดศึก ฝ่ายรัฐบาลพม่านำโดยอูอ่องมิน รมต.กระทรวงการรถไฟ (ขณะนั้น) และพล.อ.โซวิน รองผบ.สูงสุด และผบ.กองทัพบก ซึ่งทางฝ่าย (RCSS/SSA) เสนอแผนปราบปรามยาเสพติดในรัฐฉาน

ด้าน พล.ท.เจ้ายอดศึก เปิดเผยกับสำนักข่าวฉาน (SHAN) ถึงข้อเสนอปราบปรามยาเสพติดกับรัฐบาลพม่าว่า แผนปราบปรามยาเสพติดที่ทาง (RCSS/SSA) เสนอนั้นไม่ใช่เพื่อหวังแข่งขันและทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลพม่า หากแต่เป็นการสนับสนุนรัฐบาลพม่ามากกว่า ซึ่งการปราบปรามยาเสพติดนั้นควรร่วมมือกันจึงจะประสบผลสำเร็จ และการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันก็เป็นเรื่องสำคัญ หากรัฐบาลพม่าและ (RCSS/SSA) ไม่มีความไว้วางใจกัน การร่วมมือกันก็จะไม่เกิดผล ซึ่งเชื่อว่าหากได้รับความร่วมมือจากทั้งรัฐบาลพม่าและ UNODC จะทำแผนการกำจัดยาเสพติดง่ายขึ้




ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ไม่อนุญาตประกัน ผู้ต้องขัง 112 รายล่าสุด พี่ชายแจ้งความเอง

$
0
0

 

เมื่อวันที่ 24 ต.ค.55  นายอานนท์ นำภา ทนายความแจ้งผลการประกันตัวนายยุทธภูมิ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 รายล่าสุด ซึ่งยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 500,000 บาท แต่ศาลยกคำร้อง โดยระบุว่า พิเคราะห์แล้ว ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยศาลระบุเหตผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาติให้ปล่อยตัวชั่วคราว

การประกันตัวครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่คดีดังกล่าวสั่งฟ้องในวันที่ 19 ก.ย.55 และนายยุทธภูมิถูกคุมขังนับแต่นั้นเป็นต้นมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยศาลได้นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 12 พ.ย.นี้ เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดา

นายยุทธภูมิ อายุ 35 ปี อาชีพ รับจ้าง เป็นชาวจังหวัดศรีสะเกษ เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2552 และพี่ชายของนายยุทธภูมิเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในปี 2553 อย่างไรก็ตาม ในคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระบุด้วยว่ามูลเหตุจูงใจของการร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นเพราะทั้งสองมีเหตุทะเลาะวิวาทกันก่อนหน้านั้นจนถึงขั้นมีการแจ้งความกัน รวมทั้งมีความขัดแย้งเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของครอบครัว

ส่วนหนึ่งของของฟ้องระบุว่า จำเลยได้กระทำการผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือ ได้กล่าวถ้อยคำไม่เหมาะสม ในลักษณะเป็นการสาปแช่ง ระหว่างดูภาพข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่บนรถเข็น ต่อนายธนะวัฒน์ พี่ชาย หลังจากนั้นประมาณ 5 วัน จำเลยได้นำแผ่นซีดีซึ่งปรากฏถ้อยคำด้านบนของแผ่นว่า “หยุดก้าวล่วงพระเจ้าอยู่หัว” และด้านล่างของแผ่นว่า “เนวิน”ขอ”ทักษิณ”  โดยจำเลยใช้ปากกาเมจิกสีน้ำเงินเขียนถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมเติมวงเล็บลงไปหลังบรรทัดแรกบนซีดี ซึ่งพี่ชายได้นำซีดีมาให้พนักงานสอบสวนยึดไว้เป็นของกลางด้วย

ต่อมาวันที่ 19 พ.ย.53 จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม ในชั้นสอบสวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัวกระทั่งคดีถึงชั้นศาล

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ: อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์

$
0
0

จากเสวนา "K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ" ที่ Book Re:public เชียงใหม่ โดย "อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์" อภิปรายสามประเด็น คือกระแสวัฒนธรรมป๊อปจากเอเชียตะวันออก ส่งถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเปรียบเทียบละครวัยรุ่นญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ในฟรีทีวีไทย เหมือนหรือต่างกันอย่างไร และวิธีการผลิตวัฒนธรรมป๊อป

วันที่ 20 ต.ค.55 เวลา 16.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และดำเนินรายการโดย ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล

คลิปการอภิปรายโดยอุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ (ที่มาของคลิป: Book Re:public)

 

กระแสป๊อปเกาหลี: J-Pop K-Pop T-Pop

ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ได้อภิปรายถึงกระแสวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีใน 3 ประเด็น ได้แก่ กระแสวัฒนธรรมป๊อปจากเอเชียตะวันออก ส่งถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, การเปรียบเทียบละครวัยรุ่นญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ในฟรีทีวีไทย เหมือนหรือต่างกันอย่างไร และวิธีการผลิตวัฒนธรรมป๊อป

ในประเด็นแรก คำถามหลักคือทำไมจึงมีกระแสนิยมวัฒนธรรมป๊อปเกาหลี (K-Pop) ซึ่งมาแรงกว่ากระแสจากญี่ปุ่น (J-Pop) หรือฮ่องกง ซึ่งเคยได้รับความนิยมในอดีต K-Pop มีอะไรที่เป็นข้อได้เปรียบ เหตุใดแฟนๆ ในไทยหรืออาเซียนรุ่นที่นิยมกันในปัจจุบันจึงนิยมกระแสป๊อปจากเอเชียตะวันออกมากกว่าจากสหรัฐ และความนิยมนี้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมการเมืองอย่างไร และวัฒนธรรมป๊อปนี้จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเอเชียภิวัตน์ในโลกาภิวัตน์หรือไม่

ดร.อุบลรัตน์ชี้ให้เห็นว่าจากข้อมูลสถิติมูลค่าการส่งออกละครชุดเกาหลีในปี 1998-2008 การส่งออกเริ่มไต่ขึ้นในช่วงปี 2001-2002 ขณะที่การนำเข้าละครไม่ค่อยเยอะ ชี้ให้เห็นว่าเกาหลีผลิตละครเป็นสินค้าส่งออก โดยส่วนใหญ่ส่งออกมาขายในกลุ่มประเทศเอเชียด้วยกัน (91.8% ในปี 2008) และเป็นการส่งออกละครชุดเป็นส่วนใหญ่

สถิติมูลค่าการส่งออกละครชุดเกาหลี 1998-2008

โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมการส่งออกวัฒนธรรมของเกาหลี ได้แก่รัฐบาลเกาหลีได้วางนโยบายที่ชัดเจนในการผลิตสินค้าวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตั้งแต่ทศวรรษ 1990, มีการเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลี หลัง 1990 มีการเปิดตลาดรับสินค้าของกันและกัน, มีการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการผลิตและส่งออก และเริ่มแรกเกาหลีใช้การบุกตลาดโดยการให้เปล่า หรือขายราคาถูกเพื่อจูงใจผู้ซื้อ โดยลักษณะของสินค้าเกาหลีคือเอาใจตลาด ขณะที่ญี่ปุ่นจะเป็นตัวของตัวเองสูง ขณะที่เกาหลีผลิตตามรสชาติของตลาดต่างประเทศ

ในประเทศไทย ละครชุดเกาหลีเริ่มนิยมมาตั้งแต่ปี 2002 จนไต่ขึ้นไปถึง 1,500 ตอนต่อปี และเริ่มนิ่งในช่วง 2006-07 เป็นต้นมา ขณะที่ในเวียดนามความนิยมละครเกาหลียังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าดูเฉพาะในฟรีทีวีของไทย ในปี 2005-06 พบว่าละครเกาหลีขึ้นมาเป็น 34.3% แซงหน้าละครจีน (30.4%) ญี่ปุ่น (20.6%) และขยายไปแทบทุกช่องในฟรีทีวี กระจายเวลาอยู่ตามช่องต่างๆ ตั้งแต่สายยันดึก

 

ความนิยมของละครชุดเกาหลีในไทยและเวียดนาม
ที่มา: Lee Miji, Kyoto University, Graduate School of Asian and African Area Studies, 2010

 

สาเหตุสำคัญทางเศรษฐกิจที่การส่งออกละครเกาหลีสำเร็จและแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือเกาหลีต้องการทุนการผลิต ทำให้ต้องส่งออก ในขณะที่ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นการซื้อละครถูกกว่าการผลิตเอง ทำให้เกิดการนำเข้ารายการราคาถูกจากต่างประเทศ จึงเกิดการพึ่งพากันในการนำเข้าและส่งออก

ประเด็นที่สอง สาเหตุที่ทำให้ละครวัยรุ่น ไต้หวัน และเกาหลี ได้รับความนิยมในไทย ได้แก่ ลักษณะเนื้อหาของละครพูดถึงปัญหาของเอเชียร่วมกัน โดยคนดูส่วนใหญ่มักเป็นวัยรุ่นและเป็นผู้หญิง ละครเหล่านี้มันได้พูดถึงโจทย์เดียวกัน เช่น วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกที่เป็นสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ โดยผู้หญิงไม่ค่อยมีโอกาส นอกจากนั้นยังมีปัจจัยของการสร้างจุดขายและการแข่งขันในแต่ละสถานีโทรทัศน์ เช่น ในยุคหนึ่ง ช่อง 3 ใช้ละครฮ่องกงเป็นจุดขาย รวมทั้งปัจจัยด้านวงจรในอุตสาหกรรมสื่ออื่นที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์แต่ละประเทศและสร้างความนิยมในสินค้าของประเทศนั้นๆ เป็นวิธีการโฆษณาที่ลึกซึ้งอย่างหนึ่ง

สำหรับลักษณะของละครญี่ปุ่นมีลักษณะเด่น คือเล่าเรื่องแบบกระชับรวดเร็ว มีลักษณะทีมสปิริต มีความขัดแย้งในเรื่อง แต่ลงเอยแบบประนีประนอม ส่วนใหญ่เรื่องที่นำเข้ามาฉายมักมีอารมณ์ขัน ตัวเอกไม่ว่าหญิงหรือชายมีลักษณะกบฏต่อสังคมนิดๆ และจบแบบไม่ปรองดอง

ส่วนลักษณะละครเกาหลี คือคนดูมักจะนึกถึงวิวทิวทัศน์ เช่น ชุดละคร 4 ฤดูกาล แนวเรื่องเป็นแบบโรแมนติก และนำเรื่องอดีตและความทรงจำขึ้นมาเป็นจุดขาย วิธีการแก้ไขปัญหาในเนื้อเรื่องไม่รุนแรง แต่ไม่จบ Happy Ending ทุกเรื่อง

 

ประเด็นที่สาม เปรียบเทียบถึงวิธีการผลิตวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่น เกาหลี และของไทย

สำหรับประเทศญี่ปุ่น ในตอนต้นญี่ปุ่นเกรงๆ ที่จะส่งออก ด้วยเหตุที่หลังสงครามโลกครั้งที่สองมา ภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นไม่ดีในสายตาคนเอเชีย แต่ด้วยเหตุที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาในทศวรรษ 1990 ทำให้เกิดความคิดในการส่งออกวัฒนธรรม นำวัฒนธรรมมาขายและทำกำไร ในปี 1988 ญี่ปุ่นเริ่มวางนโยบายส่งออกรายการโทรทัศน์ มีการสร้างแรงจูงใจด้านการศึกษาและการเงิน โดยรัฐบาลมองว่าวิธีเผยแพร่วัฒนธรรมนี้เป็นวิธีแผ่ขยายความเป็นญี่ปุ่นในยุคใหม่ เป็นรูปแบบของอำนาจอย่างอ่อน (Soft Power)

ญี่ปุ่นมีกลยุทธ์การกระจายสินค้า โดยการสนับสนุนทุนการแปลและการพากย์ทำให้คนท้องถิ่นเข้าถึงง่ายขึ้น ใช้วิธีการขายหรืออนุญาตให้ใช้สิทธิ์เผยแพร่ การผลิตรายการร่วมหรือการร่วมทุนระหว่างญี่ปุ่นกับบริษัทท้องถิ่น หรือวิธีการขายรูปแบบรายการ ให้โทรทัศน์ในท้องถิ่นแต่ละประเทศเป็นผู้ซื้อซื้อรูปแบบไป

โดยสรุป ตัวแบบของญี่ปุ่นในการผลิต J-Pop คือใช้การสร้างไอดอล โดยสร้างดาราในอุตสาหกรรมเพลง และหมุนเวียนไปเล่นภาพยนตร์ หรือเล่นโฆษณา และละครชุด ดารานักร้องจึงกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรม นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังสร้างต้นแบบละครแนวเทรนดี้ (Trendy) ซึ่งเป็นเรื่องแนววัยรุ่น และวัยทำงาน เกี่ยวกับความรัก ความหวัง และการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า แต่ญี่ปุ่นก็เผชิญปัญหากับกระบวนการก้าวข้ามพรมแดนประเทศ เช่น การแปลหรือบรรยายใช้ต้นทุนสูง หรือการต้องพึ่งพาตัวแทนจัดจำหน่ายในท้องถิ่น โดยไม่สามารถขายตรงได้เอง รวมถึงระบบลิขสิทธิ์ของญี่ปุ่นที่สลับซับซ้อนจนเป็นอุปสรรคสำคัญ

สำหรับของเกาหลี การผลิต K-Pop เริ่มจากวิกฤติเศรษฐกิจในทศวรรษ 1990 คล้ายกับญี่ปุ่น รัฐบาลจึงลงทุนใหม่ทำอุตสาหกรรมวัฒนธรรมให้เป็นเชิงพาณิชย์ยิ่งขึ้น มีการลงทุนสร้างระบบดิจิทัล และโดยเฉพาะบทเรียนสำคัญสำหรับไทย คือมีการยกเลิกมาตรการเซ็นเซอร์เนื้อหา นักวิจัยปริญญาเอกของเขาบอกเลยว่าสปิริตตัวนี้ทำให้มนุษย์คิดจะสร้างสรรค์ คิดอะไรก็ได้ จินตนาการได้เต็มที่ ขณะที่ตัวนี้เป็นเพดานของบ้านเรา คือสร้างหนังมาก็ไปเจอเรตแบนกับเรตชวนดู ทำให้มีปัญหามาก

รวมทั้งปัจจัยที่ละครของเกาหลีได้ไปแก้ปัญหาที่การผลิตละครของญี่ปุ่นเคยเผชิญ โดยในเกาหลีมีวิธีการพัฒนาเนื้อหา โดยการให้ทุนกับผู้ผลิต (Producer) อิสระ ที่ไม่ถูกลักษณะอุตสาหกรรมสูตรสำเร็จครอบงำ ทำให้สร้างไอเดียใหม่ๆ ได้หลากหลาย

ตัวแบบของ K-Pop คือการเลียนแบบอุตสาหกรรม J-Pop เช่น การสร้างไอดอล การผลิตละครแนวเทรนดี้ดราม่า แต่เกาหลีก็ได้สร้าง “ความเป็นเอเชีย” ในระบบการผลิต ไม่ได้เน้นชาตินิยมแบบญี่ปุ่น โดยเน้นการผลิตละครที่ทำให้คนเอเชียรู้สึกเป็นเจ้าของด้วย โดยออกแบบให้มีความใกล้ชิดทางภาษาและวัฒนธรรม ในส่วนของปัญหาของละครเกาหลี คือปัจจุบันราคาเริ่มสูงขึ้น จนบางประเทศลังเลว่าจะซื้อดีไหม และค่าตัวดารา นักแสดงสูงมาก ทำให้เพิ่มต้นทุนการผลิต รวมทั้งประเด็นที่เกาหลีเน้นการปกป้องตลาด เน้นนำละครของตนไปขายที่อื่น แต่ไม่เปิดให้ประเทศอื่นนำเข้านัก

สำหรับละครของไทย ที่ถูกเรียกว่าเป็นการผลิต T-Pop เริ่มจากสมัยทักษิณ ในปี 2545 มีองค์กรคล้ายๆ เกาหลีเกิดขึ้น เช่น สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เป็นต้น จนในปี 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ของไทยกล่าวได้ว่าเป็นอุบัติการณ์ของกระแสส่งออกมากกว่า ระบบการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ

ลักษณะของตัวแบบไทย คือพยายามผลิตแบบครบวงจรเลียนแบบญี่ปุ่นและเกาหลี มีไอดอลเหมือนกัน โดยพยายามผสมผสานความเป็นไทยเข้าไป ขณะก็ผสมเอเชียกับความเป็นตะวันตก เช่น ภาพยนตร์เรื่องก้านกล้วย แต่ที่แตกต่างสำคัญคืออุตสาหกรรมของไทยยังคงคิดว่าเราเป็นโรงงาน เน้นเชิญต่างประเทศมาลงทุนมาถ่ายทำ และเน้นไปทางเป็นศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์และสื่อ มากกว่าการสร้างสรรค์เอง ปัญหาคือละครไทยยังจำกัดวงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า เพราะไม่สม่ำเสมอ โทรทัศน์ช่องต่างๆ ไม่ค่อยอยากส่งออก ถือว่าฉายในประเทศก็กำไรแล้ว จึงไม่เน้นส่งออก รวมถึงปัญหาในการพัฒนาเนื้อหา ไม่มีการลงทุนอย่างจริงจังในการศึกษารสนิยมของผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในประเทศอื่นๆ

ดร.อุบลรัตน์สรุปในตอนท้ายว่าหากดูสัดส่วนการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมในตลาดโลกในปี 2001 สหรัฐอเมริกาส่งออกประมาณ 41% ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกส่งออกประมาณ 13% ซึ่งคงจะมากขึ้นหลังจากปี 2001 เป็นต้นมา คำถามคือจะมีการเปลี่ยนฐานการผลิตสินค้าวัฒนธรรมจากสหรัฐฯ มาสู่เอเชียหรือไม่

ในงานศึกษาต่างๆ ก็มีข้อสันนิษฐานทางทฤษฎีในแง่มุมหลากหลาย เช่น อิวาบูชิ (Iwabuchi, 2004) มองว่าการครอบงำจากบรรษัทใหญ่ที่ผลิตสินค้าวัฒนธรรมของโลกตะวันตกที่เป็นศูนย์กลางมานาน จะถูกแทนที่ด้วยศูนย์กลางใหม่จากโลกตะวันออกในเอเชีย ชิน และฉั่ว (Shin 2006, Chua, 2004) อธิบายถึงการเกิดลัทธิเอเชียนิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ชิม (Shim, 2009) อธิบายว่า “กระแสเกาหลี” เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้กับแรงกดดันจากสหรัฐฯ และพลังกระแสโลกาภิวัตน์และลัทธิเสรีนิยมใหม่ นิชชิม (Nissim, 2008) เสนอแนวคิดเรื่อง “พลังอำนาจอย่างอ่อน” (Soft power) ที่ประเทศเอเชียตะวันออกใช้ในการเผยแพร่อิทธิพลของตนผ่านสื่อสินค้าวัฒนธรรม ขณะที่ดร.อุบลรัตน์เอง ได้เสนอให้พิจารณามิติทางเศรษฐกิจด้วย การค้าขายระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกัน ทำให้เกิดลักษณะ “เอเชียภิวัตน์ในโลกาภิวัตน์” (Asianization in globalization)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: กษัตริย์หลากสีสัน

$
0
0

บทบาททางการเมืองของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์ของกัมพูชา นับว่ามีความน่าสนใจและมีสีสันอย่างยิ่ง นับตั้งแต่บทบาทในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชให้ประเทศกัมพูชา การโลดแล่นในทางการเมืองระหว่างประเทศ การเข้ามาเป็นผู้นำในบทบาทนักการเมืองในสนามการเมือง จนพระองค์ถูกขนานนามว่า เป็น "กษัตริย์แอคติวิส" ภายหลังโลดแล่นอยู่บนถนนการเมืองที่มีทั้งขึ้นและลงมายาวนาน ในที่สุดพระองค์ก็เป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญในสมัยนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ตราบจนทรงสละราชย์สมบัติ ลดบทบาททางการเมือง และเสด็จสวรรคต อันเป็นการปิดฉากชีวิตในโรงละครโรงใหญ่ที่พระองค์ทรงเฉิดฉายและโดดเด่นมาตลอดพระชนม์ชีพ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ จี้ ผู้รับผิดชอบกรณี 'ตากใบ' ต้องถูกนำมาลงโทษ

$
0
0

องค์กรสิทธิมนุษยชนจี้ การเสียชีวิตของผู้ประท้วง 85 คนในเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 8 ปีก่อนต้องมีผู้รับผิดชอบและถูกนำมาดำเนินการตามกม. ชี้การให้ค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายยังไม่เพียงพอ 

25 ต.ค. 55 - เนื่องในวันครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์ตากใบ ซึ่งเป็นการสลายการชุมนุมโดยทหารต่อผู้ประท้วงที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 85 คน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลนำผู้ที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมาดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย พร้อมชี้ว่า ถึงแม้ทางการไทยจะจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เสียหายเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็ย้ำว่า ยังไม่เพียงพอต่อการนำมาซึ่งความยุติธรรม แต่รัฐไทยจำเป็นต้องยุติปัญหาการลอยนวลของเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งนี้ เหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 ที่อ. ตากใบ จ. นราธิวาส มีผู้ชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องให้ปล่อยตัวชายท้องถิ่น 6 คนซึ่งถูกจับกุมก่อนหน้านี้ ตำรวจจึงได้เรียกกำลังเสริมจากกองทัพเพื่อมาควบคุมสถานการณ์ หลังจากการปะทะและตอบโต้ทางกำลัง ผู้ชุมนุมและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หลายร้อยคนได้ถูกจับกุม ถอดเสื้อ ผูกมือไพล่หลังและถูกให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นในแนวราบ ต่อมาทหารได้ขนย้ายผู้ชุมนุมไปนอนซ้อนกันบนรถบรรทุกห้าถึงหกชั้น และเมื่อรถดังกล่าวมาถึงค่ายทหารอีก 3 ชั่วโมงถัดมา ก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตหลายคนจากการขาดอากาศหายใจ
 
00000
 
ประเทศไทย: ความตายของผู้ประท้วง 85 คนต้องมีผู้รับผิดชอบและถูกลงโทษ
 
            เจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของไทยผู้ซึ่งรับผิดชอบต่อการเสีย
ชีวิตของผู้ประท้วง 85 คนเมื่อแปดปีที่แล้ว ที่อำเภอตากใบ จ.นราธิวาส ต้องถูกนำ
ตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
 
           เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 กองกำลังความมั่นคงยิงปืนใส่ผู้ประท้วง
ด้านนอกสถานีตำรวจภูธรตากใบ
 
            มีผู้เสียชีวิต 7 คนในที่เกิดเหตุ และอีก 78 คนถูกทับหรือขาดอากาศ
หายใจจนเสียชีวิตในระหว่างการใช้รถทหารขนส่งพวกเขาไปควบคุมตัวที่ค่ายทหาร
 
            “เป็นเรื่องน่าละอายที่ไม่มีผู้ใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
จากกรณีความตายนี้ และที่ผ่านมามีการปล่อยให้ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงกรณี
อื่นๆ ลอยนวลไม่ต้องรับโทษ ในระหว่างการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในภาคใต้ของไทย”
อิสเบล อาร์ราดอน (Isabelle Arradon) ผู้อำนวยการแผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอ
มเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
 
            “โชคร้ายที่กรณีนี้สะท้อนปัญหาการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่
ร้ายแรง ซึ่งมักเกิดขึ้นในภาคใต้และตลอดทั่วประเทศ”
 
            พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.
ฉุกเฉินฯ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 และมี
ลักษณะที่ริดลอนสิทธิและเสรีภาพ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่ต้องรับผิดทาง
อาญา กฎหมายฉบับนี้ต้องถูกยกเลิกโดยทันที หรือให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้
ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนได้
 
            ในปี 2555 ทางการได้ดำเนินการที่น่ายินดีในการให้ค่าชดเชยกับครอบ
ครัวของผู้เสียหายจากการประท้วงที่ตากใบ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิด
สิทธิมนุษยชนในภาคใต้ อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ยังไม่เพียงพอ
 
            “การให้เงินกับผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้หมายความ
ว่าทางการหลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องนำตัวผู้รับผิดชอบมาเข้าสู่กระบวนการ
ยุติธรรม และการให้การเยียวยาอย่างเต็มที่ต่อผู้ได้รับผลกระทบ การให้ค่าชดเชย
นี้ยังไม่อาจประกันว่าการละเมิดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต” อาร์ราดอนกล่าว
 
            ในเดือนมิถุนายน 2555 ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธโอกาสของผู้เสียหายจากกรณี
ตากใบอีกครั้งหนึ่งในการเรียกร้องความยุติธรรม โดยมีคำสั่งยกคำร้องต่อการ
อุทธรณ์คำสั่งไต่สวนการตายเมื่อปี 2552 เนื่องจากคำสั่งศาลจากการไต่สวนการตาย
เมื่อเดือนตุลาคม 2547 ระบุเพียงว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงปฏิบัติหน้าที่ทาง
ราชการ
 
            นับแต่ปี 2547 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,000 คนจากการขัดแย้งกันด้วย
อาวุธระหว่างรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ทั้งสองฝ่าย
ต่างมีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่
สงบเลือกสังหารเป้าหมายที่เป็นพลเรือน และยังโจมตีพลเรือนจนเสียชีวิตอย่างไม่
เลือกหน้า
 
            “ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในภาคใต้เป็นเรื่องน่าเศร้า การโจมตีก็
มุ่งให้เกิดความหวาดกลัวในบรรดาพลเรือน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อ
วัน การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเช่นนี้เป็นปัญหาท้าทายร้ายแรงต่อ
กลไกด้านความมั่นคงของไทย การรักษาความสงบของสาธารณะต้องดำเนินไปพร้อม
กับการเคารพสิทธิมนุษยชน และต้องไม่ขัดขวางกระบวนการลงโทษผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ไม่ว่าผู้ละเมิดนั้นจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือผู้ก่อความไม่สงบ” อาร์ราดอนกล่าว  
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ป.ป.ช.' รับสอบ 'กสทช.' จัดประมูล 3G

$
0
0

วันนี้ (25 ต.ค.55) เมื่อเวลา 14.00 น. นายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่ออกใบอนุญาตการประมูลคลื่น 3G

โดย ป.ป.ช.ได้พิจารณาจากคำร้องหลักของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่ยื่นคำร้องเข้ามาให้ทาง ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบว่าการประมูลคลื่น 3G ไม่ได้เป็นการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และพฤติการณ์ของคณะกรรมการ กทค.ที่เร่งรัดมีมติเห็นชอบการประมูลดังกล่าว ว่าเป็นคำร้องผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 14 ซึ่งถือเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. จึงให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยที่ประชุมมอบหมายให้นายภักดี โพธิศิริ และนายใจเด็ด พรไชยา 2 กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยคาดว่าจะเสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเข้าเป็นคณะอนุกรรมการฯภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแล้วเสร็จก็จะเร่งดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว

 

'สุภิญญา' เสนอวาระเร่งด่วน ให้บอร์ดใหญ่ร่วมใช้ดุลพินิจรับรองผล 3G
(24 ต.ค.55) สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำหนังสือถึง พลอากาสเอกธเรศ  ปุณศรี ประธาน กสทช. เรื่อง ขอให้นัดประชุม กสทช.วาระเร่งด่วนเรื่องการรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz โดยเห็นว่า หลังจากผลการประมูลคลื่นความถี่ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่ายถึงผลการประมูลว่า ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริง และสุ่มเสี่ยงที่จะต้องรับผิดชอบทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องจากวุฒิสมาชิกหลายท่านที่เห็นว่า ควรมีการประชุม กสทช. อย่างเร่งด่วนเพื่อหารือถึงการรับรองผลการประชุม เนื่องจากการประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมาเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะอย่างมหาศาลและเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจติดตามจากสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง 

อีกทั้งการตัดสินใจดำเนินการใดๆ ยังมีผลทางกฎหมายต่อคณะกรรมการ กสทช. ทั้งคณะ 11 คน ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 นอกจากนี้ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ในข้อ 18 ยังระบุว่า “ให้ประธานกรรมการเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ให้คณะกรรมการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ถือเป็นที่สุด” ทั้งนี้ “คณะกรรมการ” ตามที่ระบุในประกาศหมายถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ดังนั้น ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ที่ลงนามโดยประธาน กสทช.  จึงถือเป็นหน้าที่ของประธาน กสทช.ในการเรียกประชุมตามที่ระบุในข้อ 18 ของประกาศฉบับดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า ประกาศของ กสทช. มีทั้งที่ลงนามโดย พลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. ดังเช่นกรณีของประกาศ 3G, ประกาศเรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555 เป็นต้น ขณะที่ประกาศบางฉบับที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พบว่าลงนามโดยประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ปฏิบัติหน้าที่แทน ประธาน กสทช.

 

 

ที่มา: ส่วนหนึ่งจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TDRI เผยขึ้นค่าแรง 300 ทั่วปท. GDP ลด 2% เสนอขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป-มีทิศทางชัดเจน

$
0
0

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ชี้ยากที่ต่อไปการพัฒนาประเทศจะพึ่งค่าแรงต่ำ เสนอควรจะขึ้นค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไป มีทิศทางชัดเจน และขึ้นกับปัจจัยทางเศรษฐกิจมากกว่าทางการเมือง


(25 ต.ค.55) เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ในงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษา เรื่อง “อุตสาหกรรมไทยจะแข่งขันอย่างไร ภายใต้ค่าแรงที่สูงขึ้น” ซึ่งจัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม  ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้กล่าวถึงผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากกรณีที่จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท ทั่วประเทศ 1 ม.ค.56 นี้
 

สมเกียรติ กล่าวโดยสรุปถึงผลการศึกษาว่า เป็นการยากที่ต่อไปการพัฒนาประเทศไทยจะพัฒนาโดยอาศัยค่าแรงต่ำ เพราะปัจจัยแรกโครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุจึงเริ่มขาดแคลนแรงงาน ในขณะเดียวกันแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อบ้านก็ได้กลับไปเมื่อมีการเปิดประเทศ คือ กรณีของพม่า ปัจจัยต่อมาคือนโยบายของภาครัฐ เชื่อว่านโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จะใช้การหาเสียงกับประชาชนในเรื่องการขึ้นค่าจ้างแรงงาน ซึ่งโดยภาพรวมแล้วการขึ้นค่าจ้างแรงงานเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยให้ประชาชนผู้ใช้แรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถยกฐานะทางเศรษฐกิจได้

ประธานทีดีอาร์ไอ เสนอว่า การขึ้นค่าจ้างแรงงานนั้นควรจะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างมีแผนมีทิศทางชัดเจน เราเสนอว่าแทนที่จะปล่อยให้ค่าแรงอยู่ในระดับต่ำมานานแล้วการกระโดดขึ้นไป ในบางจังหวัดถึง 80% ในทันที เป็นเรื่องที่มีผลกระทบมากต่อธุรกิจ ทำให้ปรับตัวไม่ได้แล้วนโยบายของรัฐอาจได้รับการต่อต้าน วิธีการที่เหมาะสมกว่าคือภาครัฐควรจะกำหนดนโยบายค่าแรงในระยะยาวขึ้นมา เช่น เราเสนอว่าควรกำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดูปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ประการแรกดูจากผลผลิตจากแรงงานหรือผลิตภาพแรงงาน บวกด้วยอัตราเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาใช้ในการปรับค่าจ้างแรงงาน

สมเกียรติ กล่าวว่า ถ้ามีการส่งสัญญาณแบบนี้แต่เนิ่นๆ แล้วก็ปรับด้วยข้อมูลที่ทันสมัยทุกปีๆ ภาคธุรกิจก็จะเห็นว่าเส้นทางของค่าจ้างแรงงานในอนาคตจะขึ้นไปอย่างไร ธุรกิจก็จะสามารถปรับตัวได้ ไม่ว่าจะปรับตัวไปโดยย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ หรือการเอาเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน หรือยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีหรือทำกิจกรรมต่างได้เพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงานให้ขึ้นมาได้ผลกระทบก็จะไม่รุนแรง ภาคธุรกิจก็จะสามารถปรับตัวและยกระดับสู่อีกจุดหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์และมีการกระจายรายได้ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการขึ้นค่าแรงงานขึ้นต่ำ 300 บาท ที่จะเกิดขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 56 นั้น ประธานทีดีอาร์ไอ มองว่าจะส่งผลพอสมควร คือ GDP ของไทยก็จะโตช้าลง หากไม่มีมาตรการใดๆ ในฝ่ายธุรกิจออกมา โดยการศึกษาของ TDRI พบว่าจะลดไปประมาณ 2% อย่างไรก็ตามหากมีการปรับวิธีการทำงาน ปรับผลิตภาพของภาคธุรกิจ ผลกระทบก็จะไม่รุนแรงมาก

ในส่วนข้อเสนอให้มีการนำเครื่องจักรมาใช้เพิ่มหรือทดแทนแรงงานนั้น สมเกียรติ ยืนยันว่าสำหรับประเทศไทยไม่มีความวิตกกังวลที่เราจะเอาเครื่องจักรมาใช้เพิ่ม เพราะว่าการจ้างงานในประเทศไทยเป็นการจ้างงานที่ตึงตัวอยู่ตลอดเวลา จะเห็นว่าพอสำรวจอัตราการว่างงานก็มักจะต่ำว่า 1% หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่เกิน 2% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมาก ในประเทศมีแรงงานไม่พอใช้เราก็มีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศเข้ามา เพราะฉะนั้นการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนจึงไม่เป็นปัญหา และควรจะต้องเอามาใช้เพื่อยกระดับการผลิตให้มีผลิตภาพสูงขึ้น และจะช่วยให้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วย

รวมทั้งการลดการจ้างงานจากที่ศึกษานั้นพบว่าจะลดจากที่ไม่มีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำลดลงประมาณ 1 ล้านคน แต่ไม่เป็นปัญหา เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาการว่างงาน เราขาดแคลนแรงงานอยู่แล้วจึงไม่ได้เป็นประเด็น ประเด็นคือการเติบโตเศรษฐกิจจะลดลง ถ้าไม่มีมาตรการอื่นมาเสริมก็จะก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมามากกว่า

สมเกียรติ มองว่า ธรรมชาติของการเมืองในระบบประชาธิปไตยอยู่แล้วที่รัฐบาลควรจะต้องหาเสียงจากผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เกิดความสมดุลแต่ละภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงาน นักธุรกิจและภาควิชาการ คงต้องคุยกันและหาทางออกร่วมกันที่ทุกฝ่ายเดินไปได้ แต่ถ้าแต่ละฝ่ายไม่มีความเห็นพ้องต้องกันเดินไปคนละทางในที่สุดรัฐบาลก็คงทำตามเสียงเฉพาะผู้เลือกตั้งอย่างเดียวเท่านั้น

“เพียงแต่ว่าเราอยากเห็นว่าต่อไปเรื่องค่าจ้างแรงงานควรจะเป็นเรื่องที่ขึ้นกับปัจจัยทางเศรษฐกิจมากขึ้น มากกว่าขึ้นกับการตัดสินใจทางการเมืองโดยพรรคการเมืองอย่างเดียว เพราะการตัดสินใจโดยดูจากการเมืองอย่างเดียวมักมีแนวโน้มมองระยะสั้นเกินไปและผลกระทบระยะสั้นก็จะสูงทำให้มีปัญหาต่อระยะยาว”

สมเกียรติ ย้ำด้วยว่าให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลและเอกชนมองในระยะยาว เพราะการฝึกอบรมแรงงาน การยกระดับการผลิตของธุรกิจเองทำไม่ในเวลา 2-3 เดือน ต้องวางแผนกันเป็นปี 2 ปี ทำจริงๆ ทำการวิจัยและพัฒนาให้เห็นผลอาจใช้ 5 ปีขึ้นไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รำลึก 'ตากใบ' กับ '14 ตุลา' ของคนกรุง เหมือนหรือต่าง?

$
0
0

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสฑูตมูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน  

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2555  ส่วนหนึ่งจากนักศึกษาชายแดนใต้ได้ไปได้จัดกิจกรรมเดินขบวนและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสันติหน้าสำนักงานสหประชาชาติประจำกรุงเทพมหานคร และวันนี้ที่ 25 ตุลาคม 2555 นักศึกษาชายแดนใต้ จากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ก็ประกาศและเรียกร้องให้ประชาชนชายแดนใต้ ร่วมรำลึก 8 ปีตากใบ ซึ่งตรงวันสำคัญทางศาสนา กล่าวคือวันที่ 9 เดือนซุลฮจญะฮฺ 1433 ซึ่งมุสลิมทุกคนควรถือศีลอด เพราะจะได้รับการอภัยโทษจากพระเจ้าสองปี (ปีที่ผ่านมาและปีต่อไป) รวมทั้งละหมาดฮาญัตในตอนกลางคืน เรียกร้องความเป็นธรรมให้เหยื่อตากใบและเร่งสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

กิจกรรมอย่างสันติของน้องนักศึกษาที่เลือกสันติวิธีเป็นนโยบายของหลักของแม่ทัพภาคสี่คนปัจจุบันมิใช่หรือ?  แต่ในทางปฏิบัติ พวกเขากลับถูกเหยียดหยามจากคนในชาติว่า นำเรื่องคนเสียชีวิตมาหากิน  มารำลึกทำไม จะทำให้สังคมแตกแยก หรือกำลังถูกบันทึกรายชื่อในทางลับจากหน่วยความมั่นคง

ความเป็นจริง การรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรืออื่นๆ ของคนส่วนกลางในทุกปีน่าจะเป็นคำตอบให้คนถามในสิ่งเหล่านี้  ว่าทำไมเหตุการณ์ 40 ปีแล้ว เขายังจัดรำลึกทุกปีและมีคนใหญ่คนโตทั้งฝ่ายรัฐหรือฝ่ายค้านไปร่วมทุกปี แต่พอเด็กชายแดนใต้จะจัดบ้างกลับถูกมองในแง่ลบตลอด และมีสัมภาษณ์เชิงข่มขู่จากผู้ใหญ่ในกระทรวงกลาโหม

ทัศนะในทางบวกดังตัวอย่างการจัดงาน การสืบสานเจตนารมย์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ผ่านมาก็คือ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไม่ควรเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์  เหตุเพราะประวัติศาสตร์จะมีความหมายได้ก็ต่อเมื่อคนรุ่นหลังหรือคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ ควรให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้สืบทอดเหตุการณ์  ถ้าให้คนในเหตุการณ์เป็นผู้สืบทอด ประวัติศาสตร์ก็จะเป็นเรื่องราวที่พูดถึงกันในวงเสวนามากกว่า

นอกจากนี้ในเวทีรำลึกยังมองว่า ไม่ควรจัดงานรำลึกเหตุการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ควรเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างแท้จริงต่อไปด้วย

เมื่อการเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ล่วงเลยมา 39 ปีแล้วสามารถทำได้ โดยสิทธิพลเมืองไทย  การรำลึก เหตุการณ์ตากใบที่เพิ่งผ่านมา 8 ปี ก็สมควรยิ่ง แต่จะต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และหากเป็นไปได้จะต้องสร้างให้คนชายแดนใต้มีความเข้าใจว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เข้าใจสิทธิความเป็นพลเมือง (โดยเฉพาะเป็นพลเมืองของอัลลอฮ์สำหรับมุสลิม) ตราบนั้นประชาชนก็จะไม่เป็นเครื่องมือของใคร ไม่ว่ารัฐ หรือนักการเมือง หรือแม้กระทั่งคนที่แอบอ้างจากขบวนการที่จะทำเพื่อศาสนาและชาติพันธุ์   และกระแสเงินก็จะซื้อประชาชนไม่ได้ในการเมืองทุกระดับอีกต่อไป

จงสู้ต่อไปนักศีกษา และอัลลอฮ์ได้โองการความว่า ฉัน(อัลลอฮ์) มิได้สร้างญินและมนุษย์เพื่ออื่นใด นอกจากเคารพภักดีต่อพระองค์ (บริสุทธิ์ใจ)

ท้ายนี้ขอฝากประโยคเหล่านี้แด่ผู้พลีชีพที่ตากใบ

 

วันนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว
เคยมีคนกลุ่มหนึ่ง
ใช้สิทธิแห่งพลเมือง
เรียกร้องความยุติธรรมให้แก่เพื่อนพลเมือง
...

ด้วยหมายมั่น และมั่นใจ
ว่าปลอดภัยไร้คุกคาม
เนื่องด้วยความอารยะแห่งรัฐ
ที่ประกาศก้อง กังวาลไกล ไปทั่วหล้า

แต่แล้ว เหตุการณ์กลับตาลปัตร
รัฐรุกขึงใช้กำลัง
พลเมือง ยินยอม ไม่ริรอนต่อต้านใดๆ

สะเทือนใจเสียยิ่งกว่า
เมื่อคนมือเปล่า สู้รบกับมือปืน
มือเปล่ายกมือ มือปืนยกปืน

ปัง ปัง ปัง
เสียงดังฟังชัด ร่างแน่นิ่ง ไม่ไหวติง

ถม ถม ทับ ทับ
ยัดร่างให้แน่นรถ แล้วค่อยๆ ตะบึงไป

เบิ่งตาให้ชัด
ใช้พี่น้องของท่านหรือไม่
ใช่พลเมืองแห่งรัฐหรือไม่
ที่ตายไป

ถึงวันนี้ความผิดไม่มี
คนผิดไม่เจอ
แต่คนมั่งมีมากมาย

แด่วีรชน ตากใบ
ผู้ผนึกตราประทับแห่งความอยุติธรรม
ณ กลางดวงจิตแห่งข้าพเจ้า
..................................................................................
---M.Fahmee Talib---
http://www.facebook.com/#!/ana.syuhadaa/posts/477269995651627

 

 

 


[i] กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้
ฝ่ายวิชาการโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะจังหวัดชายแดนใต้
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา         
Shukur2003@yahoo.co.uk
http://www.oknation.net/blog/shukur

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา: เมื่อประชาชนออกมา สันติภาพก็เกิดขึ้น : บทเรียนจากตากใบ

$
0
0

เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษา จัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบโดยภายใต้สโลแกน 'เดือนตุลา ฉันเห็นวีรชนที่ตากใบ' เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2555 ที่มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษา ประกอบด้วย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ (สนน.จชต.) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม (สนท.) เครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน (คพช.) และกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PNYS) ได้ร่วมกันจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบโดยภายใต้สโลแกน "เดือนตุลา ฉันเห็นวีรชนที่ตากใบ" เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547

ช่วงเช้า มีการเสวนา ภายใต้หัวข้อ "เมื่อประชาชนออกมา สันติภาพก็เกิดขึ้น: บทเรียนจากตากใบ และสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง" และตอนบ่ายมีการแสดงกิจกรรมด้านหน้าที่ทำการสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อสื่อสารไปยังสังคมโลกว่า “ตลอดระยะเวลากว่าศตวรรษที่ผ่านมานั้น คนมลายูปาตานีถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบจากระบบการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมสยามหรือรัฐไทยมาโดยตลอด เหตุการณ์ตากใบเป็นบทพิสูจน์อย่างดีว่า ภายใต้กระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยนั้น ประชาชนจะไม่มีวันได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริงแน่นอน”

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง รองผู้อำนวยการสถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา  อดีตแกนนำนักศึกษาชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี 2550 กล่าวว่า

เหตุการณ์ตากใบนั้นเป็นบทเรียนและบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า ชนชั้นปกครองไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีท่าที่ต่อสิทธิเสรีภาพ ต่อการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนอย่างหวาดระแวงไม่เคยเปลี่ยนแปลง จนเป็นเหตุให้ประชาชนที่ตากใบถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตด้วยวาทกรรมที่ชนชั้นปกครองแบบประชาธิปไตยซ่อนรูปเผด็จการ กล่าวหาว่าพี่น้องตากใบเป็นโจรไม่ใช่ประชาชน

และเป็นบทพิสูจน์อย่างชัดเจนเหมือนกันอีกว่า วิถีการต่อสู้ของประชาชนในการตอบโจทย์การกำหนดชะตากรรมชองตนเองในอนาคตนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชนสากล อย่างไรก็ตาม หตุการณ์ตากใบนั้นก็เป็นการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างสันติวิธี ไม่ใช่เป็นการก่อจลาจล ก่อสงครามกลางเมืองแต่อย่างใด แต่ด้วยวิธีการชุมนุมที่ไม่มีความชัดเจนว่า ใครคือแกนนำและไม่มีความชัดเจนในเจตจำนงของการชุมนุม จึงตกเป็นเหยื่อของการใส่ร้ายป้ายสี จึงทำให้ฝ่ายชนชั้นปกครองกล้าที่จะตัดสินใจทำร้ายพี่น้องตากใบ โดยอาศัยความเชื่อของประชาชนที่ถูกปลุกปั่น

ดังนั้นบทเรียนตากใบเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคมทั่วโลก ว่าจะทำอย่างไรที่จะป้องกันและสกัดกั้นไม่ไห้อำนาจเผด็จการซ่อนรูป ไม่สามารถทำร้ายหรือฆ่าประชาชน ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการกำหนดชะตากรรมตนเองด้วยเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนจริงๆ

“ถ้าชนชั้นปกครองสร้างอาชญากรรมต่อประชาชนอย่างโหดเหี้ยมและอำมหิต ดังเช่นเหตุการณ์ตากใบต่อไปในอนาคต หากประชาชนตอบโต้กลับ ประชาชนจะมีความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหน”

ตูแวดานียา ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แนวทางรูปธรรมที่จะนำไปสู่การกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชนปาตานีนั้น “กลไกการเมืองโลกที่เคารพในหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากลนั้น ต้องเข้ามามีบทบาท ชนชั้นปกครองที่เป็นเผด็จการในคราบของประชาธิปไตย ต้องฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน นั่นก็คือการทำประชามติฟังเสียงประชาชนปาตานีกำหนดชะตากรรมตนเอง เหมือนกับประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกหรือประชาชนชาวซูดานใต้”

ตูแวดานียา ได้อ้างถึง มติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ในมาตรา 1.1 ของมติที่ 1514 กล่าวว่า “กลุ่มชนหรือประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี”

ผลของมติที่1514 นี้ ทำให้การดำเนินการปลดปล่อยอาณานิคมจากการยึดครองของจักรวรรดินิยมต่างๆ ประสบความสำเร็จ อาณานิคมทั้งหมดต่างได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ต่อมาสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองได้ถูกนำไปใช้ในกรณีอื่นๆด้วย เช่น การกล่าวอ้างสิทธิของชนกลุ่มน้อยต่างๆ(Minority Groups) ที่ต้องการแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระ และในกรณีของหลักสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิม

ส่วน นายวิศรุต บุญยา ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนมองว่า การชุมนุมที่ตากใบเป็นการชุมนุมของประชาชน และการชุมนุมก็เป็นแนวทางการต่อสู้ที่สันติที่สุด จะด้วย อย่างไรก็ตาม แม้นว่าผู้ชุมนุมจะนิ่งเงียบ ไม่ตอบคำถาม หรือไม่ยอมสื่อสาร การชุมนุมก็ย่อมชอบธรรม และถ้าเกิดการสื่อสารไม่เข้าใจแล้ว ก็เป็นเพราะการขาดประสิทธิภาพและความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั่นเอง

ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่า ชนชั้นปกครองไทยชั้นบนสุดนั้นไม่ใช่รัฐบาล ใครก็ตามที่เป็นรัฐบาลก็ไม่ใช่ว่าจะมีอำนาจในการจัดการกับปัญหาถึงแม้จะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม ก็ยังต้องยอมให้กับแนวทางของกองทัพอย่างชัดเจน นั่นจึงชี้ว่า มันมีอำนาจเหนืออยู่จริง  เหตุการณ์ตากใบจึงสรุปไม่ได้ว่า ผู้ที่เป็นนายกฯต้องมารับผิดชอบ และเราจะเห็นว่า เหตุการณ์ตากใบก็เป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมโค่นรัฐบาลทักษิณเช่นกัน

แน่นอน ปัจจุบันชนชั้นปกครองซ่อนรูปเผด็จการนั้นให้เงินเยียวยา โดยให้ความหมายว่าให้ความเป็นธรรม แต่กลายเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศต้องแบกรับ เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ กระนั้นก็ตาม นั่นก็ยังไม่ใช่ความเป็นธรรม เพราะบางทีอาจเป็นเรื่องของการช่วงชิงโอกาสทางการเมืองก็เป็นได้ และเงินจำนวน 7.5 ล้าน ก็ไม่เท่ากับค่าของชีวิตของคนๆ หนึ่ง

วิศรุต มองว่า เหตุการณ์ตากใบ ยังแสดงให้เห็นว่า รัฐและชนชั้นปกครองขาดความชอบธรรมในการปกครอง เพราะหวาดระแวงต่อประชาชน และออกมาปิดกั้นการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชน หมายความว่าชนชั้นปกครองไม่กล้าที่จะให้มีพื้นที่ประชาธิปไตย

การที่จะพูดถึงสันติภาพหรือประชามตินั้น จำเป็นที่จะต้องลดอำนาจและจำนวนเจ้าหน้าที่ทหาร รวมไปถึงการที่ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆ เสียก่อน ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ประชาธิปไตย เพราะถ้าไม่มีพื้นที่ประชาธิปไตยอย่างเสรีภาพแล้ว การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมที่คิดต่างจากรัฐ จะยังคงถูกมองว่าเป็นโจรเสมอ

แน่นอน ประชาธิปไตยเป็นอำนาจของประชาชน ประชาชนปาตานีจึงมีสิทธิกำหนดชะตากรรมของตนเองได้อยู่แล้ว มีสิทธิที่จะปกครองตนเอง จะด้วยโมเดลอะไรก็ได้ แต่ก็ต้องฟังเสียงของประชาชนปาตานี และทุกภาคส่วนจะต้องสนับสนุนการต่อสู้ในแนวทางการเมืองอย่างสันติ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.เสนอปรับแก้ร่าง 2 ฉบับ สาธารณสุขชุมชน-แก้คุณสมบัติผู้ตรวจเงินฯ

$
0
0

คปก. ชงปรับแก้ประเด็นในกฎหมาย 2 ฉบับ  ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เสนอกำหนดอายุใบอนุญาตไม่เกิน 5 ปี  เพิ่มอำนาจพัฒนาศักยภาพสมาชิกฯ อีกหนึ่งปรับคุณสมบัติ ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน

25 ตุลาคม 2555 –  นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก. เรื่อง ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. .... เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา โดยขณะนี้ สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการและได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ในรายมาตราแล้ว

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นในหลายประเด็น ได้แก่ องค์ประกอบของคณะกรรมการสภาสาธารณสุขชุมชน ในร่างมาตรา 13 ซึ่ง คปก.เห็นควรให้กำหนดโดยคำนึงถึงสัดส่วนจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับนักการสาธารณสุขและจำนวนของกรรมการที่เหมาะสมสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นถัดมาคือ เรื่องอำนาจหน้าที่ของสภาการสาธารณสุข ซึ่งนอกจากอำนาจในการควบคุม กำกับดูแล และกำหนดมาตรฐานวิชาชีพการสาธารณสุขแล้ว ควรมีอำนาจในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกสภาวิชาชีพการสาธารณสุขให้มีความรู้ ความสามารถในการบริหารประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ยังเห็นควรให้สภาการสาธารณสุขเสนอแผนและรายงานผลการดำเนินงานของสภาการสาธารณสุขต่อสมาชิกสภาและเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย

ส่วนเรื่องการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้รับบริการ คปก. เห็นควรให้กำหนดอายุใบอนุญาตไว้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต เช่นเดียวกับใบประกอบวิชาชีพด้านการสาธารณสุขอื่น เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้พัฒนาความรู้ มาตรฐานวิชาชีพ และเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนผู้รับบริการ  และเนื่องจากวิชาชีพการสาธารณสุขมีหลายสาขา จึงควรแบ่งประเภทใบอนุญาต และกำหนดระยะเวลา หลักเกณฑ์ และวิธีการต่อใบอนุญาตให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มสาขา ซึ่งควรกำหนดเป็นข้อบังคับของสภาฯ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการสร้างภาระจนเกินควรแก่ผู้ประกอบวิชาชีพฯ

ขณะเดียวกัน คปก. เห็นว่า ในประเด็นบทบัญญัติในหมวดที่ 6 (1)(2)(3) และหมวด 7 บทกำหนดโทษ ร่างมาตรา 48 อาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 33 ที่รับรองและคุ้มครองเสรีภาพในเคหสถานในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข อย่างไรก็ตามการกำหนดโทษควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนั้น บทกำหนดโทษควรได้สัดส่วนกับความผิดด้วย เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำที่กฎหมายกำหนดห้าม

คปก.ยังเห็นควรให้เพิ่มเติมบทเฉพาะกาลที่กำหนดมาตรการรับรองบุคคลากรด้านการสาธารณสุขชุมชนที่อาจขาดคุณสมบัติในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกและขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ในระยะแรกเริ่มของการที่ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนฯ มีผลบังคับใช้ด้วย

ขณะที่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ยังได้ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก. เรื่อง ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา โดยขณะนี้ สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการและได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ในรายมาตราแล้ว

จากการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คปก. เห็นชอบให้มีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสนอโดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะ นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์ และคณะ เพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบโดยเร็ว และให้แก้ไขคุณสมบัติของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่ง คปก.มีข้อสังเกตใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.  ประเด็นองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเห็นว่า การกำหนดจำนวนองค์ประกอบ และคุณสมบัติขององค์ประกอบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามร่างพ.ร.บ. ฉบับเสนอโดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะ นางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์ และคณะ มีหลักการที่มีความเหมาะสม แต่การกำหนดคุณสมบัติในมาตรา 6 วรรคสี่ (ข) ว่า “กรรมการต้องมีคุณสมบัติเป็นหรือเคยเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาและดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์มาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี”  คปก.เห็นว่าควรเป็นตำแหน่งระดับศาสตราจารย์ขึ้นไป เพื่อให้เป็นไปทำนองเดียวกับคุณสมบัติขององค์ประกอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรอื่น และสอดคล้องกับกรณีที่กำหนดตาม (ก) ว่าต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 10 หรือเทียบเท่า

2. ประเด็นคุณสมบัติการมีสัญชาติไทยโดยการเกิด โดยสิทธิในการดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นถือได้ว่าเป็นสิทธิพลเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ที่รัฐต้องมอบให้พลเมืองของรัฐทุกคนตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากการได้มาซึ่งสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 นั้น ไม่ได้มีเพียงการได้มาโดยการเกิดเท่านั้น แต่ยังมีการได้มาซึ่งสัญชาติโดยทางอื่น ดังนั้น ในกรณีที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ บุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ว่าจะได้มาโดยการเกิดหรือได้มาโดยทางอื่น จึงควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลล์สำรวจนักเศรษฐศาสตร์ เห็นด้วยกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน แต่...

$
0
0

นักเศรษฐศาสตร์ 47.8% เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ. กู้เงินฯ แต่ 79.1% กังวลความไม่พร้อมของโครงการต่างๆ  68.6% กังวลปัญหาหนี้สาธารณะ  แนะต้องดำเนินโครงการต่างๆ ด้วยความโปร่งใสไม่มีคอร์รัปชั่น

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง จำนวน 67 คน เรื่อง “พ.ร.บ. กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จำเป็นหรือไม่” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 5–12 ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 58.2 เห็นว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นมากที่จะต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน  รองลงมาร้อยละ 35.8 เห็นว่าค่อนข้างมีความจำเป็น  และมีเพียงร้อยละ 6.0 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นเลย  เมื่อถามต่อว่างบลงทุนที่รัฐบาลใช้ในปัจจุบันมีเพียงพอกับความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือไม่  ร้อยละ 46.3 เห็นว่ามีไม่เพียงพอ  ขณะที่ร้อยละ  35.8 เห็นว่ามีเพียงพอแล้ว แต่เมื่อถามว่าโครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมเพียงใดกับการขอใช้เงินที่ออกโดย พ.ร.บ. กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานฯ นักเศรษฐศาสตร์มากถึงร้อยละ 79.1 เห็นว่าโครงการต่างๆ   ที่จะดำเนินการยังไม่มีความพร้อมเป็นส่วนใหญ่  มีเพียงร้อยละ 10.4 เท่านั้นที่เห็นว่าโครงการต่างๆ มีความพร้อมเป็นส่วนใหญ่

สำหรับความรู้สึกกังวลในปัญหาหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ ร้อยละ 68.6  บอกว่า “กังวลมากถึงมากที่สุด”  รองลงมาร้อยละ 28.4  บอกว่า “กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด” และเมื่อทำการเปรียบเทียบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการโดยใช้เงินจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้กับความจำเป็นในการออก พ.ร.บ. เพื่อนำเงินกู้มาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 44.8 เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการทุจริตคอร์รัปชั่นมากกว่าจึงไม่ควรออกกฏหมายฉบับนี้  ขณะที่ร้อยละ 41.8 เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าจึงควรออกกฏหมายฉบับนี้

สุดท้ายเมื่อถามว่าโดยสรุปแล้วเห็นด้วยหรือไม่กับการออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ ร้อยละ  47.8 บอกว่า    “เห็นด้วย”  ขณะที่ร้อยละ 23.9 บอกว่า “ไม่เห็นด้วย”  นอกจากนี้  นักเศรษฐศาสตร์ยังได้เสนอแนะให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินโครงการต่างๆ ด้วยความโปร่งใส  ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลงโทษผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชั่น  รวมถึงควรสร้างระบบกำกับการใช้เงินอย่างใกล้ชิดและตรวจสอบได้ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลาวเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เหตุล่าช้าจากทุนต่างประเทศไม่สนใจ

$
0
0

องค์กรปกครองเขตนครเวียงจัน กำหนดให้ 5 พื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะภายใต้เป้าหมายที่จะพัฒนานครเวียงจันทร์ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ทันสมัยในอนาคต

ท่านอานุพาบ ตุนาลม รองเจ้าครองเขตนครเวียงจัน ได้เป็นประธานจัดการประชุมเพื่ออภิปรายร่างกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ โดยสำหรับเขตนครเวียงจันนั้น ได้มีการกำหนดให้ 5 พื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งมี 4 เขตที่ยกระดับขึ้นมาจากเขตพัฒนาทั่วไป ก็คือนิคมอุตสาหกรรมและการค้า เวียงจัน-โนนทอง เขตเศรษฐกิจจำเพาะดงโพสี เขตเศรษฐกิจจำเพาะล่องแถ้ง-เวียงจัน และเขตพัฒนารวมไซเสดถา ส่วนพื้นที่ที่ 5 นั้น เป็นเขตที่ตั้งขึ้นใหม่ก็คือ เขตเศรษฐกิจจำเพาะบึงทาดหลวง


ทั้งนี้โดยองค์กรปกครองนครเวียงจัน ได้รายงานว่าการอภิปรายร่างกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวมีเป้าเพื่อทำให้การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาในเขตนครเวียงจันให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่จะพัฒนาให้นครเวียงจันเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ทันสมัยในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะทั้ง 5 พื้นที่ในเขตนครเวียงจันดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐบาลลาวที่ได้วางเป้าหมายว่าจะดำเนินการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะให้ได้ถึง 41 แห่ง ในทั่วประเทศอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ท่านสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลลาว และยังเป็นประธานคณะกรรมการดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจจำเพาะแห่งชาติด้วยนั้น ก็แถลงยอมรับไม่ไม่นานมานี้ว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจจำเพาะมีความคืบหน้าอย่างล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน  ที่เป็นเขตแรกในลาวซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2003 ก็ยังพัฒนาได้ช้าอยู่มาก เมื่อเทียบกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำที่เมืองต้นเผิ้ง แขวงบ่อแก้ว

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำดังกล่าว เป็นการลงทุนเต็ม 100% โดยกลุ่มธุรกิจจากจีน ซึ่งทางการลาวก้ถือว่าได้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้งงานให้แก่ประชาชนลาวได้เป็นอย่างดี ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อื่นๆ นั้น ก็ยังคงถือว่ามีการพัฒนาอย่างล่าช้า เนื่องจากว่าไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ตามแผนการที่วางไว้ ดังที่ท่านสมสะหวาด ชี้แจงว่า

“เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำได้มีการพัฒนาอย่างเด่นชัด ประกอบด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างงานให้แก่ประชาชน ถึงอย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของงานดังกล่าวในภาพรวมแล้วยังล่าช้าอยู่ และยังไม่ทันสามารถเรียกทุนสนับสนุนจากบรรดาภาคธุรกิจจากต่างประเทศได้เท่าที่ควร”

ในปัจจุบัน ประเทศลาวมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับการพัฒนาและสามารถรองรับการลงทุนของเอกชนลาวและต่างชาติได้แล้ว 3 แห่ง ก็คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ในแขวงสะหวันนะเขด เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนคำ ที่แขวงหลวงน้ำทา และเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ส่วนเขตเศรษฐกิจจำเพาะทั้ง 5 แห่งอยู่ในเขตนครเวียงจันนั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างมุ่งมั่น โดยเป็นการลงทุนจากจีน 3 เขต และการลงทุนจากเวียตนาม 2 เขต ตามลำดับ

นอกจากนี้ รัฐบาลลาวยังได้วางเป้าหมายที่จะก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในเขตแขวงต่างๆ ให้ได้ถึง 10 แห่งในปี 2015 อีกด้วย


เกร็ดภาษาลาววันนี้ ขอเสนอคำว่า  ອໍານາດການປົກຄອງ (อำนาดการปกคอง) : องค์กรปกครอง, Administratve organization.

แม้ว่าคำจะคล้ายคลึงกับภาษาไทย แต่คำว่า ອໍານາດການປົກຄອງ ในภาษาลาวนั้น ไม่ได้หมายถึงอำนาจการปกครองเหนือสิ่งใด แต่หมายถึงองค์กรที่ใช้อำนาจนั้นปกครองเขตพื้นที่ต่างๆ เช่น ອໍານາດການປົກຄອງເຂດນະຄອນວຽງຈັນ - องค์กรปกครองเขตนครเวียงจัน เทียบกับไทยแล้ว คือหน่วยงานปกครองส่วนภูมิภาค หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั่นเอง


หมายเหตุ - การสะกดชื่อนครเวียงจัน ว่า "เวียงจัน" โดยไม่มีตัวสะกดการันต์ตามท้าย เป็นการรักษาอักขระวิธีตามแบบอักษรลาว เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นในการเปรียบเทียบกับชื่อเมืองและเขตแขวงอื่นๆ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว.

ที่มา: http://lao.voanews.com/content/article/1529281.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลาวเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เหตุล่าช้าจากทุนต่างประเทศไม่สนใจ

$
0
0

องค์กรปกครองเขตนครเวียงจัน กำหนดให้ 5 พื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะภายใต้เป้าหมายที่จะพัฒนานครเวียงจันทร์ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ทันสมัยในอนาคต

ท่านอานุพาบ ตุนาลม รองเจ้าครองเขตนครเวียงจัน ได้เป็นประธานจัดการประชุมเพื่ออภิปรายร่างกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ โดยสำหรับเขตนครเวียงจันนั้น ได้มีการกำหนดให้ 5 พื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งมี 4 เขตที่ยกระดับขึ้นมาจากเขตพัฒนาทั่วไป ก็คือนิคมอุตสาหกรรมและการค้า เวียงจัน-โนนทอง เขตเศรษฐกิจจำเพาะดงโพสี เขตเศรษฐกิจจำเพาะล่องแถ้ง-เวียงจัน และเขตพัฒนารวมไซเสดถา ส่วนพื้นที่ที่ 5 นั้น เป็นเขตที่ตั้งขึ้นใหม่ก็คือ เขตเศรษฐกิจจำเพาะบึงทาดหลวง


ทั้งนี้โดยองค์กรปกครองนครเวียงจัน ได้รายงานว่าการอภิปรายร่างกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวมีเป้าเพื่อทำให้การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาในเขตนครเวียงจันให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่จะพัฒนาให้นครเวียงจันเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ทันสมัยในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจเฉพาะทั้ง 5 พื้นที่ในเขตนครเวียงจันดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐบาลลาวที่ได้วางเป้าหมายว่าจะดำเนินการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะให้ได้ถึง 41 แห่ง ในทั่วประเทศอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ท่านสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลลาว และยังเป็นประธานคณะกรรมการดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจจำเพาะแห่งชาติด้วยนั้น ก็แถลงยอมรับไม่ไม่นานมานี้ว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจจำเพาะมีความคืบหน้าอย่างล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน  ที่เป็นเขตแรกในลาวซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2003 ก็ยังพัฒนาได้ช้าอยู่มาก เมื่อเทียบกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำที่เมืองต้นเผิ้ง แขวงบ่อแก้ว

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำดังกล่าว เป็นการลงทุนเต็ม 100% โดยกลุ่มธุรกิจจากจีน ซึ่งทางการลาวก้ถือว่าได้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้งงานให้แก่ประชาชนลาวได้เป็นอย่างดี ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อื่นๆ นั้น ก็ยังคงถือว่ามีการพัฒนาอย่างล่าช้า เนื่องจากว่าไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ตามแผนการที่วางไว้ ดังที่ท่านสมสะหวาด ชี้แจงว่า

“เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำได้มีการพัฒนาอย่างเด่นชัด ประกอบด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างงานให้แก่ประชาชน ถึงอย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของงานดังกล่าวในภาพรวมแล้วยังล่าช้าอยู่ และยังไม่ทันสามารถเรียกทุนสนับสนุนจากบรรดาภาคธุรกิจจากต่างประเทศได้เท่าที่ควร”

ในปัจจุบัน ประเทศลาวมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับการพัฒนาและสามารถรองรับการลงทุนของเอกชนลาวและต่างชาติได้แล้ว 3 แห่ง ก็คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ในแขวงสะหวันนะเขด เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนคำ ที่แขวงหลวงน้ำทา และเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ส่วนเขตเศรษฐกิจจำเพาะทั้ง 5 แห่งอยู่ในเขตนครเวียงจันนั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างมุ่งมั่น โดยเป็นการลงทุนจากจีน 3 เขต และการลงทุนจากเวียตนาม 2 เขต ตามลำดับ

นอกจากนี้ รัฐบาลลาวยังได้วางเป้าหมายที่จะก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในเขตแขวงต่างๆ ให้ได้ถึง 10 แห่งในปี 2015 อีกด้วย


เกร็ดภาษาลาววันนี้ ขอเสนอคำว่า  ອໍານາດການປົກຄອງ (อำนาดการปกคอง) : องค์กรปกครอง, Administratve organization.

แม้ว่าคำจะคล้ายคลึงกับภาษาไทย แต่คำว่า ອໍານາດການປົກຄອງ ในภาษาลาวนั้น ไม่ได้หมายถึงอำนาจการปกครองเหนือสิ่งใด แต่หมายถึงองค์กรที่ใช้อำนาจนั้นปกครองเขตพื้นที่ต่างๆ เช่น ອໍານາດການປົກຄອງເຂດນະຄອນວຽງຈັນ - องค์กรปกครองเขตนครเวียงจัน เทียบกับไทยแล้ว คือหน่วยงานปกครองส่วนภูมิภาค หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั่นเอง


หมายเหตุ - การสะกดชื่อนครเวียงจัน ว่า "เวียงจัน" โดยไม่มีตัวสะกดการันต์ตามท้าย เป็นการรักษาอักขระวิธีตามแบบอักษรลาว เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นในการเปรียบเทียบกับชื่อเมืองและเขตแขวงอื่นๆ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว.

ที่มา: http://lao.voanews.com/content/article/1529281.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ: ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

$
0
0

จากเสวนา "K-Drama กับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ" ที่ Book Re:public เชียงใหม่ ซึ่งนอกจากละครแนว "Trendies" และ "Ajumma" แล้ว "ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี" ยังอภิปรายเรื่องละครเกาหลีแนว "Saguek" ที่พัฒนามาเป็นแนว "Fusion Saguek" ละครเกาหลีอิงประวัติศาสตร์ ที่แปลงเรื่องราวของราชวงศ์เกาหลีโบราณให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม

วันที่ 20 ต.ค.55 เวลา 16.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “K-Dramaกับกระแสวัฒนธรรมป๊อบ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และดำเนินรายการโดย ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล โดยก่อนหน้านี้ประชาไทนำเสนอการอภิปรายของอาจารย์อุบลรัตน์ (อ่านย้อนหลัง)

การอภิปรายโดยปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (ที่มา: Book Re:public)
การอภิปรายโดยอุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, การอภิปรายโดยอภิญญา เฟื่องฟูสกุล และช่วงอภิปรายถาม-ตอบ

ละครอิงประวัติศาสตร์เกาหลีกับการแปลงราชวงศ์ให้เป็นสินค้า

ต่อในการนำเสนอของอาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เสนอว่าโครงเรื่องในละครเกาหลีคงไม่ต่างจากละครไทย แต่วิธีคิดในการนำเสนอโครงเรื่องของละครเกาหลีมีความต่าง โดยอุตสาหกรรมละครเกาหลีเฟื่องฟูไปทั่วโลก หรือที่รู้จักกันดีในนามของ Korean wave (Hallyu) ถึงขนาดที่แฟนละครในเกาหลีมีชื่อเรียกละครประเภทต่างๆ เช่น แนว Trendies (ละครป๊อปที่เกี่ยวกับวัยรุ่น), แนว Ajumma (ละครเกี่ยวกับผู้หญิงในวัยป้าๆ ทั้งที่แต่งงานแล้ว หรือแต่งงานแล้วหย่าและพบรักใหม่), แนว Makjang (ละครที่มีพล็อตแบบสุดขั้ว สถานการณ์เหลือเชื่อ และบีบคั้นอารมณ์), แนว Sageuk (ละครอิงประวัติศาสตร์ ที่มีพล็อตเกี่ยวกับราชวงศ์ เกี่ยวกับกษัตริย์ เกี่ยวกับการเมือง เกี่ยวกับความขัดแย้งและสงครามในยุคต่างๆ)

โดยละคร Sageuk แต่ก่อนคนที่นิยมดูจะเป็นชายสูงวัย ยังไม่เป็น Pop Culture ยังดูกันไม่วงจำกัด แต่ภายหลังปี 2000 มีการปฏิวัติละครแนวนี้ขนานใหญ่ โดยเริ่มจากในเรื่อง Damo (2003) ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกว่าเป็น Fusion Saguek คือละครที่รวมเอาพล็อตเรื่องสมัยใหม่ การดำเนินเรื่องและวิธีคิดสมัยใหม่เข้าไปในละครอิงประวัติศาสตร์ ในปีเดียวกันก็มี Da-Jang Guem (2003) ที่มีพล็อตที่ต่างจากละครอิงประวัติศาสตร์อย่างมาก เนื้อเรื่องแม้จะใช้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เป็นบริบทของเรื่อง แต่เนื้อเรื่องเป็นเรื่องการต่อสู้ของผู้หญิงสามัญชนคนหนึ่งในท่ามกลางอุปสรรคและโรมานซ์ หรือในเรื่อง Hwang Jin Yi (2006)

แม้ละครเหล่านี้จะเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ แต่มันพูดด้วยภาษาสมัยใหม่ สื่อสารกับผู้หญิงสมัยใหม่ และพูดเรื่องสิทธิผู้หญิง สิ่งเหล่านี้ทำให้ละครแบบ Sageuk กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Korean Wave ขยายฐานคนดูออกไปอย่างกว้างขวาง ทุกเพศทุกวัย

ละครแนว Fusion Saguek

ปลายทศวรรษ 2000 ยังมีการพัฒนาละครประเภท Fantasy Saguek ซึ่งเป็นละครเกี่ยวกับกษัตริย์ที่ไม่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ เช่นเรื่อง The Moon that Embraces the Sun, Roof Top Prince, Dr.Jin  โครงเรื่องละครแบบนี้อาจกล่าวว่าเป็นแบบหลังสมัยใหม่ ที่ก่อกวนวิธีคิดในการแบ่งเวลาแบบเส้นตรงของละครอิงประวัติศาสตร์ หรือทำให้โลกในอดีตมีความเป็นแฟนตาซีเท่าๆ กับโลกในปัจจุบัน ซึ่งทำให้วัยรุ่นชอบดู

ดร.ปิ่นแก้ว กล่าวต่อว่าละครอิงประวัติศาสตร์ของเกาหลีมีความน่าสนใจ เพราะมีความย้อนแย้งในตัวเอง นำไปสู่คำถามที่สำคัญสามประการ คือ หนึ่ง เกาหลีเป็นประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ ไม่มีกษัตริย์มากว่าหนึ่งศตวรรษ แต่เกาหลีกลับเป็นประเทศที่ผลิตสร้างละครเกี่ยวกับกษัตริย์ไปทั่วโลกมากที่สุดประเทศหนึ่ง คำถามคือละครอิงประวัติศาสตร์แบบนี้ทำหน้าที่อะไรในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ระดับชาติและระดับข้ามชาติ  สอง คือละครอิงประวัติศาสตร์มีลักษณะและบริบทที่เฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ Time ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง แง่ Space เกิดในสังคมเฉพาะที่หนึ่ง และแง่ Class คือเป็นเรื่องของชนชั้นสูง แต่ทำไม Saguek จึงกลายเป็นวัฒนธรรมมวลชน ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้  และสาม คือคนดูเสพหรือบริโภคอะไรจาก Segeuk

ดร.ปิ่นแก้วเสนอว่าละคร Sageuk ได้ตอบสนองต่อแรงปรารถนาและแฟนตาซีสามประการด้วยกัน คือทำหน้าที่ในการสร้างความทรงจำใหม่และสิทธิธรรมใหม่เกี่ยวกับความเป็นชาติขึ้นใหม่ในสังคมโลก, การตอบสนองต่อแฟนตาซีว่าด้วยการรวมชาติ และการแปลงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ให้เป็นสินค้าท่องเที่ยว

ปมคำถามแรก คือในประวัติศาสตร์เกาหลี เคยถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น (1910-1945) ญี่ปุ่นรุกรานเข้าไปในเกาหลีและล้มเลิกระบบกษัตริย์ ผนวกเกาหลีเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ใหญ่ของญี่ปุ่น แม้หลังจากนั้นก็ไม่มีการรื้อฟื้นราชวงศ์ขึ้นมา การผนวกรวมของญี่ปุ่นทำมากกว่าอาณานิคม คือญี่ปุ่นมาพร้อมกับสมมติฐานว่าโดยเชื้อชาติ เกาหลีสืบเชื้อสายมาจากญี่ปุ่น ผลคือทำให้ในแง่อัตลักษณ์ความเป็นชาติ เกาหลีกลายเป็นชาติที่ว่างเปล่า ไม่มีประวัติศาสตร์ของตัวเอง เกาหลีเป็นชาติที่ไม่มี Origin  

การสร้างละคร Sageuk ขึ้นมา จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบสร้างความทรงจำเกี่ยวกับความมีรากเหง้าและความเป็นชาติขึ้นมาใหม่ ที่ต่างไปจากญี่ปุ่นและจีน มีความเป็นตัวของตัวเอง ละครจำนวนมากพยายามแสดงให้เห็นว่าเกาหลีในยุคก่อน มีกษัตริย์ที่เข้มแข็ง อุตสาหะในการสร้างชาติ และมีวัฒนธรรมอาหาร ดนตรี สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ มาหลายร้อยปี

ละครพวกนี้แม้จะมีกษัตริย์เป็นตัวเอกหรือเป็นองค์ประกอบ แต่ไม่ใช่ละครบูชากษัตริย์ เพื่อสร้างชาตินิยมภายใต้ลัทธิบูชากษัตริย์แบบละครไทย ในทางตรงข้าม ตัวเอกที่เป็นกษัตริย์ในยุคต่างๆ ถูกนำมาใช้ในละคร ในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์ของความมีรากที่ยาวนาน แข็งแกร่ง และสืบเนื่องเพียงเท่านั้น เพื่อบอกว่าเกาหลีแม้เป็นสาธารณรัฐ แต่ไม่ได้เป็นประเทศใหม่ หากเก่าแก่ไม่แพ้จีนและญี่ปุ่น โดยมีกษัตริย์เป็นประจักษ์พยานทางหลักฐาน ความเก่งกล้าสามารถของกษัตริย์จึงทำหน้าที่เพียงเป็นประจักษ์พยานทางวัฒนธรรม ละครหลายเรื่องมีกษัตริย์เป็นแค่บริบท พูดง่ายๆ คือกษัตริย์ในละครเหล่านี้ปรากฏในฐานะ “มรดกทางวัฒนธรรม” ไม่ต่างจากประดิษฐ์กรรมทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการกลับไปค้นหา origin ของเกาหลี ซึ่งเริ่มเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อหาหรือประกอบสร้างอัตลักษณ์ของชาติเกาหลีขึ้น

ประการที่สอง Segeuk ได้สร้างแฟนตาซีว่าด้วยการรวมชาติ ซึ่งเป็นความปรารถนาเฉพาะของเกาหลีใต้ เช่น เรื่อง Jumong เป็นเรื่องการรวมดินแดนสามอาณาจักรเข้าด้วยกัน ถ้าดูเรื่องนี้หรือละครอิงประวัติศาสตร์ยุคนี้ มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เพราะทั้งสองอยู่ภายใต้อาณาจักรเดียวกัน หรือเรื่อง King2Hearts ก็สะท้อนความต้องการรวมชาติของเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นแฟนตาซีเฉพาะของเกาหลีใต้ฝ่ายเดียว

 

ประการที่สาม คือ Segeuk คือการแปลงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ให้เป็นสินค้าท่องเที่ยว ส่วนนี้อาจจะเป็นผลอันไม่ตั้งใจของความนิยมเรื่องแดจังกึม ทำให้แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่ปรากฏในละครโด่งดังมาก รัฐบาลก็ส่งเสริมและทำให้ประวัติศาสตร์ราชวงศ์กลายเป็นการท่องเที่ยวอย่างแข็งขัน แต่ก็มีภาวะที่ย้อนแย้งที่น่าสนใจ โดยเจ้าชาย Yi Seok เชื้อพระราชวงศ์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ลีแห่งโชซอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เคยกล่าวว่าเขาตระหนักว่าคุณค่าของระบบกษัตริย์ในเกาหลีเป็นได้อย่างมากก็เป็นแค่เครื่องหมายในการท่องเที่ยว แม้เขาจะเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนให้มีการรื้อฟื้นระบบกษัตริย์ขึ้นมา แต่จะให้เป็นเพียงกษัตริย์เชิงสัญลักษณ์ เขาบอกว่าตนเองพร้อมจะไปทุกหนแห่งเพื่อขอการสนับสนุนการรื้อฟื้นระบบ และถ้ายอมให้ตนไปอยู่วัง ตนจะพานักท่องเที่ยวเที่ยวชมวัง นี่เป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่หรือ

และดูเหมือนคนเกาหลีก็ตระหนักดีถึงข้อเท็จจริงอันนี้  ว่าสถาบันกษัตริย์ในสังคมเกาหลีนั้น มีที่ทางเฉพาะ เพียงในประวัติศาสตร์ ในขณะที่ในปัจจุบัน สถาบันดังกล่าวมีคุณค่าก็เพียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์เท่านั้น โดยในปี 2006 มีการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อการรื้อฟื้นระบบกษัตริย์ 54.4% เห็นด้วยว่าควรมีการรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ ปี 2010 สัดส่วนตกมาเหลือ 40.4%

ในขณะก็มีการถกเถียงในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่าประเทศได้ก้าวหน้าไปไกลแล้วในระบบสาธารณรัฐ กษัตริย์ก็เป็นพลเมืองคนหนึ่ง ไม่ควรนำสถานะนี้มาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เขาอยู่เป็นพลเมืองก็ดีแล้ว อย่าเอาเขามาหารายได้ บางคนประณามสถาบันนี้ที่ทำให้เกาหลีตกเป็นเมืองขึ้นญี่ปุ่น ส่วนฝ่ายเห็นด้วยมักเห็นว่าก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าให้มีสถาบันโดยไม่ต้องมีอำนาจทางการเมือง อย่างน้อยก็ทำให้เกาหลีมีสัญลักษณ์ของชาติเพิ่มขึ้นมาอีกอันหนึ่ง

คำถามที่สอง คือ ทำไม Seguek ถึงกลายเป็นวัฒนธรรมมวลชนที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ โดยมีข้อสังเกตว่าละครเหล่านี้แม้ท้องเรื่องจะเกี่ยวกับกษัตริย์หรือกษัตริยา แต่เนื้อหาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องกษัตริย์แต่ละองค์ แต่มันเป็นอุปมานิทัศน์ (Allegory) ของสามัญชนในสังคมเกาหลี สะท้อนความคิดของสังคมเกาหลีที่มีต่อบุคคล ไม่ใช่ต่อกษัตริย์ในฐานะที่เป็นเทพ หรือบุคคลเหนือธรรมดา ดังนั้นละครเหล่านี้แม้ท้องเรื่องจะเป็นเรื่องของกษัตริย์ในยุคก่อนสมัยใหม่ ที่สมัยนั้นมองกษัตริย์เป็นสมมติเทพ แต่ในละครกลับทอนเรื่องให้เป็นสมัยใหม่และเป็นวิทยาศาสตร์ กษัตริย์ในแต่ละเรื่องมีลักษณะเป็นคนธรรมดา รู้ร้อนรู้หนาว รู้จักรัก ผิดพลาด กลัว เหลวไหล หรืออ่อนแอ

ละครเกาหลีเหล่านี้กลายเป็นวัฒนธรรมมวลชนได้ ก็เพราะมันได้ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของบุคคลธรรมดา ไม่ใช่ประวัติชีวิตแบบทวยเทพของชนชั้นสูงใดๆ ดังนั้นจึงเป็นประสบการณ์ร่วมสมัย ซึ่งมนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เข้าใจได้ เห็นใจได้ และดังนั้นจึงสะเทือนใจ หรือบางเรื่องก็เอากษัตริย์มาทำเป็นเรื่องขำขัน (Comedy) เช่น Roof top Prince มีลักษณะการทำให้กษัตริย์เป็นสามัญชนที่ชัดเจน

คำถามที่สาม คือคนดูเสพอะไรจากละครอิงประวัติศาสตร์ คำถามนี้สำคัญที่สุดแต่ตอบยากที่สุด ต้องการการทำวิจัย เพราะคนกลุ่มที่แตกต่างกันน่าจะรับรู้และรับสารที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถนำมาสร้างเป็นความเห็นโดยทั่วไปได้โดยไม่มีการทำวิจัย  แต่ดร.ปิ่นแก้วได้ตั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์ส่วนตัว พบว่าชาวบ้านทั่วไปในไทยนั้นก็ติดละครเกาหลีด้วย ในช่วงที่ทำวิจัยเรื่องเสื้อแดง ในหลายพื้นที่พบว่าไม่ได้ดูข่าวทีวี ไม่ดูตั้งแต่สองทุ่มเป็นต้นไป แต่ชาวบ้านผู้ชายคนหนึ่งกลับบอกว่าถ้าดู ก็ดูละครเกาหลี เมื่อถามว่าทำไมดู เขาตอบว่าก็มันเหมือนการเมืองไทย พวกที่ครองอำนาจคงไม่ปล่อยให้คนอื่นมาแย่งอำนาจไปง่ายๆ หรอก

ดร.ปิ่นแก้วสรุปว่าเราอาจจะตีความได้ว่าละคร Seguek สำหรับคนเกาหลีแล้ว ถ้ามันเปรียบเหมือนอุปมานิทัศน์ของชีวิตสามัญชนตัวแบบในสังคมเกาหลี ที่คนเกาหลีอยากจะเป็น แม้จะอ่อนแอ ผิดพลาด โดดเดี่ยว แต่ก็ฝ่าฝัน เรียนรู้ ค้นพบ สร้างตัวตนและคุณค่าของตนใหม่ขึ้นมา สำหรับชนชั้นล่างในสังคมไทยแล้ว ละครอิงประวัติศาสตร์ของเกาหลี ที่ท้องเรื่องส่วนใหญ่เปลือยให้เห็นแก่นแท้ของความฉ้อฉล แก่งแย่ง หรือช่วงชิงอำนาจกันเองภายในชนชั้นสูง ละครพวกนี้ทำหน้าที่เป็นอุปมานิทัศน์ให้ชาวบ้าน ในการเปรียบเทียบถึงสิ่งที่พวกเขาคิด หรือมีทัศนะต่อกลุ่มชนชั้นสูงในสังคมไทย อันเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงไม่ได้ และละครไทยไม่มีทางนำธีมเหล่านี้มาทำเป็นละคร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเทพ-ณัฐวุฒิ เบิกความ ไต่สวน “ชาญณรงค์” ศาลนัดฟังคำสั่ง 26 พ.ย.นี้

$
0
0

อดีต ผอ.ศอฉ.เบิกความ ไต่สวนการตาย “ชาญณรงค์” อ้าง รายงาน คอป.ไม่ระบุเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ ณัฐวุฒิ ยัน สลายการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามหลักสากล เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลใช้พลซุ่มยิงผู้ชุมนุมทางการเมือง ศาลนัดฟังคำสั่ง 26 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 55 ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา รัชดา ศาลนัดไต่สวนคำร้องคดีดำ อช.1/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นคำร้องไต่สวนชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการตายของนายชาญณรงค์ พลศรีลา คนขับรถแท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั้มเชลล์ ถนนราชปรารภ เมื่อบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 ช่วงที่มีการกระชับวงล้อมผู้ชุมนุมเสื้อแดงโดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้ตาย นำพยานเบิกความรวม 2 ปากนัดสุดท้าย คือ นายสุเทพ เทือกบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช.

โดยนายสุเทพ เทือกบรรณ เบิกความเป็นปากแรกสรุปว่า ขณะที่เป็นผอ.ศอฉ. ได้ออกคำสั่ง 1/2553 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์สำหรับสลายชุมนุมตามมาตรฐานสากล คือ โล่ , กระบอง , กระสุนยางซึ่งใช้ปืนลูกซองยิง , แก๊สน้ำตา , รถฉีดน้ำ และเป็นการปฏิบัติตามหลักมาตรการสากล 7 ขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก ภายใต้อำนาจและการดูแลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ระหว่างปฏิบัติการต่างๆ มีการประชุม ศอฉ.ทุกวันเช้า-เย็น แต่พยานไม่เคยมีคำสั่งอะไรเป็นพิเศษนอกเหนือจากที่เคยให้เป็นแนวทางของ ศอฉ. ส่วนการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ มีทั้งกำลังตำรวจและทหาร ในหลายพื้นที่เพื่อสกัดคนไม่ให้เข้าไป รวมทั้ง ให้ตัดน้ำตัดไฟในพื้นที่ชุมนุม เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมมีความสะดวกสบาย อีกด้วย ขณะที่การพกอาวุธปืนจะให้เฉพาะระดับผู้บังคับบัญชาเท่านั้นที่สามารถมีปืนพก ปืนเล็กยาว และกระสุนจริงได้ เพื่อป้องกันตนเองและประชาชน โดยไม่กระทำให้มีผลแก่ชีวิต

นายสุเทพ เบิกความว่า ส่วนการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 ที่บริเวณราชปรารภ ขณะเกิดเหตุยังไม่ทราบรายละเอียด แต่มาทราบภายหลังเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวบรวมข้อมูลการเสียชีวิต 13 ศพ ที่ดีเอสไอมีความเห็นไม่ตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ในส่วนของสตช.ได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการชันสูตรศพขึ้นมาเฉพาะ ระบุว่าไม่ทราบว่าการเสียชีวิตเกิดจากฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ และเกิดจากทิศทางใด ซึ่งตนก็ได้นำข้อมูลนี้ไปชี้แจงเมื่อครั้งถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย ส่วนรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีการระบุถึงการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ไว้ แต่ตนไม่เห็นข้อความที่ระบุว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เบิกความเป็นพยานปากที่สอง สรุปว่า กลุ่ม นปช.ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยเริ่มชุมนุมเมื่อวันที่ 12 มี.ค.53 ตั้งเวทีที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากกินพื้นที่ถึงบริเวณถนนราชดำเนินนอกและราชดำเนินกลาง กระทั่งวันที่ 10 เม.ย.53 รัฐบาล โดย ศอฉ. นำกำลังทหารออกจากที่ตั้งพร้อมอาวุธปืนเอ็ม 16 ปืนยาว โล่และกระบอง พร้อมรถถัง เข้าปราบปรามผู้ชุมนุม โดยไม่ปฏิบัติตามหลักสากล โดยใช้เฮลิคอปเตอร์บินโยนแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม มีการใช้พลแม่นปืนใช้อาวุธปืนความเร็วสูงติดลำกล้อง ยิงผู้ชุมนุมกระสุนเข้าที่ศีรษะและอวัยวะสำคัญ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลใช้พลซุ่มยิงผู้ชุมนุมทางการเมือง ไม่เคยมีรัฐบาลใดกระทำมาก่อนหลังจากนั้นได้ยุบเวทีปราศรัยที่สะพานผ่านฟ้าไปรวมที่เวทีราชประสงค์เวทีเดียว

โดยประมาณวันที่ 14 พ.ค.53 มีความตรึงเครียด เนื่องจาก ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่ทหารตั้งด่านตรวจค้นรอบพื้นที่ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าพื้นที่ชุมนุมได้ และมีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารปะทะกับผู้ชุมนุมและมีการซุ่มยิงประชาชนเสียชีวิตหลายราย ซึ่งในส่วนของนายชาญณรงค์ ผู้ตายคดีนี้ ทราบจากข่าวสื่อมวลชนว่า ถูกยิงชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 ซึ่งเกิดนอกพื้นที่ชุมนุม ซึ่งบริเวณดังกล่าวนอกจากผู้ตายแล้ว ยังมีผู้อื่นถูกยิงเสียชีวิตอีกหลายราย

ภายหลังนายณัฐวุฒิ เบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ทนายความญาติผู้ตายแถลงหมดพยาน ศาลจึงนัดฟังคำสั่งคดีนี้ในวันที่ 26 พ.ย. นี้ เวลา 09.00 น.

กรณีไต่สวนการตายของนายชาญณรงค์ พลศรีลา จากการสลายการชุมนุมเมษา – พ.ค.53 นั้นจะเป็นคดีที่ 2 ที่ศาลจะมีคำสั่ง ต่อจากกรณีนายพัน คำกอง ที่ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยในคดีดังกล่าวคำสั่งศาลระบุว่าพยานหลักฐานทั้งหมดชี้ว่าผู้ตายถูกกระสุนปืนขนาด.223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่ร่วมกันยิงไปยังรถตู้ที่วิ่งเข้ามายังพื้นที่หวงห้ามแล้วกระสุนไปโดนผู้ตายที่ออกมาดูเหตุการณ์ ทั้งนี้ ให้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

ศาลสั่งไต่สวนการตายคดีแรก "พัน คำกอง" เสียชีวิตจากทหาร

'สรรเสริญ'-2 นายทหารเบิกความไต่สวนการตาย 'ชาญณรงค์'

ทบ.แจงติดป้าย "เขตการใช้กระสุนจริง" เพื่อไม่ให้ปชช.เข้ามา แม้แต่ทหารยังถูกโต้ด้วยกระสุนจริง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จีนบล็อค 'นิวยอร์กไทมส์' หลังตีแผ่ทรัพย์สินครอบครัว 'เวิน เจียเป่า'

$
0
0

 

(26 ต.ค.55) ช่วงสายวันนี้ ตามเวลาประเทศจีน รัฐบาลจีนบล็อคเว็บไซต์นิวยอร์กไทมส์ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ หลังเผยแพร่บทความชื่อ Billions in Hidden Riches for Family of Chinese Leader ที่กล่าวถึงเส้นทางความมั่งคั่งของครอบครัว เวิ่น เจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีน

โดยบทความดังกล่าว เผยแพร่ในภาษาอังกฤษเมื่อเวลา 4.34 น. ตามด้วยเวอร์ชั่นภาษาจีนในเวลา 8.00น. หลังจากนั้นไม่นาน จีนก็ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บนิวยอร์กไทมส์ โดยเริ่มจากเว็บภาษาจีนตามด้วยเว็บภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ ยังมีการบล็อคการพูดถึงนิวยอร์กไทมส์และ เวิ่น เจียเป่า ในเว็บเว่ยป๋อ ซึ่งเป็นบริการไมโครบล็อกกิ้งคล้ายทวิตเตอร์ของจีนด้วย

บทความดังกล่าวระบุว่าครอบครัวของเวิ่น เจียเป่า ถือครองสินทรัพย์มูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงที่เวิ่น เจียเป่า เข้าสู่อำนาจ คนในครอบครัวตั้งแต่ลูกชาย ลูกสาว น้องชายและน้องเขยของเขา ก็ร่ำรวยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในทรัพย์สินเหล่านั้นไม่มีชื่อของ เวิ่น เจียเป่าเลย

ทั้งนี้ นิวยอร์กไทมส์ระบุว่าทั้งรัฐบาลจีนและญาติของเวิ่น เจียเป่า ต่างปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว

โฆษกของนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า รู้สึกผิดหวังต่อการบล็อคดังกล่าวและหวังว่าเว็บจะกลับมาเข้าได้ในไม่ช้า

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. จีนได้บล็อคเว็บไซต์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก หลังเผยแพร่บทความแจกแจงจำนวนทรัพย์สินของรองประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้ซึ่งถูกคาดว่าจะได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปของจีน

 

 

ที่มา:
New York Times blocked in China over Wen Jiabao story
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-china-20091675
China Blocks Web Access to Times After Article
http://www.nytimes.com/2012/10/26/world/asia/china-blocks-web-access-to-new-york-times.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ราคาประมูล 3G 'ไทย' ไม่ได้แพงที่สุดในเอเชีย พบต่ำกว่า 'สิงคโปร์-ไต้หวัน-อินเดีย'

$
0
0

กรณีมีการนำเสนอข่าวว่า ราคาค่าคลื่น 3G ในประเทศไทยมีราคาแพงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และเป็นราคาเมื่อ 10 ปีก่อน จากรายงานการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ และมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ซึ่งจัดทำโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามการว่าจ้างของ กสทช. เมื่อเดือนกรกฎาคม 55 พบว่า การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ 3G ทั่วโลก โดยคำนวณข้อมูลของการอนุญาตประกอบกิจการปรับเป็นมูลค่าปัจจุบัน มิใช่มูลค่าเมื่อ 10 ปีก่อน อย่างที่นักวิชาการบางท่านเข้าใจ

มูลค่าคลื่นความถี่ของประเทศไทยอยู่ที่ 0.31 เหรียญสหรัฐต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อประชากร หรือคิดเป็นมูลค่า 6,440 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์ และต่อมา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ได้กำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 70% ของราคาดังกล่าว มูลค่าคลื่นในประเทศไทยจึงเหลือเพียง 0.22 เหรียญสหรัฐต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อประชากร เทียบกับราคาเริ่มต้นการประมูลของประเทศในแถบเอเชียที่ผู้วิจัยได้รวบรวมจาก 3 ประเทศ พบว่า

- สิงคโปร์กำหนดราคาเริ่มต้นที่ 0.39 เหรียญสหรัฐต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อประชากร

- ไต้หวันกำหนดราคาเริ่มต้นที่ 0.25 เหรียญสหรัฐต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อประชากร

- อินเดียกำหนดราคาเริ่มต้นที่ 0.23 เหรียญสหรัฐต่อเมกะเฮิรตซ์ต่อประชากร

โดยผลการประมูล เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา มีการเสนอราคาเพิ่มเพียง 2.77% ทำให้ราคาคลื่น 3G ประเทศไทยต่ำกว่าราคาเริ่มต้นของสิงคโปร์ ไต้หวัน และอินเดีย


 

 

ดูหน้า 16 ของงานวิจัย

3G Final Report

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.ตั้งคณะทำงานสอบ 'ประมูล 3G'-ให้เลขาฯสภา นั่งปธ.สอบ

$
0
0

ตั้ง 'สุวิจักขณ์ นาควัชระชัย' เลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร เป็นหัวหน้าคณะทำงานสอบเสนอราคาประมูล ด้านประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.เสียงข้างน้อย ทำหนังสือด่วนที่สุดให้ประธาน กสทช.พิจารณาอำนาจหน้าที่ในการรับรองผลการประมูลคลื่น 3G

(26 ต.ค.55) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้ร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมการประมูล บนพื้นฐานข้อเท็จจริงให้เกิดความชัดเจนก่อนพิจารณาการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้แก่ ผู้ชนะการประมูลเพื่อให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย

คณะทำงานดังกล่าวมี นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร เป็นหัวหน้าคณะทำงาน  ในส่วนของผู้ร่วมทำงานประกอบด้วย นายอภิชาต อาสภวิริยะ และนายจิตรนรา นวรัตน์ เป็นผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด รศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายมงคล แสงหิรัฐ ผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี และดร.พัชรสุทธิ สุจริตตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่

นายฐากร ระบุด้วยว่าเพื่อความโปร่งใส ในการพิจารณาในคณะทำงานชุดนี้จะมีพนักงาน กสทช. เป็นคณะทำงานเพียงคนเดียว คือ นายชัยยุทธ มังศรี และมีนางสาวพรพักตร์ สถิตเวโรจน์  นายโสรัจจ์ ศรีพุธ และนางสาวณัฐสุดา อัคราวัฒนา เป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ

ทั้งนี้ คณะทำงานชุดนี้จะมีกรอบระยะเวลาในการทำงานอยู่ที่ 15 วัน ผลการพิจารณาจะนำเสนอคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุญาตการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้แก่ผู้ชนะการประมูลต่อไป

อนึ่ง จากการตรวจสอบพบว่า  จิตนรา นวรัตน์ ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการด้านกฏหมาย กทค. อรพรรณ พนัสพัฒนา ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กทค.  ดร.พัชรสุทธิ สุจริตตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ เป็นผู้ที่เคยร่วมให้ความรู้เรื่องการประมูลคลื่นความถี่แก่ประชาชนทั่วประเทศของ กสทช.ก่อนการประมูลที่ผ่านมา
   

'ประวิทย์' ร่อนหนังสือถาม ปธ.กสทช. บอร์ดไหนมีอำนาจรับรองผลประมูลคลื่น 3G
วันเดียวกัน ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้ส่งหนังสือถึงพลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. เรื่องขอให้พิจารณาอำนาจหน้าที่ในการรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz โดยนายประวิทย์มีความเห็นว่า การรับรองผลการประมูลเป็นคนละขั้นตอนกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่หรือการอนุญาตประกอบกิจการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ แต่เป็นขั้นตอนกระบวนการตามมาตรา 45 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับมาตรา 40 ที่บัญญัติให้ กทค.มีอำนาจนหน้าที่ปฏิบัติการใดๆ แทน กสทช.ตามมาตรา 27

บันทึกของนายประวิทย์ ระบุว่า "ผมพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า อำนาจหน้าที่ของ กทค.ตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ นั้น เป็นการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมการอนุญาตดังกล่าว ตามมาตรา 27

"อย่างไรก็ตาม การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่บัญญัติให้ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมต้องได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.นี้ ซึ่งต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาและเงื่อนไขที่ กสทช. ประกาศกำหนด ประกอบกับต่อมา กสทช. ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 โดยกำหนดให้คำนิยามของคณะกรรมการ หมายความว่าคณะกรรมการ กสทช. นอกจากนี้ในข้อ 18 ยังได้บัญญัติให้ประธานกรรมการ กสทช. เป็นผู้รักษาการตามประกาศ และในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ให้คณะกรรมการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการถือเป็นที่สุด"

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำหนังสือถึง พลอากาสเอกธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. เรื่อง ขอให้นัดประชุม กสทช. วาระเร่งด่วนเรื่องการรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz เนื่องจากการประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมาเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะอย่างมหาศาลและเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจติดตามจากสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการตัดสินใจดำเนินการใดๆ ยังมีผลทางกฎหมายต่อคณะกรรมการ กสทช. ทั้งคณะ 11 คน ขณะที่ประธาน กสทช. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ขอเวลาพิจารณาถึงความจำเป็นในการเรียกประชุมเนื่องจากในขณะนี้บอร์ดแต่ละคนติดภารกิจ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images

<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>
<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596344.js" async> </script>