Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

"พลเมืองเน็ต" เสนอแก้นิยาม "พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์" อย่ายุ่งเนื้อหา

$
0
0

 เสนอแก้นิยามของ "ข้อมูลคอมพิวเตอร์" ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้จำกัดเฉพาะข้อมูลที่คอมพิวเตอร์อ่าน กังวลรัฐไทยนอกจากกดดันด้านกฎหมายแล้ว ยังร่วมมือกับต่างประเทศ เพิ่มอำนาจดีเอสไอในการดักข้อมูล และสนใจการกรองการสื่อสารทางเสียงด้วย

(31 ก.ค.55) ในการประชุมว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและสิทธิพลเมือง ประจำปี 2555 “อินเทอร์เน็ตกับการจัดทำนโยายสาธารณะ”  ที่ไทยพีบีเอส อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวถึงข้อเสนอของเครือข่ายฯ ในการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ว่า ให้แก้ไขมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยนิยามของข้อมูลคอมพิวเตอร์ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องเป็นข้อมูลสำหรับคอมพิวเตอร์อ่าน ไม่ใช่สำหรับมนุษย์อ่าน

โดยการเสนอเช่นนี้จะจำกัดข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้หมายถึงเฉพาะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และข้อมูลสำหรับการควบคุมระบบเท่านั้น ไม่รวมเนื้อหา ในรูปแบบภาพหรือเสียงที่คนรับแล้วเข้าใจ ซึ่งในทางปฏิบัติอาจส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อมาตรา 16 แต่จะทำให้การเผยแพร่ข้อมูลตามมาตรา 14-16 ถูกจำกัดโดยอัตโนมัติ

อาทิตย์กล่าวว่า เมื่อกลับไปดูสรุปสาระสำคัญการประชุมคณะกรรมาธิการปี 2549 ที่ สนช.กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมฯ จะพบว่าฐานคิดเดิมพูดถึงการกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่เป็นการดักฟังข้อมูล ไวรัส โทรจัน ทำสำเนาตัวเองจำนวนมาก (worm) สปายแวร์ โปรแกรมแก้ไขข้อมูล แปลงหมายเลขชื่อต้นทาง ส่งอีเมลหลอก เรียกข้อมูลถี่ (DDos) ซึ่งเมื่อข้อมูลเหล่านั้นเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะมีผลต่อสาธารณะในวงกว้าง เช่น ไวรัสติดเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว แต่เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีข้อมูลสำคัญ เช่น จราจร โรงไฟฟ้า ก็จะส่งผลกระทบในวงกว้าง จึงเข้าใจได้ว่าเป็นอาญาแผ่นดินที่ไม่สามารถยอมความไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการรวมเรื่องเนื้อหาต่อบุคคล ในฐานความผิดเรื่องเนื้อหา กลับยังคงโทษอาญาแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้เอาไว้ จึงเสนอให้กลับไปที่ความตั้งใจเดิม เพื่อแก้ปัญหานี้

โดยแม้จะแก้นิยามแล้ว ข้อกังวล 3 ข้อในมาตรา 14-15 ที่เป็นปัญหาคือ การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ กระทบต่อความมั่นคง และทำให้เกิดความตื่นตระหนก ก็จะยังทำงานได้ตามปกติ โดยยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลเท็จ - หากมีการปลอมแปลงเลขบัตรประชาชนเพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจผิด ก็จะยังใช้กฎหมายจัดการได้ ด้านความมั่นคง มองว่า ปัจจุบัน ที่มีการฟ้องข้อมูลคอมพิวเตอร์ เรื่องความมั่นคง ทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ให้มนุษย์อ่าน ไม่ควรผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมยกตัวอย่างข้อมูลที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เช่น การปล่อยข้อมูล หรือ worm ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ทำให้ระบบคอมฯ สั่งงานบางอย่างให้ทำงานผิดปกติจากที่ตั้งใจไว้ เมื่อมีเข้าสู่ระบบไฟฟ้า ประปา การควบคุมสาธารณูปโภคของประเทศ นี่จะเป็นเรื่องความมั่นคงแน่ๆ ด้านข้อมูลที่ทำให้ตื่นตระหนก อาทิ ไวรัส ที่ปั่นป่วนระบบไฟจราจร ซึ่งอาจทำให้เมืองโกลาหลได้

ทั้งนี้ เขาย้ำว่า ไม่ใช่ว่าจะปล่อยจะมีการหมิ่นประมาทออนไลน์ แต่มองว่าไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ. คอมฯ จัดการ เพราะมีกฎหมายอื่นๆ อยู่แล้ว
 

3 ข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล
ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวด้วยว่านอกจากข่าวคราวเรื่องการเซ็นเซอร์และคดีความต่างๆ แล้ว ความเคลื่อนไหวจากภาครัฐที่น่าเป็นห่วง 3 ข้อ ได้แก่ 1.นอกจากการกดดันทางกฎหมาย มีการดำเนินนโยบาย "ทางการทูต" กับต่างประเทศ เช่น การที่รัฐบาลไทยมีความพยายามขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการมากขึ้น โดยส่งตัวแทนเข้าคุยกับผู้บริหารของเฟซบุ๊กและกูเกิลเรื่องเนื้อหา ทั้งยังเป็นรัฐบาลแรกในโลกที่ตอบรับเมื่อทวิตเตอร์ประกาศว่าจะให้รัฐบาลส่งคำร้องให้เซ็นเซอร์ทวีตรายประเทศได้

2.เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีประกาศของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอให้คดี พ.ร.บ.คอมฯ จะเข้าไปอยู่ในความดูแลของดีเอสไอ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากเดิมที่เจ้าหน้าที่จะดักฟัง ดักเก็บข้อมูล หรือ sniff ได้ ต้องขอหมายศาลก่อน แต่หลังจากนี้ไม่ต้องขอหมายศาลอีกต่อไป ต้องการเพียงคำอนุมัติจากอธิบดีเท่านั้น นำมาสู่ความกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน

3.แหล่งข่าวจาก กสทช.ระบุว่า กรรมาธิการทหาร ทำจดหมายสอบถามไปยัง กสทช.เกี่ยวกับเทคโนโลยี VOIP (Voice Over IP) ว่ามีอุปกรณ์ใดดักฟังได้บ้าง หรือจะควบคุมไม่ให้นำเข้า VOIP หรือไม่ และถ้ามีอุปกรณ์เข้ารหัสขายจะมีช่องทางใด จะถอดรหัสได้อย่างไรบ้าง เครือข่ายพลเมืองเน็ตไม่แน่ใจว่ากรรมาธิการทหารต้องการทำอะไร แต่นี่แสดงให้เห็นถึงความสนใจเรื่องการสื่อสารด้วยเสียง ซึ่งการกรองเนื้อหานั้นทำได้ยากกว่าแบบตัวหนังสือ

อนึ่ง การประชุมว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและสิทธิพลเมืองครั้งที่ 1 จัดโดย สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส), สมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) และเครือข่ายพลเมืองเน็ต โดยการสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารพม่าโจมตีกองทัพรัฐฉานอีกในพื้นที่เมืองน้ำจ๋าง – เมืองปั่น

$
0
0

ทหารพม่าโจมตีกองกำลังไทใหญ่ SSA ไม่หยุด แม้สองฝ่ายลงนามหยุดยิง ล่าสุดโจมตีฐาน SSA อีกที่เมืองปั่น และ เมืองน้ำจ๋าง ในรัฐฉานภาคใต้

 

มีรายงานว่า เมื่อเวลา 8.00 น. วันนี้ (31 ก.ค.) ทหารพม่าไม่ทราบสังกัดและจำนวนกำลังพล ได้บุกโจมตีฐานประจำการของกองกำลังไทใหญ่ SSA (กลุ่มพล.ท.เจ้ายอดศึก) สังกัดกองพลน้อยที่ 756 ใกล้กับบ้านหนองเดื่อ เขตอำเภอเมืองปั่น รัฐฉานตอนใต้ ล่าสุดยังไม่มีรายงานการสูญจากทั้งสองฝ่าย

อีกด้าน ทหารกองทัพพม่าซึ่งไม่ทราบสังกัด ได้บุกขึ้นโจมตีฐานที่มั่นกองกำลังไทใหญ่ SSA สังกัดหน่วยรบกอนเจิง ที่ตั้งอยู่บนดอยเย เขตเมืองน้ำจ๋าง 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (30 ก.ค.) ครั้งที่สองเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (31 ก.ค.) แต่การโจมตีทั้งสองครั้งได้ถูกตอบโต้จากฝ่าย SSA อย่างหนัก ซึ่งมีรายงานว่าฝ่ายทหารพม่ามีการสูญเสียจำนวนหนึ่ง

ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ SSA นายหนึ่งเปิดเผยว่า วันนี้ (31 ก.ค.) กองบัญชาการใหญ่ของ SSA ดอยไตแล ได้ทำหนังสือประท้วงไปยังรัฐบาลพม่า ผ่านอูอ่องมิน รมว.กระทรวงรถไฟ ซึ่งเป็นรองประธานคณะทำงานด้านสันติภาพของพม่า เพื่อชี้แจงเหตุโจมตีและหาทางแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุสู้รบกันขึ้นอีก

กองทัพรัฐฉาน หรือ กองกำลังไทใหญ่ SSA ภายใต้การนำของพล.ท.เจ้ายอดศึก ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเมื่อ 2 ธ.ค. 54 ตามคำประกาศสร้างสันติภาพประเทศของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง แต่จนถึงขณะนี้ทหารทั้งสองฝ่ายยังคงสู้รบกันอย่างต่อเนื่อง

 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อนายทหารไทยถาม "พล.อ.หม่องเอ" เรื่องพม่าย้ายเมืองหลวง

$
0
0

การสัมมนาหัวข้อ “เปิดมิติเนปิดอว์เมืองหลวงใหม่พม่า: ที่มา ที่ไป และที่เป็น” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่่ผ่านมา ที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การปาฐกถานำเรื่อง “เมืองหลวงใหม่พม่าในมิติความมั่นคง” โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม กระทรวงกลาโหม (รับชมแบบ HD)

 

นายทหารไทยเผยนาทีถาม "หม่องเอ" สาเหตุพม่าย้ายเมืองหลวง

โดยช่วงแรกเป็นการปาฐกถานำเรื่อง “เมืองหลวงใหม่พม่าในมิติความมั่นคง” โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม กระทรวงกลาโหม

ตอนหนึ่ง พล.อ.นิพัทธ์กล่าวว่า เวลาพูดถึงที่ตั้ง คนที่เรียนเสนาธิการต้องพิจารณาปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ "ที่สูงต่ำ ทางน้ำไหล พืชพันธุ์ไม้ สิ่งปลูกสร้าง" ทหารจะคิดทำอะไรเรื่องที่ตั้ง ถ้าเอามาใช้ในสเกลใหญ่ ขนาดย้ายเมืองเมืองหลวง ผมคิดว่าพอจะเอามาประยุกต์ใช้กันได้ สันเขาไปทางไหน น้ำควรจะไหลไปทางไหน บริเวณย่านที่จะเป็นจุดศูนย์ดุลจะอยู่ตรงไหน จุดตรงไหนจะเป็นจุดที่สามารถควบคุมประเทศชาติได้โดยที่มีมิติความมั่นคง และมิติอื่นๆ พิจารณาประกอบกัน

หลังจากที่พม่าได้ย้ายเมืองหลวงประมาณปลายปี 2548 ต่อมาในเดือนมกราคมปี 2550 พล.อ.นิพัทธ์ ซึ่งขณะนั้นร่วมคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของไทยเช่น พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดขณะนั้นไปเยือนเนปิดอว์ ได้มีโอกาสถาม พล.อ.อาวุโส หม่องเอ รองประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SPDC ว่า "ท่านย้ายเมืองหลวงหรือศูนย์ราชการขึ้นมาไว้ที่เนปิดอว์ด้วยเหตุผลอะไร?" พล.อ.อาวุโส หม่องเอ ตอบว่า "สิ่งที่พม่าคิดคือทำอะไรไว้ให้ลูกให้หลาน" และตอบด้วยว่า ถ้าสหรัฐอเมริกามีวอชิงตันดีซีเป็นศูนย์ราชการ ถ้าออสเตรเลียมีแคนเบอรา มาเลเซียมีปุตราจายา สิ่งต่างๆ เหล่านี้พม่าก็อยากจะมีเนปิดอว์เป็นศูนย์ราชการเหมือนประเทศอื่นมีกัน

และ พล.อ.อาวุโส หม่องเอ ก็ถามด้วยว่า "แล้วประเทศไทยที่คิดจะย้ายศูนย์ราชการ ไปทำหรือยัง?"

โดยองค์ปาฐกกล่าวด้วยว่า ได้ถามรองประธานสภา SPDC ในขณะนั้นด้วยว่า "เรื่องหมอดูมีความเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่?" พอ.อ.อาวุโส หม่องเอ ก็หัวเราะ

ทั้งนี้ พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวบรรยายพร้อมภาพประกอบ โดยกล่าวว่าเมืองหลวงใหม่ของพม่ามีการวางผังเมืองที่ไม่เลว การก่อสร้างเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช้าๆ ไม่ได้หรูหรา แต่ต้องยอมรับว่าบรรยากาศดีน่าอยู่ ช่วงแรกๆ ข้าราชการที่ต้องย้ายจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์ก็มีความขมขื่น เพราะต้องย้ายที่อยู่ และเรื่องของลูกที่ต้องไปหาที่เรียนหนังสือใหม่ ช่วงแรกๆ ข้าราชการที่เนปิดอว์จะดีใจเวลาที่มีโอกาสกลับมาเยี่ยมย่างกุ้ง ซึ่งความรู้สึกเหมือนกับสมัยที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าต้องย้ายจาก ถ.ราชดำเนิน ไปที่เขาชะโงก ขณะที่ช่วงแรกๆ ของการย้ายเมืองหลวงนักการทูตต่างประเทศก็ไม่ได้ย้ายสำนักงานตามไปที่เนปิดอว์เนื่องจากไม่สะดวก

พล.อ.นิพัทธ์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ จากข้อมูลของบริษัทนำเที่ยว ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวจากไทยเข้าไปเที่ยวพม่าและเลยไปเยี่ยมชมเมืองหลวงใหม่ถึงวันละ 3 พันคน และพม่ากำลังตื่นเต้นกับค่าที่พักโรงแรมจากเดิมคืนละ 50 เหรียญสหรัฐ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 150 เหรียญสหรัฐ ซึ่งการห้องพักสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปในพม่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก

ในเรื่องการก่อสร้างถนน พล.อ.นิพัทธ์ ได้แสดงภาพถนนสายหลักขนาด 10 เลนในเนปิดอว์ และแสดงความเห็นว่า ถนนในเนปิดอว์มีความจงใจที่จะสร้างให้มีความสง่างาม อย่างไรก็ตามการก่อสร้างไม่ได้ใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ การผสมปูนก็ด้วยการเอารถผสมปูนมาเทแล้วใช้แรงงานคน ใช้เกรียงปาดปูนเพื่อฉาบผิวถนน เพราะฉะนั้นถนนจะไม่เรียบนัก โค้งถนนไม่มีสโลป และอาจมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูง

ช่วงหนึ่ง พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวถึง การที่ พล.ท.หล้า มิ้นท์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมพม่า กล่าวระหว่างการประชุมเรื่องความมั่นคง "แชงกรีล่าไดอะล็อก" ที่สิงคโปร์โดยสถาบันนานาชาติเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (International Institute for Strategic Studies หรือ IISS) ซึ่งนอกจากองค์ปาฐกสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามอง อย่างลีออน พาเนตตา (Leon Panetta) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ซึ่งเน้นย้ำเรื่องนโยบาย "การปรับสมดุลใหม่ในเอเชีย" แล้ว องค์ปาฐกอื่นซึ่งที่ประชุมให้ความสนใจก็คือ พล.ท.หล้า มิ้นท์ รัฐมนตรีกลาโหมของพม่า ซึ่งพูดถึงสิ่งที่ตะวันตกกังวลคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะเรื่องนิวเคลียร์

โดย พล.ท.หล้า มิ้นท์ กล่าวว่า รัฐบาลพม่า ได้ลดระดับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือลงไปแล้ว ความสัมพันธ์เรื่องนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือนั้นไม่มี แต่ยอมรับว่ามีการติดต่อเรื่องนิวเคลียร์ขั้นต้นยอมรับว่ามีจริง แต่เป็นเรื่องเทคโนโลยีด้านการวิจัย โดย พล.อ.นิพัทธ์ได้อ้างคำกล่าวของ พล.อ.หล้า มิ้นท์ที่ว่า "ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่ใช่เพื่อการรบ หรือพัฒนาเป็นอาวุธ หรือเป็นการวิจัยในอดีต"

ส่วนเรื่องของอุโมงค์ที่เนปิดอว์นั้น พล.อ.นิพัทธ์เล่าว่ามีจริง แต่เชื่อว่าเป็นคลังเก็บอาวุธ 

"เหมือนกองทัพไทยก็สร้างคลังเก็บอาวุธ โดยพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ราบก็สร้างคลังขึ้นมา มีกำแพงคอนกรีตล้อม มีช่องระบายอากาศ มีทหารยืนเฝ้า มีที่ดับเพลิง มีทรายใส่ถัง มีพลั่วเป็นสิ่งที่ทหารทั้งโลกทำกันถ้าอยู่ในที่ราบ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ภูเขา ถ้าหลังพิงเขาได้ เจาะเขาได้ เอาสิ่งที่เป็นวัตถุระเบิด กระสุนต่างๆ ไปไว้ ในช่องที่เจาะเข้าไปในภูเขาได้ก็เป็นคลังที่ดีเลิศคลังหนึ่ง เพราะฉะนั้นเรื่องอุโมงค์ที่พม่าได้ทำ เนื่องจากพื้นที่เป็นเขาก็เอื้อกับการทำเป็นคลังหรือ Depot เป็นเรื่องที่พม่าทำ ตามสไตล์เกาหลีเหนือและอีกหลายๆ ประเทศ" พล.อ.นิพัทธ์ กล่าว

 

000

สุเนตร ชุตินธรานนท์: ไขคติ "เบิกยุค" ธรรมเนียมพม่าย้ายราชธานี

การอภิปราย “การย้ายราชธานีของพม่าก่อนยุคเนปิดอว์” โดย รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รับชมแบบ HD)

 

ช่วงต่อมาเป็นการอภิปรายหัวข้อ “การย้ายราชธานีของพม่าก่อนยุคเนปิดอว์” โดย รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอาจารย์สุเนตรได้กล่าวถึงภูมิหลังประวัติศาสตร์และความเป็นมา ของธรรมเนียมการย้ายราชธานีพม่าในอดีต เปรียบเทียบกับการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้ง ไปสู่เนปิดอว์ ในปัจจุบัน

โดยตอนหนึ่ง อาจารย์สุเนตรกล่าวถึงคติการย้ายเมืองหลวงของพม่าว่า "สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการย้ายเมืองของพม่าคือ เขาย้ายเมืองเพราะผู้ปกครองต้องการแสดงพระองค์ให้เห็นว่า ยุคสมัยของพระองค์ต้องการจะ "เบิกยุคใหม่" คิดใหม่ ทำใหม่ สร้างสิ่งใหม่ให้ราชอาณาจักร เพราะฉะนั้นสัญลักษณ์ของการสร้างสิ่งใหม่ เบิกยุคใหม่ ที่ทำได้อย่างเช่น ถ้าไม่สร้างวังใหม่ ก็ย้ายเมืองเสียเลย"

"ถามว่าทำไมต้องมี "เบิกยุค" คำว่า "เบิกยุค" หมายความว่า กษัตริย์พม่ามีคติเรื่องการปกครองที่เชื่อว่าพุทธศาสนานับวันจะเลวลง นับวันจะเสื่อมถอยลง เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่จะต้องฟื้นฟูบูรณะพระศาสนาให้ยืนยงสถาพรเท่าพุทธทำนายคือ 5,000 ปี เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเหตุทุกภิกขภัยต่างๆ เกิดโรคระบาด เกิดรบราฆ่าฟัน แพ้สงคราม ก็จะเป็นคล้ายๆ เป็นสัญลักษณ์ว่าพุทธศาสนาคงเสื่อมแล้ว บ้านเมืองถึงปรากฏสภาวะเสื่อมโทรมดังนี้ ทำอย่างไรดีล่ะ ก็ต้องปลุกขวัญกำลังใจเหล่าอาณาประชาราษฎร์ เบิกยุคใหม่ บอกว่า "ไม่ต้องห่วงยังไม่สิ้น บ้านเมืองยังไม่สิ้น ยุคแห่งพุทธศาสนาไม่เสื่อม เราจะนำพาความรุ่งเรืองกลับมาอีกครั้ง ให้ยืนยงไปดังพุทธทำนาย" รูปธรรมต้องสร้างเมือง สร้างวัง ย้ายเมือง อย่างนี้เป็นต้น" สำหรับการอภิปรายของ รศ.ดร.สุเนตร ประชาไทเคยนำเสนอแล้วก่อนหน้านี้โดยสามารถอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คาร์บอมหลังซีเอสปัตตานี - และมีไฟดับหลายพื้นที่

$
0
0

เกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์หลังโรงแรมซีเอสปัตตานี อาคารด้านหลัง – กำแพงได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่เร่งอพยพคน หม้อแปลงระเบิดไฟดับเกือบทั้งเมือง

(31 ก.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 19.15 น.มีผู้นำรถยนต์กระบะ ซึ่งบรรจุวัตถุระเบิดนำมาจอดที่บริเวณถนนกำแพงด้านหลังของโรงแรมซีเอส อ.เมือง ต.รูสะมิแล จ.ปัตตานี แล้วจุดชนวน แรงระเบิดทำให้กำแพงและกระจกของโรงแรมได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ยังมีรถยนต์เสียหาย 1 คัน หลังจากเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจและมูลนิธิกู้ภัย เดินทางมาที่เกิดเหตุและช่วยอพยพแขกที่พักออกจากโรงแรมอย่างเร่งด่วน เบื้องต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระจกบาดเล็กน้อย และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้ตัดสัญญาณโทรศัพท์บริเวณที่เกิดเหตุแล้ว เพราะหวั่นว่าอาจจะมีระเบิดลูกที่ 2 ตามมา

ต่อมาเวลาประมาณ 19.38 น. รับแจ้งเกิดเหตุหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดจุดที่ 2 ถนนปากน้ำในเขตเมืองปัตตานี ทำให้เกิดไฟดับกระจายเป็นบริเวณกว้างไปทั่วเมือง

พ.ต.อ.สมพร มีสุข ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร (สภ.) เมืองปัตตานี เปิดเผยว่า จุดเกิดเหตุอยู่บนถนนเทศบาล 5 หลักโรงแรมซีเอสปัตตานี แรงระเบิดทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดตามไปด้วย จึงทำให้เกิดไฟฟ้าดับ ส่วนความเสียหายยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

เวลาประมาณ 20.00 น. สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม White Channel ซึ่งรายงานสดทางโทรทัศน์ระบุว่ากระแสไฟฟ้าที่ดับในหลายพื้นที่ขณะนี้เริ่มใช้งานได้แล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: เปิดงานวิจัยความไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจและแรงงาน

$
0
0

นักวิจัยด้านแรงงานเสนอการวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้างของเสรีนิยมใหม่ สู่การจ้างงานแบบยืดหยุ่น ความไม่มั่นคงสูงมาก ย้ำขบวนการแรงงานอ่อนแอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เสนอจัดตั้งขบวนการแรงงานที่ทำกับขบวนการทางสังคม

 

โครงการวิจัยความไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจและแรงงาน ปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบาย ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาความเป็นธรรมทางสังคมเพื่อสังคมสุขภาวะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีสัมมนารายงานวิจัย เรื่อง “ความไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจและแรงงานปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบาย” ณ โรงแรมรอยัล ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา

ประเด็น “การวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้าง”
นำเสนอรายงานการวิจัยโดย ดร.เสาวลักษณ์ ชายทวีป คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ ดร.โสภิณ จิระเกียรติกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ดร.เสาวลักษณ์ ชายทวีป คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ในการอธิบายเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อแรงงานจะเห็นว่ามีอยู่หลายแนวสำหรับการอธิบาย งานศึกษานี้ทำความเข้าใจเรื่องแนวคิดที่เรียกว่าเป็น “เสรีนิยมใหม่” ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ถูกนำมาอธิบายอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อแรงงาน และเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อีกอันเป็นเรื่องของการผลิตแบบยืดหยุ่น เป็นกรอบหลักๆ 2 กรอบที่ทำให้เราเห็นภาพของการจ้างงานว่าแรงงานถูกแบ่งแยกในรูปแบบการจ้างงานอย่างไรบ้าง

เสรีนิยมใหม่ ฐานความคิดที่สำคัญอยู่ที่อิสระเสรีภาพของปัจเจกบุคคล
สวนทางกับความพยายามจะสร้างระบบที่เป็นความมั่นคงกับแรงงาน

ในแง่ของภาวะเศรษฐกิจโลกนั้น ในช่วงที่ผ่านมาภายใต้แนวคิดการพัฒนาแบบเสรีนิยมใหม่(Neoliberalism) นั้น มีการพูดถึงอย่างมากในหลายมิติ เช่น เรื่องของกลไกการพัฒนาในเชิงระบบตลาด การแข่งขันเสรี รวมทั้งบทบาทของรัฐว่าจะเข้าไปตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง แต่เรื่องของแรงงานเองยังขาดการศึกษาอย่างจริงจัง เราจะปรับตัวอย่างไรต่อภาวะแบบนี้ หรือการจะสร้างระบบสวัสดิการเพื่อให้เกิดความมั่นคงกับการทำงานสำหรับแรงงานนั้นจะมาด้านไหนบ้าง

ในแง่ของการคิดของเสรีนิยมใหม่ ฐานการคิดที่สำคัญของแนวคิดนี้จะอยู่บนเงื่อนไขที่เน้นในเรื่องของอิสระเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เพราะฉะนั้นการให้ความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิที่เป็นเรื่องของปัจเจกนั้น ในเชิงการแข่งขันในระบบตลาดเป็นฐานคิดที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ถ้าดูผลที่เกิดกับแรงงานมันเป็นเรื่องที่สวนทางกับการที่เราพยายามจะสร้างระบบที่เป็นความมั่นคงกับแรงงาน เช่น หลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม เพราะว่าการที่เข้าสู่ระบบการแข่งขันก็จะต้องไปเน้นว่าจะทำอย่างไรที่จะได้กำไรสูงสุด และจะทำอย่างไรที่จะทำให้การแข่งขันนั้นมันสามารถจะพัฒนาไปได้โดยที่ผู้ประกอบการนั้นจะต้องพยายามที่จะทำให้ได้ผลประโยชน์เต็มที่ เพราะฉะนั้นในแง่ของพื้นฐานแนวคิดแบบนี้ การไกล่เกลี่ยหรือการกระจายที่จะผ่านกลไกของตลาดนั้นมันก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อแรงงานที่จะไม่ได้รับการคุ้มครอง เพราะฉะนั้นในส่วนที่จะเป็นตัวกลางเข้ามาผลักดันขับเคลื่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงนโยบายก็ต้องให้ความสำคัญตรงนี้มากขึ้น ว่าบทบาทของภาคแรงงานหรือบทบาทของรัฐที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยการกระจายที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมหรือความเป็นธรรมในทางสังคมตกอยู่กับพี่น้องแรงงานหรือว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมได้อย่างไร


การจ้างงานแบบยืดหยุ่น ความไม่มั่นคงสูงมาก
สถานการณ์ที่เป็นภาพรวมของสภาวะเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมากระบวนการที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมโลกมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต ซึ่งเมื่อก่อนเน้นที่เรื่องของการกระจุกตัวของกระบวนการผลิตภายใต้ระบบโรงงาน (factory system) และเน้นการใช้เทคโนโลยีขนาดสูง ขณะที่ปัจจุบันมีการกระจายการผลิตออกนอกโรงงาน รวมทั้งมีความซับซ้อนของการจ้างงานแบบใหม่ เช่น การจ้างแบบชั่วคราว การจ้างแบบรับเหมาช่วง การเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานนี้ทำให้เกิดความไม่มั่นคงสูงมาก และเสี่ยงต่อการเกิดการว่างงานสูง


ดร.โสภิณ จิระเกียรติกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โครงสร้างแรงงานในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาจะพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งแรงงานของเราเข้าสู่วัยสูงอายุมากขึ้น โดย 50% จะเป็นแรงงานที่อายุสูงกว่า 40 ปีขึ้นไป ขณะที่ภาวะการจ้างงานของประเทศไทยในช่วงปี 2513-2533 อยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ประมาณร้อยละ 84 ช่วงที่อัตราการจ้างงานตกลงอย่างมีนัยสำคัญคือช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ จากนั้นมาก็กระเตื้องขึ้นในปี 2551

แรงงานในภาคเกษตร เดิมมีสัดส่วนถึง 80% แต่ 40 ปีต่อมา ลดลงไปถึงครึ่งหนึ่ง โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรคือ ความเสี่ยงในการทำงาน โดยงานในภาคเกษตรเป็นงานที่หนัก ผลตอบแทนที่ได้รับยังอยู่ในอัตราที่ต่ำและมีความไม่แน่นอนที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ทิศทางการขยายตัวในอุตสาหกรรมบริการค่อนข้างสูงกว่าสาขาอื่น

ปัญหาของผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ, แรงงานข้ามชาติ,
แรงงานไร้รัฐและแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ
ในประเทศไทยมีกลุ่มประกอบวิชาชีพอิสระถึง 80% และปัญหาในกลุ่มนี้คือไม่มีสวัสดิการคุ้มครอง และทำให้เกิดรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ กลไกในเรื่องของการจัดสวัสดิการ-การคุ้มครองทำโดยกลุ่มชุมชนหรือกลุ่มนอกระบบ

ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ข้อมูลของกรมการจัดหางานในปี 54 เกือบ 2 ล้านคนที่เป็นแรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศอันนี้รวมทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย และ 60% อยู่ในกรุงเทพฯ นอกนั้นก็กระจายอยู่ในภาคต่างๆ และในภาคอีสานน้อยสุด ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาพรวมคือทั้งเข้าไม่ถึงและไม่เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต รวมทั้งขาดการคุ้มครองสิทธิแรงงานทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน เช่น ขาดอิสรภาพในการออกนอกพื้นที่ ในเรื่องของสิทธิในค่ารักษาพยาบาล

ในกลุ่มของแรงงานไร้รัฐหรือแรงงานไร้สัญชาติ ข้อมูลที่ปรากฏ ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายราว 6 แสนคน และแรงงานที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 1 ล้านคน และข้อมูลของ UNHCR ระบุว่ามีคนไร้รัฐที่อยู่ในประเทศไทยกว่า 3 ล้านคน ในกลุ่มนี้ปัญหาก็แตกต่างกันออกไป คือถูกกีดกันทางสังคม เรื่องสิทธิต่างๆ ก็จะถูกจำกัด รวมทั้งมองในฐานะที่คนเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ อีกอันที่เป็นปัญหาเนื่องจากกฎระเบียบไม่สอดคล้องกับแรงงานกลุ่มนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่แรงงานกลุ่มนี้จะต้องเข้าไปจดทะเบียนมีค่าใช้จ่ายในทางธุรการค่อนข้างสูง

กลุ่มแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ เป็นกลุ่มที่ส่งเงินกลับไทยค่อนข้างมาก ประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ปัญหาของกลุ่มนี้คือขาดมาตรการรัดกุมที่ป้องกันการถูกหลอกเอารัดเอาเปรียบในการไปทำงานต่างประเทศ ตัวแรงงานเองยังขาดกระบวนการที่จะทำความเข้าใจหรือเรียนรู้ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยที่ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ


การวางแผนผลิตกำลังพลที่มีทิศทางไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน การว่างงานแอบแฝง
ปัญหาเชิงโครงสร้างแรงงานไทย โดยสรุป คือ ในเรื่องของการวางแผนผลิตกำลังพลที่มีทิศทางไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ปัญหาที่ 2 คือเรื่องของการว่างงานแอบแฝง คนไม่ยอมทำงานในระดับต่ำกว่ารายได้ที่ตนเองได้รับ ปัญหาต่อมาคือค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ในขณะเดียวกันทิศทางของประเทศไทยที่ปรับโครงสร้างไปสู่การผลิตที่มีทักษะมากขึ้น แต่แรงงานเรายังมีทักษะต่ำ รวมถึงยังมีการจ้างบริการเหมาช่วง จ้างแรงงานข้ามชาติมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ในราคาที่ถูกกว่า เพราะฉะนั้นนี่เป็นมิติที่ขัดแย้งกัน

โครงสร้างของประชากรก็มีปัญหาคือเรามีแรงงานสูงอายุมากขึ้น ทิศทางของแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่ไร้ทักษะ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะถูกเลิกจ้างก็จะมีสูง

คนงานเองได้รับส่วนแบ่งจากความมั่งคั่งของประเทศน้อย การเติบโตของค่าจ้างก็ไม่ทันกับการเติบโตของผลผลิต ทำให้ค่าจ้างตอบแทนที่แท้จริงลดน้อยลง ส่วนรูปแบบการคุ้มครองแรงงานจากความไม่เป็นธรรมนั้น แรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นทางการก็มีการคุ้มครองเพียงบางส่วน ในส่วนของแรงงานนอกภาคเกษตร การคุ้มครองทางสังคมยังไม่ทั่วถึง การประกันการว่างงานยังไม่มีการคุ้มครองภายใต้ประกันใดๆ เลยที่รัฐจัดให้ในภาคเกษตร

ข้อเสนอเชิงนโยบาย
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการว่างงานลดลง แต่ภาระของแรงงานไทยก็คือดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้นทำให้คนมีกำลังซื้อน้อยลง ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อจากค่าจ้าง แต่ว่าตอนนี้เป็นเรื่องของความต้องการพลังงานมันเป็นตัวทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เพราะฉะนั้นทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและแรงกดดันให้เกิดการปรับค่าจ้างแรงงาน

มาตรการในการช่วยเหลือผู้ว่างงาน เช่น การสร้างงานหรือการสร้างรายได้ให้กับแรงงาน การมีกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม การมีสหภาพแรงงานหรือการต่อรอง การจ่ายค่าจ้างตามความสามารถของแรงงาน การยกระดับคุณภาพให้กับแรงงาน รัฐจะต้องอยู่ตรงกลางในการเชื่อมโยงนายจ้างกับลูกจ้าง รวมทั้งการมีเสถียรภาพในการผลิต ความมั่นคงในการทำงาน ระบบการตอบแทนและการคุ้มครองสิทธิที่มีประสิทธิภาพ

ภาพรวมของการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม แบ่งได้เป็น 4 เรื่องใหญ่ๆ 1. ควรจะมีระบบการช่วยเหลือทางสังคมที่จะต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับบริการให้ชัดเจน 2. ระบบการประกันทางสังคมที่เป็นโครงสร้างใหญ่จำเป็นจะต้องขยายการคลอบคลุมไปเพื่อสร้างหลักประกัน 3. การสร้างหลักประกันใหม่ๆ เช่น ระบบการออมแห่งชาติ กองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นทางเลือกใหม่ที่ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการบริการ สุดท้ายคือระบบบริการสังคมต้องยึดหลักความจำเป็นและความพอเพียง และทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมมากขึ้น

ความเห็นต่องานวิจัย
ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ นักวิชาการด้านแรงงาน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แนวคิดเสรีนิยมบางทียังเป็นแค่อุดมการณ์เท่านั้น เมื่อมาใช้จริงยังไม่มีลักษณะที่กว้างขวาง

เราพูดถึงเสรีนิยมใหม่และโลกาภิวัตน์ว่านำมาสู่ผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานมาก แต่ตั้งคำถามว่า ในสังคมไทยเรานำมาใช้ปฏิบัติแค่ไหน เช่น รัฐที่เป็นเสรีนิยมใหม่ รัฐต้องออกไปเลย ให้เป็นเรื่องของกลไกตลาด แต่สังคมไทยค่อนข้างเป็นรัฐที่รวมศูนย์ การแปรรูปไม่ถึงกับถอนรากถอนโคน ไม่ได้ขายกิจการหมด ดังนั้น มีข้อเสนอว่าต้องทำให้ชัดว่าเสรีนิยมใหม่ต่างจากเสรีนิยมเก่าอย่างไร และถามว่า ที่ไทยเป็นอยู่เป็นเสรีนิยมปฏิรูปหรือไม่ เพราะเมื่อใช้ Social Movement Unionism จะได้ไม่ติดกับดักที่ว่ารัฐต้องถอยไปให้เป็นเรื่องของภาคประชาชน เพราะแม้ว่า การจัดการโดยรัฐอาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมได้ แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเสนอให้ไปดูที่มิติของรัฐทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบแทน

เมื่อโลกาภิวัตน์เข้ามา มีเรื่องของการจ้างงานยืดหยุ่น เราใช้การ Outsource (การใช้บริการจากภายนอกองค์กร) แต่การ Outsource ต้องการฝีมือด้วย ทำให้การจ้างงานแบบนี้ไม่ใช่การกดค่าแรง ซึ่งเกิดขึ้นในตะวันตก ทำให้เกิดผู้ประกอบอาชีพอิสระสมัยใหม่ขึ้น ขณะที่ประเทศไทย กลับจ้างงานแบบยืดหยุ่นเพื่อลดต้นทุน เพราะฉะนั้นเราต้องจำแนกให้ชัดว่าเราอยู่ใต้การ Outsource แบบไหน เพราะเราไม่สามารถที่จะปฏิเสธการ Outsource ได้

สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่อยู่ในสังคมแรงงาน
เราจะขับเคลื่อนสังคมอย่างไร ในการวิเคราะห์รูปแบบการจ้างงาน เราเข้าสู่ระบบทุนนิยม การขยายตัวของระบบทุนนิยมมันคือพัฒนาการของระบบรับจ้างหรือแรงงานในระบบ เพราะฉะนั้นประเทศที่เป็นประเทศตะวันตก คนส่วนใหญ่จึงกลายเป็นสังคมของผู้ใช้แรงงาน สังคมที่อิงกับสังคมที่คนส่วนใหญ่อยู่ในโรงงานเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่ทำงานในภาคบริการ ดังนั้นการใช้แนวคิดเดิมในการจัดการต้องมีการปรับตัว

ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อผู้วิจัยในการจัดกลุ่มคนงานด้วยว่า หากเราเรียกแรงงานในระบบประกันสังคม 13 ล้านคนว่าเป็นแรงงานในระบบ ส่วนอีก 24 ล้านคน เราเรียกว่า แรงงานนอกระบบ จะกลายเป็นการแบ่งแยกเหมือนกับว่าในกับนอกระบบไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งอันนี้ต้องระวัง นอกจากนี้ชี้ว่า ในแรงงานนอกระบบส่วนหนึ่งคือผู้รับงานไปทำที่บ้าน ก็ยังเป็นกึ่งคนงานกับกึ่งผู้ประกอบอาชีพอิสระด้วย

โดยผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นเกษตรกร ข้างนอกเป็นเกษตรกรแต่เนื้อหาภายในไม่ใช่เพราะเป็นผู้ทำงานในเกษตรพันธสัญญา และ 80% ของเกษตรกรในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือกลายเป็นผู้ที่ทำงานภายใต้โครงการเกษตรพันธสัญญา เป็นความสัมพันธ์การผลิตแบบทุนนิยมและเกษตรพันธสัญญารูปแบบหลัก ไม่ได้อยู่อย่างพอเพียง เพราะฉะนั้นนี่เป็นการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันมีแรงงานรับจ้างในภาคเกษตรเกิดขึ้น ทั้ง 2 ส่วนนี้มันนำไปสู่การวิวัฒนาการไปสู่คนส่วนใหญ่ไปอยู่ในสังคมแรงงาน

เรามีประกันสังคมแต่ก็สำหรับแรงงานในระบบ ส่วนคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบก็เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ เพราะฉะนั้นมันมี 2 ระบบใหญ่ๆ แต่ยังเป็นเพียงการจัดระดับสวัสดิการในขั้นกลาง เราจะยกระดับให้สูงขึ้น ไปสู่การให้การคุ้มครองมิติทางกฎหมายและรัฐสวัสดิการ ซึ่งไม่ใช่ว่ารัฐเป็นผู้ที่จะต้องจัดทำทั้งหมด แต่รัฐจะต้องสร้างมิตินี้ แต่การจัดการอาจเป็นรัฐทำ องค์กรอิสระ หรือว่ารัฐที่ไปสนับสนุนให้จัดโดยชุมชนหรืออะไรก็ได้ เป็นเรื่องของการจัดการ

 


ประเด็น “ขบวนการแรงงานไทย” โดยเฉพาะปัญหาและอุปสรรคในการสร้างความเข้มแข็งและเอกภาพของขบวนการแรงงาน
นำเสนอรายงานวิจัยโดย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงาน

เมื่อเดือนเมษายนในการประชุมของสมัชชาปฏิรูปประเทศ มีมติอยู่อันหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการทำขบวนการแรงงานให้เข้มแข็ง โดยบอกว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว การเจรจาต่อรองค่าจ้างที่เป็นธรรม และการมีสวัสดิการเข้าไปหนุนเสริม มีความสำคัญต่อการสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างมาก ซึ่งตรงกับมติที่เกิดขึ้นจากการประชุมเอเชีย-ยุโรป เลเบอร์ฟอรั่ม ในหัวข้อวิกฤตโลกาภิวัตน์และปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่จัดที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อสรุปที่เหมือนกันว่าโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ของมัน และทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอ แล้วเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ ในการประชุมที่นั่นมีมติว่าถ้าจะต้องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ต้องแก้วงจรใหม่ โดยต้องทำขบวนการแรงงานให้เข้มแข็งเพราะจะเป็นตัวนำหรือองค์กรนำในการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปโลกและประเทศได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของขบวนการแรงงานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะคนงาน แต่ว่ากับสังคมและโลกด้วย


สมัยก่อนคำนิยามของขบวนการแรงงานกว้าง มีลักษณะที่ครอบคลุมคนงานทั้งหมด
วันนี้ขบวนการแรงงานนิยามของมันเล็กลง
คำนิยามของคำว่า "ขบวนการแรงงาน" ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สมัยก่อนคำนิยามของขบวนการแรงงานกว้าง มีลักษณะที่ครอบคลุมคนงานทั้งหมด และประเด็นการต่อสู้ของคนงานไม่ใช่ประเด็นเรื่องปากท้องอย่างเดียว แต่ว่าเป็นเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่กว้าง และขบวนการแรงงานสมัยก่อนจะเป็นลักษณะที่เป็น Labor Movement เป็นขบวนการของคนงานทั้งมวล แต่วันนี้นิยามถูกทำให้เปลี่ยนไป ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยแต่ในขอบเขตทั่วโลก ขบวนการแรงงานกลายเป็นขบวนการของคนงานในโรงงาน เป็นขบวนการขององค์กรจัดตั้งแบบสหภาพแรงงานที่จำกัดอยู่ในรั้วโรงงาน และมีประเด็นการต้อสู้ที่ถูกบีบให้แคบลงเป็นการต่อสู้เพื่อปากท้องในรั้วโรงงานเป็นสำคัญ เป็นกระบวนการสหภาพแรงงานที่เรียก Trade Union Movement

นิยามของขบวนการแรงงานในประเทศไทยก็ไปในทิศทางเดียวกัน วันนี้ขบวนการแรงงานนิยามของมันเล็กลง ถ้าย้อนกลับไปในอดีตก่อนปี 2518 ขบวนการแรงงานในประเทศไทยไม่ได้หมายความถึงคนงานที่อยู่ในรั้วโรงงาน เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน แต่ว่าเป็นขบวนการของคนงานทั้งมวล บางครั้งรวมเอาปัญญาชน นักศึกษา พ่อค้าแม่ค้าต่างๆ เข้ามาอยู่ในขบวนการ บางครั้งมีพรรคการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแรงงาน แต่ว่าวันนี้ขบวนการแรงงานเปลี่ยนไป ถ้าเราไปดูเส้นทางของมันจะเห็นว่าก่อนจะถึง 14 ตุลา 16 ขบวนการแรงงานไทยเป็นขบวนการในความหมายกว้าง เป็นขอบเขตที่มีมวลสมาชิกที่กว้างและมีเป้าหมายประเด็นการต่อสู้ที่ใหญ่โตกว่า มากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของคนงานในโรงงาน

แต่พอหลังปี 2518 ที่เรามีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่และใช้จนถึงทุกวันนี้ และหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการปราบปรามฝ่ายก้าวหน้าในสังคมไทย จุดนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญทำให้นิยามของขบวนการแรงงานเปลี่ยนไป โดยที่คนงานเองก็กังวลกับนิยามนี้ ทำให้ขบวนการแรงงานในประเทศไทยเป็นขบวนการของคนที่อยู่ในโรงงาน คนที่มีนายจ้าง ขอบเขตจำกัดมาก ถ้าเอาตามขอบเขตกฎหมายมีไม่เกิน 10 ล้านคน จากคนงาน 38 ล้านคน เอาเข้าจริง คนที่เข้าสู่ขบวนการแรงงานได้จริงๆ แคบลงไปอีก แล้วการต่อสู้ก็ถูกบีบให้แคบลงไปอยู่ในประเด็นปากท้องที่อยู่ในรั้วโรงงาน ขยายออกมาก็อยู่ในกรอบของไตรภาคี นี่คือข้อจำกัด นิยามถูกเปลี่ยนไปไม่สามารถขยายให้เข้มแข็งได้

ถ้าเราพูดถึงขบวนการแรงงานในวันนี้ เราก็หมายถึงขบวนการของคนงานจัดตั้งตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 2518 ที่กำหนดองค์กรแรงงานไว้ 3 แบบ คือ สหภาพ สหพันธ์ และสภา นอกนั้นกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย คนส่วนใหญ่ถูกกันออกไป แรงงานก็กลายเป็นขบวนการของคนส่วนน้อยไป ถ้าเราดูสถิติล่าสุดของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เดือน พ.ค. เรามีคนงานที่รวมอยู่ขบวนการแรงงานประมาณ 5 แสนกว่าคน เป็นสหภาพแรงงานยิบย่อยเป็นส่วนใหญ่ สหภาพแรงงานประเภทสถานประกอบการ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่เรามีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 18 ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปรูปแบบขององค์กรของคนงานเราจะมีความหลากหลายเป็นลักษณะที่เรียกว่าสหภาพทั่วไป ใครๆ ก็สามารถมาเป็นสมาชิกได้ หรือสหภาพอุตสาหกรรม หรือสหภาพช่างฝีมือ

ขบวนการแรงงานอ่อนแอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน เขามอง 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือในแง่ของเชิงปริมาณ ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นจำนวนมากน้อยของสมาชิกของขบวนการแรงงาน ส่วนประเด็นเชิงคุณภาพ คือความสามารถในการทำงานของขบวนการแรงงาน ความมีเอกภาพของขบวนการแรงงาน 2 ส่วนรวมกันแล้วถึงจะทำให้ขบวนการแรงงานเข้มแข็งขึ้นมา

ในเชิงปริมาณ วัดที่ความเข้มข้นของการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เรามีคนงานเป็นสมาชิกเพียง 1.47% ซึ่งถือว่าต่ำมาก และอีกส่วนคือความครอบคลุมของข้อตกลงร่วมที่มีอยู่ 0.72% ถือว่าต่ำมากเหมือนกัน เปรียบเทียบเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกเรานี่อยู่รั้งท้าย ถ้าเปรียบเทียบในโลกก็ไม่ต่างจากนี้ ขณะที่ประเทศหลายประเทศในยุโรปบางประเทศ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์คนเป็นสมาชิกขบวนการแรงงาน ถ้าดูความครอบคลุมของข้อตกลงร่วมที่เวลามีข้อตกลงแล้วมีผลต่อคนงาน เราก็อยู่ในส่วนท้ายเหมือนกัน

ในเชิงคุณภาพ วัดกันที่ขบวนการแรงงานมีเอกภาพ มีความสมานฉันท์ มีการแบ่งงานความรับผิดชอบร่วมกัน จิตสำนึก มีความเป็นอิสระพึ่งพิงตนเอง แล้วก็มีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าเอา 5 ตัวนี้มาจับในขบวนการแรงงานเราก็จะเห็นว่าเรายังมีข้อจำกัดอยู่อย่างมากทั้ง 5 ส่วน ส่วนที่เห็นได้ชัดก็คือความเป็นเอกภาพ ในระดับโลก ถ้ามีความเข้มแข็งมากก็จะมีสภาแรงงานหรือ National Center เพียงแห่งเดียวในประเทศ รองลงมาไม่เกิน 3 แห่ง ถ้าห่วยหน่อยก็มี 10 แห่งขึ้นไป แต่ของไทยมีถึง 13 แห่ง แสดงถึงความไม่เป็นเอกภาพในขบวนการแรงงาน

ทำไมขบวนการแรงงานจึงอ่อนแอ
ความอ่อนแอของขบวนการแรงงานมีปัจจัย 2 ด้าน คือ ปัจจัยภายนอกและใน ปัจจัยภายนอก ได้แก่ เราอยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยอำนาจเผด็จการในรูปแบบต่างๆ เรามีแรงงานตั้งแต่สมัยสมบูรณาณาสิทธิราชย์ แม้เปลี่ยนแปลงเป็นแบบมีรัฐธรรมนูญแล้วก็มีรูปแบบเผด็จการที่หลากหลาย ในสังคมที่เป็นเผด็จการยากที่ขบวนการแรงงานที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องและสร้างความเข้มแข็งได้ โดยผลจากการที่แรงงานรับจ้างในประเทศไทยกลุ่มแรกเป็นแรงงานข้ามชาติที่เป็นแรงงานจีน ทำให้รัฐไทยใช้นโยบายความมั่นคงมาจับเรื่องประเด็นแรงงาน และพยายามที่จะกำกับ ตีกรอบ ควบคุม แทนการพูดถึงการคุ้มครองส่งเสริมสิทธิแรงงาน

เรามีวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นแบบไพร่ฟ้าข้าไทย แบบอุปถัมภ์ เราไม่เชื่อเรื่องความเสมอภาค สังคมแบบนี้ยากที่ขบวนการแรงงานจะเกิดขึ้น ไม่ยอมรับการมีส่วนร่วม การรวมตัวต่อรอง อุตสาหกรรมไทยเกิดขึ้นบนฐานของเผด็จการที่เอื้อต่อฝ่ายทุน กรอบของแรงงานสัมพันธ์จึงถูกกำหนดโดยฝ่ายทุนมาโดยตลอด ฝ่ายทุนวางกติกาไว้ก่อนที่ฝ่ายแรงงานจะมีอำนาจในการต่อรอง

เราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันและรูปแบบการจ้างงานที่พัฒนาไปยิ่งทำให้ขบวนการแรงงานขยายลำบาก รูปแบบการจ้างงานที่ทำให้คนเข้าถึงสิทธิการรวมตัวยากขึ้น เราอยู่ในประเทศที่พัฒนาเป็นเสรีนิยมแบบสุดโต่งและเราเน้นการส่งออก กรอบแบบนี้ทำให้รัฐกดให้อำนาจการต่อรองของคนงานต่ำ เรายังมีกลไกมาตรการกฎหมาย ระบบไตรภาคีที่ล้วนแล้วแต่แบ่งแยกและปกครอง ที่ตีกรอบคนงานอยู่ในรั้วโรงงาน เรามีนายจ้างที่ใช้แรงงานสัมพันธ์เชิงรุก

ปัจจัยภายในของขบวนการแรงงานซึ่งพิจารณาได้จาก 2 ด้านคือ 1. ขนาดของฐานสมาชิก ซึ่งถือเป็นการพิจารณาเชิงปริมาณและ 2. สมรรถภาพในการทำงานของขบวนการแรงงาน ซึ่งเป็นการพิจารณาเชิงคุณภาพ ได้แก่ เรื่องความไม่เป็นอิสระของสหภาพแรงงานและการแทรกแซงครอบงำจากฝ่ายการเมือง ความไม่เป็นประชาธิปไตยและการผูกขาดอำนาจของผู้นำแรงงานอาวุโส ความแตกแยกภายในขบวนการแรงงาน ปัญหาการขาดฐานสนับสนุนทางการเงินจากมวลสมาชิก การขาดบุคคลากรและสมรรถภาพทางเทคนิค เป็นต้น

วันนี้ขบวนการแรงงานมีกรอบความคิด 3 ส่วน ส่วนหนึ่งคือกรอบที่ว่าลัทธิการเมือง พวกนี้เชื่อว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะทำให้ชีวิตของคนงานดีขึ้น เป็นแบบซ้ายที่เป็นลัทธิมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ และแบบขวาที่บอกให้รัฐเป็นคนเข้ามากำกับ อีกอันเป็นลัทธิสหภาพแรงงานก็มี 2 แบบ ที่จำกัดตัวเองอยู่กับการต่อรองอย่างเดียวกับสหภาพที่เป็น Social Democracy หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีส่วนหนึ่ง แต่ว่าจำกัด สุดท้ายเรามีขบวนการแรงงานที่เป็นแบบ Social Movement Unionism ที่เป็นขบวนการแรงงานที่ทำกับขบวนการทางสังคม ในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานไทยก็เป็นการต่อสู้ของ 3 แนวทางนี้ วันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ การจะทำงานร่วมกันของกลุ่มเหล่านี้ก็มีอยู่อย่างจำกัด

ถ้าจะสร้างขบวนการแรงงานให้เข้มแข็งมันมี 2 ทางคือ ต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและภายในขบวนการแรงงาน ชัยชนะของขบวนการแรงงานส่วนใหญ่เป็นขบวนการแรงงานทางสังคมทำงานกับภาคประชาสังคมต่างๆ ปรับโครงสร้างใหม่ ที่ประเทศอื่นๆ ทำกันต้องควบรวมองค์กรที่มีอยู่ให้เหลือน้อยลงเพื่อให้ได้มีอำนาจในการต่อรอง วันนี้การจัดตั้งไม่ง่ายเพราะรูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไป คนงานที่เป็นเป้าหมายสหภาพแบบเดิมมีน้อยลง เราต้องคิดถึงรูปแบบที่จะไปจัดตั้งใหม่ๆ คนใหม่ๆ เข้ามา จะต้องเชื่อมร้อยองค์กรที่มีการทำงาน เพราะว่ารวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย เป็นกฎธรรมชาติของขบวนการแรงงาน คนงานจะต้องรวมตัวกัน


 

ความเห็นต่องานวิจัย
ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
เวลาเราพูดถึงบริบทเงื่อนไขที่นำมาสู่ความอ่อนแอให้กับขบวนการแรงงาน งานชิ้นนี้จะเน้นที่รัฐเข้ามาควบคุมปราบปราม ซึ่งมีผลแน่นอน แต่เวลาพูดถึงเงื่อนไขนี้อาจมีปัญหาในระดับหนึ่งคือเงื่อนไขบริบทสังคมเศรษฐกิจการเมือง บางทีมีทั้ง 2 ด้าน คือมันอาจจะมีด้านที่เอื้อด้วย ซึ่งเราอาจจะไม่ได้พิจารณา

อีกเรื่องคือปัจจัยภายใน การที่ผู้คนไม่รวมตัวกันมันอาจจะมีปัญหาคลาสสิกคือปัญหาคนโดยสารฟรีไม่จ่ายสตางค์ (Free Rider) คือผลประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นประเด็นที่ทำให้การรวมตัวไม่เกิดขึ้น อาจต้องดูบริบทนี้ มากกว่าการควบคุมโดยรัฐ เช่น ปัจจัยในเชิงองค์กร ทฤษฎีระดมทรัพยากร (resource mobilization theory) ที่พูดถึงปัจจัยเรื่ององค์กร เข้ามาแก้ปัญหาเรื่อง Free Rider

ในประเด็นเรื่อง SMU (Social Movement Unionism) มีรากเหง้าใหญ่ก็คือ ลัทธิเสรีนิยมใหม่มันนำมาสู่ประเด็นความขัดแย้งซึ่งมันข้ามชนชั้นซึ่งมันมีปัญหาการขูดรีดร่วมกันที่มันมากไปกว่าปัญหาเรื่องของค่าจ้างแรงงาน แต่อาจเป็นเรื่องสาระของผู้คนเรื่องอาชีพ เรื่องบริโภคนิยมต่างๆเข้ามา มันมีอัตตลักษณ์ร่วมอะไรบางอย่างที่มากไปกว่าปัญหาเรื่องค่าจ้างแรงงาน เพราะฉะนั้นภาพแบบนี้จะคล้ายกับ New Social Movement ที่เห็นถึงชนชั้นกลางใหม่ มีมิติที่หลากหลายมากขึ้น

หัวใจของ SMU คงไม่ใช่แค่การมีทรัพยากรหรือองค์กร ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ขยายประเด็นร่วมได้ ภายใต้ความขัดแย้งที่มีอยู่มาก การสร้างอัตตลักษณ์ร่วมของผู้คนซึ่งเดือดร้อนร่วมกัน ความเข้มแข็งในมิติพวกนี้ จะไม่ใช่แค่ปริมาณของผู้คน

 

บทสังเคราะห์ภาพรวมและข้อเสนอเชิงนโยบายและทัศนะต่อความไม่เป็นธรรมทางสังคมของแรงงาน
นำเสนอโดย ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทัศนะต่อความไม่เป็นธรรมของแรงงานที่ตนเองได้รับ
กลุ่มแรงงานไร้รัฐไร้สัญชาติ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มที่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมเรื่องจำกัดเสรีภาพในเรื่องการเดินทาง การทำงาน ถูกมองว่าเป็นคนอื่น หมายถึงถูกมองว่ามาแย่งงานคนไทยทำด้วย เป็นคนที่ก่ออาชญากรรม เป็นพาหนะโรคติดต่อ แต่แม้จะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาก็ยอมรับความไม่เป็นธรรมอันนี้ได้ เพื่อที่จะได้ทำงาน

แรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศมีปัญหาร่วมกันกับแรงงานข้ามชาติ จะไม่มีสิทธิของความเป็นพลเมืองเมื่อไปอยู่ต่างประเทศ เขายังคาดหวังบทบาทของรัฐบาลไทยว่าจะไปช่วยเหลือเขา ในขณะที่คนที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในไทยจะไม่คาดหวังว่ารัฐบาลตัวเองจะช่วยเหลืออะไร

ในส่วนของผู้ทำการผลิตที่บ้าน สัมภาษณ์ 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ผลิตเองขายเองกับกลุ่มที่รับงานไปทำที่บ้าน ในกลุ่มนี้อธิบายเรื่องของการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเข้าไม่ถึงแหล่งทุน การที่ได้ค่าจ้างต่ำมากในกรณีผู้รับงานไปทำที่บ้าน ส่วนการเลื่อนชั้นทางสังคมเพื่อพ้นจากสภาพความไม่เป็นธรรมนี้ ทั้งหมดมองว่าไม่เห็นโอกาสที่จะได้เลื่อนชั้น การไม่มีโอกาสตรงนี้เป็นเรื่องอายุ เรื่องการศึกษา ขณะที่กลุ่มทำสินค้าหัตถกรรมส่วนหนึ่ง ไม่ต้องการขยับชั้นทางสังคม เพราะภูมิใจในอาชีพของตนเองซึ่งเป็นมรดกจากบรรพบุรุษ

ในกลุ่มผู้นำและสมาชิกสหภาพแรงงาน รู้สึกไม่มีความมั่นคงในการทำงานจากการที่มาเป็นผู้นำสหภาพแรงงาน ความคาดหวังในเรื่องการเลื่อนชั้นทางสังคม เขาคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้


เสียงสะท้อนจากแรงงาน
แรงงานข้ามชาติมองว่ามาจากการนำเสนอของสื่อ เพราะว่าสื่อโดยมากเสนอเรื่องของแรงงานข้ามชาติเสนอเป็นภาพลบตลอด ภาพที่เป็นภาพบวกไม่ค่อยมี เขาคิดว่ากฎหมายหลายเรื่องไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับท้องถิ่นมีอภิสิทธิ์ต่อแรงงานข้ามชาติ

ส่วนแรงงานไร้รัฐคล้ายกัน แต่แรงงานไร้รัฐมองว่าวันนี้เขาถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติ กฎหมายก็เป็นกฎหมายแบบเดียวกับที่ใช้กับแรงงานข้ามชาติ แต่เขาคิดว่าเขาไม่ใช่แรงงานข้ามชาติ เขาต้องการที่จะเป็นคนไทย เพราะเขาอยู่เมืองไทยมานาน เพียงแต่ไม่ได้รับสัญชาติเท่านั้น

ส่วนแรงงานไทยในต่างประเทศ เขาจะสะท้อนว่า ไม่มีกลไกหรือองค์กรที่คุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานในต่างประเทศไม่ได้คุ้มครองแรงงานอย่างทั่วถึง และถูกใช้กับแรงงานที่อยู่ในระดับมาตรฐาน แต่พอถึงโรงงานขนาดเล็กหรือคนงานก่อสร้าง แม่บ้าน หรือคนงานเหมาค่าแรงที่คนงานไทยไปทำ กฎหมายเหล่านี้ไม่ครอบคลุมถึงเลย ทั้งในเรื่องของค่าจ้างและสวัสดิการ

ส่วนผู้ทำการผลิตที่บ้านอธิบายถึงการเข้าไม่ถึงแหล่งทุนว่าเพราะเป็นคนจนจึงไม่มีหลักทรัพย์ไปค้ำประกัน ส.ส.ในสภาเป็นตัวแทนของนายทุนไม่ใช่ตัวแทนของคนจนและสังคมไทยมีระบบอุปถัมภ์

สำหรบผู้นำและสมาชิกสหภาพแรงงานอธิบายสาเหตุของความไม่เป็นธรรมว่าเขาเป็นคนจน ไม่มีที่ดินทำกิน ส่วนแรงงานที่มาจากชนบท เป็นผู้มีการศึกษาต่ำจึงต้องมาเป็นคนงาน เขามองว่าระบบการเมืองไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยมีระบบอุปถัมภ์ ประชาชนยังไม่มีจิตสำนึกการตรวจสอบนักการเมืองและข้าราชการ เขาคิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานเลย ไม่ว่าจะเป็นศาลหรือระบบแรงงานสัมพันธ์

การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการรวมกลุ่ม
กลุ่มแรงงานข้ามชาติ เขาบอกว่าเขาไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหรือการรวมกลุ่มต่อรองเพราะมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย การรวมกลุ่มได้เป็นครั้งคราวเช่นวันแรงงานข้ามชาติสากลวันที่ 18 ธันวาคม ในส่วนของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศยังไม่มีการรวมกลุ่มสร้างอำนาจการต่อรอง แต่ก็พยายามรวมกลุ่มช่วงเหลือกันเอง ซึ่งในกลุ่มที่ศึกษาเขาร่วมกันเองในนามของสมาคมรวมไทยในฮ่องกง

ผู้ทำการผลิตที่บ้านรวมกลุ่มสร้างอำนาจการต่อรองยังทำไม่ได้เพราะยังมีข้อจำกัดในเรื่องของลักษณะการผลิตที่ไม่ได้ผลิตแบบรวมหมู่และกฎหมายไม่เปิดโอกาส แต่ว่าเขาเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่ม และบางกลุ่มก็เคยลองทำแต่ไม่สำเร็จ เลยมาเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อที่จะต่อรองกับรัฐในเรื่องนโยบายแทน เช่น เครือข่ายแรงงานนอกระบบ

ในส่วนผู้ทำและสมาชิกสหภาพแรงงาน เป็นกลุ่มที่มีเงื่อนไขดีที่สุดที่จะร่วมทางการเมืองหรือรวมตัวต่อรอง ส่วนใหญ่เคยร่วมเคลื่อนไหวผลักดันนโยบาย กฎหมายแรงงาน ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ ส่วนกิจกรรมทางการเมืองเหลือง-แดง ส่วนใหญ่ไม่ได้ไปร่วม มีบางคนเท่านั้นที่ไปร่วม และพบว่าเห็นด้วยกับข้อรณรงค์ของแรงงานที่ว่าควรจะให้ลูกจ้างมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนทุกระดับในพื้นที่สถานประกอบการที่เขาทำงานอยู่ และเห็นว่าการเป็นสหภาพแรงงานแบบอุตสาหกรรมมันดีกว่าที่เป็นอยู่ที่เป็นสหภาพเดี่ยวๆ

ข้อเสนอเชิงนโยบาย
นโยบายด้านเศรษฐกิจและค่าจ้างแรงงาน ที่เร่งด่วนคือเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจต้องเปลี่ยนไปเน้นเรื่องคุณภาพชีวิตของคนแทนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นิยามค่าจ้างขั้นต่ำตามหลักสากล เป็นเรื่องที่ต้องเคลื่อนต่อไป เพราะ 300 บาท อยู่ได้คนเดียว ครอบครัวอยู่ไม่ได้ ประเด็นเรื่องของประชาคมอาเซียน องค์กรแรงงานเองต้องมีการจัดทำข้อเสนอนโยบายต่อรัฐก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ระยะยาว มองไปถึงการมีระบบเศรษฐกิจตลาดที่เป็นธรรมทางสังคม มีการจ้างงานที่เป็นธรรม Social Market Economy มองถึงระบบภาษีก้าวหน้าเพื่อนำไปสู่สังคมสวัสดิการโดยรัฐ

นโยบายด้านสิทธิและสวัสดิการเฉพาะหน้าว่ารัฐจะรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 87, 98, 177 และ 189 การแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติจัดตั้งและเป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ การปฏิรูปกองทุนประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ขยายการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ นโยบายด้านสังคมเฉพาะหน้า ต้องบรรจุวิชาสิทธิแรงงานอยู่ในหลักสูตรการเรียนของนักเรียน นักศึกษาระดับต่างๆ ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ควรรณรงค์ให้สังคมมีทัศนะที่ถูกต้องต่อแรงงานผ่านสื่อกระแสหลัก เรียกร้องให้นายจ้างยอมรับแรงงานในฐานะหุ้นส่วนทางสังคม

ระยะยาวทั้งรัฐและแรงงานจะต้องมีการรณรงค์ให้มีการปรับทัศนคติของสังคมไทยให้ยอมรับบทบาทขององค์กรแรงงาน ขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงาน ในฐานะสถาบันที่เป็นตัวแทนการต่อสู่เพื่อความเป็นธรรมของแรงงาน

นโยบายเพิ่มอำนาจการต่อรองคือการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการแรงงานในฐานะสถาบันที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เฉพาะหน้าขบวนการแรงงานในส่วนที่เป็นสหภาพแรงงานต้องพัฒนาบทบาทให้เป็นองค์กรนำที่จะเป็นตัวแทนปกป้องสิทธิแรงงานทุกกลุ่ม ระยะยาวต้องพัฒนาเป็นสหภาพแรงงานเพื่อสังคม การสร้างเครือข่ายประสานงานของขบวนการแรงงานในประชาคมอาเซียนเพื่อที่จะรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมอตุลย์นำทีมชูป้ายโต้สมศักดิ์ เจียมฯ ยัน “ในหลวงทรงงานหนัก”

$
0
0

 

ภาพกิจกรรม “1 ภาพ 1 พระราชกรณียกิจ ย้ำเตือนธรรมศาสตร์”
จาก เ
พจในเฟซบุ๊คของ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีดี 

 

เพจในเฟซบุ๊คของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีดี  รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. (31 ก.ค.) กลุ่มอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประชาชนทั่วไป นำโดยนายแพทย์ ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ รวมตัวที่ "อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อชูป้ายข้อความที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ภายใต้ชื่อกิจกรรม “1 ภาพ 1 พระราชกรณียกิจ ย้ำเตือนธรรมศาสตร์” เตือนความทรงจำทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้นิสิตนักศึกษา ชาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รู้สำนึกถึงประวัติศาสตร์และความดีงามของสถาบันอย่างแท้จริง

ไทยทีวีดี รายงานถึงสาเหตุของการจัดกิจกรรมนี้ของกลุ่มดังกล่าวด้วยว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ วันที่ 18 กรกฎาคม 2555 นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการโพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัวของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เองว่า “ไหนๆ วันนี้ มาศิริราชแต่เช้า เดี๋ยวแวะเยี่ยมคนรู้จักบางคนดีกว่า ได้ข่าวว่ามานอนโรงพยาบาลอยู่นาน บ้านช่องไม่ยอมกลับ”  ซึ่งในข้อความนี้ มีการโพสต์ รูป เป็นรูปอาคารของโรงพยาบาลศิริราช และมีรูปของพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2555 ได้มีการโพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัวของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยกล่าวว่า “ตกลงว่าบรรดาคนที่จงรักภักดี รู้หรือพิสูจน์ได้อย่างไรนะครับว่า ในหลวงทำงาน ในหลวงทรงงานหนัก”  คำเหล่านี้ทำให้อดีตนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และประชาชนทั่วไปพบเห็นแล้วรู้สึกไม่สบายใจ และตระหนักถึงระบบการศึกษาซึ่งมีนาย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นอาจารย์อยู่ จึงเชิญชวนประชาชนทั่วไป ออกมาจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อบ่งบอกกับเยาวชนนิสิตนักศึกษาให้ตระหนักถึงความจริงว่า ในหลวงทรงงานหนักอย่างไร และทำไมคนไทยถึงรู้สึกรักต่อพระองค์อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ทางกลุ่มดังกล่าวยังได้มีการนำหนังสือเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริมามอบให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรียกร้อง ต้องการให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ดำเนินการตักเตือนอาจารย์และนักศึกษาที่มีพฤติกรรมดังกล่าวด้วย

ด้านนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้มีการโพสต์โต้ในเพจเฟซบุ๊คของกลุ่มยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม - Social Sanction: SS ซึ่งมีการนำภาพกิจกรรมนี้มาเผยแพร่พร้อมข้อความด่าทอนายสมศักดิ์ โดยสมศักดิ์โพสต์แสดงความเห็น เช่น  “อิอิ ตกลงก็ไม่เห็นจะตอบที่ผมถามได้นี่ครับ ต่อให้ไปยกป้ายสักหมื่นแผ่น เอาหนังสือ "พระราชกรณียกิจ" อีกหมื่นเล่มมา ก็ไม่ตอบคำถามนี่ครับ เพราะข้อมูลและมุมมอง ในป้าย ในหนังสือ เป็นข้อมูลด้านเดียวทีใช้การบังคับยัดเยียด ไม่อนุญาตให้เสนอด้านอื่น ไม่อนุญาตให้ประเมิน ตรวจสอบ วิพากษ์วิจาณ์นี่ครับ”

นายสมศักดิ์ ยังโพสต์อีกว่า “ประเด็นนี้ ไม่เห็นพวกคุณตอบได้สักคน ปล. อย่างที่ผมเขียนไปแล้วว่า ยิ่งคุณด่าผมเท่าไร ยิ่งคอนเฟิร์มสิ่งที่ผมเขียนไงว่าคุณจะประเมินใคร ประเมินอะไร ต้องให้คนมีเสรีที่จะเสนอด้านต่างๆ คุณด่าผม บางคนชมผม ก็ว่าๆกันมา แล้วให้แต่ละคนตัดสินเอง พิลึกมากที่คนรักเจ้า กลับไม่กล้าใช้บรรทัดฐานธรรมดาๆ แบบนี้ในกรณีเจ้า กลัวอะไรหรือครับ? กลัวว่าที่ตัวเองพูดๆ นี่พิสูจน์ไม่ได้? เลยต้องยังใช้วิธีบังคับแบบนี้?”

“ทุกองค์กร ทุกบุคคลที่เป็นสาธารณะ ตั้งแต่นักการเมือง ถึงข้าราชการ ถึงนักวิชาการอย่างผม หรือกระทั่งถึงละครทีวี ร้านอาหาร พวกเราไม่ใช่ว่าใช้วิธีเปิดให้เสนอข้อมูลมุมมองต่างๆ ได้ ประเมิน ตรวจสอบ วิจารณ์ได้ แล้วก็ให้แต่ละคนเลือกที่จะตัดสินใจว่าอะไรหรือใครดี ไม่ดีจริง แค่ไหนหรือ มีแต่กรณีสถาบันฯ นี่แหละที่พวกคุณเชื่อเอาแบบหัวปักหัวปำ ทั้งๆ ที่มีวิธีการเผยแพร่ข้อมูลแบบที่ผมว่ามา” นายสมศักดิ์ โพสต์ย้ำ

อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มธ.  ยังได้โพสต์ถึงหลักการปรัชญาการศึกษาร่วมสมัยทั่วโลกว่า  “เขาถือว่า ที่สอนๆ กันนี่คือให้นักศึกษารู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม (ที่ฝรั่งเรียกว่า Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์-ประชาไท))”

“ข้อมูล มุมมอง เรื่องสาธารณะทุกเรื่อง คุณต้องเปิดโอกาสให้เสนอได้ในทุกๆ ทาง เปิดให้วิพากษ์ตรวจสอบประเมินอย่างเสรี ผมเคยพูดหลายครั้ง ขนาดทฤษฎีวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์ เขาก็ทำกันแบบนี้ครับ แต่คนรักเจ้าที่มีการศึกษา กลับไม่ "เก็ต" แฮะว่า ข้อมูล มุมมองเรื่องสถาบันฯ ที่เชื่อกันเอาเป็นเอาตายนี่ ไม่ได้มาด้วยมาตรฐานแบบนี้ (ตรงข้าม ได้มาด้วยการบังคับโปรแกรมด้านเดียว แล้วห้ามเสนอแบบอื่น ห้ามตรวจสอบ วิจารณ์) เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมเขียนๆ นี่ คือเพื่อไม่ให้การศึกษาที่เราทุ่มเทกันไปเยอะนี่มันสูญเปล่า ได้คนที่มีการศึกษาที่ไม่รู้จักคิด เอาแต่เชื่ออะไรที่ไม่ยอมให้พิสูจน์นี่แหละครับ”สมศักดิ์ระบุ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

10 วันรอมฎอนตาย 20 มากสุดในรอบ 3 ปี ‘ยิ่งลักษณ์’ ไม่เชื่อแบ่งแยกดินแดน

$
0
0

สรุปสถิติความรุนแรงในสิบวันแรกของเดือนรอมฎอน 20-29 กรกฎาคม มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 20 คน และบาดเจ็บอีก 40 คน สูงสุดยังเป็นชาวบ้าน รองลงมาเป็นตำรวจและทหาร

เว็บไซด์ของพรรคเพื่อไทย รายงานเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) สัญจรที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ในวันเดียวกันถึงกรณีมอบหมายให้ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ดูแลการแก้ปัญหาความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ในฐานะที่ร.ต.อ.เฉลิม ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จึงให้ร่วมกับ สมช.นำปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมาไปศึกษา และดูว่าจะมีแนวทางอย่างไรในการทำงานร่วมกัน แต่ยังคงใช้นโยบายและแนวทางเดิมที่เสนอไว้ต่อรัฐสภา เพียงแต่ให้ไปดูรายละเอียดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมกับสมช. ว่าจะลงไปทำความเข้าใจในพื้นที่และก่อให้เกิดความสงบได้อย่างไร โดยให้ตำรวจช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปดูแลเรื่องการประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจให้ทั่วถึง

ยันไม่มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีลงไปดูแลเป็นการเฉพาะหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงไม่ต้อง เพราะได้มอบให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ เป็นคณะกรรมการดูแลอยู่แล้ว และยังมี ร.ต.อ.เฉลิม เข้ามาช่วยเสริม ส่วนการดูแลเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เสียขวัญจากการถูกยิงรายวันนั้น นายกฯ กล่าวว่า มีกระบวนการดูแลเยียวยาอยู่แล้ว โดยเฉพาะกองทัพได้ให้ไปดูแลผู้ที่เสียชีวิตแล้ว เพราะทุกคนลงไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยของประชาชน  ส่วนกล้องซีซีทีวีที่ถูกทำลายนั้น ก็ต้องป้องกันและเลือกจุดที่ติดตั้ง โดยให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้และปรับวิธีการทำงานในแต่ละพื้นที่อีกครั้ง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ นายกฯ ปฏิเสธทันทีว่า "ไม่ใช่คะ อย่ามาพูดอย่างนั้น" จากนั้นนายกฯ หันไปทางพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมกล่าวว่า"คนนี้รู้เรื่องดี"

โพลล์ชี้ไฟใต้เกิดจากพวกค้ายา-อาวุธสงคราม

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2555 นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประเด็นข่าวร้อน ผลงานยอดเยี่ยม และต้องปรับปรุงของรัฐบาล กับพฤติกรรมคนไทย ความหวัง และความกลัว ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดปัจจุบัน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ขอนแก่น สุรินทร์ อุดรธานี พัทลุง สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช จำนวน 2,229 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.2 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์

ผลการศึกษาปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ร้อยละ 55.7 ระบุเป็นปัญหาขบวนการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธสงคราม การผสมโรงกันของผู้ก่อการร้าย รองลงมาคือ ร้อยละ 46.6 ระบุ ความไม่เป็นเอกภาพของ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และภาคประชาชน ร้อยละ 45.3 ระบุ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 44.9 ระบุ ความล่าช้าในการเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุ ร้อยละ 42.1 ระบุ เจ้าหน้าที่บางหน่วยใส่เกียร์ว่าง ขัดแย้งกันเอง ร้อยละ 36.9 ระบุ เจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับขบวนการก่อการร้ายเสียเอง และร้อยละ 23.8 ระบุอื่นๆ เช่น สภาพพื้นที่เข้าถึงดูแลยาก ขบวนการสร้างผลงาน และกลุ่มก่อการร้ายต้องการทำลายขวัญ กำลังใจของเจ้าหน้าที่และประชาชน เป็นต้น

10 วันแรกรอมฎอนแรงสุดในรอบ 3 ปี

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้สรุปสถิติความรุนแรงในสิบวันแรกของเดือนรอมฎอน ระหว่างวันที่ 20-29 กรกฎาคม 2555 พบว่า มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 20 คน เฉลี่ยวันละ 2 คน และบาดเจ็บอีก 40 คน โดยทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงสุด ยังเป็นชาวบ้าน รองลงมาเป็นตำรวจและทหาร (อ่านรายละเอียดในตาราง)

โดยสถิติดังกล่าว พบว่า ในช่วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอนปี 2555 มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงมากกว่าในช่วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอนปี 2554 และปี 2553ที่ผ่านมา

โดยในช่วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอนปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียง 8 คน โดยเป็นชาวบ้านมากที่สุด และมีผู้บาดเจ็บ 37 คน โดยเป็นทหารมากที่สุด

ส่วนช่วง 10 วันแรกของเดือนรอมฎอนปี 2553 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรง 15 คน ยังเป็นชาวบ้านมากที่สุด และมีผู้บาดเจ็บ 15 คน เป็นทหารมากที่สุด

ทั้งนี้ ศาสนาอิสลาม ได้แบ่งเดือนรอมฎอนออกเป็น 3 ช่วง และมีความสำคัญแตกต่างกัน ได้แก่ ช่วง 10 วันแรก เป็นช่วงที่พระเจ้าเปิดประตูแห่งความเมตตา ช่วง 10 วันที่ 2 พระเจ้าเปิดประตูแห่งการอภัยโทษ และ ช่วง 10 วันสุดท้าย พระเจ้าเปิดประตูให้บุคคลที่พระองค์กำหนดเป็นชาวนรกออกจากขุมนรก (ที่มาhttp://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=60&id=1604)

ตารางสถิติความรุนแรงในสิบวันแรกของเดือนรอมฎอน (20-29 กรกฎาคม 2555)

รวบรวมโดย ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ข้อมูลเมื่อ 12.00 วันที่ 30 กรกฎาคม 2555

ตารางเปรียบเทียบจำนวนเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบทางตรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบจำแนกตามภูมิหลังในห้วงสิบวันแรกของเดือนรอมฎอน (20-29 กรกฎาคม พ.ศ.2555 หรือ 1-10 รอมฎอน ฮ.ศ.1433) - [คอลัมน์ A] ที่เทียบกับสิบวันแรกของเดือนกรกฎาคมในปีที่แล้ว (20-29 กรกฎาคม พ.ศ.2554) – [คอลัมน์ B] และสิบวันแรกของเดือนรอมฎอนในปีที่แล้ว (1-10 กรกฎาคม พ.ศ.2554 หรือ 1-10 รอมฎอน ฮ.ศ.1432) – [คอลัมน์ C]

 


ภูมิหลัง

ของเหยื่อ

A

B

C


1-10 รอมฎอน

ฮ.ศ.1433


 


1-10 รอมฎอน

ฮ.ศ.1432


20-29 กรกฎาคม

พ.ศ.2555


20-29 กรกฎาคม

พ.ศ.2554


1-10 สิงหาคม

พ.ศ.2554


เสียชีวิต


บาดเจ็บ


เสียชีวิต


บาดเจ็บ


เสียชีวิต


บาดเจ็บ

ราษฎร


8


18


4


5


9


4

ตำรวจ/ตชด/นปพ


5


6


2


0


1


4

ทหาร


4


13


1


15


1


5

ชรบ/อส/อปพร


1


0


0


7


1


0

ครู/บุคลากรทางการศึกษา


0


0


0


4


1


1

กำนัน/ผญบ/ผชบ


2


0


0


1


1


0

ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ


0


1


0


1


0


0

ลูกจ้างของรัฐ


0


0


0


1


1


1

ลูกจ้างของเอกชน


0


0


1


0


0


0

เยาวชนไม่เกิน 15 ปี


0


1


0


3


0


0

คนร้าย


0


1


0


0


0


0

รวม


20


40


8


37


15


15

 

หมายเหตุ: เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลามที่นับในแบบจันทรคติ (ฮิจเราะห์ศักราช: ฮ.ศ.) ซึ่งจะแตกต่างกับการนับวันในปฏิทินสากลแบบเกรกอเรี่ยนที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเดือนรอมฎอนในแต่ละปีจะร่นเร็วขึ้นราว 10 – 11 วัน

ที่มาของตาราง http://www.deepsouthwatch.org/node/3430

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกร็ดข่าว: ส่วนสูง-น้ำหนักของคุณใกล้เคียงกับนักกีฬาโอลิมปิกคนไหน ลองเช็คดู

$
0
0

เว็บไซต์บีบีซีมีของเล่นเล็กๆ น้อยๆ ให้ผู้ติดตามข่าวกีฬาโอลิมปิกได้รู้สึกใกล้ชิดกับเกมกีฬาแห่งมนุษยชาติมากขึ้น โดยการเปรียบเทียบน้ำหนักตัวและส่วนสูงว่าใกล้เคียงกับนักกีฬาโอลิมปิกคนใด

จากข้อมูลของบีบีซี นักกีฬาที่ตัวเล็กที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้คืออาซูกะ เทราโมโตะนักกีฬายิมนาสติกหญิงจากญี่ปุ่น ที่มีส่วนสูง 136 ชม. น้ำหนัก 30 กก. ขณะที่นักกีฬาที่ตัวโตที่สุดเป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลชายจากจีน จาง เจียงซู เจ้าของส่วนสูง 219 ซม. หนัก 110 กก.

ลองกรอกข้อมูลดู คุณอาจจะได้รู้จักนักกีฬาจากประเทศต่างๆ ตามประเภทกีฬาที่ไม่คุ้นเคยเลยก็เป็นได้ :)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับณัฐ : 112, คุก กับความหมายของการนอนตื่นสาย

$
0
0

 

ณัฐ ชายหนุ่มอายุ 29 ปี เป็นคนกรุงเทพฯ พ่อฆ่าตัวตายตอนเขาอายุ 2 ขวบ เนื่องจากธุรกิจที่ทำล้มเหลว แม่ก็มาเป็นมะเร็งเสียชีวิตตอนเขาอายุ 22 ปี เหลือคนในครอบครัวเพียงน้องชายคนเดียว อาม่าที่เลี้ยงดูมา และญาติห่างๆ อีกบางส่วน ณัฐเคยไปเรียนทางด้านการเงินการธนาคาร แต่เลิกกลางคันไม่จบการศึกษา เนื่องจากนิสัยไม่ชอบห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก หันมาเอาดีทางการทำธุรกิจในโลกออนไลน์ (E-Commerce) และเริ่มสนใจการเมืองหลังการรัฐประหาร 2549 เพราะอยากรู้เบื้องลึกเบื้องหลัง อันนำไปสู่การติดตามข่าวสารทางการเมืองจากแหล่งต่างๆ 

ไม่เคยไปร่วมชุมนุมที่ไหนหรือยุ่งกับพรรคการเมืองใดๆ หากณัฐติดตามข่าวสารด้วยความกระตือรือร้น โดยเฉพาะจากเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน แหล่งรวมความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญเว็บหนึ่งในโลกออนไลน์เวลานั้น  จนกลางปี 2552 หลัง จากมีการเผยแพร่ลิงก์ของคลิปและภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันในเว็บบอร์ด โดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ ณัฐได้ส่งลิงก์ดังกล่าวทางอีเมล์ไปให้เพื่อนชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ที่สเปน ซึ่งเขามีโอกาสรู้จักผ่านโลกอินเตอร์เน็ต 

ฝรั่งคนดังกล่าวซึ่งใช้นามแฝงว่า stoplesemajeste ได้นำคลิปดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์ของตนเอง จนทางดีเอสไอและกระทรวงไอซีทีของไทยถึงกับส่งตำรวจติดตามไปสอบสวนฝรั่งคน นั้นถึงสเปน ด้วยนำสิ่งที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมขึ้นสู่ระบบ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เนื่องจากกฎหมายครอบคลุมไปไม่ถึงต่างประเทศ หากจากการสอบสวน ตำรวจก็ได้เข้าถึงอีเมล์ของฝรั่งคนนั้น จึงได้ติดตามมาถึงอีเมล์ของณัฐ ที่ส่งลิงค์มาจากเมืองไทย

13 ตุลาคม 2552 ดีเอสไอยกกำลังราว 10 คน มาจับเขาที่คอนโด โดยณัฐไม่ได้มีโอกาสรู้ล่วงหน้าว่าตนถูกกล่าวหาในเรื่องนี้ เขาเล่าฉากนั้นอย่างตื่นเต้นว่าบ่ายวันนั้น ได้ยินเสียงทุบประตูห้องตัวเอง ดังมากๆอย่างที่คนทั่วไปไม่น่าเคาะกัน เขาตอบรับ และเดินไปเปิดประตู ก็พบชายหญิงเป็น 10 คนยืนอยู่ข้างหน้า ในชุดแบบพนักงานออฟฟิศ หลังจากนั้นเขาก็อยู่ในอาการงุนงง เจ้าหน้าที่แสดงหมายอะไรสักอย่าง แล้วก็แจ้งว่าเขาได้ส่งคลิปที่มีเนื้อหาหมิ่นฯ และใช้คำเกี่ยวกับสถาบัน พอได้ฟังณัฐก็ตกใจ ก่อนที่จะถูกล็อคตัวแล้วใส่กุญแจมือ ตามด้วยการค้นห้องพักจนหมด พร้อมยึดเอกสาร ซีดี คอมพิวเตอร์ ไดอารี่ สมุดต่างๆ ไป

หลังจากถูกจับ เขาถูกนำตัวไปสอบสวนที่กรมสืบสวนคดีพิเศษ ตอนนั้นตำรวจแจ้งข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ --ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบหรือเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะลามก -- เพียง เท่านั้น ณัฐถูกสอบสวนและคุมตัวอยู่ที่ดีเอสไอนานสองคืน ถูกซักจากเจ้าหน้าที่เป็นวันๆ ตั้งแต่เรื่องวิธีการเข้าเว็บไซต์ วิธีการโพสต์ รวมทั้งต้องเปิดเผยการเข้าอีเมล์ของตนเองให้เจ้าหน้าที่ ก่อนถูกส่งตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นอนอยู่ที่นั่นอีก 12 คืน ก่อนได้ประกันตัวในปลายเดือนตุลาคมนั้นเอง ด้วยเงินสด 2 แสนบาทที่ญาตินำมาช่วยประกัน

หนึ่ง เดือนต่อมาเรื่องไปไกลยิ่งกว่านั้น เขาถูกหมายเรียกไปที่กรมสืบสวนคดีพิเศษอีกครั้ง โดยไม่ทราบว่าเรียกไปทำอะไร เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติมจากข้อหาเดิม – หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้าย -- คดี เริ่มไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป ณัฐรู้สึกอย่างนั้น กลับมาพร้อมความเครียดหลังทราบข้อกล่าวหาเพิ่ม และตระหนักในตอนนั้นเองว่าคงต้องติดคุกแน่ๆ

“ผม ถูกมองว่ามีเจตนาหมิ่น แม้จะไม่ได้สร้างเว็บ ไม่ได้ทำคลิปโดยตรง แต่ได้เอาอะไรที่ไม่บังควรไปเล่า ส่งต่อ จะหาว่าหมิ่นให้ได้ แต่คลิปนั้นมันมีในเว็บมาแล้ว ผมไม่ได้ทำอะไรเลย เป็นคลิปที่ไม่ได้แต่ง มันเป็นของจริง มันอยู่ในอินเตอร์เนทเรียบร้อยแล้ว”

14 ธันวาคม 2552 ณัฐ จำวันได้แม่นยำ มันเป็นวันที่เขารู้สึกแย่ที่สุดวันหนึ่งในชีวิต วันที่ศาลออกหมายนัดให้ไปรายงานตัว เขาไปคนเดียว ไม่มีทนาย ไม่มีเพื่อนแม้แต่คนเดียวไปด้วยเพราะไม่รู้จะติดต่อใครในคดีแบบนี้ เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ศาลถามเขาว่าจะเอาอย่างไร จะรับสารภาพหรือไม่ ถ้ารับก็ตัดสินเลย

ณัฐบอกว่าตอนนั้นเขารู้สึกมืดมัวมาก ไม่รู้เลยว่าจะสู้อย่างไร ทำอะไรได้บ้าง เพราะตระหนักว่าที่ผ่านมาคดีแบบนี้แทบไม่มีใครชนะ หรือหากรับสารภาพไปแล้วจะมีโทษเท่าไร จะได้ลดโทษขนาดไหน สมองเขาเวลานั้นทำงานอย่างเคร่งเครียด

สุดท้ายเขาตัดสินใจรับสารภาพด้วยไม่รู้จะทำอะไรได้ ศาลจึงพิพากษาทันทีในวันนั้นเอง ตัวเลขของโทษคือจำคุก 9 ปี แต่เมื่อรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง จึงเหลือ 4 ปี กับอีก 6 เดือน “ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาสั้นๆ บอกว่าโทษของจำเลย 3 ปี 18 เดือน ผมอึ้งตกใจ ศาลต้องพูดซ้ำสองครั้ง เพราะเห็นผมเหมือนฟังไม่รู้เรื่อง ซีดและยืนนิ่งอยู่ คิดว่าต้องอยู่ในคุกเป็นปีๆ เลยหรือ เจ้าหน้าที่ศาลก็มาพาเข้าห้องขัง รู้สึกแย่และกลัว”  

หลังจากวันนั้น อิสรภาพของเขาก็หมดสิ้นลง 

ณัฐถูกจำแนกไปอยู่ในแดน 4 ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงครึ่งปีแรก เขาต้องไปใช้แรงงานปั่นถ้วย 5 กิโลกรัม ต่อวัน เป็นเวลากว่าครึ่งปี เขาเล่าว่าผู้คุมคิดว่าให้นักโทษทำงานเพื่อไม่ให้เครียดจากการอยู่เฉยๆ แต่สำหรับเขากลับยิ่งเครียดมากขึ้นจากการทำงานเหล่านี้

จนกลางปี 2553 มี การประกาศรับสมัครคนงานฝ่ายการศึกษา โดยเปิดรับนักโทษที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้มาสมัคร ณัฐไปกรอกใบสมัครไว้เพราะทนปั่นถ้วยไม่ไหว หลังจากนั้นก็ถูกเรียกไปทดสอบการพิมพ์ดีด การใช้โปรแกรมต่างๆ จนผ่านและได้รับการบรรจุในฝ่ายการศึกษา เข้าไปทำหน้าที่หานักโทษเข้ามาเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ และเป็นผู้ช่วยสอนการใช้คอมพิวเตอร์ ใช้โปรแกรมต่างๆ แกนักโทษในเรือนจำ ซึ่งทำให้งานในคุกของเขาเบาลง

ช่วงติดคุก เขารู้สึกว่าเป็นวันเวลาที่ตกต่ำที่สุดในชีวิต ณัฐยอมรับว่าตัวเองปรับตัวไม่ได้เลยตลอดเวลาที่อยู่ในคุก เนื่องจากนิสัยชอบอยู่คนเดียว มีโลกส่วนตัว แต่เรือนจำมิใช่สถานที่ที่มีพื้นที่แบบนั้น เขาบอกให้ลองนึกภาพการอยู่ในสถานที่แบบโรงเรียนรวมกับตลาดสด ในโรงเรียน เราถูกบังคับให้เข้าแถว นับยอดทุกๆ วัน ขณะตลาดก็เต็มไปด้วยผู้คนและเสียงจอแจหนวกหูอยู่ตลอดเวลา พร้อมๆ กับความแออัดยัดเหยียดของผู้คนในจำนวนที่ล้นปริมาณที่รับได้ของคุก จนแทบหาความสงบไม่ได้ มิหนำซ้ำยังเดินหนีไปไหนก็ไม่ได้เนื่องจากรั้วกรงล้อมทุกด้าน

“ตอน เข้าไปติดใหม่ๆ ผมคิดว่าจะตายในคุกด้วยซ้ำ ไม่คิดว่าจะอยู่ได้ แต่ก็อยู่มาได้แบบทุกข์ทรมาน ผมปรับตัวไม่ได้ตลอดเวลาที่อยู่ในคุก ผมจะเป็นโรคหดหู่ ซึมเซา สีหน้าจะแย่ตลอด หลายคนในคุกจะถามว่ามึงไหวหรือเปล่า” 

ท่าทางอาการเช่นนั้น ทำให้ณัฐถูกนักโทษร่วมคุกบางคนเรียกว่า “ไอ้รั่ว” อันเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่ปรับตัวเข้ากับคุกไม่ได้ พวกอยู่ในคุก แต่ใจอยู่นอกคุก หรือจิตหลุดนิดหน่อย เช่น พวกถูกเมียที่อยู่ข้างนอกทิ้งหรือไม่มีใครมาเยี่ยม

สำหรับณัฐ ญาติรอบตัวไม่ค่อยได้มาเยี่ยม ไม่ค่อยได้ช่วยเหลือ อาจด้วยความไม่เข้าใจ คิดว่าไปว่าเขาไปหาเรื่อง ไปมีปัญหากับสถาบัน จึงมีแต่น้องชายและอาม่ามาเยี่ยมบ้างนานๆ ที ความโดดเดี่ยวและปรับตัวไม่ได้ทำให้เขายอมรับตรงๆ ว่าเคยคิดจะฆ่าตัวตายในคุกอยู่เหมือนกัน หากที่สุดเขาก็ทนอยู่มาโดยไม่เคยทำผิดอะไร จนได้สถานะเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม

จากตัวคนเดียว เขาเริ่มได้รู้จักนักโทษคดี 112 คน อื่นๆ เริ่มจากลุงวันชัย ที่อยู่ในแดนเดียวกันเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมคนแรกที่เขาได้รู้จัก ตามด้วยสุชาติ นาคบางไทร ที่ถูกจำแนกเข้ามาในแดน 4 เช่นเดียวกันในช่วงต้นปี 2554 หลัง จากนั้นก็ได้รู้จักกับหนุ่ม เรดนนท์ ที่คอยเป็นปากเป็นเสียงให้หลายคนในคุก หนุ่มได้แจ้งข่าวกับคนภายนอกคุกว่ายังมีณัฐและลุงวันชัยเป็นนักโทษคดี 112 อยู่ในคุกด้วย  ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2554 เป็น ต้นมา จากที่ไม่ค่อยมีใครมาเยี่ยมนัก ก็มีคนเสื้อแดงหรือผู้สนใจคดีนี้ซึ่งกำลังเป็นกระแสสังคมไปเยี่ยมเขามากขึ้น ทำให้ณัฐเริ่มสบายใจขึ้น มีความหวังว่าคนข้างนอกจะไม่ทิ้งกัน

แต่ความเป็นนักโทษใน “คดีหมิ่น” ก็ไม่ใช่จะอยู่ได้ง่ายๆ แม้แต่ภายในคุกเอง แม้นักโทษคดีอื่นๆ หลายคนจะเข้าใจ มองว่าเรื่องนี้ถูกทำให้มีโทษหนักเกินไป ไม่เป็นธรรม แต่บางคนก็มองผู้ต้องหาคดีนี้ว่าเป็นพวก “จัญไร” มีการดูถูกและด่าว่าต่อหน้าจากนักโทษกันเองว่าเป็นพวกเลวร้ายและไม่มีค่าที่ จะมีชีวิตอยู่  บางคนบอกว่า 112 เป็น สิ่งเลวร้ายกว่าการฆ่าข่มขืนเสียอีก ขณะเดียวกันผู้คุมบางคนก็พูดจาไม่ดีและหยาบคาย พูดขึ้น “มึง” ขึ้น “กู” ด้วย และปฏิบัติต่อนักโทษอย่างไม่ให้เกียรติ

“ผม ต้องนั่งคุกเข่า เขาก็ยืน นักโทษกับเจ้าหน้าที่จะเหมือนชนชั้นวรรณะ ตอนนั่งทำประวัตินักโทษใหม่ๆ นักโทษนั่งกับพื้น เจ้าหน้าที่จะนั่งเก้าอี้...การนั่งกับพื้นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ มันน่าสมเพชตัวเอง ประชาชนทั่วไปไปติดต่อราชการยังไม่ทำแบบนี้เลย แล้วเขาพูดจาดูถูกและหยาบคาย”

โทษทัณฑ์เช่นนี้ณัฐยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกว้าเหว่ เหมือน 112 เป็น ข้อหาที่ไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านชาวช่อง ทั้งโทษก็ไม่เหมือนชาวโลก เพราะขัดกับหลักสิทธิและมนุษยธรรม เขาบอกว่าพี่สมยศยังเคยล้อกันเล่นกับนักโทษคดีนี้ที่รวมกลุ่มกันในคุก ว่าน่าจะตั้งเป็นคณะ 112 ในเรือนจำเสียเลย

ถ้าวันที่ไปศาลเป็นวันที่แย่ที่สุดในชีวิต วันที่ 19 เมษายน 2555 ก็เป็นวันที่เขาดีใจที่สุดวันหนึ่งในชีวิต หลังจากชีวิต 2 ปี 4 เดือน ในเรือนจำ ณัฐได้รับการลดโทษเนื่องจากความเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม และผ่านวาระสำคัญที่มีการอภัยโทษใหญ่สองครั้ง ณัฐจึงได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดในวันนั้น

หลังออกจากคุกมา ณัฐก็ยังต้องไปรายงานตัวที่ศาล เพื่อควบคุมความประพฤติตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา กระทั่งล่าสุด เขาเพิ่งได้รับ “ใบบริสุทธิ์” จากเรือนจำ อันเป็นใบแสดงว่าผู้ต้องขังพ้นโทษอย่างสมบูรณ์แล้ว เขาบอกว่าไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมใช้ชื่อนี้ แต่เป็นตลกร้ายเหมือนกันที่ “ความบริสุทธิ์” จะได้มาเมื่อการลงทัณฑ์สิ้นสุดแล้ว

ช่วงที่ผ่านมา ณัฐยังมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเพื่อนนักโทษในเรือนจำ เขาบอกว่ารู้สึกแย่ ที่เพื่อนๆ ที่ร่วมทุกข์สุขกันมายังอยู่ในคุก ถ้าไม่ได้รู้จักเพื่อน 112 และ คดีอื่นๆ มาเลย เขาอาจไม่เคลื่อนไหวอีกแล้ว แต่เพื่อนเหล่านั้นก็ให้กำลังใจกันมา จะทำเป็นไม่รู้จักกันเลยก็ไม่ได้ เลยยังอาลัยอาวรณ์อยู่

บทเรียนสำคัญในคุกที่ณัฐอยากบอกกับสังคม คือปัญหา ของกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งหมด คดีส่วนใหญ่ที่เขาได้พบในเรือนจำเป็นคดีคนจน คดีหลักทรัพย์โดยคนไม่มีกิน ไม่มีงานทำ ในคุกทำให้เห็นว่าระบบยุติธรรมของไทยเลวร้ายมาก เพราะเล่นงานแต่คนจน  มีคนที่จนมากๆ และไม่ได้ทำผิด แต่ติดคุก เพราะไม่มีเงินสู้คดี คนจนจึงติดคุกง่ายมาก ขณะที่คนรวยๆ ดูง่ายกว่าที่จะชนะคดี และมีโอกาสสู้คดีได้มากกว่า รวมทั้ง “เคลียร์” ตัวเองได้ง่ายกว่า เขาสรุปบทเรียนว่าระบบกฎหมายมันเอื้อให้เฉพาะกลุ่มคนมีเงินและมีอำนาจ

หรือแม้แต่นักโทษคดี 112 เท่าที่ได้สัมผัส เขาเชื่อว่าคนอย่างอากง หรือโจ กอร์ดอน ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย เพราะต่างไม่ได้เป็นคนส่งข้อความหรือคนแปลเอกสารตามที่ถูกกล่าวหา หากกลับต้องประสบชะตากรรมเช่นนั้น ณัฐบอกว่าตามความเข้าใจของเขา สื่อเป็นสิ่งที่ทรงอิทธิพลมาก การประโคมข่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับโฆษณาที่เปิดซ้ำๆ ทำให้คนเราสามารถไปเกลียดคนที่ก่อคดีต่างๆ โดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อนได้

ที่สุดแล้ว เขาบอกว่าอยากให้สังคมคำนึงถึงความเป็นคนให้มากกว่านี้ เห็นค่าของความเป็นคนของทุกๆ คน อย่ามองคนเป็นแค่เศษฝุ่นหรือเศษอะไร...

หลังออกมาสูดกลิ่นอากาศภายนอก ณัฐยังฝันร้ายบ้างเป็นบางคืน อาการซึมเศร้ายังมีอยู่บ้าง ซึ่งคงต้องใช้เวลาเป็นเครื่องเยียวยาต่อไป หากแต่เขาก็ได้ตระหนักชัดถึงคำว่าอิสรภาพดีขึ้น ในเรือนจำนั้น ณัฐแทบไม่เคยนอนตื่นสายเลย ทุกๆ เช้า 6 โมง นักโทษทุกคนต้องตื่น และทำการเช็คยอดทุกวัน ก่อนลงมือปฏิบัติกิจซ้ำซากในแต่ละวัน หากเมื่อออกมาจากที่นั้นแล้ว ช่วงนี้ณัฐบอกว่าเขาสามารถนอนตื่นสายได้ ซึ่งไม่เคยทำมาก่อนตลอดเวลา 2 ปี 4 เดือน มันทำให้เขาตระหนักถึงส่วนหนึ่งของความหมายของอิสรภาพ

“รู้สึกเสียดายเวลา 2 ปีกว่าในคุก เวลาซื้อกลับคืนไม่ได้ ถ้าใครไม่ติดคุก ควรจะซาบซึ้งกับอิสรภาพ ไม่ต้องไปถูกกักขังเหมือนสัตว์ อย่างนักโทษในเรือนจำ”

 



 

ณัฐ ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 52 ถูกคุมขังช่วงหนึ่งจนได้รับการประกันตัว จนกระทั่งศาลนัดพิพากษาในวันที่ 14 ธ.ค.52  ให้จำคุก 9 ปี จากความผิด 3 กรรม แต่จำเลยรับสารภาพจึงได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เขาถูกคุมขังมาจนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2555 จึงได้รับการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปเนื่องจากเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม

เขาถูกฟ้องว่ามีความผิดตาม มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (2) (3) (4) (5) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

คำพิพากษาระบุถึงการกระทำผิดของณัฐ 3 กรรม ในช่วงเวลา 2 วันคือวันที่ 22 ก.ค.52 และ 23 ก.ค.52 โดยเกี่ยวพันกับการส่งลิงค์คลิปวิดีโอให้ผู้ใช้นามแฝงว่า Stoplesemajeste ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ ทั้ง 3 กรรมเกี่ยวพันกับ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์, คุณพลอยไพลิน เจนเซ่น

เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์ ระบุว่า “คดีดังกล่าวเป็นกรณีที่มีการนำข้อความรูปภาพ เสียงที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท เผยแพร่บนเว็บไซต์ youtube.com ซึ่งการสอบสวนพบว่า นายสุวิชา ท่าค้อ ได้ร่วมกับบุคคลที่ใช้นามว่า stoplesemajeste เป็นผู้กระทำผิด จึงได้มีการจับกุม นายวิชา ส่งฟ้องต่อศาลอาญา ส่วนบุคคลที่ใช้นามว่า stoplesemajeste ยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด กระทั่งได้มีการสืบสวนขยายผลพบว่าผู้ใช้นามแฝงดังกล่าว คือ นายอีมิลิโอ เอสเทแบน (Emilio Esteban) อายุ 46 ปี ชาวอังกฤษ อาศัยอยู่ที่ประเทศสเปน ใช้อีเมลติดต่อกับ นายสุวิชา โดยตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.2551 ถึงวันที่ 15 ก.ย.2552 นายอีมิลิโอ ได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ไว้ในเว็บบล็อก โดยใช้อินเทอร์เน็ตจากประเทศสเปน มีเป้าหมายหลักเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ จึงขออนุญาตศาลอาญาเข้าถึงข้อมูลในอีเมลของ นายอีมิลิโอ และจากการตรวจสอบพบว่า วันที่ 21-23 ก.ค.2552 ได้มีอีเมลของ นายณัฐ ผู้ต้องหาส่งข้อมูล ภาพ และเสียงที่มีลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ให้กับ นายอีมิลิโอ จำนวน 3 คลิป ซึ่งเป็นคลิปเดียวกันกับที่มีการเผยแพร่ในเว็บบล็อกของ นายอีมิลิโอ พนักงานสอบสวนจึงขออนุมัติหมายจับ นายณัฐ ผู้ต้องหา ต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2552 และจับกุมผู้ต้องหาในวันเดียวกัน”

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ใบตองแห้ง' วอยซ์ทีวี: ถลกทัศน์ตุลาการ แก้รัฐธรรมนูญได้ไหม

$
0
0

ใบตองแห้ง ตรวจทัศนะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านคำวินิจฉัยส่วนตน บันทึกและขยายไว้ในแผ่นดิน

คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการ 8 คน ในคดีปั้นอากาศเป็นตัว กล่าวหารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และพรรคการเมือง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 68 เพิ่งคลอดคลานตามคำวินิจฉัยกลางเมื่อเย็นวันศุกร์ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ประเด็นที่สอง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่

ประเด็นนี้เป็นเรื่องพิลึกพิลั่น เพราะนอกจากตั้งขึ้นมาโดยไม่เกี่ยวกับประเด็นตามมาตรา 68 ศาลยังไม่ชี้ถูกผิด แต่กลับไปให้คำแนะนำว่า “ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ซึ่งทำให้งงกันไปทั้งโลก เพราะไม่เคยพบเคยเห็น ศาลทำตัวเป็นผู้ชี้แนะ “ควรจะ”

กระนั้น เมื่ออ่านคำวินิจฉัยส่วนตนแล้ว ยิ่งทำให้กังขาว่าคำวินิจฉัยกลางนี้ท่านได้แต่ใดมา

เพราะตุลาการ 1 คนคือ ชัช ชลวร เห็นว่า สามารถยกเลิกและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้

ตุลาการ 3 คนคือ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี เห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ อยู่นอกเหนืออำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

อีก 4 คนมีความเห็น 3 อย่าง นุรักษ์ มาประณีต เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ยกเลิกไม่ได้เลย ไม่ว่าด้วยวิธีใด ยกเลิกเมื่อไหร่ก็ผิดมาตรา 68 เพราะถือเป็นการล้มล้าง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

สุพจน์ ไข่มุกด์ กับเฉลิมพล เอกอุรุ เห็นว่าต้องทำประชามติก่อน, จรูญ อินทจาร เห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจแก้ไขทั้งฉบับ แต่หากมีความจำเป็นย่อมทำได้โดยใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน ซึ่งอาจแสดงออกโดยการลงประชามติ (ไม่ชี้ชัดว่าต้องทำประชามติก่อน)

จะเห็นได้ว่ามีแค่ 2 คนบอกว่า “ต้อง” ทำประชามติก่อน 1 คนบอกว่าทำได้เลย 1 คนบอกว่าทำไม่ได้เลย ต่อให้ทำประชามติก็ผิดอยู่ดี อีก 1 คนก้ำกึ่ง ขณะที่อีก 3 คนบอกว่าอยู่นอกเหนืออำนาจศาล

แล้วคำว่า “ควรจะ” นี่มาจากไหนหว่า คนที่ใช้คำว่า “อาจ” ก็มีแค่จรูญ อินทจาร คนเดียว

นี่เป็นประเด็นที่รัฐบาลและรัฐสภาต้องคิดหนัก ว่าถ้าลงมติวาระ 3 แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร เห็นชัดๆว่าจะมี 3 เสียงชี้ผิด 3 เสียงเห็นว่าอยู่นอกอำนาจศาล 1 เสียงถูก 1 เสียงก้ำกึ่ง แล้วอย่าลืมว่าจรัญ ภักดีธนากุล จะกลับมา

ประธานมีข้อสังเกต

คำวินิจฉัยของวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ที่ว่าอยู่นอกเหนืออำนาจศาลรัฐธรรมนูญ อาจทำให้หลายคนแปลกใจ แต่ถ้าอ่านละเอียดแล้วจะเห็นทัศนะที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอยู่ดี

วสันต์ชี้ว่าการแก้ไขมาตรา 291 เปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากรายมาตราโดยรัฐสภา เป็นให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นยกร่างใหม่ทั้งฉบับเพื่อนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นเป็นอำนาจของรัฐสภา และตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่มีผลบังคับใช้ รัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ยังใช้อยู้ จึงไม่อาจถือว่าล้มล้างการปกครอง (ถูกต้องแล้วคร้าบ)

แต่ “วิธีการที่ผู้ถูกร้องทั้งหกกับพวกกำหนดให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นนี้ เป็นการถ่ายโอนภาระหน้าที่ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปยังสภาร่างรัฐธรรมนูญอย่างเด็ดขาด เสมือนว่ารัฐสภาปัดความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิง ไม่สมกับที่เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชน” เหมือนที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้นั่นแหละครับ แล้วก็บอกว่าการให้อำนาจประธานรัฐสภาเพียงผู้เดียว วินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าระแวงสงสัยได้ว่า ถ้ามีลักษณะต้องห้ามแล้วประธานเห็นว่าไม่มี ให้นำไปลงประชามติได้เลย จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งเพราะจะแน่ใจได้อย่างไรว่าประชาชนเข้าใจทุกประเด็น

อย่างไรก็ตาม หลังจากออกความเห็นมายืดยาว วสันต์ก็บอกว่า “ปัญหาตามประเด็นข้อนี้ไม่มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบและวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ได้ จึงเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย คงยกขึ้นกล่าวเป็นข้อสังเกตเท่านั้น”

ที่น่าสนใจคือคำวินิจฉัยประเด็นที่ 3 แม้เห็นว่ายังฟังไม่ได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ แต่ทัศนะของประธานศาลรัฐธรรมนูญต่อ “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็ประหลาด

วสันต์ชี้ว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า นปช.ซึ่งมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยหลายคนเป็นแกนนำ “บางคนกล่าวข้อความในการชุมนุมชวนให้เข้าใจความหมายไปในทางร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ บางคนกล่าวข้อความแสดงเจตนารมณ์ของตนว่าต้องการให้พระมหากษัตริย์ทรงมีสถานะเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ของบางประเทศที่เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น” พฤติการณ์เช่นนี้จึงมีเหตุที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าผู้ถูกร้องกับพวก “อาจมีแผนการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบอื่นได้ ทั้งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ก็มีช่องทางให้กระทำเช่นนั้นได้”

เพียงแต่วสันต์เห็นว่ายังเป็นเพียงการสันนิษฐานไปในทางร้ายเท่านั้น ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริง และสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาก็ยืนยันว่าหมวด 2 แตะไม่ได้เลย ให้ลอกเลย และการแก้ไขเกี่ยวกับพระราชอำนาจในหมวดอื่นก็ถือว่าเข้าข่ายแตะต้องหมวด 2 เช่นกัน จึง(ยัง)ไม่ผิด

ถามว่าอะไรคือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ของวสันต์ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขควรมีความหมายจำกัดเพียง 1.ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ 2.มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย 3.มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนที่นอกเหนือจากนั้นต้องปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมตามพัฒนาการของสังคม จะมีองคมนตรีหรือไม่ จะแก้หมวด 2 อย่างไร ก็ยังเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ใช่หรือ

หรือจะต้องเป็นอย่างที่เป็นอยู่เท่านั้น แล้วที่เป็นอยู่นี้คืออะไร ต่างจากอังกฤษ สวีเดน สเปน ฮอลแลนด์ ฯลฯ อย่างไร วสันต์ควรอรรถาธิบายให้ชัด คำว่า “บางคนกล่าวข้อความแสดงเจตนารมณ์ของตนว่าต้องการให้พระมหากษัตริย์ทรงมีสถานะเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ของบางประเทศที่เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น” แปลว่าคนเหล่านั้นมีความผิดตามมาตรา 68 ใช่ไหม ต้องการล้มล้างระบอบไปเป็นระบอบอื่นใช่ไหม อังกฤษ สวีเดน สเปน ฮอลแลนด์ ฯลฯ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปล่า แล้วระบอบของคุณคืออะไรแน่ เป็นประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า

บุญส่ง อุดมศักดิ์

มีเซอร์ไพรส์

เมื่อเทียบกับวสันต์แล้ว บุญส่ง กุลบุปผา วินิจฉัยรวบรัดชัดเจนไม่ต้องมีข้อสังเกต โดยบอกว่า “เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ศาลไม่มีอำนาจไปวินิจฉัยถึงหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวได้ มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าศาลซึ่งอยู่ในอำนาจของฝ่ายตุลาการเข้าไปก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ”

 

ส่วนประเด็นที่ 3 บุญส่งก็ชัดเจนว่า เมื่อพิจารณาร่างแก้ไขมาตรา 291 โดยเฉพาะ 291/11 วรรคห้า แสดงว่ายังคงหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนข้ออ้างที่ว่า เป็นการให้อำนาจ สสร.ไปยกร่างอย่างไรก็ได้ โดยที่รัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบได้นั้น ก็เป็นเพียงการคาดคะเน และร่างรัฐธรรมนูญยังต้องผ่านการลงประชามติ “ถือว่ายังให้ประชาชนซึ่งป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยใช้สิทธิที่จะตรวจสอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ได้ว่าจะรับเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศหรือไม่”

โต้กันเห็นๆ เลยนะครับ แถมบุญส่งยังไม่พูดถึงหมวด 1 หมวด 2 ให้เสียเวลา

บุญส่งกับอุดมศักดิ์เป็น 2 ใน 7 คนที่เคลียร์คัทว่าศาลไม่มีอำนาจก้าวก่ายอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา แม้จะอ้างว่ามีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 โดยคำวินิจฉัยของอุดมศักดิ์ในประเด็นแรก ยอมรับว่า “เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญปรับบทกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 68 รับคำร้องที่ยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาเป็นกรณีแรก”

คือยอมรับว่า “ปรับบท” (คนอื่นๆ ไม่ยอมรับ) แต่อ้างว่าเป็นมาตรการป้องกันการกระทำต้องห้ามที่จำเป็นต้องวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำนั้นได้อย่างทันท่วงที

ในประเด็นที่ 2 อุดมศักดิ์สรุปว่า “เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ซึ่งเป็น “อำนาจตามรัฐธรรมนูญ” เช่นเดียวกับการใช้อำนาจตุลาการของศาลที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นกัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่ได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้” ฉะนั้นจะยกเลิกทั้งฉบับได้หรือไม่ ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ เป็นอำนาจของรัฐสภาและองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยคำนึงถึงข้อเรียกร้องหรือความวิตกกังวลในทางสังคมวิทยาการเมืองของประชาชนทุกภาคส่วน “ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นนี้ได้”

ถือว่าให้คำแนะนำเหมือนกันครับ แต่แนะนำว่าเป็นเรื่องสังคมวิทยาการเมือง ไปดูกันเอง ศาลไม่เกี่ยว

อุดมศักดิ์ยังชี้ตั้งแต่ต้นว่า การตั้งประเด็นที่สองว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่” ไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 68 โดยตรง (นอกประเด็นนั่นแหละ) และร่างแก้ไข 291 ก็ไม่ได้กำหนดให้ “ยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” ตามที่กำหนดประเด็นไว้ (เห็นด้วยครับ ถ้อยคำข้างต้นทำให้เข้าใจว่า ม.291 เป็นตัวยกเลิกรัฐธรรมนูญ)

ส่วนที่โต้แย้งว่ามอบอำนาจให้ สสร.โดยไม่ทำประชามติก่อน อุดมศักดิ์บอกว่า ก็มาตรา 291 ไม่ได้บัญญัติให้ทำประชามติก่อน และรัฐสภาก็กำหนดให้ สสร.ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ได้มอบอำนาจให้เห็นชอบแต่อย่างใด

อุดมศักดิ์มาชี้ชัดในตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยประเด็นที่ 3 ว่า “รัฐสภามิได้ใช้อำนาจตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่อย่างใด ตามร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมิได้มีเนื้อหาหรือข้อความใดให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตามที่ผู้ร้องโต้แย้งว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่านการทำประชามติมาแล้วแต่อย่างใด แม้ในที่สุดเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้บังคับแล้วต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่เป็นการยกเลิกโดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านการทำประชามติเห็นชอบของประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญร่วมกับพระมหากษัตริย์ โดยลำดับศักดิ์ของกฎหมายที่เท่ากัน”

นี่เป็นคำอธิบายโต้แย้งข้อหา “มอบอำนาจให้ สสร.” อย่างมีน้ำหนัก เพราะมีความพยายามสร้างความเข้าใจผิดๆ ในหมู่เสื้อเหลืองและสลิ่มว่าตั้ง สสร.เท่ากับล้มรัฐธรรมนูญ 2550 ความจริงคือยกเลิกด้วยประชามติตอนท้าย โดยระหว่างที่ สสร.ยกร่างใหม่ รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังใช้อยู่ จึงไม่ต้องทำประชามติก่อน

นุรักษ์: แก้ทั้งฉบับต้องรัฐประหาร

มาแรงส์ที่สุดในฝ่ายที่คัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับคือ นุรักษ์ มาประณีต อดีตตุลาการคดียุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ 111 กรรมการบริหาร และอดีต สสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ประเด็นแรกนอกจากตีความคำว่า “และ” กลายเป็นผู้ร้องทำได้ทั้ง 2 อย่าง นุรักษ์ยัง “จัดหนัก” ใส่อัยการว่า คดีนี้มีผู้ร้องตั้งแต่เดือน ก.พ.2555 อัยการสูงสุดมิได้กระทำการใดเลย หรือตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นเวลาหลายเดือน เพิ่งจะประชุมสรุปในเดือน มิ.ย.หากบุคคลจะล้มล้างการปกครองฯ โดยวางแผนทำปฏิวัติรัฐประหาร ก็น่าจะปฏิวัติรัฐประหารไปสำเร็จก่อนอัยการตรวจสอบเสร็จ

สรุปว่านุรักษ์รับคำร้องมาตรา 68 ด้วยเจตนารมณ์ประชาธิปไตย ต่อต้านปฏิวัติรัฐประหาร

ประเด็นที่สอง ฉีกแนวกว่าทุกคนเลยครับ

“การยกเลิก ล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จะกระทำได้สองวิธี ประการแรก เป็นการกระทำของบุคคลโดยการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ประการที่สองจะกระทำได้โดยบุคคลหรือพรรคการเมือง การกระทำตามประการที่สองของพรรคการเมืองนั้น เห็นได้จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองเลิกกระทำการตามวรรคสอง คือ การกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ คำว่า “รัฐธรรมนูญนี้” ย่อมหมายความถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 การกระทำของพรรคการเมืองตามความหมายของมาตรา 68 นี้ หมายความถึงการกระทำทางนิติบัญญัตินั่นเอง”

โอ๊วว... สะใจฝ่ายผู้ร้อง ชัดเจนว่ายกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ แม้จะเป็น “การกระทำทางนิติบัญญัติ” ของรัฐสภา ก็ถือเป็นการกระทำของพรรคการเมืองที่ผิดมาตรา 68 ยิ่งกว่านี้ ตุลาการผู้นี้ยังตีความว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ห้ามล้มล้าง ก็คือระบอบที่เป็นไปตาม “รัฐธรรมนูญนี้” ถ้ายกร่างใหม่ให้แตกต่างไป ถึงจะยังมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ยังมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวแบ่งแยกมิได้ ก็ถือว่า “ล้มล้าง”

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของผู้ถูกร้องทั้งหก ตามมาตรา 291 เพื่อเพิ่มเติมหมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเป็นการกระทำที่มีผลให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญนี้ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิอาจกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง”

ย้ำไปย้ำมา เพื่อบอกว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถูกผูกขาดไว้โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้น (ใครอยากทำความเข้าใจเรื่อง “รัฐธรรมนูญนี้” โดยละเอียด ให้ไปอ่านข้อเขียนของคำนูณ สิทธิสมาน สว.ลากตั้ง ซึ่งมีความเห็นสอดคล้องกันเป๊ะ)

ที่ผู้ถูกร้องต่อสู้ว่าไม่มีบทบัญญัติห้ามแก้ไขทั้งฉบับ “เห็นว่าตามหลักกฎหมายมหาชนแตกต่างกับกฎหมายเอกชน กฎหมายมหาชนนั้นจะกระทำได้เมื่อกฎหมายบัญญัติไว้ให้กระทำได้เท่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีบทบัญญัติไว้ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อยกเลิก ล้มล้าง แต่กลับมีบทบัญญัติมาตรา 68 ไว้ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ห้ามบุคคลหรือพรรคการเมืองกระทำการล้มล้าง”

ตรงนี้ขอแย้งครับ หลักกฎหมายมหาชนที่ว่าจะกระทำได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเท่านั้น คือหลักกฎหมายปกครอง หมายความว่าการกระทำใดๆ ของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอาจละเมิดสิทธิประชาชน จะทำได้ต่อเมื่อกฎหมายอนุญาตเท่านั้น ไม่ใช่หลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นคนละเรื่องกัน ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนในโลกหรอกครับ ที่จะเขียนว่า อนุญาตให้แก้ทั้งฉบับ หรือห้ามแก้ทั้งฉบับ

ประเด็นนี้ใครลองไปถามนักกฎหมายมหาชนดู ถามบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ได้ ผมอยากรู้ว่าบวรศักดิ์จะตอบอย่างไร

ผู้ถูกร้องแย้งว่าเคยตั้ง สสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มาแล้ว นุรักษ์เห็นว่าทำได้เพราะรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้ายังไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติเรื่องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเพิ่งจะมีในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 2540 และให้ความสำคัญขึ้นไปอีกในรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเพิ่มเป็นส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68

“ซึ่งเป็นการห้ามบุคคลและพรรคการเมืองกระทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญนี้ โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีผลให้ล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะกระทำมิได้”

โอ้ เอาบทบัญญัติพิทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งต้องการสกัดปฏิวัติรัฐประหาร มาตีความว่าห้ามรัฐสภาแก้ทั้งฉบับ ต้องปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้ง ถึงทำได้ เหมือนอย่างรัฐประหาร 19 กันยา 49 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ฉีกมาตรา 63 แล้วยกร่างใหม่ทั้งฉบับ อย่างนั้นทำได้ (โดยท่านก็ไปร่างกับเขาด้วย)

นุรักษ์ไม่เอ่ยถึงการทำประชามติแม้แต่น้อย ทำให้ไม่แน่ใจว่า ถ้าประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ลงประชามติท่วมท้นให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะผิดมาตรา 68 ติดคุกกันทั้งประเทศหรือไม่ ซึ่งก็อาจตีความเช่นนั้นได้ เพราะตุลาการผู้นี้ล็อกไว้ว่าทำอย่างไรก็แก้ทั้งฉบับไม่ได้

ในประเด็นที่ 3 และ 4 ตุลาการผู้นี้เห็นว่าการแก้ไขเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมีความผิด แต่ผู้ถูกร้องมิได้มีเจตนา และอาจสำคัญผิด ส่วนที่ไม่ยุบพรรคการเมืองเพราะมาตรา 68 วรรคสามบัญญัติว้า “ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้” ยังมีคำว่า “อาจ” อยู่เลยรอดตัวไป

แต่ถ้าลงมติวาระ 3 หลังจากนี้ ไม่ต้องสงสัยเลย

เฉลิมพล

‘ไม่เอา’ ก่อนค่อยยกร่าง?

เฉลิมพล เอกอุรุ กับสุพจน์ ไข่มุกด์ วินิจฉัยคล้ายกันว่าต้องลงประชามติก่อน

 

“อำนาจในการก่อตั้งหรือสถาปนารัฐธรรมนูญนั้น เป็นของปวงชนชาวไทย ร่วมกับพระมหากษัตริย์ซึ่งจะพระราชทานพระบรมราชานุมัติ โดยทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ...”

เฉลิมพลอธิบายแบบตามตัวอักษรว่า มาตรา 291 “เป็นการมอบอำนาจจากผู้ทรงอำนาจก่อตั้งหรือสถาปนารัฐธรรมนูญให้รัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” แล้วก็บอกว่า คำว่าแก้ไขเพิ่มเติมหมายถึงการแก้ไขถ้อยคำหรือข้อความ หรือเพิ่มเติมข้อความใหม่เข้าไป แต่ไม่รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากรัฐสภาจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่ฉบับเดิมก็เป็นการกระทำที่เกินขอบเขตอำนาจ ต้องขอความเห็นชอบจากผู้ทรงอำนาจดังกล่าวก่อน

“การจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนชาวไทยเสียก่อน โดยต้องจัดให้มีการลงประชามติขอความเห็นชอบในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อใช้แทนฉบับปี 2550 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เมื่อมีประชามติเห็นชอบด้วยแล้ว จึงจะดำเนินกระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้”

ย้อนไปเปรียบเทียบคำวินิจฉัยของอุดมศักดิ์ดูนะครับ

ผมประหลาดใจกับคำวินิจฉัยของเฉลิมพลที่ว่า ต้องลงประชามติก่อน เพื่อ “ขอความเห็นชอบในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อใช้แทนฉบับปี 2550 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน” คำถามคือถ้าประชาชนเห็นชอบ ก็แปลว่าประชาชนไม่เอารัฐธรรมนูญ 50 แล้ว ยังงั้นหรือครับ

ท่านกำลังจะบอกว่า ถ้าจะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องให้ประชาชนบอกว่าไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 เสียก่อน ทั้งที่เรายังไม่รู้กันเลยว่าถ้าร่างฉบับใหม่ออกมาแล้ว ประชามติจะรับหรือไม่ ประชาชนอาจเลือกรัฐธรรมนูญ 2550 ไว้ก็ได้

ท่านกำลังมองว่า ถ้า 291 ผ่านวาระ 3 เลือกตั้ง สสร.ก็ชัวร์ป้าด ประชามติต้องรับร่างใหม่แน่ ฉะนั้นต้องรีบถามประชาชนก่อนเสียตั้งแต่ตอนนี้ อย่างนั้นหรือครับ

รัฐสภาไม่ได้ “จัดทำรัฐธรรมนูญแทนที่ฉบับเดิม” ซึ่งเกินขอบเขตอำนาจ แต่รัฐสภากำลังจะให้มี สสร.มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจลงประชามติ ว่าจะเอาแทนที่ฉบับเดิม หรือไม่เอา สาระสำคัญเป็นเช่นนี้ต่างหาก

อย่างไรก็ดี แม้บอกว่าการแก้ 291 อย่างนี้ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่สาม เฉลิมพลก็เห็นว่าไม่ผิดมาตรา 68 เพราะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่แม้จะมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม ก็ยังไม่อาจคาดการณ์ใดๆ ได้ เพราะเป็นเรื่องในอนาคต พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า ผิดมาตรา 68

สุพจน์: ยุบศาลไม่ได้

“การตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 เป็นกระบวนการที่ได้ผ่านการลงประชามติของผู้ใช้อำนาจอธิปไตยคือประชาชนโดยตรง ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเป็นวิวัฒนาการที่เป็นประชาธิปไตยเพิ่มเติมจากหลักการเดิมที่ประชาชนเป็นผู้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น หากสมาชิกรัฐสภาซึ่งถือเป็นผู้รับมอบการใช้อำนาจมาจากประชาชนจะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ หรือมอบหมายให้สภาร่างรัฐธรรมนูญทำการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ก็จะต้องดำเนินการโดยกระบวนการในลักษณะเช่นเดียวกัน คือการรับฟังประชามติจากประชาชนทั้งหมดในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจโดยตรง รัฐสภา ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญ ไม่สมควรจะมอบอำนาจอันสำคัญและศักดิ์สิทธิ์นี้ไปให้แก่สภาร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีการปรึกษาหารือและได้รับความยินยอมจากผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ...”

ถามว่า สสร.ได้รับมอบอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจประกาศใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไปจากรัฐสภาหรือเปล่าครับ เปล่าเลย ระหว่างที่ สสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมก็ยังอยู่กับรัฐสภานะครับ เพราะมาตรา 291 เดิมยังอยู่ มีปัญหาเร่งด่วนขึ้นมาต้องแก้มาตราใด รัฐสภาก็ยังทำได้ ไม่เกี่ยวกับ สสร.

ส่วนอำนาจประกาศใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็อยู่ที่การลงประชามติ หลังยกร่างเสร็จ

ท่านสำคัญผิดหรือเปล่าครับ คือเหมือนกับคิดว่า พอ 291 ผ่าน มีการเลือก สสร.ก็แปลว่าจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แน่นอน ทำไมไม่มองตามหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงว่า สสร.เป็นผู้ยกร่างเพื่อ “นำเสนอ” เจ้าของอำนาจตัวจริงคือประชาชน ให้เขาตัดสินใจเลือกระหว่างฉบับเก่าฉบับใหม่

คำวินิจฉัยของสุพจน์ ดูเหมือนกว้างกว่าเฉลิมพลด้วยซ้ำ เพราะยังบอกว่าเมื่อ สสร.รับมอบอำนาจมาจากรัฐสภา ก็ต้องถูกกำหนดขอบเขตและข้อจำกัด คือจะนำอำนาจที่ได้รับมอบไปแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ (เพราะรัฐสภาก็ไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ)

ผมว่าศาลน่าจะตั้งประเด็นวินิจฉัยเพิ่มเติม เรื่องอำนาจของ สสร.เสียแล้วละ ถกกันให้แตกเสียก่อนดีไหม ว่า สสร.รับมอบอำนาจจริงหรือ

สุพจน์ยังขยายประเด็นย่อยว่า ที่รัฐสภาจะมอบอำนาจให้ประธานรัฐสภาแต่ผู้เดียวตรวจสอบความถูกต้องของเงื่อนไขหลักเกณฑ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 291

แต่ที่น่าดูกว่านั้นคือ ประเด็นที่ 3

“...จะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยอิสระ สภาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้จัดทำโครงสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ จะมีการลดทอนพระราชอำนาจ เช่น พระราชอำนาจยับยั้งพระราชบัญญัติ พระราชอำนาจในการอภัยโทษ หรือไม่ แล้วแต่สภาร่างรัฐธรรมนูญจะพิจารณาความเหมาะสม จะมีการปรับปรุงองค์กรฝ่ายตุลาการ หรือยุบรวมองค์กรอิสระที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือไม่ ก็ไม่อาจคาดหมายได้ หากมีการลดทอนพระราชอำนาจให้เปลี่ยนไปจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน องค์กรฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระถูกยุบรวม อาจมีปัญหาว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่ก็ได้ แต่เมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จ.....”

ตุลาการผู้เป็นอดีต สสร.50 แสดงทัศนะชัดเจนว่า ถ้ามีการยุบศาล ปรับปรุงศาล หรือองค์กรอิสระ อาจมีปัญหาว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ

นี่เราเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตรงกันหรือเปล่าครับ ระบอบของท่านเป็นระบอบอะไรแน่ ยุบ ปร้บปรุง ศาล องค์กรอิสระไม่ได้

 

จรูญ: ฟังแล้วงง

จรูญ อินทจาร ให้เหตุผลเหมือนนุรักษ์ มาประณีต ว่าต้องมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้อำนาจ

“หากรัฐสภากระทำโดยเกินขอบเขตอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่ฉบับเดิม จะมีผลเท่ากับเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้ให้อำนาจไว้ จึงมิอาจกระทำได้ แม้แต่ตามหลักกฎหมายมหาชนซึ่งเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ยังถือว่าการใช้อำนาจเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันมีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลนั้น ถ้ากฎหมายมิได้ให้อำนาจไว้ก็ไม่สามารถกระทำได้ และยิ่งเป็นรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด ก็ยิ่งต้องถือหลักเช่นนี้เหนือกว่ากฎหมายลำดับรองลงไป หาใช่เป็นไปดังคำเบิกความของพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง ที่ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับ หรือจัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับก็ย่อมทำได้”

เห็นชัดอย่างที่ทักท้วงไว้ ท่านเอาหลักกฎหมายปกครองมาอ้าง “การใช้อำนาจเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันมีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลนั้น ถ้ากฎหมายมิได้ให้อำนาจไว้ก็ไม่สามารถกระทำได้” นี่คือหลักกฎหมายปกครอง หลักนี้เอามาใช้กับรัฐธรรมนูญไม่ได้นะครับ เพราะหลักรัฐธรรมนูญถือว่าปวงชนเป็นเจ้าของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ถ้าเจ้าของอำนาจต้องการแก้ทั้งฉบับ ก็ไม่จำเป็นต้องมีบทบัญญัติอนุญาตไว้ เปรียบเหมือนเจ้าของบ้านจะรื้อบ้านสร้างใหม่อย่างไรก็ได้นั่นเอง

แต่ในขณะที่บอกว่าจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่ได้ ตุลาการผู้นี้ก็บอกว่า “อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการพัฒนาการเมืองของประเทศให้ก้าวหน้า ย่อมกระทำได้โดยการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ซึ่งอาจแสดงออกโดยการลงประชามติ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งได้รับฉันทามติจากปวงชนชาวไทย ผ่านการลงประชามติก่อนที่พระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธย”

ตกลงให้ทำประชามติก่อนหรือหลัง ตกลงแก้ทั้งฉบับได้ไหม ผมฟังแล้วยังงงๆ

แก้ไม่ได้จะเกิดอะไร

คำวินิจฉัยของตุลาการบางคนที่ห้ามแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ให้แก้รายมาตราได้ เป็นเรื่องตลก เพราะที่รัฐสภาจะแก้มาตรา 291 ยกร่างทั้งฉบับ จริงๆ ก็ไม่ทั้งฉบับเพราะห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 รวม 25 มาตรา แปลว่าแก้เฉพาะ 284 มาตรา จาก 309 มาตรา

แต่ถ้ารัฐสภาแก้รายมาตรา จะแก้กี่มาตราก็ได้ 300 มาตราก็ได้ ขอเพียงไม่แตะมาตรา 1 และ 2 ซึ่งบ่งบอกว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยที่ไม่ต้องไปเลือก สสร. ไม่ต้องไปทำประชามติให้ยุ่งยาก

อย่างไรก็ดี ถ้าอ่านทัศนะของตุลาการรายบุคคล จะเห็นว่าแม้แต่แก้รายมาตราก็อาจทำไม่ได้ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ เพราะอาจล้มล้าง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ข้อสังเกตที่ได้จากการอ่านคำวินิจฉัยส่วนตนคือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในทัศนะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอะไรที่ไม่ใช่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อย่างที่เข้าใจกันทั่วไป ไม่ใช่แบบอังกฤษ ไม่ใช่แบบยุโรป ไม่ใช่แบบที่ร่ำเรียนกันมาในคณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ แต่เป็นแบบไหนแน่ ก็ไม่มีความชัดเจน รู้แต่ว่าแฝงทัศนะราชาธิปไตย และตุลาการธิปไตย อยู่เหนือประชาธิปไตย

สมมติเช่น หากเสนอให้ประธานศาลฎีกาต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา หรือวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง (แบบเดียวกับประธานศาลปกครองสูงสุด) คุณก็อาจถูกวินิจฉัยว่า “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เพราะตุลาการจะอ้างว่าได้รับโปรดเกล้าฯ จากในหลวง ทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธย

ไม่ต้องพูดถึงความพยายามจะแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ สมมติเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอนิติราษฎร์ ก็อาจโดนยุบพรรค ล้มรัฐบาล ล้มรัฐสภา ตั้งแต่วาระแรก เพราะศาลรัฐธรรมนูญพร้อมจะขยายการตีความ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาปกป้องอำนาจของตนและขององค์กรอิสระทั้งหลายที่ตุลาการเข้าไปยึดครอง

แล้วการเมืองจะมีทางออกอย่างไร หรือต้องมีรัฐประหาร หรือต้องมี “ปฏิวัติประชาชน” จึงแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ อย่างที่นุรักษ์ มาประณีต กล่าวไว้ ซึ่งก็แปลว่าต้องเกิดความรุนแรง เกิดการแตกหักระหว่างขั้วอำนาจ ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีทางรื้อ “ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์” โดยสันติ

ข้อสังเกตประการที่สองคือ ตุลาการทั้ง 8 วินิจฉัยแตกต่างกันไปอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ใช่แค่ 2 แนวทาง แต่ต่างกันกระจัดกระจายเหมืองแกงโฮะ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ สำหรับนักกฎหมายระดับสูงอย่างนี้ เพราะถ้ายึดหลักเดียวกัน หลักกฎหมายมหาชน หลักรัฐธรรมนูญ ก็น่าจะมีความเห็นต่างแค่ 2 แนวทางในแต่ละประเด็นที่ต้องตีความ

ขอฝากไว้เป็นข้อสังเกต ให้นักกฎหมายไปตรวจสอบดู ผมไม่มีความรู้ขนาดนั้นแต่อ่านแล้วรู้สึกว่าคำวินิจฉัยต่างกันคนละทิศคนละทาง เหมือนเรียนกฎหมายมาต่างสำนัก 3-4 สำนักเลยทีเดียว

 

                                                                                 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้บริโภคฟ้อง AIS และ Dtac เหตุกำหนดวันหมดอายุไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช.

$
0
0

ผู้บริโภคยื่นฟ้อง AIS และ Dtac ข้อหาผิดประกาศ กสทช. ข้อ 11 ละเมิดผู้บริโภคด้วยการกำหนดอายุการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า หรือ ระบบเติมเงินเพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการทั่วไป

วันนี้ (1 ส.ค.) ในเวลา 11.00 น.  นายเฉลิมพงษ์  กลับดี เป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ยื่นเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 411, 000 บาท ศาลแพ่ง (รัชดา) และ นางสาวจุฑา สังขชาติ ผู้ใช้บริการโทรศัพท์ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น423,000 บาท ต่อที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในเวลา 13.30 น. ทั้งนี้ผู้เสียหายทั้ง ๒ ราย ได้มอบอำนาจให้นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศและนายพรชัย จันทร์มี เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน 

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม มีคำสั่งทางการปกครองต่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้ง 5 บริษัท ที่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ข้อ 11 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่25 กันยายน 2549  โดยสำนักงาน ฯ ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 กำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาทโดยเริ่มปรับตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มีการติดตามการดำเนินการของผู้ให้บริการทั้ง 5 บริษัท พบว่ายังมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค เช่น เมื่อผู้บริโภคยังมิได้มีการเติมเงินเข้าสู่ระบบก็จะมีการแจ้งสิทธิต่อผู้บริโภคผ่าน SMS ด้วยข้อความว่า “เพื่อรักษาเงิน 64.18 บาท ให้ใช้ได้ต่อเนื่อง กรุณาเติมเงินก่อน 08/06/2555” จากข้อความดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีเจตนาบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งขัดต่อประกาศเรื่องมาตรฐานสัญญา ข้อที่ 11 อย่างชัดเจน

ข้อมูลการตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2554 มีผู้ใช้บริการทั้งหมด 75,535,338 ราย โดยแยกออกเป็น 2 แบบ คือ แบบชำระค่าบริการรายเดือน มีจำนวน 7,469,164 ราย และแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า (เติมเงิน) มีจำนวนผู้ใช้อยู่ที่ 68,066,175 ราย ซึ่งเห็นได้ว่าระบบเติมเงินมีผู้ใช้บริการมากถึงกว่าร้อยละ 90 % ทั้งนี้ จากการศึกษาของสำนักงาน กสทช. พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินอยู่ที่เดือนละ 156 บาท (ข้อมูลอ้างอิงจากรายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ฯ และ ข้อมูลกลุ่มงานวิชาการและจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม ฯ ของสำนักงาน กสทช.)

การที่ผู้ให้บริการบังคับให้ผู้บริโภคต้องเติมเงินถึง 300 บาท เพื่อจะได้จำนวนวันใช้งาน 30 วัน ถือเป็นการบังคับให้ผู้บริโภคทั้งประเทศต้องเติมเงินเกินกว่าที่จะใช้จริงถึงเดือนละ 144   บาทต่อหนึ่งเลขหมาย ซึ่งผู้ใช้บริการแบบชำระค่าบริการมีจำนวน 68,066,175  เลขหมาย  จึงคิดเป็นมูลค่าที่ผู้ให้บริการจะได้รับเงินส่วนเกินจากการบังคับให้ผู้บริโภคต้องเติมเงินถึงเดือนละ  9,801,529,200  บาท (เก้าพันแปดร้อยหนึ่งล้านห้าแสนสองหมื่นเก้าพันสองร้อยบาท)

การยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอความเป็นธรรมในครั้งนี้ เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการกระทำการละเมิดต่อผู้บริโภคอีกแม้แต่รายเดียว และผู้ให้บริการควรคำนึงถึงการประกอบธุรกิจที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ดูแลผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ผู้บริโภครายใดที่ประสบปัญหาดังกล่าว เราอยากให้ลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิของตนเองเพื่อต่อสู้กับผู้ที่เอาเปรียบผู้บริโภคและร่วมกันยื่นฟ้องคดี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.ค้าน มข.ออกนอกระบบ ทวงถามข้อเสนอขอมีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง มหา’ลัย

$
0
0

หน้าห้องอธิการฯ รับเรื่อง แจงนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยวันนี้ ด้านเครือข่ายนักศึกษายื่นหนังสือต่อ จี้แจงข้อมูลผลการรับฟังความคิดเห็น ทั้งการสนทนากลุ่ม-สัมภาษณ์เจาะลึก-เว็บไซต์ ที่ผู้บริหารอ้างกระบวนการมีส่วนร่วม

 
 
วันนี้ (1 ส.ค.55) เวลา 10.00 น. นักศึกษาตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบเดินทางไปติดตามความคืบหน้า หลังจากการยื่นข้อเสนอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” เมื่อวันที่ 24 ก.ค.55 ที่ผ่านมา แต่ผ่านมากว่าสัปดาห์ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ
 
การติดตามเรื่องครั้งนี้นักศึกษาตัวแทนเครือข่ายฯ ได้พูดคุยกับ นางสาวบุษรา สุขวิเศษ เลขานุการปฏิบัติงานหน้าห้องอธิการบดี ได้รับข้อมูลว่า เรื่องดังกล่าวจะถูกนำเข้าที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยวันนี้ โดยจะจัดประชุมที่ชั้นสองตึกอธิการ
 
จากนั้นนักศึกษาตัวแทนเครือข่ายฯ จึงยื่นอีก 1 ฉบับ เรื่อง ขอเอกสารบันทึกเกี่ยวกับประเด็นการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ระบุว่า ตามที่อธิการบดีได้ชี้แจงว่าได้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมแล้ว ทางเครือข่ายฯ พิจารณาแล้วว่ายังไม่เพียงพอสำหรับการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น จึงใคร่ขอเอกสารบันทึกสรุปการดำเดินการ ดังนี้1.ผลการรับฟังความคิดเห็นโดยการสนทนาเป็นกลุ่ม (Focus Group Discussion) โดยการวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพมีการสุ่มตัวอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกหน่วยงานตามที่ได้กล่าวอ้าง
 
2.ผลการรับฟังความคิดเห็นโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-Depth Interview) ที่อ้างว่าผู้ให้ข้อมูลคือ นักศึกษา ผู้บริหาร บุคลากรสายผู้สอน บุคลากรสายสนับสนุน ลูกจ้าง พนักงานมหาวิทยาลัย ผู้มีส่วนได้เสีย ผู้แทนองค์กรส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาคราชการ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน และนักวิชาการ 3.ผลการรับฟังความคิดเห็นจากช่องทางอื่นๆ ประกอบไปด้วย เว็บไซต์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ กล่องรับฟังความคิดเห็น โทรศัพท์ โทรสาร
 
ทั้งนี้ การยื่นหนังสือดังกล่าวนางสาวปริยา โทณะพงษ์ เลขานุการปฏิบัติงานหน้าห้องอธิการบดีอีกคนหนึ่งรับจะประสานและดูแลเรื่องให้
“ทางเครือข่ายเองจะไม่นิ่งนอนใจ หากยังไม่รับการติดต่อกลับหรือถูกเพิกเฉยอีก จะไปติดตามเรื่องเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจน” ตัวแทนเครือข่ายฯ ระบุ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สังคมวิทยาภัยพิบัติ: ว่าด้วยการก่อเหตุที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี

$
0
0

การก่อเหตุภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือของมนุษย์ ในฐานทฤษฎีเดิม ว่ากันไว้ว่า “การก่อเหตุมีแรงจูงใจมาจากการต้องการ ผู้ฟัง ไม่ได้ต้องการจำนวนของผู้เสียชีวิต” (Waugh, 1990)

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เหตุผลของการวางระเบิดหรือการก่อเหตุอื่นๆ ที่ไม่ได้หวังผลการตาย เกิดขึ้นเพราะกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องการแสดงให้เห็นถึงพลังและอำนาจ ทำให้เป้าหมายหรือเหยื่อดูน่าสงสาร น่าเห็นอกเห็นใจ และต้องการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีอำนาจ และถึงมีก็ไม่มีประสิทธิภาพ 

การสร้างความเสียหายโดยไม่หวังผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้นเนื่องจากว่า จะทำให้จำนวนการตายของคน นำไปสู่การขาดสนับสนุนด้านการเมือง ดังนั้นการวางระเบิดในโรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี จึงเป็นการก่อเหตุที่สัญลักษณ์มากกว่า เพราะที่ผ่านมาโรงแรมแห่งนี้ถูกใช้เป็นพื้นที่กลางในการประชุมด้านสันติภาพจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ครู สภาภาคประชาสังคมชายแดนใต้ หน่วยงานด้านการศึกษาและวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

ทุกวันนี้เรากำลังสู้กับภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือของมนุษย์ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ เพราะเป้าหมายของผู้สร้างภัยพิบัติตั้งใจจะใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ทั้งโทรทัศน์และอินเตอร์เนท ช่วยกระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัวและขยายผลงานของตัวเองในวงกว้าง

ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ทฤษฎีที่วิเคราะห์ภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือของมนุษย์ กล่าวว่า ภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือของมนุษย์เกิดขึ้น เพราะบุคคลหรือกลุ่มองค์กรต้องการแสดงแสนยานุภาพโดยการฆ่าคนจำนวนมาก  และส่วนใหญ่คือผู้บริสุทธิ์ โดยไม่หวังว่าจะได้รับผลกระทบจากสังคมสาธารณะและการสนับสนุนด้านการเมืองหรือไม่ เช่น การระเบิดเครื่องบิน ตลาด โรงเรียน จนกระทั่งถึงในช่วงทศวรรษที่ 1990 พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับรัฐหรือพื้นที่เศรษฐศาสตร์สังคมของกลุ่มชนชั้นนำ ภายหลังถูกนำมาใช้เป็นเป้าหมายในการก่อเหตุเพิ่มขึ้น 

บุคคลหรือกลุ่มองค์กรที่ขยันสร้างภัยพิบัติบางองค์กร ได้ก้าวข้ามการนับจำนวนคนที่เสียชีวิตและการทำให้เกิดความเสียหาย  มาเป็นการสร้างภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาและผลกระทบทางสังคมมากกว่า ถ้ายังจำกันได้ เหตุการณ์ระเบิดห้างในตัวเมืองหาดใหญ่ กับโรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี ล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ทางเศรษฐกิจและกลุ่มของชนชั้นนำด้วยกันทั้งคู่ 

เหตุของการก่อความรุนแรงจนกระทั่งมีผู้ตายหรือเสียชีวิตมีล้านแปด ประการแรก ส่วนมากงบประมาณสนับสนุนและอุปกรณ์ที่หามาได้ ไม่ได้มาจากการสนับสนุนจากองค์กรหรือหน่วยงานภายนอก แต่มาจาก “rouge” หรือ เงินที่มาจากการก่ออาชญากรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย เรียกค่าไถ่ หรือแม้แต่ค้ายาเสพติด ซึ่งถ้าใครบอกว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาหลักมาจากยาเสพติด อันนี้ก็ไม่แปลก เพราะเงินที่ได้จากการค้ายาก็สามารถนำมาสนับสนุนการก่อเหตุได้เช่นกัน ประการที่สอง กลุ่มที่มีแรงจูงใจมาจากศาสนาหรือพวกการเมืองสุดขั้ว หรือกลุ่มที่มีเป้าหมายในระดับนานาชาติ พวกนี้ไม่ค่อยเป็นประเด็นสำคัญเท่ากับว่า การก่อเหตุเป็นความพยายามค้นหา “สิทธิในการปกครองตนเอง” (autonomy) จากอำนาจส่วนกลางหรือจากรัฐเจ้าอาณานิคม ประการที่สาม การสร้างอาวุธจะมาจากอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายแบบบ้านๆ (low-tech weapons) เช่น ปุ๋ย หรือน้ำมัน ก็สามารถสร้างอำนาจของกลุ่มก่อการได้ด้วยเช่นกัน แต่ทั้งผลของภัยพิบัติที่มาจากธรรมชาติและมาจากน้ำมือของมนุษย์นั้นเหมือนกัน คือต้องมีการฟื้นฟูอย่างยาวนาน (long-term recovery)

เมื่อเกิดเหตุแต่ละครั้ง จึงไม่มีผู้นำคนไหนอยากให้เกิดในขณะที่ตนยังดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว ผู้นำเหล่านี้ โดยเฉพาะรัฐบาล ยังต้องมีหน้าที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งดูแลมูลค่าด้านความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ถ้าทำไม่ได้จะส่งผลให้เกิดความล้มเหลวด้านการเมืองที่มีมูลค่าสูงมากตามมาในภายหลัง 

ในอดีต ความรุนแรงเป็นเรื่องของการข่มขู่คุกคามเพื่อทำให้เกิดความหวาดกลัวโดยเน้นด้านการเมืองเป็นหลัก แต่ปัจจุบันการก่อเหตุอาจต้องการผลด้าน เศรษฐกิจ สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม ผสมเข้าไปด้วย โดยกลุ่มผู้กระทำการอาจมีจำนวนน้อยมากและอาจมีไม่ถึงพันคน แต่การเน้นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคน และสาธารณูปโภค ซึ่งอาจส่งผลในวงกว้างมากโดยสร้างความเสียหายจำนวนที่น้อยกว่าได้ เช่น การโจมตีบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์ ได้แก่ ผู้พิพากษา ผู้นำจากการเลือกตั้ง นักธุรกิจ และคนที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูง เพราะจะได้รับความสนใจจากสาธารณชน หรือสถานที่สาธารณะที่เป็นที่รู้จักกัน

ลองวิเคราะห์ดูเหตุการณ์ระเบิดที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ตัวโรงแรมเองก็ได้ชื่อว่าเป็นโรงแรมของคนชั้นสูง (elite) ในจังหวัด ตัวเจ้าของโรงแรมเองคือ คุณอนุศาสน์ สุวรรณมงคล เป็นสัญลักษณ์ทั้งด้านธุรกิจและการเมือง คือ ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปัตตานี ตัวโรงแรมเองยังเป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีหน่วยงานราชการต่างๆ ชาวบ้านธรรมดาหรือทั้งที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหว นักสร้างสันติภาพจากกรุงเทพหรือต่างจังหวัด นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ เคยใช้เป็นพื้นที่ในการพบปะด้วยกันทั้งสิ้น นั่นหมายถึงว่า การก่อเหตุ ณ โรงแรมแห่งนี้ จะทำให้ความหวาดกลัวขยายวงกว้างได้ง่ายเพราะเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วในแวดวงสาธารณะชน 

จะว่าไปการก่อเหตุความไม่สงบกับความรุนแรงในเชิงอาชญากรรมมีความคล้ายคลึงกัน 4 อย่าง คือ 1) ทั้งคู่ถูกใช้เพื่อสร้างให้เกิดความรุนแรงเกินจากความเป็นธรรมดา 2) เพื่อนำเสนอเป้าหมายอะไรบางอย่าง 3) การเลือกเป้าหมายเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ และ 4) ต้องการสร้างให้เกิดผู้ฟังและติดตามในวงกว้างมากกว่าทำให้เกิดเหยื่อจากสถานการณ์ 

ในการจัดการกับภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือของมนุษย์นั้น จริงๆแล้วหน่วยงานในพื้นที่และในระดับนโยบายก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว คือการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยร่วมกับภาคประชาสังคม (civil security) ในหลายประเทศที่มีเหตุการณ์เช่นนี้ อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาเองหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ก็สนใจและให้ความสำคัญกับวิธีการเช่นนี้มากขึ้น ควบคู่กับการทำงานด้านความมั่นคงและการป้องกันภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือของมนุษย์ โดยได้สร้างแผนการป้องกันไว้ทั้งหมด 15 แผน โดย 12 แผนจะเน้นการรับมือกับเหตุที่อาจเกิดขึ้นในหลายมิติ ได้แก่ การรับมือกับการบาดเจ็บและเสียชีวิต ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐาน ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และช่วงเวลาของการฟื้นฟู โดยแผนดังกล่าวจะเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นสำหรับเหตุร้ายที่ไม่อาจจะจินตนาการได้ด้วย 

สำหรับนักสังคมวิทยาภัยพิบัติที่สนใจเรื่อง ภัยที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ยังมีคำถามอีกมากที่ต้องการคำตอบ ประการแรก ทำไมบุคคลหรือกลุ่มเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อให้บรรลุผลด้านการเมือง ถ้าการสร้างความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวยาวนาน อะไรจะเป็นทางเลือกที่ไม่ให้คนกลุ่มนี้ก่อความรุนแรง เช่น การวิเคราะห์ที่ต้นเหตุว่า มาจากความยากจน หรือความไม่อดทนอดกลั้นทางความแตกต่างด้านศาสนาและวัฒนธรรม ประการที่สอง เราจะสามารถสร้างองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุการณ์ความไม่สงบได้อย่างไร โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งมีฐานทรัพยากรที่จะนำมาใช้ในการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีปัญหาร่วมกันคือ การไม่สามารถดึงทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ร่วมกันได้อย่างจริงจัง เช่น หน่วยงานในพื้นที่ทั้งที่เป็นรัฐและหน่วยงานอิสระ อาจมีประสบการณ์เป็นอย่างดีในการรับมือกับปัญหา แต่ขาดทรัพยากรอันเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญ 

ประการที่สาม ในอุดมคติ การทำงานร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญและต้องการเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ยังคงต้องการระบบในการบริหารจัดการ (Incident Command System-ICS) เพื่อร้อยทักษะต่างๆ เข้าด้วยกัน เพราะการจะให้ทุกองค์กรทุกฝ่ายทำงานด้วยกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันนั้นอาจไม่เป็นผลในทางปฏิบัติจริง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ซับซ้อนและฉุกเฉิน เพื่อให้ได้ผลในทางปฏิบัติ การใช้กระบวนการในการตัดสินใจร่วมกันโดยพื้นฐาน (consensus-based decision process) น่าจะเป็นทางหนึ่งที่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้หรือไม่ อย่างไร

จริงๆ แล้วยังมีคำถามอีกมากที่ต้องการโจทย์วิจัยและต้องการคำตอบ ยิ่งถ้าทำให้มีการสื่อสารระหว่างหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานที่จัดการด้านเหตุฉุกเฉินและการก่อเหตุ นักวิจัยที่ทำงานด้านสันติภาพ และนักวิจัยที่สนใจงานด้านภัยพิบัติ ทั้งหมดนี้ก็จะช่วยให้ระบุโจทย์ เกิดการพัฒนาด้านนโยบาย และโปรแกรมที่จะสามารถรับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่มาจากน้ำมือของมนุษย์ได้ในอนาคต

 

บรรณานุกรม
Waugh, W. L. Jr., (2007), ‘Terrorism as Disaster’, in Rodríguez, H., E. L. Quarantelli, et al. (eds) Handbook of Disaster Research. New York, Springer. pp. 388-404.

 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายลุ่มน้ำปิง ชง 9 แนวทางการจัดการน้ำ

$
0
0

ภาคประชาชนลุ่มน้ำปิง เสนอการจัดการน้ำภายใต้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ต้องถอดบทเรียนการจัดการลุ่มน้ำที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้นำงบประมาณไปแก้ไขปัญหาจากโครงการเดิมที่ผิดพลาด

 
ภาพ: ลุ่มน้ำปิงตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศไทย พื้นที่ส่วนใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่  ลำพูน  ตาก  กำแพงเพชร และนครสวรรค์  ลักษณะลุ่มน้ำเรียวยาว วางตัวในแนวเหนือ-ใต้  พื้นที่ลุ่มน้ำทั้งสิ้น 33,896 ตารางกิโลเมตร (ที่มา: http://kromchol.rid.go.th/lproject/2010/index.php/-25-/105-06-)
 
เวทีสัมมนาการจัดการลุ่มน้ำปิงอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 30 ก.ค.55 ณ โรงแรมนวรัตน์ จ.กำแพงเพชร มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ และเครือข่ายลุ่มน้ำปิง โดยการสนับสนุนจาก Oxfam (ประเทศไทย) ได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาในลุ่มน้ำปิงตั้งแต่ต้นน้ำในอำเภอเชียงดาว ถึงปลายน้ำในจังหวัดนครสวรรค์
 
 
นายสุนทร เทียนแก้ว ลุ่มน้ำปิงตอนบน ได้กล่าวว่าพื้นที่ป่าในลุ่มน้ำปิงตอนบนถูกคุกคามด้วยข้าวโพด ยางพารา ไม้เศรษฐกิจต่างๆ อีกทั้งมีโครงการพัฒนาที่จะเข้ามาในลุ่มน้ำปิงตอนบหลายโครงการ เช่น กระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวง อ่างเก็บน้ำปิงตอนบน โครงการผันน้ำกก-ปิง จากความไม่เปิดเผยข้อมูลของโครงการที่ชัดเจน ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนา ซึ่งเกิดจากความรู้สึกมากกว่าความรู้
  
ส่วนในพื้นที่ตอนล่างตั้งแต่จังหวัดตากถึงจังหวัดนครสวรรค์ สภาพปัญหาที่พบคือ น้ำหลาก น้ำแล้ง อุทกภัย และภัยแล้งในชุมชนบริเวณเขื่อนภูมิพล ดินโคลนถล่มจากน้ำป่าไหลหลาก พื้นที่ป่าลดลง กลายเป็นพื้นที่ทำกินถึงร้อยละ 90 (ไร่ข้าวโพด กะหล่ำปลี) ทำให้ไม่มีต้นไม้ดูดซับน้ำ มีโครงการก่อสร้างเขื่อน มีการบุกรุก สร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นถนน โรงงานอุตสาหกรรม การสร้างฝายกั้นน้ำปิง เป็นเขื่อนหิน ทำให้เกิดปัญหาการใช้น้ำของชาวบ้าน ซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะภูมินิเวศของแม่น้ำ
 
 
ด้านนายตะวันฉาย หงษ์วิลัย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่าโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไม่ตอบปัญหาการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม แต่จะทำลายระบบนิเวศ ที่อยู่ของสัตว์ป่า และแหล่งอาหาร ถ้าเขื่อนแม่วงก์สร้างได้ จะมีการสร้างเขื่อนในป่า ในเขตอุทยานฯ ทั่วประเทศ
 
ดร.วสันต์ จอมภักดี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรรมการลุ่มน้ำปิง ได้ตั้งคำถามว่า งบสามแสนห้าหมื่นล้านจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และมีประสิทธิภาพอย่างไร พร้อมเสนอว่า นโยบายการจัดการน้ำผ่านมาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จะต้องมีการถอดบทเรียน ในกรณีของการสร้างเขื่อนแม่กวงน้ำไม่เคยเต็มเขื่อนและไม่เพียงพอในการใช้ จึงมีการผันน้ำข้ามลุ่มมาแม่แตงลงแม่งัด ต่อมาลงมาแม่กวง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาของการสร้างเขื่อนแม่กวงที่ผ่านมา
 
ส่วนในกรณีของการขุดลอกแม่น้ำปิงในจังหวัดเชียงใหม่ จะทำให้น้ำไหลแรง หนองน้ำถูกทำลาย ถนนสะพานทรุด และไหลท่วมลำพูนในที่สุด การใช้เงินสามแสนห้าหมื่นล้าน จะเป็นใช้เงินที่สนองนโยบายที่ผิดพลาดของโครงการที่รัฐบาลทำมาก่อน
 
อ.อนุชา เกตุเจริญ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และกรรมการลุ่มน้ำปิง กล่าวถึงปัญหาการจัดการลุ่มน้ำปิงที่ผ่านมาว่า ความรู้ของหน่วยงานราชการ /แม้แต่กรรมการลุ่มน้ำในเรื่องการจัดการลุ่มน้ำยังไม่มี การทำงานของหน่วยงานราชการที่มีหลายฝ่าย หลายองค์กรขาดการบูรณาการกัน
 
 
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ กล่าวถึงปัญหาการจัดการลุ่มน้ำในภาคเหนือที่ผ่านมาว่า ลำห้วย แม่น้ำทุกสายที่ผ่านมา ถูกขุดลอกโดยอปท. และหน่วยงานราชการ และกำลังจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยงบสามแสนห้าหมื่นล้าน ทำให้แม่น้ำแบนราบ ไม่มีสูง ต่ำ มีแต่ความลึก เป็นเหมือนคลองชลประทาน ทำให้ความหลากหลายของระบบนิเวศถูกทำลายหมดสิ้น
 
ขณะที่กำนันบุญจันทร์ วินไธสงค์ กรรมการลุ่มน้ำปิง จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่าการทำงานของภาครัฐที่ผ่านมา ภาคประชาชนจะไม่ทราบข้อมูล แต่ทราบเมื่อมีแผนงาน โครงการออกมาแล้ว ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่มีความยั่งยืน ภาคประชาชนเอง มีแผนงานตำบลหรือแผนจังหวัด ซึ่งคิดมาจากชุมชนมากมาย แต่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติที่แท้จริง ดังนั้นแผนงานที่ออกมาของภาครัฐ จึงไม่ตอบรับกับสภาพปัญหาของท้องถิ่น
 
ทั้งนี้ ในเวทีมีข้อเสนอในการจัดการลุ่มน้ำปิง ภายใต้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ดังนี้
1. สร้างป่าให้ซับน้ำ เป็นเขื่อนที่มีชีวิต เพื่อดำรงวิถีชีวิตของผู้คน และการพัฒนาที่ยั่งยืน
2. การแก้ไขปัญหาในลุ่มน้ำปิง ควรมีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำ
3. ให้มีกรรมการลุ่มน้ำสาขา และลุ่มน้ำย่อยที่มาจากภาคประชาชน โดยราชการเป็นฝ่ายหนุนเสริม
4. ให้หน่วยงานราชการ เรียนรู้ระบบลุ่มน้ำ วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ การใช้น้ำ ฯลฯ เพื่อให้มีการจัดการน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละลุ่มน้ำ
5. ลดพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ และทบทวนนโยบายการปลูกพืชเศรษฐกิจ
6. สนับสนุนชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการป่า และการจัดตั้งกองทุนจัดการป่า
7. อนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำที่ถูกทำลาย เพื่อให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ และแหล่งอาหารของชุมชน
8. ประยุกต์รูปแบบการจัดการน้ำแบบเหมืองฝาย กับการจัดการน้ำแบบสมัยใหม่ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
9. รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน ทบทวนบทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมา ไม่ทำลายระบบนิเวศตามธรรมชาติ วิถีชีวิตผู้คน และไม่เดินซ้ำทางเดิม
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบนักกีฬาชาวเอริเทรียมักขอลี้ภัยระหว่างการแข่งขันนอกประเทศ

$
0
0

ผู้ชมชาวแอฟริกาจับตามองนักกีฬาชาวเอริเทรียจากทวีปแอฟริกาในการแข่งขันโอลิมปิก เพราะพวกเขามักถือโอกาสขอลี้ภัยขณะออกไปแข่งขันกีฬาในต่างแดน เหตุถูกกดขี่จากระบอบการปกครองในประเทศ 

เว็บไซต์ วอยซ์ ออฟ อเมริกา ภาคภาษาไทย รายงานเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีนักกีฬาจากประเทศเอริเทรีย จากทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา หลายสิบคนที่หลบหนีและขอลี้ภัยในประเทศอื่น นักวิจารณ์กล่าวว่านักกีฬาเหล่านี้หลบหนีการปกครองของคณะรัฐบาลที่ไม่ยอมมอบอำนาจคืนแก่ประชาชนตามสัญญา

ไมเคิล เทสฟาอี เจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตเอริเทรียในกรุงลอนดอนกล่าวว่า เอริเทรียส่งนักกีฬาลงแข่งขันที่กรุงลอนดอนทั้งหมด 12 คน ลงแข่งในกีฬาหลายประเภท รวมทั้งวิ่งและปั่นจักรยาน เขายืนยันว่า นักกีฬาชาวเอริเทรียทั้งหมดจะเดินทางกลับบ้านหลังเสร็จสิ้นการแข่งขัน

เจ้าหน้าที่สถานทูตเอริเทรียในลอนดอนกล่าวว่า เพราะพวกเขาเป็นคนเอริเทรียที่รักบ้านเกิด พวกเขาจะต้องกลับไปเอริเทรียอย่างที่ทุกคนคาดหวัง

ทีมนักกีฬาโอลิมปิกเอริเทรียรวมทั้ง นายเซอเสนเน่ แทดเดส นักวิ่งฮาฟมาราธอนเหรียญเงิน ที่ประกาศว่าตนประสบความสำเร็จเพราะการสนับสนุนของประเทศบ้านเกิด

แต่ความรักชาติแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนทุกคน ทีมฟุตบอลแห่งชาติเอริเทรีย กลายเป็นข่าวพาดหัวเมื่อหกปีที่แล้ว เมื่อสมาชิกทีมนักเตะสี่คนขอลี้ภัยระหว่างการแข่งขันในประเทศเคนยา

เมื่อสามปีที่แล้ว สมาชิกทีมฟุตบอลของเอริเทรียหายไปทั้งทีมหลังการแข่งขันในเคนยา แล้วไปโผล่ที่ออสเตรเลีย และเมื่อปีที่แล้ว นักเตะของทีมเอริเทรีย 13 คน หายตัวไปในแทนซาเนีย มีหลายคนเดินทางมาถึงเมืองฮูสตั้น สหรัฐอเมริกาภายใต้โครงการตั้งถิ่นฐานใหม่แก่ผู้อพยพ

นายดารีโอ้ ลิโพเว็ค ผู้ประสานงานโครงการตั้งถิ่นฐานผู้อพยพกล่าว่า นักกีฬาเหล่านี้มีความกล้าหาญที่ยอมสละตำแหน่งในระดับทีมชาติเอริเทรีย มาเป็นผู้อพยพ

เขาบอกว่า นักฟุตบอลทีมชาติเอริเทรีย 7 คนที่อยู่ที่ศูนย์ขณะนี้มีความสุขดีและซาบซึ้งที่ได้รับความช่วยเหลือ แต่พวกเขาคิดถึงบ้านและครอบครัวที่ทิ้งไว้เบื้องหลัง

อย่างไรก็ดี ไม่แค่นักกีฬาชาวเอริเทรียเท่านั้นที่ต้องการลี้ภัย สมาชิกทีมฟุตบอลหญิงแห่งชาติคิวบาสองคนได้ขอลี้ภัยในแคนาดาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และ นักกีฬาบาสเก็ตบอลอีก 5 คนของคิวบาได้หายตัวไประหว่างการแข่งขันในประเทศเปอร์โตริโก้ และเมื่อหลายสิบปีก่อน นักกีฬาจากสหภาพโซเวียตก็ตกเป็นข่าวในเรื่องนี้

นายเดเนี่ยล เบ็คเคลลี่ ผู้อำนวยการประจำแอฟริกาของ Human Rights Watch กล่าวว่า ปัญหาการเมืองและสิทธิมนุษยชนในเอริเทรียเป็นตัวผลักดันให้นักกีฬาขอลี้ภัย ประเทศในทะเลแดงนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของคนๆ เดียวคือ ประธานาธิบดี อิเซเอียซ อัฟเวอร์กี้ มีการคุมขังผู้คัดค้านทางการเมืองจำนวนมากและริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน นอกจากนี้ ยังเลื่อนการเลือกตั้งออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า

ผู้อำนวยการ Human Rights Watch ในแอฟริกากล่าวว่าการขอลี้ภัยของนักกีฬาแสดงถึงความเลวร้ายของปัญหาในเอริเทรีย โดยรวมแล้ว จำนวนคนที่หลบหนีจากประเทศเล็กๆ นี้ได้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าสองแสนคน หรือ ประมาณร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ

 

ที่มา: นักกีฬาชาวเอริเทรียมักขอลี้ภัยระหว่างการแข่งขันนอกประเทศ, วอยซ์ ออฟ อเมริกา, 1 ส.ค. 55  
http://www.voathai.com/content/eritrea-olympics-defectors-/1452171.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานกรกฎาคม 2555

$
0
0

"โอบามา" เรียกร้องทุกฝ่ายดำเนินการมากกว่านี้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิสหรัฐ หลังตัวเลขการจ้างงานทรงตัวที่ระดับ 8.2%

 7 ก.ค. 55 - นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาต้องทำมากกว่าการกระตุ้นการจ้างงานเพื่อชดเชยตำแหน่งงานที่หดหายไปในช่วงเศรษฐกิจถดถอย โดยทุกฝ่ายต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐ

"ภารกิจของเราไม่ใช่แค่การทำให้คนมีงานทำอีกครั้ง แต่เราต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้ทำงานแล้วได้เงิน เพื่อให้ทุกคนที่ทำงานหนักมีโอกาสเจริญก้าวหน้า" นายโอบามา กล่าวปราศรัย

นายโอบามา ออกมาแสดงความคิดเห็นหลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 80,000 ตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 90,000-100,000 ตำแหน่งโดยประมาณ ขณะที่อัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 8.2% ซึ่งทำให้ตลาดเกิดความกังวลระลอกใหม่เรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ข้อมูลการจ้างงานที่น่าผิดหวังทำให้แนวโน้มที่นายโอบามา จะได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งมืดมนกว่าเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจเป็นประเด็นหลักในการหาเสียงตั้งแต่เริ่มต้น ขณะที่นายมิทท์ รอมนีย์ ผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ก็อาศัยโอกาสนี้ในการโจมตีนายโอบามาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าอัตราว่างงาน 8.2% ถือว่า "สูงเกินจะรับไหว" และรัฐบาลจำเป็นต้องผ่อนปรนข้อบังคับต่างๆและลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สหภาพแรงงานเซ็กส์เวิร์คเกอร์ฝรั่งเศสประท้วงแนวคิดลงโทษผู้ซื้อบริการทางเพศ

7 ก.ค. 55 - ที่ผ่านมากลุ่มชนชาวฝรั่งเศสรวมทั้งผู้ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศรวมตัวกันประท้วงแนวคิดของ Najat Vallaud-Belkacem รัฐมนตรีสิทธิสตรีของฝรั่งเศสหลังจากเสนอนโยบายสะกัดการเติมโตของอุตสาหกรรมค้าเซ็กส์ ด้วยแนวคิดลงโทษผู้ที่จ่ายเงินซื้อบริการทางเพศ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

Morgane Merteiul เลขาธิการทั่วไปของสหภาพแรงงานเซ็กส์เวิร์คเกอร์ ระบุว่า Vallaud-Belkacem ควรไปทำการบ้านศึกษาดูก่อนว่าอาชีพขายบริการนั้นเป็นอย่างไรและการต่อต้านการบังคับใช้แรงงานก็ถือเป็นหลักการเดียวกับการให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ที่เต็มใจจะทำงานแบบนี้

มูลนิธิ Scelles ประมาณการว่าในฝรั่งเศสมีผู้ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ 18,000-20,000 คนในปี ค.ศ. 2012 ถึงแม้ว่าอาชีพนี้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็มีการห้ามให้มีลักษณะตัวกลางในการจัดหาหญิงค้าบริการให้ผู้ซื้อ มีการห้ามการบังคับให้ค้าประเวณี และการเชื้อเชิญให้ซื้อบริการทางเพศในที่สาธารณะ

แต่ปัจจุบันเริ่มมีผู้สนับสนุนให้มีกฎหมายจำกัดการค้าบริการทางเพศ เนื่องจากปัจจุบันมีคนขายบริการเดินหาลูกค้าตามที่สาธารณะ และเกิดกลุ่มมาเฟียที่ลักลอบนำหญิงขายบริการจากเอเชีย, แอฟริกา และประเทศยุโรปอื่นๆ เข้ามาในฝรั่งเศส

แต่ทั้งนี้กลุ่มผู้ขายบริการทางเพศกลับมองว่าหากมีกฎหมายจำกัดการค้าบริการทางเพศขึ้นมาจริง ยิ่งจะทำให้กลุ่มมาเฟียก่ออาชญากรรมแบบนี้เพิ่มมากขึ้น

ขุนคลังกรีซเสนอแผนแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ

7 ก.ค. 55 - ยานนิส สตูร์นาราส รัฐมนตรีคลังคนใหม่ของกรีซ เสนอแผนของรัฐบาลชุดผสมในการแปรรูปกิจการรัฐเป็นเอกชน ซึ่งเป็นโครงการเก่า ที่มีการนำเสนอตั้งแต่ปี 2553 แต่ต้องหยุดชะงักลงท่ามกลางปัญหาทางตันทางการเมือง และการประท้วงของสหภาพแรงงานภายในประเทศ โดยหวังส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ และฟื้นปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แล้ว

สตูร์นาราส บอกในวันที่ 2 ระหว่างการอภิปรายนนาน 3 วันว่า โครงการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจถึง 28 โครงการ จะเป็นการสร้างงาน เพิ่มการแข่งขันและการพัฒนาของประเทศ ซึ่งแผนนี้จะเปลี่ยนมุมมองกรีซ ในช่วงทื่ประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันของนานาชาติ และทำให้กรีซมีเสถียรภาพและเรียกความมั่นใจกลับคืนมา

เป้าหมายของรัฐบาลคือ ลดตัวเลขขาดดุลให้ได้ตามเป้า ต่อการขยายตัวของจีดีพี รัฐบาลมีแผนที่จะให้ความสำคัญกับทั้ง 28 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ น้ำ บริษัทเพื่อการพนัน  เรือยอร์ช การรถไฟ และการขายและให้เช่าของอสังหาริมทรัพย์

ด้านพรรคฝ่ายค้าน ออกมาบอกว่า รัฐบาลผสมจากทั้ง 3 พรรค ต้องการที่จะขายทรัพยากรและบริษัทของภาครัฐ โดย นายอเล็กซิส ซิปรัส หัวหน้าพรรคซิริซา ออกมาค้าน และบอกว่า กิจการของรัฐอาจจะล้มละลายหรือถูกดำเนินคดี

รัฐบาลชุดใหม่ จะต้องผ่านการลงมติไว้วางใจจากสภานิติบัญญัติ ในเวลาเที่ยงคืนของวันนี้ ซึ่งก็คาดว่ารัฐบาลผสมจะได้รับการไว้วางใจจากสภานิติบัญญัติ

บรรดาเจ้าหนี้ต่างชาติ มองว่า กรีซยังคงขาดวิธีการปฏิรูปที่ชัดเจนในการดำเนินมาตรการของเงื่อนไขเงินกู้   เจ้าหนี้กรีซย้ำชัดว่าต้องการเห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนในการปฏิรูป โดยมองว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โครงการและมาตรการปฏิรูปต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง  หลังประเทศเผชิญปัญหาทางตันทางการเมือง และการเลือกตั้งถึงสองครั้ง ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อนหน้านี้

ILO เตือนวิกฤตยูโรโซนกระทบแรงงาน 4.5 ล้านคนเสี่ยงตกงาน

10 ก.ค. 55 - องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เตือนว่า เศรษฐกิจยูโรโซนซึ่งตกอยู่ในวิกฤตทางการเงิน อาจมีจำนวนแรงงานที่ตกงานกว่า 4.5 ล้านคนภายในสี่ปีข้างหน้า หากไม่มีการดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจขนานใหญ่อย่างรวดเร็ว

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า รายงาน "วิกฤตการจ้างงานยูโรโซน: แนวโน้มและการสนองตอบด้านนโยบาย" ระบุว่า มาตรการรัดเข็มขัดที่ประเทศยุโรปใช้เพื่อจัดการกับวิกฤตอยู่ในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและเสี่ยงที่จะ "ทำให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมและบั่นทอนความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลของประเทศต่างๆ ระบบการเงิน และสถาบันต่างๆของยุโรป"

ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในแถบยูโรโซนแตะ 11% เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หรือมีคนว่างงานกว่า 17.4 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านจากระดับก่อนวิกฤตการเงินโลกในปี 2551

รายงานชี้ว่า การยับยั้งวิกฤตโดยคงเอกภาพของเงินสกุลเดียวเอาไว้นั้นเป็นไปได้ "โดยรวมกลยุทธ์การเติบโตของยูโรโซนพร้อมกับการจ้างงานไว้เป็นส่วนสำคัญ" แต่เวลากำลังจะหมดลง

นายฮวน โซมาเวีย ผู้อำนวยการ ILO กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "โอกาสกำลังจะหมดไป ทุกคนจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน"

เปอโยต์ลดคนงาน 8,000 คน

13 ก.ค. 55 - บริษัทผลิตรถยนต์ PSA เปอโยต์-ซีตรองที่มีปัญหาของฝรั่งเศส กำลังเผชิญกับปัญหายอดขายที่ลดต่ำลงอย่างมากในทวีปยุโรปใต้ ประกาศแผนลดค่าใช้จ่ายกะทันหันและร้ายแรง ด้วยการปรับลดตำแหน่งงานลงถึง 8,000 ตำแหน่งในฝรั่งเศส และปิดโรงงานผลิตสำคัญโรงหนึ่งทางตอนเหนือของกรุงปารีส

พนักงานที่โรงงานผลิตในเมืองโอลแน-ซู-บัวส์ พร้อมใจกันผละงาน และจัดการประท้วงขึ้นที่หน้าโรงงานซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส และเป็นป้อมปราการของการผลิตรถยนต์และสหภาพแรงงานของพนักงานผลิตรถยนต์

ฝ่ายบริหารของบริษัทประกาศปรับลดตำแหน่งงานและปิดโรงงานนี้ระหว่างการประชุมร่วมกับตัวแทนของพนักงานเมื่อวานนี้

บริษัท PSA เปอโยต์-ซีตรอง ซึ่งอาจเผชิญกับการขาดทุนถึง 700 ล้านยูโร หรือประมาณ 27,100 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ กำลังพยายามประหยัดเงิน 1,000 ล้านยูโร ขณะที่บริษัทกำลังต่อสู้เพื่อแข่งขันในตลาดรถยนต์ยุโรป ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด บริษัทได้รับผลกระทบหนักจากยอดขายที่ดิ่งลงเหวในยุโรปใต้ที่กำลังเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ บริษัทได้เห็นยอดขายตกลง 20 % ในยุโรปในช่วงไตรมาสแรก

แผนปรับปรุงโครงสร้างยังรวมถึงการปรับลดตำแหน่งงาน 1,400 ตำแหน่งที่โรงงานผลิตรถยนต์ในเมืองแรน และปรับลดตำแหน่งงานอีก 3,600 ตำแหน่ง ตามโรงงานผลิตอื่นๆ ทั่วฝรั่งเศส ปัจจุบันบริษัทว่าจ้างพนักงานประมาณ 100,000 คนในฝรั่งเศส และอีกประมาณ 209,000 คนทั่วโลก

การประกาศปรับปรุงโครงสร้างมีขึ้นหลังบริษัทประกาศแผนเมื่อปีที่แล้วว่าจะลดตำแหน่งงานลง 6,000 ตำแหน่ง

นายฟิลิป วาแร็ง ประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัทแถลงต่อสื่อมวลชนในกรุงปารีสว่า ขณะนี้บริษัทกำลังขาดทุนเดือนละประมาณ 100 ล้านยูโร แต่เขาให้คำมั่นว่า บริษัทจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างทางเด็ดขาด

บริษัทยังหวังว่าการร่วมเป็นพันธมิตรใหม่กับบริษัทเจเนอรัลมอเตอร์สของสหรัฐฯ จะช่วยให้บริษัทกลับมามีกำไรในระยะยาว พนักงานที่นัดหยุดงานประมาณ 250 คน มาชุมนุมหน้าโรงงานโอลไน-ซู-บัว หลังมีคำประกาศ

หุ้นของบริษัท PSA เปอโยต์-ซีตรอง เพิ่มขึ้น 0.45 % ไปอยู่ที่ 7.17 ยูโร ในการซื้อขายภาคบ่าย

หนุ่มอิสราเอลเผาตัวประท้วงวิกฤตค่าครองชีพแพง โวยรัฐ"ปล้นคนจน-ช่วยคนรวย"

15 ก.ค. 55 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ว่า เกิดเหตุระทึก หนุ่มอิสราเอลรายหนึ่งได้ก่อเหตุจุดไฟเผาตัวเอง ระหว่างการชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ 1 ปีผู้คนประท้วงรัฐบาลอิสราเอลต่อปัญหาค่าครองชีพและปัญหาสังคมต่าง ๆ ในกรุงเทล อาวีฟ เมืองหลวง โดยหนุ่มรายนี้มีอาการสาหัสก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ขณะที่สื่อมวลชนอิสราเอลรายงานว่า หนุ่มรายนี้ได้ทิ้งจดหมายในที่เกิดเหตุ มีข้อความว่า"รัฐอิสราเอลได้ขโมยตัวตนของผมและปล้นผม พวกเขาทำให้ผมไร้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งตำหนิรัฐบาลว่า กระทำย่ำยีปชช.และนำผลประโยชน์ของคนจนไปให้กลุ่มคนรวย

รายงานระบุว่า การชุมนุมเมื่อวันเสาร์เป็นความพยายามที่จะกระตุ้นให้ประชาชนอิสราเอลจดจำเหตุการณ์ประท้วงเมื่อเดือนก.ค.ปีที่แล้ว ต่อปัญหาราคาบ้านแพง ก่อนลุกลามไปสู่การประท้วงค่าครองชีพแพง ค่าแรงต่ำ และการขาดการศึกษาที่ดีให้แก่เยาวชน และการประท้วงมีขึ้นหลังจากรัฐบาลอิสราเอลได้คณะกรรมการเพื่อศึกษาว่าจะสามารถหาทางออกในการแก้ปัญหาสังคมเหล่านี้ได้อย่างไร โดยผู้นำกลุ่มประท้วงบอกว่า คณะกรรมการดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น

ไม่ยอมให้ลูกจ้างหญิงลาก่อนคลอดโทษปรับสูงสุด3แสนเหรียญไต้หวัน

17 ก.ค. 55 - คณะกรรมการการแรงงานไต้หวัน (CLA) ได้เปิดเผยว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิที่จะขอลาคลอดก่อนการคลอดเพื่อดูแลครรภ์ได้ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายมาตราที่ 4 ของกฎหมายการขอลาหยุดของแรงงาน และมาตราที่ 15 ของกฎหมายความเท่าเทียมกันทางเพศในการทำงาน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพ.ค.2553 และ เดือนมกราคม 2554 ตามลำดับโดยหากนายจ้างไม่ยินยอมปฏิบัติตามกฎหมายมีโทษปรับสูงสุด 300,000 เหรียญไต้หวัน

สำนักงานมาตรฐานแรงงาน คณะกรรมการการแรงงานชี้ว่า ขอเพียงลูกจ้างหญิงได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีความจำเป็นต้องลาหยุดเพื่อดูแลครรภ์ ซึ่งการลาหยุดนี้สามารถนับรวมกับการลาหยุดกรณีป่วยหนัก

และต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลได้ (สูงสุดไม่เกิน 1 ปี) โดยหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวมีโทษปรับตามกฎหมายตั้งแต่ 20,000-300,000 เหรียญไต้หวันนอกจากนี้ ตามกฎหมายความเท่าเทียมกันทางเพศในการทำงาน ได้มีการระบุเกี่ยวกับการขอลาก่อนคลอดเพื่อดูแลครรภ์ของลูกจ้างหญิงไว้อย่างชัดเจนเช่นกันว่า นายจ้างห้ามปฏิเสธ และนายจ้างไม่สามารถอ้างการลาหยุดนี้เพื่อนำมาหักเงินโบนัสประจำปี หรือนำมาประเมินการทำงานที่ไม่เป็นผลดีต่อลูกจ้างได้

ลอนดอน จนท.ตม.โหวตสไตร์คงาน หลังโดนลอยแพ-ลดค่าจ้าง

19 ก.ค. 55 -  ลอนดอน เกมส์ ยังต้องรับมือกับปัญหาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด รายงานข่าวเผยว่า สหภาพผู้จ้างงานตรวจพาสปอร์ต ผ่านเข้าเมืองในกรุงลอนดอน ลงคะแนนโหวตหนุนหลังสไตร์คงาน เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา จากความไม่พอใจที่โดนตัดเงินค่าจ้างและมีการลดการจ้างงานด้วย ซึ่งอาจส่งผลก่อให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการ ทำให้ผู้เดินทางต้องรอคิวตรวจเอกสารผ่านเข้าเมืองยาวเหยียด

สำนักข่าวรอยเตอร์เผยว่า เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในกรุงลอนดอนมีจำนวนไม่เพียงพอส่งผลทำให้ผู้เดินทางเข้าเมืองในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกบางกลุ่มต้องเข้าแถวรอตรวจเอกสารเข้าเมืองกันนานนับชั่วโมง ล่าสุด สหภาพการบริการการค้า และบริการสาธารณะ (พีซีเอส) เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า สมาชิกของสหภาพที่ทำหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จำนวน 57 เปอร์เซ็นต์ลงคะแนนเสียงหนุนการสไตร์คงานสืบเนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งกับกระทรวงมหาดไทยเรื่องการจ้างงานและการลดเงินค่าจ้างอันส่งผลให้มีจำนวนแรงงานน้อยลงจนเกิดความล่าช้า และทางสหภาพจะทำการประกาศรูปแบบการเคลื่อนไหวสไตร์คงาน และวันที่จะดำเนินการอีกครั้งในวันนี้ (19 กรกฎาคม)

อย่างไรก็ดี รายงานข่าวจากรอยเตอร์ระบุว่า สมาชิกจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ของสหภาพเข้าร่วมการโหวตครั้งนี้ โดย 75 เปอร์เซ็นต์ ของผู้เข้าโหวตหนุนหลังการดำเนินการรูปแบบอื่น

ขณะที่ทางฝ่ายรัฐบาล ซึ่งได้คัดเลือกสต๊าฟฟ์พิเศษเพื่อช่วยงานในช่วงโอลิมปิกแล้ว อ้างว่า จำนวนผู้เข้าโหวตมีน้อยเกินกว่าที่จะทำให้สหภาพมีสิทธิ์ชอบธรรมในการสไตร์คงาน

ที่ผ่านมา การบริหารจัดการระหว่างที่นักกีฬาเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาในกรุงลอนดอนแสดงให้เห็นช่องโหว่ และเริ่มเห็นปัญหาบ้าง เมื่อมีรายงานข่าวว่า ผู้เดินทางบางคนอาจต้องรอคิวตรวจเข้าเมืองนานหลายชั่วโมง

การแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ ที่ลอนดอน เริ่มต้นวันที่ 27 กรกฎาคม โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้เดินทางเข้าลอนดอนจำนวนแตะหลักหมื่นต่อวัน และเชื่อว่าช่วงปิดการแข่งขันโดยเฉพาะวันที่ 13 สิงหาคมจะเป็นวันที่สนามบินฮีทโธรว์ ในลอนดอนต้องรับมือกับผู้โดยสารมากที่สุดวันหนึ่ง

จลาจลโรงงาน'ซูซูกิ'อินเดีย คนงานรุมทำร้ายผู้จัดการบาดเจ็บนับร้อย

19 ก.ค. 55 - มารูติ ซูซูกิ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของอินเดีย ต้องระงับการผลิต ณ โรงงานแห่งหนึ่งใกล้นิวเดลีเมื่อวันพฤหัสบดี(19) หลังผู้จัดการรายหนึ่งถูกไฟครอกจนเสียชีวิตและอีกจำนวนมากได้รับบาดเจ็บในเหตุจลาจลโดยฝีมือของเหล่าพนักงานผู้โกรธกริ้ว

บริษัทมารุติ ระบุว่าผู้เสียชีวิตคือนายอัฟนิช คูมาร์ เดฟ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโรงงาน โดยซากไหม้เกรียมของเขาถูกพบหลังเกิดเหตุจลาจลเมื่อช่วงค่ำวันพุธ(18) ซึ่งระหว่างนั้นหัวหน้าแผนกหลายคนก็ถูกเล่นงานและอาคารสำนักงานโดนวางเพลิง

"เราตกอยู่ในความสับสนอลหม่านจากความรุนแรงฝีมือม็อบ" มารุติระบุในถ้อยแถลง พร้อมยกย่อง เฟด สำหรับความทุ่มเททำงานด้านอุตสาหกรรมสัมพันธ์ด้วยความรัก" ณ โรงงานมณีสาร์ ห่างจากเมืองหลวงราว 50 กิโลเมตร

หุ้นของมารุติ ดิ่งลงเกือบร้อยละ 9 เหตุนักลงทุนกังวลว่าบริษัทแห่งนี้อาจต้องปิดโรงงานเป็นเวลานาน หลังจากเมื่อปีที่แล้ว ปฏิบัติการของ มารุติ ก็เผชิญความยุ่งเหยิงนานหลายเดือนจากปัญหาเกี่ยวกับค่าจ้างและรับรองสหภาพ

บริษัทซึ่งมี ซูซูกิ มอเตอร์ ของญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ เปิดเผยว่าอาคารสำนักงานต่างๆของโรงงานถูกไฟเผาผลาญเสียหายร้ายแรงเกินกว่าที่จะซ่อมแซม ขณะที่เหล่าผู้จัดการเกือบ 100 คน ต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ในนั้นบางรายอาการสาหัส

พวกคนงาน บางส่วนใช้แท่งเหล็กรุมทำร้ายเหล่าผู้จัดการฝ่าย ทั้งทุบตีบริเวณศีรษะ ขาและหลัง เป็นผลให้เหยื่อเลือดอาบ กระดูกหักและบางรายก็ถึงขั้นหมดสติ นอกจากนี้บริหารระดับสูงชาวญี่ปุ่น 2 คน ในนั้นคือผู้จัดการโรงงานมณีสาร์ ก็ถูกนำส่งโรงพยาบาลเช่นกัน แต่ไม่มีการเปิดเผยถึงอาการบาดเจ็บของพวกเขา

มารูติ ใช้โรงงานแห่งนี้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ราว 550,000 คันต่อปี คิดเป็น 1 ใน 3 ของการผลิตทั้งหมดของบริษัท และพวกเขาแถลงว่าจะตัดสินใจเร็วๆนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในเรื่องของการกลับคืนสู่ปฏิบัติการ

"นี่คือเหตุความไม่สงบของคนงานครั้งเลวร้ายที่สุดที่ผมเคยเห็นมาในรอบหลายปีนี้" ตรีเพส ราธอร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษา ไอเอชเอส ออโตโมทีฟ อินเดีย บอกกับเอเอฟพี "สถานการณ์เลวร้ายมาก พวกผู้จัดการระดับอาวุโสอาจไม่อยากทำงานให้มารูติ ณ โรงงานดังกล่าวอีกแล้วในอนาคต เนื่องจากหวั่นกลัวด้านความปลอดภัย"

ด้าน มเหสวรา ดายัล รองผู้บัญชาการตำรวจเปิดเผยว่ามีคนงานอย่างน้อย 88 คนถูกจับกุมและมีความเป็นไปได้ที่เหล่านั้นจะถูกตั้งข้อกาฆาตกรรมด้วยการก่อจลาจลและวางเพลิง

มารูติ เปิดเผยว่าเหตุวุ่นวายเริ่มขึ้นในตอนเช้าวันพุธ(18) เมื่อพนักงานฝ่ายผลิตรายหนึ่งทำร้ายผู้จัดการฝ่าย และกล่าวหาว่าสหภาพคนงานพยายามขัดขวางการลงโทษทางวินัยต่อพนักงานรายนี้ จากนั้นก็ปิดกั้นห้ามเหล่าผู้จัดการออกจากโรงงาน

"ไม่ว่าเหตุผลใดๆ นี่ไม่ใช่ปัญหาความสัมพันธ์อุตสาหกรรม ในธรรมชาติความเห็นต่างระหว่างผู้จัดการและคนงานเกี่ยวกับประเด็นค่าจ้างหรือเงื่อนไขการทำงาน แต่มันคือความรุนแรงที่ไม่ได้เกิดจากแรงยั่วยุและน่าขยะแขยงสิ้นดี"

แต่ทางสหภาพแรงงานอ้างเหตุผลที่ต่างกัน โดยบอกว่าผู้จัดการคนดังกล่าวข่มเหงคนงานรายนี้ที่เป็นวรรณะต่ำที่สุดของอินเดีย แถมเขายังถูกพักงานหลังจากยื่นร้องเรียนอีกด้วย

โรงงานมณีสาร์ มีพนักงานราว 2,000 คน และทำหน้าที่ผลิตรถยนต์ "สวิฟท์" ที่มียอดขายสูงสุดของบริษัท รวมถึง A-star และ SX4 ซีดาน

คนงานชาวกรีกเดินขบวนประท้วงมาตรการรัดเข็มขัด

27 ก.ค. 55 - คนงานจากภาคต่าง ๆ ในกรีซรวมตัวประท้วงในกรุงเอเธนส์ เพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการตามพันธกรณีกับสหภาพยุโรป หรือ อียู และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ประธานสหภาพคนงานต่อเรือแห่งหนึ่ง ระบุว่า พวกเขาจะเดินหน้าต่อสู้ไปจนกว่าจะได้รับความยุติธรรม โดยรัฐบาลและบริษัทจะต้องคำนึงว่าพวกเขาคือคนงานไม่ใช่ทาส

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้บริษัทหลายแห่งต้องปลดคนงาน ลดชั่วโมงการทำงาน และลดเงินเดือนลูกจ้าง การประท้วงดังกล่าวมีขึ้นในช่วงที่คณะผู้ตรวจสอบจากอียูและไอเอ็มเอฟ อยู่ระหว่างการเยือนกรีซเพื่อประเมินความคืบหน้าว่ากรีซได้ดำเนินการตามพันธกรณีในการขอรับเงินช่วยเหลือหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลกรีซได้ยื่นเสนอมาตรการลดรายจ่ายเป็นเงินถึง 12,000 ล้านยูโร ในระยะ 2 ปีต่อคณะผู้ตรวจสอบ

หมู่เกาะเคย์แมนเสนอ "เก็บภาษีแรงงานต่างชาติ" ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

30 ก.ค. 55 - หมู่เกาะเคย์แมนซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งฟอกเงินของมหาเศรษฐีทั่วโลก เสนอแผนเก็บภาษีโดยตรงจากแรงงานต่างชาติเพื่อบรรเทาปัญหาขาดดุลงบประมาณข้อเสนอเก็บ ค่าธรรมเนียมทำนุบำรุงชุมชนดังกล่าวนับเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของหมู่เกาะแห่งนี้ และหมายความว่า แรงงานต่างชาติที่มีรายได้เกิน 24,000 ดอลลาร์สหรัฐจะถูกหักภาษีโดยตรงร้อยละ 10

มณฑลกว่างตงกวาดล้างเอ็นจีโอครั้งใหญ่

31 ก.ค. 55 - เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ -องค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ซึ่งทุ่มเททำงานในการพิทักษ์สิทธิของแรงงานอพยพถูกทางการมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) สั่งปิดไปแล้วอย่างน้อย 7 แห่ง สวนทางกับที่เคยประกาศว่า จะผ่อนคลายข้อกำหนด ที่เข้มงวดในการอนุญาตให้เอ็นจีโอจดทะเบียน

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานระบุว่า การสั่งกวาดล้าง ที่ดำเนินมานาน 5 เดือนเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งที่ทางการเคยประกาศว่า กว่างตงจะเป็นมณฑลแห่งแรกบนแผ่นดินใหญ่ ที่มีการผ่อนคลายข้อกำหนด ในการจดทะเบียนสำหรับเอ็นจีโอตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป

นักเคลื่อนไหวหลายรายกล่าวว่า พวกตนถูกขับไล่ออกจากสำนักงาน หลังจากเจ้าของอาคารถูกเจ้าหน้าที่รัฐกดดัน โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้มักมาตรวจสอบอาคารสำนักงานอยู่บ่อย ๆ

เอ็นจีโอด้านสิทธิแรงงานบนแผ่นดินใหญ่มักรายงานเรื่อง ที่ถูกทางการคุกคามรังควาน เนื่องจากทางการหวาดกลัวว่า กลุ่มเอ็นจีโอ ซึ่งได้รับเงินทุนจากต่างชาติและคอยเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลอาจเป็นแกนนำจัดการผละงานประท้วงครั้งใหญ่ ปลุกปั่นให้มีการเดินขบวนประท้วง หรือการสร้างความวุ่นวายในสังคม

นายจาง จื่อหรู ผู้อำนวยการของศูนย์ให้บริการด้านข้อพิพาทแรงงานเซินเจิ้น สปริง บรีซ ( Shenzhen Spring Breeze Labour Disputes Service Centre) ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่แรงงานกล่าวว่า เขาเช่าอาคารสำนักงาน 7 แห่ง ซึ่งถูกสั่งปิดหมด และสำนักงานของนายจางเป็นเอ็นจีโอรายแรก ที่ถูกสั่งปิดเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา โดยเจ้าของอาคารได้รื้อป้าย และตัดน้ำตัดไฟ แม้มีการทำสัญญานาน 3 ปี โดยจ่ายค่าเช่าครบทุกงวดก็ตาม

ด้านนายเฉิน เหมา เจ้าหน้าที่เอ็นจีโอ ซึ่งทำงานกับศูนย์แรงงานผู้อพยพเซินเจิ้น (Shenzhen Migrant Worker Centre) มานาน 13 ปี รู้สึกตกใจกับการกวาดล้างขนานใหญ่ของทางการ ซึ่งเขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน โดยสำนักของเขาถูกสั่งปิดเมื่อเดือนพ.ค ที่ผ่าน

อย่างไรก็ตาม นายเฉินได้ยื่นคำร้องต่อทางการนครเซินเจิ้นเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อขอทราบเหตุผลของการสั่งปิด โดยนายเฉินยังระบุว่า เจ้าของอาคาร ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของเขาถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคุกคามข่มขู่มาตั้งแต่เมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว แต่นายเฉินมองว่า ไม่น่าจะมีสาเหตุมาจากที่ทางการกลัวว่า แรงงานอพยพจะก่อความวุ่นวายทางสังคม ก่อนหน้าการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะมีขึ้นในปีนี้แต่อย่างใด

ที่มาเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ประชาไท, สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, กรุงเทพธุรกิจ, โพสต์ทูเดย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องเลิก “คดีโลกร้อน”-ชาวบ้านเตรียมถกเดินหน้าต่อ

$
0
0

ศาลปกครองไม่รับคำฟ้องยกเลิกแบบจำลองค่าเสียหายคดีโลกร้อน แจงไม่ใช่คำสั่งทางปกครองต่อชาวบ้านโดยตรง แต่เป็นการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ประเมิน-คำนวณค่าเสียหายสำหรับการฟ้องแพ่ง ชาวบ้านเตรียมประชุมเดินหน้าต่อ ชี้ปัญหาแบบจำลองฯ

วันนี้ (1 ส.ค.55) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการนำแบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม (คดีโลกร้อน) มาใช้บังคับในคดีแพ่ง เข้ายื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ต่อศาลปกครองกลาง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 พ.ค.55 เพื่อขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาเพิกถอนคำสั่งให้บังคับใช้แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อนและให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแบบจำลองดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ อีกทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนนำแบบจำลองใหม่มาบังคับใช้

หลังจากรอฟังคำตอบมานานร่วม 2 เดือน เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งลงวันที่ 23 ก.ค.55 ไม่รับคำฟ้องคดีโลกร้อนไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า รายละเอียดหนังสือสั่งการของกรมอุทยานแห่งชาติฯ รวมทั้งแบบจำลองฯ เป็นเพียงการวางหลักเกณฑ์ภายในฝ่ายปกครอง มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำการหรือสั่งการต่อผู้บุกรุกแผ้วถางหรือทำลายป่าไม้โดยตรง โดยเป็นการสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองประเมินและคำนวณค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียเพื่อทราบจำนวนที่ชัดเจนสำหรับการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อศาลต่อไป

ส่วนศาลจะพิจารณากำหนดให้ผู้กระทำผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคู่กรณีต่อศาล

หนังสือสั่งการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิใช่คำสั่งที่มีสภาพบังคับโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คน ผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คนจึงมิใช่ผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากหนังสือสั่งการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คน ประกอบด้วยเครือข่ายชาวบ้าน 4 เครือข่าย ประกอบด้วย 1.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง พัทลุง และประจวบคีรีขันธ์ 2.เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน จ.ชัยภูมิ 3.เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง จ.เพชรบูรณ์ 4.องค์กรชุมชนบ้านพรสวรรค์ จ.เชียงใหม่ และ 1 องค์กรพัฒนาเอกชน คือ มูลนิธิอันดามัน ร่วมกับผู้ฟ้องร้องในนามบุคคลอีก 18 ราย

ด้านนายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ได้เห็นคำสั่งศาลปกครอง แต่ได้รับทราบแล้วว่าศาลไม่รับคำฟ้อง ตอนนี้ทางเครือข่ายฯ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร แต่คาดว่าจะมีการคุยกันในเร็วๆ นี้ในประเด็นการฟ้องร้องชาวบ้านในคดีโลกร้อน และอาจมีการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป

นายบุญ แซ่จุง ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่าแสดงความเห็นว่า กรณีที่ศาลไม่รับฟ้องพูดตามภาษาชาวบ้านคือศาลให้เหตุผลว่า กรณีการฟ้องร้องชาวบ้านดังกล่าวไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครองแต่เป็นเรื่องทางเทคนิคในการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากการคิดค่าเสียหายไม่ถูกต้องก็สามารถต่อสู่คดีในทางแพ่งได้ แต่สำหรับชาวบ้านนั้นมองว่าแบบจำลองการคิดค่าเสียหายฯ นั้นมีเนื้อหาที่ไม่เป็นความจริง โดยกล่าวหาว่าชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรเป็นผู้ทำให้อากาศร้อนขึ้น ฝนตกน้อยลง ฯลฯ จึงต้องการให้ส่วนราชการยกเลิกการใช้แบบจำลองฯ ที่ไม่ถูกต้องนี้เสีย 

ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดกล่าวด้วยว่า กรณีคำสั่งศาลดังกล่าวเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ แต่ที่ชาวบ้านต้องออกมาเดินหน้าฟ้องศาลเพราะต้องการให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาของแบบจำลองฯ ที่ไม่มีมาตรฐานในเชิงวิชาการ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีนักวิชาการหลายท่านที่พร้อมจะมาร่วมให้ข้อมูล และการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีชาวบ้านที่ถูกฟ้องคดีโลกร้อนรวมอยู่ด้วย ซึ่งเราไม่ต้องการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านเป็นรายกรณี แต่ต้องการให้ยกเลิกแบบจำลองฯ ดังกล่าว เพื่อที่จะได้ไม่มีการนำไปใช้กับใครอีก

ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเรื่องที่สังคมต้องร่วมกันรับผิดชอบ ทั้งคนใช้รถ อุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ ต้องคิดคำนวณให้ตรงตามความเป็นจริง

นายบุญ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามผลักดันให้ยกเลิกการคิดค่าเสียหายคดีโลกร้อนต่อรัฐบาล เพราะเชื่อว่าในทางนโยบายจะสามารถแก้ปัญหาได้ และทางรัฐบาลก็รับลูกให้มีการยกเลิกคดีโลกร้อนกับคนจนแต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ชาวบ้านจึงหวังพึ่งกระบวนการตุลาการแต่ผลก็ออกมาดังที่เห็น อย่างไรก็ตามคิดว่าต่อไปจะต้องมีการใช้กระบวนการตุลาการมากขึ้นเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ได้

สำหรับการฟ้องดำเนินคดีแพ่งโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ ใช้มาตรา 97 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เป็นฐานในการฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และนำหนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ ทส.0911.2/2181 ลงวันที่ 6 ก.พ.47 ที่กำหนดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมาเป็นหลักเกณฑ์ในการขอให้ศาลฯ สั่งเรียกค่าเสียหาย

ในส่วนรายละเอียดการคิดค่าเสียหายแบ่งเป็น 7 กรณี คือ 1.ค่าการสูญหายของธาตุอาหาร 2.ค่าทำให้ดินไม่ซับน้ำฝน 3.ค่าทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ 4.ค่าทำให้ดินสูญหาย 5.ค่าทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 6.ค่าทำให้ฝนตกน้อยลง 7.มูลค่าความเสียหายโดยตรงจากป่า 3 ชนิด คือ การทำลายป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง รวมเป็นเงินที่ชาวบ้านต้องจ่ายประมาณ 150,000 บาทต่อไร่ต่อปี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพสหรัฐว้าขนกำลังเผชิญหน้ากองทัพรัฐฉานตรงข้ามชายแดน อ.ฝาง

$
0
0

กองกำลังว้า UWSA ขนกำลังทหารกว่า 20 คันรถเผชิญหน้าไทใหญ่ SSA อีกด้านตรงข้ามจังหวัดเชียงใหม่ เหตุไม่พอใจ SSA รุกล้ำพื้นที่ ล่าสุดสองฝ่ายกำลังเจรจากัน

แหล่งข่าวชายแดนรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา กองกำลังว้า UWSA (United Wa State Army) สังกัดหน่วย 171 เมืองยอน หรือ ว้าใต้ ขนกำลังทหารเดินทางด้วยรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อจำนวนกว่า 20 คัน เข้าประชิดฐานกองกำลังไทใหญ่ SSA ดอยสามสิบ หรือ ดอยสันจุ๊ ใกล้ชายแดนไทยด้านตรงข้ามอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยทหารว้าที่ถูกส่งมาเผชิญหน้ากองกำลังไทใหญ่ SSA ทราบว่าอยู่ในสังกัดกองพลน้อย 248 ฐานบัญชาการบ้านหัวป่าง-หัวยอด

สาเหตุกองกำลังว้า UWSA ส่งทหารเผชิญหน้ากองกำลังไทใหญ่ SSA ครั้งนี้ เกิดจากความไม่พอใจที่กองกำลังไทใหญ่ SSA กองพลน้อย 727 ฐานบัญชาการดอยสามสิบ (ดอยสันจุ๊) เข้าไปสร้างฐานประจำการบริเวณบ้านปุ่งผาปุ่งตอง ใกล้เมืองขีด ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองกำลังว้า ฐานบัญชาการบ้านหัวป่าง – หัวยอด

ด้านพ.ต.ตืนเครือ ผบ.กองพลน้อย 727 ของ SSA ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ทหาร SSA ได้เข้าไปสร้างฐานประจำการใกล้บ้านผาปุ่งผาตอง ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านหัวป่าง – หัวยอด เพื่อดูแลผู้อพยพที่เข้าไปทำไร่เกษตร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองกำลังว้า และกองกำลังไทใหญ่ด้วย แต่ว้าเข้าใจว่า SSA เข้าไปรุกล้ำพื้นที่จึงส่งกำลังทหารราว 20 คันรถมาล้อมฐาน SSA อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุทาง SSA ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเจรจาทำความเข้าใจกับกองกำลังว้า และเมื่อวานนี้ (31 ก.ค.) ว้าได้ถอนกำลังกลับไปบางส่วน และขณะนี้ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างเจรจากันอยู่

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทหารกองกำลังว้า UWSA กว่า 500 นาย สนธิกำลังจากสองกองพล คือกองพล 518 (เมืองยอน) และกองพล 775 (บ้านห้วยอ้อ) เข้าประชิดฐานกองบัญชาการ SSA หน่วยภาคพื้นเชียงตุง บนดอยก่อวัน ตรงข้ามต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย แล้วครั้งหนึ่ง เหตุไม่พอใจที่มีผู้อพยพในเขตพื้นที่กองกำลังไทใหญ่ SSA เข้าไปทำไร่ทำสวนในพื้นที่เคลื่อนไหวของว้า ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าของทหารทั้งสองฝ่าย และสร้างความกังวลให้หลายฝ่ายเนื่องจากหวั่นจะเกิดการสู้รบกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากพ.อ.เจ้ากอนจื้น ผบ.หน่วยภาคพื้นเชียงตุง กองกำลังไทใหญ่ SSA ได้ต่อสายตรงทางโทรศัพท์พูดคุยกับ หยางก่อโจง ผบ.กองพล 775 กองกำลังว้าUWSA ทั้งสองฝ่ายสามารถทำความเข้าใจและได้ข้อตกลงร่วมกัน ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง 

ทั้งนี้ เมื่อปี 2548 กองกำลังว้า UWSA หน่วย 171 ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเหว่ยเซียะกัง ได้โจมตีฐานดอยไตแลง ของ SSA แล้วครั้งหนึ่ง สองฝ่ายรบกันดุเดือดนานกว่า 1 เดือน ฝ่ายกองกำลังว้าได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตนับร้อยนาย โดยการโจมตีครั้งนั้นฝ่ายกองกำลังว้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลพม่า ส่วนสาเหตุเกิดจากว้าไม่พอใจที่ในช่วงนั้น SSA บุกยึดทำลายโรงงานยาเสพติดตามแนวชายแดนหลายแห่งซึ่งกล่าวกันว่าเป็นของเครือข่ายกองกำลังว้า

 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) ซึ่งเป็นสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. ชี้โปสเตอร์คนดื่มสุรากลายร่างเป็นสุนัขไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

$
0
0

โปสเตอร์ชนะเลิศในการประกวด "หยุดหาข้ออ้างเข้าข้างเหล้า ไม่ดื่มไม่เมาเราทำได้"

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ประกาศเมื่อ 30 ก.ค. เรื่อง "ชี้แจงการประกาศผลการประกวดโปสเตอร์" หัวข้อ “หยุดหาข้ออ้างเข้าข้างเหล้า ไม่ดื่มไม่เมาเราทำได้” มีข้อความว่า "ตามที่หลายท่านได้แสดงความห่วงใย และไม่เห็นด้วยต่อภาพจากการประกวดในโครงการหยุดหาข้ออ้างเข้าข้างเหล้า ไม่ดื่มไม่เมาเราทำได้ ดังกล่าว ทางสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ขอน้อมรับความคิดเห็น และโดยเฉพาะเหตุผลของผู้ไม่เห็นด้วยที่ว่าจะเป็นการสร้างความเห็นแตกต่าง ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันมากยิ่งขึ้นนั้น สำนักงานฯ ขอน้อมรับในความผิดพลาด และได้ยกเลิกการเผยแพร่ภาพดังกล่าวแล้ว"

ด้านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้สัมภาษณ์ นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยให้ความเห็นว่า โปสเตอร์ภาพดังกล่าว เป็นการผสานระหว่างจินตนาการ และงานศิลปะเข้าด้วยกัน ไม่ได้มองว่าเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่เป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลใด ดังนั้นจึงอยากให้มองที่เจตนา หรือ แนวคิดของเจ้าของผลงาน ที่ต้องการสื่อสารออกมามากกว่า

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังเสนอว่า จากนี้ไปหากหน่วยงานใด จะมีการจัดประกวดเหมือนเช่นลักษณะนี้ ผู้จัดประกวดก็ควรระมัดระวัง และตรวจสอบให้รอบคอบ ก่อนมีการเผยแพร่สู่สังคม โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านภาพ ที่สุ่มเสี่ยงส่งผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นได้ โดยที่เจ้าของผลงานนั้นอาจไม่ได้ตั้งใจ

สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส บรรยายว่าโปสเตอร์ "อย่าเสียความเป็นคน ด้วยน้ำเมา" ที่ถูกวิจารณ์ดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของมนุษย์ ที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เหมือนดังสุภาษิต "เมาเหมือนหมา" โดยโปสเตอร์ดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโปสเตอร์ภาพของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และเตรียมจะตีพิมพ์เผยแพร่ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ แต่ต้องหยุดชะงักลง หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ค้านร่าง พ.ร.บ.แร่ ยื่น คปก.ดันกฎหมายภาคประชาชน

$
0
0

 

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย –เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา จังหวัดสงขลา กลุ่มป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จังหวัดหนองบัวลำภู กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เครือข่ายอนุรักษ์หินเหล็กไฟ จังหวัดเลย กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำแม่ถอด จังหวัดลำปาง กลุ่มรักษ์บ้านเกิด อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ฯลฯ เข้ายื่นหนังสือ ขอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... ต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยมีนายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมายและนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมายเป็นผู้แทนรับเรื่องดังกล่าวและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการผลักดันดันกฎหมายภาคประชาชน

นายไพโรจน์  พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย  เปิดเผยว่า การจัดสรรทรัพยากรเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงให้ผลประโยชน์แก่คนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้หากพิจารณาในแง่อำนาจหน้าที่หนึ่งของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)คือการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างกฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี จึงเห็นว่าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวภาคประชาชนควรจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวอีกครั้ง ขณะเดียวกันคปก.พร้อมจะให้คำปรึกษาและสนับสนุนการยกร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชน ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนควรเตรียมการเรื่องการรวบรวมรายชื่อภาคประชาชนเสนอร่างกฎหมายแร่ไว้ด้วย เนื่องจากกระบวนการพิจารณากฎหมายอาจจะช้าหรือเร็วก็ได้ 

นายสาวแววรินทร์ บัวเงิน ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนเห็นว่าควรยกเลิกการนำร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ...นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เนื่องจากอำนาจทั้งหมดยังคงอยู่กับข้าราชการ คือรัฐมนตรีและอธิบดีเป็นหลัก โดยอำนาจส่วนใหญ่อยู่ที่รัฐมนตรีแม้ว่าคณะกรรมการแร่ซึ่งส่วนหนึ่งจะมีตัวแทนประชาชนเข้าไปเป็นกรรมการ แต่พบว่ามีอำนาจเพียงแค่เสนอแนะ ให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีเท่านั้น อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดข้อยกเว้นจำนวนมากโดยไม่มีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจนเป็นเพียงเรื่องของการใช้ดุลพินิจ นอกจากนี้มาตรการลงโทษทางอาญาพบว่ามีบทลงโทษที่น้อยเกินไป ซึ่งเห็นว่าการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของประชาชนในวงกว้างควรมีบทลงโทษที่เหมาะสมกับความร้ายแรงของผลที่จะเกิดขึ้นมากกว่านี้ และผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นในระยะยาว ผู้ประกอบการในฐานที่เป็นนิติบุคคลมักจะเพิกถอนไปแล้ว ควรกำหนดความรับผิดเป็นการเฉพาะแก่ผู้ประกอบการด้วย

“ควรหยุดสนับสนุนส่งเสริมการทำเหมืองแร่ เนื่องจากปัญหาการทำเหมืองแร่ที่ผ่านมาเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งปัญหามลพิษ ดินทรุด ปัญหาที่ดิน ปัญหาโรคที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ แต่ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงไม่มีหลักประกันใดๆต่อประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ ดังนั้นการออกกฎหมายจึงควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงไม่ใช่เพียงออกแบบโครงสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมเท่านั้น แต่ควรบัญญัติกฎหมายโดยนำปัญหาที่เกิดขึ้นและบทเรียนที่ผ่านมาพิจารณาประกอบเป็นสำคัญ” นายสาวแววรินทร์ กล่าว

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย กล่าวว่า  อยากให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... โดยเร็ว และ เห็นด้วยกับการเสนอร่างกฎหมายฉบับประชาชนโดยขอให้คปก.ช่วยสนับสนุนในการยกร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images