Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: กลุ่มญาติผู้ประสบภัย 112

$
0
0

เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้ มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอันสำคัญ คือ การเปิดตัวของเครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมเอาครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ต้องขังและผู้ต้องหาในคดีกฎหมายอาญามาตรา 112 เครือข่ายนี้มีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยเร็วที่สุด รวมถึง การรณรงค์เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่ผู้ต้องขังที่เป็นนักโทษการเมืองควรได้รับ เช่น สิทธิในการประกันตัว สิทธิในการรักษาพยาบาล และให้ความช่วยเหลือด้านการเยียวยาสภาพจิตใจผู้ประสบภัย เป็นต้น 

สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ผู้ประสานงานเครือข่าย กล่าวถึงจุดประสงค์ของการตั้งเครือข่ายว่า เป็นไปเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องขังในคดี 112 เนื่องจากผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่จะได้รับโทษสูง ไม่ได้รับการประกันตัวและไม่สามารถต่อสู้คดีด้วยตนเองได้อย่างเต็มที่ เหล่าครอบครัวและญาติจึงเห็นความจำเป็นของการรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้ต้องขัง 

ส่วนนายชีเกียง ทวีวโรดมกุล กรรมการอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า "เราเห็นว่าองค์กรต่างๆ มาช่วยเรา ถ้าเราไม่ออกมาร่วมด้วยมันจะยังไง มีองค์กรมีเพื่อนๆ ออกมาทำกันเยอะแยะเลย ขนาดเขาไม่ได้เป็นอะไรเขายังมาช่วยเรา แล้วเราเป็นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบในนั้นก็ต้องออกมาช่วย ก็ไม่กลัวตายแล้ว อายุมากแล้ว จะเอาไปต้มยำทำแกงก็เอาไป"

การเคลื่อนไหวนี้เป็นจังหวะก้าวสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยยังมีปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างมาก ตราบเท่าที่ยังมีประชาชนผู้บริสุทธิ์กลุ่มหนึ่ง ตกเป็นเหยื่อของการใส่ร้ายป้ายสีด้วยมาตรา 112 เราจึงมีสตรีเช่น คุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่อยู่ในคุกมาแล้วเกือบ 4 ปี ด้วยความผิดในข้อกล่าวหาอันเหลือเชื่อ ผนวกกับการได้รับการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมจากศาล และเราจึงมีคุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่ถูกจับติดคุกในเรื่องราวเชิงใส่ร้ายป้ายสี คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขถูกขังคุกฟรีในข้อหาอันไม่เป็นความผิด และมีพี่น้องอีกหลายคนที่ติดอยู่ในคุกอย่างไม่เป็นธรรม เช่น สุชาติ นาคบางไทร ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล เลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ สุริยันต์ กกเปือย ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ เสถียร รัตนวงศ์ วันชัย แซ่ตัน สุรภักดิ์ ภูไชยแสง เป็นต้น รวมทั้งผู้ที่ต้องถูกขังจนถึงแก่กรรมในคุกอย่างไร้ความผิด เช่น คุณอำพน ตั้งนพคุณ ถึงแก่กรรมตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา

คงต้องทบทวนกันว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีข้อความว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ได้ถูกวิจารณ์ว่า เป็นกฎหมายล้าหลัง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกล่าวร้ายผู้บริสุทธิ์ และการอนุญาตให้ใครก็ฟ้องได้ กับการที่ไม่อนุญาตให้พิสูจน์ความจริงตามข้อกล่าวหา นำมาซึ่งการเป็นเครื่องมือของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างง่ายดาย รวมทั้ง การที่มาตรามีบทลงโทษที่สูงเกินความสมควร และเป็นมรดกเผด็จการ ก็เป็นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะแม้แต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บทลงโทษสูงสุด มีเพียงการจำคุกไม่เกิน 3 ปี แต่ เมื่อเกิดการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ออกคำสั่งแก้กฎหมาย โดยเพิ่มโทษตามข้อความปัจจุบัน และเมื่อคณะเผด็จการแก้ไขกฏหมายแล้ว ศาลก็ใช้หลักกฎหมายเผด็จการนี้ ดำเนินคดีผู้บริสุทธิ์ตลอดมา

ในระยะที่ผ่านมา ได้มีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายนี้มาแล้วโดยกลุ่ม 24 มิถุนา และนักวิชาการเช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นกลุ่มรณรงค์สำคัญ และเมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มคณะกรรมการรณรงค์ปฏิรูปมาตรา 112 หรือ ครก.112 ก็ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 3 หมื่นชื่อ เสนอต่อรัฐสภา ให้พิจารณาปฏิรูปกฎหมายนี้ ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือและปลดเปลื้องความทุกข์ยากของผู้ตกเป็นเหยื่อของมาตรา 112 แต่กระนั้น ทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐสภาก็ยังคงวางเฉย ปล่อยให้กลุ่มเหยื่อของมาตรา 112 ต้องรับชะตากรรมอันไม่เป็นธรรมต่อไป

ความไม่ธรรมที่ผู้ต้องขังกรณี 112 ได้รับอาจจะไม่ได้เป็นทราบกันมากนัก แต่เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่จดหมายของหนุ่มแดงนนท์ ที่ต้องติดคุกด้วยคดี 112 ได้เล่าถึงความทุกข์ยากในคุกของคุณอำพน ตั้งนพคุณ หรืออากง ก่อนที่จะถึงแก่กรรม เพราะคุณอำพนนั้นป่วยหนักและได้รับความทุกข์ทรมาน แต่ไม่ได้รับความใส่ใจจากทางราชทัณฑ์หรือได้รับการดูแลจากแพทย์ที่ทันการ หนุ่มแดงนนท์เล่าว่า อากงไม่มีความรู้พื้นฐานทางการเมืองใดๆ หนังสือพิมพ์ก็ไม่อ่านเพราะสายตาไม่ดี อยู่บ้านเลี้ยงหลานแล้วโดนจับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่อากงไม่เคยมีพฤติกรรมในเชิงไม่เคารพพระมหากษัตริย์เลย เช่น ในจดหมายเล่าว่า

“แกจะยกมือไหว้พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงที่ตั้งอยู่ที่แดน 8 ทุกครั้งที่เดินผ่าน ผมแน่ใจว่าแกทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ อีกทั้งเรื่องที่อากงเล่าให้ฟังว่า แกพาหลานๆ ของแกไปลงนามถวายพระพรในหลวงที่ศิริราชอยู่หลายครั้ง เวลาไปช็อปปิ้งกับหลานๆ แล้วเห็นโต๊ะที่เปิดให้มีการลงนามถวายพระพร ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ อากงจะชวนหลานๆ ร่วมลงนามถวายพระพรทุกครั้ง ผมจึงแทบไม่เชื่อว่าชราคนนี้จะถูกกล่าวหาไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน”

ดังนั้น การฟ้องร้องต่อคุณอำพน โดยนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการห้ามประกันตัวของศาล จึงเป็นการก่ออาชญากรรมอย่างเหี้ยมโหดต่อชีวิตของคุณอำพนโดยตรง

ด้วยความยากลำบากหลายประการเช่นนี้ ในวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้ต้องขังคดี 112 ทั้งหมด 8 คน นำโดย คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งสูงอายุถึง 69 ปีแล้ว ได้เขียนจดหมายจากเรือนจำถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษแก่พวกเขา โดยระบุว่า 

"บัดนี้พวกข้าพเจ้าทั้งหมดรู้สึกสำนึกผิดด้วยความเสียใจยิ่ง ต่อการกระทำที่ผิดพลาด จึงไม่ขอต่อสู้คดี ยอมรับสารภาพให้ศาลตัดสินใจลงโทษจนคดีถึงที่สุด และใช้สิทธิ์ยื่นเรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษ จึงร้องทุกข์ต่อท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือพวกข้าพเจ้าให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานด้วยเถิด”

แต่กระนั้น เมื่อเวลาผ่านมาแล้ว 4 เดือน ข้อเสนอนี้ ก็ยังถูกวางเฉย

ในงานเปิดตัวเครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามและอดีตผู้ต้องหาคดี 112 ให้ข้อเสนอแนะว่า การให้ความเข้าใจต่อสาธารณะเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก โดยเฉพาะผ่านทางสื่อมวลชนกระแสหลัก ซึ่งต้องให้สังคมเข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนในเรือนจำและปัญหาอื่นๆ ของมาตรา 112 และยังอยากเสนอว่า ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ วันที่ 12 สิงหาที่จะถึงนี้ ควรเสนอขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษในคดีหมิ่นฯ ทั้งหมด เพื่อเป็นพระมหากรุณาธิคุณ

ส่วน จอน อึ๊งภากรณ์ สมาชิกคณะอนุกรรมการศึกษากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวในวงเสวนาว่า กฎหมายหมิ่นฯ ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรง จึงจะพยายามผลักดันให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออกมาพูดเรื่องนี้และให้ข้อเสนอแนะแก้รัฐบาล เนื่องจากหากมีองค์กรของรัฐออกมาเสนอแนะรัฐบาลอาจให้ความสนใจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

เมื่อมาถึงขณะนี้ ภาระหน่าที่ปัจจุบันของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ยังคงอยู่ ก็คือ การดำเนินการให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและนักโทษที่โดนคดีอาญามาตรา 112 ทันที โดยให้รวมนักโทษที่โดนคดี 112 เป็นนักโทษการเมืองด้วย และต้องทบทวนการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ และผลพวงจากกรณีนี้ก็คือ การปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำ ให้สมฐานะแห่งความเป็นมนุษย์มากขึ้น เช่น การแก้ไขเรื่องการรักษาพยาบาล การจัดอาหารให้เพียงพอ การจัดที่พักไม่ให้แออัดเกินไป เป็นต้น

ในกรณีนี้เช่นนี้ ศาลควรจะให้ความร่วมมือ เช่น การให้ผู้ต้องหาได้ประกันตัวตามหลักสิทธิมนุษยชน และการตัดสินความที่ให้ประโยชน์แก่จำเลยไม่ใช่โจทย์ แต่การเรียกร้องต่อศาลอำมหิตให้มีความเมตตาปรานีคงจะเป็นเรื่องเหลือวิสัย คงจะต้องคอยการปฏิรูปศาลแบบล้างบางแต่เพียงอย่างเดียว สังคมไทยจึงจะเป็นธรรมมากขึ้นได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พันธบัตรป่าไม้' แรงจูงใจฟื้นป่าสมดุล 30 ปี 20 ล้านไร่

$
0
0

ท่ามกลางสถานการณ์ป่าไม้ถูกทำลาย  พื้นที่ป่าลดลงต่อเนื่องจนเหลือเพียง 107.6 ล้านไร่  กิจกรรมปลูกป่าและฟื้นฟูป่ายังทดแทนได้ไม่เพียงพอ และยังขึ้นอยู่กับการลงมือทำของคนที่เห็นประโยชน์  “พันธบัตรป่าไม้” เป็นอีกเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยสร้างสมดุลคนกับธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง เพราะสามารถนำมาใช้ระดมทุนหรือทรัพยากรจากนักลงทุนภาคเอกชนและประชาชนได้กว้างขวางมากขึ้น  

ผลศึกษาแนวทางการดำเนินการพันธบัตรป่าไม้สำหรับประเทศไทย  แนะตั้งองค์การมหาชนดำเนินการออกพันธบัตรป่าไม้ระยะยาวมีผลตอบแทนทั้งดอกเบี้ยและเป็นเครื่องมือซีเอสอาร์สร้างภาพลักษณ์องค์กรเพื่อสังคม  เพิ่มโอกาสให้ผู้สนใจร่วมปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าได้แม้ไม่ต้องลงมือเอง  เพราะเงินจากการขายพันธบัตรจะนำไปใช้เพื่อปลูกป่าเพิ่ม  เสริมป่าเก่า  สร้างชุมชนคนรักษ์ป่า กำหนดตัวอย่างพันธบัตรระยะยาว 30 ปี ช่วยปลูกป่าและฟื้นฟูสภาพป่าเพิ่ม 20 ล้านไร่

ทั้งนี้ รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา  ที่ปรึกษา ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย   หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกว. เปิดเผยความคืบหน้าการนำแนวทาง “พันธบัตรป่าไม้” มาใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่า  โดยระบุว่า

ที่ผ่านมาพื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงไปมากและมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ โดยที่ไม่สามารถนำทรัพยากรจากงบประมาณปกติมาใช้เพื่อการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าได้มากนัก เนื่องจากข้อจำกัดของระบบการคลังในส่วนราชการ   ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้และลดข้อจำกัดการพึ่งพิงทรัพยากรของภาครัฐ(งบประมาณและบุคลากร)  คือ การนำระบบพันธบัตรป่าไม้มาใช้  เพราะเป็นระบบที่ทำให้สามารถระดมทรัพยากรภาคเอกชนและ ภาคประชาชนได้โดยตรง  ไม่ต้องไปพึ่งงบประมาณของรัฐเป็นหลัก  โดยระบบนี้มีดำเนินการแล้วในประเทศชิลีและมีอีกหลายประเทศสนใจอยู่ระหว่างศึกษาดำเนินการเช่นเดียวกับประเทศไทย คือ บราซิลและสหรัฐอเมริกา

พันธบัตรป่าไม้จะเป็นเครื่องมืออย่างดีในการเพิ่มโอกาสให้กับผู้สนใจที่ไม่มีโอกาสได้ลงมือปลูกต้นไม้ ฟื้นฟูสภาพป่า  ได้เข้ามาลงทุนซื้อพันธบัตรป่าไม้ซึ่งเป็นพันธบัตรระยะยาวโดยมีผลตอบแทนคือดอกเบี้ย  และมากกว่านั้นการลงทุนพันธบัตรป่าไม้ในภาคเอกชนยังเป็นเครื่องมือซีเอสอาร์สร้างภาพลักษณ์องค์กรได้อีกทางหนึ่ง  แนวทางการดำเนินงานของพันธบัตรป่าไม้คือ การนำเงินที่ได้จากการซื้อพันธบัตรไปใช้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ ด้วยการปลูกป่า และบำรุงรักษาป่าอย่างเป็นรูปธรรม  เนื่องจากที่ผ่านมาลำพังการปลูกป่าตามภารกิจของหน่วยงานหรือตามโครงการ/วาระพิเศษต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนพยายามดำเนินการนั้นยังไม่เพียงพอและขาดความต่อเนื่องจึงไม่สามารถฟื้นคืนสภาพป่าได้มากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าซึ่งถูกทำลายต่อเนื่อง

สำหรับแนวทางการดำเนินการพันธบัตรป่าไม้ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยนั้น  การศึกษาได้ประมาณการรายรับและรายจ่าย โดยยึดหลักการที่ว่าเมื่อป่าไม้มีคุณค่าอนันต์ผู้ใช้หรือผู้ได้ประโยชน์จากป่าก็ควรจ่ายเพื่อนำเงินนั้นไปฟื้นฟูบำรุงรักษาธรรมชาติให้สมดุล  รายรับจึงมาจากผู้ใช้ประโยชน์ระบบนิเวศป่าไม้ที่สมบูรณ์ขึ้นและให้ประโยชน์ได้ภายใต้การจัดการดูแลให้สมดุล ได้แก่ รายได้การทำไม้อย่างยั่งยืน การขายคาร์บอนเครดิตในภาคป่าไม้  การเก็บค่าน้ำจากผู้ใช้น้ำรายใหญ่  บางส่วนจากงบประมาณป้องกันปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งของรัฐบาล  การเก็บภาษีคาร์บอน  กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และรายรับอื่น ๆ  เช่นงบประมาณด้านการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และงบประมาณในการฟื้นฟูดินเค็ม เป็นต้น   

ประมาณการมูลค่าผลตอบแทนทางการเงินของป่าไม้เบื้องต้น  ตลอดอายุพันธบัตร 30 ปี จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าปลูก 20 ล้านไร่ โดยมีต้นทุนในการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท  ขณะที่จะมีรายรับจากระบบนิเวศป่าที่ดีขึ้น (รายรับ 5 แหล่ง) ประมาณ 4.6 แสนล้านบาท  ผลตอบแทนทางการเงินของป่าไม้ตลอดอายุพันธบัตรจึงมีความคุ้มค่าคือราว 3 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ซื้อพันธบัตรเมื่อครบกำหนดเวลาได้

“สำหรับต้นทุนในการปลูกป่าและฟื้นฟูป่านั้น ต้นทุนส่วนใหญ่คือการปลูกป่าและบำรุงรักษา ประมาณ 1.3 แสนล้านบาทตลอด 30 ปี  โดยการลงทุนจะน้อยลงเรื่อยๆ ตามสภาพป่าที่ดีขึ้นในแต่ละปี  ส่วนต้นทุนในการทำไม้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท  โดยเลือกดำเนินการในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและพื้นที่บุกรุกปลูกพืชเศรษฐกิจ จากกรมป่าไม้  กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช”

การศึกษายังเห็นว่าแนวทางที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนคือต้องมีการตั้งองค์การมหาชนขึ้นดำเนินการ โดยการศึกษานี้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนสภาพองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ให้เป็นองค์การมหาชนที่มีภารกิจด้านการปลูกป่า มีกฎหมายเป็นของตนเอง สามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนได้ และมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นของรัฐ 

อย่างไรก็ตาม แนวทางหนึ่งในการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าในพื้นที่ซึ่งมีชุมชนอยู่กับป่า หรือมีการบุกรุกปลูกพืชเศรษฐกิจอยู่แล้ว   ก็อาจปรับเปลี่ยนสร้างความร่วมมือ สร้างอาชีพใหม่ให้ทำหน้าที่ปลูกป่าและดูแลป่าและมีรายได้เพียงพอดำรงชีพ โดยไม่ต้องออกจากพื้นที่  ในระยะยาวคนเหล่านี้จะกลายมาเป็นผู้ปกป้องดูแลพื้นที่ป่า  และพันธบัตรป่าไม้ยังสามารถทำควบคู่ไปได้กับกิจกรรมปลูกป่าหรืออนุรักษ์ป่าอื่น ๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ  กองทุนสวนป่า  และ ธนาคารต้นไม้  เป็นต้น

ดร.อดิศร์ กล่าวด้วยว่า การปลูกป่าและฟื้นฟูป่าปีละ 1 ล้านไร่ก็ถือว่ามากแล้ว  และสิ่งที่ควรจะทำใน ระยะ 1-2 ปีแรกคือการสร้างรูปแบบชุมชนป่าไม้ให้เป็นที่ประจักษ์กับชาวบ้าน ให้เป็นตัวอย่างชุมชน (1ชุมชนหรือ 1 ยูนิต จะใช้เนื้อที่ป่าประมาณ 2-3 หมื่นไร่เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีขนาดใหญ่พอสมควร และจะแสดงให้เห็นว่า ฐานะความเป็นอยู่  รายได้ อาชีพเสริม โรงเรียน สาธารณสุข ทุกอย่างลงตัวไม่ต้องอพยพมาในเมือง  อยู่ในนั้นครอบครัวก็อยู่ด้วยกัน  และที่สำคัญรัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ไม่มั่นใจอย่างที่ผ่านมาซึ่งมีลักษณะ “วันหนึ่งบอกให้เขาปลูกต้นไม้ และวันหนึ่งบอกให้เขาตัดต้นไม้”  .

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรีนพีซดัน “กฎหมายพลังงานหมุนเวียน” หวัง 55,555 ชื่อหนุน

$
0
0
 
 
23 ก.ค.55 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (คลิกอ่าน) เชิญชวน ร่วมผลักดันกฎหมายพลังงานหมุนเวียนฉบับแรกของไทย โดยคาดหวังประชาชน 55,555 รายชื่อร่วมหนุน
 
จากที่กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 25 ภายใน 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่หลากหลาย เช่น แสงอาทิตย์ ลม ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล น้ำ (ขนาดเล็ก) ความร้อนใต้พิภพ คลื่น เป็นต้น รวมกันแล้วมีมากถึง 9,201 เมกะวัตต์ ที่พร้อมเชื่อมต่อกับระบบสายส่งไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริง และรับประกันว่าประชาชนเข้าถึงบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จากระบบการผลิตไฟฟ้าสมัยใหม่ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนับจากนี้ไปอีก 10 ปี
 
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนให้เป็นไปตามเป้าหมายนี้ ต้องอาศัยความมุ่งมั่น และเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาล โดยเฉพาะการดำเนินการให้มีกลไกสนับสนุนการพัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนโดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่  “กฎหมายพลังงานหมุนเวียน” ที่จะต้องมีไว้เพื่อประโยชน์ของประชาชน และหลุดพ้นจากการผูกขาดด้านพลังงาน
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์กรีนพีชระบุด้วยว่า กฎหมายพลังงานหมุนเวียนต้องเป็นนโยบายระดับชาติที่ยึดถือประโยชน์ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง โดยมีหลักการขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้ 1.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนเป็นอันดับแรก ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนสามารถเข้าถึงระบบสายส่งก่อนพลังงานอื่นๆ
 
2.ทุกคน ทุกบ้าน ทุกหย่อมหญ้า สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้และขายสู่ระบบสายส่งไฟฟ้า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้และผลิตพลังงานหมุนเวียน 3.การบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีความโปร่งใสและราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีความเป็นธรรม
 
4.จัดตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนาศักยภาพและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในทุกจังหวัด และเพิ่มอัตราการจ้างงานจากการลงทุนและการดำเนินงานระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืน และ 5.ผู้ใช้ไฟฟ้ามีสิทธิเลือกใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนแทนไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล เพื่อสร้างจิตสาธารณะ ร่วมกันลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
 
“กรีนพีซอยากเห็นประชาชนอย่างน้อย 55,555 คน พร้อมยิ้มรับและร่วมก้าวสู่การปฏิวัติพลังงานก้าวต่อไป ร่วมบอกให้โลกรู้ว่า คนเล็กคนน้อยอย่างคุณนี่แหละ ร่วมสร้างพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดซึ่งเป็นอนาคตที่เราต้องการให้เกิดขึ้นจริง” ข้อมูลจากกรีนพีชระบุ
 
ทั้งนี้ กรีนพีซจะมีการจัดมหกรรม ‘ปฏิวัติพลังงาน’ ในระหว่างวันที่ 2-18 สิงหาคม 2555 เวลา ณ ลานพลาซ่า ราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก โดยนำเสนอ ‘โดมกู้วิกฤตโลกร้อน’ โดมลูกโลกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 เมตร ที่กรีนพีซใช้ในงานรณรงค์ด้านพลังงานมาในหลายประเทศ เพื่อแสดงศักยภาพของพลังงานหมุนเวียน นอกจากนั้นยังมีคอนเสิร์ตปฏิวัติพลังงานซึ่งเป็นการรวมพลังศิลปินบนเวทีโดมกู้วิกฤตโลกร้อนที่ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนตลอดทั้งคอนเสิร์ต
 
เวทีเสวนา “อาบแดด ตากลม ดมขี้ คลุกคลีกากพืช กับกฎหมายพลังงานหมุนเวียน” ลานสาธิตพลังงานหมุนเวียนจากเครือข่ายต่างๆ พร้อมของกินของใช้ที่ทำจากไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการรณรงค์ออนไลน์บนรถพลังงานแสงอาทิตย์ของกรีนพีซ เพื่อร่วมปฏิวัติพลังงานผ่านกฎหมายพลังงานหมุนเวียนด้วย
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีการับคำร้องเพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณี 'ตากใบ'

$
0
0

23 ก.ค. 54 สืบเนื่องจากวันที่ 6 ก.ค. 55 ทนายความของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 34 คน ได้ยื่นฎีกาต่อศาลอาญา ขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมพื้นที่อำเภอตากใบของศาลจังหวัดสงขลา เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ศาลอาญามีคำสั่งรับฎีกาและให้ส่งฎีกาให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อไป

คดีนี้สืบเนื่องจาก ญาติผู้ตายทั้ง 34 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบของศาลจังหวัดสงขลา ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นญาติผู้ตายทั้ง 34 คน จึงได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.55 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลอาญา เนื่องจากเห็นว่าศาลจังหวัดสงขลารับคดีไว้และทำการพิจารณาพิพากษาไปแล้ว ศาลอาญาจึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาอีก เป็นการต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15

ผู้ร้องจึงได้ยื่นฎีกา โดยให้เหตุผลว่า คำร้องของผู้ร้อง มีวัตถุประสงค์ว่าคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลานั้นไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว การยื่นคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้ไม่ใช่คดีที่ศาลจังหวัดสงขลารับไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 แต่เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิทางศาลได้โดยตรง และเมื่อไม่มีศาลใดมีเขตอำนาจเฉพาะ จึงต้องยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป คือศาลอาญา เพราะศาลอาญามีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงได้ทั่วราชอาณาจักร

คำสั่งไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลากรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม อำเภอตากใบในคดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 คดีหมายเลขแดงที่ ช.8 /2552 ที่ว่าผู้ตายทั้งหมดเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ โดยไม่กล่าวถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย กล่าวคือ ไม่ระบุข้อเท็จจริงเรื่องที่ผู้ถูกควบคุมตัวจำนวน 78 คน ถูกบังคับให้ถอดเสื้อและมัดมือไขว้หลัง บังคับให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นรถยนต์บรรทุก ทับซ้อนกันเป็นชั้น ประมาณ 4-5 ชั้น และไม่ระบุชื่อบุคคลผู้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งเป็นผู้สั่งการหรือกระทำการอันเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ซึ่งจากคำให้การของประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุจำนวนมาก และพยานหลักฐานต่าง ๆ ในสำนวนได้ปรากฏข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างชัดแจ้ง รวมตลอดถึงข้อเท็จจริงสำคัญอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมผู้ร่วมชุมนุม และนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมตัวแต่อย่างใด คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาย่อมกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้ตาย และญาติผู้ตาย ซึ่งได้รับการรับร้องไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขัดกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงสมควรถูกเพิกถอนและมีคำสั่งใหม่ที่เป็นธรรม  

โดยในตอนท้ายของฎีกา ผู้ร้องได้ระบุด้วยว่า คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดในการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด และอาจเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยการปฏิบัติที่ทารุณ โหดร้าย และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไอดอล/ไอเดียล อะไรสำคัญกว่า?

$
0
0

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยพูดว่า “idol ทุบทิ้งเลยก็ได้ ideal ควรมีไว้เป็นจุดหมาย พยายามไปให้ถึง หรือเข้าใกล้ให้มากที่สุด” 

หากคิดตามคำพูดนี้ คงพอเข้าใจได้ว่า idol หรือบุคคลในอุดมคติ คนที่เราเคารพนับถือว่าดีพร้อม สมบูรณ์แบบนั้นไม่แน่นอน เพราะคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงความคิด อุดมการณ์เป็นต้นได้เสมอ

เช่น คนในยุค 14 ตุลา 6 ตุลา บางคนที่เราเคยชื่นชมว่าเขาเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม อยู่ข้างคนชั้นล่างของสังคม มายุคนี้เขาอาจอยู่ตรงข้ามกับชาวบ้านผู้ถูกกดขี่ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิ่งที่เขาเองก็เคยเรียกร้องมาก่อน

กระทั่งบางคนอาจตัดสินชาวบ้านเสมือนเพียงเป็น “มนุษย์เครื่องมือ” ถูกสนตะพายโดยนักการเมืองและแกนนำบนเวทีปราศรัย หาได้ได้มีความคิดเป็นของตนเอง หรือมีศักยภาพที่จะมี ideal หรืออุดมคติ อุดมการณ์ประชาธิปไตยได้แต่อย่างใดไม่

อีกอย่าง การยึดติดในไอดอล ก็มีปัญหาว่าบุคคลที่เป็นไอดอลมักถูกสถาปนาขึ้นด้วยคำสรรเสริญเกินจริง เป็นไปได้ที่อาจทำให้เรามองความดี ความสมบูรณ์แบบของเขาอย่างโรแมนติก ไม่มองอย่างสมจริงว่า คนเราทุกคนก็มีถูกมีผิด มีดีมีชั่ว มีข้อบกพร่องในตัวเองมากบ้างน้อยบ้างเป็นธรรมดา

พุทธะเองก็เตือนให้ระมัดระวังการยึดติดไอดอล ดังในกาลามสูตรข้อสุดท้ายที่ว่า “อย่าปลงใจเชื่อเพราะยึดถือว่าท่านผู้นี้เป็นครูของเรา” หมายความว่า แม้แต่พุทธะที่เป็นศาสดาหรือครูของเราก็ไม่ควรจะหลงจินตนาการว่า ท่านสมบูรณ์แบบวิเศษวิโสเกินมนุษย์ จนทำให้จินตนาการนั้นบดบังความเป็นมนุษย์ธรรมดาของพุทธะ บดบังเหตุผลหรือคุณค่าตามเป็นจริงของธรรมะที่ท่านสอน (ซึ่งก็มีข้อจำกัดอยู่อีกเช่นกัน)

ความหมายตามหลักกาลามสูตรอันเป็นหลักเสรีภาพในการแสวงหาความจริงก็คือว่า ไอดอลอาจจะบดบังความจริง หรือเป็นอุปสรรคในการแสวงหาความจริงได้ ดูเหมือนฟรานซิส เบคอน ก็คิดคล้ายกัน เขาแบ่งไอดอลหรือเทวรูป (ตามนิยามของเขา) ที่เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความจริงเป็น 4 ประเภท คือ เทวรูปแห่งเผ่าพันธุ์ เทวรูปแห่งถ้ำ เทวรูปแห่งตลาด และเทวรูปแห่งโรงละครที่ก่อให้เกิดอคติเพราะยึดเผ่าพันธุ์ อิทธิพลสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ที่ตนสั่งสมมา ภาษาที่ใช้สื่อสาร และปรัชญาหรือทฤษฏีที่ตนยึดถือสืบกันมา เป็นต้น

เอาเถอะ ไอดอลหรือเทวรูปตามความหมายของเบคอนอาจมีรายละเอียดซับซ้อนต่างออกไป แต่สาระก็คือ การยึดติดไอดอลในความหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการแสวงหาความจริง และการเคารพหลักการที่ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

ค้านท์เองก็ยืนยันว่า การที่ปัจเจกบุคคลจะมี autonomy ในการตัดสินถูก-ผิด หรือกำหนดหลักการทางจริยธรรมที่เป็นสากลบนฐานของความเสมอภาคและยุติธรรมได้ เขาจะต้องเป็นอิสระจากทั้งอิทธิพลของอคติต่างๆ ภายในใจ และอิทธิพลภายนอก เช่น รัฐ ศาสนา ครอบครัว ฯลฯ

จะว่าไปแล้ว การมีเสรีภาพที่จะแสวงหาความจริงและกำหนดหลักการที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน และการอยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรมในสังคมนั้นย่อมถือเป็นไอเดียลที่เป็นจุดหมายซึ่งเราต้องพยายามบรรลุถึง หรือเข้าใกล้ให้ได้มากที่สุด แต่ขอสาบานต่อ “สิ่งไม่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย” ในสากลโลกเลยว่า ตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ (ซึ่งก็ยังไม่แก่มากนัก) ผมแทบจะไม่พบเห็นการปลูกฝังให้ราษฎรในประเทศนี้รักไอเดียล หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยคือ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ เท่าครึ่งเสี้ยวของการปลูกฝังให้รักไอดอลที่เป็นตัวบุคคลเลยครับ

ในสังคมเรา พอพูดถึงความดีงามของไอดอลที่เป็นตัวบุคคล ตั้งแต่เด็กอนุบาลถึงศาสตราจารย์ก็ซาบซึ้งน้ำตาไหลได้ง่ายๆ แต่พอพูดถึงเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ คนที่จบปริญญาตรี โท เอก ก็ยังงงๆ อยู่ ดังเราเคยเห็นคนระดับศาสตราจารย์ออกทีวีบอกว่า “จะให้คนเสมอภาคกันทั้งหมดได้ยังไง มันผิดธรรมชาติ นิ้วมือแต่ละนิ้วยังไม่เท่ากันเลย” (ฮาไม่ออก)

ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ เมื่อมีนักศึกษาประชาชนจำนวนมากในประวัติศาสตร์พยายามต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเข้าใกล้ หรือยืนยันไอเดียลเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ซึ่งจำเป็นต้องตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนกติกาบางอย่างเกี่ยวกับไอดอลเพื่อให้ไอเดียลเป็นจริงมากขึ้น บรรดาผู้คลั่งไคล้ไอดอลต่างดาหน้าออกมาประณาม และขัดขวางทุกวิถีทาง แม้กระทั่งบางครั้งถึงกับใช้วิธีรุนแรงปราบปรามเข่นฆ่า

ในสังคมประชาธิปไตย ศูนย์รวมจิตใจ หรือ “อุดมการณ์ร่วม” ของราษฎรต้องเป็นไอเดียลเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพไม่ใช่หรือครับ? และกติกาการอยู่ร่วมกันในสังคมต้องสถาปนาขึ้นมาบนพื้นฐานของหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพที่ต้องใช้กับ “ทุกคน” อย่างเท่าเทียมไม่ใช่หรือครับ?

(กรุณาอย่าบอกว่าคนบางชนชั้นถูกกฎหมายกำหนดให้สละเสรีภาพพื้นฐานบางอย่างแล้ว เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นต้น เพราะเสรีภาพที่ถูกกำหนดให้สละไปนั้นไม่อาจเทียบได้กับอภิสิทธิ์เหนือการตรวจสอบที่ได้มา)

ขอถามแค่นี้แหละครับ และกราบงามๆ ขออภัยท่านที่รักไอดอลมาก ที่คำถามนี้อาจทำให้ท่านอุกอั่งใจ!

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกร็ดข่าว: ดีไซเนอร์หัวใสผลิตเสื่อละหมาดติดเข็มทิศ เรื่องแสงเมื่อหันไปทางนครเมกกะห์

$
0
0

บีบีซีรายงาน ดีไซเนอร์เชื้อสายตุรกีที่มีถิ่นพำนักในกรุงลอนดอนออกแบบเสื่อละหมาดติดเข็มทิศ คาดจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อนำไปใช้ระะหว่างเดินทางหรืออยู่ที่ที่ไม่คุ้นทิศทาง โดยเสื่อละหมาดดังกล่าวจะสว่างขึ้นเมื่อหันหน้าไปยังนครเมกกะห์

 อ่านข่าวและรูปแบบของเสื่อละหมาดติดเข็มทิศที่ BBC 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ เสนอ 11 แนวทางการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

$
0
0

ข้องใจเมกะโปรเจกต์จัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน จี้เปิดเผยทีโออาร์ต่อสาธารณะชน ยุติแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำโดยการทำลายป่า หันมาให้ใช้การจัดการน้ำชุมชนเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศ

 
 
วันนี้ (23 ก.ค.55) เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ออกแถลงการณ์เรื่อง ข้อเสนอการจัดการน้ำของประเทศไทย โดยแนวทางการจัดการน้ำโดยชุมชน เพื่อความยั่งยืน ที่สมดุล และเป็นธรรม ระบุ เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนืออันประกอบด้วยคณะทำงานในลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน กก อิง หงาว งาว สาละวิน และโขง ซึ่งได้ดำเนินงานในการจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมมาโดยตลอด เล็งเห็นว่า แผนแม่แบบในการแก้ปัญหาน้ำของประเทศไทย โดยการดำเนินการของรัฐบาลขาดความโปร่งใส ชัดเจน และการมีส่วนร่วม
 
สืบเนื่อง จากกรณีที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดเชิญบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มาทำทีโออาร์ หรือรายละเอียดในการเสนอกรอบแนวคิด เพื่อจัดจ้างให้ทำแผนแม่แบบ (Conceptual Plan) ในการแก้ปัญหาน้ำของประเทศไทยทั้งระบบตลอด 25 ลุ่มน้ำ อันประกอบด้วย 14 เมกะโปรเจกต์ในวงเงิน 350,000 ล้านบาท ตามกรอบของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยหรือ กบอ. ซึ่งได้มี “แผนงานโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ” ในพื้นที่ 5 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และลุ่มน้ำป่าสัก รวมความจุประมาณ 1,807 ล้าน ลบ.ม.ใช้งบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท
 
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยทีโออาร์ดังกล่าวต่อสาธารณะชน ยุติแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำโดยการทำลายป่าอันเป็นแนวทางที่ไร้ซึ่งความเป็นเหตุเป็นผล และให้ความสำคัญต่อการจัดการน้ำชุมชนเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศไทย พร้อมกับมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรมของทุกภาคส่วนในประเทศ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนตามบริบทนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น 11 ข้อ ดังนี้ 1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 2.ผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำแห่งชาติ
 
3.กำหนดนโยบายสาธารณะในการบริหารจัดการลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืนและเป็นองค์รวมของระบบนิเวศในลุ่มน้ำทั้งระบบ (ดิน น้ำ ป่า) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 4.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา ในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก 5.กักเก็บน้ำระดับตำบล “หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ” โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6.ฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่ตามธรรมชาติโดยการขุดลอกตะกอนแม่น้ำ แก้ไขปัญหารุกล้ำในลำน้ำ
 
7.จัดแบ่งพื้นที่ (Zoning) ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท 8.กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่นในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน และการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 9.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน 10.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง และ 11.ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแม่น้ำปิงตอนบน เขื่อนสาละวิน เขื่อนแม่น้ำโขง ฯลฯ
 
แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
 
 
แถลงการณ์ เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
เรื่อง ข้อเสนอการจัดการน้ำของประเทศไทย โดยแนวทางการจัดการน้ำโดยชุมชน
เพื่อความยั่งยืน ที่สมดุล และเป็นธรรม
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
-
 
ตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดเชิญบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มาทำทีโออาร์เพื่อจัดจ้างให้ทำแผนแม่แบบ (Conceptual Plan) ในการแก้ปัญหาน้ำของประเทศไทยทั้งระบบตลอด 25 ลุ่มน้ำ อันประกอบด้วย 14 เมกะโปรเจกต์ในวงเงิน 350,000 ล้านบาทตามกรอบของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยหรือ กบอ. ซึ่งได้มี "แผนงานโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ" ในพื้นที่ 5 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และลุ่มน้ำป่าสัก รวมความจุประมาณ 1,807 ล้าน ลบ.ม.ใช้งบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาทนั้น
 
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนืออันประกอบด้วยคณะทำงานในลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน กก อิง หงาว งาว สาละวิน และโขง ซึ่งได้ดำเนินงานในการจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมมาโดยตลอด เห็นชัดเจนว่าแผนงานดังกล่าวของรัฐบาลขาดความโปร่งใส ชัดเจน และการมีส่วนร่วม  ดังนั้นเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยทีโออาร์สามแสนล้านต่อสาธารณะชน ยุติแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำโดยการทำลายป่าอันเป็นแนวทางที่ไร้ซึ่งความเป็นเหตุเป็น และให้ความสำคัญต่อการจัดการน้ำชุมชนเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศไทย  พร้อมกับมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรมของทุกภาคส่วนในประเทศ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนตามบริบทนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ดังนี้
 
1. ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ป่าต้นน้ำให้กลับคืนมาสู่สมดุลอย่างยั่งยืนเหมาะสมกับระบบนิเวศของแต่ละพื้นที่ อันเป็นการป้องกันปัญหาอุทกภัยที่ถูกจุด
 
2. ผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำแห่งชาติ โดยการผสานแนวคิดภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมินิเวศ การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเข้าใจและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและองค์รวม
 
3. กำหนดนโยบายสาธารณะในการบริหารจัดการลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน และเป็นองค์รวมของระบบนิเวศในลุ่มน้ำทั้งระบบ (ดิน น้ำ ป่า) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้เหมาะสมกับระบบนิเวศของลุ่มน้ำ และสอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
 
4. เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา ในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น
 
5. กักเก็บน้ำระดับตำบล “หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ” โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งแผนงานเหล่านี้จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนไม่มากนัก แต่จะมีประโยชน์ต่อชาวบ้านและชุมชนโดยตรงในแต่ละพื้นที่
 
6. ฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่ตามธรรมชาติโดยการขุดลอกตะกอนแม่น้ำ  การแก้ไขปัญหารุกล้ำในลำน้ำเพื่อรักษาพื้นที่ลำน้ำ  การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำด้วยการขุดลอก  การทำพื้นที่แก้มลิง และรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่ต้นน้ำเพื่อชะลอน้ำ
 
7. จัดแบ่งพื้นที่ (Zoning) ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท เช่น พื้นที่เกษตร แหล่งท่องเที่ยว แหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์แล้ว ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างอีกด้วย
 
8. กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ
 
9. สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
 
10. ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู
 
11. ท้ายสุด ขอให้ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแม่น้ำปิงตอนบน เขื่อนสาละวิน เขื่อนแม่น้ำโขง ฯลฯ โดยหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชนดังได้กล่าวมาแล้ว
ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ 23 กรกฎาคม 2555
ณ วัดท่าการ้อง จ.พระนครศรีอยุธยา
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนการตาย 'ฟาบิโอ' วันแรก รองผู้การ บช.น.6 ระบุกระสุนมาจากฝั่งทหาร

$
0
0

ศาลไต่สวนนัดแรก กรณีช่างภาพอิตาลี "ฟาบิโอ โปเลนกี" เสียชีวิตช่วงสลายชุมนุมราชประสงค์ หัวหน้าพนักงานสืบสวนระบุมาจากปฏิบัติการของทหารตาม พรก.ฉุกเฉิน ด้าน 'เอลิซาเบตตา โปเลนกี' น้องสาวบินจากอิตาลีมาเบิกความด้วยวันแรก

ประชาไทสัมภาษณ์ เอลิซาเบตตา โปเลนกี น้องสาวของฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพชาวอิตาลีซึ่งเสียชีวิตจากกรณี 19 พ.ค. 53 โดยวันนี้เอลิซาเบตตาให้สัมภาษณ์หลังเบิกความต่อศาลเป็นวันแรก (โปรดคลิก cc เพื่ออ่านคำแปลภาษาไทย)

 

23 ก.ค. 55 - เวลา 9.50 น. ณ ศาลอาญากรุงเทพฯ ใต้ เป็นวันแรกของการไต่สวนพยานในคดีการเสียชีวิตของช่างภาพอิตาเลียน ฟาบิโอ โปเลนกี ที่ถูกกระสุนยิงเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมืองเดือน พ.ค. 53 โดยพยานฝั่งอัยการ พ.ต.อ.สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 6 (รอง ผบก.น.6) และหัวหน้าพนักงานสอบสวน เบิกความว่าสาเหตุการตายของฟาบิโอ น่าจะมาจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ยิงกระสุนปืนความเร็วสูงทิศทางระนาบเข้าใส่นักข่าวและผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53

พ.ต.อ. สืบศักดิ์ ให้การว่า หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ รับคดีของนายฟาบิโอ โปเลนกีเข้าเป็น 1 ใน 16 สำนวนที่เชื่อว่าเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อปลายปีที่แล้ว ตนได้เป็นเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว และสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากดีเอสไอ และ สน. ปทุมวัน 

โดยพบว่า นายฟาบิโอเสียชีวิตในช่วงกลางวันของวันที่ 19 พ.ค. 53 ที่บริเวณแยกราชดำริ ระหว่างเข้าไปทำข่าวการชุมนุม ขณะนั้นทหารกำลังเคลื่อนมาทางแยกราชดำริ โดยมีผู้ชุมนุม และผู้สื่อข่าวอยู่บริเวณดังกล่าว มีการใช้อาวุธปืนยิงมาเป็นระยะๆ มาทางด้านผู้ชุมนุม

โดยผู้พิพากษาถาม พ.ต.อ.สืบศักดิ์ว่า "ยิงตรงขึ้นฟ้า หรือยิงแนวระนาบ" พ.ต.อ.สืบศักดิ์ตอบว่า "ยิงแนวราบ" และให้การต่อว่า

"ผู้เสียชีวิตกำลังถ่ายภาพ และวิ่งหลบอันตราย ทั้งหนี ทั้งถ่ายภาพด้วย ในลักษณะก้มตัวเล็กน้อย จากสี่แยกราชดำริมายังสี่แยกราชประสงค์ โดยหันหลังให้กับฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้อาวุธปืน และถูกกระสุนจึงล้มลงบริเวณบริษัทสายไฟฟ้าบางกอกเคเบิล ใกล้กับแยกราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ลูกปืนเข้าที่ด้านหลัง ด้านขวา 1 นัด ทะลุออกหน้าอกด้านซ้าย แล้วล้มลงติดกับเกาะกลางด้านบริษัทดังกล่าว ผู้ชุมนุมจึงพาซ้อนรถจักรยานยนต์ไปยังโรงพยาบาลตำรวจ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา" พ.ต.อ.สืบศักดิ์กล่าวต่อศาล

ทั้งนี้ พ.ต.อ. สืบศักดิ์ให้การว่า ในช่วงการสลายชุมนุม ซึ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและอยู่ภายใต้การสั่งการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอ.ฉ) แล้วนั้น บริเวณแยกราชประสงค์- ราชดำริ มีทหารจากกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ (ม.พัน.3 รอ.) กำลังพล 300 นาย ผู้บังคับบัญชาคือ พ.ท.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ (หมายเหตุ - ยศในขณะนั้น ปัจจุบันเลื่อนยศเป็น พ.อ. ตำแหน่ง เสธ.ม.1 รอ.) โดย ม.พัน.3 รอ. อยู่ภายใต้กรมทหารม้าที่ 1 กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ฯ

พ.ต.อ.สืบศักดิ์ ให้การว่าในวันดังกล่าว กำลังพลจาก ม.พัน.3 รอ. ได้เข้าควบคุมพื้นที่และขอคืนพื้นที่บริเวณถนนราชดำริ มีการใช้รถหุ้มเกราะนำทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ มีการใช้ ปืน HK (ปืนชนิด Heckler & Koch 33 หรือ ปลย.11) ปืนลูกซอง ปืนสั้น มีการใช้กระสุนยาง กระสุนซ้อมรบ กระสุนจริง และแก๊ซน้ำตาชนิดขว้างในการปฏิบัติการดังกล่าว

เมื่ออัยการซักถามพยานถึงสาเหตุการตายของนายฟาบิโอ พ.ต.อ. สืบศักดิ์กล่าวว่า น่าจะเป็นกระสุนปืนจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามคำสั่ง

รองผบ.ชน. ที่ 6 ระบุว่า ข้อสันนิษฐานดังกล่าว มาจากการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง 47 ปาก ทั้งผู้เชี่ยวชาญ พยานแวดล้อม เอกสารนิติเวชศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาพถ่ายและคลิปวีดีโอจากนักข่าวต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่ออัยการถามถึงชนิดของลูกกระสุนปืน รอง ผบ.ช.น.6 ไม่สามารถระบุชนิดของลูกกระสุนได้ เนื่องจากกระสุนทะลุร่างของผู้ตาย แต่คาดว่าเป็นกระสุนประเภทความเร็วสูง โดยให้เหตุผลว่า "ดูจากการทะลุทะลวง และสภาพบาดแผล" 

 

'เอลิซาเบตตา' เบิกความวันแรก เยือนไทยเพื่อจี้คดีเป็นครั้งที่ 6 

เอลิซาเบตตา โปเลนกี น้องสาวของผู้เสียชีวิต ซึ่งได้เบิกความต่อศาลวันนี้เป็นวันแรก กล่าวว่า เธอมีความหวังขึ้นมาเล็กน้อยที่เห็นความคืบหน้าในกระบวนการศาล แต่ก็ไม่ได้อยากจะเห็นผู้ร้ายต้องถูกส่งเข้าคุก เพียงแต่เธอต้องการทราบความจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 แล้ว ที่เอลิซาเบตตาได้มาเยือนประเทศไทยเพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีดังกล่าว 

นายคมรม พลทะกลาง ทนายความฝ่ายโจทก์ ค่อนข้างแสดงความมั่นใจกับคดีนี้ โดยให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งใจจะสู้ให้เห็นว่าคดีเข้าข่ายป. วิอาญา 150 ซึ่งกำหนดว่าหากผู้ตายเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ศาลต้องไต่สวนถึงพฤติกรรมที่ตาย และหาผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ภายใน 30 วัน และด้วยหลักฐานและพยานบุคคลที่มี ค่อนข้างจะชี้ชัดเจนว่าการกระทำเกิดจากเจ้าหน้าที่ทหาร มิใช่กลุ่มอื่นใด จากนั้น จะเดินหน้าสู้คดีต่อไปเพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้สั่งการที่เกี่ยวข้อง 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ชายแดนใต้ ในสายตารุสนี’ สะท้อนปัญหาความไม่สงบผ่าน ‘วรรณกรรม’

$
0
0

ม.ทักษิณจัดเสวนา ‘ชายแดนใต้ ในสายตารุสนี’ สะท้อนปัญหาความไม่สงบผ่าน ‘วรรณกรรม’ เชิญมนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์ 2550 ผู้เขียนรุสนี 1 ใน 15 เรื่อง ผ่านรอบแรก นวนิยายซีไรต์ 2555 สะท้อนมุมมอง ร่วมแลกเปลี่ยน รูญ ระโนด - ปรเมศวร์ กาแก้ว 

 
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ กรรมการอำนวยการโครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณเปิดเผยว่า เวลา 12.30 – 16.50 น.วันที่ 25 กรกฎาคม 2555 โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดเวทีมนุษย์ฯ - สังคมเสวนา ครั้งที่ 3 “ชายแดนใต้ ในสายตารุสนี” ที่ใต้ตึกคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ในการจัดว่า เพื่อต้องการให้นักศึกษา คณาจารย์ และผู้สนใจทั่วไป เข้าใจปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้หลายมิติ ทั้งด้านวิชาการ และวรรณกรรมในการอธิบายปัญหาสังคมชายแดนใต้ได้ มีการเชิญนายมนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์ปี 2550 และผู้เขียนเรื่องรุสนี 1 ใน 15 เรื่อง ที่ผ่านรอบแรก นวนิยายซีไรต์ ปี 2555 มาสะท้อนมุมมองจากทัศนะผ่านตัวละครรุสนี มีการเชิญ “รูญ ระโนด” นายจรูญ หยูทอง นักวิชาการ นักคิดนักเขียนผู้มีประสบการณ์ และนายปรเมศวร์ กาแก้ว นักวิชาการ นักคิดนักเขียนรุ่นใหม่มาร่วมแลกเปลี่ยนเสวนา
 
“ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ถือว่าเป็นปัญหาใกล้ตัวเรามากเลยจึงจัดเวทีนี้ขึ้น เพื่อเรียนรู้ผ่านมิติวรรณกรรมโดยสะท้อนผ่านนิยายเรื่องรุสนี ของพี่มนตรี ศรียงค์ ผมคิดว่ามันเป็นวรรณกรรมที่รับใช้สังคมจึงอยากเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนเสวนามุมมองชายแดนใต้ผ่านวรรณกรรม” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลื่อนไต่สวนคดี คนงานเขาดิน เหยื่อกระสุน 10 เมษา

$
0
0

23 ก.ค.55 เวลาประมาณ 13.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 808 ศาลอาญา รัชดา ศาลได้มีคำสั่งเลื่อนการไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ คดีเลขที่ อช.1/2555 กรณีการเสียชีวิตของนายมานะ อาจราญ อายุ 24 ปี ลูกจ้างสวนสัตว์ดุสิตที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 10 เมษายน 2555 ภายในบริเวณสวนสัตว์  ในเหตุการณ์สลายการความรุนแรงทางการเมือง โดยพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้นำส่งพยานหลักฐานและพยานบุคคลจำนวนมากถึง 36 ปาก รวมทั้งยังต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม ศาลจึงได้มีคำสั่งให้มีการไต่สวน 7 นัด และเลื่อนการไต่สวนไปวันที่ 13, 14, 17, และ 24 ก.ย.55 , 26 พ.ย.55 , 17 และ 24 ธ.ค.55

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันนี้มีนายมาโนช อาจราญ ซึ่งเป็นบิดาของผู้เสียชีวิต มาฟังการไต่สวนด้วย และไม่มีการแต่งตั้งทนายมาร่วมซักพยาน แม้ศาลจะยืนยันสิทธิดังกล่าวให้ผู้เสียหายทราบแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ นายมานะ อาจราญ ผู้เสียชีวิต อายุ 24 ปี เป็นลูกจ้างรายวันของสวนสัตว์ดุสิต(เขาดินวนา) ถูกยิงด้วยอาวุธปืนลูกโดดความเร็วสูงเข้าที่ศีรษะด้านหลังทะลุหน้าผากส่วนบน ถึงแก่ความตายทันทีในสวนสัตว์ดุสิต เมื่อค่ำวันที่ 10 เม.ย.2553 โดย ผู้จัดการ Online (http://www.manager.co.th/crime/viewnews.aspx?NewsID=9550000010967) ได้เคยเผยแพร่ สำนวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่สรุปว่า “เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร”  โดยในส่วนท้ายสำนวนดังกล่าว ผู้จัดการ Online สรุปว่า ระหว่างเกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ปิดทางทหาร มีเพียงกำลังทหารและเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ดุสิตเท่านั้นที่อยู่ในบริเวณเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ทหารมีอาวุธปืนเอ็ม 16 ประจำกาย เจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ดุสิตไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธปืน สอบสวนพยาน 13 ปาก ให้การสอดคล้องกันว่าไม่มีชายชุดดำหรือบุคคลภายนอกอยู่ในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุหรือผ่านเข้าออกได้อย่างเด็ดขาด

เมื่อสอบสวนแพทย์ผู้ตรวจศพ ยืนยันว่า บาดแผลที่ศีรษะผู้ตายถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูง โดยสอบสวนผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาวุธปืนยืนยันว่า บาดแผลดังกล่าวเกิดจากการถูกยิงด้วยอาวุธปืนเอ็ม 16 ซึ่งเป็นอาวุธปืนความเร็วสูงที่ใช้กระสุนปืนขนาด .223(5.56 มม.) เหตุการณ์จึงเป็นไปได้ว่า ก่อนเกิดเหตุเล็กน้อยได้มีรถยนต์กระบะต้องสงสัย ขับผ่านไปกลับที่ถนนอู่ทองในบริเวณหน้าประตูทางเข้าสวนสัตว์ดุสิต ตรงข้ามรัฐสภา ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณนั้น เข้าใจว่าเป็นรถของกลุ่มผู้ชุมนุม คนร้ายหรือชายชุดดำที่จะมาทำร้าย เจ้าหน้าที่ทหารจึงวิ่งหลบหนีเข้าไปในสวนสัตว์ดุสิต และเตรียมการป้องกันพร้อมตอบโต้คนร้าย เป็นเวลาเดียวกันกับที่ผู้ตาย ซึ่งแต่งกายด้วยชุดสีเข้ม กำลังเดินออกจากบ่อเต่ามาทางกรงเก้งหม้อ ทั้งบริเวณเกิดเหตุค่อนข้างมืด มองเห็นไม่ชัด น่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด ที่นอนหมอบอยู่บริเวณปากทางเข้ากรงเก้งหม้อ เข้าใจว่าผู้ตายเป็นคนร้ายหรือชายชุดดำ จึงใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย จึงเห็นว่าการตายของผู้ตาย เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ม.ทักษิณ แจกเอกสารแจงมติจังหวัดให้ใช้พื้นที่ เมินมติกรรมการสิทธิฯ เดินหน้าการก่อสร้าง

$
0
0

วิทยาลัยภูมิปัญหา ม.ทักษิณเมินมติกรรมการสิทธิ์ อ้างมติคณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐประจำจังหวัดพัทลุงให้ใช้ประโยชน์ พร้อมระบุหากชาวบ้านต้องการเข้าใช้พื้นที่ให้ขออนุญาตและทำสัญญาข้อตกลงก่อน ด้านชาวบ้านแฉถูกยามข่มขู่-กลั่นแกล้งสารพัด กร้าวเดินหน้าใช้สิทธิชุมชนทำกิน

 
 
แจกประกาศวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน อ้างมีมติจังหวัดให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน
 
นางเนิม หนูบูรณ์ เหรัญญิกเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เปิดเผยว่า หลังจากที่ชาวบ้านไปยื่นหนังสือกับผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงให้แก้ไปปัญหาข้อพิพาทที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งสระระหว่างชาวบ้านกับวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.55 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ได้เอาประกาศวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน เรื่องการใช้ที่ดิน “ทุ่งสระ” สาธารณะประโยชน์ในส่วนที่เป็นสิทธิของมหาวิทยาลัยทักษิณ มาแจกให้ชาวบ้านไสกลิ้งและบ้านท่าช้าง ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จังหวัดพัทลุง
 
ประกาศวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ลงลายมือชื่อโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์วิเชียร แก้วบุญส่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ออกเมื่อ วันที่ 19 ก.ค.55 มีสาระสำคัญระบุว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค.51 คณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐประจำจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีผู้ว่าราชการเป็นประธานได้มีการประชุมและมีมติเอกฉันท์ให้มหาวิทยาลัยทักษิณใช้ประโยชน์ที่ดิน “ทุ่งสระ” สาธารณะประโยชน์ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เนื้อที่ประมาณ 635 ไร่ ทางฝั่งทิศตะวันตกของถนนสายทะเลน้อย-ลำปำ ตามที่รังวัดเมื่อวันที่ 30 ม.ค.51
 
ดังนั้น มหาวิทยาลัยทักษิณมีสิทธิใช้ประโยชน์และดูแลรักษาตามกฎหมาย แต่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมและเจตนารมณ์วิทยาลัยฯ ที่มุ่งพัฒนาชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน จึงอนุญาตให้ราษฎรบางรายใช้ประโยชน์ แต่ต้องแจ้งขออนุญาตจากมหาวิทยาลัยฯ และต้องได้รับความยินยอมจากมหาวิทยาลัยฯ ก่อน การอนุญาตดังกล่าวมีเงื่อนไขดังนี้
 
1.ราษฎรที่ประสงค์จะใช้ที่มหาวิทยาลัยฯ ได้รับอนุญาตใช้ประโยชน์ ให้ขออนุญาตและทำสัญญาข้อตกลงกับผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ในนามมหาวิทยาลัยฯ
 
2.ลักษณะของการทำประโยชน์ที่จะอนุญาตให้ใช้ราษฎรต้องใช้เพื่อทำนาหรือปลูกพืชล้มลุกตามฤดูกาลเท่านั้น และต้องไม่ขุดคูหรือยกร่องด้วยเครื่องจักร
 
3 ราษฎรที่ปลูกพืชยืนต้น เช่นปาล์มน้ำมัน ยางพาราไปแล้ว ก่อนเดือนเมษายน 2555 หากประสงค์จะเข้าไปดูแลบำรุงรักษาพืชที่ปลูกไว้ เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ มหาวิทยาลัยฯ จะอนุญาตให้กระทำการดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของได้ไปทำสัญญาข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยฯ เท่านั้น
 
อนึ่งราษฎรที่ได้ไปทำสัญญาไว้กับมหาวิทยาลัยฯ แล้ว สามารถเก็บผลผลิตจากการปลูกไม้ยืนต้นดังกล่าวได้จนกว่าต้นไม้จะตาย หรือหมดอายุการเก็บผลผลิต แต่จะไม่มีการปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มเติมทั้งในพื้นที่เดิม หรือพื้นที่ใหม่ แต่หากมหาวิทยาลัยฯ จำเป็นต้องใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างหรือเพื่อการพัฒนาใดๆ มหาวิทยาลัยฯ จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน ก่อนเข้าดำเนินการ
 
4.มหาวิทยาลัยฯ จะอนุญาตให้ใช้ที่ดินทำประโยชน์และอนุญาตให้เข้ามาดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ได้เฉพาะราษฎรที่ได้มาทำสัญญาข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยฯ เท่านั้น หากราษฎรรายใดเข้ามาใช้พื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตมหาวิทยาลัยฯ จำเป็นต้องแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย
 
 
มหาวิทยาลัยฯ เมินคำสั่ง กสม.ให้ยุติการก่อสร้างใดๆ จนกว่าจะขอใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.51 นางแปลก หนูบูรณ์กับพวกรวม 6 คน ซึ่งเป็นตัวแทนราษฎรหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนอนุกรรมการในการจัดการที่ดินและป่า ในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการที่มหาวิทยาลัยทักษิณได้เข้ามาครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์ “ทุ่งสระ” เพื่อก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน โดยมหาวิทยาลัยทักษิณขัดขวางไม่ให้ราษฎรเข้าไปประกอบอาชีพ และปักป้ายประกาศห้ามราษฎรเข้าไปในที่ดิน อีกทั้งยังขุดลอกคลองขึ้นใหม่ ทำให้ราษฎรประมาณ 150 ครอบครัว ไม่สามารถสัญจรและเข้าไปประกอบอาชีพการเกษตรและเลี้ยงสัตว์บริเวณดังกล่าวได้เช่นเดิม
 
ต่อมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติในการประชุมครั้งที่ 12/2552 เมื่อวันที่ 24 เม.ย.52 เห็นชอบตามมติคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า ชุดที่ 3 จึงมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้มหาวิทยาลัยทักษิณ ยุติการก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่ ต.พนางตุง จนกว่าจะได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิองค์กรปกครองท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ ให้มหาวิทยาลัยทักษิณ ดำเนินการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนใน ต.พนางตุง เฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างไปแล้วเท่านั้น โดยให้เทศบาลพนางตุงดูแลพื้นที่สาธารณประโยชน์ต่อไป
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่21 มิ.ย.55 เครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระกว่า 80 คน ได้ไปถามเทศบาลตำบลพนางตุงว่าวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกระทรวงมหาไทยแล้วหรือไม่ โดยได้รับคำตอบว่ามหาวิทยาลัยทักษิณ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่สาธารณะทุ่งสระจากกระทรวงมหาดไทย
 
นางเนิม กล่าวว่า เทศบาลตำบลพนางตุงทำหนังสือไปยังมหาวิทยาลัยทักษิณไม่ให้มีการต่อเติมอาคาร แต่ก็ยังเดินหน้าสร้างต่อโดยไม่สนใจ ชาวบ้านเห็นว่ากรรมการสิทธิ์ฯ และเทศบาลฯ ห้ามต่อเติมอาคารเลยเข้าไปทักท้วง ปรากฏว่าคนงานของวิทยาลัยภูมิปัญญา เปลือยก้นให้ชาวบ้านดูเชิงเหยียดหยาม ไม่นึกว่าจะทำได้ถึงขนาดนั้น
 
สมาชิกเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ กล่าวด้วยว่า เวลาชาวบ้านไปดายหญ้าสวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา ไปเก็บถั่วเขียว ไปปลูกแตงกวา แตงโม มักมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของวิทยาลัยภูมิปัญญา มาถ่ายรูปเพื่อข่มขู่จะแจ้งความกับชาวบ้านอยู่เสมอ อย่างกรณีล่าสุดที่ชาวบ้านถูกแจ้งความข้อหาบุกรุก เขาแค่ไปเก็บถั่วเขียวเท่านั้น ตนก็งงเหมือนกันเมื่อมหาวิทยาลัยฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกระทรวงมหาดไทย ตำรวจรับแจ้งความได้อย่างไร มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่ชาวบ้านชุมนุมให้วิทยาลัยฯ ถอดป้ายห้ามชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ มีการยิงปืนข่มขู่ชาวบ้านด้วย
 
“ยังไม่ใครไปทำข้อตกลงกับมันด้วยหรอก ในเมื่อที่ดินเป็นของพวกเรา มันอ้างเอาเองทั้งเพ ป้าและชาวบ้านก็เข้าไปใช้ประโยชน์เหมือนเดิม ป้าไม่กลัวหรอก ชาวบ้านก็ไม่กลัว เราใช้สิทธิของชุมชน และตอนนี้กำลังดำเนินการจัดทำโฉนดชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลอยู่ วันนั้นนะวันที่ ผ.อ.สำนักงานโฉนดชุมชนลงทุ่งสระ พวกยามวิทยาลัยฯ ไปปล่อยข่าวว่าเราโกหกทั้งเพ หลอกชาวบ้านว่าเป็น ผ.อ.โฉนดชุมชนลงพื้นที่ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าใคร และยังสบประมาทว่าไม่มีทางที่จะทำโฉนดชุมชนได้” นางเนิม กล่าว
 
ส่วน นายเปลื้อม จันสุกสี กรรมการเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ ให้ข้อมูลว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิเชียร แก้วบุญส่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ เคยพูดกับชาวบ้านว่ามติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่เคยอยู่ในสายตามหาวิทยาลัยฯ เลย อีกทั้งเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมามหาวิทยาลัยทักษิณทำหนังสือถึงเทศบาลตำบลพนางตุงให้ฟ้องมหาวิทยาลัยฯ และชาวบ้านกับศาลปกครอง กรณีที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งสระ แต่เทศบาลฯ ตอบปฏิเสธ
 
นายเปลื้อม กล่าวด้วยว่า เมื่อประมาณปี 2552 วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน เดินไฟฟ้าตามสายลวดหนามบริเวณวิทยาลัยฯ ทำให้วัวของชาวบ้านโดนไฟฟ้าช็อตตายไป 2 ตัว ต่อมากรรมการสิทธิ์สั่งให้รื้อออก ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงคุยเพื่อแก้ปัญหาให้ชาวบ้านแล้วแต่ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ยินยอม ชาวบ้านขอแค่ให้ใช้พื้นที่ที่สร้างอาคารแล้ว 185 ไร่ ที่เหลือขอให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์
 
“แต่ก่อนชาวบ้านทำนาปีละ 2 ครั้งเพราะมีคลองชลประทานไหลผ่าน พอมหาลัยฯ มามันขุดตัดคลองส่งน้ำชลประทาน จนให้ชาวบ้านทำนาไม่ได้อีกเพราะไม่มีน้ำ จึงหันกันไปปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา พืชผัก วิทยาลัยภูมิปัญหาชุมชนอะไรทะเลาะกับชุมชน วิทยาลัยฯ มันใช้อำนาจจ้างอันธพาลในตำบลให้เป็นยามมาคอยขมขู่ชาวบ้าน” นายเปลื้อม กล่าว
 
3 คดี ข้อพิพาท มหาวิทยาลัยทักษิณ-ชาวบ้าน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านและมหาวิทยาลัย มี 3 คดี คดีแรกอยู่ในชั้นศาล คือ คดีหมายเลขดำที่ 510 / 2554 อัยการจังหวัดพัทลุง ยื่นฟ้องนายบุญธรรม วรรณเดช กับพวกรวม 8 คน ประกอบด้วย นายรูญ หนูบูรณ์ นายบวน หนูบูรณ์ นางเนิม หนูบูรณ์ นายยุทธชัย ทองวัตร นายวิน ผอมหนู นางแปลก หนูบูรณ์ และนายเปื้อม จันสุกสี ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยศาลจังหวัดพัทลุงนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างชาวบ้าน กับวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งคดียังไม่มีข้อสรุป
 
คดีที่ 2 ยังอยู่ในชั้นอัยการ คือคดีอาญาที่ 78/2553 ที่พนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาแก่ นายบุญรัตน์ สวนอินทร์ จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าผู้สั่งการนำกำลังชาวบ้านรวม 14 คน ประกอบด้วย นายบุญเศียร รอดยัง นายวิน ผอมหนู นายบุญรัตน์ สวนอินทร์ นายสมปอง จักรปล้อง นายมานะ เอื้อบำรุงเกียรติ นางสารภี เอื้อบำรุงเกียรติ นางอุไร จันสุกสี นางเอิ้ม จันสุกสี นายสมนึก จันสุกสี นางศรีเพียร จันสุกสี นายศรศักดิ์ จันสุกสี นายสวน เทพนุ้ย นางพัน เพชรศรี และนางเนิม หนูบูรณ์ ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยอัยการจังหวัดพัทลุงนัดเจรจาไกล่เกลี่ยซึ่งคดียังไม่ได้ข้อสรุปเช่นกัน
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.55 ผศ.วิเชียร แก้วบุญส่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ มาแจ้งความกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรทะเลน้อย ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ว่าเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2-3 เม.ย.55 และเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23-24 เม.ย.55 นางสายัญ ดำมุสิก และนายโสภณ ดำมุสิก เข้าใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยได้ยกร่องปลูกต้นปาล์มน้ำมัน กล่าวหาว่าร่วมกันบุกรุก รบกวนสิทธิการครอบครองและสิทธิการใช้ประโยชน์ของมหาวิทยาลัยทักษิณ
 
ทั้งนี้นางเนิม หนูบูรณ์ และนายวิน ผอมหนู ถูกดำเนินคดีซ้ำซ้อนถึง 2 คดี
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธานาธิดีพม่าเยือนไทย พร้อมลงนามความร่วมมือ 3 ด้าน

$
0
0

ไทยยืนยันลงทุนท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย พร้อมเสนอเปิดจุดผ่านแดนเพิ่ม 3 แห่ง พัฒนาบุคลากร ขณะที่ประธานาธิบดีพม่าขอบคุณไทยที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจพม่า

ประธานาธิบดีเต็ง เส่งของพม่า และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตรวจแถวทหารระหว่างการเยือนทำเนียบรัฐบาลของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง (ที่มาของภาพ: เฟซบุคของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

ตามที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่าเยือนไทยระหว่างวันที่ 22 - 24 ก.ค. นี้นั้น สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานเมื่อวานนี้ (23 ก.ค. 55) ว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือ พม่า แถลงร่วมผลการหารือข้อราชการ โดยนายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณในความร่วมมือของพม่า ทั้งด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การจ้างงาน และการปราบปรายาเสพติด ซึ่งจะมีการจัดพิธีฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 65 ปีในปี 2556

โดยในการหารือไทยได้เสนอการขยายความร่วมมือในหลายด้านและแสดงความพร้อมในการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิร่วมไทย-พม่า หรือเจซี ที่สหภาพพม่าจะเป็นเจ้าภาพและเสนอการจัดตั้งสมาคมมิตรภาพพม่า-ไทย คู่ขนานกับสมาคมไทย-พม่า เพื่อมิตรภาพ ซึ่งไทยได้การเสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในพม่า 4 สาขาหลัก คือ การเสริมสร้างขีดความสามารถบุคลากรพม่า การเตรียมความพร้อมในการที่สหภาพพม่าจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2557 การปฏิรูปเศรษฐกิจและพัฒนาทางเลือก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

และในโอกาสนี้ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง 3 ฉบับ ได้แก่ 1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาที่ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่ โครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการยืนยันพันธะของฝ่ายไทยที่จะร่วมมือกับพม่าในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมที่ทวาย รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นโดยทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงที่จะจัดตั้งคณะทำงานระดับรัฐมนตรี ซึ่งจะประชุมกันในเดือนสิงหาคม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดนมากขึ้น โดยไทยได้เสนอให้มีการเปิดจุดผ่านแดนระหว่างไทย-พม่าเพิ่มเติมที่ (1) ด่านกิ่วผาวอก จ. เชียงใหม่ (2) ด่านห้วยต้นนุ่น จ. แม่ฮ่องสอน และ (3) ด่านบ้านน้ำพุร้อน จ. กาญจนบุรี

2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาพม่า ซึ่งบอยู่ใน 4 สาขาหลัก คือ (1) การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรพม่า (2) การเตรียมความพร้อมการเป็นประธานอาเซียนของพม่าในปี 2557 (3) การปฏิรูปเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเลือก และ (4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

และ 3. ถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการจัดตั้งเวทีหารือด้านพลังงาน 

และทั้งสองฝ่ายยังเห็นตรงกันในความร่วมมือการพัฒนาการปลูกข้าวในพม่าและการพัฒนาด้านแรงงาน โดยยืนยันที่จะดูแลแรงงานพม่าในไทยอย่างเป็นระบบและมีสิทธิภายใต้กฏหมายแรงงานไทย

ขณะที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง แสดงความขอบคุณรัฐบาลไทยที่ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งได้หารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการขนส่งเส้นทางท่าเรือน้ำลึกทวายและแหลมฉบัง โดยย้ำว่าพม่าพร้อมที่จะให้การสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินโครงการด้านต่างๆ เช่นกัน

 

เรื่องคนไทย 92 คนที่ถูกจับที่พม่า จะต้องรับโทษก่อน ถึงจะได้ลดหย่อน

ส่วนกรณีการช่วยเหลือคนไทย 92 คน ที่ข้ามจาก จ.ระนอง เข้าไปยังภาคตะนาวศรีของพม่าเพื่อทำการเพาะปลูก ก่อนถูกทางการพม่าจับกุมนั้น นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณประธานาธิบดีพม่า ที่ดูแลคนไทยเป็นอย่างดี ขณะที่นายเต็ง เส่ง ชี้แจงกับนายกรัฐมนตรีว่า มีคนไทยหลายคนใน 92 คน ทำผิดกฎหมายร้ายแรง มีการพกอาวุธสงคราม และปลูกพืชยาเสพติดในพื้นที่ จำเป็นต้องถูกตัดสินโทษตามความผิดภายใต้กฎหมายพม่า หลังจากตัดสินคดีเสร็จสิ้นแล้ว ทางการพม่าจะหาแนวทางช่วยเหลือคนไทย ด้วยการลดหย่อนโทษ สำหรับคนไทยที่รับโทษน้อยจะมีโอกาสได้กลับบ้านก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรในการคัดแยกคน และการดำเนินการฟ้องร้องตามระเบียบ

ทั้งนี้ผู้นำทั้ง 2 ประเทศ ยังได้หารือเรื่องอนาคตพม่า ที่จะให้คนไทยเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ด้วยการเปิดให้เช่าพื้นที่เพาะปลูก แต่ขอให้ดำเนินการอย่างถูกต้องผ่านกระทรวงต่อกระทรวง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเชิญชวน ขณะที่ปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ไม่อยากให้มียาเสพติดตามแนวชายแดน และอยากให้มีการปราบปรามอย่างเข้มงวด โดยนายเต็ง เส่ง เห็นด้วยและพร้อมให้ความร่วมมืออย่างดี ส่วนการแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยจะร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งเรื่องการทำหนังสือเดินทางและวีซ่า

 

เคยเลื่อนเยือนไทยมาแล้ว 1 ครั้ง ช่วง "ออง ซาน ซูจี" มาประชุม WEF

อนึ่งก่อนหน้านี้ ในการประชุมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออก(World Economic Forum on East Asia) ครั้งที่ 21 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเชิญนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่ามาร่วมด้วยนั้น ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้ยกเลิกกำหนดการเยือนไทยในช่วงดังกล่าวออกไปก่อน แต่มอบหมายให้รมว.พลังงาน และ รมช.การท่องเที่ยวและโรงแรมของพม่า มาร่วมงานแทน โดยขอเลื่อนการเยือนไทยมาเป็นวันที่ 4-5 มิ.ย. และต่อมาเมื่อ 1 มิ.ย. ได้แจ้งขอยกเลิกการเยือนไปก่อน

ทำให้ รมว.ต่างประเทศไทยทำหนังสื่อชี้แจงพม่าว่า ผู้จัดการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก WEF เป็นผู้เชิญนางออง ซาน ซูจีเอง และกำหนดการพบปะประชาชนของนางออง ซาน ซูจี เป็นการดำเนินการเองผ่านบริษัทประชาสัมพันธ์ รัฐบาลไทยไม่ทราบกำหนดการ (ข่าวย้อนหลัง) ขณะที่ทางพม่าชี้แจงสาเหตุการเลื่อนการเยือนไทยว่าเพื่อแก้ปัญหาภายในประเทศ ก่อนที่จะเลื่อนกำหนดการเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 22 - 24 ก.ค. ดังกล่าว

 
ที่มา: เรียบเรียงจากเว็บไซต์สำนักข่าวแห่งชาติ [1] , [2] และเฟซบุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้รัฐฯ ถอนสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ขู่ฟ้องศาลปกครอง 7 ส.ค.นี้

$
0
0

 

 
ภาพจำลอง "เขื่อนไซยะบุรี" ที่จะปิดกั้นแม่น้ำโขง เขตเมืองไซยะบุรีที่อยู่ห่างจาก เมืองหลวงพระบางเพียง 80 กิโลเมตร เขื่อนมีความสูง 32.8 เมตร ยาว 820 เมตร ใช้เงินก่อสร้างมากกว่า 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 1,295 เมกะวัตน์ โดยส่งมาประเทศไทย 95% ของกำลังการผลิตทั้งหมด
 
 
วันที่ 23 ก.ค.55 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลไทยเพิกถอนสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ทำการศึกษาผลกระทบเครือข่ายฯ หากไม่ดำเนินการเตรียมฟ้องร้องต่อศาลปกครอง โดยนัดหมายกำหนดวันฟ้องในวันที่ 7 สิงหาคมนี้
 
แถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะองค์กรของรัฐ ได้ทำสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้า (Power Purchase Agreement - PPA) จากเขื่อนไซยะบุรี กับ บริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อเดือนตุลาคม 2554 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สื่อมวลชนและเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่เขตก่อสร้างเขื่อนไปแล้วกันเป็นระยะๆ ซึ่งต่างนำข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆ ออกมาแสดงให้เห็นว่ามีการเริ่มลงมือก่อสร้างโครงการเขื่อนไปแล้ว
 
สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานข่าวทางสื่อมวลชนถึงท่าทีของรัฐบาลลาว ว่าตัดสินใจให้ชะลอโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง โดยจะทำการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลเวียดนาม และกัมพูชา ก็ได้แสดงความเป็นห่วงต่อผลกระทบข้ามพรมแดนสู่ประเทศท้ายน้ำ แต่ในเวลาต่อมาได้ผู้บริหารบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ กลับให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนในอีกลักษณะหนึ่งว่าจะปรับเปลี่ยนแบบเขื่อน และการศึกษาเหล่านี้จะไม่กระทบแผนการก่อสร้างเขื่อนตามที่วางไว้ ซึ่งนั่นหมายความว่าการเดินหน้าโครงการยังคงดำเนินต่อไป และเหตุผลสำคัญที่ผู้บริหารบริษัท ช.การช่างฯ ใช้ในการเดินหน้าโครงการคือสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้ายังไม่ได้ถูกระงับหรือยกเลิก
 
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลลาวพยายามที่จะพิสูจน์ความจริงใจโดยการนำประเทศพันธมิตรที่ไปดูข้อเท็จจริงของการก่อสร้าง แต่กลับไม่มีข้อยืนยันถึงแผนที่จะชะลอโครงการเพื่อทำการศึกษาผลกระทบ และยืนยันต่อคณะผู้แทนว่าจะไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ขณะที่มีหลักฐานชัดเจนจากสื่อมวลชนว่าได้มีการถมดินกั้นแม่น้ำโขงยาวหลายร้อยเมตรจนแทบปิดกั้นลำน้ำ ซึ่งภาพที่ออกมาสร้างความวิตกกังวลให้กลับหลายฝ่าย ที่สำคัญคือความคับข้องใจและความเคลือบแคลงสงสัยที่เกิดขึ้นจากท่าทีของรัฐบาลลาว
 
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วยความเป็นห่วง พร้อมทั้งทักท้วงในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนมาโดยตลอด โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำ การอพยพของปลาแม่น้ำโขง การประมง ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน รายได้ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนตลอดลุ่มน้ำ
 
ในวาระนี้ เครือข่ายประชาชนไทยเพื่อแม่น้ำโขง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ.และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด และดำเนินการผลักดันให้มีการทำการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรี ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ตลอดจนดำเนินการเปิดเผยข้อมูล รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง มิเช่นนั้นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิตามบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการละเมิดกฎหมายภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการปล่อยให้โครงการที่มีผลกระทบรุนแรงและไม่สามารถแก้ไขคืนมาได้ ได้ดำเนินการไปโดยขาดการศึกษา และการปรึกษาหารือ ตามที่ควร ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ และที่มีแนวปฏิบัติระดับสากลเป็นแนวทางกำกับอยู่อีกด้วย
 
 
 
แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
 
เรียกร้องรัฐบาลไทยเพิกถอนสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ทำการศึกษาผลกระทบ
 
เครือข่ายฯ พร้อมฟ้องศาลปกครอง 7 สิงหาคม
 
23 กรกฎาคม 2555
 
ตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะองค์กรของรัฐ ได้ทำสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้า (Power Purchase Agreement - PPA) จากเขื่อนไซยะบุรี กับ บริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อเดือนตุลาคม 2554 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สื่อมวลชนและเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่เขตก่อสร้างเขื่อนไปแล้วกันเป็นระยะๆ ซึ่งต่างนำข้อเท็จจริงและหลักฐานต่างๆออกมาแสดงให้เห็นว่ามีการเริ่มลงมือก่อสร้างโครงการเขื่อนไปแล้ว
 
สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานข่าวทางสื่อมวลชนถึงท่าทีของรัฐบาลลาว ว่าตัดสินใจให้ชะลอโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง โดยจะทำการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลเวียดนาม และกัมพูชา ก็ได้แสดงความเป็นห่วงต่อผลกระทบข้ามพรมแดนสู่ประเทศท้ายน้ำ แต่ในเวลาต่อมาได้ผู้บริหารบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ กลับให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนในอีกลักษณะหนึ่งว่าจะปรับเปลี่ยนแบบเขื่อน และการศึกษาเหล่านี้จะไม่กระทบแผนการก่อสร้างเขื่อนตามที่วางไว้ ซึ่งนั่นหมายความว่าการเดินหน้าโครงการยังคงดำเนินต่อไป และเหตุผลสำคัญที่ผู้บริหารบริษัท ช.การช่างฯใช้ในการเดินหน้าโครงการคือสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้ายังไม่ได้ถูกระงับหรือยกเลิก
 
โครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นประเด็นปัญหาในภูมิภาคมานานนับปี โดยเขื่อนแห่งนี้มีขนาด 1,260 เมกะวัตต์ งบประมาณลงทุนก่อสร้างสูงกว่า 1 แสนล้านบาท นำโดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนด้านการเงินจากธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างน้อย 4 แห่ง ขณะที่ กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยจะรับซื้อไฟฟ้าประมาณร้อยละ 95 สู่ประเทศไทย แต่รายงานข้อเสนอแนะต่อแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (PDP 2012) จากภาคประชาชน ระบุว่าประเทศไทยไม่ต้องการไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีแต่อย่างใด และที่ผ่านมาภาคประชาชนได้เคยทวงจริยธรรมและคุณธรรมของสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจมาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ ซึ่งคงจะต้องมีการทวงถามกันต่อไป
 
เป็นที่ทราบกันดีว่าเขื่อนไซยะบุรียังไม่ได้รับฉันทามติจาก 4 ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง อันได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ที่ได้กําหนดให้มีระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ซึ่งกําหนดไว้ว่าประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมการร่วมของ MRC (Joint Committee) ในกรณีที่ประเทศมีความประสงค์ที่จะมีโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใดๆ (เช่น โครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้า เขื่อน) บนแม่น้ำโขงสายหลักหรือแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโครงการดังกล่าวอาจจะสร้างผลกระทบข้ามเขตแดนต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ปลายน้ำ
 
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลลาวพยายามที่จะพิสูจน์ความจริงใจโดยการนำประเทศพันธมิตรที่ไปดูข้อเท็จจริงของการก่อสร้าง แต่กลับไม่มีข้อยืนยันถึงแผนที่จะชะลอโครงการเพื่อทำการศึกษาผลกระทบ และยืนยันต่อคณะผู้แทนว่าจะไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ขณะที่มีหลักฐานชัดเจนจากสื่อมวลชนว่าได้มีการถมดินกั้นแม่น้ำโขงยาวหลายร้อยเมตรจนแทบปิดกั้นลำน้ำ ซึ่งภาพที่ออกมาสร้างความวิตกกังวลให้กลับหลายฝ่าย ที่สำคัญคือความคับข้องใจและความเคลือบแคลงสงสัยที่เกิดขึ้นจากท่าทีของรัฐบาลลาว
 
เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วยความเป็นห่วง พร้อมทั้งทักท้วงในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนมาโดยตลอด โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำ การอพยพของปลาแม่น้ำโขง การประมง ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน รายได้ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนตลอดลุ่มน้ำ
 
ในวาระนี้ เครือข่ายประชาชนไทยเพื่อแม่น้ำโขง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ. และบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด และดำเนินการผลักดันให้มีการทำการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรี ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ ตลอดจนดำเนินการเปิดเผยข้อมูล รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง มิเช่นนั้นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิตามบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการละเมิดกฎหมายภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการปล่อยให้โครงการที่มีผลกระทบรุนแรงและไม่สามารถแก้ไขคืนมาได้ ได้ดำเนินการไปโดยขาดการศึกษา และการปรึกษาหารือ ตามที่ควร ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ และที่มีแนวปฏิบัติระดับสากลเป็นแนวทางกำกับอยู่อีกด้วย
 
ทั้งนี้ หากไม่มีการระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ท้ายที่สุดชาวบ้านจึงเตรียมฟ้องร้องต่อศาลปกครอง โดยนัดหมายกำหนดวันฟ้องในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ณ ศาลปกครองกลาง กรุงเทพมหานคร
 
 
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สำนักข่าวอิศราเปิดข้อมูล 6 ที่ปรึกษา สนง.ประกันสังคม ค่าตัว 28 ล้าน

$
0
0

เผยสำนักงานประกันสังคมจ้าง “ที่ปรึกษา” 6 คนให้คำแนะนำด้านบริหารความเสี่ยง ประมวลผล ลงทุนตราสาร เป็นเงินกว่า 28 ล้านบาท นอกจากนี้ยังว่าจ้างสถาบันการศึกษาเป็นที่ปรึกษากว่า 54 ล้านบาท

(24 ก.ค.55) สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าจากการตรวจสอบพบว่า นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นมาจนถึงปี 2554 สำนักงานประกันสังคมได้ใช้เงิน 28,607,800 บาทเพื่อจ้างที่ปรึกษาด้านการลงทุนและอื่นๆ ได้แก่

1.น.ส.สุธีรา พิทยเมธี จำนวน 1 ครั้ง 1,004,400 บาท (30 ธ.ค. 51)
2.นายรัชกฤษณ์พงศ์ เอกรังสรรค์ 4 ครั้งจำนวน 6,785,800 บาท (ที่ปรึกษาด้านบริหารความเสี่ยง)
3. นางสาวหทัยทิพย์ พิชัยภาพ 3 ครั้ง รวม 4,897,200 บาท (ที่ปรึกษาด้านงานประมวลผลและบัญชีเงินลงทุน)
4. นายเศรษฐ์ศิษฏ์ เขียนวิจิตร์ 2 ครั้ง จำนวน 2,197,200 บาท (ที่ปรึกษาด้านการกำกับการลงทุน)
5. นายเจริญ แซ่โง้ว 3 ครั้ง 6,895,200 บาท (ที่ปรึกษาด้านการบริหารความเสี่ยง)
6. นายอรรถพล ยามะรัต 2 ครั้ง 2,334,000 บาท (ที่ปรึกษาการลงทุนด้านตราสารทุน)
นอกจากนี้ยังใช้เงิน 1,760,400 บาทเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาด้านการบริหารความเสี่ยงเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2551 โดยไม่ได้ระบุรายละเอียด โดยเงินจำนวนดังกล่าวไม่รวมการว่าจ้างสถาบันการศึกษาหลายแห่งเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาอีก 54,575,161 บาท

ขณะเดียวกันยังใช้เงินอีกเกือบ 2 ล้านบาทในการจัดซื้อรถยนต์หุ้มเกราะกันกระสุนเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2554

 

 

ที่มา: http://www.isranews.org/investigate/investigative-03/75-investigative-03/7852--6-28-.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จม.เปิดผนึกฉบับที่ 2 ของ พนง.ไทยพีบีเอส ร้องหยุดคุกคาม-จี้ถอดผู้บริหาร

$
0
0

 

 

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.กล่าวว่า  “ต้องขอขอบคุณสำหรับทุกๆ ความเห็นและความห่วงใยที่มีต่อไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะที่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของ ผมได้เห็นข้อมูลและบทความที่เผยแพร่แล้วพบว่า มีทั้งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและข้อสังเกตที่ดี มีข้อมูลส่วนที่เป็นความคิดเห็น ข้อเสนอแนะแต่ก็มีข้อมูลที่ไม่จริงปะปนอยู่มาก  อย่างไรก็ตามไทยพีบีเอสยินดีรับข้อเสนอแนะเหล่านี้มาพิจารณา”
ที่มา: http://org.thaipbs.or.th/org_news/prnews/article60355.ece

 
พนักงานไทยพีบีเอสหมดศรัทธาการบริหารงานที่ไร้ซึ่งธรรมาภิบาลและการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของพนักงานในกรณีการเรียกร้องและร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการบริหารงานของไทยพีบีเอสในหลายภาคส่วน โดยภายหลังจากกลุ่มพนักงานซึ่งรวมตัวกันร่วมสองร้อยคนลงนามและเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการตรวจสอบการบริหารงานหลังจอไทยพีบีเอส ก็ได้เกิดประเด็นการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น/การแสดงออกซึ่งนำไปสู่การได้รับการตรวจสอบจากภาคประชาสังคม สื่อมวลชน หน่วยงานอิสระต่างๆ และการข่มขู่คุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกลุ่มพนักงานที่เคลื่อนไหว พร้อมการตั้งข้อสังเกตของพนักงาน ดังต่อไปนี้

1. ระดับผู้นำ/ตัวแทนองค์กรฯ ออกมาให้ข่าวว่าการร้องเรื่องมีทั้งข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ไม่จริง ตามบทบาทข้างต้น ที่กล่าวว่า "ผมได้เห็นข้อมูลและบทความที่เผยแพร่แล้วพบว่า มีทั้งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและข้อสังเกตที่ดี มีข้อมูลส่วนที่เป็นความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แต่ก็มีข้อมูลที่ไม่จริงปะปนอยู่มาก" จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าทำไมระดับบริหาร หรือโฆษกตัวแทนขององค์กรไม่สามารถออกมาชี้แจงข้อสงสัยให้แก่พนักงานและสาธารณะชนตามประเด็นต่อไปนี้

- มีทั้งข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและข้อสังเกตที่ดี และทำไมถึงไม่ออกมาชี้แจงให้เห็นว่าการร้องเรียนของพนักงานเพื่อให้เกิดการตรวจสอบนั้น มีประเด็นหรือข้อมูลใดที่เท็จจริงและเป็นข้อสังเกตที่ดี ?

- มีข้อมูลส่วนที่เป็นความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ แต่ก็มีข้อมูลที่ไม่จริงปะปนอยู่มาก ทำไมไม่มีการออกมาชี้แจงว่าประเด็นใดเป็นข้อเสนอแนะที่ควรรับไว้พิจารณาปรับปรุง และประเด็นใดที่กล่าวอ้างว่าเป็นข้อมูลเท็จ ไม่เป็นความจริง ?

2. นับตั้งแต่ที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพนักงานที่เรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบ มีการข่มขู่คุกคามพนักงานทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยกระบวนและวิธีการที่ไร้ซึ่งหลักการให้ความยุติธรรมและขาดธรรมาภิบาล ไม่สามารถมีกระบวนการสร้างความเข้าใจชี้แจงให้แก่พนักงานโดยรวม ซ้ำกระบวนการดังกล่าวยังยุยงให้พนักงานเกิดความแตกแยกเข้าใจผิด ซึ่งเป็นลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นสื่อสาธารณะและสิทธิมนุษยชน ตามประเด็นข้อสังเกตดังนี้

- มีการให้ข่าวทั้งแก่พนักงานภายในองค์กรและสื่อมวลชนภายนอก ว่ากลุ่มพนักงานที่มีการเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มบุคคลที่เสียผลประโยชน์ เป็นกลุ่มเสื้อแดง เป็นกลุ่มบุคคลที่จะนำความเสื่อมเสียให้แก่องค์กร เป็นกลุ่มบุคคลที่มุ่งให้ร้ายแก่องค์กรและจะนำองค์กรตกไปสู่เครื่องมือทางการเมือง ฯลฯ

การให้ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ของพนักงานโดยสิ้นเชิง เนื่องด้วยพนักงานกลุ่มดังกล่าวรวมพลังเพื่อเคลื่อนไหวในการปกป้องสื่อสาธารณะให้พ้นจากอำนาจการบริหารงานที่เชื่อว่ามีลักษณะการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบความบกพร่องในการบริหารตลอดระยะเวลาสี่ปี การปกป้องผลประโยชน์และปกป้องการกระทำที่ไม่ได้ยึดมั่นตามหลักธรรมาภิบาลของสื่อสาธารณะตามพันธกิจที่มีต่อสังคม การให้ข้อมูลดังกล่าวยังสร้างและถือเป็นการยุยงให้เกิดความแตกแยกในหมู่พนักงานท่ามกลางวิกฤติประเด็นคำถามที่ควรตอบโจทย์ทั้งต่อพนักงานภายในองค์กรและต่อภาคประชาสังคม

- มีระดับผู้อำนวยในองค์กรสร้างความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊ก เพื่อส่งเสริมให้พนักงานในสังกัดตนเองสวมเสื้อไทยพีบีเอสเพื่อแสดงสัญลักษณ์ในการต่อต้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มพนักงานที่เรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบ ซ้ำยังมีถ้อยคำที่หมิ่นประมาทพนักงานที่เคลื่อนไหวว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่พยายามให้ร้ายและทำลายภาพพจน์ขององค์กร ซึ่งอาจนำไปสู่การสะท้อนซึ่งการปกป้องการตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมของหน่วยงานภายนอก

- กระบวนการไต่สวน/ตรวจสอบข้อร้องเรียนภายในองค์กรได้รับการคุกคามจากประธานกรรมการนโยบาย (คนปัจจุบัน) และจากผู้บริหารระดับสูงที่เชื่อว่ามีการใช้อำนาจที่มิชอบในการขอดูเอกสารรายชื่อและข้อมูลประกอบการร้องเรียนที่อยู่ในซอง ทั้งที่ไม่ได้มีอำนาจใดใดในกระบวนการตรวจสอบข้อร้องเรียกดังกล่าว

- มีคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูงห้ามไม่ให้พนักงานในแต่ละสำนักเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ซึ่งสะท้อนให้เห็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นสื่อมวลชนและในฐานะพนักงานในนามข้าราชการที่เป็นลูกจ้างขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย โดยปราศจากการชี้แจงที่ชัดเจน ซ้ำยังมีความพยายามบิดเบือนประเด็นการเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล เป็นเพียงการเรียกร้องเพื่อสิทธิ์ประโยชน์ของกลุ่มพนักงานที่สูญเสียผลประโยชน์ และการบิดเบือนประเด็นไปสู่การคุกคามทั้งการเมือง

มีพนักงานจำนวน 4 รายที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อมจากการใช้ความกล้าหาญและเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์เพื่อเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบ ซึ่งนับเป็นการคุมคามขมขู่ทั้งที่พนักงานได้ขอสัตยาบรรณจากกลุ่มผู้บริหารในการคุ้มครองสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในการเรียกร้องและร้องเรียน ตลอดจนการสะท้อนข้อคิดเห็น ข้อสัเกตเห็นเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบโดยกระบวนการตรวจภายในและภายนอก เนื่องด้วยไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะกินเงินภาษีของประชาชน โดยสรุปประเด็นที่พนักงานได้รับผลกระทบต่อขวัญกำลังใจดังนี้
 

  • พนักงานท่านหนึ่งเป็นข้าราชการช่วยงานระดับซี 8 ได้รับการถูกขอยืมตัวมาช่วยงานที่ไทยพีบีเอส โดยมีกำหนดสิ้นสุดสัญญาการยืมตัวมาช่วยงานข้าราชการในสิ้นปีพ.ศ. 2555 ถูกส่งตัวกลับทันทีเมื่อเข้ามาร่วมพลังเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบ และถูกสั่งห้ามจากผู้อำนวยการส.ส.ท. ในการแสดงความคิดเห็นใดใด ทั้งที่เป็นข้าราชการเข้ามาช่วยงานที่ไทยพีบีเอส และในฐานะประชาชนท่านหนึ่งที่ควรมีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในการปรับปรุงบทบาทสื่อสาธารณะ
     
  • พนักงานระดับอาวุโสท่านหนึ่งเคยทำเรื่องร้องเรียนขอย้ายจากต้นสังกัดเนื่องด้วยถูกขมขู่คุกคามและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากต้นสังกัด โดยได้ดำเนินทำเรื่องขอย้าย จนเมื่อต้นสังกัดอนุมัติให้ทำเรื่องย้ายได้ พนักงานท่านก็ได้พยายามหาตำแหน่งและหน่วยงานที่เหมาะสม เมื่อได้รับอนุมัติจากปลายสังกัดแห่งหนึ่งให้ไปช่วยงาน ก็มีการถูกระงับภายหลัง และยื่นข้อเสนอใหม่ให้ไปลงหน่วยงานทางเลือกสองแห่ง เมื่อพนักงานท่านนั้นตัดสินใจตอบรับการขอโอนย้ายไปยังหน่วยงานหนึ่งเพื่อการทำงานที่จะเกิดประโยชน์และมีความสบายใจ ท้ายสุดหลังจากมีการเคลื่อนไหวในนามพนักงาน พนักงานท่านนี้ถูกระงับคำสั่งการโอนย้ายทันที โดยให้กลับไปทำงานในต้นสังกัดเดิมทันที (ต้นสังกัดที่พนักงานมีความอึดอัดใจในเรื่องธรรมาภิบาล ได้รับการข่มขู่คุกคามจากผู้บังคับบัญชา จนต้องทำเรื่องร้องเรียนไปที่ ผอ.ส.ส.ท. แต่กระบวนการซึ่งนำมาของความยุติธรรมนั้นสูญหายไประหว่างทาง เมื่อ ผอ.ส.ส.ท. นำเรื่องการร้องเรียนไปยังรองผู้อำนวยการของต้นสังกัด และรองผู้อำนวยการท่านนั้นมิได้มีกระบวนการไต่สวนและตรวจสอบเพื่อนำมาซึ่งความเป็นธรรม กลับนำแฟ้มการร้องเรียนนั้นไปให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดของผู้ร้องเรียนอ่านทั้งหมด เรื่องราวของการข่มขู่คุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมจึงดำเนินขึ้นมาโดยตลอด อย่างปราศจากการเร่งไต่สวน ตรวจสอบให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งเข้าข่ายการละเลยปฏิบัติหน้าที่ )
     
  • พนักงานท่านหนึ่งที่ออกมาร่วมใช้สิทธิ์ใช้เสียงเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบ ถูกกรีดรถยนต์ที่ลานจอดรถไทยพีบีเอส ภายหลังออกจากห้องประชุมที่ผู้บริหารเปิดเวทีเปิดใจผู้บริหารในกรณีร้องเรียนต่างๆ สะท้อนความเป็นแดนสนธยาอย่างแท้จริง แม้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ได้ว่าการข่มขู่ด้วยการกรีดรถพนักงานนั้นมาจากประเด็นความขัดแย้งส่วนตัว หรือประเด็นการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบโดยเร่งด่วน ว่ามีเหตุการณ์อัธพาลเช่นนี้ เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ ในองค์กรสื่อสาธารณะได้อย่างไร
     
  • พนักงานท่านหนึ่งได้รับการกล่าวว่าและสั่งห้ามให้เคลื่อนไหวภายหลังจากที่แสดงการวิพากษ์ความบกพร่องในด้านต่างๆ ของไทยพีบีเอส และภายหลังที่ร่วมแสดงออกซึ่งความเคลื่อนไหวเรียกร้องการตรวจสอบเพื่อนำมาซึ่งหลักธรรมาภิบาลให้แก่สื่อสาธารณะของประชาชน

 

นับเป็นบทสะท้อนสู่การตั้งข้อสังเกตดังนี้

1. การปกป้องความผิดพลาดการบริหารงาน โดยบิดเบือนเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ของพนักงานที่เคลื่อนไหว
2. ความกลัวต่อข้อผิดพลาดที่กระทำไว้ซึ่งอาจเข้าข่ายการบริหารงานที่ผิดพลาดขัดต่อกฎข้อบังคับว่าด้วยหลักธรรมาภิบาล ความ โปร่งใส ความเป็นธรรมภายใต้พระราชบัญญัติขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย
3. การเชื่อมโยงประเด็นเรื่องการคุกคามทางการเมือง ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดูงามหรูในการต้องลงจากตำแหน่ง ทั้งที่ไม่ได้มีประเด็นใดๆ เกี่ยวกับการคุกคามทางการเมือง

หากพิจารณาดีๆ การบริหารงานที่อ่อนแอ ขาดธรรมาภิบาลความโปร่งใสต่างหาก ที่จะนำไทยพีบีเอสไปสู่การวิพากษ์ของสังคม ของรัฐบาล และหากกล้าที่จะยอมรับความผิดพลาด อนาคตของไทยพีบีเอสก็มีทางออก และทางแก้ทางเดียวคือการได้ผู้บริหารระดับมืออาชีพที่มีความเข้าใจสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง และเข้ามาขจัดความไม่โปร่งใส และผลประโยชน์ทับซ้อน การเล่นพรรคเล่นพวกของผู้บริหารชุดปัจจุบัน ซึ่งอ้างว่ามีอุดมการณ์ของความเป็นสื่อสาธารณะ หากแต่พฤติกรรมการบริหารกลับสะท้อนอุดมการณ์กลับขั้วจากพันธกิจที่ลั่นไว้ต่อประชาชน

แม้ว่าผลงานหน้าจอจะเป็นที่ประจักษ์ในความเปลี่ยนแปลงการนำเสนอข่าว รายการที่มีคุณภาพปราศจากการเมืองและธุรกิจเข้ามาแทรกแซง แต่ในบทบาทของความเป็นสื่อสาธารณะนั้น คงไม่สามารถนำผลวัดจากหน้าจอเพียงประการเดียวเป็นตัวชี้นำความสำเร็จ การบริหารคน การบริหารการคลัง และการบริหารงานทุกภาคส่วนหลังจอไทยพีบีเอสล้วนเป็นปัจจัยการบ่งบอกความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของบทบาทสื่อสาธารณะด้วย

ถึงเวลาที่สื่อสาธารณะควรมีผู้นำที่เคลื่อนนำไทยพีบีเอสด้วยหลักธรรมาภิบาล ขจัดความไม่โปร่งใส และโละทิ้งผู้บริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพและเจตนารมณ์ที่จะเข้ามาบริหารงานเพื่อสื่อสาธารณะของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเรื่องเรียกร้องผลประโยชน์และสวัสดิการของพนักงานนั้นเป็นเรื่องรอง หากตราบใดที่ยังไม่สามารถรื้อโครงสร้างการบริหารแบบคิดใหม่ทำใหม่ได้ สวัสดิการขั้นพื้นฐานของพนักงานก็ไม่มีอนาคต และนั่นไม่ใช่เป็นประเด็นหลักของการเรียกร้องและร้องเรียนในเกิดการตรวจสอบในครั้งนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่ยืน ไม่ใช่อาชญากรรม, ข้าวโพดสาดซ้ำ ไม่เป็นอาชญากร

$
0
0

ในที่สุดปัญหาที่ยืดเยื้อมานานเกี่ยวกับปัญหาความกำกวมของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็คลี่คลายลงนิดหน่อย แม้จะไม่ใช่การคลี่คลายในชั้นศาล แต่ก็ถือว่าทำให้คดีระงับลงได้ และมีความน่าสนใจที่ควรกล่าวถึง

มูลเหตุของเรื่องเกิดขึ้นร่วมห้าปีแล้ว นานจนเกือบจำไม่ได้ เหลือเพียงม๊อตโตที่เกือบๆกลายเป็นวาทกรรมว่า “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” โดยเรื่องนี้เริ่มต้นมาจาก การที่ ก (ผู้ถูกกล่าวหาไม่ประสงค์เป็นข่าว จึงขอใช้ชื่อสมมติทั้งหมด) และเพื่อนอีกคนหนึ่ง ได้เข้าไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง เมื่อถึงเพลงสรรเสริญบรรเลง ก และเพื่อนก็ไม่ได้ยืน แต่ก็นั่งด้วยความสงบซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ ก และเพื่อนปฏิบัติเช่นนี้มานานแล้ว ปรากฏว่า ก ถูกชายคนหนึ่ง ที่ต่อไปนี้จะเรียกว่า ข “ตักเตือน” ให้ลุกขึ้นยืนถวายความเคารพต่อเพลงดังกล่าว ด้วยการตักเตือนด้วยการส่งเสียงดัง ปาด้วยกระดาษ ปัดแก้วน้ำอัดลมจนตกแตก กระชากกล่องป๊อปคอร์นออกสาดใส่ ก และเพื่อน ท่ามกลางการเชียร์ของผู้ชมคนอื่นๆ ในโรงด้วยการปรบมือ สุดท้ายเรื่องจบด้วยการที่ตำรวจจากสถานีตำรวจที่รับผิดชอบมาระงับเหตุ โดย ข ขู่ ก ว่า ถ้าประสงค์จะดำเนินคดีต่อตน ก็จะแจ้งความ ก ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย

ก และเพื่อนก็ได้เข้าแจ้งความด้วยข้อหาต่างๆ ต่อ ข ประกอบด้วย ดูหมิ่นซึ่งหน้า (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393) ทำร้ายร่างกายไม่เป็นอันตรายแก่กาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391) ทำให้เสียทรัพย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358) ร่วมกันบังคับข่มขืนใจให้กระทำหรือไม่กระทำการ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309) และความผิดฐานทะเลาะกันอื้ออึงในที่สาธารณะ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 372) ส่วน ข ก็เข้าแจ้งความต่อตำรวจให้ดำเนินคดีกับ ก ด้วยข้อหาเดียวคือ “ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์” (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนก็เสนอความเห็นต่อไปยังอัยการเพื่อพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่

ฝ่ายอัยการพิจารณาสำนวนเรื่อง ก แจ้งความดำเนินคดีต่อ ข ในข้อหาต่างๆ เสร็จก่อน โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 สั่งไม่ฟ้อง ข โดยให้เหตุผลในแต่ละข้อหาดังต่อไปนี้

...การที่ผู้ต้องหาเพียงแต่ใช้กล่องข้าวโพดคั่วและม้วนกระดาษขว้างใส่ผู้เสียหายทั้งสอง ผู้เสียหายที่ 1 แพทย์ลงความเห็นว่าไม่พบบาดแผล แต่รู้สึกเจ็บที่ข้อมือเล็กน้อย ส่วนผู้เสียหายที่ 2 แพทย์ลงความเห็นไม่พบบาดแผล ไม่ต้องรักษา พยานหลักฐานที่ปรากฏจึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายทั้งสอง มิได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ต้องหาได้กระทำในขณะลืมตัวโกรธจัดโต้เถียงกับผู้เสียหายทั้งสอง ในเรื่องการแสดงความเคารพต่อองค์พระประมุขโดยได้กระทำเพียงเท่านี้ และมิได้แสดงกริยาจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย ทั้งสองอีก จึงเชื่อได้ว่า มิได้เจตนาร่วมกันกระทำความผิด การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่เป็นความผิดฐานนี้

ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ทรัพย์ที่เสียหายมีราคาเล็กน้อย ผู้เสียหายทั้งสองซื้อมาในราคาเพียง 119 บาท และเป็นทรัพย์ที่เหลือจากผู้เสียหายทั้งสองดื่มกินแล้ว ขณะเกิดเหตุเป็นกรณีเกี่ยวพันที่ได้เกิดขึ้นติดต่อกันกับการกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสอง ซึ่งเกิดจากผู้ต้องหาร้องขอให้ผู้เสียหายทั้งสองแสดงความเคารพต่อองค์พระประมุขและสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามของสังคมไทยสืบมา จึงเชื่อว่าผู้ต้องหามิได้มีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ดังกล่าว

การที่ผู้ต้องหาใช้กระดาษขว้างมาทางผู้เสียหายแล้วพูดว่า “ออกไป” และการที่ผู้ชมคนอื่นอีกหลายคนโห่ร้องไล่ผู้เสียหายทั้งสองคนให้ออกจากโรงภาพยนตร์ไปนั้น เพราะไม่พอใจที่ผู้เสียหาย ไม่ยืนแสดงความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ยังไม่เป็นการใช้คำพูดหรือกริยา หรือการแสดงออกใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาใช้กำลังให้ผู้เสียหายทั้งสองกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้เสียหาย และไม่ได้มีการใช้กำลังประทุษร้าย ขณะบอกให้ผู้เสียหายทั้งสองออกไปจากโรงภาพยนตร์ด้วย ดังนั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันตั้งแต่ห้าคน ข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด จำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ของผู้ถูกข่มขืนใจ แต่อย่างใด

การที่ผู้ต้องหาพูดว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ศาสนาไหนก็ตาม ทำไมไม่รักในหลวง เป็นคนไทยซะ ปล่าว ฝรั่งต่างชาติยังรู้จักยืน” ก็เป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาเห็นผู้เสียหายทั้งสองไม่ยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี จึงเกิดความไม่พอใจ ซึ่งเป็นตามธรรมดาของคนไทยทุกคนที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว และคำพูดดังกล่าวก็เป็นการพูดว่ากล่าวตักเตือน เตือนสติ ให้ผู้เสียหายทั้งสองรู้สำนึกของการกระทำ มิได้เป็นถ้อยคำที่ด่าว่า ดูถูกเหยียดหยาม หรือทำให้เสียชื่อเสียง และมิได้ทำให้บุคคลที่รับฟังข้อความดังกล่าวรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นผู้เสียทั้งสองแต่อย่างใด และการที่ผู้เสียหายที่ 1 หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นพูดคุยและยืนขวางการชมภาพยนตร์ของผู้อื่น แล้วผู้ต้องหาได้พูดว่า “คุณไม่มีมารยาท ใส่เสื้อบ้าอะไรก็ไม่รู้ ออกไปซะ” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน การกระทำของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวเป็นการขัดกับมารยาทในการชมภาพยนตร์ที่ห้ามให้พูดคุยโทรศัพท์มือถือ หรือก่อให้เกิดการรบกวนผู้ชมคนอื่น ข้อความดังกล่าวจึงเป็นเพียงข้อความที่แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 1 ระงับการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมารยาททางสังคม โดยที่ถ้อยคำดังกล่าวยังไม่เป็นการด่าว่า ดูหมิ่น หรือทำให้เสียชื่อเสียงถูกลดคุณค่าแต่อย่างใด การพูดจาของผู้ต้องหาดังกล่าว ทั้งสองข้อความจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า

การที่ผู้ต้องหากับผู้เสียหายทั้งสองโต้ตอบกันไปมา เนื่องจากผู้ต้องหาต้องการให้ผู้เสียหายทั้งสองยืนแสดงความเคารพเพลงสรรเสริญเพลงพระบารมี แต่มิได้อยู่ในลักษณะการโต้เถียงทะเลาะด่ากัน จึงมีเพียงผู้ต้องหาที่พูดจาเพียงฝ่ายเดียวเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งสองกระทำการดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดฐานทะเลาะกันอื้ออึงในที่สาธารณะหรือกระทำให้เสียความสงบเรียบร้อยในที่สาธารณสถานแต่อย่างใด

จากนั้น ในอีกประมาณเกือบ 4 ปี ต่อมา (เกือบ 5 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ) อัยการจึงมีคำสั่งในเรื่องที่ ข แจ้งความให้ดำเนินคดีต่อ ก ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11เมษายน 2551 สั่งไม่ฟ้อง ก ในข้อหาตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 โดยมีเหตุผลดังนี้

การที่ผู้ต้องหาไม่ลุกขึ้นเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี และมีการพูดว่า “ทำไมต้องยืนด้วยไม่มีกฎหมายบังคับ” นั้น เห็นว่าการกระทำดังกล่าวมิได้แสดงออกซึ่งวาจาหรือกิริยาอันจะเข้าลักษณะเป็นการดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย เสียหาย สบประมาท ด่าว่าและการกล่าวหรือโต้เถียงเกิดขึ้นหลังจากเพลงจบแล้ว แม้จะเป็นกิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่อยู่ในบรรทัดฐานที่ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติก็ตาม แต่การกระทำของผู้ต้องหาทั้งยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่ามีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ อีกทั้งผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานจึงไม่พอฟ้อง

โดยนายวิศิษฐ์ สุขยุคล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ให้ความเห็นว่า การกระทำของ ก กับพวกนั้น เพียงแต่ไม่ได้ลุกขึ้นยืนตรงขณะที่มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรง ภาพยนตร์ เพราะการแสดงความอาฆาตมาดร้ายจะต้องมีการกระทำแสดงให้เห็นด้วย เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์อันจะมีลักษณะความผิด ในฐานแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ จึงถือว่าไม่เข้าข่ายตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “พฤติการณ์ของนาย ก เป็นลักษณะของกิริยาที่ไม่เหมาะสม หากจะมีกฎหมายที่ให้เป็นความผิด เป็นความผิดจารีตประเพณีที่เป็นกฎหมายเก่า ปี 2485 และมีบทลงโทษให้จำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยคดีมีอายุ 1 ปี หากมีการดำเนินคดีดังกล่าวแล้ว ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนสามารถเปรียบเทียบปรับได้ แต่หากผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ต้องทำสำนวนส่งให้อัยการตามขั้นตอนกฎหมาย แต่เนื่องจากคดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้ตั้งข้อหาดังกล่าวมาด้วย คดีจึงหมดอายุความไปแล้ว อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ไม่สามารถนำไปเป็นบรรทัดฐานในคดีอื่นได้ เพราะแต่ละคดีมีพฤติการณ์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏและพยานหลักฐานแตกต่างกันออกไป”

การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในทศวรรษนี้ เป็นที่ถกเถียงกันมานานนับตั้งแต่เกิดคดีนี้ เป็นครั้งแรกๆ มีการนำไปเทียบกับคำพิพากษาศาลฎีกากรณีใกล้เคียงนี้ที่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1294/2521 โดยเนื้อหาของคำพิพากษานั้นมีดังนี้

“ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุมีการอภิปรายที่ท้องสนามหลวงกลุ่มศูนย์นิสิตนักศึกษาอภิปรายปัญหาเรื่องข้าวสารแพงอยู่ทางด้านทิศเหนือกลุ่มของนายผัน วิสูตรอภิปรายเรื่องการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อยู่ทางด้านทิศใต้ ด้านวัดพระแก้ว จำเลยฟังกลุ่มนายผันอภิปราย เมื่อนายผันปิดอภิปรายและเปิดแผ่นเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี ประชาชนที่ฟังการอภิปรายทุกคนได้ยืนตรง ขณะที่เพลงสรรเสริญพระบารมียังไม่จบ จำเลยได้กล่าวถ้อยคำว่า “เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง” และจำเลยมิได้ยืนตรง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงที่ใช้บรรเลงในการพระราชพิธีหรือพิธีการต่าง ๆ เพื่อถวายพระเกียรติและถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์โดยเฉพาะคดีนี้ประชาชนที่ไปฟังอภิปรายย่อมเข้าใจว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เปิดขึ้นเป็นการถวายความเคารพแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระมหากษัตริย์ของไทยองค์ปัจจุบัน จึงได้ยืนตรงทุกคน จำเลยเป็นนักเรียนครูวิทยาลัยครูสวนสุนันทายอมต้องรู้และเข้าใจดีกว่าประชาชนธรรมดาสามัญ การที่จำเลยมิได้ยืนตรงเช่นประชาชนคนอื่นในขณะที่เพลงสรรเสริญพระบารมีเปิดขึ้น ทั้งยังบังอาจกล่าวถ้อยคำว่า “เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง” เช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาที่จะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ฯลฯ

จะเห็นว่า “เรื่อง” ในคำพิพากษานี้ แตกต่างจากกรณีปัญหานี้อย่างชัด คือ ในฎีกา จำเลยนั้นนอกจากไม่ยืนแล้วยังกล่าวคำว่า “เพลงอะไรโว้ยฟังไม่รู้เรื่อง” ด้วย แต่ในคดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาพูดเพียงว่า “ทำไมต้องยืนด้วยไม่มีกฎหมายบังคับ” ซึ่ง “น้ำเสียง” ของถ้อยคำนั้นแตกต่างกัน ซึ่งการไม่ยืนแล้วสำแดงกริยาอื่นประกอบที่ศาลพิพากษาว่าเป็นความผิดก็มี เช่น กรณีที่ทางเวบไซต์ iLaw รายงานคดีตัวอย่างอีกคดีว่า มีกรณีที่จำเลยไม่ลุกขึ้นยืนเพื่อถวายความเคารพ และได้ยกเท้าทั้งสองข้างพาดเก้าอี้ไปทางจอภาพยนตร์ เมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีจบและได้ตะโกนคำหยาบคายออกมา ในคดีนี้ ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี

หรืออย่างในกรณีที่ อัยการอ้างถึง “ความผิดจารีตประเพณีที่เป็นกฎหมายเก่า ปี 2485” นั้น ได้ศึกษาแล้วพบว่า ความผิดตามอ้างเป็นไปตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 (ปัจจุบันยกเลิกแล้ว ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553) มาตรา 15 บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 6 มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ” ซึ่งจะไปประกอบกับ พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 มาตรา 6 “บุคคลทุกคนจักต้องเคารพตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณี คือ ... (3) เคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงเคารพอื่นๆ ซึ่งบรรเลงในงานตามทางราชการ ในงานสังคม หรือในโรงมหรสพ”อย่างไรก็ตาม ความผิดดังกล่าวก็ได้ “ยกเลิก” แล้วตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีบทกำหนดโทษอาญาใดๆ ในกฎหมายนี้อีกต่อไป

จึงอาจสรุปได้ในขณะนี้ว่า การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เปิดในโรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ หรือล่าสุดได้ขยายเข้าไปถึงก่อนการแข่งขันกีฬาแล้ว หากเป็นการ “ไม่ยืนโดยสงบ” นั้น ในปัจจุบันยังไม่เป็นความผิดตามกฎหมายลายลักษณ์อักษร หรือ ยังไม่พอฟังว่าเป็นความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจาก “ถ้อยคำ” ที่ปรากฏในคำสั่งของอัยการทั้งสองฉบับ ก็จะเห็นร่องรอยบางประการที่อาจจะไม่ได้หมายความว่า ปัจจุบันการ “ไม่ยืน” จะสามารถกระทำได้โดยเสรีเสียทีเดียว

โดยในคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” กรณี ข กระทำการต่างๆ ไม่ว่าจะปากระดาษหรือสาดป๊อบคอร์นใน ก นั้น ทางอัยการมองว่าเป็นการ “ร้องขอให้ผู้เสียหายทั้งสองแสดงความเคารพต่อองค์พระประมุขและสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามของสังคมไทยสืบมา” รวมทั้งการ “โห่ร้องไล่ผู้เสียหายทั้งสองคนให้ออกจากโรงภาพยนตร์ไป” นั้นก็ “เพราะไม่พอใจที่ผู้เสียหาย ไม่ยืนแสดงความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี” ซึ่ง “ยังไม่เป็นการใช้คำพูดหรือกริยา หรือการแสดงออกใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาใช้กำลังให้ผู้เสียหายทั้งสองกลัวว่าจะเกิดอันตราย” และดังนั้น การที่เห็นคนไม่ยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี “จึงเกิดความไม่พอใจ ซึ่งเป็นตามธรรมดาของคนไทยทุกคนที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว” ดังนั้นด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้อัยการวินิจฉัยไม่ควรสั่งฟ้องในความผิดต่างๆ นั้นเอง

ส่วนในกรณีคำสั่งไม่ฟ้องกรณี “ไม่ยืน” ของ ก นั้น แม้จะยังฟังไม่ได้ว่าเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 แต่การกระทำดังกล่าวก็ถือเป็น “กิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่อยู่ในบรรทัดฐานที่ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติ”

ร่องรอยดังกล่าว แม้ไม่ชัดแจ้ง แต่ก็ทำให้เราเห็นได้ลางๆว่า การ “ไม่ยืน” ไม่ใช่อาชญากรรมก็จริง แต่การไม่ยืนก็เป็น “กริยาไม่เหมาะสมที่ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติ” และการ “ตอบโต้” การไม่ยืนนั้น ก็เป็นสิ่งที่ผู้พบเห็นเหตุการณ์ชอบที่จะตอบโต้การไม่ยืนด้วยการ “ตักเตือน” ตาม “ธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามของสังคมไทยสืบมา” ที่แม้อาจจะมีพฤติกรรมอันรุนแรงไปบ้าง แต่ถ้าไม่ได้รุนแรงต่อร่างกายจนเกินไป หรือทรัพย์สินที่เสียหายเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย ก็เป็นความไม่พอใจที่เข้าใจได้ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาของ “คนไทยทุกคนที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว” ดังนั้นการไม่ยืน และการตอบโต้คนไม่ยืนตามสมควรแก่กรณีหากไม่รุนแรงเกินไปนั้น – กลไกกฎหมายอาญาของรัฐไม่ยื่นมือเข้าไปยุ่ง

หรือสรุปสั้นกว่านั้นคือ – ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากรรม แต่ปากระดาษสาดข้าวโพดซ้ำ ก็ไม่ใช่อาชญากร

ในสถานการณ์ที่ฝ่ายผู้ที่ยึดมั่นในการปกป้องสถาบันอย่างล้นเกิน (Zealot) ได้โหมบรรยากาศให้ฝ่ายตนเป็นผู้มีความชอบธรรม ถึงขนาดยกพวกไปเตรียมล่าป้าคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการที่เป็นความผิดตามมาตรา 112 นี้ ถึงสนามบินไม่ให้ออกนอกประเทศ แนวร่วมที่เป็นพนักงานสายการบินแห่งชาติก็ประกาศห้ามขึ้นเครื่อง หรือการโหมให้ใช้มาตรการทางอาญาที่เข้มข้นต่อการกระทำความผิดตามมาตรา 112 “อย่างเข้มข้น” ว่า ถ้าใครเห็นคนกระทำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วอยู่เฉยก็จะต้องมีความผิดด้วย เพราะถือเป็นตัวการร่วม จึงต้องแสดงออกทันที ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมหรือเป็นพยาน แล้ว การที่ใครสักคนจะ “ไม่ยืน” ในโรงหนังแม้จะโดยสงบ แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการได้รับการตอบโต้ที่คาดเดาไม่ได้เพื่อรักษา “ธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามของสังคมไทยสืบมาอันเป็นเรื่องธรรมดาของคนไทยทุกคนที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ได้.

 

ลิงค์อ้างอิง :
อัยการสั่งไม่ฟ้องคู่กรณี “สองไม่ยืน”
อัยการสั่งเด็ดขาด ไม่ฟ้อง คดีไม่ยืนในโรงหนัง
กรณีไม่ยืนแต่เอาขาพาดเก้าอี้
อัยการแจงเหตุไม่ฟ้องไม่ยืนในโรงหนัง ไม่เข้าข่าย “อาฆาตมาดร้าย”
เครือข่ายต้านคอรัปชั่นเสนอ 112 เข้มข้น พบความผิดแล้วเฉยเท่ากับ ‘ตัวการร่วม’
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำต่อคำผู้ใหญ่บ้านปากบาง เมืองละงู ‘ชาวบ้านไม่เคยรู้เขาจะเอาที่เราตั้งคลังน้ำมัน’

$
0
0

อ่านความคิดของผู้ใหญ่บ้านปากบางคนใหม่ วัย 27 ปี ต่อแผนพัฒนาขนาดใหญ่ในจังหวัดสตูล ทั้งท่าเรือน้ำลึกปากบารา-โครงการก่อสร้างคลังน้ำมัน 5,000 ไร่ย้ำยึดชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง ต้องปรึกษากัน

 

 
 
“นายนรินทร์ สมันตกาญจน์” เพิ่งรับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านปากบาง ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้แค่ 3 เดือน แทน “นายต่ายูเด็น บารา” ผู้ใหญ่บ้านคนเดิมที่เพิ่งพ้นตำแหน่ง เมื่อเร็วๆ นี้
 
ถือเป็นการเข้ารับตำแหน่งในห้วงแห่งการต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารากำลังระอุ ขณะที่บ้านปากบางและหมู่บ้านใกล้เคียงเอง ก็มีโครงการก่อสร้างคลังน้ำมัน ในพื้นที่ 5,000 ไร่ ของกระทรวงพลังงานจ่อคิวตามท่าเรือน้ำลึกปากบารามาติดๆ
 
ต่อไปนี้เป็นความคิดความเห็นของผู้ใหญ่บ้านปากบางคนใหม่ วัย 27 ปี ต่อแผนพัฒนาขนาดใหญ่ในจังหวัดสตูล
 
ก่อนหน้าเป็นผู้ใหญ่บ้านทำงานอะไรอยู่ที่ไหน ตอนนี้อายุเท่าไหร่?
 
ผมอายุ27 ปี ก่อนหน้านี้เป็นเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงู นายจำรัส ฮ่องสาย จบมาจากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ ก็เป็นเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงูเลยประมาณ 3–4 เดือน หมดวาระ ปี 2554 เลือกตั้งใหม่นายกฯ คนเดิมก็ได้อีก ผมก็เป็นเลขานุการนายกฯ อีก เป็นอยู่ 7–8 เดือน ผมก็ลาออกมาสมัครผู้ใหญ่บ้าน และทำธุรกิจเลี้ยงกุ้งในเนื้อที่ 12 ไร่ 6 บ่อ
 
เรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารา พอได้ยินอยู่บ้าง แต่ไม่ได้สนใจ ได้ยินผ่านๆ ปากต่อปากเท่านั้น พอมาเป็นผู้ใหญ่บ้านก็สนใจข้อมูลมากขึ้น ศึกษามากขึ้น
 
รู้รายละเอียดโครงการตั้งคลังน้ำมัน 5,000 ไร่ของกระทรวงพลังงาน ที่บ้านปากบาง อำเภอละงู จังหวัดสตูลบ้างไหม?
 
ผมเพิ่งได้ยิน ยังไม่รู้รายละเอียด ไม่เคยรู้ว่ากินพื้นที่กว้างขนาดไหน จะมีผลกระทบแบบไหน ไม่มีข้อมูลจริงๆ ถ้าโครงการเล็กๆ ชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ากินพื้นที่กว้างมีผลกระทบกับชาวบ้าน ก็สมควรลุกขึ้นมาต่อต้าน
 
พื้นที่บ้านปากบางมีกี่พันไร่?
 
บ้านปากบางมีพื้นที่ 2,000 กว่าไร่
 
ที่ดินปากบางเป็นที่ดินประเภทไหน?
           
ผู้ใหญ่บ้านคนก่อนน่าจะรู้ดีกว่าผม ทิศตะวันตกเป็นที่ดินของโรงเรียนทั้งหมด มีชาวบ้านสร้างบ้านเรือนอยู่ในนั้น ถ้าเขาจะเอากลับก็ต้องยอม เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์อะไรเลย
 
ที่ค่ายลูกเสือก็มีอยู่ชาวบ้านอยู่ แต่ไม่มาก เมื่อก่อนที่ตั้งค่ายลูกเสือเคยคิดจะตั้งโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยสตูล แต่สร้างไม่ได้เพราะมีชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อน ต่อมาชาวบ้านยอมให้สร้างค่ายลูกเสือได้ แต่ผมไม่รู้ว่าเขายอมเพราะอะไร
 
สมัยก่อนชาวบ้านปากบางปลูกบ้านอยู่ริมทะเลอ่าวละงู ตั้งแต่รุ่นปู่ผมน่าจะ 30–40 ปีมาแล้ว ต่อมาอยู่ไม่ได้ เพราะโดนคลื่นกัดเซาะ จึงย้ายมาปลูกบ้านที่ปากบาง คิดว่าจะปลอดภัยมากกว่าอยู่ริมทะเล ตอนแรกก็ย้ายมาอยู่แค่หลังสองหลัง ต่อมาก็ตามกันขึ้นมาจับจองที่ดินที่นี่
 
ถ้าบ้านปากบางมีพื้นที่แค่นี้ คลังน้ำมันก็ต้องใช้พื้นที่หมู่บ้านใกล้เคียงด้วย แถวนี้มีหมู่บ้านอะไรบ้าง?
 
มีบ้านหลอมปืน บ้านปากละงู บ้านท่าชะมวง บ้านหัวหิน ถัดจากบ้านหัวหิน ก็บ้านบากันโต๊ะทิด บ้านนาพญา บ้านตีหยี ผมได้ข่าวว่าถ้าเกิดท่าเรือน้ำลึกปากบารา ต่อไปเขาจะตัดถนนเลี่ยงเมืองตรง 3 แยกไฟแดงบ้านในเมือง ทางเข้าอำเภอละงูตรงไปปากบารา
 
แล้วชาวบ้านหลอมปืน บ้านปากละงู บ้านหัวหิน รู้เรื่องคลังน้ำมันละงู 5,000 ไร่แล้วยัง?
 
บ้านหลอมปืนน่าจะรู้นะ บ้านหัวหินก็น่าจะรู้ เพราะผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 หมู่บ้านเป็นผู้ใหญ่บ้านมานาน มีการต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารามานานกว่า 2 ปี ชาวบ้านแถวนั้นน่าจะรู้เรื่องบ้าง ผมเองเพิ่งมาเป็นผู้ใหญ่บ้านราว 3 เดือน ก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้เท่าไหร่
 
แถวนี้มีสถานที่สำคัญอะไรบ้าง?
 
มีโรงเรียนบ้านปากบาง เด็กนักเรียน 200 กว่าคน โรงเรียนบ้านปากละงู มีเด็กนักเรียน 200 กว่าคน สถานีอนามัย 1 แห่ง มัสยิด 3 แห่ง ค่ายลูกเสือ 1 แห่ง วัดที่บ้านปากละงู 1 วัด กุโบร์ 2 แห่ง สุสานจีนอีก 1 แห่ง
 
ชาวบ้านปากบางประกอบอาชีพอะไรบ้าง?
 
คนปากบางประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นก็ทำสวนยางพารา ชาวบ้านจะประกอบอาชีพ 2 อย่างนี้เป็นหลัก ที่เหลือทำงานรับจ้างทั่วไป
 
ปากบางมีประชากรประมาณเท่าไหร่?
 
ประมาณ 4–5 พันคนรวมหมู่บ้านใกล้เคียงที่น่าจะได้รับผลกระทบคงจะไม่ถึงหมื่นคน
 
คลังน้ำมันละงูกินพื้นที่ 5,000 ไร่ ขณะที่บ้านปากบางมีพื้นที่แค่ 2,000 ไร่ เท่ากับหายไปทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน?
 
นั่นแหละคือปัญหา ตอนนี้ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลเรื่องคลังน้ำมัน บางส่วนที่พอรู้ก็รู้แบบงูๆ ปลาๆ คิดว่าจะสร้างในทะเล ไม่กินอาณาเขตเข้ามาในหมู่บ้าน ถ้ารู้ว่าบ้านปากบางหายไปทั้งหมู่บ้าน เป็นไปได้ที่ชาวบ้านจะลุกขึ้นมาต่อต้าน ถ้ารู้ลึกจริงๆ ชาวบ้านมีสิทธิ์เข้าร่วมขบวนต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพราะเขาไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน
 
ในฐานะผู้ใหญ่บ้านคิดอย่างไรเมื่อคลังน้ำมันมาตั้งที่บ้านปากบาง แล้วปากบางหายไปทั้งหมู่บ้าน?
 
ในฐานะผู้ใหญ่บ้านผมต้องยึดชาวบ้านส่วนใหญ่ ยึดชาวบ้านเป็นที่ตั้ง ตอนนี้ชาวบ้านเขาไม่รู้ ถ้าหากเขารู้ปุ๊บเขาก็เดือดร้อนอยู่ไม่ได้ ต้องปรึกษากันแน่นอน ทั้งลูกบ้านและผู้ใหญ่บ้านว่าจะเอาอย่างไร เสียงข้างมากชาวบ้านว่าอย่างไร ผมก็เอาด้วยตามนั้น ผมคิดเองไม่ได้ต้องยึดลูกบ้านเป็นหลัก
 
จะแก้ไขปัญหาชาวบ้านอย่างไร?
 
ถ้าพื้นที่ตรงนี้หายไปจริงๆ ชาวบ้านจะไปอยู่ไหนกัน ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเอง ชาวบ้านมีที่อยู่ ที่ทำกินแค่ตรงนี้ ถึงไปไหนไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้คงต่อต้านอย่างเดียว ถ้าชาวบ้านมีพื้นที่ข้างนอกอาจย้ายหนีออกไปได้ ส่วนคนที่ไม่มีก็ไม่รู้ไปอยู่ไหน
 
ถ้าโครงการคลังน้ำมันขึ้นที่นี่ผู้ใหญ่บ้านจะย้ายไปอยู่ที่ไหน?
 
ถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ ผมก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะที่ดินที่อื่นผมก็มี แต่ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินละ
 
หน่วยงานรัฐเคยเข้ามาให้ข้อมูลคลังน้ำมันละงู 5,000 ไร่ กับข้อมูลท่าเรือน้ำลึกปากบาราบ้างหรือไม่?
 
ไม่เคยมีเลย ไม่มีข้อมูลอะไรเลย
 
ผมอยากให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนี้มาให้ข้อมูล มาชี้แจงกับชาวบ้านให้ชัดเจน ชาวบ้านจะได้รับเตรียมรับมือแก้ปัญหาได้ พูดถึงชาวบ้านที่นี่ยังนิ่ง เพราะไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะต้องทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ
 
รัฐบาลจะทำอะไรก็ต้องเห็นใจประชาชนบ้าง ถ้ามีการให้ความรู้แลกเปลี่ยนกับชาวบ้านคงจะดีกว่า บางคนบอกมีข้อมูลอย่างนี้ บางคนบอกมีข้อมูลอย่างโน้น ไม่รู้จะเชื่อใคร
 
นักพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอเข้ามาให้ข้อมูลเรื่องคลังน้ำมันละงูบ้างไหม?
 
ไม่มี เออเมื่อก่อนน่าจะมีอยู่ครั้งหนึ่งในสมัยผู้ใหญ่คนเก่า นายตายูเด็น บารา เข้ามา แต่ตอนที่ผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ไม่มี
 
ถ้าเอ็นจีโอจะลงมาให้ข้อมูลชาวบ้านล่ะ?
 
ถ้าเอ็นจีโอเข้ามา ผมต้องบอกลูกบ้าน ผมตัดสินใจลำพังตัวเองไม่ได้ ต้องมีการหารือว่าเราจะรับฟังข้อมูลจากเอ็นจีโอดีไหม ถ้าชาวบ้านยินดีให้ชี้แจงก็เอาเลย ถ้าชาวบ้านไม่รับ ผมก็ไม่สนใจ คิดว่าชาวบ้านคงมีเหตุผล ถ้าเอ็นจีโอจะเข้ามาให้ข้อมูล คงไม่โดนปฏิเสธดื้อๆ
 
ระหว่างกระทรวงพลังงานกับเอ็นจีโอเข้ามาให้ข้อมูล ฝ่ายไหนน่าเชื่อถือมากกว่ากัน?
 
คงจะเป็นกระทรวงพลังงาน เพราะเป็นเจ้าของโครงการ น่าเชื่อถือมากกว่า คือเอ็นจีโอเขาอาจไม่รู้จริงก็ได้ ชาวบ้านเองก็ไม่รู้ว่าเอ็นจีโอคืออะไร กลุ่มไหนที่มา เข้ามาต่อต้านเพื่ออะไร ทำอะไรกัน
 
หน่วยงานภาครัฐมักชี้แจงแต่ข้อดี ไม่บอกข้อเสีย?
 
ถ้าหากไม่บอกด้านเสียเลย คนก็ไม่มีข้อเปรียบเทียบซิ มุ่งแต่ชี้แจงด้านดีอย่างเดียวเน้นไม่ให้คนต่อต้าน ทำให้ดูเหมือนเจริญ มันไม่ยุติธรรมสำหรับชาวบ้าน
 
ถ้าหากท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิด คลังน้ำมันละงูเกิด คิดว่าอาชีพประมงพื้นบ้านหายไปหรือไม่?
 
น่าจะไม่หายไปเสียทีเดียว คงจะหลงเหลืออยู่บ้าง ถ้าส่งผลกระทบมากๆ ชาวประมงคงประกอบอาชีพไม่ได้เหมือนกัน ก็มีชาวบ้านบางส่วนกังวล แทนที่จะหาปลาบริเวณน้ำตื้นใกล้ฝั่ง ก็ต้องออกหาปลาบริเวณน้ำลึกไกลฝั่ง ค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมันก็สูงขึ้น บางส่วนก็ไม่กังวล เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรมาก
 
ถ้าหากท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิด คลังน้ำมันละงูเกิด คิดว่ามีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไหม?
 
มีผลกระทบแน่นอน ปากบาราน่าจะโดนเต็มๆ เรือขนส่งสินค้าน้ำมันรั่วมันต้องมี อาจส่งผลเสียทั้งอ่าวปากบารา อ่าวละงู ทั้งใต้ทะเลและบนผิวทะเล ธรรมชาติก็เสีย ท่องเที่ยวเสียแน่นอน ธรรมชาติก็โดน คนก็โดน ถ้าเสียมากกว่าจะทำไปทำไม ถ้าเสียน้อย แต่ผลดีมากคงไม่เป็นไร เสียกับดีอะไรมากกว่าละ
 
พอจะทราบข่าวท่าเรือน้ำลึกปากบาราบ้างหรือไม่?
 
ได้ยินคนพูดเรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารามานานแล้ว รู้สึกว่านายนาวี พรหมทรัพย์ อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้
 
วันที่ 9–10 มิถุนายน 2555 มีขบวนชาวบ้านออกมาต่อต้านรณรงค์โบกธงเขียว ส่วนเรื่องคลังน้ำมันละงู 5,000 ไร่นี่ผมเพิ่งรู้ ตั้งที่บ้านปากบางแน่หรือ
 
รู้รายละเอียดท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างไรบ้าง?
 
ไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ 2–3 ปีก่อน นายนาวี พรหมทรัพย์ และคณะเสนอให้สร้างท่าเรือน้ำลึก ต่อมามีการขึ้นป้ายข้างถนนทั่วจังหวัดสตูล แล้วมีกลุ่มนักพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอประท้วงหลายครั้ง เพราะเกรงผลกระทบจากการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ผมไม่รู้นะว่าจะส่งผลกระทบด้านใดบ้าง เพราะผมไม่ได้สนใจอะไรมาก่อน
 
คิดอย่างไรกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา?
 
ผมว่าถ้ามันเกิดจริงๆ แล้วไม่มีผลกระทบกับชาวบ้าน ชาวบ้านเห็นด้วยหมด ผมอยากให้เกิด เพราะเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดสตูล อาจจะดีขึ้นเจริญขึ้นมาก็ได้ ยกตัวอย่างในหมู่บ้านปากบางเอง ห่างไกลจากตัวตลาด ตัวเมือง ไม่มีร้านเซเว่น-อีเลเว่น ถ้ามีการพัฒนาจะทำให้ที่นี่มีสภาพกลายเป็นเมือง ได้รับผลดีไปด้วยกันหมด คนมันจะพลุกพล่านมากกว่า จะมีการสร้างงานให้ชาวบ้านทำมากขึ้น คนว่างงานจะลดลง
 
รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ระบุว่าแหล่งทรายบริเวณปากละงู ปากบางหัวหิน 10 ล้านคิว จะถูกไปถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา?
 
หากขุดทรายพื้นที่ทะเลจะกว้างขึ้นหรือไม่ ทะเลจะกินอาณาเขตแผ่นดินล้ำหมู่บ้านมากขึ้น จะมีผลกระทบในช่วงมีคลื่นลม มีมรสุม นี่ขนาดบ้านผมอยู่ห่างจากทะเล 500 เมตร เวลามีคลื่นลมก็นอนไม่หลับ ถ้าหากทะเลล้ำเข้ามา จะพูดอะไรอีก ชาวบ้านได้รับผลกระทบอยู่แล้ว
 
บางคนเขาคิดว่า จะมีการดูดทรายจากทะเลไปถม คงไม่กระทบอะไรมาก แต่ถ้าตั้ง 10 ล้านคิว ผมว่ามีผลกระทบแน่ๆ
 
มองขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างไร?
 
มีคนต่อต้านไม่มากเท่าไหร่ ไม่รู้เหมือนกันนะว่าขบวนต่อต้านเขาอยู่กันอย่างไร ธรรมดาหากมีผลกระทบชาวบ้านต่อต้านอยู่แล้ว สำหรับชาวบ้านที่นี่ยังไม่รู้ว่ามีผลกระทบ จึงไม่ได้ออกไปเคลื่อนไหว
 
วันที่ 9–10 มิถุนายน 2555 คนปากบางเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับเอ็นจีโอ และชาวบ้านที่ปากบาราบ้างไหม?
 
มีคนเข้าร่วมแต่ไม่มาก มีชาวบ้านบางส่วนออกไปร่วม
 
เพราะอะไรชาวบ้านปากบางจึงออกไปร่วมไม่มาก?
 
เพราะเขาคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะกินพื้นที่มาถึงบ้านปากบาง จึงไม่มีคนไปร่วม ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลว่าผลกระทบมันกินพื้นที่แค่ไหน ถ้าหากรู้ว่าคลังน้ำมันจะมาสร้างที่บ้านปากบาง คนคงจะไปร่วมต่อต้านกับคนปากบารามากกว่าที่ผ่านมาก็ได้ เพราะไม่รู้จึงไม่มีใครออกไปต่อต้าน
 
มองเอ็นจีโออย่างไร?
 
เคยได้ยินว่าพวกเอ็นจีโอรับเงินมาปลุกระดมชาวบ้านต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา แต่สำหรับผม ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาอยู่กันอย่างไร บางทีเขาอาจจะลงมาให้ความรู้เป็นประโยชน์กับชาวบ้านก็ได้
 
ได้ยินว่ามีกระบวนการสกัดไม่ให้ชาวบ้านปากบางออกไปร่วมต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา เมื่อวันที่ 9–10 มิถุนายน 2555?
 
ที่ปากบางไม่มีใครบล็อกใครหรอกแถว คนปากบางไปร่วมก็มี คนที่คิดว่าจะส่งผลกระทบกับเขาแน่ เขาก็ออกไป แต่น้อยกว่าคนที่ไม่ไป ไม่มีการบล็อกนะ พื้นที่ตรงนี่ยังนิ่งอยู่ ไม่เหมือนกับปากบารา
 
เมกะโปรเจ็กต์จังหวัดสตูล ทั้งแลนด์บริดจ์สตูล–สงขลา ท่าเรือน้ำลึกปากบารา คลังน้ำมัน ฯลฯ คิดว่าจะพลิกโฉมหน้าจังหวัดสตูลไปจากปัจจุบันไหม?
 
พลิกจังหวัดสตูลแน่นอน ปัญหาที่สำคัญก็คือ แรงงานต่างด้าวจะไหลเข้าจังหวัดสตูลมากขึ้น ใจหนึ่งผมอยากได้ความเจริญ แต่ใจหนึ่งผมก็ไม่ต้องการให้ชาวบ้านเดือดร้อน อันนี้สำคัญที่สุด
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐ 3 แบบใน The Dark Knight Rises

$
0
0

ว่าด้วยหนัง
The Dark Knight Rises เป็นภาคสุดท้ายของไตรภาค Batman ของผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) หนังภาคนี้จับความหลังจากแบทแมนปราบศัตรูสำคัญคือโจ๊กเกอร์ (Joker) สำเร็จ และยอมรับผิดแทนอัยการฮาร์วี่ย์ เด้นท์ (Harvey Dent) ที่กลายเป็นตัวร้ายทูเฟซ โดยเชื่อว่า ชื่อเสียงที่สั่งสมมาก่อนของเด้นท์น่าจะช่วยธำรงสันติในกอทแธม (Gotham) ได้มากกว่าการเปิดเผยความจริง จากนั้นแบทแมนก็หายจากเมืองนี้ไปในฐานะอาชญากร ทว่าสันติภาพที่มี เป็นเพียงภาพลวงตา ลึกลงไป กอทแธมยังมีปัญหา เมื่อความขัดแย้งปะทุหนัก แบทแมนจึงต้องกลับมา

ปมความขัดแย้งของหนังในภาคนี้ลึกซึ้งรุนแรงกว่าภาคก่อน เพราะนอกจากความขัดแย้งระหว่างพระเอก-ผู้ร้ายแล้ว สถานการณ์ทั้งหมดตั้งอยู่บนความขัดแย้งระหว่างคนในสังคมเดียวกันด้วย แม้ว่าในหนังจะไม่ได้เน้นที่ประเด็นนี้ก็ตาม แต่การมีอยู่ของความขัดแย้งนี้ทำให้แบทแมนทำงานยากขึ้นจนถึงขั้นเกือบเอาชีวิตไม่รอด นอกจากนี้คู่ปรับคนสำคัญของแบทแมนในภาคนี้คือ “เบน” (Bane) นั้นน่ากลัวกว่าโจ๊กเกอร์ เพราะเบนมีทั้งพละกำลัง สติปัญญา เงินทุนและอุดมการณ์ (แถมยังมีการจัดองค์กรอย่างดี) ในแง่ของเป้าหมาย โจ๊กเกอร์แค่กวนเมือง แต่เป้าหมายของเบน คือการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถอนรากถอนโคนโดยทันที

โนแลนเป็นที่จับตาหลังจาก Memento ออกฉายด้วยมุมมองแบบสำรวจจิตมนุษย์ วิธีการเล่าเรื่องถอยหลังทีละช่วงและการหักมุมที่เน้นผลสะเทือนทางความคิดมากกว่าความประหลาดใจ จากนั้นไม่กี่ปี The Dark Knight ก็สถาปนาโนแลนเป็นผู้กำกับวิสัยทัศน์ไกล ผู้เจนจัดศาสตร์และศิลป์ภาพยนตร์ ผลงานต่อจากนั้นก็รักษาคุณภาพระดับสูง The Dark Knight Rises ก็เป็นหนังคุณภาพในระดับดีเด่นเช่นเคย แต่นอกจากอรรถรสของการชมหนังชั้นดีแล้ว ปูมหลังตัวละคร เป้าหมายการต่อสู้ บริบทสภาพแวดล้อมของกอทแธม หลายฉากหลายตอนใน The Dark Knight Rises ทำให้นึกถึงประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยรูปแบบรัฐที่เป็นกรอบใหญ่ควบคุมจำกัดการเคลื่อนไหวของตัวละครต่าง ๆ และเป็นเป้าหมายที่ตัวละครต่าง ๆ ต้องการรักษาไว้หรือเปลี่ยนแปลงในระดับต่าง ๆ กัน

ว่าด้วยรัฐ

พิจารณาจากฉากตอน บริบทและเป้าประสงค์ของตัวละครต่างๆ แล้ว รูปแบบรัฐในหนังเรื่องนี้อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะคือ หนึ่ง รัฐวีรชน สอง รัฐธนกิจ และสาม เสนารัฐ

รัฐวีรชน

กอทแธมหลังแบทแมนใช้แรงส่งจากการเสียชีวิตของเด้นท์ผู้ที่มีชื่อเสียงด้านการปราบปรามอาชญากรออกกฎหมายมอบอำนาจให้ตำรวจจัดการอาชญากรรมอย่างเด็ดขาด (รัฐบัญญัติเด้นท์-Dent Act) ข้อเท็จจริงด้านลบเกี่ยวกับเด้นท์ถูกปิดบัง คนจำนวนหนึ่งต้องรับเคราะห์จากความเท็จนี้ แบทแมนกลายเป็นผู้ต้องหา ผู้การกอร์ดอนต้องฝืนจรรยาชีพตำรวจโกหกสังคมเรื่องเด้นท์ นักโทษจำนวนมากถูกจับไปไว้ในเรือนจำโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนปกติเนื่องมาจากรัฐบัญญัติดังกล่าว

กอทแธมวางความสงบสุขของสังคมบนธงศีลธรรมเป็นหลักและมุ่งไปสู่เป้าหมายทางศีลธรรมนั้นโดยไม่สนวิธีการ รัฐผลิตมายาคติหล่อหลอมประชาชนให้สนับสนุนนโยบายรัฐ สร้างสถาบันพิเศษเป้าหมายเฉพาะเพื่อกวาดล้างสร้างสังคมสะอาด กฎระเบียบบังคับใช้อย่างเข้มงวด ตำรวจทำงานภายใต้ตรรกะความมั่นคง (คุณผิดจนกว่าคุณจะพิสูจน์ตัวเองได้ว่าไม่ผิด) สังคมมีแนวโน้มอิงหลักการของปรัชญาอรรถประโยชน์นิยม(Utilitarianism) ว่าด้วยการเสียสละส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่

ผลที่ได้คือ เบื้องหน้าสังคมที่ดูเหมือนสงบสุข มีระเบียบเรียบร้อย แต่เบื้องลึกกอทแธมยังมีปัญหาอาชญากรรม เพิ่มเติมด้วยปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในนามของความดี ประชาชนถูกทำให้สูญเสียศักยภาพในการคิดและแก้ปัญหาด้วยตนเอง ยึดติดตำนานวีรชน เมื่อเผชิญวิกฤตทางออกของประชาชนในรัฐเช่นนี้คือเรียกหาอัศวิน

สังคมในรัฐเช่นนี้ มีแนวโน้มรักษาสถานะอำนาจเดิมไว้เหนียวแน่น ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวยาก เมื่อเผชิญปัญหาหนักมักช็อก ประชาชนและเจ้าหน้าที่มักสยบต่ออำนาจ

กองกำลังติดอาวุธจำนวนหนึ่งและระเบิดไม่กี่ลูกของเบนจึงทำให้เบนควบคุมกอทแธมได้เบ็ดเสร็จ

เมื่อสังคมมีภูมิต้านทานต่ำ รัฐธนกิจก็สามารถสวมทับเข้ามาอย่างแนบเนียน เพราะหนึ่ง กลไกควบคุมรักษาระเบียบเข้มข้น สอง ประชาชนหมดสมรรถภาพในการคิด (รัฐเข้มแข็ง-ประชาสังคมอ่อนแอ) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐธนกิจฝังตัวเติบโตได้ดีในรัฐที่อำนาจรวมศูนย์ในกลุ่มคนจำนวนน้อยและประชาสังคมอ่อนแอ

รัฐธนกิจ

อุตสาหกรรมขนาดใหญ่และตลาดหุ้นเป็นกลไกทางเศรษฐกิจสำคัญของกอทแธม เศรษฐกิจเติบโตก้าวหน้า แต่ก็มีปัญหาการกระจายรายได้จนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในขณะที่ทุนใหญ่กอทแธมมุ่งขยายกิจการ นายหน้าค้าเงิน-หุ้นร่ำรวย ปรากฏว่ามีเด็กกำพร้าขาดแคลนปัจจัยดำรงชีพที่เหมาะสม มีหญิงสาวขายบริการทางเพศเพื่อเลี้ยงชีพ เซลิน่า ไคล์ (Selina Kyle) สาวผู้มากความสามารถยังไม่อาจมีที่ยืนในสังคมปกติต้องผันตัวเป็นนางโจร ผลประโยชน์ทางธุรกิจมีบทบาทนำหน้าปัญหาสังคมโดยรวม เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ในกอทแธมมีทั้งกลุ่มทุนเก่าแก่อย่างตระกูลเวนย์ และนักธุรกิจเศรษฐินีใหม่ใจถึงอย่างมิแรนด้า เทต (Miranda Tate) ที่สร้างตัวขึ้นมาจากความว่างเปล่า รุ่งเรืองด้วยการทำธุรกิจ ในขณะที่เศรษฐีเก่าอย่างบรูซ เวนย์ (Bruce Wanye) มุ่งมั่นพัฒนาพลังงานทางเลือกที่สะอาดจน Wayne Enterprises ผลประกอบการตกต่ำ ทุนหายกำไรหด บ้านเด็กกำพร้าที่เคยได้รับการอุปถัมภ์จากมูลนิธิของเขาจึงพลอยถูกตัดความช่วยเหลือทางการเงินลง หรือกระทั่งล้มละลายในพริบตาเมื่อตกเป็นเหยื่อของเกมตลาดหุ้น (อาจเป็นครั้งแรกในจักรวาลที่ซูเปอร์ฮีโร่ล้มละลาย)

กลไกตลาดเสรีในกอทแธมทำงานล้มเหลว เพราะไม่สามารถทำให้ทุกคนสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดได้อย่างเสรีจริง กลไกการกระจายความมั่งคั่งกลับคืนสู่สังคมบิดเบี้ยวกระจายไปไม่ถึงผู้ที่จำเป็นต้องได้รับ นอกจากนี้สังคมยังตั้งอยู่บนความเสี่ยงผันผวน มหาเศรษฐีอย่างบรูซ เวนย์ ยังสามารถกลายเป็นยาจกชั่วข้ามคืน ปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสำคัญกว่าปัญหาสังคม-สิ่งแวดล้อม

สังคมรัฐธนกิจเป็นสังคมแข่งขันแบบแพ้คัดออก พัฒนาทางวัตถุรวดเร็ว ความมั่งคั่งกระจุกตัว ผู้คนจำนวนมากถูกละเลยทอดทิ้งตราหน้าว่าไร้ความสามารถ ยิ่งความเหลื่อมล้ำยิ่งห่างและเห็นได้ชัด ความตึงเครียดระหว่างผู้มั่งมีและผู้ยากไร้ยิ่งสูง ข้อเสนอของเบน (ผู้ที่เสียงระคายหู)ให้ยึดทรัพย์สินจากคนรวยจึงได้รับการตอบรับอย่างดีจากมหาชนที่ถูกกดขี่ในรูปแบบต่าง ๆ มายาวนาน           

เสนารัฐ

เบนมีพร้อมทั้งพละกำลัง สติปัญญา เงินทุนและอุดมการณ์ เขาร่วมมือกับนายทุนยึดกอทแธมได้โดยสะดวกก่อนสังหารนายทุนบางเจ้าทิ้งเมื่อหมดประโยชน์ ช่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ถ่างกว้างช่วยให้อุดมการณ์สุดโต่งและความรุนแรงที่เบนใช้สาแก่ใจประชาชนผู้เสียเปรียบ ในการปกครองประชาชน เบนระเบิดสนามฟุตบอล วางระเบิด ติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์ข่มขู่ประชาชนให้อยู่ในอำนาจ ประชาชนชาวกอทแธมสามารถเคลื่อนไหวอิสระได้ตราบเท่าที่ไม่ขวางแผนการ ผู้ที่เป็นปฏิปักษ์จะถูกพิพากษาด้วยศาลเตี้ย (ยิงทิ้ง ณ ที่เกิดเหตุ) หากรอดศาลเตี้ยมาขึ้นศาลยุติธรรมก็เป็นศาลยุติธรรมที่ขาดกระบวนการอันเป็นที่ยอมรับ (รีบร้อนจับกุม ฟ้องศาลไม่ผ่านอัยการ ตัดสินโดยไม่ฟังความจำเลย พิพากษาโทษล่วงหน้า)

ความมั่นคงของสังคมที่เบนปฏิวัติตั้งบนปากกระบอกปืน ปกครองด้วยความกลัว ปั่นหัวประชาชนให้หวาดหวั่นโยนความหวังให้เล็กๆ น้อยๆ ป้องกันการลุกฮือครั้งใหญ่ ประชาชนหวาดระแวงกันและกัน ศาลยุติธรรมตัดสินคดีตามใจผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ตามอุดมการณ์ของเบนนั้นแน่วแน่ ทำให้เขามีสาวกที่ยอมสละชีพเพื่อแผนการใหญ่ อำนาจเบ็ดเสร็จช่วยให้เขาเปลี่ยนแปลงสังคมในชั่วพริบตาเดียว ประชาชนกอทแธมบางส่วนอาจหวังว่า เหล่าทหารจรยุทธ์เหล่านี้จะมาช่วยเปลี่ยนชะตาเมือง แต่สิ่งที่ได้อาจจะเป็นแค่ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เพราะเสนาเบนกระทำการเพื่อตอบสนองความต้องการตนเองมากกว่าเพื่อพลเมืองทั้งหลาย

เสนารัฐเช่นนี้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ปรับเปลี่ยนนโยบายรวดเร็วทันใจ ทุ่มทรัพยากรทั้งหมดเพื่อเป้าหมายเฉพาะได้ไม่ต้องฟังเสียประชาชนหรือต่อรองกับกลุ่มผลประโยชน์ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าปากกระบอกปืนของรัฐจะหันไปหาใครบ้างเพราะอำนาจไม่ถูกถ่วงดุล

รัฐ 3 แบบ กับเป้าหมายที่ไปไม่ถึง

เมื่อเปรียบเทียบรัฐทั้ง 3 แบบแล้ว อาจจะเป็นที่ถกเถียงได้ว่า รัฐแบบใดดีกว่ากัน แต่ผลสรุปที่แน่นอนคือ รัฐแต่ละแบบนั้นต่างมีปัญหาในการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ทั้งสิ้น รัฐวีรชนไม่สามารถสร้างสังคมสะอาดบริสุทธิ์ รัฐธนกิจไม่สามารถสร้างสังคมที่มั่งคั่งทั่วถึง เสนารัฐไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชุมชนไปสู่อุดมคติที่ตั้งไว้ได้

รัฐวีรชนมุ่งสร้างสังคมคนดีบริสุทธิ์ด้วยการให้อำนาจพิเศษกับบุคคลบางกลุ่มดำเนินโครงการสร้างสังคมอุดมคติบนฐานศีลธรรม ผลของการกระทำเช่นนี้ คือสังคมที่ขาดความเท่าเทียมทางการเมือง เพราะอำนาจกระจุกตัวไม่กระจายทั่วสังคมเท่าเทียม “คนดี” มีอำนาจมากกว่าคนทั่วไป วิธีการเน้นไปที่การตัด “เนื้อร้าย” ของสังคมทิ้ง ซึ่งมีปัญหาหลายประการที่ต้องคำนึงโดยเฉพาะประเด็นการนำศีลธรรมที่อาจเป็นเครื่องมือที่ดีในการกำกับพฤติกรรมมนุษย์ของแต่ละบุคคล แต่เป็นเครื่องมือที่อันตรายในการใช้เป็นเกณฑ์วัด/ตัดสินคน เพราะว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ หมายความว่ามนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง การจะแยกดีเลวเด็ดขาดถาวรเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

รัฐธนกิจส่งเสริมการสร้างประสิทธิภาพเฉพาะด้านเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยคาดหวังว่าเมื่อเศรษฐกิจเติบโตแล้วจะกระจายให้สังคมอย่างทั่วถึง แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทและภาคเอกชนที่รัฐธนกิจสนับสนุนอุ้มชูอยู่นั้นแย่งกันโต เมื่อแย่งกันโตก็มีการแข่งขันอย่างเข้มข้น นำไปสู่สภาวะแพ้คัดออก เหลือผู้อยู่รอดน้อยรายปริมาณทรัพย์สินไหลไปรวมกับผู้ชนะ การเติบโตทางเศรษฐกิจจึงเติบโตอย่างกระจุกตัว ในขณะที่กลไกการกระจายความมั่งคั่งกลับคืนสู่สังคม เช่น ระบบภาษี ก็ทำงานไม่เต็มที่เพราะขัดกับตรรกะการสะสมทุนไปแข่งขันต่อของภาคเอกชน

ผลอย่างเป็นรูปธรรมคือ นอกจากจะไม่สามารถกระจายความมั่งคั่งไปทั่วสังคมแล้ว ยังถ่างช่องความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้น มีผู้พ่ายแพ้แข่งขันไม่ได้มากขึ้น ผู้พ่ายแพ้เหล่านี้จะหันหน้าไปประกอบอาชีพอื่นก็ลำบากเพราะถูกฝึกมาให้ทำงานเฉพาะด้าน จะมีความสงบสุขทางจิตใจกับตนเองก็ยากเพราะไม่ได้มีชีวิตในสภาพที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์อย่างรอบด้าน ส่วนผู้ชนะที่อยู่ในกระบวนการเดียวกันก็ง่ายที่จะเพิกเฉยละเลยต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคม มองความยากลำบากของผู้พ่ายแพ้เป็นเรื่องปกติธรรมดาในนามของประสิทธิภาพและการแข่งขัน

เสนารัฐนั้นต้องการถอนรากถอนโคนสังคมเดิมทันที เพื่อเปลี่ยนแปลงสร้างสังคมใหม่ที่คาดว่าจะดีกว่าสังคมเก่า วิธีการที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องมีความคิดสุดโต่งและสร้างความคิดสุดโต่งให้แพร่กระจายไปในสังคมจนผู้คนพร้อมจะกระทำความรุนแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม มองเห็นผู้ที่คิดต่างเป็นศัตรู เป็นผู้ล้าหลัง โดยมีทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมากเป็นต้นทุนของการเปลี่ยนแปลงสังคม ตัดโอกาสของการเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อพัฒนาหาทางออกของประชาชนในสังคม ในด้านผลลัพธ์ก็ไม่มีหลักประกันได้ว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในทันทีแล้วสังคมใหม่จะดีขึ้นกว่าสังคมเก่า

กอทแธมหลังการจากไปของแบทแมน การล่มสลายของตลาดหุ้นและความพ่ายแพ้ของเบน ได้เพิกถอนมายาคติบางประการออกไปจากสังคม ประชาชนได้เรียนรู้ว่า ความเพิกเฉยต่อผู้อื่นและความสุดโต่งในท้ายที่สุดล้วนกลายเป็นความรุนแรงในสังคมได้ ซึ่งแลกมาด้วยต้นทุนที่แสนแพง

แน่นอนว่ายังไม่มีบทสรุปอนาคตของกอทแธม ไม่มีหลักประกันว่า กอทแธมจะเป็นเมืองที่ดีขึ้น แต่ดูเหมือนว่า สังคมที่ยอมรับความจริงของกันและกันมากขึ้น ใส่ใจกันและกันมากขึ้น ปรองดองกันมากขึ้น จะทำให้ใครบางคนสามารถปลดภาระบนไหล่ให้ผู้อื่นช่วยแบกรับ ใครบางคนได้มีโอกาสแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตเริ่มชีวิตใหม่ และทำให้ใครอีกหลายคนได้มีหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในชีวิตของตนเองมากขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลค่าความเสียหายจากมลพิษลำตะคอง 5 ล้านบาท

$
0
0


การสำรวจเบื้องต้นนี้มุ่งชี้ให้เห็นถึงความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยสารพิษทำลายสิ่งแวดล้อม กรณีโรงน้ำแข็งในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา โดยสมควรจ่ายค่าทดแทนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกระทำของโรงงานซึ่งถือเป็นการละเมิดต่อผลประโยชน์ของบุคคล ชุมชนและนครแห่งนี้โดยรวม

ตามที่มีข่าวว่าโรงงานผลิตน้ำแข็งแห่งหนึ่งได้ปล่อยสารแอมโนเนียลงคลองลำตะคองในเขตตัวเมืองนครราชสีมา จนปลาตายนับแสนตัว “ที่เน่าตายหลายร้อยตัวกำลังมีไข่อยู่เต็มท้อง ทั้งปลาตะเพียน ปลากรายตัวขนาดยาวกว่า 1 เมตร ปลานิล ปลาสูบ ปลาข้าว ปลาหมอ เป็นต้น รวมทั้งปลาตัวเล็กตัวน้อยอีกมากมาย” [1] เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น  ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ออกสำรวจเบื้องต้นเพื่อประเมินค่าความเสียหายเบื้องต้นจากมลพิษในกรณีนี้เมื่อวันเสาร์ที่ 21กรกฎาคม 2555 และจึงได้จัดทำรายงานฉบับนี้นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาเพื่อหามาตรการป้องกันและแก้ไขในโอกาสต่อไป

สารที่สร้างมลพิษในครั้งนี้คือ “แอมโมเนีย” (Ammonia) ซึ่งเป็นสารประกอบเคมีของธาตุไนโตรเจน และไฮโดรเจน (NH3) โดยเป็นแก๊สไม่มีสี มีกลิ่นฉุน สามารถละลายน้ำได้ดี ระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียที่มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำ แบ่งเป็นช่วงได้ดังนี้ (มิลลิกรัมต่อลิตร)
                0.1 - 0.4 สัตว์เจริญเติบโตช้า
                0.5 - 1 สัตว์มีอาการเครียด หายใจเร็ว
                2 - 3 สัตว์มีอาการเครียด หายใจเร็ว อ่อนแอ เกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และเริ่มตาย
                4 - 7 อัตราการตายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง [2]

โดยปกติในแม่น้ำลำคลองควรมีแอมโมเนียไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร [3] แต่จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุกลับมีปริมาณสูงถึง 8.4 มิลลิกรัมต่อลิตร [4]

ในกรณีปลาตายนับแสนตัวที่ลำตะคองนี้ ค่าความเสียหาย หรือผลกระทบเชิงลบ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพให้กลับคืนสู่ปกติในเบื้องต้น มีดังนี้

1. สำหรับปลาที่ตายไปจากการกระทำของโรงงานในครั้งนี้ ในเบื้องต้นทางราชการประเมินไว้ว่ามีมูลค่าประมาณ 100,000 บาท สำหรับปลาที่ตายไปเกือบ 3,000 กิโลกรัม [5] หากพิจารณาจากราคาขายส่งปลา ณ ตลาดไท จะพบว่าราคาปลามีความหลากหลาย [6] ทั้งชนิดและขนาดของปลา หากใช้ราคาปานกลางสำหรับปลาทั่วไป และขนาดปานกลาง อาจอนุมานได้ว่ามีราคากิโลกรัมละ 50 บาท ก็คงเป็นราคาประมาณ 150,000 บาท (สำหรับน้ำหนัก 3,000 กิโลกรัม) อย่างไรก็ตามยังอาจมีสัตว์น้ำอื่นที่สูญเสียไปจากสารพิษในครั้งนี้ที่คงมีมูลค่าพอสมควร จึงประมาณการความสูญเสียสัตว์น้ำนี้อยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท

2. ค่าบำบัดน้ำ ทั้งนี้ได้สอบถามข้อมูลจากบริษัทบำบัดน้ำเสียในกรณีนี้ 2 แห่งคือ บจก.ไทยจุลินทรีย์ (http://thaimicroorganisms.com) โดยคุณนิตย์ ตั้งสุกุล (โทร.084.666.609 086.376.7080) และ บจก.ฉัตรวัฏฏ์ (http://www.จุลินทรีย์เข้มข้น.com) โดยคุณวิริยา รัชเวทย์ (โทร. 081.843.3263 081.843.3263) สำหรับการบำบัดคลองลำตะคองที่มีความกว้างประมาณ 8 เมตร ลึก 1 เมตร ยาว 3 กิโลเมตร นั้น บริษัทแรกเสนอราคา 300,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 เดือน ส่วนบริษัทที่สองยินดีช่วยราชการเป็นเชิงทดลองกึ่งให้เปล่าเป็นเงินเพียง 50,000 บาท ใช้ระยะเวลาบำบัดประมาณ 1 สัปดาห์ ในกรณีนี้คณะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจึงประมาณการเราคาตลาดเบื้องต้นในการบำบัดเป็นเงินประมาณ 200,000 บาท

3. ค่าพันธุ์ปลาทดแทน ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครราชสีมา ได้จัดเตรียมพันธุ์ปลา จำนวน 200,000-300,000 ตัวมาปล่อยทดแทนปลาที่ตายไปหลังจากการบำบัดน้ำแล้ว [7] ทั้งนี้พันธุ์ปลาตัวหนึ่งมีราคาเฉลี่ยประมาณ 20 สตางค์ต่อตัว [8] จึงรวมเป็นเงินประมาณ 40,000 – 60,000 บาท อย่างไรก็ตามอัตราการรอดของปลาที่มีประมาณ 10% โดยพิจารณาจากการเลี้ยงปลาหมอไทยในบ่อดิน อัตรารอด 40% [9] แต่ถ้าเป็นปลาการ์ตูนขาวในทะเลกระบี่จะมีอัตรารอดเพียง 10% ซึ่งยังมากกว่าอัตรารอดจากการปล่อยปลาธรรมดา 10 เท่า แต่หากดูแลอย่างดีจะมีอัตรารอดสูงถึง 27% [10] ดังนั้นการปล่อยปลาประมาณ 200,000 – 300,000 ตัวต่อครั้งต้องปล่อยถึงประมาณ 10 ครั้งจึงจะทดแทนปริมาณปลาที่สูญเสียไปได้ ดังนั้นจึงมีมูลค่ารวมถึงประมาณ 400,000 – 600,000 บาทในการสร้างปลาขึ้นทดแทน ดังนั้นในกรณีนี้คณะผู้ประเมินจึงประเมินไว้เป็นเงิน 500,000 บาท

4. ในระหว่างนี้ถึงช่วงเวลาที่ปลามีอายุเพียงพอที่จะนำมาบริโภคได้อาจใช้เวลาพอสมควร โดยอายุของปลาช่อนที่ขายได้ในตลาดมีอายุประมาณ 1 ปี [11] อายุปลาดุกขายได้คือ 3 เดือน [12] และหากพิจารณาถึงปลาอื่น ๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า กว่าปลาจะมีอายุพอจะนำมาบริโภคได้อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 เดือนโดยเฉลี่ย ในระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นความสูญเสียโอกาสของชาวบ้านที่จะจับสัตว์น้ำมาบริโภค และอาจต้องซื้อในตลาดเปิดในราคาที่แพงกว่าต้นทุนในการจับ ในที่นี้อาจคิดเป็นเงินประมาณ 166,667 บาท โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูชีวิตสัตว์น้ำตามข้อ 4 ซึ่งอาจใช้เวลาราว 1 ปี แต่ในกรณีการขาดโอกาสการบริโภคในช่วง 4 เดือนแรกนี้ จึงควรเท่ากับเงิน 500,000 บาท x 4 เดือนที่ไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ / 12 เดือนในการฟื้นฟู

5. โอกาสในการผลิตน้ำประปาก็เสียหายไปจากสารพิษที่โรงงานดังกล่าวทำรั่วลงลำตะคองด้วยเช่นกัน ตามปกติการประปาของเทศบาลนครนครราชสีมา สูบน้ำทางท่อจากลำตะคองมาผลิตน้ำประปา แต่น้ำบางส่วนก็สูบจากน้ำผิวดินของลำตะคองบริเวณโรงกรองน้ำอัษฎางค์ เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ รพ.มหาราชนครราชสีมา โดยสูบขึ้นมาใช้วันละประมาณ 30,000 ลูกบาศก์เมตร [13] หากไม่สามารถสูบน้ำมาทำน้ำประปาประมาณ 30 วัน ก็เป็นปริมาณน้ำถึง 900,000 ลูกบาศก์เมตร จากข้อมูลของการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค รวมทั้งการประปาเทศบาลนครนครราชสีมาพบว่าราคาขายเฉลี่ยคงเป็นเงินประมาณ 10 บาทต่อลูกบาศก์เมตร [14] โดยต้นทุนผลิตน้ำประปาอยู่ที่ระบบน้ำดิบ ระบบผลิตน้ำประปา ระบบส่งจ่ายน้ำประปา อย่างไรก็ตามหากสมมติให้ต้นทุนน้ำดิบเป็นเงินเพียง 20% ของราคาขาย ความสูญเสียนี้จึงเป็นเงิน 1,800,000 บาท หรือเท่ากับ 20% ของ 9,000,000 บาท (น้ำจำนวน 900,000 ลูกบาศก์เมตร ๆ ละ 10 บาท)

6. ตามรายงานข่าวยังกล่าวว่า ชาวบ้านประมาณ 1,000 ครอบครัวต้องทนกับกลิ่นเหม็นคละคลุ้งของปลาที่ตายจำนวนมหาศาล หากในระหว่างการจัดการทำความสะอาด ต้องย้ายที่อยู่อาศัยไปพักชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพเป็นเวลา 1 คืน ๆ ละ 1,000 บาทต่อครอบครัว ก็เป็นเงินค่าเสียหายรวม 1,000,000 บาท ที่ละเมิดต่อการอยู่อาศัยตามปกติของชาวบ้าน

7. นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากเหตุการณ์ครั้งนี้โดยหน่วยราชการหลายแห่งทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ต้องระดมสรรพกำลังในการทำความสะอาดเบื้องต้น พิสูจน์ สอบสวน ตรวจสอบ เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน กรณีนี้มีค่าใช้จ่ายที่แน่นอนโดยประมาณการว่ามีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาปฏิบัติงานแก้ไขปัญหานี้ โดยเป็นระดับสูงจำนวน 30 คน มีค่าใช้จ่ายต่อวัน ๆ ละ 3,000 บาท (รวมค่าเดินทาง เงินเดือนและค่าใช้จ่ายอื่น) เป็นเวลา 4 วันทำงาน และระดับกลาง-ล่าง จำนวน 100 คน ๆ ละ 500 บาท เป็นเวลา 10 วันทำงาน รวมเป็นเงินประมาณ 860,000 บาท

8. ค่าเฝ้าระวัง โดยที่โรงงานดังกล่าวได้ทำลายสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง จึงควรมีการเฝ้าระวังเป็นระยะ ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และมีการสุ่มตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองด้านหลังโรงงานทุกเดือน โดยประมาณการค่าเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเป็นเงินเดือนละ 24,000 บาท (อัตราต่ำเท่าการจ้างยาม 3 กะ) และค่าตรวจสอบคุณภาพน้ำอีกครั้งละ 5,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน รวมเป็นเงิน 360,000 บาท

โดยรวมแล้ว ในเบื้องต้นความสูญเสียจากโรงงานน้ำแข็งในครั้งนี้เป็นเงินรวม 5,074,667 บาท โดยแยกเป็น:
                1. ปลาที่ตายไปมีมูลค่า 200,000 บาท
                2. ค่าบำบัดน้ำให้คืนสู่สภาพเดิม 200,000 บาท
                3. ค่าพันธุ์ปลาทดแทน 500,000 บาท (โดยต้นทุนค่าผลิตปลาทดแทนสูงกว่าราคาปลาปัจจุบัน)
                4. ค่าเสียโอกาสจับสัตว์น้ำ 166,667 บาท
                5. ค่าเสียโอกาสในการผลิตน้ำประปา 1,800,000 บาท
                6. ค่าย้ายที่อยู่อาศัยชั่วคราว 1,000,000 บาท
                7. ค่าใช้จ่ายของส่วนราชการในการแก้ไขปัญหา 860,000 บาท
                8. ค่าเฝ้าระวัง 348,000 บาท

โดยสรุปแล้วความสูญเสียเป็นเงินส่วนนี้ เป็นสิ่งที่โรงงานที่เป็นต้นเหตุต้องจ่ายเพื่อการแก้ไขปัญหาและในฐานที่ละเมิดต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้โรงงานนี้และโรงงานอื่นที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงคือริมแม่น้ำหรืออยู่ในย่านชุมชน ควรมีระบบป้องกันการก่อมลพิษที่ได้รับการตรวจสอบอย่างโปร่งใสจากทางราชการโดยเผยแพร่ต่อชุมชนโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ และควรมีการประกันภัยให้ครอบคลุมวงเงินข้างต้น เพื่อเบิกจ่ายเพื่อชดใช้ค่าเสียหายข้างต้นได้ในทันที

ผลการสำรวจนี้ควรเป็นกรณีตัวอย่างของการเรียกร้องความเสียหายจากกิจการอุตสาหกรรมต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการกับโรงงานต่าง ๆ โดยเคร่งครัด องค์กรเคลื่อนไหวเอกชนหรือ NGOs ควรเข้าศึกษาสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง สื่อมวลชนต่าง ๆ ควรติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และให้กรณีความเสียหายเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย

 

อ้างอิง
[1] เร่งมือกู้”ลำตะคอง” น้ำเป็นพิษ ปลาลอยตายนับแสน http://www.naewna.com/local/14241

[2] พื้นฐานการดูแลรักษาโรคปลาhttp://www.arohouse.com/article/?action=view&catID=0000123&pid=0000262

[3] มาตรฐานของแม่น้ำลำคลองและคุณภาพของน้ำในแหล่งน้ำประเภทต่าง ๆ http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi3/subwater1/standard.htm และที่ http://www.pcd.go.th/info_serv/reg_std_water05.html

[4] พบหลักฐานโรงน้ำแข็งปล่อยแอมโมเนีย ส่งฟ้องพรุ่งนี้ http://breakingnews.nationchannel.com/home/read.php?newsid=641805&lang=T&cat=

[5] ผงะปลากว่า3ตันถูกสารพิษลอยตายเป็นแพลำตะคอง http://www.dailynews.co.th/thailand/135947 และ โคราชถกหาสาเหตุปลา “ลำตะคอง” ตาย ลั่นพบใครผิดฟันทั้งแพ่งอาญา – บุกตรวจโรงน้ำแข็ง http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000086806

[6] ราคาปลาน้ำจืด ณ ตลาดไท ณ วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2555 http://www.talaadthai.com/price/default.php?gettid=13&getdate=&pageno=1&selday=&selmonth=&selyear=

[7] คาดเหตุปลาลอยตายเกลื่อนลำตะคองไม่เกี่ยวกับน้ำเน่าเสีย http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/388621.html

[8] ราคาจำหน่ายพันธุ์สัตว์น้ำ (กรณีสิงบุรี) http://www.fisheries.go.th/sf-singburi/web2/index.php?option=com_content&view=article&id=8&Itemid=10

[9] การเพาะเลี้ยงปลาหมอไทย http://www.fisheries.go.th/if-korat/index.php?option=com_content&view=article&id=24:2009-09-09-08-14-48&catid=1:2009-08-04-06-15-39&Itemid=51

[10] การทดลองปล่อยปลาการ์ตูนส้มขาวโดยใช้กรงครอบดอกไม้ทะเล บริเวณเกาะห้าเหนือ จ.กระบี่ http://kucon.lib.ku.ac.th/cgi-bin/KUCON.exe?rec_id=010404&database=KUCON&search_type=link&table=mona&back_path=/KUCON/mona&lang=thai&format_name=TFMON และอีกชิ้นหนึ่งของ ราตรี สุขสุวรรณ์ และ เกียรติศักดิ์ เอี่ย เล่ง http://www.dmcr.go.th/elibrary/elibraly/book_file/Book20110408115958.pdf

[11] อายุของปลาช่อนเพื่อการพาณิชย์ประมาณ 1 ปี http://www.fisheries.go.th/it-network/knowledge/snackhead/Snackhead%20fish23.htm

[12] อายุปลาดุกขายได้คือ 3 เดือน http://www.rakbankerd.com/agriculture/open.php?id=1110&s=tblblog

[13] ประมงโคราชตรวจปลา “ลำตะคอง” ตายเป็นเบือ-คาดเหตุปล่อยสารพิษลงลำน้ำ http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000086601

[14] อัตราค่าน้ำ การประปานครหลวง http://www.mwa.co.th/ewt/mwa_inter/watercost.html และอัตราค่าน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค http://www.pwa.co.th/service/tariff_rate.html และการประปาเทศบาลนครนครราชสีมา http://110.164.64.56/water/p15.html รวมทั้งบทวิเคราะห์ ที่ http://board.dserver.org/t/tedkun2000/00000001.html และที่ http://202.129.59.73/pp/pwa/pwa.htm

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพรบ.ซีเรีย รุกคืบยึดเมืองหลวงคืนจากกบฏ

$
0
0

ฝ่ายรัฐบาลยึดบางย่านของดามาสกัสคืนจากกลุ่มกบฏได้อีก ยันอีกไม่นานสถานการณ์กลับมาปกติ ด้านฝ่ายกบฏยึดโรงเรียนทหารในเมืองทางตอนเหนือของประเทศได้ ทางสันนิบาตชาติอาหรับเสนอจะช่วยอัสซาดออกนอกประเทศ

 
23 ก.ค. 2012 - กองทัพซีเรียภายใต้การนำของน้องชายของปธน. บาชาร์ อัล-อัสซาด ที่มีการเสริมทัพด้วยเฮลิคอปเตอร์โจมตี สามารถขับไล่กลุ่มกบฏออกจากอีกย่านหนึ่งของกรุงดามาสกัสได้ หลังจากที่การบุกโจมตีเมืองหลวงของฝ่ายกบฏดำเนินมาได้ 1 สัปดาห์
 
จีฮาด มาคดิสซี โฆษกการต่างประเทศของซีเรียกล่าวเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ว่า สถานการณ์ในดามาสกัสกำลังดีขึ้น และจะกลับสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้
 
เกี่ยวกับความกังวลเรื่องอาวุธเคมีที่ซีเรียมีในครอบครอง มาคดิสซีก็กล่าวว่า ทางซีเรียได้ดูแลรักษาไว้อย่างดี และจะใช้มันในกรณีที่มีการใช้อำนาจจากต่างประเทศเท่านั้น
 
มาคดิสซีกล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวที่มีการนำเสนอผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลว่า กองทัพเป็นผู้คุ้มกันอาวุธเคมีดังกล่าว และจะไม่มีการใช้อาวุธดังกล่าวภายในประเทศซีเรีย
 
กองทัพล่าสังหารคนหนุ่ม
ผู้เห็นเหตุการณ์และนักกิจกรรมรายงานว่า กองพลทหารราบที่ 4 ของกองทัพซีเรียภายใต้การนำของ มาเฮอ อัล-อัสซาด ได้สังหารคนหนุ่มไปเป็นจำนวนมากในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในปฏิบัติการยึดพื้นที่ย่านบาร์เซห์ทางตอนเหนือของเมืองหลวงดามาสกัสคืนจากกลุ่มกบฏ
 
กองทัพรัฐบาลได้ทำการตอบโต้หลังจากที่กลุ่มกบฏพยายามต่อสู้เพื่อล้มล้าง ปธน. อัสซาด ในเมืองหลวง และมีเหตุระเบิดที่คร่าชีวิตของกลุ่มผู้ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีไป 4 ราย ในระหว่างที่มีการประชุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเมื่อวันพุธสัปดาหืที่ผ่านมา (18)
 
นักกิจกรรมกล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซ๊ร่าว่า กองทัพได้ส่งกำลังเสริมเข้ามาในเมืองหลวงของซีเรีย และได้ตั้งจุดตรวจใหม่ที่ถนนหลักของเมือง
 
เหตุความขัดแย้งยกระดับขึ้นจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง มีการต่อสู้กันรอบๆ สำนักงานข่าวกรองในเมืองอเล็ปโป เมืองที่ใหญ่ที่สุดของซีเรีย และในเมืองดิแอร์ อัซ ซอร์ ทางภาคตะวันออก
 
จัด อัล ฮาลาบี นักกิจกรรมในเมืองอเล็ปโปบอกว่าการต่อสู้ในเมืองมีความรุนแรงมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้
 
"ผมเดินทางไปที่ย่าน ซาลาเฮดิน รู้สึกตกใจที่เห็นธงการปฏิวัติอยู่ทุกที่ บนท้องถนน ตามอาคาร ตามระเบียง แล้วผมก็เห็นกองกำลังปลดปล่อยซีเรีย (FSA) จำนวนมาก" ฮาลาบีกล่าว
 
สงครามจิตวิทยา
เจ้าหน้าที่ทางการของอิรักเปิดเผยว่า กองทัพซีเรียสามารถยึดครองด่านข้ามพรมแดนกลับมาได้ 1 แห่งจาก 2 แห่งหลังจากที่ถูกกลุ่มกบฏยึดครองไป แต่ทางกลุ่มกบฏก็บอกว่าพวกเขาสามารถยึดด่านข้ามพรมแดน บับ อัล-ซาลาม ระหว่างซีเรียกับตุรกีไว้ได้ ทางตอนเหนือของของเมืองอเล็ปโป
 
"การยึดด่านข้ามแดนไม่ได้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ใดๆ แต่มันมีผลกระทบทางจิตวิทยา เพราะมันทำให้กองทัพรัฐบาลอัสซาดสูญเสียกำลังใจ" พลจัตวา ฟาอิซ อัมร์ กล่าว เขาเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ละหน้าที่หนีไปอยู่ตุรกี
 
"นี่แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของฝ่ายปฏิวัติ แม้ว่ากองกำลังฝ่ายอัสซาดจะมีกำลังอาวุธเหนือกว่าก็ตาม"
 
เจ้าหน้าที่ซีเรียที่ย้ายไปอยู่ตุรกีอีกรายเปิดเผยว่า กองกำลังกบฏสามารถยึดโรงเรียนทหารในเมืองมูซัลมิเยห์ ห่างออกไป 16 กม. ทางตอนเหนือของอเล็ปโปไว้ได้ พวกเขาได้จับตัวเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลไว้หลายนาย ขณะที่รายอื่นๆ ละหน้าที่
 
"นี่ถือว่ามีความสำคัญมากในเชิงยุทธศาสตร์และเชิงสัญลักษณ์ โรงเรียนทหารมีคลังแสงและโรงเก็บรถหุ้มเกราะ ทั้งยังเป็นจุดป้องกันประตูทางเหนือของอเล็ปโปอีกด้วย" พลจัตวากองทัพบก มุสตาฟา อัล-ชีค กล่าว
 
อัลจาซีร่ารายงานว่าการบุกหนักในเมืองดามาสกัสและดิแอร์ เอล ซอร์ ที่มีความรุนแรงมากแสดงให้เห็นความต้องการของอัสซาดที่อยากแก้แค้นเหตุระเบิด ซึ่งสั่นคลอนการปกครองตลอด 40 ปีของคระกูลอัสซาด
 
สภาพดามาสกัสภายใต้สงคราม
นักกิจกรรมและผู้อาศัยในพื้นที่เปิดเผยว่า กองกำลังกบฏถูกขับออกจากเมซเซหฺ์ ย่านการทูตของดามาสกัส กองกำลังของรัฐบาลร่วมมือกับนักรบฝ่ายรัฐบาลกว่า 1,000 คน หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่พร้อมกับรถหุ้มเกราะ รถถัง และรถเกลี่ยดิน
 
ธาเบต ผู้อาศัยในย่านเมซเซห์บอกว่า การโจมตีอย่างหนักในช่วงเช้าทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายและผู้บาดเจ็บราว 50 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชน เขาบอกอีกว่าย่านเมซเซห์ถูกล้อมปราบและมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากโดยปราศจากความช่วยเหลือด้านการแพทย์
 
"ผมเห็นผู้ชายหลายคนถูกให้แก้ผ้าจนเหลือแต่กางเกงใน มีรถบัส 3 คันขนนักโทษจาก อัล-ฟารูค รวมถึงผู้หญิงและครอบครัวทั้งครอบครัว มีบ้านหลายหลังถูกจุดไฟเผา"
 
กลุ่มต่อต้านรัฐบาลและแหล่งข่าวฝ่ายกบฏบอกว่ากองกำลังฝ่ายกบฏในเมืองหลวงอาจกำลังขาดเส้นทางส่งเสบียงในการที่จะยึดครองพื้นที่อยู่ได้ จึงได้ล่าถอยในเชิงยุทธศาสตร์
 
ในย่านบาร์เซห์ หนึ่งในสามของพื้นที่ทางเหนือถูกโจมตีโดยเฮลิคอปเตอร์ และทหารก็บุกเข้าครองพื้นที่ ผ่านการนำของมาเฮอ อัล-อัสซาด อายุ 41 ปี
 
โทรทัศน์ช่องของรัฐบาลซีเรียปฏิเสธว่ารัฐบาลไม่ได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ยิงโจมตีภายในเมืองหลวง และรายงานอีกว่า "สถานการณ์ในกรุงดามาสกัสเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังมีเจ้าหน้าที่บางส่วนที่ออกล่าผู้ก่อการร้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ตามท้องถนน"
 
ร้านค้าส่วนใหญ่ในดามาสกัสปิดทำการ มีเพียงไฟจราจรที่ทำงาน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกลัยมาประจำที่จุดตรวจต่างๆ อีกครั้งหลังจากที่ละทิ้งจุดตรวจไปเมื่อก่อนหน้านี้
 
ปั้มน้ำมันจำนวนมากถูกผิดและไม่มีน้ำมันเหลือ และที่ยังเปิดอยู่ก็มีรถยนต์ต่อคิวเนืองแน่นเพื่อเติมน้ำมัน ผู้อาศัยในพื้นที่เปิดเผยว่ามีการต่อคิวยาวที่ร้านขายขนมปังด้วยเช่นกัน
 
สันนิบาตชาติอาหรับเสนอ 'ทางลง' ให้อัสซาด
ในที่ประชุมของสันนิบาตชาติอาหรับที่กรุงโดฮา นายกรัฐมนตรีของกาตาร์ได้เสนอให้ฝ่ายต่อต้านและกองกำลังปลดปล่อยซีเรีย (FSA) ตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่านขึ้นมา เขาบอกอีกว่า ทางกลุ่มประเทศอาหรับจะหาเส้นทางปลอดภัยให้กับอัสซาดในการออกจากประเทศ หากเขายอมลงจากตำแหน่งโดยเร็ว ซึ่งในตอนนี้อัสซาดยังไม่มีท่าทีที่จะสละอำนาจเลย
 
 
 
ที่มา
Syrian forces regain Damascus district, Aljazeera, 23-07-2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images