Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live

เครือข่าย อปท. ร้องสนช.ค้านการควบรวมเทศบาล

$
0
0

27 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภารายงานว่า พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับยื่นหนังสือจาก ประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นภดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และ อนุวัธ วงศ์วรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กรณี ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับผ่านความเห็นชอบของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

ประเสริฐ กล่าวว่า แนวคิดการปฏิรูปด้านโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ ขนาด และรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของร่างข้างต้น อาจขัดกับร่างรัฐธรรมนูญและไม่เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. เนื่องจากการยกระดับ อบต.ขึ้นเป็นเทศบาลตำบล และการบังคับใช้กฎหมายให้ควบรวมเทศบาลตำบลขนาดเล็กเข้าด้วยกัน อาจทำให้ประชาชนได้รับการบริการสาธารณะไม่ทั่วถึง และให้อำนาจกับกระทรวงมหาดไทยในการกำกับดูแล อปท. ทุกระดับมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของ อปท. นอกจากนี้การกำหนดให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบและโครงสร้างของ อปท. ที่ให้มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล โดยกำหนดให้ควบรวมเทศบาลที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่า 20 ล้านบาทหรือมีจำนวนประชากรต่ำกว่า 7,000 คนเข้าด้วยกันกับเทศบาลอื่นที่มีพื้นที่ติดกันและอยู่ในอำเภอเดียวกันภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประมวลกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้นั้น ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด ขัดหลักการกระจายอำนาจ และควรยึดเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ
 
ด้านประธาน สนช. กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า การปฏิรูป อปท. เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด ขณะนี้ข้อเสนอการปฏิรูปของ สปท. อยู่ในที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย ( คณะรัฐมนตรี (ครม.) สนช. และ สปท.) จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อปรับแก้ไขเนื้อหาถ้อยคำกฎหมาย คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ดังนั้น ทั้ง 3 สมาคม ควรชี้แจงเหตุผลที่คัดค้านในขั้นตอนของกฤษฎีกา เพราะหาก ครม. ส่งร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.แล้ว จะไม่สามารถแก้ไขหลักการสำคัญของกฎหมายได้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เฟซบุ๊กเตือนภัยผิดพลาดว่ามีเหตุระเบิดกรุงเทพฯ-ล่าสุดเหตุการณ์ปกติ

$
0
0
ผู้ใช้เฟซบุ๊คในกรุงเทพมหานคร ได้รับข้อความเตือนจาก Facebook Safety Check ว่าเกิดเหตุระเบิด อย่างไรก็ตามไม่มีเหตุระเบิดร้ายแรงแต่อย่างใด โดยสาเหตุที่มีการแจ้งข้อความเตือนภัยผิดพลาด เกิดจากอ้างถึงข่าวเก่าเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณเมื่อสิงหาคมปี 58

ข้อความเตือนจาก Facebook Safety Check ที่เกิดขึ้นในวันที่ 27 ธันวาคม 2559 อย่างไรก็ตามไม่มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

รายงานเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ของ MSN ซึ่งอ้างข่าวจาก InterAskyon ของฟิลิปปินส์ ซึ่งอ้างข่าวเก่าของ BBC

เว็บไซต์ Bangkok Informer นำคลิปเก่าซึ่งเป็นรายงานเหตุระเบิดกรุงเทพฯ เมื่อปี 2558 ของบีบีซีมาโพสต์ (บน) ก่อนที่จะลบเนื้อหาในเวลาต่อมา (ล่าง)

27 ธ.ค. 2559 มีรายงานว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กในกรุงเทพมหานคร ได้รับข้อความเตือนจาก Facebook Safety Check ว่าเกิดเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร โดยสาเหตุที่มีการแจ้งข้อความเตือนภัยผิดพลาด เกิดจากอ้างถึงข่าวเก่าจากเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณในเดือนสิงหาคมปี 58จากระบบเตือนภัยของเฟซบุ๊ก โดยในเว็บไซต์ MSN อ้างรายงานของ InterAskyon ของฟิลิปปินส์ว่าเกิดระเบิดในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตามเป็นการอ้างข่าวเก่าของ BBC เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2558 นอกจากนี้เว็บไซต์ Bangkok Informer ก็นำคลิปเก่าของ BBC ในปี 2558 มารายงานเช่นกัน ก่อนที่จะลบออกไป

อย่างไรก็ตาม ขณะที่รายงานอยู่นี้ยังไม่มีเหตุระเบิดร้ายแรง โดยจากการตรวจสอบเช้าวันนี้ ในรายงานของ นสพ.ข่าวสดมีเพียงข่าวชายหนุ่มจาก จ.น่าน ไปร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาลและปีนดาดฟ้าธนาคารออมสิน ภายในทำเนียบรัฐบาล ขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างระบบประปาของ อบต.หมอเมือง อ.แม่จริม จ.น่าน ว่าโปร่งใสหรือไม่ และได้ปาประทัดยักษ์ลงมาจากดาดฟ้า ก่อนเจ้าหน้าที่คุมตัว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยกฟ้องคดีติดโพสต์อิทเรียกร้องปล่อย ‘วัฒนา’ ไม่ผิดพ.ร.บ.ความสะอาด เป็นสิทธิพลเมือง

$
0
0

27 ธ.ค. 2559 เพจ iLawรายงานว่า ศาลแขวงพระนครใต้นัด ฐิตารีย์ ฟังคำพิพากษาในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยการปิดโฆษณาในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต หลังเขียนกระดาษโพสต์อิทติดบนเสารถไฟฟ้าบีทีเอส เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2559 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข และแอดมินเพจ 8 คนที่ถูกทหารจับกุมตัว

ในเวลา 13.50 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาสรุปความได้ว่า

ในวันที่ 1 พ.ค.2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่ามีการชุมนุมทางการเมืองที่สกายวอล์คช่องนนทรีย์ จึงนำกำลังไปที่เกิดเหตุ ในเวลา 17.00 น. ผู้ชุมนุมเริ่มเขียนกระดาษติดที่เสารถไฟฟ้าบีทีเอส ต่อมาเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ชุมนุมเลิก บางส่วนหยุดเขียน แต่มีส่วนหนึ่งรวมทั้งจำเลยยังไม่หยุดการกระทำจึงทำการจับกุมจำเลย

จำเลยต่อสู้ว่า วันเกิดเหตุไปร่วมกิจกรรมโพสต์อิทเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เป็นการใช้สิทธิทางการเมืองที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ กิจกรรมในลักษณะเดียวกันนี้เคยจัดมาแล้วและมีการเก็บกระดาษหลังเสร็จกิจกรรม กระดาษที่ใช้ติดมีลักษณะใช้ติดชั่วคราวไม่ก่อให้เกิดความสกปรก

ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ไม่ได้กำหนดนิยามคำว่าโฆษณาเอาไว้ จึงต้องใช้ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต ซึ่งให้ความหมายว่าการโฆษณาการทำให้ปรากฏเพื่อประโยชน์ทางการค้า ซึ่งการกระทำของจำเลยไม่ใช่การแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า แต่เป็นการใช้สิทธิทางการเมือง ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด พิพากษายกฟ้อง

ดูข้อมูลคดีโดยละเอียด ที่นี่ >>> https://freedom.ilaw.or.th/case/721

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปมตั้งสังฆราช สนช.เข้าชื่อแก้พ.ร.บ.สงฆ์ ถวายคืนพระราชอำนาจ - ตัดอำนาจมหาเถรสมาคมชงชื่อ

$
0
0

27 ธ.ค. 2559 เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระการเข้าชื่อของสมาชิกสนช. จำนวน 84 คน เพี่อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ในมาตรา 7 เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งคณะกรรมาธิการศาสนา และศิลปวัฒนธรรม นำโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและได้พิจารณาเสร็จแล้ว คือ “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” โดยให้กลับไปใช้ตามข้อความตามลักษณะเดิมตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ปี พ.ศ.2505 โดยยกเลิกข้อความในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.สงฆ์ ปี พ.ศ.2505 แก้ไข เพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ที่ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถานปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีที่สมเด็จพระราชคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปกิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

ต่อกรณีคำถามว่าเป็นการตัดขั้นตอนการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชของมหาเถรสมาคมออกไปใช่หรือไม่ นั้น เจตน์ กล่าวว่า หากดูตามถ้อยคำจะเป็นลักษณะนั้นคือตัดตอนของมหาเถรสมาคมออกไป แต่ทั้งนี้คงต้องดูการศึกษาของคณะกรรมาธิการและครม.อีกครั้งว่าเป็นอย่างไร

โดยขณะนี้คณะกรรมาธิการให้เหตุผลการเสนอแก้ไขดังกล่าวได้รับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องมาแล้ว และเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่ผ่านมา รวมถึงกลับไปใช้ความเดิมตามโบราณราชประเพณี ที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช อย่างไรก็ตามร่างพ.ร.บ.นี้จะเสนอเข้าที่ประชุมสนช. ในวันที่ 29 ธันวาคมนี้ ซึ่งจากการประสานงานไปยังรัฐบาล ทางครม.จะส่งนายออมสิน ชีวพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณารับเรื่องไปศึกษา ซึ่งจะส่งเรื่องกลับมาให้ทางสนช.เมื่อไหร่อย่างไรขึ้นอยู่ทางครม. แต่คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมสนช.ได้ภายหลังปีใหม่

ประยุทธ์ไม่รู้แก้ พ.ร.บ.สงฆ์ 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวการเสนอแก้ไข  พ.ร.บ.สงฆ์ ว่า ถือเป็นเรื่องธรรมดา และตนเองยังไม่รู้ ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับใดก็ตามถือเป็นหน้าที่ของทุกคนเสนอใช้กฎหมายได้ รัฐบาลก็เสนอได้ สนช. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็เสนอได้ ซึ่งขั้นตอนมีอยู่แล้ว นี่คือขั้นตอนของการทำงาน ในเรื่องการเสนอกฎหมาย ตนไม่ต้องไปสั่งใคร หรือใครต้องมาขออนุญาต ถือเป็นกลไกทางกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ดำเนินการ "ผมยังไม่รู้อะไรเลยในเรื่องนี้"

เจ้าคุณประสาร ชี้ผิดปกติอยู่มาก

ด้าน พระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวผลักดันสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ขึ้นเป็นพระสังฆราช ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณี สนช.เสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์

พระเมธีธรรมาจารย์โพสต์ว่า การเสนอแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ในหมวดที่ว่าด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช มาตรา 7 โดยจะเสนอให้ตัดการเสนอสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ออกนั้น ในเรื่องนี้อาตมาเห็นว่ามีความผิดปกติอยู่มาก เพราะจากการพยายามปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาเรื่อยมาจนถึงการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนี้ ฝ่ายที่ดำเนินการในเรื่องนี้ล้วนมีจุดมุ่งหมายที่ตรงกันอย่างหนึ่ง คือการแก้ที่มาของการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายที่มีอำนาจในปัจจุบันล้วนหายใจในเรื่องนี้เป็นจังหวะเดียวกัน ไม่ว่าคณะไหน กลุ่มไหนจะออกหน้าสื่อก็ตาม เป็นเพราะเหตุใด น่าสงสัยยิ่ง

พระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร
 
"อาตมาขอถามในนามพระสงฆ์รูปหนึ่งว่า ทำไมคฤหัสถ์ญาติโยมเหล่านี้ท่านมีความเดือดร้อนอะไรกันมากมายขนาดนี้ต่อการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชของคณะสงฆ์ไทย" เจ้าคุณประสาร โพสต์
 
พระเมธีธรรมาจารย์ ระบุว่า ทำไมวันนี้ท่านเดือดร้อนดิ้นรนอะไรกันนักหนา เป็นอะไรกันไปแล้ว การเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นแนวปฏิบัติตามโบราณราชประเพณี และเป็นที่ยอมรับกันในวงการคณะสงฆ์ วันนี้คณะสงฆ์ผู้ใช้กฎหมายฉบับนี้ยังไม่เห็นพระรูปไหนเดือดร้อนอะไรเลย ทุกรูปอยู่กันอย่างปกติ คณะสงฆ์ก็ปกครองกันไป ท่านจะเข้ามาล้วงมาควักอะไรกันนักกันหนา จะไม่ให้ท่านปกครองกันเองได้บ้างหรืออย่างไร"
 
เจ้าคุณประสารระบุต่อว่า ท่านที่เป็นคฤหัสถ์ ท่านต้องศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมเพณีในองค์กรสงฆ์บ้าง เช่น เวลาพระท่านนั่งตามลำดับในพระราชพิธี ท่านลำดับการนั่งอย่างไร ทำไมปฏิบัติเช่นนี้ ท่านเคยรู้บ้างไหม
 
"อาตมาบอกได้เลยว่า วันนี้ถ้า พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ และคณะมวลสมาชิกบางท่านใน สนช. จะฉวยโอกาสในช่วงชุลมุนวุ่นวายฝุ่นตลบนี้ เสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2535 ในเรื่องการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น ท่านก็จะต้องพบต้องเจอกับองค์กรพุทธและพระสงฆ์อีกจำนวนมากมายทั่วประเทศ ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้" เจ้าคุณประสาร โพสต์

 

ที่มา มติชนออนไลน์, ไทยรัฐออนไลน์, สำนักข่าวไทยไทยโพสต์ และ เฟซบุ๊ก พระเมธีธรรมาจารย์ - เจ้าคุณประสาร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยกฟ้องคดีที่ 2 ของจำเลยคดียิงกปปส.ตราด เหตุถูกทหารชักจูงให้ปรักปรำตัวเอง-ไม่มีประจักษ์พยาน

$
0
0

ศาลอาญายกฟ้องคดีที่ 2 ของ 'สมศักดิ์' อดีตจำเลยคดียิง กปปส. ตราดปี 57 ในข้อหาครอบครองอาวุธ ศาลยกเหตุไม่มีประจักษ์พยาน-หลักฐานยืนยันว่าเกี่ยวข้องกับของอาวุธกลางในคดี และคำให้การในชั้นสอบสวนมีการตกลงกับทหารมาก่อนถือเป็นการจูงใจโดยมีผลตอบแทน โดยคดีแรกยกฟ้องข้อหาร่วมกันฆ่าในคดียิงเวที กปปส. ตราดไปแล้วเมื่อต้นปี

27 ธ.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีนัดฟังคำพิพากษาคดีที่ 2 ของสมศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ข้อหาครอบครองอาวุธสงคราม เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีการครอบครองและเคลื่อนย้ายอาวุธที่เป็นของ มนัญชยา เกตุแก้ว และ กริชสุดา คุนะแสน ไปส่งต่อให้ จันทนา วรากรสกุลกิจ อีกทั้งยังอาวุธปืนของกลางในคดีนี้ตามฟ้องระบุว่าถูกเอาไปใช้ในเหตุการณ์คดีแรกของสมศักดิ์ที่เขาถูกกล่าวหาว่าร่วมกันก่อเหตุยิงเวที กปปส. จ.ตราด เมื่อ ก.พ. 2557 ซึ่งในคดีแรกศาลจังหวัดตราดได้ยกฟ้องไปแล้วเมื่อ 27 ม.ค.2559 

โดย ศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีความสงสัยว่า สมศักดิ์ ได้กระทำความผิดจริงตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานว่า ศาลได้อ่านคำพิพากษาสรุปได้ว่าข้อเท็จจริงเบื้องต้นปรากฏว่าเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2557 เวลา 10.30 น. ทหารสังกัด ร.29 พัน 3 สังกัดกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งมีอำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าทำการตรวจค้นพบอาวุธและยุทธภัณฑ์ในห้องเช่าแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร และได้ทำการจับกุม จันทนา วรากรณ์สกุลกิจ ซึ่งศาลต้องพิจารณาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องอัยการซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้หรือไม่

พ.ต.ต.สุระพงษ์ ตรีสมพงษ์ เบิกความว่าได้เข้าไปสอบปากคำนายสมศักดิ์ที่เรือนจำกลาง จ.ตราด จำเลยถูกสอบปากคำในฐานะพยานคดีครอบครองอาวุธสงคราม โดยจำเลยให้การว่าเมื่อเดือน เม.ย. ถึง พ.ค. 2557 ได้รับการติดต่อจาก มนัญชยา  เกตุแก้ว ให้ไปรับอาวุธสงครามที่บ้านของ มนัญชยา ที่ชลบุรี โดยเดินทางไปด้วยรถกระบะพร้อมกับ เสก จันทสาร และชายอีก 4-5 คน จากนั้นได้นำอาวุธไปไว้ในท้ายรถของพวกเขา จากนั้นจำเลยได้นำอาวุธไปเก็บที่บ้านของจำเลยใน จ.ระยอง ก่อน จากนั้นเดือน พ.ค. 2557 มนัญชยา ได้ให้จำเลยนำอาวุธที่ฝากไว้มาให้ที่พุทธมณฑลสาย 4 วันนั้น จันทนา ได้นำรถตู้มารับอาวุธสงครามไป

โจทก์ยังนำ พ.ต.อ.อภิชน เจริญผล พนักงานสอบสวนผู้สอบปากคำ ชวัลรัตน์ ชาติชัยภูมิ เบิกความว่า วัลรัตน์ อยู่กินกับจำเลย เคยพบว่า มนัญชยา และ กริชสุดา มีการติดต่อกับจำเลยให้นำอาวุธสงครามที่อยู่ในการครอบครองของจำเลยไปไว้ที่บ้านของ จันทนา พยานได้นำภาพของอาวุธปืน M3 ให้ ชวัลรัตน์ ดู ชวัลรัตน์ บอกว่าตรงกับอาวุธที่จำเลยนำมาที่บ้าน

ทั้งนี้คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานขณะเกิดเหตุ โจทก์มีเพียงคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนที่ให้การในฐานะพยานตามที่ พ.ต.ต.สุระพงษ์เบิกความเอาไว้ อีกทั้งโจทก์ไม่สามารถนำผู้ที่ได้เห็นได้ยินเหตุการณ์มาให้การเป็นพยานได้ จึงเป็นเหตุจำเป็นที่ศาลต้องรับฟังคำให้การของจำเลยและน.ส.ชวัลรัตน์ ตาม ป.วิ อาญา 226/3 (2) และ 227/1 ที่ศาลต้องรับฟังพยานหลักฐานด้วยความระมัดระวัง

กระนั้นคำให้การของ สมศักดิ์ ไม่มีรายละเอียดชัดแจ้งว่าอาวุธที่นำไปส่งมอบให้ จันทนา เป็นชนิดหรือประเภทใด และจำนวนเท่าใด

อีกทั้งจำเลยยังนำสืบด้วยว่าคำให้การที่พนักงานสอบสวนมาสอบสวนจำเลยระหว่างถูกขังในเรือนจำตราดฯ นั้นยังเกิดขึ้นจากการตกลงกันว่าหากจำเลยให้ความร่วมมือจะไม่มีการดำเนินคดีกับจำเลยและ ชวัลรัตน์ และคำให้การดังกล่าวทหารยังเป็นคนบอกจำเลยว่าให้พูดตาม แล้วจำเลยก็ไม่ได้อ่านบันทึกคำให้การของตนก่อนอีกด้วย จึงเป้นหลักฐานที่มาจากการจูงใจไม่ได้ให้การด้วยความสมัครใจ จึงเป็นหลักฐานที่ไม่สามารถรับฟังได้ และคำให้การของ ชวัลรัตน์ ที่เป็นพยานเอกสาร จำเลยก็ไม่มีโอกาสที่จะซักค้านพยานด้วย พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่หนักแน่นเพียงพอที่จะใช้ในการพิจารณาลงโทษจำเลย

ดังนั้นศาลจึงมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีความสงสัยว่าสมศักดิ์ได้กระทำความผิดจริงตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก สมศักดิ์ ได้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2557 โดยทหารได้เข้าจับกุม เขาพร้อมภรรยาที่โรงแรมสวีตอิน อ.เขาสมิง จ.ตราด ในการจับกุมทหารจำนวนหลายนาย พร้อมอาวุธได้ใช้ระเบิดควันยิงเข้าไปในห้องพักของโรงแรมก่อนและดำเนินการพังประตูห้องเข้าไปจับกุมตัวทั้งสองคน จากนั้นถูกใช้ผ้าปิดตาและมัดข้อมือไขว้หลังด้วยสายรัดแล้วถูกนำตัวขึ้นรถ จากนั้นก็ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ค่ายทหาร และทหารได้ทำการสอบสวนด้วยการข่มขู่ มีการคลุมศีรษะด้วยถุง และทำร้ายร่างกายจนกระทั่งปัสสาวะราด รวมถึงสร้างสถานการณ์จำลองว่าทหารจะมีเจตนาฆ่านายสมศักดิ์ เพื่อให้เกิดความหวาดกลัว เพื่อบังคับให้นายสมศักดิ์ยอมให้ข้อมูลและรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุกราดยิงเวที กปปส. ตราดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มาก่อน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘หมอนิ่ม’ อาชญากรหรือเหยื่อความรุนแรง กระบวนการยุติธรรมที่ละเลยบริบท

$
0
0

เสียงสะท้อนคดี ‘หมอนิ่ม’ ทิชา ณ นคร บอกความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ตั้งคำถามเหตุใดกระบวนการยุติธรรมไม่สนใจบริบท นิยามกฎหมายคับแคบ นักวิชาการระบุ ความรุนแรงในครอบครัวคือกระบวนการฆ่าอย่างหนึ่งที่ฝ่ายชายกระทำต่อผู้หญิง เป็นอาชญากรรมที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ผู้ต้องขังหญิงคนนี้ เดิมอาชีพทำนา รูปร่างอวบ สวย เป็น อสม. พูดเก่ง ร้องเพลงเก่ง มีลูกสองคน เลิกกับสามีเก่า แล้วมีสามีใหม่ กินเหล้า และทำร้ายร่างกายเธอตลอดเวลา อยู่มาได้สองสามปีก็ทนไม่ไหว ขอเลิก ฝ่ายผู้ชายบอกว่ามึงจ้างกูให้หย่าสิ กูหย่า จ่ายให้ 2 หมื่น ก็ยอมหย่า แต่พอเงินหมด ฝ่ายชายก็กลับมาขอคืนดี

“ผู้ชายคนนี้มักจะทำร้ายร่างกายเธอต่อหน้าลูก ลูกสาวก็กอดแม่ ลูกชายก็กราบขอร้องไม่ให้ทำ จนฝ่ายหญิงเริ่มทนไม่ไหว ไปซื้อปืน แต่ปืนแตกตอนลองยิง เลยไปซื้อมีดสปาร์ตามา เหน็บหลังตลอดเวลา คืนเกิดเหตุ ผู้หญิงปวดท้องเมนมาก ปลุกสามีให้พาไปส่งโรงพยาบาล ฝ่ายชายก็บอกว่ากลางวันทำไมไม่เจ็บ ไม่ไป ฝ่ายหญิงเลยจะเหมารถข้างบ้านให้ไปส่งให้ ผู้ชายก็เลยบอกว่าจ้างกูสิ ให้เงินสองร้อยจะไปส่ง ระหว่างทางก็ด่าแม่ฝ่ายหญิงตลอด ฝ่ายหญิงก็โมโห ทะเลาะกันจนมอร์เตอร์ไซค์ล้ม ลงไม้ลงมือ ฝ่ายหญิงก็ชักมีดปาดโดนผู้ชายนิ้วห้อย ฝ่ายชายก็พูดว่าแม่อย่าทำพ่อเลย ฝ่ายหญิงพูดว่า ถ้ากูเจ็บร้อยเท่า มึงต้องเจ็บกว่ากูพันเท่า ระหว่างนั้นลูกสาวก็กลัวจะเกิดเรื่องเลยให้เพื่อนพาขี่มอร์เตอร์ไซค์ตามไปทันเห็นเหตุการณ์พอดี แต่ฝ่ายชายไม่ตาย เข้าโรงพยาบาลแล้วให้การว่าลูกกับเมียร่วมมือกัน ฝ่ายหญิงจึงยอมสารภาพ เพื่อกันไม่ให้ลูกเข้ามาเกี่ยวข้อง”

เป็นคำบอกเล่าของกฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จากการพูดคุยกับผู้ต้องขังหญิงรายหนึ่ง เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงความรุนแรงในครอบครัวที่ถูกพูดถึงในการเสวนา ‘เมื่อกระบวนการยุติธรรมมองเห็น ‘เหยื่อความรุนแรง’ เป็น ‘อาชญากร’’ ที่จัดขึ้นที่โรงแรมเอเชีย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นการสะท้อนจากกรณี ‘หมอนิ่ม’ พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ ที่ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจากข้อหาจ้างวานฆ่าอดีตสามี เอ๊กซ์หรือจักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย

ประเด็นนี้ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนขาย บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า

“อยากฟันธงและรับผิดชอบสิ่งที่ตนเองพูดว่า การตัดสินนี้เกี่ยวโยงกับสังคมไทยทั้งระบบ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญในตัวเด็กหรือหญิงคนหนึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องของหมอนิ่มคนเดียว”

ทิชาอธิบายความเป็นมาและบริบทของสถานการณ์ว่า 11 กรกฎาคม 2556 พญ.นิธิวดี ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจเนื่องจากถูกจักรกฤษณ์ทำร้ายร่างกาย ซึ่งเมื่อมีการตรวจค้นบ้านฝ่ายชายก็พบหลักฐานหลายอย่าง จนนำไปสู่การตั้งข้อหาจักรกฤษณ์ แต่สุดท้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) ในเวลานั้น ก็เข้ามา-ทิชาใช้คำว่า-เกลี้ยกล่อม โดยไม่ได้ดูรากเหง้าของปัญหา

“คุณต้องการความมั่นคงของครอบครัว สนใจแต่ความสมบูรณ์ของครอบครัว แต่ภายใต้ครอบครัวมีชีวิตอยู่ หมอนิ่มบอกว่ายินดีให้อภัย แต่ไม่ขอกลับไปอยู่ด้วย แต่นักการเมืองไม่ได้ยิน คิดแค่ว่าต้องกลับมาคืนดีกัน”

“เรามองการทำร้ายผู้หญิงเป็นกระบวนการใช้อำนาจของฝ่ายชาย แต่กฎหมายมองเป็นการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ไม่ใช่ที่สาธารณะจึงถูกตีความอย่างหนึ่ง แต่ในบางสังคมการทำร้ายร่างกายในครอบครัวเป็นกระบวนการฆ่าอย่างหนึ่งของฝ่ายชายตั้งแต่เริ่มต้น เพราะผู้หญิงจำนวนมากจบชีวิตด้วยการตาย”

หลังจากเหตุการณ์ข้างต้นไม่เพียงเดือนเศษ จักรกฤษณ์ก็ถูกสังหาร เป็นที่มาของคดีที่เกิดขึ้น ทิชาตั้งข้อสังเกตว่า

“หมอนิ่มถูกตัดสินประหาร ทำไมความรุนแรงที่ไปแจ้งความ ไม่ปรากฏในคำพิพากษา เพราะถ้าไม่พูดเรื่องนี้เท่ากับเรากำลังส่งผ่านชุดความคิดนี้ไปสู่คนรุ่นต่อไป มันจะเป็นภาระที่หนักมาก ที่บอกว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว เรากำลังสร้างมรดกบาปให้คนรุ่นต่อไป เรื่องนี้ไม่ควรจบลงที่ผู้หญิงคนหนึ่งแบกรับความรับผิดชอบจากการตายครั้งนี้โดยที่กระบวนการยุติธรรมไม่สนใจบริบทที่เกิดขึ้น”

ด้าน นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระในฐานะคนทำงานกับผู้ต้องขังหญิง ตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นกระบวนการที่ทำให้เหยื่อเป็นอาชญากร เช่นเดียวกับการที่ผู้หญิงถูกสามีทำร้ายอย่างรุนแรงจนต้องตอบโต้ด้วยการสังหารสามี ผู้หญิงก็ถูกทำให้เป็นอาชญากรไปโดยกระบวนการนี้

“เรามองการทำร้ายผู้หญิงเป็นกระบวนการใช้อำนาจของฝ่ายชาย แต่กฎหมายมองเป็นการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ไม่ใช่ที่สาธารณะจึงถูกตีความอย่างหนึ่ง แต่ในบางสังคมการทำร้ายร่างกายในครอบครัวเป็นกระบวนการฆ่าอย่างหนึ่งของฝ่ายชายตั้งแต่เริ่มต้น เพราะผู้หญิงจำนวนมากจบชีวิตด้วยการตาย”

นภาภรณ์อธิบายต่อว่า เมื่อเกิดกรณีทำนองนี้ มักจะเกิดคำถามกับฝ่ายหญิงว่า แล้วทำไมไม่หนี นั่นเป็นเพราะเกิดภาวการณ์เรียนรู้ว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เป็นอาการของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายมาเป็นเวลายาวนาน จนเกิดการควบคุม การบังคับให้ผู้หญิงไปไหนไม่ได้ เช่น ถ้าหนีไป แล้วกลับมาจะถูกกระทำหนักกว่าเดิม หรือในอเมริกามีการจับพ่อแม่ฝ่ายหญิงมามัดไว้ และขู่ว่าถ้าฝ่ายหญิงไม่กลับมาจะไม่ให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงกินข้าว อาชญากรรมทำนองนี้ต้องเรียกว่าเป็นอาชญากรรมที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ หรือเป็นอาชญากรรมที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ถามว่าคดีทำนองนี้ในสังคมไทยที่เกี่ยวกับการฆ่าแบบนี้ถูกตีความอย่างไร หนึ่ง-ฝ่ายชายกำลังทำร้ายร่างกายฝ่ายหญิงอย่างรุนแรง ฝ่ายหญิงคว้ามีดเสียบคอ ตายสนิท โทษไม่หนักหนา แต่ติดคุก บอกว่าไม่ได้ตั้งใจ สอง-กฎหมายไทยจะพิจารณาเรื่องนี้ว่าเป็นการป้องกันตัว แต่จะพิจารณาว่าถ้าจะฆ่าเพราะป้องกันต้องมีกำลังความสามารถทัดเทียมกัน นึกถึงฝ่ายหญิงถูกทำร้ายจากฝ่ายชาย ถ้าเขาเหวี่ยงเรา เราไม่ใช่มีด คงไม่รอด กฎหมายป้องกันตัวจึงไม่สามารถใช้กับผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายและฆ่าสามีได้ เพราะจะไม่เข้าข่ายการป้องกันตนเอง เนื่องจากมีนิยามที่ค่อนข้างคับแคบ และสาม-เจตนาฆ่า ทนายบอกว่าการกระทำรุนแรงหยุดไปแล้ว แต่คุณเพิ่งมาวางแผนฆ่า แต่อย่างที่บอกว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นกระบวนการฆ่าที่ดำเนิมาอย่างต่อเนื่อง

“ส่วนตัวจะเพิ่มอีกประเด็น เนื่องจากมีโอกาสอ่านคำพิพากษา คดีนี้หมอนิ่มปฏิเสธ มูลเหตุหนึ่งที่ทำให้ศาลตัดสินประหาร เพราะหมอนิ่มมีเหตุจูงใจ ถูกทำร้ายมาก่อน กลายเป็นว่าถ้าเราถูกทำร้าย สามีถูกฆ่า เราจะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยทันที หมอนิ่มมีเหตุจูงใจ แต่ถ้าเรามองกลับกัน สมมติศาลตัดสินว่ามีเหตุจูงใจ ก็น่าจะลดโทษ ถ้าศาลเชื่ออย่างนั้น ท่านควรเอาเหตุจูงใจนี้มาลดโทษ ไม่ใช่ประหาร นี่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเรา เป็นกระบวนการที่ไม่ละเอียดอ่อนกับปัญหาที่ละเอียดอ่อนมาก”

ด้านกฤตยา กล่าวว่า

“ดิฉันคิดว่าสังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจ ยังขาดแนวคิด ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ไม่เคยถูกนำไปอยู่ในโรงเรียนกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ในไทยสอนกฎหมายล้าหลังมาก จึงได้มีกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ทำความเข้าใจกับความรู้ที่เกิดขึ้น”

คดีหมอนิ่มจึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของกระบวนการยุติธรรมที่ดูจะละเลยบริบทของการก่อคดี และกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการใช้อำนาจของผู้ชายไปโดยปริยาย ดังที่ทิชากล่าวไว้ คดีนี้จะกลายเป็นมรดกบาปที่ส่งทอดไปสู่คนรุ่นต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: แค่ใบไม้

$
0
0

ยืนหยัดแผ่กิ่งก้าน       ลมพัดโอนเอน
กอไผ่ใบแกว่งกวัด         แกร่งกล้า
พายุกระหน่าซัด             ตั้งมั่นปฏิภาณ
คงอยู่แม้เหนื่อยล้า        ต่อต้าน ต่ำตม

 


  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายนักวิชาการฯ ออกแถลงการณ์จี้รัฐไทย ทบทวนเพิกถอนประกัน "ไผ่ ดาวดิน"

$
0
0

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐไทย ทบทวนการพิจารณาเพิกถอนสัญญาปล่อยตัวชั่วคราว "ไผ่ ดาวดิน" ชี้สิทธิประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน พร้อมระบุผู้ต้องหาไม่ได้ทำผิดเงือนไขการประกันตัว

28 ธ.ค. 2559 เฟซบุ๊กแฟนเพจ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส. ได้เผยแพร่แถลงการณ์ครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เรื่องเรียกร้องให้ทบทวนการพิจารณาเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว “ไผ่ ดาวดิน” โดยมีเนื้อหาดังนี้่

ตามที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งถอนประกันนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ข่าว BBC ไทย นั้น เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) มีความห่วงใยต่อการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานดังกล่าว จึงขอแสดงความคิดเห็นและมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.สิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และนับแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 สิทธิดังกล่าวก็ได้ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญตลอดมา การรับรองสิทธิดังกล่าวมีผลให้ในการดำเนินคดีอาญานั้น ต้องถือเป็นหลักว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ส่วนการควบคุมตัวในระหว่างการดำเนินคดีเป็นเพียงเหตุยกเว้นเท่านั้น(ข้อ 2 ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2548)ซึ่งเป็นการยืนยันหลักการพื้นฐานสำคัญในทางกฎหมายที่บุคคลผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะได้พิจารณาตัดสิน

2. ข้อ 8ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมฯ กำหนดว่าในการปล่อยชั่วคราวนั้นศาลอาจกำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือเพื่อป้องกันภยันอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวก็ได้ และหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นก็ให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้

คนส. ได้พิจารณาและมีความเห็นในทางวิชาการว่า นายจตุภัทร์ยังไม่ได้แสดงหรือกระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลได้กำหนดในคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ที่กำหนดให้นายประกันและผู้ต้องหามาศาลตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ ทั้งนี้ ความปรากฏว่าศาลไม่ได้กำหนดให้การลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นเงื่อนไขของการให้ประกันตัวแต่อย่างใด อีกทั้งหากกำหนดให้ต้องลบข้อความดังกล่าว ก็อาจทำให้เข้าใจไปในทิศทางที่ว่าศาลได้วินิจฉัยไปแล้วว่าการกระทำที่กล่าวหาเป็นความผิดโดยที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ยิ่งกว่านั้นนายจตุภัทร์ยังได้แจ้งต่อศาลอย่างชัดเจนว่าเหตุผลที่ไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาก็เพราะต้องการจะเก็บไว้เป็นพยานหลักฐานต่อสู้คดีในชั้นพิจารณา การไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหานั้นจึงเป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้ประกันตัวของศาลที่ห้ามเกี่ยวข้องกับพยานหลักฐานในคดีและเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ต้องหาจะไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ประกอบกับนายจตุภัทร์จะต้องสอบรายวิชาสุดท้ายเพื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีในเดือนมกราคม 2560 นี้ พฤติการณ์จึงไม่อาจกล่าวได้ว่านายจตุภัทร์จะหลบหนีหากมีการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดําเนินคดีในศาลแต่อย่างใด

ส่วนการที่นายจตุภัทร์แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์โดยการโพสต์รูปภาพหรือส่งข้อความบนเฟซบุ๊คภายหลังการปล่อยชั่วคราวตามที่กล่าวอ้างว่าเป็นการแสดงออกถึงพฤติกรรมในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองนั้น คนส. มีความเห็นทางวิชาการว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ตามกฎหมายเนื่องจากมิได้มีกฎหมายกำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด และการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นต้องมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น ซึ่งมาตรา 108/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ได้กำหนดให้การเย้ยหยันอำนาจรัฐหรือการไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองเป็นเหตุในการสั่งไม่อนุญาตประกันตัว อีกทั้งศาลก็ไม่ได้กำหนดให้เป็นเงื่อนไขในการประกันด้วย การไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นเป็นข้อยกเว้นในทางกฎหมาย ซึ่งในทางนิติวิธีนั้นการบังคับใช้กฎหมายในกรณีข้อยกเว้นจะต้องกระทำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นบทบัญญัติซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยแล้ว ศาลไม่อาจที่จะวินิจฉัยนอกเหนือจากที่บทบัญญัติกฎหมายกำหนดเอาไว้ได้

นอกจากนี้ ไม่ปรากฎว่านายจตุภัทร์ได้กระทำการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติดังที่มีการกล่าวอ้าง และในการไต่สวนของศาลจังหวัดขอนแก่นก็ไม่ปรากฎว่ามีพยานหลักฐานยืนยันว่าการกระทำของนายจตุภัทร์ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ หากจะมีการกระทำที่เป็นความผิดก็เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหากออกไป มิใช่เหตุที่จะนำมาขอเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด

การที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งถอนประกัน จึงสร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่สังคม และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มนักกฎหมายว่าการพิจารณาดังกล่าวอาจไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ

3. ในภาวะที่เป็นอยู่นี้ คนส. มีความห่วงใยต่อทิศทางการบังคับใช้กฎหมายในทางที่จะเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่าง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม องค์กรตุลาการซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในนิติรัฐพึงปฏิบัติหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะคุณค่าที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญและได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย ควรจะต้องตระหนักและแสดงบทบาทของตนในการตรวจสอบว่าการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปโดยคำนึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งรวมถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลล่างด้วย มิใช่ทำตัวเสมือนเป็นผู้พิทักษ์อำนาจรัฐอันไม่ชอบธรรมนั้นเสียเอง

เมื่อนายจตุภัทร์ไม่ได้มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจะมีการหลบหนี ยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดําเนินคดีในศาล คนส.จึงไม่เห็นด้วยกับคำสั่งเพิกถอนประกันของศาลจังหวัดขอนแก่นและคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งถอนประกันของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ดังที่ได้แสดงเหตุผลไว้แล้วข้างต้น

คนส.จึงขอเรียกร้องให้ศาลในฐานะองค์กรตุลาการซึ่งเป็นที่พึ่งในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ทบทวนการพิจารณาเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายจุตภัทร์ เมื่อมีการยื่นคำร้องตามกระบวนการของกฎหมายเพื่อคืนความปกติให้กระบวนการยุติธรรมและยืนยันหลักการพื้นฐานของนิติรัฐ

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
28 ธันวาคม 2559

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ผสานวัฒนธรรม' ชมทหารชุมแพ เหตุถอนคำร้องทุกข์ 2 นักกิจกรรมในคดีหมิ่นประมาท

$
0
0

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมชื่นชมทหารชุมแพถอนคำร้องทุกข์ 'ศรายุทธ ฤทธิพิณ - เจด็จ แก้วสิงห์'  นักกิจกรรมด้านที่ดินในคดีหมิ่นประมาท พ่วงพ.ร.บ.คอมฯ หวัง จนท.เข้าใจการทำงานเป็นสื่อกลางประสานความเข้าใจระหว่างรัฐกับประชาชนต่อไป

28 ธ.ค. 2559 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ได้รับทราบข้อมูลจากศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายสิทธิมนุษยชน  ว่าเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2559  นายทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 8 ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรชุมแพ และขอถอนคำร้องทุกข์ที่ให้ดำเนินคดี ศรายุทธ ฤทธิพิณ นักข่าวสำนักข่าวปฏิรูปที่ดินอีสาน และ เจด็จ แก้วสิงห์ ชาวบ้านบ้านซำผักหนาม นักกิจกรรมด้านที่ดิน ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ได้ร้องทุกข์ไว้เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2559 โดยคาดว่าการถอนคำร้องทุกข์นี้จะทำให้คดีสิ้นสุด

ก่อนหน้านี้มีการพบปะกันระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับตัวแทนกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 8 เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2559 โดยหลังการพูดคุยทำความเข้าใจระหว่างชาวบ้านกับตัวแทนของทหารจนนำมาสู่การถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าวที่มาของคำร้องทุกข์ดังกล่าวดังกล่าวอาจจะสืบเนื่องจากการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่จำนวนอย่างน้อย 8 นายนำโดยทหารได้ขอเข้าพบชาวบ้านเมื่อวันที่ 4 และ 5 ส.ค. 2559 ก่อนการลงประชามติ ในพื้นที่บ้านซำผักหนาม โดยก่อนหน้านี้ทางนักกิจกรรมด้านที่ดินสองรายได้ประสานขอความช่วยเหลือคดีจากศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จากการให้คำปรึกษาและประสานงานกับทางพนักงานสอบสวนและทางทหารทำให้ชาวบ้านได้โอกาสในการแก้ไขปัญหาที่ดินของชาวบ้านที่ยากไร้ ไม่ต้องมีภาระในการต่อสู้คดี  โดยทางทหารก็ยินดีให้ความเป็นธรรมและทำงานร่วมกันกับชาวบ้านต่อไป
 
อนึ่งในวันที่ 19 ธ.ค. 2559 ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและการเมือง ได้มีการเชิญให้พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจชุมแพมาให้ข้อมูลซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในการรายงานความคืบหน้าว่าได้มีการดำเนินการถอนร้องทุกข์โดยผู้กล่าวหาแล้วและจะเร่งดำเนินการทำหนังสือแจ้งต่อผู้ถูกกล่าวหาต่อไปว่าไม่มีความจำเป็นในการดำเนินคดีต่อไป โดยก่อนหน้านั้นประธานอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่และมีโอกาสพบกับชาวบ้านและผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนดังกล่าวด้วย
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอชื่มชมบทบาทของผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเพื่อให้เกิดการถอนฟ้อง ทั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านและนักกิจกรรมด้านสิทธิในที่ดินได้ทำงานตามหน้าที่ของตนโดยเป็นสื่อกลางประสานความเข้าใจระหว่างรัฐกับประชาชนต่อไป
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Anonymous แถลงต้าน พ.ร.บ.คอม พร้อมปฏิบัติการ #OpSingleGateway

$
0
0

กลุ่มนิรนามหรือ Anonymous แถลงการณ์ต่อต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไข และประกาศจะปฏิบัติการ "Operation Single Gateway" ชี้ร่างนี้จะกระทบถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป รวมถึงประกาศว่าจะไม่ยอมให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ปิดกั้นอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่แบบจีน

28 ธ.ค. 2559 เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มแฮกเกอร์นิรนามระดับโลกที่เรียกตัวเองว่า Anonymous ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการต่อต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ในชื่อ "Thailand Censorship #OpSingleGateway 2016" ผ่านทางช่องยูทูบของกลุ่ม แถลงการณ์ของพวกเขาระบุว่า ในขณะที่รัฐบาลจำนวนมากในโลกมีการเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสาร รัฐบาลไทยก็เป็นที่จับตา หลังผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ร่างนี้สร้างความไม่พอใจให้ผู้คนจำนวนมากเนื่องจากเกรงว่าอาจเปิดทางให้กับ "ซิงเกิลเกตเวย์"

แถลงการณ์ของ Anonymous ยังวิจารณ์ในเรื่องที่กฎหมายฉบับนี้มีการอภิปรายกันแค่ 6 ชั่วโมงแล้วก็มีการโหวตผ่านร่างด้วยคะแนน เห็นชอบ 168 เสียง ไม่มีผู้ใดโหวตคัดค้าน แต่ทว่ากฎหมายฉบับนี้ก็มีประชาชนชาวไทยมากกว่า 360,000 คนลงชื่อต่อต้าน

Anonymous ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการทำลายเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในไทยและเป็นการที่รัฐบาลเผด็จการทหารพยายามควบคุมวาทกรรมการเมืองในประเทศ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดพวกเขาอาจจะอ้างใช้มันแก้ไขประวัติศาสตร์ไทยและจับกุมผู้วิพากษ์วิจารณ์ จากการที่กฎหมายระบุว่าใครก็ตามที่มีเนื้อหาบิดเบือน ในคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือของพวกเขาเองมีโอกาสถูกจำคุก 5 ปี แต่เนื้อหาบิดเบือนที่ว่าหมายถึงอะไรก็สุดจะคาดเดา นอกจากนี้ยังสามารถสั่งลบข้อมูลโดยอ้างเรื่องการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมซึ่งอยู่ภายใต้การตีความของคณะกรรมการไม่กี่คนเท่านั้น

"เป็นอีกครั้งที่เผด็จการทหารแสดงความกระเหี้ยนกระหือรืออยากจะควบคุมเรื่องราวทางการเมืองของประเทศ บทบัญญัติเพิ่มเติมนี้จะอนุญาตให้พวกเขาปั้นแต่งประวัติศาสตร์ในแบบของตัวเองได้" Anonymous ระบุในแถลงการณ์

นอกจากนี้พวกเขายังกล่าวถึงผู้ใช้งานทั่วไปที่อาจจะรับเคราะห์เพราะกฎหมายฉบับนี้ไปด้วยได้ถ้าหากพวกเขาต้องสงสัยว่าผลิตหรือดาวน์โหลดเนื้อหาที่ "บิดเบือน" หรือ "ผิดศีลธรรม" เจ้าหน้าที่ก็อาจจะเรียกร้องขอตรวจดูประวัติการเข้าเว็บของพวกเขาได้จากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึงยึดอุปกรณ์หรือเครื่องมือ เรียกร้องเอารหัสลับเข้าโซเชียลมีเดียของพวกเขาได้ โดยที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะถูกสั่งให้จับตาดูเนื้อหาของลูกค้าพวกเขา

แถลงการณ์ระบุว่า นับตั้งแต่มีการประกาศกฎหมายฉบับนี้ไทยก็ประสบกับการถูกโจมตีด้วยการโจมตีทางไซเบอร์หลายครั้งไม่ว่าจะเป็นของหน่วยงานความมั่นคงหรือกระทรวงกลาโหมที่เข้าเว็บไม่ได้ รวมถึงการโจมตีเว็บของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเอง Anonymous ประกาศอีกว่าพวกเขาจะไม่นิ่งดูดายปล่อยให้มีประเทศที่สร้างไฟร์วอลปิดกั้นอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่แบบประเทศจีนที่ปิดกั้นไม่ให้ประชาชนหารือกันด้านแนวคิดอุดมการณ์ อีกทั้ง รัฐบาลเผด็จการทหารของไทยพยายามรวมศูนย์การควบคุมอินเทอร์เน็ตไว้ภายใต้พวกเขาอย่างเดียวไม่ว่าจะเป็นอำนาจการเซ็นเซอร์หรือการปิดกั้นการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตทั้งข้อมูลจากประเทศไทยและข้อมูลที่จะเข้าสู่ประเทศไทย และประเด็นที่สำคัญมากที่การที่รัฐบาลไทยปัจจุบันไม่มีความโปร่งใสเพราะการเซ็นเซอร์มากขึ้นเรื่อยๆ

Anonymous ยังวิจารณ์ความไม่โปร่งใสของสหรัฐฯ ในช่วงปีที่แล้วที่กรณีคำร้องเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐมากกว่า 200,000 กรณีถูกปฏิเสธ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เองก็มีการปิดลับมากขึ้น อีกทั้งมีการเซ็นเซอร์เอกสารเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีการเซ็นเซอร์ร้อยละ 30 กลายเป็นร้อยละ 64 ในปี 2558 ซึ่งถือว่าน่าตระหนก

"ขอให้ข้อความนี้เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงสงครามระหว่างรัฐบาลกับอินเทอร์เน็ตที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้" Anonymous ระบุในแถลงการณ์

"ประเทศไทย พวกเราอยู่ข้างพวกคุณ พวกเราต้องการแสดงให้พวกคุณเห้นว่าเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของพวกคุณกำลังมีความเสี่ยงอย่างไร ยึดในจุดยืนแล้วบอกกับรัฐบาลว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องผิด พวกเราขอร่วมกันต่อต้านความอยุติธรรมนั่นคือรัฐบาลไทยและผู้ให้ความร่วมมือกับพวกเขา ในวันพรุ่งนี้คุณจะต้องชดใช้ให้กับการกดขี่ที่คุณกระทำกับประชาชนของตนเอง" Anonymous ระบุในแถลงการณ์

"คุณจับกุมพวกเราได้ แต่คุณไม่สามารถจับกุมความคิดได้"  Anonymous ประกาศในแถลงการณ์ พวกเขายังประกาศเริ่มต้นปฏิบัติการ "Operation Single Gateway" ไว้ในแถลงการณ์ด้วย

 

เรียบเรียงจาก

ANONYMOUS – THAILAND CENSORSHIP #OPSINGLEGATEWAY, My Info Zone, 27-12-2016
https://my-infozone.com/2016/12/27/anonymous-thailand-censorship-opsinglegateway/

Anonymous - Thailand Censorship #OpSingleGateway, Anonymous Operations, Youtube, 26-12-2016
https://www.youtube.com/watch?v=xlbk8noxuZ4

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ไฟเขียว 6 จว.ปลูก 'กัญชง' เป็นพืชเศรษฐกิจ 'กระท่อม-กัญชา' อยู่ระหว่างการศึกษา

$
0
0

เปรียบเทียบกัญชงและกัญชา ที่มา : www.sacict.net

28 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์บ้านเมือง, โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.59 ศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยความคืบหน้าการปรับนโยบายเกี่ยวกับพืชเสพติดและตัวยาเสพติดรวม 4 ชนิด ประกอบด้วย กัญชง กัญชา กระท่อม และเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เพื่อให้นำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และปลูกเพื่ออุตสาหกรรมได้ตามพื้นที่ที่กำหนด ว่า ขณะนี้กัญชงหรือแฮมพ์ ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี ( ครม.) อนุมัติให้เป็นพืชเศรษฐกิจและสามารถปลูกเพื่ออุตสาหกรรมได้  แต่ในพื้นที่ๆ กำหนด มีผลตั้งแต่ปี 2560 

โดยจำกัดพื้นที่ 6 จังหวัด15 อำเภอ คือ จ.เชียงใหม่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่วาง แม่ริม สะเมิง และแม่แจ่ม จ.เชียงราย 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เทิง เวียงป่าเป้า และแม่สาย จ.น่าน 3 อำเภอได้แก่ อ.นาหมื่น สันติสุข และสองแคว จ.ตาก เฉพาะที่ อ.พบพระ จ. เพชรบูรณ์ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.หล่มเก่า เขาค้อ และเมือง และ จ.แม่ฮ่องสอน ในพื้นที่ อ.เมือง สำหรับสายพันธุ์ที่นำมาปลูกได้ต้องมีนั้นจะต้องมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือสารทีเอชซี ไม่เกิน 1% หากตรวจพบว่าแปลงใดมีต้นกัญชงที่สารดังกล่าวเกินจะถือว่ามีความผิด
 
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวอีกว่า เยื่อของต้นกัญชงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการประดิษฐ์เช่น การถักทอเป็นประเป๋าหรือสิ่งของต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ชาวบ้านมีอาชีพ โดยโรงงานยาสูบจะเป็นผู้รับซื้อผลิตภัณฑ์จากต้นกัญชงที่เกษตรกรในพื้นที่ที่ระบุไว้โดยตรง ส่วนพืชกระท่อมอยู่ระหว่างการศึกษาวิถีการใช้ของชาวบ้านเพื่อประโยชน์ทางสมุนไพรซึ่งต้องมีการแก้กฎหมายว่าสามารถนำมาใช้ในบ้าน เช่น เคี้ยวหรือต้ม 
 
สำหรับกัญชาซึ่งเป็นพืชเสพติดทางคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน ที่มี ชาญเชาว์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมให้รอบด้าน เนื่องจากยังมีความเห็นขัดแย้งโดยแพทย์มองว่าสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้แต่ก็มีอันตรายจากสารที่เป็นตัวอนุพันธ์จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเหมาะสม
 
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวต่อว่า สำหรับการปรับบัญชีเมทแอมเฟตามีน จากยาเสพติดประเภท 1 คือให้โทษชนิดร้ายแรงไปเป็นยาเสพติดประเภท 2 เพื่อให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ก็ยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมทั้งด้านกฎหมายและการนำมาใช้เป็นยารักษาโรคที่ผ่านมาโทษของการค้ายาเสพติด เช่น เฮโรอีน ไอซ์และเมทแอมเฟตามีนจะมีอัตราโทษไม่แตกต่างกันแต่หากปรับบัญชีเมทแอมเฟตามีนให้เป็นยาที่นำมาใช้รักษาโรคทางการแพทย์ได้ก็ต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ ให้รอบคอบ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม. อนุมัติตั้งกรมการขนส่งทางราง 'คมนาคม' จัดอำนวยความสะดวกขนส่งสาธารณะเป็นของขวัญปีใหม่

$
0
0

ครม.เห็นชอบจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง และร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ เสนอสนช.พิจารณาต่อ ตั้ง บอร์ดขนส่งทางราง โดยมีนายกฯเป็นประธาน ดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางราง ด้าน 'คมนาคม' เตรียมอำนวยความสะดวกการบริการขนส่งสาธารณะทั้งทางบก – น้ำ –อากาศ มอบเป็นของขวัญปีใหม่

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ อนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (กค.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง  2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และ   ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป 3. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลา และแผนการขนส่งทางราง  ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง และ 4. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการจัดตั้งบริษัทใหม่รวม 3 บริษัท โดยเร็ว

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ มีดังนี้ 1. ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เพื่อยกฐานะสำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง ในสังกัดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร  ขึ้นเป็นกรมการขนส่งทางราง 

2. ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... 2.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายด้านการขนส่งทางราง เสนอความเห็นและให้คำแนะนำต่อคณะรัฐมนตรี  2.2 กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางราง มีปลัดกระทรวงคมนาคมหรือรองปลัดกระทรวงคมนาคมที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขใช้อำนาจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางราง กำกับดูแล การประกอบการเดินทางรถขนส่งทางราง กำกับดูแลกิจการขนส่งทางราง รวมทั้งกำหนดโครงสร้างค่าโดยสาร ค่าระวาง ตลอดจนค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการขนส่งทางราง 2.3 กำหนดให้รัฐมนตรีโดยข้อเสนอของอธิบดีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดมาตราฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางราง มาตรฐานด้านรถขนส่งทางรางและด้านบุคลากร รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการกำกับดูแลความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย และการรักษาสิ่งแวดล้อมของการขนส่งทางรางครอบคลุมถึงการดำเนินการ 2.4 กำหนดให้ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินและมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ อธิบดีอาจเข้าควบคุมดูแลกิจการขนส่งทางรางของผู้รับอนุญาตเป็นการชั่วคราวได้ และให้สิทธิหน้าที่และอำนาจสั่งการของผู้รับอนุญาตตกมาเป็นของกรมการขนส่งทางรางจนกว่าเหตุจำเป็นจะหมดไป  

2.5 กำหนดให้อธิบดีกำหนดเขตระบบการขนส่งทางรางเพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาและการรักษาความปลอดภัยของระบบการขนส่งทางราง ตลอดจนความปลอดภัยของบุคคลที่อยู่ในระบบการขนส่งทางราง กำหนดบริเวณใกล้เคียงกับระบบการขนส่งทางรางเป็นเขตปลอดภัยระบบการขนส่งทางราง และมีอำนาจประกาศกำหนดเงื่อนไขในการก่อสร้างดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่มีผลกระทบต่อระบบการขนส่งทางราง ภายในเขตปลอดภัยระบบการขนส่งทางรางดังกล่าว 2.6 กำหนดให้ในกรณีที่อธิบดีเห็นว่าภายในเขตปลอดภัยระบบการขนส่งทางรางมีความจำเป็นต้องประกาศกำหนดให้การกระทำใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคแก่ระบบการขนส่งทางรางเป็นการกระทำที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ให้อธิบดีมีอำนาจออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ได้

2.7 กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจแต่งตั้งผู้ตรวจการขนส่งทางราง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมการประกอบกิจการการขนส่งทางรางให้เป็นตามพระราชบัญญัตินี้ และในกรณีจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายหรือความเสียหายแก่ระบบการขนส่งทางรางให้ผู้ตรวจการขนส่งทางราง อธิบดีหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดี   มีอำนาจเข้าไปในที่ดินหรือสถานที่ของบุคคลใด ๆ ในเวลาใด เพื่อตรวจ ซ่อมแซ่ม หรือแก้ไขระบบการขนส่งทาง รางหรือปฏิบัติการป้องกันอันตรายแก่ระบบการขนส่งทางรางหรือสาธาณชนได้

2.8 กำหนดให้ผู้รับอนุญาตจะเรียกเก็บค่าโดยสาร ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมในการใช้ทรัพย์สินและบริการต่าง ๆ เกินกว่าอัตราที่ประกาศกำหนดมิได้จัดให้มีการประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและร่างกายของผู้โดยสารตามที่กำหนด และจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็ก ให้มีความเหมาะสมแก่การใช้บริการของการประกอบกิจการขนส่งทางราง  2.9 กำหนดให้อธิบดีอาจมอบให้เอกชนรายใดหรือหลายรายเป็นผู้รับอนุญาตเพื่อประกอบกิจการการขนส่งทางรางได้ แต่ต้องไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางรายเดิม โดยการให้อนุญาตให้เป็นตามกฎกระทรวง 2.10 กำหนดให้ในกรณีที่สภาพการดำเนินงานของผู้รับอนุญาตอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวก หรืออันตรายแก่ผู้ใช้บริการหรือสาธารณชนให้อธิบดีมีอำนาจสั่งการให้ผู้รับอนุญาตแก้ไขได้ และในกรณีจำเป็นจะสั่งให้ระงับการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวก็ได้จนกว่าผู้รับอนุญาตจะแก้ไขตามคำสั่งของอธิบดี ถ้าผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดี ให้กรมการขนส่งทางรางหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายเข้าดำเนินการแก้ไขโดยผู้รับอนุญาตเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการพร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนค่าใช้จ่ายดังกล่าว

2.11 กำหนดให้อธิบดีอาจเพิกถอนอนุญาตได้ เมื่อผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิธีการประกอบกิจการที่ดีจนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน หรือดำเนินการหรือให้บริการที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง 2.12 กำหนดให้เพื่อประโยชน์ในการป้องปัดภัยพิบัติอันมีมาเป็นการฉุกเฉินและในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของอธิบดีมีอำนาจยกเลิกอนุญาตและอาจมอบหมาย  ให้กรมการขนส่งทางรางเข้าครองครองกิจการที่ได้รับอนุญาตเป็นการชั่วคราวได้ และ 2.13 กำหนดบทลงโทษทางแพ่งและทางอาญาสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขใด ๆ ตามที่กฎหมายนี้กำหนด          

'คมนาคม' จัดอำนวยความสะดวกขนส่งสาธารณะเป็นของขวัญปีใหม่

วานนี้ (27 ธ.ค.59) ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่องการเตรียมการโครงการของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน จำนวน 56 โครงการ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แบ่งเป็นด้านการขนส่งทางบก จำนวน 25 โครงการ เช่น โครงการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ กิจกรรมไว้พระ 9 วัดรอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดยจะจัดให้บริการรถโดยสารประจำทางหรือรถเมล์ฟรี ระหว่างวันที่ 31 ธ.ค. 2559 – 3 ม.ค. 2560 รวมถึงการยกเว้นการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี ด้านการขนส่งทางราง จำนวน 9 โครงการ เช่น การเพิ่มจำนวนและความถี่ของขบวนรถเพื่อรองรับความต้องการของผู้โดยสาร การอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการสามารถเข้าถึงบริการในระบบรางได้และมีการอบรมการปฐมพยาบาลขั้นต้น ด้านการขนส่งทางน้ำ จำนวน 10 โครงการ เช่น กิจกรรมเจ้าท่าพาร่องนาวา สวดมนต์ภาวนาข้ามปี และโครงการเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำ รวมถึงโครงการเดินเรือเฟอร์รี่ขนส่งผู้โดยสารจากอ่าวไทย เส้นทางพัทยา – หัวหิน ด้านการขนส่งทางอากาศ จำนวน 11 โครงการ เช่น การทำโปรโมชั่นโดยสารราคาพิเศษ และโครงการพิพิธภัณฑ์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยประชาชนที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมโครงการดังกล่าวได้

 
 
ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล 1, 2
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.เกษตรเดินหน้าโซนนิ่ง เกษตรแปลงใหญ่วางเป้า 1.5 ล้านไร่

$
0
0

รมว.เกษตรฯ จ่อเริ่มใช้ยุทธศาสตร์ 5 ปี วางเป้าหมายจะทำเกษตรแปลงใหญ่ให้ได้ถึง 1.5 พัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์  67,200 ราย ลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร บริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม

 28 ธ.ค. 2559 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงฯ  เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ได้ติดตามงานในปี 2559 และนโยบายในปี 2560 ที่จะเริ่มใช้ยุทธศาสตร์ 5 ปีของกระทรวงฯระหว่างปี 2560-2564 โดยวางเป้าหมายจะทำเกษตรแปลงใหญ่ให้ได้ถึง 1.5 ล้านไร่ หลังจากประสบความสำเร็จในปี 2559 ทำเกษตรแปลงใหญ่ได้ 153,800 ไร่ ในสินค้าเกษตรจำนวน 12 ประเภท มีการตั้งกลุ่มสหกรณ์ 122 กลุ่ม ตั้งวิสาหกิจขุมชน 393 กลุ่ม พัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ หรือเกษตรกรสมัยใหม่ได้ 67,200 ราย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ทำเกษตรแปลงใหญ่ 4,217 ล้านบาท ส่วนเรื่องปัญหาตั๋วปุ๋ย ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้หารือร่วมกับดีเอสไอและ ปปง.แล้วหากมีเจตนาร่วมกันฉ้อโกงสหกรณ์และพบผู้กระทำผิดจะฟ้องร้องดำเนินคดีทันที

ขณะที่วานนี้ พล.อ.ฉัตรชัย เป็นประธานเปิดงานและมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ  2560 ว่า ปีหน้าจะขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วยการทำการเกษตรที่มีมาตรฐานอย่างมั่นคงและยั่งยืน  ด้วยการนำองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ควบคู่กับเทคโนโลยี นำไปสู่การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทย

พล.อ.ฉัตรชัย  กล่าวว่า  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร การสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับคนในประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่สินค้าเกษตรปลอดภัย ยกระดับมาตรฐานสู่ตลาดโลก และพัฒนาสู่การทำการเกษตรอินทรีย์ระยะยาว นอกจากนี้ จะเดินหน้าโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ปี 2560 ด้วยการลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร บริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) พัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ส่งเสริมศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร มุ่งเน้นเกษตรอินทรีย์ และสร้างธนาคารสินค้าเกษตร ตั้งเป้าปี 2560 จะขยายเป็น 1,500 แปลง และขยายเป็น 7,000 แปลง ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันมีจำนวน 600 แปลง
 
พร้อมวางแผนแก้ปัญหาเรื่องข้าวระยะยาว ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตข้าว ทั้งลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าว พร้อมกำหนดเขตที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวแต่ละชนิดพันธุ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิต การบริหารจัดการการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้ชุมชนมีการบริหารจัดการในการผลิตและการตลาดอย่างมีส่วนร่วม

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย 1, 2

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฝากขังผัดแรก 'ณัฐดนัย' ผู้ต้องหาแฮกเกอร์วัย 19 ปี ศาลไม่ให้ประกันตัว

$
0
0

แม่ยื่นหลักทรัพย์โฉนดที่ดิน 4 แสน ศาลไม่ให้ประกันระบุ มีลักษณะเป็นขบวนการก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 

28 ธ.ค.2559 ที่ศาลอาญา ร.ต.อ.ชลิต มณีพราว พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ควบคุมตัว นายณัฐดนัย อายุ 19 ปี ผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแฮกเกอร์เจาะระบบและเว็บไซต์หน่วยงานราชการมายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.59 - 8 ม.ค.60 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 5 ปาก และรอผลการตรวจประวัติผู้ต้องหา โดยพนักงานสอบสวนได้ขอคัดค้านการให้ประกันตัวด้วย ด้านมารดาของนายณัฐดนัยได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวบุตรชายโดยวางหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินมูลค่า 400,000 บาท ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะเป็นขบวนการก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวน ยกคำร้อง คืนหลักประกัน” จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงได้นำตัวนายณัฐดนัยไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

นายณัฐดนัยถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกจับกุมตัวที่บ้านพักย่านบางชันเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.และควบคุมตัวที่ มทบ. 11 เป็นเวลา 7 วัน จนกระทั่งวันที่ 26 ธ.ค.จึงส่งมอบตัวให้กับตำรวจและตำรวจนำตัวนายณัฐดนัยมาแถลงข่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการ1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่, ปลอมเอกสารและใช้เอกสารราชการปลอม, ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรฐานป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน, ร่วมกันล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ นำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น, ร่วมกันกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบเพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวางหรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติได้, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน, มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, เสพและมียาเสพติดให้โทษประเภท 5 (กัญชา) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 5,6,7,9,10, 14(1) พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4,7(5),26 วรรคแรก, 57, 76 วรรคแรก, 92, 102 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4(1),(2), 7,8, 72 วรรคแรก, 72 ทวิวรรคแรก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,209,264,265 และ 268  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ระบุว่า ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การภาคเสธ (รับบางส่วน ปฏิเสธบางส่วน) ไม่ใช่รับสารภาพดังที่มีการแถลงข่าว ส่วนรายละเอียดของกลางเอกสารระบุว่ามี ปืนพกสั้น 2 กระบอก, ปืนยาว 1 กระบอก พร้อมกระสุนปืนลูกซอง 19 นัด, โครงปืนจำนวน 2 อัน, กัญชาอัดแท่งมูลค่าประมาณ 200 บาท, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กสีดำ 1 เครื่อง, เราท์เตอร์ไวไฟ 1 เครื่อง, คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะแบบประกอบ (ไม่มียี่ห้อ) 1 เครื่อง, โทรศัพท์มือถือ Huawei สีขาว 1 เครื่อง สำหรับพฤติการณ์การจับกุมนั้นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2559 ลงวันที่ 29 มี.ค.2559 ได้เข้าตรวจค้นบ้านพักผู้ต้องหาที่อาศัยอยู่กับมารดาเนื่องจากมีเหตุอันควรสงสัยว่าบ้านดังกล่าวมีการกระทำผิดกฎหมายประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะได้หมายค้นมา บุคคลที่กระทำความผิดอาจหลบหนีไปหรือทรัพย์สินที่ใช้กระทำความผิดอาจถูกโยกย้ายทำลาย พนักงานรักษาความสงบฯ จึงเข้าดำเนินการตรวจค้นจับกุม

ขณะที่เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานวันนี้ว่า ทหารเตรียมส่งแฮกเกอร์ให้ตำรวจดำเนินคดีอีก พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ ผกก.ตม.จว.พระนครศรีอยุธยา ในฐานะ รองโฆษก ตร. กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามจับกุมกลุ่มแฮกเกอร์ที่ทำการเจาะข้อมูลเว็บไซต์หน่วยงานราชการนั้น ทราบว่าเร็วๆ นี้เจ้าหน้าที่ทหารจะส่งมอบตัวผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มเติม แต่ขอไม่เปิดเผยว่ามีจำนวนกี่ราย โดยจะทยอยส่งมอบตัวให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ และให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) ขยายผลถึงผู้ร่วมขบวนการที่เหลือ และหากพบพยานหลักฐานเชื่อมโยงถึงใคร ก็จะดำเนินคดีอย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่โลกโซเชียลมีเดียมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจับกุม นายณัฐดนัย อายุ 19 ปี ผู้ต้องหาเจาะข้อมูลเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ และเป็นสมาชิกเพจเฟซบุ๊กต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์ ว่า อาจจับกุมผิดคนหรือเป็นแพะนั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าไม่ใช่แพะ เจ้าหน้าที่ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมาย อีกทั้งผู้ต้องหาก็ให้การรับสารภาพ พร้อมมีพยานหลักฐานชัดเจนแน่นหนา ดังนั้นขอย้ำว่าไม่มีการจับแพะแน่นอน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลโหวตแฟนเพจแห่งปี 2016 หมอแล็บแพนด้า, ไข่แมว, สัตว์โลกอมตีน, น้องง ฯลฯ

$
0
0

ผลโหวต 10 อันดับเฟซบุ๊กแห่งปี 2016 อันดับ 1 หมอแล็บแพนด้า 3.1 หมื่นคะแนน ตามมาด้วย ไข่แมว, สัตว์โลกอมตีน, น้องง, อีเจี๊ยบ เลียบด่วน, เรน ทหารม้าโยโกฮาม่า, Somsak Jeamteerasakul, Drama-addict, Lowcostcosplay และ  รบกวนตัดต่อภาพนี้ให้หน่อยสิ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาไทจัดโหวตเฟซบุ๊กแฟนเพจแห่งปี (รวมทั้งผู้ใช้เฟซบุ๊กประเภทบัญชี) ผ่านทางเพจ ประชาไท Prachatai.comซึ่งเดิมได้ตั้งช่วงเวลาของการโหวตไว้ตั้งแต่วันที่ 21 – 28 ธ.ค. 59 แค่เพียงวันแรกก็ได้รับการตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง มีผู้เข้าร่วมโหวตจำนวนมากและแฟนเพจหลายแห่งมีการแชร์ต่อเพื่อเชิญชวนให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้ามาโหวตร่วมสนุก อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านไปได้เพียง 1 วันก็เกิดปัญหาเมื่อระบบของเฟซบุ๊กไม่สามารถแสดงตัวเลือกให้กดโหวตได้ แม้จะประสบปัญหาดังกล่าว แต่จำนวนผู้เข้าร่วมโหวตหลายเพจก็มียอดกว่าหมื่นคะแนน โดย 10 อันดับแรกที่ได้คะแนนสูงสุดถือเป็นเฟซบุ๊กเพจที่มีความน่าสนใจและโดดเด่นในรอบปีที่ผ่านซึ่งประกอบด้วย

 

ตัวอย่างการแสดงผลโหวตซึ่งสามารถดูได้เพียงจากแอปฯ 'ตัวจัดการหน้าใน facebook'

1 หมอแล็บแพนด้า

หมอแล็บแพนด้า มีคะแนนโหวต 3.1 หมื่นคะแนน ปัจจุบันมียอดไลก์กว่า 1 ล้าน มี ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ เป็นแอดมินเพจ ที่นี่ให้ทั้งอารมขันจากการล้อเลียนและให้ความรู้ด้วยการโพสต์ข้อมูลเตือนภัยสุขภาพเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ผิวขาว และอาหารเสริมต่างๆ ฯลฯ ในรอบปีที่ผ่านมามีประเด็นถูกเจ้าของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลดน้ำหนักยี่ห้อหนึ่งฟ้องฐานหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงด้วย และในเดือนนี้ยังมีประเด็นถกเถียงกรณีพระธาตุ โดยร่วมกับ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทดลองเลือดพระธาตุอีกต่างหาก

2 ไข่แมว

ไข่แมว มีคะแนนโหวต 1.7 หมื่นคะแนน ปัจจุบันมียอดไลก์กว่า 2.48 แสน เป็นเพจที่มีจุดเด่นเรื่องการวาดภาพล้อเลียนสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมที่เพิ่งเกิดขึ้นภายในปีนี้ อย่างไรก็ตามดูเหมือนไม่มีใครได้อ่านสิ่งที่แอดมินเพจนี้พูดเลย (ก็เขาวาดภาพอย่างเดียว ฮา)

3 สัตว์โลกอมตีน

สัตว์โลกอมตีน มีคะแนนโหวต 1.2 หมื่นคะแนน ปัจจุบันมียอดไลก์กว่า 2.39 ล้าน เป็นเพจที่ถูกเรียกชื่อเล่นว่า ‘สลอต’ จากชื่อย่อของเพจ มีสัญลักษณ์ประจำเพจคือตัวสล็อตสีเขียว พร้อมคำถามประกอบมุขด้วยว่า “รู้หมือไร่?” กับมุขที่นำภาพสัตว์ต่างๆ มาเป็นองค์ประกอบ สำหรับมุขที่เพจนี้ใช้ หลายคนในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างเตือนกันว่า “ระวังโดนสลอตกินสมอง”

4 น้องง

น้องง มีคะแนนโหวต 1.2 หมื่นคะแนน ปัจจุบันมียอดไลก์กว่า 1.9 แสน เพจ ‘ReviewHere’ อธิบายเพจน้องงไว้ว่า เดิมชื่อเพจ ‘น้อง’ แต่ปลิวเลยตั้งชื่อใหม่โดยมี ‘ง’ เพิ่มขึ้นมา เป็นเพจที่ฉีกทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาษาหรือศาสนา นางเล่นยับหมดและมีพาสาทิพย์ที่เป็นภาษาแบบใหม่ที่คนเห็นก็ไม่เข้าใจแต่ก็รู้สึกได้ เป้าหมายคือการให้มีศาสนา น้อง อยู่ในบัตรประชาชน

5 อีเจี๊ยบ เลียบด่วน

อีเจี๊ยบ เลียบด่วน มีคะแนนโหวต 1 หมื่นคะแนน ปัจจุบันมียอดไลก์กว่า 2 ล้าน เป็นเพจคอมเม้นท์ประเด็นทางสังคม ดารา และประเด็นกระแสต่างๆ มีสัญลักษณ์เป็นลูกเจี๊ยบสีเหลือง มีสไตล์การเขียนแบบจิกกัด นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘ตัวกาลกิณี’ ของทุกวงการ เชียร์ทีมไหนหรือใครก็มักจะประสบความพ่ายแพ้ จนหลายคนสามารถแทงสวนอีเจี๊ยบไว้ได้เลย

6 เรน ทหารม้าโยโกฮาม่า

เรน ทหารม้าโยโกฮาม่า มีคะแนนโหวต 9.9 พันคะแนน ปัจจุบันมียอดไลก์กว่า 9 แสน เป็นเพจล้อเลียนและมีคำคมที่เป็นมุขให้อารมณ์ขัน

7 Somsak Jeamteerasakul

Somsak Jeamteerasakul มีคะแนนโหวต 9.6 พันคะแนน เป็นเฟซบุ๊กลักษณะบัญชีของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขาใช้เฟซบุ๊กโพสต์ความคิดเห็นและวิพากษ์สถานการณ์ทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ ภาพยนตร์ แบบที่หาไม่ได้ในประเทศไทย ช่วงหลังเริ่มมีการนำแมวมาร่วมแจมด้วย นอกจากนี้สมศักดิ์ยังมีฉายาในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วยว่า “บาโฟ” มาจากบอสของเกมส์ออนไลน์ ด้วยสไตล์การไล่ถกเถียงของสมศักดิ์ในโลกเฟซบุ๊กทำให้มีผู้เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์  “บาโฟลง” เหมือนบอสมาลงในพื้นที่การถกเถียงดังกล่าว

สำหรับยอดผู้ติดตามนั้นไม่สามารถระบุได้เนื่องจากถูกปิดการแสดงผล เพราะก่อนหน้านี้ หลังปรากฏการณ์ BBC Thai และไผ่ ดาวดิน มีรายงานข่าวว่าตำรวจเริ่มเรียกประชาชนธรรมดาผู้ใช้เฟซบุ๊กไป “ปรับทัศนคติ” บางกรณีบุกถึงบ้าน คุยกับครอบครัวโดยระบุชัดว่าเป็นเพราะกดไลก์ติดตามเฟซบุ๊ก สมศักดิ์ (รายละเอียดเพิ่มเติม) ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาก่อน สมศักดิ์จะปิดการแสดงผลจำนวนผู้ติดตาม มีจำนวนผู้ติดตามอยู่ที่ 283,400 ราย

8 Drama-addict

Drama-addict มีคะแนนโหวต 7.8 พันคะแนน ปัจจุบันมียอดไลก์กว่า 1.45 ล้าน เป็นเพจที่หยิบจับประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันในสังคมมากล่าวถึง ด้วยสโลแกน "ดราม่าเอย จงซับซ้อนขึ้น" ก่อนหน้านี้มีการเขียนสรุปประเด็นดราม่าลงเว็บไซต์ drama-addict.comด้วย

9 Lowcostcosplay

Lowcostcosplay มีคะแนนโหวต 6.9 พันคะแนน ปัจจุบันมียอดไลก์กว่า 1.5 ล้าน เพจนำเสนออารมณ์ขันผ่านมุขการคอสเพลย์ภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์ การ์ตูน บุคคลสำคัญต่างๆ ด้วยการนำวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถหยิบจับได้ข้างๆ ตัวมาบวกกับไอเดีย เมื่อนำเสนอภาพออกมาก็สามารถสร้างอมยิ้มให้กับผู้รับชมได้

10 รบกวนตัดต่อภาพนี้ให้หน่อยสิ

รบกวนตัดต่อภาพนี้ให้หน่อยสิ มีคะแนนโหวต 6.6 พันคะแนน ปัจจุบันมียอดไลก์กว่า 1.1 ล้าน เป็นเพจที่นำภาพแปลกๆ หรือแม้แต่ภาพธรรมดาๆ มาตัดต่อรวมทั้งเชิญชวนให้ลูกเพจตัดต่อส่งเข้ามาแสดงในช่องคอมเม้นท์ จากภาพที่ดูไม่มีอะไรเลย เมื่อตัดต่อแล้วกลับสร้างเสียงฮือฮาหรืออารมณ์ขันได้

นอกจาก 10 เพจข้องต้นแล้ว ยังมีเพจที่ถูกโหวตในอันดับต่อๆ มาอีก เช่น คาราโอเกะชั้นใต้ดิน (6.1 พันคะแนน), โหดสัส ตามภาพ (5.7 พันคะแนน), RED Skull (5.5 พันคะแนน), Jessada Denduangboripant (4.1 พันคะแนน), พ่อบ้านใจกล้า (3.6 พันคะแนน), โดนไล่มาเล่นในนี้ (3.5 พันคะแนน), บีบีซีไทย - BBC Thai (3.3 พันคะแนน), Jod  8riew(3.3 พันคะแนน), อยากดังเดี๋ยวจัดให้(3.1 พันคะแนน), เอา5นาทีของกูคืนมา(3.1 พันคะแนน), พลเมืองต่อต้าน Single Gateway : Thailand Internet Firewall #opsinglegateway (2.7 พันคะแนน), เปี๊ยก ไรเดอร์(2.6 พันคะแนน), Contrast(2.6 พันคะแนน), 9GAG(2.5 พันคะแนน), วิวาทะ V2(2.2 พันคะแนน), นัดเป็ด(2.2 พันคะแนน), The MATTER(2.1 พันคะแนน), ใต้เตียงดารา(2.1 พันคะแนน), จอนนี่แมวศุภลักษณ์(2 พันคะแนน), Pixel Crazy 8bit สมาคมคนรัก8บิท(1.9 พันคะแนน), จบข่าว(1.9 พันคะแนน), มิตรสหายท่านหนึ่ง(1.9 พันคะแนน) และ ตั๋วร้อน ป๊อปคอร์นชีส (1.7 พันคะแนน),  เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเนื่องจากระบบโหวตของเฟซบุ๊กมีโควตาใส่ตัวเลือกได้เพียง 100 ตัวเลือก และหลังจากโพสต์เริ่มต้นก็มีผู้เข้ามาใส่ตัวเลือกครบภายใน 10 นาที ทำให้มีบางตัวเลือกที่ซ้ำ ซึ่งระบบไม่อนุญาตให้เอาออก อีกทั้งมีบางเพจที่น่าสนใจแต่ไม่ถูกใส่เข้าไป เช่น เพจ หนังฝังมุก, บันทึกของตุ๊ด, หยุดดัดจริตประเทศไทย, กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ เป็นต้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ เปิด 11 บทบาท 'ศาล' ภายใต้ระบอบคสช.รอบปี 59

$
0
0

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการทำคำพิพากษาและคำสั่ง การดำเนินกระบวนการพิจารณา หรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจต่างๆ เกี่ยวกับศาล ในปี 2559 ที่ผ่านมา จำนวน 11 บทบาทด้วยกัน ประกอบด้วย ศาลทหารยังคงมี “บทบาท” พิจารณาคดีพลเรือน, เวลาเปิด-ปิดทำการของศาลทหารที่ไม่ปกติและศาลทหารบางแห่งไม่มีตุลาการประจำ, ศาลทหารกับกระบวนการยุติธรรมที่แสนล่าช้า, บทบาทตุลาการศาลทหารในเวทีนานาชาติทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน, ศาลไม่คุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกภายใต้การลงประชามติ ขณะประชาชนนับร้อยถูกดำเนินคดี, ศาลยุติธรรมรับรองการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. คุมตัวบุคคลเข้าค่ายทหาร, ศาลอุทธรณ์รองรับอำนาจคณะรัฐประหาร ในคดีฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวของบก.ลายจุด, ศาลปกครองรับฟ้องเพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวมทบ. 11, กรณีเมื่อศาลให้ประกันตัวคดีมาตรา 112, การล็อกห้องอ่านคำพิพากษา พร้อมปิดกั้นการเข้าถึงเอกสารในคดี และศาลถอนประกันผู้ต้องหาจากการแสดงออกทางสังคมออนไลน์

โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตลอดปี 2559 ที่กำลังจะผ่านไป การใช้อำนาจโดยการกล่าวอ้างว่ากระทำในนามของ “กฎหมาย” และ “กระบวนยุติธรรม” ของคสช. ยังคงมีบทบาทอย่างเข้มข้นในการควบคุมจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของพลเมืองในสังคมไทย ทหารยังมีบทบาทในการเข้าแจ้งความ จับกุม และนำบุคคลที่แสดงออกทางการเมืองขึ้นพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องตลอดสองปีกว่าที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร  
 
ขณะเดียวกันศาลได้เข้ามามีบทบาทภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ไม่เพียงแต่ศาลทหารที่คสช.ประกาศให้มีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือนแทนศาลยุติธรรม แต่ศาลยุติธรรม หรือแม้แต่ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็เข้าไปมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการทำคำวินิจฉัยที่ยืนยันว่าการยึดอำนาจรัฐประหารของคสช.และการใช้อำนาจของคสช. ในห้วงกว่าสองปีที่ผ่านมากระทำในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งชอบด้วยกฎหมาย ดังที่ทราบกันว่าอำนาจตุลาการเป็นรากฐานหนึ่งของระบบการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐตามหลักการแบ่งแยกของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในแง่นี้อำนาจตุลาการที่รับรองสถานะและการใช้อำนาจของคสช. ไม่ว่าโดยการออกประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใดๆ  จึงมีบทบาทสำคัญที่ส่งผลทางการเมืองหลังรัฐประหาร
 
ต่อไปนี้เป็นการรวบรวม 11บทบาทศาล ทั้งการทำคำพิพากษาและคำสั่ง การดำเนินกระบวนการพิจารณา หรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจต่างๆ  ในปีพ.ศ.2559 พร้อมกับชี้ชวนให้ร่วมกันพิจารณาว่าระบบตุลาการเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาททางการเมือง และมีส่วนสำคัญต่อการสร้างหรือธำรงความขัดแย้งทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมา มิใช่องค์กรที่อิสระอยู่นอกเหนือแยกขาดออกไปจากการเมือง และไม่สังกัดฝักฝ่ายใดๆตามหลักความเป็นอิสระและเป็นกลางหรือไม่

1) ยังคงมี “บทบาท” พิจารณาคดีพลเรือน

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2559  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 ให้ความผิดที่เกิดนับตั้งแต่วันที่ออกประกาศ ซึ่งมีประกาศคสช.ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารในคดีความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของชาติ คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคสช.และคดีอาวุธ อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม เริ่มตั้งแต่วันออกประกาศเป็นต้นไปหลังจากพลเรือนนับพันคนต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารด้วยผลของประกาศของคสช.กว่า 2 ปีที่ผ่านมา

ตามที่ศูนย์ทนายความฯ ได้รับข้อมูลสถิติของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร  จากกรมพระธรรมนูญซึ่งต้นสังกัดของศาลทหาร พบว่าระหว่าง 22 พ.ค.2557 - 31 พ.ค.2559 มีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร จำนวน 1,811 คน และเป็นจำนวนกว่า 1,546 คดี โดยมีคดีที่ยังไม่เสร็จสิ้นการพิจารณากว่า 517 คดี นอกจากนี้  ยังมีกรณีที่ยังไม่เป็นคดีหรือไม่มีการฟ้องร้องคดีในศาลทหาร แต่การกระทำเกิดขึ้นก่อนจะมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 หรือกระทำก่อนวันที่ 12 ก.ย. 2559  ดังนั้น  แม้จะมีคำสั่งหัวหน้าคสช. ดังกล่าว แต่ยังมีพลเรือนอีกมากกว่า 517 คดี ที่ยังคงเผชิญชะตากรรมในศาลทหารต่อไป

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.สำราญราษฏร์ในคดีที่ล่าสุดที่จะถูกพิจารณาในศาลทหาร

นอกจากนี้ ภายหลังการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ยังคงมีการดำเนินคดีบุคคลในศาลทหารอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีสมอลล์ บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ที่แสดงความเห็นในเวทีเสวนาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 12 ก.ย.58 แต่ปรากฏว่าหมายจับออกเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2559 เช่นเดียวกับกรณีของศิริกาญจน์ เจริญศิริทนายความที่ถูกแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ร่วมกับ 14 นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากเหตุการณ์เมื่อเดือนมิ.ย.2558 แต่กลับเพิ่งมีการออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อ เดือน ก.ย.2559 โดยหากมีการสั่งฟ้องคดี ทั้งสองคดีก็จะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร เนื่องจากเป็นคดีที่มีการกระทำเกิดขึ้นระหว่างมีการประกาศใช้ศาลทหารนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าแม้จะหยุดใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน แต่ก็ยังมีพลเรือนที่ยังถูกดำเนินคดีในศาลทหาร  ทั้งคดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและคดีที่ยังไม่มีการฟ้องคดีเลย แต่ปรากฏว่าในระยะเวลาสองปีกว่านี้  มีคดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีสืบเนื่องจากเหตุผลการเมืองในศาลทหารที่มีการสืบพยานจนเสร็จและมีคำพิพากษาแล้วเพียงสองคดีเท่านั้น  

2) เวลาเปิด-ปิดทำการของศาลทหารที่ไม่ปกติและศาลทหารบางแห่งไม่มีตุลาการประจำ

ตามปกติแล้ว “ศาล” จะมีเวลาทำการตามเวลาราชการคือตั้งแต่เวลา 8.30 น. – 16.30 น. แต่ปรากฏว่าการพิจารณาคดีในศาลทหาร กลับมีเวลาทำการที่ไม่แน่นอน และไม่ใช่เพื่อเป็นไปในทางคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังกรณี 15 ผู้ต้องหาตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย (นปป.) ที่ถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ภายหลังจากเสร็จสิ้นการสอบปากคำผู้ต้องหาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปขอฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพฯ  เมื่อศุกร์ที่ 19 ส.ค.59 เวลา 14.30 น. และทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาในวันเดียวกัน  แต่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าเนื่องจากใกล้หมดเวลาราชการแล้ว ไม่ให้ยื่นคำร้องขอประกันตัวในวันดังกล่าว แต่ให้มายื่นในวันจันทร์ ทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกส่งตัวไปคุมขังภายในเรือนจำถึง 3 วัน  แต่ในวันเดียวกันนี้ เวลา 20.30 น. ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น กลับมีการเปิดทำการเพื่อรับฟ้อง จตุภัทร์บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” จากคดีทำกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พ.ค.58  โดยให้คุมขังนายจตุภัทร์ระหว่างการพิจารณาคดี จึงทำให้นายจตุภัทร์ถูกนำไปขังที่เรือนจำกลางขอนแก่นตั้งแต่คืนดังกล่าว

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ระหว่างรอการพิจารณาคดีที่ศาลทหารขอนแก่น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งแต่เมื่อปี 2558 ในกรณี 14 นักศึกษา-นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ เปิดรอรับคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนจนถึงเวลา 22.00 น. และกว่ากระบวนการขอฝากขังและคัดค้านทั้งหมดจะเสร็จสิ้น ก็เป็นเวลา 00.30 น.ไปแล้ว ราวกับศาลทหารจะเปิดปิดทำการได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากเจ้าหน้าที่รัฐจะดำเนินการ ทาง “กฎหมาย” กับผู้ต้องหาทางการเมือง

นอกจากนี้แล้ว ศูนย์ทนายความฯ ยังพบกรณีที่ตุลาการในศาลทหารหลายจังหวัดเดินทางไปปฏิบัติงานที่ศาลทหารอื่น ตามระบบการหมุนเวียนตุลาการในศาลมณฑลทหาร จนทำให้บางวัน ศาลทหารไม่มีตุลาการประจำอยู่ และไม่มีผู้พิจารณาคำร้องต่างๆ ที่ประชาชนไปยื่นต่อศาล เช่น กรณีช่างตัดแว่นพ่อลูกอ่อนที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ญาติได้เดินทางไปยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาที่ศาลทหารมณฑลทหารบกที่ 37 จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 25 ต.ค.59 แต่ไม่ได้รับการพิจารณาโดยตุลาการในวันดังกล่าว  เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระบุว่าตุลาการเดินทางไปพิจารณาคดีที่ศาลทหารอื่น ส่งผลให้สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคำร้องขอประกันตัวของผู้ต้องหาต้องล่าช้าออกไป

3) ศาลทหารกับกระบวนการยุติธรรมที่แสนล่าช้า

ปรากฏการณ์สำคัญของการพิจารณาคดีในศาลทหารที่ค่อยๆ เด่นชัดขึ้นในปีนี้ คือกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะในคดีที่จำเลยถูกขังในระหว่างพิจารณาคดีและมีการต่อสู้คดี ด้วยรูปแบบการนัดสืบพยานที่ไม่ต่อเนื่องกันเหมือนศาลพลเรือน ศาลทหารจะมีการนัดสืบพยานต่อนัดเป็นครั้งๆไป และแต่ละคดีมีการสืบพยาน 1 นัด เป็นเวลา 2 ถึง 3 เดือนต่อครั้ง บางคดีมีการพิจารณาคดีเฉพาะในช่วงเช้าในแต่ละนัดเท่านั้น  ทำให้พยานบางปากต้องใช้เวลาสืบพยานหลายนัด  อีกทั้งในหลายๆคดีพบว่ามีการเลื่อนการสืบพยานโจทก์บ่อยครั้ง  ทั้งที่พยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องมาเบิกความเป็นพยานตามหมายเรียกพยานของศาล  ซึ่งหากพยานที่โจทก์ออกหมายเรียกไว้ไม่มาศาล  จะทำให้ต้องยกเลิกวันนัดในวันดังกล่าวและต้องหาวันนัดใหม่เพราะโจทก์จะออกหมายเรียกพยานมานัดละคนและทีละนัดเท่านั้น ทำให้จนถึงปัจจุบันจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองซึ่งจำเลยมีการต่อสู้คดี มีคดีที่สืบพยานเสร็จสิ้นและศาลทหารมีคำพิพากษาไปแล้วเพียงสองคดี   

สิรภพ ขณะรอการพิจารณาคดีในศาลทหาร

ในปีนี้ ศาลทหารเพิ่งมีคำพิพากษาในคดีของสิรภพ ในข้อหาฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช. เขาถูกควบคุมตัววันที่ 25 มิ.ย.57 ก่อนถูกฟ้องคดีต่อศาลวันที่ 15 ส.ค.57 โดยศาลทหารกำหนดวันนัดสืบพยานโจกท์ลำดับแรกวันที่ 11 พ.ย.57 แต่ก็ไม่สามารถสืบพยานปากแรกนี้ได้เป็นเวลากว่า 6 เดือน เพราะพยานติดภารกิจไม่สามารถมาศาลได้ กว่าการสืบพยานลำดับแรกนี้จะเสร็จสิ้นก็วันที่ 4 พ.ย.58 รวมระยะเวลาในการนัดและสืบพยานปากนี้ทั้งหมด 1 ปีเต็ม ก่อนที่การสืบพยานจะแล้วเสร็จและศาลอ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย.59 รวมเวลาพิจารณามากกว่า 2 ปี  โดยคดีนี้จำเลยถูกขังในระหว่างการพิจารณาคดีและคดีฝ่าฝืนรายงานตัวมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสองปีเท่านั้น

ตัวอย่างความล่าช้าที่น่าสนใจ ได้แก่ คดีอัญชัญ จำเลยในคดีมาตรา 112 คดีนี้มีการจับกุมตัวจำเลยเมื่อวันที่ 30 ม.ค.58 หลังจากสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23 เม.ย.58 กว่า 1 ปี 8 เดือน จึงมีการสืบพยานโจทก์  แต่มีการเลื่อนคดีเนื่องจากพยานโจทก์ไม่มาศาล 3 นัด  และเนื่องจากนัดพิจารณาครั้งละวันไม่ใช่นัดต่อเนื่อง  ทำให้แต่ละนัดห่างกันหลายเดือน  คดีนี้สืบพยานโจทก์ไปแล้วเพียง 2 ปาก ทั้งจำเลยยังถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีตลอดมา  เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว  หรือในคดี “ขอนแก่นโมเดล” ที่มีการจับกุมผู้ต้องหาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557  ภายหลังรัฐประหาร แต่กว่าการสืบพยานโจทก์ปากแรกจะเริ่มขึ้น (28 ต.ค.59) ก็หลังจากอัยการยื่นฟ้องจำเลยมากว่า 2 ปี ทั้งโจทก์ยังอ้างพยานบุคคลรวม 90 ปาก ซึ่งหากสืบพยานได้ปีหนึ่งราว 10-12 ปาก คดีนี้อาจใช้เวลากว่า 7-9 ปีกว่าจะสืบพยานแล้วเสร็จ  คดีนี้จำเลยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี

4) บทบาทตุลาการศาลทหารในเวทีนานาชาติ UPR

ท่ามกลางการจับตาจากนานาชาติต่อสถานการณ์การใช้ศาลทหารต่อพลเรือน ปีที่ผ่านมายังเป็นปีที่มีการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodical Review หรือ UPR) ที่นครเจนีวา ซึ่งเป็นรอบการประชุมทบทวนสถานการณ์ของประเทศไทย ทางรัฐบาลไทยเองก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นศาลทหารโดยตรง ได้แก่ พันโทเสนีย์ พรหมวิวัฒน์ หัวหน้าตรวจและร่างกฎหมาย กรมพระธรรมนูญทหาร กระทรวงกลาโหม ร่วมเป็นหนึ่งในทีมคณะผู้แทนรัฐบาลไปชี้แจงต่อที่ประชุม

พันโทเสนีย์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 59 ว่าศาลทหารถูกนำมาใช้กับพลเรือนในความผิดที่จำกัด รวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาในความผิดร้ายแรง จำเลยในศาลทหารยังได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้เข้ารับการไต่สวนในศาลพลเรือน ศาลทหารยังต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และสิทธิของจำเลยที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ตุลาการศาลทหารจำเป็นต้องมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในกฎหมายอาญา เช่นเดียวกับผู้พิพากษาในศาลพลเรือน

คณะผู้แทนไทยชี้แจงต่อที่ประชุมคณะทำงาน UPR (ขอบคุณภาพจาก กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ)

ขณะที่หากติดตามสถานการณ์ของพลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหารของไทยตลอดสองปีเศษที่ผ่านมาแล้ว พบว่าในความเป็นจริง คดีที่นำพลเรือนมาขึ้นศาลทหารจำนวนมากล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และไม่ใช่คดีร้ายแรงแต่อย่างใด เช่น คดีกินแม็คโดนัลด์ต่อต้านการรัฐประหาร, คดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคสช., คดีจัดกิจกรรมรำลึกถึงการเลือกตั้ง, คดีเดินเท้าจากบ้านไปศาลทหารคนเดียว, คดีนั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตในโครงการราชภักดิ์, คดีล้อเลียนหัวหน้าคณะรัฐประหาร, คดีนักวิชาการแถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร, คดีถ่ายรูปกับขันแดง, คดีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ, คดีจัดเวทีวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เข้าไปสังเกตการณ์กิจกรรม ก็ถูกดำเนินคดีที่ต้องพิจารณาคดีในศาลทหาร เป็นต้น

พลเรือนที่ขึ้นศาลทหารยังไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับศาลพลเรือนดังที่พันโทเสนีย์กล่าว เช่น คดีที่เกิดขึ้นในช่วงการใช้กฎอัยการศึกไม่ได้รับสิทธิการอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลทหารไม่มีกระบวนการในการสืบเสาะ ไม่มีระบบทนายขอแรงในช่วงแรก ไม่ให้ทนายความคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาในบางคดี ความแตกต่างเรื่องรูปแบบหลักทรัพย์ในการประกันตัว หรือการนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่กำลังยื่นขอประกันตัวไปเรือนจำ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาหญิงหลายรายจากกระบวนการค้นตัวผู้ต้องหาก่อนเข้าเรือนจำ เป็นต้น ทั้งในกระบวนการพิจารณาตามธรรมนูญศาลทหารองค์คณะที่ร่วมเป็นตุลาการในศาลทหาร เป็นเพียงนายทหารชั้นสัญญาบัตรที่แต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาทหารของหน่วยต่างๆ ไม่ได้จบการศึกษาด้านกฎหมายแต่อย่างใด

อีกทั้ง ในเมื่อกล่าวอ้างว่าศาลทหารไม่มีความแตกต่างจากศาลพลเรือน เหตุใดคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 55/2559 ที่ระบุเรื่องการให้คดีกลับมาพิจารณาในศาลพลเรือน จึงต้องระบุเหตุผลในคำสั่งว่าเป็นการ “ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงอีก เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ใช้สิทธิ ปฏิบัติหน้าที่ของตน และได้รับความคุ้มครองตามกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะประกาศใช้ในเร็ววัน ตลอดจน ตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน” ราวกับจะยอมรับโดยนัยว่าภายใต้การใช้ศาลทหารต่อพลเรือนนั้นไม่ได้มีการคุ้มครองหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนอยู่แต่อย่างใด

5) ศาลไม่คุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกภายใต้การลงประชามติ ขณะประชาชนนับร้อยถูกดำเนินคดี

แม้ไม่เกินความคาดหมายว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2557 มาตรา 4 หลังประชาชนกลุ่มหนึ่งยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เหตุผลในคำวินิจฉัยก็สร้างความผิดหวังให้กับฝ่ายประชาธิปไตยอย่างมาก เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับรองให้ “องค์กรของรัฐมีบทบาทในการกำกับควบคุมการจัดการออกเสียงประชามติ..." ในสภาวะที่ประเทศประสบวิกฤตการณ์ทางการเมือง ยกเว้นหลักการสากลซึ่ง “รัฐมีหน้าที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้แสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ข้อมูลเหตุผลอย่างอิสระและเท่าเทียมกัน” หรือ Free&Fair!!

ทั้งประชาชนยังต้องผิดหวังซ้ำสองจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้องที่ภาคประชาสังคมฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศกกต.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ เนื่องจากมีเนื้อหาที่จำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นจนเกินสมควรและขัดต่อกฎหมายศาลปกครองวินิจฉัยในทางเทคนิคกฎหมายเท่านั้นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีได้ โดยใช้เหตุผลว่า ประกาศดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำ การฝ่าฝืนไม่มีโทษทางอาญา

การไม่คุ้มครองการแสดงออกของประชาชนในการออกเสียงประชามติดังกล่าว ปรากฏผลให้เห็นในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกในช่วงประชามติซึ่งมีอย่างน้อย 207 คน ในจำนวนนี้ถูกกล่าวหาว่าผิดพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 อย่างน้อย 47คน มีกิจกรรมที่ถูกข่มขู่และห้ามจัดมากมายไม่นับว่าประชาชนโดยทั่วไปตกอยู่ในความหวาดกลัวไม่กล้าแสดงความเห็น หรือแม้แต่ใส่เสื้อ Vote No ที่น่าตกใจมีการดำเนินคดีนักข่าว และนักสิทธิมนุษยชนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ด้วย

ในบรรดาคดีที่ถูกตั้งหาข้อหาว่า ผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ซึ่งผู้ต้องหามักจะงุนงงสงสัยว่า ถูกดำเนินคดีได้อย่างไร แต่ทั้งศาลพลเรือนและศาลทหารกลับอนุญาตให้ฝากขังและให้ประกันด้วยเงินประกันสูงลิบ (60,000-200,000 บาท) สร้างภาระหนักหนาแก่ประชาชนที่แค่ใช้สิทธิแสดงความเห็นในเรื่องที่สำคัญกับชีวิตตนอย่างรัฐธรรมนูญลงท้ายด้วยอัยการส่งฟ้อง และศาลรับฟ้องนับแต่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติจนถึงปัจจุบันอย่างน้อย 8 คดีแล้ว ทั้งที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ยากว่า การดำเนินคดีต่อไปมีประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไร

แม้ว่ายังไม่มีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยยืนยันต่อสู้คดี แต่แนวโน้มของศาลที่ปรากฏให้เห็นดังเช่นในนัดสมานฉันท์ของคดีแจกสติ๊กเกอร์ Vote No ศาลจังหวัดราชบุรีมีลักษณะเจรจาให้จำเลยรับสารภาพ และได้บันทึกลงในกระบวนพิจารณาว่า “ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย ขั้นตอนการดำเนินคดี และการเสริมสร้างการรู้สำนึกและความรับผิดชอบจากการกระทำความผิดตามขั้นตอนแล้ว จำเลยทั้ง 5 คนแถลงยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องและประสงค์ที่จะต่อสู้คดี”

เช่นนี้แล้ว สาธารณชนก็ไม่อาจมีความหวังได้ว่า ปลายทางของกระบวนการยุติธรรมจะเอื้อต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน!!!

6) ศาลยุติธรรมรับรองการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. คุมตัวบุคคลเข้าค่ายทหาร

ในรอบปี 2559 คสช. ยังคงใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลเข้าค่ายทหารด้วยการอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้งฉบับที่ 3/2558และฉบับที่ 13/2559 ที่ออกมาตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวอย่างต่อเนื่อง แต่ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการใช้อำนาจคุมตัวบุคคลของ คสช.ลักษณะนี้ คือการที่ศาลยุติธรรมยังแสดงบทบาทในการรับรองการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารตามคำสั่งของคณะรัฐประหารอีกครั้ง จากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสนธิกำลังเข้าจับกุมควบคุมตัวจำเลยในคดี 8 แอดมินแฟนเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” เมื่อเดือนเม.ย.2559 

กรณีนี้ทั้ง 8 คน ถูกจับกุมโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่แสดงหมายจับและแจ้งสาเหตุการควบคุมตัว กว่าครอบครัวจะได้ทราบชัดเจนว่าทั้ง 8คน ถูกควบคุมตัวไปที่ไหนก็เมื่อพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ออกมาแถลงว่าจะนำไปที่ มทบ.11 แต่เมื่อญาติติดตามไปขอเยี่ยม ก็ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐถือได้ว่าเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ครอบครัวของผู้ที่ถูกควบคุมตัว 4 ใน 8 คน พร้อมทนายความจึงได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เพื่อขอให้มีการไต่สวนและปล่อยตัวบุคคลจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ศาลกลับไม่ไต่สวนในทันที และวันถัดมาศาลมีคำสั่งว่าการควบคุมตัวครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 และการควบคุมตัวยังไม่ครบ 7 วัน

ผู้ต้องหา 2 ใน 8 คดีทำเพจ "เรารักพล.อ.ประยุทธ์" ถูกทหารคุมตัวจากมทบ.11 มาถึงกองปราบฯ (ภาพโดย : Banrasdr Photo)

นอกจากนั้นในปีนี้ยังมีกรณีที่ต่อเนื่องมาจากปี 2558 คือกรณีที่ ธเนตร อนันตวงษ์ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 116 จากการโพสต์เกี่ยวกับข่าวการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์  เมื่อมีการควบคุมตัว ธเนตร สิรวิชญ์ ในฐานะเพื่อนจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวเนื่องจากการควบคุมตัวไม่ชอบแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง  โดยไม่มีการไต่สวนใดๆ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนกรณีการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกครั้ง

ศาลให้เหตุผลที่ยกคำร้องในครั้งแรกว่าคดีไม่มีมูลเพราะ สิรวิชญ์ แค่ฟัง ปิยรัฐ จงเทพ ที่เป็นเพื่อนเล่าให้ฟัง และครั้งที่ 2 ศาลอ้างว่าเป็นการคุมตัวชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะมีหมายจับของศาลทหารและเป็นคดีที่มีฐานความผิดอยู่ในพิจารณาของศาลทหารตามประกาศฉบับที่ 37/2557 และควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งถือได้ว่าศาลยุติธรรมรองรับการใช้อำนาจของ คสช.  ทั้งนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนใหม่อีกครั้งวันที่ 20 มิ.ย.59 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบเนื่องจาก ธเนตร ได้รับการปล่อยตัวแล้ว

การที่แม้กระทั่งศาลยุติธรรมแสดงบทบาทรับรองการควบคุมตัวของทหารโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ออกตามมาตรา 44 เช่นนี้ ทำให้ญาติและทนายความจะทำการตรวจสอบหรือติดตามตัวคนที่ถูกคุมตัวไปได้ยากลำบาก จนทำให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในสภาพที่ถูกตัดการติดต่อกับโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง จึงสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ตามมา และยังทำให้เกิดการควบคุมตัวในลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นต่อไป

7) ศาลอุทธรณ์รองรับอำนาจคณะรัฐประหาร ในคดีฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวของบก.ลายจุด

นอกจากการรับรองการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลของทหารแล้ว รอบปีที่ผ่านมาศาลยุติธรรมยังมีบทบาทในการรับรองอำนาจคณะรัฐประหารในหลายคดี กรณีที่สำคัญคือกรณีของสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด ที่ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวของคสช. โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.59 แก้จากศาลชั้นต้น ซึ่งเห็นว่าการไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช.ไม่เป็นความผิดเนื่องจากกฎหมายไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้  แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

สมบัติ บุญงามอนงค์

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยจะอ้างว่าคสช.ควบคุมการปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย “ข้อเท็จจริงก็ปรากฏอยู่แล้วว่าเป็นการยึดอำนาจโดยสำเร็จคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์” ส่วนที่จำเลยกล่าวอ้างว่าการรัฐประหารจะสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์เมื่อมีพระบรมราชโองการรองรับสถานะทางกฎหมายของคณะรัฐประหารโดยมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการตีความดังกล่าว “ย่อมจะทำให้เกิดผลแปลกประหลาดและเป็นปัญหาในการควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นการก้าวล่วงทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่เหนือการเมือง ต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะการพิจารณารับรองผลของการยึดอำนาจว่าสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์แล้วหรือไม่ การยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเมื่อเกิดการยึดอำนาจขึ้น”

ส่วนประเด็นข้อต่อสู้เรื่องการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังกับจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า “กฎหมายต่างๆที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกใช้บังคับนั้นมีผลอยู่แล้ว เพียงแต่มีการบัญญัติรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 อีกครั้งว่าเป็นเรื่องที่ชอบและมีผลต่อไป กรณีจึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด” คดีนี้นับเป็นอีกหนึ่งคำพิพากษาในปีที่ผ่านมาที่ช่วยยืนยันอำนาจของคณะรัฐประหาร แม้จะไม่มีกฎหมายใดรองรับ และมาตรา 113  ประมวลกฎหมายอาญาจะบัญญัติให้ผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญมีความผิดฐานกบฎก็ตาม

8) ศาลปกครองรับฟ้องเพิกถอนคำสั่งตั้งเรือนจำชั่วคราวมทบ. 11

การตั้งเรือนจำชั่วคราวภายในค่ายทหารยังเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐบาลทหารต่อเนื่องมา โดยตั้งแต่ปลายปี 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2558 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งจัดตั้งเรือนจำนั้นมีเนื้อหาที่มีความหมายไม่ชัดเจนแน่นอนที่บุคคลทั่วไปจะเข้าใจอันขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง การจัดตั้งเรือนจำจากเหตุผลทางการเมืองเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่สุจริต ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ และใช้ดุลพินิจไม่สอดคล้องกับความพอสมควรแก่เหตุ โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนหวังว่าศาลปกครองจะเข้ามามีส่วนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ในทางหนึ่ง ภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงว่าเรือนจำแห่งนี้นอกจากจะตั้งในพื้นที่ทหารแล้วจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 47 คน  ยังถูกคุมขังโดยผู้คุมพิเศษที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารถึง 80 นาย เทียบกับจำนวนผู้คุมจากกรมราชทัณฑ์เพียง  6 คนเท่านั้น และสถานที่ดังกล่าวยังเป็นที่สุดท้ายในการควบคุมตัว สุริยัน สุจริตพลวงศ์ (หมอหยอง) และพ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ก่อนทั้งสองจะเสียชีวิตอย่างปริศนา

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองเพิ่งมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 3 พ.ย.59 โดยขั้นตอนต่อไปศาลจะดำเนินการส่งคำฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำให้การ กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เพิ่งเริ่มต้นหลังการรับฟ้อง  ศาลปกครองใช้เวลา 11 เดือน ในการมีคำสั่งรับฟ้องหลังจากยื่นคำฟ้องดังกล่าว นับเป็นความล่าช้าในการตรวจสอบการกระทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่เคยปรากฏในคดีอื่นมาก่อน

9) เมื่อศาลให้ประกันตัวคดีมาตรา 112

ตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา ทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างน้อยถึง 10 ราย จากปกติที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดี 112 มีความหวังริบหรี่เหลือเกินที่จะได้โอกาสออกมาต่อสู้คดีนอกห้องขัง เพราะศาลมักจะเห็นว่าคดีเหล่านี้เป็นคดีความมั่นคงของชาติที่มีความร้ายแรง มีโทษหนัก จึงเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ในจำนวนคดีที่ได้ประกันตัวเหล่านี้อาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกเป็นคดีที่ศาลเห็นว่าการกระทำไม่ร้ายแรง หรืออาจจะไม่เข้าข่ายความผิด อาทิ กรณีโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงกรณี “จ้า” ของแม่จ่านิวและกรณีแชร์ข่าวจากเว็บไซต์บีบีซีไทยแต่ศาลอาจตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติมในการปล่อยตัวชั่วคราว เช่น ห้ามยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เป็นต้น

พัชนรี (ขวา) แม่ของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำหญิงกลางหลังศาลทหารอนุญาตให้ประกัน

อีกกลุ่มที่อาจไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างนัก คือกลุ่มจำเลยที่เป็นผู้ป่วยจิตเภท อาทิ เสาร์จำเลยที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากเขียนคำร้องยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อทวงเงินจากอดีตนายกรัฐมนตรี หลังได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าเสาร์มีอาการป่วยทางจิตมานาน และศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าเสาร์จะรักษาตัวจนสามารถกลับมาต่อสู้คดีได้ ศาลทหารก็อนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงินสด 4 แสนบาท นอกจากเสาร์แล้วยังมีฤชาผู้ถูกดำเนินคดี 112 จากการโพสต์เฟซบุ๊ก ซึ่งเขาอ้างว่าพระแม่ธรณีเป็นคนโพสต์ เพราะคนธรรมดาไม่สามารถทำกราฟฟิกได้ ทนายความได้ขอให้ศาลส่งตัวเขาเข้ารับการตรวจรักษาอาการทางจิต เมื่อศาลทหารได้รับรายงานผลการตรวจจากแพทย์จึงอนุญาตให้ฤชาได้รับการประกันตัว

อย่างไรตาม ในยุครัฐบาล คสช. มีความพยายามดำเนินคดี 112 อย่างหนัก แนวโน้มการลงโทษสูงขึ้น พร้อมกับตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางจนถึงขนาดที่ทำให้การกดไลค์ก็อาจจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ กฎหมาย 112 จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกำจัดคนเห็นต่าง อีกทั้งมีการดำเนินคดีแม้กระทั่งผู้ป่วยทางจิต ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางสาธารณะแต่อย่างใด อีกทั้งในหลายคดี ผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ยังคงไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี และเป็นคดีที่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวจำนวนสูง

10) ล็อกห้องอ่านคำพิพากษา พร้อมปิดกั้นการเข้าถึงเอกสารในคดี

ปัญหาการพิจารณาคดีเป็นการลับในคดีมาตรา 112 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่หลังรัฐประหาร คดีมาตรา 112 ที่มีการต่อสู้คดีในศาลทหาร ถูกสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ เช่นเดียวกับในศาลพลเรือน ทำให้ผู้สังเกตการณ์และประชาชนที่สนใจไม่สามารถเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้ รวมทั้งปัญหาการขอคัดถ่ายกระบวนการพิจารณาหรือคำเบิกความต่างๆ ในศาล ก็ยังเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่องทั้งในศาลทหารและศาลพลเรือน  

ภาพจากห้องพิจารณาคดีของ จตุภัทร บุญภัทรรักษา ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งพบปัญหาศาลพิจารณาโดยไม่เปิดเผยต่อสาธารณะเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างคดีสำคัญและแสดงชัดถึงปัญหานี้ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ คดีของปิยะ อดีตโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้นและจำเลยในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปิยะถูกฟ้องในข้อหาเดียวกันนี้สองคดี และทั้งสองคดีถูกศาลอาญาสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ โดยในคดีที่สองของปิยะมีการสืบพยานในช่วงปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ศาลได้สั่งพิจารณาคดีลับ ไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฟังการพิจารณา และทำการล็อกห้องไม่ให้บุคคลอื่นเข้าไปได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นคดีที่กระทบต่อความมั่นคงและสถาบันกษัตริย์ ในการอ่านคำพิพากษาช่วงเดือนต.ค.ก็เช่นเดียวกัน ที่ศาลให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีออกจากห้องพิจารณาและมีการล็อกประตูห้องระหว่างอ่านคำพิพากษา  อีกทั้งคดีนี้ ศาลยังไม่อนุญาตให้ทนายความคัดถ่ายบันทึกคำเบิกความของพยาน และไม่อนุญาตให้คัดถ่ายคำพิพากษา แต่อนุญาตให้ทนายความคัดลอกด้วยการเขียนได้

การพิจารณาคดีโดยเปิดเผย และสิทธิของคู่ความในการเข้าถึงสำนวนและเอกสารในคดีต่างๆ เป็นหลักการสำคัญของการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial)  ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยให้การรับรองเป็นภาคี ข้อ 14 (1) เอง ก็ระบุว่า บุคคลมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม รวมถึงต้องเปิดเผยคำพิพากษาในคดีอาญา หรือคำวินิจฉัยข้อพิพาทในคดี มีข้อยกเว้นเฉพาะกรณีที่เป็นคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน หรือกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทของคู่สมรสในเรื่องการเป็นผู้ปกครองเด็กเท่านั้น โดยแม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ของไทย จะให้ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ แต่มาตรา 182 วรรคสอง ระบุชัดเจนให้ศาลต้องอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผย โดยไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นใดๆ  การล็อกห้องอ่านคำพิพากษาของศาลจึงขัดต่อทั้งหลักการสากลและกฎหมายภายในประเทศเอง

11) ศาลถอนประกันผู้ต้องหาจากการแสดงออกทางสังคมออนไลน์

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา(กลาง เสื้อดำ) หลังได้รับการปล่อยตัวในคดี 112 หลังจากนั้นศาลได้ถอนประกันในเวลาต่อมา

ส่งท้ายปีด้วยการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาว่า จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ตาม มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์บีบีซีไทย ซึ่ง จตุภัทร์ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวนเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.59 อย่างไรก็ตาม 22 ธ.ค.2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นได้ไต่สวนคำร้องของพนักงานสอบสวนที่ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนสัญญาประกันตัว จตุภัทร์ โดยสั่งพิจารณาลับเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงก่อนศาลมีคำสั่งถอนประกัน โดยอ้างเหตุ “ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ” 

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.59 ศาลอุทธรณ์ได้รับรองคำสั่งถอนประกันอีกครั้ง เนื่องจากศาลเห็นว่า “ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา กับทั้งผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ทั้งผู้ต้องหายังมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้ต่อไปอีก หากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” ศาลอุทธรณ์จึงยกคำร้อง

คำสั่งดังกล่าวสร้างความสงสัยต่อนักกฎหมายและสังคมไม่น้อยว่าการแสดงออกทางออนไลน์นั้นเป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐอย่างไร และ  “การเย้ยหยันอำนาจรัฐ” นั้นเป็นเหตุให้ถอนประกันได้อย่างไร อีกทั้งการไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้นยิ่งเป็นการยืนยันได้อย่างชัดแจ้งว่าผู้ต้องหานั้นไม่ได้ยุ่งเหยิงต่อพยานหลักฐานแต่อย่างใด

11 บทบาทการทำหน้าที่ศาลในฐานะองค์กรตุลาการข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายคดีที่น่าศึกษาถึงการบังคับใช้กฎหมายและการให้เหตุผลว่าศาลมีบทบาทอำนวยความยุติธรรมอย่างไรเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านร่ำไห้ ศาลปกครองยกฟ้องกรณีเหมืองแร่ทุ่งคำ ไม่ขัดกฎหมาย-ไม่ก่ออันตราย

$
0
0

28 ธ.ค. 2559 เวลา 14.00 น. ที่ศาลปกครอง ศาลปกครองอ่านคำพิพากษา คดีดำหมายเลข ส.1544/2556 ผู้ฟ้องคดี คือ นายสราวุธ พรหมโสภา กับพวกรวม 589 คน ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อธิบดีอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร

ศาลพิพากษายกฟ้องโดยระบุถึงงานวิจัยของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การแพร่กระจายตัวและสาเหตุของการปนเปื้อนโลหะหนักในเขตพื้นที่เหมืองแร่ซึ่งพบว่ามีสารหนูทั้งในดินและน้ำอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้วซึ่งเป็นปกติของพื้นที่ที่มีแร่ทองคำ ส่วนไซยาไนด์พบว่ามีกระจายอยู่บนผิวน้ำหลายจุดในช่วงเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนและลดลงเมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ แสดงว่าไซยาไนด์ถูกชะล้างจากหลายพื้นที่ลงสู่น้ำในช่วงฤดูฝน ไม่ได้รั่วไหลออกมาจากเหมืองแร่ กระบวนการประกอบโลหกรรมเป็นกระบวนการที่ไม่มีการปล่อยน้ำจากเหมืองสู่ธรรมชาติและจากการตรวจสอบบ่อกักเก็บกากแร่ปรากฏว่าค่าไซยาไนด์ไม่เกินมาตรฐาน ดังนั้น ค่าไซยาไนด์ที่ตรวจพบในฤดูฝนน่าจะเกิดจากการใช้สารเคมีที่มีไซยาไนด์ประกอบมากกว่าการรั่วออกมาจจากเหมือง ส่วนการตรวจพบสารปรอทในเลือดของประชาชนนั้น บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ไม่มีการใช้สารปรอทในกระบวนการผลิตแต่อย่างใด ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่า บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและประกอบโลหกรรมในลักษณะที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมหรือเกิดอันตรายต่อบุคคคลตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง จึงไม่ถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด กรณีที่ไม่ยอมดำเนินการเพิกถอนประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 พิพากษายกฟ้อง

ส.รัตนมณี พลกล้า ตัวแทนทนายชาวบ้าน กล่าวว่า การตัดสินวันนี้ศาลดำเนินการพิจารณาผลกระทบต่อทรัพยากรและสภาพแวดล้อมซึ่งมีการวิจัยรองรับจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำการตรวจสอบสารโลหะหนักรอบเหมืองแล้วพบว่าไม่ได้มาจากการทำเหมืองแร่โดยตรง แต่มีในพื้นที่อยู่แล้ว นำไปสู่การยกฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรณีที่ไม่ได้เพิกถอนใบประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัท โดยศาลวินิจฉัยว่าไม่ถือเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ขั้นตอนต่อไปชาวบ้านจะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายในวันที่ 28 ม.ค.2560 ซึ่งเป็นสิทธิของชาวบ้านที่จะทำได้และทนาย วสันต์ พานิช จะให้คำปรึกษาเรื่องการยื่นอุทธรณ์อีกครั้ง

ชาวบ้านร่ำไห้ เสียใจแต่ย้ำจะสู้ต่อไป

หลังฟังคำพิพากษาชาวบ้านถึงกับร่ำไห้กันหลายคนและเตรียมจะขอยื่นอุทธรณ์ต่อไป

พรทิพย์ หงชัย หรือ ‘แม่ป๊อบ’ ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวกับทุกคนภายหลังฟังคำพิพากษาว่า “น้ำตาที่ไหลออกมาไม่ใช่น้ำตาของผู้แพ้ แต่มันเครียด มันน้อยใจ คนมีอำนาจเขามองไม่เห็น ทำเป็นไม่รู้ ไม่เป็นไร ชาวบ้านถูกเหยียบย่ำมาสารพัดก็ไม่เป็นไร เราไม่ได้แคร์อยู่แล้ว แต่นี่เป็นน้ำตาที่ออกมาจากความเสียใจต่อกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาทุกคนทำเต็มที่และยืนยันว่าชาวบ้านจะสู้ต่อไป”

“ส่วนที่เจ็บช้ำน้ำใจมากที่สุด คือ ที่บอกว่าเหมืองทองคำไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ก่อเกิดมลพิษโดยเชื่อรายงานของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมที่บอกว่าสารพิษต่างๆ ไม่ได้เกินมาตรฐานและไม่มีผลกระทบต่อสัตว์ คน สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ยิ่งคิดก็ยิ่งเหมือนฝันร้าย พออ้างเรื่องวิชาการเมื่อใด ปากคำของชาวบ้านจะไม่มีความหมายเลย เพราะชาวบ้านไม่มีความรู้ ไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี” ชาวบ้านอีกคนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดกล่าว

สุนี ไชยรส ผอ.ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต อดีต กรรมการสิทธิฯ ได้เดินทางมาร่วมให้กำลังใจชาวบ้าน ภายหลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา เธอกล่าวกับชาวบ้านทั้งน้ำตาว่า เธอมีส่วนร่วมในการติดตามคดีเหมืองแร่มาโดยตลอดและร่วมต่อสู้คดีกับชาวบ้านที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาหลายคดี  ต้องยอมรับว่าคดีแบบนี้มันยาก แต่หลายที่ชาวบ้านยังไม่ยอมแพ้และยังสู้อยู่ ก็ขอให้กำลังใจชาวบ้านและขอให้สู้ต่อไป

“วันนี้มาเพื่อให้กำลังใจชาวบ้าน มันอัดอั้นตันใจเพราะเจอเคสเหมืองแร่มาเยอะ มีหลายคดีที่ชาวบ้านมีโอกาสได้ยกเลิกการประทานบัตรและได้รับค่าชดเชย แต่ต้องต่อสู้ร่วมกันทั้งชุมชน คดีที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านยากลำบาก ถึงแม้จะได้เงินค่าชดเชย แต่ชาวบ้านไม่ได้ต้องการค่าชดเชย ชาวบ้านได้รับผลกระทบในชุมชน ต้องการคนช่วยแก้ปัญหา ที่ผ่านมาจึงฝากความหวังไว้กับศาลปกครอง” สุนีกล่าว 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พ่อไผ่ ดาวดิน-ทนายโวยศาลขอนแก่น สั่งฝากขังผัด 3 มิชอบด้วยกฎหมาย เล็งร้องคณะกรรมการตุลาการ

$
0
0

ทนายร้องเพิกถอนกระบวนการพิจารณาคำร้องฝากขัง ไผ่ จตุภัทร์ เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เหตุจากศาลไม่ได้อ่านคำร้องให้ผู้ต้องขังฟังและผู้ต้องขังไม่ได้ลงรายมือชื่อในเอกสาร แต่ศาลกลับระบุว่าผู้ต้องขังไม่ค้านการฝากขัง บิดาเตรียมร้องคณะกรรมการตุลาการชี้เป็นปัญหาที่มีผลต่อสาธารณะ 

28 ธ.ค.2559 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น นายอธิพงษ์ ภูผิว ทนายความของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ ความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีการแชร์รายงานจากเพจบีบีซีไทย พร้อมกับนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา บิดาและมารดาของไผ่ได้เดินทางมายื่นคำร้อง คำแถลง คำขอเพื่อขอเพิกถอนกระบวนการพิจารณาคำร้องขอฝากขังที่ผิดระเบียบและขอให้ศาลเบิกตัวผู้ต้องหามาสอบถาม

ก่อนหน้านี้ทีมทนายความและครอบครัวเตรียมยื่นขอประกันตัวอีกครั้งแต่ยังไม่แน่ใจในกระบวนการ จึงมีการดำเนินการยื่นคำร้องดังกล่าวเพื่อคัดค้านการดำเนินการของศาลจังหวัดขอนแก่น

เวลา 18.00 น. อธิพงษ์ ภูผิว ทนายความแถลงว่า จากเดิมครอบครัวและทีมทนายความได้เตรียมการที่จะยื่นคัดค้านการฝากขัง ขอประกันตัวและยื่นฎีกาคำสั่งถอนประกันตัวผู้ต้องหาที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ตนจึงได้มาตรวจสอบเอกสารคำสั่งศาล แต่กลับพบว่าได้มีการสั่งคุมขังผู้ต้องหาเพิ่มเติมหรือการให้ฝากขังเป็นผัดที่ 3 อีก 12 วันเป็นที่เรียบร้อย โดยในเอกสารระบุว่าผู้ต้องหาไม่ค้านการฝากขัง คำร้องฝากขังดังกล่าวลงชื่อเจ้าพนักงานสอบสวนได้ยื่นต่อศาลในวันที่ 26 ธ.ค. 2559 และศาลมีคำสั่งให้มีผลตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ต่อมาวันที่ 28 ธ.ค.บิดาของไผ่ได้เดินทางเข้าเยี่ยมบุตรชายที่เรือนจำและสอบถามเรื่องดังกล่าวกับบุตรชาย ไผ่ยืนยันกับบิดาว่า ในวันที่ 27 ธ.ค.เป็นการอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามศาลชั้นต้นให้ฝากขังผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยศาลไม่ได้อ่านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตนในผัดที่ 3 รวมทั้งไม่ได้สอบถามว่ามีความต้องการจะค้านการฝากขังด้วยหรือไม่ และขอยืนยันว่าตนไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารคำสั่งศาลที่ให้ฝากขังผัด 3

ทนายกล่าวต่อว่า หลังจากปรึกษากันภายในทีมทนายความและครอบครัว เวลาประมาณ 15.30 น.ตนจึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว เนื่องจากศาลไม่ได้มีการอ่านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผัดที่ 3 ให้ผู้ต้องหาได้รับทราบถึงการฝากขัง ผู้ต้องขังไม่ได้ลงรายมือชื่อรับทราบและไม่ได้ใช้สิทธิในการคัดค้านการฝากขัง ตามที่ระบุอยู่ในเอกสารคำสั่งอนุญาตในเอกสารคำร้องขอฝากขังแต่อย่างใด

ต่อมาเวลาประมาณ 17.40 น. ศาลได้ให้เจ้าหน้าที่นำเอกสารกระบวนพิจารณาคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบมาให้ทนายความได้อ่านโดยในเอกสารได้ระบุว่า

"พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 3 ของพนักงานสอบสวน เป็นการยื่นคำร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นการยื่นคำร้องขอฝากขังที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพียงแต่ศาลไม่ได้สอบถามผู้ต้องหาเสียก่อนว่าจะคัดค้านคำร้องฝากขังนั้นหรือไม่เท่านั้น  หาทำให้การสั่งอนุญาตให้ฝากขังดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดกฎหมายไม่ ให้ยกคำร้อง ดังนั้น จึงให้เบิกตัวผู้ต้องหามาสอบถามในลักษณะการประชุมผ่านจอภาพในวันนี้ เวลา 16.30 น."

จากนั้นจ้าหน้าที่จึงได้ให้ทนายความอ่านและคัดลอกรายงานกระบวนพิจารณาคำร้องขอฝากขังผัดที่ 3 ลงวันที่ 28 ธ.ค. 2559 เวลา 16.30 น. ในเอกสารดังกล่าวระบุว่า ได้เบิกตัวผู้ต้องหามาสอบถามด้วยระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์และผู้ต้องหาได้แถลงคัดค้านการขอฝากขัง โดยศาลได้พิจารณามีคำสั่งให้คุมขังผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนต่อไป

ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีนี้เวลา 16.30 น. เบิกตัวผู้ต้องหามาสอบถามในลักษณะการประชุมทางจอภาพ โดยมีผู้ต้องหาและนายธนกฤต สีลาดหา สักขีพยานอยู่พร้อมกันตามที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอหมายขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน ลงวันที่ 26 ธ.ค.59 สำเนาให้ผู้ต้องหารับไปแล้ว

สอบผู้ต้องหาแถลงคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจขอฝากขังระหว่างสอบสวน เพราะไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องคุมขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน เพราะพยานบุคคลที่ผู้ร้องอ้างว่าต้องสอบเพิ่มเติมนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา และที่ผู้ร้องอ้างว่าต้องรอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น ผู้ร้องสามารถตรวจสอบได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องคุมขังผู้ต้องหาไว้ ประกอบกับผู้ต้องหาต้องการที่จะไปสอบวิชาคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันที่ 17 และ 18 มกราคม 2559 ผู้ต้องหาต้องการออกไปอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบวิชาดังกล่าว ขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขังของผู้ร้อง

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำคัดค้านของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น เมื่อผู้ร้องมีเหตุจำเป็นที่ต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่มีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีจึงมีเหตุจำเป็นที่จะควบคุมผู้ต้องหาต่อไป ในชั้นนี้จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นเวลา 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.59 - 8 ม.ค.60

ทนายความจำเลยให้ความเห็นในกรณีนี้ว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการพิจารณาลับหลังจำเลย ลับหลังผู้ต้องหา ผิด ป.วิอาญาชัดเจนทางทีมทนายประชุมกันแล้วว่ารับไม่ได้กับกระบวนการนี้ จึงได้ทำเรื่องขอให้เพิกถอนกระบวนการฯ เพื่อให้มาไต่สวนในห้องพิจารณาที่มีสักขีพยาน แต่ท่านกลับคอนเฟอเรนซ์ไปที่เรือนจำที่มีเพียงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ลงชื่อเป็นสักขีพยาน"

พ่อของจตุภัทร์กล่าวว่า ผมเป็นคนถามกับไผ่เองเขาบอกว่าในวันนั้นเป็นการอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการอ่านเรื่องการฝากขัง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าไผ่ไม่ค้านการฝากขัง ศาลไม่ได้กระทำการตามกฎหมายที่จะต้องอ่านให้เขาและถามว่าเขาจะค้านไหม แต่นี่ไม่ใช่ แล้วข้อเท็จจริงมันไม่ใช่่ แล้วคราวนี้กระบวนการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบศาลรู้แล้วแทนที่จะรีบจัดการแก้ไขให้ถูกระเบียบ ไม่ใช่การย้อนกลับไปคอนเฟอเรนซ์ให้ไผ่แถลงโดยที่ทนายความก็ไม่ได้รับรู้กระบวนการนั้นๆ ด้วย กลายเป็นการย้อนกระบวนการไปทำให้มันชอบ แต่อย่างไรมันก็ไม่ชอบแล้ว

บิดาของไผ่ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้พิพากษาที่ดำเนินการตามคำร้องขอเพิกถอนกระบวนการในวันนี้ก็ไม่ใช่ผู้พิพากษาที่เป็นเวรในวันนี้ แต่เป็นผู้พิพากษาคนเดิม (ที่เป็นคนลงรายมือชื่อในเอกสารคำร้องว่าจตุภัทร์ไม่ได้คัดค้านการขอฝากขัง) ดำเนินการต่อให้กระบวนการดูเหมือนชอบ

"เราต้องการกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้" วิบูลย์ บิดาของไผ่กล่าว

"ผมไม่รู้ว่าคนที่อยู่ข้างในเรือนจำจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เราอ้างกันว่าการเคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจากสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ คิดว่านักวิชาการนักกฎหมายจะต้องมาทบทวนและหาทางอย่าให้มันเกิดขึ้นอีก เพราะว่ามันไม่เป็นผลดีกับสังคม ถ้าสถานการณ์นี้ไม่ได้คลี่คลายด้วยดี อาจมีความจำเป็นต้องร้องเรียนต่อคณะกรรมการตุลาการ ผมไม่ได้ต้องการเอาชนะแต่คุณต้องตอบสังคมให้ได้ พยานหลักฐานก็มี ดังนั้นถ้าเราปล่อยเอาไว้ มันก็อาจเกิดขึ้นได้กับประชาชนคนไหน แล้วชาวบ้านเองก็ไม่ได้รู้สิทธิอันนั้นเลย อาจมีการบีบบังคับว่าไม่ต้องค้านนะ  ลองคิดลึกๆ ว่านี่ขนาดลูกเรา เขาเป็นนักกฎหมายและคดีของเขาก็มีคนมองอยู่ เขายังทำอย่างนี้ได้" วิบูลย์กล่าว

วิบูลย์กล่าวสรุปว่า นอกจากจะมีการเตรียมการที่จะร้องต่อคณะกรรมการตุลาการเรื่องกระบวนพิจารณาอันมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทางครอบครัวก็จะร้องขอให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว(ประกันตัว) ฎีกาคำสั่งถอนประกันตัวผู้ต้องหาและอุทธรณ์คำสั่งคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการอันไม่ชอบกรณีการฝากขังคดีของ ไผ่ จตุภัทร์ ในวันรุ่งขึ้น (29 ธันวาคม 2559)

ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตว่า ตามมาตรา 87 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญากำหนดให้ศาลพิจารณาฝากขังทุก 12 วันเพื่อให้ศาลได้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเพื่อไม่ให้ควบคุมบุคคลไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกควบคุมตัวคัดค้านเหตุของพนักงานสอบสวนได้ การดำเนินกระบวนการฝากขังโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาคัดค้านจึงเป็นกระบวนการที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีการสอบถามผู้ต้องหาแต่คำสั่งอนุญาตคำร้องฝากขังลงวันที่ 27 ธ.ค.59 กลับระบุว่ามีการสอบถามผู้ต้องหาแล้วและผู้ต้องหาไม่คัดค้าน คำสั่งอนุญาตดังกล่าวจึงพิจารณาบนฐานข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงและก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ต้องหา แม้จะมีการไต่สวนเพื่อสอบถามผู้ต้องหาอีกครั้งในวันที่ 28 ธ.ค.59 ก็ไม่ทำให้สิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วชอบกฎหมายขึ้นมาในภายหลังได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพฯการบินไทยระบุ พนง.จะได้ขึ้นเงินเดือน-โบนัส มี.ค. 2560

$
0
0
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยระบุพนักงานระดับ 1-7 จะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนและเงินโบนัสในเดือน มี.ค. 2560

 
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้ออกสารถึงสมาชิกเรื่อง 'Incentive เงินเดือนประจำปีและโบนัส' ระบุว่าตามที่สหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นหนังสือต่อกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฯ เพื่อขอให้ชี้แจงกรณีความล่าช้าของเงิน Incentive เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2559 นั้น เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2559 ผู้บริหารของการบินไทยได้เชิญสหภาพแรงงานฯ ประชุมร่วมกันเพื่อชี้แจงประเด็นดังดี้ 1.เงิน Incentive ได้รวบรวมเสร็จแล้วในวันที่ 26 ธ.ค. 2559 โดยจะนำเข้าที่ประชุม Board Reform ในวันที่ 3  ม.ค. 2560 และเสนอบอร์ดชุดใหญ่ในการประชุมวาระพิเศษ วันที่ 10 ม.ค. 2560
 
2.การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2560 ให้ทุกฝ่ายทำการประเมินผลงานของพนักงานระดับ 1-7 ให้แล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2560 หากฝ่ายใดประเมินไม่แล้วเสร็จก็จะไม่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีพร้อมกับฝ่ายอื่น ๆ 3.คณะกรรมการบริษัทฯ จะมีการประชุมอนุมัติให้มีการขึ้นเงินเดือนประจำปี และอนุมัติให้จ่ายโบนัสตามผลประกอบการในเดือน ก.พ. 2560 และ 4.พนักงานระดับ 1-7 จะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนและโบนัสภายในเดือน มี.ค. 2560
 
สหภาพแรงงานฯ ระบุว่าข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นการชี้แจงของฝ่ายบริหารบริษัทฯ ซึ่งเห็นความสำคัญของพนักงานและได้เร่งดำเนินการจนแล้วเสร็จในวันที่ 26 ธ.ค. 2559 ดังนั้นสหภาพแรงงานฯ จึงได้แจ้งให้เพื่อน ๆ พนักงานได้รับทราบและจะได้คอยติดตามและให้ความร่วมมือในการดำเนินการทุกประการ เพื่อผลประโยชน์ของพนักงานทุกคน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บุคคลแห่งปี 2016: ‘นริศราวัลถ์’ จากพลทหารวิเชียรสู่ทหารเกณฑ์คนอื่นๆ

$
0
0

คุยกับหลานสาวพลทหารวิเชียรที่ถูกซ้อมจนเสียชีวิตในค่ายทหารอย่างทารุณ จากจุดเริ่มต้นการต่อสู้ทวงความเป็นธรรมให้ครอบครัว สู่ความต้องการเห็นชีวิตที่ดีของพลทหารทุกคน เพื่อที่จะเกิดโศกนาฏกรรมเช่นกรณีน้าชายของเธออีก

วันเวลาตามปฏิทินบอกกับเราอย่างไม่โกหกว่า อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นสุดปี 2559 ตลอดปีที่ผ่านมาเราผ่านเรื่องราวหลายเรื่อง มีหลายคนที่ปรากฏบนหน้าข่าวแล้วสร้างความสั่นสะเทือนให้กับผู้คนในสังคม นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หรือ เมย์ หญิงสาวอายุ 25 ปี หลานสาวของพลทหารวิเชียร เผือกสม คือหนึ่งในนั้น

เธอต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับน้าชายมาตั้งแต่ปี 2554 หลังจากที่เขาเข้ารับการเกณฑ์ทหาร และถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2554 เพียงเวลาไม่ถึง 2 เดือนหลังจากที่เขาไปเป็นทหารเกณฑ์ ทางบ้านได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ว่า พลทหารวิเชียรเสียชีวิตเนื่องจากไตวายเฉียบพลัน กล้ามเนื้อฉีกขาดรุนแรง ร่างกายถูกของแข็งกดทับ และมีร่องรอยถูกทำร้ายร่างกาย ต้นเหตุของความสูญเสียเกิดจากการสั่งทำโทษของร้อยโท 1 นายร่วมกับพวกรวม 10 คน โดยบรรดาครูฝึกทหารใหม่อ้างว่าพลทหารวิเชียรถูกลงโทษเพราะหลบหนีการฝึกถึง 2 ครั้ง แน่นอนว่านี่คือการกระทำที่เกินกว่าเหตุ แต่แทนที่จะมีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ กลับกลายเป็นว่ามีนายทหารเข้ามาเสนอขอคลุมธงชาติให้กับศพของพลทหารวิเชียร และพระราชทานเพลิงศพ พร้อมทั้งเสนอเงินเยียวยา

เรื่องราวการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมที่ยาวนานมากว่า 5 ปีของเมย์ เริ่มต้นจากจุดนั้น แม้เวลาปีหนึ่งสำหรับหลายคนจะค่อนข้างสั้น แต่เวลาที่กว่าจะผ่านไปแต่ละปีของหญิงสาวคนหนึ่งอาจยาวนานกว่านั้นหลายเท่าตัว ทั้งความเศร้าสะเทือนใจจากการสูญเสียน้าชายในสภาพอันทารุณโหดร้ายยิ่ง ความหวาดกลัวการคุกคามของเจ้าหน้าที่ในหลายกรณี และความท้อแท้ต่อกระบวนการยุติธรรมที่คืบหน้าอย่างเชื่องช้า ถึงตอนนี้จากผู้ถูกกระทำก็พลิกผันให้ตกเป็นผู้ต้องหาเสียเองในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการเข้าแจ้งความของร้อยโท (ยศปัจจุบันคือ พันตรี) ซึ่งเป็นผู้สั่งทำโทษพลทหารวิเชียร มากไปกว่านั้นเธอถูกควบคุมตัวตามหมายจับที่ออกโดยศาลจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2559 โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน ทั้งหมดนั้นเธอเผชิญหน้าและก้าวผ่านมันมาในทุกๆ ปี

แม้ว่าจุดเริ่มต้นของต่อสู้เรียกร้องจากเรื่องของความสูญเสียของครอบครัว แต่ถึงวันนี้เธอมองไปไกลกว่าตัวเอง “ทำอย่างไรที่จะทำให้คุณชีวิตของพลทหารดีขึ้น เพื่อที่จะต้องไม่มีใครตายแบบน้าอีก” นั่นคือโจทย์ใหม่ พร้อมกับการแก้ไขโจทย์เก่าที่ยังไม่สิ้นสุด

ท่ามกลางบุคคลหลากหลายในข่าวที่ล้วนสร้างผลกระทบ ผลสะเทือนอย่างสำคัญต่อสังคมในมิติต่างๆ กองบรรณาธิการประชาไทยกย่องให้นริศราวัลถ์เป็นบุคคลแห่งปี ประจำปี 2016 ด้วยเหตุที่เธอกำลังต่อสู้กับโครงสร้างที่ใหญ่ยิ่งของประเทศ ด้วยประเด็นที่แหลมคมและสำคัญอย่างยิ่ง (และอย่างไม่น่าเชื่อ) สำหรับยุคสมัยนี้ เช่น การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความโปร่งใสของกองทัพ กระทั่งสังคมอาจต่อยอดคำถามไปเองได้ไกลถึงขั้นว่ามีความจำเป็นเพียงใดกับระบบการเกณฑ์ทหาร อำนาจและที่ทางของกองทัพควรจัดสรรอย่างไร ที่สำคัญ มาตรฐานที่ได้จากเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ เพราะไม่ว่าครอบครัวไหนต่างก็ต้องเผชิญกับเรื่องนี้ทั้งสิ้น ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังเป็นภาพสะท้อนของคนธรรมดาที่กล้าลุกขึ้นเผชิญกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรม และการคุกคามรูปแบบต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 5 ปี แม้ในช่วงแรกจะยังมองไม่เห็นเค้าลางของความยุติธรรม แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เธอหยุดตามหามัน หากย้อนกลับไปวันแรกที่เธอตัดสินใจลุกขึ้นสู้ หลายคนคงอยากรู้ว่าในใจของหญิงสาวอายุ 20 ปี (เมื่อปี 2554) กำลังส่งเสียงกับตัวเองว่าอย่างไร และทั้งหมดนี้คือสัมภาษณ์พิเศษบุคคลแห่งปีของเรา

00000

ประชาไท: ทราบมาก่อนไหมว่าน้าชายได้เข้าไปสมัครเป็นทหารเกณฑ์

นริศราวัลถ์: เราไม่ได้ทราบเรื่องมาก่อน ตอนเขาไปเกณฑ์ทหารไม่ได้แจ้งใครเลย แจ้งแค่ว่าขอสึก 6 เดือนจะไปทำงาน ตอนนั้นเขาเพิ่งจบปริญญาโทและสมัครเรียนเอกไว้แล้ว ไม่มีใครรู้ว่าทำงานเกี่ยวกับอะไร ต้องบอกเลยว่าหลังจากเขาบวชก็ไม่ค่อยสนิทกัน เพราะเวลาเจอเขาก็จะเทศน์ตามประสาเขา น้าเรียนเก่งปริญญาตรีได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ปริญญาโทก็ได้ดีเยี่ยมอีก แต่เราเป็นเด็กกิจกรรม เราไม่ชอบเรียน มันทำให้ห่างกันมากขึ้น พอมาเป็นพระไม่ได้คุยกันมากแต่ทราบข่าวคราวกันตลอด ทราบว่าท่านมาเรียนธรรมศาสตร์ ตอนนั้นเราก็ติดธรรมศาสตร์แล้ว น้าจบหนูก็เข้า สวนทางกัน

โดยปกติท่านกลับบ้านตลอดเจอกับแม่ (ยายของเมย์) ตลอด หลังจากนั้นหายไปประมาณ 7 วัน แม่ก็โทรมาบอกว่าน้าหายไป ไม่สบายใจ เราก็บอกว่าคงไม่มีอะไรหรอกให้ไปแจ้งความไว้ก่อน ตอนนั้นทางบ้านก็ยังไม่รู้เลยว่าน้าเป็นทหารเกณฑ์ กว่าจะรู้เรื่องก็ประมาณวันที่ 9 ที่หายไป ครูฝึกโทรมาถามว่าพลทหารวิเชียรหลบหนีกลับมาบ้านไหม ก็เลยได้รู้ว่าเขาไปเป็นทหารเกณฑ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้แล้วหลบหนีออกจากค่าย

วันเดียวกันนั้น ครูฝึกก็โทรบอกใหม่ว่าได้ตัวกลับมาแล้ว ทางบ้านก็สบายใจ มีการเซฟเบอร์ครูฝึกไว้ ชีวิตดำเนินปกติจนช่วงวันที่ 4 มิถุนายน 2554 ญาติของผู้ป่วยเตียงข้างๆ กับน้าโทรมาบอกกับที่บ้านว่า พลทหารวิเชียร เผือกสม นอนอยู่ห้องไอซียูนะ ให้มาเยี่ยมด้วยที่ รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ เราบอกยายว่าให้โทรไปถามที่ครูฝึกที่ค่ายก่อนว่าพลทหารวิเชียรยังฝึกอยู่ไหม พอโทรไปเขาบอกว่าพลทหารวิเชียรอยู่ในค่าย ที่อยู่โรงพยาบาลเป็นคนละวิเชียรกัน พอเราขอคุยเขาก็บอกว่าติดฝึกอยู่เดี๋ยวค่อยให้มาคุย ตัวเมย์เองไม่ได้คิดอะไร เราเคยเรียน รด. มาและไม่เคยเจอแบบนี้ มันเป็นสิ่งที่กองทัพห้ามมาตลอด จนกระทั่งยายขอเดินทางไปที่โรงพยาบาลเพื่อความสบายใจในวันที่ 5 มิถุนาก็เห็นอยู่ห้องไอซียู และทราบจากคุณหมอว่าอาการหนัก ไม่ตอบสนองแล้ว

พอเห็นเขาครั้งแรกยายบอกว่าจำลูกไม่ได้ เพราะสภาพบาดแผลมันทำให้ไม่เหมือนกับคนเก่าที่รู้จัก แล้วน้าก็เสียชีวิตในวันนั้นเลย เราทราบแค่ว่าโดนซ้อมมาแต่ยังไม่รู้ว่าเกิดเรื่องอะไร โดนครูฝึกซ้อมหรือพลทหารทะเลาะวิวาทกัน จนกระทั่งวันรุ่งขึ้นทางทหารขอคลุมธงชาติและพระราชทานเพลิงศพ แล้วยังเสนอตัวเงินเยียวยาให้มากกว่าจะหาผู้กระทำความผิด มันจึงเป็นเรื่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้

พอทราบไหมว่าทำไมน้าจึงตัดสินใจไปเป็นทหารเกณฑ์

คุยกับสัสดีจังหวัดสงขลาพบว่าเขาไปสมัครเอง ตอนแรกสัสดีให้ลงสงขลาค่ายตัวเมือง แต่น้าบอกว่า เรียนจบปริญญาโทแล้ว บวชมา 8 ปีแล้ว สิ่งเดียวที่ไม่ได้ทำคือเกณฑ์ทหาร จะขอลงใต้อย่างเดียว ตอนนั้นอายุ 26 ปี

คนที่จบปริญญาตรีถ้าสมัครเป็นทหารเกณฑ์จะเป็นแค่ 6 เดือน ฝึกประมาณ 3 เดือนจากนั้นก็ส่งไปตามกรมกองต่างๆ กรณีของน้าชายเข้าไปเป็นทหารนานไหมจนกว่าจะเกิดเรื่อง

ก่อนเกิดเหตุนี้ก็เป็นพลทหารแค่เดือนเดียว เขาสมัครด้วยวุฒิปริญญาโท ถ้าฝึกก็อาจฝึกแค่เดือนสองเดือน แล้วที่เหลือไปช่วยธุรการหรืออะไรทำนองนั้น แต่เราอาจเรียกว่า กรรมเก่าหรืออะไรก็ตาม เพราะแม้สัสดีจะให้ลงสงขลาแต่ก็ยังเลือกลงไปค่ายนี้เอง ไม่ได้มีใครบังคับเขาเลย มันคงเป็นดวงของเขา ชะตาเขา แต่สิ่งที่คิดตลอดคือ จะทำยังไงให้หนึ่งชีวิตที่เสียไปมีคุณค่า เราจึงเรียกร้องความเป็นธรรมให้เขา เมื่อมาเจออะไรที่มันไม่ชอบธรรม ถ้าเราปล่อยไปหรือรับการเยียวยาโดยไม่ต่อสู้ทางกระบวนการยุติธรรมมันก็ต้องเกิดแบบนี้กับคนอื่นๆ อาจเป็นญาติคุณ ลูกคุณในวันหนึ่ง ถ้าตายในหน้าที่เรายังรู้สึกว่ามันมีคุณค่าต่อชีวิต เป็นเกียรติกับครอบครัว แต่อันนี้ตายด้วยลำแข้งของคนที่กระทำความผิด โดยที่กองทัพบกเองไม่ได้สนับสนุน ก็ต้องแก้ให้ตรงจุด ทำยังไงไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทำยังไงให้ชีวิตพลทหารดีขึ้น ตอนนี้น้องชายเราก็สมัครใจเกณฑ์ทหารอยู่แต่อยู่ในพื้นที่สงขลา

วันที่ทราบเรื่องการยื่นข้อเสนอว่าจะให้คลุมธงชาติและเงินชดเชย ญาติรู้สึกอย่างไร

ระดับกองพันที่เป็นคนเสนอ ตอนแรกที่บ้านก็เลือกรับเพราะเป็นชาวบ้าน ไม่รู้จะต่อสู้ยังไง แต่เราก็คุยกันว่าถ้าน้ายังอยู่เขาอยากจะรับเงินนั้นไหม แล้วดูสภาพศพ ความทรมานที่เขาได้รับก่อนตายมันขนาดไหน ถ้ารับเงินคนเป็นมันสบายจริงแต่คนตายก็ตายอย่างไร้ค่าไร้ศักดิ์ศรีเลย ตรงกันข้ามถ้าเราสู้เพื่อความถูกต้อง คนเป็นอาจจะลำบากแต่คนตายเขาจะตายอย่างมีคุณค่าและเพื่อให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้น ที่บ้านก็เลยเลือกความถูกต้อง

ตอนนั้นเขาเสนอเงินชดเชยมาเท่าไร

ตอนนั้นเขา(นายทหารซึ่งมารู้ตอนหลังว่าเป็นผู้สั่งทำโทษ) เสนอตัวเลข 3 ล้าน 5 ล้าน ตอนนั้นเรายังไม่แน่ใจว่ามันไม่ถูกต้อง แต่ตอนนี้เรามั่นใจว่าไม่ถูกต้องเลย ระดับผู้บังคับบัญชาเขาก็ไม่ต้องการให้ทำแบบนี้

ก่อนหน้าจะเกิดเหตุกับน้าชายเคยได้ยินเรื่องทำนองนี้มาก่อนไหม

เราได้ยินแต่ไม่เชื่อ แล้วเรียน รด.มาไม่เคยเจอแบบนี้เลย อาจจะเตะบ้าง แต่เรารับรู้ได้ว่ามาจากความหวังดี ไม่ได้ทำเพราะลุแก่อำนาจ แต่ถึงอย่างนั้นการลงโทษด้วยกำลังก็ไม่ถูกต้องทั้งนั้น เราอยากสะท้อนตรงนี้ให้กองทัพแก้ไข ไม่ต้องการให้มีการซ้อมหรือทำร้ายพลทหาร เพราะนโยบายของกองทัพก็ไม่ต้องการให้ทำแบบนี้อยู่แล้วแต่มันต้องไปสู่ระดับล่างให้ได้

คิดว่าต้นตอของปัญหาการทำโทษในลักษณะรุนแรงมาจากอะไร

เราไม่ทราบต้นตอเลย เราทราบแค่ว่าพลทหารวิเชียรหลบหนีออกจากค่าย 2 ครั้ง และอาจเป็นกรณีที่มีคนบอกว่าพลทหารวิเชียรไปเรียกทหารระดับร้อยโทว่า โยม เรียกตัวเองว่า อาตมา อาจทำให้เกิดความไม่พอใจ แล้วอีกอย่างวันที่สองก็เป็นลม ทำให้ครูฝึกคิดว่าสำออย จึงตัดสินใจหนี พอหนีก็โดนหมายหัวแล้วก็โดนเล่นมาตลอด คนเป็นพระมา 8 ปีเขาก็ไม่ค่อยได้ใช้ร่างกายอาจจะปรับสภาพไม่ทัน เราอยากให้กองทัพมีการคัดกรอง สืบภูมิหลังด้วยว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร

หลังเกิดเรื่องใหม่ๆ มีการตรวจสอบความจริงไหม

เขาบอกว่าจะรับไปตรวจสอบ แต่ไม่มีการตรวจสอบจริง มีแต่ข้อเสนออย่างที่เล่า จนกระทั่งเมย์ได้ยื่นหนังสือถึงพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) จึงได้มีการสอบสวนและลงโทษพลทหาร ผู้พันค่าย โดนหมดในทางวินัย แต่ในคดีอาญาไม่เป็นแบบนั้น เพราะผู้กระทำความผิดนั้นมีพ่อเป็นทหารยศใหญ่ก็เลยทำให้เกิดการต่อสู้เรียกร้องกันมาก กว่าจะได้ความเป็นธรรม

ยื่นหนังสือให้พลเอกเปรมตอนไหน

ประมาณ 9-10 วันหลังเสียชีวิต จริงๆ เรายื่นหนังสือก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่ ผบ.พล.ร.15 ที่น้าสังกัด แล้วก็ยื่นแม่ทัพภาค 4 แล้วก็ยื่นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในเวลานั้น แต่หนังสืออาจโดนสกัดกั้น เพราะตอนยื่นหนังสือให้ป๋าเปรม แม่ทัพภาค 4 ก็อยู่ด้านหลัง ท่านบอกว่าท่านไม่ทราบเรื่องเลย ท่านไม่เห็นหนังสือนี้

อะไรทำให้รู้สึกว่าต้องไปยื่นหนังสือกับพลเอกเปรม

ป๋าเปรมเคยเป็นอดีตผบ.ทบ. และท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ และยังเป็นรุ่นพี่โรงเรียนมหาวชิราวุธ ซึ่งเป็นโรงเรียนของเมย์และพลทหารวิเชียร ตอนนั้นไปยื่นขอความเมตตาในฐานะรุ่นน้องท่านเลย เพราะตอนนั้นทุกคนที่ช่วยเราเป็นรุ่นพี่มหาวชิราวุธหมด  เราเคยมาร้องสื่อ ทำหนังสือถึงสื่อต่างๆ แล้วแต่ไม่มีใครเล่นข่าว มีแค่รายการประเด็นเด็ด 7 สีซึ่งมีรุ่นพี่มหาวชิราวุธทำงานอยู่ หลังจากยื่นหนังสือให้พลเอกเปรมทำให้เริ่มมีการสอบสวน และทางคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เริ่มจุดประเด็นนี้ขึ้นมาโดยการจัดเวทีเสวนาทำให้เจอคณะกรรมการสิทธิฯ หน่วยงานอื่นๆ ทำให้เรารู้ว่าจะต้องทำยังไง

ตอนแรกเราทำได้อย่างเดียวคือ ไม่เผาศพ เราเก็บศพไว้ตราบใดที่เราไม่ได้รับความเป็นธรรม สุดท้ายตัดสินใจเผาคือ 30 มิ.ย. 2554 ก่อนหน้านั้นคณะสังคมสงเคราะห์จัดเสวนา ความรุนแรงในสังคมไทยที่ต้องเร่งแก้ไข ก็ได้เจอ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิตอนนั้น ท่านก็บอกว่าไม่ต้องเก็บศพไว้ก็ได้ แต่ให้ไปผ่าพิสูจน์ก่อนเผา เก็บหลักฐานทุกอย่างไว้ให้หมดก่อน ทำให้เราเดินได้ถูกทาง ถ้าตอนนั้นเราไม่ได้ผ่าชันสูตรศพมีหลักฐานทางการแพทย์ไว้ ทุกวันนี้เราคงไม่สามารถเอาผิดกับใครได้

หลังจากนั้นเราก็ยื่นหนังสือมาเรื่อยๆ เรื่องเข้าสู่พนักงานสอบสวน ไปถึงอัยการทหาร อัยการทหารก็ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. แล้วก็มาอยู่ใน ป.ป.ช. กับ ป.ป.ท. รวม 4 ปีกว่า จน ป.ป.ท. ชี้มูลว่าทหารยศร้อยโทร่วมกับคนอื่นทั้งหมดรวม 10 นาย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 290, 183 และประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา 30(2) ทำให้เราลุกขึ้นมาสู้อีกทีหนึ่งในรอบปี 2558 เราพอเข้าใจ ป.ป.ท. ว่าที่นานเพราะพลทหารบางส่วนก็ปลดประจำการไปแล้วทำให้ตามหลักฐานยาก คดีเขาก็เยอะ แต่ของเราแม้กองทัพบกจะลงโทษทางวินัยและให้พักราชการไปแล้ว 9 นาย แต่เรามองว่าทหารยศร้อยโทคนนี้ที่เป็นคู่กรณีเกี่ยวข้องด้วย เราได้เอกสารมาจากคนใน ทบ. เองที่ระบุว่าคนนี้เป็นคนสั่ง และคำสั่งเสียของพลทหารวิเชียรก่อนตายเขาก็แจ้งว่าร้อยโทเป็นคนสั่ง

พระวิเชียร เผือกสม ก่อนหน้าที่จะเข้าสมัครเป็นทหารเกณฑ์

คำสั่งเสียของน้าชายได้มาอย่างไร

จากทางโรงพยาบาล เพราะพอมาถึงโรงพยาบาล น้าก็ให้เบอร์โทรศัพท์ให้ช่วยติดต่อที่บ้านแล้วแจ้งด้วยว่าโดนครูฝึกซ้อมมามีร้อยโทคนนี้เป็นคนสั่ง พอเรามาอ่านการสอบสวน การกระทำไม่ใช่วิสัยของการฝึกทหาร เป็นการกระทำที่ทารุณโหดร้าย มันย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหลายๆ อย่าง เลยมองว่ามันต้องแก้ไข ยังคุยกับผู้ใหญ่หรือนักกฎหมายเลยว่า ถ้าได้ขึ้นศาลจะขอให้ตรวจสอบสภาพจิตของทั้ง 10 นายที่เป็นคนกระทำ เพราะแต่ละอย่างถ้าเป็นวิสัยคนปกติก็ไม่น่าจะทำได้ขนาดนั้น เช่น เอาเกลือทาแผล ให้นั่งบนก้อนน้ำแข็งนานๆ กระทืบ คนยังไม่เสียชีวิตให้เอาผ้าขาวมัดตราสังแห่รอบโรงอาหาร มันป่าเถื่อนและโหดร้ายมาก

ผลชันสูตรเป็นอย่างไรบ้าง

เขาแจ้งว่ากล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนส่งผลให้ไตวายฉับพลัน และระบุร่องรอยบาดแผลโดยละเอียด แต่การสอบสวนก็ระบุชัดว่าโดนกระทำอะไรมา ที่ช้าเพราะ ป.ป.ท. ชี้เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2558 ไว้ว่าผิด มาตรา 290 ทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต แต่กรณีที่เราอ่านจากการสอบสวนของ ทบ.เองหรือของตำรวจระบุว่ามีการทารุณทรมานจนถึงขั้นเสียชีวิต เราจึงร้องขอให้เป็นความผิดตามมาตรา 290(2) ผิดฐานเจตนาฆ่า ซึ่งหากเป็นมาตรา 290 เฉยๆ จะลงโทษจำคุก 3-15 ปี แต่ถ้าเป็นมาตรา 290(2) โทษจำคุกจะเป็น 3-20 ปี ตอนนี้จึงเป็นประเด็นที่เราร้องขอให้ตรวจสอบว่าเป็นเจตนาฆ่าหรือเปล่า และหากเข้ามาตรา 289(5) เรื่องเจตนาฆ่าโดยทารุณกรรม โทษจะเป็นจำคุกตลอดชีวิตจนถึงประหารชีวิต

ที่สำคัญ ตอนที่โดนซ้อมน้าขอไปโรงพยาบาลก็ไม่มีใครส่งไป เขาร้องขอวันนี้แต่ต้องรอถึงอีกวันถึงจะส่งตัวไป พอส่งตัวไปก็ยังมีความพยายามดึงตัวกลับมาอีก หมอที่โรงพยาบาลวินิจฉัยว่าไม่ให้เอาตัวกลับ ทางนั้นเขายังยื้อว่าจะเอาตัวกลับค่ายให้ได้ เหมือนพยายามจงใจที่จะทำให้เขาตายให้ได้

แล้วกระบวนการในการสืบสวนเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้อัยการทหารได้สั่งให้ ป.ป.ท. ไปสอบเพิ่มกับคุณหมอ ในประเด็นว่าถ้าทำแบบนี้จะมีผลให้เสียชีวิตหรือไม่ และรู้อยู่แล้วหรือไม่ว่าถ้าซ้อมตรงนี้ ตีตรงนี้ ตีไปที่ท้ายทอยจะทำให้ตายได้ ซึ่งนั่นแปลว่าเป็นการจงใจฆ่า

ในฐานะที่ออกมาเรียกร้องต่อสู้อย่างไม่ลดละ ถูกคุกคามอะไรบ้างไหม

ช่วงแรกๆ มีคนส่งกระสุนปืนใส่ซองธูปมาให้ที่บ้าน แต่แม่เพิ่งจะมาบอกหลังจากเกิดเรื่องได้ครึ่งปีแล้ว ตอนช่วงที่จัดงานศพเราก็ขอกำลังตำรวจมาช่วยดูแล หลังจากนั้นก็มีคนปลอมตัวมาเป็นคนขายไอศกรีมแล้วก็ไปเจอกับแม่พอดี คือที่บ้านเรามันเป็นชนบท เขาก็จะรู้กันหมดว่าใครเข้ามาในหมู่บ้าน เขาเข้าขายไอศกรีมแล้วบังเอิญมาเจอแม่กับพี่สาวเราพอดี แล้วเขาก็ดันมาถามแม่เราว่าบ้านพลทหารวิเชียรอยู่ที่ไหน

นอกจากนี้ก็มีการให้คนอื่นเข้ามาคุกคาม มาคุยว่าให้เรารับเงินไปเถอะ พูดประมาณว่าคนก็ตายไปแล้ว คนเป็นอยู่รับเงินไปก็จะได้สบาย แต่ถ้าไม่รับ คนเป็นอาจจะตายตามคนตาย อีกกรณีหนึ่งก็คือการขับรถตาม ช่วงที่เราจัดงานศพ แม่จะจดทะเบียนรถที่ทหารขับมาทุกคัน แล้วหลังจากนั้นประมาณ 4-5 เดือนก็มีรถเลขทะเบียนเดียวกันกับที่จดไว้โผล่มาขับตามเราตอนเราขับรถอยู่ในตัวเมือง เหมือนเขาติดตามความเคลื่อนไหวเราอยู่ตลอด

เราก็เลยโทรคุยกับแม่ทัพภาค 4 เพราะท่านให้เบอร์โทรไว้ตอนมางานศพ ให้ประสานท่านโดยตรง มันก็ทำให้เราอุ่นใจว่าอย่างน้อยก็มีผู้ใหญ่คอยดูแล หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยเจอแล้ว แต่เราก็ระวังตัวอยู่ตลอด

ตอนนั้นรู้สึกกลัวไหม

ตัวเราไม่กลัวนะ แต่กลัวอย่างเดียวคือเขาจะไปทำอะไรครอบครัวเราหรือเปล่า เราถึงขั้นประกาศท้าเลยว่าถ้าจะทำให้ทำเราคนเดียว ครอบครัวเราไม่เกี่ยว แต่ถ้าทำครอบครัวเราเมื่อไหร่ เราไม่ปล่อยไว้ และจะไม่ปกป้อง ทบ.อีกแล้ว เราพร้อมแลกทุกอย่างถ้ามาทำครอบครัวเราอีก แม้ว่า ทบ.ข้างบนจะไม่เกี่ยวข้อง แต่ถ้ามันเกิดอะไรขึ้นจริงๆ กับครอบครัว เราก็พร้อมจะสู้

คิดว่าคนที่เข้ามาคุกคามรู้ไหมว่าคุณเป็นคนเดินเรื่องร้องเรียนทั้งหมด

น่าจะรู้ แต่เขาไม่ได้เข้ามาคุกคามเราโดยตรง แต่เข้ามาคุยกับแม่ซึ่งก็เข้าใจว่าต้องการสื่อสารกับเราด้วย ทางคนที่ทำเขาไม่ได้มาเอง แต่ให้คนที่เรานับหน้าถือตามาพูดว่าให้เรารับเงินเถอะ คือเราก็บอกกับที่บ้านไว้เลยว่าเวลามีใครเข้ามาเจรจาแบบนี้ให้บอกเขาไปเลยว่า ที่บ้านไม่มีสิทธิตัดสินใจ คนที่จะตัดสินใจมีเราคนเดียว

แล้วตอนนี้คดีความเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้คดีแพ่งจบไปแล้ว ตอนฟ้องเราฟ้องฐานการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และเราฟ้องหน่วยงาน ไม่ได้ฟ้องตัวบุคคลที่กระทำความผิด เราฟ้องกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนั้นผู้บัญชาการกองทัพคือพลเอกประยุทธ์ ก็ได้สั่งพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาทั้งหมด 7 ล้านให้กับครอบครัว เราก็จบในประเด็นนั้นแล้ว เพราะไม่มีการไต่สวนในชั้นศาล เป็นการประนีประนอมกันเพราะกองทัพบกก็ทราบดีว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นจริงและผิดจริง ก่อนหน้านั้นทางกองทัพบกก็ช่วยเหลือเรามาตลอด ตอนนั้นก็เป็นสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ทางสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นใช้เวลาพิจารณานานถึง 2 ปี จนท้ายที่สุดศาลมีคำสั่งว่า ถ้าครั้งต่อไปยังไม่มีคำตอบ ศาลจะสั่งสอบพยาน นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งว่าให้พลเอกประยุทธ์ เป็นผู้พิจารณาชดเชยเอง และหลังจากพลเอกประยุทธ์ได้รับหนังสือเพียงครึ่งเดือนก็ได้ยอมชดเชย มันก็ทำให้รู้ว่าทาง ทบ. เองก็ไม่ได้นิ่งเฉย

แล้วทางคดีอาญาเป็นอย่างไรบ้าง

คดีอาญาจริงๆ มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้ว ถ้าสังเกตคือช่วงแรกๆ เราไม่ได้ทำงานเลย เราต้องการจัดการเรื่องคดีให้จบไป จน ป.ป.ท. ชี้มูลความผิด แล้วเราขอให้ทำหนังสือให้พักราชการร้อยโทที่สั่งทำโทษ แต่ทาง ทบ. ตอบมาว่าไม่พักราชการ ตอนนั้นก็คิดว่าจะสู้ยิบตา แต่พอได้คุยกับผู้ใหญ่หลายๆ ท่านก็บอกให้รอการตัดสินในชั้นศาลเลย เพราะเมื่อศาลมีคำตัดสินถ้าผิดจริงก็ต้องปลดออกเลย เราจึงตัดสินที่จะมาทำงานก่อน

ช่วงก่อนที่ตัวเราจะโดนแจ้งความ เราก็พยายามรื้อคดีขึ้นมารอบหนึ่ง แล้วก็เงียบไปเพื่อที่จะทำงาน แต่เขาก็บุกมาจับเราในที่ทำงาน เพราะนายทหารที่สั่งทำโทษพลทหารวิเชียรเป็นผู้เข้าแจ้งความ จากเหตุที่เราโพสต์และแชร์สเตตัสเฟซบุ๊กเปิดเผยชื่อและใบหน้าของผู้กระทำผิด เราถูกแจ้งข้อกล่าวหาฐานหมิ่นประมาท และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ความจริงคือเราไม่ได้โพสต์เราแค่แชร์มา แต่เขาระบุว่าเราเป็นคนโพสต์เอง ตอนที่เราแชร์มาก็เป็นช่วงหลังจากที่ ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ชี้มูลความผิดแล้ว แต่ตอนนั้น ทบ.ยังไม่ได้สั่งพักราชการเขาทั้งยังได้เลื่อนยศอีก และเรื่องที่ระบุว่าเขามีพ่อเป็นนายพลก็เป็นเรื่องจริงเช่นกัน

ตอนนี้นายทหารที่สั่งทำโทษพลทหารวิเชียรก็ถูกสำรองราชการไปแล้ว คือสั่งให้เขาเข้ามาอยู่ส่วนกลางไม่ได้มีหน้าที่อะไร และเพื่อรอคำตัดสินของศาลจะได้สั่งปลดออกจากราชการต่อไป

ตอนนี้คดีอาญาของพลทหารวิเชียรก็อยู่ในกระบวนการของอัยการส่งฟ้องศาล ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนคดีของที่เรากลายเป็นผู้ต้องหาตอนนี้ก็รออัยการเป็นผู้พิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ อีกด้านหนึ่งเราเองก็เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนและพนักงานผู้จับกุม เพราะมองว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาเข้ามาจับเราในที่ทำงาน ถ้าเขามาจับเราแล้วมีการทำสำนวนส่งมาย้อนหลังเราจะไม่ว่าอะไร แต่นี่คุณจับเราปุ๊บ แล้วเรามาทราบว่าสำนวนคดีของเรานั้นพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องส่งให้อัยการก่อน 3 เดือน แล้วเพิ่งมาจับเรา พอเรากลับมาค้นดูหมายเรียกตามที่อยู่ต่างๆ ปรากฏว่าไม่การส่งหมายเรียกรายงานตัวมาเลย เหมือนกับว่าคุณตั้งใจไม่ส่งหมายเรียกให้เรา

ในฐานะของผู้ต้องหาคนหนึ่งที่ไม่รู้ว่ากระทำความผิดจริงหรือไม่ เราจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ที่เข้าแจ้งความก็เพราะเรามองย้อนให้กับคนอื่นๆ ด้วย เพราะถ้าตำรวจทำแบบนี้กับคนอื่นๆ เขาไม่ต้องเข้าไปอยู่ในคุกถูกใส่กุญแจมือเลยเหรอ เพราะการประกันตัวมันก็ต้องใช้หลักทรัพย์จำนวนหนึ่ง ถ้าเป็นชาวบ้านตาสีตาสา เขาจะทำอย่างไร

ที่บ้านเคยมาคุยขอให้หยุดเรียกร้องไหม

ช่วงแรกๆ ไม่มีใครมาขอร้องให้เราหยุด มามีตอนที่เราโดนจับ เขาขอว่าให้เราปล่อยไป เราบอกว่าเราปล่อยไม่ได้ ถ้าปล่อยไปก็เท่ากับเราผิดจริง เพราะสิ่งที่เราแชร์มาเป็นเรื่องจริง เราบอกคนนี้ทำความผิดแต่ยังไม่ถูกลงโทษ 

คุณเริ่มเรียกร้องมาแต่ตั้งช่วงที่ยังเป็นนักศึกษา ตอนนั้นคิดอย่างไรถึงออกมาเรียกร้อง

เราคิดว่าถ้าเราเป็นคนตาย เราอยากจะได้อะไร ต้องการให้หยุดหรือต้องการความเป็นธรรม เราคิดว่าเขาต้องการความเป็นธรรมมากกว่า ก็เลยเลือกที่จะต่อสู้ และอีกอย่างชีวิตเขาจะให้ตายอย่างไร้ค่าหรือตายอย่างมีคุณค่าก็อยู่ที่เราจะเลือก

แล้วมันได้พิสูจน์แล้วว่าชีวิตน้าเรา แม้จะตายอย่างทรมานแต่เรื่องของเขามันได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของทหารเกณฑ์คนอื่นๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะค่ายที่น้าเสียชีวิตตอนนี้ก็ได้มีการติดกล้องวงจรปิดครอบคลุมทุกจุดแล้ว และค่ายอื่นๆ อีกหลายๆ ค่ายก็ได้ทำในแบบเดียวกันโดยเฉพาะในภาคใต้ เราได้มีโอกาสคุยกับ ผบ.พล.ร 15 โดยตรง ท่านก็มีคำสั่งออกมาว่าห้ามครูฝึกแตะต้องตัวทหารเกณฑ์ จะต้องมีการดูแลพลทหาร ทำเป็นข้อปฏิบัติออกมา 10 ข้อ ท่านก็ส่งมาให้เราดู แล้วท่านก็สั่งจริงทุกค่าย ทุกที่ก็มีนโยบายแบบนี้จริงๆ ความเข้มงวดเรื่องซ้อมพลทหาร ทำร้ายร่างกายพลทหาร เป็นเรื่องที่ ทบ. ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง

มันเลยทำให้เรามองว่า เราไม่ได้เป็นประเด็นกับ ทบ. ตั้งแต่แรกแล้ว และตอนนี้ ทบ. ก็ต้องการแก้ไขในสิ่งผิด สิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราก็เลยบอกว่าเราพร้อมจะทำงานกับกองทัพ เราไม่ได้มีประเด็นกับกองทัพ ถ้าเรามีประเด็นกับกองทัพเราไม่ก็คงไม่บอกให้น้องชายเราไปเป็นทหารเกณฑ์ เราก็มีน้องชายอยู่คนเดียวเอง เพราะเรายังเชื่อมั่นใน ทบ. ตัวผู้กระทำความผิด 10 นาย ไม่สามารถจะเอามาเทียบทั้งหมดได้

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 5 ปี รู้สึกว่าตัวเองและครอบครัวได้รับความเป็นธรรมในกรณีของน้าชายหรือยัง

ตอนนี้รู้สึกว่าเราได้รับความเป็นธรรมในช่วงหลังๆ ตั้งแต่ได้เจอกับ ผบ.พล.ร 15 แล้วก็หลังจากที่ได้คุยกับแม่ทัพภาค 4  หรือว่า ผบ.ทบ. เองทำให้รู้ว่ากองทัพก็ไม่ได้ต้องการปกป้องคนผิด แต่ไม่ทราบข้อมูล พอท่านเห็นเอกสารต่างๆ ท่านก็สั่งเลยและยอมรับว่าที่ผ่านมามันช้าเพราะท่านไม่ทราบข้อมูล วันนี้รับทราบแล้วก็พร้อมให้ความเป็นธรรม ถ้าเกิดกรณีอย่างนี้อีกแล้วคนที่ประสบเหตุการณ์ไม่กล้าที่จะออกมาเรียกร้องก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาตั้งแต่เริ่มต้น

ไม่คิดว่าเป็นเพราะระบบโครงสร้างของกองทัพที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นหรือ

มองว่ามันเรื่องที่ตัวบุคคล เพราะนโยบายเองก็ชัดเจนว่าการทำแบบนี้เป็นเรื่องผิด แต่กรณีนี้คนกระทำผิดค่อนข้างใหญ่พอดี ส่วนกรณีอื่นๆ ที่รู้มากองทัพก็สั่งปลดเลยทันที มันปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีระบบอุปถัมภ์อยู่ ตรงนี้จึงขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและความรับผิดชอบของคนที่มีอำนาจว่าเขาจะเลือกความถูกต้องหรือเลือกพวกพ้อง

คิดไหมว่าการที่กองทัพให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกรณีของคุณ เพราะเป็นเรื่องที่สื่อกระแสหลักนำเสนอและโดยตัวเหตุการณ์เองก็ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกองทัพอย่างชัดเจน

มันก็มีส่วน แต่ที่เราคุยกับหลายคน เขาก็เห็นว่ามันเป็นสิ่งไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เหมือนกับว่าเรายืนอยู่ข้างความถูกต้องและมีคนในสังคมเห็นแบบเดียวกับเรา เพียงแค่ว่าก่อนหน้านี้มันยังไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาอย่างชัดเจน แต่วันนี้เมื่อเราลุกขึ้นมามันก็เลยทำให้มีคนอื่นกล้าที่จะลุกตาม เมย์เชื่อนะว่าคนหนึ่งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ขอแค่ลงมือทำ ที่วันนี้สังคมเรายังเป็นอย่างนี้ก็เป็นเพราะทุกคนยังไม่ลงมือทำ ช่างมัน ปล่อยมันไป

คุณเคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกท้อแท้บ้างไหม

ท้อบ่อยมาก ตอนที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย ช่วงที่คดีเกิดใหม่ๆ ถึงขั้นร้องไห้ออกมากลางห้องเรียนก็มี หรือบางทีเรียนอยู่มีคนโทรเข้ามาบอกว่ามีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดีซึ่งเราต้องไปจัดการ ก็ต้องขออาจารย์ออกไปทำเรื่อง อาจารย์ก็โอเค มีครั้งหนึ่งที่ออกไปแล้วกลับมาเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าอาจารย์กำลังพูดอะไรอยู่หน้าห้อง ไม่รู้ว่าเขาเรียนอะไรกัน เพราะใจมันคิดอยู่เรื่องเดียว พออาจารย์สอนเสร็จแล้วออกไป เพื่อนเริ่มทยอยออกจากห้อง ก็รู้สึกว่ามันเก็บอารมณ์ไว้ไม่อยู่ ปกติเวลามีอะไรเราจะเก็บมาร้องไห้คนเดียวที่ห้อง ไม่ชอบร้องไห้ให้ใครเห็น แต่ตอนนั้นมันไม่ไหวแล้วจริงๆ ยังไม่ทันจะได้กลับบ้านก็ร้องออกมาเลย เราไม่ไหวแล้ว มันคิดฟุ้งซ่านไปหมด เราทำแบบนี้เพื่ออะไร ตอนนั้นเรื่องก็ยังไปไม่ถึงไหน ทำไมเราไม่ยอมรับเงินตั้งแต่แรก แต่พอคิดถึงหน้าน้า มันก็รับไม่ได้อีก คิดไปอีกว่าถ้าคนอื่นต้องมาเจอแบบนี้อีก เราก็รับไม่ได้

สิ่งหนึ่งที่เป็นกำลังใจให้เราตลอดคือ แม่ คือครอบครัวชาวนามันก็ไม่ได้รวยมาก แล้วพ่อเราก็เสียตั้งแต่เราอยู่ ม.3 แล้วแม่ก็ต้องดูแลลูกอีก 3 คน ส่งเงินให้เรา ส่งให้น้องอีก 2 คน มันหนักมาสำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ยังเลือกที่จะออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกี่ยวกับคดี ค่ารถไปศาล ไปนั่นไปนี่ มันต้องใช้เงินเยอะ เพราะถ้านั่งรถเมล์ไปกลับก็เสียเวลาทั้งวัน และเราต้องกลับมาเรียน ต้องนั่งแท็กซี่ไปกลับครั้งหนึ่งก็เสียเป็นพัน แม่ถึงขั้นที่ต้องไปยืมเงินร้อยละ 5 มาให้เราสู้เพื่อความถูกต้อง เราก็เลยคิดว่าแม่ยังเข้มแข็งขนาดนี้ แล้วเราจะอ่อนแอได้อย่างไร

อีกเรื่องคือ เราต้องขอบคุณสื่อด้วย เพราะวันที่เราโดนจับ เราก็ไม่คิดว่ามันจะเป็นที่สนใจของคนมากมายขนาดนั้น เพราะตอนแรกมีสื่ออยู่ไม่กี่แห่งที่ตามเรื่องเราถูกจับ แต่พอเราออกมาจากกระบวนการในชั้นสอบสวนก็เห็นสื่อมากันเยอะ ให้ความสนใจกับประเด็นนี้เยอะ ก็ถือเป็นอีกแรงหนึ่งที่ทำให้เราพร้อมจะสู้ต่อไป แต่ก็ยังคิดอยู่ว่าถ้าวันนั้นสื่อไม่ได้นำเสนอ ไม่ได้ให้ความสนใจขนาดนั้น เราจะเจอกับอะไรบ้างก็ไม่รู้ ถูกจับเข้าคุก ใส่กุญแจมือหรือเปล่าเราไม่รู้เลย พอสื่อนำเสนอก็ช่วยทำให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนเข้ามาช่วยเหลือ

ก่อนหน้านี่คุณบอกว่าทางกองทัพมาชวนคุณไปร่วมงานด้วย ถ้าได้ร่วมงานกับกองทัพในอนาคต ในเรื่องของทหารเกณฑ์ มีอะไรบ้างที่คุณต้องการจะเปลี่ยนแปลง

เราอยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพลทหาร คือทำอย่างไรก็ได้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่ากันทุกค่าย เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายของกองทัพและรัฐบาลอยู่แล้ว ทำอย่างให้เกิดกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจนและเป็นธรรม เราก็ยังไม่แน่ใจว่าถ้าเข้าไปทำจริงเราจะทำได้ไหม เพราะเราเป็นคนไม่ยอมคนง่ายๆ ตรงอย่างเดียว ไม่คดไม่งอ มันก็อาจจะทำงานได้ยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับการเข้าไปเปลี่ยนแปลงในระบบ

ถ้าเราได้เข้าไปทำงานกับกองทัพจริงก็อยากเข้าไปดูเรื่องการตรวจสอบ เพราะหากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมาอีกเราจะขอรับผิดชอบในส่วนนั้น อยากให้เกิดกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใสและเป็นธรรมตามกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมต้องมีความรวดเร็วคนที่กระทำความผิดต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ไม่ใช่อยู่เหนือกฎหมาย เราไม่ต้องการเห็นอะไรที่ผิดแล้วกลายเป็นเราที่ต้องออกมาแก้ต่างให้ ถ้าเป็นอย่างนั้นเราทำไม่ได้ แต่ถ้าแก้ไขเราทำให้ได้

ระบบอำนาจนิยมของกองทัพอย่างสโลแกนที่ทหารชอบพูดกันคือ “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” หรือ “คำสั่งนายถือว่าเด็ดขาดแต่ไม่แน่นอน” กับระบบการตรวจสอบที่เราต้องการเห็น เมื่อสองสิ่งนี้มาอยู่รวมกันจะไปด้วยกันได้ไหม

ก็คิดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน แต่ทุกอย่างก็อยู่ที่ความพยายาม กรณีน้าชายเรา เราก็สามารถลบคำพูดที่ว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” ได้แล้ว ทุกอย่างกำลังเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม มันอยู่ที่เราจะพยายามทำมันมากน้อยแค่ไหน ถ้าทุกวันนี้เราคิดว่ามันทำยาก มันทำไม่ได้ มันก็จะไม่มีวันทำได้ แต่ถ้าเราพยายามทำและไปต่อให้ได้ วันหนึ่งมันก็สำเร็จ คดีของน้าผ่านมาจะ 6 ปีแล้ว ตอนแรกก็ไม่มีใครคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ ทุกคนบอกให้หยุดตั้งแต่ต้น แต่ทุกสิ่งที่อย่างอยู่ที่ใจเรา ถ้าเราไม่ท้อ แล้วทำตามความคิดผิดชอบชั่วดี ตามมโนธรรมสำนึกแห่งความถูกต้อง เราเชื่อว่ามันเปลี่ยนได้ 

นอกเหนือจากที่ทุกคนมองคุณเป็นผู้หญิงแกร่งที่กล้าออกมาต่อสู้เรียนร้องความเป็นธรรม คุณมองเห็นตัวเองในมุมอื่นๆ อย่างไรบ้าง

เมื่อก่อนไม่ได้เป็นคนที่จะออกมาสู้อะไรแบบนี้ เราเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมาก เน้นการเรียนอย่างเดียว ตั้งแต่ประถมจนจบมาก็ 4.00 ตลอด เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งทุกอย่าง ไม่ให้เพื่อนลอกการบ้านเลย แต่พอมาอยู่มหาวชิราวุธ มันเปลี่ยนและทำให้เราเห็นแก่ส่วนรวม มันเปลี่ยนไปทุกอย่าง จากเกรดแรกเข้า 3.53 สุดท้ายจบมาด้วยเกรด 2.53 เพราะมัวแต่ทำกิจกรรม แต่ก็ไม่คิดมากเรื่องเกรด เพราะมันไม่ได้ตัดสินทุกอย่าง สุดท้ายมาสอบตรงธรรมศาสตร์ติดอันดับต้นด้วย มันก็ทำให้รู้สึกภูมิใจ ที่อย่างน้อยก็ได้พิสูจน์ตัวเองให้หลายๆ คนได้เห็น 

พอมาเรียนอยู่ธรรมศาสตร์คิดว่าจะกลับมาตั้งใจเรียน แต่ก็มาเจอเรื่องนี้อีก มันเลยทำให้หยุดสู้ไม่ได้ คล้ายๆ กับว่าทุกครั้งที่คิดจะหยุดก็จะมีอะไรมาแทรกตลอด ตอนช่วงที่เริ่มทำงานก็หยุดเรื่องคดีไว้ รอให้เป็นไปตามกระบวนการ แต่ก็มาถูกจับเสียเองอีก มันก็เลยทำให้ต้องกลับมาสู้ต่อ เพราะทุกอย่างมันต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องและความยุติธรรมเท่านั้น เราก็เลือกที่จะทำแบบนี้

โดยนิสัยตัวเองปกติเป็นคนชอบสวดมนต์ นั่งสมาธิ ถ้ามีงานก็จะบ้าทำงานไปเลย ทุกวันนี้ทำงานข้าราชการอยู่บางวันกลับเที่ยงคืนก็มี บางทีมีงานต้องเตรียม ต้องจัดการให้เสร็จ ตอนนี้ก็ให้ทุนการศึกษาอยู่ด้วย ตรงไหนที่พอจะช่วยสังคมได้ก็ช่วย

นี่ก็ใกล้ปีใหม่แล้ว ถ้าขอของขวัญได้ คุณอยากได้อะไร

ไม่อยากได้อะไรเลยนอกจากเห็นคนทำผิดได้รับโทษตามกฎหมาย และขอให้มีการพักราชการออกมาเถอะ จะได้จบประเด็นกันซะทีกับกองทัพ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live




Latest Images