Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

ตุลาการธิปไตย #4 นโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ผ่านกฎหมายเดิมที่อำนาจนิยมซึ่งใช้ได้ดีในยุคเผด็จการ

$
0
0

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ เสนอบทความ ““Rule by Law กับการบังคับการตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช.” ชี้แม้จะเป็นกฎหมายเดิม แต่มีลักษณะเป็นอำนาจนิยม จึงแสดงศักยภาพได้ดีในระบอบเผด็จการ ต่างจากรัฐบาลประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสภาคประชาชนเจราจาต่อรองมากกว่า แนะแก้ที่กฎหมายไม่เพียงพอ ต้องแก้ที่ระบอบการเมืองด้วย

คลิปการอภิปรายของสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์

18 ก.พ.2561 ในการเสวนาวิชาการ "ตุลาการธิปไตย ศาล และรัฐประหาร" จัดที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่วงเสนอบทความ ““Rule by Law กับการบังคับการตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช.” โดย สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งศึกษาเรื่องนโยบายทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับผลกระทบและเครื่องมือในการปฏิบัตินโยบาย ที่ใช้กฎหมายเดิมเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดินรวมกับประกาศคำสั่งคสช. แต่พบว่าเนื่องจากกฎหมายเดิมมีลักษณะเป็นอำนาจนิยม จึงแสดงศักยภาพได้ดีในระบอบเผด็จการ

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของคสช.

สงกรานต์ เริ่มจากการอธิบายข้อมูลจากกรมป่าไม้ปี 2543 มีครอบครัวในพื้นที่ป่าชุมชนซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ประมาณ 450,000 ราย กินเนื้อที่ประมาณ 6.4 ล้านไร่ และมีครอบครัวในพื้นที่อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ปา เขตห้ามาสัตว์ 186,000 ราย กินพื้นที่ 2.2 ล้านไร่ จำนวนสมาชิกครอบครัวไทยเฉลี่ยคือ 4 คน ก็จะมีคนประมาณ 2 ล้านคน ที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งไม่ใช่จำนวนที่น้อย

ข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชน RECOFTC ปี 2557 พบว่ามีป่าชุมชนประมาณ 10,000 ป่าชุมชน มีการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานรัฐ 8,800 หมู่บ้าน แต่จำนวนมากกว่าคือ 10726 หมู่บ้าน ไม่ขึ้นทะเบียน เพราะอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

จากข้อมูลนี้พบว่ากลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้ที่อยู่ในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ซึ่งไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ ประมาณหมื่นกว่าหมู่บ้าน ถือเป็นจำนวนไม่น้อย

ข้อมูลจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ประเมินว่าถ้าถ้ามีนโยบายทวงคืนพื้นป่าจะมีหมู่บ้านได้รับผลกระทบอย่างน้อย 9,000 หมู่บ้าน แบ่งเป็นภาคเหนือ 5,000 หมู่บ้าน ภาคอีสาน 2,000 หมู่บ้าน ภาคใต้ 1,000 หมู่บ้าน และภาคกลาง 1,000 หมู่บ้าน เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ามีคนที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่ในพื้นที่ป่าของรัฐจำนวนมหาศาล ถ้ามีการบังคับใช้จริงอาจมีปัญหาตามมาอย่างมาก

ช่วงยึดอำนาจแรกๆ ไม่ถึงหนึ่งเดือน วันที่ 20 มิ.ย. 2557 คสช. ออกคำสั่ง 64/2557 มุ่งปราบปรามและหยุดยั้งการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นนโยบายแรกๆ ที่คสช. ประกาศใช้ เป็นนโยบายที่คสช. มุ่งใช้เพื่อแก้ไขปัญหา

สงกรานต์ ตั้งคำถามไว้ 3 ประเด็น คือ คสช. 1. ใช้เครื่องมือใดบังคับนโยบายการทวงคืนผืนป่าไปสู่การปฏิบัติ 2. ผลกระทบที่เกิดขึ้นเหมือนหรือต่างจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ 3. ถ้าเหมือนหรือต่าง มีเหตุผลอะไรในการอธิบายปรากฎการณ์นี้

โดยแนวคิดที่ใช้ในการศึกษาคือ นิติศึกษาแนววิพากษ์ ซึ่งเชื่อว่า กฎหมายคือการเมือง ไม่มีความเป็นกลาง เป็นเรื่องของอำนาจ กฎหมายหนึ่งๆ ขึ้นกับระบอบการเมือง ไม่ใช่ระบอบการเมืองขึ้นกับกฎหมาย กฎหมายอย่างเดียวกันมีลักษณะคล้ายกันแต่ถูกปรับไปใช้ในระบอบการเมืองที่แตกต่างกัน ผลลัพธ์จะแตกต่างกัน

ช่วงหลังการประกาศใช้นโยบายทวงคืนผืนป่า มีการเพิ่มขึ้นของคดีจำนวนมาก

ข้อมูลของกรมป่าไม้เกี่ยวกับสถิติการดำเนินคดีเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดินก่อนและหลังการประกาศนโยบายทวงคืนป่า นั้น สงกรานต์ พบว่า หลังการประกาศนโยบายมีการเพิ่มขึ้นจำนวนมากของคดีที่กรมอุทยานและกรมป่าไม้ดำเนินการกับชาวบ้านอย่างมีนัยสำคัญ

จริงๆ แล้วการดำเนินคดีกับชาวบ้านเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดินเกิดขึ้นมายาวนาน ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่เห็นความแตกต่างคือสถิติ ในปี 2552-2556  เฉพาะกรมป่าไม้ดำเนินคดีกับชาวบ้าน จำนวน 6656 คดี แต่ในช่วงปี 2557-2558 เพียงสองปีมีจำนวนคดี 9231 คดี เห็นได้ชัดว่าเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ

ส่วนกรมอุทยานมีแนวโน้มในทิศทางเดียวกัน ช่วงปี 2552-2556 ดำเนินคดีกับชาวบ้านในเขตอุทยาน เขตอนุรักษ์ ประมาณ 5,000 คดี ช่วงปี 2557-2559 มีประมาณ 6,000 คดี

สรุปได้ว่า สถิติการดำเนินคดีของกรมป้าไม้เพิ่มขึ้น 38 เปอร์เซ็นต์ และกรมอุทยานเพิ่มขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์

อาจมีคนบอกว่าการดำเนินคดีอาจจะไม่กระทบกับชาวบ้านเพราะท้ายสุดศาลอาจยกฟ้องก็ได้ แต่ขอชี้แจงว่า ถ้าใครไปเป็นจำเลยคดีอาญา ผลกระทบเชิงลบและการจำกัดสิทธิเริ่มแต่วันที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ผลสุดท้ายในทางคดีอาจไม่สำคัญเท่าผลระหว่างทาง ซึ่งเขาจะถูกกระทบสิทธิหลายแง่ ให้ออกจากพื้นที่ ภาระประกันตัว การจับกุม ต้องต่อสู้ดิ้นรนพยายามปกป้องตัวเอง สูญเสียทรัพยากรตัวเองในการต่อสู้คดี

เครื่องมือทางกฎหมายของคสช. คือกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วและประกาศคำสั่งคสช.

สำหรับเครื่องมือทางกฎหมายของ คสช. ในการดำเนินการตามนโยบายนี้ สงกรานต์ ระบุว่า คือ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484, พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504, พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507, พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อันเป็นกฎหมายที่มีก่อนคสช. ยึดอำนาจ

แม้คสช. ใช้กฎหมายเดิมในการดำเนินคดีอาญากับชาวบ้าน แต่สิ่งที่ต่างคือประกาศสองฉบับ กับแผนหนึ่งแผนของรัฐบาล ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความรุนแรงมากขึ้น

1. ประกาศคำสั่งคสช. เพิ่มหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย จากเดิมมีเพียงกรมป่าไม้ กรมอุทยาน เป็นหน่วยงานหลักในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ เพิ่มเป็น ตำรวจ ทหาร กอ.รมน. ฝ่ายปกครอง

2. ประกาศคำสั่งคสช. คาดโทษเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับความผิดเรื่องป่าไม้ที่ดิน จะถูกดำเนินการทางวินัย ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐบาลจากเลือกตั้ง เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีช่องทางในการปกป้องตัวเอง เช่น ช่องทางการอุทธรณ์ หรือการฟ้องคดีเพื่อโต้แย้งคำสั่งเหล่านี้ ขณะที่คสช. มีมาตรา 44 ในการคุมเรื่องนี้อยู่ ทำให้การคาดโทษมีประสิทธิภาพ

3. ตั้งหน่วยงานที่มีเจ้าภาพชัดเจนคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามและรายงานความคืบหน้าแก่คสช.

คสช. ได้ลดอำนาจการต่อรองของภาคประชาชน ปิดช่องทางเคลื่อนไหวทางการเมือง

สงกรานต์ สรุปมาตรการของ คสช. ในการผลักดันนโยบายนี้ 3 ข้อ ว่า

1. สร้างความหวาดกลัวในการใช้กฎหมาย จากการพูดคุยกับประชาชนที่ถูกบังคับให้ทำตามนโยบายทวงคืนผินป่าให้การว่า ช่วงแรกที่ปฏิบัตินโยบายนี้จะนำโดยทหารพร้อมอาวุธครบมือในการปฏิบัติการ ทำให้ประชาชนกลัว

2. ใช้สื่อโฆษณานโยบายการทวงคืนผืนป่าอย่างสม่ำเสมอ เช่น นำเสนอเรื่องการจับกุม ดำเนินคดี ทำให้สังคมเริ่มรู้สึกว่าตนเองก็อาจจะถูกกระทบสิทธิเช่นกัน

3. ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งทางการและไม่เป็นทางการ เช่น ประกาศคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน หรือส่งเจ้าหน้าที่ไปคุยกับแกนนำ แง่นี้ก็คือการขู่โดยปริยาย ทำให้ภาคประชาชนที่เคยใช้การเคลื่อนไหวนทางการเมืองต่อรองเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน จนนำไปสู่การเสนอเรื่องการจัดทำโฉนดชุมชน มีสำนักงานโฉนดชุมชนที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น เหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในยุคคสช.

นำไปสู่เรื่องที่ว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการซึ่งแต่ก่อนสามารถเจรจาต่อรองกับชาวบ้าน ให้มีการพิสูจน์ ใช้เอกสารต่างๆ แต่ตั้งแต่มีประกาศคำสั่งคสช. เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่เจรจาทั้งสิ้น อ้างว่าทำตามคำสั่งคสช. ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ

“ข้อค้นพบของผมคือ สิ่งที่คสช. ทำ ถ้าเราดูเทียบกับงานที่ศึกษากฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนที่ทำโดย อ.จรัญ โฆษณานันท์ ในสมัยก่อนรูปแบบหลักๆ ของรัฐบาลเผด็จการในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนคือการตรากฎหมายโดยตรง จำกัดเสรีภาพโดยตรง มีในคสช. เช่นกัน แต่เฉพาะกฎหมายทวงคืนผืนป่า ไม่ได้ตรากฎหมายสารบัญญัติขึ้นมาเพิ่มโทษ หรือกำหนดสิทธิหน้าที่เพิ่มเติม สิ่งที่ทำคือจัดโครงสร้างการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐใหม่ เพิ่มอำนาจให้กับรัฐ และใช้กลไกและอำนาจที่มีอยู่ไปลดอำนาจประชาชน พอทำสองอันนี้ได้ ก็ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้น” สงกรานต์ กล่าว

กฎหมายลักษณะอำนาจนิยมแสดงศักยภาพได้มากขึ้นในรัฐบาลเผด็จการ

สงกรานต์ ย้ำว่า ปฏิบัติการของกฎหมายขึ้นกับระบอบการเมือง ตัวอย่างเช่น กรณีของกฎหมายการฟ้องคดีปกครองของประเทศจีน ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศเสรีนิยมตะวันตก ที่มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนตรวจสอบอำนาจรัฐ แต่เมื่อนำมาใช้ในจีน กฎหมายนี้กลับทำหน้าที่ควบคุมเจ้าหน้าที่ระดับล่าง และศาลในประเทศจีนไม่ได้เป็นอิสระจากรัฐบาล รัฐบาลสามารถควบคุมผลในคำพิพาษาได้ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าระบบกฎหมายคล้ายกันในระบอบการเมืองที่ต่างกัน จะได้ผลลัพธ์ที่ต่าง อันเป็นลักษณะเดียวกันกับการใช้กฎหมายในนโยบายการทวงคืนผืนป่า

เครื่องมือทางกฎหมายที่รัฐอ้างว่าใช้กฎหมายเดิม แต่สิ่งที่ต่างคือรัฐบาลเผด็จการใช้กลไกเดิมที่มีอยู่ให้มีศักยภาพมาขึ้น กฎหมายป่าไม้ทั้ง 4 ฉบับที่กล่าวมา โดยตัวมันเองมีอำนาจนิยมอยู่แล้ว เพราะเกิดขึ้นในยุคที่รัฐรวมศูนย์อำนาจไม่รับรองสิทธิชุมชน แต่ช่วงรัฐบาลปกติแสดงศักยภาพของมันได้ไม่เต็มที่ เพิ่งมาแสดงศักยภาพเต็มที่ในรัฐบาลที่มีแนวคิดเผด็จการ

แง่นี้รัฐบาลประชาธิปไตย เปิดพื้นที่ต่อสู้ต่อรอง ประชาชนยังมีพื้นที่ในการแสดงออก สื่อยังมีเสรีภาพในการแสดงออก เปิดโอกาสภาคประชาชนเจราจาต่อรอง จะเห็นว่าคดีป่าไม้และที่มีมาก่อน แต่ว่าขบวนการภาคประชาชนสามารถต่อสู้ต่อรองจนเกิดคณะกรรมการจำนวนมากที่จะมาแก้ไขปัญหาซึ่งรัฐบาลก็เห็นว่ามันมีความสลับซับซ้อน ไม่สามารถบังคับใช้ได้เช่นเดียวกับกฎหมายอาญาทั่วๆ ไป

“สิ่งที่ต้องคำนึงถึงและไม่สามารถปฏิเสธได้คือระบอบการเมือง ถ้าไม่พูดถึงจะอธิบายปรากฏการที่เกิดขึ้นไม่ได้ ในแง่นี้ถ้าเราต้องการผลลัพธ์ที่ต่างออกไป เราไม่สามารถแก้ได้เฉพาะกฎหมาย แต่ต้องพูดถึงระบอบการเมืองด้วย” สงกรานต์ กล่าวทิ้งท้าย

ตุลาการธิปไตย ศาลและรัฐประหาร

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมทางวิชาการ “ตุลาการธิปไตย ศาลและรัฐประหาร” โดยเป็นส่วนหนึ่งในชุดการเสวนาวิชาการ “ประเทศไทยไม่ทำงาน” (Dysfunction Thailand) ของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง จัดที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2560 สนับสนุนโดยสถานทูตอังกฤษ สถานทูตแคนาดา และมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ จากเยอรมนี 

เยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชี้แจงความเป็นมาว่า "ศูนย์ทนายฯ นอกจากเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแล้วยังรวบรวมบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังรัฐประหาร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุคนี้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป การแก้ไข การเยียวยา"

"จากการทำงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่างๆ เรามีข้อมูลอยู่จำนวนหนึ่ง ที่ทำให้เห็นว่าครั้งนี้คสช.ไม่ได้ใช้อำนาจทหารเพียงลำพัง แต่มีการใช้กระบวนการทางกฎหมาย ทั้งประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. กฎหมายปกติ กระบวนการยุติธรรม และอำนาจตุลาการที่เข้ามารับรองการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารของคสช. ละเมิดและจำกัดสิทธิของประชาชน ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ทั้งประชาชนธรรมดา นักข่าว นักวิชาการ ทนาย ก็สามารถตกเป็นผู้ต้องหาได้โดยไม่รู้ตัว"

นอกจากนั้นหลังรัฐประหารยังมีประกาศใช้ศาลทหารกับพลเรือน แม้ภายหลังคสช.จะยกเลิกการใช้ศาลทหารกับพลเรือนในวันที่ 12 กันยายน 2559 แต่ก็ยังมีคดีของประชาชนที่ยังดำเนินการที่ศาลทหารอยู่ เช่น คดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก คดีประชามติ ในช่วงสิงหาคม 2559

"เราจึงเห็นว่าควรทำงานร่วมกับนักวิชาการ เพื่อเปิดมุมมองว่าเบื้องหลังข้อเท็จจริงและเหตุการณ์มันเกิดอะไรขึ้น โดยร่วมมือกับนักวิชาการสถาบันต่างๆ เป็นที่มาของการนำเสนอบทความ 5 บท และภาพรวมของรัฐประหาร และศาล"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาถกประเพณีการปกครอง-พระราชวินิจฉัย ชี้ ทักษิณยุบสภาปี 49 ไม่ปรกติ

$
0
0

วงเสวนาเปิดตัวหนังสือวิเคราะห์การใช้ประเพณีการปกครองตามมาตรา 5 มาตรา 7 อำนาจของกษัตริย์ยังคงจำเป็นเมื่อมีวิกฤตรุนแรง ทักษิณยุบสภา 24 ก.พ. 49 ต่างจากทุกครั้ง ถ้ายกเป็นประเพณีเท่ากับนายกฯ อำนาจเท่ากษัตริย์อังกฤษยุคกลาง ประชาธิปไตยที่ยังไม่เข้มแข็งควรใช้ประเพณีการปกครองเท่าที่จำเป็น

ซ้ายไปขวา: ณัฏฐา โกมลวาทิน นรนิติ เศรษฐบุตร ไชยันต์ ไชยพร สมบูรณ์ สุขสำราญ วุฒิสาร ตันไชย

20 ก.พ. 2561 ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ มีการจัดเวทีเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ประเพณีการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บทวิเคราะห์ มาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน”  เป็นงานวิจัยที่เขียนโดย ศ.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสถาบันพระปกเกล้า

ในงานเสวนา ได้มีการเชิญ ศ.ไชยันต์ ผู้เขียน ศ.(พิเศษ) นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ศ.สมบูรณ์ สุขสำราญ คณบดีสถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต มาเป็นผู้ร่วมเสวนา และมีณัฏฐา โกมลวาทิน เป็นผู้ดำเนินรายการ

บทคัดย่องานวิจัยระบุว่า งานวิจัยเน้นศึกษาและตีความประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในสามกรณีที่เป็นปัญหา หนึ่ง กรณีการใช้มาตรา 7 เพื่อ “ขอนายกฯ พระราชทาน” สอง กรณีการยุบสภาที่เกี่ยวข้องกับประเพณีการปกครอง และสาม ใครคือผู้ตัดสินวินิจฉัยประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย โดยงานวิจัยระบุว่า การยุบสภาของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อ 24 ก.พ. 2549 ต่างจากแบบแผนครรลองของการยุบสภาไทยก่อนหน้าทั้งหมด และแตกต่างจากการยุบสภาในประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  เพราะถ้านายฯ สามารถยุบสภาไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ และเมื่อไรก็ได้ย่อมหมายความว่า นายกฯ สามารถใช้อำนาจฝ่ายบริหารยุบสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติได้อย่างกว้างขวางตามวินิจฉัยส่วนตัวหรือตามอำเภอใจ นำมาซึ่งการทำลายหลักการการปกครองแบบผสม ซึ่งเป็นหลักการและรากฐานของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ และจะส่งผลให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง”

การศึกษาแสดงให้เห็นแล้วว่าวิกฤตมาตรา 7 กรณี "ขอนายกฯ พระราชทาน" ในปี 2549 ไม่ได้เป็นวิกฤตในตัวเอง แต่เป็นปัญหาสืบเนื่องจากการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมทั่วไป ซึ่งสืบเนื่องมาจากการยุบสภาในวันที่ 24 ก.พ. 2549 ทั้งนี้ ผู้วิจัยมีความเห็นว่า เงื่อนไขของประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่มั่นคงเข้มแข็ง การอ้างอิงประเพณีการปกครองในการร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ขาดวิจารณญาณอย่างยิ่ง และควรที่จะบัญญัติเงื่อนไขกติกาต่างๆ ไว้ให้ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญไว้เท่าที่จะทำได้ และอาศัยประเพณีการปกครองตามมาตรา 5 [มาตรา 7 เดิมในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550] เท่าที่จำเป็นจริงๆ หรืออาจจะไม่จำเป็นต้องมีมาตราในลักษณะนี้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วยซ้ำ

ชวนดูกรอบประเพณีการปกครองของไทย 3 ชั้น วิเคราะห์การใช้ประเพณีการปกครองและพระราชวินิจฉัยของกษัตริย์ในกฎหมาย

ไชยันต์กล่าวว่า ตนสนใจมาตรา 7 เพราะว่าเป็นประเด็นที่เกิดข้อถกเถียง และเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการเมืองไทยทั้งสองครั้ง ในปี 2549 ที่มีเรื่องการยกมาตรา 7 ขึ้นมา คือขอนายกฯ พระราชทาน ต่อมามาปลายปี 2556 ต่อ 2557 ก็มีการยกประเด็นมาตรา 7 ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ได้มีข้อถกเถียงจากทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายค้านที่บอกว่าต้องใช้ประเพณีการปกครองที่ทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปได้ ข้อถกเถียงเรื่องพระราชอำนาจก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำรัฐประหารหรือไม่ ในฐานะที่จะเป็นการไม่ให้ดึงสถาบันเข้ามาเป็นขั้วขัดแย้งของการเมือง จึงสงสัยว่าตกลงแล้วทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านมาตรา 7 ตกลงแล้วมีคำตอบที่ผิดหรือถูกจริงๆ หรือไม่

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2540 มาตรา 7
 
"ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
oooooooooo
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 5
 
"...เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้น
ไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข..."

ในปี 2549 วิษณุ เครืองามไม่ได้เห็นด้วยกับการใช้มาตรา แต่หลัง 22 พ.ค. 2557 วิษณุ ไปบรรยายและให้สัมภาษณ์ว่า วิกฤตการเมืองทั้งในปี 2549 และ 2557 เต็มไปด้วยคำถามที่ไม่รู้จะตอบอย่างไรว่าทำได้หรือไม่ได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ บางเรื่อง เช่น นายกฯ รักษาการณ์ลาออกได้ไหม ก็ไม่มีใครกล้าตอบ คิดว่าจะต้องตอบปัญหาเป็นร้อยๆ ข้อ ตน (ไชยันต์) จึงขอเป็นผู้อาสาตอบสักหนึ่งหรือสองข้อคือเรื่องการใช้ประเพณีการปกครอง ในการที่จะบอกว่าประเพณีการปกครองของไทยคืออะไรจะต้องวางกรอบไว้ก่อน ซึ่งได้กำหนดกรอบให้มี 3 ชั้น

ชั้นที่หนึ่ง ชั้นแนวคิดระบอบการปกครองผสมที่กำเนิดจากกรีกโบราณ ที่เป็นการผสมผสานการให้อำนาจสามรูปแบบ ได้แก่การให้อำนาจต่อบุคคลๆ เดียว (The one) กลุ่มบุคคล (The few) และมหาชน (The many) อยู่ในระบอบการปกครองเดียว 

ชั้นที่สอง ชั้นประเพณีของประเทศต้นแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ เมื่อรูปแบบการปกครองแบบผสมพัฒนามาเรื่อยๆ แล้วไปปรากฏตัวในดินแดนต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบประชาธิปไตยในหลายประเทศในเวลาต่อมา เช่นในสหรัฐฯ ที่กลายเป็นระบอบประธานาธิบดีแบบอเมริกัน เมื่อมันไปโตที่อังกฤษ ที่ยังมีสถาบันกษัตริย์อยู่ แม้เมื่อหมดไปก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา ก็กลายเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และในกรณีฝรั่งเศสที่กว่าจะลงตัวได้ก็ปาไปศตวรรษที่ 20 ที่มีหน้าตาแบบกึ่งประธานาธิบดี กึ่งรัฐสภา ฉะนั้น ประเพณีการปกครองแบบผสมคือชั้นแรก ประเพณีของประเทศที่เป็นต้นแบบเป็นชั้นที่สอง ส่วนชั้นที่สามจะมีในประเทศที่รับเอาต้นแบบประชาธิปไตยมาใช้ เช่น ถ้าไทยไปรับแบบอังกฤษมา ประเพณีของไทยที่มีอยู่เดิม ชั้นผสม ชั้นอังกฤษ และชั้นรากฐานที่ดำรงอยู่ในประเทศเราอยู่แล้ว

มาตรา 7 มีเนื้อหาคร่าวๆ ว่า ถ้าไม่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ให้ใช้ประเพณีการปกครองมาพิจารณา เรื่องแต่งตั้งนายกฯ ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ถ้าไม่มีผู้รับสนองฯ เลยก็ใช้พระราชอำนาจได้ ซึ่งปรกติมาตรา 7 นี้ไม่เคยถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญถาวร เพิ่งจะถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญถาวรในฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ทั้งนี้ มาตรา 7 ในฉบับ  2540 และ 2550 เขียนไว้ลอยๆ โดยไม่มีเจ้าภาพในการเป็นผู้ตัดสินวินิจฉัย คือไม่ระบุว่าใครจะรับเรื่อง ต้องทำอย่างไรบ้าง ในร่างรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร 2557 ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรโณ และร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติในปี 2559 ได้กำหนดให้คณะตัดสินวินิจฉัยประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระ ในแง่นี้ก็ดีที่มีคณะบุคคล มีเจ้าภาพชัดเจน คนที่เป็นคนสำคัญ หรือผู้นำในองค์กรสำคัญที่เป็นองค์กรทางการเมืองได้มาประชุมหารือกัน เมื่อคณะบุคคลได้ตัดสินแล้วก็เป็นความเห็นของคณะบุคคล ถ้ามีอะไรที่พระมหากษัตริย์ต้องลงพระปรมาภิไธยในสิ่งที่กลุ่มคณะดังกล่าวเห็นว่าต้องทำ ก็เท่ากับสถาบันไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง ถ้าเกิดสาธารณะเกิดไม่ยอมรับ ไม่ศรัทธาคณะบุคคล ก็ต้องกลับไปที่พระราชอำนาจโดยตรงที่มีความชอบธรรมทางการเมืองมากกว่า ประเด็นก็คือ พระราชอำนาจโดยตรงนำไปสู่การข้องเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง ในทางบวกก็คือ ในยามที่ประเทศมีความขัดแย้งยังมีพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมใจ และสามารถนำพาประเทศฝ่าวิกฤตได้  

อย่างไรเสีย ในบทคัดย่อของงานวิจัยระบุว่า การให้มีคณะบุคคลวินิจฉัยตัดสินให้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการไปพัวพันกับความยุ่งยากทางการเมืองเป็นการลดทอนพระราชวินิจฉัยในการตีความปรพเพณีการปกครองที่ต้องเกี่ยวข้องกับการใช้พระราชอำนาจของพระองค์ด้วย ในแง่หนึ่ง คำวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดเกี่ยวกับมาตรา 5 ของคณะบุคคลดังกล่าวย่อมหมายถึงพระมหากษัตริย์ย่อมต้องทรงใช้พระราชอำนาจตามคำวินิจฉัยนั้น ซึ่งในแง่หนึ่งจะส่งผลให้ภาพของความเป็นระบอบการปกครอง “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) มีความชัดเจนและเป็นจริง

ทักษิณยุบสภา 24 ก.พ. 49 ต่างจากทุกครั้ง ถ้ายกเป็นประเพณีเท่ากับนายกฯ มีอำนาจเท่ากษัตริย์อังกฤษยุคกลาง

ไชยันต์กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเพณีการยุบสภาของอังกฤษนั้น แต่เดิมในยุคกลางกษัตริย์สามารถเปิด ปิดสภาได้ตามใจชอบ สภาแทบจะไม่มีตัวตนอยู่ด้วยตัวเอง สภาก็ต้องวางกติกาว่าต้องเปิดอย่างน้อยกี่ครั้ง ต่อมาการต่อสู้ระหว่างกษัตริย์กับสภา ก็มาลงตรงที่สภาสามารถเลือกคนที่จะเป็นฝ่ายบริหาร อำนาจการยุบสภาที่เดิมอยู่กับกษัตริย์ก็เคลื่อนตัวมาอยู่กับหมู่คณะที่ต่อยอดมาจากสภา ต่อมาอำนาจการยุบสภาเคลื่อนจาก ครม. มาอยู่ที่นายกฯ ในกรณีการยุบสภาของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเมื่อ 24 ก.พ. 2549 ตนยืนยันว่าผิดประเพณียุบสภาของอังกฤษ และต่างจากการยุบสภาทุกครั้งก่อนหน้าในเมืองไทย ไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก เพราะหลายท่านก็บอกว่ายุบได้ การยุบสภาที่ไม่มีเหตุที่จะให้ยุบก็จะเกิดปัญหา แต่ถ้าจะถือว่า 24 ก.พ ทำได้ ต่อไปในกรณีที่นายกฯ หรือครอบครัวนายกฯ มีปัญหาหรือเจอคำกล่าวหาส่วนตัวเช่น การซื้อขายหุ้น แต่นายกฯ ใช้วิธีทุบสภาทิ้ง ถือเป็นการที่ the one ทุบ the few ที่มาจากการลงคะแนนเสียงของ the many เท่ากับว่าทักษิณมีอำนาจเท่ากษัตริย์ในยุคกลางของอังกฤษ จะเอาแบบนี้ให้เป็นประเพณีการปกครองไทยได้หรือไม่ ถ้ากลับไปดูที่อังกฤษ ปี 2559 เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษขณะนั้น โดนเปิดโปงกรณีการซื้อหุ้นอย่างไม่เสียภาษีจากปานามา เปเปอร์เมื่อปี 2559 เรื่องการขายหุ้นแล้วไม่ชำระภาษี แต่คาเมรอนตัดสินใจเรียกประชุมสภาให้สมาชิกสภาที่เป็นตัวแทนประชาชนมาซักฟอกตนเอง แต่เมื่อซักฟอกแล้วคาเมรอนก็ยังอยู่ได้  เพราะเสียงข้างมากในสภาของคาเมรอนยังอยู่ ในบริบททักษิณตอนนั้นความนิยมก็กินไปสี่พรรคแล้ว ถ้าจะซักฟอกจะต้องกลัวอะไร แล้วถ้ายังซักฟอกอยู่แล้วมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ต้องมาถามว่า ใครกันแน่ที่มีความชอบธรรม กรณีของไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมา 86 ปีเท่านั้น ยังไม่ตกผลึก คิดว่าจะทำอะไรก็อย่าอ้างประเพณีเยอะ ใส่กติกาเอาไว้เยอะๆ ได้ก็ใส่ อาจจำเป็นต้องบัญญัติการยุบสภาของนายกฯ ว่าทำได้ในเงื่อนไขแบบใดบ้าง

ไชยันต์พูดถึงกรณีความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยว่า น่าสนใจว่าในหลวง ร.9 จะเอาตัวแบบการพิจารณาจากที่ไหนได้ ในเมื่อพี่ชายท่าน (ในหลวง ร.8) ก็ยังทรงงานได้ไม่เต็มที่ รัชกาลที่ 7 ก็ทรงสละราชสมบัติอย่างรวดเร็ว รัชกาลก่อนหน้านั้นก็เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็เป็นช่วงเวลาอันท้าทายและลำบากยิ่งสำหรับปฐมกษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญไทยที่พยายามวางรากฐานว่าพระราชอำนาจทำได้แค่ไหน เท่าที่กษัตริย์ภายใต้ระบอบใหม่ทำได้ ทั้งภายใต้เงื่อนไขสงครามเย็น หลังสงครามเย็นก็มีปัญหาเรื่องทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ แต่อย่างน้อยก็เป็นเรื่องดีที่เราเข้าสู่รัชกาลที่สองของระบอบใหม่ และยังต้องสร้างความมั่นคงลำดับต่อไปอีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำได้

พระราชอำนาจยังต้องมีไว้เผื่อกรณีวิกฤตรุนแรง อยากให้สังคมพูดถึงประเพณีการปกครองให้มากขึ้น

ไชยันต์กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นในไทยหรืออังกฤษ การที่พระมหากษัตริย์จะใช้อำนาจแต่งตั้งบุคคลจะต้องมีผู้รับสนองฯ แต่ก็มีคำถามว่าถ้าไม่มีผู้รับสนองฯ จะสามารถทำได้ไหม ศ.เวอร์นอน บอกดาโน ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาบันกษัตริย์อังกฤษบอกว่า ถ้าในเวลาวิกฤตขั้นรุนแรง ไม่มีผู้รับสนองฯ พระราชอำนาจยังคงอยู่เพื่อให้การเมืองเดินหน้าต่อไป ไม่ชะงักงัน

ถ้าศึกษาประเพณีการปกครองของอังกฤษจะพบว่ามีชีวิตชีวา มีการเคลื่อนไหว การที่มีพลวัตจะต้องมีความต่อเนื่องกับอดีต ถ้าขาดไปก็จะกลายเป็นการปฏิวัติใหญ่ ไม่เหลือต้นทุนใดๆ ทั้งสิ้น ตนอยากให้สังคมไทยมีการพูดเรื่องประเพณีการปกครองมากขึ้นในระดับสาธารณะ ประเด็นนี้ไม่ควรกระจุกตัวอยู่แค่นักวิชาการ หรือปรมาจารย์ด้านกฎหมาย ประเพณีที่คณะบุคคลตัดสินมาแล้วคนหมู่มากไม่ยอมรับก็ไม่มีความหมาย  

ต้องหาสมดุลการกระจายอำนาจแบบประชาธิปไตยให้เจอ คาด เลือกนายกฯ รอบหน้าอาจได้เปิดประเพณีการปกครอง

ต่อประเด็นการให้อำนาจของตัวแสดงทางการเมือง ไชยันต์กล่าวว่า ถ้าให้อำนาจบุคคลๆ หนึ่ง หรือคณะบุคคลมากเป็นพิเศษจนไม่เหลืออำนาจให้มหาชน มันก็ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้การเลือกตั้งครั้งหน้าให้สิทธิประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น แต่ว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการแต่งตั้ง แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยไทยแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 มีการให้อำนาจกับคณะบุคคลมากขึ้น ทั้งยังเป็นคณะบุคคลที่ไม่ยึดโยงกับการเลือกตั้ง แต่อย่าลืมว่าผลพวงของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มี ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง สุดท้ายก็ส่งผลให้มีสภาผัว - เมีย ภรรยาลง ส.ส. สามีลง ส.ว. ตนเคยถามชาวบ้านตอนลงพื้นที่ว่าทำไมเลือกตั้งทั้งสามีและภรรยา เขาก็บอกว่าให้ไปช่วยกันทำงาน ดังนั้น การไปทุ่มน้ำหนักกับการเลือกตั้งทั้ง ส.ส .กับ ส.ว. เลยต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ส่วนผสมมันถ่วงดุลกันได้ ควรเลิกพูดเรื่องประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ เพราะมันมีแต่ประชาธิปไตยแบบผสม ถ้าอยากได้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็ต้องกลับไปเป็นแบบที่เกิดขึ้นในนครรัฐเอเธนส์ ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งมันสะท้อนว่าคุณกำลังเลือกคนที่เก่งกว่าคนอื่น ที่เอเธนส์เขาจับสลากเข้าไปนั่งในสภากัน

ต่อคำถามว่า ถ้าเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้เสร็จแล้วปรากฏว่ามีปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ จะยังเหลือทางเลือกให้ใช้มาตรา 5 ไหม ไชยันต์ตอบว่า ถ้าเรายังอยู่ในวังวนแบบนี้ การเกิดทางตันก็เป็นไปได้ เราจะมีการเลือกตั้งแน่นอนเพียงแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แล้วหลังเลือกตั้งถ้าทั้ง ส.ส. และ ส.ว. หานายกฯ คนในก็ไม่ได้ หานายกฯ คนนอกก็ไม่ได้ ผนวกกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ได้บัญญัติเอาไว้ว่าจะต้องจัดตั้งรัฐบาลหลังเปิดประชุมสภากี่วัน เมื่อนานไปหากยังไม่ได้นายกฯ เสียทีจนคนในสภาบอกว่าไม่ได้แล้ว ก็ต้องว่ากันตามประเพณีปกครอง ในกรณีอังกฤษ ถ้าจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็ต้องยุบสภา แล้วถ้าเช่นนั้นใครเป็นคนยุบ นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่าง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะสามารถยุบสภาที่มาจากการเลือกตั้งได้ไหม หรือถ้าไม่ยุบสภา ก็ยังมีวิธีที่จะให้เสนอชื่อคนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในตอนซาวเสียงหานายกฯ เอาคนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ขึ้นทูลเกล้าฯ ก็จะได้นายกฯ เสียงข้างน้อย หมายความว่าถ้าจะเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ก็ต้องอ้างมาตรา 5 ใช่หรือไม่ เรื่องนี้ต้องขึ้นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ามีประเพณีการปกครองที่สอดคล้องหรือไม่ เพราะเป็นการทำในสิ่งที่ไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ทุกคนตีความประเพณีปกครองได้ แต่ต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

นรนิติกล่าวว่า มาตรา 7 มีครั้งแรกในธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 ซึ่งระบุว่าขอบเขตการพิจารณาประเพณีของประเทศไทยก็มีตั้งแต่ในฉบับนั้น เพียงแต่ฉบับ 2540 ของบวรศักดิ์ไปตัดออก ของปี 2550 ก็ลอกปี 2540 มา ที่ตอนนั้นเริ่มเขียนเพราะธรรมนูญการปกครองมีเพียง 20 มาตรา เนื่องจากการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พยายามดึงการตีความมาให้แคบลง ไม่เช่นนั้นจะมีการเอาบริบทต่างชาติมาตีความเยอะแยะ

มาตรา ๒๐

ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ๆ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวแก่การวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคก่อนเกิดขึ้นในวงงานของสภา หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภาวินิจฉัย ให้สภาวินิจฉัยชี้ขาด

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ (ที่มา:วิกิซอร์ซ)

นรนิติเห็นว่าทุกคนมีสิทธิ์ตีความเรื่องประเพณีการปกครอง แต่สุดท้ายต้องไปสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่า อะไรที่ขัดกับรัฐธรรมนูญต้องหาข้อยุติและกับศาลรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าผู้ที่ร่างการยุบสภาโดยสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นการใช้มาตรา 22 อาศัยประเพณีการปกครองมายุบสภา เพราะธรรมนูญปี 2515 ไม่ได้กล่าวถึงการยุบสภา แต่สภาไม่สามารถทำหน้าที่ได้แล้วเพราะถูกบีบ ถูกด่า จนเหลือสมาชิกน้อยจนประชุมไม่ได้ จนต้องมีสภาแห่งชาติ สภาสนามม้า เพราะฉะนั้นสัญญาก็ใช้อำนาจนายกฯ ในการยุบสภา คิดว่าการอาศัยประเพณีการปกครอง ไม่รู้ของไทยหรือไม่ไทย แต่ก่อนนี้ก็มีการยุบสภาในปี 2481 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา และในปี 2488 ในยุค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมทย์ มาแล้ว พอมาถึงสัญญาแล้วทำไมต้องอ้างประเพณี การยุบสภาก็มีวิวัฒนาการ แต่สรุปว่าการยุบสภาจะเป็นของนายกฯ หรือเป็นของสภา ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร เพราะฝ่ายบริหารยุบสภาที่มาจากการเลือกตั้งได้ก่อนกำหนด ฝ่ายบริหารก็ได้เปรียบ แต่ในทำนองเดียวกัน ฝ่ายสภาก็มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าเสียงเกินครึ่งเมื่อไหร่ก็เอาออกได้ ก็สมดุลกัน ก็คิดว่าการยุบสภาเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งคิดว่าควรเป็นอำนาจของนายกฯ เพราะนายกฯ เป็นคนเลือกรัฐมนตรีเข้ามา และไล่รัฐมนตรีออกได้

ไทยยังขาดสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ ในหลวง ร.9 ชี้ แต่งตั้งสัญญา ธรรมศักดิ์ ไม่ผิด

สมบูรณ์กล่าวว่า ประเพณีการปกครองมีความสำคัญอย่างยิ่งของกษัตริย์ในยุโรปในการตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไร ต้นทุนทางวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง สืบเนื่องจากที่ไชยันต์พูดถึงว่าต้นทุนทางวัฒนธรรมของไทยก็ผูกพันอย่างยิ่งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งต้องถามต่อว่าคนไทยมองสถาบันกษัตริย์อย่างไร

สมบูรณ์คิดว่า ตนยังมองไม่เห็นว่าถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มีพระมหากษัตริย์ สังคมไทยจะดำรงอยู่กันได้อย่างไร ตนยังคิดว่าสถาบันกษัตริย์ที่ตัวเองเรียกว่ากษัตราประชาธิปไตย น่าจะยังคงอยู่อีกนาน เราได้ผ่านวิกฤตมาหลายครั้งโดยที่ไม่ต้องใช้มาตรา 7 เพราะบารมีของพระองค์ท่านและต้นทุนทางสังคมที่เรายึดถือมายาวนาน ตนเคยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมานานก็พบว่าในความเป็นจริง ความภักดีต่อสถาบันมีสูง สิ่งที่อยากจะให้ไชยันต์เขียนต่อคือ เราจะเปลี่ยนความภักดีต่อพระมหากษัตริย์ให้เป็นความภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่

วุฒิสารกล่าวว่าประเด็นมาตรา 7 ทีตอนนี้เป็นมาตรา 5 มีการพูดถึงมานาน สังคมตั้งคำถามทุกครั้งที่มีวิกฤต แล้วก็ไปอ้างอิงสิ่งที่เสมือนจะเป็นการใช้มาตรา 7 ในอดีต เช่น สมัยที่สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถ้าดูพระราชดำรัสในหลวง ร.9 เมื่อปี 2549 ท่านก็บอกว่าท่านทำตามกติกา เพราะวันนั้นมีทวี แรงขำเป็นผู้รับสนองฯ และก็ยังมีสภา พระองค์ไม่ได้ทำอะไรผิด ในกรณีมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้ขยายไปอีกว่าการขอบเขตการพิจารณาจะต้องเป็นประเพณีการปกครองของไทย ไชยันต์ก็ตั้งคำถามอยู่สี่ประเด็นว่า หนึ่ง ประเพณีคืออะไร เอาอะไรเป็นหลัก สอง ตกลงแล้วประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยยึดหลักไหน สาม อะไรคือประเพณีการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สี่ ประชาธิปไตยของไทยเป็นอย่างไร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ชาติของใคร?

$
0
0



เป็นนิสิตนักศึกษาประชาชน
จงคลำหนทางก้าวอันหนาวหนัก
จงร่ำเรียนเขียนอ่านให้คึกคัก
เรื่องบ้านไม่ต้องตระหนักตระหนกใจ

มีปืนจี้คอยชี้ทิศไม่ผิดเพี้ยน
ประกายปืนเป็นแสงเทียนส่องโลกใหม่
เอาความดีเข้าตัวเสมอไป
ความชั่วช้าโยนให้คนอื่นอุ้ม

อย่าคิดเปลี่ยนแปลงชาติ* เลยลูกหลาน
หมั่นเขียนอ่านไปเถิดผู้สาวหนุ่ม
ผ้าลายพรางผืนนี้ที่แผ่คลุม
และกลุ่มคนบางกลุ่มจะนำทาง!

ชาติของเขา สังคมก็ของเขา
เด็กอย่างเราควรเจียมตัวเอาไว้บ้าง
ทหารหาญอย่างตู่ ป้อม จะล้อมบาง
ปล้นแสงเทียน ทาบเงากร่าง อย่างเต็มตีน!

 

หมายเหตุ:บางวรรคจากถ้อยคำผู้นำนาม "ประยุทธ์ จันทร์โอชา"

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การเมืองของความหวัง: การแผ้วทางให้คนอื่น

$
0
0

การถกเถียงเพื่ออธิบายว่าคนที่ออกมาเรียกร้องให้เลือกตั้งทำถูกหรือไม่ ยุทธศาสตร์ยุทธวิถีผิดพลาดหรือไม่ จะนำพาเราไปสู่การเมืองแบบเดิมหรือเปล่า มันคุ้มไหม มันเสี่ยงไหม ซึ่งนั้นเป็นคำถามที่ถามได้

แต่สำหรับผมการเมือง ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อครองอำนาจ เเพ้ชนะในวันเดียว แต่มันคือ การสะสม ถากถางหนทางหนทางให้คนอื่น ๆ ถ้าไม่มีการสะสมเราก็อาจไม่มีการเคลื่อนไหวเลย คนที่ออกมาคนแรกอาจเสี่ยง เจ็บแต่นั้นหมายถึงเขาได้ตัดสินใจแล้ว เพื่อเป็นบันไดแรก ๆ ให้คนอื่นได้สู้ต่อไป

"การเมืองจึงเป็นเรื่องของความหวัง" อยู่ที่ว่าจะเป็นหวัง/ฝันของคนกลุ่มเดียว หรือเป็นความหวังความฝันร่วมกันของหลายคน บางกลุ่มบางคนเช่นรัฐประหารของ "คน(ที่คิดว่า)ดี" ก็บอกว่าตนเองทำนั้นทำนี้ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าโดยที่ละเลยว่าคนอื่นคิดอย่างไร แม้เกิดจากความปรารถนาดีหรือไม่ก็ตาม แต่คนทั่วไปเขาไม่ได้ฝันอย่างที่พวกตนมุ่งหวัง ความฝันนั้นจึงไม่อาจแทรกซึมสร้างแนวร่วมกับคนกลุ่มอื่นได้ ฝันนั้นจึงเป็นเเต่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ยิ่งได้/ใช้อำนาจแบบเผด็จการครอบงำ ปิดกั้นไม่ให้ความฝันอื่น ๆ มีที่ยืน ฝันนั้น ๆ ก็เป็นแต่เพียงฝันเปียกทางการเมืองเท่านั้น

ความฝันทางการเมืองจึงเป็นความฝันที่คนทุกคนฝันร่วมกัน ทุกคนมีพื้นที่ในฝันนั้น แม้ว่าความฝันนั้นอาจนำมาซึ่งความตาย หรือไม่โสภานักสำหรับอนาคตของปัจเจกบุคคล เช่น ความฝันในเรื่องประชาธิปไตย ความเท่าเทียมของนักศึกษาในช่วง 14 ต.ค. 16 /6 ต.ค. 19 ขบวนการชาวนาชาวไร่ การต่อสู้เพื่อเอกราชและเปลี่ยนแปลงสังคมของนักศึกษาอินโด ฯ 1945-1947 นักศึกษาประชาชนพม่า 8/8/88 การรบเพื่อเอกราชของเวียดมินห์ ล้วนแต่เป็นความฝันที่เหนือความเป็นปัจเจกบุคคล แต่เป็นความหวาดหวังที่จะให้ประเทศชาติ "ดีขึ้น" ในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งล้วนให้เกิดการสะสมและการเคลื่อนไหวในอนาคตต่อมา

ความหวาดหวังใฝ่ฝันในท่วงทำนองนี้จึงเป็นความฝันร่วม ที่ต่างจากความฝันของเผด็จการที่หวังให้ทุกคน "ฝันเหมือนตน" โดยมิให้ความฝันของคนอื่นมีที่ยืนในฝันตน และมักคิดว่าสิ่งที่ตนทำคือความฝันร่วม ซึ่งเป็นไปไม่ได้หรอกครับ เพราะผมกับคุณอยู่บนผืนดินเดียวกัน แต่เราฝันถึงโลกคนละใบครับ

บางคนต้องการให้การเมืองมีเสถียรภาพ โดยไร้เสรีภาพ แต่หลายคน (รวมทั้งผม) ยอมให้การเมืองขาดเสถียรภาพ แต่มีเสรีภาพ ถ้าเราขาดเสรีภาพ เราก็ไม่อาจบอกว่าเราเป็น "คน" ได้

ท้ายที่สุด การเมืองเป็น 'กระบวนการ' เพราะปลายทางเราไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ถ้าระหว่างทางเราคำนึงถึงความชอบธรรม แนวร่วม การสร้างความเข้าใจ ฯลฯ แม้ท้ายที่สุดไม่บรรลุเป้าหมาย เราก็คิดว่าคุ้มแล้วที่ได้ทำ เพราะมันหมายถึงการถักทอ แผ้วทางให้คนอื่น ๆ ต่อไป จะเป็นการเมืองในชีวิตหรือการเมืองในกระบวนการเคลื่อนไหวก็ตาม

 

อ่านเพิ่มใน: Anderson, Benedict.  1972.  Java in a Time of Revolution: Occupation and Resistance, 1944-1946.   Ithaca and London: Cornell University Press.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์: เหตุใดที่พลเอกประวิตรจึงคงทนอยู่ในเก้าอี้

$
0
0


น่าจะมีคนมากมายสงสัยว่าเหตุใดพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงคงทนอยู่ในเก้าอี้ของผู้บริหารประเทศแม้จะได้รับการโจมตีจากสังคมหลายฝ่ายต่อการครอบครองนาฬิการาคาแพงจำนวนมากว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายและขาดความถูกต้องชอบธรรม จนถึงขั้นมีการลงชื่อหลายหมื่นคนในหลายเว็บไซต์เพื่อให้เขาลงจากตำแหน่งไป ผู้เขียนคิดว่ามีอยู่หลายสาเหตุซึ่งสามารถแบ่งเป็นปัจจัยภายในคือตัวของพลเอกประวิตรเองและภายนอกคือปัจจัยทางการเมืองและสังคม ทั้งหมดสามารถนำเสนอเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษดังต่อไปนี้           


1.Obsessed with power  (คำคุณศัพท์)  - ฝักใฝ่อำนาจ

สาเหตุที่คนอายุมากๆ ฝักใฝ่ในอำนาจก็เพราะตระหนักดีถึงวันตายหรือวาระสุดท้ายของตนซึ่งอยู่ไม่ไกล พวกเขาจึงพยายามมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน โดยการมีอำนาจอันช่วยให้พวกเขาได้รับการสรรเสริญ ยกย่องจากมวลชน และที่สำคัญสามารถดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างได้ดังพระเจ้า ด้วยพระเจ้านั้นเป็นอมตะ พวกเขาจึงสามารถหลงคิดไปได้ว่าตัวเองไม่มีวันตาย การยอมลาออกของพลเอกประวิตรก็หมายถึงการการสูญสิ้นอำนาจ ไปสู่ความว่างเปล่า และการหมกมุ่นอยู่กับความตายที่อยู่ตรงหน้าท่ามกลางสังขารอันร่วงโรย อันเป็นสิ่งที่พลเอกประวิตรไม่น่าจะยอมเป็นอันขาด จึงทนอยู่ในเก้าอี้ต่อไปโดยการคาดหวังว่าเวลาจะทำให้สื่อมวลชนเงียบเสียงและคนไทยก็หลงลืมกันไป


2.Narcissistic (คำคุณศัพท์) -  หลงตัวเอง  

คนเช่นนี้มักคิดว่าตัวเองดีเลิศ ประเสริฐศรี มีความสามารถพิเศษไม่เหมือนคนอื่น แม้ว่าจะมีผู้โจมตีและวิจารณ์พลเอกประวิตรเกี่ยวกับเรื่องนาฬิกาหรูเป็นจำนวนมาก  แต่ความหลงตัวเองของเขาจะกลายเป็นตัวช่วยตีความให้เป็นไปตามที่ตัวเองปรารถนา เช่นเมื่อตัวเองทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองก็ควรได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่างที่ไม่เหมือนใคร (แม้จะไม่ถูกกฎหมายก็ตาม แต่ก็อย่างว่า กฎหมายเป็นสิ่งที่ตัวเองและเพื่อนพ้องสามารถสร้างขึ้นมาเองได้อยู่แล้ว)  ส่วนคำด่าสามารถถูกตีความไปว่าเป็นพฤติกรรมของผู้ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมืองหรือต้องการบ่อนทำลายคสช.  แน่นอนว่าลูกน้องซึ่งหวังความโปรดปรานจากเจ้านายย่อมมีบทบาทอย่างสูงในการกลั่นกรองและนำเสนอข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางอินเทอร์เน็ตซึ่งสอดคล้องกับความหลงตัวเองเช่นนี้ พลเอกประวิตรจึงมีกำลังใจอยู่ในตำแหน่งต่อไป


3.  Military Cronyism (คำนาม) - การเล่นพรรคเล่นพวกของกองทัพ

การเมืองไทยไม่สามารถเปรียบได้กับการเมืองอังกฤษซึ่งรัฐมนตรีขอลาออกเพียงแค่ไปทำงานสาย เพราะไทยเป็นประเทศโลกที่ 3  ที่ขาดภาวะนิติรัฐหรือโครงสร้างทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง การที่พลเอกประวิตรขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตได้ก็ผ่านความสัมพันธ์ทางอำนาจในกองทัพที่ก่อรัฐประหารหรืออีกคำหนึ่งคือการเล่นพรรคเล่นพวกของกองทัพ  เขาจึงไม่มีทางลงจากอำนาจอย่างง่ายดายผ่านกระบวนการที่อิงอยู่บนคุณค่าแบบประชาธิปไตยดังประเทศโลกที่ 1 ซึ่งคสช.ไม่เคยมีความจริงใจในการสนับสนุน นอกจากเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง  ดังจะเห็นได้ว่าพลเอกประวิตรได้รับการสนับสนุนโดยนายกรัฐมนตรีที่ได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นนี้เหมือนกัน เช่นเดียวกับการช่วยเหลือจากองค์กรอิสระอย่างปปช.ที่พร้อมจะฟอกขาวให้กับพลเอกประวิตรเพราะความสัมพันธ์กับคสช.   


4.Mass mobilization (คำนาม) -การระดมมวลชน

การโจมตีพลเอกประวิตรมีได้ในโลกโซเชียลมีเดียเพียงประการเดียว เพราะกองทัพของไทยสามารถสะกัดการระดมมวลชนซึ่งมีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเสื้อแดงถูกถอนรากถอนโคน ส่วนพวกคนดีเป่านกหวีดก็เสียงแตกกันและปราศจากผู้นำที่มีบารมี จึงไม่สามารถมีการระดมมวลชนอย่างทรงพลังขึ้นมากดดันให้รัฐบาลปลดพลเอกประวิตรได้ เพียงแค่การจัดประท้วงเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้ง แกนนำก็โดนคสช.เล่นงานทางกฎหมายหลายกระทง ในทางกลับกัน หากกองทัพไม่ขึ้นตรงอยู่กับรัฐบาลแล้วและพลเอกประวิตรเป็นรัฐมนตรีสังกัดรัฐบาลของพรรคการเมืองเครือข่ายทักษิณ การระดมมวลชนเพื่อกดดันรัฐบาลย่อมประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันรวดเร็ว


5. fan club (คำนาม) -กลุ่มผู้สนับสนุน

แม้ข้ออ้างของพลเอกประวิตรอย่างเช่นการยืมนาฬิกาของเพื่อนที่ตายไปแล้วจะดูไร้สาระสิ้นดี แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงสนับสนุนพลเอกประวิตรในโลกโซเชียลมีเดียโดยอิงอยู่บนหลักของเหตุและผลอีกชุดหนึ่งซึ่งปราศจากข้อมูลที่ถูกต้องอย่างเช่น “เพียงแค่ลุงป้อมมีนาฬิกาหรูก็ไม่ใช่การกระทำความผิดอะไร” (แต่ลืมไปว่าลุงไม่แจ้งในบัญชีทรัพย์สิน)  หรือบางคนก็อ้างว่าไม่ควรใช้กฎหมู่กับพลเอกประวิตรแต่ควรอิงอยู่กับกฎหมายเช่นรอการตรวจสอบของปปช.เสียก่อน (โดยไม่สนใจว่าปปช.นั้นขาดความโปร่งใสและถูกควบคุมโดยคสช.) หรือ การมีนาฬิกาหรูนั้นยังเลวร้ายน้อยกว่าจำนำข้าวที่ทำให้ประเทศสูญเสียผลประโยชน์ไปหลายแสนล้านบาท  (ดังข้ออ้างของรศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัยซึ่งเพิกเฉยความจริงที่ว่าคสช.นั้นควรโปร่งใสที่สุดเพราะเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุด)  หรือสื่อบางฉบับอย่างเช่นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็ใช้การวิเคราะห์เหตุการณ์ทางการเมืองหน้า 3 ในการสนับสนุนคสช.  การสนับสนุนดังกล่าวย่อมช่วยให้ฉันทานุมัติในการโจมตีพลเอกประวิตรด้อยพลังลงไป


6. Militarism / Royalist Nationalism (คำนาม) -กองทัพนิยม/ลัทธิราชาชาตินิยม

แม้ว่าจะมีคนโจมตีทหารและกองทัพมากมายผ่านทางโลกโซเชียลมีเดีย แต่ผู้เขียนยังคิดว่าลัทธิดังกล่าวซึ่งมักเคียงคู่ไปกับลัทธิราชาชาตินิยมยังคงทรงอิทธิพลอยู่ไม่น้อยดังเช่นคำพูดที่ว่า “ ทหารอย่างพลเอกประวิตรก็ยังดีกว่าพวกนักการเมืองชั่วๆ เสียอีก” หรือ การที่รัฐบาลและกลุ่มผู้สนับสนุน (อย่างน้อยก็หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ) สามารถแก้ต่างว่าการโจมตีพลเอกประวิตรเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลโดยบุคคลที่อยู่ตรงกันข้ามกับกองทัพซึ่งปรารถนาดีต่อประเทศชาติและราชบัลลังก์ อย่างเช่น        กลุ่มเสื้อแดงและเครือข่ายของทักษิณก็ย่อมทำให้พลังในการโจมตีพลเอกประวิตรแผ่วเบาลงไปมาก


7.Nostalgia (คำนาม) -การฝักใฝ่ถึงอดีต

ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนได้จากการจัดงานย้อนยุคที่ผู้เข้าร่วมงานโดยเฉพาะคณะรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาแต่งกายในชุดโบราณอันสะท้อนถึงความฝักใฝ่ของรัฐถึงอดีตที่คนไม่เท่ากัน โดยครม.ได้แปลงโฉมให้กลายเป็นขุนนางที่ทรงอิทธิพลและเป็นอภิสิทธิชนในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามันสามารถสะท้อนถึงสำนึกของพลเอกประวิตร (ซึ่งออกงานแต่งชุดสีเขียว มีใบหน้าชื่นมื่น) คนรอบข้างหรือผู้สนับสนุนได้อย่างดีว่าการมีนาฬิกาหรูไม่ใช่เป็นเรื่องผิดร้ายแรงแต่ประการใด หากเป็นสัญลักษณ์ของผู้ทรงอำนาจในอดีตที่สามารถกอบโกยเอาทรัพยากรส่วนกลางมาเป็นของตัวเองโดยไม่ต้องสนใจคุณค่าของประชาธิปไตย ปรากฎการณ์เช่นนี้ล้วนถูกผลิตซ้ำโดยสื่อมวลชนไทยผ่านภาพยนตร์และละครมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน  อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คดีของพลเอกประวิตรอาจสูญหายไปกับห้วงมหาสมุทรแห่งกาลเวลา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'นักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง' ฝากประยุทธ์ มหา'ลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ปท.ไม่ใช่ค่ายกักกัน

$
0
0

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ เตือนอาจารย์อย่าหนุน นศ.เคลื่อนไหวการเมือง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ส่งสารโต้กลับ ชี้มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร และประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน

20 ก.พ. 2561 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการที่ยึดมั่นในหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค รวมทั้งประชาธิปไตย ออกจดหมายเปิดผนึก ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกฯ  กรณีการเรียกร้องการเลือกตั้งของนักศึกษาและประชาชน โดยอ้างถึงตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงความกังวลต่อการที่นักศึกษาและประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา ว่าเป็นความต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศโดยยึดหลักการต่างประเทศซึ่งจะก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมกับฝากมายังอาจารย์ให้ยุติการสนับสนุนการเคลื่อนไหวและการสั่งสอนนักศึกษาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นั้น

คนส. เห็นว่าความกังวลของท่านมีความคลาดเคลื่อนต่อการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาและคำฝากของท่านวางอยู่บนความไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของนักวิชาการที่มีต่อทั้งนักศึกษาและสังคม กล่าวในส่วนของความกังวลต่อสถานการณ์ การแสดงออกของนักศึกษาและประชาชนเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยและเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มิได้เป็นการยึดหลักการต่างประเทศที่ไม่มีรากฐานทางการเมืองและกฎหมาย ความสูญเสียจะเกิดขึ้นก็แต่เฉพาะผู้มีอำนาจรัฐหรือ คสช. ปฏิเสธว่าประเทศนี้ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเป็นเพียงกระดาษที่ไร้ความหมาย

ขณะเดียวกันการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษามิได้เป็นเพียงการถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป หากแต่เป็นการกระตุ้นและสนับสนุนให้นักศึกษาได้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองด้วยวิธีการที่หลากหลาย ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะในชั้นเรียน หากแต่ยังรวมถึงสภาพความเป็นจริงของชีวิตและสังคม ฝึกฝนให้พวกเขาตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และหาแนวทางคลี่คลายประเด็นปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งไม่ได้มีแต่เรื่องส่วนตัวหรือความสำเร็จในอาชีพการงาน หากแต่หมายรวมถึงประโยชน์ของสังคมหรือประเทศอย่างสำคัญ การที่นักศึกษาจำนวนหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่ออนาคตของพวกเขาและคนร่วมสังคม จึงอยู่ในครรลองของการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาดังที่ว่านี้

นอกจากนี้ นักวิชาการมีพันธกรณีในการผลิตความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งความรู้ความเข้าใจแบบไหนจะเป็นเพียงแค่ความก้าวหน้าของสาขาวิชา มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหา หรือว่าสามารถก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าความรู้ความเข้าใจนั้นวางอยู่บนปัญหาและสภาพความจริงเพียงใด และได้รับการหยิบใช้ในการเผชิญปัญหาเพียงไหน การที่นักวิชาการชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่สังคมไทยในปัจจุบันกำลังประสบอยู่คืออะไร ยึดโยงอยู่กับบริบท เงื่อนไข และปัจจัยไหน ทางออกที่ถูกที่ควรคืออะไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไม่ปล่อยให้ความรู้ความเข้าใจอยู่นิ่งอย่างเฉื่อยชา หากแต่พาเข้าไปสู่สาธารณะหรือว่าใจกลางของปัญหา จึงเป็นการทำให้วิชาการมีความเกี่ยวพันกับการแก้ปัญหาสังคมยื่งขึ้น การที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งสนับสนุนหรือออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับนักศึกษาและประชาชนในการเรียกร้องความถูกต้องและประชาธิปไตยจึงเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีที่นักวิชาการมีต่อสังคมดังที่ว่านี้

คนส. เรียนกลับไปยังหัวหน้า คสช. ให้ทบทวนความเข้าใจที่ท่านมีต่อนักศึกษาและนักวิชาการเสียใหม่ เพื่อจะได้เข้าใจว่าสิ่งที่พวกเราดำเนินการมามิได้ผิดเพี้ยนไปจากปรัชญาและวัตถุประสงค์ของสถาบันอุดมศึกษาที่มีต่อสังคมแต่อย่างใด เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร และประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มนักศึกษาเชียงใหม่-ลำปางเรียกร้อง คสช. ยุติดำเนินคดีคนอยากเลือกตั้ง

$
0
0

กลุ่มนักศึกษาในเชียงใหม่และลำปาง ทั้งพรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ ม.เชียงใหม่ กลุ่มนักศึกษาสาขาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ และชมรมนกกระดาษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ต่างออกแถลงการณ์โดยเรียกร้องให้ยุติการแจ้งความดำเนินคดี 6 นักศึกษา-ปชช. ฐานขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 พร้อมเรียกร้องให้ คสช. ยุติการละเมิดสิทธิพลเมือง ยุติการดำเนินคดีคนอยากเลือกตั้งทั้งหมด และคืนอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชนโดยเร็ว

กรณีที่ พล.ต.สาธิต ศรีสุวรรณ ผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.เชียงใหม่ มอบอำนาจให้อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 แจ้งความตำรวจ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์  ให้ดำเนินคดีนักศึกษา มช.-มธ.ศูนย์ลำปาง 4 ราย และชาวบ้าน 2 ราย ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 เหตุชุมนุมเรียกร้องเลือกตั้งอยู่หน้า ม.เชียงใหม่เมื่อ 14 ก.พ. ที่ผ่านมานั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

"รวมพลคนอยากเลือกตั้ง" เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (แฟ้มภาพ)

ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 20 ก.พ. มีกลุ่มนักศึกษาทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ ชมรมนกกระดาษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง, คณะกรรมการนักศึกษา สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และพรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของรัฐบาล คสช. รวมทั้งเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีทั้งกรณีการจัดกิจกรรม "รวมพลคนอยากเลือกตั้ง" ที่เชียงใหม่และทั่วประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ที่มา: นกกระดาษ - PPB

โดยชมรมนกกระดาศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ออกแถลงการณ์ เรื่อง "ประณามการกระทำของรัฐบาล คสช. ต่อพลเรือนและนักศึกษากลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" มีรายละเอียดระบุว่า

"จากเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมานี้ ทางชมรมนกกระดาษ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้จับตาดูการกระทำของ รัฐบาล คสช. มาโดยตลอดทั้งการออกหมายเรียกและหมายจับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทั้ง 39 คน (MBK39) บริเวณสกายวอร์ค หน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง และการออกหมายเรียกนักศึกษา และพลเรือน จำนวน 6 คน บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์เป็นการชุมนุมเรียกร้องของประชาชนซึ่งมีสิทธิชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมือง (ICCPR) ที่เรียกร้องต่อรัฐบาลให้คืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชน คืนประชาธิปไตยสู่สังคม โดยการเลือกตั้งตามโร้ดแม้พของรัฐบาลคสช.ที่ได้วางเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ชมรมนกกระดาษฯไม่สามารถนิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ที่ไม่ปกติและละเมิดสิทธิต่อประชาชนเช่นนี้ต่อไปได้จึงขอประณามการกระทำของรัฐบาลดังนี้"

"1. ขอประณามรัฐบาลคสช.ในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสืบถอดอำนาจของตนเองผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.๒๕๖o มาตรา ๒๖๕ ประกอบกับมาตรา ๔๔ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปีพ.ศ.๒๕๕๗ ในคำสั่งที่ ๓/๒๕๕๘ ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายในทางที่ผิดและไม่ได้เป็นไปเพื่อความยุติธรรมแต่เพื่อความชอบธรรมของตนเอง

2.ขอประณามรัฐบาลคสช. ในการจับกุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทั้ง 39 คน บริเวณสกายวอร์ค หน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง และการออกหมายเรียกนักศึกษา และพลเรือน จำนวน 6 คน บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยชอบธรรมและมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมือง (ICCPR) ซึ่งการออกหมายเรียกและหมายจับโดยรัฐบาลคสช.นั้น เป็นการละเมิดสิทธิพลเมืองซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ชมรมนกกระดาษ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จึงได้ประณามการกระทำดังกล่าวและขอให้รัฐบาลคสช.ยุติการกระทำซึ่งเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือและละเมิดสิทธิพลเมืองซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนของประชาชนและยุติการดำเนินคดีต่อต่อพลเรือนและนักศึกษากลุ่มคนอยากเลือกตั้งทั้งหมดและคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชนโดยทันที

ชมรมนกกระดาษ

แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
วันที่ 20 ก.พ. พ.ศ.2561"

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการนักศึกษา สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "การแสดงจุดยืนต่อคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 3/2558"

โดยตอนหนึ่งระบุว่า "ในนามคณะกรรมการนักศึกษา สาขาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ขอแสดงความกังวลต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ จากการกระทำนี้ เป็นการแสดงเรียกร้องสิทธิควรพึงได้ในฐานะประชาชนชาวไทย ซึ่งกลุ่มประชาชนต้องการให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งให้โดยเร็วที่สุดตามระบอบประชาธิปไตย และหยุดการใช้อำนาจในทางมิชอบต่อประชาชน"
 
"ในการนี้ ทางคณะนักศึกษานั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติทบทวนการกระทำดังกล่าว ซึ่งเป็นการลดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงจุดยืนที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล อีกทั้งการใช้อำนาจรัฐต่อประชาชนนั้น เป็นการกระทำโดยมิชอบต่อข้อกฎหมาย ที่ประชาชนสามารถออกมาเรียกร้องและเคลื่อนไหวชุมนุมได้" โดยท้ายแถลงการณ์ลงว่า คณะกรรมการนักศึกษาสาขาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

นอกจากนี้ พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 21 ก.พ.  "เรียกร้องให้ยุติการแจ้งความดำเนินคดีกับนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3 คน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง 1 คน และประชาชนอีก 2 คน" โดยมีรายละเอียดดังนี้

"เนื่องจากเหตุการณ์การจัดกิจกรรม “รวมพลคนอยากเลือกตั้ง” โดยกลุ่มนักศึกษาสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ตั้งแต่เวลา 16.45 น. เพื่อแสดงพลังในการยืนยันข้อเสนอที่ว่าให้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และไร้การเลื่อนออกไปอีก เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ตลอดจนพูดถึงปัญหาทุจริตคอรัปชั่นภายใต้รัฐบาลนี้ โดยมีผู้คนเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 100 คน และเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

ต่อมาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้แทนของฝ่ายความมั่นคง ได้เดินทางมาแจ้งความให้ดำเนินคดี กับกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว จำนวน 6 คน ได้แก่ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3 คน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง 1 คน และประชาชนอีก 2 คน ที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงค์ราชนิเวศน์ โดยกล่าวอ้างว่ากระทำผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ซึ่งในการจัดกิจกรรมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ที่แสดงถึงความรุนแรง และบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรไทย และเป็นการกระทำภายใต้เสรีภาพของพลเมือง ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องราวความเป็นไปของรัฐตนเองอย่างอิสระ

ในฐานะเยาวชนของราชอาณาจักรไทย พวกเรารู้สึกถึงความอยุติธรรมในสังคมที่ปรากฎในเหตุการณ์นี้ เราเชื่อมั่นในการกระทำของประชาชนชาวไทย เพื่อนนักศึกษา และเยาวชน ว่ากระทำไปภายใต้ขอบเขตในสิทธิ และเสรีภาพในฐานะพลเมืองในรัฐ การออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา จึงเสมือนหนึ่งเป็นการคุกคามต่อการแสดงออกในสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของพลเมืองที่ตื่นตัวในรัฐต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในรัฐ

พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ ในฐานะพรรคนักศึกษาที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพร้อมปกป้องสิทธิ เสรีภาพของศึกษา จึงขอแสดงความกังวลต่อการล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่มีจุดยืน และความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล ตลอดจนกังวลถึงการที่รัฐมาบังคับใช้กฎหมายกับพลเมืองที่แสดงความคิดเห็นต่อการเลื่อนการเลือกตั้ง และความไม่โปร่งใสภายในรัฐบาลชุดนี้

ดังนั้นเราขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง พิจารณาการแจ้งข้อกล่าวหาอีกครั้งหนึ่ง ตลอดจนให้เกิดการยกเลิกข้อกล่าวหาแก่กลุ่มนักศึกษา และประชาชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสงบเรียบร้อยในกิจกรรมดังกล่าว ตลอดจนไม่สมควรมีการแจ้งข้อกล่าวหาเช่นนี้อีกต่อไป

ท้ายที่สุด พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งหมด ทบทวนบทบาทของตน ที่ได้ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง จากการกระทำดังกล่าว และพึงระลึกถึงหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองตามที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตลอดจนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

“เชื่อมั่นในนักศึกษา ศรัทธาในผองชน”

พรรคนักศึกษายุวธิปัตย์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

21 กุมภาพันธ์ 2561"

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: สังคมไทย ‘ไม่สลิ่ม’ นะจ๊ะ

$
0
0

 

ช่วงนี้ในโลกโซเชียลกำลังเกิดกระแสอยากให้เลิกใช้คำว่า “สลิ่ม” เช่นมีเฟสบุ๊คแฟนเพจสนับสนุนการเลิกใช้คำว่า "สลิ่ม" และ "ควายแดง"คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด ก็สนับสนุนการเลิกใช้คำว่าสลิ่มด้วยเหตุผลว่า

คำว่าสลิ่มได้เกินเลยกลายเป็นคำด่ากัน เชิงดูถูกกัน  เนื่องจากมองว่าพวกนี้เป็นพวกอนุรักษ์นิยม แต่ใช้ชีวิตทุนนิยม ไม่มีหลักการ ขัดแย้งกันเอง ภายนอกดูดีแต่ภายในห่วยแตก ปีกฝ่ายทางการเมือง บางครั้งก็คลางแคลงใจ เราเห็นไม่ตรงกันมากขนาดนั้นเลยหรือ ทั้งที่จริงๆ อาจไม่ได้เห็นต่างกันมากขนาดนั้นก็ได้ 

อันที่จริงมีผู้เสนอให้เลิกใช้คำว่า “สลิ่ม” มาตั้งแต่ปี 2011 แล้วโดยนักวิจัยหมูหลุมด้วยเหตุผลว่าสลิ่มเป็นคำดูถูกหรือประณามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง, คนไม่เลือกฝ่าย, ชนชั้นกลางกรุงเทพฯ แบบ “ตีขลุม” หรือ “เหมารวม” สลิ่มจึงเป็นคำที่สร้างความขัดแย้งและผลักฝ่ายกลางๆ ให้เป็นศัตรู 

ดูเหมือนความหมายของสลิ่มดังกล่าว จะมุ่งไปที่ “กลุ่มคน” หรือฝักฝ่ายทางการเมืองซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเสื้อแดง หรือคำว่าสลิ่มคือคำที่ฝ่ายเสื้อแดงใช้เรียกเสื้อเหลืองหรือกลุ่มคนที่แสดงออกว่าเป็นกลาง ไม่เลือกฝ่าย แต่จริงๆ มีทัศนะทางการเมืองไปทางเหลือง ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงเองก็ถูกฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า “ควายแดง” มาก่อนที่จะมีการเรียกอีกฝ่ายว่าสลิ่ม

อย่างไรก็ตาม มีนิยามของ “สลิ่ม” ที่สะท้อนทัศนะหรือวิธีคิดบางอย่างที่มีอยู่จริงหรือปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันว่า

“สลิ่มคือบุคคลที่หลงคิดว่าตนมีสติปัญญา คุณสมบัติ ความเชื่อ ค่านิยม หรือจริยธรรมเหนือกว่าผู้อื่น ทว่าแท้จริงกลับไม่มีความคิดเป็นของตนเอง ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่สามารถใช้ตรรกะหรือแสดงเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ จึงมักอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือมีความเชื่อที่ผิดอยู่เสมอ ทั้งยังปากว่าตาขยิบ มีอคติและความดัดจริตสูง เกลียดนักการเมือง และไม่ชอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน”

(https://th.wiktionary.org/wiki/สลิ่ม)

จะเห็นว่าสภาวะหรือปรากฏการณ์แบบสลิ่มคือ “ความย้อนแย้ง” ดังเช่นเรียกร้องอำนาจรัฐที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่กลับยอมรับและสนับสนุนอำนาจจากรัฐประหารที่ตรวจสอบไม่ได้ หลายคนแสดงออกว่าเป็นกลาง ไม่เลือกฝ่าย ไม่เลือกสี แต่เข้าไปรับตำแหน่งต่างๆ โดยการแต่งตั้งของรัฐบาลจากรัฐประหาร

ในแง่ “ศีลธรรมสาธารณะ” ของโลกสมัยใหม่ ย่อมหมายถึงการเคารพปกป้อง “ความชอบธรรม” ตามกระบวนการประชาธิปไตย และการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ อำนาจของประชาชน แต่สำหรับชาวสลิ่มกลับอ้าง “ศีลธรรม” ส่วนตัว เช่นความดี ความเป็นคนดีตามคำสอนทางศาสนาให้ความชอบธรรมและสนับสนุนการเข้าสู่อำนาจ การรับตำแหน่งผ่านกระบวนการรัฐประหาร ซึ่งขัดแย้งกับศีลธรรมสาธารณะอย่างสิ้นเชิง

สภาวะความย้อนแย้ง/ขัดแย้งในตัวเองแบบสลิ่มดังกล่าว ย่อมไปกันได้ดีหรือกลมกลืนกับความย้อนแย้ง/ขัดแย้งในตัวเองทั้งในเชิงระบบโครงสร้าง นโยบาย วิธีคิดและการกระทำระดับรัฐ เช่นในเชิงระบบ/โครงสร้าง มีรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แต่กลับมีมาตราอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญนั้นเองที่ตีกรอบให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ เสรีภาพได้เต็มความหมายของหลักสิทธิ เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งยังมี ม.44 และคำสั่ง คสช.ฉบับต่างๆ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญเสียเอง

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงนโยบาย วิธีคิด และการกระทำที่ขัดแย้งในตัวเองตลอดเวลา อย่างที่เห็นๆ กันคือ ขณะที่ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับตั้งข้อหา ดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิ เสรีภาพชุมนุมทางการเมืองตามหลักสิทธิมนุษยชน

อันที่จริง สภาวะย้อนแย้ง/ขัดแย้งในตัวเองแบบสลิ่มดังกล่าว ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจำเพาะกับคนกลุ่มไหนหรือสีใดสีหนึ่งเท่านั้น มันอาจเกิดขึ้นได้ในคนทุกสีทุกฝ่าย หรือทุกคน

ในทางสังคมจิตวิทยา สภาวะย้อนแย้งแบบสลิ่มย่อมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่มีสาเหตุจากกระบวนการหล่อหลอมหรือขัดเกลาทางสังคม เมื่อเราได้ยินพระเซเลบพูดว่า “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก เราควรส่งออกสันติภาพตามหลักคำสอนพุทธศาสนาสู่ชาวโลก” เราเข้าใจได้ว่านี่เป็นวิธีคิดแบบไทย และเมื่อนำไปเชื่อมโยงกับวิธีคิดแบบไทยที่ชนชั้นนำไทยตอกย้ำมาตลอดว่า “ประชาธิปไตยเป็นของตะวันตก เราจะเป็นประชาธิปไตยแบบเขาไม่ได้ ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทย (นิยม) เท่านั้น” เราย่อมเห็น “ความย้อนแย้ง” ได้ชัดเจน

นั่นคือ เมื่อคุณบอกว่า “เราควรส่งออกสันติภาพตามหลักคำสอนพุทธสู่ชาวโลก” คุณกำลังยก “สิ่งเฉพาะ” ตามความเชื่อทางศาสนาพุทธไทยให้กลายเป็น “สิ่งสากล” สำหรับชาวโลก ขณะที่เมื่อคุณพูดว่า “ประชาธิปไตยเป็นของตะวันตก” คุณกำลังเบลอความหมายของหลักการประชาธิปไตยซึ่งมีความหมายในเชิงสากลสำหรับมนุษย์ทั่วไปที่มีสิทธิ์จะนำมาใช้ได้ให้กลายเป็นเพียง “สิ่งเฉพาะ” ของชาวตะวันตก เมื่อเป็นสิ่งเฉพาะของชาวตะวันตก เราไม่ใช่ชาวตะวันตกจึงมีประชาธิปไตยแบบเขาไม่ได้ ก็ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทย ซึ่งย่อมไม่ใช่ประชาธิปไตยในความหมายของ “เสรีประชาธิปไตย” อย่างที่รับรู้กันในโลกสมัยใหม่

รากฐานของวิถีคิดแบบไทยคืออะไร? ผมอยากชวนดูภาพอุปมาการปกครองที่ดีและเลวของ  Ambrogio Lorenzetti จิตรกรชาวอิตาลี ภาพแรกคือภาพอุปมาการปกครองที่ดี (Allegory of Good Government)

ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/The_Allegory_of_Good_and_Bad_Government

ภาพนี้แสดงบุคลาธิษฐานว่า ผู้ปกครองที่ทรงเกียรติ ต้องที่เป็นคนมีคุณธรรม เช่นความกล้าหาญ ความยุติธรรม ความใจกว้าง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสุขุมรอบคอบย่อมปกครองบ้านเมืองให้ผู้ใต้ปกครองทุกชนชั้นมีความสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง ส่วนภาพที่สองเป็นภาพอุปมาการปกครองที่เลว (Allegory of Bad Government)

ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/The_Allegory_of_Good_and_Bad_Government

แสดงอุปมาว่าเมื่อผู้ปกครองเลว ไร้คุณธรรม ผู้ใต้ปกครองย่อมแร้นแค้น เบียดเบียนทำร้ายกัน บ้านเมืองไร้ความสงบสุข

ผมชวนดูภาพดังกล่าวนี้ เพื่อที่จะบอกว่าเราสามารถเห็นความคิดเรื่องการปกครองที่ดีและเลวในยุคก่อนสมัยใหม่ย้อนไปถึงยุคโบราณแบบนี้ได้ทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก ในพระไตรปิฎก (เช่นจักกวัตติสูตร) ก็บรรยายภาพการปกครองที่ดีและเลวทำนองเดียวกันนี้ ต่างกันเพียงรายละเอียดบางอย่าง

แต่เมื่อตะวันตกเปลี่ยนแปลงสู่สภาวะสมัยใหม่ ก็เกิดปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ที่ไม่ถือว่าการปกครองที่ดีอยู่บนฐานคิดเรื่อง “คุณธรรมของผู้ปกครองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ” อีกต่อไป แต่เป็นการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยที่อยู่บนฐานคิดที่ว่ารัฐมีอำนาจจำกัดหรือมีอำนาจน้อยที่สุด เพื่อให้ปัจเจกบุคคลมีสิทธิ เสรีภาพมากที่สุดตราบที่การใช้สิทธิ เสรีภาพนั้นไม่ก่ออันตรายแก่คนอื่น รัฐต้องให้หลักประกันสิทธิ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล เพราะนี่คือการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชน คือการสร้างพื้นที่เพื่อการเติบโตเต็มตามศักยภาพของปัจเจกบุคคล และให้หลักประกันประโยชน์สุขของส่วนรวมหรือความก้าวหน้าของมนุษยชาติ

ปัญหาคือบนฐานคิด “ความเป็นไทย” ณ ศตวรรษที่ 21 ยังเป็นฐานคิดที่ยึดถือคุณธรรมของผู้ปกครองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ (ตามคำสอนพุทธไทย) อยู่เลย แต่ความขัดแย้งในสังคมเราก็ไม่ได้ต่างจากความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในโลกตะวันตก คือเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่ยึดติดกับฐานคิดเก่ากับฝ่ายที่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่ฐานคิดใหม่ หรือเป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างชนกลุ่มน้อยที่เป็นอภิสิทธิ์ชนที่พยายามรักษาสถานะ อำนาจที่ได้เปรียบ กับคนส่วนใหญ่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสู่ความเท่าเทียมมากขึ้น

ภายใต้ความขัดแย้งเช่นนี้ สภาวะย้อนแย้งแบบสลิ่ม ก็คือสภาวะย้อนแย้งระหว่างเก่ากับใหม่ที่ไม่ลงตัว กลายเป็นความขัดแย้งในตัวเองทั้งในวิธีคิด การกระทำของผู้คนในสังคม ไปจนถึงระบบโครงสร้าง นโยบาย และการใช้อำนาจรัฐ

ถึงเราเลิกใช้คำ “สลิ่ม” ก็ไม่ได้แปลว่าสภาวะย้อนแย้ง/ขัดแย้งในตัวเองแบบสลิ่มจะหายไป มันอาจจะยังทรงอิทธิพลในฐานะและบทบาทของอำนาจนำทางการเมืองและอำนาจนำทางวัฒนธรรม ที่แสดงออกภายในระบบและการใช้อำนาจแบบขัดแย้งในตัวเองของรัฐ อยู่ในวิธีคิดและการกระทำของผู้คนไม่ว่าฝ่ายใดๆ หรือแม้กระทั่งในตัวเราเอง

แน่นอนว่า อาจจะดีถ้าหากคนในสังคมรู้สึก “อ่อนไหว” และระมัดระวังที่จะไม่ใช้คำ “สลิ่ม” ดูถูกกัน แต่ถ้าผู้คนไม่รู้สึกรู้สาต่อสภาวะย้อนแย้ง/ขัดแย้งในตัวเองแบบสลิ่มที่ทรงอิทธิพลในทางเป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้งดังที่กล่าวมา การเลิกใช้คำว่าสลิ่มก็แค่การหลอกตัวเองว่าสังคมเราไม่สลิ่มนะจ๊ะ

  

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฎีกาสั่งคุก กลุ่มการ์ด พธม.บุก NBT ปี 51 ตั้งแต่ 4 - 9 เดือน

$
0
0

ศาลฎีกาสังจำคุก 85 กลุ่มการ์ดพันธมิตรฯ คดีบุกยึกสถานีโทรทัศน์ NBT ปี 51 โทษตั้งแต่ 4-9 เดือน ขณะที่ 6 เยาวชนในนั้นให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ ส่วนความผิดฐานซ่องโจรนั้นให้ยกฟ้อง

21 ก.พ.2561 ความคืบหน้าในการนัดอ่านฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.4486/2551 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ธเนศร์ คำชุม กับพวกรวม 85 คน  ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัย และเป็นแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เป็นจำเลย ฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน, ทำลายทรัพย์สินทางราชการให้ได้รับความเสียหาย และข้อหาอื่นๆ กรณีบุกยึดสถานีโทรทัศน์ NBT ในช่วงชุมนุมขับไล่รัฐบาลเมื่อปี 2551 ซึ่งคดีนี้จำเลยได้ประกันตัวระหว่างฎีกา หลังจากเลื่อนมาหลายรอบนั้น

 

วันนี้ ไทยโพสต์รายงานว่า ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ฎีกาของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุก ธเนศร์ คำชุม จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 8 เดือน, เมธี อู่ทอง จำเลยที่ 24 จำคุก 8 เดือน ,จำเลยที่ 2-23, 25-29 , 31-41 , 43– 46 , 48 - 80 ,82 จำคุกคนละ 6 เดือนและเมื่อรวมโทษปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ชนินทร์ อินทร์พรหม จำเลยที่ 2 , จรัส วีระพันธ์ จำเลยที่ 39 กับ ธนพล แก้วเชิด ที่ 80 จึงเป็นจำคุกคนละ 6 เดือนและปรับ 500 บาท ส่วน อัมรินทร์ ยี่เฮง จำเลยที่ 48 ให้บวกโทษคดีอื่นกับคดีนี้จึงเป็นจำคุก 9 เดือน และ ประดิษฐ์ คงช่วย จำเลยที่ 70 ก็เช่นกันจึงจำคุกทั้งสิ้น 8 เดือน 

สำหรับจำเลยที่ 30 ,47,81 จำคุกคนละ 4 เดือน และจำเลยที่ 83-85 จำคุกคนละ 3 เดือน ซึ่งขณะกระทำผิดทั้งหกเป็นเยาวชน จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ ส่วนความผิดฐานซ่องโจรนั้นให้ยกฟ้อง

รายงานข่าวระบุด้วยว่า หลังจากฟังคำพิพากษาแล้ว จำเลยทั้งหมดจะถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ควบคุมตัวเข้าเรือนจำทันทีในวันนี้ โดยให้ออกหมายจับจำเลย 5 คน ที่ไม่มาฟังคำพิพากษาในวันนี้ เพื่อให้มารับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ถึงที่สุดแล้ว

 

หนึ่งในจำเลย NBT ยอมรับปฏิบัติการผิดพลาด
และมีส่วนผลิตซ้ำทำให้อำนาจนอกระบบเติบโต

อนึ่งนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ จำเลยที่ 13 ในคดี ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินจำคุก 6 เดือนนั้น ก่อนหน้านี้เขาได้โพสต์สเตตัสเมื่อเวลา 08.27 น. ก่อนทราบผลคำพิพากษาว่า

#วันนั้นผมให้สัมภาษณ์กับคุณสรยุทธบนรถผู้ต้องหาว่า #ผมต้องการให้สถานีโทรทัศน์NBTกลับมาเป็นของประชาชน #ผมไม่เคยเป็นนักรบศรีวิชัยและไม่เคยคิดจะเป็น

นอกจากนี้ผู้ใช้นามว่า สจ.ทินกร อ่อนประทุม ได้เข้ามาโพสต์ให้กำลังใจระบุว่า "เข้าใจครับ คิดในตรรกะไม่ต่างกันครับกับการต่อสู้ในเหตุการณ์คล้ายๆกันในอีก 8 ปีต่อมา คือ”ผมต้องการให้รัฐเป็นรัฐที่ฟังเสียงประชาชนไม่เคยเป็นและไม่เคยคิดจะเป็นนั่งร้านกวักมือเรียกใคร”" ทำให้นิติรัตน์ตอบเพิ่มเติมด้วยว่า

"ต่างกันแล้วนะในความเห็นผม พูดตรงไปตรงมานะ เพราะผมเองสรุปว่า การปฏิบัติการของผมผิดพลาดครับ และมีส่วนทำให้เกิดการผลิตซ้ำทำให้อำนาจนอกระบบเติบโตขึ้น ดังนั้น ผมจึงไม่ร่วม กปปส. ครับ"

 

นิติรัตน์ สำหรับนิติตน์ แสดงท่าทีไม่เป็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ กปปส. รวมทั้ง ออกแถลงการณ์ร่วมกับนักกิจกรรมอีก 10 คน ปฏิเสธการรัฐประหาร โดย คสช. เพียง 1 วัน 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลัดกันเมิน เกาหลีเหนือปัดร่วมประชุมกับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

$
0
0

คณะผู้แทนการทูตเกาหลีเหนือปัดเข้าประชุมกับไมค์ เพนซ์ รอง ปธน. สหรัฐฯ ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายมาร่วมงานโอลิมปิกฤดูหนาวที่เกาหลีใต้ ก่อนหน้านี้ทั้งสองได้นั่งใกล้กันในพิธีเปิดแต่ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งนี้ เพนซ์ เคยไม่เข้าร่วมโต๊ะอาหารเย็นกับเกาหลีเหนือก่อน ท่าทีโสมแดงแต่โสมขาวดีขึ้น คิมจองอีนชวน ปธน. เกาหลีใต้ไปเยือนเปียงยาง

ไมค์ เพนซ์ (ยืนขวา) ในงานโอลิมปิกฤดูหนาว ผู้หญิงหมวกดำด้านหลังคือคิมโยจอง น้องสาวคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ทั้งคู่นั่งใกล้กัน แต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน (ที่มาภาพ: Official White House Photo by D. Myles Cullen)

เมื่อ 20 ก.พ. 2561 ฮีเธอร์ นอเอิร์ต โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงในเรื่องแผนการนัดพบกันระหว่างกลุ่มผู้นำของเกาหลีเหนือ กับรองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ ที่เกาหลีใต้ หลังทั้งสองฝ่ายต่างเดินทางมาร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว

แถลงการณ์ระบุว่า ทางเกาหลีเหนือตัดสินใจปฏิเสธไม่เข้าร่วมการพูดคุยในนาทีสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่เกาหลีเหนือไม่คว้าโอกาสในการพูดคุยไว้

“ความเป็นไปได้ในการจัดการประชุมสั้นๆ ระหว่างคณะหัวหน้าตัวแทนเกาหลีเหนือมีขึ้นระหว่างที่รองประธานาธิบดีเดินทางไปเยือนเกาหลีใต้เพื่อแสดงท่าทีความเป็นพันธมิตรและสนับสนุนนักกีฬาอเมริกัน ทางรองประธานาธิบดีพร้อมที่ใช้โอกาสนี้เพื่อตอกย้ำถึงความจำเป็นในการล้มเลิกการทดลองขีปนาวุธและโครงการนิวเคลียร์อันเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย” แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ยังได้ระบุว่า แม้เกาหลีเหนือปฏิเสธที่จะมีการพูดคุย แต่สหรัฐฯ จะยังคงเรียกร้องให้เกิดความสนใจเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรมของชาวอเมริกัน [ออตโต วอร์มเบียร์ รายละเอียดอยู่ตอนท้าย] และจะไม่ยอมให้การเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมาปกปิดธาตุแท้ของเกาหลีเหนือ โลกจำเป็นที่จะต้องรวมตัวกันในการเผชิญหน้ากับโครงการอาวุธที่ผิดกฎหมายของเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ มาตรการโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือทางการทูตและเศรษฐกิจในระดับหนักที่สุดจะยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าเกาหลีเหนือจะตกลงพูดคุยเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี

การส่งทีมนักกีฬาและผู้แทนทางการทูตของเกาหลีเหนือมายังเกาหลีใต้กลายเป็นกระแสใหญ่โต สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน ของสหราชอาณาจักรรายงานว่า คิมโยจอง น้องสาวของผู้นำสูงสุด คิมจองอึน เป็นหนึ่งในสมาชิกของทีมผู้แทนอาวุโสทางการทูตของเกาหลีเหนือด้วย ถือเป็นสมาชิกคนแรกของตระกูลคิมที่ได้มาเยือนเกาหลีใต้นับตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี ที่ตอนนั้นคิมอิลซุง ผู้ก่อตั้งเกาหลีเหนือ ผู้เป็นปู่ของคิมโยจองและคิมจองอึนได้มาเยือนเกาหลีใต้ด้วยการเข้าโจมตีจนกรุงโซลอันเป็นเมืองหลวงแตกในปี 2493

การมาเยือนของเกาหลีเหนือทำให้เกิดภาพแห่งความสามัคคีที่ไม่มีใครคาดคิด เมื่อประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มูนแจอิน ได้จับมือกับคิมโยจองและคิมยองนัม ประธานรัฐสภาเกาหลีเหนือ ผู้แทนของผู้นำสูงสุดในการมาเยือนครั้งนี้ นักกีฬาของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังได้เดินขบวนภายใต้ธงผืนเดียวกัน มีนักกีฬาเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ลงแข่งในทีมเดียวกันด้วย

สองเกาหลีเดินขบวนในพิธีเปิดร่วมกันภายใต้ธงรวมชาติ (ที่มา: Facebook/ PyeongChang 2018)

ทั้งนี้ เพนซ์มีโอกาสได้เจอคิมโยจองแล้วในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว โดยเดอะการ์เดียนรายงานว่า ทั้งสองนั่งห่างกันไม่กี่ฟีต แต่ก็ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งนี้ เพนซ์ยังปฏิเสธไม่ร่วมโต๊ะอาหารเย็นที่มีขึ้นก่อนพิธีเปิดกีฬากับน้องสาวคิมจองอึนด้วย โดยไปร่วมรับประทานอาหารเย็นกับนักกีฬาสหรัฐฯ แทน

ทว่า ท่าทีทางการทูตของเกาหลีเหนือต่อเกาหลีใต้กลับไม่เย็นชาเหมือนที่เป็นกับสหรัฐฯ เมื่อ 9 ก.พ. คิมยองนัมได้เข้าพูดคุยกับมูนแจอินที่บลู เฮาส์ ที่ทำงานของประธานาธิบดีในกรุงโซล เพื่อส่งคำเชิญจากคิมจองอึน เชิญมูนแจอินไปประชุมผู้นำที่กรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือ ซึ่งไม่ใช่การเชิญชวนที่เกิดขึ้นบ่อยนัก

ปัจจุบัน เกาหลีเหนือถูกคว่ำบาตรทางการทูตและเศรษฐกิจอย่างหนักจากทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการทดลองนิวเคลียร์และขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องภายใต้สมัยของคิมจองอึน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเปียงยางกับสหรัฐฯ ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อน สะท้อนจากวิวาทะมากมายจนความขัดแย้งยกระดับไปถึงระดับที่เกาหลีเหนือขู่ว่าจะยิงขีปนาวุธไปยังเกาะกวม ฐานที่มั่นทางทหารของสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิก นอกจากนั้น กรณีออตโต วอร์มเบียร์ นักศึกษาชาวอเมริกันที่ถูกทางการเกาหลีเหนือตัดสินให้ทำงานหนักเป็นเวลา 15 ปี ภายหลังถูกจับได้ว่าเขาพยายามขโมยแผ่นป้ายโฆษณาชวนเชื่อจากที่พักระหว่างที่เขาเดินทางท่องเที่ยวเกาหลีเหนือในปี 2559 แต่สุดท้ายได้รับการปล่อยตัวกลับสหรัฐฯ ในสภาพโคม่าและเสียชีวิตลงในเดือน มิ.ย. ปีที่แล้วยังกลายมาเป็นหนึ่งชนวนความขัดแย้งในทางการทูตด้วย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับออตโตในขณะที่อยู่ภายใต้การคุมขังที่เกาหลีเหนือ

ผู้นำเกาหลีเหนือระบุ โสมแดงสร้างขุมกำลังนิวเคลียร์สำเร็จแล้ว

เกาหลีเหนือยิงจรวดผ่านญี่ปุ่น(อีกแล้ว) คาดจะมีบ่อยขึ้น แนวโน้มโลกแห่พัฒนานิวเคลียร์

แปลและเรียบเรียงจาก

Asia Pacific Media Hub: State Department Spokesperson Statement on possible VPOTUS meeting with DPRK, Feb. 20, 2018

The Guardian, Pence skips Olympics dinner in snub to North Korean officials, Feb. 9, 2018

The Guardian, North Korea cancelled Mike Pence meeting last minute, White House says, Feb. 21, 2018

The Guardian, Otto Warmbier blind, deaf and 'jerking violently' on US return, parents say, Sep. 26, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.สาธารณสุข ลงนามตั้ง 'กองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม.' หนุนงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค

$
0
0

หนุน กทม.รุกงานสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ การรักษาปฐมภูมิ และดูแลผู้สูงอายุ ช่วยดูแลสุขภาพ เพิ่มคุณภาพชีวิตชาว กทม. เผยบริหารรูปแบบ คกก. มีผู้ว่า กทม.เป็นประธาน      

21 ก.พ.2561 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ลงนามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักกประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2561 ซึ่งจะส่งผลให้มีการจัดตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร” (กองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม.) ในปีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุกที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน

ทั้งนี้กองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม. ตามประกาศฉบับนี้จะบริหารโดย “คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร” มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน และประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. ผู้แทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนหรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระในพื้นที่ ผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้อำนวยการสำนักภายใต้สังกัด กทม.ที่เกี่ยวข้อง โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานดำเนินงานและบริหารจัดการตามแผนและการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม.

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า บทบาทของคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม. มีหน้าที่พิจารณา อนุมัติแผนงานหรือโครงการหรือกิจกรรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์กองทุนฯ จัดสรรกรอบวงเงินและอนุมัติแผนการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข การควบคุมและดูแลกำกับการการใช้จ่ายกองทุนฯ การกำกับหน่วยงาน องค์กรหรือประชาชนให้ดำเนินการตามแผนที่เสนออนุมัติ และสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขทั้งที่บ้าน ในชุมชน หรือหน่วยบริการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีการดำเนินงานร่วมกับ สปสช.เขต13 กทม.อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีการดำเนินงานกองทุนประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ภายหลังการประกาศหลักเกณฑ์ฉบับนี้ ในพื้นที่เขต กทม.จะมีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม.ขึ้น งบประมาณส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนโดยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่อัตรา 45 บาทต่อประชากร ซึ่งในปี 2561จะมีงบจัดสรรงบเข้ากองทุนฯ จำนวน 360,087,750 บาท จากจำนวนประชากร กทม. 8,001,950 คน และอีกส่วนหนึ่ง กทม.ร่วมสมทบในอันตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของเงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการดำเนินงานจะมีรูปแบบเดียวกับกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ซึ่งมี อบต.และเทศบาลใน 76 จังหวัด เข้าร่วมดำเนินงานตั้งแต่ปี 2549 ช่วยสนับสนุนการดูแลสุขภาพชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิผล และเชื่อว่าการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพ กทม.นี้ จะยังประโยชน์ด้านสุขภาพให้กับคนชาว กทม.เช่นกัน นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความร่วมมือทำงานเชิงรุกด้านสุขภาพระหว่าง กทม. สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตุลาการธิปไตย #5 ตามติดภารกิจ คสช. พาท้องถิ่นกลับสู่ยุครัฐข้าราชการ

$
0
0

ณัฐกร วิทิตานนท์ เล่าถึงเส้นทางปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน เคยไปได้ไกลหลังยุคพฤษภา 2535 แต่ต้องเจออุปสรรคหลังยุค คปค./คมช. 2549 ที่ทำให้เป้าโอนงบประมาณให้ท้องถิ่น 35% ชะงัก และล่าสุดยุค คสช. 2557 ที่สั่งงดการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ พักงานนักการเมืองท้องถิ่นบางราย

คลิปการนำเสนอของณัฐกร วิทิตานนท์ “การปกครองท้องถิ่นไทยภายใต้ระบอบ คสช.”

18 ก.พ.2561 ในการเสวนาวิชาการ "ตุลาการธิปไตย ศาล และรัฐประหาร" จัดที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่วงหนึ่งเป็นการเสนอบทความ “การปกครองท้องถิ่นไทยภายใต้ระบอบ คสช.” โดย ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ศึกษาเรื่องการปกครองท้องถิ่นไทยซึ่งมีความสัมพันธ์กับการรัฐประหารตั้งแต่หลัง 2475 เป็นต้นมา จนมาถึงยุคปัจจุบันภายใต้รัฐบาล คสช.

 

การปกครองท้องถิ่นไทยปฏิรูปไม่สุด

ณัฐกร วิทิตานนท์

ณัฐกร อธิบายว่า ที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นมีลักษณะประนีประนอมมาตลอด เราไม่สามารถปฏิรูปให้สุดๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แทนที่คณะราษฎรจะยกเลิกสุขาภิบาลที่มีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้วมาว่ากันใหม่ ก็กลับเริ่มที่การเปลี่ยนสุขาภิบาลให้เป็นเทศบาลแทน

ตั้งแต่ 2475 พื้นที่ส่วนใหญ่ของไทยไม่ได้ถูกปกครองโดยท้องถิ่น แต่ถูกปกครองโดยส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จวบจนสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมามีอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้สถาปนาสุขาภิบาลแบบสมัย ร.5 ขึ้นอีกครั้ง พร้อมๆ กับ อบจ. เพื่อไม่ให้มีพื้นที่ไหนของประเทศที่เว้นว่างจากการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยตั้ง อบจ.อุดช่องว่างเหล่านี้ พื้นที่ว่างที่ไม่มีหน่วยงานท้องถิ่นใดรับผิดชอบให้เป็นของ อบจ. การขยายตัวของการปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ๆ ช่วงนี้ ได้กลายเป็นโรงเรียนฝึกฝนนักการเมือง นักการเมืองคนสำคัญๆ ระดับชาติในเวลาต่อมา เช่น ณรงค์ วงค์วรรณ ก็เริ่มจากการเป็น ส.จ.

การเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่ยุคนั้นยังเรียกว่าเป็น “การปกครองท้องถิ่นโดยรัฐ” หรือ Local State Government คนในพื้นที่ไม่ได้เลือกผู้แทนของเขา อาจได้เลือกฝ่ายสภา แต่ฝ่ายบริหารมาจากข้าราชการส่วนภูมิภาคโดยตำแหน่ง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น นายก อบจ. หรือนายอำเภอเป็นประธานกรรมการสุขาภิบาล

ยุคจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม พลเอกเปรม การปกครองท้องถิ่นแทบจะหยุดนิ่ง ไม่มีพัฒนาการสำคัญที่มีนัยในวงกว้าง กระทั่งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีข้อเรียกร้องให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่เป็นไปไม่ได้ ด้วยความที่เป็นรัฐบาลผสมประกอบกับกระทรวงมหาดไทยเข้มแข็งมาก แม้สุดท้ายก็ยังต้องทำเรื่องการกระจายอำนาจ แต่เบนเข็มไปที่การพัฒนา อบต.ขึ้นมา โดยไม่กล้าให้ไปกระทบกับเขตพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลที่มีอยู่ก่อนเก่าอีก

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ อบต.กินพื้นที่เดิมที่เป็นของ อบจ. กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อน อบจ.แทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้ดูแล รัฐจึงแก้กฎหมายยกระดับ อบจ.ขึ้นเป็นการปกครองท้องถิ่นระดับบน ดูแลครอบคลุมทั้งจังหวัด เป็นปัญหาที่ติดพันมาตั้งแต่มีสุขาภิบาล คือแทนที่ที่ไหนมีการปกครองท้องถิ่นแล้วก็น่าจะเลิกฝ่ายท้องที่ไปเสีย กลายเป็นว่าพื้นที่เดียวกันมีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านกับคนที่ประชาชนเลือกเข้ามาให้ทำงานในท้องถิ่น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตลอด

เปรียบเทียบคือที่ผ่านมาเหมือนเรานั่งบนรถ รถแล่นช้ามาก และที่สำคัญคือ ณ ตอนนั้นคนที่ขับรถให้เรานั่งคือข้าราชการส่วนภูมิภาค ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ฝ่ายท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เราแค่นั่งข้างๆ ดูเขาขับ เขาจะพาไปไหนก็แล้วแต่เขา

แต่ผลจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเติบโตเร็วมาก ก่อนหน้านั้นท้องถิ่นมีอำนาจน้อย งบน้อยมาก แทบแก้ไขปัญหาอะไรในพื้นที่ตัวเองไม่ได้เลย หลังปี 2540 เท่ากับเปลี่ยนเอาคนที่นั่งอยู่ข้างๆ มาตลอดให้ได้เป็นคนขับบ้าง จากคนที่เคยขับย้ายไปนั่งเป็นคนกำกับดูแล รถที่เคยวิ่งช้าๆ ก็วิ่งด้วยอัตราเร็วที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ตอนนั้นกฎหมายกระจายอำนาจตอนนั้นกำหนดให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐบาลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ หากประเทศมีเงินอยู่ 100 บาท ต้องแบ่งใส่กระเป๋าข้างที่เป็นของท้องถิ่น 35 บาทเป็นอย่างน้อย

รัฐบาลทักษิณมีความพยายามที่จะโอนสถานีอนามัยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงโรงเรียนชั้นประถมในสังกัดกระทรวงศึกษาฯ ไปขึ้นกับท้องถิ่น แต่เกิดกระแสคัดค้านอย่างหนัก จนต้องล้มเลิกไป

รัฐประหาร 49 ก็เหมือนรถที่วิ่งมาเร็วๆ โดนแตะเบรก แต่ก็ยังคงแล่นไปข้างหน้า ด้วยอัตราเร่งที่ไม่ได้เร็วเท่าเดิม โดยยกเลิกเงื่อนเวลาบังคับเรื่องสัดส่วนงบประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นงบประมาณก็เพิ่มปีละไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ จากก่อนหน้านั้นบางปีเคยได้มากขึ้นปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้ช่วยให้การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความชัดเจนขึ้น เพราะก่อนหน้านี้การเลือกตั้งต้องรอ กกต.ประกาศรับรองผล ว่าจะมีใบเหลืองใบแดงไหม เลือกตั้งผ่านไป 3-4 ปี บางที่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป คนที่มานั่งทำหน้าที่นายกไปพลางคือปลัด ไม่ใช่นักการเมืองที่ถูกเลือกตั้งเข้ามา เป็นภาวะที่เลือกตั้งแล้วไม่จบ ต้องรอ กกต.อีก คณะรัฐประหารตอนนั้นจึงออกประกาศบังคับให้ กกต.ต้องรับรองผลภายใน 30 วัน

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 คณะกรรมการปฏิรูปได้ออกข้อเสนอปฏิรูปโครงสร้างอำนาจให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค เหลือการปกครอง 2 ชั้น คือ ส่วนกลางกับท้องถิ่น ตามด้วยขบวนการจังหวัดจัดการตนเอง เกิดข้อถกเถียง การเคลื่อนไหวคัดค้านตามมา เป็นการขยับประเด็นที่ไปไกลมากๆ ในรอบ 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา

แต่พอรัฐประหารปี 57 เกิดขึ้น คสช.สั่งงดการเลือกตั้งท้องถิ่น จากที่เปลี่ยนมาให้เราขับช่วงก่อนหน้านั้น ก็พยายามยื้อแย่งพวงมาลัย ขอให้เขากลับไปเป็นคนขับให้เหมือนเดิม แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายก็ต้องให้ฝ่ายการเมืองท้องถิ่นกลับมาขับต่อไป

 

ไทม์ไลน์ของการรัฐประหารและผลกระทบต่อการเลือกตั้งท้องถิ่น

1) รัฐประหารก่อน ปี 2500 ไม่แตะท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นยังมีน้อย ส่วนที่มีอยู่ก็ถูกควบคุมโดยฝ่ายข้าราชการประจำอย่างมากอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็น

2) รัฐประหารหลังปี 2500 จอมพลถนอม จอมพลสฤษดิ์ แตะท้องถิ่นอย่างมาก โดยเฉพาะเทศบาลกับ อบจ. โดยค่อยๆ ทยอยยกเลิกการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและนำเอาระบบแต่งตั้งมาใช้ คนที่ได้มาเป็นไม่พ้นรองผู้ว่าฯ ปลัดจังหวัด นายอำเภอ

3) รัฐประหารปี 2519 เป็นต้นมา ไม่แตะท้องถิ่นอีกเลย ทำเพียงงดหรือชะลอการเลือกตั้งออกไป ไม่ได้เอาระบบแต่งตั้งมาใช้แบบสมัยก่อนหน้า คนมาจากการเลือกตั้งยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้เรื่อยๆ

4) รัฐประหารปี 2549 ไม่กระทบ การเลือกตั้งท้องถิ่นยังดำเนินไปตามปกติ

5) รัฐประหารปี 2557 ช่วงแรก คสช.พยายามนำเอาระบบสรรหามาใช้ แต่ใช้ได้ประมาณครึ่งปี ก็กลับมาใช้แบบเดิม คือให้นักการเมืองท้องถิ่นที่ครบวาระไปแล้วกลับเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดิม ยกเว้นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ อย่าง กทม.กับเมืองพัทยาที่ทาง คสช.ไม่ยอม

 

 

ประเด็นปัญหาที่พบในระบบสรรหา

1. พบระบบโควตา เนื่องจากกรรมการสรรหาเป็นข้าราชการ เกิดการแบ่งปันเก้าอี้กันในระดับจังหวัดระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ทหาร อัยการ ตำรวจ มหาดไทย ครู มีภาคประชาชนบ้างบางส่วน

2. ขาดความเป็นตัวแทน เนื่องจากกำหนดคุณสมบัติสูง เฉพาะข้าราชการตั้งแต่ C8 ขึ้นไปที่รับราชการการอยู่ในเขตจังหวัดนั้น ยากที่จะหาคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในพื้นที่ได้ เกิดการเป็นข้ามเขต ไม่เข้าใจบริบทพื้นที่ แถมยังมีการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่หน่วยงานที่ตนสังกัดอีก

สุดท้าย คสช.ก็ต้องยกเลิกการใช้ระบบสรรหา ด้วยการใช้มาตรา 44 ถือเป็นครั้งแรก เพราะมีกระแสคัดค้านอย่างมากหลังมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวใช้


 

คสช. และการใช้ ม.44 สั่งพักงานนักการเมืองท้องถิ่น

ณัฐกร ชี้ว่า คสช.ใช้มาตรา 44 ในอีกลักษณะหนึ่ง คือสั่งพักงานนักการเมืองท้องถิ่นที่มีข้อครหาเป็นรายๆ ไป ข้อสังเกตคือ หลายคนที่ถูกให้พ้นจากตำแหน่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติ เช่น ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นายก อบจ.สมุทรปราการ สุนี สมมี นายก อบจ.ลำปาง สุนทร รัตนากร นายก อบจ.กำแพงเพชร อนุสรณ์ นาคาศัย นายก อบจ.ชัยนาท ทว่ากรณีทำนองนี้ไม่ได้ส่งผลต่อการบริหารท้องถิ่นมากนัก เพราะยังเป็นฝ่ายการเมือง เช่น รองนายก อบจ.เข้ามาทำหน้าที่แทน จากข้อมูลรวมแล้วมีนักการเมืองท้องถิ่นถูกสั่งพักงานตามมาตรา 44 ทั้งหมดจำนวน 233 คน เน้นที่ฝ่ายบริหารเป็นหลัก ฝ่ายสภาน้อยมาก กระทบภาคอีสานมากสุด รองมาภาคกลาง

ทั้งนี้มีกรณีที่โดนโดดๆ ไม่ได้ออกเป็นรายชื่อรวมคือ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ สืบเนื่องจากกรณีพบจดหมายรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

และมีอยู่ 2 แห่งที่ คสช.ใช้ ม.44 แต่งตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงคือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง กับ นายกเมืองพัทยา คือ พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี


 

รถ’ แล่นช้ามากหลัง คสช. เปลี่ยน ‘ท่อ’ การใช้จ่ายงบประมาณ

ณัฐกร กล่าวว่า เมื่อก่อนในยุคการเมืองปกติ งบประมาณถูกใช้จ่ายลงมาผ่านท้องถิ่นในรูปเงินอุดหนุน เรียก งบ ส.ส. แม้เป็นโครงการตามความต้องการของรัฐบาลก็ตาม เช่น ก่อสร้างถนน ขุดลอกคูคลอง รวมถึงโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงิน อสม. หลังปี 57 เห็นได้ชัดว่า ส่วนกลางพยายามดึงกลับเอาไปทำเอง หลายเรื่องทำให้เกิดปัญหา เพราะไม่เข้าบริบทพื้นที่ ไม่ตรงความต้องการที่ชาวบ้านอยากจะได้

ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ โครงการ ‘ตำบลละห้าล้าน’ ซึ่งต้องขอผ่านหมู่บ้านขึ้นไปถึงจังหวัด อำนาจตัดสินใจรวมศูนย์อยู่ที่กระทรวงมหาดไทย

หลังปี 57 งบประมาณท้องถิ่นโดยรวมเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ในรายละเอียดเงินอุดหนุนท้องถิ่นที่ฝ่ายการเมืองเคยเพิ่มให้กับท้องถิ่นมาตลอดลดลงไปพอสมควร ส่วนที่เพิ่มขึ้นกลายเป็นรายได้ที่ท้องถิ่นดิ้นรนจัดหากันเอง เช่น ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

 

บทบาทองค์กรตรวจสอบแข็งขันขึ้นอย่างยิ่งหลังปี 57

ณัฐกรอธิบายว่า ตามกฎหมายแล้วท้องถิ่นมีเขตอำนาจกว้างขวาง แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่ สมมติ อบจ.เชียงรายอยากจะขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่ดอนเมืองก็ไม่สามารถทำได้ หรือจัดงานรดน้ำดำหัวแล้วให้ซองแก่ผู้สูงอายุก็ทำไม่ให้ สตง.ได้ตีความไปในทางจำกัดอำนาจท้องถิ่นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ณัฐกร เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ทำให้หลักประกันหลายเรื่องเกี่ยวกับการกระจายอำนาจที่เคยมีอยู่หายไป แต่ยังไม่กระทบทันที เพราะหลักประกันพวกนี้ถูกเขียนลงไว้ในกฎหมายลูกครบถ้วนแล้ว เพียงแต่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ไปทำให้หลักการพวกนี้พล่าเลือน ไม่แน่ใจว่าสภาที่เข้ามาแทนที่ในอนาคตจะมีท่าทีอย่างไรในเรื่องนี้

 

ว่าด้วยการควบรวมอปท.

อีกประเด็นคือ แม้มีแนวคิดควบรวมองค์กรปกครองท้องถิ่น 7,000 กว่าแห่งให้เหลือ 4,000 แห่ง ซึ่งพูดกันมาตั้งแต่เมื่อแรกเริ่ม คสช.เข้ามามีอำนาจ แต่ทุกครั้งที่มีคนโยนประเด็นนี้มักตามมาด้วยการปฏิเสธของ คสช.ทุกครั้ง ข้อสังเกตของเขาก็คือ ด้วยจำนวนบุคลากรท้องถิ่นที่มี ใหญ่กว่ากองทัพ ครู ตำรวจ ท้องถิ่นประกอบด้วยทั้งส่วนที่มาจากการเลือกตั้งและฝ่ายประจำที่ทำงานในแต่ละพื้นที่ร่วม 700,000 คน ถ้า คสช.ตัดสินใจควบรวมจริง จะกระเทือนคนเยอะมาก เรื่องนี้ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ต่อให้เขามีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน พอเป็นเรื่องนี้เขาเห็นตรงกัน

สรุปคือ สิ่งที่ คสช.ทำในช่วงแรกคือพยายามนำพาท้องถิ่นไทยกลับไปเป็นแบบ “อำมาตยาธิปไตย” หรือ Bureaucratic Polity เช่นสภา กทม.ขณะนี้ 30 คนมีข้าราชการรวมกันถึง 29 คน ไม่ต่างจากสภาเมืองพัทยาที่มีข้าราชการ 9 จาก 12 คน ขณะที่ผู้บริหารก็ยังเป็นอดีตตำรวจทั้ง 2 ท่าน ลักษณะเช่นนี้คือ การเมืองที่มีข้าราชการเป็นผู้นำ กำหนดนโยบายให้ และนำไปปฏิบัติเสียเอง ซึ่งที่สุดแล้วด้วยหลายปัจจัยทำให้ไม่อาจทำได้สำเร็จเด็ดขาดดังที่หวัง.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตือนนายจ้างห้ามหักค่าจ้าง ค่า OT ลูกจ้าง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก

$
0
0

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตือนนายจ้างห้ามหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ลูกจ้าง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มาภาพประกอบ: Joko_Narimo (CC0)

เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยว่า กสร.ให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าวในทุกด้าน เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม เข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย ที่ผ่านมายังพบว่ามีสถานประกอบการบางแห่งมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องของการหักค่าจ้าง โดยมีการหักค่าจ้างจากลูกจ้างเพื่อเป็นค่าอาหาร ค่าชุดทำงานเป็นต้น ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ในเรื่องนี้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้กำหนดห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดจากลูกจ้าง เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนด เช่น ชำระค่าภาษี  ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์  เป็นต้น กรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติก็จะมีความผิดตามกฎหมายโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีการฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนายจ้าง ลูกจ้าง และที่มีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2245 7020, 0 2246 3096 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คนอยากเลือกตั้ง' ร้องศาล รธน. วินิจฉัยการดำเนินคดีฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

$
0
0

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งฯ คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัย การแจ้งข้อกล่าวหาประชาชนว่าร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.  ที่ 3/2558 ข้อ12 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค Manus Klaeovigkit 

21 ก.พ.2561 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรม และประชาชนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เดินทางมายังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยืนคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การที่ คสช.แจ้งข้อกล่าวหาต่อประชาชนว่าร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งที่ 3/2558 ข้อ 12 นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญของบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 213 ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากที่ คสช.แจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว ต่อประชาชนที่ร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 ม.ค.บริเวณสกายวอล์กแยกปทุมวันและวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ณัฏฐา โพสต์ขอความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว สรุปประเด็นคำร้องไว้ดังนี้

1. มาขอให้ศาลคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญเนื่องจากถูกพนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ เกินกว่า 5 คน

2. เห็นว่าคำสั่งห้ามชุมนุมดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่สำคัญคำสั่งดังกล่าวยังขัดต่อหลักนิติธรรมเพราะไม่ได้ออกมาเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ แต่ออกมาเพื่อคุ้มครองการรัฐประหาร ทั้งยังขัดต่อสิทธิมนุษยชนที่ถือว่าการชุมนุมเป็นเสรีภาพเช่นกัน

3. ขณะนี้มีกฎหมายสองฉบับขัดกันเองคือคำสั่งห้ามชุมนุมกับรัฐธรรมนูญ หากถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดคำสั่งดังกล่าวก็ย่อมใช้บังคับไม่ได้ แต่ถ้าถือว่าพลเอกประยุทธ์ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ก็ต้องถือว่ารัฐธรรมนูญใช้บังคับไม่ได้

4. ศาลที่เกี่ยวข้องได้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชนแล้ว เช่น ศาลปกครองคุ้มครองการทำกิจกรรมของกลุ่ม we walk, ศาลอาญากรุงเทพใต้คุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญที่ไม่รับคำร้องฝากขัง #MBK39และล่าสุดคือศาลแพ่งคุ้มครองการชุมนุมของม็อบเทพา วันนี้ต้องมาศาลรัฐธรรมนูญเพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นหลักให้พึ่งพาได้ หวังว่าจะได้รับการพิจารณาโดยเร็วเนื่องจากเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญถูกละเมิดทุกวันมาเป็นเวลานานแล้ว

"การยื่นคำร้องครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนยื่น แต่ควรเป็นครั้งสุดท้าย เราจะนับวันรอความยุติธรรมไปด้วยกัน" ณัฏฐา โพสต์ทิ้งท้าย

เอกสารคำร้อง :

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ ไม่หวั่นสุเทพตั้งพรรคหนุนประยุทธ์ แย่งคะแนนเสียง

$
0
0

ณัฐวุฒิ แนะจับตา 'เชน-ธานี-เอกนัฏ' ซบพรรค วิทยา ชี้ สุเทพ อาจหนุนพรรคใหม่ในฐานะสมาชิกทั่วไป พร้อมย้อนอดีต สุเทพเคยประกาศกลางเวที กปปส. จะไม่เป็นนักการเมืองอีกแล้ว

แฟ้มภาพ Banrasdr Photo 

21 ก.พ.2561 จากกรณีวานนี้ (20 ก.พ.61) วัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ เตรียมตั้งพรรคการเมืองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และชื่อพรรค คือ "มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ" 

อภิสิทธิ์ ไม่หวั่นสุเทพตั้งพรรคหนุนประยุทธ์ แย่งคะแนนเสียง

วันนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ตนเชื่อว่าในเดือน มี.ค.ที่จะมีการเปิดให้พรรคการเมืองจดทะเบียนพรรค ก็จะมีความชัดเจนในการก่อตั้งพรรคการเมืองต่างๆ ออกมา ซึ่งทุกคนก็มีสิทธิที่จะทำได้อยู่แล้ว และไม่กังวลเรื่องของการแย่งคะแนนเสียงที่อาจถูกแย่งไป เพราะการมีพรรคการเมืองที่หลากหลายก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน และเป็นเรื่องธรรมดาในการแข่งขันทางการเมือง 

ณัฐวุฒิ แนะจับตา 'เชน-ธานี-เอกนัฏ' ซบพรรค

ด้าน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองนี้ว่า เป็นที่รับรู้กันภายในมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะเจ้าตัวพูดยืนยันกับคนในแวดวงการเมืองมาก่อนหน้านี้ ถ้าจะเกิดคำถามว่าเป็นการผิดคำพูดที่เคยประกาศจะยุติบทบาททางการเมืองหรือไม่นั้น ส่วนตัวแล้วตนไม่ได้สนใจ เพราะไม่เคยเชื่อที่สุเทพพูด

"ส่วนคนที่เคยเชื่อจะยังคงเชื่อและเดินตามลุงกำนันต่อไปหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณ เพราะมาถึงจุดนี้เท่ากับยืนยันแนวทาง กปปส.ว่าสนับสนุนการรัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจ" ณัฐวุฒิ กล่าว พร้อมระบุว่า ถ้ามีพรรคการเมืองของสุเทพจริงคงไม่ส่งผลสะเทือนต่อสถานการณ์ทางการเมือง เพราะนายสุเทพประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มานานแล้ว แต่จะส่งผลต่อสภาพภายในพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า จะมีอดีต ส.ส.ออกไปอยู่พรรคใหม่หรือไม่ คนใกล้ชิด อาทิ เชน เทือกสุบรรณ และธานี เทือกสุบรรณ หรือเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ จะตัดสินใจอย่างไร เป็นเรื่องที่จะเห็นในอีกไม่นาน
 
"ถ้าสุเทพลงสมัครรับเลือกตั้งไปเลยจะดูนักเลงกว่า เพราะการตั้งพรรคแต่ตัวเองไปแอบอยู่ข้างหลัง ดูเหมือนให้เกียรติกลุ่มผู้สนับสนุนน้อยเกินไป อยากให้ลุงกำนันกอดลุงตู่ให้แน่นๆ อย่าทิ้งกันกลางทาง ประชาชนเห็นชัดจะได้ตัดสินใจง่าย แต่คงต้องเผื่อใจไว้บ้างว่า การออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ของนายสุเทพวันนี้ จะกลับมารวมกันอีกทีตอนยกมือให้นายกฯ คนนอกหรือไม่" ณัฐวุฒิ กล่าว

วิทยา ชี้ สุเทพ อาจหนุนพรรคใหม่ในฐานะสมาชิกทั่วไป

ขณะที่วานนี้ วิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส. กล่าวถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่โดย สุเทพ ดัวยเช่นกันว่า ตนทราบข่าวมาเช่นนั้น แต่จะพูดว่าตั้งพรรคใหม่เองก็คงยาก ตนมองว่าน่าจะเป็นการร่วมเป็นสมาชิกพรรคตามสิทธิที่ประชาชนทั่วไปพึงมี ตนเชื่อว่า สุเทพ คงไม่รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรค เพราะที่ผ่านมาท่านได้ชัดเจนในการปฏิเสธรับตำแหน่ทางการเมืองต่างๆตลอดมา ส่วนกระแสข่าวว่าจะมีอดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์บางคนไปร่วมพรรคกับนายสุเทพด้วยนั้น เรื่องนี้ตนไม่ยืนยัน สำหรับตนแล้วที่เคยมีการพูดคุยกัน จวบจนตอนนี้มีความคิดว่าจะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์เหมือนเดิม ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรตนไม่ทราบ เพราะแม้แต่วันเลือกตั้งเมื่อใดนั้น เรายังไม่รู้เลย

เมื่อถามว่าการที่นายสุเทพสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ จะกระทบต่อฐานสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ วิทยา กล่าวว่า มีผลแน่นอน เพราะว่าคนที่ชอบ สุเทพเอง ถ้าไม่เป็นมวลชน กปปส. มาก่อน ก็มีบางคนที่เคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับ กปปส. ด้วย แต่ก็ต้องดูตามสถานการณ์ทางการเมืองกันต่อไป เพราะเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

สุเทพเคยประกาศกลางเวที กปปส. จะไม่เป็นนักการเมืองอีกแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.56 สุเทพ ในฐานะ เลขาธิการ กปปส. กล่าวต่อมวลชนที่เวทีศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ตอนหนึ่งว่า "สื่อจะโกรธจะเกลียดก็ขอโทษเถอะ เพราะจบงานนี้ผมไม่เป็นนักการเมืองอีกแล้ว จะด่าจะเชียร์ผมไม่มีผลตอ่อนาคต ชีวิตนี้ตั้งใจเป็นนัการเมืองของประชาชน สู้มา 35 ปี เมื่อเห็นว่าสู้ในระบอบไม่สามารถต่อสู้กับนายทุนได้จึงลาออกมาสู้กับประชาชน แพ้ชนะให้มันรู้ซะคราวนี้ เมื่อตัดสินใจสู้บนถนนเคียงข้างกับพี่น้องทั้งหลาย ก็ไม่คิดไปสู้ในสภาอีก ไม่อยากให้ครหาว่าแพ้ข้างใน ออกมาเล่นข้างนอก เมื่อชนะข้างนอก แล้วกลับไปข้างใน คนอย่างกำนันสุเทพจะไม่กลับไปเลือกตั้ง ไม่ใช่คนแบบนั้น และไม่กลับไปพรรคประชาธิปัตย์ อีกแล้ว และผมไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ ใครในพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถสั่งผมได้อีกแล้ว เพราะผมฟังคำสั่งประชาชนเท่านั้น " 

 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.ชมรัฐบาลฟังความคิดเห็น ปชช.หลังเซ็น MOU กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา

$
0
0

กรรมการสิทธิฯ ชื่นชมรัฐบาลที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่ายหินกระบี่-เทพา ด้านฝ่ายหนุนโรงไฟฟ้าจ่อบุกทำเนียบฯ ฟ้องศาลปกครองและแจ้งความเอาผิด รมว.พลังงานต่อไป

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงการณ์ เรื่อง รัฐบาลและเครือข่ายประชาชนฯ ร่วมหาทางออกกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา โดยอ้างถึง การชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ – เทพา ของประชาชนเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยการอดอาหารและเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ณ บริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทั่งถึงวันที่ 20 ก.พ.61 ได้มีการลงนามระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกับผู้แทนเครือข่ายฯ เพื่อหาทางออกของปัญหาร่วมกัน และให้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic environmental assessment : SEA) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของโครงการก่อน เป็นผลให้เครือข่ายฯ ยุติการชุมนุม นั้น

กสม. ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (3) เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ – เทพา และแสดงความห่วงกังวลต่อประเด็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้

1. ขอแสดงความชื่นชมรัฐบาลที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว และขอชื่นชมประชาชนที่ยึดมั่นในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติและปราศจากอาวุธ

2. กระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเชิงนโยบาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการศึกษา รวมทั้งการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของผู้ได้รับผลกระทบและประชาชนเพื่อให้ผลการศึกษาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

กสม. ขอยืนยันในหลักการสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการพัฒนาของรัฐ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างสันติ ซึ่งการชุมนุมคัดค้านกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า การที่รัฐบาลให้ประชาชนใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและชุมนุมอย่างสันติ ไม่ใช่เรื่องน่าหวาดกลัว และการใช้วิธีเจรจาแบบสันติวิธีจะสามารถประสานความคิดเห็นที่แตกต่างไปสู่ผลิตผลที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อประเทศได้

วันเดียวกัน (20 ก.พ.61) เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงานรายงานว่า อนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.จะต้องรอหนังสือคำสั่งอย่างเป็นทางการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงจะทราบอย่างชัดเจนว่าจะต้องปฎิบัติตามอย่างไร  เพราะกรณีของโรงไฟฟ้าเทพา และ กระบี่ นั้นแตกต่างกัน

โดยในส่วนขั้นตอนการจัดทำEHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ นั้น เป็นการเริ่มกระบวนการจัดทำEHIA ใหม่  ซึ่งในส่วนของ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เทพา นั้น หากมีคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมา กฟผ.ก็จะทำเรื่องขอถอนรายงาน ออกมาได้ แต่กรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ นั้น เนื่องจากเคยมีการถอนรายงานEHIA ออกมาแล้ว ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และอยู่ระหว่างการทำ รายงาน EHIA  ฉบับใหม่ ก็จะต้องหารือกับทาง สผ. ก่อนว่า ในระหว่างที่มีการศึกษาSEA ที่เป็นการศึกษาในภาพรวมของพื้นที่ นั้น กฟผ.จะต้องหยุดกระบวนการทำEHIA ที่เป็นการศึกษาเฉพาะตัวโครงการด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ กฟผ.เริ่มมีการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตั้งแต่ปี 2555 และในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตั้งแต่ปี 2557  จนถึงปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ายังมีความเห็นที่แตกต่างกันของคนในพื้นที่ และการที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีความล่าช้า จะทำให้พื้นที่ภาคใต้มีความเสี่ยงเรื่องของความมั่นคงไฟฟ้ามากขึ้น อย่างไรก็ตามในภาพรวมกฟผ.จะต้องหารือกันว่า จะมีการหาทางออกอื่นๆให้ภาคใต้ยังคงมีความมั่นคงไฟฟ้าและรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปีได้อย่างไร

ฝ่ายหนุนค้าน MOU จ่อบุกทำเนียบฯ ฟ้องศาลปกครอง

เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน รายงาต่อว่า ขณะที่ พณวรรธน์ พงศ์ประยูร ตัวแทนเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า เครือข่ายที่สนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งมีทั้งหมด 66 องค์กร สมาชิกกว่า 5 หมื่นคน ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวทางของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ไปลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU)กับเครื่อข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา เพื่อยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเครือข่ายคนเทพาฯ เตรียมรวบรวมผู้สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 1,000 คนไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลในเร็วๆนี้

เครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ที่มาภาพ เว็บไซต์ศูนย์ข่าวพลังงาน)

โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ดังกล่าว ประกอบด้วย 1.ไม่เห็นด้วยกับการลงนาม MOU ดังกล่าว 2.เตรียมยื่นศาลปกครองเพื่อคัดค้านการลงนาม MOU  เพราะเป็นการดำเนินการส่วนบุคคล ไม่ใช่มติของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่มีอำนาจตัดสินใจโดยภาพรวม  3.ถวายฏีกาเพื่อคัดค้านกรณีดังกล่าว และ 4. แจ้งความเอาผิดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ลงนาม MOU เพราะเห็นว่าอาจขัดกับกฎหมายมาตรา 157  ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 
 
“ผมไม่เข้าใจว่า แค่คน 5 คนบุกทำเนียบแล้วคุณก็ยอมทุกอย่าง เอ็นจีโอก็มีไม่มากแต่ทำตัวเสมือนมีมาก ซึ่งนักบริหารที่ดีควรฟังเสียงคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ การทำแบบนี้เป็นการฆ่าระบบประชาธิปโตยโดยสิ้นเชิงซึ่งยอมรับไม่ได้ ถ้าบ้านเมืองเป็นแบบนี้ใครจะมาเป็นรัฐมนตรีก็ได้สิ” พณวรรธน์ กล่าว
 
ในขณะที่เครือข่ายปกป้องสิทธิชุมชนคนจังหวัดกระบี่ ก็ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 20 ก.พ.2561 ไม่ยอมรับบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีจุดยืน 5 ข้อ ซึ่งสรุปความได้ดังนี้ 1. คนกระบี่ไม่ยอมรับบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเนื่องจากเป็นเพียงเสียงส่วนน้อย  และไม่ได้ทำตามข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2560  ที่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาและทำความเข้าใจ พร้อมกับทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ โดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
 
2. คนกระบี่ไม่เห็นด้วยที่มีบุคคลเพียง3-4 คนมีอำนาจในการล้มเลิกโครงการพัฒนาด้านพลังงานของรัฐ  เป็นการใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฏหมาย 3.ขอให้นายกรัฐมนตรี สั่งการยกเลิกบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน  โดยเร็วที่สุด 4. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง โดยทันที
 
และ 5 หากไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง เครือข่ายปกป้องสิทธิชุมชนคนจังหวัดกระบี่ จะแสดงพลัง และใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นตามลำดับ เรื่องเรียกร้องสิทธิของชุมชนในการ พัฒนาพลังงานไฟฟ้าให้มีความมั่นคงตลอดไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย รณรงค์ปกป้องทรัพยากรชุมชน ค้านโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล

$
0
0

ชาวบ้านตำบลเชียงเพ็งกว่าร้อยคน รวมตัวรณรงค์ปกป้องชุมชนจากโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล กระจายตัวแจกใบปลิว พูดคุยให้ข้อมูลในชุมชนใกล้เคียง พร้อมประกาศเจตนารมย์ค้านโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561 เวลา 09.00 น. กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กว่า 100 คน ใช้รถกระบะประมาณ 10 คัน เพื่อรณรงค์ปกป้องทรัพยากรชุมชน 7 หมู่บ้าน ที่อยู่ในตำบลเชียงเพ็ง พร้อมแจกใบปลิวและพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจการออกมาร่วมกันกันปกป้องชุมชน ปกป้องลำน้ำเซบาย และประกาศเจตนารมย์คัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

มะลิจิตร เอกตาแสง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง กล่าวว่า การมาเดินรณรงค์ในวันนี้ก็เพื่ออยากจะให้ชาวบ้านในตำบลเชียงเพ็ง มีความตระหนักและตื่นรู้ในประเด็นการปกป้องทรัพยากรชุมชน ซึ่งก็มีแผ่นพับแจกเพื่อให้ความรู้กับชาวบ้านถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากมีโรงงานน้ำตาลโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยทางกลุ่มพยายามสื่อสารกับชุมชนถึงข้อกังวลเช่น การแย่งชิงทรัพยากรน้ำลำเซบายจะถูกผันมาใช้ในโรงงานและโรงไฟฟ้า 2.0 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ละขุดบ่อลึกกว่าลำน้ำเซบาย ซึ่งจะทำให้น้ำจากลำเซบายซึ่งใช้ในการบริโภค-อุปโภค การเกษตร และอื่นๆ ถูกแย่งชิงไปแม้แต่ปัจจุบันน้ำก็ไม่มีเพียงพอในการให้ชุมชนในบางปี รวมทั้งน้ำเสียจากกระบวนการผลิต ที่มีโอกาสซึมลงในดินและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ส่งผลให้น้ำใช้ประโยชน์ไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องฝุ่นดำ เถ้า ควัน กลิ่นเหม็นจากการเผาไร่อ้อย และปัญหาเรื่องการขนย้ายอ้อยจำนวนมากเข้าออกพื้นที่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการจราจร ฝุ่นละออง เศษอ้อยหล่น ถนนชำรุด อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ด้าน สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินกิจการดังกล่าวว่า เกิดขึ้นภายใต้บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบและพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีแผนในการจะก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 24 ส.ค 2559 และวันที่ 10 มี.ค. 2560 ซึ่งในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ให้บริษัทคอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทั้งสองโครงการ และได้ยื่นให้สำนักแผนนโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ได้ตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ขึ้นมาเพื่อพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)ของบริษัทน้ำตาลมิตรการฬสินธุ์ จำกัด และบริษัท มิตรผลไบโอพาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ขึ้น 2 ชุด โดยคณะคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้แยกพิจารณาทีละประเด็น ในส่วนประเด็นโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด (คชก.) ได้พิจารณา ในครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2560 และในครั้งที่สองวันที่ 29 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา โดยทั้ง 2 ครั้ง คชก. มีมติไม่เห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

สิริศักดิ์ ให้ข้อมูลต่อไปว่า ในส่วนของบริษัท มิตรผลไบโอ พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทรายดิบและพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล คชก. ได้มีมติไม่เห็นชอบครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2560

“สาเหตุ EIA ไม่ผ่านผมคิดว่าเกิดจาก การที่ประชาชนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรไม่รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงตั้งแต่เริ่มต้นที่รอบด้าน ครบถ้วน เพียงพอ มีการบิดเบือนข้อมูลซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของชุมชน และการที่ EIA ไม่ผ่านความเห็นชอบก็สะท้อนให้เห็นความไม่ชอบธรรมของกระบวนการ การดำเนินงานตั้งแต่ต้น” สิริศักดิ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดัชนีคอร์รัปชันโลก 2017 ไทยติดอันดับ 96 แต่คะแนนยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

$
0
0

เปิดรายงานดัชนีคอร์รัปชัน 2017 ไทยได้ 37 เต็ม 100 อยู่อันดับ 96 อันดับเพิ่มขึ้น 5 อันดับ แต่คะแนนยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ได้ 43 คะแนน ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ได้ 84 คะแนนอยู่อันดับ 6 ด้านองค์กรเพื่อความโปร่งใสฯ ชี้ว่าประเทศบนโลกมากกว่า 2 ใน 3 ได้คะแนนน้อยกว่าครึ่ง และคะแนนปีนี้สะท้อนว่าประเทศส่วนใหญ่ปรับปรุงแก้ไขน้อยมากเพื่อยุติการคอร์รัปชัน ขณะที่ทั้งนักข่าวและนักกิจกรรมต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อเปิดโปงทุจริต

แผนที่แสดงคะแนนจากรายงานชี้วัดภาพลักษณ์ดัชนีคอร์รัปชันโลกปี 2017 โดยสีแดงได้คะแนนน้อยที่สุด ไปจนถึงสีเหลืองที่ได้คะแนนมากที่สุด สะท้อนการคอร์รัปชันต่ำ (ที่มา: Transparency International) (คลิกเพื่อชมภาพขยาย)

แผนที่และตารางคะแนนจากรายงานชี้วัดภาพลักษณ์ดัชนีคอร์รัปชันโลกปี 2017 (ที่มา: Transparency International) (คลิกเพื่อชมภาพขยาย)

21 ก.พ. 2561 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เปิดรายงานชี้วัดภาพลักษณ์ดัชนีคอร์รัปชันโลกปี 2017จัดอันดับ 180 ประเทศทั่วโลก โดยปีนี้นิวซีแลนด์ได้อันดับที่ 1 ติดต่อกัน โดยได้ 89 คะแนน คะแนนลดลง 1 คะแนน ส่วนอันดับที่ 2 คือ เดนมาร์ก ได้ 88 คะแนน คะแนนลดลง 1 คะแนน โดยเดนมาร์กเคยได้อันดับ 1 ร่วมกับนิวซีแลนด์เมื่อปีก่อน

ส่วนประเทศไทย ได้อันดับ 96 โดยได้คะแนน 37 คะแนน เพิ่มขึ้น 2 คะแนนเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเมื่อเทียบ 6 ปีย้อนหลัง ประเทศไทยได้อันดับและคะแนนดังนี้

ปี 2017 ได้ 37 คะแนน อันดับ 96

ปี 2016 ได้ 35 คะแนน อันดับ 101

ปี 2015 ได้ 38 คะแนน อันดับ 76

ปี 2014 ได้ 38 คะแนน อันดับ 85

ปี 2013 ได้ 35 คะแนน อันดับ 102

ปี 2012 ได้ 37 คะแนน อันดับ 88

ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายงานชี้วัดภาพลักษณ์ดัชนีคอร์รัปชันโลกปี 2017 รายประเทศ กรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียงลำดับประเทศที่มีคะแนนคอร์รัปชันดีที่สุด จนถึงเลวร้ายที่สุดได้ดังนี้

สิงคโปร์ 84 คะแนน อันดับที่ 6

มาเลเซีย 47 คะแนน อันดับที่ 62

ติมอร์เลสเต 38 คะแนน อันดับที่ 91

ไทย 37 คะแนน อันดับที่ 96 

อินโดนีเซีย 37 คะแนน อันดับที่ 96

เวียดนาม 35 คะแนน อันดับที่ 107

ฟิลิปปินส์ 34 คะแนน อันดับที่ 111

พม่า 30 คะแนน อันดับที่ 130

ลาว 29 คะแนน อันดับที่ 135

กัมพูชา 21 คะแนน อันดับที่ 161

 

ส่วนประเทศและดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เมื่อเรียงลำดับประเทศที่มีคะแนนคอร์รัปชันดีที่สุด จนถึงเลวร้ายที่สุดแล้วได้ดังนี้

ญี่ปุ่น 73 คะแนน อันดับที่ 20

ฮ่องกง 77 คะแนน อันดับ 13

ไต้หวัน 63 คะแนน อันดับที่ 29

เกาหลีใต้ 54 คะแนน อันดับที่ 51

จีน 41 คะแนน อันดับที่ 77

มองโกเลีย 36 คะแนน อันดับที่ 103

เกาหลีเหนือ 17 คะแนน อันดับที่ 171

 

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติระบุว่า ดัชนีคอร์รัปชันโลกปีนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศส่วนใหญ่มีการแก้ไขปรับปรุงน้อยมากเพื่อยุติการคอร์รัปชัน ในขณะที่ผลการวิเคราะห์ยังพบว่านักข่าวและนักกิจกรรมในประเทศที่มีการคอร์รัปชันต้องเสี่ยงชีวิตในแต่ละวันเพื่อที่จะเปิดโปงเรื่องเหล่านี้

จากข้อมูลของคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชนโลกหรือ CPJ พบว่าระหว่างปี 2012-2017 นักข่าวทั่วโลกถูกฆ่า 368 ราย ในจำนวนนี้ 16 รายเป็นนักข่าวในประเทศที่คะแนนดัชนีคอร์รัปชันอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย และ 352 ราย เป็นนักข่าวในประเทศที่คะแนนดัชนีคอร์รัปชันอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

โดยปีนี้มีการจัดอันดับประเทศและดินแดนต่างๆ ในโลก 180 แห่ง ให้คะแนนจากมากที่สุดคือ 100 ซึ่งหมายถึงใสสะอาด และน้อยที่สุดคือ 0 ซึ่งหมายถึงคอร์รัปชั่นมาก โดยผลสำรวจในปีนี้พบว่ามากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศในโลกได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน ในขณะที่คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 43 คะแนน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีอะไรใหม่ เพราะเมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยแล้วเท่ากับปีก่อน

 

เอเชีย-แปซิฟิกมีสัญญาณก้าวหน้าเล็กน้อย
อัฟกานิสถาน-อินโดนีเซียมีการปรับปรุง

กรณีของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รายงาน CPI2017 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติระบุว่า ไม่มีประเทศไหนในเอเชีย-แปซิฟิก ที่ได้เต็ม 100 คะแนน แม้แต่นิวซีแลนด์ (ซึ่งอยู่อันดับ 1 ได้ 89 คะแนน) หรือสิงคโปร์ (ซึ่งอยู่อันดับ 6 ได้ 84 คะแนน) ต่างก็ประสบกับกรณีอื้อฉาวเมื่อปีก่อนเช่นกัน โดยการวิเคราะห์ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติพบว่ามีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยในภูมิภาค โดยในรอบ 6 ปีมานี้ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าสถานการณ์คอร์รัปชันได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น

โดยกรณีของอัฟกานิสถาน ซึ่งยังคงได้คะแนนดัชนีชี้วัดคอร์รัปชันต่ำคือได้ 15 คะแนน อยู่อันดับที่ 177 แต่ก็ได้คะแนนเพิ่มขึ้น 7 คะแนน จากที่เคยได้เพียง 8 คะแนนในปี 2012 ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 15 คะแนนมาตั้งแต่ปี 2016 และ 2017 ซึ่งเป็นผลมาจากการริเริ่มในระดับชาติเพื่อปรับปรุงนโยบายที่สำคัญ รวมไปถึงปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ

เช่นเดียวกับ อินโดนีเซีย ที่แม้จะมีหนทางอีกยาวไกลในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน แต่อินโดนีเซียก็กำลังไต่อันดับ โดยได้คะแนนเพิ่มจาก 32 คะแนนเมื่อ 5 ปีก่อน ปัจจุบันได้ 37 คะแนน อยู่อันดับที่ 96 การปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ นี้เกิดจากการทำงานของหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันที่มีมาตรการต่อต้านการทุจริตของบุคคล นอกจากนี้ยังมีฝ่ายค้านที่เข็มแข็งทั้งในระดับรัฐบาลและรัฐสภา

ขณะที่ประเทศอื่น อย่างเกาหลีใต้ (อันดับ 51 ได้ 54 คะแนน) โดยในรอบ 6 ปีมานี้คะแนนอยู่ในระดับคงที่ ทั้งนี้เมื่อปีที่ผ่านมาเกาหลีใต้มีกรณีคอร์รัปชันอื้อฉาวที่นำไปสู่การชุมนุมประท้วงใหญ่ และจบด้วยการลงมติถอดถอนและดำเนินคดีต่ออดีตประธานาธิบดี

 

จับตาประเทศถดถอย 'ฟิลิปปินส์-อินเดีย-มัลดีฟส์'
คอร์รัปชันสูง-เสรีภาพสื่อต่ำ-แถมมีเหตุลอบสังหารสื่อ

อย่างไรก็ตามมีประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกหลายประเทศที่คะแนนถดถอย ดัชนีในปี 2017 ชี้ให้เห็นว่าหลายประเทศการคอร์รัปชันยังเข้มข้น เมื่อมีปัจเจกบุคคลออกมาท้าทายภาวะเหล่านั้น พวกเขาก็จะได้รับผลกระทบ ในบางประเทศ ผู้สื่อข่าว นักเคลื่อนไหว ผู้นำฝ่ายค้าน หรือแม้แต่ผู้บังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานเฝ้าระวังต่างถูกข่มขู่คุกคาม และในกรณีเลวร้ายที่สุด พวกเขาถูกสังหาร

กรณีของฟิลิปปินส์ อินเดีย และมัลดีฟส์ เป็นประเทศในภูมิภาคที่มีสถานการณ์เช่นว่าเลวร้ายที่สุด ประเทศเหล่านี้มีการคอร์รัปชันที่สูง มีเสรีภาพสื่อต่ำ และมีการสังหารผู้สื่อข่าวในอัตราที่สูง จากข้อมูลของคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชน (CPJ) พบว่า 3 ประเทศนี้ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา มีนักข่าว 15 คนที่ทำงานเกี่ยวกับการเปิดโปงคอร์รัปชันถูกสังหาร กรณีของมัลดีฟส์เมื่อก่อน ยามีน ราชีด บล็อกเกอร์ผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลมัลดีฟส์ถูกลอบสังหาร หลังจากที่เขาพยายามที่จะเปิดโปงการหายตัวไปของนักข่าวอีกรายที่ชื่อ อาเหม็ด ริลวัน

ขณะเดียวกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ก็ถูกโจมตีทั่วไปในภูมิภาค พื้นที่พลเมืองก็หดหาย องค์กรภาคประชาสังคมในกัมพูชา ปาปัวนิวกินี และจีน ก็ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐตลอดเวลา กรณีของกัมพูชา รัฐบาลเองเพิ่งปราบปรามองค์กรภาคประชาสังคม ด้วยการออกกฎหมายที่เข้มงวดต่อเอ็นจีโอมากขึ้น โดยกัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคที่คะแนนคอร์รัปชันต่ำที่สุดในรายงานของ CPI (21 คะแนน อันดับที่ 161)

ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายงานชี้วัดภาพลักษณ์ดัชนีคอร์รัปชันโลกปี 2017 รายประเทศ กรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียงลำดับประเทศที่มีคะแนนคอร์รัปชันดีที่สุด จนถึงเลวร้ายที่สุดได้ดังนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: เปลื้อง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

$
0
0

บทสัมภาษณ์ของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจใน BBC แม้จะเป็นบทสัมภาษณ์ที่สั้น แต่ก็สร้างผลกระทบไม่น้อยต่อความคิดทางการเมืองของไทยในยุคเผด็จการครองเมือง รวมถึงทางออกและอนาคตของประเทศ ที่คุณธนาธรเห็นว่าอยู่ในกำมือของคนรุ่นใหม่ ในบทความนี้ ผมขอ “เปลื้อง” สิ่งที่คุณธนาธรพูดถึงในบทสัมภาษณ์ใน 3 ประเด็นหลักที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญ ก่อนที่จะสรุปว่า อะไรคือสิ่งที่คุณธนาธรมองไว้ในอนาคต

คุณธนาธรพูดถึงประเด็นแรกในเรื่องของ “breaking down of consensus” นั่นหมายถึง การที่สังคมไทยเดินทางถึงจุดแตกหักของฉันทามติทางการเมือง ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อีลีทไทยและนักการเมืองสามารถอยู่ร่วมกันได้ในจุดหนึ่ง โดยต่างยึดมั่นในฉันทามติในรูปแบบหนึ่ง ที่จะยังพอให้การเมืองขับเคลื่อนไปได้ มีเสถียรภาพ และมีการแบ่งผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ อย่างลงตัว แม้ว่าคำว่า “ลงตัว” อาจไม่ได้หมายความว่า “เท่าเทียม” แต่อย่างน้อย ผลประโยชน์เหล่านี้กลายเป็นกาวผนึกฉันทามติให้คงอยู่ นักวิเคราะห์การเมืองส่วนหนึ่งอาจมองว่า ฉันทามตินั้น ตั้งอยู่บนโครงสร้างทางการเมืองที่รายล้อมสถาบันกษัตริย์ เป็นโครงสร้างที่รวมเอาสถาบันหลัก อย่างเช่น กองทัพ และตุลาการ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกับรัฐบาลพลเรือน สิ่งท้าทายฉันทามตินี้มันถูกตอบโต้ด้วยการยึดอำนาจและในบางครั้งจบด้วยความรุนแรง (เช่น รัฐประหาร) แต่ไม่นานนัก ฉันทามติจะถูกสร้างใหม่ เพื่อนำเสถียรภาพกลับคืนมา

สิ่งที่คุณธนาธรกังวลใจก็คือ ความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้มันซีเรียสที่สุด นับตั้งแต่ที่ไทยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี 2475 ฉันทามติเดิมถูกทำลาย ขณะเดียวกัน ฉันทามติใหม่ยังเกิดไม่ได้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ และส่วนหนึ่งปรากฏดังที่ผมกล่าวข้างต้น เพราะไทยมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งใหญ่ การสิ้นสุดลงของรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 มาพร้อมกับการสิ้นสุดลงของฉันทามติเดิมที่ตั้งบนสถานะที่ทรงพลังของสถาบันกษัตริย์ ขณะเดียวกัน สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยตัวของมันเองด้วย ทั้งในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคม ซึ่งทั้งสองปัจจัยนั้น ได้ถูกเร่งปฏิกิริยาจากรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ ทำให้ฉันทามติเดิมที่ตัดชนชั้นล่างออกจากโครงการสร้างอำนาจ ไม่สามารถคงอยู่ได้ต่อไป ขณะที่ฉันทามติใหม่ไม่สามารถเกิดได้ เพราะกลุ่มอำนาจเดิมต้องการสถาปนาฉันทามติเก่าที่ไม่สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอีกต่อไป

ประเด็นที่สองที่คุณธนาธรกล่าวถึงคือเรื่อง “legacy of the junta” สืบเนื่องมาจากปัญหาเรื่องฉันทามติ และปัญหาที่เกิดจากกลุ่มอำนาจเดิมที่ต่อต้านฉันทามติแบบใหม่ที่จะรวมเอาชนชั้นล่างมาเป็นส่วนหนึ่งด้วยนั้น ทำให้ คสช.มีความพยายามที่จะสร้างมรดกตกทอดสืบอำนาจและผลประโยชน์ต่อไป แม้ในวันที่ฉันทามติเดิมได้ล่มสลายไปแล้ว คุณธนาธรย้ำว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คือ ภาคสองของระบอบ คสช.ซึ่งน่าจะหมายความว่า เป็น “สาธารณูปโภค” ที่ใช้ในการสืบต่ออำนาจของคณะรัฐประหาร นอกจากนี้ ยังย้ำว่า ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญกลายมาเป็นภาคสองของระบอบ คสช.จึงทำให้การเลือกตั้งที่หลายๆ คนเรียกร้องในขณะนี้ยังไม่ใช่ทางออกของวิกฤตการเมืองไทยแบบถาวร กล่าวคือ การเมืองไทยไม่ได้จบที่การเลือกตั้ง เพราะอำนาจจะยังอยู่ในมือกลุ่มอำนาจเดิมตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงอยู่ คุณธนาธรพูดประหนึ่งว่า การล้มกำจัดระบอบ คสช.ไม่ได้สิ้นสุดที่การลงจากอำนาจของ คสช.และการจัดการเลือกตั้ง แต่อยู่ที่การต้องกำจัดรัฐธรรมนูญที่มีปัญหานี้ออกไปด้วย ในจุดนี้ คุณธนาธรเริ่มเอ่ยถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่ต้องออกมาแสดงพลังมากขึ้น ต่อสู้เพื่อคงพื้นที่ยืนทางการเมือง และกู้สิ่งที่สูญเสียไปในช่วงวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมา ทั้งหมดเป็นภารกิจของคนรุ่นใหม่ (ที่ผมเข้าใจว่า รวมเอาคุณธนาธรเข้าไปไว้ด้วย)

ประเด็นสุดท้ายที่คุณธนาธรพูดถึงคือ “possibility of confrontation” ครับอาจฟังดูแล้วน่ากลัว แต่มันเป็นการคาดการณ์จากหลายๆ คน รวมถึงตัวผมด้วย ที่เห็นว่า การสร้างฉันทามติใหม่จะไม่ใช่ภารกิจที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่จะเป็นการต่อสู้ทั้งทางความคิด อุดมการณ์ การแย่งชิงมวลชน ผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของกลุ่มอำนาจเก่า และกลุ่มอำนาจใหม่ (ที่มีฐานบนคนรุ่นใหม่ในสังคม) คุณธนาธรพูดในเชิงอุปมาว่า การเดินทางไปสู่อนาคตอาจทำให้เราต้องละทิ้งสัมภาระบางอย่าง เพื่อแลกกับสิ่งที่เกิดใหม่ ในกระบวนการนี้ อาจต้องกระทบกระทั่งกับผู้เสียประโยชน์จากการสร้างฉันทามติใหม่ กลุ่มผู้เสียประโยชน์นี้คือกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน กลุ่มนี้ยังมีอำนาจที่ยังคงปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองอย่างเหนียวแน่น คุณธนาธรบอกว่า คนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่า อาจต้องพบกับความเสี่ยง แต่นั่นก็คือสัจธรรมที่ว่า เมื่อใครก็ตามที่กล้าแตะต้องที่มาของอำนาจ ย่อมต้องเผชิญกับความเสี่ยงเป็นธรรมดา ผมเห็นว่านี่คือพื้นฐานของการมองการเมืองในอนาคตว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าไม่ได้

สุดท้าย คุณธนาธรพูดถึงอนาคตทางการเมืองไทย ว่าเอาไว้ไปพูดหลังการเลือกตั้ง (หรือเอาเข้าจริงๆ ต้องหลังจากการกำจัดรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว) เมื่อนั้น คนไทยควรได้รับโอกาสที่จะเรียกร้องว่าอยากได้อะไรจากการเมือง แต่วันนี้ คนเหล่านั้นยังไม่มีเวทีในการสะท้อนความเห็นอย่างเสรีและเป็นธรรม คุณธนาธรพูดได้กระชับว่า คนที่คิดแบบเดียวกับ คสช.เท่านั้นจึงจะมีพื้นที่ในการแสดงความเห็น ส่วนคนที่เห็นต่างจาก คสช.ย่อมไม่มีที่ยืนทางการเมือง และมิหนำซ้ำ อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงอีกหลายรูปแบบ

หากผมจะวิจารณ์ความเห็นของคุณธนาธร ผมคงพุ่งไปประเด็นเดียว คือเรื่อง empowerment of new generation กล่าวคือ คุณธนาธรพูดถึงโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ผมยังไม่แน่ใจว่า โอกาสนั้นจะมาอย่างไรและในรูปแบบไหน ขณะเดียวกัน คุณธนาธรพร้อมที่จะประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุนคนรุ่นใหม่เหล่านั้นอย่างเป็นทางการหรือไม่ รวมถึงการปูทางอนาคตทางการเมืองของคุณธนาธรเอง ในช่วงหลังๆ มีนักวิชาการส่วนหนึ่งพูดถึงเรื่องการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ แต่มักเป็นการพูดที่ไม่มียุทธศาสตร์ และการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เพียงแค่ผลักดันให้เขาเหล่านั้นออกมาอยู่ทัพหน้า จริงอยู่ อาจมีความพยายามสร้างขบวนการเคลื่อนไหวระหว่างคนรุ่นใหม่กับกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ แต่ความพยายามนี้อยู่บนพื้นฐานของ piecemeal และไม่ได้มองภาพกว้างของสังคมทั้งหมด ทั้งในไทยและและในชุมชุนไทยในต่างประเทศ ทั้งนี้ ผมยังไม่ได้แตะประเด็นที่สำคัญกว่านั้น นั่นคือเรื่องแหล่งเงินทุน (ซึ่งในจุดนี้ คสช.ได้ออกมาพูดสกัดไว้แล้วถึงเรื่อง “ท่อน้ำเลี้ยง” ของกลุ่มผู้ชุมนุมไว้เรียบร้อยแล้ว)

สุดท้าย ผมคงต้องเห็นด้วยกับคำพูดของคุณธนาธรที่ว่า พูดเรื่องประชาธิปไตยนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าการปีนเขาในขั้วโลกใต้ อิทธิพลของกลุ่มอำนาจเก่ายังมีอยู่มากจริงๆ ครับ แม้จะอยู่ในช่วงขาลงก็ตาม

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ มีตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับกลุ่มนักศึกษาชายแดนใต้ ‘เมื่อคนปาตานีอยากเลือกตั้ง’

$
0
0

หวังสื่อถึงความสำคัญของประชาธิปไตยต่อประเด็นปาตานีและสิทธิชุมชนเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ชี้เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อสิทธิการกำหนดตนเองของประชาชนปาตานี ภายใต้สันติภาพที่ยึดโยงกับประชาชน

ภาพจากเพจ เครือข่ายเยาวชนอิสระจังหวัดชายแดนใต้ - IRIS

จากเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา เครือข่ายเยาวชนอิสระจังหวัดชายแดนใต้ (IKATAN REMAJA INDEPENDENT SE-PATANI: IRIS)  จัดกิจกรรมรณรงค์ ‘อยากเลือกตั้ง’ บริเวณอาคารเรียนรวม 19 และโรงอาหารลานอิฐ, ลานประดู่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีการชูป้ายพร้อมถือหีบบัตรเลือกตั้งเป็นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชน

จากกิจกรรมดังกล่าว นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นการขับเคลื่อนในบรรยากาศการเมืองไทยที่มีกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง อาริฟ ดาเล็ง ฝ่ายกิจกรรมและการเมืองเครือข่ายฯ ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุของกิจกรรมดังกล่าวดังนี้

ที่มาของกิจกรรม ‘อยากเลือกตั้ง’

อาริฟ กล่าวว่า กิจกรรมอยากเลือกตั้งต้องการสื่อถึงความสำคัญของประชาธิปไตยต่อประเด็นปาตานีและสิทธิชุมชนเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อีกทั้ง ต้องการให้รัฐบาล คสช.คืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็ว กิจกรรมของเครือข่ายฯ จึงเป็นการขับเคลื่อนสองประเด็นภายใต้วาระความต้องการให้เกิดประชาธิปไตยในสังคมการเมือง โดยประชาธิปไตยถือเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อสิทธิการกำหนดตนเองของประชาชนปาตานี ภายใต้สันติภาพที่ยึดโยงกับประชาชนปาตานีว่าเราจะอยู่กันแบบไหน อย่างไร ต่อไปในอนาคต

“หากสังคมการเมืองไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย สิทธิดังกล่าวรวมถึงสันติภาพในพื้นที่ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้” อาริฟ กล่าว

ผลการตอบรับกิจกรรมเป็นอย่างไร?

เกี่ยวกับผลตอบรับ อาริฟ กล่าวว่า มีนักศึกษาและประชาชนที่มีส่วนร่วมให้ความร่วมมืออย่างดี มีจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงทั้งสิ้น 204 คน มีจำนวน 200 คน อยากเลือกตั้ง และ 4 คน ไม่อยากเลือกตั้ง มีนักศึกษาลงคะแนนเสียง 90 เปอร์เซ็นต์ อีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นประชาชนทั่วไป โดยส่วนใหญ่เป็นอาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัย

อาริฟ ยังกล่าวต่อ ว่าภายหลังกิจกรรมเสร็จสิ้น ทางเครือข่ายฯได้โพสต์ถึงกิจกรรมดังกล่าวในเพจ มีคนให้ความสนใจ และมีเสียงสะท้อนหลายมุมมองว่าประเด็นที่นักศึกษาขับเคลื่อนมีความเชื่อมโยงอย่างไรกับประเด็นสันติภาพปาตานีและโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีการทักมาในเพจว่าหลังจากกิจกรรมนี้ทางกลุ่มมีจุดประสงค์การทำกิจกรรมดังกล่าวเพื่ออะไร และมีแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นต่อไปอย่างไร

ประชาธิปไตยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนปาตานีอย่างไร?

อาริฟ เล่าว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มมีการติดตามและขับเคลื่อนประเด็นกฏอัยการศึกและกฏหมายพิเศษว่ามีความเชื่อมโยงอย่างไรกับรัฐบาล คสช. ต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม การถูกคุกคามของประชาชนในพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ใด้เกิดขึ้นแค่ยุครัฐบาล คสช. แต่มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว จนกระทั่งการขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐบาลโดย คสช. พบว่าประชาชนถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมนี้จึงมีความเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนปาตานีอย่างชัดเจน เพื่อให้รัฐบาลได้คืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองแก่ประชาขน

หากไม่มีการเลือกตั้ง ?

อาริฟ กล่าวว่า การอยู่ต่อไปของรัฐบาล คสช. ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าสังคมเป็นประชาธิปไตย และหากรัฐบาลไม่ให้เราเลือกตั้ง เราเองก็ต้องพิจารณาว่าจะรับมืออย่างไรต่อไป

“ชาวปาตานีควรขับเคลื่อนประเด็นประชาธิปไตยร่วมกับคนในสังคมไทยเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อจะได้มีรัฐบาลที่ฟังเสียงนโยบายประชาชนมากยิ่งขึ้น สำหรับนักศึกษาด้วยกันอยากให้ศึกษาประเด็นการเมืองไทยให้มากกว่านี้ รวมถึงการตระหนักประเด็นปาตานีของนักศึกษาในพื้นที่ว่าเป็นหน้าที่ เพื่อร่วมกันกำหนดอนาคตทางการเมืองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป” อาริฟ กล่าวทิ้งท้าย

เครือข่ายเยาวชนอิสระจังหวัดชายแดนใต้ (IKATAN REMAJA INDEPENDENT SE-PATANI: IRIS) เป็นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาอิสระ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 โดยขับเคลื่อนประเด็นหลักเกี่ยวกับสันติภาพ สิทธิมนุษยชนปาตานี และประเด็นอื่นๆ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรกิจกรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

สำหรับ อัฐพล ปิริยะ ผู้รายงานเสวนาชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 2/2560 จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความสนใจด้าน One Piece, Star Wars, วรรณกรรม, การเมืองวัฒนธรรม และการศึกษา 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images