Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com

กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ฝึกทหารใหม่ที่เมืองน้ำจ๋าง

$
0
0
กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ฝึกทหารใหม่ที่เมืองน้ำจ๋างauser15

ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน พล.อ.เจ้ายอดศึก ตรวจเยี่ยมกำลังพลในพิธีจบหลักสูตรฝึกทหารใหม่ที่เมืองน้ำจ๋าง โดยตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบความเคลื่อนไหวของกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ที่มีการตรวจกำลังพล พบปะประชาชนและคณะสงฆ์ ในหลายเมืองในรัฐฉานตอนใต้ อาทิ หมอกใหม่ ลางเคอ เมืองนาย และที่น้ำจ๋าง

กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA กองพล 505 ฝึกทหารที่เมืองน้ำจ๋าง เมื่อ 12 เมษายน 2567 | ที่มา: YouTube/Tai Freedom 

แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองน้ำจ๋าง ทางรัฐฉานตอนใต้ อยู่ห่างจากเมืองตองจี เมืองหลวงรัฐฉานไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 120 กม. และที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ดอยไตแลง ที่อยู่ตรงข้ามชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน | ที่มา: Google Maps

 

กองทัพรัฐฉาน RSCC/SSA ฝึกทหารใหม่ที่เมืองน้ำจ๋าง

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA จัดการฝึกทางการทหารรุ่นที่ 2 ในพื้นที่ของกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA พื้นที่ปกครองหมายเลข 3 กองพลน้อยที่ 505 ใกล้เมืองน้ำจ๋าง ห่างจากเมืองตองจี เมืองหลวงรัฐฉานไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 120 กม. โดย พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RSCC เดินทางมาเป็นประธานในพิธีจบหลักสูตร นอกจากนี้มีนายทหาร และประชาชนเข้าร่วมงาน โดยมีการสวนสนามและสาธิตการฝึกปฏิบัติทางยุทธวิธีให้ผู้ร่วมงานได้ชม

ด้าน พล.อ.เจ้ายอดศึก กล่าวในพิธีเปิดการฝึกทหารว่า สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS มีจุดมุ่งหมาย 4 ประการ คือ เชื้อชาติ บ้านเมือง ภาษา และศาสนา ที่่ผ่านมาเป้าหมายของเรายังไม่บรรลุถึงที่ เพราะเราต่างก็ทำของใครของมัน ดังนั้นในปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพที่ผ่านมานั้น จึงใช้เป็นบทเรียนให้กับพวกเราได้อยู่ ขณะที่สังฆเจ้า พลเมือง และทัพศึก ถือเป็นหลักยึดมั่นสามประการที่สำคัญ หากร่วมมือกันก็จะมีกองทัพที่เป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง ซึ่งหากไม่มีทัพศึกก็เหมือนเนื้อไม่มีกระดูก เนื้อไม่มีก้าง ใครจะกุมจะกินก็ทำได้ง่าย 

นอกจากนั้นในงานยังมีการกล่าวให้โอวาทของตัวแทนคณะสงฆ์ นายทหารในกองทัพรัฐฉาน และตัวแทนประชาชน

พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS ตรวจเยี่ยมการฝึกทหารใหม่ที่เมืองลางเคอ ทางตอนใต้ของรัฐฉาน เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา | ที่มา: สำนักข่าว SHAN

ก่อนหน้านี้ในรายงานของสำนักข่าวฉาน (SHAN) รายงานว่าในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS เดินทางไปตรวจเยี่ยมการฝึกทหารใหม่ที่เมืองลางเคอ ทางตอนใต้ของรัฐฉาน 

ทั้งนี้สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS ประกาศเกณฑ์ทหารของกองกำลังตัวเอง ภายหลังจากรัฐบาลทหารพม่า SAC ซึ่งแพ้การสู้รบกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านทั่วประเทศหลายแนวรบ เริ่มประกาศเกณฑ์ทหาร โดย พ.อ.จายคำจ๋าม โฆษก RCSS บอกกับสำนักข่าวฉานว่าประชาชนสามารถตัดสินใจที่จะไม่เกณฑ์ทหารตามกฎหมายเกณฑ์ทหารของรัฐบาลทหารพม่า SAC ด้วยการเข้าร่วมกับกองกำลังในรัฐฉาน

ตามระเบียบของ RCSS ที่ร่างมาตั้งแต่ปี 2539 ระบุว่าทั้งผู้ชายและหญิง อายุระหว่าง 18-45 ปีจากทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉาน จะต้องรับใช้กองทัพของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS เป็นเวลา 6 ปี โดยการฝึกทหารเกณฑ์ใหม่ในแต่ละปีจะเริ่มต้นในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าว พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS เดินทางพบปะประชาชน ที่หมอกใหม่ ลางเคอ เมืองนาย และน้ำจ๋าง โดยที่ลางเคอ เขากล่าวถึงนโยบายของ RCSS และการรักษาความเป็นเอกภาพของชาติพันธุ์ในรัฐฉาน โดยเว็บไซต์ข่าวสารของ RCSS เผยแพร่ภาพประชาชนหลายพันคนที่เมืองนาย และหมอกใหม่ รอต้อนรับ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานด้วยว่า พล.อ.เจ้ายอดศึก เดินทางไปพบปะกำลังพลและประชาชนที่เมืองปั่น เกงตอง ก้าลี่ และกุ๋นฮิง

ก่อนหน้านี้ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) หรือ กองทัพรัฐฉานใต้ และ พรรครัฐฉานก้าวหน้า/กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA) หรือ กองทัพรัฐฉานเหนือ และเพิ่งตกลงหยุดยิงระหว่างกันเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2566 หลังจากปะทะกันตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยชนวนมาจากการที่กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ส่งทหารขึ้นไปควบคุมเมืองทางรัฐฉานตอนเหนือ เช่น น้ำตู้ สี่ป้อ จ็อกเม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่เจ้-น้ำคำ ซึ่งเป็นชุมทางการค้าสำคัญของทางหลวงหมายเลข 3 ตรงข้ามชายแดนจีน-รัฐฉานที่ด่านรุ่ยลี่ มณฑลยูนนาน

ในขณะเดียวกันตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567 กองทัพรัฐฉานเหนือ SSPP/SSA และกองทัพรัฐฉานใต้ RCSS/SSA ต่างประกาศรับสมัครทหารใหม่ โดยข่าวรับสมัครทหารใหม่ของทั้งกองทัพรัฐฉานใต้ และกองทัพรัฐฉานเหนือ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กองกำลังพันธมิตรสามภราดรภาพ โดยเฉพาะกองกำลังตะอาง TNLA ที่ประกาศเกณฑ์ทหารในพื้นที่ยึดครองหลังปฏิบัติการ 1027 รวมทั้งรัฐบาลทหารพม่า SAC ที่ประกาศว่าจะบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารฉบับเก่าปี 2553 โดยกำหนดให้ผู้ชายทุกคนที่มีอายุ 18-35 ปี เข้าเกณฑ์ทหาร 2 ปี ทั้งนี้ตอนแรกกองทัพของรัฐบาลทหารพม่าจะเกณฑ์ทหารหญิงด้วยแต่ยกเลิกไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

  • กองทัพรัฐฉานเหนือ-ใต้ตกลงหยุดยิงต่อกัน หลังขัดแย้งภายในยาวนาน, 29 พ.ย. 2566  https://prachatai.com/journal/2023/11/107025

  • กองทัพรัฐฉานเหนือ-ใต้ หนุนปราบยาเสพติด-สแกมเมอร์ เน้นเจรจา ยังไม่ร่วมปฏิบัติการ 1027, 13 ก.พ. 2567 https://prachatai.com/journal/2024/02/108041

  • กองทัพรัฐฉานเหนือ-ใต้ รับสมัครทหารใหม่-กองทัพตะอาง TNLA เกณฑ์ทหารในพื้นที่ยึดครอง, 21 ก.พ. 2567 https://prachatai.com/journal/2024/02/108150

 

กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA กับการรักษาสถานะคู่เจรจาหลังรัฐประหารพม่า

อนึ่ง กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญอย่าง สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ถอนตัวจากข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) และร่วมกับกองกำลังชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านหลายกลุ่มฯ ภายหลังจากเกิดรัฐประหารโดยกองทัพพม่าเมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 นั้น สถานะปัจจุบันของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS ยังคงยึดสถานะเป็นกลุ่มหยุดยิง ตามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลเต็งเส่ง เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 และล่าสุดเพิ่งจัดประชุมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์รวม 7 กลุ่ม (7 EAO Alliance) เมื่อ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ จ.เชียงใหม่

โดย พล.อ.เจ้ายอดศึก ระบุว่าทั้ง 7 กลุ่มจะเริ่มการบริหารปกครองในพื้นที่ๆ กลุ่มของตนมีกำลังควบคุม และจะส่งตัวแทนของกลุ่มไปเจรจากับรัฐบาลทหารพม่าที่เนปิดอว์ โดยมีการส่งตัวแทนกลุ่มรวมทั้งเจ้าสองหาญ กรรมการบริหาร RCSS ไปเจรจาในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

สำหรับสมาชิกของพันธมิตรชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มที่เคยเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลเต็งเส่งเมื่อปี 2015 และรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีเมื่อปี 2018 บางส่วน ได้แก่ (1) สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA (2) องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ PNLO (3) พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP) (4) สภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KPC (5) กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (DKBA) (6) พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) และ (7) ผู้แทนจากสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU) 

อย่างไรก็ตาม 3 กลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มติดอาวุธที่เคยลงนาม NCA และไม่ได้เข้าร่วมประชุมดังกล่าวคือ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU, แนวร่วมแห่งชาติชิน CNF และ แนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย ABSDF โดยทั้ง 3 กลุ่มต่อสู้กับกองทัพพม่ามาตั้งแต่หลังรัฐประหารกุมภาพันธ์ 2564 ขณะที่ 7 กลุ่มที่เหลือยังคงรักษาสถานะเจรจากับรัฐบาลทหารพม่า

แกนนำพรรครัฐมอญใหม่แยกตัวเป็นพรรครัฐมอญใหม่ต่อต้านเผด็จการ

สำหรับหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มพันธมิตร 7 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ พรรครัฐมอญใหม่/กองทัพปลดปล่อยประชาชนมอญ (NMSP/MNLA) มีผู้นำคือนายหงสา มีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ใกล้ด่านเจดีย์สามองค์ มีนายอ่องมิน ตัวแทน NMSP เป็นรองประธานกลุ่มพันธมิตร 7 ชาติพันธุ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามพรรครัฐมอญใหม่ NMSP กำลังประสบปัญหาเอกภาพ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ กำลังพลประมาณ 300 คนของกลุ่มนำโดย อดีตเลขาธิการพรรครัฐมอญใหม่ นายเซยะ และอดีตรองผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยประชาชนมอญ MNLA พลจัตวา ซะลุน ทอ แยกตัวออกจากพรรครัฐมอญใหม่ และก่อตั้งพรรครัฐมอญใหม่ต่อต้านเผด็จการ (NMSP-AD) ประกาศสงครามกับรัฐบาลทหารพม่า

ส่วนคณะกรรมการกลางของ LDU ออกแถลงการณ์เตือน 6 กลุ่มชาติพันธุ์ที่เหลือว่าการเข้าร่วมพันธมิตรชาติพันธุ์ดังกล่าวไม่เกี่ยวกับมติ LDU

 

ที่มา: 

Tai Freedom, April 12, 2024

Tai Freedom Video, YouTube, April 12, 2024 https://www.youtube.com/watch?v=V9wt5mRVNoI

RCSS Chair Meets New Recruits in Southern Shan State, SHAN, April 4, 2024 https://english.shannews.org/archives/27035 

Signatory Organizations of NCA Announce New Name, 7 EAO Alliance, BNI, 20 March 2024

https://www.bnionline.net/en/news/signatory-organizations-nca-announce-new-name-7-eao-alliance

Rocky Start for New Bloc of Myanmar EAOs Formed to Join Junta Peace Talks, The Irrawaddy, April 12, 2024

https://www.irrawaddy.com/opinion/analysis/rocky-start-for-new-bloc-of-myanmar-eaos-formed-to-join-junta-peace-talks.html

ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net

อ่านสถาปัตยกรรมอำนาจผ่านการออกแบบรัฐสภา | หมายเหตุประเพทไทย EP.518

$
0
0
อ่านสถาปัตยกรรมอำนาจผ่านการออกแบบรัฐสภา | หมายเหตุประเพทไทย EP.518user8

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี พูดคุยกับ ชานันท์ ยอดหงษ์ ตั้งประเด็นรัฐสภาไทยแห่งใหม่ "สัปปายะสภาสถาน" ที่ประชาชนผู้ไปติดต่อรัฐสภาต่างสะท้อนถึงรูปร่างหน้าตาของรัฐสภาที่ใหญ่โตโอ่อ่า แต่กลับเข้าถึงยาก

พร้อมชวนพิจารณาการออกแบบที่ประชุมรัฐสภาในที่ต่างๆ ทั่วโลก ว่ามีผลกับพฤติกรรม และการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา รวมทั้งรูปแบบการปกครอง และความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างไร ทั้งหมดนี้ติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net

ประมวลภาพกิจกรรม 'ส่งใจถึงเพื่อนหน้าเรือนจำคลองเปรม'

$
0
0
ประมวลภาพกิจกรรม 'ส่งใจถึงเพื่อนหน้าเรือนจำคลองเปรม'user007

"สาดน้ำ ข้ามกำแพง ปะแป้งจร้า

ผูกโบว์หน้า เรือนจำ ย้ำถึงสิทธ์

ร่วมเต้นร้อง บรรเลง เพลงชีวิต

จนมืดมิด ยืนหยุดขัง เพื่อสั่งลา"

14 เม.ย.2567 เวลา 17.00 น. ที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม มวลชนอิสระ จัดกิจกรรม “ส่งใจถึงเพื่อนหน้าเรือนจำคลองเปรม” เล่นน้ำสงกรานต์ รดน้ำดำหัว เริ่มจาก สรงน้ำพระ ,รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ , และผูกริบบิ้น 3 สี ที่ลวดหนาม (ขาว, แดง, น้ำเงิน) โดยสีขาว หมายถึง นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ส่วนสีแดงและน้ำเงิน หมายถึง กิจกรรมที่ตะวันเคยทำโพล แจกริบบิ้น

ต่อจากนั้นได้มีการจุดเทียน ต่อด้วยเผาพริกเผาเกลือ และจุดพลุ ก่อนจะยุติกิจกรรมเวลา 19.12 น.

ทั้งนี้ กิจกรรมนี้ ผู้จัดได้มีการบอกกล่าวกับผู้ต้องขังในเรือนจำแล้ว ว่าจะมาเล่นน้ำที่หน้าเรือนจำในวันนี้ เพื่อแสดงออกว่าพวกเรายังไม่ลืมกัน และไม่ทิ้งกันไปไหน โดยจะนำภาพกิจกรรมในวันนี้ ไปปริ้นเพื่อนำไปให้เพื่อนๆ ที่อยู่ในเรือนจำได้ดูอีกด้วย

ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net

ต๊ะ คทาธร แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ใส่ชุด PPE ทวงคืนสิทธิการประกันตัว

$
0
0
ต๊ะ คทาธร แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ใส่ชุด PPE ทวงคืนสิทธิการประกันตัวuser007

15 เม.ย. 2567 เวลาประมาณ 17.00 น. ต๊ะ คทาธร นักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊ส โผล่ถนนข้าวสาร ใส่ชุด PPE ที่มีข้อความเขียนว่า คืนสิทธิการประกันตัว ยกเลิก 112 และ Free our friends โดยเจ้าตัวได้ตะโกนระหว่างทำกิจกรรมว่า “สำหรับใครที่เห็นด้วยกับผม ในการคืนสิทธิในการประกันตัว ให้ฉีดน้ำใส่ผมได้เลย”

ซึ่งประชาชนที่ผ่านมาเล่นสงกรานต์ที่ข้าวสารนั้น ก็มีทั้งสาดน้ำปะแป้ง และให้กำลังใจ ก่อนจะยุติกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมเวลากิจกรรมเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที

"กิจกรรมนี้เป็นการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานให้ผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองให้ได้รับสิทธิในการประกันตัว และไม่อยากให้เรื่องนี้เงียบหาย และขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วม และเข้ามาให้กำลังใจในวันนี้" ต๊ะ คทาธร กล่าว

ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net

ครบรอบ 10 ปี คดีอุ้มฆ่า 'บิลลี่' นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

$
0
0
ครบรอบ 10 ปี คดีอุ้มฆ่า 'บิลลี่' นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยPazzle

ครบรอบ 10 ปี การหายตัวไปของ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง “บางกลอย-ใจแผ่นดิน” ปีนี้ญาติยื่นฟ้องแพ่งกรมอุทยานฯ เรียกร้องค่าเสียหาย 26 ล้านบาท กรณีเจ้าหน้าที่ในสังกัดเอี่ยวคดีอุ้มฆ่าบิลลี่

 

17 เม.ย. 2567 ครบรอบ 10 ปี การหายตัวไปของ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 'บางกลอย-ใจแผ่นดิน' โดยเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 บิลลี่ได้ถูกจับกุมและควบคุมตัวไปโดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หลังจากนั้นไม่มีใครทราบชะตากรรมของบิลลี่อีกเลย

เมื่อปี 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้รับเป็นคดีพิเศษ และได้ทำการสำรวจพื้นที่ใต้น้ำ บริเวณใต้สะพานแขวน เชื่อนแก่งกระจาน จนพบชิ้นส่วนกระดูกในถัง และนำมาสู่การตรวจสอบ พบว่าเป็นของพอละจี ต่อมา DSI และอัยการได้ร่วมกันติดตามสอบสวนคดีดังกล่าวจนได้พยานหลักฐานเพิ่มเติมอันเชื่อได้ว่า กลุ่มเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่จับกุมบิลลี่ไปนั้นได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในคดีร่วมกันฆาตรกรรมอำพรางโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

บิลลี่

                                                                        “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ 

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอ่านคำพิพากษาคดีชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวกรวม 4 คน ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ และข้อหาร่วมกันฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จากกรณีการหายตัวไปของบิลลี โดยศาลสั่งจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ข้อหา ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ฐานจับกุม 'บิลลี่' พร้อมน้ำผึ้งป่า แต่ไม่นำส่งตำรวจ ส่วนคดีร่วมกันฆ่าบิลลี่ โดยไตร่ตรอง พยานหลักฐานยังไม่อาจเชื่อได้ว่าชัยวัฒน์และพวก ร่วมกันฆ่าบิลลี่ ยกฟ้องคดีฆ่าทำลายศพ

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาบิลลี่ ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่ง ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นจำเลย กรณีเจ้าหน้าที่ภายในสังกัดของจำเลยกระทำละเมิดโดยการอุ้มฆ่าบิลลี่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยเรียกค่าสินไหมทดแทน อาทิ ค่าเสียหายต่อทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียกร้องความเป็นธรรม ค่าเสียหายต่อสิทธิ เสรีภาพและชีวิต ค่าเสียหายต่อจิตใจ ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน และค่าขาดไร้อุปการะ รวมเป็นเงินต้นกว่า 26 ล้านบาท 

 

 

ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net

สงครามเมียวดี อนาคตเมียนมา จุดเปลี่ยนทางการทูตไทย? [LIVE]

$
0
0
สงครามเมียวดี อนาคตเมียนมา จุดเปลี่ยนทางการทูตไทย? [LIVE]XmasUser

#PrachataiLive คุยกับ ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ถึงสถานการณ์สงครามฝั่งเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า หลังมีรายงานข่าวตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา กองกำลังฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่าสามารถบุกโจมตีและผลักดันค่ายทหารพม่าออกจากเขตพื้นที่จังหวัดเมียวดี ไปได้หลายค่ายเหลือแต่เพียงค่าย 275 (ฝั่งตะวันตกของเมียวดี ใกล้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2) สงครามเมียวดีจะสะท้อนอนาคตและเสถียรภาพของกองทัพพม่าได้อย่างไร และจะทำให้ทางการไทยทบทวนจุดยืนทางการทูตระหว่างไทย และรัฐบาลทหารพม่า SAC หรือไม่

 

ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net

แพลตฟอร์มทลายมายาคติแม่บ้าน จาก 'คนรับใช้' สู่ 'ผู้ให้บริการ' ขณะที่กฎหมายยังตามคุ้มครองไม่ทัน

$
0
0
แพลตฟอร์มทลายมายาคติแม่บ้าน จาก 'คนรับใช้' สู่ 'ผู้ให้บริการ' ขณะที่กฎหมายยังตามคุ้มครองไม่ทันuser007

เมื่อแพลตฟอร์มสร้างความสัมพันธ์ในการจ้างงานใหม่และทลายมายาคติแม่บ้านจากที่เคยถูกเรียกเป็น “คนรับใช้” สู่การเป็น “ผู้ให้บริการ” ขณะที่กฎหมายคุ้มครองยังตามไม่ทัน

“เวลาเราเดินตามข้างทางโดยเฉพาะในกรุงเทพ เรามักจะเห็นพี่ๆที่สะพายข้าวของพะรุงพะรังเเล้วก็มีเครื่องมือที่อาจจะเดาได้ว่าเป็นเครื่องมือทําความสะอาดหรือเปล่า นี่เเหละคือพี่ๆ แม่บ้านฟรีเเลนซ์ที่เราอาจจะเจอในชีวิตประจําวัน ทั้งรับงานเองเเละรับงานผ่านแอพพลิเคชั่น” 

คำกล่าวของ ญาดา ช่วยชําเเนก ผู้ทําวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่องแม่บ้านฟรีเเลนซ์ เรื่อง “ปรากฎการณ์ของเเรงงานหญิงในสังคมเมืองร่วมสมัย ในมิติการเปลี่ยนเเปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย” ในขณะทํางานเป็น nongovernmental organization (NGOs) ในมูลนิธิกลุ่มปราถนาดี โดยเผยเเพร่ข้อมูลผ่านทางการเเพร่ภาพสด Memory mobility multiplicity the series ep.7 ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร - SAC  เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 

จาก ‘นายจ้าง-ลูกจ้าง’ สู่ ‘ลูกค้า-ผู้ให้บริการ’ 

ญาดา ช่วยชําแนก กล่าวว่า ปัจจุบันแม่บ้านไม่ใช่สาวจากต่างจังหวัดที่เข้ามาในเมืองเพียงอย่างเดียวที่มีมุมมองทางด้านลบ มักจะถูกกดขี่  แต่ความสามารถในการทำความสะอาดที่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิดก็ทำให้เราสามารถเป็นแม่บ้านได้ โดยสามารถดูข้อความได้จากแอพพลิเคชัน BeNeat ที่กล่าวว่า “ใคร ๆ ก็เป็นแม่บ้านได้” รวมไปถึงการผลักดันให้เป็นแม่บ้านมืออาชีพ มากขึ้นจากการเปิดคอร์สต่าง ๆ อย่างเช่น วิทยาลัยดุสิตธานี และศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร การเป็นแม่บ้านจึงไม่สามารถจัดอยู่ในประเภทการเป็นแรงงานระดับล่าง หรือแรงงานไร้ทักษะ ได้อีกต่อไป ในขณะเดียวกันลักษณะการจ้างงานก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกันจากอยู่ติดที่ก็เปลี่ยนเป็นไปเช้าเย็นกลับ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของนายจ้างกับแม่บ้านเปลี่ยนไปด้วย จากการอยู่กับนายจ้าง ก็ต้องกินอยู่ด้วยกัน ทำให้อำนาจของแม่บ้านั้นมีน้อยกว่า โดยเห็นได้ชัดเจนว่านายจ้างจะเรียกมาใช้งานตอนไหนก็ได้ แต่ความสัมพันธ์แบบไปเช้าเย็นกลับ อาจจะไม่เป็นนายจ้าง-ลูกจ้างอีกต่อไป โดยอาจเรียกได้ว่าเป็น “ลูกค้า-ผู้ให้บริการ” ที่ลูกค้าต้องรับราคาค่าจ้างผู้บริการให้ได้ เพื่อที่จะได้รับการบริการอย่างมืออาชีพ ซึ่งความสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนนี้ส่งผลให้แม่บ้านสามารถ ยกระดับฐานะของตนเองได้และสามารถท้าทายภาพจำของ “แม่บ้าน” ได้เป็นอย่างดี

ญาดา ในฐานะผู้วิจัย ระบุว่า ตนทำการสำรวจแม่บ้านมา 5 คน คือ เอ้ มา หมวย นีและจอย พวกเขาได้เริ่มจากการเป็นคนรับใช้ในบ้านโรงแรมบริษัท ช่างเสริมสวย สาวโรงงาน และขายของ มาสู่การเป็นแม่บ้านฟรีแลนซ์ โดยผู้วิจัยได้ทําการยกเเนวคิดเรื่อง “ทุน” ของ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu นักปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส) ซึ่งประกอบไปด้วยการสะสม “ทุนทางวัฒนธรรม” คือการทำให้ทักษะการทำความสะอาดเป็นสินค้า จากทักษะการทำความสะอาดของผู้หญิงที่มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดส่งผลให้มีอำนาจในการต่อรองในตลาด สามารถกำหนดราคาสินค้าได้ โดยผ่านการเทรนด์การเป็นแม่บ้านในโรงแรมมาก่อน ก่อให้เกิดความเป็นมืออาชีพ ทำให้สามารถต่อรองราคาที่สูงขึ้นได้ เป็นต้น ต่อมาเป็น “ทุนทางสังคม”คือการมีเครือข่ายคนรู้จัก เครือข่ายนายจ้าง และแอพพลิเคชันที่มีการใช้ในแม่บ้านหน้าใหม่ ที่จะนำมาสู่ปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงานซึ่งความสำเร็จของแม่บ้านฟรีแลนซ์คือ เมื่อลูกค้าติดใจจากการทำงานของแม่บ้านในแอพลิเคชันแล้วอาจจะมีการจ้างงานกันต่อไปนั่นเอง แต่ผู้ที่ไม่ได้ไปต่อในงานแม่บ้านแอพลิเคชันก็มีเช่นกัน เพราะการที่จะมีเป็นแม่บ้านแอพลิเคชันได้นั้น จะต้องมีทักษะในการใช้แอพพลิเคชันเสียก่อน ส่งผลให้ไม่มีเครือข่ายทางสังคมและหันมารับงานแบบปากต่อปาก ซึ่งนำไปสู่ผลสุดท้ายคือไม่มีงานนั่นเอง และสุดท้ายคือทุนทางด้าน “ความสามารถในการเคลื่อนย้าย” โดยให้ความสนใจกับประสบการณ์ที่แม่บ้านเจอมาก่อนผ่านทุนทั้งสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่เท่ากัน จนนำมาสู่การเป็นแม่บ้านฟรีแลนซ์ ดังนั้น ยิ่งเคลื่อนที่ได้เร็ว ได้ไว ได้ไกล ได้กว้าง ก็จะยิ่งสร้างรายได้ที่มากกว่า

ภาพจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC. (2567, มีนาคม 29). แม่บ้านฟรีเเลนซ์: ปรากฎการณ์ของเเรงงานหญิงในสังคมเมืองร่วมสมัย ในมิติการเปลี่ยนเเปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย [วิดีโอ]. Youtube. https://www.youtube.com/live/HuyPqveO6Yc?si=PaXhBjj1_Np7r0xv

เมื่อผู้วิจัยเทียบจำนวนชั่วโมง งานที่ทำ และเงินเดือนแล้ว ค่อนข้างมีจำนวนที่สูง เนื่องจากความเร็วของยานพาหนะมอเตอร์ไซด์ของพี่นีที่สามารถเคลื่อนที่ได้เร็ว และสะดวกกว่ารถโดยสารสาธารณะที่ต้องใช้เวลาเดินทางทำให้จำนวนงานที่สามารถรับงานได้ในแต่ละวันมีจำนวนน้อยกว่า

ความสัมพันธ์ทางด้านการเปลี่ยนเเปลงทางสังคมในด้านเศรษฐกิจ 

จากการที่รัฐต้องการจะเปลี่ยนประเทศที่มีเกษตรกรรมหลักให้กลายเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมเเละการบริการเป็นหลัก จึงทําให้เกิดการขยายตัวของพื้นที่ในเขตเมือง ส่วนชนบทก็จะเล็กลงเรื่อยๆ เพราะเเรงงานย้ายถิ่นจากชนบทเข้าเมืองที่มีตลาดเเรงงานจํานวนมากในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ในขณะเดียวกันก็มีความเจริญเกิดขึ้นในภาคเกษตรของชนบท อย่างเช่น มีการใช้รถไถ เครื่องเก็บข้าวต่างๆ เข้ามาแทนเเรงงานภาคเกษตร ดังนั้น เเรงงานจากภาคเกษตรจึงต้องเข้ามาทํางานในเมืองแทน แต่คําถามก็คือตลาดเเรงงานในภาคอุตสาหกรรมมันมีเพียงพอหรือเปล่าสำหรับเเรงงานจากชนบทที่ย้ายเข้าเมืองมาทํางาน? ในขณะเดียวกันเเรงงานจากภาคชนบทก็อาจจะไม่ได้มีการศึกษาที่สูงมาก ทักษะในการทํางานจึงมีไม่เยอะ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น “เเรงงานไร้ทักษะ” เเละถ้าหางานที่มั่นคงทําไม่ได้ก็จะกลายเป็น “เเรงงานนอกระบบ” ซึ่งมีจํานวนมากในปัจจุบัน โดยเป็นงานที่ไม่มั่นคง มีการเปลี่ยนงานบ่อย ได้ค่าเเรงน้อยอาศัยเเรงกายมาก และไม่ได้มีกระบวนการพัฒนาให้พวกเขาเหล่านี้ไปสู่เเรงงานอาชีพ ซึ่ง“แม่บ้าน” ก็จัดเป็นเเรงงานนอกระบบเช่นกัน ที่เข้ามาพร้อมเเรงผลักทางเศรษฐกิจเเละสังคม เนื่องจากมีฐานะยากจนหรือเห็นญาติๆ ที่ไปทํางานในกรุงเทพกลับมาพร้อมการใส่ทองหยองเเละขบวนกฐิน จึงเกิดความคิดที่ว่า “ถ้าฉันไปทำงานที่กรุงเทพ ฉันก็จะทําเเบบนี้ได้”

เมื่อคนในกรุงเทพมีมากขึ้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานมันก็เปลี่ยน ลักษณะบ้านเดี่ยวแบบเดิมนั้นมีไม่เพียงพอแล้ว ส่วนหนึ่งก็เป็นศูนย์กลางของภาคธุรกิจ จึงเกิดตึกระฟ้าขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นคอนโดหรูต่างๆ เรียงรายจนเกิดความแออัด และด้วยความต้องการที่จะเข้ามาอยู่ในกรุงเทพนั้นสูง ที่อยู่อาศัยจึงกระจายจากเมืองชั้นในออกไปเมืองชั้นนอกมากขึ้นเกิดเป็น city คอนโดมิเนียมที่มีห้องขนาดเล็ก ดังนั้นจึงเปลี่ยนบริบทการทำงานจากการเป็นแม่บ้านแบบประจำ มาเป็นแม่บ้านแบบไปเช้าเย็นกลับ

ญาดา สรุปด้วยว่า แม่บ้านฟรีเเลนซ์ เป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างมีความเป็นอิสระ เเต่ก็ไม่ได้อิสระขนาดนั้น ลักษณะของการจ้างงานจึงเป็นการตกลงกับผู้ว่าจ้างว่าจะทํางานกี่ชั่วโมง รับค่าจ้างเท่าไหร่ งานก็จะมักเป็นการบอกกันปากต่อปาก เเละแอพพลิเคชั่น อย่างเช่น แอพพลิเคชั่น BeNeat มีลักษณะงานจะคล้ายๆ grab หรือ ondemand application ต่างๆ ที่ผู้ว่าจ้างหรือลูกค้าจะโพสต์ว่าต้องการแม่บ้านไปทํางานที่นู่นที่นี่ และแม่บ้านเองก็ต้องเข้าไปสร้างโปรไฟล์ของตนเอง พอมีลูกค้าลงงาน แม่บ้านก็ต้องไปกดเเย่งกันเองเพื่อให้ได้งาน แน่นอนว่าการทําผ่านแอพก็จะต้องมีการหักค่าใช้จ่ายอย่างพวกค่าคอมมิชชั่น ค่าบริการต่างๆ บางแอพก็จะหักภาษี หัก VAT หักค่าโอนเงิน และค่าจ้างทําของ 3% ซึ่งสุดท้ายเเล้ว จำนวนเงิน 500 บาท ที่เราจ่ายให้กับทางแอพพลิเคชั่น โดยกำหนดให้แม่บ้านมาทํางาน 2 ชั่วโมง สุดท้ายเเล้วแม่บ้านอาจจะได้เงินเพียงเเค่ 350 บาท เพราะฉะนั้น แม่บ้านหลายๆคนอาจจะใช้ช่องทางนี้ในการเข้าสู่ตลาดเเรงงาน และ เมื่อ “การบอกปากต่อปาก” เป็นสิ่งที่ผู้ว่าจ้างจะไว้ใจจ้างมากที่สุด ดังนั้นแม่บ้านที่เหลืออยู่โดยไม่มีเครือข่ายทางสังคมทั้ง ผู้ว่าจ้าง และเพื่อนร่วมงงาน จึงจำเป็นต้องมาหาลูกค้าในแอพพลิเคชั่นก่อน ซึ่งบางคนอาจจะทําคู่กันโดยหาในแอพลิเคชั่นหรือหางานเองข้างนอก และบางคนก็อาจจะมาหาเพื่อให้รู้ว่าตลาดลูกค้านั้นคือใครเเล้วก็จะไม่ต้องงานใช้แอพพลิเคชั่นอีกเลย

กฎหมายที่ยังตามคุ้มครองไม่ทัน

เมื่อพิจารณาจากบทความ "ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์มศึกษากรณีธุรกิจแม่บ้านบริการออนไลน์"เมื่อปี 2565 ของ ชนิตร์นันท์ ทอนสูงเนินนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต (ส่วนกลาง) คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่พิจารณาปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการคุัมครองด้านสวัสดิการของแรงงานแพลตฟอร์มที่แม่บ้านบริการออนไลนก็เผชิญปัญหาร่วมเนื่องจากยังไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน ทั้งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533... 

ชนิตร์นันท์ ทอนสูงเนิน กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มนั้น นำมาซึ่งความเสี่ยงและต้นทุนต่อคนกลุ่มต่าง ๆ เช่น การปฏิสัมพันธ์ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นเกิดบนฐานความสัมพันธ์ที่ยังขาดความแน่นอน การซื้อขายหรือจ้างงานผ่านแพลตฟอร์มมิได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนคอยกำกับ โดยเฉพาะกลไกทางกฎหมายที่ช่วยปกป้องคุ้มครองด้านแรงงานอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับแรงปกติโดยทั่วไป และที่สําคัญประโยชน์จากการเข้าถึงโอกาสและประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มไม่ได้กระจายไปอย่างทั่วถึงทุกกลุ่มคน

บทความของ ชนิตร์นันท์ มองว่า “ธุรกิจแม่บ้านบริการออนไลน์” ตามความหมายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) หมายถึง แรงงานที่อยู่ในการจ้างงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (informal sector) ซึ่งมีลักษณะเป็นกิจการขนาดเล็ก ตั้งได้ง่าย มีลักษณะเป็นธุรกิจในครัวเรือน มักใช้วัตถุดิบในประเทศมีการใช้แรงงานเป็นหลัก และมีการดัดแปลงเทคโนโลยีง่ายๆ มาใช้ เป็นแรงงานอิสระที่ทํากิจกรรมเพื่อความอยู่รอด เช่น หาบเร่ริมถนน คนขัดรองเท้า คนเก็บขยะ คนเก็บเศษกระดาษและโลหะ แรงงานรับใช้ในบ้านที่รับค่าจ้างจากครัวเรือน ผู้รับงานไปทําที่บ้าน และคนงานในโรงงานที่ไม่ขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นลูกจ้างแอบแฝง (disguised wage workers) ในเครือข่ายการผลิตและเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระในสถานประกอบการขนาดเล็กมากซึ่งทํางานด้วยตนเอง หรือมีสมาชิกในครอบครัว หรือมีผู้ฝึกงานหรือมีลูกจ้างช่วย

อีกทั้งแรงงานนอกระบบ ยังหมายถึง ผู้ใช้แรงงานที่ทํางานโดยไม่มีสัญญาการจ้างงานอย่างเป็นทางการหรือเป็นลายลักษณ์อักษรตามกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นการจ้างแบบปากเปล่า รวมทั้งอาจไม่มีนายจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ทํางานอยู่ในสถานประกอบการ ไม่มีการจ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่แน่นอน รวมทั้งยังหมายรวมถึงกลุ่มคนผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ที่ทํางานชั่วคราว และที่สําคัญแรงงานกลุ่มนี้ไม่ยังไม่รับความคุ้มครองหรือหลักประกันทางสังคมจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การปกครอง ส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่น ทั้งยังไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ประกันสังคม ทําให้ไม่มีหลักประกันด้านความมั่นคงและการชดเชยต่างๆ เช่น ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม จ่ายไม่แน่นอน ไม่ตรงเวลา ไม่มีประกันความปลอดภัยในการทํางาน ไม่มีเงินออมยามเกษียณ และไม่มีเงินชดเชยหลังเลิกจ้าง 

ส่วน “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5”  ได้ให้คํานิยามของคําว่า ลูกจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทํางานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร และยังให้คำนิยามของคําว่า ผู้ว่าจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงว่าจ้างบุคคลอีกบุคคลหนึ่งให้ดําเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของงานใดเพื่อประโยชน์แก่ตน โดยจะจ่ายสินจ้างตอบแทนผลสําเร็จแห่งการงานที่ทํานั้น ผู้วิจัยจึงเล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องการคุ้มครองแม่บ้านออนไลน์ในธุรกิจแรงงานแพลตฟอร์มว่าหากมิใช่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานแล้วนั้น ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แต่กลับถูกมองว่าเป็นแรงงานนอกระบบ

แต่ในปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองแรงงานยังไม่ครอบคลุมไปถึงแรงงานนอกระบบ จึงทําให้แม่บ้านบริการออนไลน์ไม่ได้รับความคุ้มครองตามสถานะทางกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และส่งผลให้เกิดปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองด้านสวัสดิการของแรงงานแพลตฟอร์ม ดังนี้

1) พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537

กฎหมายเงินทดแทนได้กําหนดให้นายจ้างต้องรับผิดชอบต่อลูกจ้างโดยตรงโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิดของนายจ้าง โดยกฎหมายเงินทดแทนนี้มีวัตถุประสงค์ให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่ได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือตาย หรือสูญหาย เนื่องจากการทํางานให้แก่นายจ้าง โดยกําหนดให้จัดตั้งกองทุนเงินทดแทนขึ้นในสํานักงานประกันสังคมและให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน แล้วให้กองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง หรือทายาทของลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือตายหรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ซึ่งแม่บ้านออนไลน์ภายใต้ธุรกิจแรงงานแพลตฟอร์มควรที่จะได้รับการคุ้มครองในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน

2) พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

ในส่วนของแม่บ้านออนไลน์ภายใต้ธุรกิจแรงงานแพลตฟอร์มนั้น ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มมีอํานาจควบคุมบังคับบัญชาผู้ทํางานแพลตฟอร์มผ่านทางแพลตฟอร์มด้วยกฎระเบียบ การแต่งกาย ข้อบังคับในการให้บริการ มีการประเมินคะแนนซึ่งส่งผลถึงความสามารถในการรับงานครั้งต่อไปหรืองานที่มีมูลค่าสูงขึ้นและมีการลงโทษเมื่อทําผิดกฎระเบียบ แม่บ้านออนไลน์จึงสมควรที่จะได้รับความคุ้มครองในด้านสวัสดิการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เพื่อกําหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนเกี่ยวกับการแจ้งข้อเรียกร้อง และการระงับข้อพิพาทแรงงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ให้สิทธิแก่นายจ้างและลูกจ้างในการจัดจ้างองค์กรของตนเพื่อแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับการจ้างและการทํางาน และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองฝ่าย อีกทั้งให้สิทธิ แก่ลูกจ้างในการจัดตั้ง คณะกรรมการลูกจ้าง เพื่อให้นายจ้างได้หารือในกิจการต่างๆเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันและกัน ซึ่งมีการตกลงในเรื่องสภาพการจ้าง หมายความว่า เงื่อนไขการจ้างหรือ การท างาน กําหนดวันและเวลาทํางาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือทํางาน

3) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

แรงงานบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มประเภทแม่บ้านออนไลน์นี้ยังมีสถานะภาพที่คลุมเครือในกฎหมายไทย ซึ่งเป็นผลพวงจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากความสัมพันธ์ที่ไม่สมมาตร สัญญาที่ไม่เป็นธรรม และผลักภาระเกือบทั้งหมดให้แรงงาน เช่นการแบกรับความเสี่ยงในด้านสุขภาพ การเจ็บป่วยและการเข้าไม่ถึงหลักประกันสิทธิแรงงาน ซึ่งในส่วนของแม่บ้านออนไลน์ภายใต้ธุรกิจแรงงานแพลตฟอร์มนั้น เมื่อต้องประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือทุพพลภาพหรือตาย ก็ไม่มีบัทบัญญัติกฎหมายในเรื่องดังกล่าวที่ให้ความคุ้มครองหรือช่วยเหลือแต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาตามกฎหมายต่างประเทศในส่วนของ “บทบัญญัติของกฎหมาย California Proposition 22”

พบว่า นิติสัมพันธ์ของแม่บ้านบริการออนไลน์และแพลตฟอร์มบริการนั้น มีการจัดให้แรงงานอยู่ในกลุ่มผิดประเภทที่จะไม่ได้รับสิทธิและการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานทําให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่นายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งแพลตฟอร์มบริการย่อมได้รับประโยชน์จากการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี หลีกเลี่ยงการจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมให้แก่แม่บ้านบริการออนไลน์

ดังนั้น ชนิตร์นันท์ มีข้อเสนอในบทความดังกล่าวว่า

1. ควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 เป็ นการขยายความคุ้มครองให้กับบุคคลที่ไม่ใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายได้

2. ควรมีการร่างกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบ ดังนี้

2.1)แก้ไขนิยามกําหนดให้แรงงานนอกระบบให้ครอบคลุมถึง ‘แรงงานอิสระ’ หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ 

“ผู้ประกอบอาชีพอิสระ” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการ ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบอาชีพอื่นที่ไม่มีนายจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน“ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ” หมายความว่า ผู้ประกอบอาชีพที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • (1 )ผู้ประกอบอาชีพบริการขนส่งคนโดยสาร สิ่งของ หรืออาหาร ทําความสะอาดหรือบริการอื่นๆผ่านผู้ประกอบธุรกิจบริการระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยได้รับค่าตอบแทนการงานที่ทําจากผู้ประกอบธุรกิจบริการระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล 

  • (2)ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการอื่นที่ไม่มีลักษณะตาม คือได้รับค่าตอบแทนการงานที่ทําจากผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการนั้น ตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

2.2) กําหนดมาตรฐานในการคุ้มครองแรงงาน ได้แก่ การกําหนดสัญญามาตรฐานที่มีความเป็นธรรม กําหนดสวัสดิการ กําหนดมาตรฐานการทํางานที่เป็นธรรมต่อผู้ทํางาน เป็นต้น

2.3) กําหนดการคุ้มครองด้านสวัสดิการที่เชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ทํางานเช่นเดียวกับผู้ประกันตน

2.4) กําหนดให้มีองค์กรควบคุมกํากับที่มีตัวแทนจากผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือกึ่งอิสระ

ร่างกฎหมายที่ถูกตีตก

 

ภาพมาตรา 3 และ 4 ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 เสนอโดย เซีย จำปาทอง

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายที่ เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา สภาปัดตก ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 เสนอโดย เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ โดยมีผู้ลงมติ 402 ราย เห็นชอบ 149 ไม่เห็นชอบ 252 เสียง ซึ่งมีหนึ่งประเด็นสำคัญคือเปลี่ยนนิยาม “ลูกจ้าง” ให้ครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงอาชีพไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ และแรงงานอิสระ เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

มติชนออนไลน์รานงานปฏิกิริยาจากกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา ด้วยว่าภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ลูกจ้างเหล่านี้มีสิทธิและโอกาสมากขึ้นจากเดิม โดยกฎหมายดังกล่าวคือ ร่างกฎกระทรวงมิให้ใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานบางส่วนแก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย พ.ศ. …ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเพิ่มขึ้น 11 ประเด็น  เช่น นายจ้างต้องประกาศเวลาทำงานปกติให้ลูกจ้างทราบ โดยวันหนึ่งต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมง (ชม.) และมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชม. ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาตามความจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี ให้ลูกจ้างหญิงลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วันและได้รับค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน ห้ามนายจ้างใช้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานช่วงเวลา 22.00 – 06.00 น. ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานวันหยุด ให้นายจ้างแจ้งการจ้างและการสิ้นสุดการจ้างลูกจ้างที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ต่อพนักงานตรวจแรงงาน ให้ลูกจ้างที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิลาไปศึกษาอบรมและได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วันต่อปี ห้ามนายจ้างจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ห้ามหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541” โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมายแล้ว จากนี้ไปกฤษฎีกาจะตรวจสอบรายละเอียดก่อนประกาศบังคับใช้ต่อไป

สำหรับ วรันธร ตังคไชยนันท์ ผู้เรียบเรียงงานชิ้นนี้ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการข่าวประชาไท ซึ่งมาจาก สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net

พม่า สงคราม และการสร้างสหพันธรัฐที่ไม่รู้จบ | หมายเหตุประเพทไทย EP.519 [Live]

$
0
0
พม่า สงคราม และการสร้างสหพันธรัฐที่ไม่รู้จบ | หมายเหตุประเพทไทย EP.519 [Live]user8

ปัญหาสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ดำเนินมาอย่างยาวนานทันทีที่สหภาพพม่าได้รับเอกราชเมื่อ 4 มกราคม 1948 และยังถูกซ้ำเติมในเวลาต่อมาด้วยรัฐประหารและการปกครองโดยทหาร โดยนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบันพม่ามีห้วงเวลาที่ปราศจากสงครามนับได้เพียง 31 เดือน ปัญหาก่อนและหลังยุคอาณานิคมของพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สัมพันธ์กับนโยบายสร้างสำนึกร่วมและความทรงจำร่วมของคนในชาติอย่างไร และส่งผลมาถึงยุคปัจจุบัน อย่างไร

พูดคุยกับ ประภาภูมิ เอี่ยมสม และดุลยภาค ปรีชารัชช ในรายการหมายเหตุประเพทไทย [Live] วันอาทิตย์ที่ 21 เม.ย. 2567 เวลา 18.00 น.

ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net

สถาบันการลอยนวลพ้นผิด ‘ใบอนุญาตฆ่า’ ที่ออกโดยรัฐไทย

$
0
0
สถาบันการลอยนวลพ้นผิด ‘ใบอนุญาตฆ่า’ ที่ออกโดยรัฐไทยuser007

การลอยนวลพ้นผิดคือสถาบันทางการเมืองที่ถูกค้ำจุนด้วยสถาบันต่างๆ ในระบบการเมืองไทย เช่น สถาบันตุลาการ องค์กรอิสระ เป็นต้น ทำให้ผู้ที่กระทำความรุนแรงต่อประชาชนไม่ต้องรับผิดโดยสิ้นเชิง โดยที่ระบบกฎหมายไทยถูกครอบงำด้วยมโนทัศน์หลักนิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม สถาบันลอยนวลพ้นผิดจึงคงอยู่และสามารถออก‘ใบอนุญาตฆ่า’ แก่รัฐเพื่อรักษาความสัมพันธ์แนวดิ่งของเครือข่ายชนชั้นนำเอาไว้

  • สถาบันการลอยนวลพ้นผิดคือองค์ประกอบหนึ่งที่สร้างรัฐไทยสมัยใหม่
  • องค์ประกอบ 4 ข้อเพื่อใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง หนึ่งคือการสร้างความชอบธรรมทั้งทางพฤตินัยและนิตินัย สองคือการออกกฎหมายมายกเว้นความผิด สามคืออํานาจตุลาการที่ตีความรับรองกฎหมาย และสี่คือองค์กรอิสระที่เป็นกลไกให้สภาวะการลอยนวลพ้นผิดดําเนินไปอย่างแยบยลมากขึ้น
  • ระบบกฎหมายไทยถูกครอบงำด้วยหลักนิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม
  • สถาบันตุลาการและองค์กรอิสระพลวัตใหม่ที่ค้ำจุนสถาบันลอยนวลพ้นผิด
  • ข้อเสนอแนะเพื่อยับยั้งสถาบันลอยนวลพ้นผิด ได้แก่ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องได้รับการตรวจสอบ, การออกกฎหมายนิรโทษกรรมต้องไม่นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําความรุนแรงและผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน, ปฏิรูปสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง และการผลักดันให้รัฐไทยยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดฝังรากลึกและกัดกินหลักนิติรัฐของไทยจนมีหน้าตาอัปลักษณ์ ในการรัฐประหารทุกครั้งไม่เคยนำผู้กระทำมาลงโทษได้ ในการชุมนุมทางการเมืองที่จบลงด้วยการใช้กำลังเข้าปราบปราม มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากไล่เรียงตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาคม 2535 และพฤษภา 2553 หรือกรณีตากใบ ไม่เคยมีการนำผู้สั่งการมาลงโทษได้แม้แต่ครั้งเดียว

ทำไมเป็นเช่นนี้? นั่นเพราะการลอยนวลพ้นผิดคือสถาบันการเมืองชนิดหนึ่งที่ดำรงอยู่ในสังคม มันถูกค้ำยันด้วยองค์กรและหน่วยงานต่างๆ บนฐานคิดที่ว่ารัฐไทยทำผิดไม่ได้ แม้จะผิดอยู่ตำตา เพราะนอกจากจะกระทบกระเทือนความชอบธรรมแล้ว มันยังสั่นสะเทือนไปถึงเครือข่ายชนชั้นนำด้วย

เป็นสิ่งที่ภาสกร ญี่นาง ระบุไว้ในวิทยานิพนธ์ ‘กฎหมายในความรุนแรง ความรุนแรงในกฎหมาย: การลอยนวลพ้นผิดทางกฎหมายของรัฐไทยในกรณีการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมือง’


ภาสกร ญี่นาง
ภาพโดย จารวี ไพศาลธารา

ลอยนวลพ้นผิดคือสถาบันทางการเมือง

จากการค้นคว้าของภาสกรพบว่าการลอยนวลพ้นผิดเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ประกอบสร้างรัฐไทยสมัยใหม่ขึ้นและสิ่งนี้เข้าไปอยู่ในโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เมื่อมองในมิติเชิงประวัติศาสตร์ก็พบว่ารัฐไทยมีหลายเหตุการณ์ที่ผู้กระทำผิดลอยนวลพ้นผิดซ้ำซาก กระทั่งกลายเป็นคุณค่า เป็นจิตวิญญาณ หรือแม้กระทั่งเป็นกฎเกณฑ์เชิงจารีตประเพณีอย่างหนึ่งที่ฝังอยู่ในสังคม และมันเกิดขึ้นทั้งในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่าการลอยนวลพ้นผิดคือสถาบันทางการเมือง

ภาสกรอ้างอิงความคิดของนิธิ เอียวศรีวงศ์ว่า หากสถาบันการลอยนวลพ้นผิดหายไปหรือถูกยับยั้ง โครงสร้างอํานาจอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับสถาบันการลอยนวลผิด เช่น เครือข่ายชนชั้นนํา สถาบันกฎหมาย สถาบันการเมืองต่างๆ ที่ดํารงอยู่อย่างยาวนานในรัฐไทยอาจจะพังครืนลงไป

เราจึงเห็นการลอยนวลพ้นผิดผ่านกลไกสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า ปฏิบัติการทางกฎหมาย ที่แสดงออกมาให้เห็นชัดเจนว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเมืองและอํานาจ

ปฏิบัติการทางกฎหมายก่อนความรุนแรง สร้างความชอบธรรมเพื่อปราบประชาชน

law in action หรือปฏิบัติการทางกฎหมาย คือกลไกทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจริง กระทบต่อชีวิตสังคมมนุษย์จริง ภาสกรเห็นว่าปฏิบัติการทางกฎหมายต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มิได้ดูเพียงแค่ตัวบทบัญญัติ แต่ยังดูว่ารัฐไทยมีกลไกปฏิบัติการหรือมีการนําสถาบันทางกฎหมาย สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันตุลาการ หรือการใช้อํานาจปกครองโดยที่มีกฎหมายอยู่เบื้องหลังมาใช้อย่างไรในปฏิบัติการทางกฎหมาย ซึ่งเขาแยกออกเป็น 2 ส่วนคือปฏิบัติการทางกฎหมายก่อนที่ความรุนแรงจะเกิดขึ้นและปฏิบัติการทางกฎหมายหลังความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว

“ปฏิบัติการทางกฎหมายก่อนเกิดความรุนแรงทางการเมือง ในทางกฎหมายมีสิ่งที่เรียกว่าอํานาจโดยพฤตินัยกับอํานาจทางนิตินัย เราจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลากับเหตุการณ์ 6 ตุลาซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งระบบกฎหมายของไทยตอนนั้นยังไม่ได้มีความก้าวหน้ามากเมื่อเทียบกับจุดกําเนิดของมัน ก็จะใช้อํานาจพฤตินัยหรือถ้าแปลก็คืออํานาจตามความเป็นจริง อํานาจที่อาศัยข้อเท็จจริงเพื่อให้การใช้อํานาจของรัฐนั้นมีความชอบธรรม

“เช่นอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา รัฐของจอมพลถนอมตอนนั้นใช้วิธีการสร้างอํานาจทางพฤตินัยหรือสร้างข้อเท็จจริงบัญญัติให้ตัวเองมีความชอบธรรมในการใช้อํานาจโดยการออกแถลงการณ์ของรัฐบาลจํานวน 6 ฉบับ ซึ่งในแต่ละฉบับจะเป็นเนื้อหาที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลในการจะใช้ความรุนแรง เช่น การอธิบายว่านักศึกษาหรือกลุ่มนักศึกษา ณ วันนั้นกําลังจะบุกเข้าสวนจิตรลดา มีการซ่องสุมกําลัง มีการใช้คําว่าใช้ความรุนแรงและยึดสถานที่ราชการ สิ่งนี้ก็คือการสร้างเหตุการณ์ สร้างความเป็นจริง สร้างข้อเท็จจริงขึ้นมา เพื่อให้เกิดอํานาจอันชอบธรรมแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาล ณ เวลานั้นที่จะนําไปสู่ปฏิบัติการสลายการชุมนุม”

นอกจากอำนาจทางพฤตินัยแล้ว ยังมีอำนาจทางนิตินัย หมายถึงการอาศัยข้อกฎหมาย การตรากฎหมาย หรือการประกาศกฎหมายเพื่อเป็นฐานรองรับการใช้อํานาจของเจ้าหน้าที่ เช่นเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กับพฤษภาคม 2553 ที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จุดร่วมของสองเหตุการณ์นี้คือการสร้างข้อเท็จจริงหรือเงื่อนไขบางอย่างที่จะทําให้ความรุนแรงนั้นชอบธรรม โดยมีพระราชกําหนดหรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอํานาจตามรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลสามารถประกาศได้ นี่คือการปฏิบัติการทางกฎหมายแบบก่อนความรุนแรงจะเกิดขึ้น ซึ่งผลของมันคือการสร้างความชอบธรรมให้แก่การใช้ความรุนแรง

ปฏิบัติการทางกฎหมายหลังความรุนแรง นิรโทษกรรมสุดซอย

ส่วนที่ 2 คือปฏิบัติการทางกฎหมายหลังความรุนแรง โดยแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการตรากฎหมายออกมายกเว้นความผิดอย่างชัดแจ้ง ส่วนต่อมาคือเป็นการหมกเม็ด มีเหตุผลซ่อนเร้น หรือไม่พูดอย่างชัดแจ้งว่ามีการยกเว้นความผิดให้ผู้ก่อความรุนแรง แต่ให้ผลในทางกฎหมายไม่ต่างกัน

“ยกตัวอย่างเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 เมื่อมีชัย ฤชุพันธุ์ตราพระราชกําหนดนิรโทษกรรมออกมาอย่างรวดเร็ว โดยไม่ผ่านกระบวนการของรัฐสภาที่จะออกตามเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งโดยกระบวนการพระราชกําหนดนิรโทษกรรมที่ออกมาแล้วจะต้องได้รับการพิจารณาจากสภาก่อนว่าจะยอมรับให้เป็นพระราชบัญญัติหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ก็เป็นอันตกไป ถ้ายอมรับก็จะกลายเป็นพระราชบัญญัติมีผลบังคับต่อไป ผลคือตัวนิรโทษกรรมปี 2535 ถูกรัฐสภาตีตกไป และพระราชกําหนดตอนนั้นไม่ได้เขียนตรงๆ ด้วยว่า ยกเว้นความผิดให้แก่รัฐบาลหรือทหาร แต่ใช้คำว่าผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็ส่งผลกินความไปจนถึงตัวผู้เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่รัฐบาล”

แต่ก็เกิดอภินิหารทางกฎหมายขึ้น เมื่อเกิดคำถามว่าแล้วสิทธิที่จะได้รับจากการยกเว้นความผิดตาม พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ยังมีอยู่ต่อไปหรือไม่ รัฐสภาจึงส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตีความ ผลคือแม้ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมจะถูกตีตกโดยรัฐสภา แต่ผลทางกฎหมายยังคงมีอยู่ ทำให้เห็นว่าสถาบันการลอยนวลพ้นผิดแฝงอยู่ในทุกที่

ด้วยเหตุนี้ เมื่อญาติของผู้เสียชีวิตและสูญหายในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ฟ้องร้องทางแพ่งเรียกค่าสินไหมทดแทนจากรัฐบาลของสุจินดา คราประยูรกับเจ้าหน้าที่ทหาร ศาลฎีกาจึงใช้เหตุผลของคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตีความว่ากฎหมายฉบับนี้กินความถึงทุกคนและมีผลตลอดไปและยกฟ้อง ซึ่งเป็นการลอยนวลผิดอย่างสิ้นเชิงทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

องค์กรอิสระ องค์การฟอกผิดเป็นถูก

อีกหนึ่งองค์กรที่มีส่วนร่วมในสถาบันลอยนวลพ้นผิดก็คือองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ภาสกรยกตัวอย่างเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ที่ผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ได้แก่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ออกคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สุเทพ เทือกสุบรรณ และอนุพงษ์ เผ่าจินดา คณะกรรมการ ศอฉ. ถูกฟ้องและขึ้นศาลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่หลังรัฐประหาร 2557 กระบวนการพิจารณาคดีก็เริ่มไม่ชอบมาพากล

เริ่มจากศาลศาลอาญาวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่มีอํานาจฟ้องเพราะศาลมองว่าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดอันเนื่องจากการดํารงตําแหน่งทางการเมืองและเป็นการทําผิดอันเนื่องกับการปฏิบัติหน้าตามกฎหมายซึ่งไม่ใช่ความผิดส่วนตัว และให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้มีอํานาจฟ้องแทน ทว่า ป.ป.ช. กลับตีตกคำฟ้องถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกให้เหตุผลว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่เป็นไปตามหลักสากลในการชุมนุม ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นการกระทําตามหลักสากลคดีนี้จึงไม่มีการชี้มูลความผิด

ส่วนครั้งที่ 2 เกิดขึ้นหลังศาลตีความว่า ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจฟ้อง กลุ่มญาติคนเสื้อแดงจึงยื่นเรื่องขอให้ ป.ป.ช. พิจารณาคำร้องใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็ถูกตีตกเหมือนเดิมด้วยเหตุผลเดิมว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่ใช่การชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ การกระทําของเจ้าหน้าที่รัฐจึงชอบด้วยกฎหมาย

“จะดําเนินคดีได้ก็คือให้ญาติไปฟ้องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รายคน ซึ่งมันเป็นการผลักภาระให้ผู้เสียหาย อันนี้ก็คือกระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ ถ้าหากคนเสื้อแดงในวันนี้ต้องการยื่นฟ้องคดีก็ต้องไปหาพยานหลักฐานด้วยตัวเอง จะต้องแบกรับต้นทุนต่างๆ ด้วยตัวเองเพื่อที่จะดําเนินคดีซึ่งในแง่ของการปฏิบัติมันก็เป็นไปได้ยาก”

ไม่เฉพาะในทางกฎหมาย เหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ก็ยังลอยนวลพ้นผิดในทางประวัติศาสตร์การเมืองด้วย โดยการฟอกผิดของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งภาสกรระบุว่าบุคคลที่มีส่วนร่วมในการเขียนรายงานไม่มีความเป็นกลางและไม่มีความเป็นอิสระตั้งแต่แรก

“ในการเขียนรายงานหรือการแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) นําโดยคณิต ณ นคร ก็เป็นกลุ่มที่เคยมีความบาดหมางหรือว่าเป็นส่วนหนึ่งกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ ณ ขณะนั้น การเขียนข้อเท็จจริงจึงมีการกลับหัวกลับหาง คือแทนที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนอย่างไร มันจะมีบางส่วนของข้อความที่พยายามเขียนว่าประชาชนหรือผู้ชุมนุมตอนนั้นทําผิดอะไรบ้าง มีการปราศรัยข้อความที่กระทบความมั่นคง กระบวนการหรือรูปแบบการชุมนุมที่มีการนําผู้หญิงและเด็กขึ้นมาอยู่หน้าขบวนเป็นแนวหน้าก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย ยิ่งทําลายความชอบธรรมแก่ผู้ชุมนุม”

ทั้งสถาบันตุลาการและองค์กรอิสระที่มีส่วนให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดในทั้งสองเหตุการณ์ก็คือพลวัตใหม่หรือสถาบันใหม่ที่เพิ่มเข้ามาค้ำยันสถาบันลอยนวลพ้นผิดให้มั่นคงยิ่งขึ้น

“มันเป็นข้อยืนยันว่าการลอยนวลพ้นผิดเป็นสถาบันการเมืองอย่างหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบที่สร้างรัฐไทยขึ้น ต่อให้มีหน่วยงานหรือมีองค์กรอะไรก็ตามที่เชื่อว่าจะปกป้องเสรีภาพ ที่เชื่อว่ามันจะสร้างความยุติธรรม แต่ก็จะเห็นว่าสุดท้ายแล้วการลอยนวลพ้นผิดก็ยังดําเนินต่อมา ผมใช้คําว่าเป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย”

นิติรัฐอภิสิทธิ์-ราชนิติธรรมครอบงำระบบกฎหมายไทย

ภาสกรระบุด้วยว่าสถาบันลอยนวลพ้นผิดยังประกอบขึ้นจากมโนทัศน์พื้นฐานทางกฎหมายว่าด้วยหลักนิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรมที่ครอบงําระบบกฎหมายและสถาบันกฎหมายของรัฐไทย จากแนวคิดที่ว่ากฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองทำให้กฎหมายรับใช้อุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังมันอีกที

เขาหยิบยืมความคิดของธงชัย วินิจจะกูลเรื่องหลักนิติรัฐอภิสิทธิ์ที่อธิบายว่า การหยิบความคิดของตะวันตกมาใช้ในสังคมไทยย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปะทะกับความเชื่อ คุณค่า ค่านิยม จารีตประเพณีที่อยู่ในรัฐไทยตั้งแต่แรก หมายความว่าเมื่อนิติรัฐพยายามจะเสริมสร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชน วางหลักว่าทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย และจํากัดอํานาจรัฐ แต่ในสังคมไทยที่ความเสมอภาคกันต่อด้านกฎหมายไม่ได้มีตั้งแต่แรก แต่มีความเชื่อทางศาสนาเรื่องบุญกรรม มีมโนทัศน์ที่มองระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบแนวดิ่ง 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

“สังคมไทยไม่เชื่อตั้งแต่แรกว่าคนเราเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายเพราะมันเป็นความคิดจากตะวันตก พอปะทะกันแบบนี้ อาจารย์ธงชัยเลยผลิตคําว่า นิติรัฐอภิสิทธิ์ ขึ้นมาในความหมายที่ว่ารัฐไทยเป็นระบบกฎหมายที่ให้อภิสิทธิ์การลอยนวลผิดแก่ผู้มีอํานาจ ไม่ใช่ระบบกฎหมาายที่ให้และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นกฎหมายที่กลับตาลปัตร คือจํากัดสิทธิเสรีภาพ แต่ให้อํานาจอย่างล้นเกินแก่เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพราะประโยชน์สาธารณะสําหรับรัฐไทยที่สําคัญที่สุดคือความมั่นคง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจึงมีอํานาจมากที่สุด”

ขณะที่ราชนิติธรรมหมายความว่าการใช้อํานาจจะใช้ผ่านผู้แทนในการออกกฎหมาย แต่ความยุติธรรมในระบบกฎหมายไทยกลับมาจากผู้ทรงธรรมที่สังคมยอมรับ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นหลักสูงสุดของกฎหมาย หลักราชนิติธรรมจึงครอบงํานิติศาสตร์ไทย เช่นเดียวกับความศักดิ์สิทธิ์หรือราชาชาตินิยมที่ครอบงําสังคมไทยตั้งแต่แรก โดยอาจผ่านการปลุกปั่น การโหมโฆษณาชวนเชื่อ หรือปฏิบัติการต่างๆ นานาที่ผ่านมาในอดีตที่ส่งผลต่อการเมือง มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อกฎหมายเพราะกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือนิติศาสตร์ไทยไม่ได้ยึดหลักการประชาธิปไตย แต่นิติศาสตร์ไทยมีเสาหลักเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาปฏิญาณตนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ปฏิญาณตนต่อประชาชน เวลาผู้พิพากษาเขียนคําพิพากษาก็จะอ้างว่าเขียนในนามพระปรมาภิไธย ไม่ได้เขียนในนามของความยุติธรรมหรือรัฐธรรมนูญ

“ขอย้อนกลับไปเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หลังจากที่สภายื่นเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับพระราชกําหนดที่ถูกตีตกไป สถาบันตุลาการ ณ วันนั้นไม่ได้อ้างหลักการทางกฎหมายเพื่อบอกให้พระราชกำหนดโทษกรรมมีผลต่อไป แต่อ้างพระราชดํารัสที่ให้ไว้แก่พลตรีจําลอง ศรีเมืองกับพลเอกสุจินดา คราประยูร เพื่อให้เหตุการณ์สงบ ทั้งที่การจะวินิจฉัยหรือฟันธงอะไรต้องอ้างตามหลักการทางกฎหมาย ถ้าเป็นคดีอาญา คดีแพ่งก็ต้องอ้างตัวบทหรือแนวคําพิพากษาที่เทียบเคียงกันได้ ถ้าเป็นกฎหมายมหาชนหรือรัฐธรรมนูญก็ต้องอ้างหลักกฎหมายมหาชนหรือหลักกฎหมายทั่วไปที่ต้องอิงอยู่กับตัวระบอบการปกครองอย่างประชาธิปไตยที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มันก็เลยตอกย้้ำหรือสะท้อนภาพของราชนิติธรรมขึ้นมาว่าพระราชดํารัสหรือคําพูดของพระมหากษัตริย์ส่งผลต่อกฎหมายและครอบงําปฏิบัติการทางกฎหมายและสถาบันทางกฎหมายอย่างไร”

ใบอนุญาติฆ่า

ปฏิบัติการทางกฎหมายที่ภาสกรอธิบายมาทั้งหมดนำไปสู่การออก ‘ใบอนุญาตฆ่า’ หรือ ‘killing license’ ซึ่งเขาตีความว่าเป็นกฎหมายที่ให้อํานาจความชอบธรรมแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ความรุนแรงด้วยการสร้างข้อเท็จจริง การทําให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับภัยคุกคาม และสร้างสภาวะยกเว้น เขาอ้างอิงความคิดของธงชัยอีกว่าระบบกฎหมายไทยไม่สามารถแบ่งแยกได้ระหว่างสภาวะปกติกับสภาวะยกเว้น

สภาวะยกเว้นหมายถึงสภาวะที่กฎหมายที่ควรคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนและจํากัดอํานาจรัฐทั้งหมดได้รับการยกเว้นไว้หรือไม่บังคับใช้ แล้วนําบทกฎหมายพิเศษหรืออํานาจพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อนํามาใช้แก้ไขสภาวะฉุกเฉิน

“คําว่า killing license สามารถตีความได้กว้างกว่านี้ว่าคือการสร้างสภาวะยกเว้นให้เกิดขึ้น เช่นกฎอัยการศึกที่ถูกประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กฎอัยการศึกมีเส้นบางๆ ระหว่าง killing license กับกฎหมายที่สร้างความชอบธรรม กฎอัยการศึกที่ถูกประกาศใช้มันสร้างทั้งสองรูปแบบคือสร้างภาวะการรับรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามกับสร้างความชอบธรรมในการตอบโต้ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ และมันถูกนํามาใช้ภายใต้ผ้าคลุมของสิ่งที่เรียกว่า rule of law หรือการปกครองโดยกฎหมาย แต่ว่าเป็นการปกครองโดยกฎหมายที่ไม่มีการตรวจสอบและไม่ได้มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เป็นการปกครองทางกฎหมายที่ให้อํานาจอย่างล้นเกินแก่ฝ่ายรัฐและฝ่ายความมั่นคง”

ภาพการสลายการชุมที่หน้า สภ.ตากใบ เมื่อ ต.ค. 47 ในเหตุกาณ์ดังกล่าวและการนำตัวผู้ถูกจับกุมไปค่ายทหารส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

สถาบันลอยนวลพ้นผิดรักษาอำนาจเครือข่ายชนชั้นนำ

สถาบันการลอยนวลพ้นผิดไม่ได้เพียงทำให้คนผิดไม่ต้องรับโทษ แต่สถาบันนี้ยังเป็นการรักษาประโยชน์ของเครือข่ายชนชั้นนำด้วย ภาสกรอธิบายว่าสังคมไทยยังคงมีการปะทะกันระหว่างระเบียบทางสังคมแบบใหม่กับระเบียบทางสังคมแบบเก่า

ในระเบียบทางสังคมแบบใหม่ ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นแนวราบ ทุกคนมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย ขณะที่ระเบียบทางสังคมแบบเก่าเป็นความสัมพันธ์แบบแนวดิ่ง ทุกคนอยู่กันอย่างมีชนชั้นลดหลั่นลงมาตามตามความหมายทางศีลธรรมหรือจริยธรรมศาสนา 

“ผมมองว่าตัวอํานาจเก่ายังคงมีอยู่ทุกวันนี้เพราะระเบียบใหม่ยังไม่สามารถแทนที่ได้และการลอยนวลพ้นผิดไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่มันมีกระบวนการเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันรัฐ เป็นกลไกหรือองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ปกป้องระเบียบความสัมพันธ์แบบเก่า ระเบียบความสัมพันธ์ที่คนกลุ่มหนึ่งจํานวนน้อยมีอํานาจเหนือกว่าและสามารถกดขี่ขูดรีดฉกฉวยผลประโยชน์จากคนส่วนใหญ่ได้

“ผมใช้ทฤษฎีเรื่องความรุนแรงทางกฎหมายที่มาจากจากทฤษฎีความรุนแรงของโยฮัน กับตุง ซึ่งความรุนแรงทางกฎหมายคือสิ่งที่รักษาสถานะทางอํานาจของเครือข่ายชนชั้นนําซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรง กฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงได้หรือไม่ คําตอบก็คือกฎหมายสามารถทํางานสอดรับกับปฏิบัติการความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างแยบยลผ่านการซ่อนเร้น กลบเกลื่อน บิดเบือน และให้ความชอบธรรมกับปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ แทนที่กฎหมายจะเป็นตัวสร้างความยุติธรรมในการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เราจะเห็นว่ากฎหมายภายใต้ระบบกฎหมายไทยมันไปสร้างผลกลับตาลปัตรขึ้น นั่นหมายความว่ากฎหมายสามารถเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง”

นอกจากนี้ กฎหมายยังสามารถเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมได้ ในแง่ที่ทำให้การใช้ความรุนแรงแฝงฝังลงไปในคุณค่าของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อและระบบศีลธรรมที่ทําให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีความชอบธรรม การกระทําของเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอํานาจตามกฎหมายสามารถกระทําต่อประชาชนได้โดยไม่มีความผิด จนสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดขึ้นมา

หยุดสถาบันลอยนวลพ้นผิด

ไม่เพียงลอกคราบให้เห็นความเป็นสถาบันของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเท่านั้น ภาสกรยังได้เสนอแนะแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันลอยนวลพ้นผิดทำงาน

ข้อแรก ภาสกรเสนอว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องไม่ใช่การให้อํานาจอย่างล้นเกินแก่รัฐ จะต้องไม่ใช้เป็นเครื่องมือในการประหัตประหารทางการเมือง ดังนั้น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือการใช้อํานาจภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องได้รับการตรวจสอบผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการใช้อำนาจจะต้องดําเนินไปเท่าที่จําเป็น ปฏิบัติการต้องส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุด ถ้าไม่ได้ผลจึงค่อยยกระดับ กล่าวคือต้องได้สัดส่วน รัฐต้องรักษาดุลยภาพในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับสิทธิประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช้ยึดสิทธิประโยชน์ส่วนรวมเพื่อทําลายสิทธิเสรีภาพของปัจเจก

ประการต่อมา การออกกฎหมายนิรโทษกรรมสามารถทำได้เพื่อนําพาสังคมไปสู่ระบอบประชาธิปไตยหรือว่าระบอบใหม่ที่ดีกว่า กฎหมายนิรโทษกรรมควรมุ่งเฉพาะผู้กระทําความผิดด้วยมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือกระทําไปโดยต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ต้องไม่นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําความรุนแรงและผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเด็ดขาด ทั้งยังต้องดําเนินควบคู่ไปกับการเยียวยาด้วยให้แก่เหยื่อของความรุนแรงด้วย

ประการที่ 3 การปฏิรูปสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง เช่น กองทัพ สถาบันตุลาการ องค์กรอิสระต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างอํานาจรัฐ เปลี่ยนและตัดตอนความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เคยยึดโยงกันจนนําไปสู่การลอยนวลพ้นผิด และให้กลับมายึดโยงกับประชาชนมากขึ้น

ประการสุดท้ายคือการผลักดันให้รัฐไทยยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะเมื่อกลไกในประเทศไม่สามารถดำเนินการได้ ประชาชนสามารถใช้กลไกศาลอาญารหว่างประเทศซึ่งมีอํานาจเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนวลมนุษยชาติ อาชญากรสงคราม และการรุกรานต่างๆ ซึ่งอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหมายรวมถึงอาชญากรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เป็นระบบ และมีเป้าหมายเป็นประชาชนพลเรือนทั่วไป

 

ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net

'ประชาไท' ติดตามคำตอบจาก 'ปธ.องคมนตรี' หลังไม่ปรากฏชื่อลงนามรับสนองฯ ตั้ง 'ประยุทธ์' เป็นองคมนตรี

$
0
0
'ประชาไท' ติดตามคำตอบจาก 'ปธ.องคมนตรี' หลังไม่ปรากฏชื่อลงนามรับสนองฯ ตั้ง 'ประยุทธ์' เป็นองคมนตรีuser007
    • ตัวแทนกองบรรณาธิการข่าวประชาไทยื่นหนังสือทวงถามคำตอบจาก 'ปธ.องคมนตรี' หลังยื่นถามไปเมื่อ 4 เดือนก่อน กรณีไม่ปรากฏชื่อลงนามรับสนองฯ ตั้ง 'ประยุทธ์' เป็นองคมนตรี รวมทั้งก่อนหน้านี้อีก 2 คน
    • ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 11 วรรค 3 ระบุไว้ชัดเจนว่า 'ประธานองคมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองฯ' และเมื่อย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 พ.ค.63 ในประกาศแต่งตั้งนุรักษ์ มาประณีต เป็น องคมนตรี ยังปรากฏชื่อ พลเอก สุรยุทธ์ เป็นผู้ลงนามรับสนองฯ อยู่

หนังสือที่ประชาไทติดความคำตอบจาก ประธานองคมนตรี


23 เม.ย.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 เม.ย.67) เวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบองคมนตรี สำนักงานองคมนตรี เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตัวแทนกองบรรณาธิการข่าวประชาไท เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ผ่านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของทำเนียบองคมนตรี เพื่อสอบถามความคืบหน้าและคำตอบที่เคยยื่นหนังสือสอบถามไปเมื่อ 4 เดือนก่อน (22 ธ.ค.66) ถึงเหตุผลที่ไม่ปรากฏชื่อประธานองคมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น องคมนตรี  รวมทั้งก่อนหน้านี้อีก 2 คนคือ พลเอก บัณฑิตย์ มลายอริศูนย์ และเกษม จันทร์แก้ว

สำหรับประกาศแต่งตั้งทั้ง 3 องคมนตรีดังกล่าว ระบุด้วยว่าอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่เมื่อพิจารณาตามมาตรา 11 วรรค 3 นั้นกลับระบุไว้ชัดเจนว่าประธานองคมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองฯ และเมื่อย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2563 ในประกาศแต่งตั้งนุรักษ์ มาประณีต เป็น องคมนตรี ยังปรากฏชื่อ พลเอก สุรยุทธ์ เป็นผู้ลงนามรับสนองฯ อยู่

รัฐธรรมนูญ มาตรา 11 วรรค 3 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

  • โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นองคมนตรี โดยไม่ปรากฏชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการ https://prachatai.com/journal/2023/11/107029
    ‘ประชาไท’ ส่งจม.ถาม ‘สุรยุทธ์’ ปมไม่ปรากฏชื่อลงนามรับสนองฯ ตั้ง ‘ประยุทธ์’ เป็นองคมนตรี และ 2 คนก่อน https://prachatai.com/journal/2023/12/107336
    เลขาฯ ครม.แจง 'ประชาไท' ปมประกาศพระราชทานเครื่องราชฯให้ชาวต่างปท.ไม่ปรากฎชื่อผู้รับสนองฯ ถูกต้องแล้ว https://prachatai.com/journal/2024/04/108659

 

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2563 ในประกาศแต่งตั้งนุรักษ์ มาประณีต เป็น องคมนตรี ยังปรากฏชื่อ พลเอก สุรยุทธ์ เป็นผู้ลงนามรับสนองฯ อยู่

ประกาศแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ปรากฏชื่อ พลเอก สุรยุทธ์ เป็นผู้ลงนามรับสนองฯ

นอกจากสอบถามประธานองคมนตรีกรณีนี้แล้ว เมื่อ 4 เดือนก่อนตัวแทนกองบรรณาธิการข่าวประชาไทยังสอบถามเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศพระราชทานเครื่องราชฯให้แก่ชาวต่างประเทศ ไม่ปรากฎชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการเหมือนก่อนหน้านั้น โดยเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา สารบรรรณกลาง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งหนังสือ  เลขที่ นร0508/ท1747 ผ่านอีเมล saraban@soc.go.th มายังบรรณาธิการบริหารประชาไท ยืนยันว่า ประกาศพระราชทานเครื่องราชฯที่ไม่ปรากฎชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว ถูกต้องแล้ว พร้อมยืนยันว่าเป็นพระราชอํานาจ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 9

ทั้งที่ก่อนหน้านั้นจะออกเป็นประกาศสำนักนายกฯ โดยมีนายกฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนาม เปลี่ยนมาเป็นพระบรมราชโองการ 3 ฉบับล่าสุด ที่ไม่ปรากฎชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการ  
 

ติดตาม "ประชาไท Prachatai.com" ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้า https://prachataistore.net




Latest Images