Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50704 articles
Browse latest View live

ประมวล #29พฤศจิกาไปราบ11 : ขบวนเป็ดถึงราบ 11

0
0

#29พฤศจิกาไปราบ11 ขอพรบรรพบุรุษคณะราษฎรที่ถูกฝังอยู่ในวัดพระศรีฯ ก่อนเคลื่อนเคลื่อนขบวนเป็ดถึงราบ 11 ด้าน ตร.ยันคุมทุกพื้นที่แม้ผู้ชุมนุมย้ายไป ราบ 11

ภาพ 18.32 น.ขบวนถึงประตูใหญ่ ราบ 11

29 พ.ย.2563 จากกรผู้ชุมนุมเดิมกำหนดนัดหมายชุมนุมที่ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนย้ายมาเป็น กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งใน 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่เรียกร้องให้ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 18.20 น. ขบวนเป็ดและผู้ชุมนุมกำลังถึงประตูใหญ่ ราบ 11 แล้ว โดยก่อนหน้านั้นที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เวลา 17.15 น. เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำผู้ชุมนุมประกาศจัดขบวนเตรียมเดินไป ราบ 11 ที่เพิ่งโอนเป็นส่วนราชการในพระองค์ พร้อมย้ำว่าต้องไม่ประมาทเพราะเขาฝึกมาใช้อาวุธ เราตะทำบาดตาเขาด้วยการที่ประชาชนจะเอาอุดมการณ์เข้าสู้และแสดงเป็ดของเราให้ชาวโลกได้เห็น เราจะได้ความชอบธรรมทางการเมือง ไม่ได้สู้กันทางทหาร และเป็ดเหลืองอาวุธสำคัญได้มาถึงแล้ว

 

จากนั้นระดมมวลชนมาเป่าเป็ดอย่างขะมักเขม้น 17.30 น. รถโมบายล์กล่าวนำ ขอพรจากบรรพบุรุษคณะราษฎรที่ถูกฝังอยู่ในวัดพระศรีฯ และขอให้ดวงวิญญาณผู้เสียสละในประวัติศาสตร์มาร่วมคุ้มครอง และ 18.00 น. มวลชนร่วมกันร้องเพลงชาติพร้อมชูสามนิ้ว แล้วเริ่มออกเดินไปหน้า ราบ 11 โดยมี ขบวนเป็ดเดินนำ

ตั้งแต่ช่วงเย็นที่หน้า ราบ 11 มีการ์ดส่วนหนึ่งเข็นรถเมล์เก่าที่เจ้าหน้าที่นำมาขวางหน้าประตูออก พร้อมตัดรั้วลวดหนามแล้ว

ตร.ยันคุมทุกพื้นที่แม้ผู้ชุมนุมย้ายไป ราบ 11

ช่วงสายวันนี้ ไทยพีบีเอสรายงานว่า พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยืนยันความพร้อมดูแลการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" หลังมีการนัดชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ เบื้องต้นจากรายงานข่าวพบว่า วันนี้จะมีการชุมนุมทางการเมืองใน 3 พื้นที่ คือ กรมทหารราบที่ 1 กองพันทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ฯ ถนนวิภาวดีรังสิต, หน้าห้างสรรพสินค้าอิมพิเรียล ลาดพร้าว และล่าสุดกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศเปลี่ยนแปลงไปชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ฯ บางเขน ขณะที่ตำรวจมั่นใจมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยทุกพื้นที่ โดยมีการจัดเตรียมกำลังตำรวจและอุปกรณ์เครื่องกีดขวาง ป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมบุกรุกสถานที่สำคัญ นอกจากนี้ยังจัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์รถยนต์ควบคุมฝูงชน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการและแผนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ต.ปิยะ ระบุอีกว่า ไม่กังวลเรื่องมือที่สามที่อาจฉวยโอกาส​สร้างสถานการณ์ความรุนแรง โดยตำรวจมีการสืบสวนหาข่าวอย่างต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่สำคัญของหน่วยราชการทหาร จะมีเจ้าหน้าที่ทหารช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่เสริมกำลังของตำรวจอีกชั้นหนึ่ง

ทั้งนี้ 'ราบ1' และ 'ราบ11' มีการแปลงสภาพเป็น 'ส่วนราชการในพระองค์' โดยที่การแต่งตั้งและการให้พ้นจากตําแหน่ง การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลให้เป็นไปตาม 'พระราชอัธยาศัย' รวมทั้งมีการแปลงจาก 'ที่ดินสาธารณสมบัติฯ' และ 'ที่ราชพัสดุ' สู่ 'เขตพระราชฐาน' ? อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://prachatai.com/journal/2020/11/90610

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

'ช่อ พรรณิการ์' ปราศรัยเวทีหาเสียง อบจ.อุดรธานี ปลุกประชาชนใช้สิทธิใช้ 20 ธ.ค.

0
0

จบทริปอีสาน 'ช่อ พรรณิการ์' ปราศรัยเวทีหาเสียง อบจ.อุดรธานี ปลุกประชาชนใช้สิทธิใช้ 20 ธ.ค. เข้าคูหาตบหน้ารัฐบาลสืบทอดอำนาจ

ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 ว่าเมื่อเวลา 14.00 น. ที่ คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี นางสาวพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า พร้อมนายฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ ผู้สมัครนายกอบจ. อุดรธานี เบอร์ 2 ขึ้นเวทีปราศรัย นางสาวพรรณิการ์กล่าวว่า สัปดาห์นี้ตนได้เดินทางไปผู้ช่วยสมัครนายกอบจ. ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามคณะก้าวหน้าหาเสียงในโซนภาคอีสานรวม 5 จังหวัดโดยเริ่มที่ จ.อุบลราชธานี ,จ.มุกดาหาร,จ.นครพนม,จ.บึงกาฬ และจังหวัดสุดท้ายคือ อุดรธานี 

พรรณิการ์ระบุว่าก่อนปราศรัยตนได้นั่งรถรางดูพื้นที่โดยรอบของคำชะโนด พบว่าถนนที่บริหารควบคุมโดย อบจ. มีความเป็นหลุม บ่อ และขรุขระ ทั้งที่คำชะโนดแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาถึง 3 ล้านคน แต่ไม่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนได้ ทั้งที่จอด ถนนเข้าออก และสถานที่โดยรอบไม่ได้ถูกพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเสริม หากบริหารจัดการให้ดีก็คงจะพัฒนาที่แห่งนี้ให้เป็นหน้าเป็นตาคนอุดรธานีได้ 

"ในอดีตชาวนาชาวไร่ พ่อค้าแม่ค้าชาวอุดร จะร้องเรียน หรือบ่นงึมงำ อยากให้หน่วยงานเข้ามาแก้ปัญหา ก็จะถูกเขาพูดตัดบท ตัดจบว่าจังหวัดไม่มีงบ ไม่ว่าจะถนนพัง ไฟไม่พอ น้ำไม่ไหล พื้นที่ขาดรถโดยสารเข้าถึง ล้วนแต่เป็นเรื่องรอจัดเตรียมงบประมาณทั้งสิ้น ทั้งที่แท้จริงแล้ว อบจ. อุดรธานี มีงบประมาณบริหาร กว่า 1,400 ล้านต่อปี หรือตลอดวาระ 4 ปี คือ 5,700 กว่าล้านบาท" พรรณิการ์ กล่าว

พรรณิการ์ระบุว่าแต่งบประมาณบริหารนี้ไม่เคยไหลเข้านา เข้าไร่ ของพี่น้องจริง ๆ จัง ๆ ทั้ง ๆ ที่เงินก้อนโตนี้มาจากภาษีและหยาดเหงื่อของประชาชน 

"เพราะการเมืองขณะแบบนี้แหละ ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนามา 50-60 ปี ไม่เคยจะได้เป็นประเทศพัฒนาแล้วสักที มันไม่ใช่แค่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นปัญหา แต่ผู้บริหารท้องถิ่นก็ทำตัวเป็นนั่งร้านเผด็จการ เผด็จการย่อมเห็นใจเผด็จการด้วยกัน"

"พิสูจน์มาแล้วเป็น 10 ปี ประชาชนไม่มีวันได้รับความเห็นใจ เพราะเขาไม่ได้มาจากเสียงประชาชน เขาได้มาจากอำนาจปืน ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกแบบกฎกติกาเข้าข้างพวกตัวเอง หากจะเปลี่ยนแปลงพวกเราต้องเริ่มจากท้องถิ่น 20ธันวาคมนี้ เข้าคูหาตบหน้าประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกนายฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ ผู้สมัครนายก อบจ. อุดรธานี เบอร์ 2 เข้าไปเป็นนายก อบจ. ให้โอกาสคณะก้าวหน้า เข้ามาบริหารจังหวัดอุดรธานี ให้มีความเจริญก้าวหน้า พ่อแม่พี่น้อง ลูกหลานเราต้องมีอนาคตที่ดีกว่านี้ให้ได้" พรรณิการ์ กล่าว

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

แรงงานที่มองไม่เห็นในสถาบันอุดมศึกษา | หมายเหตุประเพทไทย EP.442

0
0

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ภาวิน มาลัยวงศ์ และชานันท์ ยอดหงษ์ พูดถึงบทความ “สถานะที่มองไม่เห็นของแม่บ้านและภารโรงในพื้นที่ทำงาน กรณีศึกษาสถาบันอุดมศึกษา” (2560) ของภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ (อ่านบทความ) ทั้งนี้หลังมหาวิทยาลัยหลังออกนอกระบบ รูปแบบการจ้างงานแบบไม่มั่นคงถูกนำมาใช้มากขึ้น รวมทั้งพนักงานทำความสะอาดในมหาวิทยาลัยที่มักใช้เอกชนจ้างเหมาแทนการจ้างงานประจำ การยกระดับสิทธิแรงงานจะเป็นทางออกของเรื่องนี้หรือไม่ติดตามได้ในรายการ

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

ก.ย. 2563 ผู้ประกันตนว่างงาน 487,980 คน เลิกจ้าง 242,114 คน สูงสุดเป็นสถิติใหม่

0
0

ก.ย. 2563 ผู้ประกันตนว่างงาน 487,980 คน สูงเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 183.03% เลิกจ้าง 242,114 คน สูงเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 838.35% ทั้งการว่างงานและเลิกจ้างยังสูงสุดเป็นสถิติใหม่ต่อเนื่อง


ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

30 พ.ย. 2563 ข้อมูลจาก รายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ก.ย. 2563 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานระบุว่าการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือน ก.ย. 2563 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,093,914 คน มีอัตราการหดตัวร้อยละ -5.08 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,687,597 คน) และมีอัตราการหดตัวร้อยละ -0.21 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 11,117,083 คน)

สถานการณ์การว่างงาน เดือน ก.ย. 2563 มีผู้ว่างงานจำนวน 487,980 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 183.03 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 172,412 คน) และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 12.18 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 435,010 คน) ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือน ก.ย. 2563 พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 1.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.9

ทั้งนี้จากข้อมูลผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมระหว่างปี 2539-2563 พบว่าก่อนหน้านี้สถิติผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมเคยสูงสุดที่เดือน มิ.ย. 2552 จำนวน 188,986 คน ต่อมาถูกทำลายสถิติเมื่อเดือน เม.ย. 2563 ที่ 215,652 คน และเดือน พ.ค. 2563 ที่จำนวน 332,060 คน เดือน มิ.ย. 2563 ที่จำนวน 395,693 คน ก.ค. 2563 ที่จำนวน 410,061 คน ส.ค. 2563 ที่จำนวน 435,010 คน ล่าสุดสถิติ 487,980 คน ณ เดือน ก.ย. 2563 นี้ก็ได้กลายเป็นสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้งในรอบปี 2563

ดูตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมระหว่างปี 2539-2563 ได้ที่นี่

สถานการณ์การเลิกจ้าง เดือน ก.ย. 2563 มีผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างจากสำนักงานประกันสังคม มีจำนวน 242,114 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 838.35 เมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 25,802 คน) และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.89 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 220,324 คน) 

สำหรับตัวเลขลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง เดือน ก.ย. 2563 จำนวน 242,114 คน นี้ถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดที่สำนักงานประกันสังคมเคยเก็บสถิติมาด้วยเช่นกัน
 

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

2 นักเรียนเลว 1 นักเรียนไท เข้ารายงานตัว สน.ลุมพินี เหตุรวมชุมนุมแยกราชประสงค์ 15 ต.ค. 

0
0

2 นักเรียนเลว 1 นักเรียนไท เข้ารายงานตัว สน.ลุมพินี ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากกรณีการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. บริเวณแยกราชประสงค์

 

30 พ.ย. 2563 เวลา 13.00 น. ที่ สน.ลุมพินี ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ หรือ มิน, เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือ พลอย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มนักเรียนเลว และคณพศ เเย้มสงวนศักดิ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มนักเรียนไท พร้อมด้วย คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางมาตามหมายเรียกรายงานตัวของ สน.ลุมพินี ฐานฝ่าฝืน ข้อกำหนดที่ออกตามมาตราที่ 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จากกรณีการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. บริเวณแยกราชประสงค์

คุ้มเกล้า ระบุว่า วันนี้เป็นเดินทางมารับทราบข้อกล่าวตามหมายเรียกของ สน.ลุมพินี  พนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งพฤติการณ์ที่พนักงานสอบสวนนำมาใช้ในการแจ้งข้อกล่าวหานั้นทราบเพียงแค่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ต.ค. แต่จะเป็นกรณีใดนั้นยังไม่ทราบเนื่องจากยังไม่ได้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือทางด้านคดีความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนั้น คุ้มเกล้า ระบุว่า มีแนวทางในการปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนพฤติการณ์หากทราบว่ามีอะไรในรายละเอียดนั้นก็จะมีการให้การในละเอียดเพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหาขอพนักงานสอบสวน

ลภนพัฒน์คาดว่าการตั้งข้อกล่าวหาตอนนี้อาจเกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิของพลเมือง ฉะนั้นการโดนตั้งข้อกล่าวหาจากการชุมนุมทางการเมืองถือเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม และเมื่อดูจากพฤติการณ์เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ตน และ เบญจมาภรณ์ ได้ขึ้นเวทีปราศรัยจริง แต่ขึ้นไปเต้นเพลงเเจวเรือเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจพอสมควรหากการตั้งข้อกล่าวหาจากกรณีนี้

“มันดูไม่ค่อยเมคเซนต์เท่าไหร่ในการที่จะมาดำเนินคดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น ต่อให้เราไปร่วมชุมนุมหรือขึ้นไปอยู่บนเวทีก็ตาม แต่สิ่งที่ตำรวจทำนั้น ไม่ได้ดูเลยเหรอว่าพฤติการณ์ของพวกเราคืออะไร และมันแทบจะเกี่ยวข้องกับการเมืองน้อยมาก” ลภนพัฒน์ กล่าว พร้อมย้ำว่า ออกไปชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ควรเป็นสิ่งที่ประชาชนในประเทศสามารถทำได้  และรัฐธรรมนูญได้รองรับสิทธิเสรีภาพในเรื่องนี้ รวมทั้งอนุสัญญาด้านสิทธิเด็กก็ระบุเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน แต่เมื่อประชาชนไปใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเองก็ถูกรัฐยัดข้อกล่าวหาให้ เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามว่า สมควรแล้วหรือไม่ 

“มันสมควรหรือไม่กับการที่เด็กออกไปแสดงออกทางการเมือง แล้วถูกดำเนินคดีกลับมา เด็กหลายคนที่ออกไปชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกการเมืองต้องเอาเทปมาแปะป้ายชื่อตัว แปะป้ายชื่อโรงเรียน คำถามคือพวกเขาต้องทำขนาดนั้นเลยหรอ ทั้งๆ ที่ กฎหมายต่างๆ ก็ได้คุ้มครองพวกเขาไว้ แต่เราอยู่ในรัฐที่ มีความไม่ปกติสูงมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเราต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น” ลภนพัฒน์ กล่าว

นอกนี้ ลภนพัฒน์ แจ้งด้วยว่า วันพรุ่งนี้ได้มีการรณรงค์จากองค์กรนักเรียนหลายแห่งทั่วประเทศให้นักเรียนใส่ชุดไปเวทไปโรงเรียน ซึ่งถือเป็นการแสดงออกเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐอย่างหนึ่ง เพราะแท้จริงแล้วการใส่หรือไม่ใส่เครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียนนั้นไม่ได้กระทบต่อผลการเรียนของนักเรียนเลย 

ส่วนกิจกรรมในวันนี้ ลภนพัฒน์ เปิดเผยว่าขอให้ติดตามสถานที่ทั้ง 9 แห่งนี้ไว้ขณะที่ตนเข้าไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวน ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ , อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย , แอร์พอร์ตลิงค์พญาไท , แอร์พอร์ตลิงค์มักกะสัน , ท่าเรืออโศก , เอ็มอาร์ทีสุขุมวิท , บีทีเอสสยาม , สกายวอล์คปทุมวัน และบีทีเอสศาลาแดง โดยขอให้สื่อมวลชนติดตามพื้นที่เหล่านี้ไว้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

รวมทุกความตีบตัน: 10 ปีคดีคนตายจากการสลายชุมนุมปี 53 ไปถึงไหน

0
0

เป็นเวลา 10 ปีแล้วตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) ที่ชุมนุมกันยาว 3 เดือนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาเลือกตั้งใหม่

และเพราะเป็น 10 ปีหรือครึ่งทางของอายุความคดีอาญาแล้ว เราจึงขอทบทวนมันอีกครั้ง โดยเฉพาะความคืบหน้าคดีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทั้ง 94 คน แบ่งเป็นประชาชน 84 คน เจ้าหน้าที่ 10 คน (อ้างอิงตัวเลขตามรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 หรือ ศปช.ซึ่งนับการเสียชีวิตภายหลังเหตุการณ์แต่สืบเนื่องจากการสลายการชุมนุมเพิ่มด้วยอีก 3 ราย)

เท้าความก่อนกว่า การชุมนุมในยุคก่อนนั้นโดยมากเป็นการชุมนุมยืดเยื้อเพื่อบรรลุข้อเรียกร้อง กรณีของนปช.เริ่มต้นในวันที่ 12 มีนาคม มวลชนหลักนอกจากคนจนเมืองแล้วยังประกอบไปด้วยคนต่างจังหวัดจำนวนมากที่พร้อมปักหลักค้างแรม

ช่วงแรกนายกรัฐมนตรีรับมือด้วยการออกคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบหรือ ศอ.รส.ขึ้น (11 มี.ค.) ตามอำนาจของ พ.ร.บ.ความมั่นคงก่อนเพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่การชุมนุมก็ยังดำเนินต่ออีกหลายสัปดาห์ นอกจากจะปักหลักที่ถนนราชดำเนิน ยังยกระดับไปปักหลักที่ราชประสงค์ (6 เม.ย.) เพิ่มเติม ต่อมา 7 เม.ย.รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเพื่อใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเปลี่ยนชื่อ ศอ.รส.เป็น ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง หรือ ศอฉ.

สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ที่มา: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล)

สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. ส่วน พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นรองผู้อำนวยการ คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปลัดกระทรวงต่างๆ อัยการสูงสุด ฯลฯ ทุกปฏิบัติการในการสลายการชุมนุมมาจากส่วนนี้

บุคคลที่นั่งใน ศอฉ.เวลานั้นหลายคนทรงอำนาจอยู่ในทุกวันนี้เช่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ.ช่วงสลายการชุมนุมอยู่ในฐานะผู้ปฏิบัติงานและได้ขยับเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอฉ.พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในเวลานั้นก็เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็มีบุคคลที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของ ศอฉ.แต่ถูกดำเนินคดีเสียเองอย่าง ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

3 วันต่อมา ศอฉ.ก็ใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามเข้าสลายชุมนุมครั้งแรก ภายใต้ชื่อปฏิบัติการที่ดูอ่อนโยน ‘ขอคืนพื้นที่’ ที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 10 เม.ย. ก่อนจะมีปฏิบัติการพร้อมอาวุธสงครามครั้งที่สองในชื่ออันเป็นมิตร ‘กระชับพื้นที่’ โดยใช้ทหารตั้งวงล้อมพื้นที่ศาลาแดงตั้งแต่ 13 พ.ค.และสลายการชุมนุมได้สำเร็จในวันที่ 19 พ.ค.

โอนคดีจากตำรวจไป ‘ดีเอสไอ’ เปิดช่องไร้กรอบเวลา

คืนวันที่ 10 เม.ย.เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญเพราะเป็นเหตุการณ์แรกที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ต่อมาวันที่ 16 เม.ย. ศอฉ.มีมติให้คดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของ นปช.ไปอยู่ในมือดีเอสไอทั้งหมด โดยธาริต เพ็งดิษฐ์ นั่งเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอควบตำแหน่งใน ศอฉ.ด้วยในคราวเดียวกัน

ก้าวย่างนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการโอนคดีไปดีเอสไอกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คดีของผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน ยังไม่ไปถึงไหนจนปัจจุบัน เนื่องจากกฎหมายดีเอสไอไม่มีการกำหนดเวลาทำสำนวนเพื่อไต่สวนการตายดังเช่นคดีปกติ

ต้องเข้าใจกระบวนการทางกฎหมายกันก่อนว่า หากมีการเสียชีวิตผิดธรรมชาติทั้งการวิสามัญฆาตกรรมหรือการตายในระหว่างการควบคุมตัวหรือรักษาพยาบาลที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง ไม่ว่าทหาร ตำรวจ ราชทัณฑ์ รวมถึงแพทย์พยาบาล จะต้อง ‘ไต่สวนการตาย’ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ซึ่งมีเวลากำหนดชัดเจนว่า ตำรวจและอัยการต้องดำเนินการโดยแม้ขยายเวลามากที่สุดแล้วก็ต้องอยู่ภายใน 247 วัน ก่อนยื่นขอต่อศาลให้มีการไต่สวนการตาย หลังจากศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา

ขั้นตอนโดยสรุปมีดังนี้

  1. ตำรวจท้องที่และกองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบเก็บหลักฐาน
  2. ตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครองและแพทย์นิติเวช ชันสูตรพลิกศพร่วมกัน
  3. ตำรวจทำสำนวนส่งให้อัยการ
  4. อัยการพิจารณาแล้วยื่นคำร้องต่อศาลให้ไต่สวนการตาย
  5. ศาลไต่สวนการตายและมีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ได้ ตายด้วยสาเหตุใด ใครเป็นผู้กระทำ

ดังนั้น ตามกระบวนการมาตรา 150 ไม่ว่าจะทำให้ช้าขนาดไหนก็ช้าได้แค่ 8 เดือนกว่าก่อนถึงศาล และไม่มีดีเอสไอเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนกระบวนการไต่สวนในศาลอาจใช้เวลาตั้งแต่ 1 เดือนจนถึง 2 ปี แล้วแต่จำนวนพยานที่นำสืบ

สิบเอก คชารัตน์ เนียมรอด (ซ้าย) และ สิบเอกศฤงคาร ทวีชีพ (ขวา) ทหารสองนายเคยเป็นพยานที่ดีเอสไอเคยเรียกสอบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่บริเวณบ่อนไก่ ถ.พระราม 4

เมื่อเรื่องถึงศาลจะมีการเปิดการไต่สวนแบบเปิดสาธารณะ (แม้ว่าหลายครั้ง ในคดีสลายการชุมนุมผู้พิพากษาสั่งห้ามจดบันทึกหรือไม่ให้นักข่าวร่วมฟัง โดยอ้างเรื่องความเป็นส่วนตัวของพยานทหาร) โดยอัยการจะนำพยานบุคคลมาเบิกความถึงเหตุการณ์และแสดงหลักฐานว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายเมื่อไร ที่ไหน อย่างไร โดยครอบครัวผู้ตายสามารถตั้งทนายความเข้ามาซักถามพยาน ขอดูหลักฐานของอัยการและนำพยานบุคคลและหลักฐานมาแสดงต่อศาลเพิ่มเติมได้

แต่เมื่อคดีนี้ไปอยู่ในมือดีเอสไอทำให้เกิดความล่าช้า เพราะเมื่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ทำการชันสูตรศพแล้ว แทนที่จะส่งอัยการได้เลยก็ต้องส่งสำนวนคดีกลับไปให้ดีเอสไอสืบสวนสอบสวนต่อก่อน และ พ.ร.บ.กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ว่าต้องแล้วเสร็จภายในกี่วัน จึงไม่แปลกที่คดีจะแทบไม่มีข่าวคราวความเคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตาม คดีของผู้เสียชีวิต 91 ราย (ตัวเลขทางการ) มีความคืบหน้าอยู่ในช่วงสั้นๆ ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนจะโดนรัฐประหารในที่สุด เท่าที่ประชาไทสืบค้นได้พบว่ามีการไต่สวนการตายในศาลไปแล้ว 33 คน หลังจากศาลมีคำสั่งไต่สวนแล้ว คดีก็จะกลับไปที่ดีเอสไออีกครั้งเพื่อทำสำนวนคดีอาญาแล้วส่งต่อให้อัยการพิจารณาส่งฟ้อง(หรือไม่ฟ้อง) เป็นคดีอาญาต่อไป

ผลการไต่สวนการตาย 33 คน

  • 11 คน ศาลมีคำสั่งอย่างชัดเจนว่าเป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของทหาร

  • 16 คน ศาลเพียงระบุว่ากระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่โดยไม่ทราบผู้กระทำ (ในจำนวนนี้มี 3 คนที่ศาลระบุว่ากระสุนมาจากพื้นที่ใด แต่ไม่ระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวทหารควบคุมแล้ว)

  • 6 คน ศาลไม่ระบุทั้งผู้กระทำและทิศทางการยิง

กว่าจะรู้ความคืบหน้าคดีจากดีเอสไอ

หลังการรัฐประหาร ไม่มีความคืบหน้าใดในเรื่องนี้กว่า 6 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาประชาไทจึงทำหนังสือขอทราบความคืบหน้าคดีของผู้เสียชีวิตที่เหลือไปที่ดีเอสไอว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว ต่อมาดีเอสไอปฏิเสธให้ข้อมูลอ้างว่าเป็นความลับในสำนวนคดี ประชาไทจึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ คณะกรรมการวินิจฉัยให้ดีเอสไอให้ข้อมูลเพราะเป็นเพียงการถามความคืบหน้า มิใช่ข้อมูลในสำนวนคดี วันที่ 16 ต.ค.2563 ดีเอสไอจึงมีหนังสือตอบกลับมาว่า “ได้ส่งสำนวนคดีของผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่เหลืออยู่ไปให้อัยการคดีพิเศษแล้ว” (ดูรายชื่อในล้อกรอบด้านล่าง) นอกจากนี้ประชาไทได้ทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2563 เพื่อสอบถามความคืบหน้าคดีทั้งหมดว่ามีการไต่สวนการตายไปแล้วกี่ราย หรือถึงขั้นดำเนินคดีอาญาบ้างแล้วหรือไม่ แต่จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 อัยการยังไม่ได้มีหนังสือตอบกลับมา นอกจากคำตอบจากเจ้าหน้าที่ผ่านสายโทรศัพท์ว่าอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานอัยการคดีพิเศษกองที่ 1 และ 4

6 เดือนที่ติดตามความคืบหน้าทางคดีจาก 2 หน่วยงานได้ผลสรุปว่า ไม่มีคำตอบที่ชัดแจ้ง

ศาลพลเรือนไม่รับ-อัยการทหารไม่ฟ้อง

อย่างไรก็ตาม ปรากฏมีคดีของผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คดีที่มีความเคลื่อนไหวอยู่บ้าง คือ

  • พัน คำกอง ครอบครัวและทนายความยื่นฟ้องต่อศาลอาญาเอง ศาลอาญา-ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟ้องอ้างว่าอยู่ในอำนาจของศาลทหาร

  • กมนเกด อัคฮาด ดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้องและส่งสำนวนต่อให้อัยการศาลทหาร อัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง อ้างหลักฐานไม่เพียงพอ

(อ่านรายละเอียดคำสั่งในล้อมกรอบท้ายรายงาน)

พะเยาว์ อัคฮาด: "เถ้ากระดูกเขายังอยู่" จนกว่าคนที่ฆ่าลูกจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ ในชั้นไต่สวนการตาย ทั้ง 2 คดีนี้ศาลยุติธรรมเห็นว่า พยานหลักฐานเพียงพอที่จะมีคำสั่งว่าเสียชีวิตจากการที่ทหารใช้อาวุธปืนสงครามยิง นี่เป็นเพียง 2 คดีที่มีความคืบหน้ามากที่สุดจนถึงขั้นการฟ้องเป็นคดีอาญา แม้การฟ้องจะต่างเส้นทาง แต่ก็ไปสู่จุดร่วมเดียวกันคือ ไปต่อไม่ได้ ไม่มีใครต้องรับผิด

“ถ้าเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมโดยปกติจะไม่ใช่แบบนี้ แต่นี่มันไม่ปกติ เพราะมีคนไปทำให้มันไม่ปกติ มันจึงไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น” โชคชัย อ่างแก้ว กล่าว

โชคชัย อ่างแก้ว เป็นหนึ่งในทนายความที่ให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมหลายคนในคดีไต่สวนการตาย และยังเป็นทนายความให้ครอบครัวของพัน คำกองอีกด้วย

โชคชัยกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาทำได้แค่ไต่สวนการตายเพื่อทราบสาเหตุว่าการตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ขณะที่ความคาดหวังของญาติผู้เสียชีวิตต้องการให้ผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษ พวกเขาพยายามไปร้องที่ ป.ป.ช. ดีเอสไอ อัยการ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแต่ผลสุดท้ายก็หยุดไปหมด เหมือนถูกสะกัดทุกช่องทาง สุดท้ายจึงต้องพึ่งตัวเองด้วยการฟ้องผู้กระทำความผิดด้วยตัวเอง

“เราเริ่มฟ้องเมื่อกันยายน 2562 โดยเอาการตายของพัน คำกอง มาฟ้องเพราะศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายชี้ชัดแล้วว่าการตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร พยานหลักฐานค่อนข้างชัดเจน ทั้งคลิปทั้งผู้ที่ทราบถึงหน่วยทหารที่รับผิดชอบแล้วก็ผู้ควบคุมการปฏิบัติ เราฟ้องผู้ควบคุมการปฏิบัติในการกระทำการที่เป็นเหตุให้นายพัน คำกอง ถึงแก่ความตาย แต่ศาลก็มีคำสั่งไม่รับฟ้อง”

ทนายความอธิบายว่า เมื่อฟ้องว่าทหารร่วมกระทำความผิดกับพลเรือนแต่ยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด โดยปกติแล้วศาลจะรับฟ้องไว้ก่อนแล้วไต่สวนว่ามีพลเรือนหรือใครที่เกี่ยวข้องที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง แล้วทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏ กระบวนการยุติธรรมต้องพิสูจน์ว่ามีเจตนาฆ่าหรือไม่อย่างไร แต่เมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เขาจึงอุทธรณ์ต่อ แต่สุดท้ายศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น อย่างไรก็ตาม เขายังคงยืนยันว่ายังมีช่องทางให้ยื่นฟ้องต่อไปได้ แต่อาจกระทำในเวลาที่คิดว่าเหมาะสม เป็นประชาธิปไตยเต็มที่

ภาพแนวทหารที่ถนนราชปรารภในวันที่ 14 พ.ค.2553 ในช่วงบ่าย

“ก่อนหน้าจะตัดสินใจฟ้องเอง ตอนแรกมันเป็นหน้าที่ ป.ป.ช.ต้องไต่สวน เพราะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ ป.ป.ช.ส่งมาให้ดีเอสไอ เพราะป.ป.ช.ไม่มีความเชี่ยวชาญในคดีอาญา ทราบว่าดีเอสไอก็ทำไปเยอะแล้ว คดีไหนที่ศาลสั่งไม่มีตัวผู้กระทำผิดชัดเจนก็ยุติการสอบสวนไป บางสำนวนส่งไปที่อัยการ อัยการก็ยุติการสอบสวนไปเยอะแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีใครออกมาบอกว่าคดีไหนไปถึงไหน ถึงอย่างนั้นก็ตาม การที่ดีเอสไอหรืออัยการยุติการสอบสวน ไม่ได้ทำให้สิทธิในการฟ้องคดีระงับไป ผู้กระทำผิดที่ลอยนวลอยู่วันหนึ่งข้างหน้าก็อาจถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้”

“ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจ ผมทราบว่ามีอีกหลายศพที่เขาจะดำเนินการไต่สวนการตาย แต่แล้วก็เงียบไปหลังจากยึดอำนาจ เช่นคดีน้องเฌอ (สมาพันธ์ ศรีเทพ)” โชคชัยกล่าว

...ไม่ฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพ-อนุพงษ์ เหตุทำใต้ พ...ฉุกเฉิน

ที่ผ่านมายังมีความพยายามในช่องทางอื่นๆ อีกคือ

กรณีที่ดีเอสไอฟ้องผู้สั่งการคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่ศาลก็มีคำสั่งเหมือนกันทั้ง 3 ศาลคือ ไม่รับฟ้องโดยอ้างว่าศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ แต่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้มีตำแหน่งทางการเมืองซึ่งอำนาจสอบสวนอยู่ในมือของ ป.ป.ช.

ด้าน.ป.ช.ก็มีมติยกคำร้องทั้ง อภิสิทธิ์ สุเทพ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ทำให้ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา เนื่องจากในช่วงเวลานั้นมีประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อีกทั้งศาลเคยระบุว่าการชุมนุมของ นปช.เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายและมีบุคคลที่ใช้อาวุธปืนที่ชุมนุมอีกด้วย

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ(ภาพซ้าย) และธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ(ภาพขวา)

การดำเนินการของดีเอสไอในการฟ้องอภิสิทธิ์และสุเทพในครั้งนั้นยังทำให้ธาริต อดีตอธิบดีดีเอสไอและเจ้าหน้าที่ดีเอสไออีก 3 คนถูกอภิสิทธิ์และสุเทพดำเนินคดีเสียเองด้วยข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตและมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 โดยพวกเขาถูกกล่าวหาว่าการสรุปสำนวนคดีส่งฟ้องอภิสิทธิ์และสุเทพในครั้งนั้นเป็นการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และเจตนากลั่นแกล้งทั้งสองคน แม้ว่าในศาลชั้นต้นจะยกฟ้องธาริตและพวกโดยให้เหตุผลว่าพยานโจทก์มีน้ำหนักน้อยแต่เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2563 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกธาริตและพวกอีก 3 คน คนละ 2 ปี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด และทั้งหมดได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดี

โชคชัยกล่าวถึงกรณีที่ดีเอสไอฟ้องสุเทพและอภิสิทธิ์ว่า ตอนนั้นญาติผู้เสียชีวิตเข้าไปเป็นโจทก์ร่วมด้วย แต่สุดท้ายศาลมีคำพิพากษาในลักษณะที่ว่าการสอบสวนของดีเอสไอไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากอยู่ในอำนาจสอบสวนของ ป.ป.ช. ประเด็นจึงเหมือนกับช่องทางฟ้องไปไม่ถูกต้อง การสอบสวนมาไม่ถูกต้อง แต่ไม่มีโอกาสพิจารณาว่าการกระทำของผู้ที่ถูกฟ้องผิดจริงหรือไม่อย่างไร

“ที่จริงแล้วการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำหนดไว้ชัดเจนว่าคุณต้องกระทำเท่าที่จำเป็นโดยสุจริต เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันเกินกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะคุ้มครอง การสั่งสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล มีการใช้อาวุธกระสุนจริง เป็นปฏิบัติการที่เราเห็นชัดว่าเลยจากที่กฎหมายจะคุ้มครอง” โชคชัยให้ความเห็น

โชคชัยยังกล่าวอีกว่า ในรัฐธรรมนูญ 2550 เคยมีช่องทางตามมาตรา 275 ให้ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อขอให้ตั้งผู้ไต่สวนอิสระมาพิจารณาคดีได้ในกรณีที่ ป.ป.ช.ตีตกไม่รับดำเนินการไต่สวนในความผิดต่อตำแหน่งที่ราชการของผู้มีตำแหน่งทางการเมือง แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้ตัดช่องทางนี้ออกไป

ทั้งนี้โชคชัยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนทำกันเองไม่พอ แต่ต้องหวังให้รัฐบาลเจตจำนงค์ในการทำให้เกิดความยุติธรรมด้วยซึ่งเขาเห็นว่าถ้าเป็นรัฐบาลชุดนี้ก็เหมือนวิ่งชนกำแพง ทั้งนี้ยังเหลือเวลาอีก 10 สำหรับคดีอาญาที่มีอายุความ 20 ปี แต่ในกรณีที่เป็นคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ก็จะเหลือเพียง 5 ปีเนื่องจากมีอายุความเพียง 15 ปี

ฟ้องแพ่งไม่ได้ ฟ้องศาลปกครองไม่ได้

นอกจากการดำเนินคดีอาญาจะปิดเกือบหมดแล้ว กระบวนการทางแพ่งก็สิ้นสุดไปเมื่อมีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะเงื่อนไขหนึ่งในการรับเงินเยียวยาคือต้องไม่มีการฟ้องเป็นคดีแพ่งอีก

ขณะที่ศาลปกครองก็ถูกตัดอำนาจในการเข้ามาพิจารณาคดี เนื่องจากมาตรา 16 ในพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้กำหนดให้คำสั่งทางปกครองที่ออกภายใต้อำนาจของพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่เป็นความผิดทางปกครอง

หลังเหตุการณ์ไม่นานนัก คารม พลพรกลาง ทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางคดีกับผู้ชุมนุม นปช.เคยยื่นฟ้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นว่ามีการใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 กฎหมายจึงต้องสิ้นสภาพไป ศาลปกครองได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นนี้และประเด็นที่ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้หรือไม่เนื่องจากมาตรา 16 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ตัดศาลปกครองออกจากการพิจารณาคดีที่สืบเนื่องจากคำสั่งของรัฐบาลที่ออกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 9 มิ.ย.2553 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของรัฐบาลนั้นสมควรแก่เหตุ เนื่องจากมีเหตุจลาจลเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ย่อมมีเหตุจำเป็นต้องใช้อำนาจรัฐในการระงับเหตุ และที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีมาตรา 16 ตัดอำนาจในการพิจารณาคดีของศาลปกครองออกไปก็เพื่อให้การดำเนินการของรัฐเป็นไปอย่างรวดเร็วในการแก้ไขสถานการณ์ และนอกจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วก็ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่ตัดอำนาจศาลปกครองในการเข้ามาพิจารณาด้วยเหมือนกัน ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่ามาตรา 16 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2550

คนอนุมัติเยียวยาอาจถูกดำเนินคดีเสียเอง

ในขณะที่คดีอาญาไม่เห็นความคืบหน้า ครอบครัวของสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือเฌอ และครอบครัวของกมนเกด อัคฮาด ได้เดินหน้าฟ้องคดีแพ่งต่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ออกคำสั่งตั้ง ศอฉ.และสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. เรียกค่าเสียหายในความผิดฐานละเมิดเอาไว้ แต่ก็จบไปหลังจากมีการจ่ายเงินเยียวยา

ปี 2555 ครม.ยิ่งลักษณ์มีมติให้จ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงผู้ที่ทรัพย์สินเสียหายจากการสลายการชุมนุมไปแล้ว โดยมีวงเงินในการชดเชยกว่า 2 พันล้านบาทและให้แก่ผู้เสียหายต่างๆ ย้อนหลังกลับไปถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย โดยผู้เสียชีวิตจะได้เงินเป็นจำนวน 7.5 ล้านบาท ในแบบฟอร์มยินยอมรับเงินเยียวยาระบุว่าผู้รับเงินต้องยินยอมสละสิทธิรับเงินช่วยเหลืออื่นๆ จากภาครัฐ และต้องไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐอีก

เศกสิทธิ์ ช้างทอง(ขวา) และ สันติพงษ์ มูลฟอง (ซ้าย)ผู้ที่ต้องเสียดวงตาไปในเหตุการณ์สลายการชุมนุม 2553 ขณะเข้ารับเงินเยียวยากรมคุ้มครองสิทธิฯ ในปี 2554 ก่อนรอบรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีมติจ่ายเงินเยียวยาในปีถัดมา

อย่างไรก็ตาม มีความพยายามดำเนินคดีกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์จากขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วย โดยสาธิต ปิตุเตชะ พรรคประชาธิปัตย์ฟ้องศาลปกครองให้ระงับมติ ครม.ในการจ่ายเงินเยียวยาโดยระบุว่าเป็นการเยียวยาบุคคลที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับฟ้องเนื่องจากกิจการในทางรัฐประศาสน์นโยบาย ไม่ใช่การกระทำทางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจของศาล ความพยายามจัดการกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วยประเด็นจ่ายเงินเยียวยานี้ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อวิชา มหาคุณ หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช.ให้ข่าวว่า ป.ป.ช.มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหายิ่งลักษณ์ และครม.36 คนที่มีมติจ่ายเงินเยียวยาโดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับและเป็นไปเพื่อช่วยเหลือพวกพ้อง เป็นการหลีกเลี่ยงละเว้นไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศ คดีนี้ ป.ป.ช.ยังคงมีการไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ดูเหมือนว่ากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศแทบไม่สามารถทำงานเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ อีกทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความรุนแรงต่างก็ยังมีอำนาจอยู่ในรัฐบาลหรือกองทัพในทุกวันนี้

คำถามคือแล้วเราจะตามหาความยุติธรรมในประเทศนี้ได้ที่ไหนอีกบ้าง? กลไกระหว่างประเทศช่วยได้ไหม? ติดตามต่อในตอนหน้า

    คดีของพัน คำกอง

    ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ ไม่รับฟ้อง โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร เนื่องจากจำเลยเป็นทหาร อีกทั้งศาลชั้นต้นมีคำสั่งในชั้นไต่สวนการตายว่าผู้เสียชีวิตถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่ทหารโดยไม่ได้มีพลเรือนร่วมกระทำการด้วย ที่โจทก์อ้างว่ามีพลเรือนด้วยนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดและมีจำนวนกี่คน ดังนั้นคดีจึงไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอาญา

    ศาลอุทธรณ์ยังระบุอีกว่า ที่โจทก์อ้างคำพิพากษาศาลฎีกามา 2 คดีว่าศาลยุติธรรมเคยรับพิจารณาคดีมาแล้วในคดีที่ทหารร่วมกับพลเรือนกระทำความผิดแม้ไม่รู้ว่าพลเรือนเป็นใครนั้น เห็นว่ามีข้อเท็จจริงต่างจากคดีนี้ ศาลอุทธรณ์จึงเห็นด้วยกับศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฟ้อง

    ทั้งนี้ เมื่อลองค้นคำพิพากษาศาลฎีกาโจทก์ใช้อ้างในคดีนี้พบว่า หนึ่งในนั้นเป็นคดีที่ทหารร่วมกับพวกซึ่งไม่ได้แต่งเครื่องแบบทหาร-ไม่ปรากฏชัดว่าเป็นทหาร ที่ยังหลบหนีอยู่กระทำการขโมยปลอกกระสุนในฐานทัพสหรัฐอเมริกา (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1105/2513) ส่วนอีกคดีเป็นคดีที่ทหารร่วมกับพวก “ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าพวกของจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารหรือไม่ คดีนี้จึงต้องขึ้นศาลพลเรือน” (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 191/2532)

    อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ พิเศษ 1/2553 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและ 2/2553 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงจะเห็นว่าไม่ได้มีเพียงเจ้าหน้าที่ทหารที่ต้องปฏิบัติการตามคำสั่งของ ศอฉ. เท่านั้น แต่ยังรวมถึงตำรวจและพลเรือนด้วย

    คดีของกมนเกด

    “กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอเรียนว่ากรณีดังกล่าวได้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และส่งสำนวนการสอบสวนให้สำนักงานอัยการทหารพิจารณาแล้ว ซึ่งสำนักงานอัยการทหารได้มีความเห็นว่า คดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีประจักษ์พยาน พยานพฤติเหตุแวดล้อม หรือพยานหลักฐานอื่นใด ที่ยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาทั้งแปดกระทำผิดดังกล่าว ดังนั้น ทางคดีจึงไม่มีพยานหลักฐานพอรับฟังได้ว่าผู้ต้องหาทั้งแปดกระทำความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,83 จึงสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งแปด”

    ย่อหน้าข้างต้นเป็นข้อความที่ดีเอสไอมีหนังสือแจ้งผลคดีถึงพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของกมนเกด ลงวันที่ 25 พ.ค.2563 ว่าอัยการทหารสั่งไม่ฟ้องทหารจำนวน 8 คนที่ปฏิบัติการบนรางรถไฟฟ้าในวันที่ 19 พ.ค.2553 และมีการยิงเข้าไปในเขตวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นคดีที่ศาลอาญามีผลคำสั่งไต่สวนการตายแล้วว่าเป็นการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ทหาร

     

    รายชื่อผู้เสียชีวิตที่สำนวนไต่สวนการตายยังอยู่ในชั้นอัยการ


    ลำดับ

    รายชื่อ

    สถานที่เสียชีวิต

    10 เมษายน 2553

    1

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    2

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    3

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    4

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    5

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    6

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    7

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    8

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    9

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    10

    ตะนาว (สี่แยกคอกวัว)

    11

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    12

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    13

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    14

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    15

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    16

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    17

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    18

    ดินสอ(สตรีวิทยา)

    7-8 พฤษภาคม 2553

    19

    อาคารซิลลิคเฮ้าส์ ถนนสีลม

    20

    สวนลุมพินี

    13-19 พฤษภาคม 2553

    21

    สวนลุมพินี

    22

    บ่อนไก่ พระราม 4

    23

    บ่อนไก่ พระราม 4

    24

    บ่อนไก่ พระราม 4

    25

    บ่อนไก่ พระราม 4

    26

    บ่อนไก่ พระราม 4

    27

    บ่อนไก่ พระราม 4

    28

    บ่อนไก่ พระราม 4

    29

    บ่อนไก่ พระราม 4

    30

    ทางเท้าหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี

    31

    ซอยหลังสวน

    32

    ราชดำริ

    33

    ราชดำริ

    34

    ราชดำริ

    35

    ราชดำริ

    36

    ราชปรารภ

    37

    ราชปรารภ

    38

    ราชปรารภ

    39

    ราชปรารภ

    40

    ราชปรารภ

    41

    ราชปรารภ

    42

    ราชปรารภ

    43

    ราชปรารภ

    44

    ราชปรารภ

    45

    ราชปรารภ

    46

    ราชปรารภ

    47

    ราชปรารภ

    48

    ราชปรารภ

    49

    ราชปรารภ

    50

    ราชปรารภ

    51

    ราชปรารภ

    52

    ราชปรารภ

    53

    ราชปรารภ

    54

    ราชปรารภ

    55

    อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

    หมายเหตุ 1 – รายชื่อในตารางไม่นับรวมผู้เสียชีวิตในต่างจังหวัดอีก 3 ราย คือ 1.ทรงศักดิ์ ศรีหนองบัว ถูกยิงในการชุมนุมที่หน้าบ้านพัก ส.ส. ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ จังหวัดขอนแก่น 2.เพิน วงศ์มา และ 3.อภิชาติ ระชีวะ ถูกยิงในเหตุการณ์การชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี และ 4. กิตติพงษ์ สมสุข ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เนื่องจากกำลังรอข้อมูลเพิ่มเติมจากทางกรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่

    หมายเหตุ 2 - รายชื่อในตารางไม่นับรวมผู้เสียชีวิตที่เป็นเหตุสืบเนื่องอีก 3 ราย ได้แก่อนันท์ ชินสงครามและมนต์ชัย แซ่จองเป็นผู้เสียชีวิตที่คาดว่าเกิดจากแก๊สน้ำตาที่ถูกทิ้งจากเฮลิคอปเตอร์ในวันที่ 10 เม.ย.2553 เนื่องจากใบรับรองแพทย์ระบุสาเหตุการตายเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โดยมนต์ชัยเสียชีวิตในไม่กี่ชั่วโมงหลังถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ส่วนอนันท์เสียชีวิตด้วยโรคปอดติดเชื้อในอีกหลายเดือนให้หลังซึ่งมีการรักษามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังเหตุการณ์ ละอองดาว กลมกล่อมเป็นผู้เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตกขณะเกิดเหตุชุลมุนที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 14 พ.ค.

     

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    สปสช.โอนงบบัตรทองรอบแรกสู่หน่วยบริการแล้ว 2.19 หมื่นล้านบาท 

    0
    0

    รมว.สาธารณสุข ลงนามประกาศหลักเกณฑ์จัดสรรงบกองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 64 แล้ว พร้อมกำชับ สปสช. เร่งโอนงบสู่หน่วยบริการ ดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องไม่ให้เกิดผลกระทบ ระบุรอบแรกกระจายงบสู่โรงพยาบาลแล้ว 2.19 หมื่นล้านบาท เตรียมโอนเพิ่มเติม 5.4 พันล้านบาท เผยหลักเกณฑ์จัดสรรงบ เน้นเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเป็นธรรม เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริการประชาชน    

    30 พ.ย.2563 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ลงนามในประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขหน่วยบริการ พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 สปสช. ได้เร่งโอนงบประมาณงวดที่ 1 ให้กับหน่วยบริการทั่วประเทศแล้ว จำนวน 21,885,372,379.42 บาท เพื่อเป็นค่าบริการผู้ป่วยนอก (OP), บริการผู้ป่วยใน (IP), บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) และงบค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอยู่ระหว่างดำเนินการโอนเงินอีกจำนวน 5,407,701,226.93 บาท  

    “ในทุกปี สปสช. จะโอนงบประมาณบัตรทองลงไปที่หน่วยบริการทั่วประเทศโดยเร็ว เพื่อให้นำงบไปบริหารจัดการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้เกิดช่องว่างช่วงรอยต่อปีงบประมาณ แม้ว่าปีนี้จะล่าช้าไปบ้างจากข้อติดขัดทางกฎหมาย แต่ประธานบอร์ด สปสช. ได้กำชับ สปสช. ให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน ซึ่ง สปสช. ดำเนินการทันทีหลังประกาศมีผลบังคับใช้ โดยหน่วยบริการทั่วประเทศได้รับโอนงบประมาณเหมาจ่ายในรอบแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

    นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การจัดสรรงงบประมาณสู่หน่วยบริการปี 2564 มีหลักการสำคัญ นอกจากปรับสอดคล้อง National guideline สาธารณสุข แนวทางการจ่ายที่ไม่ซับซ้อนแล้ว ยังเน้นการสร้างความเป็นธรรมต่อประชาชนและผู้ป่วยที่จะได้รับบริการสาธารณสุข เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพผลงานบริการสาธารณสุข การสร้างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน การจัดบริการที่สอดคล้องกับนโยบายการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ลดความแออัดในหน่วยบริการภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเงินกองทุนในด้านต่างๆ ทั้งการจ่ายค่าบริการสาธารณสุข การสนับสนุนการจัดบริการ ค่าจ่ายกรณีค่ายา วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ไทยและจีโนมิกส์ไทย เป็นต้น   

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    'สุดารัตน์' ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย

    0
    0

    สื่อหลายสำนักระบุ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคโดยมีแกนนำ อาทิ โภคิน พลกุล พงศกร อรรณนพพร และวัฒนา เมืองสุข ลาออกตามด้วย

     

    30 พ.ย.2563 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว โดยมีแกนนำ อาทิ โภคิน พลกุล พงศกร อรรณนพพร และวัฒนา เมืองสุข ลาออกตามด้วย

    สำหรับ สุดารัตน์ เป็นอดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา เพิ่งลาออกจากประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ช่วงการเลือกตั้งทั่วไป 2562 สุดารัตน์มีบทบาทสำคัญในช่วงหาเสียงเลือกตั้งจนชนะเลือกตั้งเป็นที่ 1 ประเทศ และยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยด้วย

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    'ซีพี-เทสโก้' ควบรวมแรมเดือน แต่ยังไม่เปิดคำวินิจฉัย 'ศิริกัญญา' ชี้หาก 'กขค.' ขาดความน่าเชื่อถือ ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ

    0
    0

    ควบรวมแรมเดือน ซีพี - เทสโก้ แต่ยังไม่เปิดคำวินิจฉัย 'ศิริกัญญา' ชี้ หาก คณะกรรมการแข่งขันการค้า ขาดความน่าเชื่อถือ ส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ

     

    30 พ.ย.2563 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทษราษฎร ร่วมอภิปราย ”ถอดบทเรียนซีพีควบรวมเทสโก้ ใครได้ใครเสีย?” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

    ศิริกัญญา กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันพุธที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจเชิญ คณะกรรมการแข่งขันการค้า (กขค.)มาชี้แจง แต่ทางประธานคณะกรรมการแข่งขันการค้าได้มอบหมายให้ทางเลขาธิการสำนักงานแข่งขันทางการค้ามาตอบชี้แจงแทน ซึ่งในหลายคำถามที่ทางกรรมาธิการได้สอบถาม ทางเลขาธิการฯมักกล่าวอ้างเรื่องยังไม่สามารถตอบชี้แจงลงรายละเอียดได้ต้องรอคำวินิจฉัยฉบับเต็มเสียก่อน อย่างไรก็ตาม คงต้องตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการมาแล้ว 2-3 สัปดาห์ แต่คำวินิจฉัยฉบับเต็มกลับยังไม่ออกมา ทำให้สังคมยังไม่ได้รับคำตอบ ทั้งเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจของคณะกรรมการที่ตัดสินใจเช่นนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงส่งผลทำให้การวิเคราะห์ยังคงทำได้จำกัด

    “การเปิดเผยคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ทางเลขาธิการฯได้ชี้แจงในวันนั้นว่าทางคณะกรรมการมีนโยบายว่าจะไม่เปิดเผยฉบับเต็ม หากไม่มีการร้องขอ จะเปิดแค่คำวินิจฉัยฉบับย่อเท่านั้น แต่ก็พบว่าที่ผ่านมาแม้แต่คำวินิจฉัยฉบับย่อก็ไม่ได้เปิดเผยแต่อย่างใด เช่น คำวินิจฉัยกรณีโอสถสภาที่กรณีนั้นเป็นคดีใหญ่ มีการปรับเงินกัน แต่ก็ยังไม่ได้มีการเปิดเผยทั้งคำวินิจฉัยฉบับเต็มและฉบับย่อแต่อย่างใด ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าและสำนักงานฯ จำเป็นต้องโปร่งใส และมีความน่าเชื่อถือ เพราะจะเป็นจิตวิทยาทางสังคมที่มีต่อความสำคัญของคณะกรรมการฯ ว่ามีมากน้อยเพียงใด หากโปร่งใสมาก ก็ยิ่งได้รับความเชื่อถือ เป็นการตั้งมาตรฐานในการทำงาน เมื่อคนเชื่อถือ ต่อไปหน่วยงานต่างๆ สาธารณชนก็จะรับฟังความเห็นแล้วนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจต่างๆด้วย แต่หากไม่น่าเชื่อถือแล้ว คนไม่เชื่อ ก็จะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ” ศิริกัญญา กล่าว

    นอกจากนี้ ศิริกัญญา ยังกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่มีการพิจารณาและอภิปรายกันในวันนั้น ประเด็นเรื่องขอบเขตตลาดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจำเป็นต้องนิยามให้ชัดว่า กำลังพูดถึงตลาดอะไร ได้มีการสอบถามกับทางเลขาธิการสำนักงานแข่งขันทางการค้าว่าคณะกรรมการแข่งขันการค้าใช้คำนิยามตลาดอย่างไรในการพิจารณา คำตอบที่ได้รับคือทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าแบ่งตลาดออกเป็น 2 ตลาดใหญ่ๆ คือ ตลาดค้าส่งและตลาดค้าปลีก โดยตลาดค้าส่งประกอบด้วยผู้เล่นคือแมคโครและผู้ค้าส่งในท้องถิ่น และในตลาดค้าปลีกนั้นสามารถแบ่งออกต่อไปได้อีก 3 ตลาดคือ 1.ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket)โดยเทสโก้ โลตัส อยู่ในตลาดนี้ 2.ซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) ตลาดโลตัสอยู่ในตลาดนี้ 3.ร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) มี 7-11 และโลตัส เอ็กเพรส อยู่ในตลาดนี้

    “การแบ่งแบบนี้ทำให้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มีการไปตีความว่าโครงสร้างตลาดของหลายๆตลาดไม่เปลี่ยนหลังการควบรวมกิจการ โดยมีการบอกว่าโครงสร้างตลาดจะเปลี่ยนมีเพียงตลาดค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อเท่านั้น ทำให้ตลาดอื่นๆ ไม่ถูกนำเอามาพิจารณาผลกระทบเพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดหลังการควบรวม โดยทางเลขาธิการฯยอมรับว่าตลาดค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อมีอำนาจเหนือตลาดจริงเพราะภายหลังการควบรวมร้านค้าสะดวกซื้อที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในประเทศไทย อย่างร้านเซเว่น อีเลฟเว่นที่เป็นของบริษัทซี.พี. รีเทลฯ และร้านค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 อย่างร้านเทสโก้ เอ็กเพรส ที่เป็นของบริษัทเทสโก้ สโตร์สฯ รวมกันเป็นเจ้าของเดียวกันส่งผลให้เป็นการเพิ่มการกระจุกตัว ลดการแข่งขัน ทั้งนี้การที่ไปตีความว่าแมคโครที่เป็นของบริษัท ซี.พี. อยู่ในขอบเขตตลาดแบบค้าส่ง ทำให้ไม่ได้เอามาพิจารณาผลกระทบและพิจารณาอำนาจเหนือตลาด ซึ่งแท้ที่จริงแล้วพฤติกรรมผู้บริโภคหลายๆครั้งก็มีการไปซื้อที่ไหนก็ได้ โดยพิจารณาจากปัจจัยราคาถูกหรือใกล้ที่พักอาศัย นั่นหมายความว่าอาจเป็นตลาดที่ทดแทนกันได้ โดยแม้ว่าแมคโครจะมีการขายแบบเป็นโหลและยกแพคสินค้าก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ใช่ตลาดที่ทดแทนกันได้ จึงจำเป็นต้องมาพิจารณาผลกระทบด้วย” นางสาวศิริกัญญา กล่าว

    ยิ่งไปกว่านั้น ศิริกัญญา ยังแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากการที่ทางคณะกรรมการไม่ได้ไปสำรวจตลาดเชิงภูมิศาสตร์ โดยกล่าวว่า ตลาดภูมิศาสตร์จำเป็นต้องไปดูด้วย โดยการไปดูในแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัด ไม่สามารถดูเฉพาะตลาดทั้งประเทศได้เท่านั้น ซึ่งทางเลขาธิการได้ชี้แจงต่อประเด็นนี้ว่าที่ทำไม่ได้เพราะกฎหมายกำหนดให้เวลาไว้เพียง 90 วันและขยายได้ไม่เกิน 15 วัน ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะไปดูได้ทั้งหมด แต่ทั้งนี้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจได้เชิญเลขาธิการเข้ามาชี้แจง มีพบเจอกันมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งการพบเจอกันในครั้งแรกก็ได้มีการพูดคุยกันว่าทางสำนักงานคณะกรรมการฯต้องทำงานเชิงรุก ต้องไปศึกษาตลาดที่สุ่มเสี่ยงจะใช้อำนาจเหนือตลาดของธุรกิจรายใหญ่ด้วย และได้มีการสอบถามไปด้วยว่ามีตลาดใดบ้างที่มีความสุ่มเสี่ยง และเริ่มทำไปบ้างแล้วหรือไม่ ทางเลขาธิการฯได้ชี้แจงว่าได้มีการจ้างที่ปรึกษาให้ไปศึกษาแล้วว่าต้องสำรวจตลาดใดบ้าง เมื่อพบกันครั้งต่อมาทางเลขาธิการฯก็มีการชี้แจงว่าทางที่ปรึกษาได้ทำเสร็จแล้ว พบว่ามี 6 ตลาดที่มีความสุ่มเสี่ยงซึ่งตลาดค้าปลีกเป็นหนึ่งในนั้น แต่สุดท้ายก็อาจไม่ได้ลงไปศึกษาในรายละเอียดต่อแต่อย่างใด ทั้งนี้เรื่องกรอบเวลา 90 วันอาจจะเป็นปัญหาจริง แต่หากทำงานเชิงรุกและมีการเตรียมการก่อนหน้านี้อาจจะสามารถศึกษาได้ทัน นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องตลาดทางภูมิศาสตร์ ทางเลขาธิการฯได้กล่าวอ้างว่าทางคณะกรรมการได้พิจารณาชั่งน้ำหนักดูแล้วว่าในประเด็นนี้ไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาดในระดับพื้นที่เพราะราคาถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ซึ่งแท้จริงแล้วมีบางอย่างที่เป็นปัจจัยในระดับท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ถ้าเกิดการแข่งขันน้อย อาจจะส่งผลต่อการจ้างพนักงานน้อยลง การบริการแย่ลง สินค้าอาจจะสดใหม่น้อยลง ระยะเวลาเปิดปิดก็อาจจะไม่เท่ากัน รวมถึงอาจมีการพิจารณาปิดสาขาบางสาขาที่เมื่อมาดูแล้วทำยอดขายได้ไม่มาก เพื่อเหลือร้านค้าในเครือเพียงอันใดอันหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อทางเลือกและโอกาสของผู้บริโภคทั้งนั้น อีกทั้งก็ไม่ได้มีการไปตั้งเงื่อนไขเรื่องนี้ตามหลังออกมาเพื่อป้องกันผลกระทบ เช่น จำเป็นต้องตั้งเงื่อนไขว่าห้ามตั้งราคาแต่ละพื้นที่ให้ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น ราคาหมูแต่ละพื้นที่ของห้างบางเจ้าไม่เท่ากัน รวมทั้งหากย้อนกลับไป การที่ไม่ได้มีการสำรวจข้อมูลตลาดก่อนว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นดังสมมติฐานของคณะกรรมการหรือไม่ จะส่งผลที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจหากสมมติฐานที่ตั้งไว้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกัน

    ศิริกัญญา ยังกล่าวด้วยว่า จากที่มีการพูดคุยและสอบถามกันในคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจต่อกรณีการควบรวมครั้งนี้ การอุทธรณ์จะทำได้ก็แต่บริษัทซีพีเท่านั้นหากไม่พอใจคำตัดสินของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า สามารถยื่นอุทธรณ์ได้แต่ต้องทำภายใน 60 วัน ซึ่งก็เข้าใจว่าทางซีพีไม่น่าจะอุทธรณ์คำตัดสินแต่อย่างใด ในกรณีของประชาชนที่ทำได้หากไม่พอใจคำตัดสินของคณะกรรมการฯ คือการไปฟ้องต่อศาลปกครอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทางศาลปกครองอาจยกคำร้องหรือตัดสินว่าประชาชนไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับกรณีที่ประชาชนรวมตัวกันฟ้องศาลปกครองเรื่อง CL ยา ศาลปกครองก็อาจจะวางบรรทัดฐานคล้ายๆแบบนี้ก็ได้ อย่างไรก็ตามตนเองในฐานะผู้แทนราษฎรและเป็นประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็จะใช้กลไกที่มีอยู่ทำการตรวจสอบอย่างเต็มที่ เพราะกลไกรัฐสภาอาจเป็นกลไกเดียวที่เหลืออยู่ตอนนี้ แต่ด้วยอำนาจของคณะกรรมาธิการที่มีอยู่อาจกำกับดูแลได้ห่างๆ สำนักงานแข่งขันทางการค้าก็มีสถานะพิเศษไม่ได้สังกัดกรมหรือกระทรวงใด ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และในส่วนของคณะกรรมการเองก็มีความเป็นอิสระ ซึ่งเราก็อยากให้ทั้งกรรมการและสำนักงานดำรงความอิสระแต่ต้องไม่อยู่เหนือการตรวจสอบ สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือช่วยกันคิดในโจทย์ที่ว่าใครจะเป็นผู้มากำกับดูแลองค์กรและคณะกรรมการที่อิสระเหล่านี้ นอกจากนี้ในส่วนของการทำงานของคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจก็เตรียมที่จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.การแข่งขันการค้า พ.ศ.2560 ซึ่งกลไกนี้ก็จะเป็นทางออกหนึ่ง รวมทั้งสิ่งที่ต้องคิดและลงมือทำเพิ่มด้วยคือการต้องมีกลไกอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น กรณีของซัพพายเออร์ (Supplier) ที่มีข้อกังวลต่างๆ ต้องสามารถออกมาพูดเสนอแนะได้โดยที่จะไม่ได้รับผลกระทบและมีปัญหากับคู่ค้าซึ่งเป็นธุรกิจใหญ่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยเองก็จำเป็นต้องมีกลไกสนับสนุนภาคประชาชน เช่น สนับสนุนข้อมูลต่างๆ หากภาคประชาชนต้องการที่จะฟ้องร้องเมื่อได้รับผลกระทบกับการควบรวมกิจการ

    สำหรับกรณีการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัด และบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) หรือซีพี-เทสโก้ ครั้งนี้ผู้ขอซื้อกิจการเป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-11 จำนวน 11,712 สาขาและร้านค้าส่งรายใหญ่อย่างแม็คโคร 129 สาขาทั่วประเทศไทย ส่วนเทสโก้ ผู้ขายกิจการ เป็นเจ้าของ เทสโก้ โลตัส ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา เทสโก้ เอ็กซ์เพรส 1,574 สาขา นอกจากนี้ยังเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าอีก 191 สาขาด้วย มีการประเมินกันว่าการซื้อขายดีลนี้มีมูลค่าสูงถึง 3.3 แสนล้านบาทและถือเป็นหนึ่งในการควบรวมกิจการที่ใหญ่ที่สุ

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    สหภาพยุโรปเตรียมออก 'กฎหมายแมกนิตสกี' ฉบับอียู คว่ำบาตรบุคคลละเมิดสิทธิมนุษยชน

    0
    0

    ผู้นำฝ่ายค้านของรัสเซีย อเล็กซี นาวาลนี ผู้ที่เคยรอดชีวิตจากการถูกวางยาพิษของรัฐบาลรัสเซียเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาเคยเรียกร้องให้สหภาพยุโรปตั้งเป้ากับกลุ่มคณาธิปไตยที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย โดยที่ในตอนนี้อียูกำลังใกล้จะลงนามในกฎหมายสั่งคว่ำบาตรผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ชื่อ "กฎหมายแม็กนิตสกี" ซึ่งเป็นกฎหมายที่เคยมีมาก่อนในสหรัฐฯ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตั้งตามชื่อของทนายความที่เสียชีวิตในคุกรัสเซีย

    30 พ.ย. 2563 สหภาพยุโรปมีแผนการใช้อำนาจสั่งระงับการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์และสั่งห้ามการเดินทางกับบุคคลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในเดือน ธ.ค. นี้ หลังจากที่ประเทศสมาชิกมีมติชั่วคราวในการรับรองกฎหมายแม็กนิตสกีฉบับของยุโรป

    มาตรการดังกล่าวนี้จะมีการลงนามในวันสิทธิมนุษยชนซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งจะเป็นวันเดียวกับที่มีการครบรอบ 77 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรการดังกล่าวนี้มีการตั้งเป้าหมายกับผู้คนที่ก่อเหตุทั้งในระดับร้ายแรงอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปจนถึงทารุณกรรมและการจับกุมคุมขังโดยพลการ

    ซึ่งในกฎหมายฉบับปัจจุบันของสหภาพยุโรป ทางอียูนังไม่สามารถบังคับใช้คำสั่งห้ามเดินทางกับบุคคลได้เนื่องจากความรับผิดชอบในเรื่องนี้ตกอยู่กับรัฐบาลในแต่ละประเทศเอง ทั้งนี้อำนาจการสั่งคว่ำบาตรของอียูยังเป็นไปในทางเน้นเป้าหมายในทางภูมิศาสตร์

    แต่กฎหมายใหม่นี้จะมาแทนที่ระบบแบบที่แต่ละประเทศพิจารณากันเองกลายเป็นระบบแบบที่มีกรอบการพิจารณาแบบเดียวสำหรับเรื่องการตัดสินลงโทษคนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน

    เคยมีชื่อกฎหมายเดียวกันนี้ในสหรัฐฯ ออกมาเมื่อปี 2555 ตั้งตามชื่อของ เซอร์กี แมกนิตสกี ทนายความด้านภาษีที่เสียชีวิตในคุกมอสโกประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นกฎหมายที่สหรัฐฯ ตั้งใจจะออกมาเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ทางการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของแม็กนิตสกี อย่างไรก็ตามการที่ยุโรปตั้งใจจะใช้ชื่อกฎหมายแบบเดียวกันก็ทำให้เกิดข้อถกเถียงในหมู่ประเทศยุโรปที่รัฐบาลปัจจุบันมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียเช่นประเทศฮังการี

    บิล บราวเดอร์ นักการเงินและนักกิจกรรมทางการเมืองผู้ผลักดันกฎหมายแม็กนิตสกีฉบับของสหรัฐฯ กล่าวว่าสิ่งที่ดีงามของกฎหมายที่เขาช่วยผลักดันนี้คือการที่มันเน้นตั้งเป้าหมายคว่ำบาตรกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงในรัสเซียและประเทศอื่นๆ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้กลัวว่าจะถูกเล่นงานและเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขา บราวเดอร์กล่าวอีกว่าเขาเคยคุยกับอดีตผู้ต้องขังที่เพิ่งออกจากเรือนจำชื่อ มิคาเอล โคดอร์คอฟสกี ผู้ที่บอกว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำมีพฤติกรรมต่างออกไปหลังจากที่กฎหมายแม็กนิสกีออกมาเพราะผู้คุมเหล่านี้กลัวว่าจะถูกใส่รายชื่อในบัญชีแม็กนิตสกีไปด้วย

    บราวเดอร์บอกว่าการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของการต่อสู้เท่านั้น อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือคือการที่อียูจะบังคับใช้กฎหมายนี้กับผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัสเซีย, จีน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ก็มีเรื่องที่บราวเดอร์กลัวว่าจะเป็นอุปสรรคคือการที่ต้องการมติแบบเอกฉันท์ในการตัดสินใจจะทำให้ประเทศที่เป็นมิตรกับรัสเซียอย่าง ฮังการี, มอลตา และไซปรัส ที่มีเจ้าหน้าที่ซึ่งทุจริตคอร์รัปชันพยายามโหวตวีโตสกัดกั้นไม่ให้มีการคว่ำบาตร

    เรื่องการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่รัสเซียนั้นมีการพูดถึงส่วนหนึ่งเพราะกรณีการวางยาพิษ อเล็กซี นาวาลนี นักรณรงค์ต่อต้านการติดสินบน ซึ่งนาวาลนีกล่าวหาว่าทางการรัสเซียเป็นผู้วางยาพิษเขาด้วยยาชื่อโนวิช็อกซึ่งเป็นยาพิษออกฤทธิ์กับระบบประสาท

    นาวาลนีเสนอว่ารัฐบาลยุโรปควรจะเลืกให้การสนับสนุนทางการเงินกับกลุ่มรัฐบาลอำนาจนิยมรัสเซียที่ใช้อำนาจในการวางยาพิษ, สังหาร และปลอมแปลงผลการเลือกตั้ง นาวาลนีวิจารณ์อีกว่าการที่ยุโรปปล่อยให้พวกคณาธิปไตยอำนาจนิยมยังคงอยู๋ต่อไปนรัสเซียภายใต้รัฐบาลวลาดิเมียร์ ปูติน ถือว่าอียูมือถือสากปากถือศีล โดยมีการยกตัวอย่างกรณีคนที่ร่ำรวยจากการเกาะอำนาจเผด็จการของปูตินยังคงมีเรือยอร์ชหรูอยู่ในท่าเรือยุโรป

    นาวาลนีจึงเรียกร้องให้ยุโรปหาวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการกับกลุ่มเผด็จการคณาธิปไตยในรัสเซียด้วยการที่ให้การยอมรับประชาชนชาวรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกันก็ควร "ปฏิบัติกับรัฐบาลรัสเซียเหมือนเป็นอาชญากร"

    เรียบเรียงจาก

    Tags : ข่าว, ต่างประเทศ, สิทธิมนุษยชน, การเมือง,

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    5 แกนนำราษฎรรับทราบข้อหา ม.112 - โดนเพิ่มอีกอย่างน้อย 5 ราย

    0
    0

    'อานนท์-เพนกวิน-รุ้ง -ไมค์' เข้ารับทราบข้อหา ม.112 รอง ผบก.น.1 ระบุทำบันทึกและให้ปากคำเรียบร้อยแล้ว ปล่อยตัวกลับบ้านไปโดยไม่กำหนดเงื่อนไข ขณะที่มีกลุ่มผู้ประท้วงโดนคดี 112 เพิ่มอีกอย่างน้อย 5 ราย ทั้งชุมนุมหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 24 ก.ย. และชุมนุม 26ตุลา หน้าสถานทูตเยอรมนี

    30 พ.ย.2563 ช่วงบ่าย ที่ สน.ชนะสงคราม อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง, ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์, ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ พร้อม กฤษฎางค์ นุตจรัส และ นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ เข้าพบ พ.ต.ท.โชคอำนวย วงศ์บุญฤทธิ์ รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ชนะสงคราม ตามหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีการชุมนุมปักหมุดคณะราษฎรในท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยมี พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รอง ผบก.น.1 ร่วมสังเกตการณ์

    พริษฐ์ กล่าวว่า คดีที่เกิดขึ้น จะทำให้คนมาร่วมชุมนุมมากขึ้น เพราะทำให้เห็นว่าเกิดความไม่ยุติธรรมในประเทศ ส่วนจะปฏิเสธหรือยอมรับข้อกล่าวหา ขอให้เป็นตามขั้นตอน แต่ยืนยันว่าไม่รู้สึกกลัว ขอยกสุภาษิตที่ว่าทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟมาใช้กับกรณีนี้

    ส่วน อานนท์ กล่าวว่าตนไม่ให้ค่าอะไรกับกฎหมายนี้นัก เพราะพยานหลักฐานประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าพูดอะไรและมีจุดมุ่งหมายอะไร และพร้อมจะสู้ในชั้นศาลต่อไป แม้ตนจะไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมขนาดนั้น แต่เชื่อว่าศาลเองก็น่าจะพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา และผลจะออกมาสู่สาธารณชนได้รับทราบกัน เพราะตำรวจเคยขอหมายจับแต่ศาลยังไม่อนุมัติให้

    พ.ต.อ.อรรถวิทย์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการรายงานตัวตามหมายเรียก ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาได้เข้ามาพบพนักงานสอบสวนตามขั้นตอน เมื่อทำบันทึกและให้ปากคำเรียบร้อยแล้ว พนักงานสอบสวนก็จะปล่อยตัวกลับบ้านไปโดยไม่กำหนดเงื่อนไข แม้จะเป็นข้อหาร้ายแรงก็ตาม

    (ที่มา : ไอเอ็นเอ็นและไทยรัฐออนไลน์)

    โดนเพิ่มอีกอย่างน้อย 5 ราย

    วันเดียวกัน ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ แกนนำคณะราษฎร และทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี แกนนำเยาวชนปลดแอก โพสต์ภาพหมายเรียกคดี ม.112 ด้วยเช่นกัน โดยให้มารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.บางโพ ในวันที่ 7 ธ.ค. 2563 เวลา 10.00 น. ในหมายระบุคดี ถึง จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ และพวก เป็นผู้ต้องหา

    ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทวีตข้อความว่า คาดว่าเป็นคดีจากการชุมนุมไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 24 ก.ย.63 หลังก่อนหน้านี้ แกนนำ 4 ราย ถูกแจ้งข้อหาตาม ม.116 หรือ “ยุยงปลุกปั่น” มาแล้ว

    ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังทวีตด้วยว่า หนึ่งในผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษในการชุมนุมที่หน้าสถานฑูตเยอรมัน วัชรากร ไชยแก้ว ได้เปิดเผยผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ตนได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ม.112 ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ นอกเหนือจาก ม.116 ที่โดนก่อนหน้า โดยในคดีนี้ มีผู้กล่าวหาคือ พ.ต.ท. อนันต์ วงศ์คำ

     

     

    ชนินทร์ วงษ์ศรี นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่าได้รับหมายเรียกจาก สน.ทุ่งมหาเมฆ ระบุให้ไปรับทราบข้อหา ม.112 เพิ่มเติม ในวันที่ 8 ธ.ค. นี้ ในคดีการชุมนุม #ม็อบ26ตุลา หน้าสถานทูตเยอรมนี ก่อนหน้านี้มีแกนนำและผู้อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตถูกแจ้งข้อหา ม.116 ไปจำนวน 9 ราย 

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    กวีประชาไท: เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจพ่อยกแม่ยกทุกๆ ท่าน

    0
    0

    ทราย คือส่วนผสมปูนบูรณะ
    ถ้าอยากจะผงาดทรายธาตุเสริม
    ทุกบ้านเมืองเฟื่องฟูได้ด้วยทรายเติม
    เม็ดทรายเพิ่มอาคารการรุ่งเรือง

    ทราย กลายเป็นแม่ยกตกใจนัก
    คนหลงรักปักใจไกลกระเดื่อง
    สนับสนุนน้ำอาหารงานบ้านเมือง
    ไม่ฝืดเคืองเรื่องใหญ่ใจคุณทราย

    ยัง "เฮียบุ๊ง" อีกเล่าเข้าร่วมสู้
    คอยดู แลพ่อแม่พี่น้องข้องขัดหาย
    รถสุขา กทมรอก็ตาย
    สุดท้ายได้รถเฮียเชียร์คนดี

    เฮียบุ๊งคือใครเปิดใจได้เห็น
    เขาก็เป็นราษฎรคอยผ่อนหนี้
    เข้าร่วมคณะราษฎรสัญจรชี้
    พ่อยกก็มีแบ่งปันสามัญชน

    การศึกยุทธ์ยืดเยื้อเหยื่อปลิ้นปล้อน
    ประชากรผู้ตื่นรู้สู้เข้มข้น
    ตื่นรู้เรื่องระบบตบจูบจน
    รู้ทันกลเม็ด เผด็จการ

    หลัง 14 ตุลา 2516 
    ชนะแล้วตกหลุมพรางทางฮึกหาญ
    นักศึกษาแตกกับอาชีวะประจัญบาน
    จนแหลกลาญพบนรก 6 ตุลา

    การต่อสู้มิรู้หน่ายภายในเล่ห์
    สหายเหหักหาญกันหันห่างหน้า
    ถูกยุแหย่แม่ยกพ่อยกฉกเงินตรา
    ขบวนล้าพาแหลกแตกกระจาย

    ถูกแบ่งแยกแล้วปกครองทำนองเดิม
    การแต่งเติมความระแวงระหว่างสหาย
    ในการศึกมักมากเล่ห์เพทุบาย
    ขอ#ทราย # เฮียบุ๊ง รุ่งเรืองงาม

                                                         

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    กวีประชาไท: Moments of Silence

    0
    0

    แน่ๆ "ความจริงแท้" ยิ่งสิ่งที่หลอกหลอน
    หลังวิกหลายๆ ตัวละครยังหลบซ่อนอยู่
    ค่อยๆ ต่อ Jigsaw แลกเปลี่ยนเรียนรู้
    จาก Belief & Love เขยิบสู่ Prefix Un- ?

    สืบทอด "ความทรงจำร่วม" ผ่านกาลเวลา
    ไม่แม้แต่จะกล้ายอมรับยินเสียง,ผินผัน
    ลืมไม่ได้-จำไม่ลง ยังคงเป็นเช่นนั้น
    คับแค้นขมขื่นกันและกัน,Unforgetting

    ใน "ความเงียบงัน" ท่าน-ฉัน,อิหลักอิเหลื่อ
    คำตอบอันยากจะเหลือเชื่ออย่างยิ่ง
    แน่นิ่งชั่วขณะปะทะความอื้ออึงซึ่งจริง ?
    ถามนำถามค้านถามติงจะกระอักกระอ่วน

    สองฝ่ายไม่เป็นลายลักษณ์ซาบซึ้ง-พึ่งพิง
    ไม่ก็จริงๆ ได้ The License to Silence

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    กวีประชาไท: I am HUMAN, just like U.

    0
    0

    แดงส้มเหลืองเขียวน้ำเงินม่วง is My PRIDE
    ชมพู,ฟ้า 3XY ร่างกายมนุษย์
    เธอต่างเท่ากับฉันอันว่ากฎหมายสูงสุด
    มีศักดิ์ศรีสิทธิเสรีเทยฺย์ดุจเดียวกัน

    เพียงหนึ่งเสียงของเจ้า #เราคือราษฎร
    แต่เก่าก่อน #พลเมืองชั้นสอง เหล่านั้น
    ภายใต้ #ปิตาธิปไตย,ในอยุติธรรม์
    กดขี่ผ่านชนชั้นลดหลั่นพันลึก

    LGBTQ+เคลื่อนไหวขบวน #ไพร่พาเหรด
    อาณาเขตสามย่าน-สีลมเย็นย่ำค่ำดึก
    เถิด ! #พลเรือน ทั้งหลายพึงจะระลึก
    สามัญสำนึก My Body สิ My Choice

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: มหาวิทยาลัยมีไว้ทำไม?

    0
    0

     มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาของไทย ปัจจุบันอยู่ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม แต่มีเหตุผลที่เป็นไปได้ว่าการศึกษาระดับสถาบันอุดมศึกษาของไทยไม่ควรอยู่ภายใต้การกำกับครอบงำของรัฐบาลด้านต่างๆ อีกต่อไป หากสถาบันการศึกษาในระดับสูงเหล่านี้ควรแยกตัวออกจากรัฐเป็นเอกเทศ จัดการตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในส่วนการบริหารจัดการ บุคลากร และส่วนวิชาการที่ถือเป็นหน้าที่หลักของสถาบันอุดมศึกษาจริงๆ

    ประการแรกเพราะมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษา มีหน้าที่ทำงานด้านวิชาการซึ่งบทบาทหน้าที่ดังกล่าว ควรเป็นเอกเทศหรืออิสระตามแบบอย่างสถาบันวิชาการสากล ปราศจากมายาคติของมวลชนกลุ่มหรือฝ่ายต่างๆ มหาวิทยาลัยควรเป็นกลไกที่มีความเป็นกลางทางเมืองอย่างยิ่งยวด มีอิสระเด็ดขาดในการตัดสินใจในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ในฝ่ายกิจกรรมนักศึกษาที่จะเป็นพลังสะท้อนความเป็นไปของการศึกษาวิจัยเชิงสังคม ทั้งนี้บทบาทของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาควรเป็นเรื่องมาตรฐานเบื้องแรกที่มีการจัดสถาบันการศึกษา ส่วนในการประเมินคุณภาพนั้นก็อาศัยรูปแบบการทำงานแบบคณะกรรมการหรือคณะทำงานดุจเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่มีมาก่อนหน้านี้

    ประการที่สองเพราะการรับเอาๆ งบประมาณทุกปีของสถาบันการศึกษาของรัฐจากรัฐ เป็นทั้งตัวสร้างอคติในทางวิชาการ ส่งผลต่อค่างานวิชาการที่อาจเบี่ยงเบนออกไปจากความเป็นจริงได้มาก เพราะรัฐ(บาล) มีอิทธิพลครอบงำจากงบประมาณที่สถาบันเหล่านั้นได้ มากหรือน้อย

    ประการที่สาม เพราะที่ผ่านมามีความลักลั่นในการกระจายงบประมาณให้กับบรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทยตามความถนัดเฉพาะทางของมหาวิทยาลัยเหล่านั้น เช่น มหาวิทยาลัยสงฆ์ฝ่ายพุทธที่เน้นการสอน การเผยแผ่พุทธศาสนา แต่กลับใช้งบประมาณ(ภาษี)รวม ของคนทั้งประเทศซึ่งรวมเงินภาษีของศาสนิกในศาสนาอื่นๆ อยู่ด้วย ประเด็นนี้นับว่าไม่ยุติธรรมกับศาสนิกของศาสนาอื่นๆ ดังกล่าว หรือแม้เงินอุดหนุนสถาบันการศึกษาด้านศาสนาระดับอุดมศึกษาของศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธ ถ้ามี ก็ต้องยกเลิกไป เพื่อปลดล็อคมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นอิสระอย่างชัดเจนไม่มีนัยอาการดัดจริต มหาวิทยาลัยควรจะอยู่ได้ด้วยการช่วยเหลือตนเอง มากกว่าการพึ่งงบประมาณจากภาครัฐ โดยในชั้นแรกอาจเป็นการค่อยๆ ลดอัตราวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐลง จนถึงที่สุดแล้ว สถาบันการศึกษาเหล่านั้นสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้

    ประการที่สี่เพราะผลพวงของ disruption period หรือ ยุคการล่มสลายของสิ่งเก่า มหาวิทยาลัยแบบเดิมๆ ที่เคยมีอาคาร สถานที่ใหญ่โต ที่เราเคยเราเห็นกำลังจะกลายเป็นซากปรักหักพัง ขณะที่รูปแบบการเรียนการสอนก็จะเปลี่ยนไปด้วยจากพัฒนาการของดิจิตัลเทคโนโลยีซึ่งไร้สถานที่และกาลเวลา

    พูดง่ายๆ คือ นักศึกษาสามารถเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ หากมีการสำรวจกัน กระทรวงอุดมศึกษาฯน่าจะพบว่า สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ของไทยกำลังจะกลายเป็นป่าช้าจากป่าคอนกรีตในยุคเฟื่องฟูเมื่อ สองสามทศวรรษที่แล้ว บัดนี้สถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากเหลือเพียงซากปรักหักพัง  สถาบันราชภัฏในต่างจังหวัดบางแห่ง มีพื้นที่นับ 100 ไร่ แต่เหลือผู้เรียนทุกคณะไม่ถึง 100 คน แบบนี้กระทรวงควรยุบหรือปรับเปลี่ยนได้หรือไม่ หรือยังต้องการให้สถาบันแบบดังกล่าวผลาญเงินประมาณ เงินภาษี อย่างบ้าคลั่งอยู่ต่อไป โดยที่ผลประโยชน์ไม่คุ้มค่าต่อไปกระนั้นหรือ?

    ประการที่ห้าการกันพื้นที่สถาบันอุดมศึกษาออกไปจากอำนาจรัฐไทย (เหลือแค่การเช็คมาตรฐานการเรียนการสอน) โดยตัดงบประมาณสนับสนุนทั้งหมด นอกจากถือเป็นการประหยัดงบประมาณของชาติแล้ว ยังจะเป็นตัวเร่งให้สถาบันการศึกษาเหล่านี้เกิดการปรับตัวมากขึ้น ผู้บริหารไม่ต้องมัวพะวงรอการจัดสรรงบประมาณจากรัฐอีกต่อไป หากควรพะวงว่า จะช่วยตัวเองอย่างไรมากขึ้น เช่น จะวางแผนของบวิจัยจากสถาบันที่เป็นทุนนานาชาติได้หรือไม่อย่างไร ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาจะมีความคิด ความกระตือรือร้นในการหาช่องทางเพื่อให้มหาวิทยาลัยของตนเองอยู่รอดปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม

    ประการที่หกมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่สามมารถปรับตัวได้ก็จะล้มหายตายจากไปซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดาของการเปลี่ยนแปลงในแบบเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกมาล่วงหน้าไทยมาก่อนหลายปีแล้ว สถาบันฯ ของไทยจึงควรตั้งรับและยอมรับความจริงของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เมื่อสถาบันฯ เก่าที่อยู่ได้ตายไป ก็จะมีสถาบันฯใหม่ หรือแม้กระทั่งสถาบันฯจากต่างประเทศเข้าทดแทน เป็นการสร้างโอกาสและทางเลือกให้กับผู้เรียนมากขึ้น 

     ประการสุดท้ายความเป็นเอกเทศอิสระเสรีทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา จะเป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมมากขึ้น ตราบใดที่รัฐเข้าแทรกแซงน้อย แนวคิดใหม่นอกกระแส หรือกระแสรองก็ย่อมมีโอกาสเติบโตมากขึ้นในทุกสายวิชาการ ไม่ว่าสังคมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ก็ตาม ที่ผ่านมาปัญหาสถาบันการศึกษาอยู่ใต้อำนาจรัฐ คืออุปสรรคการกำเนิดนวัตกรรมเหตุผลสำคัญ เพราะสถาบันฯเหล่านั้นตกเป็นเบี้ยล่างของรัฐอำนาจนิยม ดังนั้นโอกาสของนวัตกรรมด้านต่างๆ ความคิดใหม่ๆ ย่อมแทบไม่มี

    ดังนี้แล้ว ผู้เขียนเห็นว่า ถึงคราวที่รัฐไทยควรถอนสมอออกไปจากท่าเรือทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยด่วน หากควรปล่อยให้เป็นเอกเทศและเป็นอิสระทางความคิดจริงๆ เปิดให้ประชาชนฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายรับมีโอกาสได้รับความยุติธรรมจากการเป็นผู้ให้ (จ่ายภาษี) และการเป็นผู้รับ(ผู้เรียน) อย่างเท่าเทียมในฐานะความเป็นราษฎรเท่ากัน โดยทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน การศึกษาในชั้นอุดมศึกษาในไม่มีความจำเป็นต้องดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่ด้วยซ้ำ และหากรัฐจะสนับสนุนการศึกษาแล้ว ควรเน้นไปที่ระดับปฐมวัยที่มีความจำเป็นมากกว่า โดยควรทิ้งทั้งงบประมาณ บุคลากรที่มีคุณภาพไปที่ระดับปฐมวัยน่าจะดีกว่าระดับอุดมศึกษาเป็นไหนๆ

    การศึกษาระดับอุดมศึกษานั้นเปรียบเสมือนการบำรุง รดน้ำต้นไม้ที่โตแล้ว ความจำเป็นแทบไม่มี ขณะที่การศึกษาในระดับปฐมวัยเหมือนการบำรุง รดน้ำต้นไม้ที่ยังเล็ก ซึ่งยังจะต้องดูแลบำรุงอย่างดีเพื่อให้ต้นไม้เล็กๆ นั้นอยู่รอดปลอดภัยเป็นต้นไม้ใหญ่แข็งแรงได้...

     

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    Constitution คือ สังวิธาน

    0
    0

    ในปัจจุบันนี้ เมื่อพูดถึงคำว่า “constitution” เราก็มักจะนึกถึง “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” ซึ่งบัญญัติเป็นภาษาไทยว่า “รัฐธรรมนูญ” ใช่ไหมครับ แน่นอนครับ คำว่า “รัฐธรรมนูญ” เป็นคำที่ถูกบัญญัติมาใช้แทน “constitution” เมื่อคณะราษฎรได้จัดทำ “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” หลังปฏิวัติการปกครองจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” ใน ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) 

    ความหมายโดยนัยของคำว่า “constitution” และ “รัฐธรรมนูญ” หมายถึง “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” ส่วนความหมายโดยตรงของ “รัฐธรรมนูญ” เมื่ออ้างอิงข้อมูลจาก “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554” สามารถแยกคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ออกเป็น 3 คำ ได้แก่ “รัฐ” “ธรรม” และ “มนูญ” คำว่า “รัฐ” เกิดจากการย่อรูปของ “รฏฺฐ” ในภาษาบาลีซึ่งมีความหมายว่า “ประเทศ” คำว่า “ธรรม” เกิดจากการขยายรูปของ “ธรฺม” ในภาษาสันสกฤตซึ่งให้ความหมายในบริบทนี้ว่า “กฎหมาย” และคำว่า “มนูญ” เกิดจากการย่อรูปและเปลี่ยนเสียงสระของ “มนุญฺญ” ในภาษาบาลีซึ่งมีความหมายว่า “เป็นที่พอใจ” เมื่อนำคำทั้ง 3 คำนี้มารวมกันก็เกิดการกลืนรูป “ม” ของคำว่า “ธรรม” และ “มนูญ” เกิดเป็น “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งให้ความหมายโดยตรงได้ว่า “กฎหมายของรัฐอันเป็นที่พอใจ”

    คำว่า “constitution” มาจากภาษาละตินว่า “constitutio” ตามหนังสือ “The Historical and Institutional Context of Roman Law” ซึ่งเขียนโดย George Mousourakis ได้อธิบายว่า “แต่เดิมเป็นคำใช้เรียกข้อบังคับและคำสั่งในสมัยจักรวรรดิโรมัน ต่อมาถูกนำมาใช้เป็นชื่อของคำสั่งของสันตะปาปาผู้เป็นประมุขแห่งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก” คำว่า “constitutio” เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ  “An Elementary Latin Dictionary” ซึ่งเขียนโดย Charlton Thomas Lewis สามารถแยกคำว่า “constitutio” ออกเป็น “constituo” และ suffix “-tio” คำว่า “constituo” มาจาก prefix “con-” แปลว่า “ร่วมกัน” และ “statuo” แปลว่า “จัดทำ” เมื่อนำมารวมกันเกิดเป็นกริยาให้ความหมายว่า “จัดทำ” และ suffix “-tio” ที่นำมาต่อท้ายก็ทำให้คำกริยากลายเป็นนามจึงให้ความหมายโดยตรงได้ว่า “การจัดทำร่วมกัน”

    นับแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา มีการสร้าง “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” แบบเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นในหลายประเทศ “สหรัฐอเมริกา” และ “ฝรั่งเศส” ได้จัดทำกฎหมายดังกล่าวขึ้นในชื่อ “constitution” ใน ค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2330) และ ค.ศ. 1791 (พ.ศ. 2334) ตามลำดับ การใช้ชื่อว่า “constitution” เป็นไปเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” เกิดจาก “การจัดทำร่วมกันของประชาชน” 

    ต่อมาใน ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) ประเทศ “อินเดีย” ได้รับอิสรภาพจาก “สหราชอาณาจักร” และ      ได้ประกาศใช้ “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” ซึ่งถูกร่างโดยคณะกรรมการร่างอันมี B. R. Ambedkar เป็นประธาน ใน ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) คณะกรรมการร่างดังกล่าวได้นำความหมายของคำว่า “constitution” มาใช้เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” เกิดจาก “การจัดทำร่วมกันของประชาชน” โดยบัญญัติเป็นภาษาฮินดีจากภาษาสันสกฤตว่า “संविधान” ซึ่งปริวรรตเป็นอักษรไทยได้ว่า “สํวิธาน” คำว่า “สํวิธาน” เมื่ออ้างอิงข้อมูลจาก “A Sanskrit-English Dictionary” ซึ่งเขียนโดย Sir M. Monier-Williams สามารถแยกคำว่า “สํวิธาน” ออกเป็น 2 คำ ได้แก่ “สํ” และ “วิธาน” คำว่า “สํ” แปลว่า “ร่วมกัน” และคำว่า “วิธาน” ซึ่งให้ความหมายในบริบทนี้ว่า “การจัดทำ” เมื่อนำมารวมกันจึงได้ความหมายโดยตรงว่า “การจัดทำร่วมกัน” ซึ่งสอดคล้องกับความหมายโดยตรงของคำว่า “constitution”

    จากที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น ทั้ง “constitution” และ “รัฐธรรมนูญ” ก็ล้วนถูกนำมาให้ความหมายโดยนัยว่าเป็น “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” หากแต่ความหมายโดยตรงของทั้ง 2 คำ นั้นแตกต่างกัน เมื่อต้องตัดสินใจว่าจะใช้คำใดเป็นชื่อของ “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย” สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงก็คือ “ความหมายโดยตรงของชื่อกฎหมายที่จะบัญญัติขึ้นนั้นสื่อความหมายถึงการมีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชนมากน้อยเพียงใด” เมื่อเทียบความหมายโดยตรงของคำว่า “รัฐธรรมนูญ” กับ “constitution” หรือ “สํวิธาน” จะพบว่า “รัฐธรรมนูญ” ให้ความหมายว่าเป็น “กฎหมายของรัฐอันเป็นที่พอใจ” ในขณะที่ “constitution” หรือ “สํวิธาน” ให้ความหมายว่าเป็น “การจัดทำร่วมกันของประชาชน” เมื่อพิจารณาความหมายโดยตรงของทั้ง 2 คำนี้ ผมมีความเห็นว่า “constitution” หรือ “สํวิธาน” สามารถสื่อความหมายถึง “การมีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชน” ได้มากกว่า “รัฐธรรมนูญ” ผมจึงเห็นควรให้บัญญัติชื่อของ “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” เป็น “สังวิธาน” ซึ่งเป็นการสะกดตามหลักการสนธิคำภาษาบาลีสันสกฤตที่นำมาใช้ในภาษาไทย เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า “กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ” เกิดจาก “การจัดทำร่วมกันของประชาชน
     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    รอบโลกแรงงาน พฤศจิกายน 2020

    0
    0

    Walmart เลิกใช้หุ่นยนต์ตรวจสอบชั้นวางสินค้า ให้คนกลับมาทำหน้าที่แทน

    ห้างสรรพสินค้า Walmart ของสหรัฐฯ ประกาศยุติการใช้หุ่นยนต์ตรวจสอบสินค้าบนชั้นวาง หลังมีการทดลองใช้งานไปบ้างแล้วในห้างสรรพสินค้าบางแห่งของทาง Walmart โดยการตัดสินใจยุติสัญญาทางธุรกิจดังกล่าวมีขึ้นหลังทาง Walmart พบว่า พนักงานที่เป็นบุคคนสามารถทำงานดังกล่าวได้ดีและมีประสิทธิภาพเทียบเท่าหุ่นยนต์

    ที่มา: BBC, 3/11/2020

    วิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19 เปลี่ยนขั้ว ผู้ชายออสเตรเลียเสี่ยงตกงานเพิ่ม

    จากการวิเคราะห์ที่ได้รับการเปิดเผยโดยสมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลกลางออสเตรเลีย ระบุว่า ผู้ชายอาจเผชิญกับภาวะการว่างงานที่ถาโถมเข้ามามากขึ้น จากผลกระทบที่ยาวนานของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา ที่ขณะนี้เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่มีผู้หญิงเป็นส่วนมาก มาเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ชายทำงานเป็นส่วนใหญ่

    นางแคลร์ โอ นีล (Clair O’Neil) ได้ใช้โอกาสในการกล่าวสุนทรพจน์ ที่สถาบันแม็กเคล (McKell Institute)  เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเตือนว่าผู้ชายในวัยทำงานกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเพิ่มมากขึ้น ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจทวีความรุนแรง

    ก่อนหน้านี้ ผู้หญิงวัยทำงานนั้นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด จากการที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องปิดตัวลงจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา และมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล โดยงานวิจัยดังกล่าวยังได้ประมาณว่า หากมีการหยุดจ่ายเงินชดเชยรายได้จ๊อบคีปเปอร์ (JobKeeper) และเงินสงเคราะห์ค่าจ้างสำหรับผู้ว่างงานจ๊อบซีกเกอร์ (JobSeeker) ในจำนวนผู้ตกงานในระดับไม่เกิน 500,000 ตำแหน่ง จะพบคนทำงานมากกว่า 60% ที่เป็นผู้ชาย

    ที่มา: SBS, 4/11/2020

    อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อย ในเดือน ต.ค. 2020

    สถานการณ์การจ้างงานในสหรัฐฯ เริ่มกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในเดือน ต.ค. ด้วยตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้น 638,000 ตำแหน่ง ซึ่งส่งผลให้อัตราการว่างงานทั่วประเทศลดลงมาอยู่ที่ระดับ 6.9% แม้ทิศทางของตัวเลขล่าสุดจะส่งสัญญาณบวกเกี่ยวกับตลาดแรงงานสหรัฐฯ อัตราการฟื้นตัวนั้นยังไม่เร็วพอที่จะช่วยชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนจากผลกระทบของสภาพเศรษฐกิจถดถอย เพราะวิกฤตการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่มากนัก

    ตัวเลขจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า จำนวนคนว่างงานในเวลานี้ยังสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้นในเดือนมีนาคมอยู่ราว 10.1 ล้านคน และคาดด้วยว่า หากอัตราการฟื้นตัวยังคงเป็นไปในระดับปัจจุบัน สถานการณ์จะกลับสู่ระดับดังกล่าวอีกครั้งในเดือน ก.พ. 2022 เป็นอย่างเร็ว

    นักเศรษฐศาสตร์กังวลว่า หากอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกนาน โอกาสที่ผู้ว่างงานจะสามารถหางานใหม่ได้จะยิ่งลดลงไปเรื่อย ๆ เพราะนายจ้างมักไม่ต้องการจ้างผู้ที่ว่างงานเป็นเวลาหลายเดือน

    ที่มา: VOA, 6/11/2020

    หน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาต่างชาติในการหางาน

    ศูนย์จัดหางานและมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวได้ตกลงจะประสานงานกันเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาต่างชาติในการหางานที่ญี่ปุ่น ศูนย์จัดหางาน Hello Work เขตชินจูกูและมหาวิทยาลัยโซเฟียบรรลุข้อตกลง ซึ่งเป็นความร่วมมือในลักษณะนี้ครั้งแรกในญี่ปุ่น โดยมหาวิทยาลัยโซเฟียมีนักศึกษาต่างชาติกำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบันราว 1,500 คน ทางศูนย์และมหาวิทยาลัยโซเฟียจะทำแบบสำรวจในหมู่นักศึกษาต่างชาติเหล่านี้เรื่องความคาดหวังของพวกเขาเกี่ยวกับการหางานในญี่ปุ่นและจะพยายามช่วยเหลือเพื่อให้ได้งานหลังจบการศึกษา

    เจ้าหน้าที่จะให้ข้อมูลนักศึกษาต่างชาติเกี่ยวกับกฎเกณฑ์และช่วงเวลาของกระบวนการหางานในญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังจะมีการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฝึกงานต่าง ๆ และมหกรรมจัดหางานที่จัดขึ้นสำหรับนักศึกษาต่างชาติ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นวางแผนจะส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะนี้กับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ

    ทั้งนี้ แบบสำรวจเมื่อปี 2561 ที่ครอบคลุมนักศึกษาต่างชาติราว 5,000 คนชี้ว่าราวร้อยละ 65 ต้องการทำงานในญี่ปุ่น แต่ว่ามีนักศึกษาต่างชาติเพียงร้อยละ 30 ที่จบการศึกษาเมื่อเดือนมีนาคมปี 2562 และได้รับการว่าจ้าง

    ที่มา: NHK World Japan, 7/11/2020

    สหภาพแรงงานครูฮังการี ขอร้องผู้ปกครองอย่าให้บุตรหลานไปสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียน

    สหภาพแรงงานครู PDSZ ของฮังการี เผยแพร่แถลงการณ์ขอร้องผู้ปกครองอย่าให้บุตรหลานไปสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียน โดยระบุว่าว่าได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่กังวลเรื่องมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม การตรวจหาเชื้อ COVID-19 และการตามหาผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยยังไม่ดีพอ

    ทั้งนี้ฮังการีมีอัตราผู้ป่วย COVID-19 เข้าโรงพยาบาลสูงที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป แต่รัฐบาลฮังการีต้องการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว จึงไม่ยอมประกาศปิดเมืองหรือล็อกดาวน์ทั้งประเทศอย่างเข้มงวด โดยยังคงให้โรงเรียน ร้านค้า และร้านอาหารทุกแห่งเปิดตามปกติ รวมถึงการแข่งขันฟุตบอล แม้ว่าได้ประกาศห้ามออกนอกเคหสถานยามวิกาลหรือเคอร์ฟิวและปิดสถานบันเทิงก็ตาม

    ที่มา: news.yahoo.com, 9/11/2020

    ส.ส.ไต้หวันเสนอญัตติ ขยายระยะเวลาทำงานของผู้อนุบาลไม่จำกัด 14 ปี

    สมาชิกสภานิติบัญญัติสังกัดพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านจำนวน 18 คน ลงนามเสนอญัตติแก้ไขกฎหมายการจ้างงานมาตรา 52 ว่าด้วยการขยายระยะเวลาการทำงานของแรงงานต่างชาติในตำแหน่งผู้อนุบาล ให้สามารถอยู่ทำงานได้เกินกว่า 14 ปี ขณะเดียวกันให้ยกเลิกข้อกำหนดต้องให้รอ 3 เดือน จึงจะยื่นขอนำเข้าผู้อนุบาลคนใหม่ได้ หากผู้อนุบาลต่างชาติหลบหนีและไม่ได้มีสาเหตุมาจากนายจ้าง ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเห็นว่า ผู้อนุบาลหลบหนีด้วยเรื่องส่วนตัว แต่ลงโทษผู้ป่วยไร้คนอนุบาลดูแลนานถึง 3 เดือน อย่างไรก็ตามการเสนอญัตติแก้กฎหมายการจ้างงาน ขยายระยะเวลาการทำงานของผู้อนุบาลต่างชาติ ไม่ได้รวมถึงแรงงานต่างชาติภาคการผลิตที่นายจ้างก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน

    นายจ้างที่ว่าจ้างผู้อนุบาลจำนวนมากสะท้อนปัญหาว่า ผู้ป่วยและผู้อนุบาลต่างชาติต้องใช้เวลานาน กว่าจะสร้างความผูกพันและไว้วางใจซึ่งกันและกันได้ แต่เมื่อมีความผูกพันกันแล้ว ผู้อนุบาลต้องเดินทางกลับประเทศ เพราะระยะเวลาทำงานครบ 14 ปี ส่งผลต่ออาการของผู้ป่วย และที่รับไม่ได้คือ เมื่อผู้อนุบาลหลบหนีด้วยสาเหตุส่วนตัว ไม่ได้เกิดจากนายจ้าง แม้จะอนุญาตให้ว่าจ้างผู้อนุบาลรายใหม่ได้ แต่ต้องรอเวลา 3 เดือน จึงจะยื่นขออนุญาตว่าจ้างได้ เท่ากับเป็นการลงโทษนายจ้าง เพราะช่วงเว้นว่าง 3 เดือนนี้ นายจ้างไม่สามารถหาผู้อนุบาลคนใหม่มาดูแลได้

    ที่มา: Radio Taiwan International, 13/11/2020

    นักศึกษาจบใหม่ของญี่ปุ่นในปีหน้าจะเผชิญกับความยากลำบากในการหางาน

    นักศึกษามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นพบว่าการหางานทำเป็นเรื่องยากมากขึ้น เนื่องจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจนักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษาในเดือน มี.ค. 2020 หน้าจำนวน 4,770 คน จาก 62 มหาวิทยาลัย

    ผลการสำรวจพบว่าเพียงร้อยละ 69.8 ได้รับข้อเสนอให้ทำงานแล้ว ณ วันที่ 1 ต.ค. 2020 ซึ่งลดลง 7 จุดจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 นับเป็นการลดลงอย่างมากที่สุดจากข้อมูลเดือนตุลาคมของทุกปี นับตั้งแต่การลดลงเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2009 ที่มีสาเหตุจากวิกฤติการเงินโลก บรรดาเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า นักศึกษาบางคนกำลังถูกบีบให้ใช้เวลาในการหางานทำมากขึ้น หลังจากถูกผู้ว่าจ้างแจ้งยกเลิกรับเข้าทำงาน และว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อให้การช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องนี้

    ที่มา: NHK World Japan, 18/11/2020

    เวียดนามยืดอายุเกษียณงานรับมือสังคมสูงวัย

    กระทรวงแรงงานเวียดนามเผยว่ามติรัฐสภาอนุมัติให้ ประมวลกฎหมายแรงงานสามารถปรับเพิ่มอายุเกษียณงานจาก 55 ปี เป็น 60 ปี สำหรับผู้หญิง และจาก 60 ปี ขยับเพิ่มเป็น 62 ปี สำหรับผู้ชาย ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป โดยได้วางกรอบเวลาสำหรับการปรับเพิ่มอายุเกษียณงานจนถึงปี 2035 มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2021 ซึ่งที่ผ่านมาผู้ชายสามารถเกษียณอายุได้ที่ 60 ปี 3 เดือน และผู้หญิงที่ 55 ปี 4 เดือน

    ที่มา: Asian Insurance Review, 25/11/2020

    สหภาพแรงงานเรียกร้องร้านค้าปลีกสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการป้องกัน COVID-19 แก่พนักงานช่วงวันขอบคุณพระเจ้า

    สหภาพแรงงานระหว่างประเทศด้านอาหารและการค้า (UFCW) ที่มีสมาชิกราว 1.3 ล้านคน ได้เรียกร้องให้ร้านค้าปลีกต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการป้องกัน COVID-19 ให้กับพนักงาน ในช่วงวันขอบคุณพระเจ้า หากไม่ดำเนินการทันที คนงานที่มีความสำคัญจำนวนมากอาจล้มป่วยและถึงขั้นเสียชีวิตได้

    นอกจากนี้ UFCW ยังระบุว่าคนทำงานแนวหน้าหวาดกลัวเพราะนายจ้างและผู้นำที่ได้รับการเลือกมาไม่ได้ปกป้องพวกเขาและหยุดยั้งการแพร่ระบาดอย่างเพียงพอ

    ที่มา: supermarketnews.com, 26/11/2020

    มาเลเซียรุกตรวจ COVID-19 แรงงานข้ามชาติ

    Ismail Sabri Yaakob รัฐมนตรีอาวุโสด้านกิจการความมั่นคงของมาเลเซีย แถลงว่านับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป แรงงานข้ามชาติต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตามโรงพยาบาลหรือสถานที่ซึ่งกำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข โดยรัฐบาลมาเลเซียจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าอุปกรณ์ตรวจครั้งแรก ซึ่งราคาอยู่ที่ 60 ริงกิต (ราว 500 บาท)

    ส่วนนายจ้างต้องรับผิดชอบค่าบริการอื่นตั้งแต่ต้น และค่าอุปกรณ์การตรวจครั้งต่อไปด้วย โดยพื้นที่นำร่องได้แก่ รัฐสลังงอร์ รัฐเนอเกอรีเซิมบีลัน รัฐปะหัง รัฐซาบาห์ ดินแดนสหพันธ์ลาบวน และกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรมนุษย์จะประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมในอนาคต

    นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซียรายงานสถิติเกี่ยวกับโรค COVID-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงล่าสุด ยืนยันผู้ป่วยใหม่ 1,109 คน เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเป็นอย่างน้อย 61,861 คน รักษาหายแล้ว 50,204 คน เพิ่มขึ้น 1,148 คน และเสียชีวิตอย่างน้อย 350 คน เพิ่มขึ้น 2 คน

    ที่มา: The Straits Times, 26/11/2020

    Disney ขยายแผนปลดพนักงานเพิ่มเป็น 32,000 ตำแหน่ง

    วอลท์ ดิสนีย์ (Walt Disney Co.) เปิดเผยว่าเตรียมปลดพนักงานเพิ่มเป็น 32,000 ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับสวนสนุก จากแผนเดิมที่จะปลดพนักงาน 28,000 ตำแหน่งเมื่อช่วงเดือนกันยายน และจะเริ่มต้นช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ตามรายงานของรอยเตอร์

    การปลดพนักงานที่เพิ่มขึ้นมาจากวิกฤตโควิด-19 ที่ดำเนินมาตลอดทั้งปี ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสวนสนุกลดฮวบลงไป

    โดยเมื่อต้นเดือน พ.ย. 2020 ดิสนีย์สั่งพักงานพนักงานเพิ่มอีกจำนวนหนึ่งที่สวนสนุกในรัฐแคลิฟอร์เนีย จากที่ทางการยังไม่มีความชัดเจนว่าจะกลับมาเปิดสวนสนุกได้เมื่อไหร่ และดิสนีย์แลนด์ในกรุงปารีสถูกสั่งปิดรอบสองเมื่อเดือนตุลาคม จากมาตรการล็อคดาวน์รอบใหม่ในฝรั่งเศส

    ตอนนี้สวนสนุกดิสนีย์ในรัฐฟลอริดากลับมาเปิดให้บริการ เช่นเดียวกับดิสนีย์แลนด์ในนครเซี่ยงไฮ้ ที่ฮ่องกง และที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น พร้อมด้วยมาตรการสวมหน้ากากและรักษาระยะห่างทางสังคมระหว่างอยู่ในสวนสนุก

    ที่มา: VOA, 27/11/2020

    ร้านอาหารและโรงแรมของญี่ปุ่นต้องตัดลดค่าจ้างเนื่องจากการระบาดของ COVID-19

    ผลสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่าบริษัทต่าง ๆ ของญี่ปุ่นได้ดำเนินการตัดลดค่าจ้าง เนื่องจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ยังคงเกิดขึ้นอยู่

    ผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้สอบถามบริษัทกว่า 1,600 แห่งในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม โดยรวมแล้ว ราวร้อยละ 11 ของบริษัทที่สำรวจนั้นได้ตัดลดค่าจ้างหรือมีแผนที่จะตัดลด

    สถานการณ์นี้ย่ำแย่อย่างมากโดยเฉพาะอุตสาหกรรมร้านอาหารและโรงแรม โดยโรงแรมและร้านอาหารกว่าร้อยละ 23 ได้ตัดลดหรือมีแผนที่จะตัดลดค่าจ้างอย่างน้อยเป็นการชั่วคราว

    สำหรับอุตสาหกรรมการเงินและประกันภัยก็มีการตัดลดถึงเกือบร้อยละ 23 ด้านภาคการศึกษาก็มีการตัดลดถึงเกือบร้อยละ 19

    เจ้าหน้าที่ของทางกระทรวงเตือนว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่นี้อาจย่ำแย่ลงอีก

    ที่มา: NHK World Japan, 26/11/2020

    ไต้หวันประกาศระงับการนำเข้าแรงงานอินโดนีเซียทั้งหมดนาน 2 สัปดาห์ เนื่องจากพบติด COVID-19 มากขึ้น

    ทางการไต้หวันจึงได้ประกาศระงับการนำเข้าแรงงานอินโดนีเซียทั้งหมดเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 4-17 ธ.ค. 2020 เนื่องจากพบติด COVID-19 มากขึ้น โดยจะพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอินโดนีเซียและประเมินว่าตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 2020 จะปรับใช้มาตรการอย่างไรต่อไป

    ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ จะต้องมีผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส (วิธี PCR) ภายใน 3 วันก่อนขึ้นเครื่องบิน นอกจากนี้หากตรวจพบว่ามีการปลอมแปลงใบรายงานผลการตรวจเชื้อ จะถูกลงโทษปรับตั้งแต่ 10,000-150,000 เหรียญไต้หวัน

    ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคติดต่อไต้หวัน ระบุว่า หากมีแรงงานต่างชาติที่มาจากศูนย์ฝึกอบรมแรงงานเดียวกันตรวจพบเชื้อโควิด-19 มากกว่า 2 คนขึ้นไป บริษัทจัดหางานจะถูกขึ้นบัญชีดำไม่ให้ดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างชาติเข้ามาในไต้หวันอีก ขณะนี้มีบริษัทจัดหางาน 8 แห่ง ที่ถูกระงับการนำเข้าแรงงานต่างชาติแล้ว

    ที่มา: Radio Taiwan International, 30/11/2020

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    ไต้หวันมีความสำคัญต่อประชาคมโลกในการปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์

    0
    0

     

    อาชญากรรมทางไซเบอร์ไร้พรมแดน ไต้หวันจึงต้องการความร่วมมือกับนานาประเทศ 
    เนื่องจากปัจจุบันใคร ๆ ก็สามารถใช้อินเตอร์เน็ตเข้าถึงอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตทุกที่ในโลก จึงเกิดเป็นช่องว่างให้กลุ่มอาชญากรจึงฉวยโอกาสใช้นามแฝงและเสรีภาพในโลกออนไลน์ในการปกปิดตัวตนที่แท้จริงเพื่อกระทำความผิดต่าง ๆ เช่นการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็ก การละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การขโมยข้อมูลความลับทางการค้า อีเมลหลอกลวงข้อมูล (Phishing) และมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (ransomware) เป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นบ่อย อาชญากรยังใช้สกุลเงินดิจิตอล (Virtual Currency) ในการทำธุรกรรมและการฟอกเงิน เนื่องจากอาญากรรมทางไซเบอร์ไร้พรมแดน ไต้หวันยินดีที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานสืบสวนสอบสวนและผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์จากนานาประเทศ พร้อมแบ่งปันประสบการณ์จากห้องปฏิบัติการพิสูจน์พยานหลักฐานทางดิจิทัล (Digital forensics Laboratory) ที่ได้มาตรฐาน ISO 17025 เพื่อร่วมต่อต้านและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ (cybercrime) 

    ตั้งแต่โรคโควิด-19 (COVID-19) เริ่มระบาดในช่วงปลายปี พ.ศ.2562 และแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลก เนื่องจากรัฐบาลไต้หวันได้ออกมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างรวดเร็วและประชาชนชาวไต้หวันให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ไต้หวันสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ประชาคมโลกกำลังต่อสู้กับโรคโควิด-19 อย่างเต็มความสามารถ โลกไซเบอร์ก็กำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้วยเช่นกัน รายงานภัยคุกคามทางไซเบอร์ในช่วงกลางปี พ.ศ.2563 (The Cyber Attack Trends: 2020 Mid-Year Report) ซึ่งเผยแพร่ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2563 โดยบริษัท เช็ค พอยท์ ซอฟแวร์ เทคโนโลยีส์ จำกัด (Check Point Software Technologies Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านความมั่นคงและปลอดภัยด้านไอที (IT Security) ได้ระบุในรายงานว่า เว็บไซต์หลอกหลวงข้อมูล (phishing) และการโจมตีของโปรแกรมประสงค์ร้ายที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ทั่วโลกนั้นได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากน้อยกว่า 5,000 ราย ต่อสัปดาห์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200,000 ราย ต่อสัปดาห์ในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2563 

    ในขณะที่โรคโควิด-19 เป็นภัยร้ายแรงต่อชีวิตและความปลอดภัยของมนุษย์ แต่อาชญากรรมทางไซเบอร์อาจจะละเมิดและสร้างความเสียหายอย่างมหันต์ต่อความมั่นคงของประเทศ การดำเนินธุรกิจ และความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนตัวและทรัพย์สินบุคคล ไต้หวันนอกจากจะประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในการเผชิญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และความท้าทายทั้งหลายในโลกไซเบอร์นั้น ไต้หวันได้มุ่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านความมั่นคงและปลอดภัยด้านไอที (IT Security) และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมความมั่นคงและปลอดภัยด้านไอที (IT Security Industry) และสร้างด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม ด้านความปลอดภัยของข้อมูล (Innovative Technologies) อีกด้วย ไต้หวันมีส่วนร่วมในการต่อต้านโรคระบาดและอาชญากรรมไซเบอร์มาโดยตลอด

    เนื่องจากการโจรกรรมข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ระดับชาติแพร่หลาย ดังนั้นจะขาดการให้ข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองไต้หวันไม่ได้ 

    ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2563 กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (The US Department of Homeland Security) สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI: Federal Bureau of Investigation) และกระทรวงกลาโหม (Department of Defense) ของสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยรายงานวิเคราะห์มัลแวร์ (Malware Analysis Report) ว่ากลุ่มอาชญากรคอมพิวเตอร์ (hacker) ระดับชาติหนึ่งช่วงนี้ได้ปรับเปลี่ยนโปรแกรม Taidoor ซึ่งเป็นโปรแกรมประสงค์ร้ายที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ในการโจมตี หน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจหลายแห่งของไต้หวันซึ่งเคยถูกโจมตีจากโปรแกรมประสงค์ร้ายดังกล่าว ในปี พ.ศ.2555 และมีข้อสังเกตในรายงานของบริษัทเทรนด์ ไมโคร (Trend Micro Inc.) ว่าผู้ที่ถูกโจมตีจากโปรแกรมประสงค์ร้ายดังกล่าวอยู่ในไต้หวันทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานของรัฐบาลไต้หวัน ในแต่ละเดือน หน่วยงานภาครัฐของไต้หวันถูกโจมตีทางไซเบอร์ (cyberattack) จากต่างประเทศ ประมาณ 20 – 40 ล้านครั้งต่อเดือน ประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้ไต้หวันทราบแหล่งที่มา วิธีการ และโปรแกรมประสงค์ร้ายที่ใช้ในการโจมตี ถ้าหากสามารถร่วมแบ่งปันข้มูลสามารถช่วยใช้ประเทศอื่นเข้าใจรูปแบบการจู่โจมทางไซเบอร์สร้างกลไกแนวป้องกันร่วมกัน และป้องกันมิให้แฮกเกอร์ใช้เซร์ฟเวอร์กระโดดต่างประเทศในการสร้างจุดขาดช่วงในการสืบสวนสอบสวน ทุกประเทศควรร่วมมือกันและแบ่งปันข้อมูลเพื่อปะติปะต่อเส้นทางการโจมตีข้ามชาติ

    ไต้หวันสามารถช่วยต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์
    การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติต้องขอความร่วมมือจากทุกประทศ จึงจะสามารถปราบปรามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไต้หวันและไทยร่วมปราบปรามอาชญากรรม รักษาความปลอดภัยและสุขสวัสดิ์ของประชาชนทั้งสองฝ่าย ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2559 มีการโจรกรรมข้อมูลในระบบธนาคารที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในไต้หวัน โดยมีการถอนเงินเป็นจำนวน 83.27 ล้านดอลลาร์ไต้หวันใหม่ ออกจากตู้เอทีเอ็ม (ATM: Automated Teller Machine) ของธนาคาร First Commercial Bank ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงแต่ได้ติดตามเงินที่ถูกขโมยไปกลับมาได้จำนวน 77.48 ล้านดอลลาร์ไต้หวันใหม่ และกุมผู้ร่วมกระทำความผิดอาชญากรรมได้ 3 ราย คือ นาย Andrejs Peregudovs ชาวลัตเวียร์ นาย Mihail Colibaba ชาวโรมาเนีย และนาย Niklae Penkov ชาวมอลโดวา เหตุการณ์นี้เป็นที่จับตาของประชาคมโลกเป็นอย่างมาก และเดือนกันยายนปีเดียวกัน เหตุการณ์โจรกรรมตู้เอทีเอ็ม (ATM) ที่มีรูปแบบคล้ายกันเกิดขึ้นในประเทศโรมาเนีย และมีผู้ต้องสงสัยคือ นาย Babii ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโจรกรรมข้างต้นที่เกิดขึ้นในไต้หวัน ทางการได้คาดการณ์ว่าเป็นการกระทำโดยกลุ่มอาชญากรเดียวกัน ตำรวจยูโรโพลได้เชิญกรมสอบสวนอาชญากรรมของไต้หวัน (CIB: Taiwan’s Criminal Investigation Bureau) ไปที่ยูโรโพลเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและหลัฐานถึง 3 ครั้ง ทั้ง 2 หน่วยงานได้ร่วมกันก่อตั้ง Operation TaiEX (Technical Assistance and Information Exchange) และโดยมีกองบัญชาการตำรวจสอบสวนอาชญากรรมไต้หวัน หรือ CIB ได้ให้หลักฐานสำคัญกับยูโรโพล ซึ่งช่วยระบุตำแหน่งของนาย Dennys ในประเทศสเปน ซึ่งผู้ต้องสงสัยหลักที่อยู่เบื้องหลังการก่ออาชญากรรมทั้ง 2 ครั้งนี้ต่อมา ยูโรโพลร่วมกับตำรวจสเปนสามารถจับคุมนาย Dennys และทำลายกลุ่มอาชญากรรมได้สำเร็จ 

    การปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ไต้หวันพร้อมและยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะทำให้พื้นที่ไซเบอร์(cyberspace) มีความปลอดภัยมากขึ้น กรุณาสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปีขององค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (Annual INTERPOL General Assembly) ในฐานะผู้สังเกตการณ์ (observer) และการประชุมกลไกและกิจกรรมอบรมต่าง ๆ ขององค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ ขอให้ท่านสนับสนุนไต้หวันมีส่วนร่วมในองค์กรระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและที่สำคัญ เพื่อร่วมปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ได้ Taiwan Can Help!

     

    หวง หมิงเจา (Huang Ming-chao)เป็นผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนคดีอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) 

    แปลและเผยแพร่โดย ฝ่ายสารนิเทศ Information Division Taipei Economic & Cultural office in Thailand สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย
    40/64 ซ.วิภาวดีรังสิต 66 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 

    ที่มาภาพ: http://intendesign.com/2020/02/24/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99/

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    กานดา นาคน้อย: ถดถอยแล้วนะ!

    0
    0

    เร็วๆนี้มีรายงานข่าวว่าจีดีพีไทยในไตรมาสที่ 3 หดตัว 6.4% [1]ต่อเนื่องจากการหดตัว 12.1% ในไตรมาสที่ 2 และการหดตัว 2% ในไตรมาสที่ 1 ตามลำดับ ทำให้เกิดคำถามว่า ไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วหรือยัง? ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มเมื่อไร? นิยามอย่างไร?

    นิยามของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ

    สื่อมวลชนด้านการเงินการธนาคารมักนิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยว่าเป็น“ภาวะที่จีดีพีหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส” แต่นักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่สหรัฐฯไม่ได้ใช้นิยามนี้ เพราะนิยามนี้มีความหมายโดยนัยว่าถ้าจีดีพีเริ่มขยายตัวเพียงไตรมาสเดียวหลังการหดตัวก็จบสภาวะถดถอยแล้ว ดังนั้นนิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมาตรฐานอเมริกันจึงเข้มงวดกว่านั้น

    หน้าที่นิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่สหรัฐฯเป็นของคณะกรรมการกำหนดช่วงเวลาตามวัฎจักรเศรษฐกิจ (Business Cycle Dating Committee) [2]ซึ่งอยู่ในสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ (National Bureau of Economic Research) คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ใช่ข้าราชการและไม่ใช่เจ้าหน้าที่แบงก์ชาติเพื่อความเป็นอิสระจากภาครัฐ สถาบันวิจัยดังกล่าวเป็นองค์กรอิสระ เจ้าหน้าที่แบงก์ชาติที่ไม่เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นสมาชิกไม่ได้ แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกก่อนลาออกไปอยู่แบงก์ชาติสามารถเป็นสมาชิกต่อไปได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ภาครัฐแทรกแซงการวิจัยและประเมินเศรษฐกิจ

    คณะกรรมการดังกล่าวนิยามว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือ“เวลาหลังการขยายตัวสูงสุดถึงตอนที่หดตัวต่ำสุด” ดังนั้นการนิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นการนิยามย้อนหลังเสมอ คณะกรรมการดังกล่าวใช้ทั้งทั้งจีดีพีซึ่งวัดผลผลิตและสถิติจีดีไอซึ่งวัดรายได้ รวมทั้งสถิติการจ้างงานด้วย โดยรวมประเมินด้วย 3 มิติ “ความลึก การแพร่กระจาย และระยะเวลา” (depth, diffusion and duration) บางครั้งจีดีพีลดลงเพียงไตรมาสเดียวก็จัดเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยถ้าความลึกและการแพร่กระจายรุนแรง เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังไตรมาสที่ 2 พศ. 2544 และหลังไตรมาสที่ 4 พศ.2550 [3]ล่าสุดคณะกรรมการดังกล่าวประกาศเมื่อเดือนมิถุยายนปีนี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มหลังไตรมาสที่ 4 พศ.2562 ถ้าวัดด้วยสถิติรายเดือนก็จัดว่าเริ่มถดถอยหลังเดือนกุมภาพันธ์ 2563 [4] 

    นิยามของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไทย

    ไม่ชัดเจนว่าหน้าที่นิยามภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไทยเป็นหน้าที่ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) หรือแบงก์ชาติ หรือสถาบันวิจัยไหน? อย่างไรก็ดี น่าสนใจว่าผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนก่อนได้พาดพิงถึงภาวะถดถอยไว้เพียง 2 วันก่อนหมดวาระไว้ดังนี้ [5]

    “การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องลงมือทำ ไม่ใช่เวลาหาแนวคิดออกมาเพิ่มเติมแล้ว เพราะถ้าไม่เริ่มทำให้เห็นผลจริงเศรษฐกิจไทยก็จะถดถอยไปเรื่อยๆ และกระทบความเป็นอยู่ของคนไทยในประเทศในระยะยาวตอนนี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันกำหนดทิศทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยออกมาอย่างชัดเจน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง”

    นอกจากนี้ เมื่อลองค้นหาเอกสารจากสภาพัฒน์ก็พบว่าสภาพัฒน์ใช้นิยามว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือภาวะที่จีดีพีหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกันเหมือนสื่อมวลชนด้านการเงินการธนาคาร [6]

    ฉะนั้น ตามนิยามของสภาพัฒน์ ไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วตั้งแต่หลังไตรมาสที่ 4 พศ.2562 หรือตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ในปีนี้

     

    หมายเหตุ

    [1] สภาพัฒน์แถลง GDP ไตรมาส 3/2563 หด -6.4% ปรับคาดทั้งปีดีขึ้นเป็น -6%” ประชาไท 16 พฤศจิกายน 2563: https://prachatai.com/journal/2020/11/90445

    [2] Business Cycle Dating, National Bureau of Economic Research: https://www.nber.org/research/business-cycle-dating

    [3] อัตราเติบโตของจีดีพีสหรัฐอเมริการายไตรมาส เฉดสีเทาคือภาวะเศรษฐกิจถดถอย:  https://fred.stlouisfed.org/series/A191RL1Q225SBEA

    [4] Determination of the February 2020 Peak in US Economic Activity” Business Cycle Dating Committee Announcement June 8, 2020: https://www.nber.org/news/business-cycle-dating-committee-announcement-june-8-2020

    [5]​​​​​​​ “ธปท.จี้รัฐปรับโครงสร้างศก. แก้ปัญหาการกระจุกรายได้ก่อนเผชิญภาวะถดถอย” ข่าวหุ้นธุรกิจ28 กันยายน 2563: https://www.kaohoon.com/content/391117

    [6] “ทำความเข้าใจกับภาวะเศรษฐกิจ” ข่าวสภาพัฒน์ 20 กุมภาพันธ์ 2563:https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=9912

     

    เผยแพร่ครั้งแรกใน:มติชน matichon.co.th/article/news_2458131

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai

    สุรพศ ทวีศักดิ์: ทำไมต้องยกเลิก 112

    0
    0

    การดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับแกนนำราษฎร 12 คน ชัดเจนว่าผู้มีอำนาจรัฐตอบรับข้อเสนอ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” อย่างไร เพราะ 1 ใน 10 ของข้อเสนอปฏิรูปสถาบันคือให้ “ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112” การตอบรับเช่นนี้ คือการเผชิญหน้าระหว่าง “เก่ากับใหม่” อย่างแหลมคม

    เก่าคือสิ่งที่ตกทอดมาจากยุคก่อนสมัยใหม่ (pre-modern) เช่นสถาบันกษัตริย์ ศาสนา และความเชื่ออื่นๆ ทุกสังคมล้วนผ่านประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างเก่ากับใหม่ แต่สังคมอารยะหรือสังคมที่เจริญแล้วคือสังคมที่สามารถยกเลิกอำนาจเผด็จการแบบยุคเก่าของระบบกษัตริย์และศาสนจักรได้ แล้วแทนที่ด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์ หรือถ้ายังมีสถาบันกษัตริย์ก็ต้องเป็นสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ที่ประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบได้

    พูดให้ชัดคือ สิ่งเก่าที่ตกทอดมาจากยุคก่อนสมัยใหม่ เช่น สถาบันกษัตริย์และศาสนาต้องอยู่ภายใต้หลักการและกติกาของโลกสมัยใหม่ หรือยู่ภายใต้การกำกับของหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เทพหรือสมมติเทพที่ศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จแตะต้องไม่ได้เหมือนกษัตริย์ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่คือ “คนเท่ากัน” กับพลเมืองทุกคน เพียงแต่มีสถานะเป็นประมุขของรัฐเท่านั้น

    แต่มาตรา 112 ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับสถานะ “คนเท่ากัน” ของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมมนูญที่ประชาชนมีเสรีภาพตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบ ล้อเลียน เสียดสีได้ เหมือนประชาชนมีเสรีภาพกระทำเช่นนั้นต่อประมุขของรัฐที่เป็นประธานาธิบดี หากเป็นกฎหมายที่ยึดโยงอยู่กับสถานะของกษัตริย์ที่เป็นสมมติเทพศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ อันเป็นสถานะของกษัตริย์ตามคติรัฐพุทธผสมพราหมณ์แบบยุคกลาง

    ดังนั้น จึงถูกแล้วที่เรียกกันว่า “112 คือกฎหมายล่าแม่มด” แบบยุคกลาง เพราะเป็นกฎหมายที่มีไว้ปกป้องสถานะศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ของกษัตริย์ อันเป็นสถานะที่ถูกสถาปนาขึ้นด้วยหลักความเชื่อทางศาสนาแบบยุคกลาง ทำให้การทำผิดกฎหมายนี้มีความหมายเป็น “ความผิดบาป” และถูก “ตีตราบาป” จากรัฐ สังคม ที่ทำงาน ทำให้คนที่ถูกลงโทษด้วยกฎหมายนี้และครอบครัวถูกรังเกียจจากผู้คน ถูกกีดกันจากหน่วยงานราชการและเอกชน ราวกับว่าเขาได้ทำความผิดต่อเทพ หรือพระเจ้าตามความเชื่อของสังคมจารีตยุคกลาง อีกทั้งการเปิดให้ใครก็ได้แจ้งความเอาผิดตามกฎหมายมาตรานี้ จึงเป็นไปได้เสมอที่กฎหมายนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือไล่ล่าทำลายคนเห็นต่างทางการเมือง 

    เมื่อ 112 ผูกโยงกับความเชื่อต่อสถานะศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ที่ถูกสถาปนาขึ้นด้วยศาสนาแบบยุคกลาง การใช้กฎหมายนี้จึงไม่ได้อยู่บนหลักของ “ความเป็นเหตุเป็นผล” (rationality) แต่เป็นเรื่องของ “ศรัทธา” (faith) จึงเป็นกฎหมายที่สร้าง “นักโทษมโนธรรมสำนึก” (prisoner of conscience) หมายถึง 112 ทำให้ปัจเจกบุคคลไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมโนธรรมสำนึกของตนเองได้ นั่นคือ เมื่อปัจเจกบุคคลใช้เหตุผลและมโนธรรมสำนึกของตนเองวินิจฉัยว่ากษัตริย์ทำผิดในเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่นทำผิดหลักการ กติกา มารยาท ประเพณีปฏิบัติของระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เขาก็ไม่สามารถใช้เสรีภาพในการวินิจฉัยตัดสินอย่างเป็นสาธารณะได้ ถ้าใช้เสรีภาพเช่นนั้นเขาย่อมถูกทำให้กลายเป็นนักโทษ 

    ดังนั้น ที่ว่าเป็นนักโทษมโนธรรมสำนึก ก็เพราะว่าเขาเป็นคนผิดและกลายเป็นนักโทษ ไม่ใช่เพราะเขาทำผิดหลักการ กติกาประชาธิปไตย หรือหลักสิทธิมนุษยชน แต่เขาผิดและกลายเป็นนักโทษเพียงเพราะเขาใช้เหตุผล มโนธรรม และเสรีภาพในการแสดงออกที่ “ถูกต้องชอบธรรม” ตามหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากล

    ดังเห็นได้จากแกนนำราษฎร 12 คน ที่ใช้เสรีภาพในการพูด การแสดงออกซึ่งเหตุผลและมโนธรรมสำนึกของตนเองตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากลในการพูดถึงปัญหาสถาบันกษัตริย์และเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และยืนยันให้ปฏิรูปผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งการกระทำเช่นนี้ย่อมไม่ใช่ความผิด การใช้มาตรา 122 ต่างหากที่ทำให้พวกเขาผู้ซึ่งทำสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมกลายเป็นคนผิด เป็นนักโทษ เพียงเพราะพวกเขาใช้เหตุผลและมโนธรรมสำนึกของตนเอง

    เมื่อมองจากจุดยืนของเสรีประชาธิปไตย สิ่งที่บ่งบอกถึง “ความเป็นมนุษย์” ของประชาชนคือ การที่ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพที่จะใช้ความคิด ใช้เหตุผล ใช้มโนธรรมของตนเองตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และวินิจฉัยตัดสินการกระทำใดๆ ของบุคคลสาธารณะที่ใช้อำนาจสาธารณะและภาษีของประชาชนได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นๆ จะเป็นข้าราชการ นักการเมือง หรือประมุขของรัฐก็ตาม การใช้มาตรา 112 ปิดปากประชาชนจึงเป็นการละเมิดความเป็นมนุษย์ของประชาชนอย่างถึงราก

    มองในทางปรัชญาการเมือง มาตรา 112 ที่มีไว้ปกป้องสถานะสมมติเทพศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ของกษัตริย์ คือกฎหมายที่ยึดโยงอยู่กับปรัชญาการเมืองแบบยุคกลางที่ถือว่ากษัตริย์มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ย่อมขัดกับปรัชญาการเมืองแบบเสรีนิยมที่ยืนยันเสรีภาพ ความเสมอภาค และปฏิเสธอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ

    มองในแง่ญาณวิทยา มาตรา 112 คืออุปสรรคในการเข้าถึงความจริง เพราะการจะเข้าถึงความจริงของปัญหาทางการเมืองและอื่นๆ ได้ จำเป็นต้องมีเสรีภาพในการพูด การตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบได้ทุกเรื่อง

    มองในแง่ความยุติธรรม มาตรา 112 ที่ขัดกับหลักเสรีภาพในการพูด การตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบประมุขของรัฐ ย่อมเป็นกฎหมายที่ขัดต่อ “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” อย่างถึงราก เพราะหลักเสรีภาพคือหลักการพื้นฐานของความยุติธรรมสาธารณะในระบอบเสรีประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพ ความยุติธรรมมีไม่ได้

    มองในแง่ศีลธรรม มาตรา 112 ย่อมทำให้ศีลธรรมเป็น “มายา” หรือเป็นเรื่อง “เฟค” เพราะการกำหนดให้ประชาชนสรรเสริญคุณธรรมความดีของชนชั้นปกครองได้ด้านเดียว ตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ หรือเสนอข้อมูลด้านตรงข้ามกับการสรรเสริญไม่ได้ คุณธรรมความดีต่างๆ ที่ยกย่องสรรเสริญกันตามประเณี ก็ย่อมพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นจริงหรือไม่

    สรุป มาตรา 112 คือเงื่อนของของความขัดแย้งระหว่างอำนาจโบราณกับประชาธิปไตยสมัยใหม่ การใช้กฎหมายนี้ปกป้องอำนาจโบราณย่อมทำให้ประชาธิปไตยสมัยใหม่เกิดไม่ได้ เพราะยิ่งทำให้อำนาจแบบโบราณกดทับสิทธิ เสรีภาพอันเป็นแก่นแกนความเป็นมนุษย์ของประชาชน 112 เป็นกฎหมายที่เป็นอุปสรรคปิดกั้นการเข้าถึงความจริง ความยุติธรรม และทำให้ศีลธรรมเฟค การยกเลิก 112 จึงจำเป็นต่อการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชนมีความเป็นคนผู้เป็นเจ้าของสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยได้จริง  

     

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่เฟซบุ๊ก https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์ https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai
    Viewing all 50704 articles
    Browse latest View live