Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

ราคาข้าวและชาวนา กับเสียงที่ไม่มีคนได้ยิน

$
0
0

 


หลายวันที่ผ่านมา ฉันเห็นข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับหนังสือคำสั่งทางปกครองเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าเสียหายในคดีจำนำข้าว จำนวน 35,000 ล้านบาท ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นที่พูดคุยถกเถียงกันในเฟซบุ๊ก

อีกทั้งกรณีของฟลุ๊ก เดอะสตาร์ที่ให้ข่าวว่าจะช่วยบริจาคเงิน 100,000 บาท เพื่อช่วยอดีตนายกยิ่งลักษณ์ ตลอดจนเห็นการแชร์ในประเด็นราคาข้าวที่แสนจะตกต่ำ ของคนในเฟสบุ๊กว่า

 

เหล่านี้ทำให้ฉันรู้สึกว่า เองในฐานะลูกชาวนาและเป็นชาวนาชาวนา ก็อยากจะสื่อสารกับสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจ รวมทั้งเปิดพื้นที่ในการสื่อสาร ในประเด็นเหล่านี้

“ฉันทำนาตั้งแต่จำความได้” แม้ไม่แน่ใจว่าตอนนั้น 4 หรือ 5 ขวบแต่ที่แน่ๆฉันยังไม่เข้าโรงเรียน บางวันพ่อจะปลุกฉันและให้ฉันช่วยจูงวัว จูงควายไปนา โดยเฉพาะฤดูปลูกข้าวและเกี่ยวข้าว ตีสี่ครึ่ง คือเวลาตื่นของเด็กเล็กอย่างฉันและครอบครัว

“ผืนนาของฉัน เป็นดินปนทราย”ปีไหนฝนตกดีเราก็จะได้ทำนาแบบน้ำเต็มนา ฉันชอบเอาตัวแช่น้ำไปด้วย ดำนาไปด้วย เพราะการก้มๆเงยๆ ตากแดดมันไม่ได้สนุกเลย สำหรับเด็กๆอย่างฉัน แต่ถ้าปีไหนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ฉันจะเห็นก้อนทุกข์ปกคลุมทั่วครอบครัว แววตาของแม่จะหม่นเศร้ามากกว่าใคร เพราะแม่รักนา มันเป็นสมบัติชิ้นเดียวที่บรรพบุรุษเหลือไว้ให้ลูกสาวอย่างแม่ นอกเหนือจากสายเลือดลูกชาวนาที่เข้มข้นกว่าสิ่งใด

นาเรา“ไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งน้ำและไม่มีคลองชลประทาน” ชีวิตของเราจึงอยู่ในเงื้อมมือ ของธรรมชาติ 100% ตัวแปรที่สำคัญที่สุด คือ ฝนนั่นเอง และไม่เพียงแต่ฝนต้องตกตามฤดูกาลแต่ต้องมีปริมาณที่พอดี เพราะปีไหนไม่มีฝน คือ ไม่มีข้าว ถ้ามากไปก็ท่วม น้อยไปข้าวก็ ได้ผลผลิตไม่เติมที่ มีโรคระบาด เราจึงบอบบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศโลก

นาที่บ้านฉัน“ปลูกข้าวได้ปีละครั้ง เฉพาะช่วงฤดูฝน” อย่างที่อธิบายข้างต้น เรารอฝน และฝนก็มีปีละครั้ง รอบของการผลิต เริ่มต้นที่ปลายเดือนเมษายนและไปจบเอาปลายเดือนพฤศจิกายน คือ ใช้เวลาในนาทั้งหมด ร่วมๆ 8 - 9 เดือน เลยทีเดียว ที่เราต้องอยู่กับนา กับข้าว กับเครื่องมือการเกษตร หมดฤดูทำนาก็ยังต้องอยู่กับนา เพื่อเลี้ยงควายและวัว จึงนับว่าเราใช้เวลาทั้งหมดในนา นาจึงเป็นชีวิต เป็นวิถีปฏิบัติ เป็นจิตวิญาณ เป็นความเข้าใจโลกและเป็น Every day life นั่นเอง

จริงๆแล้วชาวนาอย่างแม่ อย่างครอบครัวของเราและชาวนานาอื่นๆ ทำนากันเก่งมาก เป็นผู้เชี่ยวชาญ แม่ทำนาตั้งแต่จำความได้ จนตอนนี้อายุ 70 แต่ก็ยังทำอยู่และแม่ทำคนเดียว 17 ไร่ จ้างคนช่วยบ้าง ไม่จ้างบ้างเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าแรงและแรงงานก็หายาก เพราะทุกคนก็ทำของตัวเอง ชาวนาแบบแม่ขยันขันแข็ง ไม่เคยท้อแท้ต่ออาชีพของตัวเองเลย และแม้การปรับตัวจะเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะมันล้วนต้องอิงกับปัจจัยภายนอก ที่หมายถึง ฤดูกาล นโยบายรัฐ ข้อจำกัดของการเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิต เงินทุน แหล่งน้ำและชลประทาน เราจึงได้แต่ฝากชีวิตและความหวังไว้กับฤดูกาลและความไม่แน่นอนของราคาผลผลิต

“การใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมี”ก็จึงเหมือนเป็นเหมือนหลักประกันเดียว ว่าทุนและแรงที่ลงไปทั้งหมดมีสิ่งที่การันตี หมายถึงข้าวจะรวงงาม สม่ำเสมอ ไม่มีโรค รา เพลี้ยลงนาข้าว ให้ข้าวเสียหาย .... บ่อยๆที่คนตั้งคำถามซ้ำๆว่าใส่ทำไมสารเคมี ปุ๋ย ฉันคิดว่า ชาวนาคงตอบซ้ำๆ ว่าเพื่อให้ข้าวงามและไม่มีโรค เพราะถ้าข้าวไม่งาม มีโรค ก็หมายถึง การล่มสลายไร้ซึ่งหลักประกัน นาอินทรีย์จึงเป็นทางสายที่ชาวนาจำนวนมากที่เสี่ยงไม่ได้ ไม่เลือก

แม่จะเริ่มต้นฤดูกาล ตอนเดือนหก (หลังสงกรานต์) ด้วยมีขั้นตอนสำคัญ ขั้นแรกสุดเลย คือ การไหว้ตาแฮก - ยายแฮก เช้าตรู่วันที่ได้กฤษ์ลงนาแม่จะเตรียมข้าวเหนียว อาหารที่หาได้ รวมทั้งยาสูบ เหล้าขาว ใส่กระทงไปไหว้ที่ต้นแก (ต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง) ที่หัวนา แม่บอกฉันว่า“บรรพบุรุษของเรารวมทั้งตา - ยาย อยู่ที่นี่ ไม่เคยไปไหน และคอยอวยพรให้เราได้ข้าวเยอะๆ ไม่มีเพลี้ย ไม่แล้ง ขายข้าวได้ราคาดีๆ"

“ป้านคันนา (ทำคันนา) ” เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ที่คนแถวบ้านฉันต้องทำ ก่อนฝนจะมาเราต้องมั่นใจว่า คันนาจะสูงและมั่นคงพอที่จะกักน้ำได้ตลอดจากนี้อีก 4 - 5 เดือน เพราะฝนทุกเม็ดที่หล่นจากฟ้า ดินจะดูดซับอย่างรวดเร็ว อย่างที่บอก ที่บ้านฉัน นาเป็นดินทราย เราจึงจำเป็นต้องให้คันนาสูงที่สุด และลุ้นตลอดว่าฝนที่ตกมานั้น จะเติมคันไหม แต่ถ้าตกมากเกินไป คันนนาแตก หรือขาด เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ที่ต้องรีบแก้ไข “ต้องป้านคันนาใหม่”

“ไถนาฮุด”คือ การไถเพื่อกลับดิน ให้หญ้าตาย เพื่อเตรียมลงกล้า เตรียมดำนา ใช้เวลาร่วมสองเดือนกว่าจะไถเสร็จ วิถีดั่งเดิมของบ้านฉันคือ การไถนาด้วยควาย จึงใช้เวลานาน แต่ละเมียดละไม เพราะนอกจากเราจะตระหนักถึงจิตวิญญาณของอาชีพชาวนา เรายังตระหนักถึงบุญคุณของวัว - ควาย ที่ช่วยในกระบวนการทำนาและทำให้เราเสียเงินไปกับปุ๋ยเคมีน้อยลง ทำให้ชาวนาอย่างฉัน มีภาพความทรงจำ ว่าครั้งหนึ่งฉันได้ขี่ควาย ได้เล่นน้ำกับควาย ได้ดูแลกัน และบ่อยๆ ควายก็แกล้งฉัน แน่นอนตัวแสบแบบฉันก็เอาคืนมันด้วย

จะว่าไปฉันอยากพูดถึงควาย ซึ่งภาษาอิสานจะออกเสียงว่า “ควย” นั้น ในบริบทของสังคมไทยกระแสหลัก “ควย (ออกเสียงด้วยภาษาลาว ภาษาอิสาน) เป็นคำด่า ที่หยาบคาย” ฉันต้องการเรียกร้องให้ยุติการเหยียบย่ำควย (ควาย) เพราะเวลาที่ชาวนา คนอิสานพูดถึงควย หรือ ควาย เราไม่ได้กำลังด่าใคร และไม่ใช่คำหยาบคายในตัวของมันเอง

“ความรัก ความผูกพันของชาวนาต่อควายและวัวของเขา”สะท้อนผ่านภาพแม่ของฉัน ที่เลี้ยงดูควายของเธอเป็นอย่างดี หมดฤดูที่สามารถเลี้ยงควายกลางทุ่ง เมื่อทุ่งหญ้า เปลี่ยนเป็นทุ่งนา แม่และฉันเราจะต้องตื่นแต่เช้า เพื่อไปเกี่ยวหญ้าให้ควาย  หญ้าแก่ๆ แม่จะไม่เกี่ยวมาให้ควาย ให้วัวของแม่กิน เพราะมันไม่อร่อย แม่ว่า นอกเราจะเลี้ยงเขาด้วยหญ้าสด แม่ยังเลี้ยงด้วยรำ จนทุกตัวของแม่อ้วนกลม และเมื่อถึงคราวที่เราจะต้องขายวัว - ควายไป ฉันก็ได้แต่น้ำตาไหล ภาพแม่เอามือลูบวัว ควายของเธอ และพูดเบาๆข้างหู เป็นภาพที่ฉันจำติดตา ฉันไม่เคยได้ยิน ว่าแม่พูดว่าอะไร แต่ฉันรู้ว่าทั้งคู่ เจ็บปวดจนไม่มีคำจะบรรยาย และแม้เขียนถึงฉันก็ยังคงร้องไห้

“ดำนาผง” คือ อีกความเจ็บปวด ความแร้งแค้นที่ฉันหาคำเปรียบเปรยไม่ได้ ฉันจำได้ว่าฉันเจอกับการทำนาแบบนั้นอยู่ครั้ง สองครั้ง ในชีวิตวัยเด็ก มันคือ การใช้ควายไถนาที่ไม่มีน้ำแม้แต่หยดเดียว เราต้องเอากล้าเหี่ยวๆ ที่รอดตายเพราะความอึด ไปปักลงบนดิน ที่ฝนทิ้งช่วง ฉันตระหนักว่าชาวนาแต่ละคนมีความสามารถที่จะรับมือกับสิ่งนี้ต่างกัน นาลุ่มอาจจะดีหน่อย คืออยู่ใกล้น้ำ แต่ก็ต้องมีเงินซื้อน้ำมัน มีเงินเช่าเครื่องสูบน้ำถึงจะสามารถสูบน้ำขึ้นมาดำนาได้ แล้วก็ต้องไปลุ้นเอาอีกทีว่าหลังจากดำไปแล้ว จะมีฝนมาไหม “แม่พาฉันดำนา โดยปักต้นข้าวเหี่ยวๆ ลงไปบนดินทรายแห้งๆ” อย่างที่ฉันบอก ฉันอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ว่า แม่รู้สึกอย่างไร แม้กระทั่งตัวฉันเองก็ไม่รู้จะพรรณาถึงมันอย่างไร

ฉันยังจำภาพหนึ่งติดตาคือ ภาพที่แม่เอาถังไปตักน้ำมารดข้าวที่ปลูก แม่พูดกับต้นข้าวของตัวเองว่า“ขอให้รอดนะ” ฉันเห็นความหวังของผู้หญิงคนหนึ่งต่อต้นข้าว แรงกาย แรงใจและจิตวิญญาณของเธอ ท่ามกลางความสิ้นหวัง ไร้ที่พึ่งพิง เพราะแม้แต่ฤดูกาลก็ไม่เข้าข้างเรา

“ถอนหญ้า หว่านปุ๋ย ดูคันนา ดูหนอน ดูแมลง เกี่ยวหญ้าให้วัว ควาย” เหล่านี้เกิดขึ้นควบคู่กันกับการหาปู หาปลา ซึ่งเป็นการไปนาทุกวันหลังการดำนาแล้วของชาวนา แปลว่า แม้จะดำนาเสร็จเราก็ยังมีงานในนาที่่ต้องทำ

“เกี่ยวข้าว” สำหรับแม่คือการเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะแปลงที่รวงข้าวหนักๆ แม่จะมีความสุขมาก เพราะนั่นหมายถึงผลลิตที่มากขึ้น ต่างกับฉันที่ทำหน้าหน้าเห๋ยเก เพราะมือน้อยๆ รับน้ำหนักข้าวไม่ไหว เด็กอย่างฉัน อาจจะไม่ได้สนุกเท่าไหร่ เดือดร้อนแม่ต้องหาของเล่นให้ จำได้ว่า แม่สอนฉัน ทำปี่ จากซังข้าว และฉันก็เป่ามันไปด้วย เกี่ยวข้าวไปด้วย เพลินทีเดียว เราเกี่ยวข้าวและตากไว้แบบนั้น จนบ่ายก็จะมัดและเก็บไปกองรวมกันที่ลานข้าว

“ฟาดข้าว (นวดข้าว)”เป็นขั้นตอนที่ฉันได้ทำน้อยสุด เพราะตอนนั้นฉันเด็กเกินกว่าจะนวดข้าวได้ แม้ความทรงจำผ่านการลงมือปฏิบัติจะเลือนลาง แต่ภาพเด็กน้อยๆ นอนรอแม่ พ่อ นวดข้าว ดูดาว เผาข้าวหลาม และผิงไฟอุ่นๆ  กระจ่างชัดพอๆกับคืนเดือนหงาย ที่พระจันทร์เติมดวง และแม้ในคืนข้างแรม ดาวบนฟ้าก็ส่องประกายวาววับ ฉันจำดาวไถ ที่รูปร่างเหมือนไถ ดาวห่าว (เป็นชื่อดาวที่แม่เรียก) เป็นดาวที่บอกเวลา ซึ่งแม่สอนให้ฉันดูดาว .... ฉันชอบการนวดข้าว ฉันชอบที่เห็นแม่มีความสุขกับการได้เห็นผลผลิตจากน้ำพัก น้ำแรงของแม่ เธอสะท้อนความสุข ผ่านการร้องเพลง ซึ่งในภาวะปกติ ฉันแทบจะไม่ได้ยินแม่ทำแบบนั้นเลย

“เล้าข้าว (ฉางข้าว)”เป็นสิ่งสะท้อนปริมาณผลผลิตได้ดีทีเดียว บ้านไหนเล้าใหญ่ ก็แปลว่ามีข้าวเยอะ ก็จะมีฐานะที่ดีหน่อย แต่ที่บ้านเป็นเล้าขนาดกลางๆ เราย้ายเอากองข้าวจากลานนา มาที่บ้านโดยการจ้างวัวเทียมเกวียนขนข้าวมาใส่เล้า ฉันจำไม่ได้ว่าค่าจ้างเที่ยวละเท่าไหร่ แต่ฉันชอบนั่งไปกับเกวียน อ้อ ครั้งสุดท้ายที่เราได้จ้างเกวียนขนข้าวมาที่เล้าเนี้ยได้สัก 15 เกวียน ซึ่งตอนนั้นฉันไม่รู้หรอกว่ามากหรือน้อย แต่คนที่มีนาเยอะที่สุดเกือบร้อยไร่ เข้าได้มากกว่าร้อยเกวียนแน่ๆ

“ราคาที่ชาวนาไม่สามารถควบคุมเองได้และเป็นไปตามกลไกของตลาดที่มีการเมืองคอยแทรกแทรงตลอดเวลา เป็นเหมือนผีที่คอยตามหลอกหลอนชาวนาอย่างแม่ เพราะราคาต้นทุนที่แท้จริง คือ ค่าความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ค่าแรงตลอดทั้งปี ที่ชาวนาต้องขลุกอยู่ที่นา ราคาเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย และแม้แม่ไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลง แต่คนอื่นๆใช้ ก็ต้องนับค่ายาด้วย ค่าเกวียน ค่าแรงวัวควายที่ช่วยเราทำนา”

ต้นทุนเหล่านี้หายไปจากการคำนวนราคาข้าวกลไกตลาดที่ไม่เป็นธรรม และการบริหารงานของรัฐบาลที่ล้มเหลวในทุกยุค ทุกสมัยเพราะไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับอาชีพที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ทำ โดยนับจากภูมิภาคที่ยังทำนาอยู่คือ อีสาน เหนือ ตะวันตก กลางและใต้บางส่วน

ในมุมมองของชาวนาอย่างฉัน การคำนวนราคาข้าวที่แท้จริง ต้องคำนวนจาก 1) ราคาที่ดิน  2) ค่าความชำนาญ 3) ค่าแรง 4) ค่าเมล็ดพันธุ์ 5) ค่าเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งรวมทั้งเครื่องมือและค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง และต้องมี 7) กำไร เพื่อเป็นทุนในการดำรงชีวิต ของคนในอาชีพนี้ด้วย

ดังนั้น ราคาข้าวที่แท้จริงที่เราต้องซื้อจากชาวนา คือ กิโลกรัมไม่ต่ำกว่า 100 บาท เพราะนี่คือ ราคาที่เป็นธรรม ที่จะทำให้อาชีพนี้อยู่ และมีที่หยัดที่ยืนในสังคม และมันเป็นราคา ที่ฉันคำนวนตามจริง เพราะฉันเป็นชาวนา ฉันทำ และฉันคำนวนมัน ด้วยมือของฉันเอง

นั่นสะท้อนข้อเท็จจริงว่าข้าวทุกเม็ด ในแต่ละจาน ที่เรากินอยู่อย่างเอร็ดอร่อยในบ้านเมืองนี้ คือ การเชือดเฉือด กินเลือด กินเนื้อของชาวนาด้วยความเลือดเย็น ข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 5 บาท 16 บาท ห่างไกลเป็นสิบเท่า จากราคาต้นทุนการผลิต แปลว่า ชาวนา ทำนาติดลบ เพื่อให้คนในบ้านนี้เมืองนี้ กินข้าวถูก ราคาค่าแรงจะได้ไม่แพง กำไรที่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบแบบนี้ ไปตกอยู่ในกระเป๋าของใคร

ถึงตอนนี้แล้ว “อย่าถามว่าทำไมชาวนาอยากได้นโยบายประกันราคาข้าว ทำไมชาวนาเป็นหนี้ ทำไมลูกชาวนาถึงไม่ทำนา ทำไมชาวนาถึงยอมขายนาที่เขารัก ทำไมแม่สอนว่าให้ไปเป็นเจ้าคนนายคน”

เพราะความเป็นธรรมต่อคนที่ทำอาชีพนี้ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ประเทศนี้

0000

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน มัจฉา พรอินทร์ เป็นนักศึกษาปริญาโทสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักรณรงค์หญิงรักหญิง ที่เคลื่อนไหวประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ SOGIE (sexual orientation, gender identity and expression), สิทธิเด็ก สิทธิชาติพันธุ์และสิทธิสตรี ในระดับประเทศและนานาชาติ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: อย่าเลยลูกรัก

$
0
0

 


เด็กน้อยเคยฝัน
ว่าฉันจะเป็นชาวนา
มองท้องทุ่งงาม อร่ามตา
ในน้ำมีปลา ในนามีกิน

เด็กน้อยเคยฝัน
ว่าฉันจะฟื้นฟูถิ่น
จะขยัน ทำมาหากิน
บนที่ดิน ปู่ย่าตายาย

เด็กน้อยเคยฝัน
ว่าฉันจะขยับขยาย
ปลูกผัก พืชผล มากมาย
อยู่สุขสบาย บนผืนดินตน

เมื่อครั้นเติบโต ร่ำเรียน
พากเพียร ตั้งหน้า อดทน
พ่อแม่ ส่งเสีย ดิ้นรน
ยิ่งทำ ยิ่งจน หมดสิ้นทางไป

ขายนา ส่งเจ้าเข้าเรียน
ขายข้าวได้เกวียน ละไม่เท่าไร
เป็นหนี้ พอกพูน ฉับไว
ทิ้งไว้ หนี้สินคณา

เรียนจบ กลับบ้าน คืนถิ่น
หวังทำกิน ก็ไร้ที่นา
เหลือเพียงหนี้สิน ที่กู้ยืมมา
พ่อแม่ชรา เช่าที่นาทำกิน

เด็กน้อยเคยฝัน
ว่าฉันจะเป็นชาวนา
แต่พ่อแม่ พูดทั้งน้ำตา
ว่าอาชีพชาวนา ' ยิ่งทำ ยิ่งจน '

0000

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #128 เพลงของคนดี และเครื่องมือทางวัฒนธรรมในการเมืองคนดี

$
0
0

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้เป็นตอนสุดท้ายของชุดรำลึก 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี และชานันท์ ยอดหงษ์ พูดถึงวัฒนธรรมการเชิดชูและให้การแสวงหาความชอบธรรมให้กับ "คนดีในสังคมไทย" ผ่านการใช้บทเพลง "คนดีไม่มีวันตาย" ที่เป็นมากกว่าเพลงประกอบภาพยนตร์ "ขุนรองปลัดชู วีรชนคนถูกลืม"

โดยบทเพลง "คนดีไม่มีวันตาย" นั้นยังถูกใช้ทั้งขับร้อง ทั้งทำมิวสิควิดีโอ เพื่ออุทิศให้กับการเสี่ยงภยันตรายของทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ชายแดน นอกจากนี้ยังใช้ในงานอำลาของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ใช้ให้กำลังใจนักการเมืองอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือขบวนการมวลชนอย่างพันธมิตร หรือ กปปส. รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังเปิดเพลงนี้ในหลายโอกาสเพื่อให้กำลังใจข้าราชการว่าสิ่งที่ทำอยู่คือการ "ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา"

ในช่วงที่สองเจนวิทย์ ยังชวนพินิจการเมืองของคนดี ผ่านงานวิจัยของ อภิชาต สถิตนิรามัยและคณะ "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" ว่าโลกทัศน์ทางการเมืองของคนเหล่านี้เป็นอย่างไร และถือสิ่งใดเป็นเกณฑ์ตัดสินความชอบธรรมทางการเมือง ติดตามได้ในหมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

12 ปี ตากใบ บาดแผลที่ยังไม่เลือน ความยุติธรรมที่ยังไม่มา

$
0
0
ชีวิตเหยื่อเหตุการณ์ ‘ตากใบ’ 12 ปีผ่านไป บ้างเสียลูกชาย บางคนพิการ เปิดใจเหยื่อบนรถบรรทุกทหารในวันนั้น รอดมาได้ แต่ต้องตัดขาซ้าย เหยื่อต้องการให้ศาลระบุว่าขาดอากาศหายใจเพราะอะไร แม้ได้รับเงินเยียวยา แต่ความยุติธรรมยังไม่ปรากฏ

 

ในช่วงเดือนรอมฎอนของทุกปี บริเวณใกล้ด่านข้ามแดน อำเภอตากใบจะเป็นจุดหนึ่งที่ผู้คนผ่านไปผ่านมาอย่างคึกคัก มีทั้งชาวบ้านที่มาซื้ออาหารที่ตลาดไว้เตรียมละศีลอดในยามพระอาทิตย์ตกดิน หรือมาที่ด่านตาบา (ด่านตากใบ) เพื่อข้ามด่านไปมาเลเซียเพื่อไปซื้อเสื้อผ้าใหม่สำหรับใส่ในวันฮารีรายอ 

แยน๊ะ สะแลแม หน้าโรงพักตากใบ สถานที่เกิดเหตุ

วันที่ 25 ตุลาคม 2547 เป็นวันที่ 10 ของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน  ชาวบ้านในอำเภอตากใบต่างดำเนินชีวิตไปตามปกติ แต่เช้าวันนั้นไม่เหมือนเดิม เพราะมีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่ถูกจับจำนวน 6 คน ชาวบ้านจำนวนมากที่อยู่ใกล้ด่านต่างไปมุงดู ส่วนชาวบ้านที่อยู่ไกลออกไปเมื่อได้ยินถึงการมารวมตัวกันของผู้คนจึงรวมตัวกันไปดู หลังจากได้ยินว่า มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ชาวบ้านหลายคนต่างขึ้นรถไปกับเพื่อนบ้าน ไปมุงดูเหตุการณ์ พวกเขาไม่รู้หรอกว่า เหตุการณ์นี้จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

ทุกวันนี้ แม้ทุกคนจะได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่ทุกบ้าน ทุกครอบครัวยังคงไม่ได้รับความยุติธรรม

 

แยน๊ะ สะแลแม ลูกถูกจับ ถูกตั้งข้อหา สามีถูกยิงตาย 

แยน๊ะ สะแลแม ณ จุดเกิดเหตุการณ์ตากใบ 

แยน๊ะ เป็นชาวหมู่บ้าน หมู่บ้านบาเดาะมาตี ไพรวัลย์ หมู่ 9 อำเภอตากใบ ขณะที่เธอนั่งเย็บผ้าอยู่ที่บ้าน ซึ่งห่างไปจากโรงพักตากใบประมาณ 12 กิโลเมตร ชาวบ้านต่างพูดกันว่ามีการชุมนุมกันแถวด่านตากใบ เธอ และลูกชาย มูฮัมหมัด มารูวาซี มะหลง จึงไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อไปถึงก็พบว่าไม่สามารถออกมาได้

“ตอนนั้นประมาณเก้าโมงเช้า เรากำลังเย็บผ้าที่บ้าน ได้ยินว่ามีการชุมนุม ก็เลยไปดูเฉยๆ ลูกชาย ลูกสาวก็ไป แค่ดูว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ปรากฎว่า กลายเป็นออกมาไม่ได้ หัวหน้าที่ชุมนุมบอกว่า ห้ามออก คนก็เข้ามาเยอะขึ้นๆ เรื่อยๆ ทางเข้าออกก็มีทางเดียว เจ้าหน้าที่ก็มาปิดล้อม เราก็ยิ่งออกไม่ได้”

ในที่ชุมนุม ผู้ชายต่างยืนชุมนุมอยู่ด้านหน้า ส่วนผู้หญิงชุมนุมอยู่ด้านหลังบริเวณสนามเด็กเล่นใกล้แม่น้ำ ทำให้แยน๊ะต้องแยกกันกับลูกชาย

“พอบ่ายสาม เราก็รอว่าเจ้าหน้าที่เขาบอกว่าจะปล่อยกลับบ้าน แต่กลายเป็นว่า พอตีสามเขาก็ยิงเลย และยิงแก๊สน้ำตาด้วย ยิงขึ้นฟ้าบ้าง ยิงขนานถูชาวบ้านบ้าง ชาวบ้านต่างหนีลงแม่น้ำ” แยน๊ะกล่าว

เมื่อผู้ชุมนุมทุกคนหมอบลงและควันของความวุ่นวายจางไป เจ้าหน้าที่แยกผู้หญิงออกมาและพาไปส่งที่บ้าน ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บถูกส่งโรงพยาบาล ส่วนผู้ชุมนุมชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อ มัดมือไขว้หลัง และถูกโยนขึ้นรถซ้อนเป็นชั้นๆ

“เรากลับมาบ้าน แต่ลูกไม่กลับ ลูกชายคนโตก็ช่วยประสานกับทนายความ ทนายก็ลงพื้นที่ แล้ว สว.โสภณ สุพาพงษ์ มาช่วยเหลือ ให้โทรศัพท์กับชาวบ้านที่ถูกจับให้โทรกลับมาที่บ้าน ตัวก๊ะเองก็ไปถึงค่ายอิงคยุทธ แต่ไปเยี่ยมไม่ได้ ไปได้แค่หน้าประตู เกิดเหตุวันจันทร์ อังคารก็ยังไม่รู้เป็นรู้ตาย พอพุธ ลูกก็โทรกลับมาบ้าน แล้วเราก็ถามถึงลูกชายของบ้านอื่นๆ ที่เรารู้จัก รวบรวมเป็นรายชื่อผู้รอดชีวิต หลังจากถูกจับอยู่อาทิตย์หนึ่ง ก็ได้ประกันตัวออกมา แต่บางคนถูกคุมตัวอยู่นานถึง 45 วัน พอลูกออกมา เราจึงรู้ว่าเขาถูกซ้อนอยู่ชั้นที่สองของรถ ถูกทหารเหยียบ และถูกทหารซ้อมด้วย เขาก็ไม่ได้กินข้าวต่อเนื่องสองวัน น้ำก็ไม่ให้กิน”

ลูกชายถูกจับมัดมือไขว้หลัง ซ้อนขึ้นรถพาไปค่าย เขาโชคดีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ แต่ก็โชคร้ายที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นแกนนำในการก่อความวุ่นวายและถูกดำเนินคดีพร้อมกับผู้ชุมนุมอีก 57 คนโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ (เป็นหนึ่งใน 58 คนที่ถูกดำเนินคดี)

เมื่อลูกชายต้องขึ้นศาลทุกอาทิตย์และเพื่อนบ้านต่างได้รับผลกระทบ บางคนลูกตาย บางคนบาดเจ็บ แยน๊ะได้พบกับนักข่าว นักสิทธิมนุษยชน และคนทำงานด้านประชาสังคมหลายๆ คน โดยเฉพาะโซรยา จามจุรี, อังคณา นีละไพจิตร และเพชรดาว โต๊ะมีนา จึงเริ่มมีความรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมและเห็นความจำเป็นที่ต้องเรียกร้องให้เกิดการเยียวยา หลังจากนั้น แยน๊ะไม่เคยหยุดเลยที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง แม้เธอจะเรียนจบแค่ ป.4

“เราลงไปคุยกับชาวบ้านคนอื่นๆ ตอนนั้นทุกคนก็รู้สึกว่า ไม่ยอมๆ มีความเจ็บปวด โกรธแค้น คิดว่าจะต่อสู้ เราก็พยายามอธิบายอย่าให้โกรธแค้น ไม่ให้ไปเอาคืน เราบอกว่าเราก็โดนเอง แต่ก็พยายามทำให้เขาเข้าใจ ก๊ะนะพยายามทำให้ชาวบ้านเข้าใจเจ้าหน้าที่ เราก็บอกว่านี่เป็นบททดสอบของอัลเลาะฮ์ แต่บางคนบอกว่า ทดสอบแบบนี้ไม่ดี ไม่โอเค”

หลังจากสู้คดีในศาลอย่างเหน็ดเหนื่อยเกือบสองปี รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็ประกาศขอโทษต่อเหตุการณ์ตากใบและกรือเซะและประกาศว่าจะถอนฟ้อง แต่ก็นั่นคือหลังจากขึ้นศาลไปแล้วสองปี ลูกชายของเธอเช่นเดียวกับผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมอีก 59 คน ได้รับเงินเยียวยาทั้งหมดคนละ 30,000 บาท

“ส่วนคดีไต่สวนการตาย ก็ขาดอากาศหายใจจริงนั่นแหละ แต่ชาวบ้านไม่พอใจ เขาอยากรู้ อยากให้ศาลบอกว่า ขาดอากาศหายใจ ‘เพราะอะไร’” 

แยน๊ะกล่าวว่า เมื่อชาวบ้านได้เงินเยียวยาและได้ทำข้อตกลงว่าจะไม่ฟ้องรัฐ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างพอใจแล้ว และเหนื่อยเกินไปที่จะสู้คดีต่อ “ก๊ะก็ทำอะไรต่อไม่ได้ เพราะชาวบ้านไม่สู้ต่อแล้ว ชาวบ้านก็รู้สึกสู้ไม่ไหวด้วย เพราะต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาลอีกเป็นปี แล้วก็ไม่อยากมีปัญหากับทหาร”

ด้วยความที่แยน๊ะสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมอย่างไม่หยุดหย่อน เธอจึงถูกต้องสงสัยว่าให้ความช่วยเหลือสนับสนุน ญูแว หรือนักรบเพื่อเอกราชปาตานี และถูกตรวจค้นอยู่เนืองๆ ทั้งยังเคยถูกเชิญตัวไปค่ายทหารตาม พรก.ฉุกเฉินถึงสองครั้ง “แต่เราไม่ไป ญูแวเป็นยังไงเราก็ไม่รู้ เพราะเราก็ไม่ได้เรียนหนังสือ เราจบแค่ป.สี่ ปอเนาะก็ไม่ได้เรียน”

“ตั้งแต่นั่นมา ตำรวจ ทหาร ก็มาปิดล้อมตรวจค้นที่บ้านเป็นประจำ ในสิบปีแรก มารวมๆ กันเกินสิบครั้ง ช่วงใกล้วันครบรอบเหตุการณ์ตากใบทีไรก็มักจะมีทหารมาค้น เหมือนขู่ให้เรากลัวไว้ก่อน เพื่อสกัดการเคลื่อนไหว หรือถ้ามีเหตุใกล้ๆ บ้าน ก็จะมาล้อม มาค้นบ้านเราเหมือนกัน เคยเจอหนักที่สุดคือปี 2557 มีการกล่าวหาว่า มีโจรมาอยู่ที่บ้านก๊ะ ก็มาค้นกันทีเป็นร้อยคน เพิ่งจะเมื่อสองปีนี้เองที่ไม่ได้มา”

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่บททดสอบที่เธอเจอหนักที่สุด ในปี 2550 สามีของแยน๊ะ นายมะยูโซ๊ะ มะหลง  ถูกลอบยิงเสียชีวิต ที่ร้านน้ำชาริมถนน โดยพยานหลักฐานและคำบอกเล่าต่างชี้ไปว่า อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) คนหนึ่งเป็นคนทำ โดยมุ่งขู่ให้เธอกลัวและหยุดเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ด้วยความกลัว ทำให้ไม่มีชาวบ้านคนใดกล้าไปเป็นพยานในคดี จึงไม่มีผู้ใดถูกลงโทษ

“อัลเละฮ์ไม่ให้เรากลัว เราก็ช่วยชาวบ้าน ได้บุญหรือเปล่าไม่รู้ แต่เราก็ได้เสียสละชีวิตสามีไปแล้ว ลูกๆ ก็บอกว่า แม่ พอได้แล้ว แต่ก็บอกลูกว่า ถ้าแม่ไม่ทำ แล้วชาวบ้านจะไปพึ่งใคร เราก็ไม่หยุด เราก็ขอพรจากอัลเลาะฮ์ให้อายุเรายืน เพราะเราต้องดูแลลูกแทนสามี ทำให้เราไม่รู้สึกกลัวเจ้าหน้าที่” แยน๊ะกล่าว “พอสามีตาย ทหารก็มาที่บ้าน เราบอกว่า คนที่ยิงแต่งชุดทหารนะ แต่ทหารก็บอกว่าโจรก็แต่งชุดแบบนี้ได้” แม้สามีของแยน๊ะจะไม่เป็นที่่รู้จัก เพราะวันๆ ไม่ได้ไปไหนเท่าไหร่ แต่ชาวบ้านก็แห่กันมาเยี่ยมบ้านแยน๊ะเพื่อแสดงความอาลัยถึงสี่สิบวันต่อเนื่อง

 

หะยีดิง มัยเซ็ง ถูกยิงจากข้างหลัง ทะลุด้านหน้า 

หะยีดิง มัยเซ็ง บอกว่า เขาถูกทหารมา “เยี่ยม” บ้าน จนชิน

หะยีดิง มัยเซ็ง อายุ 60 ปี ตอนที่เกิดเหตุการณ์เขาอายุ 47 ปี เช้าวันนั้น เขาไม่ได้สนใจหรือคิดจะไปชุมนุมแต่อย่างใด แต่ได้แวะไปย่านนั้นเพราะจะไปซื้ออาหารเพื่อ ‘เปิดบวช’ หรือการละศีลอดในตอนเย็น

“ผมไม่ได้จะไปชุมนุม แต่จะไปที่อื่น จะไปตาบาแค่เดินผ่าน เป็นทางผ่าน วันนั้นมีเงินหนึ่งร้อยบาท จะไปซื้อของกินแก้บวช ก็สงสัยว่าทำไมคนเยอะแบบนี้ ก็เลยไปมุงดูว่าเกิดอะไรขึ้น ไปถึงประมาณ 11 โมง แต่พอเข้าไปแล้ว เข้าก็ไม่ได้ ออกก็ไม่ได้ มีการตั้งด่านสกัดทางแยกทางเข้า พอประมาณ 15.15 น. ก็มีการยิงไปทางผู้ชุมนุม คนก็หมอบราบ แต่ผมวิ่งจะไปหลบหลังบล็อกที่ไว้ปลูกต้นไม้ ก็ถูกยิงเลย กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็วันรุ่งขึ้นที่โรงพยาบาลปัตตานี

“ไม่รู้ทำไม ส่งไปไกลถึงโรงพยาบาลปัตตานี เขาคงคิดว่า จะให้ตาย เลยส่งไปโรงพยาบาลปัตตานี แต่ว่าไม่ตาย ก็เจอคนเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาลเดียวกันอีกเจ็ดคน ซึ่งถูกยิงทั้งหมด ญาติพี่น้องจะไปเยี่ยม เขาก็ไม่ให้เยี่ยม ตั้งประมาณสามวันก็ไม่ให้ แล้วทหารก็ไม่ให้ไปไหน หลังจากนั้นก็โดนสอบสวนเรื่อยๆ พอมีคนมาเยี่ยม ถึงได้รู้ว่า ที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันก็ตายไปหลายคน”

รอยแผลถูกยิงจากด้านหลัง ทะลุหน้าอก ของ หะยีดิง มัยเซ็ง

หลังจากที่หะยีดิงหายดีแล้ว เขาเดินทางไปทำงานมาเลเซีย ระหว่างนั้นยังมีทหารมาเยี่ยมบ้านอยู่บ่อยครั้ง เรียกได้ว่า ‘แทบทุกวัน’ ทำงานได้สามเดือนก็กลับมาบ้าน ทหารก็มาเยี่ยมอีกทันที มากับรถหุ้มเกราะถึงสามคันรถ “พอทหารมา เราก็เอาน้ำมะพร้าว น้ำเย็นมาให้กิน เป็นวิธีสร้างมิตรกับทหาร ก็มาบ่อยมากจนไม่กลัวแล้ว”

แม้หะยีดิงจะได้เงินเยียวยาจำนวนทั้งหมด 500,000 บาท ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นที่พอใจแล้ว แต่ความยุติธรรมนั้นก็ยังไม่มาถึง “เมื่อก่อนก็คิดว่า อยากให้ทหารถูกลงโทษ แต่ตอนนี้ก็ไม่รู้จะทำไง”

 

มือแย โซะ หัวอกแม่ที่รู้ว่าลูกชายตายอย่างทรมาน

มือแย โซะ เล่าว่า เธอจะคิดถึงลูกชายทุกครั้งที่เดือนรอมฎอนเวียนมาถึง 

มือแย โซะ เป็นแม่บ้าน อายุ 56 ปี เหตุการณ์ตากใบทำให้เธอสูญเสียลูกคนโต ซึ่งกำลังอยู่ในวัยหนุ่มแน่นไป 

ตั้งแต่เช้า ชาวบ้านที่ผ่านไปแถวด่านตากใบต่างกลับมาเล่าให้ชาวบ้านคนอื่นๆ ฟังว่า มีคนเยอะมากไปทำอะไรไม่รู้อยู่ที่ด่าน เธอจึงปลุกลูกชายให้ไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น สักพักเธอก็ตามเพื่อนบ้านไปดูเช่นกัน แต่ปรากฏว่า เมื่อเข้าไปในที่ชุมนุมแล้ว กลับออกไปไหนไม่ได้ เมื่อถึงเวลาบ่ายสามโมงก็เกิดการสลายการชุมนุม โดยการฉีดน้ำ เช่นเดียวกับแยน๊ะ มือแยรวมกับกลุ่มผู้หญิงซึ่งอยู่ด้านหลัง เธอต้องลงไปในแม่น้ำเพื่อหมอบหลบกระสุนและเปียกปอนไปทั้งตัว

พอเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ก็เรียกกลุ่มผู้หญิงขึ้นมาจากน้ำ และให้กลุ่มผู้หญิงไปนั่งหน้าโรงพัก ด้วยความที่เป็นห่วงลูกชาย เธอจึงพยายามมองหาลูก แต่มองหาเท่าไหรน่ก็ไม่เจอ จนเมื่อเวลาค่ำ ทหารก็พาเธอมาส่งที่บ้าน

“ตอนนั้นคิดว่าลูกถูกจับ แม้ว่าลูกถูกจับก็น่าจะปลอดภัย เพราะคิดว่าเมื่อเจ้าหน้าที่คุมตัวแล้วก็น่าจะดูแลดี ก็ไม่ได้กังวลอะไร แต่พอวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านจึงคุยๆ กันไปว่า มีคนตายในค่ายทหาร แต่ก็ไม่รู้ว่าลูกเราจะตาย พ่อและคนแทบทั้งหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ไปตามหา แต่ไม่เจอ ก็กลับบ้าน พอวันที่สามไปดูที่สามแยก ที่ประกาศชื่อคนเสียชีวิต มีคนเห็นชื่อลูกชาย ก็เข้าไปดูศพที่ค่าย แต่ไม่รู้ว่าศพไหน มันดำไปหมด แต่ก็เจอศพลูก ที่มีสัญลักษณ์ที่ข้อมือและผ้าขนหนูสีแดงของลูกชาย ในหมู่บ้านก็ไปเจอพร้อมกัน สามศพ ก็พาศพกลับมาพร้อมกัน ตอนนั้นไม่รู้ว่าตายเพราะไร แต่ไม่มีแผลถูกยิง แต่ตามตัวนี่เขียว ดำ บวม

“ตอนนั้นไม่รู้จะอธิบายยังไง รู้อย่างเดียวว่า รัฐทำและกลัวว่า ครอบครัวเรา ลูกชายอีกสองคนจะถูกทำร้าย จะถูกฆ่าตายอีก รู้สึกโกรธแค้นมากด้วย และกังวลว่าเราจะอยู่กันยังไงในเมื่อรัฐเป็นอย่างนี้”

เธอเล่า หลังเหตการณ์มีทหารมาที่บ้านนับครั้งไม่ถ้วน มีทั้งมาถามข้อมูล เช่น อยู่กี่คน มีใครบ้าง และมักถามด้วยว่ามีคนอื่นมาอยู่ด้วยหรือเปล่า ราวกับว่าเธอซ่อนใครไว้ในบ้าน หลายครั้งแค่ทหารเดินผ่านหน้าบ้านเธอก็รู้สึกกลัวแล้ว และมองว่าเป็นการตั้งใจมาเดินขู่ให้กลัว

แม้ว่าครอบครัวจะได้เงินเยียวยาจำนวน 7.5 ล้านแล้ว แต่เธอก็ยังรู้สึกว่ามันไม่จบ ความตายของลูกชายคนโตยังคงติดค้างคาอยู่ในใจตลอดมา “ก็เข้าใจว่า ตายก็ตายแล้ว รื้อฟื้นไม่ได้ แต่สำหรับเรามันยังไม่จบ ศาลก็มาตัดสินว่า ตายเพราะขาดอากาศหายใจ เราไม่โอเค ทำไมถึงขาดอากาศหายใจล่ะ ถ้าไม่เรียงเป็นชั้นๆ แบบนั้น ก็ไม่น่าจะตาย นี่นอกจากเรียงเป็นชั้นๆ แล้วยังผูกมือ มีทหารเหยียบอยู่ข้างบนอีก

“เราก็อยากให้มีการตัดสินใหม่ มีการรื้อฟื้นคดี แต่ก็สู้ไม่ไหว เราเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา ถ้าสู้ไป ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”  

มือแยกล่าวว่า ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา การเวียนมาถึงของเดือนรอมฎอนทำให้เธอทรมานใจทุกครั้ง เพราะอดไม่ได้ที่จะคิดถึงลูก เธอยังหลีกเลี่ยงการดูรูปเหตุการณ์ตากใบในอินเตอร์เน็ตหรือแม้แต่ในข่าว เพราะจะทำให้ระลึกถึงลูกชายที่เสียไปและเสียใจมาก นอกจากนี้ เธอยังเลี่ยงไม่ไปแถวด่าน ไม่เดินผ่านโรงพักตากใบอีกต่อไป แม้จะมีตลาดนัดที่คึกคักแค่ไหนก็ตาม เธอก็จะพยายามเลี่ยงพื้นที่ตรงนั้น

 

ขาข้างซ้ายของมาลีกี ดอเลาะ

แม้เหตุการณ์ตากใบจะทำให้เขากลายเป็นคนพิการ มาลีกี ดอเลาะ ก็ยิ้มตลอดการให้สัมภาษณ์ เพราะเขาเชื่อว่า ชีวิตต้องสู้ต่อไป และเขาต้องอยู่กับมันให้ได้ 

ในเช้าวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มาลิกี ดอเลาะ ไม่คาดคิดเลยว่า ร่างกายกำยำในวัยหนุ่มอายุ 28 ปีของเขาจะเปลี่ยนไปเป็นผู้พิการที่ไม่สามารถทำงานและช่วยเหลือตัวเองได้ตลอดกาล

“เช้านั้น ประมาณเก้าโมงเครึ่ง ผมไปที่ด่าน จะไปซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ใส่เพื่อเตรียมใส่ช่วงรายอ เห็นคนอยู่กันเยอะ ก็ไปดู ไม่คิดว่าเหตุการณ์จะเป็นแบบนี้”

“สักพักก็พยายามออกมา แต่ออกไม่ได้ เพราะเขาปิดทางเข้าออกหมดเลย ก็ไม่รู้จะทำอะไร เลยไปรออยู่ริมน้ำ ดูปลาอะไรงี้ พอสลายการชุมนม ก็โดนก้อนหินที่ถูกมัดกับเชือกแล้วเหวี่ยงมาโดยที่คิ้ว คิ้วแตก ก็เลยลงไปที่น้ำเพื่อจะล้างแผล ก็มีระเบิดควันยิงมาอีก ช่วงนั้นก็ลืมตาไม่ได้เลย ก้มอยู่อย่างนั้นนานมาก จะลุกเขาก็ไม่ให้ลุก เพราะทหารบอกว่า ใครลุกขึ้นมาจะยิง ระหว่างนั้นก็มีการยิงกระสุนแนวราบใส่ผู้ชุมนุมตลอด เราหันไปดูก็เห็นคนอยู่ข้างๆ โดนยิงเข้าที่แก้ม แล้วก็นิ่งไป”

พอทหารควบคุมสถานการณ์ได้แล้วจึงสั่งให้ผู้ชุมนุมชายถอดเสื้อและมัดมือไขว้หลัง สั่งให้ทุกคนขึ้นมานอนข้างบนและก้มหน้า

“ทหารสั่งให้เดินขึ้นรถ แต่มือถูกมัดอยู่ ก็เดินขึ้นไปบนรถไม่ได้ ทหารก็จับแต่ละคนโยนขึ้นไป เหมือนก้อนน้ำแข็ง”

ผู้ชุมนุมถูกวางนอนเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นจะไขว้กัน รถจีเอ็มซีของทหารนั้นแคบเกินกว่าผู้ชุมนุมนอนเหยียดได้ มาลีกีบอกว่า เขาต้องงอขาตลอดเวลา จากสถานีตำรวจตากใบ ไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เป็นระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร และใช้เวลาประมาณหกชั่วโมงกว่าจะถึงค่าย

“ตอนคว่ำหน้า ผมก็ได้ยินเสียงคนข้างล่างเรา หายใจดัง เหมือนมีน้ำในจมูกอยู่ ก็คิดว่าเป็นเลือดในจมูก ได้ยินตั้งแต่ขึ้นรถช่วงแรกๆ บางคนก็ร้องโหยหวน ทหารซึ่งยืนเหยียบอยู่ข้างบนบอกว่า ถ้าไม่หยุดร้อง ก็จะหยุดรถ ตอนเราหายใจ คนข้างบนก็พยายามเป่าลมมาเป็นทอดๆ เราเองก็พยายามปล่อยลมให้เขา สักพัก เราก็ไม่ได้ยินเสียงหายใจของเขาอีก คนข้างบนก็บอกว่า ไม่ไหวแล้ว แล้วสักพักคนข้างบนก็เงียบไป

“ผมรู้สึกว่า ตอนอยู่บนรถเราก็ร้อน เจ็บ เมื่อย หายใจไม่ออก ถ้าจะร้องไห้เราคงร้องไม่หยุด ผมก็เลยคิดว่า เราจะไม่ร้อง แล้วก็อดทนอย่างเดียว และนึกถึงอัลเลาะฮ์อย่างเดียว”

การถูกซ้อนทับบนรถเป็นเวลานานทำให้ มาลีกี ไม่สามารถยืดนิ้วได้อีก และใช้มือสองคนได้น้อยมาก แม้แต่จับช้อนกินข้าว เขาเล่าว่า เมื่อใดที่เขาจับช้อนกินข้าวแล้วช้อนหลุดจากมือ นั่นก็ทำให้เขานึกถึงเหตุการณ์ตากใบทุกครั้ง 

“ผมหมดสติไปตอนไหนไม่รู้ มารู้ตัวอีกที คือผ่านไป 21 วัน ที่ โรงพยาบาล มอ.หาดใหญ่ ฟื้นมาพบว่า ถูกตัดขาไปแล้ว”

แพทย์ตัดสินใจตัดขาของมาลีกีเพราะกล้ามเนื้อเปื่อยจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน ต่อมาก็ขูดเนื้อที่เน่าที่แขนทั้งสองข้างออก ทำให้เขาไม่สามารถขยับนิ้วมือได้ตามปกติ นอกจากเนื้อที่ตัดออกไป ทุกวันนี้ก็ยังมีกล้ามเนื้อหลายส่วนที่เป็นอัมพาต ได้แก่ หัวเข่าซ้ายของขาซ้ายที่เหลืออยู่ แผ่นหลังที่เอื้อมมือไปเกาก็ไม่รู้สึก ส่วนนิ้วมือก็แทบขยับไม่ได้และไม่มีแรง มือขวาใช้การไม่ได้เลย ส่วนมือซ้ายขยับได้นิดหน่อย 

นอกจากนี้ เขายังป่วยเป็นโรคไต อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ในวันนั้นที่ไม่มีโอกาสได้ละศีลอด ร่างกายที่ขาดน้ำเป็นเวลานานจนเสียสมดุลเกลือในไต ต้องไปฟอกไตอยู่หลายครั้งกว่าจะหายเป็นปกติ มีผู้ชุมนุมอีกหลายคนก็ป่วยเป็นโรคไตด้วยเช่นกัน

เหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้เขาต้องลาออกจากโรงเรียนเทคนิคที่เรียนอยู่และหางานทำไม่ได้ ทุกวันนี้เขาก็ช่วยแม่ปลูกผักเล็กๆ น้อยๆ และมีแม่เป็นคนที่คอยดูเขาทุกๆ วัน

เงินเยียวยาที่เขาได้มาประมาณ 2,500,000 บาท ก็ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นบ้าง เขาตัดสินใจนำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อรถมอเตอร์ไซต์บิ๊กไบค์สี่ล้อ ซึ่งเป็นยานพาหนะที่สังขารของเขาพอจะขับไปไหนมาไหนได้

บิ๊กไบท์ของมาลีกี

เมื่อถามว่า คิดว่าได้รับความยุติธรรมหรือยัง? เขายิ้ม และหัวเราะตอบว่า "บอกไม่ถูก แม้เราจะต้องการให้เขาถูกลงโทษ ก็คงทำไม่ได้อยู่ดี”

เขากล่าวว่า เขาไม่มีวันลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขาได้ “จะลืมได้ไง มันเป็นเหตุการณ์ที่หนักที่สุดของชีวิต ทุกวันนี้เวลากินข้าว ถ้าอาหารมัน ช้อนมันแค่นิดเดียว ก็จะจับช้อนไม่ติด”

หลังเหตุการณ์ เขากล่าวว่าไปแถวโรงพักมาอีกแค่ครั้งเดียว เพื่อไปโรงพยาบาลตากใบเพื่อทำเรื่องเยียวยา ถ้านอกจากนั้น ก็พยายามไม่ไป อาจมีนั่งรถผ่านบ้าง

ตลอดเวลาที่เขาคุยกับประชาไท มาลีกียิ้มตลอดเวลา เขาว่า “ต้องยิ้ม เพราะเราก็ต้องอยู่ต่อไป ก็ต้องยิ้มกับมัน ถ้าเศร้า ก็จะเศร้าไปเรื่อยๆ”

 
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ
 
เหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์รุนแรงครั้งสำคัญที่เป็นบาดแผลของความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
เช้าวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ตรงกับวันที่สิบสองของเดือนรอมฎอน ปี ฮ.ศ.1425  ตั้งแต่ช่วงเช้า ชาวบ้านมาชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คนที่ถูกจับที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตลาดและด่านตาบา ซึ่งชาวบ้านจำนวนมากนิยมมาซื้อสินค้าอย่างคึกคักมากเป็นพิเศษในช่วงเดือนรอมฎอน เมื่อเวลาผ่านไป มีชาวบ้านมาชุมนุมเพิ่มขึ้นเกือบพันคน จำนวนมากในนั้นไม่ได้ตั้งใจมาชุมนุม แต่มาดูว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนผ่านไปผ่านมา บางคนไปตลาด แต่เมื่อเข้าไปดูเหตุการณ์แล้วออกมาไม่ได้
 
ประมาณบ่ายสามโมง ทหารเริ่มสลายการชุมนุม แกนนำการชุมนุมก็สลายตัวไปรวมกับผู้ชุมนุม ทหารยิงแนวราบเข้าสู่ผู้ชุมนุม และยิงแก๊สน้ำตา เมื่อทหารควบคุมสถานการณ์ได้  ทหารให้ผู้ชุมนุมชายถอดเสื้อ นอนราบและมัดมือไพล่หลัง ส่วนผู้หญิงก็ส่งกลับบ้าน
 
ผู้ชุมนุมชายที่ถูกกวาดจับกว่า 1,300 คนถูกขนขึ้นรถทหาร 25 คัน รถตำรวจ และรถเช่าอีกจำนวนหนึ่ง โดยการนอนราบ 4-5 ชั้น ในสภาพที่ผู้ชุมนุมต่างอ่อนเพลียเพราะถือศีลอดและตากแดดร้อนเพราะการชุมนุมมาตลอดทั้งวัน
 
รถที่บรรทุกผู้ชุมนุมเดินทางเป็นระยะทางกว่า 150 กิโลเมตรเป็นเวลา 5-6 ชั่วโมง จากสถานีตำรวจตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี มีรายงานว่า เมื่อรถคันแรกถึงค่ายประมาณหัวค่ำ ก็พบว่ามีคนตาย แต่ก็ไม่มีการแจ้งเตือนไปยังรถคันที่เหลือให้ทราบ รถคันท้ายๆ ถึงค่ายอิงคยุทธบริหารเวลาประมาณ ตี 2 ของวันถัดไป
 
ทั้งเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตไปทั้งหมด 85 คน เสียชีวิตระหว่างการขนส่งบนรถบรรทุกของทหาร 78 คน เสียชีวิตในที่ชุมนุม 6 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน
 
คดีความที่เกี่ยวข้องมีทั้งหมดสามคดี
 
ในปี 2552 ศาลสงขลาตัดสินในคดีไต่สวนการตายว่า ผู้ชุมนุม 78 คนที่ตายระหว่างการขนย้าย ตายเพราะ ‘ขาดอากาศหายใจ’ ระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่
 
ในปี 2548 ผู้ชุมนุม 59 คน ถูกสั่งฟ้องที่ศาลนราธิวาสในข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะประทุษร้าย ต่อมาอัยการถอนฟ้องในปี 2549 
 
ในปี 2548 ญาติผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตฟ้ององค์กรรัฐ กองทัพบก ให้จ่ายเงินชดเชย ต่อมามีการทำสัญญาให้ประณีประณอมยอมความ โดยมีเงื่อนไขให้ถอนฟ้องจำเลยอื่นๆ ทั้งหมด รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งการ กระทรวงกลาโหมจ่ายค่าสินไหมทดแทน 42 ล้านบาท กับญาติผู้เสียหาย 79 ราย
 
ต่อมาในสมัยที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็น เลขาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ประกาศจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้เสียหายจากกรณีตากใบเพิ่มอีก โดยผู้เสียชีวิตจะได้รับการเยียวยาเพิ่มจากเดิมจนครบรายละ 7.5 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้ 500,000 บาท
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ธรรมยุตของธรรมยุต

$
0
0



เรื่องที่จะชวนคุยต่อไปนี้ ท่านอาจารย์พระไพศาล วิสาโล ได้เขียนไว้แล้วใน พุทธศาสนาไทยในอนาคตของท่าน ทีแรกผมก็นึกว่าผมมีความเห็นต่าง แต่เมื่อนำเอางานของท่านมาอ่านใหม่ก็ไม่ค่อยแน่ใจว่า ผมมีความเห็นต่างจากท่านตรงไหนกันแน่ แต่เอาเถิด ผมขอคุยไปก่อน แล้วจึงค่อยพูดถึงความเห็นที่ต่างในภายหน้า

นักวิชาการต่างประเทศรุ่นเก่าๆ เมื่อกล่าวถึงการสถาปนาธรรมยุติกนิกาย ก็มักจะกล่าวด้วยความแปลกใจว่า เป็นการปฏิรูปศาสนาที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักธรรมคำสอนในเรื่องใหญ่ๆ อย่างไรเลย ความแตกต่างจากระบบความเชื่อเดิมอยู่ที่ด้านปฏิบัติเชิงพิธีกรรมเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น

เช่น พระธรรมยุตออกเสียงบาลีต่างจากพระมหานิกาย หรือตามธรรมเนียมของพระสงฆ์ไทยที่มีมาก่อน, การนุ่งห่มที่แตกต่างกัน, การตีความพระวินัยบางข้อที่ต่างกัน ฯลฯ

แต่ที่ผมสงสัยก็คือ เมื่อเราพูดถึงธรรมยุติกนิกายเป็นการปฏิรูปศาสนา ที่จริงแล้วมีการสถาปนาธรรมยุติกนิกายสองระลอก คือในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ยังทรงผนวชอยู่ครั้งหนึ่ง และเมื่อรัชกาลที่ 5 โปรดให้มีการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง และสืบมาจนถึงสมัย ร.6 ที่นำเอาพระธรรมคำสอนมารับใช้ชาตินิยม และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม จนกลายเป็นลักษณะเด่นของคณะสงฆ์ไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้

ธรรมยุตของวชิรญาณภิกขุนั้น ไม่ได้มีแต่เรื่องการตีความบัญญัติในพระวินัยเพียงอย่างเดียว แต่มีการเปลี่ยนจุดเน้นของหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาไทยอย่างสำคัญด้วย วชิรญาณภิกขุอ้างว่าจุดเน้นสำคัญในพุทธธรรมเช่นนี้ตรงกับคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า หรือการกลับไปหาคัมภีร์เดิมแท้ของศาสนา (อันมักเป็นข้ออ้างของการปฏิรูปศาสนาโดยทั่วไป) ผมเข้าใจว่าที่ตีความพระวินัยบางข้อว่า ถูกต้องตรงตามพุทธบัญญัติแท้จริงนั้น ก็คือการ “โฆษณา” นิกายใหม่อย่างหนึ่ง นั่นคือประกาศการกลับคืนสู่พุทธธรรมที่แท้จริงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยผ่านวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ในนิกายใหม่ ซึ่งพุทธบริษัทอาจมองเห็นได้ถนัดอยู่แล้ว นับตั้งแต่การนุ่งห่ม

แต่การสื่อความนัยยะสำคัญของนิกายใหม่ด้วยวิธีนี้ก็มีข้อเสียเหมือนกัน คือทำให้เข้าใจผิดในเวลาต่อมา แม้แต่ในหมู่พระภิกษุธรรมยุตเองว่า ธรรมยุตเป็นเรื่องของการตีความวินัยบัญญัติใหม่เท่านั้น

Peter Jackson กล่าวว่า พุทธศาสนาไทยนั้นให้ความสำคัญแก่ความเคร่งครัดด้านแบบแผนระเบียบปฏิบัติ (orthopraxie) มากกว่าความเคร่งครัดด้านหลักธรรมคำสอน (orthodoxy) เรื่องนี้จะจริงเช่นนี้ตลอดมา หรือเพิ่งจริงในระยะหลังเมื่อ ร.5 ทรงปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์แล้ว ผมก็ไม่ทราบ แต่ในการสถาปนาธรรมยุติกนิกายนั้น ผมคิดว่าความเคร่งครัดในหลักธรรมคำสอน (orthodoxy) ก็มีความสำคัญ อย่างน้อยก็สำคัญแก่วชิรญาณภิกขุ

เท่าที่ผมเก็บเนื้อความจากธรรมบรรยายของพระจอมเกล้าฯ เท่าที่ผมเข้าถึงได้ ผมแทบจะไม่เคยเห็นการพูดถึงการตีความวินัยบัญญัติใหม่ในที่ใดเลย

เท่าที่ผมจับความได้ เนื้อความจะเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้

 

1. สถาปนาความมีศักดิ์สูงสุดของพระไตรปิฎก (ซึ่งท่านเรียกว่าพระบาลีใหญ่) เหนืออรรถกถา, ฎีกา, อนุฎีกา หรือคัมภีร์ใดๆ ที่พระเถราจารย์รุ่นหลังรจนาขึ้น (“ว่าด้วยการในพระพุทธศาสนา”)

แน่นอนว่าพระไตรปิฎกในฐานะที่เชื่อกันว่าเป็นพุทธพจน์ย่อมมีศักดิ์สูง น่าเชื่อถือกว่าคัมภีร์ใดๆ มานานแล้ว แต่การศึกษาพระพุทธศาสนาของไทยออกจะเน้นที่คัมภีร์อื่นๆ นอกพระไตรปิฎกมาแต่โบราณ เช่น หากดูบรรณานุกรมของหนังสือไตรภูมิพระร่วง ก็จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์นอกพระไตรปิฎกทั้งสิ้น ว่ากันว่าภาษาบาลีของพระไตรปิฎกนั้นง่าย ในขณะที่บาลีของอรรถกถาซึ่งแต่งรุ่นหลังจะยากกว่ากันมาก เป็นไปได้ว่านักปราชญ์พุทธไทย อยากโชว์ความสามารถทางภาษาบาลีมากกว่าความรู้ทางพระพุทธศาสนา จึงมักใช้คัมภีร์อรรถกถามากกว่าพระไตรปิฎก

พระจอมเกล้าฯ ทรงชี้ให้เห็นว่าพระไตรปิฎกนั้นมุ่งไปที่เป้าหมายทางศาสนาจริงๆ “ก็ล้วนแต่เป็นทางกถาโลกุตรปฏิสังยุตตาหรือเป็นคำบังคับบัญชาให้ถือศีลบริสุทธิ์จริงๆ ก็คำที่จะแกะและส่อแส่หาสิ่งต่างๆ ที่จะให้เข้าใจศาสนานั้นมีน้อย…” ตรงกันข้ามกับคัมภีร์ประเภทอรรถกถา ฎีกา มักจะเขียนในเชิงล่อเอาลาภ ชอบเน้นเรื่องทานและอานิสงส์ของทาน บางคัมภีร์ยาวถึง 20 ผูก แต่เต็มไปด้วยเรื่องทาน “จะมีคำว่าด้วยศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ แต่สักนิดหนึ่งก็ไม่มี”


2. สืบเนื่องจากข้างต้น พุทธศาสนาของพระจอมเกล้าฯ จึงไม่ใช่เรื่องของการทำบุญทำทาน เพื่อสั่งสมบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปในชาติหน้า แต่หมายถึงการเข้าถึงพระนิพพานหรืออุดมคติสูงสุดทางศาสนาต่างหาก การรับพระไตรสรณาคมณ์ และถือศีล 5 ไม่ใช่เพียงแค่ทำดีเฉยๆ แต่เป็นบันไดขั้นแรกเพื่อบรรลุพระนิพพาน เพราะคนมีศีลย่อมมีสมาธิดีขึ้น “สมาธิตั้งให้มั่น แล้วจึงหันหาปัญญา” แล้วก็จะมองเห็นพระไตรลักษณ์หรืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (“สุนทราปกาสิทธิ์”) จนบรรลุพระนิพพานได้ เมื่อหมั่นรำลึกและวิเคราะห์ให้เห็นอยู่เสมอ เป็นวิปัสสนา

การปฏิบัติศาสนาของพระจอมเกล้าฯ ไม่ต่างจากคำสอนของท่านพุทธทาส คือไม่ใช่เรื่องของการสั่งสมบุญบารมีเพื่อก้าวหน้าไปในหลายชาติหลายภพจนบรรลุพระนิพพาน แต่เป็นการทำพระนิพพานให้แจ้งแก่ตนเองต่างหาก ผมไม่เคยพบว่าพระจอมเกล้าฯ ทรงกล่าวถึงนิพพานว่า “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” อย่างท่านพุทธทาส แต่นัยยะของคำสอนก็ชัดในตัวอยู่แล้ว และส่วนนี้หายไปในการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ในสมัย ร.5 หรือปฏิรูปศาสนาในมาตรฐานธรรมยุตระลอก 2

หากความเข้าใจของผมไม่ผิด การตีความพุทธธรรม “แบบใหม่” อย่างที่พระจอมเกล้าฯ ทรงสอนนั้น ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลแก่พุทธศาสนาไทยทีเดียว และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่หลักธรรมคำสอนหรือ orthodoxy แน่นอน


3. วชิรญาณภิกขุมีความระแวงหรือไม่ค่อยไว้วางใจพระภิกษุนอกธรรมยุติกนิกายหรือไม่ ผมคิดว่าค่อนข้างไม่ค่อยวางพระทัยและไม่ค่อยเห็นด้วยที่พระภิกษุมักอยู่พ้นออกไปจากการตรวจสอบของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือชาวบ้าน เพราะพระภิกษุเองก็นิยมสอนหรือตีความพระธรรมให้ตนเองศักดิ์สิทธิ์จนคนอื่นล่วงละเมิดมิได้

แต่ตรงกันข้ามกับที่มักจะพูดกันก็คือ พระราชนิพนธ์ที่ติเตียนพระสงฆ์ไทยว่าปฏิบัติไม่ชอบด้วยพระวินัยกลับไม่มี หรือผมไม่เคยพบ แต่ดูท่านจะระแวงไม่ไว้วางใจพระภิกษุอื่นๆ ทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่เลยไปถึงลังกาด้วย โดยเฉพาะที่ได้เขียนตำรับตำราทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เพราะเมื่อท่านศึกษาแล้ว ท่านพบข้อความที่ท่านเห็นว่าไม่ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง หรือถึงขนาดเจตนาบิดเบือนพุทโธวาทเพื่อประโยชน์ตนก็มีบ้าง เป็นต้น

ส่วนความศรัทธาต่อพระสงฆ์ในเมืองไทยนั้น ท่านยกขึ้นมาชี้ให้เห็นว่าไม่เป็นไปตามเจตนาเดิมของพระพุทธศาสนาหลายอย่าง เช่น ท่านทรงอธิบายว่า ในพระอรรถกถานั้นท่านไม่ให้รังเกียจพระสงฆ์ ซึ่งหมายความถึงคณะสงฆ์ (องค์กรของผู้ใฝ่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ) แต่พระภิกษุไปตีความประหนึ่งว่า บุคคลที่เป็นพระภิกษุก็นับเป็นพระสงฆ์ในความหมายนั้นไปด้วย (“ว่าด้วยการในพระพุทธศาสนา”) กลายเป็นว่าการรังเกียจบุคคลในภิกษุภาวะ เป็นสิ่งไม่ควรทำไปด้วย

หรือความเชื่อที่ว่าเมื่อพระภิกษุจะมรณภาพ หาควรมรณภาพทับผ้าเหลืองไม่ ดังนั้น ในสมัยของท่าน พระภิกษุชราที่เจ็บป่วยใกล้จะละสังขาร จึงนิยมสึก เพื่อมิให้ต้องตายทับผ้าเหลืองอันถือว่าเป็นผ้ากาสาวพัสตร์ศักดิ์สิทธิ์ พระจอมเกล้าฯ อธิบายว่าความเชื่ออันนี้ไม่มีในพุทธดำรัสตรงไหน เป็นความเชื่อที่พระสร้างขึ้นให้ฆราวาสเห็นเป็นเพศศักดิ์สิทธิ์จนใครๆ ก็ล่วงละเมิดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือชาวบ้านธรรมดา

ดังนั้น ในความเห็นของพระจอมเกล้าฯ พระภิกษุแต่ละรูปเป็นเพียงบุคคล ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งข้อรังเกียจได้ แต่พระสงฆ์ในความหมายถึงองค์รวมต่างหาก ที่ไม่ควรไปล่วงละเมิด

ถ้าคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างฆราวาสกับพระที่มีมาในพุทธศาสนาไทยตั้งแต่โบราณ ธรรมยุติกนิกายของพระจอมเกล้าฯ จึงเป็นคำสอนที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินพอสมควรทีเดียว และประเด็นเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบกันเองระหว่างพุทธบริษัทดังกล่าว ก็หายไปในการปฏิรูปธรรมยุตระลอกที่สองเหมือนกัน


4. ธรรมยุตของพระจอมเกล้าฯ เน้นเรื่องใจเป็นใหญ่เหนือพิธีกรรม หรือการกระทำทางร่างกายและวาจา

พระราชนิพนธ์เรื่องหนึ่ง (“คำสอนให้ผู้ปฏิบัติรู้ในทางที่ชอบ”) ทรงอธิบายว่า การนับถือพระพุทธศาสนานั้น ต้องตั้งใจให้ตรงกับเป้าหมายหรืออุดมคติของศาสนา นั่นคือเพื่อหนีทุกข์ ไม่ใช่เพราะนับถือตามๆ กันมา เมื่อกราบไหว้บูชาพระเจดีย์ หรือพระพุทธรูป ก็ต้องทำใจว่า ได้กราบไหว้บูชาพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้อะไรไปหมดทุกอย่าง มีใจโน้มน้าวไปทางที่จะทำตามคำสอน กราบไหว้บูชาพระธรรม ก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่กราบไหว้ใบลาน ฯลฯ

คำสอนของพระพุทธศาสนานั้นสรุปลงเหลือเพียงศีล สมาธิ ปัญญา ท่านเสนอให้ภาวนาด้วยการทำมรณานุสสติอยู่เนืองๆ (“สุนทราปกาสิทธิ์”)

ทั้งหมดเหล่านี้ ท่านอาจารย์ไพศาลท่านอธิบายว่า ธรรมยุติกนิกายของพระจอมเกล้าฯ คืออธิบายหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ให้เป็นเรื่องของชาตินี้ และในลักษณะที่ท่านเรียกว่าเหตุผลนิยม

จะว่าจริงก็จริงอย่างที่ท่านอาจารย์ไพศาลว่าหมดนะครับ เพียงแต่ผมคิดว่ามันมีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่ไม่ตรงกับความเปลี่ยนแปลงทางปัญญาที่ฝรั่งบรรยายไว้ทีเดียวนัก เช่นพระจอมเกล้าฯ พูดถึงอดีตพุทธเจ้าพระองค์แรก คือพระพุทธทีปังกร และการปวารณาของพระพุทธเจ้าองค์ของเราในปัจจุบันอย่างจริงจัง จะเรียกว่าวิทยาศาสตร์หรือเหตุผลนิยมก็กระไรอยู่

ผมก็ไม่มีปัญญาจะหาศัพท์อะไรที่ไม่ได้แปลฝรั่งมา เพื่อเรียกความเปลี่ยนแปลงทางปัญญาของวงการพุทธศาสนาไทยในสมัยที่พระจอมเกล้าฯ ทรงสถาปนาธรรมยุติกนิกายได้ แต่อยากยืนยันว่าความเปลี่ยนแปลงด้านหลักธรรมคำสอนของธรรมยุตมีความสำคัญกว่าหลักปฏิบัติด้านพระวินัย แต่ในภายหลัง กลับไปถือเอาวัตรปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ ของพระธรรมยุติว่าเป็นหลักใหญ่ของการปฏิรูปศาสนาครั้งนั้น

การปฏิรูปศาสนาด้านหลักธรรมคำสอนของพระจอมเกล้าฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของธรรมยุติกนิกายนี้ ถูกลืมเลือนหรือไม่ค่อยได้รับความสำคัญในการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ใน ร.5 ลงมา เช่น ไม่ให้ความสำคัญแก่โลกุตรธรรมอีกต่อไป และเนื่องจากต้องการใช้พระสงฆ์เป็นเครื่องมือของรัฐ จึงทำให้รัฐมีอำนาจเหนือคณะสงฆ์ แต่ไม่ต้องการให้อุบาสกอุบาสิกาตรวจสอบคณะสงฆ์ได้อย่างที่พระจอมเกล้าทรงชี้เอาไว้ พระสงฆ์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐไปแล้วจึงไม่ต้องการให้ชาวบ้านตรวจสอบ

ตกมาถึง ร.6 หลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาถูกนำมารับใช้ชาติ และสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเปิดเผยเลย โลกุตรธรรมจึงยิ่งมีประโยชน์น้อยลงไปอีก

ท่านอาจารย์ไพศาลได้อธิบายความแปรเปลี่ยนตรงนี้ไว้ดีแล้วในหนังสือพุทธศาสนาไทยในอนาคต

0000

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 ตุลาคม 2559
ที่มา: matichonweekly.com

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต้หวันยกเลิกกฎให้แรงงานต่างชาติออกนอกประเทศหลังทำงาน 3 ปี

$
0
0

สภานิติบัญญัติไต้หวันได้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายการจ้างงาน ยกเลิกกฎให้แรงงานต่างชาติออกนอกประเทศอย่างน้อย 1 วันหลังทำงานครบ 3 ปี แก้ปัญหาแรงงานถูกเก็บหัวคิว และปัญหาการขาดแคลนแรงงานดูแลผู้สูงอายุ-ทุพพลภาพ

ไต้หวันยกเลิกกฎให้แรงงานต่างชาติออกนอกประเทศอย่างน้อย 1 วันหลังทำงานครบ 3 ปี แก้ปัญหาแรงงานถูกเก็บหัวคิว และปัญหาการขาดแคลนแรงงานดูแลผู้สูงอายุ-ทุพพลภาพ (ที่มาภาพประกอบ: Focus Taiwan)

เว็บไซต์ chinapostรายงานเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่าสภานิติบัญญัติของไต้หวันได้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายการจ้างงานมาตรา 52 (就業服務法) ยกเลิกข้อบังคับให้แรงงานต่างชาติจะต้องเดินทางกลับประเทศอย่างน้อย 1 วัน หลังทำงานครบ 3 ปี จากนั้นจึงจะเดินทางกลับเข้ามาทำงานในไต้หวันรอบใหม่ได้

ด้าน Radio Taiwan Internationalระบุว่ากฎหมายการจ้างงานของไต้หวันฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้แรงงานข้ามชาติต้องเดินทางออกจากไต้หวันอย่างน้อย 1 วัน เมื่อครบสัญญาจ้างทุก 3 ปี จึงจะมีสิทธิกลับเข้ามาทำงานรอบใหม่ในไต้หวัน ซึ่งสร้างปัญหาต่างๆ มากมายทั้งเป็นภาระของแรงงานข้ามชาติที่ต้องจ่ายค่านายหน้าหรือค่าหัวคิวให้แก่บริษัทจัดหางาน และทำให้ไม่มีผู้แลผู้สูงวัยและผู้ทุพพลภาพที่ต้องอาศัยผู้อนุบาลข้ามชาติเป็นผู้ดูแลด้วย 

นางอู๋ออวี้ฉิน (吳玉琴) ประธานกรรมาธิการสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ระบุว่า "ที่ผ่านมาแรงงานต่างชาติต้องออกจากไต้หวันอย่างน้อย 1 วัน ทุก 3 ปี และทุกครั้งก็จะต้องจ่ายค่าหัวคิวอย่างน้อย 75,000-180,000 เหรียญไต้หวัน แล้วแต่สภาพของแต่ละประเทศ การผ่านร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เป็นการยุติการขูดรีดมานานกว่า 24 ปี ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิมนุษยชนผู้ใช้แรงงานของพรรคฯด้วย"

ก่อนหน้านี้กลุ่มองค์กร NGO และแรงงานต่างชาตินับพันเดินขบวนเรียกร้องให้แก้กฎหมายทำงานครบ 3 ปี อนุญาตให้ต่อสัญญาใหม่ที่ไต้หวันได้ไม่ต้องกลับไปเสียค่าหัวคิวมารอบใหม่

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ความกลัวทำให้คนดุร้าย" ประโยคเปิดใจ มา ธิดา อดีตนักโทษการเมืองเมียนมาร์

$
0
0

<--break- />

มา ธิดา (Ma Thida) เป็นนักเขียนผู้เป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนที่ถูกสั่งจำคุก 6 ปี โทษฐาน "เผยแพร่วรรณกรรมที่ผิดกฎหมาย"และข้อหาอื่นๆ ในช่วงราว 20 ปีที่แล้ว นอกจากนี้เธอยังเป็นบรรณาธิการ ผู้จัดพิมพ์ หมอ ผู้ช่วยทางการเมือง และนักกิจกรรมที่เคยมีส่วนร่วมในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยนักศึกษาในช่วงปี 2531 ระหว่างอยู่ในเรือนจำเธอประสบปัญหาสุขภาพหลายอย่างรวมถึงวัณโรค เธอได้รับการปล่อยตัวด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม ส่วนหนึ่งเพราะการกดดันจากนานาชาติอย่างสมาคมนักเขียนสากล (PEN International) ที่ในตอนนี้เธอเป็นหนึ่งในกรรมการของ PEN ด้วย

มา ธิดา ให้สัมภาษณ์ต่ออิระวดีเกี่ยวกับสภาพสังคมในปัจจุบันของเมียนมาร์ที่เธอมองว่ามีความดุร้ายต่อกันมากขึ้นซึ่งมาจากความหวาดกลัว วิธีการที่จะก้าวข้ามความหวาดกลัวได้ต้องมีการเผชิญหน้ากับ "ผู้กระทำความผิดที่แท้จริง" ในเมียนมาร์ซึ่งเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดระบบความรุนแรงทั้งทางกายภาพ ทางโครงสร้าง และทางวัฒนธรรมมาหลายรุ่นแล้ว

พลเมืองธรรมดาก็สามารถทำอะไรบางอย่างได้

ธิดาเริ่มให้สัมภาษณ์ด้วยการพูดถึงบทบาทของเธอในปัจจุบันทั้งในฐานะประธาน PEN เมียนมาร์และกรรมการ PEN สากล ในปัจจุบันเธอยังเป็นบรรณาธิการของอินโฟไดเจสต์เจอนัลซึ่งเป็นสื่อเชิงฐานข้อมูลราย 2 สัปดาห์ ผ่านทางการส่งให้สมาชิก เธอบอกว่าสื่อที่เธอทำงานด้วยไม่สนใจเรื่องในเชิงกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกแต่สนใจแค่การคุ้มครองสิทธิในการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป เธอรับอาสาสมัครคลินิกในย่างกุ้งมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ธิดามองว่า "สุขภาวะเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ มันเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทุกอย่าง"

อิระวดีสอบถามเรื่องที่ก่อนหน้านี้ธิดาเคยบอกว่าเธออยาก "เป็นพลเมืองที่ดี" ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักทางการเมือง ธิดาบอกว่าทุกวันนี้เธอก็ยังอยากเป็น แต่ตัวเธอในปัจจุบันเน้นบทบาทในสมาคมนักเขียนสากลมากกว่าเพราะมีนักเขียนเมียนมาร์น้อยมากที่จะมีบทบาทร่วมตัดสินใจในสถาบันนานาชาติ เธอจึงอยากเป็น "พลเมืองที่ดี" ในฐานะตัวแทนของประเทศ เธอต้องการแสดงให้เห็นว่าแม้แต่คุณเป็นพลเมืองธรรมดาคุณก็สามารถทำอะไรบางอย่างได้

อิระวดีขอให้เธอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของพรรคเอ็นแอลดีหลังชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากเธอเคยเป็นผู้ช่วยอองซานซูจีและเขียนหนังสือเกี่ยวกับอองซานซูจีมาก่อน ธิดาบอกว่าเธอมีคำถามเดียวจะถามอองซานซูจี "คุณเป็นอิสระจากความกลัวแล้วหรือยัง" ในฐานะที่เธอเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐเธอจะต้องเผชิญความกลัวหลายอย่าง อย่างเช่นกลัวจะทำให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผิดหวังซึ่งเป็นเรื่องที่ธิดารู้สึกเข้าอกเข้าใจ ทำให้เธออยากรู้ว่าในตอนนี้อองซานซูจีต่อสู้กับความกลัวอย่างไร

ปัญหาความรุนแรงทางเชื้อชาติและศาสนาในเมียนมาร์มาจากการที่ประชาชนมีความกลัวแบบหยั่งรากลึกทำให้พวกเขามีความเคียดแค้นสูงมากและพยายามหาที่ระบายกับคนที่ไม่มีทางโต้ตอบ 

ทำไม "ความกลัวทำให้คนดุร้าย"

ความกลัวยังเป็นประเด็นที่ธิดานำมาพูดถึงในการประชุมเสวนามหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นอิลินอยส์ มีคำกล่าวที่ธิดาพูดไว้คือ "ความกลัวทำให้คนดุร้าย" อิระวดีถามว่าจากประโยคข้างต้นธิดานำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบันของเมียนมาร์ได้อย่างไรบ้าง

ธิดาตอบคำถามนี้โดยเล่าถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่มีการพูดถึงในเวทีเสวนาวรรณกรรมที่เธอเข้าร่วมในช่วงที่เมียนมาร์ยังอยู่ภายใต้รัฐบาลเต็งเส่ง และคนที่พูดถึงเรื่องสั้นเรื่องนี้บอกว่ามันจะเป็น "หมัดเน้นๆ" อัดใส่รัฐบาล คือเรื่องราวเกี่ยวกับคุณบีสมาชิกระดับต่ำสุดของบริษัท ทำงานให้กับผู้จัดการบริษัทที่เย่อหยิ่งและเป็นคนไม่ค่อยดี คือคุณเอ พนักงานจำนวนมากซุบซิบนินทาคุณเอแต่คุณบีก็ไม่เคยเข้าร่วมซุบซิบนินทาด้วยเลย คุณบีเอาแต่ก้มหน้ายอมรับมารยาทแย่ๆ ของคุณเอ แต่หลังจากเลิกงานแล้วคุณบีมักจะไปที่ร้านดูแลเท้า ในวัฒนธรรมเมียนมาร์การดูแลเท้าที่เป็นของต่ำทำให้คุณบีรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเจ้านาย หลังจากคุณบีให้เงินคนดูแลเท้าเสร็จแล้วเขาก็พูดกับคนดูแลเท้าว่า "ลาก่อน คุณเอ" นั่นเป็นเสมือนการแก้แค้น

ธิดาอธิบายต่อไปว่าการแก้แค้นในแบบนี้เองที่ทำให้เธอมองว่า มันเป็นอะไรร้ายๆ คุณบียังทำตัวสุภาพนอบน้อมกับคุณเอตัวจริงเพราะกลัว แต่ก็มีความอยากแก้แค้น แล้วก็ทำอะไรคุณเอตัวจริงไม่ได้เพราะคุณบีเองจะอันตราย เขาเลยหันไปพาลแก้แค้นใส่ "คุณเออีกคนหนึ่ง" ที่ไม่สามารถโต้ตอบเขาได้ ขณะที่บางคนอาจจะมองเรื่องสั้นนี้ว่าเป็นการอัดใส่ระบบพวกพ้องของรัฐบาลแต่สำหรับธิดาแล้วเธอรู้สึกว่ามันคือความกลัวที่ทำให้ผู้คนโหดร้ายต่อกัน

"พวกเขาไม่ใช้สติปัญญาหรือใช้สำนึกด้วยเหตุด้วยผล พวกเขาจะปลดปล่อยความแค้นอย่างไร มันสะท้อนให้เห็นว่าสังคมควบคุมจัดการความกลัวอย่างไร เรื่องสั้นนี้ทำให้ฉันเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาผู้คนมากขึ้น" ธิดากล่าว

ถึงแม้คำขอโทษอาจจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการเข้าถึงหัวใจของผู้คนและลดความตึงเครียดกับความอาฆาตแค้นในจิตใจลง จากนั้นค่อยเป็นเรื่องของความเป็นธรรมและเรื่องทางกฎหมาย การขอโทษถือเป็นก้าวแรก

อิระวดีถามธิดาต่อว่าชาวเมียนมาร์เอาความแค้นของตัวเองไปลงที่ใคร ธิดาตอบว่าปัญหาความรุนแรงทางเชื้อชาติและศาสนาในเมียนมาร์มาจากการที่ประชาชนมีความกลัวแบบหยั่งรากลึกทำให้พวกเขามีความเคียดแค้นสูงมากและพยายามหาที่ระบายกับคนที่ไม่มีทางโต้ตอบ พวกเขาเลยระบายความแค้นใส่ชนกลุ่มน้อย นี่คือสาเหตุที่ทำไมธิดาถึงบอกว่าความกลัวทำให้คนดุร้าย

แล้วผู้คนควรจะจัดการกับความกลัวของตัวเองอย่างไร ธิดาพูดถึงสถานการณ์ในพม่าที่ผู้คนอ้างว่าพวกเขามีปัญหามากขึ้นแต่จริงๆ แล้วปัญหาก็มีเท่าในอดีตเพียงแต่พวกเขาไม่เคยกล้าเผชิญปัญหาและแสร้งทำตัวให้ดูดีเหมือนคุณบี แต่แทนที่จะทำตัวเสแสร้ง ทำไมพวกเขาถึงไม่กล้าหาญเผชิญหน้ากับคนทำผิดที่แท้จริง

ธิดาเล่าว่าเธอเคยเรียกร้องให้ทางการเมียนมาร์ขอโทษอย่างเป็นทางการต่ออดีตนักโทษการเมือง เธออยากให้ทางการเมียนมาร์หลุดพ้นจากความผิดในจิตใจของตัวเองด้วยการขอโทษ มันจึงไม่ใช่เป็นเรื่องดีต่อนักโทษการเมืองอย่างเดียวแต่ยังดีกับพวกเขาเองด้วย ธิดาไม่เชื่อว่าคนของทางการเมียนมาร์จะใสซื่อจนไม่เห็นว่าตัวเองทำผิด นอกจากนักโทษการเมืองแล้ว ประชาชนทั่วไปหลายๆ รุ่นก็สมควรได้รับคำขอโทษจากทางการด้วย นอกจากบางคนที่ต้องสูญเสียครอบครัวหรือถูกจับกุมแล้วยังมีประชาชนอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรม

ธิดาให้สัมภาษณ์อิระวดีต่อไปว่าถึงแม้คำขอโทษอาจจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการเข้าถึงหัวใจของผู้คนและลดความตึงเครียดกับความอาฆาตแค้นในจิตใจลง จากนั้นค่อยเป็นเรื่องของความเป็นธรรมและเรื่องทางกฎหมาย การขอโทษถือเป็นก้าวแรก

ในเมียนมาร์ยังมีการพูดถึง "การปรองดองในชาติ" กันมาก ธิดาบอกว่าถ้าหากไม่มีการยอมรับว่ากระทำความผิดลงไป การหารือเพื่อความปรองดองในชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็ไม่ถือเป็นสันติภาพที่คงทนสมบูรณ์

ผู้คนต้องเห็นว่าตัวเองสำคัญและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแแปลง

ในบทสัมภาษณ์ยังถามถึงการที่ธิดามาเป็นนักเขียนเพราะอยากเล่าถึงมุมมองต่อความยากจนของตัวเองในตอนนี้ คำถามคือเธออยากพูดถึงความยากจนในแง่มุมไหน ธิดาบอกว่าปัญหาใหญ่ในตอนนี้คือเรื่อง "ความยากจนทางปัญญา" ทำให้เธอเน้นเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นกิจกรรมที่เธอรณรงค์เป็นอันดับแรก ธิดาบอกว่าแม้ว่าคนจะร่ำรวยเงินทองหรือมีตำแหน่งหน้าที่ทางสังคมที่ดี แต่ถ้าไม่มีความรู้มากพอก็ไม่มีอำนาจ เธอจึงต้องการส่งเสริมให้ผู้คนมีความรู้เป็นพลังให้กับตัวเอง ถ้าไม่มีพลังอำนาจก็ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง

ธิดาขยายความว่าผู้คนควรมีความรู้เรื่องระบบมากขึ้น มีความรู้เรื่องศักยภาพหรือความสามารถของตนเอง

"ตราบใดที่คนรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ พวกเขาก็ยังจะรู้สึกไร้พลัง" ธิดากล่าว

ธิดากล่าวว่าเธอมักจะถามอยู่เสมอว่าใครเป็นคนที่สำคัญที่สุดต่อเมียนมาร์ อองซานซูจีใช่หรือไม่ เธอจะตอบว่าให้มองไปในกระจกตัวคุณนั่นแหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าคนเราเห็นว่าตัวเองมีความสำคัญก็จะมีความพยายาม ไม่งั้นแล้วคุณก็จะรอให้คนอื่นมาทำอะไรให้คุณ

"ฉันต้องการให้พวกเขาคิดว่าพวกเขาล้วนแต่เป็นคนที่สำคัญที่สุดในประเทศของพวกเรา สำคัญหมดทุกๆ คนเลย" ธิดากล่าว

มองไปในกระจกตัวคุณนั่นแหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าคนเราเห็นว่าตัวเองมีความสำคัญก็จะมีความพยายาม ไม่งั้นแล้วคุณก็จะรอให้คนอื่นมาทำอะไรให้คุณ

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 4 ระดับ

ในเรื่องที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงในเมียนมาร์ ธิดาบอกว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิเฉพาะส่วนบุคคลเท่านั้นมันยังเป็นสิทธิในระดับส่วนรวมด้วย ถ้าเราไม่ปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของคนอื่นๆ นั่นแสดงว่าเราก็ยังไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เวลาพูดถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเราต้องพูดถึงใน 4 ระดับ คือระดับรัฐธรรมนูญ ระดับกฎหมาย ระดับสถาบันทางสังคม และระดับบุคคล

ธิดายกตัวอย่างว่าแม้ในระดับบุคคลคุณอาจจะเชื่อว่ามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแต่ในระดับรัฐธรรมนูญคุณมีความเสี่ยงและในทางกฎหมายจะทำให้คุณกลายเป็น "ผู้กระทำความผิด" และในเชิงสังคมก็อาจจะขับไสคุณออกไปเพียงเพราะคุณแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีเป็นตัวของตัวเอง ธิดายังกล่าวอีกว่าถ้าหากจะมองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระดับปัจเจกบุคคลก็ควรจะคำนึงถึงสิทธิทางภาษาของชนกลุ่มน้อยด้วย ถึงจะมีคนบอกว่าตอนนี้มีสื่อวารสารของชนกลุ่มน้อยมากขึ้นแต่ชนกลุ่มน้อยก็ยังไม่มีเสรีภาพสื่อ

นอกจากเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้วธิดายังเน้นย้ำเรื่องการรู้เท่าทันสื่อในหมู่ประชาชนด้วย ธิดาบอกว่าประชาชนในเมียนมาร์จำนวนมากยังคงไม่สามารถแยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกดัดแปลงกับข้อมูลขั้นปฐมภูมิได้ ทำให้ผู้คนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าข้อมูลใดที่เชื่อถือได้และข้อมูลใดที่ดัดแปลงหรือมีอคติ เจ้าของสื่อก็มีอิทธิพลในการเซ็นเซอร์มาก นั่นคือการเซ็นเซอร์ตัวเอง การเซ็นเซอร์คนในวิชาชีพเดียวกัน ผู้คนแยกแยะไม่ค่อยได้ว่าสื่อไหนเป็นตัวแทนของอะไร

ธิดายังคุยส่งท้ายกับอิระวดีถึงเรื่องชีวิตส่วนตัวที่อยากเขียนนิยายให้เสร็จแต่ไม่มีเวลามากพอจะหาข้อมูลและลงมือเขียนเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ "ตัวเอก" ที่เป็น "เมืองๆ หนึ่ง" ก่อนหน้านี้เธอออกหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์นักกิจกรรมและนักโทษการเมืองของเธอเองในชื่อ "นักโทษทางความคิด ก้าวของฉันผ่านเรือนจำอินเส่ง" (Prisoner of Conscience: My Steps Through Insein)

 

 

เรียบเรียงจาก

Ma Thida: ‘Fear Makes People Fierce’, Sally Kantar, 18-10-2016

http://www.irrawaddy.com/in-person/ma-thida-fear-makes-people-fierce.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เฟซบุ๊กไล่ปิดเพจชาวปาเลสไตน์ ถูกตั้งคำถามหนักมาตรฐานการเซ็นเซอร์

$
0
0

มีความสงสัยในความลำเอียงของโซเชียลเน็ตเวิร์กเกิดขึ้น เมื่อนักกิจกรรมปาเลสไตน์เผยว่าเพจและบัญชีของแอดมินปาเลสไตน์หลายคนถูกปิดด้วยข้ออ้างขัด "มาตรฐานชุมชนเฟซบุ๊ก" กรณีนี้ถูกวิจารณ์ว่าเซ็นเซอร์ตามอำเภอใจแบบไม่มีมาตรฐาน แม้กระทั่งวิดีโอคนขายดอกไม้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจก็ยังโดนปิดกั้น

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2559 นักกิจกรรมชาวปาเลสไตน์เปิดเผยว่าเฟซบุ๊กยังคงคอยไล่ปลดเพจของชาวปาเลสไตน์ มีบัญชีผู้ใช้ของผู้ดูแลเพจหลายคนรวมถึงแฟนเพจ 2 แห่งถูกลบทิ้ง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์ข้อมูลชาวปาเลสไตน์ (PIC) ซึ่งเป็นภาษาอาหรับและมีผู้ติดตามมากกว่า 2 ล้านคนเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีบัญชีเฟซบุ๊กของแอดมินชาวปาเลสไตน์ถูกระงับการใช้งานอย่างน้อย 10 รายการ มีจำนวน 7 รายการที่ถูกระงับการใช้งานถาวรขณะที่อีก 3 รายการถูกสั่งระงับการใช้งานชั่วคราว และเมื่อพวกเขาขอคำอธิบายจากเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กก็โต้ตอบกลับมาว่า "บัญชีของคุณถูกระงับการใช้งานโดยถาวรเพราะไม่เป็นไปตามมาตรฐานชุมชนเฟซบุ๊ก พวกเราจะไม่นำบัญชีของพวกคุณกลับคืนมาอีกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม"

ยาห์ยา อะบู ฮัสซัน ผู้อำนวยการของ PIC กล่าวว่า "มาตรฐานชุมชนเฟซบุ๊ก" ที่ว่าเป็นแค่ข้อแก้ตัว ไม่ว่าเฟซบุ๊กจะมีมาตรฐานอะไรก็ตาม มันเป็นมาตรฐานที่หละหลวม เจ้าอารมณ์ และทำตามอำเภอใจ อย่างไรก็ตามเฟซบุ๊กก็ยังใช้มาตรฐานที่ว่ามาอ้างความชอบธรรมในการลบเนื้อหาใดก็ตามที่บรรดาชาวอิสราเอลเป็นคนรายงาน มันจึงชวนให้นึกถึงการเซ็นเซอร์เลวร้ายที่สุดโดยเผด็จการทั่วทุกเวลาและสถานที่

นอกจากนี้ในวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมาเพจของ PIC ภาคภาษาอังกฤษที่มีจำนวนไลค์มากกว่า 200,000 ไลค์ มีวิดีโอทีพวกเขาอัพโหลดถูกนำออกจากเฟซบุ๊กโดยอ้างว่ามี "ภาพเปลือย"

รามี ซาลาม แอดมินเพจดังกล่าวบอกว่า เพจของพวกเขาโพสต์รายงานข่าวและเนื้อหาต่างๆ รวมถึงรูปภาพการ์ตูน และวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับปาเลสไตน์และชาวปาเลสไตน์เท่านั้น ซาลามบอกอีกว่าวิดีโอที่ถูกลบเป็นวิดีโอแนวเสริมสร้างกำลังใจเกี่ยวกับบัณฑิตชาวปาเลสไตน์ผู้ที่ฝ่าฝืนการปิดล้อมของอิสราเอลและต่อสู้กับการว่างงานด้วยการขายดอกไม้

"มันเป็นการส่งสารให้กับชาวปาเลสไตน์ที่ถูกปิดล้อมและยึดครองพื้นที่เพื่อให้เห็นว่ายังมีแสงแห่งความหวัง" ซาลามกล่าว เขาบอกอีกว่าบัญชีของเขาถูกเฟซบุ๊กสั่งปิดชั่วคราวโดยไม่มีเหตุผลมาหลายครั้งแล้ว

อัลจาซีรารายงานว่าเฟซบุ๊กเริ่มทำการระงับการใช้งานบัญชีของชาวปาเลสไตน์หลายคนตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาโดยอ้างข้ออ้างเดียวกันว่า "ฝ่าฝืนมาตรฐานชุมชน" ผู้ที่ถูกเฟซบุ๊กสั่งระงับในช่วงนั้นล้วนเป็นสื่อมวลชน ได้แก่ บรรณาธิการ 4 คน จากสำนักข่าวเชฮับที่มียอดไลค์ 6.3 ล้านไลค์ และผู้บริหาร 3 คน จากคัดส์นิวเน็ตเวิร์กที่มียอดไลค์ 5.1 ล้านไลค์ ซึ่งทั้งสองสื่อนี้ต่างก็รายงานข่าวแบบรายวันเกี่ยวกับพื้นที่ปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง

ชาวปาเลสไตน์และนักกิจกรรมที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์พยายามตอบโต้การเซ็นเซอร์ของเฟซบุ๊กด้วยการใช้แฮ็ชแท็ก #FBcensorsPalestine มีผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมการเรียกร้องตอบโต้เฟซบุ๊ก โดยมีผู้โพสต์ข้อความและแฮ็ชแท็กนี้เกินหมื่นคน

หลังจากที่ถูกกดดดันอย่างหนัก เฟซบุ๊กก็ขอโทษและนำบัญชีชื่อที่ถูกปิดไปกลับมา แต่ทว่าเฟซบุ๊กก็ยังคอยกำจัดเพจปาเลสไตน์ไปที่ละเพจซึ่งนักกิจกรรมประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่การคอยเซ็นเซอร์เพจเหล่านี้เป็นเพราะเฟซบุ๊กมีข้อตกลงกับอิสราเอล จากกรณีที่ช่วงเดือนกันยายน 2558 ตัวแทนของเฟซบุ๊กเข้าพบปะกับรัฐมนตรีของอิสราเอลโดยทางการอิสราเอลอ้างว่าเพื่อเป็นการ "ส่งเสริมความร่วมมือในการต่อต้านการยุยงให้เกิดการก่อการร้ายและการฆาตรกรรม" โดยที่รัฐมนตรีจากพรรคการเมืองฝ่ายขวาของอิสราเอลบอกว่าการพบปะประสบความสำเร็จ

สื่ออิสราเอลหลายแห่งยังรายงานด้วยว่า เฟซบุ๊กกับรัฐบาลอิสราเอลจัดทีมร่วมกันในการต่อต้านการยุยงปลุกปั่นในโลกออนไลน์แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดมากกว่านี้ ขณะที่ทางโฆษกของเฟซบุ๊กให้สัมภาษณ์ต่ออัลจาซีราในเรื่องนี้ว่า ในช่วงที่มีการพบปะกับรัฐมนตรีอิสราเอลนั้นเป็น "ส่วนหนึ่งของการเจรจาหารือที่กำลังดำเนินอยู่กับผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกในการนำเอาเนื้อหาการก่อการร้ายออกจากพื้นที่และส่งเสริมการริเริ่มใช้วาจาโต้กลับ (counter speech)"

อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมปาเลสไตน์ก็ดูจะมีทางเลือกไม่มากนัก บายัน โมฮัมเหม็ด แอดมิน PIC ภาษาอาหรับยอมรับว่าเฟซบุ๊กยังเป็นพื้นที่นำเสนอที่สำคัญ พวกเขาไม่ยอมออกจากเฟซบุ๊กเพียงเพราะถูกนโยบายกดขี่ข่มเหง พวกเขาจะสร้างเพจและบัญชีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเสียงของชาวปาเลสไตน์จะมีคนรับฟัง แต่ก็มีนักกิจกรรมอีกบางส่วนที่กำลังเริ่มมองหาพื้นที่ใหม่ที่จะการันตีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อทำลายสิ่งที่นักเขียนนิยายชาวปาเลสไตน์ ซูซาน อะบูลฮาวา เรียกว่า "เผด็จการดิจิตอล"

 

เรียบเรียงจาก

Why is Facebook targeting Palestinian accounts again?, Aljazeera, 22-10-2016

http://www.aljazeera.com/news/2016/10/facebook-targeting-palestinian-accounts-161019063930119.html

 

 

Tags : ข่าว, ต่างประเทศ, สิทธิมนุษยชน, ปาเลสไตน์, อิสราเอล, เสรีภาพสื่อ, เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, การเซนเซอร์, เฟซบุ๊ก, #FBcensorsPalestine

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ปราศรัยวันสหประชาชาติ ย้ำไทยมุ่งขับเคลื่อนพัฒนาที่ยั่งยืนส่งเสริม-คุ้มครองสิทธิ

$
0
0

ปราศรัย พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องในวันสหประชาชาติ ย้ำไทยมุ่งมั่นเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสหประชาชาติให้บรรลุเป้าประสงค์ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน การพยายามระงับการพิพาทระหว่างประเทศ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 

(แฟ้มภาพ)

24 ต.ค. 2559 เนื่องในวันสหประชาชาติ (UN) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำปราศรัยผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

พี่น้องชาวไทยที่รัก วันที่ 24 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสหประชาชาติ ซึ่งมีความหมายสำคัญต่อมวลมนุษยชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์การสากลระหว่างประเทศ ในการบรรเทาทุกข์และแก้ไขปัญหาของโลก จรรโลงสันติภาพและความมั่นคง ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่มวลมนุษยชาติ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศไทยมีบทบาทเข้มแข็งในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ มาตลอด 70 ปี เป็นที่ยอมรับจากองค์กรและประเทศสมาชิก ด้วยการมีส่วนร่วมให้ความเห็นและแบ่งปันประสบการณ์ แก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจของสหประชาชาติที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

ซึ่งในปี 2559 นี้ เป็นปีเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของสหประชาชาติ โดยเป็นปีแรกของการดำเนินการตามกรอบความร่วมมือสำคัญระดับโลก โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs กรอบเซนไดเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ความตกลงปารีสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนปฏิบัติการระดมทุนเพื่อการพัฒนา วาระสำคัญเหล่านี้ต้องอาศัยแรงผลักดันในระดับสากลเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นสำหรับโลกของเรา ซึ่งไทยได้ร่วมแสดงบทบาทอย่างแข็งขันและสร้างสรรค์ในประเด็นเหล่านี้ตลอดปีที่ผ่านมา

อีกประการที่สำคัญในปีนี้ ประเทศไทยได้ทำหน้าที่ในฐานะประธานกลุ่ม 77 ที่แข็งขัน สร้างสรรค์และชัดเจน ช่วยกระดับไทยในเวทีระหว่างประเทศอย่างมาก ไทยมีผลงานการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ของสหประชาชาติอย่างชัดเจน 3 ประการ (1) การสร้างหุ้นส่วนที่กว้างขวางในเวทีโลก อาทิการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับกลุ่ม 20 ในฐานะประธานกลุ่ม 77 (2) การส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ และ (3) การแบ่งปันแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่  71 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และได้กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน : แรงผลักดันสากลเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของเรา” ผมได้กล่าวถึงการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านกรอบความร่วมมือทวิภาคีและไตรภาคี และการสร้าง/เชื่อมโยงหุ้นส่วนด้านการพัฒนาผ่านกรอบความร่วมมือภูมิภาคต่างๆ เช่น อาเซียน BRICS และ ACD รวมถึงการผสานความร่วมมือระหว่างกลุ่ม 20 กับกลุ่ม 77 ในการเข้าร่วมประชุมของกลุ่ม 20 ล่าสุดที่นครหางโจว เป็นต้น

ผมได้รับรายงานว่าในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ประธานสมัชชาสหประชาชาติได้กล่าวถวายคำไว้อาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และที่ประชุมของประเทศสมาชิก 193 ประเทศ ได้ยืนสงบนิ่งเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย นานาประเทศล้วนประจักษ์ในพระปรีชาสามารถในด้านการพัฒนาและมีอีกหลายประเทศที่กล่าวถวายการยกย่องว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นผู้นำอย่างแท้จริง หลักการเรื่องการพัฒนาของพระองค์ท่านได้รับการยอมรับและนำไปปรับใช้ในกว่า 20 ประเทศทั่วโลกด้วย ซึ่งประเทศต่างๆ ที่ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ได้แสดงความขอบคุณไทย เช่น ติมอร์-เลสเต อินโดนีเซีย ลาว อัฟกานิสถาน เลโซโท ซิมบับเว นิคารากัวและภูฏาน ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของไทยในการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีไปสู่ระดับสากล

นอกจากนี้ ผมยังได้เข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมคู่ขนานระดับสูงต่างๆ เพื่อแสดงท่าทีไทยในเวทีระหว่างประเทศ และยืนยันพันธกรณีของไทยต่อสหประชาชาติ อาทิ การประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านผู้ลี้ภัยของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดีในการย้ำเตือนให้ประชาคมโลกตระหนักถึงบทบาทที่เด่นชัดของไทยที่ทำงานร่วมกับสหประชาชาติมากว่า 40 ปี รับภาระเรื่องผู้ลี้ภัย มาแล้วกว่าล้านคน โดยให้ความช่วยเหลือบนหลักมนุษยธรรมมาโดยตลอด ผมได้ประกาศคำมั่นที่สำคัญ 10 ประการ ในการดำเนินการของไทยเพื่อให้การช่วยเหลือและดูแลกลุ่มดังกล่าว ซึ่งคำมั่นของไทยชัดเจนและได้รับการชื่มชมจากประเทศต่างๆ อย่างมาก

พี่น้องชาวไทยที่รัก ผมเชื่อว่าความสำเร็จที่กล่าวไปนั้น เป็นบทพิสูจน์อย่างดียิ่งต่อความมุ่งมั่นของไทย ที่จะมีบทบาทนำที่แข็งขัน ชัดเจน และสร้างสรรค์ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสหประชาชาติให้บรรลุเป้าประสงค์ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน การพยายามระงับการพิพาทระหว่างประเทศ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนนำความกินดี-อยู่ดี มาสู่รัฐสมาชิกทุกประเทศ

เนื่องในวันสหประชาชาติในปีนี้ ในนามของรัฐบาลไทย ผมขอใช้โอกาสนี้แสดงความชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติตลอดทศวรรษที่ผ่านมา และแสดงความยินดีต่อนายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และจะเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติคนที่ 9 ในช่วงต้นปี 2560 ผมเชื่อมั่นว่า ประสบการณ์และความมุ่งมั่นของนายกุแตเรช จะมีคุณค่าในการขับเคลื่อนให้สหประชาชาติเป็นหน่วยงานที่จะช่วยธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเป็นอยู่ที่ดีของมวลมนุษยชาติยิ่งขึ้นไปอีก ขอย้ำว่าไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับสหประชาชาติในฐานะสมาชิกที่รับผิดชอบเพื่อประโยชน์และความสุขของโลกของเรา ขอบคุณและสวัสดีครับ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลแพ่งยกฟ้อง ภรรยา 'อากง' เรียกค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตในรพ.เรือนจำ

$
0
0

ศาลแพ่งยกฟ้อ ระบุข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าแพทย์พยาบาลบกพร่องในหน้าที่ เพียงวิธีการรักษาต่างกัน รพ.เรือนจำย่อมมีกฎระเบียบมากกว่าเป็นธรรมดา ด้านรสมาลิน ภรรยานายอำพล หรืออากง ระบุ ยื่นฟ้องเพียงต้องการให้หน่วยงานตื่นตัวปรับปรุงคุณภาพรักษานักโทษ 

เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2559 ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก มีนัดฟังคำพิพากษากรณีที่นางรสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของนายอำพล ตั้งนพกุล อดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ซึ่งเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อปี 2555 ได้ฟ้องกรมราชทัณฑ์เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,225,250 บาทและดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง เนื่องจากโจทก์เห็นว่านายอำพลเสียชีวิตที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์และเห็นว่าการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังรวมถึงระบบการกู้คืนชีพของโรงพยาบาลไม่ได้มาตรฐานทำให้นายอำพลถึงแก่ชีวิต

ศาลแพ่งมีคำพิพากษาว่าให้ยกฟ้อง เนื่องจากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ต่อโจทก์

รสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของผู้ตายให้สัมภาษณ์ภายหลังทราบผลคำพิพากษาว่า เธอไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะคดีนี้ หรือต้องการเงินชดเชย หรือต้องการให้ลงโทษเอาผิดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพียงแต่หวังว่าการฟ้องคดีจะกระตุ้นให้หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบดูแลรักษานักโทษที่เจ็บป่วยปรับปรุงและพัฒนาการทำงานของพวกเขาให้ดีขึ้น เพราะเธอเองเห็นว่านักโทษก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ควรได้รับการการดูแลรักษาเท่าเทียมกับประชาชนคนอื่นๆ เธอเห็นว่านักโทษกระทำความผิดควรได้รับการลงโทษโดยการจำกัดอิสรภาพในชีวิต แต่ไม่ควรถูกทำให้มีคุณภาพชีวิตทั้งในเรือนจำและการรักษาพยาบาลย่ำแย่ไปด้วย

“นักโทษก็เป็นคน ไม่อยากให้คนอื่นๆ ต้องประสบชะตากรรมเดียวกันกับอากง อยากให้ระบบมันดีขึ้น” รสมาลินกล่าว

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความโจทก์ จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ศาลแพ่งพิพากษาให้ยกฟ้องในคดีนี้ โดยประเด็นที่ต่อสู่ในคดีมี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ประเด็นที่จำเลยมีอาการหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ แต่ไม่มีการตรวจคลื่นหัวใจ มีเพียงการให้ยาลดการเต้นของชีพจร แพทย์ซึ่งเป็นพยานโจทก์เห็นว่าความจริงแล้วควรมีการตรวจคลื่นหัวใจเพื่อให้ทราบว่าอัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอหรือไม่และจะได้ให้การรักษาที่ถูกจุด แต่ศาลเห็นตามที่พยานโจทก์ซึ่งเป็นแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ที่ว่าการเต้นของหัวใจของบุคคลนั้นแตกต่างกันขึ้นกับหลายปัจจัยและเมื่อตรวจพบความผิดปกติก็ได้มีการจ่ายยาให้ผู้ตายแล้ว

2.การที่ผู้ตายมีอาการปวดท้อง ท้องบวมโตนั้น แพทย์ซึ่งเป็นพยานโจทก์เห็นว่าควรเจาะน้ำในช่องท้องเพื่อให้ผู้ป่วยลดอาการแน่นท้อง และจะมีส่วนช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจด้วย ขณะที่ศาลเห็นตามพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่าแพทย์ที่ตรวจรักษาได้ให้ยาขับปัสสาวะแล้ว และการเจาะน้ำในช่องท้องนั้นมีความเสี่ยง แพทย์ย่อมวินิจฉัยวิธีที่เหมาะสมในการรักษาได้แตกต่างกัน

3.การฟื้นคืนชีพ แพทย์ซึ่งเป็นพยานโจทก์เห็นว่า การฟื้นคืนชีพตามที่พยานจำเลยได้เบิกความนั้นเป็นเพียงการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น แต่เมื่อเหตุเกิดในโรงพยาบาลจึงควรช่วยฟื้นคืนชีพในขั้นสูงได้โดยการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าและต้องกระทำโดยแพทย์เท่านั้น เพราะแพทย์จะเป็นคนวินิจฉัยว่าเมื่อใดที่ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย ซึ่งโดยมาตรฐานทั่วไปจะต้องปฏิบัติการภายใน 4 นาทีเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้ทันเวลา หากแต่การช่วยฟื้นคืนชีพในครั้งนี้ดำเนินการโดยพยาบาลและเครื่องกระตุ้นหัวใจก็อยู่อีกชั้นหนึ่งของโรงพยาบาลและไม่ถูกนำมาใช้ ขณะที่แพทย์ซึ่งเป็นพยานจำเลยเบิกความว่า มีการตรวจคนไข้ทุกวันพบว่า คนไข้เดินได้ พูดคุยได้ เริ่มรับประทานอาหารได้ และกำลังอยู่ระหว่างเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจสอบสาเหตุความเจ็บป่วยแต่ติดวันหยุดราชการ ขณะเกิดเหตุแพทย์เจ้าของไข้กำลังประชุม พยาบาลที่ช่วยฟื้นคืนชีพได้โทรเพื่อรายงานสถานการณ์และแพทย์ได้แจ้งให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ทางโทรศัพท์ โดยพยาบาลระบุว่าเมื่อมาถึงก็พบว่าผู้ตายไม่สามารถแทงเข็มน้ำเกลือได้แล้ว แพทย์ได้รับรายงานเมื่อไม่สามารถช่วยฟื้นคืนชีพได้แล้ว แต่ก็ยังให้ช่วยต่อไปอีก 20 นาที รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 40 นาที

ศาลวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า “แพทย์และพยาบาลให้การดูแลรักษาผู้ตายมาตลอด ต่างใช้วิจารณญาณและความรู้ความสามารถตามหลักวิชาอย่างเต็มความสามารถ แม้ไม่สามารถช่วยฟื้นคืนชีพผู้ตายได้สำเร็จ การที่แพทย์พยาบาลใช้หรือไม่ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่าง เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าในการช่วยฟื้นคืนชีพ ย่อมอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์และพยาบาลอย่างดีแล้วว่าจะสามารถอุปกรณ์การแพทย์ชนิดใดได้หรือไม่ในช่วงวิกฤต แม้แพทย์ซึ่งเป็นพยานโจทก์จะเห็นต่างก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว”

นอกจากนี้โจทก์ยังระบุว่าผู้ตายได้รับการเลือกปฏิบัติทั้งที่มาตรา 51 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข พูนสุขระบุว่า โจทก์หมายถึงความสามารถในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลภายในเรือนจำไม่เท่าเทียมกันเมื่อเทียบกับคนทั่วไปที่ได้รับการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลภายนอก อย่างเช่นกรณีนี้แม้แพทย์จะสั่งให้เจาะเลือดเพื่อหาค่าความผิดปกติต่างๆ แต่ปรากฏว่าติดวันหยุดราชการ 3 วันจึงยังไม่มีการดำเนินการในส่วนดังกล่าว หรือกรณีการช่วยเหลือระหว่างการฟื้นคืนชีพซึ่งผู้ตายอยู่ระหว่างการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลขนาดกลางแต่กลับไม่มีแพทย์ร่วมปฏิบัติการเพราะติดประชุม อย่างไรก็ตาม ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติในเรื่องนี้ สิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้นทุกคนมีเท่าเทียมกันแต่ต้องดูสถานะของจำเลยด้วยว่าอยู่ในสถานะใด ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ย่อมต้องมีกฎระเบียบเคร่งครัดกว่าที่อื่นและทุกคนอยู่ภายใต้ระเบียบนั้นไม่ว่าแพทย์พยาบาลก็ตาม

“ส่วนประเด็นว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเป็นการขัดรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงที่รับฟังจากพยานหลักฐานของจำเลย ไม่ปรากฏว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง.... การจำกัดปริมาณผู้เยี่ยม เวลาเยี่ยม การส่งผู้ป่วยออกนอกพื้นที่ แม้แต่การติดต่อสื่อสารที่จำเลยไม่อาจใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เหล่านี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการขัดต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงสถานะตัวบุคคลของคนนั้นๆ ด้วยว่าตนเองอยู่ในสถานะเช่นใดก็ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานเหล่านั้น เพียงแต่ว่าสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การรักษาพยาบาลยังคงมีอยู่ไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิแต่อย่างใด” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา

“วินิจฉัยแล้วว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายของผู้ตายไม่พอให้รับฟังได้ว่าสืบเนื่องมาจากการกระทำโดยประมาทของเจ้าหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ดังที่ญาติผู้ตายกล่าวอ้าง.... ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเป็นพับ” คำพิพากษาระบุ 

อำพล อายุ 61 ปีขณะเสียชีวิต เป็นอดีตพนักงานขับรถที่ปลดระวางมาเลี้ยงหลานอยู่บ้าน เขาถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความสั้น (SMS) มีข้อความดูหมิ่นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในขณะนั้นไปให้นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จากนั้นสมเกียรติจึงแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ อำพลถูกจับกุมตัวที่บ้านพักจังหวัดสมุทรปราการ ถูกขังอยู่ราวสองเดือนจึงได้รับการประกันตัว ต่อมาเมื่ออัยการสั่งฟ้อง เขาถูกคุมขังและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวอีกเลยระหว่างต่อสู้คดี 23 พ.ย.2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเขามีความผิดจริง พิพากษาจำคุก 20 ปี (ข้อความ/กรรมละ 5 ปี 4 ข้อความ) ต่อมาวันที่ 8 พ.ค.2555 อำพลเสียชีวิตในโรงพยาบาลราชทัณฑ์หลังป่วยมานานและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลไม่กี่วัน 

30 ต.ค.2556 ศาลอาญาอ่านคำสั่งไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำ อช. 10/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นคำร้องไต่สวนการเสียชีวิตของนายอำพล ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยศาลสั่งว่าสาเหตุและพฤติการการตายคือระบบไหลเวียนโลหิตและทางเดินหายใจล้มเหลว จากมะเร็งตับระยะลุกลาม เป็นการตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ โดยศาลยังฟังไม่เพียงพอว่าเป็นการกระทำโดยประมาทของเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษา (อ่านที่นี่)

ก่อนหน้านั้นวันที่ 7 พ.ค.2556 นางรสมาลิน ภรรยานายอำพล ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้องกรมราชทัณฑ์ต่อศาลปกครอง เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังป่วย แต่เจ้าหน้าที่ภายใต้สังกัดของผู้ฟ้องคดีได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร หรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้นายอำพลถึงแก่ความตาย ให้กำหนดให้กรมราชทัณฑ์ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,225,250 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะชำระเสร็จสิ้น 

25 ธ.ค.2556 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แจ้งว่าศาลปกครองได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของ นางรสมาลิน ภรรยานายอำพล โดยก่อนหน้านี้รสมาลินขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจำนวน 44,505 บาทเนื่องจากการไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระ ดังนั้นสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงเปิดขายเสื้อเพื่อระดมทุนเป็นค่าธรรมเนียมดังกล่าว (อ่านที่นี่)

23 เม.ย.2558 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 10/2558 ว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม (อ่านที่นี่) คดีจึงถูกโอนไปยังศาลแพ่ง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.ดิจิทัลฯ เฝ้าระวังเว็บหมิ่นฯ 24 ชม. ขออย่าไลค์-แชร์-คอมเมนต์ตอบโต้โพสต์ที่สุ่มเสี่ยง

$
0
0

พล.อ.อ.ประจิน เผยส่วนใหญ่เว็บที่ถูกปิดจะเป็นเว็บในประเทศ และขณะนี้สามารถปิดเว็บไซต์หมิ่นสถาบันไปได้กว่า 50% ตั้งเป้าจะระงับให้ได้ 100% จ่อขอความร่วมมือไลน์และเฟซบุ๊ก หลังจากที่ได้ที่ประสานขอความร่วมมือไปทางกูเกิลและยูทูบ ซึ่งผู้ให้บริการได้ตอบรับและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี

24 ต.ค. 2559 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวภายหลังการลงพื้นที่บริเวณโดยรอบพระบรมหาราชวังว่า ทางกระทรวงดีอีได้เพิ่มช่องทางการลงนามแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์กระทรวงดีอี เพื่อรวบรวมรายชื่อและส่งต่อไปยังรัฐบาล โดยได้นำไอแพดจำนวน 3 เครื่อง ตั้งโต๊ะไว้ที่เต็นท์ของกระทรวงดีอี บริเวณท้องสนามหลวง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนมาลงนามแสดงความอาลัยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย

พล.อ.อ.ประจิน ยังกล่าวถึงมาตรการการป้องกันเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน ว่า ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง โดยประสานความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารทางโซเชียลมีเดีย และอย่ากดไลค์ กดแชร์ หรือคอมเมนต์ตอบโต้บทความที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อสถาบันและความมั่นคงของชาติ เพราะนอกจากจะไม่เหมาะสมแล้วยังเสี่ยงผิดกฎหมาย จึงขอให้ประชาชนที่พบเว็บไซต์หรือบทความที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันหรือต้องสงสัยว่าผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แจ้งมาทางศูนย์ที่เบอร์ 1212 ตลอดเวลา

พล.อ.อ.ประจิน ยังเปิดเผยว่า กระทรงดีอีได้ประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อย่างใกล้ชิด และดำเนินการปิดเว็บไซต์หมิ่นสถาบันตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 26 ที่ระบุความผิดเกี่ยวกับเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคง ยั่วยุ หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่หากเข้าข่ายความผิดดังกล่าว รัฐบาลสามารถปิดเว็บหมิ่นได้ทันที ซึ่งส่วนใหญ่เว็บที่ถูกปิดจะเป็นเว็บในประเทศ และขณะนี้สามารถปิดเว็บไซต์หมิ่นสถาบันไปได้กว่าร้อยละ 50 รวมทั้งแจ้งเตือนไปทางไอดีของผู้กระทำผิดทั้งในและต่างประเทศได้แล้วหลายราย ทั้งนี้ ตั้งเป้าจะระงับเว็บไซต์หมิ่นให้ได้ 100% นอกจากนี้ยังเตรียมขอความร่วมมือไปทางผู้บริหารแอพพลิเคชั่นไลน์และเฟซบุ๊กต่อไป หลังจากที่ได้ที่ประสานขอความร่วมมือไปทางกูเกิลและยูทูบ ซึ่งผู้ให้บริการได้ตอบรับและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม นอกจากรัฐบาลจะใช้มาตรการทางกฎหมายแล้วขณะเดียวกันจะให้ความรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม กูเกิลได้ส่งแถลงการณ์มายังเดอะเนชั่น โดยปฏิเสธว่ากูเกิลไม่ได้มอนิเตอร์โพสต์ใดๆ ของผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กไทย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

 

ที่มา สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เหรียญทอง' ลั่นจะกลับมาไม่ว่าจะถูกรีพอร์ตเฟซดับสักกี่ครั้ง

$
0
0

เฟซบุ๊ก พล.ต.นพ.เหรียญทอง หายไป คาดว่าถูกรีพอร์ตจนดับ หลังมีการไล่ล่าและละเมิดสิทธิส่วนตัวผู้ถูกกล่าวหาหมิ่นฯอย่างเข้มข้น ล่าสุดมีแถลงออกมาจากเพจองค์กรเก็บขยะฯ ระบุถูกปิดจริง พร้อมยืนยันว่าดับกี่ครั้งก็จะเปิดใหม่เพื่อสู้ต่อ

ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน

24 ต.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.01 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน' โพสต์ข้อความแจ้งข่าวจาก พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ และผู้ก่อตั้ง “องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน” กรณีที่ เฟซบุ๊กของเขาหายไปนั้น ว่า เพจ เหรียญทอง แน่นหนา 159,725 ไลค์ขณะนี้ถูกปิดไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 ต.ค.59 เวลา 16.07 น. แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะ พล.ต.เหรียญทอง โดนปิดเฟซเป็นประจำ มีสถิติถูกปิดเพจทั้งสิ้น 4 ครั้งในรอบ 2 ปีแล้ว โดยอ้างว่าเนื่องจาก ตัวเขาเอง ต่อสู้กับขบวนการบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ดุเดือดมาโดยตลอดแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน 

นอกจากนี้ แถลงของ พล.ต.เหรียญทอง  ยังระบุรายละเอียดการถูกปิดที่ผ่านมาด้วยว่า เฟซที่ 1 เป็นเฟซส่วนตัวถูกปิดเมื่อ ก.ค.57 มีสมาชิกไลค์และติดตามมากกว่า 70,000 ไลค์ , เฟซที่ 2 เป็นเพจสาธารณะถูกปิดเมื่อ ม.ค.58 มีสมาชิกไลค์มากกว่า 50,000 คน , เฟซที่ 3 เป็นเพจสาธารณะถูกปิดเมื่อ พ.ย.58 มีสมาชิกไลค์มากกว่า 40,000 คน ส่วนเฟซที่ 4 ซึ่งเป็นเพจสาธารณะและถูกปิดล่าสุดเมื่อ 24 ต.ค.59 นี้ มีสมาชิกไลค์ 159,725 ไลค์
 
แถลงดังกล่าวระบุต่อว่า ไม่ว่าจะถูกปิดสักกี่ครั้ง พล.ต.เหรียญทอง ก็จะกลับมาต่อสู้กับขบวนการบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ตราบใดที่ชีวิตของ พล.ต.เหรียญทอง ยังดำรงอยู่ ก็จะยังคงปกป้องพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์เจ้าจนกว่าชีวิตจะหาไม่
 
"ถึงแม้แผนการปฏิบัติจะสะดุดไปบ้าง แต่ท่านทั้งหลายไม่ต้องตกใจนะครับ แล้ว พล.ต.เหรียญทอง แน่นหนา ก็จะต้องกลับมาร่วมปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ร่วมกับพสกนิกรผู้จงรักภักดีเหมือนเดิม "ผมจะกลับมา...I shall return." แล้วเตรียมตัวพบกันใหม่อีกนะครับ" พล.ต.เหรียญทอง ระบุ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้เฟซบุ๊ก พล.ต.เหรียญทอง ได้มีการดำเนินการไล่ล่าผู้ที่เขากล่าวหาว่ามีพฤติกรรมหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อย่างหนัก โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา เป็นต้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เยาวชนปาตานี' ร้องยูเอ็นปมปิดล้อมคุมตัว น.ศ.ปาตานีในกรุงเทพ

$
0
0

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี เข้ายื่นร้องเรียนต่อตัวแทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติกรณีการปิดล้อมคุมตัวนักศึกษาเยาวชนปาตานีในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา เมินคณะกรรมการสิทธิฯ เหตุไม่มั่นใจการตรวจสอบของกสม. เพราะเป็นหน่วยงานที่อิงกับภาครัฐ

<--break- />

ที่มาเพจ The Federation of Patani Students and Youth - PerMAS

24 ต.ค. 2559 อัสมาดี บือเฮง เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี(permas) พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อตัวแทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Office of High Commissioner for Human Rights – UNOHCHR) กรณีการปิดล้อมคุมตัวนักศึกษาเยาวชนปาตานีในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา 

อัสมาดี กล่าวว่า พวกเรามีความกังวลใจต่อการปฏิบัติการของภาครัฐในการจำกุม ปิดล้อม ตรวจค้นนักศึกและเยาวชนปาตานี ที่ใช้อำนาจไม่อยู่บนพื้นฐานหลักนิติรัฐนิติธรรมเท่าที่ควร เพราะการอ้างว่าการบุกจับกุมครั้งนี้ เพราะหวั่นจะก่อเหตุการณ์วินาศกรรม ช่วงวันที่ 25 ต.ค.-30 ต.ค.นี้ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นวันครบรอบการสลายการชุมนุมตากใบ ถามว่าการกล่าวอ้างเช่นนี้มีหลักการทางกฎหมายอย่างไร ยิ่งรัฐทำเช่นนี้ยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง เพราะส่งผลถึงความไม่เชื่อใจของประชาชนในพื้นที่แล้ว และเกรงว่าการกล่าวอ้างเช่นนี้ จะทำให้เยาวชนปาตานีถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง และเมื่อมีเหตุวินาศกรรมเกิดขึ้นที่ไหน เยาวชนปาตานีอาจจะถูกโยนความผิดทั้งที่ไม่ได้เป็นคนกระทำก็ได้ 

“การจับกุมครั้งนี้ เป็นการจับกุมที่มีตัวเลขสูงมาก ทำให้เรากังวลใจว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะซ้ำรอยเหตุการณ์ที่ตากใบ เพราะที่ผ่านมาระดับนโยบายภาครัฐที่ออกมานั้นดูเหมือนจะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับทำตรงกันข้าม ริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ริดรอนสิทธิมนุษยชนของเยาวชนอย่างมาก ที่ผ่านมาเราเรียกร้องผ่านรัฐมาโดยตลอด อยากให้รัฐแสดงความจริงใจที่แท้จริง” อัสมาดี กล่าว 

อัสมาดี กล่าวว่า การยื่นหนังสือต่อยูเอ็นครั้งนี้ เพื่อขอให้เข้ามาตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เนื่องจากเรามีความเชื่อมั่นในกลไกการตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เพราะที่ผ่านมาเราเรียกร้องไปยังรัฐบาลมาโดยตลอดแต่ก็ไม่เป็นผล เพราะเมื่อเราร้องขอเข้าเยี่ยมเยาวชน พาพ่อแม่พวกเขาขึ้นมากทม. รัฐก็กลับส่งตัวกลับไปที่คุมขังที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แสดงให้เห็นว่ามักมีปัญหาทางเทคนิคตลอด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เท่าที่เราติดตามการจับกุม ทราบว่ามีผู้ถูกจับกุมไปถึง 105 คน แต่ที่มีรายชื่อออกมามีเพียง 44 คน ซึ่งมีบางส่วนที่ถูกปล่อยตัวมาบ้างแล้ว และที่ชัดเจนคือมี 5 คนที่ถูกคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 

ต่อกรณีคำถามทำไมถึงไม่เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ซึ่งเป็นองค์กรปกป้องสิทธิของไทยเข้ามาตรวจสอบนั้น อัสมาดี กล่าวว่า เราไม่มั่นใจการตรวจสอบของกสม. เพราะเป็นหน่วยงานที่อิงกับภาครัฐ ซึ่งขั้นตอนการตรวจสอบอาจจะติดขัดได้

หลังเข้าพบตัวแทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ อัสมาดี เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นทาง UN รับข้อเสนอต่างๆ ที่ได้นำมายื่นในวันนี้ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเป็นการทำงานตามกลไกต่อไปคือการเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ สำหรับข้อเสนอที่ได้นำมายื่นคือ ขอให้ทาง UN เฝ้าติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในช่วงเปราะบางทางการเมือง รวมถึงให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในไทย โดยเป็นทีมตรวจสอบและเฝ้าระวัง เพราะกระบวนการสันติภาพขณะนี้ยังไม่ตอบโจทย์รากเหง้าของประเทศไทย

 

ที่มา : สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรรเสริญ แนะกลุ่มกอดฟรีคลายเศร้า น่าทำกิจกรรมที่เหมาะควรกว่านี้

$
0
0

พล.ท.สรรเสริญ ชวนเยาวชนทำกิจกรรมแสดงความอาลัยให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมอันดีงาม แนะกิจกรรมกอดฟรี บริเวณท้องสนามหลวงเพื่อแสดงความรักกัน น่าจะมีกิจกรรมที่เหมาะควรกว่านี้ ขณะที่กิจกรรมระบุชัด ชายกอดชาย หญิงกอดหญิง 

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Drag Diesel Thailand' ซึ่ง 23.00 น. 24 ต.ค.2559 ไม่สามารถเข้าถึงโพสต์ดังกล่าวของเพจนี้ได้

24 ต.ค. 2559 ผู้สื่อข่ายรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Drag Diesel Thailand' ได้เผยแพร่ภาพชายและหญิงสวมชุดดำ ด้านหลังเป็นกระทรวงกลาโหม พร้อมชูป้าย "กิจกรรมกอดฟรี เพราะพ่ออยากให้รักกัน” พร้อมข้อความประกอบโพสต์ดังกล่าวด้วยว่า ชายกอดชาย หญิงกอดหญิง 

ซึ่งโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ในเฟซบุ๊กจำนวนมาก อย่างไรก็ตามขณะนี้ไม่สามารถเข้าถึงโพสต์ดังกล่าวได้แล้ว 

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (แฟ้มภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ)

มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงกิจกรรมนี้ด้วยว่า อยากให้ข้อคิดแก่เยาวชนทุกคนว่า ทุกกิจกรรมที่ทำนอกจากเกิดจากเจตนาดีแล้ว ต้องพิจารณาว่ากิจกรรมเหล่านั้นเหมาะสม และความควรแก่กาลเทศะด้วย จึงจะเรียกว่าสมบูรณ์พร้อม ดีพร้อม เพราะหากกิจกรรมนั้น ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมอันดีงาม หรือไม่เหมาะควรแก่ห้วงเวลาขณะนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแก่การแสดงความอาลัยของชาวไทยทุกคน ความตั้งใจดีนั้นก็อาจจะไม่ได้รับคำชื่นชม สมดั่งเจตนาของผู้กระทำ อาทิ กิจกรรม ที่มีการแพร่ในโซเชี่ยล ว่าให้กอดฟรี บริเวณท้องสนามหลวงเพื่อแสดงความรักกันนั้น หากเป็นสิ่งที่จัดขึ้นจริงตามภาพข่าวที่เผยแพร่กัน ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า น่าจะมีกิจกรรมที่เหมาะควรกว่านี้ หรือน่าทำมากกว่านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่ากิจกรรมในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นมาหลายวันแล้ว โดย เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา เนชั่น และไทยรัฐออนไลน์รายงานด้วยว่า บริเวณท้องสนามหลวง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม. ได้มี ณัฐชานันท์ พรบุญบานเย็น อายุ 19 ปี และกลุ่มเพื่อนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 4 คน จัดกิจกรรมให้กอดฟรี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแแก่ผู้ที่มาร่วมงานถวายความอาลัย 

ณัฐชา เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้เปิดเว็บไซต์ชื่อดังเห็นคลิปวีดีโอแถบยุโรป ให้เข้าสวมกอดบุคคลที่ยืนถือป้าย ฟรีกอด หรือ freehug เพื่อให้บุคคลที่กำลังโศกเศร้าเสียใจเกิดความสบายใจมากขึ้นด้วยภาษากาย จึงเกิดไอเดียแล้วปรึกษากับกลุ่มเพื่อนมหาวิทยาลัย เห็นพ้องกันอยากทำกิจกรรมบริเวณสนามหลวง ทั้งนี้รวมตัวกันมาทำวันแรกตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. ผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมง มีประชาชนให้ความสนใจเข้ามากอดแล้วเกือบ 100 คน  
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทุนนิยม ทำไมต้อง เสรีประชาธิปไตย

$
0
0

 



ในอดีตเมื่อสยามประเทศเริ่มเปิดการค้าเสรีกับชนชาติตะวันตก  จนกระทั่งการค้าได้เจริญรุดหน้าถึงระดับหนึ่ง  ต่อมาจึงได้เกิดข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศขึ้นภายใต้การบีบบังคับของนักล่าอาณานิคม  หลังจากนั้นสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (Bowring Treaty)  จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2398 โดยมีเนื้อหาสาระที่สำคัญ  คือ  การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าให้มีมาตรฐานสากลมากขึ้นทั้งระบบการนำเข้าและการส่งออก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบจัดเก็บภาษี  เช่น  การกำหนดอัตราภาษีขาเข้าของสินค้าทุกประเภทอยู่ที่ร้อยละ 3 เป็นต้น  ซึ่งเพิ่มเติมรายละเอียดจากสนธิสัญญาฉบับแรก  คือ  สนธิสัญญาเบอร์นี  (Burney Treaty)  ที่ได้ลงนามไว้เมื่อ พ.ศ. 2369

กาลเวลาล่วงเลยผ่านมาถึงปัจจุบัน  การค้าเสรีหรือระบบทุนนิยมก็ยังไม่ได้ลงหลักปักฐานอย่างเต็มรูปแบบในสังคมไทยเสียที  ในความเสรีก็มีความไม่เสรีอยู่เป็นจำนวนมาก  ความเป็นไปของระบบเศรษฐกิจถูกกำกับควบคุมโดยกลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น  และคนกลุ่มนี้คือ  กลุ่มเครือข่ายบรรดาอำมาตย์และพวกพ้องที่ทรงพลังในการตักตวงผลประโยชน์ซึ่งเป็นส่วนเกินทางเศรษฐกิจไว้มากที่สุด  โดยข้อเท็จจริงแล้ว  ระบบเสรีนิยมจะมีความก้าวหน้าและแพร่กระจายในวงกว้าง  รวมทั้งลงลึกสู่ระดับสังคมชาวบ้านได้  ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรหรือสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต  นั่นก็คือ  ระบอบประชาธิปไตย นั่นเอง  ซึ่งเป็นระบอบที่ทุกคนเข้าใจสิทธิ  เสรีภาพและหน้าที่ของตนเอง  รวมทั้งไม่ไปละเมิดสิทธิ  เสรีภาพและหน้าที่ของผู้อื่นด้วย 

ระบอบประชาธิปไตยนั้นจะเติบโตขึ้นในใจประชาชนได้ต้องผ่านการพิสูจน์ด้วยระยะเวลา  ผ่านการลองผิดลองถูก  เกิดการเปลี่ยนผ่านตามวิถีทางการเลือกตั้งด้วยความสงบเรียบร้อย  เพื่อจะกลายเป็นสังคมที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและถกเถียงกันถึงปัญหารอบตัว  แล้วจึงมุ่งหาทางออกและข้อสรุปร่วมกันอย่างมีเหตุผล  มีการยอมรับผลการตัดสินใจของเสียงข้างมาก  ในขณะเดียวกันก็เคารพเสียงข้างน้อยด้วย  ใจความสำคัญ  ก็คือ  ทุกคนมีสิทธิ์และเสียงเท่าเทียมกัน  ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรืออยู่ในสถานะใด

นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  เป็นต้นมา  สังคมไทยก็ยังเปลี่ยนไม่ผ่านเพื่อไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง  ทั้งๆ ที่ผ่านการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างประเมินค่ามิได้มาหลายครั้งแล้ว  แต่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่กลุ่มชนชั้นปกครองมักกล่าวอ้างและพร่ำบอก  สร้างภาพฝันในวิมานว่า  เป็นระบอบที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมของไทย  แต่นั่นก็เป็นแค่เพียงเปลือกนอกที่ดูดีและมีไว้เพื่ออวดอ้างกับนานาอารยประเทศว่า  สยามประเทศนั้นมีความศิวิไลซ์และเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศตะวันตก  แต่เนื้อแท้ข้างในยังคงเป็นสังคมศักดินาแบบพวกพ้องและมีระบบอุปถัมภ์ตามลำดับชั้นที่เกาะเกี่ยวกันอย่างแข็งแกร่งและแน่นหนา  จนสามารถควบคุมและปกครองคนจากส่วนบนสุด  ซึมลึกลงไปถึงระดับรากหญ้าได้อย่างมั่นคง  จึงเป็นระบบที่กีดกันคนส่วนใหญ่ให้ออกไปเป็นคนชายขอบแห่งการพัฒนา  แต่ในขณะเดียวกัน  ก็เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในสังคมชั้นสูงลงมาถึงชนชั้นกลางบน  ผู้ปวารณาตนเป็นผู้พิทักษ์รับใช้ที่ซื่อสัตย์และแสนดี

เหตุใดและทำไม  ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาระบบทุนนิยมให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและมั่งคั่ง

เหตุใดและทำไม  ระบบทุนนิยมจึงต้องแปรผันตามระดับความเข้มข้นของความเป็นประชาธิปไตยด้วย

เมื่อมวลมนุษยชาติได้เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์อย่างเต็มตัวภายใต้ระบบทุนนิยมที่เป็นหนึ่งในกลไกการพัฒนาโลกสมัยใหม่แล้ว  การค้าระหว่างประเทศเองก็ได้เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นทั้งเรื่องการค้า  การเงิน  และการลงทุนในแบบวินาทีต่อวินาที  ซึ่งกลไกสำคัญนี้ต้องอาศัยระบบตลาดแข่งขันเสรีเป็นองค์ประกอบด้วย  จึงจะเกื้อหนุนต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัต  อีกทั้งสามารถพยากรณ์ได้ตามหลักอุปสงค์และอุปทาน  เพราะทุกการตัดสินใจของหน่วยย่อยทางสังคมต้องมีตรรกะและเหตุผลมารองรับเสมอ  ระบบทั้งหมดจึงจะไหลเวียนต่อเนื่องอย่างไม่มีสะดุดหรือหยุดชะงัก  แต่การพัฒนาระบบทุนนิยมของไทยก็ยังติดอยู่ในระยะเแรกเริ่มที่ก้าวไม่พ้นระบบทุนนิยมศักดินาล้าหลังเสียที  ซึ่งเครือข่ายบรรดาอำมาตย์และพวกพ้องยังแอบอยู่หลังฉากคอยสั่งการอยู่เรื่อยมา  เปรียบเปรยเหมือนมือที่มองไม่เห็น  ที่จำกัดขอบเขตความเจริญไว้ภายในกรุงเทพเมืองฟ้าอมร  และคอยขัดขวางการกระจายความเจริญออกไปสู่สังคมส่วนใหญ่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมชนบท 

เครือข่ายนี้ได้สร้างความสัมพันธ์ต่างตอบแทนอย่างแนบชิดสนิทแน่นเพื่อจัดสรรและแบ่งปันผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างลงตัว  จนในที่สุดกลายเป็นกลุ่มศักดินาย้อนยุคที่สามารถครอบงำความเป็นไปของสังคมและยึดกุมอำนาจการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะมาอย่างยาวนาน  ดังนั้นจึงไม่ต้องการเปิดโอกาสและพื้นที่ให้กลุ่มคนและกลุ่มทุนรุ่นใหม่ได้เข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจแต่อย่างใด  ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว หากเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้น ดอกผลและผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจนั้นกลุ่มศักดินาย้อนยุคนี้จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมหาศาล  และได้มากกว่าที่กลุ่มทุนรุ่นใหม่จะได้ด้วย  เนื่องจากครอบครองทั้งแหล่งทุน  เทคโนโลยี  ส่วนแบ่งการตลาดและช่องทางการจำหน่ายไว้หมดแล้ว  แต่ทำไมคนกลุ่มนี้จึงยังไร้น้ำใจ  และไร้ซึ่งความปราณีที่จะเกื้อกูลสังคมให้เป็นปรกติสุขในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

เมื่อระดับความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาตามลำดับ  ตามการพัฒนาของเศรษฐกิจโลกนั้น  สังคมไทยได้ก่อเกิดชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดก้าวหน้า  รวมทั้งชนชั้นล่างได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น  มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีราคาถูก  ทำให้เข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายและรวดเร็วมากขึ้น  ต้องการอิสระในการเลือกมากขึ้น  ไม่ต้องการการชี้นำจากชนชั้นสูงอีกต่อไป  ทั้งนี้เพื่อเติมเต็มความภาคภูมิใจในตนเอง  ดังนั้นจึงต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะทางการเมืองมากขึ้น  เหตุปัจจัยต่อมาจึงเกิดปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนรุ่นเก่ากับกลุ่มคนรุ่นใหม่  ผ่านระบบตัวแทนในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นระยะ  แต่ภายหลังจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540  บังคับใช้  ความขัดแย้งก็ได้ลุกลามบานปลายและขยายตัวทวีคูณขึ้น  จนกระทั่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา  ได้กลายเป็นวิกฤติที่ร้าวลึกไปทุกหย่อมหญ้า  ลงลึกถึงระดับครอบครัว  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะถอดสลักความขัดแย้งครั้งนี้ได้  หรืออาจต้องรอการพังทลายลงของระบบเก่าด้วยตัวของมันเองก่อน  ประชาธิปไตยแบบเต็มใบจึงจะเบ่งบานขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

1) ทุนนิยมแบบพรรคพวกและเพื่อนพ้อง และ 2) การคอร์รัปชั่น  นักวิชาการให้นิยามว่า  2 คำนี้มีความหมายใกล้เคียงกันมากจนแยกจากกันไม่ออก  บางครั้งกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นสิ่งที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เติบโตไปด้วยกัน  รวมทั้งเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน  เมื่อเหตุหนึ่งเกิด  อีกเหตุหนึ่งจึงเกิด  ดังนั้นอาจจะให้คำจำกัดความว่า  เป็นการใช้อำนาจรัฐโดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อหาประโยชน์ให้กับตนเอง  ครอบครัว  และบุคคลใกล้ชิด  ด้วยการใช้อำนาจหน้าที่เข้าแทรกแซงการทำงานของตลาด  เช่น  การกำหนดเงื่อนไขลดหย่อนภาษี , การให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ , การให้เงินอุดหนุนหรือสิทธิพิเศษในการลงทุน , การออกกฎเกณฑ์ข้อบังคับให้ตลาดต้องปฏิบัติตาม  หรือยกเว้นกฎเกณฑ์บางอย่างที่ทำให้กลุ่มของตนเสียผลประโยชน์  เป็นต้น  ในท้ายที่สุดก็นำมาซึ่งการชักใยอยู่เบื้องหลังเพื่อสร้างอุปสรรคกีดขวางการเข้าสู่อำนาจรัฐของฝ่ายตรงข้าม  อีกทั้งสร้างระบบผูกขาดในการจัดสรรนโยบายและงบประมาณทั้งในส่วนการเมือง  เศรษฐกิจและสังคม  โดยมีเปลือกนอกของการค้าเสรีห่อหุ้มเอาไว้อย่างแยบยล  หรือมองอีกมุมหนึ่ง  ก็เป็นปีศาจในคราบนักบุญในระบบทุนนิยมหลอกลวงนั่นเอง  และก็มีแต่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะกำจัด 2 คำนี้ให้ออกไปจากสังคมได้  ถึงแม้ตัวระบอบเองจะไม่สมบูรณ์ 100%  แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นระบอบที่ช่วยลดความขัดแย้งของคนส่วนใหญ่  หาจุดร่วมตรงกลางที่ทุกคนยอมรับได้  และทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปไม่มีสะดุดล้ม

โดยพื้นฐานแล้ว  ระบอบประชาธิปไตยจะให้อิสระทางความคิดและการกระทำ  ซึ่งสอดคล้องกับระบบตลาดแบบเสรี  การตัดสินใจที่มีเหตุผลของปัจเจกชนจะก่อให้เกิดการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์  เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้สังคมตามความถนัดเฉพาะทาง , ตามการแบ่งงานกันทำ  หรือตามความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบ  ท้ายที่สุดแล้ว  สังคมโดยรวมจะได้รับอรรถประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันที่เกิดขึ้น  ภายใต้กฎระเบียบ  ข้อตกลงเดียวกันและการไม่เลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐผู้รักษากฎหมาย  สรุปได้ก็คือ  ต้อง Free and Fair ด้วย  ดังนั้นเมื่อทุกส่วนย่อยของสังคมดีแล้ว  สังคมโดยรวมก็จะดีขึ้นเองตามลำดับ

สภาพแคระแกร็นของระบอบประชาธิปไตยที่ถูกตัดทอนความสำคัญตลอดมา  จะส่งผลกระทบเชิงลบในระยะยาวต่อระบบทุนนิยม  เนื่องจากระบบนี้จะอาศัยความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนกลไกการพัฒนา  เพราะหัวใจของระบอบประชาธิปไตยก็คือ  การคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นได้  และเปิดโอกาสการต่อรองและจัดสรรผลประโยชน์บนโต๊ะเจรจาที่ทุกคนมีส่วนร่วมออกความคิดเห็นได้  ซึ่งตรงข้ามกับระบอบเผด็จการ  นักวิชาการรุ่นใหม่ได้ให้นิยามว่า  หัวใจของระบอบเผด็จการก็คือ  ความไม่แน่นอนและคาดการณ์ไม่ได้  จึงทำให้สังคมตกอยู่ในสภาพหวาดผวา  มีความคลุมเครือ  มองเห็นภาพไม่ชัดเจน  เกิดความสับสนอลหม่าน  จนสามารถสร้างภาพหลอนและจูงใจประชาชนให้เดินลงเหวได้ด้วยความเต็มใจ  และขั้นตอนสุดท้ายก็คือ  การดึงอำนาจตัดสินใจจากมือประชาชนกลับมาอยู่ในมือคนกลุ่มเดียวได้อย่างแนบเนียน

หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า  ชนชั้นผู้ถูกกดขี่และชนชั้นใต้ปกครอง  จึงมีความหวังว่าระบอบประชาธิปไตยจะเป็นทางออกและเป็นหนทางในการมีชีวิตที่ดีขึ้น  ในขณะเดียวกัน  ชนชั้นผู้ปกครองก็ต้องการรักษาอำนาจของตนให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ผ่านระบอบเผด็จการล้าหลังเช่นกัน

กับดักการพัฒนาทุนนิยมของไทย  คือ  การขาดความต่อเนื่องในระบอบประชาธิปไตย  เนื่องจากถูกระบอบเผด็จการทหารเข้ายึดอำนาจมาเป็นระยะๆ ถือเป็นการกัดเซาะและบ่อนทำลายการพัฒนาเนื้อหาประชาธิปไตยที่จะลงลึกถึงจิตวิญญาณของสังคม  ทั้งยังกัดกร่อนโครงสร้างระบบถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบของสังคมอีกด้วย 

หากระบอบประชาธิปไตยได้เจริญงอกงามขึ้นในสังคมไทยแล้วไซร้  ระบบศักดินา  ระบบเจ้าขุนมูลนาย  ระบบไพร่ทาส  ที่ยังคงฝังรากลึกในจิตใต้สำนึกและยืนยงคงอยู่กับสังคมไทยมาเนิ่นนาน  คงจะถูกชะล้างให้หมดสิ้นไปอย่างเป็นขั้นตอนเสียที

ภายหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ได้ผ่านการลงประชามติและรอเพียงการประกาศใช้เท่านั้น  ภาพความหวังเพื่อก้าวให้พ้นอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยโดยคนส่วนใหญ่  ก็ดูจะเลือนลางและจางหายลงไปทุกที  ทั้งยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อีกด้วย  และด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาจนดูคล้ายกับว่าหยุดนิ่งและชะงักงัน  ความเชื่อมั่นของประชาชนก็ดูจะหมดหวังและริบหรี่อย่างบอกไม่ถูก  ที่สำคัญราคาพืชผลการเกษตรก็ตกต่ำเป็นประวัติการณ์เมื่อเปรียบเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา  รวมทั้งอัตราการส่งออกก็ติดลบยาวนานกว่าที่เคยมีมาในอดีต

แล้วความหวังและความฝันอันใดเล่า  จะช่วยชะโลมจิตใจให้ผ่อนคลายหายเหนื่อยจากการตรากตรำทำงานหนักภายใต้แอกที่ถูกเทียมไว้  และรอคอยวันถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ

แล้วความหวังและความฝันอันใดเล่า  จะนำมาซึ่งกำลังใจและแรงใจเพื่อให้คนส่วนใหญ่มีความหวังกับชีวิต  ที่จะมีโอกาสลืมตาอ้าปากเพื่อขยับสถานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น  และพร้อมจะร่วมแรงร่วมใจฟันฝ่าอุปสรรคที่ยากเข็ญไปด้วยกัน

แล้วความหวังและความฝันอันใดเล่า  จะนำมาซึ่งความผาสุกของพี่น้องเกษตรกร  ชาวนา  ชาวไร่  ผู้ใช้แรงงาน  รวมทั้งสามัญชนคนทั่วไปที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  หรือต้องรอให้ถึงยุคพระศรีอาริย์ก่อนก็เป็นได้  จึงจะเกิดดุลยภาพทางการเมือง  เศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริงเสียที

0000

      

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บุคลิกภาพของ ร.5 ในบทบาทนักการเมืองภายใต้การบริหารจัดการกับกลุ่มการเมืองสองรุ่น

$
0
0

<--break- />

หนังสือ The Rise and Decline of Thai Absolutism ของ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เป็นหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยในช่วงรัชกาลที่ 4-6 อันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการก่อรูปรัฐสมัยใหม่ของไทยโดยสถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทสำคัญท่ามกลางปัจจัยการเมืองภายในและนอกประเทศ จากหนังสือนี้มีประเด็นน่าสนใจประเด็นหนึ่งคือบุคลิกภาพ และยุทธวิธีทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ในฐานะตัวแสดงหนึ่งทางการเมือง ที่ใช้จัดการกับกลุ่มการเมืองสองรุ่น เพื่อเป้าประสงค์ต่างๆ กัน คือในช่วงต้นรัชกาลเป็นไปเพื่อรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง แต่ในช่วงปลายรัชกาลเป็นความพยายามรักษาอำนาจของพระองค์ไว้จากความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และกลุ่มการเมืองใหม่ๆ ที่พระองค์มีส่วนสร้างขึ้นมาเอง

ในการพิจารณาบุคลิกภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะ ‘นักการเมือง’ อาจพิจารณาได้จากยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีทางการเมืองต่อกลุ่มพลังทางการเมือง ซึ่งในขณะนั้นอาจแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่


1. กลุ่มอำนาจเก่า ประกอบไปด้วย

1) กลุ่มสยามเก่า นำโดยกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ (วังหน้า)

2) กลุ่มอนุรักษ์นิยม นำโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หรือ

ตระกูลบุนนาคและพวกพ้อง    

3) กลุ่มสยามหนุ่ม (รุ่นที่1) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยากระสาปนกิจโกศล พระยาภาสกรวงศ์

ทั้งสามกลุ่มนี้เป็นกลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพลในช่วงต้นรัชกาล

2. ในช่วงปลายรัชกาลมีสองกลุ่มสำคัญคือ กลุ่มสยามหนุ่ม (รุ่นที่ 2 ) คือกลุ่มพระโอรส กับชนชั้นสูง เช่น จมื่นไวยวรนาถ พระองค์เจ้าเทววงศ์ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระองค์เจ้าภานุรังษี จมื่นศรีสรรักษ์ ฯลฯ และกลุ่มข้าราชการสามัญชนคนรุ่นใหม่

ยุทธศาสตร์การต่อสู้ในกรณีกลุ่มแรกนั้น เป็นไปเพื่อการรวบอำนาจของพระมหากษัตริย์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาววิสัยทางประวัติศาสตร์ในระบอบราชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์มิใช่ผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองหากแต่อำนาจกระจายอยู่ที่เจ้าเมืองหัวเมืองต่างๆ ขุนนางในระบบไพร่-ขุนนาง โดยเฉพาะในราชสำนักอำนาจการเมืองกระจุกตัวอยู่ที่ขุนนางตระกูลบุนนาคสืบต่อมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์จึงจำต้องต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่าและปรับเปลี่ยนการบริหารปกครองเสียใหม่และให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจทุนนิยม การเมืองโลกขณะนั้น พระองค์ต่อสู้กับกลุ่มสยามเก่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยมีกลุ่มสยามหนุ่มเป็นแนวร่วม ยุทธวิธีที่ใช้คือไม่แตกหักกับศัตรูทางการเมือง แต่ใช้วิธีทำลายคู่ต่อสู้อย่างช้าๆ เช่นกรณีปฎิรูปการคลัง รวบอำนาจจัดเก็บภาษีของขุนนางไว้ที่ส่วนกลางในขณะเดียวกันก็สนองตอบข้อเรียกร้องจากกลุ่มการเมืองแต่ไม่ใช่ทำให้สำเร็จในคราวเดียวเพื่อจะทำให้กลุ่มการเมืองเห็นว่าพระองค์ยังมีประโยชน์ต่อพวกเขาอยู่ ยุทธวิธีการหาแนวร่วมโดยชูประเด็นที่มีความเห็นตรงกันเช่น สร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดกลุ่มอนุรักษ์นิยมโดดเดี่ยวกลุ่มสยามเก่า อีกทั้งกรณีความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้าในปีพ.ศ. 2417-2418 พบว่าเมื่อวังหน้าอาศัยกงสุล Thomas Knox  เป็นพันธมิตร และมีแนวโน้มนำไปสู่แทรกแซงการเมืองจากตะวันตก พระองค์ก็อาศัยสายสัมพันธ์กลุ่มสยามหนุ่มสร้างพันธมิตรกับกงสุล Sir Andrew Clarke เพื่อทัดทานการแทรกแซงเช่นกัน

การสิ้นอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าปรากฏชัดเมื่อแกนนำของแต่ละกลุ่มสิ้นชีวิตลง ในขณะที่พระองค์เองก็เริ่มมีอำนาจรวมศูนย์เพิ่มขึ้น การใจเย็นรอเวลา ในขณะที่ตัวเองได้เปรียบดูเหมือนจะช่วยให้พระองค์เอาชนะคู่ต่อสู้ทางการเมืองที่มีอายุมากกว่าและอยู่ในฐานะเสียเปรียบ ส่วนความได้เปรียบทางการเมืองที่พระองค์มีนั้นเกิดจากยุทธวิธีเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองบางกลุ่มเพื่อให้กลุ่มอื่นๆ หันมาสวามิภักดิ์เป็นแนวร่วมเพิ่ม สำหรับกลุ่มที่ไม่สวามิภักดิ์พระองค์ก็ไม่ได้ใช้วิธีแตกหักแต่ใช้วิธีปล่อยให้กลุ่มดังกล่าวถูกโดดเดี่ยว อ่อนตัวสลายลงไปเอง ยุทธวิธีดังกล่าวกระทำผ่านกลไกการเมืองที่สำคัญเช่นสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (The Council of state) เป็นที่ประชุมปรึกษาราชการ โดยดึงเอาเจ้านายระดับเจ้าพระยามาเข้าร่วมทั้งจากกลุ่มสยามเก่า อนุรักษ์นิยมและกลุ่มอื่นๆ การตัดสินใจที่เกิดขึ้นในสภาเท่ากับเป็นการยอมรับของแต่ละกลุ่มการเมืองด้วย แม้กระทั่งการตัดสินลงโทษขุนนางที่ “คอรัปชั่น” เช่นกรณีพระยาอาหารบริรักษ์หนึ่งในเครือข่ายตระกูลบุนนาค ทว่าในที่สุดพระองค์ก็แสดงวิธีการรักษาอำนาจของพระองค์ไว้ด้วยการประนีประนอมไม่ลงโทษแตกหักที่อาจสร้างความโกรธแค้นให้เครือข่ายบุนนาค อันสะท้อนว่า วิธีจัดการกับชนชั้นนำที่เป็นศัตรูต้องกระทำอย่างระมัดระวัง ไม่แตกหัก หากพิจารณาผลการต่อสู้ทางการเมืองกับกลุ่มแรกนี้จะพบว่าพระองค์ประสบความสำเร็จ สถาปนาอำนาจรวมศูนย์ไว้ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อต้องจัดการกับกลุ่มที่สอง กลับพบว่าพระองค์ไม่ประสบความสำเร็จนักและยังส่งผลไปสู่ปัญหาการเมืองในรัชกาลที่ 6-7 กลายเป็นจุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในที่สุด

การสร้างระบบราชการสมัยใหม่เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่พระองค์ใช้เป็นกลไกรวมศูนย์อำนาจทางการเมือง ในบรรยากาศยุคล่าอาณานิคม ทว่าคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกและจากโรงเรียนวิชาชีพภายในประเทศได้เข้าสู่ระบบราชการกลายเป็นคนกลุ่มใหม่ทั้งยังเป็นปัญหาของพระองค์ในเวลาต่อมา กล่าวคือในระบบราชการได้ย้ายความภักดีของข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปยังความภักดีต่อวิชาชีพ ระบบคุณธรรม (Merit) และชาตินิยม (Nationalism) โดยมีเครือข่ายอุปถัมภ์ใหม่คือเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางชั้นสูงเป็นศูนย์กลาง ข้าราชการรุ่นใหม่นี้ตั้งคำถามกับประเด็นลำดับความสำคัญของผลประโยชน์แห่งชาติกับผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ ความเป็นอิสระของศาลจากฝ่ายบริหาร ความเท่าเทียมกันในเรื่องเลื่อนชั้นสังคมอาชีพการงาน นอกจากนี้กลุ่มสยามหนุ่มรุ่นที่สอง ที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ.1880s  แม้เป็นกลุ่มที่สนับสนุนการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 อย่างเต็มที่แต่มีมุมมองความเห็นแตกต่างกับพระมหากษัตริย์หลายประการเกี่ยวกับอนาคตของรัฐไทย กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการตั้งคำถามต่ออำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ โดยปรากฏเป็นบันทึก Memorandum วิพากษ์และเสนอแนวทางปฏิรูปเพื่อป้องกันปัญหาการเมืองกับประเทศเจ้าอาณานิคมในช่วงค.ศ.1985 ทั้งที่ปัญหาการเมืองลงลึกในระดับความคิดคุณค่าใหม่ในสังคม ทว่ารัชกาลที่ 5 กลับใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการ  สั่งการ เพื่อช่วงชิงความภักดีกลับมาผ่านพิธีกรรมเช่นกรณีสั่งให้ข้าราชการเข้าร่วมพิธีโสกัณฑ์ ทว่าข้าราชการกลับเข้าร่วมพิธีไม่มากดังที่พระองค์ปรารถนา

ในระดับอัตวิสัยพระองค์ประสบปัญหาการสร้างสมดุลระหว่างสิ่งใหม่-เก่า ลังเลที่ไม่ขจัดคนเก่า และไม่ส่งเสริมคนใหม่อย่างเต็มที่ อาทิ พยายามรักษาความพึงใจของขุนนางเก่า ส่งเสริมลูกหลานคนเหล่านั้นให้ศึกษาและรับราชการแต่ก็ติดขัดตรงที่ขุนนางไม่เคยชินกับการทำงานหนัก รวมถึงระบบบริหารสมัยใหม่ การเรียนการสอบแข่งขัน อีกทั้งจำนวนชนชั้นสูงเหล่านี้ก็มีจำนวนไม่มาก ไม่เพียงพอต่อระบบบริหารสมัยใหม่จนเป็นช่องทางให้สามัญชนสามารถเข้าสู่ระบบราชการเลื่อนฐานะจนเป็นชนชั้นกระฎุมพีได้ กระนั้นก็พบว่าพระองค์ไม่สามารถนำระบบ merit มาใช้ได้อย่างเต็มที่อันก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสามัญชนคนรุ่นใหม่กับกลุ่ม “ผู้ดี” เก่า และความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับข้าราชการรุ่นใหม่

อีกประการหนึ่งพระองค์ไม่สามารถจัดการกับศัตรูทางการเมืองกลุ่มที่สองในช่วงปลายรัชกาลได้เพราะคนรุ่นใหม่ที่ว่านี้ เป็นบรรดาโอรสของพระองค์ เมื่อคนเหล่านี้วิพากษ์พระองค์ หรือขัดแย้งกัน พระองค์จะกระทำเพียงตักเตือน หมายหัว โดดเดี่ยว ซึ่งเป็นยุทธวิธีเดิมที่เคยใช้ แต่กับสามัญชนในทางตรงกันข้ามจะถูกตัดสินโทษหนักเช่นกรณีนายเทียนวันถูกตัดสินจำคุกเป็นต้น

การต่อสู้ของรัชกาลที่ 5 กับกลุ่มการเมืองในช่วงต้นรัชกาลนั้นสะท้อนให้เห็นบุคลิกภาพของรัชกาลที่ 5 ในฐานะนักการเมืองที่มีทั้งการรุก-รับอย่างใจเย็น รู้จักจังหวะเวลา  ไม่ผลักให้ศัตรูรู้สึกหมดหนทางสู้แต่เป็นการเมืองแบบรวมคนเข้ามาร่วมกัน (Inclusive) อีกทั้งแสวงหาแนวร่วมเพื่อกดดันฝ่ายตรงข้ามทั้งจากภายในและภายนอก ในขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับการเมืองปลายรัชกาลจะพบว่า พระองค์มีความลังเลเมื่อต้องเผชิญกับศัตรูการเมืองที่พระองค์สร้างขึ้นมาเองผ่านระบบราชการอันเป็นความลังเลที่สะท้อนภาววิสัยทางประวัติศาสตร์คือระบบประเพณีดั้งเดิมอันขัดต่อ “ความทันสมัย” ที่เข้ามาใหม่และยังไม่ลงรอยกัน ปัญหานี้ทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อกษัตริย์มีแนวโน้มที่จะเลือกข้างระบบประเพณี สอดคล้องกับอัตวิสัยส่วนพระองค์ที่เชื่อว่าลูกหลานขุนนางเก่าไว้วางใจได้มากกว่าสามัญชนที่พระองค์ไม่รู้จัก ดังนั้นในบทบาทนักการเมืองแล้วพระองค์จึงต้องเลือกทำในสิ่งที่คาดว่าจะรักษาอำนาจของพระองค์ไว้ให้นานที่สุด

0000

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  นักศึกษาโครงการรัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มุสลิมขอโทษ

$
0
0

ในนามของมุสลิม "อยากขอโทษ" สำหรับเหตุการณ์ระเบิดหน้าตลาดโต้รุ่ง ตัวเมืองปัตตานี ทำให้ผู้เสียบาดเจ็บเกือบ 20 คน และเสียชีวิต 1 คน

ในคัมภีร์อัลกรุอ่านได้กล่าวใว้ว่า "โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน" (อัล-กุรอาน 49/13) เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถจะอ้างว่ามีความสูงส่งกว่าคนอื่นที่แตกต่างกันทางเผ่าพันธุ์และชาติตระกูล และไม่มีใครอ้างสิทธิ์ที่จะพลากชีวิตคนอื่นได้ ไม่ว่านามอะไรก็ตาม

ทำไมมุสลิมต้องขอโทษ? เหตุการณ์ระเบิด กราดยิง หากเหยื่อหรือผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นคนนับถือศาสนาพุทธ ดูเหมือนว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มขบวนการติดอาวุธต่อต้านรัฐ แน่นอนก็ย่อมเป็นคนมุสลิม

ฉะนั้น คำว่า“ระเบิด” เป็นคำกริยา(Verb) ที่บอกถึงประธาน (Subject) คือ โจรใต้มุสลิม ที่ดูเหมือนอยู่ในพจนานุกรมของนักข่าวหนังสือพิมพ์ ที่เหมือนฝังในหัวและปรากฎอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี 2547 อันเป็นลักษณะการ  คุมคำ > คุมความหมาย > คุมความคิด > คุมคน ตามคำอธิบายของนักรัฐศาสตร์ไทยอย่าง ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ฉะนั้นเหมือนเป็นการควบคุมความคิดของคนในสังคมไทยโดยอัตโนมัติ โดยปราศจากคำถาม เมื่อเหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คำตอบของสังคมคือ “พวกโจรใต้มุสลิม” แน่นอนไม่ต้องคิดมากและถามต่อ จบข่าว


เหตุการณ์ระเบิดที่ตลาดโต้รุ่ง ตัวเมืองปัตตานี ถือว่าเป็นการระเบิดที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้อดคิดถึงและเป็นห่วงพี่ๆเพื่อนๆ นักวิชาการในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่มุสลิม กลุ่มเพื่อนๆอาจารย์/นักวิชาการ มักชอบไปทานอาหารที่หน้าตลาดโต้รุ่ง อันเป็นตลาดที่มีการจับจ่ายและมีอาหารให้รับประทานจำนวนมาก โดยเฉพาะอาหารที่ไม่ใช่มีแต่คนมุสลิมขาย หลายต่อหลายครั้งเมื่อมีนักวิชาการลงมาเยี่ยมเยียน ตกกลางคืนก็มักจะไปเดินหาของใส่ท้องยามค่ำคืนหรือแม้กระทั่งยามเช้า

โดยส่วนใหญ่ที่ผมคลุกคลีอยู่ด้วย กลุ่มพี่ๆเพื่อนๆอาจารย์ที่ไม่ใช่มุสลิมที่ผมรู้จัก นอกจากภาระกิจการสอนแล้ว หลายคนยังใส่ใจทำงานทางสังคม เช่น จัดกลุ่มทีมฟุตบอลผู้หญิงให้แก่ชาวมลายูมุสลิม หลายคนทำผลงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์ปาตานีที่เปิดพื้นที่ให้แก่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หลายคนคลุกคลีกับชาวบ้านลงพื้นที่ทำงานด้านการพัฒนาแก่ชุมชนท้องถิ่น ฯลฯ เหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้อาจจะทำให้หลายต่อหลายคนหมดกำลังใจและท้อถอยลงได้

เหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ คงไม่ใช่แนวทางของการต่อสู้อย่างสง่างาม เพราะนอกจากปราศจากความรับผิดชอบ ทั้งต่อเป้าหมายทางการเมืองและเหยื่อผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตแล้ว ยังสร้างความเดือนร้อนให้แก่ชาวบ้านมลายูจำนวนไม่น้อย เพราะหลังจากนี้ตามหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่คงต้องโดนตรวจค้นและออกหมายจับ อีกจำนวนไม่น้อย

ที่สำคัญทุกคนที่ตายไปในจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนฝ่ายต่างๆ สายสืบหรือชาวบ้านผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ รวมถึงทนายสมชาย นีละไพจิตร อิหม่ามยะผา กาเซ็ง ชาวบ้านที่ถูกอุ้มหายสาบสูบ เหยื่อจากคมกระสุนและระเบิดทั้งหมด หรือผู้ก่อการนับร้อยในเหตุการณ์กรือเซะ ชาวบ้านในเหตุการณ์สลายม็อบที่ตากใบ ฯลฯ ทั้งหมดมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ พวกเขาทุกคนล้วนมีคนที่รักใคร่ห่วงใย มีพ่อ มีแม่ มีพี่ มีน้อง มีลูกเมียญาติมิตร มีความฝัน ความหวังต่อชีวิตในอนาคตด้วยกันทั้งสิ้น

ฉะนั้นไม่ว่าพุทธหรือมุสลิม ไม่ว่าผู้รักษาดินแดนหรือผู้แบ่งแยกดินแดน ไม่ว่าคนใส่เครื่องแบบหรือพลเรือน ความรู้สึกของพวกเขา คือความรู้สึกแห่งความเจ็บปวดจากการสูญเสียชีวิตที่ไม่มีวันได้คืน ทิ้งเหลือแต่ความคับแค้นใจและเสียใจ ให้แก่คนข้างหลังที่ต้องแบกภาระทางจิตใจอันหนักหน่วง

การใช้วิธีการรุนแรง เช่นระเบิด กราดยิง มันง่ายต่อการบรรลุเป้าหมายคือทำให้คนตายและบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำจากฝ่ายใด เพราะไม่จำเป็นต้องพึงทฤษฎีและวิธีคิดใดให้ซับซ้อน

การระเบิดที่เข่นฆ่าประชาชนทำลายผู้บริสุทธิ์พลเรือนเช่นนี้ ถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศขั้นร้ายแรง

สำหรับประชาคมมุสลิมที่ประสบปัญหากับการรับมือวิธีคิดสุดโต่ง (Extremism) ยังไม่สามารถยับยั้งหรือเสนอแนวคิดสันติวิธีอันเป็นมรดกและทรัพย์อันล้ำค่าทางด้านวิทยปัญญาของอิสลามให้แก่กลุ่มมุสลิมบางส่วนที่เลือกใช้วิธีการที่รุนแรงในนามของมุสลิม เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก หลักคำสอนบางข้อได้ถูกนำมาตีความเพื่อให้สอดรับกับวิธีอันรุนแรงของกลุ่มคนที่นิยมความรุนแรง โดยปราศจากผู้รู้ที่รับรองและขาดการตีเบต ถกเถียง/อภิปรายให้กว้างขวาง

ในนามของมุสลิมอยากจะกล่าวคำขอโทษ ต่อผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทุกคน ซึ่งดูจากรายชื่อผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ก็เป็นพี่น้องไทยพุทธ และแน่นอนขอประณามต่อการกระทำครั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำฝ่ายใด เพราะวิธีการแบบนี้ไม่สามารถจะทำให้สันติภาพเกิดขึ้นได้ 

0000

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน Patani Forum 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักสิทธิผู้บริโภคอเมริกันเขียน ทำไมการควบรวมกิจการบรรษัทยักษ์ กระทบอาหาร-น้ำ-ภาวะโลกร้อน

$
0
0

สื่อนอกกระแสของสหรัฐฯ คอมมอนดรีมส์รายงานเรื่องเกี่ยวกับการควบรวมกิจการของบรรษัทขนาดใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการครอบงำของกลุ่มบรรษัทในมิติต่างๆ ทั้งด้านอาหารและพลังงาน ทำให้เกิดปัญหาต่ออาหาร น้ำ และภาวะโลกร้อน โดยผู้เขียนวีโนนาห์ เฮาเตอร์ ระบุว่าธนาคารเครดิตสวิสมีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงอยู่เบื้องหลังโครงการที่มีปัญหาอย่างดาโคตาแอคเซสไปป์ไลน์ด้วย

24 ต.ค. 2559 "คุณอาจจะเคยเรียนรู้มาก่อนในไฮสคูลว่าการผูกขาดเป็นเรื่องแย่กับผู้บริโภค" เป็นประโยคเปิดบทความของ วีโนนาห์ เฮาเตอร์ ผู้อำนวยการองค์กรผู้บริโภค ฟูดแอนด์วอเทอร์วอทช์ โดยอธิบายต่อไปว่าการผูกขาดทำลายการแข่งขันในตลาด ทำให้ผู้คนมีทางเลือกน้อยลงและทำให้สิ่งของราคาสูงขึ้น การที่บรรษัทยักษ์ใหญ่ร่วมทุนกันในตลาดอาหารและพลังงานยังทำให้มีแค่บรรษัทไม่กี่บรรษัทครองตลาด การที่พวกเขายึดกุมตลาดเอาไว้ยังส่งผลต่อนโยบายสาธารณะทำให้พวกเขามีอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองด้วย

อย่างที่เมื่อไม่นานนี้ เอลิซาเบธ วอร์เรน นักวิชาการและ ส.ว. พรรคเดโมแครตกล่าวไว้ว่าการแข่งขันกำลังจะตาย การที่บรรษัทยึดกุมภาคส่วนต่างๆ ไว้เป็นภัยต่อประชาธิปไตยของสหรัฐฯ

เฮาเตอร์ยังเปิดเผยอีกว่าการทำข้อตกลงร่วมทุนของบรรษัทยักษ์ยังทำเงินมหาศาลให้กับธนาคารที่มีอำนาจ ทำให้พวกเขามีอิทธิพลทางการเมือง หนึ่งในธนาคารที่ว่าคือเครดิตสวิส เฮาเตอร์เปิดเผยว่า ไบเออร์ บริษัทเคมีจากเยอรมนี ซื้อบริษัทมอนซานโตของสหรัฐฯ ด้วยวงเงิน 64,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.2 ล้านล้านบาท) บริษัทเคมไชนาซื้อบริษัทยาฆ่าแมลงและเมล็ดพันธุ์ของสวิตเซอร์แลนด์ซินเจนตาด้วยวงเงิน 46,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท) บริษัทท่อน้ำมันสัญชาติแคนาดาเอนบริดจ์พยายามซื้อกิจการบริษัทสเปกตราซึ่งตั้งอยู่ในเมืองฮิวสตันของสหรัฐฯ ด้วยวงเงิน 43.1 ล้านดอลลาร์ (1.5 ล้านล้านบาท) โดยทั้งหมดนี้มาจากการแนะนำของธนาคารเครดิตสวิส ซึ่งได้รับค่าธรรมเนียมที่ปรึกษาถึง 100-200 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,500-7,000 ล้านบาท)

แล้วการควบรวมกิจการขนาดใหญ่มีผลกระทบต่ออาหาร น้ำ สิ่งแวดล้อมอย่างไร? เฮาเตอร์อธิบายไว้ในบทความว่ากิจการขนาดยักษ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตรและโครงสร้างพลังงาน พวกธนาคารและสถาบันทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครดิตสวิส, เวลส์ฟาร์โก, โกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนด์ลีย์, แบงค์ออฟอเมริกา, ซิตี้กรุ๊ป ฯลฯ ต่างอยู่เบื้องหลังโครงการที่สร้างปัญหาอย่างดาโคตาแอคเซสไปป์ไลน์ที่ชนพื้นเมืองสแตนดิงร็อคซูส์ลุกขึ้นต่อต้านเพราะธนาคารอย่างเครดิตสวิสเป็นผู้ให้เงินกู้แก่โครงการของเอนเนอร์จีทรานสเฟอร์ หุ้นส่วนหลักของเอนบริดจ์ โดยโครงการดังกล่าวจะทำให้แหล่งน้ำของชนพื้นเมืองเป็นพิษ

เฮาเตอร์ระบุว่าถ้าหากเอนบริดจ์ควบคุมกิจการกับสเปกตราแล้วจะทำให้พวกเขากลายเป็นบรรษัทโครงสร้างพื้นฐานพลังงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือและมีอิทธิพลทางการเมืองมาก และบรรษัทนี้พยายามจะขุดเจาะน้ำมันและก๊าซจากใต้ผืนโลกให้ได้มากที่สุดด้วยวิธีการแฟรกกิงซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรวมถึงเรื่องสภาพภูมิอากาศด้วย

นอกจากนี้บทความของเฮาเตอร์ยังแสดงความกังวลว่าถ้าบริษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่อย่างมอนซานโตกับซินเจนตาควบรวมกิจการกันจะทำให้พวกเขามีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือเกษตรกร ทำให้กำหนดราคาสูงๆ ได้ และจำกัดทางเลือกเมล็ดพันธุ์กับเครื่องมือการเกษตร อาจจะมีพืชที่ปลูกด้วยสารฆ่าแมลงอันตรายอย่างไกลโฟเสตเพิ่มมากขึ้นซึ่งไกลโฟเสตเป็นสารที่มีส่วนในการก่อมะเร็งและวัชพืชที่ทนทานขึ้น เฮาเตอร์ยังบอกอีกว่ากลุ่มบรรษัทเหล่านี้อาจจะล็อบบี้เรื่องการอภิปรายเกี่ยวกับจีเอ็มโอที่จะเป็นการให้ข้อมูลผิดๆ ต่อประชาชน

ในแง่ของการล็อบบี้ เฮาเตอร์ระบุถึงสิ่งที่เธอเคยเขียนในหนังสือของเธอว่าถ้าหากบรรษัทเหล่านี้มีอำนาจมากขึ้นพวกเขาก็จะใช้อิทธิพลในการกำหนดกติกาของตัวเองทำให้คนทั่วไปต้องต่อสู้หนักขึ้นเพื่อให้ตัวเองมีสิทธิมีเสียงในระบอบประชาธิปไตยและเกิดเป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

เฮาเตอร์ยังเขียนถึงกรณีที่บริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดอย่างสแตนดาร์ดออยล์ที่คอยกุมอำนาจเพื่อยับยั้งฝ่ายสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่สมัยของ เจ.ดี. ร็อคกี้เฟลเลอร์ หนึ่งในบริษัทที่แตกออกมาอย่างเอ็กซอนก็เคยค้นพบมานานแล้วว่าเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแต่มีการปิดข่าว

ในบทความ เฮาเตอร์ยังยกตัวอย่างถึงกรณีที่ชุมชนหลายชุมชนในรัฐนอร์ทดาโคตาเผชิญกับปัญหามลพิษจากของเสียโรงงานการเกษตรจำนวนมากที่ไหลทะลักในช่วงเกิดพายุเฮอริเคนแมทธิว เฮาเตอร์เตือนว่าเมื่อบรรษัทยักษ์มีอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อระบบพลังงานและอาหารมากมายขนาดนี้ ผู้คนทั่วไปในสังคมอย่างเราก็จะได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการของพวกเขาไปด้วยในขณะที่ธนาคารมัวแต่ฟันกำไรปล่อยให้ประชาชนทนทุกข์กับภาวะโลกร้อนอยู่ในระดับล่างๆ

 

เรียบเรียงจาก

Three Massive Mergers—Millions for One Bank and a Disaster for Food, Water, and Climate, Common Dreams,
http://www.commondreams.org/views/2016/10/21/three-massive-mergers-millions-one-bank-and-disaster-food-water-and-climate

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาสังคม-NGO แถลงประณามผู้ก่อเหตุระเบิด จ.ปัตตานี เสนอเร่งพูดคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัย

$
0
0

ภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แถลงการณ์แสดงความเสียใจ- ประณามผู้ก่อเหตุระเบิดภายในตลาดโต้รุ่ง จ.ปัตตานี พร้อมเสนอให้เวทีพูดคุยสันติภาพเร่งเรื่องพื้นที่ปลอดภัย

25 ต.ค. 2559 จากกรณีเหตุระเบิดภายในตลาดโต้รุ่ง ถนนพิพิธ เขตเทศบาลเมืองปัตตานี ช่วงค่ำของวันที่ 24 ต.ค. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ สมพร ขุนทะกะพันธ์ และนริศรา มากชูชิต บาดเจ็บสาหัส อีกทั้งมีผู้ได้รับบาดอีกหลายราย คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ และองค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ออกแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาดังนี้

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่รวม 28 องค์กร กล่าวประณามการก่อเหตุดังกล่าวเนื่องจากเป็นการก่อเหตุต่อผู้บริสุทธิ์ เสนอให้พื้นที่สาธารณะเช่น โรงเรียน วัด หรือพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่สนามรบหรือจุดตั้งกองกำลังถูกละเว้นจากการก่อเหตุรุนแรง อีกทั้งยังเสนอให้เวทีการพูดคุยสันติภาพที่ประเทศมาเลเซียเร่งพูดคุยและสร้างข้อตกลงเพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดภัยแก่ประชาชน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวประณามผู้ก่อเหตุพร้อมกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเป็นการกระทำความผิดทางอาญาทั้งตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายในประเทศ อีกทั้งการก่อเหตุดังกล่าวยังเป็นก่อเหตุรุนแรงก่อนการเจรจาสันติภาพละวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบเพียง 1 วัน ส่งผลระยะยาวถึงศักยภาพของประชาชนในการดำรงชีวิต และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

มูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธไม่ว่าฝ่ายใดหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธประหัตประหารรวมทั้งเรียกร้องให้รัฐทำการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดอย่างเต็มที่ ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ระหว่างทางที่หาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ด้วยแนวทางสันติวิธี

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ และองค์กรภาคประชาสังคม

25 ตุลาคม 2559 ณ ตลาดโต้รุ่ง อ. เมือง จ. ปัตตานี

ขอแสดงความเสียใจอย่างหาที่เปรียบมิได้ กับครอบครัวผู้เสียชีวิต _ป้าสมพร ขุนทะกะพันธ์ และน้องนริศรา มากชูชิต และขอวิงวอน ภาวนาให้ผู้บาดเจ็บนับสามสิบคน ปลอดภัย และมีจิตใจที่เข้มแข็ง จากการประสบเหตุการณ์ระเบิดในตลาดโต้รุ่ง เมื่อคืนนี้

การกระทำความรุนแรงที่ไม่คำนึงถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่กระทำการอันโหดร้าย ต่อ เด็ก ผู้หญิง คนแก่ คนที่ไม่มีอาวุธและไม่ใช่เป็นคู่ต่อสู้. ถือเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ที่มีสิทธิ์ มีชีวิตรอด เป็นการกระทำการยกเข่ง เหมารวมในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีคนหลากหลายศาสนา เพศ วัย จำนวนมาก ไปใช้ประโยชน์ กลุ่มคนที่กระทำจึงเป็นกลุ่มคนที่ควรถูกประณามจากสาธารณะอย่างยิ่ง

เราทั้งหลายขอวิงวอน ภาวนา ร้องขอให้
1. ผู้ก่อเหตุยุติการกระทำเยี่ยงนี้เสีย
2. ขอให้ละเว้นการกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ เด็ก ผู้หญิง คน แก่ และคนที่ไม่มีอาวุธ
3. ขอให้พื้นที่สาธารณะ ได้แก่ ตลาด ถนนหนทาง โรงเรียน วัด มัสยิด โบถส์คริสต์ และ พื้นที่ อื่น ๆ ที่มิใช่สนามรบหรือจุดตั้งกองกำลัง ถูกละเว้นจากการทำความรุนแรงและมีความปลอดภัย 
4. ขอให้รัฐเร่งจับกุมคนกระทำในครั้งนี้และทำความกระจ่างให้แก่ประชาชนโดยเร็ว พร้อมทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการไม่ให้มีการก่อเหตุซ้ำในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ
5. ขอให้โต๊ะพูดคุยสันติสุข สันติภาพที่มาเลเซีย ในวันนี้ เร่งพูดคุยและ ได้ร่วมกันทำเรื่องพื้นที่สาธารณะ ปลอดภัย ตามข้อเสนอขององค์กรผู้หญิงที่ท่านรับในการพูดคุยเมื่อ 2 กันยายน 2559ให้เป็นข้อตกลงสำคัญที่จะร่วมกันทำให้เป็นจริง เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน ที่ ท่าน บอกว่า สำคัญต่อท่าน
6. ขอให้กลุ่มก่อการอื่น ๆ ในพื้นที่ ยุติการทำรุนแรงต่อพลเรือน และพื้นที่สาธารณะ 
7. ขอเรียกร้องให้พี่น้องชาวไทยทั่วประเทศร่วมลงนามในแถลงการณ์ของเรา เพื่อแสดงพลังพลเมืองไม่เอาความรุนแรง

เราจึงขอลงนามเพื่อข้อเรียกร้องทั้งหมด

คณะทำงานวาระผู้หญิง ทั้ง 23 องค์กรสมาชิก 
1. กลุ่มเซากูน่า
2. กลุ่มด้วยใจ
3. กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้
4. กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรี
5. เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ( Civic Women)
6. เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
7. เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ
8. เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้
9. เครือข่ายชุมชนศรัทธา
10. เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี
11. เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก
12. เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ
13. เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้
14. ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส
15. ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส 
16. มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า 
17. สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) 
18. สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา
19. สภาประชาสังคมชายแดนใต้
20. สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ 
21. ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา
22. ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า 
23. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ 
24. ชุมชนคูหามุข เทศบาบนครยะลา
25. เครือข่ายสตรีชาวพุทธเพื่อสันติภาพ
26. ชมรมพุทธรักษา
27. กลุ่มสตรีพุทธเพื่อสังคม 
28. เครือข่ายสานเสวนาพุทธ_มุสลิม

 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแสดงความเสียใจต่อต่อการเสียชีวิตและบาดเจ็บประนามเหตุรุนแรงและการวางระเบิดที่ตลาดโต้รุ่งจังหวัดปัตตานีขอเสนอแนะให้ทุกฝ่ายอดทนอดกั้นยึดมั่นแนวทางสันติ

เผยแพร่วันที่ 25 ตุลาคม 2559

แถลงการณ์

แสดงความเสียใจต่อต่อการเสียชีวิตและบาดเจ็บ

ประณามเหตุรุนแรงและการวางระเบิดที่ตลาดโต้รุ่งจังหวัดปัตตานี

ขอเสนอแนะให้ทุกฝ่ายอดทนอดกั้นยึดมั่นแนวทางสันติ

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2559 เวลาประมาณ 9.00 . เวลา 14.00 . และเวลา 19.00 . มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ปัตตานี  หลายฝ่ายประเมินว่าเป็นการกระทำความรุนแรงอันเนื่องจากวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ โดยเกิดเหตุระเบิดที่อำเภอยะรังแต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ  มีการลอบยิงบุคคลในพื้นที่อำเภอหนองจิกมีผู้เสียชีวิตสองรายเป็นสามีภรรยาและผู้บาดเจ็บหนึ่งรายและเหตุการณ์ที่สามเป็นเหตุการณ์ระเบิดที่ตลาดโต้รุ่งอำเภอเมืองปัตตานีเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตเป็นหญิง 1 รายได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 19 รายผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นละขอประนามผู้ก่อเหตุระเบิดดังกล่าวซึ่งได้ก่อความรุนแรงต่อพลเรือนเด็กและสตรีผู้บริสุทธิ์สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนอีกทั้งทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะการลอบวางระเบิดในตัวเมืองจังหวัดปัตตานีในเวลา 19.00 . ในพื้นที่ตลาดสาธารณะขณะที่ชาวบ้านเดินทางมาเพื่อจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก  ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองจากการใช้อาวุธไม่ว่าจากฝ่ายใด

การใช้ระเบิดที่มีวิถีการทำลายแบบไม่เจาะจงส่งผลให้มีผู้หญิงและเด็กได้รับบาดเจ็บ การลอบวางระเบิดในที่สาธารณะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและเป็นการกระทำความผิดทางอาญาทั้งตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายในประเทศโดยอาจเป็นความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอีกด้วยจึงควรถูกประนามจากทุกฝ่ายและรัฐต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีและรับโทษตามกฎหมายและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน

ารก่อเหตุรุนแรงก่อนการเจรจาที่เป็นข่าวสารว่าจะมีขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคมและรวมถึงตรงกับวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบไม่แต่เพียงส่งผลกระทบที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งร่างกายและทรัพย์สินแต่ยังส่งผลระยะยาวถึงศักยภาพของประชาชนในการดำรงชีวิตความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งจากความพิการหรือผลกระทบทางด้านจิตใจที่กว่าจะฟื้นคืนได้ต้องใช้เวลายาวนาน เหตุระเบิดยังเป็นการส่งเสริมให้วงจรของความรุนแรงยังคงอยู่นอกจากนี้ยังส่งผลลบต่อบรรยากาศการเจรจาสันติภาพซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนด้วย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธไม่ว่าฝ่ายใดหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธประหัตประหารและก่อเหตุรุนแรงที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์และรัฐจะต้องนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมช่วยเหลือต่อผู้เสียหายทั้งทรัพย์สินและผู้ได้รับบาดเจ็บ วมทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดอย่างเต็มที่ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวความอดทนอดกลั้นของทุกฝ่ายจะช่วยปกป้องคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ะหว่างทางที่หลายฝ่ายกำลังหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ด้วยแนวทางสันติวิธี

วันที่ 25 ตุลาคม 2559

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศอตช.เผยคดีจำนำข้าว มีจนท.รัฐเอี่ยว 986 คดี 'ภูมิธรรม' ชี้ใช้ม.44 ไม่อยู่บนหลักนิติธรรม

$
0
0

เลขาธิการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตฯ เผยการพิจารณาการเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ขณะนี้ตร.ได้ส่งสำนวนเพิ่มเติมรวม 986 คดี 'ภูมิธรรม' ชี้ใช้ม.44 ไม่อยู่บนหลักนิติธรรม กำลังสร้างความขัดแย้ง

25 ต.ค. 2559 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านามา ประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาการเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ว่า จากเดิมที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมด 853 คดี ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งสำนวนเพิ่มเติมรวมเป็นทั้งหมด 986 คดี

ทั้งนี้ ป.ป.ท.ได้ทยอยส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.พิจารณา และมีมติสั่งให้ไต่สวนแล้ว 125 คดี โดยจากนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตามจำนวนคดี และตั้งเป้าจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.พิจารณาชี้มูลต่อไป หากเห็นว่ามีมูล ถ้าเป็นคดีอาญาจะส่งให้พนักงานอัยการฟ้องร้อง หากเป็นเรื่องของวินัยหรือค่าเสียหาย จะส่งให้ต้นสังกัดดำเนินการตามขั้นตอน

ประยงค์ กล่าวยืนยันว่า การทำงานของ ป.ป.ท.เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ การตั้งอนุกรรมการตามจำนวนคดี ถึงแม้เราจะมีบุคลากรไม่เพียงพอ แต่เราก็จะทำงานตามขั้นตอน สลับบุคลากรเข้าไปทำงานในทุกชุดอนุกรรมการให้การทำงานเดินไปอย่างรวดเร็ว
 

'ภูมิธรรม' ชี้ใช้ม.44 ไม่อยู่บนหลักนิติธรรม กำลังสร้างความขัดแย้ง

ขณะที่วันเดียวกัน ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังเผชิญกับความกดดันจากนโยบายและความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาชาวนาในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน แต่กลับต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ ทั้งโดยการรัฐประหารและใช้กลไกทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติหลายรูปแบบ ตั้งแต่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง เพื่อทำให้ขาดคุณสมบัติที่จะเข้าสู่อำนาจทางการเมือง และเร่งรัดรีบเร่งไต่สวนคดีทั้งหลาย เพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี โดยล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้กระทรวงการคลัง โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นการส่วนตัว ที่อ้างว่าเกิดจากโครงการรับจำนำข้าวถึง 35,000 ล้านบาท อย่างขาดเหตุผลอันชอบธรรมที่จะอธิบายต่อสาธารณะ ที่มิใช่วิถีทางประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

ภูมิธรรม ยังได้ตั้งคำถามว่า การออกคำสั่งทางปกครองเพื่อให้ ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหาย นั้น รัฐบาลมีความจำเป็นใดที่ทำให้ต้องรีบเร่ง และรวบรัดดำเนินการเข้าสู่กระบวนการเรียกให้ชดใช้ความเสียหายด้วยเงินจำนวนมากขนาดนี้ ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้อยู่ในการบังคับของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด พ.ศ.2539 เพื่อช่วยมิให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดทางละเมิด ให้รัฐต้องรับผิดแทน เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่นั้นกระทำละเมิดด้วยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่า มีนักกฎหมายหลายคนตั้งประเด็นการเร่งรัดเรียกค่าเสียหายจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโครงการรับจำนำข้าวถึง 35,000 ล้านบาท ว่า การถูกเรียกให้ชดใช้ความเสียหายจากนโยบายการรับจำนำข้าว ด้วยการออกคำสั่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีเข้าไปยึด และอายัดทรัพย์ได้นั้น กำลังสร้างความขัดแย้งในสังคม เพราะประชาชนบางส่วนแสดงเจตจำนงจะร่วมแบ่งปันความทุกข์กับ ยิ่งลักษณ์ เพราะเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ไม่คำนึงถึงกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในหลักนิติธรรม ที่ประชาชนกำลังเฝ้าดู และติดตามระบบและกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images