Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50697 articles
Browse latest View live

ส่งตัว 5 คนถูกจับย่านรามฯ ลงปัตตานี หลังใช้กฎอัยการศึกควบคุมต่อ

0
0

ส่งตัว 5 คนที่ถูกกว่ากวาดจับจากย่านรามคำแหง ไปยังค่ายอิงคยุทธ จ.ปัตตานี หลังมีการขอใช้อำนาจกฎอัยการศึกควบคุมตัวต่อ – มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแถลงให้ปล่อยอย่างไม่มีเงื่อนไข มิเช่นนั้นต้องแจ้งข้อกล่าวหาตามกระบวนการยุติธรรม

18 ต.ค. 2559  พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยืนยันว่ามีการส่งตัวผู้ถูกควบคุมตัว 5 คน จากการกวาดจับที่บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี โดยการควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก  หลังจากที่มีการใช้อำนาจการควบคุมตัว 7 วัน ตามมาตรา 44 โดยครบกำหนดแล้ว (อ่านข่าวเพิ่มเติม) โดยการเคลื่อนย้ายด้วยรถตู้ เมื่อคืนวาน (17 ต.ค.) จากมณฑลทหารบกที่ 11 ไม่ทราบเวลาที่แน่ชัด แต่ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดถึงที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลาประมาณ 15.30 น. ขณะนี้ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ประสานงานกับศูนย์ทนายความมุสลิมเพื่อดำเนินการด้านความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้พรเพ็ญยังกล่าวว่า จากรายงานที่ตนทราบมาพบว่ายังมีผู้ถูกควบคุมตัวอีกหนึ่งคนยังอยู่ภายใน มทบ.11 ทราบเบื้องต้นว่าชื่อ นายปรีชา ยังไม่ทราบนามสกุล ขณะนี้ทางมูลนิธิกำลังประสานงานเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า สิ่งที่ตนกังวลคือเรื่องการควบคุมด้านความมั่นคงก็ต้องเป็นไปควบคู่กับการดูแลสิทธิความเป็นมนุษย์ กสม. เน้นย้ำคือสิทธิขั้นพื้นฐานของคน สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิทธิที่ญาติจะได้เยี่ยม ซึ่งกรณีนี้ กสม. ก็จะเข้าช่วยเหลือหากญาติของผู้ถูกคุมขังไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเข้าเยี่ยม ซึ่งในการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ คสช. ก็เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และก็ได้รับการยืนยันว่าหลังจากกระบวนการซักถามหากพบว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง ก็จะมีการปล่อยตัว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยทั้ง 5 คน โดยไม่มีเงื่อนไข หรือตั้งข้อหา-ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยทั้ง 5 คน โดยทันที เนื่องจากการควบคุมตัวต้องเป็นตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น หรือแม้จะอ้างตาม มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ต้องมีการแจ้งสถานที่ควบคุมตัว หรืออนุญาตให้ทนายเข้าเยี่ยมตามหลักสิทธิมนุษยชน ขณะนี้ครบกำหนดการควบคุมตัวตามคำสั่ง คสช. 7 วันแล้ว จำเป็นต้องมีการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมโดยทันที มิเช่นนั้นต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการและได้สิทธิครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ และเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้บางส่วนในแถลงการณ์ยังกล่าวว่า เหตุการณ์การจับกุมดังกล่าวยังสร้างความกังวลของญาติพี่น้องและประชาชนทั่วไปในจังหวัดชายแดนใต้ให้เกิดความหวาดกลัวว่าการปฏิบัติการแบบเหวี่ยงแหของเจ้าหน้าที่อาจสะท้อนถึงทัศนคติด้านลบและการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนจากจังหวัดชายแดนใต้

เรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคล 5 คนจากการควบคุมตัวโดยพลการโดยทันที กรณีการตรวจค้นจับกุมประชาชนจากจังหวัดชายแดนใต้ในกรุงเทพแล้วส่งตัวไปควบคุมตัวต่อที่ปัตตานี

18 October, 2016 by voicefromthais

เผยแพร่วันที่ 18 ตุลาคม 2559

นับแต่วันที่ 10-15 ตุลาคม 2559 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังพร้อมอาวุธสงครามได้เข้า ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัวจากห้องพักในบริเวณถนนรามคำแหง  โดยได้จับกุมบุคคลที่มีภูมิลำเนาจากจังหวัดชายแดนใต้ไปคุมขังในสถานที่ต่างๆ จำนวนทั้งสิ้นรวม 44 ราย เป็นหญิง 8 คน และชาย 36 คน โดยบางคนมีอายุเพียง 18 ปีเท่านั้น ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าเพื่อเป็นการทำลายแผนการก่อวินาศกรรมในโอกาสครบรอบการสลายการชุมนุมที่ตากใบ ตามนโยบายของรัฐบาลในการเฝ้าระวังภัยด้านความมั่นคง ตามที่ปรากฏภาพและข่าวเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยปรากฏว่ามีการปล่อยตัวกลุ่มบุคคลดังกล่าวไปแล้วจำนวนหนึ่งโดยไม่มีการแจ้งข้อหา  มีการดำเนินคดีข้อหาอื่นและถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพลเรือนจำนวนหนึ่ง  และมีบุคคล 5 คนถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำนครชัยศรี มทบ. 11 ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ข้อมูลเบื้องต้นในกรณีดังกล่าวพบว่าบุคคลทั้ง 5 ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ที่สถานที่แห่งหนึ่งในบริเวณรามคำแหงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 และต่อมาถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดประเภทกระท่อมและมีการส่งตัวไปควบคุมตามคำสั่ง 13/2559 ตามอำนาจของคสช.ที่เรือนจำชั่วคราวถนนแขวงนครชัยศรี ตั้งอยู่ในค่าย มทบ. 11 จังหวัดกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2559 ซึ่งครบกำหนดการควบคุมตัว 7 วันตามคำสั่ง 13/2559 ในวันที่ 17 ตุลาคม แต่กลับพบว่าทางหน่วยงานความมั่นคงไม่ได้ปล่อยตัวบุคคลทั้ง 5 ดังกล่าว

ต่อมาในวันเดียวกันทางโฆษกคสช.ได้ออกมาแถลงยอมรับว่ายังคงมีประชาชนถูกควบคุมตัวบุคคลทั้ง 5 รายต่อไปแต่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นการใช้กฎหมายใด  และให้เหตุผลว่าการควบคุมตัวต่อนั้นเพื่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้ได้ทำงานภายใต้องค์ประกอบที่สมบูรณ์ก่อน  โดยภายหลังประมาณเวลา 18.30 น. ทางหน่วยงานความมั่นคงอนุญาตให้ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวทั้งห้าคนเยี่ยมก่อนส่งตัวกลับไปควบคุมตัวต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี โดยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับทราบข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ส่งตัวบุคคลทั้ง 5 คนเดินทางไปควบคุมตัวต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานีโดยเดินทางไปทางรถในเวลากลางคืนของวันที่ 17 ตุลาคม 2559

จากเหตุการณ์การติดตามจับกุมและการควบคุมตัวดังกล่าวนั้นได้นำมาซึ่งความห่วงกังวลของญาติพี่น้องและประชาชนโดยทั่วไปโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้      เกิดความหวาดกลัวว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในลักษณะเหวี่ยงแหดังกล่าวอาจเป็นการกระทำที่เกินสมควรกว่าเหตุ ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และอาจเป็นการสะท้อนถึงทัศนคติด้านลบและการเลือกปฏิบัติของเจ้าหนน้าที่ต่อประชาชนจากจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งมีรายงานข่าวด้วยว่าตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 10-15 ตุลาคม 2559 ในการควบคุมตัวบุคคลทั้ง 44 คน นั้นเป็นไปโดยพลการ ทั้งหมดไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ ไม่มีการแจ้งญาติและบุคคลเกี่ยวถึงสถานที่ควบคุมตัว อีกทั้งเมื่อมีญาติพี่น้องจำนวนหนึ่งเดินทางมาจากจังหวัดชายแดนใต้เพื่อขอเข้าเยี่ยมก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมในวาระแรก

การควบคุมตัวบุคคลย่อมเป็นไปได้โดยมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น แม้ว่าทางราชการจะอ้างการตรวจค้นและจับกุมตัวบุคคลโดยอาศัยอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยการควบคุมตัว 7 วันตามคำสั่ง 3/2558 และคำสั่ง 13/2559 ดังกล่าวยังคงต้องเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกควบคุมตัวโดยจะต้องมีการแจ้งสถานที่ควบคุมตัว  การอนุญาตให้ญาติหรือทนายความเยี่ยม รวมทั้งหากมีการเจ็บป่วยหรือการร้องขอให้มีการรักษาพยาบาลควรได้รับการรักษาพยาบาลโดยแพทย์ที่เป็นอิสระโดยทันที  เมื่อครบกำหนดการควบคุมตัวครบกำหนดตามคำสั่งคสช. 7 วันแล้วจำต้องมีการปล่อยตัวบุคคลโดยทันทีมิเช่นนั้นก็ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญาและนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย ทั้งนี้หากเป็นการควบคุมตัวตามกฎหมายอาญาบุคคลดังกล่าวต้องได้รับการแจ้งข้อหาและได้รับสิทธิผู้ต้องหาครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ

การที่ทางเจ้าหน้าที่ ได้อ้างถึงการควบคุมตัวเพื่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ทำงานภายใต้องค์ประกอบที่สมบูรณ์ก่อนนั้น นับเป็นการอ้างความจำเป็นที่เลื่อนลอยไม่เป็นไปตามหลักการของกฎหมายใดๆ อีกทั้งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องว่า หากรัฐบาลและคสช. ยังคงควบคุมตัวปล่อยตัวบุคคลทั้ง 5 คนโดยทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข หากต้องการนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา   หากทางกองทัพภาคที่ 4 ได้รับตัวบุคคลไว้ตามการส่งตัวของคสช.ขอให้ปล่อยตัวบุคคลทั้งห้าโดยทันที หากต้องการนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

วันที่ 18 ตุลาคม 2559

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ไฟเขียว ร่าง กม.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและ ร่าง กม. สถาบันเพื่อการยุติธรรมฯ

0
0

18 ต.ค. 2559 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ  และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณารวมกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. ....  โดยให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล  และนโยบายของรัฐบาล  และให้รับความเห็นของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐไปประกอบการพิจารณาด้วย   แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เว็บไซต์ทำเนียบฯ สรุปไว้ดังนี้

1. กำหนดให้รายได้ทุกประเภทที่เกิดจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมด ให้นำส่งเข้าบัญชีกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาจ่ายเป็นค่าชดเชยที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ค่าตอบแทนที่ดินที่เกษตรกรได้รับกรรมสิทธิ์และใช้จ่ายอื่น ๆ  ได้ 

2.  แก้ไขที่มาของรายได้ที่ ส.ป.ก. ได้รับ ให้ครอบคลุมรายได้ทุกประเภทที่เกิดจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ 

3.  แก้ไขวาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรเพิ่มจาก 2 ปี เป็น 4 ปี เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

4.  ยกเลิกการห้ามจำหน่ายหรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ ในที่ดิน

5.  เพิ่มให้ ส.ป.ก. มีอำนาจในการจัดซื้อที่ดินนอกเขตปฏิรูปที่ดินได้ โดยไม่ต้องประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้การจัดซื้อที่ดินมาจัดให้กับเกษตรกร  ผู้ไร้ที่ดินทำกินทำได้จำนวนมากและรวดเร็วยิ่งขึ้น 

6.  กำหนดให้มีการจำแนกการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ออกเป็น 3 เขตพื้นที่โดยให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมได้แก่ เขตพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตร เขตพื้นที่ที่สงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน  เขตพื้นที่เพื่อการอื่น นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ และให้อำนาจคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการจำแนก และเปลี่ยนแปลงเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดินสำหรับใช้ในการปฏิบัติการงาน  และให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้กฎหมายมีความยืดหยุ่น

7. กำหนดวิธีการจัดที่ดินของรัฐโดยการจัดให้แก่เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01)  จนกว่า ส.ป.ก. ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และเกษตรกรมีความพร้อมในด้านการเงินและมีความประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงจัดให้โดยการเช่าซื้อตามความจำนง  นอกจากนี้  ให้ ส.ป.ก. สามารถบริหารจัดการที่ดินที่ได้มาตามพระราชบัญัญัตินี้ทั้งหมด  โดยเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดินเข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  ตามหลักเกณฑ์  วิธีการ  และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

8.  ยกเลิกการแจ้งการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินต่อ ส.ป.ก. เพื่อลดภาระให้แก่ประชาชน

9. ปรับปรุงการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้กับคู่สัญญาของ ส.ป.ก.โดยให้คู่สัญญาของ ส.ป.ก. ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ด้วย

10. กำหนดให้เจ้าของที่ดินสามารถโอนที่ดินให้ทายาทโดยธรรม  รวมทั้ง สามารถโอนให้แก่ ทบวง การเมือง องค์การของรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจได้  เพื่อประโยชน์สาธารณะได้โดยไม่ต้องรอให้เสียชีวิตก่อน และยกเลิกการโอนให้สถาบันเกษตรกรนอกนั้นคงเดิม และกำหนดให้มีการควบคุมขนาดเนื้อที่การถือครองที่ดินในรุ่นทายาทผู้รับโอนหรือรับมรดก ในขนาดเนื้อที่ไม่เกินที่กำหนดไว้

11. กำหนดบทควบคุมการใช้ประโยชน์ในที่ดินทั้งก่อนและหลังได้รับกรรมสิทธิ์จากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ยกเลิกบทกำหนดโทษกรณีไม่แจ้งการครอบครองที่ดิน 

อนุมัติ ร่าง พ.ร.บ. สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... 

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้ 1. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป 2.  ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2549 เรื่อง การปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการเสนอร่างกฎหมาย และ 3. ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 (เรื่อง การดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองและแผนการเสนอกฎหมายลำดับรอง และการเร่งรัดดำเนินการเสนอกฎหมาย หรือปรับปรุงกฎหมายสำคัญ) และให้ ยธ. เร่งรัดการเสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง และกรอบระยะเวลาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เว็บไซต์ทำเนียบฯ ได้สรุปไว้ดังนี้                

1. กำหนดให้จัดตั้ง “สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย” มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น

2. กำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานของสถาบันให้รองรับภารกิจที่ขยายออกไปทั้งด้านเนื้อหาวิชาการ และครอบคลุมให้สามารถดำเนินการได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล

3. กำหนดให้คณะกรรมการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 6 คน

4. กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ในการควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งกิจการและการดำเนินการของสถาบันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

5. กำหนดกรอบการดำเนินงานและบริหารจัดการให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคล่องตัว รองรับการปฏิบัติงานในลักษณะกึ่งหน่วยงานระหว่างประเทศได้ โดยมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้กำกับดูแลในอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

6. กำหนดให้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 เป็นสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 เสร็จสิ้นแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปชช.ระยองปิดล้อมกลางดึกบ้านผู้ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นฯ พบใบนัดจิตเวช

0
0

ดูคลิปถ่ายทอดสดเหตุการณ์ปิดล้อม ได้ที่ คลิป 12และ 3

18 ต.ค. 2559 เมื่อเวลา 22.00 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Weerawut Deemun' ได้เผยแพร่วิดีโอคลิปการถ่ายทอดสดจำนวน 3 คลิปใน เฟซบุ๊กกลุ่มชื่อ 'แชร์ทุกเรื่องเมืองระยอง  Rayong We Share' โดยอ้างว่าเป็นประชาชนล้อมบ้านคนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พร้อมเชิญชวนให้สมาชิกในกลุ่มดังล่าวมาร่วมกันปิดล้อม ซึ่งระบุว่าเป็นบริเวณ ที่ชากใหญ่ จ.ระยอง

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เจรจาขอให้ประชาชนที่มาปิดล้อมกลับบ้าน พร้อมยืนยันด้วยว่าจะเฝ้าแทน และในวันพรุ่งนี้จะดำเนินการขอหมายศาลเพื่อดำเนินคดีต่อไป

อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊ก 'Weerawut Deemun' คนดังกล่าวได้เผยแพร่ใบนัดพบแพทย์ แผนก คลีนิกจิตเวช จากนั้นมีผู้แสดงความเห็นว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ป่วย รวมทั้งขอร้องไม่ให้มีการใช้กำลังกันด้วย

ที่มาเฟซบุ๊ก 'Weerawut Deemun

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช.ขอปชช. ใช้สติอย่าทำร้ายคนที่คิดว่าไม่รักสถาบัน แค่แจ้งเบาะแสจนท.ตามกฏหมาย

0
0
แฟ้มภาพ
 
พ.อ.ปิยพงศ์ กลินพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความห่วงใย กรณีที่มีประชาชนรุมทำร้าย บุคคลที่คิดว่า ไม่รักสถาบัน หรือการมองที่ การไม่ใส่เสื้อดำ จึงขอให้ประชาชน ใช้สติ ระงับอารมณ์ อย่าใช้การทำร้าย แต่ให้ใช้กฏหมายดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสีย ต่อบรรยากาศในเวลานี้ อย่าทำร้ายคนที่เราคิดว่าไม่รักสถาบัน ขอแค่แจ้งเบาะแสมา ทางเจ้าหน้าที่จะไปดำเนินการตาม กฏหมาย นอกจากนี้ อย่ามองคนที่ไม่ใส่เสื้อสีดำขาว ว่า ไม่จงรักภักดี เพราะเขาอาจมีเหตุผล ไม่มีเสื้อ ส่วนเรื่องพฤติกรรมให้ดูเป็น รายๆ ไป และควรใช้กฏหมาย ดำเนินการ อย่าใช้การทำร้ายกัน
 
นอกจากนี้ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(กอ.รส.) จัดให้ประชาชน จาก ต่างจังหวัด ที่มาถวายความอาลัยพระบรมศพ ไปพักแรม ได้ที่ สวนเจ้าเชตุ หน่วยบัญชาการรักษาดืนแดน ที่จะรองรับได้ราว1 พันคน โดยติดต่อจนท. ที่ กอ.รส. วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์
 
พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวด้วยว่า ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลและระมัดระวังทรัพย์สินและของมีค่า จากกลุ่มมิจฉาชีพที่อาจแฝงตัวปะปนเข้ามาในพื้นที่ท้องสนามหลวง และพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีประชาชนเดินทางเข้ามาถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นจำนวนมาก
 
“เพื่อร่วมกันรักษาบรรยากาศแห่งการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างประชาชนด้วยกันถวายเป็นพระราชกุศล” พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าว
 
 
ที่มา สำนักข่าวไทยและเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพจดัง 'Drama-addict' ไขปัญหา Q&A ผู้ป่วยจิตเวช ปมตบปากป้าว่าเจ้าบาดาลบนรถเมล์

0
0

เพจ Drama-addict เขียนอธิบายมายาคติเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวชในสังคมไทย จากปมป้าต่อว่าเจ้าวังบาดาลบนรถเมล์ พร้อมประเด็นถามตอบเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว หวังเป็นบทเรียน ไม่ใช่ปล่อยให้ผ่านเลยไปแล้วปล่อยให้มีผู้ป่วยแบบป้า ตกเป็นเหยื่อจากความไม่รู้เป็นรายต่อไป

ภาพขณะที่หญิงเสื้อดำเข้าไปทำร้ายร่างกายหญิงวัยกลางคนดังกล่าว

19 ต.ค.2559 จากกรณี เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่วิดีโอคลิปหญิงวัยกลางคนถูกตบปากอย่างแรง หลังถูกกล่าวหาว่าพูดหมิ่นสถาบันกษัตริย์บนรถเมล์ ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่า เหตุการณ์ในคลิปเกิดขึ้นที่บริเวณแยกสะพานขาว แขวงสี่แยกมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญหญิงวัยกลางคนในคลิปมาที่ สน. พบว่าเป็นคนวิกลจริต มีปัสสาวะใส่กางเกง พูดจาไม่รู้เรื่อง และตรวจพบว่าบัตรประจำตัวผู้ป่วย จากนั้นจึงนำตัวส่งโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งแพทย์ก็ได้ยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลจริง แต่ผู้ป่วยขาดยาและหนีออกจากบ้าน จึงแจ้งญาติให้มารับตัวกลับ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) รวมทั้งมีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ให้ข้อมูลด้วยว่าเนื้อหาที่หญิงวัยกลางดังกล่าวพูดถึงเป็นเรื่องในละครและเจ้าเมืองบาดาล

สำหรับกรณีของผู้ที่มีปัญหาจิตเภทและมีพฤติกรรมเช่นนี้ในที่สาธารณะไม่ใช่เรื่องใหม่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้ที่ป่วยจิตเภท ถูกจับกุมและดำเนินคดีไม่น้อย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยข้อมูลว่า หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 นอกจากการจับกุมดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จะเพิ่มขึ้นมากแล้ว ยังปรากฏกรณีผู้ต้องหาที่เป็นผู้ป่วยมีอาการเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 7 ราย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : ข้อควรพิจารณาก่อนโกรธและลงมือ: ผู้ป่วยจิตเภทกับคดี 112)

Drama-addict Q&A มายาคติเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวชในสังคมไทย

ขณะที่วานนี้ เพจดังอย่าง Drama-addictซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.3 ล้าน ได้โพสต์อธิบาย "มายาคติเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวชในสังคมไทย" พร้อมเขียนประเด็นถามตอบต่อกรณีดังกล่าว

ที่มา  Drama-addict
 
Drama-addict ระบุว่า สืบเนื่องจากประเด็นป้าที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชแล้วด่าทอต่อว่าเจ้าวังบาดาลบนรถเมล์ แต่ถูกคนเข้าใจผิดนึกว่าหมิ่น 112 แล้วโดนลากไปตบกลางถนนนั้น เท่าที่เบิ่งๆคอมเม้นท์ดู พบว่าคนไทยส่วนมาก ไม่มีความเข้าใจโรคจิตเภทเลย หรือยังติดอยู่ในมายาคติเดิมๆที่คิดว่าผู้ปว่ยโรคนี้ ต้องแต่งตัวสกปรก ผมเผ้ารกรุงรัง หิ้วของพะรุงพะรัง เดินเตร็ดเตร่เร่ร่อนอยู่ตามท้องถนน หรือที่เป็นมายาคติของสิ่งที่เรียกว่า "คนบ้า" ที่คนไทยเข้าใจกันนั่นเอง
 
Drama-addict กล่าวว่า โรคจิตเภท เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปรกติของสารสื่อประสาทในสมอง จนคนที่ป่วยเป็นโรคนี้จะเกิดอาการหลายๆอย่าง เช่น เก็บตัว ซึม ไม่พบปะผู้คน แยกตัวเองออกจากสังคม ไม่สนใจดูแลตัวเอง ไม่เปลี่ยนเสื้อผ้า ไม่หลับไม่นอน ความคิดเฉื่อยชา พฤติกรรมเปลี่ยน และเกิดอาการ "หลงผิด"
 
อาการหลงผิด (delusion) คืออาการที่ผู้ป่วยมีความเชื่อในบางเรื่องผิดแปลกไปจากความเป็นจริงอย่างฝังใจ เช่น เชื่อว่ามีคนส่งคลื่นวิทยุมาบังคับการกระทำของตัวเอง เชื่อว่ามีคนปล่อยรังสีอินฟาเรด อัลตร้าซาวด์มาทำลายสมองตัวเอง บางคนก็เกิดอาการหูแว่วได้ยินเสียงคนมาด่าทอต่อว่าหรือออกคำสั่งกับตัวเองตลอดเวลา
 
อาการหลงผิดในผู้ป่วยโรคจิตเภท มีหลายแบบ 
Drama-addict  อธิบายต่อว่า ที่พบบ่อยๆก็เช่น delusion of grandeur คือหลงเชื่อคิดว่าตัวเองเป็นคนใหญ่คนโต ถ้าใครเคยพูดคุยกับผู้ป่วยที่มีอาการกลุ่มนี้จะพบว่า บางคนก็ยกตัวเองเป็นเจ้ามั่ง ยกตัวเองเป็นพระศรีอารียเมตรัยมั่ง เนื้อหาที่เขาพูดก็เกิดจากความปักใจเชื่อว่าตัวเองเป็นคนใหญ่คนโตตามที่ตัวเองหลงผิดนั่นล่ะ ซึ่งอาการพวกนี้ รักษาได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ได้รับยาที่ปรับการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองให้กลับมาเป็นปรกติ บางคนที่พอรักษาปุ๊บ เหมือนเกิดใหม่ เหมือนกลายเป็นคนละคนไปเลย 
 
ที่ผ่านมามีผู้ป่วยทางจิตเวชหลายรายที่ขาดยา หรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจนอาการหนักขึ้น แล้วไปแสดงอาการหลงผิดกลางที่สาธารณะ จนถูกแจ้งดำเนินคดีก็มี ดังนั้นหากสังคมไทยเข้าใจโรคนี้ละเอียดมากขึ้น จะเป็นอะไรที่ดีมากกับทุกๆฝ่าย
 
ต่อไปเป็นประเด็นที่หลาย ๆ คนตั้งคำถาม
 
Q: อีป้านั่นแต่งตัวดีจะตายไป ไม่เห็นเหมือนคนเป็นโรคจิตเภทเลย
A:จริงๆแล้วคนที่เป็นโรคจิตเภท ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น คนแต่งกายดีๆตามปรกติ แต่ป่วยเป็นโรคนี้ก็มีอยู่ตรึม บางคนแต่งกายดี๊ดี มีหน้าที่การงาน มีรถขับ แต่เป็นโรคนี้ก็มีถมไป 
 
รู้ไหมว่ามีคนไทยเป็นโรคนี้ ประมาณ 1%ของประชากร แต่ถ้ารักษาให้ดีก็สามารถอยู่ในสังคมได้ตามปรกติ ไอ้ที่เดินกระทบไหล่คุณในสังคมทุกวันนี้ ก็มีไม่น้อยแหละที่ป่วยเป็นโรคนี้ ส่วนป้าเขาเป็นกลุ่มที่รักษาไม่ต่อเนื่องแล้วอาการกำเริบเท่านั้นเอง จริงๆแล้วควรฉุกคิดกันตั้งแต่ต้นแล้วว่าคนสติดีๆที่ไหนจะมาทำเรื่องแบบนั้นกลางรถเมล์
 
Q:ถ้าอีป้านั่นป่วยจริง ทำไมไม่เอาไปขังใน รพ วะ ปล่อยให้ออกมาเพ่นพ่านทำไม
A: ผู้ป่วยโรคจิตเวชที่มีอาการหนัก ก็ใช่ว่าจะเข้าไปรักษาในวอร์ดปิดได้ทุกราย ส่วนมากจะแอดมิทในกรณีที่อาการหนักมากและมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ทำร้ายคนรอบกาย แบบนั้นก็ควรเข้าไปรักษาใน รพ แต่ถ้าไม่ได้ก้าวร้าว หรือมีพฤติกรรมทำร้ายคนอื่น (ซึ่งอย่างที่ป้าเขาเป็น เขาเป็นฝ่ายถูกทำร้ายด้วยซ้ำ) ก็ไม่จำเป็นต้องเข้า รพ แต่ไปพบแพทย์เพื่อรับยาอย่างสม่ำเสมอ และเป้าหมายของการรักษาโรคนี้ ก็คือทำให้คนไข้หายและกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปรกติ โดยไม่ถูกตีตราทางสังคม
 
Q:ขนาดมันป่วยมันยังกล้าลบหลู่ดูหมิ่นขนาดนี้ ถ้ามันไม่ป่วยไม่ยิ่งหนักกว่านี้หรือ พวกกรูรุมด่ามันประจานมันก็ถูกต้องแล้ว
A: อย่างที่อธิบายไปว่าโรคนี้จะทำให้สารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปรกติ ทำให้คนป่วยไม่สามารถคิด ตัดสินใจ อะไรได้ตามปรกติ และเรื่องที่พูดหรือกระทำไป เขาไม่สามารถควบคุมความคิดหรือการกระทำของตัวเองได้ มันเป็นไปของมันเองตามโรคของเขา ไม่ได้เกี่ยวห่าอะไรกับทัศนคติแนวคิดยามปรกติของเขาเลย มีคนปรกติที่ไหนมีความเชื่อว่าตัวเองเป็นพระศรีอารียเมตตรัยลงมาจุติมั่งฟะ
 
Q: อ้าว แล้วพวกกรูจะไปรู้ได้ยังไงว่าป่วยเป็นโรคจิตเภท ทำไมไม่ติดป้ายไว้ที่เสื้อเลยล่ะว่าเป็นโรคนี้
A : ละเมิดสิทธิคนไข้ มึงลองคิดดูว่าถ้ามีคนบังคับให้เปิดเผยโรคที่มึงเป็นแปะไว้ตัวเป้งๆบนหัวเดินไปเดินมาให้คนเห็นจะรู้สึกยังไง อีกอย่าง นั่นเป็นการตีตราผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกแปลกแยกและอาจอาการหนักขึ้น
 
Q:แล้ววันหน้าถ้ากรูเจอแบบนี้ควรทำไงดีวะ
A:แจ้ง จนท.ตำรวจสิวะ รู้ไหมว่าเมืองไทยมี พรบ สุขภาพจิต ที่มีไว้เพื่อปกป้องทั้งประชาชนและผู้ป่วยโรคทางจิตเวช คือหากพบใครที่มีอาการน่าเชื่อว่าน่าจะเป็นโรคพวกนี้ แจ้ง จนท บ้านเมือง ให้พาเขาไปบังคับรักษาใน รพ ได้เลย ไม่ใช่ไปรุมตบเขาถ่ายคลิปเขาไปประจาน
 
"มีไรเพิ่มเติมถามได้จะเพิ่มข้อมูลเรื่อยๆ แต่ที่สำคัญคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราควรจำไว้เป็นบทเรียน ไม่ใช่ปล่อยให้ผ่านเลยไปแล้วปล่อยให้มีผู้ป่วยแบบป้า ตกเป็นเหยื่อจากความไม่รู้เป็นรายต่อไป" Drama-addict ระบุ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ แนะนำนวนิยาย 'แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร'

0
0

แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร ที่กล่าวถึงในที่นี้ คือ นวนิยายขนาดสั้นเล่มใหม่เอี่ยม ที่เขียนโดย อรุณวตี กงลี่ ซึ่งเป็นวรรณกรรมสัจนิยมที่สะท้อนเรื่องเบื้องหลังวงการละครโทรทัศน์ของไทย ดังที่ในคำนำของเรื่องเสนอไว้ว่า “ต้องการเสนอภาพของวงการที่เต็มไปด้วยนางฟ้าเทวดาในวิชาชีพดารา ความพาฝันนั้นก็สามารถมีที่มาจากความจริงอย่างชนิดที่แทบจะระบุได้ว่า ตัวละครนั้นๆ ถอดแบบมาจากใคร” แต่ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้คือ ความน่าจะเป็นวรรณกรรมเล่มแรกที่บันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2556 จนถึงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 โดยเอาสถานการณ์การเมืองขณะนั้นมาสร้างเป็นฉาก

เนื้อเรื่องของนวนิยาย เล่าถึงตัวเอกชื่อ ศิรินดา หรือ เซลีน่า บุช ซึ่งเคยเป็นนางเอกละครที่มีชื่อเสียง แต่หลังจากงานแสดงลดลง ก็เดินทางไปอยู่อังกฤษถึง 8 ปี จนกระทั่งได้กลับมาประเทศไทยและนั่งแท็กซี่ผ่านเสาชิงช้าในวันที่ 25 พฤศจิกายน ในวันที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะแกนนำคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและกำจัดระบอบทักษิณ ได้ใช้ยุทธการ”ดาวกระจาย” โดยจัดแบ่งผู้ชุมนุม”มวลมหาประชาชน”ออกเป็น 13 เส้นทาง แล้วบุกเข้าปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง  เช่นกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงการต่างประเทศและกรมประชาสัมพันธ์ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในกรุงเทพมหานคร ในวันนั้น เซลีน่าจึงเผชิญรถติดขนาดหนักจนต้องลงเดิน และได้พบกับผู้จัดละครที่กำลังเดินทางไปร่วมการชุมนุม จึงได้รับการชักชวนให้กลับไปเล่นละครเรื่อง “พยาบาทรัก”เป็นเรื่องแรก

ต่อมา เซลีนา ได้รับการชักชวนจากอีกบริษัทหนึ่งให้ไปเล่นเป็นตัวละครผีในเรื่อง “เลดี้ฝรั่งดอง” และละครเรื่องหลังนี้เอง ทำให้เซลีนาได้รู้จักกับกัมปนาทพระเอกรุ่นน้อง นำมาสู่การสร้างความสัมพันธ์รักต่อกัน และทำให้เซลีนาเลื่อนกำหนดเดินทางกลับอังกฤษ แต่แก่นเรื่องความรักที่เกิดขึ้นและพัฒนาในนวนิยายเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องราวที่เล่าเกี่ยวกับปัญหาของการสร้างละครโทรทัศน์ จะดำเนินไปควบคู่กับสถานการณ์ทางการเมือง เพราะบรรดาดาราจำนวนมากที่ร่วมแสดงในละคร ต่างก็เป็นฝ่ายเข้าร่วมและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยเห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่รักชาติ เซลีน่าพบว่า ในวงการละครมีคนที่สนับสนุนฝ่ายเสื้อแดงค่อนข้างน้อย ดาราตัวเอกเช่น พี่โก๋พระเอกดังที่ไม่ยอมท่องบท ก็ตัดคิวการแสดงไปร่วมการชุมนุมที่ราชดำเนิน หรือพี่ปูนางเอกดาวค้างฟ้า ที่แสดงท่าทีรังเกียจคนเสื้อแดงอย่างเปิดเผย

สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยกระดับในวันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งนายสุเทพอ้างว่า เป็น “การปฏิวัติของประชาชน” จากนั้น วันที่ 8 ธันวาคม พรรคประชาธิปัตย์ก็ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.ทั้งพรรค วันที่ 9 ธันวาคม เป็นวันชุมนุมใหญ่ที่นายสุเทพอธิบายว่า เป็น “การต่อสู้ครั้งสุดท้าย” มีประชาชนมาร่วมชุมนุมนับแสนคน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ในขั้นตอนการดำเนินการไปสู่การเลือกตั้ง จะถูกฝ่ายผู้ชุมนุมสกัดขัดขวาง โดยอ้างคำขวัญเรื่อง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ดังนั้น เมื่อถึงเวลาปีใหม่ พ.ศ.2557 ก็เป็นปีใหม่ที่เงียบเหงา เพราะการชุมนุมของฝ่าย กปปส.ยังคงอยู่ และวันที่ 29 ธันวาคม ก่อนถึงวันสิ้นปี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศว่าจะชัทดาวน์(ปิด)กรุงเทพฯในวันที่ 13 มกราคม เพื่อปิดบัญชีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สถานการณ์ ทำให้เซลีน่าไม่ไปฉลองปีใหม่ที่ไหน แต่พักผ่อนอยู่ที่คอนโดของตนเองที่ถนนเจริญกรุง กัมปนาทและกลุ่มเพื่อนที่สนับสนุนเสื้อแดง ก็มาร่วมฉลองปีใหม่กับเซลีน่าด้วย

เหตุการณ์ผ่านจากเรื่องการปิดกรุงเทพฯไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งกลุ่มที่สนับสนุนฝ่ายนายสุเทพรณรงค์ไม่ให้มีการเลือกตั้งอย่างหนัก กลุ่มนักแสดงที่สนับสนุนฝ่าย กปปส.ก็พยายามชักชวนเซลีน่าไม่ให้ไปเลือกตั้ง จนกัมปนาทต้องเข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ และเมื่อถึงวันเลือกตั้งก็นำกำลังไปปิดกั้นคูหา ไม่ยอมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ โดยความร่วมมือของคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งเซลีน่าได้นำมาเล่าไว้ในนวนิยายเล่มนี้ด้วย แต่ในเหตุการณ์จริง การดำเนินการขัดขวางการเลือกตั้งของฝ่ายประชาธิปัตย์และ กปปส.เปิดทางให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกการเลือกตั้งในวันที่ 27 มีนาคม โดยอ้างว่า การเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญเพราะไม่ได้ทำการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นในวันเดียวกัน ต่อมา วันที่ 8 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติถอดถอนนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ในความผิดเรื่องการโยกย้ายข้าราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คน คือนายถวิล เปลี่ยนศรี ในระยะนี้ ชีวิตของเซลีน่าก็ผูกพันกับกัมปนาทมากขึ้น จนเริ่มมีข่าวซุบซิบลงตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่กัมปนาทก็ไม่สนใจ

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตลอดจนการดำเนินการของกรรมการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อปูทางมาสู่การรัฐประหารของกองทัพ ดังนั้น ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 กองทัพได้เริ่มส่งหน่วยทหารเข้ามาตั้งบังเกอร์ประจำในกรุงเทพฯ ในข้ออ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัย ต่อมามีเสียงวิจารณ์ ทางกองทัพจึงสั่งนำดอกไม้มาประดับบังเกอร์ให้ดูดี แต่ไม่ได้สั่งถอนทหารเหล่านี้ ส่วนชีวิตของเซลีนาเริ่มประสบปัญหา เพราะแม่ของกัมปนาทนำเอาคู่หมั้นของกัมปนาทมาเยือนกองถ่าย ทำให้เซลีนากับกัมปนาทหมางเหมินกัน และเซลีน่าตัดสินใจจองตั๋วเครี่องบินกลับลอนดอนหลังจากการถ่ายละครจบ แต่กัมปนาทตามมาง้อทำความเข้าใจ

วันที่ 11 พฤษภาคม กลุ่มคนเสื้อแดงจัดการชุมนุมต้าน กปปส.ที่ถนนอักษะ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ประกาศวันเปิดประเทศไทย เพื่อตอบโต้กับการปิดกรุงเทพฯของฝ่าย กปปส. ละครเลดี้ฝรั่งดองปิดกล้อง และนัดเลี้ยงนักแสดงที่ร้านเหล้าย่านประชาชื่น ในวันที่ 21 พฤษภาคม คืนวันนั้น เวลา 3.11 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศกฎอัยการศึก และนำมาสู่การยึดอำนาจใน 2 วันต่อมา ขณะที่เซลีน่าเตรียมตัวเดินทางกลับลอนดอน แต่ในนาทีสุดท้ายเซลีน่าก็ตัดสินใจไม่ไปลอนดอน และกลับมาพบกับกัมปนาทที่คอนโดถนนเจริญกรุง

นวนิยายนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามกลับไปทบทวน และอธิบายถึงที่มาของสังคมไทยสมัยรัฐประหารปัจจุบัน อย่างน้อยก็ในสายตาของคนเขียนวรรณกรรม ด้วยการผ่านนวนิยายรักโรแมนติก เราก็เห็นถึงชตากรรมอันข่มขื่นของสังคมไทย ที่กลุ่มคนหลายกลุ่มในสังคมมีส่วนร่วมกันสร้างขึ้นมา

0000


เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 586 วันที่ 15 กันยายน 2559

หมายเหตุ:ผู้อ่านสามารถซื้อ 'แล้วเราจะรักกันได้อย่างไร' ได้ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ได้จัดขึ้นถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ บูธอ่าน โซน C2 S39 หรือติดต่อได้ที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก สำนักพิมพ์ อ่าน

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เศรษฐกิจของสเปนเป็นอย่างไรหลังไม่มีรัฐบาลมาแล้ว 300 วัน

0
0

ฮัฟฟิงตันโพสต์แคนาดารายงานเรื่องสภาพเศรษฐกิจของสเปนหลังจากที่ไม่มีรัฐบาลมานาน 300 วัน แต่เศรษฐกิจในปีนี้ของสเปนก็ยังได้รับการประเมินว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 จึงมีคนตั้งคำถามว่า ถ้าไม่มีรัฐบาลแล้วเศรษฐกิจก็ยังดีไม่ต้องมีก็ได้ อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าถ้าสเปนยังอยู่ในสภาพชะงักงันทางการเมืองก็อาจจะประสบปัญหาได้ในปีหน้า

ธงชาติสเปนหน้าจัตุรัส Plaza de Colón ในกรุงมาดริด (ที่มา: วิกิพีเดีย) 

19 ต.ค. 2559 ฮัฟฟิงตันโพสต์รายงานสภาพของเมืองต่างๆ ในสเปนที่ยังเต็มไปด้วยผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยตามร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้าแฟชั่น และหอศิลป์ มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ดูเป็นประเทศที่ยังคงคึกคัก มีชีวิตชีวา

ผู้คนทั่วไปที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างก็พูดในเชิงไม่ไว้ใจนักการเมือง โดยมองว่าพวกเขาต่างก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองแล้วก็ไม่ได้ใส่ใจเป็นพิเศษว่าจะมีรัฐบาลหรือไม่ สิ่งนี้ยังสะท้อนจากการสำรวจของศูนย์สำรวจเชิงลึกทางสังคม (CIS) ในเดือนตุลาคม ระบุว่าถึงแม้ชาวสเปนจะกังวลกับปัญหาหลายๆ ด้าน รวมถึงปัญหาการว่างงานซึ่งมีมากถึงร้อยละ 20 แต่มีการกังวลเกี่ยวกับปัญหาการไม่มีรัฐบาลอยู่ในลำดับที่ 5

สเปนประสบปัญหาจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้หลังจากที่ผลการเลือกตั้งสองครั้งทำให้ไม่มีพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาและแต่ละพรรคก็ไม่สามารถตกลงจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลรักษาการของพรรคพีพีซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม โดยที่มาริอาโน ราฮอย  ผู้นำพรรคพีพีได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. 170 คน จาก 350 ที่นั่งในสภา มี 137 คนจากพรรคเขาเองแต่เขาต้องการให้พรรคอื่นลงมติไว้วางใจหรืองดออกเสียงมากพอถึงจะจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ใช่เสียงข้างมากได้

สเปนไม่ใช่ประเทศแรกที่ประสบปัญหานี้ ก่อนหน้านี้เบลเยี่ยมก็เคยทำลายสถิติยุโรปโดยใช้เวลา 541 วันหลังเลือกตั้งในปี 2553 กว่าจะจัตตั้งรัฐบาลได้ สเปนไม่เคยมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมมาก่อนและพรรคการเมืองของพวกเขาก็ดูเหมือนจะไร้ความสามารถในการสร้างข้อตกลง อย่างไรก็ตามมีผู้ประเมินว่าเป็นไปได้ที่พรรคสังคมนิยมซึ่งผู้นำพรรคเพิ่งลาออกไปอาจจะงดออกเสียงในการลงมติไว้วางใจ

ถึงแม้ว่าผู้คนจะแสดงออกในเชิงไม่ไว้ใจและคิดไปเองว่าไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลก็ได้ แต่ โฮเซ รามอน ปิน ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากวิทยาลัยธุรกิจไออีเอสอีและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ เตือนว่าการไม่มีรัฐบาลอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาในอนาคต

ถึงแม้ว่าองค์กรกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟจะประเมินว่าเศรษฐกิจสเปนในปีนี้จะโตขึ้นอีกร้อยละ 3.1 เทียบเท่ากับช่วงที่มีรัฐบาลในปีที่แล้ว แต่ธนาคารกลางของสเปนก็เตือนว่าสภาพชะงักงันทางการเมืองจะส่งผลต่อการเติบโตระยะยาว ขณะที่ปินบอกว่าสาเหตุที่การประเมินเศรษฐกิจปีนี้ยังคงเติบโตขึ้นเป็นเพราะมีการวางแผนงบประมาณจากปีที่แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือถ้าหากยังไม่มีการวางแผนงบประมาณ การลงทุนภาครัฐ นโยบายการคลังหรือการกระจายรายเม็ดเงินประจำปี 2560 ก็ทำให้ทางข้างหน้าดูมีความไม่แน่นอน

ปินกล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้ยังจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งสหภาพยุโรปยังข่ว่าจะคว่ำบาตรถ้าหากสเปนไม่ยอมควบคุมงบประมาณที่ขาดดุลอย่างหนัก ธนาคารกลางของสเปนประเมินว่าการขาดดุลงบประมาณในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ต่อจีดีพีประจำปีและร้อยละ 3.6 ในปีหน้า ซึ่งมากกว่าระดับที่อียูกำหนดไว้ การคว่ำบาตรอาจจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจสเปนเลวร้ายลงไปอีก

ปาโบล ไซมอน ศาตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ก็มองไปในทำนองเดียวกันว่าเศรษฐกิจของสเปนในภาพปัจจุบันอาจจะดูดีแต่จริงๆ แล้วอยู่ในสภาพฟองสบู่ถ้าหากไม่มีการออกมาตรการอะไรจากรัฐบาลที่คงการเติบโตไว้ได้ก็อาจจะส่งผลให้เห็นภายในปีหรือสองปีข้างหน้า

เรียบเรียงจาก

Spain Hasn't Had A Government In 300 Days And Economy Is Booming, Huffington Post, 14-10-2016 http://www.huffingtonpost.ca/2016/10/14/spain-no-government-economy-booming_n_12489226.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาล รธน. นัดวินิจฉัย รัฐบาลมีอำนาจแก้คำปรารภร่าง รธน.หรือไม่ 26 ต.ค.

0
0

19 ต.ค. 2559 ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้รับคำร้องที่คณะรัฐมนตรีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 5 วรรคสอง ว่านายกรัฐมนตรีจะปรับปรุงคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 ได้หรือไม่ เนื่องจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2559 แต่ไม่มีบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญให้อำนาจคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในอันที่จะดำเนินการดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว และเห็นว่าเป็นประเด็นให้วินิจฉัยข้อกฎหมายเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องเรียกเอกสาร หรือให้บุคคลเข้าชี้แจง ประกอบกับกรณีดังกล่าวมีเรื่องกำหนดเวลาที่รัฐบาลต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย คณะตุลาการจึงได้นัดแถลงด้วยวาจาและลงมติในวันที่ 26 ต.ค. เวลา 13.30 น.

       

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตั้ง 'ธานินทร์ กรัยวิเชียร' ทำหน้าที่ประธานองคมนตรี

0
0

19 ต.ค. 2559 เว็บไซต์ สำนักราชเลขาธิการ ได้มีการปรับรายนามคณะองคมนตรีปัจุบัน โดยมี ธานินทร์ กรัยวิเชียร ทำหน้าที่ประธานองคมนตรี จากเดิมเป็น พล.อ.เปรม  ติณสูลานนท์

สำนักข่าวไทยรายงานด้วยว่า วิษณุ  เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมองคมนตรี แต่งตั้ง ธานินทร์ เป็นประธานองคมนตรี คนใหม่ ว่า เนื่องจากพล.อ.เปรม ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 24 ซึ่งเมื่อประธานองคมนตรี ไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรีได้  เพื่อเป็นการแยกการปฏิบัติหน้าที่ และรัฐธรรมนูญมาตรา 25 บัญญติให้คณะองคมนตรี เลือก  องคมนตรี มาปฎิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรี เป็นการชั่วคราว

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะองคมนตรี ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค. และเลือก ธานินทร์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรีชั่วคราว และเมื่อพล.อ.เปรม พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  ก็สามารถกลับมาเป็นประธานองคมนตรีได้ตามปกติ  ไม่ต้องมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่

วิษณุ กล่าวว่า เมื่อสิ้นรัชกาลไม่มีกฏหมายให้เปลี่ยนคณะองคมนตรี  แต่ขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัย ของพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ที่จะทรงวินิจฉัย

สำหรับรายนาม คณะองค์คมนตรีปัจจุบัน นอกจาก ธานินทร์ แล้ว ยังมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เชาวน์ ณศีลวันต์ พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ อำพล เสนาณรงค์ พล.ร.อ.หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช หม่อมราชวงศ์เทพกมล เทวกุล เกษม วัฒนชัย พลากร สุวรรณรัฐ พล.ร.อ.ชุมพล ปัจจุสานนท์ อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ ศุภชัย ภู่งาม ชาญชัย ลิขิตจิตถะ และ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข
 
ธานินทร์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ภายหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยการนำของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 หลังเกิดเหตุล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลของ ธานินทร์มีนโยบายโดดเด่นคือการต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่กำลังมีอิทธิพลอย่างสูงในขณะนั้น มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ควบคุมเสรีภาพสื่อมวลชน โดย อิศรารายงานด้วยว่า มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ด้วยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 หรือ ปร.42 ที่ออกมาในปี 2519  ถึง 22 ครั้ง 
 
ภายหลังจากที่มีการรัฐประหารรัฐบาลธานินทร์ ในเดือน ต.ค. 2520 ธานินทร์ ได้รับแต่งตั้ง ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และได้ดำรงตำแหน่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน
 

จม.ถึง 'ประยุทธ์' ชงแนวทางปฏิรูป เมื่อต้นปี

สำหรับธานินทร์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้จดหมายเปิดผนึกเกี่ยวกับข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรีและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งประชาชาติธุรกิจได้นำมาเผยแพร่เมื่อวเนที่ 10 ม.ค.59 โดยกล่าวถึงวิกฤตการณ์ในด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย การพาณิชย์นาวี ปัญหาการขุดคอคอดกระ การปฏิรูประบบราชการตำรวจ
 
โดยระบุว่า
 
ตามที่รัฐบาลได้เคยเชื้อเชิญให้ประชาชนชาวไทยร่วมแสดงความคิดเห็นในการปฏิรูปประเทศและปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผมในฐานะประชาชนชาวไทยคนหนึ่งได้เคยแสดงความคิดเห็นในเรื่องเหล่านี้มาแล้วหลายครั้ง แต่เป็นการส่งจดหมายโดยตรงถึงนายกรัฐมนตรีและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะ ซึ่งผมคิดว่า การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวแม้จะทำในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ก็ควรจะได้เปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างกว้างขวาง จึงขอเปลี่ยนรูปแบบการแสดงความคิดเห็นมาเป็นจดหมายเปิดผนึก เพื่อที่จะมีการพิจารณาในวงกว้างและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้มากขึ้น
 
เรื่องที่ผมเสนอให้มีการพิจารณาร่วมกันในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ มีดังต่อไปนี้
 
วิกฤตการณ์ในด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย
 
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเริ่มกิจการด้านการบินพลเรือนในประเทศไทย โดยการจัดตั้งบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด แต่ในระยะแรกเรายังขาดความพร้อมและความรู้ต่างๆ ในด้านการบินพลเรือน จึงได้ร่วมทุนกับสายการบินสแกนดิเนเวียน (Scandinavian Airlines System: SAS) อันเป็นสายการบินของเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ ซึ่งได้ช่วยเหลือเราตั้งแต่ก่อร่างสร้างตัว ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเครื่องบิน การอบรมนักบินและบุคลากรด้านการบิน การจัดการสนามบินและระบบการบินทั้งหมด โดย SAS โอบอุ้มเราอย่างมิตรแท้เป็นเวลา 17 ปี จนบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ได้เริ่มดำเนินการเองใน พ.ศ.2520 และพัฒนากิจการให้เจริญรุ่งเรืองมาเป็นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งในปัจจุบันกลับกลายเป็นองค์กรที่ประสบปัญหาอย่างหนักจากการบริหารงานที่บกพร่อง และปัญหาการขาดทุนอย่างมหาศาล ทั้งยังถูกลดระดับความน่าเชื่อถือด้านมาตรฐานความปลอดภัยโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) องค์กรการบินพลเรือนญี่ปุ่น (Japan Civil Aviation Bureau : JCAB) และสำนักงานบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration : FAA) หรืออาจกล่าวได้ว่าเราสอบไล่ตกในด้านมาตรฐานการบิน จนเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์การบินไทย ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าการบริหารงานที่ขาดตกบกพร่องจนทำให้ประเทศชาติเสียหายและขาดความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศนี้เกิดจากสาเหตุใด และสมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาถึงความผิดพลาดดังกล่าว
 
จะเห็นได้ว่าวิกฤตการณ์ด้านการบินพลเรือนที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการที่มาตรฐานด้านการบินพลเรือนของประเทศไทยไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล กล่าวคือ การปฏิบัติงานด้านการบินพลเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด การทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยปละละเลย และไม่ควบคุมดูแลจนทำให้เกิดวิกฤตการณ์อันส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการบินพลเรือน ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันก็เข้ามาแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีปัญหาอีกมากที่จะต้องรับภาระและทุ่มเทกำลังสติปัญญาความรู้ความสามารถ โดยต้องกู้วิกฤตให้มาตรฐานด้านการบินของประเทศเรากลับเข้าสู่มาตรฐานสากลก่อนในเบื้องต้น จากนั้นแล้วจะต้องพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งเพื่อให้ก้าวสู่มาตรฐานที่เป็นเลิศ โดยอย่างน้อยให้อยู่ในระดับหนึ่งในสิบของบรรดาประเทศที่มีมาตรฐานการบินชั้นนำของโลกก็จะเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจการบินของประเทศเรา เพราะนานาประเทศต่างมุ่งหวังที่จะใช้บริการบริษัทการบินของประเทศที่มีมาตรฐานด้านการบินพลเรือนที่เป็นเลิศ 
 
อุปสรรคบางประการแต่หนหลังที่น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับการวางแผนในภายหน้า
 
ผมเห็นว่าเราควรจะนำวิกฤตการณ์ด้านการบินพลเรือนด้านอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนในการดำเนินการงานเพื่อมิให้เกิดความผิดพลาดขึ้นซ้ำอีก โดยผมขอยกตัวอย่างให้พิจารณาใน 3 กรณี ดังต่อไปนี้
 
กรณีแรก ปัญหาการให้สิทธิประโยชน์อย่างเกินสมควรแก่กรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อันกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท เป็นต้นว่า การกำหนดให้สิทธิประโยชน์ด้านบัตรโดยสารแก่กรรมการบริษัทอย่างไม่จำกัดจำนวนตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง นอกจากนี้ ในบางปียังมีสิทธิพิเศษอื่นๆ ในด้านบัตรโดยสารแก่ผู้ติดตามกรรมการบริษัท และอดีตกรรมการบริษัทที่พ้นวาระไปแล้วอีกด้วย จึงน่าคิดว่าการให้สิทธิประโยชน์อย่างมหาศาลนี้ย่อมทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ที่พึงจะได้รับ แล้วบริษัทจะดำรงอยู่ได้อย่างไร จนเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ บริษัทจึงได้มีการปรับลดสิทธิประโยชน์ดังกล่าว และเป็นที่น่ายินดีที่ใน พ.ศ.2557 บริษัทได้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ด้านบัตรโดยสารทั้งหมดของกรรมการบริษัท เพื่อปฏิบัติตามมติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งผมเห็นว่าผู้บริหารหรือกรรมการก็ได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานเป็นจำนวนที่สูงมากอยู่แล้ว จึงไม่ควรรับสิทธิประโยชน์อื่นใดเพิ่มเติมอีก ต้องสละสิ้นทุกอย่างและมุ่งมั่นทำงานให้เต็มกำลังความสามารถ ซึ่งการตัดสิทธิประโยชน์ดังกล่าวถือเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณ อันจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดทุนของบริษัทซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤตจนแทบเรียกได้ว่าเกือบจะล้มละลายได้ ดังนั้น การกำหนดสิทธิประโยชน์แก่กรรมการบริษัทจะต้องมีการวางแผนให้รอบคอบ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินการ 
 
กรณีที่สอง การปิดท่าอากาศยานดอนเมืองเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2549 เพื่อเปิดทำการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และใช้เป็นสถานที่ซ่อมเครื่องบินฝึกบิน และจอดเครื่องบินส่วนตัวแทน แต่ต่อมาไม่ถึง 6 เดือน เมื่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีปัญหาไม่สามารถรองรับผู้โดยสารที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และการขยายท่าอากาศยานไม่เป็นไปตามแผน จึงจำเป็นจะต้องเปิดใช้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแบ่งเบาภาระการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2550
 
การปิดท่าอากาศยานดอนเมืองทั้งๆ ที่ยังมีขีดความสามารถอย่างเต็มที่ในการให้บริการรองรับผู้โดยสารจากทั่วโลก และบรรดาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันก็ต่างรุ่งเรืองมีผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจนั้น ผมเห็นว่าเป็นการขัดต่อความรู้สึกธรรมดาของคนทั่วไปเปรียบได้กับฟ้าผ่าลงมาสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน ได้แก่ ปัญหาความน่าเชื่อถือของประเทศในด้านธุรกิจการบิน เพราะเกิดความไม่มั่นใจในแผนการดำเนินงานของรัฐบาล รวมถึงความไม่สะดวกในการใช้บริการของผู้โดยสารที่ต้องย้ายระหว่างสองท่าอากาศยาน ปัญหาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ บรรดาธุรกิจร้านค้าต่างๆ ที่ประกอบการภายในท่าอากาศยานหรือบริเวณโดยรอบ ซึ่งเคยเฟื่องฟูจากการรองรับผู้โดยสารจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้า หรือโรงแรมที่พักก็ไม่มีผู้มาใช้บริการและแทบจะต้องปิดกิจการไป และปัญหาค่าใช้จ่ายจำนวนมากจากการปรับปรุงเพื่อเปิดให้บริการใหม่ นอกจากนี้ การเปลี่ยนการใช้งานเป็นสถานที่ซ่อมเครื่องบินหรือฝึกบินย่อมเป็นการใช้ประโยชน์ที่ไม่คุ้มค่าอีกด้วย จึงเป็นที่น่าคิดว่า การปิดท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อเปิดให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียวจะมีการหาผลประโยชน์จากการผูกขาดธุรกิจต่างๆ ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะโอกาสในการหาผลประโยชน์จากธุรกิจที่ท่าอากาศยานดอนเมืองนั้นมีน้อยลงจากการแข่งขันในระดับสูง ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสการพัฒนาการคมนาคมไปอย่างน่าเสียดาย แม้จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหนึ่งก็ไม่อาจชดเชยความเสียหายอย่างมหาศาลที่เกิดขึ้นแล้ว นับเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการใหญ่ของประเทศต่อไป
 
กรณีที่สาม ระบบขนส่งมวลชนทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2553 ซึ่งผมเห็นว่าการเปิดให้บริการ Airport Rail Link มีภายหลังการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึงเกือบ 4 ปี ทำให้เกิดความไม่สะดวกแก่ผู้ใช้บริการที่ต้องเดินทางไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และแต่เดิมเป็นที่เข้าใจว่าจะเป็น Airport Rail Link คือเชื่อมระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับท่าอากาศยานดอนเมือง แต่ปัจจุบันมีการเชื่อมต่อเพียงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับสถานีพญาไทเท่านั้น ซึ่งไม่เกิดประโยชน์เต็มที่แต่อย่างใด แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดและขาดการวางแผนอย่างรอบคอบ ทั้งๆ ที่ระบบการเดินทางควรพร้อมรองรับผู้โดยสารควบคู่ไปกับการเปิดใช้ท่าอากาศยาน และแม้จะมีความพยายามก่อสร้างส่วนต่อขยายถึงท่าอากาศยานดอนเมือง แต่ปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จแต่อย่างใด ซึ่งถ้าหากโครงการ Airport Rail Link เพื่อรองรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสำเร็จลุล่วงไปตามแผนแล้ว ย่อมจะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้มาตรฐานการให้บริการด้านการบินของประเทศไทยก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
 
การวางแผนแม่บทการดำเนินงานในโครงการระยะยาว
 
การจะตัดสินใจดำเนินโครงการในด้านการคมนาคม ซึ่งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากและส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ผมเห็นว่าจะต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุมและรอบคอบ วิเคราะห์ผลกระทบให้รอบด้าน การเจรจาต่อรองกับนานาประเทศจะต้องพิจารณาโดยละเอียด ไม่ให้เสียเปรียบประเทศอื่นได้ ทั้งยังจะต้องให้ความสำคัญกับฝ่ายวางแผนและพัฒนา (Research and Development) ที่จะเป็นผู้ชี้นำการดำเนินงานในภาพรวมทั้งหมด นอกจากนี้ ควรกำหนดแผนแม่บทในการดำเนินงาน (Master Plan) เพื่อวางแผนล่วงหน้าและทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะแนวความคิดหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่งก็คือ แนวความคิดที่ว่ารัฐบาลในแต่ละชุดจะต้องมีผลงานซึ่งเกิดจากความคิดริเริ่มของตนเอง ความคิดเช่นนี้ย่อมทำให้รัฐบาลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งวางเป้าหมายไปที่โครงการระยะสั้น อันจะทำให้ประชาชนได้ประจักษ์ในผลงานตนในทันที และเกิดความไว้วางใจลงคะแนนเสียงให้ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกในสมัยหน้า การทำหน้าที่จึงเป็นไปในทางสร้างผลงานเพื่อหาเสียง มิใช่การสร้างผลงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศชาติ ยิ่งไปกว่านั้น ทัศนคติของประชาชนหรือผู้วิจารณ์การเมืองทั้งหลายเองก็มักจะมองว่า รัฐบาลใหม่ที่ทำโครงการต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดก่อนหน้าเป็น "รัฐบาลไร้น้ำยา ไม่เก่งจริง" เพราะไม่มีความคิดริเริ่มของตนเอง ได้แต่ลอกของเก่าเท่านั้น ดังนี้ จึงทำให้รัฐบาลใหม่ไม่เต็มใจที่จะรับช่วงสานต่อโครงการระยะยาวที่แม้จะเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ การกล่าวเช่นนี้คงไม่เกินความจริงไปนัก เพราะตัวอย่างของโครงการระยะยาวที่ต้องพับเก็บไปเนื่องจากไม่มีการสานต่อเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ก็มีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์กันอยู่เนืองๆ ดังนั้นจึงควรมีการกำหนดแผนแม่บทเพื่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง สิ่งใดที่ดีมีการริเริ่มไว้แล้วก็ควรดำเนินการต่อไป แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ตาม
 
การพาณิชย์นาวี
 
ตามแผนงานการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ของกระทรวงคมนาคมนั้น เป็นแผนการที่ดีแล้ว แต่ผมเห็นว่ามุ่งเน้นแต่การพัฒนาโครงการภายในประเทศ เช่น การสร้างท่าเรือชายฝั่งทะเลตามจังหวัดต่างๆ ได้แก่ ชุมพร สงขลา และสตูล ซึ่งการสร้างท่าเรือดังกล่าวเป็นการสร้างท่าเรือเพื่อรอเรือฝ่ายเดียว ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์นาวี ผมเห็นว่าเราจะต้องสร้างเครือข่ายการเดินเรือเพื่อรองรับการพาณิชย์นาวีกับประเทศต่างๆ อันเป็นโครงการระหว่างประเทศ เพราะดังที่ผมเคยกล่าวไว้แล้วว่า การพาณิชย์นาวีถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง สมควรที่รัฐบาลจะดำเนินการสร้างเครือข่ายการเดินเรือและมีสำนักงานการเดินเรือในทุกประเทศที่มีการติดต่อค้าขายขนส่งสินค้ากับประเทศเรา อันจะทำให้เกิดรายได้จากการเดินเรือและเป็นประตูเชื่อมให้เกิดการลงทุนสร้างงานและอาชีพใหม่ด้านการเรือ และมีข้อที่น่าคิดว่า ประเทศไทยได้เริ่มกิจการด้านการบินพลเรือนและด้านการพาณิชย์นาวีขึ้นพร้อมกัน แต่เพราะเหตุใดการพาณิชย์นาวีจึงได้หายไปจากความสนใจของสังคม หรือเรียกว่าหายไปจากจอเรดาร์ ไม่มีผู้ทราบเรื่องน่าศึกษาและค้นคว้าว่าเหตุใดจึงยังไม่มีการพัฒนาด้านการพาณิชย์นาวีอย่างจริงจังในประเทศไทย
 
หากพิจารณาจากอัตราการขนส่งสินค้าเข้าและออกของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางทะเล โดยจากข้อมูลของสำนักส่งเสริมการขนส่งทางน้ำและการพาณิชย์นาวี แสดงจำนวนสัดส่วนของการเดินเรือในปีต่างๆ พบว่า ใน พ.ศ.2520 เรือที่ใช้ในการขนส่งสินค้าของประเทศไทย ร้อยละ 96 เป็นเรือต่างชาติ เป็นเรือไทยเพียงร้อยละ 4 และต่อมาใน พ.ศ.2547 มีเรือไทยเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น ที่เหลืออีกร้อยละ 89 เราต้องพึ่งเรือของต่างชาติ และค่าระวางเรือที่ใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าคิดเป็นจำนวนเงินถึง 417,100 ล้านบาท ซึ่งจะตกอยู่กับเรือของต่างชาติเสียส่วนใหญ่ จะเห็นได้ว่าเกือบสามสิบปีที่ผ่านมา ไม่มีการพัฒนาการพาณิชย์นาวีอย่างจริงจังแต่อย่างใด ทำให้เราต้องเสียค่าระวางเรือเป็นจำนวนมหาศาลแก่ชาวต่างชาติ เปรียบเสมือนรูรั่วขนาดใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ที่ปล่อยให้เม็ดเงินที่ควรจะตกได้แก่คนไทยต้องรั่วไหลไปเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการต่างชาติ และเสียโอกาสในการสร้างตำแหน่งงานใหม่ในด้านการเดินเรือทะเล และแม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้การพาณิชย์นาวีเป็นแนวนโยบายพื้นฐานที่รัฐจะต้องเร่งดำเนินการ แต่ก็มิได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด
 
สำหรับองค์ประกอบที่จะทำให้การพาณิชย์นาวีรุดหน้ามีหลายส่วนที่สัมพันธ์เกื้อกูลกัน อันได้แก่ เรือ ท่าเรือ อู่ต่อและอู่ซ่อมเรือเดินทะเล คลังสินค้า ระบบการคมนาคม กฎหมายและระเบียบต่างๆ ฯลฯ หากส่วนใดมีความบกพร่องก็ย่อมส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ และจะทำให้การสร้างเครือข่ายการเดินเรือไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งในเรื่องนี้ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม คือยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการประกอบกิจการพาณิชย์นาวีและการสร้างเครือข่ายการเดินเรือเท่าที่ควร อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขาดเงินทุนและไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการลงทุนด้านนี้ ในขณะที่ประเทศต่างๆ ได้พัฒนารุดหน้าไปมาก ทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติเลือกที่จะไปลงทุนในประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักก่อนว่าเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ หากไม่เร่งดำเนินการก็จะยิ่งทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสทองไปอย่างน่าเสียดาย
 
ปัญหาการขุดคอคอดกระ
 
เรื่องเดิมที่ปัจจุบันยังไม่มีการตัดสินใจดำเนินการอันเกี่ยวเนื่องกับการพาณิชย์นาวีโดยตรงคือ โครงการขุดคอคอดกระหรือการสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน (Land Bridge) ที่เคยมีดำริกันมาก่อน แต่ถูกระงับไปด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป ดังที่ประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ สนใจที่จะสร้างเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าที่จะช่วยร่นระยะเวลาและค่าใช้จ่าย อันเป็นโอกาสดีที่จะมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการขุดคอคอดกระ เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส พลิกแผ่นดินให้เป็นแผ่นทอง เพื่อประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยการริเริ่มสร้างเส้นทางใหม่ๆ ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ซึ่งจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนและสติปัญญาความสามารถของพวกเราเอง
 
การปฏิรูประบบราชการตำรวจ
 
ปัจจุบันวิกฤตการณ์ด้านคุณธรรมและจริยธรรมถือเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทยที่เกิดขึ้นในทุกวงการวิชาชีพ โดยเฉพาะในวิชาชีพตำรวจที่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง ซึ่งปัญหานั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปทราบกันดีอยู่แล้วดังนั้น ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การแก้ไขวิกฤตการณ์นี้จะทำได้อย่างไร
 
ด้วยความห่วงใยและผูกพันกับระบบราชการตำรวจที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายพิเศษแก่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่กรมตำรวจและในโอกาสอื่นๆ ต่างสถานที่กัน ผมเห็นว่าบรรดาวิกฤตการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในระบบราชการตำรวจจะต้องมองในอีกแง่หนึ่งด้วยว่า ข้าราชการตำรวจก็มีปัญหาของตนเองอยู่ด้วย จะละเลยไม่คำนึงถึงข้อนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ข้าราชการตำรวจได้รับมานั้นไม่เพียงพอกับการครองชีพโดยปกติหรือตามควรแก่อัตภาพ จึงจำเป็นต้องหารายได้อื่นนอกจากระบบราชการตำรวจ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขวิกฤตการณ์นี้คือ จะต้องพิจารณาระบบราชการตำรวจทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะแต่ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบของข้าราชการตำรวจเพียงอย่างเดียว 
 
แนวคิดและวิวัฒนาการในการปฏิรูประบบราชการตำรวจ
 
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2520 ครั้งที่ผมเป็นหัวหน้ารัฐบาล ได้เล็งเห็นว่าปัญหาเกี่ยวกับตำรวจเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขขณะนั้นคือปัญหาการดำรงชีพ ข้าราชการตำรวจโดยเฉพาะชั้นผู้น้อยมีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นแสนลำบาก นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลผม จึงได้ริเริ่มโครงการแฟลตตำรวจ โดยร่วมกับการเคหะแห่งชาติ กู้เงินมาสร้างแฟลตตำรวจในกรุงเทพมหานคร ซึ่งดำเนินการได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ส่วนในต่างจังหวัดก็ได้มีการปฏิบัติทำนองเดียวกันต่อมา อันเป็นการแก้ไขปัญหาส่วนแรก ส่วนการแก้ไขในระยะยาวนั้นผมได้ร้องขอรัฐบาลอังกฤษผ่านสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ให้จัดตำรวจ Scotland Yard มาช่วยสำรวจและให้คำแนะนำว่า เราควรจะปฏิรูประบบราชการตำรวจของไทยในด้านใดบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รัฐบาลของผมเห็นว่ามีความสำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่ เรื่องแรก โครงสร้างของกรมตำรวจควรเป็นระบบรวมอำนาจหรือระบบกระจายอำนาจ กล่าวคือ มีตำรวจส่วนกลางและตำรวจส่วนท้องถิ่น เรื่องที่สอง ข้อบกพร่องในการสอบสวนของพนักงานสอบสวน โดยเฉพาะการตั้งรูปคดีและการหาพยานหลักฐานต่างๆ ในการฟ้องร้อง อันเป็นเรื่องของวิทยาการตำรวจที่จะต้องมีการปรับปรุง เรื่องที่สาม อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในราชการตำรวจ เป็นต้นว่า อาวุธประจำตัว เครื่องมือสื่อสาร และยานพาหนะ เรื่องที่สี่ จริยธรรมตำรวจ ทั้งในเรื่องเนื้อหาและการฝึกอบรมในด้านจริยธรรม และเรื่องสุดท้ายที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นคือ เงินเดือน ค่าตอบแทนและการจัดสวัสดิการของตำรวจ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษยินดีให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว โดยจะส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจสถานการณ์ในเบื้องต้นก่อนและจะมีคณะอื่นๆ ตามมาเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจต่อไปตามที่รัฐบาลไทยจะร้องขอ โดยเวลาที่ผมได้รับคำตอบจากรัฐบาลอังกฤษนั้นเป็นเวลา 14.00 น. ของวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 แต่พอถึงเวลา 17.00 น.ของวันนั้นเอง คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เข้ายึดอำนาจการปกครองและล้มรัฐบาลของผม จึงเป็นอันสิ้นสุดหน้าที่และความใฝ่ฝันของรัฐบาลชุดผมที่จะปฏิรูประบบราชการตำรวจไปในขณะนั้นเอง 
 
ต่อมาสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มีความพยายามในการปฏิรูประบบราชการตำรวจอีกครั้งหนึ่ง โดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาและปรับปรุงการบริหารงานของกรมตำรวจในคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการและระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2525 ที่มีพลตำรวจตรี ประมาณ อดิเรกสาร (ต่อมาเป็นพลตำรวจเอก) รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธาน ซึ่งพบว่าระบบงานตำรวจมีปัญหาที่สำคัญ 7 ประการ ได้แก่ ประการแรก หน้าที่ของข้าราชการตำรวจไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจน ทำให้ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงอย่างแท้จริง ต้องสูญเสียกำลังพลไปกับการปฏิบัติด้านอื่นเป็นจำนวนมาก ประการที่สอง การบริหารงานบุคคลของกรมตำรวจยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสม โดยควรจัดสายงานออกเป็น 2 ประเภท กล่าวคือ ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานตำรวจอย่างแท้จริงประเภทมียศและไม่มียศ กับข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานธุรการและสนับสนุนอื่นๆ ที่ไม่ถือว่าเป็นงานตำรวจโดยตรง ประการที่สาม ระบบข้อมูลข่าวสารตำรวจยังสับสนและไม่มีระบบ ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ประการที่สี่ ปัญหาในการให้บริการประชาชน ประการที่ห้า ปัญหาความร่วมมือจากประชาชน ประการที่หก ปัญหาเอกภาพในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค และประการสุดท้าย ปัญหาค่าตอบแทนและสวัสดิการตำรวจที่อยู่ในระดับที่ต่ำเกินไปและไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรมในการพิจารณาค่าตอบแทนโดยใช้หลัก "งานเท่ากัน เงินเท่ากัน" (Equal Pay for Equal Work) โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานอย่างแท้จริงได้รับค่าตอบแทนในระดับที่ต่ำเกินไปจนไม่สามารถปฏิบัติงานให้เกิดผลดีได้ ก่อให้เกิดปัญหาการหารายได้ในทางไม่สุจริตตามมา 
 
ต่อมาใน พ.ศ.2549 รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ โดยมีพลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ เป็นประธาน ซึ่งมีข้อเสนอจำนวน 10 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก การกระจายอำนาจการบริหารงาน ประเด็นที่สอง การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานตำรวจ ประเด็นที่สาม การสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจ ประเด็นที่สี่ การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ของตำรวจ ประเด็นที่ห้า การปรับปรุงพัฒนาระบบงานสอบสวน ประเด็นที่หก การปรับปรุงการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ ประเด็นที่เจ็ด การพัฒนากระบวนการในการสรรหา การผลิตและการพัฒนาบุคลากรตำรวจ ประเด็นที่แปด การปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของตำรวจ ประเด็นที่เก้า การส่งเสริมความก้าวหน้าของข้าราชการตำรวจชั้นประทวน และประเด็นสุดท้าย การจัดตั้งหน่วยงานในการปรับปรุงพัฒนากระบวนการยุติธรรมและมีการเสนอร่างกฎหมายในการพัฒนาระบบงานตำรวจจำนวน ๒ ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อการปฏิรูประบบงานตำรวจอย่างสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม สภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ก่อนร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบ จึงไม่สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ 
 
ใน พ.ศ.2555 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ทำการศึกษาระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ ของข้าราชการตำรวจ โดยมีการวิเคราะห์ว่าข้าราชการตำรวจเป็นส่วนสำคัญส่วนแรกของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งปฏิบัติงานโดยการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม จับกุมผู้ต้องหา สืบสวนสอบสวน และอื่นๆ ดังนั้นข้าราชการตำรวจจึงต้องเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีความอดทนเสียสละ สามารถต้านทานต่อสิ่งยั่วยุต่างๆ ในสังคมและดำรงตนอยู่ในความยุติธรรมได้ และเป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นผู้ที่ให้บริการที่ดีแก่ประชาชน แต่จากสภาพปัญหาที่ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำ มีสวัสดิการน้อย ในขณะที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมาก จึงอาจทำให้เกิดปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบได้ ดังนั้น การปฏิรูประบบเงินเดือนและค่าตอบแทน นอกจากจะทำให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ ดำรงตนอยู่ในความยุติธรรม และสามารถดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพแล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้อีกด้วย 
 
ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับระบบราชการตำรวจใน 2 เรื่อง คือ มีการตราพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 โดยเหตุผลในการประกาศใช้คือเพื่อปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการตำรวจให้เหมาะสม เป็นธรรม และได้มาตรฐาน และมีการตราพระราชกฤษฎีกาข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศ พ.ศ.2558 โดยเหตุผลในการประกาศใช้คือ เนื่องจากข้าราชการตำรวจมีภารกิจทั้งในด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของราชอาณาจักร ตลอดจนงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยการ การพัฒนาบุคลากร และงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในบางตำแหน่งนั้นอาจไม่จำเป็นต้องมียศ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับอย่างเต็มรูปแบบเมื่อมีการตรากฎ ก.ตร. กำหนดรายละเอียดต่างๆ แล้ว โดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎ ก.ตร. ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นที่คาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยพัฒนาระบบราชการตำรวจให้ดียิ่งขึ้น
 
ดังนั้น จากแนวคิดในการปฏิรูประบบราชการตำรวจที่ผ่านมาและการแก้ไขปัญหาของทุกรัฐบาล ต่างก็เห็นตรงกันว่า ปัญหาเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของตำรวจเป็นปัญหาที่มีความสำคัญมาก ผมจึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่จะให้มีการปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ข้าราชการตำรวจครองชีวิตอยู่ได้ตามควรแก่อัตภาพ ให้พอกินพออยู่โดยไม่ต้องอาศัยรายได้นอกระบบราชการตำรวจ ซึ่งการปรับปรุงเรื่องดังกล่าวนั้นต้องไม่ใช่ให้แบบยาหอม ให้เพียงสักแต่ว่าให้ แต่ต้องให้ให้พอและตามความเป็นจริง ซึ่งเรื่องนี้สามารถพูดได้ในหลักการ แต่พอจะทำจริงเข้าผมก็เห็นใจรัฐบาลและทุกฝ่ายที่รับผิดชอบในเรื่องงบประมาณของประเทศ เพราะเวลานี้ประเทศไทยก็ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ การหารายได้ทำได้ยาก แต่ในโอกาสแรกที่สภาวะทางเศรษฐกิจฟื้นฟูขึ้น อัตราเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของตำรวจจะต้องรีบปรับปรุง ถ้าปรับปรุงในเรื่องนี้ไม่ได้ แม้จะปรับปรุงแก้ไขในเรื่องอื่นได้ ปัญหาระบบราชการตำรวจก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป
 
อีกปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญและเกี่ยวพันกับการดำรงชีพของข้าราชการตำรวจคือ เรื่องอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นในการปฏิบัติงานตำรวจ เช่น อาวุธประจำกาย เครื่องมือสื่อสาร ยานพาหนะหรือน้ำมันเชื้อเพลิง โดยทางราชการจะต้องจัดหาสิ่งเหล่านี้ให้แก่ข้าราชการตำรวจทุกนายอย่างเพียงพอและเหมาะสม มิฉะนั้นแล้วการปฏิบัติหน้าที่ย่อมไม่มีประสิทธิภาพ และข้าราชการตำรวจบางส่วนต้องนำเงินส่วนตัวมาใช้จ่ายในส่วนนี้แทน ซึ่งดังที่กล่าวไว้แล้วว่า ลำพังข้าราชการตำรวจเองก็มีเงินเดือนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอยู่แล้ว หากจะต้องนำเงินที่ใช้ในการดำรงชีพส่วนตัวมาใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่อีกก็จะยิ่งกระทบต่อขวัญกำลังใจของข้าราชการตำรวจและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ทั้งยังเป็นการผิดหลักการบริหารราชการแผ่นดินที่กำหนดให้เรื่องการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานนี้ต้องเป็นความรับผิดชอบของหน่วยราชการโดยเฉพาะ มิใช่เรื่องที่จะต้องใช้เงินส่วนตัวปัญหาเรื่องอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สมควรได้รับการพิจารณาแก้ไขโดยเร็ว
 
หากพิจารณาจากข่าวสารที่ปรากฏในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าข้าราชการตำรวจมีปัญหาภาพลักษณ์ที่ไม่โปร่งใส กล่าวคือ ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าข้าราชการตำรวจบางส่วนมีการเรียกรับผลประโยชน์ในทางมิชอบเพื่อแลกกับการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้นว่าการพนันหรือสถานบริการ และมีการนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งส่งให้แก่ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และอีกส่วนก็เก็บไว้ใช้จ่ายส่วนตัว เป็นรายได้พิเศษนอกระบบ หรือที่เรียกว่า "ส่วยตำรวจ" อันเป็นปัญหาที่เลวร้ายอย่างยิ่ง ซึ่งข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยได้รับความกดดันให้จัดหาส่วยตำรวจเหล่านี้ให้ได้ ถ้าไม่ทำก็จะไม่มีความก้าวหน้าในชีวิตราชการ ทำให้แทนที่ข้าราชการตำรวจจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้สมดังภารกิจของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ได้อย่างเต็มที่ กลับต้องใช้เวลาเพื่อหาเงินในทางที่มิชอบเหล่านี้ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก
 
จริยธรรมของตำรวจ
 
นอกจากนั้นแล้วผมยังเห็นว่า วิกฤตการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะว่าข้าราชการตำรวจไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และละเลยไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ ซึ่งกำหนดไว้เพื่อเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้ข้าราชการตำรวจอยู่ในกรอบของศีลธรรมและคุณธรรม และเป็นแนวทางชี้นำให้ข้าราชการตำรวจบรรลุถึงปณิธานของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งการละเลยต่อจริยธรรมของตำรวจนั้น นอกจากจะทำให้ข้าราชการตำรวจขาดหลักสำคัญในการปฏิบัติงาน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความจำเป็นของการชะลอความเศร้าสาธารณะไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

0
0

 

 

บทนำ

ความเศร้าสาธารณะ (Public Grief) [1]เกิดขึ้นเมื่อสังคมสูญเสียบุคคลสำคัญอันเป็นที่รักไป ความเศร้าที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ (Normal grief) ในบริบทของประเทศที่นับถือพุทธศาสนายังสอดคล้องกับคำอธิบายในสังเวคปริกิตตนปาฐะที่ว่า “การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์” (ปิเยหิ วิปปโยโค ทุกโข) และก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาอีกเช่นกันที่แต่ละบุคคลจะมีปฏิกิริยาทางอารมณ์เนื่องจากความสูญเสียแตกต่างกันและแสดงออกในหลายรูปแบบ หากอธิบายในเชิงจิตวิทยา  หลายคนอาจใช้กลไกการปฏิเสธความจริง (Denial) ซึ่งหมายถึง การที่จิตใจยังไม่พร้อมรับกับความสูญเสียที่กำลังเกิดขึ้น แต่หลายคนอาจหันไปสู่ความรู้สึกโกรธ (Anger) รวมถึงการแสดงออกอย่างก้าวร้าว (Aggressive) ซึ่งสะท้อนให้เห็นความแปรปรวนทางอารมณ์ที่กำลังถ่ายเทจากความเศร้าเป็นความโกรธ น่ากังวลที่ปฏิกิริยาทางอารมณ์ดังกล่าวหากเกิดขึ้นแบบรวมหมู่ หรือมีการฉวยโอกาสจัดให้เกิดอารมณ์โกรธแบบรวมหมู่ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นตาม มากไปกว่านั้นหากกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วยแล้ว คลื่นอารมณ์ดังกล่าวอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ทำนองล่าแม่มดตามมา (หมายถึง การใช้ความรุนแรงกับบุคคลที่แสดงออกแตกต่าง)

ความสูญเสียของรัฐบุคคลหรือผู้นำทางจิตวิญญาณย่อมเป็นปัจจัยกระตุ้นความรุนแรงของอารมณ์เศร้า และความเครียดที่ระคนกับความเศร้าคลุกเคล้ากับความรักมักก่อให้เกิดความคิดมุ่งทำลาย (Thanatos ; θάνατος) ซึ่งจะล้นข้ามออกมาเป็นการทำร้ายผู้อื่น หรือพลิกกลับมาเป็นทำร้ายตนเองก็ล้วนแต่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น การฆ่าตัวตายตามบุคคลอันเป็นที่รัก หรือ การเปลี่ยนแปลงความรู้สึกเศร้าให้กลายเป็นความโกรธ ทั้งหมดไม่เป็นผลทางบวกทั้งสิ้น โดยทั่วไป ความเศร้าจะคลี่คลายลงไปเองภายใน 2-4 สัปดาห์และไม่ควรเกิน 24 สัปดาห์ (6 เดือน) กรณีที่อาการเศร้าไม่ทุเลาลงหรือมีอาการหมกมุ่นมากขึ้น จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคอารมณ์เศร้าผิดปกติที่เกิดจากการสูญเสียได้ (CGD-Complicated Grief Disorder) ปัญหาคือ สังคมที่ขาดวุฒิภาวะในการจัดการความเศร้าสาธารณะมีแนวโน้มที่จะผลิตซ้ำปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเศร้าที่ล้นเกิน [2]หรืออีกนัยหนึ่งคือเสี่ยงต่อการถูกฉกฉวยโอกาสใช้ความเศร้าสาธารณะเป็นเครื่องมือทางการเมือง แน่นอน ความก้าวร้าวที่เกิดจากอารมณ์เศร้าที่ล้นเกินก่อให้เกิดผลร้ายอย่างคาดไม่ถึงจึงจำเป็นต้องไม่ให้ความเศร้ากลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในแง่หนึ่งรัฐอาจต้องเข้ามาจัดการด้วยถ้าจำเป็น


1. ความเศร้าอาจกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในที่สุดแต่ไม่ควรอย่างฉับพลันทันที

หากเริ่มต้นด้วยความเห็นว่าท้ายที่สุดแล้ว ทุกกิจกรรมของมนุษย์ย่อมถูกทำให้เป็นเรื่องของการเมืองได้ทั้งหมด ความเศร้าสาธารณะในฐานะอารมณ์ความรู้สึกร่วมที่เกิดขึ้นในสังคมก็จะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ในที่สุด ทว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดการกลับกลายจะช้าหรือจะเร็วนั้น  ขึ้นอยู่กับการถูกผลิตซ้ำอย่างไรในสังคม หากมีการผลิตซ้ำเหตุกระตุ้นความเศร้าอย่างจงใจโดยแฝงนัยทางการเมืองไม่ว่าจะอ้างเหตุผลอะไรก็ตาม ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ความเศร้าจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในที่สุด และอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายตามมาได้ไม่ยาก เช่น การดูหมิ่น ยั่วยุ การทะเลาะวิวาท การตั้งศาลเตี้ย เพราะเมื่อเกิดการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก  กลไกการทำงานของความเศร้าในระยะต่อจากกลไกการปฏิเสธความจริงเมื่อแรกรับรู้ความสูญเสียแล้ว จะเป็นความโกรธ [3]โดยทั่วไปบุคคลที่ยังไม่เคยหรือไม่มีการจัดการความโกรธหรือขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์มักแสดงความโกรธออกมาในรูปความก้าวร้าว การตัดสินใจโดยขาดความยั้งคิดและหุนหันพลันแล่น ตามทฤษฎีสัญญาณแห่งความก้าวร้าว (Aggressive cues theory) [4]  บุคคลจะแสดงความก้าวร้าวก็ต่อเมื่อมีสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมมากระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าว เช่น การพูดยุยงปลุกปั่น หรือการทำให้เกิดอุปาทานหมู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้ ความรู้สึกโกรธจะค่อยๆจางหายไปเองและก้าวไปสู่การยอมรับความจริงต่อไป แต่หากว่าความรู้สึกแปรปรวนไม่จางหายไป เช่นนี้ควรพบจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพจิต

เฉพาะอย่างยิ่ง การสูญเสียบุคคลที่จิตใจรู้สึกว่ามีความหมายอย่างยิ่งต่อชีวิตและเป็นความสูญเสียในระดับสาธารณะ จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าความเป็นสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์เศร้ารุนแรงและพัฒนาไปสู่ความเศร้าที่ล้นเกินได้ไม่ยาก ประเด็นคือท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ บุคคลที่ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์จะตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีที่สร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงได้โดยง่าย หากรัฐหรือสังคมยังเพิกเฉยต่อการสร้างวาทกรรมที่กระตุ้นความรุนแรงในทำนองที่จะทำให้เกิดมาตรการลงทัณฑ์ทางสังคมตามอำเภอใจแล้ว ควรถือเป็นความเพิกเฉยที่ผิดกาลเทศะและบกพร่องต่อหน้าที่ เพราะความรุนแรงจะเข้ามาแทนที่บรรยากาศแห่งความโศกเศร้า ซึ่งผิดธรรมเนียมการให้เกียรติแก่ผู้วายชนม์ และขัดต่อกติกาของสังคมเรื่องการไว้ทุกข์ เพราะไม่มีใครที่อยากเห็นความวุ่นวายเกิดขึ้นในบรรยากาศพิธีศพของบุคคลอันเป็นที่รัก แต่เมื่อความเศร้าล้นเกินได้ถูกปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย สังคมต้องช่วยกันหยุดยั้งและห้ามปราม ใครก็ตามที่ทำการปลุกระดมหรือตั้งตัวเป็นแกนนำซึ่งกระทำการที่ไม่เหมาะสมต่อบริบทของความเศร้าสาธารณะ เพราะการกระทำความรุนแรงในนามของความรักเป็นสิ่งที่ไม่อาจรับได้ในทุกกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่สังคมมีความเศร้าร่วมกัน


2. อารมณ์โกรธเนื่องจากความเศร้าสาธารณะไม่ควรกลายเป็นการล่าแม่มดในที่สุด

แม้จะขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์อย่างไรและถึงแม้จะไม่เคยรู้จักสิ่งที่เรียกว่าการจัดการความโกรธเลยก็ตาม [5]การก่อรูปของอำนาจที่นำไปสู่ยุคล่าแม่มด [6]ก็ยังมิได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์อย่างที่เข้าใจกัน เพราะยังขาดองค์ประกอบสำคัญคือ “อำนาจ” ไม่ว่าจะเป็น อำนาจรัฐหรือเทวอำนาจ เพราะความโกรธเนื่องจากความเศร้าสาธารณะอาจทำให้เกิดอารมณ์รุนแรงร่วมกันในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และเมื่ออารมณ์ดังกล่าวล้นข้ามขอบเขตของกฎหมาย ก็เป็นรัฐที่มีหน้าที่ต้องยื่นมือเข้ามาจัดการในฐานะผู้มีอำนาจ โดยการแสดงออกของตัวแทนแห่งอำนาจรัฐ คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีต่อกรณีข้อความในโซเชียลมีเดียซึ่งต้องสงสัยว่าจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้แสดงให้เห็นว่า รัฐตระหนักดีถึงบริบทแห่งความเศร้าสาธารณะ ซึ่งระมัดระวังอย่างยิ่งมิให้รัฐเองต้องพลั้งเผลอกระทำเรื่องไม่บังควรกับกาลเทศะ เช่น คำกล่าวที่ว่าไม่อยากใช้กฎหมายในช่วงนี้ หรือท่าทีที่อ่อนลงเรื่องความเป็นไปได้ที่จะเป็นความเข้าใจผิดและไม่ได้เจตนา [7]ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนในสังคมที่จะช่วยกันทำให้การกระทำที่คิดว่าผิดเป็นเรื่องของกฎหมาย และต้องไม่ถืออำนาจที่ตนเองมิได้มีแต่งตั้งศาลเตี้ยขึ้นสถิตความยุติธรรมเองจนกลายเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมายและกาลเทศะ


หน้าที่ในการยุติความรุนแรงดังกล่าวเป็นของทุกคนที่อ้างว่า มีความรักความปรารถนาดีต่อผู้วายชนม์ และขอให้เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นว่า ผู้ที่ไม่อาจหยุดยั้งที่จะกระทำความรุนแรงโดยอ้างถึงความรักที่ตนมีต่อผู้วายชนม์ ไม่ว่าจะโดยการแสดงความก้าวร้าวทางวาจา หรือพฤติกรรมทางกาย เป็นพฤติกรรมที่น่าเชื่อว่าบุคคลผู้นั้นหากสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ได้กระทำผิดต่อผู้วายชนม์และบุคคลที่มีความรักต่อผู้วายชนม์เสียแล้วด้วยความดึงดันที่จะประพฤติตนขัดกับกาลเทศะ จึงสมควรที่จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาไกล่เกลี่ยควบคุมสถานการณ์โดยเร่งด่วน เพราะรัฐมิได้ให้หลักการในดำเนินการตัดสินโทษใครตามอำเภอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ทุกความสนควรมุ่งไปสู่ความสงบเรียบร้อยในบรรยากาศของการไว้อาลัย และในส่วนของผู้ถูกคุกคามด้วยจำเป็นที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐในการให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมาย ตลอดจนกรณีที่ผู้ถูกคุกคามต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ป่วยจิตเภท [8]จำเป็นต้องอาศัยพลเมืองดีช่วยกันปกป้องคุ้มครองบุคคลนั้นจนกว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะเข้ามาไกล่เกลี่ย

ต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศที่ด้อยการศึกษาด้านสุขภาวะทางจิตเช่นประเทศไทยขาดความรู้ความเข้าใจอย่างรุนแรงเกี่ยวกับโรคจิตเภท จนไม่สามารถแยกออกได้ว่าลักษณะใดเป็นอาการหรือไม่ใช่อาการป่วย ตลอดจนสังคมไทยยังมีมายาคติเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางจิตที่ซ้อนทับอยู่ในสำนึก [9]  ทำให้หลายๆครั้งความรุนแรงเริ่มขึ้นมาโดยไม่จำเป็นจากคำพูดที่ฟังดูน่าเชื่อถือของผู้ป่วยทางจิต หรือความโกรธจนนำไปสู่การกระทำความรุนแรงต่อผู้ป่วยทางจิตโดยมิได้เข้าใจว่าเป็นผู้ป่วย ทางออกเดียวคือยังจำเป็นต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาไกล่เกลี่ยความผิดปกติอารมณ์ที่อาจกลายเป็นชนวนความรุนแรงดังกล่าว  และคอยระมัดระวังมิให้ใครผลิตซ้ำสิ่งที่จะกระตุ้นความรุนแรงของเหตุการณ์ เช่น ถ้อยคำปลุกระดมให้เกิดการทำร้ายเพื่อนผู้เห็นต่างในสังคม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (หรือที่เรียกกันอย่างลำลองและไม่ถูกนักว่า นักล่าแม่มด) หรือฝ่ายที่เห็นด้วยกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ต้องการตอบโต้กลับ (หรือที่เรียกว่า นักล่านักล่าแม่มด) ซึ่งเป็นขบวนการที่ตั้งขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความเสี่ยงและไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสวัสดิภาพของผู้ไม่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ป่วยทางจิต คนหาเช้ากินค่ำ หรือบุคคลทั่วไปที่ยังไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์มากนักที่ไม่จงใจหรือเจตนาที่จะกระทำพฤติกรรมเสี่ยง เมื่อวาทกรรมทั้งสองขั้วทำงานขับเคี่ยวกัน (จึงจำเป็นต้องแสวงหาหรือสถาปนาวาทกรรมขึ้นอีกชุดเพื่อเบียดแทรกหรือหยุดการขับเคี่ยวกันของวาทกรรมทั้งสอง หวังเพื่อที่จะลดผลกระทบที่จะมีไปถึงผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้ก่อการเอง)


3. ความเศร้าสาธารณะที่ถูกทำให้เป็นเรื่องของการระบายอารมณ์ที่มีนัยทางการเมืองควรชะลอไว้

หากการระบายอารมณ์ที่มีนัยทางการเมืองนำไปสู่การสร้างวาทกรรมตอบโต้จนเกิดผลกระทบกับผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยทางจิต คนหาเช้ากินค่ำ หรือบุคคลทั่วไปที่ยังไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์มากนัก ทั้งที่ผู้สร้างหรือผลิตซ้ำวาทกรรมดังกล่าวก็มิอาจทำอะไรได้มากไปกว่า การแสดงความไม่รับผิดชอบหรือการโยนความรับผิดชอบให้รัฐต้องรับภาระฝ่ายเดียวเรื่องนี้ควรเป็นข้อสังเกตสำคัญ เพราะเป็นเสรีภาพของผู้สถาปนาวาทกรรมอยู่แล้วที่จะกระทำสิ่งใดหรืออะไรก็ได้ด้วยเนื้อหาอย่างไรก็ได้ หากแต่ผลระหว่างทางของการสถาปนาดังกล่าวนั้นเมื่อก่อให้เกิดภัยกับบุคคลที่ไม่น่าเชื่อว่าจะถูกดึงหรือโยงเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยเหตุผลเรื่องความเศร้าที่ล้นเกินทำให้ขาดสติ หรือการถูกปลุกปั่นยุยงของอีกขั้วตรงข้ามของวาทกรรมอย่างไรก็ตามแต่ การดำเนินการที่ว่านั้นคงจำเป็นต้องมีการทบทวนโดยพิจารณาถึงการแสดงออกอย่างคำนึงถึงมนุษยธรรม เพราะการชิงแสดงออกถึงความมีมนุษยธรรมนั้นเป็นความสง่างามและช่วยให้ได้รับความรู้สึกดีจากมวลชนมากกว่าการยืนยันกระทำสิ่งใดด้วยคิดถึงแต่เสรีภาพฝ่ายเดียว เพราะเสรีภาพแง่หนึ่งเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากการแสดงอารมณ์อย่างมีมนุษยธรรม ด้วยว่าฝ่ายที่กดบังคับหรือไม่เห็นด้วยกับเสรีภาพมักจะมีความเข้าใจเรื่องมนุษยธรรมน้อยยิ่งกว่า น่าจะเป็นการดีกว่าที่จะแสดงออกอย่างมีมนุษยธรรมเพื่อเป็นแบบอย่างในเรื่องของความพยายามที่จะหยัดยืนต่อสู้อย่างถูกต้องชอบธรรม อย่างน้อยก็เห็นแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยไม่ได้อยู่ในขบวนการ

ในอดีต การแสดงความเคารพต่อนักรบผู้วายชนม์ในสงครามแม้จะเป็นฝ่ายตรงข้ามก็ยังเป็นสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติกันมาตามหลักของการทำศึกสงครามที่ดีและแม้ว่าหลักการดังกล่าวจะโบราณและเก่าแก่คร่ำครึไปสักหน่อย แต่ควรยิ่งที่ผู้วายชนม์ไปแล้วทุกคนควรจะได้รับความเคารพ ไม่ใช่แต่เพียงในแง่ของการควรละเว้นการระบายอารมณ์อย่างป่าเถื่อนต่อผู้วายชนม์เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ บรรดาผู้ที่มีความอาลัยรักต่อผู้วายชนม์เองด้วยที่จะต้องละเว้นการสวนโต้ด้วยอารมณ์กับผู้ที่ยั่วยุเหล่านั้น เหตุว่า หากผู้วายชนม์เป็นรัฐบุคคลผู้ยิ่งใหญ่สำคัญซึ่งยังผลให้เกิดความเศร้าสาธารณะแล้ว สิ่งดีที่สุด หากแต่ละคนคิดจะปฏิบัติเพื่อตอบแทนผู้วายชนม์ได้ก็คือ การช่วยกันทำให้รัฐเกิดความสงบเรียบร้อยอย่างน้อยก็ในช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัย และควรเข้าใจเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้วว่า โลกนี้ย่อมมีผู้เห็นแตกต่าง แต่การยืนยันที่จะกระทำตามเหตุผลและหลักการเป็นสิ่งที่จะช่วยให้วาทกรรมที่บุคคลนั้นเป็นส่วนหนึ่งและผลิตซ้ำน่าเชื่อถือมากกว่าการแสดงออกด้วยอารมณ์อย่างล้นเกินจนกลายเป็นส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของวาทกรรมเอง ทั้งยังผิดต่อกาลเทศะ ตลอดจนผิดต่อผู้วายชนม์เองด้วย เพราะน่าจะไม่ใช่ความปรารถนาดีที่จะมีต่อบุคคลที่รักและเคารพกัน และในอีกด้านหนึ่งในโลกของผู้ที่อาจเห็นต่างหรือแย้ง “การใช้เหตุผลอาจไม่ใช่ทั้งหมดของเรื่องราวแต่ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวพันกับสวัสดิภาพของชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่เราไม่รู้จัก และสำคัญที่สุดสำหรับการขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ระดับชาติ คือ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการอารมณ์ของตนเอง

0000
 

 

 


เชิงอรรถ

[1]โปรดดูเรื่องความเศร้าสาธารณะเพิ่มเติมจาก กรณีการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่า เป็นต้น  Chapter 3: Shock, Public Gried, and Spaces of Belonging ใน Seidler, Victor. (2013). Remembering Diana: Cultural Memory and the Reinvention of Authority. Hamshire: Palgrave MacMillan. pp. 43-56

[2]ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการเศร้า ดูเพิ่มเติมที่  Canine, J.D. (1983). The Challenge of Living. Birmingham,MI: Ball Publishers. และ Rando, T. (1991). How to go on living when someone You love dies. New York: Bantam.

[3]มีการแบ่งระยะความโศกเศร้าเป็น  5 ระยะ คือ  (1) ปฏิเสธความจริงและแยกตัว (2) โกรธ (3) การต่อรอง (4) ภาวะซึมเศร้า(ที่ไม่ใช่โรค) (5) ยอมรับความจริง ดูเพิ่มเติมในกรณีความสูญเสียที่เปรียบเหมือนสูญเสียอวัยวะในร่างกายที่ Spiess, KE et al. (2014). Application of the five stages of grief to diabetic limb loss and amputation. J Foot Ankle Surg. Nov-Dec;53(6). pp.735-739

[4]โปรดดูเพิ่มเติมใน Anderson, C.A. and Bushman, Brad J. (2002). Human Aggression. Annual Review of psychology Vol.53. pp.27-51 Retrieved Oct 18, 2016 from http://public.psych.iastate.edu/caa/abstracts/2000-2004/02AB.pdf

[5] โปรดดู Info graphic แนะนำการจัดการความโกรธเบื้องต้นของสำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข http://www.sorporsor.com/images/age/age-15-59/3_resize.jpg หรือโปรดดูรายการสุขภาพจิตเพื่อชุมชนตอนการจัดการความโกรธ https://www.youtube.com/watch?v=A5bYXxC_oUs

[6]ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์.การก่อรูปของอำนาจที่นำไปสู่ยุคล่าแม่มด. ประชาไทออนไลน์ (วันที่ 23 กรกฎาคม 2014) Retrieved Oct 18, 2016 from http://prachatai.com/journal/2014/07/54706

[7] ประยุทธ์กวดขันการส่งต่อโพสต์หมิ่นฯ ย้ำมีกฏหมาย แนะใช้ความเข้าใจ พร้อมแจงปมสืบสันตติวงศ์, ประชาไทออนไลน์ (18 ตุลาคม 2016) Retrieved Oct 18, 2016 from http://prachatai.com/journal/2016/10/68413

[8] ตร.ยันป้าถูกกล่าวหาว่าหมิ่นฯบนรถเมล์ มีบัตรผู้ป่วยจริง หลายคนยันพูดถึงเจ้าเมืองบาดาล, ประชาไทออนไลน์ (18 ตุลาคม 2016) Retrieved Oct 18, 2016 from  http://prachatai.com/journal/2016/10/68412

[9] อ่านประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมที่ รัฐพล แสงพลสิทธิ์, ทลาย “มายาคติ” สังคมไทย พบจิตแพทย์ ไม่ได้แปลว่า “บ้า”,มติชนรายวัน (23 สิงหาคม 2559) Retrieved Oct 18, 2016 from http://www.matichon.co.th/news/259583 และ ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์และคณะ. (2547). ความชุกของโรคทางจิตในประเทศไทย: การสำรวจระดับชาติ. (การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 17, 19 -21 พฤษภาคม 2547) หน้า 35-36
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 13-19 ต.ค.2559

0
0
เคาะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-10 บาทใน 69 จังหวัด/กระทรวงแรงงาน ออกหนังสือขอความร่วมมือสถานประกอบการพิจารณาให้ลูกจ้างลามาแสดงความอาลัย โดยไม่ถือเป็นวันลา/ห่วงแรงงานไทยไร้วินัยทางการเงิน เร่งเปิดตัวแอพให้ความรู้/กสทช.ปรับเพิ่มบัญชีเงินเดือน 'ผู้บริหาร-พนง.' รองเลขาฯ เริ่ม 150,000-250,000 บาท/รองนายกให้โรงงานสิ่งทอเร่งผลิต-ห้างค้าปลีกคุมราคา แก้ปัญหาเสื้อดำแพง/ครม.เห็นชอบปรับเพดานเงินเดือน ขรก. ขีดเส้นให้ย้ายข้ามห้วยได้เงินเดือนเท่าเดิม

 
ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์กว่าสิบรายร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมชลบุรี หลังนายจ้างเบี้ยวไม่จ่ายค่าแรง 5 ล้านบาท
 
นายธนาคม สังข์คร ผู้รับเหมาก่อสร้างพร้อมลูกจ้างได้เข้าพบนายวันชาติ วรรณพราหม ปลัดอำเภอศรีราชา ผู้รับเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ว่าตนพร้อมผู้รับเหมาเกือบ 10 ราย ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างในการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ จำนวน 19 คูหา บริเวณหมู่ 7 ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2559 ซึ่งขณะนี้ค่าจ้าง ค่าอุปกรณ์ที่ทำไปยังไม่ได้รับรวมกว่า 5 ล้านบาท นอกจากนั้นยังถูกบริษัทที่ไปซื้ออุปกรณ์ก่อสร้าง ฟ้องร้องเนื่องจากไม่ได้จ่ายค่าสินค้าที่เอามาใช้ก่อน
 
ที่ผ่านมามีการเจรจาพูดคุยกับนายจ้างมาหลายครั้งเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว แต่นายจ้างก็บ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด ทั้งๆที่บริษัท ซี.พี แลนด์ จำกัด (มหาชน) ที่ว่าจ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดพันธุสิน เอ็นจิเนียริ่ง รับเหมาก่อสร้างโครงการ โดยตนไปรับช่วงในก่อสร้างอาคารพาณิชย์สูง 3 ชั้น 19 คูหาต่อมาอีกทอด นอกจากนั้น นายจ้างยังมีการท้าทายให้ไปฟ้องร้องกันเอาเอง
นายธนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ตนและลูกน้องได้รับความเดือดร้อนอยากมาก เนื่องจากยังไม่ได้ค่าจ้าง และยังมาถูกฟ้องร้อง ซึ่งทางบริษัทที่ไปตนเอาสินค้ามาใช้ในการก่อสร้างก็เห็นใจ เนื่องจากทราบปัญหาที่เกิดขึ้น แต่จำเป็นต้องฟ้องร้อง เพราะต้องการได้เงินค่าสินค้าดังกล่าว
 
ด้านนายอนงค์ พหลยุทธ์ อายุ 58 ปี ผู้รับเหมาก่อสร้างอีกราย กล่าวว่า ตนทำงานดังกล่าวและยังไม่ได้รับเงิน เกือบ 3 แสนบาทแล้ว สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีเงินไปใช้จ่ายและที่สำคัญรถยนต์ที่ใช้ในการทำงานก็จะถูกยึด เนื่องจากค้างค่างดผ่อนส่งรถมา 5 เดือนแล้ว จึงวอนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยเหลือด่วน
 
“นายจ้าง ควรจะผ่อนส่งเงินที่ติดค้างให้กับพวกตนบ้าง โดยไม่ต้องจ่ายมาเป็นก้อนทั้งหมด เนื่องจากเดือดร้อนจริงๆ เพราะติดค้างมาก่อนกว่า 5 เดือนแล้ว จึงขอให้ผ่อนส่งบ้างเท่านั้น” นายอนงค์ กล่าว
นายวันชาติ วรรณพราหม ปลัดอำเภอศรีราชา ผู้รับเรื่องร้องเรียน กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นตนได้ประสานไปยังนายจ้างที่เบี้ยวค่าแรงดังกล่าวแล้ว ซึ่งในเร็วๆนี้ จะเรียกทั้งนายจ้างและลูกจ้างมาตกลงเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อคลี่คลายปัญหาแก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป
 
 
ห่วงแรงงานไทยไร้วินัยทางการเงิน เร่งเปิดตัวแอพให้ความรู้
 
นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ในฐานะผู้แทนจากมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่าทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) นับเป็นทักษะชีวิตพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 อีกทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เหตุสำคัญเพราะประชาชนขาดความรู้และทักษะทางการเงิน จำเป็นต้องเสริมสร้างทักษะการเงินเร่งด่วน
 
มูลนิธิซิตี้และสถาบันคีนันแห่งเอเซียจึงมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน เป็นผลสำเร็จที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” ที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี โดยความร่วมมือจากกระทรวงแรงงานในการฝึกอบรมบริหารการเงินกลุ่มแรงงาน ตั้งเป้าแก้ปัญหาหนี้สินด้วยการเสริมแกร่งองค์ความรู้ทางการเงินให้แก่แรงงานไทย เพื่อแก้ปัญหาการก่อหนี้ทั้งในและนอกระบบ
 
โครงการฯ จึงเริ่มทำการวิจัยค้นคว้าปัญหาหนี้สินและทางออกให้กับ 3 กลุ่มเสี่ยงหลัก ได้แก่ กลุ่มแรงงาน - กลุ่มเกษตรกร - กลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมถึงสร้างเครือข่ายพันธมิตร และนำเครื่องมือการเรียนรู้ทางการเงินที่เหมาะสมกับกลุ่มต่างๆ ไปประยุกต์ใช้งานจริง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อมุ่งสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารการเงินส่วนบุคคลในประเทศไทย
 
ทั้งนี้ หลังดำเนินงานครบ 3 ปี ก็พบว่า หัวใจสำคัญของปัญหาหนี้สินคนไทย คือ การขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงิน โดยที่ผ่านมาการให้ความรู้ทางการเงินมักถูกผนวกย่อยกับหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในรูปแบบต่างกันและมีความทับซ้อนกัน นอกจากนี้ ภาครัฐควรวางยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้เป็นวาระแห่งชาติและร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายไปสู่แผนปฎิบัติการให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
 
“กลุ่มนักเรียน นักศึกษา จะมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาเนื้อหาแทรกในหลักสูตร ส่วนกลุ่มเกษตรกร จะมีธนาคารของรัฐให้ความรู้การจัดทำบัญชีครัวเรือน ถือว่าสองกลุ่มนี้มีความคืบหน้าตามลำดับ ขณะที่กลุ่มแรงงานแม้จะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด หากยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นหลัก จึงเป็นเหตุให้โครงการฯ ร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ผลักดันนโยบายสร้างการเรียนรู้ทางการเงินที่เป็นรูปธรรม เช่น แอพพลิเคชั่นฉลาดคิด เรื่องเงิน จนเป็นผลสำเร็จ” นางวีระอนงค์ กล่าว
 
ขณะที่ นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ขยายความว่า “แอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน” ถูกพัฒนาขึ้นโดยมีสาระสำคัญ 2 ส่วน คือ 1. ฉลาดคิดเรื่องเงิน ชุดความรู้การบริหารการเงินส่วนบุคคล แบบทดสอบ ตลอดจนเครื่องคำนวณทางการเงิน ภายใต้ 4 โมดูลย่อย ได้แก่ 1) การตั้งเป้าหมายทางการเงิน 2) การออมอย่างมีประสิทธิภาพ 3) การใช้จ่าย 4) การบริหารหนี้ 2. เกมครอบครัวหรรษา ซึ่งออกแบบตัวละครให้สอดคล้องกับสภาพชีวิตจริงแรงงาน ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิ การซื้อหวย ซื้อประกัน ทำงานโอที เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ฯลฯ ซึ่งผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง Google Play และ App Store
 
นอกจากนี้ สถาบันคีนันฯ ยังได้ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และองค์กรลูกจ้างในระดับต่างๆ จัดฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารการเงินสำหรับกลุ่มแรงงาน และวางแนวทางจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในโรงงาน เพื่อส่งเสริมให้มีการออมอย่างครบวงจรด้วย
 
ด้าน คุณวรานนท์ ปีติวรรณ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ภายใต้การกำกับโดยกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมมือกับมูลนิธิซิตี้และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ในโครงการ “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” เพื่อหาแนวทางสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงิน แก้ไขปัญหาหนี้สินให้กลุ่มแรงงานในและนอกระบบ กระทรวงแรงงานมีพันธกิจที่จะพัฒนากำลังแรงงานให้มีศักยภาพสูงและสอดคล้องต่อความต้องการของภาคเศรษฐกิจ เล็งเห็นว่าเศรษฐกิจครัวเรือนของแรงงานโดยเฉพาะการบริหารการเงินส่วนบุคคล มีผลโดยตรงต่อผลิตภาพของแรงงาน ดังนั้นจึงได้ร่วมกับมูลนิธิซิตี้และสถาบันคีนันแห่งเอเชียพัฒนาวิธีสร้างการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ เทรนนิ่ง ด้วย “แอพพลิเคชั่นฉลาดคิดเรื่องเงิน” ที่มีทั้งชุดความรู้ทางการเงินและเกมออนไลน์ สอดคล้องกับพฤติกรรมแรงงานยุคใหม่ พร้อมมีแผนที่จะบรรจุหลักสูตรฝึกอบรมการบริหารการเงินให้กลุ่มแรงงาน โดยมีกระทรวงแรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ
 
กลุ่มแรงงานในและนอกระบบทั่วประเทศ มีประมาณ 38.4 ล้านคน มีความรู้ทางการเงินอยู่ในระดับกลางและต่ำถึงร้อยละ 83 นอกจากนี้กลุ่มแรงงานยุคใหม่ที่มีอายุระหว่าง 25 - 35 ปี มีอัตราการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนความสะดวกในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ทำให้แรงงานยังประสบปัญหาด้านการชำระหนี้ ถึงแม้ว่าแรงงานจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างมั่นคงเมื่อเทียบกับกลุ่มเกษตรกร
 
กระทรวงฯ คาดหวังว่า แอพฯ นี้จะช่วยเพิ่มความรู้และทักษะด้านการเงินที่กลุ่มแรงงานยุคใหม่สามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ปลูกฝังพฤติกรรมการบริหารจัดการการเงินที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป” รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
 
ก.แรงงานหารือ ก.พ.พัฒนาแบบทดสอบเข้ารับราชการ
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และ หม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล รองเลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) พร้อมคณะ ได้ประชุมเพื่อหารือ เรื่อง "การบูรณาการใช้แบบทดสอบความพร้อม ทางอาชีพ สำหรับบุคคลที่มีความประสงค์จะเข้ารับราชการ" หม่อมหลวงปุณฑริก กล่าวว่า ควรจัดให้มีหลักสูตรพัฒนาภาษาอังกฤษเชิงบังคับให้แก่ข้าราชการ โดยอาจจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแบบออนไลน์ เพื่อการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่อง และสำหรับการประเมินเพื่อรับทุนการศึกษาต่อจากรัฐบาล ควรจะมีการปรับใหม่โดยนอกจากเรื่องภาษาอังกฤษแล้ว ต้องมีการทดสอบความถนัดทางอาชีพด้วย และควรมีการ จัดโครงการให้นักเรียนทุนรัฐบาลได้ทำงานระหว่างที่กำลังศึกษาต่อ เพื่อให้มีรายได้พิเศษ รวมทั้งควรปรับระบบค่าตอบแทนของข้าราชการให้เหมาะสมขึ้น เพื่อดึงดูดให้นักเรียนทุนกลับมาทำงานราชการไปจนเกษียณอายุราชการ
 
ทั้งนี้ การทดสอบความพร้อมทางอาชีพ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบุคคลทั่วไปที่จะสมัครเข้ารับราชการ (การสอบ ภาค ก ของสำนักงาน ก.พ.) โดยจะใช้ประกอบในการพิจารณาดูบุคลิกภาพที่โดดเด่น ความมีตัวตนของตนเอง และการมีใจรักในอาชีพข้าราชการ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มนักเรียนทุนรัฐบาล จะใช้พิจารณาประกอบความสอดคล้องกับการเลือกแผนการศึกษาในต่างประเทศ และกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่รับข้าราชการแล้ว เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับการปรับตำแหน่ง ได้แก่ การขอย้าย โอน เลื่อน หรือเปลี่ยนตำแหน่ง โดยทางกระทรวงแรงงานยินดีให้ความร่วมมือ ซึ่งอาจมีการปรับใช้แบบทดสอบที่มีอยู่แล้ว และพิจารณาจัดทำเพิ่มสำหรับกลุ่ม ผู้ใช้บริการมีความประสงค์จะเข้ารับราชการในโอกาสต่อไป
 
 
"พล.อ.ประวิตร" ย้ำไม่ขยายจดทะเบียนต่างด้าวรายใหม่เพิ่ม กำชับดำเนินคดีผู้ลักลอบ
 
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ที่กระทรวงแรงงานโดยที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบตามที่กรมการจัดหางาน ในฐานะฝ่ายเลขาฯ เสนอมาตรการดำเนินการหลังสิ้นสุดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อำนวยความสะดวกการตรวจสัญชาติ เร่งรัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายตามMOUและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานอย่างเป็นระบบ เห็นชอบยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวปี 2560 - 2565 ใน 5 ด้าน
 
คือ 1) การจัดระบบแรงงานเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวโดยให้ขึ้นอยู่กับความต้องการแรงงานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ 2) การควบคุม กำกับ ดูแลกระบวนการเข้ามาระหว่างการทำงาน และกลับออกไปของแรงงานต่างด้าว 3) การกำหนดมาตรฐานการจ้างงานแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 4) การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่มีประสิทธิภาพ และ5) การติดตามประเมินผล
 
พลเอก ประวิตร กล่าวอีกว่า หลักการสำคัญเราต้องควบคุมแรงงานต่างด้าวให้ได้ในทุกเรื่อง ซึ่งการควบคุมจะใช้เจ้าหน้าที่อย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องใช้ระบบการทำงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด การวางยุทธศาสตร์ 5 ปี ในอนาคตเพื่อการปฏิรูปการจัดหางานแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงานต้องพิจารณาวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน โดยต้องเปรียบเทียบว่าปัจจุบันใช้แรงงานต่างด้าวอยู่เท่าไหร่ และอีก 5 ปีข้างหน้าต้องใช้อีกเท่าไหร่ และคำนึงถึงงานที่เราจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ รวมถึงการพิจารณาการมีงานทำของคนไทยด้วย
 
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ครอบคลุมตามแนวทางที่ กนร. เห็นชอบ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และแนวทางการบริหารจัดการตามที่ กนร.เห็นชอบการดำเนินการกับแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เคยทำงานอยู่ในประเทศไทยไม่ได้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรายใหม่ ขอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดีกับนายจ้างผู้นำพาแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทำงาน
 
“เรื่องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์รัฐบาลพยายามได้ทำงานเต็มที่ ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมาก และประเทศมหาอำนาจก็ได้ชื่นชมประเทศไทยว่าทำงานอย่างจริงจัง แต่ยังทำได้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นตามที่ต้องการ โดยต้องทำให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น” พลเอก ประวิตร กล่าว
 
ขณะที่ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพ ขณะนี้กระทรวงแรงงานมีแผนการจัดตั้งสำนักงานแรงงานไทยในสหภาพเมียนมาและกัมพูชา ซึ่งเป็นความต้องการของเอกอัครราชทูตทั้งสองประเทศด้วย เดิมบทบาทของสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศจะดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ โดยจะเพิ่มบทบาทอื่นด้วย อาทิ ความร่วมมือด้านแรงงานกับประเทศต้นทาง การดูแลแรงงานต่างด้าวและครอบคลุมไปถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาทักษะฝีมือให้ประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งการเปิดสำนักงานแรงงานทั้งสองแห่งจะไม่กระทบกับงบประมาณ โดยจะปิดสำนักงานแรงงานในประเทศบรูไนและประเทศลิเบีย เนื่องจากมีภาระงานที่น้อยลง
 
 
กสทช.ปรับเพิ่มบัญชีเงินเดือน 'ผู้บริหาร-พนง.' รองเลขาฯ เริ่ม 150,000-250,000 บาท
 
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศเผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ที่ลงนามโดย พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งได้ให้ยกเลิกบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของพนักงานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง
 
กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) แนบท้ายระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการบริหารงานบุคคล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 และให้บัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของพนักงานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นไปตามบัญชีแนบท้ายระเบียบนี้แทน เว้นแต่บัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง ของรองเลขาธิการ (ระดับ บ1) ให้ใช้บังคับตามระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการบริหารงานบุคคล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 ต่อไป จนกว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ ส่วนพนักงานที่ได้รับเงินเดือนในอัตราขั้นสูงหรือเกินกว่าอัตราขั้นสูงของบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของพนักงานกสทช.แนบท้ายระเบียบฉบับนี้อยู่ก่อนแล้ว ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่ได้รับอยู่เดิมต่อไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับบัญชีเงินเดือนแนบท้ายที่ประกาศมีการปรับเพดานเงินเดือนขั้นต่ำ-สูง ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับบัญชีเงินเดือนเดิม เช่นตำแหน่ง รองเลขาธิการ (ระดับ บ1) ขั้นต่ำ-สูง 150,000-250,000 บาท อัตราเดิม 130,000 -220,000 บาท ผู้อำนวยการสำนัก (ระดับ บ2) 84,500 – 180,000 บาท อัตราเดิม 80,000- 170,000 บาท
 
ผู้อำนวยการส่วน (ระดับ บ3) 54,000 -130,000 บาท อัตราเดิม 50,000 – 120,000 บาท พนักงานปฏิบัติการระดับต้น (ระดับ ก3) 20,000 -40,000 บาท อัตราเดิม 12,000 – 40,000 บาท พนักงานปฏิบัติการระดับสูง (ระดับ ก1) 38,500- 100,000 บาท อัตราเดิม 38,000 -100,000 บาท เป็นต้น
 
 
ทร.เปิดอบรมฝึกอาชีพทหาร หลังปลดประจำการ
 
เมื่อวันที่ 17 ต.ค.59 พล.ร.ต.เสรีภาพ สุขเจริญ รองผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นประธานเปิดฝึกอบรมอาชีพให้แก่ทหารกองประจำการ รุ่นที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยมี ผู้แทนจากฐานทัพเรือสัตหีบ ผู้แทนทัพเรือภาคที่ 1 ข้าราชการ ทหาร ตลอดจนผู้แทนจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมเจ้าท่า และสมาคมเจ้าของเรือไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือ ในการขับเคลื่อนโครงการฯ เข้าร่วมพิธี ณ สโมสรสัญญาบัตร ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
 
ตามอนุมัติกองทัพเรือ ให้มีการฝึกอบรมอาชีพให้แก่ทหารกองประจำการ ซึ่งเป็นการดำเนินงานโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์ในวิชาชีพสาขาต่างๆ ให้แก่ทหารกองประจำการของกองทัพเรือ จำนวน 4 รุ่น เพื่อให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพหลังปลดประจำการไปแล้ว กองทัพเรือ โดยคณะกรรมการพัฒนาอาชีพทหารกองประจำการกองทัพเรือ จึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการฝึกอบรมอาชีพให้แก่ทหารกองประจำการ รุ่นที่ 1 ประจำปี 2560 มีทหารกองประจำการจากหน่วยต่างๆ เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 4 หลักสูตร รวม 71 นาย ประกอบด้วย หลักสูตรอาชีพช่างทั่วไป จำนวน 2 หลักสูตร มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 50 นาย และหลักสูตรกำลังพลประจำเรือพาณิชย์ จำนวน 2 หลักสูตร มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม 21 นาย
 
พล.ร.ต.เสรีภาพ กล่าวว่า การฝึกอาชีพให้แก่ทหารกองประจำการ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของกองทัพเรือ ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ที่จะร่วมกันพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความชำนาญ และมีทักษะในวิชาชีพ เพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ให้แก่ทหารกองประจำการหลังปลดประจำการไปแล้ว อันจะเห็นได้ว่าจากสภาวะปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่ขาดแคลนรายได้ เนื่องจากประสบปัญหาการว่างงานเป็นจำนวนมาก ทหารที่กำลังปลดประจำการออกไป ควรได้รับการฝึกอาชีพเพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพ สร้างเสริมรายได้แก่ตนเองและครอบครัว ให้สามารถต่อสู้กับปัญหาและสภาวะต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสภาพการดำรงชีวิต
 
 
ผู้ประกอบการ หนุนปั้นบุคลากรสายวิชาชีพอาชีวะรองรับการเติบโตของอุตฯอ้อยและน้ำตาลทราย
 
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากการลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่อีกทั้งมีการย้ายและขยายกำลังการผลิตโรงงาน และลงทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการบุคลากรด้านวิชาชีพสายช่างเพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว เช่น สาขาซ่อมบำรุงเครื่องกล สาขาเครื่องมือการเกษตร และเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น
 
ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลเห็นด้วยอย่างยิ่งกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ดำเนินโครงการทวิภาคีระดับอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมการศึกษาสายอาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. ในรูปแบบการศึกษาทวิภาคี ประกอบด้วย การฝึกอาชีพในสถานประกอบการ และการเรียนในภาคทฤษฏี เพื่อพัฒนาวิชาชีพนักศึกษาระดับอาชีวะให้มีทักษะการทำงานในโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการสร้างมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่สถาบันการศึกษา และการพัฒนามาตรฐานการเรียนการสอน เพื่อยกระดับคุณภาพนักศึกษาและครูผู้สอน และพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ รวมทั้งสร้างบุคลากรด้านแรงงานในสายวิชาชีพ ป้อนภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่มีความต้องการแรงงานสายวิชาชีพเป็นจำนวนมาก
 
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลพร้อมสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และด้านเทคโนโลยีกับสถาบันการศึกษา อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอาชีพ ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ ซึ่งจะทำให้นักศึกษามีความความเชี่ยวชาญในสายอาชีพจากการเรียนรู้ปฏิบัติงานในสถานที่จริง โดยนักศึกษาที่ผ่านหลักสูตรจากโครงการนี้ จะได้รับใบรับรองผ่านการปฏิบัติงานจากกลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมทั้งมีโอกาสที่จะก้าวสู่การเป็นบุคลากรสายอาชีพในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่อไป
 
“อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้ตระหนักถึงความสำคัญในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพนักศึกษาสายอาชีวะ เนื่องจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องมีความต้องการบุคลากรเหล่านี้เป็นจำนวนมาก เราจึงพร้อมสนับสนุนและร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา พัฒนาบุคลากรด้านแรงงานสายวิชาชีพให้มีคุณภาพ มีความรู้ความเข้าใจในสายวิชาชีพเพื่อป้อนบุคลากรให้แก่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเติบโตและการขยายลงทุนของผู้ประกอบการในอนาคต"นายสิริวุทธิ์ กล่าว
 
 
รองนายกให้โรงงานสิ่งทอเร่งผลิต-ห้างค้าปลีกคุมราคา แก้ปัญหาเสื้อดำแพง
 
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีประชุมร่วมกับ ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ผู้ประกอบการย้อมผ้า รวมถึงห้างค้าปลีกสมัยใหม่ต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการเสื้อผ้าสีดำจำนวนมาก โดยขอความร่วมมือผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเสื้อผ้าสีดำ ผ้าดำให้เพิ่มการผลิต และจำหน่ายให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนโดยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาเสื้อสีดำมีปัญหาขาดตลาดเนื่องจากเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ จึงส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยตั้งแต่สัปดาห์นี้จะมีเสื้อดำจำหน่ายเพียงพอต่อประชาชนอย่างแน่นอน
นอกจากนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยรัฐบาลจะจัดโครงการ "เทใจถวายอาลัยแด่พระเจ้าอยู่หัว" โดยจะนำเสื้อสัดำมาขายในราคาถูกพร้อมกันในห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีกสมัยใหม่ทั่วประเทศ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 21 ต.ค.นี้เป็นต้นไป
 
ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการสิ่งทอ และผลิตผ้าผืน จะทำริบบิ้นสีดำเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนฟรี เพื่อร่วมถวายความอาลัย และอยากขอ ความร่วมมือผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆให้ลด หรือคงราคาจำหน่ายเสื้อดำแบบเดิมไว้ อย่าเอาเปรียบประชาชน
 
นายบัณฑิต พงศาโรจนวิทย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทอผ้าไทย ยืนยันว่า ต้นทุนผ้าดิบไม่มีการปรับราคาและมีวัตถุดิบเพียงพอในการผลิต ขณะสมาชิกในสมาคมประมาณ100 โรงมีการเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มร้อยละ 10 เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ
 
นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมเครื่องนุ่งห่มไทย ระบุว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ความต้องการเครื่องแต่งกายสีดำเพิ่ม 10 เท่า จึงทำให้สินค้าขาดแคลนในบางพื้นที่ ประกอบกับเป็นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จึงไม่สามารถกระจายสินค้าได้ทันพร้อมยืนยันว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจะสามารถจำหน่ายเสื้อดำรวมไปถึง เสื้อสีเทา เสื้อสีขาวได้ตามปกติ
 
ขณะที่ห้างค้าปลีกเทสโก้โลตัสและบิ้กซี ระบุว่า ราคาจำหน่ายเสื้อสีดำ เสื้อยืดคอกลมเริ่มต้นราคา 89 บาท ส่วนเสื้อโปโลเริ่มต้น 179 บาท เสื้อเชิ้ตสีดำราคา 239 บาท สำหรับราคาขายปลีกเครื่องแต่งกายสีดำที่มีราคาขายสูงกว่าความเป็นจริง ภาคเอกชนเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคาปลายทาง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ค้ารายย่อยขึ้นราคา สำหรับผู้ที่ขายเกินราคา ตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีหรือปรับไม่เกิน 140,000 บาทหรือทั้งจำ-ปรับ
 
 
แจ้งแรงงานไทยที่อยู่ในเกาหลีอย่างผิดกฎหมายสมัครใจเดินทางกลับภายในสิ้นปีนี้
 
กรมการจัดหางาน ประกาศแจ้งแรงงานไทยที่พำนักอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างผิดกฎหมาย ให้แจ้งการเดินทางออกนอกประเทศด้วยความสมัครใจภายในเดือนธันวาคม 2559 นี้ ผู้ที่สมัครใจเดินทางกลับประเทศจะได้รับสิทธิลดหย่อนการห้ามเข้าประเทศ ซึ่งผู้เสียหายที่เคยถูกปฏิเสธห้ามเข้าเมืองเนื่องจากพำนักอยู่อย่างผิดกฎหมายในระยะเวลาก่อนหน้า ก็สามารถได้รับสิทธิตามข้อยกเว้นนี้ด้วยเช่นกัน
 
นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐเกาหลีแจ้งประกาศเชิญชวนให้ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างผิดกฎหมาย แจ้งการเดินทางออกนอกประเทศด้วยความสมัครใจตามโครงการเดินทางออกโดยสมัครใจ ซึ่งได้ขยายระยะเวลาต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคม 2559 นี้ โดยมีขั้นตอนคือ ผู้ที่สมัครใจเดินทางเตรียมหนังสือเดินทางที่มีอายุการใช้งาน และ ตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับประเทศของตน โดยเดินทางไปแจ้งด้วยตนเองที่สำนักงานด่านตรวจคนเข้าเมืองได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการแจ้ง ซึ่งผู้ที่เดินทางออกด้วยความสมัครใจตามโครงการดังกล่าวจะได้รับสิทธิลดหย่อนการห้ามเข้าประเทศซึ่งผู้เสียหายที่เคยถูกปฏิเสธห้ามเข้าเมืองเนื่องจากพำนักอยู่อย่างผิดกฎหมายในระยะเวลาก่อนหน้าก็สามารถได้รับสิทธิตามข้อยกเว้นนี้ด้วยเช่นกัน
 
กรมการจัดหางานขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่พำนักอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีทราบหรือประชาชนที่มีญาติอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีแจ้งให้ญาติรับทราบ เนื่องจากหากพ้นระยะเวลาที่กำหนดอาจถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายและถูกเนรเทศ รวมทั้งถูกขึ้นบัญชีห้ามเข้าประเทศอีกด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร.02-245-6708-9 ในวันและเวลาราชการ หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
 
ครม.เห็นชอบปรับเพดานเงินเดือน ขรก. ขีดเส้นให้ย้ายข้ามห้วยได้เงินเดือนเท่าเดิม
 
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 18 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.)พิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 เป็นต้นไป เนื่องจากมีข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 45,380 คน ร้องเรียนความเป็นธรรมถึงการได้รับเงินเดือนถึงอัตราเงินเดือนขั้นสูงหรือเรียกว่าเงินเดือนตัน จึงเห็นชอบการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงที่ได้รับแต่งตั้ง โดยมีการแบ่งเป็นประเภทของข้าราชการพลเรือน 4 ประเภท คือ 1.ผู้ดำรงตำแหน่งในระดับที่ได้รับเงินเดือนถึงอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดหรือเงินเดือนตัน ให้ได้รับเงินเดือนในระดับถัดไปของแต่ละประเภทตำแหน่ง 2.ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างประเทศ ต่างสายงานหรือต่างระดับ และเงินเดือนที่ได้รับสูงกว่าเงินเดือนขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเดิม 3.กรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโส และระดับประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ เมื่อได้รับเงินเดือนถึงอัตราเงินเดือนสูงสุดที่กพ.กำหนดแล้ว ให้ได้รับเงินเดือนโดยคำนวณจากฐานในการคำนวณระดับบน 2 และ 4.เป็นผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษหรือค่าจ้างขั้นสูง หรือใกล้ถึงขั้นสูง ให้นำค่าตอบแทนมารวมเป็นเงินเดือน และให้ได้รับเงินเดือนในอัตราใหม่
 
ด้านพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเห็นชอบดังกล่าว เพื่อให้มีการข้ามแท่นหรือข้าห้วยได้ แต่ให้มีเงินเดือนเท่าเดิม และมีแนวทางในการรับเงินเดือนที่สูงขึ้นในวันข้างหน้า เพื่อให้กลุ่มที่ตามมาข้างหลังมีแนวทางการเจริญเติบโต ทั้งให้การลื่นไหลของข้าราชการสะดวกมากยิ่งขึ้น และเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน
 
 
กระทรวงแรงงานเตรียมทำริบบิ้น 9.9 ล้านชิ้น
 
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2559 ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.ได้ให้หน่วยงานในสังกัดจัดเจ้าหน้าที่ออกหน่วยบริการประชาชนที่เดินทางมาร่วมลงนามแสดงความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่ท้องสนามหลวง โดยจะมีการแจกยาสามัญประจำบ้าน ของใช้ที่จำเป็น อาทิ ยาดม ยาหม่อง ผ้าเย็น และกระดาษทิชชู เป็นต้น
 
ส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้จัดทำริบบิ้นเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนที่มาร่วมแสดงความอาลัยฯ ทั่วประเทศเช่นเดียวกัน เพื่อใช้ติดขัดในการแต่งกายไว้ทุกข์ของประชาชน โดยเบื้องต้นได้จัดทำจำนวน 9,999,999 ชิ้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะให้ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดและสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค นำไปมอบผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้นำไปแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ สำหรับส่วนกลางจะประสานไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่เข้าร่วมลงนามแสดงความอาลัยฯ
 
ทั้งนี้ ประชาชนที่เดินทางมาร่วมลงนามแสดงความอาลัยฯ สามารถติดต่อขอรับบริการดังกล่าวได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่บูทของกระทรวงแรงงาน บริเวณสนามหลวง (ฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
 
"จัดหางาน" ย้ำนายจ้างที่นำคนต่างด้าวมาทำงานด้วยตนเอง ต้องวางหลักประกันให้ลูกจ้าง
 
นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า นายจ้างที่ประสงค์จะนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศด้วยตนเอง สามารถดำเนินการได้โดย 1) เมื่อนายจ้างรับบัญชีรายชื่อ (Name List) จากประเทศต้นทางแล้ว ให้ยื่นขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ โดยเสียค่ายื่นคำขอและค่าใบอนุญาตทำงาน 1,000 บาท/คน/ปี 2) นายจ้างจะต้องวางหลักประกันเป็นเงินสด หรือพันธบัตรของรัฐบาลไทย หรือสัญญาค้ำประกันของธนาคาร ณ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน โดยนายจ้างที่นำคนต่างด้าวมาทำงานด้วยตนเองในจำนวนไม่เกิน 99 คน วางหลักประกัน 1,000 บาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน หากนำคนต่างด้าวมาทำงานตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป วางหลักประกัน 100,000 บาท
 
และ 3) สำนักงานจัดหางานจังหวัด/สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ รวบรวมเอกสารที่นายจ้างยื่นขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวส่งให้กับสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวเพื่อพิจารณาตรวจสอบและแจ้งสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทาง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อพิจารณาตรวจลงตราให้กับคนต่างด้าว 4) นายจ้างนำบัญชีรายชื่อ (Name List) ไปแจ้งนัดศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง โดยสัญชาติ กัมพูชาติดต่อที่ศูนย์ฯจังหวัดสระแก้ว สัญชาติลาวติดต่อที่ศูนย์ฯจังหวัดหนองคาย และสัญชาติเมียนมาติดต่อที่ศูนย์ฯจังหวัดตาก เพื่อนำคนต่างด้าวมาอบรมก่อนที่จะเดินทางไปทำงานกับนายจ้าง
 
ทั้งนี้ กรมการจัดหางานจึงขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างทราบ โดยสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน โทร 0-2354-1721 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร 1694
 
 
กระทรวงแรงงาน ออกหนังสือขอความร่วมมือสถานประกอบการพิจารณาให้ลูกจ้างลามาแสดงความอาลัย โดยไม่ถือเป็นวันลา
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานบอกว่าในที่ประชุมศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.) ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงวัฒนธรรม ในการจัดเต็นท์บริเวณท้องสนามหลวง เพื่อดูแลประชาชน ที่เดินทางมาร่วมถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และลงนามเพื่อแสดงความอาลัย ณ ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวังโดยในส่วนของกระทรวงแรงงานจะดูในเรื่องของการจัดที่นั่งพัก น้ำดื่ม ของว่าง รวมถึงชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วย ซึ่งในวันนี้เริ่มดำเนินการแล้วที่ท้องสนามหลวงนอกจากนี้พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมลงนามในหนังสือขอความร่วมมือผู้ประกอบการ พิจารณาให้แรงงานที่ขอลาเพื่อมาลงนามแสดงความอาลัย โดยไม่ถือเป็นวันลาตามความเหมาะสม รวมทั้งจัดให้มีจุดลงนามในสถานประกอบการและร่วมทำบุญภายในสถานประกอบการ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
 
 
ญี่ปุ่นแนะไทยเพิ่มโรงงานอุตสาหกรรมให้มากขึ้นในพิษณุโลกและขอนแก่น
 
19 ต.ค. 2559 นาย Shiro Sadoshima เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมด้วยนาย Takehiro Yasumi ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4 ขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เข้าเยี่ยมคารวะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญดังนี้
 
เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นกล่าวแสดงความเสียใจต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมหารือกับรองนายกรัฐมนตรีถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่นที่จะต้องดำเนินต่อไป ทั้งความร่วมมือในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) และความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
 
ในโอกาสนี้ ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4 ขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ได้กล่าวรายงาน ผลการศึกษาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โดยระบุว่า เส้นทางถนนในไทยมีการพัฒนาดีอยู่แล้ว แต่ปริมาณการขนส่งสินค้าทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยยังมีปริมาณน้อยอยู่เนื่องจากยังมีโรงงานอุตสาหกรรมน้อย JICA จึงเสนอแนะให้ไทยเพิ่มโรงงานอุตสาหกรรมให้มากขึ้นในจังหวัดพิษณุโลกและขอนแก่น สำหรับในสปป.ลาว เวียดนาม เมียนมา แม้จะมีความต้องการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้นแต่เส้นทางถนนและการอำนวยความสะดวกบริเวณจุดผ่านแดนยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร
 
อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เหตุผลสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกคือ ต้องการให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเวียดนาม ลาว ไทย ไปสู่เมียนมา รองนายกรัฐมนตรีเห็นว่า อันดับแรก JICA ควรร่วมมือกับรัฐบาลเวียดนาม ลาว และเมียนมา ในการพัฒนาเส้นทางถนนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกับไทย ส่วนการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในจังหวัดพิษณุโลกและขอนแก่นจึงเป็นเรื่องรองลงมา ซึ่งทาง JICA ยินดีรับไปพิจารณา
 
 
แรงงานเมียนมาสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สร้างองค์เจดีย์ถวาย คาดใช้งบถึง 30 ล้านบาท
 
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์พระเจดีย์ไทย-เมียนมา ที่แรงงานชาวเมียนมา ได้ร่วมแรงร่วมใจร่วมทุนทรัพย์ ก่อสร้างขึ้นมาในพื้นที่ของวัดคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตั้งแต่กลางปี 2557 เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทำให้ชาวเมียนมาได้เข้ามาอาศัยอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร แต่ในขณะนี้การก่อสร้างเดินหน้าไปได้เพียงร้อยละ 90 พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน สร้างความเสียใจให้แก่แรงงานชาวเมียนมาอย่างหาที่สุดมิได้
 
โดยนายชิง โค ประธานในการจัดสร้างพระเจดีย์ไทย-เมียนมา กล่าวว่าเมื่อทราบข่าวการเสด็จสวรรคต ก็รู้สึกเสียใจอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ โดยพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นมานั้น ตั้งใจจะถวายแด่พระองค์ท่าน แต่เมื่อพระองค์ท่านไม่อยู่แล้ว ก็ยืนยันเจตนารมย์ที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จ สมบูรณ์ สวยงาม เพื่อเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่จะแสดงออกถึงความจงรักภักดีถวายแด่พระองค์ท่าน โดยขณะนี้เหลือในส่วนของรายละเอียดที่จะอัญเชิญพระพุทธรูปที่สร้างจากหินขาว รวมถึงยอดพระเจดีย์ 9 องค์ ที่สั่งมาจากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุรวมถึงเพชรนิลจินดา ที่ได้รับการบริจาคจากแรงงานชาวเมียนมาทั่วประเทศ รวมถึงคนไทยที่มีจิตศรัทธา
 
ทั้งนี้พระเจดีย์ไทย-เมียนมาที่กำลังก่อสร้างนี้ มีลักษณะใกล้เคียงกับองค์พระเจดีย์ชเวดากองของเมียนมา โดยได้มีการคัดลอกแบบ รวมถึงวัสดุที่จำเป็นส่วนใหญ่ก็จะสั่งมาจากเมียนมาเป็นหลัก เพื่อให้เป็นศูนย์กลางจิตใจของแรงงานชาวเมียนมา และให้ร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ชาวเมียนมาได้มาอาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย โดยคาดว่าองค์พระเจดีย์จะเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดประมาณเดือนมีนาคม 2560 ในขณะนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างแล้วกว่า 20 ล้านบาท และเมื่อแล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการสร้างไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท
 
 
เคาะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-10 บาทใน 69 จังหวัด
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างในวันนี้ มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 โดยจะขึ้นอีกระหว่าง 5-10 บาท โดยผลสรุปที่พิจารณาแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ไม่ปรับค่าจ้างเลย มี 8 จังหวัด 2.ปรับขึ้น 5 บาท มี 49 จังหวัด 3.ขึ้น 8 บาท มี 13 จังหวัด และ 4.ขึ้น 10 บาท มี 7 จังหวัด ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป
 
ประธานบอร์ดค่าจ้าง กล่าวกล่าวยืนยันว่า การปรับค่าข้างในครั้งนี้ยึดหลักตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และการนำ 10 ปัจจัย คือ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาการผลิต ความสามารถในการผลิต มาตรฐานการครองชีพ ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถธุรกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับประเทศ และสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงศึกษาให้เทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยนำมาเข้าสูตรคำนวณใหม่ จึงได้ผลลัพธ์ตามที่มีมติออกมา
 
ส่วนขั้นตอนต่อไปจะสรุปผลการประชุมส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาลงนาม และส่งเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็วที่สุด รายละเอียด 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
 
1.กลุ่มที่ไม่ปรับค่าจ้างเลย มี 8 จังหวัด คือ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
 
2.ขึ้น 5 บาท มี 49 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคราม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย
 
3.ขึ้น 8 บาท มี 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา และพระนครศรีอยุธยา 
 
4.ขึ้น 10 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

UNHCR ยันไม่เกี่ยวข้องคนลี้ภัยฝรั่งเศส ประณามความเห็นไม่เหมาะสมต่อการสวรรคต

0
0

19 ต.ค. 2559 กรณีมีกระแสความไม่พอใจจากประชาชนจำนวนหนึ่งต่อการที่รัฐบาลฝรั่งเศสให้ความช่วยเหลือลี้ภัยแก่ อั้ม เนโกะ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่คลิปที่มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยบางส่วนได้เรียกร้องไปยัง UNHCR ให้ควบคุมพฤติกรรมของผู้ลี้ภัย

ล่าสุด (18 ต.ค.) สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNHCR) เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับบุคคลดังกล่าว โดยการให้ลี้ภัยเป็นการพิจารณาจากรัฐบาลฝรั่งเศสเท่านั้น พร้อมประณามทุกความเห็นของบุคคลดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNHCR) ได้ทราบเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งจากบุคคลที่ได้อ้างตนว่าลี้ภัย ที่ประเทศฝรั่งเศส

UNHCR ขอยืนยันว่าทาง UNHCR ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใดต่อบุคคลดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อม การขอลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศสได้รับการพิจารณาจากทางรัฐบาลฝรั่งเศสเท่านั้น

UNHCR ขอประณามทุกความคิดเห็นของบุคคลดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มา ณ ที่นี้

UNHCR ร่วมกับทุกหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ซึ่งทรงอุทิศตนในการทรงงาน และความเมตตากรุณาเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร พระองค์ทรงเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตไม่เพียงเฉพาะต่อผสกนิกรชาวไทยแต่ต่อผู้คนทั่วโลกอีกด้วย

สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. ชวนส่ง SMS แสดงความอาลัย 'ท่านมุ้ย-สมเถา' ชวนร่วมร้อง 'สรรเสริญพระบารมี' 22 ต.ค.นี้

0
0

กสทช. ชวนพิมพ์ 9 ส่ง SMS ไปยังหมายเลข 4567999 แสดงความไว้อาลัยและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ 'ท่านมุ้ย-สมเถา' ชวนร่วมร้อง 'สรรเสริญพระบารมี' 22 ต.ค.นี้ ณ บริเวณถนนหน้าพระลาน กำเเพงพระบรมมหาราชวัง เพื่อบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวเป็นมิวสิกวิดีโอนำไปเผยแพร่ในโรงภาพยนตร์และสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศ

19 ต.ค. 2559 ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อปวงชนชาวไทย สำนักงาน กสทช. จึงร่วมกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย    

เปิดช่องทางให้ประชาชนร่วมแสดงความไว้อาลัยและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้อย่างทั่วถึง ด้วยการส่งข้อความสั้น (SMS) พิมพ์ 9 ส่งไปยังเลขหมาย 4567999 ทุกเครือข่ายทั่วประเทศ ฟรี ตั้งแต่วันนี้ (19 ต.ค. 2559) เป็นต้นไป โดยหลังจากประชาชนพิมพ์ 9 ส่งข้อความไปแล้ว ระบบจะส่งข้อความตอบกลับการร่วมแสดงความไว้อาลัย ว่า “บอกให้ก้องทั่วโลกหล้า ว่าเราคือปวงประชาผู้จงรัก”

ตัวอย่างข้อความที่ส่งกลับหลังส่ง 9 ไปยังหมายเลข 4567999

สำนักงาน กสทช. ขอเชิญชวนประชาชนคนไทยมาร่วมกันแสดงความไว้อาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในครั้งนี้

พร้อมนี้ สำนักงาน กสทช. ยังได้มีหนังสือแจ้งกำชับไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนทุกรายให้เพิ่มขีดความสามารถและความระมัดระวัง ในการดูแลบำรุงรักษา ซ่อมแซม และแก้ไขปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคม เครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ ที่นำมาใช้ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตพื้นที่พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง และพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ที่มีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปเพื่อร่วมลงนามน้อมเกล้าแสดงความไว้อาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และให้รถตรวจสอบคุณภาพสัญญาณของสำนักงานฯ ออกตรวจสอบคุณภาพสัญญาณการให้บริการด้วย ทั้งนี้ หากประชาชนพบปัญหาในการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถแจ้งร้องเรียนมาได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 ฟรี

'ท่านมุ้ย-สมเถา' ชวนร่วมร้อง 'สรรเสริญพระบารมี' 22 ต.ค.นี้

ขณะที่ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ  “ท่านมุ้ย” ผู้กำกับ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ชื่อดัง ได้จับมือกับวาทยกร คีตกร นักประพันธ์เพลงคลาสิกชื่อดัง “สมเถา สุจริตกุล” เชิญชวนคนไทยออกมาร่วมร้องเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ร่วมกับวงดนตรีฟิลฮาร์โมนิค และ สยาม ซินโฟนิเอตต้า ออร์เคสตรา และนักร้องประสานเสียง 100 คน เพื่อบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวเป็นมิวสิกวิดีโอนำไปเผยแพร่ในโรงภาพยนตร์และสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศ
       
ทั้งนี้ การบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวจะมีขึ้นในวันวันเสาร์ที่ 22 ต.ค. 2559 ณ บริเวณถนนหน้าพระลาน กำเเพงพระบรมมหาราชวัง โดยผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมจะต้องเเต่งกายสีดำแบบสุภาพและไปพบที่จุดนัดหมายก่อนเวลาบ่ายโมงตรง

 

ที่มา : เว็บไซต์ กสทช. และ ผู้จัดการออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'บอร์ดค่าจ้าง' จ่อเสนอครม.ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 4 กลุ่มจังหวัด ตั้งแต่ 'ไม่ขึ้น' ถึง 10 บ.

0
0

ที่มาภาพเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

19 ต.ค. 2559 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 ครั้งที่ 9/2559 ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 โดยใช้สูตรการคำนวณใหม่ ซึ่งเพิ่มปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมกว่า 10 รายการ ได้แก่ 1) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับปัจจุบัน 2) ดัชนีค่าครองชีพ 3) อัตราค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อตั้งแต่ปี พ.ศ.2558-2559 4) มาตรฐานค่าเฉลี่ยการครองชีพ 5) ต้นทุนการผลิต 6) ราคาสินค้าและบริการ 7) ความสามารถของธุรกิจ  8) ผลิตภาพแรงงาน 9) ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553-2557 และ 10) สภาพเศรษฐกิจและสังคม สำหรับผลการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว

โดยได้แบ่งค่าจ้างเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ไม่ขึ้นค่าจ้าง มี 8 จังหวัด คือ สิงห์บุรี,ชุมพร, นครศรีธรรมราช, ตรัง, ระนอง, นราธิวาส,ปัตตานี และยะลา กลุ่มที่สองขึ้น 5 บาท มี 49 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, น่าน, ตาก, กาญจนบุรี, ราชบุรี, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี, พัทลุง, สตูล, กำแพงเพชร, พิจิตร, แพร่, เพชรบูรณ์, อุทัยธานี, สกลนคร, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์, สุรินทร์, อำนาจเจริญ, ชัยนาท, ลพบุรี, นครนายก, สระแก้ว, ประจวบคีรีขันธ์, สมุทรสงคราม, จันทบุรี, ตราด, ลำพูน, พะเยา, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, บึงกาฬ, นครพนม, อุบลราชธานี, อ่างทอง, เลย, หนองบัวลำภู, มุกดาหาร, ยโสธร, เชียงราย, พิษณุโลก, อุดรธานี, ชัยภูมิ, ศรีษะเกษ, นครสวรรค์ และหนองคาย  กลุ่มที่สามขึ้น 8 บาท มี 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, ชลบุรี, ระยอง,สุราษฎร์ธานี, สงขลา. เชียงใหม่, สระบุรี, ฉะเชิงเทรา, กระบี่, พังงา และอยุธยา ส่วนกลุ่มที่สี่ขึ้น 10 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และภูเก็ต ส่วนกรณีจังหวัดที่ไม่ได้ขอขึ้นแต่บอร์ดค่าจ้างได้พิจารณาเห็นสมควรปรับขึ้น และบางจังหวัดที่ขอปรับขึ้นแต่ไม่ได้ขึ้นนั้น ได้พิจารณาโดยใช้สูตรคำนวณพื้นฐานปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปของคณะกรรมการค่าจ้างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2560 ต่อไป

วัลลภ กิ่งชาญศิลป์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า การพิจารณาอัตราค่าจ้างในครั้งนี้ มีทั้งปรับขึ้นและไม่ปรับขึ้น ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่บอร์ดค่าจ้างมีการคิดสูตรการคำนวณขึ้นมาใหม่ ที่สอดคล้องกับข้อมูลสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในโอกาสต่อไปได้ สิ่งที่ทำในวันนี้คือ การปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนแล้ว
 
ด้าน สมบัติ น้อยหว้า กรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง กล่าวเพิ่มเติมว่า บอร์ดค่าจ้างได้ใช้สูตรการคำนวณใหม่และได้พิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบที่สุดในการปรับขึ้นและไม่ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างครั้งนี้ โดยคำนึงถึงระบบเศรษฐกิจและผลกระทบที่อาจจะตามมาเป็นหลัก ยืนยันว่าไม่มีการชี้นำหรือแทรกแซงทางการเมืองอย่างแน่นอน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดเกล้าฯ ถอดยศ 'ร.ต.ภัฏณัฐ' นายทหาร เหตุสั่งซ้อมพลฯทรงธรรม ที่ยะลาจนเสียชีวิต

0
0

19 ต.ค. 2559 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีเรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศทหาร  โดยระบุว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอด ร.ต.ภัฏณัท เลิศชัยกุล สังกัดกองทัพบก ออกจากยศทหาร ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. 2559 ซึ่งเป็นวันที่มีคําสั่งปลดออกจากราชการ เนื่องจากกระทําความผิดวินัยทหารฐานขัดคําสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและการขัดคําสั่งนั้นเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติยศทหาร พุทธศักราช 2479 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยศทหาร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2501 ประกอบระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยผู้ซึ่งไม่สมควรจะดํารงอยู่ในยศทหารและบรรดาศักดิ์ พ.ศ. 2507 ข้อ 2

ประกาศ ณ วันที่ 7 ต.ค. พ.ศ.2559 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
 
ผู้จัดการออนไลน์รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ภัฏณัฐ ถูกระบุว่าเคยเป็นนายทหารเวร และออกคำสั่งให้ทหารเวรลงโทษ ซึ่งกรณีนี้มี 6 นายทหารร่วมกระทำความผิด ลงโทษวินัย พลทหาร ทรงธรรม หมุดหมัด สังกัดค่ายพยัคฆ์ กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 152 (ร.152 พัน.1) อ.บันนังสตา จ.ยะลา จนเสียชีวิต และกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคม เนื่องจากมีรายงานข่าวว่าจริงๆ แล้วพลทหารทรงธรรมที่เกิดเรื่องก็เนื่องจากต้องการทวงเงินจำนวน 5,000 บาทที่ถูกผู้บังคับบัญชาเอาไป จนเกิดการทะเลาะกันเพราะผู้บังคับบัญชาไม่ยอมคืนเงินให้ ต่อมาได้มีการลงโทษทารุณพลทหารทรงธรรมทั้งคืนตั้งแต่ 4 ทุ่มจนถึงตี 4 ทำให้พลทหารทรงธรรมบาดเจ็บสาหัส กระทั่งเสียชีวิตในที่สุด      
 
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งให้ลงโทษและสอบสวนครูฝึกที่เกี่ยวข้อง โดยระบุว่า “ถ้าผิดจริงจะต้องปลดออก งดบำเหน็จบำนาญ ต้องว่าไปตามวินัยของทหารและคดีอาญา”
 
ขณะที่กองทัพบกได้มีคำสั่งให้ย้าย พ.ท.สมคิด คงแข็ง ผบ.ร.152 พัน.1 และนายทหารยศร้อยเอก ออกนอกหน่วยแล้ว เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ต้องร่วมรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาวตรี สุขศรี

0
0

"ปัจเจกชนที่เสื่อมทราม น่าหวาดกลัว เพราะขาดสติ ขาดความยั้งคิด ไม่รู้ผิด ไม่รู้ชอบ อาจพอพบเห็นได้ในสังคมที่ยังดี แต่สังคมจะเสื่อมทราม และน่าสะพรึงกลัวทันที ถ้ากฎหมายไม่ทำงาน และปัจเจกชนน้อยนิดที่เสื่อมทรามนั้นมีอภิสิทธิ์ได้ลอยนวล"

นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2559

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาจ่ายเงินทดแทน นศ. ยะลา หลังถูกจับกุมเกินกำหนด-ซ้อมทรมาน

0
0

ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาให้กองทัพบกที่ 1 จ่ายค่าชดเชยแก่ 2 น.ศ ยะลา กรณีควบคุมตัวเกินกำหนดกฎหมายและซ้อมทรมาน ทนายชี้อยากให้เป็นบรรทัดฐานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบ

19 ต.ค. 2559 เวลา 14.30 น. ศาลปกครองสงขลาอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.55-56/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1309-1310/2559ระหว่าง นายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องที่1 กับนายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องที่ 2 กับ กองทัพบกที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดี ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย  จากกรณีที่นายอิสมาแอ เตะ และนายอามีซี มานาก อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฏยะลาถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมและซ้อมทรมานในระหว่างถูกควบคุมตัวเพื่อให้รับสารภาพอันจะนำไปสู่การถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง อีกทั้งถูกควบคุมตัวเกินกำหนดตามอำนาจพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457

ศาลพิพากษาให้กองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมชดเชยความเสียหายให้แก่อิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1จำนวน 305,000 บาท และอามีซี มานาก ผู้ฟ้องคดีที่2 จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องคดี ( 14 มกราคม 2552 )  เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ  โดยมีรายละเอียดดังนี้

-     การควบคุมตัวเกินกำหนดตามอำนาจพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพ.ศ. 2457 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน แต่เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 9 วัน ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ใช้อำนาจโดยมีพฤติการณ์ที่ไม่นำพาต่อกฎหมายและละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ศาลจึงเห็นควรให้มีการชดเชยต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นจำนวน 50,000 บาท

-     ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มาตรา 32 ระบุไว้ ห้ามมิให้ปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวเหมือนเป็นผู้กระทำผิดโดยที่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากทั้งสองคนนี้ยังไม่ถูกดำเนินคดีหรือแจ้งข้อหา การควบคุมตัวดังกล่าวได้มีการปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ 2 อย่างไม่ถูกต้อง และเกินความจำเป็นระหว่างการควบคุมตัวถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่นำพาต่อกฎหมาย มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้อง ศาลจึงเห็นควรให้มีการชดเชยต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นจำนวน 100,000 บาท

-     ค่าเสียหายจากสำหรับค่าเสียหายจากการเสื่อมเสียศักดิ์ศรี ถูกดูหมิ่นจากเพื่อนบ้านและเพื่อนนักศึกษา ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ได้มีการร้องขอให้มีการจัดการประกาศลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อยสองฉบับ ฉบับละสามวันติดต่อกัน หรือหนังสือชี้แจง-หนังสือเวียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกองทัพบกที่ 1 ศาลพิจารณาว่าการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ก็เป็นการปฏิบัติงานและใช้อำนาจทางกฎหมาย หากแต่เป็นการกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเช่นกัน ศาลจึงเห็นควรให้มีการชดเชยต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นตำนวนเงิน 50,000 บาท และยกคำขอให้มีการประกาศในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและจดหมายเวียน

-     กรณีส่วนต่างของค่าชดเชยของผู้ฟ้องคดีที่หนึ่งและผู้ฟ้องคดีที่สอง จำนวน 105,000 บาท เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ทหารของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จับกุม และในขณะควบคุมตัวมีการทำร้ายร่างกายนายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่1 โดยมีหลักฐานว่าถูกทำร้ายร่างกายตามสำเนาเวชระเบียน ส่วนนี้ศาลเห็นควรให้มีการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลจำนวน 5,000 บาท ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่ปรากฎหลักฐานใดๆ ว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในขณะถูกควบคุมตัว จึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ได้

ผรัณดา ปานแก้ว ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สิ่งที่ตนคาดหวังคือการพิจารณาในประเด็นมาตรา 32 ตามรัฐธรรมนูญ ของกรณีนี้ ให้กลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมในการเรียกร้องความยุติธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อมีกรณีการลงโทษ ทรมาน หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถึงแม้ค่าชดเชยที่ได้จะไม่ใช่จำนวนที่สูงนัก แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้เสียหายด้วยเช่นกัน

อิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวว่า ผลการพิพากษาแสดงให้เห็นว่ามีการทำร้ายร่างกายจริงและผู้กระทำก็ต้องรับผิดชอบ ถึงแม้ว่าตนจะยังไม่พอใจกรณีที่มีการยกคำขอให้มีการประกาศลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ แม้จะมีการชดเชยเงินค่าเสียหายก็ตาม

“ตอนที่เขาจับกุมเราเขาได้เอาไปออกสื่อว่าเขาได้จับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ แต่เมื่อเราขอให้ประกาศในหนังสือพิมพ์เมื่อพบว่าเราเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่ได้เกี่ยวข้องขบวนการเขากลับไม่ทำ เขาชดเชยเป็นเงินอย่างเดียว เมื่อไม่มีการประกาศไม่มีจดหมายเวียนก็ยังแน่ใจไม่ได้ว่ายังมีรายชื่ออยู่ในระบบของฝ่ายความมั่นคงของรัฐหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็ยังมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจตราแถวที่ทำงาน หรือไปที่บ้านพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด”

“โดยรวมแล้วก็ค่อนข้างพอใจกับคำพิพากษา แม้ความรู้สึกตอนนั้นจะรู้สึกเหมือนเขาทำกับเราแบบไม่มีศักดิ์ศรี เหมือนสัตว์ ทำเหมือนเราไม่ใช่มนุษย์ไม่มีความรู้สึก ทุกวันนี้ผมยังมีแผลเป็นที่เท้าจากวันนั้น  เงินชดเชยที่ได้ในวันนี้ผมไม่ยึดติด แต่อย่างน้อยเขาก็รับผิดชอบกับสิ่งที่เขาทำ เขายอมรับว่าเขาทำกับเราจริงๆ อย่างน้อยก็ยังได้รับความยุติธรรม” อิสมาแอ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กระทรวงดิจิทัล เผยระดม 100 คนมอนิเตอร์เว็บหมิ่น 24 ชม.

0
0

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

19 ต.ค. 2559 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอี ทำหน้าที่ในการตรวจสอบเว็บหมิ่น 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งประสานงานกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อย่างใกล้ชิด ด้วยการใช้ประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 26 ที่ระบุความผิดเกี่ยวกับเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคง ยั่วยุ หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ หากเข้าข่ายความผิดดังกล่าว รัฐบาลสามารถปิดเว็บหมิ่นได้ทันที ซึ่งส่วนใหญ่เว็บที่ถูกปิดจะเป็นเว็บในประเทศ แต่หากเป็นเว็บที่ต้องเข้ารหัส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเว็บในต่างประเทศ รัฐบาลต้องใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ระบุความผิดเกี่ยวกับลามก อนาจาร หมิ่นสถาบัน ซึ่งต้องมีการตรวจสอบหาหลักฐาน ซึ่งปกติใช้เวลา 15 วัน กว่าจะส่งเรื่องมาให้รัฐมนตรีดีอี ตรวจสอบ ลงนาม และส่งเรื่องต่อไปยังศาล เพื่อขอหมายศาล และแจ้งไปยังผู้ให้บริการในต่างประเทศ โดยกระทรวงจะพยายามเร่งรัดขั้นตอนนี้ให้เร็วที่สุด

 พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า วันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา พบเว็บหมิ่นสถาบันประมาณ 52 เว็บเพจ ขณะที่วันที่ 15 ต.ค. พบจำนวน 61 เว็บเพจ โดยสามารถปิดกั้นได้บางส่วนคิดเป็น 35% ของเว็บเพจที่ตรวจพบ แต่ก็นับว่าได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการเป็นอย่างดี ซึ่งในต่างประเทศเองก็ได้ให้กระทรวงต่างประเทศ ประสานงานกับทูตในประเทศต่างๆ ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน รวมถึงไลน์ และ เฟซบุ๊ก ทั้งนี้ นอกจากรัฐบาลจะใช้มาตรการทางกฎหมาย ก็จะให้ความรู้กับประชาชนให้ทำความเข้าใจว่า ไม่ควรกดไลก์ กดแชร์ หรือเก็บข้อมูลที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวไว้ เพราะจะมีความผิดด้วย

"เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีการเพิ่มกำลังคน 3-5 เท่า ในศูนย์ดูแล 24 ชั่วโมงของ ปอท. และของกระทรวงที่ บมจ.ทีโอที คอยดูแลด้วย และได้รับความรับมืออย่างยิ่งกับ กสทช. ไอเอสพี (ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต) และผู้ให้บริการในต่างประเทศ เพื่อลดผลกระทบ เพื่อไม่ให้ประชาชนที่มีความโศกเศร้าอยู่แล้ว ได้รับผลกระทบทางจิตใจมากขึ้น แต่เราไม่อยากให้ทุกอย่างออกมาอยู่ในสื่อสาธารณะทุกเรื่อง เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม แต่ขอให้เข้าใจว่า มีการทำงานต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงอย่างจริงจัง" พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
       
พล.อ.อ.ประจิน ระบุด้วยว่า กระทรวง มีศูนย์ตรวจสอบเว็บหมิ่น 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว แต่ในกรณีนี้ได้เพิ่มกำลังบุคลากรที่ศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (CSOC) เพื่อคอยตรวจสอบเว็บไม่เหมาะสมที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำนวน 28 คน ผลัดหมุนเวียนตลอด 24 ชม. รวมกับศูนย์กองป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) กระทรวงดีอี จำนวน 30 คน และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ของ สตช. จำนวน 60 คน รวมกว่า 100 คน

"จากที่ตรวจสอบพบมีต้นทางที่เป็นเว็บไซต์หมิ่นสถาบันราว 50-60 เว็บที่เราตามอยู่ แต่จากจำนวนนี้จะมีส่วนที่เกี่ยวโยงไปอีก 5-6 เท่า ที่เป็นเครือข่ายย่อย ซึ่งก็มีส่วนที่ปิดได้โดยอำนาจ คสช. ตามประกาศฉบับ 26 อีกส่วนกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานเพื่อเข้าสู่กระบวนการศาล ซึ่งเข้าข่ายทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา" พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์และ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุกหญิง: ระเบียบ อำนาจ ความรุนแรง...เอาตัวให้รอดในโลกหลังกำแพง

0
0

ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงมากที่สุดในโลก 14 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ทั่วโลกไม่มีที่ไหนเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ เรื่องเล่าจากอดีตคนคุก เมื่อชีวิตที่ถูกกระทำซ้ำซ้อนจากอำนาจและความรุนแรงในโลกหลังกำแพง การกดบังคับด้วยระเบียบวินัย กับการดิ้นรนอยู่ให้รอด

  ภาพโดย Adam Jones (CC BY-SA 2.0)

“ระดับของอารยะธรรมในสังคมสามารถวัดได้จากจำนวนนักโทษในคุก” ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟกี นักเขียนชาวรัสเซีย

ตัวเลขผู้ต้องขังหญิง ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 มีจำนวน 47,623 คน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่เมื่อนำจำนวนผู้ต้องขังหญิงหารด้วยจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด ประเทศไทยกลับมีสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก หรือประมาณร้อยละ 14 ขณะที่ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีตัวเลขนี้ถึงร้อยละ 10

และเมื่อคิดเป็นอัตราผู้ต้องขังหญิงต่อประชากร 100,000 คน ตัวเลขของไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 71.2 ซึ่งก็เป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลกอีกเช่นกัน นี่คือตัวเลขที่กฤตยา อาชวนิจกุล จากโครงการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูประบบเรือนจำผู้ต้องขังหญิงและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้กับเรา

ตัวเลขที่ปรากฏในเว็บไซต์ของกรมราชทัณฑ์ ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2559 พบว่า มีต้องราชทัณฑ์ที่เป็นหญิงทั้งหมด 43,675 คน แบ่งเป็น

-นักโทษเด็ดขาด 35,768 คน

-ผู้ต้องขังระหว่าง 7,604 คน

-เยาวชนที่ฝากขัง 4 คน

-ผู้ถูกกักกัน 3 คน และ

-ผู้ต้องกักขัง 296 คน

“ระดับของอารยะธรรมในสังคมสามารถวัดได้จากจำนวนนักโทษในคุก”

พวกเธอเหล่านี้กระจายอยู่ในทัณฑสถานหญิง, ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ และแดนหญิงในเรือนจำชาย 143 แห่งทั่วประเทศ โดย 2 ใน 5 หรือประมาณร้อยละ 38 ใช้ชีวิตอยู่ในแดนหญิงซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเรือนจำชาย ซึ่งหมายความการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเธอต้องเผชิญข้อจำกัดมากกว่าผู้ต้องขังหญิงที่อยู่ในทัณฑสถานหญิงโดยเฉพาะ

...............

“วันแรกที่โดนล็อกตัวเขาสถานีตำรวจ ไม่เคยร้องไห้เลย มีลูกติดในท้องด้วยสามเดือน ที่เสียใจและร้องไห้คือเราจับมือลูกชายคนโตไม่ได้ ตอนนั้นลูกชาย ป.3 แล้ว เราคลอดในนั้นแน่นอน ตอนนั้นรู้อยู่แล้วว่าต้องติด แต่คิดว่าน่าจะแค่ปีครึ่ง ไม่คิดว่าจะโดนถึงสามปี ตอนนั้นโกรธคนที่เจรจาด้วย สมมติคุณเป็นเจ้าหนี้หนู ก่อนไปเจอคุยกันแล้วจะทำเรื่องสัญญากัน แต่ขออย่าติดคุกได้มั้ย ติดไปลูกจะอยู่กับใคร เขาบอกมาเลย ขอแค่ทำสัญญา แต่ไปจริงๆ เขาล็อกตัวเราเลย แล้วตำรวจพูดกับเราคำหนึ่ง เกลียดมากเลย ผู้หญิงคนที่แจ้งจับเรา เหมือนเขาเป็นกิ๊กกัน ตำรวจบอกว่ามึงจะเอาคดียาหรือคดีทั่วไป ถ้าคดียากูจัดให้ได้นะ ตอนนั้นรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเลย เราถามว่าทำได้เหรอ กูไม่เคยมีประวัติ แต่พ่อของลูกน่ะเล่น เขาบอกว่ากูจะเอาทั้งผัวทั้งเมียเลย เราบอกงั้นก็เอาเข้าคุกเลย”

เรื่องราวของติ๊ก (นามสมมติ) อดีตผู้ต้องขัง เล่าถึงช่วงก่อนที่เธอจะถูกพิพากษาจำคุกและต้องเข้าไปใช้ชีวิตในแดนหญิงของเรือนจำรวมแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ปัจจุบันมีคำบอกเล่าจากภายในคุกออกสู่ภายนอกมากกว่าแต่ก่อน เรื่องของติ๊กเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เส้นเรื่องไม่น่าจะแตกต่างจากเรื่องเล่าอื่นๆ ซึ่งตอกย้ำว่าสภาพความเป็นอยู่ในคุกเป็นอย่างไร

ติ๊กเล่าว่า ตอนเข้าไปถูกสั่งให้แก้ผ้า นุ่งผ้าถุงเพื่อตรวจตัว ทางเจ้าหน้าที่สั่งให้กระโดดและนั่งยองๆ เพราะกลัวว่าเธอจะยัดยาเข้าไปในช่องคลอด

“เราบอกว่านาย หนูท้องอยู่ เขาไม่เชื่อ เขาเอามือมาคลำ แต่ท้องเราโตจริงๆ งั้นไม่ต้องกระโดด นั่งยองๆ สามรอบ แต่ถ้ามึงไม่ท้อง มึงโดนดีแน่ๆ เพราะเคยมีนักโทษบางคนยัดยาเข้าไป แล้วโกหกว่าท้อง”

เด็กในท้องของติ๊กเติบโตขึ้นทุกวัน แต่กว่าเธอจะได้ออกไปตรวจครรภ์ในโรงพยาบาล เธอก็ต้องใช้ชีวิตในคุกถึง 3 เดือน เธอได้รับการตรวจครรภ์ประมาณ 3 ครั้ง จะว่าไปลูกในท้องช่วยให้ชีวิตช่วงแรกในเรือนจำของติ๊กไม่ยากลำบากจนเกินไป เนื่องจากผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์จะได้รับสิทธิพิเศษเล็กๆ น้อยๆ เช่นได้รับอนุญาตให้อาบน้ำก่อน เนื่องจากทางเรือนจำเกรงว่าจะหกล้มหากต้องแย่งกันอาบน้ำกับผู้ต้องขังหญิงรายอื่นๆ

“ตอนไปถึง เราไม่คุยกับใคร เรากลัว คนเก่าๆ ก็มาบอกว่าทำตัวแบบนี้นะ อย่าไปยุ่งกับใคร ไม่ใช่เรื่องของเราก็อย่าไปยุ่ง จะอยู่ได้ ถ้าเราไปยุ่งเรื่องของเขา รุนแรงแน่ อย่างที่เห็นนะ คุกเล็ก (เธอหมายถึงเรือนจำที่เธอเข้าไปอยู่ช่วงแรกก่อนจะย้ายไปยังทัณฑสถานหญิงแห่งหนึ่งในเวลาต่อมา) น้ำก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ น้ำตักออกมาเอาคว่ำบนหัวเลย แล้วคนที่โดนคว่ำ รุ่นยายแล้วด้วย เห็นแล้วก็สงสารนะ เด็กคนนั้นก็ทำเกินไป แต่ยายก็ไม่สมควรเรื่องของเขา คนที่ทำบอกว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่อีกอาทิตย์หนึ่งแกก็ไม่หยุดนะ ก็ยังไปยุ่งเรื่องของเขาอีก ตกกะไดจากชั้นสองกลิ้งลงมาเลย”

...............

‘อย่ายุ่งกับใคร’ เหมือนจะเป็นกฎเหล็กในการใช้ชีวิตในเรือนจำ ถ้าผู้ต้องขังยึดกฎนี้อย่างเคร่งครัด ก็จะหลีกเลี่ยงการเจ็บตัวหรือการลงโทษจากเจ้าหน้าที่ได้ ต่อให้รู้เห็นการกระทำผิดกฎเรือนจำร้ายแรงอย่างไร การ ‘ไม่รู้ไม่เห็น’ เป็นการกระทำที่ดีที่สุดในการเอาตัวรอด

“คุกเล็กมียา สมมติพี่เป็นเอเย่นต์ใหญ่ หนูเป็นลูกน้องพี่ หนูมาเยี่ยมพี่ พี่ก็สั่งเลยว่าพรุ่งนี้มึงวางของตรงนี้ๆ นะ คือมีรหัสของแต่ละบุคคลนะ มึงไปไอ้นี่นะ ตรงนี้ๆ แต่ส่วนใหญ่ อันนี้คิดเองนะ ยาต้องผ่านแดนชายเข้ามาถึงจะผ่านแดนหญิงได้ แกงที่แดนชายทำให้กิน บางทีมีมีดโกนหนวด มีดโกนอยู่ในช้อน ข้างนอกไม่กินแล้ว แต่ข้างในเราต้องกิน บางทีมีต้นหญ้า มีสารพัดจะมี วันนั้นที่เห็นเขามัดเหมือนกระดาษข้อเล็กๆ พันด้วยสก็อตเทปใส มันจะมีข้าวที่แข็งๆ ติดก้นหม้อ เราเห็น เราต้องนิ่ง ทำเป็นไม่เห็น ไม่อย่างนั้นภัยจะถึงตัวเรา เขาส่งซิกกันมาว่ามีของอยู่ในหม้อ มาชี้ตัวเลย มึงเห็นมั้ยเนี่ย ไม่เห็น ล้างหม้อไม่เห็นมีอะไรเลย หนูไม่รู้ เอาสายยางฉีด แล้วคว่ำเลย ไม่ใช่อยากได้หน้า ถ้านายรู้เราก็เกม แต่เราจะโดนเยอะกว่า โดนทั้งนาย โดนทั้งมัน ต้องทำเป็นแบบไม่รู้ไม่เห็น ที่แน่ใจเลยคือหลุดจากแดนชายมากกว่า”

ติ๊กยังเล่าถึงการปรับตัวเพื่อมีชีวิตให้รอดภายใน ‘คุกเล็ก’ อีกว่า

“แต่ก่อนเข้าไปใหม่ๆ ตักข้าวไม่เคยทันเขาเลย แกงส้มก็ก้นหม้อแล้ว เจอแต่น้ำ เขาไม่ได้เอามาให้คนท้อง ไปใหม่ๆ ตัวใครตัวมัน แต่พออยู่ไปนานๆ เราก็เรียนรู้เอง ต้องใส่ชุดหลวงก่อนถึงจะเอาข้าวได้ หมายถึงใส่เสื้อ ใส่ผ้าถุง แต่เขาห้ามไปแปรงฟันก่อนนะ เขาห้ามใช้น้ำ ต้องตักข้าวก่อน เขามีเวลาตักข้าวแค่สิบนาที คุณต้องตักข้าวให้ได้ เราก็เรียนรู้เอา ต้องศึกษาเองว่าทำยังไงถึงจะได้ข้าวกิน ตอนเย็นก่อนเราขึ้นห้องนอน จะเตรียมชุดหลวงไว้เลย เขาจะปล่อยคนท้องก่อนอยู่แล้ว คว้าผ้าถุง คว้าเสื้อ เอาแวร์ข้าวหมายถึงกล่องไอติมวอลล์วางไว้กับเสื้อ เอาเสื้อกับผ้าถุงยัดเข้าไปในกล่องข้าว แล้วก็คว้ากล่องข้าวไปเข้าแถว ไปแต่งตัวหน้าหม้อข้าวเลย ใส่ทับชุดนอนเลย

“คุกเล็กแดนหญิงมี 267 คน ห้องหนึ่งนอนกัน 50 คน ห้องแคบมากเลย ถ้าคุกเล็ก นอนตรงก็นอนตรงเลย จะนอนเอียง อ้าขาไม่ได้ งอเข่าไม่ได้ ไม่มีพื้นที่ มีแย่งที่นอนกัน ตีกัน ถ้าจะพลิกตัวโดนเขาอยู่แล้ว เราจะบอกเขาว่าขอพลิกตัวนะ ไม่ใช่พลิกไปแล้วพลิกอีก โดนแน่ๆ คือนอนจนเมื่อยจริงๆ แล้วถึงขอเขาอีก ห้องที่นอนมีคนท้อง คนป่วย คนแก่ นอนด้วยกัน 50 คน พอท้องแก่ก็ต้องขอแม่ห้องว่าขอนอนติดกับห้องน้ำ เขาจะให้ เพราะต้องลุกไปห้องน้ำบ่อย กฎเหล็กของห้องนอนเลยคือห้ามราดน้ำดัง แล้วส้วมข้างบนไม่ใช่ส้วมแบบปูน เป็นแบบสแตนเลส ราดนิดก็ดังแล้ว ไม่เป็นปูนเขากลัวลื่น พื้นเป็นปูน โถส้วมเป็นสแตนเลส”

...............

แล้ววันที่ลูกเธอจะถือกำเนิดก็มาถึง...

“วันที่เจ็บท้อง เลือดออกมาหน่อยแล้ว แต่นายเขาไม่อยากไปเฝ้า คือกลัวเราเจ็บแล้วค้างคืน เจ็บตอนนี้ แต่ยังไม่คลอด ไปคลอดอีกวัน เขาก็จะไม่มีคนเฝ้าเรา ก็ให้เราเจ็บสุดๆ เลือดไหลสุดๆ จนเราไม่ไหวแล้ว เราออกไปตอนสองทุ่มครึ่ง มดลูกเปิด แต่ยังไม่เปิดแบบสุด ก็นอนอยู่โรงพยาบาล เขาก็ไปนั่งเฝ้าข้างหน้า

"เขามีเวลาตักข้าวแค่สิบนาที คุณต้องตักข้าวให้ได้ เราก็เรียนรู้เอา ต้องศึกษาเองว่าทำยังไงถึงจะได้ข้าวกิน ตอนเย็นก่อนเราขึ้นห้องนอน จะเตรียมชุดหลวงไว้เลย เขาจะปล่อยคนท้องก่อนอยู่แล้ว คว้าผ้าถุง คว้าเสื้อ เอาแวร์ข้าวหมายถึงกล่องไอติมวอลล์วางไว้กับเสื้อ เอาเสื้อกับผ้าถุงยัดเข้าไปในกล่องข้าว แล้วก็คว้ากล่องข้าวไปเข้าแถว ไปแต่งตัวหน้าหม้อข้าวเลย ใส่ทับชุดนอนเลย"

“ตอนคลอดปกติ มีหมอเฝ้า เอาลูกเราไปอยู่ตู้อบ แล้วเอาโซ่เส้นไม่ยาวหรอกมาล่ามขาเราข้างหนึ่งไว้กับเตียง ให้เราไว้หยิบกะโถน เปลี่ยนผ้าอนามัย หยิบน้ำกิน ไว้ขยับตัว จะถ่ายหนักถ่ายเบาก็บนเตียงเลย ผ้าม่านไม่ต้องปิด เพราะเราขยับไปไหนไม่ได้ คนอื่นก็รู้ว่าเราเป็นนักโทษ เขาก็มายืนมอง เราใส่ชุดสีน้ำตาลเขาก็รู้แล้วล่ะ บางทีมาถามโดนคดีอะไร รำคาญ เราก็ตอบคดีฆ่าคนปากไม่ค่อยดี หนีไปเลย เราก็อยากมีโลกส่วนตัว เราอยากคุยกับลูกเราก็มายืนมอง เหมือนกับอยากใส่โซ่บ้าง แต่เวลานั้นไม่อายนะ 3 วันที่ได้อยู่กับลูกมันน้อย เราไม่ใส่ใจใคร ใส่ใจแต่ลูก แค่ตั้งชื่อลูกก็ 3 วัน”

ติ๊กไม่ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงลูกในคุก เนื่องจากคุกเล็กที่เธออยู่ไม่มีระเบียบรองรับ ต่างจากคุกบางแห่งที่อนุญาตให้เลี้ยงดูลูกได้ 1 ปี ในช่วงเวลาที่เธอต้องเปลี่ยนสถานะตนเองเป็นผู้ต้องขัง เธอไม่เคยติดต่อญาติพี่น้อง ไม่เคยร้องขอความช่วยเหลือ กระทั่งช่วงใกล้คลอดที่น้องสาวเธอมาเยี่ยม เกิดบทสนทนาถึงเด็กที่อยู่ในท้องที่กำลังจะออกมาลืมตาดูโลก ติ๊กพูดกับน้องสาวไปว่า ทำเรื่องส่งสถานสงเคราะห์ไปแล้ว ออกจากคุกแล้วจะไปรับเอง

“น้องสาวไม่ยอม เลยกลับไปบ้านบอกให้อาขึ้นมารับ แต่วันคลอดนายจะโทรศัพท์หาญาติให้ คลอดแล้วนะ ให้มารับเด็ก เขาไม่ให้เอาเด็กเข้าเรือนจำ เขาให้เราอุ้มกลับมาแค่หน้าแดน แล้วเขาจะทำหนังสือมอบ พอเราเซ็นชื่อปุ๊บ เราไม่มีสิทธิ์อุ้มลูกเราแล้ว ได้แต่ยืนมองตรงประตู มีช่องนิดๆ เราก็ชะเง้อมอง

“เย็บแผลกลับมา ที่มันสูง เราต้องก้าว แผลมันแตก เป็นหนอง เราบอกหมอผู้ชายในเรือนจำ เขาไม่เปิดแผลดูหรอก เขาบอกเดี๋ยวก็หาย ให้พารามากิน เป็นหมอที่ประจำอยู่ที่นั่น วันหนึ่งก็แค่ไม่กี่คน พูดง่ายๆ หยาบๆ หมอแดกหมาในปาก พูดจาหมาไม่แดก ด่าเลยวันนั้นต่อหน้านาย ยอมโดนลงโทษ มันถามประวัติ ท้องได้ไง ตาก็เหร่ อ้าว พูดยังงี้ได้ไง ทำไมหมอพูดแบบนี้ ท้องมีพ่อหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือว่าไปนอน ไปเมา ให้ใครเอา เอาไปทั่วหรือเปล่าไม่รู้ โห ขึ้นสิ ด่าเลย นี่หมอเป็นหมอหรือหมอเป็นหมา พูดจาไม่ได้เรื่องเลย โดนลงโทษเลย”

...............

น่าจะเป็นความเข้าใจผิดอย่างหนึ่ง คนภายนอกส่วนใหญ่คิดว่า ผู้ต้องขัง วันๆ คงไม่ต้องทำอะไร มีที่อยู่ฟรี ข้าวฟรี เสื้อผ้าฟรี หลวงให้ทุกอย่าง ความเข้าใจที่ว่าผู้ต้องขังอยู่สุขสบายนี่เองที่ทำให้ผู้คนในสังคมจำนวนหนึ่งรับไม่ได้ที่นักโทษคดีอุกฉกรรจ์จะมีชีวิตสุขสบายในเรือนจำ และเรียกร้องให้ประหารเสียให้ตายตกตามกัน ‘จะได้ไม่เปลืองข้าวหลวง’

ไม่มีใครรู้ว่าเป็นการเปรียบเปรยหรือเป็นความจริงอยู่กี่มากน้อย แต่พูดกันว่าคุณสามารถหาทุกอย่างได้ในคุกไม่ต่างจากโลกภายนอก ถ้าคุณมีเงินมากพอ ชีวิตของติ๊กในเรือนจำจึงต้องปากกัดตีนถีบไม่น้อย เพื่อให้ได้สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต เพราะ ‘หลวง’ ไม่มีให้ หรือมีให้คุณภาพก็ต่ำเตี้ย

“เราก็ทำงานกิจกรรมของเรา แล้วแต่เขาเลือกให้เราทำ คุกเล็กที่เราอยู่มีทำหัวไฟแช็ก ประกอบร่ม เย็บอวน แล้วแต่พื้นที่ของแต่ละจังหวัดว่าทำอะไร ใครมาจ้างงานก็มีกองงานให้ผู้ต้องขังทำ ได้แล้วแต่เปอร์เซ็นต์

“ไฟแช็คคิดร้อยละเท่าไหร่ แล้วแต่เขาตกลงกับนายเอง แล้วมาหารเฉลี่ย อย่างถ้าชั้นดีจะได้น้อยกว่าชั้นดีมาก ชั้นเยี่ยมก็จะได้เยอะ ได้ 90 บาทต่อ 6 เดือน ทำจันทร์ถึงศุกร์ เข้างาน 9 โมง บ่ายสองครึ่งเก็บของ บ่ายสามเตรียมตัวอาบน้ำ เข้าแถว บ่ายสี่ขึ้นเรือนนอน มีเวลาอาบน้ำกินข้าวแค่ชั่วโมงเดียว

“คุกใหญ่ที่ไปอยู่ เขาจะแจกแฟ้บ สบู่ แจกอะไรเฉพาะคนที่ไม่มีญาติ จะได้ทุกเดือน แต่คุกเล็ก หกเดือน ปีหนึ่งเห็นสักครั้งหนึ่ง อยากแจกเสื้อในแย่งกันเป็นพัลวันเลย เขาแจกเป็นห้องห้องที่เรานอน แต่มีเรื่องเส้น สมมติถ้าเราไม่ถูกกับหัวหน้าห้อง เราก็จะได้ทีหลัง ไม่มีสิทธิเลือก เขาจะให้คนของเขาก่อน แต่ได้เหมือนกัน บางทีได้มาไซส์ 40 เราไม่มีนมจะเอามาใส่อะไร เราก็ต้องให้เขาไป กางเกงในตัวเท่าหม้อแกง เราก็ใส่ไม่ได้ เอาหนังยางมามัดกางเกงในเหรอ เราก็ต้องให้เขาไป สรุปแล้วเราก็ไม่ได้อยู่ดี

“รับจ้างทุกอย่าง เสาร์อาทิตย์เป็นวันว่างของเรา รับจ้างคือหาวิธีทำเอง ถ้าเก้าโมงเดินลงมาข้างล่างไม่ได้แล้ว ตั้งแต่เข้าปล่อยออกจากห้องจนถึงแปดโมงเช้า เราต้องทำภารกิจของเราให้เสร็จ ทั้งกินข้าว ซักผ้า ทั้งรับจ้างซักผ้าให้เสร็จภายในเวลานี้ เสาร์อาทิตย์เวลาเยอะ แต่เขามีกฎห้ามเข้าราวตากผ้า นายมาต้องมุดแอบ จริงๆ เขาไม่ให้รับจ้างทุกอย่างเลย ยกเว้นนวด ถอนหงอก

“มีพวกคนรวย คนดื้อที่เขาทำผิดกฎ พอจับได้จะโดนลงโทษ ขัดพื้นอาทิตย์หนึ่ง จ้างวันละร้อย ทำมั้ย ทำสิ แล้วก็จะมีตักขี้ในหลุมส้วมใหญ่ ขัดห้องน้ำ ทำทุกอย่างแล้วแต่เขาจะจ้าง อย่างตักเศษอาหารที่หมักหมมในท่อ งานหนัก เหม็นด้วย เราต้องเอาถังไปโกยออก แต่ห้ามให้นายรู้ ถ้ารู้โดนทั้งคนจ้างและคนรับจ้าง รับเป็นตังค์ไม่ได้ ใช้จดเอา อย่างเราอยากได้อะไร ร้อยหนึ่งเหรอ ขอสบู่ ยาสระผม ขนม มาให้เราพอดีร้อยหนึ่ง

"หมอแดกหมาในปาก พูดจาหมาไม่แดก ด่าเลยวันนั้นต่อหน้านาย ยอมโดนลงโทษ มันถามประวัติ ท้องได้ไง ตาก็เหร่ อ้าว พูดยังงี้ได้ไง ทำไมหมอพูดแบบนี้ ท้องมีพ่อหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือว่าไปนอน ไปเมา ให้ใครเอา เอาไปทั่วหรือเปล่าไม่รู้ โห ขึ้นสิ ด่าเลย นี่หมอเป็นหมอหรือหมอเป็นหมา พูดจาไม่ได้เรื่องเลย โดนลงโทษเลย”

“ผ้าอนามัยขอที่หน้าแดนด้วย ให้เซ็นชื่อ ให้ห่อหนึ่ง ถ้าเป็นเยอะก็ขออีก คุกใหญ่แจกเป็นประจำเดือนอยู่แล้ว นานๆ แจกที แล้วของที่ได้ก็คุณภาพไม่ดี ผ้าอนามัยเป็นของหลวงจริงๆ เฉพาะคุกอย่างเดียว เอาแปะใส่กางเกงในปุ๊บ พอถกนั่งเยี่ยว ถ้าไม่จับไว้ร่วงเลย ถ้าจะใส่ผ้าอนามัยต้องหากางเกงในแน่นๆ หรือมัดยางให้แน่น เพราะเวลาวิ่งมันหลุดลงมาจากผ้าถุงเลย เคยมีคนวิ่งหลุดกองกลางสนามเลย เพราะผ้าอนามัยมันไม่มีกาว เราแปะเพื่อไม่ให้ผ้าถุงเราเลอะแค่นั้นเอง ถ้าเรามีตังค์เราก็ซื้อลอริเอะ โซฟีใช้

“มีนายทุนปล่อยกู้ หนูก็ปล่อย ตอนหนูรับจ้างเยอะๆ หนูก็ปล่อย ร้อยละ 20 ถ้าไม่จ่าย ในนั้นเขาตบเลยนะคะแล้วก็มีขายหวย เป็นกระดาษฉีกคู่หนึ่งทางเป็นตาราง 00 ถึง 99 ใครซื้อเลขอะไรก็เขียนไว้ แล้วก็รอฟังหวยออก คือถามนาย เขาก็ปล่อยๆ ไม่อยากให้เครียด ตัวละ 20 ถูกก็ได้ร้อยหนึ่ง

“แต่ละทีมีลิมิตในการใช้เงิน คุกเล็กเบิกได้วันละ 200 เท่านั้น คุกใหญ่ 300 คุกเล็กเป็นคูปองฉีกมา เอาไปซื้อของ คุกใหญ่สแกนลายนิ้วมือ สแกนปุ๊บ ยอดเงินเราโชว์ ลายมือลอกก็ไม่ได้นะ เครื่องไม่อ่าน ก็ยืมนิ้วพี่หน่อย แปะ ยืมตังค์ พอมาอีกวันเราก็ไปซื้อใช้คืน”

...............

และอื่นๆ

“คุกเล็กไม่มีอบรมหรือฝึกอาชีพเลย คุกใหญ่มี ตั้งแต่ไปอยู่คุกใหญ่ เรียนทุกอย่างเลยนะ ที่คนไปเรียนกันนะส่วนใหญ่เพื่อให้จิตไม่ว่าง พอไม่มีอะไรทำ มันจะฟุ้งซ่าน เอาจดหมายเก่ามาอ่าน เอารูปลูกมาดู นั่งร้องไห้ แต่ถ้ามีกิจกรรมมันช่วยได้ ไม่มีเวลาคิดฟุ้งซ่าน”

“รับจ้างทุกอย่าง เสาร์อาทิตย์เป็นวันว่างของเรา รับจ้างคือหาวิธีทำเอง ถ้าเก้าโมงเดินลงมาข้างล่างไม่ได้แล้ว ตั้งแต่เข้าปล่อยออกจากห้องจนถึงแปดโมงเช้า เราต้องทำภารกิจของเราให้เสร็จ ทั้งกินข้าว ซักผ้า ทั้งรับจ้างซักผ้าให้เสร็จภายในเวลานี้ เสาร์อาทิตย์เวลาเยอะ แต่เขามีกฎห้ามเข้าราวตากผ้า นายมาต้องมุดแอบ จริงๆ เขาไม่ให้รับจ้างทุกอย่างเลย"

“คุกเล็กมีหนังสือให้อ่าน เป็นหนังสือเก่าๆ โบราณๆ ต่างจากคุกใหญ่ มีห้องสมุดใหญ่ๆ เลย อยากเข้าก็เข้า ยืมหนังสือได้ วันหนึ่งยืมได้สองเล่ม ยืมได้สามวัน เราก็แลกกับเพื่อนในห้อง กฎห้องนอนให้ถือหนังสือขึ้นได้หนึ่งเล่ม น้ำหนึ่งขวด ปากกาหนึ่งแท่ง วันไหนเขียนจดหมาย กระดาษกับซองอย่างละชุด คุกเล็กจะมีกำหนดวันเขียนจดหมาย จันทร์ พุธ ศุกร์ เขาอนุญาตให้เขียนจดหมายหาแดนชายได้ ไม่ต้องใส่ซอง ติดแสตมป์ เขียนชื่อ นช. ห้องอะไร แดนอะไร อันนี้เรียกจดหมายใน จดหมายนอกคือเขียนหาญาติ เราเขียนใส่ซอง นายจะไปอ่านที่ห้องของเขา ถ้าคำไหนหยาบหรือดูมีอะไรแปลกๆ เขาจะเอาปากกาแดงขีด เรียกชื่อ แล้วจดหมายฉบับนั้นไม่ได้ออก เผลอๆ โดนงดไม่ให้เขียนจดหมายเดือนหนึ่ง คุกใหญ่ให้เขียนวันละฉบับ แต่ก่อนนะ หลังๆ อาทิตย์ละฉบับ เราก็ต้องดูความสำคัญของจดหมายเราด้วย เราจะส่งไปไหน เพราะไม่ใช่ว่าเขียนวันพุธ วันพฤหัสส่งนะ เผลอๆ นายยังอ่านไม่หมดก็ดองไว้ จดหมายฉบับหลังถึงก่อนฉบับแรกก็มี คุกเล็กห้ามเกิน 15 บรรทัด คุกใหญ่ 10 บรรทัด ตอนหลังๆ ไม่ได้ประท้วงนะ เรียกว่าขอความกรุณานายแม่ว่า สิบบรรทัดจะเขียนอะไรได้ เลยขอนายเขาเป็นสิบห้าบรรทัด”

“เวลาผู้คุมเดินผ่านต้องนั่งลง คุกเล็กถ้านายเดินผ่าน ต้องหยุด ถ้ายืนก็ยืน ห้ามเดินสวน แต่คุกใหญ่เขาให้นั่งลง ไม่รู้ว่าทำไมต้องนั่ง เห็นเขานั่งก็นั่ง เขาทำอะไรก็ทำ อย่าไปฝืน ที่เหนือเรียกแม่ มีแม่เล็ก แม่ใหญ่ แม่อ้วน ถ้าคุกเล็กเรียกนาย แต่นายบางคนไม่ชอบก็จะเรียกหัวหน้า”

...............

ปัจจุบัน ติ๊กเป็นอดีตผู้ต้องขัง ได้รับใบบริสุทธิ์เรียบร้อย เธอเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องทำงาน 2 กะเพื่อเลี้ยงดูลูก 2 คน

“วันที่ออกดีใจ เขาเรียกชื่อไป น้ำตาไหลเลย ยืนร้องไห้ เขาประกาศวันนี้ พรุ่งนี้ได้กลับบ้านเลยนะ เตรียมตัวตั้งแต่แปดโมง เขาให้ไปเก็บล็อกเกอร์เลยนะ เก็บกระเป๋ามาไว้หน้าแดน เข้าไปในแดนตรวจเสื้อผ้า ต้องแก้ผ้าหมด ตรวจกระเป๋า ครึ่งวันไม่เสร็จ”

นี่คือเรื่องราวของติ๊ก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังหญิงยังไม่จบ ผู้คนทั่วไปในสังคมมีความคิดและทัศนคติว่า ผู้ทำผิดกฎหมายความได้รับโทษและไม่ควรต้องมีชีวิตที่สุขสบายเกินไป มิเช่นนั้นคงมิใช่การลงโทษ คนผิดจะไม่หลาบจำ ทั้งการใช้อำนาจควบคุมอย่างเข้มข้นเพื่อให้ผู้ต้องขังอยู่ใน ‘ระเบียบ’ ที่หลายข้อไม่อาจอธิบายได้ถึงเหตุผล ยิ่งทำให้ชีวิตผู้ต้องขังถูกกดทับและถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ลง

ชีวิตในเรือนจำว่ายากลำบากแล้ว แต่ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ความเข้มงวดอย่างที่เข้าใจไม่ได้จากคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยิ่งทำให้ชีวิตผู้ต้องขังหญิงยากลำบากกว่าเดิม...

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'นักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง' จี้ยุติจับกุมคุมขังนักศึกษา-เยาวชนชายแดนภาคใต้โดยพลการ

0
0

20 ต.ค. 2559 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้ออกแถลงการณ์เครือข่ายฯ เรื่อง ยุติการตรวจค้น จับกุม คุมขังนักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยพลการ โดย ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้มีการตรวจค้น จับกุม คุมขังนักศึกษาและเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเขตกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 10-15 ต.ค. 2559 เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังตรวจค้นจับกุมนักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พักอาศัยย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหงรวม 44 คน และนำตัวพวกเขาไปควบคุมในสถานที่ต่างๆ ก่อนจะปล่อยตัวออกมาเป็นส่วนใหญ่โดยไม่มีการแจ้งข้อหา มีห้าคนถูกควบคุมตัวที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 และถูกส่งตัวต่อไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี หลังครบกำหนดเจ็ดวัน และหนึ่งคนยังถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางคลองเปรม หลังจากนั้นยังคงมีการตรวจค้นจับกุมนักศึกษาและเยาวชนเหล่านี้เป็นระยะ

โดยล่าสุดในวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นและควบคุมตัวนักศึกษาและเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ย่านรามคำแหงจำนวนสองคนในช่วงบ่ายและห้าคนในช่วงค่ำ รวมทั้งมีการตรวจตราชมรมนิสิตนักศึกษามุสลิมในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างขึ้นและส่งผลให้นักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากหวาดกลัว ไม่กล้าพักอาศัยในที่เดิมอีกต่อไป ไม่นับรวมการตรวจค้นข่มขู่คุกคามพวกเขาในพื้นที่ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่อ้างว่าปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรมในโอกาสครบรอบการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบในวันที่ 25 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ทว่าจากการที่มีการปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยส่วนใหญ่โดยไม่มีการตั้งข้อหาชี้ให้เห็นว่าการจับกุมเป็นในลักษณะเหวี่ยงแหและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเป็นไปโดยพลการเพราะไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือหมายจับแม้จะอาศัยอำนาจตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ตาม ขณะเดียวกันก็ไม่มีการแจ้งให้ญาติและบุคคลที่เกี่ยวข้องรับทราบถึงสถานที่ควบคุมตัว และญาติที่เดินทางมาจากพื้นที่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมในช่วงแรก รวมทั้งมีข้อให้ชวนสงสัยว่ามีการบังคับขู่เข็ญให้ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง นอกจากนี้ การส่งตัวเยาวชนเหล่านี้ไปควบคุมต่อที่เรือนจำค่ายอิงคยุทธบริหารโดยอ้างกฎอัยการศึกถือเป็นการอ้างอำนาจตามกฎหมายที่ผิดเพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแต่อย่างใด 

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองเห็นว่า การตรวจค้น จับกุม คุมขัง นักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ในกรุงเทพฯ ด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้น ถือเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกินขอบเขต ไม่เป็นไปตามหลักการและวิธีการตามกฎหมาย และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมืองอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ปฏิบัติการดังกล่าวถือเป็นการอาศัยช่วงจังหวะเวลาที่สังคมอยู่ในภาวะเศร้าโศกเสียใจในการใช้อำนาจตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ เป็นการอาศัยช่วงจังหวะเวลาที่สังคมอยู่ในความวิตกกังวลในการโหมไฟความหวาดกลัวที่มีต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ขยายวงกว้างมากขึ้น และเป็นการอาศัยช่วงจังหวะที่ความโกรธแค้นเกลียดชังผู้เห็นต่างกำลังถูกปลุกปั่นในสังคมในการขยายอคติต่อชาวมลายูมุสลิมที่ไหลเวียนอยู่ให้ฝังแน่นยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อหลักการสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยและการเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อของสมาชิกในสังคม 

เพื่อปกป้องสิทธิของนักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะพลเมืองไทยและป้องกันมิให้อคติทางชาติพันธุ์และศาสนาขยายวงกว้างและเป็นเครื่องมือของการใช้อำนาจโดยพลการ ตามอำเภอใจ และไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองมีข้อเรียกร้องดังนี้ 1. ยุติการตรวจค้น จับกุม คุมขังนักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยพลการ และให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไขรวมทั้งให้ใช้กระบวนการยุติธรรมปกติในการดำเนินคดีกับพวกเขาหากมีมูล 

2. ยุติการอาศัยช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังอยู่ในความเศร้าโศกเสียใจ อ่อนไหว และเปราะบาง ในการละเมิดหลักการและวิธีการตามกฎหมาย เพราะนอกจากขัดหลักนิติรัฐและสิทธิพลเมืองแล้ว ปฏิบัติการดังกล่าวยังสร้างรอยมลทินให้กับยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านและไม่เป็นผลดีต่อการปกครองประเทศในระยะยาว และ 3. รัฐและสังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจและเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนา ตลอดจนการคำนึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบด้วยกระบวนการสันติวิธีและการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50697 articles
Browse latest View live