Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live

ชาวชุมชนป้อมมหากาฬทวงความคืบหน้าตั้งกรรมการพหุภาคี ขอให้ กทม.หยุดไล่รื้อชุมชน

$
0
0
ชาวบ้านชุมชนป้อมพระกาฬ ทวงความคืบหน้าตั้งกรรมการพหุภาคี แก้ปัญหาไล่รื้อชุมชนหลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีขอให้หยุดไล่รื้อโดยด่วนทันที หลังมีกระแสข่าวว่า กทม. จะนำกำลังเข้ารื้อระหว่าง 27 -30 ก.ย. อีกครั้ง

 
 
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพประชาไท
 
เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2559 ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ในนามกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง จำนวน 20 คน นำโดยนางภารนี สวัสดิรักษ์ เครือข่ายประชาสังคมและนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง ได้เดินทางมาติดตามเรื่องการยื่นข้อเรียกร้องต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหา และอนุรักษ์พัฒนา ชุมชนป้อมมหากาฬ ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนในสังคม เช่น ภาคราชการ ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนและภาควิชาการ เพื่อศึกษาแก้ไขปัญหาชุมชนป้อมมหากาฬ
 
นายวิสุทธิ์ ฉัตรานุฉัตร ผอ.ส่วนนิติการศูนย์บริการประชาชน ชี้แจงว่าขณะนี้ทางศูนย์บริการประชาชน (ศบช.) เสนอไปยัง มล.ปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงนามรับทราบและได้ส่งเรื่องถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมแล้ว และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งตัวแทนกลุ่มฯ ได้ขอให้ระหว่างการรอพิจารณาของ พล.อ.ประวิตรนั้น ให้สั่งการไปยัง กทม. ชะลอการไล่รื้อถอนชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ออกไปก่อนเพื่อรอการตั้งคณะกรรมการพหุภาคี
 
ตัวแทนชุมชนป้อมพระกาฬ ยังได้ทำจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีระบุว่าขอให้หยุดและรับงานไล่รื้อชุมชนป้อมพระกาฬโดยด่วนทันที เนื่องจากขณะนี้ชาวบ้านชุมชนป้อมพระกาฬเดือดร้อนอย่างมากเพราะในวันที่ 27 -30 ก.ย.ได้รับแจ้งว่า กทม.จะใช้กำลังพลอย่างมาก เข้ารื้อย้ายชุมชนอีกครั้ง และจะให้หมดทั้งชุมชนภายในเดือน พ.ย. ของปีนี้ ทำให้ประชาชนในชุมชนอยู่ในขั้นวิกฤติ คิดมากไม่เป็นอันทำมาหากิน
 
นอกจากนี้ กทม.แจ้งว่าบ้านที่จะรื้อนั้นไม่มีคนอยู่ ซึ่งความจริงแล้วมีคนอยู่ทั้งสิ้น และการยินยอมให้รื้อก็เป็นการถูกขู่บังคับต่างๆนานา จึงอยากขอให้รัฐบาลช่วยจัดตั้งกรรมการพหุภาคีแก้ไขปัญหาโดยด่วนอีกทั้งให้สั่งการเป็นรายลักษณ์อักษร หรือหยุดการไล่รื้อชุมนโดยด่วนทุกรูปแบบ พร้อมทั้งขอให้รัฐบาล เป็นประธานการพูดคุยแก้ไขปัญหาโดยด่วนด้วย
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธงชัย วินิจจะกูล เสนอข้อบ่งชี้วุฒิภาวะทางปัญญาแบบ 'พอเพียง'ของไทย-มองบวกการต่อสู้ยาวไกล

$
0
0

นักแสดงตลก นิยายประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ฯลฯ สะท้อนสังคมไทยติดกับดัก ‘ปัญญาแบบพอเพียง’ พร้อมให้กำลังใจผู้ต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ทำใจสู้ระยะยาว ไม่มีทางลัด...“ผมเรียกว่า historical optimism โลกไม่ต้อนรับพวกหวังสั้นๆ ม้วนเดียวจบ แต่ต้อนรับพวกเข้าใจสัจจะและค่อยๆ ก้าวอย่างคงเส้นคงวาตลอดทั้งชีวิต”

24 ก.ย.2559 ในวาระ 40 ปี 6 ตุลาฯ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ มีการแสดงปาฐกถาศิลปวัฒนธรรม หัวข้อ"งานทางปัญญาในสังคมอับจนปัญญา" โดยศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน

ธงชัยตั้งข้อสังเกตที่ไม่เกี่ยวข้องกันนักเพื่ออธิบายลักษณะวัฒนธรรมทางปัญญา หรือพัฒนาการวุฒิภาวะทางปัญญาของสังคมไทย โดยเริ่มว่า เขาฝันอยากเป็นนักแสดงตลก ! แม้จะไม่มีทางเป็นไปได้ แล้วชี้ชวนให้พิจารณาถึงปรากฏการณ์ที่เขาหยิบยกขึ้นมา 8 ประการเพื่อเป็นตัวสะท้อนระดับวุฒิภาวะทางปัญญาด้านต่างๆ ของสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นักแสดงตลกเสียดสี

เขากล่าวว่า หากพูดในทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ในทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชอบกล่าวว่าเราติดกับดักประชาธิปไตย แต่เขากลับคิดว่าเราติดกับดักกึ่งประชาธิปไตยต่างหาก ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาเราพยายามไปให้พ้นภาวะประชาธิปไตยครึ่งใบในรูปแบบต่างๆ ระบอบการเมืองในอนาคตอันใกล้ก็คาดได้ไม่ยากว่าจะอยู่ในกึ่งประชาธิปไตยอย่างน้อยอีก 10-20 ปี

“ส่วนในด้านปัญญาความรู้ เราเติบโตมาระดับหนึ่ง แต่ลงท้ายเราติดกับดักทางปัญญาระดับปานกลาง เราพอใจกับการมีปัญญาแค่พอเพียง แต่ผมอยากจะเรียกว่า สังคมอับจนปัญญา” ธงชัยกล่าว   

ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ธงชัยหยิบยกมาวิเคราะห์มีดังนี้

1.นักศึกษาไทย

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้สอนนักศึกษาไทยระดับหลังปริญญาตรีและจากการสอบถามเพื่อนร่วมวิชาชีพหลายคน พบปรากฏการณ์คล้ายกัน ปัญหาพื้นฐานยิ่งกว่าการคิดไม่เป็นคือ นักศึกษาอ่านหนังสือไม่เป็น หมายความว่า นักศึกษาไทยอ่านหนังสือแล้วจับใจความสำคัญไม่ค่อยได้ เขามักใส่ใจกับข้อเท็จจริงรูปธรรมแต่ไม่รู้ว่ามีความหมายอย่างไรในบริบทของเรื่องที่อ่าน เมื่อไม่สามารถจับใจความสำคัญของตอนนั้นได้ ข้อเท็จจริงที่หยิบยกก็จะอยู่อย่างกระจัดกระจาย หาความหมายเพื่อโยงเชื่อมสอดคล้องกันไม่ได้ เมื่อจับใจความไม่ได้ก็วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้

“ไม่กี่ปีก่อนเรามักพูดว่าคนไทยความรู้ไม่พอ ข้อมูลไม่พอ แต่ผมคิดว่านั่นไม่ใช่ปัญหาแล้ว ข้อมูลมีเยอะมาก แต่เราไม่มีความสามารถจัดการกับข้อมูลท่วมหัวนั้น หมายถึงไม่รู้จักแยกแยะว่าอะไรสำคัญไม่สำคัญต่อโจทย์หนึ่งๆ นี่เป็นทักษะเบื้องต้นซึ่งสอนกันได้ คุณสมบัติของประชากรแบบนี้สอดคล้องกับสังคมที่เป็นอยู่ สังคมไม่ได้ต้องการคนที่อ่านหนังสือเป็น สังคมไทยต้องการทักษะแค่ระดับที่เป็นอยู่”

“ผมไม่ได้มองเป็นทฤษฎีสมคบคิดเพื่อชี้นิ้วว่าใครหรือกลุ่มใดตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น แต่ภาวะเงื่อนไขวัฒนธรรมทางปัญญาเป็นอย่างไร ทำไมมันจึงไม่เกิดแรงผลักดันหรือจูงใจให้เกิดการอ่านหนังสือเป็น การท่องอาขยานค่านิยม 12 ประการเป็นตัวสะท้อนภาวะนั้นอย่างดี”

2.สื่อมวลชน

สื่อมวลชนกับผู้บริโภคสะท้อนซึ่งกันและกัน สื่อมีโอกาสและอาจต้องการเป็นตะเกียงส่องทาง แต่ความจริงแล้วเขาต้องสะท้อนตลาด เราอาจว่าสื่อต่างๆ นานาแต่เคยคิดหรือไม่ว่า สังคมไทยไม่มีเงื่อนไขให้เขาพัฒนาคุณภาพ เพราะพัฒนาไปก็ขายไม่ได้ ทั้งการเลือกข่าว การเขียนข่าว โปรแกรมทีวี เหล่านั้นล้วนสะท้อนวุฒิภาวะทางปัญญาของสังคมด้วยกันทั้งสิ้น เขาไม่ได้ไม่ฉลาดแต่สุดท้ายตลาดช่วยเกลี่ยให้มันอยู่ในภาวะ “ปานกลาง”  ไม่ได้บอกว่าสื่อฝรั่งมีคุณภาพดีมาก โลกตะวันตกมีหนังสือพิมพ์ห่วยๆ ด้วย เพราะทุกสังคมมีตลาดหลากหลายด้วยกันทั้งสิ้น สิ่งที่ต่างกันคือ ในสังคมที่มีวัฒนธรรมทางปัญญาพัฒนาพอควร สื่อที่เน้นการซุปซิปนินทา เน้นสีสัน เรื่องมหัศจรรย์นั้นไม่มีอิทธิพลทางสังคมการเมืองนัก สื่อแบบนี้เรียกว่า สื่อ fringe หรือสื่อที่อยู่ตามตะเข็บ เช่นเดียวกับพวกสื่อฝ่ายซ้ายที่มีเฉพาะคนที่สนใจตามอ่าน สื่อที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดได้แก่ สื่อคุณภาพไปถึงระดับกลางๆ หรือที่เรียกว่าแทบลอยด์ สำหรับหนังสือพิมพ์ไทยที่เราเรียกกันว่า ‘คุณภาพ’ นั้นโดยส่วนตัวเห็นว่ามันอยู่ระหว่างกึ่งคุณภาพและกึ่งแทบลอยด์ คอลัมนิสต์ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับแสดงความเห็นอย่างผิวเผินแล้วอาศัยสำนวนภาษาทำให้หวือหวา

“นสพ.อย่างผู้จัดการ สื่อแบบนี้เป็น fringe ในสังคมตะวันตก แต่ในสังคมไทยกลับมีอิทธิพลมหาศาล”

3.มหาวิทยาลัย

เรื่องนี้มีเรื่องให้พูดเยอะมากได้ถึง 3 ชั่วโมง จึงขอยกมาพูดเพียงสั้นๆ ว่าแม้การจัดอันดับในโลกไม่ว่าโดยประเทศไหนล้วนมีปัญหาและข้อโต้แย้งได้หมด แต่ปรากฏการณ์เกิดขึ้นตรงกันว่ามหาวิทยาลัยไทยที่ดีที่สุด คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหิดล นั้นทุกสำนักจัดอันดับตรงกันว่า มันไม่เคยอยู่เลยระดับกลางๆ ได้เลย ขณะที่มหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ไม่อยู่ในสารบบการจัดอันดับด้วยซ้ำเพราะอยู่ในระดับต่ำเกินไป สาเหตุของเรื่องนี้ต้องอภิปรายกันอีกมาก เราอาจโทษอาจารย์ โทษอธิการบดีได้ทั้งสิ้น หรือว่าแท้จริงแล้วสังคมไทยไม่มีแรงกระตุ้น ไม่มีความต้องการมหาวิทยาลัยที่ดี เป็นไปได้ไหมที่สังคมไทยไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยไทยไปพ้นจาก 'มหาวิทยาลัยในระดับพอเพียง' การเริ่มมหาวิทยาลัยไทยผลิตบัณฑิตรับใช้รัฐกึ่งอาณานิคม รัฐราชการ และแม้แต่ในยามที่ผลิตคนมารับใช้ตลาดก็เป็นตลาดของรัฐราชการ

4.ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์

ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์นั้นได้แก่ ศาสนา วรรณคดี ปรัชญา ฯลฯ มนุษยศาสตร์มีรากร่วมกันทั่วโลกคืออยู่ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมในโลกมาหลายร้อยปี, มีลักษณะย้อนมองหาตัวเอง ไม่แปลกที่ประเทศไหนก็ต้องสนใจศึกษาเรื่องตัวเอง, มนุษยศาสตร์ของทุกสังคมในโลกเคยผ่านระยะที่ผลิตความรู้เหล่านั้นเพื่อให้เกิดความภูมิใจ ความรักชาติด้วยกันทั้งสิ้น แต่ความแตกต่างระหว่างสังคมที่มีหรือไม่มีวุฒิภาวะทางปัญญา คือ จะผลิตซ้ำความรู้เดิมหรือก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความรู้ในสังคมตัวเอง, เป็นความรู้ที่เปิดหูเปิดตาต่อโลกกว้างหรือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอย่างมากจนกลายเป็นความคับแคบ, และจะก้าวข้ามมนุษยศาสตร์แบบไม่วิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่   

ภารกิจของมนุษยศาสตร์ คือ ทำให้ปัจเจกชนแต่ละคนมีความสามารถในการแยกแยะ วิเคราะห์ สังเคราะห์จัดการกับข้อมูลท่วมหัว มอบเครื่องมือทางความคิดในการจัดการกับความรู้ต่างๆ ที่ประดังเข้ามาทุกวี่วัน ความสามารถและเครื่องมือเหล่านี้จึงไม่ใช่ความรู้ประยุกต์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ ฯลฯ การฝึกฝนทางมนุษยศาสตร์เป็นฐานของอุดมศึกษาทุกสาขาวิชา แต่ไม่สามารถประยุกต์สร้างผลผลิตที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เรียกว่า อยู่บนหอคอยงาช้างนั่นเอง ซึ่งมันก็สำคัญเพราะมันทำให้คนคิดเป็น แต่ของสังคมไทยนั้นต่างไป ประวัติศาสตร์ของมนุษยศาสตร์ในตะวันตกเป็นฐานของการปะทะเพื่อการปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ยุค enlightenment ของตะวันตก แต่ของไทยเป็นการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นกึ่งอาณานิคม เราคิดว่าของฝรั่งดีกว่าของเรา แต่ขณะเดียวกันการปรับตัวของมนุษยศาสตร์ของเราก็เป็นฐานที่มั่นของความเป็นไทยเพื่อต้านทานตะวันตก ยืนยันเอกลักษณ์ของตัวเอง แสดงความเหนือกว่าของศาสนา ปรัชญา วรรณคดีของไทย ยืนยันระเบียบทางสังคมแบบสูงต่ำของไทยว่าดีอยู่แล้ว พูดง่ายๆ มนุษยศาสตร์กลายเป็นป้อมปรากการในการค้ำจุนระบบเดิม แม้ปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ แต่ก็ยังค้ำจุน establishment จึงติดกับดักภารกิจเน้นความภูมิใจและหลงตัวเอง นี่คือ กับดักของภูมิปัญญาระดับพอเพียง ภารกิจนี้อาจเหมาะกับปลายศตวรรษ 19 ถึงต้นศตวรรษ 20 แต่ตอนนี้มันลากยาวมาจนถึงศตวรรษที่ 21

5.นักแสดงตลกเสียดสี

ความแตกต่างระหว่างหม่ำ จ๊กม๊ก กับพวก จอห์น วิญญู, จอห์น โอลิเวอร์, จอน สจ๊วต คือ อย่างแรกเป็นนักแสดงตลก อย่างหลังคือนักแสดงตลกเสียดสี ซึ่งอย่างหลังนี้ไม่เห็นในผังรายการทีวีไทย แต่สำหรับสังคมฝรั่งพวกนี้อยู่ในรายการช่วงไพรม์ไทม์

การแสดงตลกของไทยมีแบบแผนการพัฒนาเหมือนกับทั่วโลก นั่นคือ มีตลกผู้ดีกับชาวบ้าน ลักษณะที่ต่างกันระหว่างสองอย่างนี้ คือ อะไรล้อเล่นได้และอะไรห้ามล้อเล่น ตรงนี้ไทยไม่เหมือนกันกับประเทศตะวันตก การล้อเลียนอำนาจได้แก่ เจ้า พระ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องปกติในวัฒนธรรมชาวบ้านในทุกสังคม ล้อเป็นประจำพร้อมๆ กับเคารพนับถือด้วย ซึ่งจะอธิบายก็ดูจะยาวเกินไปว่าทำไมชาวบ้านสามารถจัดการความย้อนแย้งนี้ได้ ตัวอย่างที่รู้จักกันดีคือ ศรีธนญชัย

แคทธารีน โบวี่ พบว่าพระเวสสันดรชาดกเวอร์ชั่นชาวบ้าน นอกจากการให้ทานแล้วยังล้อเลียนทำให้อำนาจเป็นเรื่องตลก ดังนั้นตัวเด่นมากคือ ชูชก ในวัฒนธรรมของชนชั้นสูงโดยเฉพาะอยุธยา-กรุงเทพฯ โบวี่พบว่ามันกลยเป็นเวอร์ชั่นที่ชูชกเป็นคนน่าเกลียด อัปลักษณ์และสมควรถูกประณาม วัฒนธรรมล้อเลียนอำนาจอยู่ในวัฒนธรรมทั้งแบบของผู้ดีและแบบของชาวบ้านในช่วงก่อนยุคสมัยใหม่ แต่เมื่อเกิดการขยายตัววัฒนธรรมมาตรฐานเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้ มันได้เบียดขับให้วัฒนธรรมชาวบ้านเป็นวัฒนธรรมที่ต่ำกว่าของกรุงเทพฯ ซึ่งไม่มีการล้อเลียนอำนาจ มันจึงกลายเป็นมาตรฐานปัจจุบันที่ตลกไทยไม่ใช่ตลกเสียดสีล้อเลียนอำนาจ ประเด็น เจ้า พระ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นเรื่องเกินขอบเขต ตลกของสังคมไทยสมัยใหม่ถูกจำกัดกรอบ มีแดนที่ห้ามละเมิดมากมายเหลือเกิน จึงกลายเป็นแค่ตลกโปกฮา มีแพทเทิร์นหลักอยู่ 2 แบบ คือ 1. ความโง่ เซ่อเซอะ เปิ่นเชยของคนบ้านนอก คนกลุ่มน้อย คนช้ำต่ำ 2. เอาความเบี่ยงเบนผิดเพี้ยนจากภาวะที่ถือว่าปกติมาทำให้เป็นเรื่องตลก เช่น คนพิการ คนไม่สมประกอบ กระเทย คนจีนที่พูดไทยไม่ชัด เป็นต้น ทั้งนี้แดนหวงห้ามที่เป็นสากลสำหรับตลกทั่วโลก คือ เรื่องเพศ แต่แดนหวงห้ามของไทยคือ อำนาจของชนชั้นสูง ตลกไทยไม่เสียดสีขนบของสังคม มีเพียงบางคนที่ทำเป็นบางครั้ง

6. นิยายประวัติศาสตร์

สังคมไทยไม่มีหนังสือนิยายประวัติศาสตร์ดีๆ แม้เพียงสักหนึ่งเล่ม ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือ เพราะประวัติศาสตร์ไทยศักดิ์สิทธิ์เกินไป (ผู้ฟังปรบมือ)

“มันต้องล้อได้สิ ต้องหาเรื่องได้สิ ต้องเล่นพิเรนห์กับประวัติศาสตร์ได้สิ แต่คุณทำแบบนั้นไม่ได้ มันก็เป็นกรอบและเพดานจำกัดจินตนาการที่อิงกับประวัติศาสตร์ เราไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ที่ถือว่าเป็นผลผลิตของคำถาม ของการตีความ ของการให้เหตุผล ของการให้จินตานาการ เราไม่เห็นว่าประวัติศาสตร์เป็นกึ่งๆ นิยายอย่าเชื่อมากนัก เพราะความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ผลิตกันมาเป็นปัจจัยสำคัญมากต่อการสร้างชาติและการคงอยู่ของชาติ สำคัญมากของการดำรงอยู่ของชนชั้นนำ จึงเป็นสิ่งห้ามหักล้าง โครงเรื่อง คอนเซ็ปท์ต่างๆ มักอยู่บนฐานอุดมการณ์ราชาชาตินิยม เหล่านี้จะยอมให้หักล้างไม่ได้”

 เราจึงมีนิยายาประวัติศาสตร์ที่ใช้ประวัติศาสตร์แบบตายตัวอยู่ 2 แบบ คือ 1.ใช้เป็นแค่ฉากหลังของเรื่องรัก ริษยา โรแมนติก ทั้งที่นิยายรักโรแมนติกอยู่ในฉากแบบไหนก็ได้ ไม่ได้ช่วยให้เราสร้างสรรค์จินตนาการหรือทำให้เกิดความสงสัยในประวัติศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น 2.ใช้เล่าเรื่องวีรกรรมปกป้องชาติบ้านเมืองให้รอดจากน้ำมือต่างชาติหรือคนทรยศภายในชาติ

“ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นได้พัฒนาออกไปไกลโขจากกความรู้แบบศักดิ์สิทธิ์แบบที่กล่าวมา เป็นเรื่องการให้เหตุผล มุมมอง เป็นเรื่องการสร้าง narrative (เรื่องเล่า) ที่แตกต่างมองได้หลายมุม จึงไม่สามารถเอ่ยอ้างความศักดิ์สิทธิ์ได้ ขณะที่นักประวัติศาสตร์อาศัยอ้างอิงตามหลักฐานตามหลักวิชา นิยายได้อาศัยความรู้ทางประวัติศาสตร์เป็นฐาน แล้วจินตนาการออกไปเกินเลยกว่าที่มีหลักฐาน นักประวัติศาสตร์ต้องการนักเขียนนิยายประวัติศาสตร์ เขาต้องเจียมตัวรู้ข้อจำกัดตัวเองว่าไม่มีทางตีความเกินไปจากหลักฐาน นิยายประวัติศาสตร์จึงทำหน้าที่ที่นักประวัติศาสตร์ทำไม่ได้ ผมมองหานิยายแบบนี้แต่ยังไม่พบในโลกภาษาไทย”

7. การถกเถียงแบบพวกเคร่งศาสนาในหมู่นักต่อสู้ทางการเมือง

เราจะเห็นปรากฏการณ์นี้ได้ทางเว็บบอร์ดหรือทางเฟซบุ๊ก เรื่องนี้ก็สะท้อนระดับวุฒิภาวะทางปัญญาแบบพอเพียงเหมือนกัน เป็นการถกเถียงอย่างดุเดือดเอาเป็นเอาตาย ทุกถ้อยคำ โดยเฉพาะในหมู่พวกเดียวกัน เป็นกันทุกฝ่าย บ่อยครั้งการถกเถียงนี้มีความสำคัญสำหรับแอคติวิสต์เสียยิ่งกว่าการอ่านหนังสือหรือการหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อมาตอบคำถามต่างๆ 

เรื่องนี้จะขอพูดเพียงเท่านี้เพราะหากพูดมากกว่านี้อาจถูกฉกฉวยประเด็นนี้เพียงไปเป็นประเด็นต่อเนื่องเพียงเรื่องเดียว โดยลืมเรื่องอื่นๆ ที่พูดมากมายไปหมด

“ขอเน้นแค่ว่า การถกเถียงประเภทนี้เป็นการถกเถียงทางศาสนา เถียงกันเอาเป็นเอาตาย พลาดกันนิดหนึ่งไม่ได้ ใช้วิธีดูถูกเหยียดหยามคนอื่น พวกเคร่งศาสนาเขาเถียงกันแบบนี้มาก่อนพวกนักปฏิวัติเสียอีก เพราะพวกเคร่างศาสนายอมไม่ได้ให้มีการประนีประนอม มีแต่ถูกกับผิดเท่านั้น”  

สรุป

โดยสรุป ถ้าเราคิดว่าในทางเศรษฐกิจเราติดกับดักรายได้ปานกลาง ในทางการเมืองติดกับดักกึ่งประชาธิปไตยในหลายรูปแบบ ในด้านวัฒนธรรมสังคมไทยติดกับดักการมีปัญญาแค่พอเพียง ในทางเศรษฐศาสตร์และการเมืองนั้นมีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมมากมายอยู่แล้ว จึงอยากเสนอว่า เราน่าจะหาตัวชี้วัดวุฒิภาวะหรือระดับวัฒนธรรมทางปัญญาด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่ยกมาเป็นการเชิญชวนให้เอาสถานะของนักแสดงตลกเสียดสี, นิยายประวัติศาสตร์ ,ความนิยมในสื่อประเภทต่างๆ มาลองเป็นตัวชี้วัดว่าเราพ้นภาวะอับจนปัญญาหรือยัง ผมก็ไม่มีคำตอบ 100% แต่คิดว่าน่าจะได้

สาเหตุของการอับจนปัญญาหรือมีปัญญาอย่างพอเพียง

ถามว่าสาเหตุของปรากฏการณ์นี้เกิดจากอะไร เราอย่าเอาแต่โทษครู นายพล นายกฯ แต่น่าจะถามว่าอะไรคือ เงื่อนไขทางสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยเลยให้เราพ้นจากกับดักทางปัญญา ปัจจัยดังกล่าวมี 3 อย่าง คือ

1.ความสัมพันธ์ทางสังคมสูงต่ำเป็นช่วงชั้นที่สถาปนาตัวเองเป็นระบบอุปถัมภ์ขององค์การทุกชนิด มันทำให้สถาบันยึดตัวบุคคลที่เป็น “ผู้ใหญ่” แทนที่จะยึดกับกฎเกณฑ์ กฎหมาย หลักการ จรรยาบรรณวิชาชีพ ทุกสังคมทุกองค์กรในโลกนี้มีทั้งสองด้าน แต่ประเด็นคืออะไรเป็นหลัก อะไรเป็นรอง

ระบบอุปถัมภ์มีผลถึงทุกอย่างแม้แต่นิติรัฐ ในความเป็นจริงนิติรัฐของไทยตั้งแต่เข้ายุคสมัยใหม่ ไม่เคยมีนิติรัฐที่ประชาชนเสมอภาคกันทุกคน แต่เป็นหลักนิติรัฐแบบอุปถัมภ์ อาจารย์เสน่ห์ จามริก เรียกสังคมแบบนี้ว่า สังคมราชูปถัมภ์

2. การเมืองการเมืองที่ค้ำจุนทางอำนาจแบบเดิมหรือแบบช่วงชั้นนี้ ไม่ว่าระบอบเผด็จการทหารหรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในช่วง 40 ปีหลังนี้ มีความเหมือนในแง่ที่ว่า ไม่มีระบอบไหนที่กัดเซาะระบบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ รวมทั้งระบอบหลังการปฏิวัติ 2475 ด้วย แม้มีความพยายามแต่ก็ล้มเหลว โปรดสังเกตว่า ยามใดก็ตามที่ทหารครองอำนาจ โดยเฉพาะช่วง 2 ปีมานี้ยิ่งเห็นชัด วัฒนธรรมทางปัญญาจะย้อนกลับไปสู่อนุรักษ์นิยมอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก การเมืองที่ดีไม่ใช่เพียงมุ่งเน้นแค่เรื่องการคอร์รัปชัน ทั้งโลกล้วนเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจ ถ้าประชาชนเป็นใหญ่ มีโอกาสตรวจสอบผู้มีอำนาจ เปลี่ยนผู้มีอำนาจได้ตามเจตจำนง อย่างน้อย 4 วินาทีในคู่หาเลือกตั้งในทุกๆ 4 ปีก็ยังดี เพราะมันคือการเปิดประตูไปสู่การจัดสรรความสัมพันธ์ของอำนาจในสังคมว่าจะอยู่ในลักษณะไหน ถ้าเป็บแบบบ่าวไพร่ไม่มีโอกาสแม้แต่ 4 วินาทีก็ทำให้อำนาจยิ่งตรวจสอบไม่ได้ เสรีภาพเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นเพราะมีระบบอุปถัมภ์อยู่แล้ว 

3.ลัทธิราชาชาตินิยมหัวข้อนี้ขอไม่กล่าวมากกว่านี้

“โดยสรุป การต่อสู้ทางวัฒนธรรมทางปัญญาไม่มีทางลัด ต้องสู้ทีละก้าว แต่ขอได้โปรดตระหนักว่า ไม่ใช่ฟังแล้วจะต้องหมดแรง มันมีก้าวกระโดดเป็นระยะ ที่ว่าไม่มีทางลัด คือ อย่าหวังการปฏิวัติพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ม้วนเดียวเกิดการเปลี่ยนแปลง มันต้องก้าวไปเรื่อยๆ ทีละกาวๆ แล้วผลักดันให้เกิดการกระโดดบ้าง เพราะการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินพิสูจน์มาแล้วว่าล้มเหลวแม้กระทั่ง 2475 แม้เปลี่ยนการเมืองแต่ก็เปลี่ยนระบบอุปถัมภ์ยังไม่ได้”

“ถ้าต้องการการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ถ้าชีวิตนี้คิดว่าไม่มีสิ่งนั้นแล้วจะเก็บของกลับบ้านก็เชิญ แต่ถ้าเราตระหนักในความเป็นจริงของมนุษย์ว่ามันหลากหลาย เราไปบังคับเขาไม่ได้ ... ถ้าเคารพในปัจเจกมันต้องให้เวลา เราควรทำตัวเราทำใจเราให้พร้อมกับภาวะที่ต้องสู้กันยาวๆ เราอาจไม่ทันได้พบนักแสดงตลกดีๆ หรือหนังสือประวัติศาสตร์ดีๆ ก็ได้ เพราะเราอาจตายก่อน ถ้าคุณคิดว่าทำใจได้ เข้าใจภาวะปกติของมนุษย์ เราก็ผลักดันต่อทีละด้าน ทีละกรณี ไปเรื่อยๆ อยู่กันยาวๆ”

“เรามีความทุกข์ขมขื่นผิดหวังกับประชามติ แต่ถ้าเรามีวุฒิภาวะทางปัญญาจริงเราควรเข้าใจสิ่งนี้ และมีความสุขกับการสู้ไปยาวๆ ได้ โปรดตระหนักอยู่ในใจตลอดเวลา โลกเปลี่ยนแปลงได้ และโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ความเป็นจริงสังคมไทยเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานเชิงโครงสร้างมาเท่าไรแล้ว ไม่ได้อยู่นิ่ง และความปรารถนาในชีวิตที่ดีของปุถุชนธรรมดานั่นเองจะทำให้คนสร้างสรรค์ ธรรมชาตินี้ไม่เคยตายจากมนุษย์ ทำอย่างไรให้ศักยภาพเหล่านั้นเสนอตัว แสดงตัวออกมา สู้ไปทีละนิดๆ เพราะเราเชื่อมั่นว่ามนุษย์อยากมีชีวิตที่ดี so basic ไม่ต้องการอุดมการณ์ใดๆ มาค้ำยันด้วยซ้ำ”

“ผมเรียกมันว่า historical optimism โลกไม่ต้อนรับพวกหวังสั้นๆ ม้วนเดียวจบ แต่ต้อนรับพวกเข้าใจสัจจะและค่อยๆ ก้าว”

เป็นการค่อยๆ ก้าวอย่างคงเส้นคงวาตลอดชีวิตโดยมีการมองโลกในแง่ดีเช่นนั้นเป็นพื้นฐาน ในระยะใกล้สถานการณ์อาจแย่ลงมาก แต่เชื่อมั่นเถิดว่าในระยะยาวประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแน่ๆ เพราะคนเปลี่ยน ความหลากหลายของคนมีมากขึ้น สังคมซับซ้อนขึ้นจนไม่สามารถตกลงกับแบบอื่นได้นอกจากต้องเจรจาต่อรองอย่างสันติ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องหนีไม่พ้นสำหรับสังคมที่ขยายตัวและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิดฉากพาราลิมปิก ไทยคว้า 18 เหรียญ สูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย

$
0
0

จบแล้วพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ไทยคว้า 6 ทอง 6 เงิน 6 ทองแดงสูงสุดในประวัติศาสตร์ ด้านตั๊น จิตภัสร์ ส่งจดหมายเรียกร้องประยุทธ์หนุนเงินนักกีฬาพิการเท่านักกีฬาโอลิมปิก หลังพบเงินอัดฉีดน้อยกว่า


(ที่มาภาพ: เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ พก. )

24 ก.ย. 2559 ประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) รายงานผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ตัวแทนนักกีฬาพาราลิมปิกได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.), คณะผู้บริหาร, ข้าราชการ พร้อมด้วยผู้บริหารจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย และประชาชนชาวไทยมาร่วมให้กำลังใจและต้อนรับกันอย่างหนาแน่น หลังปิดฉากพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิลไปแล้ว ณ สนาม มาราคานา สเตเดียม ในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 19 ก.ย. ตามเวลาไทย

ในการแข่งขันครั้งนี้ ตัวแทนนักกีฬาไทยคว้าเหรียญรางวัลทั้งหมด 18 เหรียญแบ่งเป็น 6 เหรียญทอง 6 เหรียญเงินและ 6 เหรียญทองแดง รั้งอันดับ 23 ในตารางพาราลิมปิกเกมส์ ซึ่งนับว่าสูงสุดในประวัติการณ์พาราลิมปิกไทย

นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้มีทั้งหมด 46 คน ประกอบไปด้วย 10 ชนิดกีฬาได้แก่ กรีฑาแบบลู่-ลาน, ว่ายน้ำ, ยิงธนู, ยิงปืน, เทเบิล เทนนิส, วีลแชร์เทนนิส, วีลแชร์ฟันดาบหญิง-ชาย, บอคเซีย, ยกน้ำหนักและยูโด


(ที่มาภาพ: เพจเฟซบุ๊ก Paralympic Thailand (Thai Para Athletes))

เหรียญทองทั้ง 6 เหรียญมาจากหลายชนิดกีฬา โดยเหรียญแรกมาจากผลงานของ ประวัติ วะโฮรัมย์ จากการแข่งขันวีลแชร์ เรซซิ่ง 5,000 เมตรชาย, พงศกร แปยอ จากวีลแชร์ เรซซิ่ง 400 เมตรชาย, บอคเซีย ประเภททีมผสม บีซี 1-2, ประวัติ วะโฮรัมย์ วีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตร, พงศกร แปยอ วีลแชร์ 800 เมตรชายและจากบอคเซียประเภทบุคคล บีซี 2 โดย วัชรพล วงษา ตามลำดับ

ส่วนของเหรียญเงินเหรียญแรกนั้นได้จาก พงศกร แปยอ กีฬาวีลแชร์ เรซซิ่ง 100 เมตรชาย ตามมาด้วยสายสุนีย์ จ๊ะนะนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบเอเป้, หาญฤชัย เนตรศิริ นักกีฬากีฬายิงธนู, สายชล คนเจน จากกีฬา วีลแชร์ เรซซิ่ง 800 เมตรชาย , บอคเซียประเภทบุคคล วรวุฒิ แสงอำภา และ วีลแชร์ เรซซิ่ง ผลัด 4x400 เมตรชาย รวมทั้งสิ้น 6 เหรียญตามลำดับ

สำหรับเหรียญทองแดง รุ่งโรจน์ ไทยนิยม คว้าเหรียญรางวัลแรกจากกีฬาเทเบิล เทนนิส ในประเภทชายเดี่ยวคลาส 6 ตามมาด้วยทีมบอคเซียประเภททีม บีซี 4ได้แก่ นวลจันทร์ พลศิลา, พรโชค ลาภเย็น และเฉลิมพล ตันบุตร, พิชญา คูรัตนศิริ จากกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตรชาย คลาสที 52, พรโชค ลาภเย็น จากกีฬาบอคเซีย, ยุทธจักร กลิ่นบานชื่น และ อนุรักษ์ ลาววงษ์ จากการแข่งขันเทเบิลเทนนิสคู่ และสายชล คนเจน จากกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตรชาย ที 54 ตามลำดับ


โจนาธาน บาสตอส
(ที่มาภาพ” เพจเฟซบุ๊ก Paralympic Thailand (Thai Para Athletes))


ภาพบรรยากาศพิธีปิดพาราลิมปิกเกมส์ 2016
(ที่มาภาพ: เพจเฟซบุ๊ก Paralympic Thailand (Thai Para Athletes) )

ในพิธีปิดมีการแสดงจากนักดนตรีซึ่งไม่มีแขนมาตั้งแต่กำเนิด โดยเขาใช้เท้าเล่นเครื่องดนตรี จากนั้น ริคาร์ดินโญ สตาร์ฟุตบอล 5 คน ชุดเหรียญทอง ก็ได้ทำหน้าที่ถือธงชาติบราซิล เดินลงสู่สนาม ทั้งนี้ ได้มีการร่วมไว้อาลัยแก่ บาห์มัน โกลบาร์เนซาด นักกีฬาชาวอิหร่าน ซึ่งเสียชีวิตขณะแข่งขันเมื่อวันเสาร์ที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ในประเภทกีฬาจักรยาน C4-5 แต่กลับพลัดตกจากรถ ทำให้ศีรษะกระแทกกับหินอย่างรุนแรง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา


คลิปวีดีโอพิธีปิดการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก 2016

อย่างไรก็ดี หลังจากตัวแทนนักกีฬาเดินทางกลับได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเงินอัดฉีดนักกีฬาที่ได้น้อยกว่านักกีฬาโอลิมปิก โดยเว็บไซต์ผู้จัดการ รายงานว่า จิตภัสร์ กฤดากร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผลักดันเงินสนับสนุนนักกีฬาคนพิการในกีฬาพาราลิมปิกเทียบเท่านักกีฬาโอลิมปิก โดยมีศิลปิน ดารา คนในแวดวงสังคม ช่วยแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ในส่วนเนื้อหาจดหมายระบุไว้บางตอนว่า “เงินอัดฉีดและรางวัลสนับสนุนนักกีฬาพาราลิมปิกเกมส์จากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาตินั้น ยังมีความเหลื่อมล้ำและมีสัดส่วนที่ไม่เท่าเทียมกัน เมื่อเปรียบเทียบกับนักกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ทั้งที่นักกีฬาผู้พิการเหล่านั้น ล้วนทุ่มเท มุ่งมั่น ตั้งใจฝึกซ้อม และลงแข่งขันด้วยน้ำใจนักกีฬาในฐานะตัวแทนของประเทศไทย อันสมควรแก่การได้รับการเกียรติ ยกย่อง เชิดชู รวมถึงได้รับการสนับสนุน เฉกเช่นเดียวกับนักกีฬาปกติทั่วไป

“ดิฉันจึงขอเป็นกระบอกเสียงแทนนักกีฬาผู้พิการและประชาชนผู้ที่เห็นพ้องกับ เรื่องดังกล่าว ขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาล ผลักดันเงินอัดฉีดและรางวัลสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติของนัก กีฬาพาราลิมปิกเกมส์ให้สมเกียรติ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เท่าเทียมกับนักกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โดยข้อมูลจากเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า ‘ตั๊น จิตภัสร์ กฤดากร’ นั้นระบุเม็ดเงินอัดฉีดจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ในส่วนของพาราลิมปิคเกมส์ เหรียญทอง 7.2 ล้านบาท เหรียญเงิน 4.8 ล้านบาท เหรียญ ทองแดง 3 ล้านบาท แต่โอลิมปิกเกมส์ เหรียญทอง 12 ล้านบาท เหรียญเงิน 7.2 ล้านบาท เหรียญทองแดง 4.8 ล้านบาท ซึ่งได้มากกว่าเกือบเท่าตัว”

นอกจากนี้ ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า บริษัทสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ยังได้มอบเงินอัดฉีดให้กับทัพนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย โดยแบ่งเป็นเงินอัดฉีดพิเศษให้กับนักกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัล เหรียญทอง 1 ล้านบาท, เหรียญเงิน 5 แสนบาท และเหรียญทองแดง 3 แสนบาท ซึ่งจากผลงานเหรียญทั้งหมดนั้น ทำให้เงินอัดฉีดมีมูลค่ากว่า 10,800,000 บาท อีกทั้งยังได้มอบเงินรางวัลให้กับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทุกคนรวมทั้งหมด 84 คน อีกคนละ 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,360,000 บาท ทำให้ยอดรวมเงินรางวัลที่นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทยได้รับไปในครั้งนี้เป็นเงิน 14,610,000 บาท
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ที่นี่มีเด็กเจ็บตาย’ 4 องค์กรพล็อตจุดเกิดเหตุที่เด็กเป็นเหยื่อรณรงค์ปกป้องเด็กจากความรุนแรง

$
0
0

“ที่นี่มีเด็กเจ็บตาย” กลุ่มด้วยใจ กลุ่มบุหงารายอ กลุ่มเซากูนาและมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ลง 5 พื้นที่พล็อตจุดเกิดเหตุที่เด็กตกเป็นเหยื่อ จากหน้าสถานีรถไฟจะนะจนถึงโรงเรียนบ้านตาบา พร้อมรณรงค์ปกป้องเด็กจากความรุนแรง เรียกร้องผู้กระทำอย่าก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะเรียกร้องรัฐมีมาตรการป้องกันที่เข้มแข็งกว่าเดิม

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมากลุ่มด้วยใจพร้อมด้วยกลุ่มบุหงารายอกลุ่มเซากูน่า (Zauquna) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ทำโครงการ “ปกป้องเด็ก ปกป้องอนาคตของพวกเรา” (Protect Children Protect our Future) เป็นการรณรงค์เพื่อปกป้องเด็กจากความความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อไม่ให้มีเด็กได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุไม่สงบอีกในอนาคต

กิจกรรมที่สำคัญคือการลงพื้นที่จุดเกิดเหตุที่มีเด็กได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงปีนี้ พร้อมอ่านรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อทุกคนได้ระลึกว่าที่นี่เคยเกิดเหตุที่ทำให้เด็กได้รับผลกระทบทั้งจากระเบิดและจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐรวม5 จุด ได้แก่

1. บริเวณหน้าสถานีรถไฟจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่เคยเกิดเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559 ทำให้เด็กเสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บ 2 ราย

2. บริเวณข้างร้านขายของชำ หลังสถานีรถไฟตาแปด หมู่ที่ 5 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลาที่เคยเกิดเหตุระเบิดเมื่อวันที่19 เมษายน 2559ทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บ 1 ราย

3. บริเวณหน้าโรงแรมเซาเทิร์นวิว อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่เกิดเหตุระเบิด2 ครั้งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บ 2 ราย

4. บริเวณสี่แยกโรงแรมเก็นติ้ง อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ที่เกิดเหตุตำรวจลาดตระเวนชายแดน(ตชด.) มีปฏิบัติการที่ทำให้เด็กเสียชีวิต 1 ราย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม2559

5. บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านตาบา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่เกิดเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 6 กันยายน2559 ทำให้เด็กเสียชีวิต 1 ราย

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ เปิดเผยว่าเป้าหมายของโครงการนี้เพื่อเรียกร้องให้ผู้กระทำความรุนแรงไม่ก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะหรือในพื้นที่ที่มีเด็กอาศัยอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง และเรียกร้องให้รัฐมีมาตรการคุ้มครองเด็กที่เข้มแข็งมากกว่านี้ เนื่องจากมาตรการที่มีอยู่ยังไม่สามารถปกป้องเด็กได้

“อนาคต กลุ่มด้วยใจและเครือข่ายจะยังคงขับเคลื่อนการรณรงค์ปกป้องเด็กในพื้นที่ต่อไปจนกว่าจะไม่มีเด็กเสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยจะคิดค้นกิจกรรมรูปแบบต่างๆมาใช้ในการรณรงค์” นางสาวอัญชนากล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'รถเมล์สุขภาพ' ระบบส่งต่อชุมชน จาก 'รพ.ขุนหาญ' ถึง 'รพ.ศรีสะเกษ' ช่วยคนไข้รักษาต่อเนื่อง 100%

$
0
0
รถเมล์สุขภาพ รพ.ขุนหาญ 11 ปี ช่วยคนไข้ไม่ฉุกเฉินกลุ่มส่งต่อ รพ.ศรีสะเกษ เข้าถึงการรักษาเกือบ 100% แก้ปัญหาคนไข้ไม่ไปตามนัด เหตุจากอุปสรรคการเดินทางและค่าใช้จ่าย ส่งผลเกิดการประสานข้อมูลและวางระบบส่งต่อระหว่าง รพ. แนวโน้มคนไข้ใช้บริการเพิ่ม เหตุสะดวก รวดเร็ว ได้รับตรวจแน่นอน แถมประหยัดค่าเดินทาง จ่ายไป-กลับเพียง 50 บาท พร้อมชี้คนไข้ตาต้อกระจกรับการผ่าตัดกว่า 1,600 ราย เป็นผลชัดเจนจากโครงการนี้

 
 
นางเพ็ญศรี นรินทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ งานอุบัติเหตุฉุกเฉิน รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการรถเมล์สุขภาพว่า เริ่มจากการทบทวนจำนวนผู้ป่วยส่งต่อ พบว่ามีคนไข้กลุ่มไม่ฉุกเฉินที่ต้องส่งต่อรักษาโรคเฉพาะทางที่ รพ.ศรีสะเกษ ไม่เดินทางไปรักษาจำนวนมาก มีอัตราสูงถึงร้อยละ 13.48 จากคนไข้ไม่ฉุกเฉินที่ถูกส่งต่อทั้งหมด คนไข้กลุ่มนี้ภายหลังจะมีอาการหนักเพิ่มขึ้น เมื่อกลับมาตรวจที่ รพ.ขุนหาญอีกครั้ง สาเหตุจากความไม่สะดวกในการเดินทาง ด้วย รพ.ขุนหาญและ รพ.ศรีสะเกษมีระยะทางห่างกันถึง 60 กิโลเมตร อีกทั้งคนไข้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและยากจน บางคนไม่มีคนดูแล และไม่กล้าไปเอง จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงการรักษา
 
จากสถานการณ์ข้างต้นนี้คิดว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยคนไข้กลุ่มนี้ให้เข้าถึงการรักษาได้ จึงมีแนวคิดว่าหากนัดคนไข้เหล่านี้ในวันเดียวกันและจัดหารถรับส่งไปยัง รพ.ศรีสะเกษได้หรือไม่ จึงเป็นที่มาของโครงการรถเมล์สุขภาพ โดยได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยช่วงแรกขอใช้รถของ รพ.ขุนหาญไปรับส่งก่อน แต่เนื่องจากรถ รพ.มีเพียงแค่ 3 คันเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินทำให้มีปัญหา ดังนั้นจึงได้จัดทำข้อมูลความคุ้มทุนของงบประมานในการจัดรถรับส่งคนไข้จากงบ CEO จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับงบดำเนินการจัดรถรับส่งคนไข้ตลอดทั้งปีจำนวน 2.6 แสนบาท  
 
ต่อมางบ CEO ได้หมดลง และยังหางบไม่ได้ ในฐานะที่เป็นคนพาคนไข้เดินทางไป รพ.ศรีสะเกษ จึงพูดคุยกับคนไข้ว่างบจัดรถรับส่งคนไข้ได้หมดลงแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราจะช่วยกันออกเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อจ้างรถรับส่งกันเอง ปรากฎว่าคนไข้ต่างยินดี นับจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ค่าใช้จ่ายในการจัดรถรับส่งคนไข้จาก รพ.ขุนหาญ เพื่อรับการรักษายัง รพ.ศรีสะเกษ หรือที่เรียกว่า รถเมล์สุขภาพ จึงมาจากการร่วมจ่ายของคนไข้เองทั้งหมด โดยคิดค่าบริการไปกลับครั้งละ 50 บาท
 
นางเพ็ญศรี กล่าวว่า ในการนำคนไข้จาก รพ.ขุนหาญ รับการรักษาส่งต่อที่ รพ.ศรีสะเกษ โดยรถเมล์สายสุขภาพ จะนัดคนไข้ทุกวันพุธเวลา 7 โมงเช้า รถออกในเวลา 8 โมงเช้า เฉลี่ยเที่ยวละประมาณ 30 คน โดยก่อนหน้านี้พยาบาลจะประสานข้อมูลส่งต่อคนไข้กับแผนกต่างๆ ของ รพ.ศรีสะเกษไว้ก่อน ทั้งข้อมูลประวัติคนไข้ บัตรคิวรับการตรวจ
 
“ก่อนถึงวันพุธเราจะมีหนังสือประสานไปยัง รพ.ศรีสะเกษก่อน ทั้งจำนวนคนไข้ แผนกที่คนไข้ต้องรับการตรวจ ซึ่ง รพ.ศรีสะเกษดูแลให้เป็นอย่างดี มีการจัดคิว จัดแฟ้มข้อมูลคนไข้ไว้ให้ เมื่อรถเมล์สายสุขภาพไปถึงคนไข้ก็จะเข้ารับการตรวจยังแผนกต่างๆ ที่ประสานไว้ โดยในส่วนคนไข้ที่ซับซ้อนที่ต้องทำการตรวจอัลตร้าซาวด์หรือเอ็กซเรย์ รพ.ศรีสะเกษจะทำให้คราวเดียว เพื่อไม่ให้คนไข้ต้องเดินทางกลับมาอีก ทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว”
 
หลังดำเนินโครงการรถเมล์สายสุขภาพ นางเพ็ญศรี กล่าวว่า ทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ปัจจุบันคนไข้ที่ส่งต่อไปยัง รพ.ศรีสะเกษ มีการเข้าถึงเกือบ 100% ขณะที่จำนวนคนไข้ที่ไม่ไปตรวจตามนัดลดลงจนเหลือเกือบศูนย์
 
ทั้งนี้ผลจากการดำเนินโครงการที่เห็นชัดเจนมากคือ การเข้าถึงการรักษาของคนไข้โรคตาเพราะหมอตา รพ.ศรีสะเกษมีน้อยมาก บางคนไปรอคิวเป็น 10 ครั้งก็ยังไม่ได้รับการตรวจ ทำให้คนไข้ไม่อยากไปรักษา แต่พอมีโครงการรถเมล์สายสุขภาพที่มีระบบการนัดที่ชัดเจนรองรับผู้ป่วยที่ถูกส่งไป ทำให้คนไข้โรคตาได้คิวการตรวจรอบละ 5 คน และยังได้รับการลอกต้อกระจกเฉลี่ย 20 รายต่อเดือนจนกลับมามองเห็นได้ ซึ่งคนไข้ต่างดีใจมาก ขณะเดียวกันยังนำมาสู่การจัดโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกที่ รพ.ขุนหาญ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้เริ่มในปี 2555 โดยเชิญหมอตาจาก รพ.ศรีสะเกษมาช่วยผ่าตัดต้อกระจกให้กับคนไข้เดือนละ 1 ครั้ง ใช้หอประชุม รพ.เป็นหอผู้ป่วย ทำให้คนไข้ตาต้อกระจกจำนวนมากในพื้นที่เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น โดยมีคนไข้ตาต้อกระจกที่ได้รับการผ่าตัดแล้วกว่า 1,600 ราย นอกจากนี้ยังมีคนไข้มะเร็งที่ได้รับการบำบัดด้วยคีโมจนครบ คนไข้บางรายหายจากมะเร็งได้
 
ขณะเดียวกันกลุ่มคนไข้ที่ส่งต่อและต้องนอนรักษาที่ รพ.ศรีสะเกษยังได้รับการเยี่ยมติดตาม กลุ่มคนไข้พิการและคนไข้ระบบประกันสังคมที่มีปัญหาการเดินทางก็ได้รับการดูแล รวมถึงการับผู้ป่วยที่ไม่มีญาติกลับอำเภอขุนหาญ ซึ่งเป็นผลพวงจากโครงการรถเมล์สายสุขภาพ
 
“รถเมล์สายสุขภาพที่สามารถดำเนินโครงการมาจนถึงวันนี้ เกิดจากการมีส่วนร่วมของชาวบ้านโดยแท้จริง ซึ่งชาวบ้านเป็นผู้ร่วมจ่ายทั้งหมด และจากการที่พยาบาลเป็นผู้นำส่งคนไข้ ทำให้มีการพูดคุยกับคนไข้จนเกิดความใกล้ชิด สามารถดึงให้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ เกิดความตระหนักต่อการส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันมากขึ้น นำไปสู่ความยั่งยืนของระบบสุขภาพได้” นางเพ็ญศรี กล่าวและว่า ส่วนในแง่ของค่าเดินทางสามารถประหยัดได้ปีละกว่า 1 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับการที่คนไข้เหมารถเพื่อเดินทางไป รพ.ศรีสะเกษเอง รวมถึงการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง  
 
ส่วนการต่อยอดจากโครงการนี้ นางเพ็ญศรี กล่าวว่า นอกจากเป็นแนวคิดที่นำไปสู่การวางระบบการส่งต่อคนไข้ระดับประเทศแล้ว ในส่วนของ จ.ศรีสะเกษเอง ยังอยู่ระหว่างการต่อยอดการจัดระบบการส่งต่อระดับจังหวัด เนื่องจาก รพ.ศรีสะเกษ สามารถดูแลคนไข้ซับซ้อนได้ในระดับหนึ่ง แต่ในกรณีที่เป็นโรคซับซ้อนมากต้องส่งคนไข้ไปรับการรักษาที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ที่เป็น รพ.แม่ข่าย ซึ่งตรงนี้ทางเทศบาลและ อบต.อยากมีส่วนร่วมในการนำส่งคนไข้ให้เข้าถึงการรักษา ซึ่งอยู่ระหว่างการวางระบบและประสานยัง รพ.แม่ข่ายที่รับส่งต่อ ในการให้บริการในปี 2560 โดยใช้รูปแบบเดียวกับโครงการรถเมล์สายสุขภาพนี้
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสายบุรีระดมพลจัดกิจกรรมสร้างสันติภาพที่เริ่มจากคนในชุมชน

$
0
0

เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสายบุรี จัดโครงการค่ายเรียนรู้เสริมสร้างชุมชนสู่สันติภาพ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้ง แนวทางการจัดการ รวมถึงกระบวนการสันติภาพให้ชาวบ้านและเครือข่ายหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการหนุนเสริมสันติภาพ โต๊ะอิหม่ามย้ำการมีส่วนร่วมของผู้นำศาสนาเป็นเรื่องสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพ

เมื่อวันที่ 22-23 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสายบุรี จัดโครงการค่ายเรียนรู้เสริมสร้างชุมชนสู่สันติภาพ ณ โรงเรียนตาดีกาบ้านคอลอฆาลี ม.8 ต.ตะโล๊ะดือรามัน อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี มีเยาวชนและชาวบ้านในหลาย พื้นที่เข้าร่วม

อาหามะ ยูแม ประธานโครงการค่ายเรียนรู้เสริมสร้างชุมชนสู่สันติภาพ

นายอาหามะ ยูแม ประธานโครงการ เปิดเผยว่า ผู้เข้าร่วมโครงการนี้ประกอบด้วยตัวแทนชุมชนบ้านคอลอฆาลี เช่น ผู้นำชุมชน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลองกอตอ ชาวบ้านที่ทำอาชีพประมง อาชีพกสิกรรม เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีตัวแทนจากชมรมตาดีกาตำบลตะโล๊ะดือรามัน ชมรมเยาวชน อ.ไม้แก่น ชมรมเยาวชนบ้านกูแว ชมรมเยาวชนบ้านพอเบาะ และทีมงานเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสายบุรี รวมทั้งกว่า 30 คน

นายอาหามะ เปิดเผยต่อไปว่า วัตถุประสงค์โครงการนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจปัญหาความขัดแย้งในเชิงลึก สามารถเผชิญกับปัญหาความขัดแย้ง พร้อมทั้งวิเคราะห์และจัดการกับปัญหาความขัดแย้งได้ นอกจากนั้นเพื่อให้สามารถสื่อสารและไกล่เกลี่ยปัญหาเฉพาะหน้าได้

“ที่สำคัญสามารถสร้างแนวทางการทำงานเชิงเครือข่ายในชุมชนให้มีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างบรรยากาศพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนแนวทางการมีส่วนร่วมกับการสร้างสันติภาพในพื้นที่ได้” นายอาหามะกล่าว

นายอาหามะ เปิดเผยอีกว่ากิจกรรมในโครงการมีตั้งแต่การบรรยาย พร้อมสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มเพื่อระดมสมองแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วม และจัดวงธรรมชาติเพื่อถกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านคลลอฆาลีระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการกับชาวบ้านคอลอฆาลีนอกจากนั้นยังมีกิจกรรมรณรงค์ในประเด็นที่เกี่ยวกับสันติภาพอีกด้วย

นายอาหามะ กล่าวด้วยว่า กิจกรรมลักษณะนี้จะช่วยหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพได้ เพราะชาวบ้านจำนวนมากยังไม่เข้าใจว่าสันติภาพคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ดังนั้น การมาร่วมกันเรียนรู้ในประเด็นต่างๆของผู้คนในชุมชนจึงมีความสำคัญต่อการสร้างสันติภาพในภาพใหญ่ได้

อายุบ มะสะอิ โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดคอลอฆาลี

นายอายุบ มะสะอิ โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดคอลอฆาลี กล่าวว่า ตนสนับสนุนให้เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสายบุรีมาจัดโครงการนี้ที่มัสยิดแห่งนี้ก็เพราะตนสนับสนุนโครงการที่สร้างความรู้และความเข้าใจแก่ชุมชน โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นายอายุบ กล่าวว่า ที่สำคัญโครงการในลักษณะนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนได้ และที่สำคัญยิ่งคือ หากผู้นำศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับสันติภาพมากขึ้น ก็จะยิ่งหนุนเสริมให้เกิดสันติภาพเร็วขึ้น

“หากถามว่ากลัวหรือไม่ที่ผมมาสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพ ก็คิดว่าผมกล้ามากกว่ากลัวที่จะสนับสนุนโครงการลักษณะนี้ เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด และทุกคนต่างก็ต้องการสันติภาพ”นายอายุบกล่าว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายเยาวชนพิทักษ์ลุ่มน้ำสายบุรีระดมภาคีเครือข่ายขยายศักยภาพ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมเสนอให้ 'บ.ประกัน' บริหารจัดการค่ารักษาพยาบาล 'ข้าราชการ' 6 หมื่นล้านบาท

$
0
0
อธิบดีกรมบัญชีกลางระบุภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ จะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการศึกษาแนวทางที่ให้บริษัทประกันเข้ามาบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการวงเงิน 60,000 ล้านบาท หารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยแล้ว เบื้องต้นรูปแบบการให้สิทธิ์ยังยึดภายใต้สิทธิ์การรักษาแบบเดิม คาดว่าหากได้ข้อสรุปตามกำหนดและตกลงไว้จะสามารถเริ่มมีผลใช้ในปี 2560

 
 
 
25 ก.ย. 2559 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ จะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการศึกษาแนวทางที่ให้บริษัทประกันเข้ามาบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ วงเงิน 60,000 ล้านบาท โดยกรมบัญชีกลางได้หารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยแล้ว เบื้องต้นรูปแบบการให้สิทธิ์รักษาพยาบาลของข้าราชการยังยึดภายใต้สิทธิ์การรักษาแบบเดิม ซึ่งคาดว่าหากได้ข้อสรุปตามกำหนดและตกลงไว้ จะสามารถเริ่มมีผลใช้ในปี 2560
 
ทั้งนี้ การให้บริษัทประกันเข้ามาบริหารค่ารักษาพยาบาลข้าราชการแทนกรมบัญชีกลาง เพื่อให้การใช้งบประมาณในส่วนนี้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพราะบริษัทประกันสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลได้จริง โดยยืนยันว่า ผู้มีสิทธิ์ทั้งข้าราชการและบุคคลในครอบครัวกว่า 6 ล้านราย จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากยังได้สิทธิ์ตามเดิม เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นเพียงให้บริษัทประกันเป็นผู้บริหารจัดการวงเงินต่อปีที่ 60,000 ล้านบาทเท่านั้น
 
ในช่วงปีงบประมาณ 2556-2559 ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและบุคคลในครอบครัวมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น และการเข้าสู่สังคมสูงอายุเพิ่มขึ้น รวมถึงที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์แต่ละรายการให้สอดคล้องกับปัจจุบันมากขึ้น โดยผลการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลจนถึงเดือนสิงหาคม 2559 เบิกจ่ายเงินแล้ว จำนวน 64,665 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีจะเบิกจ่ายประมาณ 68,000 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 59 กรมบัญชีกลางได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การเบิกค่ายากลับบ้านนอกเหนือจากระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือ DRGs (Diagnosis Related Groups) การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิต การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีแพทย์แผนไทย การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิต และการเบิกค่ารักษาทันตกรรม รวมถึงกรมบัญชีกลางยังได้ตรวจสอบการเบิกค่ารักษาพยาบาล โดยพบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลทุจริตยา จำนวน 11 ราย ขณะนี้ดำเนินคดีไปแล้ว 2 ราย และอยู่ระหว่างการตรวจสอบหลักฐาน 9 ราย
 
นายมนัส ยังกล่าวถึงผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ประจำปี 2559 (1 ต.ค. 2558 – 16 ก.ย. 2559 ) ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมวงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท สามารถเบิกจ่ายไปแล้ว 2.45 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 90.16 โดยแบ่งเป็น รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 2.11 ล้านล้านบาท จากวงเงินงบประมาณ 2.175 ล้านล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 97.38 ขณะที่รายจ่ายลงทุน ซึ่งไม่รวมงบกลาง เบิกจ่ายไปแล้ว 3.29 แสนล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 4.57 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 72.15
 
ขณะที่ ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จนถึงวันที่ 16 ก.ย.2559 ภาพรวมเบิกจ่ายแล้ว 12,537 ล้านบาท ของวงเงินประมาณ 56,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 22.39 แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 12,205 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 29.77 และรายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายแล้ว 332 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.21 ส่วนผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี ของปีงบประมาณ 2549-2558 เบิกจ่ายได้แล้ว 221,657 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 308,205 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 71.92
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศสำนักนายกฯ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์

$
0
0
ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีระบุ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ สังกัดสํานักพระราชวังให้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ เป็นพิเศษเฉพาะราย จํานวน 9 ราย ให้ 'จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา' ดํารงตําแหน่งเลขาธิการพระราชวัง

 
25 ก.ย. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ โดยระบุดังนี้
 
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ สังกัดสํานักพระราชวังให้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ เป็นพิเศษเฉพาะราย จํานวน 9 ราย ดังนี้
 
1. นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ดํารงตําแหน่ง เลขาธิการพระราชวัง
2. พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายบริหารนโยบายและปฏิบัติการ
3. พันโท สมชาย กาญจนมณี ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายที่ประทับ
4. พลตํารวจเอก จุมพล มั่นหมาย ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ
5. นายขวัญแก้ว วัชโรทัย ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง
6. นายณรงค์ฤทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง
7. นายจินตนา ชื่นศิริ ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายการเงิน
8. นายสงคราม ทรัพย์เจริญ ดํารงตําแหน่ง แพทย์ประจําพระองค์
9. พลตํารวจเอก พงษ์ศักดิ์ โรหิโตปการ ดํารงตําแหน่ง กรมวังผู้ใหญ่
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2559
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ยิ่งลักษณ์' ขอ 'ประยุทธ์' ให้ความเป็นธรรมเหมือนที่ให้กับน้องชายตัวเอง

$
0
0

 

'ยิ่งลักษณ์' โพสต์เฟซบุ๊กระบุ "อยากให้นายกฯใช้หลักคิดและให้ความเป็นธรรมกับดิฉันเหมือนที่ท่านให้ความเป็นธรรม และปกป้องน้องชายท่าน รวมทั้งคนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพวกเดียวกับท่าน เพราะกฎหมายมีไว้บังคับใช้กับทุกคน ไม่ใช่เลือกปฏิบัติกับฝั่งดิฉันเพียงฝ่ายเดียว"

 
 
 
25 ก.ย. 2559 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yingluck Shinawatraระบุว่า "ทุกอย่างที่นายกฯยืนยันออกมาจากปากท่านว่าการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับคดีดิฉันเป็นไปตามกม.ไม่ได้กลั่นแกล้ง ก็อยากให้นายกฯใช้หลักคิดและให้ความเป็นธรรมกับดิฉันเหมือนที่ท่านให้ความเป็นธรรมและปกป้องน้องชายท่านรวมทั้งคนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพวกเดียวกับท่านเพราะกม.มีไว้บังคับใช้กับทุกคนไม่ใช่เลือกปฏิบัติกับฝั่งดิฉันเพียงฝ่ายเดียว"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสท.หารือแนวปฏิบัติก่อนโครงข่าย ททบ.ขอยุติบริการช่องดิจิตอลทีวี-ถกผัง 'วิทยุ 1 ปณ.'

$
0
0

25 ก.ย. 2559 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 33/2559 วันจันทร์ที่ 26 กันยายน นี้ มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ แนวทางปฏิบัติในการขอพักหรือหยุดการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ในกรณีพิพาทหากมีการไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าใช้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ นางสาวสุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทัพบกซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตเพื่อให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ได้ทำหนังสือเพื่อขอให้พิจารณาแนวทางปฏิบัติ กรณีช่องดิจิตอลทีวี ไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าใช้บริการโครงข่ายประเภทมาตรฐานความคมชัดปกติ เนื่องจากไม่ชำระค่าใช้บริการ ซึ่งสำนักงานได้เสนอแนวทางให้ กสท. พิจารณาประเด็นข้อพิพาทระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการหากไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าใช้บริการโครงข่าย ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายอยู่ในฐานะคู่สัญญาตามสัญญาเช่าใช้บริการโครงข่ายฯ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดย่อมเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าใช้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายใต้สัญญาเช่าใช้บริการโครงข่าย จึงถือเป็นสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชน ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บริบทของกฎหมายเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหากมีการพัก หรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสท.ก่อน รวมทั้งจะต้องปฏิบัติตามมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้บริการและประชาชนภายหลังการพักหรือหยุดการให้บริการมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อขอความเห็นชอบต่อ กสท. ก่อนการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งในที่ประชุมจะได้ถกแนวทางและรายละเอียดต่อแนวทางปฏิบัติของผู้ใช้และผู้ให้บริการต่อไป
 
“กรณีช่องไม่พร้อมจ่ายค่าเช่าโครงข่ายเพราะโต้แย้งกันเรื่องการติดตั้งล่าช้า คุณภาพ และราคา นอกจาก กสท. จะพิจารณาแนวปฏิบัติหากมีการขอยกเลิกแล้ว ควรเชิญทั้งสองฝ่ายมาหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง โดยดูจากข้อเท็จจริงด้านเทคนิคที่ปรากฎ ถ้าตกลงกันได้ก็จบถ้าไม่จบก็ต้องฟ้องศาลต่อไป แต่ทุกฝ่ายต้องมีหลักประกันว่าจะไม่กระทบคนดู และช่องต้องมีคลื่นในการออกอากาศตามสิทธิ์ที่ประมูลมา ดังนั้นถ้าจะยกเลิกสัญญาเดิมก็ควรมีการหาโครงข่ายสำรองไว้ด้วย ส่วนการแก้ไขปัญหาภาพรวม กสทช.ควรเป็นตัวกลางในการตรวจสอบมาตรฐานของทุกโครงข่าย และต้องกำกับดูแลค่าเช่าโครงข่ายตามต้นทุนที่แท้จริง เพื่อความเป็นธรรมในการแข่งขันด้วย” สุภิญญา กล่าว
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมเตรียมพิจารณาการดำเนินการตามกฎหมายอาญา กรณีมีการกล่าวอ้าง กสทช. และสำนักงาน กสทช. เพื่อเรียกรับผลประโยชน์จากผู้มีความประสงค์จะประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง เนื่องจากมีกรณีกลุ่มผู้ได้รับความเสียหายมีการปลอมแปลงเอกสาร แบบคำขอต่างๆใช้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของ กสทช. เพื่อให้คนหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่ออกโดย กสทช. และสำนักงาน กสทช. รวมทั้งมีการกล่าวอ้างผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ถึง กสทช. ว่าได้มีการออกใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุให้แก่สถานีเครือข่าย ซึ่งองค์กรวิทยุชุมชนภาคธุรกิจมีการเรียกรับผลประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว และ พิจารณาวาระการอนุมัติผังรายการหลักประจำปี 2559 ของสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. จำนวน 8 สถานี (ภายหลังการปรับปรุงตามมติที่ประชุม กสท.ครั้งที่3/2558) ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า กรณีวิทยุ 1 ปณ. ของสำนักงาน กสทช.เอง เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนถึงปัญหาที่ค้างคาในการเรียกคืนคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงของภาครัฐเดิมที่ไม่มีความจำเป็น ทั้งที่ตามแผนแม่บท กสทช. หน่วยงานรัฐทั้งหมดมีระยะเวลาในการถือครองคลื่นความถี่ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 แต่สำนักงานยังไม่เสนอแผนการเรียกคืนคลื่นความถี่อย่างเป็นระบบมาให้บอร์ดพิจารณาเลย 
 
“ส่วนตัวคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ กสทช. ต้องพิจารณาให้สำนักงานคืนคลื่นวิทยุ 1 ปณ. มาจัดสรรใหม่ตามกฎหมายเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาความจำเป็นสิทธิ์การถือครองคลื่นวิทยุใน 5 ปีตามกฎหมายที่จะครบกำหนดปีหน้า การถ่วงเวลาออกไปจะไม่เป็นผลดีกับการปฎิรูปคลื่นความถี่และส่งผลต่อความล่าช้าในการปฎิรูปกิจการวิทยุกระจายเสียงทั้งหมด เพราะตอนนี้ กสทช. ยังไม่สามารถเปิดให้มีการขอจัดสรรคลื่นวิทยุใหม่ เนื่องจากต้องรอแผนพัฒนากิจการวิทยุกระจายเสียง และ ตารางคลื่นความถี่ใหม่ ที่ต้องมาจากเรียกคืนคลื่นรายเดิมของรัฐมาจัดสรรใหม่ด้วย ถ้าไม่แก้จุดนี้ก็ทำให้การจัดสรรคลื่นใหม่ยาก ระหว่างนี้ใครตั้งสถานีใหม่จึงผิดกฎหมาย” สุภิญญากล่าว
 
วาระอื่น ๆ น่าติดตาม ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงประเภทรายการเพื่อความเหมาะสมรายการ “เซ็กส์แฟมิลี่” ทางช่อง 8 วาระเพื่อทราบช่องรายการ POP TV ได้ดำเนินการเสียค่าปรับเปรียบเทียบคดีตามที่มีการออกอากาศรายการหรือโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ทั้งนี้สำนักงานได้ทำการบันทึกประวัติของผู้ประกอบกิจการฯต่อไป และวาระอื่นๆ ติดตามผลการประชุมในวันจันทร์นี้
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนมูลฟ้องนัดที่ 6 กรณี 7 ตำรวจปราจีนบุรีทำร้ายร่างกายเยาวชนบังคับให้รับสารภาพ

$
0
0
ศาลจังหวัดปราจีนบุรี นัดไต่สวนมูลฟ้องนัดที่ 6 คดีนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องตำรวจปราจีนบุรี 7 คนกรณีโจทก์ถูกทำร้ายร่างกายบังคับให้รับสารภาพขณะเป็นเยาวชน 26 ก.ย. นี้

 
25 ก.ย. 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งข่าวว่าศาลจังหวัดปราจีนบุรี ได้ไต่สวนมูลฟ้องนัดที่หก คดีอาญาหมายเลขดำที่ 925/2558 คดีที่นายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องตำรวจ 7 คน ได้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ สภ.เมืองปราจีนบุรี 2 คน และเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี 2 คน เป็นจำเลย ฐานร่วมกันกระทำความผิด ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200, 295, 305, 310, 391 ประกอบมาตรา 83, 91 สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่นายฤทธิรงค์ระบุว่าเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมไปทำร้ายร่างกายบังคับให้รับสารภาพในการไต่สวนมูลฟ้องนัดนี้ ศาลได้กำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องครั้งต่อไปในวันที่ 26 ก.ย. 2559  เวลา 13.30 น. ถึง 16.00 น.
 
ทั้งนี้การถามค้านนายฤทธิรงค์ของทนายความจำเลยทั้งเจ็ดเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2559 นัดต่อไปในวันที่ 26ก.ย. 2559 เป็นการถามติงของพยานโจทก์ ซึ่งทนายความโจทก์จึงทำการถามติงจากประเด็นที่โจทก์ได้เบิกความไปแล้วที่ผ่านมา ในคดีนี้ ขณะเกิดเหตุนายฤทธิรงค์เรียนมัธยมปลายถูกจับกุมและถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ ถูกถุงพลาสติกคลุมศีรษะให้ขาดอากาศหายใจหลายครั้ง ถูกขู่ฆ่า ถูกทำร้ายซ้ำๆ จนทนไม่ไหวจนสารภาพตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหา ปัจจุบันผู้ก่อเหตุการณ์ชิงทรัพย์ได้ถูกจับกุมและดำเนินคดีแล้ว อัยการสั่งไม่ฟ้องนายฤทธิรงค์ แต่พบว่าได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ นอนไม่หลับ กลัวการออกจากบ้านคนเดียว ไม่ไว้ใจใคร พยายามเรียกร้องขอความเป็นธรรมหลายหน่วยงาน ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบถึงครอบครัว จึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลให้ดำเนินคดีเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนวานรนิวาสร่วม 500 ค้านเหมืองโปแตซ หลัง'ไชน่าหมิงต๋า' จัดเวทีผู้รู้มาเล่า

$
0
0

ชาวบ้านวานรนิวาสร่วม 500 คน รวมตัวแสดงพลังค้านเวที “ผู้รู้มาเล่า” พร้อมยื่นหนังสือชี้กระบวนการสำรวจแร่ไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งสิ่งแวดล้อม ประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

25 ก.ย. 2559 เมื่อเวลา 08.00 น. ที่หอประชุมอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร บริษัท ไชน่าหมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดเวทีเสวนา เรื่อง การสำรวจแร่โปแตช การพัฒนาแหล่งแร่ ให้กับ ข้าราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชน โดย มี นักวิชาการเหมืองแร่ รองประธานสภาแร่ และ เจ้าหน้าที่ กพร. ในเวทีที่ใช้ชื่อว่า "ผู้รู้มาเล่า"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 08.00 น. เจ้าหน้าที่เข้ามาจัดเตรียมสถานที่ประชุม โดยมีโต๊ะสำหรับลงทะเบียนด้านหน้าหอประชุม เจ้าหน้าที่ ตำรวจในชุดปกติ และชุดปราบจราจล ประจำที่ สภ.วานรนิวาส ซึ่งอยู่ติดกับ ที่ว่าการอำเภอวานรนิวาสพื้นที่จัดงาน

ต่อมา 08.30 น. กลุ่มรักษ์วานรนิวาส และกลุ่มสำนึกรักษ์วานร เดินทางมารวมตัวกัน บริเวณที่จอดรถ ด้านหน้าหอประชุม เพื่อแสดงออกว่าไม่เอาเหมืองแร่โปแตช พร้อมกับปรบมือต้อนรับพี่น้องจากพื้นที่ 6 ตำบล ที่ทยอยเข้าร่วมสมทบอย่างต่อเนื่อง ขณะชาวบ้านบางส่วนที่ได้รับการติดต่อให้เดินทางมาร่วมเวที เกิดความกังวลว่าจะกลายเป็นการสนับสนุนการสำรวจแร่โปแตช ยืนยันว่ามาร่วม เพราะต้องการรับทราบข้อมูลไม่ต้องการให้มีเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่ จึงมีชาวบ้านบางส่วนเดินออกมาร่วมกับกลุ่มคัดค้าน

ต่อมา 09.00 น. ภายในหอประชุมประกาศเริ่มเวทีเสวนา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งแถวเดินมาประจำการหน้า หอประชุม ด้านชาวบ้านกลุ่มคัดค้าน ยืนยันแสดงจุดยืนนอกหอประชุม ด้านตัวแทนชาวบ้านได้เข้าไปขอให้เจ้าหน้าที่นำเต็นท์มาตั้งให้ชาวบ้านด้านนอกที่ขอ ขยับเข้าไปที่หน้าประตูหอประชุม เพื่อจะสามารถรับฟังคำถามจากตัวแทนชาวบ้าน ที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นในห้องประชุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ยอมตามข้อเสนอของชาวบ้าน

ต่อมา 10.00 น. ตัวแทนชาวบ้าน 3 คน ได้ตั้งคำถามกับวิทยากรบนเวทีเสวนา ถึงความกังวลต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชน พร้อมกับยืนยันเจตนารมณ์ของชาววานรนิวาส ว่าไม่ต้องการให้มีการสำรวจแร่โปแตช จากนั้น ตัวแทนได้ยื่นหนังสือ ขอให้ชี้แจงการสำรวจแร่โปแตช และทบทวนโครงการสำรวจแร่โปแตชที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ ถึง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)

00000

 

ที่ 1/2559 41

หมู่ 6 ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร 47120

25 กันยายน 2559

เรื่อง ขอให้ชี้แจงการดำเนินการสำรวจโปแตช และทบทวนการสำรวจโปแตชในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

เรียน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

เนื่องจาก เรากลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด และกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ประกอบด้วย ชาวบ้าน จาก 6 ตำบล คือ ตำบลธาตุ ตำบลวานรนิวาส ตำบลศรีวิชัย ตำบลนาคำ ตำบลขัวก่าย ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการสำรวจแร่โปแตช พวกเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการสำรวจแร่โปแตช และทำเหมืองแร่ในอนาคต แต่ประชาชนส่วนใหญ่พื้นที่กลับถูกปิดกั้นการมีส่วนร่วม และไม่มีอำนาจตัดสินใจในโครงการที่จะสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตและชุมชน เพราะการอนุมัติอนุญาตในการดำเนินโครงการไม่ได้เกิดจากความต้องการของชุมชน และในขั้นการสำรวจแร่ก็เปิดให้ดำเนินการโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวอำเภอวานรนิวาส

ดังนั้น พวกเราชาวอำเภอวานริวาส ขอให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ชี้แจงการดำเนินการสำรวจโปแตช และทบทวนการสำรวจโปแตชในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และหากจะมีการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการสำรวจแร่โปแตช ก็ขอให้ท่านส่งหนังสือแจ้งมายังกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด และกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันโดยขอให้ท่านชี้แจงกลับมายังกลุ่มฯ เป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 7 วัน

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ตัวแทนกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด และกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลล์สุดสัปดาห์: ประชาชนมองการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่ค่อยมีความเป็นธรรม

$
0
0
'นิด้าโพลล์' เผยผลสำรวจประชาชนมองการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการไม่ค่อยมีความเป็นธรรม 'สวนดุสิตโพลล์' คนส่วนใหญ่กังวลน้ำท่วม อยากให้วางแผนป้องกันระยะยาว 'กรุงเทพโพลล์' ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนใช้ ม.44 ตรวจสอบคดีโครงการรับจำนำข้าว และควรเพิ่มบทลงโทษอย่างอื่นนอกเหนือจากการยึดทรัพย์ 'ซูเปอร์โพลล์' เผยคนยังพอใจการทำงานของ กกต. พร้อมเลือกพรรคการเมืองที่หนุน 'ประยุทธ์'

 
25 ก.ย. 2559 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่าศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพลล์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ” ระหว่างวันที่ 20 - 21 ก.ย. 2559 จากประชาชนที่เป็นข้าราชการประจำและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 29.04 ระบุว่า ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับตำแหน่งใหม่ รองลงมา ร้อยละ 25.68 ระบุว่า ความสามารถและผลงานที่ผ่านมา ร้อยละ 17.68 ระบุว่า ความอาวุโสในตำแหน่ง ร้อยละ 9.36 ระบุว่า ความรู้  
 
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อความเป็นธรรมในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.92 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเป็นธรรม รองลงมา ร้อยละ 34.00 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเป็นธรรม ร้อยละ 11.04 ระบุว่า ไม่มีความเป็นธรรมเลย ร้อยละ 10.56 ระบุว่า มีความเป็นธรรมมาก โดยสำหรับความคิดเห็นต่อการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในหน่วยงาน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.68 ระบุว่า มีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายค่อนข้างบ่อย รองลงมา ร้อยละ 22.56 ระบุว่า ไม่ค่อยมีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสาย ร้อยละ 22.00 ระบุว่า ไม่มีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายเลย ร้อยละ 15.60 ระบุว่า มีการใช้ระบบอุปถัมภ์หรือเส้นสายอย่างมาก 
 
นอกจากนี้ ความคิดเห็นต่อการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.16 ระบุว่า ไม่มีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เลย รองลงมา ร้อยละ 21.76 ระบุว่า ไม่ค่อยมีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ร้อยละ 19.92 ระบุว่ามีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ค่อนข้างบ่อย ร้อยละ 8.32 ระบุว่า มีการใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เป็นประจำ
 
โพลล์สวนดุสิต สำรวจเรื่องความกังวลน้ำท่วม ส่วนใหญ่กังวลน้ำท่วมบ้านเรือน ไร่นา อยากให้วางแผนป้องกันระยะยาว 
       
25 ก.ย. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า “สวนดุสิตโพลล์” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง ความวิตกกังวลของประชาชน ต่อสถานการณ์น้ำท่วม จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายจังหวัดประสบปัญหาน้ำท่วม ประชาชนได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะความเสียหายของบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร ตลอดจนเส้นทางสัญจรต่าง ๆ ขณะที่ทางภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือและขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจากผลสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 1,304 คน ระหว่างวันที่ 19 - 24 กันยายน 2559 สรุปผลได้ ดังนี้
       
       เมื่อถามว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ประชาชนมีความวิตกกังวลในเรื่องใดบ้าง
       อันดับ 1ประชาชนได้รับความเดือดร้อน น้ำท่วมบ้านเรือน ไร่นา ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย 86.69%
       อันดับ 2อุบัติเหตุจากน้ำท่วม เส้นทางสัญจรถูกตัดขาด การจราจรติดขัด การเดินทางไม่สะดวก 80.54%
       อันดับ 3กลัวว่าจะมีฝนตกหนักลงมาอีก น้ำท่วมขัง ระบายไม่ทัน น้ำจากที่อื่นมาสมทบ 75.20%
       อันดับ 4ภัยหรือโรคที่มาจากน้ำ และสัตว์มีพิษ 66.81%
       อันดับ 5ปัญหาน้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ 64.03%
       
       เมื่อถามว่า ประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างไร?
       อันดับ 1ต้องวางแผนป้องกันระยะยาว มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี มีพื้นที่รองรับน้ำเพียงพอ 82.14%
       อันดับ 2รัฐบาลควรสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือก่อนเข้าสู่หน้าฝน 78.85%
       อันดับ 3มีการแจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง 69.32%
       อันดับ 4มีบทลงโทษที่รุนแรงกับผู้กระทำผิด เช่น บุกรุกป่า ปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่ขวางทางน้ำ 67.16%
       อันดับ 5จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง60.77%
       
       เมื่อถามว่า ประชาชนมีความมั่นใจต่อการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลครั้งนี้มากน้อยเพียงใด?
       อันดับ 1ค่อนข้างมั่นใจ58.39%
       เพราะ มีบทเรียนจากน้ำท่วมที่ผ่านมา น่าจะศึกษาและหาทางป้องกันได้ดีขึ้น แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ฯลฯ
       อันดับ 2ไม่ค่อยมั่นใจ31.26%
       เพราะ ปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นทุกปี มีฝนตกหนักต่อเนื่อง การให้ความช่วยเหลือดูแลตามพื้นที่ต่างๆอาจไม่ทั่วถึง ฯลฯ
       อันดับ 3มั่นใจมาก 5.98%
       เพราะ เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล สั่งการเด็ดขาด ทำงานรวดเร็ว มีกองกำลังทหารให้การช่วยเหลือ ฯลฯ
       อันดับ 4ไม่มั่นใจ 4.37%
       เพราะ เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ป่าไม้ลดลงและเสื่อมโทรมมาก การบริหารจัดการน้ำยังไม่ดี ฯลฯ 
 
กรุงเทพโพลล์เผยประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนใช้ ม.44 ตรวจสอบคดีโครงการรับจำนำข้าว และควรเพิ่มบทลงโทษอย่างอื่นนอกเหนือจากการยึดทรัพย์
 
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมาสำนักข่าวทีเอ็นเอ็นรายงานว่ากรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ประชาชนคิดเห็นอย่างไรต่อการดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าว” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,150 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีผลดังนี้
 
ความเห็นต่อการใช้ มาตรา 44 ให้อำนาจกับกรมบังคับคดีในการตรวจสอบคดีโครงการรับจำนำข้าว พบว่า ประชาชน ร้อยละ 63.4 เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า จะทำให้ความจริงปรากฏเร็วขึ้น (ร้อยละ32.9) และทำให้การดำเนินคดีมีความคืบหน้าเร็วขึ้น (ร้อยละ 30.5) ขณะที่ร้อยละ 36.6 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ควรให้ศาลยุติธรรมดำเนินคดีไปตามกระบวนการมากกว่า (ร้อยละ 25.4) และเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง (ร้อยละ 11.2)
 
สำหรับความเห็นต่อการออกคำสั่งให้มีการยึดทรัพย์กว่า 2 หมื่นล้าน จากผู้กระทำผิดโครงการรับจำนำข้าวในส่วนการซื้อขายข้าวแบบ จีทูจี ประชาชนร้อยละ 44.2 ระบุว่าควรเพิ่มบทลงโทษอย่างอื่น นอกเหนือจากการยึดทรัพย์ รองลงมา ร้อยละ 27.7 ระบุว่าเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่คุ้มค้าแล้ว และร้อยละ 14.8 ระบุว่าเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่น้อยไป
 
เมื่อถามว่า “กังวลหรือไม่ว่าผลจากการดำเนินคดีว่าจะมีการสร้างความปั่นป่วนหรือการปลุกระดม จากกลุ่มผู้ที่ไม่พอใจคำสั่งทางการปกครอง” ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.6 ระบุว่าไม่กังวล ขณะที่ร้อยละ 41.4 ระบุว่ากังวล
 
ด้านความเห็นต่อ การดำเนินคดี “โครงการรับจำนำข้าว”ว่าส่งผลต่อนักการเมืองและข้าราชการให้หยุดพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่นมากน้อยเพียงใด ประชาชนร้อยละ 37.4 เห็นว่าส่งผลค่อนข้างมาก รองลงมาร้อยละ 23.5 เห็นว่าส่งผลมาก และร้อยละ 21.6 เห็นว่าส่งผลค่อนข้างน้อย
 
ส่วนความเห็นต่อ การดำเนินคดี “โครงการรับจำนำข้าว”ว่าส่งผลอย่างไรกับสังคมไทยนั้น ประชาชน ร้อยละ 35.3 ระบุว่าทำให้นักการเมืองตระหนักถึงความสุจริตในหน้าที่ รองลงมาร้อยละ 30.6 ระบุว่าทำให้ประชาชนคิดว่ากฎหมายสามารถเอาผิดนักการเมืองได้จริง และร้อยละ 21.9 ระบุว่าจะได้เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับการเมืองไทย
 
สุดท้ายเมื่อถามความพึงพอใจต่อภาพรวมความคืบหน้าในการดำเนินคดี “โครงการรับจำนำข้าว” พบว่า ประชาชน ร้อยละ 33.1 พึงพอใจค่อนข้างมาก รองลงมาร้อยละ 29.2 พึงพอใจมาก และ ร้อยละ 27.1 พึงพอใจค่อนข้างน้อย
 
'ซูเปอร์โพลล์' เผยคนยังพอใจการทำงานของ กกต. พร้อมเลือกพรรคการเมืองที่หนุน 'ประยุทธ์'
 
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่าสำนักวิจัยซูเปอร์โพลล์ (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรกับการรีเซ็ตคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)
 
โดยถามถึงความพอใจของประชาชนต่อการทำหน้าที่ของ กกต. เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ประชาชนพอใจกับการทำหน้าที่ของ กกต.6.85 คะแนน เมื่อถามถึงความเป็นกลางในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้คะแนนถึง 6.45 คะแนน ที่น่าพิจารณาก็คือ ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 ระบุให้โอกาส กกต.ทำงานต่อไป ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 33.7 ระบุควรรีเซ็ต ปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
 
นอกจากนี้ ประชาชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 52.7 เห็นด้วยกับการมีหน่วยงานรัฐ อื่นๆ มาช่วยทำหน้าที่จัดการการเลือกตั้ง โดย กกต. เป็นผู้กำกับดูแล ในขณะที่ร้อยละ 47.3 ไม่เห็นด้วย
 
เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนร้อยละ 34.8 ระบุพรรคการเมืองที่สนับสนุน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองลงมา คือ ร้อยละ 20.4 ระบุยังไม่คิดเลือกพรรคใดเลย และร้อยละ 17.4 ระบุพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 14.4 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 13.0 ระบุเลือกพรรคอื่นๆ
 
นายนพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน และผู้อำนวยการซูเปอร์โพล กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงให้ความไว้วางใจการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพร้อมสนับสนุนให้โอกาส กกต.ชุดปัจจุบันทำงานต่อไป และคะแนนความนิยมของสาธารณชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา กำลังส่งผลลัพธ์ทำให้พรรคการเมืองใดๆ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กลายเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนตั้งใจจะเลือกตามไปด้วย
 
"จังหวะทางการเมืองแบบนี้ โดยทั่วไปสำหรับบางประเทศ ฝ่ายการเมืองจะใช้โอกาสนี้จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ผลที่ตามมาคือ เสถียรภาพทางการเมืองบน ความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยจะต่อเนื่องยาวนานไปอีกระยะหนึ่ง" ผอ.ซูเปอร์โพล ระบุ
 
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 2,215 ตัวอย่าง ดำเนินการระหว่างวันที่ 21 – 23 กันยายน 2559
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาเลเซียส่งแรงงานผิดกฎหมายชาวพม่า 138 คนกลับประเทศ ตามนโยบายนิรโทษกรรม

$
0
0
แรงงานผิดกฎหมายชาวพม่า 138 คน ที่ถูกควบคุมตัวในมาเลเซียถูกส่งกลับประเทศแล้ว ยอดส่งกลับรวม 1,099 คน ยังเหลืออีก 2,294 คนในค่าย 11 แห่ง ปัจจุบันมาเลเซียกำลังเร่งนิรโทษกรรมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย เส้นตาย 31 ธ.ค. 2559 ซึ่งหากไม่เข้าร่วมโครงการจะต้องถูกจับกุม ควบคุมตัวและส่งกลับประเทศ

 
 
ภาพประกอบแรงงานพม่าทำงานภาคก่อสร้างในปีนังประเทศมาเลเซียเมื่อปี 2552  (ที่มาภาพ: irinnews.org) 
 
25 ก.ย. 2559 สำนักข่าว Xinhuaรายงานว่าแรงงานชาวพม่า 138 คน ที่ถูกควบคุมตัวในมาเลเซียถูกส่งกลับประเทศแล้ว จากการรายงานของสื่อในพม่าเมื่อวันศุกร์ (23 ก.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่าภายใต้ความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชน 2 แห่ง พวกเขาได้รับเอกสารสำคัญประจำตัวแทนหนังสือเดินทาง และเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียกลับถึงย่างกุ้งเมื่อวันที่ 22 ก.ย. ด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ 
 
การส่งกลับ 138 คนนี้ ทำให้ ณ ปัจจุบันมาเลเซียส่งแรงงานชาวพม่ากลับแล้วรวม 1,099 คน และยังเหลือแรงงานพม่าที่ถูกควบคุมตัวด้วยเหตุผลต่าง ๆ กันไปอีก  2,294 คน ในค่าย 11 แห่ง ทั่วประเทศมาเลเซียด้านกระทรวงแรงงาน, การย้ายถิ่น และประชากร ของพม่าระบุว่ากำลังร่วมมือกับมาเลเซียเพื่อในให้ความคุ้มครองแรงงานพม่าที่ไปทำงานยังมาเลเซีย
 
เร่งนิรโทษกรรมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย เส้นตาย 31 ธ.ค. 2559 นี้
 
ปัจจุบันมาเลเซียอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการนิรโทษกรรมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย (Rehiring and Relocation Illegal Immigrant Programme) ที่มีระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ 15 ก.พ. 2559 จนถึง 31 ธ.ค. 2559 โดยเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่ทำงานในมาเลเซียที่อยู่เกินเวลาที่ได้รับอนุญาต (Overstay) ได้เสียค่าปรับ และจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน และได้รับใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง สำหรับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่ไม่เข้าร่วมโครงการนิรโทษกรรมฯ รัฐบาลจะเร่งรัดจับกุมอย่างเข้มงวด ควบคุมตัวและส่งกลับประเทศ
 
ทั้งนี้คุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการนิรโทษกรรม แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภท A(i) แรงงานต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานประเภท Visit Pass Temporary Employment แต่ใบอนุญาตฯ หมดอายุแล้ว แต่ยังคงทำงานต่อกับนายจ้างเดิม (ที่มีชื่อระบุในใบอนุญาตทำงาน) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และต้องครบ 6 เดือนก่อนวันที่ 15 ก.พ. 2559 (สรุปง่ายๆ คือ เข้ามาทำงานแบบถูกต้อง มี Work Permit แต่เมื่อ Work Permit หมดอายุแล้วไม่กลับประเทศ ยังทำงานกับนายจ้างรายเดิม) 2. ประเภท A(ii) แรงงานต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานประเภท Visit Pass Temporary Employment แต่ใบอนุญาตฯ หมดอายุแล้ว และยังคงทำงานต่อ แต่ไม่ได้ทำงานกับนายจ้างรายเดิม โดยทำงานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และต้องครบ 6 เดือนก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 (สรุปง่ายๆ คือ เข้ามาทำงานแบบถูกต้องมี Work Permit แต่เมื่อ Work Permit หมดอายุแล้วไม่กลับประเทศ และเปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่) และ 3. ประเภท B แรงงานต่างชาติที่ใช้วีซ่าท่องเที่ยว (Social Visit Pass) ทำงาน และ วีซ่าท่องเที่ยวหมดอายุก่อนวันที่ 1 ก.ย. 2558 โดยได้ทำงานกับนายจ้างปัจจุบันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และต้องครบ 6 เดือนก่อนวันที่ 15 ก.ย. 2559 (การเข้ามาทำงานแบบไม่มี Work Permit และอยู่เกินระยะเวลาที่อนุญาตให้เข้ามาท่องเที่ยว)
 
นอกจากนี้ มาเลเซียจะไม่อนุญาตให้บุคคลต่อไปนี้เข้าร่วมโครงการฯ (1) ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียโดยไม่ได้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอย่างถูกต้องและไม่มีเอกสารเดินทางที่ถูกต้อง (2) เคยมี Work Permit แต่หลบหนีนายจ้างรายเดิม (3) เคยมี Work Permit แต่หนังสือเดินทางหมดอายุ (4) ได้รับอนุมัติวีซ่าประเภทอื่น เช่น วีซ่านักศึกษา และ Employment Pass นอกจากนี้นายจ้างและลูกจ้างที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเสียค่าปรับและผ่านหลักเกณฑ์มาตรฐานเช่นเดียวกับการจ้างงานแรงงานต่างชาติที่มีอยู่เดิม เช่น ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมจ้างงานแรงงานต่างชาติ (Levy) ต้องผ่านการตรวจสุขภาพ ไม่มีประวัติอาชญากรรม หรือไม่เคยลงทะเบียนโครงการนิรโทษกรรม (6P) เป็นต้น
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ: ส่อง พ.ร.บ. งบประมาณ 2560 ก.ศึกษาธิการ 'ขอมากสุด-ถูกตัดมากสุด'

$
0
0
หลังร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2560 วงเงิน 2,733,000 ล้านบาท ผ่าน สนช.วาระ 3 พบ 5 อันดับแรกถูกตัดลดงบประมาณมากที่สุดคือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง - ดูตัวอย่างโครงการที่ถูกตัดงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ 20 กระทรวง

 

 

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2559 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ในวาระ 2 และ 3 วงเงิน 2,733,000 ล้านบาท หลังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ได้พิจารณาแล้วเสร็จ โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการปรับลดงบ ประมาณทั้งสิ้นจำนวน 17,980,242,800 บาท โดยพิจารณาถึงความสอดคล้องกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทระดับชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล ยุทธศาสตร์การจัดการในการจัดสรรงบประมาณประจำปี ตลอดจนเป้าหมายในการดำเนินงาน ความคุ้มค่า ความพร้อม ศักยภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งคำนึงถึงการใช้จ่ายงบประมาณในปีที่ผ่านมาประกอบการพิจารณาอย่างเข้มงวด คือ 1.โครงการหรือรายการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือหมดความจำเป็น หรือได้ดำเนินการไปแล้ว  2.รายการที่มีเป้าหมายดำเนินงานที่ไม่ชัดเจน มีความจำเป็นน้อย มีค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนและไม่ประหยัด 3.รายการที่มีผลดำเนินการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ และคาดว่าจะไม่สามารถใช้จ่ายได้ทันในปีงบประมาณ 2560  4.รายการงบประมาณต่างๆที่สามารถประหยัดได้ และ 5.รายการที่สามารถใช้เงินจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากเงินงบประมาณ เช่น เงินรายได้หรือเงินสะสมที่เหลืออยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ และเงินรายได้จากกองทุน หรือเงินทุนหมุนเวียน เป็นต้น

ส่วนการปรับเพิ่มงบประมาณจำนวน 17,980,242,800 บาท เท่ากับจำนวนที่ปรับลดลง เพื่อจัดสรรให้ส่วนราชการกองทุน เงินทุนหมุนเวียน หน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล หน่วยองค์กรอิสระของรัฐ และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับกรณีมีความจำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง มีงบประมาณรองรับการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลในระยะต่อไป รวมทั้งเพื่อเตรียมการรองรับการดำเนินงานตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปีระหว่างปี 25560-2579 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ.25560-2564 นอกจากนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้ให้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณปี 2560 รวมทั้งสิ้น 10,680,485,300 บาท  เนื่องจาก 3 หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ คือ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัย     สงขลานครินทร์ และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เปลี่ยนแปลงสถานะที่กฎหมายมีผลบังคับแล้ว และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปลี่ยนแปลงงบประมาณ แผนงานบุคลากรภาครัฐไปตั้งที่กรมการท่องเที่ยว (อ่านเพิ่มเติม ‘จับตา :  รายการเพิ่มงบประมาณจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายงาน 2560’)

อนึ่งเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 แล้ว โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560  นี้จะเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2560

5 กระทรวงที่ถูกปรับลดงบประมาณมากสุด

ทั้งนี้พบว่า ภาพรวมงบประมาณนั้นเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ (ที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559) กับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว (ที่ผ่านวาระ 2 และ 3 ไปเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2559) พบว่า 5 กระทรวงแรกที่ถูกตัดงบประมาณมากที่สุดได้แก่ อันดับ 1 กระทรวงศึกษาธิการ เสนองบประมาณ 519,292,488,100 บาท ถูกปรับลด 1,642,046,600 บาท  อันดับ 2 กระทรวงกลาโหม เสนองบประมาณ 214,347,402,200 บาท ถูกปรับลด 1,092,485,400 บาท  อันดับ 3 กระทรวงสาธารณสุข เสนองบประมาณ 130,728,527,400 บาท ถูกปรับลด 965,888,000 บาท  อันดับ 4 สำนักนายกรัฐมนตรี เสนองบประมาณ 32,605,173,000 บาท ถูกปรับลด 944,590,400 บาท และอันดับ 5 กระทรวงการคลัง เสนองบประมาณ 218,633,124,100 บาท ถูกปรับลด 902,869,900 บาท

 

ตัวอย่างงบประมาณที่น่าสนใจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ถูกปรับลด

ตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ที่ สนช. เห็นชอบผ่านวาระ 3 ไปเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมานั้น พบหลายโครงการของหลายหน่วยงานของบไม่ผ่านสักบาทเดียวตัวอย่างเช่น สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ของบประมาณโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ตำบลในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระดับตำบล ไป 8,000,000 บาท ถูกปรับลดงบไปทั้ง 8,000,000 บาท  เป็นต้น (ที่มาภาพประกอบ: sukho.nfe.go.th)

เช่นเดียวกับปีก่อนหน้านี้ ที่ส่วนใหญ่แล้วพบว่างบประมาณของของกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ถูกปรับลดมักจะเป็นงบประมาณค่าดำเนินงาน ค่าที่ดินและก่อสร้าง งบประมาณด้านการจัดซื้อครุภัณฑ์และยานพาหนะ ค่าใช้จ่ายไปราชการต่างประเทศชั่วคราว ค่าใช้จ่ายสัมมนาและอบรม ค่าโฆษณาและเผยแพร่ เป็นต้น (อ่านย้อนหลัง: เปิดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2559 พบ ก.ศึกษาฯ ถูกปรับลดสูงสุดกว่า 3 พันล้าน) โดยใน ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 พบกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ มีงบประมาณที่น่าสนใจถูกปรับลด ดังตัวอย่าง เช่น

หน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เสนองบประมาณเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของนักเรียนทุนรัฐบาล ก.พ. 1,409 ทุน 1,474,170,000 บาท ถูกปรับลด 68,308,000 บาท สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนองบประมาณโครงการปรับปรุงการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 และการศึกษาแนวทางและรูปแบบการจัดทำการคาดประมาณประชากรระดับพื้นที่ 3,000,000 บาท ถูกปรับลดทั้ง 3,000,000 บาท  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเสนองบประมาณโครงการปฏิบัติงานตามแผนการขับเคลื่อนงานด้านมวลชน กอ.รมน. 30,000,000 บาท ถูกปรับลด 3,360,000 บาท สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ของบประมาณค่าใช้จ่ายดำเนินงานศูนย์สร้างสรรค์ออกแบบไป 77,942,800 บาท ถูกปรับลดไป 13,100,000 บาท และงบประมาณการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระดับตำบล ของบประมาณไป 8,000,000 บาท ถูกปรับลดงบไปทั้ง 8,000,000 บาท สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ของบประมาณการบริหารจัดการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ไป 81,100,100 บาท ถูกตัดงบประมาณไป 16,457,000 บาท เป็นต้น

หน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหม สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ของบประมาณโครงการการเทิดทูนป้องกัน รวมทั้งตอบโต้และทำความเข้าใจมิให้มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ 18,675,200 บาท ถูกปรับลด 700,000 บาท  การถวายความปลอดภัย การถวายพระเกียรติและปฏิบัติตามพระราชประสงค์ 501,515,100 บาท ถูกปรับลด 82,200 บาท กองทัพบกของบประมาณดำเนินงานค่าตอบแทนพิเศษทหารกองประจำการ 4,903,399,800 บาท ถูกปรับลด 27,640,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกองทัพ 18,418,045,100 บาท ถูกปรับลด 691,913,000 บาท กองทัพเรือของบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกองทัพ 1,341,920,000 บาท ถูกปรับลด 6,203,200 บาท และกองทัพอากาศของบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกองทัพ 7,677,724,800 บาท ถูกปรับลด 101,171,300 บาท เป็นต้น

หน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง กรมศุลกากรของบประมาณจัดโครงการจริยธรรมสัญจร 1,882,000 บาท ถูกปรับลดทั้ง 1,882,000 บาท สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะงบประมาณการชำระคืนเงินยืมเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 2,500,000,000 บาท ถูกปรับลด 500,000,000 บาท เป็นต้น

หน่วยงานสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ สำนักปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ของบประมาณค่าใช้จ่ายในการยกระดับความเป็นอยู่ผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาร์ 5,000,000 บาท ถูกปรับลด 1,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการเปิดสถานกงสุล 30,000,000 ล้านบาท ถูกปรับลดทั้ง 30,000,000 ล้านบาท โครงการทูตเพื่อประชาชน เสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศและบริหารด้านการต่างประเทศของบประมาณ 313,376,100 บาท ถูกปรับลด 6,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย 92,000,000 บาท ถูกปรับลด 6,000,000 บาท เป็นต้น

หน่วยงานสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนองบค่าใช้จ่ายในการอำนวยการแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวถูกหลอกลวงและช่วยเหลือนักท่องเที่ยว 50,060,500 บาท ถูกปรับลด 5,060,500 บาท ค่าใช้จ่ายการจัดงานวันท่องเที่ยวโลก 5,000,000 บาท ถูกปรับลด 3,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับข้อตกลงอาเซียนด้านหลักสูตรอาเซียน MRA เสนอไป 4,000,000 บาท ถูกปรับลดทั้ง 4,000,000 บาท กรมการท่องเที่ยว เสนองบค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการจัดมหกรรมประเพณีวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว 92,500,000 บาท ถูกปรับลด 69,500,000 บาท เป็นต้น

หน่วยงานสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ของบประมาณเงินอุดหนุนเครือข่ายองค์กรสตรีและสถาบันครอบครัว 9,000,000 บาท ถูกปรับลด 1,000,000 บาท กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการขอเงินอุดหนุนสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง 609,966,500 บาท ถูกปรับลด 106,000,000 บาท กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของบประมาณค่าใช้จ่ายในการจ้างศึกษาวิเคราะห์การพัฒนาหน่วยจัดบริการล่ามภาษามือ 1,500,000 บาท ถูกปรับลดทั้ง 1,500,000 บาท สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เสนองบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราวกรณีไฟไหม้ไล่รื้อ 27,000,000 ล้านบาท ถูกปรับลด 7,522,500 บาท งบประมาณสนับสนุนบ้านพอเพียงชนบท 224,977,500 บาท ถูกปรับลด 22,477,500 บาท เป็นต้น

หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามแนวพระราชดำริ 12,000,000 บาท ถูกปรับลด 3,000,000 บาท กรมปศุสัตว์เสนองบประมาณโครงการความร่วมมือไทย-ลาว เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคสัตว์ 1,000,000 บาท ถูกปรับลดทั้ง 1,000,000 บาท เป็นต้น

หน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมของบประมาณโครงการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย 20,000,000 บาท ถูกปรับลด 10,000,000 บาท เป็นต้น

หน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบประมาณค่าใช้จ่ายในการสร้างความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่เพื่อรองรอบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 60,800,000 บาท ถูกปรับลด 4,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน 6,500,000 บาท ถูกปรับลด 1,000,000 บาท กรมทรัพยากรน้ำ ของบประมาณค่าใช้จ่ายในการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านทรัพยากรน้ำ 7,964,400 บาท ถูกปรับลด 5,300,000 บาท สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบประมาณโครงการจัดทำแผนการปรับตัวต่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ (พื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) 6,000,000 บาท ถูกปรับลดทั้ง 6,000,000 บาท โครงการจัดทำแผนการคุ้มครองระบบนิเวศเกษตรที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในพื้นที่ภาคเหนือ 4,000,000 บาท ถูกปรับลดทั้ง 4,000,000 บาท เป็นต้น

หน่วยงานของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานสถิติแห่งชาติของบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการพัฒนาชุดข้อมูลเพื่อติดตามการระดมทุนเพื่อการพัฒนาติดตามมติคณะรัฐมนตรี 11,678,800 บาท ถูกปรับลด 1,072,000 บาท เป็นต้น

หน่วยงานของกระทรวงพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติของบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมสำหรับสถานประกอบกิจการปิโตรเลียมดีเด่น (SHE Award) 3,830,000 บาท ถูกปรับลดทั้ง 3,830,000 บาท กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานของบประมาณค่าใช้จ่ายในการพัฒนาบุคคลากรด้านการอนุรักษ์พลังงานในอาคารประเภทโรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดเล็ก 3,400,000 บาท ถูกปรับลดทั้ง 3,400,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการสำรวจความเหมาะสมพื้นที่เป้าหมายในการสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่นอกสายส่งและประเมินผลโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ 5,341,000 บาท ถูกปรับลดทั้ง 5,341,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการประเมินวัฏจักรชีวิตของการผลิตไฟฟ้าขยะชุมชนในประเทศไทย 4,959,200 บาท ถูกปรับลดทั้ง 4,959,200 บาท เป็นต้น

หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายในเสนองบประมาณค่าใช้จ่ายในการเพิ่มศักยภาพมาตรฐานคุณภาพการผลิตของโรงงานปลาป่น 3,000,000 บาท ถูกปรับลด 2,000,000 บาท กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเสนองบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดทำเขตการค้าเสรี 127,015,700 บาท ถูกปรับลด 15,000,000 บาท เป็นต้น

หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเสนองบประมาณค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์การพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริและเทิดทูลไว้ซึ่งสถาบัน 8,786,800 บาท ถูกปรับลด 1,364,000 บาท กรมการปกครองเสนองบประมาณค่าใช้จ่ายในการขับเคลื่อนแผนแม่บทของกรมการปกครองต่อประชาคมอาเซียน 45,600,000 บาท ถูกปรับลด 42,867,000 บาท กรมบรรเทาสาธารณภัยของบประมาณอุดหนุนสงเคราะห์ราษฎรประสบภัยธรรมชาติและสาธารณภัยอื่น ๆ  เป็นต้น

หน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ของบประมาณค่าอยู่เวรรักษาการณ์ผู้คุมผู้ต้องขัง 863,976,000 บาท ถูกปรับลด 20,000,000 บาท  เป็นต้น

หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน สำนักปลัดกระทรวงแรงงาน เสนอค่าใช้จ่ายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงานของแรงงานไทยในต่างประเทศ 2,200,000 บาท ถูกปรับลด 1,600,000 บาท ค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการมหกรรมหนึ่งทศวรรษ คนดีจิตอาสา พัฒนาแรงงาน 2,000,000 บาท ถูกปรับลดทั้ง 2,000,000 บาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ของบประมาณค่าใช้จ่ายในการพัฒนาฝีมือและศักยภาพแรงงานกลุ่มเครือข่ายแรงงานนานาชาติ 29,340,000 บาท ถูกปรับลด 9,340,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย 67,500,000 บาท ถูกปรับลด 19,600,000 บาท กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานของบประมาณค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างความรู้รูปแบบสวัสดิการแรงงานอาเซียน 4,300,000 บาท ถูกปรับลด 2,000,000 บาท  เป็นต้น

หน่วยงานของกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมของบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 21,000,000 บาท ถูกปรับลด 3,000,000 ค่าใช้จ่ายในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมศานุวงศ์ 120,000,000 บาท ถูกปรับลด 20,000,000 บาท กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเสนองบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการสื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมอาเซียน 16,000,000 บาท ถูกปรับลด 5,000,000 บาท สำนักงานศิลปวัฒธรรมร่วมสมัยเสนอค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยเพื่อเทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์ 15,000,000 บาท ถูกปรับลด 7,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาอัตลักษณ์อาหารไทยสู่สากล 8,000,000 บาท ถูกปรับลดทั้ง 8,000,000 บาท  เป็นต้น

หน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเสนอค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างความตระหนักและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านนิวเคลียร์และรังสี 5,200,000 บาท ถูกปรับลด 1,000,000 บาท  เป็นต้น

หน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เสนองบประมาณเงินอุดหนุนโครงการทุนการศึกษาหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน 812,500,000 บาท ถูกปรับลด 50,509,900 บาท เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 4,324,945,600 บาท ถูกปรับลด 116,453,000 บาท เงินอุดหนุนค่าหนังสือเรียน 582,265,000 บาท ถูกปรับลด 116,453,000 บาท สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเสนองบประมาณเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 39,509,861,000 บาท ถูกปรับลด 275,710,200 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 2,732,427,500 บาท ถูกปรับลด 34,790,900 บาท ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 4,619,348,900 บาท ถูกปรับลด 59,866,200 บาท ค่าจัดการเรียนการสอน  24,160,226,500 บาท ถูกปรับลด 181,053,100 บาท สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเสนองบประมาณเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ ร.ร.เอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 11,310,000 บาท ถูกปรับลด 10,410,000 บาท  เป็นต้น

หน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนองบประมาณเงินอุดหนุนเป็นทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาอาจารย์พยาบาล 115,600,000 บาท ถูกปรับลด 15,000,000 บาท เงินอุดหนุนพัฒนารูปแบบการคัดกรองและระบบการดูแลผู้ป่วยพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่ 27 จังหวัด 54,000,000 บาท ถูกปรับลด 24,000,000 บาท กรมการแพทย์เสนองบประมาณเงินอุดหนุนเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการแพทย์ 56,377,000 บาท ถูกปรับลด 4,000,000 บาท กรมสุขภาพจิตเสนองบประมาณค่าใช้จ่ายในการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยโรคจิตและซึมเศร้า 20,300,000 บาท ถูกปรับลด 1,500,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงในสังคม 7,146,000 บาท ถูกปรับลด 1,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตผู้ต้องขังจิตเวชในเรือนจำ 7,800,000 บาท ถูกปรับลด 1,000,000 บาท  เป็นต้น

หน่วยงานสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเสนองบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลอย่างครบวงจร 97,000,000 บาท ถูกปรับลด 2,800,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม 12,500,000 บาท ถูกปรับลด 2,500,000 บาท กรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนองบประมาณค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 31,865,800 บาท ถูกปรับลด 6,616,200 บาท  เป็นต้น

หมายเหตุ : อ่านรายละเอียดรายการปรับลดงบประมาณทั้งหมด จากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ได้ที่ [1] และ [2]

อ่าน 'จับตา': “รายการเพิ่มและเปลี่ยนแปลง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายงาน 2560"
http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6429

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #124 อุตสาหกรรมสื่อบันเทิงความเป็นไทย

$
0
0

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี และ ชานันท์ ยอดหงษ์ นำเสนอเรื่องอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย โดยในที่นี้มองผ่าน ผลงานบันเทิงจาก "เอ็กแซ็กท์" และละครเวทีที่ผลิตโดย "ซีเนริโอ" ค่ายละครเวทีซึ่งรังสรรค์และอำนวยการโดย "บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ"

โดยในรอบกว่าสองทศวรรษมานี้ ทั้งสองบริษัท ได้ผลิตสื่อบันเทิง ทั้งเพลง ละครโทรทัศน์และละครเวทีจำนวนไม่น้อยที่ทำหน้าที่ส่งต่อและผลิตซ้ำจินตนาการความเป็นไทย และอุดมการณ์ชาตินิยม เช่น เลือดขัตติยา เดอะมิวสิคัล, ทวิภพ เดอะมิวสิคัล หรือ สี่แผ่นดิน เดอมิวสิคัล โดยเฉพาะละครเวทีเรื่องหลังนี้ในปี 2554 ถึง 2555 และ 2557 เปิดการแสดงไปแล้วกว่า 150 รอบการแสดง นับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของวงการละครเวที นอกจากนี้ในปี 2559 ซีเนริโอและ กอ.รมน. ยังร่วมกันผลิตละครเวทีเรื่อง "ผ้าห่มผืนสุดท้าย" ซึ่งมีเนื้อหาส่งเสริมบทบาทและภาพลักษณ์ของทหารอีกด้วย หรือล่าสุดก็ส่งละครทีวีชื่อดังอย่าง 'พิษสวาท' ที่ตอกย้ำวาทกรรมนักการเมืองเลวอย่างเข้มข้น จนคว้า เรตติ้งสูงสุดในประวัติศาสตร์วงการทีวีดิจิทัลแล้ว 
 
สื่อบันเทิงมีส่วนในการกล่อมเกลาทางสังคม ตลอดจนเสริมสร้างจินตนาการความเป็นไทยและอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างไร ติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธงชัย วินิจจะกูล

$
0
0

"โลกไม่ต้อนรับพวกหวังสั้นๆ ม้วนเดียวจบ แต่ต้อนรับพวกเข้าใจสัจจะและค่อยๆ ก้าว”

ใน ปาฐกถาศิลปวัฒนธรรม หัวข้อ"งานทางปัญญาในสังคมอับจนปัญญา", 24 ก.ย.2559

'สุริยะใส' เสนอกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีมาตรฐานคุณธรรมสูงกว่านักการเมืองทั่วไป

$
0
0
'สุริยะใส' เสนอสังคายนาองค์กรอิสระทั้งระบบไม่ใช่แค่เปลี่ยนตัวคนแต่ต้องปรับองค์กร ระบุควรกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมและคุณธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้สูงกว่านักการเมืองทั่วไป

 
 
ที่มาภาพประกอบจากเฟซบุ๊กสุริยะใส กตะศิลา
 
25 ก.ย. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นถึงแนวคิดเซตซีโรองค์กรอิสระจะต้องมีความชัดเจนว่าเป้าหมายอยู่ตรงไหน ถ้ามีความหมายเพียงแค่เปลี่ยนคน เปลี่ยนตัวกันใหม่ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร อาจจะเป็นการถอยหลังลงคลองด้วยซ้ำ แนวคิดเซตซีโรองค์กรอิสระทั้งหมด ถ้า กรธ. จะทำจริงต้องเน้นที่การปฏิรูปองค์กรอิสระต่อยอดจากจุดที่ดีอยู่แล้ว และเข้าไปปิดช่องโหว่ หรือจุดด้อยขององค์กรเหล่านั้น ปัญหาขององค์กรอิสระที่ผ่านมากว่า 20 ปี ซึ่งกำเนิดขึ้นจากฐานคิดปฏิรูปในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นั้น มีปัญหาทั้งส่วนของระบบและตัวบุคคล ควบคู่กันไป
       
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 คือ ไปออกแบบให้องค์กรอิสระเป็นอำนาจที่ 4 หลุดลอย และไม่เชื่อมโยงกับสังคม จนหลายครั้งกลายเป็นอำนาจพิเศษที่ควบคุมตรวจสอบยากและการทำงานล่าช้า ติดดาบให้องค์กรแบบนี้มากไป แต่ไม่มีการกำกับตรวจสอบที่ดี ซึ่งอาจทำให้องค์กรเหล่านี้อันตรายในระยะยาว บางองค์กรได้คนนี้แต่ระบบไม่เอื้อบางองค์กรระบบดี แต่ได้คนที่ไม่เหมาะสมไปดำรงตำแหน่งก็เกิดปัญหาตามมา จึงต้องปฏิรูปทั้งตัวองค์กร หรือระบบ และตัวบุคคล หรือการได้มาไปพร้อม ๆ กัน ผมเสนอประเด็นในการพิจารณาปรับปฏิรูปองค์กรอิสระทั้งระบบดังนี้
       
ประการแรก ที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งต้องมีความหลากหลายมากขึ้น และเปิดทางให้มีการสรรหาที่มีประสิทธิภาพโปร่งใสมากขึ้น
       
ประการที่สอง ต้องอิสระจากการเมืองและทุน เพราะการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองสลับซับซ้อนมากขึ้น
       
ประการที่สาม กระบวนการทำงานต้องยึดหลักธรรมาภิบาล
       
ประการที่สี่ มาตรฐานการวินิจฉัยต้องสูงกว่านี้ บางครั้งคำวินิฉัยขัดแย้งกันเองก็เคยมี
       
ประการที่ห้า ต้องยึดโยงกับสังคมและประชาชนมากขึ้นไม่ใช่ให้อำนาจอิสระหลุดลอยจนกำกับถ่วงดุลไม่ได้
       
ประการที่หก ควรกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมและคุณธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้สูงกว่านักการเมืองทั่วไป
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนา 35|53 (1) ชี้สิทธิการศึกษา สาธารณสุข มีแววถอยกลับไปก่อนยุค 2535

$
0
0

เสวนาประจำปีศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” อยากเห็นห้องเรียนเป็นที่แสดงความคิดเห็นมากกว่าที่ลงโทษนักเรียน จนท.สำนักงานปลัด ศธ. สะท้อนโครงสร้างระบบการศึกษากลับไปสู่การรวมศูนย์อำนาจ ขณะที่อาจารย์ทันตะ ม.มหิดล สะท้อนเรื่องสาธารณสุข ปี 45 มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปัจจุบันหมอกลับมาถกเถียงว่าประชาชนต้องร่วมจ่ายหรือไม่?

25 ก.ย.2559 ที่ห้องเอนกประสงค์ริมน้ำ ชั้น 1 คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีวงเสวนาสัมมนาวิชาการประจำปี 2559 ของศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย “35|53 หนุ่มสาวในห้วงของการเปลี่ยนผ่าน” โดยในช่วงเช้าเวลา 09.00 น. เป็นการเสวนาหัวข้อ “เติบโต” ว่าด้วยระบบคุณค่าทางสังคมและสิทธิพลเมือง วิทยากรประกอบด้วย วาทินีย์ วิชัยยาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วริษา สุขกำเนิด กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท, ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ทพ. ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์ ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Openworlds เป็นผู้ดำเนินการสนทนา

 

แม่วัยรุ่น : ภาพตัวแทนผู้หญิงวัยเรียนที่ตั้งครรภ์และการต่อรองเพื่อมีพื้นที่ในสังคม

วาทินีย์ เปิดประเด็นว่าด้วยระบบคุณค่าทางสังคมและสิทธิพลเมืองด้วยการสะท้อนประสบการณ์ของ 'แม่วัยรุ่น' ภายใต้ข้อจำกัดของระบบคุณค่าและสถาบันทางสังคม วาทินีย์ กล่าวว่า การศึกษาเรื่องแม่วัยรุ่น หรือแม่วัยใส หรือที่ผู้คนเข้าใจว่ามีครรภ์ในวัยเรียน ซึ่งกลุ่มศึกษาคืออายุระหว่าง 16-24 ปี โจทย์แรกที่เริ่มต้นนั้นไม่ได้มองว่าแม่วัยรุ่นเป็นปัญหาแต่มองว่าแม่วัยรุ่นเป็นกลุ่มในสังคมและได้รับอิทธิพลหรือโครงสร้างสังคมที่ส่งผลกระทบต่อเขา โดยค่านิยมที่ส่งผลกระทบต่อแม่วัยรุ่นมากที่สุดคือ 'ค่านิยมเรื่องวัยเรียน' เพราะค่านิยมนี้ส่งผลต่อวิธีคิดของคนในสังคมและแม่วัยรุ่นว่าช่วงวัยเรียนหนังสือที่ควรอยู่ในสถาบันการศึกษานั้น ไม่ควรที่จะมีเรื่องเพศ เช่น การห้ามมีแฟน การห้ามมีความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งแนวคิดนี้สร้างกลไกผ่านสถาบันสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว สาธารณสุข ฯลฯ ดังนั้น การที่วัยรุ่นตั้งครรภ์ในวัยเรียนจึงถูกโครงสร้างสังคมกดทับแม้แต่ตัวแม่วัยรุ่นเองก็ถูกแนวคิดดังกล่าวที่นิยามความเป็นแม่ในวัยเรียนส่งผลต่อทัศนคติในการดำเนินชีวิต

“เมื่อได้สอบถามแม่วัยรุ่นถึงเรื่องปัจจัยที่ทำให้มีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน เขาก็มีมุมมองที่แตกต่างจากรุ่นพ่อแม่เรื่องการคบเพื่อนต่างเพศและการท้องในวัยเรียน เขามองว่าการมีเพศสัมพันธ์เกิดจากการคบกัน มีความรักและความใกล้ชิด ซึ่งการมีอะไรกันนั้นก็เป็นธรรมดาของคนที่เป็นแฟนกันไม่ได้เป็นการเปลี่ยนคู่หรือหลายใจซึ่งสะท้อนวิธีคิดแบบผัวเดียวเมียเดียว หรือ monogamyแต่ในขณะเดียวกันวัยรุ่นกลุ่มนี้ก็มองว่าการมีเพศสัมพันธ์จนเกิดการตั้งครรภ์คือเรื่องผิด” วาทินีย์ กล่าว

วาทินีย์ กล่าวต่อไปว่า แม้สถาบันทางสังคมต่างๆ จะมีอิทธิพลค่านิยมเรื่องวัยเรียนที่ไม่ควรมีเรื่องเพศ แต่แม่วัยรุ่นก็พยายามต่อรองต่อตัวระบบคุณค่าของสังคม เช่น แม้มีลูกแล้วแต่ก็สนใจที่จะศึกษาต่อและเอาลูกไปฝากไว้ให้สถานสงเคราะห์หรือญาติคนใกล้ชิดเลี้ยง โดยมองว่าตนกำลังทำหน้าที่แม่อยู่คือการเรียนและการสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต ซึ่งสะท้อนวิธีคิดความเป็นแม่ที่มีอุดมคติที่สอดคล้องกับสังคม การกลับไปเรียนหรือการไปทำงานคือการทำหน้าที่แม่ที่ดีซึ่งสะท้อนให้เห็นภาคปฏิบัติการต่อวิธีคิดของแม่วัยรุ่น

"ถ้าเราเรียนรู้วิธีคิดของแม่วัยเรียน ที่มีทัศนะเชิงลบว่าวัยรุ่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศเป็นปัญหา วัยเรียนไม่ควรคิดเรื่องเพศ ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้เกี่ยวข้องกับหลายสถาบันสังคม ไม่ว่าจะเป็นในด้านวงการสาธารณสุข เช่น เมื่อเด็กวัยเรียนตั้งครรภ์แพทย์ก็จะมีทัศนะไม่ดีต่อเด็ก ในสถาบันการศึกษามีครูที่ไม่ยอมรับทำให้เด็กถูกกันออกจากระบบการศึกษา แม้แต่สถาบันครอบครัว ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กตัดสินใจว่าจะทำแท้งหรือไม่เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะครอบครัวแม่วันรุ่นบางครอบครัวพาไปทำแท้งเองด้วยซ้ำ การตั้งคำถามว่าจะทำให้แม่วัยรุ่นมีคุณภาพอย่างไรในสังคมจึงไม่ใช่สถาบันใดสถาบันหนึ่งแต่ต้องช่วยกันหลายฝ่าย แต่จุดเริ่มควรทำความเข้าใจและการให้ความยอมรับ เพราะมีหลายกรณีที่แม่วัยรุ่นถ้าได้โอกาสในสังคมในช่วงตั้งครรภ์ก็จะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" วาทินีย์ กล่าว

 

การใช้อำนาจมากกว่าเหตุผลในระบบการศึกษาปมปัญหาของโรงเรียนไทย

ขณะที่ วริษาร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการศึกษาในอุดมคติ โดยเริ่มต้นกล่าวว่า ความฝันของเขานั้นในเรื่องการศึกษาคือเพื่อความเป็นไท มีอิสรภาพ อัตลักษณ์ ซึ่งระบบการศึกษาต้องสร้างให้นักเรียนแต่ละคนมีความหลากหลายแตกต่างและพัฒนาไปตามศักยภาพ การศึกษาไม่ควรสร้างคนให้คิดเหมือนกันเป็นการกดศักยภาพในตัวเด็ก โดยทั้งหมดนี้ต้องเริ่มจาก 1.การส่งเสริมให้เด็กมีการคิดวิพากษ์วิจารณ์ (Critical thinking) 2.เนื้อหาที่เรียนควรมีความยืดหยุ่นไม่ใช่สอนตมหนังสือแต่ควรเป็นความรู้ที่เกิดการเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน 3.ทำให้นักเรียนมีความสุขที่จะมาโรงเรียน 4.ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกสิ่งที่ชอบไม่ใช่มีเพียงสายวิชาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ หรือ ศิลปศาสตร์และคณิตศาสตร์ ควรให้เขาได้เลือกวิชาที่อบและถนัดที่อยากจะเรียนรู้

วริษา กล่าวต่อว่า เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศเดนมาร์ก โดยที่การเรียนนั้นเริ่มจากการตั้งคำถามและให้นักเรียนคิดต่อปัญหาสังคมหรือสถานการณ์ที่ยกขึ้นมาโดยไม่ได้ให้คำตอบสุดท้าย แต่ให้เด็กอธิบายและคิดต่อปัญหาดังกล่าวด้วยเหตุผล เช่น เราควรรับหรือไม่รับผู้ลี้ภัยมาพักพิงในประเทศ โดยในชั้นเรียนจะให้นักเรียนเลือกตอบและให้เหตุผล ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนวิธีคิดอย่างมีเหตุผล การฟังคนอื่น และคิดเรื่องจริยธรรมในเวลาเดียวกัน แต่ปัญหาโรงเรียนไทยในเวลานี้คือนักเรียนไม่มีความสุขกับการมาโรงเรียนเนื่องจากบรรยากาศการสอนที่ไม่กระตุ้นเร้าในนักเรียนมีส่วนร่วมในความเห็น ปัญหาการลงโทษนักเรียน การกลั่นแกล้งในโรงเรียน ซึ่งการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างครูและนักเรียนมีให้เห็นในข่าวเป็นประจำ

"การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง สะท้อนให้เห็นว่าครูมองว่าเด็กนักเรียนเป็นคนที่ไม่มีเหตุผลต้องใช้กำลังในการลงโทษ การลงโทษทำให้เด็กกลัวครู เกิดความเกรง ไม่สร้างบรรยากาศในการตั้งคำถาม คิดด้วยเหตุและผล มีแต่ความระแวงระวัง" วริษา กล่าว

 

นโยบายการศึกษากับรัฐธรรมนูญ : การกลับมารวมศูนย์อำนาจการศึกษารอบใหม่หลังประชามติ 2559

ขณะที่ ภูมิศรัณ กล่าวถึงภาพรวมเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาอันเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดยกล่าวว่า ตลอดช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างของหน่วยงานด้านการศึกษาภายใต้โครงสร้างทางอำนาจที่เปลี่ยนไปนับจาก พ.ศ. 2557 ทั้งนี้นโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระยะ 20 ปี ที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีการปฏิรูปการเมืองนำไปสู่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งแนวคิดเรื่องสังคมประชาธิปไตยมีอิทธิพลอย่างสูงจนก่อให้เกิด พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเริ่มคิดถึงเรื่องการกระจายอำนาจให้เขตพื้นที่ชุมชนและส่งเสริมให้ยอมรับการศึกษาทางเลือกในระบบท้องถิ่น

โดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังทำให้เกิดการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยโดยแนวคิดที่จะให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระในการคิดตัดสินใจมากขึ้น แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการจัดการของกระทรวงศึกษาธิการมากกว่า การคิดเรื่องคุณภาพการศึกษานั้นกระทรวงทำมาโดยตลอดไม่ว่าจะการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพครู ด้วยการปรับฐานเงินเดือนครูให้สูงขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2547 เพื่อให้ครูมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่กลับเกิดปัญหาคือครูเอาเวลาไปทำวิทยฐานะเพื่อเงินเดือนมากกว่าจะเอาเวลาไปเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนในห้องเรียน

ภูมิศรัณ กล่าวต่อว่า การเกิดของ2 องค์กรที่เพิ่มภาระให้กับครูและอาจารย์และเป็นปัญหาใหญ่ในระบบการศึกษาคือ 1.สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และ 2.สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สทศ.) ในเรื่องของ สมศ.นั้นจะเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระทางวิชาการให้ครูอาจารย์ต้องทำเรื่องการประเมินและวัดผลทางด้านการศึกษาทำให้ใช้เวลามากจนทำให้ลดคุณภาพการสอนหนังสือ จนเมื่อรัฐบาลคณะรักษาความสงบและมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้ ม.44 ออกคำสั่งให้การชะลอหรือปลดผุ้อำนวยการ สมศ. ทำให้เกิดการชะลอในการทำเรื่องประเมินของสถาบันการศึกษา ซึ่งการใช้ ม.44 ในการแก้ปัญหาที่ผ่านมาก็ทำให้ดีขึ้นบ้างในเรื่องของโครงสร้างภายในกระทรวงศึกษาธิการ เพราะ คสช.มองว่าการทำงานเรื่องการศึกษาที่ผ่านมาเกิดความผิดพลาดขึ้นในการบริหารเพราะให้อิสระมากเกินไปรัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษในการจัดการ

"อย่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ฉบับประชามติที่ผ่านมา มีการวิพากษ์เรื่องการเรียนฟรีที่ระบุในรัฐธรรมนูญ ที่จะให้มีการเรียนฟรีได้ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งหลังจาก ม.3 นักเรียนจะได้สิทธิการศึกษาผ่านกองทุน ซึ่งกองทุนที่ว่านี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่แน่นอนว่าในรัฐธรรมนูญดังกล่าวรัฐบาลไม่สนับสนุนให้มีสิทธิเรียนฟรีจนถึง มัธยมปลาย โดยหลักง่ายๆ คือ เรียนฟรีถึงแค่ ม.3" ภูมิศรัณ กล่าว

 

นโยบายสาธารณสุขในสังคมไทย : หมอยังถกเถียงว่าสิทธิการรักษาควรให้ประชาชนทุกคนจริงหรือ?

ด้าน ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าวในประเด็นที่ว่า 20 ปีกับนโยบายสาธารณสุขในสังคมไทย บริการสุขภาพนั้นเป็นสิทธิของประชาชนหรือไม่ยังคงถกเถียงกันอยู่ในทุกวันนี้ ทั้งนี้ พ.ศ. 2475 มีการร่าง พ.ร.บ.สาธารณสุข โดยหากแบ่งอย่างง่ายๆ จะเห็นว่าจะมีสิทธิแบ่งออกเป็น 3 แบบ เริ่มจากสิทธิข้าราชการ ปี พ.ศ. 2521 ต่อมามีหลักประกันสังคม ปี พ.ศ. 2533 และหลักสิทธิรักษาพยาบาลแก่ประชาชนคือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2545

เดิมมีการให้สิทธิรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 แต่ในขณะนั้นเป็นรูปแบบสงเคราะห์ ต้องเป็นประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งเวลาต่อมาก็ขยายสิทธิมาถึงผู้สูงอายุและเด็ก สิ่งนี้พัฒนาการจนเป็นสิทธิประกันสุขภาพ ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญคือรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมองว่าสิทธิการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน การรักษาพยาบาลฟรีจึงเป็นแนวคิดที่ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บุกเบิกและผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จนรัฐบาลไทยรับไปเป็นนโยบายใช้จริง โดยพรรคไทยรักไทยได้นำไปใช้เป็นนโยบายที่เรียกว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" จึงทำให้เรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนเป็นจริงขึ้นมา การไปรักษาพยาบาลจึงไม่ใช่เป็นเรื่องการสงเคราะห์หรือเปลี่ยนค่านิยมที่คนจนกลัวหรือไม่กล้าไปหาหมอเพราะไม่มีเงิน

"การรับรู้ของประชาชนเรื่องการรักษาพยาบาลเปลี่ยนแปลงไป คือแต่ก่อนไม่เงินไปโรงพยาบาลต้องไปขอความอนุเคราะห์จากหมอแต่ปัจจุบันประชาชนกล้าไปหาหมอเมื่อเจ็บป่วยเพราะรูว่าตนเองมีสิทธิ แต่แนวคิดเรื่อง 30 บาท ก็มีหมอกังวลว่าถ้าประชาชนมีสิทธิอำนาจต่อรองมากขึ้น ประชาชนก็จะไม่ดูแลตัวเองปล่อยให้เป็นโรคเพราะรู้ว่ามียาฟรีตลอดเวลา ทำให้เถียงกันมาเป็น 10 ปีว่า สวัสดิการรักษาพยาบาลนี้ควรให้สิทธิทุกคนหรือเฉพาะคนจนเท่านั้น" ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าว

ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า เมื่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เป็นสิทธิของประชาชนไปผูกกับเรื่องการเมืองของพรรคที่ถูกวิจารณ์ ทำให้สิทธิสาธารณะสุขของประชาชนถูกมองว่าเป็นประชานิยม และถูกนำมาถกเถียงอย่างไม่สิ้นสุดว่าทุกคนในประเทศควรได้รับบริการสาธารณสุขซึ่งเป็นสิทธิของทุกคนหรือรัฐควรให้สิทธิเฉพาะคนที่รัฐเห็นว่าควรสงเคราะห์ หัวใจสำคัญของการเกิดขึ้นของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค คือ การเปลี่ยนแปลงของกระทรวงสาธารณสุขที่ถูกลดบทยาทลงจากเดิม แต่ก่อนที่จะต้องดูแลและจัดการงบประมาณในด้านสาธารณะสุขแต่ปัจจุบันกลายเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ที่ดูแลงบประมาณ

"สิ่งที่ยังถกเถียงกันในวงการสาธารณะสุข เจ้าหน้าที่มักจะมองว่า ประชาชนควรจะร่วมจ่ายหรือไม่ งบประมาณเพียงพอไหม ซึ่งการรักษาพยาบาลจึงยังไม่เหมือนการที่ประชาชนไปหาตำรวจทหารเมื่อมีปัญหา เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงได้ และต่อมา เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขส่วนใหญ่กังวลว่าถ้าประชาชนมีสิทธิรักษาพยาบาลก็จะไม่ดูแลสุขภาพปล่อยให้ตัวเองป่วยเพราะคิดว่ามีสิทธิรักษา และอีกเรื่องคือเมื่อประชาชนมีสิทธิมากขึ้นหมอก็จะมีอำนาจน้อยลง หมอกลัวว่าจะมีการฟ้องร้องเรียกร้องสิทธิการรักษามากขึ้นอีก" ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โอน 60,000 ล้าน ซื้อประกันสุขภาพให้ข้าราชการ เหมาะสมเพียงใด

$
0
0


 

เรื่องนี้อยากให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ ตามมาตรฐานที่ท่านตั้งเป้าในการเข้ามาบริหารประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนในประเทศ  การที่กรมบัญชีกลางเสนอให้โอนการจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการปีละ 60,000ล้านบาทไปให้บริษัทประกันภัยภาคเอกชนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ดีว่าเพื่อประโยชน์ของข้าราชการ ประเทศชาติ หรือของบริษัทเอกชน เพราะระบบประกันสุขภาพเป็นระบบที่รัฐใช้จ่ายจากภาษีประชาชน และเป็นระบบที่ถ้วนหน้าในปัจจุบันแต่ไม่เป็นธรรมกับประชาชนทุกคน เพราะรัฐจ่ายให้ข้าราชการมากกว่าประชาชน รัฐใช้เงิน 60,000 ล้านบาทจ่ายค่ารักษาให้ข้าราชการและครอบครัวเพียง 6 ล้านคนหรือคนละ 10,000บาท/ปี ขณะที่คนอีก 48 ล้านคนที่ใช้ระบบบัตรทอง รัฐจ่ายปีละ 140,000 ล้านบาท หรือคนละ 3,000 บาทต่อปี โดยเงินทั้งหมดจะถูกจ่ายตรงไปที่โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน หากรัฐเลือกที่จะใช้เงิน 60,000 ล้านบาทไปให้บริษัทเอกชน จะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการให้กับเอกชน ที่สำคัญก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชนในระบบบัตรทอง ทั้งนี้รัฐควรใช้เงินด้านหลักประกันสุขภาพทั้งหมดรวมกันกว่า 200,000 ล้านบาท ดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคกันมากกว่า

หลายคนเห็นว่า การให้บริษัทเอกชนมาจัดบริการสุขภาพให้ข้าราชการเป็นแนวคิดที่ดี และคิดว่ารัฐจะลดค่าใช้จ่ายปีละ 6 หมื่นล้านลงได้ ขอให้คิดตรึกตรองดีดี เพราะจะกลายเป็นว่ารัฐก็ซื้อประกันจากบริษัทเอกชนหัวละ 10,000 บาทอยู่ดี เท่ากับใช้เงิน 6 หมื่นล้านและมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การจัดการ การกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ การเรียกเอกสาร การยกเว้นโรคต่างๆ ตามแบบที่บริษัทเอกชนดำเนินการก็จะตามมา แม้รัฐอาจบอกว่าจะต่อรองสัญญาประเภทสิทธิประโยชน์กับบริษัทเอกชนได้ แต่มีบทเรียนมาแล้วในหลายประเทศและแม้แต่ประกันสุขภาพในบ้านเราที่จ่ายกันปีละหมื่นสองหมื่นบาท เอาเข้าจริงยกเว้นโรคนั้น โรคนี้ หรือต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในเรื่องนี้คือ การส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพในภาพรวมทั้งประเทศ เพราะรัฐใช้งบประมาณในการซื้อประกันที่ต่างกัน ราคาต่างกัน ระหว่างข้าราชการ 10,000 บาท/คน ให้เอกชนทำ กับประชาชนทั่วไปรวมพวกในประกันสังคม ซื้อในราคา ถัวเฉลี่ยที่ 3,000 บาท/คน ให้โรงพยาบาลรัฐทำ  แล้วโรงพยาบาลเอกชนก็ร่วมมือกับบริษัทประกันได้ ราคาซื้อสูงบริษัทประกันก็ไปทำสัญญากับโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลเอกชนได้กำไรเพิ่มขึ้น จ้างหมอ พยาบาล ราคาสูงขึ้น ย่อมดึงดูดคนเหล่านี้ไปที่โรงพยาบาลเอกชน ขณะที่โรงพยาบาลรัฐในต่างอำเภอก็ยังแก้ปัญหาหมอ พยาบาลไม่เพียงพอไม่ได้ โครงการนี้จะยิ่งถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำออกไปอีก

แต่หากรัฐเอาเงินทั้งหมดที่จะซื้อประกันทั้งบัตรทอง ข้าราชการ ประกันสังคม เอามาดำเนินการให้โรงพยาบาลของรัฐได้รับประโยชน์เต็มๆ เฉลี่ยค่าใช้จ่ายรายหัวให้สูงขึ้นเฉลี่ยจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ทุกคนเท่ากันเสมอกัน ให้โรงพยาบาลรัฐเป็นผู้รับประกัน ส่วนเกินหรือคนรวยมากๆไม่อยากใช้โรงพยาบาลรัฐ ก็ไปเลือกช้อปปิ้งใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเอง ย่อมทำให้โรงพยาบาลรัฐก็มีหมอพยาบาลที่อยู่ทำงานมากขึ้น ได้รับค่าใช้จ่ายมากขึ้น หน่วยงานกำกับระบบหลักประกันสุขภาพตามกฎหมายก็ทำหน้าที่บริหารและจัดชุดสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนอย่างเหมาะสม มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพได้ เรื่องนี้ต้องคิดดีดี ทั้งรัฐ และนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน ที่มองว่าการทำให้ธุรกิจเอกชนเติบโตจะทำให้เศรษฐกิจประเทศโตด้วยโดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงในทางความเหลื่อมล้ำ การกระจายความเป็นธรรม ก็จะหลงประเด็นไป

ข้อเสนอคือเอาเงิน 6 หมื่นล้านที่จะไปจ่ายให้บริษัทเอกชน มารวมกับเงิน 1 แสน 4 หมื่นล้าน ของบัตรทอง และ อีก 5 หมื่นล้านของประกันสังคม แล้วบริหารจัดซื้อระบบหลักประกันสุขภาพโดยรัฐเอง มุ่งเน้นไปที่การซื้อบริการจากโรงพยาบาลรัฐ ส่วนการบริหารจัดการก็มีหน่วยงานตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่บริหารอยู่แล้ว จะได้ประโยชน์มากกว่า มีความเป็นธรรม ได้จริง และเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ตามเป้าหมายการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้

0000

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live




Latest Images