Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

"กทม.จัดได้ แต่ขอนแก่นโดนคดี" 6 ผู้ต้องหาคดี'พูดเพื่อเสรีภาพ' รับทราบข้อหา

$
0
0

นักศึกษากลุ่มดาวดิน กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ นักกิจกรรมอีสานใหม่ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ รวม 6 คนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ตำรวจแจ้งข้อหาแล้วปล่อยตัว 6 ผู้ต้องหาออกแถลงการณ์ ยกเลิกคำสั่งลิดรอนเสรีภาพ 3/2558, ยกเลิกใช้ศาลทหารกับประชาชน, ยกเลิกดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง


ผู้ต้องหาและทนายความถ่ายรูปร่วมกันภายหลังรับทราบข้อกล่าวหา

เวลาประมาณ 10.15 น. ที่จังหวัดขอนแก่น ผู้ต้องหา 6 คน ชาวบ้านนามูล-ดูนสาดประมาณ 20 คน ผู้สังเกตการณ์อีกจำนวนหนึ่ง รวมแล้วประมาณ 50 คน ร่วมกันเดินเพื่อไปเพื่อทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในความผิดขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 มั่วสุมชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไปกรณีจัดเวทีเสวนาเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญ "พูดเพื่อเสรีภาพ" ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2559 จัดโดยกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน (NDM)

คดีนี้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่นได้ส่งหมายเรียกผู้ต้องหาไปยัง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ นักศึกษามข. เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2559 ที่ผ่านมา และมีหมายเรียกอีก 5 คนเพิ่มเติม เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหา ได้แก่ ฉัตรมงคล เจนเชี่ยวชาญ สมาชิกกลุ่มดาวดิน ผู้ต้องหาที่2, ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ กลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ ผู้ต้องหาที่3, ณัฐพร อาจหาญ ขบวนการอีสานใหม่ ผู้ต้องหาที่4, ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องหาที่5 และ นีรนุช เนียมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องหาที่6

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นครั้งแรกที่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนด้วย โดยในกรณีนี้มีเจ้าหน้าที่ส่วนข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 2 คนที่สังเกตการณ์กิจกรรมต่างๆ เพื่อบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิและร่วมสังเกตการณ์ในวันจัดเสวนานั้นถูกแจ้งข้อหาเช่นเดียวกับผู้จัดกิจกรรม

ณัฐพร อาจหาญ หรือ บี จากกลุ่มอีสานใหม่ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าประหลาดใจเมื่อใน กทม. จัดเวทีลักษณะเดียวกันนี้ได้แต่การจัดที่อีสานกลับถูกจับและดำเนินคดี

"เรามีสิทธิแสดงออกอย่างสันติ มีสิทธิพูดมีสิทธิเดิน เราจะไปเพื่อยืนยันสิทธิ โดยจะเดินจากอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นไป สภ.เมืองขอนแก่น" ณัฐพรกล่าว

อาจารย์ มข.ให้กำลังใจ 6 ผู้ต้องหา ย้ำเป็นสิทธิ เป็นสันติวิธี

เวลาประมาณ 11.00 น. เมื่อผู้ต้องหา 6 คนเดินทางมาถึง สภ.ขอนแก่น เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก มีประชาชน อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มารอให้กำลังใจ จากนั้นผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าทำประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือและให้การกับพนักงานสอบสวน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบอยู่ในบริเวณ สภ.จำนวนหลายนาย รวมถึง พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี รักษาการหัวหน้ากองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น ซึ่งระบุว่ามาดูแลความเรียบร้อยในวันนี้ว่ามีการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ เท่าที่ดูเป็นเพียงการมาให้กำลังใจ แต่หากผู้มาให้กำลังใจแสดงสัญลักษณ์อะไรก็อาจมีความผิด


อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาให้กำลังใจ

ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาพัฒนาสังคม คณะมานุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข.อาจารย์ที่มารอให้กำลังที่ สภ.กล่าวว่า คิดว่าลูกศิษย์ไม่ได้ทำผิดอะไรและทำเพื่อบ้านเมือง วันนี้อยากจะมาเตรียมช่วยเหลือประกันตัวหากถูกควบคุมตัวหรือคุมขัง โดยเตรียมประกันตัวนักศึกษา ในฐานะพลเมืองคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ความผิด การพูดเป็นสิทธิ การพูดเพื่อเสรีภาพเป็นการกระทำอย่างสันติวิธีซึ่งทั่วโลกทำกัน ดังนั้นเราควรจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พูด ได้แสดงออก ประเทศไม่ได้มีแค่โทนสีเดียว กลุ่มเดียว แต่มีหลายสี หลายกลุ่ม เราต้องคิดว่าจะทำให้ทุกคนฟังกันและเคารพในความเป็นมนุษย์กันอย่างไรต่างหาก สิ่งที่นักศึกษาถูกกระทำในวันนี้ไม่เหมาะสม จึงมาให้กำลังใจ

ร.ศ.ดร.สุกัญญา เอมอิ่มธรรม หัวหน้าสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มข. กล่าวว่า ในฐานะอาจารย์ผู้สอนและหัวหน้าสาขารัฐประศาสนศาสตร์ ถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงที่ต้องมาดูแลลูกศิษย์ จากที่เห็นสำเนาที่ถูกส่งมาให้ดู พวกเขาถูกกล่าวหาขัดคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ผ่านมาก็ติดตามพฤติกรรมของเด็กกิจกรรมกลุ่มนี้มานานพอสมควร จึงมาเพื่อให้กำลังใจ แต่ส่วนหนึ่งอยากให้เห็นในเชิงสัญลักษณ์ว่ากรณีแบบนี้ก็เป็นไปตามสิทธิพลเมืองที่เด็กๆ เหล่านี้ไม่ได้ใช้ความรุนแรงเลยและการดำเนินคดีเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อผู้ออกคำสั่งออกประกาศ ไม่เป็นผลดีต่อผู้บริหารบ้านเมือง อยากสะท้อนต่อสาธารณะว่า 1.เป็นหน้าที่โดยตรงของประชาชนในการใช้สิทธิ 2.อยากให้สาธารณะได้เห็นจุดยืนว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพและไม่ได้กระทำความรุนแรงตามรัฐธรรมนูญที่เราร่างกันอยู่นี้ อย่างน้อยเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เราต้องติดตามต่อว่ามันใช้ได้เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน การพูดการแสดงออก การเขียน

เวลาประมาณ 13.00 น. ผู้ต้องหาเสร็จสิ้นการให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ และเตรียมส่งคำให้การโดยละเอียดอีกครั้งเป็นเอกสาร พนักงานสอบสวนนัดหมายยื่นเอกสารดังกล่าวในวันที่ 4 ต.ค.นี้ จากนั้นทั้งหมดได้ออกมาอ่านแถลงการณ์ รายละเอียดมีดังนี้

แถลงการณ์ 6 ผู้ต้องหาคดีพูดเพื่อเสรีภาพ

แถลงการณ์ 6 ผู้ต้องหาคดีพูดเพื่อเสรีภาพ

ในวันที่ 30 และ 31 สิงหาคมม 2559 เพียงแค่จัดเวที พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน สำหรับคนในยุคสมัยนี้นั้น ทำให้เราต้องกลายเป็นผู้ต้องหา รัฐธรรมนูญซึ่งสำคัญกับชีวิตของเรา เพียงแค่เราเห็นต่างจากรัฐเผด็จการก็มีการกีดกันการมีส่วนร่วม เสรีภาพในการแสดงออกในปัจจุบันถ้าไม่ใช้เพื่อสนับสนุนรัฐเผด็จการแล้ว เราก็จะถูกกกักขัง โดยกระบวนการ (อ) ยุติธรรม

ในทีนี้เรายืนยันเจตนารมณ์เช่นเดิมว่ามนุษย์ทุกผู้ทุกนามต่างมีเสรีภาพ เสรีภาพที่จะกำหนดชีวิตตน เสรีภาพที่จะกำหนดวิถีทางทางการเมืองที่เขาต้องการ ไม่ใช่ใครที่จะบังคับให้เขาเดินบนทางที่วางไว้ แต่เป็นหนทางที่เขาเลือกเอง

ในที่นี้วนเวียนมาอีกครั้งที่ความมืดมิดปกคลุมยุคสมัย อำนาจเถื่อนท้าทายความกล้าหาญของผู้ถูกกดขี่ ในภาวการณ์เช่นนี้หลายพื้นที่ในสังคม มีผู้คนที่เชื่อในสิทธิธรรมชาติ เขาถูกเผด็จการกดหัวให้ก้มลง ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของตัวเอง ถูกรัฐและทุนเถื่อนคุกคาม เสรีภาพที่ในการกำหนดชะตากรรมของชีวิต และการกำหนดทิศทางการพัฒนาถูกพรากไป พื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกถูกสงวนไว้ให้แต่ผู้ที่สนับสนุนรัฐเผด็จการเท่านั้น ผู้เห็นต่างจากเขา กลายเป็นผู้ต้องหา หลายคนต้องหนีไปหรือไม่ก็ถูกกักขัง

เหตุนี้เราขอเรียกร้องต่อผู้คนในสังคม จะไม่เรียกร้องต่อเผด็จการ เพื่อให้ทุกคนมาสรรค์สร้างสังคมไทยที่มีพื้นที่การแสดงออกอย่างเสรี ดังนี้

1) ยกเลิกคำสั่งที่ลิดรอนเสรีภาพที่ 3/58

2) การใช้อำนาจศาลทหารกับประชาชน

3) ยกเลิกการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมือง

ผู้ถูกกดขี่จงใคร่ครวญและพากันลุกขึ้นเถิด ใช้ความกล้าหาญของท่านต่อต้านและต่อสู้กับอำนาจเลวนั้น ปลดปล่อยนักโทษทางความคิด ให้บรราดาเราและชนรุ่นหลังได้พบสังคมใหม่ที่เราสามารถใช้สิทธิในการกำหนดเจตจำนงเสรีของเราเองได้

31 สิงหาคม 2559

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านนามูลขอฟังชัดๆ โครงการสำรวจปิโตรเลียมยุติแล้วหรือไม่-ผลกระทบใครสำรวจ

$
0
0

พลังงานจังหวัดขอนแก่นรับหนังสือชาวบ้านนามูล-ดูนสาด จ.ขอนแก่น ขอให้ชี้แจงปิดหลุมดงมูล 5 ยุติการสำรวจปิโตรเลียมแล้วหรือไม่ ข่าวยังสับสน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินการที่ผ่านมามีหรือไม่ 

31 ส.ค.2559 เวลาประมาณ 13.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านนามูล-ดูนสาด อ.กระนวน จังหวัดขอนแก่น ราว 20 คนเดินทางมายังสำนักงานพลังงานจังหวัดขอนแก่น เพื่อขอให้ชี้แจงการดำเนินการโครงการขุดเจาะสำรวจและประเมินศักยภาพแหล่งก๊าซดงมูล หลุมดงมูล 5 และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เจ้าหน้าที่อ้างว่าการเดินทางมาของชาวบ้านไม่ได้แจ้งล่วงหน้าจึงไม่มีพื้นที่ให้เข้าหารือประชุมสักถาม และขอให้ชาวบ้านลงไปรอข้างหน้าศาลากลาง ราว 30 นาที นายจุมพล เดชดำนิล พลังงานจังหวัดจึงออกมารับหนังสือ

หนังสือของชาว้านนามูล-ดูนสาด มีใจความสำคัญว่า

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ ตำบลดูนสาด อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเฝ้าระวังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ตามที่ทางกลุ่มฯ ได้คัดค้านกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด เรื่อยมา เพราะขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ประชาชนจึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ ขอให้ตรวจสอบโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม หลุมเจาะ ดงมูล-5 แปลงสำรวจบนบก L 27/43 ของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แต่กระนั้น บริษัทยังคงเดินหน้าดำเนินโครงการต่อไปท่ามกลางเสียงคัดค้าน

จากการดำเนินการที่ผ่านมาเราพบว่า มาตรการดังกล่าวไม่สามารถคุ้มครองผลผลิตทางการเกษตร สุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้จริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีกระบวนการพิสูจน์ผลกระทบและรับผิดชอบความเสียหายกับชุมชนอย่างเป็นธรรม หลังจากการดำเนินโครงการเสร็จสิ้น วันที่ 9 ส.ค.2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้น ได้เดินทางลงพื้นที่แหล่งผลิตดงมูล จากนั้นแจ้งว่า หลุมเจาะดงมูล 3ST และหลุม ดงมูล 5 เป็นแหล่งก๊าซใหม่ และปฏิเสธที่จะรับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในพื้นที่ โดยอ้างว่ามีมาตรการป้องกันสิ่งแวดล้อมที่ดี ขณะที่ความเสียหายของเกษตรกรในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมยังเป็นข้อพิพาทไม่มีข้อยุติ

ต่อมาบริษัทกลับแจ้งว่าจะทำการเผาทดสอบก๊าซอีกครั้ง ตลอด 24 ชั่วโมง ต่อเนื่อง 15 วัน ซึ่งจะเริ่มเผาทดสอบก๊าซประมาณวันที่ 7 ต.ค. 2558 และการวัดแรงดันก๊าซต่อเนื่อง 30 วัน ซึ่งในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)ไม่ได้แจ้งว่าบริษัทจะมีการเผาทดสอบก๊าซ 2 รอบ กลุ่มอนุรักษ์ ฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบการเผาทดสอบก๊าซ รอบที่ 2 อาจเป็นการกระทำที่นอกเหนือจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กระทั่ง วันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่บ้านในตำบลดูนสาดได้ประกาศว่า บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด จะปิดหลุม ดงมูล 5 แบบถาวร พร้อมกับยกเลิกโครงการโรงแยกก๊าซ และแนววางท่อก๊าซของแหล่งผลิตดงมูล ก็ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่สับสนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อีกทั้งหากบริษัทจะปิดหลุมถาวร จะมีกระบวนการดำเนินการอย่างไร รวมทั้งกระบวนการดำเนินการที่ผ่านมา มีการกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพราะชาวบ้านในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลของโครงการที่กระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน

ดังนั้น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงมายังกลุ่มดังนี้

1. ขอให้ชี้แจงการดำเนินการโครงการขุดเจาะสำรวจและประเมินศักยภาพแหล่งก๊าซดงมูล หลุมดงมูล 5

2. ขอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในระหว่างการดำเนินโครงการและหลังการดำเนินโครงการของหลุม ดงมูล 5

3. รายงานการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี โครงการขุดเจาะสำรวจและประเมินศักยภาพแหล่งก๊าซดงมูล หลุมดงมูล 5

4. ขอให้ส่งหนังสือแจ้งล่วงหน้ามายังกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูลดูนสาดอย่างน้อย 7 วัน หากคณะกรรมการไตรภาคี จะมีการประชุมเกี่ยวกับโครงการพัฒนาแหล่งผลิตดงมูล และหลุมดงมูล 5 โดยขอให้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมายังกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล ดูนสาด ภายใน 7 วัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรแรงงานในสหรัฐ-ช่วยผู้อพยพให้ได้รับสิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดี

$
0
0

เหลืออีกไม่กี่เดือนก็จะถึงช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐฯ สหพันธ์แรงงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างเอเอฟแอล-ซีไอโอ พยายามรณรงค์ช่วยเหลือให้ผู้อพยพได้รับสัญชาติและมีสิทธิเลือกตั้ง และรณรงค์ต่อต้านการกัดกันทางเชื้อชาติของโดนัลด์ ทรัมป์ และชวนนิยาม "ความเป็นอเมริกัน" ที่ไม่ใช่เรื่องชาตินิยมแบบอ้างตัวเหนือคนอื่น

31 ส.ค. 2559 เดอะการ์เดียนรายงานถึงเรื่องที่สหพันธ์แรงงานอเมริกันและสภาองค์กรอุตสาหกรรม หรือเอเอฟแอล-ซีไอโอ (AFL-CIO) ซึ่งเป็นสหพันธ์แรงงานที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ มีแผนการจะเผยแพร่โฆษณาผ่านทางโซเชียลมีเดียนำแสดงโดย เทเฟอร์ เกเบร รองประธานบริหารของสหพันธ์เพื่อรณรงค์เชื่อชวนให้ตั้งคำถามกับวาทกรรมแบบเหยียดเชื้อชาติและกีดกันผู้อพยพจากการหาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ หนึ่งในผู้แทนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

เกเบร บอกว่าตามวาทะการหาเสียงของทรัมป์แล้วตัวเขาเป็น "ภัย" ต่ออเมริกาในหลายส่วน เพราะเขาเป็นทั้งคนดำ เป็นผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และผู้นำแรงงาน เขาบอกว่าการหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเสมือนการพยายามสื่อว่าอะไรบางอย่างมี "ความเป็นอเมริกัน" มากกว่าอย่างอื่น ซึ่งต้องมีการแก้ไขในเรื่องนี้ โดยตัวเกเบรเองบอกว่าเขาไม่เชื่อว่าจะมีใครมีความเป็นอเมริกันมากกว่าตัวเขาเองที่เป็นผู้ลี้ภัยและเป็นคนดำ และต้องบอกแนวคิดแบบเดียวกันนี้กับชาวอเมริกันคนอื่นๆ

เกเบร เป็นคนที่หนีออกจากประเทศเอธิโอเปียตั้งแต่เด็ก เขามีบทบาทในองค์กรแรงงาน AFL-CIO โดยการเดินทางไปทั่วประเทศและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเขา เกเบรร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้คนในเรื่องความยุติธรรมด้านเชื้อชาติและเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้เขายังเป็นผู้นำสหภาพในการช่วยเหลือขอสัญชาติให้กับผู้อพยพทั่วประเทศเพื่อให้พวกเขาสามารถไปเลือกตั้งได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้

"พวกเรากำลังช่วยให้ประชาชนหลายแสนคนกลายเป็นพลเมืองของอเมริกันเพื่อให้พวกเขาไปยังหีบเลือกตั้ง เพื่อโต้ตอบโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าพวกเขาคิดอย่างไร ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม" เกเบรกล่าว

เกเบรเล่าว่าในตอนเด็กที่เขายังอยู่ในแอฟริกาเขาจินตนาการถึงสหรัฐฯ ว่าเป็นประเทศที่ถ้าคุณทำงานหนัก คุณทำในสิ่งที่อยากเป็น คุณก็จะสามารถทำความฝันเป็นจริงได้ เกเบรบอกอีกว่าความเป็นอเมริกันสำหรับเขาคือคุณค่าในการมองคนอย่างเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง แทนที่จะมองว่าเป็น "คนอื่น" เกเบรกล่าวอีกว่าในขณะที่สหรัฐฯ ยกย่อง "จิตวิญญาณผู้อพยพ" ในการสร้างประเทศนี้ขึ้นแต่อีกมุมหนึ่งพวกเขาก็กลับพูดถึงการสร้างกำแพงกั้นผู้อพยพลี้ภัย

"พวกนี้เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน พวกเขาเล่นกับความกลัวของคน" เกเบรกล่าว เขายังบอกอีกว่าไม่ใช่เพียงโดนัลด์ ทรัมป์ เท่านั้น แต่ลัทธิชาตินิยมที่แผ่ขยายไปทั่วก็เป็นอันตรายต่อคนทำงาน เกเบรเชื่อว่าไม่ได้มีแต่เขาคนเดียวเท่านั้นที่รู้สึกเช่นนี้ เมื่อมีคนเล็งเห็นถึงปัญหานี้แล้วพวกเขาก็จะรู้ว่าไม่ควรจะต้องมีชีวิตหลบซ่อนอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวต่อผู้อาศัยดั้งเดิมในประเทศ

เกเบรเล่าว่าเขาเคยต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ผู้นำแบบเผด็จการแบบ "สตรองแมน" (Strongman) ที่เน้นใช้อำนาจอิทธิพลในการแก้ไขปัญหา  มาก่อน คือช่วงวัยเด็กของเขาในเอธิโอเปีย เขารู้ว่าคนจำพวกนี้รวมถึงทรัมป์ชอบเสนอตัวว่าตัวเองเป็น "ยาครอบจักรวาล" ที่จะแก้ไขปัญหาได้หมดและอ้างว่าคอยคุ้มกันสิ่งที่ "รุกราน" ประเทศ แต่นั่นไม่ใช่ความเป็นอเมริกันตามนิยามของเกเบร ความเป็นอเมริกันสำหรับเกเบรคือการต้อนรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยที่คอยช่วยสร้างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทาสในยุคก่อน หรือยุคที่ชาวจีนเข้ามาสร้างทางรถไฟ หรือเป็นผู้อพยพสมัยใหม่ที่มาทำงานบริการจัดเตียง ทำความสะอาดสำนักงาน สร้างถนนหรือกระทั่งงานวิศวกรรม

ความคิดแบบนี้เองที่ทำให้เกเบรหวังว่าคนจะไปเลือกตั้งในเดือน พ.ย. นี้เขาบอกว่าการต่อสู้ในสหรัฐฯ ไม่ใช่การจับอาวุธหรืออะไรทั้งนั้นแต่เป็นการต่อสู้ในคูหาและทาง AFL-CIO จะร่วมกับทุกคนเพื่อทำให้เสียงของคนทำงานและเสียงของประชาชนถูกเปล่งออกไปผ่านทางการเลือกตั้งให้คนอื่นๆ ได้ยินว่าพวกเขาก็เป็นคนอเมริกันคนหนึ่ง

เรียบเรียงจาก

Meet the refugee campaigning against Trump: 'This is what America looks like', The Guardian, 30-08-2016 https://www.theguardian.com/us-news/2016/aug/30/trump-immigration-opposition-tefere-gebre-labor-union-vote

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผอ.ฝ่ายข่าววอยซ์ทีวี 'จำยอมน้อมรับ' พักเวคอัพนิวส์ 7 วัน ตามมติ กสท. 5-13 ก.ย.

$
0
0

กรณีที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติ 3:1 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ให้ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ระงับการออกอากาศรายการ Wake Up News เป็นเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติ เนื่องจากการออกอากาศรายการดังกล่าว เมื่อวันที่ 15-16 สิงหาคม 2559 มีลักษณะเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 อีกทั้งเป็นการขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลง ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2558  ระหว่าง สำนักงาน กสทช. และบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ช่องรายการ วอยซ์ทีวี ซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ข้อ 19 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555

โดยการออกอากาศรายการ Wake Up News เมื่อวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม 2559 เป็นการสัมภาษณ์ ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ “ วิเคราะห์เหตุระเบิด 7จังหวัดใต้” และเมื่อวันอังคารที่ 16 สิงหาคม 2559 นำเสนอและวิเคราะห์เหตุการณ์ระเบิดในภาคใต้ และนำเสนอในหัวข้อ “ไผ่ ดาวดิน อดอาหารวันที่ 9 อาการทรุดหนัก” “มีชัยชี้ สว. เลือกนายกฯ ได้ 5 ปี แต่เสนอได้ชื่อเดียว”

ล่าสุด (31 ส.ค.) ประทีป คงสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ วอยซ์ทีวี ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า แม้จะไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว แต่ด้วยสถานการณ์พิเศษก็จำยอมน้อมรับ โดยจะมีการระงับการออกอากาศรายการดังกล่าว 7 วันตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ พร้อมมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างรายการบางส่วนตามคำแนะนำของ กสท.

"แม้จะไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เพราะเรามั่นใจว่า ข้อมูลและมุมมองที่เรานำเสนอทั้ง 3 ประเด็นได้นำเสนออย่างรอบด้าน ไม่บิดเบือน ไม่ใส่ร้าย เพียงแต่บางมุมมอง 'เห็นต่าง' จากที่ฝ่ายรัฐอยากให้สังคมเชื่อ แต่ในฐานะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากท่าน เมื่อเราพยายามชี้แจงแล้ว เสียงส่วนใหญ่ของ กสท. (3:1) เห็นว่าเราผิด ในสถานการณ์พิเศษเช่นทุกวันนี้ เราก็จำยอมน้อมรับ"

ทั้งนี้ เดิม ประทีป ระบุว่า Wake up news จะหยุดออกอากาศชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1-7 ก.ย. นี้ แต่ต่อมา มีการแจ้งว่า เมื่อเวลา 17.00 น. ได้รับการประสานจาก กสทช.ว่า ขอให้พักรายการวันที่ 5-13 ก.ย. โดยในส่วนโครงสร้างรายการจะมีการปรับเปลี่ยนบ้าง ตามคำแนะนำจาก กสท.

เขาระบุด้วยว่า สำหรับรายการที่จะมาทดแทนชั่วคราว คือ Wake up world ซึ่งโครงสร้างรายการจะต่างจากเวคอัพ นิวส์ พอสมควร โดยประเด็นทางการเมืองจำเป็นต้องลดลงบ้าง แต่จะทดแทนด้วยประเด็นสังคม เศรษฐกิจ และต่างประเทศ ส่วนทีมผู้ดำเนินรายการก็ต้องปรับเปลี่ยน ผู้ดำเนินรายการและนักวิเคราะห์รุ่นใหม่จะเข้ามาทำหน้าที่ โดยยังมีนักวิเคราะห์รุ่นใหญ่จากทีมเวคอัพ นิวส์ มาเสริมวันละคน

"นี่คือความเปลี่ยนแปลงในช่วง 7 วันจากนี้ไป แต่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ เรายังยืนยันการเป็น "สถานีข่าวปลุกความคิด" ที่นำเสนอ "ข่าว/ความคิดเห็น/ความรู้" ที่สร้างสรรค์ ทันสมัย ให้สติปัญญา ด้วยหวังว่า จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้คนไทยและประเทศไทยแข่งขันได้บนเวทีโลก" ประทีป ระบุ
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

SWING ร้องรัฐเปลี่ยนมุมมองการค้าบริการ ชี้เน้นคุ้มครองผู้ค้าบริการมากกว่าลงโทษ

$
0
0

มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐทบทวน พ.ร.บ.ค้าประเวณี ชี้เน้นการคุ้มครองผู้ค้าบริการทางเพศและพัฒนาอาชีพกับคุณภาพชีวิต มากกว่าการลงโทษ พร้อมขอสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2559 มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือสวิง(Service Worker In Group: SWING) ได้ออกแถลงการณ์ถึงการค้าบริการทางเพศในสังคมไทย จากกรณีการบุกจับสถานบริการที่จังหวัดภูเก็ต 2 แห่ง  ซึ่งมีข้อเรียกร้องหลักให้ภาครัฐทบทวนนโยบาย รวมไปถึงขอความร่วมมือสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวไม่ให้มีลักษณะการกดทับความเป็นมนุษย์ของพนักงานบริการ  (ข่าวโดยไทยรัฐรวบทั้ง 'จีสตริง' จนท.ภูเก็ต บุกจับสถานบริการ อนาจาร-เปิดเกินเวลา)

โดยสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ได้เสนอว่าภาครัฐควรทบทวนกฎหมายการค้าประเวณีที่มีอยู่ เพราะเป็นการกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า และไม่ได้แก้ปัญหาได้จริง

ทั้งนี้มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการเรียกร้องให้มีการทบทวน พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี เนื่องด้วยมีคนจำนวนมากเลือกใช้อาชีพนี้เลี้ยงตนเอง และครอบครัว ต้องการมีรายได้ รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ ท้ายที่สุดการจับปรับไม่ได้ทำให้ผู้ค้าบริการทางเพศออกจากอาชีพนี้ แต่ทำให้เขาอยู่ในอาชีพนี้มากขึ้น เนื่องจากเมื่อถูกจับ-ถูกปรับแล้วก็จะขาดรายได้ทำให้จำเป็นต้องอยู่ในอาชีพนี้ต่อ คิดว่ามาตรการแบบนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการแก้ปัญหา เนื่องจากอาชีพขายบริการนั้นเกือบเป็นอาชีพสุดท้ายของทางเลือก แต่กลับถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ

โดยทางมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการได้เปิดเผยกรณีตัวอย่างของความไม่เป็นธรรมทางกฎหมายที่พนักงานบริการทางเพศได้รับจากเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายว่า มีกรณีที่พนักงานบริการถูกทำร้ายโดยชาวต่างชาติ แต่เมื่อแจ้งความกลับถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะสนใจในเนื้อหาของการทำร้ายร่างกาย โดยมุ่งเน้นไปที่การพบเจอชาวต่างขาติ เพื่อจะบีบบังคับให้พนักงานบริการรับสารภาพว่าค้าบริการ เพื่อจะได้เอาผิดฐานค้าประเวณี

หรือในอีกกรณีหนึ่งที่มีพนักงานบริการถูกเจ้าหน้าที่ปรับ แต่ไม่มีเงินพอจะจ่ายค่าปรับ เจ้าหน้าที่จึงทำการยึดโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งผ่อนมาของพนักงานบริการรายนั้น แล้วให้ไปไถ่ที่สำนักงานในวันอื่น แต่เมื่อพนักงานบริการรายนั้นไปที่สำนักงานก็ถูกบ่ายเบี่ยง ท้ายที่สุดก็ยึดโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นไว้

จำรอง แพงหนองยาง รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการอธิบายว่า การที่พนักงานบริการทางเพศจะเข้าสู่อาชีพนี้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาเลือกจะประกอบอาชีพนี้ แต่ไม่ได้ขายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในส่วนของนโยบายของภาครัฐนั้น นายจำรองให้ความเห็นว่าเป็นการกวาดล้าง โดยลืมมองว่าอาชีพนี้สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ ปีๆ หนึ่งมีรายได้จากการธุรกิจท่องเที่ยวเท่าไร และได้แบ่งมาเป็นสวัสดิการให้พนักงานเหล่านี้เท่าไร ได้แยกแยะไหมว่ามาจากภาคธุรกิจส่วนนี้เท่าไร แต่การที่มองว่าเป็นปัญหาแล้วมากวาดจับ ยิ่งไปกว่านั้นการกวาดล้างอาชีพพนักงานบริการจะเป็นการผลักให้พวกเขาเหล่านี้ลงสู่ใต้ดิน และแน่นอนว่าไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเมื่อลงสู่ใต้ดินย่อมมีคนจำนวนหนึ่งที่ได้ประโยชน์

นอกจากนี้สุรศักดิ์ เนียมถนอม ผู้จัดการฝ่ายงานป้องกันมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ อธิบายเพิ่มเติมว่าผู้ค้าบริการทางเพศถูกทำให้ผิดกฎหมาย ในขณะที่สถานประกอบการนั้นอยู่ภายใต้กฎหมาย ในฐานะแรงงาน พวกเขาไม่ได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลใดๆ จากทางภาครัฐ ตลอดจนการกระทำความรุนแรงต่างๆ จากทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ใช้บริการ

แถลงการณ์ : กรณีการบุกจับสถานบริการ จ.ภูเก็ต

กฎหมายหลักของประเทศไทยในการจัดการการค้าบริการทางเพศ ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539  เน้นการคุ้มครองผู้ค้าบริการทางเพศและเพิ่มพูนโอกาสในการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต มากกว่าการลงโทษ โดยอธิบายว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมของคนทำให้เกิดการเข้าสู่ธุรกิจทางเพศ แต่ดูเหมือนว่าแนวทางปฏิบัติของภาครัฐไม่สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้ เพราะเน้นการจับกุม ลงโทษ และประณามผู้ค้าบริการมากกว่าการช่วยเหลือดังที่กฎหมายกำหนด

รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เมื่อวันที่ 18 สิหาคม 2559 โดยพาดหัวข่าวว่า “รวบจับ ‘จีสตริง’ จนท.ภูเก็ต บุกจับสถานบริการ อนาจาร-เปิดเกินเวลา”  เป็นอีกกรณีที่สะท้อนแนวทางการจับกุมลงโทษผู้ค้าบริการที่เป็นองค์ประกอบที่ไร้อำนาจต่อรองในธุรกิจการค้าบริการทางเพศ โดยตัวแสดงอีกมากมายไม่ได้ถูกจัดการแตะต้อง รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายมนุษย์  น้อยครั้งเท่านั้นที่จะเห็นภาพข่าวการจับกุมบุคคลซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งการกำหนดเวลาเปิด-ปิดสถานบริการ และกำหนดให้ผู้ค้าบริการ/พนักงานบริการแต่งกายหรือทำการแสดงที่ถูกเรียกว่า “อนาจาร “   รัฐไทยเลือกจะจัดการกับคนเล็กคนน้อยที่ไร้พลังต่อรองกับผู้กำกับควบคุมสถานบริการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

มาตรการจับกุมลงโทษเช่นนี้ถูกใช้ซ้ำ ๆ มาเป็นทศวรรษโดยไม่มีประสิทธิผลนัก เพราะไม่สามารถทำให้การค้าบริการทางเพศในสังคมไทยลดน้อยลงไป และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพรบ.ที่จะให้เกิดการคุ้มครอง และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ค้าบริการแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเช่นนี้เป็นการรังแกและซ้ำเติมให้ชีวิตและการทำงานของผู้ค้าบริการมากมาย ที่ไร้พลังต่อรองและกำลังถอยหลังติดกำแพง ไม่รู้ว่าจะหาทางออกในการหารายได้มาเพื่อเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัวของพวกเขาเพื่อไม่ให้เป็นภาระของรัฐและสังคมอย่างไรต่อไป

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐและสังคมไทยจะทบทวนท่าทีและมาตรการที่ขัดแย้งกันเองระหว่างกฎหมายที่มีอยู่กับมาตรการที่รัฐไทยจัดการกับการค้าบริการทางเพศที่ไม่แก้ปัญหา รังแกคนเล็กคนน้อยแต่ไม่แตะต้องคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสังคม และไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมชาติมากมายที่ลำบากยากไร้อยู่แล้ว แต่กลับตีตราประณามมากกว่าจะเสริมสร้างโอกาสดังที่กฎหมายของรัฐกำหนด

นอกจากนั้นพวกเราขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนยุติการนำเสนอภาพข่าวที่เหยียบย้ำศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้ค้าบริการดังเช่นภาพข่าวที่ปรากฏในครั้งนี้และในอดีตที่ผ่านมา  การนำเสนอภาพข่าวด้วยวิธีการเช่นนี้ไม่ได้ช่วยทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นหมดไปแต่กลับทำให้คนกลุ่มหนึ่ง(ผู้ค้าบริการ/พนักงานบริการ)ต้องมีสถานภาพเหมือนไม่ใช่ “คน” ดังเช่นบุคคลอื่น

เครือข่ายพนักงานบริการพื้นที่กรุงเทพมหานคร

เครือข่ายพนักงานบริการพื้นที่เมืองพัทยา

มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ(SWING)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธ.กสม.แจงร่างกม.ลูกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่อ กรธ.

$
0
0

แฟ้มภาพ

31 ส.ค. 2559 วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เปิดเผยภายหลังชี้แจงร่างเบื้องต้นของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่อ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นเวลากว่าสองชั่วโมง ว่า สิ่งที่กสม.เสนอเป็นเพียงตุ๊กตาเบื้องต้นเท่านั้น โดยวันนี้ได้ทำความเข้าใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลกับกรธ.บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ส่วนอำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่ กรธ.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนออกเป็นกฎหมาย

“สำหรับกสม.แล้ว การที่ยกสถานะ กสม. ในรัฐธรรมนูญ และยกสถานะจากกฎหมายทั่วไปเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากแล้ว เพราะเคยเสนอกฎหมายในรัฐธรรมนูญปี 2550 ปรากฏว่าไม่ถูกผลักดันออกมาบังคับใช้จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไป” ประธานกสม. กล่าว

วัส กล่าวว่า ข้อเสนอของกสม. ผ่านร่างตุ๊กตาที่เสนอให้กรธ.เป็นเรื่องของโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ วิธีการทำงานขององค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่เกี่ยวข้องกับกสม. มาตรการเร่งด่วนกรณีผู้ถูกควบคุมตัวหากมีปัญหากระทบสิทธิมนุษยชน เช่น เจ็บป่วย  ต้องให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็น  เป็นต้น  ซึ่งมีตัวอย่างจากประเทศเกาหลีใต้  แต่ข้อเสนอเหล่านี้ขึ้นกับว่ากรธ. จะเห็นด้วยหรือไม่

“มีการพูดถึงแม้แต่กรณีของการลดสถานะของกสม.ประเทศไทยจาก A เป็น B ซึ่งได้ปรับเงื่อนไขเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์แล้ว เช่น กำหนดรายละเอียดการสรรหากสม. ที่ชัดเจน โดยประกาศล่วงหน้าและมีตัวแทนเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามามีส่วนร่วมสรรหาด้วย  ซึ่งเราจดทะเบียนเอ็นจีโอโอเหล่านี้ที่ขึ้นกับ กสม.พร้อมรองรับอยู่แล้ว โดยกำหนดวิธีการคัดเลือกสรรหากันเองให้ได้ตัวแทนมาทำหน้าที่ร่วมสรรหา ซึ่งหลังจากชี้แจงกรธ. ไม่ได้ให้ กสม.กลับไปปรับปรุงใหม่อีกแล้ว เพียงแต่แจ้งว่าหากยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติม อาจจะเชิญมาให้ข้อมูลอีกครั้ง ” วัส กล่าว

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลชันสูตร จนท.ที่ดิน พังงา ตายขณะถูกคุมตัวที่ DSI พบตับแตก-เลือดออกในท้อง-ขาดอากาศหายใจ

$
0
0

31 ส.ค. 2559 แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ ธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าพนักงานที่ดิน จ.พังงา ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีทุจริตออกโฉนดที่ดิน ตามหมายจับศาลอาญาในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157  ซึ่งเสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุ ธวัชชัย เสียชีวิตจากเลือดออกในช่องท้อง ตับแตกจากการถูกของแข็งไม่มีคมกระแทก ร่วมกับขาดอากาศหายใจ

ขณะที่วันนี้ ญาติของธวัชชัยมาติดต่อขอรับศพไปบำเพ็ญกุศล หลังจากถูกส่งมาตรวจสอบหาสาเหตุการเสียชีวิตที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ โดย ชัยณรงค์ อนุกูล น้องชายของ ธวัชชัย กล่าวว่า ยังคงติดใจประเด็นการเสียชีวิตของ ธวัชชัย โดยเฉพาะการให้การไม่ตรงกันของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เห็นว่า ธวัชชัย ใช้เสื้อของตัวเองผูกคอกับบานพับประตู แต่หัวหน้าควบคุมผู้ต้องหา บอกว่าใช้ถุงเท้าผูกคอ

ชัยณรงค์ กล่าวว่า ก่อนที่ ธวัชชัย จะถูกจับกุมเมื่อวันที่ 29 ส.ค.2559 ได้ถูกเชิญมาให้การในฐานะพยาน ซึ่ง ธวัชชัย ไม่มีอาการซึมเศร้า ยังคงพูดคุยปกติและบอกว่าจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น หลังจากนั้นเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 30 ส.ค.2559 ก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า ธวัชชัย ผูกคอในห้องควบคุมและให้มาดูศพที่โรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ

อย่างไรก็ตามในชัยณรงค์ระบุว่า ถึงแม้จะติดใจในสาเหตุการเสียชีวิตจะไม่ขอเรียกร้องกับหน่วยงานใดๆ หลังจากนี้ญาติจะนำศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบางหลวง อ.เมืองปทุมธานี เป็นเวลา 1 คืน ก่อนจะทำการฌาปนกิจศพในวันพรุ่งนี้ (1 ก.ย.2559)

อธิบดีดีเอสไอ แจง ตับแตก อาจเกิดจากช่วงช่วยชีวิต

ขณะที่  พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีผลชันสูตรพลิกศพ ธวัชชัย ว่าเบื้องต้นตนทราบผลชันสูตรจากสถาบันนิติวิทยา โรงพยาบาลตำรวจแล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้น ทางดีเอสไออยู่ระหว่างทำเอกสารข่าวเพื่อชี้แจงให้ประชาชนและสื่อมวลชนทราบ

พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวต่อว่า สำหรับผลชันสูตรพลิกศพที่ระบุว่า ธวัชชัยเสียชีวิตจากเลือดออกในช่องท้อง และตับแตกจากการถูกของแข็งไม่มีคมกระแทกนั้น อาจเป็นไปได้ว่าระหว่างที่เจ้าหน้าที่เร่งให้การช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจเพื่อไม่ให้ชีพจรหยุดทำงาน ซึ่งถ้าทำผิดวิธีอาจทำให้เกิดการกระแทกและมีเลือดออกในช่องท้องได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางดีเอสไออยู่ระหว่างสอบถามไปยังสถาบันนิติเวชวิทยา เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่สามารถจับกุม ธวัชชัยได้ ทางญาติก็ได้เดินทางมาเยี่ยมและอยู่กับ ธวัชชัย จนถึงช่วงเย็น หากมีอะไรผิดปกติเชื่อว่า ธวัชชัย จะต้องแจ้งให้ญาติทราบอยู่แล้ว ทั้งนี้ ที่ชั้น 6 ของอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นชั้นที่มีห้องที่ใช้ในการควบคุมตัวผู้ต้องหา ได้มีกล้องวงจรปิด หากญาติสงสัยในประเด็นการเสียชีวิต ก็จะได้เชิญให้ญาติดูกล้องวงจรปิดได้

พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาหรือไม่ ตนยืนยันว่าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแน่นอน และไม่เคยทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาอยู่แล้ว โดยทางเรายืนยันความบริสุทธิ์ และคงจะเชิญญาติมาดูกล้องวงจรปิดที่บันทึกภาพระหว่างการควบคุมตัว ธวัชชัย ด้วย

 

ที่มา ไทยพีบีเอส และ มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทางแพร่งบ่อขยะแพรกษา: โมเดลฟื้นฟูแบบมีส่วนร่วม หรือ ม.44 ดันโรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศ

$
0
0

ไฟไหม้บ่อขยะแพรกษาขนาด 100 กว่าไร่ ค่าชดเชยกับชาวบ้านลงตัวไปแล้ว เหลือโจทย์ใหญ่ "การฟื้นฟู" ด้านหนึ่ง ทุกฝ่ายเร่งหาทางออกร่วม อีกด้าน คสช.คลอดโรดแมปดันโรงไฟฟ้าขยะ 53 ทั่วประเทศ ฟังดูน่าจะดี ทำไมชาวบ้านปฏิเสธ คุยกับ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ  

 

กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนต่างพาดหัวข่าวถึงกรณีบ่อขยะแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ ที่ถูกไฟไหม้อย่างรุนแรงเมื่อปี 2557 ว่า ชาวบ้านเฮ, การไกล่เกลี่ยประสบความสำเร็จ, ชาวบ้านพันกว่าคนได้รับค่าชดเชยแล้วคนละ 3,000 บาท

แต่นั่นไม่ใช่จุดจบของปัญหา กระทั่งอาจยังมีคำถามว่าใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด เป็นธรรมแล้วหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็สามารถย่นระยะทางการต่อสู้คดียาวนานที่ชาวบ้นจำนวนมากต้องประสบ

หากใครยังจำได้ เหตุการณ์เพลิงไหม้บ่อขยะเกิดขึ้นเมื่อ 16-22 มีนาคม 2557 เป็นเหตุเพลิงไหม้ครั้งรุนแรงมาก บ่อขยะแห่งนี้นี้มีพื้นที่กว่า 100 ไร่ ใช้เวลากว่า 1 สัปดาห์กว่าไฟจะมอด มีควันพิษปกคลุมพื้นที่รอบจนต้องอพยพคนออกและประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัตรฉุกเฉิน

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพอากาศในรัศมี 1 กม.ช่วงเกิดเหตุเพลิงไม้ พบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินมาตรฐาน 20-30 เท่า พบฝุ่นขนาดเล็กมากสูงกว่ามาตรฐาน 30 เท่า จึงต้องอพยพคนออกในรัศมี 1.5 กม.รอบบ่อขยะ ประชาชนนับพันจึงรวมตัวกันฟ้องศาลแพ่งและศาลปกครองกับหน่วยงานรัฐและเอกชน

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากมูลนิธิบูรณะนิเวศซึ่งติดตามเรื่องการจัดการปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมของไทยมายาวนาน ให้ข้อมูลว่า ที่ดินกว่าหนึ่งร้อยไร่เป็นของบริษัท ตั้งเด่นชัย จำกัด และนายกรมพล สมุทรสาคร ได้มาขอเช่าพื้นที่ โดยขออนุญาตกับท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2554 ระบุว่าจะทำกิจการรีไซเคิลขยะมูลฝอย ระหว่างทำกิจการถูกร้องเรียนเรื่องกลิ่นและความสะอาด จน อบต.ต้องยกเลิกใบอนุญาต ถัดมาไม่นานก็มีการขอตั้งโรงงานทำปุ๋ยชีวภาพ เดือนมีนาคม 2555 มีรายงานการพบนำกากสี ขยะอันตรายจากนิคมอมตะนครนำมาทิ้งในพื้นที่ทำให้บริษัทถูกปรับเป็นเงิน 5,000 บาท ต้นเดือนมกรา 2556 อบต.มีคำสั่งยกเลิกไม่ให้ทำกิจการอีก แต่ปลายเดือนธันวาคม 2556 อบต.ตรวจสอบพบยังมีการลักลอบทิ้งขยะ จึงสั่งปรับเป็นเงิน 2,000 บาทเนื่องจากผิดพ.ร.บ.สาธารณสุข

เพ็ญโฉมอธิบายเพิ่มเติมว่า ภายหลังเกิดเรื่อง ชาวบ้านได้รวมตัวกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัท โดยแบ่งเป็นสองคำฟ้อง คือ เรียกค่าชดเชยเยียวยาความเสียหายต่อสุขภาพ กับ ให้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

“ในเรื่องค่าเสียหาย เราเห็นว่า การเจรจาได้ผลลัพธ์เป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น บางคนต้องหยุดงานไปเลย ต้องปิดร้านอพยพหนีไปเลยหลายอาทิตย์ หลายคนมีการเจ็บป่วย”

“น้ำหนักที่แกนชาวบ้านทำอยู่และศาลเห็นว่าสำคัญมากกว่า คือ การแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทำยังไงให้ดีขึ้น ชุมชนอยู่รอบบ่อมี 10 กว่าหมู่บ้าน ทั้งระดับกลางและค่อนข้างมีฐานะ รวมถึงระดับหาเช้ากินค่ำ รวมถึงคนอาศัยอยู่เดิมที่กระจายอยู่ บ่อขยะมันใหญ่มาก” เพ็ญโฉมกล่าว  

ดังนั้น โจทย์ใหญ่และโจทย์หลักที่กำลังดำเนินอยู่ในศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ ก็คือ การหาทางออกได้ในเรื่องการฟื้นฟู เนื่องจากมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 1,590 ที่รับเงินค่าชดเชยจำนวน 3,000 บาทที่เจ้าของบ่อขยะจ่ายแล้ว แต่ยังมีผู้ไม่รับเงินอีก 3 คน เพื่อให้คดียังไม่จบและต้องดำเนินการต่อในการฟื้นฟู

ภายใต้การฟ้องคดีดังกล่าว ศาลได้มีคำสั่งให้จัดตั้งคณะทำงานตั้งขึ้นเพื่อหาทางฟื้นฟูพื้นที่ คณะกรรมการนี้ทำงานร่วมกันมาราว 1 ปีมาแล้ว โดยมีส่วนประกอบเป็น นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนตัวแทนชาวบ้าน เจ้าของบ่อขยะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เทศบาล อบต. จังหวัด

เพ็ญโฉมกล่าวด้วยว่า ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ จะจัดการยังไงกับสารพิษที่อาจปนเปื้อนไปกับในแหล่งน้ำใต้ดิน เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล

“ถ้าจะเต็มที่จริงๆ จะใช้งบสูงเกิน 100-200 ล้านบาทแน่ ทางบริษัทก็ตกใจ เขาถอย หลายคนก็คิดว่าเป็นไปได้ยาก นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องดึงจังหวัดเข้ามาเกี่ยวข้อง เราพยายามผลักดันเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่แม้สมุทรปราการจะได้เป็นเขตควบคุมมลพิษจังหวัดแรก แต่ไม่ได้ทำอะไรเลย”

“ปัญหาขยะก็เป็นปัญหาใหญ่ แต่หลุมนี้เป็นหลุมเอกชน เขาขุดหน้าดินไปขาย พื้นที่ใหญ่มาก ขยะถึงเอามาทิ้งได้เยอะ การปนเปื้อนน่าจะไกลพอสมควร คณะกรรมการเสนอว่าก่อนมีการฟื้นฟูต้องมีการประเมินความเสี่ยงก่อน ศึกษาปริมาณขยะทั้งบ่อ แต่เนื่องจากข้างล่างเป็นน้ำจึงคำนวณยาก และยังต้องดูชนิดขยะว่าอันตรายไหม ตะกอนก้อนบ่อสารพิษมีอะไรบ้าง เพื่อประเมินว่ารูปแบบไหน เทคโนโลยีไหนจะฟื้นฟูได้ ใช้งบขนาดไหน ทุกคนเชื่อว่าบริษัทไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ คุยกันหลายรอบยังพบว่าเป็นไปได้ยาก แนวโน้มออกมาว่าจะฟื้นฟูเฉพาะบริเวณบ่อ แต่ก็ยังมีนักวิชาการไม่ค่อยเห็นด้วย การประชุมก็ยังดำเนินอยู่ แม้จะไม่บ่อยนัก เดือนกันยายนน่าจะได้โมเดลการจัดการขยะขั้นต้น และเอามาเข้าที่ประชุมว่ารับได้ไหม หากตกลงกันได้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งอีกทีหนึ่ง” เพ็ญโฉมกล่าว   

อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีต่อคณะกรรมการนี้มีอยู่ 4 ข้อหลัก คือ

1.ห้ามเอาขยะใหม่มาทิ้งอีกต่อไป

2.ต้องกำจัดขยะเก่าในบ่อ และทำปิดบ่อนี้

3.ต้องไม่ใช่การสร้างเตาเผาขยะ หรือโรงไฟฟ้า

4.ต้องมีการบำบัดน้ำในบ่อก่อนระบายสู่แหล่งน้ำสาธารณะ


ที่มา: เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

ถามว่าทำไมชาวบ้านถึงต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ เพ็ญโฉมอธิบายเหตุผลคร่าวๆ ว่า โรงไฟฟ้าจากขยะนั้นต้องลงทุนสูงมาก ชาวบ้านจึงไม่เชื่อว่าบริษัทจะดำเนินการขึ้นเพียงเพื่อจำกัดขยะเก่า แต่มีแนวโน้มว่าต้องใช้จัดการขยะในอนาคตด้วย พื้นที่นี้ก็จะยังคงเป็นพื้นที่ทิ้งขยะเช่นเดิม นอกจากนี้มลพิษทางอากาศสูงมาก ต้นทุนประมาณ 2 ใน 3 ของการดำเนินงานจะต้องลงทุนในระบบคือการติดตั้งเทคโนโลยีและกระบวนการจัดการมลพิษ หากโรงไฟฟ้าไม่ยอมลงทุนกับเทคโนโลยีเหล่านี้โรงไฟฟ้าขยะจะอันตรายและก่อปัญหาเยอะมาก ไม่นับว่าค่าบำรุงรักษาในระยะยาวก็สูงมากด้วย

วาระแห่งชาติ ยุค คสช. การจัดการขยะ กับ โรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศ

หลังเกิดเหตุไฟไหม้ไม่นานก็มีการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 จากนั้นวันที่ 30 พ.ค. 2557 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ประชุมร่วมกันโดยสรุปมีแผนงานให้ ทส. เร่งรัดดำเนินการทั้งหมด 5 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “การกำหนดการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยและน้ำเสียเป็นวาระแห่งชาติ (แบบบูรณาการทุกหน่วยงาน)”

“การประกาศโรดแมปนั้นไม่ได้เป็นประเด็นกับแพรกษาโดยตรง ตอนแรกนายทหารระดับสูงลงตรวจพื้นที่ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น แต่อย่างน้อยตอนแรกมันเป็นเกราะป้องกันชาวบ้านไม่ให้ถูกคุกคามและเสี่ยงจากอิทธิพลในพื้นที่ แต่ในเชิงภาพรวมแล้ว แนวทางการแก้ปัญหาขยะตามโรดแเมปเป็นแนวทางที่ผิด เป็นปัญหามากทั้งกับ อปท. และชุมชนหลายพื้นที่เจอปัญหา” เพ็ญโฉมกล่าว

ที่มา: มูลนิธิบูรณะนิเวศ

โรดแมปนี้เตรียมจะสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะเบื้องต้น 53 แห่งทั่วประเทศ โดยจะมีการสร้างศูนย์ขนาดใหญ่ในการจัดการขยะเป็นร้อยแห่ง โดยมาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช.มีบทบาทในการทำให้โรดแมปเป็นจริงอย่างรวดเร็ว...ไร้แรงต้าน

“รัฐบาลไม่รู้คิดอย่างไร อาจเชื่อข้อมูลจากหน่วยงานราชการ มองเห็นลู่ทางบางอย่าง ก็เลยกลายเป็นว่ามีการประกาศให้รีบดำเนินการ ตามโรดแมปมีแผนระยะสั้นและยาว แต่ให้สร้างโรงไฟฟ้าเป็นแนวทางหลัก ทุกคนรู้ว่าโรงไฟฟ้าใช้ทุนสูง ใช้เทคโนโลยีสูง มีข้อจำกัด โดยเฉพาะ EIA ปริมาณขยะ พื้นที่ ฉะนั้น คสช.จึงใช้ม. 44 ออกมาตรการหลายอัน”

มาตรา 44 ถูกใช้ในการ

1.สั่งยกเลิกการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โรงไฟฟ้าขยะ แม้ขนาด 10 เมกกะวัตต์ขึ้นไปก็ไม่ต้องทำ เรื่องนี้ EnLaw ฟ้องศาลปกครองเมื่อ 3 ธ.ค.2558 และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

2.มีการระงับใช้กฎหมายผังเมืองในพื้นที่ห้ามก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ

3.แก้กฎหมาย Feed-in Tariff โรงไฟฟ้าขยะจะได้ช่วยเหลือผ่านกลไกนี้เพื่อให้เอกชนคุ้มทุน

“ในความเป็นจริงพบว่าโรงไฟฟ้าขยะที่หาดใหญ่ อยุธยา ภูเก็ต ล้วนมีปัญหา อย่างกรณีของหาดใหญ่ อบต.ควนลัง ถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าขยะที่ คสช.ภาคภูมิใจมาก แต่มันเตาพัง เดินเครื่องไม่ได้ เพราะขยะเมืองไทยไม่มีระบบคัดแยก 50% ของขยะบ้านเราเป็นขยะอินทรีย์ ขยะเปียกไม่เหมะจะเข้าโรงไฟฟ้าและยังมีขยะอื่นๆ ที่ไม่เหมาะกับการเผา พอเอาไปเผาเครื่องพังก็ต้องหยุดดำเนินการ หรืออย่างกรณีเชียงราก เอกชนไปซื้อที่ นึกจะสร้างก็สร้าง ไม่ต้องทำอีไอเอ ก็กลายเป็นประเด็นเพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องรักษาแหล่งน้ำดิบเพื่อผลิตประปา” เพ็ญโฉมกล่าว

สุวิทย์ เชยอุบล
ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

เมื่อเกิดไฟไหม้ มีการตั้งคณะทำงานติดตามและหลังจากนั้นมีการนัดประชุมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีชาวบ้านได้รับผลกระทบรวมแล้วเกือบ 3,000 คน เราได้แนะนำและให้ความคิดเห็นว่า ผลกระทบต่างๆ นั้นชาวบ้านสามารถเรียกร้องสิทธิได้โดยสภาทนายความจะตั้งคณะทำงานทำคดีเรียกร้องค่าเสียหายให้ชาวบ้านพร้อมทั้งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติหรือสภาพที่ชาวบ้านรับได้ เราฟ้องคดีให้ชาวบ้าน ต้องขอขอบคุณทางเจ้าของบ่อด้วยที่ให้ความร่วมมือ ยอมเยียวยาให้กับชาวบ้านบางส่วน แม้ไม่มากก็นับเป็นน้ำใจที่ชาวบ้านพอจะรับได้ มันยังเหลืออีกส่วนคือ การฟื้นฟู ต้องว่ากันต่อไป ทางศาลและสภาทนายความรวมถึงเจ้าของบ่อได้ตั้งคณะทำงาน ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมมือกันทำตรงนี้ เจ้าของบ่อยินดีจัดการค่าใช้จ่าย

สำนวน ประพิณ
ทนายที่รับผิดชอบคดีนี้ จากสภาทนายความ

ที่เห็นชัดเจนคือ นับตั้งแต่เกิดเหตุไม่มีการนำขยะมาทิ้งที่บ่ออีกเลย เพราะชาวบ้านไม่ยินยอมให้เอาขยะมาทิ้งอีกแล้ว ปัญหาที่จะต้องทำต่อไปคือ  ฟื้นฟูอย่างไรกับขยะเดิม มีสารพิษไหม นักวิชาการนำไปตรวจอยู่ ถ้ามีต้องฟื้นฟูอย่างไร

ตอนนี้ชาวบ้านเรียกร้องไม่ให้เกิดโรงงานไฟฟ้าขยะ จะขอให้เอาขยะออกไปด้วย วิธีการฟื้นฟูถ้ามันสามารถทำที่เดิมไม่ส่งผลกระทบ ไม่ส่งกลิ่นเหม็น ก็อาจทำตรงนั้นเลย แต่ถ้าฟื้นฟูแล้วมีผลกระทบก็ต้องนำออกไปข้างนอก ตอนนี้กรมควบคุมมลพิษก็เข้ามาร่วมประชุมในคณะกรรมการด้วย ไม่ว่าจะเอาออกหรือเอาไว้ที่เดิม ชาวบ้านจะมีส่วนตัดสินใจด้วย โรงไฟฟ้าคงเกิดไม่ได้ เพราะต้องฟังเสียงชาวบ้าน เวลานี้พวกเขาไม่เห็นด้วย ค่อนข้างแน่นอนแล้ว

ค่าชดเชยเยียวยาถึงแม้จะน้อย ทั้งหมดเป็นการเหมาจ่ายรายละ 3000 บาท มันอาจไม่ตรงกับเสียหายจริง มันต้องพิสูจน์เสียเวลานานมาก ทุกคนต้องขึ้นเบิกความที่ศาลทั้งหมด รับรองว่านานกว่าคลิตี้ อีกสิบปีก็ไม่จบ ตอนนี้ชาวบ้านพอใจที่ไม่เอาขยะมาเพิ่มเติม

ชาวบ้านฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ 2000 กว่าราย จากนั้นไปฟ้องที่ศาลแพ่งบางส่วน เพราะเห็นว่าน่าจะมีความเชี่ยวชาญมากกว่า เมื่อศาลแพ่งรับฟ้องจึงมีการโอนย้ายจากที่ศาลสมุทรปราการไปที่ศาลแพ่ง แต่ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านบางส่วนไปขอรับการชดเชยจากผู้ประกอบการและมีการถอนฟ้องไป ก็เหลือประมาณ  1590 รายที่ได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาท ส่วนคนที่ชดเชยไปก่อนเขาจ่ายกัน 2000 บาทต่อราย

ศิลา ทองคำ
ที่ปรึกษาเครือข่ายกลุ่มต่อต้านบ่อขยะแพรกษา 

กรอบของการฟื้นฟูอยากให้กำหนดไว้เป็นแผน 2 ระยะ คือ ระยะสั้นกับระยะยาว เหตุเพราะการมีแผนระยะสั้น 6 เดือนหรือ 1 ปี จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการแก้ไขเบื้องต้นเรื่องกลิ่น เรื่องน้ำเสียที่เอ่อล้นมา เรื่องสัตว์พาหะนำโรค ส่วนการจะบำบัด ณ ที่ตั้งหรือไม่ก็ว่ากันไปอีกระยะคือ 3 ปี 5 ปี ไม่เช่นนั้นถ้ามองระยะยาวชาวบ้านจะจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็นอะไร

การบำบัดฟื้นฟู คณะผู้พิพากษาก็ดี ผู้เชี่ยวชาญก็ดี ราชการก็ดี ภาคเอกชนที่มาช่วยต่างๆ ล้วนมีความตั้งใจและเพียรพยายามอย่างต่อเนื่องจนเกิดการทำเอ็มโอยูกับพี่น้องประชาชน อยากให้ภาครัฐควบคุมให้มีการปฏิบัติการตามเอ็มโอยูอย่างเคร่งครัด เพราะพี่น้องประชาชนยังวางใจไม่ได้เลยว่าจะมีการปฏิบัติตามนั้นหรือไม่จึงต้องจับตาดูกันต่อไป

ตอนนี้ก็ความคาดหวังอยากให้เกิดเป็น แพรกษาโมเดล ในการจัดการปัญหา เพราะบ่อขยะแพรกษาเป็นบ่อขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 150 กว่าไร่ เมื่อเกิดไฟไหม้ผู้ว่าฯ ได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ 7 วัน 7 คืน เป็นมหากาพย์ที่กระตุ้นให้รัฐหยิบเรื่องนี้มาพิจารณาจนประกาศเป็นวาระแห่งชาติ คณะทำงานเรื่องนี้ก็ดี ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็ทำงานร่วมกันเพราะหวังจะทำงานชิ้นสำคัญให้เป็นแพรกษาโมเดลให้จงได้

ไพฑูรย์ หมายสอนกลาง
แกนนำเครือข่ายกลุ่มต่อต้านบ่อขยะแพรกษา 

ตอนนั้นที่มีการนำขยะมาทิ้ง ล้วนเป็นรถป้ายทะเบียนจากต่างจังหวัดมาเยอะ เพราะมันเป็นที่ทิ้งแบบผิดกฎหมาย มีจากชลบุรี ระยอง ประจวบ ฯลฯ บ่ออยู่ห่าง อบต.ไม่เกิน 2 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเข้านิคม ฯ ประชาชนวิ่งผ่านทุกวัน เห็นทุกวัน เมื่อก่อนไม่มีรั้ว กองขยะมโหฬาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปรับเขาแค่ 2,500 ปรับต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะเกณฑ์คือ 5000  อบต. จึงเกิดคำถามเยอะว่าทำไมทำแค่นี้ทั้งที่ความเดือดร้อนมหาโหฬาร

คนอื่นๆ เขาไม่เอาโรงไฟฟ้าเพราะกลัวผลกระทบเรื่องชั้นบรรยากาศ การเผา และมันไม่เสถียร การต่อสู้ของทุกพื้นที่เขาไม่เอาเรื่องเตาเผาขยะ มีทางออกคือ เราก็อยากให้คัดแยก ทำโรงอบ

ธีรศักดิ์ อัศวเหม
วิศวกรผู้ดูแลบ่อขยะฯ

หลังเกิดเหตุการณ์เราปิดล้อมรั้ว ทำถนน วางระบบดับเพลิง เรื่องต่างๆ อยู่บนพื้นฐานคำสั่งของศาล มีการพูดคุยกันอยู่ ส่วนการฟื้นฟูเราพยายามให้มีการรวมหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงชุมชนมาพูดคุยร่วมกัน ตอนนี้ก็จะมีลำดับการดำเนินการกันไป กันพื้นที่ให้เรียบร้อย การจ่ายค่าชดเชยนี่ก็เป็นสเต็ปหนึ่ง

การฟื้นฟู ต้องมีการปรับภูมิทัศน์ ทำรั้วโดยรอบพื้นที่ อย่างที่ถ้าเคยดูจะเห็นว่าด้านหลังทำแล้ว จำกัดการเข้าออก มีเวรยาม มีระบบปั๊มน้ำดับเพลิง

ข้อสรุปในเรื่องการฟื้นฟูยังไม่ได้ ยังมีข้อจำกัดเยอะ ก็ต้องคุยหาแนวทางร่วมกัน ขยะเก่าจะเอาออกยังไง ส่วนเรื่องโรงไฟฟ้านี่ยังไม่สรุปเลย ต้องเคลียร์งานเรื่องการจะเอาขยะเก่าออกหรือเปล่า อย่างไร ให้จบสิ้นเสียก่อน

สุชาติ นาคนก
แกนนำเครือข่ายกลุ่มต่อต้านบ่อขยะแพรกษา 

ในส่วนที่ไม่รับเงิน มีตัวผมซึ่งเป็นประธานเครือข่ายกลุ่มต่อต้านบ่อยขยะแพรกษา และรองประธานสองคน ที่ไม่ติดใจรับเงินส่วนนี้ เพราะการทำงานเริ่มแรกเราตั้งปณิธานว่าเราทำเพื่อชาวบ้าน ไม่ได้ต้องการค่าชดเชย

การไม่รับเงินและไม่เซ็น ทำให้คดียังคงสภาพอยู่ในศาล เพราะการเซ็นรับเงินนั้นในเอกสารระบุว่าจะมีการถอนฟ้องไปในตัวเลย เรายืนยันที่จะต้องต่อสู้เรื่องฟื้นฟูต่อ จึงยังไม่ต้องการจบคดี

เรื่องการฟื้นฟู ชาวบ้านอยากให้เป็นแบบไหน ตอนนี้คณะทำงานที่ศาลแพ่งตั้งไว้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและนำมาวิเคราะห์ เพื่อทำแผนในการฟื้นฟูบ่อขยะ ส่วนกองขยะที่ยังอยู่ กลิ่นมันดีขึ้นกว่าเก่าเยอะ แต่มันก็ยังไม่หายไปในบริเวณใกล้ๆ สภาพสิ่งแวดล้อมมันดูดีกว่า มันราบไปกับพื้น เดิมทีกองขยะมันสูงเป็นภูเขา มองไกลๆ ก็เห็น ปัจจุบันมองไม่เห็นแล้ว เดิมทีลมพัดมาก็มีกลิ่นเปรี้ยว แต่ปัจจุบันไม่รุนแรงขนาดนั้น ส่วนช่วงฝนตกหนักที่ผ่านมา มีคลองใกล้บ่อขยะ ตัวผมเองไม่ได้อยู่ตรงนั้นจึงพูดได้ยาก ปีนี้น้ำไม่เอ่อในบ่อขยะ ปีแรกน้ำเอ่อเยอะ ตรงนี้ทางเจ้าของบ่อเคยรับปากไว้ว่า จะไม่ให้มีเหตุการณ์ซ้ำซ้อนอย่างปีที่แล้วอีก เขาจะเฝ้าระวังให้ดีที่สุด เราก็เชื่อใจเขา เพราะพักหลังเขามีความจริงใจในการฟื้นฟูดีขึ้นมาก

เรื่องเจรจา ไม่กังวลเป็นแนวทางที่เราตั้งใจอยู่แล้ว คือ เน้นการเจรจาหาข้อตกลงร่วมกัน หันมาทำงานร่วมกันมากกว่าจะตอบโต้กันด้วยความรุนแรง ส่วนกรอบเวลา ผมยังไม่กล้าพูดออกไป เพราอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ว่าแนวทางฟื้นฟูจะไปแนวไหน

ผมเคยเห็นภาคเอกชน คือเจ้าของบ่อ และภาครัฐ ภาคประชาชน ร่วมมือกันทำเพื่อฟื้นฟูบ่อขยะไว้ ตั้งเป้าให้เป็นโมเดลให้ได้ ทุกคนมีความตั้งใจให้มันเกิดให้ได้ ผมเน้นการเจรจา หาจุดร่วม ไม่ได้อยากจะไปทะเลาะกับเขา อะไรที่จะหาจุดยุติได้เราก็จะทำ แต่เราก็มีจุดยืนในการทำงานของเรา ต้องปิดบ่อ ต้องไม่มีโรงไฟฟ้า

การที่ชาวบ้านได้รับเงินเยียวยาก็เหมือนหมดภาระไปเปราะหนึ่ง ไม่อย่างนั้นแกนนำต้องขึ้นศาลถึงสองเรื่อง เงินเยียวยาและฟื้นฟู ตอนนี้ก็เน้นประเด็นเดียว โชคดีที่ผมทำงานค้าขาย การไปขึ้นศาลบ่อยๆ ไม่กระทบมากนักเพราะคนอื่นทำแทนได้ แต่บางคนก็ไปขึ้นศาลบ่อยไม่สะดวกเพราะทำงานราชการ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร่อนจม.ขอ ม.ราชภัฏเทพสตรี ทบทวนมติหลัง ลอยแพ จนท.-อาจารย์จำนวนมาก

$
0
0

ที่มา เพจ CHES ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

1 ก.ย. 2559 รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (Coordinating Center for the Public Higher Education) หรือ CHES ได้ออกแถลงการณ์ CHES เรื่อง ขอให้สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ทบทวนมติของผู้บริหาร กรณีการไม่ต่อสัญญาจ้างพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จำนวนมาก

โดยระบุว่า จากกรณีข่าวการศึกษา เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่าามา ทราบว่า อ.ดร. เสนีย์ เจริญสุข หัวหน้าสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี โพสต์ข้อความในกลุ่ม ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ร้องเรียนว่าตนเองถูกแจ้งว่าไม่ได้รับการต่อสัญญาให้เป็นอาจารย์ต่อและมีการเผยแพร่ข่าวออกทางสื่อมวลชน ซึ่งประเด็นที่น่าตกใจคือ มีการระบุว่า ขณะนี้มีอาจารย์น่าจะมากกว่า 20 คนได้รับการแจ้งไม่ต่อสัญญา ทั้งยังระบุอีกว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการต่อสัญญากว่า 50-60 คน ซึ่ง CHES มีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติ และเป็นเรื่องใหญ่มากที่จะมีการเลิกจ้างคณาจารย์และเจ้าหน้าที่จำนวนมากในปีงบประมาณนี้ จึงขอออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ทบทวนหรือหยุดยั้งมติของผู้บริหารดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อความเป็นธรรม และขอเรียกร้องให้ฝ่ายบริหาร โปรดชี้แจงประเด็นดังกล่าวต่อสังคมเพื่อความเข้าใจต่อไป

วานนี้ (31 ส.ค.59) มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า เสนีย์ เจริญสุข หัวหน้าสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี โพสต์ข้อความในกลุ่ม ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ร้องเรียนว่าตนเองถูกแจ้งว่าไม่ได้รับการต่อสัญญาให้เป็นอาจารย์ต่อ โดยระบุว่า

“ชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยฯ ช่างตกอับและไม่มีความมั่นคง..ไม่ต่อสัญญาจ้าง..อ้างแต่เพียงว่า..”ไม่ประสงค์จะต่อสัญญาจ้าง” แค่นี้หรือ!! ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์ เป็นหัวหน้าสาขานิติศาสตร์ ผลการประเมินการปฏิบัติราชการอยู่ในเกณฑ์ดี มีผลงานทางวิชาการครบคุณสมบัติในการต่อสัญญาตามประกาศ กบม. นั่นสิ ทำไม ไม่ต่อสัญญา”

โดย ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ สอบถามเพิ่มเติมไปยัง อ.เสนีย์ เปิดเผยว่า ตนเองและเพื่อนนักวิชาการได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยไม่ประสงค์จะต่อสัญญาอีกต่อไป โดยให้ยุติการเป็นอาจารย์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ที่จะถึงนี้

โดยหัวหน้าสาขาวิชานิติศาสตร์ท่านนี้ ระบุว่า ตนเองรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการไม่ต่อสัญญาจ้างในครั้งนี้ โดยตนเองทำงานในตำแหน่งนี้มากว่า 6 ปี โดยครั้งนี้จะเป็นวาระการต่อสัญญาอีก 5 ปี แต่ก็ต้องพบกับข่าวร้าย ซึ่งที่ผ่านมาตนเองพยายามสร้างผลงานทางวิชาการ จนได้รับการประเมินอยู่ในสถานะที่ดี มีผลงานตีพิมพ์ระดับชาติ ตามเงื่อนไขของระเบียบมาโดยตลอด ทั้งยังได้รับเลือกเขาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยผลงานทั้งหมดเพิ่งส่งไปแต่กลับได้รับหนังสือแจ้งไม่ต่อสัญญา ขณะที่ยังคงมีภาระงานสอนนักศึกษาที่เพิ่งเปิดเทอมค้างไว้ ทั้งนี้ทราบว่าขณะนี้มีอาจารย์น่าจะมากกว่า 20 คนได้รับการแจ้งไม่ต่อสัญญาเช่นเดียวกับตน รวมถึงล่าสุดมีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยประมาณ5 คน มาพูดคุยกับตน ว่าขอให้ช่วยทำหนังสือร้องเรียน ทั้งยังระบุอีกว่าน่าจะมีเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับการต่อสัญญากว่า 50-60 คน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ตนก็ได้รับแจ้งว่าไม่ได้ต่อสัญญาเช่นกัน ซึ่งกังวลว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในการจัดหลักสูตรการสอน เช่นตนเองที่เป็นหัวหน้าสาขาวิชานิติศาสตร์ หากยุติการสอนลง ก็จะส่งผลกับนักศึกษาที่เรียนอยู่ ทำให้เป็นหลักสูตรที่มีปัญหาไม่เป็นไปตามเกณฑ์กำหนด โดยจำนวนอาจารย์ 20 คนนั้นเป็นการประเมินเบื้องต้นจากที่พูดคุยกัน ที่จริงน่าจะมากกว่านี้

นอกจากนี้ตนเองยังได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาเอก ซึ่งหากตนไม่ได้รับการต่อสัญญา มหาวิทยาลัยก็จะสูญเสียเงินไปฟรีๆ เพราะตนจะไม่ได้อยู่ชดใช้ทุนที่เรียนไป โดยจากการพูดคุยหลายคนสูญเสียกำลังใจ เพราะหลายคนมีภาระ หากไม่ได้รับความเป็นธรรม คาดว่าในอนาคตตนจะไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ทำเนียบรัฐบาล และ กระทรวงศึกษาธิการต่อไป

ทั้งนี้ล่าสุดมีรายงานว่าจากกรณีดังกล่าวประธานสภาคณาจารย์ได้มีหนังสือถึงอธิการบดี ให้พิจารณาเรื่องนี้เป็นการด่วนแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พื้นที่ปลอดภัยต้องอยู่บนโต๊ะพูดคุย' คณะทำงานผู้หญิงฯ ยื่นวงถกไทย-มาราปาตานี

$
0
0

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา เวลา 10.30 น. ที่ สำนักงานสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.) คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAW) 20 คนร่วมประชุมเตรียมเดินขบวนรณรงค์สนับสนุนการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพระหว่างรัฐกับมาราปาตานี (MARA PATANI) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กันยายน 2559 นี้ที่ประเทศมาเลเซีย

โดยคณะทำงานวาระผู้หญิงฯกำหนดจะร่วมเดินรณรงค์ดังกล่าวตั้งแต่เวลา 07.30 – 10.00 น.ในวันที่ 1 ก.ย. 2559 มีผู้ร่วมขบวนประมาณ 100 คน โดยมีข้อความเรียกร้องต่อฝ่าย Party A (ฝ่ายรัฐบาล) ว่า “รักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน” ส่วนข้อความเรียกร้องต่อฝ่าย Party B (มาราปาตานี)ว่า “ไม่ทำให้พื้นที่สาธารณะมีความเสี่ยงต่อผู้บริสุทธิ์”

การเดินรณรงค์จะเริ่มตั้งขบวนที่สวนสาธารณะสะพานศักดิ์เสนีย์ ริมแม่น้ำปัตตานี จากนั้นจะเดินผ่านตลาดเทศบาลเมืองปัตตานี และไปสิ้นสุดพร้อมอ่านแถลงการณ์ที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี โดยขอให้ผู้ร่วมเดินรณรงค์เน้นแต่งกายสีขาวเป็นหลักเพื่อแสดงพลังเรียกร้องสันติภาพ

ทั้งในขบวนการจะมีการถือป้ายข้อความต่างๆ ได้แก่ 1.สันติภาพจะไม่มีความหมายอะไร ถ้าไร้ประชาชน 2.สันติภาพไม่ต้องการความรุนแรง 3.ขอถนนหนทางปลอดภัย 4.ขอตลาดปลอดภัย 5.ขอสันติสุขกลับคืนมา 6.หยุดกระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

7.ขอให้มัสยิดปลอดภัย 8.ขอให้วัดปลอดภัย 9.ขอให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ปลอดภัย 10.การหันหน้ามาพูดคุยกัน คือจุดเริ่มต้นของสันติภาพ 11.ขอให้โรงเรียนปลอดภัย 12.พื้นที่สาธารณะต้องปลอดภัย 13.ขอให้พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับเด็กและสตรี

ละหม้าย มานะการ สมาชิกเครือข่ายคณะทำงานวาระผู้หญิงฯ กล่าวว่า การเดินรณรงค์ครั้งนี้เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะว่า คณะทำงานวาระผู้หญิงฯ สนับสนุนการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพดังกล่าว

นางสาวละหม้าย เปิดเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงานวาระผู้หญิงฯได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง“ พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้” ต่อฝ่าย Party A ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ผ่านทีมเทคนิคของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดว่า พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯได้รับข้อเสนอนี้แล้ว

“ส่วนฝ่าย Party B คณะทำงานวาระผู้หญิงฯได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายชุดเดียวกันผ่านตัวแทนของมาราปาตานีแล้วเช่นกัน และได้รับคำยืนยันแล้วว่าจะนำข้อข้อเสนอนี้ไปยื่นให้นายอาวัง ยาบะ ประธานมาราปาตานีต่อไป” นางสาวละหม้าย กล่าว

ขณะเดียวกันคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ยังได้ทำแบนเนอร์ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ เชิญชวนเดินรณรงค์เพื่อสันติภาพ โยใช้ข้อความความว่า “เดินรณรงค์สาธารณะ "พื้นที่สาธารณะปลอดภัยต้องอยู่บนโต๊ะพูดคุย" พร้อมกับเผยแพร่กำหนดการ

ข้อเสนอเชิงนโยบายพื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงชายแดนใต้

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบาย “พื้นที่สาธารณะปลอดภัยสำหรับผู้ชายแดนใต้” มีข้อเสนอที่สำคัญๆ ดังนี้

1.ยุติการก่อเหตุความรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารของทุกฝ่ายในพื้นที่สาธารณะ พร้อมกับประกาศพื้นที่เหล่านี้ เป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย

2.ตลาด ร้านค้า ถนน โรงเรียน มัสยิด วัดพื้นที่จัดงานประเพณี ทุ่งนา สวนยาง ร้านน้ำชา โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และรวมถึงบ้านพักหรือที่พักอาศัย

3.แสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการเมืองและให้นำประเด็นพื้นที่สาธารณะของผู้หญิงเป็นวาระสำคัญในการพูดคุย

4.เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงภาคประชาสังคมได้ทำงานอย่างปลอดภัยและอิสระ คือนักกิจกรรมภาคประชาสังคมที่ลงพื้น ทำให้มีที่เสี่ยง ต้องพบกับความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจ ถูกติดตาม จับตา ถูกมองอย่างมีอคติ หรือบางกรณีถูกข่มขู่คุกคามจากคู่ขัดแย้งทั้งหน่วยงานของรัฐกับผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ จึงสร้างความกลัว ความกังวนใจ ความไม่มั่นคงและความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการทำงาน นอกจากนี้ยังมีการแซรกแซงการทำงาน ทำให้ขาดความเป็นอิสระ ทั้งๆที่บทบาทการทำงานของภาคประชาสังคมเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยผลักดันสันติภาพหรือสันติสุขให้มีความก้าวหน้า การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและเยียวยาโดยไม่เลือกฝ่าย การเชื่อมประสานและคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ โดยแนวทางสันติวิธี การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น การตรวจสอบการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่รัฐ ที่นำไปสู่การลดเงื่อนไขให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น รวมถึงการช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่เป็นความเดือดร้อนของคนในชุมชน จากปัญหาปากท้องของคนใน ครอบครัว/ชุมชน

การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้มีการศึกษาและรวบรวมความเห็นคิดเห็นของผู้เห็นจากภาคประชาชนและภาคชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ประมาณ 500 คน ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 จนถึง เดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา

รายชื่อองค์กรสมาชิกคณะทำงานผู้หญิงชายแดนใต้ 23 องค์กร ได้แก่

1.กลุ่มเซากูน่า

2.กลุ่มด้วยใจ

3.กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้

4.กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรี

5.เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Civic Women)

6.เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้

7.เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ

8.เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้

9. เครือข่ายชุมชนศรัทธา

10. เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี

11. เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก

12. เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ

13. เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้

14. ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส

15. ชมรมผู้นำมุสลิมะห์นราธิวาส

16 มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า

17. สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace)

18. สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา

19. สภาประชาสังคมชายแดนใต้

20. สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้                                         

21. ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา

22. ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า

23. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : 

ผู้หญิงชายแดนใต้รณรงค์ต้องการพื้นที่ปลอดภัย “ตลาด โรงเรียน ถนน วัด มัสยิด ป้อมชรบ.”

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ผลักดัน"พื้นที่กลางผู้หญิงสร้างสันติภาพ"

 “3 ข้อเสนอต่อคู่เจรจา” ขอพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย ถนน ตลาด โรงเรียน มัสยิด วัด

เครือข่ายผู้หญิง 23 องค์กรเรียกร้อง “พื้นที่สาธารณะปลอดภัย” ในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล

เข้าห้องเรียนสันติภาพกับผู้หญิง PAW เก็บความรู้จากในวงปาตานี/ชายแดนใต้

วันสตรีสากล: ผู้หญิงในความรุนแรงกับสันติภาพที่กินได้

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปากพนังพิพากษาจำคุกจำเลยคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจาและเด็ก 35 ปี ปรับ 6 แสน

$
0
0

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2558 พ.ต.อ.นพดล เพ็ชรขาวเขียว ผู้กำกับสภ.หัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับรายงานว่าจะมีการลักลอบขนชาวโรฮิงญามาจากพื้นที่จังหวัดระนองไปยังจังหวัดสงขลา ผ่านเส้นทางอำเภอหัวไทร จึงได้สั่งการให้ตั้งจุดตรวจสอบถนนสาย 408 นครศรีธรรมราช-หัวไทร พบรถยนต์ต้องสงสัยจำนวน 5 คัน วิ่งตามหลังกันมา เจ้าหน้าที่จึงส่งสัญญาณให้หยุดเพื่อตรวจค้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจรถต้องสงสัยได้เพียง 2 คัน ปรากฎว่าคนขับรถยนต์กระบะจำนวน 3 คันที่เหลือได้ทิ้งรถและวิ่งหลบหนีไป เจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมคนขับรถที่ตรวจไว้ได้สองคันแรก เมื่อตรวจสอบรถยนต์กระบะทั้ง 5 คน พบชาวโรฮิงญานั่งอยู่ท้ายรถกระบะ รวม 98 คน (ชาย 30 คน หญิง 26 คน เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี 42 คน) แต่ละคนอยู่ในสภาพอ่อนพลียอย่างหนัก ในจำนวนดังกล่าวพบชาวโรฮิงญาเสียชีวิตเนื่องจากการขาดอากาศหายใจ ส่วนชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตได้เข้าสู่กระบวนการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามประมวลกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลักของรัฐในการดูแลผู้เสียหายระหว่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา

เครือข่ายช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ได้สนับสนุนการจัดหาทนายความแก่ชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ โดยเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุนนท์ หรือโกมิตร แสงทอง เป็นจำเลยที่ 1 นายสุริยา ยอดรัก เป็นจำเลยที่ 2 และนายวราชัย ชฎาทอง เป็นจำเลยที่ 3  ในคดีหมายเลขดำที่ 768/2558 ในข้อหาสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานการค้ามนุษย์ สนับสนุนการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์  ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพ เพื่อจะเอาคนลงเป็นทาสหรือให้มีฐานะคล้ายทาส ตามประมวลกฎหมายอาญา นำพาคนต่างด้าวเข้ามา ให้อาศัย หรือซ่อนเร้น ในราชอาณาจักรไทยโดยฝ่าฝืน พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 โดยมีผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี บุคคลอายุเกิน 15 ปีแต่ไม่ถึง 18 ปี และบุคคลตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกับพวกสมคบกันค้ามนุษย์ โดยร่วมกันพาคนต่างด้าวชาวโรฮีนจาจำนวน 97 คนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ร่วมกันช่วยซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการถูกจับกุม ร่วมกันค้ามนุษย์โดยหน่วงเหนี่ยวกักขังคนต่างด้าวให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และใช้อำนาจโดยมิชอบเอาคนต่างด้าวลงเป็นทาสหรือให้มีลักษณะทาส โดยนำเข้าหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติโดยสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และได้กระทำจนสำเร็จ เหตุเกิดที่รัฐยะไข่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา อำเภอระนอง จังหวัดระนอง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอสะเดา จังหวัดสงลา ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานช่วยซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการถูกจับกุม ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ ในครั้งแรกจำเลยทั้งสามได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาของศาล แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 ถูกศาลจังหวัดตะกั่วป่าออกหมายขังในคดีอื่น นายประกันจึงขอส่งตัวจำเลยที่ 2 คืนและมีการออกหมายขังจำเลยที่ 2 ในคดีนี้เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2559

ในการสืบพยานของแต่ละฝ่ายนั้น โจทก์อ้างพยาน 69 ปาก 18 นัด สืบจริง 37 ปาก 16 นัด โจทก์ร่วมอ้างพยานและสืบจริง 7 ปาก 2 นัด ส่วนจำเลยทั้งสามอ้างพยาน 10 ปาก สืบจริง 2 ปาก 2 นัด เริ่มสืบพยาน 19 ม.ค.2559 เสร็จสิ้น 24 มิ.ย.2559 รวมเวลา 5 เดือนเศษในการสืบพยานกว่า 40 ปาก

ล่าสุด 31 ส.ค.2559 ศาลจังหวัดปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้อ่านคำพิพากษา โดยระบุว่า จากการสืบพยานพบว่า มีการเคลื่อนไหวทางบัญชีโดยมีการโอนเงินจากขบวนการค้ามนุษย์หลายรายเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง เมื่อพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่1 เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการขนส่งชาวโรฮีนจาจากเขตแดนชายฝั่งทะเลจังหวัดพังงาเพื่อไปยังจังหวัดสงขลา ก่อนถูกจับได้ที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิด แต่ในทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหน้าที่อื่นในเครือข่ายการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา จึงฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคนขับรถนำเส้นทางและขนส่งชาวโรฮีนจาต่อไปยังจังหวัดสงขลาเท่านั้น อีกทั้งทางนำสืบของโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดโดยรวมตัวกันหรือร่วมกันกระทำการใดอันเป็นองค์กรอาชญากรรมตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ไม่ได้

ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานสมคบกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ จำคุก 10 ปีปรับ 200,000 บาท ส่วนฐานร่วมกันค้ามนุษย์บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปีและเกินสิบห้าปีแต่ไม่เกิดสิบแปดปีที่ถูกพาเข้ามาหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ฐานร่วมกันเอาคนลงเป็นทาส ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหาหรือพาไปซึ่งบุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปีและเกินสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปี ฐานร่วมกันใช้อุบายหลวกลวงพยายามส่งคนไปนอกราชอาณาจักร เป็นการกระทำกรรมเดียว ให้ลงโทษฐานร่วมกันค้ามนุษย์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 20 ปี ปรับ 400,000 บาท ฐานร่วมกันพาคนต่างด้าวเข้าเมือง จำคุก 4 ปี ปรับ 400,000 บาท ฐานช่วยเหลือคนต่างด้ายให้พ้นการจับกุม จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 35 ปี ปรับ 660,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันช่วยเหลือคนต่างด้าวให้พ้นการจับกุม จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท นับโทษของจำเลยที่ 2 ของคดีนี้ต่อจากโทษของศาลจังหวัดตะกั่วป่า ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยที่ 3 จำนวน 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ที่ศาลจังหวัดหลังสวนอีก 2 คดี รวม 10 เดือน 5 วัน เป็นจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 16 เดือน 5 วัน ปรับ 10,000 บาท ข้อหาอื่นของจำเลยทั้งสามนอกจากนี้ให้ยก

คดีนี้นายยงยุทธ แสงรุ่งเรือง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 8 ได้มอบหมายให้นายพีระเดช ไตรรัตน์ธนวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากาษภาค 8 นั่งพิจารณาร่วมกับองค์คณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดปากพนังทุกนัด อีกทั้งยังนำระบบการพิจารณาคดีครบองค์คณะและต่อเนื่องมาใช้

เครือข่ายช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติระบุว่า ในคดีนี้ยังมีผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวนี้ อีกสองกลุ่ม คือ ผู้ต้องหา จำนวน 2 ราย ที่ถูกจับกุมได้พร้อมกับจำเลยทั้งสาม แต่ได้หลบหนีไปหลังได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี และอีกกลุ่มคือต้องหาจำนวน 18 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดหาเรือ และอำนวยความสะดวกให้กับขบวนการขนชาวโรฮิงญา ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ถูกจับกุมและพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสรท.ค้านปรับค่าจ้างรายจังหวัด จ่อกำหนดท่าทีออกมาเคลื่อนไหวต่อ

$
0
0

เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยหรือ คสรท.และเครือข่ายแรงงานนำโดย ชาลี ลอยสูง รักษาการประธาน คสรท.ได้มายื่นหนังสือคัดค้านการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายจังหวัด ต่อ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) เพื่อให้พิจารณาทบทวน โดยมี ปฐม เพชรมณี รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นตัวแทนรับหนังสือย

ชาลี บอกว่า ขอให้ปรับค่าจ้างในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ใช่รายจังหวัดซึ่งมีการขอปรับขึ้นแค่ 13 จังหวัดเพราะค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ไม่ต่างกัน หากบอร์ดค่าจ้างมีมติปรับค่าจ้างเป็นรายจังหวัด คสรท.จะประชุมกำหนดท่าทีออกมาเคลื่อนไหว

ขณะที่ ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งเรื่องกลับไปให้ทางอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างจังหวัด นำข้อมูลต่างๆ อาทิ สภาพวะค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดที่ต่างกัน สภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ นำไปพิจารณาคำนวนสูตรอีกครั้ง ก่อนส่งกลับมาให้บอร์ดค่าจ้างใหญ่พิจารณาอีกครั้ง

ม.ล.ปุณฑริก  ยืนยันว่า การพิจารณาศึกษาเรื่องกาปรับขึ้นค่าจ้างที่ผ่านมา อนุกรรมการระดับจังหวัดที่มีไตรภาคีร่วมมีทั้งภาครัฐ  ตัวนายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการมาร่วมกันพิจารณาเสนอมา ซึ่งบอร์ดค่าจ้างได้เปิดให้ทำงานอย่างเสรีตามสภาพข้อเท็จจริง โดยที่กระทรวงฯ.ไม่มีการไปชี้นำ เพราะถ้าไม่เป็นไปตามนั้นจะขัดแย้งกับข้อมูล

ต่อกรณีที่ คสรท. ระบุอาจจะมีการเคลื่อนไหวกดดันหากค่าจ้างไม่เท่ากันทั่วประเทศนั้น ม.ล.ปุณฑริก อธิบายว่า เรื่องค่าจ้างจะมากดดันรัฐ เพื่อให้สั่งการลงไปอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการพิจารณาที่ผ่านมา มีส่งเรื่องมาตั้งแต่ระดับจังหวัดโดยมีตัวแทนทุนฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการพิจารณา หากลูกจ้างมองว่าการขึ้นแต่ละพื้นที่มีความเหลือล้ำนั้น ที่ผ่านมาประเด็นนี้ก็มีมาตลอดตั้งแต่อดีต แต่พึ่งมีการเปลี่ยนแปลงให้เท่ากันช่วง 4ปีนี้ ฉะนั้นจึงต้องยอมรับว่าที่เท่ากัน จะเป็นในส่วนของจังหวัดที่เป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กมาก จึงต้องมีการปรับตัวตามความเหมาะสมของพื้นที่ดีมากกว่า

 

ที่มา เนชั่นทีวีและโพสต์ทูเดย์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรต้านความรุนแรงต่อสตรีในอินโดนีเซียค้านกฎหมายเอาผิดเพศสัมพันธ์นอกการสมรส

$
0
0

องค์กรต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีอินโดนีเซีย คัดค้านข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรรักครอบครัว (AILA) ที่เสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อเอาผิดต่อผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้แต่งงานกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคู่รักที่แต่งงานกันไม่ได้รวมถึงกลุ่มคนรักเพศเดียวกันด้วย ผู้คัดค้านการแก้ไขกฎหมายบอกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่สถาบันทางกฎหมายไม่ควรเข้าไปยุ่มย่าม

คณะกรรมการแห่งชาติในประเด็นเรื่องความรุนแรงต่อสตรีของอินโดนีเซียหรือ 'คอมนาส เปเรมปวน' แสดงการคัดค้านข้อร้องเรียนขององค์กรที่ชื่อพันธมิตรรักครอบครัว (AILA) ให้มีการแก้ไขกฎหมายลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่ไม่ได้สมรสกัน โดยที่คอมนาส เปเรมปวน กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐ

แอซริอานา ประธานคณะกรรมการแห่งชาติในประเด็นเรื่องความรุนแรงต่อสตรีของอินโดนีเซียกล่าวในช่วงที่มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคู่ที่ไม่ใช่สามี-ภรรยา ไม่ใช่อาชญากรรมตราบใดที่ความสัมพันธ์ทางเพศนั้นมีการยินยอมพร้อมใจและไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกเป็นเหยื่อ แอซริอานา โต้แย้งอีกว่าการมีเพศสัมพันธ์นอกการแต่งงานเป็นประเด็นทางศีลธรรมและการที่สถาบันบังคับใช้กฎหมายเข้าไปยุ่มย่ามกับวิถีทางเพศของผู้คนเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

"มันเป็นการเลือกของผู้คนที่จะมีเพศสัมพันธ์กันนอกเหนือการแต่งงาน ขอให้เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคลระหว่างพวกเขาเองและพระเจ้าของพวกเขา" แอซริอานากล่าว

ถ้าหากมีการรับรองแก้ไขกฎหมายเอาผิดการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนที่ไม่ได้สมรสกันจะทำให้การมีเพศสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันถูกทำให้ผิดกฎหมายไปด้วย

แอซริอานา ยังแสดงความกังวลลว่าถ้าหากมีการแก้กฎหมายนี้อาจจะทำให้มีการอ้างใช้ลงโทษคู่รักที่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย ซึ่งทางคอมนาส เปเรมปวน จะนำเสนอคู่รักที่มีความเชื่อตามประเพณีแต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนาใดๆ เพื่อเป็นตัวอย่างสนับสนุนการต่อต้านการแก้กฎหมายของพวกเขาในการพิจารณาครั้งถัดไป

กลุ่มองค์กรที่ชื่อพันธมิตรรักครอบครัว (AILA) เป็นผู้เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้โดยการปรับแก้นิยามเรื่องการคบชู้ การข่มขืน และการร่วมเพศผิดธรรมชาติ ในกฎหมายอาญาใหม่ เพื่อต้องการให้การมีเพศสัมพันธ์นอกการสมรสทุกอย่างเป็นเรื่องผิดกฎหมายรวมถึงความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันด้วย

แอซริอานายังกล่าวโต้ตอบผู้เรียกร้องเปลี่ยนกฎหมายว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่มีพื้นฐานความชอบธรรมทางกฎหมายเลย

เรียบเรียงจาก

People's sex lives none of your business, Komnas Perempuan tells court, The Jakarta Post, 31-08-2016 http://www.thejakartapost.com/news/2016/08/31/peoples-sex-lives-none-of-your-business-komnas-perempuan-tells-court.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วปอ.แถลงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไทยเป็นหัวใจของอาเซียน เสริมกำลังรบ ทั้งทางบก เรือ อากาศ

$
0
0
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเเถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร ระยะ 20 ปี กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนภายในปี 79 เป็นประตูสู่เอเชียและหัวใจของอาเซียนให้ได้ มีการเสริมสร้างกำลังรบ ทั้งทางบก เรือ อากาศ

พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการรับฟังการแถลงยุทธศาสตร์ชาติ – ยุทธศาสตร์ทหาร ณ หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ (ที่มาภาพเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

1 ก.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการเเถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร ระยะ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 58 และนักศึกษาวิทยาลัยเสนาธิการทหารรุ่นที่ 57 นักศึกษาวิทยาลัยการทัพบกชุดที่ 61 นักศึกษาวิทยาลัยการทัพเรือ รุ่นที่ 58 และนักศึกษาวิทยาลัยการทัพอากาศรุ่นที่ 50 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ นักศึกษา วปอ.รุ่นที่ 58 และ 59 ร่วมงานอย่างคับคั่ง

พล.ท.ไชยอนันต์ จันทคณานุรักษ์ ผอ.วปอ. กล่าวว่า ปีนี้ จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เป็นวาระพิเศษ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นการทำยุทธศาสตร์ชาติในปีนี้จึงแตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการปรับกระบวนการและขั้นตอนในโครงสร้างยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องรองรับกับภาพสถานการณ์ประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยแบ่งเป็นกลุ่มยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ความมั่งคั่ง คุณค่าและค่านิยม และการมีส่วนร่วมในสังคมโลก ซึ่งจะครอบคลุมวิสัยทัศน์และสอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาล คือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ด้าน พล.ร.ต.คำรณ พิสณธ์ยุธการ ตัวแทนนักศึกษา วปอ. รุ่นที่ 58 เเถลงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่า ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในครั้งนี้ได้สร้างภาพสถานการณ์ประเทศไทย 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. ภาพสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด 2. สถานการณ์ตามที่เป็นอยู่ และ 3. สถานการณ์ที่ดีที่สุดเพื่อทำนายอนาคตประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้า จากนั้นจึงกำหนดเป็นความต้องการของคนในชาติ 4 ด้าน  ได้แก่ 1. ด้านความมั่นคงปลอดภัย 2. ด้านความเจริญรุ่งเรืองผาสุกมั่งคั่ง 3. ด้านการเสริมสร้างคุณค่าเกียรติยศค่านิยมความเป็นไทย และ 4. การมีส่วนร่วมและอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกในสังคมโลก โดย วปอ.ได้นำผลประโยชน์ทั้ง 4 ด้านมาเป็นตัวตั้งในการพัฒนายุทธศาสตร์ย่อย โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศไทยไว้ว่า “ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2579”  โดยประเทศไทยจะต้องเป็นประตูสู่เอเชียและหัวใจของอาเซียนให้ได้ มีการเสริมสร้างกำลังรบ ทั้งทางบก เรือ อากาศ

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในด้านความมั่นคงและปลอดภัย ระบุไว้ว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนได้นั้น ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้ทุกภาคส่วนราชการสามารถทำตามแผนงานได้ คือ ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ที่จะเป็นเสมือนฐานรองรับ เป็นกำแพงป้องกันที่แข็งแกร่ง ดังนั้นสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะต้องได้รับการปกป้อง ธำรงไว้อย่างมั่นคงถาวร การป้องกันประเทศจะต้องมีประสิทธิภาพ พร้อมเผชิญภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ และต้องพึ่งพาตนเองได้ มีความรักความสามัคคีของคนภายในชาติ เป็นสังคมที่มีคุณธรรม ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น และปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องถูกขับเคลื่อนตามแผนงานและนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะต้องยุติความขัดแย้งภายใน 5 ปี และเกิดความยั่งยืนภายใน 10 ปี คือปี พ.ศ.2569

ในส่วนยุทธศาสตร์ทหาร 20 ปี กำหนดไว้ว่า กองทัพต้องการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เสริมสร้าวงเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน การเงินและการคลัง การเตรียมกำลังเเละใช้กำลังเพื่อการป้องปรามและการผนึกกำลังเพื่อการป้องกันประเทศ และการป้องกันเชิงรุก รวมทั้งการปฏิบัติการร่วม โดยในอนาคตประเทศไทยจะมีกองทัพไทยในรูปแบบใหม่ เริ่มต้นจากการปรับโครงสร้างกองบัญชาการร่วมกองทัพไทย ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของศูนย์บัญชาการทางทหาร เพื่อรองรับการเชื่อมโยงและเเลกเปลี่ยนข้อมูลในส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคพื้นดิน ทะเล อากาศ และอวกาศ รวมถึงดาวเทียมทางทหาร ในการปฏิบัติการจำเป็นจะต้องพัฒนาหลักนิยมปฏิบัติการร่วมและผสมที่เหมาะกับบทบาทของกองทัพไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า การแสดงบทบาทต่าง ๆ ของกองทัพไทย การแสดงบทบาทต่าง ๆ ในเวทีสากล เช่น การฝึกร่วมผสมกับมิตรประเทศ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ การเเพทย์ทหารและการรักษาความมั่นคงทางทะเล การรักษาสันติภาพ ตามกรอบของสหประชาชาติ

ในส่วนของการจัดหายุทโธปกรณ์ จำเป็นต้องดำเนินการในลักษณะพึ่งพาตนเองด้วยอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ตามแนวทางประเทศไทย 4.0 พัฒนาตัวบุคคลให้รองรับแนวทางปฏิบัติการ การพัฒนาองค์บุคคลให้รองรับแนวคิดการปฏิบัติการ โดยจัดทำโครงการศึกษาด้านยุทธศาสตร์และวิชาการทางทหาร ได้แก่ การตั้งศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งมหาวิทยาลัยการป้องกันประเทศ และโรงเรียนเสนาธิการร่วม รวมทั้งศูนย์การฝึกทหารอาเซียนด้านต่าง ๆ โดยในส่วนของกำลังทางบก ต้องรองรับการปฏิบัติการจากมิตรประเทศ บทบาทด้านการรบ จะต้องพัฒนาและจัดระเบียบชายแดน มีกำลังเตรียมพร้อมที่มีระบบควบคุมและบังคับบัญชาที่ทันสมัย เชื่อมโยงระบบข้อมูลและข่าวกรองกับทุกเหล่าทัพ มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีขีดความสามรถ โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อลดจำนวนคนที่เข้าปฏิบัติการ และเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติ กรมผสมจะเป็นหน่วยดำเนินกลยุทธ์หลัก มีการยิงระดับยุทธการที่มีความเเม่นยำสูงใช้ในที่มีการปฏิบัติร่วม เชื่อมโยงกับกำลังทางอากาศเพื่อโจมตีเป้าหมาย

ส่วนบทบาทที่ไม่ใช่การรบ จะมุ่งเน้นขีดความสามารถในการถวายความปลอดภัยและพระเกียรติของหน่วยทหารรักษาพระองค์ และการเสริมสร้างความมั่นคงร่วม รวมทั้งจัดการกำลังประชาชน ตามแนวทางผนึกกำลังป้องกันประเทศ ในขณะที่หน่วยทหารส่วนภูมิภาคต้องสามารถอำนวยการบรรเทาสาธารณภัยภายในประเทศและช่วยเหลือประชาชน โดยประสานกับกำลังในพื้นที่ ในส่วนกำลังทางเรือจะต้องพัฒนาเป็นกำลังทางเรือ 2 มหาสมุทร โดยการใช้กำลังทางเรือได้ทั้ง 2 ฝั่งอย่างสมดุล โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายกำลังขนาดใหญ่ มีการวางกำลังที่มีขีดความสามารถในการลาดตระเวนเฝ้าตรวจให้การคุ้มครองและช่วยเหลือเรือ รวมทั้งแหล่งผลประโยชน์ของชาติ ตลอด 24 ชม.

ส่วนกำลังทางอากาศ จะต้องมีบทบาทสำคัญในด้านการปกป้องเเละใช้ประโยชน์ทางอากาศและในมิติใหม่ในห้วงอวกาศ เพื่อสร้างการรับรู้ในการปฏิบัติการทางอากาศของต่างชาติ การตรวจการณ์ทางอวกาศ การสื่อสารและโทรคมนาคมทางอากาศ และสนับสนุนการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลางกองทัพไทย เพื่อให้เห็นภาพสถานการณ์รบร่วมกัน ทั้งในมิติทางอากาศและมิติใหม่ในห้วงอวกาศ พร้อมเพิ่มเติมปฏิบัติการสงครามไซเบอร์ สงครามเครือข่าย และการป้องกันไว้ด้วย

ส่วนการใช้กำลังทางรบ จะใช้การปฏิบัติการร่วม ทั้งกำลังทางเรือและทางบก แต่จะต้องบรรจุอากาศยานให้เพียงพอ เพื่อตอบสนองภารกิจที่ไม่ใช่การรบทั้งในและนอกประเทศ ที่สำคัญกองทัพต้องปรับโครงสร้าง มุ่งเน้นการเป็นที่พึ่งของประชาชน มียุทโธปกรณ์ปฏิบัติการร่วมที่ทันสมัย บนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองและส่งออก สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ กำลังพลทุกคนต้องเป็นทหารอาชีพ

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาสังคมทั่วเอเชียโวย RCEP เจรจาปิดลับหารือแค่นักธุรกิจ ส่งจม.เปิดผนึกจี้โปร่งใส

$
0
0

1 ก.ย. 2559 กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อชท์ – FTA Watch) เปิดเผยถึงความไม่พอใจของภาคประชาสังคมทั่วเอเชียต่อการเจรจาความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ปิดลับและขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เปิดโอกาสให้เพียงกลุ่มธุรกิจเข้าร่วม ทำให้ภาคประชาสังคมในระดับสากล ภูมิภาคและระดับประเทศ 64 องค์กรได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกแสดงข้อกังวลและท้วงติงเรื่องดังกล่าวส่งถึงรัฐบาล 16 ประเทศที่เจรจา

“ในการเจรจารอบล่าสุดที่กรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามที่ผ่านมา  ภาคประชาสัมคมถูกขับออกจากกระบวนการ ทั้งที่สองรอบของการเจรจาก่อนหน้านี้ ภาคประชาสังคมมีโอกาสในการนำเสนอความคิดเห็น ถึงแม้ว่าจะไม่เพียงพอ แต่เป็นการยอมรับถึงความชอบธรรมของบทบาทของภาคประชาสังคมในการแสดงข้อกังวลของสังคม เช่นเดียวกับในประเทศไทยนับตั้งแต่มีการรัฐประหาร กระบวนการหารือรับฟังความคิดเห็นเหลือเพียงการรายงานและรับฟังแต่กับกลุ่มธุรกิจเท่านั้น กรณีของ RCEP กระทรวงพาณิชย์ได้เคยส่งตัวแทนไปรายงานให้สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมฟังถึงสำนักงาน แต่ไม่เคยจัดกระบวนการเช่นนี้กับภาคประชาสังคมหรือแม้แต่แวดวงวิชาการเลย” กรรณิการ์ กล่าว

ส่วนหนึ่งของจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล 16 ประเทศระบุว่า การเจรจาความตกลงดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาที่รักษาชีวิต อาชีพที่ดีและมั่นคง การอยู่รอดของเกษตรกรรมและธุรกิจรายย่อย ความมั่นคงทางการเงิน องค์ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมือง การปกป้องสิ่งแวดล้อม การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งประชาชนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องทราบถึงสิ่งที่ถูกนำเสนอและควรมีโอกาสในการแสดงความเห็นและข้อห่วงใย นำเสนอผลการวิเคราะห์และข้อแนะนำให้แก่ผู้เจรจา แต่มีแต่ผู้ได้ผลประโยชน์ทางการค้าเท่านั้นที่ได้รับเชิญเพื่อแสดงความเห็นต่อคณะเจรจา RCEP โดยที่กระบวนการเจรจา RCEP ก็ยังคงปิดกั้นภาคประชาสังคมอยู่ จึงหวังที่จะเห็นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครบถ้วนที่กรุงเพิร์ธ ออสเตรเลีย และรอบถัดไปที่โอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์

สำหรับองค์กรไทยที่ร่วมลงนามทั้งสิ้น 14 องค์กรประกอบไปด้วย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ (ประเทศไทย), เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, มูลนิธิชีววิถี, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิผู้หญิง, เครือข่ายผู้หญิงพื้นเมือง, ชมรมเพื่อนโรคไต, ชมรมเภสัชชนบท, มูลนิธิสุขภาพไทย, เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ และ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)

 

จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล 16 ประเทศที่เจรจาความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ตามหลักการของการเจรจาความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ท่านได้มุ่งเป้าเพื่อบรรลุสู่ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่ ทันสมัย ครอบคลุม มีประสิทธิภาพสูงและเป็นประโยชน์ร่วมกันต่อภาคีระหว่างประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และ ภาคีเขตการค้าเสรีอาเซียน (FTA) ที่ครอบคลุมถึงการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน การระงับข้อพิพาทและประเด็นอื่นๆ  

ประเด็นเหล่านี้ล้วนกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนในทั้งสิบหกประเทศที่ร่วมการเจรจาความตกลงดังกล่าว – การเข้าถึงยาที่รักษาชีวิต อาชีพที่ดีและมั่นคง การอยู่รอดของเกษตรกรรมและธุรกิจรายย่อย ความมั่นคงทางการเงิน องค์ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมือง การปกป้องสิ่งแวดล้อม การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และอื่นๆอีกมากมาย

ชุมชนที่หลากหลายที่ได้รับผลกระทบจากการเจรจาที่สำคัญนี้จำเป็นที่จะต้องทราบถึงสิ่งที่ถูกนำเสนอและควรมีโอกาสในการแสดงความเห็นและข้อห่วงใย และนำเสนอผลการวิเคราะห์และข้อแนะนำให้แก่ผู้เจรจา 

ที่ผ่านมารัฐบาลของท่านทั้งหกคือ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเวียดนามได้เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระหว่างการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก  โดยบรรจุกระบวนการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นส่วนหนึ่งของรอบการเจรจาที่ท่านเป็นเจ้าภาพ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะประเด็นเนื้อหาความตกลงที่เป็นความลับและได้ยุติก่อนจะมีการสรุปการเจรจา

เราเข้าใจว่าผู้ได้ผลประโยชน์ทางการค้าได้ถูกเชิญเพื่อแสดงความเห็นต่อท่านในการเจรจา RCEP รอบที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กระบวนการเจรจา RCEP ก็ยังคงปิดกั้นภาคประชาสังคมอยู่ หลังจากการเจรจารอบที่ 12 เท่านั้นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกเหนือจากผู้ได้ประโยชน์จากการค้า ได้รับโอกาสที่จำกัดในการแสดงข้อกังวล

เราได้คาดว่าการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่กรุงเพิร์ธและรอบถัดไปที่โอ๊คแลนด์จะดำเนินต่อไปในอนาคตและขยายสู่บางอย่างที่อย่างน้อยที่สุดเหมือนกับ TPPA แต่ในการเจรจารอบล่าสุด ประตูได้ถูกปิดลงอีกครั้ง การกีดกันภาคประชาสังคมจะขยายความแคลงใจและความกังวลต่อสิ่งที่พวกท่านกำลังเจรจาเท่านั้น

ดังนั้นเราจึงเรียกร้องต่อท่านในการให้โอกาสที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อความร่วมมือกันในทุกรอบการเจรจาในอนาคต พร้อมทั้งให้ข้อมูลล่วงหน้าถึงเวลาและสถานที่ที่การเจรจาจะเกิดขึ้นและเผยแพร่เนื้อหาในตอนท้ายของการเจรจาแต่ละรอบ เพื่อให้เกิดการประเมินที่รอบด้านและการถกเถียงอย่างมีข้อมูลเกี่ยวกับนัยยะสำคัญของ RCEP แม้ในขั้นปลายนี้ของการเจรจา

องค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมลงนา

องค์กร

ประเทศ RCEP

Electronic Frontier Foundation

Global

GRAIN

Global

International League of Peoples Struggle (ILPS) - Peasant Commission

Global

International Trade Union Confederation (ITUC)

Global

Asia Pacific Forum on Women, Law & Development (APWLD)

Regional

Building and Wood Workers' International Asia-Pacific

Regional

Asia Pacific Research Network (APRN)

Regional

Public Services International, Asia-Pacific

Regional

Southeast Asia Tobacco Control Alliance

Regional

Asian Peasant Coalition (APC)

Regional

People's Health Movement Australia

Australia

Public Health Association of Australia

Australia

Australian Fair Trade and Investment Network

Australia

Social Action for Change

Cambodia

Women's Network for Unity

Cambodia

Cambodian Grassroots Cross-sector Network

Cambodia

Cambodian Labour Confederation

Cambodia

The Messenger Band

Cambodia

United Sisterhood Alliance

Cambodia

Rainbow Community Kampuchea

Cambodia

Forum Against FTAs

India

Thanal

India

Alliance for a Sustainable and Holistic Agriculture

India

Save our Rice Campaign - India

India

Tamilnadu organic farmers federation

India

Vithu trust

India

Serikat Perempuan Indonesia

Indonesia

Indonesia for Global Justice

Indonesia

Kolektif Anarkonesia

Indonesia

Institut Perempuan

Indonesia

Ahimsa Society

Indonesia

Federation of Indonesian Labours Struggle ( FPBI )

Indonesia

People's Action against TPP

Japan

Pacific Asia Resource Center, PARC

Japan

Positive Malaysian Treatment Access & Advocacy Group (MTAAG+)

Malaysia

Consumers' Association of Penang

Malaysia

Sahabat Alam (Friends of the Earth) Malaysia

Malaysia

Cooperative Comittee of Trade Union

Myanmar

It's Our Future

New Zealand

New Zealand Council of Trade Unions

New Zealand

Kilusang Magbubukid ng Pilipinas or Peasant Movement of the Philippines (KMP)

Philippines

Resistance and Solidarity against Agrochem Transnational Corporations (RESIST)

Philippines

Sentro ng Nagkakaisa at Progresibong Manggagawa

Philippines

Initiatives for Dialogue and Empowerment through Alternative Legal Services

Philippines

Knowledge Commune

South Korea

IPLeft

South Korea

The International Trade Committee of the MINBYUN

South Korea

Korean Federation of Medical Groups for Healthrights (KFHR)

South Korea

People's Solidarity for Participatory Democracy

South Korea

AIDS ACCESS Foundation

Thailand

Alternative Agriculture Network (AAN)

Thailand

BioThai Foundation

Thailand

Drug Study Group

Thailand

Ecological Alert and Recovery – Thailand (EARTH)

Thailand

Foundation for AIDS Rights

Thailand

Foundation for Consumers

Thailand

Foundation for Women

Thailand

FTA Watch

Thailand

Indigenous Women's Network of Thailand

Thailand

Renal Failure Patient Group

Thailand

Rural Pharmacy Association

Thailand

Thai Holistic Health Foundation

Thailand

Thai Network of People living with HIV/AIDS (TNP+)

Thailand

The Women's Network for Progress and Peace

Thailand

Vietnam Network of People living with HIV (VNP+)

Vietnam

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานเสวนาการศึกษา 100 ปี จอห์น ดิวอี้ กับการเสริมสร้างประชาธิปไตยผ่านการศึกษา

$
0
0
วงเสวนาถก 100 ปี จอห์น ดิวอี้ กับการเสริมสร้างประชาธิปไตยผ่านการศึกษา พร้อมทั้งประเด็น 2475 มา ประชาธิปไตยได้สร้างคุณูปการต่อการศึกษาไทยจริงหรือ การศึกษาไทยในปัจจุบันได้เสริมสร้างหรือเตรียมคนให้เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยบ้างหรือไม่ อย่างไร และประชาธิปไตยจำเป็นต่อไปอีกหรือ กับการเอามาปรับใช้ในวงการการศึกษาในสภาวการณ์บ้านเมืองเช่นนี้

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มพลเรียน ได้จัดเสวนาการศึกษา “100 ปี จอห์น ดิวอี้ กับการเสริมสร้างประชาธิปไตยผ่านการศึกษา” ที่คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  โดยกิจกรรมเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดเสวนาการศึกษา : ประชาธิปไตย การกดขี่ และการวิพากษ์  โดยครั้งเป็นการย้อนรำลึกครบรอบ 100 ปี หนังสือ “Democracy and Education” ของจอห์น ดิวอี้(John Dewey) นักปฏิรูปการศึกษาคนสำคัญของอเมริกันในต้นศตวรรษที่ 20 หนังสือดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ 1916 โดยเนื้อหาภายในหนังสือเป็นการกล่าวถึงบทบาทโรงเรียนในการสร้างสังคมประชาธิปไตย

ช่วงแรก ปาฐกถา “ 100 ปี จอห์น ดิวอี้ กับการเสริมสร้างประชาธิปไตยผ่านการศึกษา” 

ช่วงแรก ปาฐกถา “ 100 ปี จอห์น ดิวอี้ กับการเสริมสร้างประชาธิปไตยผ่านการศึกษา” โดย ดร.รัตนา แซ่เล้า อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเล่าว่า จอห์น ดิวอี้ เป็นคนละเอียดอ่อน เวลาอ่านหนังสือหรืองานของดิวอี้เสร็จแล้วก็จะต้องกลับมาคิด วิเคราะห์ว่าดิวอี้ต้องการจะหมายความอย่างไร ภายในหนังสือ “Democracy and Education” ของดิวอี้ในทั้ง 26 บทของหนังสือเล่มนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ตอน (Theme) คือ 1.ความต้องการของสังคมประชาธิปไตย ความต้องการของการศึกษา และบทบาททั่วไป 2.จุดหมายของประชาธิปไตยในการศึกษา 3.หลักสูตรและการเรียน 4.อธิบายว่าทำไมสิ่งที่ดิวอี้พูดจึงกลับไปเป็น philosophy of education (ปรัชญาการศึกษา)

รัตนา ได้แบ่งการบรรยายครั้งนี้ออกเป็น 4 ส่วน คือ 1.บทบาทของการศึกษาคืออะไร การศึกษาแปลว่าอะไรสำหรับดิวอี้ 2.ประชาธิปไตยกับการศึกษาเมื่อนำมารวมกันแล้วเป็นอย่างไร มีกี่แบบ 3.การศึกษาแบบดิวอี้และความท้าทายของอุดมศึกษามีอะไรบ้าง และ 4.ดิวอี้กับบริบทสังคมไทย

การศึกษามีบทบาทอย่างไร และการศึกษาเพื่อการสร้างพลเมืองเป็นอย่างไร

รัตนา ระบุว่า ดิวอี้ไม่เชื่อในการศึกษาเพื่อบางสิ่งบางอย่าง (Something) ไม่เชื่อว่าการศึกษาสามารถเตรียมคนเพื่อไปเป็นอะไรสักอย่าง แต่เป็นระบบการศึกษาที่ค่อยๆ สร้างการเจริญเติบโตให้กับคนเพื่อการใช้ชีวิตในแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่ง รัตนา เห็นว่าควรใช้เป็นภาษาไทยว่า “ประชาธิปไตยและการศึกษา” เพราะ “การศึกษา” และ “ประชาธิปไตย” เป็นสิ่งสองสิ่งที่แยกออกจากกันแต่ทำเพื่อกันและกัน

บทบาทของการศึกษาคืออะไร การศึกษาแปลว่าอะไรสำหรับดิวอี้

รัตนา มองว่า สำหรับดิวอี้ การศึกษาคือ reconstruction of experience การเลือกใช้คำแต่ละคำของดิวอี้จึงค่อนข้างมีความหมายลึกซึ้ง เช่น Growth (การเจริญเติบโต) Environment (สิ่งแวดล้อม) ซึ่งจะปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ซ้ำไปซ้ำมา แต่ในการเสวนาครั้งนี้ อ.รัตนา ได้ขอยกคำสำคัญ (Keywords) มา 3 คำ คือ 1.Nature 2.Growth 3.Harmonization

ดิวอี้เปรียบโรงเรียนเหมือนธรรมชาติ (ในภาษาต้นฉบับ ดิวอี้ใช้ Nature และ Environment สลับกันไปมา) เหมือนน้ำ เหมือนดิน เหมือนอากาศ ที่เป็นสื่อกลางระหว่างความคาดหวังของสังคมกับนักเรียน ไม่ใช่การเรียนแบบทื่อ ๆ แบบเข้าไปในห้องเรียนแล้วจำบทเรียนได้ทันทีทันใด ดังนั้นเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่จะสร้างบรรยากาศให้นักเรียนได้ซึมซับความคิดและ Concept ต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่การเรียนรู้แบบท่องจำกันทั่วไป ดิวอี้ได้กล่าวไว้ในหนังสืออย่างน่าสนใจว่า “โรงเรียนไม่ใช่แค่ห้องเรียน แต่โรงเรียนคือดิน อากาศ น้ำ ปุ๋ย ที่จะทำให้เมล็ดพันธุ์คือเด็กนั้นได้เติบโต”

ประเด็นต่อมา คือ การศึกษาคือการเติบโต (Growth) ดิวอี้ได้แบ่งเป็น 2 ความหมายคือ การเติบโตในระดับปัจเจก (Growth of individual) และการเติบโตของอารยธรรม (Growth of Civilization) สำหรับการเติบโตของอารยธรรมที่ก้าวไปอย่างไม่สิ้นสุดอันมีมากมายกมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นสังคมหรือวิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดเหล่านี้ก็ไม่สามารถให้ครอบครัวทำหน้าที่สอนเด็กได้ตามลำพังอีกต่อไป ในแง่หนึ่งดิวอี้กำลังสื่อไปถึงความสำคัญของโรงเรียนที่จะต้องมาเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงของวัฒนธรรมที่เติบโตอย่างไม่สิ้นสุด ส่วนการเติบโตของปัจเจกนั้น การศึกษาต้องมีจุดมุ่งหมาย และจุดมุ่งหมายนั้นควรเป็นการเติบโต ยกตัวอย่าง การศึกษาไม่ควรเป็นการเรียนเพื่อเป็นนักศึกษาปริญญาเอก นักศึกษาปริญญาเอกไม่ควรเรียนเพื่อให้จบปริญญาเอกแล้วมีงานทำ แต่ทุกคนควรเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ (Lifelong Learning) เรียนเพื่อเติบโตไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่เรียนเพียงเพื่อมีอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่ดิวอี้เปรียบ (Analogy) คนเป็นเมล็ดพันธุ์ที่โตไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะตาย การศึกษาจำเป็นต้องมีขึ้นเพราะเมล็ดพันธุ์มีวันตาย ถ้าเมล็ดพันธุ์ไม่ตายก็ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษา โลกก็จะมีคนที่อยู่ชั่วนิรันดร์ แต่โลกไม่ใช่อย่างนั้น เพราะต่อให้เมล็ดพันธุ์เติบโตกลายเป็นต้นไม้ที่แข็งแกร่งมากเพียงใดก็จะต้องมาถึงจุดจบ การศึกษาหรือโรงเรียนจึงจำเป็นต้องมีขึ้นเพื่อสร้างต่อหรือเชื่อมโยงเมล็ดพันธุ์เก่าและเมล็ดพันธุ์ใหม่ (Legacy) เพื่อไม่ให้เกิดการเว้นว่าง (gap) โรงเรียนจึงต้องเข้ามาจัดการตรงช่องว่างเหล่านี้

โรงเรียนไม่ใช่โรงงาน ดังนั้นจุดมุ่งหมายหรือจุดสูงสุดของการศึกษาไม่ใช่การสร้างสิ่งที่สมบูรณ์แบบแต่เป็นการสร้างสิ่งมีชีวิตให้เติบโตอย่างสม่ำเสมอในช่วงชีวิตนั้นเอง โรงเรียนจึงมีหน้าที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ใช่แค่ให้ความรู้ แต่ต้องสร้างความทะเยอทะยานและความปรารถนาให้กับนักเรียน ถ้าโรงเรียนไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนออกไปอ่านหนังสือด้วยตนเองได้ นี่จะไม่ใช่ Growth สำหรับดิวอี้

ประเด็นสุดท้ายคือ “Harmonization” การสร้างความกลมกลืนระหว่างปัจเจกกับสังคม กล่าวคือ เป็นต้นไม้ที่สามารถอยู่ร่วมกันกับคนอื่นได้ หน้าที่ของโรงเรียนอีกอย่างหนึ่งก็คือเชื่อมโยงระหว่างคนที่แตกต่างหลากหลายในทั้งภาษาหรือความเชื่อด้วยกิจกรรม (Common Activities) เพื่อให้แต่ละคนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้

ประชาธิปไตยกับการศึกษาเมื่อนำมารวมกันแล้วมีลักษณะเป็นอย่างไร มีรูปแบบอะไรบ้าง

รัตนา ระบุว่า ดิวอี้ได้รับแรงบันดาลเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อมาอธิบายหมายความของการศึกษาของตนเองจาก 3 แนวคิด คือ The Platonic Educational Philosophy, The “Individualistic” Ideal of the Eighteenth Century, และ Education as National and as Social  

สำหรับแนวคิดของเพลโต (Platonic) สังคมที่มั่นคงเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกในสังคมนั้นใช้ความสามารถที่ธรรมชาติให้มาเฉพาะตัวเพื่อประโยชน์กับผู้อื่น ดังนั้นหน้าที่ของการศึกษาคือการพัฒนาทักษะเฉพาะตนตามกาลเทศะเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม เพลโตเชื่อว่าคนเกิดมามีทักษะและความชำนาญที่ไม่เหมือนกัน สังคมจำเป็นต้องรู้เป้าหมายว่าต้องการอะไรเพื่อให้สามารถจัดระเบียบและวางแผนให้สังคมบรรลุเป้าหมายนั้น จึงได้เสนอให้นักปรัชญา ผู้รู้ และผู้ที่รักในคุณธรรมมาออกแบบโครงสร้างของสังคม แล้วรัฐก็นำมาเป็นต้นแบบ ซึ่งหากแต่ละคนต่างก็ทำหน้าที่ของตนเองแล้ว ความสามัคคีก็จะเกิดขึ้น ในความคิดของเพลโต การแยกคนตามทักษะและความสามารถนั้นดีกว่าการแยกคนตามชนชั้นและฐานะทางเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ตาม ดิวอี้มองว่าสังคมอุดมคติเช่นนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ 1.เพลโตไม่เห็นความหลากหลายของคนที่มีมากกว่าพ่อค้า พลเมืองของรัฐ และนักกฎหมาย 2.สังคมประชาธิปไตยไม่ควรถูกแบ่งเป็นชนชั้น 3.สังคมที่ดีต้องเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง ไม่ตายตัวจากการถูกแบ่งแยกและมีกำแพงขึ้นมาระหว่างคน สำหรับดิวอี้สังคมอุดมคติคือสังคมที่คนมีความหลากหลาย มีอาชีพ ความคิด และความรู้ต่างกัน สามารถถกปัญหาและตั้งคำถามได้ และ 4.ข้อเสนอของเพลโตไม่เห็นถึงอำนาจของการศึกษา (Power of Education) ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้

The “Individualistic” Ideal of the Eighteenth Century ของ Rousseau แม้รุสโซจะได้รับอิทธิพลความคิดจากเพลโต แต่ก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่หลากหลายของปัจเจกบุคคลมากกว่า ให้ความสำคัญกับอิสรภาพว่าเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าของสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความเป็นอิสรภาพของปัจเจกเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนความก้าวหน้าของสังคม (Individual freedom for social progress) การปลดปล่อยคนให้เป็นไทจากห่วงโซ่ต่าง ๆ เริ่มจากการปลดแอกคนจากความคิดที่ผิด กลไกในธรรมชาติสามารถพัฒนาไปถึงจุดที่สมบูรณ์แบบโดยตัวมันเอง รุสโซเชื่อว่ามี 3 ปัจจัยที่ทำให้เกิดการศึกษา คือ 1.ธรรมชาติ 2.คน 3.สิ่งของ โดยคนและสิ่งของต้องทำงานประสานกันไปสู่จุดที่ธรรมชาติต้องเป็น ทั้งหมดทั้งมวลนำไปสู่มุมมองทางการศึกษา 2 ประเด็น คือ 1.ความแตกต่างของคนในทางความคิด ความสามารถ ฐานะ สถานะ ฯลฯ เกิดจากการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน การแก้ปัญหาคือการใช้การศึกษาเชื่อมให้ปรับตัวเข้าหากัน 2.ทำให้ความหลากหลายได้แสดงออกมากที่สุด แม้ดิวอี้จะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของรุสโซมามากแต่ก็ได้วิพากษ์แนวคิดไว้ 3 ประเด็น คือ 1.ถ้าทุกอย่างขึ้นอยู่กับธรรมชาติ แล้วโรงเรียนจะมีไว้ทำไม ทุกอย่างไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตัวมันเอง ต้องมีปัจจัยมากมายที่ฝึกฝนเด็กให้เติบโต ทุกอย่างจึงต้องสมดุลกันโดยให้ความสำคัญกับความหลากหลายของเด็กกับการเติบโตในบริบทของสิ่งแวดล้อม 2.การศึกษาไม่ควรแยกออกจากธรรมชาติ 3.จะสร้างธรรมชาติอย่างไรให้เด็กสามารถแสดงตัวตนของตัวเองออกมาได้มากที่สุดแต่อยู่ในระบบของโรงเรียน

Education as National and as Social เป็นแนวคิดในช่วงที่รัฐเยอรมันเข้ามาจัดการดูแลและให้ความสำคัญกับการศึกษาซึ่งเป็นไปแบบชาตินิยม (Nationalism) การศึกษาไม่ได้มีเพื่อพัฒนาศักยภาพมนุษย์ให้เต็มประสิทธิภาพแต่มีหน้าที่อบรมคนเพื่อเข้าสู่หน้าที่ตามสถาบันที่มีอยู่ในสังคม คนต้องหาตัวตนและศักยภาพของตนเองให้เจอเพื่อไปทำหน้าที่ตามสถาบันที่มีอยู่ในสังคม และหน้าที่ของโรงเรียนคือการจัดการศึกษาให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐชาติ โดยมีรัฐชาติเป็นผู้กำกับดูแล ดิวอี้เห็นด้วยที่รัฐชาติจัดการดูแลเรื่องการศึกษา แต่อยากให้รัฐให้บริการด้านการศึกษามากกว่าที่รัฐจะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ

รูปแบบการศึกษาตามความคิดของดิวอี้

รัตนา มองว่า สำหรับดิวอี้ ห้องเรียนและโรงเรียนควรมีอิสรภาพอย่างเต็มที่ เด็กสามารถเคลื่อนไหวตัวอย่างไปอิสระ สามารถตอบหรือแสดงความเห็นได้อย่างไม่เคอะเขินและไม่กลัว ครูไม่ควรสั่งการทุกอย่าง เด็กสามารถมีชีวิตเหมือนอยู่นอกห้องเรียน หลักสูตรต้องมีความหมายกับประสบการณ์ของนักเรียน ห้องเรียนและโรงเรียนต้องให้พื้นที่นักเรียนในการมีตัวตนของตัวเอง สนับสนุนให้นักเรียนมีความทะเยอทะยานอยากที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง หากเป็นการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย ควรมีรูปแบบการศึกษาเพื่อการพัฒนาสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง โดยดิวอี้เห็นว่าการศึกษาควรทำให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่สัมพันธ์กับชีวิตเด็กมากกว่าเรียนรู้สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องหรือห่างไกลจากเด็กเกินไป

100 ปีผ่านไป ประเทศไทยเรียนรู้อะไรจากดิวอี้บ้าง

รัตนา กล่าวว่า ในบริบทประเทศไทยนั้น  ภายในห้องเรียนมีความแตกต่างกันมาก อาทิ สภาวะทางเพศ ความคิด อุดมการณ์ และศาสนา สังคมที่ดีในนิยามของดิวอี้นั้น สังคมที่ดีคือสังคมที่ขจัดซึ่งกำแพง คำถามที่จะทิ้งท้ายไว้ คือ ประเทศไทยมีจุดมุ่งหมายหรือไม่ แล้วใครตั้งจุดหมาย แล้วจุดหมายนั้นคืออะไร สำหรับประเทศไทยแล้วสังคมคืออะไร ทุกวันนี้เราอยู่ในรัฐทุนนิยม สังคมอุปถัมภ์ โรงเรียนของใครของมัน นักเรียนจะโตได้อย่างไร แล้วเราจะได้การศึกษาแบบไหน เผด็จการหรือประชาธิปไตย ?

ช่วงที่สอง มีการแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “การเสริมสร้างประชาธิปไตยผ่านการศึกษา”

โดยในช่วงที่สอง มีการอภิปราย 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ตั้งแต่หลัง 2475 มา ประชาธิปไตยได้สร้างคุณูปการต่อการศึกษาไทยจริงหรือ 2. การศึกษาไทยในปัจจุบันได้เสริมสร้างหรือเตรียมคนให้เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยบ้างหรือไม่ อย่างไร และ 3. ประชาธิปไตยจำเป็นต่อไปอีกหรือ กับการเอามาปรับใช้ในวงการการศึกษาในสภาวการณ์บ้านเมืองเช่นนี้

คุณูปการของประชาธิปไตยต่อการศึกษาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

วัชรฤทัย บุญธินันท์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลังจากประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โอกาสทางการศึกษาก็ขยายไปสู่ประชาชนมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างพลเมืองที่เข้าใจประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยไทยไม่เคยมีช่วงเวลาที่ยาวนานให้ประชาชนได้เรียนรู้ ประชาธิปไตยที่ประเทศไทนรับมาเป็นเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม การศึกษาจึงถูกพัฒนาไปพร้อมกับมิติเชิงเศรษฐกิจมากกว่าประชาธิปไตย โดยเน้นการผลิตคนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ระบบราชการและระบบการปกครอง ซึ่งไม่ได้มองไปที่การสร้างแนวคิดประชาธิปไตย

การศึกษาในปัจจุบันได้สร้างพื้นที่เสริมสร้างประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร

วัชรฤทัย มองว่า ถ้าประชาธิปไตยถูกอธิบายว่าเป็นการเลือกตั้ง มันก็จะมีกิจกรรมในโรงเรียน เช่น สภานักเรียน และการเลือกตั้งในห้องเรียน แต่หากมองประชาธิปไตยแบบที่ดิวอี้ต้องการนำเสนอก็คือ “ประชาธิปไตยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง” เพื่อสร้างพื้นที่สำหรับการถกเถียงและหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับปัญหาในประชาธิปไตยแบบตัวแทน อย่างไรก็ตาม การศึกษาไทยยังเน้นการถ่ายทอดและท่องจำ ไม่ได้เป็นพื้นที่ของการตั้งคำถามอันเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการสร้างประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยยังจำเป็นสำหรับการศึกษาอยู่หรือไม่

ต่อประเด็นคำถามประชาธิปไตยยังจำเป็นสำหรับการศึกษาอยู่หรือไม่นั้น วัชรฤทัย ระบุว่า ยิ่งจำเป็นมาก เพราะสังคมปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น เราไม่สามารถยัดเยียดความคิดใดความคิดหนึ่งที่เชื่อว่าจะทำให้สังคมสงบสุข เราไม่สามารถใช้แนวคิดดั้งเดิมของเพลโตในบริบทแบบสังคมโบราณที่จัดสรรปันส่วน แบ่งแยกหน้าที่ ฯลฯ ในสังคมปัจจุบันจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีพื้นที่ที่ตอบสนองต่อความหลากหลายให้คนสามารถแสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืน และมีเสรีภาพที่จะเลือกใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังสามารถเป็นจุดร่วมของคนในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน

สำหรับบริบทของการศึกษากับประชาธิปไตย

ต่อบริบทของการศึกษากับประชาธิปไตย นั้น อภิสิทธิ์ บุตรวงษ์ นักศึกษาปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เห็นว่ามีเยาวชนในระบบการศึกษาได้ออกมาแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เช่น เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล และ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ แม้ก่อนหน้านี้จะมีการออกมาแสดงความเห็นแต่ก็ไม่ใช่การแสดงความเห็นในเชิงโครงสร้างระดับชาติ เช่น ผู้อำนวยการดำเนินนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน ทำให้นักเรียนลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้อาจมีปัจจัยหลายอย่างเช่น การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ส่วนในกรณีที่อภิสิทธิ์เคยมีประสบการณ์มานั้น คือ การลุกขึ้นมาเรียกร้องให้โรงเรียนเปลี่ยนนโยบายที่ไม่ให้เด็กที่ท้องในวัยเรียนเรียนต่อ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า อภิสิทธิ์และเพื่อนซึ่งไม่ได้เป็นสภานักเรียนกลับเป็นแกนนำในการเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับที่ อ.วัชรฤทัย พูดไว้ว่า สังคมไทยนิยามประชาธิปไตยว่าเป็นเพียงแค่การเลือกตั้ง

ปุณณพัฒน์ นิลโชติ นักเรียนโรงเรียนวังเหนือวิทยา จ.ลำปาง มองว่า ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่ต้องการจะผลักมันออกไปอาจด้วยเหตุผลเรื่องผลประโยชน์ ในประเทศไทย รัฐได้พยายามทำให้การศึกษาเป็นเครื่องมือควบคุมคน ในหลาย ๆ กรณีจะเห็นว่ารัฐไม่สามารถควบคุมนักเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ จึงต้องย้อนกลับไปควบคุมในระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับอนุบาล เช่น การร้องเพลงชาติ และแบบเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งสื่อเหล่านี้จะสร้างกรอบความคิดชุดเดียวหรือกลายเป็นคนในแบบที่ผู้มีอำนาจอยากให้เป็น สุดท้ายโรงเรียนก็จะเป็นเหมือนโรงงาน ที่ผลิตแป้งหรือนักเรียนให้เป็นแบบเดียวกัน รวมทั้งมีการสร้างค่านิยมเพื่อจัดระเบียบคน ปุณณพัฒน์เห็นว่า การศึกษาควรทำให้เราเป็นอะไรก็ได้ที่เราอยากเป็นภายใต้กฎหมายและศีลธรรม ครูควรเป็นผู้แนะนำหรือแนะแนวอนาคตของนักเรียนให้สอดคล้องกับความสามารถและศักยภาพของเขา ที่สำคัญทุกคนควรได้โอกาสในการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

ส่วน วสันต์ สรรพสุข  ครูโรงเรียนเชียงของวิทยาคม จ.เชียงราย ซึ่งเป็นครูคนหนึ่งที่อยากเห็นการตั้งคำถาม การแสดงความคิดเห็นจากนักเรียน แต่ด้วยความที่ระบบการศึกษาของไทยได้ผลิตซ้ำวัฒนธรรมดั้งเดิม จึงทำให้เด็กที่กล้าที่จะตั้งคำถามหรือแสดงความคิดเห็นจึงมีน้อยมาก หากมองย้อนไปดูที่ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน อ.วสันต์คิดว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องล้วนเป็นผลผลิตของโรงเรียนทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงจุดเปลี่ยนทางการศึกษาที่สำคัญ ได้แก่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้ริเริ่มการศึกษาขึ้น มีการส่งลูกหลานเจ้านายและขุนนางในวังไปศึกษาในต่างประเทศ การประกาศจัดการศึกษาภาคบังคับหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วง 14 ตุลา 2516 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรงเรียนจะไม่ได้ส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยให้อยู่ในมโนสำนึก แต่การศึกษาก็ยังมีคุณูปการต่อระบอบประชาธิปไตยไทย  

แล้วการศึกษาไทยปัจจุบันส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยไทยบ้างหรือไม่

วสันต์ มองว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาและโรงเรียนถูกเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดอุดมการณ์ของรัฐและผู้ปกครองในแต่ละสมัย สำหรับปัจจุบันได้มีการเพิ่มเนื้อหา “หน้าที่พลเมือง” เข้ามามากขึ้น จุดประสงค์ที่สำคัญของวิชานี้คือ “ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในชาติได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ ความเป็นไทย รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีความปรองดองสมานฉันท์เพื่อสันติสุขในสังคมไทย” อีกทั้งมีการกำหนด “ค่านิยม 12 ประการ” เพื่อสร้างคนไทยที่เข้มแข็งไปสู่การสร้างสรรค์ประเทศไทยที่แข็งแกร่ง อุดมการณ์ของรัฐเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านครูและโรงเรียน แม้ครูและโรงเรียนจะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐแต่ก็ยังมีช่องว่างอีกหลายอย่างให้ได้ทำอะไรอยู่เช่นกัน สำหรับประชาธิปไตยในโรงเรียนเราถูกให้เรียนรู้ประชาธิปไตยที่เป็นแบบพิธีกรรม เช่น สภานักเรียน โดยสภานักเรียนจะเครื่องมือของโรงเรียน อ.วสันต์มองว่า สภานักเรียนกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการตรวจสอบความเป็นพลเมืองของนักเรียนที่โรงเรียนได้กำหนดให้ เช่น การรับผิดชอบเรื่องความสะอาดตามบริเวณต่าง ๆ ในโรงเรียน รวมทั้งย้ำให้นักเรียนตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองอยู่ตลอด นอกจากนี้ อ.วสันต์ ยังเห็นว่า ประชาธิปไตยควรถูกปลูกฝังจากในห้องเรียน การเรียนรู้ควรได้สัมพันธ์กับวิถีชีวิตนักเรียนและท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งหากลงไปโรงเรียนจริง ๆ จะเห็นว่า ครูมีภาระการสอนที่มากมายทั้งมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ส่วนกลางได้มอบหมายมา สิ่งที่ อ.วสันต์ ได้เรียนรู้จากการเป็นครูคือ เมื่อไรที่ครูเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ เขาจะมีความกระตือรือร้น (Active) ที่จะสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง แต่หากครูและผู้บริหารยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมขององค์กรก็เป็นการยากที่จะสอนนักเรียนให้รู้จักประชาธิปไตยได้  ดังนั้น หากเชื่อว่าโรงเรียนคือสังคมย่อส่วน ครูและผู้บริหารก็จำเป็นต้องปฏิรูปตัวเองให้มีวัฒนธรรมความเป็นประชาธิปไตย คำนึงถึงความเป็นพลเมืองของนักเรียน ออกแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและประสบการณ์ของนักเรียนฃ

ประชาธิปไตยจำเป็นต้องนำมาปรับใช้กับสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันหรือไม่

ต่อคำถามที่ว่า ประชาธิปไตยจำเป็นต้องนำมาปรับใช้กับสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันหรือไม่ วสันต์ เห็นว่า สำคัญอย่างมากที่จะนำแนวคิดประชาธิปไตยมาจัดการศึกษา ขณะเดียวกันก็ต้องลดภาระหน้าที่ของครูด้วย ที่สำคัญจำเป็นอย่างมากที่จะพัฒนาบุคลิกภาพให้นักเรียนมีความคิดเสรีผ่านครูและผู้บริหารที่มีความคิดแบบเสรี มีความคิดแบบประชาธิปไตย มุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ มุ่งสร้างความร่วมมือของนักเรียนมากกว่าการแข่งขัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่องกฎหมายลูก รธน.59: มีชัยระบุจะร่างกฎหมายเลือกตั้งเอง ถ้ากกต.ส่งช้าเกินกำหนด

$
0
0

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รธน. 57 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับ 3 เพิ่มจำนวนสมาชิก สนช. เป็น 250 คน เตรียมเร่งพิจารณา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ด้านมีชัยระบุร่างกฎหมายเลือกตั้งเอง หาก กกต. ส่งช้าเกินกำหนด

 

1 ก.ย. 2559 13.30 น. มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่รัฐสภา มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งร่างรัฐธรรมนูญกลับมายัง กรธ.ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งคำสั่งให้ กรธ.ส่งใบมอบฉันทะ และสำเนาบัตรประชาชนของตน ซึ่งทาง กรธ.จะส่งเอกสารเหล่านี้ไปในภายหลัง และ กรธ.จะได้ทำคำชี้แจงและแถลงข่าวถึงกรณีนี้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า กรธ.นั้นบกพร่อง ขอเรียนว่า กรธ.ได้ดำเนินการเซ็นเอกสารตามระเบียบราชการทุกประการ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ กรธ.ต้องนำไปเป็นข้อมูลเพื่อนำไปปรับแก้เรื่องการดำเนินการของศาลต่อไป เพราะขนาดตนที่เป็นนักกฎหมายยังถูกมองว่าเข้าใจผิด ดังนั้นประชาชนที่จะไปยื่นเรื่องต่อศาลนั้นก็คงจะลำบาก เพราะต้องยื่นเอกสารไป 2 ถึง 3 รอบ ทั้งนี้ขอเรียนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีองค์ประกอบภายนอกเข้ามาเกี่ยว ข้องแต่อย่างใด แต่เป็นอุปสรรคเรื่องขั้นตอนทางราชการและเรื่องเวลาเท่านั้น

มีชัยกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญนั้น ยังไม่ได้เริ่มนับ 1 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีความเข้าใจว่าเขามีสิทธิจะรับหรือไม่รับพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 นั้นระบุชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ตนก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าศาลนั้นมีสิทธิหรือไม่ที่จะไม่รับพิจารณา ส่วนกรณีถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณานั้นจะทำอย่างไร ตอนนี้ตนยังตอบไม่ได้ แต่วันหลังคงตอบได้ ขอเรียนว่าการตีความของทางศาลรัฐธรรมนูญที่ตีเอกสารกลับมานั้น มีความขัดแย้งกับมาตรา 37/1 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว

เมื่อถามว่า สุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ.ก็เป็นอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นได้มีการประสานกันกับทางศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ก็มีการคุยกัน แต่สุพจน์ก็ได้แต่ส่ายหน้า

มีชัยระบุ หาก กกต. ไม่ส่งกฎหมายเลือกตั้ง 4 ฉบับ ภายในกำหนด จะร่างเอง

มีชัยยังกล่าวถึงการ พูดคุยกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถึงการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า กรธ.ได้มีการคุยกับ กสม.ถึงเรื่องบทบาท กสม.ว่าควรจะมีมากน้อยแค่ไหน แต่ว่ายังไม่ได้ลงไปถึงรายละเอียดตรงนี้ ส่วนความเห็นของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เสนอกำหนดบทเฉพาะกาลให้มีการซ้อมการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศนั้น คิดว่าคงไม่ได้ เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส.และการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นคนละฉบับ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้ส่งร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมายัง กรธ.ทั้งๆ ที่ กรธ.ได้ทำหนังสือร้องขอไปแล้ว ดังนั้นถ้าหากอีก 2 สัปดาห์ กกต.ไม่ส่งเอกสารมา กรธ.คงจะดำเนินการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง

ยันไม่มีความขัดแย้งทางอำนาจระหว่าง กรธ. กับ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนประเด็นที่มีกระแสข่าวว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ไม่พอใจกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดเพราะเห็นว่าเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 37/1 อย่างถูกต้องแล้วนั้น แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติให้การพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามข้อกำหนด ศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 โดยในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญข้อที่ 17 ได้กำหนดประเภทคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยไว้ 20 ข้อ การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดอยู่ในข้อที่ 20 คือเป็นคดีที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการยื่นคำร้องจึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลในข้อ 18 ที่กำหนดการทำและยื่นหรือส่งคำร้องเอาไว้ในวงเล็บห้าว่าจะต้องลงลายมือชื่อผู้ร้อง แต่ในกรณีที่เป็นการทำหรือยื่นหรือส่งคำร้องแทนผู้อื่นต้องแนบใบมอบฉันทะให้ทำการดังกล่าวมาด้วย

แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งทางอำนาจระหว่างกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องพิจารณา และทำคำวินิจฉัยภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เมื่อพบว่าการยื่นคำร้องไม่เป็นไปตามข้อกำหนดฯ ศาลหรือตุลาการประจำคดีมีอำนาจออกคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่ กำหนด เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนแล้วก็ไม่มีปัญหา ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะได้นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาในวันพุธที่ 7 ก.ย. ต่อไป

กกต. ยืนยันกฎหมายเลือกตั้ง 4 ฉบับเสร็จแล้ว เหลือแค่ตรวจสอบความถูกต้อง

ด้าน สำนักข่าวไทยรายงานว่า ธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานกำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับเป็นครั้งสุดท้ายก่อนส่งให้ที่ประชุม กกต. โดยในการประชุม กกต. พรุ่งนี้ (2ก.ย.) มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

“กฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างตรวจสอบความถูกต้อง ความเชื่อมโยงแต่ละมาตรา ความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และจะทยอยให้กกต.พิจารณา ส่วนจะส่งกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ได้เมื่อใด ไม่สามารถตอบได้ แต่พยายามเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้” ธนิศร์ กล่าว.

แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพิ่มจำนวน สนช. เป็น 250 คน เร่งพิจารณากฎหมายลูก

ขณะเดียวกันวันนี้ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2559 โดยมีเนื้อหาระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2559”

มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 6 ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินสองร้อยห้าสิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำ กว่าสี่สิบปี ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ”

มาตรา 4 ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้ รัฐธรรมนูญนี้ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครอง สั่งสำนักนายกฯ จ่ายกว่า 8 แสน ให้พ่อแม่ ฟุรกอน ลูกชายวัย 18 ที่ถูกวิสามัญ

$
0
0

1 ก.ย. 2559 รายงานข่าวจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งว่า เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา  เวลา 14.30 น. ศาลปกครองสงขลา (ศาลปกครองชั้นต้น) ได้อ่านคำพิพากษา คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ในคดีหมายเลขดำที่ 54/2556  ระหว่าง มะวาเห็ง มามะ ที่ 1 รูฆาย๊ะ มามะ ที่ 2 ผู้ฟ้องคดี กับ กองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3  

ศาลปกครองสงขลา ได้พิพากษาให้ สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ชดใช้เยียวยาค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายจำเป็นอย่างอื่นในการปลงศพเป็นเงิน  105,500  บาท และค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายเป็นเงิน 720,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 825,500 บาท ( แปดแสนสองหมื่นห้าพันห้าร้อยบาท ) คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้   คืนค่าธรรมเนียมศาลแต่บางส่วนตามส่วนของการชนะคดีแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ในระหว่างการอ่านคำพิพากษาของศาลปกครอง รูฆาย๊ะ มามะ มารดาของ ฟุรกอน มามะ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ร่ำไห้กลางห้องพิจารณาคดี ขณะที่ศาลได้อ่านในส่วนการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุและสภาพศพของผู้ตาย

โดยศาลระบุว่า ว่าเมื่อตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุได้พบศพผู้ตาย ทราบชื่อในภายหลังว่า ฟุรกอน มามะ อายุ 18 ปี สภาพศพสวมเสื้อยืดคอกลมสีดำ กางเกงวอร์มสีฟ้า ไม่สวมรองเท้า พบบาดแผลถูกยิงด้วยกระสุนปืนเข้าที่บริเวณกลางหลังค่อนไปทางขวา มีเลือดออกหูซ้าย พบบาดแผลฉีกขาดที่เข่าขวา ใกล้ศพพบปืนเล็กกล AK 47 จำนวน 1 กระบอก พร้อมซองกระสุนเสียบอยู่ มีกระสุนอยู่ในรังเพลิง 1 นัด ในซองกระสุน 20 นัด และลูกระเบิดขว้างชนิดเอ็ม 26 จำนวน 1 ลูก อยู่ในกางเกงวอร์มข้างขวา ซึ่งสภาพศพตรงกันกับรายงานการชันสูตรพลิกศพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเมื่อได้พิจารณาจากรายงานการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (DNA) ของกลุ่มงานตรวจชีววิทยาและดีเอ็นเอ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปรากฏผลการตรวจสอบว่า ไม่พบสารพันธุกรรม (DNA) ของ ฟุรกอน ที่ลูกกระสุนปืน ด้ามปืน และไกปืน ที่เก็บตัวอย่างจากอาวุธปืนและลูกกระสุนปืนของกลางที่อยู่ใกล้ศพ ฟุรกอน ประกอบกับชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานการพิสูจน์ว่า ลูกระเบิดของกลางอยู่ในสภาพเสื่อมใช้การไม่ได้ ถึงแม้จะดึงสลักพร้อมห่วงนิรภัยออกจากตัวลูกระเบิดแล้วขว้างปาไปก็ไม่สามารถทำการระเบิดได้ เนื่องจากชนวนของลูกระเบิดเสื่อมสภาพ และรายงานผลการตรวจพิสูจน์สารประกอบวัตถุระเบิดและสารเสพติดเบื้องต้นด้วยเครื่องตรวจจับร่องรอยสสาร สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ตรวจไม่พบสารประกอบวัตถุระเบิดและสารเสพติดจากเสื้อผ้าของ ฟุรกอน  ประกอบกับคำให้การของพยานบุคคลซึ่งอยู่ในเหตุการณ์หลายปากทั้งเจ้าหน้าที่และเพื่อนๆ ของ ฟุรกอน ที่ให้การกับพนักงานสอบสวน

เมื่อได้ประมวลถ้อยคำพยานบุคคลประกอบกับพยานเอกสารหลักฐานทางราชการแล้ว จึงรับฟังได้ว่าฟุรกอนผู้ตายมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย  อีกทั้งในสำนวนคดีก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องระหว่าง ฟุรกอน กับ อาบีดีน บุคคลตามหมายจับ ข้อมูลของทางราชการก็ไม่ปรากฏว่า ฟุรกอน มีมีประวัติอาชญากรใด ๆ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้แต่อย่างใด และแม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า พบอาวุธปืนเล็กกล AK 47 อยู่ใกล้ศพ และลูกระเบิด เอ็ม 26 อยู่ในกระเป๋ากางเกง ของ ฟุรกอนผู้ตาย แต่ก็ไม่อาจยืนยันหรือชี้ชัดได้ว่าอาวุธปืนและวัตถุระเบิดดังกล่าวเป็นของ ฟุรกอน ผู้ตาย เนื่องจากการตรวจสอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ไม่พบสารพันธุกรรม (DNA) ของ ฟุรกอน ที่ลูกกระสุนปืน ด้ามปืน และไกปืน ประกอบกับ ฟุรกอน ผู้ตาย เป็นเพียงเยาวชน ซึ่งในขณะเกิดเหตุถูกยิงเสียชีวิตมีอายุเพียง 18 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และมีบาดแผลถูกยิงด้วยกระสุนปืนเข้าที่กลางหลังค่อนไปทางขวา มีเลือดออกหูซ้าย พบบาดแผลฉีกขาดที่เข่าขวา กระสุนปืนทำลายอวัยวะช่องอก คอ และศีรษะ จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า ฟุรกนอน ยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นดังกล่าว

รูฆาย๊ะ มามะ ได้กล่าวว่า ตนยังจำชุดที่ลูกชายสวมใส่ก่อนออกจากบ้านไป และสภาพศพของลูกชายที่ถูกยิงกลางหลังติดตาอยู่จนถึงปัจจุบัน  แม้จะเสียใจอย่างยิ่งที่เสียลูกชายไป แต่ก็พอทำให้เกิดความรู้สึกดีขึ้นมาได้บ้าง เมื่อศาลมีคำพิพากษาว่าลูกชายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ และ พ้นข้อกล่าวหาในเรื่องอาวุธปืนและระเบิด แม้ว่าเขาจะจากม๊ะไปนานแล้วก็ตาม

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ก่อนฟ้องคดีปกครอง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับเงินเยียวยาแล้ว จำนวน 500,000 บาท จากศอ.บต

สำหรับการเสียชีวิตของ ฟุรกอน นั้น เมื่อวันที่ 26 ธ.ค 2555 ศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งในคดีชันสูตรพลิกศพ  ว่าผู้ตายคือ ฟุรกอน มามะ ตายที่บ้านปอเยาะ  ม.4 ต.ลำใหม่ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2555 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารราบที่  ร้อย  ร.5031 ซึ่งได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ปิดล้อมเพื่อจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดยะลา ยิงด้วยอาวุธปืนทำลายอวัยวะช่องอก คอ และศีรษะ เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ต่อมาบิดามารดาของ ฟุรกอน ยื่นฟ้องกองทัพบก สำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อศาลปกครองสงขลา เมื่อปี พ.ศ. 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทวิพากษ์กิจกรรมการรับน้องในมหาวิทยาลัยไทย

$
0
0



วิธีคิด มุมมอง และค่านิยมในการทำกิจกรรม นศ. ไทย และ นศ. ในประเทศพัฒนาแล้วเช่น อเมริกา มีความแตกต่างกัน

นศ ไทย จะมองว่าการเข้าร่วมกิจกรรม เป็นหน้าที่ ที่ นศ. ปี1 "ต้องเข้าร่วม" และ นศ. ไทย (รวมถึงผู้ใหญ่ในสังคมไทยด้วย)

เรามักจะวัดความสำเร็จของกิจกรรม จากจำนวนคนที่เข้าร่วม ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบ พฤติกรรมของ นศ. ที่จะต้องทำให้คนมาเข้ากิจกรรมให้ครบ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ห้องเชียร์ต้องเต็ม ขาดคนไม่ได้ มาสายไม่ได้ ถ้าห้องเชียร์ไม่ครบ เด็กปี1 ก็จะโดนลงโทษ ถ้าชมรมกีฬา มีคนมาสาย มาไม่ครบ ก็ถูกลงโทษโดยมีข้ออ้างง่ายๆว่าเด็กไม่สามัคคีกัน ไม่รวมกันเป็นรุ่น

ในขณะที่ นศ. ฝรั่งจะมีวิธีคิดที่ตรงกันข้าม เด็กอเมริกา จะซีเรียสเรื่องความสมัครใจ ซีเรียสเรื่องการให้เสรีภาพกับทุกๆคนที่จะมีสิทธิเลือกที่จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดก็ได้โดยไม่มีการบังคับ กดดัน หรือ ว๊าก ไซโค

รุ่นพี่ที่ดูแลกิจกรรมนั้นๆ เวลามีเด็กๆมาขอเข้าร่วมทำกิจกรรม สิ่งที่เค้ารู้สึกคือ ดีใจที่มีเด็กเห็นความสำคัญ ภูมิใจที่กิจกรรมเค้าได้รับความสนใจ

รุ่นพี่ก็จะพยายามรักษาเด็กเหล่านั้นไว้โดยการเทคแคร์ ดูแลเอาใจใส่ มีข้าว มีขนม มีน้ำหวานให้ตลอด เด็กๆที่มาเข้าร่วมกิจกรรมก็จะแฮปปี้กลับไป พร้อมกับชวนเพื่อนๆ มาอีก ในขณะที่เด็กไทยเข้าร่วมกิจกรรมเพราะความกลัว กลัวโดนว๊าก กลัวการถูกลงโทษ กลัวไม่ได้รับรุ่น

เพราะฉะนั้นในอเมริกา ซึ่งมีเสรีภาพ กิจกรรมไหนที่ไม่น่าสนใจ จัดไม่ดี กิจกรรมนั้นก็จะคนน้อย และหายไปในที่สุด กิจกรรมไหนที่ดี คนก็จะสนใจเยอะ ก็จะดำรงอยู่ได้นาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีทางเกิดขึ้นกับกิจกรรมในมหาวิทยาลัยไทย เพราะทุกกิจกรรม รุ่นพี่บังคับรุ่นน้องให้เข้าร่วมหมด (แม้เราจะบอกว่าทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกกิจกรรม แต่ในทางปฏิบัติ ก็เต็มไปด้วยการบังคับและกดดัน) เราจึงไม่มีทางรู้เลยว่ากิจกรรมไหนดีไม่ดี เรามีกิจกรรมที่้ไม่มีคุณภาพเยอะเกินไปรึเปล่า

กิจกรรมของเด็กไทย เวลามีคนเข้าห้องเชียร์เต็ม รุ่นพี่ ผู้นำกิจกรรม มักจะภูมิใจ ทั้งๆที่วิธีการที่ทำให้เด็กเข้าร่วมคือการสร้างความกลัวผิดกับฝรั่งที่มองว่าการบังคับเด็กให้เข้าร่วมเป็นเรื่องน่าอับอาย ในขณะที่ฝรั่ง เค้าไม่แคร์เรื่องตัวเลขหรือจำนวน ว่าจะมีคนมาครบหรือไม่ แต่เค้าแคร์ว่าทุกคนต้องมาด้วยความเต็มใจ สปิริต ของตัวเด็กเอง

เมื่อเด็กไทยมีวิธีคิด ที่วัดความสำเร็จจากจำนวน มองว่ากิจกรรมเป็น "หน้าที่" ที่ทุกคน "ต้องเข้าร่วม" ด้วยข้ออ้าง "ความเป็นรุ่น" "ประเพณี" อะไรก็แล้วแต่ ผลก็คือ ผู้นำกิจกรรมของเด็กไทย มักจะมี คาแรคเตอร์แบบผู้ใช้อำนาจ ด่าเก่ง ใช้อำนาจเก่ง กดดันเก่ง ขมขู่เก่ง บุคลิกก้าวร้าว ทำตัวเก๋า ซึ่งตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับ ผู้นำกิจกรรมของฝรั่ง ซึ่งจะมีคาแรคเตอร์ที่ พูดเก่ง ชักจูงใจคนเก่ง พูดจามีหลักการ มีเหตุมีผล รู้จักใช้คำพูดที่มีพลัง โน้มน้าวคนให้มาเข้าร่วมกิจกรรมได้ง่าย เพราะถ้าเค้าไม่มีทักษะเหล่านี้ ก็จะเป็นการยาก ที่จะจูงใจให้คนมาเข้ากิจกรรมเค้า แล้วลองคิดดูว่า ผู้นำกิจกรรมเหล่านี้ ต่อไปถ้าเค้าไปเป็นผู้นำประเทศ เราจะได้ผู้นำประเทศแบบไหน

จะเห็นว่า ปัญหานี้ ไม่ใช่แค่ปัญหาเชิงพฤติกรรม แต่เป็นปัญหาทางความคิด ค่านิยม ซึ่งน่ากลัวมากๆ

0000

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  ดร.ณพล หงสกุลวสุ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'หมอเหรียญทอง' ยื่นค้านตั้ง ผช.ผู้พิพากษา อ้างกดถูกใจเฟซบุ๊กหมิ่นสถาบันฯ

$
0
0

เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก เวลา 13.00 น. 1 ก.ย.59 พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ และแกนนำองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน เดินทางมายื่นคำร้องถึงเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม คัดค้านการเสนอชื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ที่สอบผ่านการคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษารายหนึ่งที่เห็นว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

โดย พล.ต.นพ.เหรียญทอง ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ กล่าวว่า การยื่นคัดค้านเนื่องจากเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้พบเห็นเพจเฟซบุ๊กของผู้ที่สอบผ่านการคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษารายนี้กดถูกใจข้อความที่มีบุคคลโพสต์ลักษณะหมิ่นสถาบันฯ ซึ่งตนได้นำข้อมูลชี้แจงให้ ป.ป.ช.ที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดของบุคคลนั้นทราบด้วย แต่บุคคลดังกล่าวได้ทำลายหลักฐานด้วยการปิดเพจเฟซบุ๊กนั้น แต่ตนสามารถเก็บข้อมูลการกระทำนั้นไว้ได้ทัน วันนี้จึงนำมายื่นให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมไว้เป็นหลักฐานเพื่อให้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป เพราะตนเห็นว่าผู้ที่มีทัศนคติหมิ่นสถาบันฯ จะมาเป็นผู้พิพากษาได้อย่างไร 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images