Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50704 articles
Browse latest View live

ประยุทธ์ชี้อภิสิทธิ์แค่ประชด ปมเสนอให้นำร่างรธน.เอง ระบุไม่ผ่านก็แค่ตั้งคณะใหม่ร่างใหม่

0
0

พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สนอภิสิทธิ์ประกาศไม่รับร่าง รธน. ส่วนข้อเสนอให้ตนนำร่างเองหากไม่ผ่านประชามตินั้นมองเป็นการประชดมากกว่า ชี้ถ้าร่างใหม่ตนก็แค่ตั้งคณะขึ้นมาใหม่ขึ้นมาแค่นั้น ระบุยกเว้นไม่มีคนในประเทศไทยร่างได้ ตนถึงจะร่างได้ ยันรัฐบาลพร้อมรับผลประชามติ ถือเป็นเสียงประชาชน

แฟ้มภาพประชาไท

เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่สน เพราะไม่รับก็คือไม่รับ ในกรณีที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงจุดยืนไม่รับร่างรธน. ส่วนกรณีที่อภิสิทธิ์ต้องการให้นายกรัฐมนตรีเป็นนำผู้ร่างเองนั้น  มองว่าเป็นการพูดประชดมากกว่า เพราะการร่างรัฐธรรมนูญต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่าง เพราะตนคนเดียวไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญเองได้ และอยากให้เห็นใจผู้ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 คณะ ไม่ให้ดูถูกด้อยค่า เพราะการร่างรัฐธรรมนูญเป็นการนำปัญหาทั้งหมด มาแก้ไขและวางอนาคต แต่การประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและโจมตีผู้ร่างรัฐธรรมนูญ จะไม่มีใครมาร่างรัฐธรรมนูญอีก ซึ่งตนจะร่างรัฐธรรมนูญเองแต่เมื่อประเทศไม่มีผู้ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว 

"จริงๆ ผมร่างเอง ผมร่างก็ต้องใช้คนร่าง ไม่ใช่ผมร่าง ผมพูดว่าร่างเอง ผมก็ตั้งคณะขึ้นมาใหม่ ก็แค่นั้น แต่ให้เห็นใจคนร่างมา 2 คณะบ้างนะ ไม่ใช่เขาถูกด่อยค่าดิสเครดิตเขาตลอด สงสารคนทำเขาบ้าง เขาก็ทำหวังดีเต็มที่ เขาก็เอาปัญหาของเก่ามาคลี่ดู แล้วอนาคตจะทำยังไงให้เกิดความเชื่อมั่นไว้วางใจกันระหว่างประชาชนกับนักการเมือง มันก็แค่นั้น แล้วคุณจะไปโจมตีคนร่างเขาอีกหน่อยก็ไม่มีคนร่างสิ ถ้าไม่มีคนในประเทศไทยร่างได้ ผมถึงจะร่างได้ ผมถึงจะร่างคนเดียวนั่นล่ะ มันจะไปอะไรกันนักหนา รัฐธรรมนูญคือรัฐธรรมนูญ มันก็จำเป็นกับกรอบทำงาน แต่ถามว่าที่ผ่าทนมามันทำไหมล่ะ มีรัฐธรรมนูญยังไงก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง ไปดูรัฐบาลที่จะมาใหม่จะทำหรือเปล่า ไปดูตรงนั้น คนไทยต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงนะ เพราะว่าถ้าเราต้องการสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้วเรายังทำตัวเหมือนเดิม ต้องการเหมือนเดิมโดยที่ไม่ฟังเหตุฟังผลขยายความขัดแย้งกันต่อ แล้วมันจะเกิดไปได้อย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

รัฐบาลพร้อมรับผลประชามติ ถือเป็นเสียงประชาชน

วันเดียวกัน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีอภิสิทธิ์ ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แม้แต่ในพรรคประชาธิปัตย์เอง ส่วนรัฐบาลไม่ได้รู้สึกหนักใจหรือกดดันแต่ประการใด

“นายกรัฐมนตรีพูดชัดเจนว่า ไม่ว่าผลการออกเสียงจะเป็นเช่นไรก็ต้องยอมรับ เพราะถือเป็นเสียงของประชาชน ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบของประชาชนหรือไม่ รัฐบาลยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องทำตามโรดแมป เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
 
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า จากการการแสดงความเห็นของนายอภิสิทธิ์และนักการเมืองคนอื่น ๆ รวมถึงนักวิชาการ นักศึกษา สื่อมวลชนผ่านช่องทางหลากหลาย ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือโซเชียลมีเดียอยู่ทุกวัน  เป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการถกเถียงหรือแสดงความคิดเห็น แต่กลับเปิดกว้างให้สังคมดำเนินการได้อย่างเสรี เพื่อรักษาบรรยากาศที่ดีของบ้านเมือง การแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ของคนในสังคม จะต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือใช้ถ้อยคำเสียดสี ถากถาง หรือหยาบคาย เพราะวันนี้สังคมไทยต้องการการปฏิรูปให้มีความเจริญก้าวหน้า ประชาชนมีระดับจิตใจที่สูงขึ้น เช่นเดียวกันประเทศที่พัฒนาแล้ว
 
“จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผ่านโพลต่าง ๆ จะเห็นว่าเริ่มตื่นตัวและสนใจการลงประชามติมากขึ้น เช่น ผลสำรวจล่าสุดของมาสเตอร์โพลที่ระบุว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่เคยอ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และเห็นว่าการทำประชามติจะนำไปสู่ประชาธิปไตย ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน รัฐบาลจึงอยากให้พี่น้องประชาชนศึกษาร่างรัฐธรรมนูญจากแหล่งต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถืออย่างรอบด้าน รวมทั้งสำรวจตรวจสอบสิทธิ์ สถานที่ลงประชามติ และขั้นตอนวิธีการลงประชามติให้เข้าใจก่อนไปออกเสียงในวันที่ 7 ส.ค.นี้”  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยพีบีเอสเลือก 'พันโทนราวิทย์ เปาอินทร์' นั่ง ผอ.สำนักบริหารกิจการ

0
0

29 ก.ค. 2559 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารกิจการ สังกัด สำนักบริหารกิจการ คือ พันโทนราวิทย์ เปาอินทร์

ทั้งนี้ พันโทนราวิทย์ เป็นอดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย, อดีตผู้อำนวยการสำนัก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ, อดีตพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ, อดีตหัวหน้าแผนกกรรมวิธีข้อมูล กรมราชองค์รักษ์, อดีตนายทหารโปรแกรม/พัฒนาระบบ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์, อดีตผู้บังคับหมวด กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์

ก่อนหน้านี้ ส.ส.ท. ได้มีประกาศ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เรื่อง รับสมัครพนักงานประจำ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักบริหารกิจการ สังกัด สำนักบริหารกิจการ จำนวน 1 อัตรา มีผู้มีสิทธิเข้ารับการสอบสัมภาษณ์ 3 ราย ได้แก่ ปวีณ นราเมธกุล, วุฒิชัย สอนหินลาด และ พันโทนราวิทย์ เปาอินทร์

สำหรับ ปวีณ นราเมธกุล ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ขณะที่ วุฒิชัย สอนหินลาด เป็นอดีตผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี โดยดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.ติงรัฐทบทวนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หวั่นปชช.ถูกแย่งยึดทรัพยากร

0
0

กรรมการสิทธิฯ ติงรัฐทบทวนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แนะต้องฟังเสียงประชาชน นักวิชาการวิตกเกิดการแย่งยึดจากชาวบ้านทั้งทรัพยากรน้ำและไฟฟ้า

กรณีการเร่งรัดผลักดันโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ของรัฐบาลกำลังจะเป็นอีกหนึ่งอภิโครงการด้านเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นประเด็นท้าทายของประชาชนภาคตะวันออกในมิติสิทธิมนุษยชน

ในงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนพบประชาชน ภาคกลาง ที่จัดขึ้นที่พัทยา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 27-29 กรกฎาคมที่ผ่านมา เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุยชน กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีประชาชนหรือชุมชนส่งคำร้องมายังคณะกรรมการสิทธิ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของชลบุรีขณะนี้มีเครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้อยู่แล้ว

“ส่วนตัวอยากเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสหประชาชาติได้จัดประชุมเมื่อปีที่แล้ว ท่านนายกฯ ก็ไปด้วย และรู้สึกประทับใจสองเป้าหมายคือเราต้องใช้ทรัพยากรทางทะเลและบนบกอย่างสมดุลและยั่งยืน คือการโตทางเศรษฐกิจต้องไม่เอาทรัพยากรทางทะเลและบนบกมาใช้อย่างล้างผลาญ แต่ที่เห็นขณะนี้ รัฐบาลไทยทุกยุคสมัยจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งสวนทางกัน”

“การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกต้องทบทวน และต้องมาจากสองเรื่องที่เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คือการให้ข้อมูลรอบด้านว่ารัฐบาลคิดอะไร ภาคธุรกิจคิดอะไร แล้วชาวบ้านจะเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและวางแผน ส่วนตัวอยากเห็นแผนบูรพาวิถีที่ทำขึ้นมาโดยภาคประชาชนและนักวิชาการบนฐานทางข้อมูลและวิชาการที่เป็นศักยภาพและอัตลักษณ์ของภาคตะวันออก รัฐบาลต้องฟังและนำไปปฏิบัติ แผนพัฒนาในแต่ละจังหวัด แต่ละภาค ประชาชนควรเป็นผู้ตัดสินใจเอง ไม่ใช่แค่รัฐและนายทุน”

ด้านวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราและอดีตที่ปรึกษา บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลเพียงว่า เรื่องนี้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีมติคณะรัฐมนตรีให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปเขียนโครงการภายใน 90 วัน จึงยังไม่มีรายละเอียด

ด้านนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออกที่ติดตามประเด็นนี้อย่างสมนึก จงมีวศิน แสดงความเป็นห่วงว่าจะเกิดการแย่งยึดฐานทรัพยากรในภาคตะวันออก

“ตอนนี้ 11 จังหวัดภาคตะวันออก 8 จังหวัดขาดน้ำปีละ 519,000 คิวต่อปี ตอนนี้เรามีนิคมเพิ่มขนาดนี้ ตัวอีสเทิร์น ซีบอร์ด ก็ขยายแล้วยังจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก ผมถามว่าจะใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ แล้วจะเอาน้ำที่ไหนใช้ ขณะที่โรงไฟฟ้าทุกวันนี้คนก็ต่อต้านเยอะ ต้นทุนถูกที่สุดคือโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่จะต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ นอกจากเขาจะเอาฐานทรัพยากรของเราไปแล้ว ยังสร้างมลพิษด้วย”

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ภาครัฐกำลังเร่งผลักดัน โดยภาครัฐและเอกชนจะระดมเงินลงทุนขั้นต่ำ 1.5 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปี ตั้งเป้าว่าจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4 แสนล้านบาท รวมไปถึงการลงทุนเมืองใหม่ โรงพยาบาล โรงเรียน ที่อยู่อาศัย และด้านการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอีกประมาณ 6 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ยังมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับนักวิจัย หรือการให้ชาวต่างประเทศที่เข้าลงทุนสามารถเช่าที่ดินได้ยาวนานถึง 99 ปี เป็นต้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมอชันสูตรระบุเหตุตายอับดุลลายิบแน่ชัดไม่ได้ ชี้ญาติไม่ให้ผ่าศพ-เคารพความเชื่อทางศาสนา

0
0

29 ก.ค.2559 รายงานข่าวจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปัตตานีได้ไต่สวนพยาน  ปากฝ่ายพนักงานอัยการ ผู้ร้อง ในคดีหมายเลขดำที่ ช.6 /2559  ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ผู้ร้อง และ อับดุลลายิบ ดอเลาะ ผู้ตาย กูรอสเมาะ ตูแวบือซา ภรรยาผู้ตาย ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ร้องซักถาม โดยศาลได้นัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องหนึ่งปาก คือ นพ.กิตติศักดิ์ ศรีพงษ์ หัวหน้าคณะกรรมการชันสูตรศพ และเป็นอาจารย์แพทย์จากนิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่) ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เนื่องจากญาติมีความประสงค์ให้ส่งศพไปชันสูตรโดยละเอียดอีกครั้งหลังจากมีชันสูตรในพื้นที่เกิดเหตุไปแล้ว

การไต่สวนแพทย์ดังกล่าวใช้ระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยเชื่อมโยงสัญญาณระหว่างศาลจังหวัดสงขลากับศาลจังหวัดปัตตานี  นพ.กิตติศักดิ์ ให้การความว่า การชันสูตรพลิกศพอับดุลลายิบที่ขนย้ายจากจังหวัดปัตตานีไป เห็นว่าศพน่าจะมีปัญหาอะไรบางอย่างแน่นอน สำหรับสาเหตุการเสียชีวิต จึงได้ประชุมแพทย์หลายคนตั้งเป็นคณะแพทย์จำนวน 3 คนร่วมกันชันสูตรศพ อับดุลลายิบ ซึ่งปกติการชันสูตรจะใช้แพทย์คนเดียวเท่านั้นในการชันสูตรศพหนึ่งศพ โดยตนเองถูกแต่งตั้งเป็นหัวหน้าทีมแพทย์ในการชันสูตรพลิกศพของผู้ตาย  ซึ่งศพผู้ตายมาถึงโรงพยาบาล เวลา 14.30 น. ของวันที่ 4 ธ.ค. 2558  เนื่องจากสภาพภายนอกของศพไม่ปรากฏร่องรอยบาดแผลที่ชัดเจนใด ๆ ทีมแพทย์จึงแจ้งต่อภรรยาผู้ตายว่าหากจะทราบสาเหตุการตายได้อย่างชัดเจนแพทย์จะต้องทำการผ่าศพ แต่ภรรยาผู้ตายไม่ประสงค์ให้มีการผ่าศพ (เพราะภรรยาของผู้ตายยังมีความเชื่อของตนที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ว่าไม่สมควรผ่าศพ)  แพทย์จึงไม่ได้ทำการผ่าศพ แต่ได้ขออนุญาตภรรยาผู้ตาย ทำการเจาะเอาเลือดและน้ำเหลืองของผู้ตายไปตรวจด้วย ภรรยาของผู้ตายไม่ขัดข้อง
 
ในการชันสูตรพลิกศพ แพทย์ไม่อาจระบุสาเหตุการตายของอับดุลลายิบที่แน่นอนได้ เพราะเมื่อไม่ได้ทำการผ่าศพ จึงไม่ทราบว่ามีบาดแผลหรือร่องรอยความผิดปกติที่อวัยวะภายในอื่นใดอีกบ้างหรือไม่ที่จะใช้ประกอบการวินิจฉัยสาเหตุการตายได้อย่างชัดเจน  สิ่งที่แพทย์ มอ.หาดใหญ่ให้ความเห็นต่างจากแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพในพื้นที่ คือ จุดเลือดที่เกิดขึ้นในดวงตาทั้งสองข้างของผู้ตาย แพทย์ในพื้นที่บอกว่าจุดเลือดในดวงตาดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นหลังจากอับดุลลายิบถึงแก่ความตายแล้วก็ได้ แต่แพทย์ มอ.หาดใหญ่ยืนยันว่าจุดเลือดในดวงตาดังกล่าวเป็นภาวะเยื่อบุตาคั่งเลือดนั้นต้องเกิดขึ้นตอนผู้ตายมีชีวิตอยู่ หรือ หัวใจยังเต้นอยู่  และจะไม่เกิดหลังเสียชีวิต เพราะคนที่ตายแล้ว หัวใจหยุดสูบฉีดเลือด เลือดหยุดไหลเวียนในร่างกาย จึงไม่อาจเกิดภาวะเลือดออกมาคั่งที่เยื่อบุตาได้ ฉะนั้นจุดเลือดในตาที่พบดังกล่าวจึงต้องเกิดขึ้นก่อนที่อับดุลลายิบจะถึงแก่ความตาย และจุดเลือดคั่งในตาทั้งสองข้างดังกล่าวก็เป็นผลอย่างหนึ่งที่เกิดจากการขาดอากาศหายใจก่อนเสียชีวิต  สำหรับการขาดอากาศหายใจนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ กรณีอับดุลลายิบเมื่อไม่ได้ผ่าศพพิสูจน์เพื่อดูร่องรอยบาดแผลหรือความผิดปกติของอวัยวะภายใน แพทย์จึงวินิจฉัยสาเหตุไม่ได้ว่าการขาดอากาศหายใจเกิดจากอะไร อีกอาการที่ตรวจพบคือ ริมฝีปากผู้ตายมีสีเขียวคล้ำ แต่เนื่องจากญาติไม่อนุญาตให้มีการผ่าศพ  ทางทีมแพทย์ก็เคารพในความเชื่อทางศาสนาของญาติ  ดังนั้นจึงไม่สามารถระบุสาเหตุการตายที่ชัดเจนได้  เพราะไม่ได้ผ่าพิสูจน์หาร่องรอยบาดแผลใต้ชั้นผิวหนัง กล้ามเนื้อ ภายในหลอดลม กระเพาะ ลำไส้ และหัวใจ ด้วยว่ามีความผิดปกติอย่างไรหรือไม่  การตายของนายอับดุลลายิบจะเกิดจากการถูกทำร้ายด้วยวิธีการที่ทำให้ไม่พบบาดแผลภายนอกแต่มีปรากฏบาดแผลที่อวัยวะภายในหรือไม่นั้น จึงไม่อาจระบุได้ ดังนั้นแพทย์จึงทำความเห็นได้แต่เพียงว่าไม่อาจระบุสาเหตุการตายที่แน่ชัดได้
 
หลังจากทีมแพทย์ที่ มอ.หาดใหญ่ ได้ทำการชันสูตรพลิกศพ อับดุลลายิบ เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2558 เวลาประมาณ 18.00 น. ภรรยาอับดุลลายิบและญาติ ๆ จึงได้นำศพของผู้ตายกลับไปภูมิลำเนาเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามทันทีในเวลากลางคืนวันดังกล่าว
 
ศาลจังหวัดปัตตานีกำหนดนัดไต่สวนพยานที่พนักงานอัยการ ผู้ร้อง แถลงว่าเหลืออีกเพียง 2 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และพนักงานสอบสวน ในวันที่ 10 ส.ค. 2559 เวลา 09.00 - 16.30 น.
 
สำหรับการเสียชีวิตของอับดุลลายิบ นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2558 โดยหน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมจังหวัดปัตตานี และ หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 เข้าติดตามจับกุม บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อับดุลลายิบ ดอเลาะ หรือ เปาะซู โดยระบุว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ระดับหัวหน้า kompi และผลการซักถามขั้นต้น อับดุลลายิบ ได้ให้การยอมรับว่า เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง เคยผ่านการซูมเปาะ ซึ่งในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำไปลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองจิก และทำการส่งตัว อับดุลลายิบฯ ดำเนินกรรมวิธีซักถาม ณ หน่วยข่าวกรองทางทหาร ส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกระทั่งเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัว เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2558

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขานรับ HIA ฉบับ2 สช.ชี้ ไม่ใช่เครื่องมือขัดขวางการพัฒนาประเทศ

0
0

ขานรับ HIA ฉบับใหม่ สช. วางกรอบนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะชุมชน สช.ชี้ HIA ฉบับ 2 เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน ลดความขัดแย้งในพื้นที่ที่มีผลจากนโยบายหรือโครงการพัฒนาทั้งของภาครัฐและเอกชน

29 ก.ค.2559 เวลา 10.30 น. ที่ อาคารสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) จัดเสวนา ‘สตาร์ทอัพประกาศ HIA ฉบับใหม่ใครได้ ใครเสีย’ โดย นพ.นพดล ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบบ้านสุขภาพ, เดชรัต สุขกำเนิด มูลนิธินโยบายสุขภาวะ, รศ.นพ.พงศ์ วิวรรธนะเดช หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, และ กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง ดำเนินรายการโดย ประวีณมัย บ่ายคล้อย

นพ.พลเดช กล่าวว่า การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA (Health Impact Assessment) เป็นกระบวนการตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่สนับสนุนให้เกิดสุขภาวะที่ดีและสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลผลกระทบต่างๆ ทั้งในเชิงบวกและลบ จากนโยบายสาธารณะ ยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมร่วมกัน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการดำเนินงาน ร่วมสร้างทางเลือกในการพัฒนาหรือการจัดการพื้นที่ ร่วมตัดสินใจอย่างสมานฉันท์ ตลอดจนร่วมติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลในระยะยาวต่อไป

'ขณะนี้ ทุกภาคส่วนในสังคมมีความตื่นตัวและเข้าใจในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพมากขึ้น หลังจากที่หลักเกณฑ์ HIA มีผลบังคับใช้มากว่า 7 ปี ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน หน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันทางวิชาการ/วิชาชีพ ต่างเห็นตรงกันว่า กระบวนการ HIA ได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีเวทีกลางที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล ช่วยลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ นำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน เพื่อสุขภาวะที่ดีของชุมชน' นพ.พลเดช กล่าว

ภาพ เดชรัต สุขกำเนิด

เดชรัต กล่าวว่า เนื้อหาในประกาศ HIA ฉบับที่ 2 เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งทุกฝ่ายเห็นความสำคัญและประโยชน์ร่วมกัน โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะดำเนินการใน เชิงรุก มากขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มนโยบายสาธารณะหรือโครงการ ด้วยการ ก่อขบวน ชักชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียมาออกแบบและวางแผนการทำ HIA เพื่อให้เกิดการยอมรับผลร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้มีการตัดสินใจไปแล้วจึงประเมินผลกระทบเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงเมื่อมีข้อร้องเรียนในระหว่างที่ดำเนินโครงการ และ/หรือเมื่อแล้วเสร็จ ก็สามารถจัดทำ HIA ได้เช่นเดียวกัน

เดชรัต กล่าวต่อว่า หลักเณฑ์ฉบับที่ 2 ให้ความสำคัญกับ 4 หลักการ 1.ต้องทำร่วมกัน รวมถึงการประเมินผลกระทบด้วยชุมชน 2.ทำได้ทุกขั้นตอน ไม่ใช่เฉพาะก่อนเริ่มดำเนินโครงการ เมื่อศึกษาเรียนรู้ปรับปรุงได้ทั้งโครงการ 3.เพื่อความยั่งยืนสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การเหนี่ยวรั้งการพัฒนาแต่ถูกทิศถูกทาง 4.ทำเชิงรุก ไม่ได้หมายความว่าต้องไปรอขออนุญาตขออนุมัติโครงการ เราไม่จำเป็นต้องรอเรามีปัญหาเกิดขึ้นเราก็เริ่มต้นการดำเนินโครงการได้เลย โดยเสนอเรื่องที่ควรชวนกันก่อขบวนเพื่อการทำ HIA ได้แก่ แนวโน้มที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต มีทางเลือกทางนโยบายที่หลากหลาย มีทางเลือกใหม่ๆที่เกิดขึ้นในอนาคต มีความเห็นและผลกระทบที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม เกิดการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพ และฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยยกตัวอย่างประเด็นที่น่าสนใจ เช่น  โครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยา การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การขนส่งในอนาคต การจัดผังเมืองและออกแบบเมือง เราจะใช้โอกาสเชิงรุกที่จะลดความเสียหายเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้อย่างไร ต้องมีการประเมินผลกระทบให้รอบด้าน ระบบหลักประกันสุขภาพล่วงหน้า ระบบสวัสดิการสังคมในอนาคต การเจรจาและการทำข้อตกลงทางการค้า เรื่องไหนควรถ้วนหน้า

เดชรัต กล่าวถึงเรื่องการประเมินผลกระทบนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดโครงขึ้นก่อนถึงจะทำกระบวนการได้ แต่ HIA สามารถใช้ได้ในทุกกระบวนการและเกี่ยวกับนโยบายที่อาจสร้างผลกระทบด้วยไม่ใช่แค่เฉพาะโครงการนั้นๆอย่าง EIA หรือ EHIA ซึ่ง HIAไม่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต/ไม่อนุญาตโครงการ แต่เป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันโดยทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย สช.ต้องมีภารกิจที่จะเป็นสะพานเชื่อมที่จะเอาคนที่มีข้อมูลหรือเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ และไม่ใช่แค่เรียกคนแต่ละกลุ่มมาคุยกันเท่านั้น แต่ต้องนำข้อมูลมานำเสนอทางเลือกร่วมกันด้วย โดยการทำงานเหล่านี้ผู้ที่ทำ HIA จะต้องระวัง 6 ข้อจำกัด คือ 1.เวลาจำกัด 2.ทางเลือกจำกัด 3.จำกัดคนเข้าร่วม 4.รูปแบบจำกัด 5.ข้อมูลถูกจำกัด 6.การตัดสินใจจำกัด สิ่งเหล่านี้จะทำให้ HIA รวบรวมข้อมูลที่ไม่มีประสิทธิภาพและจะทำให้เพิ่มปัญหามากกว่าลดปัญหา

'ปัญหาของ HIA ฉบับเดิม คือ หลายภาคส่วนต่างฝ่ายต่างดำเนินการ จึงมีการก่อรูปโครงสร้างใหม่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการกำหนดนโยบาย แผนงานต่างๆ ให้เกิดการยอมรับ เปิดรับข้อมูลรอบด้าน ทั้งด้านของผู้พัฒนาโครงการและของชุมชน อย่ามองว่าแข็งหรือผ่อนปรนมากขึ้น เพราะ สช. ไม่มีอำนาจในการบังคับให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการนำหลักเกณฑ์ HIA ไปประยุกต์ใช้ ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน ให้เกิดประสิทธิผล เกิดประโยชน์ต่อนโยบายโดยภาพรวม' เดชรัต กล่าว

ภาพ นพ.วิพุธ พูลเจริญ

นพ.วิพุธ กล่าวว่า ปัจจุบันแนวทางการพัฒนานโยบายสาธารณะ แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ตลอดจนการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ได้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจึงได้ปรับปรุง ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 1 ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2552 ให้ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบททางสังคม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่มุ่งสู่สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันมากยิ่งขึ้น พร้อมปรับปรุงโครงสร้างการทำงาน การผลิตบุคลากร ให้สอดรับกับหลักเกณฑ์วิธีการใหม่นี้ด้วย

'ประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 ได้เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงาน องค์กรต่างๆ สามารถนำประกาศหลักเกณฑ์ HIA ฉบับใหม่ไปประยุกต์ใช้เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการหรือกิจกรรมได้ โดยคำนึงถึงประเด็นผลกระทบทางสุขภาพในทุกมิติ ภายใต้กรอบปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health) ในทุกนโยบาย หรือที่เรียกว่า Health in all olicies'

นพ.วิพุธ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จะลงไปผนึกกำลังร่วมมือกับหน่วยงานผู้กำหนดโยบายและภาคส่วนต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้มีการนำหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศ HIA ฉบับที่ 2 ไปประยุกต์ใช้มากขึ้น โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการใช้แล้วในเรื่องการศึกษาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาภายในประเทศจากโครงการศึกษาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกหรือ TPP ที่เป็นการทำ HIA ในระดับนโยบาย ในส่วนของ HIA ระดับโครงการก็ได้มีการประยุกต์ใช้ในหลายโครงการที่มีการร้องขอตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เช่น โครงการท่าเทียบเรือ โครงการเหมืองแร่ โครงการโรไฟฟ้าจากขยะ

กัญจน์ กล่าวว่า ขณะนี้ชุมชนอำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา กำลังศึกษาศักยภาพของชุมชนและผลกระทบที่อาจจะเกิดจากโครงการโกดังและท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าริมแม่น้ำบางปะกง และจากการศึกษาโดยกระบวนการเอชไอเอ พบว่า แม่น้ำบางปะกงที่เป็นแหล่งผลิตกุ้ง เคย และมีอาชีพต่อเนื่องที่สร้างรายได้ให้กับคนทั้งครอบครัว โดยบางครอบครัวไม่ต้องไปประกอบอาชีพอื่นเลยเพราะแม่น้ำเลี้ยงพวกเขาได้ เช่น อาชีพประมงชายฝั่งที่หาอยู่หากินด้วยอุปกรณ์ประมงพื้นบ้าน เช่น ซั่ง โป๊ะ ก่ำ มีป่าจากและอาชีพทำตับจาก ขุดปูทะเล เลี้ยงปลาในกระชังริมแม่น้ำ ล่องเรือท่องเที่ยว และยังพบป่าโกงกางและค้างคาวแม่ไก่ริมน้ำอีกด้วย ซึ่งหากแม่น้ำบางปะกงเปลี่ยนแปลงย่อมกระทบต่อพวกเขาอย่างแน่นอน

'การทำ HIA ครั้งนี้ มีทีมงานที่เป็นชาวบ้านและคนในชุมชนทั้งหมด โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหัวใจหลักของการประเมินครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างการพัฒนาแม่น้ำบางปะกงอย่างยั่งยืน' กัญจน์ กล่าว

ภาพ รศ.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช

รศ.นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือมีโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชนเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา ได้นำกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพไปใช้ในพื้นที่บริเวณ นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และความร่วมมือจากชาวบ้านใน 4 ตำบลรอบนิคมฯ ได้แก่ บ้านกลาง มะเขือแจ้ เหมืองง่า และเวียงยอง โดยมี การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community-Based Health Impact Assessment-CHIA) และ เครื่องมือระบาดวิทยาภาคประชาชน (Popular epidemiology) เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น ประยุกต์ใช้ในการประเมินความเชื่อมโยงระหว่างต้นเหตุของปัญหากับภัยคุกคามสุขภาพที่เกิดขึ้นใน 4 ตำบลร่วมกัน ส่งผลให้ชุมชนเกิดความเข้าใจ รับรู้ต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ เช่น โรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง และหอบหืด ไม่ได้เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่กิจกรรมของชาวบ้านเองก็มีส่วนด้วย เช่น การเผาไม้-หญ้าแห้ง โรงงานเฟอร์นิเจอร์ในชุมชน ยาฆ่าแมลง โรงสีข้าว การเผาศพ การใช้สารเคมีในสวนลำไย การล้างถังสารเคมีจากนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

'การดำเนินการในครั้งนี้ ให้ ชุมชนได้มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน กำหนดประเด็นปัญหา หาสาเหตุ ตรวจสอบ การทดสอบในห้องปฎิบัติการ นำเสนอแนวทางแก้ไข มีการอบรมเรื่องระบาดวิทยา ประกอบกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ความจริง ทำให้ชาวบ้านถึงเข้าใจผลกระทบดีขึ้น เรียนรู้ถึงสาเหตุอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพียงแต่โทษคนอื่น ไม่ใช้อคติ หรือความรู้สึกในการตัดสินเหมือนในอดีต' รศ.นพ.พงศ์เทพ กล่าว

 

การประเมินด้านผลกระทบทางสุขภาพ หรือ HIA (Health Impact Assessment)คือ กระบวนการวิเคราะห์และคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบาย แผนงาน/ยุทธศาสตร์ โครงการหรือกิจกรรมของรัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาหรือการลงทุนเพื่อการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบในทางบวกหรือทางลบ ที่มีต่อสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วมากว่า 7 ปี

HIA มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม เพื่อสนับสนุนในการตัดสินใจร่วมกัน และทางเลือกเชิงนโยบายที่จะเป็นผลที่ดีต่อสุขภาพประชาชน ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบาย สาธารณะ

HIA ต่างจาก EIA หรือ EHIA อย่างไร ทั้ง 3 รูปแบบมีความเหมือนในเรื่องเป้าหมายคือส่งเสริมการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่ง แวดล้อมและสุขภาพของประชาชน แต่แตกต่างกันที่อำนาจบังคับใช้ ขอบเขตและแนวทางปฏิบัติ
HIA เป็นกระบวนการส่งเสริมศักยภาพให้กับภาคประชาชน เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในกระบวนการพัฒนาทุกระดับ นโยบาย แผนงาน โครงการกิจกรรมเพื่อสาธารณะ ตั้งแต่การเข้าถึงข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูล ร่วมเรียนรู้ จนนำไปสู่การตัดสินใจร่วมในการดำเนินการ ติดตามประเมินผลร่วมกันระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐหรือเอกชน หรือส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดเวทีรับฟังความเห็นช่วยยุติความขัดแย้งด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง

EIA หรือรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม, EHIA หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ เป็นกฎหมายหลักที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาต โดยกำหนดว่า โครงการประเภทใด เช่น เขื่อน เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า ถนน สนามบิน โรงงานอุตสาหกรรรม ฯลฯ และมีลักษณะ ขนาดใดบ้างที่เข้าข่ายต้องมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบฯ และหากมีผลกระทบจะต้องเสนอมาตรการแก้ไข ควบคุม ป้องกันและติดตามเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติอนุญาตด้วย ซึ่งการประเมินผลกระทบฯ ทั้ง 2 รูปแบบ มีขอบเขตการประเมินผลกระทบเป็นเพียงเฉพาะรายงานหรือโครงการกิจกรรมนั้น ถึงแม้ว่าในพื้นที่ที่ตั้งโครงการหรือกิจกรรม จะมีโครงการหรือกิจกรรมเช่นเดียวกับที่อื่นๆที่มีส่งผลกระทบอยู่แล้ว เครื่องมือนี้ก็ไม่สามารถประเมินผลกระทบในภาพรวมได้ อีกทั้งยังไม่สามารถนำมาใช้ในการประเมินนโยบายหรือแผนงานในระดับชาติได้





 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมอเปรมศักดิ์ ร้องประยุทธ์งัด ม.44 ปฏิรูปสื่อ ยันไม่ได้ล็อกห้องถอดเสื้อผ้าสื่ออาวุโส

0
0

29 ก.ค.2559 นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เดินทางยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์บริการประชาชน เพื่อขอให้ใช้อำนาจมาตรา 44 ดำเนินการปฏิรูปสื่อมวลชน โดยในหนังสือระบุว่าเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา มีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งบุกรุกไปในห้องทำงานส่วนตัวระหว่างที่ทำงานแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เพื่อคาดคั้นให้ตอบคำถามเรื่องส่วนตัวกรณีที่มีภาพหลุดในโซเชียลมีเดีย โดยเป็นภาพของตนกับหญิงสาวรายหนึ่ง และมีการอ้างว่าเป็นการแต่งงานกับเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและไม่เหมาะสมแม้ตนจะเป็นบุคคลสาธารณะ แต่ก็ควรได้รับเกียรติ และสื่อควรให้ความสนใจเรื่องสาธารณะมากกว่าเรื่องส่วนตัว ดังนั้น จึงควรต้องปฏิรูปสื่อ

ส่วนข่าวการล็อกห้องทำงานและจับสื่ออาวุโสวัย 64 ปีถอดเสื้อผ้านั้น นพ.เปรมศักดิ์ ยืนยันว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่เป็นความจริง นักข่าวอายุ 64 ปี ไม่เห็นมีอะไรที่น่าดูน่าสนใจ ในส่วนนี้จะขอให้รายละเอียดในชั้นคณะกรรมการสอบสวนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นตั้งขึ้น เพราะตนมีหลักฐานเป็นพยานบุคคลที่พร้อมอธิบายให้ข้อมูลเช่นกัน และแม้ห้องทำงานของตนจะสามารถเข้า-ออกได้ตลอด แต่ก็ไม่อยากให้สื่อเข้าไปคาดคั้น

“ใครก็สามารถเข้าไปในห้องทำงานผมได้ จะคนทั่วไปหรือคนพิการ แต่ในระหว่างที่ผมทำงานอยู่ เหมาะหรือไม่ที่สื่อจะบุกเข้าไปโดยไม่ได้ขออนุญาต แล้วมาคาดคั้นสอบถามผมในเรื่องส่วนตัว และหากใครที่จะมายื่นเรื่องถอดถอนผมออกจากตำแหน่งใด ๆ ก็แล้วแต่ ผมไม่กลัว แต่อยากให้ไปดูด้วย ให้สื่อรู้ด้วยว่าคนที่ยื่นถอดถอนผม เขาก็เป็นนักการเมือง และประกาศตัวชัดเจนที่จะลงสมัครนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ในสมัยถัดไป” นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธ.คณะรัฐบุคคล เสนอประยุทธ์งัดม.44 แก้ม.8 ร่างรธน.สกัดรัฐประหาร

0
0
29 ก.ค.2559 ที่อาคารเพรสซิเด้นท์เพลส บริเวณสี่แยกราชประสงค์ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานคณะรัฐบุคคลและคณะแถลงเสนอแนวคิดทางเลือกแก่สังคมและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่อจากนี้ เพื่อไม่ให้กลับมาเกิดวิกฤติอีก โดยเสนอให้ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 8 โดยเพิ่มเนื้อหาว่า หากเกิดวิกฤติไม่สามารถหาทางออกได้ ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบบ้านเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก แล้วเชิญสถาบันหลัก และคนที่มีความรู้ความสามารถพิจารณาหาทางออกที่ดีที่สุดที่สามารถปฏิบัติได้ทันที แล้วให้ผู้บังคับการตามกฎอัยการศึก ร่างพระบรมราชโองการเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงวินิจฉัยลงพระปรมาภิไธย ซึ่งจะต้องให้มี “ผู้รับผิดชอบ” การดำเนินการทั้งหมดภายในเวลา 1 ปี และต้องไม่เกิน 2 ปีจะต้องคืนระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนและจัดให้มีการเลือกตั้ง
 
พล.อ.สายหยุด เสนอให้ยกเลิกบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าหากแก้ไขมาตรา 8 ตามที่เสนอจะไม่จำเป็นต้องมีบทเฉพาะกาล อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธที่จะตอบว่าจะไปใช้สิทธิ์ลงประชามติหรือไม่ หากข้อเสนอถูกปฏิเสธ โดยระบุว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
 
“คณะรัฐบุคคลไม่ต้องการอะไร เพียงหาทางเลือกให้ประเทศ เพราะพิจารณาแล้วว่าทำได้ภายใต้อำนาจมาตรา 44 ซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ไม่เกิดรัฐประหารขึ้นอีก” พล.อ.สายหยุด กล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จากอุดมคติ ‘ป๋วย’ ถึงปัจจุบัน มุมมอง 4 ศาสตร์ ประจักษ์-ยุกติ-อภิชาต-วรเจตน์

0
0

เก็บความจากการประชุมวิชาการกลุ่มคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ประจำปี 2559 เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2559 ในวาระ 100 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “พาสังคมไทยไปให้ถึง: ปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”

ช่วงหัวข้อ  “พาสังคมไทยไปให้ถึง: ความเท่าเทียมแห่งชีวิต” ผู้อภิปรายประกอบด้วย ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ., ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาลและมนุษยวิทยา มธ., วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ., อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ., ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.


ประจักษ์ ก้องกีรติ

เทรนด์โลกว่าด้วยรัฐประหารเชิงสัญญา รักกองทัพต้องเอาออกจากการเมือง

อันที่จริงแล้วอาจารย์ป๋วยไม่เคยอยู่ห่างจากการเมือง เพียงแต่ไม่ได้เล่นการเมืองในฐานะนักการเมือง แต่โดยรากความคิดนั้นป๋วยคิดว่าการเมืองสำคัญกับชีวิต และเต็มไปด้วยความพยายามจะเข้าไปเปลี่ยนการเมืองหลัง 14 ตุลาให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งนั่นนำไปสู่ชะตากรรมในบั้นปลายชีวิตของป๋วย

เราสามารถสานต่อเจตนารมณ์ของป๋วยได้มากมาย ป๋วยถือเป็นชนชั้นนำคนหนึ่งที่จับเรื่องความเท่าเทียม ทำงานเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำมากที่สุดคนหนึ่ง โดยพูดและต่อสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960-1970 ซึ่งปัญหานี้ยังไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในสังคมไทย ในช่วง 3-4 ปีนี้ประเด็นความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำกลับมาเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าอ่านรายงานของทุกองค์กรระหว่างประเทศจะพบว่าทุกองค์กรมาจับปัญหา “ความไม่เท่าเทียม” ทั้งสิ้น

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่อยากให้อ่าน ชื่อ Unequal Thailand ชื่อภาษาไทยคือ สู่สังคมเสมอหน้า มีผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์ เป็นบรรณาธิการ หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นความไม่เท่าเทียมในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ ความยุติธรรม การศึกษา การถือครองที่ดิน ฯลฯ หากเราดูสติถิเรื่องความไม่เท่าเทียมจะพบว่าประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย ในระดับโลกไทยอยู่ในระนาบเดียวกับประเทศในแถบแอฟริกา ละตินอเมริกา เราเพิ่งสนใจปัญหานี้ แต่การเข้าถึงปัญหานี้ของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนั้นสำหรับนักรัฐศาสตร์มองแล้วอาจไม่น่าพอใจนักเพราะพวกเขาไม่ได้มองว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาโดยตัวมันเอง แต่กลับมองว่าเรื่องนี้นำไปสู่ปัญหาอื่น เช่น ความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งสร้างปัญหากับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ป๋วยนั้นกลับต่างออกไป ป๋วยไม่ได้เข้าถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมจากมิตินี้ ไม่ใช่เพราะความไม่เท่าเทียมนำไปสู่สิ่งอื่นที่ไม่ดี แต่ความไม่เท่าเทียมเป็นปัญหาโดยตัวมันเอง โดยเฉพาะความเป็นพลเมืองที่ควรมีศักดิ์ศรีและสิทธิเท่ากัน

ถ้าเราดูดัชนีเกือบทุกประเทศทั่วโลก ประเทศที่จัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุดใน 30-50 อันดับแรก เกือบทั้งหมดปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แทบจะเป็นกราฟเดียวกันระหว่างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะเผด็จการนั้นผูกขาดอำนาจ เป็นความไม่เท่าเทียมทางการเมือง มีคนกระจุกเดียวผูกขาดอำนาจไว้ การใช้อำนาจตามอำเภอใจเป็นปรากฏการณ์ปกติของระบอบเผด็จการ โดยตัวมันเองเป็นศัตรูกับความไม่เท่าเทียมทางการเมือง และไม่แปลกที่จะเกิดการกระจุกตัวความมั่งคั่งในหมู่ผู้นำ เพราะอำนาจที่กระจุกตัวนำไปปกป้องผลประโยชน์ผู้มีอำนาจ โดยใครตรวจสอบทัดทานไม่ได้

ถามว่าแก่นแกนหรือสาระของประชาธิปไตยคืออะไร เพราะทุกฝ่ายตอนนี้ต่างก็อ้างว่าตนเป็นประชาธิปไตย จริงๆ แล้วมันมีแค่ 3 องค์ประกอบง่ายๆ 1.ผู้ขึ้นสู่อำนาจต้องได้รับการคัดเลือกและยินยอมจากประชาชน เพราะ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” ผ่านการเลือกตั้งที่ยุติธรรม เสรีและทั่วถึง 2.การใช้อำนาจต้องถูกถ่วงดุลและกำกับด้วยกฎเกณฑ์ที่เป็นนิติรัฐ rule of law ไม่ใช่ rule by men ดังนั้นการมีรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองประชาชนและจำกัดอำนาจรัฐจึงมีความสำคัญ 3. หลักสิทธิเสรีภาพ ถ้าผู้นำมาจากการเลือกตั้งก็จริงแต่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนตามอำเภอใจก็ไม่เรียกว่าประชาธิปไตย ตุรกีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ตุรกีเผชิญภาวะ dilemma ผู้นำมาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่ข้อ 2 กับ 3 นั้นบกพร่อง ขณะเดียวกันคนที่จะมาล้มรัฐบาลเลือกตั้งก็เลวร้ายกว่า เพราะเป็นทหารจะมารัฐประหาร ตุรกีจีงเผชิญกับชนชั้นนำสองกลุ่มที่ทำร้ายประชาธิปไตยทั้งคู่ ถ้ามองภาพกว้างออกไป ปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก หลังสิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา ประชาธิปไตยแพร่หลายทั่วโลก และเป็นระบอบเดียวที่ถูกพิสูจน์ว่าบกพร่องน้อยที่สุด มีกลไกแก้ปัญหาของตัวเองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยจะไม่มีข้อบกพร่องเลย มันก็มีความเสื่อมถอยทางคุณภาพเยอะ ปัญหาคือ เมื่อมีปัญหาหรือเสื่อมถอย สังคมนั้นแก้ปัญหาอย่างไร อันนั้นเป็นตัวชี้วัดวุฒิภาวะของสังคมนั้นๆ  

ในสังคมทั่วโลก ตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามเย็นจนถึงปี 2012 มีการรัฐประหารโดยกองทัพทั่วโลก 17 ครั้ง ถ้ารวมถึงปี 2014 ก็ 18 ครั้ง เรียกว่าแถบไม่มีการรัฐประหารอีกแล้วโดยกองทัพ เพราะมันเกือบจะเป็นบทพิสูจน์และประสบการณ์ที่ทุกประเทศเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วว่า ประชาธิปไตยจะบกพร่องอย่างไรก็ตามรัฐประหารไม่ใช่ทางออก เพราะหากเราแคร์ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจตามอำเภอใจ การรัฐประหารยิ่งซ้ำเติมปัญหานี้

การถดถอยของประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องผิดแปลก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทำอย่างไรจะแก้ไขปัญหาประชาธิปไตยโดยไม่ทำลายประชาธิปไตยเสียเอง อยากพูดถึงปรากฏการณ์หนึ่งทั่วโลกว่า 18 ครั้งของการรัฐประหาร ไทยเราจองไปแล้ว 2 ครั้ง นอกจากไทยก็จะมี ฟิจิ กินีบิสเซา บูร์กินาฟาโซ ที่มีรัฐประหาร 2 ครั้งในห้วงเวลานี้ การรัฐประหารช่วงหลังสงครามเย็น เป็น promissory coup (การรัฐประหารเชิงสัญญา) เป็นการรัฐประหารที่กองทัพอ้างอิงและให้สัญญาว่าทำไปเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย ซึ่งพบมากขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามเย็น กองทัพมักสัญญาว่าจะคืนประชาธิปไตย ให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุด ตรงนี้เป็นเทรนด์ปกติ และมักบอกด้วยว่ามาชั่วคราวเท่านั้น การเข้ามาเป็นขั้นตอนจำเป็นในการปรับปรุงประชาธิปไตยให้ดีขึ้น ก่อนสิ้นสุดสงครามเย็นกองทัพทั้งหลายไม่เคยอ้างแบบนี้ แต่อ้างเรื่องความมั่นคง แต่หลังสงครามเย็นกองทัพทั่วโลกรู้ว่าวาทกรรมเดิมไม่เวิร์ค แต่เมื่อวิเคราะห์รัฐประหารเชิงสัญญา 11 กรณีซึ่งรวมไทยแล้ว การเลือกตั้งไม่ได้เกิดเร็วตามสัญญา และไม่พบว่าคุณภาพประชาธิปไตยหรือธรรมภิบาลได้รับการพัฒนาขึ้นแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับก่อนรัฐประหาร มีตัวอย่างมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ทุกประเทศที่เกิดรัฐประหารเชิงสัญญากลับพบว่าระดับความเป็นประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ เศรษฐกิจ ถดถอยไปกว่าก่อนเกิดรัฐประหาร เป็นคำถามที่สำคัญมากว่า อยู่ดีๆ ไทยที่เคยก้าวหน้ามากทางเศรษฐกิจตกไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศเหล่านั้นได้อย่างไร ถ้าเราไม่ตอบเรื่องนี้ เราหลอกตัวเองที่จะมาพูดเรื่องการสร้างธรรมาภิบาล การลดความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูป

(เมื่อปกป้อง จันวิทย์ ผู้ดำเนินรายการถามถึงทางออกจากปัญหาโดยให้มองอนาคตระยะยาว อะไรคือเนื้อหาสาระที่ต้องยึดไว้ให้มั่นในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน)

อันนี้คุยล่วงหน้าไปเลย 20 ปีใช่ไหม (หัวเราะ) ผมว่าอาจารย์ปกป้องถามข้ามขั้น เราพูดถึงสังคมที่เท่าเทียม แต่เงื่อนไขพื้นฐานมันต้องเป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีคุณภาพก่อน ประชาธิปไตยอาจไม่เพียงพอแต่เป็นเงื่อนไขที่จำเป็น ฉะนั้น เราอาจต้องถามอีกคำถามหนึ่งว่า เราจะกลับไปสู่สังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่กว่าเรื่องรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่ยังไม่สามารถออกจากระบอบรัฐประหาร จะมีรัฐธรรมนูญกี่ฉบับก็หน้าตาไม่ต่างกัน เพราะมันตอบโจทย์ชนชั้นนำที่ยึดอำนาจ โจทย์นี้มันใหญ่และผมมองโลกแง่ร้ายว่ามันไม่ง่ายในรอบนี้ การจะเอาทหารออกจากการเมืองไทยในรอบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ครั้งสุดท้ายที่สังคมไทยมีฉันทามติว่าทหารไม่ควรยุ่งกาเรมืองคือปี 2535 แต่ฉันทามตินี้ไม่เหลือ เพราะสังคมแตกเป็นสองข้าง

ขอพูดสั้นๆ ว่า ในการสร้างสังคมที่เท่าเทียม สังคมอื่นเขาทำอย่างไร แบบที่ไม่ต้องใช้วิธีเผด็จการ เขาทำ 4 อย่าง คือ 1.ปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ลดการผูกขาด  2.กระจายอำนาจการปกครองไปยังท้องถิ่น 3.ให้เสรีภาพกับสื่อและประชาชนเพื่อสร้างการตรวจสอบ 4.สร้างระบอบการเมืองที่มีการถ่วงดุลที่สมดุล

เพื่อจะบรรลุ 4 ข้อนี้ จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ต้องมีปัจจัยอย่างน้อย 3 อย่าง คือ 1.การเปลี่ยนวัฒนธรรมความคิด 2.สร้างพลังทางสังคมที่จะกดดัน 3. สร้างกติกาที่ดี ตอนนี้เราไม่มีเลยทั้งสามอย่าง วัฒนธรรมความคิด ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดเรื่องคนไม่เท่ากันได้ มันจึงยากที่จะนำไปสู่พลังทางสังคมหรือกติกา สังคมไทยยังมองคนไม่เท่า แค่ว่าสิทธิเลือกตั้ง หนึ่งคนหนึ่งเสียง ศตวรรษที่ 21 เรายังเถียงเรื่องนี้อีกเรียกว่าย้อนไปยุคกลางเลย โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับอาจารย์วรเจตน์ว่า ความเท่าเทียมคือผลผลิตของประชาธิปไตย เมื่อความเท่าเทียมบรรลุ ประชาธิปไตยก็จะมีคุณภาพมากขึ้น เพราะมันรวมทุกคนเข้ามาในสังคมและเขาก็จะรักและหวงแหนสังคม แต่สังคมไทย ยิ่งนานวันมีแต่กันคนออกไป ส่วนกติกานั้นเป็นขั้นท้ายสุด ในสภาพที่ชักเย่อกันอยู่นี้ และยังไม่มีชุดคุณค่าพื้นฐานร่วมกันเลยจะร่างกติกาที่ทุกคนยอมรับได้อย่างไร

ร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ข้อดีประการเดียวของมันคือมีความชัดเจนในแง่เป้าหมาย ในแง่การเปลี่ยนย้ายอำนาจกลับไปสู่รัฐราชการรวมศูนย์ และถ่ายโอนอำนาจกลับไปสู่ชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ให้เขามากำกับควบคุมสังคมไทยแล้วกำหนดทิศทางประเทศ มันจึงไม่ตอบโจทย์ประชาธิปไตยและการสร้างความเท่าเทียม มันไม่ได้แก้ปัญหาการผูกขาดอำนาจ ไม่แก้ปัญหาให้ชนชั้นนำมีความพร้อมรับผิดต่อประชาชน การตรวจสอบชนชั้นนำที่ไปอยู่ในองค์กรอิสระ ส.ว. ตุลาการ ไม่มีความชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญนี้

คนกลัวนักการเมืองเข้ามาโกง เราต้องนิยามก่อนว่าใครคือนักการเมือง ผมว่าคือ คนที่เข้ามาใช้อำนาจในตำแหน่งสาธารณะ นักการเมืองอาจมีหลายเครื่องแบบ เราไม่ควรกลัวแค่นักเลือกตั้งมาโกง เราควรกลัวทหาร กลัวส.ว.แต่งตั้ง กลัวองค์กรอิสระ ที่จะมีอำนาจแล้วตรวจสอบอำนาจไม่ได้ มันน่ากลัวทั้งนั้นแหละ ทำไมไปกลัวแต่นักเลือกตั้ง แล้ว 80 กว่าปี ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ก็ผลัดเข้ามาใช้ประโยน์จากรัฐราชการรวมศูนย์โดยไม่เคยถูกปฏิรูป

เราเดินหลงทางมาไกลมาก สองปีที่ผ่านมานี้จนวันนี้ก็ยังหลงทางอยู่ หาทางกลับไม่เจอ ความหวังเดียวถ้าจะมี คือ ต้องมีฉันทามติใหม่ในสังคม ระหว่างพลังการเมืองต่างๆ เสื้อสีต่างๆ ไม่ต้องเห็นด้วยกันทั้งหมด แต่อย่างน้อยต้องเห็นร่วมกันว่าจะขัดแย้งกันต่อไปนี้เพื่อมุ่งไปสู่สังคมที่ดีตามที่ตนเชื่อ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ตราบใดยังไม่มีฉันทามติตรงนี้เราจะวนอยู่อย่างนี้อีกหลายปี และอาจต้องจัดการเสวนาอย่างนี้จนอายุ 80 เพื่อพูดเรื่องเดิม ทุกคนมาฟังแล้วปรบมือ แล้วเดินออกไปข้างนอกห้องก็หดหู่เหมือนเดิม

จริงๆ ถ้าเรารักกองทัพ เราต้องเอากองทัพออกจากการเมือง เพราะประสบการณ์ของทุกประเทศ ตั้งแต่สงครามเย็นเป็นต้นมา เราไม่ค่อยเห็นรัฐประหารโดยกองทัพอีก เพราะกองทัพที่มายุ่งทางการเมืองนานๆ จะอ่อนแอ กองทัพถูกดีไซน์มาปกป้องประเทศในภาวะรัฐสมัยใหม่ ไม่ได้ถูกดีไซน์มาผลิตนโยบายสาธารณะ พอทำผิดหน้าที่ก็รวนไปหมด ถ้ารักกองทัพเราต้องค่อยๆ พาท่านออกจากการเมือง ให้ทำงานที่ถนัด เป็นกองทัพอาชีพ ขณะเดียวกันพรรคการเมืองก็ต้องปฏิรูป ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้คนผิดหวังและเป็นชนวนให้กองทัพมายึดอำนาจอีก


อภิชาติ สถิตนิรมัย

ความไม่มั่นคงของคนชั้นกลาง การนำเข้าไม่ครบ ทางออกสังคม ‘แก่ก่อนรวย’

ตัวเลขความเหลื่อมล้ำในรอบ 60 ปีนับตั้งแต่ปี 2500 นั้นพุ่งสูงตามระดับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย จุดสูงสุดอยู่ราวๆ ปี 2535 แล้วตกลงมาเรื่อย ซึ่งเป็นข่าวดี การรวบอำนาจมันคือการรวบความมั่งคั่ง เพราะอำนาจทางากรเมืองถูกนำไปจัดสรรทรัพยากรที่เข้าข้างคนบางกลุ่ม ไม่แปลกที่อาจารย์ประจักษ์จะพูดว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยความเหลื่อมล้ำน้อย ดังนั้น เราจะพูดได้บ้างไหมว่าหลังพฤษภาทมิฬ เราเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

หากดูตัวเลขเฉพาะด้านรายได้ ประเทศไทยสูงติดอันดับต้นของโลก และอยู่อันดับสูงสุดในเอเชียและอาเซียน ถ้าเราแบ่งประชากรเป็น 5 กลุ่ม กลุ่ม 20% บนที่รวยที่สุด เงินออมพุ่งขึ้นอย่างเทียบไม่ได้เลยกับอีก 4 กลุ่มล่าง ส่วนกลุ่ม 20% ที่จนสุดนั้นติดลบแปลว่าติดหนี้ คนรวยส่วนใหญ่มีรายได้หลักที่ไม่ได้มาจากแรงงาน พวกซีอีโอมือทองมีเพียงนิดเดียว แต่ส่วนใหญ่รวยจาก Unearned Income หรือมาจากสินทรัพย์รูปแบบต่างๆ เป็นหลัก ซึ่งก็มีความเหลื่อมล้ำด้านสินทรัพย์อีก ดูแล้วคนไทยมีความต่างกันมากถึง 70 เท่า ระหว่างคน 20% บนสุดและล่างสุด แต่คนเยอรมันนั้นมีความต่างไม่ถึง 1 เท่า

ในช่วงสิบกว่าปีมานี้ คนชั้นกลางล่างรายได้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าคนชั้นกลางบน แปลว่าข้างล่างกำลังไล่กวด ช่องว่างห่างกันลดลง อันนี้แปลว่า เรามี ‘1% problem’ เหมือนอเมริกา เพราะคน 1% บนที่รวยที่สุดของสังคมไทย เติบโตใน 20 ปีเกือบ 300% แต่ คน 1% ที่จนที่สุดนั้นติดลบ

งานสำรวจที่เคยทำ ‘ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย’ ได้สอบถามคนที่ความคิด ‘เหลือง’ หน่อย คนที่ฐานะทางสังคมเศรษฐกิจสูงหน่อย เขาตระหนักเรื่องความเหลื่อมล้ำมากกว่าคนเสื้อแดงด้วยซ้ำ แปลว่าคนชั้นกลางบนมองขึ้นไปข้างบนแล้วเปรียบเทียบ เขาพบว่าสังคมเหลื่อมล้ำมหาศาล ขณะเดียวกันข้างหลัง (ชนชั้นต่ำกว่า) ก็ไล่ตามเข้ามา ฐานะของคนชั้นกลางกำลังถูกบีบทั้งบนและล่าง สิ่งที่ตามจึงเป็น insecurity (ความไม่มั่นคง) ทางความรู้สึก ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแปรเปลี่ยนเป็นความเหลื่อมล้ำด้านการเมืองได้

หากเราเหลียวหลังกลับไปดู ระบบทุนนิยมไทยที่นำเข้าในยุคสฤษดิ์ มีข้อดีทำให้คนส่วนใหญ่หลุดพ้นความยากจนออกมา ประเทศเราเป็นประเทศรายได้ปานกลาง คนส่วนใหญ่พอมีพอกินแต่เปราะบางต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ไม่มีเงินออม แต่อีกทางหนึ่งมันขยายความเหลื่อมล้ำขึ้น และมันนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง คงไม่ต้องพูดมากว่า Trust (ความไว้วางใจ) ทางสังคมถูกทำลายไปมาก ไม่ว่าคุณจะพูดประเด็นอะไรขึ้นมา ต้องมีการแปะป้าย แปะสี มันเป็นสังคม “ทอนกำลัง” ตามคำหมอประเวศ วะสี มันร่วมมือกันไม่ได้ คุณจะผลักดันวาระแห่งชาติอะไรขึ้นมาก็ยาก เป็นผลต่อเนื่องของความขัดแย้งทางการเมือง

คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีเงินออมพอก็ต้องการสถาบันทางสังคมที่รองรับความเปราะบางทางเศรษฐกิจนี้ เป็นเรื่องเดียวกับที่ป๋วยเขียนไว้ในจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน สถาบันที่เป็น Social Safety Net สำหรับคนที่พ่ายแพ้จากระบบตลาด

ในสังคมเราความเหลื่อมล้ำสูงเพราะมีสถาบัน Safety Net ของเรามีน้อยมาก อย่างระบบประกันสังคมเพิ่งมีการจัดตั้งครั้งแรกในสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ แต่มันยังไม่ครอบคลุม สถานการณ์ดีขึ้นหลังปี 2540 ก็เพราะนโยบาย 30 บาท เพราะคนส่วนใหญ่ของเรา 60% อยู่นอกระบบ ไม่มีประกันสังคมรองรับ ดังนั้น ถ้ามองดูสถานการณ์ปัจจุบันสถาบันเซฟตี้เน็ตที่เป็นความหวังของอาจารย์ป๋วยก็ยังบกพร่องอยู่มาก

เรายังมีปัญหาที่ท้าทายอีกอย่างในปัจจุบัน คือ ไทยเป็นสังคมที่จะชรามากขึ้นเรื่อยๆ และอย่างรวดเร็ว ตอนนี้สัดส่วนคนทำงานเรามีสูงที่สุดแล้วและมีแต่จะลดลงเรื่อยๆ ประเทศจะเข้าสู่สังคมคนแก่โดยสมบูรณ์คือ 20% ของประชากรมีอายุมากกว่า 60 ปี ในช่วง 2560 เศษๆ เท่านั้น แปลว่าสถาบันเซฟตี้เน็ตจะยิ่งสำคัญมากๆ คนส่วนใหญ่ของสังคมไทยจะดูแลตัวเองได้ในวัยเกษียณหรือเปล่า สังคมเราจะเป็นสังคม ‘แก่ก่อนรวย’ เตรียมยากจนในวัยไม่มีแรงทำงาน นั่นแปลว่าคุณจะมีรายได้พอเพียงรองรับสังคมคนแก่ ต้องใช้สัดส่วนแรงงานน้อยลงแต่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงขึ้น ต้องยกระดับ Productivity (ผลิตภาพ) การผลิตของเราให้สูงขึ้น ผลิตภาพจะเพิ่มได้มันหนีไม่พ้นที่เราจะต้องร่วมไม้ร่วมมือกันในการยกระดับเพื่อให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง เช่น การยกระดับผลิตภาพแรงงาน แรงงานจะร่วมมือกับนายจ้างคุณไหม มันขึ้นกับความแฟร์ในการแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหามาก สัดส่วนกำไรต่อจีดีพีของเราสูงขึ้น แต่รายได้แรงงานต่อจีดีพีกลับลดลง มันทำให้คนงานไม่มีแรงจูงใจจะปรับปรุงงานเพราะเขาถูกเอาเปรียบตลอดและแทบไม่ได้อะไรจากการร่วมมือปรับปรุงนั้น ฉะนั้น เรากำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนเรื่องความไม่เป็นธรรมในระดับสูง ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง นำมาซึ่งการทำลายความไว้วางใจระหว่างชนชั้นในสังคม เมื่อมันหายไปก็จะเกิดการยกระดับผลิตภาพยาก จึงทำให้เกิดสังคมแก่ก่อนรวย ระบบประกันสังคมแบบที่ป๋วยคาดฝันก็จะไปไม่ถึง

ปัญหาทั้งหมดที่พูดมา เพราะ 50-60 ปีที่แล้วนำเข้าระบบทุนนิยมสมัยใหม่ในสังคมไทย แต่นำเข้าไม่ครบชุด ขาดอีก 2 สถาบัน คือ ไม่นำเข้าสถาบัน Social Safety Net มาด้วย และไม่ได้นำเข้าสถาบันการจัดการความขัดแย้งในสังคม เพราะ สังคมอุตาหกรรมต่อรองผลประโยชน์อย่างซับซ้อน ต้องมีสถาบันที่คอยจัดการความขัดแย้ง เราล้มเหลวตลอดในการสร้าง ตัวอย่างง่ายๆ คือ ต้องมีศาลที่ยุติธรรม เรานำเข้าระบบศาลรัฐธรรมนูญมาในปี 2540 แต่มันถูกแปรเปลี่ยนให้เข้ากับเนื้อดินสังคมไทย แทนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำตามฟังก์ชั่นในการยุติความขัดแย้งในสังคม ผลงานที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ว่าก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมหนักขึ้นอีก

ผมมีข้อเรียกร้องว่า ต้องขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพให้มากที่สุดในทุกแง่มุมม เรานำเข้าระบบทุนนิยมสมัยใหม่มา แต่ขาดอีกสองสถาบัน เราจะสร้างมันอย่างไร เนื่องจากมันนำเข้าสถาบันไม่เหมือนการนำเข้าเครื่องจักร การนำเข้ากับสถาบันต้องปรับให้เข้ากับเนื้อดินของสังคมไทย มีเงื่อนไขอะไรที่จะทำให้การนำเข้าสถาบันแล้วมันเข้ากับสังคมไทยแล้วไปข้างหน้ากับระบอบประชาธิปไตยซึ่งมันไปกันได้กับระบบทุนนิยมด้วย เงื่อนไขนั้นคือ ความเป็นประชาธิปไตยในความหมายที่ว่าพื้นที่สิทธิเสรีภาพ ในวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์หรือที่เรียกว่า Participatory Politics เป็นอภิแม่แบบการสร้างสถาบัน เพราะมันทำหน้าที่รวบรวมความคิดข้อมูลจากคนจำนวนมากแล้วดึงมาปรับแต่งให้สถาบันที่ทำหน้าที่สองอย่างที่กล่าวถึงนั้นเข้ากับเนื้อดินสังคมไทย ซึ่งจะส่งผลให้สร้างความเป็นธรรมและลดความขัดแย้ง

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากเสนอและอยู่ในตรรกะเดียวกันคือ ต้องกระจายอำนาจขนานใหญ่ลงสู่ท้องถิ่น ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีคำตอบต่อเรื่องนี้ มันจะทำให้คนกว้างในท้องถิ่นส่งต่อข้อมูลความคิดได้ และมันทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองลดลงด้วย ส่วนกลางรวมศูนย์มีอำนาจตัดสินใจหมดก็เท่ากับผลประโยชน์จากการยึดรัฐส่วนกลางสูงมาก เราต้องทุบอำนาจนี้ให้แบะแล้วกระจายสู่ชนบททั่วประเทศ มันจะทำให้ผลได้จากการยึดอำนาจส่วนกลางน้อยลง จะทำให้คนไปแข่งกันที่ท้องถิ่นมากขึ้น ความขัดแย้งความรุนแรงที่ต้องการยึดรัฐส่วนกลางจะน้อยลง 

สุดท้าย ระบบราชการต้องปฏิรูปขนาดใหญ่ ไทยแลนด์ 4.0 กำลังจะถูกนำโดยรัฐราชการ คุณคิดว่ามันรอดไหมในทางเศรษฐกิจ
 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

รากคิด "คนเท่ากัน" และ 4 โจทย์ใหม่-ใหญ่ของสังคมที่รัฐธรรมนูญไม่ตอบ

ของแบ่งการพูดเป็น 2 ส่วน ตับแรกเรียกว่า ‘ความเท่าเทียม’ ตับสองเรียก ‘ความเท่าเทียมๆ’ เพราะคำนี้น่าสนใจ ความเท่าเทียมนั้นตกลงมันจะเท่าจริงหรือเท่าเทียม (ไม่จริง)

ถามว่าในแง่การศึกษาด้านสังคมวัฒนธรรมเขาพูดถึงอะไรกันในเรื่องนี้ เขาพูดมานานแล้วว่า การศึกษาเรื่องนี้วางอยู่บนหลักการสำคัญ คือ 1.หลักการของคนเท่ากัน 2.ไม่มีสังคมใดเหนือสังคมอื่น หลักการทั้งสองเหมือนจะขัดแย้งกัน แต่มันยอมรับทั้งการมีอยู่ของปัจเจกบุคคลและของสังคม และยึดมั่นว่าความแตกต่างของปัจเจกและความหลากหลายของสังคมนั้นไม่ได้บอกว่าใครเหนือกว่าใคร ดังนั้น มันต้องมองคนเท่ากันตั้งแต่แรก

ในระดับพื้นฐาน ทำไมการศึกษาทางสังคมวัฒนธรรมต้องยึดหลักการ “คนเท่ากัน”  เมื่อต้องเผชิญหน้าของการแยกสิ่งมีชีวิต ในสาขามนุษยวิทยากายภาพ พบโจทย์สำคัญคือ คนกับลิง ก่อนหน้านี้ร้อยกว่าปีอาจไม่มีปัญหานี้ เพราะเชื่อกันแต่แรกว่าคนแตกต่างจากลิงโดยไม่มีข้อสงสัย แต่ข้อสงสัยนี้สำคัญขึ้นมาเมื่อถึงยุคสมัยที่คนเชื่อว่าพระเจ้าไม่ได้สร้างมนุษย์ และมนุษย์กับลิงมีบรรพบุรุษร่วมกัน แล้วจะแบ่งอย่างไร จะใช้เกณฑ์อะไร ลิงมีหลายเผ่าพันธุ์ มนุษย์ก็เช่นกัน เพียงแต่ว่ามนุษย์มีมากกว่าหนึ่งเผ่าพันธุ์นั้นคือสถานการณ์เมื่อสองล้านปีที่แล้ว ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองทางชีววิทยาจะมีสิ่งที่เรียกว่า จีนัสโฮโม ซึ่งมีหลายโฮโม หลายเผ่าพันธุ์ แต่ความแตกต่างของมนุษย์เหล่านี้หายไปเมื่อราวล้านปีที่แล้ว ถ้าใครที่เชื่อว่ามนุษย์ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน แปลว่าเขาเป็นมนุษย์เมื่อสองล้านปีที่แล้ว ปัจจุบันนี้เหลือเผ่าพันธุ์เดียว คือ โฮโมซาเปี้ยน (ซาเปี้ยนแปลว่า wisdom) ดังนั้น ทางกายภาพพื้นฐานที่สุด ไม่ว่ากำเนิดที่ไหนอย่างไร โดยพื้นฐานแล้วมีพันธุ์เดียวกัน ทุกคนจึงมีศักยภาพในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ มีความคิดทัดเทียมกัน แต่ทำไมมนุษย์ถึงต่างกัน นี่คือความมหัศจรรย์ของมนุษย์ ในพื้นฐานที่เหมือนกัน มนุษย์มีทางเลือกเยอะมาก มีจำนวนภาษา 5,000-7,000 ภาษา

หลักการสำคัญอีกข้อ คือ “ไม่มีสังคมใดเหนือสังคมอื่น” หลักการนี้วางบนแนวคิดสัมพัทนิยมทางวัฒนธรรม และไม่ยึดมั่นวัฒนธรรมของตัวเองเป็นหลัก อย่าเอาค่านิยมของคุณไปตัดสินสังคมอื่น เช่น เห็นคนไม่ใส่เสื้อผ้าก็อย่าทึกทักว่าเขาต่ำกว่าเรา ความคิดแบบนี้แง่หนึ่งถูกบิดเบือนได้เหมือนกัน ในสังคมประชาธิปไตยความคิดทั้ง 2 ข้อนี้ มันอาจดูขัดแย้งกัน เพราะในหลายสังคมวัฒนธรรมไม่เคารพความเท่าเทียมกันของบุคคล พอถูกชาวโลกท้วงติงก็เอาความเท่าเทียมกันของวัฒนธรรมมากลบเกลื่อนความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม เช่น สังคมนิยมหมอบกราบจะบอกว่าอย่าเอาค่านิยมอื่นมาบอกว่านั่นเป็นสิ่งไม่พัฒนา อันนี้เป็นความคิดที่บิดเบือนหลักการ “ไม่มีสังคมใดเหนือสังคมอื่น” เพราะมันมีเพื่อเอาไว้ปกป้องคุ้มครองสังคมที่ถูกดูถูกดูแคลน แต่ในสังคมไทยนั้นบิดเบือนแนวคิดนี้เอามาปกป้องคนอยู่ในอำนาจของสังคม

มีการพูดกันมากในรอบหลายปีว่า หลักสิทธิมนุษยชน แนวคิดประชาธิไตยเป็นแนวคิดตะวันตก เป็นวัฒนธรรมที่ไปรับมาทำไม จริงๆ แล้วถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์ของสองสิ่งนี้ซึ่งได้รับการสถาปนาและใช้เป็นแบบอย่างมาจากสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส จะพบข้อถกเถียงใหม่ในการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรม พบว่า ในฝรั่งเศสซึ่งมีอาณานิคมมากมาย เฮติซึ่งเป็นหนึ่งในอาณานิคมของฝรั่งเศสพบว่าการลุกฮือของชาวเฮติที่เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส และการลุกฮือของเฮติเป็นแรงบันดาลใจให้ฝรั่งเศส นอกจากนี้ก่อนการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา คนยุโรปที่อพยพไปพบกับคนพื้นเมืองอเมริกันอินเดียน แล้วพบภารดรภาพแบบประชาธิปไตย เคารพซึ่งกันและกัน และเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนรัฐธรรมนูญของสหรัฐ ดังนั้น สองหลักนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นแนวคิดของตะวันตก

แล้วสังคมไทยมีแนวคิดแบบนี้ไหม ถ้าจะบอกว่าสองอย่างนี้ไม่อยู่ในเนื้อดินสังคมไทย เรากำลังหมายถึงคนกลุ่มไหนที่ไม่ยอมรับสองหลักการนี้ อย่างน้อยที่สุดเรามีหลักฐานชัดเจนว่า แนวคิดสิทธิมนุษยชนประกาศไว้ในประกาศของคณะราษฎรฉบับหนึ่ง “...ต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาพกัน (ไม่ใช่ให้พวก...มีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรอย่างที่เป็นอยู่)” เราไม่ได้ถูกตะวันตกบังคับให้ยอมรับ แต่เพราะคนในประเทศเองเห็นว่าควรต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เห็นคนเท่ากัน

สำหรับตับที่สอง ความเท่าเทียมๆ

หลังการแถลงของหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งซึ่งไม่อยากจะเอ่ยื่อ ผมคิดว่าเริ่มมีอะไรน่าสนใจมากขึ้นของแนวโน้มการลงประชามติ ณ นาทีนี้โจทย์ที่ถามว่าจะโหวตแบบไหน มันอาจเลยไปถึงว่า ทำไมกระแสโหวตโนมันแรงขึ้นเรื่อยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการปิดกั้นสิทธิการแสดงออกมากมาย แล้วตกลงโจทย์ของสังคมไทยขณะนี้คืออะไร ตรงนี้เห็นว่าแนวคิดของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ยังเป็นประโยชน์ นั่นคือแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรในปัจจุบันนี้ไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง หรือยังไม่ได้สะท้อนฉบับวัฒนธรรมที่เรามี ถามว่าแล้ววัฒธรรมคืออะไร สังคมไทยใหญ่มาก เราไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเนื้อเดียวกัน เราต้องประเมินว่ารอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่เราอยู่ด้วยกันมีโจทย์อะไรใหม่ๆ บ้าง เราเถียงกันเรื่องอะไรอยู่ จึงอยากชวนย้อนกลับไปพูดถึงรัฐธรรมนูญ 2540 หลังเปลี่ยนมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังอาศัยฐานของรัฐธรรมนูญ 2540 มากเหมือนกัน แล้วรัฐธรรมนูญ 2540 มันตอบโจทย์อะไร โจทย์ของรัฐธรรมนูญ 2540 ชัดเจน มี 3 ข้อ 1.การทำให้นักการเมืองและพรรคการเมืองมีอำนาจในการกำหนดนโยบายและบริหารประเทศได้อย่างแท้จริง 2.การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น และยอมให้ท้องถิ่นเก็บภาษีบำรุงท้องที่ได้ 3.การเกิดขึ้นขององค์กรอิสระ ในขณะนั้นเราพูดเรื่องความโปร่งใสมากมายเพื่อตอบโจทย์ว่าเมื่อให้อำนาจนักการเมืองมากแล้วก็ต้องออกแบบสถาบันที่จะถ่วงดุล สามข้อนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมากมาย

ปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญ 2540 กลายเป็นผู้ร้าย และถูกฉีกสองครั้งสองคราเพราะผลของมันก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่ สร้างคนกลุ่มใหม่ขึ้นมาแล้วไปท้าทายอำนาจของคนกลุ่มเก่า ถ้าถามเลยไปอีกว่า แล้วในปัจจุบันนี้มีโจทย์อะไรที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับประชามติมีโอกาสไม่ได้รับความเห็นชอบ ถ้าต้องร่างใหม่มีโจทย์อะไรสำคัญ เห็นว่ามีดังนี้

1.ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชน

2.การถ่วงดุลระหว่างการปราบโกงกับการดำเนินนโยบายเพื่อสนองความต้องการของประชาชน

3.การถ่วงดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพประชาชนกับความมั่นคงของรัฐ

4.ความยุติธรรมและการปรองดอง

สำหรับเรื่องการปราบโกงกับการผลิตนโยบาย ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 กลไกที่งอกเงย คือ องค์กรอิสระ สาแหรกต่างๆ ที่สืบทอดมาจาก คสช. กลายป็นว่าร่างนี้เน้นกลไกควบคุมนักการเมืองและวางนโยบายอีก 20 ปี แต่มันกลับไม่พูดถึงว่าปัญหาใหม่ต่างๆ มากมาย ปัจจุบันโลกนี้เขาพูดอะไรกันบ้าง ทุกอย่างถูกมองข้ามไปหมด พูดแต่เรื่องปราบโกงอย่างเดียว โดยไม่มีความฝันใหม่ๆ

สำหรับเรื่องสิทธิเสรีภาพกับความมั่นคง กรอบความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองกับรัฐควรอยู่ตรงไหน สิ่งหนึ่งที่ทำให้ร่างโดนวิจารณ์มากคือ หลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพหายไปอย่างมาก และความมั่นคงมากำกับอย่างมาก

สำหรับประเด็นสุดท้าย เราไม่ค่อยได้พูดถึงในการถกเถียงในการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จริงๆ มีศัพท์ที่เรียกว่า “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” แต่คำว่า ความยุติธรรม และคำว่า ระยะเปลี่ยนผ่าน ถูกใช้จนคลาดเคลื่อน ประเด็นคือเราเลี่ยงไม่ได้กับข้อเท็จจริงที่ว่าเราบอบช้ำกันมามาก เราผลัดกันเป็นเหยื่อและผลัดกันใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ผลัดกันเป็นผู้ละเมิดประชาชนและเป็นประชาชนที่ถูกละเมิด ทำอย่างไรจะก้าวข้ามตรงนี้ สังคมไทยต้องกลับไปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้นและบรรจุเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ทำอย่างไรจะเยียวยาเหยื่อทางการเมืองไม่ว่าฝ่ายใด เหตุการณ์ใด จะให้ความยุติธรรมกับเขาได้อย่างไร

ถ้าสี่ข้อนี้ไม่ถูกตอบ เราจะอยู่ในวังวนความขัดแย้งนี้อย่างไร
 

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ความสัมพันธ์ของความเท่าเทียม-ประชาธิปไตย-นิติรัฐ และการชักเย่อที่ยังไม่จบ

เมื่อรับมาพูดในเวทีเรื่องความเท่าเทียมของชีวิตก็ค่อนข้างหนักใจ เพราะหากดูอาจารย์จากสาขาต่างๆ ที่มาร่วมจะเห็นว่า กฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ทีหลังสุด ทุกอย่างถูกคิดโดยนักคิดสาขาอื่นๆ มาก่อนแล้วจึงมาร่างกฎกติกา วิชานิติศาสตร์เองจึงค่อนข้างแปลกแยก เนื่องจากลักษณะของนิติศาสตร์เป็นศาสตร์ของการใช้กฎหมาย การตีความ และวิธีการซึ่งการได้มาซึ่งความรู้และการตีความต่างกับสายสังคมศาสตร์

ต่อคำถามที่ได้รับว่า ความเท่าเทียมกันกับประชาธิปไตยนั้นสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร ในทางกฎหมายไม่ค่อยได้ใช้คำว่า “ความเท่าเทียม” แต่ใช้คำว่า “ความเสมอภาค” ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในกฎหมายมหาชนสมัยใหม่ คำอธิบายก็คือ คนเราเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกันแต่มีความแตกต่างกันอยู่ คนแต่ละคน unique ทั้งสิ้น ในสังคมบ้านเราเองก็ยังชอบอธิบายว่า คนเรานิ้วมือยังไม่เท่ากันเลย จะทำให้คนเท่าเทียมได้อย่างไร เราต้องยอมรับว่าหลักคิดเรื่องความเสมอภาค สืบสาวกลับไปได้ในอารยธรรมตะวันตก หรืออมุมมองตะวันตกอธิบายได้ชัดกว่ามุมมองตะวันออก เขามีไอเดียว่า มนุษย์เสมอหน้ากันต่อหน้าพระเจ้า แล้วพัฒนาเป็นหลัก มนุษย์เสมอภาคกันเบื้องหน้ากฎหมาย ไอเดียแบบนี้เป็นการจัดการปกครองโดยกฎหมาย กำหนดกฎเกณฑ์การให้ความยุติธรรมแก่บุคคล ถามว่านิติรัฐกับประชาธิปไตยสัมพันธ์กันอย่างไร ผมคิดว่า การใฝ่หาความเสมอภาคนั่นแหละเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการเรียกร้องระบอบการปกครองประชาธิปไตย

ย้อนกลับดูในอดีตที่ไอเดียประชาธิปไตยยังไม่เป็นแบบนี้หรือแพร่หลายแบบนี้ ในอดีตการปกครองต้องมีผู้นำ เราบอกว่าการปกครองแบบนั้นคล้ายกับเผด็จการก็ได้ แต่มันยังไม่เป็นระบบระเบียบ ยุคสมัยนั้นเมื่อปกครองไปถึงจุดจุดหนึ่งคนจะเรียกร้องความเสมอภาค มนุษย์เราในเบื้องต้นต้องหาความปลอดภัยให้ชีวิตตัวเองเป็นเบื้องแรก เมื่อปลอดภัยแล้วก็จะเริ่มมองคนอื่น เมื่อมองเห็นคนอื่นแล้วพบว่ามีความไม่เท่ากันจึงเกิดการเรียกร้อง ประชาธิปไตยจึงเป็นการต่อสู้เรียกร้องอยู่โดยตลอด   

ถ้าเราบอกว่าประชาธิปไตยเป็นผลมาจากการเรียกร้องให้มีความเสมอภาค แล้วในระบอบประชาธิปไตย อะไรจะเป็นเครื่องประกันว่าเราจะเสมอภาคกันได้จริง ข้อจำกัดในการเกิดเป็นมนุษย์นั้น ไม่มีใครเกิดมาแล้วจะเหมือนกันได้เลย แต่ในทางกฎหมายเราไม่ได้มุ่งให้ทุกคนมีทุกอย่างเหมือนกันหรือเท่ากันเพราะมันอาจอันตรายกับเรื่องเสรีภาพเหมือนกัน ในทางกฎหมายมันจึงหมายถึงเรื่องโอกาส รัฐต้องสร้างเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นให้คนมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร การแข่งขันเท่าเทียมกัน ซึ่งมันก็ต้องมีกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย ถ้ากฎหมายออกโดยใครก็ได้ตามใจคนนั้นมันก็จะย้อนกลับไปสู่ระบอบอันเดิมก่อนเป็นประชาธิปไตยซึ่งเอื้อต่อพวกพ้องของตัวเอง ระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมในการปกครอง ด้านหนึ่งมีคุณค่าพื้นฐานให้คนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ดังนั้นกฎหมายก็ต้องออกโดยคนทั้งหลายที่มีสิทธิมีเสียงในการปกครอง สองสิ่งนี้จึงเป็นเงื่อนไขต่อกันและกัน ถ้ากฎหมายไม่ได้ออกโดยคนทั่วไปมันก็ยากที่จะต่อรองให้เกิดความเท่าเทียมสำหรับคนทั่วไปได้ ฉะนั้น ในรัฐที่เป็นประชาธิปไตยและนิติรัฐ ต้องมีหลักการ 2 อย่างนี้คู่ไป คือ 1.ประกันเสรีภาพบุคคล คือ ต้องมีแดนแห่งเสรีภาพของบุคคล จะก้าวล่วงไม่ได้ ต้องให้เขาได้แสดงศักยภาพเต็มที่ 2. คนๆ นั้นเรียกร้องรัฐให้ปฏิบัติต่อเขาให้เท่าเทียมกันกับบุคคลอื่น เป็นสิทธิให้คนเรียกร้องต่อรัฐให้ปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

ความคิดแบบนี้เป็นผลิตผลของการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ มีหมุดหมายสำคัญจาก 2 เหตุการณ์ คือ การประกาศอิสรภาพของสหรัอเมริกา และปฏิวัติฝรั่งเศส ไอเดียกฎหมายมหาชนสมัยใหม่ตั้งฐานจากสองเหตุการณ์นี้ กฎหมายมหาชนสมัยใหม่จึงผูกกับหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ จึงเป็นธรรมดาที่กฎหมายมหาชนสมัยใหม่จะไปไม่ได้กับรัฐเผด็จการ เพราะรัฐแบบนั้นไม่มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐเลย

สังคมก่อนประชาธิปไตยนั้นปฏิบัติกับคนไม่เสมอภาคกัน เอารัดเอาเปรียบกัน คนเกิดชนชั้นสูงได้เปรียบกว่าในการเข้าถึงทรัพยากร คนที่เหลือรับกับสภาวะแบบนี้ไม่ได้จึงเกิดการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เฉพาะประชาธิปไตยอย่างเดียวไม่พอ เพราะยุคแรกประชาธิปไตยเน้นเสรีภาพของบุคคลนั้นจริงอยู่ แต่นึกดูว่าคนเรามีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ไม่ช้านานก็เกิดการเอารัดเอาเปรียบ เกิดความเหลื่อมล้ำอีก ในแง่นี้ตัวกฎเกณฑ์ของรัฐที่จะสร้างความเท่าเทียมต้องเป็นประชาธิปไตยที่คำนึงถึงสวัสดิการสังคม

จริงๆ เรามีปัญหาตั้งแต่ขั้นแรก ต้องถามว่าเราเป็นประชาธิปไตยและนิติรัฐไหม ผมคิดว่าเราอยู่ในระบอบชักเย่อกัน การหาจุดคุณค่าพื้นฐานร่วมกันยังไม่จบ หลายสิบปีที่ผ่านมา ปัญหารากฐานประชาธิปไตยยังไม่จบ ปัญหาที่เกิดขึ้นยังชักเย่อระหว่างแนวคิดประชาธิปไตยกับแนวคิดปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ถ้าการต่อสู้จบเมื่อไร มีคุณค่าพื้นฐานร่วมกัน เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐไม่เลือกปฏิบัติ เราจะเจอปัญหาสวัสดิการสังคมอีก การทำให้รัฐเราสู่จุดหมายแบบป๋วยนั้นย่อมต้องใช้เวลาอีกนานมาก เพราะปัญหาในทางโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองมันยังไม่เสร็จ ไม่จบ

กลไกที่มีอยู่ในระบบกฎหมายที่เรารับมาจากตะวันตก เมื่อเข้ามาในระบบเราแล้ว กลไกแบบนั้นไม่ได้ serve คุณค่าแบบที่เราพูดถึง เพราะมันยังไม่ถูกฝังลงในทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญเขียนตั้งแต่ฉบับสองว่า บุคคลย่อมเสมอกันในทางกฎหมาย รับต่อเนื่องมาตลอด แต่ในทางความเป็นจริง เวลาใช้กฎหมายในบ้านเราหลายกรณียังห่างจากหลักความเสมอภาคที่ควรจะเป็น

อันหนึ่งที่สำคัญ เวลาเราพูดถึงความเสมอภาคเป็นส่วนหนึ่งของนิติรัฐ นิติรัฐคือรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรม บางทีนักกฎหมายก็พูดแค่ว่านิติรัฐคือ รัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย วันนี้มีการอ้างกฎหมายเต็มไปหมด และคนที่อ้างก็เป็นคนออกกฎหมายเอง กฎหมายกลายเป็นอะไรบางอย่างที่กดทับคน แต่เรากลับไม่ได้พูดถึงเนื้อหาว่ากฎหมายต้องมีเนื้ออย่างไร นิติรัฐต้องปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรม หรือมีองค์ประกอบความยุติธรรมอยู่ในนั้น ถ้าไม่มีก็เป็นกฎหมายดิบๆ เถื่อนๆ

เผด็จการไม่มีทางที่จะส่งมอบความเท่าเทียมกันได้ เพราะธรรมชาติของตัวระบอบอำนาจรวมศูนย์กับผู้มีอำนาจ กฎเกณฑ์ที่ออกไม่ได้ผ่านการต่อรองกัน และขาดเรื่องความชอบธรรม ในแง่นี้ทุกคราวที่มีระบอบเผด็จการถึงต้องมีคนเรียกร้องประชาธิปไตยเพราะมันมีพื้นฐานที่ดีที่จะต่อรองกัน มันกำหนดกฎเกณฑ์มัดอำนาจของรัฐไว้กับหลักการความเสมอภาค และมีการตรวจสอบและควบคุมในระนาบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ไม่ยอมตรวจสอบองค์กรที่ครองนิยามของความดี ประชาธิปไตยนิติรัฐปฏิเสธไอเดียเลือกปฏิบัติเช่นนั้น เพราะมนุษย์ทุกคนเกิดมาโดยเสมอภาคและเสรี ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และตามมาด้วยหลักที่บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมาย แต่รายละเอียดของมนุษย์เราอาจไม่เหมือนกัน รัฐจึงต้องจะสร้างกฎเกณฑ์ที่เอื้อให้คนแต่ละคนเสมอภาคกันทางโอกาส

(ปกป้อง จันวิทย์ ผู้ดำเนินรายการถามถึงทางออกจากปัญหาว่าจะสร้างสังคมที่เท่าเทียมได้อย่างไร โดยขอให้มองอนาคตที่ไกลกว่าความขัดแย้งเฉพาะหน้า อะไรคือเนื้อหาสาระที่ต้องยึดถือไว้ให้มั่น อะไรคือหลักที่ควรมีในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน)

รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยต้องมีสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่กำเนิดมาจากเจ้าของอำนาจ คือ ประชาชน เวลาออกแบบรัฐธรรมนูญต้องเป็นห่วงโซ่หรือสายธารที่โยงจากประชาชนไปยังคนใช้อำนาจของรัฐโดยไม่ขาดตอนลง คำถามที่สำคัญคือ คนที่จะมาใช้อำนาจสาธารณะมีจุดยึดโยงกลับมาเจ้าของอำนาจอย่างไร แล้วเขาจะรับผิดชอบต่อประชาชนเอง ปกติสายโซ่ที่ชัดเจนคือ สภาผู้แทนราษฎร ส่วนองค์กรอื่นที่ห่างออกไปเราต้องปฏิเสธการตั้งองค์กรคนดี ถ้าตัดขาดจากประชาชนหรือไม่มีความพร้อมรับผิด ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครในการใช้อำนาจ ถ้าจะมีระบบถ่วงดุลอำนาจก็ต้องตั้งฐานจากประชาธิปไตย ไม่ใช่เอาจากฐานอื่นมาถ่วงดุล จะสู้กับองค์กรที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยด้วยองค์กรที่อ้างความชอบธรรมลักษณะอื่นไม่ได้ ยกตัวอย่าง เราจะทำรัฐธรรมนูญ เรามีหลักการแบ่งแยกอำนาจ ทุกองค์กรต้องเชื่อมโยงกลับมาที่เจ้าของอำนาจ ตุลาการก็ต้องเกาะเกี่ยวด้วย เป็นไปไม่ได้ที่ปล่อยให้ศาลหลุดออกไปแล้วจัดระบบกันเอง ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้จะให้การเมืองครอบงำตุลาการ แต่ฝ่ายตุลาการนั้นการจัดโครงสร้างก็ต้องมีความพร้อมรับผิด เช่น คณะกรรมการตุลาการที่คัดสรรตุลาการ ต้องตอบได้ว่ามาจากองค์กรไหนและสืบสาวมากับประชาชนอย่างไรซึ่งก็ทำได้หลายรูปแบบ ถ้ามีความผิดเกิดขึ้นจะรับผิดชอบอย่างไร  หรือองค์กรอิสระก็จะหลุดจากการตรวจสอบไม่ได้ กองทัพเป็นหน่วยงานประจำ แต่ระบบตรวจสอบต้องมีผู้ตรวจการกองทัพ คนนั้นต้องรู้เรื่องในกองทัพแล้วรับผิดชอบต่อสภาหรือประชาชนโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เราต้องสืบสาวทุกอย่างมาที่ประชาชนได้ อาจยกเว้นได้เช่นองค์กรที่ปรึกษา ระดับความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอาจไม่จำเป็นต้องเข้มข้นเท่าองค์กรที่ใช้อำนาจ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา องค์กรตุลาการเป็นองค์กรที่ขาดสิ่งเหล่านี้มาก

ในรัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่ทำให้ปัญหาลักษณะแบบนี้หนักขึ้นไปอีก เพราะเขากลัวองค์กรจากากรเลือกตั้งครอบงำองค์กรแบบอื่น องค์กรจากการเลือกตั้งมันมีทั้งฝ่ายข้างมากและฝ่ายข้างน้อย ก็ให้เขาถ่วงกัน และมันจะมีคนทั้งสองส่วนจะอยู่ในหน่วยงานเหล่านั้นทำการเช็คบาลานซ์อำนาจกัน เราต้องบาลานซ์โดยอย่าปฏิเสธประชาธิปไตย ผมไม่ได้ปฏิเสธการตรวจสอบถ่วงดุล แต่มันขัดดกันไม่ได้กับหลักประชาธิปไตย

(ผู้ดำเนินการถามว่า ช่วงหลังมีคนพูดว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นฉบับปราบโกง การโกงก็ทำลายความเท่าเทียม ทุกคนต่างยอมรับกับเรื่องนี้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ปราบโกงได้จริงไหม?)

ผมจะตอบคำถามนั้นโดยการตั้งคำถาม ในร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกเสียงประชามติ มาตราสุดท้าย มาตรา  279 ให้บรรดาประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช.หรือหัวหน้าคสช.ที่บังคับอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญหรือจะบังคับใช้ต่อไป ไม่ว่าทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คำถามคือ สมมติว่าร่างนี้ประกาศใช้จริง อีกหลายปีข้างหน้า มีคนสงสัยว่าการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อปี 2557 เป็นต้นมาอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น อาจโดย คสช.หรือคนปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. เราจะตรวจสอบการทุจริตได้ไหม ในเมื่อมันมีการรับรองไว้แล้วว่าการกระทำต่างๆ เหล่านี้ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย บทบัญญัติแบบนี้จะปิดการตรวจสอบโดยสิ้นเชิงใช่ไหม อย่างนี้เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงได้หรือไม่

เมื่อพิจารณาดูสิ่งที่เขาเรียกว่าปราบโกง คือ การกำหนดคุณสมบัติเข้าสู่ตำแหน่งไว้ว่าใครต้องคำพิพากษาไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ แต่ถามว่ามีตัววิธีการการปราบโกงไหม ไม่มี อาศัยเพียงกำหนคุณสมบัติคนเข้าสู่อำนาจ เท่าที่ศึกษารัฐธรรมนูญทั่วโลกไม่มีการเขียนกฎหมายปราบการทุจริตคอร์รัปชันได้เลย การปราบทุจริตคอร์รัปชันต้องทำโดยกลไกอย่างอื่นด้วย กฎหมายเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังกลไกทางวัฒนธรรม กลไกทางสังคม การเปิดให้มีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งมาตราฐานเดียวกัน มิพักต้องพูดถึงว่าภายใต้การต่อสู้ทางการเมืองหลายสิบปีนี้ มีเสียงพูดถึงเรื่องสองมาตรฐาน ผมพูดจริงๆ แม้แต่คำพิพากษาของศาลที่ตัดสินแล้วในหลายกรณีถกเถียงได้ จะเอาตรงนี้เป็นเกณฑ์เด็ดขาดเลยเป็นเรื่องลำบาก เกรงว่าสิ่งที่เชื่อว่าปราบโกงนี้จะกลายเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองในการขจัดคนที่ไม่ชอบไม่ให้เข้ามาสู่ตำแหน่ง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต. ตั้งเป้าคนมาโหวต 80% แต่ถ้าน้อยกว่าปี 50 ถือว่ามีปัญหา

0
0

29 ก.ค.2559 สมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้ว่า ยอมรับว่า ประชาชนยังไม่มีความเข้าใจเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญ แต่ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ก็เชื่อว่าประชาชนไม่ได้เข้าใจทั้งหมด แต่ผลการออกเสียงที่ออกมาเหมือนกับเอาสีไประบายตามพื้นที่ต่าง ๆ ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่จำเป็นที่ประชาชนต้องเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด แต่ควรรับทราบเนื้อหาสำคัญและชั่งน้ำหนักเองว่าสิ่งที่ตัวเองสนใจกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ออกมาดีหรือไม่ ถ้าดีก็รับ ไม่ดีก็ไม่ต้องรับ ดีกว่าจะบอกว่าไม่ต้องสนใจอะไรแล้วบอกให้กาซ้ายหมด หรือกาขวาหมด เพราะการพูดเช่นนี้เป็นการทำร้ายประเทศชาติ เนื่องจากเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีเหตุผลแต่ใช้พวกมากลากไปเป็นเรื่องที่อันตราย

สมชัย กล่าวด้วยว่า ก่อนจะถึงวันออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559 ยังมีเวลาที่จะให้ข้อมูลกับประชาชนเกี่ยวกับเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น โดย กกต. ตั้งเป้าหมายว่า จะมีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 80 ซึ่งความสำเร็จของกกต.ในการรณรงค์ออกเสียงประชามติต้องวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าในปี 50 ที่อยู่ที่ร้อยละ 57 แต่ถ้าต่ำกว่าร้อยละ 57 ก็ถือว่าการทำงานของ กกต.มีปัญหา 

 

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์และผู้จัดการออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทุนกองทัพไทย (4): ธุรกิจพลังงานของกองทัพ

0
0


 

บทความนี้เป็นตอนที่ 4 ในซีรีส์ “ทุนกองทัพไทย” บทความ 3 ตอนแรกอธิบายถึงกรรมสิทธิ์“ทุนของกองทัพไทยในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ [1]ทีวี สถานีวิทยุ [2]  รวมทั้งสิทธิครอบครองที่ดินประมาณ 5 ล้านไร่ [3]เพื่อชี้ให้เห็นว่ากองทัพไทยคือกลุ่มทุนขนาดใหญ่และผูกขาดบางภาคธุรกิจมานานกว่าครี่งศตวรรษ ความเป็นกลุ่มทุนของกองทัพไทยเป็นเอกลักษณ์ของทุนนิยมแบบไทยๆ เพราะกองทัพในประเทศทุนนิยมอย่างสหรัฐฯและญี่ปุ่นไม่ถือหุ้นบริษัทและไม่ลงทุนในกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ

บทความนี้อธิบายเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานของกองทัพไทย กล่าวคือ ธุรกิจน้ำมันและธุรกิจไฟฟ้า การสำรองพลังงานสำคัญต่อการป้องกันประเทศ เพราะกองทัพเคลื่อนทัพไม่ได้ถ้าไม่มีน้ำมัน และฐานทัพดำเนินงานไม่ได้ถ้าไม่มีไฟฟ้า แต่การสำรองพลังงานเพื่อการป้องกันประเทศแตกต่างจากการขายพลังงานเพื่อหารายได้


ธุรกิจน้ำมันของกองทัพ

กองทัพเป็นผู้ผลิตน้ำมันตั้งแต่พ.ศ. 2499 เนื่องจาก“กรมการพลังงานทหาร”ได้รับโอนกิจการขุดเจาะและกลั่นน้ำมันที่อ.ฝาง จ.เชียงใหม่จากกรมโลหะกิจ (ซึ่งต่อมาคือกรมทรัพยากรธรณีสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม) [4]การโอนกิจการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม และภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก กรมการพลังงานทหารได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ รวมทั้งกองสำรวจและผลิต ได้สำรวจพบแหล่งน้ำมันเพิ่มเติมที่อ.ไชยปราการ ต่อมาก็ขยายการสำรวจแหล่งน้ำมันไปที่ จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.เชียงราย และจ.พะเยา

ในระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมากรมการพลังงานทหารมีกองสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาจนถึงปัจจุบัน ปีนี้กรมการพลังงานทหารมีแผนการผลิตน้ำมันดิบ 329,400 บาร์เรล [5] แม้ว่าเทียบแล้วไม่ถึง 1% ของสัดส่วนการผลิตจากแหล่งน้ำมันอื่นๆโดยรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน [6] แต่ปริมาณน้ำมันดิบดังกล่าวก็มีมูลค่ากว่า 500 ล้านบาทเมื่อคำนวณด้วยราคา 45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ถ้าประเมินด้วยมูลค่าปีละ 500 ล้านบาทในระยะเวลา 60 ปีก็จะคิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 30,000 ล้านบาท ถ้าการเบิกจ่ายผลผลิตจากโรงกลั่นของกรมการพลังงานทหารมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันประเทศก็สอดคล้องกับหน้าที่ของกองทัพ แต่ถ้ามีการขายน้ำมันดิบหรือขายผลผลิตจากโรงกลั่นของกรมการพลังงานทหารให้ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยราชการอื่น ก็จะเกิดคำถามว่ารายได้จากการขายเป็นรายได้กองทัพหรือส่งเข้ากระทรวงการคลังเป็นรายได้รัฐบาล? 

ส่วนธุรกิจขายปลีกน้ำมันที่เรียกว่า“ปั๊มสามทหาร”ไม่ได้สังกัดกรมการพลังงานทหารแม้ว่าใช้รูปทหารเป็นสัญลักษณ์เพื่อส่งเสริมลัทธิทหารนิยม ปั๊มสามทหารสังกัด“องค์การเชื้อเพลิง”ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในปี พ.ศ. 2503 องค์การเชื้อเพลิงมีหน้าที่ขายปลีกน้ำมัน จัดหาและกลั่นน้ำมัน [7]ฉันไม่มีสถิติว่าองค์การเชื้อเพลิงรับซื้อน้ำมันจากกรมการพลังงานทหารมากน้อยแค่ไหน องค์การเชื้อเพลิงดำเนินงานจนกระทั่งรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรจัดตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทยมาแทนที่ในปี พ.ศ. 2520 [8]ต่อมาก็กลายเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ในพ.ศ.2521 ยุครัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ [9] ปั๊ม ปตท.จึงเข้ามาแทนที่ปั๊มสามทหารในที่สุด


ธุรกิจไฟฟ้าของกองทัพ

หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด กองทัพบกริเริ่มโครงการใช้ที่ดินในครอบครอง4,460 ไร่เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์หรือที่เรียกว่า”โซลาร์ฟาร์ม”ร่วมกับภาคเอกชน [10]มีการทำเรื่องขอให้กระทรวงพลังงานรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในที่ดินกองทัพบก ไม่ปรากฎชัดเจนว่าในภายหลังกระทรวงพลังงานตัดสินใจอย่างไร   

การทำธุรกิจมีความเสี่ยง ถ้าธุรกิจโซลาร์ฟาร์มของกองทัพบกขาดทุนเหมือนธุรกิจธนาคารทหารไทยที่เผชิญปัญหาหนี้เสียจนเข้าขั้นวิกฤตในอดีต รัฐบาลจะ“อุ้ม”ธุรกิจโซลาร์ฟาร์มของกองทัพหรือไม่? 

ถ้ากองทัพบกมีโครงการผลิตโซลาร์ฟาร์มเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในฐานทัพก็จะสอดคล้องกับหน้าที่ของกองทัพ แต่การใช้ที่ดินในครอบครองของกองทัพบกทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์มเพื่อขายไฟฟ้าแสดงให้เห็นว่ากองทัพไม่ได้ใช้ที่ดินส่วนนั้นซ้อมรบหรือฝึกกำลังพล ชัดเจนว่าที่ดินส่วนนั้นไม่ได้ใช้เพื่อการป้องกันประเทศซึ่งเป็นหน้าที่ของกองทัพ   ทำให้ประเมินได้ว่ากองทัพครอบครองที่ดินมากเกินความจำเป็น หน่วยราชการอื่นควรรับโอนดินส่วนนั้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นให้สอดคล้องกับหน้าที่ของภาครัฐ

บทความตอนหน้าของซีรีส์“ทุนกองทัพไทย” จะอธิบายถึง“แรงงาน”ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดของกองทัพไทย

0000

 

หมายเหตุ

[1] ทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 1)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1332607776

[2]ทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 2)
http://www.prachatai.com/journal/2012/04/40226

[3]ทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 3)
http://prachatai.com/journal/2015/06/59565

[4]ประวัติความเป็นมา”กรมการพลังงานทหาร”
http://ded.mod.go.th/introduce/history.aspx

[5]แผนงานปฏิบัติงานเจาะและผลิตประจำปี 59: http://ep.npdc.mi.th/documents/work/Plan/ActionPlan59.pdf

[6]รายงานสถิติพลังงานของประเทศไทย
http://www2.eppo.go.th/info/YearBook/index.html

[7]พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเชื้อเพลิง พ.ศ. 2503
http://dl.parliament.go.th/handle/lirt/27941

[8] พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2520/A/017/51.PDF

[9]พระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2521/A/152/1.PDF

[10]“จี้พลังงานเปิดรับซื้อไฟเพิ่ม” ฐานเศรษฐกิจ
http://prdnews.egat.co.th/clipnews_egat/2015/1/23/corporate-www.thanonline.com.pdf

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์ระบุคนจะรับ รธน. 48.4% ไม่รับ 7.7%

0
0
กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจ 7 วันก่อนประชามติ ระบุประชาชนจะเห็นชอบร่าง รธน. 48.4% ไม่เห็นชอบ 7.7% งดออกเสียง 8.5% ไม่แน่ใจ 35.4%

 
30 ก.ค. 2559 อีก 7 วันจะถึงวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ นับถอยหลัง 7 วันก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค. 59” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 2,810 คน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 66.0 พอใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลแก่ประชาชนก่อนลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ขณะที่ร้อยละ 25.7 พอใจค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด และร้อยละ 8.3 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
 
ทั้งนี้เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าจะมีกลุ่มคนบางกลุ่มสร้างความก่อกวน/ปั่นป่วน ให้เกิดสถานการณ์รุนแรงในช่วงใกล้วันลงประชามติ ประชาชนร้อยละ 75.4 ระบุว่าไม่กังวล  ขณะที่ร้อยละ 22.0 ระบุว่ากังวล ที่เหลือร้อยละ 2.6 ระบุว่าไม่แน่ใจ
 
สำหรับความตั้งใจจะไปออกเสียงลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ส.ค. 59 ที่จะถึงนี้นั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 87.8 ตั้งใจว่าจะไป เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ร้อยละ 2.0  ขณะที่ร้อยละ 6.2 ตั้งใจว่าจะไม่ไป (ลดลงร้อยละ 0.9) และร้อยละ 6.0 ยังไม่แน่ใจ (ลดลงร้อยละ 1.1)
 
สุดท้ายเมื่อถามว่าหากวันนี้เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 48.4 ระบุว่า “เห็นชอบ” เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งที่ผ่านมา ร้อยละ 3.7  ขณะที่ร้อยละ 7.7 ระบุว่า “ไม่เห็นชอบ” (ลดลงร้อยละ 2.1) ส่วนร้อยละ 8.5 ระบุว่า “งดออกเสียง” (ลดลงร้อยละ 3.7) และมีถึงร้อยละ 35.4 ระบุว่า “ไม่แน่ใจ”
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอนุญาตฝากขังผัด 3 'หญิงไก่' คดีหมิ่นเบื้องสูง

0
0

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2559 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ TNNรายงานว่าที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  ร.ต.อ.พัฒน์พงศ์  ศิริเจริญนำ พนักงานสอบสวนกก.1 ป. ได้ยื่นคำร้องฝากขังครั้งที่ 3 นางมณตา หยกรัตนกาญ หรือหญิงไก่ อายุ 58  ปี ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. - 11 ส.ค.นี้
 
โดยคำร้องระบุว่า ตามคำร้องฝากขังครั้งที่ 2 ของพนักงานสอบสวน กก.1 ป. คดีหมายเลขดำ พ. 1308/2559  ลงวันที่ 15 ก.ค.59 ขอฝากขังผู้ต้องหานี้ไว้ระหว่างสอบสวนมีกำหนด 12 วัน ซึ่งศาลอนุญาตจนถึงวันที่ 30 ก.ค.นี้  ซึ่งเป็นวันหยุดราชการนั้น แต่ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานมาโดยตลอด แล้วยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีก 3 ปาก เพื่อให้ข้อเท็จจริงในคดีแจ่มกระจ่าง อีกทั้งต้องรอผลการตรวจลายพิมพ์มือผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรด้วยความจำเป็นดังกล่าวจึงขอฝากขังผูต้องหานี้วีระหว่างสอบสวนอีก 12 วันตั้งแต่วันที่  31 ก.ค. - 11 ส.ค.นี้
 
ทั้งนี้ ปัจจุบันหญิงไก่ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง โดยระหว่างการฝากขังที่ผ่านมาผู้ต้องหาไม่ได้รับการประกันตัววันนี้ในการฝากขัง ศาลจึงดำเนินการสอบถามผู้ต้องหาผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอเร้นซ์ไปยังทัณฑสถานหญิงกลางสถานที่ควบคุมตัวแล้ ผู้ต้องหาไม่คัดค้านศาลจึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แจ้งจับ 'สายล่อฟ้า' คอลัมนิสต์ไทยรัฐ ชี้นำให้คนรับ รธน. ผิด พรบ.ประชามติ

0
0
นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เข้าแจ้งความกับตำรวจ ระบุคอลัมนิสต์นามปากกา “สายล่อฟ้า” คอลัมน์กล้าได้กล้าเสีย นสพ.ไทยรัฐ เขียนบทความมีเนื้อหาชี้นำให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ม. 61 

 
30 ก.ค. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 10.30 น. ที่สน.พหลโยธิน นาย นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.ธีฬะเกียรติ ฑีฆะบุตร รองสารวัตร(สอบสวน) สน.พหลโยธิน เพื่อแจ้งความดำเนินคดี กับคอลัมนิสต์ ที่ใช้นามปากกา “สายล่อฟ้า” เขียนในคอลัมน์กล้าได้กล้าเสียหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยนายนรินท์พงศ์ระบุว่า เนื้อหาภายใน เป็นข้อความชี้นำ ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ ในการลงประชามติ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ในข้อหาผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 โดยได้นำเอกสาร เป็นคอลัมน์ดังกล่าวที่ตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 28กรกฎาคม 2559 พร้อมทั้งสำเนา มอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อเป็นหลักฐานด้วย
 
นายนรินท์พงศ์ กล่าวว่า ตนมาแจ้งความเอาผิดกับคอลัมนิสต์ดังกล่าว เนื่องจากได้เขียนคอลัมน์ หัวข้อ”คว่ำรัฐธรรมนูญเพราะเหตุใด” โดยอ้างเนื้อหา 6 ข้อ ที่ระบุว่าเป็นสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุเหตุผลว่าสาเหตุที่นักการเมือง หลายคนออกมา ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเพราะต้องการเอื้อประโยชน์ในการทุจริตของตนเอง โดยสาระสำคัญในการเขียนคอลัมน์ดังกล่าวสรุปได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นสิ่งดี สามารถปราบนักการเมืองที่โกงและทุจริตได้อย่างแท้จริง และยังระบุด้วยว่าหากประชาชนรับร่างฯนี้ นักการเมืองที่โกงก็จะหมดไป ซึ่งในความเป็นจริงหากได้ศึกษาตัวบทของของร่างรัฐธรรมนูญนี้ อย่างแท้จริง ทั้ง 6 ข้อที่คอลัมนิสต์คนดังกล่าวยกมา ไม่เป็นความจริง มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ดังนั้น ไม่ว่า ผลสรุป ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ ก็ไม่ได้ปราบคนโกงได้จริง นอกจากนี้แล้ว ตนอยากถามว่า คอลัมนิสต์ คนดังกล่าว ทราบได้อย่างไรว่านักการเมืองส่วนใหญ่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ รวมทั้งทราบได้อย่างไรว่าเหตุผลที่ไม่รับร่างเป็นไปตามที่กล่าวหา
 
นายนรินท์พงศ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ดียืนยันว่าตนไม่ได้อยู่ฝ่ายใด แค่ออกมาเรียกร้องความถูกต้องในฐานะประชาชนและผู้รู้กฎหมายคนหนึ่ง นอกจากนี้ขอฝากไปถึง คสช. รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการชี้นำในฐานะสื่อให้คนออกมารับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางหน่วยงานที่กี่ยวข้องควรมีมาตรฐานในการดำเนินการกับกลุ่มคนเหล่านี้ไปในทิศทางเดียวกับการดำเนินการกับกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าออกมาชี้นำให้ไม่รับร่างรัฐบธรรมนูญ
 
ทั้งนี้เบื้องต้น ร.ต.อ.ธีฬะเกียรติ รับเรื่องไว้ ก่อนระบุว่า จะติดตามตัวคอลัมนิสต์ คนดังกล่าวมาสอบปากคำในสัปดาห์หน้า
 
สำหรับบทความที่ถูกแจ้งความดำเนินการดังกล่าว มีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุดังนี้
 
“…ก่อนจะไปถึงวันลงประชามติขอสรุปเนื้อหาสาระสำคัญๆของร่างรัฐธรรมนูญสักเล็กน้อยว่า การที่ “นักการเมือง” ไม่ยอมรับมันเพราะเหตุใด
1.คดีความต่างๆที่เกิดขึ้นในทางการเมืองจะไม่มีวันหมดอายุ
2.หากนักการเมืองมีการโกงกิน คอร์รัปชัน ผลาญงบประมาณ จะมีโทษหนักคือประหารชีวิต ติดคุกตลอดชีวิต ไม่มีการรอลงอาญาและไม่ให้ประกันตัว
3.หากมีการตรวจสอบพบว่านักการเมืองคนใดร่ำรวยผิดปกติ มีการฟอกเงิน ยักยอกทรัพย์สินของทางราชการ งบประมาณแผ่นดินไปเป็นของตนเองและพวกพ้อง มีโทษจำคุก 15-30 ปี และยึดทรัพย์สินที่ได้ไปโดยมิชอบตกเป็นของแผ่นดิน
4.หากบริหารประเทศผิดพลาด ทำให้ประเทศชาติเสียหายหรือเป็นหนี้สินต้องโทษจำคุก 15-30 ปี
5.เมื่อมีคดีความติดตัวหรืออยู่ระหว่างดำเนินการของศาล หรือองค์กรอิสระห้ามเดินทางออกนอกประเทศเด็ดขาด
6.ห้ามมิให้นักการเมืองใช้ช่องทางวีไอพี หรืออำนวยความสะดวกให้นักการเมือง และยังห้ามนั่งเครื่องบินฟรีในชั้นเฟิร์สคลาส
นี่เป็นเพียงหนังตัวอย่างของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง…”
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รับน้องไงทำไมต้องว้าก #2: คุยกับ ‘ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์’ นักวิชาการอดีต ‘ว้ากเกอร์’

0
0

จากตอนที่ #1 เรื่องการเปลี่ยนแปลงของห้องเชียร์ที่ว่าด้วยทำไมพี่ว้ากถึงเปลี่ยนใจ ทำไมบางคนถึงอยากเปลี่ยนแปลง มาสู่ตอนที่ #2 ซึ่งจะเป็นบทสัมภาษณ์ที่นำเสนอลึกลงไปถึงความคิด ความรู้สึกพี่ว้าก พร้อมคำอธิบายทางสังคมศาสตร์ว่าเหตุใดคนถึงว้าก ผ่านปากของคนเคยว้ากตัวจริงเสียงจริงที่ปัจจุบันกลายมาเป็นนักวิชาการชื่อดังอย่าง “ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์”

ทำไมปองขวัญถึงว้าก? ตอนนั้นเธอคิดอะไรอยู่? และเธอได้อะไรจากการว้ากมาบ้าง? บทสัมภาษณ์นี้จะตอบทุกคำถาม และทำให้ได้เข้าใจเหตุผลของการว้ากมากขึ้น


 

มันจะมีไม่กี่คนที่มีอำนาจมาก การถูกเลือกให้คุณมีอำนาจอยู่ในมือมันพิเศษ ถึงบอกไงว่าบทบาทมันหล่อหลอมตัวคุณ
 

เข้าเรียนปีอะไร ที่ไหน และตอนนั้นคณะมีการรับน้องอย่างไร
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เข้าเรียนปี พ.ศ.2550 ตอนนั้นคณะเป็นระบบห้องเชียร์ เราไม่เรียก “ว้าก” เราเรียกห้องเชียร์ แล้วก็ไม่บังคับ คือแล้วแต่สมัครใจ ดังนั้นจะเกิดเหตุการณ์ว่าตอนวันแรกหรือวันที่สองจะมีคนเข้าเยอะ แต่ว่าช่วงนั้นมันจะทับซ้อนกับกีฬาเฟรชชี่ หลังๆ มันก็ไม่ค่อยมีคนเข้าหรอก ห้องเชียร์มันก็โหลงเหลง ก็คือออกไปทำอะไรก็ได้

ตอนปีหนึ่งได้เข้าห้องเชียร์ไหม
เข้าวันสองวัน แล้วหลังจากนั้นก็ไปทำกิจกรรมอย่างอื่น

แล้วมาเป็นพี่ว้ากได้อย่างไร
ก็เขาเรียกมา จะมีคนมาทาบทาม เลือกจากหน้าเหวี่ยง หน้าตาแบบ Bitchy น่าโดนตบอะไรแบบนี้ แต่เขาก็จะมีแบบถ้าเป็นผู้ชายต้องหน้าตาดี “พี่วินัย” ต้องหน้าตาดี แล้วคาแรคเตอร์ของรัฐศาสตร์จุฬา ก็คือว่าบทมันเป็นเหมือนบทตลกแต่ต้องพูดแล้วให้หน้านิ่ง แล้วน้องก็ห้ามขำ แล้วเราก็ห้ามขำ แต่ก็หลุดประจำ

ตอนนั้นรู้จักคำว่าโซตัส (Sotus) อยู่แล้วหรือเปล่า
ใช่ รู้ รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำเรียกว่าโซตัส แต่ว่าตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ก็เออน่าสนุกดี มีบทบาทให้เราลองเล่น มีบทบาทให้เรามาสวม แล้วก็เหมือนเล่นละครเวที เหมือนตัวละครสมมติ มีบท ทุกคนมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะในความเป็นจริงเราไม่ได้เอาตรงนี้ไปสวม คือตอนนั้นเราก็คิดว่าความเป็นจริงหลังจากห้องเชียร์เสร็จแล้ว เราก็ไม่ได้เอาตรงนี้ไปสวมใส่น้องๆ นี่ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร ถึงรู้ว่าเป็นระบบโซตัสก็เถอะ แต่เราก็พยายามปลอบใจตัวเองด้วยคำว่า ‘เราก็ไม่ได้บังคับให้เข้านี่’  ไม่ชอบก็ไม่ต้องมา ไม่เป็นไร ตรงนี้คุณเลือกแล้ว

แล้วก็ต้องบอกก่อนว่าคนที่เข้าไปอยู่ในระบบโซตัส มันรู้แหละว่าคือระบบโซตัส แต่มันไม่คิดว่าจะมีผล คือคิดว่าก็ไม่เห็นเป็นไรเลย มีโซตัสก็มีไป คือคนที่อยู่ตรงนั้นไม่คิดหรอกว่ามันร้ายแรงหรือว่ามีผลอะไร จำได้ว่าสมัยที่เราทำกันอะ ทุกคนมี Dilemma (ภาวะที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก) อยู่แล้วเนอะ คือพอเป็นเด็กรัฐศาสตร์มันจะเข้าใจอยู่แล้วเรื่องชนชั้น เรื่องการใช้อำนาจ เรื่อง Hierarchy (การปกครองเป็นลำดับชั้น) มันเข้าใจอยู่แล้ว ฉะนั้นเราจำได้ว่าช่วงที่เป็นพี่วินัย มันมี Dilemma ตลอดเวลา คือระหว่างคนที่ทำเองมันก็จะมี Dilemma เสมอว่า ‘เฮ้ย ตรงนี้มากเกินไปหรือเปล่า’ เรารู้สึกว่าความคิดตรงนี้มันไม่โอเค แต่ว่าสุดท้ายคนที่เป็นประธานเชียร์ในขณะนั้นก็ชัดเจน มาปรับความเข้าใจกัน แล้วต้องยอมรับให้ได้ว่ามันคือขวา ยอมรับให้ได้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ขวา คือต่อให้มี Dilemma อะไรก็แล้วแต่ บทบาทที่ทำอยู่ตอนนี้ มึงเป็นขวา มึงไม่ต้องพยายามหาความชอบธรรมในสิ่งที่มึงทำ เพราะมันหาความชอบธรรมด้วยการอธิบายแบบอื่นไม่ได้

บทบาทที่ได้รับหมายถึงอะไร ต้องทำอะไรบ้าง
เออ มันจะมีบท แต่จำไม่ได้แล้วว่าบทคืออะไร ทุกคนก็มีคาแรคเตอร์ของตัวเอง จริงๆ ก็ไม่มีอะไรมากนะ ประมาณว่าพูดเสียงดัง หน้านิ่ง มีการเตือนเรื่องกฎ เช่น เอาสมุดเชียร์มาด้วย ต้องร้องเพลง ยืนให้เรียบร้อย แต่งตัวให้เรียบร้อย หลักๆ ก็คงเหมือนที่อื่น แล้วก็มีขู่เรื่องรุ่น ไม่ให้รุ่นนะ คือเราก็ทำตามบทบาท แต่เราก็รู้อยูู่แล้วว่าน้องต้องได้รุ่น ไม่มีอะไรหรอก แต่มันแค่เอามาขู่ รุ่นมันก็นับกันอยู่แล้วอะ มันจะมีการไม่ให้ได้ยังไง

ตอนที่เขามาทาบทามให้ไปเป็นพี่วินัยหรือพี่ว้าก คุณไม่รู้สึกตีกับตัวเองเหรอ เพราะตอนปีหนึ่งเด็กรัฐศาสตร์ก็น่าจะเรียนเรื่องพวกนี้มาบ้าง
เรียน ก็เรียนเรื่องโซตัส แต่ไม่รู้สึกว่ากระทบมาก หนึ่งคือว่าเราเข้าห้องเชียร์แค่สองครั้ง เราเลยไม่รู้สึกว่าระบบนี้มันแย่ แล้วเราก็รู้สึกว่าเข้าไปแล้วก็มาเล่นตลกให้เราดู คือเราอาจจะไม่รู้ว่าคณะรัฐศาสตร์ระบบโซตัสมันถูกดัดแปลงไปแค่ไหนแล้ว แต่เราไม่รู้สึกว่ามันแย่ คือตอนนั้นเราเป็นเด็กปีหนึ่งปีสอง เราก็เป็นเด็กสลิ่มคนหนึ่ง คือแนวคิดทางการเมืองก็ก้าวหน้า แต่ว่าการใช้ชีวิตเราก็ถูกเลี้ยงดูมาแบบชนชั้นกลางกรุงเทพฯ ไม่ได้ตั้งคำถามในเรื่องพวกนี้เท่าไร แล้วเราก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบจากโซตัสมาก หนึ่งก็คือเข้าน้อย เข้าไปสองวันก็เห็นว่าตลกดี เราก็เอาพี่วินัยมาเม้าท์ พอเขาติดต่อมาทาบทามเราก็เลยรู้สึกว่าโอเค ขำๆ Dilemma ไม่เกิดตอนตอบรับ แต่มาเกิดตอนเริ่มทำไปแล้ว

พอทำไปแล้วไม่ว่าคุณจะมีแนวคิดแบบไหน ถ้าไม่มีอะไรยั้งเอาไว้อะ เป็นใครใครก็หลงอำนาจ เราเชื่อว่า ธรรมชาติของมนุษย์มันแสวงหาอำนาจไง คือโดยธรรมชาติทุกคนชอบที่จะมีอำนาจ และเมื่อมีอำนาจทุกคนก็พยายามหาวิธีการ abuse of power (การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ) อยู่แล้ว ดังนั้นตอนที่เป็นพี่วินัย ต่อให้ก่อนหน้านั้นมันจะมี Dilemma นิดนึงว่าเราไม่ได้อยากเป็นขวา แต่พอเมื่อคุณโอเคกับสิ่งที่คุณทำ มันเป็นขวา มึงไม่ต้องหาคำอธิบาย มึงมีอำนาจอยู่ในมือ เท่านั้นแหละ ใครๆ ก็ชอบที่จะมี แล้วสิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติของสังคมเลยนะ เราเชื่อว่าอย่างนั้น แต่ประเด็นคือมนุษย์มันมีการเรียนรู้ไง พอถึงวันหนึ่งคุณเรียนรู้ว่าการใช้อำนาจต่อให้จะมองไม่เห็นว่าเป็นการทำร้ายร่างกายแต่มันคือสิ่งที่ปลูกฝังในระดับโครงสร้าง  อันนั้นแหละที่จะทำให้คุณควบคุมตัวเองได้และไม่ใช้อำนาจแม้ว่าอยากจะใช้ คือมันไม่ใช่แค่ในเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย แต่ในทุกระดับเลย คือในระดับสังคม ในระดับชาติมันก็เป็น คือมันไม่มีทางหรอกที่คนมีอำนาจ แล้วจะไม่รู้สึกอยากใช้ ยกเว้นมันมีเครื่องมือมาหยุดยั้ง นี่ไม่ได้พูดถึงการมีศีลธรรมอันดีนะ แต่หมายถึงถ้ามันมีระบบที่ปลูกฝังว่าการใช้อำนาจเกินพอดีมันเป็นผลเสีย นั่นแหละ ถึงจะทำให้คนใช้อำนาจน้อยลง

แล้วในตอนที่เราเป็นพี่ว้าก มีอะไรมายั้งเราไหม
ไม่มี อำนาจเต็มที่ แล้วคือบทบาทที่เราเป็นมันจะหล่อหลอมเราเอง สุดท้ายเราจะสนุกกับการใช้อำนาจ เราจะสนุกกับการบอกน้องว่าคุณไม่ได้รุ่น เพราะมันคือคำขู่ เราอยู่ในฐานะที่ให้คุณให้โทษกับคนได้

เข้าใจว่าก่อนเปิดห้องเชียร์ มันต้องมีการมาซักซ้อม มาคุยกัน เราเคยตั้งคำถามไหมว่า การว้ากมีไว้เพื่ออะไร จุดประสงค์อะไร
ตอนนั้น ไม่ได้ตั้งคำถามเลย คือรู้สึกว่าเป็น Functionalism (หน้าที่นิยม) สุดๆ คือตอนนั้นจะถูกฝังมาว่า ยังไงมันก็ต้องมี มันจะได้รักกัน แล้วก็เป็น Functionalism ในความหมายว่า ทุกคนมีบทบาทของตัวเอง เราไม่ได้ตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องว้าก ทำไมต้องเสียงดัง สิ่งที่ตอนนั้นเข้าใจก็คือว่า ก็คุณมีหน้าที่แบบนี้ เพื่อที่คนเหล่านี้สุดท้ายมันจะรู้จักกัน มันจะรักกัน แล้วมันจะรู้สึกดีเวลาอยู่กับ “พี่ร้องเพลง” ซึ่งเป็นคนปลอบใจ เพราะฉะนั้นเราก็เป็นปีศาจก็ได้ ทำให้มันรู้สึกกดดัน คือทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้ไปตั้งคำถามกับหน้าที่เหล่านี้ว่ามีเพื่ออะไร


ตอนที่เป็นพี่ว้าก รู้สึกภูมิใจไหม
ภูมิใจ คือหนึ่ง มันมีไม่กี่คนที่ถูกเลือกมาให้ได้ใช้อำนาจ ถูกปะ อันนี้ถ้าอยู่บนฐานคิดว่า ใครก็อยากได้อำนาจ คือการที่มีอำนาจอยู่ในมือคือสิ่งที่มนุษย์ต้องการ แล้วถ้าไม่มีอะไรคุมก็ใช้อำนาจไปเรื่อยๆ ทีนี้พอมันมีคนที่มีอำนาจมาก ก็ต้องมีคนหนึ่งที่มีอำนาจน้อย ก็แปลว่ามันจะมีไม่กี่คนที่มีอำนาจมาก การถูกเลือกให้คุณมีอำนาจอยู่ในมือมันพิเศษ ถึงบอกไงว่าบทบาทมันหล่อหลอมตัวคุณ

ได้อะไรบ้าง จากการเข้ามาเป็นพี่ว้าก
ไม่ได้อะไรเลย… อ๋อ ได้นะ ได้รู้นี่ไงว่าการใช้อำนาจเป็นยังไง เราถึงไม่เชื่อในระบบศีลธรรมไง เพราะไม่ว่าคุณจะมีความยับยั้งชั่งใจขนาดไหนเนี่ย ถ้ามันไม่มีอะไรมาตีกรอบการใช้อำนาจ หรือบอกว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ตามระบบ ไม่ใช่ให้ยับยั่งชั่งใจตัวเอง มันก็ใช้อะ ต่อให้คนที่ Critical (มีความคิดเชิงวิพากษ์) มาก ทุกคนที่เป็นพี่ว้ากตอนนี้จบไปก็ Critical กันทุกคนนะ ไปเป็นอาจารย์ ทุกคน Critical หมด แต่ว่าเมื่อตอนที่มันใช้อำนาจ มันก็คือมนุษย์ที่ไม่มีเครื่องยับยั้ง

พอหลังจากจบห้องเชียร์เรายังติดกับการใช้อำนาจอยู่ไหม
ไม่ติด แต่เรายังเชื่อว่าจากการสอนหนังสือมันมีบางเวลาที่ต้องดุ คือแต่ดุกับด่ามันไม่เหมือนกันไง คือต้องดุแบบมีเหตุผลอะ แต่เราไม่ค่อยชอบดุ หลังจากเป็นพี่วินัยมาเราไม่ชอบดุเด็ก เราไม่ว้ากโดยไม่มีเหตุผล

คือเราไม่อยากเป็นอาจารย์ที่มีอำนาจ เราอยากเป็นอาจารย์ที่แบบเรามีหน้าในการสอน คุณมีหน้าที่ในการเรียน เราเคารพซึ่งกันและกัน เราอาจจะมีอำนาจมากกว่าคุณตอนให้คะแนน แต่นอกจากนั้นเราคุยกัน เราเคารพกัน เราอยากจะเป็นอาจารย์ที่ถามหาความเคารพ มากกว่าถามหาการบูชาจากเด็ก แต่เราเชื่อว่าถ้าเราต้องการความเคารพ เราต้องเคารพเขาไง และการเคารพเขาก็คือการไม่ใช้อำนาจละเมิดตัวเขา

ณ ปัจจุบัน มองการว้ากว่าเป็นอย่างไร
ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม

แล้วจุดเปลี่ยนจากการเป็นพี่ว้าก มาไม่เห็นด้วยกับการว้ากแล้วคืออะไร
ไม่มี สำหรับเราไม่มี เพราะเราคิดว่าการเป็นพี่วินัยเป็นแค่บทบาทหนึ่งบทบาทที่เราได้รับเลือกให้ได้อำนาจตรงนั้น และเราก็เรียนรู้ว่าการใช้อำนาจมันสนุก มันเป็นเรื่องที่ไม่เห็นมีใครสามารถมาต่อรองกับเราได้ แต่ว่าหลังจากนั้นมันไม่ได้มีจุดเปลี่ยนแบบพลิกหรอก ช่วงนึงเรายังไปเป็นคนช่วยดูพี่วินัยให้รุ่นต่อไปด้วยซ้ำ คือพอปีสองเราเป็นพี่วินัย ปีสามเราก็ไปช่วยดูว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง ไปกระตุ้นน้องอะไรแบบนี้ ต่อมาเราก็แค่ไม่ทำ แค่นั้นเอง คือจริงๆ เราเป็นคนที่ไม่ได้แสวงหากิจกรรมอะไรแบบนี้อยู่แล้ว เวลาเข้าไปก็คือมีคนชวนไป ดังนั้นพอไม่มีอะไรแล้ว เราก็ไม่ได้กลับไปทำอีก เราก็ไปทำอย่างอื่นแค่นั้นเอง มันไม่ได้มีจุดเปลี่ยนแบบเปลี่ยน แต่มันมีการเรียนรู้มาเรื่อยๆ มากกว่า ว่ามันคือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง มันอาจจะไม่เห็นหรอกว่าสิ่งที่เราทำมันมีผลต่อคนแค่ไหน แต่ว่าพักหลังมันเริ่มเห็น แล้วมันก็มีเด็กรุ่นน้องเราที่พอถูกว้าก แล้วเขาชัก มันมีอะไรอย่างนี้ นี่คือความรุนแรงจริงๆ แล้วพอโตขึ้นได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น ก็พยายามเอาประสบการณ์ของตัวเองมานั่งวิเคราะห์มากขึ้น แล้วก็รู้สึกว่ามันไร้สาระแค่นั้นเอง

ถ้าให้เลือกว่าปีนี้จะมีการว้ากต่อไปหรือไม่ จะเลือกอะไร
คือที่รัฐศาสตร์จุฬามันมีปีนึงที่ลงแข่งกัน คนที่เป็นประธานเชียร์ลงแข่งกันสองคน คนหนึ่งเสนอให้ไม่มีห้องเชียร์ ยุบไปเลย ฉะนั้นเราเลยเชื่อในระบบว่าก็โหวตกันไป แล้วไม่บังคับเข้า ไม่ต้องมาขู่กันเรื่องจะได้รุ่นหรือไม่ได้รุ่น ถ้าคนสนุกกับการถูกว้ากหรืออยู่ในห้องว้ากก็คือเรื่องของเขา เรารู้สึกว่าเราอยากโน้มน้าวให้คนออกมาจากตรงนั้นเองมากกว่าที่จะให้เราเป็นคนตัดสินใจว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ

แต่คือมาถึงตอนนี้เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นแล้ว เพราะว่าความเป็นเพื่อนกันมันไม่ได้เกิดขึ้นในห้องเชียร์ขนาดนั้น หรือว่าร้องเพลงคณะได้มันก็ไม่ได้ทำให้รักคณะขึ้น นึกออกปะ ตอนนี้เรารู้สึกว่าเราก็ร้องแล้วเราก็ลืม แต่เราก็ยังผูกพันกับคณะเรา ไม่ใช่ผูกพันเพราะห้องเชียร์ แต่ผูกพันเพราะกิจกรรมต่างๆ ที่มันมีผ่านๆ มา ก็คือถ้ายังอยากจะรับน้องอยู่เนี่ย ก็ควรมีกิจกรรมอื่นที่สร้างสรรค์กว่าไหม อย่างเช่น มันมีปีนึงที่รุ่นน้องเราทำ น้องๆ พยายามจะตั้งคำถามกับศาสนาอย่างเนี้ย ห้องเชียร์นะแต่ตั้งคำถามกับศาสนา คือห้องเชียร์มันเปลี่ยนรูปแบบของมันได้ แต่โอเค อาจมีคนคิดว่าว้ากคือสิ่งที่ดีที่สุด เราถึงบอกว่า เราอยากให้มันเป็นข้อตกลงร่วมกัน หรือว่าก็เปิดโหวตไปเลย ว่าน้องอยากให้มีอยู่หรือเปล่า

พอหลังจากความคิดเราเปลี่ยนไปแล้ว ได้ไปต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์ หรือรณรงค์อะไรไหม
ไม่ ไม่เคย เราไม่ได้สนใจเลย ไม่ได้มารับน้อง ไม่ได้มาเป็นพี่สันทนาการ คือไม่มาเลย ไม่ได้สนใจเลย  คือแบบเรารู้สึกว่าชีวิตเรามีอะไรมากกว่าการรับน้อง

เมื่อย้อนกลับไปมองตัวเองตอนที่เป็นพี่ว้าก รู้สึกอย่างไรกับตัวเองตอนนั้น
คือถ้าตอนนี้มองย้อนกลับไปเราก็คงไม่ทำ คือเราก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น หนึ่งคือเรื่องรุ่นมันก็ไม่จำเป็นอยู่แล้ว คือเวลาไปเรียนเมืองนอก เราก็รู้สึกว่าเป็นรุ่นกันได้โดยไม่ต้องผ่านการรับน้อง แล้วกิจกรรมก็มีได้แต่เรารู้สึกว่าพี่วินัยอาจไม่ได้เป็นตัวแปรสำคัญ แล้วสุดท้ายยังไง รัฐศาสตร์ก็ไม่ได้แต่งตัวชุดนิสิตอยู่แล้ว แม้แต่ตัวพี่วินัยเองก็ยังวิพากษ์การใส่ชุดนิสิตอะ คือมันก็เป็น Hypocrite (พูดอย่างทำอย่าง) อะ คือมันมีศัพท์ที่สวยกว่านี้ แต่จริงๆ ก็คือ ตอแหลอะ คือสุดท้ายคุณวิจารณ์เรื่องนู้น เรื่องนี้ เรื่องนั้น คุณไม่เคยเห็นด้วยกับการแต่งชุดนักศึกษา ไม่เห็นด้วยกับการแต่งชุดนิสิต ไม่เห็นด้วยกับการต้องมาถูกใช้อำนาจกดทับ แต่ไปเป็นพี่วินัย นึกออกปะ เรารู้สึกว่ามันก็เป็นตราบาปของเราพอสมควรนะ ในแง่ที่ต้องถูกตั้งคำถามในเรื่องแบบนี้ว่า ‘เฮ้ย ถ้าคุณมีแนวคิดก้าวหน้าทำไมคุณไปทำอะไรแบบนั้น’ แต่ว่าพอในแง่หนึ่ง มันกลับไปย้อนประวัติศาสตร์ไม่ได้ เราก็ขอบคุณว่าตอนที่เราอยู่ในตรงนั้น มันทำให้เราคิดหลายเรื่องได้ แล้วมันทำให้เราเข้าใกล้การใช้อำนาจแบบรัฐมากกว่าแค่การวิจารณ์อยู่ภายนอก คือมันจะมีสักกี่คนที่ผ่านตรงนั้นมาจริงๆ

จะพูดอะไรกับตัวเองในตอนนั้น
ถ้าพูดกับตัวเองในตอนนั้น เราจะไม่บอกว่าเราเสียเวลาเพราะเราได้เรียนรู้จากมัน แต่ถ้าจะพูดกลับไปได้ ก็อยากจะให้คิดมากหน่อยกับสิ่งที่ตัวเองทำ อย่าทำอะไรไปเพราะรู้สึกว่ามันสนุกหรือท้าทาย มันมีอะไรมากกว่าความสนุกไง ความน่ากลัวที่มันซ่อนอยู่จากความสนุกที่เรามี คือเราว่าคนเราทำอะไรด้วยความสนุกหรือคึกคะนองมากเกินไป แต่เราไม่เคยคิดถึงผลลัพธ์ที่มันตามมา

 

ตั้งคำถามในสิ่งที่ทำเถอะ อย่าทำเพราะว่าคนอื่นเขาทำกันต่อๆ มา

 

เวลาพูดถึงผลลัพธ์ที่ตามมา คนก็มักจะถามกันว่า “คิดมากเกินไปหรือเปล่า” ประเด็นนี้ว่ายังไง
เราเข้าใจคำว่า ‘คิดมากป่ะ?’ จริงๆ เพราะตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ได้มีผลลัพธ์ในระยะสั้นหรอก เราไม่ได้รู้สึกว่าเด็กๆ มีระเบียบมากขึ้นหรืออะไรมากขึ้น แต่ผลลัพธ์ของมันก็คือการสานต่อให้ระบบมันยังอยู่ต่อ

เวลามีคนต่อต้านการว้าก มักจะมีคำถามว่าแล้วจะเอาอะไรมาแทนการว้าก คุณคิดว่าควรเอาอะไรมาแทน
ไม่มีปัญญาคิดอย่างอื่นเหรอ คือมันมีหลายกิจกรรมมาก คือกิจกรรมมันล้านแปดมาก ที่ให้คนสามารถอยู่ด้วยกันและให้คนร่วมกันใช้ความคิดได้ อย่างเช่น ที่เราบอกไปว่ารุ่นน้องของเราให้เด็กเข้าห้องเชียร์ แล้วนั่งวิจารณ์ศาสนากัน กิจกรรมแบบนี้ที่มันทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิด มาคอยช่วยกัน เราว่าสุดท้ายมันก็ทำให้มีเพื่อนได้อยู่แล้ว หรือแม้แต่ไม่มีรับน้องเลยก็ได้ เพื่อนที่ได้ทุกวันนี้ได้จากการรับน้องหรือเพื่อนที่นั่งด้วยกันในห้องล่ะ? คือหลายคนเจอเพื่อนที่รับน้องแล้วก็ไม่เคยคุยกันอีกเลยก็มี ก็ไม่เห็นจำเป็นขนาดนั้น

จะฝากอะไรไหมถึงคนที่ยังเป็นพี่ว้าก หรืออยู่ในระบบโซตัส
ถ้าเป็นแค่ตรรกะธรรมดา คือคุณไปว้าก ไปบอกให้เด็กมีความอดทนในอนาคต ถามว่าคุณจะได้เจอความอดทนแบบที่มีคนมาว้ากอย่างนี้ในชีวิตจริงหรือเปล่า คือโอเคการว้ากมันอาจจะไม่มีผลอะไรมาก มันอาจไม่ได้ทำให้เด็กรู้สึกเจ็บแค้นน้ำใจ แต่แค่ถามคำถามง่ายๆ เลยว่า ว้ากไปทำไมอะ? เสียแรง เหนื่อยก็เหนื่อย แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เกิดอะไรที่มันดีขึ้น และก็ยังเป็นการทำให้สังคมมันมีระดับชั้น คือเราเชื่อว่าสังคมมันไม่ได้พัฒนาเพราะว่ามันมีลำดับชั้น คนที่เหนือกว่าสามารถสั่งคนที่ต่ำกว่าได้ พูดง่ายๆ เลยในทางเศรษฐกิจ มันจะพัฒนาถ้าทุกคนสามารถให้ความเห็นกันได้ และการที่จะให้ความเห็น การรับฟังทุกคนมันไม่เกิดขึ้นหรอกถ้ามันมีคนนึงพยายามจะบอกว่า ‘มึงหยุดหัวเราะ’ อะ

และถ้าจะขอให้พูดอะไรได้คือ ‘มึงต้องตั้งคำถามนะ ว่ามึงจะทำสิ่งพวกนี้ทำไม’ คือผลลัพธ์ที่มันตามมาพอเราทำแบบนี้รุ่นใหม่มันก็ทำตาม มันไม่เคยถามหาเหตุผลว่าเราจะทำอย่างนี้ไปทำไม ตั้งคำถามในสิ่งที่ทำเถอะ อย่าทำเพราะว่าคนอื่นเขาทำกันต่อๆ มา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สั่งห้ามขายเหล้าวันลงประชามติ คุมเข้ม 'ผับ-บาร์' กทม.

0
0
“มหาดไทย” สั่งห้ามขายเหล้าวันลงประชามติ ประสานผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคุมเข้มผับ-บาร์ กทม.

 
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2559 ที่ผ่านมาเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด บูรณาการภาคส่วนต่าง ๆ ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่และควบคุมมิให้มีการกระทำใดๆ ที่ฝ่าฝืนกฎหมายการออกเสียงประชามติและให้ทุกจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ผู้ประกอบการสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการ และผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตออกเสียง ระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนออกเสียง คือ 6 สิงหาคม 2559 จนสิ้นสุดวันออกเสียงในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ตลอดทั้งวัน ตามมาตรา 61 พ.ร.บ.ประชามติ 2559 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ทั้งนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ในเขตจังหวัดตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 และในฐานะนายทะเบียน ตามพระราชบัญญัติ โรงแรม พ.ศ. 2547 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
 
“กระทรวงมหาดไทยยังได้ขอความร่วมมือไปยังผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ผู้ประกอบการสถานบริการ สถานประกอบการ ที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานครปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกันกับในพื้นที่จังหวัดด้วย” ปลัดมท. กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ม.มหิดล แถลงการณ์หนุนแสดงประชามติอย่างเสรีเป็นธรรม ย้ำไม่มีการชี้นำ

0
0
มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์ กรณี กกต.ส่งหนังสือเตือนไม่เป็นกลางประชามติ ยืนยันสนับสนุนการแสดงประชามติอย่างเสรี เป็นธรรม เคารพในดุลยพินิจของทุกคน ไม่มีการชี้นำ ย้ำได้ตักเตือนบุคคลในมหาวิทยาลัย ให้ยุติการกระทำแล้ว

 
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2559 ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่ามหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่เป็นข่าวในสังคมเรื่อง กกต.ส่งหนังสือตักเตือนมายังอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กรณีหน่วยงานในสังกัดวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมืองกรณีประชามตินั้น ในนามผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณบดี หัวหน้าส่วนงาน ขอแถลงว่า มหาวิทยาลัยมหิดลสนับสนุนให้มีการแสดงประชามติอย่างเสรี เป็นธรรม และเคารพในดุลยพินิจของทุกคน โดยไม่มีการชี้นำ
 
ส่วนการกระทำที่ไม่เหมาะสมของบุคคลบางส่วนในมหาวิทยาลัยมหิดลในเรื่องประชามตินั้น มหาวิทยาลัยได้ตักเตือนและขอให้ยุติการกระทำแล้ว และได้แจ้งให้บุคคลกลุ่มนั้นทราบว่ามหาวิทยาลัยจะไม่รับผิดชอบต่อการกระทำในนามส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานพิเศษ: ‘Hate Crime’ ทอม-เหยื่อแห่งความเกลียดชัง ในสังคมนิยมความเป็นชาย

0
0

ทอมเป้าอาชญากรรมจากความเกลียดชัง 10 ปีเกิดการฆาตกรรมทอมอย่างรุนแรง 11 ราย เชื่อยังมีการทำร้ายอีกมากที่ถูกปกปิด นักวิชาการชี้อคติและความเกลียดชังเป็นผลจากการนิยมความเป็นชายในสังคม มองทอมเป็นการคุกคามความเป็นชาย

ภาพจาก http://doublethink.us.com/paala/2012/11/27/hate-crime-in-alabama-stand-up-for-love/

คดีข่มขืนอุกฉกรรจ์อย่างคดี ‘น้องแก้ม’ จนถึงกรณี ‘ครูอิ๋ว’ สร้างความสะเทือนใจและความโกรธแค้นต่อสังคมโดยรวม เกิดกระแส ‘ข่มขืน=ประหาร’ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ภายใต้เงามืดของความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิงนั้น จำนวนมากถูกซ่อนเร้นจากการรับรู้ การข่มขืนที่ปรากฏเป็นข่าวก็แค่ยอดภูเขาน้ำแข็งยอดเล็กๆ ที่ตัวภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมาถูกปกปิดด้วยผิวน้ำจากความพิกลพิการในสังคมไทยที่มีต่อผู้หญิง

และเมื่อยิ่งเป็นผู้ที่มีเพศภาวะเป็นหญิง แต่มีอัตลักษณ์และเพศวิถีเป็น ‘ทอม’ ด้วยแล้ว ความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ และการข่มขืน ก็ดูเหมือนถูกปิดทับและไร้เสียงหนักข้อขึ้นไปอีก ไม่เพียงเท่านั้น ความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดทางเพศต่อทอมกลับได้รับเสียงเชียร์หรือเห็นด้วยจากผู้ชาย

ในมุมมองของกฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับ ‘ทอม’ ก็คืออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crime) รูปแบบหนึ่ง

จาก http://hatecrime.osce.org/what-hate-crimeให้ความหมายของ Hate Crime หรืออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังว่า เป็นอาชญากรรมที่มีแรงจูงใจจากอคติ ที่ส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยต่อปัจเจกบุคคล รวมถึงชุมชนและสังคม มี 2 เงื่อนไขที่จะเข้าข่ายการเป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังคือ การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำที่ผิดกฎอาญา และสอง-ต้องเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจจากอคติ แรงจูงใจที่เกิดจากอคติมาจากการตีตรา การขาดขันติธรรม หรือจากความเกลียดชังโดยตรงที่มีต่อกลุ่มเฉพาะกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะร่วมกัน เช่น เชื้อชาติ สีผิว ภาษา ศาสนา เพศวิถี หรือแม้แต่คนพิการก็อาจตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมจากความเกลียดชังได้

“พวกทอมนี่แอคชั่นมันสูงจริงๆ”

สถิติคดีอาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2556-2557 เฉพาะที่ผู้หญิงถูกทำร้าย พบว่า มีการรับแจ้งเหตุผู้หญิงถูกทำร้าย 28,714 ราย ในจำนวนนี้มีการแจ้งความดำเนินคดีเพียง 12,245 ราย หรือไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่รับแจ้งทั้งหมด และมีการจับกุมได้เพียง 3,673.5 ราย ส่วนที่หลบหนีและเคลียร์คดีมีอยู่ 2,081.65 ราย ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงมีการจับกุมได้ร้อยละ 13 เท่านั้น

กฤตยา อธิบายว่า ข้อเท็จจริงทั้งในไทยและต่างประเทศ ผู้หญิง ซึ่งรวมถึงทอมถูกล่วงละเมิดทางเพศ จำนวนมากจะไม่แจ้งความ อย่างไรก็ตาม ในไทยยังไม่มีการเก็บสถิติที่เกิดกับทอม แต่เมื่อผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศจะทำและรู้สึกคือเงียบ รู้สึกละอาย และรู้สึกว่าเป็นบาปกรรมของตน

“เพศภาวะทอมเป็นเพศภาวะที่คุกคามความเป็นชาย ทั้งที่โดยตัวทอมแต่ละคน ไม่ได้ไปคุกคามใคร แต่ความเป็นทอม ไม่มากก็น้อย มันไปคุกคามความเป็นชายที่อยู่ในวิธีคิดของผู้ชายที่ถูกสร้างขึ้นมา แล้วผู้หญิงก็เชื่อแบบนั้นด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่มีพ่อแม่ที่จ้างคนมาข่มขืนลูกหรอก”

จากการรวบรวมของกฤตยา ยังพบว่า มีข่าวอาชญากรรมรุนแรงที่เกิดกับทอม 11 ราย ตั้งแต่สิงหาคม 2549-เมษายน 2559 ซึ่งสภาพการก่อคดีมีความรุนแรง เช่น การข่มขืนและรัดคอจนเสียชีวิต การเผาทั้งเป็น การใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะและฟันด้วยมีด เป็นต้น

อคติและความเกลียดชังยังเผยให้เห็นได้ตามโลกโซเชียล มิเดีย อย่างกรณีข่าวเสก โลโซ ทำร้ายทอม ในเฟซบุ๊กของข่าวสด จะพบว่าความคิดเห็นท้ายข่าวจำนวนหนึ่งแสดงออกชัดเจนถึงอคติและความเกลียดชัง เช่น “ทอมมักแสดงออกว่าตนเองเป็นผู้ชาย แต่พอสู้ไม่ได้ก็อ้างว่าตนเองเป็นผู้หญิงใช้ปะ” “กูเคยคบกับทอมคนหนึ่งมันชอบโชว์เก๋า ใช้คำพูดห้าวๆ แบบไม่สนใจใคร ทำอะไรเหมือนผู้ชาย วันนั้นมันชวนผมกินเหล้าที่บ้าน พอมันเมาหลับ ผมเลยจัดไปสองดอก เช้ามาเรียกผัวจ๋าซื้อข้าวให้เมียหน่อย ยุติความเป็นทอมตั้งแต่วันนั้น” หรือ “จากที่อ่านดู พวกทอมนี่แอคชั่นมันสูงจริงๆ น่ะ ถ้าเทียบกับผู้ชายแท้ๆ ผมเป็นเสกผมก็จัดเหมือนกัน” เป็นต้น

ความเป็นชายที่ถูกคุกคาม

เหตุใดความเป็น ‘ทอม’ จึงถูก ‘หมั่นไส้’ ถูก ‘เกลียดชัง’ ได้รุนแรงเพียงนี้ คำอธิบายหนึ่งที่ถูกพูดถึงก็คือ ทอมเป็นการคุกคามความเป็นชายของผู้ชาย

“เพศภาวะทอมเป็นเพศภาวะที่คุกคามความเป็นชาย ทั้งที่โดยตัวทอมแต่ละคน ไม่ได้ไปคุกคามใคร แต่ความเป็นทอม ไม่มากก็น้อย มันไปคุกคามความเป็นชายที่อยู่ในวิธีคิดของผู้ชายที่ถูกสร้างขึ้นมา แล้วผู้หญิงก็เชื่อแบบนั้นด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่มีพ่อแม่ที่จ้างคนมาข่มขืนลูกหรอก” กฤตยา กล่าว

ในบทความ ‘“ทอมไทยและเทศ” บนจอและแผ่นกระดาษ: การวิพากษ์แนวคิดอัตลักษณ์ความเป็นชายขอบ (Marginality) ของ “ทอม” ในงานวรรณกรรมและภาพยนตร์ยอดนิยมของไทยและตะวันตก’ โดยวริตตา ศรีรัตนา อักษรศาสตร์บัณฑิต (ภาษาอังกฤษ) เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายไว้ว่า

‘…จะเห็นได้ว่าคำนิยามที่ยกมานั้นเต็มไปด้วยทัศนคติตายตัวทั่วไป (stereotypes) ต่างๆ เช่น ทอม เป็นผู้ที่หยาบโลน สำส่อน อันส่อนัยยะว่าการเป็นทอมเป็นเรื่องที่ผิดบาปดังกล่าว เป็นการคิดตามแบบแผนของ “เพศเดียว” (one-sex model) อันค้ำจุนปิตาธิปไตยอย่างชัดเจน เพราะการตีตราทอมว่าเป็นเรื่องเลวร้ายนั้นแสดงให้เห็นว่าความเป็นชายในตัวของผู้หญิงได้ถูกมองว่าเป็นเศษเดนของความเป็นชายกระแสหลัก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ความเป็นชายของผู้ชายนั้นเป็นสิ่งแท้แน่นอน

‘“ทอม” ถูกหยามว่าเป็นการลอกเลียนแบบ (imitation) บทบาทและเพศสภาวะความเป็นชาย (masculinity) อันไร้ค่าและไร้รสนิยม และถูกกำราบด้วยความเชื่อที่ว่า “ทอม” จะหายเป็น “ทอม” ก็ต่อเมื่อได้ “ลองของจริง” กับผู้ชาย’

ความรู้สึกไม่มั่นคง ถูกคุกคาม ความเชื่ออันบิดเบี้ยว เป็นบ่อเกิดความรุนแรงที่กระทำต่อทอม ผ่านถ้อยคำจำพวกแก้ทอมหรือเปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ เป็นต้น

แก้ทอม ซ่อมดี้ ความรุนแรงจากถ้อยคำสู่กายภาพ

เกิดเป็นวาทกรรมประเภทแก้ทอม ซ่อมดี้, เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ, โครงการคืนสตรีแก่สังคม หรือนิ้วเย็นๆ หรือจะสู้เอ็นอุ่นๆ ซึ่งล้วนแต่แฝงเร้นความรุนแรงไว้ในถ้อยคำและวิธีคิดที่สะท้อนออกมาทั้งสิ้น

เอกสารของสมาคมเพศวิถีศึกษาจากงานเสวนาสาธารณะ ‘แก้ทอม ซ่อมดี้ เป็นความรุนแรง #เลิกเหอะ’ ระบุว่า ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากนักกิจกรรมที่ทำงานด้านสุขภาวะทางเพศในชุมชนและจากนักกิจกรรมที่ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ พบว่า ในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่หรือในพื้นที่ที่เข้าไปทำงาน มักพบปรากฏการณ์ทอมถูกข่มขืนในหลายพื้นที่ แต่ที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อ เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะยอมความ หรือบางครั้งอาจไม่สามารถจะระบุตัวผู้กระทำได้ เพราะถูกล่วงละเมิดในขณะที่มึนเมา บางรายตั้งครรภ์จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผลที่ตามมานอกจากพวกเธอจะต้องเผชิญกับความอับอาย การถูกประทับตราจากสังคมว่าเป็นผู้ที่มีมลทินทางเพศเช่นเดียวกับผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้ว พวกเธอยังต้องเผชิญกับความรู้สึกถูกลดทอนคุณค่าในศักดิ์ศรีและความเป็นบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างของตัวเอง เนื่องจากความไม่เข้าใจ อคติ และความเกลียดชังบุคคลรักเพศเดียวกันทั้งจากบุคคลในครอบครัวและบุคคลรอบข้าง

อาทิตยา อาษา นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องวาทกรรมแก้ทอม ซ่อมดี้ ในสื่อออนไลน์ อธิบายว่า วาทกรรมแก้ทอม ซ่อมดี้ เป็นวาทกรรมที่ใช้ควบคุม กำกับ บุคคลที่มีเพศสรีระเป็นผู้หญิงไม่มีให้มีพฤติกรรมที่เกินกว่าผู้หญิง หรือไม่เหมาะสมกับความเป็นหญิง เช่น ทอมหรือดี้ที่มีพฤติกรรมออกนอกลู่นองทางจากความเป็นหญิง โดยวิธีการควบคุมคือการสร้างความหวาดกลัวในเรื่องเพศด้วยการใช้อวัยวะเพศชายเป็นแกนหลักในการควบคุม เช่น เจอของจริงแล้วจะหาย แก้ทอม ซ่อมดี หมายถึงว่าทอมกับดี้เป็นของเสียที่สามารถซ่อมและแก้ไขให้เป็นปกติได้ โดยการแก้ไขนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องชี้ให้เห็นรสชาติของความเป็นชาย

“คนที่ซ่อมก็คิดว่าตนเองเป็นผู้ผดุงความถูกต้องในเรื่องเพศ ทำให้ทอมหรือดี้กลับไปเป็นผู้หญิงได้ เป็นข้อความที่พบได้ในอินเตอร์เน็ต”

ทอม เหยื่อความรุนแรงจากความเกลียดชัง

วาทกรรมข้างต้นแปรรูปเป็นความรุนแรงเชิงกายภาพกับทอมจริงๆ ทิพย์อัปสร ศศิตระกูล จากสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เล่าว่า กรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งเกิดเหตุกับทอมสามราย หนึ่งในสามถูกฆาตกรรม แต่ก่อนถูกฆาตกรรมถูกข่มขืนก่อนโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ เพียงเพราะไม่ชอบพฤติกรรมของทอมที่มาตามจีบผู้หญิงที่ตนชอบ ส่วนอีกสองรายถูกรุมโทรม ซึ่งก็ไม่มีการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีแต่อย่างใด

วี ทอมคนหนึ่งในภาคใต้ เล่าให้ฟังว่า รู้ตัวว่าชอบผู้หญิงตอน ม.4 หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนการแสดงออกของตนเป็นผู้ชาย ตอนนั้นเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่ขอวีจะยอมรับ แต่หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยทางครอบครัวก็ให้ความยอมรับกับตัวตนของวีมากขึ้น ในแง่การใช้ชีวิตประจำวัน วีบอกว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จะมีก็การถูกเลือกปฏิบัติในการสมัครงานครั้งหนึ่งเท่านั้น แต่นั่นไม่ได้ว่าหมายความว่าวีจะรอดพ้นจากการถูกคุกคามทางวาจาและร่างกาย

“คนที่ซ่อมก็คิดว่าตนเองเป็นผู้ผดุงความถูกต้องในเรื่องเพศ ทำให้ทอมหรือดี้กลับไปเป็นผู้หญิงได้ เป็นข้อความที่พบได้ในอินเตอร์เน็ต”

“ก็มีบ้างจากผู้ชาย เวลาไปเที่ยว โดนตีตรา บอกว่าทอมยังไงก็เป็นผู้หญิง ข่มขู่ คือไม่รู้จักกัน ก็มาพูดว่ามีดีตรงไหน มีแค่นิ้ว จะเจอแบบนี้บ่อยมาก เราไม่ได้ตอบโต้ เพราะเราไม่ได้รู้จักเขาก็เฉยๆ ไว้ แต่สามสี่เดือนที่ผ่านมา โดนทหารกระทืบ ก็ไม่เข้าใจว่าเขาหมั่นไส้เราหรือเห็นเราเป็นผู้ชายหรือเปล่า เราไปเที่ยวกับเพื่อน เป็นทอมหมดเลย ผับปิด กำลังจะกลับ เขาเมา เขาตีกันอยู่กับผู้ชายอีกกลุ่มหนึ่งอยู่แล้ว สักพักก็ลากพี่คนหนึ่งที่เป็นทอมเหมือนกันเข้าไปต่อย ไปกระทืบ เราเข้าไปช่วยก็เลยโดนลูกหลงไปด้วย ส่วนพี่คนนั้นก็หูฉีกไป มีการแจ้งความที่โรงพัก ผลปรากฏว่าก็เงียบไป เขาไม่ยอมมาแสดงตัวรับผิดชอบ เพราะเขาก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ”

ด้าน ศรัทธารา หัตถีรัตน์ ผู้ประสานงาน ILGA Asia และนักกิจกรรม LGBT กล่าวถึงงานศึกษาเรื่องความรุนแรงต่อ LBT ในเอเชีย 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ปากีสถาน ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ ของ OutRight ที่ได้ข้อสรุปเหมือนกันว่าความรุนแรงต่อ LBT พบได้ทั่วไป และลักษณะที่เห็นได้ชัดคือความรุนแรงทางจิตใจ โดยผู้ที่กระทำหลักคือครอบครัวและแวดวงคนรู้จักของ LBT เอง ขณะที่ในไทยนั้นยังไม่มีงานศึกษาที่ชี้ชัดในประเด็นนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ตรงกันข้าม มันอาจเป็นความรุนแรงที่หลบซ่อนจากสายตาของสังคม

“แต่สิ่งที่นักกิจกรรมมาคุยกัน เรามีความรู้สึกว่าความรุนแรงต่อทอม ดี้ เลสเบี้ยน ไบเซ็กช่วล บนฐานของความเป็นผู้หญิง มันจะมีความจำเพาะ คือมันอาจจะถูกปิดซ่อน มองไม่เห็น เพราะว่าผู้หญิงจะไม่เอ่ยออกมาเวลาถูกกระทำความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศ อีกอย่างก็คืออาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างจากความรุนแรงต่อผู้ชายหรือคนที่สังคมมองว่าเป็นเพศชาย เช่น กะเทย ความรุนแรงรูปแบบอื่นที่เราระดมสมองกัน เช่น ไม่ให้เลี้ยงลูก ไม่เป็นแม่ที่ดี มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ถูกตัดออกจากลูก

“ถ้าถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือท้องโดยไม่พร้อมก็จะมีการกดทับอีกชั้นหนึ่งว่า เธอไม่ควรทำแท้งเพราะเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ และเธอเป็นทอม เธอควรจะเป็นคนดี เธอไม่ควรทำนี่นั่น ระดับการกดทับในสังคมก็จะมาก เป็นความรุนแรงทางจิตใจ”

อคติและการเลือกปฏิบัติ

จากการแสดงออกที่ดูล้นเกินจากความเป็นชาย ก่อให้เกิดความ ‘หมั่นไส้’ หรืออคติต่อทอม เกิดเป็นมุมมองที่ชวนคิดเช่นกันว่า ทอมเองก็ติดกับดักของความเป็นเพศชาย และเมื่อตนเองไม่ได้มีเพศกำเนิดเป็นชายจึงจำเป็นต้องแสดงความเป็นชายออกมาให้มากเข้าไว้ เพื่อให้อัตลักษณ์ความเป็นชายของตนในที่สาธารณะมีความชัดเจน จนสร้างความไม่พอใจให้กับทุกเพศ ไม่เว้นแม้แต่ในกลุ่มทอมด้วยกันเอง ศรัทธารา แสดงทัศนะต่อประเด็นนี้ว่า

"วัฒนธรรมของนิยมชาย ไม่ได้หมายถึงว่าผู้ชายทุกคนจะมีวัฒนธรรมนี้ แต่หมายถึงว่าวัฒนธรรมนี้เป็นวัฒนธรรมหลักที่สถาปนาอยู่ในตัวตนของเราทุกคน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ เด็ก คิดคล้ายกัน ก็คือคิดว่าเรื่องบางอย่างผู้หญิงต้องทำอย่างนี้ ผู้ชายต้องทำอย่างนี้ ผู้หญิงซึ่งเกิดมาเป็นทอมก็ควรจะต้องทำอะไรบางอย่าง ถ้าซ่าเกินไปก็ต้องโดน"

“ถ้าเป็นมุมมองเรา เชื่อว่ามันเป็นความผิดของระบบการศึกษาในสังคมที่ตัดสินกันผ่านการแสดงออกทางเพศ พอถูกตัดสินในทุกๆ ชั้น ตั้งแต่ที่บ้าน โรงเรียน และทุกๆ ที่ สมมติว่าเกิดมามีจิ๋ม แต่เขาไม่ได้อยากเป็นผู้หญิงหรืออยากจะเป็นเพศที่ตนเองกำหนดเอง หรืออยากจะเป็นผู้ชาย ถ้าเขาพูดแตกต่างจากความเป็นผู้หญิง แล้วไม่มีใครฟังเขาเลย แน่นอนว่าเขาก็ต้องพยายามแสดงออกให้คนยอมรับ เพราะเขาต้องเอาตัวรอดในวันนี้และวันนี้ผู้คนตัดสินเขา ซึ่งมันรุนแรงต่อจิตใจ เขาจึงต้องแสดงออกให้มากที่สุดกับสิ่งที่เขาคิดว่าเชื่อมโยงกับความเป็นเพศในใจเขา”

อย่างไรก็ตาม ศรัทธาราตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ไม่ว่าทอมจะทำท่าทีที่เรียกว่ากร่างมากแค่ไหน แต่ให้ลองคิดเปรียบเทียบว่า ถ้าผู้ชายทำท่ากร่าง ผู้คนก็จะหมั่นไส้เหมือนกัน แต่โอกาสที่จะหมั่นไส้จนพูดว่าน่าจะถูกจับไปข่มขืน ถูกทำร้าย หรือฆ่า จะน้อยกว่าสิ่งที่พูดกับทอมหรือเข้าไปทำร้ายน้อยกว่า เหมือนกับว่าสังคมยอมรับได้มากกว่าที่ผู้ชายจะ ‘กร่าง’ แต่รับไม่ได้หากทอมจะ ‘กร่าง’ บ้าง นี่จึงเป็นอคติและการเลือกปฏิบัติที่มีต่อทอม

“แต่ไม่ว่าเขาจะทำท่ากร่างแค่ไหน ก็ไม่ควรเป็นเหตุผลที่นำมาตัดสินความเป็นเพศและต้องถูกกระทำรุนแรง”

 

ความรุนแรงต่อผู้หญิง ในวัฒนธรรมนิยมความเป็นชาย

กฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายให้เห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดกับทอมนั้น ลึกๆ แล้วก็คือความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมนิยมความเป็นชาย

“วัฒนธรรมแก้ทอมซ่อมดี้ จริงๆ แล้วมันเป็นความรุนแรงต่อผู้หญิง เส้นทางความรุนแรงต่อผู้หญิง มันลึก ผู้ชายที่เป็นเกย์จะไม่มีลักษณะที่ถูกกระทำรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคดีทางเพศอย่างที่ผู้หญิงที่เป็นทอมโดน ความรุนแรงจะมีอยู่สามชุด ชุดที่ลึกที่สุดคือความรุนแรงทางวัฒนธรรม น่ากลัวที่สุด เพราะมันส่งผ่านความเชื่อของเราเองและไม่มากก็น้อยเราทำความรุนแรงนี้ทุกวัน ความรุนแรงที่สองคือเชิงโครงสร้าง ซึ่งเพศสภาพเกือบทุกเพศสภาพก็ต้องเผชิญคล้ายๆ กัน สุดท้ายคือความรุนแรงทางตรง อันนี้ชัดเจน ทำกับเรา เห็นกับตา โจ่งแจ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากจะพูดก่อนว่า มันอยู่บนวัฒนธรรมของการนิยมชาย

“วัฒนธรรมของนิยมชาย ไม่ได้หมายถึงว่าผู้ชายทุกคนจะมีวัฒนธรรมนี้ แต่หมายถึงว่าวัฒนธรรมนี้เป็นวัฒนธรรมหลักที่สถาปนาอยู่ในตัวตนของเราทุกคน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ เด็ก คิดคล้ายกัน ก็คือคิดว่าเรื่องบางอย่างผู้หญิงต้องทำอย่างนี้ ผู้ชายต้องทำอย่างนี้ ผู้หญิงซึ่งเกิดมาเป็นทอมก็ควรจะต้องทำอะไรบางอย่าง ถ้าซ่าเกินไปก็ต้องโดน เอกสารในต่างประเทศพูดเหมือนกับบ้านเราว่า การที่เขาจะข่มขืนหรือพยายามจะมีเพศสัมพันธ์กับทอม เพราะเขาคิดว่าทอมต้องเจอของจริง ซึ่งของจริงแปลว่าอวัยวะเพศผู้ชาย แล้วผู้หญิงที่เป็นทอมจะหาย การที่คิดว่าอวัยวะเพศผู้ชายจะแก้ตรงนี้ได้มาจากไหน มันมาจากความเชื่อเชิงวัฒนธรรมว่ามันเป็นความศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่าง เพราะฉะนั้นตัวนี้คือตัวที่ใหญ่ที่สุด

“ทีนี้พอคนที่เป็นทอม ไม่มากก็น้อยก็ไปสมาทานศีลความเป็นชายเข้ามา คนเป็นทอมจำนวนหนึ่งก็จะกินเหล้าสูบบุหรี่ ผู้ชายที่ไปนั่งกินเหล้าสูบบุหรี่กับผู้หญิงซึ่งอยู่ในเพศสภาวะทอม เขาก็มีความรู้สึกว่า บางที เขาจะทำอะไรกับคนคนนี้ก็ได้ สิ่งที่ดิฉันเจอในการทำงาน ดิฉันเจอผู้หญิงซึ่งอยู่เพศสภาวะทอมถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ แล้วท้อง มีทั้งท้องจนต้องไปทำแท้ง ท้องคลอดลูกออกมา ดิฉันเจอกรณีหนึ่ง ทอมที่ต่างจังหวัด ซึ่งเขาถูกผู้ชายละเมิดสองครั้ง ในสถานการณ์เดียวกันคือไปกินเหล้ากับเพื่อนผู้ชาย คนกระทำก็มีความรู้สึกว่าไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ในขณะที่คนที่ถูกกระทำ ไม่มากก็น้อย ก็เหมือนผู้หญิงทั่วไปคือโทษตัวเอง คือมันมีลักษณะแบบนี้ แล้วมันมีลักษณะที่เห็นว่าเป็นทอมแล้วหมั่นไส้ แล้วก็ละเมิดทางเพศก็มี

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศจะมีอยู่ 3 อย่างคือ เงียบ รู้สึกละอาย และรู้สึกว่าเป็นบาปกรรมของตัวเอง จะเห็นได้ว่าสามตัวนี้ มันทำร้ายผู้หญิง กดผู้หญิงให้ไม่พูด จริงๆ มันเหมือนกับเราถูกละเมิดจากวัฒนธรรมแบบแผนที่ผู้หญิงดี เพราะฉะนั้นเราจึงลงโทษตัวเราเองก่อน โดยที่เราไม่พูดอะไร”

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เว็บประชามติ เปิดโหวตออนไลน์ ประชาชน 85% ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและ 93% ไม่รับคำถามพ่วง

0
0

เว็บไซต์ประชามติ เปิดให้ประชาชนทั่วไปในโลกออนไลน์ ลงคะแนนเสียงออนไลน์สองคำถามประชามติทางเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 93 ไม่เห็นชอบคำถามพ่วง

ตั้งแต่วันที่ 26–29 กรกฎาคม 2559 เว็บไซต์ประชามติ เปิดให้ประชาชนทั่วไปในโลกออนไลน์ ร่วมกันออกเสียงประชามติและแสดงความคิดเห็นในสองคำถามที่จะถูกนำมาใช้ในการลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 2559 โดยทำเป็นภาพบน เฟซบุ๊กเพจประชามติ  ให้ประชาชนที่มีบัญชีเฟซบุ๊กสามารถคลิกรูปคำถามแต่ละคำถาม ถ้า "เห็นชอบ" ให้กด "Love"  "ไม่เห็นชอบ" ให้กด "Angry" และ "ยังไม่ตัดสินใจ" ให้กด "Haha"

ผลปรากฏว่า คำถามที่หนึ่ง “เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” มีผู้โหวตทั้งสิ้น 1,813 คน มีผู้เห็นชอบ 5% (99 คน) ไม่เห็นชอบ 85%(1,538 คน) ยังไม่ตัดสินใจ 6% (117 คน) และอื่น ๆ 3% (59 คน)

และคำถามที่สอง (คำถามพ่วง) “เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ให้ส.ว.ที่คสช.แต่งตั้ง ร่วมกับส.ส.เลือกนายกฯ ในช่วงห้าปีแรก” มีผู้โหวตทั้งสิ้น 1,623 คน มีผู้เห็นชอบ 3% (44 คน) ไม่เห็นชอบ 93% (1,518 คน) ยังไม่ตัดสินใจ 4% (61 คน) และอื่นๆ 4% (64 คน)
 
เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติเป็นเครือข่ายของสื่อทางเลือกและสถาบันวิชาการ ที่ต้องการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติโดยใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือ ผู้ที่เข้าร่วมตอบคำถามในแบบสำรวจครั้งนี้เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กที่หลากหลาย ส่วนหนึ่งคือผู้ที่กดติดตามเพจเฟซบุ๊กประชามติอยู่ก่อนแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นบุคคลทั่วไป ซึ่งในการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ทางเพจเฟซบุ๊กประชามติ ได้ใช้บริการระบบ sponsor ของ Facebook โดยเลือกให้แบบสำรวจเข้าถึงบุคคลทั่วไปที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย อายุระหว่าง 18-65 ปี โดยไม่จำกัดประเด็นความสนใจ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ม.ขอนแก่น ตัดน้ำตัดไฟ ขอให้เลิกจัด "พูดเพื่อเสรีภาพ"-ผู้จัดปักหลักเฝ้าเวที-ยันจัดต่อ

0
0

รองคณบดีเกษตร ม.ขอนแก่น ขอให้นักศึกษาเลิกจัดงาน "พูดเพื่อเสรีภาพ" ที่เชิญรังสิมันต์ โรม และปิยบุตร มาร่วมเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญ อ้างจะทำให้สถาบันไม่เป็นกลาง ส่วนสถานที่จัดงานน้ำไม่ไหล-ไฟดับมาตั้งแต่บ่าย ขณะที่ ไผ่ ดาวดิน ยืนยันจัดงานต่อ เพราะทำหนังสือขอใช้สถานที่และจ่ายค่าบำรุงสถานที่แล้ว โดยตลอดคืนผู้จัดงานนอนปักหลักเฝ้าสถานที่

นักศึกษาซึ่งกำลังเตรียมสถานที่จัดงาน "พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?" ที่อาคารจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วงกลางดึกของวันที่ 30 ก.ค. โดยอาศัยแสงไฟจากแบตเตอรีที่เช่ามาใช้จัดเวที เนื่องจากบริเวณสถานที่จัดงานไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาไม่ไหลมาตั้งแต่ช่วงบ่าย โดยในภาพมีเจ้าหน้าที่ รปภ. เข้ามาเจรจาให้ออกจากพื้นที่

ตามที่ในวันอาทิตย์ที่ 13.00 น. ที่อาคารจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนเเก่น จะมีการจัดกิจกรรม "พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?" โดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน (NDM) และกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่อีสานนั้น ล่าสุด จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำผู้จัดงานได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประชาไทว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ทางคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้โทรศัพท์มาแจ้งกับผู้จัดงานว่า ขอยกเลิกไม่สามารถที่จะให้ใช้สถานที่จัดงานได้ เนื่องจากเป็นการจัดกิจกรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยทางนายจตุภัทรได้โต้แย้งไปว่าได้ทำหนังสือขออนุมัติใช้สถานที่ พร้อมทั้งได้จ่ายค่าบำรุงสถานที่ไปแล้ว ทางวิทยากรก็ได้เชิญและตอบรับการเข้าร่วมแล้วจึงไม่สามารถที่จะยุติการจัดงานได้

ต่อมาในเวลา 13.00 น.  ทางกลุ่มผู้จัดงานได้เข้ามาในอาคารจตุรมุขเพื่อจัดสถานที่ จนถึงตอนค่ำ ก็พบว่า สถานที่จัดงานถูกตัดไฟตัดน้ำ

เวลา 20.50 น. ทางรองคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ นายจิรวัฒน์ สนิทชน ได้เข้ามาเจรจาโดยยืนยันว่าไม่สามารถให้จัดงาน โดยระบุว่าทำให้ภาพลักษณ์ของสถาบันการศึกษาไม่เป็นกลาง แต่ทางกลุ่มผู้จัดกิจกรรมก็ยังยืนยันว่าจะจัดต่อ

เวลา 21.15 น. หัวหน้า รปภ. เข้ามาเพื่อขอให้นักศึกษาออกจากพื้นที่อีกครั้งโดยทางคณะแจ้งว่าไม่ได้มีการอนุมัติให้ใช้สถานที่  แต่นักศึกษา ยืนยันว่าทำหนังสือขอใช้สถานที่ถูกต้อง ทางคณะได้อนุมัติเป็นที่เรียบร้อย โดยทางกลุ่มได้วางเงินมัดจำสถานที่ไว้กับทางคณะ โดยมีเอกสารใบรับเงินเป็นที่เรียบร้อย ทาง รปภ. บอกว่ามาแจ้งเป็นหน้าที่ สุดท้ายแล้วการตัดสินใจอยู่ที่คณะ

จตุภัทร์กล่าวว่า ที่ผ่านมาถูกกดดันไม่ให้จัดกิจกรรมตลอด มีการขอสถานที่จัดงานไป 3-4 แห่ง แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ เมื่อได้รับการอนุมัติให้ใช้สถานที่ก็ทำการเช่าเก้าอี้เครื่องเสียง อุปกรณ์จัดงาน และวิทยากกรก็ได้เชิญแล้ว ประชาสัมพันธ์ไปแล้ว จึงยืนยันว่าจะจัดงานต่อ

ล่าสุดเมื่อเวลา 22.53 น. ผู้จัดกิจกรรมยังคงเฝ้าสถานที่จัดกิจกรรม และรายงานว่าเหตุการณ์ยังปกติ

เวลา 23.30 น. มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารนอกเครื่องแบบเข้ามาพบนักศึกษาบริเวณสถานที่จัดงาน โดยเข้ามาเจรจาและถ่ายภาพเอกสารที่เตรียมใช้จัดงาน

เมื่อเวลา 00.05 น. วันที่ 31 ก.ค. นักศึกษาผู้จัดงาน "พูดเพื่อเสรีภาพ" ช่วยกันเก็บเก้าอี้และชุดคลุมเก้าอี้ นำไปคืนร้านโต๊ะจีนที่ได้เช่ามา หลังจากเจ้าของร้านโต๊ะจีนติดต่อขอคืนเก้าอี้ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาที่ร้านโต๊ะจีนและอ้างว่าไม่สบายใจ ด้านผู้จัดงานยืนยันไม่มีเก้าอี้ก็จะจัดงานต่อไปโดยจะหาปูเสื่อแทน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสท.จ่อโหวตลงโทษช่องข่าว 'สปริงนิวส์-วอยซ์ทีวี' ขัด ม.37-ประกาศ คสช.

0
0
1 ส.ค. นี้ กสท. พิจารณาเรื่องร้องเรียนรายการ Face Time ตอน “ดราม่า... “เนติวิทย์ เด็กเกรียนหรือหัวก้าวหน้า ไม่หมอบกราบ พิธีถวายสัตย์” สปริงนิวส์ และ Tonight Thailand ว่าขัด ม.37 และประกาศ คสช. หรือไม่ ด้าน 'สุภิญญา' ชี้ยิ่งเซ็นเซอร์ทีวีดิจิตอลยิ่งย่ำแย่

 
30 ก.ค. 2559 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 25/2559 วันจันทร์ที่ 1สิงหาคม นี้ มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ การพิจารณาเรื่องร้องเรียน การตรวจสอบพบการออกอากาศรายการเผชิญหน้า Face Time ทางโทรทัศน์ช่องสปริงนิวส์ เมื่อวันพุธที่ 20 ก.ค. 59 เวลา 20.13 – 20.53 น. มีเนื้อหาไม่เหมาะสมอาจขัดต่อมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยในรายการได้มีการสัมภาษณ์นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หัวข้อ “ดราม่า... “เนติวิทย์ เด็กเกรียนหรือหัวก้าวหน้า ไม่หมอบกราบ พิธีถวายสัตย์” ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ได้เชิญตัวแทนช่องสปริงนิวส์มาชี้แจงข้อเท็จจริงในที่ประชุม ซึ่งเหตุผลการนำเสนอประเด็นนี้เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับสังคมวงกว้าง โดยเมื่อหลังจากออกอากาศแล้วทางช่องได้ตัดสินใจดำเนินการหยุดออกอากาศทางสื่อออนไลน์ รวมทั้งหยุดรายการและยกเลิกการออกอากาศรายการ และต่อมาออกอากศอีกครั้งโดยเปลี่ยนตัวผู้ดำเนินรายการและสัมภาษณ์เรื่องทั่วไป รวมทั้งมีการตั้งกรรมการเพื่อตรวจสอบต่อไป ซึ่งอนุกรรมการเสนอลงโทษปรับทางปกครอง อัตรา 50,000 บาท พร้อมทั้งระงับการออกอากาศรายการดังกล่าว เป็นเวลา 3 วัน
 
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ทางช่องเองได้มีการเซ็นเซอร์ตัวเองก่อนที่ กสท.จะพิจารณาก็สะท้อนว่าสื่อไทยตกอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัวอย่างลึกซึ้ง ถ้า กสท.ลงมติว่ากรณีนี้ผิดกฎหมายอีก ยิ่งทำให้ กสทช. กลายเป็นองค์กรเซ็นเซอร์ ย้อนยุคสมัย ส่วนตัวเห็นว่า แม้การสัมภาษณ์อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ในประเด็นดังกล่าวจะมีความหวือหวา แต่เป็นการแสดงทรรศนะของปัญญาชนที่ต้องการสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์ มากกว่าการเชื่อตามๆกันไป  ซึ่งในสื่ออินเทอร์เน็ตก็มีการถกเถียงกันกว้างขวาง  แม้ดิฉันอาจจะไม่เห็นด้วยกับความเห็นของอาจารย์สุลักษณ์ทั้งหมด แต่ยังไม่เห็นว่าล้ำเส้นกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งในเรื่องการแสดงออกของนิสิต จุฬาฯ หรือการวิจารณ์บทบาทของทหารในเรื่องการเมือง และ สามจังหวัดชายแดนใต้ 
 
“ถ้าเห็นว่ารายการนำเสนอมุมมองด้านเดียวก็ควรเสนอแนะให้เชิญมุมมองอีกด้านมาออก  แต่ไม่จำเป็นต้องใช้การลงโทษตามมาตรา 37 เพราะจะเป็นการตอกย้ำบรรยากาศการเซ็นเซอร์สื่อให้ตกอยู่ในภาวะความกลัวย้อนยุคไปสมัยทีวีขาวดำยุคแอนะล็อก ทั้งที่งานของ กสทช.คือการส่งเสริมสื่อในยุคดิจิตอลให้เป็นตลาดเสรีทางความคิดของคนในสังคม  การควบคุมความคิดเห็นผ่านสื่อเท่ากับการทำให้สถานภาพทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารสาระย่ำแย่ลงไปอีก” สุภิญญากล่าว
 
นอกจากนี้ที่ประชุม กสท. เตรียมถก กรณีช่องวอยซ์ทีวีออกอากาศเนื้อหารายการ Tonight Thailand เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 59 อาจมีลักษณะต้องห้ามมิให้ออกอากาศ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 93/2557 และฉบับที่ 103/2557 และขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลงที่ทำร่วมกับสำนักงาน กสทช. ซึ่งมีข้อเสนอให้ มีคำสั่งเตือนทางปกครองไปยังช่องรายการ
 
วาระอื่นๆ น่าจับตา ได้แก่ วาระการพิจารณาให้ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคของสถานีวิทยุกระจายเสียง วทท.วาปีปทุม FM.92.75 MHz สถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการพลังงานทหารเชียงใหม่ AM.711 KHz  วาระพิจารณาขอให้ระงับการออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเป็นการชั่วคราวของช่องรายการออนซอนเอชดีทีวี วาระพิจารณาขยายระยะเวลาของคณะทำงานเพื่อติดตามและประเมินผลการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 วาระเพื่อทราบผลการประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจกรณีการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 31 และวาระการออกประกาศเพื่อแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพิ่มเติม รวมทั้งติดตามความคืบหน้าวาระต่างๆ ในการประชุมวันที่ 1 ส.ค.นี้
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50704 articles
Browse latest View live