Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

รามฯ สั่งสอบรับน้องซุ้มหลังสวน Drama-addict เตือนแลกน้ำลายแพร่เชื้อโรคได้

$
0
0

28 ก.ค. 2559 จากกรณีวานนี้ (27 ก.ค.59) เฟซบุ๊กแฟนเพจ ANTI SOTUS  ได้เผยแพร่ภาพชุดที่ระบุว่าเป็นการรับน้องของสถาบันแห่งหนึ่ง โดยมีการพกมีดและสั่งรุ่นน้องคลุกโคลน อีกทั้งยังมีการนำพริกแกง ผสมไข่ เพื่อให้รุ่นน้องนำมาใช้แปรงฟัน และให้รุ่นน้องผู้หญิงทำท่าเลียหัวนมรุ่นน้องผู้ชายด้วย ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของการกระทำของรุ่นพี่ โดยเฉพาะารให้รุ่นน้องนอนอยู่บนพื้นโดยที่รุ่นพี่เหยียบหลังและมีคนถือมีดอยู่ในรูปด้วย

ล่าสุดวันนี้ (28 ก.ค.59) ครอบครัวข่าว ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ สอบถามประธานซุ้มราม-หลังสวน ชี้แจงว่าภาพดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ต้อนรับนักศึกษาใหม่ ประจำปี 59 ภายในโรงเรียนเทศบาล 3 ตั้งตรงจิตร 6 จังหวัดสระบุรี ยืนยันว่าภาพทั้งหมดเป็นการแสดง บางกิจกรรมเป็นการหยอกล้อกันขำๆ เช่น การให้น้องไปนั่งถังขยะโดยให้อีกฝ่ายลาก เพื่อให้รุ่นน้องสามัคคีกัน ส่วนภาพรุ่นพี่ถือมีดดาบเป็นการสอนน้องๆว่าต้องรู้จักเกรงกลัวคนอื่นบ้าง เช่นเดียวกับการนำไข่มาผสมกับพริกแกง แล้วให้น้องนำไปแปรงฟันเป็นการฝึกความอดทน ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ปรากฏตามภาพ ยอมรับว่าดื่มจริงแต่ไม่ถึงขั้นกับขาดสติ ซึ่งศิษย์เก่าที่มาร่วมกิจกรรมเป็นผู้นำมาดื่มโดยไม่มีอาจารย์ควบคุมดูแล กิจกรรมที่เห็นอาจดูรุนแรงแต่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พร้อมยืนยันว่ากิจกรรมทั้งหมดทำขึ้นเพื่อสร้างความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวภายในกลุ่ม ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งรุ่นน้อง 

ขณะที่ ว่าที่ พ.ต.โยธิน ไพรพนานนทน์ รักษาราชการแทนหัวหน้างานกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทราบว่ามีการจัดกิจกรรมรับน้องนอกสถานที่ และ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ให้เสร็จภายใน 3 วัน ขณะเดียวกันในช่วงบ่ายวันนี้ ได้เรียกรุ่นพี่ซึ่งเป็นคณะกรรมการซุ้มดังกล่าวมาชี้แจง ถ้าพบมีความผิดจริงจะลงโทษตามวินัยนักศึกษา หรือ ถอนสภาพการเป็นนักศึกษา 

เบื้องต้น ทราบว่ามีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 70 คน ที่ผ่านมามหาวิทยาลัย ให้ความสำคัญกับกิจกรรมรับน้องอย่างต่อเนื่อง และ ส่งเสริมให้จัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ไม่ลิดรอนสิทธิ และ มีมาตรการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ตรวจสอบอาวุธ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนจัดกิจกรรมจะมีอาจารย์คอยสุ่มตรวจทุกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เข้าข่ายรับน้องรุนแรง เพื่อให้มีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบมีการร้องเรียนจากรุ่นน้องที่ร่วมกิจกรรม 

ขณะที่เพจดังอย่าง Drama-addictโพสต์วิจารณ์ด้วยว่า "การบังคับให้แลกน้ำลายกันหรือส่งของแบบปากต่อปาก หากมีใครคนใดในกลุ่มนั้นเป็นโรคติดเชื้อที่สามารถแพร่ทางน้ำลายได้ เท่ากับมึงกระจายเชื้อกันสนุกเลยนะเนี่ย"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อิรอม ชาร์มีลาแห่งมณีปุระประกาศเลิกอดอาหารประท้วง-คาดอาจลงสมัคร ส.ส.

$
0
0

อิรอม ชาร์มีลา นักกิจกรรมผู้ที่อดอาหารประท้วงเหตุสังหารหมู่ประชาชนที่ป้ายรถเมล์ที่รัฐมณีปุระเมื่อปี 2543 และเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษกองทัพอินเดีย ได้ประกาศว่าจะหยุดการอดอาหารประท้วงในวันที่ 9 ส.ค. ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเธออาจจะลงสมัครเป็นผู้แทนในการเลือกตั้งของรัฐมณีปุระ

ที่มา: วิกิพีเดีย

28 ก.ค. 2559 อิรอม ชาร์มีลา ผู้ถูกเรียกขานว่าเป็น "สตรีเหล็กแห่งมณีปุระ" เริ่มอดอาหารประท้วงตั้งแต่อายุ 28 ปี หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ทหารกราดยิงประชาชนที่ป้ายรถเมล์เมืองมาลอม รัฐมณีปุระ เมื่อปี 2543 เธอต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกกฎหมายอำนาจพิเศษกองทัพของอินเดีย (AFSPA) ที่ถูกนำมาใช้อ้างจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายเห็นต่างกับรัฐบาล ใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และใช้สังหารหมู่\ประชาชน โดยเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2501

หลังจากที่ชาร์มีลาประกาศประท้วงอดอาหารเธอก็ถูกจับกุมด้วยข้อหา "พยายามฆ่าตัวตาย" ตามข้อห้ามในกฎหมายอาญามาตรา 309 ของอินเดีย ทำให้เธออาศัยอยู่ในเรือนจำเกือบตลอดช่วงที่เธอประท้วงอดอาหาร โดยที่เธอมักจะได้รับการปล่อยตัวและถูกจับอีกครั้งเป็นประจำทุกปีเพราะกฎหมายมาตรา 309 สั่งลงโทษสูงสุดได้แค่เพียง 1 ปี เธอบอกมาโดยตลอดว่าเธอไม่มีความผิดตามกฎหมายมาตรา 309 เพราะเธอไม่ได้กำลังจะพยายามฆ่าตัวตายแต่ต้องการแสดงออกประท้วงอย่างสันติ เธอถูกจับและปล่อยตัวอยู่แบบนี้จนกระทั่งปัจจุบันเธออายุได้ 44 ปี

เธอยังคงชีวิตอยู่ด้วยสายต่อสารอาหารเข้าทางจมูกของเธอซึ่งทางเรือนจำบังคับให้เธอทำทุกครั้งที่เธอถูกจับ แต่หลังจากที่เธอถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำทุกครั้งเธอก็จะดึงสายต่ออาหารออกเพื่อประท้วงรอบใหม่

อะไรกันที่ทำให้เธอมีความบากบั่นในการประท้วงอดอาหารยาวนานถึงขนาดนี้ ชาร์มีลาเคยกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ The Wire ว่า จิตสำนึกของเธอทำให้เธอทำสิ่งนี้ต่อไปและผู้คนต่างก็รู้ว่าความเข้มแข็งของเธอมาจากความศรัทธาในมนุษยชาติเชื่อว่าทุกคนควรมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี สันติภาพและความรัก ทุกคนควรมีประสบการณ์เข้าถึงความมหัศจรรย์ของชีวิต และพวกเราก็ควรแบ่งปันเรื่องเหล่านี้กับคนอื่นๆ

นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนอีกคนหนึ่งที่ใกล้ชิดกับชาร์มีลาคือ บาโบล ลอยทังบัม กล่าวว่าเขารู้สึกประหลาดใจที่ได้ยินเธอประกาศเลิกประท้วงอดอาหาร แต่ก็ได้ยินข่าวว่าเธอกำลังจะต่อสู้ด้วยการสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่ง ส.ส. ในฐานะผู้แทนอิสระ แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันข่าวได้เพราะเธอยังอยู่ในเรือนจำ ในเรื่องที่เธอคิดจะลงสมัคร ส.ส. นั้นลอยทังบัมกล่าวว่าน่าจะเป็นเพราะเธออยากเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ใหม่โดยการเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองเพื่อทำให้รัฐยอมหันมาฟังเธอ โดยที่ก่อนหน้านี้ชาร์มีลาก็เคยได้รับเสนอที่นั่งจากพรรคการเมืองหลายพรรคแต่เธอก็ปฏิเสธหมด

ในสมัยที่ชารมีลายังประท้วงอดอาหารอยู่เธอเคยประกาศว่า "การตอบโต้ด้วยอาวุธไม่อาจยุติความรุนแรงได้ ร่างกายของฉันคืออาวุธ การอดอาหารคืออาวุธเดียวที่ฉันมี ฉันจะไม่ยุติการอดอาหารจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกกฎหมายนี้"

 

เรียบเรียงจาก

Irom Sharmila to End Hunger Strike on August 9; Family Surprised by Announcement, 26-07-2016 http://thewire.in/54084/irom-sharmila-to-end-hunger-strike-on-august-9-family-surprised-by-announcement/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Irom_Chanu_Sharmila

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

$
0
0
"การลงมติรับหรือไม่จึงไม่ใช่เป็นเรื่องชอบหรือไม่ชอบ เชียร์หรือไม่เชียร์ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทางการเมือง และผมจะไม่ยอมให้ใครเอาเงื่อนไขว่าถ้ากรณีรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้ว จะมาสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง ตรงกันข้าม ผมมองว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่จะสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่"
 
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, 27 ก.ค. 2559

ฟังยัง 'เสียงปฏิรูป' ปล่อย MV เพลง "ดีใจได้เรียนฟรี (ลุงตู่จัดให้)"

$
0
0

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมาคณะกรรมการโครงการเสียงปฏิรูปประเทศ www.reformvoice.com ได้เผยแพร่ เพลง "ดีใจได้เรียนฟรี (ลุงตู่จัดให้)" ผ่านทางยูทูบบัญชี "ReformvoiceTH" ขับร้องนำโดย นันทวัน คุ้มดี  แต่งเนื้อร้อง ทำนอง และเรียบเรียงเสียงประสาน โดย พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร

โดยมีเนื้อร้องดังนี้

"อยากไปโรงเรียนแต่หนูยากจน ครอบครัวขัดสนก็เลยไม่ได้เรียน
ขยันหมั่นเพียรอยากจะไปชิงทุน ขยันหมั่นเพียรอยากจะไปชิงทุน
ทางการเขาให้ทุนเรียนดีแต่ยากจน
ข้าวสารกรอกหมอก็ยังมีไม่พอน้องๆอีกสองคน อดทนทางานช่วยพ่อแม่แบ่งเบา
อยากจะเรียนดีไปชิงทุนอย่างเขา แต่เรื่องหนูมันเศร้า เฮ้อ...จะกินยังไม่มี
เรียนฟรี เรียนฟรี เรียนฟรี ลุงตู่ใจดีให้หนูได้ไปโรงเรียน สมุดดินสอมีทุกอย่างให้ครบครัน
ต่อจากนี้เด็กไทยจะเก่งเกินใคร เรียนฟรี 15 ปี นี้คือข่าวดีประเทศไทย
เรียนฟรี เรียนฟรี เรียนฟรี ลุงตู่ใจดีให้หนูได้ไปโรงเรียน สมุดดินสอมีทุกอย่างให้ครบครัน
ต่อจากนี้เด็กไทยจะเก่งเกินใคร เรียนฟรี 15 ปี นี้คือข่าวดีประเทศไทย
เย เย โอ้เย เย โอ้เย เย โอเย้ เย เย โอ้เย เย โอ้เย เย โอเย้ โอ้เย...............
หนูอยากเป็นคุณครูค่ะ ผมอยากเป็นนักบินอวกาศครับ อยากเป็นคุณหมอจังเลยค่ะ
ดีใจจังเลยได้เรียนฟรี กราบขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านค่ะ ขอบคุณค่ะ เย้........
เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน ได้ไปโรงเรียนจะมีความสุขทุกวัน
จะตั้งใจเรียนให้ได้ดีสักวัน โตขึ้นหนูจะมาพัฒนาประเทศไทย
เด็กเอ๋ยเด็กไทย อนาคตจะก้าวไกลเพราะได้เรียนหนังสือ
เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า เด็กในวันนี้เป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า
เรียนจบหนูจะมาพัฒนาประเทศไทย
เรียนฟรี เรียนฟรี เรียนฟรี ลุงตู่ใจดีให้หนูได้ไปโรงเรียน สมุดดินสอมีทุกอย่างให้ครบครัน
ต่อจากนี้เด็กไทยจะเก่งเกินใคร เรียนฟรี 15 ปี นี้คือข่าวดีประเทศไทย
เรียนฟรี เรียนฟรี เรียนฟรี ลุงตู่ใจดีให้หนูได้ไปโรงเรียน สมุดดินสอมีทุกอย่างให้ครบครัน
ต่อจากนี้เด็กไทยจะเก่งเกินใคร เรียนฟรี 15 ปี นี้ปฏิรูปประเทศไทย
ดีใจจังเลยได้เรียนฟรี จะไปโรงเรียน จะไปโรงเรียน ดีใจจัง โอ้เย เย้..............."

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอำนาจตาม ม.44 ของ รัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย (อ่านรายละเอียด) อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้นมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การตัดสิทธิดังกล่าวในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่จะมีการลงประชามติด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุก 3 ปี อดีตข้าราชการสรรพากรคดีช่วยเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป ประกันตัวสู่อุทธรณ์ต่อ

$
0
0

28 ก.ค.2559 ศาลอาญา ถ.รัชดาฯ อ่านคำพิพากษา คดีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง เบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร, จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย, โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย, กริช วิปุลานุสาสน์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายกรมสรรพากร และปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ อดีตเลขานุการของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คดีนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2558 กล่าวหาว่า เบญจา กับพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อไม่ให้ พานทองแท้ และ พินทองทา ชินวัตร บุตรของทักษิณ ชินวัตร ต้องเสียภาษีอากรหรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย กรณีซื้อหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นคือ 49.25 บาท ซึ่งจะต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละกว่า 7,900 ล้านบาท

ศาลพิเคราะห์จากพฤติการณ์แล้วเห็นว่า การโอนหุ้นดังกล่าวไม่ใช่หุ้นเพิ่มทุนอย่างเดียวตามที่จำเลยต่อสู้ พร้อมกับนำข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. มาประกอบ เห็นว่ามีการเอื้อประโยชน์เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี พิพากษาจำคุกนางเบญจา จำเลยที่ 1-4 คนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ส่วน ปราณี จำเลยที่ 5 พิพากษาจำคุก 2 ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำผิด โดยไม่มีเหตุให้รอลงอาญาเช่นกัน

หลังศาลอ่านคำพิพากษา จำเลยทั้งหมดยื่นหลักทรัพย์พร้อมคำร้องเพื่อขอประกันตัวสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์ หลังใช้เวลาพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของฝ่ายจำเลยเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ศาลได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว คิดหลักทรัพย์คนละ 300,000 บาท จำเลยทั้งหมดออกจากศาลอาญา โดยไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มต้านร้อง กพร. ปิดเหมืองทองพิจิตรทันที ด้านกลุ่มหนุนชี้ปิดกระทบกว่า 4 พันชีวิต

$
0
0

กลุ่มต้านหมืองทอง พิจิตร-เพชรบูรณ์ ร้อง กพร. ขอให้หยุดทำเหมืองฯ ทันที เหตุชาวบ้านเจ็บป่วย ด้านกลุ่มหนุนเหมืองฯ ล่า 5,587 รายชื่อ ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ข้อเท็จจริงเรื่องผลกระทบเหมืองทอง ระบุการปิดเหมืองฯ กระทบคนกว่า 4,000 คน

28 ก.ค.2559 เวลา 09.30 น. ที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตรและเพชรบูรณ์ 19 คน ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่องขอให้ยุติการทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณบ่อ Q ทุกบ่อ ของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน)


ธัญญารัศมิ์ สินทรธรรมทัช ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตรและเพชรบูณณ์ กล่าวว่า การทำอุตสาหกรรมเหมืองทองคำของบริษัทอัคราฯนั้น ปัจจุบันยังคงสร้างผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทอัคราฯ ยังคงระเบิดเหมืองทองคำ ล่าสุดชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการระเบิดเหมืองฯอยู่บริเวณบ่อQ ขอประทานบัตร ซึ่งระยะห่างจากจุดดังกล่าวและบ้านชาวบ้านอยู่ในรัศมีน้อยกว่า 500 เมตร ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยจากอาการคันผิวหนัง


ธัญญารัศมิ์ ได้แนบหนังสือคำสั่งของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เมื่อ 11 ม.ค.2554 เพื่ออ้างถึงผลกระทบในครั้งนี้ โดยหนังสือดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาร้องเรียนกรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด โดยให้บริษัทหยุดทำเหมืองแร่ในพื้นที่เฟส 2 เวลากลางคืน ตั้งแต่ 19.00 น.-05.00 น. และให้บริษัทฯหยุดการทำเหมืองหรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องบริเวณด้านทิศเหนือของโครงการตั้งแต่ 12 ม.ค.2554 เป็นต้นไป จนกว่าบริษัทจะแก้ปัญหาเสียงดังของการเจาะระเบิด เครื่องจักรกลหนัก และพิสูจน์ว่าสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จึงขอให้ กพร. เข้าไปตรวจสอบและให้เหมืองแร่ฯยุติการทำเหมืองตามคำสั่งดังกล่าว ในครั้งนี้จึงให้มีการตรวจสอบว่าเหมืองทองฯได้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ในการทำอุตสาหกรรมในพื้นที่เหมืองที่ยังสร้างผลกระทบให้กับชาวบานจนถึงปัจจุบัน

 

19 กลุ่มหนุนเหมืองทองฯ ร้องผู้ตรวจการฯ ชี้ปิดกระทบ 4 พันชีวิต

ในขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ห้อง 903 กลุ่มเครือข่ายผู้นำชุมชนและประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี 19 กลุ่ม จำนวนประมาณ 30 คน  และรวบรวมรายชื่อประชาชน 5,787 ราย เรียกร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในการพิจารณาสอบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริงประเด็นการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ไปอีก 3-5 ปี อ้างพนักงาน ชาวบ้าน และเศรษฐกิจของพิจิตร – เพชรบูรณ์มีผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดเหมืองฯถึง 4,000 คน

เครือข่ายผู้นำชุมชนและประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี 19 กลุ่ม ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนตำลลท้ายดง กำนันตำบลเขาเจ็ดลูก กำนันตำบลท้ายดง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ตำบลเขาเจ็ดลูก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ตำบลเขาเจ็ดลูก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ตำบลท้ายดง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลวังโพรง ตัวแทนภาคประชาชน ตัวแทนผู้สูงอายุ รองประธานหอการค้าจังหวัดพิจิตร ตัวแทนผู้ประกอบการ ตัวแทนพ่อค้า-แม่ค้า ตัวแทนวิสาหกิจชุมชน ตัวแทนกลุ่มอาชีพ ตัวแทนนักเรียนทุน ตัวแทนบริษัท โลตัสฮอลวิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้าง จำกัด ตัวแทนพนักงาน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน)

ในเนื้อหาหนังสือดังกล่าวได้อ้างถึงผลกระทบของการที่บริษัทเหมืองอัคราฯ จะต้องปิดตัวลงในสิ้นปี 2559 จะเกิดผลกระทบต่อพนักงานประมาณเกือบ 1000 คน และคนที่อยู่ในครอบครัวที่อยู่รอบเหมืองซึ่งรวมประมาณ 4000 คน เนื่องจากการไม่ได้รับการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบจ. และ อบต.) โรงเรียน โรงพยาบาล วัด ระบบสาธารณูปโภค ที่ได้รับจากค่าภาคหลวง เงินกองทุนที่เป็นทั้งเงื่อนไขการอนุญาตและเป็นพันธะระหว่างเหมืองกับชุมชน และการสนับสนุนชุมชนจากงบประมาณประจำปีของเหมือง

กลุ่มตัวแทนเครือข่ายผู้นำชุมชนและประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี ระบุว่า 15 ปีที่บริษัทอัคราฯ เหมืองแร่ทองคำดำเนินการในพื้นที่ประชาชนอยู่ร่วมกับเหมืองได้ดีมาตลอด โดยไม่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพดังที่มีผู้กล่าวอ้าง ไม่มีแพทย์ท่านใดระบุความเชื่อมโยงของเหมืองและสุขภาพประชาชน และทั้งไม่ได้มีความขัดแย้งรุนแรงอย่างที่สื่อและผู้ที่อยู่นอกพื้นที่เสนอข่าว โดยอ้างว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นมีคนกลุ่มน้อยที่มีวาระแอบแฝงเรื่องประโยชน์เรื่องที่ดิน จากการหวังขายที่ดินให้เหมืองฯในราคาที่สูง จากความเดือนร้อนในประเด็นที่เกิดขึ้นเครือข่ายฯขอความกรุณาจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้โปรดใช้อำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเชิญหัวหน้าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มาให้ข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลเรื่องการขออนุญาตประกอบโลหะกรรม ที่จะให้สิ้นสุดในปลายปี 2559 นี้


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรสิทธิที่อยู่อาศัยสากล ส่งจม.ถึงผู้ว่าฯกทม.กรณีรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ

$
0
0

สมาพันธ์ผู้อยู่อาศัยระหว่างประเทศ (ไอเอไอ) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าฯ กทม. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการไล่ที่และเคารพต่อสิทธิมนุษยชน กรณีการรื้อชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อสร้างสวนสาธารณะ

28 ก.ค.2559 มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา สมาพันธ์ผู้อยู่อาศัยระหว่างประเทศ (ไอเอไอ) หรือ International Alliance of Inhabitants(IAI) ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึงหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรัฐบาลไทยแสดงความห่วงกังวลถึงแผนการรื้อชุมชนซึ่งขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการไล่ที่และหาแนวทางแก้ปัญหาที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนจากกรณีแผนการรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อสร้างสวนสาธารณะโดย กรุงเทพมหานคร ตามแผนแม่บทเมื่อ 50 ปีก่อน และเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน 25 ปี ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา

จดหมายเปิดผนึกระบุว่า ไอเอไอ แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับชุมชนป้อมมหากาฬ โดยชุมชนที่มีประชากร 300 คนนั้นถูกคุกคามด้วยการบังคับไล่ที่ตลอดช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดข้อห่วงกังวลดังต่อไปนี้

1.ชมชนไม่ได้รับการให้คำปรึกษาอย่างจากรัฐบาลและหน่วยงานของกรุงเทพมหานครอย่างเพียงพอ

2.ชุมชนและผู้อยู่อาศัยในชุมชนถูกกล่าวหาให้เสื่อมเสียชื่อเสียงจากเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร เช่นการระบุว่าชุมชนเป็นแหล่งรวมของผู้เสพ ผู้ค้ายาเสพติด อาชญากร และกลุ่มคนผู้ใช้ความรุนแรงในครอบครัว

3.ข้อเสนอในการย้ายที่อยู่ใหม่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะสถานที่ที่เสนอให้ย้ายไปนั้นอยู่ห่างไกลและไม่มีข้อเสนอสำหรับการจ้างงาน เช่นการอนุญาติให้ชาวบ้านสามารถดำเนินชีวิตในแบบชุมชนต่อไปได้

4.ไม่มีข้อเสนอเงินชดเชยเพิ่มเติมที่เหมาะสมจากหน่วยงานกทม. แม้ว่าเงินชดเชยเดิมที่เสนอมาจะน้อยเกินกว่าที่จะสามารถใช้จ่ายสำหรับความต้องการพื้นฐานได้อย่างเพียงพอ

ปัจจัยดังกล่าวขัดต่อ บทบัญญัติข้อ 11 ของ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (อีเอสซีอาร์)ลงนามโดยรัฐบาลไทยเมื่อปี 2542 และแม้ว่าจะมีข้อแนะนำจากคณะกรรมาธิการอีเอสซีอาร์ ในการประชุมครั้งที่ 50 ในปี 2558 เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐ เคารพสิทธิในการมีที่พักอาศัยและ ดำเนินการในส่วนที่จำเป็นที่รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายและกรอบนโยบายใหม่แล้วก็ยังคงมีการละเมิดเกิดขึ้น

ศาลระหว่างประเทศเอเชียตะวันออก เสนอ 6 ข้อ แนะรัฐบาลแก้ปัญหาไล่รื้อชุมชนป้อมฯ

กรณีการละเมิดชุมชนป้อมมหากาฬดังกล่าวได้รับรู้ในที่ประชุมของศาลระหว่างประเทศว่าด้วยการฟ้องร้องขับไล่ แห่งเอเชียตะวันออก ที่กรุงไทเป ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฎาคมที่ผ่านมา และได้มีการแนะนำมาตรการสำคัญบางอย่าง เพื่อสถานการณ์ที่ดีขึ้นในทางสร้างสรรค์ ดังนั้น จึงขอเสนอข้อแนะนำอย่างเร่งด่วน

ข้อ 1 คือ กรุงเทพมหานครควรจะยุติและเลิกความพยายามที่จะขับไล่ผู้คนออกจากชุมชนป้อมมหากาฬ

ข้อ 2 นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาในเรื่องดังกล่าวออกมาเมื่อปี พ.ศ.2535 มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าโครงการสร้างสวนสาธารณะบนพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬนั้น ไม่เหมาะสมกับความต้องการของสาธารณะ ทางกรุงเทพมหานครควรจะทบทวนพระราชกฤษฎีกาเสียใหม่ และนำเสนอเรื่องใหม่แก่คณะรัฐมนตรี ที่จะสามารถออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ที่จะแก้ปัญหาอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

ข้อ 3 ทางกรุงเทพมหานครควรจะยุติการโจมตีต่อชื่อเสียงของชุมชนที่ไม่จำเป็น ไม่เพียงแค่เรื่องการทำงานเพื่อเปิดการเจรจากับทางกรุงเทพมหานครเพื่อหาวิธีแก้ไขที่พึงพอใจร่วมกัน แต่ยังต้องแสดงให้เห็นถึงทักษะของการบริหารจัดการด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการบรรลุถึงเป้าหมายที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากยาเสพติด โดยไม่ใช้ความรุนแรง และความร่วมมืออย่างเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรุงเทพมหานครควรจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมนุษย์มากกว่าการใส่ร้ายโจมตีผู้คนที่ต้องการทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร

ข้อ 4 ดังนั้น ควรจะให้สิทธิแก่ชุมชนในการอยู่อาศัยและเดินหน้ายกระดับสภาพความเป็นอยู่รวมถึงสิทธิในการทำงาน กรุงเทพมหานครควรจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับข้อเสนอในการแบ่งปันที่ดินของุชมชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมที่ชุมชนยอมรับในฐานะหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน

ข้อ 5.แสดงตัวอย่างและให้คำมั่นกับชุมชนในการคงไว้ซึ่งธำรงรักษาไว้ซึ่งมรดกและวัฒธรรมในความเป็นอยู่ของชุมชน กรุงเทพมหานครต้องยอมรับฟังเสียงเรียกร้องของชาวป้อมมหากาฬ (รวมถึงเสียงเรียกร้องของชุมชนอื่นๆ) อย่างจริงจังและต้องปรับปรุงแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของชาติ
และ

ข้อ 6.องค์การยูเนสโกและองค์กรนานาชาติอื่นๆที่เชี่ยวชาญในด้านมรดกทางวัฒนธรรมและการอนุรักษ์โบราณสถาน และสถาปัตยกรรมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางสังคมในโครงการฟื้นฟูในกรุงเทพมหานคร
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต.กทม.มั่นใจคนกรุงออกไปโหวตไม่ต่ำกว่า 80% ตามเป้า กกต.ใหญ่

$
0
0

กทม.ปล่อยแถวเดินรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ 7 ส.ค. นี้ ประธาน กกต.กทม.มั่นใจคนกรุงทราบข้อมูลวันลงประชามติ เชื่อออกมาใช้สิทธิ์ ร้อยละ 80 ตามที่ กกต.ใหญ่ตั้งเป้า

ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ กองประชาสัมพันธ์ กทม.

28 ก.ค. 2559 สมภพ ระงับทุกข์ ประธานคณะกรรมการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร(กกต.กทม.) กล่าวถึงความพร้อมการลงประชามติ ในวันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค.นี้ ว่า ในส่วนของกรุงเทพฯขณะนี้มีความพร้อมมากถึงมากที่สุด การประชาสัมพันธ์ได้ทำในทุกสื่อที่มีทั้งทีวี วิทยุ ป้ายโฆษณาทั่วทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ เชื่อว่าสิ่งที่ กกต.กทม.ได้ทำลงไป ประชาชนนั้นได้รับรู้และทราบว่าวันที่ 7 ส.ค. นี้ทุกคนจะต้องอกมาใช้สิทธิ์ของตัวเอง ในการตัดสินว่าจะเลือกใช้รูปแบบการปกครองในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่วมกันใจอนาคตหรือไม่

ส่วนที่หลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตว่าการลงประชามติครั้งนี้ค่อนข้างเงียบนั้น ประธาน กกต.กทม. กล่าวว่า การออกเสียงลงประชามติครั้งนี้ แตกต่างจากลงคะแนนทางการเมือง ครั้งนี้ไม่มีคูแข่ง ไม่มีการหาเสียง ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีการทะเลาะ จึงไม่มีความหวือหวา หรือตื่นเต้นอย่างที่เป็นมา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ตามที่ กกต.กลาง ตั้งเป้าที่ร้อยละ 80 อย่างแน่นอน ส่วนการนับคะแนนจะนับที่หน่วยลงคะแนน ก่อนจะส่งต่อมาที่สำนักงานเขต รวบรวมเพื่อส่งต่อมายังศาลาว่าการ กทม. เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของทั้ง 50 เขต รวบรวมส่งให้ กกต.กลาง ประกาศผลอีกที

ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ กองประชาสัมพันธ์ กทม.

โดยในวันนี้ จักกพันธุ์  ผิวงาม  รองปลัด กทม.เป็นประธานเปิดกิจกรรม “โค้งสุดท้ายรณรงค์เชิญชวน ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติ” 7 สิงหาคม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติ ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 ตั้งแต่เวลา08.00 – 16.00 น.

จักกพันธุ์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมนี้  โดยจัดชุดเดินรณรงค์ออกเป็น 3 สาย ประกอบด้วย เส้นทางถนนลาดหญ้า ถนนเจริญกรุง และถนนสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความสำคัญของการออกเสียงประชามติ ตลอดจนทราบถึงขั้นตอนการออกเสียงและออกไปใช้สิทธิ์ให้มากที่สุด

สำหรับในพื้นที่กทม.ทั้ง 50เขต ได้จัดหน่วยออกเสียงรวมจำนวนทั้งสิ้น 6,745 หน่วย แบ่งเป็นอาคาร 3,244 หน่วยและเต็นท์ 3,501 หน่วย เพื่อรองรับจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด  4,483,075  คน โดยตั้งเป้าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติครั้งนี้ไว้ร้อยละ 80

 

ที่มา สำนักข่าวไทยและ เฟซบุ๊กแฟนเพจ กองประชาสัมพันธ์ กทม.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐธรรมนูญพันลึก ถอดบทเรียนจาก ปรีดี-หยุด-ไพโรจน์

$
0
0

อาจารย์นิติมช.จับมือสมัชชาเสรีมช.จัดสมมติเสวนาปรีดี พนมยงค์, หยุด แสงอุทัย และ ไพโรจน์ ชัยนาม ระบุ 7 สิงหาคมจะเป็นวันที่ชี้ชะตาชีวิตความเป็นไปของสังคมไทย

21 ก.ค. 2559 คณาจารย์กลุ่มศูนย์วิจัยและและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดเสวนาภายใต้หัวข้อรัฐธรรมนูญพันลึกที่ห้อง LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ในงานเสวนาหัวข้อ ‘สมมติเสวนากับปรีดี หยุด ไพโรจน์’ ร่วมเสวนาโดยกลุ่มอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ กฤษณ์พชร โสมณวัตร และสมชาย ปรีชาศิลปกุล  โดยสมชายได้ให้เหตุผลในการเลือกทั้ง 3 คนมาบรรยายในสมมติเสวนานี้เนื่องจากเป็นปัญญาชนสาธารณะที่มีคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับการเมือง สิทธิเสรีภาพของประชาชน และมีความคิดที่น่าหยิบมาวิพากษ์วิจารณ์

สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์นำเสนอมุมมองของ หยุด แสงอุทัยโดยการอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 7 สิงหาคมที่กำลังจะไปลงประชามติ โดยอธิบายถึงสาเหตุที่ต้องมาคุยกันเนื่องจากวันที่ 7 สิงหาคมจะเป็นวันที่ชี้ชะตาชีวิตความเป็นไปของสังคมไทย โดยใช้กฎเกณฑ์ของหยุด แสงอุทัยในการอ่านและวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าดีหรือไม่ดีและมีหลักการ เริ่มจากการเล่าประวัติโดยสังเขปของหยุด แสงอุทัย และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับภูมิหลังด้านการศึกษาที่เป็นส่วนสำคัญในการตีความตัวรัฐธรรมนูญ

“อาจารย์หยุดผ่านการเล่าเรียนจนจบกฎหมายในระบอบเก่าคือในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ชีวิตการทำงานราชการในระบอบใหม่คือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 อันนี้เป็นข้อสังเกตหนึ่งนะครับ แล้วเราจะเห็นต่อไปว่าทัศนคติและมุมมองต่อการตีความต่อรัฐธรรมนูญของท่าน ท่านใช้มุมมองตามระบอบใหม่มองทั้งสิ้น ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้า โรงเรียนกฎหมายในกระทรวงยุติธรรมระบบการเรียนการสอนแบบสมัยก่อนจะใช้แบบ Common Law แต่ในขณะที่พอเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหลัง 2475 เรารับระบบ Civil Law มาใช้ อาจารย์หยุดได้ใช้องค์ความรู้ที่เรียนมาปรับและได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการไปเรียนที่เยอรมัน” สงกรานต์กล่าว

เขายังนำสิ่งที่ได้จากการอ่านผลงานของหยุด แสงอุทัยมาวิเคราะห์ร่วมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติโดยตั้งข้อสังเกตจากมาตรา 265 และ 279 ที่เป็นผลให้ คสช.สามารถใช้อำนาจบริหารตุลาการต่อไปได้อีกจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ แม้ประชาชนจะลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปแล้วก็ตาม

“บทเรียนที่ได้จากการอ่านงานของอาจารย์หยุดประการแรก ประชาชนในฐานะผู้มีอำนาจในการให้รัฐธรรมนูญต้องสามารถจำกัดอำนาจสถาบันทุกสถาบันภายในรัฐได้ อันนี้เป็นสาระสำคัญของคนที่มีอำนาจให้รัฐธรรมนูญ พอประชาชนให้รัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่มีองค์กรหรือสถาบันใดมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญได้อีก” สงกรานต์กล่าว

สงกรานต์ยังชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายนิติบัญญัติสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งและอธิบายว่า ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งจะเข้ามาลดอำนาจสภา ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง

“เขาจะมีหน้าที่ในการออกกฎหมายมาบังคับกับเรา อันนี้เป็นบทบาทที่สำคัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผมเห็นว่าจากการอ่านร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าเราดูมาตรา 267 กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเดิมเป็นผู้มีอำนาจในการตรากฎหมายประกอบร่างรัฐธรรมนูญที่สำคัญอย่างน้อย 10 ฉบับ ทั้งที่เรากำลังจะมีการเลือกตั้งและมีสภาผู้แทนราษฎรในอนาคตซึ่งผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องให้องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่สัมพันธ์กับประชาชน มาออกกฎหมายที่สำคัญกับประชาชนในช่วงก่อนที่จะมีสภาของประชาชนไม่นาน อันนี้เป็นหนึ่งเหตุผลที่ไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักที่เราบอกว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าเราดูเรื่องคำถามพ่วง คำถามพ่วงที่พูดถึงอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. จะมาโหวตเลือกนายกฯในช่วง 5 ปีแรก อันนี้สำคัญนะผมคิดว่า อันนี้เป็นการที่จริงๆ เราจะบอกว่า ส.ว.ที่เป็นส่วนหนึ่งรัฐสภา แต่เราอย่าลืมนะครับว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ในร่างรัฐธรรมนูญเป็น ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นี่เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้สภา ส.ส.ที่จะมาจากการเลือกตั้งถูกลดอำนาจลงอย่างมาก ซึ่งสัมพันธ์กับพวกเราโดยตรง”

สงกรานต์มองว่ารัฐธรรมนูญอาจล้าสมัยได้ แนะควรเปิดให้แก้ไขเพิ่มเติมได้โดยง่ายโดยให้เหตุผลหากแก้ยากอาจเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารอีกครั้ง

“ของดีในวันนี้อาจเป็นของเน่าในวันหน้าถูกไหมครับ? ถ้าเราไม่เปิดกลไกให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมได้  จะกลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญอาจกลายเป็นเครื่องถ่วงความเจริญของประเทศได้ ซึ่งไม่มีใครอยากให้เป็นเช่นนั้น แต่ถ้าเราอ่านดูร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่องกลไกแก้ไขเพิ่มเติมในร่างรัฐธรรมนูญ เราจะเห็นว่ามันลึกลับซับซ้อนยุ่งยาก น่าจะเป็นกลไกที่ยาก น่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญยากที่สุดเท่าที่เราเคยมีมาแล้วในเมืองไทย แล้วผมคิดว่ากลไกแบบนี้มันจะทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก และการแก้ไขได้ยากนี้อาจารย์หยุดมองว่าอาจจะเป็นข้ออ้างให้มีการปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าเราบอกว่ารัฐธรรมนูญล้าสมัยแก้ไขไม่ได้ กลไกทำยากก็ต้องรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งคนที่จะอ้างในการทำรัฐประหารไม่ใช่พวกเราแน่ แต่อันนี้พวกเราก็รู้อยู่นะครับว่าเป็นใคร” สงกรานต์กล่าวทิ้งท้าย 

ต่อมากฤษณ์พชร โสมณวัตรเสนอแนวคิดของไพโรจน์ ชัยนามโดยใช้ในการบรรยายว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา’ กับ ไพโรจน์ ชัยนาม: ความคิด, วิพากษ์ และแยกแยะ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย  เขาได้อธิบายถึงสาเหตุที่เลือกหลักคิดของไพโรจน์มานำเสนอเนื่องจากได้รับการยกย่องอย่างสูงในวงการกฎหมายมหาชน และมีภูมิหลังทางด้านการเมืองระหว่างประเทศจากการทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ ดังนั้นมุมมองต่อการศึกษารัฐธรรมนูญจะมีลักษณะในเชิงรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบสูง

“ในสายตาของไพโรจน์ ชัยนาม การศึกษารัฐธรรมนูญมันไม่มีพรมแดนของรัฐชาติ ไม่มีพรมแดนของประเทศไทย ลาว กัมพูชา ทั้งหมดสามารถศึกษาร่วมกันได้ ในงานทุกชิ้นของไพโรจน์ ชัยนาม เป็นรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ” กฤษณ์พชรกล่าว
เขาได้เรียนรู้จากงานของไพโรจน์และนำมาวิเคราะห์กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยบางมาตรา

“ร่างรัฐธรรมนูญของมีชัยไม่ได้มีวิธีการความคิดแบบเปรียบเทียบหรือเอาคุณค่าอุดมการณ์สากลเข้ามาประกอบ แต่มันเป็นรัฐธรรมนูญแห่งความเป็นไทย ยกตัวอย่างเช่น เราพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการ ตามมาตรา 34 วรรคสองของร่างรัฐธรรมนูญจะพูดไว้เลยว่าเสรีภาพทางวิชาการจะได้รับการคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ศีลธรรมอันดีของประชาชนปวงชนชาวไทยไง ไม่ใช่พลโลกไม่ใช่ปวงชนของสหรัฐฯ หรือของที่อื่น เราต้องทำหน้าที่ของคนไทยก่อนที่จะทำหน้าที่ทางวิชาการ อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ผมอยากยกให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญของมีชัยเป็นรัฐธรรมนูญแห่งความเป็นไทยตรงไหน” กฤษณ์พชรกล่าว

กฤษณ์พชรวิเคราะห์ว่า “ในมาตรา 107 ยังพูดถึงที่มาของวุฒิสภาว่าวุฒิสภาเกิดจากการเลือกกันเองของคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน พูดง่ายๆ พวกเขาเลือกกันเอง มันเกิดจากวิธีคิดของสังคมไทยที่เราเชื่อว่านิ้วทั้ง 5 นิ้วไม่เท่ากัน คนก็ไม่เท่ากัน แล้วเราต้องจัดสรรคนไปตามตำแหน่งแห่งที่ของมันให้ถูกต้อง พอเราคิดว่าคนไม่เท่ากันเราจึงคิดถึง ส.ว.แบบนี้ ผมถึงบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญของมีชัยคือร่างรัฐธรรมนูญตามอุดมการณ์ความเป็นไทย”

ด้านสมชาย ปรีชาศิลปกุลนำเสนอในหัวข้อ ‘สมมติเสวนากับปรีดี พนมยงค์ เรื่องรัฐธรรมนูญ กระบวนการร่าง และประชาธิปไตย’ เขาได้อธิบายถึงภูมิหลังของปรีดี พนมยงค์ว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำรัฐธรรมนูญถึง 3 ฉบับแต่ในช่วงแรกขาดประสบการณ์ในการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นช่วงที่มีอำนาจ แต่ปรีดีเริ่มวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นช่วงที่ปรีดีลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศไทยแล้ว โดยสมชายได้ตั้งข้อสังเกตว่าช่วงเวลาที่ปรีดีเริ่มวิพากษ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมากขึ้นเป็นช่วงเวลาที่มีประสบการณ์แต่ไม่มีอำนาจ

"ผมคิดว่าอันนี้สำคัญนะครับ เมื่อไหร่ก็ตามที่คนวิพากษ์วิจารณ์อะไรโดยไม่มีอำนาจ สังคมคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นไปได้อย่างเสรีมากขึ้น คือเราจะสังเกตได้ว่าเวลาคนที่อยู่ในอำนาจกับคนที่ไม่มีอำนาจวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆมันจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งเวลามีการวิพากษ์วิจารณ์สาธารณะ ผมคิดว่าเสียงที่เราต้องรับฟังอย่างมากคือเสียงของคนที่ไม่มีอำนาจ เมื่อไม่มีอำนาจเขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องระแวงว่าตนเองจะถูกกดดันให้พ้นจากอำนาจ" สมชายกล่าว
สมชายได้กล่าวถึงบทเรียนจากปรีดี เพื่อเป็นบทเรียนให้กับสังคมไทยโดยหยิบยก 2 หัวข้อสำคัญจากงานเขียนของปรีดี คือจะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่และเราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร โดยชี้ให้เห็นว่าปรีดีให้ความสำคัญกับประเด็นทั้งสองนี้อย่างมาก

"สิ่งที่ต้องคิดเวลาจะต่อต้านหรือต่อสู้กับเผด็จการ ปรีดีบอกว่าเวลาจะต่อสู้กับเผด็จการเราจะต้องพิจารณาด้านที่เผด็จการตอบโต้ด้วย ฝ่ายเผด็จการย่อมใช้วิธีการทางเศรษฐกิจ การเมือง วิธีการใช้กำลังทหารตำรวจ วิธีจิตวิทยาที่ทำให้คนลุ่มหลงในเผด็จการ ฝ่ายที่ต่อสู้กับเผด็จการจะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้"สมชายกล่าว

เขาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองในสมัยปัจจุบันว่ามีความแตกต่างจากสมัยของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่แต่เดิมมีการใช้เพียงอำนาจทางเดียว

"ผมคิดว่ารูปแบบการปกครองในปัจจุบันที่มันอยู่ได้แบบนี้ รูปแบบรัฐบาลที่ดำรงอยู่ได้แบบนี้ ผมอยากจะเสนอรูปแบบนี้คือ ที่อยู่ได้ไม่ใช่เพียงเพราะว่าการใช้อำนาจของทหารเพียงอย่างเดียว การดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารในปัจจุบันไม่ใช่เพราะว่า คสช.ใช้รถถังแต่เพียงอย่างเดียว แต่ผมคิดว่ามันมีสิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่าเผด็จการเชิงเครือข่าย หรือถ้าเกิดฟังแล้วดูรุนแรงก็เปลี่ยนเป็นอำนาจนิยมเชิงเครือข่าย"

“อำนาจนิยมเชิงเครือข่ายในปัจจุบัน การก่อตัวขึ้นของรัฐบาลที่เรียกว่าสถานการณ์พิเศษแบบนี้ ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นได้เป็นเพราะว่ามันมีเครือข่ายจำนวนหนึ่งที่กว้างพอสมควร ในการที่จะค้ำยันตัวระบอบนี้อยู่ มีเครือข่ายกลุ่มนี้ เครือข่ายกลุ่มนี้ผมคิดว่าขยายตัวมาตั้งแต่ประมาณ 2549 ขยายตัวมาให้เห็นอย่างชัดเจน เครือข่ายเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ที่ไหน? ส่วนใหญ่จะอยู่ในองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ อันนี้คือคนกลุ่มนี้เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งรึเปล่า ไม่ใช่ แต่เป็นนักการเมืองอีกชุดหนึ่ง แล้วคนกลุ่มนี้สนับสนุนและเป็นคนที่ทำให้ระบบที่เรียกว่าอำนาจนิยมเชิงเครือข่ายดำรงอยู่ได้" สมชายกล่าว

ในช่วงท้ายของการสมมติเสวนา สมชายได้อธิบายถึงเหตุผลในการนำวิธีคิดของปัญญาชนทั้ง 3 คนมาใช้ในการเสวนาครั้งนี้
“เช่นเดียวกันกับหยุด ไพโรจน์ ปรีดี พนมยงค์ก็ถูกยกย่องอย่างมาก แต่ดูเหมือนว่าก็เช่นเดียวกันการนำเอาความคิดหรือการต่อยอดทางความคิดหรือถกเถียงทางความคิดกับปรีดี พนมยงค์ ผมคิดว่ามันไม่สู้จะเกิดขึ้นเท่าไหร่ เราเห็นการยกย่องแต่บุคคล แต่ผมคิดว่าในขณะเดียวกันเราไม่ค่อยรู้จักนำเอาความคิดของบุคคลที่เราเคารพยกย่องมาพิจารณา มาถกเถียง มาแลกเปลี่ยนนะครับ เพราะฉะนั้นในช่วงแรกที่เรา 3 คนพยายามจะทำคือแทนที่จะยกย่องแต่ชื่อเสียง เราอยากจะลองหยิบเอาความคิดของบุคคลทั้ง 3 คนไม่ว่าจะเป็นหยุด แสงอุทัย,ไพโรจน์ ชัยนามหรือปรีดี พนมยงค์หยิบเอาความคิดของเขามาเถียงว่าสถานการณ์ปัจจุบันว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนี่ว่าทั้ง 3 คนถ้ายังมีชีวิตอยู่เขาจะมองอย่างไร” สมชายกล่าวในตอนท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาชน-นักวิชาการ หวั่น พ.ร.บ.กสทช.ใหม่ แปลง กสทช.เป็นสำนักงานใต้รัฐบาล

$
0
0

ประธานศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบาย สถาบันอิศราระบุแก้ปัญหาภายใน กสทช. ดีกว่าแก้ พ.ร.บ. กสทช. ฟากนักวิชาการชี้ลดกรรมการ กสทช.เอื้อประโยชน์รัฐ/เอกชน มากกว่าประชาชน ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองการลดกรรมการ กสทช. คุ้มครองผู้บริโภคได้ยากขึ้น เลขาฯ กสทช.ยอมรับร่างฯ ยังไม่สมบูรณ์ กรรมการ กสทช. เชื่ออ้างปรับปรุงให้ กสทช. เข้ากับสื่อยุคหลอมรวม เพื่อแก้เรื่องจัดสรรคลื่นความถี่มากกว่า


(แถวบน จากซ้าย) สุพจน์ เธียรวุฒิ - วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง - จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์
(แถวล่าง จากซ้าย) สุวรรณา จิตประภัสสร์ - สุปัน รักเชื้อ - วิชาญ อุ่นเอก - สุวรรณา สมบัติรักษาสุข


27 ก.ค. 2559 เวลา 9:00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ส่วนงานเลขานุการ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และส่วนงาน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. จัดงานเสวนา NBTC Public Forum 2/2559 เรื่อง “มุมมองภาคประชาชนต่อแนวทางปรับปรุงกฎหมาย กสทช.” เพื่อเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อพระราชบัญญัติองค์จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่) ซึ่งเป็นการปรับปรุงจาก พ.ร.บ.กสทช. ฉบับปี พ.ศ.2553 เดิม

ทั้งนี้ในงานยังมีการเชิญชวนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อร่าง พ.ร.บ. กสทช. ดังกล่าวได้ทางอีเมล nbtcrights@gmail.com เพื่อรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดส่งไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับดังกล่าวอีกด้วย โดยสามารถเสนอได้ถึงภายในวันที่ 29 ก.ค. 59 นี้ และอ่านร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ที่กำลังจะเข้า สนช. ได้ที่ http://nbtcrights.com/2016/07/6592

ในงานเสวนาดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล โดยมี สุภิญญา กลางณรงค์ และประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. รวมถึงฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ตลอดจนภาคประชาสังคมมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนี้ยังมีตัวแทนกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กสทช. มาบันทึกความคิดเห็นในงานเสวนาอีกด้วย

โดย ประวิทย์ กล่าวว่าการพูดคุยเรื่องกฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากร่างได้รับหลักการจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และอยู่ในชั้นกรรมาธิการ เชื่อว่าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. กสทช. จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้หากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ กฎหมายขึ้นใหม่เกี่ยวกับองค์กรกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ต้องยกร่างใหม่ทั้งหมด เนื่องจากบทบัญญัติตามร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีองค์กรทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ไม่รวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะต้องทบทวนกฎหมายฉบับนี้ใหม่ทั้งหมด

สุพจน์-วรพจน์เห็นตรงกัน ไม่ประมูลคลื่นความถี่ เสี่ยงเกิดปัญหา
สุพจน์ เธียรวุฒิ ที่ปรึกษาอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ว่าไม่เห็นด้วยที่ร่างฉบับใหม่มีการแก้ไขมาตรา 45 โดยอนุญาตให้มีการใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม นอกเหนือจากการประมูลได้ ซึ่งการมอบคลื่นให้โดยไม่ผ่านการประมูลอาจส่งผลให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต จึงยืนยันว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ต้องใช้วิธีการประมูลเท่านั้น

นอกจากนี้สุพจน์ยังเสนอว่า ไม่ต้องเยียวยาในกรณีที่ กสทช. เรียกคืนคลื่นที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ เพราะจะทำให้ต้องใช่งบประมาณโดยไม่จำเป็น รวมไปถึงมีการจำกัดการรูปแบบการใช้คลื่นให้ตรงกับตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้เมื่อได้ตอนได้รับใบอนุญาต จาก กสทช. ทั้งนี้การจำกัดรูปแบบดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการใช้คลื่นดังกล่าว

สอดคล้องกับวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะทำงานติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ระบุว่าปัญหากรณีคลื่น 1 ป.ณ. FM 98.5 เป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่าการใช้อำนาจของ กสทช. ที่พิจารณาตามดุลยพินิจให้เอกชนเข้าใช้ประโยชน์ได้ ก่อให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเรียกคืนคลื่นวิทยุโดยเร่งด่วน ถ้าหาก พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่นี้ผ่าน การเรียกคืนคลื่นวิทยุอาจต้องยืดระยะเวลาไปด้วย

นอกจากนี้วรพจน์เสนอให้ล้มเลิกการร่าง พ.ร.บ. กสทช.ฉบับใหม่นี้ เพราะที่มาในการแก้ไขไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่แรก โดยระบุว่ารัฐสามารถกำหนดนโยบายให้ กสทช. และ กสทช. ก็กำหนดวิธีในการบรรรลุเป้าหมายในแง่นโนบายได้ โดยไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อบังคับ

สุวรรณาระบุแก้ปัญหาภายใน กสทช. ดีกว่าแก้ พ.ร.บ. กสทช.
สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ เปลี่ยนแนวคิดมุมมองของคลื่นความถี่ไป จากเดิมมองว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของประชาชน แต่ต่อมากลับมองว่าเป็นทรัพยากรของชาติ ซึ่งคำว่า “ชาติ” นี้ก็ไม่แน่ใจว่าประชาชนจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

นอกจากนี้ยังฝากข้อสังเกตไปถึงประชาชนทั่วไป ให้จับตาดูว่าเมื่อไรที่ร่าง พ.ร.บ. กสทช.ฉบับนี้ผ่านจนสามารถประกาศใช้บังคับได้ ให้ดูในประเด็นการสรรหา กสทช. และคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการ กสทช. ว่าขัดต่อหลักการในการกำหนดคุณสมบัติและมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ และในท้ายที่สุดเมื่อดูในข้อกฎหมายในร่างฯ ดังกล่าวจะพบว่าร่างนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

“สุดท้ายนี้ดิฉันสรุปว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา วันนี้การแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. ที่เกิดขึ้น ก็มาจากการทำงานของ กสทช. ทั้ง 11 ท่านนั่นเอง ดิฉันถึงไม่เห็นความจำเป็นในการแก้ พ.ร.บ.กสทช. แต่ดิฉันเห็นว่าการแก้ปัญหาภายใน กสทช.เองน่าจะเป็นการดีกว่า” สุวรรณากล่าว


ชี้ลดกรรมการ กสทช.เอื้อประโยชน์รัฐ/เอกชน - คุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้
ส่วน จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ นักวิชาการอิสระด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวว่า รัฐใช้ข้ออ้างในการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.กสทช. ว่า เพราะโลกของเทคโนโลยีหรือภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไป แต่เจตนาที่แท้จริงคือรัฐต้องการลดอำนาจ กสทช.ให้เป็นสำนักงานภายใต้รัฐบาล และต้องการให้ กสทช. ทำงานในลักษณะแนวดิ่งเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนการปฏิรูปสื่อในปี 2540 สะท้อนให้เห็นการแก้ปัญหาโดยยึดวิธีคิดแบบเก่ามาใช้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้จิรพรยังตั้งข้อสังเกตว่า ในร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ มีการลดกรรมการ กสทช.จาก 11 คน เหลือ 7 คน รวมไปถึงในร่างมีการกีดกันผู้แทนจากภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่ ทำให้เห็นได้ว่าการแก้ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ครั้งนี้เอื้อประโยชน์ให้กับภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่าประชาชน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมีความโจ่งแจ้งเกินไป

สอดคล้องกับสุวรรณา จิตประภัสสร์ จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ตั้งข้อสังเกตว่ามีการลดกรรมการ กสทช.จาก 11 คน เหลือ 7 คน ซึ่งกรรมการที่ทำงานในด้านคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหนึ่งส่วนที่ถูกลดไป จาก 2 คน 1 โดยระบุว่ากรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเดิมมี 2 คนก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่ครบถ้วน หากมีเพียงคนเดียวจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้หรือไม่ นอกจากนี้การแก้ร่างฯ นี้ยังทำให้การสรรหาคนที่ีมาเป็นกรรมการฝ่ายนี้ อาจได้คนที่ขาดความรู้และความเข้าใจในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้ เพราะผู้สรรหาล้วนมาจากฝ่ายตุลาการไม่ว่าเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้ในด้านนี้เลย

“ยอมรับว่าภาคประชาชนอ่อนแอลงใน กสทช. ถูกเอาเปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ คาดหวังว่าถ้าเราเรียกร้อง รัฐอาจจะมองเห็นแต่ถ้าเราไม่ส่งเสียง ก็มีข้อกังวลว่าตามร่าง พ.ร.บ.ใหม่ จะมอบอำนาจกระทรวงดิจิตอลที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งกระทรวงดังกล่าวอาจจะหยิบใครมาเป็นกรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคก็ได้ ตรงนี้น่าเป็นห่วง” สุวรรณากล่าว


วิชาญกังวลสื่อภาคประชาชนจะเกิดยากหลังร่าง พ.ร.บ. กสทช.ใหม่ผ่าน
ด้าน วิชาญ อุ่นอก จากสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์สื่อวิทยุชุมชุนที่ตนเองดูแลอยู่ว่า “สื่อภาคประชาชนตอนนี้ไม่ได้มองแค่รัฐจัดสรรคลื่นความถี่ให้ประชาชน 20 เปอร์เซนต์ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้มองว่าเป็นแค่คลื่นที่ออกอากาศในชุมชนในระยะ 20-30 เมตร แต่เราคิดถึงการออกอากาศในระดับจังหวัดในระดับประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีการกำหนดออกมาที่ชัดเจนในร่างนี้เช่นกัน ภาคประชาชนก็เหนื่อย และหลายคนเสียชีวิตไปแล้ว น่าเศร้าว่าการต่อสู้เรื่องคลื่นความถี่อันยาวนานตอนนี้แทบจะหมดหวังแล้ว”

วิชาญยังมองเหตุการณ์หลังร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ผ่านจะทำให้สื่อภาคประชาชนเกิดขึ้นได้ยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากการตรวจสอบไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่เน้นผูกติดอยู่กับภาครัฐอย่างชัดเจน และยังมองว่าการทำหน้าที่ของ กสทช.จะขาดความเป็นอิสระไปโดยสิ้นเชิง

สุปันถามหากร่างนี้ผ่าน จะขัด รธน.หรือไม่
สุปัน รักเชื้อ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพสื่อ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย การร่าง พ.ร.บ. กสทช. ใหม่นี้จะเป็นไปในลักษณะ “คนใช้ไม่ได้ร่าง คนร่างไม่ได้ใช้” ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติด้วย เมื่อมองผลกระทบของร่างฯ ที่มีต่อสื่อจะพบว่าเสรีภาพมีอย่างจำกัด เพราะต่อไปการได้ใบอนุญาต ก็ได้จากการพิจารณาของ กสทช. ไม่ใช่ได้จากการประมูลอีกต่อไป ซึ่งทำให้ช่องทางสื่อถูกจำกัดไปอีก ไม่ว่ามีเสรีภาพเท่าไหร่ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี ทั้งนี้สุปันยังตั้งคำถามว่า หากร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับนี้ผ่านไปได้ และร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ผ่านประชามติด้วยแล้ว พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

“วันนี้เป็นเวทีที่ให้คนที่ศึกษาด้านสื่อ ด้าน กสทช.มาแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เอกสารในงานถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งหมายรวมไปถึงเอกสารร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และร่างกฎหมายอื่นๆ ที่จะเข้าสู่ สนช.อีกด้วย” สุปันกล่าว

ฐากร ยอมรับร่างฯ ยังไม่สมบูรณ์ - สุภิญญาเชื่อแก้ พ.ร.บ.กสทช. เพื่อเรื่องจัดสรรคลื่นความถี่
ด้านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เล่าว่า ได้นำเสนอความเห็นต่อ สนช.เกี่ยวกับการปรับปรุงร่างฯ ในเรื่องงบประมาณของ กสทช. ว่าการอนุมัติไม่ควรอยู่ในอำนาจของ กสทช.ทั้งหมด ควรมีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการคนกลางมาอนุมัติงบประมาณเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และอยากเห็น กสทช.ยุคหน้ามาทุ่มเทการทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าการมายุ่งเกี่ยวกับงบประมาณต่างๆ

ส่วนประเด็นการแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลที่เป็นเลขาธิการ กสทช. ด้านฐากรเสนอให้มีการถ่วงดุลอำนาจในการถอดถอนโดยให้เป็นอำนาจของทั้ง กสทช. และวุฒิสภาเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ส่วนเรื่องการแก้ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับนี้ยอมรับว่ายังต้องมีการแก้อีกหลายจุดตามที่ภาคประชาชนให้ความเห็นไว้ ซึ่งทางสำนักงาน กสทช.จะมีการรวบรวมความคิดเห็นในงานเสวนาเพื่อนำไปเสนอต่อ สนช.ต่อไป โดยคาดการณ์ว่าร่างดังกล่าวดังกล่าวจะต้องแก้ไขให้เสร็จภายในเดือน ส.ค. 2559

ส่วน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวปิดท้ายงานเสวนา โดยระบุว่าการเปลี่ยนแปลงใน กสทช. เกิดขึ้นอย่างแน่นอน มีการรีเซ็ตหลายอย่าง จนส่งให้ กสทช.เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน สุภิญญาระบุว่า ข้อดีของการทำงานภายใต้ พ.ร.บ.กสทช.ปัจจุบัน คืออย่างน้อยตนเองสามารถเป็นเสียงข้างน้อยในที่ประชุม และนำความคิดความเห็นมาเปิดเผยสู่สาธารณะได้ สะท้อนถึงความเป็นอิสระในการทำงาน

นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่าหลังจากหมดวาระการเป็นกรรมการ กสทช. อาจจะกลับทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงาน กสทช.ต่อไปหากยังมีกำลังอยู่ และฝากให้ทุกคนคิดกันในการแก้ไขปัญหาระยะยาว 5 ปี 10 ปี ทั้งเรื่องปฏิรูปสื่อ สิทธิในการสื่อสาร รวมไปถึงเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ จึงฝากไปคิดต่อว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน พร้อมตั้งข้อสังเกตผู้ร่างกฎหมายอ้างเหตุแก้ พ.ร.บ.กสทช. เพราะต้องการปรับปรุงการทำงานของ กสทช. ให้เข้ากับยุคสื่อหลอมรวม แต่เหตุผลที่แท้จริงคือต้องการแก้ไขกฎหมายเพื่อจัดการเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งถ้าแก้ทั้งฉบับให้ดีเลยอาจจะเป็นการดีกว่า

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คาดเตรียมตั้ง 3 ข้อหาหนัก ปม จม.วิจารณ์ร่าง รธน.เชียงใหม่

$
0
0

ทนายแจงนักการเมืองท้องถิ่นเชียงใหม่และพวกอาจถูกตั้งข้อหาผิดมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น มาตรา 210 สมคบตั้งแต่ 5 คนเพื่อกระทำความผิด และพ.ร.บ.ประชามติ จากปมส่งจม.วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ด้านทนายความรวมถึง จาตุรนต์,พงษ์เทพ,วัฒนา, แกนนำนปช. ถูกทหารปฏิเสธให้เยี่ยม

28 ก.ค. 2559  วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีทหารอาศัยมาตรา 44 ควบคุมตัวบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจดหมายที่ถูกระบุว่ามีเนื้อหาบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ 11 คน โดยระบุว่า ขณะนี้มีผู้มารายงานตัวที่ มทบ.11 เป็นจำนวน 9 คน เบื้องต้นพนักงานสอบสวนยังไม่มีการแจ้งข้อหาอย่างเป็นทางการ แต่จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารคาดว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 116 มาตรา 210 และ พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง

วิญญัติ ให้ความเห็นว่า ไม่คิดว่าการกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายความผิดมาตรา 116 ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องฟ้องคดียังศาลทหารตามคำสั่ง คสช. เพราะถึงแม้ว่าข้อเท็จจริงคือการส่งจดหมายที่มีเนื้อหาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญจริง การกระทำดังกล่าวก็ไม่แตกต่างจากการเผยแพร่เนื้อหาการวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่ออนไลน์ที่ทำกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน อีกทั้งเนื้อหาในจดหมายก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง เมื่อไม่ก่อให้เกิดการกระทำทั้ง 3 อย่างดังกล่าวตามกฎหมายกำหนดจึงไม่เข้าข่ายมาตรา 116 แน่นอน ส่วนกฏหมายอาญามาตรา 210 ซ่องสุมโจร ต้องมาจากการกระทำผิดตามมาตราใดมาตราหนึ่งเสียก่อนถึงจะสามารถเข้าข่ายมาตรานี้ได้  ในความคิดเห็นของเขาเมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เข้าข่ายมาตรา 116 ก็ไม่สามารถเอาผิดในมาตรา 210 ได้เช่นกัน

วิญญัติยังให้ความเห็นอีกว่า ส่วนของความผิดในฐาน พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 นั้น ต้องอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมพิจารณาว่ามีการเผยแพร่ข้อความผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือไม่ ซึ่งนั่นหมายความว่าต่อให้มีความผิดจริง ทั้ง 11 คนก็ควรได้รับการพิจารณาที่ศาลท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่

"จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นด้วยซ้ำ เพราะการที่จะร่างรัฐธรรมนูญ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญหรือการทำประชามติ มันคือการใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ประชามติ กระทำได้โดยสุจริตและเผยแพร่ได้ด้วย เมื่อมันไม่เข้าองค์ประกอบที่ผมอธิบายไปตอนต้น แต่ยังถูกนำมาขึ้นศาลทหาร ประชาชนก็อ่านออกอยู่แล้วว่าทำเพื่ออะไร เพื่อทำให้ประชาชนกลัวใช่หรือไม่" วิญญัติกล่าว

ทั้งนี้ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 116 บัญญัติว่าผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 บัญญัติว่า ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิด อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ประชามติระบุว่า ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

รายชื่อในการควบคุมตัวมีทั้งหมด 11 ราย ได้แก่ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ที่เพิ่งถูกให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ตามม.44, นายคเชน เจียกขจร นายกเทศบาลตำบลช้างเผือก, นางสาวทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่เขต 1 พรรคเพื่อไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกอบจ.เชียงใหม่, นางสาวธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ อาชีพทันตแพทย์, นายวิศรุต คุณะนิติสาร ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมตัวก่อนหน้านี้แล้วเข้าโครงการคุ้มครองพยาน, นายนายอติพงษ์ คำมูล เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลช้างเผือก, นายกฤตกร ไพทะยะ คนขับรถผู้บริหารเทศบาลช้างเผือก, นางสาวเอมอร ดับโศรก, นางสุภาวดี งามเมือง, นายเทวรัตน์ อินต้า, นางกอบกาญจน์ สุคีตา

จาตุรนต์-พงษ์เทพ-วัฒนา ฯลฯ และทนายขอเข้าพบ ถูกทหารปฏิเสธ

เมื่อเวลา 10.00 น. จาตุรนต์ ฉายแสง พงษ์เทพ เทพกาณจนา วัฒนา เมืองสุข ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต พร้อมด้วยทนายความของครอบครัวบูรณุปกรณ์ เดินทางมายัง มทบ.11 เพื่อขอเข้าเยี่ยม น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ รองนายก อบจ.เชียงใหม่ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยและพวกที่ถูกทหารคุมตัวจากเชียงใหม่มาที่ มทบ.11 โดยทนายความได้แจ้งกับนายทหารว่าต้องการขอเข้าเยี่ยมลูกความ แต่นายทหารไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม โดยแจ้งว่ายังไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ต่อมาเวลาประมาณ 12.30 น. นายจตุพร พรหมพันธ์ พร้อมด้วยแกนนำนปช.ได้เดินทางมาเพื่อนำอาหารมาเยี่ยม น.ส.ทัศนีย์ และพวก แต่ไม่รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมเช่นกัน ทั้งหมดจึงได้ฝากของเยี่ยมผ่านนายทหารไป

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหาร-ตำรวจ เข้าหาตัวที่ปรึกษาสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล หลังถูก กกต.แจ้งความผิด พ.ร.บ.ประชามติ

$
0
0

กฤษกร ศิลารักษ์ ถูก กกต.อุบลฯ แจ้งความข้อหาก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หลังโพสต์ไม่รับร่าง รธน. ด้านทหาร-ตำรวจ-ฝ่ายปกครอง ไปหาที่สำนักงาน แม้หมายเรียกรับทราบข้อกล่าวยังไม่ออก

28 ก.ค. 2559 กฤษกร ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน (กรณีเขื่อนปากมูล) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ตนเองกำลังถูกดำเนินคดีความตามฐานความผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้เข้าแจ้งความกับ สภ.วารินชำราบ ข้อหาก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หลังจากที่ได้มีการโพสต์สเตตัสในเฟสบุ๊กส่วนตัว วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ และแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

กฤษกร กล่าวด้วยว่า สเตตัสดังกล่าวตนได้โพสต์ไปเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน และหลังจากโพสต์ได้ไม่นานได้มีเจ้าหน้าที่ทหารโทรเข้ามาขอความร่วมมือให้ลบสเตตัสดังกล่าวออก แต่ก็ไม่ได้ลบออกตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขอความร่วมมือ จนล่าสุดรู้ว่าได้มีการแจ้งความโดย กกต. ประมาณวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่าน

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าตำรวจ สภ.วารินชำราบ เมื่อเวลา 17.38 น. วันนี้ พบว่ามีการเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษตามกรณีดังกล่าวจริง โดย กกต. เป็นผู้แจ้งความ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกหมายเรียก กฤษกร มารับทราบข้อกล่าวหา

ขณะเดียวกันวันนี้ ช่วงเวลาประมาณ 14.30 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร 2 นาย ฝ่ายปกครอง 2 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นาย รวมทั้งหมด 8 นาย เข้าไปหาตัว กฤษกร ที่สำนักงานสมัชชาคนจน(กรณีเขื่อนปากมูล) แต่ไม่ได้เจอตัว เนื่องจาก กฤษกร ติดภาระกิจอยู่ที่อื่น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่ง วิชาญ เข้าเรือนจำอุบลฯ คดีตะโกนชวนคนไม่ไปโหวต ผิด พ.ร.บ.ประชามติ เจ้าตัวประกาศอดข้าว

$
0
0

หลัง ตร.ส่ง เข้า รพ.ตรวจสภาพจิต ต่อด้วยฝากขัง 12 วัน 'วิชาญ คณะธรรมยาตราฯ' ดดี ตะโกนชวนคนไม่ไปโหวต ผิด พ.ร.บ.ประชามติ เจ้าตัวประกาศอดข้าว คนสนิทยันไม่ได้ตะโกน หรือห้ามประชาชนไม่ให้ไปลงประชามติ ระบุไม่มีเงินประกันตัว เหตุเรียกหลักทรัพย์สูงถึง 2 แสน

วิชาญ ภูวิหาร 

28 ก.ค.2559 ความคืบหน้ากรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม วิชาญ ภูวิหาร อายุ 47 ข้อหาผิด ตาม ติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรค 2 เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเขายืนตะโกนเชิญชวนประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดสดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ไม่ให้ออกไปลงประชามติ 

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความคืบหน้าไปยัง แก้วแสงบุญ ธรรมให้ดี รองหัวหน้าพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ (พรรคตามธรรมชาติ) ระบุว่า วิชาญ ถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำกลางอุบลราชธานีแล้ว เนื่องจากไม่ได้ขอประกันตัว เพราะหลักทรัพย์สูงมากถึง 200,000 บาท ซึ่งพวกตนไม่มีและไม่พร้อม

แก้วแสงบุญ ระบุว่า ตัววิชาญขณะที่ถูกควบคุมตัวที่ห้องขัง สภ.พิบูลมังสาหาร นั้นไ้ประกาศอดข้าว แต่ไม่ทราบว่าเมื่อเข้าเรือนจำแล้วยังอดต่อหรือไม่ 

แก้วแสงบุญ ยืนยันว่า วิชาญ ไม่ได้มีการตะโกนไม่ให้คนไปประชามติ เพียงแต่ไปขายข้าวกล่องและทางพรรคการนำใหม่ฯ ก็ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่สร้างประชาธิปไตย โดย วิชาญ ไม่ได้ห้ามประชาชนไม่ให้ไปลงประชามติ เพียงประกาศจุดยืนของพรรคฯ ว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งไม่ได้มีการชูเอกสารอย่างที่ถูกล่าวหา แต่เอกสารจุดยืนของพรรคนั้นถูกพับอยู่ในกระเป๋าอยู่แล้ว เนื่องจากสมาชิกพรรคฯ ไปไหนก็จะมีเอกสารการทำงานติดตัวไว้ แต่เนื่องจากตำรวจเข้าจับกุม วิชาญ จึงได้เอาหลักฐานการทำงานของเขาให้ตำรวจอีกที

 

ตามคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2559 เวลาประมาณ 7.30 น. ขณะ ด.ต.ภพชัยจันทร์สืบ กำลังปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจรอยู่ที่ถนนพิบูลทางขึ้นตลาด อ.พิบูลมังสาหาร พบ. วิชาญ ปั่นจักรยานที่ตลาดสดฯ จากนั้นได้พูดจากดับประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของในตลาดว่าตนเองเป็นสมาชิกพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ พร้อมกับชูเอกสารและพูดจาปลุกระดมให้ประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของในตลาดให้ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ และพูดจาไม่เห็นด้วยกับที่มาของรัฐธรรมนูญ ด.ต.ภพชัย จึงได้แจ้งให้ พ.ต.ท.พีระศักดิ์ สุระมะณี ทราบ พ.ต.ท.พีระศักดิ์ กับพวกจึงเดินทางเข้าตรวจสอบ พบผู้ต้องหากำลังพูดจาปลุกระดมประชาชนที่ตลาดพร้อมกับแสดงเอกสารประกอบ ไม่ให้ประชาชนไปลงประชามติ จึงควบคุมตัวมาที่ สภ.พิบูลมังสาหาร 
 
พร้อมระบุด้วยว่า จากการสอบถามเบื้องต้น วิชาญ พูดจาและมีลักษณะคล้ายกับคนจิตบกพร้อง จึงส่งตัวไปตรวจที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ผลการตรวจของแพทย์พบว่า วิชาญ มีอาการปกติดี เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงแจ้งข้อกล่าวหา แจ้งสิทธิผู้ต้องหาและนำตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยของกลางส่ง พนง.สอบสวนดำเนินคดีตามกฏหมาย 
 
ขณะที่ วานนี้ (27 ก.ค.59 ) สมาน ศรีงาม แกนนำคณะธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยว่า อดข้าวในคุก โดยวีระบุรุษเขาพระวิหาร ธรรมยาตราฯ สภาประชาชนฯ วิชาญ ภูวิหาร ให้ คสช. พล.อ.ประยุทธ์ ยกเลิกประชามติเผด็จการที่เป็นร่างนโยบายไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญที่ผิดรัธรรมนูญ 2557 ที่จะพัง คสช. พล.อ.ประยุทธ์ และชาติประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 178 และ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลี่ยมฯ แล้ว หันมาสร้างประชาธิปไตยตามแนวทางพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จะมีชัยชนะสำเร็จในการแก้ปัญหาชาติประชาชน จะเป็นรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของชาติประชาชน ขอถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ขอถวายชีวิตแด่พระเจ้าอยู่หัว และขอลสะชีวิตเพื่อความผาสุกของประชาชนคนไทยทุกคน
 
สำหรับ วิชาญ เป็น รองประธานคณะธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทยในกรณีเขาพระวิหาร-มณฑลบูรพา และสมาชิกพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ เมื่อปี 2556 ได้ร่วมกับกลุ่มธรรมยาตราปืนรั้วข้ามเข้าไปในเขตทหารกัมพูชาที่เข้าพระวิหาร เพื่ออดข้าวประท้วงกรณีศาลโลกตัดสินให้กัมพูชามีสิทธิเหนือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบตัวปราสาทเขาพระวิหารมาแล้วด้วย และเมื่อวันที่ 28 ก.ค.2558 ผู้จัดการออนไลน์ เคยรายงานด้วยว่า วิชาญ ร่วมกลุ่มนี้ โดยมี สมาน ศรีงาม เป็นแกนนำกลุ่มธรรมยาตราและสภาประชาชน เดินเท้าจากเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษมุ่งหน้าเข้ากรุง เพื่อถวายฎีกา“ในหลวง” ทวงคืนแผ่นดินไทยเขาพระวิหาร
ภาพวิชาญ (คนที่ 2 จากซ้าย) รวมกับกลุ่ม สมาน (คนที่ 3 จากซ้าย) อดข้าวประท้วงกรณีศาลโลกตัดสินให้กัมพูชามีสิทธิเหนือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบตัวปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อปี 56
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ประมนต์ สุธีวงศ์’ เผยสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยดีสุดในรอบ 6 ปี ชี้ รบ. มีส่วนช่วยปราบปราม

$
0
0

ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) เผยสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยปีนี้ ดีที่สุดในรอบ 6 ปี ชี้เป็นผลจากการร่วมมือทุกภาคส่วน และรัฐบาลมีส่วนช่วยปราบปราม เผยเตรียมเคลื่อนต้านโกงต่อ เตรียมเชิญ ’ประยุทธ์’ ปิดท้ายด้วยปาฐกถาพิเศษ

28 ก.ค. 2559 เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมดุสิตธานี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดงานแถลงข่าว “ต่อต้านคอร์รัปชัน: อันดับขยับ แต่เราไม่หยุด” เพื่อเผยสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยดีที่สุดในรอบ 6 ปี จากดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศปี 2559 และผลสำรวจของดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันล่าสุดยังชี้ให้เห็นว่าภาพลักษณ์ความโปร่งใสของไทยในสายตานานาชาติดีที่สุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นผลจากการร่วมมือของทุกภาคส่วน ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการจริงจังในการป้องกันและปราบปราม พร้อมเร่งเดินหน้ากระตุ้นพลเมืองตื่นรู้รับผิดชอบต่อสังคม (Active Citizen) สร้างความโปร่งใสกับให้ประเทศไทย เพื่อการพัฒนาชาติให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยมีสถานการณ์คอร์รัปชันดีขึ้นอย่างสามารถวัดผลได้ ทางองค์กรฯ ยังคงเดินหน้าต่อต้านการทุจริตต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยปลอดคอร์รัปชันได้อย่างสัมฤทธิ์ผลและยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายความสำเร็จในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยรณรงค์ปลุกพลังประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องทรัพย์สมบัติของชาติและอนาคตของลูกหลานให้มากขึ้น พร้อมเร่งรัดการออกกฎหมายสำคัญ เช่น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ และกฎหมาย ที่สามารถปกป้องประชาชนผู้ให้เบาะแสหรือเปิดโปงพฤติกรรมการโกง สร้างกลไกให้สังคมเป็นผู้ดูแลตรวจสอบและส่งเสริมให้ภาคเอกชนทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ร่วมรับผิดชอบและร่วมแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ เช่น โครงการ ACT White Label หรือ ฉลากต้านโกง

ประมนต์ กล่าวต่อว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ยังได้ศึกษารวบรวมข้อเสนอมาตรการเพื่อปฏิรูปการต่อต้านคอร์รัปชันทั้งระยะสั้นและระยะยาวตั้งแต่ปลายปี 2556 พร้อมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน สมาคมวิชาชีพ สมาคมการค้า จนถึงระดับบริษัทห้างร้านต่างๆ ให้สามารถทำเองหรือมีส่วนร่วมได้ในขอบเขตหรือบทบาทหรือทรัพยากรที่มีอยู่ในรูปแบบวิธีการต่างๆ  เช่น กลต. วิศวกรรมสถาน สถาบันการเงิน การจัดตั้งกองทุนคนไทยใจดี กองทุนวรรณต่อต้านคอร์รัปชัน โครงการแนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต มีการจัดทำการสำรวจสถานการณ์คอร์รัปชัน เช่น Corruption Situation Index ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ติดตามวิวัฒนาการของการคอร์รัปชันให้คนไทยรับรู้และวางแนวทางต่อสู้กับการคอร์รัปชัน นอกจากนี้ยังจัดให้มีการรณรงค์ปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยมใหม่ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น หลักสูตรโตไปไม่โกง การประกวดผลงานนักศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ด้วยหัวข้อคุณธรรมจริยธรรมและการต่อต้านคอร์รัปชัน การสนับสนุนการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนคดีคอร์รัปชัน การจัดทำโฆษณารณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีสำนึกถึงหน้าที่ในการร่วมลุกขึ้นต่อสู้กับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนงานต่อต้านคอร์รัปชันต่อจากนี้ ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเตรียมจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นเป็นปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด “กรรมสนองโกง” รวมพลังพลเมืองผู้ตื่นรู้ (Active Citizen)แสดงเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมรับฟังผลงานของทั้งภาครัฐ และเอกชนในการลงโทษคนโกงชาติ ปิดท้ายด้วยปาฐกถาพิเศษ โดยพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมร่วมแสดงพลัง “เปิดไฟไล่คนโกง” ให้หมดไปจากแผ่นดินไทย ในวันที่ 4 ก.ย. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พร้อมจัดพิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ 2 โดยทำในรูปแบบดิจิตอล เผย 15 คดีโกง ที่จำลองพฤติกรรมการโกงในรูปแบบต่างๆ เพื่อเตือนให้คนไทยติดตามผลของการลงโทษตัดสินคดีเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีเวทีสัมมนาวิชาการครั้งพิเศษ Anti-Corruption Collaboration ในวันที่ 6 ก.ย. 2559 ระหว่างเวลา 08:00 – 12:00 น. ณ ห้องเพนนารี่ ฮอลล์ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือที่ดีและการวางเป้าหมายเพื่ออนาคตร่วมกันของคนไทยทุกภาคส่วน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รับน้องไงทำไมต้องว้าก #1: ฟังเสียงอดีตพี่ว้าก ทำไมเขาถึงเปลี่ยน?

$
0
0


“รับน้อง”...“ห้องเชียร์”...“พี่ว้าก”...“SOTUS”

คำเหล่านี้แลดูจะถูกพูดถึงกันทุกปีเมื่อถึงช่วงเวลาเปิดเทอมของเหล่านิสิตนักศึกษา ข้อถกเถียงเดิมๆ ที่เกี่ยวกับการรับน้องยังคงวนไปวนมากันเสียจนเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย แต่ทว่าท่ามกลางข้อถกเถียงเดิมๆ เหล่านี้ ในที่สุดปีนี้ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ รั้วมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์

เริ่มจากมหาวิทยาลัยสีเขียวย่านบางเขนอย่างเกษตรศาสตร์ ที่ได้ออกประกาศมหาวิทยาลัยผ่านเฟซบุ๊ก สภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เรื่อง การจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ ปีการศึกษา 2559 โดยระบุให้กิจกรรมรับน้องเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีการตะโกน กดดัน หรือข่มขู่บังคับ โดยหากพบเห็นหรือทราบเบาะแสก็สามารถแจ้งไปยังสภาผู้แทนนิสิตฯ ได้ทันที

 


ภาพจากเฟซบุ๊ก สภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
 

อรรตชัย ประดับวงษ์ ประธานสภาผู้แทนนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กล่าวว่า มาตรการรับน้องสร้างสรรค์ที่ประกาศออกมาเป็นระเบียบของมหาวิทยาลัยที่ออกโดยผู้บริหาร ซึ่งมีเป้าหมายให้กิจกรรมรับน้องไม่ใช้ความรุนแรงและไปในทางที่สร้างสรรค์มากขึ้น โดยทางสภาผู้แทนนิสิต อาจารย์ และผู้บริหารได้มีการประชุมหารือกันหลายครั้งจนออกมาเป็นมาตรการนี้ และนอกเหนือจากระเบียบที่ออกมา มหาวิทยาลัยยังมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการรับน้องอีกด้วย

หลังจากประกาศมาตรการรับน้องสร้างสรรค์ออกไป อรรตชัยบอกว่าก็มีกระแสทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งอรรตชัยยังแสดงความเห็นถึงการรับน้องแบบที่ใช้ความรุนแรงว่าเป็นการฝึกเด็กเพื่อออกไปรับคำสั่ง ไม่ได้ทำให้เด็กกล้าคิดและตั้งคำถามในเชิงวิพากษ์ 

“การที่เด็กแค่ก้มหน้าและก็รับฟัง โต้แย้ง โต้เถียงไม่ได้ มันไม่ใช่ปัญญาชน เราจะฝึกเด็กเพื่อออกไปรับคำสั่งแบบนั้นเหรอ หรือเราจะฝึกเด็กที่กล้าคิดกล้าตั้งคำถามในเชิงวิพากษ์เองได้ สมมติว่าถ้ายังเป็นในรูปแบบนี้ [การว้าก การใช้ความรุนแรง] เราก็ฝึกเด็กเป็นแค่เครื่องจักรเครื่องหนึ่งที่พร้อมไปรับคำสั่งข้างนอก” อรรตชัยกล่าว

นอกจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังมีอีกสองสถาบันที่ออกประกาศในลักษณะใกล้เคียงกันนั่นคือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่ระบุห้ามบังคับข่มขู่นักศึกษาใหม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมรับน้องหรือประชุมเชียร์

 


ภาพจากเฟซบุ๊ก พี่ มศว พาน้องสอบ


ภาพจาก 
เฟซบุ๊ก สภานักศึกษา ม.อ.หาดใหญ่

 

จากการเริ่มเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยหลายแห่งข้างต้น อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าระบบห้องเชียร์ที่อยู่มายาวนานกำลังค่อยๆ เสื่อมอำนาจลงไปตามกาลเวลา ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป สังคมยุคใหม่กำลังเปลี่ยนแปลง แล้วคนที่เคยอยู่กับระบบห้องเชียร์และประเพณีการรับน้องแบบเดิมๆ เขาเปลี่ยนไปอย่างไร ประชาไทจึงจะพาคุณไปทำความเข้าใจกับความคิดของ 2 อดีตพี่ว้าก จาก 2 สถาบันอย่างจุฬาฯ และแม่โจ้ 

และอีกหนึ่งความคิดของอดีตนิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่พยายามจะเปลี่ยนห้องเชียร์ จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของมหาวิทยาลัย     

 

“ผ้าดำ” กลับใจ

โอ้ต (นามสมมติ) อดีตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เล่าให้ฟังว่าตอนเรียนปีหนึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง 7 วันอันเลื่องชื่อของแม่โจ้ ซึ่งมีการรับน้องอย่างค่อนข้างเคร่งครัด อย่างเช่น ต้องก้มหน้าแทบจะตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจะถูกทำร้าย หรือ ถูกริบเครื่องมือสื่อสารไม่ให้ติดต่อกับภายนอก เป็นต้น

“มันจะมีเขตให้เงยหน้ากับเขตให้ก้มหน้า ในมหาลัยมีเขตเงยหน้าอยู่ที่เดียวคือบริเวณหอที่น้องพักกัน ออกเขตเงยหน้าไปก็ต้องก้มหน้าตลอด แล้วก็จะให้วิ่งตอนเช้า แบ่งเป็นวันเว้นวันมั้งถ้าจำไม่ผิด ตอนนี้คือทุกเขตต้องก้มหน้าให้หมด จะมีรุ่นพี่เป็นแถวคอยตีกรอบให้วิ่งในถนน พอออกหอมาปุ๊ป รุ่นผมจะโดนตั้งแต่หน้าหอ สั่งให้ก้มหน้าแล้วต่อยเลย รุ่นพี่จะต่อยเลยเพราะรุ่นน้องไม่เห็นอยู่แล้ว” 

และเมื่อหลังจากจบการรับน้อง 7 วัน เหล่านักศึกษาปี 1 ของแม่โจ้ก็ยังต้องรักษากฎระเบียบตลอดปีการศึกษา ซึ่งในตอนนั้นโอ้ตคลั่งไคล้กับวัฒนธรรมการรับน้องของมหาวิทยาลัยอย่างมากจนได้มีโอกาสมาเป็น “ผ้าดำ” หรือ พี่ว้ากของแม่โจ้ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้ส่งต่อวัฒนธรรมและธรรมเนียมปฏิบัติให้สืบต่อไป

“ที่คิดตอนนั้นเหมือนได้ส่งต่อ seniority อะไรพวกนี้ เหมือนส่งต่อประเพณีพวกนี้ให้มันสืบต่อไป ก็ชอบ ภูมิใจ แบบเวลาเห็นพวกกลุ่ม Anti-Sotus มาว่า ก็จะ ‘เฮ้ย อะไรวะ’ เคยเข้าไปไฟต์กับเขาด้วย”

โอ้ตภูมิใจกับหน้าที่ผ้าดำตลอดมา จนกระทั่งมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขา เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เขาบอกกับเราว่ามันคือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตที่ทำให้เขาตระหนักว่า สิ่งที่เขาเคยกระทำ สิทธิของรุ่นน้องที่เขาเคยลิดรอน ไม่ต่างอะไรกับที่ คสช. กระทำกับเขาแต่อย่างใด

“จุดเปลี่ยนมันคือรัฐประหารปี 57 เรารู้สึกว่ารุ่นน้องน่าจะรู้สึกแบบเดียวกันนี้ แบบประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกไปไหนเลย รู้สึกโดนปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์ ทหารสามารถทำอะไรก็ได้ และเราเลยรู้สึกว่ามันก็เหมือนกับที่เราทำกับน้องเราตอน 7 วันนั้นนี่หว่า เป็นเหมือนกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงเลยนะครับที่ผมรู้สึก”

หลังจากที่ความคิดของเขาได้เปลี่ยนแปลงไป โอ้ตก็ได้เข้าร่วมกับกลุ่ม ‘แม่โจ้เสรี’ ที่เคลื่อนไหวต่อต้านโซตัสของแม่โจ้ แต่การเข้าร่วมของเขาก็เป็นไปอย่างลับๆ เนื่องจากกลัวเรื่องความไม่ปลอดภัยหากเปิดเผยว่าตนเองต่อต้านวิถีการรับน้องแบบแม่โจ้ และเมื่อเขามองย้อนกลับไปก็ยังรู้สึกเสมอว่าสิ่งที่เขาเคยกระทำ เป็นความผิดพลาดครั้งหนึ่งในชีวิต

“รู้สึกผิด รู้สึกว่าเป็นข้อผิดพลาดในชีวิตเลย ตอนนั้นไม่น่าทำเลย น่าจะปล่อย น่าจะบอกน้องให้สนใจเรียนมากกว่านี้ ควรจะไปเรียนกับอาจารย์คนไหน ไม่ใช่ไปบอกน้องว่า เอาหน่อยดิวะ สาขาเราจะได้มีหน้ามีตากับเขาบ้าง(หัวเราะ)”


พี่ว้ากสามปีซ้อน กับการว้ากที่อาจไม่เวิร์ค(แล้ว)

อาย-อคัมย์สิริ ภคปรีชาพัฒน์ อดีตสตาฟเชียร์ ของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงประสบการณ์ในการเป็นสตาฟเชียร์ หรือ พี่ว้ากของคณะนิเทศฯ ติดกันถึง 3 ปี ว่ามันเริ่มจากตอนที่เธอกำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 2 อายได้ถูกเพื่อนชักชวนให้ลองไปเป็นสตาฟเชียร์ และเธอก็ตอบตกลงไปเพราะอยากจะช่วยเพื่อน ซึ่งหน้าที่ของสตาฟเชียร์คือคอยสอนน้องถึงกฎระเบียบและคุณค่าต่างๆ โดยสตาฟเชียร์จะมีบุคลิกที่นิ่ง ไม่ยิ้ม กดดัน และใช้เสียงดัง ซึ่งอายได้ให้เหตุผลที่ต้องกดดันและใช้เสียงดังว่า เป็นเพราะไม่รู้จะมีวิธีไหนที่ดีกว่านี้ในการสอนน้องให้ได้เรียนรู้หรือได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

"เหมือนมันยังไม่ได้มีวิธีไหนที่จะทำให้น้องเป็นรุ่น ที่จะดีไปกว่าวิธีนี้ ซึ่งจริงๆ มันก็เหี้ยนิดนึง เพราะมันก็แบบ 'ก็ทำกันมาแบบนี้' แต่ทุกปีมันก็คิดใหม่นะแต่ก็ยังมีกรอบอะไรแบบนี้อยู่ คือทุกปีมันก็ต้องตั้งเป้าหมายว่าทำไมถึงต้องทำ คือตอนนั้นรู้สึกว่ามันเป็นวิธีที่ทำให้น้องได้เรียนรู้ความเต็มที่แบบนิเทศศาสตร์ หรือให้น้องทำกิจกรรมร่วมกัน"

หลังจากผ่านการเป็นสตาฟเชียร์ในปี 2 ไป อายมีความรู้สึกไม่ได้อยากเป็นสตาฟเชียร์อีกแล้ว แต่เนื่องจากธรรมเนียมของคณะนิเทศฯ ที่จะต้องมีพี่สตาฟเชียร์ให้ครบทุกชั้นปี อายจึงต้องมารับบทเป็นสตาฟเชียร์อีกทั้งในปี 3 และ ปี 4 

"คือเหมือนยิ่งโตก็ยิ่งรู้สึกว่าจริงๆ แล้ววิธีการนี้มันไม่ได้เวิร์คอีกแล้วหรือเปล่า นี่มัน generation ใหม่แล้วอะ การตะโกนหรือการใช้เสียงดังมันอาจไม่ได้เวิร์คอีกแล้ว"

อายยังบอกกับเราว่าถึงแม้จะเป็นพี่สตาฟเชียร์ติดกันถึง 3 ปี แต่เธอก็ไม่ได้รู้สึกภูมิใจ  และเมื่อถามว่าเคยโกรธรุ่นน้องที่ไม่เข้าห้องเชียร์หรือไม่เอาห้องเชียร์หรือไม่ อายบอกกับเราว่าไม่โกรธ เพราะคิดว่ามันเป็นสิทธิของน้องที่จะวิพากษ์หรือตั้งคำถามกับห้องเชียร์ 

"มันมีทุกปีอยู่แล้วน้องที่ไม่เอาห้องเชียร์แล้ว เรารู้สึกว่ามันคือความคิดของน้อง เรารู้สึกว่าเขามีสิทธิจะวิพากษ์อะไรบางอย่าง หรือตั้งคำถามกับอะไรแบบนี้ได้ แล้วเราเชื่อว่าทุกคนแม่งฉลาด ทุกคนมีเหตุผลมากพอที่จะตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีห้องเชียร์"

เมื่อถามถึงคำถามโลกแตกอย่าง ‘หากไม่มีห้องเชียร์จะเอาอะไรมาแทนดี’ อายบอกว่าตัวเธอเองไม่เคยลองวิธีอื่นแต่หากให้คิดวิธีที่เป็นไปได้ก็อาจจะเป็นกิจกรรมที่ให้น้องได้มาทำร่วมกัน ได้ใช้เวลาร่วมกัน อาจจะเป็นกิจกรรมสนุกสนานที่ไม่จำเป็นต้องมีคนมาคอยกดดันก็ได้

และสุดท้ายอายยังฝากไปถึงรุ่นน้องที่ยังคงเป็นสตาฟเชียร์ว่าอยากให้คิดดีๆ และอยากให้คำนึงถึงน้องทุกคนอีกด้วย

"ให้ลองคิดดูว่ามันยังเหมาะหรือเปล่า ด้วยวิธีการกดดันหรืออะไร จริงๆ เหมือนมันไม่ได้มีใครที่จะมาชอบการถูกตะโกนใส่ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำผิด ก็เหมือนอยากให้คิดดีๆ คือถ้าสุดท้ายระบบนี้ยังอยู่ หรือห้องเชียร์ยังอยู่ ก็อยากให้คิดแทนน้องทุกแบบ"


ผู้แทนนิสิต ม.เกษตร ผู้สนับสนุนให้ใช้เหตุผลในการรับน้อง

หลุยส์-ทัดชนม์ กลิ่นชำนิ อดีตประธานสภาผู้แทนนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เล่าว่าตลอด 4 ปีที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย เขาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมห้องเชียร์มาตลอด โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1 ที่เป็นนิสิตใหม่ก็ต้องเข้าห้องเชียร์ ได้เห็นและสัมผัสกับตัวกิจกรรมโดยตรงที่มีทั้งการว้าก การกดดัน และถึงแม้ว่าเขาจะไม่ชอบในวิธีการที่ห้องเชียร์ใช้ แต่เขาก็เข้าร่วมกิจกรรมตลอดจนจบ

"คือมันไม่บังคับหรอกครับ ทางนิตินัยมันก็ไม่บังคับอยู่แล้ว แต่มันก็บังคับด้วยสังคมว่าต้องเข้า ซึ่งพอเข้าไปก็ไม่ได้อินอะไรกับมัน ก็รู้สึกไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากมัน เพราะเพื่อนที่รู้จักก็รู้จักจากตอนเรียนอยู่แล้ว ตอนเข้าห้องเชียร์ที่นั่งติดกันก็ไม่เห็นให้คุยกันเลย จะรู้จักกันได้ยังไง(หัวเราะ)"

ต่อมาในชั้นปีที่ 2 หลุยส์เป็นทั้งประธานรุ่น อีกทั้งยังเป็นสตาฟในกิจกรรมห้องเชียร์ มีหน้าที่คอยดูแลและปลอบใจน้องที่ถูกว้ากมาอย่างหนักหน่วง หลุยส์บอกกับเราว่าในปีดังกล่าวเขาได้มีความพยายามที่จะพูดคุยกับรุ่นพี่ผู้จัดกิจกรรม ถึงแนวทางกิจกรรมห้องเชียร์ที่ไม่จำเป็นต้องมีการว้ากก็ได้ แต่ก็ไม่เป็นผล จนเมื่อเขาได้มาจัดกิจกรรมชุมนุมของสาขาเองในชั้นปีที่ 3 เขาและกลุ่มเพื่อนที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่ากิจกรรมที่คอยสร้างความสัมพันธ์ในหมู่นิสิตไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงหรือการกดดันแต่อย่างใด แต่จะให้หักดิบไปเลยหลุยส์ก็เห็นว่าคงจะทำไม่ได้ จึงมีการต่อรองกันเจอคนละครึ่งทาง กลายเป็นว่าในปีนั้นก็ไม่มีการว้าก อาจจะมีเพียงพี่ระเบียบที่คอยยืนหน้าขรึมและบอกถึงกฎระเบียบเท่านั้น   

"รูปแบบกิจกรรมก็พยายามเปลี่ยน จากเดิมที่การรับน้องต้องมาว้าก กอดคอกันร้องเพลง เราก็พยายามเอาเกมมาให้เล่น ทดสอบกำลังใจด้วยเกม ระดมสมอง ทำอะไรที่มันเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่ามันค่อนข้างได้ผลนะ กับการที่เปลี่ยนแปลงไปตอนนั้นมันก็ทำให้เราเห็นว่า มันก็มีวิธีอื่นที่ให้มันไม่ว้ากได้นี่หว่า"
   
จนพอขึ้นปี 4 หลุยส์ขยับขยายจากกิจกรรมสาขาหรือคณะ มาทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง โดยมีหน้าที่เป็นประธานผู้แทนนิสิต ซึ่งในตอนนั้นนโยบายของมหาวิทยาลัยยังไม่ได้มีการห้ามว้ากในแบบปัจจุบัน มีเพียงการรณรงค์ว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นสิทธิที่น้องจะเลือกได้ ห้ามบังคับ ซึ่งทางสภานิสิตก็จะมีคณะกรรมการที่คอยสอดส่องแต่ละคณะ และคอยรับเรื่องร้องเรียน แต่นอกจากนั้นก็ยังมีความพยายามผลักดันในเชิงนโยบาย อย่างเช่นผลักดันให้กิจกรรมต่างๆ มีเหตุผลมากขึ้น ซึ่งจากการผลักดันเหล่านั้น ก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการออกกฎห้ามว้ากออกมา

และเมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการออกกฎห้ามว้าก หลุยส์มองว่าแม้จะเป็นการหักดิบ แต่ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้ห้องเชียร์ยังคงมีต่อ ส่วนหนึ่งก็มาจากที่รุ่นพี่ไม่รู้จะเอากิจกรรมอะไรมาทดแทน ซึ่งการหักดิบนี้ก็จะทำให้รุ่นพี่ผู้จัดกิจกรรมได้คิดสิ่งใหม่ๆ มาทดแทนระบบเก่า ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนให้นิสิตเกิดความคิดสร้างสรรค์

“มันถึงเวลาที่พวกแกต้องมาคิดกันใหม่แล้ว ว่าจะเอาอะไรมาทดแทน ผมว่ามันเป็นอะไรที่ท้าทายการเรียน และการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยนะครับ เพราะการเรียนและการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เป้าประสงค์ของมันคือต้องการให้คุณคิดสร้างสรรค์ เพราะงั้นตรงนี้คือโจทย์ คือแบบฝึกหัดที่คุณจะได้พิสูจน์ว่าการทำกิจกรรมมันสร้างให้เกิดพวกนี้จริงๆ ไอ้พวกที่ออกมาโวยวายเนี่ย ผมจะรู้สึกว่า หรือคุณกำลังแสดงออกกลายๆ หรือเปล่าว่าแท้จริงแล้วพวกคุณคิดไม่ออกว่าจะเอาอะไรมาแทน"

เมื่อพูดถึงวิธีการที่จะนำมาทดแทนห้องเชียร์ระบบเก่า หลุยส์เล่าในฐานะรุ่นพี่ที่เคยจัดกิจกรรมมาก่อนว่า จุดประสงค์หลักของห้องเชียร์มีอยู่ไม่กี่ข้อ คือ ให้น้องรู้จักกันเองและรู้จักพี่ ให้เกิดความรักคณะและพวกพ้อง และสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งในแต่ละข้อก็สามารถจะทำให้เกิดตามจุดประสงค์ได้จากการทำงานร่วมกัน

"ถามว่าทุกวันนี้ที่เรารู้จักเพื่อนที่ทำงาน รู้จักคนทั่วไป เคยมีใครจะต้องมาตะคอก มาด่า มาเสียงดังให้เรารู้จักกันไหม คือความที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อเราได้พูด ได้คุย ได้พบเจอกัน ยังไงมันก็รู้จักกันอยู่แล้ว และก็ด้วยรูปแบบกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นเฟิร์สเดท แรกพบ รับน้อง อะไรต่างๆ นานา ในช่วงก่อนเปิดเทอม ที่มาเต้นสันทนาการกัน มาละลายพฤติกรรมกัน มาเล่นเกมกันตรงนี้ มันเพียงพอสำหรับการทำให้น้องรู้จักกันว่าแกชื่ออะไร แกเรียนสาขาอะไร แล้วเดี๋ยวนี้น้องมีกลุ่มไลน์กันตั้งแต่แอดมิชชันติดแล้ว ก่อนรายงานตัวอีก เพราะฉะนั้นเนี่ย ในเรื่องของการรู้จักกัน มันไม่จำเป็นเลยที่ต้องใช้การว้ากเข้ามาช่วย"

หลุยส์ยังยกตัวอย่างกิจกรรม อย่างเช่นรุ่นพี่อาจให้น้องทำกิจกรรมจิตอาสาที่มีเหตุผลและเห็นผลได้จริง และให้น้องไปหางบร่วมกัน ช่วยกันทาสี ช่วยกันทำโครงการที่ตั้งไว้ให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้รุ่นน้องได้ช่วยกันทำงาน ในขณะที่รุ่นพี่ก็คอยช่วยเหลือเคียงบ่าเคียงไหล่ให้คำแนะนำ หรืออาจให้น้องร่วมกันทำกิจกรรมอื่นๆ ที่สอดคล้องกับกิจกรรมมหาวิทยาลัย เช่น เมื่อถึงช่วงรับปริญญาก็ให้รุ่นน้องร่วมกันทำซุ้มเพื่อถ่ายรูป หรือ เมื่อถึงช่วงแข่งกีฬาก็ให้ไปทำขบวนพาเหรด ซึ่งหลุยส์มองว่ากิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะตอบโจทย์ตามจุดประสงค์แล้ว ยังทำให้น้องได้รู้จักการทำงานจริงอีกด้วย  
 
"ผมมั่นใจว่าคนที่เคยทำกิจกรรมมา พอผ่านกิจกรรมเหล่านี้ให้มันครบทุกด้าน ทั้งในเรื่องของการสันทนาการ การอาสาอะไรเหล่านี้ ถ้าเกิดน้องไม่รู้จักกัน น้องไม่รักกันก็แปลกแล้ว ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้สามารถสำเร็จได้โดยไม่ต้องว้ากเลย" หลุยส์กล่าว


 

โปรดติดตาม รับน้องไงทำไมต้องว้าก #2 : คุยกับ ‘ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์’ นักวิชาการอดีต ‘ว้ากเกอร์’ ได้ที่นี่ เร็วๆ นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลตุรกีอ้างเหตุรัฐประหาร-เล็งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดสื่อ-โรงเรียน

$
0
0

ทางการตุรกีกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามรอบล่าสุด เตรียมผ่านกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน จ่อปิดสื่อ โรงเรียน สถานพยาบาล ปรับโครงสร้างอำนาจหน่วยงานตำรวจและกองทัพ รวมถึงสั่งปิดโรงเรียนเตรียมทหาร โดยทั้งหมดนี้อ้างเรื่องความเกี่ยวข้องกับการพยายามทำรัฐประหารเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่สหประชาชาติแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์สิทธิในตุรกี

ประธานาธิบดีตุรกี เรเซป ไทยิป แอร์โดอัน (แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

28 ก.ค. 2559 อัลจาซีรารายงานว่ารัฐบาลตุรกีออกกฤษฎีกาใหม่สั่งปิดองค์กรสื่อจำนวนมาก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกวาดล้างโดยรัฐบาลของประธานาธิบดีเรเซป ไทยิป แอร์โดอัน หลังจากการรัฐประหารล้มเหลวในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ข้อกำหนดจากรัฐบาลตุรกีฉบับใหม่ที่เผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ของทางการตุรกีระบุสั่งปิดสื่อหลายแห่ง ได้แก่สำนักข่าว 3 แห่ง ช่องโทรทัศน์ 16 ช่อง สถานีวิทยุ 23 สถานี หนังสือพิมพ์รายวัน 45 หัว นิตยสาร 15 ฉบับ และสำนักพิมพ์ 29 แห่ง

ในบรรดาสื่อที่โดนสั่งปิดได้แก่หนังสือพิมพ์ซามาน ช่องซามานโยลู และสำนักข่าวซิฮาน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ เฟตุลเลาะห์ กูเลน ผู้ที่ทางการตุรกีกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของแอร์โดอันยังมีแผนการสั่งปลดเจ้าหน้าที่ในกองทัพ 1,684 นาย รวมถึงนายพล 127 นาย เป็นพลเรือเอก 32 นาย โดยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับขบวนการของกูเลน นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนในระดับสถาบันความมั่นคงด้วยการออกข้อกำหนดให้ตำรวจภูธรและหน่วยรักษาการณ์ชายฝั่งจะสังกัดกระทรวงกิจการภายในหลังจากนี้ จากที่ก่อนหน้านี้ตำรวจภูธรอยู่ในสังกัดขอบเขตอำนาจขององค์กรตำรวจขณะที่หน่วยลาดตระเวณชายแดนจะอยู่ในสังกัดของกองทัพมาก่อน อัลจาซีราระบุว่าการปรับเปลี่ยนเช่นนี้ทำให้เกิดผลกระทบอิทธิพลของหน่วยงานติดอาวุธ

ในตอนนี้ข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องนำเข้าสู่รัฐสภาที่มีพรรคเอเคพีของแอร์โดอันกุมอำนาจอยู่เพื่อพิจารณาและประกาศบังคับใช้ในวันที่ 29 ก.ค. ในฐานะส่วนหนึ่งของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

หลังการพยายามรัฐประหารล้มเหลวแอร์โดอันก็พยายามกวาดล้างผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง มีการจับขังทหาร ข้าราชการ ผู้พิพากษา ทนายความ 15,846 ราย มี 8,133 รายถูกฟ้องร้องดำเนินคดี นอกจากนี้ยังมีการสั่งปิดหน่วยงาน 2,341 แห่ง ทั้งโรงเรียน หน่วยงานการกุศล สถานพยาบาล และสหภาพ โดยกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกูเลน นอกจากนี้ยังมีการสั่งปิดโรงเรียนทหารและปรับโครงสร้างวิทยาลัยของกองทัพ โดยมีการอ้างว่าคนที่เข้าร่วมการรัฐประหารที่ล้มเหลวมีนายทหารจากโรงเรียนทหารอยู่ 1,214 นายจากทั้งหมด 8,651 นาย มีนักเรียนทหารอายุ 14-17 ปีถูกกล่าวหาว่าอาจจะมีส่วนพัวพันกับขบวนการกูเลน

การไล่จับคนเป็นว่าเล่นเช่นนี้ ทำให้นานาชาติแสดงความกังวลว่าประเทศจะเข้าสู่แนวทางแบบอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

บันคีมุน เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่าเขารู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการกวาดจับหลังรัฐประหารล้มเหลวในตุรกี และบอกกับรัฐมนตรีการต่างประเทศว่าควรจะมีหลักฐานทีน่าเชื่อถือได้ก่อนการจับกุมตามกระบวนการกฎหายรวมถึงควรเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม และการดำเนินการตามหลักกฎหมาย

อย่างไรกตามนายกรัฐมนตรี บินาลี ยิลดิริม ของตุรกีกล่าวในทำนองว่าการกวาดล้างของรัฐบาลยังไม่จบสิ้นและจะยังคงดำเนินต่อไป

กูเลน ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพยายามก่อรัฐประหารให้สัมภาษณ์ปฏิเสธไว้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการรัฐประหารที่ล้มเหลว กูเลน เคยเป็นคนใกล้ชิดกับแอร์โดอนมาก่อนแต่ต่อมาเขาถูกกล่าวหาว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" เพียงเพราะต้องสงสัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่พยายามตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาลแอร์โดอัน ทำให้เขาต้องลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐฯ กูเลนกล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อก่อนหน้านี้ด้วยว่ามีความเป็นไปได้ที่รัประหารที่ล้มเหลวในครั้งนี้อาจจะเป็นการสมคบคิดโดยแอร์โดอันเพื่อหาเรื่องกวาดล้างคนที่เห็นต่างจากเขา

ทั้งนี้องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเคยระบุว่าพวกเขาได้รับรายงานเกี่ยวกับการทารุณกรรมผู้ต้องขังและไม่ยอมให้ญาติหรือทนายความเข้าพบผู้ต้องขังที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการพยายามก่อรัฐประหาร

 

เรียบเรียงจาก

Turkey shuts scores of media outlets, sacks generals, Aljazeera, 28-07-2016 http://www.aljazeera.com/news/2016/07/turkey-close-army-high-schools-failed-coup-160727165730365.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตทหารกัมพูชาอยู่แคนาดาแพร่คลิปต่อต้านฮุนเซน-ตำรวจประกบญาติพี่น้องถึงบ้านเกิด

$
0
0

รัฐบาลฮุนเซนของกัมพูชาส่งคนไปที่บ้านครอบครัวของ สม โสวันนารา อดีตทหารกัมพูชาอพยพ เพื่อสืบสวนสมาชิกในบ้านเป็นประจำทุกวัน หลังจากที่อดีตทหารกัมพูชาซึ่งปัจจุบันอพยพไปอยู่แคนาดา เคยพูดปลุกใจให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลฮุนเซนผ่านทาง YouTube โดยฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาอ้างว่าไปสืบสวนครอบครัวนี้เพราะเกรงว่าจะมีการวางแผนก่อรัฐประหาร

สม โสวันนารา อดีตทหารในกัมพูชาอายุ 25 ปี อัพโหลดวิดีโอทางยูทูบเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมาบอกให้รัฐมนตรีและกองทัพเตรียมตัวให้พร้อมที่จะ "ปลดปล่อยประเทศกัมพูชาจากรัฐบาลเผด็จการฮุนเซน" แต่ในวันต่อมาเขาบอกว่าวิดีโอของเขาเพียงแค่ต้องการปลุกใจให้เกิดการประท้วงอย่างสันติเท่านั้น อย่างไรก็ตามกระทรวงกลาโหมและกระทรวงกิจการภายในและศาลกรุงพนมเปญ ก็พากันสืบสวนเรื่องนี้เพราะมองว่าเป็นภัย

พี่สาวของสมซึ่งอาศัยอยู่ในอำเภอสังคมถเม็ย จังหวัดพระวิหาร เปิดเผยเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ครอบครัวกังวลเรื่องความปลอดภัยหลังจากที่มีตำรวจและ "เจ้าพนักงาน" คนอื่นๆ คอยติดตามและสอดแนมครอบครัวเธอทุกวัน เจ้าหน้าที่ทางการถามเธอว่าเธอรู้หรือไม่ว่าน้องชายของเธอโพสต์อะไรบางอย่างบนเฟซบุ๊คเพื่อต่อต้านรัฐบาล เธอตอบว่าไม่รู้เรื่องนี้แต่ก็ถูกข่มขู่ให้ "ระวัง" และอย่าพูดอะไรที่กระทบกับรัฐบาล

พี่สาวของสมกล่าวต่อไปว่าเธอกังวลเรื่องความปลอดภัยของครอบครัวเธอเพราะทางการกัมพูชาส่งคนมาคอยดูครอบครัวเธอทุกวัน ครอบครัวของเธอก็กลัวว่าคนเหล่านี้จะทำร้ายพวกเขา

รส เฮง นายอำเภอสังคมถเม็ยกล่าวว่าพี่สาวของสมควรเปิดเผยตัวผู้ที่ข่มขู่เธอว่าเป็นใคร โดยเขาต้องการรู้ว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดไปที่นั่นบ้าง ถ้าหากเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านเธอจริงๆ เธอก็ควรจะรู้ว่าใครเป็นคนข่มขู่ครอบครัวเธอ ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นต่างก็บอกว่าพวกเขาไม่รู้เรื่องคดีนี้หรือบางคนก็ปฏิเสธไม่ยอมตอบคำถามเรื่องนี้

สมเป็นสมาชิกของกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยชาติกัมพูชา ปัจจุบันเขาอยู่ที่แคนาดา เขาบอกว่าเขาเป็นห่วงครอบครัวแต่ก็ไม่อยากกลับประเทศ เขาบอกอีกว่าเขายอมขึ้นศาลถ้าศาลกัมพูชาเป็นอิสระจริงแต่สำหรับสมแล้วศาลกัมพูชาไม่มีความยุติธรรม

เรียบเรียงจาก

‘Coup’ Plotter’s Sister Claims Authorities Threatened Family, Cambodia Daily, 27-07-2016 https://www.cambodiadaily.com/news/coup-plotters-sister-claims-authorities-threatened-family-115941/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อสังเกตการฟ้องคดีอาญาโดยรัฐ จากการซ้อมทรมาน

$
0
0



ในวันนี้ ( 26 กรกฎาคม 2559 ) เกิดปรากฎการณ์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ต้องให้ความสนใจและติดตามการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐเป็นพิเศษด้วยกัน 2 กรณี คือ การเข้ารายงานตัวของนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นายสมชายหอมลออ และนางสาวอัญชนา  หีมมิหน๊ะต่อพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานีเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยกอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้าเป็นแจ้งความร้องทุกข์ และการเข้าควบคุมตัวนางสาวนริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.มักกะสัน 3 นายตามหมายจับที่ 104/2559 ที่ออกโดยศาลจังหวัดนราธิวาส ซึ่งขณะนี้ ( 18.00 น.) ยังไม่ทราบว่าใครผู้เป็นผู้กล่าวหาหรือกล่าวโทษ

กรณีทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันนี้ ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน จากการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะว่า มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นจนเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายและจิตใจโดยทหารเป็นผู้กระทำ

การมีอยู่ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยปัจจุบัน มีขึ้นเพื่อคุ้มครองบุคคลที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดที่เกิดความเสียหายขึ้น ทั้งฝ่ายผู้กระทำความผิดและฝ่ายผู้เสียหายบนหลักการดำเนินคดีที่เป็นธรรม ( Fair Trial ) กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่ง “รัฐ” เป็นผู้อำนวยการให้มีระบบด้วยสถาบันด้านการยุติธรรมขึ้นนั้น ก็มีเพื่อใช้ค้นหาความจริงที่เกิดขึ้น ด้วยการพิสูจน์ข้อความจริงที่เกิดขึ้นและก่อผลกระทบต่อสังคมบุคคลและสังคม เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด พร้อมกับเยียวยาผู้เสียหายได้อย่างเหมาะสม ทั้งป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันให้ลดลง

ในระบบกฎหมายไทย หลักการดังที่กล่าวมาข้างต้นปรากฎในหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย สิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นที่กำหนดโทษทางอาญาแก่บุคคลให้รับผิดเมื่อกระทำการฝ่าฝืนหรือละเมิดซึ่งนำความเสียหายมายังบุคคลอื่นและสังคม

ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นกับทั้งกรณีการเผยแพร่รายงาน“รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557-2558” ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นายสมชายหอมลออ และนางสาวอัญชนา  หีมมิหน๊ะในนามมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และกลุ่มด้วยใจ และการแสดงข้อมูลการเสียชีวิตของพลทหารวิเชียร เผือกสม ทหารที่เสียชีวิตในค่ายนราธิวาสเมื่อปี 2554 ผ่านสื่อมวลชนโดยนางสาวนริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ผู้เป็นหลานสาวนั้น เป็นการกล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326 และ มาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญา ที่มาพร้อมกับความผิดฐานนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 (1) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เนื่องจากข้อมูลดังกล่่าวปรากฏในระบบอินเตอร์เน็ตผ่านเวปไซต์และสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์และถูกเผยแพร่ซ้ำ

โดยหลักการของความผิดฐานหมิ่นประมาทที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญา ก็เพื่อคุ้มครองชื่อเสียงเกียรติคุณและความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลให้ซึ่งเป็นสิทธิของบุคคลที่ต้องห้ามมิให้บุคคลอื่นละเมิดได้ กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า ซึ่งถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษในการทรมานบุคคลที่ปรากฎในรายงานฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของพลทหารวิเชียรฯ ได้อ้างว่าเป็นผู้เสียหายจากการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นในการดำเนินคดีอาญา

ข้อสังเกตต่อการดำเนินคดีอาญาทั้งสองกรณีในวันนี้ มีด้วยกัน 2 ประการที่ขัดกับหลักการดำเนินคดีอาญาที่ดีและการดำเนินคดีอาญาที่เป็นธรรมที่ระบบกฎหมายไทยประกันเอาไว้ และกระทบต่อเสรีภาพของบุคคล ตลอดจนไม่เป็นการดำเนินคดีอาญาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม กล่าวคือ

1.การใช้บังคับกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 326 และ มาตรา 328 มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองมิให้บุคคลถูกละเมิดด้วยการกล่าวข้อความอันเป็นเท็จ ที่อาจจะนำมาสู่ความเสียแก่บุคคลที่ถูกกล่าวถึงได้ แต่ในมุมกลับของการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยเรื่องหมิ่นประมาทซึ่งเป็นความผิดทางอาญาและมีอัตราโทษทางอาญาที่ถือว่าสูงที่ดำเนินการโดยทรัพยากรของรัฐผ่านพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาลยุติธรรมนั้นได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้บุคคลตกเป็นความจากการแสดงข้อมูลของตนทั้งที่เป็นการแสดง "ข้อความจริง" หรือ พูดความจริงก็ตาม เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับกรณีดังกล่าวจะเป็นการสกัดกั้นไม่ให้บุคคลได้แสดงข้อมูลของตน เพราะต้องพบเจอกับภาระในฐานะตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ทำความผิด หรือจำเลย เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อต่อสู้คดีของตน เพราะจำเลยต้องมีทนายความที่มีความสามารถในการพิสูจน์ตามกฎหมายที่เปิดช่องให้ศาลเห็นได้ว่าการแสดงข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและไม่ต้องรับผิด และด้วยสภาพการบังคับใช้กฎหมายที่ตีความนำเอา พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาร่วมฟ้องเพื่อเพิ่มโทษให้หนักขึ้น จากการตีความว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดฐานนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 (1) นั้นก็ผิดออกไปจากหลักการของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ด้วย เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายลักษณะนี้ มุ่งประสงค์บังคับต่อการนำเข้าข้อมูลปลอมผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่สร้างความเสียหายต่อบุคคลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่การเผยแพร่ข้อความที่ไม่เป็นความจริงเข้าสู่เวปไซต์หรือสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านการใช้ระบบอินเตอร์เน็ต

การที่นำบทบัญญัติของกฎหมายทั้งสองฉบับมาตีความบังคับใช้ซึ่งผิดออกจากเจตนารมณ์และหลักการที่ตรากฎหมายดังกล่่าวมานั้น นำมาสู่การใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของรัฐเป็นเครื่องมือในการ "ปราม" บุคคลซึ่งเป็นคู่ขัดแย้ง เป็นผลกระทบต่อบุคคลคู่ตรงข้ามที่ตกเป็นจำเลยที่สร้างความเสียหายจากสังคมด้วยการปิดปากบด้วยการดำเนินคดีอาญาที่ทำให้สังคมไม่เข้าถึงข้อความจริงในหลายกรณีที่กระทบต่อเสรีภาพและสวัสดิภาพต่อสังคมโดยรวม

2.ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นความจำเป็นที่ "รัฐ" ต้องทำความจริงให้เปิดเผยต่อสาธารณะด้วยกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล

"ข้อมูล" ที่นำมาสู่การดำเนินคดีกับทั้งสองกรณี คือ ข้อมูลการซ้อมทรมานบุคคลจนเกิดอันตรายต่อชีวิต หรือร่างกายซึ่งเกิดจากที่บุคคลอยู่ใต้อำนาจการควบคุมตัวหรือผู้ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใช้อำนาจรัฐผ่านตำแหน่งหน้าที่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ ความตายหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิตและความเป็นอยู่ของบุคคลเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่กระทบต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและสังคม "รัฐ" ผ่านหน่วยงานทางการยุติธรรมต้องให้ความสำคัญในการเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อสาธารณะ เพราะมีหน้าที่โดยตรงในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ต้องอำนวยความเป็นธรรมให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ และฝ่ายผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว และต้องป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐที่ก่อความเสียหายในลักษณะที่เป็นอาชญากรรมให้เกิดขึ้นอีก

แต่ด้วยเพราะความเป็น "กระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการโดยรัฐ" นี้เอง กลับกลายเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายไม่อาจเข้าถึงความยุติธรรมได้เพราะผู้ถูกกล่าวหาคือเจ้าหน้าที่รัฐเองและกลไกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยการตีความบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันไม่นำไปสู่การนำบุคคลที่เกี่ยวข้องความตายดังกล่าวเข้าสู่การพิสูจน์ความจริงโดยศาลต่อสาธารณะได้โดยง่าย และหากเมื่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทำให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้โดยง่ายและดำเนินบนหลักกฎหมายที่มุ่งพิสูจน์ความจริงด้วยการแสดงพยานหลักฐานและข้อต่อสู้ได้อย่างเต็มที่ทั้งสองฝ่าย ย่อมทำให้ข้อกล่าวที่มีว่าความตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐถูกเปิดเผย ในหากเป็นกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าผู้กล่าวหาหรือโจทก์กล่าวความเท็จเสียเองในคดี ด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ดีย่อมคืนชื่อเสียงเกียรติคุณของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเอง และลงโทษผู้กล่าวหาหรือโจทก์อย่างเหมาะสมในที่สุด

ข้อสังเกต 2 ข้อต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ มีขึ้นได้เพราะความตายที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และความตายของพลทหารในอำนาจบังคับบัญชาโดยตรงไม่เคยได้รับการพิสูจน์เพื่อเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของรัฐที่ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการคุ้มครองเสรีภาพในชีวิตของบุคคลได้อย่างแท้จริง นำมาสู่การไม่นำไปสู่ความรับผิดชอบใดๆ ของเจ้าพนักงานของรัฐ ไม่ว่าจะดำรงอยู่ในฐานะของผู้รักษาความมั่งคงของรัฐ ผู้รักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคม และผู้รักษาความเป็นธรรม

สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนในรัฐนี้ไม่มีอยู่ เพราะขาดความมั่นคงในทางกฎหมายที่การตีความบังคับใช้ประกันแต่อำนาจรัฐที่สามารถใช้ได้อย่างอำเภอใจ ที่ไม่ได้ไว้เพื่อปกป้องแม้กระทั่งสิทธิพื้นฐานของบุคคลอย่างต่ำที่สุด คือ ชีวิตบุคคลนั่นเอง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภากลาโหมไฟเขียวแนวปฏิรูป ลดจำนวน 'นายพล' ตั้งเป้าจาก 768 เหลือ 384 ในปี71

$
0
0

เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหมว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปฏิรูปกระทรวงกลาโหม เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการปรับระบบงานด้านกําลังพล ซึ่งปัจจุบันกระทรวงกลาโหมประสบปัญหาความคับคั่งของกําลังพลในชั้นยศสูง จึงต้องปรับลดให้มีขนาดที่เหมาะสม โดยส่วนแรกได้ปรับลดกําลังพลในตําแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายทหารปฏิบัติการลงร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยเริ่มดําเนินการตั้งแต่ปี 2551 และสิ้นสุดในปี 2571 ซึ่งจะสามารถลดจํานวนกําลังพลดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 50 โดยปี 2551 มีนายทหารระดับ พลตรี พลโท พลเอก ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทั้งหมด 768 นาย และจะลดลงในปี 2571 เหลือ 384 นาย เช่นเดียวกับนายทหารชั้นยศพันเอกพิเศษในตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการ (นปก.) ที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2551 จำนวน 2,698 นายจะต้องลดลงในปี 2571 เหลือ 1,349 นาย
       
โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า การลดจำนวนนายพลโดยลดอัตราผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ จะเริ่มค่อยๆ ดำเนินการต่อไปเพราะที่ผ่านมาก็เริ่มทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งจะสอดคล้องกับการผลิตนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมทหารและนายร้อยฯ ทุกเหล่าทัพที่จะลดไปตามลำดับด้วย สำหรับการตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงหลังมีตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษในโผทหารจำนวนมากนั้นก็เป็นปัญหาความคับคั่งในระดับรองลงไป ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมได้จัดทําโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกําหนดจํานวน 3 โครงการ เพื่อเป็นกลไกรองรับต่อภารกิจดังกล่าว ทั้งระดับชั้นยศนายพล และทุกชั้นยศ มีกําลังพลเข้าร่วมโครงการใน 3 ปีที่ผ่านมากว่า 15,000 นาย
       
พล.ต.คงชีพกล่าวอีกว่า ยังมีการจัดทําระบบข้าราชการพลเรือนกลาโหมซึ่งเป็นระบบงานกําลังพลที่สามารถจําแนกกําลังพลตามลักษณะงานได้อย่างเหมาะสม กล่าวคือ งานใดที่เป็นภารกิจทางทหาร ทหารเป็นผู้ปฏิบัติ งานใดที่เป็นงานสนับสนุนภารกิจทางทหารก็มอบให้ข้าราชการพลเรือนกลาโหมเป็นผู้ปฏิบัติซึ่งจะส่งผลให้กําลังพลในสังกัดกระทรวงกลาโหมมีความเป็นมืออาชีพ และจะประหยัดงบประมาณในด้านกําลังพลในอนาคตได้ การดําเนินการในปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทํากฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม และคาดว่าจะเสนอต่อสภากลาโหมเพื่อพิจารณาภายในปีงบประมาณนี้ (ก.ย. 2559)
       
นอกจากนี้ยังมีการบรรจุกําลังพลสํารองที่ผ่านการฝึกมาบรรจุทดแทนในอัตราทหารเป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาของสัญญาที่กําหนด เพื่อให้หน่วยทหารมีอัตรากําลังพลเพียงพอในการปฏิบัติภารกิจ และมีการหมุนเวียนกําลังพลอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้กองทัพประหยัดงบประมาณด้านกําลังพล แต่ยังคงขีดความสามารถไว้เช่นเดิม อีกทั้งสามารถช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งของกำลังพลในระยะยาวได้ ปัจจุบันกระทรวงกลาโหมได้วางหลักเกณฑ์ คือ พ.ร.บ.กําลังพลสํารอง พ.ศ. 2558 มาตรา 30 กระทรวงกลาโหมอาจ รับสมัครกําลังพลสํารองเพื่อทําหน้าที่ทหารเป็นการชั่วคราวได้ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการทหาร และกฎกระทรวง กําหนด ระยะเวลาการทําหน้าที่ เงินเดือน และค่าตอบแทนอย่างอื่น สิทธิประโยชน์ ระเบียบและวินัยของบุคคลเข้าทําหน้าที่ทหารเป็นการ ชั่วคราว พ.ศ. 2553 ไว้เรียบร้อยแล้ว

 

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์และผู้จัดการออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ School: อนาคตการศึกษาไทย ก้าวหน้าหรือถอยหลังในร่างรธน. 59

$
0
0

‘ด้นถอยหลัง’ เป็นวิธีการเย็บผ้ารูปแบบหนึ่งที่นิยมมาก เนื่องจากทำได้ง่าย สร้างความแน่นหนาได้เป็นอย่างดี โดยลักษณะสำคัญของการเย็บรูปแบบนี้ คือการแทงเข็มขึ้นและย้อนกลับถอยไปข้างหลัง แล้วค่อยสนฝีเข็มขึ้นถัดจากรอยจรดเดิมเล็กน้อย  ที่แม้จะได้ระยะทาง ไปข้างหน้าทีละนิด ( เพราะต้องด้นกลับไปซ้ำด้านหลังให้แน่น) แต่ก็มั่นใจได้ว่าหากทำด้วยความปราณีตอุตสาหะ ย่อมได้รอยตะเข็บที่สวยคงทน ไม่แพ้รอยเย็บจากฝีจักรอย่างแน่นอน

ด้นถอยหลังการศึกษา : ร่างรธน.’ฉบับมีชัย’กับสิทธิที่หายไป

จากประเด็นข้อถกเถียงเนื้อหามาตรา 54 ในหมวด 5 ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐใน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 59 ในส่วนของสิทธิทางการศึกษาที่ลด น้อยลงกว่าเดิม ทั้งจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ 50  กล่าวคือ ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 40  สนับสนุนให้ประชาชนได้เรียนฟรีเป็นเวลา ‘ไม่น้อยกว่า 12 ปี’ ครอบคลุม’การศึกษาขั้นพื้นฐาน’  ซึ่งหมายถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า  และรัฐธรรมนูญปี 50  ที่แม้ จะตัดคำว่า’การศึกษาขั้นพื้นฐาน’ออกไป แต่ยังคงไม่น้อยกว่า 12 ปี’ ไว้ดังเดิม  แต่ร่างรัฐธรรมนูญปี 59  กลับกำหนดการอุดหนุนเรียนฟรีดังกล่าวให้ยิ่งน้อยลง โดยกำหนดไว้เพียง ‘เป็นเวลา 12 ปี’ ของ’การศึกษาภาคบังคับ’ หรือระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเท่านั้น สร้างข้อวิจารณ์ เรียกร้อง ถึงสิทธิที่หายไปในรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นวงกว้าง จนท้ายที่สุดในวันที่ 15 มิถุนายน 2559 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 44  ให้มีการอุดหนุนการเรียนฟรี 15 ปีดังเดิม เพื่อลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว

หากปรียบการแก้ปัญหาการศึกษาไทยกับการเย็บซ่อมผ้า  นโยบายการศึกษาในร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็เปรียบได้เหมือนฝีเข็มที่หากด้นกลับด้านผิด แม้จะสร้างความแข็งแรงให้กับรอยตะเข็บผ้าได้เช่นกัน  แต่ก็เป็นการด้นที่ร่นถอยยาว ที่หาได้ก้าวไปข้างหน้าแต่อย่างใด

อย่าไว้ใจทางอย่าวางใจม.44  ถ้าหวังดีต้องฟรีในรัฐธรรมนูญ

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเรียนฟรีม.ปลายที่หายไป เริ่มเบาบางลง ภายหลัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งที่ 28/2559 เรื่องให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

ในขณะเดียวกัน พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา  อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลับเห็นต่าง และยืนยันตามเจตนารมณ์เดิมว่า เรียนฟรีต้องเป็นสิทธิโดยเท่าเทียมในรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักของประเทศ มีความศักดิ์สิทธิ์และคงทนถาวร (เว้นเสียแต่จะถูกฉีก) แตกต่างกับคำสั่งของ คสช. ตามมาตรา 44 ที่เป็นเพียงกฎหมายลูก ได้มาด้วยอำนาจชั่วคราวและไม่ปกติอาจถูกยกเลิกเมื่อใดก็ได้ อนาคตนักเรียนไทยไม่ควรต้องถูกแขวนไว้บนความไม่แน่นนอนดังกล่าว

พริษฐ์มองว่า ปกติการศึกษาระดับมัธยมปลายก็ไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับอยู่แล้ว การลิดรอนสิทธิการศึกษาและผลักไสคนยากไร้เข้าสู่ระบบกองทุนนั้น จะเกิดปัญหานักเรียนตกหล่นอย่างแน่นอน  พร้อมย้ำว่าการศึกษาฟรีเป็นสิทธิที่รัฐต้องให้การสนับสนุนโดยเท่าเทียม โดยที่ผ่านมาประเทศไทยก็จัดการ ‘ม.ปลายฟรี’ แม้กระทั่งควบคู่ไปกับ’อนุบาลฟรี’ ก็ ไม่ได้เป็นภาระมากนัก นโยบายการตั้งกองทุนช่วยเหลือ ตามคำกล่าวในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แท้จริงคือการนำสิ่งที่ ‘ฟรี’สำหรับทุกคนอยู่แล้วแต่เดิม มาเลือกจัดสรรให้ใหม่ ที่ท้ายที่สุด จะสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กที่ต้องพึ่งพาและไม่ต้องพึ่งพากองทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้

 พริษฐ์ทิ้งท้ายว่า ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษาโดยการลิดรอนสิทธิของประชาชน เช่นเดียวกับที่ไม่มีประเทศใดเช่นกัน ที่ปฏิรูปการศึกษาได้โดยกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน หาก ‘ผู้ใหญ่’  ผู้หวังดีทั้งหลาย หวังดีต่อการศึกษาและอนาคตเด็กไทยจริง ควรยอมลงจากอำนาจ เพื่อให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการศึกษา ที่ปัจจุบัน เหมือนเรือรั่ว ที่ซ้ำร้ายโดนโจรสลัดไม่กี่คนปล้นไป

ราคาที่ต้องจ่ายเมื่อ ม.ปลายไม่ฟรี

นอกจากกลุ่มนักเรียนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเงื่อนไขการเรียนฟรีที่เปลี่ยนไปแล้ว  ‘ครู’ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่เพียงภาระหลักสูตรที่อาจต้องเปลี่ยนไปในฐานะผู้สอน หากรวมไปถึง’ภูมิทัศน์’ ที่อาจเปลี่ยนไปในฐานะ ‘คนปลูกต้นไม้’ ที่คอยบ่มเพาะดูแลเมล็ดพันธุ์ของชาติให้ผลิดอกออกใบ ที่มีความเป็นไปได้ว่า อาจร่อยหรอร่วงหล่นมากกว่าที่เคย หากรัฐลดระดับการอุดหนุนการศึกษาลง

แม้ยังไม่มีตัวเลขการอุดหนุนที่แน่ชัดสำหรับนโยบายเรียนฟรีโฉมใหม่ของคสช. แต่จากตัวเลขอุดหนุนเดิมของ ชัยยุทธปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ (2558) ที่อ้างโดย ศุภชัย ศรีสชาติ(2559)  ชี้ให้เห็นว่าแม้ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปีเดิม จำนวนงบประมาณอุดหนุนที่รัฐให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลาย ก็อยู่ในระดับน้อยอยู่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับระดับอื่นๆ  อีกทั้งคำว่า’ฟรี’ ก็ฟรีเพียงบางรายการ ยังคงเหลือส่วนต่างที่ต้องตกเป็นภาระของผู้เรียนส่วนหนึ่งด้วย ที่แม้จะเป็นส่วนต่างไม่มาก แต่สำหรับคนไม่มี  ส่วนต่างไม่มากเหล่านี้ก็เพียงพอจะทำให้พวกเขาจำนวนไม่น้อย ขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาฟรีที่รัฐจัดสรรให้อยู่แล้ว

ครูผู้เข้าร่วมโครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิ Teach for Thailand (ไม่ประสงค์ออกนาม) ท่านหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ สะท้อนให้เห็น ‘ราคา’ ของความฟรีที่ไม่ฟรี อย่างน่าสนใจว่า

“ทุกวันนี้ที่เราพูดว่าเรียนฟรีๆ ความจริงแล้วมันไม่ได้ฟรีทั้งหมด การจะส่งลูกเรียนสักคนหนึ่ง มันไม่ได้มีแค่ค่าเทอมหรือค่าหนังสือที่รัฐออกให้เท่านั้น  ยังมีค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทาง ค่าชุดนักเรียนและค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆอีกมากมาย หากเราจะมองว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ผู้ปกครองก็ควรจะรับผิดชอบบ้าง แต่สำหรับคนที่ไม่มี ก็คือไม่มีจริงๆ คนยากคนจน คนหาเช้ากินค่ำ แค่หาเลี้ยงปากท้องยังแทบจะไม่พอ จึงไม่ต้องพูดถึงการส่งเสียลูกเรียนเลย หากรัฐไม่ช่วยเหลือใดๆเลยในการเรียนต่อม.ปลาย นักเรียนกลุ่มยากจน ก็จะไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ และถ้าเขายังมีความรู้น้อย โอกาสในการประกอบอาชีพก็จะน้อยตามไปด้วย สุดท้ายก็หลุดไม่พ้นความจน เป็นปัญหาของประเทศชาติ”

เมื่อถามต่อถึงประเด็นการร่นระยะเรียนฟรีลงมาเริ่มตั้งแต่อนุบาล ว่าเห็นด้วยหรือไม่  คุณครูอธิบายว่า ช่วงวัย 1 – 6 ปี เป็นช่วงแห่งการหล่อหลอมบุคลิกภาพ นิสัยใจคอของมนุษย์  หากวัยนี้ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม ก็จะทำให้เด็กมีแนวโน้มจะมีพัฒนาการที่ดีต่อไป การให้ทุนเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลจึงย่อมส่งผลดีอย่างแน่นอน

แต่ในแง่ของความเท่าเทียม การเริ่มระยะเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาล แม้จะเกิดความเท่าเทียมขึ้นตั้งแต่ช่วงต้น  แต่ต้องไม่ลืมว่า ไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสได้เรียนต่อหลังจากจบม.3 หากรัฐมีการอุดหนุนถึงเพียงระดับม.3 ก็น่าเป็นห่วงว่าจะมีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ตกหล่นไป อาจทำให้ระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยของคนในประเทศลดลงไปด้วย

คุณครูเล่าว่า หากต้องการพัฒนาประเทศ ก็ต้องเริ่มจากการพัฒนาคน การศึกษาคือการพัฒนาคน ยิ่งมีสูงเท่าไหร่ยิ่งดี ประเทศก็จะยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่านั้น จึงน่าเป็นห่วงสำหรับอนาคตการศึกษาไทย ที่ลำพังในปัจจุบันก็มีปัญหาพะรุงพะรังมากมายไม่รู้จะเริ่มแก้จากจุดไหน ไม่ต่างอะไรกับ “สายไฟที่พันๆกันบนท้องถนนกรุงเทพฯ"  ทางเดียวที่จะแก้ไขได้ คือการรื้อออกหมด ที่แม้อาจทำได้โดยลำบากและต้องใช้เวลา แต่ก็เชื่อว่าคุ้มค่าหากทำได้สำเร็จ

การศึกษา’ฉบับมีชัย’ในสายตานักเศรษฐศาสตร์

จากแนวคิดร่นระยะการเรียนฟรีลงมาที่ระดับก่อนประถมศึกษาเพื่อสร้างความเท่าเทียม ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์    นักเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มงานการศึกษา  ประจำธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ให้ความเห็นว่า เป็นแนวคิดที่ดี เข้าใจได้ แต่มีเรื่องที่ต้องระวังหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ‘กลุ่มเป้าหมาย’ ที่หากไม่มีข้อมูลและนโยบายการจัดการที่ดี อาจทำให้เด็กจำนวนมากตกหล่น เข้าไม่ถึงการการอุดหนุนที่รัฐจัดสรรให้

เหตุผลที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลือกร่นระยะเรียนฟรีมาเริ่มตั้งแต่อนุบาล ดร.ดิลกะ อธิบายว่าเป็นแนวคิดที่สมเหตุสมผล ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย  และมีงานศึกษาจำนวนมากรองรับ ที่พบว่า การลงทุนในเด็กเล็กให้ผลตอบแทนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนให้ความช่วยเหลือเด็กวัยแรกเริ่ม (Early Child Intervention ) ในระดับอนุบาลจนถึงประถมต้น ที่พบว่า เป็นวัยที่สามารถพัฒนาทักษะหลายด้านได้อย่างรวดเร็ว เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มพูนทักษะขั้นสูงต่อในอนาคต โดยเขาชี้ว่าทักษะที่เด็กในวัยนี้ควรได้รับการพัฒนามากที่สุดคือทักษะด้าน ‘การอ่าน’

จากงานศึกษาของธนาคารโลกโดย Patrinos and Psacharopoulos (2004)  พบว่าทักษะการอ่านที่สูงขึ้นจะช่วยทำให้อัตราค่าจ้างในอนาคตเพิ่มสูงขึ้นด้วย  โดยจากการประมาณค่าทางเศรษฐมิติพบว่า หากเด็กมีทักษะการอ่านเพิ่มขึ้นมา 1 SD (การเพิ่มค่าความแปรปรวนจากค่าเฉลี่ยขึ้นอีก 1 ระดับ แสดงถึงทักษะการอ่านที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 1 ระดับ ที่เพิ่มเข้าไปในแบบจำลอง) โดยเริ่มวัดตั้งแต่ ปฐมวัย จนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เปรียบเทียบเป็นค่าจ้างที่ได้รับเพิ่มขึ้นถึง 20%  ในขณะที่การเพิ่มระยะการเรียนเรียนขึ้นอีก 1 SD (เพิ่มระยะเวลาเรียนขึ้นจากค่าเฉลี่ย 1 ปี) จะทำให้อัตราค่าจ้างในอนาคต เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 10 % เท่านั้น

หลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการอ่านในระดับปฐมวัยมาก โดยตัวชี้วัดหนึ่งที่ธนาคารโลกใช้วัดทักษะในช่วงวัยนี้ ได้แก่ผลคะแนน EGRA (Early Grade Reading Assessment )สำหรับการอ่าน  และ EGMA ( Early Grade Mathematic  Assessment) สำหรับการคำนวณทางคณิตศาสตร์ เพื่อใช้ประเมินหานัยทางนโยบายที่เหมาะสม

สำหรับประเทศไทย เบื้องต้นยังไม่มีการนำการทดสอบดังกล่าวเข้ามาปรับใช้ แต่จากผลคะแนน PISA ในปี 2012 ก็ชี้ให้เห็นว่า’การอ่าน’ เป็นปัญหาสำคัญ และเป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย โดยพบว่า 1ใน 3 ของเด็กไทย มีทักษะการอ่านอยู่ในระดับ Functionally Illiterate ที่รู้หนังสือไม่เพียงพอจะใช้งานได้ และกว่า 3 ใน 4 ของเด็กที่มีทักษะการอ่านในระดับดังกล่าว ล้วนแล้วศึกษาอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กของหมู่บ้านหรือตำบลหรือเมืองเล็กๆในพื้นที่ห่างไกล ในขณะที่เด็กที่มีทักษะการอ่านในระดับที่สูงกว่า ส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะศึกษาในโรงเรียนขนาดใหญ่ในเขตเมือง สะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กในเขตชนบทและโรงเรียนขนาดใหญ่กว่าในเขตเมือง ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยพบว่าปัญหาสำคัญมาจากปัญหาขาดแคลนครูทั้งในแง่คุณภาพและจำนวนครูที่ไม่ครบชั้นเรียนอย่างหนักในเขตชนบท (ธนาคารโลก, 2015)

จากรายงานของธนาคารโลกฉบับข้างต้น  ดร.ดิลกะอธิบายเพิ่มเติมว่า หากภาครัฐต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยนโยบายใช้จ่ายการคลัง จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาขึ้นอีกราว 14% โดยต้องเพิ่มครูอีกโดยประมาณ 108,000 คน หรือราว 27% เพื่อทำให้ครูครบชั้น ซึ่งเป็นการลงทุนมูลค่ามหาศาลและอาจไม่ใช่วิธีที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ในทางเศรษฐศาสตร์มีวิธีอื่นอีกมากมายในการจัดการปัญหาดังกล่าวด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการจัดการจัดการปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครู ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ ที่งานศึกษาของธนาคารโลกโดย Lathapipat and Sondergaard (2015)  พบว่าปัญหาสำคัญที่สุดมาจากการขาดแคลนครูทั้งในแง่คุณภาพและจำนวนครูที่ไม่ครบชั้นเรียน และครบวิชา ซึ่งเป็นปัญหาหนักสำหรับโรงเรียนเล็กในเขตชนบท

จากรายงานของธนาคารโลกฉบับข้างต้น  ดร.ดิลกะอธิบายเพิ่มเติมว่า หากภาครัฐต้องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูดังกล่าวในสภาวะปัจจุบันที่มีโรงเรียนมากกว่า 31,000 แห่งทั่วประเทศ จะต้องเพิ่มครูอีกประมาณ 108,000 คน หรือราว 27% ของจำนวนครูทั้งหมด เพื่อทำให้ทุกห้องเรียนมีครูครบชั้น ครบวิชา ซึ่งจะเป็นการลงทุนมูลค่ามหาศาล และเป็นวิธีที่ไร้ประสิทธิภาพมาก  ในรายงานฉบับนี้ได้เสนอวิธีต่างๆหลายวิธีที่จะจัดการกับปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครูด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยที่นักเรียนจะยังสามารถเดินทางไปเรียนได้อย่างสะดวก  เขาย้ำว่าความรุนแรงของปัญหาการขาดแคลนครูนั้นวิกฤติมาก โดยเฉพาะสำหรับโรงเรียนประถมของไทย ซึ่ง 63% ของโรงเรียนประถมทั้งหมดมีครูเฉลี่ยไม่ถึง 1 คนต่อชั้นเรียน ปัญหานี้มีมาช้านานและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นอีกหากไม่เร่งแก้ไข

แม้การลงทุนในระดับปฐมวัย และการแก้ปัญหาขาดแคลนครูในระดับ ประถมจะเป็นโจทย์สำคัญที่ควรรีบอุดหนุนแก้ไข อย่างไรก็ดี   ดร.ดิลกะ ชี้ ว่าการลงทุนในระดับมัธยมศึกษาก็มีความสำคัญไม่แตกต่างและไม่ควรเลิกอุดหนุนเช่นกัน โดยเขาอธิบายว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน     (ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า) มีผลกระทบภายนอกทั้งบวก(Positive Externality/Spillover) จากการลงทุนสูงมาก ทั้งต่อสังคม (Social Return) และส่วนบุคคล ( Private Return ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนบุคคล ที่พบว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะให้ผลตอบแทนในส่วนนี้มากในประเทศระดับรายได้น้อย (Low Income Country) และรายได้ปานกลาง (Middle Income Country)  ประเทศไทยมีผลกระทบภายนอกในส่วนนี้ถึง 4%  ซึ่งถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศระดับรายได้ปานกลางอื่นๆที่ใกล้เคียง ดังนั้นหากเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาปฐมวัยว่าควรเร่งอุดหนุนพัฒนาแล้ว การอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับมัธยมก็เป็นอีกช่วงการศึกษาที่รัฐไม่ควรละเลย ต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วยเช่นกัน

ดร.ดิลกะให้ความเห็นประเด็น ‘ความฟรี’ และ ‘สิทธิ’ ทางการศึกษา ที่ถกเถียงกันในปัจจุบันอย่างน่าสนใจว่า  “ ที่สำคัญ ต้องไม่ใช่แค่จ่ายเงิน  ตอนนี้เราเถียงกันเพียงเรื่องงบประมาณว่าจะลงตรงไหน แต่ยังไม่มีโครงการหรือกลุ่มเป้าหมายของโครงการที่ชัดเจนเลย... ด้วยระบบข้อมูลและเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ยังต้องพัฒนาและมีความน่าเป็นห่วงอยู่มาก...”  สะท้อนให้เห็นถึงหนทางอีกยาวไกลของการพัฒนาการศึกษาไทย ที่แม้ระยะเวลาเรียนฟรีทีรัฐมอบให้จะเป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากเช่นกันที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีมาตรฐาน คุณภาพและความเพียงพอของครูผู้สอน การกระจายงบประมาณและการเลือกกลุ่มเป้ามาย ตลอดจนการประเมินผลกระทบของนโยบายและการบริหารจัดการฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพสำหรับใช้ในการกำหนดนโยบายในระยะต่อไป ที่จะด้นถอยหลังเพื่อก้าวไปข้างหน้า หรือจะด้นถอยล่าเพื่อร่นถอยยาวไปข้างหลัง เป็นเรื่องที่สังคมไทยยังต้องจับตาดูกันต่อไปอีกยาวเช่นกัน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images