Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

3 แม่ลูกชาวหนองบัวระเหว เข้าพบตำรวจ ปฏิเสธข้อกล่าวหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง

$
0
0

ชาวบ้าน ร่วมให้กำลังใจ 3 แม่ลูก เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ที่ สภ. วังตะเฆ่ ตามที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันบุกรุกที่ของอุทยานแห่งชาติไทรทอง ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. ผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธทุกข้อหา ขอสู้ชั้นศาล

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่สถานีตำรวจภูธรวังตะเฆ่ ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ทองปั่น ม่วงกลาง ชาวบ้านบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ พร้อมด้วยลูกสาว นิตยา และนริสรา ม่วงกลาง เดินทางเข้าพบ ร.ต.ท.เนาวรัตน์ ซายเขว้า พนักงานสอบสวนเวร สถานีตำรวจภูธรวังตะเฆ่ เพื่อมารับทราบข้อกล่าวหา ว่าทั้ง 3 ราย บุกรุกที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง โดยมีเพื่อนบ้านกว่า 100 คน พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และทีมทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมเดินทางมาให้กำลังใจ ที่ สภ.วังตะเฆ่ ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัวชาวบ้าน 3 ราย มารับทราบข้อกล่าวหา บุกรุก ก่นสร้าง ซึ่งทั้ง 3 คน ให้การปฏิเสธ

นิตยา ม่วงกลาง อายุ 33 ปี บอกว่า ตามที่ทางอุทยานได้มีหนังสือมาถึงที่บ้าน เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ตนพร้อมแม่ และน้องสาว จึงเดินทางเข้ามาพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้เจ้าหน้าที่สอบปากคำ โดยเจ้าหน้าที่เรียกเข้าไปภายในห้องสอบสวนที่ละคน ซึ่งในความเป็นจริงตนและชาวบ้านที่มาร่วมให้กำลังใจ ต่างได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ซึ่งในอดีตก็เคยได้รับผลกระทบจากโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ต่อมาเจ้าหน้าที่มีความพยายามที่จะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยข่มขู่ให้ยอมเซ็นต์เอกสารในการคืนพื้นที่

นิตยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ต่างร่วมเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง พร้อมทั้งได้เข้าประชุมให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านถูกกระทำจากอำนาจรัฐ กระทั่งเมื่อวันที่ 31มีนาคม 2559 ทางจังหวัดได้เชิญชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าประชุม โดยมี นิพนธ์ สาธิสมิตพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธาน เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านผู้เดือดร้อนกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน ทั้งนี้ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ได้ตามปกติสุข ซึ่งต่อมาตนและครอบครัวก็ได้ดำเนินชีวิตตามปกติ และทำตามเงื่อนไขของทางอุทยานมาโดยตลอด กระทั่งในวันนี้ (18 ก.ค.59) ได้มีหนังสือเชิญตนพร้อมกับแม่และน้องสาว ให้เดินทางมาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยพวกเราทั้งหมดปฏิเสธในข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำ พร้อมยืนยันในความบริสุทธิ์ใจ และยินดีที่จะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เพื่อต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป

ด้าน ทองปั่น ม่วงกลาง อายุ 55 ปี บอกด้วยว่า ครอบครัวของตน เข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ทำกินนับแต่ปี 2529 โดยได้รับมรดกสืบทอดมาจากพ่อและแม่ ต่อมาในช่วงปี 2557 ชาวบ้านที่อยู่อาศัยและทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งถูกปักป้ายตรวจยึดพื้นที่ และถูกบังคับให้เซ็นคืนพื้นที่หลายครั้ง ส่วนที่ทำกินของตนนั้น ประมาณช่วงปลายปี 2557 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้ามาบอกให้คืนพื้นที่บางส่วน ส่วนพื้นที่ทำกินเดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ ต่อมาช่วงต้นปี 2558 เจ้าหน้าที่เข้ามาอีกครั้ง คราวนี้ขอคืนพื้นที่ทำกินทั้งหมด ตนจึงยอมเซ็นด้วยความกลัวที่เจ้าหน้าที่เข้ามากันหลายคน และขู่ว่าหากไม่ยอมให้ความร่วมมือ จะมีหมายศาลเข้ามาจับกุม ตนจึงเซ็นชื่อจริง แต่ไม่ได้เกิดจากการยินยอม หลังจากที่ร่วมกันเรียกร้องต่อสู้ในสิทธิที่ดินทำกิน จนมีกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐ และมีมติให้สามารถเข้าทำกินได้ตามปกติ ตนจึงเข้าไปใช้ประโยชน์ กระทั่งมีหนังสือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ตนและลูกสาว รวม 3 คน เข้าพบพนักงานสออบสวน ตามที่แจ้งว่า พวกตนบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง

ทั้งนี้ ร.ต.ท เนาวรัตน์ ซายเข้วา พนักงานสอบสวนเวร สภ.วังตะเฆ่ กล่าวว่า ได้เชิญตัวผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานในฐานะผู้กล่าวหา กล่าวหาว่าบุคคลทั้ง 3 บุกรุกเขตพื้นที่อุทยาน ตาม พรบ.ป่าไม้ ซึ่งทั้ง 3 ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ในส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อทำเป็นสำนวนส่งอัยการตามขั้นตอนต่อไป

ด้าน ไพโรจน์ วงงาน ชาวบ้าน ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ บอกว่า ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้ชาวบ้านที่ทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง กว่า 6 หมู่บ้าน ใน ต.วังตะเฆ่ และ ต.ห้วยแย้ ได้รับผลกระทบหนักขึ้น เช่น ห้ามมิให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ และเข้ายึดพื้นที่ ทั้งถูกบังคับให้เซ็นต์ยินยอมออกจากพื้นที่ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนำมาสู่ความเดือดร้อนต่อชาวบ้านจำนวนมาก ที่ผ่านมาได้เข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เมื่อวันที่ 8 มี.ค.59 เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี  โดย พันธ์ศักดิ์ เจริญ (ผู้อำนวยการสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี) เป็นผู้รับหนังสือ และในวันที่ 9 มี.ค. 59 เดินทางเข้าพบ ฐากร สัตศตพร (ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์เขต 7 นครราชสีมา) และเดินทางต่อไปยังศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด โดย พ.ท.วสุธา ฤกษ์จำนงค์ (นายทหารปฏิบัติการ) ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยภูมิ เป็นตัวแทนมารับหนังสือล่าสุด เมื่อวันนี้ 14 มี.ค.59 ก็ได้เข้ายื่นที่กองบัญชาการกองทัพภาคสองที่ 2 (ค่ายสุรนารี นครราชสีมา) โดย พ.ต.วรินทร แสงวิลัย (นายทหารปฏิบัติการศูนย์ประชาสัมพันธ์รับเรื่องร้องทุกข์ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ

“การเข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เร่งพิจารณาแก้ไขปัญหา ให้เกิดความเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอเพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณาให้ยกเลิกแผนการทวงคืนผืนป่าในพื้นที่พิพาทอุทยานแห่งชาติไทรทอง   ต.ห้วยแย้   ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ โดยให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านผู้เดือดร้อน กับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ และในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ยุติการดำเนินการใดๆที่ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อราษฎรในพื้นที่ และผ่อนผันให้สามารถทำประโยชน์ตามปกติสุข แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐ ไม่มีการดำเนินการตามที่ร่วมตกลงกับชาวบ้านแต่อย่างใด และเป็นเหตุให้ ทั้ง 3 ราย ถูกแจ้งข้อหา และคาดว่าชาวบ้านในพื้นที่อีกหลายราย จะโดนแจ้งข้อหาดังกล่าว ตามมาอีก” ไพโรจน์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่ง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด 10 ตร. เอี่ยวอุ้มคดีทายาทกระทิงแดง ชนตำรวจตาย

$
0
0

เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยความคืบหน้าคดี วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง กระทิงแดง ผู้ต้องหาขับรถเฟอร์รารีชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2555 ว่าหลังกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า มีพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ และนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย หัวหน้างานสอบสวน ผู้กำกับการ และรองผู้บังคับการที่รับผิดชอบดูแลงานสอบสวนรวม 10 นาย มีมูลความผิดฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบกับเจ้าทุกข์ได้มาแจ้งความดำเนินคดี กับนายตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้ง 10 นาย

ล่าสุด พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนคดีดังกล่าว ให้คณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.พิจารณาเพื่อชี้มูลความผิดแล้ว สำหรับนายตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้ง 10 นาย ล่าสุดยังรับราชการอยู่ 9 นาย และมี 1 นาย เกษียณอายุราชการแล้ว

สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ ป.ป.ช. จะรับเรื่องไปพิจารณาว่า เข้าข่ายอำนาจพิจารณาหรือไม่ หากอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. จะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน จากนั้น อนุกรรมการไต่สวน จะไปรวบรวมพยานหลักฐานเรียกผู้ถูกกล่าวหาพยานต่างๆมาให้การ และพิจารณาให้แล้วเสร็จ ก่อนสรุปสำนวนให้ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ลงมติชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงเช้ามืดวันที่ 3 ก.ย.55 ตำรวจ สน.ทองหล่อได้รับแจ้งรถยนต์สปอร์ตหรูยี่ห้อเฟอร์รารี สีบรอนซ์เทา ทะเบียน พุ่งชน ด.ต.วิเชียร เสียชีวิต โดยลากศพพร้อมจักรยานยนต์สายตรวจไปไกลเกือบ 200 เมตร แล้วคนขับหลบหนีเข้าบ้านพักเลขที่ 9 ภายในซอยสุขุมวิท 53 ต่อมาพบว่าบ้านพักหลังดังกล่าวเป็นของ เฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มกระทิงแดง และต่อมาตำรวจนายหนึ่งกลับออกมาระบุว่าคนขับรถคือผู้ดูแลบ้าน เฉลิม ก่อนที่ความจริงจะปรากฏว่าผู้ก่อเหตุแท้จริงคือนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ลูกชายคนเล็กของ เฉลิม และยอมเข้ามอบตัวในภายหลัง ขณะที่ พ.ต.ท.ปัณณ์ภณ นามเมือง สว.ป.สน.ทองหล่อ ถูกย้ายและถูกตั้งกรรมการสอบจากพฤติกรรมพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหา

ต่อมาวันที่ 4 มี.ค.56 พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนพร้อมมีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง วรยุทธ ต่อพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ รวม 2 ข้อหา คือ 1. ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2. ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน ขณะเดียวกันก็มีความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องใน 2 ข้อหา คือ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต และข้อหาขับรถขณะมึนเมาสุรา แต่สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้พิจารณาแล้วมีคำสั่งฟ้องนายวรยุทธรวม 3 ข้อหา ประกอบด้วย 1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย (อายุความ 15 ปี) 2.ไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควร และแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียง (อายุความ 5 ปี) และ 3.ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด แต่นายวรยุทธไม่ยอมเดินทางมาพบอัยการตามนัดโดยอ้างว่าอยู่ประเทศสิงคโปร์และป่วยกะทันหัน จนทำให้ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย และขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขาดอายุความ ซึ่งอัยการระบุว่าได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนขอศาลออกหมายจับก่อนหน้านี้ แต่พนักงานสอบสวนก็มิได้ออกหมายจับตามที่อัยการแจ้ง

 

ที่มา : สำนักข่าวไทยและไทยโพสต์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 13-19 ก.ค. 2559

$
0
0
 
พนักงานเหมืองทองฯ บุก สสจ.พิจิตรท้าเปิดข้อเท็จจริงผลของมลพิษที่เกิดจากเหมืองฯ
 
วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา นายยุทธ ศรีทองสุข ซึ่งเป็นแกนนำและเป็นตัวแทนของพนักงานเหมืองแร่ทองคำ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส และพนักงานจากบ้านโลตัสฮอล วิศวกรรมเหมืองแร่และการก่อสร้าง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร กว่า 20 คน ได้รวมตัวกันเดินทางมายื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตรเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนที่อยู่รอบเหมืองทอง เนื่องจากที่ผ่านมาการเปิดเผยข้อมูลด้านคุณภาพน้ำประปา ปริมาณสารต่างๆ ในพืชผัก ดิน ฝุ่น รวมถึงผลการตรวจสารหนูและโลหะมีพิษ มีการบิดเบือนข้อมูล ซึ่งผู้ไม่มีหน้าที่กลับเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนผู้ที่มีหน้าที่กลับเพิกเฉยจนเป็นเหตุให้สังคมเข้าใจผิดว่าเหมืองทองอัคราเป็นผู้สร้างมลพิษ
 
ดังนั้น การมายื่นหนังสือในวันนี้จึงต้องการขอให้ สนง.สสจ.พิจิตร ที่มีข้อมูลเร่งเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ซึ่งถ้าพบว่าเหมืองทองอัคราผิดจริงก็พร้อมที่จะน้อมรับการลงโทษจากสังคมหรือรัฐบาล แต่ถ้าพิสูจน์แล้วเหมืองทองอัคราพิจิตรทำถูกต้องก็ควรได้รับความเป็นธรรม
 
โดยการมายื่นหนังสือของตัวแทนเหมืองแร่ทองคำอัครารีซอร์สเซส จำกัด ในครั้งนี้ได้มีนายมานพ ชมพู รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ด้านบริหาร เป็นผู้มารับคำร้องทุกข์ดังกล่าว ซึ่งก็ได้เปิดเผยว่าจะเร่งส่งคำร้องทุกข์ดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำร้องขอต่อไป
 
 
สหภาพฯ กสท ประสานเสียงทีโอทีไม่เอาบริษัทลูก
 
จากการที่ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. เปิดเผยผลการประชุม คนร. ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า คนร. ได้รับทราบการปรับโครงสร้างของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ด้วยการจัดตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของทีโอที และ กสท ได้แก่ 1.บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ (NBN CO) 2.บริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ (NGN CO) และ 3.บริษัทศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (IDC CO) โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กำกับให้ทีโอที และ กสท จัดทำรายละเอียดของแผนการดำเนินกิจการของทั้ง 3 บริษัท และดำเนินการสื่อสารทำความเข้าใจต่อพนักงานของทีโอที และ กสท ต่อไป
 
โดยที่ในช่วงเช้าของวันที่ 11ก.ค.ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง 2 บริษัท คือ ทีโอที และ กสท ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการปรับโครงสร้างรูปแบบดังกล่าว โดย นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพฯ กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า พนักงานไม่เห็นด้วยต่อการนำทรัพย์สินของทั้ง 2 บริษัทมาตั้งเป็นบริษัทลูก เนื่องจากทั้งคู่ต่างมีธุรกิจที่ต้องประกอบกิจการ และถือว่าเป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมของประเทศ ถามว่าทั้ง 2 บริษัทมีการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ก็ไม่ใช่ เพราะ กสท โทรคมนาคม มีเคเบิลใต้น้ำ ขณะที่ ทีโอที ไม่มี หรือจะบอกว่ามีโครงข่ายแบ็กโบนเหมือนกันก็ต้องบอกว่าทั้งคู่ก็มีลูกค้าที่ต้องให้บริการ เพราะทั้งคู่ก็คือผู้ประกอบการ แต่หากรัฐบาลจะกำหนดถึงโครงข่ายที่สร้างใหม่ ไม่นำทรัพย์สินที่รัฐวิสาหกิจมีอยู่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ตนเองยอมรับได้
 
ทั้งนี้ พนักงานจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการนำไปสู่การตั้งบริษัทลูกนั้นจะไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้วนำทรัพย์สินไปให้เอกชน พนักงานจะได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ ระยะยาวบริษัทลูกจะไปรอดหรือเปล่า ซึ่งตนเองทราบมาว่า การตั้งบริษัทลูกจะเป็นรูปแบบรัฐวิสาหกิจก่อน 3 ปี จากนั้นจะเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ ซึ่งหากมาร่วมลงทุนในสัดส่วน 51% เท่ากับเป็นการขายทรัพย์สินของชาติให้เอกชน
 
“ผมว่าผู้ใหญ่ที่ดูเรื่องนี้ไม่เข้าใจโครงสร้างการทำงานของธุรกิจโทรคมนาคม ไม่เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรของทั้ง 2 บริษัท การตั้งบริษัทลูกไม่ใช่การแก้ปัญหา ทำไมเขาไม่แก้ที่ปัญหาภายใน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบอร์ดที่ไร้ประสิทธิภาพ การทำงานยังเป็นการทำงานแบบราชการ จะทำอะไรแต่ละอย่างก็มีขั้นตอนเยอะ ทำให้ฝ่ายบริหารทำงานลำบาก ทั้งๆ ที่เรามีแผน และมีความพร้อมในการเดินหน้าทำธุรกิจ ผลประกอบการเรามีกำไร และผมก็ไม่เข้าใจ นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ตอนที่เป็นบอร์ดซึ่งดูแลเรื่องนี้โดยตรงทำไมไม่มีความเห็นอะไร แต่พอได้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีไอซีที กลับเร่งทำเพื่อให้มีผลงานหรือไม่ คนในกระทรวงเองก็ไม่มีความเข้าใจในการแก้ปัญหา ตอนนี้บอกเลยว่าคนจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เข้าไปนั่งเป็นที่ปรึกษาเรื่องนี้ในฐานะสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 6-7 คน คงไม่ต้องบอกก็รู้ว่ามันมีผลประโยชน์ทับซ้อน และใครจะได้ผลประโยชน์จากทรัพย์สินของเรา ขอเถอะครับอย่าเอารถยนต์ของเราไปชำแหละขายให้คนอื่นเลย”
 
นายสังวรณ์ กล่าวย้ำว่า พนักงานทั้งหมดยังรอให้กระทรวงไอซีทีเข้ามาชี้แจง หากตอบคำถามไม่ได้ว่า มันไม่ได้นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พนักงานต้องไม่เดือดร้อน และบริษัทลูกในอนาคตอยู่รอดหรือไม่ ความชัดเจนในการบริหารงานเป็นรูปแบบไหน หากต้องมีบอร์ดจะมาจากที่ไหนบ้าง และแนวคิดการตั้งบริษัทลูกต้องไม่ใช่การนำทรัพย์สินไปขายให้เอกชน ไม่เช่นนั้นพนักงานทั้งหมดไม่ยอมแน่นอน
 
“ถ้ารูปแบบการได้มาของบอร์ดยังเป็นเหมือนเดิมมันก็ไม่รอด เห็นได้ชัดที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ตั้งบริษัทลูกเกี่ยวกับลอจิสติกส์ ก็ยังไปไม่รอดเลย นอกจากนี้ ที่ผ่านมาทีโอที กับ กสท โทรคมนาคม ก็เคยทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือร่วมกันแต่ก็ไม่รอด เพราะวัฒนธรรมองค์กรของทั้ง 2 ต่างกัน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีความชัดเจน และเสนอให้แก้ปัญหาด้วยการสร้างศักยภาพให้แก่รัฐวิสาหกิจ เพราะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างโทรคมนาคมรัฐต้องเป็นผู้ลงทุน และดูแล ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงของประเทศ ส่วนเอกชนต้องไม่ลงทุนซ้ำซ้อนกับรัฐ ควรสร้างเสริมจากโครงสร้างหลักที่รัฐลงทุนไปแล้ว ไม่ใช่พูดว่าแข่งกับเอกชนไม่ได้ก็ไม่ต้องแข่ง เพราะนั่นคือคำพูดที่นายทุนเขาพูดกัน”
 
นายสังวรณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ คนร.จะประชุม และมีมติดังกล่าวออกมาเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2559 สหภาพฯ ได้ออกแถลงการณ์ภายในเพื่อคัดค้านแนวคิดดังกล่าวด้วย แต่เนื่องจากขณะนี้มี นายสุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการ และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ จึงไม่กล้าตัดสินใจใดๆ เพราะทำหน้าที่เพียงรักษาการเท่านั้น
 
ขณะที่ นายอนุชิต ธูปเหลือง รองประธานสหภาพฯ ทีโอที กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้ถูกจุด เพราะที่ผ่านมา ทีโอทีมีการปรับโครงสร้างรอบที่ 2 ตามที่ คนร.ได้แบ่งกลุ่มธุรกิจให้แล้ว แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าทีโอทีจะอยู่รอดได้อย่างไร พนักงานไม่เชื่อในสิ่งที่ผู้บริหารทำ ซึ่งเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2559 สหภาพฯ ได้ทำหนังสือขอนัดหมายกับ นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที เพื่อขอความชัดเจนในการขับเคลื่อนทีโอที ตามการปรับโครงสร้างใหม่ รวมถึงเรื่องแผนธุรกิจต่างๆ ที่บอกว่าจะทำแต่ก็ไม่คืบหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป็นพันธมิตรกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กับคลื่น 2100 MHz หรือแม้แต่ที่เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีการถ่ายรูปเช่าสัญญาณกันกับเอไอเอสก็ไม่ชัดเจนว่ารายได้ที่ได้มาสมเหตุสมผลหรือไม่ ตลอดจนเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินต่างๆ ของเอไอเอสมีความคืบหน้าอย่างไร โดยขณะนี้วันเวลาที่นัดคุยกันตั้งแต่แรกคือ วันที่ 7 ก.ค.นั้นทั้ง 2 ฝ่ายยังว่างไม่ตรงกัน จึงขอนัดคุยกันในวันที่ 14 ก.ค. ที่จะถึงนี้
 
 
ก.แรงงาน เผย Action Plan เตรียมพร้อมรับสถานการณ์เลิกจ้าง
 
ก.แรงงาน เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การเลิกจ้าง จัดทำ Action Plan เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างหรือปิดกิจการของสถานประกอบกิจการ
 
นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การเลิกจ้าง พร้อมด้วยสำนักตรวจและประเมินผล สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม ประสงค์ฯ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน วันนี้ (13 ก.ค.59) จากกรณีการเกิดเหตุการณ์ลูกจ้างประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หม่อมหลวง ปุณฑริกสมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ นายวรานนท์ ปีติวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะประกอบไปด้วย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และผู้แทนทุกกรมในสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดพิจิตรเพื่อแก้ไขปัญหาด้านแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559
 
สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ได้จัดทำข้อมูลประกอบ โดยเชิญทุกกรมในสังกัดกระทรวงแรงงานประชุมเพื่อร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และมาตรการการช่วยเหลือกรณีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างหรือปิดกิจการของสถานประกอบกิจการ โดยแผนดังกล่าว ได้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) ส่วนกลาง รายงานผู้บริหารและผู้ตรวจราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่ เพื่อประชุมทีมเฉพาะกิจประเมินสถานการณ์เตรียมลงพื้นที่และให้ทุกหน่วยงานส่วนกลางประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ 2) ส่วนภูมิภาค รายงานผู้บริหารและผู้ตรวจราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่ ตรวจสอบข้อมูลลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ประสานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายบุคคลของ สปก. เพื่อประสานขอเอกสารเกี่ยวกับทะเบียนลูกจ้าง การจ่ายค่าจ้าง และขอความร่วมมือในการจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล และชี้แจงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดหาตำแหน่งงานว่างภายในจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงจากระบบ Smart Job Center โดยการ Matching ให้สอดคล้องกับตำแหน่งงาน พร้อมให้บริการแนะแนวอาชีพและแหล่งเงินทุนประกอบอาชีพ ชี้แจงเรื่องสิทธิประโยชน์การประกันการว่างงานและตรวจสอบสิทธิประโยชน์ ที่ลูกจ้างจะได้รับจากสำนักงานประกันสังคม พร้อมให้บริการรับแบบขึ้นทะเบียนคนว่างงานและชราภาพ ประชาสัมพันธ์หลักสูตร/สาขาวิชาชีพที่ให้บริการฝึกอบรมเพื่อประกอบอาชีพอิสระ และเตรียมความพร้อมในการฝึกอาชีพ รวมถึงการประสานอาสาสมัครแรงงานในพื้นที่ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สำรวจข้อมูลแรงงานนอกระบบในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ โดยการดำเนินการ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ ภายใน 5 วัน
 
 
กยศ.คาดปี 60 ร่างพ.ร.บ.ใหม่ให้นายจ้างหักเงินเดือน-ค่าจ้างเพื่อชำระคืนกองทุนจะมีผลบังคับใช้ หลังผ่านครม.เมื่อมี.ค.ที่ผ่านมา
 
น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใหม่ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่า ที่ผ่านมากองทุนมีความพยายามที่จะปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานและการติดตามหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการจึงไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์เท่าที่ควรได้ ทำให้กองทุนต้องพึ่งพาเงินงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาลในแต่ละปีเป็นจำนวนมากในการจัดสรรให้กู้ยืม เป็นผลให้กองทุนต้องยกร่าง พ.ร.บ. ใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้กู้ยืม และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งด้านการให้กู้ยืมและติดตามหนี้
 
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้การสนับสนุนในการผลักดันกองทุนให้มีกฎหมายใหม่ โดยได้มอบแนวนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหากองทุนทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ให้มีการกู้และการนำส่งคืนเงินอย่างรัดกุม เหมาะสม รวมทั้งไม่ให้เกิดปัญหาซับซ้อนในการกู้ยืม และให้บรรจุกฎหมายใหม่ของกองทุนเป็นกฎหมายเร่งด่วนตามบัญชีร่างกฎหมายเร่งด่วนชุดที่ 2 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2559
 
"กฎหมายใหม่ได้กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่หักเงินเดือนและค่าจ้างนำส่งกรมสรรพากร พร้อมกับการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย เพื่อชำระคืนกองทุน และเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กองทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ยืม เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้กู้ยืมที่จะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับกรณีค้างชำระ หรือต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกรณีที่ค้างชำระเป็นเวลานาน ร่างกฎหมายดังกล่าวขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2560"น.ส.ฑิตติมากล่าว
 
นอกจากนี้รัฐบาลยังช่วยผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างวินัยและความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในสังคมไทย จนมีผู้กู้ยืมนำเงินมาชำระหนี้ในวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อันส่งผลให้กองทุน กยศ. และกองทุน กรอ. สามารถที่จะพึ่งพางบประมาณแผ่นดินน้อยลงมากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
 
 
“โตโยต้า” แจงเลิกจ้างแรงงานชั่วคราว เหตุยอดส่งออกลด ปัดใช้หุ่นยนต์ทำงานแทน
 
(14 ก.ค.) นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายฉัตรชัย ทวีสกุลวัชระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย “แถลงข่าวกรณีการเลิกจ้างลูกจ้างรับเหมาค่าแรง โครงการจากกันด้วยใจ” โดยนายสุเมธ กล่าวว่า บริษัท โตโยต้า ยืนยันว่า การจัดโครงการให้พนักงานแสดงความจำนงขอลาออกเองนั้น ไม่ได้เกิดจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่เกิดจากจำนวนยอดส่งออกลดลงจาก 3.7 แสนคัน เหลือเพียง 3.1 แสนคัน เนื่องจากประเทศในตะวันออกกลางลดการสั่งซื้อและราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าลดพนักงานรับเหมาค่าแรง หรือ ซับคอนแทรก เพียง 900 คน แต่ล่าสุด มีพนักงานยื่นความจำนง 1,200 คน ไม่ใช่ 4,000 - 5,000 ตามที่มีกระแสข่าว โดยจะส่งข้อมูลพนักงานที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดให้กระทรวงทราบภายใน 15 ก.ค. นี้
 
“บริษัท โตโยต้า ยังยืนยันว่า ไม่ได้ปลดคนเพื่อนำหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทน ทำให้กระทรวงรู้สึกไม่กังวลใจแล้ว แต่ขณะนี้ได้เตรียมงานด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไว้ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ จำนวน 58 อัตรา ฉะเชิงเทรา 60 อัตรา ชลบุรี 1,111 อัตรา และ ระยอง 930 อัตรา รวมทั้งได้เตรียมอาชีพอิสระไว้รองรับหากต้องการ” นายสุเมธ กล่าวและว่า ขณะนี้ รมว.แรงงาน ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานทำแผนปฏิบัติการร่วมบูรณาการการทำงานเพื่อรองรับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อแรงงาน เช่น อุบัติภัย การเลิกจ้าง ก็จะหางานใหม่ให้ตรงความต้องการของแรงงาน โดยเป็นงานใกล้เคียงกับงานเดิมให้มากที่สุด และยืนยันว่า สถานการณ์การเลิกจ้างในปัจจุบันยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากประเทศไทยยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานกว่า 2.4 แสนอัตราทั่วประเทศ โดยเฉพาะช่างฝีมือที่ยังขาดแคลนเป็นจำนวนมาก
 
ด้านนายฉัตรชัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา บริษัทได้จ่ายเงินค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับพนักงานทั้งหมดแล้ว รวมเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท และขอยืนยันบริษัทไม่มีนโยบายนำหุ่นยนต์มาทำงานแทนพนักงาน ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์การส่งออกรถยนต์ดีขึ้น ก็พร้อมรับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการกลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราเงินเดิม รวมทั้งนับอายุงานต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขณะนี้บริษัทมีซับคอนแทรกที่ยังทำงานอยู่ด้วยกว่า 4,000 คน
 
 
"แรงงานโคราช" สุดบูมห้างแห่เปิด ตำแหน่งงานว่างเยอะ 3,000 อัตรา
 
แรงงานจังหวัดโคราชเผยไม่มีแววโละคนงาน แถมความต้องการจ้างงานพุ่งกว่า 3,000 อัตรา ปัจจัยบวกจากศูนย์การค้าแห่เปิดใหม่ "เทอร์มินอล 21-เมกาโฮมเซ็นเตอร์-ฟู้ดแลนด์" ผนวกการขยายสาขาของกลุ่มโมเดิร์นเทรด แม็คโคร โลตัส เดอะมอลล์ คลังพลาซ่า
 
นางสาวกันยา ศรีขาว แรงงานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์แรงงานในจังหวัดนครราชสีมายังคงปกติ ไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าจะมีการยกเลิกการจ้างแรงงาน หลังจากที่เข้าไปตรวจสถานประกอบการต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาทั้งรายเล็กและรายใหญ่ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และประเภทอื่น ๆ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงดำเนินกิจการเป็นปกติ ซึ่งได้เข้าไปแนะนำเกี่ยวกับการจ้างแรงงาน รวมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์แรงงานตลอดเวลาและอย่างใกล้ชิด ขณะที่ภาพรวมอัตราการว่างงานของแรงงานมีไม่ถึง 1%
 
ขณะที่ความต้องการแรงงานในจังหวัดนครราชสีมานั้นพบว่า ยังมีความต้องการอีกเป็นจำนวนมาก ประเภทกิจการที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจขายส่ง ขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค คิดเป็นร้อยละ 47.95 ซึ่งตำแหน่งงานว่างที่เปิดรับสมัครนั้น เพื่อรองรับศูนย์การค้าที่กำลังจะเปิดใหม่ในจังหวัดนครราชสีมา ในปี 2560-2561 ได้แก่ เทอร์มินอล 21, เมกาโฮมเซ็นเตอร์, ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงรองรับการปรับโครงสร้างและเพิ่มสาขาศูนย์การค้าต่าง ๆ ได้แก่ แม็คโคร, เทสโก้ โลตัส, เดอะมอลล์นครราชสีมา และคลังพลาซ่า
 
สำหรับกิจการที่มีความต้องการรองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็นร้อยละ 40.43 ทั้งอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สถานประกอบการที่มีการรับสมัครงานสูงสุด ได้แก่ บจก.แคนนอน ไฮ-เทค (ประเทศไทย) บจก.ปิโตรเลียมไทย คอร์ปอเรชั่น บจก.ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต บจก.เอกชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม และ บจก.เมกาโฮมเซ็นเตอร์ ตามลำดับ
 
นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมาได้จัดงานนัดพบแรงงาน ครั้งที่ 4 โดยร่วมกับห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า จอมสุรางค์ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมรับสมัครงานโดยตรงกว่า 50 แห่ง มีตำแหน่งงานว่างกว่า 3,000 อัตรา ทั้งสำหรับบุคคลทั่วไป นักเรียนนักศึกษา และผู้พิการ
 
 
กระทรวงแรงงานเตรียม 1,100 ตำแหน่งใน 4 จังหวัดรองรับพนักงานเหมาช่วงโตโยต้า
 
นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงาน แถลงข่าวกรณีพนักงานเหมาช่วงโตโยต้าเข้าร่วมโครงการจากด้วยใจ สมัครใจลาออกว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยบริษัทหรือผู้ประกอบการจะมีปัญหาในการผลิต และพนักงานกลุ่มที่ถูกปรับลดจะมีปัญหารายได้ในการครองชีพ และการหาอาชีพใหม่ จึงได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานหารือร่วมกับบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อสอบถามถึงแนวทางและหามาตรการที่จะดำเนินการแก้ไขและลดปัญหาร่วมกัน และกรณีมีข่าวว่าบริษัทโตโยต้าปรับลดพนักงานลง 4,000 – 5,000 คนนั้น ในความเป็นจริงแล้วมีการปรับลดเพียง 900 คนเศษ ซึ่งเป็นพนักงานกลุ่มเหมาช่วงที่แสดงความจำนงขอเข้าโครงการจากด้วยใจ สมัครใจลาออก ที่จากเดิมการปรับลดพนักงานของบริษัทโตโยต้ามีเป้าหมายในการปรับลดเพียง 900 คน แต่มาแสดงความจำนงถึง 1,200 คน อีกทั้งการออกจากงานครั้งนี้เป็นการออกจากงานเพียงชั่วคราว เนื่องจากบริษัทโตโยต้าได้ให้คำมั่นว่า หากการผลิตการส่งออกดีขึ้นตามเดิมก็พร้อมที่จะรับพนักงานกลุ่มนี้กลับเข้าทำงาน โดยมีเงื่อนไขให้เข้าทำงานตำแหน่งเดิม นับอายุงานต่อเนื่องจากที่เคยทำงานอยู่ และค่าจ้างสิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่าเดิม ทำให้พนักงานเห็นว่าคุ้มค่าที่จะออกไปชั่วคราวจึงทำให้มีผู้สมัครเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้
 
บริษัทโตโยต้าได้ยืนยันกับทางกระทรวงแรงงาน ถึงกรณีที่บริษัทปรับลดพนักงานไม่ใช่ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่มีปัญหาอยู่ที่การส่งออก ซึ่งยอดการส่งออกจากเดิมอยู่ที่ 370,000 คัน ลดลงเหลือ 310,000 คัน เนื่องจากปัญหากลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันของตลาดโลกที่ลดต่ำลง ทำให้การนำเข้ารถยนต์ลดลง แต่หากภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันฟื้นขึ้น ทางบริษัทเชื่อมั่นว่ายอดการส่งออกจะฟื้นกับมาและสูงขึ้นได้ ซึ่งพนักงานกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มแรกที่ทางบริษัทจะเรียกกลับเข้าทำงานตามเดิม อีกทั้งบริษัทโตโยต้าได้ยืนยันว่าไม่มีการนำเอาระบบหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่การผลิตโดยสิ้นเชิง ทางบริษัทโตโยต้ายังคงใช้แรงงานของไทย โดยเชื่อมั่นว่าพนักงานที่ทำอยู่กับบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพนักงานลูกจ้างเดิมที่ทำอยู่ด้วยกัน สำหรับในส่วนของกระทรวงแรงงานมั่นใจว่าภาวะนี้เป็นภาวะชั่วคราว เป็นการสมัครใจของพนักงาน พนักงานได้รับสิทธิประโยชน์ และสิทธิในอนาคตที่ไม่น้อยกว่าเดิม
 
นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือกับทางบริษัทโตโยต้า เพื่อขอรายชื่อกลุ่มพนักงานที่สมัครใจปรับลด ทั้งชื่อ ที่อยู่ ตำแหน่งงานเดิม ซึ่งทางบริษัทโตโยต้าพร้อมส่งรายชื่อให้ในวันพรุ่งนี้ ทางกระทรวงแรงงานก็จะเริ่มดำเนินการโดยให้กรมการจัดหางานประสานงานกับพนักงานเป็นรายบุคคล เพื่อทราบความประสงค์ความต้องการทำงาน หากประสงค์ให้กระทรวงแรงงานให้ความช่วยเหลือเรื่องของตำแหน่งงานใหม่ เปลี่ยนงานใหม่ และหางานใหม่ ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานก็ได้เตรียมตำแหน่งงานในกลุ่มของยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ไว้ 1,100 ตำแหน่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ไว้รองรับ ทั้งโรงงานสำโรง สมุทรปราการ โรงงานนิคมเกตเวย์ ฉะเชิงเทรา และโรงงานบ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา รวมถึงการประกอบอาชีพอิสระ การฝึกเพื่อเพิ่มฝีมือแรงงานหรือการฝึกเพื่อเปลี่ยนสายงาน และการให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ
 
นายสุเมธ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้ทุกกรมจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม เพื่อทำงานเชิงบูรณาการโดยให้ทุกกรมมีแผนงานร่วมในกรณีที่ผู้ใช้แรงงานเผชิญเหตุสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุบัติภัย อันตรายเนื่องจากการทำงาน การเลิกจ้าง และเรื่องต่างๆ ที่คนงานจะได้รับผลกระทบ โดยสั่งการให้ทุกหน่วยในกระทรวงแรงงานเข้าดำเนินการพร้อมกันและร่วมกัน โดยยึดหลักทันเหตุการณ์ ตรงกับความต้องการของลูกจ้าง และหาตำแหน่งงานที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง มีลักษณะงานคล้ายคลึงกับงานเดิม มีรายได้ใกล้เคียงกับรายได้เดิมมากที่สุด
 
นายฉัตรชัย ทวีสกุลวัชระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหาร สายงานการวางแผนกลยุทธ์องค์กร บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โครงการจากด้วยใจ สมัครใจลาออก มีพนักงานเหมาช่วงสมัครใจลาออก 900 คนเศษ มีการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน บวกกับค่าจ้างสองเดือน และโบนัสเดือนธันวาคมที่เป็นการจ่ายบางส่วนเป็นการล่วงหน้าไปก่อน และยืนยันไม่มีการนำเอาระบบหุ่นยนต์เข้ามาใช้ รวมถึงไม่มีแผนปรับโครงการรอบสอง ตลอดจนไม่มีแผนย้ายฐานการผลิต และการปรับลดพนักงานครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด
 
 
สหภาพ-พนักงาน กสท ลุกฮือ! ค้านจัดตั้งบริษัทลูก หวั่นโดนแปรรูป
 
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้จัดเวทีย่อยภายในหน่วยงาน เพื่อชุมนุมปราศรัยพนักงาน กรณีคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีมติเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ให้ปรับโครงสร้างของ กสท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยจัดตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท เพื่อบริหารจัดการทรัพย์ของทั้ง 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศ บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ และบริษัท ศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต ซึ่งทั้ง 3 บริษัทถือหุ้นโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กสท และทีโอที โดยมีผู้บริหารของ กสท เดินทางมาตอบคำถามพนักงาน และมีพนักงานเข้าร่วมฟังและแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าวกว่า 300 คน
 
นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจครั้งนี้ เป็นการนำเสนอของกระทรวงไอซีที และบริษัท ดีลอยท์ ที่ถูกจัดจ้างขึ้นมาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งเป็นการพิจารณาแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แม้กระทั่งคณะกรรมการบริษัทฯ ผู้บริหาร และพนักงานของ กสท ให้ทราบถึงรายละเอียด จึงมีลักษณะคล้ายกับเผด็จการทางความคิด ส่งผลให้พนักงาน กสท เกิดข้อสงสัยว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งนี้จะเป็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีความแข็งแกร่งหรืออ่อนแอลง โดยเฉพาะการเอาโครงสร้างหลักของประเทศ เช่น สายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ (เคเบิลซัพมารีน) ของ กสท ออกไปอยู่กับบริษัทที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งยังไม่มีความมั่นใจว่าบริษัทนั้นๆ จะสามารถแข่งขันกับเอกชน และจะอยู่รอดได้หรือไม่
 
“ที่ผ่านมาไอซีทีไม่มีความชัดเจนการปรับโครงสร้างอะไรสักอย่าง ตอนนี้จึงไม่รู้ว่าพนักงานของ กสท ใครต้องโดนไปอยู่กับบริษัทใหม่บ้าง ไปแล้วจะมีความมั่นคงหรือไม่ สภาพการจ้างงานและสวัสดิการที่เคยได้รับจะเหมือนเดิมหรือไม่ เราจึงขอแสดงจุดยืนคัดค้านการร่วมหน่วยธุรกิจ ถ้าปรับแล้วไม่ดีกว่าก็ไม่เอา และ กสท ก็ไม่ควรร่วมกับทีโอที ซึ่งหากไอซีทีอยากช่วย กสท จริง ควรเริ่มจากการแก้ไขกฎระเบียบให้ทำงานคล่องตัวขึ้น และเอาบอร์ดที่มีความสามารถมาให้เรา” นายสังวรณ์กล่าว
 
นายสุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวคิดการตั้งบริษัทลูกตามมติของ คนร. เบื้องต้นทาง กสท เองยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างที่ละเอียดชัดเจน ที่ผ่านมาได้มีการสอบถามไปคร่าวๆ พบว่าการปรับโครงสร้างเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากขึ้นกว่าการอยู่ในสถานะรัฐวิสาหกิจ ส่วนเรื่องสถานภาพของพนักงานยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเดิม รวมถึงใครที่จะไปอยู่กับบริษัทใหม่จะมีการสอบถามตามความสมัครใจ ด้านความประสงค์ของสหภาพฯ ส่วนตัวเห็นว่าไม่สามารถคัดค้านได้ แต่จะนำความเห็นแจ้งยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
 
“การแยกพนักงานบางส่วนออกไปอยู่กับบริษัทใหม่ จะดีขึ้นหรือแย่ลง ผมยังไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่การแยกบริษัทออกไปเชื่อได้ว่าไม่น่าจะใช่การทำลายล้างรัฐวิสาหกิจหรือขายสมบัติของชาติอย่างแน่นอน ไม่น่าใช่เหตุผลในการจัดตั้งบริษัทใหม่อย่างแน่นอน” นายสุรพันธ์กล่าว และว่า กรอบการทำงานตั้งบริษัทใหม่ บริษัท เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ ทาง กสท จะใช้เวลา 3 เดือน ในการตั้งหรือจัดจ้างที่ปรึกษาขึ้นมาพิจารณา เริ่มการจัดตั้งบริษัทใหม่ภายใน 6 เดือน และโอนทรัพย์สินภายใน 1 ปี ส่วนบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ ให้จัดตั้งใน 16 เดือน และบริษัท ศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ตจัดตั้งใน 12 เดือน
 
 
เพิ่มสิทธิ “เอชไอวี” ประกันสังคม รับยาต้านทุกคนไม่สนค่าภูมิคุ้มกัน
 
(14 ก.ค.) เว็บไซต์ราชกิจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และผู้ประกันตนที่เป็นโรคเอดส์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ลงนามโดย นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการการแพทย์ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2559 โดยประกาศดังกล่าว ระบุว่า เพื่อเพิ่มสิทธิให้แก่ผู้ประกันตน โดยให้ยกเลิกหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราการบริการทางการแพทย์โดยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ประกันตนที่กำหนดแนบท้ายประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และผู้ประกันตนที่เป็นโรคเอดส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 5 มิ.ย. 2556 และให้ใช้หลักเกณฑ์ และอัตราการบริการทางการแพทย์โดยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ประกันตนตามที่กำหนดแนบท้ายแห่งประกาศฉบับนี้แทน
 
สำหรับหลักเกณฑ์และอัตราการบริการทางการแพทย์โดยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ประกันตนในแบับใหม่นี้
 
1. คุณสมบัติของผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีจากสำนักงานประกันสังคม ประกอบด้วย 1.1 ผู้ประกันตนซึ่งได้รับสิทธิบริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 1.2 ให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ในผู้ติดเชื้อทุกรายในทุกระดับ CD4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี CD4 น้อยกว่า 500 cells/mm3
2. สำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบยาต้านไวรัสเอชไอวีให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิ โดยการพิจารณาเริ่มยาต้านไวรัสในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และการเลือกสูตรยาต้านไวรัส ให้เป็นไปตามแนวทาง การตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยสถานพยาบาลสามารถเลือกใช้ยาต้านไวรัสได้ตามรายการที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ประกอบด้วย
2.1 กรณีพิจารณาเริ่มยาต้านไวรัสในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีระดับ CD4 มากกว่า 500 cells/mm3 ควรพิจารณาประเด็นต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด ทั้งกรณีผู้ติดเชื้อที่จะเริ่มยาต้านไวรัสต้องเข้าใจถึงประโยชน์และผลข้างเคียงของการรักษา เข้าใจประเด็นความสำคัญของ adherence ยินดีที่จะเริ่มยาต้านไวรัสและมีความมุ่งมั่นตั้งใจรับยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ
โดยผู้ติดเชื้อมีสิทธิเลือกที่จะยังไม่รับยาถ้ายังไม่พร้อมในการเริ่มยาต้านไวรัส ในกรณีผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการ ประโยชน์ต่อตัวผู้ติดเชื้อเองยังไม่ชัดเจน แต่มีประโยชน์ในด้านการสาธารณสุขเพื่อลดการถ่ายทอดเชื้อ ผู้ให้การดูแลรักษาควรพิจารณาเลื่อนการเริ่มยาไปก่อน หากพบมีปัญหาทางสภาพจิตใจหรือสังคมที่ไม่เหมาะต่อการกินยาต่อเนื่อง
2.2 เกณฑ์การใช้ยา Atazanavir ให้ใช้ในกรณีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง โดยให้เป็นไปตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข กรณีผู้ป่วยมีอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา ให้มีการประเมินและจัดการตามระบบหาสาเหตุและพิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษาตามดุลพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเอชไอวีและเอดส์ที่คณะกรรมการการแพทย์แต่งตั้ง
3. กรณีผู้ป่วยมีอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา ให้มีการประเมินและจัดการตามระบบหาสาเหตุและพิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษาตามดุลพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเอชไอวีและเอดส์ ที่คณะกรรมการการแพทย์แต่งตั้ง
4. ในกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ ข้อบ่งชี้ในการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี สูตรยาพื้นฐาน สูตรยาทางเลือก และสูตรดื้อยา ให้ปรับเปลี่ยนข้อ 1 และข้อ 2 เป็นตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดปรับเปลี่ยนขึ้นใหม่
5. หน้าที่และความรับผิดชอบของสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล ประกอบด้วย
5.1 สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติในการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่ผู้ประกันตนตามแนวทางการตรวจวินิจฉัยและการดูแลรักษาของกระทรวงสาธารณสุข
5.2 สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะต้องจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรพื้นฐานสูตรทางเลือก และสูตรดื้อยาให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิตามที่กำหนดไว้ใน 5.1 สำหรับกรณีที่ผู้ประกันตนมีอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาตามสูตรพื้นฐาน ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเอชไอวีและเอดส์ ที่คณะกรรมการการแพทย์แต่งตั้งภายในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธินั้น หากสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ ให้ส่งแบบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ ให้สำนักงานประกันสังคมเพื่อหารือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ที่คณะกรรมการการแพทย์แต่งตั้ง และสำนักงานประกันสังคมจะส่งผลการวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ ให้สถานพยาบาล ตามบัตรรับรองสิทธิฯ และให้สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิทุกแห่งเก็บหลักฐานที่ได้อนุมัติไว้เพื่อการตรวจสอบ
5.3 สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะต้องยื่นแบบคำขอรับค่าบริการทางการแพทย์ตามแบบที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
5.4 สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะต้องบันทึกการให้บริการทางการแพทย์ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวี ให้ใช้การบริหารจัดการคลังยาต้านไวรัสเอชไอวี ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้ทำความตกลงไว้กับหน่วยงานรัฐที่ผลิตยาหรือจัดหายาหลักเกณฑ์การจ่ายค่ายาต้านไวรัสเอชไอวีให้แก่หน่วยงานของรัฐที่ผลิตหรือจัดหายาตามข้อตกลง ในอัตราที่ไม่สูงกว่าราคาตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
หากไม่มีราคาตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขให้ใช้ราคาที่หน่วยงานของรัฐที่ผลิตหรือจัดหายายืนยันว่า ไม่สูงกว่าราคาที่หน่วยงานภาครัฐอื่นจัดซื้อ หากไม่มีให้ใช้ราคาที่เคยซื้อครั้งหลังสุดภายในระยะเวลา 2 ปี หากไม่มีราคาที่เคยซื้อครั้งหลังสุด ภายในระยะเวลา 2 ปี หรือมีแต่ราคาสูงกว่าให้ใช้ราคาซึ่งหน่วยงานของรัฐที่ผลิตหรือจัดหายายืนยันว่าไม่สูงกว่าราคาตลาด
อนึ่ง บัญชีรายชื่อยาต้านไวรัสเอชไอวีของสำนักงานประกันสังคม
 
(1) Zidovudine (2) GPO - vir S30 (3) GPO - vir Z250 (4) Lamivudine (5) Nevirapine (6) Stavudine (7) Zidovudine + Lamivudine (8) Efavirenz (9) Indinavir (10) Ritonavir (11) Didanosine (12) Lopinavir / Ritonavir (13) Atazanavir (14) Tenofovir (15) Abacavir (16) Rilpivirine (17) Tenofovir + Emtricitabine+ Efavirenz (18) Tenofovir + Emtricitabine (19) Abacavir + Lamivudine (20) ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ได้รับการรับรองทางวิชาการและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการแพทย์ของสำนักงานประกันสังคม
 
 
หวั่นนโยบาย "อุตสาหกรรม 4.0" ทำคนตกงานพุ่ง เสนอยกเลิกจ้างเหมาจ่าย
 
เครือข่ายผู้ใช้แรงงานห่วง "อุตสากรรม 4.0" ทำคนตกงานเพียบ เรียกร้องยกเลิกจ้างเหมาจ่าย หามาตรการรองรับผลกระทบการเลิกจ้างแรงงาน หลังจากบริษัทโตโยต้าเลิกจ้างพนักงาน ชี้ที่ผ่านมากฎหมายไม่ได้แยกสิทธิลูกจ้างประจำ-ชั่วคราว
 
การปลดลูกจ้างเหมาค่าแรงประมาณ 900 คน ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย และเงินเพิ่มพิเศษให้กับลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการ "จากกันด้วยใจ" โดยอ้างเหตุผลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อการส่งออก
 
นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องผิดปกติและอาจหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง หากการปลดเกิดจากผลกระทบอุตสาหกรรม 4.0 ที่นำเทคโนโลยีมาทดแทนคน
 
ศ.พิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเลิกจ้างของนายจ้างไม่ผิดกฎหมาย แต่ควรให้ความยุติธรรมทั้งทางกฎหมายและสังคม กรณีดังกล่าวเห็นว่าบริษัทแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อไม่ให้ลูกจ้างดำเนินการฟ้องร้องนายจ้าง ทั้งที่การเลิกจ้างจากภาวะเศรษฐกิจ ต้องเกิดขึ้นทุกระดับของนายจ้างและลูกจ้าง
 
เครือข่ายผู้ใช้แรงงานยังตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทดังกล่าวติดอันดับ 2 ของประเทศที่มีรายได้สูงสุดกว่า 400,000 ล้านบาท และผลกำไรสูงสุดเป็นอันดับ 4 มากเกือบ 30,000 ล้านบาท จึงไม่สอดคล้องกับเหตุผลภาวะเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรงทุกรูปแบบในทุกกระบวนการผลิต และหามาตรการรองรับผลกระทบการเลิกจ้างแรงงานจากอุตสาหกรรม 4.0 เพราะที่ผ่านมากฎหมาย ไม่ได้แยกสิทธิของลูกจ้างประจำกับลูกจ้างเหมาค่าแรงอย่างชัดเจน
 
 
แจง กม.แรงงานทางทะเลช่วยผู้ทำงานเรือได้รับสิทธิตามมาตรฐานสากล
 
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน อธิบายสาระสำคัญของพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้ที่งานประจำเรือเดินทะเลได้รับประโยชน์ และได้รับการคุ้มครองกว่า 40,000 คน นอกจากนี้เจ้าของเรือที่มีขนาด 200 ตันกรอสขึ้นไปกว่า 1,000 ลำ จะได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องการรับรองว่าการปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานสากลภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2559 ขององค์การแรงงาน (ไอแอลโอ) ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น
 
สำหรับเนื้อหาสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จะเน้นการดูแลคุ้มครองผู้ที่ทำงานประจำเรือ ทั้งด้านสภาพการทำงานบนเรือเดินทะเล สภาพการจ้าง ความปลอดภัย และสุขอนามัย ตลอดจนการคุ้มครองด้านการประกันสังคม อาทิ ห้ามใช้งานผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีทำงานประจำเรือ ต้องจัดให้ผู้ที่ทำงานมีเวลาพักผ่อนไม่น้อยกว่า 1 ชม. มีสิทธิในการลาขึ้นฝั่ง ลาคลอด รวมถึงต้องมีหนังสือข้อตกลงการจ้าง ระบบการรักษาพยาบาล การคุ้มครองชีวิต ป้องกันอุบัติเหตุ ค่าล่วงเวลาต้องไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าต่อ ชม. และต้องจัดหาคนประจำเรือให้เพียงพอกับงานให้เป็นตามมาตรฐานสากลอย่างชัดเจน
 
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำให้กระทรวงแรงงาน ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอย่างใกล้ชิดทั้ง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และเจ้าของเรือ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในกิจการเดินเรือทะเล และทำให้เกิดการคุ้มครองแรงงานทางทะเลตามกฎหมายเพื่อส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทย
 
 
สปส. เห็นชอบเพิ่มวงเงินทำฟัน 900 บาทต่อปี เริ่ม 12 ส.ค.นี้ นำร่องสถานพยาบาล-คลินิก 30 จังหวัด
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล บอกว่าคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการการแพทย์เสนอให้เพิ่มวงเงินกรณีค่าทันตกรรมเป็น 900 บาทต่อปี จากเดิม 600 บาทต่อปี โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.2559เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญวันแม่แห่งชาติ ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่อยากให้เพิ่มวงเงิน 1,200 บาทต่อปี แต่การเพิ่มวงเงินต้องคำนึงถึงกรอบค่าใช้จ่ายหรือภาระที่ต้องเพิ่มขึ้นด้วย
 
ส่วนกรณีไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่าทำฟันไปก่อนนั้น ขณะนี้สปส.ได้เปิดรับสมัครสถานพยาบาลหรือคลินิกเข้าร่วมโครงการเพื่อให้บริการด้านทันตกรรม โดยผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายเงินก่อน ซึ่งจะนำร่องสถานพยาบาลและคลินิคใน 30 จังหวัด หลังจากนั้นก็จะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัด
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดสปส. ยังได้พิจารณาเรื่องการให้บริการเรื่องทันตกรรม เช่น การอุดฟัน ขูดหินปูนและถอนฟัน โดยเห็นว่าไม่ใช่การรักษาโรคทางช่องปาก จึงไม่สามารถนำไปรวมกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลซึ่งสปส.จ่ายให้แก่โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัวต่อปี เพราะเป็นเรื่องของการทำฟันโดยเฉพาะ ส่วนการรักษาโรคในช่องปากนั้นสามารถนำไปรวมกับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลระบบประกันสังคมได้
 
 
แรงงานฟาร์มไก่ ชาวเมียนมา ถูกแจ้งข้อหาเพิ่ม หลังเดินทางเข้าร้องเรียน กสม. ช่วยเหลือ ถูกละเมิดสิทธิ์
 
จากกรณีเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) นำตัวแทนแรงงานข้ามชาติพม่าอดีตลูกจ้าง ฟาร์มไก่ ในจังหวัดลพบุรี จำนวน 14 คน เข้ายื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้ตรวจสอบการบริหารงานของฟาร์มดังกล่าว เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการแจ้งจับหนึ่งในแรงงานกลุ่มนี้ ข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง โดยทรัพย์ที่กล่าวถึงคือ บัตรตอกเวลา แต่จากการสอบถามพบว่า 1 ในคนงานพยายามจะนำบัตรตอกเวลาจากนายจ้าง เพื่อไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่ามีการละเมิดสิทธิในการทำงานจริง สุดท้ายกลับถูกนายจ้างแจ้งความจับ ซึ่งทางหน่วยงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติได้เข้าช่วยเหลือและใช้หลักประกันตัวจำนวน 75,000 บาท แล้ว และทางเจ้าหน้าที่ยังคงให้มารายงานตัวต่อเนื่อง ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นัดให้เข้ารายงานตัววันที่ 29 ก.ค. นี้ พร้อมกับจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมคือ "ร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง" และจะมีหนังสือเป็นทางการเรียกแรงงานเมียนมาอีกคน เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างหรือรับของโจรด้วย
 
ทั้งนี้ เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ จะจัดให้มีทนายความเดินทางไปกับแรงงานเมียนมา และจะเตรียมหลักทรัพย์ประกันตัวไปด้วย โดยคาดว่าประมาณ 75,000 บาท
 
 
เลิกจ้าง!แรงงานมุ่งสู่ขายตรง'กิฟฟารีน'ประคองตัวขอโต3%
 
ชี้ปัญหาเลิกจ้างพนักงาน อาจมีผลให้คนเข้ามาสู่ธุรกิจขายตรง "กิฟฟารีน" เผยครึ่งปีหลังยังไม่เห็นสัญญาณบวกชัดเจน ด้านงบการตลาดอาจไม่ลงทุนเหมือนทุกปี หวังประคองยอดปีนี้โต 3-5%
 
นางนลินี ไพบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท กิฟฟารีน สกาย ไลน์ ยูนิตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางอุตสาหกรรมต้องลดการจ้างแรงงาน เพราะต้องการหันมาใช้หุ่นยนต์ในการผลิตแทนนั้น มองว่าในเชิงของอุดมคติอาจทำให้มีประชาชนให้ความสนใจเข้ามาทำธุรกิจขายตรงกันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เห็นว่าบุคคลเหล่านี้อาจทำงานยากมากขึ้นสักหน่อย เนื่องจากธุรกิจเครือข่ายต้องพบปะผู้คนระดับหนึ่ง ซึ่งการไม่มีงานประจำอาจมีผลต่อการทำธุรกิจขายตรงบ้าง
 
สำหรับภาพรวมครึ่งปีหลัง ยังไม่เห็นสัญญาณว่า จะมีปัจจัยมาทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างชัด เจนมากนัก แต่ก็เชื่อว่าจะไม่แย่ลงกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากในภาคของเกษตรกรรมสามารถปลูกพืชผลได้มากขึ้น เพราะมีฝนตกลงมาแล้ว ในส่วนของกรุงเทพฯ หากมีปริมาณของฝนมากเกินไปก็คงมีผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารให้ขายไม่ดี หรือแม้แต่ธุรกิจขายตรงเองก็อาจมีผลเช่นกัน
 
ขณะเดียวกันการดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์กำลังเป็นที่นิยม และกำลังเข้ามาเป็นทางเลือก บริษัทเองก็มีบริการออนไลน์ที่ไม่ต้องให้ลูกค้าเข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ที่ศูนย์บริการเหมือนกัน หลังจากเปิดตัวมาก็เติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ
 
ส่วนงบประมาณทางการตลาดตอนนี้คงเน้นส่งเสริมภายในให้กับนักธุรกิจมากกว่า ซึ่งการโฆษณาและประชาสัมพันธ์คนไม่ มากเหมือนทุกปี ขณะเดียวกันจำ นวนช่องของทีวีดิจิตอลที่มีมากก็ทำให้ลงทุนลำบาก ตั้งใจว่าตลอดปี 2559 นี้ จะประคองยอดขายเติบโตให้ได้ 3-5% เพราะคงไม่สามารถไปคาดหวังให้เติบโตได้สองหลักเหมือนที่ผ่านมาได้อีกแล้ว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'บุรีรัมย์-พะเยา' ทหาร-กกต.-รด.จิตอาสา รุกหนักสาธิตลงประชามติ

$
0
0

ทหาร.บุรีรัมย์นำ 'รด.จิตอาสา' จัดหน่วยสาธิตการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ชวนใช้สิทธิให้มากที่สุดโดยไม่มีการชี้นำใดๆ กกต. พะเยา ลงพื้นที่ ปชส.การออกเสียงลงประชามติ ครบทุกหมู่บ้าน กรรมการ ศส.ปชต. ระบุชาวบ้านส่วนใหญ่ 70-80% ยังไม่ทราบว่ามีการร่าง กม.-การลง ปชต.

15 ก.ค.2559 พ.ท.บุญเสริม แหวนวิเศษ สัสดีอำเภอเมืองบุรีรัมย์ มอบหมายให้ ส.อ.นิวัฒน์ กล่าวรัมย์ นำ รด.จิตอาสา โรงเรียนภัทรบพิตร จำนวน 12 นาย ในความควบคุมของ ผกท.วิฑูรย์ เสงี่ยมศักดิ์ ออกเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 59 ร่วมกับ กศน.อำเภอเมืองบุรีรัมย์, อสม.ตำบลบ้านบัว สนับสนุน กกต.จว.บ.ร. และสาธิตขั้นตอนปฏิบัติการลงประชามติ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบัว มีประชาชนที่มีสิทธิ์ลงประชามติฯ เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 90 คน (ที่มาเพจ บก.ควบคุม รด.จิตอาสา จังหวัดบุรีรัมย์)

9 ก.ค. 2559 ธีรวัฒน์  สินธุบุญ ผู้อำนายการการเลือกตั้งประจำ จ.พะเยา กล่าวว่า ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน พื้นที่พะเยารวม 9 อำเภอ 68 ตำบล ได้จัดกิจกรรมโครงการเผยแพร่ ปชส.การออกเสียงลงประชามติ แยกกิจกรรมออกเป็น คณะกรรมการศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.)  การลงพื้นครบแล้วทุกหมู่บ้าน, ตำบลและอำเภอในพะเยา และลงพื้นที่จุดแรกวันที่ 23 มิ.ย. คือ อ.เชียงคำ  รวม 10 ตำบลๆ ละ 10 คน นอกนั้นตระเวนลงพื้นทุกแห่ง/ทุกตำบลๆ ละ 10 คน ภาพรวม  กกต.จว.ได้จัดกิจกรรม  ปชส. การออกเสียลงประชามติ ครบทุกพื้นที่ในพะเยา  มีผู้เข้าร่วมอบรมฯ จำนวน 680 คน  ล่าสุดหรือโค้งสุดท้ายยังร่วมกับนักศึกษา รด.แต่ละอำเภอตระเวนเดินรณรงค์ ให้ชาวบ้านไปลงประชามติ ภาพรวมด้านความพร้อม 100% ที่จะให้ชาวบ้านในพะเยาทุกอำเภอ ไปลงประชามติอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ส.ค.นี้.ในส่วนประเด็นประชากรล่าสุดกว่า  480,000 คน

ลือ วงศ์ราษฎร์  กรรมการศูนย์ส่งเริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล ต.ฝายกวาง อ.เชียงคำ-พะเยา  เปิดเผยว่าหลังจากได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ 15 ให้เข้าร่วมอบรมเป็นคณะกรรมการศูนย์ฯ (ศส.ปชต.) โดยมี ผอ.ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเชียงคำฯ เป็นผู้ประสานงานหรือเป็นพี่เลี้ยง ในการรณรงค์ให้ชาวบ้านไปลงประชามติ 7 ส.ค.นี้ และการแจกแผ่นผับในชุมชน-หมู่บ้าน  เป็นไปด้วยความลำบากเพราะไม่ค่อยมีใครอยู่ในบ้านกลางวัน ส่วนใหญ่เพื่อนบ้านออกไปทำไร่ไถนากันหมด  จึงถือโอกาสวันเข้าพรรษาที่ชาวบ้านมาทำบุญร่วมกันแล้วแจกแผ่นพับ ให้ไปลงประชามติเช่น เห็นด้วยกับกฎหมาย คสช. กากบาทด้านซ้ายมือหากไม่เห็นด้วยก็กากบาทด้านขวามือ ชาวบ้านส่วนใหญ่ 70-80% ยังไม่ทราบว่ามีการร่าง กม.-การลง ปชต.
 

ทหาร.บุรีรัมย์นำ 'รด.จิตอาสา' สาธิตลงประชามติ

พล.ต.เดชอุดม นิชรัตน์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 26 ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จ.บุรีรัมย์ เยี่ยมชมการจัดหน่วยสาธิตการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ของนักศึกษาวิชาทหาร ตามโครงการ รด.จิตอาสา เพื่อเผยแพร่และรณรงค์การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีตัวแทนนักศึกษาวิชาทหารจากสถานศึกษาในจังหวัด มาร่วมสาธิตในครั้งนี้ ที่ลานข้างหอประชุมวิชชาอัตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
 
15 ก.ค.2559 รด.จิตอาสา ร.ร.หนองกี่พิทยาคมร่วมกับ โรงเรียนวัดเย้ยปราสาท จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และสาธิตการออกเสียงประชามติ (ที่มาภาพเพจ บก.ควบคุม รด.จิตอาสา จังหวัดบุรีรัมย์)
 
สำหรับโครงการ รด.จิตอาสา เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกองทัพบก ในการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ โดยการใช้นักศึกษาวิชาทหาร หรือ รด.จิตอาสา ในการช่วยประชาสัมพันธ์กระตุ้นและรณรงค์ให้คนออกมา ใช้สิทธิให้มากที่สุดโดยไม่มีการชี้นำใดๆ
 
โดยการอบรม รด.จิตอาสา ที่ผ่านมาได้ออกไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ในการออกเสียงเพื่อลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ส.ค.2559 ซึ่งเป็นวันที่จะมีการใช้สิทธิออกเสียง นอกจากนี้ยังจะต้องปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันใช้สิทธิออกเสียงประชามติ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงหน้าหน่วยออกเสียงอีกด้วย
กิจกรรมปั่นจักรยาน " 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง " เพื่อรณรรงค์ ประชาสัมพันธ์สร้างกระแส ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์ออกเสียง ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้ได้มากที่สุด และได้เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการ " ออกเสียงประชามติ " ร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นเพิ่มเติม พร้อมทั้งได้สาธิต ขั้นตอนการออกเสียงประชามติ ครั้งที่ 3 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการ อ.ลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา 
 
 
เรียบเรียงจาก หนังสือพิมพ์แนวหน้า, มติชนออนไลน์  และ เพจ บก.ควบคุม รด.จิตอาสา จังหวัดบุรีรัมย์
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์สั่งคุมเข้มใกล้วันประชามติ คสช.ระดม 'ทหาร-รด.จิตอาสา' ในพื้นที่ชวนคนไปโหวต

$
0
0

19 ก.ค.2559 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีกลุ่มวัยรุ่นเข้าไปฉีกทำลายบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติที่ติดไว้บริเวณศาลาประจำหมู่บ้านใน จ.กำแพงเพชร ว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ได้ร่วมกันสืบสวนติดตามตัวผู้กระทำผิดทันที ส่วน มท. ได้สั่งการให้ทางจังหวัดประสานงานกับ กกต. ในฐานะเจ้าของบัญชีรายชื่อเพื่อแจ้งความกับตำรวจ โดยคาดว่าจะได้ตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีเร็ว ๆ นี้

"ท่านนายกฯ รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และอยากเตือนสติสังคมให้ระมัดระวังการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย และไม่หลงเชื่อผู้ที่ไม่หวังดี เพราะหากฝ่าฝืนกฎกติกาก็จะต้องถูกดำเนินคดี ซึ่งไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น และยังได้กำชับให้ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อการออกเสียงประชามติทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอเฝ้าระวังป้องกันและระงับเหตุอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะช่วงใกล้วันลงประชามติ" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุด้วยว่าการปล่อยข่าวสร้างความสับสนทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียให้ระวังการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติทางเว็บไซต์ของกรมการปกครอง www.khonthai.com ว่า หากกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักแล้ว จะทำให้ข้อมูลประชาชนไม่ปลอดภัย ถูกแก้ไข หรือถูกลักลอบไปทำธุรกรรมที่เสียหายนั้น

"เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะการกรอกเลขประชาชนเป็นเพียงการนำเข้าสู่ระบบแสดงผลข้อมูลอัตโนมัติที่ทำให้ผู้ใช้งานทราบว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติหรือไม่ จึงไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขข้อมูลใด ๆ ขณะเดียวกัน กรมการปกครองมีฐานข้อมูลพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้วนับตั้งแต่วันที่ทุกคนยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งในปัจจุบันการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานต่าง ๆ ก็ใช้การกรอกเลขบัตรประชาชนในการดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่อันตรายแต่อย่างใด" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

คสช.ระดม 'ทหาร-รด.จิตอาสา' ในพื้นที่ชวนคนไปลงประชามติ

ขณะที่ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการรณรงค์ให้ประชนออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ของหน่วยทหารในพื้นที่ต่างๆว่า ภารกิจหลักของเจ้าหน้าที่ คือ สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)  คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และให้ทหาร หรือ รด.จิตอาสา เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเชิญชวน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ว่าจะมีการลงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคม ดังนั้นจะต้องเตรียมตัว เตรียมเอกสารอะไรเมื่อต้องไปใช้สิทธิ์

รองโฆษกคสช. กล่าวว่า ยังไม่พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่จะสร้างความวุ่นวายในการทำประชามติ ซึ่งคสช.ดูแลทุกเรื่อง ทั้งอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติสามารถทำงานได้  ให้ประชาชนรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง รวมถึงดูแลป้องกันไม่ให้มีการกระทำการใดๆ ที่จะส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดในการทำประชามติ โดยใช้วิธีการติดตามข้อมูลข่าวสาร และพฤติกรรมของทุกกลุ่ม

จับตาทุกกลุ่มป้องกันป่วนประชามติ

“เจ้าหน้าที่ทำงานโดยยึดโยงกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 หากดำเนินการอะไรที่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และหากเห็นว่าไม่เหมาะไม่ควร ก็จะใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้าดำเนินการ แต่หากทุกฝ่ายยึดแนวทางดังกล่าวก็มั่นใจว่า ความไม่เรียบร้อยไม่น่าจะเกิดขึ้น” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าว

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า หากประชาชนพบการเคลื่อนไหว หรือ สงสัยว่ากลุ่มบุคคลใดอาจจะก่อความวุ่นวาย ยุยงปลุกปั่น หรือ บิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้หลายช่องทาง ทั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ ศูนย์ดำรงธรรม

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลและสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.เผย มือฉีกบัญชีผู้มีสิทธิลงประชามติ เป็นเด็ก 8 ขวบ ดำเนินคดีต่อ แต่ไม่ต้องรับโทษ

$
0
0

18 ก.ค.2559 กรณีมีมือมืดฉีกบัญชีผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หน่วยที่ 5 โรงเรียนวชิรสารศึกษา หมู่ที่ 5 บ้านเหนือ ต.สลกบาตร อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร เมื่อวันนี้ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า จากการสืบสวนในเบื้องต้น วันเกิดเหตุมีพิธีอุปสมบทวัดหงษ์ทอง ภายในพื้นที่เดียวกันกับโรงเรียน และอาคารหน่วยออกเสียงประชามติ มีทั้งคนเมา เด็ก และเยาวชนมาร่วมงานจำนวนมาก 

ล่าสุด พล.ต.ต.ดำรงค์ เพ็ชรพงศ์ ผบก.สภ.กำแพงเพชร เปิดเผยว่า คดีนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ และได้กำชับให้ทำการสืบสวนคดีให้กระจ่างชัด ปรากฏข้อเท็จจริงโดยเร็ว ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยออกเสียงประชามติหน่วยที่ 5 พบว่าบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงนั้นถูกฉีกขาดและนำไปทิ้งไว้ที่ข้างศาลาตั้งกระดานติดบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง
       
จากการสืบสวนพบว่าบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติที่ฉีกขาดไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง แต่เกิดจากความซุกซนของเด็กหญิง 2 คน อายุเพียง 8 ขวบไปวิ่งเล่นกันที่บริเวณกระดานติดรายชื่อ และจากรูปคดีได้ทำการสืบสวนอย่างครบถ้วนแล้ว ภายใต้บรรยากาศแบบสบายๆ ยิ้มแย้ม เด็กก็เดินเล่นในห้องสอบสวนกันตามปกติ ไม่ตึงเครียด โดยมีผู้ปกครองของเด็ก เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร่วมรับฟังการบันทึกถ้อยคำของพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ไม่ได้สร้างความกดดันให้แก่เด็ก และผู้ปกครอง
       
ซึ่งเด็กหญิงทั้งสองที่เป็นผู้ก่อเหตุเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 2 อายุ 8 ขวบ และเป็นเพื่อนสนิทเรียนอยู่ห้องเดียวกัน โดยจะมาเล่นกันที่บริเวณนี้เป็นประจำทุกวัน ก็ได้ให้การเล่าถึงเหตุการณ์ที่เข้าไปในเขตติดตั้งบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติ หน่วยที่ 5 ภายในโรงเรียนวชิรสารศึกษา ว่า ก่อนเกิดเหตุภายในวัดมีงานบวชพระ และบ้านของเด็กทั้งสองก็อยู่หลังโรงเรียนไม่ไกลจากกันมากนัก

ทางคดีนั้น พนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีไปตามกฎหมาย แต่ผู้กระทำความผิดยังเป็นเด็กที่ก่อเหตุโดยไม่มีความเจตนา และอายุยังไม่ถึง 10 ขวบตามที่กฎหมายกำหนด แม้จะมีความผิด แต่เด็กก็ไม่ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด โดยทางพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานบุคคลทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก พยานวัตถุ ภาพจากกล้องวงจรปิด และจะรายงานให้ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบผลของคดีนี้ต่อไป 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

13 วัดเมืองอุบลฯ ประกวดเทียนพรรษา เผยลงทุน 3.5 แสนเพื่อรางวัล 2 แสนบาท

$
0
0

แห่เทียนพรรษาอุบลฯคึกคัก พบว่าในเขตเทศบาลนครเกินครึ่งร่วมแข่งขัน เผยลงทุน 3.5 แสนบาทเพื่อรางวัลชนะเลิศ 2 แสนบาท พร้อมยืนยันเทียนประกวดกับเทียนพรรษาต่างกัน ชี้ประเพณีช่วยส่งเสริมศาสนาและการท่องเที่ยว

วัดในเขตเทศบาลนครส่งเทียนประกวดเกินครึ่ง

จากการสำรวจวัดเฉพาะในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี พบว่ามีทั้งหมด 21 วัด ประกอบฝ่ายมหานิกาย 14 วัดและธรรมยุต 7 วัด โดยในประเพณีแห่เทียนพรรษาปี 2559 มี 13 วัดที่ส่งเทียนพรรษาเข้าประกวด แบ่งเป็น มหานิกาย 7 วัน ธรรมยุต 6 วัด ส่วนมากจะส่งประเภทติดพิมพ์มากกว่าแกะสลัก และ 9 วัดที่ไม่ส่งเข้าประกวดแบ่งเป็นมหานิกาย 8 วัด และธรรมยุต 1 วัด ดังรายละเอียดตามตาราง 

 

วัดที่ประกวด

วัดที่ไม่ประกวด

1. วัดทุ่งศรีเมือง(ม)

1. วัดหลวง (ม)

2. วัดศรีอุบลรัตนาราม(ธ)

2. วัดมณีวนาราม (ม)

3. วัดสุปัฏฯ(ธ)

3. วัดปทุมมาลัย (ม)      

4. วัดพลแพน (ม)  

4. วัดทองนพคุณ (ม)

5. มหาวนาราม(ม)  

5. วัดท่าวังหิน (ม)

6. วัดพระธาตุหนองบัว(ธ)

6. วัดสระประสานสุข (ธ)            

7. วัดแจ้ง(ม)  

7. วัดบ้านก้านเหลือง (ม)

8. วัดพลแพน(ม)  

8. วัดบ้านนาควาย (ม)

9. วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ (ธ)

9. วัดมงคลโกวิทาราม (ห้วยวังนอง)(ม)

10. วัดศรีประดู่(ม)  

 

11. วัดบูรพา (ม )  

 

12. วัดเลียบ (ธ)  

 

13. วัดไชยมงคล (ธ)

 

ลงทุน 3.5 แสนเพื่อรางวัล 2 แสน

พระครูวิบูลกิจจารักษ์ รองเจ้าอาวาส วัดมหาวนาราม ซึ่งปีนี้ส่งเทียนเข้าประกวดเผยว่า ในแต่ละปีที่ส่งเทียนพรรษาเข้าประกวดลงทุนรวมทั้งหมดกว่า 3.5 แสนบาท เพราะขี้ผึ้งสดมีราคาแพงมาก และต้องจ้างช่าง ส่วนรางวัลที่ได้รับ 2 แสนบาท ถือว่าไม่คุ้มค่า แต่ต้องทำ เพราะเป็นประเพณี

พระครูวิบูลกิจจารักษ์ กล่าวว่า การแห่เทียนพรรษาที่จังหวัดอื่นก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะได้เผยแพร่ประเพณีอันดีงาม ออกไปทั่วประเทศ ให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติได้รู้จัก เป็นการเผยแผ่คำสอนเกี่ยวกับศาสนาด้วย ได้รู้จักว่าช่วงเข้าพรรษามีการปฏิบัติอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่ดี ไม่เสียหาย

ส่วนพระมหาศรีอรุณ ญาณิสฺสโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เผยถึงสาเหตุที่ไม่ได้ส่งเทียนเข้าประกวดว่า เพราะเจ้าอาวาสท่านก่อนๆ ไม่เคยทำเทียนเพื่อส่งประกวด เจ้าอาวาสท่านปัจจุบันจึงรักษาประเพณีการไม่ส่งเทียนเข้าประกวดไว้ แต่ประกวดแบบจริงจังทางวัดไม่เคยส่ง ส่วนการทำเทียนโบราณเข้าร่วมขบวนนั้นก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนงบประมาณของทางจังหวัดและความพร้อมของช่างประจำ

เทียนประกวด - เทียนพรรษาต่างกัน

พระมหาศรีอรุณกล่าวว่า เทียนพรรษาในความจริงกับเทียนที่ใช้ประกวดมีความแตกต่างกัน เทียนพรรษาในความจริงคือเทียนที่ใช้จุดเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา เช่น ทำวัตร แต่เทียนที่ใช้ในการประกวดจะเน้นรูปร่าง ลวดลาย ความสวยงาม ทุกวันนี้มีความทันสมัย อาจจะไม่ต้องใช้เทียนจุดเลย เพราะมีไฟฟ้า ประเพณีแห่เทียนพรรษาจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมศาสนา ส่งเสริมการท่องเที่ยว มองได้หลายแบบเป็นการท่องเที่ยวก็ได้เพราะหนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง เป็นการส่งเสริมศาสนาก็ได้เพราะเป็นเทศกาลเกี่ยวกับวันสำคัญทางศาสนา อยากให้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว และเพื่อรักษาวัฒนธรรมไว้ด้วย

เช่นเดียวกับพระครูวิบูลกิจจารักษ์ ที่กล่าวว่า เทียนพรรษาในความเป็นจริงกับเทียนประกวดต่างกัน เพราะเทียนพรรษาคือ เทียนที่ญาติโยมถวายเพื่อใช้ส่องแสงสว่างในการประกอบกิจทางศาสนา จุดเทียนนั่งสมาธิ ทำวัตร สวดมนต์ แต่เทียนพรรษาที่ประกวดคือเทียนที่ถูกนำมาประดิษฐ์ ให้เกิดลวดลาย ให้มีขนาดใหญ่อลังการ และมีการสื่อถึงเรื่องราวเกี่ยวพุทธประวัติ มีลวดลายต่างกัน

ช่างเทียน 25 คนทำงาน 65 วัน ค่าจ้าง 4 – 5 หมื่น

นายแก้ว  อาจหาญ ช่างทำเทียนชาว จ.อุบลราชธานีซึ่งรับจ้างทำทั่วไปทั้งในจังหวัดอุบลและต่างจังหวัด เผยว่า ในจังหวัดอุบลฯมีช่างทำเทียน 2 ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์ก็มี 6 กลุ่ม และประเภทแกะสลัก 7 กลุ่ม โดยช่างที่ทำเทียน เป็นคนจังหวัดอุบลฯทั้งหมด การทำเทียนแต่ละครั้งจะโดยใช้เวลาประมาณ 65 วัน ใช้ช่างจำนวน 25 คน ได้ค่าจ้างประมาณ 4 – 5 หมื่นบาท

ส่วนเรื่องราวในการแกะสลักเทียนนั้นนายแก้วกล่าวว่า ช่างจะเป็นคนกำหนด แต่ต้องเป็นเรื่องราวในอดีตที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ศาสนา เพื่อบูชา ห้ามเป็นเรื่องล้อเลียนการเมืองโดยเด็ดขาด

0000

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: กัญญารัตน์ จันตะ,จิรสุดา สายโสม เป็น นักศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  - รายงาน
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไพศาล พืชมงคล ชี้ 'ไม่รับ' ร่างรัฐธรรมนูญ มีทั้งพวกต้านและหนุน 'รัฐบาล-คสช.'

$
0
0

เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) อดีตสมาชิกวุฒิสภา ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol  โดยระบุว่า ทั้งพวกต้าน และพวกหนุน รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช แสดงท่าทีตรงกันว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แม้ขบวนการปฏิรูปที่นำโดย ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ และ กปปส. อีกหลายกลุ่มก็แสดงท่าทีไม่รับ มีแต่ กปปส. กลุ่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่แสดงท่าทีรับ

"พวกไม่รับทั้งหมด ไม่ได้เป็นพวกเดียวกันและไม่ได้มีเจตนาเหมือนกัน พวกหนึ่งไม่รับเพื่ออ้างเป็นเหตุก่อความรุนแรงเผาบ้านเผาเมือง ซึ่ง รัฐบาลเตรียมรับมืออยู่แล้ว อีกพวกหนึ่งไม่รับเพราะต้องการให้ คสช. บริหารต่อไป 5 ปี - 10 ปี เพราะไม่ต้องการกลับสู่ยุคอัปปรีย์ไปจัญไรมาอีก ซึ่ง รัฐบาลและ คสช. น่าจะตระหนักเช่นกัน ก็รอประชามติสิครับ  ไม่ผ่านก็ร่างใหม่แล้วเลิกพึ่งผู้วิเศษนอกระบบนิติบัญญัติที่ผูกขาดเรื่องรัฐธรรมนูญมา 20 ปี จนรากงอก  แล้วให้ระบบนิติบัญญัติคือ สนช. ร่างรัฐธรรมนูญให้เข้าทางเสียที" ไพศาล ระบุ

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่้ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา โพสต์ทูเดย์เคยรายงานคำกล่าวของ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในลักณะเดียวกันด้วยในทำนองว่าหากผลโหวตออกมาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ตีความยากว่าประชาชนไม่ชอบอะไร อาจไม่ชอบ คสช. ไม่ชอบร่างรัฐธรรมนูญ หรือชอบ คสช.อยากให้อยู่นานๆ 

“หากโหวตออกมาแล้วว่าไม่เอา ซึ่งก็ตีความได้ยากว่าที่ไม่ผ่านเพราะประชาชนไม่ชอบอะไร อาจไม่ชอบ คสช. ไม่ชอบร่างรัฐธรรมนูญ หรือชอบ คสช.อยากให้อยู่นานๆ โดยไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญมาเป็นอุปสรรค การเลือกตั้งจะได้ประวิงเวลาออกไป หรืออาจชอบบางเรื่องแต่ไม่ชอบบางหลักการ ถ้าแก้บางหลักการก็พอทำใจได้หรือทั้งหมด นี่คือสิ่งที่เราไม่รู้ว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านมันแปลว่าอะไร ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครที่มีอำนาจตีความ จนกว่าคะแนนจะออกมาถึงจะแสดงอะไรได้บางอย่าง เรื่องทั้งหมดยังไม่มีใครคิดในเวลานี้ คิดแต่ว่าวันที่ 7 ส.ค.จะทำอย่างไร” วิษณุ กล่าว 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารปรับทัศนคติ 63 เด็กแว้น ไป-กลับ 7 วัน

$
0
0

 19 ก.ค.2559 เจ้าหน้าที่ทหาร กองพันทหารสื่อสารที่ 1 รักษาพระองค์ และตำรวจ สน.บางโพงพาง นำตัวกลุ่มเด็กแว้นจำนวน 63 คนที่ถูกจับกุมบนถนนรัชดา-ท่าพระ เมื่อกลางดึกวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา เข้าอบรมหลักสูตรปรับทัศนคติและ ข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเยาวชนเป็นเวลารวม 7 วัน เริ่มวันนี้เป็นวันแรก ประกอบด้วยเยาวชนชาย-หญิง อายุระหว่าง 13-20 ปี ชาย 57 คน หญิง 6 คน ในจำนวนนี้ มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถึง 45 คน

โดย พ.อ.สุวรา กาญจนโพธิ์ ผู้บัญชาการกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ ผู้ควบคุม กล่าวว่า ขั้นตอนนี้เป็นการดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 และ 46/2558 ขั้นตอนการอบรมเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามหลักสูตรให้เด็กแว้นยืนขึ้นร้องเพลงชาติ ไหว้พระสวดมนต์ และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี พร้อมรับฟังบรรยายจากเจ้าหน้าที่ทหาร ถึงผลพวงการสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ตลอด 7 วันจะเป็นการให้เดินทางไป-กลับ เนื่องจากเยาวชนส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน ทั้งยังมีบางส่วนที่บาดเจ็บจากการหลบหนีการจับกุมและตั้งครรภ์รวมอยู่ด้วย

ด้าน พ.ต.อ. สมโภช สุวรรณจรัส ผู้กำกับการ สน.บางโพงพาง กล่าวว่า หลังควบคุมตัว และทำบันทึกประวัติ พร้อมเรียกผู้ปกครองกลุ่มเด็กแว้นทั้งหมดมารับทราบเรื่อง เข้าสู่การอบรม หลังจากครบ 7 วันคือในวันที่ 26 ก.ค. ผู้ปกครองจะต้องวางเงินประกัน 2 หมื่นบาท เพื่อนำรถจักรยานยนต์ของกลางคืน พร้อมกันนี้ยังมีการติดตามความประพฤติเยาวชน 2 ปี หากมีหากประพฤติผิดซ้ำ ผู้ปกครองจะมีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 3 หมื่นบาท ทั้งนี้ปัญหาเด็กแว้นเป็นปัญหาสังคมที่ผู้ปกครองต้องช่วยกันดูแลบุตรหลานให้ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น

 

ที่มา สำนักข่าวไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แจ้งข้อกล่าวหา 19 แดงอุดรฯ ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ปราบโกงฯ หลังเรียกมาอบรม พร้อมเงื่อนไข

$
0
0

19 ก.ค.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ชาวบ้านเสื้อแดง 19 คน ที่เข้าร่วมการเปิดป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติ อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี เดินทางเข้ารับการอบรมเพื่อปรับทัศนคติกับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ที่สถานีตำรวจภูธรโนนสะอาด ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีหนังสือไปถึงเมื่อเย็นวันที่ 13 ก.ค.59  โดยในหนังสือเชิญอ้างว่าได้รับการประสานมาจากผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 24 จ.อุดรธานี

โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงาน เพิ่มเติมด้วยว่า วันที่ 14 ก.ค.นั้น ขณะชาวบ้านเริ่มทยอยมาถึง สภ.โนนสะอาด ในเวลาประมาณ 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกชาวบ้านเข้าไปเซ็นรับทราบข้อกล่าวหา โดยไม่ได้ให้ชาวบ้านอ่านเอกสารหรืออ่านให้ฟังก่อน รวมทั้งไม่มีการแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาแต่อย่างใด  เมื่อเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์เข้าไปทักท้วง พ.ต.อ.บรรจบ สีหานาวี ผกก.กลุ่มงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี จึงบอกว่า จะแจ้งให้ชาวบ้านทราบถึงข้อกล่าวหาหลังเซ็นรับทราบข้อกล่าวหาครบทุกคน และหลังจากเข้าร่วมอบรม 1 วัน ในครั้งนี้ จะปล่อยตัวกลับ และถือว่าคดีเลิกกัน

ต่อมาเวลาประมาณ  15.40 น. พล.ต.อำนวย จุลโนนยาง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 24 เดินทางมาเปิดการอบรมในครั้งนี้ พร้อมทหารในเครื่องแบบอีก 4 นาย ก่อนเริ่มการอบรม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อ่านคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ และแจ้งข้อกล่าวหาให้ชาวบ้านได้รับทราบว่า มีความผิดฐาน “มั่วสุมชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558”

จากนั้น พล.ต.อำนวย ได้ถามชาวบ้านว่า ใครเป็นคนชวนเข้าร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ จากนั้น พล.ต.อำนวย ได้กล่าวในทำนองว่า ชาวบ้านไม่รู้ว่า ถูกหลอกให้เข้าร่วม เช่นเดียวกับถูกหลอกให้ไปเผาศาลากลางเมื่อปี 2553 และยืนยันว่า หลังการอบรมในวันนี้ คดีจะจบ แต่ขอให้ทุกอย่างต้องสงบ ต้องเป็นไปตามโรดแมป โดยขอให้ชาวบ้านอย่าเพิ่งทำอะไร ให้ทำมาหากินเท่านั้น ถ้าถูกข่มขู่คุกคาม หรือเดือดร้อน อยากได้คนช่วยดำนาให้มาบอก จะจัดคนไปช่วย ก่อนจบการอบรมในส่วนของ ผบ.มทบ.24 พล.ต.อำนวย ได้สั่งตำรวจให้เร่งคดีอื่นๆ ให้เสร็จก่อนวันที่ 7 ส.ค. ถ้าติดคุกก็ให้ติดก่อน 7 ส.ค. ซึ่งเป็นวันลงประชามติ

นายอำเภอโนนสะอาดเป็นผู้อบรมคนต่อมา กล่าวขอร้องชาวบ้านว่าอย่าเพิ่งออกมาทำอะไร เพราะตอนนี้สถานการณ์ไม่ปกติ เมืองไทยบอบช้ำมามากแล้ว ไม่อยากให้มีสงครามกลางเมือง ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญควรอ่านเนื้อหาสาระก่อนไม่ใช่ว่าไม่อ่านแล้วไปรณรงค์ หากได้อ่านแล้วอาจจะบอกว่า เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงก็ได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานต่อว่า ตัวแทนชาวบ้านที่ถูกเรียกมาอบรม ชี้แจงในที่ประชุมว่า ไม่มีใครชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ชาวบ้านต้องการไปฟังเรื่องการลงประชามติเท่านั้นเอง และแกนนำก็ไม่ได้บอกว่า ไม่ให้ไปลงประชามติ

หลังเสร็จการอบรม เจ้าหน้าที่ได้ให้ทุกคนลงลายมือชื่อใน “บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือจะไม่เคลื่อนไหวหรือจัดกิจกรรมทางการเมือง ระหว่างกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดอุดรธานี กับ ผู้เห็นต่างทางการเมือง” โดยมีข้อตกลงว่า ทั้ง 19 คน จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง เข้าร่วมประชุม หรือจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ขัดต่อคำสั่งของหัวหน้า คสช. รวมทั้งจะไม่ชักชวนคนอื่นใส่เสื้อ หรือติดป้ายเครื่องหมายต่างๆ ที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็น เพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมืองโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวยินยอมถูกดำเนินคดี และระงับธุรกรรมทางการเงิน ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า จัดทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีและเข้ารับการอบรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการอบรมว่า เรายืนยันว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะการออกไปฟังเรื่องประชามติมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่กลับถูกเรียกมาอบรมและถูกตั้งข้อกล่าวหา 3/58 ซึ่งเราไม่เห็นด้วยเลย รู้สึกว่ามันเป็นการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เรารู้สึกอึดอัดเพราะประชาชนทำอะไรไม่ได้

พร้อมกันนี้ชาวบ้านคนเดิมยังเปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้าถูกเรียกมาอบรม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกมาสอบปากคำที่ สภ.โนนสะอาดแล้วประมาณ 3 ครั้ง เกี่ยวกับการเข้าร่วมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็มาแจ้งก่อนถูกเรียกมาอบรมแล้วว่า เราอาจจะถูกดำเนินคดี แต่เรายึดมั่นว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด จึงมาอบรมในครั้งนี้ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานเพิ่มเติมถึงกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่เป็นสาเหตุของคดีนี้ ว่า จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่บ้านหนองโก ต.บุ่งแก้ว อ.โนนสะอาด โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมใส่เสื้อสีดำที่มีสโลแกนของศูนย์ปราบโกงฯ ว่า “ประชามติต้อง…ไม่โกง ไม่ล้ม ไม่อายพม่า” ถ่ายรูปกับป้ายศูนย์ฯ เช่นเดียวกับในจังหวัดอื่นๆ  นอกจาก 19 คน ที่เข้ารับการอบรมนี้แล้ว ยังมีแกนนำและครอบครัวผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันอีก 4 คน ซึ่งทั้งสี่ให้การปฏิเสธ และ ผบ.มทบ.24 สั่งให้ตำรวจเร่งรัดคดีให้เสร็จก่อนวันลงประชามติ 7 ส.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของมวลชนเสื้อแดง 19 คนนี้ แม้เจ้าหน้าที่จะอาศัยเงื่อนไขตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 วรรค 2 ซึ่งระบุว่า ผู้กระทำความผิดมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไข ให้ถือว่าคดีเลิกกัน โดย ผบ.มทบ.24 ยืนยันว่า หลังเข้าร่วมอบรมประมาณครึ่งวันนี้แล้ว คดีจะจบ แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ทุกอย่างต้องสงบ ต้องเป็นไปตามโรดแมป นั่นก็คือ ข้อตกลงว่า มวลชนเสื้อแดงกลุ่มนี้จะไม่รวมตัวกันจัดกิจกรรมใดๆ อีก ซึ่งหากไม่เป็นไปตามนี้ ก็จะถูกดำเนินคดีทันที

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุด้วยว่า แม้ทหารซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์ในคดีนี้ จะทำให้เห็นว่า ไม่ต้องการให้มวลชนที่เป็นชาวบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าใจว่า ถูกแกนนำหลอกมา ต้องขึ้นศาลทหาร จากการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยใช้เงื่อนไขการเข้ารับการอบรมดังที่กล่าวมา แต่การดำเนินคดีที่ลัดขั้นตอน  โดยให้ลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่บอกให้อ่าน หรือแจ้งข้อหาให้ทราบก่อน และไม่ได้ถามว่า ผู้ต้องหาจะให้การอย่างไร แต่ให้เข้าอบรมเลย และแจ้งว่า เมื่ออบรมเพียงครึ่งวันแล้ว ถือว่าคดีเลิกกัน เท่ากับบีบให้ชาวบ้านยอมรับว่าตัวเองผิด และสมัครใจเข้ารับการอบรม ซึ่งง่ายกว่าการไปต่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในศาลทหาร

กรณีที่ทหารใช้เงื่อนไขให้คนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามตินี้ นอกจาก 19 ราย ที่จังหวัดอุดรฯ แล้ว ก่อนหน้านี้ มี 5 ราย ที่จังหวัดแพร่ และ 12 ราย ที่จังหวัดหนองบัวลำภู

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บ้านสมเด็จโพลล์ เผยคนกทม. ออกไปโหวต 55.6% รับ 33.7% ไม่รับ 30.2%

$
0
0

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ เผย คน กทม. จะไปออกเสียงประชามติ 55.6% ไม่ทราบว่ามีคำถามพ่วง ไม่ถึงครึ่ง 40.8% และคิดว่าจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 แค่ 1 ใน 3 หรือ 33.7%

20 ก.ค.2559 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,131 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 14 - 16 ก.ค. 2559 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

ผศ.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 หลังที่ราชกิจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดวันออกเสียงประชามติ โดยกำหนดให้วันที่ 7 ส.ค. 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติ และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ ดำเนินการประชาสัมพันธ์และการเตรียมการออกเสียงประชามติ ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่าจะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในวันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค. 2559 ร้อยละ 59.6 อันดับสองคือไม่ทราบ ร้อยละ 24.8 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 15.6

ในส่วนของความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 อยู่ ในระดับเข้าใจปานกลางเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 46.4 อันดับสองคือเข้าใจน้อย ร้อยละ 32.8 และอันดับที่สามคือ เข้าใจมาก ร้อยละ 20.8 และอยากให้สื่อมวลชนให้ข้อมูลเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ร้อยละ 54.4

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าไปออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 ร้อยละ 55.6 อันดับสองคือไม่แน่ใจ ร้อยละ 24.9 และอันดับที่สามคือ ไม่ไปออกเสียงประชามติ ร้อยละ 19.5 และคิดว่าจะศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ก่อนไปออกเสียงประชามติ  ร้อยละ 48.7

และในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ไม่ทราบว่ามีคำถามพ่วง ร้อยละ 40.8 อันดับสองคือทราบ ร้อยละ 31.9 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 27.3

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในการออกเสียงประชามติ ร้อยละ 33.7อันดับสองคือยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 36.1 และอันดับที่สามคือไม่เห็นชอบ ร้อยละ 30.2 ในส่วนของคำถามพ่วง ในการออกเสียงประชามติ อันดับแรกคือยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 39.1 อันดับสองคือ เห็นชอบ ร้อยละ 32.6 และอันดับที่สามคือไม่เห็นชอบ ร้อยละ  28.3


 

รายละเอียด : 

1.  ท่านทราบหรือไม่ว่าจะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 ทราบ ร้อยละ 59.6  ไม่ทราบ ร้อยละ 24.8 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 15.6

2.  ในปัจจุบันท่านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในระดับใด เข้าใจมาก ร้อยละ 20.8 เข้าใจปานกลาง ร้อยละ 46.4 เข้าใจน้อย ร้อยละ 32.8

3.  ท่านอยากให้สื่อมวลชนให้ข้อมูลเพื่อให้ท่านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 หรือไม่ อยาก ร้อยละ 54.4 ไม่อยาก ร้อยละ 21.1 ไม่แน่ใจ ร้อยละ       24.5

4.  ท่านคิดว่าท่านจะไปออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 หรือไม่ ไปออกเสียงประชามติ ร้อยละ 55.6 ไม่ไปออกเสียงประชามติ ร้อยละ 19.5 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 24.9 

5.  ท่านคิดว่าท่านจะศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ก่อนไปออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 หรือไม่  ใช่ ร้อยละ 48.7 ไม่ใช่ ร้อยละ 23.6 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 27.7

6.  ท่านทราบหรือไม่ว่าจะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มีคำถามพ่วงว่า ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ทราบ ร้อยละ 31.9 ไม่ทราบ ร้อยละ 40.8 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 27.3

7.  ท่านคิดว่าท่านจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในการออกเสียงประชามติ หรือไม่ เห็นชอบ ร้อยละ 33.7 ไม่เห็นชอบ ร้อยละ 30.2 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 36.1

8.  ท่านคิดว่าท่านจะเห็นชอบคำถามพ่วง ในการออกเสียงประชามติ หรือไม่ เห็นชอบ ร้อยละ 32.6 ไม่เห็นชอบ ร้อยละ  28.3 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 39.1

ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์

 

1. เพศ ชาย ร้อยละ 53.5 และ หญิง ร้อยละ 46.5

2. อายุ ต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 13.1, 20 – 25  ปี ร้อยละ 23.0,  26 – 30  ปี ร้อยละ 17.6, 31– 35  ปี ร้อยละ 14.5, 36 – 40  ปี ร้อยละ 14.6, 41 -  45 ปี ร้อยละ 7.3, 46-  50 ปี ร้อยละ 7.7,  มากกว่า 50 ปี  ร้อยละ 2.3

3. อาชีพ นักเรียน / นิสิต / นักศึกษา  ร้อยละ 28.8, ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 20.6 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 28.3,  นักธุรกิจ/เจ้าของกิจการส่วนตัว ร้อยละ 13.4 และแม่บ้าน ร้อยละ 8.8

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เด้ง ผกก.ขาณุวรลักษณ์บุรี เหตุไม่รายงานปมเด็กป.2 ฉีกบัญชีรายชื่อประชามติ-สั่งสอบข้อเท็จจริง

$
0
0

20 ก.ค.2559 พล.ต.ท.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 มีหนังสือคำสั่งให้ พ.ต.อ. อิทธิ ชำนาญหมอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 6 โดยให้ขาดจากตำแหน่งเดิม พร้อมสั่งการให้ตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาข้อบกพร่องข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้อง แล้วให้รายงานผลให้ตำรวจภูธรภาค 6 ทราบโดยเร็วที่สุด

มีรายงานว่า คำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีมีคนร้ายฉีกบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ หน่วยวัดหงษ์ทอง ต.สลกบาตร อ.ขาณุวรลักษบุรี แต่ ผกก.สภ.ขาณุวรลักษณ์บุรี ไม่มีการรายงานเหตุให้ผู้บังคับบัญชาทราบ โดยผู้บังคับบัญชาทราบเหตุดังกล่าวจากสื่อมวลชน ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองได้จับกุมเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวชิรสารศึกษา จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 2 คน กรณีฉีกบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ ที่ปิดประกาศไว้ภายบริเวณโรงเรียน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบปากคำแล้วเด็กทั้งสองคนรับสารภาพว่า มูลเหตุจูงใจในการฉีกบัญชีรายชื่อเนื่องจากเห็นว่าสีสวยเลยดึงมาฉีกเล่น จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าทำให้เสียทรัพย์ และดำเนินคดีตามกฏหมาย 

 

ที่มา สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นและผู้จัดการออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เธอ เสียงร้องที่ไม่ได้ยิน

$
0
0


ภาพจาก Hibr (CC BY-NC-SA 2.0)


จากทัศนคติ ค่านิยมที่ให้คุณค่าผู้ชายอยู่เหนือผู้หญิง หรือภรรยาเป็นสมบัติของสามี อีกทั้งคำสอนที่ว่า “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” คำพูดเหล่านี้ ทำให้การทำร้ายผู้หญิง ถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องน่าอับอาย ต้องปกปิด จนกลายเป็นวัฒนธรรมของการนิ่งเงียบ เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงจึงยังคงอยู่กับการถูกทำร้ายอย่างไม่สิ้นสุด ประเทศไทยได้รับปฏิญญาสากลว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งมีการนิยามความหมายของความรุนแรงต่อสตรี กล่าวว่า ”ความรุนแรงต่อสตรี หมายถึง การกระทำใดๆ ที่เป็นความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเป็นผลหรืออาจเป็นผลให้เกิดการทำร้ายร่างกายทางเพศ หรือทางจิตใจ เป็นผลทำให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันเสรีภาพทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว”
 
ประเทศไทยกับความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกี่ยวกับอคติทางเพศ จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2555 มีคดีเกี่ยวกับเพศ 3,572 ราย จับกุมได้ 2,371 ราย พบฆ่าข่มขืน 3 ราย ปี 2556 คดี เกี่ยวกับเพศ 3,276 ราย จับกุมได้ 2,030 ราย พบข่มขืนกระทำชำเราและฆ่า 4 ราย และ จากการทำงานให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการถูกล่วงละเมิดทางเพศของมูลนิธิเพื่อนหญิง รวบรวมไว้ตั้งแต่ปี 2556–2558 พบสถิติ ข้อมูล ความรุนแรงในครอบครัว 3,143 การละเมิดทางเพศ 979 ราย ท้องไม่พร้อม 373 ค้ามนุษย์ 15 ราย เงินสงเคราะห์ฉุกเฉิน 1,496 ราย รวมทั้งสิ้น 6,254 ทุกทุก 1 ชั่วโมงจะมีผู้หญิง 3 คน มาขอคำปรึกษาว่าถูกคุกคามทางเพศ และพบว่าร้อยละ 70 เป็นคนใกล้ชิด เพื่อนบ้านรู้จัก แฟน อดีตสามี สามี สมาชิกในครอบครัว เจ้านาย และเพื่อนร่วมงาน

ความเลวร้ายของสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง และเด็ก เมื่อดูสถิติข้างบนที่กล่าวมาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีสถิติลดน้องลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และถ้าจะกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมา ก็ยังมีกรณีผู้หญิง และเด็กที่ถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศอีกจำนวนมากที่ไม่กล้าออกมาแสดงตัวให้กับสังคมได้เห็น ถ้าไม่มีเหตุให้ค้นพบหรือเข้ามาขอความช่วยเหลือ

ในรอบ10 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นเหตุการณ์และภาพสะเทือนขวัญที่อยู่ตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์จำนวนหลายกรณี อาทิ เหตุการณ์การข่มขืนผู้หญิง และเด็ก บนรถไฟ ที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับการตัดสินลงโทษ และได้รับการเยียวยา หรือกรณีชายอุ้มเด็กหายไปจากหน้าสถานีรถไฟฟ้า เมื่อพบอีกทีก็กลายเป็นศพที่ถูกข่มขืน ซึ่งก็สามารถจับได้และมีการตัดสินลงโทษทางกฎหมายไปแล้ว

แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าความรุนแรงขั้นเลวร้ายจะเกิดกับผู้หญิงอีกครั้งหนึ่ง คือ กรณีการบุกเข้าไปในห้องพักข่มขืนแล้วฆ่าครูสาวอย่างโหดเหี้ยมในยามวิกาล จนเป็นข่าวสะเทือนขวัญและส่งผลกระทบด้านจิตใจ และความหวาดระแวงในความไม่ปลอดภัยของประชาชน จนมีกระแสประชาชนโหมกระหน่ำให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้หามาตรการการบังคับใช้กฎหมาย หรือการกระตุ้นปฏิรูปกลไกเครื่องมือที่กฎหมายมีอยู่ให้มาดูแล ความปลอดภัยชีวิตเด็ก และผู้หญิง โดยมีความเรียกร้องต้องการของประชาชนให้นายกรัฐมนตรีได้ใช้ ม.44 กับการลงโทษขั้นสูงสุดคือการประหารชีวิตกับฆาตกรที่ข่มขืนแล้วฆ่าผู้หญิงอันสะเทือนขวัญต่อประชาน ให้ตกตามกันไป แต่ก็มีประชาชนส่วนหนึ่งและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงรัฐบาล ที่มีมุมมอง ว่าการประหารชีวิตมิใช่หนทางแห่งการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน สงบสุขเพราะกฎหมายบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็มีอยู่แล้ว แต่ขาดการทำให้เข้มข้นและลงโทษอย่างจริงจัง อีกทั้งควรให้โอกาสกับผู้กระทำผิดที่มิได้ตั้งใจกระทำผิด ให้กลับตัวกลับใจโดยผ่านกลไกการช่วยเหลือเยียวยา ทั้งในระดับทัณฑสถาน และหน่วยงานรัฐ เอกชนทางสังคม เป็นต้น

มูลนิธิเพื่อนหญิง ในฐานะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานการช่วยเหลือเด็ก สตรี มากว่า 35 ปี มีข้อเสนอผ่านหนังสือต่อท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อการแก้ปัญหาเชิงรุก ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดและการคุกคามทางเพศ ในอันที่จะนำไปสู่ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน เนื้อตัวร่างกายของเด็กและสตรีอย่างยั่งยืนมีเหตุมีผล กล่าวคือ

หนึ่ง รัฐต้องให้กระบวนการยุติธรรมทุกกลไกใน คดีข่มขืนกระทำชำเราทุกกรณีต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและใช้บทกำหนดโทษในการลงโทษแก่ผู้กระทำผิดขั้นสูงสุด มิให้มีการลดโทษ และอภัยโทษ ไม่ว่าจะมีการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี หรือรับสารภาพด้วยยอมจำนนด้วยหลักฐานหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ กฎหมายมีกระบวนการขั้นตอนในการพิจารณาความผิด กรณีข่มขืนหนักเบาต่างกันไปตามการกระทำของผู้กระทำผิด

สอง กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ต้องเพิ่มและหามาตรการบำบัดฟื้นฟูจิตใจ และมาตรการ คุมประพฤติที่ได้มาตราฐานสากล ให้กับผู้กระทำความผิดทั้งช่วงที่อยู่ในขณะที่รับโทษ และ เมื่อได้รับการปล่อยตัว เพื่อป้องกัน การมากระทำความผิดแบบซ้ำซาก และจะต้องมีการทำรายงานแจ้งรายชื่อผู้พ้นโทษไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อ เตรียมความพร้อม ผู้เสียหาย ป้องกัน การถูกคุกคาม หรือ การกลับมาข่มขืนกระทำชำเราซ้ำต่อผู้เสียหาย

สาม ขอให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงพัฒนาสังคมฯ รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมปฏิรูปการควบคุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ล่วงละเมิดทางเพศ อนาจาร โดยใช้มาตรการทางสังคม เข้าบำบัด ฟื้นฟู ปรับฐานคิด สร้างจิตสำนึกให้ผู้กระทำความผิดได้กลับตัวกลับใจ เพื่อไม่ให้ออกมากระทำความผิด หรือก่อความเสียหายต่อชีวิตของเด็กสตรี

สี่ ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดกิจกรรม ที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างผู้เคยกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ ชุมชนและครอบครัว โดยเฉพาะองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ติดตามการดำเนินชีวิต อาชีพ โดยการรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐเป็นระยะๆ เพื่อประโยชน์ในการติดตาม วิถีการดำเนินชีวิตของผู้เคยกระทำความผิด และการให้ความช่วยเหลือครอบครัว เพื่อให้ สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นคนดีไม่ก่ออันตรายให้แก่สังคม

ห้าขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควบคุมให้การยอมความในชั้นสอบสวนเกิดขึ้นได้เมื่อผู้กระทำความผิดรู้สึกสำนึกผิดและแสดงหลักประกันให้เห็นว่าตนจะไม่กระทำความผิดซ้ำอีก ในทุกคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศและขอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานชำนัญพิเศษศูนย์พิทักษ์เด็กสตรีคดี เพศ ครอบครัว ค้ามนุษย์ ให้ขึ้นอยู่ภายใต้ การดูของ กองบังคับการทุกจังหวัด มีกำลังพลและอุปกรณ์ เพื่อการทำงาน และขอให้แต่งตั้ง พนักงานสอบสวนหญิง มารับผิดชอบงานในส่วนนี้ เนื่องจาก ผู้เสียหายส่วนมากเป็นเด็กและสตรี

จากสถานการณ์ปัญหา และข้อเสนอทั้ง 5 ประการ ที่เป็นแนวทางการแก้ปัญหา ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล อาจต้องเร่งนำข้อเสนอ ไปสู่การปฏิรูป ปฏิบัติอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม เสียงของเธอเหล่านั้นอยากบอกกับรัฐบาลว่า “ความหวังมีไว้หล่อเลี้ยงชีวิต ให้ก้าวไป เราหวังว่าพรุ่งนี้ต้องดีกว่า เมื่อเรามีสังคมที่ผู้หญิง และเด็ก ไม่ถูกทำร้าย”เธอเสียงร้องที่ไม่ได้ยิน จะต้องได้ยิน ไม่ว่าด้วยเพราะความมีอคติทางเพศ หรือความกลัวที่จะเข้าช่วยเหลือเพราะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวก็ตาม
                

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.แรงงานเผย มิ.ย.59 จ้างงานเพิ่มกว่า 2 แสนคนเมื่อเทียบปี 58

$
0
0

20 ก.ค.2559 ธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มุ่งเน้นให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่คนไทยทุกคนทุกก ลุ่มมีงานทำที่มั่นคง ภายใต้นโยบาย 3 โอกาส คือ โอกาสแรกคือ การตั้งต้น ทั้งด้านเงินทุน การจัดหาตำแหน่งงานรองรับ โอกาสที่สอง คือ การพัฒนาทักษะฝีมือ ทั้งในส่วนของกระทรวงดำเนินการเอง หรือร่วมกับภาคเอกชนในการฝึกทักษะตลอดจนร่วมมือกับนานาประเทศ และโอกาสที่สาม คือ การคุ้มครองเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตทีดีเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งจากการประสานความร่วมมือในทุกฝ่าย ทำให้สถานการณ์การจ้างงงานเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่เข้าสู่ ระบบประกันสังคม โดยเข้าทำงานในสถานประกอบการ (มาตรา 33) ในเดือนมิ.ย. 59 มีจำนวน 10,377,038 คน เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. 59  ที่มีจำนวน 10,347,954 คน  จำนวนถึง 29,084 คน และหากเทียบกับเดือนมิ.ย. 58 ที่มีแรงงานทำงานในสถานประกอบการ จำนวน 10,118,561 คน จะเพิ่มขึ้นถึง 258,477 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนอื่น ๆ ในปี 2559 ตั้งแต่ ม.ค. – พ.ค. ยอดจ้างงานเดือนมิ.ย. จะมีจำนวนแรงงานที่เข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการสูงสุด โดย ม.ค. มี 10,314,551 คน ก.พ. มี 10,348,753 คน มี.ค. (ซึ่งทุกปีจะมียอดจ้างงานสูงขึ้นเนื่องจากมีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่การทำงาน) มีจำนวน 10,365,424 คน เม.ย. 10,338,067 คน และเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันในรอบ 6 เดือนในปี 2559 (ม.ค.-มิย.59)กับปี 2558(มค.-มิย.58) พบว่าผู้ประกันตนเข้าทำงานในสถานประกอบการปี 2559 สูงกว่าปี 58 เฉลี่ยเดือนละกว่า 280,000 คน แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนอื่นๆทีมีความต้องการแรงงานอยู่จำนวนมาก

ธีรพล กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังเน้นย้ำให้แรงงานที่จบใหม่ หรือแรงงานที่ทำงานอยู่เดิมต้องพัฒนาทักษะฝีมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่แท้จริงโดยเฉพาะปัจจุบันภาคบริการยังขาดอยู่มาก อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งอัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับการพัฒนาทักษะอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีไว้แล้วด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต่อไป

ขณะที่ สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยสถิติแรงงาน เดือน พ.ค. 2559  ระบุว่ามี ผู้ว่างงานจํานวน 4.53 แสนคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2)  มีกําลังแรงงานประมาณ 37.77 ล้านคน เป็นผู้มีงานทํา 36.81 ล้านคน และผู้รอฤดูกาล 5.02 แสนคน

 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนไทยในญี่ปุ่นชูป้าย ประกาศไม่รับร่างรธน. ประณามตีตรวนนักศึกษา

$
0
0

20 ก.ค.2559 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลา 11.00 น. (เวลาท้องถิ่น) ที่หน้ากระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น ชาวไทยในญี่ปุ่นในนาม UDD Japan จำนวนประมาณ 35 คน รวมตัวกันชุมนุมประท้วงรัฐบาล คสช. โดยระบุว่า คสช.ได้คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนตลอดมา นับแต่ได้เข้ามายึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยกลุ่ม UDD Japan ได้ประณามการตีตรวนนักศึกษาที่ออกมารณรงค์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญขณะออกศาลเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน และทางกลุ่มยังได้ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโดยระบุว่าเหตุผลหลักของการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเพราะอำนาจสูงสุดไม่ได้เป็นของประชาชน

กิจกรรมมีการชูป้ายประท้วง ข้อความ “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทยทุกคน ประชาธิปไตยต้องมาจากประชาชนทุกคน” “คสช.ออกไป” เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการปราศรัยประกาศจุดยืนไม่รับรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งชักชวนให้ครอบครัวในเมืองไทยช่วยกันออกไปกา Vote NO ในวันลงประชามติด้วย

เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้มาดูแลให้การชุมนุมอยู่ในบริเวณตามที่ได้รับอนุญาต หลังจากถือป้าย ปราศรัย และเปล่งเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นเวลา 30 นาทีทางกลุ่มก็ได้ยุติการชุมนุมตามที่ได้แจ้งไว้ต่อเจ้าหน้าที่และแยกย้ายกันเดินทางกลับ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จนท.ตามค้นบ้านเสื้อแดงหลายจังหวัดภาคเหนือ หามือมืดส่ง จม.บิดเบือนร่าง รธน.

$
0
0

20 ก.ค.2559 ศูนย์ข่าวภาคเหนือ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า หลังมีการลักลอบส่งจดหมายบิดเบือนรัฐธรรมนูญในหลายจังหวัดภาคเหนือทั้งเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ในช่วงที่ผ่านมามากกว่า 1 หมื่นฉบับ ต่อมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในแต่ละพื้นที่ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน พร้อมเข้าตรวจค้นบ้านแกนนำเสื้อแดง นปช.ในแต่ละพื้นที่ หาตัวมือมืดที่ลอบส่งจดหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการตรวจค้นบ้านพักแกนนำ นปช.เชียงใหม่-ชมรมคนรักประชาธิปไตย จ.เชียงใหม่ ที่เป็นแกนนำร่วมกับนักการเมืองในพื้นที่เชียงใหม่ เปิดศูนย์อบรมสื่ออาสาให้สมาชิก นปช.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา
       
ส่วนที่จังหวัดลำปาง มีรายงานว่า ร.อ.พสธร ถานี รอง ผบ.ร้อยสารวัตรทหาร มทบ.31 ลำปาง ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ร่วมกับ พ.ต.ต.สมชาย ก้านชมภู สารวัตรสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง เข้าตรวจค้นที่บ้านของนายรัชชานนท์ รอดฉวาง หนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดงคนสำคัญของลำปาง เมื่อ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย หรือหลักฐานใด
       
โดยเจ้าหน้าที่ได้ขอความร่วมมือให้ รัชชานนท์พิมพ์ลายนิ้วมือที่ สภ.ห้างฉัตร อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เพื่อนำลายนิ้วมือที่ได้ทั้ง 10 นิ้ว และฝ่ามือ ไปตรวจสอบเทียบกับลายนิ้วมือแฝงที่อยู่บนซองจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ
       
อย่างไรก็ตาม รัชชานนท์ ได้กล่าวกับเจ้าหน้าที่ว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรู้เห็นต่อการส่งจดหมายบิดเบือนในครั้งนี้
       
วันเดียวกัน พ.อ.เมธา ณ พิกุล รอง เสธ.มทบ.32 ก็ได้ร่วม จนท.ตร.สภ.เมืองลำปาง, จนท.สห.มทบ.32 เข้าตรวจสอบ หาหลักฐาน และพิมพ์ลายนิ้วมือนางธมลวรรณ จินากุล หรือเจ๊เพ็ญ แกนนำเสื้อแดงอีกราย พร้อมทดสอบถ่ายเอกสารกับเครื่องถ่ายเอกสารภายในร้าน จำนวน 2 เครื่อง เพื่อหาข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งนางธมลวรรณได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งจดหมายบิดเบือนรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
       
ขณะที่จังหวัดแพร่ เจ้าหน้าที่พบว่าผู้ใช้เฟซบุ๊ก “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ได้มีการโพสต์ข้อความไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติว่า “ภาพแอคชั่นสวยๆ จากแคมเปญ Vote NO และ Say NO จากพี่น้องรักประชาธิปไตย อ.ลอง จ.แพร่ ช่วยกันเผยแพร่ประชาธิปไตย ไม่เอารัฐธรรมนูญที่ปิดหูปิดตาปิดปากประชาชน จำง่ายๆ เข้าคูหา กาไม่รับทั้งสองช่องนะจ้าววววว” เมื่อบ่ายวานนี้ (19 ก.ค.) โดยอ้างประชาชนในพื้นที่ จ.แพร่ เป็นแนวทางในการเคลื่อนไหวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 59 ที่จะมีการลงประชามติใน 7 ส.ค. 59


       

ต่อมา การัณย์ เกื้อวันชัย นายอำเภอลอง จ.แพร่ สั่งการให้ ประกอบ ค้าไม้ ปลัดอำเภอ หน.ฝ่ายความมั่นคง ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า บุคคลในภาพซึ่งมีจำนวน 9 คน ส่วนใหญ่เป็นราษฎรบ้านหาดผาคัน หมู่ 8 ต.ทุ่งแล้ง อ.ลอง จ.แพร่ แต่มีบุคคลที่อยู่ในพื้นที่เพียง 4 คนเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้เดินทางไปชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร ในวันพรุ่งนี้ (21 ก.ค.) ณ ที่ว่าการ อ.ลอง จ.แพร่ เพื่อทำบันทึกข้อตกลงไม่ให้กระทำการในลักษณะดังกล่าวอีกต่อไป 

ที่มา เฟซบุ๊ก ฟอร์ด เส้นทางสีแดง 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารไหว้ปชช.ถึงบ้าน ดีเจลายพราง ชวนคนไปโหวต ด้านเพื่อไทยจี้กกต.-รบ.เร่งรณรงค์

$
0
0

20 ก.ค.2559 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่า จิรายุ ห่วงทรัพย์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีจาก วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่า ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา ได้ขอเรี่ยไรเงินเพื่อจัดทำป้ายรณรงค์ประชามติ 7 สิงหาคมนั้น ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะเป็นตามที่ วัชระ ได้ระบุไว้ แต่เมื่อสำรวจในพื้นที่เห็นป้ายในลักษณะดังกล่าวและด้านใต้ป้ายมีการลงชื่อบริษัทห้างร้าน จึงอยากให้รัฐบาลควรดูแลและทำให้ชัดเจนว่าเรื่องดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่ 

นอกจากนี้ ควรมีงบประมาณให้กับพื้นที่ ไม่ใช่ให้พื้นที่หางบประมาณดำเนินการเอง ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะใส่ชื่อบริษัทห้างร้านลงในป้ายประชาสัมพันธ์ 7 ส.ค. เพราะจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีในการประชาสัมพันธ์เรื่องสำคัญของชาติ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวขอเรียกร้องให้รัฐบาล และคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เร่งดำเนินการจัดงบประมาณรณรงค์ในช่วงโค้งสุดท้ายเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารและไปลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ในฐานะเจ้าของประเทศผู้เสียภาษีให้กับรัฐบาล

ที่มาเฟซบุ๊ก 'Wassana Nanuam'

ขณะที่ วาสนา นาน่วม โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Wassana Nanuam' ในลักษณะสาธารณะ ซึ่งเป็นภาพกิจกรรมการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การทำประชามติของเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งกรณีเดินไปเชิญชวนถึงบ้านประชาชน ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ รวมทั้งการจัดรายการวิทยุที่จังหวัดสมุครสงคราม ด้วย

 

ที่มาเฟซบุ๊ก 'Wassana Nanuam'

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตุรกีโมเดล ล่าสุดกวาดล้างผู้ต้องสงสัยหนุนรัฐประหารแล้วกว่า 5 หมื่น

$
0
0

บีบีซีไทย รายงาน จำนวนของผู้ที่ทางการตุรกีเข้าจับกุม สั่งปลด หรือสั่งพักงาน เพราะต้องสงสัยว่าพัวพันกับการก่อรัฐประหาร พุ่งขึ้นสูงถึงกว่า 50,000 รายแล้ว 

 

รถถังจอดทิ้งไว้หลังทำรัฐประหารล้มเหลวที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อ 16 ก.ค. 2559 (ที่มา: PROEser Karadağ/Flickr/CC BY-ND 2.0)

 

20 ก.ค. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา เกิดความพยายามทำรัฐประหารของทหารตุรกีเพื่อล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีไทยิบ เออร์โดกัน โดยกลุ่มที่ทำรัฐประหารใช้ชื่อคณะว่า "สภาสันติภาพ" (Peace Council) แต่ได้ไม่ประสบความสำเร็จนั้น
 
ล่าสุดวันนี้ (20 ก.ค.59) บีบีซีไทย - BBC Thaiรายงานว่า จำนวนของผู้ที่ทางการตุรกีเข้าจับกุม สั่งปลด หรือสั่งพักงาน เพราะต้องสงสัยว่าพัวพันกับการก่อรัฐประหาร พุ่งขึ้นสูงถึงกว่า 50,000 รายแล้ว หลังจากผู้นำตุรกีประกาศจะขุดรากถอนโคน “กลุ่มก่อการร้าย” ซึ่งนำโดย เฟตุลลาห์ กูเลน ผู้นำทางศาสนาซึ่งขณะนี้ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯ
 
ทางการยังมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการของสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ 24 แห่งในวันนี้ (20 ก.ค.) โดยเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายของ กูเลน เช่นกัน การเดินหน้ากวาดล้างฝ่ายตรงข้ามครั้งใหญ่ของรัฐบาลตุรกีในครั้งนี้ ทำให้ประชาคมนานาชาติเป็นกังวล โดยก่อนหน้านี้สหประชาชาติได้เรียกร้องให้ตุรกียึดถือกฏหมายเป็นหลักและปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) เตือนเรื่องที่ตุรกีจะรื้อฟื้นการใช้โทษประหารว่า อาจส่งผลให้การเจรจาเข้าเป็นสมาชิกอียูยุติลงได้

นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่ทหารกลุ่มหนึ่งพยายามเข้ายึดอำนาจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลตุรกีได้ดำเนินการกวาดล้างกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่คาดว่าสนับสนุนการรัฐประหารดังกล่าวไปแล้วดังนี้

สั่งปลดครูอาจารย์ 15,200 ราย และห้ามนักวิชาการเดินทางออกนอกประเทศ มีคำสั่งให้คณบดีในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ 1,577 คนลาออก ปลดเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย 8,777 คน ปลดเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง 1,500 คน ปลดเจ้าหน้าที่ประจ สำนักนายกรัฐมนตรี 257 คน จับกุมทหาร 6,000 คน ปลดเจ้าหน้าที่ตำรวจ 9,000 คน และระงับการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษา 3,000 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘เครือข่ายกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย’ แถลงรอบ 2 จี้คสช.บอกขั้นต่อไปหากร่าง รธน.ไม่ผ่าน

$
0
0




ภาพจากเพจ Banrasdr

 

20 ก.ค.2559 เครือข่ายประชาสังคมและนักวิชาการจากหลายสถาบัน ในนาม “เครือข่ายกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย” รวบรวมรายชื่อจากเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งพรรคการเมืองหาจุดร่วมเพื่อเรียกร้องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่โปร่งใส เปิดพื้นที่แสดงความเห็น และที่สำคัญต้องมีการบอกให้ชัดเจนว่าหากประชามติไม่ผ่านจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นอกจากนี้เครือข่ายยังมีการออกคำแถลงฉบับที่ 2 ด้วย (อ่านคำแถลงฉบับแรก)

โดยมีผู้สนับสนุนลงนามในคำแถลง 117 คน กับอีก 17 องค์กร นอกจากนี้ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่เห็นด้วยกับหลักการสามารถลงชื่อสนับสนุนผ่าน change.org ในข้อเรียกร้อง “ประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรม เป็นที่ยอมรับครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งในเนื้อหาและกระบวนการ” ด้วย

คำแถลงฉบับที่ 2 ระบุดังนี้

1. ให้ความเคารพในสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยต้องเปิดให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้ถกแถลงด้วยข้อมูลที่ ถูกต้อง ครบถ้วนและรอบด้าน เอื้อให้มีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายเพื่อการแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์

2. จำเป็นต้องมีการเสนอทางเลือกที่ชัดเจนให้กับประชาชน ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ว่ามีกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรต่อไป

3. ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติควรมีกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากฉันทามติผ่านกลไกที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการและกำหนดหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยเป็นไปตามกรอบเวลาที่มีการประกาศไว้ใน roadmap สู่การเลือกตั้งและตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

4. หากหลักการตามข้อเรียกร้อง ข้อ 1 – ข้อ 3 ที่กล่าวมาข้างต้นเกิดขึ้นจริง ทุกกลุ่มทุกฝ่ายควรยอมรับ ในผลของการทำประชามติโดยร่วมกันส่งเสริมให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในสังคม

5. รัฐธรรมนูญที่จะได้มานั้นควรมีหลักการสำคัญ อาทิการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของ ประชาชนในด้านต่างๆ ที่ไม่ถดถอยไปจากเดิม การตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจอธิปไตยของ กลไกทางการเมืองที่มีความสมดุล การกำหนดให้มีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มีความพร้อมในการจัดการตนเอง การกำหนดมาตรการในการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น และมาตรการในการป้องกันความขัดแย้งไม่ให้ขยายผลไปสู่การใช้ความรุนแรง รวมทั้งมีบทบัญญัติที่เอื้อให้สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ยากเกินไป เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และ ความเปลี่ยนแปลงของสังคมตามความจำเป็นและตามกรอบของกฎหมาย

“ถ้าวันที่ 7 สิงหาคมไม่สามารถทำให้มั่นใจได้ว่า การลงประชามติมีความหมาย ประชาชนรับรู้ข้อมูลมากพอ เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมากพอ จึงขอเสนอให้เลื่อนการทำประชามติ เลื่อนจนกว่าจะเกิดความมั่นใจได้ว่า มีประชาธิปไตยในกระบวนการของการลงประชามติ ถึงจะทำให้คะแนนเสียง ความเห็นของประชาชนมีความหมาย เพราะไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นเพียงพิธีกรรม ไม่มีประโยชน์ แล้วจะนำไปสู่ความขัดแย้งหลังการลงประชาติ หรือหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ” นายอนุสรณ์ ธรรมใจ หนึ่งในผู้ร่วมแถลงข่าวกล่าวถึงข้อเสนอส่วนตัว

ด้าน นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรธ.ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเข้าร่วมเวทีดีเบตผ่านสถานทีโทรทัศน์ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดขึ้นหรือไม่ และยังไม่ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการจาก กกต.ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาในที่ประชุมวันศุกร์นี้

 

รายนามองค์กรที่ลงนามสนับสนุนคำแถลง

1. สภาองค์กรชุมชน ต.ทะนง อ.โพทะเล จ.พิจิตร
2. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
3. สมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม
4. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35
5. ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (We Move)
6. ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD)
7. เครือข่ายคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น ประจวบคีรีขันธ์ระนอง
8. เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดพังงา
9. เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลราชธานี
10. เครือข่ายชาวเลอันดามัน
11. กลุ่มรักษ์เชียงของ
12. เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
13. เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต
14. เครือข่ายประชาสังคมนราธิวาส
15. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
16. มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (PNET)
17. มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม

รายนามบุคคลที่ลงนามสนับสนุนคำแถลง

1. ศ. สุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. รศ.ดร. ชยันต์วรรธนะภูติ คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. รศ.ดร. โคทม อารียา
4. ศ.ดร. สุรชาติบำรุงสุข อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. รศ.ดร. วิชัย กาญจนสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
6. รศ.ดร. ณฐพงศ์จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
7. นายสมชาย หอมลออ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
8. นพ. นิรันดร์พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
9. นายชำนาญ จันทร์เรือง เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง
10. นายประพจน์ศรีเทศ กรรมการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
11. สมณะดาวดิน ปฐวัตโต นักบวชสันติอโศก
12. นายณรงค์จันทร์เรือง นักวิชาการ
13. นายณรงค์ชื่นชม สื่อมวลชนอาวุโส
14. นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา
15. นายไพโรจน์พลเพชร นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และอดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
16. นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา
17. นายศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการอิสระ
18. ดร. เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
19. ดร. สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก
20. ผศ.ดร. อนุสรณ์ธรรมใจ อดีตผู้บริหารสถาบันการเงินและอดีตกรรมการธนาคาร แห่งประเทศไทย
21. ผศ.นพ.พรเลิศ ฉัตรแก้ว คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
22. รศ.ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
23. ดร. กิตติลิ่มสกุล นักวิจัยอาวุโส มหาวิทยาลัยไซตามะ
24. นางสุนีไชยรส นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน
25. นายสมเกียรติบุญชู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
26. ผศ.ดร. นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
27. รศ.ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
28. ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม (GSEI)
29. ดร. เอกพันธุ์ปิณฑวณิช รักษาการแทนผู้อำนวยการ สถาบันสิทธิมนุษยชนและ สันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
30. ผศ.ดร. ภูมิมูลศิลป์ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
31. นายสุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง สถาบันสร้างอนาคตไทย
32. นายสุณัย ผาสุข นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน
33. นายมนต์ชีพ ศิวะสินางกูร ศิลปิน
34. นายดวงฤทธิ์บุนนาค สถาปนิก
35. นายสุหฤท สยามวาลา
36. นายประธาน ธีระธาดา บรรณาธิการบริหารนิตยสาร art4D
37. นายวิชญ์พิมพ์กาญจนพงศ์
38. นายฟูอาดี้พิศสุวรรณ
39. นายบุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติสื่อมวลชนอิสระ
40. ดร. กฤษฎา บุญชัย รองเลขาธิการ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
41. นายวชิระ รักษพันธุ์
42. นายนพปฎล ปิติวงษ์
43. นายภานุภณ ภูสินพิโรดม
44. นางสาวอาภาภรณ์แสวงพรรค
45. นางสาวพรสุรีย์พันธุ์เรือง
46. นายสุรินทร์ไชยชุมศักดิ์
47. นายสาธิต ชีวประเสริฐ
48. นายวิทย์ประทักษ์ใจ นักวิชาการ
49. นายกุลวิชญ์สำแดงเดช สื่อมวลชน
50. นางสาวฐิตินบ โกมลนิมิ
51. นางสาวกรรณิการ์กิจติเวชกุล กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
52. นายขดดะรีบินเซ็น ประธานสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้
53. นายอนันทชัย วงศ์พยัคฆ์ เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์
54. น.ส.มาซีเต๊าะ หมันหล๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
55. นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรี
56. นายบัญญัติบรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
57. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์
58. นายเกียรติสิทธีอมร
59. นายไกรศักดิ์ชุณหะวัณ
60. ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
61. นายธนา ชีรวินิจ
62. นายสาธิต ปิตุเตชะ
63. ดร. รัชดา ธนาดิเรก
64. นายสมศักดิ์ปริศนานันทกุล
65. นายนิกร จำนง
66. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี
67. พล.ต.ท. วิโรจน์เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
68. นายวันมูหะมัดนอร์มะทา อดีตประธานรัฐสภา
69. รศ.ดร. โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา
70. ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี
71. นายภูมิธรรม เวชยชัย
72. คุณหญิงสุดารัตน์เกยุราพันธุ์
73. นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา
74. นายจาตุรนต์ฉายแสง
75. รศ. ชูศักดิ์ศิรินิล
76. นายสุรพงษ์โตวิจักษณ์ชัยกุล
77. ศ. พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ
78. นายวัฒนา เมืองสุข
79. น.อ.อนุดิษฐ์นาครทรรพ
80. นายสุรนันทน์เวชชาชีวะ
81. ดร. ภูวนิดา คุนผลิน
82. นายนัจมุดดีน อูมา
83. ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต
84. นายนิติรัตน์ทรัพย์สมบูรณ์ กรรมการกลุ่มเพื่อนประชาชน
85. นายวสันต์สิทธิเขตต์ ศิลปิน
86. นางสาววรรณพร ฉิมบรรจง ผู้อำนวยการ Rebel Art Space
87. นางปรีดา คงแป้น มูลนิธิชุมชนไท
88. นายไมตรีจงไกรจักร์ เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ
89. นางสมศรีหาญอนันทสุข
90. นายธาตรี ฝากตัว
91. นายบำเพ็ญ กุลดิลกชัย
92. นางสาววิไลลักษณ์หวังธนาโชติ
93. นางพะเยาว์อัคฮาด
94. ดร. ธนพฤกษ์ชามะรัตน์ อาจารย์สาขาวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
95. นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครอง สิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ(สคส.)
96. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
97. นายสมบูรณ์คำแหง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนา เอกชนภาคใต้
98. นางภรภัทร พิมพา ผู้อำนวยการ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครอง สิ่งแวดล้อม ฯ (สคส)
99. นายบุญยืน วงศ์สงวน โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท
100.นายณัฐวุฒิอุปปะ ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
101.นายประสิทธิ์บึงมุม ผู้อำนวยการสถาบันรักษ์ถิ่นกำแพงเพชร
102.นายมานพ สนิท กรรมการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครอง สิ่งแวดล้อม ฯ (สคส.)
103.นายอนัน จันทราภิรมย์ เครือข่ายประชาคมฅนกำแพง
104.นายเอกชัย อิสระทะ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิจ.สงขลา
105.นายธนาเทพ วันบญ นายกสมาคมนักวิทยุชุมชนเพื่อประชาสังคมจังหวัดพิจิตร
106.นายดิชฐ์พิเชษ สุวรรณโพธิ์ นายกสมาคมเครือข่ายกองทัพสีเขียวด้วยชีวิตพอเพียง
107.นายประวีณ จุลภักดี ประธานมูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต
108.นายอกนิษฐ์ป้องภัย ศูนย์ส่งเสริมศักยภาพประชาชนนครราชสีมา
109.นายกฤษณะเดช โสสุทธิ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม จังหวัดเลย
110.นายธนูแนบเนียร องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อันดามัน
111.นายรณชัย ชัยนิวัฒนา สถาบันสร้างเสริมการจัดการทรัพยากรชุมชน
112.นายไชยา กวีวัฒนะ
113.นายชาญยุทธ เทพา
114.นายสมชาย กระจ่างแสง
115.นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ชมรมแพทย์ชนบท
116.นายนิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์
117.นายพฤ โอ่โดเชา ประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เคล็ดลับความสำเร็จ การลดระดับการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศอังกฤษ

$
0
0

ที่มาของความสำเร็จการลดปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไม่ได้มาจากความเคร่งครัดทางศีลธรรมแต่อย่างใด แต่มาจากระบบที่ดีคือการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาและความสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับวัยรุ่น ไม่ด่วนตัดสินหรือตีตราพวกเขา รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขการเจริญพันธุ์ได้

ที่มาของภาพประกอบ: MarijoAH12/Wikipedia

20 ก.ค. 2559 จากที่อังกฤษเคยมีระดับการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงมากจากการสำรวจในปี 2541 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันตก แต่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษก็เปิดเผยข้อมูลว่ามีจำนวนผู้ตั้งครรภ์ในขณะยังเป็นวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี น้อยลงมาก จนถือเป็นความสำเร็จของการสาธารณสุข โดยเดอะการ์เดียนระบุว่าความสำเร็จในเรื่องนี้มาจากการให้การศึกษาเรื่องเพศและความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพรวมถึงบริการสาธารณสุขที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น

อลิสัน แฮดลีย์ ผู้อำนวยการโครงการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการตั้งครรภ์จากมหาวิทยาลัยเบดฟอร์ดเชอร์ กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นผลมาจากการวางนโยบายในระยะยาวของรัฐบาลพรรคแรงงานตั้งแต่ปี 2542 ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคและพัฒนาการที่ช้าในช่วงเริ่มแรกก็ตาม แต่ในการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่าชาวอังกฤษอายุ 25 ปี ลงไปมีอัตราการตั้งครรภ์น้อยลงและคนอายุ 15-19 ปี มีอัตราการให้กำเนิดเพียง 14.5 ต่อการให้กำเนิด 1,000 ราย

แฮดลีย์กล่าวว่าพวกเขาเล็งเห็นว่าปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีความคาบเกี่ยวกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสาธารณสุข การศึกษา สวัสดิการสังคม และสวัสดิการคนหนุ่มสาว มีการให้การศึกษาวัยรุ่นในเรื่องเพศศึกษาและความสัมพันธ์โดยที่มีทีมงานเป็นมิตรกับวัยรุ่นและไม่ด่วนตัดสินพวกเขา ทำให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เมื่อพร้อมและสามารถคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลิซา ฟอนทาเนลล์ เป็นพี่เลี้ยงการศึกษา (peer mentor) ให้กับองค์การการกุศลบรูกเพื่อสุขภาวะการเจริญพันธุ์ตั้งแต่เธออายุ 14 ปี จนถึงปัจจุบันอายุได้ 20 ปี เธอบอกว่าสาเหตุหลักๆ ของปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมาจากเรื่องทางวัฒนธรรม การขาดการศึกษา และการตีตราทางสังคม ยังมีคนที่เชื่อว่าถ้าหากให้การศึกษาเรื่องเพศและความสัมพันธ์กับวันรุ่นแล้วพวกเขาจะเลยเถิดควบคุมไม่ได้

สำหรับฟอนทาเนลล์แล้วมีสองปัจจัยสำคัญที่ทำให้ในแต่และพื้นที่ของอังกฤษประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ต่างกัน หนึ่งคือ เรื่องการให้โรงเรียนสอนเรื่องเพศศึกษาและความสัมพันธ์เป็นวิชาบังคับ สองคือ การที่พ่อแม่ให้ความร่วมมือด้วย

ฟอนทาเนลล์ตั้งข้อสังเกตจากการสำรวจความคิดเห็นวัยรุ่นในมณฑลเคนต์ระบุว่าเรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่คือเรื่องการยินยอมพร้อมใจ วั่ยรุ่นทั้งหญิงและชายต่างก็ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขามีสิทธิที่จะปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ได้ พวกเขายังรู้สึกอายด้วยเวลาที่จะซื้อหาถุงยางอนามัย

เทศมณฑลคอร์นวอลล์ก็เป็นอีกที่หนึ่งที่มีโครงการให้การศึกษาในเรื่องเพศศึกษาและความสัมพันธ์ อเล็กซา เกนส์บิวรี ผู้ประสานงานด้านการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและสุขภาวะการเจริญพันธุ์กล่าวว่าพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากการเมืองในทุกระดับทำให้พวกเขาสามารถท้าทายสภาพเดิมและนำเสนอการศึกษาและโครงการใหม่ๆ ให้วัยรุ่นได้ เกนส์บิวรีบอกอีกว่าคนหนุ่มสาวมีความกระหายใคร่รู้ข้อมูลมากทำให้พวกเขาทราบว่าปัญหาจริงๆ แล้วคือวัยรุ่นเข้าถึงข้อมูลที่พวกเขาต้องการได้ยาก

อีกปัจจัยหนึ่งคือเรื่องของการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของวัยรุ่น แคลร์ เมอร์ฟี ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการภายนอกของน่วยบริการให้คำปรึกษาด้านการตั้งครรภ์ของอังกฤษกล่าวว่ามีการให้บริการเข้าถึงการคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินซึ่งยังเน้นเฉพาะกับวัยรุ่นมากเกินไป โดยที่สภาพความยากลำบากของชีวิตสมัยใหม่ควรทำให้คนหนุ่มสาวช่วงวัยอื่นๆ ควรสามารถควบคุมการเจริญพันธุ์ของตัวเองได้ด้วย อีกทั้งการคุมกำเนิดฉุกเฉินควรจะเข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้หญิงโดยไม่มีอะไรคอยปิดกั้น ซึ่งจะทำให้การคุมกำเนิดเป็นเรื่องง่ายและปลอดภัย

เรียบเรียงจาก

How the UK halved its teenage pregnancy rate, The Guardian, 18-07-2016 https://www.theguardian.com/society/2016/jul/18/how-uk-halved-teenage-pregnancy-rate-public-health-strategy

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images