Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live

Vox คุยกับนักวิชาการผู้ศึกษา 'รัฐประหาร' เหตุใดรัฐประหารในตุรกีถึงล้มเหลว

$
0
0

เว็บไซต์ข่าว Vox นำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับความล้มเหลวของการทำรัฐประหารในตุรกีเมื่อวันที่ 15-16 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยตั้งคำถามสองคำถามใหญ่ๆ ว่าเหตุใดการรัฐประหารในตุรกีถึงล้มเหลว และจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับตุรกีหลังจากนี้

บทวิเคราะห์ของ Vox โดยแซค บีชัม สอบถามประเด็นเหล่านี้จาก เนานิฮาล สิงห์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้เขียนหนังสือที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการพยายามทำรัฐประหารทั่วโลกหลายร้อยครั้งชื่อ "Seizing Power" สิงห์กล่าวว่าปัจจัยที่ทำให้การรัฐประหารในตุรกีครั้งล่าสุดล้มเหลวไม่ได้มาจากปัจจัยเรื่องความเข้มแข็งของกองทัพฝ่ายที่วางแผนทำรัฐประหารหรือการสนับสนุนจากภายในกองทัพเอง แต่มาจากการขาดความสามารถในการทำให้เห็นว่าการรัฐประหารของพวกเขาจะสัมฤทธิ์ผลซึ่งมักจะมาจากการประกาศผ่านทางสื่อ

สิงห์ตั้งข้อสังเกตว่าการพยายามทำรัฐประหารในครั้งนี้เป็นการที่ฝ่ายผู้ก่อรัฐประหารไม่ได้ใช้กำลังอย่างเต็มที่เพราะต้องการอำนาจควบคุมสังคมที่มีเสถียรภาพมากกว่าจะพยายามทำให้เกิดความรุนแรง การแพ้ชนะของรัฐประหารในตุรกีจึงเป็นเรื่องของการพยายามนำเสนอภาพว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะมากกว่า นอกจากนี้ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่ในกองทัพตุรกีจะพยายามทำตัวอยู่ตรงกลาง ไม่เลือกข้างจนกว่าจะรู้ว่าข้างใดจะเป็นฝ่ายชนะ

อีกปัจจัยหนึ่งจากความคิดเห็นของสิงห์คือการที่ประธานาธิบดีเออร์โดกันยังสามารถแถลงการณ์ผ่านสื่อต่อต้านการรัฐประหารไว้ได้ถึงแม้ว่าจะใช้เครื่องมือที่ดูตลกๆ อย่างโปรแกรมสไกป์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่ฝ่ายผู้ก่อรัฐประหารไม่มีความสามารถในการส่งสารของพวกเขา ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยึดกุมสื่อบางแห่งได้เช่น ซีเอ็นเอ็นตุรกี แต่พวกเขาก็ไม่สามารถแพร่กระจายข้อความได้อย่างมีประสิทธิภาพ เซย์เนป ตูเฟคซี ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาผู้ที่อยู่ในตุรกีช่วงที่มีการพยายามก่อรัฐประหารกล่าวว่า ฝ่ายผู้ทำรัฐประหารไม่มีแถลงการณ์ที่ชัดเจนมากพอและไม่มีผู้นำออกมาปรากฏตัวทางโทรทัศน์ที่จะสร้างภาพว่าสามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้หมด

สำหรับคำถามที่ว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปนั้น ในขณะที่ผู้คนอาจจะมองว่าจะเกิดการล้างบางครั้งใหญ่โดยเออร์โดกัน แต่สิงห์ก็บอกว่าการล้างบางหลังรัฐประหารมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยเพราะไม่เป็นประโยชน์กับรัฐบาลตุรกี เพราะการล้างบางเช่นการสั่งสังหารคนในกองทัพที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารจะทำให้เจ้าหน้าที่รายอื่นๆ กังวลว่าจะถูกกำจัดไปด้วยจนอาจจะเกิดรัฐประหารซ้ำซ้อน ทำให้รัฐบาลตุรกีวางคนที่จงรักภักดีต่อเขาเข้าไปแทน ทำให้เกิดการกระชับอำนาจแทนการล้างแค้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเกิดความรุนแรงขึ้นเลย

บทวิเคราะห์ระบุอีกว่า การพยายามรัฐประหารที่ล้มเหลวในครั้งนี้อาจจะส่งผลต่อประชาธิปไตยของตุรกีในแบบลับๆ และอาจจะถึงขั้นส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบอำนาจนิยมได้ จากการที่เออร์โดกันพยายามปราบปรามผู้ที่ต่อต้านและกระชับอำนาจตัวเองมาโดยตลอด เขาลิดรอนเสรีภาพสื่อ ใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้าน และเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในแบบที่จะรักษาอำนาจตัวเองไว้มากเกินไปจนอันตราย

อย่างไรก็ตาม สถาบันประชาธิปไตยในตุรกีก็มีความเข้มแข็งพอในการสกัดกั้นแผนการอำนาจของเออร์โดกัน โดยที่ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน มิ.ย. 2558 ซึ่งเป็นการเลือกตั้ง ส.ส. ที่แยกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น พรรคของเออร์โดกันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เนื่องจากประชาชนชาวตุรกีปฏิเสธข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้ตัวเองของเออร์โดกัน แต่ทว่าการรัฐประหารในครั้งนี้อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของเออร์โดกันที่เป็นตัวร้ายแบบอำนาจนิยมดูกลายเป็นเหมือนคนที่ปกป้องประชาธิปไตย อีกทั้งยังทำให้ผู้คนหวาดกลัวความไร้เสถียรภาพจนกลับไปพึ่งพวกที่เป็น "สตรองแมน" หรือผู้นำที่มีลักษณะเผด็จการรวบอำนาจมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกสำหรับผู้สังเกตการณ์


เรียบเรียงจาก

Why Turkey’s coup failed, according to an expert, Vox, 16-07-2016
http://www.vox.com/2016/7/16/12205352/turkey-coup-failed-why

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องอาจ จี้คสช.หาคนทำ จม.บิดเบือนร่าง รธน.มาลงโทษ สรรเสริญชี้ยิ่งใกล้วิชามารยิ่งเยอะ

$
0
0

องอาจชี้หากหาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ คนจะตั้งคำถามกับ รบ.-คสช.เอง สรรเสริญระบุยิ่งใกล้ประชามติวิชามารยิ่งออกมาเยอะ ระบุ คสช.ไม่มีส่วนได้เสีย จะไปลงมติรับ หรือไม่รับ ขึ้นอยู่กับปชช. ซึ่งคสช.มีทางออกอยู่แล้วว่าหากไม่รับ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการพบจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่ทางภาคเหนือ และถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการจัดฉากสร้างสถานการณ์จากผู้มีอำนาจ ว่า การจะจัดฉากสร้างสถานการณ์เรื่องจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยังมีความไม่ชัดเจน จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเร่งหาคนผิดมาลงโทษ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่ากลุ่มบุคคล หรือกลุ่มใดอยู่เบื้องหลัง ซึ่งไม่น่าจะเกินฝีมือรัฐบาล และ คสช.ที่จะค้นหาความจริงมาตีแผ่ให้สังคมได้รับทราบ

“แต่ถ้ารัฐบาล และ คสช.ไม่สามารถหาคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้ ข้อกล่าวหาเรื่องทำจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดฉากสร้างสถานการณ์โดยผู้มีอำนาจ ก็จะถูกตั้งคำถาม มีคำครหานินทาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะไม่เกิดผลดีต่อรัฐบาล คสช. และผู้เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการเปิดโปงรัฐธรรมนูญปลอม โดยโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ภายหลังพบว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญปลอม เป็นเพียงเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มองค์กรที่มีตัวตนชัดเจน ไม่ใช่กลุ่มเถื่อน ในขณะที่จดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญที่ส่งผ่านทางไปรษณีย์ไปถึงผู้รับทางภาคเหนือบางจังหวัด  ไม่มีที่มาที่ไปว่าใครเป็นคนทำ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะทำความจริงให้กระจ่างก่อนที่ผู้คนจะเชื่อตามคำครหาว่าคนของรัฐจัดฉากสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเอง” องอาจ กล่าว
 
องอาจ กล่าวอีกว่า ช่วงเวลาหลังจากนี้ จนถึงวันออกเสียงประชามติ อาจจะมีกลวิธีแปลก ๆ แทรกเข้ามาโดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ เหมือนกรณีจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นให้เกิดความเข้าใจผิด จึงต้องพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเหตุการณ์เรื่องที่เกิดขึ้นลอย ๆ ไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน อาจเป็นการจัดฉากสร้างสถานการณ์จากบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเพื่อหวังผลบางอย่างก็ได้
 

สรรญเสริญ ชี้ยิ่งใกล้ยิ่งมีวิชามาร 

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงคนไทยที่ยังไม่ทราบหรือตื่นตัวกับร่างรัฐธรรนูญ เพราะเห็นเป็นเรื่องไกลตัว จึงขอย้ำว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ เป็นกฏกติกาสังคมที่จะกำหนดชีวิตของบ้านเมือง และท้ายที่สุดจะโยงถึงปากท้องของประชาชน ดังนั้นประชาชนต้องศึกษาหาข้อมูลว่าร่างรัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง แต่ขอให้ติดตามข้อมูลจากสื่อกระแสหลัก คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี แต่สื่อโซเชียลเป็นสิ่งที่ต้องพึงระมัดระวัง ต้องฟังหูไว้หู ขอย้ำว่า 7 สิงหาคมนี้ ไปใช้สิทธิ์เพราะเป็นเรื่องของชาติ
แฟ้มภาพ

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ติดต่อมายังรัฐบาลว่าต้องการจะทำบทคัดย่อร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้เข้าใจให้ง่ายขึ้นถึงเนื้อหาที่สำคัญ เพื่อป้องกัน แก้ปัญหา เรื่องที่ถูกบิดเบือน ขณะนี้อยู่ระหว่าการขอเสนอออกมาในรูปแบบของรายการทีวี ออกอากาศหลังเคารพธงชาติ ก่อนรายการเดินหน้าประเทศไทย ความยาวประมาณ 2-3 นาที เบื้องต้นได้ติดต่อหารือกับสถานีโทรทัศน์ 3 , 5 , 7 , 9 ไทยพีบีเอส แล้ว ใช้ชื่อรายการ “รู้ลึกรู้ชัดรู้รัฐธรรมนูญ”  น่าจะดำเนินการในช่วงโค้งสุดท้าย นี่คือสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะสนับสนุนทุกช่องทาง และเชิญชวนให้ประชาชนไปใช้สิทธิ

“ยอมรับว่ารัฐบาลประเมินโค้งสุดท้ายจะแรงเป็นปกติ ยิ่งใกล้ยิ่งมีมวิชามารออกมาเยอะ ทั้งการส่งจดหมาย การปล่อยข้อมูลในโซเชียล พยายามระบุว่าไม่มีเสรีในการแสดงความเห็น จึงวอนให้สื่อให้สติกับสังคม อย่างไรก็ตาม ในช่วงโค้งสุดท้ายจะพยายามเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ด้านหน่วยงานความมั่นคงลงพื้นที่ให้มาก แจ้งข้อเท็จจริงที่ประชาชนควรรู้ หากบิดเบือนก็ต้องหาที่มา แต่นายกรัฐมนตรีเน้นว่าแนวทางหลัก ขอให้ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนตกลงใจ เรื่องบิดเบือนให้ทำตามกฏหมายแต่อย่าไปให้ความสำคัญ” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญปลอมเป็นฝีมือของ คสช. พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า คสช.ไม่มีส่วนได้เสีย เพราะการจะไปลงมติรับ หรือไม่รับ ขึ้นอยู่กับประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.มีทางออกอยู่แล้วว่าหากไม่รับ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

“ขอให้ประชาชนใช้ดุลพินิจด้วยตัวเอง ปราศจากการชักจูงชี้นำ มีกลุ่มการเมืองพยายามอธิบายว่าถ้ารับ ไม่รับ จะเป็นอย่างไร และมีความพยายามบิดเบือน หากดูตามสิ่งที่เกิดขึ้น สามารถพิจารณาได้ว่ากลุ่มไหนทำ และกลุ่มไหนได้ประโยชน์” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

 
เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทักษิณชี้ ศก.จีนใช้เวลา 15 ปี รายได้ต่อหัวแซงไทย-ปีนี้ชะลอตัวแต่ยังเชื่อว่าแข็งแรง

$
0
0

ทักษิณ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เผยเพิ่งกลับมาจากจีนจึงอยากเล่าความเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนใช้เวลา 15 ปี รายได้เฉลี่ยต่อหัวแซงไทย พร้อมตั้งธนาคารให้ชาติเอเชีย-แอฟริกากู้สร้างโครงสร้างพื้นฐาน ชี้ปีนี้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว เพราะสหรัฐ-ยุโรปเพิ่งฟื้น แต่จีนยังมีความสามารถในการผลิต น่าจะเป็นโอกาสของไทยดูว่าจะซื้อขายอะไรกับจีนเพื่อทำกำไรต่อ

ภาพจากเฟซบุ๊คทักษิณ ชินวัตร

18 ก.ค. 2559 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์คลิปวิดีโอความยาว 5.38 นาที ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวานนี้ (17 ก.ค.) โดยเป็นครั้งล่าสุดที่เขาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หลังจากโพสต์ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน ทั้งนี้เล่าว่าหลังจากเขากลับมาจากประเทศจีน จึงอยากวิเคราะห์ถึงความเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนว่า เมื่อปี 2544 หลังเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ตอนนั้นนายกรัฐมนตรีของจีนคือ จูหรงจี มาเยือนเมืองไทยก่อนจากนั้นเขาจึงไปเยือนเมืองไทย และพูดเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างกัน ตอนนั้นจีนมีเงินสำรองราว 283 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยมี 32 พันล้านเหรียญสหรัฐ วันนี้จีนมีร่วม 3 พันล้านเหรียญแล้ว ประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา

แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศจีนเติบโตมโหฬารภายใน 15 ปี ผมจำได้แม่นวันนั้นรายได้ต่อหัวต่อคนของคนจีนต่ำกว่าของไทยมาก แต่ปรากฏว่า วันนี้รายได้ของจีนต่อหัวแซงหน้าประเทศไทยแล้ว ภายใน 15 ปี ซึ่งปกติจะแซงไม่ง่าย แต่ก็แซงเราไป

ทั้งนี้หลังจากจีนร่ำรวยได้นำเงินไปลงทุนในหลายประเทศ โดยเฉพาะในแอฟริกาและอาเซียน วันนี้จีนมีการตั้งธนาคารเอไอไอบี เป็นที่ฮือฮาและจีนก็ชวนชาติอื่นร่วมถือหุ้นด้วย หลักการคือจีนต้องการการปล่อยกู้เงินจากจีน เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เจริญขึ้น เช่น การใช้รถไฟเชื่อมโยงในกลุ่มประเทศยุโรป และเอเชีย ทำถนนหนทาง ไฟฟ้าต่างๆ ให้กับประเทศที่ยังไม่เจริญ ในยุโรปก็ให้ความสนใจ แต่วันนี้เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว ปีนี้จีนน่าจะโตไม่ถึง 6% ที่สำคัญเศรษฐกิจของโลกกำลังย่ำแย่ สหรัฐอเมริกายังเพิ่งเริ่มฟื้น ประชาชนยังไม่มั่นใจ แต่ก็ฟื้นมากกว่ายุโรป กำลังซื้อจึงตกลงตามไปด้วย ราคาน้ำมันก็ตกลงด้วยซึ่งกระทบต่อตะวันออกกลาง อิหร่าน เวเนซุเอลา ในขณะที่จีนเป็นผู้บริโภคน้ำมัน เหล็ก มากที่สุด เศรษฐกิจจีนชะลอตัวเพราะขายของได้น้อยลง ซึ่งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของโลกได้ส่งผลกระทบต่อจีน รวมทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกด้วย แต่ความสามารถในการผลิตของจีนยังสูง เราน่าจะดูว่ามีอะไรที่ราคาถูกหรือต่อรองได้เพื่อนำไปขายให้ประเทศอื่นๆ ต่อ เพื่อสร้างกำไรให้กับประเทศไทยเพิ่มขึ้น ก็ยังมีช่องทางอีกเยอะ เท่าที่ดูทั่วไปจีนก็มีระบบบริหารที่วางโครงข่ายไว้ดี มีอะไรเกิดขึ้นเขาแก้ไขได้ ผมยังเชื่อว่าจีนยังแข็งแรง แต่อาจไม่วิ่งเร็วเหมือนในอดีต เพราะฐานเขาใหญ่ขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิด้าโพลครั้งที่ 8 โครงสร้างผลโหวตยังคงเดิม รับร่างรธน. 30.4% ไม่รับ 6.79%

$
0
0

นิด้าโพลครั้งที่ 8 คนรับร่างเพิ่มขึ้น เป็น 30.4% คนไม่รับร่างก็เพิ่มขึ้นเป็น 6.79% ขณะที่คนไปโหวตแต่ไม่มีมติทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจนลดลงเหลือเพียง 0.32% เช่นเดียวกับ ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจลดลงมาเป็น 62.48% หลังจากเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในครั้งที่4

18 ก.ค.2559 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ผลสำรวจครั้งที่ 8: การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12 – 13 ก.ค. 2559 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,503 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการตัดสินใจลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และความคิดเห็นต่อข้อเสนอให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มีสิทธิร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random  Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.3

จากผลการสำรวจครั้งที่ 8 เมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.48 ระบุว่า  ยังไม่ตัดสินใจ รองลงมา ร้อยละ 30.41 ระบุว่า ไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 6.79 ระบุว่า ไปลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 0.32 ระบุว่า ไปใช้สิทธิ แต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับข้อเสนอการให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มีสิทธิร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.43 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ รองลงมา ร้อยละ 29.01 ระบุว่า ไปลงมติเห็นด้วย ร้อยละ 19.16 ระบุว่า ไปลงมติไม่เห็นด้วย และร้อยละ 0.40 ระบุว่า ไปใช้สิทธิ แต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน

ข้อมูลเกี่ยวกับการสำรวจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.65 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.55 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.53 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.11 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 54.16 เป็นเพศชาย และร้อยละ 45.84 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 6.52 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.64 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 23.29 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 35.06 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 17.43 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.06 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 93.22 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.26 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.26 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 2.26 ไม่ระบุศาสนา   

ตัวอย่างร้อยละ 19.23 สถานภาพโสด ร้อยละ 75.91 สมรสแล้ว ร้อยละ 2.40 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.46 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 28.48 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.21 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.32 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.01 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.12 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.86 ไม่ระบุการศึกษา 

ตัวอย่างร้อยละ 11.71 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.84 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.89 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 17.10 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.10 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.31 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.93 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.13 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 3.99 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 14.04 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.63 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.95 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.71 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 7.25 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.85 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 12.57 ไม่ระบุรายได้

สำหรับนิด้าโพลนั้น ถือเป็นโพลที่มีประวัติเกี่ยวกับการสำรวจมติทางการเมืองที่น่าสนใจ เช่น กรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เป็นเพียงสำนักเดียวที่ระบุว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จะชนะขณะที่อีก 4 สำนักระบุว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ผู้จัดการออนไลน์, 3 มี.ค.56)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ School : ‘คนบ้า’ ในกระบวนการยุติธรรมไทย การดำเนินคดี ม.112 กับผู้ป่วยจิตเภท

$
0
0

 

นับจากรัฐประหารถึงสิ้นปี 2558 มีผู้ถูกจับกุมและตั้งข้อหาด้วยมาตรา 112 รวมอย่างน้อย 61 คน  โดยจากการ ติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชน ( iLaw ) พบว่าหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  มีผู้ป่วยจิตเภท  (Schizophrenia) ถูกดำเนินคดีมาตรา112 อย่างน้อย 6 ราย  ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 5 ของจำนวนคดีหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ทั้งหมด 30 คดี ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยทางคดีหลังการรัฐประหาร  จนถึงปัจจุบัน  และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ใครคือผู้ป่วยจิตเภท

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ กล่าวถึงโรคจิตเภท หรือ Schizophrenia ไว้ในวารสารเพื่อนรักษ์สุขภาพจิต ฉบับ ก.ค.   - ก.ย. 2558 ว่าหมายถึง กลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด ผู้ป่วยจะมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง  

ในขณะที่เกณฑ์การวินิจฉัยของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ฉบับที่ 5 (DMS V) ระบุว่า ผู้ที่เป็นโรคจิตเภท จะมี  อาการหลงผิด อาการประสาทหลอน พูดจาสับสนมาก  มักเปลี่ยนเรื่องจนฟังไม่เข้าใจ  พฤติกรรมเรื่อยเปื่อย วุ่นวาย หรือมีท่าทางแปลก ๆ และมีอาการด้านลบ เช่น อารมณ์เฉยเมย ไม่ค่อยพูด หรือเฉื่อยชา ประกอบกัน อย่างน้อยสองอาการขึ้นไป นานหนึ่งเดือน แต่หากมีอาการหลงผิดที่แปลกประหลาด หรือหูแว่วเพียงอาการเดียว ก็ถือว่าเข้าเกณฑ์โรคจิตเภท   

คดีนโยบาย   

“...คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยึดมั่นในความจงรักภักดี และจะปกป้อง เทิดทูน ดํารงรักษาไว้ ซึ่งสถาบัน พระมหากษัตริย์ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย และทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง"

ส่วนหนึ่งจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2557 เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อเย็นวันที่ 22  พฤษภาคม 2557 ระบุชัดถึงเจตนารมณ์ของการทำรัฐประหาร  หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ออกคำสั่ง สตช. ที่ 311/2557  เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มี ลักษณะไม่เหมาะสมและส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คำสั่ง สตช. ดังกล่าวมีเนื้อหาแต่งตั้ง  คณะกรรมการบริหารข้อมูลข่าวสาร และคณะกรรมการบังคับใช้กฎหมายขึ้น เพื่อตรวจสอบพิจารณาข้อมูล  ข่าวสาร และติดตามเฝ้าระวังข้อมูลความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในแทบทุกช่องทางการสื่อสารของ ประชาชน เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย  

ต่อมา 10 พฤศจิกายน 2557 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่ง สตช. ที่ 602/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงาน ติดตาม เร่งรัด ตรวจสอบ การดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในชั้นพนักงานสอบสวน เพื่อตั้งคณะทำงาน ที่มาบริหารจัดการคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดแนวทาง การดำเนินคดี และติดตาม เร่งรัด ตรวจสอบการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในชั้น  พนักงานสอบสวนให้ต่อเนื่องและรวดเร็ว  

ทั้งสองคำสั่งนี้ เป็นคำสั่งที่ประกอบกับคำสั่ง สตช. ที่ 122/2553 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพ และคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ให้มีคณะกรรมการสำหรับพิจารณาสำนวนการสอบสวน และมีความเห็นเพื่อให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีความเห็น หรือสั่ง การอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับคดี

หมายความว่าตามคำสั่ง สตช. พนักงานสอบสวนไม่ได้มีอำนาจในการสั่งคดีความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 112 โดยตรง แต่จะต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ ผบ.ตร. อีกถึงสองชั้น รวมถึงถูกเร่งให้ทำคดีมากยิ่งขึ้นหลังการรัฐประหารเป็นต้นมา

 

(อ่านเพิ่มเติมรายงานนี้จนจบได้ที่: ‘คนบ้า’ ในกระบวนการยุติธรรมไทย การดำเนินคดี ม.112 กับผู้ป่วยจิตเภท)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรธ.เผยต้นตอ จม.บิดเบือนร่างรธน. อยู่แถวดุสิต มั่นใจมีเบื้องหลัง

$
0
0

 

แฟ้มภาพ

18 ก.ค.2559 อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ได้ประสานกับกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)และฝ่ายความมั่นคงในการติดตามดูแลกรณีที่มีการบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะที่มีการทำแผ่นพับข้อแย้งและส่งจดหมายไปตามบ้านเรือนประชาชน แต่เจ้าหน้าที่พบเจอจดหมายเหล่านั้นในที่ทำการไปรษณีย์ก่อน ซึ่งจากการข่าวภายในทราบว่าแผ่นพับดังกล่าวมาจากแถวดุสิต กรุงเทพมหานคร และส่งไปในภาคเหนือ ส่วนจะมีใครเกี่ยวข้องบ้าง กำลังตรวจสอบกันอยู่ และยังไม่ยืนยันว่ามีอดีตนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงกำลังจับตาดูอยู่

“เรามั่นใจว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง เพราะเชื่อว่าลำพังกลุ่มที่เคลื่อนไหว ทั้งนักศึกษา หรือคนที่แจกจ่ายเอกสารแย้ง ไม่น่าจะมีศักยภาพ หรือมีทุนรอนในการดำเนินการในเรื่องนี้ได้โดยลำพัง และมีข้อมูลที่พูดคุยกับฝ่ายความมั่นคง ทราบว่าต้นตออยู่แถวดุสิต ซึ่งกำลังติดตามและตรวจสอบ หาหลักฐานอยู่” อมร กล่าว

โฆษกกรธ.ยืนยันว่ากรธ.ยังคงเดินหน้าชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ แม้จะมีความพยายามบิดเบือน และมีความกังวลว่าอาจจะมีกลุ่มต้าน โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. จะลงพื้นที่ไปชี้แจงด้วยตัวเองในวันพฤหัสบดี ที่21 ก.ค.นี้ เพราะเชื่อว่ายังมีกลุ่มประชาชนที่ต้องการรับฟังคำอธิบายในเนื้อหาสาระอยู่

สมชัยขู่สถาบันฯ สันติวิธี มหิดล ให้ถอดข้อความชี้นำ รธน.

ขณะที่วานนี้ (17 ก.ค.59) สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มวัยรุ่นฉีกบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติตามรายงานของกระทรวงมหาดไทย ว่า ทราบเรื่องแล้วว่ามีกรณีเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร เป็นการกระทำของกลุ่มวัยรุ่นที่มีความคึกคะนอง และอยากเตือนว่าการกระทำดังกล่าว ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เพราะเป็นการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ

สมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการเผยแพร่ข้อมูลของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ชื่อเอกสารอนาคตประเทศไทยหลังประชามติ ในตอนที่ 2 ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของ คสช. ซึ่งระบุว่า คสช.จะอยู่อีก 11 ปีหลังการลงประชามตินั้น ข้อมูลที่มีการนำไปเผยแพร่มีแนวโน้มที่จะเป็นการชี้นำในทางใดทางหนึ่ง อยากให้สถาบันฯ ดังกล่าวที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐทบทวนการเผยแพร่ เพราะเรื่องนี้อาจเกิดจากการมีพนักงานบางคนลงข้อมูลโดยที่ไม่มีการตรวจสอบ หรืออาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และได้แจ้งให้มีการแก้ไขแล้ว แต่หากสถาบันฯ ยืนยันว่าจะมีการลงข้อมูลดังกล่าว ก็จะไปหารือกับ กรธ.ว่าจะดำเนินการอย่างไร

“หากสถาบันฯ ยอมถอดข้อความดังกล่าว กกต.ก็จะไม่ดำเนินการใด เพราะถือว่าไม่มีเจตนาที่จะให้ข้อมูลในทางที่ทำให้เกิดความสับสน แต่หากยังยืนยันเผยแพร่ต่อ กกต.ก็จะนำเรื่องนี้หารือกับศาลรัฐธรรมนูญว่าข้อความดังกล่าวมีปัญหาหรือไม่ เนื่องจากสถาบันฯ เป็นหน่วยงานราชการ ทั้งนี้ในส่วนของการแจกเอกสารชี้แจงเนื้อหารัฐธรรมนูญที่ กกต. จัดพิมพ์ จะเริ่มแจกในทุกพื้นที่ได้ตั้งแต่วันที่ 8-22 กรกฎาคมนี้” สมชัย กล่าว

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตลก.ผู้แถลงคดีชี้ รัฐต้องจ่าย1.6 ล้าน ให้พ่อแม่ผู้ตาย เหตุเยาวชนถูก จนท.ยิงตายที่ยะลา ปี55

$
0
0

18 ก.ค. 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา เวลา 14.15 น. ศาลปกครองสงขลาได้ออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 54/2556 คดีระหว่าง มะวาเห็ง  มามะ ที่ 1 รูฆาย๊ะ มามะ ที่2  ผู้ฟ้องคดี  และ กองทัพบก ที่ 1 สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดี กรณีผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานของรัฐผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว อันเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามใช้อาวุธปืนสงครามยิง ฟุรกอน มามะ เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.5 บุตรของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง จนถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2555

ในการพิจารณาคดีครั้งแรกนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองและผู้รับมอบอำนาจของผู้ฟ้องคดีทั้งสองมาศาล ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่มาศาล และไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ

ศาลได้เริ่มพิจารณาคดีโดยให้ตุลาการเจ้าของสำนวนสรุปข้อเท็จจริงและประเด็นคดีให้คู่กรณีที่มาศาลและองค์คณะรับฟัง  ศาลอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองและผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองแถลงด้วยวาจาตามความประสงค์ โดยให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 แถลงก่อน แล้วให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 แถลง และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองแถลงสรุป  ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาของ ฟุรกอน ต่างร่ำไห้คิดถึงลูกในขณะแถลงต่อศาล โดยแถลงเน้นย้ำว่าบุตรชายของตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบหรือก่อการร้ายใด ๆ และเชื่อว่าบุตรของต้นไม่มีอาวุธปืน ระเบิด และไม่ได้ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ดังที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่กล่าวหา ลูกก็ถูกยิงข้างหลัง พร้อมทั้งเล่าประวัติการดำเนินชีวิตประจำวัน การศึกษาเล่าเรียน และอุปนิสัยของ ฟุรกอนโดยละเอียด ทำให้เห็นได้ว่า ฟุรกอน เป็นเยาวชนที่อยู่กับบิดามารดาและญาติพี่น้อง ไม่เคยห่างไกลจากครอบครัว ขยันขันแข็ง เป็นตัวแทนของโรงเรียนในแข่งกีฬาและแข่งทักษะทางวิชาการ ทั้งยังใช้เวลาช่วงปิดเทอมไปรับจ้างหาเงินมาให้มารดาเก็บไว้ให้เพื่อจะได้ซื้อสิ่งข้าวของเครื่องใช้ที่ตนต้องการโดยไม่ต้องขอเงินบิดามารดา  ผู้ฟ้องคดีทั้งสองต่างก็พูดย้ำหลายครั้งหลายหนต่อศาลว่าต้องการขอความเป็นธรรมให้แก่ลูกชายของตนที่เสียชีวิต เพราะลูกถูกกล่าวหาอย่างไม่ได้รับความเป็นธรรม

หลังจากฝ่ายผู้ฟ้องคดีได้แถลงต่อศาลเสร็จสิ้นแล้ว ตุลาการผู้แถลงคดีซึ่งพิจารณาสำนวนคดีแล้วทำความเห็นโดยอิสระ ได้แถลงการณ์เป็นหนังสือ และแถลงด้วยวาจาต่อตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะ สรุปความได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเพราะเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ  สำหรับเหตุการณ์ที่มีการยิงปะทะนั้นเจ้าหน้าที่ได้กระทำการป้องกันตนโดยพอสมควรแก่เหตุ ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการกระทำละเมิด แต่ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในเรื่องความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองได้ตาม มาตรา 9 วรรค 1 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542  พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ใกล้ศพผู้ตายพบอาวุธปืน ซองกระสุนปืนและกระสุนปืน และมีลูกระเบิดอยู่ในกระเป๋ากางเกงผู้ตาย ก็ตาม แต่ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ไม่พบ DNA ของผู้ตายที่ด้ามปืน ไกปืน ซองกระสุนปืน และที่ลูกระเบิด รายงานการตรวจพิสูจน์ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็ไม่พบสารประกอบวัตถุระเบิดและสารเสพติดจากเสื้อผ้าของผู้ตาย และไม่มีผู้ใดยืนยันว่าเห็นผู้ตายใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ อีกทั้งเพื่อนผู้ตายหลายคนซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุให้การยืนยันว่า ขณะผู้ตายกับพวกรวม 6 คน ร่วมกันต้มน้ำกระท่อมดื่มอยู่ เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ จึงพากันวิ่งหนี ตอนแรกวิ่งไปทิศทางเดียวกัน แต่วิ่งไปได้ระยะหนึ่งจึงวิ่งแยกกันไปคนละทาง โดยทุกคนไม่มีอาวุธปืนและลูกระเบิดแต่อย่างใด มีเพียงบางคนถือมีดพร้าที่เตรียมมาใช้ฟันเก็บใบกระท่อม  อีกทั้งผู้ตายไม่มีประวัติอาชญากรรมหรือมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในฐานข้อมูลราชการ  อาวุธปืนและระเบิดที่พบอยู่กับศพผู้ตายนั้นจึงไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นอาวุธปืนและระเบิดของผู้ตาย ประกอบกับผู้ตายเป็นเยาวชน เรียนอยู่ชั้น ม.5 และถูกยิงที่กลางหลัง 

จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ตายยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่และมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย  ดังนั้นเมื่อผู้ตายได้ถึงแก่ความตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว แม้ชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ ก็ต้องย่อมรับผิดฐานเป็นความรับผิดอย่างอื่น ตาม มาตรา 9 วรรค 1 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจาณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  433  และมาตรา 1563 มาใช้โดยอนุโลม ตุลาการผู้แถลงคดีจึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามต้องร่วมกันหรือแทนกันรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เป็นค่าปลงศพ 105,500 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 25 ปี เป็นเงิน 1,500,000 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 1,605,500 บาท (หนึ่งล้านหกแสนห้าพันห้าร้อยบาทถ้วน) และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลแก่ผู้ฟ้องคดีตามส่วนของการชนะคดี

อย่างไรก็ตาม คำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีดังกล่าว ไม่ผูกพันตุลาการทั้ง 3 คน ซึ่งเป็นองค์คณะผู้ทำการพิจารณาพิพากษาคดี

ศาลปกครองสงขลาจะได้แจ้งกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาให้คู่กรณีทราบในภายหลัง

อ่าน ข้อมูลประกอบ ถ้อยคำแถลงด้วยวาจาของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและของตุลาการผู้แถลงคดี ได้ที่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กอ.รมน. แจงคลิปขู่ ปชช.ยะลา เป็นทหารจริง สั่งย้ายออกพื้นที่ รอลงโทษวินัยต่อไป

$
0
0

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ทีผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ส่วนหน้า ชี้แจงกรณีคลิปข่มขู่ประชาชน ตามที่มีการเผยแพร่คลิปชายแต่งกายคล้ายทหารยศ พ.อ. พูดในเชิงข่มขู่ชาวบ้าน ซึ่งได้มีการแชร์คลิปภาพ ดังกล่าวไปทั่วสังคมโซเชียล เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว อย่างกว้างขวาง จากกรณีดังกล่าว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจดังนี้

1. จากการตรวจสอบผู้ชายในคลิปดังกล่าว เป็นนายทหารจริง โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่ง สัสดีจังหวัดยะลา โดยพล.ท. วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้ย้ายออกนอกพื้นที่จังหวัดยะลา พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามประมวลวินัยทหาร เพื่อลงโทษทางวินัยต่อไป

2. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล แต่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของ กองทัพ จึงต้องขออภัยต่อสังคมจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว เพราะถือเป็นการกระทำที่ขัดกับนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ภายใต้ยุทธศาสตร์คนดี ซึ่งได้เน้นย้ำไม่ให้กำลังพลประพฤติ ปฏิบัติตนที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียและสร้างเงื่อนไขขึ้นมาในพื้นที่ ทั้งนี้ ได้กำชับให้คณะกรรมการสอบสวนการกระทำความผิดวินัยทหาร ทำหน้าที่ด้วยความโปร่งใสและหากพบว่ามีความผิดจริง ก็จะลงโทษทางวินัยขั้นเด็ดขาดต่อไป

3. ได้มีการเข้าพบเพื่อให้ความมั่นใจในความปลอดภัยและพร้อมให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว อย่างไรก็ตามหากคู่กรณีต้องการที่จะดำเนินคดีทางอาญา ก็สามารถเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงาน สอบสวนเพื่อเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายโดยยืนยันว่ากองทัพจะไม่ปกป้องหรือแทรกแซงการสอบสวนดังกล่าว และพร้อมที่จะอำนวยความ สะดวกตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวปากีสถานชุมนุมรำลึกดาราโซเชียลผู้ถูกฆ่า 'เพื่อรักษาเกียรติยศ'

$
0
0

น้องชายของดาราโซเชียลปากีสถานยอมรับสารภาพสังหารพี่ตัวเองโดยเป็น "ฆาตกรรมเพื่อรักษาเกียรติยศ" ที่ระบาดหนักในปากีสถาน โดยพี่สาวของเขาเป็นผู้ที่แสดงออกท้าทายขนบดั้งเดิมของสังคมจนมีทั้งผู้ชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่นักกิจกรรมออกมาชุมนุมรำลึกและแสดงความคิดเห็นว่าแนวคิดอนุรักษ์นิยมในสังคมของพวกเธอบีบคั้นผู้หญิงทำให้ไม่มีคุณค่า

18 ก.ค. 2559 จากกรณีที่ดาราโซเชียลมีเดียผู้ใช้นามแฝง Qandeel Baloch อายุ 26 ปี ถูกน้องชายตัวเองสังหาร ทางการปากีสถานสามารถจับกุมตัวน้องชายของเธอชื่อวาซีม อะซีม ผู้ก่อเหตุซึ่งรับสารภาพว่าเขาทำให้เธอขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตโดยเป็น "ฆาตกรรมเพื่อรักษาเกียรติยศ" หรือ Honour Killing

Qandeel Baloch มีชื่อจริงว่าเฟาเซีย อะซีม เธอแสดงออกทางอินเทอร์เน็ตในแบบที่ท้าทายแนวความคิดของประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นอนุรักษ์นิยม เธอปรากฏตัวทางโทรทัศน์พูดเกี่ยวกับการเสริมพลังให้กับผู้หญิงและมักจะแต่งกายในแบบที่ไม่เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีและมีการเปิดเผยเนื้อตัวร่างกายบางส่วน Baloch เริ่มต้นงานของเธอด้วยการเข้าทดสอบคัดเลือกตัวนักแสดงปากีสถานไอดอลและหลังจากที่เธอมีโซเชียลมีเดียของตัวเอง เธอก็โพสต์วิดีโอที่แพร่หลายในแบบไวรัล มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เธอโพสต์เซลฟีกับครูสอนศาสนาอิสลามชื่อดังจนทำให้ครูสอนศาสนาคนดังกล่าวถูกรัฐมนตรีกิจการศาสนาตำหนิในเวลาต่อมา

ด้วยการท้าทายขนบนี้เองทำให้ Baloch ได้รับการยกย่องจากคนบางส่วนในแง่ที่เธอพยายามทำลายข้อห้ามเก่าๆ ในสังคม แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ประณามเธอ เฟซบุ๊กของเธอมีผู้ติดตามเกือบ 800,000 ไลค์ ข้อความสุดท้ายที่เธอโพสต์เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2559 ระบุว่า "ฉันพยายามจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อฝังหัวโดยทั่วไปของผู้คนที่ไม่อยากออกมาจากความเชื่อผิดๆ และการปฏิบัติแบบเก่าๆ" การแสดงออกของเธอทำให้เธอถูกด่าเหยียดเพศและถูกขู่ฆ่าหลายครั้งแต่เธอก็ยังคงโพสต์ในโซเชียลมีเดียต่อไป

วาซีม อะซีม กล่าวต่อสื่อว่าเขาไม่รู้สึกเสียดายหรือละอายกับการสังหารพี่สาวตัวเองเพราะเขาเชื่อว่าพฤติกรรมของพี่สาวเขาเป็นสิ่งที่สุดจะทน วาซีม อะซีมรับสารภาพว่าเขาสังหารเธอในขณะที่พ่อแม่นอนหลับอยู่ชั้นบนและเขาอยู่กับเธอที่ชั้นล่าง เขาสังหารเธอเมื่อเวลาประมาณ 4 ทุ่ม 45 นาที หลังจากเอาแท็บเล็ตให้เธอใช้

ก่อนหน้าที่เธอจะถูกสังหาร Baloch บอกว่าเธอรู้สึกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของตัวเองและขอให้รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในช่วยเหลือ แต่เธอก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ เหตุสังหาร Baloch ยังส่งผลสะเทือนต่อปากีสถานทำให้มีคนแสดงความเสียใจผ่านทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงมีการชุมนุมรำลึกถึง Baloch ในเมืองลาฮอร์และการาจี

นาตาชา อันซารี ผู้ร่วมจัดงานจุดเทียนรำลึกกล่าวว่า สื่อควรจะมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในการรายงานเรื่องของเธอไม่ให้กลายเป็นแค่การนำเสนอในเชิงเสื่อมเสียแบบแท็บลอยด์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ผู้มีบ้านเกิดอยู่ในการาจีบอกว่า Baloch ถูกสังหารเพราะเธอทำให้คนอื่นโกรธและไม่สบายใจ พวกเธอรู้สึกว่าชีวิตของผู้หญิงไม่มีคุณค่าเลยภายใต้การบีบคั้นของแนวคิดอนุรักษ์นิยมและสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งพวกเธอขอประท้วงต่อต้านสิ่งเหล่านี้

ฟาซี ซากา นักจัดรายการวิทยุกล่าวต่ออัลจาซีราว่า Baloch เป็นคนที่เปิดเผยตัวเองอย่างมาก สิ่งที่ทำให้เธอแตกต่างจากดาราคนอื่นๆ เป็นเพราะเธอมีภูมิหลังเป็นคนจนและต่อสู้สร้างตัวเธอขึ้นมาเอง สำหรับซากาแล้วเธอจึงเป็นมากกว่าคิม คาร์เดเชียน (ดาราอเมริกันผู้ร่ำรวย) เธอเป็นคนที่ต่อต้านบรรทัดฐานทางสังคมและทำในสิ่งที่เธอต้องการตามขอบเขตของเธอเอง

ชาร์มีน โอเบด ชินอย ผู้กำกับที่ได้รับรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการสังหารเพื่อเกียรติยศในปากีสถานให้สัมภาษณ์อัลจาซีราว่า การสังหารเพื่อเกียรติยศเช่นนี้เป็นสิ่งที่ "ระบาดหนัก" ในปากีสถาน ซึ่งมีนักกิจกรรมพยายามพูดถึงเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางโดยที่ไม่เพียงแค่เกิดขึ้นในเมืองเล็กๆ เท่านั้น การสังหารเช่นนี้ยังมีกรณีเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ ด้วย นั่นทำให้เธอสนับสนุนให้ผ่านร่างกฎหมายต่อต้านการสังหารเพื่อเกียรติยศ

มุฟตี นาอีม ครูสอนศาสนาอิสลามสายอนุรักษ์นิยมก็ประณามการก่อเหตุสังหารในครั้งนี้เช่นกัน โดยบอกว่าชีวิตส่วนตัวของ Baloch ก็ถือเป็นเรื่องของเธอเอง การสังหารใครบางคนถือเป็นฮะรอม (สิ่งต้องห้ามตามหลักอิสลาม) น้องชายของเธอควรถูกลงโทษ ไม่ควรมีใครถูกสังหารในนามของเกียรติยศศักดิ์ศรี

นิดา คีร์มานี ผู้สอนวิชาสังคมศึกษาในมหาวิทยาลัยลาฮอร์กล่าวว่า Baloch เป็น "ผู้หญิงที่มีชีวิตในกรอบของตัวเอง เธอไม่เกรงกลัว... เธอสนุกสนาน เสียงดัง ก๋ากั่น และงดงาม พวกเราต้องการจะกลบเสียงของพวกที่คิดว่าเธอสมควรโดนสังหารเพราะพฤติกรรมของเธอ"

 

 


เรียบเรียงจาก

Qandeel Baloch's brother confesses 'honour' killing, Aljazeera, 18-07-2016
http://www.aljazeera.com/news/2016/07/pakistan-qandeel-baloch-brother-arrested-regrets-160717081555890.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พท.แนะใช้รธน. 40 หรือ 50 ชั่วคราวหากประชามติไม่ผ่าน เดินหน้าการเลือกตั้งปี 60

$
0
0

18 ก.ค.2559 ชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ออกมาระบุว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557เพื่อเปิดช่องให้มีการดำเนินการต่อไป ว่า เป็นสิ่งที่ดี เพราะพรรคการเมืองเคยเรียกร้องมาตลอดว่าต้องการทราบแนวทางที่ชัดเจนหากร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ผ่านรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร จึงต้องขอบคุณนายวิษณุ ที่ทำให้ทราบแนวทางที่ชัดเจนแล้ว แต่สิ่งที่กังวลคือ กรอบปฏิบัติทั้ง 4 เรื่องของนายวิษณุ ใครจะเป็นผู้ร่าง ร่างด้วยวิธีการใด ใช้เวลานานเท่าใดและหลังร่างเสร็จจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราเกรงว่าจะเลยระยะเวลาของโรดแมปที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่จะให้มีการเลือกตั้ง ปี 2560  ทั้งนี้เสนอต่อรัฐบาลว่า ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน รัฐบาลควรนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาแก้ไขบางส่วนหรือเพิ่มเติมบางมาตรา เช่น เรื่องการปฎิรูป  การสร้างความปรองดอง ก็เอามาใส่ไว้ และประกาศใช้เป็นการชั่วคราว เพื่อให้มีการเลือกตั้ง ในปี 60 ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ จากนั้นให้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่ในการตั้ง สสร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งฝ่ายการเมืองรับได้ และเชื่อว่าประชาชนก็จะรับได้เช่นกัน

“หากรัฐบาลจะแก้ปัญหาด้วยการไม่ทำประชามติอีกแล้ว เกรงว่าจะไม่เกิดความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีการบังคับใช้ในอนาคตได้ หากรัฐบาลยังฝืนที่จะตั้งคณะกรรมการมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกรอบ ผมเกรงว่าจะเลยโรดแมปที่วางไว้ และรัฐบาลจะหมดความน่าเชื่อถือ เพราะได้สัญญากับประชาชนและนานาชาติไว้แล้วว่าต้องมีการเลือกตั้ง ปี 60  และผมเชื่อว่าประชาชนอาจรับไม่ได้อีกแล้ว เพราะเท่ากับว่ารัฐบาลทำแบบนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว การตั้งคณะกรรมการอะไรมาก็จะไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไปแล้ว และการที่ประชามติไม่ผ่าน แสดงว่าประชาชนไม่ยอมรับกระบวนการนี้ ดังนั้นควรเอารัฐธรรมนูญฉบับ 40หรือ 50 ก็ได้มาปรับแก้เพื่อให้มีการเลือกตั้ง 60 และปล่อยให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งทุกอย่างก็จะเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย” ชูศักดิ์ กล่าว

ยกย่อง ปชช.ตุรกีต้านรัฐประหาร

วันเดียวกัน พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ ยกย่องชัยชนะของประชาชนตุรกีในการต่อต้านความพยายามทำรัฐประหาร

โดยระบุว่าสืบเนื่องจากวันที่ 15–16 ก.ค. 2559 ได้เกิดความพยายามกระทำรัฐประหารในประเทศตุรกี เพื่อล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีเรเจป ตอยยิป เออร์โดกัน โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้นำกองกำลัง รถถัง และเฮลิคอปเตอร์เข้ายึดสถานที่สำคัญ และใช้กำลังอาวุธโจมตีในกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกี รวมทั้งนครอิสตันบูล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่าสองร้อยคน และผู้ได้รับบาดเจ็บอีกนับพันคน
 
แต่การรัฐประหารดังกล่าวได้ล้มเหลวลงจากการร่วมแรงร่วมใจของประชาชนที่ออกมาต่อสู้บนท้องถนนเพื่อคัดค้านการกระทำที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย อันแสดงถึงความกล้าหาญ ความสามัคคี และกำลังใจที่เข้มแข็งในการต่อต้านความพยายามทำรัฐประหาร โดยไม่ยอมให้ประเทศตกอยู่ใต้อำนาจของกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มาจากประชาชน
 
จากเหตุการณ์ข้างต้น พรรคเพื่อไทยขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น และขอยกย่องการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ และชัยชนะของประชาชนตุรกี  ที่ได้แสดงให้โลกได้เห็นถึงพลังประชาชนที่พิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย และไม่ยินยอมให้มีการใช้กำลังอาวุธและอำนาจนอกระบบ มาบังคับและกำหนดชะตาชีวิตของประเทศของตน.
 
ที่มา : สำนักข่าวไทยและเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช.เชื่อมือฉีกบัญชีผู้มีสิทธิประชามติ เป็นผู้เห็นต่างจากรัฐ ขณะที่สมชัยระบุเพียงคนเมา

$
0
0

18 ก.ค.2559 สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยถึงความคืบหน้ากรณีมีมือมืดฉีกบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงประชามติที่ จ.กำแพงเพชร ว่า ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวใน จ.กำแพงเพชร ทราบว่าเป็นเรื่องวัยรุ่น ที่อาจดื่มสุรา แล้วเข้าไปก่อเหตุดังกล่าว  ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง ดังนั้น ไม่มีอะไรน่ากังวลใจว่าจะมีเหตุการณ์ดังกล่าวในพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตามอยากเตือนว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำผิดกฎหมาย เข้าข่ายทำลายทรัพย์สินของทางราชการ และมีโทษทางอาญา

ขณะที่ก้อนหน้านั้น สำนักข่าวไทย รายงาน ความเห็นของ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อกรณีดังกล่าว โดย พ.อ.ปิยพงศ์ ระบุว่า ทางคสช.ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ต้องตรวจสอบต่อไปว่าใครเป็นผู้กระทำ อีกทั้งเรื่องลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเพราะไม่ใช่เป็นการทำลายระหว่างพรรคหรือบุคคล แต่เป็นเรื่องของรัฐที่เชิญชวนประชาชนไปใช้สิทธิลงคะเเนนเสียงประชามติ จึงเชื่อได้ว่าเป็นผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยเชื่อว่ามีหลายจุดที่ก่อเหตุ แต่ยังไม่ทราบว่ากี่จุด โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดและ กกต. ได้เข้าแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้เสียหายแล้ว ส่วนกรณีการส่งจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน กว่า12,000 ฉบับนั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบกระบวนการจัดส่ง

พ.อ.ปิยพงศ์ ยังกล่าวถึงกรณีการปล่อยข่าว ให้ระวังการตรวจรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนประชามติทางระบบสารสนเทศของกรมการปกครอง (www.khonthai.com) จะทำให้ข้อมูลประชาชนไม่ปลอดภัย ว่าหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างการเร่งชี้แจงกับประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องในการชี้แจงทุกเรื่องเพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน หลังได้มีการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยประชามติขึ้น ที่มีกฎหมาย อำนาจและหน้าที่ในการทำให้ห้วงเวลาการออกเสียงประชามติเรียบร้อย ผ่านการทำงานจากผู้ว่าราชการจังหวัดไปยังนายอำเภอและกกต. ไปถึงตำรวจและทหารในพื้นที่
 
นอกจากนี้พ.อ.ปิยพงศ์ เปิดเผยว่า การทำลายบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ การส่งจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ และการปล่อยข่าวต่างๆ เป็นการกระทำแบบขบวนการเพื่อสร้างความสับสนวุ่นวาย คาดเป็นฝ่ายที่เสียประโยชน์ มีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ จึงสร้างสถานการณ์ขึ้น และเชื่อว่าจะยิ่งมีมากขึ้นเมื่อใกล้ถึงวันลงประชามติ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.แรงงาน เผย พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล คุ้มครองกว่า 4 หมื่นคน

$
0
0

18 ก.ค.2559 ธีรพล  ขุนเมือง  ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย  ดิษฐกุล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558  ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยจุดเน้นคือการดูแลคุ้มครองคนประจำเรือ ทั้งด้านสภาพการทำงานบนเรือเดินทะเล สภาพการจ้าง ความปลอดภัย และสุขอนามัย ตลอดจนการคุ้มครองด้านการประกันสังคม อาทิ ห้ามใช้คนประจำเรือที่อายุต่ำกว่า 16 ปี ต้องจัดให้มีเวลาพักผ่อน ไม่น้อยกว่า 1 ชม. มีสิทธิในการลาขึ้นฝั่ง ลาคลอด ต้องมีหนังสือข้อตกลงการจ้างที่ชัดเจน ระบบการรักษาพยาบาล การคุ้มครองชีวิต ป้องกันอุบัติเหตุต้องพร้อม ค่าล่วงเวลาต้องไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าต่อ ชม. และต้องจัดหาคนประจำเรือให้เพียงพอกับงานให้เป็นตามมาตรฐานสากล โดยเบื้องต้นมีคนที่ทำงานประจำเรือเดินทะเลที่ได้รับประโยชน์และได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ.นี้โดยตรงจำนวนกว่า 40,000 คน ประการสำคัญได้มีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลนี้  นอกจากนั้น เจ้าของเรือเอง ซึ่งมีเรือขนาด 200 ตันกรอส ขึ้นไปกว่า 1,000 ลำ จะได้ประโยชน์พร้อมกันไปด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้การรับรองว่าปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากลภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2559 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ( ILO) ซึ่งไทยได้ลงสัตยาบันไว้แล้วเมื่อ7 มิถุนายน 2559 ณ นครเจนีวา จะทำให้สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ว่าจ้าง ส่งผลให้ประเทศไทย มีความสามารถในการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศได้อย่างดียิ่ง

ธีรพล กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เน้นย้ำว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.แรงงานทางทะเลนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 กระทรวง คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน จึงเน้นการทำงานเชิงบูรณาการอย่างใกล้ชิด โดยใช้กลไก “ประชารัฐ” ร่วมมือกันทั้งคนประจำเรือ ภาครัฐ และเจ้าของเรือ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการเดินเรือทะเล และการคุ้มครองแรงงานทางทะเลตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดไว้ อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

7 สิงหา ประชา ไม่ มติ

$
0
0



 
นับจากวันนี้ก็เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน  ก็จะถึงวันที่ 7 สิงหาคม  ซึ่งเป็นวันลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559  ผลของการลงคะแนนในครั้งนี้จะชี้ชะตาการเมืองไทย  รวมทั้งกำหนดโครงสร้างทางสังคม  เศรษฐกิจและการเมืองในอนาคตด้วย  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกคนไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีหรือคนยากจน  และไม่มีใครสามารถคาดเดาผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย  จะมีทางออกให้สังคมไทยได้หรือไม่  เพื่อที่จะหนีจากการจมปลักของผลพวงของรัฐประหาร พ.ศ. 2549  และนี่คงเป็นคำถามในใจของใครหลายคนตั้งแต่ประชาชนคนชั้นล่างสุดจนถึงเหล่าคนดีชั้นบนสุดในโครงสร้างสังคมศักดินาย้อนยุคแห่งนี้

สิ่งที่ผิดสังเกตและผิดแผกไปจากที่ควรจะเป็น  ก็คือ  ร่างกฎหมายสูงสุดที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติและประชาชนเช่นนี้  แต่เหตุใดเล่า  ประชาชนกลับไม่มีส่วนร่วมในการนำเสนอเนื้อหา  หรือวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในส่วนข้อดีและข้อเสียเลย  เสมือนหนึ่งเป็นการลงประชามติท่ามกลางความเงียบสงัด  ท่ามกลางความหวาดกลัวและการควบคุมจากมือที่มองไม่เห็นที่มีอาวุธครบมือ  ประชาชนถูกมัดมือมัดปาก  ถูกจับกุมคุมขังและตั้งข้อหาอย่างแปลกประหลาดมากมาย  ห้ามแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่ขัดแย้งกับผู้ปกครอง  ทำได้แค่เพียงเดินเข้าหน้าคูหาเพื่อรับรองความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมฉบับนี้เท่านั้น  หรือนี่จะเป็นเพียงพิธีกรรมในการต่อทอดอำนาจของเหล่าผู้ปกครองจากยุคอนาล็อกที่เข้ามีอำนาจในยุคดิจิทัล  ซึ่งสังคมไทยอาจจะมีทางเลือกเหลือเพียง 2 ทางที่จะเป็นไปได้  คือ

1. ถ้าประชามติ  ผ่าน  หมายถึง  อำนาจการตัดสินใจซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมโดยคนส่วนใหญ่  จะถูกถ่ายโอนหรือโยกย้ายเปลี่ยนมือกลับไปยังกลุ่มผู้มีอำนาจเพียงหยิบมือเดียว  เสียงประชาชนจะกลายเป็นเสียงนกเสียงกาหรือเป็นเพียงเสียงกระซิบจากสายลมที่พัดผ่านมาแล้วก็ผ่านไป  หรืออาจเป็นเพียงไม้ประดับเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย  ยกตัวอย่างเช่น  สิทธิขั้นพื้นฐานการรักษาพยาบาลที่ควรได้รับตั้งแต่กำเนิดในฐานะคนไทยคนหนึ่ง  สิทธิที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียมกันทุกชนชั้น  อาจจะเหลือเพียงสิทธิเพื่อขอรับการช่วยเหลือแบบอนาถาหรือรอรับความเมตตาปรานีจากสังคมชนชั้นสูงต่อไป  หรือสิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาที่จะเหลือเพียง 12 ปี  ถ้าต้องการจะเรียนต่อก็ต้องขวนขวายหาเงินเรียนเอง  หาไม่แล้ว  อนาคตของชาติก็คงต้องเดินหน้ากลายเป็นลูกจ้าง  คนงานหรือแรงงานไร้ฝีมือในโรงงานอุตสาหกรรมของต่างชาติต่อไป

2. ถ้าประชามติ  ไม่ผ่าน  หมายถึง  ประชาชนถูกหลอกให้หลงกลตามเกมของผู้มีอำนาจอีกเช่นเคย  เป็นลิเกโรงใหญ่เพื่อยืดระยะเวลาในการสืบทอดและอยู่ในอำนาจต่อไป  และจะเกิดกระบวนการสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคณะใหม่ขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญรอบที่ 3  ย้อนเวลากลับมาเริ่มต้น ณ จุดเดิม  ดังนั้นการเลือกตั้งก็จะถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด  เพื่อรอให้เกิดการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ก่อน  หรืออาจจะเปลี่ยนไม่ผ่านเลยก็เป็นได้  นั่นเท่ากับว่า  การลงประชามติเป็นเพียงละครฉากใหญ่ฉากหนึ่งมาคั่นกลาง  สลับฉากเปลี่ยนอารมณ์  เปรียบเหมือนมีโฆษณามาคั่นเวลาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ชมไปทางอื่นเท่านั้น

หรือสังคมไทยจะมีทางเลือกที่ 3 หรือไม่  อย่างไร  ท่ามกลางพายุในฤดูวัสสานะ  จะมีใครเล่ากล้าจุดไฟกลางสายฝน  และยืนหยัดเพื่อชี้นำทางออกให้สังคม  ใครเล่าจะมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะร้องตะโกนบอกกับสังคมและเตือนสติผู้มีอำนาจว่า  หนทางที่ท่านกำลังนำพาองคาพยพนี้ไปข้างหน้านั้นมีแต่ความมืดบอดและตีบตัน  ไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แต่อย่างใด  และหาได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ต่อมวลชนคนส่วนใหญ่ไม่  แล้วเหตุใดเล่า  จึงมุ่งหน้าไปยังหุบเหวแห่งนั้นอย่างไม่ลดละด้วยความภาคภูมิใจ  เกิดอะไรขึ้นกันแน่  ท่านเหล่านั้นกำลังหนีอะไร  หรือกลัวอะไรมาไล่ล่า  แน่ใจหรือไม่ว่า  นั่นคืออนาคตสำหรับลูกหลานของเรา  นั่นคือจุดหมายปลายทางสำหรับไทยทั้งผองใช่หรือไม่  ยังคงเป็นคำถามจากคนรุ่นใหม่ฝากไปยังคนวัยเกษียณที่ยึดกุมอำนาจอยู่ในขณะนี้  หากท่านกลัวอนาคตไล่ล่าแล้ว  ใยไม่ปล่อยให้คนรุ่นต่อไปได้เข้ามากุมบังเหียนและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกทางเดินอนาคตด้วยตัวของพวกเขาเอง

การสร้างความกลัว  สร้างภาพว่า  หากไม่เลือกหนทางเลือกที่ 1 แล้ว  ทางเลือกที่ 2 จะเป็นทางเลือกที่ไม่มีอนาคตและเป็นทางตัน  หากต้องการหลุดพ้นจากความอึดอัดในขณะนี้  ประชาชนต้องลงมติให้รัฐธรรมนูญผ่านเท่านั้น  เพื่อจะเป็นทางออกให้กับทุกฝ่าย  กลับไปสู่การเลือกตั้งในปีหน้าให้เร็วที่สุด  ภาพเสือตัวใหญ่อาจดูน่าเกรงกลัวเมื่อประชาชนหลับตานึกจินตนาการ  แต่หากลืมตาขึ้นแล้วมองเสือตัวนั้น  เสือในกระดาษก็เป็นเพียงจินตนาการหรือนิทานหลอกเด็กที่ผู้ปกครองสร้างภาพความหวาดกลัวมาหลายทศวรรษ  เช่น  นักการเมืองซื้อเสียงเข้ามาโกงกิน  ทหารและผู้ดีจอมปลอมในชนชั้นปกครองเท่านั้นที่มีความซื่อสัตย์สุจริต  มีความจริงใจ  มีความรักชาติ  จึงต้องเข้ามามีตำแหน่งแห่งหนในรัฐบาลและองค์การอิสระเพื่อนำพาสังคมไทยที่ยังไม่พร้อมสำหรับระบอบประชาธิปไตยไปข้างหน้าด้วยระบอบศักดินาอนุรักษ์นิยม  เป็นต้น  ดังนั้นเหล่าคนดีที่ถูกเลือกจากผู้มีอำนาจเสียงข้างน้อยหรือจากประชาชนที่กล่าวอ้างว่า  ตัวเองคือเสียงที่มีคุณภาพ  กำลังจะนำพาสังคมไทยย้อนกลับไปยังยุคแห่งการว่านอนสอนง่าย  เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด  อาบน้ำร้อนมาก่อน 

กลับไปยังยุคแห่งการหมอบกราบ  คลานเข่า  กราบไหว้  และอ้อนวอนขอความเมตตาจากฟากฟ้าเบื้องบน  เพื่อร้องขอสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะมีตั้งแต่เกิด  หรือการอยู่ดีมีสุขนั้นเกิดจากการโปรยทานของผู้ปกครองที่รักชาติรักแผ่นดิน  ความแตกต่างทางความคิดใดๆ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมศักดินา  หากมีคนยืนขึ้นในขณะที่คนอื่นยังคงหมอบกราบนั้น  การยืนตัวตรงก็เท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจแห่งรัฐ  หาใช่เป็นมติแห่งมหาชนไม่  เพราะคนอื่นๆ ยังคงหมอบกราบด้วยความปลื้มปิติและความภักดี  มติแห่งรัฐจะถือเป็นกฎเกณฑ์ให้คนในสังคมต้องยึดถือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้เสมอสำหรับชนชั้นนำและผู้ปกครอง  รวมถึงเหล่าคนดีที่มีเสียงคุณภาพซึ่งจะอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติดังกล่าว  นอกเหนือจากความดีความชั่วหรือบาปบุญคุณโทษที่เป็นแบบอย่างสามัญในความเข้าใจของคนทั่วไป  สิ่งเหล่านี้ไม่อาจนำมาอธิบายกับคนดีเหล่านี้ได้  เพราะเป็นการละไว้  ในฐานที่เข้าใจกัน

สังคมที่เดินหน้าไม่ได้เพราะมองไม่เห็นอนาคต  ถอยหลังกลับไปหาวันวานในอดีตก็ไม่ได้  จึงติดอยู่กับที่  ติดอยู่กับปัจจุบันที่มองไม่เห็นหนทาง  จะก้าวขาก็เดินไม่ออก  ประชาชนส่วนใหญ่ได้แต่นั่งเหม่อลอย  แต่ไม่มีใครกล้าปริปาก  ประชาชนส่วนน้อยยังคงสำเริงสำราญในวิมานแว่นแคว้นของประเทศกรุงเทพ  แล้วประชา ไม่ มติ  จะมีความหมายอย่างใดเล่า

ณ อีกมุมหนึ่งของโลก  เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น

เกิดอะไรขึ้นกับการต่อต้านรัฐประหารที่ตุรกี  เหตุใดประชาชนจึงออกมาต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร  และเหตุใดพรรคฝ่ายค้านจึงออกมาต่อต้านกับประชาชนในครั้งนี้ด้วย  สิ่งเหล่านี้คงไม่เกิดกับสังคมไทยในขณะนี้แน่นอน  บริบทของปัญหาและที่มาอาจจะแตกต่างกัน  แต่เนื้อหาหลักก็คือ  ชาวตุรกีได้ลงมติแห่งมหาชนในการต่อต้านรัฐประหารที่ไม่ชอบธรรมที่จะมาล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  ซึ่งไม่เป็นไปตามครรลองและขั้นตอนของระบอบประชาธิปไตย  ถือเป็นความพร้อมเพรียง  ความร่วมแรงร่วมใจกันในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานแห่งเสรีภาพ  ความเสมอภาคและภราดรภาพ  เขาเหล่านั้นต้องการกำหนดชะตาชีวิตและอนาคตของประเทศผ่านการเลือกตั้งอย่างอิสระเสรี  จึงไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย  นี่คือสังคมที่มีความเติบโตเป็นผู้ใหญ่  ประชาชนมีวุฒิภาวะทางสติปัญญาและอารมณ์แล้ว  หลังจากที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับระบอบเผด็จการทหารมานานกว่า 30 ปี  เมื่อใดก็ตามที่ได้ลิ้มรสอิสรภาพทางความคิดและการแสดงออกแล้ว  ก็ไม่มีใครต้องการกลับไปหาวันวานในอดีต  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว  มวลมหาประชาชนชาวตุรกีจึงตัดสินใจมุ่งมั่นเดินไปข้างหน้า  มองหาอนาคตร่วมกัน  ไม่มีใครต้องการเดินหลงทาง  วนเวียนจนหาทางออกไม่เจอดั่งเช่นบางประเทศในอุษาคเนย์

มติแห่งรัฐโดยผู้มีอำนาจ  หรือ  มติแห่งมหาชนโดยประชาชนผู้ต้องการกำหนดอนาคตด้วยตนเอง  อย่างใดเล่าจะมีความหมายควรค่าแก่การลงประชามติมากกว่ากัน  นี่คงเป็นคำถามที่ยังต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป  ในจิตใจและความคิดของสามัญชนคนทั่วไป  หากท่านต้องการขีดเขียนอนาคตสำหรับตัวท่านและคนรุ่นต่อไปแล้ว  ขอจงออกไปใช้สิทธิ์เพื่อบอกกล่าวกับผู้มีอำนาจว่า  ระบอบประชาธิปไตยนั้นพร้อมแล้วสำหรับประชาชนชาวไทย  หากแต่ยังไม่พร้อมสำหรับเหล่าคนดีทั้งหลาย  คนดีที่ยังยึดติดกับอดีตที่หอมหวน  อดีตที่เรียกกลับคืนมาไม่ได้  อนาคตที่กำลังไล่ล่าอย่างรวดเร็วและทำให้สถานภาพทางสังคมและความมั่งคั่งของพวกท่านเริ่มอ่อนไหว  สั่นคลอน  จนรู้สึกวิตกจริตถึงความไม่มั่นคงต่างหากที่ทำให้ท่านไม่อาจยอมรับความจริงได้  นั่นก็เป็นเพราะการไม่รู้จักปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบัน  หรือเป็นความเคยชินในการได้ประโยชน์จากการกดขี่ชนชั้นล่าง  ตรงกันข้าม  สามัญชนได้ปรับเปลี่ยนและยอมรับสิ่งใหม่ที่มาพร้อมกับกระแสแห่งการเปลี่ยนผ่านแล้ว  และนี่ต่างหากคือความหวังของสยามประเทศ  สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้  เกิดขึ้นและผ่านไปได้ด้วยความสามัคคีปรองดอง  ความเป็นปึกแผ่นของชาติ  และมุ่งหน้าสู่อนาคตเพื่อการแข่งขันกับนานาอารยประเทศต่อไป  ทั้งนี้เพื่อนำพาความผาสุกและความเจริญก้าวหน้ากลับมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง  และนี่ต่างหากคือ  สิ่งที่มหาประชาชนได้ลงมติไว้เรียบร้อยแล้ว


      
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุโลก-ฮับอุตสาหกรรมชีวภาพ

$
0
0

18 ก.ค.2559 อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการ ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุ ให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่เติบโตเป็นอย่างมากทั่วโลก เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ อาทิ คนไทยมีหัวใจบริการ ความสะดวกสบายในการรับบริการ ค่าใช้จ่ายความเหมาะสม สถานที่พักผ่อนที่หลากหลายสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล รวมทั้งมีสถานบริการทางการแพทย์และสถานบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานสากล ทำให้ธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุของไทยสามารถตอบโจทย์ผู้สูงอายุจากทั่วทุกมุมโลกได้ครบทุกมิติ

กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้ไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุของโลก ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ได้แก่ สร้างองค์ความรู้ และเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการ เพื่อยกระดับการบริการ ช่วยลดต้นทุนของกิจการและเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้มากขึ้น ปัจจุบันมีธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุผ่านการพัฒนาในขั้นที่ 1 แล้ว จำนวน 442 ราย , การพัฒนาธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ เป็นการสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างให้ธุรกิจมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยทำการประเมินวิเคราะห์ธุรกิจ ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการ เพื่อให้ธุรกิจสามารถพัฒนาเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพได้ จนถึงปัจจุบันมีจำนวนธุรกิจที่ผ่านการพัฒนาในขั้นที่ 2 แล้ว จำนวน 55 ราย และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสู่ขั้นที่ 3 คือ การพัฒนาศักยภาพการตลาดให้สามารถสร้างเครือข่ายกับนักลงทุนหรือเครือข่ายนักธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ

ไทยพร้อมเป็นฮับอุตสาหกรรมชีวภาพ

วันเดียวกัน อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการผลักดันอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ว่า ผลผลิตทางการเกษตรของไทยไม่ใช่แค่นำไปแปรรูปเป็นอาหารอย่างเดียว แต่สามารถใช้นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาต่อยอดอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ ได้แก่ พลังงานชีวภาพ เช่น ไบโอดีเซล เอทานอล และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สารสกัดจากธรรมชาติ รวมถึงต่อยอดไปสู่การผลิตในอุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง โดยอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ ที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมด้วยการดึงดูดการลงทุนจากประเทศเป้าหมาย เช่น เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น  ดังนั้นประเทศไทยต้องดำเนินการด้านต่างๆ เช่น 1.ด้านการเชื่อมโยงวัตถุดิบสู่ภาคอุตสาหกรรม 2.ด้านการส่งเสริมการลงทุน มีการปรับปรุงมาตรการภาษีและสิทธิประโยชน์จูงใจ 3.ด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม เช่น แลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัยระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จัดสรรเงินทุนให้หน่วยงานวิจัย 4.ด้านการตลาด เนื่องจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพและพลังงานชีวภาพมีราคาสูง ในช่วงแรกภาครัฐจึงต้องช่วยสนับสนุนผ่านกองทุนฯ เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรืองบประมาณอุดหนุน และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนผู้บริโภค

อรรชกา กล่าวว่าเพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมชีวภาพ  กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรมขึ้น เป็นโครงการต่อเนื่อง 5 ปี (พ.ศ.2559-2563) ภายใต้งบประมาณ 9ล้านบาท โดยมอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพ มีกลุ่มเป้าหมายนำร่อง 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแปรรูปเกษตร และกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตั้งงบประมาณอยู่ในวาระการปฎิรูปสู่การเป็น Thailand 4.0 วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท สำหรับกลุ่มเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยมีหลายกระทรวงบูรณาการขับเคลื่อน เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพฯ การพัฒนาบุคลากรทั้งผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรปฏิบัติการ การพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมของอุตสาหกรรมอาหาร การเชื่อมโยงความต้องการของผู้ประกอบการไปสู่นักวิจัย การพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหาร การสร้างห้องปฏิบัติการเพิ่ม รวมทั้งการสนับสนุนเอาเทคโนโลยีขั้นสูงและระบบผลิตอัจฉริยะมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น

 

ที่มา :สำนักข่าวไทย 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักศึกษา ม.ขอนแก่น ถาม "อ่านยัง?" ชวนอ่านร่าง รธน. และความเห็นแย้ง

$
0
0

"อ่านยัง?" นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นนับถอยหลัง 19 วัน ก่อนลงประชามติ ชวนประชาชนเร่งศึกษารัฐธรรมนูญและอ่านความเห็นแย้ง ชี้ปัญหาประชาชนขาดข้อมูลเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางและรอบด้าน

18 ก.ค. 2559 เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ต้นสักสายคณะเกษตรศาสตร์ 4 นักกิจกรรมนักศึกษา ทำกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนอ่านร่างรัฐธรรมนูญและความเห็นแย้งพร้อมกับถ่ายคลิปวิดีโอมีข้อความประกอบว่า "อีก 19 วัน รู้รึยัง ว่าต้องทำอะไร มาอ่านกัน อ่านก่อนโหวต"

ประกฤษฏิ์ แก้วคะตา หรือ บิว นศ.ชั้นปีที่ 1 คณะนิติศาสตร์ 1 ใน 4 ของผู้จัดกิจกรรมให้สัมภาษณ์ว่า "กลุ่มอ่านยัง?" เป็นกลุ่มกิจกรรมเฉพาะกิจที่มาจากการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ มีวัตถุประสงค์รณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการลงประชามติ ก่อนที่จะรับหรือไม่รับร่าง บิวเล่าว่า ในมหาวิทยาลัย คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เคยลงมาจัดกิจกรรมเรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องลงประชามติในเวลาอีกไม่นานนี้เพียงครั้งเดียว โดยกิจกรรมดังกล่าวได้จัดที่ คณะนิติศาสตร์ ซึ่งไม่น่าจะมีคนเข้าร่วมรับรู้กิจกรรมเกินสามร้อยคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนน้อยมากโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเวลาที่มีอยู่

เมื่อถามว่าทำไมในการทำกิจกรรมมีคนร่วมน้อยและไม่มีการประชาสัมพันธ์ บิวตอบว่า เนื่องจากเกรงการคุกคามจากทางเจ้าหน้าที่ และเหตุที่ย้ายสถานที่จัดในมหาวิทยาลัยไปเรื่อยๆ ถือเป็นการย้ายจุดประชาสัมพันธ์ไปตามสถานที่สำคัญต่างๆในมหาวิทยาลัยเพื่อให้คนได้สังเกตุเห็น

ประกฤษฏิ์ กล่าวด้วยว่า "เราจะอ่านเรื่อยๆ เราจะอ่านทุกที่ ที่ไหนก็อ่านได้ เราจะอ่านก่อนไปโหวต เรารับไม่ได้จริงๆ กับรัฐธรรมนูญนี้"

เมื่อถามว่ากลัวหรือไม่กับการที่อาจถูกคุกคาม บิว บอกว่า กลัว แต่ประเด็นเรื่องการประชามติรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คสช.ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากจึงคิดว่าจำเป็นต้องออกมารณรงค์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศตุรกีถูกควบคุมตัวและตั้งข้อหาก่อรัฐประหาร

$
0
0

สำนักข่าวของตุรกีระบุว่ามีนายพลมากกว่า 112 คนถูกควบคุมตัวและตั้งข้อกล่าวหาว่าทำรัฐประหาร ละเมิดรัฐธรรมนูญ และก่อการร้าย ในจำนวนนี้มี อดีต ผบ.กองทัพอากาศตุรกี ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำการรัฐประหารด้วย อย่างไรก็ตามข่าวที่รายงานยังสับสนว่าอดีตนายทหารผู้นี้รับสารภาพหรือไม่ ขณะที่สถานีโทรทัศน์เอกชน 2 แห่งของตุรกี ระบุว่า อดีต ผบ.กองทัพอากาศปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร

นายทหารระดับสูงที่ถูกควบคุมตัวหลังเหตุรัฐประหารล้มเหลว ในภาพแถวหน้าสุดคนกลางคือ อะคิน ออสเติร์ก อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศตุรกี ซึ่งถูกตั้งข้อหาร่วมก่อรัฐประหาร (ที่มา: สำนักข่าวอะนาโตลู)

19 ก.ค. 2559 หลังรัฐประหารล้มเหลวระหว่างกลางดึกของคืนวันที่ 15 ถึง 16 ก.ค. ที่ตุรกี มีรายงานข่าวล่าสุดที่ยังสับสนอยู่ว่า อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศตุรกี อะคิน ออสเติร์ก และมีตำแหน่งในสภาการทหารสูงสุดกองทัพตุรกี ได้สารภาพว่าวางแผนทำรัฐประหาร ทั้งนี้อ้างจากรายงานข่าวในทวิตเตอร์ของสำนักข่าวอะนาโตลูของตุรกี ระบุว่าอดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศยอมรับว่า "เขาตั้งใจที่จะก่อรัฐประหาร" อย่างไรก็ตามในรายงานของบีบีซี ระบุว่า สถานีโทรทัศน์เอกชน 2 แห่งของตุรกี ยังคงรายงานว่า อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศรายดังกล่าวยังคงปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องกับเหตุรัฐประหาร "ผมไม่ใช่คนที่วางแผน หรือสั่งการให้มีความพยายามทำรัฐประหาร ... ผมไม่ทราบว่าใครทำ"

ตามรายงานของสำนักข่าวอะนาโตลู มีนายพลมากกว่า 112 คน ถูกควบคุมตัวเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับความพยายามทำรัฐประหารเมื่อวันศุกร์ (15 ก.ค.) ที่ผ่านมา โดยนายพล 112 รายนี้ 50 ราย ถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดี ในขณะที่นายพลรายอื่นอยู่ระหว่างสอบสวน

ในรายงานชื่อของนายพลเหล่านี้ มีผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 2 อะเดม ฮูดูติ (Adem Huduti) และ อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศตุรกี อะคิน ออสเติร์ก (Akin Ozturk) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างถูกสอบสวน

อนึ่งภาพที่สำนักข่าวอะนาโตลู นำมาเผยแพร่ จะเห็นว่า อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศตุรกี มีบาดแผลบริเวณส่วนใบหู และรอยช้ำที่ศีรษะด้วย

โดยที่รัฐบาลตุรกีตั้งข้อหาหนักแก่นายทหารเหล่านี้ได้แก่ "เป็นสมาชิกองค์กรก่อการร้ายติดอาวุธ" "ฆ่าคนตายโดยเจตนา"  "ละเมิดรัฐธรรมนูญ" "ประทุษร้ายต่อประธานาธิบดี"

ข้อกล่าวหาอื่นประกอบด้วย "พยายามล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง" "เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรก่อการร้ายเฟโต" หรือฝ่ายนิยมเฟตุลเลาะห์ กูเลน นอกจากนี้ยังถูกตั้งข้อหาพยายามล้มเลิกรัฐสภาตุรกี "ด้วยการข่มขู่หรือใช้กำลัง" โดยข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 ของตุรกี ผู้ถูกตัดสินว่าผิดจะต้องรับโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต

ทั้งนี้ในคืนที่มีความพยายามทำรัฐประหารประธานาธิบดี ไทยิป แอร์โดอัน เจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความมั่นคงและพลเรือนเสียชีวิตกว่า 208 รายในกรุงอังการา และนครอิสตันบูล นอกจากนี้มีผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารบาดเจ็บ 1,500 ราย

ภายหลังรัฐประหารล้มเหลว สำนักข่าวอะนาโดลู รายงานเมื่อ 18 ก.ค. โดยอ้างข้อมูลกระทรวงมหาดไทยตุรกีว่า มีเจ้าหน้าที่ถูกปลดจากตำแหน่งแล้ว 8,777 ราย ในจำนวนนี้ประกอบด้วยผู้ว่าราชการ 30 ราย ผู้ตรวจราชการ 52 ราย ที่ปรึกษาทางกฎหมาย 16 ราย ขณะที่มีรัฐบาลของประธานาธิบดีแอร์โดอัน ถือโอกาสกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยการจับกุมผู้ต้องสงสัยกว่า 6,000 ราย โดยอ้างว่าเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร ในจำนวนนี้รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในกองทัพและผู้พิพากษา

รัฐบาลตุรกีกล่าวหาว่า เฟตุลเลาะห์ กูเลน ผู้นำศาสนาที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่ดำเนินการโค่นล้มรัฐบาลผ่านกลุ่มผู้สนับสนุนของเขาในตุรกี ผ่านกองทัพ ตำรวจ และผู้พิากษา และพยายามสร้าง "รัฐคู่ขนาน" ขณะที่กูเลน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนปฏิเสธข้อกล่าวหาจากรัฐบาลตุรกี และกล่าวหาว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนเป็นการทำรัฐประหารตัวเอง

 

เรียบเรียงจาก

Turkey coup attempt: Confusion over general's 'confession', BBC, 18 July 2016 http://www.bbc.com/news/world-europe-36829574

112 generals, admirals held over Turkey coup plot, Anadolu Agency, 18 July 2016 http://aa.com.tr/en/turkey/112-generals-admirals-held-over-turkey-coup-plot/610565

Turkey: 102 military personnel remanded over coup bid, Anadolu Agency, 18 July 2016 http://aa.com.tr/en/todays-headlines/turkey-102-military-personnel-remanded-over-coup-bid/610436

Turkish president in contact with German, NATO leaders, Anadolu Agency, 18 July 2016 http://aa.com.tr/en/todays-headlines/turkish-president-in-contact-with-german-nato-leaders/610583

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ลงแดงกับจิตเภท

$
0
0


 

ผมมีเหตุจำเป็นต้องกลับไปอ่านบทความ “บ้านเมืองเราลงแดง” ของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ใหม่ ก็เหมือนบทความเรื่องอื่นของท่าน คือนอกจากประเด็นหลักที่ต้องการเสนอแล้ว ยังมีอะไรสำคัญอื่นแฝงอยู่ในเนื้อหาอีกมาก อ่านใหม่ทีไรก็ได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คิดอะไรที่ไม่เคยคิดมาก่อน

กลุ่มคนที่เป็นแรงผลักดันสำคัญทั้งใน 14 ตุลา และ 6 ตุลาคือกระฎุมพีและคนชั้นกลางระดับกลางซึ่งเพิ่งขยายตัวขึ้นไม่นานนัก แต่ภายใต้ระบอบเสรีนิยมซึ่ง 14 ตุลานำมาให้ คือวิกฤตการณ์น้ำมัน, การพังสลายของแนวต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกัน, การถอนตัวของกำลังรบอเมริกันออกจากประเทศไทย, การเปิดเสรีด้านการต่อรองค่าแรงในประเทศ, การลงทุนจากต่างประเทศซึ่งชะลอตัวลง, การท้าทายต่อระเบียบแบบแผนทางสังคมซึ่งเคยประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวเขา (โดยลูกหลานของเขาเอง) และความน่าหวั่นวิตกอื่นๆ

ตรงกันข้ามกับที่กล่าวข้างต้น คือยาเสพติดที่กระฎุมพีและคนชั้นกลางเคยเสพตลอด 16 ปีที่ผ่านมา จนทำให้เขาประสบความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ หรือเริ่มวางฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจให้แก่ลูกหลานได้อย่างมั่นคง แต่ยาเสพติดนี้กำลังหายไปภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกเขาเอง กระฎุมพีและคนชั้นกลางไทยจึง “ลงแดง” จนพากันโล่งอกคลายเงี่ยนจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ต่างหวังกันว่ายาเสพติดที่เคยชินกำลังจะกลับมาใหม่

แน่นอน เงื่อนไขของการเมืองภายในและระหว่างประเทศ ทำให้ยาเสพติดชุดนั้นไม่กลับมาอีกเลย ผมคิดว่ากระฎุมพีและคนชั้นกลางจึงต้องมีชีวิตอยู่ในภาพมายา ความสัมพันธ์มายา สัญลักษณ์มายา เศรษฐกิจมายา และการเมืองมายา เพื่อบรรเทาอาการ “ลงแดง” สืบมาจนทุกวันนี้

นี่เป็นเรื่องที่ผมคิดเอาเอง อาจารย์เบนไม่ได้พูดไว้ ทั้งนี้ เพราะมันมีอะไรบางอย่างที่พอเทียบกันได้ ระหว่าง 6 ตุลากับวิกฤตการเมืองไทยในทศวรรษที่ผ่านมา

กลุ่มคนที่มีความสำคัญทางการเมืองอย่างมากในวิกฤตการเมืองไทยที่ผ่านมาคือคนชั้นกลางระดับล่าง หรือสำนวนอาจารย์เบนคือ กระฎุมพีน้อย คนเหล่านี้เริ่มเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อตลาดมาก่อน 14 ตุลา แต่เป็นตลาดที่ถูกรัฐควบคุมอย่างใกล้ชิด 14 ตุลาช่วยปลดปล่อยพันธนาการของรัฐเหนือตลาดลง ไม่ได้หมายความว่ากลายเป็นตลาดเสรีจริง

หากแต่ว่าพันธนาการตลาดเกิดจากเอกชนผู้มีอำนาจในตลาด อาจโดยการสนับสนุนจากรัฐ แต่เป็นการสนับสนุนโดยอ้อม ไม่ใช่การเข้ามาเก็บพรีเมียมข้าวจากผู้ส่งออกโดยตรงอย่างที่เคยทำมา ค่าแรงไม่ได้มาจากคำสั่งของรัฐ แต่มาจากการต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกันในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ

คนชั้นกลางระดับล่างเติบโตมาเรื่อยๆ และขยายตัวอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปลายรัฐบาลเปรมเป็นต้นมา ในฐานะฐานเสียงสำคัญของ ส.ส. โดยเฉพาะจากต่างจังหวัด ทำให้รัฐจำเป็นต้องลงทุนไปในการพัฒนาชนบทมากขึ้น นับตั้งแต่การประกันราคาข้าว, การขยายบริการไฟฟ้าให้ทั่วถึง, การขยายโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงสื่อมวลชน, การขยายสาธารณูปโภคในต่างจังหวัด เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน กระฎุมพีและคนชั้นกลางระดับกลางก็มีความสัมพันธ์กับคนในชนบทมากขึ้น นับตั้งแต่ทุนจำเป็นต้องสยายปีกไปใช้ประโยชน์ทรัพยากรท้องถิ่นโดยตรง นับ

ตั้งแต่เหมืองเกลือ, เกษตรตามพันธสัญญา, เขื่อนผลิตไฟฟ้า และธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการอพยพเข้าเมืองของคนชั้นกลางระดับล่างอีกจำนวนมาก จากชั่วคราวกลับกลายไปเป็นถาวรมากขึ้น ทั้งเพื่อช่วยเหลือครอบครัวเดิมหรือตั้งครอบครัวใหม่

เช่นเดียวกับคนชั้นกลางระดับกลางที่เติบโตมาในสมัยสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ได้เรียนรู้แบบแผนชีวิต (อุดมคติของชีวิตที่ดี, ระบบคุณค่า, ความสัมพันธ์ทางสังคม) ของกระฎุมพีชั้นสูง คนชั้นกลางระดับล่างก็ได้เรียนรู้แบบแผนชีวิตจากคนชั้นกลางระดับกลางที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตนด้วยเช่นกัน

ที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนชั้นกลางระดับล่างเพิ่งเติบโตมาไม่นาน หากนับจากกลางสมัยเปรมก็ประมาณ 24 ปี (2525-2549) ในขณะที่กระฎุมพีและคนชั้นกลางระดับกลางเพิ่งขยายตัวก่อน 14 ตุลาเพียง 16 ปีเท่านั้น เหตุดังนั้น ทั้งสองกลุ่มนี้จึงมีประสบการณ์ทางการเมืองไม่มาก

กระฎุมพีและคนชั้นกลางรู้จักแต่การเมืองของเผด็จการทหารซึ่งน่าพอใจกว่าการเมืองเสรีประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา ในขณะที่คนชั้นกลางระดับล่างรู้จักแต่ประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่ทำให้เขาได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐมากขึ้น และทำให้เขาไต่เต้าขึ้นมาสู่ความเป็นคนชั้นกลางระดับล่างได้

(ผมกล่าวตรงนี้เพื่อจะเตือนว่า ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่พึงคาดหวังว่าเสื้อแดงและแกนนำเสื้อแดงจะเป็นตัวแทนของประชาธิปไตยเต็มใบ เช่นเดียวกับที่ไม่พึงประเมินว่ากระฎุมพีและคนชั้นกลางไทยเป็นหัวหอกของประชาธิปไตยเช่นกัน)

คนไร้ประสบการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายเช่นนี้แหละที่ “ลงแดง” ทางการเมืองได้ง่าย หากจะมีอาการ “ลงแดง” ในวิกฤตการเมืองครั้งล่าสุดนี้ ก็น่าจะเป็นกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่างนี่แหละ เพราะได้เสพติดนโยบายรัฐที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกเขาบ้าง

อันเป็นนโยบายที่ดำเนินมาแล้วกว่าสองทศวรรษ (ผมไม่ได้หมายความว่านโยบายนี้ผิด) และเสพติดกับการเลือกตั้ง เพราะเป็นเงื่อนไขเดียวที่ประกันว่า รัฐจะมีนโยบายเช่นนั้นตลอดไป

เรากำลังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของคน “ลงแดง” หรือกึ่ง “ลงแดง” สองกลุ่ม ฝ่ายกระฎุมพีและคนชั้นกลางเสพติดเผด็จการทหาร และนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อเขา โดยไม่ต้องมองความทุกข์ยากของคนระดับล่าง คนชั้นกลางระดับล่างเสพติดนโยบายที่รัฐต้องช่วยให้เขาไต่เต้าได้สูงขึ้นไปกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตัวแบบ (model) “ลงแดง” อาจใช้เพื่อการวิเคราะห์วิกฤตการเมืองไทยช่วงนี้ได้ไม่ทะลุเท่าไรนักก็ได้

กระฎุมพีและคนชั้นกลาง “ลงแดง” หลัง 14 ตุลา ด้วยเหตุหลายอย่าง แต่เหตุอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยเลยคือเหตุทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีอนาคตที่ค่อนข้างมืดมนในช่วงที่เป็นประชาธิปไตยขณะนั้น และด้วยเหตุดังนั้นจึงหันไปสนับสนุน 6 ตุลา เพื่อคืนกลับไปสู่เผด็จการทหารที่ตนเองเคยชินและวางใจกว่า

แต่วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ซึ่งรุนแรงอย่างที่เราไม่เคยประสบมาก่อน กลับนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ทำไม ผมตอบไม่ได้ และยังไม่พบคำตอบที่น่าพอใจ แต่อีกส่วนหนึ่งของคำตอบน่าจะเริ่มกับการทบทวนข้อมูลบางอย่าง

เราเคยชินที่จะเรียกการประท้วงในเดือนพฤษภาคม 2535 ว่า “ม็อบมือถือ” ผมคิดว่านี่เป็นนิยามของผู้สื่อข่าวท่านหนึ่งที่ได้คลุกคลีกับผู้ประท้วง และพบว่ามีผู้พกพาโทรศัพท์มือถือ (ซึ่งมีราคาแพงในขณะนั้น) อยู่มาก ผมสงสัยข้อเท็จจริงครับ แต่ยังไม่อาจหารายงานข่าวที่ไม่เชื่อมโยงกับรายงานข่าวเรื่อง “ม็อบมือถือ” ได้ ที่ผมสงสัยก็เพราะผมอยู่ต่างจังหวัด ได้เห็นม็อบประท้วงในต่างจังหวัดว่าอยู่ในระดับคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปก็ไม่น้อย แต่จำนวนที่มากที่สุดคือคนชั้นกลางระดับล่าง ส่วนใหญ่ขี่มอเตอร์ไซค์มาร่วมประท้วง

หากม็อบที่ประท้วงในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับพลตรีจำลองและสันติอโศกอยู่บ้าง งานศึกษาเกี่ยวกับสันติอโศกบอกว่า ส่วนใหญ่ของสาวกเป็นคนชั้นกลางระดับล่าง

เช่นเดียวกับการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ในต่างจังหวัดที่ผมอยู่ รถที่ติดธงเขียวส่วนใหญ่คือรถ “ใช้งาน” เช่นขนคนงานก่อสร้าง, ขนส่งของ, รถรับจ้าง, มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ แม้รถส่วนตัวก็มีติดอยู่เหมือนกัน

ประเด็นของผมก็คือ บทบาทของคนชั้นกลางระดับล่างในการขับเคลื่อนพลังเพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร และสนับสนุนรัฐธรรมนูญที่เปิดให้มีการเลือกตั้งหลายระดับได้รับความเอาใจใส่จากผู้สนใจการเมืองไทยน้อยเกินไป จู่ๆ เขาก็โผล่มาเป็นมวลชนคนเสื้อแดง โดยมองไม่เห็นรากเหง้าการเติบโตในเวทีการเมืองของเขาเลย

และหากข้อสงสัยของผมถูก คนที่ชอบพูดว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่การเลือกตั้ง ก็ต้องตอบด้วยว่า ในสถานะอย่างคนชั้นกลางระดับล่าง ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง เขาจะเข้าไปกำกับนโยบายสาธารณะได้อย่างไร ความไม่ใส่ใจต่อการขยายตัวของคนชั้นกลางระดับล่าง

นำไปสู่มโนภาพว่าชนบทไทยเต็มไปด้วยชาวไร่ชาวนาที่ถูกรัฐและทุนรังแก สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนคือมีรัฐที่ไม่อยู่ฝ่ายทุน แต่ทำหน้าที่ปกป้องคนเล็กคนน้อยในชนบท เผด็จการทหารหรือเผด็จการอะไรก็ตามจึงไม่น่ารังเกียจ หากเผด็จการเข้ามาทำหน้าที่อย่างนั้น

แต่หากเรายอมรับการขยายตัวของคนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งกลายเป็นส่วนใหญ่ของประชากรไทย เรากำลังพูดถึงรัฐที่พวกเขาต่อรองได้ ไม่ใช่รัฐอุปถัมภ์อีกแล้ว

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือกระฎุมพีและคนชั้นกลางถูกจับ “อดยา” มานาน จนน่าจะหาย “ลงแดง” กับยาเสพติดตัวเก่าไปแล้ว พวกเขาคงต้องยอมรับว่า ความรุ่งเรืองและมั่นคงทางเศรษฐกิจซึ่งตั้งอยู่บนการหนุนหลังของสหรัฐ จะไม่มีวันกลับมาอีก โลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมย่อมเปลี่ยนลูกหลานเขาเสียยิ่งกว่าหนังสือฝ่ายซ้ายเพียงไม่กี่เล่มที่ถูกนำมาพิมพ์ใหม่หลัง 14 ตุลา

แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า กระฎุมพีและคนชั้นกลางหลัง 6 ตุลา ต้องหันไปบำบัดอาการ “ลงแดง” ของตนด้วยสิ่งที่เป็นมายาทั้งหลาย (ดูข้างต้น) มายาคือไม่จริง การหันไปยึดโครงสร้างรัฐตามอุดมคติซึ่งกระฎุมพีและคนชั้นกลางเองก็รู้ว่าไม่จริง คือการติดยาตัวใหม่นั่นเอง เช่น กองทัพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง ฉะนั้น หากยึดอำนาจก็จะทำให้เกิดความสงบสุขแก่บ้านเมือง เพราะกองทัพไม่มีเส้นสายกับใคร จึงไม่มีเหตุที่จะต้องคอร์รัปชั่น ฯลฯ อะไรทำนองนี้

กระฎุมพีและคนชั้นกลางก็รู้ว่าอุดมคติเช่นนี้ไม่จริง แต่หากไม่มีความไม่จริงเหล่านี้ให้เขายึดเหนี่ยว ชีวิตของเขาจะเผชิญความผันผวนของเศรษฐกิจ, สังคม, และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างไร

(ผมคิดว่าจะเข้าใจคำพูดที่แย้งกันเองของนักคิดฝ่ายขวาหลายคนในช่วงนี้ได้ดีขึ้น หากยอมรับว่าพวกเขาติดยา ยิ่งกองทัพยึดอำนาจ ยิ่งต้องหลับตากับความจริงที่เขารู้อยู่เต็มอกมากขึ้น)

ประโยคสั้นๆ อันหนึ่งที่อาจารย์เบนพูดทิ้งท้ายไว้ในบทความ อาจารย์เบนพูดทำนองว่า หากไม่นับเลนินและพรรคบอลเชวิคแล้ว ไม่มีการปฏิวัติครั้งไหนจะประสบความสำเร็จได้ หากนักปฏิวัติไม่ได้ถูกมองว่ากระทำการเพื่อชาติ ท่านพูดเรื่องนี้เพื่ออธิบายว่า หลัง 6 ตุลา โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารซ้อนใน 2520 สถานะของนักศึกษาทั้งที่ต้องคดีในประเทศหรือหลบหนีไปร่วมกับคอมมิวนิสต์ในป่าหรือหลบออกต่างประเทศ เปลี่ยนไป แม้ผู้คนยังไม่เห็นด้วยกับความคิดของพวกเขา

แต่ไม่มีใครปฏิเสธว่า พวกเขาทำการทั้งหมดด้วยความรักชาติ เรื่องนี้อาจตรงกับที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล พูดถึง “ความเงียบ” ของฝ่ายขวาในปาฐกถาของท่านหลัง 6 ตุลาอีกหลายปี

ผมอ่านประโยคนี้ของอาจารย์เบนแล้วคิดถึงความปรองดองที่กระฎุมพีและคนชั้นกลางพูดถึงอยู่

ผู้ต่อต้านการรัฐประหาร มองกระฎุมพีและคนชั้นกลางที่สนับสนุนการรัฐประหารว่า ต้องการกีดกันมิให้รัฐใช้ทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือค้ำจุนคนระดับล่าง พูดอีกอย่างหนึ่งคือ กระฎุมพีและคนชั้นกลางสนับสนุนการรัฐประหารเพื่อประโยชน์ส่วนตัว คือจะกันให้รัฐใช้ทรัพยากรเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนเท่านั้น ตรงกันข้าม กระฎุมพีและคนชั้นกลางกล่าวหาคนที่ต่อต้านการรัฐประหารว่ารับเงินจากนักการเมืองที่เพลี่ยงพล้ำในการต่อสู้กับกองทัพ มีผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้งอย่างน่ารังเกียจ

ไม่มีฝ่ายใดยอมรับว่าฝ่ายตรงข้ามมีความรักชาติเลย หากจะมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่างฝ่ายต่างคิดว่าจะนิรโทษกรรมเฉพาะ “คนโง่” ของแต่ละฝ่าย (คือกระทำไปด้วยความเขลา ไม่เกี่ยวกับความรักชาติ) หรือหากจะมีการเหมาเข่ง ก็จะเป็นเรื่องของการยื่นหมูยื่นแมว อย่างที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยเสนอไปแล้ว ไม่ใช่เพราะยอมรับว่าอีกฝ่ายหนึ่งกระทำไปด้วยความรักชาติ แม้ทำอย่างเข้าใจผิดหรืออย่างคิดสั้นก็ตาม

ฉะนั้น มองจากประโยคนั้นของอาจารย์เบน ก็หมายความว่า จะไม่มีฝ่ายใดได้ชัยชนะเลย ความขัดแย้งจะดำรงอยู่ตลอดไป จนถึงวันนี้และต่อไปในวันหน้าที่พอจะมองเห็นได้ จะไม่มีฝ่ายใดเลือก “ความเงียบ” เป็นทางออก ข้อกล่าวหาเรื่อง “อันธพาลการเมือง” และ “รับเงินทักษิณ” ยังดังเท่ากับก่อนหน้าการรัฐประหาร

น่ากลัวนะครับ เราอยู่ในสังคมที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างคนสองฝ่าย เสี่ยงที่จะลุกลามกลายเป็นความรุนแรงได้ทุกเมื่อ เพราะฝ่ายหนึ่งก็ “ลงแดง” เสพติดกับนโยบายที่เอื้อต่อการเพิ่มอำนาจของคนจน อีกฝ่ายหนึ่งก็อยู่ในอาการ “จิตเภท” คือแยกระหว่างความจริงและมายาไม่ออก

0000​

 

หมายเหตุ:เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายวัน เมื่อวันที่18 กรกฎาคม 2559

ที่มา: มติชนออนไลน์ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใจ อึ๊งภากรณ์: ถึงเวลาที่เราต้องเลิกเล่นละคร

$
0
0

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ทหารส่วนหนึ่งในประเทศตุรกีพยายามก่อรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทันทีที่ทหารกลุ่มนั้นนำรถถังออกมาบนท้องถนน ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยก็ลุกฮือออกมาต้านเป็นหมื่นๆ ในสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เมื่อทหารบุกเข้าไป นักข่าวก็ไม่ยอม มีการปะทะกันจนทหารถูกจับ ในที่สุดรัฐประหารครั้งนี้ก็ล้มเหลว

ถ้าเปรียบเทียบภาพมวลชนในตุรกีที่ออกมาต้านรัฐประหาร กับการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ หรือกลุ่มนักศึกษาอื่นๆ ที่ออกมาค้านเผด็จการแค่หยิบมือหนึ่ง แค่ห้าหกคน แล้วถูกทหารเถื่อนจับคุมซ้ำแล้วซ้ำอีก มันชวนให้นึกว่าที่ไทยมันมีการเล่นละครต้านเผด็จการเท่านั้นเอง มันชวนให้คิดว่าบางทีกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวสนใจแต่จะเป็น “พระเอก” แบบ “โรแมนติก” หรืออย่างน้อยก็มองว่าคนหยิบมือหนึ่งทำแทนมวลชนได้ ถ้าเราจมอยู่ในวิธีต้านเผด็จการแบบเล่นละครในไทยแบบนี้ เราจะไม่มีวันล้มเผด็จการได้

ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่เพื่อตั้งคำถามกับความจริงใจของกลุ่มนักศึกษาแต่อย่างใด แต่ความจริงใจมันล้มเผด็จการไม่ได้ การเลือกแนวสู้ หรือการเลือกยุทธวิธี เป็นเรื่องชี้ขาด และไม่ใช่ว่าคนไทยไม่เคยออกมาเป็นหมื่นๆ แสนๆ ในอดีตเพื่อล้มเผด็จการ

เราต้องเปรียบเทียบภาพขบวนการประชาธิปไตยใหม่กับภาพของเสื้อแดงที่ชุมนุมกันในอดีต หรือภาพนักศึกษาและคนงานที่เคยออกมาในปี 2516 แล้วจะเห็นพลังที่สามารถล้มทหารได้ ถ้าเราฉลาดในการสู้

มันถึงเวลานานแล้วที่นักเคลื่อนไหวปัจจุบันจะต้องทบทวนแนวคิดที่มองว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทำได้โดยห้าหกคนที่ “ยอมเสียสละ” อดอาหารหรือยอมถูกจับ แนวคิดนี้เน้นการ “ทำข่าว” หรือการ “เปิดโปง” ความชั่วร้ายของทหาร แต่ละเลยเรื่อง “พลัง” หรือ “อำนาจ”

ถ้าเราจะสร้างพลังในการต่อรองกับเผด็จการ เราต้องมีการ “จัดตั้ง” มวลชน อย่างที่เสื้อแดงหรือนักศึกษาในปี 2516 เคยทำ และถ้าจะให้ความสำคัญกับการจัดตั้ง ต้องกระตือรือร้นในการลงพื้นที่เพื่อคุยกับและปลุกระดมมวลชน ต้องไว้ใจว่ามวลชนกลุ่มต่างๆ จะนำตนเองได้ และต้องมีทัศนะที่เปิดกว้างยอมทำงานกับคนที่มีความคิดหลากหลายที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนที่ไม่ชอบเผด็จการ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องหวงความบริสุทธิ์ หรือไม่กล้าเถียงกับคนที่เห็นต่างในบางเรื่องแต่พร้อมจะจับมือกันในการเคลื่อนไหว

แน่นอนในทุกยุคทุกสมัย และในประเทศต่างๆ สถานการณ์มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ที่สำคัญคือเราต้องสามารถดึงประเด็นหลักๆ ออกมาเพื่อเป็นบทเรียน

บทเรียนที่สำคัญที่สุดคือถ้ามวลชนไม่ออกมาประท้วง เราสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ การอาศัยพระเอกไม่กี่คนไม่เคยชนะเผด็จการ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือแนวทาง “พระเอก” หรือ “นางเอก” ของอองซานซูจีในพม่า เพราะเขาใช้เวลาหลายปีในการสลายพลังมวลชน และดูดพลังมวลชนดังกล่าวเข้ามาในตัวเขาคนเดียว ผลคือการประนีประนอมครั้งใหญ่กับทหาร และการประนีประนอมกับรัฐเผด็จการ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ในพม่า

ในตุรกีมันมีความขัดแย้งระหว่างกองทัพ ที่อาศัยแนวคิด “เคมาลลิสต์” ของ เคมาล อตาเติร์ก อดีตผู้ก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ กับฝ่ายพรรคมุสลิม (พรรคความยุติธรรมและความเจริญ AKP) ที่ชนะการเลือกตั้งมาหลายรอบ มันสะท้อนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มก้อนเผด็จการเก่ารวมถึงฝ่ายตุลาการที่ไม่อิงศาสนา กับนักการเมืองที่เป็นมุสลิม มันสะท้อนความขัดแย้งระหว่างพลเมืองชนชั้นกลางที่มีวิถีชีวิตแบบตะวันตก(สลิ่มตุรกี) กับพลเมืองกรรมาชีพเกษตรกรและคนจนที่มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับศาสนา ในอดีตฝ่ายซ้ายสังคมนิยมเคยเป็นหัวหอกในการนำการเคลื่อนไหวของคนจน แต่การปราบปรามจากเผด็จการทหารและความเสื่อมของฝ่ายซ้าย ทำให้พรรคมุสลิมเข้ามาแทนที่ได้

ที่น่าประทับใจคือในการต้านรัฐประหารครั้งนี้ประชาชนหลายฝ่าย ทั้งผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลและผู้ที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านร่วมมือกันออกมาต้านทหาร สาเหตุเพราะคนจำนวนมากจำได้ว่าชีวิตเป็นอย่างไรภายใต้เผด็จการทหารในอดีต

พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพปฏิวัติของตุรกี หรือ Revolutionary Socialist Workers Party (DSİP) อธิบายว่าการก่อรัฐประหารที่พึ่งเกิดขึ้น สะท้อนความไม่พอใจของกลุ่มทหารที่กำลังเสียเปรียบต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลพยายามลดอิทธิพลของทหารที่ต่อต้านพรรคมุสลิมในกองทัพ ในความเป็นจริงทั้งสองฝ่ายก็มีแนวโน้มเผด็จการพอสมควร และรัฐบาลนี้พร้อมจะใช้อำนาจรัฐในการปราบผู้เห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้าย สหภาพแรงงาน หรือชาวเคิร์ด แน่นอนทหารมีประวัติเผด็จการโหดที่ชัดเจน แต่เราไม่ควรไปหลงสนับสนุนรัฐบาล ดังนั้นเมื่อมีการพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้ พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพปฏิวัติของตุรกี ประกาศจุดยืนระดมมวลชนเพื่อต้านทหาร แต่ในการเคลื่อนไหวต้องคัดค้านมาตรการเผด็จการของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย ไม่ใช่ไปตั้งความหวังกับรัฐบาล หรือตั้งความหวังกับตำรวจหรือทหาร “แตงโม”

ผมขอย้ำอีกที พลังหลักในการล้มเผด็จการอยู่ที่มวลชนที่ประกอบไปด้วยกรรมาชีพ เกษตรกร คนจน และประชาชนธรรมดาที่รักประชาธิปไตย

0000

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน  turnleftthai.wordpress.com

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภัควดี วีระภาสพงษ์: มือที่มองเห็นของมิลาน คุนเดอรา

$
0
0

แก่นเรื่องหลักของงานประพันธ์ทุกยุคสมัยคือการสำรวจสภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์  งานประพันธ์ยุคก่อนสมัยใหม่ส่วนใหญ่มักสำรวจตำแหน่งแห่งที่ของการดำรงอยู่ของมนุษย์ภายในสังคม  การอยู่ผิดตำแหน่งแห่งที่หรือการถูกบังคับให้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่โดยไม่เต็มใจคือที่มาของความน่าขันหรือน่าขื่นของตัวละคร   ครั้นเมื่อสังคมสมัยใหม่โดยเฉพาะในตะวันตก สถานภาพดั้งเดิมตามประเพณีถูกทำลายลงไปพอสมควร วิถีการผลิตที่แปรเปลี่ยนไปทำให้สังคมแตกตัวออกเป็นหน่วยปัจเจกบุคคลย่อยๆ ในขณะที่กลไกรัฐใหญ่โตขึ้นและสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น  การสำรวจสภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์เริ่มปรับจุดโฟกัสมาที่ “ตัวตน” และ “โลกภายใน” ของตัวละคร

นวนิยายประเภทหนึ่งที่เน้นการสำรวจสภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์ก็คือสำนักอัตถิภาวนิยม (Existentialism)  ถึงแม้ผู้สันทัดกรณีบางคนจัดนวนิยายของคุนเดอราอยู่ในสำนักนี้  แต่ข้าพเจ้าไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร  นวนิยายสำนักอัตถิภาวนิยมเชื่อว่ามนุษย์จะบรรลุความจริงแท้ของตัวตนได้ก็ด้วยเสรีภาพและการเลือก  เสรีภาพและการเลือกของมนุษย์นั้นถูกขัดขวางด้วยสิ่งตรงข้ามคือโลกที่ไร้สาระ (The Absurd) และคนอื่น (The Other) ที่เป็นนรก  เมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับโลกและคนอื่นที่เข้าใจไม่ได้  เขาอาจจะพ่ายแพ้และกลายเป็น “คนนอก” หรือได้รับชัยชนะและกลายเป็น “อภิมนุษย์” ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเขาบรรลุเสรีภาพและการเลือกของตนเองหรือไม่

ในนวนิยายของคุนเดอรานั้น ตัวละครไม่ได้บรรลุความจริงแท้แห่งตัวตนด้วยเสรีภาพและการเลือก เพราะมนุษย์ต้องดำรงอยู่ในโลกที่กลายเป็นกับดัก  เสรีภาพจึงไม่ค่อยมี ทางเลือกก็ไม่ค่อยมาก  การ “ต้อง” เลือกภายในกรอบของกับดักย่อมไม่ใช่เสรีภาพที่แท้จริง  แต่ตัวละครของคุนเดอราก็มิใช่ผู้ถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียวหรือใสซื่อบริสุทธิ์  ในขณะที่ตัวละครของคาฟกาถูกเหวี่ยงเข้าสู่สถานการณ์ที่เขาไม่ได้เลือก  การต่อสู้กับโลกที่เข้าใจไม่ได้จึงหนักอึ้ง  แต่ในโลกของคุนเดอรา มันปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์คือส่วนหนึ่งของโลกที่เป็นปฏิปักษ์และจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เขาย่อมมีส่วนอยู่บ้างในการสร้างโลกนั้นขึ้นมา แม้มันจะกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อตัวเขาเองก็ตาม  อีกทั้งในขณะที่คนอื่นเป็นนรก ตัวเขาก็เป็นนรกของคนอื่นเช่นกัน  ในภาวะที่จะโทษโลกหมดก็ไม่ได้ โทษตัวเองหมดก็ไม่ดี เมื่อย้อนคิดดูแล้ว สถานการณ์ที่กลายเป็นกับดักจึงมีทั้งความหนักอึ้งและความน่าหัวเราะเท่าๆ กัน
โลกและคนอื่นไม่ใช่สิ่งลึกลับดำมืดหรือไร้สาระจนอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้  คุนเดอรานั้นช่างอธิบายและอธิบายมากพอสมควร  โลกเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ด้วยเหตุผลในระดับหนึ่ง  เรามีเครื่องมือมากมายที่จะเข้าใจมัน  แต่เนื่องจากมันใหญ่โตเกินไปต่างหาก  ต่อให้เราเข้าใจมันได้ เราก็ทำอะไรกับมันไม่ได้  ยิ่งเราพยายามไปแก้ไขมัน มันก็ยิ่งยุ่งเหยิงและเป็นปฏิปักษ์ต่อตัวเรา  เราก็ยิ่งพาตัวเราเข้าไปอยู่ในกับดักมากขึ้นๆ

สิ่งที่นิยามความเป็นกับดักก็คือการมีกรอบและกรอบก็คือพรมแดน  นวนิยายของคุนเดอราจึงมักพูดถึงการข้ามพรมแดน ทั้งในแง่ของพรมแดนทางภูมิศาสตร์ พรมแดนของความรัก พรมแดนของเพศสัมพันธ์ พรมแดนของความเชื่อและอุดมการณ์ ฯลฯ  ความหมกมุ่นอยู่กับการข้ามพรมแดนนี้มาจากประสบการณ์ของการเป็นผู้ลี้ภัยในชีวิตจริงของเขาเอง  ในโลกยุคสงครามเย็นนั้น โลกแบ่งออกเป็นพรมแดนระหว่างโลกทุนนิยมกับโลกคอมมิวนิสต์  ด้านหนึ่งของพรมแดนคือโลกคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีอารมณ์ขัน  มันคือสวรรค์ของคนดีที่ฆ่าทุกคนที่ไม่เห็นด้วย  โลกที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของเทวทูตที่ปลื้มปีติในการทำลายล้างตัวตนของมนุษย์  โลกของรสนิยมสามานย์ที่ทุกคนต้องเหมือนกันหมดและปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งต้องห้าม  โลกที่ว่างเปล่าและหนักอึ้ง

อีกด้านของพรมแดนคือโลกทุนนิยมที่เต็มไปด้วยความรื่นเริงหลากหลาย  โลกที่ดูคล้ายมีเสรีภาพให้ทุกคนเลือก  แต่ทางเลือกนั้นถูกจำกัดแล้วด้วยทุน สื่อและแฟชั่น  ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นแค่การตลาด  รสนิยมสามานย์แบบ mass production  โลกที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของซาตานที่เย้ยหยันและไม่เคยเห็นอะไรมีสาระสำคัญ  โลกที่รุงรังและเบาหวิว

การต้องข้ามพรมแดนไปมาระหว่างสองโลกทำให้ปัจเจกบุคคลประสบปัญหาในการสื่อสารกับคนอื่นในโลกอีกฟากของพรมแดน  ปัญหาของการปรับตัว การแสวงหาความหมายใหม่ในชีวิต  พรมแดนที่เต็มไปหมดทั้งในโลกสังคม การเมืองและชีวิตส่วนตัว  โลกและคนอื่นที่พยายามแทรกแซงตัวตนของมนุษย์ตลอดเวลา  ทำให้ตัวตนของมนุษย์แตกกระจายเป็นเศษเสี้ยว  เหมือนรอยสาดของน้ำหมึกบนกระดาษซับ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีรูปทรงชัดเจน ไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว  เราจะสำรวจตรวจสอบสภาวะการดำรงอยู่ของเศษเสี้ยวที่กระจัดกระจายนี้ได้อย่างไร?

คุนเดอราใช้นวนิยายเป็นเครื่องมือสำรวจตัวตนที่แตกกระจายและสภาวะการดำรงอยู่ของมันในโลก  ในนวนิยายสมัยก่อน ผู้ประพันธ์คือพระเจ้าหรือมือที่มองไม่เห็น  มีหน้าที่ชี้นำผู้อ่านไปสู่การมองโลกและการเข้าใจโลกในแบบที่ผู้ประพันธ์ต้องการ  ส่วนในนวนิยายของคุนเดอรานั้น ผู้ประพันธ์ก็ไม่รู้เท่าๆ กับผู้อ่าน  เขาปรากฏตัวออกมาให้เราเห็นตลอดเวลา  เขาพูดทั้งสิ่งที่เขารู้และไม่รู้ เขาพิศวงสงสัยในปริศนาของตัวตนเท่า ๆ กับผู้อ่าน  เขาเล่าให้ผู้อ่านฟังว่าเขาสร้างตัวละครขึ้นมาอย่างไรและย้ำเสมอว่าตัวหนังสือทั้งหมดคือเรื่องแต่ง  

นิทซ์เช่ประกาศว่าพระเจ้าตายแล้วและคุนเดอราฌาปนกิจพระเจ้าในโลกวรรณกรรม  พระเจ้าตายแล้ว  ผู้ประพันธ์ไม่ใช่พระเจ้า  เขาคือมือที่มองเห็น  ผู้ประพันธ์จึงมีสถานะความเป็นมนุษย์ที่มีข้อจำกัดเท่า ๆ กับผู้อ่าน

ในเมื่อตัวตนของมนุษย์เปรียบเสมือนแค่หมึกเลอะๆ  การสร้างตัวละครที่มีเนื้อมีหนังสมจริง มีรายละเอียดด้านจิตวิทยา/จิตวิเคราะห์ครบถ้วนจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป  เราสามารถวิเคราะห์สภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์โดยหยิบยกแค่ส่วนเสี้ยวบางอย่าง  สร้างตัวละครจากสถานการณ์บางอย่าง ความสัมพันธ์บางอย่าง ชะตากรรมบางอย่าง แล้วพิเคราะห์สภาวะการดำรงอยู่จากส่วนเสี้ยวเหล่านั้น  คุนเดอรามักไม่บรรยายหน้าตารูปโฉมโนมพรรณของตัวละครมากนัก  เขาเคยบอกว่าผู้อ่านจะใช้จินตนาการเติมให้เต็มเอง  ในแง่นี้นวนิยายของคุนเดอราจึงมิใช่แค่การสื่อสารทางเดียว  แต่เป็นการสื่อสารสองทาง  ผู้อ่านร่วมเป็นผู้ประพันธ์ปลายทางไปกับผู้ประพันธ์ต้นทาง  ผู้อ่านจึงช่วยเติมช่องว่างที่คุนเดอราเว้นไว้ให้

กลวิธีการประพันธ์ของคุนเดอรามีความเกี่ยวร้อยกับเนื้อหาอย่างแนบแน่น  ด้วยความที่มีพื้นฐานแน่นหนาด้านดนตรีคลาสสิก  นวนิยายของคุนเดอราก็มีลักษณะเช่นเดียวกับดนตรีซิมโฟนี  มันมีทั้งจังหวะเร็ว จังหวะช้า เสียงกระหึ่ม เสียงเบา มีท่อนแยก มีจังหวะหยุด แต่บทเพลงทั้งหมดเกี่ยวร้อยด้วย motif และ leitmotif ที่ย้อนกลับมาเสมอ  เช่นเดียวกัน ถึงแม้นวนิยายของคุนเดราอาจเต็มไปด้วยบทสั้นๆ ที่ตัดสลับไปมาหรือมีตัวละครและเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย  แต่ฉากตอนทั้งหมดก็เกี่ยวร้อยด้วยแกนเรื่องหลักบางอย่าง

หรือหากจะเปรียบกับงานศิลปะ นวนิยายของเขาก็เหมือนศิลปะสกุล Montage ซึ่งประกอบด้วยเศษเสี้ยวเล็กๆ จำนวนมาก  เนื่องจากตัวตนของมนุษย์แตกสลายเป็นเศษเสี้ยวเล็กๆ  การหยิบยกแต่ละเศษเสี้ยวมาพิเคราะห์จะช่วยให้เราเห็นสภาวะการดำรงอยู่และโลกจากหลายด้าน  มันช่วยให้เราเข้าใจตัวตนอย่างรอบด้านมากขึ้น  แต่ไม่มีทางสมบูรณ์เป็นองค์รวม  เพราะองค์รวมนั้นไม่มีอยู่  และในเมื่อการสำรวจตัวตนและสภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์ไม่มีทางเสร็จสิ้นสมบูรณ์  นวนิยายจึงมีภารกิจที่ไม่จบสิ้นในการตั้งคำถาม แต่มิใช่ให้คำตอบ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟังความอีกด้าน เฟตุลเลาะห์ กูเลน อัดรัฐบาลตุรกีจัดฉากรัฐประหาร

$
0
0

ถึงแม้ว่าเรเซป ไทยิบ แอร์โดอัน ประธานาธิบดีของตุรกีจะกล่าวหาว่า ผู้พยายามก่อรัฐประหารเพื่อโค่นล้มเขาเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลผู้ที่หลบหนีอยู่ในต่างประเทศชื่อ เฟตุลเลาะห์ กูเลน แต่นักการศาสนาผู้นี้ได้ฏิเสธว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร และโต้ตอบว่ารัฐประหารนี้เป็นการจัดฉากโดยรัฐบาลแอร์โดอัน

18 ก.ค. 2559 เฟตุลเลาะห์ กูเลน เป็นอดีตครูสอนศาสนา นักเขียน และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวตุรกีที่ลี้ภัยตัวเองไปอยู่ในเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ เขาให้สัมภาษณ์ต่อนักข่าวไม่กี่คน ณ ที่อยู่ของเขาในเมืองเซย์เลอร์สเบิร์กเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาของเออร์โดกันที่อ้างว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพยายามก่อรัฐประหารและเขาก็ไม่คิดว่าโลกจะเชื่อตามข้อกล่าวหานี้ กูเลนบอกอีกว่ามีความเป็นไปได้ที่การพยายามรัฐประหารในครั้งนี้อาจจะเป็นการจัดฉากของฝ่ายรัฐบาลเพื่อกล่าวหากูเลนและผู้ติดตามของเขา

ก่อนหน้านี้กูเลนเคยเป็นพวกเดียวกับเออร์โดกันมาก่อนจนกระทั่งถึงปี 2556 มีการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันรัฐบาลเออร์โดกัน เออร์โดกันก็กล่าวหาว่ากูเลนอยู่เบื้องหลังการสืบสวนดังกล่าวทำให้ตอนนี้กูเลนอยู่ในบัญชีรายชื่อของ "ผู้ก่อการร้าย" ที่ต้องการตัวมากที่สุดของตุรกี และตุรกีก็เรียกร้องให้สหรัฐฯ ส่งตัวกูเลนในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับตุรกี ซึ่งจอห์น แครี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่าพวกเขาให้ความร่วมมือเกี่ยวกับคำถามต่อกูเลนและอยากให้ฝ่ายตุรกีเสนอหลักฐานที่ชอบธรรมในเรื่องนี้เพื่อการพิจารณา

กูเลนยืนยันว่าเขาไม่ชอบวิธีการแทรกแซงทางการทหาร และตัวเขาเองก็เคยต้องทนทุกข์ในช่วงหลังการรัฐประหารราว 20-30 ปีที่แล้ว โดยบอกว่าในยุคนั้นตอนที่เขายังอยู่ในตุรกีเขาถูกกดดันและถูกคุมขัง ถูกจับไต่สวนและเจอกับการคุกคามหลากหลายรูปแบบ กูเลนเชื่อว่าตุรกีดำเนินไปตามหนทางของประชาธิปไตยและไม่สามารถย้อนกลับได้แล้วในตอนนี้

มีคนถามกูยเลนว่าเขาจะกลับประเทศหรือไม่ถ้าหากการรัฐประหารเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาสัมฤทธิ์ผล กูเลนตอบว่า "จริงๆ แล้วผมก็คิดถึงบ้านเกิดผมมาก แต่ก็มีปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งนั่นคือเสรีภาพ ในสถานที่ที่ผมอยู่ในตอนนี้ ผมอยู่ห่างจากปัญหาการเมืองของตุรกีและผมก็มีชีวิตอยู่อย่างมีเสรีภาพ"

เดอะการ์เดียนระบุว่ากูเลนเป็นคนที่ไม่ค่อยปรากฏตัว ครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ที่เขาพูดออกสื่อต่างประเทศคือปี 2557 เขาแทบจะไม่ออกจากที่พักของเขาในศูนย์โกลเดนเจเนอเรชั่นวอร์ชิพแอนด์รีทรีตซึ่งเป็นศูนย์ที่กลุ่มเคลื่อนไหวของเขาใช้สอนศาสนาเลย นอกจากนี้กูเลนยังมีสุขภาพที่ไม่ค่อยดีนัก รอบที่พักของเขายังมีการเฝ้าระวังความปลอดภัยอย่างเข้มงวดหลังจากที่มีเหตุรัฐประหารในตุรกี มีกลุ่มผู้ประท้วงชาวตุรกี-อเมริกันกลุ่มเล็กๆ ประท้วงต่อต้านกูเลน และกล่าวหาว่าสหรัฐฯ พยายามปกป้องกูเลน

อัลป์ อัสลานโดกัน ที่ปรึกษาด้านสื่อของกูเลนและผู้อำนวยการบริหารขบวนการของกูเลนในสาขาสหรัฐฯ กล่าวว่าพวกเขาเฝ้าระวังความปลอดภัยอย่างมากหลังจากที่มีการข่มขู่ใช้ความรุนแรงกับพวกเขาทางโซเชียลมีเดีย อัสลานโดกันตั้งข้อสังเกตอีกว่าการรัฐประหารในตุรกีในครั้งนี้มีการวางแผนได้แย่และปฏิบัติการออกมาได้แย่มากจนดูเหมือนจะเข้าทางเออร์โดกันไปหมด มีคำถามมากมายว่าการพยายามทำรัฐประหารในครั้งนี้มีการปฏิบัติการอย่างไร

การรัฐประหารในเป็นเหตุให้ผู้คนมากกว่า 200 คนเสียชีวิตโดยมีทั้งฝ่ายก่อรัฐประหารและฝ่ายผู้ต่อต้าน หลังการรัฐประหารประสบความล้มเหลว ประธานาธิบดีเออร์โดกันก็ประกาศว่าเขาควบคุมสถานการณ์ไว้ได้หมดแล้วและจะกำจัด "ไวรัส" ออกจากสถาบันการเมืองในประเทศซึ่งหมายถึงคนที่ต่อต้านเขา มีการกวาดต้อนจับกุมเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา มากกว่า 7,000 คน หลังจากนั้น รวมถึงมีการสั่งระงับวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีของข้าราชการ 3 ล้านคนทั่วประเทศจนกว่าจะมีประกาศใหม่ และสั่งให้ข้าราชการที่กำลังลาพักอยู่ให้กลับมาประจำการโดยทันที

เออร์โดกันยังกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาด้วยว่าเขาจะพิจารณานำโทษประหารกลับมาใช้อีกครั้ง ทำให้มีการโต้ตอบจากสหภาพยุโรปซึ่งปรามว่าจะไม่ให้ตุรกีเข้าเป็นสมาชิกภาพยุโรปถ้าหากมีการเสนอโทษประหารอีก นอกจากนี้โยฮันเนส ฮาห์น กรรมาธิการอียูผู้ดำเนินการเจรจาการเข้าร่วมภาคีของตุรกีกล่าวว่ารัฐบาลตุรกีดูเหมือนจะมีลิสต์รายชื่อของผู้คนที่ต้องการจับกุมตัวอยู่ล่วงหน้าก่อนการพยายามก่อรัฐประหารแล้ว

 

เรียบเรียงจาก

Istanbul deputy mayor shot in the head in city hall, The Independent, 18-07-2016
http://www.independent.co.uk/news/world/europe/turkey-coup-attempt-president-erdogan-istanbul-deputy-mayor-shot-shooting-latest-news-a7142811.html

Fethullah Gülen: Turkey coup may have been 'staged' by Erdoğan regime, The Guardian, 16-07-2016
https://www.theguardian.com/world/2016/jul/16/fethullah-gulen-turkey-coup-erdogan

Turkey coup attempt: Police and officials purged, BBC, 18-07-2016
http://www.bbc.com/news/world-europe-36824045


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Fethullah_G%C3%BClen

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live




Latest Images