Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live

ฟังเสียงจากคนต้นน้ำแตง: เวียงแหงกับการจัดการฐานทรัพยากรที่เปลี่ยนไป

$
0
0

เมื่อเวียงแหง อำเภอชายแดนไทย-พม่า ทางตอนเหนือของ จ.เชียงใหม่ ต้นน้ำแม่แตง สาขาหนึ่งของลุ่มน้ำปิง เผชิญวิกฤติฐานทรัพยากรถูกทำลาย รัฐ – ชุมชนการอยู่ร่วม กลายเป็นความขัดแย้ง ทำให้คนเวียงแหงหันมาพลิกฟื้นทรัพยากรในนาม “เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน”

ในขณะที่นโยบายทวงคืนผืนป่า ภายใต้รัฐบาล คสช. ของ พล.อ.ประยุทธิ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ยังคงประกาศเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น

ในขณะที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกมาแถลงข่าวบอกว่า กรมอุทยานฯ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า พร้อมตั้งชุดเฉพาะกิจ หน่วย "พญาเสือ" เดินหน้าปราบปรามอย่างเด็ดขาดทั้งบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยชุดพญาเสือจะขึ้นตรงกับอธิบดีกรมอุทยาน และทำหน้าที่หลักปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ทั่วราชอาณาจักร

ล่าสุด พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ก็ออกมาเปิดเผยว่า ทส. เตรียมซื้ออาวุธปืนเกือบ 4 พันกระบอกให้กรมอุทยานฯ-กรมป่าไม้ หลังกลาโหมอนุญาต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบการลักลอบตัดไม้ โดยจัดซื้อให้เกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำนวน 3,385 กระบอก ใช้งบประมาณ 142 ล้านบาท ของกรมป่าไม้ 445 กระบอก ใช้งบประมาณกว่า 18 ล้านบาท โดยปืนที่จัดซื้อเป็นปืนลูกซอง 8 นัด ราคาเฉลี่ยกระบอกละ 4หมื่นบาท

ในขณะเดียวกัน เมื่อหันไปมองในพื้นที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้หลายคนได้มองเห็นแนวคิดรูปแบบการจัดการของชาวบ้านและหลายองค์กรเครือข่ายซึ่งแตกต่าง ที่ร่วมมือจับมือกันหาแก้ไขปัญหาเรื่องป่าไม้และที่ดินกันอยู่เงียบๆ หากทรงพลังและได้ผลสำเร็จสัมฤทธิ์ดีเยี่ยม พวกเขากำลังช่วยกันปกป้องพื้นที่ 7 หมื่นกว่าไร่ โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สามารถยับยั้ง พื้นที่ป่าไม่มีการบุกรุก โดยไม่ต้องมีการปราบปราบจับกุมและเกิดความขัดแย้ง ที่สำคัญ ทุกคนทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า การใช้กฎหมายมาบังคับและการปราบปรามจับกุมชาวบ้าน เหมือนแมวไล่จับหนูนั้นไม่ใช่ทางออก แต่การหันหน้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาโดยให้ชาวบ้านคนท้องถิ่น ในนามเครือข่ายทรัพยากรฯลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ได้ลุกขึ้นมาปกป้องจัดการดิน น้ำ ป่า กันเอง โดยมีหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน คอยหนุนเสริม นั้นสามารถตอบโจทย์ปัญหาและช่วยหยุดการบุกรุกพื้นที่ป่านั้นไว้ได้

เวียงแหง”เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่อยู่ในหุบเขาติดกับชายแดนไทย-พม่า ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 134 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าระยะทางห่างไกลมากอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางสายหลัก ใช้ถนนโชตนา หมายเลข 107 จากเชียงใหม่ ถึง อ.เชียงดาว แล้วแยกไปตามถนนหมายเลข 1178 ไปบ้านเมืองงาย ก่อนถึงทางแยกแม่จา- อ.เวียงแหง ไปตามถนนหมายเลข 1322 ระยะทาง 58 กิโลเมตร เป็นเส้นทางลาดยาง ที่มีความคดเคี้ยวและลาดชันสูง มุ่งตรงไปยังอำเภอเวียงแหง และไปสิ้นสุดถนนสายนี้ที่บ้านหลักแต่ง ตำบลเปียงหลวง ด่านเล็กๆ ประตูชายแดนเข้าสู่ประเทศพม่า

เวียงแหง ตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเล โดยเฉลี่ยประมาณ 750 เมตร แต่มียอดเขาที่สูงที่สุดคือดอยปักกะลา มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,905 เมตร

ใช่แล้ว เวียงแหง ถือว่าเป็นเมืองที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ นั่นคือ เป็นอำเภอที่มีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่รวมกัน ซึ่งมีทั้งคนพื้นเมือง ลาหู่ ลีซู ไทใหญ่ จีนคณะชาติ ดาระอั้ง(ปะหล่อง) ปะโอ และปกาเกอะญอ ฯลฯ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่กระจัดกระจายไปตามไหล่เขาและทุ่งราบหุบเขา คนเวียงแหงมีหลายชนเผ่า แต่ภาษาที่จะสื่อกันได้ทุกกลุ่ม และใช้ภาษาเป็นสื่อกลางก็คือไทใหญ่ พูดได้ทุกชนเผ่า

ปัจจุบัน มีการสำรวจกลุ่มชาติพันธุ์ในเวียงแหง ไว้ว่า ประกอบด้วย คนพื้นเมืองล้านนา 39% อดีตทหารจีนคณะชาติและจีนฮ่ออิสระ 6.02 % บุคคลบนพื้นที่ราบสูง 23.13 % ปกาเกอะญอ(กระเหรี่ยง) 6.82 % ลีซู(ลีซอ) 5.66 % ลาหู่(มูเซอ) 2.66 % ผู้พลัดถิ่นจากพม่าและแรงงานพม่า 6.31 % รวมจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 25,000 คน ซึ่งประชากรในพื้นที่อำเภอเวียงแหง ส่วนใหญ่นอกจากเป็นกลุ่มคนพื้นเมืองล้านนาแล้ว จะเป็นประชากรที่เป็นผู้อพยพหนีภัยสงครามจากประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตพื้นที่เวียงแหงอย่างถาวร

เมื่อมองภาพรวมของอำเภอเวียงแหงแล้ว ทำให้เรามองเห็นภาพสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อ แต่ละชุมชนนั้นมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่ายแบบชนบท

จุดเด่นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง และถือว่ามีคุณค่าสำคัญสำหรับคนเวียงแหงเป็นอย่างมาก นั่นคือ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่อาศัยอยู่ร่วมกับผืนดิน ผืนป่าและสายน้ำกันมาช้านาน

จากข้อมูลพื้นฐาน ระบุไว้ว่า อำเภอเวียงแหงมีพื้นที่ทั้งหมด 705 ตารางกิโลเมตร โดยประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นภูเขาและผืนป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอุทยานแห่งชาติ ขณะที่มีพื้นที่อยู่อาศัย 52 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 32,500ไร่

พื้นที่ป่าไม้ในเขตพื้นที่อำเภอเวียงแหงนั้น ถือว่ามีคุณค่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ดูดซับน้ำจากฝนและไหลลงสู่ห้วยน้ำดัง ห้วยแม่ปอง และห้วยฮ่องจุ๊ ซึ่งพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 564.88 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 80.62 ของพื้นที่ทั้งหมดของอำเภอเวียงแหง อีกทั้งพื้นที่ของอำเภอเวียงแหงนั้น จัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง มีลักษณะเด่นทางธรรมชาติ กล่าวคือ เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของทรัพยากรทางชีวภาพ ทั้งพืชและสัตว์ จากสภาพป่าที่มีลักษณะของระบบนิเวศน์เฉพาะถิ่นตั้งแต่พื้นที่ป่าสองฝั่งลำน้ำแตง ลำห้วยสายต่างๆ และในพื้นที่หุบเขาและบนภูเขาสูงชัน นอกจากความสำคัญของพรรณพืชชนิดต่าง ๆ แล้ว จากการสำรวจ ยังพบว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง ยังมีทรัพยากรสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งบางชนิดจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ รวมทั้งสัตว์น้ำรวมทั้งปลาชนิดต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ได้ชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าที่มีกระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แตง

 

แม่น้ำแตง คือสายเลือดของคนเวียงแหง

ลุ่มน้ำแม่แตง จัดเป็นลุ่มน้ำย่อยส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำแม่ปิง มีขนาดกลางมีพื้นที่ 1,978 ต.ร.ม.หรือ1,236,250 ไร่ ทางด้านทิศเหนือของลุ่มน้ำติดกับชายแดนไทย–พม่า ทางด้านทิศใต้ติดกับลุ่มน้ำปาย ทางด้านทิศตะวันออกติดกับลุ่มน้ำปิง และทางด้านทิศตะวันตกติดกับลุ่มน้ำปาย ลุ่มน้ำแม่แตง

หากเราเดินขึ้นไปถึงต้นกำเนิดของสายน้ำแม่แตง ก็จะพบว่า ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาแดนลาว บริเวณรอยต่อระหว่างชายแดนไทยกับประเทศพม่า ไหลจากทิศเหนือลงสู่ด้านล่างทางทิศใต้ ไหลผ่านมาตามแนวเทือกเขา ซอกเขา ผ่านมายังเขตพื้นที่ตำบลเปียงหลวง ตำบลแสนไห และตำบลเมืองแหง ของอำเภอเวียงแหง ก่อนไหลลงผ่านตำบลเมืองคอง ของอำเภอเชียงดาว แล้วไหลต่ำลงไปยังพื้นที่ตำบลกึ้ดช้าง ตำบลอินทขิล ของอำเภอแม่แตง ก่อนจะไหลมาบรรจบกับลำน้ำแม่ปิงที่บริเวณตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีการสำรวจกันว่า แม่น้ำแตง มีความยาวจากต้นธารถึงปลายน้ำ ประมาณ 180 กิโลเมตร

ซึ่งลำน้ำแม่แตงมีความยาวเพียง 180 กิโลเมตร ทว่ากลับมีคุณค่ามหาศาล เพราะเพียงแค่ปริมาณน้ำดิบ ซึ่งโครงการชลประทานแม่แตง ได้มีการเก็บกักน้ำไว้และปล่อยไหลเป็นน้ำประปาสายหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนอำเภอเมืองเชียงใหม่ ก็ถือว่าคุ้มค่ามากมายแล้ว แต่เมื่อมองภาพโดยรวมแล้ว แม่น้ำแตง นั้นได้มอบประโยชน์อเนกอนันต์ให้กับสรรพสิ่งตลอดของสองฟากฝั่ง โดยเฉพาะการมีส่วนสร้างระบบนิเวศน์ เช่น สังคมของพืชและสัตว์ที่เกิดขึ้นตามสองฝั่งลำน้ำแล้ว แม่น้ำแตงยังเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงการดำรงชีวิตอยู่ของชุมชนสองฝั่งมาเป็นเวลายาวนานโดยได้ให้ประโยชน์กับผู้คนใช้ในการอุปโภค บริโภค การเกษตร และการอุตสาหกรรม ตลอดถึงการเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อรองรับกิจกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น

 

มากมายล้ำค่าลำห้วยสาขา หล่อเลี้ยงผู้คนเวียงแหงมาเนิ่นนาน

เมื่อหันมามองในเขตพื้นที่ของอำเภอเวียงแหง เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ระบบนิเวศน์มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก โดยดูได้จากการก่อเกิดต้นน้ำ ลำน้ำ ลำห้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาย่อยของลำน้ำแม่แตงมากมาย เช่น ลุ่มน้ำแม่แตะ ลุ่มน้ำแม่แพม ลุ่มน้ำแม่หาด ลุ่มน้ำแม่หาด ลุ่มน้ำฮ้องจุ๊ ลุ่มน้ำห้วยไคร้ ลุ่มน้ำห้วยนายาว จากข้อมูล พบว่า ในลุ่มน้ำดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์จากเหมืองฝายทั้งหมดมากถึง 20 ฝาย ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตร จำนวน 16,659 ไร่ ที่ผ่านมาชาวบ้านและกลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวน 1,828 ราย ได้ใช้ประสบการณ์ องค์ความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในเรื่องระบบเหมืองฝายมาปรับใช้ในการจัดระบบชลประทานได้สอดคล้องกับระบบภูมิเวศน์เป็นอย่างดี ซึ่งภูมิปัญญาความรู้ของชาวบ้านมีการปรับเปลี่ยนมาตลอด ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งแวดล้อม และมีการถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง

 

เมื่อเวียงแหง เผชิญวิกฤติฐานทรัพยากรถูกทำลาย รัฐ – ชุมชนการอยู่ร่วม กลายเป็นความขัดแย้ง

แต่แล้ว เพียงชั่วระยะเวลา 5-10 ปีที่ผ่านมา เวียงแหงก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ในพื้นที่เวียงแหงนั้นแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หลายพื้นที่จะพบว่า ดินเสื่อม น้ำแห้ง ป่าหาย ว่ากันว่า ปัญหาและสาเหตุนั้นมาจาก ประชากรเพิ่มขึ้น อีกทั้งชุดความคิดในวิถีชีวิต และฐานการผลิตการทำเกษตรกรรมของผู้คนในเวียงแหงเริ่มเปลี่ยนไปนั่นเอง

“เมื่อก่อนธรรมชาติเวียงแหงนั้นอุดมสมบูรณ์มากเลยนะ ป่าก็มาก น้ำก็เยอะ น้ำแตงนี่จะไหลนองทุกปี นั่นเป็นตัวชี้วัดเรื่องความอุดมสมบูรณ์เรื่องป่าเรื่องฝน พอมาระยะหลัง ๆ มานี้ฝนน้อย น้ำแตงก็ไม่นองแล้ว เชื่อมั้ยว่าน้ำแตงไม่เคยนองมาสี่ห้าปีมานี่แล้ว น้ำแห้ง หลายจุดถึงขั้นต้องกั้นน้ำแตงเป็นแห่ง ๆ เพื่อจะให้มีน้ำให้ปลาได้อยู่อาศัย จะเห็นได้ว่าการใช้น้ำจากลำน้ำลำห้วยเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าเมื่อก่อนเราใช้น้ำเพาะปลูกหอม ปลูกกระเทียมกันเป็นพืชหลัก มาถึงตอนนี้ก็มีเกษตรกรหลายราย เริ่มปรับเปลี่ยนมาปลูกส้มเขียวหวาน ทำให้ใช้น้ำมากกว่าเดิม นอกจากนั้น ยังมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด ซึ่งทำให้เราเห็นว่า มันทำให้มีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นแบบถล่มทลาย ไม่บันยะบันยัง มีการแผ้วถางป่าเพื่อขายบ้างก็มี อีกทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก่อนหน้านั้น ยังเอื้อ หลับหูหลับตา ทำให้มีการบุกรุกป่า ไม่มีใครยับยั้งได้ เพราะว่าได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหานี้มากขึ้นกว่าเดิมอีก” อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานงาน เครือข่ายทรัพยากรฯลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บอกเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงของเวียงแหง ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

“ถ้ามองในภาพรวมของอำเภอเวียงแหง ในช่วงระยะหลังมานี้ แน่นอนครับ ถือว่ามีปัญหาเยอะมาก ในเรื่องของการบุกรุกป่ามีเยอะเลยครับ สาเหตุที่แท้จริงก็ไม่รู้นะ แต่ว่าถ้าความคิดของผม คิดว่าปัญหามันมาจาก การไม่รู้จักความเพียงพอ และสอง ชาวบ้านได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจกันมากเกินไป โดยเฉพาะข้าวโพด ทำให้ป่าหายไปด้วย” ผัด ปุมะ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่แพม บอกย้ำให้ฟัง

“ณ วันนี้ปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว น้ำหายไป น้ำหายไปไหน หายไปในสวนกระเทียม หายไปในภาคการเกษตรเยอะ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะปลูกพืชหรืออะไร ก็ต้องคิดเรื่องของทรัพยากรน้ำด้วย คิดถึงทรัพยากรป่าไม้ด้วย ถ้าน้ำไม่มี เนื่องจากป่าหาย ต้องย้อนไปว่าเราจะทำอย่างไรให้ป่าคืนมา เราต้องทำเรื่องป่า ให้มันมีน้ำ แล้วเราจะอยู่รอด ถ้าถามว่าวันนี้หากน้ำแห้งเราจะอยู่รอดได้หรือไม่ ไม่เลยครับ ไม่มีทางที่จะอยู่รอด” อนุสรณ์ คำอ้าย นายก อบต.เปียงหลวง บอกย้ำ

“ก่อนหน้านี้ จะมีปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่ามาทำเป็นพื้นที่ทำกิน ต่างคนต่างทำเอาของใครของมัน และแต่ก่อนนั้น ก็ไม่มีหน่วยงานใดๆ เข้าไปกำกับดูแลเข้มงวดอย่างจริงจัง ทำให้บางคน ที่ไม่กล้าก็ไม่มีที่ทำกินเลย ส่วนคนที่กล้าได้กล้าเสียก็บุกรุกเอาขยายพื้นที่ป่าไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีเขตจำกัด” ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ผู้ใหญ่บ้านปางป๋อ บอกเล่าให้ฟัง

เช่นเดียวกับ สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง ซึ่งเพิ่งเข้าไปไปปฏิบัติการรับผิดชอบดูแลพื้นที่ป่าในเขตอำเภอเวียงแหงเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ก็บอกกับเราว่า “คือพอผมเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่เวียงแหง ก็เห็นชัดเลยว่า ในช่วงหลังมีการบุกรุกป่าไปเยอะแล้ว ป่าลดลง ถูกแผ้วถางมากขึ้น ถูกบุกรุกทำลาย มีการเข้าไปใช้ประโยชน์มากขึ้น คือเข้าไปครอบครองพื้นที่ป่ามากขึ้นแล้ว”

หากเราย้อนกลับไปในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่า ปัญหากรณีพิพาทเรื่องป่าไม้และการใช้ที่ดินในพื้นที่อำเภอเวียงแหงก็เริ่มขัดแย้งรุนแรงกันมากขึ้นตามลำดับ มีคดีความการจับกุมชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ป่ากันถี่ขึ้น รวมทั้งเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับป่า ระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ ดังที่เป็นข่าวพาดหัวตามสื่อต่างๆ กันเป็นระยะๆ

เวียงแหงป่วน โวย จนท.รัฐ ขู่ไล่อพยพคนทั้งหมู่บ้านออกจากพื้นที่

อพยพชาวบ้านลีซูนาอ่อน บทสะท้อนอคติทางชาติพันธุ์ ?

สกน.-ขปส.นำเครือข่ายภาคประชาชนเดินเท้าจากเชียงใหม่เข้า กทม

เปิดผลเจรจา ยันเดินหน้าแผนแม่บทป่าไม้ ผลกระทบชาวบ้านเยียวยาตามหลักมนุษยธรรม

ชาวบ้านห้วยหก วอนขอแค่ทำกิน...ฯลฯ

 

อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานงาน เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บอกเล่าบางเหตุการณ์ปัญหาในพื้นที่เวียงแหงให้ฟังว่า “ยกตัวอย่าง กรณีพิพาทในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ก็ยังมีการจับกุมชาวบ้านที่ฝ่าฝืนอยู่ คนที่ฝ่าฝืนก็ไม่ใช่ฝ่าฝืนแค่กฎหมาย ฝ่าฝืนมติกรรมการหมู่บ้านด้วย เลยนำไปสู่การจับติดคุกติดตะราง ฟ้องร้องกันไป หรือแม้กระทั่ง ปัญหาการขุดทรายริมน้ำแตง ทราย หิน ใครมีกำลังมากก็ขุดได้ โดยเฉพาะการซื้อที่ริมน้ำแตง ที่นาเสียภาษีก็จริง แต่คุณเสียภาษีเฉพาะที่นา แต่ถ้ามาขุดเอาหินทราย มันก็ผิดในเรื่องระเบียบของท้องถิ่นอยู่ ก็ไม่ได้นำไปสู่การจัดการอะไรใด ๆ กรมเจ้าท่าก็อยู่ไกล ปัญหานี้เลยทำให้น้ำแตงเปลี่ยนไป ไหลเร็ว ทำให้ทรายทางเหนือไหลล่องมา จนทำให้แม่น้ำตื้นเขิน”

“บางคนอาจคิดว่าไม่รุนแรง แต่จะเห็นว่ามันมีความขัดแย้งภายในตลอดเวลา ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นจากคดีความ จับกุม วิ่งหนี และส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นกับพี่น้องที่อยู่ติดกับชายขอบพื้นที่ป่า และเป็นพี่น้องชนเผ่าด้วย คนเมืองก็มีบ้าง โดยเฉพาะการที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตทำให้ชาวบ้านเกิดการขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมา” นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บอกเล่าสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่เวียงแหงให้ฟัง

“ใช่แล้ว สมัยก่อน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ จะใช้วิธีแก้ปัญหาเหมือนอย่างแมวจับหนู ซึ่งไม่มีวันจบ พี่น้องชาวบ้านก็หลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำกันอยู่ตลอด เจ้าหน้าที่ก็คอยจะจับ ผลสุดท้ายคือกินข้าวด้วยกันไม่ได้ มองหน้ากันไม่ติด” ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ผู้ใหญ่บ้านปางป๋อ ก็บอกย้ำถึงปัญหานี้

สอดคล้องกับความเห็นของ สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง ซึ่งได้บอกเล่าให้ฟังว่า “จริงๆ แล้ว เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ทุกคนก็ทำงานภายใต้กรอบของกฎหมายของอุทยานฯ เพียงแต่ว่า สมัยก่อนจะบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาด เพื่อจะลดการบุกรุกทำลายป่าลง อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัวถามว่า เป็นจุดดีไหม ก็เป็นจุดดีในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย แต่พอมาถึงปัจจุบันนี้ ผมไม่แน่ใจนะว่า เขาวิจัยกันหรือยังว่าสิ่งที่เราทำมา มันอาจจะไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราดูจากสถิติคดี ดูผลทางคดีที่เราเคยจับกุม มันไม่ได้หมายความว่าสิบปีย้อนหลัง ป่ามันไม่ได้เพิ่มขึ้นนะ แต่มันกลับลดลง อันนี้เป็นสถิติ แต่ที่เพิ่มขึ้น กลับเป็นความขัดแย้ง มีการต่อต้านอำนาจรัฐเพิ่มมากขึ้น แต่ผืนป่าก็ยังถูกบุกรุก ถูกทำลาย ป่าลดลงเหมือนเดิม”

 

เพราะปัญหา ทำให้คนเวียงแหง หันมาจับมือกัน ร่วมพลิกฟื้น “เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน”

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตระหนกและตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ว่าหากปล่อยเอาไว้ก็ยิ่งจะหมักหมม และกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และที่สำคัญ ทุกคนกำลังรู้ว่า ความสุขที่เคยมีกลายเป็นความขัดแย้ง และผืนดินผืนป่าถูกทำลาย แม่น้ำเหือดแห้งไปทุกขณะ ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนไม่เหมือนแต่ก่อน จึงทำให้หลายคนได้เกาะกลุ่มรวมตัวรื้อฟื้น “เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหงกันขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

“จริงๆ ที่มาเครือข่ายนี้ เริ่มเกิดมาจากกรณีปัญหาเหมืองลิกไนต์ ช่วงนั้นประมาณ ปี 2546-2547 เพราะเรารู้ว่ามันจะส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน จนนำไปสู่การออกเรียกร้องต่อสู้ เคลื่อนไหวของชาวบ้าน และการรวมกลุ่มกันในนาม เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน กันขึ้นมาเนื่องจากสถานการณ์ปัญหาตอนนั้น ทาง กฟผ. ก็ยังพยายามที่จะเข้ามาเปิดเหมืองอยู่ โดยเครือข่ายเรามีการขับเคลื่อนทั้งในด้านต่างๆ อันเป็นต้นทุน ทั้งในเรื่องฐานวัฒนธรรมท้องถิ่น เรื่องฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ของชุมชน ตอนนั้น เราทำงานภายใต้สถานการณ์หนึ่งที่มันอาจมากระทบกับวิถีชีวิตของเรา แต่สิ่งที่ได้ ก็ได้และเสียพอๆ กัน ความแตกแยกในกลุ่มในพื้นที่เวียงแหงก็มีเยอะ เพราะว่าประเด็นเรื่องคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ในการพัฒนาเหมืองแร่ มันก็มีอยู่พอสมควร คนที่ต่อต้านเรื่องการใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา มันก็มีเยอะ เราก็เสียคนกลุ่มนี้ไป โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ ก็จะมองกลุ่มเครือข่ายของเราว่าเป็นกลุ่มที่ค้านการพัฒนา พอมาระยะหลัง เวียงแหงของเรา มีประเด็นปัญหาเรื่องป่าเรื่องที่ดินเข้ามา ทางเครือข่าย เราก็เลยปรับกระบวนการทำงาน ปรับวิธีคิดกันใหม่” อิสรภาพ คารมณ์กุล กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน บอกย้ำด้วยสีหน้าจริงจัง

 

จากต่อต้านประท้วง ขัดแย้ง หันหน้ามาจับมือกัน เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชน

ซึ่งถ้าใครติดตามปัญหานี้ ก็จะรับรู้ได้ว่า ในช่วงเวลานั้น เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน มีการออกมาเคลื่อนไหว คัดค้าน และประท้วงกันอย่างดุดัน แข็งกร้าว ผลัดกันรุกผลัดกันรับอยู่ตลอดเวลา จนอีกฝ่ายหนึ่งยอมถอยไปชั่วขณะ

“มาถึงตรงนี้ เราจะมาต่อสู้หักล้างระรานกันอย่างเดียวนั้น ก็คงไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา เราจึงมาปรับในเรื่องของทิศทางและวิธีการทำงานให้เบาลง โดยเฉพาะในระยะหลังการรัฐประหาร เราไม่สามารถอ้างเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพราะว่าอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ เราเลยปรับใช้เอาแนวนโยบายของรัฐมาปรับใช้ในการทำงาน เพื่อให้สอดคล้อง เพราะว่าวัตถุประสงค์ของเรา มันก็ตรงกัน คือต้องการบล็อกพื้นที่ป่า พื้นที่อนุรักษ์ ไม่อยากให้มีเรื่องกระทบกระทั่งเรื่องเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชาวบ้านในการเข้าไปทำกินในเขตป่า เราทำงานให้มันสอดคล้องกับนโยบายรัฐ แต่ว่าอาจไม่ตามนโยบายทั้งหมด เพราะว่าบางเรื่องเราก็จำเป็นต้องเอาประโยชน์ชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร อาศัยคุยกันเป็นหลักกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ทหาร โดยใช้เงื่อนไขทั้งในตัวกฎหมายป่าไม้กับกฎกติกา ความต้องการของชาวบ้าน ใช้หลักรัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ โดยเราได้พ่อหลวงประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ มาเป็นประธานเครือข่ายฯ คนใหม่ ก็ได้เป็นกำลังในการช่วยการผลักดัน เชื่อมกับหน่วยงานต่างๆ ให้งานเคลื่อนไปข้างหน้าได้” อิสรภาพ คารมณ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน บอกเล่าให้ฟัง

เมื่อเอ่ยถึง ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง คนใหม่ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อกระบวนการขับเคลื่อนของเครือข่าย เพราะเขาไม่ชอบแนวทางการต่อสู้ที่รุนแรง แต่เน้นเรื่องหลักสันติวิธี และเน้นการเชื่อมสัมพันธ์กับทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การปกครองท้องถิ่น และชาวบ้าน หากยังคงยึดเอาวิสัยทัศน์ ของเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง ที่ได้ประกาศเอาไว้เมื่อ12 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา มาปรับใช้เป็นแนวทางอยู่ นั่นคือ‘เวียงแหง แหล่งต้นน้ำประวัติศาสตร์ยาวนาน สืบสานภูมิปัญญา ดิน น้ำ ป่า ให้อุดมสมบูรณ์ เพิ่มพูนเศรษฐกิจแบบพอเพียง บนฐานวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างยั่งยืน’

“เมื่อก่อนนั้น ผมมีความคิดขัดกับเครือข่ายฯ เลยด้วยซ้ำ ซึ่งหลาย ๆ คนก็รู้ สาเหตุเพราะว่าการทำงานของเครือข่ายในช่วงแรกๆ นั้น จะมีแต่การประท้วง มีการนำพี่น้องชาวบ้านไปต่อต้าน ไปทำอะไรหลาย ๆ เรื่องที่ผมไม่ชอบซึ่งมันขัดกับความคิดของผม ...แต่สุดท้ายเรามาคำนึงถึงส่วนรวมว่า เราอาสามาอยู่ตรงนี้ มาเป็นตัวประสาน ให้หน่วยงานภาครัฐกับประชาชน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่แง่งอนกัน ซึ่งบางคนอาจไม่เข้าใจ ทุกวันนี้ผมยังถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อหลวงเอ็นจีโอ แต่ว่าเรายินดียอมรับ ถ้าหากว่านโยบายการทำงานของเครือข่ายฯ ที่เราทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่พี่น้อง เพราะผมถือว่าเครือข่ายฯ เป็นองค์กรหนึ่งที่จะสามารถจะเชื่อมหน่วยงานภาครัฐกับพ่อแม่พี่น้องได้อย่างกลมกลืน และทำงานไปพร้อม ๆ กัน ที่ผ่านมา เราบอบช้ำกันเยอะ ถ้าเรา คนในชุมชนตั้งเป้าตั้งป้อมต่อสู้เข้าหากันอีก มันก็จะไปกันใหญ่ แต่ตราบใดที่เรามาจับเข่าคุยกันได้ทุกเรื่อง เมื่อนั้น ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นกับพี่น้อง และหน่วยงานรัฐก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”’ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง คนปัจจุบัน บอกเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าจริงจัง

 

ปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการ เครือข่ายฯ เริ่มต้นสร้างกลไกทำงานระดับท้องถิ่น

นุจิรัตน์ ปิวคำ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(ภาคเหนือ) หนึ่งในคณะทำงาน เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน ได้บอกเล่าความเป็นมาของเครือข่ายฯ ให้ฟังว่า ในปี 2546-2547 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการขับเคลื่อนเรื่องการคัดค้านเหมืองลิกไนต์ เป็นการขับเคลื่อนที่ค่อนข้างรุนแรง ชาวบ้านมีแรงปะทะกับภาครัฐตลอดเวลา สิ่งสำคัญในพื้นที่เองก็ยังมีตัวผู้นำที่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ แต่ต่อมา ตัวผู้นำเองก็ปรับบทบาทของตัวเองไปอยู่ในกลไกอื่น ๆ หลายคนไปเป็นผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. ส.ท.นายกฯ รองนายกฯ ฉะนั้น เราก็เลยคิดว่าการเอาโครงการนี้เข้าไปช่วยฟื้นฟูกระบวนการเครือข่ายให้มันฟื้นกลับคืนมา โดยเป็นกระบวนการทำงานแบบใหม่ ที่น่าสนใจก็คือ เราได้จุดประเด็น “เรื่องปากท้อง ความมั่นคงในที่ดินทำกิน”มาเป็นแนวทางสร้างแนวร่วม สร้างแรงขับเคลื่อน ด้วยพลังของชุมชน

“กระบวนการทำงานแบบใหม่ของเครือข่ายฯ ก็คือลดเรื่องการสร้างแรงปะทะกับภาครัฐ ภาครัฐจะไม่มองว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มรุนแรง เป็น NGOs เหมือนเมื่อก่อน แล้วเรานั่งทำความเข้าใจในเรื่องบริบทพื้นที่กันใหม่ว่า พื้นที่เวียงแหงเป็นพื้นที่แนวชายแดนไทย-พม่า และมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่หลายส่วนที่เข้าไปจัดการ ไม่ว่าจะเป็นป่าอนุรักษ์ที่ประกอบไปด้วยอุทยานแห่งชาติผาแดงฝั่งตะวันออก อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังฝั่งตะวันตก ตรงกลางก็เป็นป่าสงวน เส้นทางที่เราขึ้นไปก็เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ฉะนั้น พื้นที่ที่เป็นที่ทำกินของชาวบ้านนั้นเหลือแค่ส่วนหนึ่ง แต่มีจุดสำคัญ ที่ทำให้เครือข่ายเราเดินมาถูกทาง ก็คือ จริง ๆ ที่ผ่านมา ตอนที่เราขยับกับเครือข่าย เราจัดการเรื่องป่าอย่างเดียว แต่ว่ามันไม่เข้าถึงปากท้องของชาวบ้าน พอเรามาทำประเด็นที่ดิน เรื่องการจัดการพวกนี้ ชาวบ้านมองว่ามันใกล้ปากท้องของตัวเอง มันจับต้องได้ และเป็นเรื่องของความมั่นคงในที่ดินทำกินของตัวเองด้วย” ผู้ประสานงานมูลนิธิฯ บอกเล่าให้เห็นภาพรวม

หากใครมีโอกาสได้เดินทางไปตามรอบๆ ชุมชนหมู่บ้าน ทั้งในเขตพื้นที่ตำบลเมืองแหง ตำบลแสนไห และตำบลเปียงหลวง ตามทุ่งราบ ทุ่งนา และตามทุ่งไร่ บนความลาดชันของภูเขา ก็จะมองเห็นเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจกันหลากหลายมากขึ้น นอกจากการปลูกข้าวแล้ว จะมีการปลูกผักกาด กะหล่ำปลี กระเทียม ข้าวโพดและส้มเขียวหวาน กระจัดกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ แน่นอนว่ามีหลายพื้นที่ มีการบุกรุก แผ้วถาง พื้นที่ป่าบางแห่งแหว่งหายไป บางพื้นที่กลายเป็นภูเขาหัวโล้น กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ป่าต้นน้ำอันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแตงที่ไหลไปหล่อเลี้ยงผู้คนลุ่มน้ำ ปัจจุบัน กลายเป็นลำน้ำเหือดแห้ง ตื้นเขิน ไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม

ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ประธานเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน อำเภอเวียงแหง เล่าให้ฟังด้วยสีหน้าเคร่งเครียดว่า “จะเห็นว่า ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดนรุกล้ำเยอะมาก ถ้ากลุ่มของเรา คนเวียงแหง ไม่ลุกขึ้นมาจัดการอะไรสักอย่าง มันจะลุกลามไปเยอะ ถ้าเราไม่อนุรักษ์หวงแหนไว้ บางจุดเป็นต้นน้ำ ตรงหัวขุนน้ำแม่แตง เริ่มโดนรุกล้ำเยอะแล้ว จนเดี๋ยวนี้เกิดภาวะแล้ง นั่นทำให้เราต้องฟื้นเครือข่ายลุ่มน้ำแม่แตงตอนบนนี้ขึ้นมา โดยเป้าหมายของเรา ก็คือให้ได้ทั้งสองอย่าง หนึ่งคือพี่น้องประชาชนมั่นใจในผืนดินที่เขาทำกิน สองคือสร้างความเข้าใจร่วมกัน ให้พี่น้องช่วยกันรักษาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้อยู่กับเราอย่างยั่งยืนถึงลูกถึงหลานเราต่อไป”

แน่นอน เมื่อชาวบ้านมีการบุกรุกพื้นที่ป่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ต้องปิดล้อม ไล่จับ และเป็นคดีความส่งฟ้องต่อศาลกันหลายแปลงหลายราย จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านกันมากขึ้น

“ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ อุทยาน ป่าไม้ ตำรวจ ทหาร จะทำงานแบบแมวจับหนู ยังไงผมก็ว่าไม่ยั่งยืน คนที่จับก็รอจับ คนที่จะขโมยก็รอขโมย ซึ่งไม่มีวันจบ พี่น้องชาวบ้านก็หลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำกันอยู่ตลอด เจ้าหน้าที่ก็คอยจะจับ แต่ถ้าเรามาใช้ความคิดร่วมกัน แล้วมาทำงานด้วยกันจะดีกว่า”ประธานเครือข่ายฯบอกย้ำแนวทาง

ในขณะที่ สมพงษ์ ปละทองคำ หัวหน้าหน่วยจุดสกัดเวียงแหง อุทยานแห่งชาติผาแดง ก็ออกมายืนยันว่า “คือต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ว่าหน่วยงานของผม ต้องรับผิดชอบพื้นที่เวียงแหงทั้ง 3 ตำบล ซึ่งมีเนื้อที่ 7 หมื่นกว่าไร่ แต่เรามีเจ้าหน้าที่รวมทั้งผมเพียง 6 คน ภารกิจหลักๆเป็นการออกลาดตระเวน ป้องกัน ปราบปราม คือภารกิจของพวกผม จริงๆ คือปกป้องคุ้มครองป่านั่นแหละ ซึ่งเป็นปัญหาหนักมาก ผมก็คุยกับทางท้องถิ่น กับชาวบ้านในเวียงแหงว่า ผมมีหน้าที่ดูแลพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยาน เพราะฉะนั้นในส่วนคนที่เข้ามาบุกรุก ผมไม่สามารถจัดการดูแลได้ มันต้องแบ่งกันดูแล เรื่องบุคคล ผมคุมคนไม่ได้ เพราะมีคนหลากหลาย มีประชากรแฝงบ้าง เขาก็รุกเข้ามา ผมมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ใครบุกรุกป่า แต่ถ้าเรามาช่วยกันได้ ท้องถิ่น หรือปกครองมาช่วยกันควบคุมคน ผมก็จะดูแลพื้นที่ป่า ถ้าเป็นแบบนี้ มันก็อยู่ด้วยกันได้”

ซึ่งนำไปสู่ การปรับกระบวนการทำงานกันใหม่ ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่นและชาวบ้าน ขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยอาศัยเครือข่ายฯ เป็นตัวเชื่อมประสานและลงมือทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเริ่มต้นด้วยการสร้างกลไกการทำงานในระดับชุมชน ก่อนขยายไปสู่กลไกระดับตำบล และกลไกเครือข่ายระดับอำเภอ

 

ข้อมูลประกอบ

1.หนังสือ เสียงจากคนต้นน้ำแตง...บทเรียน ความร่วมมือ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,จัดทำโดย เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน,มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ,สนับสนุนโดย กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม,เมษายน 2559

2. อุทยานฯ-ป่าไม้เตรียมซื้อปืนเกือบ 4 พันกระบอกหลังกลาโหมไฟเขียว,โพสทูเดย์,4 เมษายน 2559

3. เปิดตัวทีม "พญาเสือ" ลุยปราบนายทุนรุกป่า ตั้ง"ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร" หัวหน้าชุด, Nation TV,3 พฤษภาคม 255

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมใช้ 33 รายการทีวี-วิทยุ แจงคำถามพ่วงประชามติ

$
0
0
โฆษกวิป สนช. ระบุ ใช้ 33 รายการทีวี-วิทยุ ร่วมแจงคำถามพ่วงประชามติ ด้าน กรธ. ลงพื้นที่ นครนายก จังหวัดแรก 28 พ.ค. มั่นใจอาสาสมัครชี้แจงร่าง รธน.ไม่ทำสับสน เชื่อจะทำให้ประชาชนตื่นตัวมีส่วนร่วมมากขึ้น

 
5 พ.ค. 2559 นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการร่วมเวทีกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ลงพื้นที่ชี้แจงสาระสำคัญและคำถามพ่วงประชามติว่าสมาชิกได้แสดงความจำนงลงพื้นที่ครบแล้ว 127 คน และในวันที่ 13 พ.ค.นี้ จะมีการอบรมทำความเข้าใจกัน เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และ ไม่ห่วงเรื่องกรอบเวลาในการทำงาน  จากการเตรียมการและความพร้อมเรื่องเอกสารต่าง ๆ จะทำให้สามารถทำงานได้บรรลุเป้าหมาย ประชาชนเข้าใจเนื้อหา และคำถามพ่วงประชามติมากที่สุด
 
นพ.เจตน์ กล่าวว่า นอกจาก สนช. จะร่วมลงพื้นที่กับ กรธ. แล้ว ยังใช้โครงการ สนช. พบประชาชน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำถามพ่วงประชามติด้วย รวมถึงจะใช้เครือข่ายวิทยุโทรทัศน์ของพันธมิตร ที่มีประมาณ 33 รายการ เป็นตัวช่วยในการทำความเข้าใจ
 
กรธ.เผยลงพื้นที่แจงร่างรธน.จังหวัดแรก นครนายก 28 พ.ค.
 
ด้านนายอมร วาณิชวิวัฒน์  โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงการชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนว่า หลังจากมีการอบรมอาสาสมัคร ครู ที่กระทรวงมหาดไทย คัดเลือกมาจังหวัดละ 5 คนในวันที่ 18 – 19 พ.ค. นี้ แล้ว ก็จะเริ่มลงพื้นที่ในต่างจังหวัดที่แบ่งเป็น 9 กลุ่ม ซึ่งจังหวัดแรกที่จะมีการเปิดเวทีอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 28 พ.ค. ที่จังหวัดนครนายก โดยมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ร่วมชี้แจงด้วย ซึ่งไม่มีข้อวิตกกังวลใด ๆ นอกจากเป็นห่วงว่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจได้มากที่สุดเพียงใดเท่านั้น
 
นายอัชพร จารุจินดา กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงความพร้อมในการเผยแพร่เนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญว่า มีการทำเอกสารต่าง ๆ พร้อมแล้ว และเตรียมที่จะอบรมอาสาสมัครจากกระทรวงมหาดไทย ครู ก. ชุดแรก คัดเลือกจากระดับจังหวัด ในวันที่ 18 – 19 พ.ค.นี้ จากนั้น จะขยายผลสู่ ครู ข. ที่คัดเลือกจากระดับอำเภอ และ ครู ค. ที่จะคัดเลือกจากหมู่บ้านต่อไป  ไม่ได้กังวลว่า จะเกิดความสับสน เพราะ กรธ.จะคอยติดตามช่วยเหลือให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังว่าในช่วงใกล้ถึงวันทำประชามติจะทำให้ประชาชนมีความสนใจ และตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ์กันมากขึ้น ยืนยันไม่มีการชี้นำ จะชี้แจงเฉพาะเนื้อหาว่ามีสาระอย่างไรบ้างเท่านั้น
 
นายอัชพร ยังกล่าวถึงข้อปฏิบัติและข้อห้ามของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า มีความชัดเจน ครอบคลุมแล้ว และเชื่อว่าทุกคนเข้าใจดีในการแสดงความคิดเห็นแล้ว หากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ก็สามารถทำได้
 
ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1][2]
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานก่อสร้างชาวต่างชาติในซาอุฯ ประท้วงถูกเลิกจ้าง

$
0
0

แรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติของบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ 'บินลาเดนกรุ๊ป' ในซาอุดีอาระเบีย เผารถบัสประท้วงการเลิกจ้างร่วม 55,000 คน รวมทั้งไม่ได้รับค่าแรงมาหลายเดือน

 
 
แรงงานงานประท้วงด้วยการเผารถบัสที่เมืองเมกกะเมื่อวันที่ 30 เม.ย.
(ที่มาภาพและคลิปวีดีโอ middleeasteye.netและ Fahad Alhazmi)
 
5 พ.ค. 2559 หลังจากที่กลุ่มบริษัท บินลาเดนกรุ๊ป (Binladin Group) ได้ประกาศแรงงานก่อสร้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติกว่า 55,000 คน เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2559 เว็บไซต์ Middle East Eyeได้เผยแพร่ภาพการเผารถบัสประท้วงในเมืองเมกกะ โดยระบุว่ากลุ่มพนักงานที่ประท้วงได้เผาเมื่อคืนวันเสาร์ (30 เม.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มแรงงานงานหลายพันคนได้ปักหลักประท้วงในกรุงริยาร์ดและเมกกะ ต่อเนื่องหลายสัปดาห์เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ได้จ่ายค่าแรงคนงานมานานหลายเดือนแล้ว จนกระทั่งบริษัทฯ ประกาศปลดพนักงานราวร้อยละ 25 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด
 
ทั้งนี้ยังมีรายงานข่าวว่าบริษัทฯ ได้ออกวีซ่าให้ออกนอกประเทศเป็นครั้งสุดท้ายให้กับพนักงานต่างชาติ 77,000 คน และคาดว่าบริษัทฯ จะปลดพนักงานชาวซาอุดีอาระเบียในส่วนงานบริหาร วิศวกรรม และการจัดการเพิ่มอีก 12,000 คน จากจำนวน 17,000 คน
 
อนึ่ง บินลาเดนกรุ๊ป ถือเป็นบริษัทก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของซาอุดีอาระเบียและตะวันออกกลาง มีพนักงานรวมประมาณ 200,000 คน ทั้งนี้บริษัทฯ ซึ่งมีสายสัมพันธ์ดีกับรัฐบาลและส่วนใหญ่มักได้รับงานโครงการของรัฐบาล แต่รัฐบาลต้องเผชิญกับกระแสการกดดันในการมอบงานให้กับบินลาเดนกรุ๊ป หลังจากเหตุการเครนก่อสร้างถล่มในมัสยิดใหญ่กลางนครเมกกะทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 107 คน เมื่อเดือน ก.ย. 2558
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายนักวิชาการร้อง UN ชี้รัฐละเมิดสิทธิ์ผู้เห็นต่างกรณีจับแอดมินเพจล้อเลียนผู้นำ คสช.

$
0
0
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองยื่นหนังสือถึงข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐบาล คสช. กรณีจับ 8 แอดมินเพจล้อเลียนผู้นำ คสช. 

 
 
 
 
 
 
 
ที่มาภาพ: เพจเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
 
5 พ.ค. 2559 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองนำโดย นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อ.คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ น.ส.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อ.คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย เดินทางเข้ายื่นกับตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐบาล 
 
นายอนุสรณ์ กล่าวกับ ข่าวสดว่าการเข้าพบรักษาการ ระดับภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ได้หารือแนวทางสิทธิการแสดงออก สิทธิมนุษยชน และประชามติ ในทางที่ชอบธรรม ซึ่งยูเอ็นมีความห่วงใยและติดตามสถานการณ์กลุ่มชุมนุมต่างๆโดยส่งเจ้าหน้าที่สอบถามทหารและตำรวจระดับปฏิบัติการ แต่คำตอบที่ได้คือเจ้าหน้าที่ทำตามคำสั่งซึ่งอยู่ในสถานการณ์พิเศษทำให้ไทยไม่สามารถดำเนินการตามสัตยาบรรณได้ มี 2 แนวทางหลัก คือ ยกระดับการพูดคุยในประเด็นดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ไทยให้สูงขึ้น และส่งเรื่องไปที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ที่นครเจนิวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้กดดันเจ้าหน้าที่ไทยอีกหนึ่งช่องทาง พร้อมทั้งหาแนวทางให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยในระดับนโยบายมาพูดคุยกับนักวิชาการมากขึ้นในลักษณะปิด โดยเน้นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ความคิดเห็น และการลงประชามติ และจะมีการพูดกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะที่ผ่านมานักวิชาการไม่เคยได้มีโอกาสในการพูดคุย มีแต่การเรียกไปปรับทัศนคติ 
 
โดยเพจเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองได้เผยแพร่เนื้อหาจดหมายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ดังต่อไปนี้
 
วันที่ 5 พฤษภาคม 2559
เรียน เรื่อง การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐบาล คสช. 
เรียน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ
 
ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารหรือคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยอำนาจที่ไร้ขอบเขตซึ่งละเมิดหลักการทั้งปวงในกระบวนการยุติธรรมจากมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 และจากคำสั่ง คสช. 3/2558 และ 13/2559
 
ที่ผ่านมามีประชาชนต่างขั้วการเมืองถูกบุกเข้าจับกุมตัวและซ้อมทรมาน ขณะที่ประชาชนทั่วไปอีกจำนวนมาก รวมถึงนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ สื่อมวลชน นักกิจกรรมทางสังคม และนักการเมือง ต่างก็ถูกข่มขู่คุกคามในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจากการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและ คสช. ไม่ว่าจะเป็นการเรียกตัวเข้าค่ายทหารเพื่อเข้าสู่กระบวนการ “ปรับทัศนคติ” การส่งเจ้าหน้าที่ไปจับตาติดตามชีวิตประจำวัน การส่งทหารไปข่มขู่ญาติพี่น้อง การสร้างแรงกดดันผ่านหน่วยงาน/องค์กรที่พวกเขาทำงานอยู่ การยุยงปลุกปั่นของผู้นำรัฐบาลผ่านสื่อของรัฐให้ประชาชนอื่นๆ เกิดความเกลียดชังผู้เห็นต่าง การละเมิดข้อมูลส่วนตัวของบุคคลในระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการแจ้งความดำเนินคดีผู้เห็นต่างด้วยข้อกฎหมายที่รุนแรงต่างๆ
 
การละเมิด การควบคุม และการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทวีความเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้นในช่วงเวลาของการเตรียมการเพื่อลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเช้ามืดวันที่ 27 เมษายน 2559 กองกำลังทหารได้บุกเข้าจับกุมผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กที่ล้อเลียนผู้นำ คสช. และจับกุมผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ รวม 8 ราย ที่จังหวัดขอนแก่นและกรุงเทพฯ โดยได้ตรวจรื้อค้นและยึดทรัพย์สินส่วนตัวโดยไม่มีหมายศาล แล้วนำตัวมากักขังไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 จนกระทั่งวันรุ่งขึ้นศาลทหารจึงได้ออกหมายจับในความผิดนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และความผิดฐานสร้างความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยิ่งกว่านั้น ผู้ถูกจับกุมสองคนยังได้รับแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกด้วย
 
การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลทหารถือว่าเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้ หากการล้อเลียนดังกล่าวมีเนื้อหาดูหมิ่นด้วยความข้อความอันเป็นเท็จ พลเอกประยุทธ์ก็สามารถฟ้องร้องเอาผิดฐานหมิ่นประมาทได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องดำเนินคดีด้วยข้อกฎหมายที่มีบทลงโทษร้ายแรงในฐานะที่เป็น “ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ” นอกจากนั้น วิธีการที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อผู้ถูกจับกุมทั้ง 8 คนยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง ถือเป็นลักพาตัวบุคคลไปในสถานที่ที่ไม่ระบุเพื่อบังคับเอาข้อมูลเป็นเวลากว่า 24 ชั่วโมง จากนั้นจึงค่อยมีหมายศาลทหารแล้วนำฟ้อง อีกทั้งการขอประกันตัวในชั้นศาลทหารก็ถูกปฏิเสธ กระทั่งพวกเขาถูกส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพในที่สุด ขณะที่การเพิ่มความผิดตามมาตรา 112 ก็มีข้อสงสัยว่า ได้มาจากการบีบบังคับเอาข้อมูลส่วนตัวจากคอมพิวเตอร์ของผู้ถูกจับกุมก่อนการมีหมายศาลและโดยไม่มีทนายปรึกษา ซึ่งไม่เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายอีกด้วย
 
นอกจากนี้ ปัจจุบันรัฐบาลทหารยังปิดกั้นการแสดงความเห็นที่วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเข้มงวด ทั้งโดยการออกข้อกำหนดที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและในการรณรงค์เรื่องการลงประชามติ และโดยการข่มขู่คุกคามผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นค้านร่างรัฐธรรมนูญ อันส่งผลให้ไม่อาจมีการอภิปรายเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างรอบด้านในพื้นที่สาธารณะ อันจะมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งต่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้
 
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองเห็นว่ากรณีการจับกุมคุมขังประชาชนทั้ง 8 คน เป็นจุดเริ่มต้นของการกวาดล้างผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาล คสช. อย่างเข้มข้นระลอกใหม่ เป็นการสร้างบรรยากาศของความกดดันและหวาดกลัวให้เกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อผนวกกับบริบทเรื่องความพยายามของรัฐบาลที่จะผลักดันร่างรัฐธรรมนูญให้ผ่านประชามติโดยการจำกัดสิทธิในการแสดงความเห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญ เครือข่ายฯ จึงมีความกังวลอย่างยิ่งถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในปัจจุบัน เครือข่ายฯ จึงขอร้องเรียนต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ให้ช่วยดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลทหารได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ถูกจับกุมทั้ง 8 คนอย่างไร ตลอดจนขอให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ แสดงท่าทีไปยังรัฐบาลเผด็จการทหาร เพื่อให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีดังกล่าวและในกรณีอื่นๆ โดยเร็ว
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
 
May 5, 2016
Re: Human Rights Violations Against Citizens Dissenting from the NCPO Government 
Attn: The United Nations Office of the High Commissioner for Human Rights
 
The National Council for Peace and Order (NCPO) and the military government have continually violated human rights against citizens who dissent from them, using the unlimited power under Article 44 of the 2014 interim Constitution of the Kingdom of Thailand and the NCPO Orders 3/2015 and 13/2016.
 
Over time, political dissenters have faced arrest, abduction and torture while a large number of people, including university students, academics, journalists, social activists and politicians have faced constant threats and harassment in various forms for criticizing the military government and the NCPO. Such forms of harassment include summon people to military camps for “attitude adjustment,” monitor people’s daily lives, threaten people’s relatives and family members, and put pressure on agencies or organizations people work for or are affiliated with. Other forms of harassment include the use of state media to incite hatred towards those with differing opinions, intrusion into personal data on computer files and systems, and filing complaints against those expressing differing opinions with harsh laws.
 
Such violation, control and curtailing of rights and freedom of expression have intensified during the time when the country is preparing for the draft constitution referendum. In the early morning of April 27, 2016 soldiers abducted eight Facebook managers and others, allegedly involved with online posts which mock the junta chief, in Khon Kaen and Bangkok. Along with the round-up, the abducted were subjected to searches and had personal belongings confiscated without a warrant before being taken into custody at the 11th Military Circle. The Military Court in the following day then issued an arrest warrant on charges of using false information and breaching the Computer Crime Act as well as being guilty of sedition under Article 116. Moreover, two of them have been further charged with royal defamation as stipulated by Article 112.
 
Such actions of the military government are excessive. If the mockery is an insult using false information, General Prayut could take legal action for defamation without having to resort to harsh punishments for “violations of state security.” Moreover, the means in which state authorities have treated the accused are violations of human rights since they involve abductions of persons and taking them into custody at undisclosed locations to extract information for more than 24 hours before martial court’s warrants were issued and the legal proceedings against them instituted. The accused have also been denied bail and then were sent for detention at the Bangkok Remand Prison. Two of them have been charged with lese majeste. But the use of their personal information from computers against them before a court warrant was issued and without an assigned lawyer goes against legal procedures.
 
In addition, the military government hinders the citizens’ rights to criticize the draft constitution by issuing rules and regulations which limit freedom of expression over the draft constitution and the referendum and by threatening those who openly voice out their opposition to the draft constitution. The well-rounded, public debates on the draft constitution then cannot occur, and this will yield negative effects on the draft constitution referendum to be held in this coming August.
 
Thai Academic Network for Civil Rights (TANC) views the arrest and incarceration of these eight citizens as the beginning of a new round of intensive wipe out of those dissenting from the military government and the NCPO. Such actions created an unprecedented horrific atmosphere. When combined with the military government and the NCPO’s attempts to get the draft constitution pass the referendum by curtailing citizen’s rights to express differing opinions on the draft constitution, they brought a grave concern to the TANC because Thai citizens’ civil and political rights are under jeopardy. The TANC then file this petition to the United Nations Office of the High Commissioner for Human Rights in hope that it would investigate the aforementioned cases and make the world know how shamelessly the military government and the NCPO have violated basic human rights of these eight citizens and other dissidents. We strongly urge the United Nations Office of the High Commissioner for Human Rights to take a firm stance against the military government and the NCPO to help put an immediate end to the atrocious violations of human rights in Thailand.
 
We write this with the sincere appeal for the Commissioner’s full consideration,
Thai Academic Network for Civil Rights (TANC)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานพิเศษ: เปิดใจ 3 ครอบครัวแอดมินเรารัก พล.อ.ประยุทธ์

$
0
0
 
 
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของสมาคมเพื่อเพื่อนได้เผยแพร่รายงาน 'เปิดใจ 3 ครอบครัวแอดมินเรารัก พล.อ.ประยุทธ์'โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
ผ่านฝันร้ายที่สุดของ 8 ครอบครัวไป 1 สัปดาห์แล้ว ฝันร้ายที่ไม่มีใครเคยนึกถึงมาก่อน ปฏิบัติที่รวดเร็วดุจสายฟ้าฟาดของเช้าวันที่ 27 เม.ย. 2559 ราวกับเหยี่ยวตะคุบเหยื่อยังคงเป็นที่โจษขานจนถึงทุกวันนี้
 
ครอบครัวสายบุตรเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยอาศัยอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพ โดยที่มารดาขายข้าวแกงอยู่ในโรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ มีรายได้วันละหลายพันบาท แม้จะมีรายได้ค่อนข้างดี แต่ในช่วงปิดเทอมกลับไม่มีรายได้ อาชีพนี้จึงดูเหมือนไม่ค่อยมั่นคงสำหรับครอบครัวนี้
 
เมื่อแม่มีอายุมากขึ้น กอปรลูกสาวคนโตมีอาการป่วย แม่และพี่สาวจึงจำต้องย้ายกลับไปอยู่ จ.สุรินทร์ ขณะที่ศุภชัย (ตั๋ม) เลือกที่จะทำงานอยู่ในกรุงเทพ ส่วนพ่อทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยจึงอยู่ด้วยกันกับตั๋ม
 
ตั๋มชอบค้าขาย ในวัยเด็กมักจะขอให้แม่ปิ้งขนมปังในตอนเช้าเพื่อเอาไปขายให้กับเพื่อนที่โรงเรียนเป็นค่าขนม แม้จะได้เงินไม่มากนัก แต่ก็ทำให้ผู้เป็นแม่รู้สึกภาคภูมิใจที่ลูกชายช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว
 
ก่อนหน้านี้ครอบครัวนี้ยากจนมาก แม่ต้องทำงานเป็นคนงานก่อสร้างซึ่งเป็นงานที่หนักและได้เงินน้อย พ่อเคยเป็นทหารผ่านศึกในสงครามเวียดนามจึงได้สิทธิเข้าไปขายอาหารในโรงเรียน ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
 
ครอบครัวสายหยุดเปิดเผยอีกว่า ในวันดังกล่าวทหารจำนวน 20 คน ได้บุกมาที่บ้านพักของตั๋มก่อนเวลา 6.00 น. ก่อนจับกุมตั๋มและยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเขา
 
พ่อซึ่งต้องเข้าเวรตอนกลางคืนกลับเข้าบ้านหลังเวลา 6.00 น. จึงไม่ได้พบกับลูกชาย แต่พบทหารคนหนึ่งซึ่งยืนรออยู่หน้าบ้านพวกเขา โดยแจ้งว่า ตั๋มถูกพาตัวไป มทบ.11 พ่อจึงรีบเดินทางไปเยี่ยมตั๋ม แต่ก็ไม่สามารถเยี่ยมได้
 
ครอบครัวมั่งคั่งสง่าเปิดเผยว่า ครอบครัวพวกเขารักความเป็นธรรม พ่อเป็นอดีตทหารอากาศ แต่ด้วยความเถรตรงจึงมักมีเหตุขัดใจกับผู้เป็นนายจนตัดสินใจที่จะเกษียณก่อนกำหนด
 
ในปี 2535 อาจเรียกได้ว่า พ่อเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ จำลอง ศรีเมือง เมื่อคราวเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม ที่บ้านมีภาพถ่ายของจำลองติดอยู่เต็มบ้าน แต่เมื่อจำลองเปลี่ยนไป เขาจึงเลือกที่อยู่ข้างที่ถูกต้อง
 
โยธิน มั่งคั่งสง่า (โย) รักในงานศิลปะ หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีก็เลือกที่จะไปทำงานเป็นช่างบูรณะวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย เป็นเวลานานกว่า 2 ปี
 
หลังกลับมาประเทศไทย เขายังคงทำอาชีพที่เกี่ยวกับงานศิลปะ เช่น ตุ๊กตาแม่เหล็กติดตู้เย็น หินธิเบต ลงสีจตุคามรามเทพ จนสามารถเปิดร้านในศูนย์การค้าเซียร์ แถวรังสิต มีรายได้สูงสุดวันละนับหมื่นบาท
 
หลังปี 2552 ความนิยมในวัตถุมงคลลดลง กอปรเศรษฐกิจไม่ดีทำให้โยจำใจต้องปิดร้าน และหันกลับมาต่อโมเดลกันดั้มขายทางอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก ด้วยความที่มีจิตอาสาจึงช่วยงานมูลนิธิกระจกเงาทำหน้าที่โพสท์ประกาศคนหายในอินเตอร์เน็ต
 
ครอบครัวมั่งคั่งสง่าเปิดเผยอีกว่า ในวันดังกล่าวทหารทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ 15 คนมายืนรอที่หน้าบ้านของพวกเขาก่อนเวลา 7.00 น. สุนัข 2 ตัวที่พวกเขาเลี้ยงไว้อยู่ในบ้านเห่าเสียงอยู่นานกว่าปกติจนทุกคนในบ้านต้องตื่นขึ้นมา คนแถวบ้านออกมามุงดูที่บ้านของพวกเขาด้วยความแปลกใจ
 
ทหารถามหาโย และบุกค้นบ้านของพวกเขาก่อนที่จะยึดคอมพิวเตอร์ไป 3 เครื่อง และโทรศัพท์เคลื่อนที่อีก 4 เครื่องซึ่ง 1 ในนั้นเป็นแทบเล็ต Samsung ของพ่อที่เพิ่งซื้อมาเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น
 
แม่ซึ่งเป็นอดีตนักโภชนาการของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ชอบการเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากจึงรู้สึกเสียดายเป็นอย่างมากที่ถูกยึดคอมพิวเตอร์
 
ไม่เพียงแค่โยที่ได้รับผลกระทบ แฟนสาวของโยซึ่งอยู่ จ.นครปฐม ยังถูกทหาร 8 คนบุกเข้าค้นห้องพักก่อนเวลา 7.00 น. เช่นเดียวกัน แม้เธอจะไม่ถูกจับกุม แต่ก็ถูกยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปหลายเครื่อง สิ่งนี้สร้างความหวาดกลัวให้เธออย่างมากจนต้องไปอาศัยอยู่กับเพื่อน และไม่กล้าที่จะกลับเข้าห้องพักอีก
 
เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นข่าวปรากฎตามสื่อมวลชนต่างๆหลายแห่งจนทำให้เพื่อนร่วมงานเก่าของแม่หลายคนมาเยี่ยมเธอ และปลอบโยนเธออย่างเห็นใจ เนื่องจากพวกเขาจำหน้าของโยได้ เพราะในอดีตแม่มักพาโยไปที่โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ
 
แต่สิ่งที่สร้างความกังวลให้กับครอบครัวมั่งคั่งสง่ามากที่สุดคือ ปัญหาสุขภาพของโย โยมีอาการภูมิแพ้ค่อนข้างรุนแรงซึ่งเป็นกรรมพันธุ์มาจากพ่อของเขา เขาจำเป็นต้องใช้ยา แต่จนถึงปัจจุบันโยก็ยังไม่ได้รับยาแต่อย่างใด
 
ครอบครัวบูรณศิริเปิดเผยว่า แม่ไม่ได้อยู่ด้วยกันกับ ธนวรรธ บูรณศิริ (ปอน) จึงไม่ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น แต่ปอนโทรศัพท์มาหาเธอหลังจากถูกจับกุม
 
ตอนแรกเธอรู้สึกตกใจ แต่ไม่มาก เพราะคิดว่า คงเกี่ยวกับรถมอเตอร์ไซด์ของเขา แต่ตอนหลังมาทราบข่าวจากสื่อว่า ปอนโดนคดี พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ และ ม.116 จึงรู้สึกตกใจมาก
 
ครอบครัวบูรณศิริเปิดเผยอีกว่า ปอนเคยบวชเณรมาตั้งแต่เด็ก แม้ปอนจะจบการศึกษาไม่สูงนัก แต่ปอนก็สามารถหาเลี้ยงตนเองได้ และยังส่งเสียให้กับเธอเดือนละหลายพันบาท แม่ทราบเพียงว่า ปอนทำงานอยู่ในมูลนิธิกระจกเมื่อต้นเดือนเมษายนนี้เอง
 
ปัจจุบันแม่ทำงานเป็นพนักงานบรรจุหีบห่อในโรงงานผลิตอะไหล่รถมอเตอร์ไซด์ แถวบางพลี สมุทรปราการ มีรายได้เพียงวันละ 300 บาท หากวันใดที่แม่ต้องมาเยี่ยมปอนวันนั้นก็ไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ไม่มีรายได้ในวันนั้น 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เฟซบุ๊กตอบรับคำขอรัฐบาล แบนเพจ 'กูkult' ในไทย อ้างข้อจำกัดทางกฎหมาย

$
0
0
สมศักดิ์ ชี้ต่างประเทศยังเข้าได้ คาดด้วยมาตรการนี้อีกหน่อยเพจอื่นก็โดนด้วย ตั้งข้อสังเกตเกิดไล่เลี่ยกับข่าวเข้าถึงหลังไมค์แอดมินล้อประยุทธ์ เฟซบุ๊กเผยครึ่งหลังปี 58 รัฐไทยขอข้อมูล 3 แอคเคาท์ แต่เฟซบุ๊กไม่ให้

5 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กูkult' ซึ่งมีผู้กดไลค์หลายหมื่น และมักมีการโพสต์ภาพเชิงล้อเลียนเสียดสีสังคมและการเมือง รวมทั้งสถาบันกษัติริย์ ไม่สามารถเข้าถึงได้เนื้อหาได้แล้ว โดยเฟซบุ๊กแจ้งว่า "ไม่มีเนื้อหาอยู่ใน ไทย คุณไม่สามารถดูเนื้อหานี้ได้เนื่องจากกฎหมายในท้องถิ่นจำกัดความสามารถของเราในการแสดงเนื้อหานั้น หากคุณต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูที่ศูนย์ช่วยเหลือ"

ทั้งนี้เมื่อเฟซบุ๊กอธิบายถึง ข้อจำกัดทางกฎหมายที่ใช้กับการเข้าถึงเนื้อหาด้วยว่า ข้อจำกัดทางกฎหมายที่ใช้กับการเข้าถึงเนื้อหาหมายถึงการที่ Facebook ไม่เปิดให้เข้าถึงเนื้อหาตามคำสั่งของรัฐบาล ในบางครั้ง รัฐบาลอาจสั่งให้ Facebook ลบเนื้อหาที่ละเมิดกฎหมายท้องถิ่นออก เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะประเมินความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าว หน่วยงานต้นสังกัดของผู้ออกคำสั่ง นโยบายของเรา และกฎหมายท้องถิ่น ในบางกรณี เราจะไม่เปิดให้เข้าถึงเนื้อหาในประเทศหรือเขตแดนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรณีที่เราลบเนื้อหาที่ระบุชัดแจ้งว่าผิดกฎหมายซึ่งอาจมีองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลแจ้งให้เราทราบ เช่น กลุ่มองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรหรือองค์กรการกุศล เช่น การปฏิเสธการมีอยู่ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศเยอรมนี และหากทางเราได้รับรายงานดังกล่าว เราจะจำกัดเนื้อหานั้นกับประชาชนในประเทศเยอรมนี

เฟซบุ๊กยังเผยแพร่ รายงานคำขอของรัฐบาลทั่วโลก เพื่อดูข้อมูลที่ Facebook จำกัดการเข้าถึงตามกฎหมายท้องถิ่น ซึ่งสามารถดูได้ตามลิงค์ (https://govtrequests.facebook.com/)

สมศักดิ์ ชี้ต่างประเทศยังเข้าได้ คาดอีกหน่อยเพจอื่นก็โดนได้

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ผู้ใช้เฟซบุ๊กเพื่อการสื่อสารและนำเสนอความคิดอยู่เป็นประจำ ซึ่งขณะนี้เขาลี้ภัยทางการเมืองอยู่ต่างประเทศ ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า ในต่างประเทศยังสามารถเข้าถึงเพจดังกล่าวได้ 

"ถ้าเฟซบุ๊คเป็นคนบล็อกจริง ก็แสดงว่าเฟซบุ๊คยอมร่วมมือกับทางการไทยในการบล็อกเพจ คือไม่ได้ลบเพจ เพราะเพจยังอยู่ ผมดูได้ (แค็พมาให้ดูตัวเป็นตัวอย่างว่ามีข้อความอะไรบ้าง) อย่างนี้อีกหน่อย ก็บล็อกเพจอื่นๆ (เช่นเพจผม) ด้วยข้ออ้างเดียวกันได้สิ อย่างที่บอกว่า โดยส่วนตัว ผมเองยังไม่ถึงกับชัวร์เต็มที่ว่าใครบล็อก ยังไงก็ช่วยเช็คกันดูนะครับ" สมศักดิ์ โพสต์

เกิดไล่เลี่ยกับข่าวเข้าถึงหลังไมค์แอดมินล้อประยุทธ์

Blognone และ Khaosod English รายงานว่า มีการตั้งข้อสังเกตุด้วยว่าเกตุด้วยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการที่ตำรวจ สามารถเข้าถึงบทสนทนาใน Messenger ของแอดมินเพจ "เรารักพล.อ.ประยุทธ์" ที่โดนตั้งข้อกล่าวหากระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีการตั้งข้อสงสัยว่าเฟซบุ๊กได้ยื่นมือเข้ามาช่วยมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการปิดกั้นเพจอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฟซบุ๊กบล็อคคอนเทนต์ที่กระทบความมั่นคงตามคำขอของรัฐบาลไทย

เฟซบุ๊กเผยครึ่งหลังปี 58 รัฐไทยขอข้อมูล 3 แอคเคาท์ แต่เฟซบุ๊กไม่ให้

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเปิดเผยรายงานความโปร่งใส ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 (ก.ค.-ธ.ค.) ระบุว่า รัฐไทยข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยจากเฟซบุ๊กเป็นจำนวน 3 ครั้ง 3 แอคเคาท์ โดยเฟซบุ๊กไม่ได้ให้ข้อมูลดังกล่าวแม้แต่รายเดียว (0%) ทั้งนี้ เฟซบุ๊กระบุว่าจะตอบสนองต่อคำขอเกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่มีผลตามกฎหมาย โดยจะมีการตรวจสอบความเพียงพอทางกฎหมายของแต่ละคำขอ และจะปฏิเสธหรือขอให้มีข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงต่อคำขอที่กว้างหรือคลุมเครือเกินไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ยืนยันขายเสื้อโหวตโนไม่ใช่การปลุกปั่น

$
0
0
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ชี้ กกต. ไม่ควรตีความกฎหมายถึงขั้นขายเสื้อมีความผิด ข้อความโหวตโนไม่ใช่การปลุกปั่น คนซื้อไม่ได้ถูกจูงใจ ยันไม่กังวล

 
5 พ.ค. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารพรรคการเมือง ออกมาระบุว่ามีเพจของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จำหน่ายเสื้อในลักษณะรณรงค์ทั่วไป เพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมืองให้เกิดการออกเสียงประชามติเป็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง อาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ปัญหาคือไม่ควรตีความถึงขั้นว่าการขายเสื้อเป็นความผิด เนื่องจาก พ.ร.บ.ประชามติฯ ก็เขียนอธิบายไว้อยู่แล้ว การใช้คำบนเสื้อที่เขียนว่า “โหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก” โดยถ้อยคำแล้วไม่ใช่การปลุกปั่นแน่ๆ ไม่ใช่ว่าคนเห็นข้อความนี้แล้วต้องไปออกเสียงโหวตโนทันที มันตลก ถ้าตีความอย่างนั้นจะมีปัญหาว่าทำอะไรก็ยุยงปลุกปั่นทั้งหมด จะเป็นการดูที่ตัวคนทำไม่ได้ดูที่เนื้อหาจริงๆ อีกทั้งคนที่ตัดสินใจซื้อเสื้อนั้นก็เป็นคนที่คิดอย่างเดียวกัน จึงไม่ได้เป็นการจูงใจ และยืนยันว่าไม่กังวลกับเรื่องดังกล่าว เพราะเราทำไปตามหลักการ ไม่มีประชามติที่ไหนพยายามจะไม่ให้รณรงค์เลย ทุกวันนี้แค่พูดคำว่าโหวตโนยังมีความไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ จึงดูไม่ใช่ประชามติ เราพร้อมยอมรับสถานการณ์อยู่แล้ว ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ก็คาดไว้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอแบบนี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใช้ ม.44 ตั้งกรรมการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นทั่วประเทศหากมีการยุบสภา

$
0
0
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่งหัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 สั่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นทั่วประเทศ กรณีมีการยุบสภา พร้อมให้มหาดไทยคุมทั้งหมด

 
 
 
 
5 พ.ค. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2559 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้ 
 
1. ในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร การดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ให้ดําเนินการตามที่กําหนดไว้ในคําสั่งนี้ให้ข้อกําหนดในคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ที่ให้การดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น เป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เป็นอันสิ้นผล และให้ดําเนินการตามที่กําหนดไว้ในคําสั่งนี้แทน 
 
2. ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งทําหน้าที่คัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น คณะกรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นรองประธาน อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นกรรมการ ให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นกรรมการและเลขานุการ และข้าราชการในกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่งตั้งสองคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ให้นําบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอํานาจดําเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการสรรหาโดยอนุโลม 
 
3. เมื่อมีการยุบสภาท้องถิ่นในเขตจังหวัดใด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดของจังหวัดนั้นเสนอ รายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติตามข้อ 2 และข้อ 4 ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 85/2557 เป็นจํานวนสามเท่าของสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะสรรหา เสนอต่อคณะกรรมการสรรหา ภายในสิบห้าวัน 
 
4.เมื่อคณะกรรมการสรรหาได้รับรายชื่อบุคคลตามข้อ 3 แล้ว ให้คัดเลือกบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นตามจํานวนที่กําหนด ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับรายชื่อจากผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ประธานคณะกรรรมการสรรหาประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ภายในสามวัน นับแต่วันที่คัดเลือกเสร็จ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มสุดโต่งในบังกลาเทศสังหารต่อเนื่อง-เหยื่อล่าสุดเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

$
0
0

ขณะที่ในบังกลาเทศยังคงมีปัญหาการสังหารนักคิดและนักกิจกรรมที่ถูกกมองว่าเป็นผู้ต่อต้านศาสนาโดยที่ยังมีหลายกรณีที่จับคนร้ายไม่ได้ โดยเหตุล่าสุดมีอาจารย์มหาวิทยาลัยราชฮีถูกฆ่า ด้านรัฐบาลบังกลาเทศกล่าวหาเหยื่อว่าไม่ควรพูดในเรื่อง "ทำร้ายความรู้สึก" ผู้นับถือศาสนา แต่ก็มีประชาชนส่วนหนึ่งและต่างชาติไม่พอใจและเริ่มประท้วงเรียกร้องให้รัฐจริงจังกว่านี้กับการนำตัวผู้สังหารโดยอ้างศาสนามาลงโทษ

โกลบอลวอยซ์ออนไลน์ นำเสนอกรณีการสังหาร เรซัล คาริม ซิดดิค ศาตราจารย์ภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยราชฮี ในบังกลาเทศตั้งแต่ช่วงวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมาใกล้กับบ้านพักของเขาในทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นเหยื่ออีกรายที่ถูกสังหารโดยกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาในช่วงปีที่แล้วถึงปีนี้

เหตุสังหารเกิดขึ้นในตอนที่ซิดดิคกำลังรอรถโดยสารเพื่อเดินทางไปมหาวิทยาลัย มีคน 2-3 คน โจมตีจากข้างหลังแล้วก็แทงที่ลำคอเขาจนเป็นเหตุให้ซิดดิคเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

เว็บไซต์ At-Tamkin ซึ่งเป็นเว็บไซต์เป็นพวกเดียวกับสำนักข่าวอามัคของกลุ่มก่อการร้ายไอซิส (ISIS) อ้างว่ากลุ่มดาวัตทุย อิสลาม เป็นกลุ่มที่ก่อเหตุในครั้งนี้เนื่องจากคิดว่าซิดดิคเคย "เรียกร้องให้ผู้คนหันมาหาแนวคิดไม่มีศาสนา"

กลุ่มติดอาวุธศาสนาอิสลามในบังกลาเทศถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารบล็อกเกอร์และนักกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตหลายรายตั้งแต่ช่วงปี 2556 โดยกรณีที่เกิดขึ้นไม่นานนี้คือการสังหาร นาซีมอุดดิน ซาหมัด นักกิจกรรมผู้ไม่ฝักใฝ่ศาสนา เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา

ซิดดิค เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชฮีรายที่ 4 แล้วที่ถูกสังหารในช่วง 12 ปีหลังมานี้ ซิดดิคเป็นนักเขียน คนเล่นซิตาร์ (เครื่องดนตรีดีดสายประเภทหนึ่งในอินเดีย) และมีส่วนร่วมกับองค์กรทางวัฒนธรรมหลายองค์กร เขาเป็นผู้นำกลุ่มทางวัฒนธรรมที่เรียกว่ากลุ่ม โกมล กันดาร์ และเป็นบรรณาธิการของนิตยสารวรรณกรรมที่ออกสองเล่มต่อปี ทั้งนี้เขายังเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนดนตรีที่บักมาราซึ่งในอดีตเคยเป็นรังของกลุ่มมูจาฮีดีนเจเอ็มบี

มีบล็อกเกอร์ ปัญญาชนและชาวต่างชาติในบังกลาเทศหลายคนถูกสังหารด้วยวิธีแบบเดียวกัน โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของบังกลาเทศกล่าวว่าผู้ก่อเหตุมักจะใช้มีดมาเชตต์หรือปังตอฟันเหยื่อจนเสียชีวิต มีกลุ่มอย่างอัลกออิดะฮ์สายแถบอนุทวีปอินเดียอ้างว่าเป็นผู้ก่อเหตุสังหารบล็อกเกอร์หลายคนและกลุ่มไอซิสอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารชาวต่างชาติ 2 คนที่เป็นคนทำงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชาวอิตาลีและชาวญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่บังกลาเทศอ้างว่ากลุ่มอิสลามในประเทศตัวเองเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุสังหารเหล่านี้และคำอ้างจากกลุ่มไอซิสและอัลกออิดะฮ์เป็นไปเพื่อปกปิดร่องรอยและทำให้การสืบสวนไขว้เขวเท่านั้น

โกลบอลวอยซ์รายงานว่าทางการบังกลาเทศยังคงตอบคำถามเรื่องสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ไม่ดีพอ ในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตยรัฐสภาที่ไม่เป็นรัฐศาสนา บังกลาเทศไม่มีกฎหมายชะรีอะฮ์หรือกฎหมายหมิ่นศาสนาและผู้ที่ไม่นับถือศาสนาก็มีสิทธิแบบเดียวกับพลเมืองคนอื่นๆ โดยที่ส่วนใหญ่แล้วคนในบังกลาเทศจะเป็นชาวมุสลิม แต่บังกลาเทศก็ยังคงมีกฎหมายอาญาที่สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่ "ทำร้ายความรู้สึกของผู้นับถือศาสนา" อย่าง "จงใจ" หรือ "มีประสงค์ร้าย"

ในเหตุสังหารซาหมัดเมื่อต้นเดือน เม.ย. รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน อะซาดุสมาน ข่าน ตะคอกต่อว่าเหยื่อในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อซีเอ็นเอ็นว่า "บล็อกเกอร์ควรควบคุมการเขียนของตนเอง ประเทศของพวกเราคือประเทศที่ไม่ใช่รัฐศาสนา ...ผมต้องการบอกว่าประชาชนควรจะระวังไม่ทำร้ายความรู้สึกใครด้วยการเขียนอะไรก็ตาม ทำร้ายศาสนา ความเชื่อของใครก็ตาม หรือผู้นำศาสนาใดๆ ก็ตาม"

ทั้งนี้ในช่วงวันก่อนวันขึ้นปีใหม่ของชาวเบงกาลี นายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ของบังกลาเทศกล่าวไว้ว่ามันเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้เลยที่จะมีการเขียนอะไรบางอย่างที่จะทำร้ายความรู้สึกทางศาสนาของอื่นๆ

เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวบุคคลที่ก่อเหตุได้เพียงบางคนเท่านั้นส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มอันซารูลาห์ บังกลา ที่ถูกห้ามจากทางการ เมื่อเดือน ธ.ค. 2558 เพิ่งมีการตัดสินคดีการสังหารบล็อกเกอร์ชื่อราจีบ ไฮเดอร์ ที่ถูกสังหารเมื่อปี 2556 เขาถูกฟันเสียชีวิตกลางถนนในช่วงที่มีการประท้วงเรียกร้องให้มีการประหารชีวิตผู้ที่ก่ออาชญากรรมสงครามในช่วงสงครามประกาศอิสรภาพจากปากีสถานในปี 2514

อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์สังหารผู้ไม่ฝักใฝ่ศาสนากรณีอื่นๆ อีก 6 กรณียังไม่มีการดำเนินคดีผู้ต้องหาแต่อย่างไรถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถจับกุมตัวนักศึกษาผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารซิดดิคได้

การสังหารซิดดิคทำให้เกิดความไม่พอใจทั้งจากคนในประเทศและต่างประเทศ มีกลุ่มด้านสิทธิต่างๆ รวมถึงสมาคมนักเขียนนานาชาติ (PEN International) เรียกร้องให้รัฐบาลบังกาเทศนำตัวผู้ก่อเหตุดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมและให้การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นรวมถึงคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนไม่ว่าจะมีความเชื่อแบบใด

นอกจากนี้ยังมีการประท้วงจากกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยราชฮีเพื่อประณามการสังหารอาจารย์มหาวิทยาลัยของพวกเขา รวมถึงมีการเรียกร้องให้บอยคอตต์ชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยโดยสมาคมอาจารย์มหาวิทยาลัยราชฮีด้วย

อดีตนักศึกษารายหนึ่งที่เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตสารวรรณกรรมที่ซิดดิคทำอยู่ตั้งสมมติฐานถึงสาเหตุที่ซิดดิคตกเป็นเป้าโจมตี เขาระบุว่าซิดดิคเป็นคนที่เขียนบทกวี เรื่องสั้น วิจารณ์ภาพยนตร์ สิ่งที่เขาเขียนมีความหมายต่อสังคม เขาไม่มีบทความถกเถียงลงในหนังสือพิมพ์หรือมีข้อเขียนใดที่สร้างความเกลียดชังต่อศาสนาเลย แต่ซิดดิคก็เป็นคนที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับการกระทำผิดและเป็นบุคคลที่ใฝ่ทางศิลปวัฒนธรรมมาก ทั้งสองอย่างนี้ถูกมองว่าเป็น "ปัญหา" ในสังคมบังกลาเทศ

 

เรียบเรียงจาก

A University Professor Is Hacked to Death, Another Victim of Deadly Intolerance in Bangladesh, Global Voices, 25-04-2016 https://globalvoices.org/2016/04/25/a-university-professor-is-hacked-to-death-another-victim-of-deadly-intolerance-in-bangladesh/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เร่ง จนท. ทำหนังสือถึงนิติวิทยาศาสตร์ หาหลักฐานการหายตัว 'เด่น คำแหล้'

$
0
0

เร่ง ผกก.สภ.ห้วยยาง ทำหนังสือส่งถึงสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อการพิสูจน์หลักฐานกรณีการหายตัวของนายเด่น ด้านพนักงานสอบสวน แจ้งว่า 6 พ.ค.59 ได้ประสานไปยังป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ร่วมลงพื้นที่ค้นหาอีกครั้ง

5 พ.ค. 2559 นางสุภาพ คำแหล้ ภรรยาของนายเด่น คำแหล้ พร้อมชาวบ้านจากเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสานกว่า 10 คน เดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรห้วยยาง ต.ห้วยยาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อขอเข้าพบผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรห้วยยาง (ผกก.สภ.ห้วยยาง) ให้ทำหนังสือขอความร่วมมือส่งถึงผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่พิสูจน์ร่องรอย ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ทั้งวัตถุพยานและหลักฐานอื่น ๆ อาทิ ท่อนไม้ เปลสนาม ทั้งหลักฐานทางโทรศัพท์ เพื่อใช้ประกอบหลักฐานในการตามหาร่องรอยการหายตัวไปของนายเด่น คำแหล้

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนแจ้งว่าเนื่องจากเป็นวันหยุด ผกก.สภ.ห้วยยาง ติดธุระไม่ได้เข้ามายังสถานีตำรวจ อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ ประมาณช่วงเช้าของวันที่ 6 พ.ค. 2559 ทาง ผกก.สภ.ห้วยยาง จะเดินทางเข้ามายังสถานีตำรวจ โดยจะแจ้งให้ ผกก.สภ.ห้วยยาง รับทราบ เพื่อทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

เจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนบอกอีกว่า ในวันที่ 6 พ.ค. 2559 จะสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ลงพื้นที่สืบหาร่องรอยการหายตัวของนายเด่น ตามจุดที่น่าสงสัยอีกครั้ง โดยได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และชาวบ้านทุ่งลุยลาย ระดมค้นหานายเด่น อีกครั้ง

นางสุภาพ คำแหล้ (ภรรยานายเด่น คำแหล้) บอกว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2559 ประมาณ 16.30 น. ตน พร้อมกับชาวบ้านชุมชนโคกยาว และสมาชิกเครือข่ายชาวบ้าน กว่า 10 คน เดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรห้วยยาง เพื่อติดตามความคืบหน้าของเจ้าพนักงานสอบสวน ในการสืบหาร่องรอยการตัวไปของสามี พร้อมกับได้ส่งมอบท่อนไม้ ยาวประมาณ 2 เมตร ซึ่งก่อนหน้านั้นในวันที่ 26 เม.ย. 2559 ทีมสมาชิกเครือข่ายฯชาวบ้าน ได้พบท่อนไม้ดังกล่าวตกหล่นบริเวณริมฝั่งลำน้ำพรม ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าหนองไรไก่ ประมาณ 200 เมตร ซึ่งได้พบข้อสงสัยหลายอย่าง เช่น รอบบริเวณดังกล่าวไม่มีการตัดไม้ อีกทั้งปลายไม้ทั้งสองข้างพบรอยถลอกคล้ายถูกผ้าผูก ซึ่งสมาชิกเครือข่ายฯชาวบ้าน ที่ค้นหาได้บอกลักษณะว่าคล้ายกับมีการมัดของหนักผูกติดกับท่อนไม้หามมาจากที่อื่นแล้วมาทิ้งไว้ยังบริเวณที่พบดังกล่าว

ภรรยานายเด่น บอกอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ส่งมอบเปลสนามที่ทางทีมเครือข่ายชาวบ้านได้พบก่อนหน้านั้นคือเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยลักษณะของเปลถูกผูกติดกับกิ่งไม้ไว้เพียงด้านเดียวบนยอดไม้สูงจากพื้นประมาณ 6 ม. ส่วนอีกด้านได้มีการม้วนเปลเก็บไว้อย่างดี โดยยัดไว้ที่ง่ามกิ่งไม้อีกด้านหนึ่ง คล้ายกับว่าเปลดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์หรือการส่งสัญญาณบอกตำแหน่งบางอย่าง ซึ่งสิ่งของที่ได้พบนั้น ทางทีมค้นหาของเครือข่ายชาวบ้านตั้งใจจะรวบรวมไว้ก่อน และจะส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ประกอบในการหาหลักฐานเพิ่มเติม

“ภายหลังได้ส่งมอบสิ่งของที่สงสัยมอบให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อในวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมาแล้วนั้น ในวันนี้ (5 พ.ค.) จึงได้เดินทางมายังสถานีตำรวจอีกครั้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เร่งทำหนังสือถึงสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ลงมาตรวจสอบและพิสูจน์หลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งทางสมาชิกเครือข่ายฯชาวบ้าน ได้ประสานไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แล้ว โดยทางสถาบันนิติฯยินดีจะร่วมลงมาตรวจสอบพื้นที่ พร้อมแจ้งว่าให้ทางผู้เดือดร้อนประสานไปทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นการต่อไป” นางสุภาพ กล่าวทิ้งท้าย

สืบเนื่องจาก วันที่ 16 เม.ย. 2559 ประมาณ 09.30 น.นายเด่น คำแหล้ แกนนำชุมชนโคกยาวที่ต่อสู้ในเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน และเป็นประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เข้าไปหาหน่อไม้ในบริเวณสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เพื่อเตรียมไปวางขายที่ตลาดทุ่งลุยลายในช่วงเย็นของทุกวันตามปกติ ทั้งบอกอีกว่าให้ภรรยา (นางสุภาพ) ถางหญ้าปรับหน้าดินเตรียมไว้ เพื่อจะนำหน่อไม้มาปลูกบริเวณที่เตรียมดินไว้ จากนั้นนายเด่น ได้เดินเข้าป่าไปพร้อมกับสุนัข 2 ตัว ต่อมาสุนัขอีกตัวกลับเข้ามาประมาณ 15.00 น. ส่วนอีกตัวกลับเข้ามาถึงประมาณ 20.00 น. แต่ไม่เห็นตัวนายเด่นกลับมา นับแต่วันนั้น คือวันที่ 17 เม.ย. 2559 ได้ช่วยกันแยกออกตามหา เป็นเวลา 21 วัน จนถึงวันนี้ยังไม่พบการหายตัวไปแต่อย่างใด

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรสิทธิสากลแถลงการณ์ให้รัฐบาลไทยเร่งสืบสวนสอบสวนกรณีการหายตัว 'เด่น คำแหล้'

$
0
0
องค์กร Front line Defenders  ออกแถลงการณ์กรณีการหายตัวไปของนายเด่น คำแหล้ ชี้การหายตัวไปนั้นมีแรงจูงใจมาจากการทำงานที่มีความชอบธรรมและสันติวิธีของนายเด่นในเรื่องการเรียกร้องสิทธิในที่ดินในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ

 
5 พ.ค. 2559 องค์กร Front line Defenders ซึ่งทำงานเรื่องปกป้องคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์กรณีการหายตัวไปของนายเด่น คำแหล้ แสดงความห่วงใยอย่างสุดซึ้งว่าการหายตัวไปของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นายเด่น คำแหล้ ระบุเชื่อว่าการหายตัวไปนั้นมีแรงจูงใจมาจากการทำงานที่มีความชอบธรรมและสันติวิธีของนายเด่นฯ ในเรื่องการเรียกร้องสิทธิในที่ดินในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ  โดยมีข้อร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยว่า
 
1.ต้องสืบสวนสอบสวนโดยพลัน ให้ถ้วนถี่และเป็นกลาง ว่าการกล่าวอ้างว่ามีการบังคับให้สูญหายขององค์กรระหว่างประเทศชื่อ Front line Defenders ทำงานเรื่องปกป้องคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์กรณีการหายตัวไปของนายเด่น คำแหล้  และขอให้มีการเผยแพร่ผลของการสืบสวนสอบสวนและนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานสากล
 
2. ขอให้หยุดการดำเนินคดีนายเด่นและภรรยาที่ Front line Defenders เชื่อว่าการฟ้องคดีอาญาต่อนายเด่นฯและภรรยานั้นเป็นผลมาจากการทำงานของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งพวกเขามีความชอบธรรมในการทำงานอย่างสันติสงบที่จะปกป้องสิทธิในที่ดินของเขา
 
3. จะต้องใช้มาตรการที่จำเป็นทุกรูปแบบเพื่อรับรองว่าครอบครัวของนายเด่นฯ จะได้รับการฟื้นฟูเยียวยาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
 
4. ขอให้รับรองว่าทุกสถานการณ์นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย สามารถทำงานที่มีความชอบธรรมของเขาได้อย่างเสรีโดยปราศจากการกีดกันด้วยข้อจำกัด ความหวาดกลัว หรือการโต้ตอบกลับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยไม่สามารถทำงานที่มีความชอบธรรมของเขาได้อย่างเสรีโดยปราศจากการกีดกลั้นด้วยข้อจำกัด ความหวาดกลัว หรือการโต้ตอบกลับ
 

Missing human rights defender Den Kamlae

 
Over two weeks since he was last seen, on 16 April 2016, the whereabouts of Mr Den Kamlae remain unknown. The human rights defender was last seen entering a forest close to his home in the Khok Yao community to collect food. On 25 April 2016, the wife and relatives of the human rights defender submitted urgent appeal letters to a number of government agenciesseeking their assistance in tracing the missing human rights defender.
 
Den Kamlae is a land rights defender from the Khok Yao community, Kon San district, Chaiyaphum province. The community is currently facing forced eviction from the land which they have occupied for forty–five years. Since 2015 Den Kamlae has been leading the network of local villagers who have been trying to re-establish their right over this land. The human rights defender is also a member of Essan Land Reform Network (ELRN), a union of local villagers opposing the Kon San Forest Project. The latter was established by the state–owned Forest Industry Organisation in 1978 and until now has causedsignificant destruction in part of the Laohai forest area resulting in the eviction of more than one–thousand people from local villages.
 
On 25 April 2016, the wife and relatives of Den Kamlae submitted urgent appeal letters to the Chairperson of the National Human Rights Commission, the Committee for the Development of the Discovery of the Disappeared and the Identification of Unidentified Bodies and the Central Institute of Forensic Science, seeking their assistance in the search for the human rights defender. Since his disappearance, his wife, members of the ELRN and the Khok Yao community have been trying to locatethe human rights defender and have been combing the forest where he was seen for the last time. There are no grounds to believe that the human rights defender has been killed in a natural disaster or by an animal. Den Kamlae suffered from noknown ailment and had no personal disputes with anyone.
 
On 17 April 2016, Den Kamlae‘s wife filed a complaint with the Huay Yang Police Station in relation to her husband’sdisappearance. The police, however, failed to conduct an investigation and made no attempt to help her with the search for her husband. During the first three days of the search, forestry patrol officers from nearby areas joined the villagers in combing theforest area adjacent to the Khok Yao community.
 
On 10 March 2016, one month before Den Kamlae went missing, forest department officials, military, and other relevant authorities notified villagers from the Khok Yao community that they had eight days to leave the territory they occupied as they had allegedly illegally intruded on forest reserve land. This was not the first attempt by the Thai government and military officials to forcefully evict members of the community. On 6 February 2015, a joint force of approximately one–hundred officers from the Royal Thai Police, Royal Thai Army and the Department of Forest and District Administration visited people fromKhok Yao, demanding they leave the area and destroy all their buildings and crops in eighteen days. The joint forces‘operations were carried out on the basis of orders issued by the National Council for Peace and Order in 2015 and 2014.Since the enactment of these orders, at least one-hundred-and-seventy-three communities in nine provinces of the northern region of Thailand have fallen victim to operations of the joint forces.
 
On 25 April 2013, both Den Kamlae and his wife were convicted, on appeal, for illegal land encroachment, illegal occupation and deforestation. On 28 Aug 2012, the Court of First Instance found both persons guilty of violating Articles 54 (1) and 72 (3)of the Forestry Act, Articles 14 and 31 (1) of the Forestry Reservation Act and Article 83 of the Criminal Act, sentencing them to six months imprisonment and ordering them to leave the forest area they were occupying. Den Kamlae and his wife have appealed their conviction to the Supreme Court, where their case is currently pending.
 
On 29 February 2010, the Council of Ministers of Thailand adopted exceptional measures granting the Khok Yao communitypermission to stay temporarily on the lands they were occupying. The decision was adopted after more than twenty years ofprotests carried out by community members and their appeals to the relevant state authorities with demands to re-establishtheir right over the land. The dispute originated in 1985-1988, when the Thai government started to implement forest and wildlife protection and conservation policies. As compensation for the people who were forced to leave their lands, the government promised two hectares of land per person in a different area. It later appeared however, that the allocated territories were already occupied by other individuals. Consequently, the members of the Khok Yao community became landless.
 
Front Line Defenders expresses grave concern at the disappearance of human rights defender Den Kamlae, which it believeswas solely motivated by the peaceful and legitimate work of the land rights defender in Chaiyaphum province.
 
Front Line Defenders urges the authorities in Thailand to:
 
Carry out an immediate, thorough and impartial investigation into the allegations of enforced dissapearance of human rights defender Den Kamlae, with a view to publishing the results and bringing those responsible to justice in accordance with international standards;
 
Immediately quash the conviction of Den Kamlae and his wife as Front Line Defenders believes that both persons have been targeted solely as a result of the human rights defender’s legitimate and peaceful work in defence of land rights in the country;
 
Take all necessary measures to guarantee the physical and psychological integrity and security of family members ofDen Kamlae;
 
Guarantee in all circumstances that all human rights defenders in Thailand are able to carry out their legitimate human rights activities without fear of reprisals and free of all restrictions.
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิจัยสหรัฐฯ เรียกร้องให้บรรจุ 'ความผิดพลาดในการรักษา' ในสถิติสาเหตุการเสียชีวิต

$
0
0

งานวิจัยของนักวิจัยสาขาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ นำเสนอว่าสหรัฐฯ ควรระบุให้ความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นลำดับที่สามของประเทศ โดยในสหรัฐฯ มีการเก็บสถิติในเรื่องความผิดพลาดทางการแพทย์น้อยมากและไม่มีการเปิดเผยถึงปัญหานี้ให้สาธารณชนรับทราบมากพอ

มาร์ตี มาคารี ศัลยแพทย์ผู้นำการเขียนงานวิจัยชั้นนี้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในใบมรณะบัตรเพื่อให้ทราบถึงกรณีการเสียชีวิตเพราะความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลมากขึ้น อีกทั้งยังมีการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ให้มีการเติมเรื่องความผิดพลาดทางการแพทย์เป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตในรายงานลำดับสาเหตุการเสียชีวิตในรอบปีโดยทันที

พวกเขาทำการวิจัยโดยวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยอื่นๆ ก่อนหน้านี้ทำให้ประเมินได้ว่ามีชาวอเมริกันมากกว่า 250,000 ราย เสียชีวิตจากความผิดพลาดทางการแพทย์ในทุกๆ ปี ซึ่งถือเป็นอันดับที่ 3 รองจากการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ (ราว 610,000 ราย) และมะเร็ง (ราว 590,000 ราย) จากการสำรวจในปี 2557 และมากกว่าการเสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจซึ่งมีอยู่ราว 150,000 ราย

งานวิจัยระบุว่า ความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลที่ทำให้คนไข้เสียชีวิตได้แก่ปัญหาในการผ่าตัดและการให้ยาผิดขนาดหรือผิดประเภทแก่คนไข้ แต่ก็ไม่มีข้อมูลจำแนกจำนวนความผิดพลาดของแต่ละประเภทไว้เนื่องจากระบบการบันทึกแจ้งตายของ CDC ไม่ได้ระบุเรื่องความผิดพลาดจากการสื่อสาร ความผิดพลาดจากการตรวจวินิจฉัยโรค และการตัดสินใจที่ไม่ดีจนทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตรวมไปด้วย

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า CDC จะระบุในใบแจ้งการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตจากสภาพทางการแพทย์อย่างอาการหรือโรคของผู้ป่วยแต่จะไม่ได้ระบุถึงความผิดพลาดทางการแพทย์ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตเข้าไปด้วย แต่ถ้าหากมีการบันทึกเรื่องของความผิดพลาดทางการแพทย์ลงไปด้วย มันจะกลายเป็นสาเหตุการตายที่เกิดขึ้นมากกว่าการฆ่าตัวตาย โรคเบาหวาน และโรคอัลไซเมอร์

อย่างไรก็ตาม บ็อบ แอนเดอร์สัน หัวหน้าฝ่ายสถิติการเสียชีวิตของ CDC โต้แย้งงานวิจัยว่าทาง CDC มีการระบุถึงความผิดพลาดทางการรักษาพยาบาลไว้ในใบแจ้งตายแต่ไม่ได้มีการเผยแพร่ในสถิติคนเสียชีวิตเนื่องจากมีการนิยามคำว่า "สาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิต" หมายถึงสภาวะที่ทำให้บุคคลคนหนึ่งเข้ารับการรักษา จึงไม่นับรวมความผิดพลาดทางการรักษาพยาบาลเข้าไปด้วย แต่นับเฉพาะสาเหตุเช่นโรคต่างๆ ถึงแม้ว่าโรคเหล่านั้นจะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คนไข้เสียชีวิตเองก็ตาม

แอนเดอร์สันกล่าวว่าวิธีการนับสถิติของ CDC เป็นไปตามแนวทางของนานาชาติในการใช้เปรียบเทียบสถิติการเสียชีวิตของสหรัฐฯ กับที่อื่นๆในโลกได้และการจะเปลี่ยนแปลงวิธีการนี้เป็นไปได้ยากเว้นแต่จะมี "เหตุผลที่ส่งผลมากพอให้เปลี่ยน"

ผู้เขียนรายงานการวิจัยของจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่าการไม่กล่าวถึงผลกระทบจากความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลส่งผลให้ประชาชนไม่มีความสนใจในเรื่องนี้มากพอและทำให้ไม่มีการลงทุนวิจัยเพื่อป้องกันเหตุในเรื่องนี้ การระบุถึงสาเหตุเรื่องความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลจึงเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เกิดความตระหนักในปัญหาตรงนี้

แอนเดอร์สันกล่าวว่าการแจ้งสาเหตุการเสียชีวิตของคนไข้ว่ามาจากความผิดพลาดในการรักษาพยายามจะทำให้เกิด "สถานการณ์ชวนให้ไม่สบายใจ" ต่อแพทย์และไม่เป็นการแก้ปัญหา เขาบอกว่าสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ดีกว่าคือการให้ความรู้แพทย์ในการรายงานความผิดพลาดเพื่อประโยชน์ด้านการสาธารณสุข

เตจาล คานธี ประธานมูลนิธิความปลอดภัยของคนไข้แห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่าองค์กรของเขาระบุให้ความผิดพลาดในการรักษาคนไข้ถือเป็นสาเหตุอันดับที่ 3 ของการเสียชีวิต ถ้าหากมีการติดตามผลในเรื่องนี้ที่ดีขึ้นจะทำให้สาธารณชนเล็งเห็นปัญหานี้มากขึ้นและทำให้มีการพัฒนาทุนเพื่อวิจัยในเรื่องนี้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม อิริค โทมัส ศาตราจารย์แพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเท็กซัสฮุสตัน กล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่แม่นยำมากพอจะใช้สนับสนุนว่าความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับที่ 3 แต่โทมัสก็สนับสนุนการเก็บข้อมูลเรื่องสาเหตุการเสียชีวิตในเรื่องนี้ด้วยเพราะมีการรายงานเรื่องการเสียชีวิตจากความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลน้อยเกินไป

เรียบเรียงจาก

Study Urges CDC to Revise Count of Deaths from Medical Error, ProPublica, 03-05-2016 https://www.propublica.org/article/study-urges-cdc-to-revise-count-of-deaths-from-medical-error

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ชวนประชาชนควักกระเป๋าจ่ายช่วงหยุดยาวปั้มเศรษฐกิจ

$
0
0

6 พ.ค.2559 เมื่อวันที 5 พ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ ครม.มีมติให้วันที่ 6 พ.ค.59 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ทำให้มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 5 - 9 พ.ค.59 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝากเชิญชวนพี่น้องประชาชนให้ใช้โอกาสนี้เดินทางท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับนโยบายการสนับสนุนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของรัฐบาล

"รัฐบาลต้องการให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ ทั้งในระดับท้องถิ่นชุมชนจนถึงระดับประเทศ จากการที่ผู้คนเดินทางไปท่องเที่ยว ในทุกภูมิภาคของประเทศ ใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ รวมถึงประชาชนยังได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยได้ใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจและอยู่กับครอบครัว และยังสามารถนำใบกำกับภาษีจากการซื้อแพจเกจทัวร์หรือค่าที่พักในโรงแรมภายในประเทศตลอดปี 59 ไปหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท ตามที่ ครม.มีมติไปก่อนหน้านี้" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังเป็นห่วงเรื่องการเดินทางของประชาชนเช่นเดียวกับทุกครั้งที่มีวันหยุดยาว โดยขอให้ทุกคนใช้ความระมัดระวังในการขับขี่หรือใช้รถใช้ถนน และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของประชาชนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทุกจังหวัดที่จัดตั้ง "ด่านชุมชน" ในหมู่บ้าน/ชุมชน จะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจตราพฤติกรรมเมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย หรือดื่มสุราบนรถ เป็นต้น เพื่อป้องปรามไม่ให้ผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ออกไปขับขี่รถบนถนนใหญ่ต่อไป

"ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการขอความช่วยเหลือ สอบถามข้อมูลการเดินทาง หรือแจ้งเบาะแสการกระทำผิด สามารถติดต่อศูนย์ดำรงธรรม มท.โทร 1567 ได้ตลอด 24 ชม."

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพสต์อิท วรรณคดี และรัฐไทย

$
0
0

การขัดขวางกิจกรรมแสดงความคิดเห็น "โพสต์ สิทธิ์" นำโดย "จ่านิว" หรือคุณสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่สกายวอล์คบีทีเอสช่องนนทรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา ได้เผยให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐไทย ไม่เพียงเฉพาะในแง่ที่ระดมบุคลากรตำรวจจำนวนมาก พร้อมไม้กระบองประจำตัวแทบจะทุกตัวคน เพียงเพื่อมาขัดขวางการแสดงออกด้วยการติดกระดาษโพสอิทของประชาชน -- ประชาชนผู้มีเพียงกระดาษและข้อความคนละเล็กละน้อยที่จะสื่อแสดงถึงความรู้สึก ความอัดอั้นตันใจของตนในฐานะเจ้าของประเทศ ซึ่งโดยเนื้อแท้มิได้เป็น/ไม่สามารถเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของผู้สัญจรผ่านไปมาในบริเวณนั้นแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำที่ความตื่นกลัวอย่างไม่มีเหตุผลจนนำแผงเหล็กมากีดขวางทางสัญจร และการระดมบุคลากรของรัฐจำนวนมากมายมากีดขวางการดำเนินกิจกรรมนั้นต่างหาก ที่ทำให้การสัญจรของผู้คนในบริเวณนั้นต้องติดขัด

ความล้มเหลวของรัฐไทยที่ร้ายแรงเสียยิ่งกว่าประสิทธิภาพในการจัดการกับสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นปัญหา ก็คือความล้มเหลวในการเข้าใจถึงคุณค่าในทางวัฒนธรรมของการโพสต์อิทที่มีต่อสังคมไทย

ผู้มีการศึกษามาบ้างย่อมเข้าใจดีว่า กิจกรรมโพสต์อิทก็คือการสืบทอดวัฒนธรรมการแสดงความคิดเห็นอีกวัฒนธรรมทางภาษาและวรรณคดีของคนไทย

วัฒนธรรมเจ้าบทเจ้ากลอนพูดจามีคารมคมคายของคนไทยงอกงามขึ้นมาจากถ้อยคำสั้น ๆ ที่ชาวบ้านใช้กัน จนพัฒนาขึ้นมาเป็นภาษิต-คำคล้องจองต่าง ๆ อันเราคัุนเคยกันดีอยู่แล้ว ผู้มีความสามารถทางวรรณศิลป์ยิ่งขึ้นก็จะพัฒนาคำคม-คำคล้องจองเหล่านั้นให้งอกงามขยายยาวขึ้นเป็นบทกลอนบทกวี

ร่องรอยของวัฒนธรรมนี้พบได้ตามผนังกำแพงว่างเปล่า ข้อเขึยน-สติ๊กเกอร์ตามผนัง-ประตูห้องน้ำสาธารณะ ตามท้ายรถบรรทุก หรือในรถโดยสารสาธารณะ ดังมีผู้รวบรวมเอาไว้ในบางยุคสมัย (ดู ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง และคณะ, วรรณกรรมเก็บตก, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2523)

ถ้อยคำสั้น ๆ หรือ "วรรณกรรมเก็บตก" เหล่านี้ย่อมสะท้อนทัศนะอีกความเป็นไปของสังคมแต่ละแห่ง แต่ละยุคสมัย

"แอบ ๆ แซง เพราะแรงน้อย" (ท้ายรถเมล์สาย 109 ในกรุงเทพ ฯ)

"ดังทั้งคัน ยกเว้นเครื่องเสียง" (สติ๊กเกอร์ในรถสองแถวสายบางพลี-หัวตะเข้)

"เมียซื้อสด รถซื้อผ่อน"

"เมียก็ด่า จ่าก็จับ"

"ชั่วหรือดี มีหรือจน ไม่พ้นรถติด" (สติ๊กเกอร์ติดที่ประตูรถสาย ปอ. 8 คันหนึ่ง, ปัจจุบันคือสาย 508)

ถ้อยคำเหล่านี้และถ้อยคำอื่น ๆ อีกมากมาย ย่อมสะท้อนให้เห็นทั้งสภาพของสังคม และความคิด ทัศนะต่อโลก ต่อชีวิต ของผู้คนในพื้นที่ได้อย่างแจ่มแจ้ง

หากผู้รู้จะสนใจวิเคราะห์ ก็ย่อมเห็นประเด็นต่าง ๆ มากมาย

เช่นคำว่า "ที่หมาเยี่ยว" ซึ่งเราพบเห็นกันอยู่ทั่วไป

ใครเป็นคนเยี่ยว จนเกิดคำว่า "ที่หมาเยี่ยว" เกลื่อนไปทั่วเมือง คำตอบก็คงคือ ผู้ชายเป็นคนเยี่ยว

ทำไมจึงเป็นที่หมาเยี่ยว ? ไม่ใช่ที่หมาขี้....หากเทียบกับสังคมอื่น โดยเฉพาะสังคมอินเดีย ซึ่งมักจะมีการขับถ่ายกันกลางถนนหนทาง จนผู้ไปเยือนรับรู้ว่าเป็นลักษณะทางสังคมที่เด่นชัดอย่างหนึ่งของอินเดีย สังคมไทยอาจดูก้าวหน้ากว่า--หากคิดในแง่ที่ว่าเราก็แค่มีการเยี่ยวผิดที่ผิดทาง ไม่ถึงกับทั้งขี้ทั้งเยี่ยว แต่กระนั้นคำถามที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือ ก็ถ้าหากเราพัฒนาจนรู้จักใช้ส้วมกันดีแล้ว เหตุใดจึงมีการเยี่ยวกันในที่ไม่สมควรจะเยี่ยวกันอีก คำตอบอาจจะเป็นว่า สังคมไทยพัฒนาไปในทางที่ไม่ได้คำนึงถึงการมีชีวิตที่ดีของทุกคน คนขับรถโดยสารสาธารณะและคนขับรถบรรทุกโดยเฉพาะในเขตชานเมืองจึงต้องจอดเยี่ยวกันข้างทาง เมืองอาจถูกออกแบบโดยหลงลืมการมีส้วมสาธารณะที่เพียงพอเหมาะสมกับความหนาแน่นและจำนวนของประชากร โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครนั้นอาจกล่าวได้ว่าส้วมสาธารณะไม่อยู่ในความสนใจของรัฐบาลท้องถิ่นมานานแล้ว นอกจากนี้ความเกรงใจ/ห่างเหินกันระหว่างเจ้าของสถานที่กับผู้ใช้ชีวิตบนท้องถนนก็อาจทำให้พี่แท็กซี่ไม่สะดวกใจที่จะเอ่ยปากขอเข้าห้องน้ำตามพื้นที่กึ่งสาธารณะ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร หรือคนขับรถบรรทุกส่งของ ซึ่งมักเป็นกิจการเอาท์ซอร์ซรับช่วงออกไปจากบริษัท โดยเฉพาะบริษัทในระดับเอสเอ็มอี ก็เกรงใจที่จะใช้ห้องส้วมของบริษัท/โรงงานที่ตนไปรับไปส่งสินค้า จึงต้องฉี่กันตามข้างทางกันเป็นปรกติ

ผู้ฉี่นอกพื้นที่ที่ควรจะฉี่มิได้มีเฉพาะพี่น้องในสองอาชีพที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น กล่าวอย่างเที่ยงธรรม พฤติกรรมนี้เป็นของชายไทยเกือบจะโดยทั่วไป นอกจากลักษณะความมักง่ายของชายไทยแล้ว เราอาจตีความความแพร่หลายของคำว่า "ที่หมาเยี่ยว" ได้ต่อไปด้วยว่า คนไทยไม่พูดตรงไปตรงมา หากจะแก้ปัญหา คนไทยก็อาจใช้วิธีประชดประชัน และในท้ายที่สุด คำว่า "ที่หมาเยี่ยว" อาจชี้ไปถึงว่าคนไทยมีความผูกพันใกล้ชิดอยู่กับหมา แต่หมาที่คนไทยใกล้ชิดเป็นหมาแบบไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้อยคำดูจะส่อไปในทางหมาไร้เจ้าของ หมาเร่ร่อน เสียยิ่งกว่าหมาชนิดอื่น ๆ

คำว่า "ที่หมาเยี่ยว" เพียงคำเดียวก็ชวนให้เราพิจารณาสังคมไทยได้หลายมิติ !

ในวัฒนธรรมไทย คำ ๆเดียวที่มักพบเห็นบ่อย ๆ ตามฝาผนังมักเป็นคำด่า หรือคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เช่น เหี้ย หี ควย คำเหล่านี้ย่อมสะท้อนลักษณะทางสังคมของชนชาติไทยที่รอผู้รู้ตีความต่อไปว่า ความกดดันอัดอั้นตันใจอะไรที่ทำให้เราต้องระบายออกมาเป็นคำเหล่านี้ หรือว่านี่เป็นวิธีการระบายออกของผู้คน เพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตอันแสนสาหัสกันได้ต่อไป ความข้อนี้ชวนให้นึกเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมของจีน/ญี่ปุ่น ที่การเขียนตัวหนังสือแม้เพียงตัวเดียว ก็มักจะเลือกเอาคำที่มีความหมายลุ่มลึก พัฒนาจนกลายเป็นงานศิลปะการเขียนตัวอักษรเอาไว้ประดับบ้าน ประดับที่ทำงาน เช่น คำว่า อดทน มั่งคั่งรุ่งเรือง อายุยืน เทียบในแง่นี้ลักษณะทางสังคมของคนไทยกับคนจีนคนญี่ปุ่นคงต่างกันลิบลับ

คำเดี่ยว ๆ ที่เราชอบเขียนกันตามฝาผนัง อาจมีบริบทที่แตกต่างจากคำเดี่ยว ๆ ที่จีน/ญี่ปุ่นชอบ จึงอาจไม่เหมาะที่จะพิจารณาเทียบเคียงกัน แต่กระนั้น "วรรณกรรมเก็บตก" หรือ"วรรณกรรมฝาผนัง" ของเรา ก็เป็นช่องทางให้เกิดวรรคทอง ให้เกิดบทกลอนที่ไพเราะได้ ขอเพียงให้ได้มีโอกาสในการแสดงออกเท่านั้น ดุจเดียวกับที่งาน graffiti ได้รับความยอมรับถึงขั้นเป็นศิลปะ จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ศิลปิน graffiti ระดับโลกก็ได้มาแสดงฝีมือให้ปรากฏที่กรุงเทพมหานครนี้เอง (ทั้งนี่พึงตั้งข้อสังเกตด้วยว่างาน graffiti ซึ่งถือกำเนิดในสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเชื่อมโยงมาจากการเคลื่อนไหวให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยสิทธิ์พลเมือง)

กิจกรรมโพสต์อิทมิใช่อะไรอื่นนอกจากพัฒนาการอีกขั้นของ "วรรณกรรมเก็บตก" หรือ "วรรณกรรมฝาผนัง" ซึ่งมาถึงยุคนี้ที่คำว่าวรรณกรรมและวรรณคดีมิได้มีความหมายแตกต่างกันแล้ว โพสต์อิทก็คืองานวรรณคดีประเภทหนึ่ง ที่อาจเกิดได้จากทั้งการด้นสดเฉพาะหน้า และจากการคิดเตรียมเอาไว้ก่อน

งานโพสต์อิทก็เช่นเดียวกันกับงานวรรณกรรมเก็บตก ที่หากผู้อ่านได้อ่านจนแตกฉานในความหมายและบริบทที่มันเกิดขึ้น ก็ย่อมจะพบเพชรน้ำงามในทางวรรณศิลป์ และสำหรับผู้ทรงอำนาจรัฐ ก็ย่อมจะได้ยินเสียงอันแท้จริงของประชาชน เสียงเหล่านี้เปล่งให้คณะทั่นผู้นัมได้ยินได้ โดยมิพักต้องเสียงบประมาณอีกเสียแรงบุคลากรการข่าวสืบเสาะค้นหาแต่อย่างใด ทั่นผู้นัมเพียงแต่ทำใจให้นิ่งและคอยสดับตรับฟังเสียงที่เปล่งออกมาจากโพสต์อิทเหล่านั้น ท่านก็จะได้รับรู้ถึงความรู้สึกอีกความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ทั่นผู้นัมสามารถทำได้แม้แต่การรับเป็นประธานในการเปิดงานโพสต์อิทเสียเองด้วย

ผู้ทรงอำนาจรัฐควรวางตนไว้ในฐานะผู้ส่งเสริมให้เกิดความงอกงามในวงวรรณคดี ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการส่งเสริมให้มีกิจกรรมโพสต์อิท เปิด space เปิดพื้นที่ให้กิจกรรมประเภทนี้ได้แสดงออกอย่างเต็มที่

สังคมไทยมีปัญหา space สาธารณะไม่เพียงพอ และเท่าที่มีอยู่ก็ไม่เอื้อต่อการมีชีวิตที่ดี ทางสัญจรสำหรับคนเดินเท้าซึ่งเสียงบประมาณเปลี่ยนทางปูพื้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่แล้วก็ยังคงสูง ๆ ต่ำ ๆ อยู่เป็นนิจนิรันดร ไม่สะดวกแก่การสัญจรแม้แต่สำหรับผู้คนปรกติ ไม่พิการ อีกทั้งความจำเป็นในการทำมาหาเลี้ยงชีพ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยก็จึงยังต้องมาค้าขายร่วมแชร์ใช้ทางเท้าด้วย สิ่งที่มีการลงทุนพัฒนากลับเป็นห้าง/ศูนย์การค้าขนาดใหญ่และถนนหนทางสำหรับรถยนต์ ราวกับว่าบ้านเมืองนี้ออกแบบมาสำหรับการใช้ชีวิตของผู้มียานพาหนะเท่านั้น รัฐบาลท้องถิ่นโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครดูเหมือนจะละเลยหลงลืมหน้าที่การจัดให้มีตลาดและมีทางเท้าสัญจรอันร่มรื่นอันเป็นป้จจัยพื้่นฐานของความเป็นเมืองไปเสียแล้ว

ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือสังคมไทยขาดแคลน space สาธารณะที่เปิดโอกาสให้พลเมืองได้แสดงออกทั้งในทางศิลปวัฒนธรรมและในทางความคิดความเห็นต่อความเป็นไปของบ้านเมือง ความคิดทางสถาปัตยกรรมบางสำนักถึงกับเชื่อว่า หากเมืองได้รับการออกแบบไว้อย่างดี พลเมืองผู้อยู่อาศัยในพื้นที่มีพื้นที่พักผ่อนและได้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างกันและกันอย่างสร้างสรรค์ ก็จะไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองจนโกรธแค้นถึงกับจะต้องเข่นฆ่าทำลายกัน เมืองที่ดีย่อมนำสู่ชีวิตทางการเมืองที่งดงาม

หากเราเห็นคล้อยตามผู้รู้ว่า การวิจารณ์คือพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย การส่งเสริมให้มีกิจกรรมโพสต์อิทก็ย่อมเป็นวิถีทางที่ง่ายที่สุดประหยัดที่สุดที่ประชาชนพลเมืองจะได้แสดงพลังทางปัญญาของตนให้ปรากฏ คณะคสช.และกรุงเทพมหานครไม่เพียงไม่ควรปิดกั้นขัดขวางพลังทางปัญญานี้ หากแต่ควรจะส่งเสริมสนับสนุนทุกทาง ทั้งการอำนวยความปลอดภัย การเอื้อเฟื้อสถานที่วัสดุอุปกรณ์ และการดูแลความสะอาดทั้งในระหว่างและภายหลังการจัดกิจกรรม ในแง่นี้และในสภาพที่เมืองขาดพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมการแสดงออกของประชาชนพลเมืองแล้ว สกายวอล์คบีทีเอสช่องนนทรีเป็นหนึ่งในพื้นที่ไม่กี่แห่งที่พอจะจัดให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์ได้


 0000


ปัญหาในท้ายที่สุดอาจจะตกอยู่ที่ว่า "ทั่นผู้นัม"และคณะของทั่นผู้นัมยังไม่พร้อมที่จะให้ผู้อื่นยั่วล้อตัวท่าน จึงถึงกับเข้าจับกุมและหาทางกล่าวหาดำเนินคดีเพจล้อทั่นผู้นัม จนเรื่องราวทำท่าจะบานปลายไปทั่วประเทศ และโด่งดังอื้อฉาวไปทั่วโลก

แท้จริงแล้วทั่นผู้นัมควรจะภูมิใจที่เป็นผู้นำแล้วมีคนล้อ เพราะนั่นย่อมแสดงว่าผู้คนใส่ใจในตัวท่าน บุคคลในชีวิตจริงบางท่านถูกนำมาแต่งล้อจนกลายเป็นตัวละครโดดเด่นในตำนานวรรณกรรมของไทย ดังบทละครเรื่องระเด่นลันไดของพระมหามนตรี (ทรีพย์) เป็นตัวอย่าง ผู้คนต่างจดจำความโอ่อ่าอัครฐานของระเด่นลันไดได้ดี

"อยู่ปราสาทเสาคอดยอดด้วน
กำแพงแก้วแล้วล้วนด้วยเรียวหนาม
มีทหารหอนเห่าเฝ้าโมงยาม
คอยปราบปรามปัจจามิตรที่คิดร้าย"
ชีวิตความเป็นอยู่ของระเด่นลันไดก็แสนจะสุขสบาย เช่นในยามเช้าก็

"ครั้นรุ่งแสงสุริยันตะวันโด่ง
โก้งโค้งลงในอ่างแล้วล้างหน้า
เสร็จเสวยข้าวตังกับหนังปลา
ลงสระสรงคงคาในท้องคลอง"

"ทั่นผู้นัม"อาจไม่ต้องการให้บุคลิก/ชีวิตของท่านกลายเป็นที่จดจำได้อย่างที่ระเด่นลันไดเป็นที่จดจำกันทั่วไป แต่ทั่นผู้นัมคงต้องยอมรับว่าบุคลิก/เรื่องราวของท่านก็โดดเด่นเป็นที่จดจำได้ง่ายไม่แตกต่างจากระเด่นลันได และผู้รู้ก็ได้เริ่มเทียบเคียงตัวท่านกับตัวละครสำคัญ ๆในวงวรรณกรรมบ้างแล้ว บ้างก็เทียบท่านกับตั๋งโต๊ะ บ้างก็เทียบกับนนทก และบ้างก็เทียบคณะของทั่นผู้นัมกับศรีธนญชัย ซึ่งก็มีสองแง่ คือศรีธนญชัยผู้อาจหาญคอยทวนกระแสกล้าขัดกล้าล้อเจ้านายของตน หากแต่ก็ยังสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยปฏิภาณความเฉลียวฉลาด กับศรีธนญชัยผู้พาซื่อแก้ปัญหาด้วยไหวพริบปัญญาสาไถย จากกรณีการแปลงค่าหัวคิวเป็นค่าบริการทางวิชาชีพที่ผู้คนแอบซุบซิบกันไปทั่ว ดูเหมือนพวกเขาจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่า คณะของทั่นผู้นัม เป็นศรีธนญชัยในความหมายใด

จากแง่มุมของผู้สนใจในวิชาอักษรศาสตร์ เมื่อทั่นผู่นัมไม่ประสงค์ให้ประชาพลเมืองยั่วล้อท่าน ก็สมควรที่ท่านจะฝึกหัดยั่วล้อตนเอง จุดประสงค์ก็เพื่อจะได้รู้จักตนเองได้ดียิ่งขึ้น เมื่อท่านรู้จักตนเองได้ดีขึ้น ท่านก็จะสามารถอยู่ปกครองประเทศสาระขันไปยาวนานอีก 20 ปีเป็นอย่างต่ำดังที่ท่านประสงค์

การฝึกหัดยั่วล้อตนเอง คงต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ก่อนว่า ทั่นผู้นัมเหมาะกับละครประเภทใด บุคลิกของทั่นผู้นัม เป็นผู้มีลีลาอารมณ์และภาษาชวนให้ขัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็ว่าเป็นผู้เอาขันเป็นอารมณ์ ไม่เหมาะแก่การรับบทที่จริงจังเคร่งเครียดอย่างละครโศกนาฏ (tragedy) หากแต่เหมาะอย่างยิ่งที่จะรับบทที่สร้างความผ่อนคลายสนุกสนาน แต่ก็แฝงไว้ด้วยความชวนคิดชวนไตร่ตรอง ละครสุขนาฏ (comedy) นับว่าเหมาะแก่ท่านเป็นอย่างยิ่ง

และหากจะนำบทประพันธ์วรรณคดีชิ้นเอกใด ๆ มาแปลงให้ท่านรับบทนำ เพื่อฝึกหัดยั่วล้อตนเองแล้ว ก็คงไม่มีอะไรเหมาะสมยิ่งไปกว่างานประพันธ์ว่าด้วยสุนทรพจน์อันลือลั่นของ ฮิวเมอริสต์ หรือครูอบ ไชยวสุ ซึ่งได้เรียบเรียงประพันธ์ไว้อย่างดี ราวกับจะเตรียมมาเพื่อให้ท่านโดยเฉพาะ เพื่อฝึกหัดยั่วล้อตนเอง เพื่อความเข้าใจตนเอง ปิดจุดอ่อนเสริมจุดแข็งของตนให้ได้มากยิ่งขึ้น บทความชิ้นนี้คงไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงชื่อของสุนทรพจน์ชิ้นนี้ และผู้สนใจก็คงสามารถ google หาเอาได้โดยง่าย.

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เล่นงานทุกทาง ศาลทหารอนุมัติหมายจับ 'แม่จ่านิว' คดี ม.112

$
0
0

6 พ.ค. 2559 ข่าวสดออนไลน์และเดลินิวส์รายงานตรงกันว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ ที่ศาลทหารกรุงเทพ พ.ต.ท.สัณห์เพชร หนูทอง พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กองกำกับการ 3 กองบังคับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้เดินทางมาขอหมายจับ พัฒน์นรี หรือหนึ่งนุช ชาญกิจ มารดา ของ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112  ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์

ต่อมาศาลได้พิจารณาพยานหลักฐานแล้วเห็นควรอนุมัติออกหมายจับ เลขที่ 36/2559 ข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112

ทั้งข่าวสดออนไลน์และเดลินิวส์ ยังรายงานด้วยว่า กรณีที่ทางพนักงานสอบสวน ปอท. ขออุมัติออกหมายจับ พัฒน์นรี เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้พิจารณาพยานหลักฐานอย่างรอบครอบแล้วเห็นว่า พัฒน์นรี ได้ร่วมกับ บุรินทร์ อินติน กระทำความผิด ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112

แม่จ่านิว เผยเตรียมเข้ามอบตัว

บีบีซีไทย - BBC Thaiรายงานด้วยว่า พัฒน์นรี  เผยกับบีบีซีไทยว่า ได้หารือกับทนายความแล้วและเตรียมเข้ามอบตัวหลังทราบว่าถูกตั้งข้อหาดังกล่าว

“ตกใจมาก รับไม่ได้เลย ตอนนี้ยังทำงานอยู่และรอทนาย แล้วจะไปมอบตัว” พัฒร์นรี กล่าวด้วยเสียงสะอื้น
 
 
กรณีความเชื่อมโยงระหว่าง พัฒน์นรี หรือแม่จ่านิว กับ บุรินทร์  นั้น ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง มติชนออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์และเดลินิวส์ รายงานตรงกันด้วยว่า บุรินทร์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหาร ข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รับว่า ตนเข้าร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับตั้งแต่ 19 ก.ย. 2558 จากนั้นจึงมีโอกาสรู้จักกับ สิรวิชญ์ (จ่านิว)  และติดต่อพูดคุยกันมาตลอด จนรู้จักกับแม่สิรวิชญ์ และแชตพูดคุยกันผ่านเฟซบุ๊ก ในทำนองว่าร้ายสถาบันจริงเนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตนโพสต์ข้อความต่างๆ ผ่านโทรศัพท์และโพสต์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27  เม.ย. ก่อนถูกจับกุม ไม่คิดว่าจะถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นสถาบันและสาเหตุที่นำโทรศัพท์ให้เพื่อนชื่อว่านนั้น เพราะแบตโทรศัพท์จะหมด จึงให้ไปเพื่อชาร์จแบตเท่านั้น ไม่มีเจตนาจะทำลายหลักฐาน จึงอยากฝากผ่านสื่อไปถึงว่านและจ่านิวว่า ให้นำโทรศัพท์กลับมาคืนด้วย
 
สำหรับ สิรวิชญ์ หรือ จ่านิว นั้นเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่เคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกิจกรรมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และการส่องทุจริตโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ จนถูกดำเนินคดี รวมทั้งการอุ้มตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลากลางคืนอีกด้วย โดยก่อนหน้านี้  พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ออกมาในข่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเข้ามาดูแล ส่วนจะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเกี่ยวกับเรื่องโซเชียลและสังคมออนไลน์โดยเฉพาะหรือไม่นั้นยังไม่ขอเปิดเผย โดยเฉพาะกรณีของ สิรวิชญ์ ที่มีการกระทำความผิดในโซเชียลมีเดียหลายครั้ง ไม่รู้ว่ามีเจตนาในการท้าทายหรือไม่ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) และเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ชื่อ กลุ่ม “เรารักชาติ” ได้ร้องกองปราบตรวจสอบเบื้องหลัง สิรวิชญ์ อีกด้วย (อ่านรายละเอียด)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล' ร้องสภาทนายความฯ คุ้มครอง 'ทนายจูน-ทนายเบญจรัตน์'

$
0
0

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ร่วมกับอีก 2 องค์กรนักกฎหมาย ทำหนังสือร้องสภาทนายความฯ คุ้มครอง ทนายศิริกาญจน์ และทนายเบญจรัตน์ หลังถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องกลับ และขอรัฐบาลไม่แทรกเเซงกับความเป็นอิสระของวิชาชีพทนายความ

 ที่มา : http://www.icj.org/thailand-icj-concerned-over-intimidation-and-harassment-against-human-rights-lawyers/

6 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists), องค์การลอว์เยอร์ไรทส์วอทแคนาดา (Lawyers’ Rights Watch Canada) และมูลนิธิลอว์เยอร์สฟอร์ลอว์เยอร์ส (Lawyers for Lawyers) ได้ทําหนังสือถึง เดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับสองคดีล่าสุดที่มีการข่มขู่เเละการคุกคามต่อทนายความที่ทํางานเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยขอร้องให้สภาทนายความฯ ซึ่งทําหน้าที่เป็นองค์กร หลักรับผิดชอบในการคุ้มครองประโยชน์ของสมาชิกได้ออกมาร้องเรียกให้รัฐบาลไทยรักษาไว้ซึ่งความเคารพหลักความเป็นอิสระของทนายความและประกันว่าทนายความจะสามารถทําหน้าที่ของวิชาชีพได้โดยปราศจากความกลัวที่จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐดําเนินการตอบโต้กลับ

โดยองค์กรดังกล่าวได้ ชี้ให้เห็นว่ามีคดีดังต่อไปนี้เกิดขึ้นกับสมาชิกวิชาชีพกฎหมาย

กรณีของ ‘ศิริกาญจน์ เจริญศิริ’

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ เป็นทนายความที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนให้กับ ‘ศูนย์ทนายความเพื่อ สิทธิมนุษยชน’ โดยทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายให้กับบุคคลต่าง ๆ มากมาย รวมถึงนักกิจกรรมเเละ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2559 ศิริกาญจน์ ได้รับหมายเรียกจำนวนสองฉบับให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจชนะสงครามในวันที่ 9 ก.พ. 2559 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีอาญา ได้แก่ “ข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา” และ “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน”
ศิริกาญจน์ เจริญศิริ 
 
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2558 ที่ ศิริกาญจน์ ปฎิเสธไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นรถยนต์ของเธอเพื่อหาสิ่งของของลูกความของเธอเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐาน (ลูกความของเธอคือ14 นักศึกษาที่ถูกจับกุมวันที่ 26 มิ.ย. 2558 ภายหลังจากที่ได้ทำการประท้วงโดยสงบ) ข้อหาที่ตั้งต่อ ศิริกาญจน์ ดูเหมือนว่าจะเป็นการโต้กลับกับการที่เธอได้เข้าแจ้งความกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการยึดรถยนต์ของ ศิริกาญจน์ รวมถึงหลักฐานที่อยู่ในรถคันดังกล่าว ท้ายที่สุด ศิริกาญจน์ ถูกตั้งข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน (มาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา) และซ่อนเร้นพยานหลักฐาน (มาตรา142 ประมวลกฎหมายอาญา) ปัจจุบันคดีของ ศิริกาญจน์ อยู่ระหว่างการสอบสวนและรอการสั่งฟ้องอย่างเป็นทางการ ล่าสุด ศิริกาญจน์ ได้รับหมายเรียกให้ไปพบพนักงานอัยการในวันที่ 12 พ.ค. 2559 ที่จะถึงนี้

กรณีของ ‘เบญจรัตน์ มีเทียน’

เบญจรัตน์ มีเทียน เป็นทนายความที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนและเป็นหนึ่งในทีมกฎหมายที่ทำคดีสำคัญ ได้แก่ ‘คดีขอนแก่นโมเดล’ และ ‘คดี Bike for Dad’ โดยทั้งสองคดีนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการตั้งข้อหาเชื่อมโยงกับความมั่นคงภายในประเทศ ในส่วนของคดีขอนแก่นโมเดลนั้นเกี่ยวกับจำเลย 26 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวระหว่างการประชุมในโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นและถูกฟ้องในคดีความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง, ความผิดฐานเป็นซ่องโจร, ความผิดฐานครอบครองอาวุธ, เเละความผิดฐานร่วมกันตระเตรียมก่อการร้าย ส่วนคดี Bike for Dad เป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 9 รายถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา เเละมาตรา 14 (1) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยถูกกล่าวหาว่ามีการสื่อสารกันผ่านทางสื่อโซเซียลมีเดียเพื่อวางแผนสร้างสถานการณ์ปั่นป่วนในงาน Bike for Dad และเตรียมประทุษร้ายบุคคลสำคัญทางการเมือง 2 ราย
เบญจรัตน์ มีเทียน
 
ปัจจุบัน เบญจรัตน์ ถูกเเจ้งความดำเนินคดีอาญาโดยพล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัว หน้าส่วนปฏิบัติ การคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คสช. จะเห็นได้ว่าการเเจ้งความดังกล่าวเป็นการโต้ตอบกับการเข้ามาทำ คดีการเมืองของ เบญจรัตน์  โดยเกี่ยวข้องกับ ‘ธนกฤต ทองเงินเพิ่ม ซึ่ง เป็นลูก ความคนหนึ่งของ เบญจรัตน์ และเป็นหนึ่งในจำเลยคดีขอนแก่นโมเดลแต่ภายหลัง ได้มีการกล่าวหาว่าเข้าไปพวั พนั กับคดี Bike for Dad ด้วย ถึงแม้ว่าขณะนั้น ธนกฤตจะอยู่ในเรือนจำจังหวัดขอนแก่นก็ตาม อย่างไรก็ดี วันที่ 29 พ.ย.2558 เบญจรัตน์ ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับพล.ต.วิจารณ์ จดแตง และพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยกล่าวหาว่า กระทำผิดละเว้นการปฏิบัตืหน้าที่, แจ้งความเท็จ และทำพยานหลกั ฐานเท็จ ต่อมาวันที่ 8 ธ.ค. 2558 พล.ต.วิจารณ์ จดแตง พร้อมด้วย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ได้แจ้งความดำเนินคดีกลับเพื่อตอบโต้ เบญจรัตน์ฯในความผิดฐานหมิ่นประมาทและแจ้งข้อความอั เป็นเท็จ จากนั้น วันที่ 15 ธ.ค. 2558 เบญจรัตน์ ได้ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อศาลอาญา กล่าวหาพล.ต.วิจารณ์ จดแตงและพ.ต.อ.มิ่งมนตรี ศิริพงษ์ ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาเและข้อหาแจ้งข้อความเท็จ กระทั่ง เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2559 เบญจรัตน์ ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่กองบังคับ การปราบปราม เขตจตจุักร ในข้อหา "ให้ข้อมูลอัน เป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา” (มาตรา 172, 173, 174 และ 181 ประมวลกฎหมายอาญา) และความผิดฐานหมิ่นประมาท (มาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญา) ปัจจุบัน คดีของ เบญจรัตน์ อยู่ในระหว่างการสอบสวนและรอการสั่งฟ้องอยา่งเป็นทางการ

การยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมเเละสวัสดิการของสมาชิกสภาทนายความฯ

หากพิเคราะห์เเล้วจะพบว่าคดีดังที่กล่าวทำให้เข้าใจว่าทนายความที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนทางกฎหมายในคดีที่เรียกว่า ‘คดีการเมือง’ นั้นอาจจะถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเเละเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ๆ ได้ ส่งผลให้ความสามารถของทนายความในประเทศไทยที่จะทำหน้าที่ทางวิชาชีพของตนโดยปราศจากความกลัวการตอบโต้ของรัฐนั้นลดน้อยถอยไป

หลักพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศวางหลักการว่าทนายความต้องสามารถที่จะเป็นตัวเเทนของลูกความได้โดยปราศจากความกลัวที่จะถูกโต้กลับ ถูกแทรกแซงการทำหน้าที่ หรือถูกคุกคาม โดยข้อ 16 แห่งหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของนักกฎหมาย (‘หลักการพื้นฐาน’) (Basic Principles on the Role of Lawyers) บัญญัติว่า “รัฐบาลพึงดำเนินการให้เป็นที่มั่นใจได้ว่าทนายความ…สามารถทำหน้าที่ตามวิชาชีพได้ทั้งหมด โดยปราศจากการข่มขู่, การขัดขวาง, การคุกคาม หรือการแทรกแซงที่ไม่เหมาะสม”[1] หลักการพื้นฐานดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับหลักนิติศาสตร์สากลตลอดมาเพื่อใช้สนับสนุนสิทธิที่จะได้เข้าถึงการพิจารณาคดี ที่เป็นธรรม (Right to a fair trial) ตามที่ได้บัญญัติไว้ในข้อ 14 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี[2]นอกจากนี้ หลักการดังกล่าวยังได้รับรองว่าทนายความ “จักต้องไม่ถูกระบุว่าเป็นฝ่ายเดียวกันกับลูกความหรือมีกรณีที่ลูกความเป็นเหตุให้เกิดการเลิกปฏิบัติหน้าที่” แท้จริงเเล้ว ทนายความต้องสามารถทำหน้าที่โดยอิสระ อย่างขยันขันแข็ง และโดยปราศจากความกลัว อันจะเป็นการสอดคล้องกับความปรารถนาของลูกความ[3]

สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่แทนทนายความทั้งหลายนั้นมีอาณัติที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ ทำหน้าที่ส่งเสริมความเป็นเอกภาพและการยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมของสมาชิก รวมทั้งสนับสนุนและจัดการเรื่องสวัสดิการของสมาชิก ทั้งนี้ ข้อที่ 25 ของหลักการพื้นฐานฯเรียกร้องให้มีการรวมตัวของสมาคมวิชาชีพ เช่น สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อทำงานกับรัฐบาลในการประกันว่า“ทนายความสามารถให้คำปรึกษาเเละให้ความช่วยเหลือลูกความ โดยปราศจากการเข้าเเทรกเเซงโดยไม่เหมาะสม ทั้งนี้ เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเเละมาตรฐานด้านวิชาชีพเเละจริยธรรม”

ทั้ง 3 องค์กร ระบุว่า ขอเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้ สภาทนายความฯ ดำเนินการคุ้มครองผลประโยชน์ของสมาชิกโดยสอบสวนคดีที่ได้กล่าวมาข้างต้นตามสมควร รวมถึงร้องขอให้รัฐบาลไม่เข้ามาแทรกเเซงกับความเป็นอิสระของวิชาชีพทนายความ กล่าวคือทนายความต้องสามารถทำงานโดยปราศจากซึ่งความหวาดกลัวจากการที่ จะถูกตอบโต้กลับและสอดรับกับหลักนิติธรรม ทั้ง 3 องค์กรยังระบุต่อว่า พร้อมที่จะพูดคุยกับสภาทนายความฯ เพื่อหารือรายละเอียดของคดีความของทนายความตามที่ได้กล่าวมาเเละยินดียิ่งหากจะได้มีโอกาสได้พบกับท่าน

ข้อมูลพื้นฐานของทั้ง 3 องค์กร

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลหรือ ICJ (International Commission of Jurists) ประกอบไปด้วย ผู้พิพากษาเเละนักกฎหมายที่ประสบความสำเร็จกว่า 60 ท่านจากทั่วทวีปในโลก ทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผ่านหลักการนิติธรรม โดยใช้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมายเพื่อพัฒนาเเละเสริมความเข้มเเข็งของกระบวนการยุติธรรม ทั้งในระดับภายในประเทศเเละระดับสากล โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อค.ศ.1952 และได้รับสถานะที่ปรึกษา (Consultative status) ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council) ตั้งแต่ ค.ศ.1957 โดยทำงานใน 5 ทวีปทั่วโลก ทั้งนี้ ICJ มุ่งหมายที่จะประกันพัฒนาการที่ก้าวหน้าเเละ การนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ, การประกันความตระหนักรู้เรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางการเมือง และสิทธิทางสังคม, การพิทักษ์การแบ่งแยกของอำนาจเเละการประกันซึ่งความเป็นอิสระของผู้พิพากษารวมถึง นักกฎหมาย

องค์การลอว์เยอร์ไรทส์วอทแคนาดา (Lawyers’ Rights Watch Canada - LRWC) ประกอบด้วยคณะกรรมการนักกฎหมายชาวแคนาดาที่ทำงานส่งเสริมหลัก สิทธิมนุษยชนเเละหลักนิติธรรม โดยทำการสนับสนุนในระดับสากลให้กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เผชิญอันตราย LRWCทำหน้าที่ส่งเสริมการปฏิบัติเเละบังคับใช้มาตรฐานระหว่างประเทศที่คุ้มครองความเป็นอิสระเเละ ความปลอดภัยของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลก นอกจากนี้ LRWC ยังทำงานรณรงค์เพื่อนักกฎหมายเเละ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ที่สิทธิ เสรีภาพ หรือ ความเป็นอิสระของพวกเขาถูกคุกคามอันเป็นผลมาจากการทำงานนโยบาย
 
มูลนิธิลอว์เยอร์สฟอร์ลอว์เยอร์ส (Lawyers for Lawyers) เป็นมูลนิธิที่เป็นอิสระเเละไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองของประเทศเนเธอร์เเลนด์ ทำหน้าที่ส่งเสริมการทำงานที่มีประสิทธิภาพของหลักนิติธรรม โดยยึดหลักเสรีภาพเเละความเป็นอิสระของวิชาชีพกฎหมาย



[1]หลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของนักกฎหมาย (UN Basic Principles on the Role of Lawyers) ซึ่งรับรองโดยที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดครั้งที่ 8 (Eighth United Nations Congress on the Prevention of Crime and the Treatment of Offenders (ค.ศ.1990)

[2]ตัวอย่าง เอกสารของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ‘Concluding Observations: Russian Federation’, UN Doc CCPR/C/RUS/CO/6 (2009), ย่อหน้าที่ 22 และเอกสารของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ‘Concluding Observations: Libyan Arab Jamahiriya’, UN Doc CCPR/C/79/Add 101 (1998), ย่อหน้าที่ 14

[3] ร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยความเป็นอิสระของความยุติธรรม (Draft Universal Declaration on the Independence of Justice) หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่าปฏิญญาสิงห์วี (Singhvi Declaration) ซึ่งเป็นรากฐานของ หลักการพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของตุลาการและว่าด้วยบทบาทของทนายความ (UN Basic Principles on the Independence of the Judiciary) ย่อหน้าที่ 83

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เฟซบุ๊กยันผู้ใช้ในเมืองไทยยังมีความปลอดภัยในเรื่องข้อมูล

$
0
0

6 พ.ค. 2559 บีบีซีไทย - BBC Thaiรายงานว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลงานด้านประชาสัมพันธ์ของเฟซบุ๊กประจำสำนักงานในกรุงลอนดอนเปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า เฟซบุ๊กมีแนวปฏิบัติทางกฎหมายที่กำหนดกระบวนการอันเข้มงวดของเฟซบุ๊กในการดำเนินการกับคำขอของรัฐบาลในกรณีที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊ก และในรายงานล่าสุดเกี่ยวกับคำขอของรัฐบาลก็บ่งชี้ชัดว่าเฟซบุ๊กไม่ได้ให้ข้อมูลใด ๆ กับทางการไทย

ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กในเมืองไทยจำนวนไม่น้อยกำลังคลางแคลงใจกับปัญหาความเป็นส่วนตัวของการใช้โซเชียลมีเดียรายนี้ในการส่งผ่านข้อมูลหรือพูดคุยกัน อันเกิดขึ้นเนื่องมาจากข่าวการจับกุมดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊กสองรายซ้อนด้วยข้อหาว่าหมิ่นประมาทสถาบันตามมาตรา 112 และรายงานข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้ข้อความจากบทสนทนาในเฟซบุ๊กไปเป็นฐานในการแจ้งข้อกล่าวหา สร้างความวิตกกังวลให้กับบรรดาผู้ใช้หลายคนในไทย

ขณะนี้เฟซบุ๊กอยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับแอดมินเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” 8 คนที่ถูกจับกุมและดำเนินคดี แต่ยืนยันว่า ไม่ได้รับคำขอใด ๆ เป็นการเฉพาะจากรัฐบาลไทย ส่วนกรณีของเพจ 'กูkult' ที่ผู้ใช้ไม่สามารถเข้าถึงได้ในเมืองไทยนั้น อยู่ระหว่างตรวจสอบเช่นกัน เฟซบุ๊กบอกว่าไม่อาจให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือหากจะให้ความเห็นก็ไม่สามารถบอกได้ว่าได้ดำเนินการหรือไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง

โดยก่อนหน้านี้ ผู้ถูกกล่าวหาเป็น แอดมินเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” 8 คน คือ หฤษฏ์ มหาทน ณัฏฐิกา วรธัย  นพเก้า คงสุวรรณ วรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ โยธิน มั่งคั่งสง่า ธนวรรธน์ บูรณศิริ ศุภชัย สายบุตร และกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินาได้ตกเป็นผู้ต้องหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยคน 2 คนในกลุ่มคือ หฤษฏ์ และณัฏฐิกา ถูกตั้งข้อหากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันตามมาตรา 112 ด้วย

นอกจากนั้นยังมีรายงานด้วยว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยไม่สามารถเข้าดูเฟซบุ๊กเพจ 'กูkult' ได้จากเมืองไทย โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวมักโพสต์ข้อความในเชิงหมิ่นสถาบัน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่นอกประเทศไทยยังสามารถเข้าดูเพจดังกล่าวได้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การพูดคุยสันติภาพกำลังเผชิญทางตัน?

$
0
0




ข่าวการพ้นจากหน้าที่ใน  “คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้” ของพลโทนักรบ บุญบัวทองและการประกาศของปาร์ตี้ A ว่ายังไม่พร้อมลงนามในกติกาการพูดคุย (Terms of Reference - TOR) ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าการพูดคุยสันติภาพในภาคใต้กำลังเผชิญทางตันหรือไม่

ย้อนความกันซักนิดว่า “การพูดคุยเพื่อสันติสุข” ภายใต้รัฐบาลทหารนี้เป็นภาคต่อของการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการที่เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ในสมัยของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร  โดยมีรัฐบาลมาเลเซียทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก   บันทึกความเข้าใจที่ทั้งสองฝ่ายลงนามได้ระบุไว้ว่าจะเรียกฝ่ายไทยว่าปาร์ตี้ A ส่วนฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานีเรียกว่า “ปาร์ตี้ B” การพูดคุยชะงักไปในช่วงที่รัฐบาลเผชิญกับการชุมนุมประท้วงขับไล่ซึ่งนำไปสู่การยุบสภาและเกิดการรัฐประหารในเวลาต่อมา  เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้าสู่อำนาจจากการทำรัฐประหารก็ได้สานต่อการพูดคุยนับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่พล.อ.ประยุทธ์ได้เดินทางไปพบกับนายนาจิบ ราซัคนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่กรุงกัวลาลัมเปอร์

ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว  ปาร์ตี้ B ได้เปิดตัวกับสาธารณชนในการแถลงข่าว ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ในนาม “มาราปาตานี” หลังการประชุมกับฝ่ายไทย   มาราปาตานีเป็นองค์กรร่มที่มีตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมปลดแอกอิสลามปัตตานี (BIPP) ขบวนการมูจาฮีดินอิสลามปัตตานี (GMIP) ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN)  และ 2 กลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยสหปัตตานีที่มีชื่อว่า PULO – DSPP และ PULO-MKP    ในการประชุมครั้งนั้น ทางมาราปาตานีได้ยื่นข้อเสนอ 3 เรื่องคือ 1) ขอให้การพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ 2) ให้รับรองว่ามาราปาตานีเป็นคู่สนทนาในกรอบการพูดคุยนี้ 3) ให้มอบหลักประกันว่าจะไม่มีการดำเนินคดีอาญากับตัวแทนของมาราปาตานี (immunity)   โดยฝ่ายไทยก็ได้พูดถึงสิ่งที่ปรารถนาจะทำ 3 เรื่องเช่นกัน คือ 1) การสร้างพื้นที่ปลอดภัย (safety zone) 2) การพัฒนาที่ตรงกับความต้องการของประชาชน 3 เรื่องความยุติธรรม  หลังจากนั้นคณะทำงานด้านเทคนิคซึ่งเป็นคณะทำงานชุดเล็กนำโดยพล.ท.นักรบก็ได้ทำงานร่วมกับคณะทำงานของปาร์ตี้ B เพื่อร่าง TOR เป็นเวลาหลายเดือนเพื่อวางกรอบในการพูดคุย  การทำงานดำเนินไปอย่างเงียบๆ ไม่ได้เป็นข่าวมากนัก  จนกระทั่งมีข่าวออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าปาร์ตี้ A ไม่พร้อมลงนามรับรองร่าง TOR ที่ทั้งสองฝ่ายได้ทำร่วมกันมาหลายเดือน

ในข้อเรียกร้องของมาราปาตานีทั้ง 3 ข้อ ประเด็นที่เป็นปัญหามากที่สุดคือเรื่องการรับรองสถานะมาราปาตานี  เรื่องนี้เกี่ยวพันถึงปัญหาในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ของฝ่ายรัฐไทยที่ดำเนินมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา  ฝ่ายไทยพยายามยืนยันว่าเรื่องนี้เป็น “เรื่องภายใน”  (internal affairs) และพยายามที่จะขัดขวางไม่ให้องค์กรหรือรัฐบาลใดๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา  เพราะเกรงว่าการเข้ามาขององค์กรภายนอกจะทำให้รัฐบาลกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาได้ยากและอาจทำให้ฝ่ายขบวนการมีอำนาจต่อรองมากขึ้นซึ่งอาจเปิดทางไปสู่การแบ่งแยกดินแดน   ตามคำแนะนำของกระทรวงการต่างประเทศ กองทัพได้พยายามหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่จะทำให้ปัญหาภาคใต้ถูกมองว่าเข้าข่ายเป็น “ความขัดแย้งด้วยอาวุธภายในประเทศ” (Non-International Armed Conflict) ตามกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law - IHL)

สถานการณ์ที่นับว่าเข้าข่ายเป็น Non-International Armed Conflict  ตามนิยามใน IHL จะต้องมีองค์ประกอบหลัก 2 ข้อ หนึ่ง  การสู้รบกันจะต้องมีความเข้มข้นรุนแรงถึงระดับหนึ่ง (a minimum level of intensity) ซึ่งดูจากจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บและปัจจัยอื่นๆ สอง กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งจะต้องมีการจัดตั้งกองกำลังทางการทหาร (organised armed forces) กล่าวคือ มีสายการบังคับบัญชาและสามารถที่จะปฏิบัติการทางการทหารได้อย่างต่อเนื่อง  ความต้องการปิดบังข้อเท็จจริงของการดำรงอยู่ของกองกำลังติดอาวุธที่รบกับฝ่ายรัฐนำไปสู่การสร้างคำอธิบายที่บิดเบือนสถานการณ์ในสนามรบ เช่น มีการออกคำสั่งว่าห้ามนายทหารทุกหน่วยระบุชื่อ BRN  นายทหารระดับสูงบางท่านเองที่ทำงานในภาคใต้มานานก็ได้แสดงความอึดอัดต่อวิธีการเช่นนี้ของกองทัพ 

แนวนโยบายนี้ได้ส่งผลถึงการปฏิเสธไม่ยอมรับสถานะของขบวนการปลดปล่อยปาตานีกลุ่มอื่นๆ ด้วย  รัฐบาลไทยจึงเรียกปาร์ตี้ B ว่า “ผู้เห็นต่างจากรัฐ” แทนในเวทีการพูดคุย   ส่วนในสนามการสู้รบ  เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังคงเรียกพวกเขาว่า “ผู้ก่อเหตุรุนแรง”  ในแถลงการณ์การประชุมผู้นำแห่งรัฐ/รัฐบาลของประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ครั้งที่ 13  เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2559  แหล่งข่าวมาราปาตานีระบุว่าฝ่ายไทยได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำ ซึ่งรวมถึงการไม่เอ่ยชื่อมาราปาตานีในแถลงการณ์  คำว่า “Mara Patani Consultative Council” ถูกเปลี่ยนเป็น “a group of representatives of the Muslim community in the South” (กลุ่มที่เป็นตัวแทนของชุมชนชาวมุสลิมในภาคใต้)  แหล่งข่าวมาราปาตานีระบุว่าในร่างสุดท้ายของ TOR  ซึ่งคณะทำงานด้าน เทคนิคของทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกัน คำนิยามของปาร์ตี้ B ได้ถูกระบุเป็น “people with different opinions from the state/MARA Patani” (ผู้เห็นต่างจากรัฐ/มาราปาตานี) โดยสิ่งที่ทางมาราปาตานีเรียกร้องคือการ “รับทราบ” (acknowledgement)  ไม่ใช่การ “ยอมรับ” (recognition) แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

พล.ท. นักรบพ้นจากหน้าที่ในคณะพูดคุยฯ ไปเพียงไม่กี่วัน  ก่อนหน้าที่คณะพูดคุยฯ เต็มคณะจะพบกับปาร์ตี้ B ในวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา  ซึ่งทางปาร์ตี้ A ได้แจ้งว่ายังไม่พร้อมที่จะรับรองร่าง TOR ที่ได้ร่างขึ้น  แหล่งข่าวทหารระบุว่าแม้ว่าบทบาทในการทำงานเรื่องการพูดคุยจะไม่ได้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้มีคำสั่งย้ายพล.ท. นักรบจากตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 ของกอ.รมน. แต่สถานการณ์ความรุนแรงที่พุ่งสูงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้ทำให้คณะพูดคุยฯ เกิดความลังเลที่จะเดินหน้าต่อตาม TOR ที่มีพล.ท. นักรบเป็นกลจักรสำคัญในการร่างกติกานี้ขึ้น  พล.ท. นักรบจึงถูกให้พ้นจากคณะพูดคุยฯ ไปพร้อมๆ กับการถูกย้ายออกจากตำแหน่งรองศปป. 5

แหล่งข่าวทหารในพื้นที่ภาคใต้ระบุว่าสภาวะความรุนแรงที่พุ่งสูงขึ้น  โดยเฉพาะเหตุการณ์การบุกโรงพยาบาลเจาะไอร้องในวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมาทำให้คณะพูดคุยฯ ถูกตั้งคำถามว่ามาราปาตานีเป็น “ตัวจริง” หรือไม่ หลังเกิดเหตุการณ์บุกโรงพยาบาลเจาะไอร้อง  สมาชิกมาราปาตานีได้กล่าวกับสื่อว่าทั้งฝ่ายทหารไทยและอาร์เคเค (คำเรียกฝ่ายทหารของขบวนการ) ต่างก็ละเมิด IHL เพราะอาร์เคเคใช้โรงพยาบาลเป็นฐานในการต่อสู้  ในขณะที่ฝ่ายทหารก็ตั้งฐานอยู่ชิดกับโรงพยาบาล  ซึ่งคำกล่าวนี้อาจถูกมองได้ว่ามาราปาตานีไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบุกโรงพยาบาล  เหตุการณ์รุนแรงที่ขยายตัวมากขึ้นทำให้เกิดคำถามถึงความเชื่อมโยงของอาร์เคเคในพื้นที่กับกลุ่มมาราปาตานี  แม้ว่าความต้องการจะเห็นความรุนแรงลดลง  โดยยังไม่ได้ทำ TOR ร่วมกันและยังไม่ได้มีข้อตกลงกันเรื่องพื้นที่ปลอดภัยดูจะเป็นความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผลนัก  จากการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยฯ  ฝ่ายไทยต้องการจะเน้นเรื่องการทำพื้นที่ปลอดภัย  ก่อนจะมีการลงนามในข้อตกลงใดๆ   ซึ่งฝ่ายมาราปาตานีก็ยืนยันว่าจะให้เล่นฟุตบอลก่อนแล้วคุยกันเรื่องกติกาในภายหลังคงไม่ได้

ความเห็นที่ขัดแย้งกันในขณะนี้สะท้อนถึงคำถามที่ใหญ่ว่ากองทัพ (ซึ่งคุมรัฐบาลอยู่ในขณะนี้) ต้องการที่จะแก้ปัญหารากเหง้าความขัดแย้งในภาคใต้จริงหรือไม่  หรือเพียงแต่ต้องการใช้เวทีนี้ในการเจรจาให้ฝ่ายขบวนการลดหรือยุติการปฏิบัติการทางการทหาร   โดยไม่ต้องการจะพูดคุยประเด็นหัวใจที่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงนี้  หากต้องการทดสอบถึงความสามารถของมาราปาตานีในการ “สื่อสาร” กับกลุ่มที่สู้รบด้วยอาวุธในพื้นที่   รัฐบาลจำเป็นจะต้องวางกติกาการพูดคุยร่วมกันกับปาร์ตี้ B ให้ได้ก่อน  ก่อนที่จะพูดคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัย

มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลอาจจะถอยไม่พูดคุยกับมาราปาตานีต่อเพราะ “ไม่ใช่ตัวจริง” มีข้อถกเถียงกันตั้งแต่ต้นว่า BRN เข้าร่วมการพูดคุยนี้หรือไม่อย่างไร   แม้ว่าจะมีสมาชิกระดับกลางของบีอาร์เอ็นจำนวนหนึ่งที่เป็นตัวแทนอยู่ในมาราปาตานี เช่น นายมะสุกรี  ฮารี (เขาเป็นหนึ่งในตัวแทนการพูดคุยของปาร์ตี้ B ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วย) และนายอะหมัด ชูโว  แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าสภาองค์กรนำของ BRN ไม่ได้รับรองการเข้าร่วมพูดคุยนี้แต่อย่างใด  ตัวแทนแผนกข้อมูลข่าวสารของ BRN ได้ออกมายืนยันว่า BRN ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพูดคุยในครั้งนี้  นายอับดุลการิม คาลิบ อีกหนึ่งตัวแทนการพูดคุยของปาร์ตี้ B ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์กล่าวผ่านคลิปวีดีโอยูทูปว่าในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถสถาปนาการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพของพลเมืองยังไม่ได้รับการเคารพ  ประกอบกับความไม่เชื่อว่า “นักล่าอาณานิคมสยาม” มีความเคารพในสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองของชาวมลายูปาตานีจริง  การต่อสู้ของชาวปาตานีจึงจะดำเนินต่อไป  ทั้งนี้  ฝ่ายไทยเองก็ยังไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องที่ BRN เคยยื่นไว้ 5 ข้อในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์แต่อย่างใด   ฉะนั้น  BRN จึงยังคงยืนอยู่ขอบสนามเพื่อดูว่าการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับมาราปาตานีจะดำเนินไปอย่างไร  แต่พวกเขาย่อมอาจตัดสินใจใหม่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้  แต่ดูเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นจะยิ่งช่วยตอกย้ำความไม่น่าไว้วางใจของฝ่ายไทยอีกครั้งหนึ่ง

ปัญหาจึงอาจจะไม่ได้อยู่ที่การพยายามค้นหา “ตัวจริง” มากเท่ากับการต้องพิสูจน์ให้ขบวนการปลดปล่อยปาตานีเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยมีความจริงจังและมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาซึ่งเป็นหัวใจของความขัดแย้งนี้จริง  การคาดหวังที่เป็นจริงในขณะนี้คือการพิสูจน์ความสามารถของมาราปาตานีในการ “สื่อสาร” ไปยังสภาองค์กรนำของ BRN หรือนักรบที่จับปืนอยู่ในพื้นที่  การจะคาดหวังให้ BRN ส่งตัวแทนระดับนำมาในภาวะที่ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเกือบเป็นศูนย์หรือติดลบย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างที่ได้มีการกำหนดไว้ว่าในช่วงระยะนี้เป็นเวลาแห่งการสร้างความเชื่อมั่น (confidence building)  ซึ่งการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยก็เป็นมาตรการหนึ่งเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้   รัฐบาลจึงต้องพิจารณาใคร่ครวญอย่างถ่องแท้ว่าจะก้าวต่อไปอย่างไร

การหยุดชะงักหรือล่มสลายของกระบวนการสันติภาพนั้นมักจะทำให้เสียงของฝ่ายประนีประนอม (moderates ) แผ่วลง  ในขณะที่เสียงของกลุ่มแข็งกร้าว (hardliners) กลับจะดังขึ้นและก็มักตามมาด้วยความรุนแรงที่พุ่งสูงขึ้น  กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่มีความหมายจึงเป็นกลไกที่จะช่วยลดความรุนแรงและจัดการกับรากเหง้าของปัญหาได้ดีมากกว่าการสู้รบทางการทหาร  

ข้อมูลของกลุ่มด้วยใจระบุว่านับตั้งแต่ต้นปีนี้  มีเด็กเสียชีวิต 1 คนและบาดเจ็บอีก 10 คนจากเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้  อาจจะไม่มีความมั่นคงของชาติใดๆ ที่สำคัญไปกว่าความมั่นคงทางชีวิตของเด็กน้อยเหล่านี้  


 

เกี่ยวกับผู้เขียน:รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นนักวิจัยอิสระที่ศึกษาเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 ขณะนี้กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกอยู่ที่ Australian National University

หมายเหตุผู้เขียน:บทความนี้ปรับปรุงจากต้นฉบับที่เผยแพร่ครั้งแรกที่มติชนออนไลน์ วันที่ 6 พฤษภาคม 2559

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เงาดวงจัญฯ

$
0
0

 

ฉันเดินหนีเงาตัวเองด้วยความเศร้า
จิตวิญญาณที่ว่างเปล่าถูกขีดเขียน
ชะตากรรมผู้ทุกข์ทนนั้นวนเวียน
กับเรื่องราวไม่เคยเปลี่ยนตามเวลา

จะมีแขนไปทำไมไร้ความหมาย
หากไร้แรงชูท้าทายเช่นคนกล้า
มีดวงตาฉันก็เหมือนไร้ดวงตา
มองสิ่งใดไม่เห็นว่าจะสวยงาม

จะมีปากไปทำไมไร้สิ้นเสียง
ทุกสงสัยไม่อาจเสี่ยงเลี่ยงคำถาม
จะมีฉันไปทำไมเปลืองนิยาม
คนไร้ค่าที่ถูกตามด้วยเงาจัญฯ

หยุดไถ่ถามฉันเสียเถิดจะได้ไหม
ว่าเหตุผลคือสิ่งใดจึงหยุดฝัน
ตอบซ้ำแล้วบอกซ้ำเล่า..กลัวโทษทัณฑ์
ผู้สร้างเงา เจ้าดวงจัญฯ จับจ้องมอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เครือข่ายพลเมืองเน็ต' ล่าชื่อผ่าน Change จี้ FB ตอบ ให้ข้อมูล-ร่วมมือ รบ.ไทยหรือไม่

$
0
0
เครือข่ายพลเมืองเน็ต ล่าชื่อผ่าน Change.org ตั้งคำถามไปยังเฟซบุ๊กว่า ได้ให้ข้อมูลหรือร่วมมือกับรัฐบาลไทยหรือไม่ หลังแอดมินเพจล้อการเมืองระบุ ตร.เข้าถึงกล่องแชท แนะเฟซบุ๊กต้องระวังมากขึ้นในการพิจารณาคำขอ "ตามกฎหมาย" ของรัฐบาล หลังรัฐบาลไทยมีท่าทีปราบผู้รณรงค์ 'ไม่รับ' ร่าง รธน.ผ่านกฎหมายหลายฉบับ และร่างพ.ร.บ.คอมฯใหม่ เปิดให้ขอคำสั่งศาลเซ็นเซอร์เนื้อหาได้ แม้ไม่ผิดกฎหมาย


ดู petition ได้ที่นี่

 

6 พ.ค. 2559 เครือข่ายพลเมืองเน็ต ทำแคมเปญชวนร่วมลงชื่อ ตั้งคำถามไปยังเฟซบุ๊กว่า ให้ข้อมูลหรือร่วมมือกับรัฐบาลไทยหรือไม่ โดยเนื้อหาระบุว่า เนื่องจากขณะนี้ในประเทศไทยเต็มไปด้วยความกลัว สงสัย และไม่มั่นใจ เนื่องจากการจับกุมผู้ใช้เฟซบุ๊กและการปิดกั้นเนื้อหาบนเฟซบุ๊กในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นปัจจุบัน เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้บนข้อเท็จจริงว่า การใช้งานเฟซบุ๊กยังปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ในประเทศไทยอยู่หรือไม่ โดยหลังแคมเปญนี้เผยแพร่ราวสองชั่วโมง มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 370 คน


สำหรับคำถาม มีดังนี้
- ตั้งแต่เริ่มปี 2559 จนถึงขณะนี้ เฟซบุ๊กได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยบ้างหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลของผู้ใช้ หรือการปิดกั้นเนื้อหา

-ในเดือนมกราคม 2559 คณะกรรมการปฏิรูปสื่อของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอ้างว่าเตรียมเข้าพบกับผู้บริหารของเฟซบุ๊ก เพื่อขอความร่วมมือกับเฟซบุ๊กในการลบเนื้อหาโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล -- ตั้งแต่หลังรัฐประหารในปี 2557 เฟซบุ๊กได้พบปะหารือกับรัฐบาล คณะกรรมการ หรือหน่วยงานของรัฐ เรื่องความร่วมมือในการลบเนื้อหาหรือความร่วมมืออื่นๆ หรือไม่

-ในเดือนเมษายน 2559 ผู้ดูแลหน้าเฟซบุ๊กและนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวน 8 คนถูกจับ 2 ใน 8 คนดังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อความในกล่องข้อความส่วนตัว (inbox) ของเขาได้โดยไม่จำเป็นต้องถามรหัสผ่านจากเขา ในภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข่าวกับ BBC ว่า ตำรวจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จริง และเป็นการได้ข้อมูลมาโดยชอบด้วยกฎหมาย -- เฟซบุ๊กได้ให้ข้อมูลกับหน่วยงานรัฐของไทยหรือไม่ หรือมีพนักงานของเฟซบุ๊กได้เข้าถึงข้อมูลใน inbox ของผู้ใช้หรือไม่

-ในเดือนพฤษภาคม 2559 มีหน้าเฟซบุ๊กที่ไม่สามารถเข้าถึงได้จากเมืองไทย โดยระบบแจ้งว่าเนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายท้องถิ่น -- เมื่อเฟซบุ๊กอ้างถึง “กฎหมายท้องถิ่น” เฟซบุ๊กกำลังอ้างถึงกฎหมายปกติ เช่น ประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกอย่างมาตรา 112 และมาตรา 116 หรือประกาศในภาวะพิเศษ เช่น คำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหาร ตามอำนาจอันกว้างขวางในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว?


 

รายละเอียดมีดังนี้

 

ข้อมูลคำร้องจากรัฐบาลที่เฟซบุ๊กเผยแพร่ในรายงาน Government Requests Report นั้นเป็นประโยชน์อย่างมาก เฟซบุ๊กแสดงความโปร่งใสว่าในปี 2557 เฟซบุ๊กได้พิจารณาปิดกั้นเนื้อหาตามคำขอของรัฐบาลไทยไป 35 ชิ้น โดยเป็นการปิดกั้นในครึ่งปีหลัง 30 ชิ้น ความโปร่งใสของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเช่นนี้ ทำให้เรามีข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับความพยายามของรัฐในการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

รายงานฉบับเดียวกัน ยังแสดงให้เห็นว่าเฟซบุ๊กมีประวัติที่ดีในการพิจารณาคำขอข้อมูลผู้ใช้จากรัฐบาล โดยระหว่างปี 2556 ถึง 2558 รัฐบาลไทยเคยขอข้อมูลผู้ใช้จำนวนรวม 16 ราย และเฟซบุ๊กไม่เคยให้ข้อมูลเลยสักรายเดียว

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวครอบคลุมข้อมูลถึงเดือนธันวาคม 2558 เท่านั้น

เราเข้าใจดีว่าเฟซบุ๊กจะตีพิมพ์รายงานครึ่งปีแรกของ 2559 ในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่สถานการณ์ ณ ขณะนี้ในประเทศไทยเต็มไปด้วยความกลัว สงสัย และไม่มั่นใจ เนื่องจากการจับกุมผู้ใช้เฟซบุ๊กและการปิดกั้นเนื้อหาบนเฟซบุ๊กในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นปัจจุบัน เพื่อให้เราสามารถตัดสินใจได้บนข้อเท็จจริงว่า การใช้งานเฟซบุ๊กยังปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ในประเทศไทยอยู่หรือไม่

เรามีความกังวลและต้องการให้เฟซบุ๊กตอบคำถามดังต่อไปนี้

  1. ตั้งแต่เริ่มปี 2559 จนถึงขณะนี้ เฟซบุ๊กได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยบ้างหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลของผู้ใช้ หรือการปิดกั้นเนื้อหา
  2. ในเดือนมกราคม 2559 คณะกรรมการปฏิรูปสื่อของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอ้างว่าเตรียมเข้าพบกับผู้บริหารของเฟซบุ๊ก เพื่อขอความร่วมมือกับเฟซบุ๊กในการลบเนื้อหาโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล -- ตั้งแต่หลังรัฐประหารในปี 2014 เฟซบุ๊กได้พบปะหารือกับรัฐบาล คณะกรรมการ หรือหน่วยงานของรัฐ เรื่องความร่วมมือในการลบเนื้อหาหรือความร่วมมืออื่นๆ หรือไม่
  3. ในเดือนเมษายน 2559 ผู้ดูแลหน้าเฟซบุ๊กและนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวน 8 คนถูกจับ สองใน 8 คนดังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อความในกล่องข้อความส่วนตัว (inbox) ของเขาได้โดยไม่จำเป็นต้องถามรหัสผ่านจากเขา ในภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข่าวกับ BBC ว่า ตำรวจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จริง และเป็นการได้ข้อมูลมาโดยชอบด้วยกฎหมาย -- เฟซบุ๊กได้ให้ข้อมูลกับหน่วยงานรัฐของไทยหรือไม่ หรือมีพนักงานของเฟซบุ๊กได้เข้าถึงข้อมูลใน inbox ของผู้ใช้หรือไม่
  4. ในเดือนพฤษภาคม 2559 มีหน้าเฟซบุ๊กที่ไม่สามารถเข้าถึงได้จากเมืองไทย โดยระบบแจ้งว่าเนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายท้องถิ่น -- เมื่อเฟซบุ๊กอ้างถึง “กฎหมายท้องถิ่น” เฟซบุ๊กกำลังอ้างถึงกฎหมายปกติ เช่น ประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกอย่างมาตรา 112 และมาตรา 116 หรือประกาศในภาวะพิเศษ เช่น คำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหาร ตามอำนาจอันกว้างขวางในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว?

นอกจากคำถามดังกล่าว เรามีข้อแนะนำต่อเฟซบุ๊กดังนี้

  • กรณีที่เพจหรือเนื้อหาในเฟซบุ๊กถูกลบออกหรือถูกจำกัดการเข้าถึงในบางประเทศอันเนื่องมาจาก “ข้อจำกัดของกฎหมายท้องถิ่น” ควรระบุให้ผู้ใช้ทราบด้วยกว่ากฎหมายท้องถิ่นดังกล่าวนั้นคือกฎหมายใด ซึ่งข้อมูลนี้ควรจะปรากฏอยู่ในคำขอจากรัฐบาลอยู่แล้ว
  • ข้อมูลเกี่ยวกับการลบเนื้อหาตามคำขอของรัฐบาลในรายงาน Government Requests Report ควรจำแนกประเภทเนื้อหามากกว่านี้เพื่อความชัดเจน และอย่างน้อยควรจำแนก เนื้อหาที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทหรือความสงบเรียบร้อย ออกจากเนื้อหาที่เป็นการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคลหรือแพร่กระจายมัลแวร์ เนื่องจากคำร้องบางส่วนจากรัฐบาลอาจเป็นคำร้องที่ชอบด้วยเหตุผล
  • ผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 25 ล้านบัญชี เฟซบุ๊กมีความสำคัญกับชีวิตคนจำนวนมากในประเทศไทย ทั้งชีวิตส่วนตัว หน้าที่การงาน และการมีส่วนร่วมกับชุมชน เฟซบุ๊กควรมีช่องทางสื่อสารกับผู้ใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการและเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อขจัดข้อสงสัยได้อย่างทันการณ์
  • ประเทศไทยกำลังจะมีการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ ทั้งนี้ตลอดสองเดือนที่ผ่านมารัฐบาลมีท่าทีอย่างชัดเจนในในการปราบปรามผู้รณรงค์ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ประกาศและคำสั่งของคสช. พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา ระเบียบการออกเสียงประชามติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหาร ตามอำนาจอันกว้างขวางในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เฟซบุ๊กจำเป็นต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาคำขอ "ตามกฎหมาย" ของรัฐบาลไทย
  • สภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารกำลังพิจารณาร่างแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยร่างมาตรา 20 (4) ให้อำนาจคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์สามารถขอให้ศาลมีคำสั่งปิดกั้นเนื้อหาได้ แม้ไม่ผิดกฎหมายใดเลยเฟซบุ๊กจำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้นในการทำตามคำขอ "ตามคำสั่งศาล" ของรัฐบาลไทย

ด้วยความนับถือ

ผู้ลงนาม
6 พฤษภาคม 2559

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live




Latest Images