Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live

ประยุทธ์ บอกไม่สนใครจะเข้ามาสังเกตการณ์ประชามติ อยากจะมาก็มาไม่ห้าม แต่ไม่เป็นทางการ

$
0
0

29 เม.ย.2559  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระแสการต่อต้านรัฐธรรมนูญ โดยมีการชักชวนให้โหวตโนว่าเรื่องนี้จะห่วงหรือไม่ มีกฎหมายอยู่แล้ว และจากการที่ห่วงนี้ถึงมีกฎหมายออกมา อย่ามาบอกว่าเป็นการแสดงความคิดเห็น ถามว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและบิดเบือนหรือไม่ ถ้าเอารัฐธรรมนูญทั้งฉบับออกมาคลี่ดู จะเห็นว่าส่วนไหนที่ทำเพื่อส่วนรวม และส่วนไหนที่เป็นการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องคุ้มครองบ้านเมืองให้ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ต้องไปดูตรงนั้น อย่ามาบอกว่ารับหรือไม่รับ มันไม่ใช่

“ถ้าเป็นห่วงก็หยุดการเคลื่อนไหว บอกเขาอย่างนี้ ผมบอกแล้วให้ชี้แจงในทางสร้างสรรค์ได้ ไม่ใช่มาล้มรัฐธรรมนูญ มันผิดกฎหมาย และคนพูดก็จะโดนด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
 
ต่อกรณีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด อย่างเช่นการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มันมีกฎหมายหลายฉบับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เขาเขียนมาอย่างไร พ.ร.บ.ประชามติ เขียนอย่างไร คำว่าโดยสุจริต และไม่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง ถ้าบิดเบือนก็ผิด ไม่บิดเบือนก็ไม่ผิด คำง่ายๆ ทำไมไม่เข้าใจ แล้วอย่างนี้จะปกครองบ้านเมืองต่อไปกันอย่างไร ไม่ต้องมาตีความกฎหมาย ที่ผ่านมาทะเลาะกันเพราะตีความรัฐธรรมนูญ ตีกันอยู่นั่น อันนี้เดี๋ยวก็ตีกันอีก ตีความรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วก็ตีความรัฐธรรมนูญเข้าข้างตัวเอง ที่ผ่านมาตีความกันได้มาก เพราะไม่มีกฎหมายลูก แต่วันนี้รัฐธรรมนูญจะมีกฎหมายลูกตามมาทั้งหมด
 
“ถ้าเป็นคนดีจะกลัวอะไร กลัวตำรวจจับเหรอ คุณกลัวไหม ถ้าคุณไม่ทำความผิดก็ไม่ต้องกลัว จะไปขยายเป็นปากเป็นเสียงให้คนที่ชอบทำความผิดทำไม แล้วคุณไม่รู้เหรอเขาทำอะไรมาบ้าง รู้ไหม” นายกฯ กล่าว
 
ต่อคำถามถึงกรณีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอ ถ้ายังเกิดความวุ่นวายช่วงทำประชามติ อาจเสนอให้ไม่ต้องทำประชามติ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าอย่างไร พูดส่งเดชกันไปเรื่อย สื่อก็ขยายความกันไป เขาเจตนาดี ตนไม่ได้ว่าเขาพูดส่งเดช แต่ต้องดูว่ารัฐธรรมนูญเขียนอย่างไร ถ้าไม่มีการทำประชามติมันจะเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ได้อีก แล้วจะไปทางไหนกันคิดว่าทางกรธ. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประชาชนก็มีเจตนาดี และที่มาพูดกันทุกวัน เชื่อว่าทุกคนมีเจตนาดี มีบางคนเท่านั้นที่เจตนาไม่ดี นั่นแหละกฎหมายเขียนไว้ตรงนี้ ถ้าดีแล้วใครจะไปทำอะไร ก็เชิญเป็นกันต่อไปได้ ถ้าไม่ผิดกฎหมาย
 
กรณีกลุ่มเห็นต่างเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญโดยไม่เห็นด้วย นั้น  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าไม่เห็นด้วยก็ผิดกฎหมาย ไม่เห็นด้วยก็ไปกาตอนลงประชามติ ไม่ใช่มาเดินเคลื่อนไหวล้มไม่ล้ม มันคนละเรื่อง ถามอย่าให้งงตัวเอง ตนจะได้ตอบไม่งง เขาเขียนแล้วว่าให้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่มีใครว่า แต่ถ้าจะไปชักจูงคนมาโหวตโน หรือใส่เสื้อ ทำผิดกฎหมายก็ต้องโดนจับ ไม่ใช่ว่าตนไปปิดกั้น แล้วอีกฝ่ายทำหรือไม่ ตนเลือกปฏิบัติเหรอ วันนี้คนที่ออกมาด่าอยู่ข้างไหน ข้างใคร ตนพยายามไม่ดูฝ่ายแล้วนะ ดูใบหน้าแต่ละคนซึ่งก็หน้าเดิม ซ้ำอยู่ที่เดิม 10 ปีมาแล้ว
 
สำหรับความพยายามเรียกร้องให้นานาประเทศเข้ามาสังเกตการณ์ทำประชามติ นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่สนใจ อยากจะมาก็มา แต่ไม่เป็นทางการ ตนไม่ได้ห้าม ไปเดินดูตามจุดที่ทำประชามติว่าสุจริตหรือไม่ ตอนเลือกตั้งก็ให้เขามาดูว่าจะเป็นอย่างไร ตนไปห้ามเขาไม่ได้ ใครไปใครมาประเทศไทยห้ามไม่ได้อยู่แล้ว และวันนี้ตนห้ามเขาพูดกับสื่อเหรอ ในโทรทัศน์ก็ไม่เคยห้าม เห็นพูดกันโครมๆ ถ้าตนใช้กฎหมายจริงๆ จับได้หมดอยู่แล้ว ทำไมไม่ดูตรงนี้
 
เมื่อถามว่า ถ้านานาประเทศเข้ามาสังเกตการณ์จริงมีข้อกังวลอะไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่กังวล เพราะเจตนาของตนบริสุทธิ์ในการทำประชามติ แต่ใครทำให้ไม่บริสุทธิ์ ตนทำให้ประเทศของตนเอง
 

สุเทพเชื่อประยุทธ์เอาอยู่สู่ประชามติได้ คาดคนส่วนใหญ่อยากเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย

ขณะที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน กล่าวว่า หากการให้ความเห็นของตนเองและกปปส.ขัดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 พร้อมให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการตามกฎหมายได้ ขณะเดียวกันกปปส.ยินดีจะส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านสถานีโทรทัศน์ หากได้รับเชิญจาก กกต.

“ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการทำงานของ คสช. รวมถึงแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียของกลุ่มต่างๆ เชื่อว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะควบคุมสถานการณ์ต่างๆ จนนำไปสู่การทำประชามติได้ เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย จึงไม่น่ากังวลถึงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ และขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ผมไม่ขอฝากอะไรถึงนายกรัฐมนตรีเพราะให้กำลังใจมามากแล้ว” สุเทพ กล่าว
 

จตุรนต์ถามนี่หรือการลงประชามติที่ประเทศไทยต้องการ

วานนี้ (28 เม.ย.59) จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า ฟังคำชี้แจงโฆษกกรธ.แล้วก็เห็นภาพชัดขึ้นว่าจะมีอาสาสมัครที่เป็นคนของทางราชการ 3 แสนกว่าคนออกชี้แจงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่ามีนักศึกษาวิชาทหารและบุคลากรอื่นอีกจำนวนมากก็ชี้แจงเช่นกัน ส่วนผู้ที่เห็นต่างทำอะไรได้บ้างนั้น ผู้มีอำนาจท่านว่าให้พูดกับตัวเองหรือพูดอยู่ในบ้านได้เท่านั้น

"ฝ่ายหนึ่งจะใช้คนหลายแสนโดยไม่ให้อีกฝ่ายชี้แจงอะไรได้เลย นี่หรือการลงประชามติที่ประเทศไทยต้องการ" จาตุรนต์ กล่าว

 

เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์สำนักข่าวไทย และ แฟนเพจ Chaturon Chaisang

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพจ 'หยุดดัดจริตประเทศไทย' กลับมาแล้ว บอกแค่แกล้งปิดเพจและหน้าด้าน

$
0
0

29 เม.ย.2559 จากกรณี เฟซบุ๊กการเมืองชื่อ 'หยุดดัดจริตประเทศไทย' ซึ่งมีจำนวนยอดไลค์อยู่ที่ 5.7 แสนไลค์ ประกาศ "ยุติบทบาทเพจ หยุดดัดจริตประเทศไทย" วานนี้ (28 เม.ย.59) และต่อมาเวลา 22.35 น. ของวันเดียวกันไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาเพจดังกล่าวได้ โดยระบุเหตุผลว่า เนื่องจากทางเพจได้นำเสนอข้อมูลคลาดเคลื่อนและผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงขอรับผิดชอบด้วยการ "ปิดเพจ" อย่างไม่มีกำหนด (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดวันนี้ (29 เม.ย.59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.36 น. ที่ผ่านมา เพจ หยุดดัดจริตฯ ได้กลับมาโพสต์อีกครั้งโดยระบุว่า สาวกประยุทธ์ดีใจกันไหม อุตส่าห์ปิดเพจให้ตั้ง 1 วัน

พร้อมกับโพสต์ชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อวานทำผิดพลาดด้วยการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน ไม่ขอแก้ตัวใดๆ ยอมรับผิดทุกประการ แต่เนื่องสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และสาวก ท่านก็ไม่ชอบเพจผมอยู่แล้ว และก็นำไปขยายจนใหญ่โต ก็ต้องขอบคุณท่านที่กรุณาหาทางลงให้อย่างดี

"ก็แกล้งปิดเพจทำให้พวกสาวกของท่าน รวมถึงบรรดากองเชียร์ คสช. เขาดีใจกันเล่น ถึงขนาดไปมโนกันว่า "สมเจียมซะเพจนิดเดียว เพจห้าแสนไลค์ต้องปิดตัว" โถ่ๆ ไม่รู้เหรอ เราฝึกทักษะ "ความหน้าด้าน" มาเป็นอย่างดี" เพจ หยุดดัดจริตฯ ระบุ
 
เพจดังกล่าวยังระบุด้วยว่า กลับมาสู่สนามรบเหมือนเดิม
 
"ส่วนเมื่อวานนะเหรอ เขียนให้มันดราม่า เรียกคะแนนสงสารไปงั้นแหละ "ความตอแหล" และ "ความดัดจริต" ก็ต้องใช้ให้เป็นใน บางโอกาส เข้าใจตรงกันนะ" เพจ หยุดดัดจริตฯ ระบุ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รองโฆษกตร.ชี้ทวีตติด #ทวีตอย่างไรไม่ให้โดนจับ หรือ 'ยืนเฉยๆ' หากส่อเจตนาหวังผลก็ผิด

$
0
0

29 เม.ย.2559 จากกรณีแฮชแท๊กชื่อ "#ทวีตอย่างไรไม่ให้โดนจับ” ซึ่งมีการทวีตข้อความเชิงเสียดสีพร้อมติดแฮชแท๊กดังกล่าว ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ ตั้งแต่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา จนกระทั้ง ต่อมา พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผยถึงการโพสต์ข้อความแนวประชดประชัน การใช้ประโยคสัญลักษณ์แทนการสื่อสารทางตรง หรือการติดแฮชแท๊ก 'ทวีตอย่างไรไม่ให้โดนจับ' ดังกล่าวว่า อยู่ที่เจ้าพนักงานจะใช้ดุลพินิจ ยืนยันทุกคนยังสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยสุจริต ไม่ผิดไปจากข้อเท็จจริง ไม่พาดพิงบุคคลหรือองค์กรในลักษณะหมิ่นประมาท ทำให้เสียชื่อ ทำให้บุคคลหรือสังคมเข้าใจผิด นั้น

ล่าสุดวันนี้ (29 เม.ย.59) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตร. กล่าวถึงกรณีที่ พ.อ.วินธัย ระบุให้เจ้าหน้าที่ ใช้ดุลพินิจ ดังกล่าวว่า ประชาชนควรบริโภคข้อมูลอย่างรอบด้าน การส่งข้อความไม่ว่าจะผ่านช่องทางไหนต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ยืนยันโดยพื้นฐานของกฎหมายให้สิทธิเสรีภาพประชาชนในการแสดงออกได้อยู่แล้ว การพูด การสื่อสาร แต่ในทางกลับกันถ้ามีการกระทำในลักษณะหมิ่นเหม่ หรือโน้มน้าวให้คนไม่รับร่างก็เข้าข่ายผิดกฎหมาย ส่วนการทวิตข้อความในเชิงประชดประชันนั้น ต้องดูกฎหมายเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะพิจารณาจากการใช้ถ้อยคำ ดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือไม่ก็มีการส่อเสียดหรือเปล่า ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเรียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวด 3 มาตรา 60, 61 เป็นบทบัญญัติค่อนข้างกว้าง จริงๆกฎหมายให้สิทธิ์ มาตรา 7 บอกว่าบุคคลมีสิทธิ์ในการแสดงความเห็นตามสื่อต่างๆได้ แต่ต้องไม่สร้างความวุ่นวาย เท่าที่ทราบคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ออกกฎเกณฑ์ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ในระหว่างนี้ให้ศึกษาข้อมูลรอบด้านก่อนจะโพสต์“
 
 
รองโฆษกตร.กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติติดตามความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับกรณีนี้อยู่ตลอดเวลา โดยมีการฝึกอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ ทั้งนี้หากพบการกระทำที่เข้าข่ายความผิดก็ต้องดำเนินคดี และหากการกระทำให้ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นเจ้าภาพดูแลเรื่องการทำประชามติเห้นว่าไม่เหมาะสม และเข้าข่ายขัดพ.ร.บ.ฯ ก็จะส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินการ
 
ต่อกรณีที่มีชื่อ จตุพร พรหมพันธ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) และสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด ปรากฏในแผนผังเครือข่ายกลุ่มผู้กระทำความผิดต่อความมั่นคง ตามมาตรา 116 นั้น  รองโฆษกตร.กล่าวว่า ถ้ามีแค่ชื่อในแผนผังยังไม่ถือว่ามีความผิด แต่เจ้าหน้าที่ต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นบุคคลสำคัญที่สาธารณะชนรู้จัก
 
ต่อกรณีที่มีการแสดงออกด้วยการยืนเฉยๆ รองโฆษกตร.กล่าวว่า ก็ต้องพิจารณาดูว่าการ ยืนเฉยๆ นั้น มีเจตนาอย่างไร ก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ การไปยืนเฉยกระทบการใช้ชีวิตปกติของผู้อื่นหรือไม่ หวังผลอย่างไร หากขัด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 หรือส่อเจตนา หวังผล สื่อสารเพื่อสร้างความวุ่ยวาย ก็มีความผิด ต้องดูด้วยว่าการไปยืนเฉยๆ บางครั้งก็ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น ตรงนี้ต้องดูองค์ประกอบและเจตนา ทั้งนี้ตำรวจให้ความเป็นธรรมแน่นอน และการชุมนมรวมตัวก็มีพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ต้องมีการแจ้งขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ก่อน
 
เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์ และเดลินิวส์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: หมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ = มาตรา 116? หัวหน้า คสช. = รัฐ ?

$
0
0


ตำรวจนำตัวผู้ต้องหาทั้งแปดมาแถลงข่าวที่กองปราบ (28 เม.ย.)

มาตรา ๑๑๖ ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
          (๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย
          (๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
          (๓) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

 

เพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ ไม่ใช่เพจโด่งดังอะไรมากมายในโลกโซเชียล คนไลค์สามสี่หมื่น และเมื่อเกิดการอุ้ม ‘ทีมงาน’ หลายคน คนก็กดไลค์เพิ่มขึ้นเป็นเจ็ดหมื่นกว่า

เนื้อหาของเพจนี้เทียบกับการต่อต้านรัฐบาลทหารในโลกโซเชียลแล้วนับว่า “ขำๆ” และดูเหมือนเพจก็ตั้งใจผลิตเนื้อหาทำนองนั้น ไม่มีประเด็นเป็นชิ้นเป็นอัน และเน้นไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก

ผู้ต้องหา 8 คน (เป็นหญิง 1 คน) ถูกกล่าวหาว่าเป็นทีมทำเพจ พวกเขาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบตามมาตรา 116 และนำเข้าข้อมูลเท็จตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งหมดถูกขังในเรือนจำเนื่องจากศาลทหารไม่ให้ประกันตัว ระบุเหตุผลว่า “เป็นคดีร้ายแรง ทำเป็นขบวนการ”

มาตรา 116 นั้นอยู่ในหมวดความมั่นคง และหลังรัฐประหาร 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้คดีความมั่นคงลักษณะนี้ขึ้นศาลทหาร

การวิพากษ์วิจารณ์หรือกระทั่งโจมตี กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ แล้วโดนข้อหามาตรา 116 ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น กรณีที่ใกล้เคียงกันและศาลทหารเคยมีคำสั่งไว้แล้วว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 116 คือ คดีของรินดา ปฤชาบุตร

6 ก.ค.2558 มีการโพสต์ข้อความกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ โอนเงินไปยังประเทศสิงคโปร์กว่าหมื่นล้านบาท
8 ก.ค.2558 ทหารบุกจับตัวที่บ้าน
10 ก.ค.2558 ตำรวจรับมอบตัวรินดาจากทหาร และแจ้งข้อหา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2)
10 ก.ค.2558 ทนายความยื่นขอประกันตัว ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกัน
13 ก.ค.2558 ทนายยื่นประกันใหม่อีกครั้งและศาลทหารอนุญาต
21 ธ.ค.2558 ศาลนัดสอบคำให้การ และวินิจฉัยว่าข้อความไม่เข้ามาตรา 116 โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ได้บันทึกไว้ว่า

“ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 นอกจากรินดา และทนายความแล้ว วันนี้มีผู้สังเกตการณ์มาร่วมฟังพิจารณาคดีอีก 2 คน เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลขึ้นบัลลังก์โดยศาลยังไม่ได้ถามคำให้การรินดา ว่าจะให้การอย่างไร แต่อ่านคำฟ้องของโจทก์ และศาลพิเคราะห์แล้วเห็นเองว่า จากข้อความ "พล.อ.ประยุทธ์ และภรรยาทุจริตภาษีประชาชน โอนเงินไปประเทศสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท" ไม่เข้าข่ายความผิดยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นเพียงการหมิ่นประมาทโดยโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ 

"จากนั้นศาลถามทนายของรินดาว่าเห็นอย่างไร ทนายแถลงว่า คดีนี้ไม่ควรอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ส่วนจะไปอยู่ที่ศาลอาญาหรือไม่ คงเป็นเรื่องของการสู้คดีอีกที ขณะที่อัยการโจทก์ ออกไปปรึกษากับผู้บังคับบัญชาบริเวณนอกห้องพิจารณาคดี  จากนั้นจึงกลับเข้าอีกครั้ง พร้อมอัยการอีกคน ศาลจึงอ่านคำฟ้องให้อัยการฟังอีกครั้ง และย้ำว่าคดีนี้ศาลเห็นว่าไม่เข้าข่าย ความผิดตามมาตรา 116 และศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดี อัยการจึงแถลงค้านต่อศาลสั้นๆ ว่า คดีนี้ศาลทหารมีอำนาจวินิจฉัยคดี เมื่อศาลเห็นว่าอัยการโจทก์ค้าน จึงขอส่งคำร้องไปให้ศาลอาญาพิจารณา ให้ระงับการพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราว  และรอฟังคำสั่งศาลอีกที ซึ่งหากศาลอาญาเห็นตรงกันกับศาลทหาร ก็จะจำหน่ายคดีไปให้ฟ้องที่ศาลอาญาแทน”

นี่เป็นคดีหนึ่งในสองคดีที่ศาลทหารวินิจฉัยเองว่าข้อความโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ นับเป็นการหมิ่นประมาทส่วนบุคคล ไม่เข้าข่ายความผิดฐานความมั่นคงอย่างมาตรา 116 อย่างไรก็ตาม มาตรานี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 แต่ไม่มากนักและไม่ค่อยได้ผลลัพธ์ทางกฎหมายหรือทางการเมืองเท่าไร ผิดกับหลังรัฐประหาร 2557 ที่มีการใช้ถี่ขึ้นและได้ผลหยุดการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารได้ (ดูรายละเอียด)

ในเมื่อมาตรา 116 เป็นยักษ์ที่ออกมานอกตะเกียงและน่าจะอยู่กับสังคมไทยอีกนาน ประชาไทสนทนากับ ‘สาวตรี สุขศรี’ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญา รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่าหลักการของมาตรานี้แท้จริงเป็นอย่างไร และการฟ้องคดีนี้สมเหตุสมผลในทางกฎหมายหรือไม่

“มาตรา 116 ทุกวันนี้ที่มีการใช้กันมากขึ้น หากจะนับก็ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา และมากขึ้นอีกหลังรัฐประหาร 2557 มันมีลักษณะที่คนทำงานในสายอาญาเห็นได้ว่า มาตรานี้กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แทนที่จะใช้ไปตามเจตนารมณ์ มีองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายกำหนด แต่รัฐกลับเอากฎหมายอาญามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

"เราไม่รู้หรอกว่าท้ายที่สุดจะตัดสินออกมาว่าผิดหรือไม่ แต่เมื่อตั้งข้อหานี้ มันให้ผลทางการเมือง ทุกคนจะไม่กล้า ทำไมโทษหนักขนาดนี้ จริงๆ คนที่เป็นนักกฎหมายอาญาควรออกมาพูดเรื่องนี้บ้าง กฎหมายที่คุณใช้หากินอยู่มันถูกเอาไปใช้ในทางการเมือง ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ถูกต้อง” สาวตรีกล่าว

“ที่สำคัญ พอมีพวกโซเชียลมีเดีย เขาก็จะใช้มาตรา 116 เยอะเพื่อไม่ให้คนแสดงความคิดเห็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มันอาจไม่พอ ต้องมีมาตรา 116 ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2557 คสช.กำหนดให้ขึ้นศาลทหาร คนก็จะคิดว่าไม่พูดอะไรดีกว่า” สาวตรีกล่าว

สำหรับหลักการของมาตรา 116 นั้น สาวตรีอธิบายว่า โดยปกติใช้กับการลุกขึ้นมาป่าวประกาศทำอะไรสักอย่างหนึ่งหรือสื่อสารมวลชน แต่มาตรานี้มีองค์ประกอบของมัน จะผิดได้ต้องเป็นการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต สองคำนี้ตั้งอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญที่ออกมาออกมาเพื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น จะผิดมาตรา 116 ได้ต้องเป็นความมุ่งหมายที่ขัดกับระบอบประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้กฎหมายยังมีวงเล็บหนึ่ง วงเล็บสอง วงเล็บสาม นั่นเป็นเหมือนเจตนาพิเศษ สิ่งที่พูดแล้วขัดกับระบอบประชาธิปไตย คุณมุ่งหมายที่จะ 1.ต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย รัฐบาล 2.ต้องการให้เกิดความปั่นป่วน
แรงจูงใจพิเศษตามมาตรานี้ เช่น กรณีที่มีกลุ่มประท้วงบอกว่าให้ทหารออกมายึดอำนาจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตย อย่างนี้ผิดแน่นอน เพราะไม่ใช่ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย กรณีเพจดังกล่าวเราไม่รู้ว่าทหารและตำรวจใช้เหตุผลไหน โดยส่วนตัวไม่ว่าจะใช้ข้ออ้างไหนล้วนไม่เข้ามาตรา 116 เบื้องต้นยกตัวอย่างไว้ 3 แนวทาง

1.อ้างว่าเป็นเพจที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความวุ่นวาย – ขาดองค์ประกอบทำให้ไม่เข้ามาตรา 116 เพราะโดยปกติในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การวิพากษ์วิจารณ์ตัวกฎหมายเป็นเรื่องทำได้และต้องทำด้วย เพราะกฎหมายทุกฉบับต้องเป็นไปตามยุคสมัย และมันเป็นวัตถุแห่งการทำประชามติด้วยจึงต้องเปิดให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ เป็นวิถีทางประชาธิปไตย

2.อ้างว่าเป็นเพจต่อต้านรัฐบาล การทำงานของรัฐบาลด้วยการปลุกปั่นยุยง – ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 116 เช่นกัน เหตุผลคล้ายกับประเด็นแรก ที่สำคัญ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล นโยบาย นักการเมือง เป็นเรื่องทำได้ตามปกติในระบอบประชาธิปไตย หากบอกว่าทำไม่ได้เลย การชุมนุมไม่ว่าจะต่อต้านรัฐบาลไหนที่ผ่านมาก็ต้องผิดมาตรานี้หมด การวิพากษ์วิจารณ์ การล้อเลียนเสียดสีก็เป็นการทำให้คนฉุกคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลต้องทำได้อยู่แล้วในวิถีทางประชาธิปไตย การจะเข้ามาตรานี้ต้องยุยงด้วยว่าลุกขึ้นจับอาวุธ หรือกระทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง

สาวตรีบอกว่า ถามว่าในเขียนเพจ 'เชิญชวนประชาชนมาลอยกระทงยักษ์ ช่วยกันขับไล่รัฐบาลเผด็จการ' ผิดไหม มองว่ายังขาดองค์ประกอบของการใช้กำลังข่มขืน ประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนหรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน แต่ทั้งนี้มูลเหตุจูงใจก็ยังถูกคลุมด้วยองค์ประกอบหลัก คือ ต้องไม่เป็นไปในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต การวิจารณ์หรือด่ารัฐบาล ถ้าตีความแบบเป็นธรรมที่สุดในระบอบประชาธิปไตย โดยอุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องไม่เข้า

3.อ้างว่าเป็นเพจหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ –เรื่องนี้ศาลเองก็เคยพูดไปแล้วว่าไม่เข้า ประเด็นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่รัฐ ไม่ใช่รัฐบาล เป็นมนุษย์คนหนึ่ง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทุกยุคทุกสมัยก็โดนล้อเลียนเสียดสี ถามว่ากฎหมายคุ้มครองเกียรติยศ ชื่อเสียง ของคนเหล่านี้ไหม คำตอบคือ คุ้มครอง แต่ไม่ได้คุ้มครองแบบมาตรา 116 แต่คุ้มครองเรื่องการหมิ่นประมาทเท่านั้น

“จริงๆ คนเป็นบุคคลสาธารณะควรเปิดกว้างต่อการวิจารณ์ แต่ถ้าคุณอยากลุกขึ้นมาเอาเรื่องจริงๆ เต็มที่เลยคือ ข้อหาหมิ่นประมาท การเอาสิ่งนี้ซึ่งเป็นอาญาส่วนตัวมาเชื่อมโยงกับมาตรา 116 นี่คือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ยกตัวเองขึ้นมาเหนือสถาบันทั้งหมดในประเทศนี้ เท่ากับบอกว่าคุณคือรัฐ หากแตะต้องจะกลายเป็นเรื่องความมั่นคง” สาวตรีกล่าว

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐

มาตรา ๑๔  ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)

ในกรณีที่ฟ้องในส่วนของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สาวตรีอธิบายว่า หากจะพอเข้าองค์ประกอบความผิดก็คือ มาตรา 16 เพราะเขียนไว้กว้างๆ เป็นเรื่องการตัดต่อภาพล้อเลียนทำให้อับอาย ทุกยุคทุกสมัยถ้านักการเมืองจะฟ้องก็ฟ้องได้ แต่ไม่มีใครเขาฟ้อง แต่ไม่ใช่มาตรา 14 ตามที่ตำรวจฟ้องอย่างแน่นอน เราต้องยืนยันว่าไม่ใช่ มาตรา 14(1) อันนี้โดยเจตนารมณ์ต้องการเอาผิดกับการทำฟิชชิ่งทางอินเทอร์เน็ต การหลอกลวง แต่มันถูกใช้และตีความเป็นหมิ่นประมาท เราต้องยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาท

ขณะที่ มาตรา 14 (3) โยงเข้ากับกฎหมายอาญา แต่ถ้ายืนยันว่ากรณีแบบนี้ไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรานี้ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็โยงไม่ได้

เหลืออยู่อันเดียวคือ มาตรา 14(2) ซึ่งเขียนกว้างมาก ขึ้นอยู่กับการตีความมากๆ และอาจจะกว้างกว่ามาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นปัญหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เอง แต่อย่างไรก็ตาม โทษจำคุกของมาตรานี้ก็ยังน้อยกว่ามาตรา 116 อยู่ดี

"สังคมอาจเรียกร้องได้ว่า คุณเป็นบุคคลสาธารณะ ความอดทนอดกลั้นคุณต้องเยอะกว่าคนทั่วไป แต่หากเขาจะไม่อดทนอดกลั้นก็ได้เพียงมาตรา 16 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกิน 10,000 บาท" สาวตรีกล่าว

มาตรา ๑๖  ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด

ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้

ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย


ปรากฏการณ์การบังคับใช้มาตรา 116 หลังการรัฐประหาร

ที่มา:โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)


หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 มีการจับกุม และดำเนินคดีผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองกับคณะรัฐประหารจำนวนมาก นับจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 มีการนำข้อหามาตรา 116 มาใช้อย่างน้อย 10 คดี มีคนตกเป็นผู้ต้องหาอย่างน้อย 25 คน ดังนี้

1. คดีของจาตุรนต์ ฉายแสง จากการให้สัมภาษณ์นักข่าวโจมตี คสช.ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ

2. คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากการโพสต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นัดหมายให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน คสช. ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ

3. คดีของชาวเชียงราย 3 คนได้แก่ ออด ถนอมศรี และสุขสยาม ถูกจับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 จากการติดป้ายมีข้อความขอแบ่งแยกเป็นประเทศล้านนา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลจังหวัดเชียงราย

4. คดีของชัชวาลย์นักข่าวอิสระจากจังหวัดลำพูน ที่รายงานข่าวการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารผิดวัน จากวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ต่อมาศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากจำเลยเพียงนำเสนอข่าวเหตุการณ์ประจำวัน และโจทก์ไม่อาจนำสืบจนสิ้นสงสัยได้ว่า จำเลยมีเจตนาสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

5. คดีของสิทธิทัศน์ และวชิร จากการโปรยใบปลิว ที่มีข้อความต่อต้าน คสช. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า

6. คดีของพลวัฒน์จากการโปรยใบปลิวต่อต้านคสช. 4 แห่งในอ.เมือง จ.ระยอง ปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า

7. คดีของพันธ์ศักดิ์ จากการจัดกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เพื่อเดินเรียกร้องความเป็นธรรมเมื่อวันที่ 14-16 มีนาคม 2558 ปัจจุบันอัยการทหารสั่งฟ้องไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 คดียังไม่มีวันนัดพิจารณา

8. คดีของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน จากการชุมนุมต่อต้าน คสช. และเรียกร้องหลักการ 5 ข้อ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการสรุปสำนวนสอบสวน

10. คดีของชญาภา ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 จากการโพสต์ข่าวลือว่าจะมีการรัฐประหารซ้อน ซึ่งโดนตั้งข้อหามาตรา 116 พร้อมกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ด้วย

11. คดีนางรินดา จากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ โอนเงินหมื่นล้านไปสิงคโปร์ และตั้งข้อหามาตรา 116 กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พึงระวัง! กกต.ออก 8 ข้อห้ามโพสต์แชร์ เตือนแม้ไม่ผิดกม.ประชามติ ยังมีคำสั่ง คสช. พ.ร.บ.คอมฯ

$
0
0

29 เม.ย.2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงผลประชุม กกต.ว่า กกต.มีมติให้ออกประกาศ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ จะมีผลเมื่อประกาศดังกล่าวลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว คาดว่าจะมีผลไม่เกินสัปดาห์หน้า โดยมีข้อกำหนด สิ่งที่ประชาชนทำได้ 6 ข้อ คือ 

1. ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมให้เข้าใจอย่างครบถ้วน จากเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแสดงความคิดเห็นของตน 
2. แสดงความเห็นโดยใช้ถ้อยคำที่สุภาพ 
3. แสดงความเห็นด้วยข้อมูลที่มีความชัดเจนไม่กำกวม อันอาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าเป็นการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง 
4. การนำเสนอหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการ เพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็นให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงบุคคลนั้น ควรตรวจสอบความถูกต้องและแสดงที่มาของงานวิจัยนั้นด้วย 
5. การสัมภาษณ์ผ่านสื่อเพื่อแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน 
6. การนำเข้าข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นพร้อมแสดงเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน ในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว โดยไม่มีการแสดงความเห็นเพิ่มเติม

รองเลขาธิการ กกต.กล่าวต่อว่า ส่วนที่ทำไม่ได้ 8 ข้อประกอบด้วย 

1. การสัมภาษณ์ผ่านสื่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ 
2. การนำเข้าข้อมูล (โพสต์) อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดมหรือข่มขู่ในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือส่งต่อข้อมูล (แชร์) ในลักษณะดังกล่าว 
3. การทำหรือส่งสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายอันมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่
4. การจัดเวทีสัมมนา อภิปราย โดยกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ไม่มีหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชน ตามกฎหมายเข้าร่วม และมีเจตนาเพื่อปลุกระดมทางการเมือง 
5. การชักชวนให้ใส่เสื้อ หรือติดป้าย เข็มกลัด ธง ริบบิ้น หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขายการแจกจ่ายสิ่งของดังกล่าว ในลักษณะรณรงค์ทั่วไปเพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง 
6. การใช้เอกสารใบปลิวหรือแผ่นพับ ที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคายหรือปลุกระดมทางการเมือง 
7. การรายงานข่าวหรือการจัดรายการของสื่อมวลชนที่นำไปสู่การปลุกระดมหรือสร้างความวุ่นวายในสังคม 
8. การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคม เพื่อให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีลักษณะการปลุกระดมหรือขัดขวางการออกเสียง

ธนิศร์ กล่าวด้วยว่า กรณีสื่อมวลชนสามารถรายงาน หรือ เสนอข่าวด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ด้วยความรับผิดชอบ เป็นกลาง คำนึงถึงความเท่าเทียมและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ กกต.อาจจะออกประกาศเพิ่มเติม ถ้ามีกรณีใดเกิดขึ้นหลังจากนี้อีกเพื่อให้เกิดความชัดเจน กรณีการกระทำในเรื่องอื่นที่ กกต.อาจเขียนบอกว่าสามารถทำได้ การออกประกาศของ กกต.ยืนอยู่บนพื้นฐาน พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่การกระทำอาจจะผิดกฎหมายอย่างอื่น เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประกาศหรือคำสั่ง คสช. โดยประชาชนพึงระวังความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ซึ่งประชาชนพบเห็นการกระทำผิดสามารถร้องพนักงานสอบสวนได้เลย ไม่ต้องร้องผ่าน กกต. และพนักงานสอบสวนจะเรียกบุคคลนั้นไปให้ปากคำ และกกต.มีดำริจะเชิญ ผบ.ตร.มาทำความเข้าใจเพื่อให้การปฏิบัติงานเรียบร้อย แต่รอให้ร่างประกาศมีผลก่อน
 

ย้ำผู้ใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด เริ่มลงทะเบียน 1 พ.ค. นี้

สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงการออกเสียงประชามติว่า ขณะนี้ กกต. ได้เตรียมความพร้อมงานในทุกๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง นับจากได้ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ในวันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค.นี้ โดยเปิดทำการลงคะแนนออกเสียงตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. และในวันที่ 1 พ.ค.นี้ จะเป็นวันแรกของการเปิดให้มีการลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด

สำหรับผู้มีสิทธิที่อยู่นอกเขตออกเสียงที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงเป็นเวลาน้อยกว่า 90 วัน คือ เข้ามาอยู่หลังวันที่ 10 พ.ค. 2559 ก็สามารถออกเสียงได้โดยต้องลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด ซึ่งช่องทางการยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด สามารถยื่นคำขอได้ 3 ช่องทาง คือ

1. ยื่นด้วยตนเอง สำหรับกรุงเทพมหานคร ยื่นคำขอได้ที่สำนักงานเขต และที่ต่างจังหวัดยื่นคำขอที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 59 – 7 ก.ค. 59 ในวันและเวลาราชการ ทั้งนี้สามารถยื่นคำขอเป็นกลุ่มได้ โดยการมอบหมายผู้มีสิทธิอื่นยื่นแทน

2. ยื่นทางไปรษณีย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.59 – 30 มิ.ย.59 โดยถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ

3. ยื่นผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ http://election.dopa.go.th  ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.59 – 30 มิ.ย.59 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะปิดอัตโนมัติในเวลา 24 นาฬิกาของวันที่ 30 มิ.ย.59

“สำหรับวิธีการก็ง่ายๆ ครับ เพียงท่านเตรียมสำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนรุ่นใหม่ที่เป็น Smart Card แล้วกรอกข้อมูลหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ชื่อตัว ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด หมายเลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน และเลขรหัสประจำบ้าน ซึ่งจะปรากฏตัวอย่างอยู่ที่หน้าจอ เสร็จแล้วก็เลือกเขตจังหวัดที่ประสงค์จะไปใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด เมื่อข้อมูลถูกต้องครบถ้วนแล้วก็เลือกสถานที่ที่จะลงคะแนนใช้สิทธิออกเสียงเพราะบางจังหวัดอาจมีสถานที่ลงคะแนนออกเสียงหลายแห่ง และหากประสงค์ขอยกเลิกการลงทะเบียนก็สามารถกลับไปแก้ไขข้อมูลได้เช่นเดียวกัน”

สมชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติจะต้องมีสัญชาติไทย  หากผู้ใดสัญชาติไทยโดยแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี มีอายุ 18 ปี บริบูรณ์ในวันออกเสียง คือผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 9 ส.ค. 2541 และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า  90 วัน คือภายในวันที่ 10 พ.ค. 2559

ที่มา เว็บไซต์ กกต.และ ไทยรัฐออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลทหารออกหมายจับ ม.112 'ณัฏฐิกา-หฤษฏ์' 2 ใน 8 ผู้ต้องหาทำเพจล้อประยุทธ์เพิ่ม

$
0
0
 
29 เม.ย.2559มติชนออนไลน์รายงานว่า ศาลทหารกรุงเทพฯ ได้อนุมัติหมายจับ ณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ และ หฤษฏ์ มหาทน 2 ใน 8 ผู้ต้องหา จัดทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เรารัก พล.อ.ประยุทธ์' ล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เพิ่มเติม ให้ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ด้วย หลังพบหลักฐานมีการสนทนากันในโซเชียลมีเดียเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดตัวและดำเนินคดีต่อไป
 

ทหารฟ้อง 'บุรินทร์ อินติน' 2 ข้อหา 'ม.112 - พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์'  

ขณะที่ ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า บุรินทร์ อินติน หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม ยืนเฉยๆ ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ ปล่อยตัว 8 ผู้ต้องหาจัดทำเฟซบุ๊กแฟนเพจดังกล่าว เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ผ่านมา ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายเสนาธิการผู้บังคับบัญชา คณะทำงานพิเศษฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นำตัว บุรินทร์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหาร ข้อหา ม.112 และ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) นำส่งพ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง รองผกก.(สอบสวน)กก.3บก.ปอท. ดำเนินคดี

โดย พ.อ.บุรินทร์ เปิดเผยว่า ทหารเฝ้าติดตามพฤติกรรม บุรินทร์ หลังจากสายข่าวพบการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “Burin Intin” ในลักษณะต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาลและคสช.รวมทั้งมีการแชตพูดคุยกับบุคคลอื่นโดยมีข้อความลักษณะหมิ่นเบื้องสูง เข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.112 กระทั่งวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา เวลา 12.13 น. บุรินทร์ โพสต์คลิปวิดีโอความยาวประมาณ 40 นาที พร้อมข้อความ “นู๋อยากโดนอุ้ม#ปล่อยเพื่อนเราที่โดนอุ้ม” ก่อนจะมีบุคคลเข้ามาแสดงความคิดเห็นในคลิปดังกล่าว และ บุรินทร์ ตอบความคิดเห็นในลักษณะหมิ่้นเบื้องสูง หลังจากนั้นในวันเดียวกัน ช่วงเวลา 18.00 น. บุรินทร์ เดินทางมาร่วมกิจกรรม "ยืนเฉยๆ” ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ก่อนจะเป็น 1 ใน 16 รายที่ถูกตำรวจสน.พญาไทควบคุมตัว

พ.อ.บุรินทร์ กล่าวว่า จากนั้นทหารจึงเดินทางไปยังสน.พญาไท เพื่อเชิญตัว บุรินทร์ มาควบคุมตามคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 และเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ทหารมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนบก.ปอท.เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับ บุรินทร์ และวันนี้ศาลทหารจะออกหมายจับ เมื่อตรวจค้นตัวกลับไม่พบโทรศัพท์ของ บุรินทร์ จึงสอบถาม บุรินทร์ ได้ความว่าฝากโทรศัพท์ให้กับเพื่อนชื่อว่าน (นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นเพื่อน สิรวิชญ์ เสรีวัฒน์ หรือ จ่านิว) อยู่ระหว่างติดตามตัว ว่าน จากนั้นจึงขยายผลตรวจค้นที่ร้านอัดรูปสปอร์ตดิจิตอลโฟโต้ ปากซอยปลูกจิตร 1 ถนนพระราม4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร ที่ บุรินทร์ อาศัยอยู่ พบซีพียูคอมพิวเตอร์ จำนวน 3 เครื่อง ที่ใช้ในการเล่นเฟซบุ๊ก และขันแดง(ที่แจกในวันสงกรานต์) 1 ใบ

มติชนออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์และเดลินิวส์ยังรายงานตรงกันด้วยว่า บุรินทร์ ผู้ต้องหา รับว่า ตนเข้าร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับตั้งแต่ 19 ก.ย. 2558 จากนั้นจึงมีโอกาสรู้จักกับ สิรวิชญ์  และติดต่อพูดคุยกันมาตลอด จนรู้จักกับแม่สิรวิชญ์ และแชตพูดคุยกันผ่านเฟซบุ๊ก ในทำนองว่าร้ายสถาบันจริงเนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตนโพสต์ข้อความต่างๆ ผ่านโทรศัพท์และโพสต์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27  เม.ย. ก่อนถูกจับกุม ไม่คิดว่าจะถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นสถาบันและสาเหตุที่นำโทรศัพท์ให้เพื่อนชื่อว่านนั้น เพราะแบตโทรศัพท์จะหมด จึงให้ไปเพื่อชาร์จแบตเท่านั้น ไม่มีเจตนาจะทำลายหลักฐาน จึงอยากฝากผ่านสื่อไปถึงว่านและจ่านิวว่า ให้นำโทรศัพท์กลับมาคืนด้วย

ด้าน พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร กล่าวว่า รับตัว บุรินทร์ จากทหาร ก่อนจะสอบปากคำ พร้อมตรวจสอบซีพียูคอมพิวเตอร์ที่ได้มาว่ามีข้อมูลใดบ้าง ทั้งนี้จะนำตัวนายบุรินทร์ฝากขังศาลทหารก่อนเวลา 09.00 น.ในวันที่30 เม.ย. พร้อมขยายผลหากพบบุคคลใดเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีทันที 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารเรียกตัว อาจารย์ มช. เข้าค่ายทหารให้ข้อมูล

$
0
0

29 เม.ย. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 19.56 น. ที่ผ่ามา ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Pinkaew Laungaramsri' ในลักษณะสาธารณะ ซึ่งเป็นภาพถ่ายจดหมายถึงอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จาก กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ เรียงตนเองเข้าพบเจ้าหน้าที่กองกำลังดังกล่าว เพื่อให้ข้อมูล 

โดยจดหมายดังกล่าว ระบุว่า ตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 3/2558 ที่อ้างถึงกองกำลัง รักษาความสงบเรียบร้อย มณฑลทหารบกที่ 33 มีความประสงค์ขอเชิญ ปิ่นแก้ว มาพบเจ้าหน้าที่กองกำลังฯ เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ทางการ ในวันที่ 3 พ.ค.นี้ เวลา 9.00 น.  
 
หลังจากช่วงเช้าวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่บุกเข้าควบคุมตัวประชาชนหลายรายโดยไม่แจ้งข้อหาของเจ้าหน้าที่ทหารจาก คสช. หลังจากช่วงเย็นวันเดียวกัน สำนักข่าวประชาธรรม รายงานว่า ที่ข่วงท่าแพ จ.เชียงใหม่ เวลา 18.20 น. คณาจารย์ นักกิจกรรม ประชาชนเชียงใหม่กว่า 15 คน ร่วมสวมเสื้อขาว ยืนเฉยๆ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ "ปล่อยประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไข" โดยมีทหาร ตำรวจในเครื่องแบบยืนสังเกตการณ์และบันทึกภาพในบริเวณใกล้เคียง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชะตากรรมนักโทษสหรัฐฯ ผู้เปิดโปงความโหดร้ายของเรือนจำในรัฐฟลอริดา

$
0
0

เรื่องของ ฮาโรลด์ เฮมป์สเตด นักโทษในสหรัฐฯ ผู้ติดคุกยาวนานในข้อหาลักทรัพย์หลายครั้งอีกทั้งยังเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ แต่เขาก็กลายเป็นวีรบุรุษผู้เปิดโปงการกระทำโหดร้ายในคุกที่เขาเคยอยู่จนมีผู้ต้องขังถึงแก่ความตาย ถึงแม้ว่ากระบวนการสืบสวนหลังจากนั้นจะยังไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เป็นเหยื่อการกระทำโหดร้ายก็ตาม

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2559 เว็บไซต์นิตยสารเดอะนิวยอร์กเกอร์รายงานถึงกรณีที่ฮาโรลด์ เฮมป์สเตด ผู้ต้องขังที่เคยอยู่ในทัณฑสถานเดดส่งจดหมายร้องทุกข์ต่อกรมราชทัณฑ์รัฐฟลอริดา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2556 ในจดหมายฉบับนั้นระบุถึงข้อกล่าวหาที่น่าสะพรึงต่อกรณีการเสียชีวิตของผู้ต้องขังชื่อดาร์เรน เรนนี ผู้ที่เสียชีวิตในเรือนจำจากการหมดสติในห้องอาบน้ำเมื่อ 7 เดือนก่อนหน้าการส่งจม.ร้องทุกข์

ผู้เขียนบทความนามว่า อียาล เพรส เขียนถึงกรณีนี้โดยอ้างอิงถึงจดหมายของเฮมป์สเตด ที่ระบุว่าการตายของเรนนีเป็นการพยายามปกปิดการข่มเหงทารุณเรนนีก่อนหน้านี้ เนื่องจากก่อนที่เรนนีจะหมดสติไปในห้องน้ำเขาถูกขังไว้ในห้องอาบน้ำที่มีการเปิดน้ำร้อนใส่เขาจากสายยางข้างนอกโดยผู้คุมซึ่งน้ำมีความร้อนถึงราว 80-100 องศา มากพอจะต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ จม.ของเฮมป์สเตด เล่าว่าเขาได้ยินเรนนีตะโกนว่า "ผมทนไหวแล้ว" จากนั้นถึงได้ยินเสียงตุบที่เขาเชื่อว่าเป็นเสียงร่างเรนนีกระแทกลงกับพื้นและเสียงร้องโหยหวนของเขาก็เงียบสงบลง

เฮมป์สเตดเขียนในท้ายจดหมายเรียกร้องให้มีการสืบสวนในเรื่องนี้ ซึ่งจากปากคำของแฮเรียต คริซคาวสกี อดีตนักจิตเวชวิทยาผู้ให้คำปรึกษาในทัณฑสถานเดดเปิดเผยว่าร่างกายของเรนนีมีรอยถูกลวกร้อยละ 90 และผิวหนังของเขาจะหลุดลอกออกถ้าถูกสัมผัส

แต่กรมราชทัณฑ์ก็ตอบกลับเฮมป์สเตดอย่างห้วนๆ ว่า "คำร้องทุกข์ของคุณถูกตีกลับโดยไม่มีปฏิบัติการใดๆ " แต่เฮมป์สเตดก็ยังคงส่งคำร้องไปยังกรมราชทัณฑ์อีกครั้งในหลายเดือนถัดมาและยังส่งคำร้องไปที่อื่นๆ อย่างหน่วยงานตรวจสอบด้านการแพทย์ละหน่วยงานตำรวจด้วย อย่างไรก็ตามนักจิตเวชวิทยาที่ฝ่ายงานสุขภาพจิตในเดดกลัวว่าการร้องเรียนในเรื่องนี้จะทำให้ฝ่ายผู้คุมโต้ตอบด้วยความไม่พอใจและทำให้ตัวเองอยู่ในความเสี่ยงได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่เฮมป์สเตดถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ เขามักจะถูกโต้ตอบว่าให้เลิก "ย้ำคิด" เกี่ยวกับเรื่องของเรนนีได้แล้ว จนกระทั่งในวันที่ 17 พ.ค. 2557 จากการช่วยเหลือของวินดี พี่/น้องสาวของเขาทำให้เรื่องนี้ขึ้นหน้าหนึ่งของสื่อไมอามีเฮราลด์

การเปิดโปงของฮาโรลด์ เฮมป์สเตด ทำให้กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ดำเนินการสืบสวนเพื่อพิจารณาว่าการเสียชีวิตของเรนนีเป็นส่วนหนึ่งของการข่มเหงผู้ต้องขังหรือไม่ หลังจากนั้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้คุมบางคนในฝ่ายงานสุขภาพจิตของเรือนจำ และราชทัณฑ์รัฐฟลอริดาก็มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบรวมถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เรือนจำและการเปลี่ยนระบบอื่นๆ เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงในอนาคต

อย่างไรก็ตามบทความของเพรสระบุว่าเรื่องราวของเฮมป์สเตดอาจจะไม่ได้จบอย่างมีความสุขมากเท่าที่ควรในแง่การให้ความเป็นธรรมต่อเรนนี ถึงแม้ว่าจะมีการสืบสวนแต่ผู้คุมที่ถูกกล่าวหาว่าใช้น้ำร้อนกับเรนนียังไม่มีใครเลยที่ถูกตั้งข้อหา ยังไม่มีการระบุในข้อมูลประวัติว่ามีการกระทำผิดและยังไม่มีใครลาออก จนกระทั่งถึงต้นปีนี้ผลการชันสูตรเรนนีถูกส่งต่อไปให้อัยการของรัฐที่ตัดสินว่าการตายของเรนนีเป็น "อุบัติเหตุ" และไม่แนะนำให้ดำเนินคดีในเรื่องนี้

ในขณะที่เฮมป์สเตดก็เริ่มถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่เรือนจำว่าจะขังเดี่ยวเขาหลังจากที่เขาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อไมอามี เฮราลด์ จากนั้นก็นำตัวเฮมป์สเตดส่งต่อไปยังเรือนจำอื่นโดยมีการให้สถานะ "อยู่ภายใต้การคุ้มครอง" จากทัณฑ์สถานเดด แต่เขาก็จะถูกจัดจำในฐานะผู้เปิดโปงเรื่องการข่มเหงในคุกต่อไป

เฮมป์สเตดโดนโทษจำคุก 165 ปี จากที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักทรัพย์ในบ้านคนอื่นหลายสิบกรณี เขาเกิดที่เซนตืปีเตอร์เบิร์ก รัฐฟลอริดา มีพ่อเป็นคนติดเหล้าและเสียชีวิตเมื่อเฮมป์สเตดอายุได้ 7 ปี แม่ของเขาต้องเข้ารับการบำบัดเพื่อมีอาการทางจิตทำให้เฮมป์สเตดและพี่น้องของเขาต้องต่อสู้หาเลี้ยงตัวเองบนท้องถนน เฮมป์สเตดกล่าวโต้แย้งว่าเขาไม่ได้เป็นคนมีส่วนร่วมในการขโมยของในบ้านคนอื่นโดยตรง เป็นแค่คนซื้อขายของของโจรเท่านั้น

แต่ไม่ว่าเขาจะกระทำผิดจริงหรือไม่ก็ตามบทความของเพรสก็ระบุว่าการลงโทษจำคุกมากขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นการลงโทษที่หนักเกินไป แรนดัลล์ ซี เบิร์ก จูเนียร์ ผู้อำนวยการบริหารจากสถาบันความยุติธรรมฟลอริดาซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกล่าวว่าการตัดสินอาชญากรรมของเฮมป์สเตด ไม่ว่าจะมองในนิยามการตัดสินของใครก็ตามถือว่าเป็นการตัดสินก็เกิดจริงทั้งสิ้น

วินดีเป็นคนที่เฮมป์สเตดคุยด้วยเป็นคนแรกๆ หลังจากเรนนีเสียชีวิต วินดีเล่าถึงสภาพที่เฮมป์สเตดแสดงอาการหวาดกลัวจนตัวสั่นเธอบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นค่ำคืนนั้นจะติดตัวเขาไปตลอด

 

เรียบเรียงจาก

A Whistle-Blower Behind Bars Eyal Press, The New Yorker, 27-04-2016 http://www.newyorker.com/news/daily-comment/a-whistle-blower-behind-bars

Madness, Eyal Press, The New Yorker http://www.newyorker.com/magazine/2016/05/02/the-torturing-of-mentally-ill-prisoners

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายชื่อ 88 กวีนิพนธ์ ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ประจำปี 2559

$
0
0

ประกาศรายชื่อกวีนิพนธ์ ที่ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ประจำปี 2559 ทั้ง 88 เล่ม พบ 'เกษียร เตชะพีระ' มีชื่อด้วย

29 เม.ย. 2559 พินิจ นิลรัตน์หนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกวรรณกรรมซีไรต์ประจำปี 2559 ได้เผยแพร่รายชื่อกวีนิพนธ์ที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยมีทั้ง  88 เล่ม ดังนี้

รายชื่อกวีนิพนธ์ที่ส่งเข้าประกวด

1. เด็กผู้ชายผู้ถูกผีหลอกและเรื่องราวอันน่าสะพรึงอื่น ของ ธัชชัย ธัญญาวัลย : Arty House
2. ยามเช้าของความรัก ของ ธัชชัย ธัญญาวัลย : Arty House
3. ณ ริมธารแห่งกาลภพ ของ วิเชียร ไชยบัง : เรียนนอกกะลา
4. รักในเอเดน ของ วิเชียร ไชยบัง : เรียนนอกกะลา
5. เงาไม่มีเงา ของ นายทิวา : ออนอาร์ต
6. ในเครื่องหมายคำถาม? ของ นายทิวา : ออนอาร์ต
7. (เลียน) ลิลิต เทิดเบื้องบรรพชน บางระจัน ของ ธีระ อ่ำสวัสดิ์
8. คำอมฤต ของ สาคร ชิตังกรณ์
9. พระแสงของ้าว ของ สินไซ อีสาน
10. ฉันคือ...ร้อยสิ่งดีดีในชีวิต ของ สดใส ขันติวรพงศ์ : สวนเงินมีมา
11. ประชุมโคลงทัชสกรีน ของ เชษฐภัทร วิสัยจร : 340
12. กาพย์เห่ชมเครื่องคาวแบบฟิวชั่น ของ เชษฐภัทร วิสัยจร : 340
13. โปรดระวังช่องว่างระหว่างรถไฟกับชานชาลา ของ ธรรมรุจา ธรรมสโรช : วงปี
14. นิธาร ของ 'กุดจี่' พรชัย แสนยะมูล : ไม้ยมก
15. ใจปัจจุบัน ของ 'กุดจี่' พรชัย แสนยะมูล : ไม้ยมก
16. กาฬโลก ของ เจริญขวัญ : หมาน่าเกลียด
17. อิสตรี ของ อรุณวดี อรุณมาศ
18. ลำนำอิงประวัติศาสตร์ พระมหากษัตริย์แห่งชาติไทย ของ ณุ บูรพา : แด่คนช่างฝัน
19. แก้วตาของยาย ของ ภักดี ไชยหัด : รูปจันทร์
20. ความฝันและวันเวลา ของ ขาล พฤษภ
21. ฉันปลูกดอกไม้บนภูผาเดียวดาย เดช อัสดง : ทุ่งดอกไม้
22. โรงละครของมนุษย์ต่างดาว ของ มุทิตา : คอกม้าหิมาลัย
23. รักษ์ ของ ที่รักษ์ : ณ
24. สวัสดี...ความรัก ของ บุญญรัชฎ์ สาลี : ช่างเขียน
25. ป่าช้าใจ ของ พระครูสุธีจริยวัฒน์, ดร.
26. คำหวาน บ้านไร่ ของ ธนวัฒน์ บุรีภักดี
27. เภตรามหาชเล ของ ลอง จ้องรวี : โรงนาบ้านไร่
28. สายลมบุพกาล ของ ลอง จ้องรวี : โรงนาบ้านไร่
29. เวลาจารึก ของ ธีระสันต์ พันธศิลป์ : โรงนาบ้านไร่
30. ว่าวใบกลอย ของ อุดร ทองน้อย : มิ่งมิตร
31. ประเทศของท่าน บ้านของผม ของ พิเชฐ แสงทอง : ผจญภัย
32. เสียงหัวใจ ของ พิพัฒน์ เติมงาม
33. นครคนนอก ของ พลัง เพียงพิรุฬห์
34. ลิขิตโคลงไม้ดอกแลดอกไม้ ของ รุธิรศวัส (สุเทพพงษ์ ยลปราโมทย์สกุล)
35. ลิลิตหาญกล้า ของ รุธิรศวัส (สุเทพพงษ์ ยลปราโมทย์สกุล)
36. โคลงห่อโคลงแผนพิมพงไพร ของ รุธิรศวัส (สุเทพพงษ์ ยลปราโมทย์สกุล)
37.ดวงตากุมภาพันธ์ ของ หทัยสินธุ สินธุหทัย : ปล่อย
38. ความฝันหรอกแม่ที่ขโมยลูกมา ของ หทัยสินธุ สินธุหทัย : กากะเยีย
39. ข้าพเจ้าและเธอบนเส้นทาง ของ ปรัชชา ทัศนา : ขนำใบไม้
40. ความสงบที่รบเร้า ของ ปณิธาน นวการพาณิชย์ : กระท่อมปณิธาน
41. เส้นรอบวงกลมปราศจากจุดจบ ของ กานต์ ลิ่มสถาพร : อุดมปัญญา
42. หัวใจในเปลวเพลิง ของ สุมิตรา จันทร์เงา : มหาวิทยาลัยรังสิต
43. ทางจักรา ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ : แพรว
44. บางคนอาจเดินสวนทางเราไป ของ บัญชา อ่อนดี : แพรว
45. หลากถ้อยในรอยทาง ของ โชคชัย บัณฑิต' : แพรว
46. ฤดูร้อนยาวนานไม่สิ้นสุด ของ บรรทัดไม้ : สมมติ
47. ในความซ้ำซากของชีวิต ของ สหรัฐ พัฒนกิจวรกุล : สมมติ
48. วิ่ง ของ สหรัฐ พัฒนกิจวรกุล : ชายขอบ
49. ปรากฏการณ์ส่วนเกิน ของ ชานนที : สมมติ
50. ดอกไม้หนึ่งมิติ เล่มที่ 1 – 10 ของ ฟ้า พูลวรลักษณ์ : สมมติ
51. ฝนบางหยดกลายเป็นผีเสื้อ ของ ลัดดา สงกระสินธ์ : สมมติ
52. สุญญกาล ของ สมพงษ์ ทวี' : สมมติ
53. อื่นใดนอกจากนั้น ของ จันทร์ รำไร : สมมติ
54. ดวงตาของความเงียบ ของ จันทร์ รำไร : บ้านเขาน้อย
55. เรื่องเล่าพระธุดงค์ ของ อนงฺคโณ ภิกฺขุ
56. อภาวะ ของ เสน รัตนะ : ตามพรลิงค์
57. พันธกาล ของ รชา พรมภวังค์ : Shine Publishing House
58. คนคำโคลง ของ โกศล อนุสิม : กะปอมก่า
59.โลกใต้เปลือกตา ใต้เปลือกตาโลก ของ วิมล ไทรนิ่มนวล : ออนอาร์ต
60. สยามห้องเย็น ของ อรุณรุ่ง สัตย์สวี : ลายวรรณ
61. ในนามของฉัน ของ ชัยพร ศรีโบราณ
62. นอนดูดาว ใต้ร่มไม้ บ่ายวันศุกร์ ของ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ : The Writer’s Secret
63. หนังสืองานศพ ของ วรา จันทร์มณี
64. เมฆข้างนอก หมอกข้างใน ของ รัฐมนตรี หล้าสมบัติ : บรรณพิภพ
65. บันดาลใจ ของ กฤตสุชิน พลเสน
66. ประภัสสร ของ เตือนจิต นวตรังค์
67. จักรวาลในสวนหลังบ้าน ของ กระบี่ใบไม้
68. นิทานในบ้านเจ้าชายน้อย ของ ธวัชชัย ทนทาน : Pakphanang Publishing
69. พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล ของ วิสุทธิ์ ขาวเนียม : ผจญภัย
70. ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา ของ โรสนี นูรฟารีดา : ผจญภัย
71. เผื่อมีเมฆตามเรามา ของ จเด็จ กำจรเดช : ผจญภัย
72. ขังไว้ในกล่องของเล่น ของ อภิชาติ จันทร์แดง : ผจญภัย
73. งานเลี้ยงในโถงถ้ำดึกดำบรรพ์ ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ : ผจญภัย
74. ลมผลัดขน ฝนลอกคราบ ของ ธีรยุทธ บุษบงค์ : กากะเยีย
75. ในอ้อมกอดของการหลงลืม ของ นิรัติศัย หล่ออรุโณทัย : นาคร
76. เพลงแม่น้ำ ของ โขงรัก คำไพโรจน์ : กากะเยีย
77. กะจ่าง พยัญไพร ของ กวีสายป่า
78. ปฏิวัติครั้งสุดท้าย ของ ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร
79. เกี่ยวใจ ของ สมพร ประเสริฐสังข์
80. เพลงพลบ ของ เทพย์-สิทธานี
81. นิทาน พระนลคำกลอน ของ ธนุ เสนสิงห์
82. พระสุธน มโนราห์ คำกลอน ของ ธนุ เสนสิงห์
83. ลึงค์คดี ของ อุเทน มหามิตร : ชายขอบ
84. มันเป็นเพียงวันนี้เท่านั้นเอง ของ เกษียร เตชะพีระ : ชายขอบ
85. เด็กชายจากหุบตะวัน ของ นิติพงศ์ สำราญคง : ชายขอบ
86. ไม่ใช่บทกวี เพียงการปลอมแปลงที่พอจะมีฝีมืออยู่บ้าง ของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา : ชายขอบ
87. ถึงเธอปาตานี ของ อับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด : ชายขอบ
88. ในรังนอนของหนอนตัวหนึ่ง ของ นิตา มาศิริ

000000


รายชื่อคณะกรรมการการคัดเลือก และคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ปี 2559

คณะกรรมการการคัดเลือก

1.นายจรูญพร ปรปักษ์ประลัย
2. นายสุนันท์ พันธุ์ศรี
3. นายพินิจ นิลรัตน์
4. ดร.จิราภรณ์ อัจฉริยประสิทธิ์
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรตี ปรีชาปัญญากุล
6. นายวรวุฒิ ภักดีบุรุษ
7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมเกียรติ คู่ทวีกุล

คณะกรรมการการตัดสิน

1. นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
2. นายอดุล จันทรศักดิ์
3. นายบูรพา อารัมภีร
4. รองศาตราจารย์ สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์
5. รองศาตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร 
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา
7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมเกียรติ คู่ทวีกุล

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอาเซียน พิจารณาจากมาตรฐานแรงงาน-บทบาทขบวนการแรงงานและรัฐ

$
0
0

บทความประกอบการอภิปรายในงานสัมมนาเนื่องในวันแรงงานสากลและวันแรงงาน แห่งชาติประจำปี 2559 (วันที่ 1 พฤษภาคม 2559) เรื่อง “ขบวนการแรงงานไทยกับการยกระดับมาตรฐานแรงงานในประชาคมอาเซียน” วันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2559 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ตึกเอนกประสงค์ 1 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) จัดโดย มูลนิธินิคม จันทรวิทุร สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิชานโยบายสังคม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิไพศาล ธวัชชัยนันท์

 

ที่มา กระทรวงแรงงาน ใส่ลิงก์  http://www.mol.go.th

 

นับจากการเปิดตัวประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา เราควรจะพบกับความกระตือรือร้นของรัฐบาลและประชาชนในการร่วมกันเฉลิมฉลอง สรรค์สร้าง และขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้บรรลุวัตถุประสงค์กันอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นกลับเป็นความไม่มีชีวิตชีวาเท่าที่ควร ทั้งการแสดงออกโดยภาครัฐและประชาชนในการเริ่มต้นประชาคมอาเซียนที่รอคอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ปัญหานี้ส่วนหนึ่งย่อมเนื่องมาจากการเป็นรัฐกลวง (Hollow State) จากผลพวงของการรัฐประหารในขณะนี้เป็นอุปสรรคด้วย แต่เราไม่ควรจะปล่อยให้บรรยากาศเช่นนี้มีอยู่ต่อไป ขบวนการแรงงานไทยในฐานะจักรกลสำคัญจำเป็นต้องตื่นตัวและแสวงหาหนทางในการกระทำอันประเสริฐเพื่อคนจำนวนมหาศาลและให้มีความก้าวหน้ากว่ารัฐ (รัฐบาลและกลไกรัฐ)

ในฐานะที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นนโยบายหรือประเด็นสาธารณะที่รัฐบาลทุกรัฐบาลของสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ (ในปัจจุบัน) ให้ความสำคัญโดยปริยาย และหากพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียนทั้ง 15 ประการ (ดังจะระบุถึงต่อไป) แล้ว การดำเนินการตามวัตถุประสงค์เหล่านั้นก็คือนัยของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอาเซียนอย่างสำคัญ โดยการพัฒนาประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหลายทั้งสามหลัก คือ 1) การเมืองและความมั่นคง 2) เศรษฐกิจ และ 3) สังคมและวัฒนธรรม ร่วมกันนั่นเอง ฉะนั้น ในโอกาสที่การเปิดการค้าเสรีในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียนที่ได้เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 แล้วนั้น ทุกประเทศสมาชิกจึงย่อมหาทางสรรค์สร้างมาตรการต่างๆ ที่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนของตน สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลไทยย่อมต้องดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนของตนภายใต้วัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียนในทุกข้อ แต่ในขณะเดียวกันในฐานะประเทศสมาชิกที่มีคุณภาพ รัฐบาลไทยในฐานะตัวแทนของประเทศในภาพรวมก็สมควรดำเนินการในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ร่วมของประชนหรือพลเมืองอาเซียนพร้อมกันไปด้วย

กอรปกับวันแรงงานสากลและวันแรงงานแห่งชาติบรรจบมาอีกคำรบหนึ่งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 ที่จะมาถึง บทความชิ้นนี้จึงมุ่งหวังจะร่วมฉลองวันดังสำคัญกล่าวร่วมกันไปกับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของประชาคมอาเซียน ด้วยการนำเสนอประเด็นและสาระสำคัญของมาตรฐานแรงงานที่สมควรพิจารณาใช้ร่วมกันในประชาคมอาเซียน (ซึ่งมีประชากรร่วม 650 ล้านคน และมีกำลังแรงงานไม่น้อยกว่า 400 ล้านคน) รวมถึงข้อพิจารณาสำคัญถึงบทบาทของขบวนการแรงงาน และรัฐ (รัฐบาลและกลไกของรัฐ) ในการยกระดับมาตรฐานแรงงานอาเซียนด้วย ฉะนั้น ภายใต้บริบทของการค้าระหว่างประเทศ และมาตรฐานแรงงานกับการค้า อันเป็นเสมือนการจูบปากกันระหว่างลัทธิทุนนิยมกับลัทธิสหภาพแรงงานนั้น (ดูประกอบ โชคชัย สุทธาเวศ 2547) คำถามที่สมควรค้นหาคำตอบเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของบทความดังกล่าวก็คือ มาตรฐานแรงงานสำหรับประชาคมอาเซียนควรมีประเด็นใดบ้างและมีสาระสำคัญๆ ว่าอย่างไร และบทบาทของขบวนการแรงงานและรัฐบาลไทยในการยกระดับมาตรฐานแรงงานอาเซียนควรเป็นเช่นไรจึงจะทำให้มาตรฐานแรงงานอาเซียนเป็นที่นิยมของประเทศสมาชิกและประชาคมโลก

ในมิติกำลังแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่และสำคัญยิ่งของประชาชนอาเซียนนั้น ประเทศไทย นอกจากต้องเตรียมความพร้อมในการบริหารแรงงานของตนรองรับประชาคมอาเซียนแล้ว เราต้องดำเนินการเพื่อพัฒนามาตรฐานแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าหรือในระบบเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนอีกด้วย เพื่อเป็นวิถีวัฒนธรรมการทำงานแบบหนึ่งที่จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืน สอดคล้องกับกระแสการให้ความสำคัญของสังคมโลก

มาตรฐานแรงงานอาเซียนในอนาคตสามารถเป็นมาตรฐานของวัฒนธรรมการทำงานร่วม ซึ่งแต่เดิมประเทศสมาชิกเคยมีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับการคุ้มครองแรงงานเป็นของตนเอง มาเป็นการอยู่ภายใต้วัฒนธรรมมาตรฐานแรงงานอาเซียนเดียวกัน ทั้งนี้ประเทศไทยในฐานะผู้ริเริ่มมาตรฐานแรงงานอาเซียน จึงต้องผลักดันการขับเคลื่อนเพื่อให้มาตรฐานแรงงานอาเซียนเกิดขึ้นจริงได้ ทั้งนี้ย่อมต้องอาศัยการสนับสนุนของประเทศสมาชิกที่เป็นพันธมิตรสองถึงสามประเทศในเบื้องแรก

กระบวนการทำงานตามกลไกต่างๆ ของประชาคมอาเซียนที่สร้างสรรค์ กล้าหาญ และแข็งขัน   ในการผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับองค์การของผู้ประกอบการ แรงงาน และองค์การอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจจะทำให้มาตรฐานแรงงานอาเซียนในทางการค้าในอนาคตได้รับการตกลงจากประเทศสมาชิกที่จะมีและปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนก็ได้ เพื่อให้โอกาสสมาชิกได้มีเวลาปรับตัวอย่างมีเป้าหมายเชิงระยะเวลา มิใช่อย่างปราศจากกรอบเวลา 

 

ภาพโดย พิกุลทิพย์ ยุระพันธุ์

 

ทั้งนี้ ร่างมาตรฐานแรงงานที่จะนำเสนอถัดไป เป็นร่างมาตรฐานแรงงานต้นแบบสำหรับการค้าที่สมควรพิจารณาใช้สำหรับประชาคมอาเซียนร่วมกัน มีสาระดังต่อไปนี้

 

(ร่าง) มาตรฐานแรงงานอาเซียน- 2558 [1]

(ASEAN Labour Standard – 2015)

1. บทนำ (Introduction)

ใน โอกาสที่ประชาคมอาเซียนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ประเทศสมาชิกย่อมมีพันธผูกพันร่วมกันที่จะผลักดันให้ประชาคมอาเซียนบรรลุ วัตถุประสงค์หลักที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียน (The ASEAN Charter) ทั้ง 15 ประการ คือ [2]

(1) เพื่อธำรงรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพ กับทั้งเสริมสร้างคุณค่าทางสันติภาพในภูมิภาคให้มากขึ้น

(2) เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวสู่สภาวะปกติของภูมิภาคโดยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

(3) เพื่อธำรงรักษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และปราศจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอื่นๆ ทุกชนิด

(4) เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนและรัฐสมาชิกของอาเซียนอยู่ร่วมกับประชาคมโลกได้โดยสันติในสภาวะที่เป็นธรรม มีประชาธิปไตยและมีความสมานสามัคคี

(5) เพื่อสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวที่มีเสถียรภาพ ความมั่งคั่ง มีความสามารถในการแข่งขันสูง และมีการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจซึ่งมีการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลง ทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้า บริการ และการลงทุน การเคลื่อนย้ายที่ได้รับความสะดวกของนักธุรกิจ ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้มีความสามารถพิเศษและแรงงาน และการเคลื่อนย้ายอย่างเสรียิ่งขึ้นของเงินทุน

(6) เพื่อบรรเทาความยากจน และลดช่องว่างการพัฒนาในอาเซียนผ่านความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและความร่วมมือ

(7) เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย เพิ่มพูนธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม ตลอดจนส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิกของอาเซียน

(8) เพื่อเผชิญหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ ต่อสิ่งท้าทายทุกรูปแบบ อาชญากรรมข้ามชาติ และสิ่งท้าทายข้ามพรมแดนอื่นๆ

(9) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อทำให้แน่ใจว่ามีการคุ้มครองสภาพแวดล้อมในภูมิภาค ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาค การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาค และคุณภาพชีวิต ที่ดีของประชาชนในภูมิภาค

(10) เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยผ่านความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างพลังประชาชนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแห่งประชาคมอาเซียน

(11) เพื่อเพิ่มพูนความอยู่ดีกินดีและการดำรงชีวิตของประชาชนอาเซียน ด้วยการให้ประชาชนมีโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม

(12) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มั่นคง และปราศจากยาเสพติดสำหรับประชาชนของอาเซียน

(13) เพื่อส่งเสริมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์จากกระบวนการรวมตัวและการสร้างประชาคมของอาเซียน

(14) เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียนด้วยการส่งเสริมความสำนึกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมรดกของภูมิภาคยิ่งขึ้น

(15) เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์รวมและบทบาทเชิงรุกของอาเซียนในฐานะพลังขับเคลื่อนขั้นแรกของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค ในภาพแบบของภูมิภาคที่เปิดกว้าง โปร่งใส และไม่ปิดกั้น

ความ สำเร็จตามวัตถุประสงค์หลักข้างต้นเพื่อพลเมืองอาเซียนนั้น ประการหนึ่งย่อมอาศัยการมีมาตรฐานแรงงานอาเซียนที่ตกลงใช้ร่วมกันในบรรดา ประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุน และจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากขึ้นก็เมื่อสมาชิกอาเซียนได้พยายามดำเนินการ ภารกิจตามวัตถุประสงค์ต่างๆที่จะทำให้แต่ละข้อวัตถุประสงค์เติมเต็มต่อกัน และกัน และเกิดผลสำเร็จโดยรวม

2. วัตถุประสงค์ของมาตรฐานแรงงานอาเซียน (Purposes of ASEAN Labour Standard)

(1) เป็นกติกาเพื่อสนับสนุนการบรรลุถึงวัตถุประสงค์หลักของประชาคมอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียน

(2) ให้สถานประกอบกิจการในอาเซียนใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อแรงงานโดยนำสาระแห่งมาตรฐานนี้ไปกำหนดเป็นนโยบายและมีการจัดการให้เป็นไปตามนโยบาย

(3) เป็นเกณฑ์ให้สถานประกอบกิจการในอาเซียนใช้ในการปรับปรุงการจัดการด้านแรงงาน การตรวจสอบและประกาศแสดงตนเองว่าเป็นสถานประกอบกิจการที่ปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐานนี้

4) เป็นเกณฑ์พิจารณาให้การส่งเสริมและรับรองแก่สถานประกอบกิจการในอาเซียนที่นำมาตรฐานนี้ไปปฏิบัติ

3. หลักการของมาตรฐานแรงงานอาเซียน (Principles of The ASEAN)

มาตรฐาน แรงงานอาเซียนจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนส่งเสริม ประยุกต์ และให้คุณค่าต่อวัตถุประสงค์ของอาเซียน มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และระบบการจัดการอย่างน้อยต่อไปนี้

(1) วัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียน 15 ประการ ตามกรอบของธรรมนูญ หรือกฎบัตรอาเซียน (ฉบับล่าสุด พ.ศ. 2550)

(2) มาตรฐานแรงงานตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศทั้ง 8 ฉบับหลัก และฉบับที่มีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต อาทิ มาตรฐานเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน (เช่น อนุสัญญาเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ฉบับที่ 155, 161 และ 187) มาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงทางสังคม (เช่น อนุสัญญาว่าด้วยความมั่นคงทางสังคม ฉบับที่ 102 และ ฉบับอื่นๆที่เกี่ยวข้อง) และ มาตรฐานเกี่ยวกับแรงงานอพยพ (เช่นฉบับที่ 21, 97 และ 143)

(3) มาตรฐานสากลของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน และการรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2491 (The Universal Declaration of Human Rights on 10 December 1948) อนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุก รูปแบบ ค.ศ. 1979 อนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.1989 รวมทั้งปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (ปฏิญญาเซบู) พ.ศ. 2555 และคำประกาศสิทธิมนุษยชนของประชาชนอาเซียน พ.ศ. 2555

(4) มาตรฐานสากลว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000 – Social Responsibility)

(5) กฎหมายแรงงานสหภาพยุโรป (EU Labour Directive)

(6) ข้อกำหนดของมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001-2553) (Thai Labour Standard, TLS.8001-2010)

(7) ระบบการจัดการเพื่อบังคับใช้จรรยาบรรณทางธุรกิจที่กลุ่มอุตสาหกรรม หรือสถาบัน หรือ  องค์การกลางเฉพาะด้านต่าง ๆ ใช้ในระดับระหว่างประเทศของการผลิตและการค้า

(8) การสนับสนุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมาตรฐานแรงงานอาเซียน โดยการจัดตั้งกลไกการบริหารมาตรฐานแรงงานอาเซียนร่วมกันของประเทศสมาชิกอา เซียน

4. ข้อกำหนด (Requirements)

4.1 การใช้แรงงานบังคับและการจ้างแรงงาน (Forced Labour, and Employment)

4.1.1 สถานประกอบกิจการต้องไม่กระทำหรือสนับสนุนให้มีการใช้แรงงานบังคับในทุกรูป แบบ รวมถึงแรงงานนักโทษ การค้ามนุษย์ การทำงานเพื่อใช้หนี้ และการกดขี่หรือการกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ทำงาน

4.1.2 ลูกจ้างสามารถลาออกจากสถานประกอบกิจการได้หลังจากได้แจ้งเหตุผลเป็นลาย ลักษณ์อักษรให้นายจ้างทราบล่วงหน้าภายในระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้

4.1.3 ลูกจ้างมีสิทธิที่จะออกจากสถานประกอบกิจการหลังเวลาเลิกงานได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาต

4.1.4 สถานประกอบกิจการต้องไม่เรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารประจำตัวใด ๆ ทรัพย์สินอื่น หรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง ไม่ว่าเข้าทำงานแล้ว หรือเป็นเงื่อนไขในการรับเข้าทำงาน เว้นแต่กฎหมายยกเว้นไว้

4.1.5 การจ้างงานทั้งประเภทที่กำหนดเวลาแน่นอน และที่ไม่กำหนดเวลา ให้ดำเนินการโดยทำเป็น   สัญญาจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษร

4.1.6 สัญญาจ้างให้ประกอบด้วยข้อความอย่างน้อยต่อไปนี้

(1) การเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาจ้างงาน (กรณีการจ้างกำหนดเวลาแน่นอน)

(2) การเริ่มต้นและการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า (หากจะเลิกจ้าง) (กรณีการจ้างไม่กำหนดเวลา)

(3) ตำแหน่งและขอบเขตงาน

(4) ชั่วโมงการทำงาน

(5) ระยะเวลาการทดลองงาน (ถ้ามี)

(6) ค่าตอบแทนและวิธีการจ่ายค่าตอบแทน

(7) ผลประโยชน์อื่น ๆ ของพนักงาน (หากมี)

4.2 ค่าตอบแทนการทำงาน (Remuneration)

4.2.1 สถานประกอบกิจการต้องจ่ายค่าจ้าง และค่าตอบแทนการทำงานนอก หรือเกินเวลาทำงานปกติให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับประเทศที่ไม่มีการกำหนดอัตราค่าล่วงเวลา หรือไม่มีการกำหนดไว้ในข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ลูกจ้างจะต้องได้รับค่าล่วงเวลาในอัตราพิเศษ หรือเท่ากับอัตรามาตรฐานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ทั่วไปที่จะเป็นประโยชน์แก่ ลูกจ้างมากกว่า

4.2.2 สถานประกอบกิจการต้องจ่ายค่าจ้างเพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินตราของ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ลูกจ้างทำอยู่ โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของลูกจ้าง หรือจ่ายเป็นเงินสด ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง  ถ้าจะจ่ายเป็นตั๋วเงิน หรือเงินตราต่างประเทศ หรือด้วยวิธีอื่น ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน ทั้งนี้ให้จ่ายทันทีเมื่อถึงกำหนดการจ่ายแต่ละงวด และห่างกันงวดละไม่เกินหนึ่งเดือน

4.2.3 สถานประกอบกิจการต้องให้ลูกจ้างได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนและผล ประโยชน์ต่าง ๆ ในการทำงานที่ได้รับทั้งหมดในแต่ละงวดเป็นลายลักษณ์อักษร และสามารถเข้าใจ และซักถามรายละเอียดส่วนประกอบต่าง ๆ ได้

4.2.4 สถานประกอบกิจการต้องไม่หักค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนการทำงาน หรือเงินอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง ไม่ว่ากรณีใด ๆ เว้นแต่กฎหมายยกเว้นไว้ หรือได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง

4.2.5 สถานประกอบกิจการต้องปรับปรุง หรือทบทวนค่าจ้างประจำปีให้แก่ลูกจ้าง โดยพิจารณาจากผลการประกอบการ และผลการทำงานของลูกจ้าง

4.2.6 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีผลประโยชน์อื่น ๆ นอกเหนือค่าจ้าง หรือเงินค่าตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้าง อาทิ สวัสดิการต่าง ๆ ทั้งที่เป็นตัวเงิน และไม่เป็นตัวเงิน และต้องปรับปรุงและเพิ่มเติมผลประโยชน์ดังกล่าวแก่ลูกจ้างในระยะเวลาอัน สมควร หรือปรับปรุงเมื่อลูกจ้างหรือตัวแทนองค์การของลูกจ้างร้องขอ และเป็นไปตามผลการตกลงร่วมกันระหว่างสถานประกอบกิจการกับตัวแทนลูกจ้าง

4.3 ชั่วโมงการทำงาน และการทำงานล่วงเวลา (Working Hours and Overtime)

4.3.1 สถานประกอบกิจการต้องกำหนดชั่วโมงการทำงานปกติของลูกจ้างไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หรือไม่เกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง และจัดให้มีวันหยุดอย่างน้อย 2 วัน ทุก ๆ วันทำงานติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน หรือเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

สถาน ประกอบกิจการอาจกำหนดชั่วโมงการทำงานปกติของลูกจ้างไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หรือไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง และจัดให้มีวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน ของการทำงานติดต่อกันไม่เกิน 6 วัน โดยการอนุญาตของกฎหมาย หรือการอนุมัติจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบด้านแรงงาน หรือโดยการตกลงร่วมกันระหว่างสถานประกอบกิจการกับสหภาพแรงงาน หรือองค์การอื่นของลูกจ้าง ในกรณีไม่มีสหภาพแรงงาน

4.3.2 สถานประกอบกิจการต้องถือเป็นสิทธิของลูกจ้างในการทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุดสำหรับงานทั่วไป เว้นแต่งานที่กฎหมายยกเว้นไว้ โดยสถานประกอบกิจการต้องกำหนดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาและชั่วโมงการทำงานใน วันหยุดของลูกจ้างไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อเดือน หรือตามที่กฎหมายกำหนด

สถาน ประกอบกิจการอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุดเกินกว่า 48 ชั่วโมงต่อเดือน ได้ตามเหตุผลอันจำเป็น และต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน หรือตามที่กฎหมายกำหนด

4.3.3 สถานประกอบกิจการจะต้องแจ้งให้ลุกจ้างทราบถึงจำนวนวันหยุดตามประเพณี และวันหยุดแห่งชาติ และสิทธิการลาหยุดเพื่อลากิจ ลาป่วย และจำนวนวันลาพักผ่อนประจำปีของลูกจ้าง และให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนพิเศษหากลูกจ้างต้องทำงานในวันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดแห่งชาติ และในกรอบจำนวนวันลาพักผ่อนประจำปีดังกล่าว

4.4 การเลือกปฏิบัติ (Discrimination)

4.4.1 สถานประกอบกิจการต้องไม่กระทำ หรือสนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติต่อคนทำงานที่เป็นพลเมืองของประเทศสมาชิก ประชาคมอาเซียนหรือนอกประชาคมอาเซียนก็ดี  ในการจ้างงานการจ่ายค่าจ้างและค่าตอบแทน การทำงาน การให้สวัสดิการ โอกาสได้รับการฝึกอบรมและพัฒนา การพิจารณาเลื่อนขั้นหรือตำแหน่งหน้าที่ การเลิกจ้าง หรือการเกษียณอายุการทำงาน และอื่น ๆ อันเนื่องมาจากเหตุเพราะความแตกต่างในเรื่องสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา อายุ เพศ ทัศนคติส่วนตัวในเรื่องเพศ ความพิการ การตั้งครรภ์ การสมรส การมีบุตร การติดเชื้อเอชไอวี การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน การเป็นกรรมการลูกจ้าง ความนิยมในพรรคการเมือง หรือแนวความคิดส่วนบุคคลอื่น ๆ

4.4.2 สถานประกอบกิจการต้องไม่ขัดขวาง แทรกแซง หรือกระทำการใด ๆ ที่จะเป็นผลกระทบต่อการใช้สิทธิของลูกจ้างที่ไม่มีผลเสียหายต่อกิจการ ในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ประเพณีประจำชาติ ศาสนา เพศ ความพิการ การตั้งครรภ์ การสมรสและการมีบุตร การเป็นกรรมการลูกจ้าง การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือพรรคการเมือง และการแสดงออกตามทัศนคติส่วนบุคคลอื่น ๆ

4.4.3 การปฏิบัติใด ๆ เพื่อส่งเสริม หรือช่วยเหลือให้ลูกจ้างผู้เสียเปรียบ หรือถูกกีดกัน หรือถูกปิดกั้นโอกาสสามารถได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม และอย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

4.5 วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ (Discipline, Penalty and Grievance)

4.5.1 สถานประกอบกิจการต้องไม่ลงโทษทางวินัยโดยการหักหรือลดค่าจ้างและค่าตอบแทน การทำงานหรือเงินอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้จ่ายให้แก่ ลูกจ้าง

4.5.2 สถานประกอบกิจการต้องไม่กระทำการ หรือสนับสนุน ให้ใช้วิธีการลงโทษทางร่างกาย ทางจิตใจหรือกระทำการบังคับ ขู่เข็ญ ทำร้ายลูกจ้าง

4.5.3 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการร้องทุกข์ ที่ลูกจ้างสามารถร้องทุกข์ได้เมื่อมีปัญหา หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำงาน หรือการสั่งการของผู้บังคับบัญชา และประกาศให้ลูกจ้างทราบอย่างเปิดเผย

4.5.4 สถานประกอบกิจการต้องมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเพื่อมิให้ลูกจ้างถูก ล่วงเกินคุกคาม หรือได้รับความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ โดยการแสดงออกด้วยคำพูด ท่าทาง การสัมผัสทางกาย หรือด้วยวิธีการอื่นใดและต้องดำเนินการระงับ แก้ไข และเยียวยา โดยไม่ล่าช้าหากมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น

4.6 การใช้แรงงานเด็กและเยาวชน (Child Labour and Young Worker)

4.6.1 สถานประกอบกิจการต้องไม่ว่าจ้าง หรือสนับสนุนให้มีการว่าจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เว้นแต่การจ้างงานเบา ๆ ที่เป็นธุรกิจในครอบครัว และกำกับการทำงานโดยบิดามารดา หรือผู้ปกครองที่ถูกกฎหมาย

4.6.2 สถานประกอบกิจการสามารถจ้างแรงงานเยาวชน อายุ 15-18 ปี เข้าทำงานได้ โดยทำงานเบาและตามที่กฎหมายกำหนด

4.6.3 สถานประกอบกิจการต้องไม่จ้างงานที่เลวร้ายในทุกรูปแบบต่อแรงงานเด็ก หรือเยาวชนตามที่กฎหมายกำหนด

4.6.4 สถานประกอบกิจการต้องไม่ให้ หรือไม่สนับสนุนให้แรงงานเยาวชนทำงานเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยหรืออยู่ในสภาวะแวดล้อม และในระหว่างช่วงเวลาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัย รวมทั้งตรงกับช่วงเวลาที่ต้องเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนตามที่กฎหมายกำหนด

4.7 การใช้แรงงานหญิง (Female Worker)

4.7.1 สถานประกอบกิจการต้องไม่ให้ลูกจ้างหญิงทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือร่างกายตามที่กฎหมายกำหนด

4.7.2 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงาน หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยต่อการมีครรภ์ รวมทั้งต้องไม่เลิกจ้าง ลดตำแหน่ง หรือลดสิทธิประโยชน์เพราะเหตุจากการมีครรภ์

4.7.3 สถานประกอบกิจการต้องอนุญาตให้ลูกจ้างหญิงที่คลอดบุตร ได้ดูแลบุตร และรักษาพยาบาลตนเอง 90-180 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มอย่างน้อย 90 วัน และกรณีการแท้งบุตรโดยธรรมชาติ ให้ลูกจ้างหญิงได้รับสิทธิลาหยุดโดยได้รับค่าจ้างเต็มตามระยะเวลาที่แพทย์ ผู้ดูแลกำหนด แต่ไม่เกิน 30 วัน

ในกรณีที่ลูกจ้างลางานหลังคลอดบุตร นานเกินกว่า 90 วัน ลูกจ้างอาจได้รับค่าจ้างตามจำนวนที่ตกลงกับสถานประกอบกิจการ หรือตามที่กฎหมายกำหนด หรืออาจได้รับเงินส่วนเกินที่สถานประกอบกิจการไม่สามารถจ่ายให้ได้นั้นจาก กองทุนประกันสังคม หรือระบบการจ่ายเงินอื่นใดในความรับผิดชอบของรัฐบาล

ลูกจ้างชายมีสิทธิลากรณีอันเกี่ยวเนื่องกับการคลอดบุตรของภรรยา ทั้งก่อนหรือหลังคลอดได้อย่างน้อย 7 วันโดยได้รับค่าจ้าง

4.7.4 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้ลูกจ้างหญิงที่มีบุตรไม่เกิน 12 เดือนได้พักจากการทำงาน เพื่อป้อนนมบุตร หรือเก็บน้ำนม อย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน

4.8 แรงงานสัมพันธ์ (Industrial Relations)

4.8.1 สถานประกอบกิจการต้องเคารพสิทธิลูกจ้างในการรวมตัวจัดตั้ง หรือรวมตัวเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือคณะกรรมการอื่น ๆ ในสถานประกอบกิจการ อีกทั้งยอมรับการเป็นอิสระของสหภาพแรงงานในการร่วมเจรจาต่อรอง การคัดเลือก หรือเลือกตั้งผู้แทน โดยไม่กระทำการใด ๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขัดขวาง หรือแทรกแซงการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน หรือการใช้สิทธิของลูกจ้าง

4.8.2 หากการรวมตัวถูกจำกัดด้วยกฎหมาย จะต้องมีช่องทาง หรือได้รับการยินยอมจากนายจ้าง ในการให้ดำเนินการโดยวิธีอื่นที่แสดงออกถึงความมีสิทธิเสรีภาพของลูกจ้างได้

4.8.3 สถานประกอบกิจการต้องมีมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้แทนลูกจ้างในการ ปฏิบัติหน้าที่ ต่าง ๆ และต้องปฏิบัติต่อผู้แทนลูกจ้างโดยเท่าเทียมกับลูกจ้างอื่น ๆโดยไม่กลั่นแกล้ง โยกย้าย เลิกจ้าง หรือกระทำการใด ๆ ที่ไม่เป็นธรรม

4.8.4 สถานประกอบกิจการต้องปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้างที่เกิดจากการเจรจาต่อรอง ร่วมระหว่างผู้แทนสหภาพแรงงานกับสถานประกอบกิจการ และไม่เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง หรือข้อบังคับในการทำงานโดยไม่ได้เจรจาตกลงกับสหภาพแรงงาน หรือผู้แทนลูกจ้างโดยชอบตามกฎหมาย

4.8.5 กรณีที่เกิดข้อพิพาทแรงงานจากการยื่นข้อเรียกร้องและการเจรจาต่อรองร่วม ระหว่างผู้แทนสถานประกอบกิจการกับสหภาพแรงงาน หรือองค์การของลูกจ้าง ผู้ประกอบกิจการจะหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมาก และการปิดกิจการให้มากที่สุด

4.8.6 สถานประกอบกิจการต้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถานประกอบกิจการกับสหภาพ แรงงาน หรือองค์การอื่นใดของพนักงานในกรณีที่ไม่มีสหภาพแรงงาน ในการร่วมกันปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงาน อาทิ ในรูปคณะกรรมการความร่วมมือ การประชุมร่วมระหว่างผู้แทน         สถานประกอบกิจการกับสหภาพแรงงาน หรือองค์การของพนักงาน และการจัดกิจกรรมอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ

4.9 ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Occupational Safety, Health and Working Environment)

4.9.1 สถานประกอบกิจการต้องกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ครอบคลุมประเภทงาน หรือลักษณะงานที่มีแนวโน้มอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการควบคุม ป้องกัน ให้เป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัยในทุกสภาพแวดล้อมในการทำงาน

4.9.2 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตราย และลดปัจจัยเสี่ยงตามกฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัยที่ทางราชการกำหนด

4.9.3 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้ลูกจ้างทุกคน

1) ได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

2) ได้รับรู้และเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันอันตรายและอันตรายอันอาจเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงาน หรือจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน

3) ได้รับรู้ และเข้าใจถึงกฎระเบียบข้อบังคับ และคู่มือด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ

4) ได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในงานที่กำลังปฏิบัติอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่เข้าทำงานใหม่และผู้ที่เปลี่ยนหน้าที่

5) ได้ใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐาน และเหมาะสมกับลักษณะงาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

6) ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงาน หรือเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

7) ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยนอกเหนือการทำงาน โดยสมทบเงินเพื่อสิทธิประโยชน์ทางการประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด

4.10 ความมั่นคงทางสังคม และสวัสดิการ (Social Security and Welfares)

4.10.1 สถานประกอบการต้องจัดให้ลูกจ้างมีความมั่นคงทางสังคมที่ยั่งยืน อาทิ เข้าร่วมกองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ ระบบการจัดการทางการเงินแบบอื่น ๆ อาทิ สหกรณ์ออมทรัพย์ และเครดิตยูเนียน

4.10.2 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้ลูกจ้างทุกคนได้รับสวัสดิการโดยสะดวก และมีปริมาณเพียงพอกับผู้ใช้บริการ ในเรื่องต่อไปนี้

1) ห้องน้ำ และห้องส้วม ที่สะอาด ถูกสุขอนามัย

2) น้ำดื่มสะอาด ถูกสุขอนามัย

3) สิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาล และการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์

4) สถานที่รับประทานอาหาร และสถานที่สำหรับเก็บรักษาอาหารที่สะอาด

4.10.3 กรณีที่มีการจัดที่พักให้ลูกจ้าง สถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น มีความสะอาด ปลอดภัย มีระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัย และพร้อมที่จะใช้การได้อยู่เสมอ โดยคำนึงถึงจำนวนผู้พักต่อห้องตามขนาดห้อง และการแยกชายหญิงด้วย

4.10.4 กรณีนายจ้างเป็นผู้กำหนดให้ลูกจ้างใช้อุปกรณ์ในการทำงาน รวมถึงให้ลูกจ้างใส่ยูนิฟอร์ม นายจ้างต้องจัดหาอุปกรณ์การทำงานและยูนิฟอร์มให้ลูกจ้างให้เพียงพอ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

4.10.5 สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างเกินกว่า 50 คน ต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อน หรือเด็กก่อนวัยเรียน (อายุไม่เกิน 7 ปี) ในสถานประกอบกิจการ หรือบริเวณใกล้เคียง โดยลูกจ้างไม่เสียค่าใช้จ่ายในการใช้สถานที่และบริการ เพื่อให้ลูกจ้างนำบุตรมาฝากเลี้ยงในช่วงเวลาทำงานในแต่ละวัน หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้สถานประกอบกิจการจ่ายเงินชดเชยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามสมควรแก่ ลูกจ้าง ตามที่ตกลงกันกับลูกจ้างหรือองค์การของลูกจ้าง (หากมี)

สถาน ประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในบางพื้นที่หรือในบางประเภทกิจการ อาจไม่ต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อนหรือเด็กก่อนวัยเรียน เพราะเหตุสภาพแวดล้อมอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก ทั้งนี้ตามการอนุญาตของหน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบด้านแรงงาน โดยต้องจ่ายเงินชดเชยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามสมควรแก่ลูกจ้างตามที่ ตกลงกันกับลูกจ้างหรือองค์การของลูกจ้าง (หากมี)

4.11 ข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ (Information and Learning)

4.11.1 สถานประกอบกิจการต้องติดประกาศ หรือจัดให้ลูกจ้างทั่วไป และผู้แทนสหภาพแรงงาน หรือองค์กรของลูกจ้างได้ทราบ และสอบถามข้อสงสัยถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และข้อบังคับในการจ้างงานในสถานที่ที่เปิดเผย และเข้าถึงได้สะดวก

4.11.2 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้ผู้แทนลูกจ้างในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย อาทิ คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาการทำงานของคณะกรรมการเหล่านั้นอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง

4.12 ความรับผิดชอบต่อชุมชน และสังคม (Community and Social Responsibility)

4.12.1 สถานประกอบกิจการจะต้องจัดให้มีระบบการจัดการป้องกันไม่ให้เกิดมลภาวะจาก สถานประกอบกิจการสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ และพร้อมต่อการรับผิด และเยียวยาแก่ผู้เสียหาย หากมีมลภาวะอันไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดเกิดขึ้น

4.12.2 สถานประกอบกิจการจะต้องจัดให้มีกระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต และการจำหน่ายสินค้าที่ได้คุณภาพมีความโปร่งใส และรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ชุมชน และสังคม ให้ได้ใช้สินค้าหรือบริการของตนที่มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม สากลหรือตามที่กฎหมายกำหนด

4.12.3 สถานประกอบกิจการจะจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และการพัฒนาสังคม และจะให้ความร่วมมือ และส่งเสริมให้สหภาพแรงงาน หรือองค์การของลูกจ้างจัด หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและการพัฒนาสังคม

 

ขบวนการแรงงานไทยกับการยกระดับมาตรฐานแรงงานอาเซียน

สำหรับขบวนการแรงงานไทย ซึ่งมีวิวัฒนาการการเคลื่อนไหวมากว่า 100 ปีแล้วนั้น เมื่อวาระการสร้างสรรค์ประชาคมอาเซียนมาถึง อันจะเป็นสิ่งท้าทายต่อการร่วมรับผิดชอบและการสำแดงศักยภาพของขบวนการแรงงานไทยเป็นอย่างยิ่งในอนาคตด้วยนั้น ขบวนการแรงงานไทย ซึ่งประกอบด้วยสหภาพแรงงาน องค์การคนทำงานในรูปแบบอื่นๆ องค์การพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน พรรคการเมือง นักวิชาการ และเครือข่ายแรงงานต่างๆ เป็นต้น สมควรพิจารณาดำเนินการยกระดับมาตรฐานแรงงานสำหรับประชาคมอาเซียนดังต่อไปนี้

  1. เสริมสร้างความรู้สึกและความเป็นจริงที่สหภาพแรงงานและแรงงานทั้งมวลมีความเป็นเจ้าของมาตรฐานแรงงานที่จะใช้ร่วมกันในประชาคมอาเซียน โดยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยภายของขบวนการแรงงาน
  2. พิจารณาศึกษาและปรับปรุงร่างมาตรฐานแรงงานอาเซียนในบทความนี้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ให้การศึกษาแก่ผู้ทำงานอย่างทั่วถึง และขยายผลให้เกิดรูปธรรมของการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
  3. จัดตั้งกลไกความร่วมมือในขบวนการแรงงานเพื่อรับผิดชอบงานด้านมาตรฐานแรงงานสำหรับอาเซียน และทำงานประสานทั้งภายในและระหว่างประเทศ
  4. ติดตามการนำเอามาตรฐานแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆที่มีอยู่อย่างหลากหลายไปใช้อย่างเทียบเคียงระหว่างกันและสร้างสรรค์ให้เกิดความก้าวหน้าและได้ผลมากยิ่งขึ้น
  5. ดำเนินการควบคู่กับการส่งเสริมาตรฐานแรงงานในทางการค้า ด้วยการสนับสนุนให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศให้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอนุสัญญาหลัก 8 ฉบับเท่านั้น โดยควรรวมถึงอนุสัญญาเกี่ยวกับความมั่นคงทางสังคม สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน และแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น ด้วย
  6. ร่วมมือกับรัฐและขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคในการนำเอามาตรฐานแรงงานไปพิจารณาซื้อสินค้าและบริการของบริษัทหรือผู้ผลิตและให้บริการต่างๆที่เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่
  7. ส่งเสริมให้รัฐธรรมนูญไทยมีบทบัญญัติที่สนับสนุนต่อการยกระดับมาตรฐานแรงงานทั้งในประเทศและการร่วมมือระหว่างประเทศ อันมีประเด็นประชาธิปไตยในการทำงานรวมอยู่ด้วย

 

รัฐไทยกับการยกระดับมาตรฐานแรงงานอาเซียน

ในส่วนประเทศไทยในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียนซึ่งพัฒนามาเป็นประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน รัฐบาลไทยและหน่วยงานของรัฐจึงสมควรแสดงบทบาทนำในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานอันเป็นประชาชนที่เป็นกำลังสำคัญที่สุดในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยพิจารณาดำเนินการต่อไปนี้

  1. รัฐบาลไทยจำเป็นต้องใส่ใจต่อการยกระดับมาตรฐานแรงงานเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนของตนควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ โดยประกาศให้เป็นพันธผูกพันร่วมกับพันธกรณีกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อันรับรองโดยรัฐธรรมนูญและการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลูก และระเบียบกฎเกณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2. สมควรที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะปรับปรุงร่างมาตรฐานแรงงานอาเซียนที่นำเสนอ ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นไปอีก โดยการมีส่วนร่วมของผู้แทนองค์การต่าง ๆ ของฝ่ายผู้ประกอบกิจการ แรงงาน สถาบันการศึกษา องค์การพัฒนาเอกชน และ หน่วยงานราชการอื่น ๆ
  3. สมควรนำเสนอร่างมาตรฐานแรงงานอาเซียนให้ที่ประชุมรัฐบาลสมาชิกประชาคมอาเซียนรับรอง และ มีมติจัดตั้งกลไกการดำเนินงานสำคัญคือ คณะกรรมการมาตรฐานแรงงานแห่งอาเซียน และคณะกรรมการบริหารมาตรฐานแรงงานของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีผู้แทนของรัฐบาล ผู้ประกอบกิจการ แรงงาน เป็นองค์การหลัก และ การมีส่วนร่วมจากสถาบันการศึกษา และองค์การพัฒนาเอกชน    ในคณะกรรมการดังกล่าว
  4. มาตรฐานแรงงานอาเซียนควรใช้เป็นแบบบังคับแก่สถานประกอบกิจการในประชาคมอาเซียน   แต่อาจดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่อ่อนไหวต่อต้นทุนการผลิต แต่ในระยะเวลาที่ไม่นานเกินกว่า 5 ปี นับจากการเริ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการในสิ้นปี 2558 มาตรฐานแรงงานดังกล่าวควรได้รับการปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ในทุกสถานประกอบกิจการ
  5. ประชาคมอาเซียนสมควรมีมาตรการสนับสนุนให้มาตรฐานแรงงานอาเซียนเป็นจริง อาทิ การจัดตั้งสถาบันและกองทุนส่งเสริมมาตรฐานแรงงานอาเซียน เพื่อจะได้มีองค์การและเงินทุนสำหรับการส่งเสริมและประยุกต์มาตรฐานแรงงานอาเซียนสู่การปฏิบัติจริง และนำเงินส่วนหนึ่งของกองทุนมาให้รางวัล หรือใช้เพื่อจูงใจให้สถานประกอบกิจการ องค์การของแรงงาน องค์การพัฒนาเอกชน และหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานอาเซียนอย่างเต็มที่และในเชิงสร้างสรรค์ การส่งเสริมให้ขบวนการสหภาพแรงงาน และ ขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีกิจกรรมส่งเสริมมาตรฐานแรงงานอาเซียนต่อพลเมืองอาเซียนอย่างทั่วถึง รวมทั้งการส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับต่างๆ  ที่จะเกี่ยวข้องถึงกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานอพยพทั้ง 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 97 และ ฉบับที่ 143 เป็นต้น
  6. ประเทศไทยควรให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักที่ค้างอยู่ทั้ง 3 ฉบับคือ ฉบับที่ 87 (เสรีภาพ       ในการสมาคม) ฉบับที่98 (การนำหลักการเจรจาต่อรองร่วมไปปฏิบัติ) และ ฉบับที่111 (การเลือกปฏิบัติ) โดยเร็วเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม และทำให้สิทธิแรงงาน  ในบรรดาพลเมืองอาเซียนเป็นปัจจัยสนับสนุนการบรรลุวัตถุประสงค์อาเซียน และการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับประชาคมอาเซียนที่เต็มรูปแบบ โดยใส่ใจว่าประเทศสมาชิกอาเซียนถึง 3 ประเทศได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 8 ฉบับครบแล้วคือ ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ และกัมพูชา
  7. ในการเติมเต็มวัตถุประสงค์ต่างๆของประชาคมอาเซียน ประเทศไทยควรปรับปรุงกฎหมายแรงงาน และมาตรฐานแรงงานไทยในหลายประการให้ทันสมัยและได้มาตรฐานสากล โดยอย่างน้อยใช้ประโยชน์จากร่างมาตรฐานแรงงานอาเซียนที่พัฒนาขึ้นตามที่เสนอในบทความนี้ จากมาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม SA 8000 ฉบับล่าสุด ค.ศ. 2014 และจากกฎหมายแรงงานของประเทศสมาชิก ที่ก้าวหน้ากว่าประเทศไทย เป็นต้น และโดยประสานความร่วมมือจากผู้ประกอบการและขบวนการแรงงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นจริง

 

สรุป

การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอาเซียน อันเป็นการเติมเต็มวัตถุประสงค์การจัดตั้งประชาคมอาเซียนนั้น ในวิถีทางหนึ่งก็คือการอาศัยมาตรฐานแรงงานกลางสำหรับอาเซียน ที่พึงใช้ร่วมกันในสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ (ในปัจจุบัน)

ในส่วนของ (ร่าง) มาตรฐานแรงงานอาเซียน อันเป็นมาตรฐานกลางตัวอย่างเพื่อการค้าในเขตประชาคมเซียนและภายนอกประชาคมอาเซียนทั้ง 12 หัวข้อ (อันครอบคลุมถึง การใช้แรงงานบังคับและการจ้างแรงงาน ค่าตอบแทนการทำงาน ชั่วโมงการทำงาน และการทำงานล่วงเวลา การเลือกปฏิบัติ วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ การใช้แรงงานเด็กและเยาวชน การใช้แรงงานหญิง แรงงานสัมพันธ์ ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ความมั่นคงทางสังคม และสวัสดิการ ข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ และความรับผิดชอบต่อชุมชน และสังคม ตามข้อ 4.1 - 4.12) นั้น อย่างน้อยก็สามารถพัฒนาขึ้นได้จากมาตรฐานแรงงานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มาตรฐาน SA8000 และ กติกาอื่นๆ แต่จะสามารถนำไปใช้และยกระดับให้ก้าวหน้ามากขึ้นมากน้อยเพียงใดก็โดยการมีบทบาทของขบวนการแรงงานและรัฐเป็นสำคัญ

ในวาระการฉลองวันแรงงานสากลและวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2559 ข้าพเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสว่าความรู้สึกและความเป็นจริงที่สหภาพแรงงานและองค์ประกอบของขบวนการแรงงานทั้งมวล ซึ่งเป็นแกนกลางของอานิสงค์แห่งมาตรฐานแรงงาน ได้มีความเป็นเจ้าของมาตรฐานแรงงานที่จะใช้ร่วมกันในประชาคมอาเซียนพึงจะช่วยกันทำให้เกิดขึ้นอย่างสำคัญ และอย่างเป็นประชาธิปไตย อันจะช่วยให้มาตรฐานแรงงานกลางทางการค้าดำเนินไปควบคู่กับมาตรฐานแรงงานของ ILO ที่สมาชิกประชาคมอาเซียนมีพันธะผูกพันร่วมกัน และที่จะให้สัตยาบันและนำไปประยุกต์ในทางที่เป็นจริง การทำงานของขบวนการแรงงานร่วมกับขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคจึงสำคัญยิ่ง และรัฐเองก็พึงช่วยเสริมสร้างความร่วมมือจากผู้ประกอบการกับขบวนการแรงงานให้เกิดขึ้นในเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเพื่อสร้างสรรค์ประชาคมอาเซียนในที่สุดร่วมกันด้วย

 

อ้างอิง:

  1. ฉบับปรับปรุงหลังการจัดประชาพิจารณ์ของผู้แทนหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการ สหภาพแรงงาน และองค์การพัฒนาเอกชน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2557 โดยเนื้อหาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยในโครงการเสริมสร้างระบบมาตรฐานแรงงานสู่ประชาคมอาเซียน (2558) ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่ผู้เขียนเป็นที่ปรึกษา และขอขอบคุณกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานผู้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อการสร้างสรรค์งานให้กับประชาคมอาเซียนเป็นอย่างยิ่งไว้ ณ โอกาสนี้
  2. อ้างจากกฎบัตรอาเซียนฉบับครบรอบ 40 ปี ของการก่อตั้งประชาคมอาเซียน (พัฒนามาจากสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ณ ประเทศสิงคโปร์

 

เอกสารอ้างอิง (References)

  • กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน (2558) รายงานวิจัยโครงการเสริมสร้างระบบมาตรฐานแรงงานสู่ประชาคมอาเซียน.
  • โชคชัย สุทธาเวศ “มาตรฐานแรงงาน + การค้าโลก = การจูบปากกันของลัทธิสหภาพแรงงานกับทุนนิยม?” หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, วันที่ 27 มกราคม 2547, หน้า 3.
  • ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ค.ศ. 1948.
  • ปฏิญญาไตรภาคีว่าด้วยหลักการที่เกี่ยวข้องกับกิจการบรรษัทข้ามชาติ และนโยบายทางสังคมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ค.ศ. 2000.
  • ปฏิญญาว่าด้วยความยุติธรรมทางสังคมเพื่อโลกาภิวัตน์ที่เป็นธรรมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ค.ศ. 2008.
  • มาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพ (ISO 9001).
  • มาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม ISO 26000.
  • มาตรฐานแรงงานไทย (TLS.8001 - 2010).
  • มาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม SA 80000 (2014).
  • หลักปฏิบัติว่าด้วยผู้ป่วย HIV / AIDS ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ค.ศ. 2001.
  • อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29, 87, 98, 100, 105, 111, 135, 138, 155, 164, 177 และฉบับที่ 182 รวมถึงข้อแนะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 146 และ 164.
  • อนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979.
  • อนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989.

 

หมายเหตุ:

ชื่อบทความเดิม: การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอาเซียน: ข้อพิจารณาจากมาตรฐานแรงงานอาเซียน กับ บทบาทของขบวนการแรงงาน และรัฐ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.อักษรา ยันกระบวนการพูดคุยสันติสุขยังคงดำเนินการต่อไป

$
0
0

พูดคุยสันติภาพอืด นายกยังไม่เห็นด้วยกับทีโออาร์ สองฝ่ายยังลงนามไม่ได้ 'มาราปาตานี' เผยไม่มีการแตะเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ประยุทธ์ยันรัฐบาลมีเจตนาต้องการแก้ไขปัญหา ระบุเหตุต้องไปคุยที่ต่างประเทศ เพราะเจรจากับใครไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญตามกฏหมาย


29 เม.ย.2559 จากกรณี เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา บีบีซีไทยรายงานว่า อาบูฮาฟิส อัล ฮากีม แห่งกลุ่มมารา ปาตานี เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมกับทีมพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยเมื่อวานนี้ (27 เม.ย.) ว่า การพบปะกันหนนี้ที่ประชุมยังไม่ได้ตกลงเรื่องใดเป็นพิเศษ และไม่มีการร่วมลงนามในเอกสาร Term of reference (ทีโออาร์) หรือกติกาการพูดคุยอย่างที่คาดกันไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายไทยยังไม่พร้อมที่จะลงนาม โดยทีมไทยแจ้งกับที่ประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ลงนามในเอกสารดังกล่าวซึ่งผ่านการร่วมร่างระหว่างตัวแทนของกลุ่มมารา ปาตานี กับคณะพูดคุยฝ่ายไทย และฝ่ายมาราฯได้ให้ความเห็นชอบไปเมื่อหนึ่งเดือนที่แล้

ก่อนหน้านี้พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง อดีตเลขานุการคณะพูดคุยเปิดเผยว่า เอกสารนี้ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว และคาดว่าในการประชุมหนนี้ทั้งฝ่ายไทยและมาราฯคงจะเห็นชอบอย่างเป็นทางการและเริ่มพูดคุยในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญต่อไป โดยเรื่องที่อยู่ในหัวข้อก็คือเรื่องของการสร้างพื้นที่เขตปลอดภัยร่วมกันซึ่ง พล.ท.นักรบระบุก่อนหน้านี้ว่า จัดทำรายละเอียดข้อเสนอไว้เรียบร้อยแล้ว

อาบูฮาฟิสกล่าวผ่านเอกสารสรุปความคืบหน้าของการประชุมด้วยว่า ยังไม่ชัดเจนว่า ฝ่ายไทยต้องการจะกลับไปทบทวนร่างทีโออาร์เดิม หรือจะร่างใหม่ หรือว่าจะยกเลิกการพูดคุยทั้งหมด เมื่อไม่มีความคืบหน้าในเรื่องของการให้ความเห็นชอบกับทีโออาร์ ที่ประชุมก็ไม่ได้พูดคุยเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยตามที่ฝ่ายไทยเคยพูดไว้ว่าจะนำเสนอ 

นอกจากนั้นเอกสารสรุปความคืบหน้าผลการประชุมของอาบูฮาฟิสแห่งกลุ่มมารา ปาตานียังกล่าวด้วยถึงกรณีการปรับย้ายพล.ท.นักรบ ออกจากคณะกรรมการพูดคุยฝ่ายไทยว่า ฝ่ายมาราเองรู้สึกว่า พล.ท.นักรบเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการพูดคุย มีความรู้ในเรื่องกระบวนการสันติภาพ เป็นหัวหน้าคณะกรรมการชุดเล็กที่ร่วมยกร่างทีโออาร์ การที่พล.ท.นักรบ ไม่อยู่ในกระบวนการทำให้รับรู้ได้ถึงผลกระทบ และมารา ปาตานีเห็นว่า ตราบใดที่ไม่มีการรับรองทีโออาร์ กระบวนการไม่อาจข้ามไปถึงขั้นตอนอื่นเช่นไม่สามารถหารือเรื่องสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเรื่องอื่นๆได้ ขณะเดียวกันก็บอกว่า ไม่ว่าฝ่ายไทยมีเหตุผลใดในอันที่ยังไม่พร้อมลงนามในทีโออาร์ มารา ปาตานี ก็ยินดีจะให้เวลาฝ่ายไทยอย่างเต็มที่ และการลงนามในทีโออาร์จะเป็นเครื่องสะท้อนถึงความเต็มใจและยึดมั่นในการดำเนินกระบวนการสันติภาพของฝ่ายไทย
 

ประยุทธ์ยันรัฐบาลมีเจตนาต้องการแก้ไขปัญหา

ขณะที่วันนี้ (29 เม.ย.59) สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้และการพูดคุยสันติสุข ว่า อยากฝากเตือนไปยังสื่อบางสำนักที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาดังกล่าว โดยไม่มีความเข้าใจและข้อมูลที่ชัดเจนถึงด้านความมั่นคง ด้านกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อการแก้ปัญหา จึงขอให้นำเสนออย่างรอบคอบและคำนึงถึงความมั่นคงในประเทศ
 
“ยืนยันว่ารัฐบาลมีเจตนาต้องการแก้ไขปัญหา โดยต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งการแก้ปัญหา หากมีเจตนารมณ์ตรงกันก็สามารถแก้ปัญหาให้เสร็จไปได้ ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาด้วยว่าการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบผิดกฎหมายหรือไม่ รัฐบาลจึงไม่สามารถไปพูดคุยหรือเจรจาในประเทศได้เพราะขัดกับรัฐธรรมนูณ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า ขณะเดียวกันไม่สามารถรับข้อเสนอเรียกชื่อกลุ่มและการให้กำหนดการแก้ปัญหาไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลต้องดำเนินการอยู่แล้ว ยืนยันว่าในส่วนของการพัฒนา การอำนวยความยุติธรรม รัฐบาลจะดูแลให้อย่างเต็มที่
 
“ประเทศไทยเจรจากับผู้กระทำความผิดไม่ได้ เอากฎหมายมาว่ากัน กระบวนการยุติธรรมมาว่ากันตรงนั้น คณะพูดคุยจึงเอาเรื่องนี้ไปคุยกัน แล้วเขายอมรับได้หรือไม่ ถ้ายอมรับได้ก็กลับมา แต่ทำไมเราต้องไปยอมรับกติกาการเรียกชื่อกลุ่ม ก็ไม่เห็นมีใครสนใจ และมีกี่กลุ่มทราบหรือไม่ ทำไมต้องไปคุยที่ต่างประเทศ เพราะเจรจากับใครไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญตามกฏหมาย จึงต้องไปคุยที่ต่างประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์  กล่าว
 

พล.อ.อักษรา ยันกระบวนการพูดคุยสันติสุขยังคงดำเนินการต่อไป

สำนักข่าวไทยยังรายงานถึงคำชี้แจงของ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ด้วย โดย พล.ท.อักษรา กล่าวว่า กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินการต่อไป และยังคงอยู่ในกรอบนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในระยะของการสร้างความไว้วางใจที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ และไม่ได้หยุดชะงักแบบที่สื่อมวลชนบางสำนักและนักวิเคราะห์บางคนเข้าใจ โดยมีความพยายามนำไปเชื่อมโยงกับ พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุยฯ ที่รับพระราชทานยศสูงขึ้น และปรับย้ายตามวาระ ทั้ง ๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ก็ได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับผู้แทนส่วนราชการอื่น ๆ ที่ส่งมาร่วมเป็นคณะพูดคุยรวม 8 หน่วยงาน และในห้วงนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนตามวาระกันหลายคน แต่ที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการพูดคุยฯ ยังคงเดินหน้าต่อไปตามปกติ และเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมาคณะได้เดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้เห็นต่าง หรือ Party B แล้ว โดยตนได้ฝากความปรารถนาดีของนายกรัฐมนตรี และขอบคุณที่ทุกฝ่ายยังคงร่วมกันพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง ให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่ต่อไป
 
“​ทั้งนี้มีเรื่องเดียวที่ฝ่ายเราและฝ่ายผู้เห็นต่าง ยังมองไม่ตรงกันคือ ผมตั้งคณะทำงานเทคนิคให้ไปช่วยกันกำหนดพื้นที่ปลอดภัย เพื่อสร้างความไว้วางใจกับประชาชน แต่ทางฝ่ายผู้เห็นต่างอยากได้บันทึกข้อตกลงร่วม เหมือนกับที่ผมเคยเรียนแล้วว่าเขาไม่มีสถานะอะไร ในขณะที่ฝ่ายเรามีคำสั่งสำนักนายกฯ ชัดเจน  ผมจึงเรียนว่าสมควรพิสูจน์ความไว้วางใจกันก่อน เพราะบันทึกข้อตกลงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ ถ้าหากยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ สังคมจะไม่ไว้ใจกระบวนการพูดคุย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องยุติความรุนแรงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งให้ได้ก่อน แล้วจึงมาร่วมกันจัดทำข้อตกลงให้ครอบคลุมการปฏิบัติในห้วงเวลาของระยะการสร้างความไว้วางใจ” พล.อ.อักษรา กล่าว
 
พล.อ.อักษรา กล่าวด้วยว่า ​สิ่งที่เราพยายามดำเนินการคือความพยายามแยกกลุ่มผู้เห็นต่าง ที่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ออกจากขบวนการผิดกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งกลุ่มผู้เห็นต่างก็มีความเข้าใจ คือ เมื่อไว้ใจแล้วก็จะเกิดความร่วมมือในการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันต่อไป ส่วนบันทึกข้อตกลงที่ดำเนินการมาแล้ว ฝ่ายเราจะได้ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปตรวจดูถ้อยคำไม่ให้ขัดแย้งต่อกฎหมายและกติกาสากล โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติจะนำเรียนให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน
 
“ขอให้มั่นใจว่าการพูดคุยเพื่อสันติสุขมิได้หยุดชะงักลงอย่างที่นักวิเคราะห์บางท่านได้ให้ความเห็นไว้ ยืนยันยังคงเดินหน้าต่อไปเหมือนเดิม” พล.อ.อักษรา กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ‘เลือกตั้งในสถานประกอบการ’ ทางออกเสียงแรงงานย้ายถิ่นไม่สูญหาย

$
0
0


นับตั้งแต่มีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตามมาด้วยการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานจากภาคการเกษตรจากต่างจังหวัด เพื่อเข้ามาหางานทำในเขตเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งโดยส่วนมากตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ในห้วงเวลาที่มีการจัดการเลือกตั้ง ภาพที่พบเห็นจนชินตาคือภาพการเดินทางกลับถิ่นฐานของแรงงานอพยพจากต่างจังหวัดจำนวนมากเพื่อกลับไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านที่แต่ละคนมีชื่อสังกัดอยู่

ปัจจุบัน ในความเป็นจริงแรงงานผลัดถิ่นจำนวนมากใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตพวกเขาอยู่ภายในบริเวณสถานประกอบการมากกว่าในภูมิลำเนาที่แท้จริงของตน การที่ต้องเดินทางกลับไปเลือกตั้งตามภูมิลำเนาเดิมจึงได้ไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของพื้นที่อย่างแท้จริง และทำให้การแก้ปัญหา การจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ทั้งการเสนอข้อเรียกร้องเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาก็เป็นไปได้ยาก จึงมีกลุ่มขบวนการแรงงานหลายกลุ่มพยายามเสนอแนวคิด ‘เลือกตั้งในสถานประกอบการ’ โดยเป็นแนวคิดที่ให้แรงงานเหล่านี้สามารถลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนในเขตของสถานประกอบการได้ เพื่อทำให้คะแนนเสียงเหล่านั้นยึดโยงกับชีวิตแรงงานมากขึ้น โดยจะทำให้แรงงานสามารถมีข้อเรียกร้องต่อผู้แทนในพื้นที่นั้นๆ และสามารถผลักดันให้แก้ไขปัญหาในชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาได้

ปัญหาการเข้าถึงการมีส่วนรวมทางการเมืองของแรงงานย้ายถิ่น

สถานะทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แรงงานย้ายถิ่นไม่สามารถมีทะเบียนบ้านในพื้นที่ที่ตนทำงานอยู่ได้ เนื่องด้วยที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ราคาสูง แรงงานส่วนใหญ่ต้องพักอาศัยอยู่ตามหอพักหรือบ้านพักต่างๆ แทน อีกทั้งยังติดปัญหาระบบทะเบียนที่ไม่รองรับให้แรงงานสามารถเข้ามาสังกัดทะเบียนบ้านในสถานประกอบการได้ ซึ่งแตกต่างจากอาชีพอื่นๆ เช่น ทหารที่จะถูกโอนทะเบียนเข้ามายังหน่วยที่ทหารนายนั้นสังกัดอยู่

ถึงแม้รัฐจะมีระบบทะเบียนบ้านกลางที่เปิดให้ประชาชนโอนทะเบียนเข้ามาอยู่ในสังกัดในที่ว่าการจังหวัดหรืออำเภอได้ แต่การนำชื่อเข้าไปสังกัดในระบบทะเบียนบ้านกลางจะไม่ถูกบรรจุเข้าไปในบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง อีกทั้งทัศนคติที่ยึดโยงตัวเองกับชนบทและมองว่าจะอาศัยอยู่ในเมืองเพียงชั่วคราวก็เป็นอีกแรงผลักหนึ่งที่ทำให้แรงงานจำนวนมากไม่ต้องการย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาในเขตที่ตนทำงานอยู่

สดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง มองว่าควรจะต้องมีการแก้ไขระเบียบข้อปฏิบัติให้แรงงานสามารถย้ายภูมิลำเนาเข้ามาสังกัดทะเบียนบ้านในสถานประกอบได้ ไปจนถึงผลักดันให้มีการบรรจุสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการลงไปในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา

“ถ้ากฎหมายนี้ออกมาจะมีการตั้งพรรคเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานโดยตรงมากขึ้น ในตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานหรือนักการเมืองคนไทยสนใจผลักดันเรื่องนี้ ถ้ามันจะเกิดได้จริงก็คงจะมาจากการเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานเองเท่านั้น”

อุตสาหกรรมขยาย เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานมากขึ้น

ทำไมสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการจึงมีความสำคัญ นั่นก็เพราะว่านอกจากมันจะส่งผลให้เกิดการต่อรองของแรงงานแล้ว ยังเป็นการทำให้สิทธิทางการเมืองของประชาชนจำนวนมากถูกเคลื่อนย้าย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการเมืองในเชิงพื้นที่ ทำให้พรรคการเมืองต้องปรับเปลี่ยนวิธีการหาเสียงให้สอดคล้องกับการลงคะแนนเสียงที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะตอบโจทย์รูปแบบการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานที่กำลังดำรงอยู่

ท่ามกลางกระแสการพัฒนาประเทศที่มีทิศทางเน้นไปทางภาคอุสาหกรรม ทำให้ภาคเกษตรของไทยหดตัวเล็กลง ตามมาด้วยการเคลื่อนย้ายของแรงงานในภาคการเกษตรมาสู่ภาคอุสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากรายงาน ‘ประชากรแฝงจากการสำรวจสำมะโนประชากร’ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2553 ซึ่งสำรวรจกันทุกๆ สิบปี เผยว่ามีประชากรที่เข้ามาอาศัยอยู่โดยไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนของกรุงเทพมหานคร (ประชากรแฝง) จำนวนถึง 3,061,583 คน (เฉพาะคนไทย) ซึ่งคิดร้อยละ 36.3 จากจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 8,302,901 คน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากวิทยาลัยสหวิทยาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองจากทิศทางการพัฒนาประเทศดังกล่าวว่า มีแนวโน้มจะทำให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมในลักษณะเดียวกับจังหวัดปทุมธานีหรือสมุทรปราการกระจายออกไปทั่วประเทศไทย เนื่องจากตัวเมืองกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมหลักของประเทศจะไม่สามารถรองรับการขยายตัวของอุสาหกรรมได้อีก เห็นได้จากการที่รัฐบาลในปัจจุบันต้องการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษตามจังหวัดต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุสาหกรรม 

ตัวเลขจากกรมโรงงานอุตสาหรรม ระบุว่าจำนวนแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการจดทะเบียนในกรุงเทพมหานครมีประมาณ 549,182 คน หากเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดให้มีผู้แทนราษฎรในระบบแบ่งเขตจำนวน 400 คน โดยคิดจากฐานที่ว่าผู้แทนราษฎร 1 คนต่อประชากร 200,000 คน จากสัดส่วนดังกล่าวแรงงานเหล่านี้ในกรุงเทพมหานครสามารถจะมีตัวแทนราษฎรอย่างน้อย 2 คน

เปลี่ยนการเมืองแบบ ‘ผูกติดพื้นที่’ สู่ ‘นโยบายสาธารณะ’

จากสถานการณ์การอพยพย้ายถิ่นของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน การมีสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองที่ ‘ผูกติดกับพื้นที่’ ที่ผ่านมาพรรคการเมืองหลายพรรคพัฒนามาจากการเมืองที่ผูกติดกับพื้นที่ โดยใช้ระบบหัวคะแนนเพื่อคุมคะแนนเสียงในแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันประชากรมีการเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ผูกติดอยู่กับพื้นที่มากดังเก่าอีกต่อไป จึงทำให้ระบบหัวคะแนนแบบเดิมไม่สามารถควบคุมคะแนนเสียงในพื้นที่ได้ การเมืองในระดับพื้นที่จะอยู่กับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ขณะที่การเมืองในระดับพรรคการเมืองจะต้องปรับตัวให้เข้ากับชีวิตคนในปัจจุบันให้มากขึ้น

“การเมืองในเชิงพื้นที่จะเริ่มไม่ตอบสนองความต้องการของคนได้จริง การหาเสียงของพรรคการเมืองถ้าหากมีการเลือกตั้งในสถานประกอบการจะเป็นการหาเสียงที่พูดถึงนโยบายมากขึ้น เช่น เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ มากกว่านโยบายในเชิงพื้นที่อย่างการสร้างถนน สร้างโรงเรียน ในระยะที่ผ่านมาก็เริ่มมีพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จกับการใช้นโยบายสาธารณะในการหาเสียง เพราะพรรคการเมืองถ้าไม่ปรับตัวให้เข้ากับชีวิตคนจริงๆ มันก็มีปัญหา” ษัษฐรัมย์ กล่าว

ษัษฐรัมย์ยังมองว่าท่ามกลางการเคลื่อนย้ายของประชากรจำนวนมากนั้น สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็ควรจะเคลื่อนย้ายตามไปด้วย โดยได้ยกตัวอย่างสิทธิในการรักษาพยาบาลที่ปัจจุบันประชาชนสามารถโอนย้ายสิทธิ์การรักษาพยาบาลต่างๆ เช่น สิทธิ์บัตรทองหรือสิทธิ์ประกันสังคมมายังสถานพยาบาลที่ตนสะดวกได้ การที่แรงงานสามารถโอนย้ายสิทธิทางการเมืองของพวกเขามายังบริเวณที่ตนทำงานอยู่ได้ โดยเฉพาะในเมืองอุสาหกรรมที่มี ‘เศรษฐกิจเข้มข้น’ จะทำให้มีการต่อรองผลประโยชน์ของแรงงานที่เข้มข้นตามไปด้วยและการต่อรองนั้นจะถูกพัฒนาให้เป็นข้อต่อรองที่แหลมคมมากขึ้น

“ข้อต่อรองเหล่านั้นก็จะแหลมคมมากขึ้นตามไปด้วย จากที่เคยเป็นการเรียกร้องการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานจะพัฒนาเป็นข้อเรียกร้องเชิงนโยบายสาธารณะ หากการเลือกตั้งในสถานประกอบการเกิดขึ้นจริง ผมว่าจะเป็นแค่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้นที่จะเห็นภาพนายทุนที่มีอิทธิพลสามารถคุมคะแนนเสียงของแรงงานได้ แต่ไม่นานเราจะเห็นภาพของตัวแทนสหภาพแรงงานต่างๆ ที่พัฒนาเป็นพรรคที่เสนอตัวว่าเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มแรงงาน” ษัษฐรัมย์กล่าว

ผู้ใช้แรงงานเสียงแตก ไร้อำนาจต่อรอง ดันระบบเลือกตั้งใหม่สร้างตัวแทนในสภา

หลักการเรื่องสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการถูกหยิบยกขึ้นมาเรียกร้องอย่างจริงจัง ในช่วงปี  2550 ในรูปแบบของข้อเรียกร้องของฝ่ายขบวนการแรงงานกลุ่มต่างๆ จนสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบกลายเป็นข้อเรียกที่ถูกนำมาเสนอบ่อยครั้งในการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานในไทย ล่าสุด ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของข้อเรียกร้องของสหกรณ์คนงาน Try Arm เนื่องในวันสตรีสากลที่ผ่านมา

โดยใจความหลักของสิทธิต้องการให้แรงงานสามารถเลือกที่จะกลับภูมิลำเนาไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามทะเบียนบ้านที่สังกัดอยู่หรือสามารถเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตพื้นที่สถานประกอบการที่ตนทำงานอยู่ได้ เพื่อจะทำให้แรงงานสามารถต่อรองกับผู้แทนในพื้นที่ให้แก้ปัญหาของพวกเขาได้โดยตรง ซึ่งในทางปฏิบัติมีการเสนอวิธีการหลายรูปแบบ ทั้งให้มีระบบให้แรงงานสามารถย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาสังกัดในในสถานประกอบการได้หรือให้ใช้ที่อยู่ตามสิทธิ์ประกันสังคมในการกำหนดเขตในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

จิตรา คชเดช นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม และผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM หนึ่งในคนที่ร่วมผลักดันประเด็นสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการร่วมกับกลุ่มสมัชชาผู้ใช้แรงงาน 1550 และในนามกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM มองว่า ความสำคัญของสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการจะเป็นกลไกที่จะทำให้เสียงของผู้ใช้แรงงานเข้าไปมีพลังในการเมืองระบบรัฐสภาได้ โดยมองจากการที่โรงงานขนาดใหญ่บางแห่งในกรุงเทพมีจำนวนแรงงานกว่า 1 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนนิยมสูงสุดในหลายเขต พบว่ามีคะแนนเพียงหลักหมื่นคะแนนเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคะแนนเสียงจากกลุ่มแรงงานมีนัยสำคัญต่อผลการเลือกตั้ง การมีตัวแทนของแรงงานเข้าไปในสภาจะช่วยให้แรงงานสามารถรวมกลุ่มต่อรองกับรัฐและนำไปสู่การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของพวกเขาได้

“ปัจจุบันพวกเขาไม่สามารถใช้เสียงของเขาต่อรองกับผู้แทนที่เขาเลือกได้เลย ถ้าเกิดเขาถูกเลิกจ้าง ถูกปิดโรงงาน ส.ส. ในพื้นที่ก็ไม่ได้สนใจเพราะคุณไม่ได้เป็นฐานเสียงของเขา ในทางกลับกันถ้าพวกเขาไปเรียกร้องกับ ส.ส. ในภูมิลำเนาของเขาก็ลำบากเพราะเสียงมีน้อย มันไม่ใช่เสียงรวมกลุ่มที่สร้างอำนาจการต่อรองได้ มันกลายเป็นเสียงที่ไม่มีพลัง เพราะเสียงมันถูกแยก มันจึงเป็นปัญหาว่าจะทำยังไงให้แรงงานมีเสียงอย่างแท้จริง” จิตรากล่าว

เชื่อผลักดันยาก ขัดประโยชน์หลายฝ่าย

สิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่สังคมไทย  โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาการผลักดันยังจำกัดอยู่เพียงแค่ขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานและเป็นเพียงข้อเสนอขององค์กรแรงงานต่อรัฐบาลแต่ละชุดเท่านั้น ยังไม่มีการพัฒนาไปสู่รูปธรรม

จิตรามีความเห็นว่าการผลักดัน สิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการให้บังคับใช้ได้จริง ในปัจจุบันยังมีความเป็นไปได้ยาก  เพราะหากมีการเลือกตั้งในสถานประกอบการจะทำให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองอย่างมาก การที่แรงงานสามารถมีอำนาจต่อรองได้จะทำให้กลุ่มนายทุนเสียประโยชน์ทั้งยังทำให้รัฐบาลควบคุมแรงงานได้ยาก ส่วนนักการเมืองจำเป็นต้องทำงานกับแรงงานมากขึ้น อีกทั้งบรรยากาศทางการเมืองไทยที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต้องการผลักดัน

วันแรงงาน 1 พฤษภาคมนี้ คงจะเป็นอีกครั้งที่สิทธิเลือกตั้งสถานประกอบการจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อเรียกร้องของขบวนการณ์แรงงาน เหมือนเช่นกับวันแรงงานในทุกๆ ปีที่ผ่านมา  แต่สิทธิดังกล่าวก็ยังเป็นเพียงข้อเรียกร้องข้อหนึ่งในอีกหลายๆ ข้อเท่านั้น ยิ่งในวันแรงานปีนี้ที่สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่เป็นใจ อย่าว่าแต่การมีสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการเลย ลำพังการเลือกตั้งทั่วไปเองก็ยังไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธานพูโลยอมรับการพูดคุยสันติสุขอยู่ในขั้นเริ่มต้นมากๆ - หลังฝ่ายไทยยังไม่รับ TOR

$
0
0

กัสตูรี มะโกตา ประธานพูโล ออกแถลงการณ์เปิดเผยว่าการพูดคุยล่าสุดกับรัฐบาลไทยเมื่อ 27 เม.ย. ไม่มีความคืบหน้า หลังฝ่ายไทยไม่ให้คำตอบเรื่อง TOR หรือกรอบกติกาการพูดคุย เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังไม่อนุมัติ โดยเขาระบุว่าหากผ่านเรื่อง TOR แล้ว จึงจะเริ่มพูดคุยในประเด็นหัวข้ออื่นเพื่อหาทางออกทางการเมือง

30 เม.ย. 2559 กรณีที่อาบูฮาฟิส อัล ฮากีม แห่งกลุ่มมารา ปาตานี เปิดเผยเมื่อ28 เม.ย. ถึงผลการประชุมร่วมกับทีมพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยเมื่อ 27 เม.ย. ว่า การพบปะกันหนนี้ที่ประชุมยังไม่ได้ตกลงเรื่องใดเป็นพิเศษ และไม่มีการร่วมลงนามในเอกสาร Term of reference (TOR) หรือกติกาการพูดคุยอย่างที่คาดกันไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายไทยยังไม่พร้อมที่จะลงนาม โดยทีมไทยแจ้งกับที่ประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ลงนามในเอกสารดังกล่าวซึ่งผ่านการร่วมร่างระหว่างตัวแทนของกลุ่มมารา ปาตานี กับคณะพูดคุยฝ่ายไทย และฝ่ายมารา ปาตานี ได้ให้ความเห็นชอบไปเมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ต่อเรื่องนี้ กัสตูรี มะโกตา ประธานองค์กรปลดปล่อยสหปาตานี หรือ กลุ่มพูโล (PULO) หนึ่งในคณะเจรจาของมารา ปาตานี ได้ออกแถลงการณ์เป็นภาษามลายูภายหลังการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยและมารา ปาตานีเมื่อ 27 เมษายน โดยประชาไทแปลเป็นภาษาไทยจากฉบับแปลภาษาอังกฤษของนักวิชาการชาวญี่ปุ่น ฮารา ชินทาโร

โดยในแถลงการณ์ กัสตูรี มะโกตา ระบุว่า "การพูดคุยเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา เป็นการเจรจารอบที่ 4 ระหว่างรัฐบาลไทย และมารา ปาตานี ซึ่งต่อเนื่องจากการประชุมคราวก่อน แต่ไม่ประสบผลอันใด

การพูดคุยเจรจาระหว่างรัฐบาลไทย และมารา ปาตานี ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ประเด็นที่มีความสำคัญยังไม่มีการพูดถึง มันเหมือนกับเรากำลังพูดถึงเงื่อนไขของการละหมาด และเรายังไม่เข้าสู่แท่นเพื่อละหมาดด้วยซ้ำ สิ่งที่พูดคุยกันในการเจรจายังเป็นเรื่องพื้นฐาน

การพูดคุยก่อนหน้านี้ คณะเจรจาของรัฐบาลไทยนำโดย พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง และคณะของมารา ปาตานี นำโดยสุกรี ฮารี มีการเจรจาเรื่องของขอบเขตการเจรจา หรือ TOR โดยเป็นการพูดคุยในระดับคณะทำงาน และทางออกหลังการพูดคุยควรจะนำไปสู่การหารือในระดับที่สูงกว่าคือการเจรจาในวันที่ 27 เมษายน แต่สิ่งที่ถูกหารือในการพูดคุยก่อนหน้านี้ ไม่ได้รับการรับรองในการพูดคุยครั้งล่าสุดนี้

สิ่งที่พวกเขาหารือกันในการประชุมคือสิ่งที่เรียกว่า 'TOR' ซึ่งมีบางหัวข้อที่ได้รับความเห็นชอบ และนอกนั้นก็ไม่ได้รับความเห็นชอบ สิ่งที่เห็นชอบเช่น การให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกสำหรับกระบวนการเจรจา มาเลเซียเป็นสถานที่เจรจา มาเลเซียควรบันทึกเอกสารในสิ่งที่ได้รับความเห็นชอบ และมาเลเซียควรจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการประชุม และจำนวนผู้แทนของคู่เจรจาแต่ละฝ่าย

แต่มีหัวข้ออื่นที่ฝ่ายสยามไม่เห็นชอบ เช่น เรื่องแรก การรับรอง มารา ปาตานี ซึ่งสิ่งนี้มีความจำเป็นเพื่อที่รัฐบาลไทยจะไม่เจรจากับกลุ่มอื่นนอกจากมารา ปาตานี ทั้งนี้ มารา ปาตานี กังวลว่ารัฐบาลไทยจะหารือกับคนอื่นมากกว่ามารา ปาตานี เรื่องที่สองก็คือคณะเจรจาของมารา ปาตานี ควรได้รับความคุ้มครอง (immunity) สิ่งนี้มีความจำเป็นเพราะมีเพื่อนเราจำนวนมากถูกจับในขณะที่พวกเขากำลังหารือกับรัฐบาลไทย เช่น ฮัจจี อิสมาอิล ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ในการพูดคุยเมื่อ 27 เมษายน ฝ่ายไทยได้ขอเลื่อนการให้คำตอบ เนื่องจากพวกเขายังไม่ได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่จุดยืนของมารา ปาตานี ชัดเจนว่า ตราบที่ข้อเรียกร้องของมารา ปาตานี 3 ข้อ ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทย (หมายถึง 1.กำหนดให้การพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องแม้เปลี่ยนรัฐบาล  2.ยอมรับองค์กร มารา ปาตานี ว่าไม่ใช่กลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ และเป็นองค์กรที่อยู่บนโต๊ะเจรจา 3.ให้การคุ้มครองทางกฎหมายกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของ มารา ปาตานี จำนวน 15 คน เพื่อให้สามารถเดินหน้าการพูดคุยอย่างเป็นรูปธรรม) จะไม่มีการเจรจาในเรื่องอื่น

ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยู่ในขั้นเริ่มต้นมากๆ เรายังไม่ได้ไปสู่ขั้นตอนที่จะตัดสินใจว่าเราจะเจรจาภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่ นั่นก็เป็นกฎหนึ่ง แต่เรายังไม่ไปถึงขั้นนั้น เรามีความจำเป็นต้องตัดสินใจในเรื่องกฎพื้นฐานอย่าง TOR หลังจากนั้นเราถึงจะตัดสินใจในกฎสำหรับการพูดคุยในอนาคต อย่างเช่น สิ่งใดบ้างที่เราจะพูดถึง และสิ่งใดบ้างที่จะขยายความ แต่เรายังอยู่ห่างไกลจากสิ่งนี้มาก ดังนั้น หลังจากขอบเขตการเจรจาหรือ TOR ได้รับความเห็นชอบ หลังจากนั้นเราจึงจะพูดคุยถึงทางออกทางการเมืองต่อความขัดแย้งนี้

ผมขอเรียกร้องต่อพวกท่านว่าอย่าเพิ่งอยู่ในความรีบเร่ง และให้ความไว้วางใจของพวกท่านมายังเพื่อนของเราในมารา ปาตานี หากเราสามารถดำเนินการเจรจาต่อไปได้ พวกเราก็จะไม่ทำให้พวกท่านผิดหวัง" แถลงการณ์ของกัสตูรี ระบุ

อนึ่ง มีคำชี้แจงของ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ด้วย โดย พล.ท.อักษรา กล่าวว่า กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินการต่อไป และยังคงอยู่ในกรอบนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในระยะของการสร้างความไว้วางใจที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ และไม่ได้หยุดชะงักแบบที่สื่อมวลชนบางสำนักและนักวิเคราะห์บางคนเข้าใจ

ส่วน พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะพูดคุย ได้รับพระราชทานยศสูงขึ้น และปรับย้ายตามวาระ ทั้งนี้หัวหน้าคณะพูดคุยก็ได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับผู้แทนส่วนราชการอื่น ๆ ที่ส่งมาร่วมเป็นคณะพูดคุยรวม 8 หน่วยงาน และในห้วงนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนตามวาระกันหลายคน ที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการพูดคุยฯ ยังคงเดินหน้าต่อไปตามปกติ และเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมาคณะได้เดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้เห็นต่าง หรือ Party B แล้ว โดยตนได้ฝากความปรารถนาดีของนายกรัฐมนตรี และขอบคุณที่ทุกฝ่ายยังคงร่วมกันพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง ให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่ต่อไป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์ระบุแรงงานส่วนใหญ่เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

$
0
0
กรุงเทพโพลล์ระบุแรงงานส่วนใหญ่เห็นด้วยหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ชี้ผ่าน 3 ปีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทไม่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่วนใหญ่จากบ้านเกิดเพราะมีงานให้เลือกทำน้อย

 
 
30 เม.ย. 2559 เนื่องในวันที่ 1 พฤษภาคมที่จะถึงนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ผ่าน 3 ปี นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ชีวิตแรงงานวันนี้เป็นอย่างไร” โดยเก็บข้อมูลจากแรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,127 คน เมื่อวันที่ 25 - 28  เมษายนที่ผ่านมา พบว่า 
 
ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 73.6 ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่ร้อยละ 26.4 มีภูมิลำเนาอยู่ ทั้งนี้เมื่อถามถึงสาเหตุที่ผู้ใช้แรงงานไม่ทำงานในภูมิลำเนาที่เกิดพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.3 ระบุว่ามีงานให้เลือกน้อย รองลงมาร้อยละ 31.3 ระบุว่า ในกทม. และปริมณฑลมีสวัสดิการดีกว่า และร้อยละ 29.7 ระบุว่า มีการเปิดรับคนเข้าทำงานน้อยกว่า 
 
สำหรับความกังวล กับสถานการณ์การแย่งงานจากแรงงานต่างด้าว หลังเปิดประชาคมอาเซียนในปีนี้พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 65.7 ไม่กังวล เพราะแรงงานไทยมีทักษะฝีมือที่ดีกว่า ขณะที่ร้อยละ 34.3  กังวล เพราะแรงงานต่างด้าวสู้งาน และอดทนทำงานได้ดีกว่า   
 
เมื่อถามความเห็นว่าหลังจากไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเลยเป็นระยะเวลา 3 ปี  ควรมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 89.3 เห็นว่าควรขึ้น โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 79.6 อยากให้ขึ้นทั่วประเทศ ส่วนร้อยละ 9.7 อยากให้ขึ้นเฉพาะบางพื้นที่ เช่น พื้นที่เศรษฐกิจ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ขณะที่ร้อยละ 10.7 เห็นว่าไม่ควรขึ้นเพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี จะทำให้ข้าวของแพงขึ้นค่าครองชีพสูงขึ้น
 
เมื่อถามต่อว่ากังวลมากน้อยเพียงใดต่อความเสี่ยงที่จะตกงาน หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 300 บาท ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.0  กังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 33.0 กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
 
สุดท้ายเมื่อถามว่าหลังจากได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.5 มีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิม (เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจปี 2556 ร้อยละ 4.6) ขณะที่ร้อยละ 30.6 มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น (ลดลงร้อยละ 13.6) ส่วนร้อยละ 18.9 มีชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรระหว่างประเทศเรียกร้องปล่อยตัว 'สมยศ พฤกษาเกษมสุข' หลังครบรอบ 5 ปีที่ถูกจับกุม

$
0
0
องค์กรระหว่างประเทศประณามการควบคุมตัวอย่างต่อเนื่องและโดยพลการที่กระทำต่อนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องทางการไทยให้ปล่อยตัวเขาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข หลังครบรอบ 5 ปีที่ถูกจับกุม

 
 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข (แฟ้มภาพประชาไท)
 
ในโอกาสวันครบรอบห้าปีการจับกุมนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข องค์กรระหว่างประเทศตามรายชื่อแนบท้ายขอประณามการควบคุมตัวอย่างต่อเนื่องและโดยพลการที่กระทำต่อนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องทางการไทยให้ปล่อยตัวเขาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
 
ปัจจุบัน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อายุ 54 ปี ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยอยู่ระหว่างโทษจำคุก 10 ปีภายหลังศาลตัดสินว่า เขามีความผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของไทยที่บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึง 15 ปี” ทั้งนี้โดยรวมถึงโทษจำคุกอีกหนึ่งปีในข้อหาหมิ่นประมาท แต่ก่อนหน้านี้มีการรอลงอาญาไว้
 
หน่วยงานกำกับดูแลด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายแห่งได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการควบคุมตัวนายสมยศ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention - WGAD) ยืนยันในความเห็นที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2555 ว่า การควบคุมตัวนายสมยศเป็นการกระทำโดยพลการ คณะทำงานฯ ยังเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวและให้ชดเชยค่าเสียหายแก่นายสมยศด้วย
 
นายสมยศเป็นอดีตนักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงานและบรรณาธิการนิตยสาร เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ห้าวันหลังจากที่เขาเริ่มการรณรงค์เพื่อรวบรวม 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อมาในวันที่ 23 มกราคม 2556 ศาลอาญากรุงเทพพิพากษาลงโทษให้จำคุกเขาเป็นระยะเวลา 10 ปีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยแยกเป็นสองกระทง ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่นายสมยศอนุญาตให้ตีพิมพ์บทความล้อเลียนสองชิ้นในนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งเขาเป็นบรรณาธิการในขณะนั้น แต่บุคคลอื่นเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าว ซึ่งทางการไทยเห็นว่าเป็นการหมิ่นพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลอาญากรุงเทพให้ลงโทษนายสมยศในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยก่อนหน้านั้นศาลอุทธรณ์ไม่ได้แจ้งให้นายสมยศ ทนายความและครอบครัวทราบถึงกำหนดนัดหมายว่าจะมีการอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 นายสมยศยื่นคำร้องขออุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกา
 
การตัดสินลงโทษและการควบคุมตัวนายสมยศ ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทยซึ่งเป็นรัฐภาคี ในข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ได้กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้รวมถึงสิทธิที่จะมี “เสรีภาพที่จะแสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท”
 
ในความเห็นอย่างเป็นทางการต่อกติกาข้อ 19 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามข้อบทของกติกา ICCPR ของรัฐภาคีต่างๆ ยืนยันว่า “บุคคลสาธารณะทั้งปวง รวมทั้งบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดอย่างเช่นประมุขของรัฐและผู้นำรัฐบาล ต่างเป็นบุคคลที่ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกค้านทางการเมืองได้อย่างชอบธรรม” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยังแสดงความกังวลเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และระบุว่า “การคุมขังไม่ใช่โทษที่เหมาะสม” สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท
 
ในวันที่ 23 กันยายน 2557 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Office of the High Commissioner for Human Rights - OHCHR) แสดงความผิดหวังต่อคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษายืนให้นายสมยศมีความผิด ต่อมาในวันที่ 11 สิงหาคม 2558 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้กระตุ้นให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีเนื้อหา “กำกวมและกว้างเกินไป" เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกคุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกโดยทันที
 
ทางองค์กรที่ร่วมลงชื่อแนบท้ายยังประณามข้อบกพร่องและความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อนายสมยศ และการที่ศาลปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวเขา ที่ผ่านมานายสมยศยื่นคำร้องขอประกันตัวถึง 16 ครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ รวมถึงการยื่นขอประกันตัวครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557
 
นายสมยศเป็นหนึ่งในจำเลยเพียงไม่กี่คนในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งตัดสินใจอุทธรณ์คำตัดสินจนถึงศาลฎีกา นายสมยศยืนยันว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่รับสารภาพตามข้อกล่าวหา ทั้งนี้เนื่องจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยมีอัตราโทษสูงมาก จำเลยส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะรับสารภาพเพื่อให้ได้รับโทษจำคุกลดลง และเพื่อให้สามารถยื่นคำร้องขอพระราชทานอภัยโทษได้
 
องค์กรที่ร่วมลงชื่อในที่นี้เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยุติการคุกคามนายสมยศโดยทันที และให้ปล่อยตัวเขากลับไปอยู่กับภรรยาและครอบครัว นอกจากนี้ ทางองค์กรในที่นี้ยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้จ่ายค่าชดเชยอย่างเหมาะสมให้กับนายสมยศ และให้เขาได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผลเนื่องจากการควบคุมตัวโดยพลการครั้งนี้
 
ลงนามโดย:
 
1. Amnesty International
2. Article 19
3. ASEAN Parliamentarians for Human Rights
4. Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA)
5. Civil Rights Defenders
6. Clean Clothes Campaign
7. Committee to Protect Journalists
8. FIDH - International Federation for Human Rights
9. Fortify Rights
10. Front Line Defenders
11. Human Rights Watch
12. International Commission of Jurists (ICJ)
13. Lawyers’ Rights Watch Canada
14. PEN International
15. Reporters SansFrontières / Reporters Without Borders
16. World Organization Against Torture (OMCT)
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อควรพิจารณาในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559

$
0
0

เมื่อใกล้ถึงวันแรงงานก็มีเสียงเรียกร้องจากตัวแทนภาคแรงงานขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ(ตามสัญญา)อีกแล้วครับคำถามก็คือถึงเวลาที่ค่าจ้างของลูกจ้างเอกชนหลังจากแช่แข็งมาแล้ว 3 ปีควรจะขึ้นได้หรือยัง ที่จริงคงยังจำกันได้ว่าคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 2556 หลังจากทดลองขึ้นเฉพาะ 7 จังหวัดที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีเมื่อกลางปี 2555 โดยขอแช่แข็งค่าจ้างขั้นต่ำ ไปอีก 3ปีแต่ถึงแม้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่ค่าจ้างของแรงงานก็ยังเพิ่มอยู่ดีตามการขึ้นค่าจ้างประจำปี เช่น

จากข้อมูลการสำรวจการมีงานทำของประชากรไตรมาส 3 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าค่าจ้างเฉลี่ยจะยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะช่วงปี 2556 ถึง 2557 เพิ่มขึ้นถึง 11.5% สำหรับแรงงานโดยทุกกลุ่มอายุขณะที่แรงงานวัย 20-24 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานทำงานได้ไม่นาน เงินเดือนเพิ่มขึ้น 9.7%เช่นกัน สาเหตุที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงทั้งแรงงานโดยรวมและแรงงานใหม่ ก็เนื่องจากสถานประกอบการจำนวนมากยังขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้แรงงานแรกเข้ายังไม่ครบ จึงทยอยปรับขึ้นค่าจ้างค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาค่าจ้างเฉลี่ยของปี 2557 ถึง 2558 หลังสิ้นสุดข้อตกลงแช่แข็งค่าจ้างขั้นต่ำจะพบว่าค่าจ้างกลับมาสะท้อนความเป็นจริงของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผลก็คือ ในภาพรวมทุกอายุค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 1.7% และกลุ่มแรงงานใหม่อายุ 20-24 ปี เพิ่มขึ้นเพียง 0.7% เท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาจากกลุ่มอายุ 15-19 ปี บางส่วนยังทำงานไม่เต็มที่ตามกฎหมาย ทำให้ค่าจ้างรายวันเฉลี่ยยังต่ำกว่า 300 บาท เนื่องจากใช้เงินเดือนหารด้วย 26 วันเหมือนกับกลุ่มอายุอื่นๆ

สิ่งที่พอจะเห็นได้จากข้อมูลชุดนี้คือ ค่าจ้างปี 2556-57 ยังเพิ่มขึ้นถึง 8.3% เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มอายุอื่นๆ แม้แต่ปี 2557-58 อัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามกติกาเดิมคือ จะไม่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจนกว่าจะถึงปี 2559 อย่างไรก็ตาม วันแรงงานปี 2558 จนถึงปลายปี 2558 กลุ่มตัวแทนสหภาพทางเลือกเคยขอให้ขึ้นค่าจ้างเป็น 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ตามเงื่อนไขเดิมตั้งแต่ต้นปี 2559 แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลผ่านคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติเมื่อต้นปี 2559 ขอให้ชะลอการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานแรกเข้า เนื่องจากสาเหตุหลักๆ มาจากสภาพทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการส่งออกและการขยายตัวของ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำ กำลังผลิตด้านอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 60% เศษเท่านั้นเป็นต้น (ดูตารางที่ 1 ประกอบ)

 

ตารางที่ 1   ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างเอกชน

ค่าจ้างของลูกจ้างเอกชน

รวมทุกอายุ

บาท/เดือน

บาท/วัน

Y-O-Y (%)

2556

10,539

418

11.5

2557

11,755

452

1.7

2558

11,956

460

 

อายุ 20-24 ปี

2556

8,363

321

-

2557

9,153

352

9.4

2558

9,221

355

0.7

อายุ 15-19 ปี

2556

6,511

250

-

2557

7,052

271

8.3

2558

7,075

272

0.3

ที่มา: NSO การสำรวจการมีงานทำของประชากรไตรมาส3

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 มีข้อเสนอจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ควรพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-7% แต่ให้ขึ้นไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่

จากเหตุผลดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องพิจารณากันอย่างจริงจังว่าถึงเวลาที่ต้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือยังโดยต้องพิจารณาปัจจัยด้านบวกและด้านลบให้รอบคอบก่อนจะพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้ง ดังนี้

 

ปัจจัยด้านบวก

ปัจจัยด้านลบ

1. แรงงานมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น กระตุ้นการบริโภคลูกจ้างเอกชน (เป็นไปตามสัญญาที่ทางราชการรับปากว่าจะรับพิจารณาเมื่อครบ 3 ปี)อาจจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมถ้านายจ้างรับได้

1. เป็นภาระของนายจ้างถึงแม้แรงงานแรกเข้าอาจจะยังไม่มากเนื่องจากการผลิตชะลอตัว แต่จะมีผลกระทบต่อต้นทุนค่าแรงงานของแรงงานเดิมพอควรที่ต้องขึ้นหนีไปด้วย

- กระทบความสามารถในการแข่งขันของนายจ้างที่อยู่ในธุรกิจส่งออกซึ่งขีดความสามารถค่อนข้างต่ำ

- กระทบ microenterprisesซึ่งยังปรับตัวไม่ได้บางส่วนยังมีอยู่อาจจะต้องปิดกิจการ

2. อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจนถึงติดลบการขึ้นค่าจ้างจึงไม่กระทบเงินเฟ้อ

3. ชดเชยค่าครองชีพ ซึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี ถึงแม้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำถูก แช่แข็งอยู่ถึง 3 ปี (ประเด็นอยู่ที่ว่าค่าจ้างขึ้นเฉลี่ย 19% ในปี 2556 ประมาณ20% ใน 2557 และ 9.4% ในปี 2558 ได้ชดเชยค่าจ้างที่เคยตาม productivity ไม่ทัน ในช่วงก่อนที่จะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทไปหรือยัง คำตอบ น่าจะชดเชยไปแล้วและยังเผื่อการแช่แข็งค่าจ้าง 2-3 ปีที่ผ่านมาไปแล้วอีกด้วย

2. ราคาสินค้าอุปโภค/บริโภค ที่อยู่นอกข่ายควบคุมของรัฐอาจจะเพิ่มมากขึ้น(เพียงได้ข่าวว่าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ)และไม่มีใครจะแก้ปัญหาการฉวยโอกาสนี้ได้จนถึงทุกวันนี้

 

4. อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำคงเดือดร้อนไม่มากถ้าจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

3. อาจจะมีผลส่งต่อไปถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ถ้าขึ้นค่าจ้างเท่ากันทุกจังหวัด

 

4. เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงถดถอยกำลังจะฟื้นตัวให้เวลาอีกหน่อยก็น่าจะเกิดผลดีในระยะยาว

 

5. เราช่วยคนที่เป็นแรงงานในระบบ 9 ล้านคน แต่ผลกระทบไปถึงแรงงานนอกระบบจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน ต้องพลอยรับกรรมกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามไปด้วย

 

6. ผู้ประกอบการที่แข็งแรงขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากๆอาจจะเป็นการเร่งให้มีการย้ายฐานการผลิตเร็วขึ้น

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อพิจารณาจากข้อดีข้อเสียข้างต้นก็พอจะตัดสินใจได้ว่า

1.     สำหรับปี 2559เห็นด้วยบางส่วนกับข้อเสนอของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่จะให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 5-7% แต่ไม่ขึ้นทั่วประเทศ กล่าวคือเห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่ผู้เขียนต้องการให้ขึ้นเพียง 7 จังหวัดที่เคยขึ้นไปเมื่อกลางปี 2555 ก่อนเช่น 15 บาท แล้วอาศัยข้อมูลของการสำรวจของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน (คณะกรรมการค่าจ้าง) พิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดที่มีค่าครองชีพสูง เช่น จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของต่างชาติมากๆ นอกเหนือจาก “ภูเก็ต” เช่น พัทยา (ชลบุรี) และเชียงใหม่ เป็นต้นให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามค่าครองชีพได้แต่ต้องปรึกษาคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดด้วย

2.     สำหรับปี 2560 คณะกรรมการค่าจ้างก็พิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปเลยโดยอัตโนมัติจากฐานค่าจ้างเดิมของปี 2559 เช่นจังหวัดมุกดาหารมีดัชนีค่าครองชีพ 3% จากฐาน 300 บาทค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ก็คือ 309 บาท

3.     สถานประกอบการตั้งแต่ ขนาดกลางและใหญ่ทุกแห่งกฎหมายต้องบังคับให้มีโครงสร้างค่าจ้างตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไปเพื่อมิให้สถานประกอบการเอาเปรียบลูกจ้างโดยอาศัยค่าจ้างขั้นต่ำเป็นบรรทัดฐานในการขึ้นค่าจ้างประจำปี

ข้อเสนอที่กล่าวมามีเจตนารมณ์แต่เพียงต้องการให้พิจารณาปัจจัยแวดล้อมตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำให้ครบถ้วนรอบคอบทุกคนทราบดีว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่บนพื้นฐานของไตรภาคีซึ่งถ้าไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกทุกฝ่ายเจรจาอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เชื่อถือได้เหมือนกันเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกันรับรองได้ว่าปี 2559 ตกลงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำได้แน่นอน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลทหารอนุญาตฝากขัง 'บุรินทร์' คดี ม.112-พ.ร.บ.คอม

$
0
0
ศาลทหารอนุญาตฝากขัง 12 วัน 'บุรินทร์' คดี ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ เจ้าตัวให้การปฏิเสธ ด้านทนายระบุจะทำเรื่องยื่นขอประกันตัวต่อในช่วงสัปดาห์หน้า

 
 
ภาพเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารบุกจับกุมนายบุรินทร์ไปจากสน.พญาไท เมื่อวันี่ 27 เม.ย. 2559 (ที่มาภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
 
 
30 เม.ย. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งข่าวว่าที่ศาลทหารกรุงเทพ  พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) นำตัวนายบุรินทร์ อินติน หนึ่งในผู้ชุมนุม “ยืนเฉยๆ” กับกลุ่มพลเมืองโต้กลับเมื่อวันที่ 27 เม.ย. และถูกจับกุมดำเนินคดีต่อในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มายื่นคำร้องขออำนาจศาลทหารในการฝากขัง เนื่องจากยังต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมในสำนวนคดี

ต่อมา ศาลทหารได้อนุญาตในการฝากขังผู้ต้องหาเป็นเวลา 12 วัน นายบุรินทร์จึงได้ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยทางทนายความจะทำเรื่องยื่นขอประกันตัวในช่วงอาทิตย์หน้าต่อไป

นายบุรินทร์ ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปสน.พญาไท ร่วมกับผู้ชุมนุมอีก 15 คน ระหว่างการชุมนุมใส่เสื้อขาว “ยืนเฉยๆ” ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 8 แอดมินเพจการเมือง ในช่วงเย็นวันที่ 27 เม.ย. ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้าควบคุมตัวไปจากสน.พญาไท ในเวลาประมาณ 20.40 น. ระหว่างที่พนักงานสอบสวนยังสอบประวัติผู้ชุมนุมอยู่ โดยถูกนำตัวขึ้นรถตู้ของกองพันทหารสื่อสารที่ 2 รักษาพระองค์ออกไป หลังจากนั้นไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่นำตัวไปควบคุมไว้ที่ใด (ดูประมวลเหตุการณ์จับกุมผู้ชุมนุมยืนเฉยๆ)

ก่อนที่วานนี้ (29 เม.ย.) รองผู้กำกับการปอท. ได้เดินทางไปขออำนาจศาลทหารในการออกหมายจับนายบุรินทร์ ในข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) จากนั้นเวลาประมาณ 16.30 น. พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายเสนาธิการผู้บังคับบัญชา คณะทำงานพิเศษฝ่ายกฎหมาย ของคสช. จึงได้นำตัวนายบุรินทร์ ไปที่บก.ปอท. ตามหมายจับของศาลทหาร

ทนายเบญจรัตน์ มีเทียม ซึ่งเดินทางไปร่วมในระหว่างการสอบปากคำผู้ต้องหาในเวลาประมาณ 21.00 น. ของวานนี้ ระบุว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากข้อความในเฟซบุ๊กจำนวน 2 ข้อความ โดยเบื้องต้น นายบุรินทร์ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ส่วนรายละเอียดอื่นๆ จะไปให้การในชั้นศาลต่อไป

ด้าน พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนวานนี้ว่าทหารติดตามเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อ “Burin Intin” ซึ่งโพสต์ข้อความลักษณะต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาลและคสช. รวมทั้งมีการแชทพูดคุยกับบุคคลอื่นโดยมีข้อความเข้าข่ายมาตรา 112 และมีการตอบความคิดเห็นของบุคคลอื่นท้ายคลิปวิดีโอของตนเอง ในลักษณะเข้าข่ายมาตรา 112  หลังจากจับกุม ได้ขยายผลตรวจค้นร้านที่นาย บุรินทร์อาศัยอยู่ ก่อนจะมีการตรวจยึดซีพียูคอมพิวเตอร์ 3 เครื่อง และขันแดง 1 ใบ

เบื้องต้น ทราบว่านายบุรินทร์ประกอบอาชีพเป็นช่างเชื่อมอยู่ย่านคลองเตย เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ในฐานะมวลชน แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มใดโดยตรง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผอ.สำนักสันติวิธีพระปกเกล้า ระบุจับกุมนักกิจกรรมไม่กระทบการทำประชามติ

$
0
0
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลสถาบันพระปกเกล้า ระบุการออกหลักเกณฑ์ทำได้-ไม่ได้ ของ กกต. เพื่อไม่ให้มีการแสดงความเห็นชักจูง-ชี้นำ ขณะที่การจับกุมผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองจะไม่กระทบการทำประชามติ เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองผ่านจุดที่สูงสุดไปแล้ว ชี้ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรต่างประเทศสังเกตการณ์การทำประชามติ

 
30 เม.ย. 2559 สำนักข่าวไทยรายงานว่าพล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และอดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ความเห็นถึง ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ ว่า การออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจน ว่าสิ่งใดที่สามารถทำได้หรือทำไม่ได้ ในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติ ที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติแล้ว แต่ประชาชนก็ยังไม่เข้าใจความชัดเจนทั้งหมด
 
“ผมมองว่า การออกกฎหมายและหลักเกณฑ์ต่างๆ ก็เพื่อไม่ให้ฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มต่างๆ แสดงความเห็นที่เป็นการชักจูง หรือชี้นำให้ประชาชนลงคะแนนอย่างใด อย่างหนึ่ง แต่เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้เรียนรู้ ทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ และตัดสินใจด้วยตนเอง” พล.อ.เอกชัย กล่าว
 
พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า ทุกคนต้องเข้าใจว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และไม่ใช่สถานการณ์ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังนั้นการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง และเป็นอิสระนั้น ไม่สามารถทำได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา และในอนาคตหากประเทศอยู่ในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้ว ก็สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ตามปกติ
 
ส่วนที่กลุ่มการเมืองต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้ พล.อ.เอกชัย มองว่า เป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ เพื่อให้สังคมเห็นว่า แต่ละกลุ่มยังมีบทบาท และยังมีตัวตนอยู่ ขณะที่ ฝ่ายความมั่นคงจับกุมผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบขั้นตอนการทำประชามติ เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองผ่านจุดที่สูงสุดไปแล้ว
 
“ถือว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายของรัฐบาล เชื่อว่า หลายฝ่ายจะเข้าใจ รวมถึง จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำประชามติในสายตานานาชาติ เพราะทุกครั้งที่มีเวทีการประชุมนานาชาติ ก็เชิญนายกรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วม ถือเป็นการให้เกียรตินายกรัฐมนตรีของไทย “ พล.อ.เอกชัย กล่าว
 
พล.อ.เอกชัย ยังกล่าวว่า การทำประชามติ ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ เพราะไทยยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตย และต่างชาติต้องเข้าใจบริบทของไทย ที่ต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย หากองค์กรต่างชาติเข้ามา จะนำเอาประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ทำให้เกิดความไม่เข้าใจในการทำประชามติของไทยได้ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์เผยแก้ปัญหาแล้ว 2.6 ล้านเรื่อง-จะปฏิรูปถึง ก.ค.60 จากนั้นจะฝากยุทธศาสตร์ 20 ปี

$
0
0

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ จะอยู่ปฏิรูปตามโรดแมปถึงกรกฎาคม 2560 หลังจากนั้นจะวางพื้นฐานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สำหรับรัฐบาลใหม่ ที่ผ่านมารัฐบาลปฏิบัติ 3 ด้านคือความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา และยังสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ ในขณะที่ศูนย์ดำรงธรรมแก้ปัญหาไปแล้ว 2 ล้าน 6 แสนเรื่อง

30 เม.ย. 2559 เว็บไซต์รัฐบาลไทยรายงานว่า ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวานนี้ (29 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวตอบคำถามพิธีกรที่ถามว่า "เหตุผลหนึ่งของการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลและ คสช. คือการสร้างความมั่นคงและการปฏิรูปประเทศท่านนายกฯ มีวาระในการดำเนินงานอย่างไร เพราะว่าในการปฏิรูปบางเรื่องไม่ได้สั้น หรือทำง่าย หรือเสร็จสิ้นภายในปีสองปี ท่านนายกฯ วางแผนเรื่องนี้อย่างไรบ้าง"

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า "ตั้งแต่เข้ามา ผมได้เรียนไปแล้วว่าผมมีโรดแมปของผม ก็คิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร อันที่ 1. คือขจัดความขัดแย้ง แก้ปัญหาเดิม ๆ ที่มันซ้ำซ้อนกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ไอเคโอ้ ไอยูยู ประมง อะไรเหล่านี้ คิดก็แก้ไปด้วย ขณะเดียวกัน ต้องมีการบริหารราชการแผ่นดินในเชิงบูรณาการ คือว่าเอากลุ่มงานที่มันเกี่ยวข้องหลายกระทรวง หลายหน่วยงานมาทำพร้อมกัน ก็ทำมาตลอดจนถึงวันนี้ ก็เป็นงานที่หนักพอสมควร แต่ไม่เป็นไร

​คราวนี้เราก็มามองว่า สมมติว่าเราอยู่ตามโรดแมปคือสองปีโดยประมาณถึงปี 60 ​

​ระยะที่ 1 เราจะสิ้นสุดปฏิรูปคือ กรกฎาคม 2560 ตามโรดแมป

​จากนั้น รัฐบาลใหม่ เราก็จะวางพื้นฐานไว้ให้ คือยุทธศาสตร์ชาติ 2560-2579 20 ปีเพราะเรามุ่งถึงอนาคตเยาวชนอายุ 20 โน้นเราต้องมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ก็จะเริ่ม 60-64 จะเริ่มปฏิบัติตั้งแต่ ต.ค. 59"

ในส่วนของสิ่งที่ได้ปฏิบัติไปแล้ว 3 ด้าน คือความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยานั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า นอกจาก 3 ด้านแล้ว อยากให้เพิ่มด้านการต่างประเทศไปด้วย เพราะจะมีส่วนในการสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือกับต่างประเทศไปด้วย เป็นด้านสาขาของเศรษฐกิจไง ความมั่นคงต้องร่วมมือในทุกมิติอยู่แล้ว ผมจึงให้ความสำคัญในด้านต่างประเทศด้วย​จริง ๆ แล้วสำคัญทุกอัน มากกว่านี้อีก ก็ทำทุกเรื่อง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ศูนย์ดำรงธรรม ที่ตั้งมาแล้วเราให้บริการมากกว่า 2 ล้าน 6 แสนเรื่อง เสร็จร้อยละ 97

ส่วนการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด “เชิงรุก” ด้วยแผนปฏิบัติการแม่โขงปลอดภัยระยะเวลา 3 ปี พ.ศ. 2559-2561 ร่วมกับชาติพันธมิตร 5 ประเทศ ได้แก่ พม่า + ลาว + กัมพูชา + เวียดนาม + จีน ทำลายตั้งแต่แหล่งผลิต / ตัดวงจรสารตั้งต้น / ตัดเส้นทางลำเลียง ฯลฯ ในส่วนของประชาชนก็ต้อง ป้องกัน ป้องปราม ฟื้นฟู ให้เขารักตัวเอง อย่าไปเสพเลย ยาเสพติดไม่เกิดประโยชน์ สุขภาพก็แย่ เงินทองก็หมดไปไม่เป็นประโยชน์

ส่วนเรื่องอื่นๆ ได้แก่ (1) เรื่องของการปฏิรูปกองทัพ + ตำรวจ ทหาร หรืออะไรก็แล้วแต่ ความจริงเขาก็มีแผนอยู่แล้ว จะ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี ซึ่งอยู่ในแผนของฝ่ายความมั่นคงเค้า วันหลังจะนำเรียนให้ทราบต่อไป (2) เรื่องของการปรับกำลัง ปรับหน่วยงาน ให้เกิดการบูรณาการมากขึ้น กองทัพเข้มแข็ง มีขนาดเล็กลง ก็ต้องมีพัฒนาการในเรื่องของเทคโนโลยีการใช้ยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ถึงจะลดคนได้ และอย่างที่เรียนไปแล้วว่า บางครั้งเรามองอย่างต่างประเทศ อาจจะยังไม่ค่อยได้มากนัก เพราะว่าเรายังมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งด้วยอะไรด้วย และเครื่องมือก็ราคาแพง วันนี้เรายังซื้อไม่ได้หลายอย่าง เมื่อซื้อไม่ได้ก็ต้องใช้คน ใช้ตา ใช้มือ ใช้แรงใจ แรงกายของทุกคน ช่วยกันทุ่มเท ให้ประเทศ

เพราะฉะนั้นเรื่องการปฏิรูปกองทัพ และตำรวจ อย่ากังวลผมเข้าใจดี เราต้องไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ถ้าไม่มีทหาร ไม่มีตำรวจเลยคงอยู่ไม่ได้ ทุกประเทศในโลกอยู่ไม่ได้หมด เขามีทหารทั้งหมด ต้องเข้มแข็ง ไม่ได้มีไว้เพื่อรบ มีไว้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และดูแลเรื่องเศรษฐกิจ จะได้มีน้ำหนักมากขึ้น

เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราได้มีการตั้งคณะพูดคุยสันติภาพ มีการพูดคุยมาหลายครั้งแล้ว ก็มีความก้าวหน้า ตามลำดับ คราวนี้ไม่อยากใช้สิ่งเหล่านี้มาเป็นตัวกำหนดว่าจะเสร็จเมื่อไหร่อย่างไร ก็อยากจะขอให้เข้าใจด้วยไม่ว่าจะสื่อหรือประชาชน เราทำไมจะไม่อยากให้มันจบ เพราะเราเสียดายชีวิตพ่อแม่พี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งคนไทยพุทธ ไทยมุสลิม แล้วก็เจ้าหน้าที่ทุกคนมีครอบครัว มีลูกหลาน ก็ไม่อยากให้ใครบาดเจ็บสูญเสียทั้งสิ้น เสียเวลา เสียโอกาส เสียเวลามากมาย ทหารก็ได้กลับบ้าน เหลือแต่ทหารในพื้นที่ได้ไหม ถ้ามันสงบลงแล้ว ก็เหมือนจังหวัดอื่น ๆ เราต้องเอากำลังไปเติม เพราะดูแลไม่ทั่วถึง ขอร้องแล้วกัน ฝากไปพวกที่ก่อเหตุต่าง ๆ ขอให้เลิก เรากลับมาเป็นคนไทย ร่วมกันพัฒนาชาติไทยด้วยกันดีกว่า เราจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ โอกาสของภาคใต้มากมาย

หลังจากนั้นพิธีกรถามเรื่องมิติของทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า ด้านเศรษฐกิจเราต้องสร้างความเข้มแข็ง มีอยู่ 2 ประการเป็นคำที่อาจจะต้องให้ความเข้าใจและก็คุ้นเคย อันแรกก็คือความเข้มแข็งของประเทศ อันที่สองคือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เหล่านี้เป็นเครื่องจักรของประเทศเราที่จะทำให้เรากินดีอยู่ดีมีการลงทุนมีการประกอบการ ทุกคนมีอาชีพ มีรายได้ที่เพียงพอเหมาะสม เพราะฉะนั้นในเรื่องของ...แรก เรื่องแรกของการจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นก็ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศให้ได้ สร้างความมีเสถียรภาพเพื่อจะเรียกกลับความเชื่อมั่นฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากสถานการณ์ความไม่สงบทั้งหมดในประเทศภายในช่วงที่ผ่านมาหลายปีมาแล้ว แล้วก็ก่อนปี 57 วันนี้หลายอย่างดีขึ้น ต้องขอขอบคุณทุกคน ประชาชนทุกคน ทุกพวกทุกฝ่าย หลักการสำคัญคือเราใช้หลักการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมานำในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจก็คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันที่สองคือกลไกประชารัฐ

เราก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เป็น “เครื่องมือ” เพิ่มเติมมาอีก ได้แก่ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ที่เราตั้งมาแล้ว เรียกว่า กรอ. แก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ มีส่วนกลาง จากส่วนกลางมีทั้งในกลุ่มจังหวัดด้วย เพราะว่ามีผู้ประกอบการทั้งภาคธุรกิจเอกชนอยู่ด้วย ร่วมกับคณะกรรมการของเรา ของรัฐบาลนะ อันนี้เราได้ตั้งไปแล้ว คนร.

"อันที่สองคือเรื่องของคณะกรรมการ นโยบายรัฐวิสาหกิจอันนี้ก็จะกำกับดูแลส่วนงานของรัฐวิสาหะกิจทั้งหมด อันที่สามคือ คณะทำงานประชารัฐ 12 คณะ จะได้เกาะเกี่ยวกันได้ทันที่ที่เขาเรียกว่าบูรณาการ แล้วการบริการให้สะดวกรวดเร็วขึ้น เพื่อจะง่ายในการประกอบการธุรกิจ เราก็จัดตั้งศูนย์ One Stop Service เพื่อให้การบริการด้านธุรกิจด้วย เช่น รถไฟทางคู่“กำลังก่อสร้าง 2 สาย”ใช่ไหม แก่งคอย-ฉะเชิงเทรา และถนนจิระ – ขอนแก่น “ในอนาคตอีก 5 สาย” คือ มาบกะเบา– ถนนจิระ นครปฐม – หัวหิน หัวหิน – ประจวบฯ ประจวบฯ – ชุมพร และ ลพบุรี – ปากน้ำโพ มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท ก็มาก จะสร้างงานสร้างอาชีพได้พอสมควรถ้าเกิดได้ ​ อันที่สองก็คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ประกอบด้วย โครงการเร่งด่วน วงเงิน 3,700 ล้านบาท แล้วก็ทำแผนแม่บท ในเรื่องการปรับโครงสร้าง ICT เหล่านี้นะ วงเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท อันนี้ต้องทำให้มันทั่วประเทศ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'จาตุรนต์-องอาจ' ติงกฎทำประชามติของ กกต.

$
0
0
'จาตุรนต์' ระบุ กกต. ออกกฎสุดกำกวมเปิดช่องให้มีการตีความในทางจำกัดเสรีภาพได้ง่าย ด้าน 'องอาจ' ชี้หลักเกณฑ์ไม่ชัดเจน ส่วน 'อมร' โฆษก กรธ. ชมกฎเหล็ก กกต.ชัดเจน เชื่อไร้ปัญหา ปมเปิดช่องให้แจ้งความเอาผิดพวกบิดเบือน ชี้ ก.ม.เปิดช่องให้ฟ้องคืนคนแจ้งความเท็จได้

 
30 เม.ย. 2559 นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จริงๆ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศ ส่วนหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง ทำได้- ทำไม่ได้ ถ้าให้คะแนนให้ได้แค่เกรดดี สำหรับการสอบระดับประถม คือผ่านแบบอ่อนมาก ที่ยังให้ผ่านเพราะอย่างน้อยยังทำให้เห็นว่าการแสดงความเห็นและเผยแพร่ความ คิดเห็นนั้นทำได้ ไม่ใช่อย่างที่มีการพูดกันปาวๆราวกับว่าใครก็พูดอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะการไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่ผู้มีอำนาจพูดเหมือนกับแสดงความ เห็นไม่ได้เลย แต่หลักเกณฑ์นี้มีปัญหาที่เน้นเรื่องทำไม่ได้มากกว่าทำได้ เรื่องที่ควรจัดไว้ในประเภททำได้หลายข้อก็กลับเอาไปไว้ในประเภททำไม่ได้ เปิดช่องให้มีการตีความผิดๆ ในทางจำกัดเสรีภาพได้ง่าย กกต.บอกว่าการแสดงความเห็นต้องไม่กำกวม แต่หลักเกณฑ์หลายข้อของ กกต.กลับกำกวมเสียเอง
 
 
 
 
'องอาจ' ชี้หลักเกณฑ์ กกต. เกี่ยวกับประชามติยังไม่ชัดเจน
 
สำนักข่าวไทยรายงานว่านายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ออกหลักเกณฑ์ที่ประชาชนจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ทำได้ 6 ข้อ และข้อห้าม 8 ข้อ ว่า เป็นการออกหลักเกณฑ์ที่ยังไม่สามารถทำให้กฎหมายประชามติมีความชัดเจน ปราศจากข้อสงสัยได้ บางข้อความในกฎหมายยังมีความคลุมเครือ ที่อาจถูกนำไปใช้ตีความ เพื่อให้คุณ ให้โทษ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ตลอดเวลา ไม่สามารถตอบโจทย์ได้เท่าที่ควร
 
นายองอาจ กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในข้อที่ทำได้ทั้ง 6 ข้อ ก็ไม่มีอะไรใหม่ เป็นเพียงการขยายความเนื้อหาสาระของกฎหมาย ให้เป็นถ้อยคำเชิงอธิบายความเพิ่มขึ้น เป็นหลักเกณฑ์พื้นฐานที่วิญญูชนทั่วไปพึงกระทำได้อยู่แล้ว ถึงแม้ไม่มีหลักเกณฑ์บอกว่าทำได้
 
นายองอาจ กล่าวว่า ส่วนข้อห้าม 8 ข้อ ที่ทำไม่ได้ ก็เป็นข้อห้ามตามมาตรา 61 วรรคสอง ที่ห้ามการเผยแพร่ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ ซึ่งถึงแม้ไม่ออกหลักเกณฑ์เป็นข้อห้ามก็ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว
 
“มีบทบัญญัติในกฎหมายประชามติที่ห้ามเผยแพร่ข้อความ “ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง” อาจมีความผิดถูกจำคุก 10 ปี ได้นั้น ยังถือว่าเป็นเนื้อหาที่อาจถูกตีความ เพื่อเล่นงานคนที่เห็นต่างได้ เช่น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญอธิบายว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ดี ปราบโกงได้ แต่มีผู้เห็นต่างว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังปราบโกงไม่ได้มากนัก การกล่าวเช่นนี้ของผู้เห็นต่าง จะถือว่าเผยแพร่ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือไม่” นายองอาจ กล่าว
 
นายองอาจ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์ของ กกต.ที่ยังไม่ชัดเจน ย่อมทำให้ผู้ที่มีความเห็นต่างจากร่างรัฐธรรมนูญนี้ ต้องสุ่มเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีอยู่ตลอดเวลา รวมถึง สื่อมวลชนก็อาจต้องทำหน้าที่บนความไม่แน่นอน ถึงแม้จะปฏิบัติตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพด้วยความรับผิดชอบแล้วก็ตาม ดังนั้น ฝากให้ กกต.ช่วยพิจารณาว่า จะมีหลักเกณฑ์ที่มีความชัดเจนขึ้นอย่างไร เพื่อให้ผู้เห็นต่างอย่างสุจริตใจได้มีพื้นที่แสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความคิดเห็นโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
 
'อมร' ชม กกต.ออกกฎเหล็กประชามติ 8 ข้อ
 
เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่านายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ออกหลักเกณฑ์ในแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่ทำได้ 6 ข้อ ทำไม่ได้ 8 ข้อว่า แม้ไม่มีกฏเหล็กดังกล่าวก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า อะไรควร อะไรไม่ควรทำ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีกฏหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีก  เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็มีข้อห้ามหลายอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ กกต.ได้กำหนดเป็นข้อๆว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ จะได้ไม่ต้องมาถกเถียงกันอีก ดังนั้นง่ายๆ ก็ขอให้ถามใจตัวเองว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แสดงความเห็นวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างสุจริตตามหลักวิชาการก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะถือเป็นการวิจารณ์แบบสร้างสรรค์ แต่ถ้ามีจิตมุ่งร้าย อาฆาตพยาบาท และหวังผลที่จะก่อให้เกิดปัญหา การใช้วาจาหยาบคาย ด่าทอ ก็อาจจะสร้างปัญหาความขัดแย้งได้ จึงขอให้พึงระวัง
 
เมื่อถามว่า กกต.เปิดช่องให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นการกระทำผิดสามารถยื่นร้องต่อตำรวจได้ โดยที่ไม่ต้องร้องผ่าน กกต.นั้นจะทำให้มีปัญหาในเรื่องการตีความหรือไม่  นายอมร กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะพิจารณาอย่างไร เพราะการรับแจ้งความเป็นอำนาจของตำรวจอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีเงื่อนไขใดไม่ให้ตำรวจรับแจ้งความ หากเป็นเรื่องความเดือนร้อนของประชาชน ซึ่งโดยปกติหากประชาชนพบเห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้าตามกฏหมายอาญาทั่วไปก็สามารถยื่นร้องต่อตำรวจได้ เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่ ส่วนที่มีข้อวิจารณ์ว่านี่อาจจะเป็นการมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในการตีความเพื่อเอาผิดคนที่เห็นต่างนั้น ตนเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะโดยหลักแล้ว หากการแจ้งความเป็นเท็จ ผู้ที่ไปแจ้งความก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะกฏหมายได้เปิดช่องให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิในการฟ้องร้องคืนได้อยู่แล้ว
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live




Latest Images