Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50697 articles
Browse latest View live

นักวิชาการ ชี้สังคมไทยไม่ใช่ห้องทดลอง หาก รธน.+คำถามพ่วง ผ่านก็ยากต่อการควบคุม

0
0

สถาบันวิชาการจับมือจัดงานถกแถลง ‘คำถามพ่วงท้ายมีนัยอย่างไร’ ผู้เข้าร่วมชี้ส่อแวดสืบทอดอำนาจ ด้าน ‘กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย’ จี้ให้ผู้มีอำนาจระบุทางเลือกให้ชัดเจน หาก รธน. ถูกตีตก ด้าน ‘เบญจรัตน์’ เกือบถูกรวบไป สน. หลังถือเอกสาร 7 เหตุผลโหวตโนในงาน

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2559 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมมาลัยหุวะนันท์ ชั้น 12 อาคารเกษมอุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดงานถกแถลงในหัวข้อ ‘คำถามพ่วงท้ายมีนัยอย่างไร’ ซึ่งจัดโดย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนศึกษา (สสส.), ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้มีผู้ร่วมถกแถลงประกอบด้วย รศ.ตระกูล มีชัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ฐิติพล ภักดีวาณิช คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และไพโรจน์ พลเพชร สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ตระกูล เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมีคำถามพ่วง ในการออกเสียงประชามติรับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเขาวิเคราะห์ว่า อาจจะมีความเป็นไปได้ 4 เหตุผลคือ 1.ร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับแก้ตามข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สาย ยังไม่ได้เขียนตามเจตนารมณ์ของผู้มีอำนาจอย่างเต็มที่ 2.ผู้ที่เสนอคำถามพ่วงนั้นอาจจะมองว่า โครงสร้างกลไก เนื้อหาของรัฐธรรมนูญไม่เป็นหลักประกันที่เพียงพอต่อการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของกลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน 3.คำถามพ่วงอาจจะเกิดจากความเกรงกลัวว่าฝ่ายการเมือง จะเข้ามาคุมกลไกอำนาจ และอาจจะรื้อโครงสร้างกลไกอำนาจที่ดำเนินการมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือ4.คำถามพ่วงเกิดจากการที่ผู้มีอำนาจ ยังไม่อยากลงจากอำนาจ อยากจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ

ตระกูลกล่าวต่อว่า ตัวเหตุผลที่ใช้อ้างในคำถามพ่วงที่บอกว่า เพื่อการปฎิรูปประเทศ และเพื่อการเดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ยังมีปัญหาในตัวเองกล่าวคือ การปฏิรูปที่ผ่านมาแล้ว 2 ปี ยังไม่มีเห็นมีสิ่งใดเป็นรูปเป็นร่าง เป็นแก่นสารที่จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้

“ถ้าผมไปออกเสียงประชามติในคำถามนี้ ผมก็ต้องพิจารณาจากเหตุผลที่คุณอ้างมา เพื่อการปฎิรูปประเทศ ปฏิรูปอะไร ผมยังไม่เห็นนะว่าจะปฏิรูปอะไร หรือตามที่สื่อพูดกัน ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปข้าราขการ มันมีประเด็นอะไรบ้างมั้ย แม้แต่สปช.เดิมที่ถูกยุบไป มันมีประเด็นอะไรบ้างที่เป็นแก่นสารที่ประชาชนเห็นแล้วต้องการ ฉันต้องการแบบนี้ อยู่ต่อหน่อยเถอะ ขอร้องช่วยอยู่ต่อหน่อย ก็ยังไม่เห็น” ตระกูลกล่าว

ตระกูลกล่าวต่อว่า การปฏิรูปถูกนำมากล่าวอ้าง และถูกนำไปอยู่รวมกับคำว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ คำถามที่ต้องคิดคืออะไรคือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะเท่าที่ติดตามดูแผนยุทธศาสตร์ถูกจัดทำโดยหน่วยงานต่างๆ กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งนั่นยังไม่เพียงพอที่จะเรียกว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ยังเห็นไม่ชัดว่าอะไรคือยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญ

“การปฏิรูป กับแผนยุทธศาสตร์ มันเป็นการอ้างมาโดยมีเหตุมีผลหรือไม่ หรือว่าไม่กล้าที่จะใช้เหตุผลอื่น จึงใช้เหตุผลนี้” ตระกูลกล่าว

ตระกูลทิ้งประเด็นสุดท้ายให้คิดต่อไปว่า ภายใต้คำถามพ่วงที่ขอเวลา 5 ปี ให้ ส.ว. มีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรี หากคำถามดังกล่าวผ่านการทำประชามติ ภายในเวลา 5 ปี สังคมไทยอาจจะไม่อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างที่ผู้มีอำนาจคาดหวัง สังคมไทยไม่ได้อยู่ในห้องทดลองที่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆได้ สังคมมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประชาชนตื่นรู้ ทางการเมือง ทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่ได้ง่ายตามที่ฝ่ายผู้มีอำนาจคิด และ 5 ปีต่อจากนั้นจะเป็นวิบากกรรมครั้งใหญ่ของรัฐบาลที่เกิดจาก บทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญมีชัย และที่เกิดจากคำถามพ่วงของ สนช.

ด้านไพโรจน์ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า การจะให้วุฒิสมาชิกเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่นั้น ผู้มีอำนาจกำลังตั้งคำถามดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์อะไร เขาเห็นว่าคำถามดังกล่าวเป็นไปเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ในความหมายว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านซึ่งจะรักษาอำนาจของสถาบันทหารเอาไว้ โดยผ่องถ่ายอำนาจจาก คสช. ไปอยู่ใน ส.ว. 250 คน ซึ่ง คสช. จะเป็นผู้เลือก และ ส.ว. จะมีส่วนในการเลือกตัวนายกรัฐมนตรี และพยายามจะให้ความชอบธรรมกับอำนาจผ่านการลงประชามติจากประชาชน

“โครงสร้างรัฐธรรมนูญเขาออกแบบมาให้ ส.ว. มีอำนาจสูงอยู่แล้ว สิ่งที่เขาอยากได้ในการลงประชามติก็คือ แค่ให้เลือกนายกฯ เพิ่มขึ้นมา แท้จริงของเดิมก็มีอำนาจมากกว่าวุฒิสมาชิกปกติอ นี่คือสิ่งเขาเรียกว่าช่วงเปลี่ยนผ่าน ทีนี้ถามว่า คำถามเรื่องให้วุฒิเลือกนายกฯ มาจากไหน ก็มาจาก สนช. สนช. ก็มาจาก คสช. ส่วน ส.ว. 5 ปีแรกมาจากไหน ก็มาจาก คสช. ดังนั้นคนที่สามารถสถาปนาอำนาจของวุฒิสมาชิกขึ้นมาก็คือ คสช.” ไพโรจน์กล่าว

ไพโรจน์กล่าวต่อไปว่า ส.ว. จะกลายเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ และจะเป็นตัวแปรสำคัญที่สุด ซึ่งจะร่วมกันเลือกตัวนายกรัฐมนตรี เมื่อดูจากโครงสร้างทั้งหมดนั้นทำให้เห็นว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านให้ สถาบันทหาร มีอำนาจอยู่ต่อไป

00000

ทั้งนี้ภายหลังจากการถกแถลงได้เสร็จสิ้นไปนั้น ‘กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย’ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กระบวนการประชามติต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกและเป็นไปอย่างโปร่งใส ร่วมแถลงโดย นฤมล ทับจุมพล, บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์, โคทม อารียา, สุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง และไพโรจน์ พลเพชร โดยมีผู้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์อีกกว่า 100 คน และมีองค์กรที่ร่วมลงนามสนับสนุนอีก 4 องค์กร ได้แก่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ในแถลงการณ์ว่าด้วยการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 นั้นมีหลักการและข้อเสนอต่อการทำประชามติว่า

1) กระบวนการทำประชามติต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส สุจริตและเที่ยงธรรมในทุกขั้นตอน

2) ในกระบวนการประชามติต้องเปิดให้มีการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นและไม่เห็นด้วย ในการถกแถลงด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายในการแสดงความ เห็นตามกรอบของกฎหมาย

3) ประชาชนมีสิทธิชอบธรรมในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและอย่างสร้างสรรค์ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และถือเป็นสิทธิพื้นฐานทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องได้รับการปก ป้องคุ้มครอง ดังนั้น การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกด้วยเหตุผลและมาตรการทางความมั่นคง รวมถึงการนำผู้ที่มีความคิดเห็นต่างไปปรับทัศนคติ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ยังเป็นการลดความชอบธรรมของกระบวนการทำประชามติอีกด้วย

4) ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนก่อนการทำประชามติว่าจะมีทางเลือกและกระบวนการอย่าง ไรต่อไปในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่คนไทยทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันได้มากที่สุด โดยต้องให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายสามารถถกแถลงและเสนอทางเลือกต่างๆ ได้อย่างเสรีและสร้างสรรค์

00000

ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 16.00 น. หลังจากงานถกแถลง "คำถามพ่วงท้ายมีนัยอย่างไร" และการแถลงข่าวของกลุ่ม ‘กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย’ เสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ายึดเอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ NDM และเตรียมเชิญตัว เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกำลังถือเอกสารดังกล่าวอยู่ ไปยัง สน.ปทุมวัน โดยแจ้งว่า ต้องการพูดคุยด้วย แต่เมื่อผู้สื่อข่าว และผู้ร่วมงาน เข้าไปดูเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนใจจากการขอเชิญตัว เป็นขอนามบัตรแทน เพื่อที่จะติดต่อเพื่อเรียกไปคุยวันอื่น

ทั้งนี้ เบญจรัตน์ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมถกแถลงในงานที่จัดขึ้น โดยประเด็นหลักที่เธอกล่าวถึงวันนี้คือ การเรียกร้องให้เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างอิสระ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้การปิดกั้นจากผู้มีอำนาจ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จนท.เก็บป้ายปลาหยุด-ปลาวิดในนิทรรศการการเมือง 'Thaitopia' ของ นศ.ธรรมศาสตร์

0
0

ป้ายบอร์ดนิทรรศการเรื่องรัฐธรรมนูญกับป้ายปลาหยุดและปลาวิด ถูกเจ้าหน้าที่ดึงออกจากสถานที่จัดแสดง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ รังสิต

25 เม.ย. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 22.34 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'นิทรรศการการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์' ได้เผยแพร่ภาพพร้อมรายงานว่า เมื่อ 22.00 น. ที่ผ่านมา ป้ายบอร์ดนิทรรศการเรื่องรัฐธรรมนูญกับป้ายปลาหยุดและปลาวิด ถูกเจ้าหน้าที่ดึงออกจากสถานที่จัดแสดง

สำหรับป้ายบอร์ดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ นิทรรศการการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2558 ภายใต้แนวคิด 'Thaitopia' ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 25-27 เม.ย.59 บริเวณโถง SC มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ รังสิต โดยองค์การนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับโครงการนิทรรศการการเมือง นอกจากการจัดนิทรรศการการเมือง แล้วยังมีวงเสวนาทางวิชาการทั้ง 3 วันอีกด้วย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่องปฏิกิริยาหลัง นปช.เสนอให้ 'ยูเอ็น-อียู' เข้ามาสังเกตการณ์ประชามติกันประชาชนถูกโกง

0
0

พล.อ.ประวิตรบอกไม่จำเป็น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเผยยังไม่คุย ส่วน 'วันชัย' ชี้ชักศึกเข้าบ้าน ขณะที่ 'นิพิฏฐ์ รองหัวหน้า ปชป.' ค้าน ชี้ต่างจากพม่าเพราะเราอยู่ในระบบประชาธิปไตยมาก่อน

นปช. ขอประชาชนร่วมจับผิดโกงประชามติ (อ่านรายละเอียด)

25 เม.ย. 2559 จากที่กรณีเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า บรรยากาศการทำประชามติต้องไม่อยู่ในบรรยากาศของความกลัว ที่กลัวแม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็น ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ คสช.ควรยกเลิกการทำประชามติเสีย รวมถึงการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจที่จะให้การทำประชามติเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรมตามความฝันของ กกต.นั้น ในทางปฏิบัติแล้วสามารถเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย กกต. และผู้มีอำนาจควรเปิดกว้างให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สหภาพยุโรป (อียู) หรือองค์กรใดๆ ก็ตามในระดับนานาชาติมาสังเกตการณ์ในการลงประชามติอย่างเปิดเผย ซึ่งนี่เป็นเรื่องของความสุจริต โปร่งใส และความไว้เนื้อเชื่อใจ

ข้อเสนอให้ยูเอ็น อียูหรือองค์กรระดับนานาชาติเข้ามาสังเกตการณ์ลงประชามติ ของ จตุพร นั้นส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ ดังนี้

ประวิตรบอกไม่จำเป็น

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะให้ต่างชาติเข้ามา รอให้มีการเลือกตั้งส.ส. ค่อยว่ากันอีกที และการที่พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่ออกมาคลื่อนไหวให้รับหรือไม่รับร่างฯ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะคุมเสียงของพรรคตัวเองได้หรือไม่

(ที่มา : สำนักข่าวไทย)

โฆษก กต. เผยยังไม่คุย

ขณะที่ เสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า  ยังไม่มีการหารือเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด 

(ที่มา : สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.)

วันชัย ชี้ชักศึกเข้าบ้าน

วันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีด้วยว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ที่จะชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้านโดยไม่จำเป็น คนไทยดูแลกันเองได้ พรรคการเมือง ประชาชน ทุกภาคส่วนมีสิทธิร้องเรียนหากเห็นการทุจริต ไม่จำเป็นต้องให้ต่างด้าวท้าวต่างแดนมาดูแล

“การชักชวนต่างชาติเข้ามา เท่ากับย่ำยีดูถูกถูกคนไทยด้วยกันเอง ดังนั้น รัฐบาลหรือใครถ้าทำทุจริตระหว่างทำประชามติถือเป็นการกระทำที่โง่เงา ไม่ควรยอมรับการกระทำนั้น นปช.เพียงแสดงท่าที พฤติกรรมเอะอะโวยวายพูดง่ายๆ ไม่ว่า คสช.กับรัฐบาลทำอะไร บรรดาแกนนำจะพยายามหาเรื่องอยู่ร่ำไป แต่รัฐบาล คสช.คงรู้ทันเกม ไม่หลงกระแสตามคนเหล่านี้ที่จงใจป่วนทั้งในและนอกประเทศ ต้องการสร้างสถานการณ์บ้านเมืองว่าไม่สงบเรียบร้อย หวังชักนำชาวต่างชาติเข้ามา ทั้งที่ปัญหาทั้งหมดเกิดจากพวกเขาเองทั้งสิ้น สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายทั้งที่ความจริงไม่มีอะไรเลย” วันชัย กล่าว

(ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์)

นิพิฏฐ์ ค้าน ชี้ต่างจากพม่าเพราะเราอยู่ในระบบประชาธิปไตยมาก่อน

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า สถานการณ์ไทยต่างกับพม่า เพราะพม่าหลังรับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลทหารก็เข้ายึดอำนาจเป็นเวลานานกว่า50ปี และเพิ่งกลับเข้าสู่ระบบประชาธิปไตย ซึ่งพม่าสามารถปรับตัวหลุดพ้นจากระบบทหารได้

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้น เดิมเราอยู่ในระบบประชาธิปไตยมาก่อน แต่เพิ่งจะสะดุดในช่วง3ปีที่ผ่านมา และขณะนี้เรากำลังจะเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยอีกครั้ง จึงไม่เห็นความจำเป็นใดที่ไทยต้องเปิดให้องค์กรระหว่างประเทศ หรือยูเอ็น , อียูเข้ามา เพราะเท่ากับประจานประเทศเราเอง ว่าคนในชาติคุยกันไม่ได้ต้องดึงคนต่างชาติ มาแทรกแซงกิจการภายในของชาติไทย ทั้งที่เราแค่สะดุดล้ม และกำลังจะลุกขึ้นเพื่อเดินต่อ

นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของพม่าที่ให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ เพราะเขาอยู่กับรัฐบาลทหารมาตลอด การเลือกตั้ง หรือทำประชามติใดๆ เขาไม่เคย ไม่มีประสบการณ์ แต่ไทยเราเลือกตั้งมาตามวาระ และประชามติก็เคยทำ มีประสบการณ์แล้วในรัฐธรรมนูญปี50เรารู้ เราเข้าใจ จึงไม่จำเป็นต้องดึงองค์กรต่างชาติ หรือคนชาติอื่นเข้ามายุ่งในกิจการภายในของเรา เพราะเมื่อจะเอาเขาเข้ามา ไม่ใช่ว่าจบง่ายๆ มันมีเงื่อนไขต่างๆมากมาย ตามมาอีกปัญหาจะไม่จบ ปัญหาในชาติไทย เราคนไทยแก้ไขกันเองได้

(ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บ.ก.นิตยสาร LGBT เล่มแรกในบังกลาเทศถูกลอบสังหาร

0
0

ซูฮัช มานัน บ.ก. นิตยสาร "รูปพรรณ" (Roopbaan) นิตยสารเพื่อความหลากหลายทางเพศเล่มแรกในบังกลาเทศและเพื่อนของเขาถูกคนร้ายบุกเข้าไปสังหารถึงที่พัก โดยที่เอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำบังกลาเทศกล่าวประณามและเรียกร้องให้รัฐบาลบังกลาเทศจับกุมตัวผู้ก่อเหตุให้ได้ หลังจากที่มีเหตุสังหารผู้คนในบังกลาเทศด้วยเรื่องศาสนามาหลายกรณีแล้ว


นิตยสาร Roopbaan 
(ภาพจาก เฟซบุ๊กเพจ 
রূপবান - Roopbaan)

25 เม.ย. 2559 ซูฮัซ มานัน นักกิจกรรมด้านสิทธิเพื่อคนรักเพศเดียวกันและเป็นบรรณาธิการนิตยสารด้านความหลากหลายทางเพศ (LGBT) เล่มแรกและเล่มเดียวที่มีอยู่ในบังกลาเทศ และ ทาเนย์ โมจุมดาร์ เพื่อนที่อยู่ด้วยกันกับเขา ถูกคนร้ายบุกสังหารในแฟลตของมานัน ในกรุงธากา บังกลาเทศ ทั้งนี้ มีผู้บาดเจ็บอีกหนึ่งรายถูกทำร้ายตอนที่คนร้ายบุกเข้าแฟลตที่เกิดเหตุ

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำบังกลาเทศกล่าวประณามการสังหารในครั้งนี้ ทั้งนี้ มานันเป็นคนที่ทำงานอยู่ที่สถานทูตสหรัฐฯ ด้วย "พวกเราขอประณามการใช้ความรุนแรงที่ไร้เหตุผลนี้และเรียกร้องให้รัฐบาลบังกลาเทศดำเนินการอย่างถึงที่สุดในการจับกุมอาชญากรเบื้องหลังการสังหารนี้" มาร์เซีย เบิร์นนิคัต เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำบังกลาเทศกล่าว

นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2558 มีเหตุสังหารกลุ่มผู้ไม่ฝักใฝ่ศาสนาหรือผู้ไม่นับถือศาสนา รวมถึงชนกลุ่มน้อยทางศาสนาหลายเหตุการณ์ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้คือกรณีสังหารนาซีมอุดดิน ซาหมัด นักศึกษากฎหมายอายุ 28 ปี นักกิจกรรมและบล็อกเกอร์ผู้ไม่ฝักใฝ่ศาสนาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และไม่นานมานี้ก็มีเหตุการณ์สังหารอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ไม่มีศาสนา

มานันเป็นบรรณาธิการนิตยสารชื่อ "รูปพรรณ" ซึ่งไม่ได้ถูกประณามจากรัฐบาลและยังได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตต่างชาติ ซาบีร์ มุสตาฟา บรรณาธิการบีบีซีภาคภาษาเบงกาลีกล่าวว่าคนทำนิตยสารเล่มนี้พยายามปกปิดตัวตนของตัวเองแต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นคิดว่าพวกเขาจะต้องเสี่ยงชีวิต มุสตาฟากล่าวอีกว่าในบังกลาเทศมีกลุ่มหัวรุนแรงที่คิดว่าตัวเองจะปลอดภัยเพราะพวกเขาทำการสังหารได้โดยลอยนวลไม่ต้องรับผิด

การรักเพศเดียวกันในบังกลาเทศยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายและเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวอย่างมาก อย่างไรก็ตามช่างภาพชาวอังกฤษที่รู้จักกับผู้ตายทั้ง 2 คนกล่าวว่าผู้ตายและเพื่อนคนอื่นๆ ก่อตั้งนิตยสารรูปพรรณเพื่อหวังจะช่วยส่งเสริมความอดกลั้นต่อความแตกต่าง พวกเขาทั้ง 2 คนเป็นคนรักเพศเดียวกันและเชื่อว่าถ้าคนรักเพศเดียวกันในบังกลาเทศออกมาเปิดเผยตัวเองมากกว่านี้ประเทศคงเปิดรับคนรักเพศเดียวกันมากขึ้น

มานันเคยกล่าวไว้ในช่วงเปิดตัวนิตยสารเมื่อปี 2557 ว่าการมีนิตยสารรูปพรรณถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในบังกลาเทศ และบอกว่าการทำนิตยสารของเขาเป็นการส่งเสริมความรัก

"เป็นการส่งเสริมความรัก ส่งเสริมสิทธิที่จะรัก คนที่เป็นผู้อ่านเกี่ยวกับเรื่องความรักมีอยู่จำนวนมาก นั่นคือจุดประสงค์ของนิตยสารนี้" มานันเคยกล่าวไว้

มีผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้ก่อเหตุโดยบอกว่าเป็นคนของกลุ่มไอซิสหรือไอเอส อย่างไรก็ตามทางการบังกลาเทศยืนยันว่าไม่มีกลุ่มไอเอสอยู่ในประเทศของพวกเขา

ถึงแม้ว่าบังกลาเทศจะเป็นรัฐโลกวิสัยที่ไม่ฝักใฝ่ศาสนาแต่ก็มีประชากรชาวมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ นอกจากเหตุคนไม่มีศาสนาถูกสังหารแล้วยังมีชนกลุ่มน้อยทางศาสนาอื่นๆ เช่น มุสลิมนิกายอื่น ชาวคริสต์ และฮินดู ตกเป็นเป้าหมายการโจมตี ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลบังกลาเทศไม่สามารถจัดการปัญหาการทำร้ายหรือสังหารคนอื่นด้วยสาเหตุทางศาสนาได้


เรียบเรียงจาก

Bangladesh LGBT editor hacked to death, BBC, 25-06-2016
http://www.bbc.com/news/world-asia-36128729

Bangladesh LGBT editor Xulhaz Mannan hacked to death in brutal attack, Pink News, 25-06-2016
http://www.pinknews.co.uk/2016/04/25/bangladesh-lgbt-editor-xulhaz-mannan-hacked-to-death-in-brutal-attack/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เดือนละหน คนกันเอง" ทหารมาเยี่ยมสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันอีกแล้ว

0
0

26 เม.ย.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (25 เม.ย.59) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ฟ้าเดียวกัน' โพสต์ภาพเจ้าหน้าที่ทหาร 4 นาย พร้อมข้อความว่า เดือนละหน คนกันเอง นายทหารจาก กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 5 (ปตอ.พัน 5) จำนวน 5 นาย เดินทางด้วยรถฮัมวี่ มาเยี่ยมสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งเป็นภารกิจที่กระทำทุกเดือน 

ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ฟ้าเดียวกัน

สำหรับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันนั้นถูกเจ้าหน้าที่ทหารมาเยี่ยมเป็นประจำ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิเคราะห์ชี้อำนาจนิยมบูชาตัวบุคคลของ 'สีจิ้นผิง' เสี่ยงทำผู้นำจีนแพ้ภัยตัวเอง

0
0

บท บ.ก.อีสต์เอเชียฟอรัม เขียนถึงประเด็นการใช้อำนาจของรัฐบาลกลางจีนที่ส่งอิทธิพลทั้งในด้านนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก แต่ก็วิเคราะห์ว่าอำนาจนิยมในแบบของผู้นำอย่างสีจิ้นผิงที่สร้างความเกลียดชังไปทั่วก็อาจทำให้เขาแพ้ภัยตัวเอง


ภาพจาก Foreign and Commonwealth Office (CC BY 2.0)

25 เม.ย. 2559 บทบรรณาธิการของอีสต์เอเชียฟอรัมระบุว่า ทุกวันนี้ไม่ว่าจะในตลาดการค้าหรือในแง่นโยบายการเมืองทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของผู้นำจีน มีการติดต่อสื่อสารกับคนในจีนทั้งในแง่คู่ค้าทางธุรกิจ ผู้ร่วมวิชาชีพ เพื่อนหรือครอบครัวเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อประชาชนจีนติดต่อสื่อสารกับคนที่อื่นของโลกได้มากขึ้นแล้วเรื่องมุมมองของประชาชนต่อรัฐบาลจีนก็กลายเป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารระดับปัจจุบันนี้แม้แต่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลจีนเองก็คงทำใจลำบากถ้าจะปิดกั้นการสื่อสารกันต่อไปถ้าหากพวกเขาต้องการความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจโลก

มีการพยายามวิเคราะห์ประเทศจีนไปในทำนองว่าจีนจะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่และต้องรับมือกับอิทธิพลทางการเมืองภายนอกหลังจากที่จีนมีแผนปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะเปิดประตูจีนสู่คนทั้งโลก โดยที่อีสต์เอเชียยกตัวอย่างบทความในเว็บไซต์ตัวเองที่เขียนโดย คาร์ล มินซ์เนอร์ ศาตราจารย์ด้านกฎหมายจากวิทยาลัยกฎหมายฟอร์ดแอม ที่อีสต์เอเชียฟอรัมระบุว่าเป็นผู้ศึกษาด้านการบริหารประเทศของจีน

ในบทความของมินซ์เนอร์ระบุว่าจีนกำลังอยู่ใน "ยุคที่มืดมนกว่าเดิม" ทั้งจากการที่มีการปราบปรามกลุ่มนักกฎหมาย นักข่าว และนักกิจกรรมมากขึ้น ในขณะเดียวกันการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมของจีนก็เริ่มผุพังลงเรื่อยๆ จากปัญหาที่มาจากอำนาจนิยมของพวกเขาเอง

โดยนับตั้งแต่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจ เขาก็ใช้อำนาจหนักมือขึ้นและพยายามรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตัวเอง โดยเคยมีคนวิเคราะห์ว่าเพื่อเป็นการกลบจุดอ่อนของผู้นำคนก่อนคือหูจิ่นเทา โดยสีจิ้นผิงยังได้พยายามสร้างสถาบันการเมืองใหม่เพื่อปกครองจีนซึ่งเป็นการลิดรอนเสรีภาพอย่างมากและเป็นการเน้นเพิ่มอำนาจให้รัฐ แต่มินซ์เนอร์มองต่างออกไปว่าลักษณะการใช้อำนาจของรัฐบาลจีนยุคปัจจุบันกำลังดำเนินไปในแนวทางออกห่างจากสถาบันการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีการเน้นสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคล (cult of personality) ห้อมล้อมสีจิ้นผิงและหันกลับไปสู่แนวทางเชื้อชาตินิยม จักรวรรดินิยม ที่ผสมกับแนวคิดของขงจื้อ รวมถึงมีการฟื้นวิธีการ "ปกครองด้วยความหวาดกลัว" ในยุคเหมาเจ๋อตุงมาใช้

มินซ์เนอร์มองว่าการที่สีจิ้นผิงรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตัวเองคนเดียวอาจจะทำให้เขาได้เปรียบในแง่การจัดการกับประเด็นใหญ่ๆ แต่ก็สร้างความเสี่ยงให้เขาต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวเวลาที่เกิดข้อผิดพลาด อีกทั้งบทความยังมีการอ้างแมกซ์ เวเบอร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและสังคมวิทยาชาวเยอรมันที่ว่าการใช้ความหวาดกลัว ประเพณี และบารมีส่วนบุคคล ไม่นับเป็นการปกครองด้วยสถาบันทางการเมืองหรือระบบราชการ และอาจจะถือเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม

มินซ์เนอร์ระบุว่าการเมืองของสีจิ้นผิงทำลายความพยายามสร้างระบอบการปกครองด้วยสถาบันทางการเมือง และอาจจะทำให้ระบบ "กลืนกินตัวเอง" ได้

ในแง่ของการที่สีจิ้นผิงพยายามสร้างลัทธิการเมืองแบบบูชาตัวบุคคลโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ตัวเขาเองก็เคยมีการวิเคราะห์ไว้ในนิตยสารดิอิโคโนมิสต์เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ในบทความระบุว่าถึงแม้สีจิ้นผิงที่อ้างว่าตัวเอง "ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน" พยายามเข้ามาเพื่อกำจัด ปราบปราม การทุจริตคอร์รัปชันในพรรค แต่กลับปล่อยปละละเลยให้เกิดปัญหาอื่น เช่น ปัญหาอื้อฉาวเกี่ยวกับการสาธารณสุขเรื่องวัคซีนที่ไม่ปลอดภัย ทำให้การปราบปรามของสีจิ้นผิงไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตของประชาชนทั่วไปดีขึ้น เพราะคุณภาพชีวิตของพวกเขาถูกทำลายจากการทุจริตคอร์รัปชันในอีกแบบหนึ่ง

ทั้งนี้บทความในดิอิโคโนมิสต์ยังระบุอีกว่ากลุ่มชนชั้นนำในจีนเองก็เริ่มแสดงความไม่พอใจสีจิ้นผิงมากขึ้น สื่อของรัฐตำหนิผู้นำอย่างเปิดเผยในเรื่องการจำกัดการรายงานข่าว นักธุรกิจชื่อดังเขียนโจมตีเขาในไมโครบล็อก และบรรณาธิการอาวุโสลาออกจากตำแหน่งด้วยความรังเกียจ อีกทั้งการควบรวมอำนาจในภาคส่วนต่างๆ ทั้งการเป็นหัวหน้าพรรค การเป็นประมุขรัฐ และการเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดไว้ที่ตัวเขาคนเดียวก็เป็นการบ่อนเซาะการนำแบบ "เป็นหมู่คณะ" ของพรรคลง

บทความในดิอิโคโนมิสต์ยังระบุถึงการที่สีจิ้นผิงสร้างลัทธิบูชาตัวเองแบบที่ถูกเปรียบเทียบกับเหมาเจ๋อตุงว่า ถึงแม้ว่าลัทธิบูชาตัวบุคคลของสีจิ้นผิงอาจจะไม่ถึงขั้นทำให้เกิดความรุนแรงและความบ้าคลั่งแบบเหมาเจ๋อตุงในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการพยายามยึดกุมอำนาจไว้ที่ตัวเองของสีจิ้นผิงจะไม่ก่อความเสียหายเลย ความเสียหายที่ว่ามาจากการลิดรอนเสรีภาพและการปราบปรามผู้คนอย่างหนักในระดับเดียวกับช่วงเหตุการณ์เทียนอันเหมินปี 2532 แต่ประชาชนก็เริ่มต่อต้าน ไม่ว่าจะมีการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตเข้มงวดแค่ไหนก็ตามก็ยังคงมีเสียงต่อต้านออกมาเรื่อยๆ

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่า ไม่ว่าจะปราบปรามมากแค่ไหนก็ตามแต่สีจิ้นผิงก็ไม่ได้ทำให้ตัวเองมั่นคงปลอดภัยขึ้นหรือทำให้จีนมีเสถียรภาพมากขึ้นเลย การใช้พนักงานสอบสวนที่เหมือนอันธพาลจัดการเรื่องปราบปรามสินบนก็เป็นสิ่งที่พวกเขาทำไปเพื่อสร้างคะแนนทางการเมืองมากกว่าเพื่อเป็นการพิทักษ์กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และยังกลายเป็นการขัดขวางการบริหารประเทศเพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าใช้เงินเนื่องจากกลัวว่าจะถูกหาเรื่องสอบสวน นอกจากนี้ความพยายาม "ปฏิรูป" แบบที่สีจิ้นผิงเคยสัญญาไว้ก็ดูไม่มีความหวังว่าจะเกิดเป็นรูปเป็นร่างใดๆ

"ยิ่งสีจิ้นผิงพยายามต่อกรกับศัตรูด้วยวิธีการขู่ให้กลัวและใช้กำลังมากเท่าใด เขาก็ยิ่งจะสร้างศัตรูมากขึ้นเท่านั้น" ดิอิโคโนมิสต์ระบุในบทความ

 


เรียบเรียงจาก

Is China’s authoritarianism decaying into personalised rule?, Carl Minzner, East Asia Forum, 24-04-2016
http://www.eastasiaforum.org/2016/04/24/is-chinas-authoritarianism-decaying-into-personalised-rule/

The limits to Chinese political power, East Asia Forum, 25-04-2016
http://www.eastasiaforum.org/2016/04/25/the-limits-to-chinese-political-power/

Beware the cult of Xi, The Economist, 02-04-2016
http://www.economist.com/news/leaders/21695881-xi-jinping-stronger-his-predecessors-his-power-damaging-country-beware-cult

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาการหนังสือพิมพ์ฯ แก้ธรรมนูญฯฉ.ใหม่ รับปฏิรูปสื่อ ขยายคลุมสื่อออนไลน์

0
0

26 เม.ย. 2559 สืบเนื่องจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีการปรับโครงสร้างและกระบวนการทำงานขึ้น โดยหนึ่งในนั้น คือการปรับแก้ธรรมนูญฯ ที่ใช้มาเป็นเวลากว่า 18 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ซึ่งเคยแก้ไขครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546 และต่อมาคือปี พ.ศ. 2548 โดยครั้งนี้นับเป็นการแก้ไขธรรมนูญฯ ครั้งที่ 3 

ล่าสุดวานนี้ (25 เม.ย. 59) ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า วันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีมติรับรองธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2559 เพื่อให้การทำงานของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม โดยเน้นการกำกับดูแลกันเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยขยายคำนิยามของ “หนังสือพิมพ์” ให้รวมถึงสื่อออนไลน์ เพื่อให้ครอบคลุมภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป

ส่วนมาตรการในการกำกับดูแลกันเองของสมาชิกให้มีประสิทธิภาพนั้น ธรรมนูญฯ นี้กำหนดให้สมาชิกต้องร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจที่กำหนดถึงพันธะสัญญาของสมาชิก ที่มีต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติทุกๆ 3 ปี ซึ่งหลังจากลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้ว สมาชิกจะต้องไม่ลาออกจากสมาชิกภาพตลอดวาระของคณะกรรมการ หรือจนกว่าจะครบ 3 ปี

นอกจากนี้ ยังยกระดับอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีการทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ขณะเดียวกัน สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยังสนับสนุนให้องค์กรสมาชิกแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรหรือ Media Ombudsman โดยหากมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา องค์กรสมาชิกสามารถดำเนินการพิจารณาได้ทันทีและรวดเร็วขึ้น หากไม่สามารถตกลงกับผู้ร้องเรียนได้ ก็นำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการจริยธรรมเป็นลำดับต่อไป

ชวรงค์ กล่าวอีกว่า การแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญฯ ครั้งนี้ จะมีผลทันที โดยหลังจากนี้ จะค่อยๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินงานของสภากาหนังสือพิมพ์ฯ ซึ่งจะสอดคล้องกับการทบทวนและยกร่างข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรม ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกาเลื่อนพิพากษาคดีคลิตี้ไป 21 มิ.ย.นี้ เหตุส่งหมายให้จำเลยไม่ได้ บริษัทเลิกกิจการไปแล้ว

0
0

ศาลฎีกาเลื่อนพิพากษาคดีคลิตี้ไป 21 มิ.ย. นี้ เหตุเนื่องจากจำเลยที่ 1 บริษัทเลิกกิจการไปแล้วจึงไม่สามารถส่งหมายได้ ขณะที่ทนายจำเลยก็ปฏิเสธว่าไม่ได้รับหมาย ส่วนจำเลยทั้ง 2 แยกกันยื่นฎีกาคนละฉบับ ซึ่งศาลพบว่าจำเลยที่ 1 วางเงินค่าธรรมเนียมแล้ว 2 แสนบาท ส่วนจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้วางเงิน

26 เม.ย.2559 จากเดิมที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีชาวบ้านกะเหรี่ยงคลิตี้ล่าง 8 คน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ฟ้องบริษัทเอกชนที่ปล่อยสารตะกั่วลงสู่ลำห้วย ให้ฟื้นฟูลำห้วย พร้อมเรียกค่าเสียหายกว่าร้อยล้าน ในวันนี้ (26 เม.ย.59) เวลา 9.00 น. ณ ศาลจังหวัดกาญจนบุรี นั้น

ล่าสุดวันนี้ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GREEN NEWS TVรายงานว่า ศาลไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ เนื่องจากพบว่าจำเลยทั้ง 2 แยกกันยื่นฎีกาคนละฉบับ และจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมศาล ศาลจึงสั่งให้โจทก์ไปตรวจสอบที่อยู่ของจำเลยที่ 1 มาแถลงต่อศาลใน 3 วัน และให้จำเลยที่ 2 มาวางเงินในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ พร้อมรับฟังคำพิพากษาในวันเดียวกัน

สมชาย อามีน ประธานสภาทนายความจังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะทนายความโจทก์ กล่าวว่า สาเหตุที่ศาลไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ เนื่องจากมีปัญหาใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.การส่งหมายให้จำเลยที่ 1 เนื่องจากบริษัทเลิกกิจการไปแล้วจึงไม่สามารถส่งหมายได้ ขณะที่ทนายจำเลยก็ปฏิเสธว่าไม่ได้รับหมาย 2. จำเลยทั้ง 2 แยกกันยื่นฎีกาคนละฉบับ ซึ่งศาลพบว่าจำเลยที่ 1 วางเงินค่าธรรมเนียมแล้ว 2 แสนบาท ส่วนจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้วางเงิน

“ศาลจะอ่านคำพิพากษาได้ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 มาวางเงินแล้ว ศาลจึงสั่งให้โจทก์ไปตรวจสอบที่อยู่ของจำเลยที่ 1 มาแถลงต่อศาลใน 3 วัน และให้จำเลยที่ 2 มาวางเงินในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ พร้อมรับฟังคำพิพากษาในวันเดียวกัน แต่ถ้าไม่มา ศาลจังหวัดจะส่งสำนวนกลับไปยังศาลฎีกาที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง เพื่อให้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด” สมชาย กล่าว
 
สมชาย กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะไม่มาวางเงิน ซึ่งแนวทางก็คือศาลฎีกาคงจะจำหน่ายฎีกาของจำเลยที่ 2 ออกไป ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อคำพิพากษา แต่ก็ทำให้กระบวนการล่าช้าออกไป
 
สำหรับคดีดังกล่าว ชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ใช้เวลาต่อสู้มานานถึง 13 ปี โดยชาวบ้าน 8 ราย ซึ่งมีหลักฐานเป็นใบรับรองแพทย์ว่าร่างกายได้รับการปนเปื้อนจากสารตะกั่ว เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 2 ต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2546 เรียกร้องค่าเสียหาย 119 ล้านบาท และศาลได้พิพากษาในวันที่ 16 ส.ค.2549 ให้จำเลยจ่ายชดเชยเป็นเงิน 4.26 ล้านบาท
 
จากนั้นทั้งโจทก์และจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น โดยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2551 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยทั้ง 2 ร่วมกันจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้ง 8 เป็นเงินรวม 29.55 ล้านบาท
 
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทตะกั่วฯ จำเลยที่ 1 ได้ปิดกิจการไปแล้ว และนายคงศักดิ์-จำเลยที่ 2 เสียชีวิตแล้ว
 
สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 13 ปี ตั้งแต่ชาวบ้านตัดสินใจยื่นฟ้องจนถึงมีคำพิพากษาศาลฎีกา ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด และแม้ว่าโจทก์ทั้ง 8 รายจะยังมีชีวิตอยู่ แต่ชาวบ้านอีกหลายรายกลับเสียชีวิตไปแล้ว นั่นจึงเป็นความยุติธรรมที่ล่าช้า
 
สุรพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ก็คือการบังคับคดี เนื่องจากบริษัทตะกั่วฯ ปิดกิจการไปแล้ว และประธานกรรมการฯ ก็เสียชีวิตไปแล้ว จึงต้องหาแนวทางการดำเนินการต่อไป
 
“คำพิพากษาศาลฎีกาที่จะเกิดขึ้น ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับคดีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เนื่องจากเป็นคดีแรกที่ฟ้องตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ต่อสู้กันถึง 3 ศาล และศาลได้วางแนวทางให้ผู้ก่อมลพิษต้องแสดงความรับผิดชอบ” สุรพงษ์ กล่าว
 
ภาพประกอบจาก สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จตุพรดักถ้าไม่คิดโกง ก็ควรหนุน 'อียู-ยูเอ็น' สังเกตการณ์ประชามติ

0
0

ประธาน นปช. เผยเตรียมยื่นหนังสือ 'อียู-ยูเอ็น' เชิญมาเฝ้าดูประชามติ ย้ำเชิญมาสังเกตการณ์ ไม่ได้มาควบคุม ระบุถ้าไม่คิดโกง อย่ากลัวนานาชาติ แนะควรเปิดโอกาสให้มาดูประชาธิปไตยที่น่าเชื่อถือ ไม่โกง

26 เม.ย.2559 จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกล ว่า นปช. จะยื่นหนังสือเชิญชวนกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) และองค์กรสหประชาชาติมาร่วมสังเกตการณ์ประชามติที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยระบุว่าการเชิญอียู-ยูเอ็นเพียงให้มาสังเกตการณ์การทำประชามติที่โปร่งใส สุจริต เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยในอนาคต ดังนั้น ถ้าไม่คิดจะโกงกันแล้ว ควรสนับสนุนข้อเสนอของ นปช.

"ให้อียู-ยูเอ็น เข้ามานั้นเป็นการสังเกตการณ์ ไม่ได้มาควบคุม กรณีพม่าทำได้ จนต่างชาติยอมรับหลังการเลือกตั้ง และมีผลเกิดสนับสนุนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ส่วนไทย เมื่อยังอยู่กับโลก และหากประชามติไม่คิดโกง และจะกลัวอะไรกันกับการมาสังเกตการณ์" จตุพร กล่าว

จตุพร ยังกล่าวด้วยว่า องค์กรต่างประเทศได้เข้าไปสังเกตการณ์เลือกตั้งของพม่า เพราะนานาชาติไม่เชื่อว่า การเลือกตั้งจะยุติธรรม โปร่งใส ดังนั้น ประเทศไทยควรเปิดให้มาสังเกตการณ์ได้ด้วย เพื่อแสดงความโปร่งใส สร้างความน่าเชื่อถือด้านประชาธิปไตย เพราะหากการทำประชามติมีการโกงแล้ว จะทำให้มีปัญหาตามมาอย่างใหญ่หลวงและผู้มีอำนาจคงอยู่ได้ยาก

สิ่งสำคัญคือ ต้องการอธิบายปัญหาประชาธิปไตยกับชาวโลก และเตือนให้ผู้มีอำนาจหยุดพฤติกรรมลับๆล่อๆ กับการทำประชามติที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยตนเชื่อว่า การทำประชามติครั้งนี้จะมีคลิปแสดงถึงการกระทำอันไม่เสมอภาคกันเต็มไปหมด และ นปช. คงได้รับแจ้งจากประชาชนทุกพื้นที่ แล้วจะนำส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สอบสวนดำเนินความผิดตามกฎหมาย

กรณี นปช. แถลงข่าวการทำประชามตินั้น จตุพร กล่าวว่า พวกตนไม่ต้องการให้ประเทศพบกับดักในอนาคตทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองระยะยาวอีก รวมทั้ง สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.ได้แถลงจุดยืนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว พวกตนมั่นใจว่า ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะการกระทำของนายสุเทพ ซึ่งผู้มีอำนาจเชื่อว่า เป็นสิ่งถูกต้อง ดังนั้น พวกตนทำเช่นเดียวกันจึงต้องถูกไปด้วย

จตุพร กล่าวว่า นายสุเทพประกาศจุดยืนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ คงไม่ส่งผลดีต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลจะเป็นทุกขลาภไปด้วย เพราะจุดยืนของ สุเทพ จะทำให้ประชาชนไม่มีความสับสน ตัดสินใจใช้สิทธิ์ประชามติได้ง่ายขึ้น โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี คงเข้าใจในสิ่งดีจึงไม่ซาบซึ้งกับจุดยืน สุเทพ ส่วน นปช. ได้ประกาศจุดยืนตรงข้ามกับ สุเทพ ทุกเรื่อง และไม่ชอบทุกอย่างที่ สุเทพ ชอบด้วย

กรณีนักวิชาการและกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย เรียกร้องให้เปิดพื้นที่แสดงความเห็นร่างรัฐธรรมนูญในช่วงทำประชามติ จตุพร กล่าวว่า ถ้า คสช. เปิดใจกว้าง จะไม่มีปัญหา แต่การห้ามฝ่ายเห็นต่างแสดงความเห็น ขณะเดียวกันกลับให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปชี้แจงอธิบายกับประชาชนได้ ทั้งๆที่ความจริงแล้ว กรธ. และ สนช. ต้องยุติบทบาทเพราะหมดหน้าที่แล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนคำร้องคดีสิบโทกิตติกร ถูกทำร้ายจนตายระหว่างถูกคุมในเรือนจำค่ายวีรวัฒน์โยธิน

0
0

ศาลไต่สวนคำร้องคดีสิบโทกิตติกร ถูกทำร้ายจนตายระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำค่ายวีรวัฒน์โยธิน แพทย์ประจำโรงพยาบาล แม่ และพนักงานสอบสวน เข้าเบิกความ นัดสืบพยานต่อ 23 พ.ค.นี้

26 เม.ย. 2559 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดสุรินทร์ได้ออกนั่งพิจารณาเป็นครั้งแรก ตามที่อัยการจังหวัดสุรินทร์ได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนการเสียชีวิตของ สิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ อายุ  25 ปี ทหารสังกัด กรมทหารที่ 23 กองพันทหารราบที่ 3 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน มณฑลทหารบกที่ 25 ผู้ต้องหาในคดีช่วยนักโทษอื่นให้พ้นจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ และเสียชีวิตลงโดยผิดธรรมชาติ (ถูกทำร้ายถึงตาย) ในระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่ เรือนจำมณฑลทหารบก 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2559  โดย บุญเรือง สุธีรพันธ์ มารดาของสิบโทกิตติกร ได้แต่งตั้งทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อเข้ามาซักถามพยานที่อัยการนำมาสืบ และศาลอนุญาต 

โดย พนักงานอัยการได้ระบุพยานไว้ 5 ปากแต่นำเข้าสืบได้เพียง 3 ปากคือ ประกอบด้วย

1. นายแพทย์นฤพล กิตติคุณากร นายแพทย์ประจำโรงพยาบาลสุรินทร์ผู้ร่วมชันสูตรพลิกศพผู้ตายในเรือนจำร่วมกับพนักงานสอบสวนและพนักงานฝ่ายปกครอง และเป็นนายแพทย์ที่ทำได้ผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายในคดีนี้ด้วย  โดยได้เบิกความถึงสภาพร่างกายของผู้ตายในครั้งแรกที่พบที่เรือนจำในค่ายวีรวัฒน์โยธินว่าพบว่ามีเครื่องพันธนาการที่ข้อเท้า การเสียชีวิตนั้นเกิดจากการถูกทำร้ายร่างกายโดยใช้ของแข็งไม่มีคมลักษณะเป็นท่อนยาว พื้นรองเท้า วัสดุแข็งไม่มีคม พื้นหยาบ เสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะร่วมกับกระเพาะอาหารแตกเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย

2. บุญเรือง สุธีรพันธ์  มารดาของผู้ตายเบิกความถึงความพยายามในการที่จะประกันตัวผู้ตายออกมาระหว่างต่อสู้คดีแต่ไม่สามารถทำได้ และระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่เรือนจำนั้นก็ได้พยานยามไปเยี่ยมหลายครั้งแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมโดยเจ้าหน้าที่เรือนจำอ้างมีระเบียบของทางราชการที่ไม่ให้เข้าเยี่ยม   ทำให้ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ตายได้  แม้มีการส่งจดหมายถึงผู้ตายในช่วงที่ขอเยี่ยมจดหมายก็ไม่ได้ถูกส่งต่อไปถึงผู้ตาย ทำให้ไม่ทราบถึงสภาพการควบคุมตัวจนกระทั่งผู้ตายได้เสียชีวิตในเรือนจำ

3. พ.ต.ท.รัชพล เกลี้ยงอุทธา  พนักงานสอบสวนที่ได้เข้าร่วมชันสูตรพลิกศพผู้ตายในเรือนจำร่วมกับนายแพทย์และพนักงานฝ่ายปกครองและเป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีอาญาที่ดำเนินกับผู้ถูกล่าวหาว่าได้ทำร้ายผู้ตายในคดีนี้ด้วย พนักงานสอบสวนเบิกความถึงสภาพศพผู้ตายในครั้งแรกที่พบที่เรือนจำในค่าย และได้สอบสวนพยานที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์หลายปาก รวมทั้งการตั้งข้อหาทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายกับผู้ต้องหา 4 คน ตามที่ทางฝ่ายทหารได้สรุปความเห็นจากการสอบข้อเท็จจริงภายในมาให้

ทั้งนี้ยังมีพยานอีกสองปากที่ไม่สามารถนำตัวมาศาลได้เพราะเป็นพยานที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนค่ายวีรวัฒน์โยธิน ซึ่งเป็นพยานสำคัญเพราะได้รู้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  และอัยการยังติดใจที่จะสืบพยานปากนี้อยู่เพื่อให้เห็นพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้ตายตายและทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้ตาย จึงได้ขออนุญาตศาลเลื่อนคดีไปอีกหนึ่งนัด ประกอบกับทนายความของมารดาผู้ตายได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและเรียกพยานฝ่ายทหารมาอีก 3 ปากจึงไม่สามารถพิจารณาคดีให้เสร็จภายในวันเดียวได้  ศาลพิจาณาแล้วให้เลื่อนการไต่สวนไปอีกครั้งหนึ่ง กำหนดนัดไต่สวนครั้งต่อไป  วันที่ 23 พ.ค. นี้ เวลา 09.00 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอฟทีเอวอทช์ จี้ ก.พาณิชย์แจง หวั่นปั้นข้อมูลเชียร์ TPP

0
0

เอฟทีเอวอทช์ จี้ ก.พาณิชย์แจง หวั่นปั้นข้อมูลเชียร์ TPP ชี้ฟังความจากสหรัฐฯข้างเดียว จี้เปิดงานวิจัยของสถาบัน CP เพื่อความโปร่งใส

26 เม.ย. 2559 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะนำข้อดีข้อเสียการเข้าร่วม TPP ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯเป็นประธานในวันศุกร์ที่ 29 เม.ย.นี้

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอทช์) ตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงพาณิชย์จะนำข้อมูลที่เป็นกลางเข้าสู่ที่ประชุม กนศ.หรือไม่

"กระทรวงพาณิชย์ยกขบวนไปฟังคำอธิบายในเนื้อหาจากผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(ยูเอสทีอาร์) ทั้งที่หากดูจากคำแถลงของยูเอสทีอาร์หลังการเจรจาสิ้นสุดก็จะพบว่า พูดความจริงครึ่งเดียว เน้นแต่ส่วนดี บางส่วนบิดเบือนความเป็นจริง เช่น การเข้าถึงยาที่อ้างว่าไม่มีปัญหา แต่ข้อเท็จจริงการเจรจาต่อรองจัดซื้อยาหรือนำยาเข้าสู่ระบบหลักประกันทำไม่ได้ การปล่อยให้เอกชนฟ้องร้องล้มนโยบายรัฐยังสามารถทำได้ มีข้อจำกัดเพียงการควบคุมยาสูบ แต่จากกรณีที่ออสเตรเลียถูกฟ้อง อุตฯยาสูบก็บิดฟ้องประเด็นเครื่องหมายการค้าซึ่งยังคงทำได้ เนื้อหา TPP มีความซับซ้อนมาก การฟังคำอธิบายจากยูเอสทีอาร์โดยไม่ฟังข้อสังเกตจากนักวิชาการและภาคประชาสังคมทั่วโลก สุดท้าย กนศ.จะได้ข้อสรุปที่ไม่มีคุณภาพจากกระทรวงพาณิชย์"

ผู้ประสานงานเอฟทีเอวอทช์ยังตั้งข้อสังเกตที่จนถึงขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ยอมเผยแพร่งานวิจัยที่จ้างสถาบันปัญญาภิวัฒน์และ ITD ไปจัดทำ โดยอ้างว่า ยังไม่มีการตรวจรับ ทีมวิจัยยังต้องแก้ไขงานวิจัย แต่กระทรวงพาณิชย์กลับอ้างอิงตัวเลขงานวิจัยนี้โดยตลอดว่า ไทยจะได้ประโยชน์ TPP

"กระทรวงพาณิชย์ต้องเผยแพร่งานวิจัยนี้ต่อสาธารณะเพื่อให้นักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้สอบทาน เพื่อความถูกต้องของงานวิจัยและลดข้อกังขาถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของสถาบันปัญญาภิวัฒน์ หน่วยงานที่รับวิจัยแต่ก็เป็นสถาบันในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่สนับสนุน TPP"

ทั้งนี้ ผู้ประสานงานเอฟทีเอวอทช์ ยังชี้ว่า กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเตรียมข้อมูลให้รัฐบาลตัดสินใจยังไม่มีข้อเสนอถึงการรองรับผลกระทบของ TPP ต่อระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ และกระทบกับยุทธศาสตร์ 20 ปีเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม, การแก้ไขปัญหาความยากจน และผลกระทบกับเกษตรกรและผู้บริโภคจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และสินค้าจีเอ็มโอซึ่งจะกระทบกับยุทธศาสตร์การส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงของไทยแน่ๆ

กรรณิการ์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่เมื่อเช้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์บอกว่า ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ระบุว่าถ้าไทยอยากเข้าร่วม TPP ให้แก้ระเบียบกฎหมายให้พร้อมนั้น ขอไทยอย่าเสียค่าโง่ตาม เพราะตอนนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าชาติไหนในประเทศสมาชิก TPP จะแก้กฎหมาย เพราะมีความไม่แน่นอนสูงมาก

"มาเลเซียไม่แก้กฎหมาย จนกว่าจะบังคับใช้อย่างเป็นทางการ, ญี่ปุ่นเลื่อนให้สัตยาบันจากเดิมกำหนดใน มิ.ย. อย่างไม่มีกำหนด เพราะเหตุแผ่นดินไหว ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ, สหรัฐอเมริกา จะยังไม่พิจารณาจนกว่าจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่และไม่มีผู้สมัครคนใดกล้าสนับสนุน TPP อย่างเป็นทางการเลย เพราะอย่าเสียค่าโง่ทำตามที่ USTR บอก"

ทางด้าน รศ.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำการศึกษาผลกระทบของ Global Supply Chain จากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีและพหุภาคีต่ออุตสาหกรรมไทย ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ ชี้ว่า จากการศึกษาข้อมูลผลประโยชน์ที่ไทยคาดว่าจะได้จาก TPP อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เนื่องจากกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่ซับซ้อน และแม้ประเทศไทยจะไม่เข้าร่วม TPP อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยไม่กระทบ และเชื่อญี่ปุ่นอยากได้กลไกระงับข้อพิพาทเฉพาะ

“กฎแหล่งกำเนิดสินค้าบางประเภทก็รุนแรงขนาดที่ผู้ประกอบการไม่ทำตาม ไม่ใช่สิทธิพิเศษทางภาษีที่ได้ เนื่องจากไม่คุ้มที่จะไปเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเพื่อให้ได้สิทธิห้าเปอร์เซ็นต์ สิบเปอร์เซ็นต์ เพราะอาจไม่คุ้ม มันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นมันไม่ได้สรุปง่ายๆ ว่า ถ้าเราไม่เข้า TPP แล้ว supply chain จะต้องเปลี่ยนเสมอไป มันอาจจะเปลี่ยน แต่ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนถ้าจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่น่าจะเป็นผลจาก TPP เพียงอย่างเดียว มันไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ”

รศ.ดร.อาชนัน กล่าวด้วยว่า ข้อสันนิษฐานที่สมเหตุสมผลที่สุดที่ญี่ปุ่นผลักดันให้ไทยเข้าร่วม TPP ไม่ใช่ supply chain แต่ต้องการกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนหรือไอเอสดีเอส (Investor-State Dispute Settlement: ISDS) เพราะภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองเช่นนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นย่อมมีความวิตกกังวล

ทั้งนี้ กลุ่มเอฟทีเอวอชท์เคยอธิบายไว้ว่า หัวใจของ ISDS คือ การเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือยกเลิกนโยบายสาธารณะของประเทศนั้นๆ ได้ โดยผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เช่น   ICSID (International Centre for Settlement of Investment Disputes) ของธนาคารโลก ซึ่งมีเงื่อนไขว่าการตัดสินของ ICSID ถือเป็นที่สิ้นสุด 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ปัญหาของยักษ์นอกตะเกียง

0
0




อาจารย์เกษียร เตชะพีระ นำเอาบทความในหนังสือพิมพ์ฝรั่งฉบับหนึ่งมาแชร์ในเฟซบุ๊กของท่าน อ่านแล้วน่าตกใจพอสมควร

บทความนั้นพูดถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐที่น่าจะเป็นตัวแทนของสองพรรคใหญ่ว่า เป็นผู้สมัครที่มีคนเกลียดมากที่สุด (คือเกินครึ่งของผลสำรวจของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส) แปลว่าคนที่จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปลายปีนี้ คือคนที่ชาวอเมริกันเกลียดน้อยกว่า ระหว่างคนน่าเกลียดสองคน

นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้แต่ประธานาธิบดีที่คนหมดความนิยม เช่นประธานาธิบดีคลินตันในการลงสมัครแข่งขันสมัยที่สอง ก็ไม่ได้มีคะแนนเกลียดสูงเท่านี้

ผู้เขียนบทความ (Andrew O’Hehir) ชี้ว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากความล่มสลายของระบบพรรคการเมืองและระบบเลือกตั้งของสหรัฐ เช่นในการลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนพรรค ความเห็นของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีน้ำหนักน้อยกว่าความเห็นของขาใหญ่ในพรรค ดังนั้นผู้ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรค คือคนที่สามารถไปกันได้กับขาใหญ่ของพรรค มากกว่าคนที่พูดถึงปัญหาที่ประชาชนคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของตน หรืออีกกรณีหนึ่งผู้เขียนบทความกล่าวว่า แท้จริงแล้วส่วนใหญ่ของคนอเมริกันที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ไม่ได้ลงทะเบียนกับพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น แต่เป็นผู้เลือกตั้ง “อิสระ” (ประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์) นี่คือคะแนนตัดสินที่แท้จริง แต่เขาไม่ได้เลือกผู้สมัครของพรรคใด ได้แต่เลือกเอาผู้สมัครคนใดคนหนึ่งในสองคนที่พรรคส่งเข้ามาเท่านั้น (หากพรรคส่งคนที่เขาเกลียดมาทั้งคู่ เขาก็ไม่ไปเลือกตั้งเท่านั้นเอง จบ)

และนี่คือเหตุผลที่ ขาใหญ่ของพรรคการเมืองต้องเลือกสนับสนุนคนที่เสียงอิสระพอจะรับได้ คนจืดๆ ย่อมปลอดภัยกว่าคนเข้มๆ เพราะแม้ว่าคนเข้มๆ อาจสร้างคนรักได้ แต่ก็ไม่มากไปกว่าสร้างศัตรูที่ต่อต้านคัดค้านนโยบายเข้มๆ อย่างเอาเป็นเอาตาย จึงต้องออกไปลงคะแนนให้แก่คู่แข่งของคนเข้มๆ แต่คนจืดๆ ถึงไม่มีติ่งเลย ก็ยังดี เพราะความไม่ศรัทธาไม่เป็นแรงกระตุ้นให้ลุกขึ้นไปโหวตให้ใครทั้งสิ้น ไม่ได้คะแนนเลย ยังดีกว่าเอาคะแนนไปให้คู่แข่ง

การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงการลงคะแนนให้แก่คนที่เราเกลียดน้อยหน่อยเท่านั้น ไม่มีความหมายทางการเมืองซึ่งจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นว่าเป็นธรรม และเป็นคุณประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างใดทั้งสิ้น

(ในประเทศคอมมิวนิสต์ อาจมีผู้สมัครหลายคนแข่งขันกันให้ประชาชนเลือก แต่ไม่ว่าจะลงคะแนนให้ใคร ก็ล้วนเป็นผู้สมัครของพรรคทั้งสิ้น … มันต่างอย่างไรกับการเลือกตั้ง “เสรี” ในสหรัฐ)

ผมอยากจะย้ำไว้ก่อนว่า ทั้งนี้มิได้หมายความว่าการเมืองอเมริกัน ไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้เลย ก็พอปรับเปลี่ยนได้อยู่ เช่นนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งประธานาธิบดีเดโมแครตผลักดันต่อเนื่องกันมา แม้ยังไม่สำเร็จตามเป้าหมาย แต่โอกาสที่นโยบายสาธารณะนี้จะถูกขับเคลื่อนจนเป็นผลมากขึ้นในภายหน้า ก็พอจะมองเห็นได้ อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนที่เกิดจากการเมืองทำได้ในกรอบแคบๆ อันหนึ่งเท่านั้น มากกว่านี้เกิดขึ้นได้ยาก

มากกว่านี้คืออะไร

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เศรษฐกิจอเมริกันสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขึ้นทั้งอย่างรวดเร็ว และอย่างมาก คน 10% ระดับบนครอบครองทรัพย์สินและทำรายได้ต่อปีมากกว่าคน 10% ระดับล่างเป็นจำนวนหลายเท่าตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอาจไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดของความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำอีกหลายด้าน รวมทั้งช่วยเร่งเร้าให้ความเหลื่อมล้ำด้านอื่นดำรงอยู่ หรือยิ่งเลวร้ายลง

Thomas Piketty (Capital in the Twenty-First Century) ยกตัวอย่างการเพิ่มขึ้นของค่าตอบแทนของนักบริหารว่าเพิ่มขึ้นทั้งเร็วและมาก ในขณะที่ค่าแรงของแรงงานไม่ได้เพิ่มขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน โดยที่นักบริหารไม่ต้องพิสูจน์ผลิตภาพของตนเองด้วย เพราะถึงอย่างไร การวัดผลิตภาพของผู้บริหารในหน่วยงานเอกชนหนึ่งๆ ก็ทำได้ยากหรือทำแทบไม่ได้อยู่แล้ว (ในขณะที่วัดผลิตภาพของแรงงานได้ง่ายกว่า)

นี่คือเหตุผลที่ผู้สมัครอย่างเบอร์นี่ แซนเดอร์ส์ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นกว่าที่ใครคาดคิดมาก่อน เพราะเขาพูดถึงปัญหาระดับรากฐานของสังคม ที่คนทั่วไปรู้สึกมานานโดยพรรคการเมืองไม่เคยพูดถึง (หรืออย่างน้อยก็ไม่กล้าพูดถึงตรงๆ)

คู่แข่งของแซนเดอร์ส์จำเป็นต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำบ้าง ฮิลลารี คลินตัน โจมตีคู่แข่งของเธอว่าแซนเดอร์ส์ได้แต่พูดถึงปัญหา ไม่เคยพูดถึงทางออกว่าจะต้องแก้อย่างไร (เช่นเธอสัญญาเหมือนกันว่าเธอจะสนับสนุนการเพิ่มค่าแรงเป็น 15 เหรียญต่อชั่วโมง)

แต่ผมอยากเตือนด้วยว่า เมื่อเราเสนอทางออกโดยไม่พูดถึงต้นตอของปัญหาให้ชัด บางทีทางออกของเราก็เป็นเพียงอะไรที่มาเคลือบปัญหาที่แท้จริงเท่านั้น (เช่น 30 บาท, กองทุนหมู่บ้าน, ค่าแรง 300 บาท, หรือแม้แต่รถคันแรก ฯลฯ ก็ดีทั้งนั้นแหละครับ แต่มาตรการทั้งหมดเหล่านี้ ทำให้เราไม่ต้องถามไปถึงต้นตอของความเหลื่อมล้ำ ช่วยเบือนสายตาเราจากอำนาจและอภิสิทธิ์ของอภิชน)

ผมกลับไปอ่าน Piketty ใหม่ว่า เขาพูดถึงต้นตอของความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจสหรัฐอะไรไว้บ้าง เขาพูดไว้หลายอย่างมาก นับตั้งแต่ระบบการจ้างงาน, เงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนต่างๆ อย่างไร, ทุนและทรัพย์สินต่างประเทศในสหรัฐ, ระบบภาษี, ภาษีทรัพย์สิน, การสืบมรดก, ระบบอุดมศึกษา, ไปจนถึงคติคุณาธิปไตยล้นเกิน (meritocracy – ซึ่งมักจะแปลว่าระบบคุณธรรม แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับคุณธรรมทั้งสิ้น) ฯลฯ

แต่ละเรื่องมีข้อมูลเชิงประจักษ์มาพิสูจน์จำนวนมาก แต่ที่สำคัญคือลงลึกไปถึงระดับแนวคิดที่ครอบงำอยู่เบื้องหลังการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ผมขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวคือระบบคุณาธิปไตยล้นเกิน

นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา รัฐตะวันตกให้ค่าตอบแทนแก่ความรู้ความสามารถของบุคคลมากขึ้น โดยเฉพาะที่ทำงานสาธารณะ เช่นเป็นข้าราชการระดับสูงหรือผู้บริหาร และนักการเมือง โดยอ้างว่าเพื่อให้ดำรงชีวิตอย่างทัดเทียมได้กับชนชั้นสูงเดิม (ซึ่งเคยทำงานเช่นนี้มาก่อน) ดังนั้นระบบคุณาธิปไตยจึงเข้ามาแข่งขันกับระบบสืบทอดมรดก และยิ่งนับวันก็ยิ่งเน้นระบบคุณาธิปไตยจนล้นเกิน ไม่ใช่เพียงแค่คุณาธิปไตยเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมเท่านั้น แต่มันซึมลึกลงไปในวิธีคิดและวิธีรู้สึกของคนชั้นกลางระดับบนด้วย

Piketty อ้างงานวิจัยของนักวิจัยสตรีท่านหนึ่งในทศวรรษ 1980 ที่สัมภาษณ์ลงลึกคนชั้นกลาง ทั้งระดับบนและระดับล่างในเขตเมืองของฝรั่งเศสและสหรัฐ เธอพบว่าแม้ในเมืองที่ไม่ใหญ่เท่านิวยอร์ก คนชั้นกลางที่มีการศึกษาทั้งในฝรั่งเศสและสหรัฐ มองว่าตนเป็นกลุ่มคนที่แตกต่างจากคนกลุ่มอื่นตรงความรู้ความสามารถส่วนตน และ (น่าสนใจมากนะครับ) คุณธรรมความดีของตนเอง ด้วยเหตุดังนั้นจึงควรได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าคนอื่นๆ หลายเท่าตัว

คติคุณาธิปไตยเช่นนี้ซึมลึกลงไปในวิธีคิดของผู้คน แม้แต่ที่อยู่ในกลุ่มคนทางสังคมกลุ่มอื่นด้วย และช่วยจรรโลงความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่เห็นได้ชัดจนน่าเกลียดนี้เอาไว้อย่างมั่นคง

ในสังคมไทยซึ่งไม่เคยผ่านการปฏิวัติที่ลงถึงฐานรากของสังคม ระบบคุณาธิปไตยรวมตัวเข้ากับระบบสืบทอดมรดก (และเพื่อให้เหมาะกับสังคมไทย ผมขอเรียกว่าระบบสุขุมาลชาติ) ได้สนิทแนบเนียน ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีลักษณะชนชั้นอย่างชัดเจน คนชั้นกลางที่มีการศึกษาของไทย ซึ่งเป็นทั้งสุขุมาลชาติและมี “ความรู้ความสามารถเป็นคุณ” ย่อมรับไม่ได้กับมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทุกชนิด พวกเขาไม่มีทางจะเข้าใจได้ว่า เหตุใดคนที่ไม่เก่งและไม่ดีจึงควรได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐ เพื่อยืดคอขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับพวกเขา เพียงเพราะคนพวกนั้นมีจำนวนมากต่อมากเท่านั้นหรือ ถ้าเพียงเท่านั้นระบอบที่ให้น้ำหนักแก่เสียงส่วนมาก จึงเป็นระบอบที่ปฏิเสธความเก่งและความดี อันเป็นธรรมะขั้นพื้นฐานเลยทีเดียว

ผมตกใจกับบทความที่อาจารย์เกษียรนำมาเผยแพร่ ไม่ได้ตกใจกับเนื้อหาของบทความ แต่ตกใจกับความรู้สึกของตนเอง เมื่อได้เห็นภาพคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ และสมัครพรรคพวกที่นั่งหัวโต๊ะ กรธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญของตนขึ้นเสนอต่อสังคมไทย

ในโลกที่เราได้ความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์ของมนุษย์ในสังคมต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้งขึ้นเช่นนี้ คนเหล่านี้มาจากโลกชนิดไหนกัน ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นคนแก่ แต่จากสิ่งที่พวกเขาพูด, เขียน, และรัฐธรรมนูญที่เขาร่าง ล้วนส่อให้เห็นว่าโลกของเขาได้ตายไปนานแล้ว อาจตายไปตั้งแต่พวกเขายังไม่เกิดด้วยซ้ำ

ไม่มีใครปฏิเสธว่าประชาธิปไตยนั้นมีปัญหา เช่นเดียวกับไม่มีใครปฏิเสธว่าทุนนิยมก็มีปัญหา ยิ่งสองอย่างนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของกันและกันในการปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ก็ยิ่งเป็นปัญหาที่น่ากลัวมากขึ้น แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่เป็นระบอบที่เปิดให้เกิดการโกง เพราะการโกงมีในทุกระบอบปกครอง ประชาธิปไตยไม่ใช่เผด็จการของรัฐสภา เพราะเสียงข้างมากในสภาอาจกลับกลายเป็นเสียงข้างน้อยได้เสมอ อย่างน้อยก็ในทุกวาระที่มีการเลือกตั้ง (แท้จริงอาจเปลี่ยนก่อนหน้านั้นก็ได้) ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบปกครองเดียวที่เรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนโดยไม่รับผิดชอบ (ซึ่งเรียกกันว่าประชานิยม) ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ประชาธิปไตยเท่านั้นที่ทำให้คนกลุ่มต่างๆ สามารถตรวจสอบนโยบายรัฐได้ (มากเสียกว่าข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาเสียด้วยซ้ำ) จนทำให้นโยบายที่ไม่รับผิดชอบดำเนินไปได้ยาก

การหมาย (identify) ว่าอะไรคือปัญหาของประชาธิปไตยของ กรธ. ไม่เพียงแต่เป็นการหมายที่ล้าสมัยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการหมายของคนที่ไม่รู้จักประชาธิปไตยเลย ซ้ำไม่เข้าใจหรือแสร้งไม่เข้าใจว่า ปัญหาจริงๆ ของประชาธิปไตยที่โลกสมัยปัจจุบันเผชิญอยู่คืออะไร เช่นจะทำอย่างไรให้ประชาชนควบคุมพรรคการเมืองได้รัดกุมมากขึ้น ไม่ใช่ให้คนนอก (ไม่ว่าจะเป็นทหาร, วุฒิสภาจากการแต่งตั้ง, หรือสภาคนนอกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนายทุน, วิชาชีพ, แพทย์ หรือผู้อ้างตนเป็นสัตบุรุษต่างๆ) เข้ามาควบคุมพรรคการเมืองแทนประชาชน เพราะแม้แต่พรรคการเมืองต้องถูกบังคับให้เปิดตัวเองแก่การควบคุมของประชาชนอย่างสหรัฐ ในที่สุดประชาชนก็สูญเสียอำนาจควบคุมของตนไปแก่ขาใหญ่ของพรรค ซึ่งสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนส่วนน้อยที่ถือส่วนแบ่งของรายได้ประชาชาติไปเป็นส่วนใหญ่

ปัญหาของประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันก็คือ ประชาธิปไตยกำลังถูกควบคุมด้วยอำนาจที่ประชาชนควบคุมตรวจสอบไม่ได้ จนแม้แต่การเลือกตั้งก็ไร้ความหมายในชีวิตจริงของผู้คน ในขณะที่โจทย์ของนักร่างรัฐธรรมนูญของไทยกลับเป็นตรงกันข้าม นั่นคือจะให้อำนาจนอกระบบนานาชนิด เข้ามาควบคุมประชาธิปไตยได้อย่างไร

ในโลกนอกประเทศไทย ปัญหาของประชาธิปไตยคือจะจัดการให้ยักษ์นอกตะเกียงทำตัวเป็นประโยชน์แก่ประชาชนตามสัญญาได้อย่างไร แต่ในประเทศไทย ปัญหาของประชาธิปไตยคือจะจับยักษ์ยัดกลับไปอยู่ในตะเกียงได้อย่างไร

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 25 เมษายน 2559

ที่มา: มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ฯ: อายาโกะ โทยามะ-วิเคราะห์การคัดเลือกกรรมการองค์กรอิสระ

0
0

อายาโกะ โทยามะ นักวิชาการจาก ม.เกียวโต ชี้ปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์ ไม่ใช่แค่เรื่องตุลาการ แต่รวมถึงฝ่ายบริหาร พร้อมสำรวจองค์กรอิสระไทยที่กลายเป็น "สวัสดิการของข้าราชการอายุเกษียณ" แนะแก้คุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งเพื่อรับประกันความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม

เสวนาวิชาการเรื่อง “เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ในวันที่ 22 เมษายน 2559 ณ ห้อง LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการเสวนาวิชาการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์ และเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอภิปรายถกเถียงทางวิชาการ

งานนี้มีผู้ร่วมนำเสนอ 7 คน ได้แก่

โยชิฟูมิ ทามาดะ - ประชาธิปไตยกับตุลาการภิวัตน์
สายชล สัตยานุรักษ์ - มรดกทางประวัติศาสตร์และการบังเกิด "ตุลาการภิวัตน์" ในรัฐไทย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล - กำเนิดและความพลิกผันของแนวคิดการเมืองเชิงตุลาการ
กฤษณ์พชร โสมณวัตร - การประกอบสร้างอัตลักษณ์ตุลาการไทย: คุณธรรม สถานภาพ และอำนาจ
อายาโกะ โทยามะ - องค์กรอิสระกับการเมือง การวิเคราะห์เกี่ยวกับการคัดเลือกกรรมการ
ปิยบุตร แสงกนกกุล - ตุลาการภิวัตน์วิธี  
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ - อนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการ

00000

อายาโกะ โทยามะ 
นักวิชาการ ม.เกียวโต

 

คำศัพท์ "ตุลาการภิวัตน์" ที่เกิดขึ้นและนิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่ใหม่ในโลกด้วย

จริงๆ แล้วเรายังไม่รู้ว่าตุลาการภิวัตน์คืออะไร ในประวัติศาสตร์นานมาแล้ว พวกเราเข้าใจว่า รัฐประกอบด้วยอำนาจสามฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่ในปัจจุบันนี้ พวกเราต้องแก้ไขความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจรัฐ โดยเฉพาะในประเทศที่เลื่อมใสระบอบประชาธิปไตยในสมัยใหม่ หรือ New Democracy 

ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ เกิดขึ้นแต่ยังมีคำถามที่ต้องตอบเยอะ เช่น ตุลาการภิวัตน์เป็นปราฏการณ์ของฝ่ายตุลาการจริงหรือเปล่า ศาลรัฐธรรมนูญคือศาลหรือองค์กรอิสระ จริงๆ แล้ว รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญคือศาล แต่ยังไม่ชัดเจนใช่หรือไม่ องค์กรอิสระคืออะไร ประเด็นนี้ก็ยังไม่ชัดเจน องค์กรอิสระคือองค์กรของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายตุลาการ มีอำนาจพิเศษเกิดขึ้นหรือเปล่า อำนาจหน้าที่ของสามฝ่ายนั้นชัดเจน แต่สำหรับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ อาจจะมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่เลื่อมใสระบอบประชาธิปไตยในสมัยใหม่ ดังนั้น องค์กรอิสระน่าจะมีลักษณะเฉพาะตัวตามแต่ละประเทศ ดิฉันคิดว่าพวกเราต้องเรียนหรือทำวิจัยเกี่ยวกับความแตกต่างกันระหว่างประเทศ

ย้อนกลับมาประเทศไทย ตามที่ทุกท่านทราบดีแล้ว องค์กรอิสระไทยเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และยังมีอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ด้วย บทบาทขององค์กรอิสระเหล่านี้คือการขจัดคอร์รัปชันและความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ, ป.ป.ช., กกต. แต่ปัจจุบันนี้มีประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์องค์กรอิสระจำนวนมาก และมีคำถามว่าองค์กรอิสระไทยดูเหมือนจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นเช่นกันในประเทศต่างๆ ซึ่งไม่ต่างจากประเทศไทย อะไรคือปัญหาเกี่ยวกับองค์กรอิสระไทย

ในประเทศไทย องค์กรอิสระ 11 แห่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 นี่คือลักษณะพิเศษเกี่ยวกับองค์กรอิสระไทย แต่จะพุ่งประเด็นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นส่วนองค์กรอิสระอื่นๆ ยังไม่ได้มีการหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญ 

ดิฉันไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ ดังนั้น จะไม่ได้พูดถึงความถูกต้องเกี่ยวกับคำวินิจฉัยหรือคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ แต่จะสำรวจประวัติของคณะกรรมการองค์กรอิสระที่เกี่ยวกับการฟ้องต่อผู้ที่มีอำนาจทางการเมือง หรือการเลือกตั้ง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และอยากจะเปรียบเทียบกับองค์กรอิสระของประเทศอินโดนีเซีย เพราะก่อตั้งขึ้นในสมัยเดียวกันกับประเทศไทย

ก่อนที่จะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 มีการถกเถียงกันหลายประเด็น ทั้งกรณีที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบเรื่องการเลือกตั้ง รัฐบาลอาจมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง กระทรวงยุติธรรมไม่ยุติธรรมเลย เพราะผู้พิพากษาที่มีวัยวุฒิสูง มีอิทธิพลหรือไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชน สำหรับการปราปปรามคอร์รัปชัน ป.ป.ป. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ) ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ องค์กรอิสระจึงเกิดขึ้นหลายองค์กรในสมัยเดียวกัน การคัดเลือกกรรมการขององค์กรอิสระหรือผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ มีกรอบความคิดพื้นฐาน คือ เป็นคนกลางทางการเมืองเท่ากับองค์กรกลางที่เป็นอิสระ แต่ถามว่า เป็นอิสระจริงหรือไม่ 

สำหรับคุณสมบัติของผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการของ ป.ป.ช. คือ ผู้ที่เคยมีตำแหน่งรัฐมนตรี กรรมการ ป.ป.ช. กกต. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รองอัยการสูงสุด อธิบดี หรือศาสตราจารย์ ฯลฯ ส่วนคนที่ไม่มีคุณสมบัติ คือ ส.ส. ส.ว. ข้าราชการทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น คนที่เคยรับตำแหน่งในพรรคการเมืองภายในสามปีก็ไม่มีคุณสมบัติ หมายความว่า รัฐธรรมนูญไทยพยายามจะขจัดนักการเมืองจากผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการขององค์กรอิสระ 

ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 มีการเพิ่มเติมให้ผู้มีสิทธิรับตำแหน่ง คือ ผู้พิพากษาของศาลทหาร ทนายความที่มีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 30 ปี รวมถึงเอ็นจีโอด้วย 

สำหรับ กกต. ก็เช่นกัน สำหรับศาลรัฐธรรมนูญ ประมาณ 50% มาจากศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด อีกครึ่งหนึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ สำหรับ ป.ป.ช. คณะกรรมการคัดเลือกเสนอรายชื่อแล้ว วุฒิสภาคัดเลือกหรือมีมติ กกต. ก็เช่นกัน ศาลฎีกาเสนอรายชื่อได้ แต่สุดท้าย วุฒิสภาเป็นผู้คัดเลือกหรือลงมติ

การแต่งตั้งกรรมการแต่ละรัฐบาลมีประเด็นที่น่าสังเกตคือ ฝ่ายทักษิณ เอาชนะในการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับกรรมการขององค์กรอิสระ หรือผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญจำนวนของกรรมการที่ถูกคัดเลือกภายใต้รัฐบาลฝ่ายทักษิณ มีแค่ 50% เท่านั้น ส่วน ป.ป.ช. น้อยกว่า 50% 

ต่อไปจะดูประวัติของกรรมการ ทั้งนี้ ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ แต่เท่าที่สำรวจ 22 ท่าน เรียนจบระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 17 ท่านเรียนจบคณะนิติศาสตร์ หมายความว่าไม่มีความหลากหลายในประวัติการศึกษาเลย สำหรับการศึกษาพิเศษ มี 11 ท่านเรียนจบวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ซึ่งองค์กรนี้ก่อตั้งโดยจอมพล ป. 

สำหรับอาชีพก่อนหน้า กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งมากพอๆ กับข้าราชการพลเรือน อัยการสูงสุด ทหาร ตำรวจ ก็มี สิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือ ส่วนใหญ่เกษียณอายุราชการแล้วตอนที่เข้ารับตำแหน่ง หรือกำลังจะเกษียณอายุข้าราชการตอนที่ได้รับแต่งตั้ง ดังนั้น มีผู้พิพากษาหลายท่านที่อายุครบ 70 ปีก่อนที่จะครบวาระ หมายความว่าต้องคัดเลือกใหม่หรือไม่ 

ดังนั้น พวกเราต้องเข้าใจว่า ผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญไทยค่อนข้างอายุสูงมาก 

สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ปกติพวกเราจะนึกถึงทนายความหรือเอ็นจีโอ แต่จริงๆ แล้ว ตำรวจ ข้าราชการของกระทรวงมหาดไทย พวกเขาถูกคัดเลือกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจมาก คือ ผู้พิพากษาทุกท่านมีประสบการณ์ทำงานที่คณะกรรมการอื่นๆ เยอะ เช่น กรรมการของ ป.ป.ป. ไปเป็นกรรมการ กกต. และผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ มี 4 ท่านเคยเป็น ส.ว. สรรหา และถูกคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ อีกหลายท่านมีประสบการณ์เป็นคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 

ป.ป.ช. สำรวจ 23 ท่าน ประวัติการศึกษา ครึ่งหนึ่งเรียนจบคณะนิติศาสตร์ มธ. สำหรับการศึกษาพิเศษ อย่างน้อย 5 ท่านเรียนจบวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สำหรับอาชีพก่อนหน้า กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ ข้าราชการพลเรือน ผู้พิพากษาศาลฎีกามี 3 ท่าน ตำรวจ อัยการสูงสุด และทหาร ส่วนใหญ่เกษียณอายุราชการแล้วหรือกำลังจะเกษียณ ตอนที่เข้ารับตำแหน่ง หมายความว่า กรรมการของ ป.ป.ช. ก็อายุสูงมาก ป.ป.ช. ก็มีประสบการณ์ทำงานที่คณะกรรมการอื่นด้วย

กรรมการของ ป.ป.ป. เปลี่ยนเป็น กรรมการ ป.ป.ช. มี 1 ท่าน กรรมการ ป.ป.ช. ที่ไปเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญและกรรมการ ป.ป.ช. 

สำหรับ กกต. ก็เช่นกัน มากกว่าครึ่งหนึ่งเรียนจบคณะนิติศาสตร์ มธ. และเรียนจบวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร อาชีพก่อนหน้า กลุ่มใหญ่ที่สุด คือผู้พิพากษาศาลฎีกา ตามด้วยข้าราชการพลเรือน พวกเขาอายุสูงมาก ส่วนใหญ่กำลังจะเกษียณอายุราชการแล้ว สำหรับประสบการณ์ทำงานอื่นๆ ก็เช่นกัน ป.ป.ช. กกต. น่าสนใจมาก หลังจากหมดวาระของ กกต. มีหนึ่งท่านที่เปลี่ยนเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สองท่านเคยเป็น ส.ว. แบบสรรหา 

สำหรับผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีลักษณะเหมือนกัน กรรมการส่วนใหญ่เรียนจบคณะนิติศาสตร์ มธ. และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร อาชีพก่อนหน้า คือ ข้าราชการพลเรือน เป็นกลุ่มใหญ่สุด ผู้พิพาษาศาลฎีกาและทหารก็มี ส่วนใหญ่กำลังจะเกษียณอายุราชการแล้ว และพวกเขาก็อายุสูงมาก พวกเขามีประสบการณ์ทำงานที่คณะกรรมการอื่นๆ ก็เช่นกัน หลังหมดวาระของผู้ตรวจการแผ่นดิน บางคนได้เป็นกรรมการ กกต. หรือ ส.ว. สรรหา หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติปัจจุบัน

หมายความว่าในปัจจุบัน มีประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์องค์กรอิสระไทยเยอะ ที่ประเทศไทย มีหลายองค์กร แต่สำหรับกรรมการหรือผู้พิพากษา พวกเขามาจากกลุ่มเดียวกัน และสลับตำแหน่งกัน 

องค์กรอิสระก่อตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 แต่ในสมัยก่อนก็มีองค์กรที่มีลักษะคล้ายกัน คือ ส.ว. แบบแต่งตั้ง อาชีพก่อนหน้าของ ส.ว. ส่วนใหญ่มาจากข้าราชการ ตรงนี้มีลักษณะคล้ายกันมาก 

แต่สถานการณ์ขององค์กรอิสระไทย ไม่ใช่ปกติ เพราะองค์กรอิสระของอินโดนีเซีย ก็ก่อตั้งในสมัยเดียวกัน แต่มีลักษณะแตกต่างกันอย่างมาก ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์แต่เท่าที่ดิฉันสำรวจแล้ว กลุ่มใหญ่มากที่สุดคือ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และที่น่าสังเกตคือมีนักการเมืองอยู่ด้วยสามท่าน 

สำหรับ กกต. ของอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่มาจากนักวิชาการ ซึ่งไม่ใช่ด้านนิติศาสตร์ แต่เป็นรัฐศาสตร์ รวมถึงมี กกต.ระดับท้องถิ่น เอ็นจีโอ และนักการเมือง 

สำหรับศาลรัฐธรรมนูญไทย ผู้พิพากษามาจากนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ แต่ กกต. ของอินโดนีเซีย มาจากรัฐศาสตร์ ตรงนี้แตกต่างกัน และมี 7 ท่านมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้งท้องถิ่น หมายความว่า กกต. ของอินโดนีเซีย ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของคนที่จะมาเป็น กกต.

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันของอินโดนีเซีย มีชื่อเสียงมาก มีความหลากหลายเกี่ยวกับอาชีพ มีทั้ง ข้าราชการพลเรือน นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ทนายความ ตำรวจ อัยการ สื่อมวลชนก็มี ภายใต้รัฐบาลโจโกวี นักข่าวอายุยังน้อยถูกคัดเลือกเป็นกรรมการนี้ นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ๆ 

โดยสรุป องค์กรอิสระไทย มีปัญหาคือ กรรมการมาจากกลุ่มเดียวกัน ส่วนใหญ่มาจากข้าราชการที่อายุเกษียณแล้ว ในไทย ประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับองค์กรอิสระอินโดนีเซียไม่ปกติเลย ดิฉันคิดว่าองค์กรอิสระไทยก่อตั้งเป็นสวัสดิการของข้าราชการอายุเกษียณแล้ว 

ย้อนกลับมาที่พูดตอนแรก ตุลาการภิวัตน์ไทย มีสองมิติ มิติที่หนึ่ง การขยายอำนาจของฝ่ายตุลาการ อย่างที่ทุกท่านรู้กันแล้ว แต่ยังมีมิติที่สอง คือ การขยายอิทธิพลของฝ่ายบริหารหรือข้าราชการประจำ 

สำหรับมิติที่สอง ดิฉันยังไม่เข้าใจชัดเจนแต่คิดว่ากรรมการหรือผู้พิพากษาส่วนใหญ่มาจากข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว พวกเขาเคยมีตำแหน่งสูง ดังนั้น พวกเขาน่าจะมีเส้นหรือคอนเนคชันกับกระทรวงต่างๆ ดังนั้น ดิฉันเข้าใจว่า ตุลาการภิวัตน์ไทยเป็นปรากฏการณ์ ไม่ใช่แค่ฝ่ายตุลาการ แต่เป็นฝ่ายบริหารด้วย

ศาลรัฐธรรมนูญมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับคำวินิจฉัย และ กกต. ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบหรือการฟ้องคดี ดังนั้น องค์กรอิสระก็คือกระบวนการยุติธรรมทั้งกระบวนการ ดังนั้น ดุลยพินิจระหว่างองค์กรอิสระต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อรับรองความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม เพราะว่าไม่มีใครที่เป็นกลางโดยแท้จริง

ดิฉันคิดว่า 31 ขององค์กรอิสระไทย ไม่อยู่ที่กรรมการแต่อยู่ที่โครงสร้างองค์กร เพื่อรับรองความยุติธรรม ลักษณะของกรรมการและผู้พิพากษาต้องแตกต่างกัน กรณีของอินโดนีเซีย ไม่ทับซ้อนเลย แต่ของประเทศไทย ทับซ้อนมาก พวกเราเข้าใจได้ง่ายว่าไม่มีความยุติธรรมใช่หรือไม่ พวกเขาสลับกันดำรงตำแหน่งตลอดไป

ดังนั้น ดิฉันคิดว่าเพื่อแก้ไขปัญหาองค์กรอิสระไทย ต้องแก้ไขคุณสมบัติของกรรมการหรือผู้พิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

2 หมื่นชื่อขอนายกยุติต่อใบอนุญาตเหมืองทองพิจิตรระหว่ารอผลตรวจสารพิษใหม่

0
0



26 เม.ย.2559 ณ ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และนักวิชาการ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้มีการหยุดต่อใบอนุญาตเหมืองทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่จะหมดอายุในวันที่ 13 พ.ค.นี้ พร้อมรายชื่อผู้ลงนามคัดค้านกว่า 20,000 รายชื่อจากการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Change.org  รวมถึงแถลงการณ์ 21 เม.ย. ที่ผ่านมาจากคณะปูชีนียบุคคลไทยซึ่งมี ศ.ระพี สาคริกเป็นประธาน

สมิทธ์ ตุงคะสมิต  ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ประเด็นสำคัญตอนนี้คือชาวบ้านป่วยจริงและเสียชีวิตจริงจากการมีโลหะหนักในกระแสเลือด ที่ผ่านมามีการตรวจพิสูจน์และเจาะเลือดประชาชนรอบๆเหมืองทองคำประมาณ 1,000 กว่าคน ซึ่งกว่า 60% นั้นมีสารเคมีในเลือดสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ค่าแมงกานีส ค่าอาซีนิค ค่าไซยาไนด์ คำถามคือสารเคมีเหล่านี้มาจากไหน ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือช่วยเหลือประชาชนก่อน แทนที่จะไปฟังฝรั่งว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากเหมืองทองคำ ในประเทศไทยมีทีมวิชาการที่ทำงานมา 2 ปีทั้งมหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แล้วก็ได้ผลลัพธ์ชัดเจนว่าทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้นมีการปนเปื้อนสารพิษจริง ดังนั้นคำถามปัจจุบันจึงควรคิดว่าจะจัดการอย่างไรกับพื้นที่รอบเหมืองเมื่อสุขภาพผู้คนและสิ่งแวดล้อมเสียไปแล้ว

“กรณีแบบนี้มันค่อนข้างชัดกว่ามาบตาพุด เพราะมาบตาพุดมีโรงงานอุตสาหกรรมหลายโรงงาน ชาวบ้านมาบตาพุดก็ยังเถียงกันว่ามาจากโรงงานใด แต่กรณีนี้ชัดเจนเนื่องจากบริเวณนั้นมีเหมืองแร่ทองคำอยู่แห่งเดียว แล้วก็มีโรงงานประกอบอุตสาหกรรมอยู่แห่งเดียว แล้วชาวบ้านเจ็บป่วยแบบนี้จะหมายความว่าอย่างไร”สมิทธ์กล่าว

“ตอนนี้ผมไม่ได้เรียกร้องให้ท่านฟังใครข้างใดข้างหนึ่ง แต่เรียกร้องให้เอาข้อมูลข้อเท็จจริงมาดูกัน ในแง่ของผลกระทบทางสุขภาพนั้นชัดเจน ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก็ชัดเจน ผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์และผลประโยชน์ของประเทศก็ชัดเจนประเทศไทยได้รับผลประโยชน์นิดเดียวจากเหมืองแร่ทองคำตลอดที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องของความคุ้มไม่คุ้มตัดออกไปได้เลย มันไม่คุ้มไม่ต้องมานั่งคิดมาก” นักวิชาการจากม.รังสิตกล่าว

สมลักษณ์ หุตานุวัตร อาสาสมัครอิสระเพื่อมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน อดีตพยานผู้เชี่ยวชาญกรณีเหมืองแร่ทองคำพิจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ต้องการให้นายกฯ หยุดใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ซึ่งจะหมดอายุ 13 พ.ค.นี้ไว้ก่อน จนกว่าผลตรวจทุกอย่างจะออกมาเป็นที่กระจ่างชัดเจน แต่ตราบเท่าที่ผลตรวจใหม่ยังไม่ออกมาก็ไม่ควรต่อใบอนุญาต เพราะมันไม่มีโอกาสใดที่นายกจะสามารถหยุดเหมืองทองคำได้โดยชอบธรรม ถ้านายกไปหยุดจังหวะอื่นก็ต้องหาเหตุผลมากมายมาทำการยุติ แต่ตอนนี้ผลการตรวจที่พบการปนเปื้อนรอบเหมืองทองคำในคน พืช น้ำ มีมากเพียงพอที่จะสั่งหยุดได้ เพราะเป็นไปตามเอกสารแนบท้ายใบประกอบโลหกรรมที่ทางเหมืองทำไว้กับหน่วยราชการ แค่คนในหน่วยงานราชการไม่กล้าตัดสินใจ ในเมื่อนายกเป็นทหารก็ควรจะกล้าตัดสินใจ

“คณะกรรมการประมวลผลเก่าทั้งหมดตรวจมาแล้ว คน พืช ดิน น้ำ ผลลัพธ์ของหน่วยงานไหนเชื่อถือได้ ไม่ได้ และก็จะสุ่มตรวจใหม่ทั้งหมดโดยที่ประชุมจะกำหนดร่วมกันซึ่งจะต้องรอผลตรวจประมาณ 2-3 เดือน แล้วตัดสินใจอีกครั้ง แต่ถ้านายกฯ ไม่ตัดสินใจหยุดการต่อใบอนุญาตฯที่จะหมด 13 พ.ค.นี้ นายกฯ ต้องคิดว่า 5-6 เดือนจากนี้ไป ชะตากรรมของชาวบ้านจะต้องล้มป่วยอีกเท่าไร อย่าลืมว่าทุกครั้งที่เปิดเหมืองคือทุกนาทีที่สร้างความเสี่ยงโดยหาผู้กระทำผิดไม่ได้ และชาวบ้านก็ป่วยทุกวัน ดังนั้นนายกฯ ต้องรับผิดชอบต่อการป่วยและเสียชีวิตในฐานะผู้นำสูงสุดของประเทศ”

มานิต ลำพะศอน ชาวบ้านหนองระมานหมู่ 3 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร กล่าวว่า ก่อนที่มีเหมืองทองคำอาศัยอยู่มาก็สบายอยู่แบบปกติ น้ำบ่อตื้นก็สามารถเอามาดื่มได้ตั้งแต่ปู่ย่าตายายสามารถใช้น้ำได้ปกติ พอมีเหมืองตั้งแต่ ปี 2544 อยู่มาสัก 4-5 ปี ก็รู้สึกน้ำที่ใช้อาบผิดปกติ อาบแล้วเป็นผื่นคันแดงไปทั้งตัว ทำให้การใช้ชีวิตลำบากมากยิ่งขึ้น และชาวบ้านต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางฝุ่นละอองจากเหมือง เสียงระเบิด และเครื่องจักร ซึ่งหมู่บ้านมีระห่างจากเหมืองแค่ประมาณ 300 เมตร

มานิต กล่าวต่อว่า ชาวบ้านพยายามร้องเรียนตลอดมาตั้งแต่ปี 2550 เมื่อบริษัทเริ่มขยายพื้นที่ทำเหมืองทองคำ ทุกวันนี้ชาวบ้านเจ็บป่วย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจไม่ออกไม่ได้เป็นแค่ตัวเองแต่เป็นทั้งครอบครัวและหมู่เพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน พอมีหน่วยงานมาตรวจก็จึงได้พบว่ามีสารพิษปนเปื้อนทั้งในพืช ดินและน้ำ ทำให้ไม่สามารถปลูกผักกินเองได้ แล้วจนกระทั่งได้คูปองจากภาครัฐมาใช้แลกผักเพื่อบริโภคอย่างปลอดภัย ช่วง 5 ปีหลังนั้นหนักที่สุด เพราะแพทย์ลงพื้นที่และตรวจพบสารไซยาไนด์และสารหนูที่เกินเกณฑ์มาตรฐานในชาวบ้านเกือบทุกคน เหมือนกับการใช้ชีวิตรอบเหมืองคือการตายผ่อนส่ง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: เมื่อพุทธไทยขันติธรรมลด ม.67 ร่าง รธน.ซุกระเบิดเวลา

0
0

“แล้วต่อมาที่ผมโพสต์บอกว่า หากมีพระภิกษุในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกระเบิดหรือถูกสังหารหนึ่งรูปต้องแลกกับการไปเผามัสยิดทิ้งไปหนึ่งมัสยิด โดยเริ่มตั้งแต่เชียงใหม่ลงมาเลย ผมยอมรับว่าผมโพสต์เองและเจตนาโพสต์อย่างนั้นจริงๆ เหตุผลที่โพสต์ เพราะอะไรครับ มันเป็นยุทธวิธีหนึ่งในการข่มขู่ บอกว่าถ้าคุณไม่อยากถูกเผา คุณก็อย่าฆ่าพระอีก ถ้าคุณฆ่าพระอีก ฉันเผาแน่ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงวันนี้ยังไม่มีข่าวพระถูกทำลายนะ ตั้งแต่ผมโพสต์บทความนี้ออกไป แล้วก็มีการตีพิมพ์ออกทีวี หนังสือพิมพ์นะครับ ก็ยังไม่มีพระตาย แต่ถ้าหากว่าพระตายเมื่อไหร่ ท่านจะเผาหรือเปล่าครับ (เสียงตอบจากที่ประชุม “เผา”) ขอบคุณครับ”

คำพูดของพระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท หัวหน้าพระวิทยากรประจำพระอารามหลวง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ที่มีผู้นำมาเผยแพร่ในยูทูบ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 www.youtube.com/watch?v=tIvV9D4fRMoก่อนหน้านี้ พระมหาอภิชาติได้โพสต์ในเฟซบุ๊กของตนโดยมีเนื้อหาลักษณะนี้มาก่อน ทำให้ถูกหลายฝ่ายโจมตีจนต้องประกาศปิดเฟซบุ๊กชั่วคราว ถึงกระนั้น ก็มีพุทธศาสนิกจำนวนหนึ่งเห็นด้วยกับความคิดของพระมหาอภิชาติ

ก่อนเกิดกรณีพระมหาอภิชาติ ยังมีเหตุการณ์ที่ชาวจังหวัดน่านออกมาคัดค้านการก่อสร้างมัสยิดในจังหวัด มีการสร้างเพจบนเฟซบุ๊ก พร้อมภาพปกที่มีเนื้อหาว่า น่านเป็นที่มั่นแห่งสุดท้ายของพุทธศาสนาในประเทศไทยและจะไม่ยอมให้ใครมาย่ำยี หรือกรณีคลิปในยูทูบที่มีพระรูปหนึ่งจากวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ออกมาคัดค้านการสร้างศูนย์จำหน่ายของที่ระลึกภายในวัด เนื่องจากอ้างว่าศูนย์จำหน่ายฯ แห่งนี้ใช้แบบแปลนเดียวกันกับการสร้างมัสยิด
 

พุทธไทยไม่ขัดแย้งศาสนาอื่นเพราะกุมอำนาจรัฐ-ผลประโยชน์ได้

เมื่อตรวจดูความเคลื่อนไหวบนโลกโซเชียลมีเดีย จะพบว่า มีเพจและคลิปที่มีเนื้อหาต่อต้านศาสนาอิสลามหรือมีเนื้อหาว่าศาสนาอิสลามกำลังบ่อนทำลายพุทธศาสนา แต่ก็มีเนื้อหาที่ต้องการสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนาไม่น้อยเช่นกัน

แต่อาจกล่าวได้ว่า การแสดงความเห็นของพระมหาอภิชาติดูเหมือนจะเป็นการเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงที่ชัดเจนและเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางในสังคมกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ถ้าไม่นับกรณีวาทกรรมฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปในยุคสงครามเย็น

ย้อนดูประวัติศาสตร์ศาสนาพุทธในสยาม-ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย แม้ว่าพระสงฆ์จะมีบทบาททางการเมืองมาตลอด อย่างการสนับสนุนการแย่งชิงราชบัลลังก์ การเป็นฐานอำนาจให้แก่พระมหากษัตริย์ หรือการที่กษัตริย์ใช้พุทธศาสนาเป็นข้ออ้างในการทำสงคราม เช่นการแย่งชิงพระไตรปิฎก แต่ก็ไม่เคยพบเอกสารบันทึกความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาอื่น

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา วิเคราะห์สาเหตุที่สยาม-ไทยในอดีตไม่เคยมีความขัดแย้งรุนแรงระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาอื่นว่า เพราะพุทธศาสนาที่ผสมพราหมณ์ผีมักเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอำนาจรัฐอยู่แล้ว ขณะที่คริสต์และอิสลามที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เนื่องจากไม่มีกลุ่มศาสนาอื่นสามารถสร้างกลุ่มก้อนเข้ามาชิงอำนาจรัฐทาบรัศมีกับพุทธผสมพราหมณ์หรือมีส่วนแบ่งอำนาจผลประโยชน์ใกล้เคียงกันได้ จึงไม่มีเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงทางศาสนา
ความกลัวอิสลาม ทำพุทธไทยขันติธรรมลดลง

ขณะที่ปัจจุบัน ศาสนากลายเป็นปมความขัดแย้งที่รอวันปะทุในหลายภูมิภาคของโลก การแสดงความคิดเห็นอย่างโจ่งแจ้งของพระมหาอภิชาติฯ สร้างทั้งความสะใจสำหรับชาวพุทธจำนวนหนึ่ง พอๆ กับที่สร้างความวิตกกังวลว่าจะเป็นต้นทางของความรุนแรงในอนาคต

คำถามคือขันติธรรมที่ลดลงของพุทธไทย โดยเฉพาะกับศาสนาอิสลาม มีสาเหตุจากอะไร สุรพศ อธิบายว่า “ผมคิดว่ามีปัจจัยที่ซับซ้อนหลายอย่าง ที่พุทธสมัยก่อนไม่มีปัญหาทำนองนี้มาก อาจไม่ใช่เพราะชาวพุทธสมัยก่อนยึดมั่นในคำสอนของพุทธศาสนามากกว่า แต่เงื่อนไขทางสังคมการเมืองสมัยนั้นๆ ที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งกับศาสนาอื่นอาจมีน้อยกว่า ปัจจุบันเราเห็นความหวาดระแวงมุสลิมมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ การขยายการสร้างมัสยิดไปยังจังหวัดต่างๆ กระแสแอนตี้มุสลิมในพม่า หรือในโลกตะวันตกก็อาจจะมีอิทธิพลด้วย เพราะบ้านเรามักรับข่าวสารข้อมูลจากตะวันตกมากกว่า อีกอย่างกลุ่มพระสงฆ์และนักวิชาการพุทธฆราวาสบางกลุ่มเริ่มรู้สึกมากขึ้นว่า ศาสนาอิสลามเข้ามาแชร์อำนาจและงบประมาณรัฐมากขึ้น หรือเข้ามาแชร์พื้นที่การเมืองระดับชาติมากขึ้น”

สุรพศ ขยายความว่า การพยายามเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมืองระดับชาติที่มากขึ้นโดยลำดับของชาวมุสลิม เช่นให้สภาผ่านกฎหมายอิสลามหลายฉบับในรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2549 การเพิ่มงบประมาณอุดหนุนศาสนาอิสลามมากขึ้น เป็นต้น ทำให้พระสงฆ์และชาวพุทธบางส่วนมองว่าศาสนาอิสลามกำลังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว การรื้อฟื้นประวัติศาสตร์บาดแผลที่กองทัพมุสลิมบุกทำลายพุทธในอินเดีย และการเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการสร้างกระแสความกลัวอิสลาม

สอดคล้องกับความเห็นของพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และเพิ่มเติมว่า ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อว่าศาสนาอิสลามกำลังบ่อนทำลายพุทธศาสนา ซึ่งเป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในสังคมไทยมานานพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่วันมูหะหมัดนอร์  มะทา ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ก็มีข่าวลือว่าอิสลามจะครอบงำพุทธศาสนา ประกอบกับช่วงนั้นมีข่าวการเรียกร้องสิทธิหลายประการของชาวมุสลิม เช่น การขอให้มีห้องทำละหมาดในสนามบินและสถานที่สาธารณะ แต่ชาวพุทธไทยไม่คุ้นเคยกับการเคลื่อนไหวของชาวมุสลิม จึงเริ่มมองมุสลิมในแง่ลบ ยิ่งเมื่อชาวมุสลิมให้ความสำคัญกับหลักศาสนาของตนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งยืนยันในอัตลักษณ์มุสลิมอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยที่ส่วนหนึ่งเริ่มปฏิเสธพิธีกรรมบางอย่างของพุทธศาสนาหรือไม่ยอมรับธรรมเนียมบางอย่างที่ชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เช่น การไหว้พระ ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวมุสลิมจึงมีมากขึ้นในหมู่ชาวพุทธ และปฏิเสธไม่ได้ว่าปฏิกิริยาดังกล่าวส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่มุสลิมจำนวนหนึ่งที่เป็นสายแข็งกร้าว ซึ่งระยะหลังมีอิทธิพลในหมู่ชาวมุสลิมมากขึ้น มีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อชาวพุทธและพุทธศาสนา

ในอีกด้านหนึ่ง พระไพศาล เห็นว่ารากเหง้าของความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาอื่นในหมู่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเกิดจากความหวั่นวิตกว่าพุทธศาสนากำลังตกต่ำเสื่อมถอย ซึ่งแท้จริงเกิดจากความย่อหย่อนของชาวพุทธเอง ทั้งในด้านการศึกษาและปฏิบัติ โดยเฉพาะพระสงฆ์ซึ่งมีคุณภาพลดน้อยถอยลง จนทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธา นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน

“แต่แทนที่จะยอมรับว่าความเสื่อมถอยนั้นมีสาเหตุจากภายใน ชาวพุทธจำนวนหนึ่งกลับหันไปโทษคนภายนอกว่าทำให้พุทธศาสนาตกต่ำ และคนภายนอกที่มาสอดรับกับความคิดดังกล่าวก็คือชาวมุสลิม”
 

พุทธ=ชาติ สร้างปัญหา แนะแยกศาสนาออกจากรัฐ

นอกจากความกลัวอิสลามแล้ว รากเหง้าความเปราะบางของพุทธไทยยังอยู่ที่การนำ ‘ความเป็นพุทธ’ กับ ‘ความเป็นชาติไทย’ มาผูกโยงกัน ความเป็นชาติไทยจึงเท่ากับความเป็นพุทธ เมื่อมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อศาสนาพุทธ มันย่อมกระทบต่อความมั่นคงของชาติไปโดยปริยาย

“พุทธศาสนาแบบปัจจุบันคือพุทธศาสนาไทยที่มีโครงสร้างเป็นพุทธศาสนาของรัฐ เช่น มีการตีความคำสอนพุทธสนับสนุนอุดมการณ์ชาตินิยมทั้งโดยชนชั้นปกครอง คณะสงฆ์ ปราชญ์ชาวพุทธทั้งที่เป็นพระและฆราวาส ถึงขนาดอ้างกันว่าประวัติศาสตร์ชนชาติไทยคือประวัติศาสตร์ของชนชาติที่นับถือพุทธหรือพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยทั้งในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ สมควรรับรองว่าพุทธเป็นศาสนาประจำชาติโดยรัฐธรรมนูญเป็นต้น พุทธศาสนาที่ผูกกับความเป็นชาตินิยมแบบนี้มันสัมพันธ์กับอำนาจ ผลประโยชน์ และการมีทัศนคติเชิงกีดกันศาสนาอื่นๆ อยู่แล้ว แม้ว่าธรรมชาติของศาสนาโดยตัวมันเองก็มีลักษณะกีดกันอยู่ แต่อาจไม่มีปัญหาอะไรมากนัก ถ้าศาสนาไม่เข้ามาแชร์อำนาจรัฐ ศาสนาก็จะไม่มีอำนาจหรือเครื่องมือไปกีดกันศาสนาอื่นได้” สุรพศกล่าว

สุรพศเสนอว่าควรสร้างรัฐฆราวาสที่แยกศาสนาออกจากรัฐ แปรองค์กรศาสนาทุกศาสนาเป็นเอกชน รัฐมีความเป็นกลางทางศาสนาและมีหน้าที่รักษาเสรีภาพทางศาสนาเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงศาสนา รัฐจะเข้าไปจัดการเมื่อมีการใช้ศาสนาในทางละเมิดสิทธิพลเมืองเท่านั้น ทุกศาสนามีสถานะเสมอภาคกันและมีเสรีภาพในการเผยแพร่ภายใต้การเคารพกติกาประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน 

“เมื่อศาสนาเป็นอิสระจาการเป็นกลไกอำนาจรัฐ ธรรมชาติของศาสนาที่มีลักษณะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลโดยพื้นฐานก็จะกลับมีชีวิตชีวา มีการศึกษาตีความและประยุกต์ใช้อย่างสอดคล้องกับความหลากหลายของวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่ ไม่เป็นศาสนาที่ตายซาก แข็งทื่อไร้ชีวิตชีวา ไร้ความรู้สึกอ่อนไหวต่อความทุกข์ของเพื่อนร่วมสังคมที่ถูกกดขี่ด้วยโครงสร้างอำนาจที่อยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ อย่างศาสนาแห่งรัฐที่เป็นกลไกวัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบปัจจุบัน”
 


ที่มา เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา
 

หวั่นรัฐธรรมนูญมีชัยสร้างชนวนขัดแย้งระหว่างศาสนา

แต่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ กลับยืนกรานไปในทางตรงกันข้ามและถูกมองว่าในระยะยาวจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างศาสนามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 67 ระบุว่า

‘รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น’

‘ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าว’


สุรพศ แสดงทัศนะว่า คำว่า บ่อนทำลาย สามารถตีความได้ครอบจักรวาลและอาจสร้างเงื่อนไขให้เกิดการล่าแม่มดระหว่างชาวพุทธด้วยกันเอง เช่น กรณีธรรมกายที่ถูกล่าวหาว่าสอนผิดพระไตรปิฎก การวิจารณ์คำสอนพุทธศาสนา คณะสงฆ์ เสนอให้ยกเลิกระบบสมณศักดิ์ ก็อาจถูกตีความว่าเป็นการบ่อนทำลายศาสนา และยังอาจเป็นข้ออ้างในการจำกัดเสรีภาพในการเผยแพร่ศาสนาอื่นๆ เช่น การสร้างมัสยิดในบางพื้นที่ก็อาจตีความว่าเป็นการบ่อนทำลายพุทธได้ กล่าวคือจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญยังดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับพุทธนิกายเถรวาทไทยมากกว่าพุทธนิกายอื่นและศาสนาอื่นๆ

ด้วยสถานการณ์ที่เปราะบางต่อความขัดแย้งระหว่างศาสนา การแยกรัฐและศาสนาออกจากกันคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้ ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็ดูเหมือนจะสร้างชนวนปัญหาในระยะยาวมากกว่าที่จะสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนิก สังคมไทยจึงต้องแบกรับความเสี่ยงนี้ต่อไป เป็นความเสี่ยงที่ซุกอยู่ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ


Islamophobia ความขัดแย้งพุทธ-อิสลามที่รอวันปะทุ

ความไม่ลงรอยระหว่างพุทธและอิสลามในสังคมไทยเวลานี้เกิดจากปัจจัยซับซ้อนหลายประการ ก่อตัวเป็นอาการกลัวอิสลามหรือ Islamophobia ซึ่ง ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี หัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ ให้ข้อมูลว่า Islamophobia เป็นแนวคิดที่มีพัฒนาการตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 และต้น 2000 โดยนักการเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิจารณ์เกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ และองค์การระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนและลงตัวในหมู่นักวิชาการว่าหมายถึงอะไร แต่ก็พอจะเห็นนัยสำคัญๆ ของแนวคิดอิสลามโมโฟเบียว่า เป็นภาวะความสะพรึงกลัวต่อมุสลิมและศาสนาอิสลาม จนตัดสินโดยลอยๆ อย่างเหมารวมว่าอิสลามมีฐานะเป็น ‘ศัตรู’ ‘เป็นคนอื่น’ ‘เป็นตัวอันตราย’ ต่อโลกตะวันตก ดังนั้น อิสลามโมโฟเบีย จึงเป็นอาการปฏิเสธต่อศาสนาอิสลาม กลุ่มคนมุสลิม หรือมุสลิมที่เป็นปัจเจกชน โดยพื้นฐานของอคติและการเหมารวม

“ผมมองว่ามูลเหตุความกลัวอิสลามมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ที่ว่าปัจจัยภายนอกคือ เราได้เห็นงานที่มีพลังทางวิชาการอย่างของ  Edward Said ที่ได้สืบสาวเรื่องราวให้เห็นว่าโลกตะวันตกได้มีความพยายามจงใจสร้างความเป็นอื่นโดยผ่านชุดองค์ความรู้ที่เป็นอุตสาหกรรมทางวิชาการ เพื่อเขียนภาพอิสลามให้เป็นไปตามจินตนาการของโลกตะวันตก วัฒนธรรมอาหรับและอิสลามจึงถูกฉายภาพในลักษณะเป็นสิ่งแปลกประหลาด ล้าหลัง ไร้อารยะธรรม และอันตราย”

นอกจากอคติในงานวิชาการแล้ว สิ่งเหล่านี้ยังถูกผลิตซ้ำในสื่อแทบทุกแขนงในโลกตะวันตก ในรายงานการติดตามเกี่ยวกับอิสลามโมโฟเบียในที่ต่างๆ ขององค์กรความร่วมมืออิสลามหรือโอไอซี (OIC) แสดงให้เห็นชัดเจนว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน สื่อในโลกตะวันตกมีความพยายามบิดเบือนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ในเชิงลบเกี่ยวกับอิสลามอย่างชัดเจน แม้ว่าในหลายประเทศเริ่มจะมีการใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับความบิดเบือนและการทำร้ายหรือเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมแล้วก็ตาม

“สำหรับปัจจัยภายใน ต้องยอมรับว่าในหมู่มุสลิมเอง ซึ่งมีคนบางกลุ่มที่นิยมการใช้ความรุนแรงและสร้างความเสียหายอย่างมากมายแม้จะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยก็ตาม เมื่อปรากฏเป็นข่าวตามสื่อกระแสหลักต่างๆ ย่อมสร้างความหวาดกลัวให้แก่คนโดยทั่วไปที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในอิสลาม และสำหรับในประเทศไทยตอกย้ำด้วยสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ที่มีมายาวนานจึงทำให้ชาวไทยในที่อื่นๆ เกิดความหวาดกลัวต่อชาวมุสลิม”

ดังนั้น ในหมู่ชนที่ไม่ใช่มุสลิมจึงมีคำถามที่ค้างคาใจหรือมีภาพเกี่ยวกับอิสลามหลายประการที่เป็นไปในลักษณะการวาดภาพอิสลามอย่างแข็งกระด้างมีความเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมดในโลกอิสลาม ซึ่งในความเป็นจริงโลกอิสลามยังคงมีความแตกต่างหลากหลายมากมาย มองว่าอิสลามมีคุณค่าที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิงจนเข้ากันไม่ได้กับศาสนาและวัฒนธรรมอื่นๆ คำสอนของศาสนาอิสลามสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในสังคม และมองศาสนาอิสลามเป็นอุดมการณ์ความรุนแรงในปริมณฑลทางการเมือง

ขณะที่สังคมไทยยังคงมีอคติและวนเวียนกับอาการหวาดกลัวอิสลามผ่านการกล่อมเกลาและผลิตซ้ำผ่านช่องทางต่างๆ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็กำลังจะสร้างชนวนปัญหาขึ้นใหม่

“การระบุถ้อยคำแบบนี้ในรัฐธรรมนูญจะมีผลต่อความขัดแย้งอย่างแน่นอน เพราะเป็นข้อความที่มองศาสนาอย่างคับแคบ โดยความขัดแย้งแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือในระหว่างชาวพุทธด้วยกันเอง เพราะศาสนาพุทธในสังคมไทยก็ไม่ได้มีแค่นิกายเถรวาท แล้วทำไมต้องระบุการสนับสนุนของรัฐแก่พุทธศาสนาแบบเถรวาทเท่านั้น และยิ่งถ้อยคำที่ว่า ต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใดนั้น แสดงถึงเป็นการให้ใบอนุญาตในการใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขตจนเกินไปที่จัดการพุทธศาสนาแบบไม่ใช่เถรวาท รวมถึงศาสนาอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ย่อมสามารถตีความเป็นอย่างนั้นได้ใช่หรือไม่ อะไรคือ คำนิยามความหมายของการบ่อนทำลาย มีขอบเขตแค่ไหน
“ผมคิดว่าสิ่งที่น่ากังวลใจที่สุดสำหรับถ้อยคำแบบนี้คือ มันอาจถูกนำไปใช้ในการทำลายผู้มีความคิดหรือวิถีความเชื่อ ความศรัทธา และการปฏิบัติที่ต่างไปจากพุทธกระแสหลักหรือพุทธเถรวาท ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคม

“ผมอยากพูดรวมๆ โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงในภาคเหนือที่ผมเติบโตมา ได้เห็นถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธและมุสลิมที่เปลี่ยนไปจนน่าตกใจ ในอดีตเมื่อหลายสิบที่ผ่านมานั้น ชาวมุสลิมค่อนข้างได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพี่น้องชาวพุทธในภาคเหนือ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสการต่อต้านการสร้างมัสยิดไม่ว่าจะเป็นที่เชียงราย น่าน รวมทั้งเชียงใหม่ โดยมีการใช้ข้อมูลทั้งที่ขาดความเข้าใจและข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อจงใจสร้างความเกลียดชังในหมู่มุสลิม ดังนั้น จากพัฒนาการดังกล่าว หากสังคมทุกฝ่ายต่างนิ่งเฉยและปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ โดยไม่ช่วยกันหาทางสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างกันแล้ว ผมประเมินว่าในอีกไม่นาน อาจในช่วง 20-30 ปี ข้างหน้าหรืออาจจะเร็วกว่านั้นย่อมมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและมุสลิมที่รุนแรงดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าได้”

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน 28-30 เม.ย. ประเทศไทยตอนบนระวังพายุฤดูร้อน

0
0

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนพายุฤดูร้อน เนื่องจาก 28-30 เม.ย. ความกดอากาศสูงนำอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาถึงตอนบนของประเทศซึ่งมีความกดอากาศต่ำปกคลุม จึงจะทำให้เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง บางพื้นที่มีลูกเห็บ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบก่อน

ภาพแสดงลักษณะกลุ่มเมฆจากดาวเทียม Himawari เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 เวลา 23.05 น. ตามเวลาประเทศไทย (ที่มา: เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา)

แผนที่อากาศผิวพื้นวันที่ 26 เมษายน 2559 เวลา 19.00 น. ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่วนแนวปะทะอากาศที่พาดผ่านบริเวณประเทศจีนต่อเนื่องจนถึงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย (ที่มา: เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา)

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. เวลา 11.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือน "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 26 เมษายน 2559" มีรายละเอียดดังนี้

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา

"พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน"

ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 26 เมษายน 2559

ในช่วงวันที่ 28-30 เมษายน 2559 บริเวณด้านตะวันออกของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ โดยจะเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงอยู่ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรง

ทั้งนี้เนื่องจาก ความแตกต่างของมวลอากาศ โดยในช่วงวันที่ 28-30 เมษายน 2559 ความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ซึ่งเป็นอากาศเย็นจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยบริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว

ประกาศ ณ วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559 เวลา 11.00 น.

กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไป ในวันที่ 27 เมษายน 2559 เวลา 11.00 น.

(ลงชื่อ) วันชัย ศักดิ์อุดมไชย

(นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย)
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

 

000

ลักษณะอากาศประจำวันที่ 27 เมษายน 2559 - ระวังพายุลมแรง

สำหรับพยากรณ์อากาศ ระหว่างเวลา 23.00 น. วันที่ 26 เม.ย. ถึง 23.00 น. วันที่ 27 เม.ย. ในเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งและลมกระโชกแรงกับมีลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดเชียงราย ลำปาง น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรงที่จะเกิดขึ้น และอยู่ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาที่สำคัญคือ ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่วนลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ประกอบกับมีลมตะวันตกพัดปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในระยะนี้

 

พยากรณ์อากาศรายภาคตั้งแต่เวลา 23:00 วันนี้ ถึง 23:00 วันพรุ่งนี้.

ภาคเหนืออากาศร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดเชียงราย ลำปาง น่าน แพร่ และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 23-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 40-43 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ และมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ และนครราชสีมา อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 39-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคกลางอากาศร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 27-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 39-43 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ภาคตะวันออกอากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 28-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายนักวิชาการฯเตือนคสช.ทำประชามติแต่กั้นเสรีภาพ แม้ร่างรธน.ผ่านก็ไม่ชอบธรรม

0
0

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองออกแถลงการณ์ยืนยันเสรีภาพในการเผยแพร่เนื้อหาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นสิทธิที่กระทำได้ เตือนคสช. ทำประชามติแต่ปิดกั้นคุกคามเสรีภาพ บังคับให้ ปชช.ได้รับข้อมูลด้านเดียว แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ แต่ไม่มีความชอบธรรม

ภาพ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ายึดเอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ NDM และเตรียมเชิญตัว เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกำลังถือเอกสารดังกล่าวอยู่ ไปยัง สน.ปทุมวัน โดยแจ้งว่า ต้องการพูดคุยด้วย แต่เมื่อผู้สื่อข่าว และผู้ร่วมงาน เข้าไปดูเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ได้เปลี่ยนใจจากการขอเชิญตัว เป็นขอนามบัตรแทน เพื่อที่จะติดต่อเพื่อเรียกไปคุยวันอื่น

26 เม.ย. 2559 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันเสรีภาพในการเผยแพร่เนื้อหาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นสิทธิที่กระทำได้ โดยระบุว่า  25 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีเสวนาทางวิชาการว่าด้วยเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและได้มีการเผยแพร่เอกสารวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญใน 7 ประเด็น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้ายึดเอกสารและพยายามเชิญตัวนักวิชาการไปสถานีตำรวจ ต่อมา พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวว่า เอกสารดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการ “ก่อความวุ่นวาย” ตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และมีเนื้อหาผิดไปจากข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ อีกทั้งยังชี้นำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการเอาผิด และที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ คสช.และกกต.แสดงท่าทีชัดเจนว่า หลังจากนี้ จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ใดก็ตามที่แสดงความคิดเห็นวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ขอยืนยันในจุดยืนดังต่อไปนี้

1. การเผยแพร่เอกสารวิจารณ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในงานเสวนาดังกล่าว และการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะมีต่อไปอีกนั้น เป็นหนึ่งในสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ การพูด เขียน อภิปราย เผยแพร่เอกสาร งานศิลปะ ฯลฯ ตราบเท่าที่วิธีการเหล่านี้เป็นไปอย่างสันติและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

2. หาก คสช. เห็นว่า การวิจารณ์เหล่านั้นมีเนื้อหาที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง คสช. ก็ควรจะชี้แจงเหตุผลที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง หรือจัดเวทีให้ทั้งสองฝ่ายอภิปรายกันเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน แต่ไม่ควรใช้กฎหมายที่ไม่ชอบธรรม เช่น พรบ.ประชามติ มาเป็นเครื่องมือคุกคามและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

3. ที่ผ่านมา เครือข่ายนักวิชาการฯได้เคยเรียกร้องไปแล้วว่า กระบวนการทำประชามติต้องเปิดกว้าง และไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นจากประชาชนทุกฝ่าย คสช.และกกต.ไม่ควรอ้างพรบ.ประชามติให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐสามารถประชาสัมพันธ์สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ แต่กลับใช้อำนาจปิดกั้น ข่มขู่ ดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงความเห็นวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

4. เครือข่ายนักวิชาการฯ ใคร่ขอเตือนคสช. ว่า การทำประชามติภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปิดกั้นคุกคามเสรีภาพ และบังคับให้ประชาชนได้รับข้อมูลแต่เพียงด้านเดียวนั้น ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติในที่สุด แต่คสช.ก็ไม่อาจที่จะอ้างความชอบธรรมใด ๆ ให้แก่ผลประชามติและร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้เนื่องจากเป็นกระบวนการประชามติที่มีลักษณะด้านเดียว ปิดกั้นความรับรู้ของประชาชน และจึงขาดความชอบธรรม

เครือข่ายนักวิชาการฯ ขอสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่มต่อร่างรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้ คสช.และ กกต.ยุติการคุกคามการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสนอแผนแม่บทการศึกษาต้องเพื่อเด็กทุกคนพัฒนาสุงสุดถึงอายุ 18 ปี

0
0

ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาเสนอให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดทำแผนแม่บทการศึกษาแห่งชาติ โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง  ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาและพัฒนาอย่างสูงสุด ตามหลักการศึกษาเพื่อมวลชน

26 เม.ย. 2559 รายงานข่าวแจ้งว่า สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาเปิดเผยว่า  ได้เสนอความเห็นต่อเลขาธิการสภาการศึกษา ในการจัดทำกรอบทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2575 ซึ่งเด็กในชนบทและพื้นที่ชายแดนจำนวนมาก ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีพอ  อาทิ ศูนย์การเรียนของชุมชนยังไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ  โรงเรียนเอกชนการกุศลยังไม่ได้รับการสนับสนุนกรณีรับเด็กไม่เลขประจำตัว 13 หลัก  ผลกระทบจากการยุบและควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก  ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นที่เหมาะสมกับชุมชน จึงเสนอให้แผนแม่บทต้องยึดเด็กเป็นศูนย์กลางและจัดให้เด็กทุกคนตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 18 ปี ต้องได้รับการศึกษาและการพัฒนาโดยมีการสนับสนุนจากรัฐอย่างเต็มที่ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก  และมีความเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติตามหลักการศึกษาเพื่อมวลชนหรือ Education for All  ทั้งพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้เหมาะสมกับชุมชนไม่ใช่เพียงการยุบและควบรวมโรงเรียน  รวมทั้งกระจายอำนาจทางการศึกษาลงสู่ประชาชนและชุมชนมิใช่เพียงลงสู่สถานศึกษา  และสนับสนุนการศึกษาที่จัดโดยชุมชนและประชาชน

ด้าน กมล  รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษากล่าวว่า ปัจจุบันสภาการศึกษาอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชน ในการจัดทำกรอบทิศทางแผนกาศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2575  โดยมีการตั้งอนุกรรมการศึกษายกร่างและมีเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ภูมิภาค   ประชาชนและผู้สนใจสามารถศึกษาร่างกรอบทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ และเสนอความคิดเห็นได้ทางเวบไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ภายในวันที่ 15 พ.ค. นี้ ในหลักการของทิศทางการศึกษาแห่งชาติจะกำหนดแผนการศึกษาให้ครอบคลุมตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  ทั้งพยายามให้เป็นรูปธรรมที่สามารถดำเนินการหรือจับต้องได้  รวมทั้งต้องสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองรับฟ้อง ชุมชนป้อมมหากาฬขอเพิกถอนคำสั่งรื้อย้าย- ลุ้น กทม.ไม่รื้อถอน 30 เม.ย.นี้

0
0

ศาลปกครองมีคำสั่งรับคำฟ้องชุมชนป้อมหากาฬให้เพิกถอนคำสั่ง กทม. อนุกรรมการสิทธิฯ หวัง การรับคำฟ้องของศาลช่วยไม่ให้ กทม.รื้อถอนชุมชนในวันที่ 30 เม.ย.นี้

29 เม.ย.2559 เวลา 10.00 น. ที่ ศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ ชุมชนป้อมมหากาฬยื่นคำฟ้อง เรื่องขอให้เพิกถอนคำสั่งของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยชุมชนป้อมมหากาฬขอฟ้องกทม.ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และร้องขอศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินช่วง เนื่องจากชาวชุมชนป้อมมหากาฬครบประกาศ กทม.ให้รื้อย้ายออกจากพื้นที่ 30 เม.ย.นี้

ต่อมา 14.30 น. ศาลปกครองมีคำสั่งรับคำฟ้องที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยชุมชนป้อมมหากาฬยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ แต่ในส่วนของการขอไต่สวนฉุกเฉินนั้นศาลปกครองเห็นว่ายังไม่มีเหตุให้ต้องไต่สวนฉุกเฉินในวันนี้ แต่จะพิจารณาดำเนินการตามรูปคดีโดยเร็วต่อไป 

อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ผู้รับมอบคดีจากผู้ฟ้อง กล่าวว่า คิดว่ารายงานกระบวนพิจารณาวันนี้มีประโยชน์ ศาลไม่ปฏิเสธคำร้องของชุมชนป้อมมหากาฬ วันนี้ศาลได้รับคดีนี้แล้วซึ่งแน่นอนว่าผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 ควรหยุดดำเนินการใดๆ ไว้ก่อน เพราะหากภายหลัง ศาลมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องชนะคดี ความเสียหายนั้นก็ไม่อาจจะเยียวยาได้ ดังนั้น กทม.ควรยุติไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำสั่ง ซึ่งศาลกล่าวว่าจะดำเนินการโดยเร็ว แต่ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นี้ หรือวันหลังจากนี้ถ้าเทศกิจมาในชุมชน หรือ กทม.มีการดำเนินการใดๆในชุมชน ขอให้ถ่ายรูปพฤติกรรมต่างๆ เอาไว้ และมายื่นต่อศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉินทันที เพื่อชี้ว่าสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วและให้เป็นเหตุใหม่ที่ กทม.จะเข้ามารื้อไล่ และขอให้ศาลปกครองคุ้มครอง

เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมณ์ อนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เข้าใจว่าศาลปกครองดูจากหลักฐานที่เคยมีคำฟ้องของชุมชนป้อมมหากาฬอยู่แล้วซึ่งยังอยู่ในศาล ศาลจึงเห็นว่าปัญหานี้เป็นเรื่องต่อเนื่อง ในมุมมองศาลครั้งนี้ก็มองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการพิจารณา และการรับคำฟ้องของศาลปกครองน่าจะมีน้ำหนักเพียงพอให้ กทม.ไม่เข้ามารื้อถอนในวันที่ 30 เม.ย.นี้

พีระพล เหมรัตน์ รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า ชาวบ้านพึงพอใจที่ศาลปกครองรับฟ้องคดี  ส่วนหนึ่งเราหวังว่าจะคุ้มครองชาวบ้านไว้ก่อน และเรายังเชื่อว่าถ้ารัฐได้เห็นคำสั่งศาลปกครองวันนี้จะระงับการไล่รื้อไว้ก่อน เนื่องจากการรับฟ้องนี้อาจมีผลบังคับต่อทาง กทม. เรื่องการดำเนินการประกาศของ กทม.ที่ให้ชุมชนป้อมมหากาฬรื้อย้ายออกจากพื้นที่ ภายใน 30 เม.ย.นี้ การที่กทม.เข้ามารื้อย้ายแล้วเกิดความเสียหาย เชื่อว่ากทม.ไม่สามารถเยียวยาหรือชดใช้คืนได้ จึงเชื่อว่าศาลปกครองจะต้องส่งคำฟ้องนี้ไปยัง กทม.โดยเร็ว และกทม.จะได้ไม่มารื้อย้ายชุมชนในวันพรุ่งนี้ แต่ก็ไม่สามารถไว้วางใจได้และชุมชนยังต้องมีการเฝ้าระวังตลอดเวลา

เขากล่าวเสริมด้วยว่า ชาวชุมชนป้อมมหากาฬต่อสู้เรื่องนี้มา 24 ปี ไม่อยากให้เป็นที่ครหาในสังคมว่ามีปัญหากับกทม. แต่อยากให้ กทม. จัดเวทีหารือร่วมกับทุกฝ่าย เช่น นักวิชาการ ภาคประชาชน เพื่อหารือและหาข้อสรุปร่วมกันอย่างเป็นธรรม และกทม.ควรทดลองให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬทดลองอาศัยอยู่ภายใน 2-3 ปี ตามแผนกทม.ที่จะพัฒนาพื้นที่ชุมชนเป็นสวนสาธารณะ เพื่อพิสูจน์ว่าชุมชนป้อมมหากาฬเป็นตัวอย่างที่ทำงานร่วมกับ กทม.ได้ เราสามารถอยู่ร่วมกันได้กับแผนพัฒนา กทม.

อินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักกิจกรรมด้านสังคม กล่าวว่า คำสั่งศาลปกครองวันนี้ที่รับฟ้องคดีชุมชนป้อมมหากาฬจะเป็นผลดีต่อชุมชน เพราะเรารู้สึกว่าเรามาจากที่ไม่มีอะไรเลยแต่ตอนนี้เรามีคำสั่งศาลฉบับนี้ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ชุมชนป้อมมหากาฬมีเครื่องมือบางอย่างที่จะนำไปสู่กระบวนการเจรจากับ กทม. ซึ่งเราก็คาดหวังว่ากระบวนการของศาลจะนำไปสู่การพิจารณาคดีโดยเร็ว และผลการพิจารณาคดีจะนำไปสู่การเจรจาที่มีส่วนร่วมทุกๆ ฝ่าย ชุมชนป้อมมหากาฬต้องการกระบวนการเจรจาอย่างมีส่วนร่วม เหมือนที่ชุมชนป้อมมหากาฬยืนยันมาตลอดว่าชุมชนอยากอยู่กับเมืองอย่างมีส่วนร่วม

สำหรับคำขอต่อศาลปกครองของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ มีดังนี้
1.ขอให้ศาลเพิกถอนประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 28 มี.ค.2559 ที่ให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างภายในชุมชนป้อมมหากาฬออกจากพื้นที่
2.ขอให้ศาลได้เพิกถอนแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ในส่วนที่กำหนดให้ใช้พื้นที่บริเวณชุมชนป้อมมหากาฬเป็นสาธารณะของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าที่ขัดต่ออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
3.ขอให้ศาลได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง ปฏิบัติตามข้อตกลง 3 ฝ่าย (MOU) ระหว่าง กทม. มหาวิทยาลัยศิลปากร และชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาชุมชนป้อมมหากาฬ สมัยอภิรักษ์ โกษะโยธินเป็นผู้ว่ากทม. ทำขึ้นเมื่อ 7 ธ.ค.2548 โดยสัญญาระบุว่าจะนำผลการศึกษามาเป็นแนวทางพัฒนาชุมชนเพื่อให้โครงการรัฐเกิดประโยชน์สูงสุด
4.ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาบังคับตามคำสั่งทางปกครองไปก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'รัฐ-ทุนใหญ่-ภาคปชช.' จับมือตั้ง 'บ.ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด'

0
0

สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา 'รัฐ-ทุนใหญ่-ภาคปชช.' จับมือตั้ง 'บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด' ชูเศรษฐกิจพอเพียง ประยุทธ์ หวังเห็นถึงแสงสว่างปลายอุโมงค์ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านกลไกประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาล โดยความร่วมมือของรัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามการจัดตั้ง “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด” ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบฯ  โดยในภาพมีบุคคลที่น่าสนใจ จากซ้ายไปขวา ศุภชัย เจียรวนนท์, ปรีดา คงแป้น, มีชัย วีรไวทยะ, อิสระ ว่องกุศลกิจ และฐาปน สิริวัฒนภักดี (ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ)

29 เม.ย.2559 เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานสานพลังประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐในระดับพื้นที่ และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามการจัดตั้ง 'บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด' โดยมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ประกอบการภาคเอกชน ตัวแทนภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนเข้าร่วมพิธีลงนามดังกล่าว

ฐาปน สิริวัฒนภักดี หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ได้กล่าวรายงานสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดการดำเนินงานสานพลังประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐว่า คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ทำงานภายใต้เป้าหมายการสร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข และเพื่อประชาชนที่ยังขาดโอกาสได้รับการช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ สนับสนุนด้านการค้าเพื่อความสุขที่ยั่งยืนและมั่นคง โดยมีวิธีการดำเนินงาน 1 เป้าหมาย กลุ่มงาน 5 กระบวนการ 76 จังหวัด และอีก 1 ส่วนกลาง คือเน้นการสร้างรายได้ให้ชุมชนผ่าน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน เน้น 5 กระบวนการจัดการที่ให้ความสำคัญตลอด Value chain ตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง ซึ่งส่วนที่สำคัญคือการลงมือปฏิบัติในพื้นที่ ที่ใช้โครงสร้างของ Social Enterprise หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่จะจัดตั้ง SE holding ระดับประเทศ หรือที่เรียกว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งนี้ ในทุกจังหวัด 76 จังหวัด จะมีการจัดตั้งบริษัทในแต่ละจังหวัด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำคณะทุกภาคส่วนเปิดบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด ไปแล้วเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา และในวันนี้ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ขึ้นอีก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี อุดรธานี เชียงใหม่ และจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งเป็นบริษัทใน 5 กลุ่มจังหวัด ที่มีแผนดำเนินการในระยะที่ 1 กำหนดให้จัดตั้งแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ ส่วนระยะที่ 2 ดำเนินการ 6 จังหวัด ระยะที่ 3 ดำเนินการ 7 จังหวัด โดยกำหนดการดำเนินการไว้เดือนมิถุนายนและเดือนกันยายน 2559 ตามลำดับ และการดำเนินการระยะที่ 4 คือจังหวัดข้างเคียงในกลุ่มจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งจะครบ 76 จังหวัด ภายในเดือนธันวาคม 2559 ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวในแต่ละช่วงระยะเวลาจะครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย โดยยึดความพร้อมของชุมชนเป็นตัวตั้งในการดำเนินการ

สำหรับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้จัดตั้งขึ้นวันนี้ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพลังประชารัฐ โดยจะทำงานช่วยชุมชนในเรื่องบริหารจัดการองค์ความรู้ ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าและรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ การสร้างตราสินค้าและมาตรฐานการรับรองสินค้า ช่วยการบริหารขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน สร้างความต้องการและหาช่องทางการตลาด การจัดจำหน่ายและเชื่อมโยงการตลาดในระดับประเทศ ส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้ชุมชนใน 3 กลุ่มงาน เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อให้เกิดสัมมาชีพเต็มพื้นที่ โดยมี KPI หรือตัวชี้วัดที่จะประเมินผลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เน้นประชาชนที่ประสบปัญหาความยากจนเพื่อเพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการให้ประชาชนทุกคนน้อมนำไปปฏิบัติ และเพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ส่งเสริมพัฒนาความเจริญก้าวหน้า ความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมทั้งประเทศเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป

จากนั้น นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และภาคเอกชน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามการจัดตั้ง “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด” ซึ่งลงนามโดยผู้ประกอบการภาคเอกชนส่วนกลาง ตัวแทนภาคประชาชน ภาคประชาสังคม

โอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวตอนหนึ่งของการมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานสานพลังประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐในระดับพื้นที่ว่า จากที่ได้รับฟังรายงานจากหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ทำให้เห็นถึงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านกลไกประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาล โดยเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า วันนี้ทุกคนกำลังเดินหน้าไปด้วยกันทั้งระบบตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง เพราะการแก้ปัญหาทุกอย่างต้องเริ่มจากต้นทางหรือต้นเหตุแห่งปัญหาก่อน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งยุทธศาสตร์ในด้านการพัฒนา คือ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” โดยเป็นการเข้าใจและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ว่ามีความต้องการหรือยังขาดในเรื่องใด เพื่อจะนำมาสู่แนวทางกระบวนการแก้ไขปัญหา ก่อนนำไปสู่ปลายทางคือการพัฒนาที่ตรงกับความต้องการของประชาชน ทำให้ประชาชนมีความสุข มีรายได้ที่เพียงพอในการเลี้ยงตน สามารถที่จะเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมได้ อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ต้องมีการเชื่อมโยงกันในเรื่องของการปลูกจิตสำนึกและอุดมการณ์ โดยทุกภาคส่วนต้องเข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสามารถพึ่งตนเองได้ก่อน ซึ่งการดำเนินงานสานพลังประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐในระดับพื้นที่วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นกระบวนการที่จะใช้ไฟฉายขนาดใหญ่ส่องสว่างให้ประเทศไทยซึ่งถูกความมืดปกคลุมมาเป็นเวลานาน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนทุกเรื่องในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน ต่างพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานอำนาจให้แล้วในการบริหารราชการระดับพื้นที่ และหลักของการแก้ไขปัญหาคือมุ่งทำให้ประเทศชาติปลอดภัย มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนต้องสร้างการรับรู้ให้ประชาชน เกษตรกรเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินงานและนโยบายของรัฐบาลอย่างแท้จริง เพื่อป้องกันการสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากฝ่ายที่ไม่หวังดีซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาล่าช้าไม่เป็นไปตามที่กำหนด

พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ประชุมคณะทำงานสานพลังประชารัฐ ทั้ง 12 คณะ ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการหารือถึงเจตนารมณ์ความทุ่มเทของรัฐบาล และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาร่วมกันดำเนินการดังกล่าว ซึ่งวันนี้เป็นการจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศโดยใช้กลไกของประชารัฐ เพื่อรวบรวมสาขาย่อยทุกจังหวัดเข้ามาเพื่อให้จัดตั้งบริษัทถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งให้ความรู้ในเรื่องการจัดองค์กร การบริหาร การผลิต การแปรรูป และการตลาดให้กว้างขวางมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทั้งส่วนภูมิภาคต่อภูมิภาค กลุ่มจังหวัดต่อกลุ่มจังหวัด และภายในจังหวัดเอง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และนำไปสู่การขยายตลาดในการจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการผลิตจำหน่ายสินค้า มีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ทั้งนี้ ทุกฝ่ายพร้อมที่จะเสียสละทุ่มเททำงานผ่านกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ประชาชนในพื้นที่ และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประเทศชาติเข้มแข็ง มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มนวัตกรรมในการผลิต แปรรูปให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่ม มีการจำหน่ายสินค้าระหว่างกันภายในประเทศและขยายตลาดไปจำหน่ายในต่างประเทศได้มากขึ้น

พร้อมทั้งฝากให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วน และสื่อมวลชน เผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนรับทราบเข้าใจถึงเจตนารมณ์และความตั้งใจจริงของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนมีความสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ประเทศไทยอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง และทำให้การแก้ไขปัญหาของประเทศบรรลุผลสำเร็จเป็นไปตามห้วงเวลาที่กำหนด ขณะเดียวกันขอให้นำวิฤตที่เกิดขึ้นมาเป็นโอกาสและความท้าทายในการร่วมกันปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทุกกิจกรรมการทำงาน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้มีการวางโครงสร้างการทำงานใหม่ทั้งระบบ เช่น ระบบการบริหารราชการแผ่นดิน การเชื่อมโยงภาคเอกชนและภาคประชาสังคมตามแนวคิดประชารัฐ ซึ่งทุกภาคส่วนมีความสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกัน โดยให้มองและเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นของประเทศให้ถ่องแท้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสมดุลในทุกมิติ ขณะที่บริหารงานในระดับพื้นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนทั้งที่เป็นงาน function และงาน agenda มีการเตรียมวางรากฐานของประเทศให้แข็งแรงสำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคต ตลอดจนให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อทำให้ประเทศชาติปลอดภัยอย่างยั่งยืนและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

เรียบเรียงจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50697 articles
Browse latest View live