Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50697 articles
Browse latest View live

ชาวเน็ตเบลเยียมแห่โพสต์รูปแมว #BrusselsLockdown หลังทางการเตือนเรื่องปฏิบัติการจับผู้ก่อการร้าย

0
0

กลายเป็นเรื่องชวนหัวในเบลเยียมที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงดูเป็นมิตรกับประชาชนชาติเดียวกัน หลังจากที่พวกเขาประกาศเตือนให้ชาวเน็ตระวังอย่าโพสต์ข้อมูลรายละเอียดปฏิบัติติดตามตัวผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย ประชาชนก็พากันตอบรับให้ความร่วมมือด้วยการแห่โพสต์รูปแมวพร้อมแฮชแท็ก #BrusselsLockdown

24 พ.ย. 2558 หลังจากเมื่อช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมาทางการเบลเยียมประกาศเตือนประชาชนไม่ให้โพสต์ข้อความลงบนโซเชียลมีเดียซึ่งจะเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้ก่อการร้าย ทำให้ชาวเน็ตพากันตอบรับด้วยการโพสต์แต่รูปแมวในเชิงขบขันหรือเชิงล้อเลียนเสียดสี

หลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายในปารีสของฝรั่งเศสเมื่อไม่นานมานี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาหน่วยงานตำรวจของเบลเยียมดำเนินปฏิบัติการค้นหาตัวผู้ต้องสงสัย และได้ประกาศให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านและไม่ออกใกล้ที่หน้าต่างเพื่อความปลอดภัย รวมถึงไม่ส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์เกี่ยวกับปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อไม่ให้คนร้ายทราบข้อมูล

แต่ในช่วงเวลาที่ตึงเครียดและชวนให้ตื่นตระหนกเช่นนี้ชาวเน็ตในเบลเยียมกลับแสดงอารมณ์ขันตอบรับกับประกาศของทางการด้วยการพากันโพสต์รูปแมว สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่าแทนที่ชาวเบลเยียมจะพากันคาดเดาไปเองว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังปฏิบัติการอะไร หลายคนกลับพากันโพสต์รูปสัตว์เลี้ยงพร้อมกับแฮชแท็ก #BrusselsLockdown ที่หมายถึงการปิดล้อมจับผู้ก่อการร้ายในเบลเยียม

มีผู้ใช้รายหนึ่งชื่อ Seimen Burum ระบุย้ำถึงเจตนาของทางการว่าอย่าเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายและให้โพสต์รูปแมวเพื่อทำให้พวกเขาสับสนแทน

ซึ่งไม่เพียงแค่ชาวเบลเยียมเท่านั้นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประเทศอื่นๆ อย่างฝรั่งเศส หรือแม้แต่ผู้ที่ระบุว่าตนเป็นชนพื้นเมืองอเมริกันก็ร่วมกันโพสต์รูปแมวพร้อมแสดงข้อความอย่าง "เราเพื่อนกัน" หรือข้อความชื่นชมความเบลเยียมในเรื่องวิธีการต่อกรกับผู้ก่อการร้าย

สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทม์ระบุว่าการแสดงออกโดยใช้รูปตลกๆ ของแมวเช่นนี้ทำให้ทั่วโลกมองว่ากเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากชาวเน็ตทั่วโลก

ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาหลังเสร็จสิ้นปฏิบัติการในวันนั้นแล้วทางการเบลเยียมออกมาประกาศขอบคุณที่ประชาชนให้ความร่วมมือในการไม่เผยแพร่ข้อมูลการปฏิบัติการ และในวันจันทร์ หน่วยงานตำรวจของบรัสเซลล์ก็ตอบรับกับเรื่องตลกล้อกันเล่นด้วยรูปภาพของถาดใส่อาหารแมว พร้อมข้อความว่า "สำหรับพวกแมวที่ช่วยเหลือเราเมื่อคืนนี้ ...กินกันตามสบายนะ"

 


เรียบเรียงจาก

National emergency? Belgians respond to terror raids with cats, The Guardian, 23-11-2015
http://www.theguardian.com/world/2015/nov/22/national-emergency-belgians-respond-with-cats

Twitter Cats to the Rescue in Brussels Lockdown, New York Times, 24-11-2015
http://www.nytimes.com/2015/11/24/world/europe/twitter-cats-to-the-rescue-in-brussels-lockdown.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเป็นและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตยของการจัดทำรัฐธรรมนูญไทย

0
0



บทนำ

รัฐธรรมนูญที่พึงเป็นเครื่องมือเชิงกติกาของสังคมที่สูงสุด อันมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างสรรค์และดำรงไว้ซึ่งสังคมที่ยกระดับความเป็นอารยะแห่งการปกครองตนเองของประชาชนอยู่เสมอนั้น สำหรับประเทศไทยของเราในสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ความล้มเหลวของร่างรัฐธรรมนูญยกแรก (นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานยกร่าง) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 และการกำลังยกร่างกันใหม่ในยกที่สองขณะนี้ (นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานยกร่าง) แม้จะยังไม่เสร็จสิ้น แต่ก็ยังดูน่ากังวลใจอย่างยิ่งว่าในที่สุดการผลิตรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 ก็จะไม่สามารถเป็นเครื่องมือนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมประชาธิปไตยได้ไกลกว่าที่รัฐธรรมนูญในอดีต อาทิ ฉบับ พ.ศ. 2540 และ 2550 ให้ไว้ โดยสาเหตุสำคัญหนึ่งก็คือความอ่อนด้อยในทางวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย ทั้งในทางกระบวนการจัดทำและสาระของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญจะมีคุณประโยชน์หรือคุณค่าต่อสังคมไทยมากน้อยเพียงใดในอนาคตนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความเป็นวิทยาศาสตร์และไม่เป็นเป็นวิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญไทยกล่าวคือ “หากการจัดทำรัฐธรรมนูญมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าความไม่เป็นวิทยาศาสตร์เท่าใดแล้ว รัฐธรรมนูญไทยที่ได้ก็จะมีคุณประโยชน์ต่อสังคมไทยในอนาคตมากขึ้นเท่านั้น”


วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย

ข้อควรพิจารณาที่สำคัญในการนำประเด็นวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยก็คือคำถามที่ว่า “การเมืองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศใดๆและโดยการรองรับของรัฐธรรมนูญนั้น จะสามารถได้มาโดยอาศัยหลักการและกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่?” และ “ความเป็นวิทยาศาสตร์ของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญจะให้หลักประกันว่ารัฐธรรมนูญที่สร้างใหม่นั้น จะมีคุณประโยชน์ต่อสังคมยิ่งกว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่?” รวมทั้ง “ข้อเสนอที่อาศัยวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยในการฟื้นฟูประชาธิปไตยของไทยคืออะไรบ้าง?” ที่ควรให้ความสนใจ

ในการนำเสนอเพื่อตอบคำถามโดยรวม ข้าพเจ้าจะอธิบายภายใต้คำศัพท์สำคัญ คือ “วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” (หรือวิทยาศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย) เป็นคำที่ผู้เขียนลองบัญญัติขึ้นเอง (หากมีผู้อื่นเคยใช้เช่นนี้มาก่อนแล้วก็ขออนุโมทนาด้วย!) อันหมายถึง “การเมืองแบบประชาธิปไตยที่ยึดหลักวิทยาศาสตร์ในการสร้างสรรค์ให้เกิดและรักษาสภาวะที่ยั่งยืนของการเมืองแบบประชาธิปไตยดังกล่าว” และข้อเสนอต่อไปนี้อาจถือเป็นบททวนหนึ่งต่อบรรดานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา (การเมือง) เศรษฐศาสตร์ (การเมือง) และศาสตร์อื่นๆ ที่กำลังถูกใช้ในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันนี้ก็ได้

ความเป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมโลกให้แตกต่างจากเดิมอย่างยิ่งในรอบสี่ – ห้าร้อยปีที่ผ่านมานั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าความเป็นวิทยาศาสตร์ได้ให้โอกาสแก่ความสามารถของมนุษย์ที่จะสร้างสรรค์สังคมทั่วโลกอย่างเห็นผลที่เป็นรูปธรรมมากกว่าความไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ดังที่จะพบอย่างสำคัญว่าการจัดตั้งสถาบันการศึกษาในประเทศทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมหาวิทยาลัย (= สถานที่ที่วิทยาการอันยิ่งใหญ่ตั้งอยู่) จำนวนมาก (แต่ต้องมีคุณภาพด้วย) จะช่วยแก้ปัญหาการด้อยพัฒนาประเทศได้มาก เพราะมหาวิทยาลัยล้วนให้ความสำคัญแก่ความรู้อันสุดยอดทั้งในทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์สังคม (หรือสังคมศาสตร์) ที่ถูกค้นพบหรือวิจัยแล้วนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศ

ในทางเปรียบเปรยมากขึ้น ก็คือ ในฐานะที่นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยก็กำลังใช้วิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา(การเมือง)เศรษฐศาสตร์(การเมือง)และศาสตร์อื่นๆ อันเป็นผลผลิตจากสถาบันการศึกษาชั้นสูง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศตะวันตก) เพื่อทำความเข้าใจปัญหาการเมืองไทยและเสนอทางออกต่างๆ รวมทั้งการจัดสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยการอาศัยทฤษฎีการเมืองและการจัดการความขัดแย้งในสังคมของนักปรัชญาและนักคิดอันหลากหลายแนว อาทิ เพลโต, โทมัส ฮอบส์, จอห์น ล็อค, ชาร์ลส เดอ มองเตสกิเออ, ฌอง-ฌาคส์ รูสโซ, คาร์ล มาร์กซ์, อับราฮัม ลินคอล์น, วูดโรว์ วิลสัน และ โจเซฟ ชุมปีเตอร์ เป็นต้น นั้น การใช้หลักวิชาเหล่านี้ รวมทั้งการดูตัวอย่างจากหลายๆประเทศ ก็ล้วนตั้งอยู่บนฐานของความเป็นวิทยาศาสตร์และช่วยให้เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของการเมืองไทยได้อยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตามการอธิบายวิกฤตและทางออกทั้งหลาย และประสบการณ์ของประเทศต่างๆเหล่านั้น ดูเหมือนจะมีมุมมองที่ยังมิได้อาศัยความเป็นวิทยาศาสตร์อันเป็นรากฐานของศาสตร์แห่งวิทยาการต่างๆมาพิจารณาการเมืองไทยหรือใช้มันเพื่อเติมเต็มคุณภาพประชาธิปไตยอย่างเพียงพอ

การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายถึงว่ามีแต่เพียงวิทยาศาสตร์หรือความเป็นวิทยาศาสตร์ (ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทฤษฎีของตนถูกต้องอยู่เสมอด้วย) เท่านั้น ที่นำพาชาวโลกในสังคมต่างๆไปพบกับความเจริญรุ่งเรือง สิ่งที่มิใช่วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งของมันก็คือ หลักคำสอนทางศาสนาที่วิทยาศาสตร์ยังอธิบายไม่ได้หรือไม่ได้ดีเท่า แต่ทำให้มนุษย์และโลกธรรมชาติดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าร่วมกันก็จะยังเป็นที่พึ่งต่อไปได้อยู่ เพราะว่าวิทยาศาสตร์มักเน้นให้สิ่งที่เป็นความเจริญทางวัตถุ ในขณะที่ศาสนาให้สิ่งที่เป็นความเจริญทางจิตใจและจิตวิญญาณที่วิทยาศาสตร์ยังเข้าถึงได้ไม่หมด และ การยึดหลักวิทยาศาสตร์เท่านั้นโดยไม่ใส่ใจศาสนาจึงเหมือนคนเป็นง่อย แต่หากใช้หลักศาสนาอย่างเดียวโดยไม่ใส่ใจวิทยาศาสตร์ในการดำรงชีพก็จะเป็นเหมือนคนตาบอด (ดังประโยคทองที่ อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ เคยกล่าวว่า “Science without religion is lame, religion without science is blind.”) ความเป็นวิทยาศาสตร์กับศาสนาจึงสมควรเกื้อกูลต่อกันเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนและสันติภาพโลกในทุกมิติ รวมทั้งการแนบแน่นอยู่ในการเมืองแบบประชาธิปไตย

ในฐานะที่การเมืองและนิติรัฐย่อมไม่สมควรปราศจากการมีหลักศาสนารองรับหรือย่อมไม่แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิงเพื่อความเป็นอริยรัฐนั้น และการเมืองในฐานะบริบทแห่งการจัดสรรผลประโยชน์ในสังคมโลกิยะที่ชาวโลกไม่สามารถปฏิเสธโลกดังกล่าวนี้ได้นั้น การเมืองก็ต้องมีความกระจ่างชัดในทางวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งในตัวมันเองด้วย และเช่นเดียวกันที่เราจะพบว่าประเทศส่วนใหญ่ที่มีความก้าวหน้าในทางอารยธรรมในสมัยปัจจุบันที่เคยอยู่ในยุคมืดหรือด้อยพัฒนามาก่อน ต่างล้วนอาศัยหลักวิชาหรือกฎหรือทฤษฎีที่เป็นวิทยาศาสตร์รองรับในการรังสรรค์การเมืองของประเทศ ฉะนั้น หากการจัดทำรัฐธรรมนูญไทยจะเคร่งครัดต่อหลักการและวิธีการหรือกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ประชาชนก็จะได้สาระของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่เป็นวิทยาศาสตร์อันจะมีคุณค่าต่อสังคมและประชาชนอย่างยิ่งตามไปด้วย


วิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ

คำถามสำคัญตามมาคือ อะไรคือ “วิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ” ในการตอบคำถามนี้ ข้าพเจ้าขออิงกับปรัชญาในทางวิทยาศาสตร์ความรู้อย่างน้อยสามสายธารที่สำคัญ คือ

  • ปรัชญาที่ว่าวิทยาศาสตร์คือองค์ความรู้ที่ว่าด้วยกระบวนการ (และวิธีการ) และเนื้อหาสาระที่มีความเป็นเหตุเป็นผล แต่ต้องสามารถพิสูจน์และสัมผัสได้จริง ปลอดจากค่านิยม และนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นสากล หลักการดังกล่าวนี้เรียกกันโดยรวมว่าปรัชญาประจักษ์นิยมในทางวิทยาศาสตร์ (Scientific-Logical Empiricism) หรือ อีกชื่อหนึ่งที่ใกล้เคียงกันคือ ลัทธิปฏิฐานนิยมในทางวิทยาศาสตร์ (Scientific-Logical Positivism)
     
  • ปรัชญาที่ว่าวิทยาศาสตร์คือองค์ความรู้ที่ต้องอาศัยการตีความ (Interpretative Science) ที่ไม่ปลอดจากค่านิยม ความรู้จะนำไปสู่การเห็นความจริงได้เพียงใด ก็เมื่อมีการตีความว่าหลักการและวิธีการแห่งความรู้นั้นมีความหมายเช่นไรและมีประโยชน์เพียงใดในทางวิชาการและการปฏิบัติในสังคมที่มีบริบทแตกต่างกัน
     
  • ปรัชญาที่ว่าวิทยาศาสตร์คือองค์ความรู้ที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ (Critical Science) มิใช่ต้องเชื่อตามทฤษฎีที่มีมาก่อนหน้าเสนอไป แต่ต้องวิจารณ์ให้เห็นคุณค่าหรือไม่มีคุณค่าของวิธีการและสาระในความรู้ และจุดอ่อนจุดแข็งของความรู้เหล่านั้นเพื่อปรับปรุงทฤษฎีก่อนหน้าให้ถูกต้องที่สุด
     

ปรัชญาในทางวิทยาศาสตร์ความรู้ทั้งสามสายธารข้างต้นนั้น เราทราบกันดีว่าสนับสนุนอยู่ด้วยวิธีการและกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ อาทิ การตั้งคำถาม การกำหนดสมมติฐาน แนวทางการวิจัย การเก็บข้อมูล (การสังเกต การทดลอง การสำรวจ การวิจัยปฏิบัติการการสัมภาษณ์ การแสวงหาข้อมูลจากผู้มีส่วนได้เสียหรือคณะผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น) การแปลผล การวิเคราะห์ การตีความ การอภิปรายอย่างเป็นเหตุเป็นผล การพิสูจน์สมมติฐาน การวิพากษ์วิจารณ์ การสังเคราะห์ การประเมินคุณค่า และการสรุปผล อันมีไปถึงการสนับสนุนทฤษฎีหรือการล้มทฤษฎีเดิม หรือการสร้างทฤษฎีใหม่ และการนำผลวิจัยคือข้อมูลและความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามปรัชญาประจักษ์นิยมในทางวิทยาศาสตร์อยู่มาก และทำให้สังคมโลกในยุคมืดเปลี่ยนไปสู่ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป และทวีปอื่นๆที่เดินตามหลักวิทยาศาสตร์ปฏิฐานนิยม

อย่างไรก็ตามในยุคที่เรียกกันว่ายุคหลังสมัยใหม่ (Post-Modernity)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง  50-60 ปีที่ผ่านมา คือในช่วงทศวรรษ 1950s – 1960s นั้น ปรัชญาประจักษ์นิยมทางวิทยาศาสตร์ถูกโจมตีอย่างมากในความเคร่งครัดต่อวิธีการและข้อจำกัดในการเข้าถึงความจริงเชิงประจักษ์ในสิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้ แต่เชื่อกันโดยสายธารอื่นๆว่ามีความเป็นจริงตั้งอยู่ รวมทั้งการถูกโจมตีเรื่องการเน้นให้ต้องปลอดจากค่านิยมของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

กระนั้นก็ตาม ข้าพเจ้าก็ยังเห็นว่าปรัชญาประจักษ์นิยมในทางวิทยาศาสตร์ แม้จะถูกวิจารณ์ในทางข้อจำกัดดังที่กล่าวมาแล้ว แต่สาระสำคัญที่ให้กติกาวิทยาศาสตร์ก็ยังคงอยู่และเป็นพี่ใหญ่ที่ครองความเหนือกว่า (Scientific Superiority) ในแวดวงปรัชญาแห่งศาสตร์ (Philosophy of Sciences) ในขณะที่แนวทางศาสตร์หรือองค์ความรู้ที่ต้องอาศัยการตีความ และศาสตร์หรือองค์ความรู้ที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์นั้นมิใช่ปรัชญาหลักที่เกิดขึ้นโดยตัวมันเอง แต่เป็นส่วนเสริมและถูกเสนอเพื่อใช้ขัดเกลาความก้าวหน้าอันควรของโลกวิทยาศาสตร์และสรรพศาสตร์ทั้งหลายในโลก จนในสมัยปัจจุบัน ปรัชญาหรือลัทธิประจักษ์นิยมวิทยาศาสตร์เองก็ได้ถูกปรับให้น่าเชื่อถือมากขึ้นว่าเป็นลัทธิประจักษ์นิยมในทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องผ่านการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสมเหตุสมผล (Critical-Rational Empiricism/Positivism) ด้วยแล้ว ความรู้นั้นจึงมีความน่าเชื่อถือในการบ่งชี้ความจริงหรือความจริงแท้ (ดูหมายเหตุท้ายบทความประกอบ)

ในฐานะที่ปรัชญาประจักษ์นิยมหรือปฏิฐานนิยมในทางวิทยาศาสตร์เชื่อในเรื่องที่ว่าความรู้ต้องมาจากเจตจำนงเสรี (Free will) มิใช่การกำหนดมุ่งหมายอย่างตายตัวหรือแน่นอน (อาทิ แบบพวก Determinism) และยึดแต่หลักเหตุผลเท่านั้น แต่สมควรสัมผัสได้ พิสูจน์ให้เห็นจริงได้ และมาจากประสบการณ์จริง รวมทั้งทฤษฎีต้องรับใช้การปฏิบัติหรือปฏิบัติได้อย่างเห็นผลจริง (Praxis) ซึ่งจะว่าไปแล้วพุทธศาสนาของเราก็สอดคล้องกับความเชื่อในลัทธิความรู้นี้อยู่ไม่น้อยเลย

ดังนั้น วิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ (เพื่อประชาธิปไตย) ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก ก็คือการใช้หลักการและวิธีการ หรือมุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นสากลอยู่ในตัวโดยนัยสำคัญ มาช่วยจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยมีความถูกต้องมากที่สุด และสามารถสร้างผลคือคุณประโยชน์ต่อส่วนรวมที่เป็นจริงเชิงประจักษ์ได้อย่างยิ่งนั่นเอง


ความเป็นและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญไทย

การจัดทำรัฐธรรมนูญไทยที่มีคุณภาพในทางประชาธิปไตยสูง จึงสมควรให้คุณค่าต่อปรัชญาประจักษ์นิยมวิทยาศาสตร์ที่เกื้อกูลจากศาสตร์แห่งการตีความและศาสตร์แห่งการวิพากษ์ประกอบด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่ทว่าจากปรากฏการณ์ที่พบในเมืองไทยขณะนี้ พอจะสะท้อนได้ว่าเรากำลังอยู่ทั้งภายใต้และไม่อยู่ภายใต้การกระทำที่เป็นวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่าการยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญขณะนี้ยังไม่เสร็จสิ้น การวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ของข้าพเจ้าจึงทำได้ในระดับหนึ่งกับสิ่งที่ชัดเจนอยู่บ้าง แต่หลายเรื่องก็ยังไหลลื่นไม่แน่นอนเสียทีเดียวภายใต้สถานการณ์ของการบังคับสังคมที่ดูค่อนข้างแน่นอน ข้อวิตกกังวลของข้าพเจ้าจึงมีความจำกัดในระดับหนึ่ง ดังจะนำเสนอต่อไปนี้


ประการแรก– สังคมไทยเคยประสบความสำเร็จในการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยประสบการณ์ของสังคมไทยเอง ในเชิงหลักการและการปฏิบัติทางการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจากทุกจังหวัดๆละหนึ่งคน และมีคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้การกำกับของสภาร่างรัฐธรรมนูญจากฉันทามติของประชาชน ประสบการณ์เช่นนี้ ในทางศาสตร์ปฏิฐานนิยมแล้ว ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญตามหลักการสากลอันมีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติได้ และส่งผลต่อมาให้วิทยาศาสตร์การเมืองไทยก้าวไปข้างหน้ากว่าอดีตอย่างมาก กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จึงนับเป็นนวัตกรรมแรกในรอบ 65 ปี นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2575 ที่ได้โยนทิ้งสิ่งที่เป็นประเพณีและกติกาอันล้าหลังที่ถ่วงรั้งการปกครองตนเองของประชาชนในเมืองไทยมาอย่างยาวนานได้จริง (แต่บางประการก็ได้แรงหนุนมาจากการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในยุคพฤษภาทมิฬ 2535 และ 2534 ก่อนหน้า)

แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จะมิได้สมบูรณ์แบบคือมีจุดอ่อนอยู่บ้างในทางสาระ อาทิ เชิงการถ่วงดุลระหว่างอำนาจทั้งสามที่เหมาะสม ทว่าก็มีความเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างคับแก้ว แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ภายใต้วิกฤตการเมืองไทยที่สะสมมาในรอบ 10 ปี คสช. ในฐานะองค์กรนำของแม่น้ำทั้งห้าสายและพลพรรคกลับปฏิเสธกระบวนการวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยหรือไม่ต่อยอดแบบแผนดังกล่าวนี้ ตั้งแต่ช่วงแรกของการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นต้นมา สาเหตุสำคัญคงเป็นเพราะกลัวและมีอคติต่ออำนาจอธิปไตยของประชาชนมากเกินไป และต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ


ประการที่สอง– การมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหลากหลายวิชาชีพที่มีนักนิติศาสตร์เป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจในทางอุดมคติ เพราะความหลากหลายที่ลงตัวจะช่วยให้รัฐธรรมนูญมีครบทุกแง่มุมของความสัมพันธ์ในสังคม อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบดังกล่าวหนักไปทางผู้เชี่ยวชาญแบบสหสาขาวิชาการ แต่ขาดการมีส่วนร่วมของนักปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบันที่มีประสบการณ์ และอาจมีประสบการณ์ถึงระดับสามารถพัฒนาเป็นแนวทางเชิงปฏิบัติ หรืออาจถึงระดับแนวคิดทฤษฎีทางการเมืองขึ้นได้ด้วย (Ground Theory) สภาพที่เน้นผู้เชี่ยวชาญและวิชาชีพหรือกึ่งวิชาชีพ แต่ไม่มีประสบการณ์ตรงเข้ามาประกอบการจัดทำอย่างใจกว้างเช่นนี้ ไม่ต่างกับความเป็นนักเทคโนแครทการเมืองของคณะผู้ยกร่างที่เป็นมาตลอดสำหรับบางคนหรือชั่วคราวสำหรับบางคน แต่ก็ในกำกับของทหารและผู้ไม่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยแท้จริง ท่านเหล่านี้อาจจะเลือกเอาความเห็นใดๆโดยอำเภอใจไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้ อันจะทำให้สาระของรัฐธรรมนูญมีความเป็นวิชาการที่อาจจะล่องลอยและเป็นอุดมคติ หรือไม่เช่นนั้นก็ใส่เนื้อหาอันเป็นคุณค่าเทียมที่ผู้นั่งอยู่ส่วนบนของสังคมชื่นชอบ แต่ไม่สื่อถึงการมุ่งประกันคุณสัมฤทธิ์ของประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญจะให้ได้ต่อประชาชนส่วนใหญ่เท่าที่ควรจะเป็น

ไม่ต่างอะไรกับการแทนที่คำว่า “ประชานิยม” ด้วยคำว่า “ประชารัฐ” คำเก่าแก่ในเพลงชาติที่ฟังดูดี แต่ในทางที่เป็นจริงโดยทั่วไปก็คือ “ประชาล่าง” คือ ประชาชนอยู่ข้างล่างให้ผู้มีอำนาจรัฐข้างบนสั่งกำชับลงมาแบบเดิม จึงมิใช่ประชาธิปไตยที่เป็นวิทยาศาสตร์อันสัมผัสในคุณค่าแท้ของหลักการประชาธิปไตยได้ และแม้ว่าจะมีกระบวนการทำประชามติเสมือนให้คุณค่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนในตอนท้ายสุดว่าจะรับรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ในภายหลัง กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 อันทำให้จิตวิญญาณประชาธิปไตยทั้งมวลอาจกระชุ่มกระชวยขึ้นบ้างก็ตาม แต่บทเรียนสำคัญสองประการของสังคมไทยในระยะหลัง คือการมีรัฐธรรมนูญที่กระบวนการยกร่างงดงามแต่ไม่มีประชามติแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กับ การมีรัฐธรรมนูญที่กระบวนการยกร่างไม่งดงามเท่าและก็มีประชามติที่ไม่งดงามนักแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (เพราะทำประชามติในภาวะกฎอัยการศึกถึง 35 จังหวัดของประเทศ) อันมิใช่รัฐธรรมนูญสมบูรณ์แบบทั้งคู่ และมีแนวให้เห็นแล้วว่าการทำประชามติในคราวใหม่นี้ ประชาชนทั้งประเทศยิ่งจะถูกจำกัดการแสดงความเห็นยิ่งกว่าสมัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เสียอีก ประชามติที่จะมีขึ้นจึงดูท่าจะเป็นไปอย่างวังเวง

จากประการแรกและประการที่สอง ข้าพเจ้าขอเปรียบเทียบคุณภาพของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมัยใหม่สองฉบับสำคัญที่ผ่านมาและฉบับที่กำลังยกร่างขณะนี้ ผ่านการพิจารณาเชิงวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยทั้งในเชิงกระบวนการและเนื้อหาสาระแห่งรัฐธรรมนูญ มิใช่พิจารณาเฉพาะเนื้อหาเท่านั้น ด้วยเกณฑ์เชิงปริมาณในห้าตัวชี้วัดและโดยองค์รวม (โดยประมาณการ) คือ

  • การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกตั้งจากทั่วประเทศและประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ (20 คะแนน)
  • ที่มาและองค์ประกอบ และประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (10 คะแนน)
  • เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ (30 คะแนน)
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับรองรัฐธรรมนูญ (20 คะแนน)
  • การทำประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ (20 คะแนน)

รวม 100 คะแนน ดังนี้

ตารางเปรียบเทียบคุณภาพของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

ตัวแบบ
ในอุดมคติของรัฐธรรมนูญ
การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกตั้งจากทั่วประเทศและประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ
(20 คะแนน) 
ที่มาและองค์ประกอบ และประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (10 คะแนน)เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ
(30 คะแนน) 
สมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับรองรัฐธรรมนูญ (20 คะแนน) 
การทำประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ
(20 คะแนน) 
รวมคุณภาพประชาธิป
ไตยของรัฐธรรมนูญ (100 คะแนน)
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 20 10 25 (จุดอ่อนของการถ่วงดุลระหว่างอำนาจทั้งสามที่เหมาะสม) 20 0 75   
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550  5 (ที่มาไม่เป็นประชาธิป
ไตย) 
20 (ให้คุณค่าอำนาจเผด็จการและลดทอนอำนาจอธิปไตยของประชาชน อาทิ วุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้ง เป็นต้น)15 (เพราะมีการประกาศกฎอัยการศึก 35 จังหวัด ในระหว่างการทำประชามติ) 40   
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 หรือ 2560 ที่กำลังจัดทำ0 5 (ที่มาไม่เป็นประชาธิป
ไตย และองค์ประกอบขาดผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองจริง)
 20 (บทบัญญัติยังไม่ลงตัว แต่มีแนวโน้มการรักษาคุณค่าอำนาจเผด็จการและลดทอนอำนาจอธิปไตยของประชาชน อาทิ อาจยกเลิกหรือลดทอนคุณค่าของระบบการเลือกพรรค(ระบบปาร์ตีลิสต์) และยังเปิดช่องให้มีนายกที่มิใช่ ส.ส. ก็ได้)  010 (จัดทำประชามติภายใต้อำนาจรัฐประหาร และมาตรา 44 ของรธน.ชั่วคราว พ.ศ. 2557)    35

 
หมายเหตุ: หากในประเทศเราจะได้มีการถกเถียงกันก่อนว่า การออกแบบการจัดทำรัฐธรรมนูญเช่นไรจึงเหมาะสมที่สุดและเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดก็จะทำให้เราไม่ต้องลองผิดลองถูกดังที่กำลังทำกันอยู่ขณะนี้ อันเสี่ยงต่อการใช้ไม่ได้ผล และเสียงเงินชาวบ้านมหาศาลโดยผู้รับผิดชอบไม่มีความผิด!? 


สรุป - รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีคุณภาพประชาธิปไตยมากที่สุด (ร้อยละ 75) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 รองลงมา (ร้อยละ 40)  และรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่าง (พ.ศ. 2559 หรือ 2560?!) มีคุณภาพประชาธิปไตยต่ำที่สุด (ร้อยละ 35 แต่อาจขยับเพิ่มหรือลดตามเนื้อหาที่ยุติจริง จนคะแนนสาระเพิ่มขึ้นและโดยรวมอาจได้คะแนนมากกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่ย่อมไม่เกินฉบับ พ.ศ. 2540)  จึงพอจะประเมินได้ว่าองค์รวมของการจัดทำและแนวโน้มสาระของรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเกิดขึ้นยังไม่มีคุณภาพพอที่จะเป็นความหวังใหม่ในการส่งผลต่อความก้าวหน้าอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของการเมืองไทยได้ เพราะกระบวนการสร้างสรรค์ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยที่เพียงพอนั่นเอง และแม้จะใส่เนื้อหาให้ดูเป็นประชาธิปไตยมากที่เท่าจะทำได้ในสายตาคณะผู้ยกร่าง ก็ยังมีข้อจำกัดให้ทำได้ไม่เต็มที่ตามบรรยากาศของสังคมเผด็จการและอำนาจสั่งการของคณะผู้ปกครอง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เป็นต้น (ดังตัวอย่างข้อเสนอหรือที่เรียกกันว่าใบสั่ง 10 ข้อ ของ คสช. ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรธน. ที่ประธานคณะกรรมการชุดนี้ซึ่งเป็นสมาชิก คสช. อยู่ด้วย พยายามปลอบใจประชานว่าไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็ตาม) จึงย่อมส่งผลต่อการยอมรับและปรับใช้ในอนาคต

บทเรียนการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 นั้น มีประโยชน์ (แม้จะไม่สมบูรณ์ทุกด้าน) ประชาสังคมไทยเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยในอนาคตจึงควรเรียนรู้และกลับไปใช้ภูมิปัญญาและประสบการณ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของเราทั้งสองคราวนั้น ให้เป็นประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็โดยวิพากษ์จุดอ่อน-จุดแข็งในอดีตในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย (อย่างน้อยที่พอเป็นตัวอย่างให้ใช้และวิพากษ์ได้บ้างก็คือ ตามเกณฑ์ชี้วัดทั้งห้าที่ข้าพเจ้านำเสนอนั้น) เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่เป็นจริงในทางคุณภาพประชาธิปไตยยิ่งกว่าฉบับภายใต้ คสช.


ประการที่สาม (สืบเนื่องจากประการที่สอง) – การที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองชุดมิใช่ได้มาโดยกระบวนการวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยที่สะท้อนเจตจำนงร่วมอันเสรีของประชาชนแต่อย่างใด และตามที่ประเทศไทยเคยมีประสบการณ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยแห่งการใช้ความรู้เพื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญในสังคมเสรีที่เปิดเผยและกว้างขวางมาแล้วในการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และมีน้อยลงสำหรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ดังที่กล่าวแล้วนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ การทำรัฐธรรมนูญได้จำกัดและคับแคบอย่างโจ่งแจ้งภายใต้อำนาจรัฐประหาร และแม้ว่าผู้จัดทำรัฐธรรมนูญจะมีการกระทำที่เป็นวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง เช่น เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัด ในระยะเวลาอันสั้น ทั่วถึง และขาดการรับฟังและถกเถียงกันโดยเสรีและอย่างกว้างขวางในที่สาธารณะ และประชาชนได้รับการคุ้มครองในการแสดงออกและเผยแพร่ความเห็นที่อาจไม่ตรงกับ คสช. แต่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าหรืออย่างเต็มที่ อันจะทำให้ข้อเสนอและความรู้ประกอบข้อเสนอไม่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้นถึงพริกถึงขิง (Severe Criticism) ทั้งคณะผู้ยกร่างอาจจะเลือกเอาความเห็นใดๆใส่ในรัฐธรรมนูญโดยอำเภอใจดังที่กล่าวแล้ว รัฐธรรมนูญที่จะได้มาจึงขึ้นอยู่กับความเป็นตัวแทนประชาชนแบบสมมติของคณะผู้ยกร่างผู้เจียมตัวต่อคสช. และเป็นของ คสช. มิใช่ของประชาชน เพราะมิได้ตั้งอยู่บนความผูกพันและความเป็นจริงของอำนาจประชาชน ลักษณะเช่นนี้เป็นวิทยาศาสตร์แบบหนึ่ง แต่เป็นวิทยาศาสตร์การเมืองเผด็จการที่น่ากลัวเพราะไม่ให้หรือมีความจำกัดในคุณค่าของการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชน และจะทำให้บทบัญญัติออกห่างจากประชาชนในส่วนที่มีนัยสำคัญๆแห่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน

ด้วยเหตุผลเสริมที่ว่า เผด็จการมักเป็นมิตรกับฝ่ายวิชาชีพ และนักวิชาชีพก็มักเน้นหลักวิชาการที่เรียนและฝึกมาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็เพื่อความสำเร็จของงานในส่วนของตน และเพื่อความก้าวหน้าแห่งตนเฉพาะวิชาชีพนั้นๆเป็นที่ตั้ง มากกว่าการทำคุณประโยชน์เพื่อส่วนรวมอันยิ่งใหญ่ในพหุมิติแก่คนจำนวนมากที่สุดในสังคมอันเป็นอุดมคติสูงสุด ซึ่งฝ่ายการเมืองประชาธิปไตยจะมีประการหลังนี้ให้ได้มากกว่า และแม้การเมืองจะเป็นเรื่องการประนีประนอมที่อาจทำให้ความแม่นตรงของวิทยาศาสตร์หดหายไปได้ แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะเราสามารถสร้างการประนีประนอมทางการเมืองบนฐานวิทยาศาสตร์ได้ นั่นก็คือ การยึดผลประโยชน์สูงสุดของสังคมในการเป็นสังคมแห่งการประนีประนอมโดยธรรมชาติให้เป็นเป้าหมายสำคัญ (เช่น ความยุติธรรม สันติภาพ สังคมแห่งความมั่งคั่ง และความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น) มิใช่การปรองดอง (ศัพท์แสลงหนึ่งของการประนีประนอม) เฉพาะกิจแบบที่กำลังปวดหัวกันอยู่ปัจจุบัน (ว่าจะเอาอย่างไรดี) และต้องทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่จะให้หลักประกันต่อเป้าหมายดังกล่าว รวมทั้งธรรมาธิปไตยอันเป็นมิตรกับวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยมวลรวมประชาชาติ (ขออนุญาตใช้ศัพท์ใหม่อีกคำหนึ่ง) อันหมายถึงมูลค่าโดยรวมที่สังคมโดยรวมจะได้รับจากการทำงานของระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยรองรับ


ประการที่สี่– บทบัญญัติในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 กำหนดความจำกัดในทิศทางบทบัญญัติหรือล็อกสเป็คของรัฐธรรมนูญใหม่โดยปริยาย ให้ตอบสนองสาระทั้งสิบประการที่บัญญัติไว้ ซึ่งหลายประการเป็นประโยชน์ต่อธรรมาภิบาลของระบบการเมืองไทยในอนาคต แต่กลับไม่พบหลักการประชาธิปไตยสำคัญๆที่จะต้องยึดมั่นในการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดตามข้อ  9 และ 10 และ วรรคสุดท้ายของมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) นี้ ที่บัญญัติให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทําร่างรัฐธรรมนูญที่ครอบคลุมในเรื่อง“(9) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทําลายหลักการสําคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้”(10) กลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสําคัญต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป” ทั้งยังกำหนดตบท้ายด้วยว่า“ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาถึงความจําเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอํานาจตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่จําเป็นต้องมี ให้พิจารณามาตรการที่จะให้การดําเนินงานขององค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย”

บทบัญญัติดังกล่าวเหล่านั้น อาจถูกนำไปใช้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์สากล และมีอคติต่อระบบพรรคการเมือง ทำให้มีการติดขัดในการใช้อำนาจโดยชอบธรรมของรัฐบาล และอาจมีการจัดตั้งกลไกใหม่ๆที่แปลกประหลาดหรือนอกระบบสากลมาทำให้ไม่เกิดเสถียรภาพของประชาธิปไตยของประชาชนไทย (เช่น การออกแบบให้ประชาธิปไตยตัวแทนกับประชาธิปไตยทางตรงเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน) หรือ การออกแบบกระบวนการที่ไม่เคารพอธิปไตยโดยทั่วไปของประชาชน  โดยอาศัยอำนาจขององค์การเผด็จการจัดตั้งกึ่งราชการที่เรียกว่าองค์กรอิสระหรือองค์กรมหาอิสระ ทั้งในแนววิชาชีพหรือไม่ใช่วิชาชีพและสภาการปกครองหรือปฏิรูปพิเศษที่มองโลกแบบคับแคบหรือตายตัว และบังคับประชาธิปไตยให้เป็นไปในแนวอำนาจนิยมดั้งเดิม สมัยก่อนยุคประชาธิปไตยและในยุคกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ

นอกจากนี้ ความจำกัดของแนวรัฐธรรมนูญยังมีเพิ่มขึ้น เมื่อล่าสุด คสช. ได้แสดงเจตนาต่อรัฐธรรมนูญใหม่ ดังข้อมูลจากสื่อมวลชนที่ว่า (http://www.prachatai.com/journal/2015/11/62522) “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 ลงวันที่ 11 พ.ย. เรื่อง ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถึง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีเนื้อหาดังนี้
           
1. ตามที่คณะ กรธ.ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าคสช. เพื่อขอรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักการที่สมควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อที่คณะกรธ. จะได้นำไปประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
           
2. คสช.พิจารณาแล้วเห็นดังนี้

2.1 ต้องมีบทบัญญัติที่สำคัญอย่างครบถ้วน มีข้อความชัดเจนแน่นอน เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจในทุกเนื้อหาสาระได้ง่าย ไม่ใช้ถ้อยคำที่กำกวม ซึ่งล่อแหลมต่อการตีความผิดๆ จะต้องใช้ถ้อยคำที่เลือกสรรมาแล้วว่ามีความหมายที่แน่นอนและชัดเจนที่สุด คำหรือข้อความที่มีความหมายหลากหลายแง่มุม หรือกำกวม ซึ่งอาจทำให้เข้าใจไปได้หลายกรณีไม่ควรนำมาใช้

2.2 รัฐธรรมนูญไม่ควรยาวเกินไป ควรบัญญัติเฉพาะหลักการจัดรูปแบบการปกครองของรัฐที่สำคัญ และจำเป็นเท่านั้น หากยาวมีรายละเอียดมาก จะทำให้การตีความยุ่งยากมากขึ้น และจะไม่ได้รับความเคารพเท่าที่ควร สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยของการปกครองประเทศ หรือกฎหมายย่อยในส่วนอื่นๆ นั้น ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ จะออกกฎหมายที่มิใช่เรื่องที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ จะต้องไม่สั้นเกินไปจนขาดสาระสำคัญ

2.3 ควรมีกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายขึ้นไว้ เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับกาลสมัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป การที่มีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายนั้น เพื่อป้องกันการล้มล้าง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง โดยเฉพาะการปฏิวัติ และรัฐประหาร

2.4 บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ควรจะต้องครอบคลุมในหลักการที่สำคัญของกระบวนการการเมือง การปกครอง เช่น บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติรัฐ บัญญัติถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่เหมาะสม สอดคล้องกับหลักการปกครองของระบอบประชาธิปไตย และวัฒนธรรม ประเพณี ความรู้ ความสามารถ ทางการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ บัญญัติถึงสถาบันทางการเมือง ที่มาของสถาบันเหล่านั้น อำนาจหน้าที่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง กระบวนการสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันการเมือง รวมถึงกระบวนการใช้อำนาจตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการเมืองของสถาบันต่างๆ อย่างรัดกุม ป้องกันมิให้มีการบิดเบือนหลักการและกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมือง และอาจเป็นหนทางนำไปสู่การแก้วิกฤตการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบ

2.5 การมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน จะต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ในประเทศอย่างแท้จริง ในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองในการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ใช้อำนาจปกครองโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมหรือรัฐบาลที่ปฏิเสธหรือ เป็นปฏิปักษ์ต่อมวลมหาประชาชน โดยไม่ทำให้ประชาชนมีความสำคัญแต่เฉพาะก่อน หรือขณะเลือกตั้งเท่านั้น ภายหลังการเลือกตั้งไปแล้วประชาชนยังคงต้องมีบทบาทที่สำคัญกว่านักการเมืองผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา โดยรัฐมีหน้าที่สนับสนุนในการสร้างและพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้ และความรับผิดชอบทางการเมือง

2.6 เนื่องจากปัญหาวิกฤต หรือข้อขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และรัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้น ควรบัญญัติช่องทางเผื่อกาลในอนาคตในการผ่าทางตัน เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ด้วย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาสุญญากาศทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

2.7 แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐยังคงต้องบัญญัติให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มีมาจากภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

2.8 ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะทหาร จะต้องมีสิทธิเสรีภาพในทุกๆ ด้าน เช่นเดียวกับประชาชนโดยทั่วไปไม่ควรถูกจำกัด หรือริดรอนสิทธิเสรีภาพแม้กระทั่งสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ด้วยเหตุแห่งอาชีพในการเป็นข้าราชการทหาร

2.9 ควรกำหนดให้การดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมีวาระ 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือ เผด็จการทางการเมือง

2.10 ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น จะต้องได้รับการต่อต้านและขจัดไปจากชาติ โดยผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักเฉียบขาดและรุนแรง เป็นค่านิยมที่จะต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนและข้าราชการเกิดความสำนึกที่ดีต่อประเทศชาติ”

ข้อเสนอของ คสช. ในข้อ 2.4 – 2.8 ล้วนมีความเป็นไปได้ที่สาระแห่งรัฐธรรมนูญ (หากคณะกรรมาธิการยกร่างได้ตอบสนองตามความเห็นเหล่านี้อย่างเต็มที่ หรือเมื่อเวลาถึงจุดสำคัญปลายทางจะให้ความสำคัญพอๆกับความเห็นจากฝ่ายอื่นๆได้จริง ดังที่ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแถลง เมื่อไม่นานมานี้) จะถูกประดิษฐ์ให้สอดรับหรือเบี่ยงเบนไปจากหลักการวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยสากลก็ได้อยู่ไม่น้อย อาทิ ข้อ 2.5 นั้น น่ากลัวว่าเหตุการณ์ประชาธิปไตยนอกระบบแบบมวลมหาประชาชนของ กปปส. จะมีขึ้นได้อีก เพราะได้รับการสนับสนุนจากการอ้างอำนาจประชาธิปไตยของพลเมืองที่ “มีความรู้และความรับผิดชอบทางการเมือง” แต่เป็นปฏิปักษ์กับการเมืองในระบบผู้แทนต่อไป (ทั้งๆที่ประชาชนเองก็เป็นเจ้าของและต้องใช้อำนาจทั้งสองทางให้เป็นประโยชน์แก่ตนทั้งมวล) และในข้อ 2.8 นั้น เป็นการเสนอให้ทหารออกห่างจากทหารอาชีพแต่เล่นการเมืองได้ อันขัดกันอย่างชัดแจ้งกับเจตนารมณ์จะสร้างประชาธิปไตยของ คสช. ที่ทหารต้องประกาศปฏิรูปตนเองให้เป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริงและตลอดกาลมากกว่า (โปรดเทียบเคียงกับข้อความที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 (ในhttp://www.thairath.co.th/content/540660) ว่า“พล.อ. ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการได้พบกับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ตนได้นั่งประชุมติดกัน จึงได้ขอบคุณสหรัฐฯ ที่ส่งเอกอัครราชทูตมาประจำประเทศไทย ซึ่งนายโอบามาบอกว่ายินดี เพราะไทยและสหรัฐฯ มีความเป็นพันธมิตรมายาวนาน ทอดทิ้งกันไม่ได้ ยินดีที่จะสนับสนุนไทยเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งตนได้ยืนยันว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน”แต่ถ้าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ทราบว่าหัวหน้า คสช. ได้ส่งความเห็นนี้ไปยังประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (นายมีชัย ฤชุพันธุ์) ก่อนได้พบกันที่ฟิลิปปินส์ตาม ข้อ 2.8 ด้วยนั้น เขาก็คงหัวร่อมิออก ร่ำไห้มิได้ เป็นแน่! แต่ฉะนั้น จึงไม่เลวเลยที่นายบารัก โอบามา ได้กล่าวไว้ด้วยว่า “ยินดีที่จะสนับสนุนไทยเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย”


ประการที่ห้า– หัวหน้า คสช. (ตัวบุคคล - มิใช่ คสช. ทั้งคณะที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยในตนเอง!) แสดงวิสัยทัศน์ในหลายวาระในเรื่องประชาธิปไตย ตั้งแต่วันแรกของการยึดอำนาจและเป็นระยะๆต่อมาๆ ว่าอยากให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยสากลบ้าง ประชาธิปไตยสมบูรณ์บ้าง และ ประชาธิปไตยเฉพาะแบบไทยหรือแบบที่ปรับให้เหมาะกับสังคมไทยบ้าง รวมถึงการออกสารถึงประชาชนไทยที่ให้นายทหารมาอ่านแทนเมื่อเดือนตุลาคม ซึ่งดูมีความเป็นทางการมากอย่างยิ่งด้วยนั้น แต่แม้จะพูดหลายครั้งก็ยังดูคลุมเครืออยู่ดี ทั้งคำกล่าวระยะหลังๆ ก็คือเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ที่กล่าวกับประชาชนชาวบ้านยางกระเดา ต. ท่าเมือง อ. ดอนมดแดง จ. อุบลราชธานี ก็เช่นกัน ตอนหนึ่งเขากล่าวว่า “ประชาธิปไตยต้องเป็นสากล แต่ก็ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับสังคมไทยด้วย เหมือนการตัดเสื้อที่วัดตัวคนอื่น แล้วเอามาใส่กับตัวเรามันก็ไม่พอดี เสื้อตัวเดียวจะใส่กันทุกคนไม่ได้..” ซึ่งมีสาระที่ชัดเจนกว่าคำยืนยันแบบคลุมๆกับประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐอเมริกา ในระหว่างประชุมที่ประเทศฟิลิปปินส์ที่เขาว่า “จะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน” เพราะคำกล่าวเช่นนี้ (วันที่ 12 พฤศจิกายน 2558) มีปัญหาความไม่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ

หัวหน้า คสช. เข้าใจผิดว่าประชาธิปไตยสากลกับประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทยเปรียบเสมือนการเอาเสื้อที่ตัดไว้ (แบบเดียว) สำหรับชาวต่างชาติที่เป็นสากลทั้งหลายมาให้คนไทยใส่ซึ่งย่อมเข้ากันไม่ได้ ฉะนั้นเขาจึงเสนอว่า “ประชาธิปไตยต้องเป็นสากล แต่ก็ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับสังคมไทย” แต่อันที่จริงหลักคิดเรื่องประชาธิปไตยสากลนั้น หมายถึงว่าเมื่อการปกครองแบบประชาธิปไตยค่อยๆพัฒนาขึ้นในโลกนับพันปีมาแล้วเพื่อแทนการปกครองแบบไม่ใช่ประชาธิปไตยนั้น ประสบการณ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยดังกล่าวอันหลากหลายของประเทศต่างๆในโลกในเวลาต่างๆ ได้ถูกสรุป (Inductive) อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นทฤษฎี คือ หลักการและวิธีการที่เป็นสากลของการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างสำคัญอยู่ชุดหนึ่ง (โดยประมาณ) และประเทศต่างๆเหล่านั้นก็พยายามทำให้หลักการสากลมันดีขึ้นๆอีกจากการประสบการณ์ในทางปฏิบัติที่ป้อนกลับเข้าไป

ส่วนประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยมากก่อนก็พยายามนำมันไปบ้างใช้ เพื่อสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของตนแทนของเก่าที่ไม่เหมาะสม คือ ทำการตัดเสื้อเอาเองเท่าที่จะสามารถทำได้ในบริบทของประเทศใดๆโดยอาศัยทฤษฎี (หลักการและวิธีการ) สากลนั้น ไม่ใช่ไปเอาเสื้อคนอื่นที่ตัดไว้เสร็จแล้วจากยุโรปหรืออเมริกามาใส่ให้กับตัวคนไทยแต่อย่างใด ทั้งที่ประเทศเหล่านี้เขาก็สร้างประชาธิปไตยแนวสากลจากความไม่มีประชาธิปไตยมาก่อน (แต่ก็เถอะ หากยังยึดเรื่องเสื้อคนละแบบกัน มนุษย์เราก็ไม่ได้มีเสื้อขนาดเดียว แต่มีเบอร์ S, M และ L ที่ใช้กันทั่วโลกมิใช่หรือ?) เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีประชาธิปไตยสากลที่เหมาะสมกับไทยหรือแบบไทยๆแต่อย่างใด สิ่งที่จะมีก็คือ “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย” หรือจะพูดก็ได้ว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยสากลของประเทศไทย” เพราะความเป็นเฉพาะย่อมมีได้ในแง่ที่ว่าระบบการปกครองนั้น มันอยู่ต่างสถานที่และคนละวัฒนธรรมกันทั้งนั้น ประเทศใดๆจึงอาจจะมีระบบเฉพาะของตนที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรือไม่เป็นไปตามสาระสำคัญแห่งหลักประชาธิปไตยสากล เช่น มีการปฏิบัติบางประการที่ในระบบประชาธิปไตยเขาไม่ทำกันแต่ตกทอดหรือติดตัวมาจากอดีต แต่เมื่อสังคมโลกเชื่อมโยงกันและเรียนรู้ร่วมกันและใช้วัฒนธรรมใหม่ร่วมกันมากขึ้นๆ ตัวมาตรฐานกลางก็ย่อมถูกพัฒนาขึ้นเพื่อยึดถือร่วมกันในสังคมโลกในภายหลัง ดังที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันได้รับการระบุและรักษามาตรฐานสากลไว้โดยสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (International Parliamentary Union, IPU) ซึ่งประเทศไทยก็เป็นสมาชิก [หรือดังตัวอย่างนอกประเด็นประชาธิปไตย คือเรื่อง “มวยไทยไฟต์” (Thai Fight) ที่พัฒนาขึ้นเป็นสากลในขณะนี้จากต้นแบบมวยไทยของประเทศไทย โดยประเทศทั้งหลายในเอเชียและยุโรปที่เข้าร่วมเวทีมวยเช่นนี้ได้เอาวิถีมวยไทยที่ถูกยกขึ้นเป็นสากลนั้น ไปสอนนักมวยของเขาหรือมาเรียนในประเทศไทย ไม่มีใครชกมวยไทยสากลหรือไทยไฟต์โดยไม่มีเตะ เข่า และ ศอก และไม่มีประเทศไหนตะแบงว่าขอฝึกและชกมวยไทยแบบเฉพาะของตน แต่กลับไปขึ้นชกบนเวทีมวยไทยไฟต์ที่มีกติกา (หลักการและวิธีการ) ที่เป็นสากลร่วมกันในบรรดาประเทศทั้งหลายไปแล้วนั้น (ค่ายนักชกในยุโรปและประเทศจีนบางแห่งเคยเป็นตัวอย่างที่ขอยกเว้น แต่ในที่สุดก็ยกเลิกเพราะมันไม่ใช่มวยไทยไฟต์)}


ประการที่หก– การจัดวางให้ประเด็น (หรือข้อยกเว้น) เฉพาะสังคมไทยที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์น้อยกว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตยสากลที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าดังที่พบข้อเสนอของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองคณะดังนี้

การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. หรือไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนก็ได้นั้น ขอวิพากษ์ยาวพอสมควรก็คือ แม้จะกำหนดให้มีเสียง ส.ส. ยกมือสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ก็ตาม เป็นการใช้ตรรกะพิลึกหรือตรรกะวิบัติ เพื่อเบี่ยงเบนว่าปัญหาการเมืองไทยคือนายกรัฐมนตรีจาก ส.ส. อาจไม่ใช่คนดีและเก่งจริงหรือบริหารประเทศไม่ได้ดีเท่าคนนอก และจะไม่สามารถบริหารประเทศหากเกิดวิกฤตการเมือง รวมถึงว่าอย่างไรเสีย ส.ส. ก็ยังเป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรีดังเช่นที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นไว้คือ อำนาจอธิปไตยของประชาชนไม่ได้รับการยอมรับโดยชนชั้นนำต่างหาก การจะแก้วิฤตการเมืองไทยในระยะยาวได้ก็คือการยอมรับอำนาจอธิปไตยของประชาชน ที่ต้องใช้อย่างมีธรรมาภิบาลทั้งในสามอำนาจสำคัญ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ

การกำหนดกติกานอกหลักการประชาธิปไตยดังกล่าว อนุมานได้ว่าเป็นการทุจริตต่ออธิปไตยของประชาชน คือ คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญกำลังจะทำให้สิ่งที่ผิด “ธรรม” ให้ถูกต้องโดยบัญญัติไว้ในกฎหมายแม่บทไปโดยปริยายจึงขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง ทั้งที่ประเทศไทยภายใต้โลกาภิวัตน์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่านายกที่ผ่านการมีส่วนให้ประชาชนได้เลือกสามารถทำงานได้ตรงตามความต้องการของประชาชนและสำเร็จผลมากกว่านายกที่มาจากการยึดอำนาจหรือการแต่งตั้ง ทั้งประเทศของเราก็เคยมีประสบการณ์ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้บุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส. รักษาการนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเมื่อบ้านเมืองมีวิกฤตมาแล้ว โดยไม่ต้องอาศัยการทำรัฐประหาร บ้านเมืองก็เดินไปได้ เพียงแต่ปัญหาที่ผ่านมารักษาการนายกก็ถูกปฏิเสธเสียอีกเพราะฝ่ายต่อต้านไม่ปฏิบัติตามกติกาประชาธิปไตยกันจริงๆ

การจะให้โอกาสบุคคลที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรียังเป็นการฝืนวิวัฒนาการของสังคมที่มุ่งไปสู่การเป็นสังคมที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ตามแนวทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary Theory) ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างสูง แต่การยึดแบบแผนนายกคนนอกแบบไม่เคารพอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่ทฤษฎีรัฐศาสตร์รับใช้เผด็จการแบบสังคมเก่าสนับสนุนนั้น ยังเข้าข่ายเป็นข้อกำหนดเชิงโครงสร้างของอำนาจตามลัทธิเจตจำนงตายตัว (Determinism) อันเป็นวิทยาศาสตร์เผด็จการ ที่มักจะกำหนดจากเบื้องบนหรืออำนาจพิเศษและไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยนิยมกันในสังคมปิด เช่น ในระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ หรือ สมบูรณาญาสิทธิราช จึงมิได้เคารพต่อเจตจำนงอันเสรีของประชาชนในสังคมเปิดที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าเช่นประเทศไทยในปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีนอกกติกาประชาธิปไตยสากล มีแนวโน้มที่จะมาโดยกระบวนการครอบงำทางอุดมการณ์แบบสังคมเก่าและการชี้นำพิเศษ และอาจประกอบการสร้างสถานการณ์ให้ประเทศเกิดวิกฤตเพื่อเข้าทางข้อกำหนดอัปลักษณ์ดังกล่าวเพื่อใช้แทนนายกแบบมาตรา 7 (การปฏิบัติตามประเพณีการปกครองหากไม่มีมาตราใดที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนำมาใช้ได้) หากเป็นเช่นนั้นขึ้นมาจริง เราก็อาจต้องเรียกการปกครองของไทยเสียใหม่ให้เต็มที่ไปเสียเลย (เถิด) ว่า ”การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและนายกรัฐมนตรีจะเป็น ส.ส. หรือไม่ก็ได้” นายกรัฐมนตรีเช่นนี้ ย่อมไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชนหรือถึงคราวอาจจะข่มขู่ ส.ส. ก็ได้ หรือนั่งอยู่บนหัวประชาชนมากกว่าฟังเสียงชาวบ้านด้วยซ้ำไป แถมอาจทำให้ฝ่ายค้านเป็นเบื้อ ด้วยนึกถึงตนเองมากกว่าประชาชน เพราะหวาดกลัวอำนาจนอกประชาธิปไตยของประชาชน

ความน่าวิตกมากขึ้น สำหรับนายกรัฐมนตรีที่มีสถานภาพคนนอกอธิปไตยของประชาชนเช่นนี้ ก็คือความเป็นลักษณะด้อยในทางสากล ซึ่งในทางพันธุกรรมเขาต้องกำจัดทิ้งเพราะจะนำพาให้สังคมอยู่รอดและสามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศอย่างมีคุณภาพไม่ได้ มิใช่ลักษณะเด่นที่จะสงวนหรือผ่าตัดพันธุกรรมเพื่อเอามาใช้โดยทึกทักเอาว่าเหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน หรืออ้างว่าจะรองรับวิกฤตใดๆ ทั้งๆที่สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้ปัญญาวิปลาสแต่โดยสติปัญญาปกติ และไม่ต้องใช้การตีความที่อาจจะเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยไม่ลืมหูลืมตาหรือราวกับว่าเรายังอยู่ในยุคคณะราษฎร

มีช่องทางเดียวที่ข้าพเจ้าผู้มีส่วนกำหนดนายกรัฐมนตรีเช่นประชาชนอื่นๆยอมได้ก็คือ เมื่อเกิดสภาวะคับขันของประเทศที่นายกรัฐมนตรีคนเดิมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว บุคคลที่มิใช่ ส.ส. จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หากเกิดวิกฤตนายกหรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะบริหารงานไม่ได้จริง ในระหว่างนั้นก็สามารถเขียนกฎหมายให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกจาก ส.ส.ทำหน้าที่ชั่วคราวไปก่อน แต่หากสภาผู้แทนราษฎรไม่มีหรือทำหน้าที่ไม่ได้ นายกเช่นนั้นก็ต้องมาโดยประชามติของประชาชนทั้งประเทศ! (ในสังคมสารสนเทศและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ข้าพเจ้าเชื่อว่าประชามติสามารถจัดทำได้ภายในไม่เกินหนึ่งเดือน)   เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเด็นนายกรัฐมนตรีนอกระบบดังกล่าว ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 35 อีกด้วย เพราะกำหนดให้รัฐธรรมนูญใหม่มี “กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทําให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดําเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงําหรือชี้นํา โดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”


การมีแนวโน้มว่าอำนาจอธิปไตยที่ประชาชนไทยผู้เป็นเจ้าของและมอบแก่รัฐประชาธิปไตยอย่างสมัครใจอันสอดคล้องกับความเป็นวิทยาศาสตร์การเมืองเสรี จะถูกจำกัดและไม่สามารถใช้ได้เป็นการทั่วไปด้วยการอาศัยอำนาจอื่นที่ด้อยกว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชน หรือด้วยหลักวิชาชีพอื่นที่อาจอ้างกฎเกณฑ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เป็นปฏิปักษ์หรือมิได้เกื้อกูลต่อความเป็นวิทยาศาสตร์ของการเมืองประชาธิปไตยดังที่จะพบเห็นปัญหาจากการทำหน้าที่ของวุฒิสภา และองค์การอิสระบางแห่ง และ การเมืองภาคประชาชนแบบอนาธิปไตยที่ผ่านมา (เช่น โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ กปปส.) เป็นต้น จะได้รับการให้อำนาจพิเศษหรือสนับสนุนจากอำนาจของเครือข่ายอำนาจรัฐเดิมไปในทางล้มล้างมากกว่าขัดเกลาและเคารพต่อองค์การการเมืองประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของประชาชน อันจะทำให้กลไกประชาธิปไตยขัดแย้งกันมีผลให้องค์รวมแห่งระบอบติดขัด ขับเคลื่อนไปอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยไม่ได้ดี


ประการที่เจ็ด– การสร้างประชาธิปไตยโดยทหารไทยจะทำให้ประชาธิปไตยมีลักษณะเป็นเสากลไม่ได้เลย ทั้งนี้เพราะความเป็นวิทยาศาสตร์ของทหารที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการเป็นทหารอาชีพ แต่เมื่อทหารยกเลิกความเป็นทหารอาชีพมาทำงานการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ตนไม่ถนัด เราก็จะไม่ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ดังคำกล่าวที่ดูไม่เกินเลยที่ว่า “ต้นกล้วยย่อมไม่ออกลูกเป็นแอปเปิ้ล” ฉันนั้น (ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะใช้คำว่า “งาช้างย่อมไม่งอกออกมาจากปากสุนัข” ซึ่งดูแรงเกินไป) แต่ความเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญไทยควรจะสำเร็จได้อย่างสำคัญ ก็โดยการสนับสนุนของทหารอาชีพเพื่อร่วมมือกับรัฐบาลประชาธิปไตยในการส่งเสริมการปฏิบัติตามและปกป้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยมากกว่า ดังที่พบเห็นกันในประเทศที่เจริญกว่าประเทศไทย

แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้ทหารไทยเคร่งครัดต่อการเป็นทหารอาชีพที่เคารพต่ออำนาจอธิปไตยของประชนอย่างน่ายกย่องสรรเสริญเล่า? สิ่งจูงใจเหล่านั้นคืออะไร (การเน้นทหารพัฒนา หรือ การให้กองทัพเป็นรัฐวิสาหกิจหรือองค์การอิสระหาเลี้ยงตนเองแทนการใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือการผลิตอาวุธที่ทันสมัย หรือการรบอยู่เสมอกับศัตรูนอกประเทศหรือกระทั่งนอกโลก  - มนุษย์ต่างดาว!?) และจะต้องแก้ไขกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวกับวิชาชีพทหาร ภารกิจของทหาร การใช้งบประมาณ และการใช้อำนาจของทหารเพื่อพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยและเคารพรักประชาชนอย่างแท้จริง (ในฐานะประชาชนคือผู้ให้เงินเดือนและเป็นนายที่เป็นรูปธรรมของทหาร) นี่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการปฏิรูปทหารและกองทัพอย่างถึงรากฐาน พร้อมๆกับการปฏิรูปในด้านต่างๆที่กำลังพัฒนาข้อเสนอกันอย่างขะมักเขม้นในขณะนี้


ประการที่แปด– การสนับสนุนให้หลักการและวิธีการสากลของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์) จะสามารถนำมาใช้ได้จริงสำหรับการฟื้นฟูประชาธิปไตยของไทยนั้น หลักการและวิธีการสากลดังกล่าวที่ต้องนำมาใช้คืออะไรบ้างนั้น ท่านผู้รู้จำนวนมากย่อมทราบดีแล้ว ในที่นี้ข้าพเจ้าใคร่ขอสรุปยืนยันประเด็นสำคัญๆดังนี้

  • รัฐหรือประเทศสังคมประชาธิปไตยย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยการปกครองตนเองของ ประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
     
  • อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในแผ่นดินเป็นของประชาชนอำนาจอื่นใดจะอยู่เหนือกว่าและล้มล้างการปกครองตนเองของประชาชนมิได้
     
  • รัฐย่อมอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความงอกงามและการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมประชาธิปไตย
     
  • ระบอบประชาธิปไตยต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยต่อไปนี้
     
  •  การให้หลักประกันแก่ประชาชนในทางสิทธิเสรีภาพภารดรภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม
     
  • รัฐเป็นทั้งนิติรัฐและนิติธรรมที่ประชาชนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายและกฎหมายได้มาโดยกระบวนการตรากฎหมายที่ชอบธรรม
     
  • การปกครองโดยเสียงข้างมากและมีการจัดการธรรมรัฐอย่างมีคุณธรรมในความเห็นข้างน้อยอันเป็นประโยชน์สุขของมหาชน
  • รัฐบาลมีอำนาจบริหารประเทศตามสัญญาประชาคมที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

  • การถ่วงดุลและส่งเสริมกันในภารกิจเพื่อส่วนรวมของอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการที่มีเป้าหมายเพื่อการบรรลุประโยชน์สุขของประชาชนและเสถียรภาพทางการเมืองส่วนรวม
     
  • การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่เสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าของประชาธิปไตย ความรักและความสามัคคีของคนในชาติ

ประการที่เก้า– วัฒนธรรมและพฤติกรรมของประชาชนที่ส่งเสริมประชาธิปไตยย่อมจะส่งเสริมการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยด้วย แต่วัฒนธรรมการเชื่อคนข้างบน การไม่กล้าแสดงออกอย่างเปิดเผย การยอมรับความไม่เสมอภาค วัฒนธรรมอุปถัมภ์ พฤติกรรมการขายเสียง ความหลงใหลในการเลือกพรรคการเมืองแบบภูมิภาคนิยมมากกว่าการพิจารณาที่อุดมการณ์เพื่อสาธารณะ นโยบาย และสมรรถนะในการบริหารประเทศของพรรคการเมือง เป็นต้น ล้วนขัดต่อการวิถีวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย และจะไม่ช่วยให้ประเทศของเราได้รัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การสรรค์สร้างสังคมประชาธิปไตยที่เป็นจริง


ประการที่สิบ– การปรับตัวรัฐบาลของ คสช. หรือในกำกับของ คสช. (เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว) ให้เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างแท้จริง (Pure Provisional Government) เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่สังคมที่กำลังแตกแยกอย่างมหันต์ เพื่อสนับสนุนให้กระบวนการสร้างสรรค์วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยได้ทำงานบนการเคารพความเป็นจริงของพลวัตประชาธิปไตย โดยอย่างน้อยสมควรดำเนินการต่อไปนี้ (แม้ดูเหมือนว่ารัฐบาลเฉพาะกาลอย่างแท้จริงจะเป็นไปไม่ได้เลยก็ตาม)

  • จัดประชุมตัวแทนคู่ขัดแย้งสำคัญในทางการเมืองในรอบ 10 ปี คือ พรรคประชาธิปัตย์ และ กปปส. ฝ่ายหนึ่ง กับ พรรคเพื่อไทย และ นปช. อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อลงนามอย่างสันติวิธีในสัญญายุติศึกการเมืองนอกระบบเพื่อสร้างประชาธิปไตยอย่างถาวร โดยมีสักขีพยานจาก คสช. องค์การหรือองค์คณะ คณะกรรมการสำคัญระดับชาติของประเทศ ผู้แทนสหประชาชาติและผู้แทนประชาคมอาเซียน (จะเสียหน้าประชาคมโลกในเรื่องนี้บ้างก็ยอมไปเถอะครับ) แทนการถูกบังคับให้ต้องยอมรับการสร้างประชาธิปไตยภายใต้กระบอกปืน
  • เปิดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากจังหวัดต่างๆ แนวเดียวกับที่เคยร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 อย่างเป็นอิสระ เพื่อรับภาระการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเต็มภาคภูมิ และโดยปราศจากการแทรกแซงของ คสช. อย่างสิ้นเชิง และในทางที่สนับสนุนให้ดำเนินการได้เร็วขึ้นมากก็คือ เปิดทางให้ประชาชนกลุ่มและพรรคการเมืองๆ ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน และ สสร.ได้พิจารณา
  • จัดทำประชามติหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้น และดำเนินการต่อไปตามกติกาที่กำหนดไว้ล่วงหน้าหรือทบทวนใหม่ให้ประชาชนยอมรับอย่างชัดเจนว่าหากรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านประชามติแล้วจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อเปิดประตูประชาธิปไตย (การเลือกตั้ง) โดยเร็ว


สรุป

ความเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยไม่ควรถูกมองข้าม แต่สามารถนำมาใช้ประกอบการจัดทำรัฐธรรมนูญได้ในหลายแง่หลายมุม แต่ขณะนี้กลับมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะแม้เราจะมีประสบการณ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยเอง แต่ก็ไม่มีการสืบทอดและพัฒนาประสบการณ์วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของเราให้เป็นหลักการที่มีความแม่ยำยิ่งขึ้น ด้วยสาเหตุหลายประการ คือ ความจำกัดของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญรับผิดชอบภายใต้บรรยากาศการปกครองของคณะรัฐประหาร การกำหนดสเป็ครัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 การไม่เป็นประชาธิปไตยของ คสช. และท่าทีของหัวหน้า คสช. ต่ออนาคตประชาธิปไตยวิสัยทัศน์อันมิใช่ประชาธิปไตยสากลแท้ของหัวหน้า คสช. การจัดวางให้ประเด็นเฉพาะของสังคมไทยที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์น้อยกว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตยสากลที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า การสร้างประชาธิปไตยโดยทหารไทยจะทำให้ประชาธิปไตยมีลักษณะเป็นสากลไม่ได้จึงจำเป็นต้องยืนยันหลักการและวิธีการสากลของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพื่อสร้างประชาธิปไตยของประเทศไทยที่ได้มาตรฐานสากล แต่ก็จำเป็นต้องรองรับด้วยวัฒนธรรมและพฤติกรรมของประชาชนที่ส่งเสริมประชาธิปไตยจะส่งเสริมการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นวิทยาศาสตร์ และประการสุดท้าย หากเป็นไปได้ก็คือ การปรับตัวให้รัฐบาล คสช. หรือในกำกับของ คสช. เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างแท้จริง เพื่อสนับสนุนให้กระบวนการวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยในการจัดทำรัฐธรรมนูญ การฟื้นฟูประชาธิปไตยของไทย และการหวนคืนสู่ประชาธิปไตยที่ถูกต้องกว่าที่ผ่านมามีความเป็นไปได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งสำคัญที่สมควรเกิดขึ้น อันเป็นการปรองดองในเบื้องแรกเสียก่อนก็คือการลงนามในสัญญาสงบศึกร่วมกันอย่างสันติวิธีของคู่ขัดแย้งโดยมีสักขีพยานระดับชาติ แทนการถูกบังคับให้ต้องยอมรับการสร้างประชาธิปไตยใต้กระบอกปืน หากเป็นรัฐบาลเช่นนั้นได้จริงก็จะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับ และ ความเป็นจริงของการเลือกตั้งที่ทุกคนยอมรับและรอคอย

ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากเราตระหนักรู้ในเรื่องเหล่านี้และแสดงออกร่วมกันอย่างแข็งขัน เครื่องมือของระบอบประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และกลไกต่างๆที่รองรับโดยหลักการและวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยสากล ก็จะถูกสร้างอย่างมีความชอบธรรม ได้คุณภาพและถูกใช้ได้อย่างมีพลานุภาพต่อการยกระดับอารยธรรมของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ยั่งยืน

 

 

หมายเหตุผู้เขียน: ปรัชญาประจักษ์นิยมหรือปฏิฐานนิยมทางวิทยาศาสตร์ถือกำเนิดขึ้นหนึ่งร้อยกว่าปีมาแล้ว ในสมัยต้นคริสตศตวรรษที่ 20 (ค.ศ. 1907) โดยเหล่าสมาชิกผู้บุกเบิกของสำนักคิดเวียนนา (Vienna Circleหรือ Wiener Kreis) แห่งมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย (มีบุคคลภายนอกมาสมทบบ้าง อาทิ คาร์ล ป็อปเปอร์) ต่อมามีการแตกตัวไปยังหลายประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี (ที่เบอร์ลิน มี อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เข้าร่วม) ฝรั่งเศส และ โปแลนด์และต่อมาขยายไปยังสหรัฐอเมริกา (หลังจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำเยอรมันจะขยายอำนาจไปทั่วยุโรปในช่วงทศวรรษ 1930s)

ข้าพเจ้าเองได้มีโอกาสสัมผัสการดำเนินงานในแวดวงชาวปรัชญาประจักษ์นิยมทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น และพบว่าสำนักคิดเวียนนาต้นกำเนิดได้กลับมามีชีวิตชีวาอยู่ในปัจจุบันในรูปสถาบัน “Institut Wiener Kreis” แต่ก็ปรับตัวไม่น้อยท่ามกลางโลกแห่งความรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง (อาทิ การตรวจสอบตนเองในเรื่องจุดยืนทางการเมืองและปรัชญาของสำนักคิดเวียนนา (Der Wiener Kreis Politische und Philosophishe Postionen) ที่กำลังดำเนินการกันในขณะนี้) เมื่อคราวที่ข้าพเจ้าเยือนกรุงเวียนนาประเทศออสเตรียเมื่อวันที่ 4 – 6 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนง.คุ้มครองแรงงาน ระบุ บ.จอร์จี้ เลิกกิจการแล้ว หลังสหภาพฯ ขอให้ตรวจสอบ

0
0
สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เผยผลตรวจสอบสถานะของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด หลังสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องตัดเย็บสัมพันธ์ขอให้ตรวจสอบ ระบุเลิกกิจการแล้ว ครบกำหนดปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจให้จ่ายค่าชดเชยพนักงานเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา

 
24 พ.ย. 2558 ตามหนังสือที่อ้างถึงสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องตัดเย็บสัมพันธ์ ขอให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจสอบสถานะของบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด (อ่านเพิ่มเติม: สหภาพแรงงานหวั่น บ.จอร์จี้ ปิดหนีหลังรื้อถอนป้าย ร้องสวัสดิการแรงงานตรวจสอบ)ซึ่งทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ได้แจ้งผลการตรวจสอบส่งให้ทางสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องตัดเย็บสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปดังนี้ 
 
1. เรื่องสถานะของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ว่ายังดำเนินการอยู่หรือไม่
 
สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่าจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้รับมอบอำนาจกระทำการแทนบริษัทฯ และนายเซบาสเตียน ซิรอยส์ ผู้มีอำนาจสั่งการและบริหารจัดการกิจการทั้งหมดของบริษัทฯ แจ้งว่าบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้เลิกกิจการแล้ว โดยบริษัทฯ ได้ขายกิจการให้แก่บริษัท น่ารัก โฮลดิง จำกัด เมื่อประมาณเดือนกรกฎกาคม 2558 และบริษัท น่ารัก โฮลดิง จำกัด ได้ตกลงให้บริษัทสนุก การ์เม้นท์ จำกัด เช่าโรงงานบางส่วน
 
2. การเลิกกิจการของ บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด จะส่งผลกระทบด้านกฎหมายและสวัสดิการต่อพนักงานของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด หรือไม่ และบริษัทใหม่จะต้องดำเนินการในเรื่องข้อกฎหมายอย่างไร
 
สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่าจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้รับมอบอำนาจกระทำการแทนบริษัทฯ แจ้งว่าบริษัทใหม่คือบริษัท น่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท สนุก การ์เม้นท์ จำกัด ได้รับพนักงานบางส่วนของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด เข้าทำงานต่อเนื่องกับบริษัทบางส่วนประมาณ 100 คน โดยพนักงานที่บริษัทฯ รับไว้ทำงานจะยังคงได้รับสวัสดิการ สภาพการจ้างและสภาพการทำงานเช่นเดียวกับที่เคยทำงานให้กับบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ส่วนพนักงานของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ที่บริษัทฯ ได้หยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่ 7 กันยายน 2558 จำนวน 78 คน บริษัท น่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท สนุก การ์เม้นท์ จำกัด ไม่ประสงค์ที่จะรับเข้าทำงานเนื่องจากพนักงานที่รับไว้เพียงพอต่อการปฏิบัติงานแล้ว ดังนั้น บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ยังคงมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสิทธิในเรื่องเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยขณะนี้มีลูกจ้างจำนวน 40 คน ที่ถูกเลิกจ้าง ได้เข้ายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่า บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และมีเงินระหว่างหยุดกิจการจ่ายค้าง ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้สอบสวนข้อเท็จจริง และได้มีคำสั่งที่ 49/2558 ลงวันที่ 7 ตุลาคม สั่งให้บริษัทฯ จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และเงินระหว่างหยุดกิจการจ่ายค้าง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,669,226.20 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง โดยพนักงานตรวจแรงงานได้ปิดคำสั่งฯ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 ครบกำหนดปฏิบัติตามคำสั่ง (45 วัน) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘สลัม 4 ภาค’ ขอ คสช. ยกเลิกคดีคณาจารย์ที่รณรงค์มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

0
0

<--break- />24 พ.ย. 2558 จากกรณีที่ “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ยืนยันในเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ในการเรียนการสอน แต่คณาจารย์ที่ร่วมกันแถลงกลับถูกออกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  (รายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุด เครือข่ายสลัม 4 ภาค ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว โดยเรียกร้องถึงคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) หยุดข่มขู่คุกคามและยกเลิกข้อหากับคณาจารย์ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจ  หยุดสั่งห้ามและคุกคามนักศึกษารวมทั้งประชาชนที่จัดกิจกรรมทางการเมือง และหยุดแทรกแซงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยให้มีแนวทางหรือเนื้อหาวิชาที่ คสช. ต้องการ

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาค จะติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด  และหากยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จะมีการหารือกับเครือข่ายประชาชนภาคส่วนต่างๆ เพื่อเคลื่อนไหวร่วมกันต่อไป

แถลงการณ์
หยุดลิดรอนเสรีภาพการแสดงออกทางวิชาการ

เครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นองค์กรภาคประชาชนที่ดำเนินงานการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยกับคนจนเมือง และเคลื่อนไหวร่วมกับภาคประชาชนกลุ่มต่างๆเพื่อสร้างความเท่าเทียม สร้างสิทธิ  เสรีภาพ ทางสังคม เพื่อสังคมที่เป็นธรรม มาอย่างยาวนาน   มีความกังวลกับกรณีที่ “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร และยืนยันในเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ในการเรียนการสอน แต่คณาจารย์ที่ร่วมกันแถลงกลับถูกออกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เครือข่ายสลัม 4 ภาค เห็นว่าการตั้งข้อหาจำคุกกับคณาจารย์กลุ่มดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เป็นการคุกคามให้ยุติการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นของคณาจารย์เหล่านั้นเป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจ ปรารถนาดี และเปิดเผย และถือเป็นหน้าที่อันพึงกระทำของคณาจารย์ที่ต้องแบ่งปันความคิดและความรู้กับสังคม ขณะเดียวกันคณาจารย์ที่เรียกร้องการปล่อยตัวนักศึกษาและแสดงความเห็นทางการเมืองที่ผ่านมาที่ยังถูกข่มขู่คุกคามอย่างต่อเนื่อง นิสิตนักศึกษายังคงถูกสั่งห้ามและตามกดดันในการจัดกิจกรรมทางการเมือง ขณะที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้สั่งให้บรรจุวิชายกย่องเชิดชูทหารในมหาวิทยาลัย ซึ่งขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพในการศึกษาอย่างสิ้นเชิง

เครือข่ายสลัม 4 ภาค เห็นว่า “มหาวิทยาลัย” เป็นสถานที่แสวงหาความรู้ แลกเปลี่ยนถกเถียงกันบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง นำมาซึ่งความรู้ใหม่ เพิ่มพูนสติปัญญาไปรับรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงไปและแก้ไขปัญหาของประเทศ เสรีภาพในการแสวงหาความรู้และแสดงความคิดเห็นจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของมหาวิทยาลัยและสังคม   และประชาชนไทยมีความหลากหลายทางความเชื่อและความคิดทางการเมือง หนทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้คือเสรีภาพในความเชื่อและการแสดงความคิดเห็นด้วยหลักเหตุผลและข้อเท็จจริง การปฏิบัติต่อประชาชนไทยประดุจผู้ถูกกักกันด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์หรือความเชื่อหนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมทั้งหมดภายใต้โครงสร้างอำนาจของคนบางกลุ่ม ด้วยวิธีการปิดหูปิดตา บังคับข่มขู่ คุกคามด้วยอำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้เห็นต่างยุติการแสดงความคิดเห็นมีแต่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งมากขึ้น และไม่สามารถนำสังคมไทยไปสู่ความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และสันติสุขได้

ดังนั้นเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงขอเรียกร้องไปยังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ดังนี้

1.     หยุดข่มขู่คุกคามและยกเลิกข้อหากับคณาจารย์ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจ

2.     หยุดสั่งห้ามและคุกคามนักศึกษารวมทั้งประชาชนที่จัดกิจกรรมทางการเมือง

3.     หยุดแทรกแซงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยให้มีแนวทางหรือเนื้อหาวิชาที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติต้องการ

ทั้งนี้เครือข่ายสลัม 4 ภาค จะติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด  และหากยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จะมีการหารือกับเครือข่ายประชาชนภาคส่วนต่างๆ เพื่อเคลื่อนไหวร่วมกันต่อไป

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาค
เครือข่ายสลัม 4 ภาค

24 พฤศจิกายน 2558

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์อัดคณาจารย์ถูกหมายเรียก กฎหมายห้ามพูดก็อย่าพูด ย้อนรัฐบาลที่แล้วอยู่ไหนหรือเพิ่งบรรจุ

0
0

กรณีเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ถูกดำเนินคดีฝืนคำสั่ง คสช. หลังแถลง ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’ ประยุทธ์อัดกลับกฎหมายห้ามพูดก็อย่าพูด ย้อนรัฐบาลที่แล้วอยู่ไหนหรือเพิ่งบรรจุ

<--break- />24 พ.ย. 2558 จากกรณีที่ “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ยืนยันในเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ในการเรียนการสอน แต่คณาจารย์ที่ร่วมกันแถลงกลับถูกออกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  (รายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุด(24 พ.ย.58) มติชนออนไลน์ และ matichon tv รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง กรณีดังกล่าวว่า "ก็อาจารย์ชุดเดิมใช่ไหม ผมก็ทำขนาดว่าให้ทหารให้ คสช. เขาไปเดินคุยแล้ว แล้วก็นั่งคุยกับไอ้จารคนนี้ นั่งคุยด้วยกัน ร่วมมือทุกอย่าง ใช่ไหม บรรยายบรรเยยในกรอบของกฎหมายอะไรต่างๆ ของเขานะ ไม่พูดเรื่องนี้เรื่องนั้น พออนุญาตไปเสร็จเรียบร้อย เอ้าเริ่มพูดเลย ไอ้คนแบบนี้ใช่ได้หรอ มันต้องรักษากติกาให้ผมสิ

"ผมไม่ได้เดือดร้อนที่เขาจะพูดนะ แต่ผมถามว่ากฎหมายมันว่าไง เขาห้ามพูดก็อย่าไปพูดตอนนี้ เรื่องไหนมันควรจะพูดเยอะแยะไป สอนเด็กให้เป็นคนดี สอนไหม สอนให้เด็กไม่ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง สอนบ้างเปล่า สอนหรอ สอนไปได้เด็ออย่างนี้มาหรอ โธ่ แล้วรัฐบาลที่แล้วอยู่ที่ไหนกันพวกนี้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ไหน เขาพึ่งมาหรือไง พึ่งบรรจุเป็นอาจารย์กันหรือไง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
"ก็เคลื่อนมาสิ ไม่กลัวกฎหมายก็ตามใจ ผมไม่รู้อะ ก็ประชาชนเคลื่อนไหวตามเขาก็เดือดร้อนไปก็ตามใจ ผมไม่รู้ แล้วเดี๋ยวใครหาปืนมายิง ระเบิดใส่ก็ตามใจ ก็ตายกันไปแล้วกัน ไม่กลัวกันก็ ไม่ใช่ผมหรอก ผมไม่ทำอยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ต่อกรณีคำถามที่ว่าจะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

6 อาจารย์ปฏิเสธข้อกล่าวหาขัดคำสั่งคสช.-ยันทำถูกต้องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

0
0

<--break- />


แถลงการณ์ฉบับล่าสุดของเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย 
เผยแพร่ในเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน 24 พ.ย.2558 เวลา 18.00 น.

 

24 พ.ย.2558  เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. คณะอาจารย์ 6 คนได้เดินทางเข้ามอบตัวที่ สภ.ช้างเผือกตามหมายเรียก “ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และพวก” ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยมีผู้มาให้กำลังใจที่สภ.ช้างเผือกประมาณ 30-40 คน

อรรถจักร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับทราบข้อกล่าวหาว่า อาจารย์ทั้งหมดได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทางตำรวจภายใน 30 วัน นอกจากนี้ยังมีอาจารย์อีก 2 คนที่โดนหมายเรียกในชุดนี้ด้วยซึ่งจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในภายหลัง หลังเสร็จสิ้นกระบวนการตำรวจได้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งหมดโดยไม่ต้องประกันตัว

“ตำรวจเขาชี้แจงว่าเขาได้รับแจ้งความจากทหารก็ต้องทำไปตามหน้าที่ ทางนั้นเขารู้สึกว่าเราล้ำเส้นข้อตกลง ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยตกลงว่าเราจะไม่ได้พูด และเรายืนยันว่าสิ่งที่เราทำ หนึ่ง ไม่ผิดกฎหมาย สอง เป็นความจำเป็นของสังคมไทยที่ต้องมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ในบรรยากาศที่เราจะปรองดองหรือจะปรับโครงสร้างการเมืองต่างๆ” อรรจักร์กล่าว

“หลังจากเราทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ตำรวจก็คงจะต้องไปสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆ แล้วแจ้งเราอีกทีว่าจะส่งฟ้องเมื่อไร ซึ่งคดีนี้จะขึ้นสู่ศาลทหาร” อรรถจักร์กล่าว

ด้านทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ร่วมเข้าสังเกตการณ์กระบวนการในวันนี้ด้วยให้ข้อมูลว่า ในการสอบปากคำไม่มีทหารเข้าร่วมด้วย แต่มีทหารนอกเครื่องแบบถ่ายวีดิโอบรรยากาศโดยรวมอยู่ด้านนอกอาคารสถานีตำรวจ ส่วนหมายเรียกอาจารย์จำนวน 8 คนนั้นเป็นการออกหมายตามภาพข่าวที่ปรากฏในวันแถลงข่าว โดย ผบ.มทบ.33 ค่ายกาวิละ ได้มอบอำนาจให้ พ.ท.อภิชาติ กัณทะวงศ์ เป็นผู้มาแจ้งความ นอกจากนี้ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการตำรวจยังร้องขอไม่ให้อาจารย์แถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวที่มารอทำข่าวที่หน้าสถานีตำรวจด้วย ทางคณาจารย์จึงทำการแถลงข่าวที่บริเวณริมถนนแทน

อาจารย์ทั้ง 6 คน ได้แก่  1.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) 2.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มช. 3.จรูญ หยูทอง นักวิชาการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ 4.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ 5.มานะ นาคำ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 6.บุญเชิด หนูอิ่ม อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ทั้งนี้ สำหรับรายที่ 6 บุญเชิด หนูอิ่ม ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ไม่ได้อยู่ในหมายเรียกแต่เดินทางไปยัง สภ.ช้างเผือกและเข้าพบพนักงานสอบสวนร่วมกับคนอื่นๆ ด้วย 

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ว่าอาจารย์ควรบรรยายสอนนักศึกษาในกรอบของกฎหมาย และไม่ควรพูดเรื่องที่กฎหมายห้าม

"การเคลื่อนไหวถ้าไม่กลัวกฎหมายก็ตามใจ ประชาชนเคลื่อนไหวตามเขาก็เดือดร้อน ตามใจ และใครหาปืนมายิงระเบิดใส่ตามใจก็ตายกันไปแล้วกัน ผมไม่ทำอยู่แล้ว ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

แถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย

เรื่อง ยืนยัน “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร”

ภายหลังจากการออกแถลงการณ์ของเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยในประเด็นเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ก็ได้มีนายทหารเข้าแจ้งความดำเนินคดีในข้อกล่าวหาชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ดังเป็นที่รับทราบกันแล้วนั้น ทางเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยใคร่ขอชี้แจงถึงความจำเป็นและความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความเห็นอีกครั้ง ดังนี้

ประการแรก เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอยืนยันว่าแถลงการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่มิได้ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด โดยถือเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในประเด็นปัญหาของการจัดการศึกษาอันเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของบุคลากรมหาวิทยาลัย การแสดงความเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยการใช้เหตุผลในการชี้แจงให้เห็นถึงความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยบนพื้นฐานของการให้ความสำคัญกับเหตุผลและการถกเถียงระหว่างฝ่ายต่างๆ มิใช่การยัดเยียดความรู้แบบไร้การวิเคราะห์ให้กับผู้เรียน

แถลงการณ์ดังกล่าวก็เป็นการแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสื่อสารกับสาธารณะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกับการศึกษาในมหาวิทยาลัย การกล่าวหาว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองย่อมถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้ว่ามีการประชุมทางวิชาการและการชี้แจงถึงความเห็นของกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะทางฝ่ายทหารควรจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจให้มากขึ้นเพื่อเข้าใจถึงมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน

ประการที่สอง เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงอยู่ร่วมกันของคนทุกกลุ่มในสังคม ทั้งนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ปกติที่ทุกสังคมย่อมจะมีความเห็นที่แตกต่างกันไปในประเด็นปัญหาต่างๆ การยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นแนวทางของการทำให้เกิดการถกเถียง การแลกเปลี่ยนและการตรวจสอบถึงความเข้าใจของแต่ละฝ่าย ความคิดเห็นไม่ว่าของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็สามารถที่จะถูกตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการชี้แจงถึงข้อมูลและเหตุผลของแนวความคิดที่ตนเองยึดถือ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยก็ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้เกิดการทำความเข้าใจบนฐานของความรู้ที่รอบด้านและด้วยการใช้เหตุผลในการตัดสินใจเป็นสำคัญ มิใช่เพียงการปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมรองรับ

นอกจากนี้แล้ว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็มิใช่จำกัดไว้เฉพาะพื้นที่มหาวิทยาลัยเท่านั้น พลเมืองทุกคนในสังคมก็ย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยเช่นกัน เนื่องจากในห้วงเวลาปัจจุบันมีการดำเนินนโยบายของรัฐ การร่างรัฐธรรมนูญ การบัญญัติกฎหมาย ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างกว้างขวาง ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมทุกคนจึงย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินการต่างๆ เหล่านั้น การคุกคามหรือปิดกั้นเสรีภาพของบุคคลใดๆ เป็นเพียงการกดทับปัญหาเอาไว้ มิได้ช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาตลอดจนความขัดแย้งในสังคมอย่างแท้จริง

สุดท้ายนี้ เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยของยืนยันว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้องและมิใช่เพียงสำหรับผู้ประกอบอาชีพอาจารย์เท่านั้น เพราะไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ไม่ใช่ค่ายทหาร หากแต่สังคมไทยก็ไม่ใช่ค่ายทหารเช่นเดียวกัน ดังนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทุกคนและทุกฝ่ายจึงต้องได้รับการปกป้องอย่างเสมอภาคและทัดเทียมกัน

24  พฤศจิกายน 2558 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็นเรียกร้องไทยปิดเรือนจำชั่วคราวภายใน มทบ.11

0
0

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการควบคุมตัวพลเรือนในค่ายทหาร หลังมีผู้เสียชีวิตที่เรือนจำพิเศษภายใน มทบ.11 แล้ว 2 ราย ชี้สิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับการคุ้มครอง และทนายความไม่สามารถขอพบลูกความได้อย่างเป็นส่วนตัว

ใบแถลงข่าวของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปิดสถานที่ควบคุมตัวของทหารที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และยุติการควบคุมตัวพลเรือนในค่ายทหาร (ที่มา: OHCHR)

แผนที่ตั้งของ มทบ.11 ถนนพระราม 5 ซึ่งคำสั่งกระทรวงยุติธรรมกำหนดให้ใช้พื้นที่ 1 ไร่ ภายใน มทบ.11 เป็นเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี (ที่มา: Google Maps)

24 พ.ย. 2558 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) ได้เผยแพร่ใบแถลงข่าววันนี้ (24 พ.ย.) (อ่านใบแถลงข่าว) เรียกร้องให้ปิดสถานที่ควบคุมตัวของทหารในกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิตแล้ว 2 รายในเดือนที่ผ่านมาโดยทันที และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเชิญผู้เชี่ยวชาญอิสระเข้าร่วมกระบวนการสอบสวนในกรณีดังกล่าว

นอกจากนี้ OHCHR เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้พื้นที่ในเขตของทหารเพื่อควบคุมตัวพลเรือน

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า "สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 กันยายน ศกนี้ กระทรวงยุติธรรมได้ออกคำสั่งกำหนดให้ใช้พื้นที่ในเขต มทบ.11 เป็นเรือนจำชั่วคราวเพื่อใช้ควบคุมและปฏิบัติต่อบุคคลในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและคดีอื่นที่เกี่ยวข้องนั้น"

"ผู้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการระเบิดอันก่อให้เกิดการเสียชีวิตเมื่อ 17 สิงหาคม 2558 จำนวน 2 ราย และผู้ถูกจับกุมตัวในฐานความผิดฉ้อโกงและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีก 3 ราย ได้ถูกส่งตัวมาควบคุมไว้ในเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ ต่อมาทางการไทยแถลงว่า พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา หนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียชีวิตลงในเรือนจำเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม โดยระบุว่าพบ พ.ต.ต.ปรากรม แขวนคอตนเองด้วยเสื้อเสียชีวิตภายในห้องคุมขัง ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ผู้ถูกควบคุมตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกรายหนึ่งถูกพบในสภาพเสียชีวิตแล้วภายในห้องคุมขัง ซึ่งทางการไทยแถลงว่านายสุริยันเสียชีวิตเนื่องจากมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด"

"สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการไต่สวนกรณีการเสียชีวิตในสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นกลาง อย่างละเอียด และโดยพลัน ทั้งนี้ นางมาทิลด้า บอคเนอร์ ผู้แทนประจำภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ระบุว่า การตรวจสอบอย่างเป็นอิสระและเป็นกลางจะทำให้เกิดความกระจ่างในเหตุการณ์การเสียชีวิต อีกทั้งจะนำไปสู่การรับประกันความพร้อมรับผิด (accountability) รวมทั้งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคตด้วย นอกจากนี้ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เสริมว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยควรเข้ามาช่วยเหลือในกระบวนการตรวจสอบในกรณีดังกล่าวด้วย ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เน้นย้ำว่าควรเผยแพร่ผลการตรวจสอบการเสียชีวิตต่อสาธารณชนด้วย"

"การใช้ค่ายทหารเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมีแนวโน้มว่าอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงการซ้อมทรมานด้วย" นางมาทิลด้ากล่าว

"ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2557 คณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวตามอำเภอใจและผู้รายงานพิเศษเรื่องการซ้อมทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอย่างไร้มนุษยธรรม ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยเพื่อแสดงความกังวลใจต่อข้อกล่าวหาว่าด้วยการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อบุคคล 5 คนโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ในจดหมายฉบับดังลก่าว ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติได้ระบุว่าพวกเขามีความกังวลใจจากรายงานที่ระบุว่าผู้ถูกควบคุมตัว 5 คนนี้ในเขตพื้นที่ทหารในกรุงเทพฯ และโดยรอบกรุงเทพฯ ถูกทำร้ายร่างกาย การข่มขู่ว่าจะถูกสังหาร การทำร้ายด้วยกระแสไฟฟ้า และการแยกขังเดี่ยว เป็นต้น"

"ในประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวพลเรือนในสถานที่ควบคุมตัวของทหารนั้น นางมาทิลด้ากล่าวว่า ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเหมาะสมสำหรับดูแลสถานที่ควบคุมตัวเช่นนี้ และสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวก็ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างครบถ้วน นางมาทิลด้าระบุว่า "มีรายงานเผยแพร่คำสัมภาษณ์ของทนายความของผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งในคดีระเบิดกลางกรุงเทพฯ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ทนายความไม่ได้รับอนุญาตให้พบกับลูกความของเขาเป็นส่วนตัว รวมทั้งคำถามของทนายความต้องถูกตรวจสอบก่อนเข้าพบลูกความ" นอกจากนี้ "กฎหมายระหว่างประเทศยังได้รับประกันสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวตามหลักกระบวนการอันควรทางกฎหมาย (Due process) อันครอบคลุมถึงสิทธิในการได้พบทนายความโดยทันที การที่ผู้ถูกควบคุมตัวสามารถพบกับทนายอย่างเป็นความลับ และสิทธิในการพบทนายความอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น การละเมิดสิทธิเหล่านี้ย่อมเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ถูกควบคุมตัวอีกด้วย"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ขออย่าขยาย ‘ปมราชภักดิ์’ ชี้จะเป็นเครื่องมือให้แก่อีกพวกหนึ่ง

0
0

แนะให้มองเป็นเคสธรรมดา ที่มันเริ่มจากคนที่ใกล้ชิดสถาบันฯ มาหลอกลวงคนข้างนอกในโครงการราชภักดิ์ ชี้เกี่ยว ม.112 แต่ต้องระวังคนเลวๆ ที่พยายามหาโอกาสอยู่กับมาตราสำคัญนี้ที่มีไว้ปกป้องพระองค์ ระบุให้ความเป็นธรรม ถ้ายังไม่มีการตัดสินก็ต้องถือว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์หมด

 

24 พ.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้า คสช.  กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณีอุทยานราชภักดิ์ ว่า

“เรื่องราชภักดิ์ ผมก็ขอร้องเถอะวันนี้อย่าไปขยายกันมากนักเลย ก็ไปเป็นเครื่องมือให้แก่อีกคนหนึ่งอีกพวกหนึ่ง มันก็สู่กันไปกันมา ผมยืนยันว่าผมไม่ได้เข้าข้างใคร ไม่ได้ปกปิดใคร ทำไมผมต้องปกปิด ตัวผมเองผมยังไม่ปิดแล้วจะปิดให้ใครทำไม

เพราะฉะนั้นขอให้มองประเด็นนี้เป็นประเด็นเคสธรรมดาอันหนึ่งก็คือ หนึ่งมันเริ่มจากที่มีคนที่ใกล้ชิดสถาบันมาหลอกลวงคนข้างนอกในโครงการราชภักดิ์ ผมถามว่าทุกคนหรือเปล่า ก็ไม่ใช่นะ มันก็มีคนที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษเท่านั้นล่ะที่ทำ เพราะฉะนั้นผมก็ไม่ได้ปิดกั้นจะสอบคนเหล่านั้นก็สอบไปสิ แต่ไม่ใช่รื้อทั้งกองทัพบก มันไม่ใช่มันคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นอย่าไปเป็นเครื่องมือให้เขา ทุกอย่างที่ทำมามันก็ยังเป็นขั้นตอนตามกฎหมายอยู่ แต่อีกฝ่ายก็พยายามดึงไปเทียบเคียงอีกคดีหนึ่งไง ซึ่งมันคนละเรื่องคนละประเด็นกันทั้งหมดเลยนะ โดยสิ้นเชิง

วันนี้ท่านรัฐมนตรีกลาโหมก็กำลังสั่งคณะกรรมการสอบสวนอีกระดับ กองทัพไปแล้ว กลาโหมก็ไปแล้ว ก็จบแล้วในขั้นตอนนี้ถ้าใช่ไม่ใช่ยังไง ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ก็ต้องสอบกันต่ออยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวหรอก แต่ก็ต้องสอบในสิ่งที่มันเกี่ยวข้องไม่ใช่เละไปทั้งหมดเพื่อเป็นการแก้แค้นมันไม่ใช่ เพราะว่าผมไม่ได้แก้แค้นใคร นะ พอได้แล้ว เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ด้วยอะไรด้วย เดี๋ยวต่างชาติไม่เข้าใจจะไปกันใหญ่ ไอ้ผมไม่ได้ห่วงตรงนี้ ผมห่วงกฎหมายเราด้วย ก็รู้อยู่ไอ้คนเลวๆ มันพยายามจะหาโอกาสอยู่เรื่องมาตราสำคัญของเรานะ ถ้าไม่มีล่ะก็สถาบันปกป้องพระองค์เองไม่ได้เลย ท่านมาฟ้องศาลเองก็ไม่ได้อะไรก็ไม่ได้ นี่เขามีไว้สำหรับปกป้องท่าน พระองค์ท่าน แต่ไอ้คนจะเอามาใช้ประโยชน์มันก็เรื่องของมนุษย์เรื่องของคนท่านก็ทรงรับสั่งมาแล้วนะว่าไม่ว่าคนใกล้ชิดคนอะไรต่างๆ ถ้าทำความผิดก็ต้องถูกลงโทษ นี่ล่ะคือสิ่งที่ทรงรับสั่งมาโดยตลอด ให้ความเป็นธรรมกับเขา ถ้าไม่ดีก็ต้องลงโทษ ยิ่งใกล้ก็ต้องลงโทษ เพราะว่าถ้าผิดนะ ไม่ผิดก็แล้วไป

อย่าทำทุกอย่างพัวพันกันไปเสียทั้งหมดเลย ถามรายวันรายวันจนกระทั่งทำงานไม่ได้ ข้าราชการเขาก็ลำบาก ก็ผิดก็คือผิด ผิดวันนี้สอบวันนี้มันก็ผิด แล้วคดีความมันมีเท่าไหร่ ถ้าคดีมันน้อยมันก็ต้องเร่งให้เร็ว นั่นก็เรื่องของกระบวนการยุติธรรมเขา อย่ามาเปรียบเทียบกันว่าอันนี้ทำไมเร็ว อันนี้ทำไมช้า ไม่ใช่ เพราะคดีของทางโน้นมันเป็นมากี่ปีแล้วเล่า มีการแจ้งเตือนมากี่ปีแล้ว แล้วทำไม ไม่ทำ ไอ้นี้พึ่งเกิดมาเร็วๆ นี้ เขากำลังเดินหน้าสอบไปเรื่อยๆ อยู่ ก็จบแค่นั้น มันคนละเรื่อง เข้าใจหน่อย ผมไม่ปกปิดใครอยู่แล้ว

แล้วก็มันเป็นโครงการหนึ่งในหลายร้อยหลายพันโครงการของกองทัพบกก่อน และเป็นอีกหนึ่งในหลายๆ พันโครงการของกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีทุกเหล่าทัพ ไม่ใช่ว่าเอออันนี้มันเป็นอย่างนี้ อันนี้ส่วนหนึ่งของโครงการเดียวก็กลายเป็นทั้งกลาโหมหมด ทั้งทหารหมด มันไม่ใช่นะ ผมว่าไม่ใช่ ถ้างั้นกฎหมายต้องเขียนใหม่ว่าถ้ามีอะไรขึ้นมาปุ๊บตรงนี้มันต้อสอบทั้งหมดทั้งกระทรวงทุกหน่วยงาน มันต้องเขียนแบบนั้นเนอะ กฎหมายเขาไม่ได้เป็นแบบนั้น ให้ความเป็นธรรมทุกเรื่องถ้ายังไม่มีการตัดสินก็ต้องถือว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์หมดล่ะ นี่เรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เขามีโอกาสแก้ตัว มีโอกาสชี้แจง กองทัพบกชี้แจงยังไงก็ฟังเขา เดี๋ยวกระทรวงกลาโหมเขาก็มีวิจารณาญาณเขาเพียงพอต้องทำอะไรต่อ ยุติธรรมเขาก็คุยกันว่าเดียวจะทำอะไรต่อ ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ มันก็ต้องทำหมดมันเว้นได้ที่ไหน

พอแล้ว ผมขี้เกียจพูดเรื่องนี้นะ มันเสียหายอะไรบ้าง คงเข้าใจ”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

0
0

"ให้ความเป็นธรรมทุกเรื่องถ้ายังไม่มีการตัดสินก็ต้องถือว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์หมด นี่เรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เขามีโอกาสแก้ตัว มีโอกาสชี้แจง"

กล่าวถึงปมอุทยานราชภักดิ์ 24 พ.ย. 2558

ผู้ต้องขังเผาศาลากลางมหาสารคามเสียชีวิต! ติดเชื้อในกระแสเลือด เดือนหน้าได้ออกคุก

0
0

24 พ.ย. 2558 รายงานข่าวจากพื้นที่จังหวัดมหาสารคามแจ้งว่า นาย อุทัย คงหา หนึ่งในผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม เมื่อ 19 พ.ค.2553 เสียชีวิตขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดมหาสารคาม ผู้สื่อข่าวสอบถามจากเจ้าหน้าที่เรือนจำในช่วงเย็นวันนี้ได้รับการยืนยันว่านายอุทัยเสียชีวิตแล้วจริงและญาติได้รับศพไปบำเพ็ญกุศลแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุสาเหตุที่แน่ชัด

วิจิตร ดวงพรม ภรรยาของอุทัยผู้ต้องขังที่เสียชีวิตกล่าวว่า เจ้าหน้าที่แจ้งว่าอุทัยเกิดอาการช็อคในเรือนจำ โดยก่อนหน้านี้ไม่นานมีอาการความดันต่ำ เหนื่อย หายใจไม่ทั่วท้อง เจ้าหน้าที่จึงได้ส่งตัวมารักษาที่รพ.มหาสารคาตั้งแต่เย็นวันที่ 23 พ.ย. และได้เรียกตนเองมาดูอาการเมื่อ 22.00 น.ในคืนนั้น ต่อมาแพทย์ผู้ทำการรักษาได้แจ้งกับตนเองว่าอุทัยมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ในคืนนั้นเขามีอาการดิ้นทุรนทุรายต้องมัดตัวไว้กับเตียง จนกระทั่งเช้าจึงอยู่ในสภาพไม่ได้สติ ร่างกายไม่ตอบสนอง จนกระทั่งเวลาประมาณเที่ยงของวันนี้ (24 พ.ย.) แพทย์จึงยุติการยื้อชีวิตโดยการเห็นชอบของญาติและภรรยา

ทั้งนี้ อุทัยอายุ 40 ปี เป็น 1 ใน 9   ผู้ต้องหาคดีเตรียมการเผาศาลากลางจังหวัด (ที่ว่าการอำเภอเมือง) มหาสารคาม ในเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ย.2553 ซึ่งตัวอาคารของทางจังหวัดไม่ได้ถูกเผาแต่อย่างใด ปรากฏเพียงการเผายาง ตู้โทรศัพท์และต้นมะขาม 1 ต้น  เขาถูกจับกุมหลังเหตุการณ์ไม่นานและถูกจำคุกเรื่อยมาจนศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 5 ปี 8 เดือน จากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2555 เขาได้รับการประกันตัวโดยความช่วยเหลือของกรมคุ้มครองสิทธิฯ ก่อนที่จะติดคุกอีกครั้งเมื่อศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก 5 ปี 8 เดือน เมื่อเดือนกันยายน 2557

ภรรยาของอุทัย กล่าวอีกว่า ประมาณต้นเดือนธันวาคม 2558 นี้ อุทัยก็ได้รับการพักโทษทำให้ได้รับอิสรภาพออกมาอยู่กับครอบครัว ทั้งนี้ ครอบครัวนี้มีลูก 3 คน ลูกสาวคนโตเรียนชั้น ม.6   ลูกชายคนกลางเรียนชั้น ป.6 และลูกสาวคนเล็กเรียนชั้น ป.4 ที่ผ่านมาอุทัยเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำอาชีพรับจ้างฆ่าและชำแหละหมูให้กับเขียงหมูในตลาดจังหวัดมหาสารคาม โดยระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอัยเป็นคนสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยมีโรคประจำตัวใดๆ  การสูญเสียอุทัยทำให้เธอต้องรับภาระเลี้ยงดูครอบครัวเพียงลำพัง และความหวังที่จะได้อยู่ร่วมกันในเดือนหน้าก็พังทลาย

ผู้ใกล้ชิดกับครอบครัวของอุทัยแจ้งว่า ครอบครัวนี้มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างลำบาก ผู้สนใจสามารถบริจาคเงินช่วยเหลือได้ที่บัญชีของลูกสาวคนโต้ ชื่อ ปาริฉัตร คงหา (ลูกสาว) ธนาคารกรุงเทพ สาขามหาสารคาม เลขที่บัญชี 298 504 0688

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีการเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำของผู้ต้องขังจากกรณีเหตุการณ์ ปี 2553 นั้น อุทัยนับเป็นรายที่สอง ส่วนรายแรกคือ วันชัย รักสงวนศิลป์ ชาวอุดรธานีเสียชีวิตในเรือนจำพิเศษหลักสี่ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไบโอไทยกังวลหนัก ร่างพ.ร.บ.จีเอ็มโอผ่านความเห็นชอบ ครม.แล้ว

0
0

 

24 พ.ย.2558 เพจ Biothaiของมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วในวันนี้ โดยไบโอไทยเห็นว่าร่างกฎมายฉบับนี้เป็นฉบับตัดต่อพันธุกรรมระหว่างบรรษัทกับคสช. โดยที่ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และถูกคัดค้านจากภาคประชาชน เนื่องจากเปิดช่องให้เจ้าของจีเอ็มโอที่ที่ได้รับอนุญาตให้ "สามารถปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้" โดยไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ทั้งที่ประสบการณ์จากทั่วโลกพบว่าความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ และการเกษตรทั่วไปที่เป็น non-GMO นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากจีเอ็มโอที่ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว

ไบโอไทยระบุว่า หลังจากผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว คาดว่าพ.ร.บ.จีเอ็มโอฉบับนี้จะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทั้งครม.และสนช. มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. อีกทั้งกระบวนการออกกฎหมายที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองประเทศกลุ่มนี้หาได้รับฟังเสียงของประชาชนแต่อย่างใดไม่ อย่างไรก็ดี ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ประเทศไทยเปิดให้บริษัทมอนซานโต้ปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอเมื่อปี 2538 ยังไม่เคยมีรัฐบาลใด เปิดกว้างให้กับการปลูกพืชเจ้าปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกประกาศแบน มากเท่ากับรัฐบาลชุดนี้

“นี่คือการก้าวแรกของการนำพาสยามประเทศไปเป็นเมืองขึ้นทางการเกษตรและอาหารให้กับบรรษัทข้ามชาติ ในนามของกลุ่มบุคคลที่ประกาศว่าต้องการปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศ” ไบโอไทยระบุ  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์เล็งแก้กฎหมายเพื่อดำเนินการผู้ที่กู้เงิน กยศ.ไปแล้วไม่ชำระคืน

0
0

24 พ.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาเงินกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่าขณะนี้เป็นปัญหาที่คนรุ่นเก่ากู้เงินไปแล้วไม่ยอมนำเงินมาใช้คืน ทำให้ไม่มีเงินให้คนรุ่นใหม่กู้ และรัฐบาลไม่อยากนำเงินไปอุดหนุนทั้งที่กองทุนมีปัญหา และยังไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการต่อ หลังจากนี้ต้องแก้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้หนี้ดังกล่าว

“ปัญหาคือคนไม่เคารพกติกา ผลกระทบเกิดกับคนรุ่นหลัง หากจะเอาเงินใส่เข้าไปเหมือนรัฐบาลก่อน ๆ อุดหนุนเข้าไปก็ต้องอุดหนุนไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังผิดอยู่ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อให้คนที่จบการศึกษาและไม่มีงานทำสามารถชำระเงินคืนกองทุนได้ หรือหากมีงานทำแล้วไม่ชำระก็จะต้องถูกดำเนินการ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลจังหวัดปัตตานีเลื่อนการพิจารณาคดียิงรถกระบะที่ปุโละปุโย 30 พ.ย.

0
0

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งวา เมื่อวันที่  26 ต.ค.2558  ศาลจังหวัดปัตตานีนัดพร้อมคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 519/2558 ในคดีระหว่าง นายยา ดือราแม ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน  ( โจทก์ ) ซึ่งเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงรถกระบะ เหตุเกิดที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี  และกองทัพบกที่ 1 สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 2 (จำเลย) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ศาลได้แจ้งการโอนคดีมาจากศาลปกครองให้คู่ความทราบแล้ว ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งต่อไป  ศาลตรวจคำฟ้องและคำให้การต่อสู้ของจำเลยทั้งสองแล้ว  เห็นว่า  รายการคำฟ้องของโจทก์ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ส่วนคำให้การฟุ่มเฟือยเกินสมควร  อีกทั้งโจทก์ทั้งห้า เมื่อคดีโอนมาพิจารณาที่ศาลจึงต้องมีต้องชำระค่าขึ้นศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วย อาศัยอำนาจตามประมวลประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 จึงมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสอง ทำคำฟ้องและคำให้การใหม่ตามหลักและรูปแบบของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พร้อมกับการยื่นบัญชีพยาน รวมทั้งค่าขึ้นศาลตามอัตราที่กฎหมายกำหนด เสนอต่อศาลภายใน 20 วันนับแต่วันที่  26 ต.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยศาลเลื่อนนัดพร้อมเพื่อตรวจความพร้อมของคำฟ้องและคำให้การที่จะยื่นมาใหม่ตามคำสั่งศาลในวันที่ 30 พ.ย.2558 เวลา 09.00 น. จากนั้นจะนำคดีสู่กระบวนการชี้สองสถานและกำหนดวันนัดสืบพยานต่อไปทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้โจทก์ทั้งห้าจะได้ดำเนินการตามคำสั่งของศาลดังกล่าวข้างต้น โดยมีทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ความช่วยเหลือคดี ซึ่งในส่วนค่าธรรมเนียมหรือค่าขึ้นศาลที่จะต้องคิดตามอัตราที่กฎหมายกำหนด คือ ร้อยละ 2 ของจำนวนทุนทรัพย์หรือค่าเสียหายที่ฟ้องร้อง( แต่ชำระสูงสุดไม่เกินสองแสนบาทต่อคน )นั้น โจทก์ทั้งห้าจะได้ยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวต่อศาลจังหวัดปัตตานี เฉกเช่นที่เคยยื่นต่อศาลปกครองสงขลาและได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลมาแล้ว 

คดีนี้สืบเนื่องมาจากกรณีเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2558 เวลาประมาณ 20.30 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ทหารพรานประจำฐานปฏิบัติการทหารพรานที่ 4302 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงเข้าใส่รถ ขณะที่ชาวบ้าน 9 คน กำลังเดินเพื่อที่จะไปละหมาดศพ (ละหมาดขอพรให้ผู้เสียชีวิต) ที่บ้านทุ่งโพธิ์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 5 ราย การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด โดยโจทก์ทั้งห้าเคยยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลาเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2556  คดีดำเนินการตามขั้นตอนของศาลปกครองเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 ส.ค.2558 ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542   และศาลปกครองสงขลาได้โอนคดีไปยังศาลปัตตานี  โดยศาลปัตตานีได้รับเป็นคดีหมายเลขดำที่ 519/2558 และนัดพร้อมครั้งแรกในวันที่ 26 ต.ค.ดังกล่าว

ในส่วนโจทก์ทั้งห้าพร้อมครอบครัวและญาติได้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาของศาลปัตตานี แม้ว่าจะได้ข้อยุติในเรื่องเขตอำนาจศาลในการรับฟ้องคดี  แต่ก็ยังทำให้การพิจารณาคดีมีการหยุดชะงักและมีความล่าช้าตามไปด้วย  โดยทางโจทก์ทั้งห้าและญาติซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้เรียกร้องความเป็นธรรมมาตลอดระยะเวลานานกว่า 2 ปี  ยังไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมเพียงพอ  และยังคงต้องต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไปในกระบวนการยุติธรรมซึ่งศาลปัตตานีจะได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต่อไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายคืออะไร #2 เกษียร เตชะพีระ: ฐานคิดกฎหมายสมัยใหม่ยอมรับว่า “ชีวิตคุณเป็นของคุณ”

0
0

เกษียร เตชะพีระ อธิบายเรื่องฐานคิดความชอบธรรมของกฎหมายในโลกสมัยใหม่ที่ (1) ยอมรับกรรมสิทธิส่วนบุคคล หรือยอมรับว่า “ชีวิตคุณเป็นของคุณ” และ (2) มีความสมเหตุสมผลของระบบกฎหมาย ต่างจากยุคก่อนหน้าคือรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ที่อำนาจอาญาสิทธิ์เป็นไปตามอำเภอน้ำใจหรืออารมณ์วูบไหวของผู้ทรงอำนาจสมบูรณ์นั้น พร้อมเทียบ ม.17 ยุคสฤษดิ์ กับ ม.44 ยุคหัวหน้า คสช. ว่าเป็นการทำให้อำนาจแบบอาญาสิทธิ์ถูกรับรองด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ ม.44 ยุค คสช. เขียนขยายเงื่อนไขให้กว้างขึ้นกว่า ม.17 ยุคสฤษดิ์ แถมเขียนให้ชัดว่าอำนาจนี้เป็นที่สุด มีผลครอบอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ซึ่งไม่สามารถไปด้วยกันได้กับฐานคิดของกฎหมายในโลกสมัยใหม่

คลิปการอภิปราย "กฎหมายคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา" โดยเกษียร เตชะพีระ

22 พ.ย. 2558 - ในการเสวนา "กฎหมายคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา" จัดโดย โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยวิทยากรประกอบด้วย นิธิ เอียวศรีวงศ์ - เกษียร เตชะพีระ - สมภาร พรมทา - วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ดำเนินรายการโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล

โดยหลังจากนิธิ เอียวศรีวงศ์ อภิปรายรอบแรกนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)ต่อมาเป็นการอภิปรายของ เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรายละเอียดดังนี้

000

 

หัวข้อนี้กว้างครอบจักรวาลซึ่งอาจจะทำให้ปลอดภัยได้ด้วย คือหัวข้อแบบนี้กว้างพอจะพูดอะไรก็ได้ ลองดูนะครับ คือมันกว้างดีว่ะ ยังไม่ต้องพูดถึงหัวข้อที่ขึ้นแผ่นใสนี้นะ "กฎหมายคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา" มันจืด เข้าท่ามากเลย ดูไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งก็สร้างความลำบากให้ผมตามสมควรว่าผมจะมาพูดอะไรดีวะ หัวข้ออันนี้เป็นแบบอย่างอันดี คือเราสามารถจินตนาการต่อได้ว่าถ้าเราจะอภิปรายเรื่องน่าสนใจในทางสาธารณะเราจะตั้งชื่อว่า “อุทยานคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา” คณะเศรษฐศาสตร์อาจจะอยากจัดเรื่อง “คอมมิชชั่นคืออะไร” ฯลฯ คือมันดีจริงๆ เลยหัวข้อแบบนี้ อย่างไรก็แล้วแต่ ก็ลำบากถึงขนาดที่ว่าเมื่อ 1 ชั่วโมงที่แล้วยังคิดว่าจะต้องปรับปรุงเนื้อหาอะไร และพอจะคิดออกเมื่อ 1 ชั่วโมงที่แล้วนี้เอง

ผมอยากเริ่มต้นโดยเรียนให้ทราบก่อนว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ตัดสินใจมาพูดคือ มาจากข้อความที่คุณธนาพล อิ๋วสกุล ซึ่งเป็น บก. นิตยสารฟ้าเดียวกัน และก็ถูกเรียกไปปรับทัศนคติหลายรอบ แกเขียนเอาไว้ทำนองนี้ว่า “ความตายปริศนาในคุกในค่ายทหาร ยิ่งยืนยันความผิดพลาดในการกวาดล้างความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม” เออผมปิ๊งเลย ผมรู้แล้วว่าผมจะพูดอะไร

ผมจะพูดสองส่วน ส่วนที่หนึ่งจะพูดในแนวคิดทฤษฎีคือ มองจากมุมรัฐศาสตร์ เราจะถึงคิดกฎหมายว่าคืออะไร อย่างไรบ้าง และส่วนที่สองก็จะพยายามประยุกต์กับเมืองไทยเรา ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ จนมาถึงปัจจุบัน

000

ผมอยากเริ่มว่า กรอบการคิดในเรื่องกฎหมายคืออะไร คืออย่างนี้นะครับ การเมืองการปกครอง หรือการใช้อำนาจรัฐสมัยใหม่ มีวิธีการหลักโดยพื้นฐานคือ 1. การใช้กำลังบังคับ (coercion) หรือ 2. สร้างความยินยอมพร้อมใจ (consent) มีสองอย่างเท่านั้นในระบบสมัยใหม่ คุณจะปกครองในทางรัฐศาสตร์ มีสองวิธีการหลัก ไม่ใช่อำนาจบังคับ ก็ต้องทำให้ราษฎรยินยอมพร้อมใจ

คำถามคือ กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังบังคับ และการยินยอมพร้อมใจ ผมคิดว่ากฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะว่าในสังคมสมัยใหม่ กฎหมายเป็นตัวที่ให้ความชอบธรรม (legitimized) กับการบังคับของรัฐ กล่าวคือ รัฐสมัยใหม่เวลาจะใช้กำลังอำนาจไปบังคับใครต่อใคร จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายเป็นข้ออ้างเพื่อให้ความชอบธรรม ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้อย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อตัวกฎหมายนั้นต้องอยู่บนฐานของ “Popular consent” หรือ ตัวกฎหมายนั้นเองต้องได้รับการยินยอมพร้อมใจจากประชาราษฎรทั้งหลาย

ถ้าเป็นแบบนี้แล้วเครื่องมือในการปกครองสมัยใหม่ทั้งสองคือ การใช้กำลังบังคับ และการยินยอมพร้อมใจ มันอิงกับกฎหมายมาก กฎหมายให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังบังคับ ขณะเดียวตัวกฎหมายจะมีประสิทธิภาพที่จะให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังของรัฐได้ จะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจของมหาชน คำถามก็คือว่า ถ้าที่ตั้งของกฎหมายอยู่ตรงนี้ อะไรคือฐานความชอบธรรมที่มาให้ความชอบธรรมกับกฎหมายอีกทีหนึ่ง ชอบธรรมพอที่ผู้คนพลเมืองทั้งหลาย จะยินยอมพร้อมใจ พูดอีกอย่างก็คือว่า ถ้ากฎหมายให้ความชอบธรรมกับการใช้อำนาจกำลังบังคับ ปัญหาคือตัวกฎหมายนั้นเองต้องถูกให้ความชอบธรรมด้วย หากไม่ได้รับความชอบธรรมจากมหาชน ในที่มันจะไปให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังบังคับมันจะไม่เกิดผลจริง

ทีนี้มาถึงคำถามว่า อะไรเป็นตัวที่ให้ความชอบธรรมกับกฎหมาย ผมคิดว่ามีอยู่สองปัจจัยหลักคือ หลัก Individual self-ownership (กรรมสิทธิของปัจเจกชน) ของปรัชญาเสรีนิยม คือปรัชญาเสรีนิยมยอมรับความชอบธรรมของกฎหมายสมัยใหม่ก็ต่อเมื่อตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่อง Individual self-ownershipแปลง่ายๆ คือ ชีวิตคุณเป็นของคุณเองในฐานะปัจเจกบุคคล ส่วนหลักที่สองคือ หลัก Instrumental rationality of law ซึ่งมาจากสังคมวิทยาของแม็กซ์ เวเบอร์ หรือพูดง่ายๆ คือ ความสมเหตุสมผล ของระบบกฎหมายในฐานะเครื่องมือบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายจะชิงใจผู้คนในสังคมสมัยใหม่ได้ ต้องอยู่บนสองฐานนี้

สำหรับหลัก Individual self-ownership ผมคิดว่าเป็นฐานรากของกฎหมายสมัยใหม่ หลักนี้คือชีวิตคุณเป็นของคุณเองในฐานะปัจเจกบุคคล มันมองว่าชีวิตก็ดี ร่างกายก็ดี ทรัพย์สินก็ดี ที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของคุณ ล้วนเป็นทรัพย์สมบัติของคุณ ชีวิตเป็นสมบัติของคุณ ร่างกายเป็นสมบัติของคุณ ทรัพย์สินเป็นสมบัติของคุณ บนฐานนี้จึงรองรับและทำให้งอกเงยขึ้นมาซึ่งสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ที่คุณ ผมและคนอื่นทุกคนล้วนมีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทำไมเราจึงมีสิทธิเสรีภาพ เรามีเพราะเราเป็นเจ้าของชีวิตเราเอง เราเป็นเจ้าของร่างกายเราเอง เราเป็นเจ้าของทรัพย์สินเราเอง บนฐานนั้นสิทธิเสรีภาพจึงงอกออกมา ถ้าจะทำลายสิทธิเสรีภาพใสมัยใหม่ให้ถึงที่สุด ต้องยกเลิกสิ่งนี้ ต้องบอกกับเราซื่อๆ เลยว่าชีวิตเราไม่ใช่ของเราเป็นของคนอื่น ตราบใดที่ชีวิตเราเป็นของเราสิทธิเสรีภาพเป็นของเรา

นอกจากนี้กฎหมายสมัยใหม่ยังบังคับลงไปตรงบุคคลผู้ทรงสิทธิ เพราะถือว่าบุคคลมีเหตุผลสำนึกรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองในฐานะบุคคล กฎหมายอาญาก็ดี กฎหมายแพ่งก็ดี กฎหมายความมั่นคงก็ดี จะเล่นงานมาที่ตัวบุคคล เพราะถือว่าบุคคลมีเหตุผล มีสำนึกรับผิดชอบ จะเป็นบุคคลสมมติ เช่นนิติบุคคลก็ได้ หมายความว่าความผิดถ้าทำอยู่ที่บุคคลไม่เกี่ยวกับหน่วยรวมหมู่ที่ใหญ่กว่านั้น ไม่เกี่ยวกับครอบครัว ไม่เกี่ยวกับญาติพี่น้อง ไม่เกี่ยวกับเพื่อนฝูง ไม่เกี่ยวกับชุมชน ไม่เกี่ยวกับสถาบันที่สังกัด นั่นแปลว่าไม่หลักตัดหัว 7 ชั่วโคตร ใครทำผิดก็เล่นงานคนนั้นคนเดียว

นอกจากนี้ กฎหมายยังมีขึ้นเพื่อตรอกตรึง ควบคุม จำกัดอำนาจอาญาสิทธิ์ให้คงที่ แน่นอนในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชีวิตก็ดี ร่างกายก็ดี ทรัพย์สินก็ดี ไม่ได้เป็นของคุณเอง ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของคุณเป็นของ “ท่าน” เป็นของเจ้าชีวิต พระเจ้าแผ่นดิน กล่าวคือในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นไม่มีหลัก Individual self-ownership

ปัญหาสำคัญในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือ ผู้ใช้อำนาจเอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะมันเป็นอำนาจอาญาสิทธิ์จึงไม่มีหลักเกณฑ์กำกับ ควบคุมแน่ชัด มันคาดเดาไม่ได้ จะใช้อำนาจแค่ไหนเพียงใด อย่างไร ในเรื่องใด มันก็เป็นไปตาม อำเภอน้ำใจ หรืออารมณ์วูบไหวของผู้ทรงอำนาจสมบูรณ์นั้น จะเก็บภาษีในอัตราเท่าไหร่ จะยึดทรัพย์สินใครมาเป็นของหลวง จะจับกุมคุมขังใคร หรือทรมาน ลงทัณฑ์ใครบ้าง จนกระทั่งจะเอาชีวิตคนที่ไหน เมื่อไหร่อย่างไร เพราะทั้งหมดนั้นร่างกายคุณ ทรัพย์สินคุณ เป็นสมบัติโดยชอบของผู้กุมอำนาจสมบูรณ์

เนื่องจากอำนาจในระบอบสมบูรณ์ไม่มีความแน่นอน จึงเป็นที่มาของกฎหมายลายลักษณ์อักษรทั้งหมด ตั้งแต่แมคนาคาร์ตา (Magna Carta) หรือมหากฎบัตรของอังกฤษตั้ง ค.ศ. 1215 ตั้งแต่แมคนาคาร์ตา มาถึงรัฐธรรมนูญในฉบับหลังๆ หัวใจของมันคือ เป็นมาตราการ หรือเป็นเครื่องมือเพื่อจับ จำกัด กำกับ ควบคุมอำนาจตามอำเภอน้ำใจของผู้คุมอาจอาญาสิทธิ์ให้นิ่ง ไม่ให้มันพลิกไหวขึ้นลงตามใจชอบ แต่ให้มันอยู่ในกรอบ ในระบบระเบียบกระบวนการที่แน่นอน และคาดเดาได้ ถ้าไม่มีเครื่องมือที่เขียนด้วยตัวอักษร ผู้ทรงอำนาจจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ ฉะนั้นกฎหมายสมัยใหม่จึงเป็นเครื่องมือลายลักษณ์อักษรของเสรีนิยม เพื่อจำกัดอำนาจรัฐไว้ ไม่ให้ล่วงล้ำเกินเสรีภาพของปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของชีวิตตนเอง

จากกฎหมายขยับไปสู่ เรื่องที่เราพูดกันมาคือ หลักนิติธรรม หรือ The rule of law ในความเข้าใจของผมสิ่งที่เรียกว่าหลักนิติธรรม คือ การจะมีหลักนิติธรรมได้ ไม่ใช่เพียงแค่มีกฎหมาย ไม่ใช่แค่มีการปกครองด้วยกฎหมายแล้วบังคับใช้ อย่างเมตตาผ่อนปรนหรือเข้มงวด พูดกันตรงๆ นี่เป็นความเข้าใจของคนอย่างทักษิณ ชินวัตร แกบ่นถึงเอ็นจีโอว่ามีปัญหามาก และแกก็บอกว่าแกปกครองตามกฎหมาย การปกครองตามกฎหมายในความเข้าใจแกก็คือ มีกฎหมายแล้วก็บังคบใช้กฎหมาย ในห้วงหนึ่งอาจจะเมตตาปราณี ในอีกห้วงหนึ่งอาจจะเคร่งครัด แค่นี้จบ ซึ่งคิดว่าไม่ใช่ว่ะ แล้วผมพูดแบบนี้มาตั้งแต่สมัยนู้นแล้ว ไม่ได้เพิ่งมาพูดตอนนี้ ผมคิดว่าหัวใจของหลักนิติธรรมคือ “Limited government” หรือรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด คือรัฐบาลที่ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ แน่นอนรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัดยอมตรงกันข้ามกับรัฐบาลที่มีอำนาจไม่จำกัด หรือ “Unlimited government” หรือ “Absolute government” ซึ่งคือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เราจำกัดอำนาจรัฐไว้ด้วยสิทธิเสรีภาพของพลเมือง โดยเฉพาะบุคคลและเสียงข้างน้อย สิทธิเสรีภาพของพวกเขา มีเหนือร่างกายชีวิต และทรัพย์สินของตัวเอง ซึ่งเส้นแย่งจำกัดอำนาจรัฐสำคัญมาก มันต้องมีเส้น เวลาที่เราพูดว่าจะมีหลักนิติธรรมในบ้านเมืองมันต้องมีเส้น ไม่ใช่เส้นสายในระบบอุปถัมถ์ จะมีหลักนิติธรรมในบ้านเมืองมันต้องมีเส้นที่รัฐห้ามข้าม หลังเส้นคือที่ตั้งของสิทธิเสรีภาพของบุคคล อยู่ดีๆ รัฐนึกจะข้ามเมื่อไหร่ตามใจชอบทำไม่ได้

มันต้องมีเส้นแบ่งจำกัดอำนาจรัฐไว้ไม่ให้ล่วงละเมิดสิทธิพลเมือง เส้นดังกล่าวคือรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยชอบของผู้คนพลเมืองเจ้าของสิทธิ ไม่ใช่กฎหมายที่ใครออกก็ได้

สิทธิของกู ถ้ากูจะจำกัด ต้องให้กูจำกัดเอง สิทธิของกู ถ้ากูจะจำกัดสิทธิของกูด้วยกฎหมาย ต้องให้กูจำกัดเอง หรือตัวแทนโดยชอบของกูจำกัดเอง คนอื่นไม่เกี่ยว เพราะมันใช่ของคุณ

เมื่อมีเส้น มีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายที่เราออกโดยตัวแทนโดยชอบของเรา มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของเราแล้ว ต้องมีคนคุมเส้นให้มันเป็นไปตามเส้นนั้น ได้แก่ศาลตุลาการที่อิสระ คือว่าอิสระสำคัญมาก คือต้องไม่ขึ้นกับอำนาจใด ต้องไม่มีอคติใดๆ ต้องไม่เห็นแก่อำนาจใด ถ้าไม่อิสระ ฉิบหายเลย

ต้องมีรัฐบาลที่อำนาจจำกัด ต้องมีกฎหมายหรือตัวเส้นแบ่งที่ออกโดยผู้แทนโดยชอบ ต้องมีศาล ตุลาการที่อิสระ ต้องมีทั้งหมดนี้จึงมีหลักนิติธรรม ไม่ใช่มีแค่กฎหมายที่ออกโดยใครก็ได้

โอเค นั่นคือ ในส่วนแรก ที่นี้อันที่สอง อะไรคือ หลัก Instrumental rationality of law อะไรคือหลักความสมเหตุสมผลของกฎหมายในฐานะเครืองมือการบริหารแผ่นดิน ประเด็นนี้กี่ยวข้องกับหลักสิทธิอำนาจทางการเมืองนะครับ หรือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Authority (อำนาจ) ทางการเมือง อันนี้ต้องย้อนกลับไปที่ความคิดของ แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ซึ่งเขาเขียนบทความไว้เมื่อปี 1922 ซึ่งถูกแปลมาเป็นภาษาอังกฤษชื่อบทความว่า “The Three Types of Legitimate Rule” ในบทความนี้เวเบอร์อธิบายว่า สิทธิอำนาจ หมายถึง การที่ผู้คนโน้มเอียงที่จะเชื่อฟังคำบัญชาหนึ่งๆ ใครจะมีอำนาจให้ดูว่าผู้คนโน้มเอียงที่จะเชื่อฟังคำบัญชาของเขาหรือไม่

สิทธิอำนาจที่ชอบธรรม หรือ Legitimate authorityหมายถึงการที่ผู้คนเชื่อฟังผู้ทรงสิทธิอำนาจ เพราะเห็นว่ามันเป็นไปโดยชอบ มี 3 ประเภทคือ อันที่หนึ่ง Traditional authority สิทธิอำนาจอันเกิดจากประเพณี สอง Legal authorityที่อาจารย์นิธิพูดถึง คือสิทธิอำนาจเกิดจากกฎหมายและเหตุผล และสาม Charismatic authority สิทธิอำนาจอันเกิดจากบารมี

จะค่อยๆ ไล่ไปทีละอันนะครับ เริ่มที่สิทธิอำนาจอันเกิดจากประเพณี มันหมายถึงสิทธิอำนาจอันชอบธรรม เพราะมันดำรงอยู่มาแต่ไหนแต่ไร ปกติแล้วผู้กุมอำนาจมีสิทธิอำนาจประเภทนี้ เพราะได้รับการสืบทอดมา บรรดาขุนนาง อมาตย์ ประกอบไปด้วยบริวารส่วนพระองค์ ในระบอบราชูปถัมภ์ หรือพันมิตรผู้จงรักภักดีส่วนพระองค์ อาทิ เจ้าเมืองผู้ถือศักดินาลงหลั่นกันลงไป หรือเจ้าประเทศราชในระบอบศักดินา อำนาจพิเศษของขุนนางในระบอบเหล่านี้ คล้ายคลึงกับพระราชอำนาจ เพียงแต่มีขอบเขตลงหลั่นลงมา และพวกเขาก็มักได้รับคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่ง โดยการสืบมรดกต่อกันมา อันนี้คือคำนิยามหลักๆ พูดง่ายๆ คือว่า สิทธิอำนาจอันเกิดจากประเพณี มันเกิดในยุคสมัยก่อนสมัยใหม่ โดยอ้างอิงฐานประเพณี และรองรับด้วยชุมชน ลักษณะของมันคือเป็นความเข้าใจที่ไม่ต้องพูดออกมา เป็นประเพณีที่ไม่ต้องตรวจสอบ เป็นธรรมเนียมที่วิวัฒนาการมาอย่างเชื่องช้า พูดง่ายๆ มันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

ประเพณีที่สำคัญที่ให้ความชอบธรรมกับการปกครองสมัยก่อนคือ ศาสนา เราจึงมีหลักเทวราช ซึ่งอิงศาสนาฮินดู หรือหลักธรรมราชา อิงหลักพุทธศาสนา ในวิธีคิดแบบนี้ ตามประเพณีนี้ ชีวิตคุณไม่ใช่ของคุณ ชีวิตคุณเป็นของชุมชนตามประเพณี เป็นของชุมชนตามศาสนาที่คุณสังกัด

ในส่วนที่สอง สิทธิอำนาจอันเกิดจากกฎหมายหมายและเหตุผล หมายถึงสิทธิอำนาจอันชอบธรรมที่ตั้งอยู่บนระบบกฎเกณฑ์กติกา ซึ่งประยุกต์ใช้ในทางบริหาร และตุลาการ ตามหลักการที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไป บรรดาบุคคลผู้บริหารจัดการให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์เหล่านี้นั้น ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งมาตามขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย ผู้บังคับบัญชาชั้นบนก็ต้องขึ้นกับกฎเกณฑ์ส่วนจำกัดอำนาจของตนด้วย มันแยกชีวิตส่วนตัวของผู้มีอำนาจออกจากหน้าที่ทางราชการ และต้องใช้เอกสารลายลักษณะอักษร ในการทำงาน นี้คือสิทธิอำนาจที่เกิดขึ้นสมัยใหม่ สิ่งที่มันอ้างอิงก็คือ กฎหมาย และหลักเหตุผล บนฐานรองรับไม่ใช่ชุมชน แต่เป็นบุคคล ลักษณะของมันจึงเป็นคล้ายกับสัญญาประชาคม ซึ่งถือจุดหนึ่งก็กลายร่างเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร

สิทธิอำนาจอันเกิดจากกฎหมายหมายและเหตุผล ไปกันได้กับหลักชีวิตคุณเป็นของคุณ ในฐานะปัจเจกบุคคล และเป็นที่ตั้งของหลักความสมเหตุสมผลของระบบกฎหมาย ในฐานะเครื่องมือการบริหารราชการแผ่นดิน

แบบที่สามคือ สิทธิอำนาจโดยชอบธรรมโดยอาศัยบารมีของผู้นำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตนทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะนำได้ เนื่องจาก กฤษดาภินิหารมีบุญญาธิการ รับรองโดยโหรวารินทร์ อย่างนั้นแหละครับ ล่วงรู้คำพยากรณ์ชะตาบ้านเมือง กล้าหาญชาญชัย แต่งเพลงได้ในเวลาอันสั้น บรรดาสาวกหรือผู้ที่นับถือ ก็จะเคารพนับถือสิทธิที่จะนำของเขา เนื่องจากคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขานั้นเอง ซึ่งคือบารมี หาใช่เพราะธรรมเนียม ประเพณี หรือกฎเกณฑ์ทางกฎหมายใดๆ ไม่ บรรดาเจ้าหน้าที่ข้าราชการจะประกอบไปด้วย ผู้ที่แสดงให้เห็นว่า อุทิศตนเพื่อผู้ปกครอง

หลักการนี้มันพูดถืออะไร มันพูดถึงว่า บ้านเมืองเกิดวิกฤต มีความวุนวาย อภิมหาโกลาหล คล้ายๆ ตอน กปปส. ยึดเมือง ผลของมันคือชุมชนเดิมแตกสลาย คนทะเลาะกันแหลกลาญ ปัจเจกบุคคลตกอยู่ในสภาพมีปัญหาทางจิตใจ ขาดที่พึ่ง ว้าเหว่ เหมือนเป็นอณู ในยามวิกฤติ เช่นนี้ ปรากฏผู้นำบารมี แสดงกฤษดาภินิหาร ทำการยากๆ สำเร็จเสมอ ชุมชนจึงก่อตัวขึ้นแวดล้อมผู้นำบารมี

ปัญหาของสิทธิอำนาจแบบนี้คือ บารมี หรือผู้นำบารมี เป็นเรื่องชั่วคราว อยู่ตราบเท่าที่ผู้นำยังมีชีวิตอยู่ เพราะบารมีเป็นของเฉพาะตัว มิอาจสืบทอดได้ หมดผู้นำบารมีแล้วก็จบเลย ในวิธีคิดแบบนี้ชีวิตคุณเป็นของผู้นำบารมี หรือเป็นของชุมชนที่ล้อมผู้นำบารมี ไม่ใช่ของคุณเอง

เรื่องทั้งนี้เกี่ยวกับหลักความสมเหตุสมผลของกฎหมาย ในฐานะเครื่องมือบริหารราชการแผ่นดินตรงไหน คือ เวเบอร์ชี้ว่า ระบบกฎหมายที่ชอบด้วยเหตุผลในระดับสูงสุด ย่อมมีคุณลักษณะดังนี้คือ มีการบูรณาการข้อเสนอเชิงกฎหมายทั้งหลาย ที่มาจากการคิดวิเคราะห์ในลักษณาการที่ข้อเสนอเหล่านี้ ประกอบสร้างกันขึ้นเป็นระบบกฎเกณฑ์ที่กระจ้างชัดในทางตรรกะ สอดคล้องคงเส้นคงวากันภายใน และไร้ช่องโหว่อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี และมีนัยสืบไปด้วยว่าภายใต้ระบบดังกล่าว กรณีข้อเท็จจริงที่อาจนึกคิดไปได้ทั้งหมด จะต้องถูกครอบคุมไว้โดยชอบด้วยตรรกภายใต้ระบบกฎหมายนี้ ทั้งหมดนี้จึงจะเป็นระบบกฎหมายที่ชอบธรรม

สรุปอีกทีนะครับ เป็นระบบกฎเกณฑ์ กระจ่างชัดทางตรรกะ สอดคล้องคงเส้นคงวากันภายใน ไร้ช่องโหว่ ครอบคุมกรณีทั้งมวล มีความแน่นอน คาดเดาผลล่วงหน้าได้ เป็นกลางไม่ลำเอียง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ทำหน้าที่โดยเสน่หา ทำเพราะชอบ หรือกระเหี้ยนกระหือรือ คือ กระดี๊กระด๊าอยากทำฉิบหายเลย คือต้องเยือกเย็นเหมือนเป็นข้าราชการทำตามกฎหมาย ไม่ยึดติดบุคคลเชิงรูปแบบ ไม่ใช่ว่าเป็นหน้านี้ตระกูลนี้ เล่นมันหนักหน่อย หน้าอื่นตระกูลอื่นไม่เป็นไร ทำตามหน้าที่ตรงไปตรงมาไม่คำนึงเรื่องส่วนตัว

ทั้งหมดนี้คือภาคทฤษฎี ผมเสนอว่ากรอบคิดเรื่องนี้มันเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ในความหมายที่ว่า ในสมัยใหม่วิธีการปกครองบริหารบ้านเมืองการใช้อำนาจรัฐ มันอาศัยเครื่องมือสองอย่าง การบังคับด้วยกำลัง กับการยินยอมพร้อมใจของผู้คน กฎหมายเข้าไปเกี่ยวตรงไหน ข้อเสนอของผมคือ กฎหมายให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังบังคับโดยรัฐ โดยขณะเดียวกันกฎหมายต้องอยู่บนฐานการยอมรับ ผู้คนพลเมืองยินยอมพร้อมใจ มันถึงจะมีประสิทธิภาพ คุณไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ทุกพื้นที่ ทุกตารางนิ้ว คนต้องเห็นว่ามันดีและยอมทำตาม และมันจะถูกต้องเป็นที่ชอบธรรมเป็นที่ยอมรับของผู้คนพลเมือง ต้องอิงสองหลักนี้ คือ Individual self-ownership และสอง Instrumental rationality of law ถ้าบกพร่องสองอันนี้ กฎหมายไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คน

000

ทีนี้มาเมืองไทย ผมนึกถึง ท่านผู้นำแต่ก่อน ก็คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แน่นอนปรากฎการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย คือธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับ 28 มกราคม 2502 มาตรา17 นั่นแหละครับ ซึ่งผู้ร่างคือหลวงวิจิตรวาทการ และจอมพลสฤษดิ์ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หลังจากยึดอำนาจเมื่อปี พ.ศ. 2500

ว่ากันว่า จอมพลสฤษดิ์ บอกหลวงวิจิตรว่า คือบอกเหมือนเป็นกันเองมาก ฟังดูแล้วเหมือนสั่งของ “คุณหลวงต้องเติมอีกมาตราหนึ่งให้ผมมีอำนาจเด็ดขาดด้วย” ดูมันง่ายดี อันนี้มีอยู่ในหนังสือที่ตีพิมพ์แต่ผมจำแหล่งยืนยันไม่ได้ อันนี้คือที่มาของ ม.17

มาตรา17 คืออะไร ก็คือ “Constitutionalization of absolutism” คือการเอาอำนาจอาญาสิทธิ์ไปทำให้เป็นรัฐธรรมนูญ มันไม่ควรจะอยู่ด้วยกันนึกออกไหมครับ ตามหลักที่ผมพูดมา Constitution มันอยู่ทางหนึ่ง Absolutism,มันอยู่ทางหนึ่ง มันเข้ากันไม่ได้ มันอยู่กันคนละหลักตลอด แต่ด้วยฝีมือของหลวงวิจิตร มันเป็นปรากฎการณ์ที่เป็นของไทยจริงๆ อันนี้เอาไปจดทะเบียนก็ได้ เราทำให้อำนาจเด็ดขาด กลายเป็น Constitution

มาตรา 17 เขียนว่า

“ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ”

ก็คือนายกเห็นว่าอันนี้มันใช่ คนอื่นเห็นอย่างไรไม่รู้ แต่นายกรัฐมนตรีซึ่งคือจอมพลสฤษดิ์ เห็นว่ามันใช่ ให้นายกรัฐมนตรี โดยมติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ตั้งมาทั้งนั้น มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆ ได้ สั่งก็ได้ ทำเองก็ได้ และให้ถือว่าคำสั่ง หรือการกระทำเช่นว่านั้น เป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย คือให้ความชอบด้วยไว้ล่วงหน้า โดยไม่มีขอบเขตเลย คุณสั่งอะไร คุณทำอะไร ชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้นขอแค่คุณอ้าง และเมื่อนายกได้กระทำการใดๆ หรือสั่งการใดไปตามวรรคก่อนหน้านั้น ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ เช่นสั่งยิงเป้าครูรวม วงษ์พันธ์ ไปแล้ว สั่งยิงเป้าครูครอง จันดาวงศ์ไปแล้ว ก็ไปบอกสภาว่า แจ้งให้ทราบ ยิงไปเสร็จแล้ว

ผมคิดว่าผลทางปฏิบัติคือ ม.17 รวบอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ไว้ในมือนายกคนเดียว พูดอีกอย่างคือมันเป็น อำนาจอาญาสิทธิ์ที่ให้ความชอบธรรมโดยรัฐที่ให้ความชอบธรรมยอมรับโดยรัฐธรรมนูญ แล้วมันคล้ายกันไหม คล้ายนะครับ กับมาตรา 44

“มาตรา 44 ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”

ก็คือ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ. ประยุทธ์ รายงานให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ทราบ

เนื้อความโครงสร้างของการเขียนคล้ายกันมาก ขยายเงื่อนไขให้กว้างขึ้น และที่น่าสนใจคือ มันชัด ขณะที่ ม.17 ไม่ได้บอกว่ามีผลทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อันนี้ระบุเลย และแถมบอกด้วยว่าเป็นที่สุดนะจ๊ะ จุ๊บจุ๊บ

คือผมต้องยอมรับ เขียนยอดจริงๆ มันเคลียร์กว่า ม.17 เยอะเลย

ภาพทั้งสองอย่างที่เราได้เห็นคือ Constitutionalization of absolutism มันเกิดการบิดผันเปลี่ยนแปลง Legal rational Authorityแทนที่จะใช้กฎหมายมาเป็นเครืองมือจำกัดอำนาจโดยพลการของรัฐเพื่อปกป้องรองรับหลัก กลับใช้กฎหมายป็นเครื่องมืออำนวยการใช้อำนาจอาญาสิทธิ์ โดยพลการของรัฐเพื่อลิดรอนหลัก Individual self-ownershipภายใต้หลักนี้มันไม่มีเส้น มันไม่มีชีวิตคุณเป็นของคุณ และในกระบวนการนั้นก็บั่นทอนหลัก Instrumental rationality of law จนเสื่อมเสียไปด้วย พูดก็คือว่ามัน Legal irrational Authorityเหลื่อแต่กฎหมายที่ไม่ได้กำกับด้วยเหตุผล และหลักนิติธรรมดั่งเดิมของมัน แต่กับขึ้นกับระดับเหตุผล สติปัญญา อารมณ์วูบไหวขึ้นลงของตัวผู้ใช้อำนาจอาญาสิทธิ์ ถ้าผู้ใช้อำนาจสติดีมั่นคงก็อาจจะ โอเค ถ้าผู้ใช้อำนาจเป็นอย่างอื่น การใช้อำนาจก็เป็นอย่างอื่น

ทีนี้ยกตัวอย่างรูปธรรมผมคิดว่า มันมีตัวอย่างให้น่าวิตก และคิดว่าก็ควรที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะคิดหาทางแก้ไข

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37 ปี 2558 เรื่องการกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งออกมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2558 ในข้อ 3 ให้นายนัฑ ผาสุข พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย นิติกรผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คือเอาคนเก่าออกแล้วตั้งคุณนัฑ ผาสุข อันนี้เป็นฉบับที่ 37 ปรากฎว่าสามวันต่อมา มีการออกประกาศฉบับที่ 38 ซึ่งฉบับนี้ข้อ 1 ให้ยกเลิกข้อ 3 ของประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37 โดยให้ถือว่า นายนัฑ ผาสุข มิเคยพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และมิเคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภผู้แทนราษฎรมาก่อน

คุณนัฑ ผาสุข อาจจะเข้าใจว่าได้เคยเป็นมา 3 วัน ไม่ใช่นะครับ เพราะเอาเข้าจริงคือไม่เคยเป็น อิ้บอั้บ อิ้บอั้บ เท่ากับว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 นี้แหละ

กฎหมายมันต้องมีความแน่นอนไม่ใช่หรือ คาดเดาผลล่วงหน้าได้ไม่ใช่หรือ อันนี้มันไม่ใช่

หรือนายกใช้ ม.44 คุ้มครองเจ้าหน้าที่คดีข้าว จะได้มีความกล้าหาญในการทำ คือทำถ้าทำเรื่องนี้เอาผิดไม่ได้ ไม่ถือว่าเป็นความผิด ปรากฎว่าอดีตรองประธานศาลฎีกา คุณอุดม เฟื่องฟุ้ง คัดค้าน มันไม่เหมาะที่จะใช้ ม.44 ในเรื่องนี้ มันเป็นปัญหาจริงๆ ถ้าคุณคุ้มครองผู้ใช้อำนาจ ให้ใช้อำนาจโดยไม่ต้องกลัวผิด ก็เสร็จสิพี่ เขาถึงไม่คุ้มครองอาจารย์ในการให้เกรดนักศึกษาไง หรือทำอย่างไรกับนักศึกษาก็ได้ มันต้องมีจรรยาบรรณกำกับ มีกฎหมายกำกับ ไม่งั้นอาจารย์อย่างผมก็เป็นเผด็จการน้อยที่น่ารัก นึกจะทำอย่างไรกับนักศึกษาชายที่น่าแชลมคนนี้ หรือนักศึกษาหญิงคนนั้นผมก็ทำได้ตามใจชอบ ไม่ได้นะครับ แบบนี้มันกลายเป็นการขัดกับหลักจำกัดอำนาจรัฐแบบเสรีนิยม และดูจะมีปัญหากับหลักไม่ยึดติดกับบุคคลเชิงรู้แบบด้วย

หรือล่าสุด เฮ้อ … (ถอนหายใจ) พิมพ์เขียว 10 ข้อของ คสช. ส่งถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ ในข้อ 7 ท่านก็ขอไว้ วรรคสอง ขอให้เติมไปในรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ ว่าให้การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงรัฐจากภัยที่มาจากภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา คืออันนี้ไม่ไปไม่ได้กับ Individual self-ownership เพราะถ้าถืออันนี้ ชีวิตคุณก็ไม่ใช่ของคุณ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประวิตร โรจนพฤกษ์' เข้าชิงรางวัลเสรีภาพสื่อระดับโลก

0
0
'ประวิตร โรจนพฤกษ์' ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเสรีภาพสื่อระดับโลก จากองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนของฝรั่งเศส ด้านรางวัลตกเป็นของผู้สื่อข่าวชาวซีเรีย

    
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา Voice TVรายงานว่าผู้สื่อข่าวชื่อดังของไทย นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสเว็บไซต์ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลด้านเสรีภาพสื่อ จากองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนของฝรั่งเศส โดยเป็นนักข่าวคนเดียวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับการเสนอชื่อ อย่างไรก็ตาม นายประวิตรไม่ได้รับรางวัล แต่รางวัลดังกล่าว พร้อมกับเงินรางวัล 2,500 ยูโร ตกเป็นของผู้สื่อข่าวชาวซีเรีย
 
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่า นายประวิตรเป็นผู้สื่อข่าวไทยเพียงคนเดียวที่ถูกควบคุมตัวไป "ปรับทัศนคติ" ถึง 2 ครั้ง แต่เขาก็ไม่ยอมถูกปิดปาก และยังคงยืนหยัดทำหน้าที่สื่อ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารไทย และยังเป็นหนึ่งในนักข่าวไทยเพียงไม่กี่คนที่กล้าตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร
 
นอกจากนายประวิตร สื่อมวลชนไทยอีกคนที่ได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ คือ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ ชื่อของเขาเป็นที่กล่าวถึงอยู่เสมอในฐานะนักโทษการเมืองที่ตกเป็นเหยื่อกฎหมายอาญามาตรา 112
 
ล่าสุด อ้ายเหว่ยเหว่ย ศิลปินนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวจีน ได้ทำโครงการศิลปะต่อบล็อคเลโก้เป็นภาพนักโทษการเมืองทั่วโลก หนึ่งในนั้นมีภาพเลโก้ของสมยศด้วย โดยภาพนี้เป็นภาพที่อ้ายเหว่ยเหว่ยโพสต์ในอินสตาแกรม @aiww พร้อมคำบรรยายว่า สมยศคือนักโทษการเมืองชาวไทย ที่ถูกพิพากษาจำคุก 11 ปี ด้วยข้อหาวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถอดบทเรียนจากการลงพื้นที่ค่ายสานสัมพันธ์สู่ชุมชน ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา

0
0
ถอดบทเรียนจากการลงพื้นที่ค่ายสานสัมพันธ์สู่ชุมชน ของชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอ.ปัตตานี ณ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา

 
 
ตำบลปากบาง อันเป็นว่าที่สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรทั้งทางบกที่เป็นพื้นที่เษตรกรรมและทางทะเลที่เปรียบเสมือนเป็นตู้กับข้าวของคนในพืนที่ และคนบริเวณใกล้เคียงคือ ปาตานี เช่น การทำประมงพื้นบ้าน(ประมงชายฝั่ง) การปลูกยางพารา ทำนา ฯลฯ ส่วนรายละเอียดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นโรงไฟฟ้าขนาด 2200 เมกาวัตต์ กินเนื้อที่ทั้งหมด 2960 ไร่ พร้อมท่าเรือข่นส่งถ่านหินที่ยื่นออกไปในทะเลมีความยาว 3 กิโลเมตร และจะมีการเผ่าถ่านหินถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัม พื้นที่รัศมีความร้อนจากโรงไฟฟ้าไกลถึง 5 กิโลเมตร และตัวโรงไฟฟ้าห่างจากเขตแดนปัตตานี 2-3 กิโลเมตร
 
การลงพื้นที่ของนักศึกในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการลงพื้นที่สำรวจ คือ 1.ให้นักศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตพื้นบ้านของคนในพื้นที่ 2.เรียนรู้และรับฟังปัญหาผลกระทบของการเข้ามาของโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือข่นส่งถ่านหินจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้ตอบโจทย์การเรียนรู้และรับฟังปัญหาได้ทั่วถึงซึ่งได้แบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
 
1.กลุ่มศึกษาป่าชายเลน ได้ไปงมหอยนางรม
2.กลุ่มศึกษาประมงชายฝั่ง ไปศึกษาการหาหอยเสียบ วางอวนลอยดักปลากระบอก
3.กลุ่มศึกษาชุมชนชาวประมงปากบาง แม่น้ำเทพา
4.กลุ่มศึกษาชุมชนชาวปากบางพระพุทธ ม.7 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ได้ศึกษาการแปรรูปปลาแห้ง
5.กลุ่มศึกษาประมงทะเล โดยได้ออกเรือกับชาวประมงไปสำรวจทะเลที่ตั้งโครงการท่าเรือสำหรับโรงไฟฟ้า และที่เรือขุดเจาะดินของ กฟผ.ที่ไม่ได้รับอนุญาต ได้ขุดเจาะทำลายปะการัง และแหล่งทำมาหากินของชาวประมง
 
ผลจากการลงพื้นที่สำรวจสอบถามของกลุ่มนักศึกษาส่วนใหญ่ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าชาวบ้านส่วนใหญไม่เห็นด้วยกับการมาของโรงไฟฟ้าแต่มีส่วนน้อยที่จะออกมาแสดงพลังคัดค้าน และมีชาวบ้านบางส่วนที่เห็นด้วยกับการมาของโรงไฟฟ้าโดยหลงเชื่อคำโฆษณาว่าถ่านหินสะอาด และชาวบ้านส่วนใหญ่กังวลกับปัญหามลพิษที่ตามมากับโรงไฟฟ้า เพราะเล็งเห็นกรณีตัวอย่าง เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดระยอง ที่ชาวบ้านส่วนใหญป่วยด้วยโรคมะเร็ง บทสรุปนักศึกษาทั้งหมดที่ไปลงพื้นที่สำรวจโหวตเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในการมาของโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือข่นส่งถ่านหิน
 
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เราไม่ได้จะขัดขวางการพัฒนาแต่เราอยากอยู่บนวัฒนธรรมและสิ่งดีงามที่มีมาแต่บรรพบุรุษ จะเป็นอย่างไรถ้าอนาคตข้างหน้า สงขลา เทพา จะนะ ปาตานี แผ่นดินที่มีจิตรวิญญานถูกทับถมด้วยปูนซีเมน ปล่องท่อ และหมอกควัน ทำไม!แผ่นดินที่เราร่วมกันรักษาจะต้องมีคนมาเอาไปเพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย? แล้วทำไมต้องให้คนยากคนจนต้องเป็นคนเสียสละ?
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจขอหมายจับคดี ม.112 อีกไม่ต่ำ 4 คน

0
0
'ศรีวราห์' ระบุตำรวจขอศาลทหารและศาลอาญาออกหมายจับทั้งทหาร,ตำรวจ และพลเรือน ร่วมกันหมิ่นสถาบันเบื้องสูงอีกไม่ต่ำกว่า 4 คน แต่ไม่ถึง 10 คน กระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ

 
25 พ.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน คดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ พนักงานสอบสวนได้ขอศาลอาญารัชดาฯ และศาลทหารกรุงเทพ ออกหมายจับ พ.ต.ท.ไพโรจน์ โรจนขจร อดีต ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม, พ.ต.ต.ธรรมวัฒน์ หิรัญเลขา อดีตรองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม และนายตำรวจที่มียศสูงกว่าพันตำรวจเอก รวมถึงข้าราชการทหารและพลเรือนไม่ต่ำกว่า 4 คน แต่ไม่ถึง 10 คน กระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งพนักงานสอบสวนมีพยานเอกสาร วัตถุพยาน และพยานบุคคล จึงมั่นใจว่า ศาลจะอนุมัติหมายจับตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยสั่งเจ้าหน้าที่ตามประกบและติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ที่ถูกเสนอศาลออกหมายจับแล้ว นอกจากนี้ เมื่อวานที่ผ่านมา (24 พ.ย.) ศาลทหารได้ออกหมายจับนายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ เลขาหมอหยอง ในความผิดฐษน หมิ่นสถาบันเบื้องสูงอีก 1 หมายจึงเป็นสำนวนที่ 17 ส่วนจะมีนายตำรวจยศพลตำรวจเอกที่ลาออกไปก่อนหน้านี้หรือไม่ ขอพิจารณาพยานหลักฐานอีกครั้ง
 
พลตำรวจเอกศรีวราห์ กล่าวต่อว่า พยานหลักฐานในขณะนี้ยังไม่ถึงนายตำรวจยศพลตำรวจโทที่ถูกย้ายไปช่วยราชการที่ ศปก.ตร.(ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) รวมถึงพลตำรวจตรีอัคราเดช พิมลศรี ผบก.ป. (ผู้บังคับการปราบปราม) ก็ยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงถึง สำหรับ สำนวนคดี 112 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวน 7สำนวน และอาจเสนอศาลออกหมายจับเพิ่มเติมได้อีก ยืนยันว่า ไม่มีการวิ่งเต้นให้ช่วยเหลือคดีจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ มีแต่คำสั่งให้สืบสวนสอบสวนให้สิ้นสุดขบวนการ กรณีมีผู้กล่าวโทษทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์กับพนักงานสอบสวนกองปราบปรามนั้น เป็นเพียงการกล่าวโทษตามหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งต้องสอบสวนหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ๆ ว่าได้ข่าวมาอย่างไรหากไม่มีมูล จะถือว่าจะยุติการสอบสวน
 
คุม 'อาร์ท จิรวงศ์' เลขาหมอหยอง ฝากขังผัด 4
 
สำนักข่าวไทยยังรายงานว่าศาลทหารกรุงเทพ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ตำรวจ และทหาร คุมตัวนายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ หรืออาร์ท คนสนิทของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง หมอดูชื่อดัง จากเรือนจำชั่วคราว มณฑลทหารบกที่ 11 มายังศาลทหารกรุงเทพ เพื่อขออำนาจศาลทหารฝากขังผัดที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน-7 ธันวาคม 58 นายจิรวงศ์ถูกแจ้งข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แอบอ้างมีความใกล้ชิดกับสถาบันเบื้องสูง และเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทเอกชน รวม 13 คดี  โดยถูกออกหมายจับเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลื่น 1800 MHz ประมูลแรง 4G จะแพงขึ้นไหม

0
0

ภายหลังการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่แข่งขันประมูลกันอย่างเข้มข้น หลายคนสงสัยว่าราคาชนะประมูลในระดับแปดหมื่นล้านบาทนั้น จะทำให้อัตราค่าบริการ 4G แพงขึ้นหรือไม่ และทำไมก่อนเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz บางค่ายก็โฆษณาบริการ 4G แล้ว สิ่งที่โฆษณานั้น ตกลงเป็น 4G แท้หรือ 4G เทียม

แรกสุดต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หลักการประมูลของ กสทช. ในครั้งนี้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "การประมูล 4G" เป็นเรื่องของการประมูลสิทธิในคลื่นความถี่ 1800 MHz มิใช่การประมูลสิทธิในเทคโนโลยี 4G เพียงแต่ กสทช. มุ่งหมายที่จะให้ผู้ชนะประมูลให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน นั่นคือ 4G และเมื่อไรที่ยุค 5G มาถึง ผู้ชนะประมูลก็สามารถปรับปรุงบริการเป็น 5G ได้บนสิทธิในคลื่นความถี่ของตน โดยไม่ต้องประมูลกันใหม่แต่อย่างใด

หลักการเดียวกันนี้ใช้มาตั้งแต่การประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า "การประมูล 3G" ดังนั้นแม้ผู้ชนะการประมูลครั้งนั้นเริ่มเปิดให้บริการในระบบ 3G แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าจนสามารถให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ได้ ผู้ประกอบการบางรายจึงปรับปรุงบริการบนคลื่นความถี่ย่านนี้ให้เป็น 4G สิ่งที่โฆษณาจึงมิใช่บริการ 4G เทียมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผู้ให้บริการบางรายซึ่งยังคงเหลือสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz สำหรับให้บริการ 2G ก็ได้ขอปรับปรุงบริการเป็น  4G เช่นกัน แต่เป็นชุดคลื่นความถี่ 1800 MHz คนละชุดกับที่เพิ่งประมูลเสร็จสิ้นไป ประเทศไทยจึงมี 4G บนคลื่นความถี่ทั้งย่าน 1800 MHz และ 2100 MHz อยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ยังไม่เกิด “การประมูล 4G”

ด้วยเหตุที่มีการให้บริการ 4G ในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว จึงทำให้เกิดแพ็กเกจ 4G หลายแพ็กเกจซึ่งมีสิทธิประโยชน์และอัตราค่าบริการต่างๆ กันไป และด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี 4G ซึ่งรับส่งข้อมูลปริมาณมากๆ ได้ดีกว่า 3G ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง เราจึงพบว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการ 4G ถูกกว่าบริการ 3G อยู่แล้ว ดังนั้น หากผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะกำหนดอัตราค่าบริการที่แพงกว่า 4G ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด ผู้บริโภคก็ย่อมจะไม่เลือกใช้บริการราคาแพงนั้น ในขณะนี้เราจึงมีกลไกตลาดเป็นปัจจัยสำคัญในการคุมมิให้อัตราค่าบริการแพงขึ้น ยิ่งถ้าบริการ 4G เดิมในท้องตลาดลดราคา ยิ่งจะเป็นการกดดันให้บริการ 4G ใหม่ไม่สามารถตั้งราคาแพงได้ตามอำเภอใจ

หลายคนอาจยังเชื่อว่า ผู้ชนะการประมูลน่าจะต้องผลักภาระต้นทุนค่าคลื่นความถี่มาให้ผู้บริโภคแบกรับ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ แต่ในทางเศรษฐศาสตร์จะพบว่า ต้นทุนแต่ละประเภทมีความยากง่ายในการผลักภาระให้ผู้บริโภคแบกรับได้แตกต่างกัน ต้นทุนที่ผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ยากคือต้นทุนจม ยกตัวอย่างเช่น ค่าเซ้งอาคาร หากมีร้านขายผลไม้ร้านที่หนึ่งเซ้งอาคารมาเจ็ดแสนบาท และร้านขายผลไม้ติดๆ กันเซ้งอาคารมาหนึ่งล้านบาท เราจะพบว่าราคาผลไม้เกรดเดียวกันของทั้งสองร้านจะไม่แตกต่างกันตามค่าเซ้งที่แพงหรือถูก เพราะหากร้านที่สองขายผลไม้เกรดเดียวกันในราคาแพงกว่า ผู้บริโภคย่อมจะพากันไปซื้อผลไม้จากร้านที่หนึ่ง การผลักภาระค่าเซ้งอาคารมาให้ผู้บริโภคจึงทำไม่ได้ง่ายๆ และเนื่องจากต้นทุนจมเป็นรายจ่ายที่จ่ายขาดไปแล้วไม่สามารถย้อนกลับไปลดต้นทุนนั้นลงได้ กลยุทธ์ที่ร้านที่สองจะอยู่รอดคือการขายผลไม้ในราคาที่แข่งขันได้กับร้านที่หนึ่ง เพื่อให้มีรายรับเข้าร้าน ในขณะเดียวกันต้องลดต้นทุนในส่วนที่ลดได้ ซึ่งก็คือรายจ่ายในการดำเนินการในแต่ละวัน มิใช่ใช้กลยุทธ์ขายผลไม้เกรดเดียวกันแพงกว่าร้านคู่แข่งด้วยเหตุว่าเซ้งอาคารมาแพงกว่าแต่อย่างใด

เงินชนะประมูลคลื่นความถี่ก็เปรียบได้กับค่าเซ้งสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายรู้ดีว่า เมื่อจ่ายไปแล้วก็เป็นการจ่ายขาด ไม่สามารถขอคืนหรือขอลดได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ และรู้อยู่ก่อนแล้วว่า หากตนเองกำหนดอัตราค่าบริการ 4G แพง ผู้บริโภคก็จะเลือกซื้อบริการ 4G ของรายอื่น ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายจึงได้คำนวณเพดานราคาของคลื่นความถี่ที่ตนจะประมูลไว้ก่อนวันประมูลแล้ว และต่างก็ตระหนักดีว่า ถ้าตนเองชนะประมูลในราคาที่สูงกว่าเพดานราคาที่คำนวณล่วงหน้า กิจการก็จะไม่สามารถทำกำไรได้

ยิ่งไปกว่านั้น เพดานราคาของคลื่นความถี่ที่ผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละรายคำนวณขึ้นมาย่อมแตกต่างกันตามศักยภาพทางธุรกิจของแต่ละราย เช่น ปริมาณทรัพย์สิน-หนี้สิน จำนวนผู้ใช้บริการและโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่เดิม โมเดลทางธุรกิจที่จะให้บริการ และความสามารถในการสร้างรายได้หรือทำกำไรจากโมเดลธุรกิจนั้นๆ เป็นต้น และเนื่องจากเทคโนโลยีและบริการ 4G เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ตัวเทคโนโลยีมีความเสถียร มีอุปกรณ์โครงข่ายและตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมวางจำหน่าย อีกทั้งมีโมเดลธุรกิจ 4G ในต่างประเทศให้ศึกษา การคำนวณเพดานราคาประมูลคลื่นความถี่ในปัจจุบันจึงมีความแม่นยำค่อนข้างสูง ราคาชนะประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เป็นไปตามการคำนวณในครั้งนี้ จึงไม่อาจทำให้อัตราค่าบริการ 4G แพงขึ้นตามที่หลายคนกังวล

แต่ที่สำคัญที่สุด คือการที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยในประเด็นนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนที่ กสทช. จะกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล คือทำอย่างไรให้ผู้ใช้บริการไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และให้กำหนดค่าใช้บริการไว้ล่วงหน้า ซึ่งทาง กสทช. เองได้รับข้อห่วงใยนี้มากำหนดไว้ในหลักเกณฑ์การประมูลครั้งนี้แล้ว โดยกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องให้บริการที่มีคุณภาพ และต้องกำหนดอัตราค่าบริการทั้งบริการเสียงและบริการข้อมูลเฉลี่ยต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz และต้องจัดให้มีแพ็กเกจราคาถูกอย่างน้อย 1 รายการ ที่ส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการได้ และต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงด้วย

สรุปง่ายๆ คือ ต้องมีแพ็กเกจที่คุณภาพไม่ต่ำกว่าเดิมในราคาที่ถูกลง โดยห้ามบังคับซื้อเหมา โทรเท่าใด ใช้เน็ตเท่าใด ก็จ่ายเท่านั้น ไม่ใช่ถูกบังคับให้ซื้อค่าโทรเดือนละร้อยนาที หรือค่าเน็ตเดือนละหนึ่งกิกะไบต์ ทั้งที่ผู้บริโภคหลายคนใช้นาทีหรือใช้เน็ตไม่หมดในแต่ละรอบบิล กลายเป็นการซื้อแบบเสียของไป แต่ยิ่งทำกำไรให้กับผู้ให้บริการ

และหากในอนาคตมีผู้ให้บริการรายใหม่แจ้งเกิดในตลาด 4G ได้จริง เราอาจจะเห็นอัตราค่าบริการที่ถูกลงอย่างชัดเจน เหมือนกับตอนที่ทีโอทีเปิดบริการ 3G เมื่อปลายปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเดิมอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของแต่ละค่ายตกอยู่ที่ 12 สตางค์ต่อกิโลไบต์หรือประมาณ 122 บาทต่อเมกะไบต์ แต่ทีโอที 3G กำหนดอัตราค่าบริการเพียง 2 บาทต่อเมกะไบต์ ลดลงจากเดิมกว่า 60 เท่า ทำให้ค่ายอื่นๆ ต้องลดราคาลงมาสู้ในระดับเดียวกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเพิ่มการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นกลไกกำกับดูแลอัตราค่าบริการที่ได้ผลดีที่สุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชมรมแพทย์ชนบทเรียกร้องจุดยืน สธ. ปกป้องประชาชนจาก พ.ร.บ.จีเอ็มโอ

0
0
ชมรมแพทย์ชนบทส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขอให้กระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนเพื่อปกป้องประชาชนจาก พ.ร.บ.จีเอ็มโอ

 
27 พ.ย. 2558 ชมรมแพทย์ชนบทส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขอให้กระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนเพื่อปกป้องประชาชนจาก พ.ร.บ.จีเอ็มโอ โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังต่อไปนี้
 
จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2558
เรื่อง ขอให้กระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนเพื่อปกป้องประชาชนจาก พ.ร.บ.จีเอ็มโอ
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร
 
ด้วยพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... หรือ พรบ.จีเอ็มโอ ได้ผ่าน ครม.แล้วในวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2558 นี้ซึ่งไม่น่าแปลกใจนักเพราะมีความพยายามของทุนการเกษตรยักษ์ใหญ่ในการผลักดันมายาวนานนับสิบปี แต่ที่น่าแปลกใจคือ  กระทรวงสาธารณสุขซึ่งดูแลสุขภาพของประชาชน ไม่มีการให้ความเห็นใดๆในขั้นตอนปกติก่อนออกมาเป็นกฏหมายที่ต้องมีการถามความเห็นของแต่ละกระทรวง ทั้งๆที่เป็นที่รับรู้ในสังคมและวงวิชาการว่า พืชและสัตว์ตัดแต่งพันธุกรรมไม่น่าจะปลอดภัยต่อสุขภาพในระยะยาว แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับเพิกเฉยไม่มีแม้ความเห็นบรรทัดเดียว เพื่อทักท้วง หรือให้ข้อสังเกต หรือขอแก้ไขสาระให้รัดกุม
 
ทั้งนี้ข่าวจากที่ประชุม ครม.ระบุชัดว่า “คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป” นี่คือหลักฐานว่า สธ.หายไปการทำหน้าที่การปกป้องสุขภาพประชาชน
 
การตัดแต่งดัดแปลงพันธุกรรมนั้นมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาว ยีนที่ตัดแต่งโดยมนุษย์ ที่มีการนำส่วนของยีนของไวรัสหรือแบคทีเรียมาใส่เข้าไปในพืชหรือสัตว์ อาจสร้างหายนะได้ในระยะยาว และที่สำคัญเมื่อมีการผสมพันธุ์ของพืชหรือสัตว์จีเอ็มโอกับพืชหรือสัตว์พื้นถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ก็ย่อมจะเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมที่ไม่ต่างจากการเปื้อนกัมมันตรังสี ที่ยีนปนเปื้อนนี้จะคงอยู่ในสายธารพันธุกรรมอีกนับพันนับหมื่นปี
 
ในปี 2550 สมัยที่ นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็มีความพยายามผลักดัน พรบ.จีเอ็มโอนี้เข้า ครม.แล้ว แต่ในสมัยนั้น รัฐมนตรีมงคล ณ สงขลา มีจุดยืนที่ชัดเจนมากว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องปกป้องสุขภาพประชาชนเหนือผลประโยชน์ทางการค้า จึงคัดค้านอย่างเต็มด้วยหลักวิชาการ จน พรบ.ไม่สามารถผ่าน ครม.ได้ ในครั้งนั้น ครม.เพียงอนุญาตให้กระทรวงเกษตรฯ “เตรียมความพร้อมในการขยายการทดลองวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรมออกไปในระดับการทดลองของทางราชการได้ โดยให้ระบุพื้นที่และชนิดของพืชให้ชัดเจนรวมทั้งมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ที่จะทำการทดลอง ตลอดจนจัดทำให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฯลฯ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 67 ก่อน ทั้งนี้ในการศึกษาควรมีการศึกษาโดยใช้กระบวนการแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นความเห็นร่วมกันแล้วจึงเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในแต่ละพื้นที่ต่อไป”
 
ซึ่งหมายความว่าในครั้งนั้น ครม.อนุญาตเพียงให้กระทรวงเกษตรเปิดแปลงวิจัยรายพื้นที่เท่านั้น อีกทั้งยังต้องมีการศึกษา EHIA หรือศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และจัดการรับฟังความเห็นประชาชน ประดุจเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 หากศึกษาแล้วเป็นรายพื้นที่แล้วพบว่าไม่มีผลกระทบก็ให้ทำได้ ซึ่งเป็นจุดยืนที่ถูกต้องที่สุด
 
แต่ในปี 2558 ในสมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรี กลับไม่มีจุดยืน ไม่มีความเห็น ไม่ออกมายืนนำเพื่อปกป้องผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจาก พรบ.จีเอ็มโอ  ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง
 
ชมรมแพทย์ชนบทจึงขอเรียกร้องต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ให้ทบทวนจุดยืนต่อ พรบ.จีเอ็มโอนี้ และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และเปิดให้มีกระบวนการในการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็น แห่งชาติ  เฉกเช่นข้อเสนอในสมัยรัฐมนตรี นพ.มงคล ณ สงขลา ก่อนที่ ร่าง พรบ.ดังกล่าวจะเข้าหรือไม่เข้าสู่ขั้นตอนของสภานิติบัญญัติต่อไป
 
ประชาชนคนไทยคาดหวังบทบาทของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในการปกป้องสุขภาพประชาชน
 
ด้วยความเคารพนับถือ
 
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ
ประธานชมรมแพทย์ชนบท
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอ็นจีโอระบุมีการละเมิดสิทธิคนงานในโรงงานผลิตเนื้อไก่ของไทย

0
0
27 พ.ย. 2558 บีบีซีไทย - BBC Thaiรายงานว่า Swedwatch และ Finnwatch ของสวีเดน ได้เผยแพร่รายงานเมื่อวันพุธที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา เจาะปัญหาการใช้แรงงานในโรงงานผลิตเนื้อไก่เพื่อส่งออกของไทย ชี้มีการละเมิดสิทธิคนงานซึ่งเป็นคนต่างชาติ กัมพูชาและเมียนมาอย่างหนักไม่ว่าจะตามกฎหมายไทยหรือตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ขณะที่ปลายทาง ธุรกิจนำเข้าในสวีเดนก็ไม่กระตือรือร้นในการทำตามคำแนะนำให้วางเงื่อนไขในการดูแลสิทธิคนงานไว้ในการทำธุรกิจ ด้านผู้ส่งออกไทยยืนยันทำตามกฎหมาย หากจะมีปัญหาก็อยู่ในส่วนของนายหน้า
 
รายงานเรื่อง Trapped in the kitchen of the world: the situation for migrant workers in Thailand’s poultry industry. จัดทำโดย Swedwatch ที่เป็นกลุ่มตรวจสอบการทำงานของภาคธุรกิจสวีเดนในต่างประเทศ และ Finnwatch ซึ่งจับตาการแสดงความรับผิดชอบของธุรกิจ รายงานเป็นผลจากการสัมภาษณ์แรงงาน 98 คนมีทั้งหญิงและชายจาก 6 โรงงานของ 4 กิจการส่งออกเนื้อไก่ของไทย
 
รายงานระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้สวีเดนซึ่งเป็นผู้นำเข้าเนื้อไก่รายใหญ่จากไทย ได้เริ่มประกาศใช้ “แผนปฏิบัติการระดับชาติสำหรับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” หรือ National Action Plan for Business and Human Rights แผนนี้คาดหวังให้กิจการของสวีเดนทำธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชนและทำตามคำแนะนำของสหประชาชาติในเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGP) ซึ่งเป็นที่มาของการที่ Swedwatch เข้าตรวจสอบการทำงานของธุรกิจสวีเดนในการค้าขายกับคู่ค้าคือไทยที่ป้อนสินค้าให้ว่าเป็นไปตามมาตรการที่วางไว้หรือไม่
 
แรงงานทั้งหมดที่ถูกสัมภาษณ์บอกว่า หนังสือเดินทางของพวกเขาและใบอนุญาตทำงานล้วนถูกนายจ้างหรือนายหน้ายึดไว้ แต่ละคนมีหนี้สินผูกพันในระดับต่างๆกันไปอันเนื่องมาจากการเรียกเก็บค่านายหน้าซึ่งถือว่าผิดกฎหมายรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่มีใครได้ประกันสุขภาพแม้ว่าจะมีการหักเงินจากเงินเดือนของคนงานก็ตาม นอกจากนี้ยังมีคนงานในโรงงานบางแห่งบอกว่ามีการใช้แรงงานเด็ก บางคนอายุ 14 ปีก็มี ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายแรงงานของไทยเอง การเก็บเอกสารของพวกเขาเอาไว้ก็ทำให้คนงานเหล่านี้ขาดอิสระ เดินทางได้ยาก หากทำก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินเพราะไม่มีเอกสารสำคัญ รายงานบอกว่า โรงงานทุกแห่งที่ศึกษามีการละเมิดแรงงานในระดับต่างๆกันไป และมีการใช้ความรุนแรงโดยผู้คุมคนงานและนายหน้า ซึ่งขัดทั้งต่อกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ การเอารัดเอาเปรียบและทำร้ายคนงานทั้งหมดนี้ทำให้คนงานแต่ละคนอยู่ในสภาพอับจนและไม่มีทางไป
 
รายงานบอกว่าวิธีการละเมิดหลายอย่างเมื่อตรวจสอบกับข้อบัญญัติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศแล้วพบว่าทำให้พฤติกรรมการนำคนมาจ้างงานนี้เข้าข่ายการลักลอบขนคนเข้าเมืองเพื่อนำมาฉวยประโยชน์ใช้แรงงาน
 
อีกด้านรายงานของ Swedwatch และ Finnwatch บอกว่า ธุรกิจนำเข้าไก่ของสวีเดนเองก็ละเลยไม่ดูแลสิทธิคนงาน นำเข้าโดยไม่ตั้งเงื่อนไขกับผู้ผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของรัฐบาลและยูเอ็น มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ทำตามคือ บริษัท Axfood ที่บรรจุข้อแนะนำในการปฏิบัติ UNGP เข้าไว้ในแผนการจัดหาสินค้าซึ่งก็เพิ่งทำเมื่อปีที่แล้วนี้เอง 
 
ในเนื้อหาของรายงานส่วนที่อาจกล่าวได้ว่าจะมีผลให้มีการสนับสนุนการเข้มงวดแก่ผลิตภัณฑ์ต่างชาติมากขึ้น คือส่วนที่ระบุว่า การแยกผลิตภัณฑ์จากภายนอกอียูออกจากผลิตภัณฑ์ภายในทำได้ยากมาก โดยรายงานบอกว่า ผลของการสำรวจโดย Swedwatch ที่สำรวจเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ที่สุด 5 ราย มีรายหนึ่งบอกว่า ได้ใช้เนื้อไก่จากไทยแต่ไปบรรจุหีบห่อใหม่ในชื่อของตัวเอง ผู้ค้าปลีกอีกหลายรายก็มีเนื้อไก่จากไทยผสมผสานในผลิตภัณฑ์ไก่ในชื่อที่ไม่ใช่ของตนเอง รายงานระบุว่าผลการสำรวจทำให้เห็นชัดว่า แม้แต่สินค้าที่เขียนว่ามาจากอียูก็ยังอาจจะมาจากประเทศที่สามเช่นไทยก็ได้ ทำให้ยากจะบอกได้ว่าสินค้าจากไทยเข้าไปยังตลาดเช่นสวีเดนปีละเท่าไหร่แน่ 
 
รายงานดังกล่าวนี้ได้รวมเอาคำชี้แจงจากบริษัทผู้ผลิตเนื้อไก่ของไทย 4 รายเข้าไว้ด้วย โดยมีการสอบถามหลายเรื่อง ประเด็นใหญ่ๆคือเรื่องของการเก็บเงินค่านายหน้า การยึดเอกสาร การข่มขู่ทำร้ายคนงานโดยซูเปอร์ไวเซอร์ในโรงงาน ในเรื่องของการเก็บค่านายหน้า เจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีตอบว่าขณะนี้บริษัทแก้ปัญหาด้วยการจ้างตรงเพื่อไม่ให้คนงานถูกเอาเปรียบ แต่เนื่องจากเป็นนโยบายใหม่ อาจมีคนที่ยังไม่รู้ ส่วนเรื่องว่ามีการข่มขู่คนงานนั้น บริษัทจะเฝ้าระวังไม่ให้มีปัญหานี้เกิดขึ้น สำหรับเรื่องที่คนงานบ่นว่าไม่ได้รับการประกันภัย บริษัทบอกว่าต้องจ่ายเงินเข้าระบบ 90 วันก่อนจึงจะได้รับบัตร แต่ในระหว่างนั้นก็ยังถือว่าได้รับการคุ้มครอง
 
ซีพีและสหฟาร์มต่างระบุว่า การเก็บเอกสารคนงานนั้นทำเฉพาะเวลาที่จะนำไปต่อใบอนุญาตให้กับคนงานซึ่งสหฟาร์มระบุว่า ต้องใช้เวลาถึง 105 วัน ขณะที่ซีพีบอกว่า 90 วัน แต่ต้องบวกเวลาในการรวบรวมและส่งเรื่องซึ่งกินเวลาเกือบ 20 วัน พวกเขาปฏิเสธว่าไม่เคยเรียกเก็บเงินจากคนงาน 
 
ผู้ทำรายงานมีคำถามถึงเซนทาโก้/สกายฟูดอ้างที่คนงานบอกว่าต้องจ่ายเงินค่าคุ้มครองให้นายหน้า 1,000 บาท ซึ่งได้รับคำตอบว่าเป็นเงินที่ผู้บริหารส่วนท้องถิ่นเรียกเก็บเป็นค่าขยายพื้นที่การทำงาน นอกจากนั้นอีกหลายเรื่องบริษัทต่างๆเช่นเซ็นทาโก้ และสหฟาร์มต่างชี้แจงว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของบริษัทแต่เป็นเรื่องระหว่างซับคอนแทรคเตอร์หรือผู้เช่าเหมาช่วงกับคนงาน เช่นการยึดสมุดบัญชีคนงาน การเรียกเก็บเงินพิเศษ กับคำถามเรื่องมีการจ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 สหฟาร์มและแหลมทองต่างปฎิเสธ ในเรื่องของการทำร้ายหรือใช้ถ้อยคำรุนแรงกับคนงาน ผู้ผลิตรายใหญ่ๆต่างบอกว่า มีการอบรมซูเปอร์ไวเซอร์และตรวจสอบเสมอหากมีการกระทำดังกล่าวจะถูกลงโทษ
 
ผู้ทำรายงานได้ตั้งคำถามเรื่องคนงานบอกว่าไม่มีสัญญาจ้าง บริษัทแหลมทองระบุว่าบริษัทเป็นผู้เก็บไว้เพราะตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องให้กับลูกจ้าง พร้อมกับปฎิเสธเรื่องอื่นๆที่คนงานกล่าว ไม่ว่าเรื่องบังคับทำงานล่วงเวลา หรือไม่ให้หยุดในบางวัน มีคำถามถึงแหลมทองด้วยว่า คนงานระบุเงื่อนไขการทำงานเช่นห้ามพักเข้าห้องน้ำนานเกินวันละ 15 นาที นานเกินนั้นจะถูกหักเงิน โดยบอกว่าในทุกโรงงานมีห้องน้ำ และคนงานสามารถไปใช้ได้ในระหว่างที่ทำงาน ส่วนเรื่องไม่มีน้ำดื่มที่สะอาดไว้ให้นั้น แหลมทองปฏิเสธว่าไม่จริงแต่ก็บอกว่า พนักงานที่ทำความสะอาดอุปกรณ์ประกอบไม่ค่อยใส่ใจกับเรื่องนี้ดังนั้นเมื่อไม่นานมานี้ได้ตัดสินใจจ้างคนนอกเข้าไปจัดการแทน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50697 articles
Browse latest View live