Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live

เปิดข้อเสนอค่าแรงขั้นต่ำของ สนช. ‘ไม่เท่ากันทั่วประเทศ-มอบอำนาจ คกก.ค่าจ้าง’

$
0
0

หลังสภาหอการค้าชงประเด็นระบุว่าค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ 300 บาท ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ สนช. ทำรายงานศึกษาเสนอรัฐบาล ชี้ไม่ควรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ มอบอำนาจให้ "คณะกรรมการค่าจ้าง" กำหนดค่าแรง ด้านตัวแทนองค์กรลูกจ้างระบุควรเพิ่มนักวิชาการเป็นภาคีที่ 4 ในคณะกรรมการค่าจ้าง ส่วนองค์กรนายจ้างวอนอย่าให้กลุ่มการเมืองแทรกแซงการขึ้นค่าแรง

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมาในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 53 ที่ประชุม สนช. ได้รับทราบรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง "แนวทางการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ" ที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน

โดยในรายงานระบุว่าคณะกรรมาธิการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับหนังสือจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอให้พิจารณาศึกษาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย สืบเนื่องจากนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งหมด 300 บาท ถือเป็นมิติใหม่สำหรับอัตราค่าจ้างของประเทศไทย และถือเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดในหลายจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ขณะที่ความสามารถในการรองรับผลกระทบแตกต่างกันไป ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรม และในแต่ละภูมิภาค ดังนั้น เพื่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปอย่างถูกต้องต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้านอุตสาหกรรม และด้านแรงงานอย่างรอบด้าน รวมทั้งรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลอดจนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและการเพิ่มผลิตภาพด้านแรงงานจึงขอให้คณะกรรมาธิการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาศึกษาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย ที่มีความเหมาะสมและลดผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

โดยคณะกรรมาธิการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการการแรงงาน พิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าวและได้ข้อสรุปดังนี้

1. ไม่ควรกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศโดยคงฐานไว้ที่ 300 บาท/วัน

2. ควรให้การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นอำนาจหน้าที่ของ "คณะกรรมการค่าจ้าง" โดยมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ได้กำหนดกรอบ/ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ต้องนำมาใช้พิจารณา ดังนั้น เห็นสมควรที่คณะกรรมการค่าจ้างต้องดำเนินการตามมาตรา 87 โดยครบถ้วน อนึ่งเห็นสมควรส่งข้อมูลความเห็นที่รวบรวมได้ให้คณะกรรมการค่าจ้างเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาและควรปรับคณะกรรมการค่าจ้างเป็น "พหุภาคี" ที่มีนักวิชาการที่หลากหลาย ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

3. ควรมอบอำนาจให้ "คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด" พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตอนตามสภาพข้อเท็จจริงและความจำเป็นของแต่ละจังหวัด เนื่องจากข้อมูลข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัด (เช่น สภาพเศรษฐกิจสังคมรายได้ประชาชาติต่อหัว สภาพ/จำนวนการจ้างงาน ประเภทและขนาดของธุรกิจ/อุตสาหกรรม ฯลฯ) จะแตกต่างกันมาก อนึ่งควรให้ "นายจ้าง/ลูกจ้าง" มีส่วนร่วมในการคัดเลือก "ผู้แทนนายจ้าง/ผู้แทนลูกจ้าง" ในคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดโดยตรง

4. ควรมีการส่งเสริมสนับสนุนผลักดันให้สถานประกอบการมี "การปรับค่าจ้างประจำปี" (ตามสภาพของธุรกิจ สภาพอุตสาหกรรม สภาพพื้นที่) ให้แก่ลูกจ้างที่มีอายุการทำงานกับนายจ้างมากกว่า 1 ปี โดยปรับปรุงอำนาจหน้าที่คณะกรรมการค่าจ้างที่มีอยู่ตามมาตรา 79 (2) ทั้งนี้ ควรมี "อนุกรรมการไตรภาคีด้านกฎหมาย" ในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงความเห็นในการปรับปรุงข้อกฎหมายดังกล่าว

5. ควรมีการกำหนดและตรวจสอบให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแก่ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือมาแล้ว ทั้งนี้การบริหารจัดการด้านการพัฒนาคุณวุฒิแห่งชาติการฝึกฝีมือพัฒนาทักษะ และการทดสอบมาตรฐานฝีมือ ควรบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อให้การพัฒนาฝีมือแรงงานมีความหลากหลายและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

6. ควรสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของกระทรวงแรงงานที่จะให้มีระบบค่าจ้าง (อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ) ตามการพัฒนาเศรษฐกิจ 18 กลุ่มจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวของจังหวัดใกล้เคียงกัน สำหรับการพัฒนาให้มีระบบค่าจ้างตามกลุ่มอุตสาหกรรม ควรเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการบริหารค่าจ้างค่าตอบแทนเนื่องจากแต่ละจังหวัดไม่ควรมี "ค่าจ้างขั้นต่ำ" หลายอัตราตามประเภทอุตสาหกรรมที่มีในแต่ละจังหวัด

7. ควรส่งเสริมสนับสนุนให้สถานประกอบการส่วนใหญ่มี "ค่าจ้างในลักษณะผสมผสาน" คือ ค่าจ้างขั้นต่ำ (หรือค่าจ้างแรกเข้าทำงาน) ค่าจ้างตาม "แท่งค่าจ้าง" หรือการปรับค่าจ้างประจำปี ตามข้อ 4 ข้างต้น และค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เช่นเดียวกับที่มีการปฏิบัติอยู่ในสถานประกอบการขนาดใหญ่ปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจาก "ค่าจ้างในลักษณะผสมผสาน" นี้จะนำไปสู่ "ระบบค่าจ้างลอยตัว" ในที่สุด

 

ตัวแทนองค์กรลูกจ้าง-นายจ้างคิดเห็นอย่างไร?

ทั้งนี้ในรายงานฉบับนี้ระบุว่า ผู้แทนองค์กรลูกจ้าง ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ผ่านมาของ "คณะกรรมการค่าจ้าง" หลายประการ เช่น การทำงานของ "คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด" ที่ให้พิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัด ซึ่งอำนาจดังกล่าวไม่มีจริงเพราะท้ายสุดแล้วคณะกรรมการค่าจ้างจากส่วนกลางเป็นผู้ตัดสินใจ ดังนั้นควรยกเลิกคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ขณะเดียวกัน "ข้อแนะนำการปรับค่าจ้างประจำปี" ของคณะกรรมการค่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับภาคเอกชนให้ปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่ทำงานมาแล้วมากกว่า 1 ปี เป็นเพียงขอแนะนำเท่านั้น ส่งผลให้ลูกจ้างจำนวนมากยังติดอยู่ในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับ "ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ" นั้น ซึ่งกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแก่ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแล้วยังไม่มีผลการบังคับอย่างจริงจังให้เป็นเป็นรูปธรรม เป็นต้น

สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบค่าจ้าง/รายได้ ของลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน ผู้แทนองค์กรลูกจ้างมีความเห็นที่น่าสนใจคือ

1. ควรเพิ่มนักวิชาการเป็นภาคีที่ 4 ในคณะกรรมการค่าจ้างและการพิจารณาปรับปรุงอัตราค่าจ้าง ควรพิจารณาตามปัจจัยที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 มาตรา 87

2. ควรให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการคัดเลือก "ผู้แทนลูกจ้าง" ในคณะกรรมการค่าจ้าง โดยเฉพาะการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งโดยตรงตามการใช้สิทธิเลือกตั้งโดยตรงตามหลัก 1 คน 1 เสียง

3. ควรเปลี่ยน "ค่าจ้างขั้นต่ำ" เป็น "ค่าจ้างแรกเข้า" ใช้เฉพาะลูกจ้างที่เข้าทำงานปีแรกสำหรับลูกจ้างที่ทำงานเกิน 1 ปี ให้นายจ้างปรับค่าจ้างรายปี โดยใช้ผลการประเมินของลูกจ้าง ดัชนีค่าครองชีพ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างที่มีอยู่มามากกว่า 1 ปี ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า "ค่าจ้างแรกเข้า" ความจำเป็นในการปรับ "ค่าจ้างแรกเข้า" หมดไป (จะมีการพิจารณาปรับเฉพาะกรณีมีปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงเท่านั้น)

ส่วน ผู้แทนองค์กรนายจ้างได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ทั่วประเทศในหลาย ๆ ประเด็น เช่น บริษัทที่ไม่ได้ใช้แรงงานเป็นหลัก (เช่น สื่อสาร ธนาคาร บริษัทขนาดใหญ่ที่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้) จะไม่เสียหายจากการปรับค่าจ้างดังกล่าว ส่วนผู้ประกอบการท้องถิ่นขนาดเล็ก/กลาง (โดยเฉพาะบริษัทที่ใช้แรงงานจำนวนมากในการดำเนินธุรกิจ) และ SMEs (ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน) ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น การขยายธุรกิจสะดุด บางบริษัทขาดทุน ต้องเลิกจ้างคนงาน/ปิดกิจการ ดังนั้น ควรรอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการรายย่อยปรับตัวเตรียมการแข่งขันทางการค้าให้พร้อมกว่านี้ ขณะเดียวกันต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างจริงจัง ไม่ให้ค่าแรงที่ปรับใหม่ต้องหมดไปกับค่าใช้จ่ายประจำวันที่เพิ่มมากขึ้น อนึ่งสำหรับลูกจ้างที่พัฒนาตนเอง/ทำงานดี นายจ้างจะมีการพิจารณาให้ค่าจ้างเกินกว่า 300 บาท/วัน อยู่แล้ว

สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบค่าจ้าง/รายได้ของลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน ผู้แทนองค์กรนายจ้างส่วนใหญ่ มีความเห็นโดยสรุปดังต่อไปนี้

1. ยังมีความจำเป็นต้องกำหนด "ค่าจ้างขั้นต่ำ" เพื่อความเป็นธรรมทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง ให้เป็นไปตามอนุสัญญาเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำของ ILO เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ การไม่มีธรรมาภิบาลและไม่ให้เกิดการกดขี่แรงงานแต่ไม่ควรกำหนดให้เท่ากันทุกจังหวัด ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีสภาพเศรษฐกิจสังคม รายได้ประชาชาติต่อหัว การจ้างงานนอกภาคเกษตร ประเภทธุรกิจ/อุตสาหกรรม ฯลฯ แตกต่างกันมาก

2. ควรให้คณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยปราศจากการแทรกแซงจาก (กลุ่ม) การเมือง ทั้งนี้ปัจจัยที่นำมาพิจารณาควรประกอบด้วยดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ความสามารถของธุรกิจ อัตราการว่างงาน GDP มาตรฐานฝีมือแรงงาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาพรวมการลงทุนเชิงมหภาคของประเทศในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และสภาพเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น

3. การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรให้ "คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด" เป็นผู้พิจารณา โดยคำนึงถึงผลิตภาพแรงงาน/มาตรฐานฝีมือแรงงาน และควรแยกตามประเภทอุตสาหกรรม/ธุรกิจ แยกตามสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่

4. ควรมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประเภทธุรกิจ และเนื่องจากประเทศไทยแทบจะไม่มีคนว่างงาน ขณะที่การแข่งขันทางธุรกิจมีสูงขึ้นเรื่อย ๆ ควรพิจารณาให้มี "ค่าจ้างลอยตัว" เป็นไปตามกลไกตลาด

5. รัฐบาลต้องส่งเสริม/พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ในขณะเดียวกันสถานประกอบการควรมีการพัฒนา/สร้าง "ระบบค่าจ้างในสถานประกอบการ" โดยพิจารณา/ประเมินค่าจ้างแรงงานจากทักษะฝีมือ และปรับค่าจ้างเมื่อลูกจ้างผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือ และปรับค่าจ้างเมื่อลูกจ้างผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือระดับ 1, 2, 3 มีประสิทธิภาพ/ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น

6. แรงงานแรกเข้ายังไม่มีความรู้และประสบการณ์ จำเป็นต้องรับค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อมีความรู้ในงานมีฝีมือ/ทักษะ/ความชำนาญและประสบการณ์เพิ่มขึ้น นายจ้างจะประเมินและเพิ่มค่าจ้างให้ตามผลงานตามโครงสร้างการบริหารค่าตอบแทนของสถานประกอบการโดยอาจจะมีกฎหมายกำหนดรองรับเพื่อดูแลความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

 

อนึ่งตัวแทนองค์กรลูกจ้างที่ได้ให้ความเห็นกับคณะอนุกรรมาธิการการแรงงาน ในคณะกรรมาธิการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้แก่สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างไท, สภาองค์การลูกจ้างแรงงานอิสระแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ส่วนตัวแทนจากองค์กรนายจ้างได้แก่ตัวแทนจาก สภาองค์การนายจ้างอุตสาหกรรมไทย, สภาองค์การนายจ้างธุรกิจอุตสาหกรรมไทย, สภาองค์การนายจ้างการเกษตรธุรกิจอุตสาหกรรมไทย,  สภาองค์การนายจ้างและธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งชาติ, สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย, สภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ, สภาองค์การนายจ้างธุรกิจการค้าและบริการไทย, สภาองค์การนายจ้างไทยสากล และสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลิปซินแสทำพิธีหน้า ‘กระทรวงICT’ คอมเม้นต์ล้อนึกว่า ‘กระทรวงเวทมนตร์’

$
0
0

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Mtoday’ เผยแพร่วิดีโอคลิปความยาว 1.13 นาที พร้อมบรรยายประกอบว่า “ขำไม่ออก เมื่อรัฐมนตรี ICT ต้องพึ่งไสยศาสตร์เอาซินแสมาปัดรังควาญ ประชาชนจะพึ่งใครได้”

 

 

ขำไม่ออก! เมื่อรัฐมนตรี ICT ต้องพึ่งไสยศาสตร์เอาซินแซมาปัดรังควาญ ประชาชนจะพึ่งใครได้

Posted by Mtoday on 26 สิงหาคม 2015

 

โดยภายในคลิปปรากฏป้ายกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือ ICT โดยมีชายสวมชุดขาวแสดงออกเหมือนประกอบพิธีกรรมบางอย่าง ซึ่งมีการใช้ไฟหน้าประตู่และท้ายคลิปชายชุดขาวมีการชวนผู้ร่วมในพิธีซึ่งสวมชุดสุภาพและชุดข้าราชการเดินเข้าไปประตูไป

นอกจาเพจ ‘Mtoday’ แล้ว ก็มีเพจ CSI LAนำคลิปดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อทำให้เกิดการแสดงความเห็นจำนวนมาก

นอกจากนี้เว็บ MThaiและ catdumb.comก็นำเรื่องราวดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อด้วย

บางส่วนของการแสดงความคิดเห็นต่อคลิปดังกล่าว ที่มา : catdumb.com 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศผลวรรณกรรมซีไรต์ปี 58 รอบสุดท้าย 9 นวนิยายผ่านเข้ารอบ

$
0
0

คณะกรรมการคัดเลือกวรรณกรรมซีไรต์ปี 58 ประกาศ 9 เล่มสุดท้าย กาหลมหรทึก, จุติ, เนรเทศ, ประเทศเหนือจริง, พิพิธภัณฑ์เสียง, รักในรอยบาป, ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต, หรือเป็นเราที่สูญหาย และ หลงลบลืมสูญ

ที่มาภาพจาก MatichonBook

หลังจากที่คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนประจำปี 2558 (S.E.A. Write) ได้พิจารณา ผลงานนวนิยายที่ส่งเข้าประกวดในปี 2558 ทั้งหมด 57 เล่ม แล้วประกาศเป็นรอบ Long list 18 เล่ม ล่าสุดในวันนี้ทางคณะกรรมการคัดเลือกได้ประกาศให้นวนิยาย 9 เล่มสุดท้าย รางวัลซีไรต์ปี 2558 ออกมาแล้ว ประกอบด้วย

1. กาหลมหรทึก ของ ปราปต์

2. จุติ ของ อุทิศ เหมะมูล

3. เนรเทศ ของ ภู กระดาษ

4. ประเทศเหนือจริง ของ ปองวุฒิ  

5. พิพิธภัณฑ์เสียง ของ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

6. รักในรอบบาป ของ เงาจันทร์

7.ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ของ วีรพร นิติประภา

8. หรือเป็นเราที่สูญหาย ของ จเด็จ กำจรเดช

9. หลงลบลืมสูญ ของ วิภาส ศรีทอง

ทั้งนี้ผลงาน 9  เล่มสุดท้ายนี้ เป็นงานเขียนจากเจ้าของตำแหน่งซีไรต์เดิม 3 คน คือ 1.อุทิศ เหมะมูล ได้รับรางซีไรต์ประเภทนวนิยาย เมื่อปี 2552 จากนวนิยายเรื่อง ลับแล, แก่งคอย 2.จเด็จ กำจรเดช ได้รับรางวัลซีไรต์ประเภทรวมเรื่องสั้น เมื่อปี 2554 จากรวมเรื่องสั้น แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ และ 3.วิภาส ศรีทอง ได้รับรางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยาย เมื่อปี 2555 จากนวนิยายเรื่อง คนแคระ

ในส่วนของวันที่จะประกาศผลหนังสือนวนิยายที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนปี 2558 นั้น ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงแรมแมนดาริน เรียลเต็น ที่รับผิดชอบการประสานงานการประกวด เผยว่า ได้กำหนดไว้ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ส่วนการเข้ารับพระราชทานรางวัลของนักเขียนที่ได้รางวัลนั้นจะเป็นในต้นเดือนธันวาคม ปี 2558

สำหรับคณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนปี 2558 ประกอบด้วย นายสกุล บุณยทัต (ประธานคณะกรรมการรอบคัดเลือก) นายนิกร เภรีกุล นางสาวธนิกาญจน์ จินาพันธ์ นางพิชญาณี เชิงคีรี ไชยยะ นายพินิจ นิลรัตน์ นายสหะโรจน์ กิตติมหาเจริญ นายโสภณ สาทรสัมฤทธิ์ผล

เรียบเรียงจาก ; สำนักข่าวINN

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อาจารย์มหาลัยตั้งเพจต้านระบบประเมิน TQF

$
0
0

31 ส.ค. 2558เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวถึงเสียงคัดค้านของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เกี่ยวกับการประเมินตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา หรือ TQF ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ว่า ได้หารือกับสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา (สมอ.) โดยเน้นย้ำว่าควรฟังปัญหาที่ผู้เกี่ยวข้องร้องเรียนมา เช่น ภาระงานด้านเอกสารมากเกินไป ความไม่ชัดเจนในการตีความ เป็นต้น และได้มอบให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมและติดตามการดำเนินการตามกรอบ TQF ของ สกอ. ไปทบทวนแล้วว่าต้องปรับปรุงแก้ไขในส่วนใดบ้าง แต่จะให้ยกเลิก TQF คงทำไม่ได้ เพราะเป็นระบบที่จะประกันคุณภาพบัณฑิต ซึ่งทั่วโลกต่างก็ใช้กัน หากไทยไม่มี TQF ก็จะเกิดปัญหาเรื่องการประกันคุณภาพบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไป โดยอาจมีปัญหาในการทำงาน หรือ ไม่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีเสียงคัดค้านจากผู้บริหาร และอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้มีการสร้างเพจผ่านเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อว่า “มั่นใจอาจารย์ทั่วประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับระบบประกันคุณภาพของ สกอ.” ซึ่งมีผู้กดไลค์เพจนี้แล้ว 1,454 คน โดยผู้ดูแลเพจระบุว่า จุดประสงค์ของเพจนี้ ไม่ได้ต้องการให้การศึกษาไทยในระดับอุดมศึกษาขาดคุณภาพ แต่ต้องการวิธีการที่เหมาะสม และให้ผลลัพธ์เชิงคุณภาพที่ดีกว่านี้

ผู้ดูแลเพจระบุว่า หลังจากใช้ TQF มา 3 ปีตั้งแต่ปี 2555 ยังไม่มีการประเมินความคุ้มค่า ในการที่ใช้ทรัพยากรมากมาย ทั้งทรัพยากรบุคคล อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ทรัพยากรขององค์กร ค่าใช้จ่ายต่างๆ จำนวนมหาศาลของมหาวิทยาลัยทั้งหมดทั่วประเทศ การประเมินผล ทาง สกอ. ไม่เคยดำเนินการประเมินผลหลังจากมีการใช้งาน TQF เลยแม้แต่ปีเดียว โดยผลลัพธ์ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ การสร้างภาระมากมายให้กับอาจารย์ และการเสียทรัพยากรมากมาย บุคคล เวลา กระดาษ และอื่นๆ ถูกใช้เพื่อทำงานเอกสาร โดยไม่มีการพิสูจน์ผลลัพธ์เลยว่า คุณภาพของการเรียนการสอน หรือ คุณภาพนักศึกษาดีกว่าเดิม หรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘วิชา’ ห่วง รธน.ใหม่ ตัดอำนาจ′ป.ป.ช.′ หวั่น ′คณะกรรมยุทธศาสตร์ฯ′ ไร้ระบบตรวจสอบ

$
0
0

31 ส.ค.2558 มติชนออนไลน์และไทยรัฐออนไลน์รายงาน ความเห็นของ วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อกรณีร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 254(3) ที่มีการจำกัดอำนาจ ป.ป.ช.จากเดิมที่ประชาชนสามารถร้องเรียนการทุจริตในระดับ ผอ.กองหรือเทียบเท่า มาเป็นไต่สวนเฉพาะระดับหัวหน้าหน่วยงานรัฐเท่านั้น

โดย วิชา กล่าวว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ป.ป.ช.รับคำร้องเรียนได้เฉพาะกรณีปลัดกระทรวง อธิบดีหรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้ระบบการป้องกันและปราบปรามทุจริตเสียหาย ไม่สามารถกันคนตัวเล็กตัวน้อยไว้เป็นพยานได้ จนสาวไปไม่ถึงผู้บงการใหญ่ แตกต่างจากอำนาจเดิมที่ป.ป.ช.มีอยู่ แต่ขณะนี้คงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้แล้วอยู่ที่ สปช.จะมีมติรับหรือไม่รับ เหลือเพียงแค่การเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น ว่าจะเขียนอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปราบทุจริตมากกว่านี้ แต่เป็นเรื่องยากเนื่องจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้

ส่วนกรณีการกำหนดเกี่ยวกับคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) มีคำถามว่าจะมีกลไกใดตรวจสอบหรือไม่ และจะนำกลไกใหม่เหล่านี้มาเทียบเคียงกับสปช. ที่ ป.ป.ช.เคยวินิจฉัยว่าไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ไม่ได้เนื่องจากทำหน้าที่ต่างกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิวยอร์กไทม์เปิดประเด็นถกเถียง งานบริการทางเพศควรเป็นเรื่องถูก กม.หรือไม่

$
0
0

นิวยอร์กไทม์นำเสนอการอภิปรายโต้เถียงกันในเรื่องควรทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายหนึ่งหวั่นหากงานบริการทางเพศถูกกฎหมายจะเปิดโอกาสให้มีการค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงานมากขึ้น แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็ชี้ว่าการทำให้ถูกกฎหมายจะช่วยให้คนทำงานได้รับการคุ้มครองและมีเครื่องมือต่อสู้เมื่อถูกกดขี่

เมื่อไม่นานมานี้องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลมีมติส่งเสริมให้งานขายบริการทางเพศไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย โดยระบุว่าการทำให้งานนี้เป็นเรื่องถูกกฎหมายจะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ทำงานบริการทางเพศมากกว่า แต่ก็กลายเป็นเรื่องชวนให้ถกเถียงเมื่อมีนักสิทธิมนุษยชนอีกจำนวนหนึ่งต่อต้านและไม่เห็นด้วย

เรื่องนี้ทำให้เว็บไซต์นิวยอร์กไทม์จัดให้มีการอภิปรายโต้เถียงกันระหว่างนักวิชาการและนักกิจกรรม 2 คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องดังกล่าว

คนแรกคือ กิลเลียน เอเบล ผู้ช่วยศาตราจารย์และหัวหน้าภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอทาโก วิทยาเขตไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นผู้วิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายที่มีต่อสุขภาวะ ความปลอดภัย และสิทธิมนุษยชน เธออยู่ในฝั่งผู้เห็นด้วยกับการทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

ผู้ร่วมอภิปรายอีกคนหนึ่งคือ ไทนา เบียนแอม ผู้อำนวยการบริหารจากสหพันธ์ต่อต้านการค้ามนุษย์ในสตรีและอดีตผู้อำนวยการบริหารองค์กร 'อิควอลิตี นาว' (Equality Now!) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ส่งเสริมสิทธิสตรี เธออยู่ในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

เบียนแอมกล่าวว่ามติของแอมเนสตี้จะทำให้เหล่าแมงดา เจ้าของซ่อง และผู้ซื้อบริการทางเพศ กลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในฐานะอุตสาหกรรมที่มีเงินสะพัดอยู่หลายพันล้านดอลลาร์ เบียนแอมมองว่าการทำเช่นนี้ไม่ใช่วิธีการที่ดีในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงและการกดขี่ และการทำให้อุตสาหกรรมทางเพศกลายเป็นเรื่องธรรมดาจะทำให้มีอัตราการค้ามนุษย์เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่เธอเห็นด้วยว่าหญิงที่ให้บริการทางเพศเป็นคนชายขอบที่ไม่ควรจะถูกลงโทษหรือเป็นเหยื่อการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่ แต่มติของแอมเนสตี้ถือเป็นการส่งเสริมให้ผู้กดขี่มีความชอบธรรม

ทางด้าน เอเบล มองว่าการค้าบริการทางเพศส่วนมากเป็นอาชีพที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกเอง การปฏิเสธว่าการค้าบริการทางเพศไม่ใช่งานยังถือเป็นการปฏิเสธสิทธิในการเลือกงานของผู้คน เป็นการลิดรอนสิทธิของคนเพศอื่นๆ นอกจากเพศหญิงเพศชายและเพศทางเลือก รวมถึงปิดกั้นไม่ให้คนทำงานเข้าถึงสิทธิอื่นๆ อย่างสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายและการเรียกร้องค่าชดเชย โดยยกตัวอย่างกรณีประเทศนิวซีแลนด์ที่เป็นประเทศแรกในการทำให้งานบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งส่งผลให้ผู้ทำงานบริการมีสิทธิในการเข้าถึงกฎหมายได้เท่ากับคนทำงานกลุ่มอื่นๆ ทำให้พวกเขาถูกกดขี่น้อยลง

เอเบล ยังได้ยกตัวอย่างกรณีนิวซีแลนด์ต่อไปว่าเมื่องานบริการทางเพศถูกกฎหมายก็ทำให้ผู้ทำงานบริการทางเพศมีอำนาจต่อรองมากขึ้น มีการรวมกลุ่มเลือกตั้งผู้บริหารแหล่งบริการของตัวเอง นอกจากนี้ในกรณีที่มีการถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างไม่เต็มใจและการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของตำรวจก็สามารถฟ้องร้องเอาชนะได้ทั้ง 2 คดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ทำให้งานบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายเสียก่อน

ในมุมมองของเบียนแอม เธอเห็นด้วยกับการที่ไม่ควรใช้กฎหมายเอาผิดกับผู้ทำงานบริการทางเพศ แต่เธอก็บอกว่าควรส่งเสริมให้มีการเอาผิดกับผู้ซื้อบริการทางเพศซึ่งถือเป็นผู้เพิ่มอุปสงค์ และยังคงยืนยันว่าการทำให้การบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายถือเป็นการเปิดทางให้ระบบทั้งระบบที่เธอมองว่าเป็นระบบที่กดขี่ทางสิทธิมนุษยชน

เอเบลโต้แย้งโดยเน้นย้ำประเด็นว่าผู้เข้าสู่งานบริการทางเพศจำนวนมากเป็นผู้ที่เลือกเข้าไปเอง ถึงแม้เธอจะไม่ปฏิเสธว่าคนทำงานบริการทางเพศบางส่วนก็เป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรทางสังคมได้น้อยกว่าคนอื่น (เช่นเข้าถึงการศึกษาได้ไม่ดีเท่า หรือได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากครอบครัวน้อยกว่า) ทำให้มีทางเลือกน้อยจนต้องเลือกมาทำงานบริการทางเพศ แต่งานบริการทางเพศก็ไม่ได้แตกต่างจากงานอื่นๆ งานทุกชนิดต่างก็มีการกดขี่แรงงานทั้งนั้น และการทำงานในสภาพที่ถูกทำให้เป็นงานผิดกฎหมายหรือแม้กระทั่งกับโมเดลการลงโทษผู้ซื้อบริการก็เปิดโอกาสให้ผู้ทำงานบริการทางเพศถูกบังคับขู่เข็ญได้มากขึ้น

เบียนแอมโต้กลับในประเด็น "ทางเลือก" ว่าเธอไม่ปฏิเสธสิทธิของผู้หญิงในการขายเรือนร่างของตัวเอง แต่ก็ชี้ให้เห็นประเด็นที่ว่า "ทางเลือก" ของคนบางกลุ่มก็มีข้อจำกัดจากความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องฐานะ ความไม่เท่าเทียมกันทางวัฒนธรรม และความไม่เท่าเทียมกันทางเพศสภาพ มีบางกรณีที่ต้องเข้าสู่วงจรการค้าบริการทางเพศตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 18 ปี แสดงให้เห็นถึงทางเลือกที่มีจำกัด

เบียนแอมชี้ว่าหลังจากที่นิวซีแลนด์ทำให้การทำงานบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายก็พบว่ามีการขายบริการทางเพศตามท้องถนนในเมืองอ๊อคแลนด์เพิ่มมากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชาติชาวเมารีและโพลินีเซียน รัฐบาลนิวซีแลนด์ถึงขั้นออกคู่มือ "ความปลอดภัยและสุขภาวะในการทำงาน" ให้กับงานที่เป็นอันตรายต่อผู้หญิง

แต่เอเบลก็โต้ว่าไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีผู้ทำงานบริการทางเพศเพิ่มขึ้นจำนวนมากนับตั้งแต่มีการทำให้งานบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่อาจจะเป็นเพราะทำให้การค้าบริการทางเพศมีความเปิดเผยมากขึ้นจนทำให้เห็นจำนวนที่แท้จริงได้ ในประเด็นการขายบริการทางเพศของเด็กอายุต่ำว่า 18 ปี เอเบลก็ระบุว่า "นิวซีแลนด์โมเดล" ก็กำลังจัดการในเรื่องนี้โดยเปลี่ยนจากการลงโทษเด็กเป็นการคุ้มครองเด็กแทน และเธอเห็นด้วยว่าไม่ควรมีการขายบริการทางเพศโดยเด็กอายุต่ำว่า 18 ปี

เอเบลเปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันนิวซีแลนด์มีการอนุญาตให้ผู้ให้บริการทางเพศ ลูกค้า รวมถึงผู้บริหารแหล่งค้าบริการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าสงสัยว่าจะมีส่วนเกี่ยวโยงกับการค้ามนุษย์ได้ การทำให้การค้าบริการเป็นเรื่องถูกกฎหมายจึงส่งผลให้มีการเปิดโปงเรื่องการกดขี่ออกมาได้มากขึ้น

แต่ทางเบียนแอมก็ไม่เชื่อใจกลุ่มผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าบริการทางเพศในแง่ที่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ที่ยอมเปิดเผยเรื่องการค้ามนุษย์ เบียนแอมชี้ว่านิวซีแลนด์ยังมีระบบการตรวจสอบการค้ามนุษย์เพื่อใช้ทำงานทางเพศไม่ดีพอ โดยยกตัวอย่างเรื่องที่มีคนที่หนีรอดจากการค้าประเวณีเคยให้การว่าชีวิตพวกเขาอยู่ในอันตราย ถูกกระทำรุนแรง และถูกกดขี่ข่มเหง นอกจากนี้ยังมีปัญหาการค้ามนุษย์แบบข้ามชาติจากหลายประเทศในเอเชียโดยเฉพาะที่เป็นเด็กในกลุ่มชนพื้นเมือง

เบียนแอมยังได้กล่าวถึงในแง่บรรทัดฐานทางวัฒนธรรมด้วยว่า การทำให้การค้าบริการทางเพศถูกกฎหมายยังเป็นการส่งสัญญาณให้เหล่าแมงดาและผู้ซื้อเห็นคนเป็นวัตถุที่ซื้อขายกันได้และทำให้กลุ่มค้ามนุษย์ฉวยโอกาสจากแนวคิดแบบนี้

เอเบลโต้แย้งในประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ว่า การทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายนั้นไม่ได้ทำให้การบังคับใช้แรงงานกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายไปด้วย และในขณะเดียวกันก็ไม่ควรเหมารวมว่าการค้าบริการทางเพศทั้งหมดเป็นเรื่องการค้ามนุษย์แต่อย่างเดียว อย่างไรก็ตามเอเบลเห็นด้วยว่าในประเทศโลกที่สามมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะมีคนถูกบังคับค้าบริการทางเพศเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว

ในประเด็นที่รัฐสภานิวซีแลนด์รับฟังเรื่องอันตรายจากงานบริการทางเพศจากอดีตผู้ทำงานบริการทางเพศนั้น เอเบลบอกว่าเป็นเรื่องจริงแต่ก็เป็นเรื่องด่วนสรุปเกินไปว่าการทำงานบริการทางเพศทั้งหมดเป็นเรื่องอันตราย เอเบลยังระบุอีกว่ามีการสำรวจและงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าในนิวซีแลนด์หลังจากปี 2546 เป็นต้นมาคนทำงานบริการทางเพศมีสุขภาวะที่ดีขึ้นและมีความปลอดภัยมากขึ้น

"การปฏิเสธไม่ให้ทุกคนมีเสรีภาพในการทำงานบริการทางเพศที่มีการยินยอมพร้อมใจ (consent) เป็นสิ่งที่มีปัญหาเพราะมันเป็นการลบเลือนการแยกแยะระหว่างการทำงานบริการทางเพศและการข่มขืน และผู้ทำงานบริการทางเพศควรสามารถฟ้องร้องได้เมื่อมีการข่มขืนเกิดขึ้น เสรีภาพของคนทำงานบริการทางเพศและการมีเพศสัมพันธ์อย่างยินยอมพร้อมใจจะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ได้ถ้าพวกเขาได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายและสามารถเข้าถึงสภาพการทำงานที่ปลอดภัยได้" เอเบลกล่าว


เรียบเรียงจาก

Should Prostitution Be a Crime?, New York Times, 26-08-2015
http://www.nytimes.com/roomfordebate/2015/08/26/should-prostitution-be-a-crime

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวญี่ปุ่นหลายหมื่น ชุมนุมต้าน กม.ความมั่นคง หน้ารัฐสภา

$
0
0

ประชาชนชาวญี่ปุ่นจำนวนมากรวมตัวกันประท้วงหน้าอาคารรัฐสภาของญี่ปุ่นเพื่อต่อต้านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่ขยายปฏิบัติการของกองกำลังป้องกันตนเองจนเกิดความกังวลว่าจะทำให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามความขัดแย้งกับชาติอื่น

31 ส.ค. 2558 สำนักข่าวอาซาฮีรายงานว่ามีผู้ประท้วงหน้ารัฐสภาของญี่ปุ่นหลายหมื่นคนซึ่งถือว่ามีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ เพื่อต่อต้านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ หลังจากที่กลุ่มนักกิจกรรมพยายามขับเคลื่อนให้มีผู้ประท้วงจากทั่วประเทศเข้าร่วม

ผู้ประท้วงหลายคนถือป้ายต่อต้านกฎหมายความมั่นคงและบางส่วนเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ลาออก ท่ามกลางบรรยากาศครื้มฟ้าครื้มฝนเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา เหตุที่ผู้คนพากันต่อต้านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของญี่ปุ่นเนื่องจากกังวลว่าจะเป็นกฎหมายที่นำพาประเทศเข้าสู่ความขัดแย้งกับต่างชาติและขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาญี่ปุ่นมีกองกำลังป้องกันตนเอง (Self-defense Force หรือ SDF) ซึ่งถูกจำกัดบทบาทตามรัฐธรรมนูญให้เหลือเพียงแค่ใช้ป้องกันประเทศตนเองเท่านั้น แต่กฎหมายฉบับใหม่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายการทหารให้ญี่ปุ่นสามารถนำกองกำลังป้องกันตนเองไปช่วยเหลือป้องกันประเทศที่เป็นพันธมิตรได้ โดยมีการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในสภาล่างเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

กระแสการต่อต้านกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วญี่ปุ่นแล้วก่อนหน้านี้ เช่นการประท้วงของผู้หญิง 600 คนในโอซาก้า การประท้วงของผู้หญิง 180 คนที่สถานีรถไฟโทยะมะ รวมถึงมีการเข้ารับฟังบรรยายทางการเมืองในมหาวิทยาลัยเกียวโตซึ่งจัดโดยกลุ่มคุณแม่ที่ต้องการได้รับข้อมูลความรู้ในการต่อต้านกฎหมายดังกล่าว ขณะที่ผู้ประท้วงอีกบางส่วนมองว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้ญี่ปุ่นไม่มีสันติภาพและทำให้ลูกหลานของพวกเขาไม่มีเสรีภาพในการเดินตามความฝันของตนเอง

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา มีประชาชนราว 500 คน ชุมนุมในย่านชินจูกุเพื่อแสดงการสนับสนุนกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่โดยมีผู้ชุมนุมรายหนึ่งให้เหตุผลที่พวกเขาเห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะช่วยเหลือตอบโต้ "ภัยคืบคลาน" ให้กับประเทศที่มีค่านิยมแบบเดียวกัน และเชื่อว่ากฎหมายนี้จะช่วย "ปกป้องครอบครัว" ของพวกเขาได้ นอกจากนี้ยังมีผู้สนับสนุนอีกจำนวนหนึ่งชุมนุมในเมืองอื่นๆ อย่างประปราย

ทั้งนี้ ถึงแม้รัฐบาลและฝ่ายสนับสนุนกฎหมายความมั่นคงจะบอกว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ทำให้การเกณฑ์ทหารกลับมา แต่ก็ยังมีคนกังวลในเรื่องนี้เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวสนับสนุนให้มีการขยายปฏิบัติการของกองกำลังป้องกันตนเองเพิ่มขึ้นมาก


เรียบเรียงจาก

Massive hordes of protesters rally at Diet building to protest Abe’s security bills
http://ajw.asahi.com/article/behind_news/politics/AJ201508300022

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ลลิตา’ ทึ่งนิสิตมอบดอกไม้ให้กำลังใจ พร้อมหลักฐานแคปโพสต์ขู่ 60 หน้า

$
0
0

จากกรณี ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กวิจารณ์เรื่องรูปแบบการรับน้องใหม่ของนักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มมส. จนเป็นเหตุให้นิสิตวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ได้โพสต์ตอบโต้และข่มขู่คุกคาม

และเมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า ลลิตา กล่าวว่า การแจ้งความดำเนินกับบุคคลที่โพสต์ข้อความข่มขู่เป็นศิษย์เก่าที่จบไปแล้วรวมถึงบทสนทนาต่างๆ ในลักษณะคุกคามทางเพศ หรือโพสต์ภาพโลงศพ อาวุธปืน หรือมีด สัญลักษณ์ที่นำไปสู่การข่มขู่คุกคามตนเอง ตอนนี้ก็มีคนรวบรวมหลักฐานต่างๆ ไว้ให้แล้ว คงต้องขอดูสถานการณ์อีก 1-2 วัน ว่าจะแจ้งความดำเนินคดีหรือไม่ ขอคุยกับทางครอบครัวก่อน

วันนี้(31 ส.ค.58) ผู้สื่อข่าว 'ประชาไท' ได้สอบถามความคืบหน้ากรณีดังกล่าว โดย ลลิตา กล่าวว่า อยากให้เรื่องดังกล่าวเงียบลงเรื่อยๆ เพราะได้รับคำแนะนำจากหลายๆ ทางว่าการแจ้งความอาจจะทำให้เรื่องไม่เงียบ อย่างที่เราต้องการ

“ไม่ได้อยากเอาเรื่องกับนิสิตปัจจุบันให้เขาเสียอนาคต แต่ว่าถ้ามันมีการข่มขู่อีกก็อาจจะดำเนินคดี ไม่อยากให้ใครเดือดร้อนเพราะถือว่าเขารู้ตัวแล้ว เขาหยุดแล้ว” ลลิตา กล่าว

ลลิตา กล่าวว่า คนจำนวนมากที่โพสต์ทั้งรูปโลงศพหรืออาวุธขู่นั้น ทราบมาจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ว่าเป็นนิสิตเก่า ซึ่งถ้าหากทางกลุ่มดังกล่าวไม่มีพฤติกรรมข่มขู่คุกคามอีกก็คิดว่าจะไม่ดำเนินคดีเช่นกัน อยากให้เรื่องจบเร็วที่สุดและเป็นอุทาหรณ์ของสังคมมากกว่า

ต่อความคืบหน้าหลังกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สั่งการให้มีการสอบสวนกรณีนี้นั้น ลลิตา กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานหรือทราบว่ามีการสอบสวนจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การขู่เพื่อให้มหาวิทยาลัยจัดการ ซึ่งถือว่ามีผลอย่างมาก เพราะหลังจากนั้นผู้บริหารมหาวิทยาลัยเปลี่ยนท่าที

ส่วนกรณีที่มีพิธีการที่นักศึกษามาขอขมานั้น ลลิตา กล่าวว่า คนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นมีคณบดีทั้งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และรักษาการอธิการ รวมทั้งมีอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ไปเกือบทุกคน แต่ตัวตนเองไม่ได้ไปเพราะติดราชการอยู่ที่พิษณุโลก ซึงตนมองพิธีการดังกล่าวอาจเป็นการทำให้กระแสสังคมลดลงถึงได้จัดขึ้น

นอกจากนี้ ลลิตา กล่าวด้วยว่า วันนี้ (31 ส.ค.58) เข้าไปมหาวิทยาลัยตั้งแต่เช้าพยายามระมัดระวังตัวมากเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงไม่อยากเจอผู้คนมาก ส่วนเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยนั้น ไม่ทราบว่าทางมหาวิทยาลัยมีการดำเนินการหรือไม่อย่างไร โดยตอนที่ได้ไปสอนนิสิตชั้นปีที่ 2 ช่วงประมาณบ่ายโมงถึง 6 โมงเย็น พอเข้าห้องไปมีตัวแทนนิสิตลุกขึ้นบอกว่ามีอะไรที่จะกล่าวกับอาจารย์และมีอะไรที่จะให้อาจารย์ แล้วแต่ละคนก็ดึงดอกกุหลาบจากใต้โต๊ะมาให้

ภาพนิสิตให้กำลังใจ 'ลลิตา' ภาพจากเฟซบุ๊กของเธอ

“ตอนนั้นก็รู้สึกทึ่งเหมือนกันที่นิสิตให้กำลังใจและแคร์เรามาก และเขาก็พูดเหมือนกันว่าอยากให้อาจารย์อยู่ต่อ ไม่อยากให้ลาออกหรือเสียกำลังใจ” ลลิตา กล่าวและว่า นอกจากนิสิตชั้นปีที่ 2 แล้ว ยังมีนิสิตชั้นปีที่ 3 เอกประวัติศาสตร์ มารอพบหลังจากเลิกสอนเพื่อเอาดอกไม้มามอบให้จำนวนหลายสิบคน

ลลิตา กล่าวต่อว่า ที่สำคัญนิสิตชั้นปีที่ 3 ได้เอาหลักฐานที่เป็นโพสต์ต่างๆ ในเฟซบุ๊ก ที่ไม่เซนเซอร์ที่เขาช่วยๆ กันแคปเจอร์ไว้ เขาพิมพ์มาประมาณ 60 หน้า แล้วนำใส่แฟ้มมาให้ รวมทั้งมีซีดีที่เป็นเทปบันทึกเสียงวันที่อธิการเรียกพบทุกฝ่ายด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘วรรณา’ ผู้ต้องหาเอี่ยวระเบิดราชประสงค์ ยันบริสุทธิ์พร้อมมอบตัว ขอค่าเครื่องบินกลับด้วย

$
0
0

31 ส.ค.2558 สำนักข่าวไทยรายงานความคืบหน้ากรณีเหตุระเบิดที่บริเวณราชประสงค์เมื่อวันที 17 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศาลจังหวัดมีนบุรีอนุมัติหมายจับน.ส.วรรณา สวนสัน หรือ ไมซาเลาะ อายุ 26 ปี ชาวจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นผู้เช่าห้องพัก อพาร์ทเมนท์ไมมูณา การ์เด้นโฮม ซอยราษฎร์อุทิศ 25/8 ย่านมีนบุรีและชายไม่ทราบสัญชาติซึ่งพักอาศัยอยู่ด้วยกัน ในข้อหาร่วมกันครอบครองยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต หลังพบดินดำ ประกอบระเบิด ปุ๋ยยูเรีย รีโมท รถบังคับวิทยุ ที่ถอดเซนเซอร์แล้ว น๊อต หลอดไฟ นาฬิกาดิจิตอล ซึ่งในส่วนของดินดำถือเป็นยุทธภัณฑ์ ที่ไม่สามารถมีไว้ครอบครองได้ หลังตำรวจ ทหาร เข้าตรวจค้นอพาร์ทเมนท์ ไมมูณา การ์เด้นโฮม เมื่อวานที่ผ่านมา

พล.ต.ท.ประวุฒิ ระบุว่า จากหลักฐานทั้งหมดที่พบ เป็นกลุ่มเดียวกัน กับผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมได้ในพื้นที่หนองจอก เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ และสะพานสาทร  ซึ่ง 2 คนหลัง จากข้อมูลยังไม่พบว่ามีการเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งตำรวจอยู่ระหว่างการเร่งติดตามตัว นอกจากนี้ยังเตรียมออกหมายจับ ผู้ร่วมขบวนการเพิ่มเติม อีกหลายคน

ค้นบ้าน  ‘วรรณา’ ที่พังงาพบไปอยู่บ้านสามีที่ตุรกี

เนชั่นรายงานด้วยว่า วันนี้(31 ส.ค.58)เมื่อเวลา 15.00 น. พ.ต.อ.ธรัฐชา ถมปัดม์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงา พร้อมด้วย พ.ต.อ.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 และ นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกำลังทหารกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 25 ค่ายรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง เดินทางเข้าตรวจค้นบ้าน หมู่ที่ 6 ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา ซึ่งเป็นที่อยู่ของ น.ส.วรรณา ที่ศาลจังหวัดมีนบุรีออกหมายจับ ดังกล่าว

โดยทางญาติยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นแต่โดยดี แต่ไม่พบตัว โดยญาติผู้ใกล้ชิด น.ส.วรรณา คนหนึ่งแจ้งว่า น.ส.วรรณา ไม่ได้กลับบ้านมานานกว่า 3 เดือนแล้ว และล่าสุดญาติได้ติดต่อโซเชียลมีเดีย และพูดคุยกับ น.ส.วรรณา จนทราบว่าขณะนี้พักอาศัยอยู่ที่ประเทศตุรกี โดยยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ และได้ติดต่อกับทางตำรวจกองปราบปรามแล้วและจะรีบเดินทางกลับมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเร็ว

นายอิบรอเหม คมขำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 กล่าวว่า น.ส.วรรณาฯ ได้เรียนหนังสือและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ก่อนจะพบรักกับชาวตุรกีและเดินทางกลับมาจัดพิธีแต่งงานที่บ้านประมาณหนึ่งปีที่ผ่านมาปัจจุบันมีลูกด้วยกัน 1 คน และได้กลับมาบ้านในช่วงเทศกาลถือศีลอดที่ผ่านมา

หลังจากนั้นได้แจ้งกับญาติๆ ว่าจะเดินทางไปบ้านของสามีที่ประเทศตุรกี ส่วนตัวแล้วคาดว่าคงจะไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับขบวนการนี้ หากมีส่วนเกี่ยวข้องก็คงจะโดนหลอกอย่างแน่นอน

‘วรรณา’ ยันพร้อมกลับจากตุรกีมอบตัวพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ขอทางการจ่ายค่าเครื่องบิน

โทมัส ฟุลเลอร์ นักข่าวนิวยอร์กไทมส์ ทวีตผ่าน @thomasfullerNYTว่า วรรณา ผู้ต้องสงสัย ซึ่งเป็นผู้เช่าอพาร์ทเมนต์ซึ่งพบระเบิดนั้น ขณะนี้อยู่ในตุรกี สามีของเธอเป็นชาวตุรกี โดยหัวหน้าหมู่บ้านซึ่งได้คุยกับเธอเล่าว่า เธอยินดีจะมอบตัว เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองบริสุทธิ์ ขอให้ทางการไทยจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินไปให้ ทั้งนี้ เธอบอกกับหัวหน้าหมู่บ้านด้วยว่า เธอได้ย้ายออกจากอพาร์ทเมนต์ดังกล่าวตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย.แล้ว

"นี่เป็นเรื่องผิดพลาด" วรรณา กล่าวและว่า "ประเทศไทยทำกับฉันแบบนี้ได้อย่างไร"

"ฉันยินดีจะมอบตัว ที่ไหนและเมื่อใดก็ได้" เธอกล่าวและว่า ตัวเองบริสุทธิ์

ผบ.ตร.เตรียมมอบเงิน 3 ล้านให้ทีมสืบสวน

สำนักข่าวไทยรายงานด้วยว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เตรียมมอบเงินจำนวน 3 ล้านบาท ให้ทีมสืบสวน กรณีบุกเข้าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีระเบิดแยกราชประสงค์และท่าเรือสาทร ได้ที่อพาร์ตเมนต์ย่านหนองจอก ยืนยันการควบคุมตัวเป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักของทีมสืบสวน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกฟ้องคดีทัพเรือฟ้องเว็บภูเก็ตหวาน หมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ

$
0
0

1 ก.ย. 2558 ศาลจังหวัดภูเก็ต มีคำสั่งยกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2161/2557 ที่กองทัพเรือดำเนินคดีกับสำนักข่าวภูเก็ตหวาน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 จากการเผยแพร่รายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งระบุว่าทหารไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ผู้อพยพทางเรือ

ศาลพิพากษาว่า Alan Morison บรรณาธิการ และชุติมา สีดาเสถียร นักข่าวของสำนักข่าวออนไลน์ภูเก็ตหวาน ไม่มีความผิดตามข้อหาหมิ่นประมาทและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้ลงโทษการนำเข้าข้อมูลดิจิตัลอันเป็นเท็จในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลที่สามหรือสาธารณะ
               
สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ระบุว่า นี่เป็นชัยชนะของเสรีภาพสื่อ และที่สำคัญกว่านั้น ศาลยังระบุว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่สามารถใช้ในความผิดหมิ่นประมาทได้ ซึ่งพัฒนาการนี้จะมีนัยสำคัญต่อคดีจำนวนมากที่ถูกฟ้องด้วยกฎหมายนี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ในหัวข้อ "การยกฟ้องคดีต่อนักข่าวภูเก็ตหวานเป็นก้าวย่างเล็กๆ ในทิศทางที่ถูกต้อง" โดยระบุว่า การยกฟ้องคดีต่อนักข่าวสองท่านในไทยในการพิจารณาคดีที่มีการนำบางส่วนของบทความเกี่ยวกับการค้ามนุษย์มาตีพิมพ์ซ้ำ นับเป็นแนวโน้มที่น่ายินดีสำหรับเสรีภาพด้านการแสดงออก แต่อันที่จริงบุคคลทั้งสองไม่ควรต้องเข้ารับการไต่สวนตั้งแต่แรก
               
Josef Benedict  ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การยกฟ้องคดีต่อผู้สื่อข่าวทั้งสองท่านเป็นคำวินิจฉัยในเชิงบวก แต่อันที่จริงพวกเขาไม่ควรต้องเข้ารับการไต่สวนตั้งแต่แรกหรือเผชิญความเสี่ยงที่อาจถูกจำคุกหลายปี โดยการดำเนินคดีนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งถึงการเพิกเฉยต่อเสรีภาพในการแสดงออกทางการไทย
               
“ข้อบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีลักษณะกำกวม และได้ถูกใช้อย่างมิชอบเพื่อเป็นเครื่องมือปิดปากและคุกคามสื่ออิสระ กฎหมายดังกล่าวประกอบด้วยข้อบัญญัติซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชน และควรได้รับการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ”
               
“การฟ้องร้องนี้ถือเป็นปฏิบัติการครั้งล่าสุดที่มีมาอย่างยาวนานในการโจมตีเสรีภาพในการแสดงออกและสำนักข่าว นับแต่กองทัพยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ทางการไทยต้องยุติการแสดงความสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนที่ปราศจากความจริงใจ ต้องยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างมิชอบด้วยกฎหมายโดยทันที รวมทั้งยกเลิกข้อกล่าวหาทางอาญาและบทลงโทษจำคุกต่อนักโทษทางความคิดที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น”

สำหรับรายงานของรอยเตอร์ที่ภูเก็ตหวานนำมาอ้างอิงนั้น เป็นรายงานพิเศษเรื่องการกดขี่ชาวโรฮิงญา ที่เผยแพร่เมื่อปี 2556 และต่อมา ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ปี 2557

               
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตา ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาคดีขอให้ปล่อยตัว ‘บิลลี่’ พรุ่งนี้

$
0
0

1 ก.ย. 2558 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association) แจ้งว่า พรุ่งนี้ (2 ก.ย. 58) เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีการขอให้ปล่อยตัว พอละจี รักจงเจริญ หรือ ‘บิลลี่’ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงขอเชิญสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษาตามวันและเวลาดังกล่าว

โดย สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 58 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำร้อง ในคดีหมายเลขดำที่ พิเศษ 1/2557 ที่นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัว บิลลี่ จากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 มีใจความว่า จากการไต่สวนพยานทั้งปาก ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัว บิลลี่ ไปแล้ว แม้คำเบิกความจะมีข้อแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียดหาใช่ข้อสาระสำคัญอันเป็นพิรุธไม่  พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการคุมขังนายบิลลี่ไว้โดยไม่ขอบด้วยกฎหมาย คำร้องขอผู้ร้องจึงไม่มีมูล ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ซึ่ง พิณนภา ผู้ร้อง ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว จึงได้ยื่นฎีกาในประเด็นดังต่อไปนี้

1. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฯ มีความขัดแย้งกับ บิลลี่ ในกรณีการเผาทำลาย ไล่รื้อ บ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จึงอาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฯ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินคดี และนำไปสู่การควบคุมตัวนายบิลลี่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  อันอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของ บิลลี่

2. การพิสูจน์ว่า บิลลี่ ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วหรือไม่นั้น โดยหลักการรับฟังพยานหลักฐาน ภาระการพิสูจน์เป็นของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการควบคุมตัว ไม่ใช่ภาระการพิสูจน์ของญาติผู้ถูกควบคุมตัว และตุลาการจะต้องทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ถึงที่สุดว่า บิลลี่ ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วจริง เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกการจับ บันทึกของกลาง และบันทึกการปล่อยตัว จึงไม่อาจเชื่อได้ว่า บิลลี่ ได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว  และเชื่อได้ว่า บิลลี่ ยังคงอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฯ 

3. พยานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับฟังล้วนแล้วแต่อยู่ใต้บังคับบัญชาและการดูแลของ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ซึ่งเบิกความขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวนในประเด็นการปล่อยตัวนายบิลลี่อันเป็นข้อสำคัญในคดี  โดยพนักงานสอบสวนได้พบพยานหลักฐานใหม่ที่ยืนยันว่า นายบิลลี่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว จึงขอให้ศาลฎีกาไต่สวนพยานเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และมีสาระสำคัญถึงขนาดที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลฎีกาได้

สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ภายหลังจากยื่นฎีกาและคำร้องขอให้ศาลฎีกาไต่สวนพยานเพิ่มเติม ปรากกฎว่ายังไม่มีคำสั่งให้ไต่สวนพยานเพิ่มเติมแต่อย่างใด

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 57 บิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย  ถูก ชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวและได้หายตัวไปในระหว่างการควบคุมตัวดังกล่าว ภรรยาของนายบิลลี่จึงดำเนินการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ต่อศาล เพื่อขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน ในการค้นหาความจริงของการควบคุมตัวนายบิลลี่ และจากกรณีการควบคุมตัวนายบิลลี่ดังกล่าว พนักงานสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 ได้ตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และส่งสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2558 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 นางสาวพิณนภาได้ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้รับคดีการหายตัวของนายบิลลี่เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากคดีดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นทำให้มีอุปสรรคในการสืบสวนสอบสวน เกิดความหวาดกลัวของพยาน และมีความยากลำบากในการสืบหาพยานหลักฐาน

คณะทนายความ เห็นว่าคดีนี้ เป็นคดีที่มีความสำคัญต่อนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม การบังคับให้บุคคลใดสูญหายเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องกำหนดมาตรการอย่างเด็ดขาดในการสืบสวนหาความจริง  เพื่อไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศต่างมีข้อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ให้มีความคืบหน้าโดยเร็วและอย่างเป็นอิสระ แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีการกำหนดความรับผิดทางอาญากรณีมีการบังคับให้บุคคลสูญหายตามกฎหมายของไทย แต่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายแล้ว ในฐานะรัฐภาคีจึงควรใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อป้องกันการบังคับให้สูญหายและไม่ให้ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากความผิดฐานบังคับให้สูญหาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุเทพหนุนรับ รธน. แม่น้ำ 5 สาย-เหมาะกับเมืองไทย เสื้อผ้าฝรั่งใส่แล้วไม่หล่อ

$
0
0

สุเทพ เทือกสุบรรณ แถลงสนับสนุนให้รับร่างรัฐธรรมนูญฯ เพื่อให้การปฏิรูปต่อเนื่องสมเจตนารมณ์ กปปส. ส่วนเนื้อหาเรื่อง "คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ" ก็จำเป็นเพราะ กปปส. เคยเจอวิกฤตเสียเลือดเนื้อมาแล้ว พร้อมยืนยันร่าง รธน. นี้เหมาะกับสถานการณ์เมืองไทย เสื้อผ้าฝรั่งบางทีก็ดูไม่หล่อ - ส่วนความบกพร่องในเนื้อหาเป็นเรื่องธรรมดา วันข้างหน้าแก้ไขได้

สุเทพ เทือกสุบรรณ แถลงข่าววันนี้ (1 ก.ย.) โดยแสดงจุดยืนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีการลงมติในที่ประชุม สปช. (ที่มาของภาพ: มติชนออนไลน์)

1 ก.ย. 2558 - สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้แถลงจุดยืนเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าสิ่งที่เขากำลงจะกล่าวเป็นความเห็นของมวลมหาประชาชนด้วยชีวิตและจิตวิญญาณและสำนึกที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ไม่มีแนวคิดที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อมาช่วงชิงอำนาจทางการเมืองกับใครทั้งสิ้น

โดยเขายืนยันว่าเขาไม่กลับไปพรรคประชาธิปัตย์อีกแล้ว และไม่คิดจะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย หรือพรรคใดๆ ทั้งสิ้น เขายืนยันว่าเขาไม่ใช่คูแข่งทางการเมืองของพรรคการเมืองกลุ่มไหนทั้งสิ้น

มุมมองของมวลมหาประชาชนมองรัฐธรรมนูญในแง่ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดโอกาสให้เจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการปฏิรูปประเทศไทยเกิดขึ้นได้หรือไม่ โดยเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนคือต้องปฏิรูปประเทศไทย

"เมื่อมองจากมุมนี้ มวลมหาประชาชน เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีพอที่จะทำประเทศประชาชนลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีพอที่จะนำเสนอให้ประชาชนลงประชามติ คนที่จะตัดสินใจคือพี่น้องประชาชนทั้งประเทศในการทำประชามติ"

สุเทพกล่าวว่าสำหรับมวลมหาประชาชนเราเรียกร้องแสดงเจตนารมณ์มาโดยตลอดชัดเจนว่าต้องปฏิรูปประเทศไทย บางเรื่องต้องทำทันที ต้องทำเดี๋ยวนี้ ทำก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง บางเรื่องอาจจะต้องใช้เวลา ทำเดี๋ยวนี้อาจจะไม่เสร็จ จะต้องทำต่อเนื่องไป ความต่อเนื่องนี่แหละที่เป็นหัวใจสำคัญที่เรามวลมหาประชาชนทั้งหลายคาดหวังตั้งใจเอาไว้ ทำอย่างไรถึงจะให้กระบวนการปฏิรูปประเทศไทยดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประเทศของเรามีความมั่นคงมีความปลอดภัยอย่างยั่งยืน

เมื่อมวลมหาประชาชนออกมาเรียกร้องการปฏิรูปเราได้แสดงเจตนารมณ์ต้องปฏิรูปประเทศไทย 5 ด้านด้วยกัน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายในประเทศไทยต้องร่วมมือกันทำ คือการปฏิรูปการเมือง เราได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ถ้าปล่อยให้สภาพการเมืองเป็นไปอย่างในอดีต ประเทศเราก็จะมีวิกฤตไม่สิ้นสุด ประเทศจะเสียหายล้มละลายได้ เรื่องนี้ต้องทำทันที และต้องทำก่อนเลือกตั้ง

ในส่วนที่ปฏิรูปการเมืองต้องปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ไม่ต้องการเห็นพรรคกาเรมืองเป็นของนายทุน ของกลุ่มผลประโยชน์ ของคนที่เข้ามาสู่การเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

เราต้องการให้มีการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง กระบวนการในการเลือกตั้งทั้งหลาย ทั้งเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการเอกตั้งและองค์กรที่ดูแลเรื่องการเลือกตั้ง เจตนารมณ์ของเรายืนยันว่าการเลือกตั้งในประเทศเราต้องบริสุทธิ์ ยุติธรรม ต้องไม่เปิดโอกาสให้ใครมาบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจอิทธิพลต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโกงการเลือกตั้ง การซื้อคะแนนเสียงเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้เราถือว่าเป็นพฤติกรรมของการเลือกตั้งที่ทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนที่มาเลือกตั้งถูกบิดเบือน

“ขอความกรุณาอย่าพูดแทนประชาชนว่า โปรดอย่าอธิบายกับเราว่าไม่สามารถทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างที่เราเรียกร้อง เรายืนยันว่าการเลือกตั้งต้องบริสุทธิ์ยุติธรรม คนที่มีหน้าที่ต้องดูแลและต้องทำก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะถึง”

เรื่องต่อมา ระบบราชการและการกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดิน

อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างระบบที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ และสังคม ทั้งการสาธารณสุขและการศึกษา เป้าหมายสำคัญก็คือเพื่อที่จะแก้ปัญหาคนจน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

ประการสุดท้ายที่ประชาชนเรียกร้องคือต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจ เราประชาชนต้องการให้ตำรวจในประเทศไทยเป็นตำรวจของประชาชน

เมื่อได้มองจากเรื่องที่ผมได้กราบเรียนไปทั้ง 5 ประเด็นนี้ที่เป็นเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญนี้ดีพอที่จะส่งให้ประชาชนลงประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญนี้มีหลักประกันที่ทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญนี้ได้ผ่านประชามติมีผลใช้บังคับ การปฏิรูปประเทศไทยก็จะได้ดำเนินการต่อไปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่มวลมหาประชาชนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

การปฏิรูปประเทศต้องทำร่วมกันทุกฝ่ายทั้งฝ่ายประชาชน ราชการและองค์กรต่างๆ สำคัญที่ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพผลักดันให้มีการปฏิรูปประเทศไทยตามเจตนารมณ์ของประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคำตอบให้ประชาชนมั่นใจ มองเห็นภาพว่าใครเป็นเจ้าภาพ และการปฏิรูปนี้ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติ และคนที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนคือ"คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง (คปป.) ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต้องทำการปฏิรูปประเทศ ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ นี่เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็น และทำให้เราเชื่อมั่นว่าการปฏิรูปประเทศไทยจะได้ดำเนินการต่อไปได้

สิ่งที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้พูดถึงหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองไว้ชัดเจน ที่สำคัญ มวลมหาประชาชนผ่านวิกฤตมาด้วยความเจ็บปวด เสียเลือดเสียเนื้อเสียชีวิตมาเพื่อแลกกับอนาคตของประเทศไทย และเราเห็นว่าในวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีทางออก ไม่มีคนที่จะมีอำนาจเข้ามาแก้ไข สถานการณ์ที่มีความร้ายแรงรุนแรงถึงขนาดฆ่าประชาชนกลางถนน มวลมหาประชาชนเสียชีวิตไป 25 คน บาดเจ็บนับพันคน ไม่มีใครบริหารบ้านเมืองแล้ว สภาก็ถูกยุบแล้ว เลือกตั้งใหม่ก็ไม่ได้ แต่ก็มีคนไม่ยอมลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีอ้างว่ากฎหมายบังคับให้เป็นอยู่ต่อไป ประเทศไม่มีทางออก จึงต้องมีการยึดอำนาจและปฏิวัติโดย คสช.

สุเทพอ้างว่าตัวบทดังกล่าวมีความสำคัญ ใครไม่เคยอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นจะไม่รู้ "คนที่ไม่เคยอยู่ในภาวะวิกฤตขนาดนี้จะคิดไม่ถึงว่ามันร้ายแรง รุนแรง ถึงขนาดนั้น บังเอิญว่าพวกผมอยู่ในสถานการณ์นั้นด้วยตัวเอง วันนี้ผมถึงพอใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ระบุบุคคลหรือองค์กรที่จะรับผิดชอบในการปฏิรูปการเมืองในอนาคต ได้กำหนดทางออกเอาไว้ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ได้มาดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันเหตุร้ายและยับยั้งการกระทำที่เป็นปัญหา ในสายตาของประชาชนจึงยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีพอที่จะส่งให้ประชาชนตัดสินใจ"

ที่สำคัญคือในช่วง 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดว่า หากสถาบันการเมือง คณะรัฐมนตรีไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ให้อำนาจคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติใช้อำนาจแทนได้ ประชาชนเองก็ศึกษาว่ารัฐธรมนูญก็เขียนไว้ดีพอสมควร ว่าจะใช้อำนาจอย่างนั้นเขาต้องปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุด และต้องรายงานต่อประชาชนและสภา ที่สำคัญคือในระหว่างที่เขาตัดสินใจเข้ามาใช้อำนาจแทนรัฐมนตรี ให้ถือว่าเป็นการเปิดประชุมสมัยสามัญของสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นั่นหมายความว่าจะมีตัวแทนประชาชนคอยตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ

มุมมองแบบนี้อาจจะมีคนอื่นเห็นเป็นอย่างอื่น มองเป็นอย่างอื่น นี่ก็เป็นเสรีในทางความคิด แต่ประชาชนก็มองอย่างนี้คิดอย่างนี้และก็เรียกร้องว่าขอโอกาสให้ประชาชนทั้งชาติเป็นผู้ตัดสินใจได้ไหมครับ ให้ประชาชนคนธรรมดาอย่างพวกเราได้มีโอกาสตัดสินอนาคตของประเทศบ้าง ที่จะทำประชามติและหวังว่าทุกฝ่ายจะได้เคารพมติของประชาชน

ในส่วนของข้อเสียเขาเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้เป็นร่างที่เหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศไทย เหมือนที่มีบางคนว่าเราจะเอาเสื้อผ้าของฝรั่งมาบางทีมันดูไม่หล่อ เราต้องตัดตามขนาดคนไทย คือเรามองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศ ทั้งนี้ความบกพร่องเป็นธรรมดา ไม่สมบูรณ์ วันข้างหน้าก็แก้ไขได้ แต่สาระสำคัญคือการมีหลักประกันว่าอนาคตเห็นแสงสว่าง เห็นการพัฒนา เห็นโอกาสที่ประชาชนจะมั่นคงปลอดภัย และประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น เรามองในมุมการปฏิรูป

สำหรับกรณีที่ฝ่ายการเมืองรณรงค์ให้มีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น สุเทพกล่าวว่า คิดว่าทุกฝ่ายควรเคารพประชาชน โดยให้ประชาชนตัดสินใจ มติประชาชนถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่สุด ส่วนมูลนิธิ ยังไม่ได้คิดในเรื่องการรณรงค์ เพราะประชาชนยังไม่ได้บอกว่าให้ทำอย่างไร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้นำศาสนาในเปอร์โตริโก 'สู้เพื่อประชาชน' ประณามนโยบายบีบคั้นคนจน

$
0
0

เครือรัฐเปอร์โตริโกกำลังประสบปัญหาภาวะหนี้สินทำให้กองทุนเฮดจ์ฟันด์และภาครัฐนำเสนอแผนการ 'รัดเข็มขัด' ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนยากจนในประเทศ ทำให้หัวหน้าบาทหลวงประจำกรุงซานฮวน เขียนจดหมายวิพากษ์วิจารณ์รวมถึงมีข้อเสนอการจัดการหนี้สิน 6 ข้อ เพื่อคุ้มครองกลุ่มคนด้อยโอกาส

1 ก.ย. 2558 โรแบร์โต กอนซาเลซ เนียเวส หัวหน้าบาทหลวงประจำกรุงซานฮวนเมืองหลวงของเปอร์โตริโก ซึ่งถือเป็นผู้นำศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในเครือรัฐเปอร์โตริโกกล่าววิพากษ์วิจารณ์แผนการ "รัดเข็มขัด" และการปรับลดงบประมาณซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนจน

เปอร์โตริโกกำลังประสบปัญหาเรื่องหนี้สินและปัญหาการว่างงาน ทำให้มีคณะทำงานบางกลุ่มกำลังจะเสนอแผนการปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจต่อผู้ว่าการรัฐเปอร์โตริโกภายในหรือก่อนวันที่ 8 ก.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งแผนงานดังกล่าวจัดทำโดยกลุ่มกองทุกเฮดจ์ฟันด์ที่ซื้อหนี้ของเปอร์โตริโกไว้และแผนงานอีกฉบับหนึ่งมาจากรัฐบาลของเปอร์โตริโกเอง

โดยแผนงานจากทั้ง 2 ส่วนแนะนำให้มีการ "รัดเข็มขัด" การคลังของรัฐเพื่อให้สามารถจ่ายหนี้บางส่วนได้ ซึ่งมีการให้รัฐลดรายจ่ายในส่วนที่ให้ประโยชน์แก่คนจนอย่างการลดอัตราค่าแรงขั้นต่ำรวมถึงการตัดงบประมาณโครงการสุขภาวะและโครงการด้านการศึกษา

หัวหน้าบาทหลวงเนียเวส ได้ส่งจดหมายให้กับรัฐบาลเปอร์โตริโกเพื่อวิจารณ์ในเรื่องนี้ โดยมีการอ้างอิงแนวคิดการบรรเทาหนี้สินจากคัมภีร์ไบเบิลและวิจารณ์กองทุนเอดจ์ฟันด์ว่าพยายามแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่กำลังลำบากรวมถึงบีบคั้นให้เศรษฐกิจของเปอร์โตริโกอยู่ในสภาพใกล้ล่มสลาย

เนียเวสระบุในจดหมายอีกว่า วิกฤตหนี้สินนี้ผลักให้ประชาชนชาวเปอร์โตริโกกลายเป็นคนจนเพิ่มมากขึ้นและทำให้ประชาชนต้องออกจากงานมากขึ้น ประชาคมศาสนาในเปอร์โตริโกจึงแสดงจุดยืนเรียกร้องให้กับกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาวิกฤตด้วยวิธีการที่จะสามารถคุ้มครองคนจนและทำให้เศรษฐกิจของเปอร์โตริโกเติบโตขึ้นได้

กลุ่มผู้นำทางศาสนาในเปอร์โตริโกยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโดยยึดหลักการ 6 ประการ ได้แก่ ไม่ควรใช้นโยบายรัดเข็มขัดที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวยากจนหรือประชาชนคนหนุ่มสาวที่เป็นกลุ่มคนด้อยโอกาส  ควรสร้างการลงทุนในหมู่ประชาชนชาวเปอร์โตริโก ควรมีการผ่อนผันหนี้ในระดับที่สามารถกลับมาสู่ในระดับที่ประคองตัวได้ ส่งเสริมให้นโยบายเน้นเรื่องความโปร่งใสทางกฎหมายและทางการคลัง เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐและประชาชนในการแก้ไขปัญหาเพื่อเน้นคุ้มครองประชาชนชาวเปอร์โตริโก และให้ภาคส่วนศาสนารวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมมีส่วนร่วมด้วยการส่งตัวแทนเข้าไปโดยเฉพาะในภาคส่วนคนจนที่เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

อย่างไรก็ตามในจดหมายของกลุ่มศาสนาก็ระบุว่าพวกเขาเข้าใจในเรื่องที่รัฐบาลเปอร์โตริโกไม่ได้มีอำนาจในการจัดการเรื่องเศรษฐกิจได้ทั้งหมดเนื่องจากความซับซ้อนของสถานะความเป็นรัฐ เปอร์โตริโกไม่ได้เป็นประเทศที่มีอธิปไตยจึงไม่สามารถได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือความช่วยเหลือฉุกเฉินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ อีกทั้งเปอร์โตริโกไม่ถูกนับเป็นรัฐหนึ่งหรือเมืองหนึ่งของสหรัฐฯ จึงไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายคุ้มครองการล้มละลายของสหรัฐฯ ได้ ทำให้พวกเขาเรียกร้องให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือเรื่องการจัดการหนี้สินให้เป็นไปตามหลักการ 6 ข้อของพวกเขาด้วย

หัวหน้าบาทหลวงในเปอร์โตริโกยังแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาคมที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันทั้งโลกอย่างกรีซ หรือ อาร์เจนตินา รวมถึงประเทศแถบภูมิภาคแคริบเบียน ซึ่งกำลังมีการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดและปัญหาความยากจนและภาระหนี้สินอยู่เช่นกัน

"พวกเราขอเรียกร้องให้นำเศรษฐกิจมารับใช้ประชาชน ไม่ใช่นำประชาชนไปรับใช้เศรษฐกิจ" หัวหน้าบาทหลวงในเปอร์โตริโกระบุในจดหมาย

 

เรียบเรียงจาก

'Fighting for Their People,' Puerto Rico's Faith Leaders Condemn Austerity, Common Dreams, 31-08-2015
http://www.commondreams.org/news/2015/08/31/fighting-their-people-puerto-ricos-faith-leaders-condemn-austerity

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดใจนศ.ปี 1 ผู้แขวนป้าย “N' ป๋วย” คล้องคออนุสาวรีย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ.รังสิต

$
0
0

จากกรณีที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)’ เผยแพร่ภาพป้ายชื่อห้อยคอที่มีข้อความ “N' ป๋วย แขวนตลอดเวลา จนกว่ารุ่นพี่จะสั่งถอด #ปี1” คล้องอยู่บนคออนุสาวรีย์ ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

ภาพจากเฟซบุ๊ก LLTD มีคำอธิบายประกอบภาพว่า 
"N'ป๋วย แขวนตลอดเวลาจนกว่ารุ่นพี่จะสั่งถอด #ปี1เนื่องจากมีการบังคับการห้อยป้ายชื่อในบางคณะ
การห้อยป้ายชื่อโดยการบังคับนั้นเป็นนัยยะที่มองว่า"เพื่อนใหม่"ที่ถูกห้อยป้ายนั้นเป็นคนที่ต่ำต้อยกว่า
จึงจำเป็นที่รุ่นพี่ต้องการวางอำนาจบาตรใหญ่ เพื่อบังคับ ควบคุม บงการวิถีชีวิตให้ 

ทั้งที่ทุกคนควรมีความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์และมีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกได้โดยใช้เหตุผลตัดสินด้วยตัวเอง 
ดังนั้นไม่ควรมีผู้ใดถูกดขี่และละเมิดสิทธิและเสรีภาพโดยการบังคับ ในนามของความอาวุโส #รักน้องอย่าบังคับน้อง"

พร้อมด้วยการแสดงความเห็นในโพสต์ดังกล่าวของเพจ LLTD ที่น่าสนใจ เช่น 

ผู้สื่อข่าว ‘ประชาไท’ ได้สอบถามไปยังนักศึกษาปี 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นสมาชิกกลุ่ม LLTD คนหนึ่งซึ่งไม่สะดวกเปิดเผยชื่อ-สกุล เขายอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้นำป้ายข้อความดังกล่าวไปแขวน และเปิดเผยถึงสาเหตุที่กระทำการดังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้คุยกับเพื่อนๆ เรื่องประเด็นระบบโซตัสในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีระบบนี้ไม่ชัดเจนเหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เป็นเพียงจุดย่อยๆ ในแต่ละคณะ แต่ภาพที่เห็นชัด คือการให้น้องปี 1 ต้องแต่งชุดนักศึกษา แขวนป้ายชื่อ ติดตราของคณะของภาควิชา โดยที่บางคนอาจไม่รู้สึกอะไร แต่ก็มีบางส่วนที่รู้สึกว่ามันมากเกินไป ตนเองจึงคิดว่าถ้าทำป้าย “N’ป๋วย” ไปแขวนที่อนุสาวรีย์มันจะสามารถสะท้อนอะไรได้หรือไม่

“รุ่นพี่จะมีความคิดหวังกับสิ่งที่เขาทำอย่างนี้ เขาอาจจะต้องการให้น้องรู้จักกัน ต้องการให้น้องรู้จักระเบียบ แต่ผมว่ารูปแบบที่จะทำให้น้องได้เรียนรู้มันมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้” นักศึกษาปี 1 ผู้แขวนป้าย “N' ป๋วย” กล่าว

เขายังกล่าวอีกว่า มีความคิดความเชื่อของคนจำนวนไม่น้อยที่ว่าเราโตขึ้นมา เราได้ดีขึ้นมาในมหาวิทยาลัยเพราะถูกว้าก ถูกบังคับให้แต่งตัว ถูกให้ทำโน่นนี่ เพราะฉะนั้นน้องๆ รุ่นต่อไปต้องทำเหมือนเรา สำหรับเขาตรรกะแบบนี้เป็นสิ่งไม่ถูกต้องและเป็นการผลิตซ้ำวิธีการที่ไม่ถูก เพราะวิธีการที่จะเรียนรู้เรื่องแบบนี้แต่ละคนล้วนมีวิธีการของตัวเองมากกว่าที่รุ่นพี่จะเอาวิธีการแบบเดียวกันเข้าไปยัดใส่ให้น้องๆ

เขาเปิดเผยอีกว่า บางคณะมีการให้นักศึกษาปี 1 แต่งชุดนักศึกษาตลอด 2 เทอม บางคณะมีการบังคับให้นักศึกษาปี 1 แขวนป้ายชื่อ แม้แต่นอกเวลาเรียนก็ต้องแขวน หากไม่ทำจะถูกพูดกดดันกัน

สำหรับข้อโต้แย้งที่ว่าการแขวนป้ายไม่ได้เป็นการกดขี่หรือสร้างภาระอะไร เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้คือการทำให้คนรู้จักกันง่ายขึ้นนั้น เขาเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนบุคคลในการจะบอกว่ามันหนักสำหรับคนคนนั้นหรือเปล่า จึงคิดว่าควรขึ้นอยู่กับตัวนักศึกษาผู้ที่ถูกสั่งให้แขวนป้ายมากกว่า ถ้ารู้สึกว่ามากเกินไปก็ต้องถือว่ามากเกินไป และคิดว่าความคาดหวังของน้องอาจจะต่างจากรุ่นพี่ หรือแม้อาจจะคาดหวังเหมือนกันแต่วิธีการให้ได้มาซึ่งเป้าหมายก็อาจจะไม่ใช่แบบที่รุ่นพี่ยัดเยียดให้ก็เป็นได้ ไม่ว่าจะการสนิทกับเพื่อนหรือการเข้าใจความเป็นคณะนั้นๆ อาจมีวิธีอย่างอื่นที่ไม่ต้องใช้การแขวนป้ายชื่อหรือแต่งชุดนักศึกษามาเรียนก็ได้

สำหรับเหตุที่เลือกใช้อนุสาวรีย์ป๋วยนั้น เขาให้เหตุผลว่า เพราะจุดดังกล่าวเป็นจุดที่เด่น หลายคนสามารถมองเห็นและน่าจะได้คิด ประกอบกับต้องการเผยแพร่ในเฟซบุ๊กเพื่อสร้างความสนใจ

“ตอนนี้รุ่นพี่หรือใครก็แล้วแต่กำลังมองน้องแบบว่างเปล่า ในสมองไม่มีเรื่องอะไรเลย ไม่มีความคาดหวัง ไม่มีความคิด ไม่มีความรู้ ไม่มีความต้องการอะไรทั้งสิ้น รุ่นพี่เขากำลังคิดว่าน้องที่เข้ามามันจะต้องรับไอ้สิ่งที่เขาคิดไปเท่านั้น ถ้าคุณคิดว่าน้องมันไม่มีความคิดอะไรที่จะจัดหาด้วยตัวเอง แล้วรุ่นพี่ต้องมายัด ในทางเดียวกัน ถ้าอาจารย์ป๋วยเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลที่มีความสามารถในมหาวิทยาลัย การที่เขาเป็นคนอย่างนั้น มันได้มาด้วยวิธีการที่รุ่นพี่จับยัดอย่างนั้นหรือเปล่า คือมันไม่ใช่จะมาด้วยวิธีการแบบนั้นเสมอไป” นักศึกษาปี 1 คนเดิมกล่าว

สำหรับข้อกังวลว่าการทำกิจกรรมดังกล่าวจะถูกมองว่าเป็นการลบหลู่ไม่ให้เกียรติอดีตอธิการบดีหรือไม่นั้น เขากล่าวว่า เรื่องรูปปั้นของบุคคลสำคัญไม่ว่าอาจารย์ปรีดี อาจารย์ป๋วย หลักๆ คือมีไว้เพื่อรำลึกถึงกิจกรรม ทัศนะและความต้องการของบุคคลเหล่านั้น และด้วยข้อความของฐานออนุสาวรีย์เองก็ไม่ต้องการทำให้รูปปั้นดังกล่าวเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นสิ่งที่น่าจะใช้เป็นจุดสัญลักษณ์เพื่อที่จะเอาไว้เรียนรู้ รวมทั้งลูกอาจารย์ป๋วยอย่าอาจารย์จอน อึ้งภากรณ์ เขาก็ไม่ได้ต้องการให้พ่อเขาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แทนที่จะทำให้อนุสาวรีย์ดังกล่าวเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ควรใช้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อใช้ในการเรียนรู้

เขากล่าวด้วยว่า ป้ายดังกล่าวนั้นหลังจากแขวนไป 20 นาที เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยก็เอาลงไป โดยที่ไม่มีการข่มขู่ ตักเตือนหรือว่ากล่าวอะไร

สำหรับข้อสงสัยที่ว่าเอาไปแขวนได้อย่างไรนั้น เขาเปิดเผยว่า ไม่ได้ปีนขึ้นไป แต่ใช้วิธีเอาไม้ต่อลวดนำไปแขวน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิป สปช. เผย 6 ก.ย.นี้ ลงมติร่าง รธน. ‘แบบเปิดเผย-ไม่มีอภิปราย’

$
0
0

1 ก.ย.2558 อลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) เปิดเผยผลการประชุมวิป สปช.นัดสุดท้าย  ว่า การประชุมวันนี้ (1 ก.ย.58) มี เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุม โดยที่ประชุมได้มีมติกำหนดระเบียบวาระการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 ก.ย.นี้  ซึ่งการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะเป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผย ไม่มีการอภิปรายแต่อย่างใด และจะนับคะแนนพร้อมทั้งประกาศผลในทันที ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น 

หาก สปช. มีมติเห็นชอบก็จะรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแจ้งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วันเวลาในการออกเสียงประชามติ และจะพิจารณาว่า สปช. ควรมีประเด็นคำถามในการออกเสียงประชามติหรือไม่ หากสมาชิกเห็นควรให้มีคำถาม ก็จะพิจารณาใน 2ประเด็น คือ ประเด็นให้มีการปฏิรูปประเทศอีก 2ปี ก่อนจัดการเลือกตั้ง และประเด็นการมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากมีมติไม่เห็นชอบก็ถือเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจ  ขณะเดียวกันในการประชุมวันนี้ (1 ก.ย.58) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังได้ส่งร่างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อให้สมาชิก สปช.พิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วนรอบด้าน

เผย ปธ.สปช. แจ้งไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมขาดคำปรารภ

อลงกรณ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ อุดม เฟื่องฟุ้ง สมาชิก สปช.พร้อมคณะ ได้ยื่นหนังสือถึงประธาน สปช. เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่ไม่มีคำปรารภไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ว่า ประธาน สปช. ได้แจ้งต่อที่ประชุม วิป สปช. แล้วว่าไม่สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจในการดำเนินการ ดังนั้นหากผู้ยื่นยังมีข้อสงสัยสามารถส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการได้โดยตรง

‘วันชัย’ มั่นใจเสียง สปช.ส่วนใหญ่ไม่ผ่านร่าง รธน.

วันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า จากการปรึกษาหารือร่วมกันของกลุ่ม สปช.ที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีความเห็นชัดเจนร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญไม่เต็มใบนั้นยังพอจะรับได้กับสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้ แต่ที่รับไม่ได้คือมีพิษและเชื้อร้ายซ่อนอยู่ในตัวของรัฐธรรมนูญ อาจก่อให้เกิดวิกฤติกับประเทศ มีความขัดแย้งแตกแยกระหว่างองค์กร โดยเฉพาะกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและผู้มีอำนาจที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองต่อไป

วันชัย กล่าวอีกว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของ สปช.และต้องทำประชามติ มีแนวโน้มอย่างสูงว่าจะเกิดความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายของกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ความโกลาหลอาจจะเกิดขึ้น และฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการสร้างสถานการณ์ก็จะสร้างกระแส พร้อมถือโอกาสกล่าวหาโจมตี คสช.ว่าต้องการสืบทอดอำนาจ ซ่อนเผด็จการอยู่ใน คปป. ซึ่งกระแสการเคลื่อนไหวดังกล่าว อาจถึงขั้น คสช.เอาไม่อยู่

วันชัย กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม จากการประเมินข้อมูลในเชิงของความเป็นไปได้ สปช.กลุ่มนี้จึงเห็นพ้องต้องกันที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.นี้ โดยไม่ต้องการให้สถานการณ์ในประเทศนี้มีแรงกระเพื่อมจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และต้องการให้นำรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมาปรับปรุงแก้ไข เชื่อว่าวิธีการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน และเท่าที่มีการประสานกัน สมาชิก สปช.มีความกระตือรือร้นและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทุกคนเริ่มติดต่อทำความเข้าใจกันจนมีเสียงมากขึ้น และมั่นใจว่ามีเสียงมากพอที่จะทำให้รัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบ

ที่มา : ทีมข่าววิทยุรัฐสภาและ สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร. แถลงจับชาวต่างชาติที่สระแก้วเอี่ยวระเบิด ชี้คล้ายชายเสื้อเหลืองในวงจรปิด

$
0
0

1 ก.ย. 2558 พ.อ. วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมศูนย์ติดตามสถานการณ์คสช. ว่า สำหรับความคืบหน้าการสอบสวนคดี(ระเบิดแยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 ส.ค.58) ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์จนถึงปัจจุบัน ศาลได้อนุมัติหมายจับผู้ต้องสงสัยแล้วจำนวน 4 ราย ได้แก่ 1.ชายที่สวมเสื้อสีเหลืองซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ 2. ชายที่สวมเสื้อฟ้าซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ท่าเรือสาทร 3. ชายตามภาพสเก็ตส์ซึ่งมีผู้พบเห็นว่าเป็นผู้พักอาศัยในห้องเช่าย่านมีนบุรี ที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบระเบิด และ 4. น.ส.วรรณา สวนสัน ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาเปิดเช่าห้องพักในพื้นที่มีนบุรีจำนวนหลายห้อง ที่มีชายชาวต่างชาติตามภาพสเก็ตส์เข้ามาพักอาศัย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของน.ส.วรรณา ซึ่งพำนักอยู่ในต่างประเทศ ได้ติดต่อขอเข้าให้ปากคำแก่ทางเจ้าหน้าที่แล้ว

“ล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการซักถามผู้ต้องหาที่ควบคุมตัวได้จากพื้นที่หนองจอกเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ให้การที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนคดีเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การขยายผลติดตามจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม และจากผลการสอบพยานต่างๆ โดยเฉพาะพยานบุคคลและผลพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่จะชี้แจงข้อมูลที่มีความชัดเจนแล้วเท่านั้น ให้ประชาชนและสังคมได้รับทราบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และเพื่อให้การขยายผลการสืบสวนคดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ อาคารที่พัก เกสต์เฮาส์และห้องเช่าต่างๆ หากพบเห็นบุคคลที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยเข้ามาพักอาศัย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจที่ใกล้ที่สุด หรือติดต่อมายังเบอร์โทรศัพท์สายด่วน 1515 ได้ทันที” พ.อ.วินธัย กล่าว

โฆษกคสช. กล่าวขอความร่วมมือสื่อมวลชนทุกแขนงให้งดการนำเสนอข่าวในเชิงด่วนสรุปหรือคาดเดาไปเอง โดยปราศจากข้อมูลที่ได้รับการยืนยันจากทางราชการ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการชี้นำต่อการรับรู้ของประชาชน จนอาจทำให้สังคมเกิดความตื่นตระหนกและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศได้

ตร.แถลงจับชายต่างชาติที่สระแก้วคุมสอบเอี่ยวระเบิดกรุง

วันเดียวกัน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงกรณีมีการควบคุมตัวชายชาวต่างชาติ ซึ่งมีใบหน้าคล้ายกับผู้ต้องหาในคดีลอบวางระเบิดใกล้สี่แยกราชประสงค์ และสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินหรือท่าเรือสาทร เมื่อวันที่ 17 และ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ชายแดนเขตพื้นที่บ้านดงงู ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ขณะหนีไปกัมพูชา ยืนยันว่าอยู่ในขบวนการวางระเบิด และรูปร่างใบหน้าคล้ายกับชายเสื้อเหลืองตามภาพวงจรปิด อีกทั้งผลตรวจดีเอ็นเอก็ตรงกับเสื้อผ้าในห้องเช่าย่านมีนบุรี ที่มีการแชร์ภาพพาสปร์อตชาวจีนนั้น ไม่ใช่ของบุคคลนี้ โดยขอเวลาตรวจสอบลายนิ้วมือและสอบปากคำก่อน เบื้องต้นแจ้งข้อหาพยายามหลบหนีออกนอกประเทศ ส่วนข้อหาอื่นอยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวน ยังไม่ยืนยันว่าชายคนนี้เป็นคนเดียวกับชายสวมเสื้อสีเหลือง แต่รูปพรรณสัณฐานคล้ายชายเสื้อเหลืองตามภาพสเก็ต เนื่องจากต้องรอคำยืนยันจากพยานในที่เกิดเหตุก่อน โดยคุมชายคนนี้ไปสอบสวนที่กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 ตามกฎหมายมาตรา 44 สถานที่เดียวกับชายคนแรก ทั้งนี้เชื่อว่าการลอบวางระเบิดทำกันมานานและเป็นขบวนการ วันที่ 7 กันยายนนี้ จะเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศประชุมเพื่อมอบนโยบายและวางมาตราการป้องกันคนร้ายหลบหนีออกนอกประเทศ

ศาลออกหมายจับเพิ่มอีก 3 คดีบึ้มราชประสงค์-สาทร

วันเดียวกัน ศาลจังหวัดมีนบุรี ออกหมายจับนายอาลิ โจลัน สัญชาติตุรกี ตามภาพสเก็ตคนร้ายที่ 0357/58 นายอาฮ์เม็ท โบซองแลน และชายชาวตุรกีไม่ทราบชื่อตามภาพสเก็ตคนร้ายที่ 0367/58 ในข้อหา ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวน สน.มีนบุรี โดยทั้ง 3 คนเป็นคนเช่าห้องพักและเป็นผู้พักอาศัยในห้องพักที่มีการเช่าไว้รวม 5 ห้อง ของพูลอนันต์อพาร์ทเม้นท์ ย่านหนองจอก สถานที่ที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมชายชาวต่างชาติคนแรกพร้อมของกลางอุปกรณ์ประกอบวัตถุระเบิดและรายการอื่นๆเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (29 ส.ค.) ทำให้จนถึงขณะนี้ศาลได้ออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องกับคดีระเบิดใกล้สี่แยกราชประสงค์และท่าเรือสาทรดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้น ผ่าน ครม.แล้ว

$
0
0

1 ก.ย. 2558 อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่้วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะสั้น วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน 3 ด้าน แบ่งเป็น

1.การอัดฉีดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านวงเงิน 6 หมื่นล้านบาทโดยใช้เงินทุน ธ.ก.ส.และออมสิน แห่งละ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กองทุนฯ โดยไม่คิดดอกเบี้ย จากนั้นนำไปปล่อยกู้ชาวบ้านสมาชิกกองทุนเป็นระยะเวลา 7 ปี ปลอดดอกเบี้ย 2 ปี จากนั้นดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนบริหารเงิน บวกร้อยละ 1 หรือ ไม่เกินร้อยละ 4 ต่อปี โดยไม่จำกัดวงเงินกู้แต่ละราย โดยห้ามนำเงินไปชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านเดิมแต่ให้นำไปชำระหนี้นอกระบบเพื่อลดภาระได้บางส่วน

โดยกำชับให้กรรมการกองทุนฯพิจาณาช่วยเหลือในส่วนที่จำเป็นของแต่ละคน เพราะกลุ่มรายได้น้อยไม่มีเงินทุนใช้จ่าย จึงต้องการให้มีทุนประกอบอาชีพ โดยกรรมการกองทุนจะพิจารณาให้กู้อย่างรอบคอบในกองทุนเกรด A,B เพื่อนำไปใช้จ่ายในส่วนที่เป็นประโยชน์ เพราะกรรมการกองทุนฯคุ้นเคยกันในพื้นที่โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้กับแบงก์รับทั้งสองแห่งวงเงิน2,400 ล้านบาท เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ประชาชนกำลังซื้อลดลง จึงต้องการเพิ่มกำลังซื้อให้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยในเมือง เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ

2.โครงการลงทุนขนาดเล็กในพื้นที่จัดสรรเงินตำบลละ 5 ล้านบาท วงเงินทั้งหมด 36,275 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาท้องถิ่นผ่านกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาโครงการลงทุนในพื้นที่ เช่น การส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว การสร้างตลากกลาง การขุดแหล่งน้ำ การใช้เงินเพื่อสาธารณะประโยชน์ เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ โดยสำนักงบประมาณต้องติดตามผลการลงทุนและรายงาน ครม.รับทราบทุกเดือน

3. การเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาทซึ่งส่วนราชการได้ขอจัดสรรงบประมาณไปแล้ว สำหรับการใช้งบประมาณในปี 59 โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนี้เป็นต้นไปและเป็นโครงการใหม่ซึ่งได้นำเงินจากงบกลางปีที่ผ่านมาจัดสรรเพิ่มเติมวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ และให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบและในท้องถิ่น

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเลือกอัดฉีดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านได้รับสินเชื่อเองโดยตรง และนำไปใช้ในส่วนที่จำเป็น สำหรับการจัดสรรเงินให้ตำบลละ 5 ล้านบาท เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาท้องถิ่น การผลิต การแปรรูปสินค้าเกษตรหรือใช้ในด้านสังคม จึงไม่ใช่เป็นการใช้เงินแบบประชานิยม เพราะได้ให้นำไปใช้ในการลงทุนเมื่อช่วยเหลือรายย่อยให้มีกำลังซื้อแล้วในเฟสแรก

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี กำชับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองดูแลกองทุนหมู่บ้านเกรด C,D ซึ่งเป็นกองทุนยังไม่ผ่านการประเมิน เพื่อพัฒนากองทุนกลุ่มดังกล่าวได้แล้วจึงจะกลับมาได้เงินทุนอีกกองทุนละ 1 ล้านบาท ซึ่งได้จัดเตรียมงบประมาณไว้รองรับแล้ว จากนั้นในเฟส 2 จะเริ่มหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยในช่วงอีก 1-2 สัปดาห์จะออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยกระทรวงการคลังและอุตสาหกรรรมศึกษามาตรการเพื่อดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเข้มแข็งในประเทศภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นและมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว จากนั้นในเฟส 3 เริ่มต้นในปีหน้าจะเริ่ม ออกไปโรดโชว์ชี้แจงต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศ หลังจากได้สร้างความเข้มแข็งในประเทศ การเดินหน้าลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ออกไปบอกต่างชาติได้เมื่อภายในประเทศเริ่มเข้มแข็งและมีแนวทางพัฒนาชัดเจน

ธ.ก.ส.เตรียมปล่อยสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านเพิ่มอีกหมื่นล้าน

ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.มีความพร้อมในการดำเนินการตามนโยบายกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาลอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นนโยบายที่ธ.ก.ส.ดำเนินการอยู่แล้ว โดยดูแลหมู่บ้านกว่า 30,000 แห่ง จึงสามารถทำต่อเนื่องได้ทันทีในลักษณะการให้สินเชื่อต่อยอด ซึ่งเบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่ามีหมู่บ้านที่เข้าหลักเกณฑ์มีผลการดำเนินงานดีมาก หรือระดับ A และมีผลการดำเนินงานดี หรือระดับ B รวมกัน 25,000 แห่ง ดังนั้น เพื่อให้นโยบายมีประสิทธิภาพมากที่สุด ธ.ก.ส.จึงเตรียมวงเงินในการปล่อยสินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านตามนโยบายรัฐเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีวงเงินสินเชื่อกองทุนหมู่บ้าน 20,000 ล้านบาท และปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 3,000 ล้านบาท เหลือวงเงิน 17,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อใหม่ต้องรอมติคณะรัฐมนตรี โดยวันที่ 23 กันยายนนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เพื่อเตรียมพร้อมปล่อยสินเชื่อดังกล่าวต่อไป

ขยายประกันพืชผลการเกษตร

ลักษณ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปีมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เป็นโครงการนำร่อง  ข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2558  มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยนาข้าว จำนวน 92,031 ราย รวมเนื้อที่เอาประกันภัยจำนวน 1.511 ล้านไร่ ซึ่งธ.ก.ส.กำลังดำเนินโครงการเพื่อขยายการทำประกันภัยพืชผลให้ครอบคลุมข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยจะมีการขยายเนื้อที่เอาประกันเป็น 5 ล้านไร่ และ10ล้านไร่ในอนาคต ครอบคลุมจำนวนเกษตรกรมากขึ้น  ซึ่งหากดำเนินการได้ตามเป้าหมาย จะทำให้อัตราการจ่ายเบี้ยประกันภัยพืชผลการเกษตรลดลง และช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารความเสี่ยงด้านการผลิตได้

คลังผ่อนปรนจัดซื้อโครงการลงทุนขนาดเล็ก

วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางรายงานที่ประชุม ครม.รับทราบมติคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ด้วยการผ่อนปรนระบบจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ จากเดิมให้ใช้ระบบ E-Bidding, E-Market เพื่อให้เสนอราคาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่เมื่อรัฐบาลต้องการเร่งรัดการลงทุนในช่วงนี้ จึงได้ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ด้วยการขยายวงเงินการจัดหาพัสดุของส่วนราชการในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการลงทุนขนาดเล็กจากเดิมวงเงิน 100,000 บาท เพิ่มเป็นวงเงิน 500,000 บาท ให้ส่วนราชการใช้วิธีเจรจาตกลงราคา เพราะสามารถใช้เวลาดำเนินการเพียง 2-5 วันเท่านั้น

เตรียมเพิ่มมาตรการเร่งรัดการลงทุนในประเทศ

หิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในประเทศให้เพิ่มขึ้นโดยเร็ว โดยเน้นตลาดในประเทศเป็นสำคัญ  ซึ่งอาจมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ๆ ออกมาเช่น มาตรการด้านภาษีออกมาเพิ่มเติม เป็นต้น ในส่วนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ก็เช่นกัน ขณะนี้ อยู่ระหว่างพิจารณาปรับมาตรส่งเสริมการลงทุนบางส่วนโดยจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพื่อเร่งรัดการลงทุนของนักลงทุน รวมถึงพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนด้วย บีโอไอยังอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มประเภทกิจการเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ลงทุน จากที่ปัจจุบันกำหนดไว้ 13 กลุ่มกิจการ คาดว่า มาตรการกระตุ้นและเร่งรัดการลงทุนของบีโอไอนี้ น่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนับจากนี้ไป

ที่มา :สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิด 63 รายชื่อผู้สมัครชิง 2 เก้าอี้กรรมการสิทธิฯ

$
0
0

จากกรณีเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา การประชุมสภานิติบัญญํติแห่งชาติ (สนช.) ไม่รับรอง บวร ยสินทร และศุภชัย ถนอมทรัพย์ เป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) (อ่านรายละเอียด) ส่งผลให้ คณะกรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่ยังขาดอีก 2 คน จากทั้งหมด 7 คน ดังนั้นคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิฯ ได้มีประกาศลงวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา รับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิฯ  จำนวน  2 คน โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่ 26 ส.ค. - 1 ก.ย. 58 ระหว่างเวลา 08.30 – 17.00 น. โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ณ ห้องเสวนา  ชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  

โดยล่าสุดวันนี้(1 ก.ย. 58) รายงานจากสนง.คณะกรรมการสิทธิฯ แจ้งว่า มีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิ  จำนวน 63 คน ประกอบด้วย

1. นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที 

2. พันเอก ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ

3. นายวีระ สมความคิด     

4. พันตำรวจเอก อำนาจ อันอาตม์งาม           

5. นายอิทธิกร ขำเดช       

6. นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์      

7. นายสุพจน์ เวชมุข        

8. นายธีรพันธ์ นาทีกาญจนลาภ      

9. หม่อมหลวง กรกสิวัฒน์ เกษมศรี 

10. นางเตือนใจ ดีเทศน์    

11. รองศาสตราจารย์ มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ               

12. นายสุวันชัย  แสงสุขเอี่ยม        

13. นายนิกร วีสเพ็ญ        

14. นายคมเทพ ประภายนต์           

15. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ จันทรา เหล่าถาวร           

16. นายอนุวัติ เตียวตระกูล

17. นายชาติชัย  อุดมกิจมงคล           

18.  ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ยศศักดิ์  โกไศยกานนท์       

19.  นายนิทัศน์ ภู่วัฒนกุล  

20. นายสมภพ ระงับทุกข์  

21.  นายวิชกรพุฒิ  รัตนวิเชียร        

22.  พันตำรวจโทหญิง  ฐิชาลักษณ์  ณรงค์วิทย์          

23.  นายบรรจง  นะแส     

24.  นายไพโรจน์  พลเพชร

25.  พลเอก  ภูดิศ  ทัตติยโชติ        

26. นางสาวอุชษณีย์  ชิดชอบ        

27.  นายกฤษฎา  ให้วัฒนานุกูล

28.  นายสรรพสิทธิ์  คุมพ์ประพันธ์

29.  รองศาสตราจารย์  มยุนา  ศรีสุภนันต์

30.  นายไพฑูรย์  สว่างกมล

31.  นายสามารถ  ภู่ไพบูลย์

32.  นายนคร  ศิลปอาชา

33.  นายธารีพันธ์  ทีปะศิริ

34.  นางชลิดา  ทาเจริญศักดิ์

35.  นางภรณี  ลีนุตพงษ์

36.  นายมโน  เมตตานันโท  เลาหวนิช 

37.  นายพิทยา  จินาวัฒน์

38.  นายชาติชาย  สุทธิกลม

39.  นางสาวเสาวนิตย์  ยโสธร

40.  นางทิพย์พาพร  ตันติสุนทร

41.  นางพะเยาว์  อัคฮาด

42.  นายรังษี  จุ๊ยมณี

43.  นายพิเชียร  อำนาจวรประเสริฐ

44.  นายธวัชชัย  ไทยเขียว

45.  นางสาวปวิมลวรรณ  รัตนศรีโชติช่วง

46.  นายสิระ  เจนจาคะ

47.  นายเฉลิมศักดิ์  จันทรทิม

48.  พลตำรวจโท  ทวีศักดิ์  ตู้จินดา

49.  นายปิยะชาติ  อำนวยเวช

50.  นายสมเกียรติ  รอดเจริญ

51.  นายสุรจิต  ชิรเวทย์

52.  นายบัณฑิต  ตั้งประเสริฐ

53.  นายอัษฎางค์  เชี่ยวธาดา

54.  พันตำรวจเอก  สุเทพ  สัตถาผล

55.  นางพิกุล  พรหมจันทร์

56.  นายเสกสรร  ประเสริฐ

57.  พลโท  วิภพ  กิวานนท์

58.  นายเปรมปรีดา  ปราโมช  ณ อยุธยา

59.  นางสาวศุภมาศ  พยัฆวิเชียร

60.  นายศรีสุวรรณ  จรรยา

61.  พลตรีหญิง  พูลศรี  เปาวรัตน์

62.  นางรัชนี  เกษคุปต์

63.  นางนิภาพร  พุทธพงษ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับนักข่าว 'ภูเก็ตหวาน' หลังศาลยกฟ้องคดีทัพเรือฟ้องหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ

$
0
0

“จริงๆ แล้ว ‘ภูเก็ตหวาน’ คำว่า หวาน มาจากคำว่า วัน เป็นคำทับศัพท์ เนื่องจากมีเว็บนึงเขาจดทะเบียนแล้ว เราก็เลยใช้คำทับศัพท์ phuketwan ม็อตโต้ของเรา คือ Sweet Phuket Every day  เราไม่ได้เป็นคนภูเก็ต คุณอลัน (มอริสัน บรรณาธิการเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน) ก็ไม่ได้เป็นคนไทยหรือคนภูเก็ต แต่เรามาทำมาหากินในจังหวัดภูเก็ต เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนคนภูเก็ต ที่อยากจะพัฒนาภูเก็ตให้มันดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ให้ได้รับการแก้ไข เราก็เลยนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา โดยผ่านสื่อในระดับมาตรฐานสากล

“เราไม่ได้อยากนำเสนอข่าวที่เป็นเรื่องการโปรโมท ซึ่งปกติมีอยู่แล้วโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่น เช่นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประจำจังหวัดภูเก็ต หรือแมกกาซีนต่างๆ ที่เขาก็มีอยู่แล้ว แต่ในทาง ‘ภูเก็ตหวาน’ เราก็อยากนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การคอร์รัปชัน การทุจริต การบุกรุกพื้นที่สาธารณะ การจัดระเบียบชายหาดต่างๆ พวกนี้ เพื่อที่จะช่วยเป็นหูเป็นตาต่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ช่วยให้แก้ปัญหา” ชุติมา สีดาเสถียร ผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวาน เล่าถึงที่มาของชื่อ “ภูเก็ตหวาน”

ชื่อของเว็บข่าว “ภูเก็ตหวาน” เป็นที่รู้จักในวงกว้างหลังถูกกองทัพเรือฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่บทความ ซึ่งอ้างอิงเนื้อหาตอนหนึ่งจากรายงานรางวัลพูลิตเซอร์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อปี 2556 ในบทความดังกล่าวพาดพิงถึงกองทัพเรือของไทยโดยระบุว่ากองทัพเรือมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์และมนุษย์เรือ (Boat People)

1 ก.ย. 2558 ศาลจังหวัดภูเก็ต อ่านคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่กองทัพเรือโดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้องอลัน มอริสัน บรรณาธิการเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน ชาวออสเตรีเลีย และ ชุติมา สีดาเสถียร ผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวาน โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ไอลอว์ ระบุว่า ประเด็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา คำพิพากษาระบุว่า ข้อความตามฟ้องในคดีนี้เป็นข้อความที่จำเลยนำมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับและสามารถตรวจสอบได้ เชื่อว่าผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สจะตรวจสอบข้อมูลว่าเป็นความจริงก่อนเผยแพร่ การที่จำเลยอ้างอิงข้อความมาจากรอยเตอร์ส ไม่ได้เขียนเอง จึงไม่ถือว่าเข้าข่ายการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

ส่วนประเด็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ปรากฏว่าข้อความตามฟ้องที่จำเลยอ้างมาจากรอยเตอร์สเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือเป็นข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง นอกจากนี้เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เพราะมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 บัญญัติความผิดฐานนี้ไว้แล้ว

ชุติมา เล่าย้อนไปตอนหยิบงานของรอยเตอร์สมาอ้างอิงว่า ตอนนั้น เธอไม่ได้ได้คิดถึงประเด็นเรื่องจะถูกฟ้องเลย 

"ภูเก็ตหวานได้ทำข่าวเกี่ยวกับโรฮิงญามาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว และก็ได้มีการรายงานมาอย่างต่อเนื่อง แล้วก็เราเห็นว่าข่าวที่เราได้นำเสนอนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่สังคมไทยควรที่จะรับรู้ และก็เจ้าหน้าที่ก็ควรที่จะเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง เราก็เลยนำเสนอข่าวเรื่องนี้" เธอบอกและว่า "เราสนใจมาตั้งแต่ปี 2552 ถือว่าเป็นสื่อแรกของคนไทยที่ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโรฮิงญา เนื่องจากว่าเราเห็นแล้วว่า ในประเด็นนี้เป็นปัญหา ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะประเทศไทย แต่มันเป็นปัญหาของอาเซียนด้วย แล้วก็เข้าใจว่าตรงนี้ ปัญหาตรงนี้จะได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะว่าตัวเคสโรฮิงญาเองเนี่ย เขาเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติ และก็ดูเหมือนว่าทางสหภาพเมียนมาร์เขาก็จะยังไม่ยอมรับคนเหล่านี้เป็นพลเมืองของเขา ซึ่งมันก็สร้าง ปัญหาต่างๆ ให้กับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนเอง"

ชุติมา เล่าว่า ก่อนหน้านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเรือและสำนักข่าวก็ทำงานร่วมกันด้วยดีมาตลอด เวลากองทัพเรือมีกิจกรรมอะไรต่างๆ ภูเก็ตหวานก็เข้าไปเสนอข่าว รายงานข่าว ประชาสัมพันธ์ให้ตามปกติ ก็เหมือนสำนักงานข่าวทั่วไปที่ทำงานกัน แต่ก่อนจะฟ้องร้องคดีนั้น ทางกองทัพเรือไม่เคยมาคุยด้วยเลย 

"แม้กระทั่งเราจะโทรเข้าไปสัมภาษณ์ กับท่านผู้บัญชาการกองทัพเรือภาค 3 ท่านพลเรือโท ธราธร ขจิตสุวรรณ ท่านก็ไม่ได้รับสาย หรือตอบรับการสัมภาษณ์ใดๆ จนกระทั่งเราทราบข่าวว่าทางกองทัพเรือประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับทางภูเก็ตหวาน ในข้อหาหมิ่นประมาท กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ทำให้กองทัพเรือเสื่อมเสียชื่อเสียง" เธอกล่าวและว่า ทั้งที่ ที่ผ่านมา มีการสัมภาษณ์ข่าว เขียนข่าว รายงานข่าวนี่ล่ะค่ะ อย่างตรงไปตรงมาตลอด ไม่ได้มีการโจมตี วิพากษ์วิจารณ์ หรืออคติ ทำงานร่วมกันโดยดีมาโดยตลอด

"จริงๆ แล้วประเด็นเรื่องโรฮิงญา ครั้งแรกที่เราได้ยินคำว่าโรฮิงญาเนี่ยก็มาจากกองทัพเรือภาคที่ 3 เป็นคนที่ให้สัมภาษณ์ แล้วก็ยังมีข้อเรียกร้องให้กับทาง UN ให้ออก reaction เพื่อที่จะร่วมแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ หรือว่าการอพยพย้ายถิ่นอย่างไม่ปกติของโรฮิงญา เมื่อปี 2552 ด้วยซ้ำไป"

ชุติมา ระบุว่า ตอนที่รู้ว่าโดนฟ้องนั้น รู้สึกผิดหวังกับการแสดงออกในลักษณะที่ทางรัฐใช้กฎหมาย คุกคาม ปิดปาก สิทธิเสรีภาพของผู้สื่อข่าว โดยมองว่ามันเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของนักสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าวที่เป็นคนไทยเอง หรือว่าผู้สื่อข่าวที่เป็นชาวต่างชาติที่มีการทำงานอยู่ในประเทศไทย ตรงนี้สุดท้ายแล้วการที่ทางรัฐเอากฎหมายมาฟ้องคดีในลักษณะนี้ คนที่เสียผลประโยชน์จริงๆ ก็คือชาวบ้านประชาชนคนทั่วไปที่จะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงหรือว่าข้อมูลข่าวที่ตรงไปตรงมา หลักการก็คือเพื่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออก ตรงนี้มันเป็นพื้นฐานของประเทศที่มุ่งหวังปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การถูกฟ้องร้องจากกองทัพเรือส่งผลให้เกิดความยากลำบากทั้งการใช้ชีวิตส่วนตัวและการทำงาน เธอบอกว่า มันส่งผลถึงความเชื่อถือจากแหล่งข่าวต่อสำนักข่าว

"ในฐานะที่กองทัพเรือเป็นกองทัพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทุกคนก็เชื่อมั่นในความดี ความมีศักดิ์ศรี ที่ดีของทางกองทัพเรือ ก็อาจจะเป็น message อย่างนึงว่าถ้าคนเหล่านี้ไม่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐจริง เขาก็จะไม่ฟ้องไม่มาดำเนินคดีในลักษณะแบบนี้ ซึ่งมันทำให้เกิดการสร้างความเข้าใจ มโนภาพให้กับสังคมทั่วไปเกิดความเข้าใจผิด ในตรงนี้มันก็ยากที่จะใช้ในการดำเนินชีวิตโดยปกติมีความลำบากมากขึ้นตรงนี้ และก็ในระยะแรกเนี่ยเหมือนกับว่าทำลายขวัญและกำลังใจในการทำงาน ทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าว ทำให้เกิดความหวาดกลัวในระยะแรกค่ะ แต่ว่าก็ต้องขอบคุณกำลังใจเพื่อนสื่อทั้งท้องถิ่น ทั้งต่างประเทศ ประชาชนคนทั่วไป ผู้ที่อ่านข่าว องค์กรเอ็นจีโอต่างๆ Human Right Watch ต่างๆ ที่ได้ให้กำลังใจ และสนับสนุนเรามาโดยตลอด ทำให้เรามีแรงสู้ เหมือนเป็นน้ำที่หล่อเลี้ยงให้เราสู้ได้จนถึงวันนี้" ชุติมาระบุ

ตลอดกระบวนการจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษานี้ เว็บไซต์ภูเก็ตหวานได้รับการสนับสนุนจากองค์กรสิทธิหลายแห่ง อาทิ สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ที่ออกแถลงการณ์ประณามการดำเนินคดี  สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยถอนข้อกล่าวหาต่อ 2 ผู้สื่อข่าว ทั้งหมดนี้ ชุติมามองว่า เป็นเพราะต่างชาติให้ความสำคัญสิทธิเสรีภาพของสื่อ ซึ่งในกรณี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเฉพาะสื่อเพียงอย่างเดียว แต่มันส่งผลกระทบถึงประชาชนชาวไทย หรือชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่มีถิ่นพำนักมาหากินอยู่ที่นี่ด้วย ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก แล้วก็ทุกคนมุ่งหวังที่จะเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ การแสดงออกทางด้วยเสรีภาพ ทางด้านความคิดต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์ อย่างตรงไปตรงมา ไร้อคติ และเป็นธรรม ตรงนี้เป็นพื้นฐานเบื้องต้น ในการที่จะนำพาประเทศ หรือว่าที่เราจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยต่อไป หรือที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในสิ่งอื่นๆ

ขณะที่ส่วนของประเทศไทยนั้น เธอมองว่า การให้การรณรงค์ หรือการให้ความเห็น หรือความสำคัญตรงนี้ คิดว่ายังมีน้อยมาก แม้กระทั่งสื่อกระแสหลักของไทยเอง ควรที่จะมีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ในประเด็นนี้ให้มากเกี่ยวกับเรื่องการบังคับใช้กฎหมายโดยผิดเจตนารมณ์

"ปัจจุบันนี้ ประเทศไทย คนในสังคมเริ่มใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แบบหมิ่นประมาทฟ้องควบคู่กันไป เราจะเห็นตามว่าในโพสต์เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ นั่น นู่น นี่ นั่น ไม่พอใจอะไรกันก็ฟ้องด้วยข้อหา หมิ่นประมาท ร่วมกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งมันเป็นการเข้าใจผิด ตรงนี้สื่อกระแสหลักของไทยจะช่วยได้เยอะ เพื่อที่จะลบสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ให้มันน้อยลงไป สร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่บังคับใช้กฎหมายและประชาชน ไม่ใช่ว่าเอะอะก็จะปรับฟ้อง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ร่วมกับหมิ่นประมาท ซึ่งมันเป็นคดีอาญา ซึ่งมันเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดเจตนารมณ์โดยสิ้นเชิง" ชุติมากล่าว

นอกจากประเด็นเรื่องการใช้กฎหมายให้ถูกเจตนารมณ์ เธอตั้งข้อสังเกตจากคดีนี้ในเรื่องของข้อหาหมิ่นประมาท โดยย้ำว่า จะต้องจับหลักให้ได้ก่อนว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องของสาธารณะประโยชน์ ไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ได้เป็นการให้ร้าย เธอนำเสนอข่าวเพื่อให้มีการตรวจสอบ รับรู้ รับทราบ ปัญหาร่วมนี้กัน ไม่ใช่เป็นปัญหาบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของสังคมร่วมกัน พร้อมทั้งหวังว่า คดีนี้จะเป็นอานิสงส์กับเคสอื่นๆ ด้วย มันก็จะเป็นมาตรฐาน ในการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์ วิจารณ์ ในประเด็นต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา

เมื่อถามถึงบทเรียนจากการทำหน้าที่สื่อในครั้งนี้ ชุติมาบอกว่า เพื่อนสื่อท้องถิ่นเองก็มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป อย่างบางคนก็มองว่า ช่างกล้าที่จะนำเสนอข่าวนี้นะ ช่างกล้าที่จะไปให้ร้าย ท.ร. ซึ่งจริงๆแล้วสื่อหลายคน ในตัวสื่อเองก็ยังไม่เข้าใจในหน้าที่ของสื่อ ตรงนี้เป็นประเด็นที่กังวลมาก

"การทำหน้าที่สื่อคุณไม่จำเป็นว่า คุณกล้า หรือไม่กล้า แต่คุณต้องรู้ว่าหน้าที่ของคุณคืออะไร ถึงแม้ว่าประเด็นนั้นจะมีความล่อแหลม หรืออันตราย คุณก็ต้องมีจรรยาบรรณของคนที่จะคอยให้ข้อมูลข่าวสารที่มันเกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่เรานำเสนอเพราะเรากล้า เพราะเราอยากดัง ต้องนำเสนอเพราะมันเป็นหน้าที่ ถ้าเราเห็นประเด็นเหล่านี้ที่มันเกิดขึ้นในสังคม เราไม่สามารถที่จะเงียบ หรือนิ่งเฉยต่อปัญหาอย่างนี้

"เราเลือกที่จะนำเสนอ เพราะเรามั่นใจว่าหนึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะ และต้องการที่จะให้ปัญหาเหล่านี้ที่จะได้รับการแก้ไข สมมติว่าทางข่าวนี้เสนอไปตั้งแต่ปี 2556 ถ้าเจ้าหน้าที่ลงมือทำการสำรวจ ตรวจสอบอย่างเข้มข้น เชื่อว่าโรงฮิงญาหลายคนรู้ว่า หากอพยพทางเรือหลายคนก็จะไม่จบชีวิตลงที่แคมป์กลางป่า ตามตะเข็บชายแดนมากมายอะไรขนาดนั้น" เธอทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พิเชษฐ’ อดีตส.ส.ปชป. ไม่รับรธน. คว่ำประชามติ เปรียบนักกีฬามีสิทธิไม่แข่งหากกติกาเถื่อน

$
0
0

2 ก.ย.2558 พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุลอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและอดีต ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ภาพข้อความที่ตนเองให้สัมภาษณ์กับสื่อและอธิบายประกอบผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะ โดยระบุดังนี้

(1) ประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญ พร้อมลงมติคว่ำชั้นประชามติ

(2) เปรียบนักกีฬาปฏิเสธกติกาเถื่อน

(3) นักกีฬามีสิทธิไม่ลงแข่งขัน หากกติกาไม่ชอบมาพากล

(4) รัฐธรรมนูญจะสร้างความวุ่นวายเสียหายแก่ระบบการเมืองและประชาธิปไตยในอนาคต

(5) สังคมประชาธิปไตยสากลทั่วโลกกำลังจับตาดูและพร้อมจะต่อต้านรัฐบาลไทยที่มาจากการรัฐประหาร

(6) หากยังดันทุรังอยู่เช่นนี้ ประเทศชาติมีแต่จะยิ่งเสียหาย และทีมเทวดาที่ไหนก็จะมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยไม่ได้

โดยโพสต์เพิ่มเติมด้วยว่า สปช. ล้มรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 ก.ย. นี้ เสียก่อน ดีกว่าต้องเสียค่าทำประชามติหลายพันล้าน และประเทศชาติจะผจญกับวิกฤตครั้งใหม่ที่รุนแรง 

 

 

พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล(๑) ประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญพร้อมลงมติคว่ำชั้นประชามติ(๒) เปรียบนักกีฬาปฏิเสธกติกาเถื่อน๓) นักกี...

Posted by พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล on 1 กันยายน 2015

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live


Latest Images