Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

เปิดคำแถลง ‘พล.อ.อักษรา เกิดผล’ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนภาคใต้กรณี MARA PATANI

$
0
0

‘พล.อ.อักษรา เกิดผล’ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขชี้ MARA PATANIต้องออกมาเพราะถูกสื่อกล่าวถึงบ่อย ระบุฝ่ายไทยยอมรับแล้วในฐานะ Party B ชี้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติแล้วหลังสมช.กำหนดในนโยบาย และต้องตั้งคณะทำงานร่วมกำหนดรายละเอียดคุ้มครองทางกฎหมายคณะพูดคุยซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีสนับสนุนส่วนข้อเรียกร้องฝ่ายไทย คือพื้นที่ปลอดภัย การพัฒนาและให้โอกาสทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมล้วนทำเพื่อประชาชนย้ำทุกครั้งที่คุยนายกฯให้เน้นเรื่องความจริงใจของรัฐบาล

พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ที่มาภาพ: ThaiPBS)

ต่อไปนี้เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 หลังจากการแถลงข่าวเปิดตัวของ MARA PATANI ที่นำโดยนายอาวัง ยาบะ ประธาน MARA PATANI ซึ่งเป็นองค์กรร่วมของขบวนการต่อเพื่อเอกราชปาตานีหรือกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีเนื้อหาดังนี้

0 0 0

พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ 28 สิงหาคม 2558

การพูดคุยสันติสุขนั้น ได้มีการพูดคุยกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุที่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้นั้น เพราะยังอยู่ในขั้นการสร้างความไว้วางใจ และมีผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในห้วงเดือนรอมฎอน และวันเข้าพรรษาที่ผ่านมาซึ่งคณะพูดคุยฯ ต้องการให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปฏิบัติศาสนกิจด้วยความเรียบร้อย ปลอดภัย และก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกลุ่มผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม ผมต้องถือโอกาสนี้ขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัด, ท่านแม่ทัพภาคที่ 4, ท่านผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้,ท่านผู้นำศาสนา, ผู้นำท้องถิ่น, ท้องที่, นักวิชาการ และภาคประชาชนทุกกลุ่มอาชีพที่ร่วมมือกันสร้างสันติสุขในพื้นที่ครับ

ทั้งนี้การพูดคุยที่ได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันนั้น ได้ยึดถือกรอบนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาโดยตลอด ทำให้เกิดความก้าวหน้า และทุกครั้งที่คณะพูดคุยฯ ได้มีการพบปะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างฯ ท่านนายกรัฐมนตรีก็จะให้ข้อสั่งการ ข้อเน้นย้ำ และข้อห่วงใยทุกครั้ง โดยครั้งนี้ก็เช่นกัน ท่านก็ได้เน้นในเรื่องความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกเรื่อง ตามที่ประชาชนต้องการ และอยากให้กลุ่มผู้เห็นต่างฯ ร่วมมือกับคณะพูดคุยฯ เพื่อนำไปสู่สันติสุขของประชาชนในพื้นที่ให้มีความมั่นคงปลอดภัย

ผมขอเรียนถึงข้อเสนอของฝ่ายเรา (รัฐบาลไทย) ทั้ง 3 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยของพื้นที่ การพัฒนาในพื้นที่เฉพาะเรื่องสำคัญที่ต้องรีบทำก่อน รวมทั้งการให้โอกาสทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยเท่าเทียมกัน โดยจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ข้อล้วนทำเพื่อ “ประโยชน์ของประชาชน” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำเพื่อชื่อเสียงของคณะพูดคุยฯ แต่อย่างใด ดังนั้น ฝ่ายเราจึงต้องการความร่วมมือจากกลุ่มผู้เห็นต่างฯ ช่วยบอกเราว่าต้องการอะไร ตรงไหน อย่างไร เพราะเขามักอ้างเสมอว่าเป็นผู้แทนปวงชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าเป็นจริงก็สมควรร่วมมือกับเรา บอกสังคมไปเลยว่าเราจะทำกันแบบนี้ ประชาชนจะสะท้อนความเป็นจริงออกมาเองว่าเห็นด้วยหรือไม่

สำหรับโครงสร้าง “มาราปาตานี” และข้อเรียกร้องของเขานั้น เป็นเรื่องปกติที่เขาต้องออกมาพยายามอธิบายให้สังคมเข้าใจ เพราะสาเหตุเกิดจากการที่สื่อมวลชนชอบไปกล่าวถึงเขาบ่อยๆ แต่ไม่ถูกต้องและยังพยายามวิเคราะห์ลงรายละเอียดอีก แต่ก็ยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ดังนั้น เขาจึงต้องออกมาชี้แจง ส่วนข้อเรียกร้องก็เป็นเรื่องที่เขาห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานะขององค์กรเอง คือ “การให้เรายอมรับองค์กร มาราปาตานี” และ “การเสนอให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ” เพราะห่วงเรื่องความต่อเนื่อง รวมทั้ง “การขอความคุ้มครองทางกฎหมาย”เนื่องจากสมาชิกหลายคนยังมีคดีความติดตัว สรุปคือเขาต้องการให้เรารับรองความถูกต้องชอบธรรมของ “มารา” ก่อนนั่นเอง โดยยังไม่ได้กล่าวถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแตกต่างจากข้อเสนอทั้ง ๓ ข้อ ของฝ่ายไทยที่ได้นำเรียนท่านนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว โดยมุ่งเน้นทำเพื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี คณะพูดคุยฯ ได้มีคำตอบทั้ง 3 ข้อ อยู่แล้วดังนี้คือ การยอมรับในองค์กรนั้น เราให้การยอมรับอยู่แล้วในฐานะ Party B ที่มาร่วมพูดคุยสันติสุข แต่องค์กรจะได้รับการยอมรับจากสังคมหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับแนวทางต่อสู้ขององค์กร ว่าใช้แนวทางใด ระหว่างการใช้ความรุนแรง หรือสันติวิธี ถ้าหาก “มารา” เองยืนยันในแนวทางสันติ ก็ย่อมได้รับการสนับสนุนยอมรับจากประชาชนเช่นเดียวกัน เพราะโดยข้อเท็จจริงประชาชนไม่ได้สนับสนุนคณะพูดคุยฯ ทั้ง Party A และ Party B แต่เขาสนับสนุนแนวทางสันติวิธี (ผลสำรวจความคิดเห็นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในห้วงเดือน ส.ค. 2558)

ในเรื่องขอให้การพูดคุยสันติสุข เป็นวาระแห่งชาติ คงต้องอธิบายอีกครั้งว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ได้กำหนดนโยบายในเรื่องนี้ให้มีความต่อเนื่องไว้แล้ว (นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2558– 2564) โดยคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย (Party A) ก็ล้วนแล้วแต่ประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการในตำแหน่งหลักที่มีความสำคัญ และไม่ติดยึดกับตัวบุคคล เพราะเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และฝ่าย “มารา” (Party B) ก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องจัดผู้แทนมาร่วมพูดคุยกับเราในจำนวนสมาชิกที่เท่ากัน จึงไม่ต้องห่วงเรื่องการเป็นวาระแห่งชาติ และความต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ว่าทุกรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด สังเกตจากการมีนโยบาย, มียุทธศาสตร์ และมีคณะกรรมการหลายคณะ ตลอดจนยังได้ตั้งงบประมาณประจำปีไว้อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการเป็นวาระแห่งชาติ

สำหรับเรื่องสุดท้าย คือ การคุ้มครองให้ความปลอดภัยทางกฎหมาย หรือ “Immunity” ที่พูดถึงกันบ่อยนั้น ในเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และเกี่ยวข้องกับหลายส่วนราชการ โดยต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะจะมีผลทางกฎหมาย และความร่วมมือของส่วนราชการด้านความมั่นคงหลายหน่วยงานที่จะผิดพลาด หรือเลือกปฏิบัติไม่ได้ ทุกคนย่อมได้สิทธิเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายไทย โดยในเรื่องนี้จำเป็นต้องจัดตั้ง Joint Working Group หรือ “คณะทำงานร่วม” ขึ้นมาเพื่อจัดทำร่างรายละเอียดของการดำเนินการให้ตรงความต้องการของทุกฝ่ายต่อไป โดยท่านนายกรัฐมนตรี พร้อมยินดีให้การสนับสนุน

กล่าวโดยสรุป ผมในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ต้องกราบขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้กรุณามอบนโยบาย และให้ข้อสั่งการ ให้คำแนะนำ ตลอดจนข้อเน้นย้ำมาโดยตลอด จนคณะพูดคุยประสบความก้าวหน้ามาโดยลำดับ ที่สามารถดึงทุกกลุ่ม ทุกพวก และทุกฝ่ายมาอยู่บนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขได้สำเร็จ และต้องขอขอบคุณ Party B ที่ให้ความร่วมมือ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตุรกีส่งสาส์นแสดงจุดยืนต่อต้านการก่อการร้าย

$
0
0
สถานเอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศไทย ออกคำแถลงของสถานทูตเกี่ยวกับรายงานข่าวคาดการณ์เชื่อมโยงชาวตุรกีกับกรณีเหตุการณ์วางระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ

 
 
30 ส.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศไทย ออกคำแถลงของสถานทูตเกี่ยวกับรายงานข่าวคาดการณ์เชื่อมโยงชาวตุรกีกับกรณีเหตุการณ์วางระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ
 
เหตุการณ์วางระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ เมื่อวันที่ 17 ส.ค.58 ก่อให้เกิดความสูญเสียที่เศร้าสลด ทั้งมีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บหลายราย โดยเมื่อวันที่ 18 ส.ค. รมว.ต่างประเทศของสาธารณรัฐตุรกีส่งสาส์นแสดงความเสียใจมายัง รมว.ต่างประเทศของราชอาณาจักรไทย โดยในสาส์นดังกล่าว รมว.ต่างประเทศตุรกีแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้สูญเสีย และในฐานะตัวแทนประเทศตุรกี ได้ประณามอย่างรุนแรงต่อการก่อการร้ายดังกล่าว พร้อมแสดงจุดยืนที่แน่วแน่ในการต่อสู้กับการก่อการร้าย
 
ประเทศตุรกีมีจุดยืนที่มั่นคงในการต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ ไม่ว่าการก่อการร้ายนั้นจะมีแหล่งที่มาต้นกำเนิด หรือแรงจูงใจอย่างใดก็ตาม ประเทศตุรกียังคงมีนโยบายต่อสู้กับการก่อการร้ายอย่างเด็ดเดี่ยว
 
เกี่ยวกับการรายงานข่าว ที่มีการคาดการณ์ระบุว่ามีชาวตุรกีพัวพันกับเหตุการณ์วางระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณนั้น ประเทศตุรกีได้ส่งสาส์นแสดงจุดยืนในการต่อต้านการก่อการร้ายไปถึงสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอังการา และได้แสดงความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับทางการไทย หากทางการไทยมีข้อมูลที่แน่ชัดซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ตามรายงานข่าว และทางสถานเอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศไทยยังได้ติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศของไทยในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว
 
จากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น เราติดตามข่าวด้วยความเศร้าสลด ต่อการรายงานข่าวและบทวิเคราะห์คาดการณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงชาวตุรกีกับเหตุการณ์วางระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ และขอยืนยันจุดยืนในการแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประเทศไทย ตลอดจนยืนยันความพร้อมของเราในการให้ความร่วมมือกับทางการไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความไม่สงบที่เรื้อรัง การแบ่งแยกดินแดนและสันติภาพ: บทเรียนจากอินเดียสู่ไทย

$
0
0

 

ร่องรอยแห่งยุคอาณานิคมได้ขีดเส้นพรมแดนแห่งรัฐชาติใหม่ ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์หนี่งจำต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ความแตกต่างของวัฒนธรรม การขัดกันของผลประโยชน์ที่ไม่ลงรอย นำมาสู่ข้อพิพาทและบานปลายไปสู่ความรุนแรง เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นในหลายๆดินแดนทั่วโลก บางกรณีอาจจบลงด้วยการเจรจา แต่ในหลายเหตุการณ์การปะทะและความไม่สงบยังคงปะทุอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง

อินเดียภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ พยายามที่จะควบรวมดินแดนต่างๆที่เคยอยู่ภายใต้จักรวรรดิ ให้เป็นส่วนหนี่งของอินเดีย ด้วยความรู้สึกและการรับรู้ที่ว่า รัฐบาลกลางอินเดียแห่งนิวเดลี มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะปกครองดินแดนต่างๆ ที่เคยอยู่ภายใต้อาณัติเดียวกัน ถือเป็นการสืบต่อมรดกจากเจ้าอาณานิคม (Raj Legacy) แม้ว่าในหลายดินแดนผู้คนรู้สึกแปลกแยกและไม่เป็นส่วนหนี่งของรัฐบาลกลางก็ตาม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ประกอบด้วยรัฐทั้งสิ้น 7 รัฐ (หรือรู้จักในชื่อ 7 สาวน้อย) อันประกอบไปด้วย อุรุณาจัลประเทศ อัสสัม มณีปุร์ เมฆาลัย มิโซรัม นากาแลนด์ และตรีปรุระ  เป็นดินแดนที่ถูกขีดกั้นจากอินเดียส่วนใหญ่ทั้งทางเชิงกายภาพและวัฒนธรรม เนื่องจากที่ตั้งมีลักษณะเป็นติ่งประเทศซี่งถูกแบ่งแยกจากอินเดียด้วยพรมแดนของบังคลาเทศ อีกทั้งในเชิงชาติพันธุ์ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนดังกล่าว มีรูปลักษณ์คล้ายชาวมองโกลอยด์ รวมถึงมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ซี่งแตกต่างจากอินเดียส่วนใหญ่ จนถูกมองว่าเป็นอื่น (otherness) และไม่เป็นส่วนหนี่งของอินเดีย

ความแตกต่างข้างต้น รวมถึงความพยายามแยกตัวเป็นรัฐเอกราช ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียต้องต่อสู้กับรัฐบาลกลางเรื่อยมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นจำนวนมาก รัฐบาลกลางอินเดียเอง นอกจากจะต้องส่งทหารเข้าไปปฏิบัติการแล้ว ในเชิงการบริหารภาครัฐ อินเดียถึงกับต้องตั้งกระทรวงเพื่อการพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Ministry of Development of the North Eastern Region) ในเดือนกันยายนปี 2001โดยเฉพาะ เพื่อพัฒนาภูมิภาคดังกล่าว


หนทางแห่งสันติภาพ

กระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลอินเดียและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงคริสศตวรรษ 1980s เรื่อยมา โดยครั้งล่าสุดได้เกิดขึ้นหลังจากการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ซี่งให้ความสำคัญต่อการสร้างความความมั่นคง สันติภาพ และการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โมดิเริ่มต้นด้วยการแต่งตั้งผู้แทนเจรจาของรัฐบาลกับตัวแทนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนากา ซี่งผู้แทนคนดังกล่าวนอกจากจะต้องเข้าใจข้อเรียกร้องและความคาดหวังของชาวนากาแล้ว ยังต้องเป็นเคารพในความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์นากาของพวกเขาด้วย

ในระหว่างการเจรจาโดยผู้แทน นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดียก็ให้ความสำคัญต่อกระบวนการดังกล่าว โดยติดตามอย่างต่อเนื่องและให้ข้อคิดเห็นต่อแนวทางการดำเนินงานของผู้แทนเจรจาในทุกขั้นตอน(1)นอกเหนือจากผู้แทนเจรจาแล้ว นเรนทรา โมดิ ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่สามารถพัฒนา หากนั่งมองและกำหนดนโยบายจากกรุงเดลี ฉะนั้นภาครัฐต้องลงพื้นที่และพิจารณาหนทางในการจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกับคนในท้องถิ่น(2)การดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวทำให้มุขมนตรีแห่งรัฐนากาแลนด์ ที อาร์ เซเลียง ได้กล่าวว่า การมีทัศนคติที่เป็นบวกและเคารพต่อกลุ่มชาติพันธุ์นากา ทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถมีบทบาทในการตัดสินใจอันนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพระหว่างอินเดียและกลุ่มแบ่งแยกดินแดน(3) ซี่งเห็นได้จากในวันที่ 3 สิงหาคม 2015 รัฐบาลอินเดียได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพนากา (Naga Peace Accord) อย่างเป็นทางการกับนายมุยวาห์ (Muivah) ผู้นำกลุ่มสภาสังคมนิยมแห่งชาตินากาแลนด์ (the National Socialist Council of Nagaland (NSCN-IM) ) ซี่งเป็นหนี่งในขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวมากที่สุดในรัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย(4)กลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 1980 โดยมีจุดประสงค์ในการสถาปนารัฐเอกราชนากาลิม (Nagalim)(5)  การเจรจาในครั้งนี้เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นความพยายามของรัฐที่ให้ค่าและความสำคัญต่อการพูดคุยและปฏิบัติต่อกลุ่มต่อต้านด้วยสถานะที่เท่าเทียม

อีกทั้งเป็นการสร้างช้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่รอคอยมานานกว่า 60 ปี การต่อสู้ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐเจ็ดสาวน้อยและรัฐบาลกลางแห่งอินเดีย ได้สร้างรอยแผลที่บาดลึกลงไปในความรู้สึกของผู้คน การปะทะนำมาซี่งความเสียหายทั้งในเชิงชีวิตและทรัพย์สินของทั้งสองฝ่าย การเจรจาสันติภาพที่เกิดขึ้นนี้ คงจะเป็นนิมิตรหมายอันดีดังที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ได้กล่าวไว้ว่า 'ความไม่สงบที่ยาวนานที่สุดของเรา กำลังได้รับการแก้ไข นอกจากนี้มันยังเป็นการส่งสัญญาณให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวขนาดเล็กอื่นๆ ให้วางอาวุธด้วย'(6) 

นอกจากนี้แม้ว่าข้อตกลงสันติภาพนากาจะถูกลงนามในรัฐบาลโมดิ แต่นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย ยังไม่ลืมที่จะกล่าวขอบคุณทุกรัฐบาลที่ผ่านมาว่า 'ในทุกรัฐบาลได้พยายามบางอย่างในการแก้ไขความไม่สงบ บางภารกิจสำเร็จ แต่หลายภารกิจก็ล้มเหลว กระบวนการเหล่านี้ได้เกิดขึ้นและดำเนินการย่างต่อเนื่อง ซี่งไม่ควรมีรัฐบาลใดฉกฉวยความสำเร็จ เนื่องจากทุกรัฐบาลล้วนแล้วแต่มีส่วนอย่างละน้อย ในกาปูพื้นฐานไปสู่การเจรจากับชาวนากาในครั้งนี้'(7)อนี่ง ข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวถือว่ามิใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นต่อรัฐเจ็ดสาวน้อย เนื่องจากในปี 1986 นายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี ก็ได้เจรจาและลงนามความร่วมมือกับผู้นำกลุ่มกบฏมิโซ (Milzo Rebel Leader) จนทำให้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้นำกลุ่มกบฏดังกล่าวได้กลายมาเป็นมุขมนตรี (Cheif Minister) แห่งรัฐมิโซรัมด้วย(8)การเปิดให้กลุ่มต่อต้านได้มีพื้นที่และมีส่วนร่วมในการปกครองจึงถือเป็นช่องทางที่สำคัญอีกประการหนี่งในการจัดการปัญหาภายในของอินเดีย


ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

อย่างไรก็ตาม หลังการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว มีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นอย่างมากถึงความเป็นไปได้ เนื่องจากยังไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาของข้อตกลงอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะ โดยทั้งฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างออกมายอมรับว่า การประกาศเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงการร่างเค้าโครงความร่วมมือร่วมกันในระดับหนี่ง ซี่งยังต้องการข้อตกลงเพิ่มเติมอีกเป็นอันมาก โดยเฉพาะฝ่ายแบ่งแยกดินแดนยังไม่ประกาศยุติความต้องการในการเป็นรัฐเอกราชของตนเอง แม้จะมีความพยายามในการนำเสนอแนวคิดอธิปไตยร่วม (Shared Soverighty) เพื่อยกระดับความเป็นสหพันธรัฐ (Federalism) ของอินเดียให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการปกครองตนเองยิ่งขึ้น ซี่งจะทำให้ความเป็นของสาธารณรัฐภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของอินเดียถูกยกระดับและพัฒนามากกว่าที่เป็นอยู่(9)

นอกจากนี้แล้ว แนวคิดนากาที่ยิ่งใหญ่ (Greater Naga) ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซี่งอาจเป็นหนี่งในข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลอินเดีย ยังสร้างความวิตกให้กับรัฐบาลท้องถิ่นอื่นๆที่เป็นเพื่อนบ้านของนากาแลนด์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมณีปุร์ อัสสัม หรืออรุณาจัลประเทศ เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวมุ่งที่จะควบรวมดินแดนที่มีชาวนากาอาศัยอยู่ ทำให้เกิดความตึงเครียดต่อรัฐข้างเคียงหากจะต้องเสียดินแดนของตนอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อตกลงนี้ อีกทั้งรัฐบาลอินเดียอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาระหว่างประเทศกับรัฐบาลเมียนมาร์ เนื่องจากเมียนมาร์ได้ลงนามในสนธิสัญญาหยุดยิงระหว่างเมียนมาร์และสภาสังคมนิยมแห่งชาตินากาแลนด์อีกกลุ่มซี่งนำโดยนายแคปแลง (Khaplang) ในปี 2012 และเมียนมาร์เองก็ยินดีที่จะช่วยอินเดียเจรจากับกลุ่มดังกล่าว แต่รัฐบาลอินเดียเองกลับเลือกที่จะลงนามกับกลุ่มนายมุยวาห์แทน นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่นำโดยนายแคปแลงกำลังมีความพยายามแสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอินเดียกลุ่มอื่นๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อก่อเหตุความรุนแรงต่อไป


เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นยุทธศาสตร์: บทเรียนจากอินเดียสู่ไทย

สาเหตุสำคัญประการหนี่งที่ทำให้รัฐบาลอินเดียตัดสินใจส่งสัญญาณสันติภาพไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจเนื่องมาจากความพยายามแปรเปลี่ยนพื้นที่วิกฤตนี้ ให้กลายเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญรองรับกรอบความร่วมมืออินเดีย - อาเซียน เพราะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเป็นประตูสำคัญที่เชื่อมอินเดียกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน อีกทั้งหากพื้นที่นี้มีสันติภาพและความมั่นคงย่อมสอดรับกับเสริมแรงการประกาศนโยบาย Act East ที่อินเดียมุ่งมองไปยังตะวันออกสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียแปซิฟิกต่อไป จึงไม่แปลกนักหากในวันนี้อินเดียจะเร่งรัดในการจัดการปัญหาความไม่สงบที่เรื้อรังในรัฐเจ็ดสาวน้อยให้คลี่คลายโดยเร็ว

เมื่อมองมายังปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แม้มิได้เป็นผลพวกที่เกิดจากลัทธิอาณานิคมในแบบเดียวกับอินเดีย แต่ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงยังคงเรื้อรังและต่อเนื่องในลักษณะเดียวกัน บทเรียนจากแนวทางการเจรจาสันติภาพของอินเดียในครั้งนี้ อาจทำให้รัฐและพลเมืองไทยได้เห็นทิศทางและข้อจำกัดในการจัดการปัญหา ทั้งในแง่การเปิดเจรจาอย่างเสมอภาค การเรียนรู้และเคารพอัตลักษณ์ที่แตกต่าง การติดตามและเฝ้าระวังในเขิงบวกอย่างใกล้ชิด การจัดตั้งกระทรวงและหน่วยงานด้านการพัฒนาโดยตรง การเลือกคู่เจรจาที่เหมาะสม การคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และที่สำคัญคือการเปลี่ยนพื้นที่วิกฤติให้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ เพื่อเชื่อมโยงอัตลักษณ์ นำไปสู่ความร่วมมือและการพัฒนาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และมิตรประเทศอื่นๆ ต่อไป

 

เชิงอรรถ:

1. http://www.firstpost.com/india/modi-govt-nscnim-pact-will-propel-peace-derive-strategic-results-in-north-east-india-2377288.html

2.http://timesofindia.indiatimes.com/india/Northeast-cant-be-developed-from-Delhi-Modi/articleshow/48223553.cms

 
 
 
 
 

 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน  ปิยณัฐ สร้อยคำ กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อยู่ที่  University of St Andrews, Scotland

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบภาพ 'เสื้อกั๊กใส่ระเบิด' โผล่ใน ‘คสช.-โฆษก ตร.’ แถลงทีวีพูลเอง

$
0
0

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2558 เวลา 21.18 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ทีมงานโฆษก ตร.’ และเพจ ‘โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ ของ พล.ต.ท.ดร.ประวุฒิ ถาวรศิริ โพสต์เตือนว่า “ตามที่ปรากฏภาพในสื่อออนไลน์ ว่าพบเสื้อกั๊กสำหรับบรรจุระเบิด อยู่ภายในห้องพักของชายชาวต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับเหตุวางระเบิดแยกราชประสงค์นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ภาพดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในครั้งนี้ และไม่ได้มาจากทางราชการ ขอให้ผู้ที่นำภาพนั้นมาเผยแพร่ ขอให้หยุดการกระทำเพราะอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลให้กับสังคมได้ ซึ่งอาจจะเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ”

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภาพ ‘เสื้อกั๊กสำหรับบรรจุระเบิด’ นอกจากปรากฏสื่อออนไลน์แล้ว ยังปรากฏอยู่ภาพประกอบการแถลงของ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อม พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษก สตช. แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ถึงกรณีการจับกุมดังกล่าว จากวิดีโอคลิปด้านล่างนาทีที่ 3.22

คสช. แจงภาพออกอากาศ แถลงผ่านทีวีวานนี้มี4ภาพ ที่เหลือโยนสื่ออินเสิร์ทเอง

ล่าสุดวันนี้(30 ส.ค.58) มติชนออนไลน์และแนวหน้ารายงาน คำชี้แจงของศูนย์ติดตามสถานการณ์คสช. โดย พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. ต่อกรณีภาพที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียขณะนี้ โดยระบุว่า ตามที่มีการเผยแพร่ภาพข่าวต่างๆใน social media อย่างแพร่หลายในขณะนี้ ศูนย์ติดตามสถานการณ์ คสช. ขอแจ้งว่า ภาพทางการในการแถลงการณ์ร่วมของโฆษก สตช. และ โฆษก คสช. เมื่อวานนี้นั้น (29 ส.ค.58) มีเพียง 4 ภาพ (ตามภาพ) นอกเหนือจากนี้เป็นภาพที่ทางสื่อมวลชน insert ภาพเองทั้งสิ้น

จึงเรียนมาเพื่อทราบ และขอความร่วมมือประชาชนทุกท่านระมัดระวังสำหรับการวิจารณ์และเผยแพร่ หลีกเลี่ยงการนำไปเชื่อมโยงต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อประเทศชาติ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Soundtrack of Life : บทเพลงเพื่อสันติภาพ

$
0
0

จากเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมาเป็นวัน ครบรอบ 70 ปี วันสันติภาพไทย จากการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธ์มิตร ขณะนั้นประเทศไทยได้แสดงจุดยืนเพื่อไม่ให้ตกเป็นชาติผู้แพ้สงคราม โดย ปรีดี จึงได้ออก ‘ประกาศสันติภาพ’ เพื่อชี้แจงให้ประชาคมโลกรับทราบว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย เพราะเป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทยและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้วันที่ 16 ส.ค. ของทุกปีเป็นวัน ‘สันติภาพไทย’

รายการ Soundtrack of Life ตอนนี้ ‘ดีเจเดน’ รัชพงศ์ โอชาพงศ์ และ ‘ปลา’ มุทิตา เชื้อชั่ง ได้นำบทเพลงเกี่ยวกับสันติภาพ 3 บทเพลงมาพูดคุยกัน โดยเริ่มจากเพลงที่เรียกร้องสันติภาพผ่านการฟังเพลงเพื่อให้เกิดการละซึ่งกิเลสความโลภโกรธหลงของแต่ละปัจเจกอย่างเพลง ‘เสียงจากคีตาญชลี’ ของวงคีตาญชลี

จากประเด็นของแต่ละปัจเจกสู่การเรียกร้องภาพกว้างในระดับสังคมและชาติอย่างเพลง ‘ขวานไทยใจหนึ่งเดียว’ ที่แต่งโดยยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ขับร้องบันทึกเสียงโดยกลุ่มศิลปินนักร้องชาวไทยกว่า 40 ชีวิต โดยเป็นซิงเกิลการกุศลในปี 2547 ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องสันติภาพผ่านการปลุกจิตสำนึกให้คนไทยมีความรักสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ ในช่วงที่เกิดเหตุความรุนแรงเข้มข้นรอบใหม่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

ขณะที่เพลง ‘ขวานไทยใจหนึ่งเดียว’ เรียกร้องสันติภาพผ่านความสามัคคีและความเป็นชาติ เพลง ‘Imagine’ ที่เขียนและร้องโดย จอห์น เลนนอน ในปี 1971 ที่มีเนื้อหาให้จินตนาการถึงสังคมโลกที่เราก้าวข้ามความเป็นชาติและศาสนาไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ใหญ่บ้านวังจานร้อง ชาวบ้านถูกบังคับให้พื้นที่ทำกินดั้งเดิมกลายเป็นที่สาธารณะประโยชน์

$
0
0
นักข่าวพลเมืองส่งคลิปให้ "ประชาไท" เผยแพร่ ระบุชาวบ้านถูกบังคับให้พื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านแห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ชาวบ้านจะดำเนินการทำอะไรจะต้องขออนุญาตจากนายอำเภอก่อน

 
30 ส.ค. 2558 นักข่าวพลเมืองส่งคลิปให้ "ประชาไท" เผยแพร่ โดยในคลิประบุว่าผู้บ้านวังจาน ต.วังด้ง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ได้ออกมาปกป้องสิทธิ์ที่ดินทำกินของชาวบ้านในและนอกหมู่บ้าน เพราะโดนบีบบังคับจาก อบต. และนายอำเภอ บังคับให้พื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านแห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ โดยหากชาวบ้านจะดำเนินการทำอะไรในพื้นที่จะต้องขออนุญาตจากนายอำเภอก่อน ส่วนอีกคลิปหนึ่งผู้ใหญ่บ้านคนดังกล่าว ได้ดำเนินการขุดลำห้วยเพื่อให้ชาวบ้านใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของราชพัสดุ
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษก สนง.ตำรวจ เผยพบสัญญาณโทรศัพท์ผู้ต้องสงสัยระเบิดบริเวณสาทร

$
0
0
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันผู้ต้องสงสัยที่จับได้เกี่ยวข้องระเบิดสาทรแน่นอน พบสัญญาณโทรศัพท์ของผู้ต้องสงสัยในที่เกิดเหตุขณะมีระเบิด เร่งตรวจอย่างละเอียดว่าในช่วงก่อนและหลังเกิดเหตุใช้โทรศัพท์ติดต่อใครบ้าง ส่วนจะเกี่ยวข้องระเบิดราชประสงค์หรือไม่ยังอยู่ระหว่างสอบสวน ตำรวจยังไม่ระบุสัญชาติผู้ต้องสงสัยเกรงจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 
30 ส.ค. 2558 พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าหลังจับกุมผู้ต้องสงสัยในคดีระเบิด ที่ย่านหนองจอกเมื่อวานนี้ว่า จากการตรวจสอบของกองพิสูจน์หลักฐาน ยืนยันว่าผู้ต้องสงสัยรายนี้ เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่ท่าเรือสะพานสาทรอย่างแน่นอน เพราะผลการตรวจสอบวัตถุพยานทั้งเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ภายในห้องพบดินระเบิดชนิดเดียวกับที่สาทร นอกจากนี้ยังพบสัญญาณโทรศัพท์ของผู้ต้องสงสัยรายนี้ อยู่ในที่เกิดเหตุขณะมีระเบิดด้วย ตำรวจกำลังตรวจอย่างละเอียด ว่าในช่วง 1 – 2 วัน ก่อนและหลังเกิดเหตุมีการโทรศัพท์พูดคุยกับบุคคลใดบ้าง เพื่อสาวให้ถึงผู้บงการก่อเหตุในครั้งนี้ ส่วนจะเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดสี่แยกราชประสงค์หรือไม่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนซึ่งตำรวจยังไม่ระบุสัญชาติ เกรงจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เบื้องต้นพบว่าหนังสือเดินทางหลายเล่มที่พบในห้องเมื่อวานนี้ เป็นของปลอม และกำลังตรวจสอบว่าทำขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร พร้อมยืนยันว่ายังมีผู้ที่ร่วมขบวนการเป็นคนไทยมีส่วนรู้เห็นแน่นอน
 
นอกจากนี้ตำรวจและทหารสนธิกำลังพร้อมหมายศาลเข้าตรวจค้น ไมมูณา การ์เด้น โฮม ซอยราษฏร์อุทิศ 25/8 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี เพื่อขยายผลจากคำให้การของผู้ต้องหาชาวต่างชาติคดีระเบิดให้การว่าอพาร์ตเมนต์ดังกล่าวเช่าไว้เก็บอุปกรณ์ ซึ่งอพาร์ตเมนต์ดังกล่าวมีห้องพักประมาณ 30 ห้อง ผู้พักอาศัยส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีชาวต่างชาติเข้าพักอาศัยเป็นประจำ ตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบบุคคลหรือสิ่งต้องสงสัย
 
จากการสอบถามชาวบ้านผู้พักอาศัยเล่าว่าเมื่อวานนี้ (29ส.ค.)มีกำลังทหารตำรวจเข้าตรวจค้นห้องพักเลขที่ 9106 ในอพาร์ทเม้นท์แห่งนี้ พบสิ่งของต้องสงสัยที่คาดว่าจะเป็นปุ๋ยยูเรียจำนวน 2 ถุงจึงเก็บเป็นหลักฐานพร้อมเชิญตัวผู้พักอาศัยเป็นครอบครัวชาวปาเลสสไตน์ 5 คน ประกอบพ่อ แม่ และบุตร 3 คน ไปสอบสวน เพราะห้องพักดังกล่าวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้ที่หนองจอกวานนี้เคยเข้าพักอาศัย
 
คสช. ระบุของกลางที่ยึดจากผู้ต้องสงสัยโยงคดีระเบิดเป็นภาพจริง 4 ภาพ ขอระวังการเผยแพร่
 
พันเอกวินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ภาพของกลางที่ยึดได้จากการจับกุมผู้ต้องสงสัย ว่า มีส่วนร่วมในเหตุระเบิดแยกราชประสงค์ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นภาพเสื้อเกราะและมีระเบิดในภาพทางโซเชี่ยลมีเดียส์ที่มีการเผยแพร่ขณะนี้ ศูนย์ติดตามสถานการณ์ คสช.ขอแจ้งว่า ภาพของกลางที่แพร่ภาพอย่างเป็นทางการ ในการแถลงการณ์ร่วมของโฆษก คสช. และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2558 มีเพียง 4 ภาพที่เป็นของจริง ส่วนภาพอื่นๆ เป็นภาพที่สื่อมวลชนเผยแพร่ภาพเองทั้งสิ้น จึงขอความร่วมมือประชาชน ให้ระมัดระวังการวิจารณ์และเผยแพร่ หลีกเลี่ยงการนำไปเชื่อมโยงประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อประเทศชาติ
 
คสช.เผยผู้ต้องสงสัยเชื่อมโยงระเบิดราชประสงค์ยังอยู่ระหว่างสอบสวน
 
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. เผยศูนย์ติดตามสถานการณ์ คสช.ได้สรุปการดำเนินงาน เรื่องการดูแลผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิดราชประสงค์ โดยยังมีผู้บาดเจ็บที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลอีก 31 ราย สำหรับงานสืบสวนทางคดี หลังจากที่ได้มีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัย ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ในการสอบสวน รวมถึงการพิสูจน์หลักฐานที่ตรวจยึดมาได้ เพื่อขยายผลเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายคดีต่อไป โดยจำเป็นต้องใช้อีกระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับการดูแลความปลอดภัยให้กับบุคคลและสถานที่ยังคงมีการปรับให้เกิดความเหมาะสม
 
ส่วนบรรยากาศการแยกราชประสงค์คึกคัก นักท่องเที่ยวตั้งใจมาสักการะท้าวมหาพรหม แม้ปิดซ่อมแซมในบางส่วน ระบุเชื่อมั่นการดูแลรักษาความปลอดภัย และคลายกังวลได้มากพอควร ผู้ค้ารอบแยกราชประสงค์ใช้ชีวิตปกติในวันนี้ เผยอุ่นใจที่มี จนท.ดูแลตลอด 24 ชม.
 
ตำรวจวางกำลังเข้มเฝ้าพูลอนันต์อพาร์ตเมนต์
 
ส่วนบรรยากาศที่พูลอนันต์อพาร์ตเมนต์ ถนนเชื่อมสัมพันธ์ 11 ย่านหนองจอก เช้าวันนี้เป็นไปอย่างสงบ หลังจากเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมจับกุมชายชาวต่างชาติพร้อมยึดอุปกรณ์ประกอบวัตถุระเบิด ภายในห้องพักชั้น 4 โดยมีตำรวจชุดสืบสวน สน.หนองจอก มาดูแลพื้นที่ด้านหน้าอพาร์ตเมนต์ และยังไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปภายในตัวอาคาร โดยเฉพาะชั้น 4 ถูกปิดล็อกทั้งชั้น ส่วนผู้พักอาศัยชั้นอื่นเช้านี้บางส่วนยังคงเก็บตัวอยู่แต่ในห้องพัก จากการสอบถามตำรวจ ทราบว่า เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยเข้าตรวจค้นห้องพักทุกห้องภายในอพาร์ตเมนต์แล้ว แต่ไม่พบของกลางเพิ่มเติม และทยอยถอนกำลังออกไปตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา พร้อมเปิดให้เฉพาะผู้พักอาศัยเข้าออกได้ตามปกติ ส่วนผู้ต้องสงสัยยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ ร.1 พัน 4 รอ. และมีการสอบปากคำตลอดทั้งคืน แต่รายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์และสำนักข่าวไทย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย : ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตำราเรียน

$
0
0

 

 

หมายเหตุประเพทไทย ยังคงร่วมรำลึกถึงวาระครบ 70 ปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สัปดาห์นี้นำเสนอประเด็นเกี่ยวเนื่องกับมหาสงครามเป็นตอนสุดท้ายของซีรีย์นี้ โดยหยิบยกข้อสังเกตเกี่ยวกับสังคมไทยที่ดูจะไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งที่ไทยได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนั้นอย่างหนักหน่วงเช่นกัน

อรรถ บุนนาค และปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ ชวนกันหยิบตำราเรียนชั้นมัธยม เพื่อดูเนื้อหาที่กล่าวถึงบทบาทของประเทศไทยในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และการต่อสู้ของขบวนการเสรีไทยเพื่อไม่ให้ไทยตกไปสู่การเป็นชาติแพ้สงคราม มาพิจารณาว่านักเรียนมัธยมไทยจะเรียนรู้เรื่องราวของไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 จากตำราเรียนได้มากน้อยเพียงใด และเนื้อหาที่กล่าวถึงนั้นเป็นอย่างไร

คลิกไลค์เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของรายการได้ที่ facebook.com/maihetpraphetthai

http://facebook.com/maihetpraphetthai
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรสิทธิฯ ไทยแถลงเนื่องในวันผู้สูญหายสากล ชี้รัฐต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา

$
0
0
 
30 ส.ค. 2558 องค์กรสิทธิมนุษยนชนไทยออกคำแถลงการณ์เนื่องในโอกาสวันสากลแห่งการระลึกถึงบุคคลผู้สูญหาย 30 สิงหาคม 2558 ระบุรัฐไทยต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้มีกลไกที่เป็นอิสระ มีประสิทธิภาพที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการแก้ไขปัญหา ป้องกัน และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส รวดเร็ว สามารถตรวจสอบได้ โดยรายละเอียดของคำแถลงทั้งหมดมีดังต่อไปนี้
 
 
คำแถลงการณ์เนื่องในโอกาสวันสากลแห่งการระลึกถึงบุคคลผู้สูญหาย 30 สิงหาคม 2558
 
เนื่องด้วยวันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสากลแห่งการระลึกถึงบุคคลผู้สูญหาย โดยองค์การสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ด้วยเล็งเห็นปัญหาการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ที่มีความสำคัญยิ่ง
 
การบังคับบุคคลให้สูญหาย ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มิอาจยอมรับได้ เพราะเป็นรูปแบบที่ร้ายแรงรูปแบบหนึ่งที่ได้ปรากฏขึ้นทั้งในสังคมไทย และสังคมมนุษย์ ที่เรารู้จักกันดีก็คือ “การอุ้มฆ่า” ซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาดจาก “การถูกบังคับให้สูญหาย” ซึ่งบ่อยครั้ง และแทบทุกครั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็มักจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลในเครื่องแบบ ที่มีหน้าที่ในการ “พิทักษ์สันติราษฎร์” หรือดูแล “กิจการด้านความมั่นคง” ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างอยู่เสมอ
 
การบังคับให้สูญหาย ถือเป็นหนึ่งในปัญหามนุษยธรรม และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่งที่ถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างความสะพรึงกลัวให้เกิดขึ้นภายในสังคม ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในความปลอดภัย ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัวผู้ใกล้ชิด หากแต่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และสังคม โดยรวมอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ถูกครอบงำโดยเผด็จการอำนาจนิยมทหาร ในสถานการณ์ความขัดแย้งภายในที่มีความสลับซับซ้อน ถือได้ว่าเป็นการบ่อนทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่ประชาคมระหว่างประเทศให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ทั้งนี้เนื่องจากสิทธิในการมีชีวิต และสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างมีหลักประกันในด้ายความปลอดภัย ถือเป็นสาระสำคัญในหลักการแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (พ.ศ. 2491) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (พ.ศ. 2519) 
การบังคับให้หายสาบสูญ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างสืบเนื่องนับตั้งแต่บุคคลสูญหาย จนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข และเยียวยาโดยสมบูรณ์ ในที่นี้ญาติมิตรของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อย่อมได้รับผลกระทบทั้งทางกายภาพ และทางจิตใจ ถือเป็นการละเมิดสิทธิที่มีความซับซ้อน และ ซ้ำซ้อนในหลายมิติที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญสิทธิในความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต สิทธิในการที่จะได้รับรู้ความจริง (ว่าบุคคลที่รักของเขาหายไปไหน) สิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม ต้องได้รับการเคารพ 
 
ในต่างประเทศและทางสากล ปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหาย ยังดำรงอยู่ จากรายงานของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการสูญหายโดยไม่สมัครใจและถูกบังคับ (United Nations Working Group on Enforced and Involuntary Disappearances - UNWGEID) ระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการสูญหาย จำนวน 53,000 กรณี จาก 84 รัฐ/ประเทศ จนถึงปัจจุบัน รวมทั้ง กรณีนายสมบัด สมพอน นักพัฒนาสังคมอาวุโสจากประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว) ที่สูญหายไปกว่า 990 วัน กลางกรุงเวียงจันทน์ กรณีนายโจนัส เบอร์โกส์ นักพัฒนาด้านสิทธิเกษตรกร ชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยไปเมื่อปี 2552 กรณีของไทย นอกจากนายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานแล้ว ยังมีการสูญหายในเหตุการณ์พฤษภา 2535 จำนวน 31 ราย และทนายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อปี 2547 ก็อยู่ในระบบฐานข้อมูลผู้สูญหาย ของคณะทำงานสหประชาชาติด้วย
 
การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติยังมีมติที่ 47/133 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2535 รับรองปฏิญญาว่าด้วยการปกป้องบุคคลทั้งมวลให้ปลอดจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ ถือเป็นจังหวะก้าวสำคัญในการที่ประชาคมโลกให้ความสนใจต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติได้จัดทำร่างอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองบุคลทั้งมวลจากการบังคับให้หายสาบสูญ และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (ที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่แทนคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2549 และได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัยที่ 61 ของสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549 มีผลบังคับใช้เมื่อ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ภายหลังจากที่มีประเทศภาคีร่วมลงนามครบ 20 ประเทศ
 
นอกเหนือจากการที่รัฐพึงจะต้องมีพันธกิจในการคุ้มครองปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนตามหลักการสากลแล้ว ยังจะต้องมีเจตจำนงที่ชัดเจนและมาตรฐานคุณธรรมขั้นสูงในการใส่ใจในสิทธิมนุษยชน เพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชนทุกผู้คนอีกด้วย
 
รัฐบาลไทยได้ลงนามในอนุสัญญาฉบับดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555 ตามที่ได้มีการแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก่อนหน้านั้น โดยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ทำให้ยังไม่มีผลบังคับผูกพันตามกฎหมายโดยสมบูรณ์ ที่ผ่านมาแนวนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐไทยในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวยังขาดความชัดเจน ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในการจัดการกับปัญหาการหายสาบสูญในกรณีต่าง ๆ แม้ว่าจะมีการประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับแรก (พ.ศ. 2544-2548) ฉบับที่สอง (พ.ศ. 2552-2556) จนถึงฉบับที่ 3 ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2557-2561) แล้ว ก็แทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ นับแต่กรณี นายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำสภาแรงงานแห่งประเทศไทย (สูญหายเมื่อ พ.ศ. 2534 สมัย รสช.) กรณีการปราบปรามประชาชนเมื่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งผ่านไปแล้วกว่า 23 ปี แต่ผู้สูญหายอย่างน้อย 31 คน (จากรายงานของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ระบุไว้ว่า 48 ราย) ยังคงไร้วี่แวว กรณีทนายความนักสิทธิมนุษยชน นายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 กรณีประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนไม่น้อย อีกทั้ง กรณีนายกมล เหล่าโสภาพันธ์ สมาชิกเครือข่ายต่อต้านการคอรัปชั่น ที่จังหวัดขอนแก่น บางกรณีสูญหายไประหว่างที่รัฐใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติด เมื่อปี พ.ศ. 2546 – 2547 ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ รวมทั้งล่าสุดกรณีนาย “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ อดีตสมาชิก อบต. ผู้นำชนชาติพันธุ์กระเหรี่ยงที่สูญหาย ไปเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 ที่บริเวณเขตอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี องค์กรสิทธิมนุษยชนได้ประมวลรายชื่อ และจำนวนผู้สูญหาย ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา นับแต่ พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน มีรายชื่อผู้สูญหายกว่า 100 รายที่ยังไร้วี่แวว ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย 
 
อย่างไรก็ดี องค์กรสิทธิมนุษยชน และผู้ที่ร่วมลงชื่อท้ายคำแถลงนี้ มีข้อเสนอรูปธรรมต่อรัฐ และผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้
 
1. รัฐ และหน่วยงานทุกภาคส่วนในสังคม ต้องตระหนักว่า “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นอาชญากรรม
 
2. รัฐ พรรคการเมือง นักการเมือง บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต้องแสดงเจตจำนงในการร่วมผลักดันให้ สิทธิมนุษยชน เป็นวาระแห่งชาติ และสาระสำคัญของสังคมอย่างชัดแจ้ง
 
3. รัฐบาลให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับ (Optional Protocol) ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture - CAT) โดยมิชักช้า
 
4. รัฐบาลให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติที่กำลังจะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ โดยมิชักช้า
 
5. รัฐสภา หรือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต้องเร่งพิจารณาบทบัญญัติกฎหมายเพื่อรองรับอนุสัญญาทั้งสองฉบับอันได้แก่ ความผิดกรณีการซ้อมทรมาน การปฏิบัติที่เลวร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งการอุ้มหาย (สูญหายโดยการถูกบังคับ) กำหนดมูลความผิดตามอนุสัญญาดังกล่าวว่าเป็นความผิดทางอาญา และมีโทษทางอาญา เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตจำนง และความจริงใจของรัฐที่มีต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และให้มีการดำเนินการมีผลในทางปฏิบัติ โดยเร็ว
 
6. รัฐต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้มีกลไกที่เป็นอิสระ มีประสิทธิภาพที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการแก้ไขปัญหา ป้องกัน และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส รวดเร็ว สามารถตรวจสอบได้ ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ทางสังคมได้เข้าร่วม อาทิเช่น องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สื่อสารมวลชน นักกฎหมาย นักวิชาการ นักวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิติเวชศาสตร์ นิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
 
7.รัฐต้องเร่งปฏิรูประบบและกลไกในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปตำรวจ ทั้งกระบวนการสร้างเสริมพฤตินิสัย ความสำนึก และ กลไกในการตรวจตราอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างสำนึกสิทธิมนุษยชน สำนึกแห่งความถูกต้อง และเป็นธรรมให้กับบุคลากรในความดูแลของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ให้สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง และเที่ยงธรรม
 
หากรัฐไทยไร้ซึ่งความเป็นกลาง และระบบยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือ อาจส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะ ลูกเล็กเด็กแดง หญิงชาย ผู้สูงวัย ยากดีมีจน ต่างชาติพันธุ์ ศาสนาและความเชื่อ ย่อมต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายทั้งในประเทศ และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ
 
สังคมจึงต้องมีส่วนร่วมกันในการดูแล และร่วมสร้างหลักประกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมีความเห็นพ้องกันว่า “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในสังคมของเรา
 
ประการสำคัญ รัฐต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นด้วยมาตรการที่เหมาะสม อันจะเป็นภารกิจสำคัญของการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม ยุติปัญหาการซ้อมทรมาน และการอุ้มหายอย่างจริงจัง
 
กลุ่มเพื่อนประชาชน 
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สถาบันสังคมประชาธิปไตย
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ข้อมูลชุมชน
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม
 
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ กลุ่มเพื่อนประชาชน
สุณัย ผาสุข Human Rights Watch 
งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล 
ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ธนภัทร อารีพิทักษ์
เพลินใจ อัตกลับ
ชนะ จันทร์แช่ม
ฤทธิชัย โฉมอัมฤทธิ์ 
บดินทร์ สายแสง
บัณฑิต หอมเกษ
สมฤดี พิมลนาถเกษรา
วริสรา มีภาษณี
ปฐมพร แก้วหนู
ชานนท์ ลัภนะทิพากร
วชิรวิทย์ สร้อยสูงเนิน
ณัฐฏ์ชนนท์ อัครมณี
นิอับดุลฆอร์ฟาร โตะมิง 
เลิศศักดิ์ ต้นโต
บารมี ชัยรัตน์
 
 
30 สิงหาคม 2558
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสท.ถก ช่อง Peace TV ช่อง Asian Major และช่อง MIX ขัดมาตรา 37 หรือไม่ จันทร์ (31 ส.ค.) นี้

$
0
0

30 ส.ค. 2558 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 31 ส.ค. 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 29/2558 มีวาระการประชุมน่าจับตาได้แก่ แนวทางการกำกับดูแลการให้บริการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่(ระบบดิจิตอล) กรณีปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย และมีคำสั่งระงับการออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเป็นการชั่วคราว กรณี ช่องLOCA ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้เสนอ กสท. พิจารณาแนวทางการกำกับดูแลโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่(ดาวเทียมและเคเบิ้ล) กรณีมีการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย มาเป็นแนวทางการกำกับดูแลโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ หรือโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ซึ่งกรณีคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)รายงานว่าพบการออกอากาศที่ผิดกฎหมาย ให้มีคำสั่งชี้แจงระงับการโฆษณาทันทีจนกว่าคดีจะถึงที่สุดและหากซ้ำอีกไม่ว่าจะเคยถูกดำเนินคดีแล้วหรือไม่ ให้มีคำสั่งแจ้งสถานีระงับออกอากาศชั่วคราวละไม่เกิน 30 วันจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งหากคดีถึงที่สุดว่าผู้กระทำได้ทำความผิดจริง ให้พิจารณาส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พิจารณาความผิดตามมาตรา 37 แห่ง พรบ.ประกอบกิจารฯ 2551 หรือ มาตรา 31 แห่ง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ประกอบกับ ประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ พ.ศ. 2555 หากฝ่าฝืนให้ปรับทางปกครองไม่เกิน 5 ล้านบาท และอาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตได้
 
ส่วนวาระที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนได้แก่ วาระการมีคำสั่งระงับการออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเป็นการชั่วคราว กรณีช่อง ไบรท์ทีวี วาระเรื่องร้องเรียนที่เข้าข่ายมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ได้แก่ กรณีเรื่องร้องเรียนช่อง Asian Major Channel และ Mix Channel กรณีการออกอากาศรายการช่อง Peace TV เพิ่มเติมอีก 4 รายการ ได้แก่ รายการแรงกล้าประชาธิปไตย วันที่ 26 ก.ค. 58 รายการคนกลางคลอง วันที่ 26 ก.ค. 58 รายการห้องข่าวเล่าเรื่องสุดสัปดาห์ วันที่ 26 ก.ค. 58 รายการเข้าใจตรงกันนะ วันที่ 27 ก.ค. 58 และรายการฟังความรอบด้าน ตอนนักศึกษากับประชาธิปไตย วันที่ 21 ก.ค. 58 โดยได้มีการเสนอยื่นคำร้องศาลปกครองสูงสุด เพื่อเป็นการประกอบพิจารณามีคำสั่งเพิกถอนทุเลาการบังคับของศาลปกครองกลาง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับของศาลปกครองกลาง
 
วาระอื่นน่าสนใจติดตาม ได้แก่ การพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะในกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ วาระ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การจัดสรรเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ เพื่อประโยชน์สาธารณะประจำปี 2558 (กทปส.) และวาระการขยายขอบเขตการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ของ บ.ทีซี บรอดคาสติ้ง จำกัด ประสงค์ยื่นขอขยายขอบเขตการให้บริการโทรทัศน์ในระบบไอพีทีวี (IPTV)
 
“นอกจากนี้ยังมีวาระเตรียมการสู้คดีที่ กสทช. ถูกกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นฟ้องเรื่องการบังคับให้เคเบิลต้องบริการส่งฟรีทีวีดิจิตอลด้วย ศาลปกครองนัดให้ถ้อยคำเช้าวันอังคารที่ 1 ก.ย.นี้ .... ส่วนคดีที่ 5 ช่องดิจิตอลฟ้อง กสทช. ศาลปกครองนัดพร้อมสองฝ่ายวันจันทร์ที่ 31 ส.ค.นี้ช่วงบ่าย หลังการประชุมบอร์ด คาดว่า กสท. คงไปศาลกันครบทุกท่าน เพราะคดีนี้เป็นคดีใหญ่ ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันในการชี้แจงต่อศาล และวาระอื่นๆ ซึ่งติดตามผลการประชุมทั้งหมดวันจันทร์นี้” สุภิญญา กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'มหาธีร์' ชุมนุม Bersih วันที่ 2 -นาจิบ ราซัก ระบุจะไม่ยอมให้ใครทำลายมาเลเซีย

$
0
0

อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มหาธีร์ โมฮัมหมัด ร่วมชุมนุมเบอเซะวันที่ 2 โดยระบุว่าไม่ได้มาเพื่อสนับสนุนเบอเซะ แต่สนับสนุนประชาชน เบอเซะเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน ด้าน รมว.กลาโหมโจมตีมหาธีร์ว่าละเมิดหลักการตัวเอง ทั้งที่ในอดีตมีทัศนะต่อต้านการชุมนุม ส่วนนายกรัฐมนตรี 'นาจิบ ราซัก' อัดเบอเซะยับผ่านสุนทรพจน์เนื่องในวันเอกราช ระบุด้อยจิตวิญญาณของชาติ

พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม หรือ "เบอเซะ" (Bersih) ชุมนุมใหญ่ใกล้กับจัตุรัสเมอเดก้า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 30 ส.ค. นี้ (ที่มา: ประชาไท)

คลิปผู้ชุมนุมเบอเซะร่วมกันร้องเพลง "เนอการากู" หรือเพลงชาติมาเลเซีย ระหว่างการชุมนุมในช่วงเวลา 14.00 น. เมื่อวันที่ 30 ส.ค. (ที่มา: ประชาไท)

 

30 ส.ค. 2558/กัวลาลัมเปอร์ - ตามที่พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรมหรือกลุ่มเบอเซะ (Bersih) ชุมนุมใหญ่ที่เรียกว่า "Bersih 4" ที่จัตุรัสเมอร์เดก้า ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ของวันที่ 29 ส.ค. จนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 ส.ค. นี้ เพื่อเรียกร้องให้นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออกจากถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 24,500 ล้านบาท) จากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย "วันมาเลเซียเดเวลอปเมนท์ เบอรฮาด" หรือ 1MDB นั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

 

 

มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และภรรยา นั่งรถไฟ KTM มายังสถานีกัวลาลัมเปอร์ เพื่อเข้าพื้นที่ชุมนุมเบอะเซะ เมื่อเวลา 16.40 น. วันที่ 30 ส.ค. นี้ (ที่มา: Malaysiakini)

 

2 รัฐมนตรีอัดมหาธีร์ - 'ฮิซชามุดดิน' ระบุมหาธีร์ละเมิดหลักการของตัวเองที่เคยต้านการชุมนุม 

ต่อมาภายหลังจากที่มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนที่ 4 เข้ามาเยี่ยมผู้ชุมนุมเบอเซะที่จัตุรัสเมอเดก้าเมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) เช้าวันนี้ (30 ส.ค.) เขาถูกคนในรัฐบาลมาเลเซีย ออกมาวิจารณ์ ทั้งนี้ตามรายงานของมาเลเซียกินี

โดยรองนายกรัฐมนตรีผู้ดำมีตำแหน่งเป็น รมว.มหาดไทยอะหมัด ซาฮิด ฮามิดี (Ahmad Zahid Hamidi) กล่าวหาว่า มหาธีร์ ใช้เวลาเพียง 6 นาที ไม่ได้แปลว่าเขาสนับสนุนกลุ่มเบอะเซะ 4

ขณะที่ ฮิชชามุดดิน ฮุสเซ็น (Hishammuddin Hussenin) รมว.กลาโหม กล่าวว่า มหาธีร์กำลังส่งเสริมสิ่งที่เป็นอันตราย "เขาควรตระหนักถึงผลร้ายด้านความปลอดภัยและความโกรธแค้น ถ้าการชุมนุมบนท้องถนนบานปลาย"

รมว.กลาโหม กล่าวด้วยว่า "หลายประเทศในโลกได้ล่มสลายลง เมื่อผู้นำถูกโค่นด้วยการชุมนุมบนท้องถนน"

ฮิชชามุดดิน กล่าวว่า ในอดีตมหาธีร์เคยระบุว่าการชุมนุมบนท้องถนนไม่ใช่ช่องทางที่เหมาะสมในการแสดงออกถึงความคับข้องใจ โดยเขากล่าวต่อว่า "มหาธีร์ได้ละเมิดหลักการต่อสู้ทางการเมืองของเขาเอง การกระทำของเขาขัดแย้งกับคุณค่าที่เขาปลูกฝังให้กับพรรคอัมโน (UMNO) และประชาชน ในสมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี"

 

มหาธีร์ตอบ 2 รัฐมนตรี เอาที่สบายใจเลย - ยืนยันสนับสนุนประชาชนไม่ได้สนับสนุนเบอเซะ

ต่อมา มาเลเซียกินีรายงานว่า ในเวลา 16.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น วันนี้ (30 ส.ค.) มหาธีร์ โมฮัมหมัด ได้กลับมาบริเวณที่ชุมนุมอีกครั้ง โดยมหาธีร์ และภรรยา พญ.ซิติ ฮัมซาห์ (Siti Hamzah) ได้นั่งรถไฟชานเมือง KTM มาลงที่สถานีกัวลาลัมเปอร์ โดยมีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ซาอิด อิบราฮิม (Zaid Ibrahim) ติดตามมาด้วย

โดยในการเยือนครั้งที่สองนี้ มหาธีร์ไม่ได้เข้าไปถึงกลางที่ชุมนุมอย่างจัตุรัสเมอเดก้า แต่ครั้งนี้ใช้เวลาในพื้นที่ใกล้กับที่ชุมนุมราว 1 ชั่วโมง โดยเขากล่าวกับผู้ชุมนุมที่ทางเข้าตลาดปะซาเซนี รวมทั้งแถลงข่าวกับสื่อมวลชนในร้านอาหารย่านตลาดปะซาเซนีด้วย

ต่อคำให้สัมภาษณ์โจมตีของ 2 รัฐมนตรี มหาธีร์ตอบผู้สื่อข่าวว่า "เป็นสิทธิของพวกเขาที่จะว่าผม พวกเขาสุขสบายแล้วนี่"

โดยในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน มหาธีร์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2524 - 2546 กล่าวว่าไม่ได้มาในฐานะผู้สนับสนุนกลุ่มเบอเซะ แต่มาเพราะเป็นผู้สนับสนุนประชาชนมาเลเซียทุกคนที่อยู่บนท้องถนนเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีนาจิป ราซัก ลาออก

ทั้งนี้มหาธีร์ กล่าวว่า ไม่ได้สนับสนุนกลุ่มเบอเซะ แต่สนับสนุนประชาชน ส่วนกลุ่มเบอเซะเองก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาชน และมีสิทธิเช่นกัน "เบอเซะก็เป็นรักยัต" มหาธีร์ใช้คำในภาษามลายูซึ่งแปลว่า "ประชาชน" ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ ไม่ใช่ทุกคนที่สวนเสื้อเหลือง หลายคนไม่ได้สวมเสื้อเหลือง ผมมาที่นี่เพื่อแสดงความสามัคคีกับประชาชน" มหาธีร์ให้สัมภาษณ์

มหาธีร์ย้ำถึงความจำเป็นที่นาจิบ ควรลาออก และกล่าวด้วยว่าสิ่งนี้จะช่วยกู้ภาพของพรรครัฐบาล "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional) "ในรัฐสภา แนวร่วมแห่งชาติครองเสียงข้างมาก และมีสิทธิที่จะเลือกผู้นำคนใหม่" มหาธีร์กล่าวย้ำความเห็นก่อนหน้านี้ของเขา ที่เคยให้สัมภาษณ์สื่อแนะนำพรรคฝ่ายค้านให้ร่วมลงมติไม่ไว้วางใจเพื่อขับนาจิบ ออกจากอำนาจ

"ประชาชนทั้งหมดไม่ต้องการผู้นำคอร์รัปชั่นแบบนี้ เราต้องขจัดผู้นำแบบนี้ และถ้าเราสามารถทำได้ผ่านวิธีการปกติ"

อย่างไรก็ตาม มหาธีร์ได้ชี้ว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ทำลายช่องทางกฎหมายที่สามารถเอาผิดเขาได้ อย่างเช่น การย้าย อับดุล กานี เปตาล (Abdul Gani Patail) ออกจากตำแหน่งอัยการสูงสุด

นอกจากนี้มหาธีร์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่าเขาไม่ควรเข้าร่วมกับการชุมนุม Bersih 4.0 โดยเขาตอบว่า "ไม่ ผมคิดว่า ผมได้แสดงจุดยืนของผมที่นี่ว่าผมสนับสนุนการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล" "จิตวิญญาณของผมอยู่กับคุณทุกๆ คน ผมจะต้องกลับบ้านแล้ว" มหาธีร์ กล่าว

 

นาจิบ ราซัก อัดเบอเซะยับผ่านสุนทรพจน์วันได้รับเอกราช ระบุด้อยจิตวิญญาณของชาติ

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัก ได้กล่าวสุนทรพจน์ออกอากาศเนื่องในวันเอกราชมาเลเซีย (Merdeka Day) โดยเป็นการบันทึกเทป เพื่อนำมาออกอากาศในคืนวันที่ 30 ส.ค. โดยเดอะมาเลเซียนอินไซเดอร์ ซึ่งอ้างรายงานของสำนักข่าวทางการของมาเลเซีย "เบอนามา" รายงานว่า นาจิบ ระบุว่า เขาและรองนายกรัฐมนตรี อะหมัด ซาฮิด ฮามิดี และคนอื่นๆ จะดำเนินงานต่อไปด้วยความพยายาม แม้ว่าจะมีความท้าทาย และอุปสรรค

"แน่นอน เราจะไม่ยอมให้ใครทั้งจากภายในและภายนอก เข้ามาขโมย ทำให้ล่มจม หรือทำลายสิ่งที่พวกเราสร้างกันขึ้นมา ขอให้พวกเราจดจำไว้ ถ้าเราไม่มีเอกภาพ สูญเสียความสามัคคีและการประสานสอดคล้องกันเมื่อไหร่ ทุกปัญหาก็ไม่สามารถแก้ไขได้ และทุกอย่างที่เราสร้างขึ้นมาด้วยความมานะก็จะถูกทำลายลง"

ในคำกล่าวสุนทรพจน์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังชื่นชมถึงความหมายของคำว่าเอกราช และวีรกรรมของทหารและสมาชิกของกองกำลังรักษาความมั่นคงที่อุทิศชีวิตเพื่อสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะอยู่อย่างผาสุกและปรองดอง "นี่ป็นสาเหตุวาทำไมเราจึงปฏิเสธทุกรูปแบบของการชุมนุมบนท้องถนน ที่รบกวนความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและได้แต่สร้างความยากลำบากให้ประชาชน เพราะว่าพวกเขาไม่ยอมโต และกาประท้วงก็ไม่ใช่ช่องทางที่เหมาะสมในการแสดงความคิดเห็นสำหรับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย"

นาจิบ กล่าวอ้างอิงถึงการชุมนุมของกลุ่มเบอเซะ ที่ชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. เวลา 14.00 น. ที่กัวลาลัมเปอร์ โกตากินาบาลู และกูชิง ด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 32 ชั่วโมงที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม สะท้อนถึงจิตใจคับแคบและด้อยวิญญาณของชาติ

 

ชุมนุมใหญ่โดย "เบอเซะ" เรียกร้องนายกรัฐมนตรีลาออกหลังมีเรื่องอื้อฉาวด้านการเงิน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อนึ่ง พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรมหรือกลุ่มเบอเซะ (Bersih) ซึ่งแปลว่า "สะอาด" ในภาษามลายู วางแผนจัดชุมนุมใหญ่ที่เรียกว่า "Bersih 4.0" ที่จัตุรัสเมอร์เดก้า ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ของวันที่ 29 ส.ค. จนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 ส.ค. นี้ เพื่อเรียกร้องให้นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออกจากถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 24,500 ล้านบาท) จากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย "วันมาเลเซียเดเวลอปเมนท์ เบอรฮาด" หรือ 1MDB

นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อได้แก่ 1. การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม 2. รัฐบาลที่ตรวจสอบได้ 3. เสรีภาพในการชุมนุม 4. ทำให้ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามีความเข้มแข็ง และ 5. รักษาเศรษฐกิจของประเทศ

โดยก่อนหน้านี้มีการชุมนุม Bersih มาแล้ว 3 ครั้งได้แก่ในปี 2550 ปี 2554 และปี 2555 โดยทุกครั้งจบลงด้วยการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่จนถึงเวลาที่รายงาน (23.45 น. ของวันที่ 30 ส.ค. 2558 ตามเวลาประเทศมาเลเซีย) ยังไม่มีการตัดสินใจสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

 

ล่าสุดในเวลาเที่ยงคืนตามเวลาประเทศมาเลเซีย ประธานกลุ่มเบอเซะ มาเรีย ชิน อับดุลลาห์ (Maria Chin Abdullah) ได้ประกาศยุติการชุมนุมแล้วในเวลาเที่ยงคืน โดยนำผู้ชุมนุมร้องเพลงชาติมาเลเซีย และตะโกนว่า "เมอเดก้า!" หรือ "เอกราช!" ในภาษามลายู ก่อนสลายการชุมนุม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถาม-ตอบ คำต่อคำ เมื่อ MARA PATANI พบสื่อมวลชนไทยครั้งแรก

$
0
0

อ่านถาม-ตอบ คำต่อคำ เมื่อ MARA PATANI พบสื่อมวลชนไทยครั้งแรก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย หลังการพูดคุยครั้งที่ 3 กับคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย พร้อมเปิดโครสร้างองค์กรมีตัวแทน 6 กลุ่ม อาวัง ญาบะ เป็นประธานฯ สุกรี ฮารี หัวหน้าทีมพูดคุย เผยวัตถุประสงค์ 5 ข้อเพื่อการพูดคุยสันติภาพ


ภาพตัวแทนองค์กร MARA PATANI แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนมาเลเซีย หลังจากพบปะกับสื่อไทย

การพบปะพูดคุยครั้งแรกระหว่างสื่อมวลชนไทยกับกลุ่ม MARA PATANI ณ โรงแรม Premiera กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 สิงหาคม 2558 ตามเวลามาเลเซีย ซึ่งเป็นการเปิดตัวครั้งแรก และเป็นการเปิดตัวหลังจากได้พูดคุยครั้งที่ 3 กับคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ที่กัวลาลัมเปอร์ เช่นกัน

ก่อนการพูดคุย เลขานุการของดาโต๊ะซัมซามิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยฝ่ายมาเลเซีย ได้มาตกลงกติกาการพูดคุยก่อน โดยห้ามไม่ให้บันทึกภาพและห้ามนำโทรศัพท์เข้าไปในห้องพูดคุย แต่อนุญาตให้จดบันทึกได้ และสามารถรายงานข่าวได้ไม่จำกัด

จากนั้นเลขานุการของดาโต๊ะซัมซามินได้นำคณะ MARA PATANI เข้ามาให้ห้องประชุม โดยนั่งคนละฟากโต๊ะประชุม หันหน้าเข้าหากัน จากนั้นเป็นการแนะนำตัว เริ่มจากฝ่าย MARA PATANI ก่อน โดยมีนายอัศโตรา ชาบัต เป็นผู้แปลและดำเนินรายการ เนื่องจากฝ่าย MARA PATANI ใช้ภาษามลายูเป็นหลัก สลับกับภาษาอังกฤษและภาษาไทยในบางช่วง โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ เพื่อให้สื่อมวลชนไทยเข้าใจมากขึ้น

โดยกลุ่มสื่อมวลชนไทยมี 18 คน (จากชายแดนใต้ 7 คน) และนักข่าวมาเลเซีย 3 คน

ฝ่าย MARA Patani มี 7 คน ได้แก่ นั่งเรียงจากขวาไปซ้าย ดังนี้

1.ดร.อารีฟ ลุกมาน (Dr.Arif Lukman) จาก PULO MKP

2.นายอาบูยาซีน อับบาส (Abu Yasin Abbas) จาก GMIP

3.นายอะหมัด ชูโว (Ahmad Cuwo) จาก BRN

4.นายอาวัง ญาบะ (Awang Jabat) จาก BRN ประธาน MARA PATANI

5.นายสุกรี ฮารี (Syukri Haree) จาก BRN หัวหน้าคณะพูดคุยของ MARA PATANI

6.อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม (Abu Hafiz Al-Hakim) จาก BIPP

7.อาบูอักรอม บิน ฮาซัน (Abu Akram Bin Hasan) จาก PULO DSPP

(หมายเหตุ: ในการพบปะกับสื่อมวลชนครั้งนี้ไม่ปรากฏตัวแทนของ PULO P4 หรือกลุ่มที่นำโดยนายซัมซูดิง คาน)

นายอาวัง ยาบะ เริ่มการพูดคุยโดยขอบคุณที่มีโอกาสได้มาเจอเพื่อพูดคุยกัน และขอบคุณรัฐบาลมาเลเซีย ประชาชนมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดาโต๊ะซัมซามิน และฝ่ายเลขานุการการพูดคุยที่ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่ และการพูดคุยครั้งนี้ไม่ได้จบแค่นี้ แต่จะมีอีกต่อไป

นายอาวัง กล่าวว่า จุดประสงค์ของการเปิดตัวครั้งนี้ เพื่ออธิบายเกี่ยวกับ MARA PATANI ขอให้สื่อมวลชนไทยรายงานตามความเป็นจริง เพราะวันนี้เป็นของจริง ต้นต่อจริง เป็นข้อมูลมือหนึ่ง หวังว่าท่านจะเขียนอย่างตรงไปตรงมา เพราะนักข่าวเป็นอาชีพที่มีเกียรติ หวังว่าทุกคนจะมีเจตนาดีที่จะสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ ส่วนกับคนที่มีเจตนาไม่ดีกับ MARA PATANI และการพูดคุยสันติภาพ ขอให้ละทิ้งไปก่อน เรามาคุยกันก่อน เพราะวันนี้เป็นเรื่องดีทั้งหมด

จากนั้น ทางฝ่าย MARA PATANI ได้นำเสนอโครงสร้างและยุทธศาสตร์ของ MARA PATANI ผ่านโปรเจคเตอร์ โดยอาบูฮาฟิซ พร้อมแจกเอกสารแนะนำ MARA PATANI โดยเนื้อหาในสไลด์นั้นมีการนำเสนอโครงสร้างองค์กรของ MARA PATANI ดังนี้ด้วย

 

 

จากนั้นเปิดโอกาสให้สื่อถาม โดยมีคำถามและคำตอบดังนี้

ถาม – “การบริหารจัดการ ปาตานี ดารุสลาม" (ในเอกสารชี้แจงอย่างย่อเกี่ยวกับ MARA PATANI)หมายความว่าอย่างไรกันแน่

อาบูฮาฟิสตอบ จริงๆ เราอยากใช้ว่า merdika แต่รัฐบาลไทยไม่ชอบคำนี้ เป้าหมายสูงสุดของทุกกลุ่มยังคงเป็น merdika แต่เราก็มองว่า การเข้าสู่กระบวนการสันติภาพเป็นทางเลือกหนึ่ง

ถาม – มีข้อเสนออะไรจากฝ่ายไทย

อาบูฮาฟิสตอบ ยังไม่มี เพราะยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น เป็นการสร้างความไว้วางใจ

ถาม – MARA PATANI เป็นตัวแทนของคนมลายูปาตานีได้จริงหรือไม่ หรือเป็นตัวแทนของขบวนการ

อาวังตอบ MARA PATANI เปิดกว้าง ไม่ได้เป็นตัวแทนเฉพาะกลุ่มขบวนการเท่านั้น แต่เป็นตัวแทนของทุกกลุ่มทั้งประชาชนและภาคประชาสังคมด้วย การเปิดกว้างนี้แสดงให้เป็นว่า MARA PATANI จะเป็นตัวแทนของทั้งหมด รวมทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ใน MARA PATANI ถ้าเราเข้ามาได้ เราเชื่อว่าจะทำให้เหตุการณ์ลดลง

ถาม – มีวิธีการที่จะให้คนมลายูปาตานีมาอยู่ใน MARA PATANI ได้อย่างไร

อาวังตอบ เราเริ่มจากขบวนการ 6 กลุ่มนี้ก็จริง แต่เราก็เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ใน MARA PATANI หลังจากนี้จะขยายไปยังทุกกลุ่มที่มี

ทุกอย่างอยู่ที่การรายงานข่าวของสื่อเกี่ยวกับจุดประสงค์ของ MARA PATANI เพื่อให้กระบวนการพูดคุยเดินต่อไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าการตั้ง MARA PATANI ไม่ดีก็จะทำให้การพูดคุยพังไปด้วย ดังนั้นเราจะเดินไปพบประชาชนในพื้นที่เองด้วย ถ้าเราได้การรับรองทางกฎหมาย หรือ Immunity จากไทย

ถาม – สิ่งที่คุยกับฝ่ายไทย พอใจอะไรบ้าง และ ตัวแทนของ BRN ที่อยู่ใน MARA PATANI ได้รับการสนับสนุนจาก BRN อย่างไร

สุกรีตอบ สิ่งที่คุยกับฝ่ายไทยคือ ต้องให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบจากฝ่ายไทย เพราะยังใหม่อยู่ ต้องรอให้ฝ่ายไทยตัดสินใจ

ส่วนประเด็นแมนเดทของตัวแทน BRN นั้น เนื่องจากรูปแบบการต่อสู้ของ BRN เป็นความลับทั้งหมด รวมทั้งเรื่องแมนเดทนี้ด้วย ดังนั้นจึงไม่สามารถให้คำตอบประเด็นนี้ได้ ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้ง BRN มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 การต่อสู่เป็นความลับทั้งหมด

ถาม – การพูดคุยบนโต๊ะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ของ BRN ด้วยหรือไม่

สุกรีตอบ ใช่

ถาม – นายกรัฐมนตรีไทยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียนได้ตกลงกันว่าจะให้มีการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งฝ่ายไทยก็มีกลุ่มที่ไม่สนับสนุนอยู่ด้วย

อาวังตอบ เราเริ่มต้นการพูดคุยครั้งใหม่นี้ตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยเดินทางไปพบนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมปีที่แล้วเป็นตัวยืน เนื่องจากทั้งสองคนเห็นว่ากระบวนการสันติภาพจะไปได้

ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพทุกที่และทุกฝ่ายก็มีคนที่ไม่เห็นด้วย แต่กระบวนการจะไปได้นั้นอยู่ที่การสนับสนุนของประชาชน เราต้องการตรงนั้น

ถาม – ข้อเสนอให้เป็นวาระแห่งชาติจะได้หรือไม่

สุกรีตอบ ที่จริงทั้ง 3 ข้อนั้นยังไม่ใช่ข้อเสนอ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องการ ยังไม่ได้รับคำตอบ คือ 1.ให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ 2.Immunity 3.ให้การรับรอง MARA PATANI

อาวังตอบ ที่จริงทั้ง 3 ข้อนั้นเป็นสิ่งจำเป็นมากที่จะทำให้กระบวนการพูดคุยเดินหน้า และไม่ใช่เงื่อนไขของ MARA PATANI

Immunity ที่เราขอก็คือ ขอให้เฉพาะทีมพูดคุยฝ่าย MARA PATANI ซึ่งมีทั้งหมด 15 คนเท่านั้น ไม่ใช่ขอให้กับทุกคน และสมาชิก MARA PATANI ทั้งหมดด้วย อย่าเข้าใจผิด

อาบูฮาฟิสตอบ คณะพูดคุยฝ่าย MARA PATANI ทั้งหมด ไม่เกิน 15 คนนั้นก็ไม่รวมอาวังด้วย เพราะไม่ได้อยู่ในคณะพูดคุย

ถาม – ต้องการให้รับรอง MARA PATANI แบบไหน

อาวังตอบ ตอนนี้ฝ่ายรัฐไทยยังไม่ได้เรียก MARA PATANI แต่เรียกว่า Party B โดยไม่ระบุว่าคือใคร เราอยากให้เจาะจงไปเลยว่า Party B คือ MARA PATANI

อาบูฮาฟิสตอบ ประเด็นวาระแห่งชาตินั้น เป็นเรื่องเดิมที่มีการหยิบยกมาตั้งแต่สมัยหะซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยแล้ว เพื่อให้กระบวนการพูดคุยไม่หยุดชะงักกรณีที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งในไทยเกิดขึ้นบ่อยมาก เช่น ตอนสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีการลงนามในฉันทามติร่วมที่จะมีการพูดคุยสันติภาพกัน แต่เมื่อทหารมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจไป แม้ว่ารัฐบาลทหารจะสานต่อ แต่กระบวนการพูดคุยก็ต้องมาเริ่มต้นใหม่ ซึ่งเริ่มต้นวันที่นายกฯประยุทธ์ไปพบนายกนาจิบ วันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งเราเรียกการพูดคุยรอบใหม่นี้ว่า Dialog 2 เพราะฉะนั้นถ้าไม่เป็นวาระแห่งชาติแล้ว กระบวนการทั้งหมดก็ต้องนับหนึ่งใหม่ตลอดเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล

ดังนั้น เราต้องช่วยกันสนับสนุนให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่สำหรับเราหรือสำหรับท่าน แต่สำหรับกระบวนการพูดคุย

แม้แต่ในคำสั่งที่ 230 ซึ่งเราอ่านแล้ว และมีอยู่ในมือตอนนี้ (หยิบมาโชว์) ก็ไม่ได้บอกว่าจะให้ต่อเนื่องอย่างไร ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลอีก คำสั่งนี้ก็จะถูกฉีกอีก

ในคำสั่งนี้ใช้คำว่าพูดคุยสันติสุข แต่ในฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้คำว่า Peace Dialog ซึ่งทำให้สับสนว่าคืออะไร

ถาม – ถ้าไม่มี 3 ข้อนี้ การพูดคุยจะเป็นปัญหาหรือไม่

อาบูฮาฟิสตอบ ถ้าฝ่ายไทยยังไม่ยอมรับ 3 ข้อนี้ เราถือว่าการพูดคุย เป็นกระบวนการยังไม่เป็นทางการ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะหยุด เราก็จะคุยต่อไป แต่จะคุยในสาระสำคัญๆ ไม่ได้ แต่การสร้างความไว้วางใจนั้นยังมีต่อไป

ถาม – ข้อเสนอของไทยคืออะไร

สุกรีตอบ 1.ให้มีพื้นที่ปลอดภัย 2.ให้ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตามที่ทุกฝ่ายต้องการ 3.ใช้กระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเรารับกลับมาพิจารณาทั้งหมด

อาบูฮาฟิสตอบ  เรารับข้อเสนอของไทยมาพิจารณา แต่ยังไม่คุยเป็นทางการ เพราะต้องรอให้การเจรจายกระดับเป็นทางการก่อน

ถาม – มาร่ามีกรอบเวลาสำหรับการรับข้อเสนอสามข้อของฝ่ายไทยไหม

อาบูฮาฟิสตอบ ยิ่งเร็วยิ่งดี

ถาม – ในระหว่างที่ 3 ข้อของ MARA PATANI ยังไม่ได้ จะฟังเสียงประชาชนในพื้นที่อย่างไรและจะทำความเข้าใจประชาชนอย่างไร

อาบูฮาฟิสตอบ เรามีแผนอยู่แล้ว เช่น ถ้าเราเข้าไปไม่ได้ เราก็เชิญเขามาคุย แต่อาจจะช้าหน่อยและต้องมีสปอนเซอร์ คือไม่ง่ายและมีข้อจำกัดเยอะ

ถาม – จะตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อให้การพูดคุยกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่

อาบูฮาฟิสตอบ – สิ่งที่คุยกับในการพูดคุยกับฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา มีข้อหนึ่งคือให้มีการตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมา ซึ่งจะตั้งอะไรก็ได้ แต่ MARA PATANIอยากให้ย้อนกลับไปที่ 3 ข้อก่อน เพื่อให้การพูดคุยเป็นทางการ

ถาม – มีการกำหนดกรอบข้อตกลงหรือ TOR ในการพูดคุยหรือไม่

อาบูฮาฟิสตอบ เดิมตกลงกันให้ทั้งสองฝ่ายทำของตังเองมาก่อนแล้วมาเสนอต่อผู้อำนวยความสะดวก แต่ผู้อำนวยความสะดวกรออยู่นานก็ไม่มีใครส่ง เพราะเราทำไม่เป็น ฝ่ายไทยก็ไม่ได้ส่ง ทางมาเลเซียก็เลยทำแจกให้ทั้งสองฝ่ายซะเลย แล้ค่อยมาคุยกันอีกที คือส่งให้ทั้งสองฝ่ายกลับไปอ่านก่อน ซึ่งยังไม่รู้ว่าเนื้อหามีอะไรบ้าง ยังไม่ได้อ่าน

ถาม – คิดว่าฝ่ายไทยมีความจริงใจมากน้อยแค่ไหน

อาบูฮาฟิสตอบเป็นภาษาไทย ความจริงใจวัดยาก แต่ความจริงจังมองเห็นได้ ดูอย่างเรื่องวาระแห่งชาติเราขอมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วก็ยังไม่ได้

ถาม – ถ้ายังไม่ได้ 3 ข้อนั้น สถานการณ์ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร

อาบูฮาฟิสตอบภาษาไทย ตอบไม่ได้ อยู่ที่นายกฯประยุทธ์ว่าจะทำอย่างไร เพราะมีอำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญอยู่ในมือ ถ้าจะรับ 3 ข้อนี้ก็ประกาศได้เลยทันที ขนาดน้ำท่วมก็ยังประกาศเป็นวาระแห่งชาติได้ แล้วนับประสาอะไรกับปัญหาความรุนแรงที่มีคนตายถึง 5 – 6 พันคนที่จะประกาศไม่ได้

ถาม – แล้วฝ่าย MARA PATANI จะแสดงความจริงใจอย่างไร

อาบูฮาฟิสตอบ ในเอกสารที่แสดงก็เป็นคำตอบให้แล้วถึงความจริงใจของ MARA PATANI

สุกรีตอบ – เราได้แสดงความจริงใจไปแล้ว ซึ่งทหารก็ทราบแล้ว

ถาม – ความรุนแรงที่ลดลงช่วงเดือนรอมฎอนคือการแสดงความจริงใจหรือไม่

ผู้แทนบีอาร์เอ็น (พยักหน้า)

ถาม – พลเอกอักษราบอกว่า ขอบคุณที่ช่วงรอมฎอนความรุนแรงลดลง โดยมาร่าบอกว่า ความรุนแรงช่วงรอมฎอนเขาไม่ได้ก่อ งั้นเหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาใครทำ

ดร.อารีฟตอบ – ต้องเข้าใจว่าเมื่อมีกระบวนการสันติภาพแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะหยุดความรุนแรงด้วย ซึ่งในการสู้รบทางฝ่ายขบวนการก็มีกฎอยู่ แต่ฝ่ายไทยต้องให้หยุดความรุนแรงทันที ซึ่งในกระบวนการสันติภาพที่ไหนก็แล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะยังไม่ถึงขั้นเซ็นสัญญาหยุดยิง ส่วนนักข่าวไทยก็ชอบรายงานแบบนั้นด้วย คือคุยแล้วทำไมไม่หยุดยิง

ถาม – แสดงว่าในฝ่ายขบวนการมีปีกการทหารส่วนพวกท่านก็คือปีกการเมือง ทั้งสองปีกเชื่อมกันอย่างไร

อาบูฮาฟิสตอบ  – (ออกเสีย ฮึ พร้อมแสดงท่าทาง) ทุกขบวนการมีทั้งปีกการเมืองและปีกการทหาร

ถาม – ทำไม PULO P4 ของนายซัมซูดิง คาน ไม่เข้าร่วมกับ MARA PATANI

อาบูฮาฟิสตอบ – ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีมีการประชุมเพื่อก่อตั้ง MARA PATANI ทาง PULO P4 ก็มานั่งประชุมด้วยหลายครั้ง จากนั้นได้ขอถอนตัวเพราะไม่พอใจในบางประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่เคลียร์ในขณะนั้น แต่ตอนนี้ประเด็นนั้นได้เคลียร์กันแล้ว และได้ส่งหนังสือถึงซัมซูดิง คานแล้ว รวมทั้งผมได้โทรศัพท์ไปคุยแล้วด้วย แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าเขาจะเข้ามาร่วมกับ MARA PATANI เมื่อไหร่ และชื่อ PULO P4 ก็ยังมีอยู่ในโครงสร้างของ MARA PATANI

ถาม – ในเมื่อยังไม่มี TOR แล้วจะให้ข่าวกันอย่างไร

อาบูฮาฟิสตอบ – ฝ่ายไทยกลัวว่าจะคุยกับสื่อไทยในวันนี้เกินเลยไป แล้วทำให้สื่อเข้าใจผิด ก็เลยเสนอให้มีผู้แถลงข่าวร่วม ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยอนกลับไปที่ 3 ข้อจึงจะทำได้ คือต้องให้การพูดคุยเป็นทางการก่อน

ถาม – มีเงื่อนไขอะไรที่จะทำให้ฝ่ายขบวนหยุดต่อสู้ด้วยอาวุธ

อาวังตอบ เรามี MARA PATANI ก็เพื่อกระบวนการสันติภาพ แม้ว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธก็เพื่อสร้างสันติภาพด้วยเช่นกัน แล้วถ้ากระบวนการสันติภาพประสบความสำเร็จแล้วจะใช้อาวุธไปทำไม แต่ถ้าพูดคุยแล้วก็ยังไม่ยอมรับอีก ความรุนแรงก็จะมีอยู่ต่อไป ดังนั้นงานตรงนี้ต้องมีต่อไปเพื่อสร้างความเข้าใจไปด้วย

ถาม – หลังจากนี้กรณีที่มีเหตุรุนแรงทาง MARA PATANI จะออกมาแถลงข่าวหรือไม่

อาวังตอบ – ถ้าการพูดคุยเป็นทางการแล้ว หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราจะแถลงทั้งหมด แต่ตอนนี้ยังไม่มีการแถลงยอมรับอะไรทั้งสิ้น

ถาม (ไม่แน่ใจว่า มีคนถามคำถามหรือไม่และถามว่าอะไร)

ดร.อาริฟ ตอบ –ทุกขบวนการก็มีสปอยเลอร์ (คนที่ทำให้เสีย) ฝ่ายรัฐก็มี คนที่ทำให้กระบวนการสันติภาพเสียก็คือสื่อนั่นแหละ ไม่ใช่ระเบิด แต่เราก็ขอขอบคุณทุกคนที่มาฟังความจริงจากเรา มาสร้างความเข้าใจระหว่างเรา

ถาม – BRN มีนโยบายต่อเป้าหมายอ่อนแออย่างไร

สุกรีตอบ ไม่ใช่นโยบายของ BRN เพราะเราเล่นแต่เป้าแข็งอย่างเดียว ความสูญเสียของเป้าอ่อนเป็นเหตุบังเอิญ

ถาม – บางเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การเข้าใจผิดว่าฝ่ายขบวนการทำหรือบางเหตุการณ์ที่ฝ่ายอื่นทำ จะแถลงไหม เป็นบางจุดบางเหตุการณ์

สุกรีตอบ จะเอาเรื่องนี้ไปคุยกับ BRN เพราะมีสภาของBRN อยู่ ผมตอบตรงนี้ไม่ได้

---ปิดการประชุม---

 

หมายเหตุปิดท้ายหลังการประชุม ทาง MARA PATANI ได้นำคำชี้แจงเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งองค์กร MARA PATANI ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยและเขียนด้วยลายมือมามอบให้กับคณะสื่อมวลชนด้วย สำหรับคำชี้แจงอย่างย่อเกี่ยวกับ MARA PATANI และวัตถุประสงค์ มีดังนี้

 

คำชี้แจงอย่างย่อเกี่ยวกับ

MARA PATANI

 

ภูมิหลัง

25 ตุลาคม 2557      กลุ่ม BRN ริเริ่มก่อตั้ง Majlis Amanah Rakyat Patani (MARA PATANI)

15 มีนาคม 2558      กลุ่ม BRN นำเสนอแนวคิดของ MARA PATANI ต่อกลุ่มอื่นๆ อีก 6 กลุ่ม และเห็นพ้องให้มีการก่อตั้ง Majlis Syura Patani (MARA PATANI)

5 มิถุนายน 2558      ผู้เข้าร่วมประชุม MARA PATANI ให้การยอมรับและรับรองกลุ่ม MARA PATANI

คำนิยาม

เป็นองค์กรที่ร่มของบรรดากลุ่มนักต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานี เพื่อร่วมแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาปาตานีอย่างเป็นธรรม ครอบคลุม และยั่งยืน

องค์กร

1. Barisan Revolusi Nasional (BRN)

2. Barisan Islam Pembebasan Patani (BIPP)

3. Gerakan Mujahidin Islam Patani (GMIP)

4. Pertubuhan Pembebasan Patani Bersatu (PULO-DSPP)

5. Pertubuhan Pembebasan Patani Bersatu (PULO-MKP)

6. Pertubuhan Persatuan Pembebasan Patani (PULO-P4)

วิสัยทัศน์

บริหารปกครองปาตานี

พันธกิจ

เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างครอบคลุม เป็นธรรม และยั่งยืน

บทบาทหน้าที่

เป็นพื้นที่กลางในการปรึกษาหารือของบรรดาขบวนการปลดปล่อยปาตานีทุกกลุ่ม องค์กรภาคประชาสังคม/เอ็นจีโอ นักการเมืองท้องถิ่น และผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับ

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสร้างเอกภาพและความรับผิดชอบร่วมกันกับประชาชนปาตานีในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการกำหนดชะตากรรมด้วยตนเอง

2. เพื่อให้ความสมบูรณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองที่เอื้ออำนวย ให้มีความก้าวหน้าและต่อเนื่อง

3. เพื่อเปิดพื้นที่และให้โอกาสแก่กลุ่มนักต่อสู้ปาตานีและภาคประชาชนแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และมีความรับผิดชอบร่วมกันในการตัดสินใจและกำหนดแนวทางการต่อสู้กับทางการที่โต๊ะเจรจา

4. เพื่อให้โอกาสการเข้ามาร่วมของผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ โดยให้การเสนอแนะในเรื่องทั่วๆ ไป เพื่อให้มีเสถียรภาพในข้อโต้แย้งที่อาจเกิดขึ้นโดยผู้เจรจาบนโต๊ะเจรจา

5. เพื่อสร้างความมั่นใจต่อสังคมนานาชาติในการให้การรับรองและช่วยเหลือนักต่อสู้ประชาชนมลายูปาตานี

MARA Patani

กัวลาลัมเปอร์ 27 สิงหาคม 2015

 

หมายเหตุ: เป็นฉบับแปลจากต้นฉบับภาษามลายู/อังกฤษอย่างไม่เป็นทางการโดยคณะทำงาน IPP

 

ภาพต้นฉบับภาษามลายู

 

 

ต้นฉบับภาษาอังกฤษ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: จะเอาโหวตโนหรือโนโหวตฉันใดดี

$
0
0

 

ในที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญของคณะทหาร คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ก็เสร็จเรียบร้อย ด้วยการดำเนินการของคณะกรรมาธิการการร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน ที่นำโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประเมินว่า คณะกรรมการนี้ใช้งบประมาณการร่างมากกว่า 3000 ล้านบาท(ตามการวิเคราะห์ของประชาชาติธุรกิจ 9 สิงหาคม 2558) ร่างรัฐธรรมนูญมี 285 มาตรา ลงลดจากฉบับต้นร่างที่มี 315 มาตรา แต่ยังคงเนื้อหาอันไม่เป็นประชาธิปไตยเสียยิ่งกว่าเดิม ขั้นตอนต่อไปจากนี้คือ การลงมติรับร่างของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติในวันที่ 6 กันยายน ซึ่งถ้าผ่านมติก็จะนำไปสู่การทำประชามติทั่วประเทศ

ในขณะนี้ มีสมาชิกสภาส่วนหนึ่ง ที่นำโดย นายวันชัย สอนศิริ เคลื่อนไหวที่จะให้มีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยอธิบายว่า เมื่อพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว พบว่าไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ จึงจะขอไม่รับร่างเพื่อให้รัฐบาลทหารของคณะ คสช. เดินหน้าปฏิรูปประเทศต่อไปให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งหมายถึงว่า รัฐบาลเผด็จการทหารจะบริหารประเทศต่อไปได้อย่างน้อยอีก 2 ปีจึงค่อยมีการพิจารณาเรื่องการเลือกตั้ง นอกจากกลุ่มนี้แล้ว สมาชิกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยังมีข้อทักท้วงในขั้นตอนและเนื้อหารัฐธรรมนูญหลายเรื่อง แต่กระนั้น ก็เป็นที่ประเมินว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะผ่านการลงมติของ สมาชิก สนช. อย่างแน่นอน เพราะการลงคะแนนไม่ผ่านจะสร้างความวุ่นวายทางการเมืองในกลุ่มชนชั้นนำมากกว่านี้

ดังนั้น ก็จะถึงเวลาที่ขบวนการฝ่ายประชาชนจะต้องตัดสินใจว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

เรื่องการพิจารณาลงมติสนับสนุนให้ผ่านรัฐธรรมนูญคงไม่อาจเป็นไปได้ เพราะเนื้อหายากที่จะได้รับการยอมรับ เช่น ดังที่ จาตุรนต์ ฉายแสง อธิบายว่า รัฐธรรมนูญนี้ทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมาย รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะไม่สามารถบริหารประเทศตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในสภาพอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพและจะถูกล้มไปได้โดยง่าย รัฐธรรมนูญนี้จึงวางระบบที่ออกแบบไว้เพื่อเปิดทางและเอื้ออำนวยให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี มีระบบการถอดถอนที่ทำลายหลักการของการตรวจสอบถ่วงดุล คือ ให้วุฒิสภาที่มาจากการลากตั้งมีอำนาจถอดถอนทุกฝ่าย ให้อำนาจอย่างมากมายแก่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหลายจนสามารถล้มล้างรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากประชาชนได้ทั้งหมด และมีการวางระบบการสืบทอดอำนาจของ คสช.และกองทัพ โดยการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปฯควบคุมกำกับการทำงานของรัฐบาลและรัฐสภาต่อไปอีกยาวนาน ไม่กำหนดอายุ

ความจริงประเด็นที่แย่ที่สุดประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยากจนแทบจะทำไม่ได้ แต่กระนั้น เป็นที่เข้าใจกันดีในกลุ่มชนชั้นนำของประเทศไทยว่า หมวดว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีความหมาย เพราะสามารถที่จะใช้ให้กองทัพก่อรัฐประหารเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้เสมอ รัฐธรรมนูญที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สปช.นี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่มีการประกาศใช้ในประเทศไทย แต่ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นฉบับสุดท้าย เพราะยิ่งรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาแย่เท่าใด กำหนดให้มีการแก้ไขยากเท่าใด ก็กลายเป็นตัวเร่งการรัฐประหารฉีกทิ้งทั้งฉบับเร็วขึ้นเท่านั้น

สรุปแล้ว ในเฉพาะหน้านี้ ฝ่ายประชาชนคงจะต้องไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ แต่จะไม่รับในลักษณะใดยังคงจะต้องเป็นประเด็นในการพิจารณา

ความเห็นหนึ่ง เสนอว่า ฝ่ายประชาชนควรจะคว่ำบาตรการลงประชามติ คือ โนโหวต นอนหลับทับสิทธิ์ไม่ไปร่วมกระบวนการที่จะสร้างความชอบธรรมแก่รัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่า การลงประชามติไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์โปร่งใส ภายใต้ระบอบเผด็จการสุดขั้วของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อธิบายในเรื่องนี้ว่า ถ้าหากไปลงประชามติ และได้ผลคือคว่ำรัฐธรรมนูญได้ ก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น เพราะยังต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับ พ.ศ.2557 ที่มีมาตรา 44 ใช้อยู่ต่อไป แต่ถ้าคว่ำรัฐธรรมนูญไม่ได้คือ ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการโหวตด้วยเสียงข้างมาก การไปลงคะแนนจะกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทันที แต่ถ้ารณรงค์ให้ประชาชนไม่ไปลงประชามติ แล้วทำให้คนที่ไม่ไปลงมีจำนวนมากกว่า ก็สามารถบอกได้เช่นกันว่า ประชาชนไม่เอาด้วย

แต่อีกความเห็นหนึ่งเสนอว่า ควรจะรณรงค์ให้ไปลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้มากที่สุด คือ โหวตโน หรือตั้งเป้าที่จะล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยเสียงประชาชน โดยการลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญนั้น ไม่เกี่ยงเนื้อหาเสียด้วยซ้ำ หมายถึงว่า ต่อให้นายบวรศักดิ์และคณะร่างรัฐธรรมนูญมางามหรูดีเลิศ ก็ต้องคว่ำ ตราบเท่าที่เป็นรัฐธรรมนูญจากการรัฐประหาร ซึ่งเป็นที่มาอันไม่ชอบธรรมตามหลักการสถาปนาอำนาจรัฐธรรมนูญ ที่ถือว่า อำนาจสูงสุดต้องมาจากประชาชนเสมอ โดย พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เห็นว่า ถ้าคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการลงประชามติ จะไม่เกิดผลในทางการเมืองเลย เพราะเท่ากับปล่อยให้กระบวนการของรัฐธรรมนูญชั่วคราวดำเนินไปอย่างลื่นไหลจนถึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาชนธิปไตยจะเป็นไปโดยไร้อุปสรรค บทเรียนครั้งสำคัญ คือ การเคลื่อนไหว “โหวตโน” ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง พ.ศ.2554 ที่กลายเป็นการละทิ้งเวทีการต่อสู้และทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองไปในที่สุด

สำหรับผู้เขียนเอง ก็ยังสนับสนุนการไปร่วมลงประชามติโหวตโน คือ ไม่รับรัฐธรรมนูญ แทนที่จะนอนหลับทับสิทธิ์ โดยถือว่า การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แต่ก็มีการอธิบายว่า ถ้าหากโหวตโน คือ การลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นการช่วยให้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คณะ คสช.อยู่ในอำนาจต่อไป เพราะจะต้องนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่อีก ซึ่งก็จะออกมาลักษณะเดิม ในกรณีนี้ ฝ่ายประชาชนต้องยืนยันว่า การลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญนั้น คือ การแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการรัฐประหาร ถือว่า การรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งหมดเป็นโมฆะ จึงเท่ากับว่า สถานะแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ยังคงอยู่ การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอื่นหลังจากนั้น ก็คือหลักการว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีความชอบธรรม แม้ว่าจะมีส่วนใดไม่ถูกต้องเหมาะสม ต้องดำเนินการด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นประชาธิปไตย การใช้อำนาจทหารมาฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ถ้าประชาชนไม่รับรัฐธรรมนูญ คณะ คสช.ทั้งหมด ต้องพิจารณาความชอบธรรมของตนเอง และดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด

แต่ประเด็นในทางวิธีการคงยังแลกเปลี่ยนถกเถียงกันต่อไปได้ มีเพียงแต่ข้อเสนอประเภทที่ว่า ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 เข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ถูกใจประชาชน คงเป็นข้อเสนออันเหลวไหล ที่ไม่อาจยอมรับได้

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 528 วันที่ 29 สิงหาคม 2558

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บ้านยั่งยืน: เหล้าเก่าในขวดใหม่ มาตรการช่วยเหลือคนจนหรือแค่กระตุ้นเศรษฐกิจ

$
0
0

 

รัฐบาลประกาศความคึกคักในการจองที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ในรูปแบบ “โครงการบ้านยั่งยืน” ซึ่งมิใช่โครงการใหม่มาจากไหน แต่เป็น “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ที่ดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปัดฝุ่นปรับปรุงใหม่ หลายโครงการที่ร้างไม่มีผู้จอง หรือหลุดจากการผ่อนชำระค้างอยู่หลายยูนิต และที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างอีกจำนวนหนึ่ง ถูกนำมาเปิดให้จอง โฆษณาใหม่อีกรอบ จำนวน 13,393 ยูนิต

หลังจากที่ประกาศวันเปิดจองตั้งแต่วันแรกวันที่ 28 สิงหาคม 2558 มีประชาชนจำนวนมากไปยืนรอต่อรอรับบัตรคิวตั้งแต่ตี 4 เนื่องจากราคาที่ต่ำจึงเป็นที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับประชาชนรากหญ้าที่พอจะมีกำลังจ่ายไหวกัน โดยเริ่มต้นราคาที่ 242,000 บาท

ผู้เขียนเองได้มีโอกาสสังเกตการณ์บรรยากาศที่สำนักงานใหญ่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เนื่องจากทราบข่าวช้าเลยกว่าจะถึง กคช.ก็กินเวลาไปเกือบจะ 11.00 น. ปรากฏว่าโครงการที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำกว่า 300,000 บาทต่อยูนิต ถูกจองไปหมดเกลี้ยงแล้ว และอีกหลายยูนิตที่ราคา 4 – 5 แสนบาท ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก็ถูกจองไปแทบจะหมด ที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่อยู่ต่างจังหวัด

บรรยากาศด้านหน้า สำนักงาน กคช. เต็มไปด้วยรถยนต์นานาชนิดที่จอดเรียงรายเพื่อรอการเข้าจองที่อยู่อาศัยในงานนี้ ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการที่อยู่อาศัยของคนเมืองซึ่งยังคงเป็นความต้องการลำดับต้นๆ ดูได้จากความกระตือรือร้นมารอคิวกันตั้งแต่เช้า กระนั้นที่อยู่อาศัยที่ กคช.จัดให้จองนั้นยังคงไม่เพียงพอต่อประชาชน

หากจะดูให้ละเอียดลงไป ผู้เขียนมีคำถามว่า กลุ่มคนที่มาจองนั้นใช่ผู้ที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยจริงหรือไม่? หรือเป็นกลุ่มที่มีที่อยู่อาศัยอยู่แล้วต้องการเพิ่มเติมจากเดิม? เช่น เดิมมีบ้านแล้วอยู่กัน พ่อ แม่ ลูก แต่ลูกออกมาขอใช้สิทธิ์ในการซื้อเพียงคนเดียวเป็นบ้านหลังที่ 2 ของครอบครัว เนื่องจากคุณสมบัติผู้ที่จะสามารถจองซื้อที่อยู่อาศัย “โครงการบ้านยั่งยืน” ไม่ได้เข้มงวดมากนัก


ภาพวันเปิดจองโครงการบ้านยั่งยืนวันแรก 28 ส.ค. 58 ที่สำนักงาน กทช.


หากจะลองย้อนมาดูกฎเกณฑ์ กติกา ผู้ที่จะมีคุณสมบัติในการได้รับการช่วยเหลือจากโครงการนี้ มีดังนี้

คุณสมบัติผู้ทำสัญญา

1.มีสัญชาติไทย
2.บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไป)
3.ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ติด BLACK LIST หรือ เครดิตบูโรจากสถาบันการเงิน
4.มีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 40,000 บาท/เดือน
5.สามารถรับภาระและเงื่อนไขการเช่าซื้อได้ โดยผ่านเกณฑ์การพิจารณาจากการเคหะแห่งชาติ

ส่วนหลักฐานในการทำสัญญา นอกจากเอกสารยืนยันตัวตนที่ทางราชการออกให้ ที่สำคัญต้องมีหนังสือรับรองรายได้ตนเองและคู่สมรส หนังสือรับรองรายได้จากหน่วยงาน สลิปเงินเดือน หรือสำเนาบัญชีเงินฝาก หากไม่มีสลิปเงินเดือนจะต้องมีรูปถ่ายกิจการของตนเอง

หากดูผ่านๆ ก็คล้ายว่ามีการคัดกรองเอาเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้น้อย (จากข้อ 4) แต่นั้นก็ไม่ใช่สิ่งการันตีว่าบุคคลอื่นที่มีรายได้ครอบครัวมากกว่า 40,000 ต่อเดือน จะไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยโครงการบ้านยั่งยืนได้ ถ้าหากผู้ซื้อนั้นในปัจจุบันพักอาศัยเพียงคนเดียว หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าอยู่อาศัยเพียงคนเดียว ก็จะทำให้บุคคลที่มี “เงินเดือนไม่เกิน 40,000 บาทต่อเดือน” สามารถซื้อบ้านโครงการบ้านยั่งยืนได้ และนั้นก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผู้เขียนไม่แปลกใจที่โครงการเหล้าเก่าในขวดใหม่นี้ถูกจองหมดไปด้วยความรวดเร็ว

นอกจากนั้น อาจเกิดขบวนการเก็งกำไรที่อยู่อาศัยตามโครงการต่างๆ ที่ทาง กทช. เปิดให้ประชาชนจองขึ้นได้ เนื่องจากการกำหนดและติดตามตรวจสอบที่ผ่านมาของโครงการบ้านเอื้ออาทรเดิมนั้นเอื้อต่อขบวนการดังกล่าว ประกอบกับข้อจำกัดของพนักงาน กทช. ที่มีจำนวนน้อยไม่สามารถตรวจสอบได้ละเอียดกับทุกราย ทุกโครงการที่มาซื้อที่อยู่อาศัย

ครั้นจะมองถึงการแก้ปัญหาประชาชนรากหญ้าที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด จากประสบการณ์ของชุมชนสมาชิกในเครือข่ายสลัม 4 ภาคนั้น การแก้ปัญหาชุมชนด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้นโดยส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่เดิมของชาวชุมชนให้น้อยที่สุด เป็นสิ่งจำเป็น

ที่ผ่านมา หลังจากที่ต่อสู้เรียกร้องจนได้ที่ดินที่มั่นคงมา ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการเช่าที่ดินระยะยาวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือการรวมกลุ่มตั้งสหกรณ์เคหะสถานเพื่อซื้อที่ดิน สมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ผ่าน “โครงการบ้านมั่นคง” ซึ่งกำกับดูแลโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) เพื่อมาพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


ภาพการก่อสร้างที่อยู่อาศัยโดยช่างชุมชน โดยใช้งบประมาณจากโครงการบ้านมั่นคง

ระบบการบริหารโครงการ “บ้านมั่นคง” ต่างจาก โครงการ “บ้านยั่งยืน” อย่างสิ้นเชิง โดยสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างได้ ดังนี้

รูปแบบโครงการบ้านมั่นคงโครงการบ้านยั่งยืน
การเลือกทำเล ที่ตั้งชุมชนชุมชนร่วมกันตัดสินใจจะเอาที่ไหน ลักษณะแบบใดการเคหะฯ เป็นผู้เลือกให้
การออกแบบบ้าน ที่อยู่อาศัยชุมชนออกแบบเอง ตามกำลังใช้จ่ายของแต่ละครอบครัว พิจารณาโดยชุมชน ซึ่งมีแบบที่หลากหลาย วัสดุอุปกรณ์ตรงตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยการเคหะฯ เป็นผู้ออกแบบให้ มีไม่กี่แบบให้เลือก
การใช้สินเชื่อจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เป็นเครดิตในการใช้สินเชื่อกับทางรัฐบาลดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 4 บาทต่อปี คงที่ตลอด 15 ปีต้องมีสลิปเงินเดือน มีธุรกิจ กิจการที่มั่นคง ดอกเบี้ยตามธนาคารทั่วไป
การติดตามการชำระรายงวดมีความยืดหยุ่น เจรจากันในชุมชน ช่วยเหลือกันในกลุ่ม ผ่อนปรนไม่แข็งตัวหากค้างชำระ 3 งวด ติดต่อกัน ยึดกลับคืนทันที ฟ้องร้องตามกฎหมาย ผ่อนปรนไม่ได้

ดังนั้น สำหรับประชาชนรากหญ้าที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด “โครงการบ้านยั่งยืน” จึงไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของหลักเกณฑ์ผู้จะซื้อ หรือแม้แต่ทำเลที่ตั้ง อีกทั้งรูปแบบที่อยู่อาศัยที่ส่วนใหญ่ออกแบบเป็นลักษณะอาคารห้องชุดเป็นหลัก ซึ่งไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนจนเมือง


โครงการประชานิยม กับคำถามต่อความยั่งยืนของชุมชน

การเข้าถึงของประชาชนรากหญ้าในชุมชนแออัด หรือถ้าจะให้ตอบกันตรงๆ และชัดเจนแล้ว “โครงการบ้านยั่งยืน” ไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชาวสลัม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน อาชีพ และด้านสังคม ความเป็นอยู่ในลักษณะครอบครัวซึ่งอยู่กันหลายคน ชาวสลัมส่วนใหญ่จึงตอบรับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในรูปแบบ “โครงการบ้านมั่นคง” ขณะที่ “โครงการบ้านยั่งยืน” นั้นตอบโจทย์ความต้องการกับประชาชนชนชั้นกลางมากกว่า

ทำให้นึกไปถึงสถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบันที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก และรัฐบาลพยายามหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ถึงขนาดงัดเอานโยบายประชานิยมออกมาใช้ใหม่ ทั้งที่โดนคัดค้านและถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลวในรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กองทุนหมู่บ้าน รวมถึงโครงการบ้านยั่งยืนที่ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาจากโครงการบ้านเอื้ออาทร โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนรากหญ้า

แต่แท้จริงแล้วนั้น โครงการประชานิยมเหล่านี้จุดประสงค์คือต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้มีการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยใช้โครงการของรัฐอัดเม็ดเงินลงไปที่ชุมชน หมู่บ้านซึ่งเป็นกลุ่มมีความตอบสนองเร็วในการใช้งบประมาณของรัฐในลักษณะเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างถึงความเหมาะสม

สุดท้าย เม็ดเงินหลักหลายหมื่นล้านที่ลงไปซ้ำรอยประชานิยมของรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมานั้น จะสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่ เพียงเปลี่ยนยี่ห้อ แต่คุณภาพไม่แตกต่างจากเดิม ในส่วนนี้ภาคประชาชนเองคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดกันต่อไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกายกคำร้อง ‘ยิ่งลักษณ์’ จำนำข้าว ยันศาลมีอำนาจพิจารณาคดี

$
0
0

ศาลฎีกายกคำร้อง ‘ยิ่งลักษณ์’ กรณีไม่ยับยั้งจำนำข้าว ยันศาลมีอำนาจพิจารณาคดี พร้อมยกคำร้องการคัดค้านพยานของฝ่ายโจทก์ด้วย ระบุวันไต่สวนพยาน 29 ต.ค

31 ต.ค. 2558 สำนักข่าวINNรายงานว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องในความผิดฐานปฎิบัติหน้าที่มิชอบ สร้างความเสียหายแก่รัฐ กรณีละเลยไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว

ซึ่งทนายจำเลยได้ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง โดยศาลฎีกาฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลฎีกาฯ มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 11(1) ถึง (9) ไม่มีมาตราใดที่กำหนดให้ศาลปกครอง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ดังนั้น จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาฯ จะต้องทำความเห็นเสนอไปยังศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติวินิจฉัยเขตอำนาจศาล ตามที่จำเลยร้องขอ จึงให้ยกคำร้อง 

ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องขอคัดค้าน บัญชีพยานโจทก์ โดยอ้างว่า โจทก์เพิ่มเติมพยานโดยไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลไม่รับพยานดังกล่าวเข้าสู่สำนวนนั้น องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า แม้ตามกฎหมายในการไต่สวนจะให้ยึดสำนวนจาก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นหลัก แต่ศาลฎีกาฯ ก็มีอำนาจเรียกพยานไต่สวนได้ และฝ่ายจำเลย ก็สามารถนำพยานเข้าสืบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จึงให้ยกคำร้อง

และ คดีนี้ฝ่ายโจทก์ ได้ส่งพยานเอกสารจำนวน 161 แฟ้ม ขณะที่ฝ่ายจำเลยส่งพยานเอกสาร 61 แฟ้ม และทั้งสองฝ่ายได้อ้างพยานบุคคลจำนวนหลายปาก และพยานเอกสารจำนวนมาก ศาลฎีกาฯ จึงให้คู่ความทั้งสองฝ่ายร่วมกันพิจารณาพยานหลักฐานและพยานบุคคลในคดี ทุกวันพุธ เวลา 09.00 น. จนกว่าจะแล้วเสร็จ และให้นัดพร้อมคู่ความทั้งสองฝ่ายเพื่อกำหนดวันไต่สวนพยาน ในวันที่ 29 ต.ค. นี้ เวลา 09.30 น.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อเผยเยอรมนีต้นแบบที่ดีรับมือวิกฤตผู้ลี้ภัย

$
0
0

สื่อรุ่นใหม่ในเครืออัลจาซีร่านำเสนอวิดีโอชื่นชมวิธีการรับมือวิกฤตผู้ลี้ภัยของทางการเยอรมนี ใช้ทหารเป็นผู้สร้างค่าย สื่ออื่นๆ นำเสนอเรื่องอาสาสมัครชาวเยอรมันจากหลายภาคส่วนเข้าไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัย แม้ว่าจะมีกลุ่มขวาจัดที่คอยต่อต้าน

29 ส.ค.2558 เอเจพลัส (AJ+) สำนักข่าวที่เน้นตอบสนองช่องทางรับสื่อดิจิตอลแบบพกพาในเครืออัลจาซีร่านำเสนอวิดีโอเกี่ยวกับวิธีรับมือกับวิกฤตผู้ลี้ภัยของทางการเยอรมนี โดยจัดการให้กองกำลังทหารของเยอรมนีช่วยกันสร้างค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อรองรับผู้ลี้ภัยที่อพยพเข้าสู่ยุโรปหลายแสนคนในปีนี้

วิดีโอของเอเจพลัสนำเสนอภาพฟุตเตจของกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านผู้ลี้ภัยในเดรสเดนที่กลายเป็นเหตุการณ์รุนแรง โดยระบุว่าขณะที่คนบางกลุ่มยังคงก่อจลาจลเพื่อต่อต้านผู้ลี้ภัย กลุ่มคนในท้องถิ่นเมืองฮัลแบร์ดาซ์ทจำนวนมากกลับให้การสนับสนุนความพยายามสร้างที่พักพิงให้แก่ผู้ลี้ภัย

ชาวเมืองรายหนึ่งที่เป็นหญิงวัยกลางคนให้สัมภาษณ์ต่อเอเจพลัสว่าการช่วยสร้างแหล่งพักพิงดังกล่าวเป็นหน้าที่ของกองทัพที่ไม่ได้มีไว้แค่การสงครามหรือการช่วยเหลือด้านภัยพิบัติเท่านั้นแต่มีไว้เพื่อช่วยเหลือประชาชน เธอเล่าอีกว่ามีวันหนึ่งเธอพบแม่ลูกชาวซีเรียนั่งอยู่กับพื้นท่ามกลางแดดร้อนระอุเธอจึงช่วยพาพยุงตัวพวกเขาพาไปยังค่ายผู้ลี้ภัย และเมื่อคุณแม่ชาวซีเรียผู้นั้นเล่าเรื่องที่ได้ประสบมาให้เธอฟังมันก็ทำให้เธอเศร้าจนไม่อยากนำเรื่องมาเล่าต่อ

ในวิดีโอของเอเจพลัสระบุอีกว่าสื่อในเยอรมนีบางแห่งยังแสดงท่าทีสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและกล่าววิจารณ์การใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังหรือเฮชสปีช (hate speech) ต่อผู้ลี้ภัย ซึ่งเอเจพลัสตั้งคำถามว่าเยอรมนีจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะสอนให้ประเทศอื่นๆ รู้จักรับมือกับผู้ลี้ภัยได้หรือไม่

ทางการเยอรมนีมีการจัดการจดทะเบียนผู้ลี้ภัยที่เข้าไปในประเทศตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ทางการเยอรมนีจัดให้มีกองทัพและอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยซึ่งส่วนใหญ่หนีจากภัยสงครามภายในประเทศจากทวีปอื่น แต่กลุ่มอาสาสมัครผู้ให้ความช่วยเหลือบางกลุ่มก็ถูกโจมตีโดยกลุ่มนีโอนาซี นอกจากนี้กลุ่มขวาจัดในเยอรมนีที่ต่อต้านการรับผู้ลี้ภัยยังก่อเหตุทำลายที่พักพิงของกลุ่มผู้ลี้ภัยมากกว่า 200 ครั้งแล้ว

สำนักข่าว เดอร์ สปีเกล รายงานว่า มหาวิทยาลัยซีเกนเป็นตัวอย่างของการเคลื่อนไหวในหมู่ประชาชนทั่วเยอรมนีในการลุกขึ้นช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัยซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งนักเรียนไฮสคูล นักศึกษา คนทำงาน และคนวัยเกษียณอายุ โดยถึงแม้ว่ากลุ่มประชาชนอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือในเยอรมนีจะไม่ค่อยมีใครเห็นและ "เสียงไม่ดังเท่า" กลุ่มขวาจัดที่แสดงออกอย่างสุดโต่ง แต่พวกเขาก็มีอยู่จำนวนมากและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เรียบเรียงจาก

German Army Has A Unique Response To The Refugee Crisis, AJ+, Youtube, 25-08-2015

German army and volunteers provide shelter for refugees, Channel 4, 08-08-2015

Welcome to Germany: Locals Step In to Help Refugees in Need, Spiegel, 18-08-2015

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Bersih 4.0 คืนสุดท้าย-นับถอยหลังสู่วันฉลองเอกราช: ข้อสังเกตจากผู้สื่อข่าว

$
0
0

บรรยากาศชุมนุม Bersih 4.0 คืนสุดท้าย ทีบริเวณรอบๆ จัตุรัสเมอเดก้า กัวลาลัมเปอร์

บรรยากาศชุมนุมช่วงกลางวัน ของวันที่ 30 ส.ค. ผู้ชุมนุมรวมกลุ่มเคาะเครื่องดนตรี และตะโกนคำขวัญเป็นภาษามลายูว่า "Hidup Rakyat" หรือ "ประชาชนจงเจริญ"

30 ส.ค. 2558 - ผู้สื่อข่าวรายงานคลิปบรรยากาศการชุมนุม Bersih 4.0 ช่วงค่ำวันที่ 30 ส.ค. ซึ่งเป็นการชุมนุมคืนสุดท้าย ก่อนที่จะสลายตัวหลังเวลาเที่ยงคืนเข้าสู่วันเมอเดก้า หรือวันฉลองการได้รับเอกราชของมาเลเซีย ครบรอบปีที่ 58

โดยรอบๆ จัตุรัสเมอเดก้าซึ่งเป็นเวทีหลัก บริเวณใกล้เคียงกันนั้นมีผู้ชุมนุมทำเวทีย่อยหลายจุด รวมทั้งที่สถานีรถไฟฟ้า LRT มัสยิดจาเม็ก อาคารเทศบาลกัวลาลัมเปอร์หลังเก่า ก็มีเวทีย่อยเช่นกัน จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวมีเวทีย่อยรอบเวทีใหญ่อย่างน้อย 4 เวที

ประมวลภาพชุมนุม Bersih 4.0 ช่วงกลางวัน วันที่ 30 สิงหาคม 2558

ผู้ชุมนุม Bersih 4.0 ในช่วงกลางวันของวันที่ 29 ส.ค. บริเวณสถานีรถไฟ LRT มัสยิดจาเม็ก มุ่งไปทางอาคารที่ทำการเทศบาลกัวลาลัมเปอร์หลังเก่า (ที่มา: ประชาไท)

หน้ากากกายฟอว์กส์เป็นสินค้าที่มีขายในที่ชุมนุมเช่นกัน (ที่มา: ประชาไท)

มีผู้ชุมนุมถือป้ายขอให้ช่วยกันลดการใช้แตรวูวูเซลา เนื่องจากรบกวนการฟังคำปราศรัย

ผู้ชุมนุมชวนนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัก มาส่องกระจก

ลานหน้าจัตุรัสเมอเดก้า

ชาวโอรัง อัสลี หรือชาวเงาะ รวมชุมนุม Bersih 4.0 เมื่อวันที่ 30 ส.ค.

ผู้ชุมนุมซึ่งใช้วีลแชร์เข้ามาร่วมชุมนุม Bersih 4.0

สตาฟท์ Bersih ชักชวนผู้ชุมนุมสมัครเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยทำงานอำนวยความสะดวกในที่ชุมนุม โดยจะแบ่งเวลาทำงานเป็นออกเป็นกะย่อย เพื่อให้อาสาสมัครสามารถเลือกช่วงเวลาที่สะดวกทำงานอาสาสมัครได้

ผู้ชุมนุมร่วมกันเป็นอาสาสมัครเก็บขยะ

 

ประมวลภาพชุมนุม Bersih 4.0 คืนวันที่ 30 สิงหาคม 2558

บรรยากาศคืนชุมนุมวันสุดท้าย วันที่ 30 ส.ค. 2558 บริเวณรอบๆ จัตุรัสเมอเดก้า (ที่มา: ประชาไท)

ข้อสังเกตจากภาคสนาม เวทีย่อยเป็นแบบไหน จัดการอย่างไร ใครคือผู้ร่วมชุมนุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีย่อยทำขึ้นแบบง่ายๆ ใช้ท้ายรถ หรือต่อเวทีขนาดเล็กๆ พอสำหรับขึ้นไปยืนปราศรัย "คนก็จะเดินไปเดินมาเหมือนม็อบ เหลืองแดงบ้านเรา และจะหยุดตามเวทีย่อยเป็นกล่มใหญ่" ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกต โดยตามทางแยก หรือจุดสำคัญ จะมีอาสาสมัคร คอยจัดการเส้นทางจราจร คอยจัดการขยะ บ้างก็ตั้งกลุ่มแจกน้ำดื่ม

"การชุมนุมครั้งนี้ มีอาสาสมัครจำนวนมากและมีการจัดการอย่างเป็นระบบ เฉพาะฝ่ายลอจิสติกส์ก็มีอาสาสมัครกว่า 200 คนแล้ว นอกจากนี้หลังเลิกการชุมนุมยังพบอาสามัครช่วยกันเก็บขยะบนถนนอย่างจริงจัง" ผู้สื่อข่าวระบุ

สำหรับบรรยากาศการชุมนุมในคืนสุดท้าย เป็นไปอย่างราบรื่นและผ่อนคลาย ผู้คนออกมาเดินไปเดินมาเต็มถนน โดยผู้ชุมนุมสัดส่วนใหญ่เป็นไปตามที่สื่อมวลชนหลายแห่งวิเคราะห์ นั่นคือผู้ชุมนุมกลุ่มหลักเป็นคนมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งร่วมชุมนุมเบอเซะหนนี้เป็นสัดส่วนที่มากกว่าการชุมนุมหลายครั้งก่อน ขณะที่มีเชื้อชาติอื่นรองๆ ลงมาคือมลายู และทมิฬ รวมทั้งชาติพันธุ์อื่นๆ ในมาเลเซีย

นอกจากนี้ในช่วงค่ำจะมีคนทมิฬ มาร่วมชุมนุมในจำนวนที่มากขึ้นกว่าช่วงกลางวันซึ่งเป็นเวลาทำงาน ส่วนรอบเวทีย่อยต่างๆ จะมีกลุ่มคนนั่งฟังปราศัยเป็นกลุ่มใหญ่

 

ลมตะวันออก: บทเพลงการปฏิวัติร่ม จากฮ่องกงถึงกัวลาลัมเปอร์

ทั้งนี้บางเวทีย่อยจะเห็นอิทธิพลจากการปฏิวัติร่มของฮ่องกงแพร่มาถึงแหลมมลายูฝั่งตะวันตกเช่นกัน โดยเวทีย่อยจุดหนึ่ง ผู้ร่วมชุมนุมได้ร่วมกันส่องไฟฉายที่ดัดแปลงจากสมาร์ทโฟนของตน และร่วมกันร้องเพลง "เชิงฉี่หวีส่าน" (撐起雨傘) หรือ  "Hold Up The Umbrellas" แปลเป็นไทยว่า "ชูร่มขึ้นมา" ซึ่งเป็นเพลงภาษาจีนกวางตุ้ง แต่งโดยอัลเบิร์ต เหลือง และ "ปัน" ในสมัยการปฏิวัติร่มของฮ่องกงเมื่อปี 2557 ด้วย (ชมคลิป)

โดนตอนหนึ่งของท่อนฮุกแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ชูร่มขึ้นมาแล้วไปด้วยกัน อดทนร่วมกัน แม้เราจะกังวลใจ แต่พวกเราไม่โดดเดี่ยวใช่ไหม?" "ชูร่มขึ้นมาแล้วไปด้วยกัน, อดทนร่วมกัน, ต่อสู้อย่างกล้าหาญ สู้ในสิ่งที่เราเรียกร้อง เธอกลัวไหม?" (เนื้อฉบับเต็ม)

อีกเพลงหนึ่งคือเพลง "ฮอยฟัดทินฮุง" (海闊天空) หรือ "Boundless Oceans, Vast Skies" แปลเป็นไทยว่า ""ทะเลสุดลูกหูลูกตาท้องฟ้ากว้าง" หรือ "ใต้ฟ้ากว้าง" เป็นเพลงจีนกวางตุ้งแต่งมาตั้งแต่ปี 2536 โดยศิลปินร็อคฮ่องกงวง "Beyond" เนื้อหาของเพลงมีความหมายถึงความฝันและเสรีภาพ (ชมคลิป)

"ถ้าฉันยังคงมีเสรีภาพและเป็นตัวของฉันเอง ฉันจะร้องเพลงด้วยเสียงอันดัง และเดินทางไกลพันลี้" ท่อนหนึ่งของเพลงระบุ ซึ่งเพลงนี้ถูกนำมาร้องในการชุมนุมปฏิวัติร่มของฮ่องกงในปี 2557 เช่นกัน (เนื้อฉบับเต็ม)

และในเวลาเที่ยงคืนผู้ชุมนุมร่วมกันนับถอยหลังเข้าสู่เวลาเที่ยงคืนของวันใหม่ ซึ่งเป็นวันรำลึกการได้รับเอกราช ร่วมกันร้องเพลงชาติมาเลเซีย "เนอการากู" ก่อนสลายการชุมนุมโดยสงบ

000

ประมวลภาพชุมนุม Bersih 4.0 คืนวันที่ 30 ส.ค. 2558

บรรยากาศคืนชุมนุมวันสุดท้าย วันที่ 30 ส.ค. 2558 บริเวณรอบๆ จัตุรัสเมอเดก้า (ที่มา: ประชาไท)

ชุมนุมเบอเซะ 4 ครั้ง หนนี้จบลงเรียบร้อย ผิดกับก่อนหน้านี้

สำหรับ พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม หรือกลุ่มเบอเซะ (Bersih แปลว่า สะอาด ในภาษามลายู) ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งในมาเลเซีย เช่น ให้ปรับปรุงระเบียบการเลือกตั้ง ให้ปฏิรูประบบลงคะแนนทางไปรษณีย์ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่โปร่งใส เรียกร้องให้ใช้หมึกที่ลบไม่ออกในการลงคะแนน อนุญาตให้ทุกพรรคการเมืองเข้าถึงสื่อสารมวลชน และยุติการเมืองสกปรก

โดยการชุมนุม "Bersih" ครั้งแรกเมื่อ 10 พ.ย. 2550 การชุมนุม "Bersih 2.0" เมื่อ 9 ก.ค. ปี 2554 ส่วนการชุมนุม "Bersih 3.0" เกิดขึ้นเมื่อ 28 เม.ย. 2555 โดยทุกครั้งจบลงด้วยการสลายการชุมนุมโดยตำรวจมาเลเซีย

โดยการชุมนุม Bersih 4.0 ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่ 14.00 น. ของวันที่ 29 ส.ค. จนถึงเที่ยงคืนวันที่ 30 ส.ค. นั้น ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออกจากถูกสื่อมวลชนกล่าวหาว่ายักยอกเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 24,500 ล้านบาท) จากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย "วันมาเลเซียเดเวลอปเมนท์ เบอรฮาด" หรือ 1MDB

นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อได้แก่ 1. การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม 2. รัฐบาลที่ตรวจสอบได้ 3. เสรีภาพในการชุมนุม 4. ทำให้ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามีความเข้มแข็ง และ 5. รักษาเศรษฐกิจของประเทศ

โดยการชุมนุม Bersih 4.0 เกิดขึ้น 3 แห่งทั่วประเทศมาเลเซีย ได้แก่ที่กัวลาลัมเปอร์ บนฝั่งคาบสมุทร และกูชิง รัฐซาราวัก และโกตา กินาบาลู รัฐซาบาห์ บนเกาะบอร์เนียว

 

เรื่องเหนือความคาดหมายเมื่อ 'มหาธีร์' มาดูเบอเซะ
ขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมอดีตคู่ปรับบอก คนออกมาชุมนุมวันนี้-เพราะปัญหาที่มหาธีร์สร้างเอาไว้

ทั้งนี้มีเรื่องเหนือความคาดหมายเกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นวันที่ 29 และ 30 ส.ค. อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 มหาธีร์ โมฮัมหมัด ซึ่งครองอำนาจมาอย่างยาวนานระหว่างปี 2524 - 2546 คู่ปรับคนสำคัญของพรรคฝ่ายค้าน เดินทางมาในที่ชุมนุมด้วย ในวันที่ 29 ส.ค. และ 30 ส.ค. เพื่อให้กำลังใจผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตามเขาปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้สนับสนุนกลุ่มเบอเซะ และเขาเรียกร้องให้นาจิบ ราซัก ลงจากตำแหน่ง

จากปฏิกิริยาของผู้นำการชุมนุม Bersih ที่หลายคนเคยเป็นอริกับอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียผู้นี้นั้น เดอะมาเลเซียนอินไซเดอร์ รายงานว่า มาเรีย ชิน อับดุลลาห์ ประธานองค์กร Bersih 2.0 กล่าวเพียงว่า ไม่ได้คาดหมายมาก่อนว่าจะเห็นมหาธีร์ "ฉันไม่ได้คาดหมายมาก่อน แต่มหาธีร์บอกว่ากำลังคิดอยู่ว่าจะมา แสดงว่าเขาคิดเร็วมาก"

ด้านคณะกรรมการ Bersih 2.0 หนิว ซินเยียว (New Sin Yew) กล่าวว่า ยินดีต้อนรับทุกคนเข้าร่วมการชุมุนม Bersih และจะไม่มีการเลือกปฏิบัติกับใครก็ตามไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม "ที่นี่เป็นสถานที่สาธารณะ เราไม่เลือกปฏิบัติกับใคร เราต้อนรับทุกคน"

(ซ้าย) มหาธีร์ โมฮัมหมัด ในวัย 90 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของมาเลเซีย และภรรยา เข้ามาเยี่ยมผู้ชุมนุม Bersih 4.0 เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2558 ขณะที่คนที่ช่วยอำนวยความสะดวกพามหาธีร์ฝ่าฝูงชน คือคู่ปรับเก่าอย่าง "ฉัว เทียนชาง" ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน พรรคยุติธรรมประชาชน หรือ PKR ทั้งนี้ในสมัยที่มหาธีร์เป็นนายกรัฐมนตรี ฉัว เทียนชาง หรือ "เทียนฉัว" สมัยที่เพิ่งตั้งพรรคฝ่ายค้าน เคยถูกตำรวจมาเลเซียทุบและควบคุมตัวเมื่อเดือนเมษายนปี 2542 (ขวา) (ที่มา: มาเลเซียกินี)

อีกเรื่องที่เหมือนตลกร้ายก็คือ ผู้ที่ช่วยพา 'ผู้เฒ่า' มหาธีร์ โมฮัมหมัดฝ่าฝูงชนเข้ามาในจัตุรัสเมอเดก้า ก็คือ ฉัว เทียนชาง หรือ "เทียนฉัว" ส.ส.ฝ่ายค้านพรรคยุติธรรมประชาชน (PKR) ทั้งนี้ในสมัยที่มหาธีร์เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2544 เทียนฉัว เคยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายใน (ISA) มาแล้ว โดยเขาถูกรัฐบาลมหาธีร์กล่าวหาว่า เตรียมการทำหลายอย่าง เตรียมโค่นรัฐบาลด้วยการใช้ "ระเบิด เครื่องยิงลูกระเบิด ระเบิดขวด สะเก็ดลูกปืน และอาวุธอันตรายอื่นๆ"

เทียนฉัว กล่าวถึงโอกาสที่เขาได้พบมหาธีร์ว่า "ผมมีโอกาสที่จะได้พบกับเขา และได้จับมือ แต่ว่าไม่มีเวลามากพอที่จะได้สนทนากัน"

เขากล่าวด้วยว่า "มหาธีร์มีสิทธิที่จะแสดงออกว่าเขาสนับสนุน (ฺBersih 4.0) แต่ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะลืมไปว่าส่วนหนึ่งของปัญหาทุกวันนี้ก็มาจากระบบที่มหาธีร์สร้างขึ้น ในขณะที่พื้นที่ประชาธิปไตยกลับถูกปิดลง" เทียนฉัวกล่าวต่อว่า "ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ประชาชนต้องลุกฮือกันในวันนี้" เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวมาเลเซียกินี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

25 ปี ประกันสังคม : มองให้ไกลกว่า “แยก-ไม่แยก กองทุนผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติ”

$
0
0

อีกไม่กี่วันข้างหน้า 3 กันยายน 2558 ก็จะครบรอบ 25 ปี ของสำนักงานประกันสังคม หากเปรียบเป็นคน ก็จะเรียกว่าเป็น “วัยเบญจเพส” ที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่พร้อมปูอนาคตเพื่อก้าวสู่โลกใบใหญ่ที่แข็งแกร่ง คงมั่น แต่ก็เต็มไปด้วยอุปสรรคที่หนาวเหน็บและต้องฟันฝ่าในอนาคตไม่น้อย โดยเฉพาะการคงไว้ในหลักการสำคัญของประกันสังคมให้ได้อย่างแท้จริง คือ “เฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุข ดีช่วยป่วย รวยช่วยจน” (Solidarity)

พูดให้เห็นภาพเปรียบได้กับถังน้ำดื่มที่ให้แต่ละคนเอาน้ำ(เงินสมทบ)ที่ตนเองมี มาเทรวมกันไว้เป็นกองกลาง (กองทุนประกันสังคม) ใครกระหายน้ำก็มาตักดื่ม คนที่ไม่กระหายก็ไม่ดื่ม ส่วนคนไหนใกล้จะเป็นลมก็ต้องดื่มมากกว่าคนอื่น จึงเห็นได้ว่าประกันสังคมจึงไม่ใช่เรื่องแบบประกันชีวิตที่ “ใครจ่ายมากย่อมได้รับการคุ้มครองมากกว่า” แต่คือการเฉลี่ยเงินและเฉลี่ยความเสี่ยงของสมาชิกในกองทุนประกันสังคมร่วมกัน

เฉลี่ยเงิน คือ การนำเงินของสมาชิกทุกคนมารวมไว้เป็นกองกลาง ใครมีมากก็จ่ายมาก ใครมีน้อยก็จ่ายน้อยตามสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ของรายได้เพื่อความเป็นธรรม

เฉลี่ยความเสี่ยง คือ การนำความเสี่ยงของสมาชิกหลายกลุ่มมารวมกัน เช่น คนรวยกับคนจน คนแข็งแรงกับคนป่วย คนหนุ่มสาวกับคนแก่ คนโสดกับคนมีบุตร คนพิการกับคนไม่พิการ คนมีงานทำกับคนไม่มีงานทำ ซึ่งคนกลุ่มต่างๆเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป ใครเดือดร้อนจากความเสี่ยงก็เอาเงินจากกองกลางไปใช้บรรเทาความยากลำบากนั้น ส่งผลให้สมาชิกที่มีความทุกข์ก็จะมีความสุขมากขึ้น

นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ที่ “แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ จากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา” เมื่อผ่านการพิสูจน์สัญชาติและมีใบอนุญาตทำงานในกิจการที่กฎหมายประกันสังคมได้ระบุไว้ จะต้องเข้าสู่การคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ในมาตรา 33 โดยได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี คือ เจ็บป่วย, คลอดบุตร, สงเคราะห์บุตร, ทุพพลภาพ, ว่างงาน, ชราภาพ และเสียชีวิต ผ่านการจ่ายเงินสมทบจำนวน 5 % ในทุกๆเดือน ร่วมกับนายจ้างอีก 5 % และสมทบจากรัฐ 2.75 %

5 ปี ที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็น “ลองผิด-ลองถูก” พร้อมๆไปกับ “ความท้าทายในการบริหารจัดการผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติ” ของสำนักงานประกันสังคมมิใช่น้อย

เพราะ “แรงงานข้ามชาติ” ไม่ใช่ “ฝรั่งมังค่า” แต่เป็น “ต่างด้าว-ต่างดาวที่มาจากบ้านเมืองอื่น ที่มีความแตกต่างทั้งผิวพรรณ หน้าตา ภูมิหลัง เชื้อชาติ วัฒนธรรม สภาพการทำงาน วิถีชีวิต และอื่นๆอีกมากมาย” จาก “ผู้ประกันตนมาตรา 33” จากสถานะ “ลูกจ้าง” ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่หมายความว่า ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง จึงกลายเป็น “คนกลุ่มอื่นในระบบประกันสังคมประเทศไทย” ที่ต้อง “ถูกจัดการแยกต่างหากโดยเฉพาะ” เพราะเป็น “ภาระ” ของประเทศไทยในการดูแล

ทั้งๆ ที่ว่าไปแล้ว “ประกันสังคม” ไม่ใช่แค่เพียงเรื่อง “ประกันสุขภาพ” เท่านั้น อย่างที่หลายๆคนยังเข้าใจผิดอยู่ แต่ประกันสังคม คือ หลักประกันทางสังคมในวัยทำงานและเมื่อพ้นเกษียณอายุการทำงาน ที่เกิดการมีส่วนร่วมของแรงงานที่เป็นผู้ประกันตน มิใช่การสงเคราะห์จากรัฐ 

เพราะเงิน 5 % ที่แรงงานข้ามชาติถูกหักทุกเดือน ได้ถูกแบ่งสมทบใน 3 กองทุน คือ กองทุนแรก 1.5 % สมทบในกองทุนเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต กองทุนที่สอง 0.5 % สมทบในกองทุนว่างงาน และกองทุนที่สาม 3 % สมทบในกองทุนชราภาพและสงเคราะห์บุตร ซึ่งการสมทบเงินของนายจ้างก็เป็นลักษณะเดียวกับลูกจ้าง

ส่วนรัฐบาลจะสมทบในกองทุนแรก (กองทุนเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต) 1.5 % กองทุนว่างงาน 0.25 % และสงเคราะห์บุตร 1 % (กองทุนชราภาพนี้รัฐบาลไม่ได้สมทบ)

(1)

12 กรกฎาคม 2558 นายโกวิท สัจจวิเศษ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า

“สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎหมายประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าว โดยศึกษาเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆทั้งในและนอกกลุ่มอาเซียน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวกับแรงงานไทยมีรูปแบบทำงานต่างกัน บางสิทธิประโยชน์อาจจะไม่สอดคล้องกับแรงงานต่างด้าว

เช่น สิทธิกรณีว่างงานนั้น แรงงานต่างด้าวต้องกลับประเทศหลังครบกำหนดจ้างงาน ทำให้ไม่สามารถรับสิทธิได้ อาจจะต้องตัดการเก็บเงินสมทบส่วนนี้

ส่วนสิทธิกรณีชราภาพนั้น อาจจะให้เงินก้อนแก่แรงงานต่างด้าวที่ต้องกลับประเทศ

ส่วนกรณีคลอดบุตรและการรักษาพยาบาล จะศึกษาว่ามีแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวใช้สิทธิเป็นจำนวนเท่าไหร่

ทั้งนี้เบื้องต้นพบว่าประเทศอื่นๆ ไม่ได้ให้สิทธิประกันสังคมแก่แรงงานต่างด้าวในกรณีคลอดบุตร ว่างงาน คาดว่าจะร่างกฎหมายเสร็จในเดือนกันยายนนี้ และจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป”(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

สอดคล้องกับที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเดียวกันก่อนหน้านั้นในวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ว่า

“ได้เร่งรัดให้ สปส.เร่งจัดทำร่างกฎหมายประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวเป็นการเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงาน โดยปรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้เหมาะสมตามสภาพการทำงาน และระยะเวลาการทำงาน ซึ่งสปส.จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน พร้อมมั่นใจว่า จะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ทันบังคับใช้พร้อมกับการสิ้นสุดเวลาพิสูจน์สัญชาติ วันที่ 31 มีนาคม 2559”

แน่นอนความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

ย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พฤษภาคม 2556 ภายหลังจากที่ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (ในขณะนั้น) ได้จัดทำเอกสารวิชาการ เรื่อง “แรงงานข้ามชาติ...ควรได้รับความคุ้มครองสิทธิประกันสังคมแค่ไหน” โดยเป็นงานวิชาการในหลักสูตรนักบริหารการยุติธรรมทางปกครองระดับสูง รุ่นที่ 4 ประจำปี 2556 และถูกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นำไปศึกษาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาการประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวในอนาคต เนื่องจากมีข้อเสนอว่า กฎหมายประกันสังคมที่ดูแลแรงงานไทยมีความเป็นเอกภาพอยู่แล้ว ไม่ควรนำระบบประกันสังคมที่ดูแลแรงงานต่างด้าวมารวมไว้ แต่ควรแยกออกเป็นกฎหมายของแรงงานต่างด้าวเฉพาะ

“ไม่เห็นด้วยที่จะให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิระบบประกันสังคมเท่ากับคนไทย เสนอแนะว่าควรออกเป็นกฎหมายเฉพาะ ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยควรได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับแรงงานไทย ได้แก่ กรณีเจ็บป่วยอันไม่เนื่องจากการทำงาน เสียชีวิต ทุพพลภาพ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศต้นทาง

ส่วนกรณีคลอดบุตรควรให้การคุ้มครองเพื่อมนุษยธรรมและจรรยาบรรณทางการแพทย์ โดยยกเว้นเงินทดแทนการขาดรายได้ และเงินสงเคราะห์บุตร เพื่อส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวเห็นความสำคัญของการคุมกำเนิด ไม่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย เพราะแรงงานเหล่านี้เข้ามาเพื่อทำงานในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

ขณะที่กรณีชราภาพควรปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินให้เป็นรูปแบบบำเหน็จแทนการจ่ายเงินแบบบำนาญ เพื่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม และความสะดวกของแรงงานต่างด้าวในการใช้สิทธิเมื่อเดินทางกลับประเทศต้นทาง

ส่วนกรณีว่างงานนั้นแรงงานต่างด้าวไม่ควรได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากเข้ามาทำงานในไทยด้วยความสมัครใจ เมื่อพ้นสภาพการทำงานจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายคนเข้าเมือง โดยต้องเดินทางออกจากประเทศไทยภายใน 7 วัน” (สำนักข่าวไทย)

ในปีเดียวกันนั้นเอง สำนักงานประกันสังคมเองก็ได้มีการตั้ง “คณะทำงานพิจารณาการให้ความคุ้มครองในระบบประกันสังคมที่เหมาะสมต่อแรงงานต่างชาติ” ขึ้นมาเพื่อพิจารณาการปรับสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้มีนพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ เป็นประธาน และมีผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน 2 คน คือ นายบัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง และนายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมเป็นคณะทำงาน แต่อย่างไรก็ตามไม่มีความคืบหน้าในคณะทำงานชุดนี้แต่อย่างใด

ขณะเดียวกันสำนักงานประกันสังคมก็ได้มอบหมายให้ ผศ.ทรงพันธ์ ตันตระกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ ควบคู่ไปอีกทาง

การดำเนินการอีกส่วน คือ การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ในส่วนของการจ่ายเงินบำเหน็จแก่แรงงานข้ามชาติแทนการจ่ายสิทธิประโยชน์ในรูปของบำนาญชราภาพ ซึ่งปรากฏในร่างฉบับคณะรัฐมนตรี กับการเสนอเป็นมาตราแยกต่างหากโดยเฉพาะ ซึ่งปรากฏในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับของนายเรวัติ อารีรอบ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่สภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นได้รับหลักการพิจารณาในวาระที่ 1 โดยเสนอให้เพิ่มมาตรา 33/1 ที่ระบุว่า

“ให้บุคคลต่างสัญชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี บริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปี บริบูรณ์ โดยปรากฏสัญชาติประเทศต้นทาง และมีนายจ้างผู้ได้รับอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติ...

หลักเกณฑ์อัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนวรรค 1 จะได้รับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่สำนักงานกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ให้พิจารณาประโยชน์ทดแทนที่ไม่ต่ำกว่าความจำเป็นพื้นฐาน และอาจกำหนดเงินบำเหน็จสะสมในการทำงานที่คืนให้เมื่อเดินทางกลับถิ่นฐานของประเทศต้นทางทุกครั้ง เป็นสิทธิประโยชน์ระยะสั้น

ความสำเร็จขั้นต้นในเรื่องนี้มาปรากฏชัดใน พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ที่ระบุไว้ว่า

“ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือนหรือไม่ ถ้าความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงและไม่ประสงค์พำนักในไทย มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง”ส่วนประโยชน์ทดแทนอื่นๆยังเป็นไปตามที่ระบุไว้ไม่ได้แยกออกมาต่างหาก

(2)

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักงานประกันสังคม(สปส.) เปิดเผยว่า มีจำนวนผู้ประกันตนต่างชาติในระบบประกันสังคมทั้งหมด 492,240 คน ประกอบด้วยพม่า 305,181 คน กัมพูชา 90,643 คน ลาว 12,501 คน อื่นๆ 83,915 คน โดยในช่วงนั้นมีแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และเข้ามาทำงานภายใต้ข้อตกลง (MOU) ระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ลาว กัมพูชา รวมประมาณ 1.4 ล้านคน

โดยในช่วงปี 2553-2557 สปส.ได้จ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติกว่า 30,000 ครั้ง โดยแยกเป็นผู้ประกันตนจากประเทศพม่าประมาณ 180 กว่าล้าน ประโยชน์ทดแทนที่จ่ายมากคือ สงเคราะห์บุตรจำนวน 12 ล้านบาท ว่างงาน 6 ล้านบาท บำเหน็จชราภาพ 3-4 ล้านบาท ส่วนผู้ประกันตนที่มาจากประเทศลาว ประมาณ 8 ล้านบาท และกัมพูชาประมาณ 26 ล้านบาท

แม้มีเสียงร่ำลือออกมาจากผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติไม่น้อยว่า

"ถูกหักเงินทุกเดือน ไม่รู้เท่าไรและเอาไปทำไม พอป่วยไปโรงพยาบาลก็ไม่หาย ได้แต่พารา"

"ทำงานมา 3 ปี เคยใช้สิทธิแค่ครั้งเดียว"

"ไปโรงพยาบาล ไปประกันสังคม ถ้าไม่มีล่ามก็พูดไม่รู้เรื่อง ไม่มีคนพาไปก็ทำเรื่องไม่เป็น"

"บังคับให้จ่ายก็ต้องจ่าย"

"อยากเอาเงินที่ต้องจ่ายทุกเดือนมาเก็บไว้เอง ถ้าป่วยจะได้เอาไปจ่ายคลินิก อย่างน้อยหมอก็เต็มใจรักษามากกว่า"

โครงการพัฒนากลไกและกลยุทธ์การเข้าถึงนโยบายประกันสังคมที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ภายใต้มูลนิธิเพื่อนหญิงและมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ได้รับการอนุมัติงบประมาณการทำงานจาก สสส.ในช่วงแรกคือ  ตุลาคม 2554 - มีนาคม 2556 และช่วงที่สอง คือ เมษายน 2557 – 30 กันยายน 2558 ปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พบประเด็นน่าสนใจในเรื่องนี้ว่า เมื่อแรงงานข้ามชาติจะเข้าสู่ประกันสังคมแล้ว ในทางปฏิบัติก็ยังพบปัญหามากมายที่เป็นช่องว่างในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์และการรับบริการได้จริง ไม่ว่าจะเป็น

            (1) ปัญหาจากตัวแรงงานข้ามชาติ ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย และเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น เข้าใจว่าการประกันสังคมคือสิทธิรักษาพยาบาล ที่เปลี่ยนจากประกันสุขภาพแบบเดิม หรือเป็นเรื่องที่รัฐบาลหรือนายจ้างบังคับให้แรงงานต้องจ่ายเงินเพื่อมีสวัสดิการมากกว่าการรักษาพยาบาล แต่ไม่รู้มีอะไรบ้าง ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญข้อจำกัดในการดำรงชีวิตและเงื่อนไขการทำงานมากมาย เช่น ระยะเวลาการทำงาน, ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำใบอนุญาตทำงานและหนังสือเดินทางโดยถูกต้องตามกฎหมาย, เอกสารหลักฐานประจำตัวที่ไม่ครบถ้วนหรือนายจ้างนำไปเก็บรักษาไว้, ต้องหานายจ้างใหม่ภายหลังถูกเลิกจ้างในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน เป็นต้น

            (2) หลักเกณฑ์เงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์ มีความเคร่งครัด ยุ่งยาก ขาดความยืดหยุ่นเช่น ต้องมีหลักฐานจดทะเบียนความเป็นสามีภรรยาหรือบิดามารดา จึงจะได้ประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์บุตร ซึ่งแรงงานจำนวนมากไม่ได้จดทะเบียนสมรสหรือมีใบรับรองการเกิดของบุตร หรือการออกใบอนุญาตทำงานที่ล่าช้าโดยกรมจัดหางาน ทำให้ขาดหลักฐานยืนยันการตรวจสิทธิเบิกจ่ายกับสำนักประกันสังคม , แบบคำร้องต่างๆ ยังไม่มีภาษาของแรงงานข้ามชาติ และการประชาสัมพันธ์สื่อสารด้วยภาษาแรงงานข้ามชาติยังมีน้อยเกินไปและไม่ทั่วถึง เป็นต้น

            (3) การไม่มีเจ้าหน้าที่หรือพนักงานติดต่อสื่อสารในภาษาของแรงงานโดยเฉพาะในหน่วยราชการของกระทรวงแรงงาน และสถานพยาบาลหลายแหล่ง ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์แต่ละกรณีที่พึ่งได้ตามกฎหมายประกันสังคมอย่างถูกต้องรวดเร็วและเป็นธรรม

            (4) ปัญหาของฝ่ายนายจ้าง/ผู้ประกอบการได้แก่ นายจ้างบางรายไม่แจ้งแรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนประกันสังคม หรือไม่นำส่งเงินสมทบ หรือไม่ส่งต่อเนื่องต่อสำนักงานประกันสังคม , นายจ้างบางรายมอบหมายให้ผู้แทน หรือนายหน้าไปดำเนินการ ซึ่งอาจมีการแจ้งชื่อใหม่หรือไม่ติดตามผลขึ้นทะเบียน , นายจ้างหลายรายจ่ายค่าจ้างและจัดสวัสดิการแก่แรงงานข้ามชาติด้อยกว่าแรงงานไทยที่ทำงานในสถานประกอบการเดียวกัน แม้อายุงานใกล้กันหรือลักษณะทำงานเหมือนกัน หรือมีการควบคุมบังคับใช้แรงงาน ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติหลบหนีไปหางานใหม่ที่มีค่าแรงหรือสวัสดิการมากกว่าเดิม , เข้าใจว่าเป็นความสมัครใจของนายจ้างและแรงงานข้ามชาติว่าจะเข้าประกันสังคมหรือไม่ก็ได้ , มองว่าเป็นต้นทุนภาระที่ไม่จำเป็น หรือมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการขึ้นทะเบียนประกันสังคม เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เคร่งครัด ไม่สามารถตรวจสอบถึงได้ เป็นต้น

            (5) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานขาดฐานข้อมูลและมาตรการเชิงรุกที่เพียงพอ ชัดเจนในการควบคุมตรวจสอบให้สถานประกอบการ เพราะจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานถูกต้องตามกฎหมายคนเข้าเมือง หรือผ่านการพิสูจน์สัญชาติเรียบร้อย หรือเข้ามาทำงานตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล (MOU) จะมีฐานข้อมูลอยู่ที่สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน และนายจ้างแต่ละราย หากขาดบูรณาการทำงานเชื่อมโยงระหว่างสำนักงานประกันสังคมกับกรมการจัดหางานอย่างใกล้ชิดจริงจัง ย่อมเป็นไปได้ยากมากจะขยายฐานสมาชิกแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างกว้างขวางทั่วถึงได้ ทั้งนี้เป็นผลมาจากประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมและการบูรณาการของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ยังขาดระบบส่งเสริมและรณรงค์เชิงรุกให้นายจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคมอย่างจริงจังเพียงพอ

            เพื่อให้ช่องว่างสำคัญทั้ง 5 ข้อที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นได้ถูกขจัด โครงการฯจึงได้มีการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ ประกันสังคม, สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, จัดหางาน, หอการค้า, มูลนิธิรักษ์ไทย, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ และกลุ่มมิตรมอญ พบว่า บทบาทของสำนักงานประกันสังคม นายจ้างและสหภาพแรงงาน ทั้ง 3 ภาคส่วนนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิประกันสังคมได้จริง ได้แก่

*         การเสริมสร้างความรู้ให้กับสหภาพแรงงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเนื่องจากแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ทำงานในสถานประกอบการ ซึ่งบางโรงงานจะมีสหภาพแรงงานเป็นองค์กรในการช่วยเหลือลูกจ้าง หรือในบางพื้นที่ก็มีกลุ่มสหภาพแรงงานหรือองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ทำงานอยู่แล้ว โดยเริ่มจากการปรับทัศนคติในการอยู่ร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าแรงงานข้ามชาติในฐานะความเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองเหมือนกับแรงงานไทย หลังจากนั้นจึงเน้นไปที่การเสริมความรู้เรื่องกฎหมายประกันสังคมกับการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนการจัดตั้งแกนนำอาสาสมัครคุ้มครองแรงงาน ทั้งสหภาพแรงงานไทยและแกนนำแรงงานข้ามชาติให้เป็นนักปฏิบัติการช่วยเหลือแรงงาน เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิแรงงาน และการเข้าถึงประกันสังคมต่อไป

*         การทำงานร่วมกับสำนักงานประกันสังคมเพื่อพัฒนาให้เจ้าหน้าที่ประกันสังคมมีขีดความสามารถในการจัดบริการเพิ่มขึ้น บนพื้นฐานการเข้าใจข้อจำกัดของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ยังเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะจากภาษาในการสื่อสารที่แตกต่าง และเอกสารที่ต้องใช้ประกอบซึ่งแรงงานไม่มีหรือไม่สามารถจัดหามาได้ ซึ่งการมีล่ามในการสื่อสาร การจัดทำเอกสารเป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ การประสานกับองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่จะเป็นกลไกในการเชื่อมเจ้าหน้าที่ประกันสังคมกับตัวแรงงานในการรับบริการได้ดี

*         การทำงานร่วมกับนายจ้างโดยเชื่อมโยงให้นายจ้างเห็นความสำคัญว่าการเข้าสู่ประกันสังคมจะนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจตนเองให้มีความยั่งยืนในอนาคต มากกว่าการบังคับทางตัวบทกฎหมายเพียงเท่านั้น ถือเป็นการสร้างความรับผิดชอบในเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม อันจะนำไปสู่การลดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับความคุ้มครอง อีกทั้งยังเป็นการป้องกันกระบวนค้ามนุษย์จากนายหน้าร่วมด้วย

จากปี 2556 ที่ในสมุทรสาครมีแรงงานข้ามชาติสมัครเป็นผู้ประกันตนจำนวน 47,147 คน จากแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติทั้งสิ้น รวม 170,000 คน กล่าวได้ว่ายังมีแรงงานอีก 51,680 คน ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

ผ่านไป 1 ปี ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาครให้ข้อมูลว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 มีแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และได้รับอนุญาตทำงานในจังหวัด ได้มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนรวมทั้งสิ้น 93,024 คน จากแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติทั้งสิ้นในปี 2556 รวม 183,274 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51 ของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และนำเข้าตาม MOU

ทั้งนี้มีแรงงานข้ามชาติในจังหวัดมาขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม รวมทั้งสิ้น 4,638 คน (พม่า 4,451 คน ลาว 75 คน กัมพูชา 112 คน) คิดเป็นจำนวนเงิน 57,985,465.19 บาท 

(3)

ในปลายปี 2558 จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบในหลายด้าน แม้ว่าการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติในระดับล่างจะไม่ได้อยู่ในข้อตกลงการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในกรอบ AEC แต่ก็ต้องถือว่าเป็นประเด็นอยู่ในกรอบประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนด้านการคุ้มครองและสวัสดิการสังคม

ดังนั้นการส่งเสริมให้แรงงานในอาเซียนได้รับความคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็งมั่นคง จะเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของภูมิภาคได้ โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบประกันสังคมของอาเซียนที่เหมาะสม เพื่อเตรียมรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญ คือ การที่ประเทศสมาชิกในอาเซียน ควรจะมาร่วมกันทำข้อตกลงความร่วมมือด้านประกันสังคมระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้การคุ้มครองดูแลด้านประกันสังคมให้แก่แรงงานในอาเซียนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในกรณีนี้งานวิจัยของทรงพันธ์ ตันตระกูล ที่จัดทำให้สำนักงานประกันสังคมเมื่อปี 2555 โดยตรงก็ได้นำเสนอแนวทางจัดทำบันทึกข้อตกลงด้านการประกันสังคมกับต่างประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่แรงงานทั้งสองฝ่าย ไว้อย่างชัดเจนที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อได้

เช่นเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “แผนการให้มีข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนทำงาน” และ “ร่างข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิคนทำงาน” (Draft ASEAN Agreement on the Promotion and Protection of the Rights of Workers) โดยมีหลักการสำคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิคนทำงานทุกคนที่อยู่ในรัฐภาคีภายใต้หลักความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยร่างข้อตกลงฯ ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อมีประเทศสมาชิกให้สัตยาบันห้าประเทศขึ้นไป

สำหรับตัวอย่างต้นแบบที่น่าสนใจในเรื่องประกันสังคมโดยตรง คือ “ประกันสังคมในกลุ่ม GCC” ที่พบว่า พลเมืองที่ทำงานอยู่ในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ ได้แก่ คูเวต , บาห์เรน, ซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน เรียกกันว่า “Gulf Cooperation Council หรือ GCC” รัฐบาลทั้ง 6 ประเทศนี้ได้มีข้อตกลงร่วมกันในระดับภูมิภาคว่า ถ้าพลเมืองในรัฐสมาชิก GCC ไปทำงานต่างประเทศที่เป็นสมาชิก GCC เหมือนกัน คนกลุ่มนี้จะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยการประสานงานขององค์กรด้านประกันสังคมในประเทศสมาชิก ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานให้แก่กันและกัน ไม่จำเป็นต้องไปตั้งสำนักงานใหม่และจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นมาแต่อย่างใด

อีกตัวอย่าง ได้แก่ รัฐบาลจีนได้มีการทำ MOU กับรัฐบาล 25 ประเทศ ที่แรงงานจีนย้ายถิ่นไปทำงาน เพื่อทำให้แรงงานสามารถเข้าถึงการคุ้มครองแรงงานได้จริง เช่น เยอรมัน เกาหลีใต้ เป็นต้น

ดังนั้นโดยหลักการการนำประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติมาเป็นตัวตั้งในการพิจารณา จึงถือว่าเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับแรงงานไทยไปในขณะเดียวกัน เพราะการออกแบบเรื่องแรงงานข้ามชาติย่อมมีความยากกว่าแรงงานไทยในฐานะ “พลเมือง” อยู่แล้ว ซึ่งถ้าทำในเรื่องนี้สำเร็จจะเป็นการทำให้เกิดการสร้างประกันสังคมในระดับอาเซียน อีกทั้งยังทำให้แรงงานข้ามชาติเป็นหนึ่งเดียวกับแรงงานไทยได้จริง 

(4)

25 ปี ประกันสังคมในประเทศไทยได้เดินมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ความพยายามในการพัฒนาให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ประกันสังคมผ่านปฏิบัติการรูปแบบต่างๆ ถือเป็นการนำร่องที่ดี การมอง “แรงงานข้ามชาติที่ไม่ใช่ฐานะลูกจ้างตามกฎหมายประกันสังคมที่ระบุนิยามไว้อย่างชัดเจน” และพยายามแยกผู้ประกันตนแรงงานข้ามชาติในมาตรา 33 ออกมาจัดการต่างหากจากกลุ่มแรงงานในระบบ จึงเป็นเรื่องถอยหลังเข้าคลองและสะท้อนความอับจนปัญญาของสำนักงานประกันสังคม

ทั้งๆที่ในเดือนมีนาคม 2559 สหประชาชาติกำลังจะประกาศแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) หรือวาระการพัฒนาของโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2573 โดยเป้าหมายหนึ่งใน 17 เรื่องหลัก ซึ่งถูกระบุในเป้าหมายที่ 8 คือ เศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน

ขณะเดียวหน่วยงานภาคประชาสังคมและเครือข่ายทั่วโลกก็ยังได้ร่วมลงนามให้ “วาระสต็อคโฮล์มว่าด้วยการมีส่วนร่วมของแรงงานย้ายถิ่นและการย้ายถิ่น อยู่ในวาระการพัฒนาระดับประเทศและโลกหลังปี 2558” โดยเห็นว่า การพัฒนาต้องเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ใช่แค่การพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งมักเป็นจุดเน้นของรัฐโดยทั่วไปเท่านั้น

ดังนั้นสำหรับประเทศไทยแล้ว แรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงต้องได้รับความคุ้มครองดูแลทางสังคมและประกันสังคมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม จากประเทศที่เข้าไปทำงานเช่นเดียวกับพลเมืองของประเทศนั้นๆ เพื่อทำให้ท่าทีของประเทศไทยที่มีต่อวาระการพัฒนาหลังปี 2558 นี้ความสอดคล้องกับการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางนั้นเอง 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โคทม อารียา ชี้ร่างรธน. เปลี่ยนจากสำลักคุณธรรม สู่จับประชาธิปไตยใส่กรง

$
0
0

เก็บประเด็นวงเสวนา “ความหวังของระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่” หลากหลายวิทยากรย้ำ มองไม่เห็นความหวัง ระบุ รธน. เป็นการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ แม้หมวดสิทธิเสรีภาพเขียนดีแต่อาจเป็นเพียง ‘ผักชีโรยหน้า’

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2558 เว็บไซต์ prachamati.orgร่วมกับองค์กรเครือข่าย จัดงานเสวนา “ความหวังของระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่” ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความตื่นตัวให้กับสังคมต่อประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญที่ สปช. กำลังจะลงมติรับหรือไม่รับ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศราวุฒิ ประทุมราช สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน อธึกกิต แสวงสุข สื่อมวลชน ชลัท ประเทืองรัตนา นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ดำเนินรายการโดย ประทับจิต นีละไพจิตร

คลิปงานเสวนาโดยPITV

อธึกกิต แสวงสุข : รัฐธรรมนูญหอมหัวใหญ่ ปอกไปน้ำตาไหลทุกชั้น ซ้ำร้ายไม่มีประชาธิปไตยอยู่ภายใน

อธึกกิต หรือใบตองแห้ง เริ่มต้นด้วยการวิพากษ์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย คล้ายกับหอมหัวใหญ่ ที่ฉีดยาฆ่าแมลงอย่างเต็มที่ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีเพียงแต่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่จะมีวาระดำรงตำแหน่งเพียง 5 ปี เท่านั้นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หากแต่มีอีกหลายกลไกพิเพษ ยิ่งเมื่ออ่านรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด หรือปอกลงไปในแต่ละชั้นของหัวหอมยิ่งน้ำตาไหล และยังเป็นพิษทุกชั้น และสุดท้ายเมื่อปอกเข้าไปถึงชั้นในสุดก็ยังไม่เจอประชาธิปไตย

อธึกกิต ระบุว่า ในมาตรา 278 มีลักษณะของการสืบทอดอำนาจ โดยระบุให้ คสช. ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้วก็ตาม จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งหมายความว่า คสช. ยังมีอำนาจเต็มอยู่ และสามารถใช้มาตรา 44 ได้ ทั้งนี้เมื่อย้อนดูแล้วไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนเขียนให้อำนาจคณะรัฐประหารมากเท่านี้มากก่อน

“คือร่างแรกเราก็บอกว่ามันหนักอยู่แล้ว ถ้าพูดถึงเนื้อหา การที่มีคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ มาคอยคุมรัฐบาล ผมถามว่าแล้วรัฐบาลมันจะทำอะไร คนที่มาจากการเลือกตั้งจะทำไร ถ้ากรรมการปฏิรูปด้านการศึกษา แผนให้ปฏิรูปการศึกษา และรัฐมนตรีศึกษาธิการจะทำอะไร ไปเปิดป้ายเปิดโรงเรียนอย่างนั้นเหรอ แค่นั้นเราก็ว่าแย่แล้ว สุดท้ายก็มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติขึ้นมาอีก” อธึกกิตกล่าว

อธึกกิต ตั้งข้อสังเกตถึงที่มาของคณะกรรมการยุทธศาตร์ฯ ในตำแหน่งที่นั่งของอดีตนายกรัฐมนตรี หากย้อนกลับไปดูบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ และไม่ได้เป็นนัการเมือง ทั้งยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ เช่น องคมนตรี ก็จะเหลือเพียงพลเอกประยุทธ์ เท่านั้น มากไปกว่านั้น การตั้งแต่งคณะกรรมการที่มาจากมติรัฐสภาอีก 11 คน มีความเป็นไปได้ว่า คณะกรรมการ 11 คน ที่จะมาการแต่งตั้งก่อนการเลือกตั้งโดย สนช. เนื่องจากในมตรา 280 ระบุเพียงแค่ให้รอคณะกรรมการโดยตำแหน่ง คือประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรี ไว้ก่อน นั้นหมายความว่าในส่วนที่เหลือสามรถแต่งตั้งได้ก่อน

ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญยังคงเปิดช่องให้มีการต่ออายุของคณะกรรมยุทธศาสตร์ฯ ได้ง่ายขึ้นไปอีก โดยมีการระบุช่องทางในการต่ออายุไว้ 2 ช่องทาง 1 คือให้ประชาชนลงประชามติ และ 2 ให้รัฐสภาลงมติ โดยช่องทางที่ 2 สามารถทำได้ง่ายกว่า

อธึกกิต กล่าวถึงกรณีการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญ  โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตีความมาตรา 7 และมีอำนาจในการควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า เป็นการปิดทาง และกีดกั้นระบอบประชาธิปไตย

 

ศราวุฒิ ประทุมราช : สิทธิเสรีภาพยังสับสน และไม่ครอบคลุม

ศราวุฒิ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงเรื่อง สิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการเขียนสิทธิเสรีภาพที่ค่อนข้างสับสน คือมีการเขียนแยกสิทธิเสรีภาพไว้ ประกอบด้วยสิทธิเสรีภาพของบุคคล สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย

“เวลาเรื่องพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ควรจะแยกว่าเป็นบุคคล หรือชนชาวไทย คือเราเป็นมนุษยต้องถือว่าคนทุกคนมีความเสมอภาคกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และไม่ควรแยกปฏิบัติด้วยความแตกต่างในเรื่องของเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ทีนี้พอเขียนแยกมันเลยเกิดคำถามว่า เวลาจะมีสิทธิเสรีภาพ จะคุ้มครองเฉพาะพลเมืองไทยมากกว่า คนต่างชาติที่อยู่ประเทศไทยหรือเปล่า ซึ่งอาจจะมีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้” ศราวุฒิกล่าว

ศราวุฒิ มีความเห็นว่า ในหมวดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ควรเพิ่มเรื่องการซ้อมทรมาน การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และบังคับสูญหาย ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่มี

 

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ : รัฐธรรมนูญฉบับหนองใน เสรีภาพเป็นเพียงผักชีโรยหน้ารัฐธรรมนูญ

ปูนเทพ มองว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ต้องการใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญถาวร แต่ต้องการให้มีกลไกพิเศษในช่วงเวลา 5 ปี ต่อจากนี้ เพราะผู้ร่างมองว่าในช่วงนี้น่าจะมีเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่สถานการณ์ที่ต้องควบคุมให้ได้  โดยเห็นได้ชัดเจนว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว คงไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหารอีก เพราะมีกลไกพิเศษเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว

ต่อหมวดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ปูนเทพ มองว่า เป็นเพียงการเขียนมาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ภายนอกให้กับรัฐธรรมนูญเพียงเท่านั้น  พร้อมกับตั้งฉายาให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับหนองใน” ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ข้างนอกดูสวย แต่ว่าภายในกลับอันตราย โดยจุดขายสำคัญซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญใช้ในการประชาสัมพันธ์ คือ บทบัญญัติในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นจุดขายเดียวกับที่เคยใช้มาแล้วในการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และ ปี 2550 อย่างไรก็ตาม อยากตั้งข้อสังเกตว่า บทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเหมือน “ผักชีโรยหน้า” หากกลไกต่างๆ ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างเพียงพอ

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ การเปลี่ยนอำนาจพิเศษต่างๆ ที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญให้เข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญ ทหารก็ดี องค์กรต่างๆ ที่ล้มรัฐธรรมนูญ ที่ฉีกรัฐธรรมนูญ ได้เข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องพูดถึงบริบทว่ามันต้องมีหลักประชาธิปไตย ต้องเชื่อมโยงกับประชาชน ต่อไปหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐประหาร เราสามารถเอานายกออก เราสามารถมีผู้มีอำนาจเต็มเข้ามาใช้อำนาจต่างๆ ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ออกคำสั่งต่างๆ ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นการรัฐประหารภายใต้รัฐธรรมนูญเอง” ปูนเทพกล่าว

 

ชลัท ประเทืองรัตนา : การปฏิรูปในร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องรองดูกันต่อไป

ชลัท เริ่มต้นด้วยการ พูดถึงด้านดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ การยกเลิกการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งถึงว่าเป็นความหวังของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต่อมาในเรื่องของปฏิรูป ชลัทมองว่า กรรมาธิการยกร่าง มีสมมติฐานว่า การปฏิรูปไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง ในแง่ของการพลักดันให้รัฐบาลรับไปปฏิบัติ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา จึงทำให้มีความเชื่อว่านักการเมือง อาจจะไม่ผลักดันเรื่องการปฏิรูป ทำให้ต้องมีการเขียนบังคับเอาไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “ต้องปฏิรูป” และ ”ต้องรักกัน”

ชลัท เห็นว่า เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปในร่างรัฐธรรมนูญล้วนเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายตั้งความหวังมายาวนานแล้ว แต่ในหลายเรื่อง ก็ต้องรอดูร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้นต่อไป

ชลัท กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะมีอำนาจหน้าที่ในสองระดับ คือในสถานการณ์ปกติ และในสถานการณ์พิเศษ ในภาวะปกติมีอำนาจบังคับให้คณะรัฐมนตรี ต้องปฏิบัติตามเรื่องการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เสนอ พร้อมกันนี้ยังมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสร้างความปรองดอง ซึ่งร่างเดิมมีการแต่งตั้งแยกออกมาต่างหาก แต่ในร่างใหม่นี้ได้ให้อำนาจในการแต่งตั้งไว้กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ โดยชลัท หวังว่าจะมีองค์ประกอบที่ทุกฝ่ายยอมรับ

 

โคทม อารียา : จากร่างสำลักคุณธรรม สู่ร่างกรงขังประชาธิปไตย

โคทม เริ่มต้นด้วยการต้นชื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อเดือนเมษายนว่าเป็น ร่างรัฐธรรนูญฉบับสำลักคุณธรรม แต่ว่าหลังจากแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการยกร่าง คุณธรรมที่ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญก็ลดลงไป ขณะเดียวกันเรื่อง พลเมือง ก็มีการตัดออกไป และใช้ความว่า บุคคล และชนชาวไทยแทน โดยรวมแล้วในหมวดสิทธิเสรีภาพ ถูกเขียนไว้ได้เป็นอย่างดี

ขณะที่เรื่องดีอีกประเด็นหนึ่ง โคทมเห็นว่า มาตรา 199 เรื่ององค์บริหารท้องถิ่น โดยระบุว่ารัฐจะต้องให้อิสระในการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของคนในท้องถิ่น และยังเขียนไว้ด้วยว่า สามารถมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม โคทม ได้วิพากษ์ วิจารณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ว่า เป็นการปกครองโดยกฎหมาย คือผู้มีอำนาจจำนวนน้อย ต้องการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครอง โดยมีนัยยะว่ากฎหมายที่เขาเป็นผู้ร่าง ต้องเป็นกฎหมายที่ดี เมือดีแล้วห้ามใครมาแก้ไขปรับเปลี่ยน  

“กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ และรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ จะเป็นกฎหมายที่แก้ไขยากมาก โดยตัวเองก็แก้ยากอยู่แล้ว แต่ยังตั้งองครักษ์ พิทักษ์ทั้งกฏหมายรัฐธรรมนูญ และกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยฝากความหวังไว้กับศาลรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าตรงนี้มันเป็นการล๊อคโครงสร้างเอาไว้” โคทมกล่าว

ต่อกรณีการสืบทอดอำนาจ โคทมเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในร่างรัฐธรรมนูญสะท้อนว่า คสช. กำลังสืบทอดอำนาจผ่านกฎหมาย โดยผู้ที่ถูกริดรอนอำนาจมากที่สุดคือ นักการเมือง ซึ่งถือเป็นการริดรอนสิทธิของประชาชนในการเลือกผู้แทนให้ไปใช้อำนาจแทนตนด้วย โดยจะเห็นว่า ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกคานอำนาจทุกระดับ โดยวุฒิสภา และศาลรัฐธรรมนูญ

อีกกรณีที่น่าสนใจ โคทม ชี้ให้เห็นว่า การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ซึ่งเขียนไว้ในมาตร 196 คือระบุให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากจะให้ขยายไปรวมถึงข้าราชการทหาร และตำรวจด้วย อย่างไรก็ตามในเรื่องดังกล่าวยังมีปัญหาอยู่คือ ยังไม่มีรายละเอียดระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หากมีการระบุว่า ให้อำนาจคณะกรรมการดำนินการแต่งตั้ง มีอำนาจในการแต่งตั้งโดยสมบูรณ์ ก็อาจจะเกิดปัญหาในกระบวนการทำงานของรัฐมนตรีได้

ในส่วนของการออกนโยบาย ในร่างรัฐธรรมนูญก็ยังมีการกำกับว่ารัฐบาลต่อดำเนินนโยบายตามที่ได้มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งจากแนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผ่นพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  โคทมมองว่า รัฐบาลที่เข้ามาก็อาจจะไม่สามารถดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ได้อย่างอิสระ และหากไม่ทำตามแนวนโยบายที่วางไว้ก็อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นได้

โคทม ตั้งข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือในมาตรา 236 ระบุว่านายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ต้องไม่ใช้สถานะ หรือตำแหน่งทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และต้องมีหน้าที่กำกับบุคคลในพรรค บุตรหลาน และคู่สมรส ไม่ให้กระทำการดังกล่าวด้วย หากไม่ทำตามอาจจะโดนตัดสิทธิทางการเมือง ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง และตำแหน่งอื่นๆ ตลอดไป

“นี่มันสามารถยกเข่งได้เลย คือผมเป็นรัฐมนตรี ผมสังกัดพรรคจอมปลอม(สมมติ) แล้วสมาชกชิกพรรคของผม กรรมการบริหารพรรค คนอื่นๆ ใครต่อใคร ผมจะไปสั่งอะไรเขาได้มั้ย ผมไม่แน่ใจแต่ผมต้องมีหน้าที่กำกับ ป้องกันไม่ให้บุคคลเหล่านั้นไปกระทำอะไรที่มันฉ้อฉล ถ้าทำได้ก็ดี ถ้าไม่ทำผมโดนไปด้วยหรือเปล่า และถ้าโดนไปด้วยผมจะต้องถูกถอดถอนตัดสิทธิ การดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป OK แค่นี้ก็นักแล้วนะครับ แต่ท่านใส่อีกวลีหนึ่งคือ หรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่นตลอดไป มันตำแหน่งอะไรหว่า เป็นสามีของภรรยาผมนี่เป็นตำแหน่งหรือเปล่า อันนี้ต้องตีความกันไปอีก” โคทมกล่าว

ท้ายสุดโคมทมกล่าวว่า จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับสำลักประชาธิปไตย เมื่อผ่านการแก้ไขโดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แล้ว ได้กลายมาเป็น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับจับประชาธิปไตยใส่กรง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตาพรุ่งนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดี 'กองทัพเรือ' ฟ้อง 'สำนักข่าวภูเก็ตหวาน'

$
0
0

31 ส.ค.2558  สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association) แจ้งว่าพรุ่งนี้ (1 ก.ย. 58) เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดภูเก็ต มีนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่กองทัพเรือดำเนินคดีกับสำนักข่าวภูเก็ตหวานกรณีเผยแพร่รายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ เรื่อง ทหารไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ผู้อพยพทางเรือ โดยดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14  คดีหมายเลขดำที่ 2161/2557 ระหว่าง  พนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต โจทก์  กับ  บริษัท บิ๊ก ไอซ์แลนด์ มีเดีย จำกัด โดย อลัน จอห์น มอริสัน กรรมการผู้มีอำนาจ กับพวกรวม 3 คน จำเลย จึงขอเชิญสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษาตามวันและเวลาดังกล่าว

สำหรับคดีนี้สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ระบุว่า โจทก์นำพยานเข้าสืบ 4 ปาก โดยมีผู้รับมอบอำนาจจากกองทัพเรือ พนักงานสอบสวน และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี มีประเด็นสำคัญ คือ  

น.อ.พัลลภ โกมโลทก เป็นผู้รับมอบอำนาจจากกองทัพเรือให้ดำเนินคดีกับสำนักข่าวภูเก็ตหวาน สืบพยานในประเด็นที่สำนักข่าวภูเก็ตหวานเผยแพร่รายงานของรอยเตอร์ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่เป็นความจริงทำให้กองทัพเรือได้รับความเสียหาย แต่ทั้งนี้ น.อ.พัลลภ ก็ไม่ได้เบิกความต่อศาลว่ากองทัพเรือได้รับความเสียหายอย่างไร

ร.ต.ท.จรัญญู เครือแวงวงศ์ เป็นพยานที่ได้รับการประสานจากพนักงานสอบสวน สภ.วิชิต เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลของเวบไซต์ www.phuketwan.com จากการตรวจสอบพบว่านายอลัน มอริสัน เป็นผู้จดทะเบียน Domain names และเป็น admin ของเว็บไซต์ดังกล่าว แต่การตรวจสอบดังกล่าวเป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้น เป็นเพียงข้อมูลที่ ปรากฎหน้าเว็บไซต์ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ใดนำเข้าข้อมูลลงสู่ระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ พยานยังไม่เคยให้การต่อพนักงานสอบสวนเพียงแต่ส่งรายงานการตรวจสอบไปให้เท่านั้น

ส่วนจำเลยนำพยานเข้าสืบรวมทั้งสิ้น 7 ปาก โดยได้เบิกความยืนยันถึงการทำตามหลักวิชาชีพของสื่อมวลชนและเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ และมีพยานในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พยานนักวิชาการ ผู้เชียวชาญเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และผู้ทำงานกับชาวโรฮิงญา มีประเด็นสำคัญ คือ

อลัน จอห์น มอริสัน ได้เบิกความยืนยันอกสารที่มีการอ้างว่ากองทัพเรือได้เงินค่าหัวจากชาวโรฮิงญาหัวละ 2,000 บาท นั้น  มาจากรอยเตอร์ ซึ่งระบุว่ากองกำลังทางเรือเป็นผู้ที่ได้รับเงิน ไม่ใช่กองทัพเรือ  เหตุที่ลงข้อความดังกล่าว เนื่องจากสำนักข่าวภูเก็ตหวานติดตามเกี่ยวกับเรื่องชาวโรฮิงญามาเป็นเวลานาน  และสำนักข่าวภูเก็ตหวานเห็นว่าเรื่องของโรฮิงญาเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและคาดหวังว่ารัฐบาลจะมองเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเช่นกัน และเพื่อต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหากมีการเรียกเก็บเงินจากชาวโรฮิงญา

ชุติมา สีดาเสถียร  เบิกความต่อศาลว่า หลังจากอ่านข่าวของรอยเตอร์แล้ว ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยัง พล.ร.ท.ธราธร ขจิตสุวรรณ  ผู้บัญชาการกองทัพเรือภาค 3 ในขณะนั้น แต่ไม่สามารถติดต่อได้  โดยติดต่ออยู่หลายครั้ง  จนกระทั่งโทรศัพท์ไปที่สำนักงานแล้วมีเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะโทรติดต่อกลับมา แต่ไม่ได้รับการติดต่อแต่อย่างใด หลังจากนั้นอีก 3 วัน กองทัพเรือได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยทางสำนักข่าวภูเก็ตหวานก็ได้นำเสนอข่าวดังกล่าวด้วย การที่พยายามติดต่อไปเป็นการรับฟังอีกฝ่ายที่ถูกพาดพิง ไม่ใช่เป็นการนำเสนอข่าวเพียงด้านเดียว นอกจากติดต่อไปที่กองทัพเรือแล้ว ก่อนลงข่าวก็ได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่ กอ.รมน. และตำรวจน้ำ โดยบุคคลที่พยานติดต่อคือ พล.ท.มนัส  คงแป้น ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนแยก 1 ในขณะนั้น ปัจจุบันถูกดำเนินคดีในข้อหาค้ามนุษย์

นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เบิกความต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2556 พยานได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายอลันและนางสาวชุติมาว่ามีการละเมิดสิทธิของสื่อมวลชน หลังจากรับคำร้องแล้ว ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองดำเนินการตรวจสอบ โดยได้เรียกฝ่ายผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาให้ถ้อยคำ ตลอดจนได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยทั้ง 2 ฝ่าย แต่ก็ตกลงกันไม่ได้  พยานเห็นว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวมีไว้เพื่อปราบปรามอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้คอมพิวเตอร์ แต่จากประสบการณ์การทำงาน การบังคับใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์เนื่องจากมีการนำมาใช้กับความผิดอื่น เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  

สาวตรี สุขศรี  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เบิกความต่อศาลว่า  จากการทำวิจัยเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พบปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น มาตรา 14 ซึ่งค่อนข้างที่จะหาขอบเขตได้ยากในการตีความและปล่อยให้เจ้าพนักงานใช้ดุลยพินิจมากเกินไป มีการวางตำแหน่งของคำและการใช้ถ้อยคำที่สับสน โดยอธิบายว่า มาตรา 14(1) ไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการใช้ฟ้องหมิ่นประมาท เจตนารมณ์ที่แท้จริงเพื่ออุดช่องว่างของการกระทำปลอมแปลงเอกสารที่ไม่สามารถจับต้องได้ ความผิดที่มุ่งหมายตามกฎหมายนี้ คือ ความผิดอาชกรรมคอมพิวเตอร์ เช่น การล่อเหยื่อออนไลน์ (Phishing) เป็นการหลอกลวงโดยใช้อีเมล์หรือเวบไซต์ปลอมเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล แต่ปัจจุบันมีการนำไปใช้ฟ้องหมิ่นประมาทจำนวนมากซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายฉบับดังกล่าว

โดยในการพิจารณาคดีสืบพยานโจทก์และจำเลย ในวันที่ 14 -16 ก.ค. ที่ผ่านมานั้น  มีองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชนของไทยร่วมรับฟังและสังเกตการณ์การพิจารณาคดีด้วย เช่น  พันธมิตรเพื่อสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Aliance)  คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists คณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป (EU) ผู้แทนจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ผู้แทนจากสถานทูตออสเตรเลีย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images