Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

รัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ ตั้งศูนย์รับแจ้งปัญหารับน้อง ประกาศ นศ.ปี1 ไม่ใช่น้องใหม่แต่เป็นเพื่อนใหม่

$
0
0

เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ปฐวี โชติอนันต์ อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็น 1 ในกรรมการคณะที่ควบคุมกิจกรรมรับน้อง โพสต์ ประกาศคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  เรื่องการรับน้อง ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Patawee Chotanan’ ในลักษณะสาธารณะ โดยระบุว่า

1. สิทธิต่างๆ ของนักศึกษาเกิดจากการลงทะเบียนเรียนไม่ใช่จากการเข้าห้องเชียร์

2. การยอมรับระบบรับน้องที่ริดรอนสิทธิคือการเพิกเฉยต่อการปกป้องสิทธิของตนเอง

3. ไม่ควรเคารพผู้ที่ใช้อำนาจกดขี่บังคับผู้อื่นในสถานศึกษา

4. อย่าเคารพคนที่สถานะ แต่ให้เคารพคนที่ความคิดและเหตุผล

5. นักศึกษาปี1 ไม่ใช่น้องใหม่ แต่เป็นเพื่อนใหม่ที่เข้ามาร่วม ฝึกฝนการใช้สติ ปัญญาในรั้วมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

6. มิตรภาพที่ยั่งยืน ไม่ได้เกิดจากการกดขี่ บังคับ ข่มขู่ ให้เข้าห้องเชียร์

7. นักศึกษาที่ถูกบังคับ หรือ มีปัญหาใดๆ ขอให้ติดต่อ ปรึกษา หรือขอความช่วยเหลือจากคณะรัฐศาสตร์ได้ ตลอดเวลา

ล่าสุด 3 ส.ค. ปฐวี ได้โพสต์ระบุถึงสถานที่ตั้งของศูนย์รับเรื่อง ปัญหาการรับน้อง ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อยู่ที่ ห้องสำนักงาน 1 คณะรัฐศาสตร์ พร้อมระบุว่า นักศึกษาปี 1 ท่านใดมีปัญหาเรื่องการรับน้องสามารถมาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิจารณาจากถ้อยแถลงสุเทพ: รัฐบาล คสช. ต้องปฏิรูปแบบไหน-ถึงจะพอใจและให้เลือกตั้ง

$
0
0

แม้น้ำเสียงในการแถลงของสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ยังให้โอกาส คสช. จนกว่าจะปฏิรูปแล้วเสร็จ แต่ก็ต้องเป็นการปฏิรูปที่ กปปส. เคยเสนอไว้ นั่นคือ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" 6 ประเด็น รวมทั้งข้อเสนอกำจัดระบอบทักษิณ 

การแถลงข่าวเปิดตัวมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2558

3 ก.ค. 2558 - จากการแถลงข่าวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2558 ที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) แม้น้ำเสียงในการแถลง ยังคงให้โอกาสรัฐบาล คสช. ทำงานจนกว่าจะปฏิรูปแล้วเสร็จ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าเป็นการปฏิรูปตามแนวทางที่ กปปส. เคยเสนอไว้ จึงจะถือเป็นการปฏิรูปที่เป็นที่ยอมรับเพียงพอที่จะเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากมิเช่นนั้น ทางกลุ่มของเขาก็เห็นว่าจะให้เวลากับรัฐบาลในการปฏิรูปไปจนลุล่วงตามข้อเสนอ โดยปราศจากกรอบเวลา

ระหว่างนี้ หากมีอะไรที่ไม่เข้ารูปเข้ารอยที่ทาง “มวลมหาประชาชน” เห็นว่าควรท้วงติง ก็จะมีการออกมาแสดงความเห็น “อย่างสุภาพเรียบร้อย” และจะไม่มีการยึดสถานที่สำคัญๆ

ลองมาพิจารณากันดูว่า การปฏิรูปตามแนวทางที่กลุ่มของมูลนิธิมวลมหาประชาชนเห็นว่ารอได้อย่างไม่มีเงื่อนเวลา คืออะไรกันบ้าง

 

ข้อเสนอ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" 6 ด้าน และการสึกมาทวงปฏิรูปของสุเทพ เทือกสุบรรณ

สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และผู้สนับสนุน ขณะเดินขบวน 9 สาย ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ)

 

ข้อเสนอของสุเทพ "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ป็นประมุขอย่างแท้จริง" สู่ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง"

นับตั้งแต่ชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันที่ 31 ต.ค. 2556 นั้น ในเวลาต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งลาออกจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นแกนนำการชุมนุมต้านนิรโทษกรรมในเวลานั้น ได้เริ่มยกระดับข้อเสนอปฏิรูปการเมือง โดยในการนัดชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2556 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สุเทพกล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่าจะหยุดเคลื่อนไหวต่อเมื่อระบอบทักษิณหมดสิ้นไป "จะได้สร้างประเทศไทยสำหรับลูกหลาน เปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่ปกครองด้วย 'ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง' ไม่ให้พวกทรราชย์ นายทุนสามานอาศัยคราบประชาธิปไตยมากดขี่ เราจะต้องร่วมกัน สร้างเกราะ สร้างกติกา ไม่ให้ประเทศไทย เป็นประเทศของนักทุจริต คอรัปชั่นอีกต่อไปแล้ว เราจะต้องร่วมกัน กำหนดกฎเกณฑ์กติกาให้เสียงของประชาชน อธิปไตยของประชาชนเป็นจริง และทุกคนต้องฟังประชาชน" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยก่อนที่สุเทพจะประกาศบนเวทีใหญ่ถึงเป้าหมาย ก่อนหน้านั้น 1 วัน ในวันที่ 23 พ.ย. สุเทพได้กล่าวบนเวทีชุมนุมของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. ซึ่งเป็นแนวร่วมหนึ่งของการชุมนุม โดยสุเทพระบุข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ 1.ขจัดระบอบทักษิณให้สิ้นซากพ้นแผ่นดินไทย และ 2.เปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประเทศไทยที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่สมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตามสุเทพกล่าวผิดไปว่า "ระบอบพระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ถือว่าสุเทพในเวลานั้นกล่าวถึงเงื่อนไขทางการเมืองที่ต้องกำจัดระบอบทักษิณ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศที่ปกครองด้วย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์เป็นประมุขที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น” โดยที่ยังไม่ลงรายละเอียดว่าจะปฏิรูปด้านใดบ้าง

 

ริเริ่มข้อเสนอปฏิรูป 6 ข้อ เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2556

จนกระทั่งอีก 2 วันต่อมา ในวันที่ 26 พ.ย. 2556 สุเทพ ได้ปราศรัยที่กระทรวงการคลัง โดยเขาย้ำถึงเงื่อนไขทางการเมืองว่า “จะต้องขจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทยให้จงได้” แล้วจะสร้าง "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง" โดยสุเทพเสนอว่า ถ้าขจัดระบอบทักษิณซึ่งเขาระบุว่า “ที่เป็นพิษเป็นภัย” แล้วจะทำอะไร คำตอบคือต้องร่วมกันคิด เปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยเขาเสนอการปฏิรูป 6 ข้อ ได้แก่

หนึ่ง ต้องให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ให้คนชั่วเข้ามา

สอง เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไม่ให้ทุจริต คอร์รัปชั่นจนชาติวิบัติเสียหาย ต้องขจัดคอร์รัปชั่นให้ได้ โดยเสนอให้คดีทุจริตคอร์รัปชั่นไม่มีอายุความ

สาม มีบทบัญญัติให้ประชาชนมีอำนาจในการเมืองการปกครอง เช่น ประชาชนต้องสามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ถ้ากระทำความผิด รวมทั้งมีอำนาจถอดถอน ส.ส. ได้ โดยต้องมีกระบวนการรับรองอำนาจประชาชนเอาไว้ และกระบวนการถอดถอนใช้เวลาไม่ยืดยาวต้องเห็นผลภายในระะเวลา 5 เดือนถึง 6 เดือน

สี่ ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจให้โครงสร้างตำรวจอยู่ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัด

ห้า ออกแบบกติกาให้ข้าราชการอยู่ในระบบคุณธรรม ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์

หก นโยบายด้านการศึกษา สังคม สาธารณสุข คมนาคมขนส่ง ต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่นโยบายประชานิยม โดยถือว่าไม่ว่ารัฐบาลชุดใดก็ต้องทำ รวมทั้งนโยบายเรื่องของคนจนต้องเป็นวาระแห่งชาติ

สุเทพย้ำว่าจะใช้กลไก "สภาประชาชน" เพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอการปฏิรูปที่ว่ามา โดยเขากล่าวด้วยว่า "ที่กล่าวมานั้น เพื่อตอบคนที่คนตั้งข้อรังเกียจคนที่จะร่วมต่อสู้ ถ้าจะขจัดระบอบทักษิณออกไป เราจะปฏิรูปประเทศไทยอย่างไร"

"แล้วถามว่าใครจะเป็นคนทำถ้าระบอบทักษิณหมดไป ผมตอบเลย คนทำคือประชาชน ถ้าเราขจัดระบอบทักษิณหมดไป อยู่ที่เราจัดตั้งสภาประชาชนมาจากคนทุกสาขาอาชีพ แล้วสภาประชาชนจะเลือกคนดีมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สร้างดรีมทีม คณะรัฐมนตรีในฝัน มีรัฐบาลประชาชน" สุเทพอธิบาย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทั้งนี้แกนนำได้ยกระดับขบวนผู้ชุมนุมไปสู่ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือ กปปส. เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2556 มีการเปิดตัวแกนนำระหว่างชุมนุมยืดเยื้อที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ โดยมีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ กปปส. เขากล่าวติดตลกหลังจากแนะนำชื่อขบวนใหม่ว่า "ชื่อยาวหน่อย แต่ความหมายชัดเจน ชื่อย่อๆ ว่า กปปส." และกล่าวด้วยว่า "จะเป็นองค์กรกำหนดแนวทางตัดสินใจต่อสู้กับระบอบทักษิณ จัดการให้ระบอบนี้พ้นจากประเทศไทยให้ได้"

"เมื่อเราจัดการระบอบทักษิณเสร็จเรียบร้อย เราจะได้เริ่มเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยด้วยมือของประชาชน ให้ประเทศเราได้ก้าวไปข้างหน้า อย่างประเทศที่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไม่มีทุนสามานย์ ไม่มีทุจริต ไม่มีข้าราชการขี้ข้า เป็นรัฐบาลโดยประชาชนแท้จริงเท่านั้น" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ย้ำ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" หลังยิ่งลักษณ์ยุบสภา พร้อมชูข้อเสนอปฏิรูป 6 ข้อ

ทั้งนี้เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 ต่อมาในวันที่ 13 ธ.ค. 2556 สุเทพ ระบุว่าจะไม่ไปเลือกตั้ง โดยเป็นครั้งแรกที่เขาเสนอให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง "เราต้องการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปประเทศไทย ให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน แล้วจึงไปเลือกตั้งกับเขา"

สุเทพมีข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง โดยเขากล่าวว่า ถ้าต้องการให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ แสดงออกถึงความต้องการของประชาชน เลือกคนดีไปทำหน้าที่แทนตัวเองจริงๆ จะต้องมีการดำเนินการประกอบด้วย หนึ่ง แก้กฎหมายเลือกตั้ง กำหนดว่าการซื้อสิทธิขายเสียง ทั้งคนซื้อ คนขาย ผิดกฎหมายทั้งนั้น นักการเมืองที่ซื้อเสียงนอกจากถูกตัดสิทธิทางการเมืองแล้ว ต้องมีโทษจำคุก สอง ปฏิรูปพรรคการเมือง มีกฎหมายพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง เพื่อไม่ให้คนๆ เดียวชี้ขาดในพรรคการเมือง สาม มีการหยั่งเสียงประชาชนในเขตเลือกตั้งเพื่อเลือกผู้สมัครของพรรค แทนการกำหนดโดยแกนนำพรรค สี่ ต้องแก้กฎหมายการเงินของพรรค เพื่อไม่ให้มีเศรษฐีมาซื้อพรรคการเมือง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยสุเทพและแกนนำ กปปส. ยังย้ำแนวทาง "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" ในการประชุมการปฏิรูปของ กปปส. ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2556 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ข้อเสนอการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งของสุเทพ ยังถูกย้ำอีกครั้งในการปราศรัยเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2556 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเขาได้เรียบเรียงและจัดประเด็นการปฏิรูปออกเป็น 6 เรื่อง ได้แก่

หนึ่ง กระบวนการเลือกตั้ง ต้องทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เป็นที่มาของ ส.ส. และรัฐบาล ดีๆ โดยกระบวนการเลือกตั้ง ครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และจะให้สภาประชาชนไปช่วยกันคิด

สอง การป้องกันปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น แก้กฎหมายเกี่ยวกับการคอรัปชั่นทั้งกระบวนการ ให้คนไทยเป็นโจทก์ฟ้องคดีทุจริตได้ โดยไม่ต้องรอตำรวจ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ คดีต้องไม่มีวันหมดอายุความ

สาม ระบอบประชาธิปไตย อำนาจต้องไม่อยู่ในมือนักการเมือง แต่ต้องยึดโยงกับอำนาจประชาชน เช่น ให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบควบคุมข้าราชการและนักการเมืองมากขึ้น กฎหมายที่เขียนไว้ให้ประชาชนลงชื่อถอดถอนนักการเมืองนั้น และแก้กฎหมายกำหนดให้กระบวนการถอดถอนนักการเมืองให้จบได้ภายใน 6 เดือนหรือ 1 ปี

สี่ ข้อเสนอกระจายอำนาจ โดยสุเทพใช้คำว่า "คืนอำนาจให้ประชาชน" โดยระบุว่าอำนาจปกครองบ้านเมืองหลายอย่างที่รวบไว้ที่รัฐบาลกลาง กรุงเทพฯ คณะรัฐมนตรี ต้องคืนให้ประชาชนต่างจังหวัด ให้ประชาชนทุกจังหวัดเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้มีความรับผิดชอบ และพัฒนาจังหวัด งบประมาณจังหวัดก็ไม่ต้องรวมในส่วนกลาง

ห้า แก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคม การดูแลคนจนต้องเป็นวาระแห่งชาติ ให้มีโอกาสประกอบอาชีพ ได้รับการรักษาพยาบาล ได้รับการศึกษา และต้องยกเลิกนโยบายประชานิยมเด็ดขาด

หก ปรับโครงสร้างตำรวจ ตำรวจต้องอยู่ภายใต้การควบคุมโดยคณะกรรมการตำรวจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

โดยสุเทพกำหนดระยะเวลาการปฏิรูปไว้ 1 ปี ไม่เกินปีครึ่ง แล้วจึงกำหนดให้มีการเลือกตั้ง โดยเสนอให้นายกรัฐมนตรี และ ครม. ในเวลานั้น ลาออกจากรักษาการ เพื่อเปิดโอกาสให้คนกลางเป็นคณะรัฐมนตรี เพื่อตั้งสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย "ปีเดียว ไม่เกินปีครึ่ง กลับไปเลือกตั้งเหมือน่เดิม" สุเทพย้ำ

 

หลังประกาศกฎอัยการศึก ย้ำปฏิรูปก่อนเลือกตั้งกับ พล.อ.ประยุทธ์ 1 วันก่อนรัฐประหาร

โดยการชุมนุมของ กปปส. ซึ่งยืดเยื้อมานับตั้งแต่หลังยุบสภา เพื่อต่อต้านการเลือกตั้ง 2 ก.พ. กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญประกาศให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กระทั่งในเดือนพฤษภาคม สุเทพยังคงย้ำแนวทางปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ในระหว่างนำมวลชน กปปส. ถวายสัตยาธิษฐานต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ท้องสนามหลวง เนื่องในฉัตรมงคลเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)โดยตอนหนึ่งสุเทพนำกล่าวว่า

"พวกข้าพเจ้ามวลมหาประชาชนจะร่วมกันต่อสู้กับโจรแผ่นดิน จะร่วมกันขจัดระบอบทักษิณและทรราช เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยตั้งใจมั่นแน่วแน่ไม่ท้อถอย ไม่ลดละ จนกว่าขจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไป และปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง ด้วยสัตยาธิษฐานนี้แม้การต่อสู้กับโจรแผ่นดิน จะใช้เวลาเพียงใด พวกข้าพเจ้าจะไม่ยกเลิกไม่ย่อท้อ จนการลุล่วงเป็นที่เรียบร้อย..."

ต่อมาหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น ได้ประกาศกฎอัยการศึก ตั้งแต่เวลา 03.00 น. เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2557 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)และเสนอให้มีการเจรจาของฝ่ายการเมืองหลายฝ่ายที่สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2557 โดยมีการเชิญตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัวแทนฝ่ายวุฒิสมาชิก ตัวแทนฝ่ายพรรคเพื่อไทย ตัวแทนฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนฝ่าย กปปส. และตัวแทนฝ่าย นปช.

ในที่ประชุมสุเทพระบุถึงข้อเสนอต่อที่ประชุมให้มีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็ม 100% ไม่มีฝ่ายการเมืองในรัฐบาลชุดที่จะตั้งขึ้นมา และให้รีบปฏิรูปประเทศ

"หนึ่ง ต้องมีนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจเต็มมาแก้ไขปัญหาของประชาชน เช่น ปัญหาของชาวนา เป็นต้น และจะต้องแก้ไขปัญหาอื่นของประเทศ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่จะรุนแรงขึ้น จำเป็นต้องมีรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็ม 100%"

"ข้อสอง ผมเสนอว่าเมื่อได้นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ต้องตั้งคณะรัฐมนตรีที่ไม่มีฝ่ายการเมือง ไม่มีนักการเมืองอยู่เลยแม้แต่คนเดียว"

"ข้อสาม นายกรัฐมนตรี และ ครม. ต้องรีบปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชน ผมเรียนต่อที่ประชุมว่า อย่าเอาข้อกฎหมายมาโต้เถียงกับผม อย่าเอารัฐธรรมนูญมาตรานั้นมาโต้เถียงกับผม ผมพูดในภาพรวม ว่าถ้าทุกคนเห็นด้วยก็มาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรถึงจะได้นายกรัฐมนตรี ได้คณะรัฐมนตรีที่ไม่เป็นนักการเมืองแล้วรีบปฏิรูปประเทศไทย" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้การบ้านสำคัญไปให้ทุกฝ่ายไปหารือ ได้แก่ หนึ่ง การทำประชามติ จะเลือกตั้งก่อน หรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง สอง การตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง โดยยึดกรอบกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่ สาม การตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล โดยวุฒิสภา สี่ ให้ กปปส. กับ นปช. ยุติการชุมนุม โดยให้ทุกฝ่ายกลับมาให้หารือกันอีกครั้งในเวลา 14.00 น. วันที่ 22 พ.ค. 2557

อย่างไรก็ตาม ไม่ทันที่ผลการเจรจาจะบรรลุผล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ประกาศยึดอำนาจ ทำรัฐประหารกลางที่ประชุม ในวันที่ 22 พ.ค. 2557 จนกระทั่งเวลาผ่านไป หลังจากสุเทพไปบวชที่ จ.สุราษฎร์ธานี นานนับปี และสึกออกมาทวงความคืบหน้าการปฏิรูปก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา  (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

"เราต้องการเห็นรัฐบาลนี้ปฏิรูปให้สำเร็จ ไม่ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่" และถ้าเมื่อไหร่ที่เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ทำไปในแนวทางที่ถูกต้อง ก็จะแสดงความเห็นอย่างเรียบร้อย สุเทพย้ำ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญงดประชุม 3-4 ส.ค. เพื่อให้ กมธ. ไปประชุม สปช.

$
0
0

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ งดการประชุมวันที่ 3 และ 4 ส.ค. เพื่อเปิดทางให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ควบสมาชิกสภาปฏิรูปเข้าร่วมประชุม สปช. และจะกลับมาประชุมอีกครั้ง 5-7 ส.ค. คาดจะทวน รธน. ครบทุกมาตรา 14 ส.ค.

4 ส.ค. 2558 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า วันที่ 3 ส.ค. และ 4 ส.ค. ไม่มีการประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปต้องเข้าร่วมประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ และจะประชุมอีกครั้งวันที่ 5 ถึง 7 ส.ค. เพื่อพิจารณาบันทึกเจตนารมณ์ตั้งแต่มาตรา 86 - 285

ส่วนสัปดาห์ต่อไป จะนำประเด็นที่มีข้อท้วงติงเรื่องที่มา ส.ว. และที่มาจำนวนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดอง มาพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปให้เสร็จภายในวันที่ 10-11 ส.ค. จากนั้นจะทบทวนเป็นรายมาตรารอบสุดท้ายให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 14 ส.ค. นี้

พล.อ.เลิศรัตน์ ยังกล่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เสนอให้มีการปฏิรูปฯ ให้เสร็จสิ้นก่อนจัดการเลือกตั้ง ซึ่งสมาชิกสภาปฏิรูปฯ หลายคนเห็นด้วย รวมถึงประเด็นที่นำมาเปิดเผยว่า มีความพยายามให้รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเลือกตั้งเร็วขึ้น ว่า ทั้ง 2 ประเด็นเป็นเรื่องเก่าที่นำมาพูดใหม่ จึงขอให้กลับไปดูรายละเอียดรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งมีกรอบให้ดำเนินการแล้วทั้งสิ้น จึงอยากให้ปฏิบัติตามกรอบที่วางไว้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปฏิรูปสงฆ์ไทยผ่านประสบการณ์ดูสังเวชนียสถาน

$
0
0

 


ผมไปสังเวชนียสถานมา 2 ครั้งแล้วครับ เมื่อปี 2552 และ 2554 แต่ยังไม่เคยบวช หลายท่านบอกว่าไปบวชในที่เหล่านี้คงได้กุศลแรง แต่ผมก็ไม่สู้จะเห็นด้วย เพราะน่าจะอยู่ที่ใจมากกว่า และไม่คิดว่าเราจะพึงยึดติดอะไรมากมายปานนั้น การไปบวชหรือจาริกแสวงบุญยังสังเวชนียสถานนี้ ต้องใช้เงินทองไม่น้อย ค่าจีวรใหม่อะไรก็คงเป็นเงินพอสมควร ผมแทบไม่เคยเห็นพระรูปไหน ทั้งบวชใหม่บวชเก่าที่ห่มจีวรเก่าคร่ำคร่าเลย แต่ก็คงไม่ต้องถึงขนาดใช้ผ้าบังสุกุลในสมัยเริ่มแรก เพราะต่อมาพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้รับผ้าจากฆราวาสได้

ผมเห็นคนไปบวช โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว ต่างก็นุ่งผ้าหรือเสื้อหนาวกันหลายชั้น จีวรก็ห่มไว้เป็นพิธีมากกว่าจะอาศัยผ้า 3 ผืนตามบัญญัติของพระพุทธเจ้า บ้างก็ยังมีถุงเท้า ถุงน่อง หมวก ถุงมือ ในข้อนี้บางท่านก็อาจอ้างว่า ตนยังไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับความหนาวเหน็บประมาณ 12 องศาได้ แต่ถ้าคิดในอีกแง่หนึ่ง หากเราตั้งใจมาบวชเพื่อสละกิเลสบนแผ่นดินที่พระพุทธเจ้าเคยเผยแพร่ศาสนา ไหนเลยจะย่อท้อต่ออุปสรรคเพียงเท่านั้น แต่คงเป็นเพราะเรามาบวชเพื่อหวังบุญกุศล ก็เลยไม่คิดจะละกิเลสต่างหาก

ว่ากันว่าในเมืองไทยของเรา พระสงฆ์กำลังเดินสวนทางกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบวชเพื่อละจากความเป็นพระราชาผู้มีทรัพย์ศฤงคารมหาศาล มาสู่ความเป็นยาจก หรือสละทุกอย่าง ไม่รังเกียจกระทั่งจัณฑาล แต่พระสงฆ์ไทยหรืออาจจะพระสงฆ์ในประเทศอื่นในปัจจุบันนี้เช่นกันที่พอได้บวช ก็เท่ากับละจากความเป็นยาจก กลายมาเป็นผู้มีฐานะในสังคม เป็นเศรษฐี พอบวชเสร็จก็ได้รับการถวายปัจจัย หรือกระทั่งไปเรี่ยไร ร่ำรวยกันไปมากมาย ยิ่งถูกกราบไหว้มาก ๆ เข้า ก็อาจเป็นบ้าไปได้เพราะหลงว่าตนมีอำนาจ วิเศษ กลายเป็นเทพเทวดาที่อยู่เหนือหัวชาวบ้านไป

ผมเห็นคนที่ไปแสวงบุญ ไปวัด ไปทานอาหารในวัดไทย ซึ่งล้วนแต่เป็นของดี ๆ ทั้งคาวหวาน และเหลือทิ้งไว้มากมายอย่างน่าเสียดาย ท่านผู้ไปแสวงบุญคงไม่ได้มุ่งไปชำระจิตใจตามคำสอนของพระพุทธเจ้า การเดินทางไปก็ใช้ระยะเวลาเพียงประมาณ 7-14 วัน แทนที่จะตั้งใจไปละกิเลส นึกถึงพระพุทธองค์เป็นแบบอย่างด้วยการทำตัวสมถะ แต่คงกลับไปสะสมบุญไว้ชาติหน้า หรือหวัง "ล้างบาป" เสียมากกว่า

ยิ่งหากเป็นกองคาราวานแสวงบุญของส่วนราชการใหญ่โตหรือคหบดีรายใหญ่ ๆ ที่ยกโขยงไปประมาณ 50-80 คนด้วยแล้ว ก็จะมีกองครัว พร้อมแม่ครัว 3-5 คนและลูกมือ ไปทำอาหารให้ทานกันถึงที่เลย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องตระเตรียมสิ่งของไปมากมาย นัยว่าคนไทยเหล่านั้นท่านไม่คุ้นลิ้นกับรสชาติอาหารอินเดีย นี่ก็เป็นการไปสะสมกิเลส หรือท่องเที่ยวมากกว่าการไปแสวงบุญ

ตกลงการไปบวชหรือไปแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถานของคนส่วนใหญ่ คงไม่ได้ไปชำระล้างจิตใจ แต่ไปเที่ยว ไปสะสมบุญดังว่ามากกว่า เช่นนี้แล้ว จะเป็นการสืบต่อศาสนาอะไรมากกว่าไปเพื่อตัวเอง ทำอย่างนี้อาจสืบต่อศาสนาได้แต่ในรูปแบบ แต่น่าจะเป็นการกัดกร่อนศาสนามากกว่า เพราะไม่ได้เข้าถึงแก่นธรรมของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใด ยิ่งเมื่อเราเห็นนักบวชที่แลดูสกปรกรุงรัง แต่พวกเขาก็อาจเข้าถึงแก่นธรรมมากกว่าพระหรือผู้จาริกแสวงบุญจำนวนมาก

เราจึงควรทบทวน จรรโลงศาสนาให้ถูกทาง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TDRI: หรือเราจะไม่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติอีกต่อไป?

$
0
0

 

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมามีข่าวสำคัญที่เกี่ยวกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอย่างน้อย 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกาได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสในการเจรจา Trans-Pacific Partnership (TPP) กับประเทศคู่ค้าอีก 11 ประเทศ รวมถึงประเทศอาเซียนอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน  ซึ่งคาดว่าผลของการเจรจาจะครอบคลุมประมาณ 40% ของมูลค่าการค้าโลก และอีกเรื่องคือการมาเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการหาช่องทางการค้าการลงทุนในอาเซียน โดยนำนักธุรกิจกลุ่มทุนและนวัตกรรมใหญ่อย่าง Airbus, Rolls-Royce, JCB และ Lloyds มาด้วย ซึ่งนายกคาเมรอนมีกำหนดการเยือน 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย และคาดว่าจะมีการเจรจาข้อตกลงการค้ามูลค่ากว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นับเป็นข่าวดีสำหรับอาเซียน แต่อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับประเทศไทยที่ตกขบวนโอกาสทางการค้าและการลงทุนมูลค่ามหาศาล ท่ามกลางข่าวร้ายทางเศรษฐกิจมากมาย ทั้งการย้ายฐานการผลิตของซัมซุง การปิดตัวลงของกิจการจำนวนมาก ความผันผวนของตลาดหุ้น และฟองสบู่ที่กำลังก่อตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ การถูกมหาอำนาจในเวทีโลกอย่างสหรัฐและอังกฤษเมินอย่างจังจึงเป็นเหมือนสัญญาณว่า วิกฤตินี้จะแก้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติได้ยาก เพราะประเทศไทยอาจไม่น่าดึงดูดในสายตาประเทศคู่ค้าอีกต่อไป

รายงาน IMD World Competitiveness Yearbook 2015 ซึ่งจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ทั้งหมด 61 ประเทศ ซึ่งรวมถึง ASEAN 5 หรือกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนดั้งเดิม ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ก็ระบุว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยตกลงมาจากอันดับที่ 27 ในปี 2556 มาอยู่อันดับที่ 30 ในปี 2558  โดยอยู่ตรงกลางของตารางและเป็นอันดับสามของอาเซียน ดังที่เป็นมาหลายปีแล้ว

แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียดจะพบว่า มีดัชนีหลายตัวที่ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าประเทศอาเซียนอีก 4 ประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นดัชนีที่มีนัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความน่าดึงดูดต่อการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น

- ความเสี่ยงของเศรษฐกิจต่อการย้ายฐานการผลิต (Relocation Threats of Production) อันดับที่ 53

- ผลิตภาพบริษัท (Productivity of Companies) อันดับที่ 33

- ผลิตภาพและประสิทธิภาพของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Productivity & Efficiency of Small and Medium Size Enterprises) อันดับที่ 53

- จำนวนแรงงานฝีมือที่มีอยู่ในตลาด (Availability of Skilled Labor) อันดับที่ 46

- ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของคนในประเทศต่อความท้าทายใหม่ (Flexibility and Adaptability of People when Faced with New Challenges) อันดับที่ 40

- ระดับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnerships Supports Technological Development) อันดับที่ 35

- ความสามารถในการผลิตนวัตกรรม (Innovative Capacity) อันดับที่ 51

- ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ วัดจากผลการสอบโทเฟล (English Proficiency - TOEFL) อันดับที่ 57

- ทักษะด้านภาษาที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ (Language Skills Meets the Needs of Enterprises) อันดับที่ 53

- ระบบการศึกษาที่ตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจที่ต้องแข่งขัน (Educational System Meet the Needs of a Competitive Economy) อันดับที่ 46

ดัชนีข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของสัญญาณที่บ่งบอกว่า ประเทศไทยกำลังจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยเคยเหนือกว่ามาตลอดอย่างฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งแม้ว่าในภาพรวมแล้วไทยจะยังมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีกว่า แต่ยังมีดัชนีอีกหลายตัวที่แม้ไทยจะไม่ได้ที่โหล่ แต่ก็ถูกฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียหายใจรดต้นคอเตรียมเบียดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ เช่น ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ที่ไทยอยู่อันดับที่ 56 นั้น อินโดนีเซียตามมาที่อันดับ 59 และฟิลิปปินส์ที่ 60  และระดับการปรับตัวของนโยบายรัฐบาลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (Adaptability of Government Policy to Changes in the Economy) ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 34 และฟิลิปปินส์ตามอยู่ที่ 35 ส่วนอินโดนีเซียนั้นก้าวไปอันดับที่ 21 แล้ว

ดังที่กล่าวไว้ตอนต้น ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอาจไม่สามารถแก้ได้ด้วยกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติเพียงอย่างเดียว เพราะรายงาน IMD ฉบับเดียวกันจัดอันดับความน่าดึงดูดของมาตรการส่งเสริมการลงทุน (Investment Incentive Attractive to Foreign Investors) ไว้สูงถึงอันดับที่ 20 พูดง่าย ๆ ว่าเราพร้อมจะให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนไม่แพ้ใครหากต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน แต่ปัญหาอยู่ที่เขามองดูเราแล้วจะอยากเข้ามารึเปล่าต่างหาก การถูกประเทศที่มีทุนใหญ่อย่างสหรัฐและอังกฤษมองข้ามไปนั้นก็ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงตนเอง เช่น ทำอย่างไรให้เรามีความสามารถในการผลิตนวัตกรรม ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ และยกระดับความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ เป็นต้น

มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่ของง่ายที่จะทำเสร็จในวันเดียว แต่ถ้าไม่เริ่มตอนนี้ก็น่าคิดว่าไทยอาจจะต้องเห็นประเทศอาเซียนอื่นอย่างอินโดนีเซียซึ่งมีศักยภาพในการเป็นทั้งฐานการผลิตและตลาดขนาดใหญ่ และฟิลิปปินส์ซึ่งมีความพร้อมด้านกำลังแรงงานทักษะแซงหน้าไป ยังไม่นับเวียดนามซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในการสำรวจของ IMD แต่ก็คาดว่าจะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงในสายตามหาอำนาจขนาดที่ประธานาธิบดีโอบามา และนายกรัฐมนตรีคาเมรอนต้องเดินทางมาจีบด้วยตัวเอง.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภัควดี วีระภาสพงษ์: ถ้าไม่ใช่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ...ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย

$
0
0





ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทนถูกวิจารณ์อย่างมากในระยะหลัง ทั้งในแง่ที่ทำให้เกิดชนชั้นนักการเมืองขึ้นมาเป็นกลุ่มอิทธิพลอีกกลุ่มหนึ่งในหมู่ชนชั้นนำ ทั้งในแง่ของการขาดการยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในประเทศที่มีการรวมศูนย์อำนาจสูงอย่างประเทศไทย  ทั้งในแง่ของการเล่นประตูหมุนกับภาคธุรกิจและบรรษัท และทั้งในแง่ของการคอร์รัปชั่น  แต่ในแง่มุมหลังสุดนี้ คนที่ไม่คิดวิเคราะห์อย่างถ่องแท้และไม่เข้าใจกลไกการทำงานของทุนมักมองข้ามความเป็นจริงว่า ชนชั้นนักการเมืองจะคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการ ภาคธุรกิจ ศาล และชนชั้นนำ อาทิ กองทัพและสถาบันชนชั้นนำอื่น ๆ

แต่การหันหลังให้ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทนเพื่อกระโจนลงเหวของระบอบเผด็จการยิ่งไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง  เราสามารถปรับปรุงระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งให้ยึดโยงกับประชาชนได้มากขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ส่งเสริมการจัดตั้งรวมตัวของประชาชน สร้างระบอบประชาธิปไตยทางตรงเข้ามาเสริม เช่น การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม หรือการสร้างกลไกของระบอบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือที่ประชาชนสามารถยื่นข้อเสนอและกำหนดนโยบายระดับต่าง ๆ ได้มากขึ้น

กระนั้นก็ตาม อีกมิติหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่เรามองข้ามไม่ได้ก็คือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ  หากเราปล่อยให้สังคมตกอยู่ใต้ระบอบเผด็จการทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางการเมืองก็เป็นแค่ละครฉากเล็ก ๆ เอาไว้ปลอบใจชนชั้นล่างให้หลงคิดว่าตัวเองมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตัวเองนาน ๆ ครั้ง  หรืออย่างมากก็แค่ต่อรองได้ผลประโยชน์เล็กน้อยจากชนชั้นนักการเมือง  ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อไป จนชนชั้นล่างและแม้แต่ชนชั้นกลางก็ตกเป็นทาสระบบหนี้ทางเศรษฐกิจ อันเปรียบเสมือนสัญญาทาสที่ผลักดันให้ทุกคนต้องวิ่งรอกหมุนฟันเฟืองของระบบทุนนิยมประหนึ่งหนูถีบจักร

นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมมักเชื่อในทฤษฎีน้ำหยด กล่าวคือ แนวคิดว่าต้องส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจให้ชนชั้นบนก่อน เมื่อผลประโยชน์ข้างบนอิ่มตัวแล้ว หยาดน้ำแห่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะหยดลงจนถึงชนชั้นล่าง  แต่การณ์กลับปรากฏว่าความเป็นจริงก็ดังเช่นภาพการ์ตูนที่คนเขียนล้อเลียนกัน นั่นคือแก้วรองรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชนชั้นบนนั้นใหญ่ขึ้นทุกที ๆ  แทบไม่เหลือหยาดผลประโยชน์กระเส็นกระสายลงมา ปล่อยให้คนเบื้องล่างแห้งเหือดลงทุกวี่วัน

ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจพลิกคว่ำแก้วทฤษฎีนั้น เมื่อปล่อยให้หยาดน้ำผลประโยชน์รดพื้นดินเบื้องล่างจนชุ่ม  ผืนดินย่อมผลิยอดไม้งามที่เจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านไพศาล  แนวคิดของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจพลิกกลับทฤษฎีน้ำหยดนั้นใหม่  หากคนเบื้องล่างได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม  ก็ไม่ต้องห่วงหรอกว่าชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่มีความได้เปรียบเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะไม่พลอยอุดมสมบูรณ์ตามไปด้วย

คนเบื้องล่างที่อยู่เบื้องล่างสุดกลุ่มหนึ่งของสังคมไทยก็คือชาวบ้านที่ยังเหยียบขาข้างหนึ่งอยู่ในวิถีชีวิตและวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม  ชาวบ้านเหล่านี้อาจไม่แร้นแค้นยากจนเท่าคนจนเมือง  แต่พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่มีหลักประกัน  ชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับฝนฟ้า สุขภาพของพวกเขาขึ้นอยู่กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต้องคอยต่อรองไม่ให้ชนชั้นนำยกเลิก  สถานะของพวกเขาถูกลดทอนลงทุกวันจากสัดส่วนของภาคเกษตรที่ต่ำต้อยในจีดีพี การศึกษาของพวกเขาต้องอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการลองผิดลองถูก เพราะระบบการศึกษาในโรงเรียนไม่เคยตอบโจทย์วิถีการผลิตของพวกเขา

ในระบอบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ที่ชนชั้นสูงตอบโต้กระแสปฏิวัติของชนชั้นล่างด้วยการทุบทำลายสายพานการผลิตให้กระจัดกระจายไปทั่วโลก รวมทั้งเพิ่มอำนาจให้ตัวเองด้วยวิถีการสะสมทุนแบบปล้นชิง  การแย่งชิงทรัพยากรหวนกลับมาเป็นวิถีการสะสมทุนที่ทรงประสิทธิภาพกว่าการขูดรีดแรงงาน  ชาวบ้านที่ยังต้องอาศัยวิถีการผลิตแบบดั้งเดิมครึ่งหนึ่งในการดำรงชีพกลายเป็นกลุ่มคนโชคร้ายแห่งศตวรรษที่ 21  พวกเขาตกอยู่ใต้คำสาปของความมั่งคั่ง เพราะผืนดินที่พวกเขาเหยียบยืนและเรียกว่า “บ้าน” บังเอิญตั้งทับทรัพยากรมหาศาลไว้ข้างใต้

การแย่งชิงทรัพยากรจึงเกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย  ไม่ว่าจะเป็นเหมืองทองที่วังสะพุง สัมปทานปิโตรเลียมที่บ้านนามูล-ดูนสาด อุตสาหกรรมเหล็กที่บางสะพาน-บ้านกรูด เหมืองแร่โปแตซที่อุดรธานี และที่อื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน  การต่อสู้ของชาวบ้านจำต้องผูกติดอยู่ในพื้นที่ กระจัดกระจายยากต่อการรวมตัวและหลายครั้งที่เสียงไม่ดังพอให้ใครได้ยิน  ยิ่งในประเทศที่รวมศูนย์อำนาจและรวมศูนย์ข่าวสารอย่างประเทศไทย  การต่อสู้ของชาวบ้านยิ่งต้องดำเนินไปอย่างโดดเดี่ยวเงียบเชียบ  หลายแห่งต้องพ่ายแพ้ท่ามกลางความเงียบงัน

แม้มีหลายแห่งที่การต่อสู้ของชาวบ้านดังพอให้ได้ยินในระดับประเทศ  แต่พวกเขาไม่เพียงต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐและอำนาจทุนเท่านั้น พวกเขายังต้องผจญกับทัศนคติของบรรดาชนชั้นกลางเสรีนิยมที่คิดว่าตัวเองรอบรู้ถ้วนทั่วจักรวาล  นักเสรีนิยมเหล่านี้พยายามกดบีบให้ชาวบ้านยอมสยบต่ออำนาจทุนด้วยข้ออ้างของ “เสียสละเพื่อส่วนรวม” “ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” “โลกาภิวัตน์” “วิถีการผลิตเปลี่ยนไปแล้ว” และ “การผลิตในภาคเกษตรไม่คุ้มกับการลงทุน”

แต่สิ่งที่นักเสรีนิยมเหล่านี้มองข้าม ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามที ก็คือคำถามว่าทำไมชาวบ้านจึงต้องยอมสูญสิ้นวิถีชีวิตและปัจจัยการผลิตของตนเพื่อแลกกับค่าชดเชยเพียงน้อยนิด?  ในเมื่อทรัพยากรใต้ถุนบ้านของพวกเขามีมูลค่ามหาศาล  เหตุใดพวกเขาในฐานะเจ้าของพื้นที่จึงไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดชะตากรรมของตัวเองและการกระจายความมั่งคั่งของทรัพยากรนั้น?  หากนักเสรีนิยมที่เชิดชูระบบทุนนิยมกลับไม่เข้าใจแม้แต่ตรรกะพื้นฐานของระบบทุนนิยมและเสรีนิยมข้างต้น  คำพูดของ “นักเสรีนิยม”(?) เหล่านี้ก็เปรียบเสมือนแค่การผายลมของคนท้องเสียเท่านั้นเอง

ผู้สันทัดกรณีบางคนให้เหตุผลว่า กระแสการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในปัจจุบันล้วนมุ่งเข้าหาเมือง เมืองจะขยายใหญ่ขึ้น ชนบทจะ “เล็กลง” เมืองคืออนาคตที่จะทำให้การต่อสู้ปฏิวัติสังคมง่ายขึ้น  แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง เราอยากเห็นเจ้าของทรัพยากรอันมีค่ามหาศาลนั้นถอนรากจากวิถีชีวิตดั้งเดิมและมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองในลักษณะไหน?  ในลักษณะของคนจนไร้รากที่ต้องขายแรงงานในเมือง เป็นกำลังแรงงานไร้สิ้นศักดิ์ศรีที่ดิ้นรนเหนือเส้นความอดอยากเพียงปริ่ม ๆ เพื่อให้ประเทศนี้มีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจแบบล้าหลัง?  หรือก้าวเข้าสู่เมืองในฐานะชนชั้นผู้ผลิตใหม่ที่สามารถปรับตัวเข้าสู่วิถีเมืองและระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่จะช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง?

ท่ามกลางการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรนี้เอง การที่กลุ่มดาวดินก้าวเข้ามาเคียงบ่าเคียงไหล่ชาวบ้านในการต่อสู้กับอำนาจทุนและอำนาจรัฐ  มันจึงมิใช่แค่การต่อสู้ของกลุ่มคนในพื้นที่  แต่เป็นการต่อสู้เพื่อคนทั้งหมดในประเทศ  กลุ่มดาวดินและชาวบ้านกำลังต่อสู้เพื่อหลักการของนิติรัฐ นิติธรรม ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตย  มันเป็นการต่อสู้เพื่อยืนยันหลักการที่กลุ่มทุนจะต้องไม่ผลักภาระ  ความมั่งคั่งต้องมีการกระจายที่เป็นธรรม  ทรัพยากรต้องเป็นของส่วนรวมและยังประโยชน์แก่ส่วนรวม  ประชาชนต้องเป็นเจ้าของประเทศและเจ้าของทรัพยากรเท่า ๆ กัน การพัฒนาเศรษฐกิจต้องไม่ใช้วิธีการต่ำช้า และถึงที่สุดแล้ว หากวิถีชีวิตดั้งเดิมไม่อาจต้านทานกระแสความเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยที่สุด ประชาชนต้องได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสมและมีเวลาปรับตัวเพื่อก้าวตามความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีส่วนร่วม  หากการต่อสู้ของกลุ่มดาวดินและชาวบ้านประสบความสำเร็จ  ประชาชนทุกคนในประเทศก็ย่อมได้รับประโยชน์จากการความสำเร็จนี้เช่นกัน

เดวิด เกรเบอร์กล่าวไว้ว่า ประธานของการเปลี่ยนแปลงสังคมสมัยใหม่คือศิลปินและชนพื้นเมือง  ศิลปินคือผู้มีปัญญาสร้างสรรค์และลงมือกระทำ  กลุ่มดาวดินคือศิลปินในแง่นี้  ส่วนชนพื้นเมืองคือผู้มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม  ชาวบ้านคือชนพื้นเมืองในแง่นี้  แต่ในทัศนะของข้าพเจ้า คนสองกลุ่มนี้ยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมยุคเสรีนิยมใหม่  ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ข้าพเจ้ามุ่งหวังว่าจะยื่นมือจับกันเป็นพันธมิตรสามเส้าของการเปลี่ยนแปลงสังคม นั่นคือ ศิลปิน ชนพื้นเมืองและแรงงานนอกระบบหรือแรงงานไร้หลักประกัน  การที่กลุ่มดาวดินผูกพันธมิตรกับนักศึกษากลุ่มก้าวหน้าในเมืองเป็นขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงเป็นย่างก้าวที่มีพลังอย่างยิ่ง

ขอให้ดาวดินเป็นศิลปินสร้างสรรค์สังคมใหม่ เป็นปัญญาชนคลุกขี้ดิน และส่องแสงนำทางที่ปลายตีนของประชาชนตลอดไป

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในจุลสารครบรอบ 12 ปี ดาวดิน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: วิชาศีลธรรม

$
0
0

เรายังควรสอนศีลธรรมในสถาบันการศึกษาหรือไม่? ผมคิดว่าควรอย่างยิ่งทีเดียว แต่ก่อนจะคุยกันเรื่องนี้ต่อไป ต้องแน่ใจก่อนว่า เราเข้าใจคำว่า "ศีลธรรม" ตรงกันหรือไม่

"ศีลธรรม" ในความหมายที่แท้จริงคือความคิดและความรู้สึกที่เกี่ยวกับคนอื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่น คือไม่ใช่ความคิดที่เกี่ยวกับประโยชน์ตน ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นคือความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับส่วนรวม การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้น หากสมาทานศีลข้อนี้ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้อายุยืน ความเชื่อนี้ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม หรือแม้แต่เชื่อว่าเป็นการฝึกใจตนเองให้อ่อนโยนด้วยความเมตตากรุณา ก็ไม่ใช่ความคิดทางศีลธรรมอยู่นั่นเอง เพราะไม่เกี่ยวกับคนอื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่น แต่อาจเป็นความคิดทางศาสนา (ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละศาสนา) ตรงกันข้าม หากไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ด้วยความเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตอื่นก็รักตัวกลัวตายเหมือนกัน จึงไม่ควรไปเบียดเบียนเขา อย่างนี้เป็นความคิดความรู้สึกทางศีลธรรม

ผมเข้าใจว่าพระพุทธศาสนา (และเข้าใจว่าศาสนาอื่นด้วย) สอนไม่ให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งสองอย่าง คือเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านด้วย หากสอนศีลธรรมของพระพุทธศาสนาก็ต้องว่าด้วยประโยชน์ท่าน

สำนึกถึงประโยชน์ท่านนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามความรับรู้ของผู้คน ดังนั้น ศีลธรรมจึงไม่เคยเป็นกฎตายตัว การกระทำที่ครั้งหนึ่งไม่เห็นว่าเป็นการผิดศีลธรรม มาถึงอีกยุคสมัยหนึ่งก็อาจกลายเป็นผิดศีลธรรมไปก็ได้

การกินเนื้อสัตว์นั้น คือการส่งเสริมให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ในสมัยหิน โปรตีนที่หาง่ายที่สุดคือเนื้อสัตว์ (จากการล่า ไม่ต้องเลี้ยง) ง่ายกว่าการหาโปรตีนจากพืชเสียอีก (อย่างน้อยถั่วเหลืองก็ต้องตระเวนเก็บจากธรรมชาติ หรือต้องปลูก) นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าเนื้อสัตว์เป็นโปรตีนที่อร่อยที่สุดจนถึงปัจจุบัน แต่ถึงแม้ยอมจำนนต่อการยึดติดของลิ้น ก็ต้องรู้ว่าการเลี้ยงสัตว์เพื่อตลาดในโลกปัจจุบันได้กลายเป็นการทารุณสัตว์อย่างเหี้ยมโหดไปเสียแล้ว เพื่อทำกำไรสูงสุดแก่ผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว เนื้อไก่-ไข่ไก่ เนื้อหมู ฯลฯ

จึงเหลือทางเลือกทางศีลธรรมแก่ผู้กินเนื้อสัตว์อยู่เพียงสองทาง หนึ่ง-คือเลิกกินเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงขึ้นเชิงพาณิชย์ หรือสอง-ร่วมจัดตั้งพลังของผู้บริโภคกดดันให้ผู้ผลิตคิดถึงใจไก่ ใจหมู ใจวัวให้มากขึ้น

ครับ..ศีลธรรมคือความคิดความรู้สึกต่อคนอื่น, สัตว์อื่น, สิ่งอื่นก็จริง แต่เป็นความคิดความรู้สึกที่ก่อให้เกิดพันธะทางสังคมต่อตัวเราด้วย

ในขณะเดียวกัน เพราะนัยยะทางศีลธรรมของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกและในชีวิตประจำวัน อาจเข้าถึงได้จากการทำความเข้าใจด้วยข้อมูลและเหตุผล อีกทั้งจะเข้าใจความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องก็ต้องใช้ความคิด ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการถกเถียงเพื่อมองเห็นวิธีมองได้หลากหลายแง่มุม ดังนั้น การเรียนรู้ศีลธรรมจึงทำได้เฉพาะในบรรยากาศแห่งเสรีภาพเท่านั้น ไม่มีกฎเกณฑ์หรือค่านิยมอะไรของใครให้ต้องท่องจำ อย่าลืมว่าศีลธรรมไม่ได้มีไว้ให้เรียนเพื่อรู้ (หรือสอบ) แต่รู้เพื่อให้เกิดพันธะทางสังคมแก่ตนเอง การเรียนแบบเปิดกว้างจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีวันที่จะเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพได้เลย

ดังเช่นค่านิยม 12 ประการที่สั่งลงมาจากเบื้องบน

ด้วยเหตุฉะนี้แหละครับ ที่ทำให้ผมคิดว่าไม่มีใครสามารถคิดหลักสูตรวิชาศีลธรรมขึ้นได้ ไม่พักต้องพูดว่า ไม่มีใครสอนวิชาศีลธรรมที่ลอยอยู่โดดๆ โดยไม่สัมพันธ์กับบริบทชีวิตจริงของผู้เรียนได้ ที่เขาพูดว่าพ่อแม่เป็นครูสอนศีลธรรมคนแรกนั้นใช่เลย เพราะท่านไม่ได้สอน "วิชา" ศีลธรรม แต่นำเอามิติทางศีลธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับประสบการณ์จริงในชีวิตของลูก (เช่น คุยกันว่าจะแก้ปัญหาถูกเพื่อนรังแกอย่างไรโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพราะความรุนแรงเป็นภัยต่อส่วนรวม...เป็นการแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ตนก็จริง แต่วางบนพื้นฐานของประโยชน์ท่าน)

ถึงแม้ไม่มี "วิชา" ศีลธรรมให้ใครสอน แต่โรงเรียนไปถึงมหาวิทยาลัยควรสอนศีลธรรมในทุกวิชาที่เรียน เพราะไม่ว่าจะเป็นความรู้อะไร ก็ล้วนมีมิติทางศีลธรรมแฝงอยู่ทั้งสิ้น เคมีตอบสนองตลาดงานจ้างก็ควรรู้ แต่เคมีทำให้ชีวิตของคนอื่นดีขึ้นได้อย่างไรก็ควรรู้ด้วย โตขึ้นมาหน่อยก็ควรรู้ด้วยว่า เคมีในโลกปัจจุบันถูกใช้เพื่อเอาเปรียบคนอื่นอย่างไร และควรมีเวลาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และอภิปรายกันถึงทางออกจากความไม่มีศีลธรรมของธุรกิจขนาดใหญ่ได้อย่างไร

ไม่ต้องพูดถึงวิชาสังคมศึกษา-สังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ซึ่งมิติทางสังคมเป็นฐานที่ขาดไม่ได้ของการเรียนรู้วิชาเหล่านี้

ศีลธรรมจึงไม่เกี่ยวกับศาสนา จะเป็นพุทธ, มุสลิม, คริสต์, ฮินดู ฯลฯ ก็สามารถนำมิติทางศีลธรรมเข้าไปในการเรียนรู้ได้ทั้งนั้น แม้คนที่ไม่นับถือศาสนาใดเลย ก็อาจคิดและรู้สึกทางศีลธรรมได้ และหลายคนที่ผมรู้จักมีสำนึกเรื่องนี้แหลมคมกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ หรือในทางตรงข้ามเป็นพุทธ, มุสลิม, คริสต์, ฮินดู หรือไม่มีศาสนา ฯลฯ แล้วไม่เคยคิดและรู้สึกในทางศีลธรรมเลยก็ได้

มิติทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่แทบจะพูดได้ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ฝูงที่นึกคิดอะไรนอกสัญชาตญาณได้ การคงอยู่ของฝูงจึงมีความสำคัญต่อการคงอยู่ของมนุษย์ เหมือนสัตว์ฝูงประเภทอื่นซึ่งอาจมีศีลธรรมตามสัญชาตญาณ (นักสัตวศาสตร์ปัจจุบันเริ่มเห็นจากการทดลองว่าสัตว์บางชนิดมีความคิดทางศีลธรรมเหมือนกัน)

ผมคิดว่าความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงของผู้จัดการศึกษาในแบบของไทย นับตั้งแต่เริ่มการศึกษาแผนตะวันตกในประเทศไทย คือดูเบาศีลธรรมและเข้าใจผิดว่าศีลธรรมมีได้เฉพาะในศาสนาเท่านั้น เหตุดังนั้นจึงสอนวิชาพุทธศาสนาเป็นวิชาศีลธรรม แล้วไม่เคยสอนศีลธรรมในวิชานี้เลย นอกจากบังคับให้เด็กท่องจำหมวดธรรมคิหิปฏิบัติไว้หลายหมวดเพื่อสอบ อันที่จริงท่องบัญญัติสิบประการ หรือท่องอัลหะดิษ ก็ได้ผลเท่ากัน คือไม่ได้ผลอะไรในทางศีลธรรมเลย

(เช่นเดียวกับวิชาหน้าที่พลเมืองนะครับ หน้าที่พลเมืองตามกฎหมายนั้นอ่านเองได้ แต่การฝ่าอันธพาลการเมืองไปเข้าคูหาเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นหน้าที่พลเมืองหรือไม่ หรือใช่แต่ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ซึ่งต้องช่วยกันวิพากษ์และหาคำตอบร่วมกัน ทำให้หน้าที่พลเมืองต้องเรียนกันในบรรยากาศแห่งเสรีภาพและเคารพความเห็นของกันและกัน นักกฎหมายไม่ใช่คนที่รู้หน้าที่พลเมืองดีที่สุด ยกเว้นแต่เราเห็นพลเมืองเป็นข้าไพร่อีกชนิดหนึ่งเท่านั้น)

หากศีลธรรมไม่ใช่ศาสนา คำถามที่ตามมาทันทีก็คือ เราควรสอนศาสนาในสถาบันการศึกษาหรือไม่ ผมเห็นว่าควรครับ แต่สอนในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่ง ผู้สอนอาจไม่ศรัทธาต่อศาสนาใดเลย แต่ต้องเข้าใจความศรัทธาทางศาสนาอย่างที่เอมิล เดอร์ไคม์พูดไว้ ดังนั้น ศาสนาจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิชาสังคมศึกษาในโรงเรียน และอาจเป็นศาสตร์เพื่อการค้นหาความจริงเกี่ยวกับศาสนาในระดับอุดมศึกษา เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ทางสังคมอื่นๆ เช่น รัฐ, รัฐบาล, ความโกรธ, อำนาจ, วัฒนธรรม ฯลฯ นักวิชาการด้านศาสนาอาจนับถือศาสนาใดก็ได้ หรือไม่นับถือศาสนาใดก็ได้ คนที่รู้จักพุทธศาสนาในแง่ปรากฏการณ์ทางสังคมที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่พระภิกษุ เช่นเดียวกับคนที่รู้จักอิสลามในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคมที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่บาบอ

ถ้ากระนั้น ศาสนาในแง่ที่เป็นคำตอบให้แก่ปัญหาส่วนบุคคลยังจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์ในโลกปัจจุบันหรือไม่ ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่ง มนุษย์ในโลกสมัยใดก็ตามต้องรู้จักตัวเอง ผมคิดว่าส่วนที่ลึกที่สุดของทุกศาสนาคือความรู้จักตนเอง เพื่อให้เกิดความสามารถจัดการกับตนเองได้ เมื่อหญิงม่ายมุสลิมในภาคใต้ตอนล่างพูดเบื้องหน้าความตายของสามีจากเหตุความไม่สงบว่า "แล้วแต่พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า" เธอรู้อย่างซึมซาบทีเดียวว่าเธอเป็นเพียงสิ่งสร้างของพระเจ้า เล็กจนเกินกว่าจะยึดมั่นถือมั่นตัวเองเป็นตัวเป็นตนเหมือนศูนย์กลางจักรวาล

และด้วยเหตุดังนั้นจึงสามารถจัดการกับความโศกเศร้าและความเคียดแค้นในใจของตนได้ อย่างน้อยก็บรรเทามันได้ก่อนจะเสียสติ

ผมอยากเตือนด้วยว่า ความ "รู้แจ้ง" (ผมใช้ในความหมายว่ารู้จนกำหนดบุคลิกภาพของผู้รู้) เช่นนี้โดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน อาจบรรลุได้จากความรู้อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาก็ได้ เช่น หญิงม่ายผู้นั้นอาจใช้ความรู้ความเข้าใจในเชิงสังคมศาสตร์ถึงเหตุปัจจัยอันสั่งสมมานานในสังคมภาคใต้ตอนล่าง (และความสัมพันธ์กับรัฐไทย) จนเห็นว่าความตายเช่นนี้เป็นผลที่ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ส่วนจะเกิดแก่สามีของเธอหรือสามีของคนอื่น สังคมศาสตร์ยังอธิบายถึงที่สุดว่าทำไมถึงเป็นสามีเธอไม่ได้ แต่ก็พอเพียงที่จะให้เธอยอมรับชะตากรรมนั้นอย่างไม่เสียสติ และอาจมีสติพอจะคิดอะไรสร้างสรรค์จากชะตากรรมอันเลวร้ายนี้ก็ได้

ไม่ว่าจะเป็นศาสน์หรือศาสตร์ นี่คือส่วนลึกที่สุดของมัน ซึ่งผมไม่เชื่อว่าใครจะสอนใครในการศึกษามวลชนได้ แต่เราทุกคนล้วนเคยเรียนรู้แบบ "นิสิต" มาในชีวิตทั้งสิ้น (นิสิตแปลว่าผู้เข้าไปนั่งใกล้) ได้เคยเห็นพ่อแม่จัดการกับความทุกข์ของตน โดยอาศัยความเชื่อลึกๆ บางอย่าง เคยคุยกับคนอื่นอย่างลึกๆ (ซึ่งไม่อาจทำได้ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก) ฯลฯ มาแล้ว รวมทั้งตนเองก็เคยมีประสบการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึก ที่ต้องเที่ยวค้นหาคำตอบจากการคิดและจากผู้อื่น

และส่วนนี้ของศาสนาแหละครับ ที่ผมคิดว่าทุกคนควรมีโอกาสได้เรียน แต่ไม่ใช่ในหลักสูตร หากเรียนรู้ในชีวิต ครูอาจารย์พอช่วยได้เหมือนพ่อแม่ คือมีโอกาสได้ฟังอย่างเปิดอก (ฉะนั้น จึงต้องมีความสัมพันธ์ที่นักเรียนไว้วางใจ) มีโอกาสจะเสนอประสบการณ์ของตนเองและคนอื่นให้ฟัง ช่วยให้ได้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น แทนการยัดเยียดศรัทธาของตนเองให้เขา แต่ที่เหนือกว่าสิ่งที่ครูอาจารย์ทำได้คือโอกาสที่นักเรียนได้เรียนรู้จากชีวิตจริง และตรงนี้แหละครับที่ผมเห็นว่านักเรียนและนักศึกษาไทยไม่มีโอกาส ไม่มีเวลา ไม่มีแรงกระตุ้นที่จะเรียน เพราะโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอาโอกาสและเวลาของเขาไปหมด อีกทั้งไม่กระตุ้นให้เขาได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ในชีวิตจริง (เช่น เมาเหล้าแล้วสอนอะไรให้ได้บ้าง) ครูชอบคิดว่าตัวมีอำนาจกำหนดประสบการณ์ในชีวิตนักเรียนได้ มากกว่ายุให้นักเรียนเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และอาจไม่เคยเกิดกับครูเลย เช่น ช่วยแม่เข็นรถขายของไปให้ถึงที่ก่อนมาโรงเรียนสายและถูกลงโทษ

ถ้าเชื่อในคุณค่าของส่วนลึกในศาสนาจริง โรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็สอนให้น้อยลงสิครับ พยายามให้นักเรียนได้เรียนเองบ้าง เพราะส่วนใหญ่ของสิ่งที่สอนกันนั้นไม่จำเป็นต้องสอน เช่น ข้อมูลดิบจำนวนมากซึ่งล้วนอ่านเองได้ทั้งนั้น แบบเรียนไม่ได้มีไว้ให้ครูสอน แต่มีไว้ให้สอนตัวเอง แต่ละวิชาอาจใช้เวลาในห้องเรียนน้อยลงมาก และห้องเรียนอาจเป็นที่ซึ่งนักเรียนนักศึกษาต้องใช้ความคิดและฝึกการจับประเด็นเสนอประเด็นจนพูดกับคนอื่นรู้เรื่อง และมีความสามารถคิดต่อยอดความคิดของคนอื่นได้

สรุปก็คือ ควรสอนในสถาบันการศึกษาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรม ศาสนาทั้งในส่วนที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวิถีล้ำลึกเพื่อเข้าใจตนเอง แต่จะสอนอย่างไรโดยไม่ต้องมีในหลักสูตรต่างหากที่สำคัญกว่า ผมเชื่อว่าครูอาจารย์ไทยทำได้ ถ้าได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง และไม่ต้องเสียเวลาและความนับถือตนเองในการกรอกคำถามงี่เง่าในการประเมินของ สมศ.

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชน รายวัน 3 สิงหาคม 2558

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ทหารกล้าพระนเรศ” ผลผลิตซ้ำของประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมภายในมหาวิทยาลัย

$
0
0



ณ มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ผู้เขียนนั้นศึกษาอยู่ เริ่มเข้าสู่เทศกาลรับน้องใหม่อีกแล้ว วันเวลาช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วจริงๆ จำได้ว่าช่วงนี้ของปีที่แล้วผู้เขียนยังเป็นน้องใหม่อยู่เลย และในตอนที่ผู้เขียนได้เข้ากิจกรรมปรับสภาพนิสิตใหม่ (Beginning Camp) ได้ยินวาทกรรมหนึ่งที่สะดุดหูและจำได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง นั้นคือ “ทหารกล้าพระนเรศ” ครั้งแรกที่ได้ยินในตอนนั้นรู้สึกได้เลยว่านี่เป็นผลผลิตซ้ำของ “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม” ที่เราซึมซับมาตั้งแต่จำความได้และเราผ่านประวัติศาสตร์รูปแบบนี้จากแบบเรียน ประถมและมัธยม ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมคืออะไร อธิบายอย่างสั้นๆเลยก็คือเป็นประวัติศาสตร์ที่มีศูนย์กลางเรื่องอยู่ที่พระมหากษัตริย์ อยู่ที่ชนชั้นปกครอง และมีทัศนคติที่เหยียดหยามประเทศเพื่อนบ้าน มากกว่ามูลเหตุและปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น และการที่ใส่ “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม”  ลงในแบบเรียนก็เป็นเสมือน ”ยากล่อมประสาท” ที่กล่อมประสาทจนไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น นี่แหละคือประวัติศาสตร์แบบไทยๆ ใครที่ตั้งข้อสงสัยมักจะถูกสังคมตีตราว่าไม่รักชาติ ไม่สำนึก ”บุญคุณ” ของบรรพบุรุษและบูรพกษัตริย์ ทั้งๆที่เราพูดถึงเรื่องให้เด็"คิดเป็น"กันอย่างกว้างขวาง แต่ในเรื่องนี้กลับแตะต้องไม่ได้เลย แสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งของสังคมไทยได้เป็นอย่างดีว่า อยากให้เด็กคิดเป็นหรืออยากให้เด็กเชื่องจะได้ปกครองง่าย

วาทกรรม “ทหารกล้าพระนเรศ” นั้นหลังจากที่ค้นคว้าและสอบถามรุ่นพี่ วาทกรรมนี่ใช้มาตั้งแต่การยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ (ปี 2533) และทางองค์การนิสิตก็ได้ใช้วาทกรรมนี่เพื่อปลุกใจเด็กเรื่อยมาก แต่มาเด่นชัดที่สุดในงาน Beginning Camp #13 ได้มีการนำบทเพลง ”กลับถิ่นแผ่นดินเดิม” ซึ่งเป็นนำมาใช้เป็นวงกว้างชัดเจนที่สุด ดั่งท่อนหนึ่งของเพลงที่ร้องว่า

“เคยคิดไหมว่าทำไม ณ วันนี้ เราจึงมาร่ำเรียนที่นเรศวร ฤ ดั่งว่าชาติก่อนเก่า เราได้ทบทวน จึงกลับหวนคืนถิ่นแผ่นดินเดิม” และอีกท่อนคือ “เราคงเป็นทหารกล้าพระนเรศ ที่ตั้งเจตจำนงจิตเป็นนิจสิน ขอเป็นข้าเบื้องยุคลตราบชีพนี้สิ้น เพื่อเพียงกลับมาเกิดถิ่นแผ่นดินเดิม” 

หลังจากที่ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกผู้เขียนรู้สึกว่ามันขัดกับสามัญสำนึกของตัวเอง เพราะไม่ใช่เราใช้ความสามารถของเราหรือที่สอบได้คะแนนถึงจนสามารถเข้าทำการศึกษาที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นรอบรับตรง หรือ Admission  ก็เป็นความสามารถพวกคุณทั้งนั้น และผู้เขียนมองว่า “มหาวิทยาลัย” เป็นธุรกิจรูปแบบหนึ่ง เพราะเราก็จ่ายเงินค่าเทอมเพื่อศึกษาเล่าเรียน ทางมหาลัยไม่จ้างเรามาเรียน แต่เรากลับไปเชื่อปกป้องและภาคภูมิใจในวาทกรรม “ทหารกล้าพระนเรศ” ที่ผู้เขียนสงสัยมากว่าเราจะไปรบกับใคร ทำให้เห็นได้ว่า “ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม” นั้นมีผลอย่างมากต่อการรับรู้ทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็น ”ยากล่อมประสาท” ที่ได้ผลอย่างร้ายกาจ ทำให้เรามองไม่เห็นแง่มุมอื่นทางประวัติศาสตร์เลย เราจะพบแต่บทเรียนที่เดิมๆ ที่ท่องเป็นสูตรสำเร็จ ดังเช่น ความสามัคคี ความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษ ความสำนึกในบุญคุณของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น แต่เราไม่เคยมองเห็นว่าการนำเสนอเหล่านี้ เกิดขึ้นมาจากไหนและมีที่มาที่ไปอย่างไร มีจุดประสงค์อะไร เพราะเรานั้นถูกสอนให้เชื่อมากกว่าการสอนให้คิดวิเคราะห์ ทำให้โดน “ยากล่อมประสาท” นี่อย่างง่ายดายการนำเอา “พระนามของกษัตริย์” มาเป็นหลักเกาะยึดเพื่อความภาคภูมิใจในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ แล้วถ้าเกิดมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่ได้ชื่อมหาวิทยาลัยนเรศวร จะเป็นอย่างไร จะเอาอะไรมาเป็นจุดขายแทน “ทหารกล้าพระนเรศ”

ผู้เขียนเชื่อว่ามีไม่น้อยคนที่คิดเรื่องนี้แต่ก็แสดงออกไม่ได้มากนักเพราะอาจเป็นเพราะสังคมไทยไม่เคยเปิดกว้างให้กับเรื่องแบบนี้ เราเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมคนในสังคมบ้างกลุ่มจึง “เหยียดหยามประเทศเพื่อนบ้าน” และมองว่าเขาด้อยกว่าเราและมองว่าเขาเป็นฝ่ายรุกรานเราในอดีตอย่างนั้นเหรอ เพราะเราไม่เคยรุกรานใครเราอยู่อย่างสงบสุขด้วยพระบารมีมากตลอด มีแต่ชาติอื่นๆมารุกรานเรา การรับรู้ประวัติศาสตร์เพียงด้านเดียวทำให้เราขาดการมองบริบทของช่วงเวลานั้น และอีกอย่างอย่าลืมว่ามหาวิทยาลัยของเรา มีนิสิตจากต่างประเทศที่เป็น พม่า ลาว และกัมพูชามาศึกษาอยู่ด้วย พวกเขานั้นจะมองเรื่องพวกนี้ว่าอย่างไร บ้างคนอาจมองเรื่องนี้ว่าเป็นการ “จาบจ้วงเบื้องสูง” เพราะพระองค์เป็นถึงพระมหากษัตริย์ผู้กอบกู้ ”เอกราช” ให้กับประเทศชาติ  แต่เรานั้นเคยศึกษาบริบทของสังคม ความเชื่อในยุคนั้นเลยว่าในขณะนั้นมีความเป็น “รัฐชาติ” แล้วหรือไม่

ถึงแม้เราจะเข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้วก็ตาม เพราะแทนที่จะเป็นสังคมแห่งการตั้งคำถามและแสวงหาความรู้ กลับเป็นที่ผลิต “เครื่องจักรที่มีชีวิต” ออกไปสู่ตลาดแรงงานมากกว่า และตอนที่ผู้เขียนยังไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยนั้นคิดและฝันไฝ่เสมอว่าสังคมมหาวิทยาลัยจะเปิดกว้างทางความคิดและการแสดงออกทางความคิด แต่พอได้มาเผชิญจริงแล้วกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น ยังมีการแบนและล่าแม่มดสำหรับที่ผู้เห็นต่าง จึงไม่แปลกที่วาทกรรม “ทหารกล้าพระนเรศ” จะคู่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ไปอีกนาน

 


อ้างอิง
ธงชัย วินิจจะกูล.ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยมจากยุคอาณานิคมอำพรางสู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฏมพีไทยในปัจจุบัน.ศิลปวัฒนธรรม:ปีที่ 23 ฉบับที่ 1.หน้า 56-65
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

$
0
0

"1. สิทธิต่างๆ ของนักศึกษาเกิดจากการลงทะเบียนเรียนไม่ใช่จากการเข้าห้องเชียร์
2. การยอมรับระบบรับน้องที่ริดรอนสิทธิคือการเพิกเฉยต่อการปกป้องสิทธิของตนเอง
3. ไม่ควรเคารพผู้ที่ใช้อำนาจกดขี่บังคับผู้อื่นในสถานศึกษา
4. อย่าเคารพคนที่สถานะ แต่ให้เคารพคนที่ความคิดและเหตุผล
5. นักศึกษาปี1 ไม่ใช่น้องใหม่ แต่เป็นเพื่อนใหม่ที่เข้ามาร่วม ฝึกฝนการใช้สติ ปัญญาในรั้วมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
6. มิตรภาพที่ยั่งยืน ไม่ได้เกิดจากการกดขี่ บังคับ ข่มขู่ ให้เข้าห้องเชียร์
7. นักศึกษาที่ถูกบังคับ หรือ มีปัญหาใดๆ ขอให้ติดต่อ ปรึกษา หรือขอความช่วยเหลือจากคณะรัฐศาสตร์ได้ ตลอดเวลา"

ในคำประกาศของคณะ เรื่องการรับน้อง

เครือข่ายภาคประชาสังคม จี้ สนช. ล้ม 7 รายชื่อ กสม.

$
0
0

4 ส.ค. 2558 เครือข่ายภาคประชาสังคม ออกแถลงการณ์ ขอให้มีการตรวจสอบและไม่รับรองบุคคลที่ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยแถลงการณ์ได้อ้างถึงหลักการปารีส ซึ่งเป็นหลักการของสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยในตอนหนึ่งระบุว่า “กระบวนการสรรหาต้องมีหลักประกันที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า สถาบันจะเป็นผู้แทนที่หลากหลายของพลังทางสังคมหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน” บุคคลผู้เป็นกรรมการสรรหา ไม่ได้เป็นบุคคลในภาคประชาสังคมที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด

ขณะที่กระบวนการให้การสรรหาเองไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยในแถลงการณ์ระบุว่า “คณะกรรมการสรรหาไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ และการเลือกด้วยการลงคะแนนของกรรมการสรรหาแต่ละบุคคลที่ไม่มีการให้เหตุผล หรืออภิปรายร่วมกันเพื่อตัดสินใจในลักษณะกลุ่ม จึงเป็นการสรรหาที่ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และไม่สามารถอธิบายหรือตอบคำถามของสาธารณชนได้ว่าบุคคลที่กรรมการสรรหาเลือกมามีคุณสมบัติเป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมายที่ต้องการ”

พร้อมแสดงความห่วงใยต่อ ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ในสายตานานาประเทศ ทั้งนี้ได้เรียกร้องให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบกับการ สรรหาบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่หลากหลาย เป็นไปตามหลักการปารีส

แถลงการณ์

เรื่อง ขอให้ตรวจสอบและไม่รับรองบุคคลที่ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

4 สิงหาคม 2558

 

ตามที่คณะกรรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันประกอบด้วย นายดิเรก  อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร  วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายเพ็ง เพ็งนิติ บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก และนายเฉลิมชัย วสีนนท์ บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก ได้เลือกบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจำนวน 7 คน ได้แก่ นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง นายบวร ยสินทร นางประกายรัตน์  ต้นธีรวงศ์ นายวัส ติงสมิตร รองศาสตราจารย์ศุภชัย  ถนอมทรัพย์ นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย นางอังคณา นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 นั้น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) องค์กร และบุคคลข้างท้ายนี้  เห็นว่าการสรรหาบุคคลเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่เป็นไปตามหลักการปารีส และเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. โดยหลักการปารีสระบุว่า “กระบวนการสรรหาต้องมีหลักประกันที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า สถาบันจะเป็นผู้แทนที่หลากหลายของพลังทางสังคมหรือภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน” แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลับไม่มีบุคคลในภาคประชาสังคมที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการ คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด

2. กระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติครั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ และการเลือกด้วยการลงคะแนนของกรรมการสรรหาแต่ละบุคคลที่ไม่มีการให้เหตุผล หรืออภิปรายร่วมกันเพื่อตัดสินใจในลักษณะกลุ่ม จึงเป็นการสรรหาที่ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และไม่สามารถอธิบายหรือตอบคำถามของสาธารณชนได้ว่าบุคคลที่กรรมการสรรหาเลือกมามีคุณสมบัติเป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมายที่ต้องการ ได้บุคคลซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์

3. จากประสบการณ์การสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดที่สองได้แสดงให้เป็นที่ ประจักษ์แจ้งว่าการเลือกบุคคลที่ไม่มีความรู้ หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์จะส่งผลเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนประมาณค่ามิได้ และจะทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถูกลดระดับจากเกรด A เป็นเกรด B โดยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  ดังนั้น ผลการสรรหาครั้งนี้จะยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของนานาชาติต่อการปฏิบัติ หน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ และมีแนวโน้มที่จะบังเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไปอีก

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและองค์กรร่วมจึงขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบกับการสรรหาบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดบทบัญญัติให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่หลากหลาย เป็นไปตามหลักการปารีส โดยให้มี ประธานสภาผู้แทนราษฎร อัยการสูงสุด นายกสภาทนายความ ตัวแทนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนที่มีการเรียนการสอนด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ตัวแทนภาคประชาสังคมที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนด้อยโอกาส และตัวแทนสื่อมวลชน เป็นคณะกรรมการสรรหา ทั้งนี้เพื่อให้ได้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลายตามหลักการปารีส และกำหนดให้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล

รายชื่อองค์กรและบุคคลร่วมลงนาม

1.       สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส)

2.       มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

3.       คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)

4.       มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

5.       ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)

6.       สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.)

7.       เครือข่ายประชาชนสีเขียวจังหวัดมหาสารคาม

8.       มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์

9.       ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) องค์กรสาธารณะประโยชน์ ๗

10.   เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย(คชท.)

11.   เครือข่ายวิจัยและรณรงค์เพื่อสตรี

12.   ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

13.   มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

14.   มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

15.   สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ

16.   มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

17.   คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

18.   มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

19.   สมาคมผู้บริโภคสงขลา

20.   เครือข่างองค์กรผู้บริโภคภาคใต้

21.   เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้

22.   กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน

23.   มูลนิธิเพื่อนหญิง

24.   มูลนิธิเข้าถึงเอดส์

25.   มูลนิธิพัฒนาอีสาน

26.   นายประกาศ  เรืองดิษฐ์

27.   นายสุมิตรชัย หัตถสาร

28.   นายสุรชัย ตรงงาม

29.   นางสาวกาญจนา  แถลงกิจ 

30.   นายประยงค์ ดอกลำไย

31.   นางสาวราณี  หัสสรังสี

32.   เพ็ญโฉม  แซ่ตั้ง  ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ

33.   นายชาญยุทธ  เทพา  มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลิศรัตน์ เชื่อ สปช. จะไม่คว่ำร่าง รธน. พร้อมเผยถ้าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ต้องถามประชาชน

$
0
0

โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มั่นใจ สปช. ไม่คว่ำร่าง รธน. ตามกระแสข่าว ย้ำ กมธ. แก้ไขร่างเป็นอย่างดี พร้อมเห็นว่าข้อเสนอที่ให้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ต้องผ่านการทำประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชนก่อน

4 ส.ค. 2558 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระแสข่าวสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อว่า สมาชิก สปช.จะใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบ และมีอิสระในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อมั่นว่า จะไม่มีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคณะกรรมาธิการได้ยกร่างฯ อย่างดีแล้ว และมีการปรับแก้ไข โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ

ส่วนข้อเสนอให้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง เห็นว่าต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ หากเห็นด้วยต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ( สนช.) ให้ความเห็นชอบ

ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ (4 ส.ค.) งดประชุม เพื่อให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่เป็นสมาชิก สปช.เข้าร่วมประชุม สปช.ส่วนความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ สัปดาห์หน้าจะเป็นการพิจารณาประเด็นที่ยังค้าง 2-3 ประเด็นให้แล้วเสร็จ และจะเชิญผู้เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมมารับทราบการปรับแก้ไข ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคมนี้ จากนั้นจะเริ่มกระบวนการสรุปเรียงมาตรา เพื่อจัดพิมพ์ส่ง สปช.วันที่ 22 ส.ค. นี้

ขณะเดียวกัน เว็บข่าวรัฐสภารายงานว่า พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า กรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนใหญ่ถึง 21 คน จากจำนวนทั้งหมด 36 คน มาจาก สปช. และได้มีการประสานระหว่างกันอยู่ตลอดเวลาอีกทั้งเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ กว่าร้อยละ 50 มาจาก สปช. ทั้งนี้ ยืนยันว่ากรรมาธิการยกร่างฯ บัญญัติทุกมาตราอย่างมีเหตุและผลที่ชัดเจน เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ส่วนกรณีมีการตั้งข้อสังเกต สปช. บางคนจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะประเด็นที่มานายกฯ ที่สามารถให้คนนอกเข้าทำหน้าที่ได้นั้น ตนเห็นว่าเป็นบุคคลกลุ่มเดิมที่แสดงออกอยู่แล้วว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ต้น การตั้งประเด็นใด ๆ ถือเป็นข้ออ้างมากกว่า อย่างไรก็ตาม การที่สื่อมวลชนนำข้อคิดเห็นของบุคคลกลุ่มนี้มาเป็นตัวชี้วัดว่า สปช. จะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โควทปลอมแต่กระสุนจริง : อธิบดีDSIยันไม่เคยพูด ‘กระสุนยาง’ พร้อมเปิดคำสั่งศาลชี้ชัดกระสุนจริงสังหาร

$
0
0

รายงานกระแสแชร์โควทอธิบดีDSI ปมทหารใช้กระสุนยางสลายแดง53 ตรวจสอบไม่พบที่มา ด้านเจ้าตัวยันไม่เคยพูด พร้อมย้อนดูยอดใช้กระสุนรวมเกือบ 2 แสนนัด-สไนเปอร์ 500 นัด และเปิด 11 คำสั่งศาลชี้ชัดกระสุนจริงจาก จนท.สังหาร

หลังจากกรณีการแชร์ข้อความในโซเชียลเน็ตเวิร์กในช่วงสัปดาห์ก่อน โดยอ้างว่า สุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ของทหารกรณีการสลายการชุมนุมเสื้อแดงในปี 53 นั้นใช้ ‘กระสุนยาง’ โดยข้อความดังกล่าวที่เผยแพร่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่มีการระบุที่มาแต่อย่างใด

ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตัวอธิบดีดีเอสไออย่างต่อเนื่อง ตัวอย่าง เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ร่วมกันเชียร์ คุณยิ่งลักษณ์ เพื่อไทย’ ซึงมีผู้กดถูกใจเพจถึงกว่า 2.6 แสนไลค์ โพสต์ข้อความและภาพ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.58 เวลา 7.59 น. (URL : https://www.facebook.com/cheeryingluck/photos/a.211041105592928.57507.210602172303488/1018704568159907/ ) ในลักษณะดังกล่าวอีก จนมีผู้กดถูกใน 2,900 ไลค์ และแชร์กว่า 259 แชร์

โพสต์เจ้าปัญหาจากเพจ ‘ร่วมกันเชียร์ คุณยิ่งลักษณ์ เพื่อไทย’ 

จากการตรวจสอบ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง ข่าวสดออนไลน์ และผู้จัดการออนไลน์รายงานตรงกันว่า สุวณา ออกมาให้ข่าวถึงความคืบหน้าของคดีสลายการชุมนุมปี 53 ว่า คณะพนักงานสอบสวนได้หารือกันในส่วนของสำนวนการสอบสวนคดี 99 ศพ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 เพื่อดูความสมบูรณ์ของสำนวน และเตรียมเสนอความเห็นให้อัยการสั่งฟ้องภายในเดือน ส.ค. นี้

โดยจากรายงานข่าวของทั้งข่าวสดฯและผู้จัดการฯ ไม่พบว่าสุวณา ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทหารใช้เพียงกระสุนยาง ตามที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กแต่อย่างไร มีเพียงรายงานข่าวตอนท้ายที่ระบุว่า

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ..จากการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ทั้งที่บริเวณแยกคอกวัว บริเวณ ถ.ราชปรารภ บริเวณ ถ.พระราม 4 และบริเวณอื่นๆ ที่มีการเสียชีวิตของประชาชนและทหาร โดยเจ้าหน้าที่ทหารส่วนใหญ่ที่พนักงานสอบสวนเรียกเข้ามาให้ปากคำนั้นยืนยันว่า ขณะปฏิบัติหน้าที่ในวันและเวลาดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) และยืนยันด้วยว่าใช้กระสุนยางเพียงอย่างเดียว ไม่มีการใช้กระสุนจริงแต่อย่างใดทั้งนี้ การสืบสวนสอบสวนดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนปกติของการสอบสวน ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งสรุปสำนวนคดีนี้ให้เสร็จโดยเร็ว และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย (คลิกอ่านรายละเอียด)

อธิบดีDSI ยันไม่เคยให้สัมภาษณ์ประเด็นทหารไม่ใช้กระสุนจริง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา โพสต์ทูเดย์ได้รายงานถึงคำชี้แจงของ สุวณา ต่อกรณีดังกล่าวด้วยว่า ไม่เคยให้สัมภาษณ์ หรือยืนยัน เรื่องดังกล่าวแต่อย่างใดเพราะเป็นเรื่องในสำนวนการสอบสวน 

"ที่ผ่านมาได้ให้สัมภาษณ์เพียงว่าเป็นการทำงาน ในรูปแบบคณะพนักงานอบสวนระหว่างตำรวจกองบัญชาตำรวจนครบาล และดีเอสไอ ไม่เคยระบุถึงเนื้อหาในสำนวนการสอบสวนว่าบุคคลต่างๆให้การว่าอย่างไร"อธิบดีดีเอสไอกล่าว

สวุณา กล่าวว่า ในเนื้อหาที่ปรากฎในข่าวเป็นการให้สัมภาษณ์ของตนส่วนหนึ่ง และอีกส่วนเป็นรายงานข่าวเรื่องการสอบสวน โดยได้สอบถามกับรองอธิบดีดีเอสไอที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีการให้ข่าวเช่นกัน

ญาติกังวล ขอป.ป.ช. นำสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลมาประกอบ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น วันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ได้รวมตัวกันเพื่อเดินทางมายื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมี สุทธิ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ เป็นผู้แทนรับหนังสือ โดยมีเนื้อหาระบุว่า การดำเนินคดีดังกล่าว นั้นหลังเหตุการณ์ผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว การดำเนินการต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการดำเนินการกับผู้สั่งการและผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดยังไม่มีคืบหน้าเท่าที่ควร อีกทั้งกรรมการป.ป.ช.บางรายได้ให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการไต่สวนข้อเท็จจริงทำให้ญาติผู้เสียชีวิตเกรงว่าจะไม่ได้ความเป็นธรรม

พร้อมทั้ง ขอให้ป.ป.ช. นำสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลและรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมาประกอบการพิจารณาและสอบพยานผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด อีกทั้งขอให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมาย (อ่านรายละเอียด)

ยอดใช้กระสุน ปี 53 รวมเกือบ 2 แสนนัด-สไนเปอร์ 500 นัด

ขณะที่หากย้อนกลับไปถึงยอดการใช้กระสุนในการสลายการชุมนุมปี 53 นั้น สำนักข่าวอิศรารายงาน เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2555 โดยอ้างถึงวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้โพสต์ภาพพร้อมเขียนข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam (เมื่อ ก.ย.55) ว่า “กระสุนศอฉ.53....รายงานที่ คอป.อาจยังไม่เคยเห็น...ทบ.สรุปรายงานยอดกระสุนที่ใช้สลายม็อบแดง 191,949 นัดแม้จะพยายามหามาคืนให้มากที่สุดแล้วก็ตาม เผย “พล.อ.ประยุทธ์” (จันทร์โอชา ผบ.ทบ.) เร่งสรุป ให้ตัวเลขน่าพอใจและยอมรับได้ แต่อ้างใช้กระสุนซุ่มยิง sniper หลายแบบ แต่ที่เป็น sniper จริงๆของหน่วยรบพิเศษ รวมใช้ 500 นัด แต่ปืนซุ่มยิงดัดแปลง M1 ใช้ไป 4,842 นัด....ทบ.เพิ่งสรุปยอดกระสุนที่ใช้ไปในตอน ศอฉ.สลายเสื้อแดง 2553 ได้ เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทั้งๆ ที่ผ่านมา 2 ปี ทบ.แจ้งให้หน่วยที่เบิกจ่ายไปส่งคืน ครั้งแรก ตัวเลขกระสุนสูงปรี๊ด จนไม่กล้าสรุป ทบ.ให้เวลาหน่วยไปหากระสุนมาคืนคลังให้ได้มากที่สุด จนมีการส่งคืนครั้งที่ 2 แล้วสรุปออกมาว่า มีการเบิกจ่ายกระสุนไป 9 ชนิด รวม 778,750 นัด และมีการส่งยอดคืน จำนวน 586,801 นัด สรุปใช้ไปจำนวน 191,949 นัด แม้ตัวเลขรวมจะมากกว่ารายงานของ คอป. แต่ยอดกระสุนสไนเปอร์จริงๆ รวม 500 นัด ..โดยรายงานนี้จะนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. หลังกลับจากเยือนอินโดนีเซีย”

‘อภิสิทธิ์’ รับกับ BBC ยันใช้กระสุนจริงเป็นสิ่งจำเป็น

ที่มาของภาพ: คัดลอกจาก BBC World News

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 55 รายการ BBC World News ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ ได้เผยแพร่การสัมภาษณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อเรื่องการสั่งฟ้องและการมีส่วนรับผิดชอบในคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมที่มีสาเหตุจากเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างการสลายการชุมนุมเดือนพ.ค. 53 โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การใช้กำลังทหารและการใช้กระสุนจริงในระหว่างการสลายการชุมนุมเป็นเรื่องที่จำเป็น เนื่องจากมีกลุ่มติดอาวุธอยู่ในพื้นที่ชุมนุม หรือชายชุดดำ ซึ่งยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และผู้ชุมนุม และยังกล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตราว 20 คน ที่สรุปได้แล้วว่า เสียชีวิตจากกลุ่มติดอาวุธภายในผู้ชุมนุม (อ่านรายละเอียด)

เปิดคำสั่งศาล กรณีระบุตายจากการปฏิบัติหน้าที่ จนท.

กระบวนการไต่สวนการเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 53 ซึ่งเริ่มกระบวนการมาได้กว่า 5 ปีแล้วนั้น มีหลายกรณีที่ศาลมีคำสั่งระบุถึงสาเหตุการณ์เสียชีวิตของผู้ตายมาจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ดังนี้

“พัน คำกอง” 

คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 14 ต่อ 15 พ.ค.53 บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์ ถนนราชปรารภ ในเหตุการณ์ทหารยิงรถตู้ที่วิ่งเข้ามา

ศาลสั่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.55 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

"เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหม เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตายในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน"

“ชาญณรงค์ พลศรีลา”

คนขับรถแท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั้มเชลล์ ถนนราชปรารภ ช่วงบ่ายวันที่ 15 พ.ค.53 ภาพเหตุการณ์ที่เขาถูกยิงถูกถ่ายและเผยแพร่โดยช่างภาพต่างประเทศ นิค นอสติทช์

ศาลเมื่อวันที่ 26 พ.ย.55 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

“เป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารขณะควบคุมสถานการณ์การชุมนุม ตามคําสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ที่บริเวณถนนราชปรารภ ด้วยกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 หรือ 5.56 มิลลิเมตร ที่บริเวณช่องท้องและแขน เป็นเหตุให้เสียชีวิตแต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นทหารคนใดหรือสังกัดใดที่ทำให้นายชาญณรงค์เสียชีวิต” 

คำสั่งศาลระบุด้วยว่ากระสุนดังกล่าวเป็นกระสุนที่ใช้กับ ปืน HK33, M16 และ ปืนทราโว่ ทาร์ 21 ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกให้กับบุคคลทั่วไปได้ และมีใช้ในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ ทั้งนี้ประจักษ์พยานที่ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนักข่าวชาวไทยและชาวต่างชาติยืนยันตรงกันว่ากระสุนถูกยิงมาจากฝั่งที่ทหารวางกำลังอยู่ รวมทั้งพยานที่เป็นพนักงานสอบสวนในดดีนี้เบิกความด้วยว่าในบริเวณที่ทหารวางกำลังอยู่นั้นไม่สามารถมีบุคคลอื่นใดเข้าออกได้ ทำให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่ากระสุนปืนที่มาจากฝั่งทหารนั้น จึงไม่มีใครที่อยู่ในพื้นที่นั้นได้นอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร อีกทั้งพยานยืนยันด้วยว่าผู้ตายไม่ได้มีการใช้อาวุธตอบโต้หรือยั่วยุเจ้าหน้าที่

"ด.ช.อีซา"

ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณหรือ “อีซา” อายุ 12 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงที่หลังทะลุ เข้าช่องท้องทําให้เลือดออกมากในช่องท้องเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลาหลังเที่ยงคืน ที่บริเวณใต้แอร์พอร์ตลิงก์ ปากซอยหมอเหล็ง หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ 

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 20 ธ.ค.55 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

“ผู้ตายคือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ตายระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

คำสั่งศาลระบุด้วยว่า แม้พยานผู้ร้องจะไม่มีใครสามารถระบุตัวได้แน่ชัดว่า ผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นใคร แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันเกิดเหตุ ถ.ราชปรารภตั้งแต่ สี่แยกประตูน้ำไปจนถึง สี่แยกมักกะสัน เป็นพื้นที่ควบคุม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ และกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ประจำอยู่ตลอดแนวถนนราชปรารภทั้ง 2 ฝั่ง จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการอยู่พบเห็น อีกทั้งแพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายได้เบิกความรับรองว่าพบโลหะชิ้นเล็กที่บาดแผลของผู้ตาย สันนิษฐานว่าเป็นโลหะจากหัวกระสุนปืนความเร็วสูงซึ่งเป็นปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ประเภท เอ็ม16 หรืออาก้า ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานผู้ร้องและภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดีหลักฐาน จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการบริเวณที่เกิดเหตุหลายคนมีอาวุธปืนเอ็ม16 อยู่ด้วย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังเป็นประการอื่นได้

“พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ”
ทหารสังกัด ร.พัน. 2 พล.ร. 9 จ.กาญจนบุรี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อระงับเหตุการณ์การปะทะกันของตำรวจ ทหาร กับผู้ชุมนุม นปช. ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เขตบางเขน ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553

ศาลมีคำสั่งวันที่ 30 เม.ย.56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

"เหตุและพฤติการณ์การตายคือ ถูกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฎิบัติหน้าที่ โดยกระสุนถูกที่ศรีษะด้านซ้ายหางคิ้วผ่านทะลุกระโหลกศรีษะทำลายเนื้อสมองเป็นเหตุให้เสียชีวิต”

“ฟาบิโอ โปเลนกี”

ช่างภาพชาวอิตาลี ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553

ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

“เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน เป็นเหตุให้เกิดบาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ”

“6 ศพวัดปทุมฯ”

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ผู้เสียชีวิตทั้ง 6 รายได้แก่ นายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่ 1 นายอัฒชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 2 นายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 3 นายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 4 นางสาวกมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 5 นายอัครเดช ขันแก้ว ผู้ตายที่ 6

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 6 ส.ค.56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

“ผู้ตายทั้ง 6 เสียชีวิตเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.”

ภายหลังการอ่านคำสั่ง ศาลกล่าวสรุปประเด็นให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังด้วยว่า

1.     เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร

2.     ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน

3.     การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และ

4.     กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว

“จรูญ ฉายแม้น-สยาม วัฒนนุกูล”

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53

ศาลสั่งเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

"วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ"

ศาลระบุว่า ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีประจักษ์พยาน 4 ปากอยู่ในที่เกิดเหตุบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ต่างเบิกความยืนยันว่า เห็นประกายไฟจากกระบอกปืนและได้ยินเสียงปืนจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปบริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้สี่แยกสะพานวันชาติ ซึ่งขณะนั้นประจักษ์พยานเห็นผู้ตายทั้งสองล้มลงที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จึงเชื่อว่าพยานทั้ง 4 ต่างเบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา ประกอบกับแพทย์จากนิติเวชที่ชันสูตรศพผู้ตายทั้งสองยืนยันว่านายจรูญ ผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลกลาง โดยสาเหตุการตายเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบพบเศษลูกกระสุนปืน เศษตะกั่ว เศษเหล็กในศพของผู้ตายที่ 1  ส่วนนายสยาม ผู้ตายที่ 2 เสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลกลาง ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน ตรวจพบเศษตะกั่วในศพผู้ตายที่ 2 ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนยืนยันว่า เศษลูกกระสุนปืนที่พบในศพของผู้ตายที่ 1 เป็นอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในวันเกิดเหตุ และแม้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเศษตะกั่วที่พบในศพผู้ตายที่ 2 มีขนาดเท่าใด แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ตายทั้งสองอยู่ในบริเวณเดียวกันและล้มลงในช่วงระหว่างที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงมาทางผู้ชุมนุมที่ติดตามเข้าไป จึงเชื่อว่าผู้ตายทั้งสองถูกกระสุนปืนที่ยิงมาจากบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ คำเบิกความของพยานยังสอดคล้องกับผู้ตรวจวิถีกระสุนในบริเวณที่เกิดเหตุ จากข้อเท็จจริงและเหตุผลทั้งหมดที่ได้วินิจฉัยมา เชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายทั้งสองนั้น มีวิถีกระสุนปืนที่ยิงมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ แต่พยานของผู้ร้องทั้งหมดที่นำสืบมา ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

“ถวิล คำมูล”
ถวิล คำมูล ศพแรก 19 พ.ค.53 บริเวณศาลาแดง ข้างตึก สก. รพ.จุฬาลงกรณ์

ศาลศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.56 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะ วิถีกระสุนมาจากด้านเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังไม่ทราบว่าใครลงมือ”

“ชายไม่ทราบชื่อ”

ชายไทยไม่ทราบชื่อนามสกุล ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกสารสิน ถนนราชดำริ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 17 ก.พ.57 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

“ผู้ตายคือชายไทยไม่ทราบชื่อนามสกุล ถึงแก่ความตายที่ถนนราชดำริ หน้าอาคาร สก. รพ.จุฬาฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 เวลาประมาณ 10.00 น. เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะทะลุเข้ากะโหลกศีรษะทำลายเนื้อสมอง ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนกำลังพลเข้ามาควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งหน้าถนนราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ”

“นรินทร์ ศรีชมภู”

ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เวลาประมาณ 8.00 – 9.00 น. โดยถูกยิงเข้าที่ศีรษะ บริเวณทางเท้าหน้าคอนโดมิเนียมบ้านราชดำริ ถนนราชดำริ (ใกล้เคียงกับจุดที่ฟาบิโอ ช่างภาพอิตาลีถูกยิง)

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 25 มี.ค.57 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

“เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงบริเวณศรีษะ กระสุนปืนทำลายสมองด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง วิถีกระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ในการเข้าควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งไปทางแยกราชดำริ ตามคำสั่งของ ศอฉ. โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ”

“เกรียงไกร คำน้อย”

โชเฟอร์รถตุ๊กตุ๊ก ที่ถูกยิงเสียชีวิตเป็นศพแรกในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยถูกยิงข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ ช่วงบ่ายวันที่ 10 เม.ย. 53 และเสียชีวิตวันต่อมา

ศาลมีคำสั่งเมื่อ 4 ก.ค.57 (อ่านรายละเอียดคำสั่ง)

เสียชีวิตที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2553  ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมาก จากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งมีวิถีกระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารในการปฎิบัติหน้าที่ขอคืนพื้นที่ จากทางด้านแยกสวนมิสกวัน ผ่านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ มายังสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตามคำสั่งของศอฉ. โดยไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรื่องราวชีวิตคนขายน้ำชาข้างถนนในอินเดีย ผู้มีหนังสือขายดีในเว็บ Amazon

$
0
0

เรื่องราวของคนขายน้ำชาข้างถนนในอินเดียผู้มีความมุมานะอยากเป็นนักเขียนถึงขั้นเร่ขายหนังสือที่ตีพิมพ์เองตามสถานศึกษาต่างๆ และมีการส่งขายทางร้านค้าอินเทอร์เน็ต เขาเคยได้รับรางวัลทางวรรณกรรมและเคยพบปะกับอดีตนายกฯ อินทิรา คานธี แต่เรื่องราวชีวิตเขาก็สะท้อนให้เห็นการแบ่งชนชั้นในวงการวรรณกรรมอินเดีย


เพจเฟซบุ๊กของ ลักษมัณ เรา ที่ลูกชายเปิดให้


3 ส.ค. 2558 สำนักข่าวบีบีซีเผยแพร่รายงานแนะนำให้รู้จักกับ ลักษมัณ เรา ชายคนขายชาข้างถนนที่มีชื่อเสียงในฐานะนักเขียนที่มีผลงานทั้งนิยาย บทละคร และบทความทางการเมือง มากกว่า 24 เล่ม โดยมีการขายหนังสือของเขาผ่านเว็บไซต์อย่างแอมะซอน

ผู้สื่อข่าวบีบีซี อนัสสุยา บาสุ สัมภาษณ์ "ลักษมัณ เรา" ชายผู้ที่ไม่เพียงแค่เป็นคนขายชานมรสหวานบนร้านริมทางเท้าที่ดูสมถะ แต่ยังเป็นนักเขียนนิยายภาษาฮินดีผู้ที่เขียนถึงชีวิตการต่อสู้โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการพูดคุยกับลูกค้าของเขาเอง

ลักษมัณเกิดมาในครอบครัวชาวนาที่รัฐมหาราษฏระก่อนที่ต่อมาจะเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงกรุงนิวเดลีในปี 2518 เพื่อที่จะทำตามความฝันของตัวเองคือการเป็นนักเขียน เขาเคยทำงานเป็นคนงานก่อสร้างและคนล้างจานจนกระทั่งสามารถเปิดร้านขายใบพลูและยาสูบของตัวเองได้ หลังจากนั้นเขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเดลีด้วยโครงการศึกษาทางไกลแล้วจึงหันมาเปิดร้านน้ำชาเพราะทำกำไรได้มากกว่า

บีบีซีรายงานว่าลักษมัณพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะหาคนตีพิมพ์หนังสือของเขา แต่ทุกครั้งที่มีการพบปะหารือกับสำนักพิมพ์ก็ทำให้เขาผิดหวังเพราะไม่มีสำนักพิมพ์ไหนอยากเสี่ยงตีพิมพ์งานของคนขายของข้างถนน แต่ลักษมัณก็ไม่ยอมแพ้ เขาสะสมเงินตีพิมพ์ผลงานของตัวเองจนมีนิยายที่ตีพิมพ์ด้วยตัวเองเล่มแรกในปี 2522

"สำนักพิมพ์มักจะมีท่าทีถือตัวว่ามีรสนิยมกว่าคนอย่างพวกเราและต้องการเงินตีพิมพ์ผลงานของพวกเรา ผมไม่มีเงินให้พวกเขา ดังนั้นผมจึงต้องตั้งสำนักพิมพ์เอง" ลักษมัณกล่าว

อย่างไรก็ตามหนังสือของเขาก็กลายเป็นที่นิยม เช่นเรื่อง "รามดาส" ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2535 เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างครูกับนักเรียน มียอดขายมากกว่า 4,000 เล่มและมีการตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 อีกทั้งลักษมัณยังเคยเข้าพบกับผู้นำทางการเมืองจนเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนบทความทางการเมือง โดยหลังจากมีนักการเมืองอาวุโสของอินเดียพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีในยุคนั้นคืออินทิรา คานธี เกี่ยวกับหนังสือของลักษมัณทำให้เขาได้รับเชิญจากนายกฯ เข้าพบในปี 2527

ลักษมัณเล่าว่าเขาไปพบอินทิรา คานธี พร้อมกับหนังสือ 2 เล่ม อินทิราดูชื่นชมผลงานของเขามากและให้กำลังใจเขาให้เขียนต่อไป เขาบอกว่าเขาต้องการเขียนเรื่องของอินทิราแต่ตัวนายกฯ เองบอกเขาว่า อยากให้เขียนถึงผลงานของเธอมากกว่าเรื่องราวชีวิตเธอเอง ทำให้ลักษมัณเขียนบทความเกี่ยวกับช่วงเวลาที่อินทิราดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2512-2515 แต่อินทิราก็ถูกยิงเสียชีวิตก่อนที่หนังสือจะตีพิมพ์ หลังจากอินทิราเสียชีวิต ลักษมัณก็เขียนบทละครเกี่ยวกับชีวิตของเธอในชื่อ "ประธานมนตรี" (คำที่อินเดียใช้เรียกนายกรัฐมนตรี) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับหนังสือบทความ

บีบีซีระบุว่าในตอนนี้ลักษมัณขายหนังสือของเขาผ่านทางเว็บออนไลน์อย่างแอมะซอนและฟลิบคาร์ท ซึ่งทางโฆษกของแอมะซอนอินเดียให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซีว่าหนังสือของลักษมัณขายดีมากในเว็บของพวกเขาและพวกเขาก็ดีใจที่ลักษมัณใช้เว็บของพวกเขาเป็นช่องทางขายหนังสือ

เรื่องหนึ่งของลักษมัณที่ติดอันดับหนังสือขายดีคือเรื่อง 'นาร์มาดา' (Narmada) นิยายโรแมนติกที่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ที่เป็นเรื่องราวความรักของชายนักศึกษาไอทีที่ตกหลุมรักกับนาร์มาดาลูกสายของหัวหน้าคนงานก่อสร้าง แต่ก็ถูกผู้ใหญ่จับคลุมถุงชนให้แต่งงานกับผู้หญิงในวรรณะเดียวกับเขา

ลักษมัณยังมีผู้ช่วยประสานงานการขายหนังสือทางอินเทอร์เน็ตคือลูกชายคนโตของเขาเอง อีกทั้งยังเป็นคนเปิดเพจของพ่อเขาในเฟซบุ๊ก แม้ว่าจะขายหนังสือในอินเทอร์เน็ตได้มาก แต่ลักษมัณก็ยังคงปั่นจักรยานตระเวนขายหนังสือของเขาตามที่ต่างๆ อยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เว็บไซต์ยัวร์สตอรี่ระบุว่าเขาปั่นจักรยานเร่ขายหนังสือในตอนเช้าเป็นระยะทางมากกว่า 60 กม. ตามสถานศึกษาและห้องสมุดต่างๆ และคนที่ซื้อหนังสือน้อยคนที่จะรู้ว่านี่เป็นหนังสือที่เขาเขียนเอง

"มองดูแล้วคงไม่มีใครคิดว่าผมเป็นคนเขียนหนังสือ พวกเขาคงมองเห็นจักรยานเก่าๆ เสื้อผ้าโทรมๆ เปราะเปื้อนด้วยโคลนและเหงื่อแล้วคงคิดว่าผมเป็นแค่คนเร่ขายของคนหนึ่ง ผมไม่บอกใครว่าผมเป็นคนเขียนหนังสือของผมจนกระทั่งจะมีคนถามถึงผู้เขียน" ลักษมัณกล่าว

ถึงแม้ว่าลักษมัณจะได้รับรางวัลทางวรรณกรรมหลายรางวัลและได้รับการยอมรับจากอดีตประธานาธิบดีประติภา ปาฏีล แต่เขาก็ไม่เคยได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมเทศกาลวรรณกรรมในอินเดียเลยสักครั้ง นอกจากนี้อาชีพขายชาของลักษมัณก็สร้างรายได้ไม่มากนัก เขาได้เงินราว 1,200 รูปี (ราว 600 กว่าบาท) ต่อวันจากร้านน้ำชาเล็กๆ ของเขาซึ่งในอินเดียถือเป็นรายได้ที่พอมีพอกินไปวันๆ

อย่างไรก็ตาม ลักษมัณเองบอกว่าเขาเขียนหนังสือเพื่อเป็นการทำตามความปรารถนาของตนเองมากกว่าจะเป็นการหารายได้ เขาเป็นคนที่จะรู้สึกมีความสุขมากกว่าเวลาที่ได้เห็นคนอ่านหนังสือของตน แต่กระนั้นสิ่งที่ลักษมัณต้องเผชิญถือเป็นการสะท้อนให้เห็นสภาพการแบ่งชนชั้นของศิลปินในสังคมอินเดีย ยัวร์สตอรี่ระบุว่าลักซ์มีเคยเข้าหาสังคมวรรณกรรมหลายแห่งในอินเดียพร้อมกับหนังสือของเขาแต่ก็ถูกขับไล่ไสส่งโดยที่ไม่แม้แต่จะดูผลงานของเขาเลย

"ไม่มีใครอยากจะเชื่อว่าคนขายน้ำชาข้างถนนจะอ่านและเขียนหนังสือได้ด้วย" ลักษมัณกล่าว

"นักเขียนหลายคนพยายามงัดกลวิธีทำการตลาดให้กับหนังสือของพวกเขา มีการทำภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์จากหนังสือของพวกเขา แต่ตัวผมเองเป็นคนเรียบง่าย ผมได้รับจดหมายส่งมาให้ที่อยู่บนทางเท้าของผมเอง หนังสือของผมมีอยู่ตามห้องสมุดของโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยในเมือง แล้วตัวผมเองก็มักจะถูกเชิญให้ไปพูดในโรงเรียนหรือวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ผมคงไม่เรียกร้องอะไรไปมากกว่านี้ในฐานะนักเขียนคนหนึ่ง" ลักษมัณกล่าวในขณะที่กำลังส่งถ้วยชาให้กับผู้หญิงไร้บ้านคนหนึ่งที่มารอน้ำชาที่ร้านเขาอย่างอดทน

 

เรียบเรียงจาก

Indian tea-seller who hawks his books on Amazon, BBC, 03-08-2015
http://www.bbc.com/news/world-asia-india-33532665

This Delhi roadside chaiwalla cycles 100 km a day to peddle his 24 books, Your Story, 17-05-2015
http://yourstory.com/2015/05/chaiwalla-author/


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

ข้อมูลหนังสือเรื่อง Narmada, Amazon India
http://www.amazon.in/NARMADA-English-Edition-Bestselling-Romantic-ebook/dp/B00XKWSRNW/ref=zg_bs_2590379031_1

https://en.wikipedia.org/wiki/Laxman_Rao

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กมธ. ปฏิรูปสังคมฯ สปช. เสนอ ปฎิรูปสังคมเตรียมรับสังคมสูงวัย เน้นสร้างกลไกการออม

$
0
0

เตรียมปฏิรูปรองรับสังคมผู้สูงวัย สปช. เสนอสร้างหลักประกันทางรายได้ผู้สูงอายุ เน้นรัฐสร้างกลไกการออม เปลี่ยนกฏหมายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ เป็น พ.ร.บ. บำนาญพื้นฐาน

4 ส.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอรายงานวาระปฏิรูปสังคมสูงวัย ต่อที่ประชุม สปช. เรื่อง การปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย (รอบ 2) ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย พร้อมคณะ ได้ชี้แจงประเด็นการปฏิรูปใน 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย การปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยด้านเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างหลักประกันทางรายได้สำหรับผู้สูงอายุและประชากรรุ่นใหม่ โดยรัฐต้องสร้างกลไกการออมและสร้างกลไกการเชื่อมต่อและบริหารจัดการกองทุน ต่างๆ แบบบูรณาการเพื่อการวางระบบบำนาญพื้นฐานให้กับประชาชนในทุกกลุ่มด้วยการ พัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติ อาทิ เปลี่ยนสถานะของกฎหมายของเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ ให้เป็น “พระราชบัญญัติบำนาญพื้นฐาน” และการจัดโครงสร้างใหม่ในการอภิบาลระบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นระบบมากขึ้น ควบคู่กับการเตรียมความพร้อมพัฒนาคุณภาพแรงงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับระบบเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทสังคมสูงวัย อาทิ การขยายอายุเกษียณของภาคราชการ และส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุ

ขณะที่การปฏิรูปด้านสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะ ควรสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนสร้างชุมชนที่น่าอยู่สำหรับผู้สูงวัย ปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถเชื่อต่อระบบขนส่งมวลชนและบริการ สาธารณะได้อย่างเหมาะสม รวมถึงส่งเสริมบ้านปลอดภัยสำหรับประชากรวัยเกษียณด้วย

ส่วนการปฏิรูปด้านสุขภาพ ได้เน้นสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการร่วมพัฒนาระบบดูแลสุขภาพผู้สูงวัยใน ทุกระดับตั้งแต่ครอบครัว พร้อมจัดระบบผู้ดูแลที่ได้รับการว่าจ้างทั้งการดูแลที่บ้าน และในหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนโดยมีกฎหมายรองรับในการกำกับมาตรฐาน

สำหรับการปฏิรูปด้านสังคม ต้องส่งเสริมการวางแผนชีวิตครอบครัวแนวใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพครอบครัวให้เป็นสถาบันหลักในการสร้างความมั่นคง และเพิ่มคุณค่าผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาทัศนคติที่ดีในการสร้างคุณค่าประชากรใน ทุกช่วงวัย โดยภาครัฐและเอกชนต้องทำงานเชิงรุกเพื่อรองรับสังคมสูงวัยด้วย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยนุ่มๆ กับแอดมินเพจ ‘ทุกอย่างดูซอฟท์เมื่อเป็นพาสเทล’ ทำไมต้องหยาบในสีหวานเย็น

$
0
0

หากกล่าวถึงเฟซบุ๊กแฟนเพจที่น่าจับตาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อเพจ ‘ทุกอย่างดูซอฟท์เมื่อเป็นพาสเทล’ คงถือเป็น 1 ในเพจที่ควรถูกกล่าถึง ด้วยสไตล์ของเพจ และจำนวนยอดถูกใจหลังจากเปิดมาเมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาเท่านั้น ยอดขณะนี้ 40,000 ไลค์แล้ว

ด้วยคำอธิบายเพจที่ว่า “เพจที่ทดสอบว่า สีพาสเทลทำให้ทุกอย่างดูซอฟท์ลงจริงหรือไม่” ในโอกาสนี้ประชาไท จึงขอพูดคุยเพื่อทำความรู้จักกับแอดมินเพจ เหตุผลที่สร้างเพจดังกล่าวขึ้นมา พร้อมหาคำตอบที่ว่า ‘สีพาสเทล’ มันทำให้ทุกอย่างดูซอฟท์ลงจริงหรือไม่

บางอย่างก็ซอฟท์ลงได้ แต่บางอย่างมันก็ช่วยไม่ค่อยได้เท่าไหร่” แอดมินเพจ ‘ทุกอย่างดูซอฟท์เมื่อเป็นพาสเทล’ กล่าว

00000

(ดูโพสต์ในเพจ)

ประชาไท : แอดมินเพจ ‘ทุกอย่างดูซอฟท์เมื่อเป็นพาสเทล’ ตัวตนจริงๆ แล้วเป็นใคร?

แอดมินเพจ ‘ทุกอย่างดูซอฟท์เมื่อเป็นพาสเทล’ : เหล่าเเอดมินเป็นครีเอทีฟโฆษณาฮะ

แรงบันดาลใจในการทำเพจนี้คืออะไร? ทำไมต้องเป็นพาสเทล?

แรงบันดาลใจเกิดจาก แอดมินคนหนึ่งอยากหัดวาดรูป บวกกับข้อสงสัยตามชื่อเพจเลยครับ "สีพาสเทลทำให้ทุกอย่างซอฟท์ลง" จริงหรือ คุยกันเล่นๆ ในตอนนั่งกินข้าว เสร็จแล้วก็เลยลองตั้งเพจดู เพื่อพิสูจน์ว่าข้อสงสัยนี้เป็นจริงไหม

โดยตอนแรกตั้งใจจะให้เป็นเพจวาดรูปสถานการณ์เหี้ยๆ ชั่วๆ แล้วใช้สีพาสเทล แต่ทำไปทำมากลายเป็นเพจ รวมคำแรงๆ ในแบคกราวน์พาสเทลไปซะงั้น จริงๆ รูปก็มีวาดนะ (หัวเราะ)

ตัวอย่างโพสต์ที่ไม่ได้มีแค่คำหยาบ (ดูโพสต์ในเพจ)

ทำไมถึงตั้งข้อสงสัยว่าสีพาสเทลสามารถทำให้ทุกอย่างดูซอฟท์ลง?

จริงๆ มันพอมีทฤษฎีอารมณ์ของสี แต่ละสีอยู่ ซึ่งสีพาสเทลมันก็ให้อารมณ์นุ่มๆ นิ่มๆ อยู่แล้ว แต่เราอยากลองดูว่ามันช่วยได้ขนาดไหน

มองการใช้คำหยาบ หรือคำและภาพที่รุนแรง ในโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างไร?

ผมมองว่าการใช้คำหยาบคายมันต้องใช้ให้ถูกที่ ถ้าคุณอยู่ในวงเพื่อนฝูงสนิทกัน มันโอเค แต่ถ้ามันออกสู่พื้นที่สาธารณะที่คนอยู่กันเยอะๆ มันไม่โอเคแน่นอน

ซึ่งบนโลกโซเชียลมีเดียมันก็กึ่งๆ สาธารณะ เพราะอย่างงั้นเราก็ควรระวังการใช้คำพูดกันนิดนึง ไม่ใช่แค่คำหยาบคาย แต่ความคิดเห็นทุกอย่างที่สามารถสร้างให้เกิดประเด็นหรือความเกลียดชังได้ อย่างที่เราเห็นอยู่เนืองๆ ที่หลายๆ คนโดนโซเชียลประนามเพราะความคิดเห็นที่เเย่ๆ

ขอเสริมว่าแอดมินไม่ได้สนับสนุนให้หยาบคายกันนะ เพราะผมพยายามหาสิ่งที่ดูรุนแรงอย่างนอกเหนือจากคำหยาบ มาเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ด้วย คำหยาบเป็นแค่ 1 ในความรุนเเรง ที่เสียงตอบรับดี เท่านั้นเองฮะ

จากการที่ต้องคำอธิบายเพจไว้ว่า "เพจที่ทดสอบว่า สีพาสเทลทำให้ทุกอย่างดูซอฟท์ลงจริงหรือไม่" แล้วตอนนี้ได้ข้อสรุปหรือยัง?

ได้ข้อสรุปกันว่า บางอย่างก็ซอฟท์ลงได้ แต่บางอย่างมันก็ช่วยไม่ค่อยได้เท่าไหร่ (หัวเราะ)

ตัวอย่างภาพที่แฟนเพจร่วมส่งมาและเฟจแชร์ต่อ (ดูโพสต์ในเพจ)

หลังจากตั้งเพจแล้วไม่กี่วันขณะนี้มีผู้กดไลค์เพจกว่า 4 หมื่นแล้ว คิดว่าทำไมคนถึงตอบรับเช่นนี้?

คิดว่าเกิดจากการช็อกครั้งแรกที่เห็นอะไรประหลาดแบบนี้ และเกิดการแท็กเรียกเพื่อนมาดู กลายเป็นปากต่อปากไปเรื่อยๆ เหมือนเวลาเราเจอหมาแปดขาสีชมพู เราก็จะเรียกเพื่อนๆ มาดู (หัวเราะ)

ที่โพสต์มามีภาพไหนที่แอดมินชอบที่สุด?

ภาพที่ชอบสุดคือรูปที่แนบไปฮะ เพราะหลายคนรู้สึกว่ามันดูซอฟท์ลง

รูปที่แอดมินระบุว่าชอบที่สุด

ถ้าให้เอาสีพาสเทลไปทาอยากเอาไปทาอะไรมากที่สุดตอนนี้?

อยากเอาไปทาอารมณ์ของคนไทยหลายๆ คนฮะ เพราะถ้าเราคิดด้วยอารมณ์ที่ซอฟท์ลงเราน่าจะแก้ปัญหาหลายๆ อย่างได้ดีกว่านี้ (หัวเราะ)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.อนุมัติงบเร่งด่วน 6.5 พันล้านช่วยเกษตรกร-คนจน เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฉบับใหม่

$
0
0

ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบเร่งด่วนช่วยเกษตรกรและคนยากจนกว่า 6.5 พันล้านบาท เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฉบับใหม่

4 ส.ค.2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ มีมติอนุมัติงบประมาณสนับสนุนแผนงานและโครงการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนกว่า 6 พันห้าร้อยล้านบาท และเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ แทน พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ฉบับ พ.ศ. 2504 และ 2508

ครม.อนุมัติหลักการตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย ในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการสำคัญเร่งด่วนในการช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยอนุมัติในหลักการแผนงาน/โครงการ การดำเนินมาตรการงบประมาณจำนวน 6,541,090,030 บาท โดยจะขออนุมัติใช้งบประมาณจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินประจำปีงบประมาณ 2558

ทั้งนี้ แบ่งเป็นงบประมาณสนับสนุนเพื่อดำเนินแผนงาน/โครงการจำนวน 4,966 โครงการ, ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการของจังหวัด และกระทรวงมหาดไทยในการติดตาม ประเมินผล การประชุม การประชาสัมพันธ์ และอื่นๆ โดยให้กระทรวงมหาดไทยประสานการดำเนินการกับสำนักงบประมาณ ในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ

นอกจากนี้ ครม.มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. .... ซึ่งกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมดำเนินกิจกรรม หรือโครงการเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม รวมถึงกิจการเพื่อสังคม โดยจัดทำแผนงานเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ รวมถึงสนับสนุนการศึกษาวิจัย การฝึกอบรม การพัฒนาศักยภาพและธรรมาภิบาลขององค์กรภาคประชาสังคม การจัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคม และการจัดทำนโยบายสาธารณะที่เสนอโดยองค์กรประชาสังคม โดยร่างระเบียบดังกล่าวผ่านการพิจารณาคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ พ.ศ. ... ตามข้อเสนอของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยยกเลิก พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 และ พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2508

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ กำหนดให้ใช้บังคับในการดำเนินการเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และรังสีในทางสันติ โดยมีข้อยกเว้นกับยานพาหนะทางทหารของต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ที่เข้ามาในประเทศไทย และกำหนดให้มีคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธาน และกรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 9 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 6 คน และเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ กำกับดูแลทางนิวเคลียร์และรังสี ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง วางระเบียบควบคุมและดำเนินกิจการให้เป็นไปตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในใบอนุญาต ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยจากพลังงานนิวเคลียร์ กำหนดมาตรฐานต่างๆ อันพึงใช้โดยเฉพาะเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งกำหนดแผนเพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี

โดยทั้งนี้ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ที่มา เว็บไซต์รัฐบาลไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ท้วง ‘วินโดวส์ 10’ ละเมิดความเป็นส่วนตัว

$
0
0

ผู้ใช้เน็ตทักท้วงระบบปฏิบัติการ Windows 10 ของบริษัทไมโครซอฟท์ ว่ามีการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล-เก็บข้อมูลพฤติกรรม ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ด้านไมโครซอฟท์แจงเป็นการนำมาพัฒนาบริการ

4 ส.ค. 2558  ภายหลังบริษัทไมโครซอฟท์ได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการ Windows 10 เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ดาวน์โหลดระบบปฏิบัติการนี้ไปใช้งานกว่า 14 ล้านคนภายในวันแรก  และการใช้งานก็ได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวก อย่างไรก็ดี มีคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้ ผ่านทางเว็บไซต์อาทิ Hacker News และ Reddit ถึงการละเมิดความเป็นส่วนตัวของระบบปฏิบัติการนี้

บนเว็บไซต์ของบริษัทไมโครซอฟท์ ได้เขียนไว้ว่าระบบปฏิบัติการ Windows 10 จะมีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ รวมถึงบอกวิธีการนำไปใช้ประโยชน์  ได้แก่ ชื่อนามสกุลและการติดต่อ, ข้อมูลรหัสผ่าน, ข้อมูลชาติพันธุ์วรรณา - อายุ เพศ ที่อยู่,  ความสนใจ ความชื่นชอบ, พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย, พฤติกรรมการใช้งาน, ความสัมพันธ์และการติดต่อกับผู้อื่น, ที่อยู่, เข้าถึงเนื้อหาที่อัปโหลดผ่านระบบ OneDrive, Instant Message, Skype และอีเมล

ไมโครซอฟท์ยังระบุอีกด้วยว่า ข้อมูลที่เก็บนั้นจะถูกนำไปใช้เพื่อการให้บริการและปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้น เช่นเพื่อการปรับปรุง  Cortana โปรแกรมผู้ช่วยดิจิทัลรับคำสั่งด้วยเสียงลักษณะเดียวกับ Siri ของบริษัท Apple  นอกจากนี้ยังใช้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อการปรับแต่งการสื่อสารกับผู้ใช้ และใช้สำหรับคัดเลือกโฆษณาที่ผู้ใช้จะได้รับ โดยเรียกว่า Internet-based advertising ซึ่งเป็นโฆษณาที่คัดเลือกจากข้อมูลชาติพันธุ์วรรณา ข้อมูลการใช้งาน ข้อมูลพื้นที่เท่านั้น ไม่รวมถึงข้อมูลเนื้อหาส่วนตัวอย่งเช่นอีเมล

อย่างไรก็ดีไมโครซอฟท์มีตัวเลือกให้ผู้ใช้ สามารถสามารถติ๊กออก ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนใหญ่ได้  รวมถึงเลือกจะไม่รับโฆษณา Internet-based advertising ได้

มีเสียงทักท้วงว่า การมีเพียงตัวเลือกไม่อนุญาตให้เก็บข้อมูลส่วนตัวนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากพฤติกรรมผู้ใช้ส่วนมากจะยินยอมโดยไม่ได้ศึกษาเงื่อนไขก่อน  นายอเล็ค เมียร์ จากเว็บไซต์ Rock Paper Shotgun กล่าวว่า “บริษัทไมโครซอฟท์ไม่ได้ทำให้เงื่อนไขการให้บริการรวมถึงการเก็บข้อมูลเหล่านี้เข้าใจง่ายและโปร่งใสเพียงพอ  ไม่มีทางที่เงื่อนไขการให้บริการหนา 45 หน้าและตัวเลือกติ๊กออกซึ่งแบ่งไปอยู่ตามหน้าตั้งค่า Setting 13 ส่วนจะเรียกว่าโปร่งใสได้”  ด้านองค์กร European Digital Rights Organization (EDRi)  กล่าวว่า “บริษัทไมโครซอฟท์ได้ให้สิทธิกว้างๆ กับตัวเองในการเก็บข้อมูลทุกอย่างที่คุณทำ พูดและเขียนบนอุปกรณ์ทุกอย่าง เพื่อนำไปขายให้กับบุคคลที่สาม”

สำนักข่าวเดอะการ์เดียน รายงานว่าการเข้มงวดเรื่องความเป็นส่วนตัวของไมโครซอฟท์อาจเนื่องมาจากกรณีการแอบอ่านอีเมลของบล็อกเกอร์ผู้หนึ่งซึ่งต้องสงสัยว่ามีส่วนในการปล่อยตัวต้นแบบของ Windows 10 ให้รั่วออกไป เมื่อเดือน พ.ค. 57 ซึ่งทำให้ไมโครซอฟท์ถูกวิพากษ์วิจารณ์  และสัญญาว่าจะทำการทบทวนทางกฎหมายก่อนจะมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

อย่างไรก็ดี เดอะการ์เดียนชี้ว่า Windows 10 นี้เป็นอีกส่วนหนึ่งของรูปแบบการพัฒนาแบบใหม่ที่เกิดมาจากระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ที่ไม่ว่าจะ Siri หรือ Google ก็สามารถเก็บข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการใช้งานได้เช่นกัน ซึ่งทั้ง Apple และ Google ก็สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ในการโฆษณาได้เช่นกัน เช่นนำเสนอแอปพลิเคชันโดยอ้างอิงจากแอปพลิเคชันที่เลือกซื้อไปก่อนหน้านี้

สำนักข่าวเดอะไฟแนนเชียลไทมส์ ระบุว่า การถูกโจมตีเรื่องความเป็นส่วนตัวของ Windows 10 นี้อาจก่อปัญหาให้กับไมโครซอฟท์ได้ เมื่อปีที่ผ่านมา ระบบปฏิบัติการ Windows ทำรายได้กว่า หนึ่งหมื่นห้าพันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ  หรือราวหนึ่งในสี่ของรายรับทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 17 ของสินทรัพย์ทั้งหมดของไมโครซอฟท์   ซึ่งการเปิดให้ดาวน์โหลด Windows 10 ได้ฟรีสำหรับผู้ใช้ Windows 8 อยู่แล้วก็เพื่อการแข่งขันกับบริษัทคู่แข่งอย่าง Apple และ Google   แม้ว่าการเสียรายได้จากยอดขายระบบปฏิบัติการอาจไม่ทำให้ไมโครซอฟท์เสียรายได้มากนัก แต่ก็ส่งผลให้ไมโครซอฟท์ต้องหารายรับทางใหม่ เช่นจากการโฆษณาดิจิทัล

 

เรียบเรียงจาก:
Windows 10 : Microsoft under attack over privacy
http://www.theguardian.com/technology/2015/jul/31/windows-10-microsoft-faces-criticism-over-privacy-default-settings
Windows 10 hit by privacy concerns
http://www.ft.com/intl/cms/s/0/fdaddc18-39bc-11e5-bbd1-b37bc06f590c.html#axzz3hpsdU834
Microsoft Privacy Statement
https://www.microsoft.com/en-us/privacystatement/default.aspx
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก้าวพ้นวิกฤตบ้านเมืองโดยยึด "หลักความถูกต้อง"นำหน้าหลัก “คนดี-คนชั่ว"และ“ความดี-ความชั่ว”

$
0
0

 

ในรอบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาวิกฤตการเมืองไทยตกอยู่ในกับดักแห่งวาทกรรม “คนดี – คนชั่ว”  ทั้งโดยเปิดเผยและแอบแฝง จนดูเหมือนประเทศนี้จะเป็นประชาธิปไตย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความหมายที่ให้คุณค่าแก่การตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่) ไม่ได้เสียแล้ว หากคนดีไม่สามารถมีอำนาจปกครองหรือเอาชนะคนชั่วให้ได้เสียก่อน และน่าประหวั่นพรั่นพรึงอย่างยิ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการเกลียดชังกันอย่างรุนแรงของคนในชาติและเกิดการฆ่ากันตายจำนวนหนึ่งเป็นระรอกๆไปแล้ว ทั้งอาจจะเกิดโศกนาฏกรรมอย่างร้ายแรงกว่าที่ผ่านมาได้อีกในเวลาอันใกล้ อันสืบเนื่องจากการที่คนไทยกำลังเผชิญหรือหลงอยู่กับวาทกรรมแห่ง “คนดี – คนชั่ว” ดังกล่าว อันโยงไปถึง “ความดี – ความชั่ว” ที่เป็นการกระทำหรือผลงานที่เกิดจากการแบ่งแยก “คนดี” และ “คนชั่ว” ในทางการเมืองออกจากกันนั้น

บทความชิ้นนี้จึงพยายามจะตอบคำถามเป็นการเบื้องต้นว่า “ในการแก้ไขวิกฤตบ้านเมืองและสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยใหม่ของไทย รวมทั้งการปฏิรูปประเทศ โดยก้าวพ้นจากกับดักหรืออนุสัยที่ว่าด้วย “คนดี -  คนชั่ว” และ “ความดี – ความชั่ว” ดังกล่าวข้างต้น อันทำให้ปัญหาใหญ่ที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งมิได้หมดไปนั้น เราจะใช้ “หลักความถูกต้อง” ที่สำคัญกว่านำหน้าได้อย่างไร และทำไมจึงควรเป็นเช่นนั้น” ขอความกรุณาท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาดังต่อไปนี้

ผู้คนในสังคมมีการให้นิยาม “ความดี” แตกต่างกันไป อาทิ หมายถึง การไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นหรือไม่เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง การไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนบ้าง การปฏิบัติตามศีลธรรมบ้าง การมีคุณธรรมบ้าง การกระทำที่ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่บ้าง หากในทางพุทธศาสนาก็คือการครองตนตามมงคล 38 บ้าง การปฏิบัติตามกุศลธรรมบถสิบบ้าง การปฏิบัติตามทศบารมีบ้าง การปฏิบัติตามพรหมวิหารสี่บ้าง การกระทำตามบุญกิริยาวัตถุสิบบ้าง หรือเห็นกันว่า “ความดี” กับ “คุณธรรม” ก็คือสิ่งเดียวกันบ้าง ส่วนความชั่วนั้น ก็ไม่ต้องนิยามกันมาก เพราะโดยทั่วไปก็มักจะหมายถึงการกระทำที่ตรงข้ามกับความดีและเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ทั้งสองประการที่อยู่ตรงข้ามกันนี้จึงเป็นมโนทัศน์ในเชิงการให้คุณค่าหรือค่านิยม (Values) ที่เตือนมนุษย์เราว่าควรกระทำความดี และไม่ควรกระทำความชั่ว เพราะความดียังประโยชน์แก่ตนเองและเพื่อนมนุษย์ ส่วนความชั่วนั้นกลับกัน

การที่ความดีและความชั่วเป็นเรื่องของการให้คุณค่า เราจึงสามารถจัดได้ว่าความดีและความชั่วเป็นค่านิยม อันเป็นวัฒนธรรมในเชิงระบบความคิดประเภทหนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงได้ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่ต่างจากอุดมการณ์และความเชื่อต่างๆที่ตีกรอบความคิดและการกระทำของผู้คนในทุกสังคม ความดีและความชั่วจึงไม่จีรัง แต่กระนั้น ค่านิยมบางเรื่องก็เปลี่ยนแปลงช้า บางเรื่องก็เปลี่ยนแปลงเร็ว ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมนั้นๆและอิทธิพลจากภายนอก เช่น กติกาสากลจะทำให้ค่านิยมของสังคมที่ผูกพันกับกติกาสากลนั้นเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น

ความดีและความชั่วย่อมมีระดับความมาก-น้อยเสมอ มิใช่ดีก็เต็มร้อยหรือชั่วก็เต็มร้อยไปหมดแต่อย่างใด เพราะเป็นการประเมินคุณค่าต่อความคิดหรือการกระทำของผู้คนที่ต่างสถานภาพและต่างจิตต่างใจ ด้วยสถานะเช่นนี้ ความดีและความชั่วจึงไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน และมีการเมืองของมันให้ถูกคนนำมาใช้กล่าวหากันเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ดังที่พบว่าถ้าไม่ใช่คนที่เรารัก ผู้ทำผิดก็อาจชั่วอย่างหนักหนาสาหัส แต่หากพวกที่ตัวรักหรือมีแนวคิดเดียวกันทำผิดเสียเอง ผู้พบเห็นที่เข้าข้างก็ทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสียหรือช่วยผ่อนหนักเป็นเบาในความผิดนั้น

ในสังคมที่มีชนชั้นหรือความเหลื่อมล้ำ กลุ่มชนชั้นสูงและชาวอนุรักษ์นิยม มีแนวโน้มให้คุณค่าต่อค่านิยมจารีตอันถือว่าเป็นระบบความคิดแห่งความดีพื้นฐานที่สืบทอดมาแต่อดีตของสังคมดั้งเดิม อาทิ ชาตินิยม ความมั่นคงแห่งรัฐตามแนวอำนาจนิยม และการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินในอดีต มากกว่าค่านิยมสากลร่วมสมัยที่เป็นระบบความคิดแห่งความดีที่ยังความก้าวหน้าแก่สังคมใหม่ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และการมีส่วนร่วมตัดสินใจ รวมถึงโอกาสแห่งความเป็นอิสระหรือกระจายอำนาจในการสร้างสรรค์สังคมในอนาคตที่คนรุ่นหลังยึดถือ การที่เป็นเช่นนั้นเพราะค่านิยมดั้งเดิมเหล่านั้น (และนิยามที่ตามมาของมัน) เป็นชุดของความดีหรือหลักศีลธรรมแบบหนึ่งที่ช่วยรักษาอำนาจและสถานภาพของชนชั้นบนและชาวอนุรักษ์นิยมให้คงทนต่อไปด้วย แต่ในภาวะวิสัยที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดนิ่ง ชนชั้นล่างและชนชั้นกลางใหม่พยายามพึ่งค่านิยมใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่งที่ต่างไปจากชนชั้นบน ดังมาตรฐานสากลทางค่านิยมหรือจริยธรรมที่องค์การระหว่างประเทศรับรองเพื่อใช้หลีกหนีความต่ำต้อยและยกระดับสถานภาพตนเองในสังคมที่ไม่ยุติธรรมให้สูงขึ้น และยังพึ่งพานวัตกรรมหรือแบบแผนทางความคิดที่ให้ค่านิยมในความดีแบบใหม่ที่เหมาะสมหรือถูกต้องกว่า อันมิใช่การตอกย้ำสถานภาพของอดีตถูกนำมาใช้มากขึ้นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อแย่งชิงผลประโยชน์หรือต่อรองกับอำนาจเดิมในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงแต่อาจกักขังผู้คนไม่ให้ไปยังจุดที่เหมาะสมกว่าอีกด้วย (ดังเช่นการเชือดเฉือนกันระหว่างคุณธรรมสามจากสังคมยุโรปคือ “ความศรัทธา ความหวัง และ ความรัก” ที่เยาวชนไทยส่วนหนึ่งที่รักประชาธิปไตยนำมาแสดงด้วยการชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารกับการเพิกเฉยต่อค่านิยม 12 ประการของหัวหน้า คสช.)

ในโลกแห่งความสัมพันธ์ของมนุษย์ ค่านิยมของบุคคล กลุ่ม องค์การ ชุมชน ขบวนการ และสังคม หรือกระทั่งประเทศชาติ ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องประกอบสร้างความจริงจากการตีความข้อเท็จจริงด้วยค่านิยมที่ผู้ตีความยึดถือดังที่ทราบกันดีแล้วนั้น ห่วงโซ่ทั้งห้า คือ “ค่านิยม ข้อเท็จจริง ความจริง ความรู้ และความถูกต้อง” จึงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด แต่ในทางปรัชญาแห่งความรู้ ในการเข้าถึงความจริงหรือความรู้ต่างๆ อย่างน้อยมนุษย์เราก็ยังคงปรับปรนอยู่กับสามโลกความจริงว่าจะยึดถือมิติใดหรือจะอยู่กับมันอย่างไร ระหว่างโลกที่ 1 “ความจริงที่เป็นหนึ่งเดียว” (Absolutism) (ในทางประยุกต์คือ “ความเป็นสากล” = Universalism) หรือ โลกที่ 2 “ความจริงแบบทวินิยม” (Dualism) (ในทางประยุกต์คือ “ความจริงสองสถานหรือความจริงสองนัยตามการแบ่งแยกจิตและวัตถุ = Mind-Matter Realism (แต่บางครั้งก็รวมไปถึงความจริงสองระดับคือโลกุตระและสมมติ) ที่ความจริงตามวัตถุวิสัยคือความจริงตามสภาพของวัตถุที่มีอยู่อย่างเป็นอิสระ ตรงข้ามกับความจริงตามอัตวิสัย คือความจริงที่จิตกำหนดสภาพของวัตถุให้เป็นไปตามใจนึก หรือ โลกที่ 3 “ความจริงแบบสัมพัทธนิยม”  (Relativism) (ในทางประยุกต์คือพหุนิยม = Pluralism) ที่ความจริงมีอยู่อย่างหลากหลายในโลก อันไหนจะเป็นความจริงแท้หรือควรยึดถือมากกว่ากัน

คำตอบในเรื่องนี้ ท่ามกลางพัฒนาการอันยาวนานของมนุษย์ในสังคมโลกนั้น ดูเหมือนว่าในทางปฏิบัติทุกมิติของความจริงทั้งสามล้วนถูกนำไปใช้ทั้งอย่างแข่งขัน หักล้าง และเติมเต็มต่อกัน (ตามอำนาจในสังคมที่จะมีส่วนพาไป) โดยความจริงหรือความรู้ที่เป็นสากลอยู่ในฐานะเป้าหมายร่วม และการเดินสายกลางที่ไม่สุดโต่งของทวินิยม ในฐานะองค์ความรู้และความรู้เชิงเครื่องมือได้เชื่อมความเป็นอิสระในระดับหนึ่งตามพื้นที่อันหลากหลายให้เข้ากับหรือไม่ละทิ้งสาระสำคัญโดยพื้นฐานของความเป็นสากลร่วม ดังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลกอย่างน้อยสามประการ กล่าวคือ ประการแรก ในทางศาสนา ทั้งสิทธัตถะ โคตม (แห่งพุทธศาสนา) นบี มูหมัด (แห่งศาสนาอิสลาม)  และเจซัส ไครซ์ (แห่งศาสนาคริสเตียน) ล้วนได้พยายามให้มนุษย์ยึดถือหลักคำสอนของศาสนาอันบรรจุไว้ด้วยค่านิยมที่ถือกันว่าดีงามจำนวนมากให้รวมเป็นสิ่งประเสริฐสูงสุดและเป็นอุดมคติอย่างเป็นสากลตามแนวของแต่ละศาสนา ความจริงในมุมมองศาสนาจึงครอบครองใจมนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกว่าเป็นสิ่งสูงสุด (แม้ผู้นับถือศาสนาเหล่านี้จะทะเลาะกันอยู่บ้าง) ประการที่สอง การมีหลักการสากลที่ผลิตโดยความร่วมมือระหว่างรัฐโดยองค์การระหว่างประเทศ ทั้งที่ออกมาในนามรัฐบาลและประชาชน (ซึ่งย่อมรับอิทธิพลมาจากหลักศาสนาด้วย) เพื่อให้ประเทศต่างๆยึดถือและเอาไปปรับใช้กับประชาชนของตน อาทิ คำประกาศและปฏิญญาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ มาตรฐานสากลทางด้านอุตสาหกรรมขององค์การมาตรฐานสากล มาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆมากมายที่ประเทศส่วนใหญ่ในทุกภูมิภาคหากไม่ร่วมกันสร้างก็ได้ร่วมกันปรับปรุง และ ประการที่สาม การพัฒนาศาสตร์สาขาวิชาต่างๆที่เจาะลึกและเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้น (Specialization) แต่มีจุดร่วมกันคือวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ (Scientific methods) อันมีผลต่อการสร้างและยืนยันความจริงที่หลากหลาย และพยายามรับใช้คุณค่าร่วมของมนุษย์ทั้งในทางจิตใจและวัตถุ (คือการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในส่วนตนและสร้างคุณประโยชน์แก่ส่วนรวมร่วมกัน เป็นต้น)  ปรากฏการณ์เหล่านี้แสดงว่าหลักการร่วมสากลทำหน้าที่กำกับและเป็นที่พึ่งสำหรับพัฒนาศักยภาพแห่งมนุษย์ต่างสังคมในการได้มาซึ่งอารยธรรมหรือสิ่งสูงสุด

กล่าวโดยรูปธรรมประกอบก็คือ ในขณะที่ความเป็นนามธรรมสากลเพื่อความเป็นเอกภาพในความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษยชาติกำลังทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างครอบคลุมทั่วไปนั้น ในสังคมอริยะ การดำรงอยู่กับความถูกต้องระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติหรือระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ สมาชิกในสังคมย่อมจะยอมรับความแตกต่างในความรู้และความจริง และเป็นสังคมแห่งการสร้างสรรค์สัจธรรม หรือสัจจะนิยมเชิงสร้างสรรค์ (Constructive Realism) อย่างสมัครใจ โดยมิได้เป็นปฏิปักษ์กับความเป็นสากลของความรู้และความจริงอย่างสุดโต่ง ความจริงและความรู้ที่ถูกนำกลับไปใช้อธิบายความจริงต่างๆ จึงสามารถสร้างสรรค์กันขึ้นได้อย่างหลากหลาย (Strangification of truths) ไม่มีใครมีสิทธิหรือใช้อำนาจบังคับให้ใครมโน (นึกคิด) ว่าเรื่องใดเป็นความจริงหนึ่งๆที่จำกัดตามแบบที่ตนหรือผู้มีอำนาจต้องการได้ ดังที่มีการสร้างกฎหรือทฤษฎีและตรวจสอบทฤษฎีอย่างโต้ตอบต่อกันและกันมากมายและอย่างเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำใดๆ ทั้งภายในและระหว่างศาสตร์สาขาต่างๆ จนทำให้ทฤษฎีเพื่อการอธิบายความถูกต้องและความจริงแต่ผิดพลาดมาก่อนมีการปรับปรุงแก้ไขให้มีความถูกต้องมากขึ้นๆ อันเป็นคุณแก่มนุษย์มากกว่าทฤษฎีเดิมที่ผิด แต่ในสังคมที่ด้อยอารยะก็จะมีการบังคับให้สมาชิกในสังคมเห็นตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อมหรือโดยโฆษณาชวนเชื่อ และมักจะมีท่าทีปฏิเสธความเป็นสากลของความรู้และความจริง

นอกจากนี้ในโลกสมมติแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างปุถุชน และการที่มนุษย์อาศัยหลักการของศาสนา ความร่วมมือระหว่างรัฐหรือสังคม และความรู้จากศาสตร์ต่างๆมาใช้เพื่อเข้าถึงความจริงต่างๆและเพื่อชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้นนั้น ปัญหาสำคัญยิ่งก็คือความจริงนั้นสร้างขึ้นมาได้หรืออธิบายได้จากทัศนะที่ถูกต้องและนำไปสู่ความถูกต้องแม่นยำอย่างแท้จริงในการทำนายผลของปัจจัยต่างๆที่สัมพันธ์กันหรือไม่ เนื่องจากคุณค่าหรือค่านิยมที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงของการอธิบายว่าความจริง (Reality/Truth) คืออะไรนั้น กลับแฝงไว้ด้วยสุคติหรืออคติตามความยึดมั่นถือมั่นของบุคคล อันอาจช่วยหรือเป็นอุปสรรคในการบ่งชี้ความถูกต้องจากความจริงที่รับรู้ได้ในแต่ละยุคสมัยของสังคมหรือเหตุการณ์ต่างๆก็ได้ ดังที่พบกันว่าจริงเป็นเท็จและเท็จเป็นจริง เพราะการให้คุณค่าต่อความจริงยังมีการเลือกใช้ตรรกะเพื่ออธิบายความเป็นเหตุเป็นผลที่อาจตรงหรือบิดเบี้ยวไปจากครรลองคลองธรรม ผู้ที่สามารถใช้ตรรกะอย่างถูกต้องคือรู้เท่าทันการหลอกล่อต่างๆนานาที่จัดเป็นตรรกะวิบัติ (Fallacy) จึงนับว่ามีความเยี่ยมยอดในทางภูมิปัญญา และย่อมจะสามารถสร้างสรรค์ความรู้และใช้มันเพื่ออธิบายความจริงและความถูกต้องอันเป็นที่พึ่งของสังคมได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า ภายใต้ “สี่เหลี่ยมของการสร้างโลกแห่งความจริง” อันได้แก่การปฏิสัมพันธ์กันของ “ค่านิยม วิทยาศาสตร์ ศาสนา และ ตรรกะ” และต่อการพิจารณาความจริงแบบเอกนิยม แบบทวินิยม และ แบบพหุนิยม ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น “ความจริงแบบทวินิยมหรือสองนัย (ระหว่างสสารและจิต) อันแสดงถึงความจริงต่อวัตถุหรือปรากฏการณ์ที่ประสาทรับรู้ได้กับความไม่มีอยู่จริงหากรับรู้ไม่ได้ รวมถึงทัศนะแบบอัตวิสัยที่ว่าค่านิยมสำคัญยิ่ง แต่จะอยู่ลอยๆเพื่อทำหน้าที่เป็นความจริงในตัวมันเองโดยไม่มีข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติมาสนับสนุนไม่ได้ กับความจริงตามวัตถุวิสัยที่มองว่าความจริงใดสามารถเป็นอิสระจากค่านิยมได้ ย่อมจะเป็นจริงยิ่งกว่า” มีบทบาทมิใช่น้อย ในฐานะโลกทรรศน์ที่ช่วยบ่งบอกระดับของความจริงและยังมีผลชี้ถึงความถูกต้องชอบธรรมและตีความการกระทำต่างๆในมิติความดี-ความชั่วอันหลากหลาย การพิจารณาความจริงแบบทวินิยมที่มีบทบาทอย่างสำคัญในโลกวิชาการ  อันมีอิทธิพลต่อภาคส่วนอื่นๆในภาคปฏิบัติตามมาอย่างยิ่งนั้น ก็คือความจริงในมิติปริมาณ (อันสะท้อนวัตถุวิสัย) และมิติคุณภาพ (อันสะท้อนอัตวิสัย) ซึ่งในคนกลุ่มต่างๆก็อาจจะให้คุณค่าต่อมิติปริมาณและมิติคุณภาพอย่างไม่เกื้อกูลกัน หากฝักใฝ่อย่างสุดโต่งต่อทั้งสองอย่างก็ต้องเลือกข้างและกลายเป็นสงครามได้ ดังเช่น

การทะเลาะกันระหว่างนักวิชาการในเรื่องความเป็นศาสตร์ระหว่างวิทยาศาสตร์ธรรมชาติซึ่งเน้นวัตถุธรรม และสังคมศาสตร์ซึ่งเน้นจิตธรรม ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสงครามแห่งศาสตร์ (Science Wars) และการทะเลาะกันในเรื่องวิธีการสร้างองค์ความรู้ (Methodenstrike) ระหว่างวิธีการเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพในวงวิชาการในโลกตะวันตกตั้งแต่หลายสิบปีมาแล้ว ก็นับเป็นสงครามแห่งสันติภาพที่ไม่มีใครยอมแพ้ใคร (แต่ละฝ่ายก็บอกว่าตัวเองเหนือกว่า) แต่หากเราอยู่เหนือมัน (จิตว่าง) ก็คือไม่ผูกมัดตนเองอย่างตายตัวกับวิธีการใดๆเท่านั้น โดยรู้จักใช้ทั้งสองวิธีในสัดส่วนที่เหมาะสม ความจริงก็จะกระจ่างชัดอย่างเป็นตรรกะที่ลงตัวหรือประโยชน์ส่วนรวมก็จะมีมากขึ้น โดยข้อมูลเชิงคุณภาพ (หรือคุณลักษณะ) และเชิงปริมาณ อันได้จากวิธีการที่แตกต่างกันย่อมจักถูกใช้ให้เกิดการถ่วงดุลกันของข้อมูลและได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งในเชิงตรวจสอบ โต้แย้ง หรือยืนยันต่อกันและกัน เพื่อบรรลุซึ่งความจริงที่ถูกต้องมากที่สุดหรืออาจถึงขั้นความจริงที่สมบูรณ์ (Ultimate truth)

ในโลกการเมืองที่เป็นจริงของเรื่องปริมาณและคุณภาพก็เคยมีการกระทำที่สุดโต่งต่อกัน จนกลายเป็นสงครามที่รบกันถึงขั้นนองเลือดมามากต่อมากแล้ว ดังเช่นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์หรือฝ่ายสาธารณรัฐกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมกษัตริย์ในยุโรป รัสเซีย และ จีน ในรอบสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยข้ออ้างที่ว่าคนส่วนใหญ่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนส่วนน้อย และด้วยการโฆษณาเชิงคุณภาพของฝ่ายคนข้างน้อยที่ทำการปฏิวัติ (Revolution) ต่อผู้มีอำนาจเดิมและประชาชนผู้ต่ำต้อยถึงจินตภาพใหม่ในอนาคตของความสัมพันธ์ในสังคมแบบใหม่เพื่อแทนที่แบบเก่าที่คนส่วนใหญ่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริงเสียที

พัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมเพื่อหลีกหนีจากความล้าหลังสามารถมาจากการกระทำเชิงคุณภาพ แล้วนำไปสู่ผลได้เชิงปริมาณ และจะเกิดสภาพการขยายตัวของปริมาณอย่างรวดเร็วแต่ขาดคุณภาพ จนต้องหวนกลับไปสู่การปรับปรุงในทางคุณภาพอีกครั้งเป็นวงจรไม่สิ้นสุด ดังตัวอย่างเมื่อกลับมาพิจารณาในประเทศของเรา ที่จะเห็นได้ว่าในสมัยการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายการเมืองที่มีคุณภาพคือตรงกับความต้องการของประชาชนและทำให้เป็นจริงได้ (ซึ่งถือเป็นความถูกต้องในทางการเมืองแบบประชาธิปไตย) หนีไปจากนโยบายการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมของพรรคประชาธิปัตย์คู่แข่งที่ในอดีตมักจะเป็นไปตามหรือตรงกับความต้องการของข้าราชการที่มักจะอยู่เหนือประชาชนมากกว่า และนำไปสู่การขยายผลเชิงปริมาณในบริบทที่เกี่ยวข้อง เช่น เกิดคะแนนเสียงสนับสนุนจำนวนมาก มีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในทางการจัดการโครงการและกิจกรรมการบริการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Service, NPS) และต่อมาเริ่มมีปัญหาคุณภาพรัฐบาลไทยรักไทยในทางธรรมาภิบาล แต่ก็ยังไม่ทันที่สังคมจะเห็นการแก้ปัญหาของรัฐบาลและการบริการสาธารณะด้วยการรัฐาภิบาลแนวใหม่ (New Public Governance, NPG) ในเชิงคุณภาพที่ชัดเจน รัฐบาลและพรรคการเมืองนี้ก็มีอันพ้นจากอำนาจไปเสียก่อน โดยข้ออ้างเชิงปัญหาคุณภาพประชาธิปไตยแบบเก่าที่หวนคืนมาด้วยการรัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ การทุจริต การละเมิดสถาบันกษัตริย์ของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล และล่าสุดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ที่ค่อยๆถูกขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น ก็ไม่ไกลจากข้ออ้างเดิมๆมากนัก เป็นต้น แต่ในเวลาต่อมา การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพก็มีขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน อันเป็นการปรับตัวใหม่จากปฏิกิริยาแห่งการลดน้อยถอยลงในปริมาณของผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองนี้มาก่อน ดังที่พบว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อๆมา พรรคประชาธิปัตย์ได้พัฒนาคุณภาพนโยบายสาธารณะที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น แม้คะแนนเสียงจะยังไม่มากพอจัดตั้งรัฐบาลอย่างเด็ดขาดหรือเสียงข้างมากแบบพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทย และต่อมาก็ได้รับการร่วมมือหรือสนับสนุนเชิงปริมาณจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และแนวร่วมจำนวนมากของ กปปส. ในการล้มล้างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจนสำเร็จ (ด้วยการรัฐประหารของทหาร) นับเป็นการสร้างวิบากกรรมต่อประชาธิปไตยของประชาชนผ่านการเล่นแร่แปรธาตุของการเมืองนอกระบบที่สุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลายของรัฐและการไม่ลงตัวของประชาธิปไตยไทยไม่น้อยเลยทีเดียว

ดังนั้น ในการเข้าถึงความเป็นจริงในสังคม รวมทั้งในการทำความเข้าใจต่อวิกฤตการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบันว่ามีอะไรบ้างและมีคุณประโยชน์มหาศาลหรือผลเสียหายที่ร้ายแรงเพียงใดต่อประเทศก็เช่นกัน ปวงชนชาวไทย (ในความหมายที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยพันธุ์แท้อันมีภูมิปัญญาและความสามารถในการสร้างสรรค์สังคมผ่านกลไกต่างๆเพื่อการรักษาองค์รวมแห่งอำนาจอธิปไตยของตนเองให้คงอยู่อย่างรู้เท่าทันสิ่งแปลกปลอม มิใช่พลเมืองสายพันธุ์แปลกแยกที่จะถูกผู้ที่เข้าไม่ถึงหัวใจแห่งประชาธิปไตย แต่ทำตนเป็นนักประชาธิปไตยยิ่งกว่า ชักนำให้ตื่นรู้ที่จะเล่นแร่แปรธาตุในทางการเมืองเพื่อล้มล้างหรือสร้างความอ่อนแอต่ออำนาจอธิปไตยของตนเอง) พึงเดินสายกลางที่จะต้องเข้าถึงความถูกต้องที่ย่อมมาก่อนการเข้าถึงและเข้าใจความจริงที่ปรากฏ และสามารถประยุกต์ทั้งสองมิติเชิงปริมาณและคุณภาพเข้าด้วยกันอย่างเติมเต็มและชดเชยต่อกันและกัน (Corroboration) เพื่อช่วยอธิบายความถูกต้องและความจริงที่แม่นยำ และแสวงหาจินตนาการอย่างสร้างสรรค์ต่อไปสำหรับการปฏิรูปประเทศในมิติต่างๆ

ฉะนั้นในการจัดการกับความสุดโต่งที่เป็นเชื้อไฟแห่งการถดถอยในระบบการเมืองไทย ที่หากเราจะสามารถไปไกลกว่าอนุสัย (เครื่องบรรลุธรรมที่ยังเจือด้วยกิเลสและตัณหา) หรือหลักการ “คนดี” สู้กับ “คนชั่ว” และ“ความดี” สู้กับ “ความชั่ว” (ที่คนดีก็ไม่ลงตัวว่าใครกันบ้าง  “ความดี” และ “ความชั่ว” ก็ใส่สีตีไข่กันได้ ความดีจึงไม่ชัดว่าดีแท้หรือดีเทียม และความชั่วก็เกิดขึ้นในทุกฝ่ายที่แย่งชิงอำนาจกันอยู่ แม้แต่กับฝ่ายที่เคยเข้าใจกันว่าเป็นคนดี และที่อาจจะทำให้ผู้คนจะรบกันจนเลือดท่วมเป็นมหาสงครามกลางเมือง เพราะความยึดมั่นถือมั่นอันสุดโต่งของตน) แล้ว นั่นก็คือประชาชนจะต้องตั้งสติในระดับลึกจริงๆและใช้ปัญญาจัดการอย่างสร้างสรรค์ในความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันของทั้งสองขั้วที่สุดโต่งให้เป็น คือเราจำเป็นต้องหันมายึดถือสิ่งที่อยู่เหนือหลัก “คนดี-คนชั่ว” และ “ความดี-ความชั่ว” (ที่อยู่ในข่ายต้องถูกนิยามให้ถูกต้อง) ด้วย “หลักหรือกระบวนทัศน์แห่งความถูกต้อง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) เป็นธงนำในการคิดและกระทำการต่างๆต่อไป

ภายใต้โอกาสในอุดมคติที่ความดีและความถูกต้องอาจจะเป็นอันเดียวกันอย่างแท้จริงในสายตาของทุกผู้คน  แต่หาได้ยากยิ่งนั้น ในทางปฏิบัติ เราจึงต้องบริหารรัฐโลกิยะ (มิใช่รัฐโลกุตระ) ที่เป็นจริงของเหล่า “คนดี-คนชั่ว” และ“ความดี-ความชั่ว” ที่มีอยู่ปะปนกันในสังคมในทุกพื้นที่ ให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่มหาชนโดยรวมให้ได้ เพราะหากอำนาจและเงื่อนไขอำนวยแล้ว คนดีก็สร้างกรรมดีและกรรมชั่วได้ คนชั่วก็สร้างกรรมชั่วและกรรมดีได้ คนผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อของศีลห้าที่ความดีในความเป็นมนุษย์ของเขามิได้หมดไปอย่างสิ้นเชิง ก็สร้างกรรมดีและกรรมชั่ว มาก-น้อยเพียงใดและในแง่มุมแบบใดตามแต่จะตีความก็ได้ กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่าผู้เขียนส่งเสริมไม่ให้มีการแยกแยะ “ดี-ชั่ว” ค่านิยม “ดี-ชั่ว” นี้  ยังคงมีของมันต่อไป แต่เราจะต้องไม่ตกเป็นทาสมัน  เพราะในภาพแห่งความเป็นทั้งหมดของสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง “ความถูกต้อง” อันจะให้คุณประโยชน์ที่เกิดอย่างสูงสุดแก่ปวงชนจำนวนมาก จำเป็นต้องอยู่เหนือและมีความสำคัญที่สุด เพื่อกดทับและจัดระเบียบแถวความดีและความชั่วหรือความจอมปลอมต่างๆ อันไม่เป็นคุณประโยชน์ยิ่งกว่า เนื่องจากหากความคิดและความเห็นนั้นถูกต้องและยืนยันกันได้อย่างน้อยในสามมิติ (Triangulation) คือ ตามกฎวิทยาศาสตร์ สากลธรรมของศาสนา และตรรกะ เป็นปฐมฐานแล้ว ไม่ว่าผู้มีอำนาจกระทำการใดและจะถูกใครมองว่าเป็นคนดีหรือคนชั่ว การกระทำและผลที่เกิดขึ้นตามมานั้น ก็จะต้องถูกต้องและมีคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์อย่างแท้จริง – ไม่ช้าก็เร็ว

ฉะนั้น ความพยายามแก้วิกฤตการเมืองของชาวคณะผู้ยึดอำนาจและเครือข่ายในขณะนี้ก็จะไม่ไปถึงไหน หากจะรองรับไว้ด้วยร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเป็นฉบับวิตถารมากกว่านวัตสารทางประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น ซ้ำจะถอยหลังเข้าคลองพร้อมกับก่อรูปปัญหาใหม่ในอนาคตขึ้นมาเสียอีก เนื่องจากมัวย้ำอยู่ว่า “อย่าให้คนชั่วครองเมือง” จึงยังหลงทางไปเพรียกหา "ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี" แทนที่จะสร้างสรรค์ "มาตรฐานคุณภาพประชาธิปไตย" อันเป็นกรอบมาตรฐานเพื่อประกันความถูกต้องของระบบการเมืองที่ตัวบุคคลไม่ได้อยู่เหนือแต่อยู่ในนั้น และการปรองดองในบ้านเมืองเราก็จะไม่สำเร็จ หากไม่ยึดถือ “หลักความถูกต้อง” นำหน้าหลัก “คนดี-คนชั่ว” และ “ความดี-ความชั่ว” ที่ยึดมั่นกันตามวาทกรรมที่ว่า “ความดี” ปรองดองกับ “ความชั่ว” ไม่ได้ ราวกับทิฐิแบบโลกเที่ยง-ไม่เที่ยงที่ถกเถียงกันไปก็ไม่ได้ไปถึงอุดมคติที่ไกลกว่านั้น

ด้วยประการทั้งปวงที่นำเสนอมา การจะพบหรือได้มาซึ่งความถูกต้องในสังคมการเมือง การจัดการความขัดแย้ง และการปฏิรูปหรือพัฒนาสังคมว่าคืออะไร และจะรักษามันเอาไว้ให้ได้อย่างไรเพื่อนำพาสังคมไทยให้พ้นวิกฤตและพบกับความเจริญรุ่งเรืองนั้น ความถูกต้องที่สำคัญที่สุดอันเป็นองค์ประธานนำหน้าความดีและความชั่วนั้น ก็คือการเห็นหรือการมีทฤษฎีและฐานที่ตั้งของมันที่ถูกต้องอย่างสามประสานทั้งในทางศาสนาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมทั้งการสอดรับกับหลักตรรกะ ดังที่กล่าวแล้วทำนองนี้ อันจะส่งผลต่อเรื่องอื่นๆตามมาให้ถูกต้องไปด้วยนั่นเอง แต่ความยากก็คือ ทฤษฎีการเมืองและการจัดการความขัดแย้งในสังคมและการปฏิรูปสังคมอะไรบ้างที่ถูกต้อง (เพราะการเลือกทฤษฎีอาศัยการให้คุณค่า และการเมืองและความขัดแย้งที่เป็นเรื่องสังคมศาสตร์ก็มีปัญหามากกว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เนื่องจากทฤษฎีของฝ่ายวิทยาศาสตร์ธรรมชาติปลอดจากค่านิยม แม้บางครั้งจะถูกนำไปใช้อย่างมีอคติเพื่อเอาเปรียบกันในหมู่ชาวโลก ในขณะที่สังคมศาสตร์มีทั้งทฤษฎีที่ปลอดค่านิยมและที่มีค่านิยมอันควรแฝงอยู่ และบ่อยครั้งที่ถูกนำไปใช้อย่างมีอคติเพื่อเอาเปรียบกันในหมู่ชาวโลก) และจะสามารถอธิบายในเชิงศาสตร์ของความรู้อย่างเป็นระบบ พร้อมกับแสดงถึงว่าทฤษฎีถูกนำปฏิบัติได้อย่างเห็นผลจริง (Praxis) (ไม่ลองผิดลองถูกหรือสุ่มเสี่ยง) ได้อย่างไร

แต่แม้จะยากก็ย่อมจะหาพบโดยกระบวนการปฏิรูปและปฏิวัติทางปัญญาของมนุษย์ที่แสดงถึงการประจักษ์แจ้งภายในและกระทำออกไปภายนอกด้วยตนเอง หรือในนามหมู่คณะ องค์การ หรือขบวนการ  และที่จะก้าวต่อไปโดยทั้งสังคม  เพื่อตกลงกันให้ได้ถึงคุณลักษณะและคุณประโยชน์ของทฤษฎีดังกล่าว โดยการมีส่วนร่วมอย่างสำคัญและจริงจังของทั้งฝ่ายปฏิบัติและฝ่ายทฤษฎี (ในการสร้างหรือเลือกสรร ใช้ และปรับปรุงมัน) อาทิ ผู้แทนฝ่ายประชาธิปไตยแบบตัวแทน (ผู้แทนพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ผู้แทนกลุ่มประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม กับชุมชนทางปัญญากัลยาณมิตรรายรอบที่อยู่นอกเหนือความขัดแย้ง ทั้งในสังคมไทยและนอกสังคมไทย รวมทั้งผู้เดินสายกลาง (หากได้พหูสูตที่เดินสายกลางมาร่วมด้วยก็จะเกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง) ในการสร้างสรรค์สังคมนั่นเอง

การวัดและตรวจสอบความถูกต้องของเป้าหมาย วิธีการปฏิบัติ และผลของการกระทำที่ถูกต้องและยืนยันได้จากข้อเท็จจริงและความจริงในระดับต่างๆ ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ก็พึงแสดงออกมาให้เห็นเป็นเรื่องๆและโดยองค์รวม ทั้งในทางปริมาณและคุณภาพที่จำเป็นต้องนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างตรงไปตรงมา (อาทิ การประเมินคุณประโยชน์และความเสียหายในการบริหารงานของรัฐบาลต่อประเทศเชิงเทียบเคียงทุกรัฐบาลตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ซึ่งในที่สุดก็คงจะพบว่าในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทุกรัฐบาลต่างก็ทำในสิ่งที่ถูกต้องนำความรุ่งเรือง และสิ่งที่ผิดพลาดนำความเสียหายหรือเสื่อมถอยมาสู่ประเทศชาติและประชาชน ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาในภารกิจของรัฐในบริบทหรือพื้นที่ต่างๆแตกต่างกันไป) เนื่องจากความถูกต้องที่หมดจดและชนะความคลุมเครือที่แข่งขันกันระหว่างทฤษฎีหรือหลักการที่ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าของตนถูกต้องหรือถูกต้องกว่านั้น ก็คือความถูกต้องที่จะต้องใช่ทั้งในทางความเป็นนามธรรมแห่งทฤษฎีและผลงานในทางปฏิบัติที่ตรวจสอบได้อย่างเป็นรูปธรรมของการแก้ไขปัญหาโดยทฤษฎีนั้นๆนั่นเอง

นี่คือปรัชญาวิถีสำคัญหนึ่งของการมองและแก้วิกฤตของประเทศที่หากสังคมไทยจะได้พิจารณากันอย่างจริงจัง และหาทางออกแบบเป้าหมาย และวิธีการ (กระบวนการ) ใหม่ เพื่อบรรลุซึ่งความถูกต้องทางการเมือง  การจัดการความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ และการปฏิรูปประเทศอย่างมีอัจฉริยภาพและอัจริยธรรม (เสมือนการพบอุดมรัฐหรือนิพพานของรัฐในโลกสมมติ) แล้ว การกระทำใหม่ดังกล่าวนั้น ย่อมเป็นและให้คุณประโยชน์ยิ่งกว่าการออกแบบและขับเคลื่อนอย่างลองผิดลองถูก ทั้งผูกขาดอำนาจที่กำลังทำกันอยู่ภายใต้เรือแป๊ะ คสช. ที่ดูจะเป็นเรือพายในแม่น้ำทั้งห้าสาย และมิได้สามารถออกไปไกลกว่านั้นเลย (ดังที่จะขยายความในโอกาสต่อไป)

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โลกหลังสมัยใหม่: ความ “กำกวม”ระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ

$
0
0


 

บทความของคุณ มุมมืด ณ.รัตติกาล  เรื่อง การหล่อเลี้ยง “ตัวตน” ด้วยการ “หลอก”ตนเอง (ประชาไท Mon, 2013-10-07 ) กล่าวไว้ทำนองว่าว่าการเล่นสื่อทางสังคมสมัยใหม่ของผู้คนจำนวนไม่น้อยเป็นกระบวนการเล่นกับ “ตัวตน” ของตนเอง  ที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าตัวตนพองเต็มที่ในเฟซบุ๊ก เพราะได้เลือกที่จะแสดงส่วนเสี้ยวของ “ตัวตน” ที่อยากให้คนอื่นได้เห็น ได้รับรู้  และ“ ตัวตน”ด้านที่เลือกแสดงออกก็เป็นไปเพื่อหล่อเลี้ยงความเหี่ยวเฉาของตัวตนทั้งหมดในชีวิตจริง  พร้อมกันนั้น  ก็ได้กลบด้านอัปลักษณ์ที่ดำมืดโดยซ่อนเอาไว้เบื้องลึกของช่วงเวลาที่สุขสันต์ปลาบปลื้มกับภาพที่ได้เลือกสรรแสดงออกไปสู่สาธารณะ

นอกจากประเด็นในเรื่องความปรารถนาที่จะหลอกตัวเองและผู้อื่นด้วยการแยกส่วนเสี้ยวของตัวตนมาขยายการรับรู้และสร้างให้เป็นเสมือน “ ตัวตนจริง” ของผู้เล่นสื่อสมัยใหม่ในช่วงเวลาหนึ่งๆ แล้ว (เมื่อเวลาเปลี่ยน ส่วนเสี้ยวของตัวตนที่ทำให้เสมือนจริงก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย )  สิ่งที่ซ้อนอยู่ภายใต้การเล่มเกมส์กับตัวตนเช่นนี้ ก็คือ สภาวะของการทำให้เกิดความ “กำกวม”ระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ
ผมเลือกใช้คำว่า “ กำกวม” แม้ว่าจะรู้สึกว่าไม่ตรงมากนัก  ตอนแรกคิดว่าจะใช้คำยืมจากฝรั่งว่า “ เบลอ”( Blur)ที่หมายถึงความพร่ามัว ความไม่ชัดเจน แต่ก็ไม่ค่อยถูกใจเท่าไร จึงขอใช้คำว่า “ กำกวม”ไปก่อนนะครับ

สภาวะความ “ กำกวม” ที่คนส่วนหนึ่งแยกได้ยากมากขึ้น   ที่สำคัญ ไม่รู้สึกอยากจะแยกระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปในวันนี้  เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกหลังสมัยใหม่ที่สามารถเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็น “ทุน” เพื่อทำให้การผลิตดำเนินต่อเนื่องต่อไป

มิติของ“ ทุน” ในการผลิตจึงเกิดขึ้นหลายระดับและสลับซับซ้อนมากขึ้น   นักวิชการจำนวนมากได้พูดถึงทุนที่มีความหมายมากกว่าทุนเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจมานานพอสมควรแล้ว  เช่น การอธิบายถึงทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม    แต่ในขณะนี้   ท่ามกลางความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จำเป็นที่ต้องมองการขยายตัวของทุนที่มากขึ้นไปอีก  โดยเฉพาะ  ทุนที่เข้าไปกลืนกินส่วนลึกที่สุดของมนุษย์  อันได้แก่  ทุนทางความรู้สึก

กล่าวได้ว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการสะสมทุน การผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก การบริโภค ในช่วงแรกๆ ได้ทำให้เกิดการแยกพื้นที่ระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ, พื้นที่ที่ทำงานกับพื้นที่บ้าน  กระบวนการแยกพื้นที่ออกเป็นสองมิติเช่นนี้ได้หล่อเลี้ยงให้ระบบทุนนิยมขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องยาวนานทีเดียว ลองนึกถึงคนในระบบการผลิตสมัยใหม่ตั้งแต่รัชกาลที่ห้าเป็นต้นมานะครับ เราจะพบว่าการแยกพื้นที่ทั้งสองนี้ได้ทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตเพิ่มขึ้นมากมาย

ในทศวรรษ 1960 Daniel Bell นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นท่านแรกๆที่ได้เขียนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมว่าเป็นช่วงของ “สังคมหลังอุตสาหกรรม” (Post-industrial society) โดยเน้นความเปลี่ยนแปลงจากการผลิตอุตสาหกรรมมาสู่การผลิตภาคบริการ ต่อมาก็มีการขยายการศึกษาในเรื่องสังคมในสมัยหลังสมัยใหม่ ( Post Modern ) นี้มากมายเหลือคณานับ  ( นิยามคำว่า”หลังสมัยใหม่”มีอย่างน้อยสามความหมาย ได้แก่ ระบบเศรษฐกิจของโลกหลังสมัยใหม่ ระบบสังคมของโลกหลังสมัยใหม่ และวิธีคิดของการแสวงหาความรู้ความหมายแบบหลังสมัยใหม่ หากมีโอกาสจะขยายในคราวต่อไปครับ )

แกนหลักของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ก็คือ การทำให้ทุกอย่างเป็นทุนและทำให้ทุกอย่างเป็นสินค้าได้ขยายตัวและปรับเปลี่ยนทุกอย่างในชีวิตของเรารวมทั้งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด  ทุนนิยมภาคบริการที่กลายเป็นหลักของทุนนิยมในช่วงหลังนี้จึงได้ขยายเข้ามาสู่ปริมณฑลของอารมณ์ความรู้สึกเพื่อใช้เป็นฐานในการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจกและการบริโภค จนกล่าวได้ว่าทุนปัจจุบันเป็นทุนความรู้สึก  ในความหมายที่ว่าได้เปลี่ยนความรู้สึกของมนุษย์ให้แปรเปลี่ยนเป็นทุนและสินค้าบริโภคกันอันยังผลให้การผลิตยังดำเนินการต่อเนื่องต่อไปได้
ฐานของระบอบอารมณ์ความรู้สึกในสังคมแบบอุตสาหกรรมที่แยกระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะเป็นชุดอารมณ์ความรู้สึกสองชุดที่ในปัจจุบันนี้  กลายเป็นปราการกีดกันและขัดขวางการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจภาคบริการไม่ให้เติบโตได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

ดังนั้น เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในช่วงหลังนี้จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสลายเส้นแบ่งระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะ  เพื่อที่จะทำให้การผลิตของสินค้าบริการบนฐานอารมณ์ความรู้สึกดำเนินต่อไปได้อย่างไม่ถูกจำกัด

ด้วยการที่ความรู้สึกถูกผลิตและถูกบริโภคมากขึ้นในสังคมไทย    คนไทยที่มีชีวิตอยู่ในระบบนี้ได้คิดและสร้างคำว่า “ ดราม่า” มาแทนการผลิตและการบริโภคสินค้าอารมณ์ความรู้สึกที่ขยายตัวมากขึ้น   นักศึกษาของผมได้กล่าวถึงรายการข่าวที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในสังคมไทยตอนนี้ว่าผู้ผลิตไม่ได้ขายข่าวหากแต่ขายความเป็น “ ดราม่า” ของข่าว สินค้าจำนวนมากกว่ามากรวมทั้งโฆษณาของ สสส. ก็ล้วนแล้วแต่เล่นในเรื่อง “ ดราม่า” ทั้งสิ้น

“ดราม่า” ที่ถูกสร้างขึ้นจะเป็นสิ่งที่เชื่อมและผนวกเอาความรู้สึกส่วนตัวของผู้คนเข้าไป “ อิน” ในส่วนที่เป็นพื้นที่สาธาณะ   การระเบิดความรู้สึกส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะจึงเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น ด้วยเหตที่สำคัญ คือ ไม่สามารถระงับอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวที่พลุ่งพล่านขึ้น เพราะถูกทำให้ “ อิน “ เข้าไปในประเด็นสาธารณะนั้นๆเสียแล้ว  ( ลองนึกถึงคนที่โพสต์ด่าโคชเทกวนโดเกาหลีในช่วงแรกๆซิครับ )

ความ “ กำกวม” ในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะจึงจะยังคงเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่กับเราไปอีกนาน ทำอย่างไรเราจะสามารถสร้างการรับรู้เรื่องราวต่างๆให้แก่สังคมให้มากขึ้นและลึกซึ้งมากขึ้น  เพื่อที่จะเป็นระบบการเตือนตนว่าหากไม่เข้าใจการถูกกระตุ้นอามรมณ์ส่วนตัวให้พลุ่งพลานและไประเบิดในที่สาธารณะ  ก็จะประสบปัญหาความขัดแย้งในระดับต่างๆอันยิ่งจะทำให้เดือดร้อนมากขึ้น

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ 31 กรกฏาคม 2558
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: นับแต่นี้เราจะไปทางไหนกัน

$
0
0

 


นับแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน สถานการณ์ดูเหมือนจะสงบเรียบร้อยเพราะไม่มีม็อบมาปิดกั้นถนนเหมือนช่วงก่อนหน้าการรัฐประหาร แต่ยิ่งนานวันปัญหาต่างๆต่างรุมเร้าเข้ามาทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โรดแม็ปที่ว่าไว้ก็ดูเหมือนจะไม่แน่นอนเสียแล้ว เพราะอย่างน้อยก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อยืดอายุของคณะกรรมาธิการร่างฯออกไปและเปิดโอกาสให้มีการลงประชามติหากสภาปฏิรูปฯผ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

นอกจากนั้นยังมีการดัดหลังสภาปฏิรูปฯหรือ สปช.ที่มักออกมาสวนทางกับนโยบายของ คสช.และรัฐบาลอยู่เสมอด้วยการยุบ สปช.เสียภายหลังที่มีการลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯ ล่าสุดแกนนำ กปปส.ก็ออกมาแถลงว่าให้ปฏิรูปก่อนแล้วจึงค่อยเลือกตั้ง จนทำให้เสมือนหนึ่งว่าสถานการณ์การเมืองกลับไปสู่ยุคก่อนการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า “นับแต่นี้เราจะไปทางไหนกัน”
สิ่งที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้

1)ปัจจัยภายนอกคือ แรงกดดันจากการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการแซงก์ชั่นจากสหรัฐอเมริกาอันเป็นผลมาจากการที่เรายังอยู่ในระดับเทียร์ 3 ของการจัดอันดับการค้ามนุษย์ติดกันเป็นปีที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นการที่อาจจะได้รับใบแดงจากIUUในเรื่องของการประมงที่จะครบหกเดือนในอีกไม่นานนี้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะมีผลต่อผลิตภัณฑ์ของเราที่จะส่งไปขายในประเทศเหล่านี้กลายเป็นสินค้าน่ารังเกียจ นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาการบินของ ICAOที่เราจะต้องเผชิญจนต้องมีการสำรองสนามบินอู่ตะเภาไว้ในกรณีที่ไม่ผ่านมาตรฐานฯ

แรงกดดันนี้นอกจากจะมาจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเองแล้ว เรายังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากมหามิตรจีนที่เราหวังจะพึ่งพิง แต่กลับกลายมาเป็นแรงบีบเสียเองซึ่งก็คือกรณีอูยกูร์ที่เราส่งกลับไปจนถูกด่าไปทั่วโลกและยังถูกบีบให้ส่งที่เหลือกลับไปอีก ดังจะเห็นจากการเยือนไทยของเจ้าหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนระดับสูงที่มีหน้าที่นี้โดยตรง ซึ่งทำให้เรากลืนไม่เข้าคลายไม่ออก ครั้นจะหวังให้มาลงทุนรถไฟความเร็วสูงก็เป็นได้แต่เพียงการให้เงินกู้เท่านั้น มิหนำซ้ำอาจจะต้องซื้อเรือดำน้ำเป็นการตอบแทนเสียอีก นอกจากจะเสียเงินแล้วยังต้องทำให้ถูกระแวงจากสหรัฐอเมริกาโดยใช่เหตุ

ในด้านความสัมพันธ์หรือแรงกดดันจากสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนนั้นยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน มิหนำซ้ำการคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ก็ยังขัดต่อหลักการปารีสเสียอีก ทั้งๆที่ถูกเตือนมาแล้วว่าจะถูกลดระดับจากA ไป B เป็นการถาวรหลังจากที่ให้เวลาทบทวนมา 1 ปี แต่ก็ยังขืนทำ ซึ่งผลจากการลดระดับนี้จะทำให้สถานะของเรากลายเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ไม่สามารถเสนอประเด็นใดๆต่อที่ประชุมในระดับนานาชาติได้

2)ปัจจัยภายในคือ ความไม่แน่นอนของอนาคตร่างรัฐธรรมนูญฯที่หมายถึงกลับคืนสู่โหมดการเลือกตั้งซึ่งความไม่แน่นอนนี้นับแต่การลงมติของ  สปช.ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเพราะจะทำให้โรดแม็ปยืดขยายออกไป มีการออกข่าวของสมาชิก สปช.กันไม่เว้นแต่ละวันว่าจะรับหรือไม่รับบ้าง มีการออกข่าวว่าจะปฏิรูปก่อนแล้วจึงค่อยเลือกตั้งบ้าง ฯลฯ ซึ่งหากไม่ผ่าน สปช.ก็ต้องกลับไปร่างใหม่ให้เสร็จภายใน 180 วันแล้วจึงลงประชามติ

แต่หากร่างรัฐธรรมนูญฯผ่าน สปช.ไปแล้วยังต้องไปลุ้นผลของการลงประชามติอีกว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านหากไม่ผ่านก็ต้องกลับไปยกร่างใหม่อีกเช่นเดียวกับกรณีที่ไม่ผ่าน สปช. ฝ่ายกองเชียร์ก็เชียร์ลำบาก เพราะฝ่ายที่ไม่ชอบร่างรัฐธรรมนูญฯจะรับก็ขัดต่อความรู้สึก ครั้นจะไม่รับ คสช.ก็จะอยู่ต่ออีก ส่วนฝ่ายที่ชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ เพราะตรงกับความต้องการของตนเองที่สามารถปิดกั้นกลุ่มอำนาจเก่าได้ แต่หากปล่อยให้รัฐธรรมนูญผ่านไป สิ่งที่ตนเองต่อสู้มาก็ยังเหลืออีกมากเกรงว่าจะเป็นการเสียของไปเสียเปล่าๆ จึงต้องพยายามรณรงค์ให้มีการปฏิรูปก่อนจึงค่อยมีการเลือกตั้ง ภาวการณ์เช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อการค้าการขายหรือการลงทุนเลย

ความไม่แน่นอนของทิศทางทางการเมืองนี้ย่อมนำมาซึ่งความอึดอัดขัดข้องจนต้องมีการแสดงออกมาอย่างไม่กลัวเกรงต่ออำนาจเด็ดขาดของมาตรา 44 จนเกิดปรากฎการณ์ดาวดินขึ้นมาจนศาลทหารต้องสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีการประกันตัว และหากมีการยืดโร้ดแม็ปออกไปเนิ่นนานปรากฎการณ์เช่นเดียวกันนี้ย่อมจะเกิดขึ้นได้อีก

นอกจากความไม่แน่นอนทางการเมืองแล้วก็ยังมีความไม่แน่นอนทางกฎหมายซึ่งศัพท์ทางนิติศาสตร์เรียกว่าความไม่มั่นคงทางกฎหมายนั่นเอง เพราะมีการใช้มาตรา 44 กันอย่างพร่ำเพรื่อและมากมาย แม้แต่ในยุคจอมพลสฤษดิ์ยังมีการใช้มาตรา 17 ไม่กี่ครั้งเอง ซึ่งการใช้มาตรา 44 กันอย่างพร่ำเพรื่อนี้ได้ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายลดลงเพราะเกิดสภาวะที่ภาษากฎหมายเรียกว่า “ผลประหลาด(absurd)”นั่นเอง

แต่ที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นชี้ตายว่า“นับแต่นี้เราจะไปทางไหนกัน” ก็คือปัญหาเศรษฐกิจนั่นเอง เราคงคุ้นเคยกับคำว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” ฉันใด การเมืองที่มีทหารนำย่อมขึ้นอยู่กับกึ๋นและฝีมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดปัญหา “ต้มยำกุ้ง”ในปี 40 เป็นต้นมา ฉันนั้น  หากแก้ไม่ดีแม้จะมีอำนาจเด็ดขาดอยู่ในมือก็เอาไม่อยู่ เพราะผู้ที่กุมอำนาจทางการเมืองของไทยที่แท้จริงคือพ่อค้าวาณิชทั้งหลายหากไม่เอาด้วยก็อยู่ไม่ได้แน่นอน

ที่กล่าวมาทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นเป็นไปแต่ในทางร้ายๆเสียทั้งนั้น แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาส โอกาสที่ว่านี้ก็คือ โอกาสในการที่จะเกิดการรัฐประหารในอนาคตย่อมน้อยลงหรือไม่มีเลยเพราะจากการรัฐประหารในครั้งนี้ที่พยายามปิดจุดอ่อนของการรัฐประหารที่ผ่านมาที่ถูกมองว่าเสียของแล้วใช้อำนาจเต็มทุกอย่างแล้วยังไม่ได้ผล จึงเป็นบทเรียนที่สำคัญว่าการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการรัฐประหารนั้นใช้ไม่ได้นั่นเอง

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ 5 สิงหาคม 2558

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images