Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50704 articles
Browse latest View live

‘DSI-ตร.’ สรุปสำนวนคดีสลายชุมนุม 53 ส่งอัยการ ส.ค.นี้

0
0

เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา สุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า วันนี้คณะพนักงานสอบสวนได้หารือกันในส่วนของสำนวนการสอบสวนคดี 99 ศพ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 เพื่อดูความสมบูรณ์ของสำนวน และเตรียมเสนอความเห็นให้อัยการสั่งฟ้องภายในเดือน ส.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม สำนวนทั้งหมดจะต้องถูกส่งกลับมายังตนอีกครั้งในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน เพื่อลงนามในสำนวนดังกล่าวก่อนส่งให้อัยการฟ้องต่อไป

รายงานข่าวจากพนักงานสอบสวนในคดี 99 ศพแจ้งว่า จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งที่ 68/2558 ลงวันที่ 2 มี.ค.2558 เรื่องแต่งตั้งคณะสอบสวนตำรวจ โดยให้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล  ผบช.น. ร่วมสอบสวนกับ สุวณา เพื่อวางกรอบแนวทางการสอบสวนคดีดังกล่าวให้แล้วเสร็จนั้น วันนี้คณะทำงานทั้ง 3 ชุด ตามที่ได้แบ่งกลุ่มการทำงานตามพื้นที่เกิดเหตุก่อนหน้านี้ ในฐานะรองหัวหน้าพนักงานสอบสวน ซึ่งประกอบด้วย พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีดีเอสไอ และ ผบก.น.2, พ.ต.ท.ไพศิษฐ์ วงศ์เมือง รองอธิบดีดีเอสไอ และผบก.น.1 และพ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ และ ผบก.น.5 ได้นำสำนวนการสืบสวนสอบสวนทั้งหมดไปประชุมร่วมกับ พล.ต.ท.ศรีวราห์ ที่บช.น. เพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของสำนวนคดีว่ามีความเรียบร้อยแล้วหรือไม่ พร้อมทั้งดูรายงานการสอบสวน และลงความเห็นทางคดี เพื่อเตรียมส่งให้อัยการภายในต้นเดือนส.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม หากสำนวนดังกล่าวยังไม่มีความเรียบร้อยทางพนักงานสอบสวนต้องกลับมาหาพยานหลักฐานและสอบสวนเพิ่มเติมอีกครั้ง

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับสำนวนคดีนั้นส่วนใหญ่มีความเรียบร้อยและพยานหลักฐานครบถ้วนกว่าร้อยละ 90 จึงมั่นใจว่าจะสามารถสรุปสำนวนส่งให้อัยการได้ภายในต้นเดือน ส.ค. นี้ ทั้งนี้ จากการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ทั้งที่บริเวณแยกคอกวัว บริเวณ ถ.ราชปรารภ บริเวณ ถ.พระราม 4 และบริเวณอื่นๆ ที่มีการเสียชีวิตของประชาชนและทหาร โดยเจ้าหน้าที่ทหารส่วนใหญ่ที่พนักงานสอบสวนเรียกเข้ามาให้ปากคำนั้นยืนยันว่า ขณะปฏิบัติหน้าที่ในวันและเวลาดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) และยืนยันด้วยว่าใช้กระสุนยางเพียงอย่างเดียว ไม่มีการใช้กระสุนจริงแต่อย่างใด ทั้งนี้ การสืบสวนสอบสวนดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอนปกติของการสอบสวน ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งสรุปสำนวนคดีนี้ให้เสร็จโดยเร็ว และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์และผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขบวนการ 'ลา ปูยา' ชัยชนะของชุมชนต่อต้านเหมืองในกัวเตมาลา

0
0

เมื่อศาลอุทธรณ์ตัดสินให้บริษัทต่างชาติหยุดเข้าไปวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อทำเหมืองแร่เพราะจะส่งผลกระทบต่อชุมชนในประเทศกัวเตมาลา ถือเป็นชัยชนะอย่างท่วมท้นของชุมชนที่รวมกันในนามขบวนการ 'ลา ปูยา' ที่ต่อสู้มาเป็นเวลายาวนาน

30 ก.ค. 2558 เว็บไซต์ Waging Nonviolence รายงานเรื่องชัยชนะของผู้ประท้วงต่อต้านเหมืองแร่ของชุมชนในประเทศกัวเตมาลา ชุมชนดังกล่าวคือชุมชนซานโฮเซเดลโกลโฟ และซานเปโดรอยัมปุค ซึ่งทั้งสองชุมชนทำการต่อต้านการสร้างเหมืองทองในชุมชนของพวกเขามาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว และถึงแม้ว่าเคลื่อนไหวของพวกเขาในนามขบวนการ "ลา ปูยา" จะเคยเผชิญกับความรุนแรงและถูกดำเนินคดี แต่ในที่สุดพวกเขาก็เอาชนะได้

พวกเขาได้รับชัยชนะครั้งใหญ่เมื่อผู้พิพากษา แองเจลิกา โนเอมี เทลเลซ เฮอร์นานเดซ จากศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ แคปส์ แคสสิเดย์ และบริษัทในเครือ (Kappes, Cassiday & Associates - KCA) ระงับการก่อสร้างโครงการทั้งหมดที่เหมืองเอลทัมเบอร์ในแถบชุมชนซานโฮเซเดลโกลโฟ

ผู้พิพากษาระบุว่าทางบริษัทดำเนินการอย่างผิดกฎหมายเนื่องจากไม่มีการหารือร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการอย่างเหมาะสมอีกทั้งยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการตามโครงการ ผู้พิพากษาเฮอร์นานเดซจึงสั่งให้บริษัทยับยั้งโครงการในเหมืองแร่ทั้งหมดภายในเวลา 15 วัน และสั่งให้เทศบาลเมืองเพิ่มมาตรการเพื่อยับยั้งไม่ให้มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเหมืองแร่ต่อไปอีก

แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางทนายความของบริษัทเหมืองแร่จะโต้แย้งว่าทางบริษัท KCA ได้รับใบอนุญาตและมีการหารือกับชุมชนแล้วแต่ผู้พิพากษาก็มองออกว่าเป็นเพียงข้ออ้างที่ไม่เป็นความจริง

คำตัดสินของศาลในครั้งนี้ถือเป็นการทำให้ชุมชนมีเรี่ยวแรงในการต่อสู้เพื่อปกป้องแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมของพวกเขาต่อไป ซึ่งอันโตนิโอ เรซ สมาชิกของขบวนการลา ปูยา กล่าวว่าที่ผ่านมาพวกเขาต้องผ่านความเจ็บปวดและมีการต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักแต่พวกเขาก็จะไม่หยุดต่อสู้

หลังได้รับชัยชนะจากการตัดสินของศาล ขบวนการลา ปูยา พากันเฉลิมฉลองในนาม 'เทศกาลความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน' (Festivales Solidarios) โดยมีทั้งปิญาตาซึ่งเป็นอุปกรณ์ตกแต่งในงานเทศกาลของชาวลาตินอเมริกาและมีการจัดแสดงดนตรีที่ลานปักหลักประท้วงหน้าทางเข้าเหมือง บรรยากาศของการเฉลิมฉลองเป็นไปอย่างคึกคัก มีการเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวเข้าร่วมรวมถึงมีนักแสดงดนตรีจากหลายประเทศอย่าง กัวเตมาลา นิคารากัว แคนาดา เวเนซุเอลา และสหรัฐฯ

เรซกล่าวอีกว่าพวกเขาต่อสู้ด้วยเหตุผลทั้งในแง่ประเด็นทางสังคมและประเด็นทางสิ่งแวดล้อม และในตอนนี้ศาลก็ตัดสินให้การประท้วงอย่างสันติของพวกเขาเป็นสิ่งที่ชอบธรรม

Waging Nonviolence ระบุว่าก่อนหน้านี้ในปี 2557 เคยมีชุมชนอีก 2 แห่งคือ เอลคาร์ริสซัล และเอลหัวปิโนล ฟ้องร้องรัฐบาลกัวเตมาลาว่าไม่สามารถทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ให้กับชุมชนไว้ได้เนื่องจากไม่มีการจัดทำประชามติเรื่องโครงการเหมืองซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในกฎหมายกัวเตมาลาและกฎหมายนานาชาติ อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการพิจารณาคดีชุมชนเหล่านี้ก็ได้รัฐมนตรีด้านกิจการสาธารณะของกัวเตมาลามาเป็นพวก ซึ่งรัฐมนตรีดังกล่าวบอกว่าบริษัทเหมืองแร่ทำโครงการที่ละเมิดกฎหมายและชุมชนก็มีสิทธิที่จะต่อต้านโครงการของพวกเขา

นอกจากนี้คำตัดสินของศาลในกรณีของลา ปูยา ยังถือเป็นชัยชนะของชุมชนอื่นๆ ทั่วกัวเตมาลาด้วย เพราะถือเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลกัวเตมาลาเคารพและปฏิบัติตามข้อกำหนดในเรื่องการต้องหารือกับชุมชนก่อนสร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีระบุไว้ในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 169 ที่ระบุถึงสิทธิของชนพื้นเมืองและชนเผ่า

นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมามีการหารือร่วมกับชุมชน 75 แห่งทั่วกัวเตมาลาในการสร้างโครงการต่างๆ เช่น โครงการเหมืองแร่ โครงการเขื่อนพลังงานน้ำ โดยส่วนใหญ่ชุมชนในพื้นที่มักจะปฏิเสธไม่ยอมให้มีการดำเนินโครงการด้านทรัพยากรภายในผืนดินของพวกเขา

กรณีเหมืองของบริษัท KCA ย้อนเรื่องไปได้ถึงเมื่อเดือน มี.ค. 2555 ที่มีผู้ประท้วงมาชุมนุมกันอย่างสงบหน้าเหมืองเอลทัมเบอร์ โดยมีการปักหลักตั้งรกรากอย่างถาวรที่หน้าเหมือง พวกเขาประท้วงเพราะกลัวว่าเหมืองแร่ดังกล่าวจะสร้างมลภาวะให้กับผืนน้ำและผืนดินของพวกเขา

ขบวนการลา ปูยา ยังเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวที่เน้นวิธีการแบบสันติ อีกทั้งยังให้การต้อนรับผู้ที่สนับสนุนพวกเขาเข้าไปที่ค่ายผู้ชุมนุมประท้วงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาเอง แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญอุปสรรคเมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2557 เมื่อตำรวจปราบจลาจลที่มาจากการสั่งการของรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ปักหลักชุมนุมเพื่อให้มีการขนส่งอุปกรณ์เข้าไปในจุดก่อสร้างได้ แต่ในวันถัดมาผู้ชุมนุมก็ยังคงเข้าไปปักหลักชุมนุมที่เดิมภายใต้การสอดส่องของเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้สนับสนุนขบวนการลา ปูยา ในต่างประเทศอย่างคณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชนในกัวเตมาลาซึ่งเป็นองค์กรจากสหรัฐฯ ยังได้ร่วมรณรงค์ล่ารายชื่อเรียกร้องให้บริษัท KCA หยุดการก่อสร้างเหมืองแร่ด้วย

ถึงแม้ว่าจะได้รับชัยชนะแล้ว แต่เรซและสมาชิกลา ปูยา คนอื่นๆ ก็ยืนยันว่าจะปักหลักอยู่หน้าทางเข้าเหมืองต่อไปเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมต่อไปและยังบอกอีกว่าพวกเขาวางแผนปฏิบัติการเพิ่มเติมแต่ยังไม่บอกรายละเอียด ทางฝ่าย KCA ก็ยังไม่ยอมแพ้เช่นกัน พวกเขาบอกว่าจะมีการร้องเรียนต่อในศาลชั้นถัดไป

 

เรียบเรียงจาก

Communities struggling against mining win major victory in Guatemala, Waging Nonvolence, 28-07-2015
http://wagingnonviolence.org/2015/07/communities-struggling-mining-win-major-victory-guatemala/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จอห์น เดรเปอร์: มันไม่เคยเกิดขึ้นที่นี่: จิตเวชศาสตร์ทางการเมืองและ ณัฐนันท์ วรินทรเวช

0
0

น.ส.ณัฐนันท์ วรินทรเวช นักเรียนมัธยมปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมัธยมชื่อดังของไทย เธอกลายเป็นศัตรูของรัฐ ตามข้อกล่าวโทษของผู้บริหารโรงเรียนที่บอกว่าเธอมีภาวะ “ป่วยทางจิต” มาได้สองปีแล้ว และแม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย ก็ยังกล่าวว่าเธอเป็นเด็ก “ผิดปกติ” เธอก่ออาชญากรรมหรือ? ที่วิพากษ์ถึงข้อเท็จจริงที่ว่าค่านิยม 12 ประการได้กลายเป็นอุดมการณ์รัฐไปแล้ว

ตามตัวอย่างสงครามจิตวิทยา 101 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยังพยายามที่จะแยกณัฐนันท์ออกโดยชี้ให้เห็นว่าเธอเป็นเพียงแค่นักเรียนคนหนึ่งจากคนนับล้านๆ แต่อย่างไรก็ตาม ณัฐนันท์ไม่ได้โดดเดี่ยว และจากการโพสต์ข้อความทางเฟสบุคส่วนตัวของเธอ ที่ชี้ให้เห็นความอยุติธรรมของอุดมการณ์รัฐ ได้รับการกดไลค์จากกว่าสองพันคน และตั้งแต่ 20 พฤษภาคม 2557 วันที่เกิดรัฐประหาร กว่า 700 คนถูกเรียกตัวเข้าค่ายทหารเพื่อ 'การปรับทัศนคติ' กลุ่มคนดังกล่าวรวมทั้งนักวิชาการนักกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรกรสวนยางพาราผู้นำหมู่บ้านและนักเขียน ล่าสุดรวมนักศึกษาอีก 14 คนที่ถูกจับกุมในข้อหา 'ปลุกระดม'

ที่รุนแรงยิ่งกว่า คือการที่บอกว่าคนๆหนึ่งเป็นศัตรูต่อรัฐและถูกเรียกไป “ปรับทัศนคติ” นั้น ถือเป็นเรื่องการทำร้ายทั้งต่อร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการยอมรับจากสำนักงานสหประชาชาติข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนอ้างกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองและปฏิญญาสากลด้านสิทธิมนุษยชน – และทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังได้แสดงความกังวลในด้านการปฏิบัติต่อประชาชนในลักษณะนี้ของรัฐไทย

ประเด็นเรื่องผลกระทบทางด้านจิตใจนี้เป็นเรื่องที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าในเรื่องการทำความเข้าใจว่าอะไรที่เรียกว่า "ปรับทัศนคติ"- คือ ระบบที่ใช้จัดการกับผู้ที่คิดเห็นต่างทางการเมืองและผู้ที่มีอิสระทางความคิด โดยการสร้างตราสินค้าการรับรู้ต่อสังคมให้เป็น 'ศัตรู' โดยอธิบายว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นคนไม่ปกติ รัฐจึงสร้างวาทกรรมขึ้นมาโดยมีนัยว่า พวกเขาเหล่านั้นต้องได้รับการ 'รักษา' – ซึ่งก็คือการให้ศึกษาใหม่ในค่ายทหาร

ดังนั้นเรายังเริ่มเห็นความไม่ชัดเจนของเส้นที่อยู่เหนือ 'ความเจ็บป่วยทางจิต' นอกจากนี้ ค่าย "ปรับทัศนคติ" เมื่อเร็วๆ นี้ เราได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการที่คนสองคนที่ป่วยทางจิตถูกจองจำ ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือนายสมัครจากเชียงราย และฐิตินันท์โทษจำคุกของนักโทษป่วยทางจิตสำหรับความคิดหรือคำพูด เป็นความผิดทางอาญา ภายใต้การพัฒนาของรัฐบาลทหาร และค่อนข้างหาดูได้ยากในยุคปัจจุบัน ยกเว้นในรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ ที่น่ารำคาญ ก็คือมันมีความคล้ายคลึงกับในช่วงแรกของนาซีที่มีการประหัตประหารคนพิการและคนที่ 'ไม่เหมาะ' ซึ่งนำไปสู่การออกกฎหมายเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2476 เรียกว่า กฎหมายเพื่อการป้องกันลูกหลานที่มีโรคทางพันธุกรรม (Law for the Prevention of Progeny with Hereditary Diseases)

แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นคู่ขนานที่ดีที่สุดสำหรับสิ่งที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ของโซเวียตเกี่ยวกับ 'โรคจิตเวชศาสตร์ทางการเมือง' จิตเวชศาสตร์ทางการเมืองได้รับการกำหนดเป้าหมายและการใช้ระบบข้อกล่าวหาเรื่องการเจ็บป่วยทางจิตที่ชี้เป้าไปที่ผู้ที่มีความเห็นต่างต่อรัฐสังคมนิยมในช่วงระยะเวลาของสหภาพโซเวียต อย่างที่นิกิตา ครุชเชฟ ระบุไว้ในปี 2502 "บรรดาผู้ที่อาจจะเริ่มต้นเรียกร้องให้มีการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์บนพื้นฐานเรื่องนี้ เราสามารถพูดได้อย่างชัดเจนว่าจิตของพวกเขาไม่ปกติ" แนวคิดของการ "นิยามความบ้าทางการเมือง" นี้ถูกนำไปใช้กับผู้คนอย่างน้อย 20,000 คน บางคนประเมินว่าในปี 2531 มีคนจำนวน 5.5 ล้านคน ได้จดทะเบียนเป็นผู้ป่วยเป็นโรคจิต และใน 30% เป็นกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองจริง

ในช่วงที่เป็นอิสระมากขึ้น ฮังการีในขณะนั้น มีประมาณ 12 กรณีเพราะฉะนั้น มันจึงไม่ได้เป็นไปโดยระบบและเป็นรูปแบบสถาบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่อาจจะเป็นไปได้ว่า อุดมการณ์แบบสตาลินไม่เคยถูกปลูกฝังรากลึกในสังคมฮังการี ซึ่งมีประวัติศาสตร์แนวคิดทางการเมืองและปรัชญาที่แข็งแกร่งและมีความเป็นอิสระในตัวเอง ในบางกรณีของฮังการีเป็นกรณีที่มีโพรไฟล์ค่อนข้างสูงอย่างเช่น ธีบอ ปัคห์ (Tibor Pákh) ผู้เข้าชิงรางวัล ความทรงจำของชาติ ประจำปี 2557 ผู้ที่เคย "ได้รับการรักษา" ด้วยการช็อตด้วยไฟฟ้าและอินซูลิน โคม่า

ชาวฮังการีผู้คิดต่างคนนี้ถูกใส่ร้ายว่ามีความเจ็บป่วยทางจิตที่รักษาไม่หาย แต่จิตแพทย์ชาร์ลส์ ดูแรนด์ (Charles Durand) ตั้งข้อสังเกตว่าปัคห์ได้ "ประสบความสำเร็จในความกลมกลืนเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ ความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรม และมีวิธีการที่เป็นจริงกับโลกภายนอก ... ธีบอ ปัคห์ ยังคงปรากฏท่ามกลางความเป็นจริงในความเชื่อมั่นทางการเมือง และการอดอาหารประท้วงของเขา คือการประท้วงที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อต่อต้านระบอบการปกครองในขณะนั้น"

ใน 'โรคจิตเวชศาสตร์ทางการเมือง' เราสามารถมองเห็นเส้นขนานโดยตรงกับ 'การปรับทัศนคติและกรณีนางสาว ณัฐนันท์ ที่มีประสบการณ์ของไทยให้เป็นที่ปรากฏอย่างกว้างขวางมากขึ้นกว่าฮังการี แต่ยังเข้มข้นน้อยกว่าทั้งประสบการณ์ฮังการีและสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตามสื่อรายงานว่า ผู้บริหารโรงเรียนบอกว่าเธอป่วยเป็นเวลาสองปีแล้วและพ่อแม่ของเธอก็ได้ขอร้องให้ทางโรงเรียน “ดูแลเธอ” ด้วย นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้อธิบายว่าค่านิยมหลัก 12 ประการนั้น "ไร้ที่ติ" - หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นอุดมการณ์ที่สมบูรณ์ - ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องทำก่อนของเผด็จการเบ็ดเสร็จ เมื่อเทียบกับระบอบอำนาจนิยมที่เราคุ้นเคย

นางสาวณัฐนันท์ ได้แสดงออกถึงความเข้าใจที่ครอบคลุมของสถานการณ์ที่เธอเผชิญอยู่ เช่นเดียวกับปัคห์ ข้อสอบวิชาหน้าที่พลเมือง เธอเลือกที่จะไม่ตอบคำถามที่มีการบังคับให้เด็กเลิกให้การสนับสนุนนักศึกษา 14 คนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่คนทั่วไปบอกว่าเป็นกลุ่มที่ทำลาย "ความเป็นไทย" ซึ่งในกรณีนี้ ก็มีการระบุว่านางสาวณัฐนันท์ได้ลงนามในคำร้องจริง เพื่อให้มีการปล่อยตัวพวกเขา เธอปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้ คำถามอื่นที่ถามเธอว่าเด็กจะสามารถใช้ 12 ค่านิยมหลักของคนไทยนี้ได้อย่างไร - อุดมการณ์รัฐที่ได้กลายเป็น 'ทฤษฎีทางการเมือง' อย่างรวดเร็วนี้ ตามที่คาร์ล ซมิตนักกฎหมายนาซีได้อธิบายไว้ ค่านิยม 12 ประการนี้ ยังดูเหมือนจะถูกนำมาใช้เป็น 'การทดสอบความภักดี' สำหรับเด็กๆ ร่วมกับระบอบราชาธิปไตแบบบังคับ นางสาวณัฐนันท์เห็นคำถามและค่านิยมหลัก 12 ประการ เป็นอุดมการณ์เผด็จการเข้มแข็ง และเธอเลือกที่จะปฏิเสธด้วยการส่งกระดาษเปล่าแทนคำตอบ และตามมาด้วยการเขียนจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ผ่านเฟสบุคส่วนตัว

มากกว่านั้น นางสาวณัฐนันท์มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ครอบคลุม ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้ที่ทำให้คนไทยเป็นล้านๆ ให้การสนับสนุนเธอ- เธอเป็นเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลุ่มนี้มีความประสงค์ที่จะส่งเสริม "ความเชื่อที่ว่าการปฏิรูปการศึกษาในประเทศไทยเป็นสิ่งที่จำเป็นและปรัชญาของกลุ่มที่เชื่อว่าการศึกษาควรเน้นที่ด้านความเป็นมนุษย์ ความเชื่อของนักเรียนและครู การเคารพต่อมนุษยศาสตร์และความรู้ภายในของปัจเจกบุคคล ในขณะที่อย่ามองเราเป็นเพียงภาชนะที่ว่างเปล่าที่จะบังคับให้เราเชื่ออุดมการณ์ต่างชาติ หรือเป็นเพียงเป้าหมายในการใช้อำนาจ (ยกตัวอย่างเช่น การสร้างกฎระเบียบ) โดยไม่ได้ตามตรรกะของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ในสาระสำคัญ การดำรงอยู่ของกลุ่มนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความทุ่มเทของเยาวชนไทยและความมุ่งมั่นที่จะต่อต้านการใช้งานของระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อหรือการใช้งานที่มีวาระทางการเมืองซ่อนเร้น" การใช้คำว่า “สยาม” เป็นการย้อนกลับไปถึงยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นช่วงการปกครองแบบเผด็จการทหารปี 2482- 2485 และ ข้อบังคับคุณธรรม 12 ประการข้อบังคับเหล่านี้ยังได้เปลี่ยนชื่อ สยาม เป็น "ประเทศไทย" และสร้างรัฐชาติหรือ 'ชาติพันธุ์ธิปไตย-ethnocracy' ขึ้นบนพื้นฐานของเชื้อชาติชาตินิยมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ภาคกลางและมีประชากรอยู่เพียงประมาณ 30% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งทำให้กรุงเทพฯอำนาจในการกำกับวัฒนธรรมและศาสนาของ 'ความเป็นไทย' และระบบเผด็จการที่บังคับวิธีการแต่งกาย การทำงาน และวิธีคิดของคน

แนวคิดเรื่อง “ความเป็นไท” มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งได้รับการรณรงค์เริ่มแรกโดย อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่ในปี 2552 ได้เขียนจดหมายสาธารณะส่งถึงนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิรูปครั้งแรก คือข้อความดังต่อไปนี้: 1. แก้ไขคำว่า 'รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย' เป็น 'รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม "หรือ" รัฐธรรมนูญแห่งสยาม' เพื่อส่งเสริม 'ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน' 'ความสามัคคี 'และ' ความปรองดองในประเทศของเรา ที่มีประชากรกว่าหกสิบล้านคน รวมกว่าห้าสิบกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่างกันด้วยการมีภาษาเป็นของตัวเอง:  ไทย  ไต ญวณ ลาว ลื้อ มลายู มอญ ขแม กุย แต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ ฮากก้า จาม ชวา ซาไก มอแกน ทมิฬ ปาทาน เปอร์เซีย อาหรับ โฮ พวน  ไทใหญ่ ภูไท เขิน เวียด ยอง ละว้า ม้ง กะเหรี่ยง ปะหล่อง มูเซอ อาข่า ขะมุ มลาบรี ชอง ญัฮกุร บรู อุรักลาโว้ย ชาวตะวันตกหลายๆ เผ่าพันธุ์ คนที่เกิดจากพ่อแม่ต่างเชื้อชาติ และอื่นๆ ความหมายของประเด็นนี้ คือการรับรู้อย่างเป็นทางการว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ- มีตัวตนที่แท้จริง มีความหลากหลาย และเป็นอิสระ ในขณะที่เรื่องนี้อาจจะบ่งบอกถึงวิธีการแก้ปัญหาทางสังคมและการเมืองที่มีความซับซ้อน อาจจะผ่านทางสังคมประชาธิปไตย เช่นเดียวกับวิธีการปกครองแบบบริหารเชื้อชาติ (consociational)

ปฏิรูประบบการศึกษาภายใต้จิตวิญญาณของความเป็นสยาม ได้บอกเป็นนัยว่านางสาวณัฐนันท์มีอุดมการณ์ที่ชาญฉลาดอย่างยิ่ง ความฝันของนางสาวณัฐนันท์จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่คุ้มค่า นอกจากนี้เธอไม่ได้ปฏิเสธค่านิยมหลัก 12 ประการ แต่วิธีการที่ค่านิยมเหล่านี้ถูกบรรจุโดยการบังคับด้วยคำสั่งจากคนที่ได้กลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกับปัคห์ ณัฐนันท์มี "ความคุณสมบัติครบถ้วนของ ... อุดมการณ์ ลัทธิความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรม และมีวิธีการที่เป็นจริงกับโลกภายนอก"

นางสาวณัฐนันท์ถูกข่มเหงรังแกในขณะที่ยังเล็กและเป็นเพียงเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่ประท้วงการทับซ้อนระหว่างความเชื่อทางศาสนากับทฤษฎีทางการเมือง กรณีของเธอน่าจะเป็นเคสแรกที่จะได้รับการปกป้องโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ หากว่าคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่ไร้ความสามารถ ประเทศไทยก็จะมุ่งหน้าเดินไปสู่ระบอบเผด็จการ และเมื่อหลายร้อยกรณีของ "คนที่ผิดปกติ" ก็จะกลายเป็นพัน- หรือที่น่ากังวลมากกว่านั้น มันจะเริ่มชัดขึ้นเพราะทฤษฎีทางการเมืองที่มาจากค่านิยมหลัก 12 ประการจะกลายเป็นองค์ประกอบทั้งหมด และการประท้วงใด ๆ ก็จะถูกทำให้กลายเป็น "โรคจิตเวชศาสตร์ทางการเมือง"- เราจะสามารถที่จะมองกลับไปที่กรณีนี้และจดจำไว้ เราคิดว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่มันก็ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อต้นในปี 2558 โดยเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่ง

“เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและอิสระในการคิดควรจะมีอยู่ทั่วไปในสังคม ไม่อย่างนั้นเราจะไร้ซึ่งอนาคต”

ณัฐนันท์ วรินทรเวช

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์พิเศษ แกนนำขบวนการผู้เห็นต่างจากชายแดนใต้: กระบวนการสันติภาพ ควรเป็นวาระแห่งชาติ

0
0
‘อาบูฮาฟิซ’ หนึ่งในแกนนำขบวนการฯ เน้นให้การพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้รัฐบาลพลเรือนสานต่อ เผยว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดคือ การตั้งรัฐอิสลาม แต่ตอนนี้อยากได้โอกาสเข้าไปฟังเสียงและความต้องการประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการอะไร และยังเห็นด้วยกับวิธีของขบวนการหรือไม่

 
31 ก.ค. 58 คามาลุดิน ฮานาพี หรือที่รู้จักกันในนาม อาบูฮาฟิซ อัลฮากิม แกนนำคนหนึ่ง ที่ได้ร่วมโต๊ะเจรจากับตัวแทนของรัฐบาลไทย ในนาม มาร่า ปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่มของขบวนการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับประชาไท ณ ประเทศมาเลเซีย ถึงกระบวนการสันติภาพภายใต้รัฐบาลทหาร และจุดยืนต่างๆ เกี่ยวกับขบวนการก่อความไม่สงบเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา 
  
ที่ผ่านมาการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยและขบวนการก่อความไม่สงบมีมาเรื่อยๆ ในทางลับ นักวิเคราะห์กล่าวว่า รัฐไทยไม่เคยมีความจริงใจต่อการเจรจาและมองการเจรจาเป็นเพียงโอกาสในการชี้ตัวแกนนำของขบวนการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเจรจาแบบเปิดเผยครั้งแรกก็เกิดขึ้นในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชิ้นวัตร ในปี 2556 ที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่การพูดคุยก็ดำเนินไปได้ไม่กี่ครั้ง และจบลงหลังจากที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เจอการประท้วงขับไล่ ตามมาด้วยการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 57 ภายใต้รัฐบาลทหาร นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การพูดคุยสันติภาพมีขึ้นอีกครั้ง กับองค์กรร่มของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เรียกว่า มัจลิส ซูรอ ปาตานี เรียกสั้นๆ ว่า มาร่า ปาตานี ซึ่งประกอบด้วย บีอาร์เอ็น พูโล Gerakan Mujahidin Islam Patani (GMIP) และ Barisan Islam Pembehbasan Patani (BIPP)
 
ภายใต้รัฐบาลทหาร การพบปะระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย และกลุ่มมาร่า มีมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกช่วงต้นเดือน มิ.ย. ซึ่ง อาบูฮาฟิซเผยว่า ทั้งสองครั้ง ยังไม่ถือเป็นการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ ในครั้งแรก เป็นเพียงการพบปะเพื่อแนะนำตัวตัวแทนของสองฝ่าย และแนะนำองค์กร มาร่า ปาตานี ต่อมาในการพบกันครั้งที่สอง ฝ่ายขบวนการเผยความต้องการ คือ หนึ่ง ให้รัฐไทยยอมรับองค์กร มาร่า ปาตานี, สอง ให้รัฐไทยรับรองความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมการเจรจา และ สามคือ ผลักดันกระบวนการสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะต้องให้สภาผู้แทนหรือสภานิติบัญญัติเป็นผู้รับรองวาระนี้ ส่วนฝ่ายไทยก็ขอให้ฝ่ายขบวนการหยุดการปฏิบัติการในช่วงรอมฎอน แต่เนื่องจากการร้องขอนี้เกิดขึ้นกระชั้นชิดกับช่วงรอมฎอน ไม่สามารถเตรียมการได้ทัน จึงไม่มีการรับปากเรื่องนี้ 
 
อาบูฮาฟิซ อัลฮากิม
 
อาบูฮาฟิซ อธิบายถึงความสำคัญของการทำให้กระบวนการสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติว่า เนื่องจากฝ่ายขบวนการเห็นว่า กระบวนการสันติภาพที่ได้รับการรับรองจากรัฐสภา จำทำให้ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดจะขึ้นมาบริหารก็ต้องสานต่อกระบวนการนี้ “ถ้าหากเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลใดที่เข้ามา ก็จะดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ถ้าหากไม่เป็นวาระแห่งชาติ พอเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว กระบวนการที่เคยดำเนินการมาก็จบตาม ต้องมาเริ่มใหม่กันหมด” อาบูฮาฟิซ กล่าว
 
อาบูฮาฟิซ กล่าวถึงกลุ่ม มาร่า ปาตานี ว่า ตั้งขึ้นมาตามความต้องการของทางการไทยที่อยากให้การเจรจาสันติภาพและการพูดคุยเป็นที่ยอมรับโดยทั่วทุกกลุ่ม และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาและกระบวนการสันติภาพ เป็นไปอย่างมีเอกภาพ 
 
อย่างไรก็ตาม อาบูฮาฟิซ เชื่อว่าการเจรจาสันติภาพ จะบรรลุผลบนครรลองประชาธิปไตย “เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เห็นกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้าประเทศไทยไป ความไร้เสถียรภาพของประชาธิปไตยไทยนั้นฉุดรั้งกระบวนการเจรจาด้วยเช่นกัน ภายใต้ประชาธิปไตยเท่านั้น ที่การพูดคุยสันติภาพจะผลิดอกออกผลอย่างยั่งยืน ท่ามกลางการยอมรับจากทุกฝ่าย”
 
เขากล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพสำเร็จลุล่วง คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เนื่องจากความล้มเหลวของโต๊ะเจรจาในครั้งที่ผ่านๆ มา เกิดจากการที่ทั้งสองฝ่ายขาดความเชื่อใจ และเริ่มการเจรจาด้วยการตั้งข้อรียกร้องที่รอมชอมกันไม่ได้ ทำให้การเจรจาเข้าสู่ทางตัน อาบูฮาฟิซ เสนอว่า ทั้งสองฝ่ายควรมาคุยแบบมือเปล่า ยังไม่ต้องยื่นข้อเรียกร้องใด ให้สร้างความเชื่อใจเสียก่อน ถกกันถึงแก่นของปัญหา แล้วจึงสร้างโรดแมพร่วมกัน แล้วค่อยตามมาด้วยการเสนอข้อเรียกร้องต่อกันภายหลัง
 
แม้จะเป็นการคุยกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ แต่ทหารคือตัวจริงเสมอมา 
 
เมื่อถามถึงท่าทีของพลเอกประยุทธ์ต่อประเด็นปัญหาสามจังหวัด อาบูฮาฟิซ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ฝ่ายขบวนการก็ได้จับตาดูท่าทีของประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ว่าจะแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนอย่างไร อาบูฮาฟิซกล่าวว่า ประยุทธ์มักส่งสัญญาณที่มีความสับสนและขัดแย้งกัน 
 
“ตอนแรกประยุทธ์บอกว่า เขาต้องการสานต่อกระบวนการสันติภาพ และกองทัพมีพันธสัญญาต้องสานต่อกระบวนการสันติภาพ แน่นอน นี่คือสัญญาณเชิงบวก แต่ในขณะเดียวกัน ก็บอกว่า จะไม่ได้การพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการบริหารจัดการ นี่เป็นสัญญาณทางลบ แล้วเราจะมาพูดคุยกันทำไม หากประยุทธ์ได้ปิดประตูของการพูดคุยประเด็นหลักนี้ไปแล้ว” อาบูฮาฟิซกล่าวว่า ตอนแรกประยุทธ์บอกว่า อยากให้กลุ่มขบวนการต่างๆ มารวมกันเพื่อยื่นข้อเสนอเดียว แต่พอฝ่ายขบวนการรวมกันเป็นมาร่า กลับพูดในเชิงไม่ยอมรับมาร่า ต่อมาประยุทธ์ยังเสนอให้เรียกการพูดคุยนี้ว่า การพูดคุยสันติสุข ไม่ใช่สันติภาพอีกด้วย “ผมก็ไม่รู้ว่า จริงๆ เขาคิดว่าอย่างไร . . . นั่นคือสิ่งที่เขาพูดกับผู้ชม ผู้คนของเขา” ทางกลุ่มจึงสรุปกันว่า จะยึดการสื่อสารบนโต๊ะเจรจาเป็นหลัก 
 
อาบูฮาฟิซเล่าว่า ได้มีการถกเถียงถึงความชอบธรรมของรัฐบาลประยุทธ์ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ในฐานะตัวแทนในการเจรจาสันติภาพว่า หากเราเข้าใจธรรมชาติของการเมืองไทย “เราต้องเข้าใจโครงสร้างและธรรมชาติของการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือน หรือรัฐบาลทหาร หากได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว นั่นก็ถือเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมแล้ว” นอกจากนี้จะเข้าใจว่ากองทัพมีอำนาจและอิทธิพลในการตัดสินใจทางการเมืองเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือนเสมอมา การที่ทหารขึ้นมามีอำนาจ ก็เท่ากับการได้คุยกับคนที่มีอำนาจจริงๆ และทั้งยังได้สานต่อกระบวนการพูดคุยที่ได้เริ่มไว้ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ให้หยุดชะงัก 
 
อาบูฮาฟิซ ชี้ ยุทธศาสตร์ของขบวนการอาจเปลี่ยนแปลง ประชาชนปาตานีจะเป็นผู้กำหนด 
 
อาบูฮาฟิซ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐไทยได้กระทำผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนในปาตานี คือการที่ทางการไทยไม่รับฟังเสียงจากคนในพื้นที่ มีหลายครั้งที่ข้อเรียกร้องถูกส่งผ่านตัวแทนไปแล้วเงียบหาย ตัวอย่างเช่น กรณีของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา โต๊ะอิหม่ามผู้เป็นผู้นำทางความคิดของชาวปาตานีใน ที่เคยยื่นข้อเสนอเจ็ดประการเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของชาวมลายูให้ทางการไทยในอดีต ก็ถูกมองว่าเป็นกบฎแบ่งแยกดินแดน ทั้งๆ ที่ข้อเสนอนั้นไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนเลย 
 
“พวกเราไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน พวกเราแค่ต้องการสิทธิในภาษา กิจกรรมทางศาสนาอิสลาม และความต้องการต่างๆ ตามบริบทของท้องถิ่น” อาบูฮาฟิซ สรุปว่า เมื่อกระบวนการสันติวิธีไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ซ้ำยังถูกกดปราบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ การต่อสู้ด้วยอาวุธจึงถูกนำมาใช้ แต่ต่อไปนี้ตนเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรให้ประชาชนในพื้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าอนาคตของปาตานีจะเป็นอย่างไร 
 
“มันถึงเวลาให้ประชาชนได้ตัดสินใจ แน่นอน พวกเขาอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง เราไม่สามารถอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะปัญหา และความรุนแรงมากมาย สรุปคือเราต้องเปลี่ยน แต่ประชาชนต่างหากจะเป็นผู้บอกว่า การเปลี่ยนแปลงแบบไหนที่พวกเขาต้องการ รัฐบาลควรเปิดพื้นที่ และให้เสรีภาพกับประชาชน อะไรคือสิ่งที่ดีและไม่ดีสำหรับพวกเขา เพื่อให้เขาเลือก และตัดสินใจอนาคตของพวกเขา” อาบูฮาฟิซกล่าว 
 
นอกจากนี้ อาบูฮาฟิซยังกล่าวว่า อยากได้ยินเสียงประชาชนวิพากษ์ฝ่ายขบวนการเช่นกัน “ในอดีต ตอนที่กลุ่มของพวกเราถูกตั้งขึ้น ประมาณ 50-60 ปีก่อน ผู้ก่อตั้งของเราเห็นว่า เมื่อเราเรียกร้องอะไรไปแบบสันติแต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง และกลับถูกกระทำโดยการคุกคามมากมาย บางรายถูกฆ่าตาย พวกเขาจึงสรุปว่า เพื่อที่จะได้สิทธิของเรา เราต้องต่อสู้โดยใช้อาวุธ เราจึงทำแบบนั้นมาโดยตลอด แต่ตอนนี้สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไป เราจึงอยากได้ยินว่าประชาชนของเราคิดอย่างไรกับยุทธศาสตร์ของเรา ว่า มันยังคงเหมาะสมหรือไม่ ที่จะพูดถึง การปลดแอกเอกราช หรือแม้กระทั่งการดำเนินการต่อสู้ด้วยอาวุธ” อาบูฮาฟิซกล่าวอีกว่า ประชาชนในพื้นที่นั้นสำคัญมาก เพราะพวกเขาเป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” ในความขัดแย้งครั้งนี้ 
 
“ไม่ว่าการตัดสินใจของประชาชนจะเป็นอย่างไร เราจะรับเอามา เราจะทำตามความเห็นของพวกเขา เพราะเราเป็นตัวแทนของพวกเขา” 
 
ขบวนการไม่มีนโบายโจมตีพลเรือน 
 
เมื่อถามถึงการกระทำความรุนแรงต่อพลเรือน ตัวแทนจากปีกการเมืองของกลุ่มก่อความไม่สงบ กล่าวว่า ทางขบวนการไม่มีนโยบายโจมตีพลเรือน แต่ในหลายกรณีที่เกิดขึ้นนั้น อาจสืบเนื่องมาจากความแค้นส่วนตัว เช่น การกระทำต่อครูหรือพระสงฆ์ ก็เพราะมีการกระทำต่ออุสตาซ หรือโต๊ะครู เป็นต้น หากมีนักรบอาร์เคเคคนไหนออกนอกแถว กระทำนอกคำสั่งก็จะถูกลงโทษ อาบูฮาฟิซยอมรับว่า เหตุการณ์โจมตีต่อพลเรือนมีส่วนที่เกิดขึ้นโดยนักรบอาร์เคเค และเกิดโดยผู้อื่น เพราะในพื้นที่สามจังหวัดนั้นสามารถหาอาวุธมาถือครองได้ไม่ยาก 
 
เมื่อถูกถามถึงโครงสร้างของขบวนการ ซึ่ง ดันแคน แมคคาร์โก นักวิชาการชาวอังกฤษเคยเขียนในหนังสือ “ฉีกแผ่นดิน” ว่า เป็นโครงสร้างแบบไร้แกน นั้นเป็นจริงหรือไม่ อาบูฮาฟิซกล่าวว่า ไม่จริง เพราะถ้าขบวนการไม่มีแกนเลย คงไม่สามารถดำรงกิจกรรมมาหลายสิบปีแบบนี้ได้ เมื่อถูกถามว่า ทำไมขบวนการจึงไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรง เขากล่าวว่า อันนี้เขาตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นปีกทหารของขบวนการ แต่เขาเป็นฝ่ายการเมือง
 
ต่อคำถามเรื่องการใช้กฎหมายอิสลาม แกนนำของกลุ่ม มาร่า ปาตานี กล่าวว่า เป้าหมายของขบวนการคือได้เอกราช เป็นรัฐอิสระ ซึ่งเมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วก็ควรจะต้องนำกฎหมายอิสลามมาใช้แม้ว่าอาจจะไม่สามารถนำกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้ได้ 100 เปอร์เซนต์ แต่ก็จะพยายามบังคับใช้ให้ได้มากที้่สุด เพราะเป้าหมายของทุกขบวนการนั้นคือการสร้างรัฐอิสลาม อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมายอิสลามจะต้องอยู่บนฐานของการยอมรับ และเคารพในความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วย ซึ่งเขาบอกว่า รัฐปาตานีในอดีต ซึ่งมีคนหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมมาอยู่อาศัยก็มีกฎหมายในลักษณะนี้เช่นกัน โดยให้ผู้ที่ไม่นับถือศาสนาอิสลาม เลือกใช้กฎเกณฑ์ตามศาสนาของตนเองแทนฎหมายอิสลาม 
 
“เราจะต้องเข้าใจธรรมชาติของกฎหมายอิสลาม มีคนเข้าใจผิดจำนวนมาก กลัวไปว่า เขาจะถูกตัดมือหรืออเปล่า หรือจะถูกกีดกันทางเชื้อชาติ ผมตอบเลยว่า ไม่แน่นอน ธรรมชาติของกฎหมายอิสลามนั้นคือ การป้องกัน มากกว่าการลงโทษ ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมจังไม่ควรกังวลไป” 
 
อาบูฮาฟิซยังกล่าวถึงกลุ่ม PerMas ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทำงานกับภาคประชาสังคมโดยสันติวิธีในพื้นที่สามจังหวัดว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการแต่อย่างใด แต่ PerMas เป็นองค์กรที่ใกล้ชิดประชาชน เข้าใจความอึดอัดใจของประชาชนที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ทำงานโดยใช้สันติวิธีตามวิถีประชาธิปไตย
 
อาบูฮาฟิซ ส่งท้ายว่า กลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ ไม่ใช่ “โจรใต้” อย่างที่สื่อเรียกขานกัน และไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่ขบวนการแค่ต้องการ “สิ่งที่เคยเป็นของเรากลับคืนมา พวกเราเป็นนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพ” 
 
การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และอธิปไตยของชาวมุสลิมมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินมาตั้งแต่มีการผนวกอาณาจักรปาตานีเข้ากับสยามตั้งแต่ปี 2445 การผนวกดินแดง หรือที่ฝ่ายขบวนการเรียกว่า การยึดเป็นอาณานิคม ตามมาด้วยนโยบายกลืนชาติและอัตลักษณ์ของชาวมลายู และการปราบและอุ้มหายผู้นำชาวมลายูที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียม 
  
อนึ่ง ความรุนแรงระลอกล่าสุดปะทุขึ้นในปี 2547 ตามมาด้วยการปราบปรามความรุนแรงด้วยความรุนแรงของรัฐไทย ทำให้เกิดการร้องเรียนเรื่องการอุ้มหายและซ้อมทหารโดยรัฐเป็นจำนวนมาก จากสถิติของ Deep South Watch พบว่า 11 ปีที่ผ่านมานี้มีเหตุการณ์ความรุนแรงมากกว่า 14,700 เหตุ และมีคนตายไปกว่า 6,300 คน หรืออาจกล่าวได้ว่า มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดึ้น 3.6 เหตุการณ์ต่อวันเลยทีเดียว อย่างไก็ตาม ที่ผ่านมาไม่เคยมีกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบกลุ่มใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ หรือแถลงข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการ ทำให้เกิดภาวะกำกวม ไม่ชัดเจนเรื่อยมา 
 
 
คุณสามารถเลื่อนวิดิโอนี้เพื่อไปรับชมคำถามที่ต้องการ ตามจุดเวลาที่เขียนไว้ด้านหลัง (การสัมภาษณ์นี้ใช้ภาษาอังกฤษ)
 
1 คุณมองความรุนแรงใน 11 ปีที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง?  (0.29)

2 คุณคิดอย่างไรกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐไทย ต่อประชาชนในสามจังหวัด (1.30)

3 ภาคประชาสังคมได้เรียกร้องให้ขบวนการหยุดการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน ฝ่ายขบวนการได้ทำตามข้อเรียกร้องนี้หรือไม่ (4.30)

4 ดันแคน แมคคาร์โก นักวิชาการชาวอังกฤษ ได้เขียนถึงโครงสร้างของขบวนการก่อความไม่สงบไว้ในหนังสือ “ฉีกแผ่นดิน) ว่า มีลักษณะแบบ “เครือข่ายไร้แกน” คุณเห็นด้วยกับการวิเคราะห์นี้หรือไม่ (7.30)

5 ทำไมขบวนการถึงไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบเมื่อก่อเหตุความรุนแรง (11.25)

6 อะไรคือข้อผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของรัฐไทยต่อประชาชนในปาตานี (12.10)

7 ขบวนการมียุทธศาสตร์อย่างไร ในการหาแนวร่วมและการสนับสนุนจากประชาชน? (16.00)

8 คุณยังยืนยันในข้อเรียกร้อง ขอเอกราชหรือไม่ (18.41)

9 ขบวนการได้ฟังเสียงของประชาชนมากน้อยแค่ไหน (20.00)    

10 กลุ่มนักศึกษาเปอร์มัสถูกกล่าวหาว่า เป็นปีกหนึ่งของขบวนการ ข้อกล่าวหานี้เป็นจริงหรือไม่ (21.37)

11 อะไรคือ มาร่า ปาตานี (24.20)

12 ข้อเรียกร้องของมาร่า ปาตานี คืออะไร มันเหมือนแตกต่างจากข้อเสนอหาข้อทีเคยเสนอต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไหม (25.50)

13 ขบวนการมองรัฐบาลประยุทธ์ เป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของรัฐไทยในการเจรจาหรือ ในเมื่อประยุทธ์ขึ้นสู่อำนาจโดยการรัฐประหาร (32.29)

14 มีการพูดคุยระหว่างมาร่า ปาตานี กับตัวแทนรัฐไทยเกิดขึ้นกี่ครั้งแล้ว คุยอะไรกันไปบ้าง (34.54)

15 ถ้าปาตานีได้สิทธิในการปกครองตนเอง กฎหมายอิสลามจะถูกนำมาใช้หรือไม่ (40.40)

16 นอกจากชาวมลายูแล้ว ยังมีชาวจีน และชาวไทย อาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ทางขบวนการมีจุดยืนอย่างไรต่อความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่นี้ (43.33)

17 พลเอกประยุทธ์มีทีท่าอนุรักษ์นิยม และชาตินิยมอย่างสูง ต่อนโยบายระดับประเทศ แต่สำหรับประเด็นสามจังหวัดแล้ว คุณคิดว่าพลเอกประยุทธ์เป็นอย่างไร (44.12)

18 คุณรู้สึกอย่างไรกับการเมืองส่วนกลาง ปัญหาการเมืองเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสันติภาพหรือไม่ (48.25)

19 คุณคิดอย่างไรกับการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักในประเด็นสามจังหวัด  (50.18)

มูฮำหมัด ดือราแม จาก โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ช่วยเหลือในการรายงานข่าวชิ้นนี้และบันทึกภาพ

เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา ช่วยเหลือในการเรียบเรียงบทสัมภาษณ์

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

' ก ะ ล า นี เ ซี ย ' : ( The land of Boycott )

0
0

 

 

..น ค ร รั ฐ ขี้ ข้ า ' กะ ลา นี เซีย '
โลกอื่นเพลียหัวหาคว้ายาหม่อง
อึ้งทึ่งความเลิศลิบเป็นทิพย์ทอง
เทียบเผ่าผองอื่นใดหาไม่มี

จองหองนึก โลกกะลาแห่งข้าทาส
คือกะลามหาอำนาจ โน่น นั่น นี่
หนึ่ง ณ ความงดงาม ณ ความดี
หนึ่งศักดิ์ศรี เกียรติกะลา เหนืออารยัน

หนึ่งไม่ผิด ทำอะไร ก็ไม่ผิด
โลกต่างหากดัดจริต คิดปิดกั้น
ปลุกมหาข้าทาสหมายฟาดฟัน
เร่งแบนมัน บอยค็อตต์มัน แซงชั่น ครบ

... เถิดลุกตื่นลืมตา ' ก ะ ล า นี เ ซี ย '
อย่าแต่เลียขาแข้ง ประแจงประจบ
แสงนอกครอบกรอบกะลา หาให้พบ
หั ด เ ค า ร พ เ สี ย ง อื่ น . . ตื่ น ต า แ ล !!

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: อัศวินกระป๋องขี่ม้าขาเป๋

0
0

 

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวเปรียบเทียบสถานะนายกรัฐมนตรีเผด็จการของตนว่า “ไม่ใช่อัศวินม้าขาว แต่เป็นม้าขาเป๋ เพราะมีปัญหาประเดประดังเข้ามา วิ่งขาจะเปื่อยอยู่แล้ว แต่ทุกคนต้องช่วยสร้างความเข้าใจ อย่าคิดว่าใช้มาตรา 44 ได้หมดทุกเรื่อง”

การแสดงท่าทีในลักษณะเช่นนี้ เกิดขึ้นในขณะที่มีกระแสข่าวอย่างกว้างขวางว่า จะมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีภายในระยะเวลาไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้ ข่าวลือนี้ชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่คณะ คสช. ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยมีมาตราที่ 3 ให้ยกเลิกข้อความเดิมในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เรื่องบุคคลต้องห้ามที่จะดำรงตำแหน่งทางเมือง ที่ใช้ว่า เป็นบุคคลที่ “(4)เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” และใช้ข้อความแทน คือ  “(4) ไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” ผลกระทบโดยตรงของการเปลี่ยนข้อความเช่นนี้ คือทำให้บุคคลที่เคยต้องถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง คือกลุ่มบ้านเลขที่ 111 และ 109 ที่พ้นระยะเวลาต้องห้าม 5 ปี สามารถรับตำแหน่งทางการเมืองได้ หรือที่ตรงกว่านั้นคือ การเปิดทางให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีได้นั่นเอง

ปัญหาที่นำมาสู่กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้คือ ความล้มเหลวในการจัดการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในระยะรอบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่เสื่อมทรุด ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญคือการส่งออกก็ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจการท่องเที่ยวก็ยังไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ต้องปรับลดตัวเลขประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะการส่งออกติดลบ 1.5 % การใช้จ่ายของประชาชนทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ก็มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก ตัวเลขการลงทุนก็มีแนวโน้มลดลง บริษัทหลายแห่งต้องปิดกิจการ ที่เป็นข่าวใหญ่ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ก็คือ การที่บริษัทซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จังหวัดนครราชสีมา ปิดกิจการแล้วเลิกจ้างพนักงานรวมกว่า 1,800 คน ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก

ในภาวะเช่นนี้เอง นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับตามข่าวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2558 นี้จะออกมาแย่ยิ่งกว่าครึ่งปีแรก โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและปัญหาภัยแล้งในประเทศที่เกิดขึ้นซ้ำเติม ซึ่งจากคำกล่าวของรัฐมนตรีคลังเช่นนี้ หมายความว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้นี้เลย แนวโน้มเช่นนี้ ยังได้รับการยืนยันโดยนายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ เพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะจีน ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างของการส่งออกไทย รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท ยิ่งทำให้การส่งออกของไทยมีแนวโน้มต่ำลง ความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำ และตัวเลขการใช้จ่ายภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

ความตกต่ำทางเศรษฐกิจนี้ส่งผลต่อรายได้ภาครัฐ เพราะกรมสรรพากรได้ออกมาระบุว่า ยอดการจัดเก็บภาษีในในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ต่ำกว่าเป้าหมายถึงกว่า 56,000 ล้านบาท และถ้าจะอธิบายว่า นี่เป็นจุดต่ำสุด หลังจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจจะดีขึ้น นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้อธิบายดับความฝันเช่นนั้น โดยกล่าวคาดการณ์ว่า ตัวเลขการจัดเก็บภาษีทั้งปีประมาณน่าจะต่ำกว่าเป้าหมายมากถึง 160,000 ล้านบาท โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคคาดว่าจะลดลงถึง 40,000 ล้านบาท และผลจากการลดลงของราคาน้ำมันที่จะทำให้การจัดเก็บรายได้จากการนำเข้าน้ำมันหายไปอีก 60,000 หมื่นล้านบาท และการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คาดว่าจะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย  10 %

ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งมาจากการใช้จ่ายเงินในภาคเกษตรลดลงอย่างมาก จากการที่รัฐบาล คสช.ยกเลิกนโยบายอุดหนุนการเกษตร โดยเฉพาะนโยบายด้านข้าวที่ไม่มีทั้งโครงการประกันราคาและจำนำข้าว ทำให้ชาวนาต้องเผชิญกับการตกต่ำของราคาข้าวโดยตรง และยังซ้ำเติมด้วยการที่รัฐบาลประกาศห้ามทำนาเพราะภัยแล้ง ส่วนยางพาราสิ่งเป็นสินค้าหลักในทางเกษตรอีกชนิดก็มีราคาที่ตกต่ำอย่างหนัก โดยไม่เห็นแนวโน้มที่จะดีขึ้น เมื่อรายได้ภาคเกษตรตกต่ำลงก็ส่งผลกระทบให้เกิดการลดลงของการหมุนเวียนของเงิน ดัชนีภาวะเศรษฐกิจภาคครัวเรือนในประเทศจึงตกต่ำอย่างหนัก หนี้สินของประชาชนโดยรวมก็สูงขึ้นอย่างมาก และไม่มีปัจจัยบวกมีมากเพียงพอที่จะทำให้ตัวเลขดีขึ้น

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ล้มเหลวนี้ ทำให้กระแสที่อธิบายกันว่า เป็นเพราะทีมบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นำทีมโดยรองนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่มีฝีมือ จึงบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว ทำให้นายกรัฐมนตรีต้อง “ขี่ม้าขาเป๋” ดังนั้นถ้ามีการเปลี่ยนม้า หรือปรับเอาคนใหม่ คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตผู้นำทีมเศรษฐกิจสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยแสดงฝีมือมาแล้ว และขณะนี้ก็ยังช่วยงานคณะทหารอยู่ และถ้ามีผู้ช่วยที่เข้มแข็ง เช่น นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็น่าจะมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้นได้ ซึ่งข่าวการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจนั้น กระทบถึงหลายรายชื่อว่าจะถูกปรับออก เช่น นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น แต่ไม่มีข่าวว่าจะกระทบถึงรัฐมนตรีฝ่ายทหาร คือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ พล.อ.อ.ประจิณ จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการคมนาคม

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ปัญหาความล้มเหลวทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่มาจากความล้มเหลวของทีมงานรัฐมนตรีทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่นั้น ยังคงเป็นปัญหา เพราะต้องยอมรับว่า ภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่เป็นเผด็จการทหาร ก็เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งในการปรับตัวทางเศรษฐกิจ เพราะเผด็จการทหารนั้นไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทำให้การเปิดเจรจาทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าตะวันตกนั้นไม่สามารถทำได้ การลงทุนชะงักเพราะนักลงทุนต่างประเทศไม่มั่นใจในเสถียรภาพของเผด็จการ การท่องเที่ยวตกต่ำเพราะนักท่องเที่ยวชั้นดีจากโลกตะวันตกจำนวนมาก ไม่ท่องเที่ยวในประเทศที่ไม่มีหลักประกัน ดังนั้น ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศส่วนหนึ่งจึงมาจากปัญหาภาพลักษณ์ทางการเมืองของประเทศที่ล้าหลังสวนกระแส แล้วทำให้การขยับตัวแก้ไขเศรษฐกิจเป็นไปได้ลำบาก

แต่ที่มากกว่านั้น คือ ผู้ที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารภาคเศรษฐกิจเลยตัวจริง คือ นายกรัฐมนตรี หรือถ้าจะอธิบายให้ชัดเจนคือ นอกจากความสามารถในการพูดได้อย่างยืดยาวไม่มีประเด็นแล้ว ก็ยังไม่ได้เห็นเลยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความสามารถพิเศษอะไรในการบริหารประเทศ แผนการรูปธรรมที่จะนำการปรับปรุงเศรษฐกิจก็ยังไม่เห็น โครงการที่จะช่วยยกระดับรายได้ของประชาชน ให้ประชาชนไทยอยู่ดีกินดี มีสวัสดิการที่ชัดเจนก็ยังไม่เคยมี

ถ้าปัญหาเป็นเช่นนี้ คงไม่ใช้เป็นเรื่องของม้าขาเป๋เสียแล้ว แต่เป็นเรื่องของจอกกี้ที่ขี่ม้าไม่เป็น เผด็จการทหารจึงไม่ได้เป็นอัศวินม้าขาว แต่เป็นอัศวินกระป๋องที่ทำอะไรไม่ได้ ประเทศไทยจึงอยู่ในภาวะเช่นนี้

 


เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข ฉบับ 524 วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2558

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กระจายอำนาจ...คำตอบสุดท้ายของการแก้วิกฤติน้ำ

0
0

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ประเด็นข่าวร้อนแรงที่ยึดพื้นที่สื่อได้มากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นข่าวความเดือดร้อนของชาวนาอันเนื่องมาจากปัญหาฝนแล้งและน้ำชลประทานมีไม่เพียงพอ วิกฤติฝนแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูฝน เกิดจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่บริเวณแนวเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิก ข้อมูลของกรมชลประทานและกรมอุตนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ (พฤษภาคม-มิถุนายน 2558) ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในเขตภาคเหนือและภาคกลางมีปริมาณน้อยที่สุดในรอบ 44 ปี นอกจากนี้ ปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน มีปริมาณน้อยต่อเนื่องกันถึง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2558

เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวในช่วงต้นฤดูฝนส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทานของ 22 จังหวัดในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง (ประมาณ 6 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ 8.3 ล้านไร่) ความเสียหายส่วนใหญ่ (1.42 ล้านไร่) จึงอยู่ในในภาคกลาง เพราะนอกจากปัญหาฝนแล้งแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ 4 แห่ง (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ก็อยู่ในระดับต่ำถึงขั้นวิกฤติ สาเหตุที่ความเสียหายกระจุกตัวในภาคกลาง เพราะการตัดสินใจลงมือเพาะปลูกของเกษตรกรภาคกลางจะไม่รอให้ฝนตกเหมือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นเขตนาน้ำฝน เพราะเกษตรกรภาคกลางสามารถพึ่งพาชลประทานได้ แต่โชคร้ายที่ปีนี้มีทั้งปัญหาฝนแล้งและปัญหาน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอ

ผลกระทบจากน้ำแล้ง ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มเกษตรกรบริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางเท่านั้น แต่ลุกลามสู่ภาคอุปโภคบริโภคในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ดังกล่าวประสบกับปัญหาน้ำเค็มรุก เนื่องจากปริมาณน้ำจืดที่ปล่อยมาไล่น้ำเค็มมีไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ไม่มีน้ำสำหรับผลิตน้ำประปา ต้องประกาศงดจ่ายน้ำ อย่างไรก็ตาม วิกฤติน้ำแล้งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นเพียงการส่ง “สัญญาณเตือน” เพื่อบอกกับทุกฝ่ายว่า หากทุกฝ่ายยังเพิกเฉย สภาพการณ์ในอนาคตและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอาจเลวร้ายกว่านี้เป็นเท่าทวีคูณ เนื่องจากในอนาคต สภาพภูมิอากาศจะยิ่งมีความแปรปรวนสูง จำนวนวันที่ฝนตกติดต่อกันจะลดลง แต่จะมีฝนตกหนักมากขึ้น  อุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น วิกฤติน้ำแล้งและน้ำท่วมจะเกิดบ่อยครั้งขึ้น ทั้งยังมีระดับความรุนแรงมากขึ้นด้วย

รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำชลประทานไม่เพียงพอมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การประกาศขอความร่วมมือให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวในฤดูแล้งที่ผ่านมา และหลังจากระดับน้ำในเขื่อนหลัก 4 เขื่อน (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ลดต่ำผิดปกติ ก็มีการขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดสูบน้ำ เพื่อสำรองไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคก่อน นอกจากนี้ยังประกาศการปรับลดการระบายน้ำใน 4 เขื่อนหลัก  และเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 รัฐบาลได้จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ขึ้นครั้งแรกหลังจากที่ได้แต่งตั้งใหม่ สาระสำคัญของการประชุมคือการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยได้มีการกำหนดแผนเร่งด่วนในการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำแล้ง เช่น จัดงบประมาณจ้างงาน ขุดบ่อบาดาล ฯลฯ และมีการวางยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ในช่วงระยะเวลา 10 ปี

เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลตอบสนองทันท่วงทีต่อวิกฤติฝนแล้ง และไม่ละเลยการแก้ปัญหาในระยะยาวที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบอย่างยั่งยืน ข้อเสนอเพิ่มเติมที่ผู้เขียนอยากให้รัฐบาลดำเนินการสำหรับการแก้ปัญหา ในระยะเร่งด่วน คือ รัฐบาลควรเร่งการจ่ายเงินชดเชยตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง โดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA ในการคำนวณความเสียหาย “เป็นรายตำบล” จากนั้นให้สภาตำบลบริหารการชดเชยตามวงเงินและหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด ส่วนในระยะกลาง รัฐบาลควรเร่งปรับปรุงปัญหาประสิทธิผลการบำรุงรักษาคูคลองของทั้งหน่วยงานราชการส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการปรับโครงสร้างระบบชลประทานให้ใช้ประโยชน์ทั้งในยามแล้งและรับมือกับน้ำท่วมได้ควบคู่กัน

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือการเร่งปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ โดยการกระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ เพื่อความเป็นธรรมและความยั่งยืนในการใช้น้ำ

ทำไมต้องกระจายอำนาจ? การแก้ปัญหาเรื่องน้ำแล้งเกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจอย่างไร?...

ปัญหาน้ำแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2558 นอกจากสาเหตุทางธรรมชาติที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ยังเกิดจากการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผิดพลาด 2 ประการ คือ 1) ความกลัวน้ำท่วมของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์การบริหารน้ำในเขื่อนและเร่งระบายน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ตั้งแต่ต้นปี 2555 มากเกินควร 2) นโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดของรัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง ปัจจัยข้างต้นทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมีมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ (lower rule curve) ในบางเดือนและในช่วงต้นฤดูฝนปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 44 ปี ติดต่อกัน 3 ปี

นับวัน การขาดแคลนในลุ่มเจ้าพระยาจะรุนแรงขึ้น เพราะขณะที่น้ำผิวดินมีจำนวนจำกัด ความต้องการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงต้องหันมาวิเคราะห์จุดอ่อนของระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ผ่านมา...การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีลักษณะที่เรียกว่า “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำหรือภาคอุตสาหกรรมจะอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ ยามที่กรมชลประทานประกาศว่าน้ำชลประทานไม่เพียงพอ เกษตรกรสามารถวิ่งเต้นกับนักการเมืองได้ ทำให้เกษตรกรไม่เชื่อประกาศดังกล่าว  และรัฐไม่สามารถควบคุมหรือตรวจจับการลักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบเช่นนี้ผลิตซ้ำซึ่งความไม่เป็นธรรม ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำด้วยกันเอง และระหว่างผู้ใช้น้ำกับรัฐ ระบบการแบ่งสรรทรัพยากรน้ำข้างต้นเป็นผลจากการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบรวมศูนย์การจัดการโดยรัฐไทย (centralization) ทำให้ประสิทธิภาพการใช้น้ำชลประทานของประเทศไทยต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เกษตรกรเกือบทั้งหมดยังใช้น้ำฟุ่มเฟือย เพราะมองว่าน้ำที่ได้รับนั้นกรมชลประทาน “ประทาน” ให้ฟรี นอกจากนี้ ภาระการบำรุงรักษาคูคลองส่วนใหญ่ยังเป็นของรัฐ ซึ่งในท้ายที่สุดก็คือภาระของผู้เสียภาษีทั้งประเทศ

รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องปรับวิธีคิดและวิถีปฏิบัติในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จากการรวมศูนย์การบริหารจัดการทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ เปลี่ยนเป็นการบริหารจัดการที่รวมศูนย์เฉพาะในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤติ ขณะที่ในภาวะปกติควรที่จะกระจายอำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเหมือนในประเทศที่มีระบบการจัดการน้ำที่ดีมีธรรมาภิบาลโดยต้องเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกประเภท จากนั้นจะต้องพยายามผลักดันให้กลุ่มผู้ใช้น้ำรวมตัวกันเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำ และในระยะยาวกลุ่มผู้ใช้น้ำควรเป็นผู้บริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง โดยมีหน่วยงานรัฐให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและด้านวิชาการ การวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่สำรวจความคิดเห็นและสัมภาษณ์เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำกว่า 100 กลุ่มพบว่า เกษตรกรผู้ใช้น้ำส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า การกระจายอำนาจการจัดสรรน้ำในยามปกติ โดยการตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำชลประทานในพื้นที่ของตนเองนั้น ทำให้เกิดผลดี คือ 1) ลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำประเภทต่างๆ (เกษตรกรรม,อุตสาหกรรม,ประปา) และลดความขัดแย้งระหว่างผู้ที่อยู่ต้นน้ำและปลายน้ำ  2) ผู้ใช้น้ำได้รับน้ำสม่ำเสมอมากขึ้น
3) ผู้ใช้น้ำรู้สึกหวงแหนน้ำ ทำให้ใช้น้ำอย่างประหยัดมากขึ้น ในช่วงที่ฝนตกก็จะแจ้งไปยังกรมชลประทานให้ปิดประตูระบายน้ำ ในช่วงแล้ง ก็มีการตกลงกันภายในกลุ่มว่าจะชะลอการปลูกหรือไม่ปลูก โดยไม่เรียกร้องค่าเสียหาย ผลในด้านดีเหล่านี้จะส่งผลให้ประเทศไทยใช้น้ำชลประทานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นธรรม

กลุ่มผู้ใช้น้ำเหล่านี้เป็นกลุ่มที่กรมชลประทานก่อตั้งขึ้น แต่ขณะเดียวกัน กรมทรัพยากรน้ำได้อาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำขึ้น 25 ชุด ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2540 แต่จนบัดนี้ก็ปรากฏว่าคณะกรรมการลุ่มน้ำไม่มีบทบาทใดๆ เหตุผลสำคัญเพราะกลุ่มผู้ใช้น้ำที่กรมชลประทานก่อตั้ง หรือกลุ่มเหมืองฝายที่ราษฎรในภาคเหนือก่อตั้งขึ้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ แม้กลุ่มผู้ใช้น้ำจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล แต่ก็เป็นกลุ่มที่ไม่มีกฎหมายรองรับและไม่มีงบประมาณสนับสนุน ยิ่งกว่านั้น ยังไม่เคยมีการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำที่อยู่คนละจังหวัด แต่ใช้ลุ่มน้ำเดียวกัน การไม่มีความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำระหว่างจังหวัดคือข้อต่อสำคัญที่ขาดหายไประหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เป็นฐานรากกับคณะกรรมการลุ่มน้ำที่เป็นองค์กรระดับชาติ

ร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำแห่งชาติจึงควรสร้างกลไกสนับสนุนให้กลุ่มผู้ใช้น้ำในจังหวัดต่างๆที่อยู่บนลุ่มน้ำเดียวกันให้ร่วมมือกันแก้ปัญหาการจัดการน้ำทั้งปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมและน้ำเสีย รวมทั้งให้คณะกรรมการลุ่มน้ำมีอำนาจทางกฎหมายและสามารถระดมทุนเพื่อใช้ในการจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กระจก 6 ด้าน สะท้อนภาพ ‘มหาวิทยาลัยราชภัฏ’ กับ ‘ธนาคารแห่งหนึ่ง’

0
0

เมื่อคนทำงานธนาคารเขียนบทความสะท้อนภาพ ‘มหาวิทยาลัยราชภัฏ’ กับ ‘ธนาคารแห่งหนึ่ง’ ชี้ไม่ว่าจะจบจากสถาบันไหนก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เช่นกัน หากคนทำงานออฟฟิศรู้จักหนักเอาเบาสู้และพัฒนาตนเอง

เมื่อไม่นานมานี้เราคงได้ยินข่าวดังในเรื่อง ธนาคารแห่งหนึ่งประกาศรับพนักงานตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินฝึกหัด และกำหนดคุณสมบัติเฉพาะเจาะจง ด้วยเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75 และต้องเรียนจบจากสถาบันที่มีชื่อเสียง 14 แห่งของประเทศตามที่กำหนดซึ่งทำให้ทางกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏออกมาตอบโต้โดยการงดทำธุรกรรมทุกประเภทกับทางธนาคารตามที่เป็นข่าว ซึ่งทางธนาคารได้ออกมาชี้แจงว่าเกิดการผิดพลาดจากการสื่อสารเนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่ง ที่มีการเปิดสอนเฉพาะบางมหาวิทยาลัยเท่านั้น ประเด็นในเรื่องนี้ทำให้เกิดเรื่องราวใหญ่โตในโลกสื่ออยู่หลายวัน นำมาซึ่งบทวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มากมาย และสะท้อนให้สังคมได้ทบทวนอะไรได้อีกหลายแง่มุม

 

สะท้อนภาพที่ 1: ทำไมราชภัฏต้องดราม่าแรง แถมยังปลุกกระแสสังคมได้

เป็นที่น่าสนใจว่า อะไรที่ทำให้ข่าวแบบนี้ออกมาแล้วกลายเป็นเรื่องกระทบความรู้สึกของคนและ กลายเป็นประเด็นร้อนของกลุ่มคนจำนวนมากได้

ข้อมูลจาก www.info.mua.go.thเราพบกว่า

[1] นักศึกษาร้อยละ 40 จาก 1.8 คนทั่วประเทศ ศึกษาอยู่ในสถานบันราชภัฏและราชมงคล

[2] เด็กราชภัฏส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ไม่มีรายได้และครอบครัวที่รายได้ต่ำ

ดังนั้นประเด็นนี้ไปสะกิดใจของชนชั้นก้อนใหญ่ที่มีอยู่ในระบบการศึกษาของไทย มันกระทบความรู้สึกด้อยทางชนชั้น และการได้รับความเป็นธรรม รวมถึงการเสียโอกาสได้เลื่อนชนชั้นในสังคม มันเหมือนประกาศในสังคมรู้ว่า คุณไม่ได้รับโอกาสได้รับงานดี ๆ ทำเหมือนเด็กที่จบในมหาลัยปิด เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ของรัฐอีกหลายแห่ง อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในระบบของสังคมไทย ที่ดูเหมือนว่าเสียงของพวกเขาไม่มีความหมาย

 

สะท้อนภาพที่ 2: เกรดเฉลี่ยดูไปก็เท่านั้น เกรดสถาบันสำคัญกว่านะ

ประเด็นการแบ่งเกรดของสถาบันการศึกษานั้นมีมาตั้งแต่นานแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ หากเกิดจากชื่อเสียงด้านคุณภาพาที่สะสมกันมา ทั้งผลงานของผู้บริหาร คณาจารย์บุคคลากร หรือแม้แต่ จากศิษย์เก่าที่ได้แสดงฝีไม้ลายมือในตามองค์กรต่าง ๆ จนเป็นที่ยอมรับ ว่ามีความรู้ความสามารถเด่นกว่าสถานบันอื่น  ซึ่งกรณีที่เป็นข่าวได้หยิบยกเรื่องนี้พร้อมมีเอกสารการแบ่งเกรดผู้สมัครจากสถาบันที่จบมาแสดงในข่าวด้วย ซึ่งทางไทยพาณิชย์ได้ชี้แจงแล้วว่า ไม่ได้เป็นเอกสารของทางธนาคาร หากแต่เราก็ไม่อาจมองข้ามประเด็นนี้ได้

คำถามต่อมาคือ "ทำไม HR จึงต้องนำเอาการแบ่งเกรดสถาบันมาใช้ในการรับสมัครงานล่ะ?"

ก็เพราะมันเป็นเครื่องมือที่ช่วยกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้มาสมัครงาน เนื่องจากปริมาณผู้สมัครมากขึ้น บัณฑิตจบใหม่ก็เพิ่มขึ้นทุกปี ทางองค์กรไม่สามารถเรียกสัมภาษณ์ได้ทุกคน ทุกอย่างมันมีต้นทุนในตัวมันเอง ผู้จ้างและผู้สมัครจะได้ไม่เสียเวลา ในเรื่องสอบ+สัมภาษณ์ อีกทั้งมันยังช่วยป้องกันการเล่นเส้นสายและระบบการฝากเบื้องต้นได้ระดับหนึ่ง

ทุก ๆ ปีจึงมีการแบ่งเกรดของสถาบันออกมาให้ได้เห็นเสมอ ๆ และไม่ได้มีเพียงระดับประเทศเท่านั้น แต่มีระดับโลกเลยทีเดียวประโยชน์ของมันจะช่วยให้สถาบันการศึกษาได้เร่งผลิตทั้งครูอาจารย์และบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน อีกทั้งหาโอกาสขยับขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างโอกาสในการศึกษาเพื่อขยายฐานวิชาการด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม และสิ่งเหล่านั้นก็จะนำพาสถาบันไปสู่เป้าหมายและมีชื่อเสียงยิ่งขึ้นไป

อีกประเด็นที่ถูกตั้งคำถามในโลก Social media ว่า "ถ้าจบมหาลัยชื่อดัง แต่เกรดเฉลี่ยสูงไม่เท่า เด็กม.ราชภัฏ ใครจะเก่งกว่ากัน"

เสียงส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปทางเด็กมหาลัยชื่อดัง จากประสบการณ์การที่ได้สัมผัสจากการทำงานร่วมกัน เด็กมหาวิทยาลัยดังจะมีกระบวนการทำงาน ความคิด มีประสิทธิภาพมากกว่า หรือแม้แต่ทักษะการใช้ภาษาที่แตกต่างจนเห็นได้ชัด จนมีข้อความจาก Social media ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ดังนี้ "เด็กราชภัฏที่เรียนจบทางด้านภาษามาได้ A หรือ B+ สอบโทอิค 500 ยังทำไม่ได้ ขณะที่เด็กจุฬาได้เกรด C+ ถึง B ได้คะแนนโทอิคสูงถึง 700-800 นี่ยังไม่รวมการสื่อสารจริงที่เด็กราชภัฏฟังพูดอ่านเขียนแทบไม่ได้ แต่เด็กจุฬาสามารถทำได้สบายๆ"           

แม้ว่าความเป็นจริง เราจะชี้วัดความสามารถของพนักงานจากทักษะและผลงาน แต่สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ตอนสัมภาษณ์ดูอะไรไม่ได้มากนักดังนั้นต้องยอมรับว่าการมองชื่อมหาวิทยาลัยมันช่วยการันตีได้เพียงระดับหนึ่ง แม้พิสูจน์แล้วว่า เด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยดังๆ หลายคนก็ไม่ได้มีศักยภาพตามที่องค์กรคาดหวังไว้

 

สะท้อนภาพที่ 3: ถูกกดด้วยเกรด

“เราเป็นคนหนึ่งที่น้อยใจมาก ถึงเราจะไม่ได้เรียนจบราชภัฏนะ เราจบเครือราชมงคล ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ได้ไปสมัครงานที่นึง ยังไม่ทันได้พิสูจน์ความสามารถในการทำงานจริงเลยค่ะ โดนกดเงินเดือนแบบสุดๆ  คือ ทราบเงินเดือนตั้งแต่วันสัมภาษณ์เป็นการสัมภาษณ์ที่รู้ผลเลยค่ะ เลยทำให้ทราบข้อมูลจากเพื่อน ๆ ที่ไปสัมภาษณ์ด้วยกัน ... T^T”

“คนที่จบ ม.รัฐดังๆ ไม่มีเกียรตินิยม แต่เงินเดือน 15k คนจบราชมงคลกับราชภัฏ มีเกียรตินิยม เงินเดือน 13k”

นี่คือตัวอย่างเสียงสะท้อนจากกระทู้ในเว็บชื่อดังที่แสดงให้เห็นได้ถึงการไม่ได้รับผลตอบแทนที่เท่าเทียมกันเนื่องจากเกรดของสถาบัน

เนื่องจากโอกาสทางการศึกษาของเด็ก ๆ แต่ละคนมีไม่เท่ากัน การที่พวกเค้าเลือกเรียนในสถาบันที่ไม่ได้เป็นอันดับต้นของประเทศไม่ได้หมายความว่า พวกเค้ามีความสามารถไม่พอ แต่เกิดจากหลายสาเหตุเช่น การได้ทุนตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน การเดินทาง หรือแม้แต่ติดปัญหาทางบ้าน ทำให้ไม่อาจเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยดัง ๆ ได้

 

สะท้อนภาพที่ 4: คุณมีสิทธิเลือก องค์กรมีสิทธิเรียก

หากเราจะเข้าสมัครงานสักตำแหน่ง เราก็ต้องพิจารณาองค์กรที่อยากร่วมงานด้วย อีกทั้งต้องเลือกตำแหน่งที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของเรา เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เสียโอกาส ในการรอเรียกสัมภาษณ์หรือไปสมัครงานที่อื่น

ในมุมกลับกัน องค์กรก็มีสิทธิที่จะเรียกหรือไม่เรียกคุณเข้าสัมภาษณ์ก็ได้ ยิ่งองค์กรมีชื่อเสียง มีความมั่นคง สวัสดิการดีเลิศ สถานที่ทำงานก็ดูหรูหรา แถมยังมีโอกาสก้าวหน้าสูง เค้ายิ่งมีเกณฑ์วัดผู้สมัครที่ซับซ้อนและละเอียดขึ้น ถ้าเป็นเด็กจบใหม่แน่นอนว่า คงไม่พ้นดูสถาบันเกรดเฉลี่ย ความสามารถทางภาษา รวมถึงทัศนคติตอนสัมภาษณ์ ถ้ากรณีมีประสบการณ์ก็ต้องนำมาแจกแจงดึงผลงานที่เคยทำเรื่องเด่น ๆ ออกมาสู่กับคู่แข่งคนอื่นเพื่อได้งานที่ตนเองหวังไว้

 

สะท้อนภาพที่ 5: ทบทวนตัวเอง &รัฐบาลช่วย

“ผมไม่ได้บอกว่ามหาวิทยาลัยไหนดีหรือไม่ดีแต่เมื่อธนาคารออกประกาศมาเช่นนั้นเราต้องมองย้อนกลับมาดูสถาบันของเราเองด้วยซึ่งมหาวิทยาลัยทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมหาวิยาลัยราชภัฏก็ตามจะต้องปรับปรุงพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัยอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เป็นที่ยอมรับและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุดซึ่งถ้ามหาวิทยาลัยพัฒนาตนเองเป็นที่โดดเด่นหน่วยงานหรือองค์กรแต่ละแห่งก็จะให้ความสำคัญและยอมรับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนั้นเข้าทำงานเอง”เป็นคำกล่าวของ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ (อ่านเพิ่มเติม: ย้อนเจ็บกรณีไทยพาณิชย์! รมว.ศึกษาฯให้ม.ราชภัฏกลับไปทบทวนตัวเอง)

เสียงทักท้วงที่ต้องเร่งพัฒนาด้านเป็นพิเศษ

[1] ด้านวิชาเฉพาะการใช้ภาษาต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องต่อการทำงาน เห็นได้ชัดว่า เด็กจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังนั้นเด็กจะมีความสามารถมากกว่า ทั้งในเรื่องพูดฟังอ่านและเขียนดังนั้น สถาบันอื่น ๆ ควรให้ความใส่ใจและกระตุ้นให้เด็กเกิดการพัฒนาทางด้านนี้ด้วย เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นในการต่อยอดของอาชีพการงานที่มั่นคง รวมถึงการยอมรับขององค์กรและสามารถสอบวัดผลได้คะแนนสูงไม่แพ้สถาบันอื่น

[2]ด้านสถาบันและวิชาการควรจัดวิชาการสอนให้ได้มาตรฐานเท่าเทียมกับสถาบันที่มีชื่อเสียงของประเทศ และวัดผลการเรียนรู้ให้ชัดเจนโปร่งใส เพื่อจะได้เคลียร์เรื่องมาตรฐานการศึกษาว่าแต่ละที่เรียนไม่เหมือนกัน และการวัดผลอ่อน-เข้ม ไม่เท่ากัน หรือไม่มีคุณภาพ

[3] ด้านคณาจารย์และบุคคลากรไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาที่ติดอันดับ ถึงสอนนักศึกษาให้เก่งและเป็นที่ต้องการของตลาดได้หากแต่คณาจารย์ทุกคนที่มีจิตวิญญาณที่พร้อมถ่ายทอดความรู้ จะต้องสั่งสอนและพัฒนาลูกศิษย์ให้มีสามารถประกอบวิชาชีพ เพื่อนำตัวเองและสังคมให้อยู่รอดได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพและสิ่งเหล่านี้จะนำชื่อเสียงกลับมาสู่ตัวอาจารย์และสถาบันที่พวกเค้าเรียนจบมานั่นเอง

คุณรู้หรือไม่? แต่ละปีรัฐบาลมีงบให้กับสถาบันการศึกษาด้วยนะ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า จากงบประมาณแผ่นดินในปี 2558 กระทรวงศึกษาได้รับงบประมาณไปถึง 502,245.5  ล้านบาท โดยมหาวิทยาลัยที่ได้งบประมาณมากที่สุดได้แก่  มหิดล >เชียงใหม่>จุฬาฯ >สงขลา แต่สถาบันราชภัฏซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนักศึกษาผู้มีฐานะยากจน กลับไม่ติด 1-30 อันดับแรกด้วยซ้ำ  อันนี้ทำให้ภาครัฐต้องกลับมาทบทวนเรื่องการกระจายงบประมาณเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสทางทุนทรัพย์ให้มากกว่านี้

                   

สะท้อนภาพที่ 6: การบริหารวิกฤตขององค์กรขนาดใหญ่

ขึ้นชื่อว่าเป็นองค์กรขนาดใหญ่แล้ว การกระทำล้วนมีผลกับ action ของคนกลุ่มที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวในการแก้ปัญหาอยู่เสมอแน่นอนว่าอาจมีลูกค้าคุณอยู่ในคนกลุ่มนั้นด้วยเป็นแน่ แถมยังมีผลอย่างมากกับการได้หรือเสียภาพลักษณ์และความเชื่อถือที่สะสมมาเป็นเวลานาน โชคดีที่ธนาคารแห่งนั้นฝ่ายผู้บริหารแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่พร้อมแก้ไขปัญหาและการบริหารงานในช่วงภาวะที่เกิดวิกฤตได้อย่างดี จากความพยายามต่าง ๆ เบื้องต้นดังนี้

[1] ฝ่ายบริหารของธนาคารรีบออกมาขอโทษทางมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ

[2] ให้ความร่วมมือในการประชุมพร้อมแก้ไขปัญหา เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการรับสมัครงาน

[3] ออกมาชี้แจงเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เอกสารการจัดเกรดมหาวิทยาลัย, ข้อมูลการศึกษาของพนักงานในธนาคารเองว่ามีผู้ที่เรียนจบมาจากสถานบันใดบ้างและมีเท่าไหร่ รวมทั้งยืนยันการรับนักศึกษาทุกสถาบันโดยไม่มีการปิดกั้น

ซึ่งการกระทำเหล่านี้ ทำให้ทุกฝ่ายตกลงกันได้ และคลายปัญหาในข้างต้นได้โดยราบรื่น นอกจากจะบอกถึงจิตสำนึกที่องค์กรมีต่อเสียงโวยของลูกค้า การแก้ปัญหาและออกมาแสดงความรับผิดชอบของธนาคารไทยพาณิชย์ อาจสร้างชื่อเสียงให้กับทางธนาคารโดยปริยาย ทั้ง ๆ ที่รู้กันว่าธนาคารมีสิทธิกำหนดคุณสมบัติของลูกจ้างตามที่ต้องการและเป็นสิทธิโดยชอบธรรม

กรณีธนาคารชื่อดังแห่งนั้นกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทำให้สังคมได้หันมามองระบบการศึกษาไทยมากขึ้น ... แต่มันจริงหรือ?อาจเป็นเพียงแค่ไฟลามทุ่ง จากนั้นก็เข้าสู่ภาวะการทำมาหากินของสถาบันการศึกษาตามปกติ เพราะปัจจุบันเมื่อ 'งานบริหาร' มีน้ำหนักมากกว่า 'งานการศึกษา' อีกทั้งสื่อต่าง ๆ ที่คอยดึงดูดเด็ก เทคโนโลยีที่ช่วยให้ไม่ต้องเข้าเรียนจึงทำให้ไม่ต้องพบครูอาจารย์ และโลกโซเชียลที่ทำให้เด็กมีสมาธิสั้นลงทุกทีทำให้งานสอนทั้งวิชาการและพัฒนาความสามารถยิ่งยากขึ้นไปอีก ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของทางสถาบันทั้งสิ้น

ในส่วนของบัญฑิตเอง เราต้องรู้จักรักและภูมิใจในตัวเองก่อน รู้จักแข่งขันกับตัวเอง พัฒนาจุดเด่นเสริมจุดด้อย โดยเฉพาะเรื่องภาษางานหนักเอาเบาสู้ สะสมประสบการณ์  จงเข้าใจว่าความสำเร็จล้วนต้องอาศัยเวลาและความพยายาม การออกมาโทษชะตากรรมนั้น ไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้นดังนั้นไม่ว่าเราจะจบจากสถาบันไหน ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฉันทนาออฟฟิศ เป็นนามปากกาของพนักงานคอปกขาวในอุตสาหกรรมการเงิน ที่มีความสนใจต่อประเด็นคุณภาพชีวิตคนทำงาน และกำลังเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในสถานประกอบการที่เธอทำงานอยู่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กอ.รมน. สรุปยอดจับกุมลักลอบตัดไม้ ก.ค. 58 รวมพื้นที่12,015 ไร่ 3 งาน 97 ตารางวา

0
0

31 ก.ค. 2558 สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบติดตามจับกุมการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าของหน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถดำเนินการ โดยในเดือนกรกฎาคม 2558 สรุปการมีคดีการลักลอบตัดไม้ 96 คดี ผู้ต้องหา 65 คน, ไม้ของกลาง (พะยูง, สัก, กระยาเลย) รวม 2,270 ท่อน/เหลี่ยม เลื่อยโซ่ยนต์ 30 ปื้น รถยนต์ 19 คัน คดีการบุกรุก 71 คดี ผู้ต้องหา 7 คน รวมพื้นที่บุกรุก 12,015ไร่ 3 งาน 97 ตารางวา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดรายงานเรื่องร้องเรียนของลูกจ้างในรัฐสภาสหรัฐฯ

0
0

ในสหรัฐฯ แม้แต่หน่วยงานรัฐสภาเองก็ยังต้องมีการตรวจสอบเพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานในรัฐสภา โดยในรายงานประจำปีงบประมาณที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมาระบุถึงกรณีปัญหาด้านการรังแกและการเลือกปฏิบัติหลายกรณี รวมถึงการเรียกร้องให้กฎหมายคุ้มครองเพิ่มเติมกรณีที่มี "ผู้เปิดโปง" การกระทำผิดต่างๆ

31 ก.ค. 2558 สำนักข่าววอชิงตันโพสต์เปิดเผยรายงานจากสำนักงานตรวจสอบดูแลการปฏิบัติงาน (Office of Compliance) ของรัฐสภาสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุดในปีงบประมาณ 2557 คือ เรื่องการถูกคุกคามรังแกหรือมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เป็นมิตรของผู้ที่ทำงานในรัฐสภาสหรัฐฯ

รายงานฉบับดังกล่าวเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (30 ก.ค.) ระบุว่าในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการถูกคุกคามรังแกหรือสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เป็นมิตรมากที่สุด 48 กรณี จากคำร้องทั้งหมด 163 กรณีในส่วนของรายงานที่ระบุเกี่ยวกับ "การขอคำปรึกษาโดยเก็บเป็นความลับ" ซึ่งการขอคำปรึกษาดังกล่าวเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการหาทางออกเกี่ยวกับข้อพิพาทในที่ทำงาน นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนรองลงมาคือเรื่อง "การได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน" 29 กรณี

ในส่วนของรายงานเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวยังระบุถึงการร้องเรียนหรือขอคำปรึกษาในประเด็นอื่นๆ เช่นเรื่องการเลิกจ้างหรือไล่ออก เรื่องค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน เรื่องการได้รับค่าชดเชย รวมถึงเรื่องสภาพการจ้างงาน เป็นต้น

วอชิงตันโพสต์ระบุว่าว่าถึงแม้กลุ่มคนทำงานในรัฐสภาสหรัฐฯ จะมีประเด็นร้องเรียนเช่นเดียวกับลูกจ้างในที่ทำงานอื่นๆ แต่คนทำงานในรัฐสภาไม่ได้รับการคุ้มครองในแบบเดียวกับลูกจ้างในภาคเอกชนและในฝ่ายบริหารของรัฐบาลกลาง เช่นเรื่องการบังคับให้มีการติดประกาศเรื่องสิทธิในที่ทำงาน การบังคับให้มีการฝึกอบรมเรื่องการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ และการคุ้มครองลูกจ้างผู้เปิดโปงในกรณีที่เป็นการเปิดโปงเรื่องการกระทำผิดต่างๆ อย่างการฉ้อโกง การใช้อำนาจในทางที่ผิด หรือกรณีทำให้เกิดการสูญเสียงบประมาณ

ในรายงานยังระบุถึงกรณีที่ไม่ใช่ข้อพิพาทแต่เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติรวมแล้ว 236 กรณี มีกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพ เพศวิถี และการตั้งครรภ์ 60 กรณี และในเรื่องการเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติหรือสีผิว 55 กรณี

ถึงแม้ว่ากฎหมายว่าด้วยการตรวจสอบรัฐสภาสหรัฐฯ ที่ออกมาในปี 2538 จะระบุถึงเรื่องสภาพการจ้างงานเอาไว้ด้วยแต่ก็ยังมีช่องโหว่ ซึ่งสำนักงานตรวจสอบดูแลการปฏิบัติงานระบุให้มีการอุดช่องโหว่ด้วยการจัดให้มีโครงการฝึกอบรมเรื่องการต่อต้านการเลือกปฏิบัติและการต่อต้านการโต้ตอบเพื่อแก้แค้นในที่ทำงาน จัดให้มีการติดประกาศเรื่องสิทธิในที่ทำงาน และจัดให้มีการคุ้มครองผู้เปิดโปงในกรณีที่เป็นการเปิดโปงการกระทำละเมิดกฎหมาย ละเมิดกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับ การเปิดโปงการบริหารจัดการที่ไม่ถูกต้องอย่างร้ายแรง (gross mismanagement) การใช้งบประมาณอย่างสูญเปล่าในระดับร้ายแรง การใช้อำนาจในทางที่ผิด หรือการกระทำอันส่งผลอันตรายต่อสุขภาวะของประชาชนอย่างเจาะจงและมีนัยสำคัญ


เรียบเรียงจาก

Harassment and hostile work environment are major complaints of congressional employees, report says, Washington Post, 30-07-2015
http://www.washingtonpost.com/blogs/federal-eye/wp/2015/07/30/harassment-and-hostile-work-environment-are-major-complaints-of-congressional-employees-report-says

รายงานฉบับเต็ม
http://www.compliance.gov/wp-content/uploads/2015/07/OOC-FY2014-Annual-Report.pdf

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เร่งสรุปคดี 99 ศพ จ่อหมายจับมือยิงเอ็ม 79 อีก 1 คน

0
0
"พล.ต.ท.ศรีวราห์ "เผยเร่งสรุปการชุมนุมปี 53 คดี 99 ศพ จ่อหมายจับมือยิงเอ็ม 79 เพิ่มอีก 1 คน

 
31 ก.ค. 2558 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. เปิดเผยความคืบหน้าคดีชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ว่า เบื้องต้นคดีทั้งหมดสรุปแล้วเกี่ยวข้องกับการชุมนุมมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดจาก 99 ศพ เหลือ 89 ศพ ผู้บาดเจ็บ 26 ราย เป็นคดีที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำร่วมกับ บช.น.ทั้งหมด 51 คดี ทางคณะพนักงานสอบสวนสรุปแล้วเสร็จ 30 คดี ส่วนที่เหลือรอผลสรุปการตรวจสอบพยานหลักฐานเล็กน้อย คาดว่าจะพร้อมเตรียมสรุปแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนรายละเอียดทางคดีเพิ่มเติมให้สอบถามทางดีเอสไอ ซึ่งเป็นประธานคณะพนักงานสอบสวนต่อไป
 
ส่วนคดีที่ยังคงต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดแน่ชัดนั้น พล.ต.ท.ศรีวราห์ กล่าวว่า มีสำนวนคดีของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ที่ถูกยิงหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ใกล้สี่แยกคอกวัว ต้องมีการซักถามความเห็นไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น และทางการของประเทศญี่ปุ่น ให้สิ้นข้อสงสัยติดใจในทางคดี รวมถึงคดีอื่นๆ ก็พยายามเร่งสรุปสำนวนสอบปากคำพยานที่เกิดเหตุและเร่งรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังเตรียมขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหายิงเอ็ม 79 ไปยังบริเวณแฟลตตำรวจพื้นที่ สน.ลุมพินี ปี 2553 มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 1 ราย ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน
 
ขณะที่มีรายงานข่าวแจ้งว่า ชุดพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับคณะพนักงานสอบสวน บช.น. แบ่งออกเป็น 3 ชุด โดยชุดที่ 1 แบ่งตามพื้นที่บริเวณซอยรางน้ำ ดินแดง พญาไท จำนวน 21 ศพ ชุดที่ 2 แบ่งตามพื้นที่บริเวณ แยกคอกวัว ถนนดินสอ ถนนตะนาว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จำนวน 26 ศพ ชุดที่ 3 แบ่งตามพื้นที่บริเวณถนนพระราม 4 บ่อนไก่ ศาลาแดง จำนวน 36 ศพ ส่วนพื้นที่บริเวณวัดปทุมวนาราม จำนวน 6 ศพ ได้ทำสำนวนเสร็จสิ้นแล้ว โดยทางดีเอสไอส่งสำนวนให้อัยการแล้ว 10 ราย สำนวนทางดีเอสไอร่วมกับตำรวจอยู่ระหว่างการสรุปสำนวนเพื่อส่งให้อัยการ 23 ราย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ย้ำปรับเพดานค่าโดยสารแท็กซี่ ตจว. ต้องรอประกาศกระทรวงก่อน

0
0
กรมการขนส่งทางบก แจงการแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับรถแท็กซี่ เป็นเพียงการปรับเพดานอัตราค่าโดยสารเฉพาะรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนนอกเขต กทม. (ต่างจังหวัด ) เท่านั้น โดยยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีประกาศกระทรวงคมนาคม กำหนดอัตราที่ใช้จริงในแต่ละจังหวัด

 
31 ก.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายจิรุตม์ วิศาลจิตร  รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกเปิดเผยว่าตามที่กระทรวงคมนาคมได้มีการประกาศแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (รถแท็กซี่) นั้น เป็นเพียงการประกาศปรับเพดานอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนนอกเขตกรุงเทพมหานคร (ต่างจังหวัด) ซึ่งเดิม 2 กิโลเมตรแรกไม่เกิน 50 บาท เป็นไม่เกิน 100 บาท  กิโลเมตรต่อไปจากเดิมกิโลเมตรละ 12  บาท เป็นกิโลเมตรละ 20 บาท กรณีรถติดเคลื่อนที่ไม่ได้ จากเดิมนาทีละไม่เกิน 3 บาท เป็นนาทีละไม่เกิน 5 บาท  และหากเป็นการใช้บริการในช่วงเวลาเร่งด่วนหรือเวลากลางคืนตามช่วงเวลาที่กระทรวงคมนาคมกำหนด ให้คิดค่าจ้างเพิ่มได้ไม่เกิน 100 บาท ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในช่วงเวลาที่ขาดแคลนหรือไม่มีรถแท็กซี่จะมาให้บริการ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ปรับเพดานอัตราการเรียกใช้บริการรถแท็กซี่จากท่าอากาศยานหรือสถานที่ที่กระทรวงคมนาคมกำหนด จากเดิม 100 บาท เป็นสูงสุดไม่เกิน 150 บาท ซึ่งการปรับเพดานอัตราค่าโดยสารทั้งหมดดังกล่าวยังไม่ใช่อัตราที่จะใช้จัดเก็บจริง โดยอัตราที่จะใช้จัดเก็บจริงนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะพิจารณากำหนดไม่เกินจากเพดานที่กฎกระทรวงบัญญัติตามสภาพความเหมาะสมในแต่ละจังหวัด ก่อนออกประกาศกระทรวงคมนาคมและลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้จริงต่อไป
 
สำหรับรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร ยังคงใช้เพดานอัตราค่าโดยสารเดิม จึงไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อค่าโดยสารในปัจจุบัน ทั้งยังให้เรียกเก็บค่าบริการผ่านระบบสื่อสาร  ในเพดานอัตราเดิมคือ สูงสุดไม่เกิน50 บาท ทั้งนี้ให้รวมถึงระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น การบริการผ่านแอพพลิเคชั่นหรือโปรแกรมต่างๆ  ซึ่งเพดานอัตราสูงสุดดังกล่าวยังไม่ใช่อัตราที่จะใช้จัดเก็บจริง ยังคงต้องรอประกาศจากกระทรวงคมนาคมใช้อัตราจริงที่ไม่เกินจากเพดานดังกล่าว นอกจากนี้กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2548 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2551  ให้สิ้นสุดอายุการใช้งานพร้อมกันในวันที่ 25  ธันวาคม 2560  เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนในช่วงเวลาดังกล่าว  พร้อมทั้งมีการยกเลิกการติดตั้งระบบใช้ก๊าซธรรมชาติ ( NGV) โดยให้ใช้เชื้อเพลิงใดก็ได้ อีกทั้งกำหนดให้รถแท็กซี่ต้องไม่ติดตั้งระบบป้องกันการเปิดประตูจากภายในรถ (Child lock) เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารในการใช้บริการรถแท็กซี่ด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถิติเลิกจ้าง 5 อุตสาหกรรมหลัก มิ.ย. 2558 'สิ่งทอ' เลิกจ้างขยายตัวต่อเนื่องเดือนที่ 11

0
0

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงานระบุ มิ.ย. 2558 อุตสาหกรรมสิ่งทอผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 เนื่องจากโรงงาน ปั่นด้ายเคหะสิ่งทอปิดตัวลง 6 โรง เพราะคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศที่เคยสั่งซื้อ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย ตุรกี และซาอุดิอาระเบีย และโดนเวียดนามแย่งตลาดไปหมด ส่วนภาพรวมการเลิกจ้างพบสถานการณ์เลิกจ้างยังไม่น่าเป็นห่วงแต่ยังต้องเฝ้าระวัง

31 ก.ค. 2558 ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานวิเคราะห์ข้อมูลการจ้างงาน [1] การเลิกจ้าง [2] และการว่างงาน [3] ของแรงงานในระบบประกันสังคม จำแนก 5 รายอุตสาหกรรม ณ เดือนมิถุนายน 2558  ซึ่งเป็นประเภทกิจการที่มีความสำคัญต่อการส่งออก หรือมีการจ้างงานในสัดส่วนที่สูง มีสถานะดังนี้

1. สิ่งทอ การจ้างงานชะลอตัวร้อยละ 3.07 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 23.27 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 135.19

2. เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 5.17 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 1.00 , การเลิกจ้างชะลอตัวร้อยละ 39.27

3. เครื่องใช้ไฟฟ้า การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 4.46 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 38.36 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 301.38

4. ยานยนต์ การจ้างงานชะลอตัวร้อยละ 1.14 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 17.42 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 6.03

5. เครื่องประดับ การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 4.77 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 5.70 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 28.24

อุตสาหกรรมสิ่งทอมีการจ้างงานจำนวน 159,336 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 2,188 คน ผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 802 คน จากข้อมูล ณ มิถุนายน 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (พฤษภาคม 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.29 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการชะลอตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ (-3.07) เนื่องจากกลุ่มสิ่งทอมีการจำหน่ายชะลอตัวตามการผลิตในกลุ่มปลายน้ำ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เส้นใยฯ และผ้าผืน จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับเวียดนามลดการนำเข้าผ้าผืนจากไทย

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-1.96) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 135.19 ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 เนื่องจากโรงงาน ปั่นด้ายเคหะสิ่งทอปิดตัวลง 6 โรง เนื่องจากคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศที่เคยสั่งซื้อ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย ตุรกี และซาอุดิอาระเบีย และโดนเวียดนามแย่งตลาดไปหมด และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ 6.84 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 23.27 ผู้ว่างงานขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10

อุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์มีการจ้างงานจำนวน 416,648 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 5,733 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 634 คน จากข้อมูล ณ มิถุนายน 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (พฤษภาคม 2558) พบว่าการจ้างงานในอุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.37 และเมื่อเทียบข้อมูลเดือนเดียวกันกับปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 5.17 เนื่องจากการผลิต HDD จะนำไปใช้ในกลุ่ม Cloud Storage ทำให้ราคาต่อหน่วยสูงขึ้นและศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่มากขึ้นแทนตลาดคอมพิวเตอร์ทำให้ปริมาณการผลิตไม่มากเท่ากับที่ผ่านมาการผลิต Other Ic และSemiconductor เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในอุปกรณ์สื่อสารเพื่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 1.77 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) มีอัตราการชะลอตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ (-39.27) แสดงว่าสถานการณ์ดีขึ้นเนื่องจากกลับมาอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง 31 เดือน (ธันวาคม 2555 – มิถุนายน 2558) และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 7.78 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2558) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 1.00

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการจ้างงานจำนวน 115,195 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 1,688 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 582 คน จากข้อมูล ณ มิถุนายน 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (พฤษภาคม 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.39 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็น ร้อยละ 4.46 เนื่องจากมีการผลิตเพื่อส่งออกไปอาเซียน และสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 5.05 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 301.38 ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างมีอัตราการขยายตัวสูง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากมีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน (เวียดนาม) โดยเฉพาะบริษัท LG และซัมซุงประเทศไทยปิดโรงงาน ย้ายฐาน และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ 12.53 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 38.36 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

อุตสาหกรรมยานยนต์ มีการจ้างงานจำนวน 243,019 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 3,053 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 299 คน จากข้อมูล ณ มิถุนายน 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (พฤษภาคม 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.34 แต่เมื่อเทียบข้อมูลเดียวกันกับปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการชะลอตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ -1.14 เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัวจากการลดลงของตลาดในประเทศ อย่างไรก็ดีการส่งออกยังคงมีการขยายตัว

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 4.18เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 6.03 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ 15.21 และเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 17.42

อุตสาหกรรมเครื่องประดับมีการจ้างงานจำนวน 71,644 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 1,316 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 336 คน จากข้อมูล ณ มิถุนายน 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (พฤษภาคม 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับมีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.72 และเมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 4.77 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักยังขยายตัวได้ดีไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงตลาดอาเซียน และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก สะท้อนถึงความต้องการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศดังกล่าวที่เพิ่มมากขึ้น จากความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 6.33 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 28.24 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ 13.45 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 5.70

 

สถานการณ์เลิกจ้างยังไม่น่าเป็นห่วงแต่ยังต้องเฝ้าระวัง

นอกจากนี้ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ยังระบุว่าภาวะการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือนมิถุนายน 2558 อยู่ในภาวะปกติ การจ้างแรงงานในระบบประกันสังคม มีผู้ประกันตน จำนวน 10,118,561 คน มีอัตราการขยายตัว 2.66% (YoY) ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 2.81%(YoY) สำหรับการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม เดือนมิถุนายน 2558 มีจำนวน 134,573 คน มีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 9.31 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 13.66% (MoM) เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 ที่มีจำนวน 118,397 คน อย่างไรก็ตาม การเลิกจ้างจากตัวเลขผู้ถูกเลิกจ้างที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ 6,340 คน มีอัตราขยายตัว (YoY) อยู่ที่ 9.86 % ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (9.67%)

ในด้านสถานการณ์จ้างงานนั้นสถานการณ์จ้างงาน จากข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2558 มีลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33) จำนวน 10,118,561 คน มีอัตราการขยายตัว 2.66% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนมิถุนายน 2557) ซึ่งมีจำนวน 9,856,171 คน แต่หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลง (YoY) ของเดือนมิถุนายน 2558 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 โดยในเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%YoY) อยู่ที่ 2.66% ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2558 (%YoY) ซึ่งอยู่ที่ 2.81% สถานการณ์การจ้างงานขยายตัวมากกว่า 1% จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ

ในด้านสถานการณ์ว่างงาน (ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม : SSO) จากข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2558 มีผู้ว่างงานจำนวน 134,573 คน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือนมิถุนายน 2557) มีจำนวน 123,109 คน แสดงว่าผู้ว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา และมีอัตราการขยายตัว (%YoY) อยู่ที่ 9.31% ซึ่งตัวเลขมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2558 เทียบกับ เดือนพฤษภาคม 2557 (%YoY) ซึ่งอยู่ที่ 1.07% แม้นว่าหากเทียบระหว่างเดือนมิถุนายน 2558 เทียบกับ เดือนพฤษภาคม 2558 (%MoM) ขยายตัวจากเดือนที่แล้วซึ่งอยู่ที่ -3.55% มาอยู่ที่ 13.66%

ในด้านสถานการณ์เลิกจ้าง (ผู้ถูกเลิกจ้าง หมายถึง ผู้ถูกเลิกจ้างที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากกรมการจัดหางาน) จากข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2558 มีผู้ถูกเลิกจ้างในระบบประกันสังคมจำนวน 6,340 คน (มีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 9.86%) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2557) มีอัตรา 5,771 คน ดังนั้น ณ เดือนมิถุนายน 2558 สถานการณ์เลิกจ้างยังไม่น่าเป็นห่วงแต่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากตัวเลขการเลิกจ้างเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (MoM) อยู่ที่ 9.67% อย่างไรก็ตามยังถือว่าการเลิกจ้างอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากการ เลิกจ้างมีอัตราการเติบโต 9.86% ยังต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 3 ปี ในช่วงเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ ซึ่งอยู่ที่ 41.01% (ใช้ฐานข้อมูลปี 2548 – 2551)

ตารางแสดงอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานจากสาเหตุ เลิกจ้าง และลาออกของกรมการจัดหางานตั้งแต่ ม.ค. 2551-มิ.ย. 2558

 

_______

 

[1] การจ้างงาน = ผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคม

[2] การเลิกจ้าง = ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ประเภทเลิกจ้าง (R3) ในระบบประกันสังคม

[3] การว่างงาน = ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งหมด (R1-R3) ในระบบประกันสังคมประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ ลาออก (R1) สิ้นสุดสัญญาจ้าง (R2) และเลิกจ้าง (R3)

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายการคืนความสุข 'ประยุทธ์' หวังไทยขึ้นเทียร์ 2

0
0

 
31 ก.ค. 2558พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2558 เวลา 20.15 น.
 
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
 
ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ผมคิดว่าหลายท่านคงได้เห็นข่าว การที่มีพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ไปเข้าแถวรอรับเสื้อและเข็มกลัดพระราชทาน เพื่อจะเตรียมการ ในการเข้าร่วมกิจกรรม “Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่” ก็เป็นที่น่ายินดี คนจำนวนมากมายที่ไปเข้าแถวรอคอย ตั้งแต่ตี 1 ตี 2 จนกระทั่งบางทีก็ถึงบ่าย เพราะฉะนั้นก็จะแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีที่มีต่อ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แล้วร่วมกิจกรรมของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาส “วันแม่ของแผ่นดิน” แล้วก็แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของปวงชนชาวไทยของเราด้วย ก็อย่าลืมเตรียมร่างกาย อุปกรณ์ ในเรื่องของความปลอดภัย ศึกษากติกา มารยาทในการปั่นจักรยานด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ท่านทรงเป็นห่วงมากในเรื่องนี้ เรื่องความปลอดภัยของพวกเราทุกคนจะได้มีความสุขกัน และก็ในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม ที่กำลังจะมาถึงนี้ทุกคนก็คงจะได้ร่วมกิจกรรมที่ว่านั้นด้วยความสุข
 
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ได้มีการออกรายงานประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในเรื่อง “สถานการณ์การค้ามนุษย์” ที่เรียกว่า TIP Report ประจำปี 2558 ซึ่งรัฐบาลได้ติดตามและรับทราบผลก่อนหน้านี้แล้ว เราก็ไม่รู้สึกท้อ ไม่ผิดหวังใด ๆ เราต้องมีความหวัง อย่าไปผิดหวังในเรื่องใดทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับในกติกาของสากล รัฐบาลไทยก็จะเดินหน้าต่อไป ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เพราะว่าเราก็ต้องสงสารคนเหล่านี้ที่ถูกหลอกลวงที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ มีผู้ได้รับผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมด
 
รัฐบาลนี้ถือว่าเป็น “วาระแห่งชาติ” เราต้องมีหน้าที่ต่อประชาชนทั่วไปทั้งโลก ไม่เฉพาะคนไทยด้วยกันเท่านั้นเอง เราก็พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกองค์กร ในการที่จะมีการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทยให้ได้ แล้วก็สนับสนุนในเรื่องของการต่อต้านแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในอาเซียนทั้งหมดด้วย ในฐานะที่เราเป็นประเทศอาเซียน ด้วยกัน เพราะวันนี้เราว่าบ้านเมืองเรานั้น มีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ไข เพราะฉะนั้นใครจะมาว่าเราอย่างไรก็ตาม เราก็อย่าท้อแท้ เราก็ต้องยึดมั่นในเจตนาของเราในสิ่งที่เราต้องทำให้เพื่อประเทศไทย และเพื่อให้สังคมไทยนั้นปลอดภัย แล้วก็ไม่เสียชื่อเสียงของต่างประเทศด้วย เรื่องความเข้าใจนั้นเป็นเรื่องที่ยาก ที่จะต้องอธิบายกัน แต่ถ้าคนไทยด้วยกัน ฟังแล้วก็คิดใคร่ครวญให้ดี การที่เราจะทำอะไรให้ใครเขายอมรับได้ ก็ต้องพิสูจน์ทราบให้เขาเห็นให้ได้ก่อน เขาจะได้เข้าใจเรา
 
การจัดลำดับของเราใน “Tier 3” เราก็ได้รับมาแล้ว ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น วันนี้เราก็ทำอะไรหลายอย่างที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะฉะนั้น การที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กำหนดมาแล้ว ก็เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เราก็ทำของเรา เรารู้อยู่แล้วว่าดีขึ้น หรือไม่ดีขึ้นอย่างไร เราไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีความพยายามในการแก้ปัญหา แต่เพียงแต่ว่าผลการดำเนินการนั้นไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำ ในช่วงที่เขามาดู อย่าลืมว่าเขามาดูในช่วงต้น ๆ ที่เราเพิ่งแก้ไขไป วันนี้เราแก้ไขมาหลายเดือนแล้ว แล้วก็ถ้าเลยไปอีกก็ต้องดีขึ้น วันนี้ก็ชัดเจนขึ้นหลายอย่าง การลงโทษเจ้าหน้าที่ การลงโทษผู้เกี่ยวข้อง 100 กว่าราย ลองไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ประเทศอื่น ๆ เขาน้อยกว่าเรามาก คดีความก็นำเข้าสู่ขบวนการพิจารณา วันนี้เราต้องแก้ไขให้ได้ทั้งระบบโดยเร็ว เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเรามีความพยายามอย่างชัดเจนแล้ว วันหน้านั้น เราก็จะได้มีผลงานปรากฏออกมา แล้วการยกระดับขึ้นมาเป็น “Tier 2” ได้ในอนาคตโดยเร็ว
 
ในส่วนของปัญหาที่มีซับซ้อนกันอยู่ วันนี้หลายเรื่องด้วยกัน ทั้งค้ามนุษย์ ICAO เหล่านี้ แล้วก็ IUU ก็เช่นเดียวกัน ปัญหาเดียวกัน เพราะฉะนั้น เขาจะตัดสินอย่างไรก็เรื่องของเขา เราก็ต้องทำของเราให้ดีที่สุดแล้วกัน เพื่อคนไทย เพื่อทรัพยากรไทย เพื่อสิทธิมนุษยชน ดูแลทุกคนในโลกใบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียนด้วยกัน ที่มีผลกระทบโดยรวมทั้งสิ้น ใครจะว่าเราก็แก้ไข ใครชมเราเราก็ดีใจชื่นใจ แล้วก็เก็บไว้เงียบ ๆ เพราะปัญหาหลายอย่างทับซ้อนกันอยู่ เรารู้ตัวเองเราดีอยู่แล้ว ก็ขอความร่วมมือ ความร่วมแรงร่วมใจจากพี่น้องประชาชน คนไทยทุกคน ก็อย่าพูดกันถึงเรื่องนี้อีกเลย เป็นหน้าที่ของรัฐบาล แล้วก็ส่วนที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ประกอบการ รวมทั้งแรงงานด้วย ก็อย่าตกเป็นเหยื่อเขา ก็ต้องซื่อสัตย์ต่อกัน
 
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ใกล้ตัวเรามาก ประเทศเรามีผลกระทบหลายอย่าง การค้า การลงทุนต่าง ๆ ต้องทำให้สิ่งเหล่านี้หายไปให้ได้จากสังคมไทย ก็ขอเน้นย้ำเป็นครั้งที่เท่าไรแล้วก็ไม่รู้ ว่ารัฐบาลไทยมุ่งมั่นต่อไปทุกเรื่อง การต่อต้านการค้ามนุษย์ IUU, ICAO อะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ที่มีปัญหาทับซ้อนมายาวนานที่ผ่านมาจากหลาย ๆ รัฐบาลที่ผ่านมา รัฐบาลนี้จะจริงจังทุกเรื่อง ให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมของโลก และในเรื่องของการรักษาความมั่นคงของประเทศด้วย ลดบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั้งคนไทยและคนอาเซียนทั้งหมด ก็ขอร้องให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ต้องเข้าใจเรา เรากำลังแก้ปัญหาอยู่ แล้วก็มีการขยายความร่วมมือกับนานาประเทศด้วย องค์การระหว่างประเทศ ชี้แจง ทำความเข้าใจ ส่งหลักฐาน ผลการดำเนินงานให้อย่างต่อเนื่อง
 
ในส่วนที่รัฐบาลให้ความเร่งด่วนอีกอันหนึ่งก็คือ การแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ วันนี้เราจำเป็นต้องวางรากฐานการสร้างความเข้มแข็งในภาคเศรษฐกิจ แล้วก็เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคตให้ได้ ทั้งนี้ ก็จะทำให้ประเทศไทยนั้น ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมมายาวนานนั้น แล้วเราก็ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญในเรื่องของรายได้ที่เข้ามาสู่รัฐ เพราะฉะนั้น เราต้องแสวงประโยชน์จาก “ภูมิรัฐศาสตร์” ที่เรามีอยู่แล้วเดิมในการเชื่อมโยง ในการจะสร้างผลประโยชน์ร่วมกันของไทยและของมิตรประเทศ เข้ากับภูมิภาคหลาย ๆ ภูมิภาคด้วยกัน ทิศทางเดียวกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้วย เราก็ต้องหันมามองตัวเองก่อนว่าจะทำอย่างไรให้ถึงจุดนั้นได้ ก็ต้องทำความเข้าใจ แล้วก็จัดระบบ ระเบียบต่าง ๆ ให้ได้ กฎหมาย พันธกรณี ขีดความสามารถของเราเอง เราก็มุ่งเน้นการลงทุนโดยเอกชนไทยก่อน ต่างประเทศเราก็มาเสริมให้ แต่จำเป็น ถ้าเราไม่นำต่างประเทศมาเลยก็ไม่ได้
 
เพราะฉะนั้น เราก็ต้องดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักอยู่แล้ว แล้วก็ประชาชนโดยรวม ในการแข่งขันในเรื่องทางด้านเศรษฐกิจนี้ วันนี้ถ้าจะสังเกตดูจะเห็นว่าทุกประเทศ เขาปรับรูปแบบทางด้านธุรกิจใหม่แล้ว เป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ คือไม่พึ่งพากิจการที่มีรายได้อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เพียงอย่างเดียว เช่น ไปพึ่งการส่งออกอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องไปดูในคลัสเตอร์อื่น ๆ ด้วย การท่องเที่ยว การลงทุนในเรื่องของการขนส่งขั้นพื้นฐานอะไรต่าง ๆ ที่เราต้องเชื่อมโยงทั้งหมด จะทำให้ทุกคนเพิ่มการลงทุนมา เมื่อลงทุนมาก็มีภาษี มีผลประโยชน์ที่เป็นธุรกิจต่อเนื่อง ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันหมด เรามีศักยภาพหลายอย่างเป็นภูมิรัฐศาสตร์ตรงกลาง เรามีเส้นทางการคมนาคมที่ถือว่าดีมากในอาเซียนในวันนี้ตรงกลาง แล้วเรากำลังพัฒนาไปสู่ความทันสมัยอีกด้วย รถไฟ รถไฟฟ้าอะไรก็แล้วแต่
 
นอกจากนั้นแล้ว เรามีศักยภาพหลายอย่าง เรื่องผลิตผลทางการเกษตร เรื่องการรักษาพยาบาล เรื่องการท่องเที่ยว เรื่องการอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรื่องเครื่องสำอาง เกี่ยวกับเรื่องสมุนไพร แล้วก็การบริการต่าง ๆ  เพราะฉะนั้นเหล่านี้ ต้องนำมาหาว่าจะทำกันอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีรายได้เข้าประเทศให้มาก ๆ จะได้ไปลด ในกรณีที่เศรษฐกิจโลก มีปัญหา ทำให้รายได้เราตกต่ำ ถ้าเราพึ่งการส่งออกอย่างเดียว แล้วก็ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเกษตรกรรมด้วย มีปัญหาหมด
 
เพราฉะนั้น เราได้ตั้งคณะทำงานแล้ว คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เรียกว่า กพข. ก็ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน เป็นแผนปฏิบัติการ 6  ด้าน คือ 1. ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค เน้นการแสวงหาพันธมิตรและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการสร้างความสอดคล้องในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2. ก็คือด้านการพัฒนา คลัสเตอร์ ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ผมกล่าวไปแล้วเมื่อสักครู่ เช่น ภาคการเกษตร ท่องเที่ยว การบิน การรักษาพยาบาล นำมาเชื่อมโยงกัน และผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกัน ในระดับท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาคให้เกื้อกูลต่อกัน 3. คือการพัฒนาเชิงศักยภาพ ประกอบด้วยการจัดทำศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Center) เพื่อจะให้มีการพัฒนาการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง และส่งเสริมการนำไปใช้ประโยชน์ ในด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การส่งเสริมประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย และการวิจัยและพัฒนา ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา  เราอยากให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัย” ซึ่งมีทั้งในส่วนของสถาบันการศึกษา และในส่วนของ “ศูนย์ส่งเสริมการลงทุน” ภาคเอกชน ร่วมกับสถานศึกษาในปัจจุบัน หรือของรัฐอยู่แล้วในปัจจุบันนี้ด้วย จะได้ใช้เงินที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน แล้วก็สามารถที่จะบังคับวิถีได้ว่าเราจะเดินหน้าประเทศไปอย่างไร วิจัยเรื่องอะไร แล้วนำสู่การผลิตในเรื่องอะไร ให้ชัดเจนขึ้น 4. คือในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เราต้องปฏิรูปการศึกษาให้ผลิตคนให้ตรงกับความต้องของตลาดแรงงาน รวมทั้ง การพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งด้านทักษะและวิชาชีพ รวมความถึงด้านภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้านหรือภาษาของประเทศที่มาลงทุนในบ้านเราที่มีหลายประเทศ หลายภาษาด้วยกัน เพื่อจะรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในปีหน้านี้ในการลงทุนของประชาคมอาเซียนด้วย กระทรวงศึกษาธิการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางรากฐานการปฏิรูปและการศึกษาของประเทศไว้แล้ว ก็คือใช้คำว่า เน้นการ “สร้างคนดี มีคุณธรรม” คนดีนี้บางทีก็ตอนนี้กำลังไม่ชัดเจน จะดีอย่างไรอีก เอาง่าย ๆ มีคุณธรรมแล้วกัน รู้อะไรดีไม่ดีถึงจะเป็นคนดี ถ้าเป็นคนดีแล้วไม่รู้อะไรดี ไม่ดี ก็คงไม่ใช่ เพราะฉะนั้นผมเลยให้เติมคำว่า มีคุณธรรมเข้าไปด้วย ดีก็ทำ ไม่ดีก็อย่าทำแล้วก็ห้ามคนอื่นเขาไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ดีด้วย 5. ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ อาทิ มาตรการอำนวยความสะดวก – ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) วันนี้ก็ก้าวหน้าไปตามลำดับในทุกกิจกรรมการให้บริการภาครัฐ สำหรับประชาชนทั่วไป ก็ดูแลเจ้าหน้าที่เขาด้วย เพราะว่าเหน็ดเหนื่อย เรื่องเข้ามาวัน ๆ เป็นหลายร้อย หลายพันเรื่องรวม ๆ กันแล้วจะหลายแสนเรื่องแล้วตอนนี้ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนชาวไทย ชาวต่างชาติ รวมทั้ง การพัฒนากระบวนการทางศุลกากร อาทิ การขึ้นทะเบียนผู้เสียภาษี มีการเชื่อมโยงบัตรประชาชนกับข้อมูลการเสียภาษี 6.ด้านการจัดการข้อมูลภายใต้แผนปฏิบัติการ เพื่อบริหารจัดการข้อมูล ในการที่จะสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลภาครัฐ สร้างความรู้ – ความเข้าใจ ในลักษณะเชิงรุก เพื่อจะใช้ในการบูรณาการแล้วเพื่อสร้างความประสานสอดคล้องเกื้อกูลซึ่งกันและกันในทุกมิติที่กล่าวมา
 
เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพี่น้องเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ในการที่จะยกระดับประเทศจากประเทศที่ทำเกษตรกรรมอย่างเดียว ให้พัฒนาไปเป็นประเทศ “อุตสาหกรรมการเกษตร” หรืออื่น ๆ นั้น ทรัพยากร “น้ำ” มีความสำคัญยิ่ง เพราะฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องสร้างความยั่งยืน ความมั่นใจ โดยการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม ปัจจุบันคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ของรัฐบาล ระยะแรกเป็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันนี้ได้ส่งแผนมาแล้ว ก็ปรับปรุงแผนดังกล่าวในการประชุมไปเรียบร้อยแล้วก็ได้รับช่วงแผนยุทธศาสตร์มาจากของ คสช. ที่เราทำไว้ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ พ.ศ. 2558-2569 ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยให้กระทรวง – หน่วยงานปกติของรัฐ  ได้มีการบูรณาการ ขับเคลื่อน “แผนน้ำ” ทั้งหมด ทั้ง 6 เรื่อง และ 12 กิจกรรม อันที่จริงแล้วหน่วยงานเหล่านี้ก็ทำงานมากับ คสช. ด้วยตลอดอยู่แล้ว วันนี้ปรับให้ตรงเข้ามาในกรอบของรัฐบาลเท่านั้นเองก็ต่อเนื่องกันไม่ได้ขัดแย้งอะไรกันเลย เราก็ต้องครอบคลุมทั้ง 6 เรื่อง น้ำทุกประเภท ทั้ง 12 กิจกรรม มากกว่าเราจะมุ่งเน้นการป้องกันน้ำท่วมอย่างเดียวหรือขาดน้ำอย่างเดียวต้องแก้ทั้งทุกกิจกรรม ทุก 6 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน
 
เพราะฉะนั้น เราจะประกอบไปด้วยเรื่องของการดูแลการประปาหมู่บ้านให้ครบ ของชุมชน ของโรงเรียน การขุดสระน้ำในไร่นา การบริหารแหล่งน้ำในและนอกเขตชลประทาน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร – ช่วยภัยแล้ง  การขุดลอกลำน้ำสายหลัก การป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง การฟื้นฟูผืนป่า รวมทั้ง การทำพื้นที่ป้องกันและลดการพังทลาย เหล่านี้เป็นต้น หลายเรื่องที่เรานำปัญหาที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมามีน้ำท่วม ช่วงแรก ๆ ช่วงครั้งที่แล้ว มหาศาล เสียหายมาก เราก็นำอันนั้นมาแก้ไขหมดเพียงแต่ว่าต้องใช้เวลา ใช้งบประมาณแล้วเดินไปตามสเต็ป ตามขั้นตอนของเรา โรดแมปของเราการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน ครั้งนี้ก็เป็นปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเกิดขึ้นมาโดยที่เราก็คาดการณ์มาแล้วว่าจะเกิดแต่ไม่คิดว่าจะมากขนาดนี้เผอิญเป็นเรื่องของเอลนีโญเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้นทุกประเทศเดือดร้อนหมด รอบบ้านเราเดือดร้อน เว้นเมียนมาร์ที่ฝนตกเพราะว่าป่าไม้เขายังดีอยู่ เราก็ต้องเตรียมการให้พร้อมรับมือกับปัญหาภัยแล้งให้ได้ในปีนี้และในอนาคต อันนี้เป็นงานเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ สำหรับปานกลาง ระยะยาวที่ต้องไปถึงปี 2569 ก็ได้จัดให้มีคณะอนุกรรมการที่เหมาะสมให้สามารถจะวิเคราะห์แนวโน้ม – ติดตาม – ประเมินสถานการณ์น้ำ ในการที่กำหนดนโยบายระดับชาติ ทั้งในเรื่องของ “อุปสงค์และอุปทาน” ให้มีความสอดคล้องกันก็เป็นไปตามสถานการณ์ของภูมิอากาศโลกด้วย ต้องศึกษาความเป็นไปได้ พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอใหม่ ๆ สำหรับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ อย่างบูรณาการ อาทิ 1. การนำน้ำจากฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อแทนการใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา  2. การตัดน้ำโดยตรงจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปที่คลองสำแล ที่จะสามารถช่วยลดน้ำที่จะผลักดันน้ำเค็มเพื่อรักษาระบบนิเวศ 3.การหาแหล่งน้ำต้นทุนมาเพิ่มให้การประปานครหลวง  4.  การกำหนดมาตรการ – ข้อพิจารณาในการใช้ “น้ำก้นอ่าง” (Dead Storage) ในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีรวมกันราว 7,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อมีความจำเป็น  5. การเจรจา – ทำความตกลง ในการขอผันน้ำ จากแม่น้ำสาละวิน – เมย –โขง ในฤดูน้ำหลาก มาใช้ประโยชน์สูงสุดภายในประเทศด้วย
 
รัฐบาลต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย ในทุกกลุ่มที่ยังประสบปัญหาปากท้อง ขณะนี้รัฐบาลได้เดินหน้าในเรื่องของกองทุนการออมแห่งชาติ ที่เรียกว่า กอช. ก็จะเปิดรับสมัครสมาชิกใหม่ของกองทุนฯ ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ เป็นวันแรก เพื่อจะดูแลพี่น้องประชาชน ช่วงอายุ 15 – 60 ปี ราว 30 ล้านคน  ซึ่งประกอบอาชีพอิสระ ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ หรือกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบ เช่น เกษตรกร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป คนขับรถแท็กซี่ แม่บ้าน สถาปนิก แพทย์ ทนายความ ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างชั่วคราว นักการเมือง (ส.ส.) นักการเมืองท้องถิ่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นต้น  รวมทั้ง ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ แต่ยังไม่มีระบบใด ๆ มารองรับด้วยในขณะนี้ หวังเพื่อจะสร้าง “นิสัยการออม” ทุกช่วงวัย อันนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล ที่รัฐจะช่วยจ่าย “เงินสมทบ” ให้ส่วนหนึ่ง และเมื่อผู้ออมมีอายุครบ 60 ปีแล้ว ก็จะได้รับเงินบำนาญเป็น “รายเดือนตลอดชีพ” ถือเป็นการสร้างหลักประกันให้กับชีวิต ในยามที่ไม่มีรายได้ประจำ เป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูล สอบถามได้ที่ “เงินสะสม – เงินสมทบจากภาครัฐ – อัตราผลตอบแทนต่าง ๆ” และสมัครเข้าร่วมกองทุนฯ ได้ที่ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารออมสิน  และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ
 
ผมได้รับรายงานความคืบหน้า ในการเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลัง และในส่วนของ คสช. ในส่วนของกระทรวงกลาโหมก็มาช่วยกันผนึกกำลังกันอยู่ ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง จากการสำรวจภาระหนี้สินของเกษตรกร ทั้งหนี้ใน – นอกระบบ  มีเกษตรกรที่เป็นหนี้ทั้งหมด ณ 10 กรกฎาคม 2558 จำนวนประมาณ 1.6 ล้านราย  มูลหนี้ราว 4 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 240,000 บาท จากนั้น เราก็จะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายอย่างด้วยกันให้เป็นรูปธรรม ทั้งรูปแบบการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ ทั้งในด้านกฎหมาย การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้  และการปลดเปลื้องหนี้สิน  ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องสูญเสียสิทธิ หรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง อาทิ 1) ศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ของกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ จะเป็นหน่วยงานหลัก ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ทุกประเภท 2) กลุ่มลูกหนี้นอกระบบที่จำเป็นเร่งด่วน ได้ให้ “ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม” กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการโดยกรมบังคับคดี กับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งจะเป็นหนี้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม หรือเจ้าหนี้ผู้ที่มีอิทธิพล หรือเครือข่าย เพื่อจะให้การช่วยเหลือด้านกฎหมาย เมื่อเสร็จแล้วก็จะจัดส่งให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปลดเปลื้องหนี้สินต่อไป 3) กลุ่มลูกหนี้นอกระบบที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน ก็ได้ให้กองทุนหมุนเวียน กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบดำเนินการแล้วก็จะให้ในเรื่องการดำเนินการช่วยเหลือไกล่เกลี่ย – ประนอมหนี้ – ปลดเปลื้องหนี้สินระยะต่อไป 4) กลุ่มลูกหนี้ในระบบ ให้กระทรวงการคลัง ได้กำหนดมาตรการให้กับสถาบันการเงินและสหกรณ์ ดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ดังกล่าว ทั้งนี้ ก็เพื่อจะให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรนั้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วก็บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้โดยเร็ว กลไกหลักที่สำคัญในพื้นที่ก็คือคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) ส่วนจังหวัดและอำเภอ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดจะดำเนินการโดยการไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ในแต่ละพื้นที่ตามจำนวนที่สำรวจไว้แล้ว และจะมีการคัดกรองหนี้สินดังกล่าวส่งมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามกระบวนการต่อไป และได้มอบให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเจรจาหนี้ให้ครบทุกรายภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2558  ตามลำดับความจำเป็นเร่งด่วนของหนี้ แล้วก็ให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปใช้หนี้ ก็จะให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด
 
ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2558 ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดงาน “เมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน” ช่วงนี้ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดงาน  “เมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน” มาแล้วกว่า 20 วัน มีประชาชน ทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากให้ความสนใจผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ เกาหลี จีน กัมพูชามียอดขายและสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากน้ำมันเปลือกส้มโอและมะกรูด เครื่องดื่มสมุนไพร และเครื่องสำอาง ซึ่งมีผู้มาเที่ยวงานกว่า 95,000 คน และมียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพกว่า 22 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในร้านนวดและสปา  มีบริการนวดแผนโบราณ กดจุด ตอกเส้น ตรวจวัดอีคิว ตรวจคัดกรองอัลไซเมอร์ ตรวจวัดไขมันในร่างกาย เรียกว่า “ครบวงจร” ที่นี่ ข้างทำเนียบรัฐบาล
 
เดือนหน้า ตั้งแต่ 3 – 23 สิงหาคม 2558 จะมีการจัดตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ในเรื่องของการจัดงาน “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ของขวัญแด่แม่” ให้ตรงกับเดือนสิงหาคม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีการเชื่อมโยงกิจกรรมร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร เพื่อจะร่วมจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องใน “วันแม่แห่งชาติ” และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน  ที่เราได้มีผลงานสร้างสรรค์มาเป็นจำนวนมาก มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่รู้ บางอย่างเราก็คิดมาแล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องทำให้ไปสู่การผลิตให้ได้ ไปสู่การส่งออกให้ได้ และสร้างแบรนด์ของเราเองบ้าง ก็จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้มากขึ้น เป็นการพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมในวันนี้และอนาคตในวันข้างหน้า ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเดิม เศรษฐกิจก็ตกต่ำอยู่แบบนี้ ท่านลองไปทำอะไรใหม่ ๆ เราจะต้องยกระดับกระบวนการความคิด วิจัย พัฒนาไปสู่กระบวนการผลิต และไปสู่การตลาด ในลักษณะเป็นอุตสาหกรรม โดยจะต้องคงคุณค่า คุณภาพที่ดี เป็นความพึงพอใจที่ถูกใจผู้บริโภค ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่อไป หลายอย่างมีอนาคต
 
ผมเห็นว่าเป็นโอกาสดีในห้วงวันสำคัญนี้ “วันแม่ของแผ่นดิน” อยากให้บรรดาคุณลูกที่มีความกตัญญูในการสรรหาของขวัญให้กับคุณแม่ ก็ขอให้มาร่วมรับชมจัดหาสิ่งของเหล่านั้นได้ และมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นิทรรศการงานศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อาทิ ผลิตภัณฑ์งานเป่าแก้ว ผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาชาววัง ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผา ผลิตภัณฑ์งานวาดภาพสีน้ำมัน และนิทรรศการของกระทรวงอุตสาหกรรม นโยบายของรัฐบาลที่ขาดไม่ได้ก็คือ ให้เป็นกิจกรรมการให้คำปรึกษา – แนะนำ ในการที่จะพัฒนาธุรกิจ การบริหารจัดการธุรกิจมีความรู้ต่าง ๆ ให้ สร้างเถ้าแก่ใหม่ ในการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ การดีไซน์ผลิตภัณฑ์ให้น่าซื้อ น่าใช้ และในเรื่องของการยกระดับและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ทุกงานเวลารัฐบาลจัด ทุกกระทรวงก็ให้เป็นเรื่องของการจัดงานแสดงด้วย ให้มีการเจรจา/จับคู่ธุรกิจด้วย และในส่วนของรัฐ หรือของพาณิชย์ต่าง ๆ ก็มาให้การสนับสนุน ธนาคารต่าง ๆ ให้การสนับสนุน ส่งเสริมแหล่งเงินทุน  ธุรกิจ SMEs หรือธุรกิจ Social Business และก็สอนในเรื่องของการทำแผนธุรกิจ ซึ่งก็ตรงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีภูมิคุ้มกันที่ดีด้วย ไม่อย่างนั้นเราก็จะบริหารธุรกิจแบบเดิม ๆ แบบครอบครัว ซึ่งวันนี้ไม่ได้แล้ว ต้องมี Good Governance การกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วย เราจะมีการให้บริการภายในงานด้วย ขอเชิญทุกท่านมาร่วมงาน ทั้งพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ  ข้าราชการ ช่วยมาร่วมกิจกรรมในงานนี้ด้วย แล้วก็ขอให้นำไปขยายผลความสำเร็จ ถ้าเราไม่เพิ่มพูนไม่เรียนรู้ ความรู้ใหม่ ๆ ก็จะอยู่เท่าเดิม ข้าราชการก็จะรู้เท่าเดิม แต่วันนี้รัฐบาลพยายามที่จะขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ ๆ ความทันสมัย เทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง การเกษตร อุตสาหกรรม ฯลฯ ต้องใช้ความรู้ใหม่ ๆ เพราะฉะนั้นผมก็ศึกษาด้วย อะไรด้วย ถามผู้รู้บ้าง ไม่ใช่คิดเอาแต่ตัวเอง ผมไม่ใช่คนแบบนั้น ก็ต้องศึกษาคน ถ้าอะไรทำได้ก็ทำ ถ้ามีปัญหาสั่งไปแล้วไม่ถูก ผมก็ไม่ไปฝืนให้ทำอยู่แล้ว ทุกอย่างที่สั่งไปแล้ว ผมต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากทุกคนใน ครม. ผมบอกแล้วว่าผมสามารถริเริ่มให้ได้ แต่ถ้าผิด ท่านก็อย่าปล่อยให้ผมทำผิด เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติต้องยืนยันว่าเราทำได้หรือไม่ได้ อย่างเช่น ปัญหาในเรื่องพลังงาน เรื่องโรงไฟฟ้า ผมว่าก็ต้องทำให้ชัดเจน ได้ข้อยุติว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป ผมไม่ได้บอกว่าผมไปดันทุรังว่าต้องทำให้ได้ หรือไม่ได้ ไม่ใช่ ผมยังไม่พูดถึงตรงนั้นเลย อย่าไปตีความกันผิด ๆ ถูก ๆ ก็เพียงแต่รับฟัง และหาทางออกกันให้ได้ เพื่อประโยชน์ของชาติในอนาคต ถ้าไม่ได้จะไปทำที่ไหน จะทำอะไรแทนก็ต้องตอบกันมาให้ชัดเจนทั้ง 2 ฝ่าย แล้วก็มีบุคคลที่ 3 มาด้วย เราจะไม่ปิดกั้นใครทั้งสิ้น ขอให้เข้ามา ฝากข้าราชการในพื้นที่ด้วย
 
เรื่องอื่น ๆ เป็นเรื่องของการเร่งในเรื่องปฏิรูปการศึกษา ได้สั่งการไปแล้วเชิงโครงสร้างระยะแรกว่าจะทำอย่างไร ให้เด็กมีความสุข ผู้ปกครองมีความสุข และครูมีความสุข หนี้สินครูดูอยู่ด้วย วันนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับในเรื่องของการใช้จ่าย หนี้ กยศ. หนี้ครู การกู้เงินต่าง ๆ ก็ทำกันทั้งหมด
 
เรื่องเศรษฐกิจ พอดีมีเรื่องภัยแล้งเข้ามาอีก เหมือนกับโรคซ้ำกรรมซัดหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ธรรมดาถ้าเราเผชิญหน้าแบบนี้บ่อย ๆ เราก็จะเข้มแข็งเอง ปัญหาอยู่ที่ว่า “เราเตรียมตัว เตรียมใจ” ได้แค่ไหน อดทนได้แค่ไหน เพราะเราไม่เคยเจอ พอมีปัญหาก็อุด ๆ ช่องกันไป วันนี้ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ ถ้าแก้แบบเดิมก็เป็นแบบเก่า แล้วเงินทองเราก็ใช้จ่ายล่วงหน้ามากมาย วันนี้ก็ต้องอดทนและต้องเข้าใจด้วย ผมไม่เคยคิดอะไรโดยไม่นึกถึงคนรายได้น้อยเลย ทุกเรื่อง แต่เราจำเป็นจะต้องส่งเสริมทุกอัน เป็นธุรกิจต่อเนื่อง มีงานเพิ่ม มีรายได้ไปถึงคนรับจ้าง อะไรก็ว่าไป ถ้าไม่มาช่วยกันตรงนี้ อย่างเดียวที่ไปไม่ได้ แล้วนำเงินไปให้ใช้จ่าย ก็หมดเหมือนเดิม ก็จะให้ตามความจำเป็น ตามความเดือดร้อน
 
เรื่องภัยแล้ง ก็มีปัญหาอยู่พอสมควร ถึงแม้จะมีฝนตกอยู่บ้าง คือน้ำไหลลงอ่างเพิ่มมากขึ้น แต่เปรียบเทียบกับที่เราจ่ายน้ำก็ยังใกล้ ๆ กัน เพราะว่าน้ำเหล่านี้ไม่ได้ส่งจากท่อไปตรงโน้น ตรงนี้ได้ น้ำไหลมาด้วยสายระบบส่งน้ำทางเปิด เพราะฉะนั้นก็ต้องแก้เรื่องระบบส่งน้ำกันคราวหน้า แต่วันนี้อยากจะบอกทุกกระทรวง ทบวง กรม ว่า ถ้ามีงบประมาณเหลือ มีงบประมาณในเรื่องของการจ้างงาน ก็ลองไปขุดเพิ่มเติมดู ตรงไหนพร้อมจะขุดเก็บกักน้ำไว้ได้ ก็ขุดตอนนี้ ผมเป็นห่วงว่าถ้าระยะต่อไปฝนแล้งอีก หรือทิ้งช่วงอีก จะทำอย่างไร ก็มีผลกระทบกับการปลูกพืชใน Crop 2 อีก ก็จะเกิดผลกระทบเหมือนกับแบบ Crop 1 เพราะฉะนั้นฝากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปดูว่า เราจะทำอย่างไรกับ Crop 2 ต่อไป จะแก้ปัญหาอย่างไร
 
เรื่องการจ้างงานก็สั่งไปแล้ว เมื่อวันที่ผ่านมาได้เสนอเข้า ครม. แล้ว อนุมัติเงินไปแล้ว เดี๋ยวจะมีการจ้างงานในพื้นที่ที่เดือดร้อนให้ได้ ไม่เดือดร้อนก็คงไม่ได้ ก็ไปสร้างให้เกิดการจ้างงานเกิดขึ้นทุกจังหวัด มากบ้างน้อยบ้างตามความจำเป็น อันที่ 2 คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการปลูกพืช โดยกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบไป อันแรกเป็นของกระทรวงมหาดไทย 3. การเตรียมการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหาย จากการเพาะปลูกพืช กำลังสำรวจอยู่ เราจะไปทุ่มทั้งหมดไม่ได้ เพราะฉะนั้นใครเสียหายก็ว่ากันไป ใครที่ไม่เสียหายก็ต้องสู้ไป และต้องเตรียมการใน Crop หน้าให้ได้ด้วย
 
เรื่องการปั่นจักรยาน "Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่" ขอขอบคุณทุกคน ขอให้เตรียมร่างกายไว้ให้พร้อมและระมัดระวังช่วงนี้ฝนตกการฝึกต่าง ๆ ก็ระวัง เดี๋ยวจะไม่ได้ร่วมกิจกรรมวันจริง ป่วยไม่ได้ ต้องระวังอย่าให้ล้ม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นห่วงในเรื่องนี้ให้เกิดความปลอดภัยและเกิดความสุข ในวันที่ 16 ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ ก็จะมีการซ้อม ผมก็ต้องไปตรวจความเรียบร้อยในเส้นทางในจุดต่าง ๆ ให้มีผลกระทบเรื่องการจราจรน้อยที่สุด ผมก็จะเร่งเวลาให้เร็วขึ้นก็เป็นการภายใน อย่าถือว่าเป็นกิจกรรมหลักเลย กิจกรรมหลักคือวันที่ 16 สิงหาคม ทุกคนก็ไปร่วมเฉลิมพระเกียรติ
 
เรื่องการท่องเที่ยว วันหยุดราชการนี้ หยุดหลายวัน 4 วัน ผมก็เป็นห่วงเรื่องเดิม คือ อุบัติเหตุขี่รถ ขับรถ การดื่มสุรา อะไรทำนองนี้ แล้วก็เกิดอุบัติเหตุ ผมฝากไว้หนึ่งคำแล้วกันในปีนี้ ถ้าหากคนที่ชอบกินเหล้าแล้วขับรถ หรือขับรถเร็ว ถ้าท่านไม่รักชีวิตของท่านเอง ท่านก็นึกถึงคนอื่นเขาบ้าง คนอื่นเขารักชีวิตของเขา ท่านไม่รักชีวิตของท่านก็ไม่เป็นไร อย่าทำให้เขาบาดเจ็บสูญเสีย เป็นความโศกเศร้าเสียใจของครอบครัวเขา ตัวท่านเองผมไม่รู้จะว่าอย่างไร ห้ามไปห้ามมาหลายครั้งแล้วก็ไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ ท่านไม่รักตัวท่านก็ไม่เป็นไร อย่าทำความเสียหายให้กับชาติบ้านเมือง ให้กับคนอื่น ๆ เท่านั้นเอง ให้รู้ว่าชีวิตนั้นมีค่าแค่ไหน อย่างไร ขอขอบคุณ ขอให้มีความสุขในวันหยุดราชการหลายวัน ขอให้ปลอดภัย และขอให้ฝนตกมาก ๆ น้ำลงเขื่อนมาก ๆ พืชไร่ พืชสวนต่าง ๆ ประมง น้ำจืด อะไรก็แล้วแต่ ขอให้ผ่านพ้นภัยดังกล่าวเหล่านี้ให้ได้โดยเร็ว ขอขอบคุณครับ ด้วยความเป็นห่วง สวัสดีครับ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถล่มฐาน ชคต.ยะหา ปล้นปืน 7 กระบอก - ฝ่าย ชคต. เจ็บ 18 ราย

0
0

ถล่มฐานชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา เจ็บ 18 ราย พร้อมปล้นปืนไป 7 กระบอก โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 เผยแม่ทัพสั่งเร่งคลี่คลายและเร่งฟื้นฟูความเสียหาย โดยจะยังใช้แนวทางติดอาวุธให้กองกำลังพลเรือนดูแลพื้นที่

เมื่อกลางดึกวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 เวลา 02.15 น.เกิดเหตุกองกำลังไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) บาโร๊ะตั้งอยู่ที่บ้านบาโย ม.8 ต.บาโร๊ะอ.ยะหา จ.ยะลา เบื้องต้นได้ปล้นอาวุธปืนของฝ่ายราชการไป 7 กระบอก มีเจ้าหน้าที่ ชคต.ได้รับบาดเจ็บ 18 ราย

เจ้าหน้า ชคต. ที่ได้รับบาดเจ็บ ได้แก่ 1. สมาชิกเอก ยูรานันธ์ ยาลอ 2.สมาชิกมะซอเร เจ๊ะเล๊าะ 3.สมาชิกอับดุลรอแม อุเซ็ง 4.นายหมู่ตรีเนรวิท นิอาแว 5.สมาชิกเอก อามิน อาบู 6.สมาชิกเอก อุสมาน มะแล 7.สมาชิกเอก ไซนูเดน มะแซ อายุ 30 ปี 8.สมาชิกเอก อับดุลอานัส ยาซิ อายุ 28 ปี 9.สมาชิกเอกอันดูวา บาฮี อายุ 23 ปี 10.สมาชิกเอก อิสเฮาะ สีแต อายุ 33 ปี 11. สมาชิกตรีมะสอและ ยีเร็ง อายุ 35 ปี 12.สมาชิกโท อับดุลรอแม อาแว อายุ 40 ปี 13.สมาชิกเอกรอแม สาและ อายุ 40 ปี 14.สมาชิกเอกอาดือนัน ดือราฮิง อายุ 40 ปี 15.สมาชิกสุดิง มญีหิยา 16.นายฮีบบอรอนิง สุหลง17.นายอับดุลรซะ เต๊ะ และ 18.นายอับอา อุเซ็ง

เจ้าหน้าที่สอบสวนระบุว่า ขณะที่ ชคต.บาโร๊ะ กำลังปฏิบัติหน้าที่ภายในฐาน ได้มีคนร้ายไม่ทราบจำนวน ใช้อาวุธสงคราม ยิงใส่ เจ้าหน้าที่จึงใช้อาวุธประจำกายตอบโต้ เป็นเหตุให้มีผู้ที่รับบาดเจ็บ ขณะเกิดเหตุคนร้ายได้ตัดต้นไม้ขวางถนนและโรยตะปูเรือใบ เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือ จากนั้นคนร้ายอาศัยความชำนาญพื้นที่หลบหนีไป

ล่าสุดเวลา 10.30 น. ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า เหตุการณ์นี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 18 ราย โดยสาหัส 6 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ปัจจุบันอาการปลอดภัยแล้วมีผู้ได้บาดเจ็บเล็กน้อย 12 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา 5 ราย และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว 7 ราย

“เหตุการณ์นี้ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงพยายามเข้าโจมตีฐาน โดยเจ้าหน้าที่ ชคต.ได้ยิงตอบโต้กับกลุ่มคนร้าย และถอนตัวเข้าที่มั่นสำรองพร้อมกับร้องขอกำลังเพิ่มเติมจาก หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 47 เข้าช่วยเหลือและสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบความเสียหาย และรวบรวมวัตถุพยาน และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุ และติดตามจับกุมมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป”พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว

พ.อ.ปราโมทย์ เปิดเผยด้วยว่า สำหรับอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่ถูกกลุ่มคนร้ายนำไปด้วยนั้น อยู่ในระหว่างตรวจสอบจำนวน แต่เบื้องต้นได้รับรายงานว่าประมาณ 6-7 กระบอก ประกอบด้วย อาวุธปืนลูกซอง อาวุธปืน AK102 และอาวุธปืนพกสั้น ซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจสอบจำนวนที่ถูกต้องอีกครั้ง

พ.อ.ปราโมทย์ เปิดเผยอีกว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งกำชับให้เร่งคลี่คลายสถานการณ์ ประชุมร่วม 3 ฝ่ายในพื้นที่ เพื่อสำรวจและฟื้นฟูความเสียหายทดแทนกำลังและสถาปนาความเข้มแข็งฐานปฏิบัติการให้กลับคืนมาโดยเร็ว นอกจากนี้ให้ทุกชุดคุ้มครองตำบลจะทบทวนแผนเผชิญเหตุและวางระบบการป้องกันฐานให้เข้มแข็ง เช่น ระบบแจ้งเตือนภัย ระบบแจ้งเตือนเหตุ และเครื่องกีดขวาง โดยยังคงมุ่งเน้นการผนึกกำลังภาคประชาชนและชุดคุ้มครองตำบล ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการดูแลความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

พ.อ.ปราโมทย์ เปิดเผยว่า ชคต.จัดตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ส่วนราชการพลเรือน ในการมีส่วนร่วมดูแลความปลอดภัยพื้นที่ โดยมอบหมายให้ปลัดอำเภอ หรือ กำนันเป็นหัวหน้าชุด จัดกำลังหลักจากเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน และกำลังภาคประชาชนในพื้นที่ ปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมและกำกับดูแลของศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ พ.อ.ปราโมทย์ อ้างว่าในห้วงที่ผ่านมาชุดคุ้มครองตำบลได้ปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็ง สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน และแบ่งเบาภาระในการดูแลพื้นที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตาวาระ กสท. เตรียมรายงานผลการศึกษาโทรทัศน์เคลื่อนที่ (Mobile TV) ในประเทศไทย

0
0

1 ส.ค. 2558 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 3 ส.ค. นี้ การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 25/2558 มีวาระการประชุมสำคัญน่าจับตา ได้แก่ วาระรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของการเริ่มรับส่งโทรทัศน์เคลื่อนที่ของประเทศไทย (Mobile TV Service : Feasibility Report for Thailand) โดยร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ศึกษารูปแบบกิจการโทรทัศน์เคลื่อนที่ในต่างประเทศ และความเป็นไปได้ของโครงการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์เคลื่อนที่ของประเทศไทย ได้ศึกษานโยบายด้านเทคโนโลยี การจัดสรรคลื่นความถี่ แนวทางการกำกับดูแล และกระบวนการออกใบอนุญาต ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวว่าการดูโทรทัศน์เคลื่อนที่ได้โดยผ่านอุปกรณ์ต่างๆ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนดูที่ไม่อยู่บ้านตลอดเวลา สามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้แบบคมชัด สะดวกสบายขึ้น เช่น คนที่ทำงานนอกบ้านเช่น รปภ. พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร วัยรุ่น คนทำงาน คนพิการและอื่นๆ สามารถดูฟรีทีวีผ่านมือถือโดยไม่ต้องเสียเงินค่าดาต้าหรือ 3 จี โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสาร และสามารถเข้าถึงดิจิตอลทีวีได้มากขึ้น ตลอดจนลดความเหลือมล้ำการเข้าถึงสื่อทางดิจิตอล (digital divide)
 
“แต่ทั้งนี้ กสทช. ก็ต้องกำกับการวางโครงข่ายให้สถานีเสริมครอบคลุมสัญญาณได้ทั่วถึงในตัวอาคารแบบสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงมาตรการกำกับดูแลอื่นๆที่เหมาะสมในการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อที่ล้ำหน้ามากขึ้นด้วย โดยเฉพาะรูปแบบใหม่ๆของการทำธุรกิจในกิจการโทรทัศน์เคลื่อนที่ ที่ต้องถ่วงดุลประโยชน์ในการใช้คลื่นบริการสาธารณะ บริการธุรกิจ และบริการ ชุมชน เป็นต้น อีกทั้งความซับซ้อนในการหลอมรวม ระบบโทรทัศน์เคลื่อนที่กับเทคโนโลยีโทรคมนาคมไร้สาย (LTE)  กสทช.ต้องปรับแนวทางกำกับดูแลแบบใหม่ในยุคดิจิตอลให้สอดคล้องกติกาสากลมากขึ้นด้วย” สุภิญญา กล่าว
 
วาระแผนประชาสัมพันธ์การยุติการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบแอนะล็อก ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ในพื้นที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ตามการเสนอแผนยุติการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกวันที่ 1 ก.ย. 58  ซึ่งไทยพีบีเอสได้นำเสนอแผน PR Plan Analog “Thai PBS Ready to Digital TV” Switch OFF 2015 – 2018 รวมทั้ง สำนักงาน กสทช. ได้นำเสนอแผนประชาสัมพันธ์การรับชมดิจิตอลทีวีและการยุติแอนะล็อก โดยจะมีการประชุมชี้แจงกับหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดที่มีผู้ว่าฯ เป็นประธานรวมทั้งหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ตลอดจนประสานกับโทรทัศน์ วิทยุ และโทรศัพท์มือถือทุกระบบ และการจัดทำสื่อในรูปแบบต่างๆเพื่อประชาสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป
 
ส่วนแนวทางในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำนักงานได้เสนอวาระนี้ให้ กสท. พิจารณาการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการแบบขั้นบันไดสำหรับผู้ประกอบการดิจิตอลทีวีโดยคำนึงถึงความเป็นธรรม ประโยชน์สาธารณะ ความคุ้มค่า ความขาดแคลน วิธีการจัดสรรทรัพยากร โดยการเรียกเก็บนั้นจะต้องเป็นอัตราที่สะท้อนให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการโทรทัศน์ไม่เกินร้อยละ 2 ของเงินรายได้ก่อนหักภาษี ซึ่งผลเป็นอย่างไรชวนจับตา
 
วาระเพื่อพิจารณาอื่นๆ น่าจับตา ได้แก่ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การจัดสรรเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะประจำปี 2558 นอกจากนี้ มีวาระเพื่อทราบ เรื่องข้อขัดข้องในการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิตอลในเขตพื้นที่ให้บริการของสถานีลำปาง เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 58 และ กรณี เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา เกิดข้อขัดข้องการรับชมช่องรายการโทรทัศน์ให้บริการโครงข่ายดิจิตอลทีวี ของ บ. อสมท.จำกัด เนื่องจากเหตุขัดข้องจากการอุดตันของเครื่องระบายความร้อนจนเครื่องส่งโทรทัศน์ปิดการทำงานเองในที่สุดรวมระยะที่เกิดความขัดข้อง 1 ชั่วโมง 38 นาที ซึ่งยังอยู่ในข้อกำหนดตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต และวาระอื่นๆ ติดตามผลการประชุมได้วันจันทร์นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต้หวันอนุญาตนำเข้าแรงงานประมงเวียดนามหลังแบนร่วม 11 ปี เหตุขาดแคลนแรงงาน

0
0

ไต้หวันอนุญาตนำเข้าแรงงานภาคประมงจากเวียดนามแล้วหลังระงับไปถึง 11 ปี พบสถิติแรงงานหลบหนีในไต้หวัน เดือน พ.ค. ที่ผ่านมามี 2,134 คน เป็นแรงงานเวียดนามมากที่สุด 1,120 คน ตามมาด้วย อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และไทย จำนวน 939 คน 55 คน และ 20 คน ตามลำดับ

ทางการไต้หวันเปิดเผยว่าได้อนุญาตให้นายจ้างไต้หวันสามารถว่าจ้างแรงงานเวียดนามในธุรกิจการเลี้ยงปลาและลูกเรือประมง แต่ไม่รวมตำแหน่งคนทำงานบ้าน หลังจากระงับการนำเข้าเป็นเวลานานถึง 11 ปี (ที่มาภาพ: CNA file photo)

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2015 ที่ผ่านมาทางการไต้หวันเปิดเผยว่าได้อนุญาตให้นายจ้างไต้หวันสามารถว่าจ้างแรงงานเวียดนามในธุรกิจการเลี้ยงปลาและลูกเรือประมงได้แล้วหลังจากสั่งระงับเป็นเวลานานถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 ส่วนตำแหน่งงานคนทำงานบ้านนั้นทางการไต้หวันก็ยังคงระงับการอนุญาตให้แรงงานเวียดนามทำงานในไต้หวันต่อไป ซึ่งสั่งระงับมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005

การสั่งระงับแรงงานจากเวียดนามในอดีตนั้นทางการไต้หวันระบุสาเหตุว่าแรงงานเวียดนามในตำแหน่งดังกล่าวมีอัตราการหลบหนีสูง และรัฐบาลเวียดนามไม่ได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยสถิติแรงงานต่างชาติหลบหนีในไต้หวันเดือนพฤษภาคม 2015 มีสิ้นจำนวน 2,134 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานเวียดนามมากที่สุด 1,120 คน ตามมาด้วย อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และไทย จำนวน 939 คน 55 คน และ 20 คน ตามลำดับ

ทางการไต้หวันยังระบุถึงสาเหตุที่ไต้หวันได้ประกาศยกเลิกระงับการนำเข้าแรงงานเวียดนาม เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามได้มีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการหลบหนีของแรงงานเวียดนามอย่างจริงจัง ด้วยการลงโทษปรับเงิน 150,000 เหรียญไต้หวัน และห้ามมิให้เดินทางออกไปทำงานต่างประเทศอีก ส่งผลให้อัตราการหลบหนีของแรงงานเวียดนามในไต้หวันในปี 2014 ลดลงเหลือร้อยละ 5.77 จากที่เคยสูงถึงร้อยละ 10.16 เมื่อปี 2004 โดยค่าเฉลี่ยการหลบหนีของแรงงานต่างชาติในไต้หวันอยู่ที่ร้อยละ 5

ทั้งนี้สถานการณ์แรงงานในไต้หวันนั้นพบว่าปัจจุบันกำลังขาดแคลนแรงงาน โดยตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นไปกำลังแรงงานในไต้หวันจะมีอัตราลดลงปีละ 180,000 คนไต้หวันจึงต้องเพิ่มโควต้าการนำเข้าแรงงานต่างชาติ อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญก็คือไต้หวันได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีอัตราการเกิดลดต่ำลงในขณะที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในไต้หวันรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีสภาพการทำงานที่ค่อนข้างอันตรายและเป็นงานหนัก

 

ที่มาข่าวบางส่วนจาก

Taiwan devises measures to resume import of workers from Vietnam
http://focustaiwan.tw/news/asoc/201507050009.aspx

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อภิสิทธิ์' ค้านขยายเวลาโรดแมปปฏิรูปประเทศ

0
0
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยขยายเวลาโรดแมปเพื่อปฎิรูปประเทศให้เสร็จ แนะควรจัดอันดับความสำคัญเรื่องปฎิรูปให้เป็นรูปธรรมแทน เชื่อสังคมจะกดดันให้นักการเมืองปฎิรูปเอง ยืนยันการเคลื่อนไหว กปปส. ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ยอมรับมีจุดยืนด้านการปฎิรูปเหมือนกัน

 
1 ส.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่าที่สนามซุปเปอร์คิกส์ ลาดพร้าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการปฎิรูปการเมืองให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง โดยสปช.เตรียมเสนอให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยืดระยะเวลาการปฎิรูปประเทศและการทำงานของรัฐบาล คสช.ที่วางไว้ตามโรดแม็ปออกไป ว่า รัฐบาลควรจัดอันดับความสำคัญของการปฎิรูปที่เป็นรูปธรรมให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งมากกว่า เช่น จะทำอย่างไรให้มีการเลือกตั้งโดยสุจริตเที่ยงธรรม ไม่ใช่ให้ปฎิรูปเกือบทุกเรื่อง เพราะการปฎิรูปต้องอาศัยระยะเวลา และเชื่อว่าสังคมจะกดดันให้นักการเมืองสานต่อการปฎิรูป ดังนั้น คสช. ควรยึดการดำเนินการตามโรดแมปที่วางไว้ ก่อนคืนอำนาจให้ประชาชน และเชื่อว่าสังคมจะเห็นด้วย เพราะขณะนี้เกิดความสับสนในเรื่องปฎิรูป ที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นความขัดแย้ง
 
นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีจุดยืนเรื่องการปฎิรูปที่เหมือนกัน เช่น การปฎิรูป เรื่องการศึกษา หากทำได้ก็จะเป็นผลดีกับบ้านเมือง เมื่อถามว่าสมาชิก กปปส.จะกลับเข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ หากมีการเลือกตั้งแล้ว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สมาชิก กปปส.ที่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อน สามารถทำได้ เพราะมีเพียงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฎิรูปประเทศไทย คนเดียวเท่านั้น ที่ประกาศไว้ชัดเจนแล้วว่าจะไม่กลับมาเล่นการเมืองอีก แต่จะไปเดินหน้าทำงานภาคประชาสังคมแทน
 
ต่อข้อถามว่าขณะนี้เริ่มการตอบโต้กันระหว่างมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ กับกลุ่ม นปช. เพื่อไทย หวั่นจะสร้างความขัดแย้งในสังคมเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การโต้เถียงกันระหว่างกลุ่มที่เห็นต่าง เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย แต่เราจะอยู่กันได้อย่างไร จะต้องนำบทเรียนที่ผ่านมา มาทบทวนด้วย ถ้าอยากให้ประเทศชาติสงบเรียบร้อย ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน
 
นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้น เพราะจะเป็นการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งตามมาอีก ซึ่งขณะนี้ก็มีรัฐบาล คสช.บริหารประเทศและดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติแต่อย่างใด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขสมก. ปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถหลีกเลี่ยงเส้นทางปั่นจักรยานกิจกรรม Bike For Mom ปั่นเพื่อแม่

0
0
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถหลีกเลี่ยงเส้นทางปั่นจักรยานกิจกรรม Bike For Mom ปั่นเพื่อแม่ ทั้งในวันซ้อมใหญ่ วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม และวันที่ 16 สิงหาคมนี้

 
 
1 ส.ค. 2558 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่าองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. แจ้งว่า ตามที่รัฐบาลกำหนดจัดกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558 กิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2558 โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ทรงเป็นประธาน ทรงปั่นจักรยานนำขบวนจักรยานประชาชน เส้นทางจากพระลานพระราชวังดุสิต ถึงกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมถวายความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจรเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งในการจัดกิจกรรมดังกล่าว จะมีการปิดการจราจรในถนนสายหลักจำนวน 6 สาย คือ ถนนศรีอยุธยา ถนนพญาไท ถนนราชวิถี ถนนดินแดง ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน และจุดเชื่อมต่อรวมทั้งถนนที่เกี่ยวเนื่องในเส้นทางจักรยาน ดังนั้น เพื่อให้การจัดการเดินรถเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขสมก. จึงจัดทำแผนปรับเปลี่ยนเส้นทาง เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางปั่นจักรยาน
 
โดยในวันซ้อมใหญ่ วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 06.00 - 12.00 น. ปิดการจราจรตั้งแต่บริเวณพระลานพระราชวังดุสิต ถึงกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ระยะทางรวม 7 กิโลเมตร และในวันจริง วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 12.00 - 21.00 น. สำหรับบริเวณพระลานพระราชวังดุสิต จะปิดตั้งแต่เวลา 09.00 - 21.00 น.
 
นอกจากนี้ ขสมก. ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงาน BIKE FOR MOM ปั่นเพื่อแม่ ณ สำนักงานใหญ่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และกำชับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ช่วยดูแลอำนวยความสะดวกในการขึ้นลงรถเมล์แก่ผู้ใช้บริการเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงจัดกำลังพนักงานสายตรวจพิเศษ นายตรวจ ช่วยอำนวยความสะดวกการจราจรตามป้ายหยุดรถที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นอีกด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รับน้องสร้างสรรค์ด้วยวัฒนธรรมแห่งความอดกลั้น

0
0

รวมวาทกรรมยอดฮิตที่ไม่มีทางออกและเส้นทางที่นำไปสู่จุดเริ่มต้นของความสร้างสรรค์ด้วยวัฒนธรรมแห่งความอดทนอดกลั้น (Culture of Tolerance)

เมื่อถึงช่วงเวลาเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่ของระดับชั้นอุดมศึกษาในทุกปี ประเพณีการรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะการรับน้องรุนแรงจนเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือกระแสการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ใน Social Network ซึ่งกระบวนการรับน้องก็มีจุดประสงค์และวิธีการที่หลากหลายไปตามแต่ละคณะและมหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมและรูปแบบสังคมที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี วาทกรรมที่ถูกนำมาใช้กลับมีประเด็นที่เป็นจุดร่วมกัน  ดังนี้

ฝ่ายที่สนับสนุนการมีกิจกรรมรับน้องมักให้คุณค่ากับความเป็นสังคม วาทกรรมที่กลุ่มนี้มักใช้อ้างอิงจะเป็นเรื่องของการส่งต่อคุณค่าและอัตลักษณ์ของสังคม กระบวนการรับน้องมีประโยชน์ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรและขัดเกลาให้น้องใหม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ เช่น การสอนร้องเพลงของคณะและเพลงเชียร์ ในหลายแห่งที่ห้องเชียร์พูดถึงประวัติศาสตร์ของคณะนั้นๆ ให้น้องได้ซาบซึ้ง นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมละลายพฤติกรรม เชื่อมความสัมพันธ์ ทำให้น้องได้รู้จักกัน ได้รู้จักกับรุ่นพี่ เสริมสร้างความสัมพันธ์ในหมู่คณะในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะด้วยระบบแขวนป้ายชื่อ ขอชื่อ เป็นต้น

อีกวาทกรรมหนึ่งที่มักพบก็คือ กิจกรรมเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับน้องในการเข้าสู่โลกของการใช้ชีวิตจริงทั้งการรับมือกับความกดดัน ฝึกความอดทน ฝึกการทำงานร่วมกัน ในหลายคณะศิลปะที่ใช้การทำอุปกรณ์เชียร์เพื่อเป็นการฝึกทักษะในการทำงานจริง

ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้มีความเห็นสนับสนุนกิจกรรมรับน้องก็ไม่ได้สนับสนุนการว้าก การกดดันหรือใช้ความรุนแรงเสมอไป

ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านกิจกรรมรับน้องจะเป็นกลุ่มที่ให้คุณค่ากับความเป็นปัจเจกมักใช้วาทกรรมตอบโต้ โดยมุ่งไปที่วิธีการและรูปแบบของกิจกรรมที่มีความรุนแรง ไม่ว่าจะการว้ากหรือตะโกนเพื่อกดดัน การบังคับให้น้องต้องยืนนิ่ง ก้มหน้า  ซึ่งมักอ้างอิงหลักการสิทธิมนุษยชน สิทธิในร่างกาย การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นไปจนถึงกระทั่ง “ถ้าน้องตายจะทำยังไง?”

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกยกมาคือคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี มักถูกโจมตีในฐานะสิ่งล้าหลัง หัวโบราณ วัฒนธรรมที่ตกเป็นเป้าคือ SOTUS  แต่เดิมเป็นคุณค่า 5 ข้อที่นิยมปลูกฝังให้กับน้องใหม่ ย่อมาจาก Seniority เคารพพี่ , Order มีระเบียบวินัย, Tradition วัฒนธรรมประเพณี, Unity มีเอกภาพ, Spirit มีน้ำใจ แต่ปัจจุบันถูกนำไปสร้างเป็นวาทกรรมว่าโซตัสคือการว้าก และตั้งคำถามกับคุณค่าต่างๆเช่น พี่เหนือกว่าน้องจริงหรือ? เข้ามาเรียนจำเป็นต้องมีเอกภาพ มีความเป็นรุ่นจริงหรือ?  นอกจากนี้ยังมีกระแสที่ตั้งคำถามกับวัฒนธรรมองค์กร เช่นการสร้างความสัมพันธ์ว่าเป็นการสร้างระบบอุปถัมภ์  หรือตั้งคำถามกับกิจกรรมสันทนาการว่าไม่มีสาระ เป็นต้น

ประเด็นการรับน้องนี้เป็นที่ถกเถียงกันมานานโดยยังหาข้อสรุปไม่ได้ แม้ว่ากระแสการตั้งคำถามจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรมในหลายๆมหาวิทยาลัย  ขณะเดียวกัน บนโลก Social Network กลายเป็นพื้นที่ของการปะทะ โดยมีทั้งการอ้างเหตุผลดังที่กล่าวมา  แต่นอกจากนั้นก็มีการใช้ Hate speechเข้าโจมตีกัน กลุ่มที่สนับสนุนการรับน้องก็จะถูกโจมตีว่าเป็นพวกโง่ หัวเก่า ดักดาน ในขณะที่กลุ่มผู้ต่อต้านการรับน้องก็จะถูกหาว่าเป็นพวกโลกสวย เอียงซ้าย เป็นต้น  ซึ่งในช่วง 2 – 3ปีที่ผ่านมาสามารถเห็นได้ชัดขึ้นจากการมี page ที่ตั้งขึ้นเพื่อโจมตีกิจกรรมรับน้องเช่น Anti – SOTUS, รับน้องสร้างสรรค์ เป็นต้น ความแตกต่างทางความคิดและการถกเถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้ อาจทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่า แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

เพจรับน้องสร้างสรรค์

เพจ ANTI SOTUS

พรรณพิมล นาคนาวาอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงความแตกต่างและวัฒนธรรมแห่งความอดกลั้น (Culture of Tolerance) ว่าความแตกต่างนั้นก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับชาติพันธ์ ศาสนา มาจนถึงเรื่องความคิดความเชื่อ อุดมการณ์และวิธีการมองโลก แต่ในขณะที่ศาสนาเป็นเรื่องที่ปลูกฝังในระดับลึก เป็นเรื่องของสิทธิ อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก ความคิดความเชื่อเกี่ยวกับการรับน้องเป็นอุดมการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ มีโอกาสลื่นไหลได้มากกว่า

แต่สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นลำดับแรกคือ การยอมรับว่าความแตกต่างมีอยู่จริง และต้องเคารพซึ่งกันและกัน เคารพในความคิดและความเชื่อของอีกฝ่ายก่อนจะนำไปสู่การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ดี การอดกลั้นหรือการเคารพความคิดความเชื่อของอีกฝ่ายไม่ได้แปลว่าเงียบ ไม่ตั้งคำถาม  แต่ในการวิพากษ์ก็ต้องรู้ก่อนว่าอีกฝ่ายนั้นมีวิธีคิดแบบใดบ้าง และวิธีคิดแบบไหนที่เราไม่เห็นด้วย วิธีคิดแบบไหนที่อาจนำไปสู่การใช้อำนาจ  และหากเราต้องการที่จะตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ ก็ต้องมียุทธวิธีที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกัน  ต้องมีการแลกเปลี่ยน ไม่ใช่พูดฝ่ายเดียวไม่เปิดให้อีกฝ่ายได้พูดได้นำเสนอ  ไปจนถึงภาษา วิธีการพูด หากมีการใช้ภาษาที่ทำให้รู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู ก็ถือว่าเป็นยุทธวิธีที่ล้มเหลว

พรรณพิมล กล่าวว่า การรับน้องปัจจุบันเป็นสิ่งที่ถูกเหมารวม จริงๆ ก็มีสถาบันที่การรับน้องไม่มีปัญหา แต่ในบางแห่งที่มีความเป็นอำนาจนิยม ก็เป็นสิ่งที่ต้องกลับมาทบทวนว่ามันไม่สัมพันธ์กับบริบทของสังคมโลกในปัจจุบันแล้ว  และเชื่อว่าเพจเช่นเพจรับน้องสร้างสรรค์ ที่มีลักษณะตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์กับการรับน้อง แม้ว่าในบางโพสต์จะมีตรรกะที่ไม่สัมพันธ์ แต่โดยรวมมุ่งเป้าไปที่ความเป็นอำนาจนิยม ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนที่เห็นต่างและไม่เห็นด้วยกับอำนาจนิยมให้ได้แสดงออก และได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงของการรับน้องที่ใช้อำนาจ ที่ใช้ความรุนแรงที่ยังมีอยู่

และฝ่ายที่ถูกตั้งคำถามก็ต้องกลับมาทบทวน และคิดว่าจะตอบโต้หรือแก้ไขปัญหาอย่างไรให้ทันโลก กรอบของโลกสมัยใหม่อยู่ในกระแสของสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี เช่นเดียวกับแอดมินของเพจเหล่านี้ที่ก็ต้องกลับมาทบทวน แม้ว่าเพจเหล่านี้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงๆ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดปฏิกิริยา เกิดการพูดคุยขึ้น

และสิ่งต่อจากนั้น คือการยกระดับความขัดแย้ง ขณะที่ปัจจุบันเป็นการถกเถียงที่ไม่มีสิ้นสุด ใช้ตรรกะวิบัติและหาประเด็นไม่ได้   แต่ถ้าเราอยู่ในโลกเสรี ต่างฝ่ายต่างโยนความคิดและเหตุผลขึ้นมา เคารพและรับฟังเหตุผลของกันและกัน เพื่อก่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขึ้น นี่คือสิ่งที่คนในสังคม ครูบาอาจารย์ นิสิตนักศึกษา รวมถึงสื่อมวลชนควรกระทำ ให้ความขัดแย้งมีคุณภาพ นอกจากนี้การมาพูดคุยและรับฟังกัน เพื่อหาวิธีที่สร้างสรรค์จริงๆ ก็เป็นการท้าทายความเป็นปัญญาชนของนิสิตนักศึกษาในระดับชั้นมหาวิทยาลัยอีกด้วย พรรณพิมลสรุป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50704 articles
Browse latest View live