Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

มท.-สธ.-สปสช. เชื่อมโยงระบบจดทะเบียนการเกิด คุ้มครองสิทธิเด็กแรกเกิด

$
0
0

22 เม.ย.2558 ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจดทะเบียนการเกิดในระบบทะเบียนราษฎร์เป็นขั้นตอนสำคัญของการแสดงความมีตัวตนทางกฎหมาย ซึ่งจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการที่ควรจะได้รับตามสิทธิมนุษยชน ในอดีตที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กเกิดในประเทศไทย ประมาณ 700,000-800,000 รายต่อปี มีเด็กที่ไม่ได้จดทะเบียนการเกิดประมาณร้อยละ 7 หรือคิดเป็นจำนวนถึง60,000 รายต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย

ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดของพ่อและแม่ ที่คิดว่าหนังสือรับรองการเกิดที่ได้จาก รพ.เป็นใบเกิด (สูติบัตร) และขาดระบบการติดตามเพื่อให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองนำเด็กมาจดทะเบียนเกิด ซึ่งจะมีผลต่อการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิการรับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นองค์การเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ สำนักงานประเทศไทย (UNICEF) จึงได้ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสปสช. ดำเนิน “โครงการพัฒนาระบบการจดทะเบียนการเกิด” เพื่อให้มีการรับรองสิทธิเด็กที่เกิดในประเทศไทยทั้งหมดไม่ว่าเป็นเด็กไทยหรือต่างด้าว

ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า เบื้องต้นองค์การยูนิเซฟอยากให้ รพ.เป็นจุดบริการจดทะเบียนเกิด (One stop service) แต่ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากข้อขัดข้องในเชิงบทบาทและกฎหมายที่ต้องมีความเข้าใจและความรับผิดชอบหลายประการ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการมุ่งเพื่อร่วมพัฒนาการจดทะเบียนการเกิดให้เชื่อมโยงระหว่าง รพ.และหน่วยงานทะเบียนของมหาดไทยแทน และให้มีระบบติดตามเด็กทุกคนที่ยังไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนให้มาเข้าระบบได้อย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นการช่วยให้เด็กเกิดใหม่เข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ

“ทันทีที่มีเด็กเกิดใหม่ใน รพ. เจ้าหน้าที่ของ รพ.จะบันทึกข้อมูลเกิดลงในระบบสารสนเทศที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังฐานข้อมูลสำนักทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทยว่ามีเด็กเกิดใหม่ พร้อมกันนี้จะมีการพิมพ์หนังสือรับรองการเกิดให้กับบิดามารดาเพื่อนำไปแจ้งเกิดและรับสูติบัตรที่สำนักงานเขต เทศบาลหรืออำเภอ ซึ่งจะได้รับเลข 13 หลักให้กับเด็กทุกคนไม่ว่าบิดามารดาจะเป็นสัญชาติไทยหรือไม่ ในกรณีเด็กสัญชาติไทยและไม่ใช่บุตรของข้าราชการ ก็จะได้รับการลงทะเบียนสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ รพ.และไม่ต้องย้อนเอาสูติบัตรกลับมาที่ รพ. เนื่องจาก รพ.สามารถพิมพ์ใบแทนสูติบัตรได้ทันทีที่หน่วยรับลงทะเบียนของ รพ. หากผู้ปกครองไปแจ้งเกิดให้เด็กแล้ว” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า ทั้งนี้กรณีที่บิดามารดาไม่นำหนังสือรับรองการเกิดไปแจ้งเกิด มท.จะมีระบบตรวจสอบจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ และทำหนังสือแจ้งผู้ปกครองเพื่อติดตามให้มาจดทะเบียนเกิดให้ถูกต้อง พร้อมทั้งส่งข้อมูลให้ รพ.ที่ทำคลอดเด็กช่วยติดตามอีกทางหนึ่ง

ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการนำร่องในช่วง 3 ปี ในปี 2554 มี รพ.สังกัด สธ.เข้าร่วมโครงการ 44 แห่ง ปี 2555 เพิ่มเป็น 534 แห่ง และในปี 2556 ได้ขยายครอบคลุมหน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ ส่งผลให้จำนวนเด็กที่ไม่ได้รับการแจ้งเกิดสะสมเกิน 15 วันลดลง โดยข้อมูลในเดือนสิงหาคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.51 ของจำนวนเด็กเกิดใหม่ แต่ทั้งนี้ยังเป็นอัตราที่สูงกว่าตัวชี้วัดขององค์การยูนิเซฟที่ต้องการให้ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 3 โดย สธ. สปสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย

สำหรับการพัฒนาระบบการจดทะเบียนการเกิดนี้ จะทำให้เด็กแรกเกิดทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเข้าถึงบริการสุขภาพได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับกลุ่มเด็กที่มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด อาทิ โรคที่มีความพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติทางสมอง ปากแหว่งเพดานโหว่  เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่การจดทะเบียนความพิการตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจากข้อมูลปี 2554 มีเด็กที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดเข้ารับการรักษาผู้ป่วยในในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำนวน 25,698 ราย มีการเบิกชดเชยค่ารักษากว่า 677 ล้านบาท ทั้งนี้หากทำให้ระบบสามารถลงทะเบียนเกิดเด็กแรกเกิดทุกคนในประเทศไทยจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กกลุ่มนี้มาก เนื่องจากความพิการในบางโรคสามารถรักษาให้หายจากความพิการได้ หากสามารถระบุความพิการได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และจัดระบบการดูแลรักษาหรือการส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ แนะอียู เร่งออกมาตรการช่วยชีวิตผู้ลี้ภัย-ผู้อพยพ

$
0
0

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้รัฐบาลยุโรปต้องให้ความสำคัญกับการทำแผนการค้นหาและช่วยชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเลขของผู้เสียชีวิตที่พยายามเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสูงมากไปกว่านี้

23 เม.ย. 2558 จอห์น ดาวน์ฮุยเซน (John Dalhuisen) ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประจำภูมิภาคยุโรป และเอเชียกลาง กล่าวว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเสียชีวิตจากการจมน้ำบริเวณชายฝั่งของประเทศลิเบียราว 100 คนต่อสัปดาห์ เหตุการณ์นี้ถือเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ต้องการความร่วมมือจากยุโรปในทันที ไม่ใช่การบ่ายเบี่ยงและการปฏิเสธ

ผู้คนนับร้อยจมน้ำเสียชีวิตหลังจากที่เรือของพวกเขาล่มบริเวณชายฝั่งประเทศลิเบียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และเฉพาะในปีนี้คาดว่ามีผู้คนจมน้ำราว 1,600 คน

จอห์น ดาวน์ฮุยเซน กล่าวเพิ่มเติมว่า อียูและผู้นำประเทศยุโรป พูดย้ำอยู่เสมอว่าจะใช้วิธีการแบบองค์รวมในการแก้ปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยร่วมมือกับประเทศต้นทางและประเทศระหว่างทางในการควบคุมการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ตอนนี้สิ่งที่สำคัญกว่าคือความปลอดภัยของผู้ลี้ภัย และผู้อพยพที่ยังคงเดินทางผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อมาให้ถึงยุโรป และการประชุมในวันนี้ต้องมีข้อเสนอในประเด็นเรื่องมาตรการค้นหา และช่วยชีวิตของยุโรป

หยุด “ความทรมาน” และ “ความตาย” ที่ชายแดน

“ตอนที่เรือจม ผมหาเพื่อนไม่เจอ ผมถูกถามว่า ‘พวกนั้นอยู่ไหน’ จากนั้นผมจึงเจอ โอมาร์ ส่วนเพื่อนคนอื่นๆ ยังหาไม่พบ ผมพยายามช่วยคนอื่น แต่ก็ทำไม่ได้ โอมาร์และผมช่วยเหลือกันและกัน แต่มันก็เป็นเรื่องยากที่ต้องว่ายน้ำอยู่เป็นชั่วโมง ในน้ำตอนนั้นทุกคนต่างมองหาเพื่อน และครอบครัว”

โมฮัมหมัด ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียวัย 21 ปี บอกเล่าประสบการณ์ที่เลวร้ายของเขาในวันที่ 11 ตุลาคม 2556 เมื่อเรือที่เขาโดยสารมาพร้อมผู้คนอีก 400 คน จมลงในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนห่างจากเกาะลัมเปดูซา ประเทศอิตาลี ราว 70 ไมล์

นโยบายคนเข้าเมืองของอียูกำลังทำให้หลายชีวิตต้องตกอยู่ในความเสี่ยง
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ทุกๆ ปีผู้คนนับล้านทั่วโลกต้องถูกบังคับให้จากบ้านเกิดเมืองนอนเพราะปัญหาความขัดแย้ง การถูกข่มเหงรังแก และความยากจน ในจำนวนผู้คนนับล้านนี้มีแค่คนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่ได้ลี้ภัย และมีชีวิตที่ดีขึ้นในสหภาพยุโรป แต่ขณะนี้ประเทศในอียูกำลังมีมาตรการเพิ่มขึ้นในการกันคนกลุ่มนี้ออกไป โดยในไม่กี่ปีที่ผ่านมา อียูกำลังยุ่งอยู่กับการสร้างรั้วทั้งในแบบรูปธรรม และนามธรรม ซึ่งเป็นการเพิ่มเดิมพันที่สูงขึ้นแก่ผู้คนที่สิ้นหวัง และพร้อมที่จะเสี่ยงเดินทางมาที่นี่

"ทุกๆ ปีผู้คนนับร้อยต้องจบชีวิตลงจากการพยายามเดินทางมาให้ถึงชายฝั่งของยุโรป และมีผู้คนนับไม่ถ้วนที่ถูกผลักดันกลับด้วยความรุนแรง และติดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งไม่เคารพสิทธิของพวกเขา"

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุเรียกร้องให้อียูหยุดการกระทำที่ส่งผลให้ชีวิตผู้คนต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจากป้อมปราการที่ถูกสร้างขึ้น โดยมีข้อเรียกร้องให้ผู้นำของอียูคุ้มครองชีวิตและสิทธิของผู้คนแถบชายแดน ดังนี้

·         เพิ่มความแข็งแกร่งของมาตรการค้นหา และช่วยเหลือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และทะเลอีเจียน ผ่านการร่วมมือกันของทุกประเทศในอียู
·         หาเส้นทางที่ปลอดภัย และถูกกฎหมายในการมายุโรปให้แก่ผู้ที่หลบหนีจากความขัดแย้ง และการถูกข่มเหง เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องถูกบังคับให้เดินทางในเส้นทางที่อันตรายตั้งแต่แรก และต้องให้พวกเขาได้เข้าถึงการคุ้มครองระหว่างประเทศเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงชายแดนยุโรป
·         ยุติความร่วมมือกับประเทศที่มีรายงานด้านสิทธิมนุษยชนในระดับต่ำ และจำกัดการอพยพเข้าไปในสหภาพยุโรป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตานับถอยหลังสถานการณ์ขึ้นบัญชีการค้ามนุษย์ในไทย ชี้ยังแก้ไม่ถูกจุด

$
0
0

แถลงข่าวจับตานับถอยหลังสถานการณ์ขึ้นบัญชีการค้ามนุษย์ในไทย ระบุมีหลายเรื่องที่น่ากังวล โดยเฉพาะปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ระบุ จนท.รัฐไม่เข้าใจกระบวนการแก้ปัญหา ยกกรณีร้อนกวาดจับแรงงานเด็กที่ตลาดไทละเมิดสิทธิเด็ก ด้านสภาทนายความระบุควรเร่งออกกฎกระทรวง เพื่อรับรองสถานะให้ถูกกฎหมาย ขณะที่เอ็นจีโอเผยแรงงานตกเรือยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ให้เป็นระบบ


โรยทราย วงศ์สุบรรณ-สุรพงษ์ กองจันทึก-สมพงษ์ สระแก้ว

23 เม.ย. 2558 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรทีทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant working group) จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “ฤา จะหนีไม่พ้นวังวนการค้ามนุษย์?” จับตานับถอยหลังสถานการณ์การขึ้นบัญชีการค้ามนุษย์ในประเทศไทย พร้อมแนวทางการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยอย่างยั่งยืน”

น.ส.โรยทราย วงศ์สุบรรณ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant working group) กล่าวว่า ประเทศไทยมีมาตรการออกมาเพื่อปกป้องและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎกระทรวงแรงงานประมง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน การแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การตั้งคณะกรรมการระหว่างหน่วยงาน ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะ แต่ก็ไม่ได้ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยดีขึ้น

โดยในรอบปีนี้มีหลากหลายสถานการณ์ ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ถูกจุด แบ่งเป็นเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้ 1.กรณีเหตุการณ์แรงงานตกเรือที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย 2.กรณีการพยายามแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยจะกล่าวอ้างอยู่เสมอว่าในประเทศไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ส่วนเด็กที่เห็นในสถานประกอบการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในภาคเกษตรภาคอาหารทะเลแช่แข็ง หรืออาหารประมง เป็นเด็กที่ตามผู้ปกครองมาช่วยทำงานในสถานประกอบการ และถึงแม้รัฐบาลไทยจะออกมากล่าวอ้างในลักษณะดังกล่าว แต่นานาประเทศกลับไม่เชื่อและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานเด็กให้ได้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่ว่าถ้าไม่มีเด็กข้ามชาติอยู่ในประเทศไทยก็เท่ากับว่าไม่มีแรงงานเด็กซึ่งเป็นแนวความคิดและกระบวนการแก้ปัญหาที่ผิดมาก

นอกจากนี้อีกเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าประเทศไทย ไม่เข้าใจว่าจะรับมือกับปัญหาการใช้แรงงานเด็กอย่างไร ก็คือเหตุการณ์กวาดจับบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติที่ตลาดไท รังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมโดยไม่สนใจว่าเด็กจะมีเอกสารของการเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในวันนั้นมีเด็กถูกจับ ทั้งสิ้น 59 คน โดยเป็นเด็กจากประเทศพม่าและประเทศกัมพูชา

โรยทราย ระบุว่า สิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตในการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจครั้งนี้ คือ ตำรวจไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กทั้งหมดที่ถูกจับมีอายุเท่าไหร่ มีเอกสารอะไรบ้าง เพราะจริงๆ ตามหลักกฎหมายหากพ่อแม่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย ลูกที่เกิดในประเทศไทยในช่วงนี้ย่อมได้สิทธิที่อยู่อาศัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดรถส่งเด็กไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สอด โดยตามหลักการทางกฎหมายแล้ว การจับกุม ผลักดันเด็ก จะต้องมีพ่อแม่ ผู้ปกครองด้วย เพราะหากเราผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้ออกนอกประเทศไปในฐานะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายโดยไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองติดตาม เราจะไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าหากเด็กกลับไปยังประเทศต้นทางแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งเรื่องการพลัดพรากและไม่รู้ว่าจะเจอกันได้อย่างไร

โรยทราย กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุมเด็กคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความรู้ความเข้าใจมากแค่ไหนว่าเด็กคนไหนที่เข้าเมืองถูกหรือผิดกฎหมาย และมีเอกสารในการบันทึกหลักฐานการจับกุมไว้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากการประสานงานไปยัง ตม.แม่สอด เราพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้บันทึกการจับกุม มีเพียงแต่บันทึกข้อความที่ออกจาก สภ.คลองหลวง แนบไปเท่านั้น และความผิดปกติอีกอย่างหนึ่งคือ ชุดการจับกุมของ สภ.คลองหลวง ไม่ได้มีการประสานงานกับสำนักตรวจคนเข้าเมือง ปทุมธานี ในการผลักดันส่งกลับ แต่เป็นการจัดหารถนำพาเด็กไป ซึ่งตรงนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจในระดับท้องที่ มีความรู้ความเข้าใจในการจับกุมมากน้อยแค่ไหน เพราะขณะนี้มีมติ ครม.และกฎกระทรวงแรงงานขอความร่วมมือในการผ่อนผัน เพราะยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และได้มีการขยายเวลาในการพิสูจน์สัญชาติไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2558 และให้ไปรายงานตัวที่ศูนย์ one stop service ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ จึงเท่ากับว่าเรื่องนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยได้ จึงทำให้สงสัยได้ว่าการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจครั้งนี้มีอะไรแอบแฝงหรือไม่ และคิดถึงผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศหรือไม่

ทั้งนี้ตัวเลขประมาณการณ์ของเด็กที่ถูกสำรวจไว้โดยสำนักงานสถิติ พ.ศ.2550 มีเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยอาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 300,000 คน ซึ่งขณะนี้มีจำนวนตัวเลขของเด็กที่มาขึ้นทะเบียนว่าเป็นผู้ติดตามของแรงงานข้ามชาติเพียง 90,000 คนจากจำนวนตัวเลขทั้งหมด ซึ่งเท่ากับว่ามีเด็กกว่าร้อยละ 70 ที่เข้าไม่ถึงระบบการทำเอกสาร เพื่อให้มีสิทธิในการอยู่อาศัยถูกต้องในประเทศไทย

ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า จากกรณีการจับกุมแรงงานข้ามชาติเด็กที่ตลาดไท คิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งถูกท้วงติงมาจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งสิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปจับกุมแรงงานเด็กนั้น ตรงตามนโยบายที่รัฐบาลต้องการหรือไม่อย่างไร เพราะเข้าใจว่านโยบายของรัฐบาลต้องการให้เกิดความคุ้มครอง แต่เจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมกลับทำให้เด็กตกอยู่ในฐานะผู้กระทำผิดแทนการได้รับความคุ้มครอง และทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมไม่เข้าใจในกระบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งวิธีปฏิบัติสากลที่ถูกต้องแล้ว เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างน้อย 12 ปี และเด็กทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ จะถูกยัดเยียดข้อหาให้เป็นคนกระทำความผิดไม่ได้ นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ตม.ไม่มีอำนาจในการส่งเด็กกลับ หากเด็กเหล่านั้นไม่ได้กระทำความผิด เพราะเด็กที่ถูกจับเป็นเด็กที่ติดตามพ่อแม่ ไม่ใช่อาชญากร

ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองเด็กระบุอย่างชัดเจนว่าเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย จะมีสิทธิอยู่กับครอบครัว การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และเป็นการทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นคดีที่จะเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าทำการจับกุมได้ และแทนที่ประเทศไทยจะได้รับการยกย่องกลับจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์แย่ลงกว่าเดิม และจะหนีไม่พ้นถูกจัดอันดับการค้ามนุษย์ให้ต่ำลงอีก

สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า มีข้อเสนอ 7 ข้อต่อรัฐบาลไทยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ถูกต้องและเป็นรูปธรรมดังนี้
1. รัฐต้องเลิกจับกุมเด็กและหันมาใช้วิธีการคุ้มครองเด็กแทนเพราะเด็กไม่ใช่อาชญากร
2. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ควรเข้าไปจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กมาดูแลเด็กโดยเฉพาะในพื้นที่มีเด็กเป็นจำนวนมาก
3. สนับสนุนให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการการค้ามนุษย์
4. ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดโดยเด็กจะต้องได้อยู่กับครอบครัว
5.เร่งรณรงค์ให้ทุกฝ่ายทราบว่าเด็กที่เกิดในประเทศไทยสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ตามมติ ครม.
6. รัฐต้องทำบัตรบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยให้กับเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบสถานะเด็ก
7.รัฐควรเร่งออกกฎกระทรวงตามมาตรา 7 ทวิวรรค 3 ของพระราชบัญญัติสัญชาติแก้ไขฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 ซึ่งหลังจากที่มีการประกาศใช้กฎหมายมาแล้ว 7 ปี แต่ยังไม่มีกฎกระทรวงออกตามมา จึงทำให้ปัญหาเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งกฎกระทรวงนี้จะสามารถแก้ปัญหาได้

ขณะที่ นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า ในส่วนประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคธุรกิจประมงนั้น ภายหลังจากที่ประเทศอินโดนีเซียมีมาตรการทางกฎหมายมารองรับการตรวจสอบ จับกุมลูกเรือประมงที่ทำผิดกฎหมาย และให้หยุดเดินเรือ ทำให้มีลูกเรือทั้งชาวไทย พม่า ลาว และกัมพูชา ตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ประมาณเกือบ 4,000 คนโดยแบ่งเป็นคนไทยประมาณ 2,000 คน พม่า กัมพูชาและลาวประมาณ 2,000 คนโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรอทางการอินโดนีเซียตรวจสอบ ซึ่งในแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่เรียกว่าเป็นคนตกเรือ ที่มีอยู่ 3 กลุ่มคือ

1.กลุ่มคนที่รับจ้างรายวันทำงานทั่วไปโดยไม่มีเจ้านายและไม่มีเอกสารทางกฎหมาย หรือที่เรียกว่าคนผี
2. กลุ่มคนที่ตกเรือมานานก่อนที่ประเทศอินโดนีเซียจะประกาศให้เรือทุกชนิดหยุดเดินเรือ
3. กลุ่มที่ทำงานอยู่บนเรือและบนฝั่งสลับกันไปมา ซึ่ง LPN ได้เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่ตกเรือกลุ่มนี้โดยเฉพาะในกลุ่มที่ 2 แต่ขณะนี้มีปัญหาของการเข้าไปช่วยเหลือคือเราไม่รู้จำนวนคนที่ประสงค์อยากกลับบ้านว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เพราะแรงงานบางกลุ่มก็ยังอยากอยู่ทำงานต่อ ดังนั้นจึงต้องรอดูสถานการณ์ในวันที่ 30 เม.ย.ที่จะถึงนี้ว่าทางการอินโดนีเซียจะดำเนินการในรูปแบบไหนต่อไป

นอกจากนี้ เรื่องนี้ยังมีหลายมิติ โดยมีผลประโยชน์ทางธุรกิจมาเกี่ยวข้อง เพราะผู้ประกอบการบางส่วนยังซื้อเวลาด้วยการไม่ให้แรงงานมารายงานตัวที่ศูนย์ One Stop Service ของไทย เพื่อรอดูท่าทีของทางการอินโดเซีย เพราะหากทางการอินโดนีเซียอนุญาตให้ออกเรือต่อได้ก็จะทำให้เกิดประโยชน์กับภาคธุรกิจที่ไม่ต้องไปหาแรงงานใหม่ และในอีกมิติหากรัฐบาลอินโดเซียขยายมาตรการหยุดเดินเรือต่ออีก 6 เดือน เชื่อว่าจะมีหลายภาคส่วนที่เดือดร้อนทั้งภาคผู้ประกอบการและแรงงาน

ทั้งนี้ในส่วนของแรงงานที่อยากกลับบ้านจริงๆ ที่กลุ่ม LPN ได้เข้าให้การช่วยเหลือนั้นมีตัวเลขประมาณ 500 คน แต่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เพียง 100 คน ซึ่งจะต้องร่วมกันหามาตรการว่าจะทำอย่างไรต่อไปให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามในส่วนของภาครัฐของไทยและอินโดนีเซียควรมีการหารือกันเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิแรงงานการจัดการระบบแรงงานให้ดีขึ้น และควรมีมาตรการที่สามารถตรวจสอบได้ว่าการจดทะเบียนแรงงานถูกต้องหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาแรงานที่ได้รับการช่วยเหลือมีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งเป้าแต่จะแก้ปัญหาไปที่การค้ามนุษย์อย่างเดียว ซึ่งความเป็นจริงยังมีแรงงานอีกหลายส่วนที่ตกหล่นไม่ว่าจะเป็นแรงงานเด็ก และแรงงานที่ถูกใช้งานเยี่ยงทาส ดังนั้นจึงต้องมีการรื้อกระบวนการแก้ไขปัญหาใหม่ทั้งหมด จึงอยากเสนอให้รัฐรื้อกฎกระทรวงว่าด้วยคนทำงานชายฝั่งให้ได้รับการจ้างงานอย่างเป็นธรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ออกมาแล้ว 'นัชชชา' ชี้หากประเด็นที่เสนอไม่คืบ ไม่ร่วมเวทีกองทัพอีก

$
0
0

นัชชชา เผย พล.อ.ฉัตรเฉลิม ขอ มีข้อเสนออะไรให้เสนอในเวที อย่าไปพูดผ่านสื่อ เล็งเข้าร่วมเวทีกองทัพอีกเพื่อติดตามประเด็นเสรีภาพการแสดงออกที่ตัวเองเสนอไป ชี้หากไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ ไม่เข้าร่วมอีก พิชิต ชี้ ศปป.ไม่ได้ห้ามพูดข้างนอก ส่วนตัวเสนอ คสช.เข้าใจนักวิชาการ

23 เม.ย. 2558 นัชชชา กองอุดม นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หนึ่งในผู้ได้รับเชิญจาก ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ให้เข้าร่วมการหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง ที่สโมสรกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ว่า ในเวทีมีผู้เข้าร่วมประมาณ 30-40 คน จากที่นั่งที่จัดไว้ประมาณ 80 ที่ พลเอกฉัตรเฉลิมเป็นผู้ดำเนินรายการ เริ่มอธิบายเท้าความตั้งแต่สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจนถึงรัฐประหารและได้แจ้งถึงผลงานทางการเมืองของทหารได้ทำอะไรไป จากนั้นจึงเปิดให้ผู้เข้าร่วมอภิปรายแสดงคความคิดเห็น ซึ่งในเวทีได้มีกลุ่มบุคคลที่หลากหลายเข้าร่วมอภิปราย อาทิ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, จาตุรนต์ ฉายแสง, จตุพร พรหมพันธุ์, ธิดา ถาวรเศรษฐ, ศุภชัย ใจสมุทร, พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, เอกชัย ไชยนุวัติ, พะเยาว์ อัคฮาด, วิญญัติ ชาติมนตรี สำหรับในส่วน น.ศ. ได้เข้าร่วมสามคนคือ ตนเอง สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และปิยณัฐ จงเทพ จากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) 

นัชชชาเล่าว่า ในวงได้พูดคุยไปในแนวทางเดียวกันก็คือ จำเป็นที่จะต้องมีความยุติธรรมก่อนจึงสามารถจะเกิดความปรองดองในสังคมไทยได้ ซึ่งเป็นเรื่องเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่งก็ได้ขอตัวกลับในช่วงเที่ยงโดยเหลือผู้ร่วมเวทีภาคบ่ายประมาณยี่สิบกว่าคน

เธอเล่าว่า ท้ายที่สุด พล.อ.ฉัตรเฉลิมได้กล่าวว่าการคุยครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นนำไปสู่ความปรองดอง จะมีการจัดเวทีอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยมีความคิดข้อเสนอทางการเมืองอย่างไรขอให้นำมาพูดในเวที โดยขออย่าให้เอาไปพูดผ่านสื่อ พร้อมกันนี้ พล.อ.ฉัตรเฉลิมได้กล่าวขอความร่วมมือให้ผู้เข้าร่วมเวทีปรองดองเป็นตัวแทนเป็นวิทยากรเพื่อนำแนวคิดเรื่องการปรองดองลงไปเผยแพร่ในพื้นที่ต่อไป

ในเวทีตัวแทน ศนปท.ได้พูดถึงการเชิญเข้าร่วมแบบกระชั้นชิดว่ามีเหตุผลอย่างไร แต่ผู้จัดงานไม่ได้ให้คำตอบ

เมื่อถามว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางทหารจะจัดครั้งต่อไปหรือไม่ นัชชชากล่าวว่า โดยส่วนตัว จะเข้าร่วมอีกหนึ่งครั้งเพื่อติดตามประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองที่เธอและผู้เข้าร่วมอีกหลายคนเสนอจะได้รับการนำไปปฎิบัติหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ เธอก็จะไม่เข้าร่วมกิจกรรมอีกต่อไป


พิชิต ชี้ ศปป.ไม่ได้ห้ามพูดข้างนอก ส่วนตัวเสนอ คสช.เข้าใจนักวิชาการ

ต่อมา เวลาประมาณ 21.00 น. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. โพสต์เฟซบุ๊กเล่าถึงการประชุมวันนี้ ชี้เป็นรูปแบบ "รับฟังความเห็น" แจงไม่มีการห้ามพูดข้างนอก เพียงแต่เป็นมารยาทว่าแต่ละคนควรพูดเรื่องของตัวเอง เพราะคนอื่นอาจมีประเด็นที่ไม่อยากพูดในที่สาธารณะ แก้ข่าวลือ ไม่มีการคุมตัว ส่วนตัวเสนอให้ คสช.เข้าใจนักวิชาการ ซึ่งชอบคิด พูด เขียน จัดเสวนา เป็นทั้งอาชีพและความชอบ และทำอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งก็คือการพูดความเป็นจริงอยู่แล้ว

"วันนี้คุยกันกับ "ศูนย์ปรองดองฯ" เดิมคิดว่า คงแค่สักบ่ายโมงก็เสร็จ แต่กลายเป็นเลิกเอาบ่ายสามครึ่ง เพราะผู้เข้าร่วมอยากเสนอความคิดกันเยอะ พูดได้ไม่ทั่วถึง

"รูปแบบเป็นการ "รับฟังความเห็น" คือ ศปป.เสนอแนวคิดเบื้องต้น แล้วผู้รับเชิญก็อภิปรายเสนอแนวคิด ศปป.รับฟังและสอบถาม พูดกันเต็มที่ มีทั้งเสริมและแย้งกัน บรรยากาศจริงจังมากจนผู้รับเชิญไม่ยอมเลิก แต่ศปป.ต้องขอหยุดพักก่อน เพราะมีผู้จองใช้สถานที่ตอนเย็น

"ผมไม่ได้พูดอะไร แค่เสนอสั้นๆ ว่า นักวิชาการชอบคิด พูด เขียน จัดเสวนา เป็นทั้งอาชีพและความชอบของเขา ขอให้คสช.เข้าใจนักวิชาการ และนักวิชาการก็พูดสร้างสรรค์อยู่แล้ว เพราะการพูดสร้างสรรค์คือการพูดความจริง

"ศปป.ไม่ได้ขอ "ห้ามพูดข้างนอก" แต่เป็นมารยาทคือ เราบอกได้ว่า เราพูดอะไร แต่คนอื่นพูดอะไรบ้างนั้น ต้องให้เจ้าตัวเขาเปิดเผยเอง เพราะอาจมีประเด็นที่เขาไม่อยากพูดในที่สาธารณะ แล้วที "ลือ" กันว่า ผู้รับเชิญ "โดนคุมตัว" ก็ไม่มี เขาก็ให้เดินออกมาพักผ่อน จับกลุ่มคุยข้างนอก เข้าห้องน้ำ สูบบุหรี่ บางคนไม่มีเวลา พอพูดเสร็จก็ขอตัวกลับก่อนหลายคน

"มีเพื่อนๆ หลังไมค์ถามด้วยความเป็นห่วง ก็ขอขอบคุณทุกท่าน ผมก็ยังอยู่ตรงนี้ ไม่ไปไหน!" พิชิตระบุ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลรับฟ้อง 'ประธานศาลปกครองสูงสุด' ฟ้อง 'พุฒิพงศ์' หมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอม

$
0
0

ศาลอาญารับฟ้อง หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด (อยู่ระหว่างถูกสั่งพักราชการ) ฟ้อง พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักวิชาการอิสระ ข้อหาหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอม นัดสมานฉันท์ 14 พ.ค.นี้


23 เม.ย. 2558 ที่ศาลอาญา รัชดา อัยการมีคำสั่งฟ้องคดี พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล อายุ 22 ปี นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย ข้อหาหมิ่นประมาทโดยโฆษณา และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(1) สืบเนื่องจากการโพสต์ภาพและข้อความพาดพิง หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด (อยู่ระหว่างถูกสั่งพักราชการ) เมื่อปี 2556

ต่อมา ศาลรับฟ้องและพุฒิพงศ์ถูกคุมตัวฝากขัง ระหว่างรอคำสั่งอนุมัติประกันตัว ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้กรมธรรม์ประกันอิสรภาพ 12,000 บาท

ทั้งนี้ ศาลนัดสมานฉันท์ วันที่ 14 พ.ค. 2558

คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 พุฒิพงศ์ โพสต์ภาพ 2 ภาพลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ภาพแรกเป็นภาพหัสวุฒิใช้มือแตะศีรษะผู้หญิงรายหนึ่ง นั่งหลับตาทำท่าเหมือนบริกรรมคาถา ภาพที่สองเป็นภาพหัสวุฒิกำลังยืนกุมมือพระสงฆ์รูปหนึ่งแล้วทำท่าเหมือนบริกรรมคาถาเหมือนภาพแรก พร้อมคำบรรยายใต้ภาพว่า “นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กำลังใช้อิทธิฤทธิ์รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ไล่ผีเป่ากระหม่อม ให้แก่ภิกษุและชาวบ้านผู้นับถือศรัทธาท่าน ช่วงนี้มักเฮี้ยนอยู่ตามต่างจังหวัด” และในภาพยังวางตัวบทของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 21 ว่าด้วยเรื่อง ตุลาการศาลปกครองพ้นจากตำแหน่งเมื่อเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไว้ใต้ภาพด้วย

ต่อมา เดือนพฤศจิกายน 2556 หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ก็ทำหนังสือมอบอำนาจให้อโนชา ชัยวงศ์ นิติกรสำนักงานศาลปกครอง แจ้งความดำเนินคดีข้าพเจ้าที่ สน.ทุ่งสองห้อง ตั้งข้อหาหมิ่นประมาทโดยโฆษณา และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14(1) 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'คนงาน-ชาวบ้าน' รีไซเคิลแบตเตอร์รี่เวียดนามเสียชีวิตหลายสิบคนแล้ว

$
0
0
ชุมชนชาวบ้านและคนงานอุตสาหกรรมรีไซเคิลแบตเตอร์รี่ในภาคเหนือของเวียดนามกำลังเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพ พบผู้เสียชีวิตจากมะเร็งอย่างน้อย 38 รายแล้ว

 
 

23 เม.ย. 2015 เว็บไซต์ Thanh Nien News ระบุว่าจากสถิติที่ไม่เป็นทางการพบว่าประชาชนในชุมชน Chi Dao จังหวัด Hung Yen หลายส...

Posted by Workazine on 23 เมษายน 2015

 
23 เม.ย. 2015 แม้เวียดนามจะเข้าร่วมอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel Convention on the Control of Trans boundary Movements of Hazardous Wastes and their Disposal) ตั้งแต่ปี 2013 มาแล้ว แต่พบว่ายังคงมีการส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมาพักไว้ที่เวียดนามก่อนส่งไปยังประเทศที่สาม รวมทั้งมีการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เก่ามาทำการ "รีไซเคิล" ในเวียดนามเป็นจำนวนมาก ซึ่งสารพิษในของเสียเหล่านี้อาจจะทำให้ชาวเวียดนามป่วยเป็นโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและระบบประสาท เป็นต้น 
 
รวมทั้งอุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะพิษในประเทศที่เริ่มส่งผลกระทบต่อชาวเวียดนาม เว็บไซต์ Thanh Nien News รายงานเมื่อกลางเดือน เม.ย. ที่้ผ่านมาว่าจากสถิติที่ไม่เป็นทางการพบว่าชาวบ้านและคนงานในชุมชน Chi Dao จังหวัด Hung Yen หลายสิบคนเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง รวมทั้งที่ยังต้องทนทุกข์ทรมานจากของสารตะกั่วพิษตะกั่วในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในบริเวณรอบ ๆ เขต "แยกขยะแบตเตอร์รี่" นี้มีครอบครัวของชาวบ้านและคนงานอยู่ถึง 500 หลังคาเรือน นอกจากนี้ยังเป็นเขตอุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะพิษที่ปราศจากมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอ ส่วนเจ้าของโรงงานรับซื้อตะกั่วจากการรีไซเคิลแห่งหนึ่งระบุว่าโรงงานของเขาสามารถส่งออกตะกั่วไปยังประเทศจีนได้ถึง 100 ตันต่อวันเลยทีเดียว
 
ผู้ประกอบการจากเขตแยกขยะแบตเตอร์รี่นี้จะตระเวนไปทั่วประเทศเวียดนาม เพื่อรับซื้อแบตเตอร์รี่เก่าจากอุปกรณ์สื่อสารและยานพาหนะต่าง ๆ โดยเฉพาะจากจักรยานยนต์ซึ่งใช้แบตเตอร์รี่ที่มีปริมาณตะกั่วสูง ก่อนนำมาแยกสลายชิ้นส่วนด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งคนงานในกระบวนการนี้ถือว่าทำงานเสี่ยงอันตรายแม้จะมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันบ้างแต่ก็พบว่ายังไม่เพียงพอ ทำให้พวกเขาต้องสัมผัสกับสารเคมีอันตรายโดยเฉพาะกรดซัลฟูริก รวมทั้งไม่มีการจัดเก็บขยะและสารพิษอย่างถูกวิธี ทำให้ขยะและสารพิษในกระบวนการแยกขยะปนเปื้อนไปทั่วบริเวณชุมชนแห่งนี้
 
ในด้านสุขภาพของประชาชนในบริเวณนี้พบว่าเด็กหลายคนมีปริมาณสารตะกั่วในเลือดสูงกว่าระดับที่ปลอดภัย และพบว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย ที่เสียชีวิตเนื่องจากโรคมะเร็งปอด, ตับ, ลำคอ และกระเพาะอาหาร
 
 
ที่มาข่าวบางส่วนเรียบเรียงจาก:
 
Recycling batteries provides livelihoods, snatches lives in northern Vietnam
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการสิทธิฯ ชื่นชม-ขอบคุณรัฐบาล ที่จะยกเลิกโทษประหาร

$
0
0


23 เม.ย.2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชื่นชมและขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญ กรณีการยกเลิกโทษประหาร โดยระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับข้อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตของ กสม.ไปพิจารณาและจัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม เพื่อเสนอต่อ ครม. ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งในการประชุมนั้น

"คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอแสดงความชื่นชมและขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญ เอาจริงเอาจังต่อการยกเลิกโทษประหารที่เป็นไปตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557 – 2561)  ประกอบกับปัจจุบันประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติส่วนใหญ่ มากกว่า 150 ประเทศ ได้ยกเลิกหรือระงับการใช้โทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว เช่น สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ มองโกเลีย กัมพูชา เป็นต้น  คงมีเพียง 58 ประเทศรวมถึงประเทศไทยที่ยังมีโทษประหารชีวิต  ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับการส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น" กสม.ระบุ 
         
กสม. ระบุด้วยว่า ยินดีให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนข้อมูลต่างๆ ต่อกระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานอื่นเพื่อประกอบการพิจารณาให้สามารถดำเนินการยกเลิกโทษประหารได้สำเร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการร่วมกันสร้างสังคมที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลต่อไป  และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการยกเลิกโทษประหารจะสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว  ภายใต้การบริหารในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีมูฟโวย "รัฐบาลผิดสัญญา" ตั้งกรรมการร่วมนานแล้วยังไม่คืบ

$
0
0

พีมูฟโวย ตั้งกก.ร่วมรัฐบาลแก้ปัญหาชาวบ้านนานแล้วยังไม่คืบ จี้อนุกรรมการทุกชุดเร่งประชุมแก้ปัญหาใน 30 วัน พร้อมจัดประชุมกรรมการอำนวยการภายใน พ.ค.58





23 เม.ย. 2558 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) รวมตัวกันบริเวณศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อติดตามทวงถามการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล พร้อมอ่านแถลงการณ์ "รัฐบาลผิดสัญญา วิบากกรรมคนจนถึงขีดสุด" ระบุว่า หลังจากชาวบ้านเรียกร้องให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนมากว่า 6 เดือนจนมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหา แต่เวลาก็ล่วงเลยมาจน 90 วันแล้ว ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ และหลายหน่วยงานในทางปฏิบัติไม่สนใจผลของการเจรจากับรัฐบาลพร้อมแสดงท่าทีปฏิเสธอย่างชัดเจน จนทำให้ปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น

"เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาคนจน ขปส. หวังว่าการที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศจะมีความจริงจังกับการแก้ปัญหา และขอให้อนุกรรมการทุกชุดได้เร่งประชุมเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ภายใน 30 วัน พร้อมจัดประชุมกรรมการอำนวยการภายในเดือนพฤษภาคม 2558" ขปส. ระบุ


แถลงการณ์
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
รัฐบาลผิดสัญญา “วิบากกรรมคนจนถึงขีดสุด”

กว่า 6 เดือนที่ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากทั่วประเทศ ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนจนทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จนนายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งกรรมการแก้ปัญหาของ ขปส. โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (มล.ปนัดดา ดิศกุล) เป็นประธานกรรมการ และล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 พวกเราในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (มล.ปนัดดา ดิศกุล) ในฐานะประธาน และกรรมการจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีมติร่วมกันในการแก้ปัญหาเร่งด่วนหลายกรณี เช่น กรณีโฉนดชุมชนจะเร่งประสานมอบหมายประธานกรรมการและจัดประชุมภายใน 1 เดือน กรณีธนาคารที่ดินนำร่อง จะเร่งประสานโครงการเข้า ครม. เพื่ออนุมัติซื้อที่ดิน 167.9 ล้านบาท กรณีปัญหาเฉพาะหน้ามีมติสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ พร้อมมีมติ แต่งตั้งอนุกรรมการแก้ปัญหารายกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหาขึ้นมา 8 คณะ โดยจะเร่งประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา ภายใน 30 วัน

บัดนี้เวลาได้ล่วงเลยมาครบ 90 วัน โดยที่คำสั่งหรือมติที่ประชุมใดๆ ของคณะกรรมการไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) และหลายหน่วยงานในทางปฏิบัติไม่สนใจผลของการเจรจากับรัฐบาลพร้อมแสดงท่าทีปฏิเสธอย่างชัดเจน จนทำให้ปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น

ดังนั้น เมื่อหน่วยงานระดับปฏิบัติไม่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว พวกเราในนาม ขปส. ซึ่งเป็นผู้เดือดร้อนจากทั่วประเทศ จำเป็นต้องนำปัญหากลับมาให้รัฐบาลเป็นผู้แก้อย่างเด็ดขาด ซึ่งรัฐบาลได้แถลงต่อสาธารณะ ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง การลดความเหลื่อมล้ำและการปฏิรูปประเทศ โดย ขปส.มีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้

1. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดประชุมกรรมการโฉนดชุมชน และเดินหน้าส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชนเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน กว่า 400 ชุมชนที่ยื่นขอไว้ต่อสำนักงานโฉนดชุมชน ที่รัฐบาลไม่ยอมดำเนินการต่อ จนทำให้คนกว่า 2 แสนครอบครัวอยู่บนความทุกข์ยาก

2. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินให้สถาบันธนาคารที่ดินได้มีบทบาทเพื่อการแก้ปัญหาที่ดินคนจน โดยมีพื้นที่นำร่อง พร้อมทั้งมีงบประมาณสำหรับดำเนินการได้ทันที อย่างน้อย 6 พื้นที่ แต่รัฐบาลก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ

3. ให้รัฐบาลสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ ตามมติที่ประชุมกรรมการอำนวยการ ให้เกิดการแก้ปัญหาและการคุ้มครองพื้นที่สมาชิก ขปส.ทั่วประเทศ การที่หน่วยงานไม่ปฏิบัติตามถือว่าไม่สนองนโยบายรัฐบาลต้องหามาตรการขั้นเด็ดขาดต่อไป

เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาคนจน ขปส. หวังว่าการที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศจะมีความจริงจังกับการแก้ปัญหา และขอให้อนุกรรมการทุกชุดได้เร่งประชุมเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ภายใน 30 วัน พร้อมจัดประชุมกรรมการอำนวยการภายในเดือนพฤษภาคม 2558 และพวกเรายืนยันว่า การมาติดตามการแก้ปัญหาของรัฐบาลในครั้งนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการแสดงออกของคนจน เพื่อไม่ให้รัฐบาลหลงลืมว่าจะต้องทุ่มเทในการแก้ปัญหาคนจนมากกว่าที่เป็นอยู่

เชื่อมั่นในพลังประชาชน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
23 เมษายน 2558



 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ทำไมความจริงยังไปไม่ถึงความยุติธรรม” เผยข้อค้นพบจากการสำรวจกลไกยุติธรรม เพื่อสร้างความพร้อมสู่สันติภาพ

$
0
0


งานแถลงผลสอบข้อเท็จจริงกรณีบ้านโต๊ะชูด/ทุ่งยางแดง
จาก Deep South Watch

 

มูลนิธิเอเชียมีผลงานสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นการนำหลักนิติวิทยาศาสตร์มาใช้คลี่คลายคดีความมั่นคงต่างๆ ในพื้นที่อย่างได้ผล ส่งผลให้เงื่อนไขของความรุนแรงที่เกิดจากการความอยุติธรรมทางคดีลดลงตามไปด้วย

แต่กรณีเหตุรุนแรงที่สังคมรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจใช้อำนาจเกินกว่าเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกฎหมาย จนรัฐต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาเป็นการเฉพาะในหลายกรณี แต่ก็ยังไปไม่ถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

กระทั่งกรณีล่าสุดที่มีการปิดล้อมตรวจค้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน ซึ่งคณะกรรมการที่รัฐตั้งขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ได้แถลงยืนยันแล้วว่าผู้เสียชีวิตไม่ใช่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและไม่เชื่อว่าอาวุธปืนที่พบที่ศพจะเป็นของผู้เสียชีวิต

แต่กระนั้นก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรณีนี้อาจเป็นเช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ ที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมา คือไปไกลสุดแค่การเยียวยาแต่ไปไม่ถึงการนำคนผิดมาลงโทษ หรือ ยิง ตาย จ่าย จบ

มูลนิธิเอเชียเองก็อยากรู้เช่นกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น จึงพยายามค้นหาคำตอบโดยศึกษาบทเรียนจากการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงหลายชุดในช่วงที่ผ่านมา ที่สำคัญคือ พยายามมองว่ากระบวนการค้นหาความจริงนั้นจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพได้อย่างไรบ้าง

เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม
แม้มูลนิธิเอเชียไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในการค้นหาความจริงจากหลายกรณีที่เกิดขึ้น แต่โครงการศึกษาเรื่อง “เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม : กรณีศึกษาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบริบทความขัดแย้งชายแดนใต้” ของมูลนิธิเอเชียก็พบเรื่องข้อเท็จจริงจากรายงานการศึกษาเบื้องต้นหลายประการ

โครงการนี้ดำเนินการระหว่างเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2557 โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการวิเคราะห์เนื้อหาจากเอกสารของคณะกรรมการค้นหาความจริงในแต่ละชุด ผู้ศึกษาหลักคือนางรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ซึ่งแม้ศึกษาเสร็จแล้วแต่ตัวรายงานผลการศึกษายังต้องรอแก้ไขปรับปรุงและคาดว่าจะสามารถเผยแพร่ได้ในเร็วๆ นี้

โครงการนี้เป็นการศึกษากรณีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จในเหตุรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ตั้งขึ้นในช่วงปี 2553 – 2557 เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกรณีที่สงสัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเกินกว่าเหตุหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกฎหมาย รวม 10 กรณี

นายสันติ นิลแดง เจ้าหน้าที่โครงการมูลนิธิเอเชีย เปิดเผยถึงโครงการศึกษานี้ว่า มี 2 ประเด็นหลักที่ต้องอธิบาย คือ 1.มูลนิธิเอเชียกับการศึกษาเรื่องคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในปริบทความขัดแย้งชายแดนใต้ และ 2.คณะกรรมการค้นหาความจริงในจังหวัดชายแดนใต้กับวัฒนธรรมคนผิดลอยนวล


สันติ นิลแดง

เพื่อหนุนสันติภาพและสำรวจกลไกยุติธรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่าน
นายสันติ อธิบายว่า เหตุผลที่มูลนิธิเอเชียให้มีการศึกษาเรื่องนี้ มี 2 ข้อด้วยกัน คือ
เหตุผลข้อที่ 1 เพื่อสนับสนุนกระบวนการเจรจาสันติภาพ เนื่องจากในช่วงนั้นรัฐบาลไทยได้แสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง (political will) และสื่อสารกับประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่อย่างชัดเจนว่าจะใช้วิถี “การเมืองนำการทหาร” โดยผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการขณะนั้น ซึ่งในช่วงที่ศึกษาเรื่องนี้ที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายชุด

เหตุผลที่ 2 คือ การริเริ่มสำรวจทบทวนกลไกยุติธรรมเชิงเปลี่ยนผ่าน หรือ transitional justice - TJ ที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งที่มีบทบาทในการเจรจาสันติภาพทั่วโลก เพื่อหาข้อมูลว่ากลไกไหนที่สามารถนำมาใช้ให้เหมาะสมกับบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้

พบ 3 ประการ “ศักยภาพไม่พอ-องค์ประกอบไม่เหมาะ-ไปไม่ถึงคดี”
ผลการศึกษาของมูลนิธิเอเชียในเรื่องนี้ นายสันติ ระบุว่า มีข้อค้นพบหลักๆ อยู่ 3 ประการ ได้แก่

1.ศักยภาพของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ซึ่งยังขาดทักษะความสามารถอย่างเพียงพอ จึงควรมีเจ้าหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ เช่น ทักษะการซักถาม การเขียนรายงาน ความรู้และเข้าใจเรื่องพยานหลักฐานประเภทต่างๆ รวมทั้งพยานหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

2.องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ควรมีการตั้งคณะกรรมการถาวรขึ้นมาและมีขนาดไม่ใหญ่มาก คือ ประมาณ 5 - 7 คน และไม่ควรเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง แต่ก็ควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ญาติผู้เสียชีวิตหรือผู้ได้รับผลกระทบมีบทบาทในการคัดเลือกกรรมการที่เป็นคนที่ตนไว้ใจ และควรมีโอกาสได้ร่วมสังเกตการทำงานของคณะกรรมการด้วย

3.รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงถูกคาดหวังค่อนข้างสูงว่า น่าจะนำไปใช้ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ แม้หลายกรณีระบุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งคณะกรรมการคือการแสวงหาความจริงเบื้องต้นเท่านั้นก็ตาม

“ขณะเดียวกันก็มีข้อถกเถียงว่า รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังมีข้อจำกัดหลายประการ จะกลายเป็นการตัดสินคดีล่วงหน้าได้อย่างไร และเป็นการแทรกแซงการค้นหาข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติของประเทศได้หรือไม่”

ต้องขจัดวัฒนธรรมปล่อยคนผิดลอยนวล
จากผลการศึกษาดังกล่าว นายสันติให้ความเห็นในฐานะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ด้วยว่า ถามว่ารายงานผลของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงควรจะนำไปสู่การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษหรือขจัดวัฒนธรรมคนผิดลอยนวลได้เลยหรือไม่ หรือทำไมข้อสรุปของรายงานจึงไปไม่ถึงคดีความ

เขาบอกว่า ในเรื่องนี้พบว่ายังมีความเห็นที่หลายฝ่ายมองต่างมุมกัน และมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก เช่น ในเชิงข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการนำผลของการค้นหาความจริงที่นอกเหนือจากกระบวนการยุติธรรมปกติมาใช้กับการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นต้น

“อย่างไรก็ตาม การขจัดวัฒนธรรมปล่อยให้คนผิดลอยนวล (Impunity) เป็นปัญหาสำคัญของกระบวนการยุติธรรมภาคใต้ที่มูลนิธิเอเชียพยายามทำงานทั้งกับภาครัฐและภาคประชาสังคมมาตลอด เช่น พยายามสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานในการนำพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองทั้งสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาและผู้เสียหายอย่างเท่าเทียมกัน แต่เราก็พบว่ามันยากจริงๆ”

“เหตุที่ยากเพราะมันเป็นทั้งประเด็นข้อกฎหมาย ทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักสำคัญจาก Political will ของรัฐบาล ความมุ่งมั่นของภาคประชาสังคมและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากหลายฝ่าย รวมทั้งสื่อด้วย”

แต่เส้นทางยาก-ต้องปลดล็อคกฎหมาย ป.ป.ช.
เขายกตัวอย่างกรณีที่เห็นได้ชัดในประเด็นนี้ ก็คือคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวภายในฐานทหาร ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อกระทำผิดต้องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ดำเนินคดี ซึ่งมีกระบวนการและขั้นตอนที่ยาวนาน และเป็นที่ทราบกันดีว่า ป.ป.ช.เองก็มีคดีค้างอยู่จำนวนมาก

“ยังไม่นับกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นทหาร ซึ่งต้องนำเข้าพิจารณาคดีในศาลทหารอีก ซึ่งแน่นอนว่าความล่าช้าของความเป็นธรรมก็ทำให้คนยิ่งรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม”

สันติบอกว่า ส่วนการนำรายงานการตรวจสอบของข้อเท็จจริงคณะกรรมการในรูปแบบนี้มาใช้ในการดำเนินคดีโดยอัตโนมัติ คิดว่าขณะนี้คงยังทำได้ยาก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็น่าจะเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับภาคประชาสังคมที่ผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งมูลนิธิเอเชียเองก็พยายามฟังทุกฝ่ายว่า ทิศทางการขับเคลื่อนควรเป็นอย่างไร

เขายกตัวอย่างแนวทางในการผลักดันเรื่องนี้ เช่น ควรเริ่มจากการศึกษาต่อเนื่องจากการศึกษาของรุ่งรวีอย่างไร หรือจะมีช่องทางใดบ้างที่ผลของกระบวนการค้นหาความจริงตามกลไกลักษณะนี้จะสามารถเชื่อมต่อหรือนำเข้าไปสู่การพิจารณาและดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้หรือไม่ หรือมีตัวบทกฎหมายใดที่เอื้อกับการนำผลรายงานนี้ไปใช้ได้บ้าง เป็นต้น

“เพราะฉะนั้น แม้คนจะคาดหวังมากที่การค้นหาความจริงแบบนี้จะนำคนผิดมาลงโทษให้ได้ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือใครก็ตามคงต้องอาศัยการผลักดันอีกมาก เช่น ให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอยู่ รวมถึงเปิดช่องให้การค้นหาความจริงลักษณะนี้นำไปสู่การดำเนินคดีได้ ถ้าต้องการลด Impunity (การปล่อยคนผิดลอยนวล) เพื่อสร้างสังคมนิติรัฐให้เกิดขึ้นจริงให้ได้” สันติ กล่าวทิ้งท้าย

ตั้งมาแล้ว 10 คณะ แต่ไปไกลสุดแค่เยียวยา
ขณะที่นางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ผู้ศึกษาหลักของเรื่องนี้ คณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงที่มีการตั้งขึ้นเฉพาะกิจนี้ ในภาษาอังกฤษมักเรียกกันว่า Fact-Finding Mission หรือ Commission of Inquiry (COI) COI เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกคณะกรรมการค้นหาความจริงที่ตั้งขึ้นโดยสหประชาชาติ ซึ่งมีมากกว่า 30 คณะในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2448 – 2555

COI หมายถึงคณะกรรมการค้นหาความจริงที่มิใช่กลไกของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจในสถานการณ์ความขัดแย้งเพื่อสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงและประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ในกรณีของภาคใต้ การตั้งคณะกรรมการนั้นอยู่ในระดับท้องถิ่นโดยหน่วยงานรัฐในพื้นที่ตั้งขึ้น เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใต้ ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ สภาที่ปรึกษาฯ ของ ศอ.บต. เป็นต้น

นางสาวรุ่งรวี ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2553-2557 มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 10 คณะ กรณีที่จดจำกันได้ดีคือ การเสียชีวิตในค่ายทหารของนายสุไลมาน แนแซ (แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จวันที่ 22 มิถุนายน 2553) กรณีการกราดยิงชาวบ้านในรถกระบะที่ ต.ปุโล๊ะปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี   (แต่งตั้ง 4 กุมภาพันธ์ 2555) กรณีสุดท้ายก่อนการรัฐประหาร คือกรณีกราดยิงครอบครัวนายเจ๊ะมุ มะมันที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส (แต่งตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2557)

ไม่เปิดเผยผลรายงาน–เสียโอกาสสร้างบทเรียนป้องกันซ้ำรอย
นางสาวรุ่งรวี กล่าวว่า ข้อสรุปจากการศึกษาเรื่องนี้ คือ กลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งในการทำความจริงให้ปรากฏ ซึ่งหลายๆกรณีเกิดขึ้นได้ยากในกลไกการสืบสวนสอบสวนปกติของตำรวจ แต่วัตถุประสงค์หลักของการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผ่านมาคือการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพื่อลดความรู้สึกไม่เป็นธรรม แม้บางคณะจะมีข้อเสนอในเชิงนโยบายด้วย แต่ก็มักจะไม่ได้ถูกผลักดันให้เป็นจริง

“แม้ว่ากลไกนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม แต่สามารถเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ต้องหา เพื่อเป็นการขจัดวัฒนธรรมผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ (Impunity) แต่น่าเสียดายที่ผู้ถูกคณะกรรมการระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำเกินกว่าเหตุหรือกระทำการนอกกฎหมายมักไม่ถูกดำเนินคดีอาญาในศาล

“มีกรณีเดียวที่มีการดำเนินคดีถึงชั้นศาล คือกรณีอาสาสมัครทหารพรานสองนายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกราดยิงครอบครัวมะมัน แต่ศาลชั้นต้นเพิ่งตัดสินยกฟ้องไปเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมาบนฐานว่าหลักฐานไม่เพียงพอ”

นอกจากนี้ รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน จึงทำให้เสียโอกาสที่จะใช้กรณีเหล่านี้เป็นบทเรียนในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

TJ คืออะไร เกี่ยวอะไรกับการค้นหาความจริง
แพทริค แบรอน ผู้อำนวยการภูมิภาค โครงการความขัดแย้งและการพัฒนา มูลนิธิเอเชีย อธิบายเรื่องนี้ในบทความของเขา ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ว่า TJ หรือ Transitional Justice คือชุดของกลไกชั่วคราวที่ช่วยรัฐและสังคมในการจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายภายหลังความขัดแย้ง ซึ่งแนวทางนี้ถูกนำมาใช้มากขึ้นในฐานะเครื่องมือหนึ่งในการสร้างสันติภาพ เช่น ในข้อตกลงสันติภาพในบังซาโมโร ประเทศฟิลิปปินส์, อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และติมอร์ ได้บรรจุเรื่อง TJ ไว้ในข้อตกลงสันติภาพทั้งสิ้น

TJ ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า การขาดความยุติธรรมคือสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้ง และหากจะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นก็ต้องจัดการกับความอยุติธรรม ดังนั้น TJ จึงมุ่งส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.ความยุติธรรมแบบแก้แค้นทดแทน (Retributive Justice) : มุ่งลงโทษผู้กระทำผิดโดยกระบวนการยุติธรรม 2.ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice): มุ่งชดเชยเยียวยาแก่ผู้สูญเสียจากการละเมิด และ 3.ความยุติธรรมเชิงกระบวนวิธี (Procedural Justice): แก้ไขปรับปรุงระบบยุติธรรมและการคุ้มครองความปลอดภัยเพื่อไม่ให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว TJ จะดำเนินการผ่าน 4 กลไก ได้แก่ 1.การดำเนินคดี (prosecutions) 2.กระบวนการค้นหาความจริง (truth-seeking) 3.การชดเชยเยียวยา และ 4.การปฏิรูปสถาบัน ซึ่งในที่นี้หมายถึงสถาบันด้านความมั่นคงและสถาบันด้านยุติธรรม

จะช่วยสร้างสันติภาพได้อย่างไร?
TJ จะช่วยสร้างสันติภาพได้อย่างไรนั้น แพทริค ระบุว่า ประการแรก คือ ช่วยส่งเสริมสันติภาพโดยการให้การชดเชยแก้ไขความเดือดร้อนคับข้องใจ (grievances) ของคนในพื้นที่ซึ่งสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดการต่อต้านรัฐได้
ประการที่สอง มีศักยภาพในการช่วยฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐ (State legitimacy) โดยแสดงให้เห็นว่ารัฐมีพันธะผูกพันที่จะต้องทำให้เกิดการปฏิรูป และประการสุดท้าย อาจเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ (confidence-building) ซึ่งจะช่วยเป็นตัวเชื่อมให้คู่กรณีฝ่ายต่างๆ เดินหน้าเข้าสู่การพูดคุยสันติภาพ

เหมาะสมกับบริบทชายแดนใต้หรือไม่?
แพทริค อธิบายว่า ประสบการณ์จากหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านช่วยเปลี่ยนผ่านจากสงครามไปสู่สันติภาพได้จริง ซึ่งจำเป็นต้องมีเงื่อนไขอย่างน้อยที่สุด 3 ประการ แต่ขณะนี้ยังไม่มีเงื่อนไขใดปรากฏในภาคใต้ของไทย

ประการแรก เจตจำนงทางการเมือง (Political will) ประการที่สอง ต้องไม่มีการกระทำผิดต่อเนื่อง ประการที่สาม ข้อตกลงระหว่างชนชั้นนำหรือการตกลงทางการเมือง คือระหว่างรัฐบาลและผู้นำทหารกับผู้ต่อต้านรัฐ

ถ้าอย่างนั้น จะทำอะไรได้บ้าง? แพทริค เสนอว่า สิ่งที่ทำได้ตั้งแต่ตอนนี้คือการเตรียมความพร้อมซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ในอนาคต ได้แก่
1.เริ่มศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาว่า กรอบกฎหมายไทยเปิดโอกาสให้นำเอากระบวนการยุติธรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านมาใช้ได้แค่ไหนและอย่างไร มีข้อกฎหมายใดที่เปิดช่องให้ดำเนินคดีย้อนหลัง หรือภายใต้เงือนไขใดที่การนิรโทษกรรมสามารถกระทำได้

2.เริ่มใคร่ครวญว่า จากประสบการณ์การใช้ความยุติธรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านในต่างประเทศ มีองค์ประกอบใดบ้างที่เหมาะสมกับบริบทของชายแดนใต้

3.ต้องเสริมสร้างศักยภาพของคนในพื้นที่เพื่อให้งานในอนาคตได้ เช่น การแสวงหาข้อเท็จจริงและการสร้างการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งงานด้านนี้มีการดำเนินการอยู่บ้างแล้ว แต่ยังมีอีกมากที่สามารถทำเพิ่มได้

4.การปฏิรูปสถาบันมีความสำคัญ เพราะมักถูกละเลยจนถึงช่วงระยะท้ายๆ ของกระบวนการสันติภาพ แต่การให้ความช่วยเหลือด้านหลักๆ เช่น การดำเนินคดีอาญา การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการดูแลความสงบในชุมชน สามารถเป็นฐานการปรับโครงสร้างสถาบันของรัฐในอนาคตได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทความอีสต์เอเชียฟอรัมเผยทำไมเกาหลีใต้เต็มไปด้วยชนชั้นแรงงานนอกระบบ

$
0
0

เกาหลีใต้แม้จะอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและมีบรรษัทที่มีชื่อเสียงทั่วโลกแต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำของประชาชนอยู่มาก สาเหตุจากความยืดหยุ่นมากเกินไปในการจ้างงานรวมถึงการที่สหภาพและรัฐไม่สามารถเป็นตัวกลางที่ดีได้ในข้อพิพาทแรงงาน ทำให้เกิดแรงงานนอกระบบรายได้ต่ำและขาดความมั่นคงในชีวิตจำนวนมาก


23 เม.ย. 2558 ยุนคยองลี ผู้ช่วยศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กในเมืองบิงแฮมตันเขียนบทความลงในเว็บไซต์อีสต์เอเชียฟอรัม ถึงประเด็นที่ประเทศเกาหลีใต้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 2 ของประเทศที่มีความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจมากที่สุดในหมู่ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ถึงแม้ว่าภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่มีการส่งออกแบรนด์เนมชั้นนำอย่างซัมซุงหรือฮุนไดก็ตาม

ในบทความดังกล่าวระบุว่าหลังจากเกิดวิกฤติทางการเงินในเอเชีย เกาหลีใต้ก็หันมาใช้นโยบายแบบเสรีนิยมใหม่เปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจขนาดยักษ์ในเกาหลีที่เรียกว่า "แชโบล" เติบโตเป็นบรรษัทระดับโลกเพื่อแบ่งปันความมั่งคั่งให้กับประเทศ แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มชนชั้นแรงงานก็ถูกแบ่งแยกทำให้ห่างชั้นมากขึ้นและชนชั้นกลางก็เริ่มลดจำนวนลง

ยุนคยองลีระบุว่า นโยบายการลดกฎเกณฑ์ตลาดแรงงานนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทำให้กลุ่มคนทำงาน 2 กลุ่มหลอมรวมกลายเป็นกลุ่มชนชั้นล่างกลุ่มใหม่ กลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ทำอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบที่มีรายได้ต่ำ พวกเขาล้วนมีความไม่มั่นคงในการงาน มีการคุ้มครองทางสังคมต่ำ ขาดโอกาสก้าวหน้าทางการงานหรือสถานะทางสังคม มีกลุ่มคนที่เป็นผู้ทำอาชีพอิสระอยู่สูงราวร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีอยู่ร้อยละ 16

ยุนคยองลีระบุในบทความอีกว่าในกลุ่มผู้ทำอาชีพอิสระส่วนใหญ่จะทำร้ายขายของชำเล็กๆ หรือร้านอาหาร แต่ครึ่งหนึ่งของธุรกิจเล็กๆ เปิดใหม่เหล่านี้จะล้มละลายภายใน 3 ปี กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุดในกลุ่มคนทำงานอิสระในเกาหลีใต้ร้อยละ 20 มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีหนี้ครัวเรือนอยู่โดยเฉลี่ยราว 90,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างนี้ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นล่างสุดของเกาหลีใต้ที่แทบไม่สามารถยกระดับสถานะทางสังคมตัวเองได้

ในแง่ของกลุ่มแรงงานนอกระบบ ยุนคยองลีระบุว่าเกาหลีใต้มีแรงงานนอกระบบอยู่ครึ่งหนึ่งของของแรงงานทั้งหมดซึ่งมากกว่าประเทศสมาชิก OECD ประเทศอื่นๆ คนที่เป็นแรงงานนอกระบบในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงในช่วงอายุประมาณ 30 ปี หรือมากกว่านั้น มักจะเป็นการรับจ้างในธุรกิจเล็กๆ ที่มีคนงานน้อยกว่า 5 คน หรือเป็นคนทำงานในภาคบริการ ภาคการเกษตร การก่อสร้าง และการผลิต พวกเขามีสัญญาจ้างแบบชั่วคราวและได้รับค่าจ้างเพียงร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับแรงงานค่าจ้างรายชั่วโมงทั่วไป ทั้งนี้ยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงระบบการคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐานและโครงการประกันสังคม จึงทำให้คนกลุ่มนี้โดยส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นล่างสุดในเกาหลีใต้

ยุนคยองลีชี้ว่า สิ่งที่ทำให้เกิดกลุ่มชนชั้นล่างที่ไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงานมาจาก 3 สาเหตุ สาเหตุแรกคือการเติบโตของพวกแชโบลทำให้มีการปรับโครงสร้างตลาดแรงงาน ทำให้รัฐเข้าควบคุมได้น้อยลง กลุ่มทุนมีอำนาจมากขึ้นอีกทั้งยังสามารถใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจในการควบคุมนักการเมือง พนักงานอัยการ และสื่อกระแสหลัก เพื่อสร้างวาระให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดการแรงงานและมีการคุ้มครองทางสังคมน้อยลง กลุ่มทุนใหญ่ยังใช้แรงงานภาคประจำน้อยลงจาก 1 ล้านคนในปี 2541 เหลือ 8 แสนคนในปี 2553 แล้วหันไปใช้การจ้างเหมาช่วงและการจัดจ้างภายนอกที่เรียกว่า "เอาท์ซอร์ส" (outsource) แทนเพื่อลดต้นทุนและบีบให้กลุ่มแรงงานนอกระบบต้องแข่งขันกันเอง

สาเหตุที่สองมาจากสหภาพแรงงานในเกาหลีใต้ ยุนคยองลีระบุว่าสหภาพในเกาหลีใต้ล้มเหลวในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อแรงงานในวงกว้างได้ มีผู้เข้าร่วมสหภาพแรงงานโดยเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 10 เท่านั้นเอง และส่วนใหญ่มักจะเป็นแรงงานชายในบรรษัทใหญ่ แรงงานในระบบมีร้อยละ 14 ที่เข้าร่วมสหภาพแรงงานเทียบกับแรงงานนอกระบบซึ่งเข้าร่วมร้อยละ 1.7 นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเรื่องราวของแรงงานหญิงน้อยกว่าที่ควร ยุนคยองลีวิจารณ์สหภาพแรงงานแห่งชาติเกาหลีใต้ว่ายังคงทำตัวเป็นองค์กรวงแคบๆ ที่ไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์สมาชิกของตนได้โดยไม่สามารถแทรกแซงหรือร่วมกระบวนการกำหนดนโยบายแรงงานได้

ยุนคยองลีชี้ว่า สาเหตุที่สามมาจากสถาบันทางการเมืองเกาหลีใต้ที่ไม่มีพรรคซึ่งเน้นเรื่องแรงงาน พรรคการเมืองในเกาหลีใต้มีการแตกหักง่าย มักจะมีการแยกหรือยุบรวมพรรคซ้ำๆ มักจะแบ่งแยกพรรคจากความสัมพันธ์กับภูมิภาคมากกว่าเรื่องความแตกต่างด้านนโยบาย เกาหลีใต้เพิ่งจะมีพรรค 'ฝ่ายซ้าย' คือพรรคประชาธิปไตยแรงงานเมื่อปี 2543 โดยก่อนหน้านี้มักจะถูกบีบไม่ให้เกิดมาโดยตลอด อีกทั้งยังมักจะหลีกเลี่ยงการโต้วาทีช่วงก่อนเลือกตั้งในประเด็นแรงงานและการคุ้มครองทางสังคมโดยเพิ่งจะมีการโต้วาทีเรื่องนี้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2553 นี้เอง

ยุนคยองลีระบุว่า สถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยควรมีการแทรกแซงทางการเมืองเพื่อจัดการผลกระทบที่ทำให้ชนชั้นแรงงานที่ถูกแบ่งแยกและขาดความมั่นคงในชีวิต แต่กลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองในเกาหลีใต้กลับไม่สามารถเป็นตัวแทนผลประโยชน์ให้แก่ชนชั้นแรงงานหรือทำตัวเป็นตัวกลางการเจรจาต่อรองที่น่าเชื่อได้เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนงานกับกลุ่มทุนใหญ่


เรียบเรียงจาก

The birth of the insecure class in South Korea, East Asia Forum, 15-04-2015
http://www.eastasiaforum.org/2015/04/15/the-birth-of-the-insecure-class-in-south-korea/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำบุญ-รำลึก 1 ปี 'ไม้หนึ่ง ก.กุนที' ถูกสังหาร-ชี้คดีไม่คืบ สะท้อนสังคมไร้ยุติธรรม

$
0
0

ทำบุญ-รำลึก 1 ปี กมล ดวงผาสุข หรือ ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีราษฎร ซึ่งถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2557 สุธาชัยชี้หนึ่งปีแล้วคดียังไม่คืบ สะท้อนสังคมไทยยังไม่มีความยุติธรรม แนะผู้มีอำนาจอ่านบทกวีไม้หนึ่ง เป็นแนวทางศึกษาประชาธิปไตยและเคารพประชาชน


23 เม.ย. 2558  ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน มีประชาชนประมาณ 50 คน ร่วมกันทำบุญรำลึกครบรอบ 1 ปี ที่นายกมล ดวงผาสุข หรือ ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีราษฎร ซึ่งถูกคนร้ายบุกยิงเสียชีวิต ที่หน้าร้านอาหารครกไม้ไทยลาว ย่านลาดปลาเค้า เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 23 เม.ย. 2557 ทั้งนี้ บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่าย มีการเลี้ยงภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ และรับประทานอาหารร่วมกันเท่านั้น โดยมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในชุดนอกเครื่องแบบร่วมสังเกตการณ์ประมาณ 10 นาย

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเดินทางมาร่วมทำบุญด้วย กล่าวว่า ผ่านมา 1 ปีของการเสียชีวิตของไม้หนึ่ง ก.กุนที แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าทางคดีใดซึ่งสะท้อนว่าสังคมไทยยังไม่มีความยุติธรรม ตนเชื่อว่าผู้ที่ยิงไม้หนึ่ง ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวและคงไม่เคยอ่านบทกวีของผู้ตาย ซึ่งตนเชื่อว่าสาเหตุในการตัดสินใจฆ่า มาจากเหตุผลทางการเมืองเพราะหลังจากนั้นได้เพียง 1 เดือนก็เกิดการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557

“บทกวีของเขามีคุณค่ามากและมีอรรถรสที่ลึกซึ้ง เนื้อหาของบทกวีส่วนใหญ่เชิดชูสามัญชนและรวมถึงสนับสนุนประชาธิปไตยด้วย วันนี้รัฐบาลทหารพยายามพูดเรื่องปรองดอง แต่การปรองดองยังมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและพยายามบังคับให้คนต้องคิดเหมือนกัน ผมอยากให้ผู้มีอำนาจอ่านบทกวีของเขาเพื่อเป็นแนวทางศึกษาประชาธิปไตยและรู้จักเคารพประชาชน” นายสุธาชัยกล่าว

ต่อมาเวลา 12.30 น. ที่บริเวณใต้ต้นมะขาม ข้างร้านอาหารครกไม้ไทยลาว ในซอยลาดปลาเค้า 24 มีประชาชนส่วนหนึ่ง เดินทางมาวางดอกไม้ตรงจุดที่ไม้หนึ่ง ก.กุนที ถูกยิงเสียชีวิตและร่วมกันยืนไว้อาลัยประมาณ 2 นาที หลังจากนั้น จึงแยกย้ายกันกลับโดยไม่มีเจ้าหน้าที่เดินทางมาตรวจสอบแต่อย่างใด
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใช้อัยการศึก คุมตัว 6 ผู้ต้องสงสัยเกี่ยวคาร์บอมบ์สมุย

$
0
0

โฆษก กอ.รมน. ภาค4ส่วนหน้า เผยคุมผู้ต้องสงสัย 6 คน โดยใช้อำนาจกฎอัยการศึก ยังไม่สรุปสาเหตุ ขณะผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางชี้กลุ่มป่วนใต้มีเอี่ยว ด้านโฆษก สตช.เผย ให้น้ำหนักไปที่เหตุผลสร้างสถานการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก


23 เม.ย. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยความคืบหน้าระเบิดห้างเซ็นทรัล เฟสติวัส เกาะสมุยว่า มีความเชื่อมโยงกับรถยนต์ที่ใช้ในการก่อเหตุจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและการควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัย 6 ราย เป็นไปตามการควบคุมตัวตามอำนาจของกฎอัยการศึก ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร ยังไม่มีการตัดประเด็นอะไรออกไป ต้องให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการต่อไป

ขณะที่ พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ยอมรับว่า ข้อมูลของตำรวจสอบสวนกลาง ระบุชัดว่า มีกลุ่มบุคคลที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุจริง ส่วนจะมีกลุ่มการเมืองเข้ามาสนับสนุนหรือไม่ ให้เป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ให้ข้อมูลแทน


โฆษก สตช.เผย ให้น้ำหนักไปที่เหตุผลสร้างสถานการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก
ด้าน ASTV ผู้จัดการ รายงานว่า วานนี้ (22 เม.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ว่าขณะนี้ศาลจังหวัดยะลาได้อนุมัติออกหมายจับ นายอับดุลรอนิง ดือราแม หรือบังยี อายุ 51 ปี เจ้าของเต็นท์จำหน่ายรถยนต์มือสอง จ.ยะลาแล้ว ในความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยผู้ต้องหารายนี้เป็นผู้ที่นำรถยนต์ทั้ง 3 คันมาใช้ในการก่อเหตุ ได้แก่ รถเก๋งยี่ห้อฮอนด้าซีวิค สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน วน 9157 กรุงเทพมหานคร, รถกระบะมิตซูบิชิ ไทรทัน สีขาว 4 ประตู ทะเบียน ขจ 4031 ชลบุรี และรถกระบะอีซูซุ ดีแมคซ์ 4 ประตู ทะเบียน 3 กม 8795 กรุงเทพมหานคร โดยนายอับดุลรอนิงเป็นผู้จัดหารถยนต์ 3 คันดังกล่าวให้ร่วมไปในขบวนเดินทางไปก่อเหตุที่เกาะสมุย ทำหน้าที่เป็นรถคุ้มกันและรับผู้ร่วมก่อเหตุออกจากจุดที่นัดหมาย ส่วนรถที่ใช้เป็นคาร์บอมบ์นั้นขณะนี้พนักงานสอบสวนในพื้นที่ออกหมายจับในคดีปล้นทรัพย์ชิงทรัพย์เรียบร้อยแล้ว
      
พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าวว่า จากการสอบสวนคำให้การของนายอับดุลรอนิงยังไม่ชัดเจน มีความคลุมเครืออยู่ ต้องใช้เวลาในการสอบสวนอีกระยะหนึ่งเพื่อสรุปให้ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นการซื้อรถยนต์ที่ใช้ก่อเหตุทั้ง 3 คัน อีกทั้งตอนนี้เจ้าตัวยังให้การว่าไม่ได้เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ พูดเพียงแค่เป็นผู้จำหน่ายไปให้บุคคลอื่นอีกทอดหนึ่งเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่เชื่อว่ามีผู้มาซื้อจริงหรือไม่ ต้องตรวจสอบต่อไป แต่เบื้องต้นนั้นนายอับดุลรอนิงมีความผิดตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพราะมีพยานที่นำรถมาให้นายอับดุลรอนิงยืนยันว่ามีการซื้อขายรถยนต์กับนายอับดุลรอนิงจริง ส่วนรายละเอียดนอกเหนือจากนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับผู้ต้องหารายอื่น
      
พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าวว่า สำหรับนายอับดุลรอนิงถือเป็นผู้ต้องอันดับต้นๆ และเป็นกุญแจสำคัญที่หากให้การเป็นประโยชน์ก็สามารถขยายผลไปสู่ตัวการใหญ่ได้ และขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังพยายามสาวไปถึงตัวผู้ร่วมขบวนการทั้งหมด แต่ข้อมูลนอกเหนือจากนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ยืนยันว่าทางการสืบสวนมีความคืบหน้าไปมากแล้วแต่ยังไม่สามารถเชื่อคำให้การของผู้ต้องหาได้ทั้งหมด ต้องหาพยานหลักฐานอื่นมายืนยันข้อมูลเพื่อความรอบคอบชัดเจน
      
พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าวว่า ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน และจากนี้เตรียมทยอยออกหมายจับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีกประมาณ 6 คน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ภายใน 1-2 วันนี้ บางคนเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยแต่ละคนทำหน้าที่อะไรนั้นต้องรอข้อมูลชัดเจนกว่านี้ก่อน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ดำเนินการทุกอย่างเพิ่มความรอบคอบ มีการเก็บดีเอ็นเอจากสถานที่เกิดเหตุ บนรถยนต์ บนวัตถุระเบิดบางชิ้น นำมาเทียบกันและตรวจเทียบกับผู้ต้องสงสัยทั้งหมดว่ามีความเกี่ยวข้องกับสารระเบิดหรือไม่ ยอมรับว่าการทำงานค่อนข้างยาก แต่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่มีความคืบหน้าและรายงานผู้บังคับบัญชาทุกชั่วโมง
      
โฆษก ตร.กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวว่ามีอดีตนักการเมืองเข้ามาพัวพันกับคดีนี้ว่า ทีมสืบสวนตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่เพื่อหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะหากเชื่อว่าผิดแต่ไม่มีหลักฐานก็ทำอะไรเขาไม่ได้ โดยเฉพาะคดีที่เป็นคดีอาญาเช่นนี้ อีกทั้งการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง บางครั้งแค่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องแต่เราก็ไม่สามารถพูดได้เพราะอาจไปทำให้เขาเสียหาย ทั้งยังทำให้ผู้ที่ร่วมขบวนการนั้นไหวตัวทันและอาจหลบหนี เพราะเห็นว่าหลักฐานมาถึงตัวเขาแล้ว ดังนั้นต้องรอให้ข้อมูลทุกอย่างครบถ้วนก่อนนำเสนอต่อสาธารณะต่อไป
      
“เจ้าหน้าที่ยังให้น้ำหนักไปที่เหตุผลสร้างสถานการณ์ทางด้านการเมืองเป็นหลัก เนื่องจากเหตุผลเกี่ยวกับการขยายพื้นที่ก่อเหตุของขบวนการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นไม่มีน้ำหนักหรือแรงจูงใจเพียงพอ เพียงแต่การทำงานของกลุ่มงานที่ทำงานในพื้นที่ภาคใต้หรือมีความชำนาญด้านนี้อาจถูกจ้างวานหรือให้มาทำงานในเหตุะรเบิดดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์อื่น” พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าว และว่าสำหรับกระแสข่าวที่ว่าเจ้าหน้าที่อาจไม่สามารถจับใครได้ในเหตุการครั้งนี้นั้น ขอให้ผู้ที่จะปรามาสหรือวิจารณ์อยู่ในกรอบของความเป็นจริง เพราะเจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเต็มที่แล้วมีการสอบปากคำพยานแล้วไม่ต่ำกว่า 30-40 ปาก แต่ยังมีบางคนที่วิจารณ์โดยไม่มีเหตุผลก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ยืนยันเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่กังวลทุกคนทำงานอย่างมีกำลังใจและไม่ลดละแน่นอน

 

ที่มา:มติชนออนไลน์ (1, 2), ASTV ผู้จัดการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารสั่งงดฉายหนังม.บูรพา‘บางแสนรามา’ อดดู30หนังสั้นนศ.+ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง

$
0
0

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘บางแสนรามา’ ซึ่งเป็นกิจกรรมของนิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และโทรทัศน์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โพสต์แถลงการณ์งดจัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ประจำปีเนื่องจาก  “เนื้อหาของภาพยนตร์บางเรื่องเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ” ก่อนหน้านั้น 1 วัน ( 22 เม.ย.) ทางเพจยังระบุว่าจะจัดกิจกรรมฉายหนังอยู่โดยจะลดจาก 2 วันเหลือเพียง 1 วัน โดยให้เหตุผลว่า “เกิดเหตุขัดข้อง ไม่สามารถจัดตามกำหนดเดิมได้”

รายงานข่าวแจ้งว่า เหตุที่ไม่สามารถจัดงานได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารเห็นป้ายประชาสัมพันธ์งานจึงได้ติดต่อมายังคณะและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการเพื่อแจ้งว่างานครั้งนี้ยังไม่ได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ทหารและวัฒนธรรมจังหวัด ทางทหารยังขอให้งดการฉายภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูงภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประเด็นเขาพระวิหาร โดยผู้กำกับ นนทวัฒน์ นำเบญจกุล ด้วย เพราะอาจกระทบความมั่นคง ทางอาจารย์และคณะนิสิตผู้จัดงานได้เห็นพ้องกันที่จะงดฉายภาพยนตร์ดังกล่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองล่วงหน้าด้วยการงดฉายหนังสั้นอื่นๆ บางเรื่องด้วยเพราะเกรงจะเกิดปัญหาระหว่างการจัดฉาย นอกจากนี้ทางทีมงานยังส่งหนังสั้นของนักศึกษาให้เจ้าหน้าที่ทหารตรวจสอบก่อนตามที่ได้ร้องขอมา ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งแถลงการณ์ฉบับแรกที่ขอเปลี่ยนโปรแกรมการฉายจาก 2 วันเป็น 1 วัน อย่างไรก็ตาม ในวันต่อมา (23 เม.ย.) เจ้าหน้าที่ทหารติดต่อกลับมาอีกครั้งและขอให้งดจัดงานทั้งหมดโดยไม่แจ้งเหตุผล

แถลงการณ์ฉบับสอง


แถลงการณ์ฉบับแรก 

งานบางแสนรามาเป็นการจัดฉายภาพยนตร์ขนาดสั้นและขนาดยาว ปีนี้นับเป็นครั้งที่สองที่มีการจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในนามของภาควิชานิเทศศาสตร์ ก่อนหน้านี้ ‘บางแสนรามา’ ถือเป็นพื้นที่กลางของนิสิตนักศึกษาที่สนใจด้านภาพยนตร์แวะเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาจัดฉายภาพยนตร์และจัดเสวนา เป็นกิจกรรมภายในกลุ่มเล็กๆ จัดต่อเนื่องมาหลายต่อหลายครั้งตลอด 3 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่ม

สำหรับกิจกรรมบางแสนรามาในปีนี้ที่ล่มไปนั้นประกอบด้วยหนังสั้นของนักศึกษาทั้งของม.บูรพา และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ส่งผลงานร่วมแลกเปลี่ยน ได้แก่ ม.ราชภัฏศรีสะเกษ ม.ธรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมแล้วราว 30 เรื่อง ปิดท้ายด้วยภาพยนตร์ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมด้วยว่าการงดจัดงานอย่างกระทันหันครั้งนี้ทำให้ทีมงานต้องทำการคืนค่าตั๋วทั้งหมดแก่ผู้ที่ซื้อตั๋วไป คืนเงินสปอนเซอร์ทั้งหมด รวมทั้งเสียค่าปรับให้กับบริษัทที่ติดตั้งระบบเสียงที่ได้จัดเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี คณะผู้จัดแจ้งว่าจะพยายามจัดงานนี้อีกครั้งแต่ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้ “เพราะหนังทุกเรื่องสมควรได้ฉาย”

คอลิด มิดำ อาจารย์คณะดนตรีและการแสดง ม.บูรพา ในฐานะผู้เคยเข้าร่วมชมภาพยนตร์ที่นิสิตจัดฉายในปีก่อนและเตรียมเข้าร่วมชมในครั้งนี้ กล่าวว่า การเข้ามาใช้อำนาจทั้งในระบบการศึกษาและงานศิลปะถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ควรบันทึกไว้ และในฐานะของผู้ชม การไม่ได้ดูก็ถือว่าเสียโอกาส ในความเป็นจริงเมื่อดูแล้วตนเองอาจจะรู้สึกไม่ชอบก็ได้ แต่อย่างไรก็ควรได้ดูก่อน ในสถาบันการศึกษาเมื่อนิสิตนักศึกษาจัดทำโครงการแบบนี้นับเป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุน แต่เหตุที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามว่ากิจกรรมนี้ผิดอะไร

“มันแย่ตรงที่ว่าเราเป็นสถาบันการศึกษา สถาบันอุดมศึกษา แล้วเราไม่ให้เด็กคิด เรามาตัดสินแทนเด็กว่า อันนี้ดีอันนี้ไม่ดี เข้ามาใช้อำนาจแบบนี้ เข้ามาข่มขู่ให้กลัว ตอนนี้มันเกิดความกลัวจริงๆ ขนาดที่ว่าเด็กก็ไม่กล้าพูด เราก็ไม่กล้าที่จะกระโตกกระตากอะไร อาจารย์ที่โดนก็ไม่กล้าที่จะพูดอะไร ทุกคนต้องสงบปากสงบคำ ทั้งที่เหตุการณ์นี้มันผิดปกติ” คอลิด กล่าว

อนุวัชร์ อำนาจเกษม นิสิตม.บูรพา เจ้าของหนังสั้น 4 เรื่องที่เตรียมฉายในกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้มีโอกาสฉายหนังของตัวเองและไม่ได้ดูหนังของคนอื่นๆ

“งานครั้งนี้มันคงไม่ได้มีคนมามากมายอะไร แต่มันจะฉายหนังพวกผมที่ทำกัน ได้ดูกันกับเพื่อน กับรุ่นน้อง และได้เผยแพร่ให้คนอื่นๆ ดูด้วย มหาลัยอื่นๆ เขาก็มีงานประเภทนี้กันทั้งนั้น ภาพยนตร์ของเด็กมันควรจะได้ฉาย ถ้าเรื่องไหนมีปัญหาฉายไม่ได้ก็เอาเรื่องนั้นออก นี่เอาออกแล้วทำไมฉายเรื่องอื่นๆ ไม่ได้อยู่ดี รู้สึกเฟล มันเป็นความตั้งใจของเรา” อนุวัชร์กล่าว

ด้านนนทวัฒน์ นำเบญจกุล เจ้าของผลงานฟ้าต่ำแผ่นดินสูงให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า รู้สึกงงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากหนังของเขาผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการภาพยนตร์ทุกขั้นตอน มีการนำเข้าฉายในโรงภาพยนตร์มาแล้ว ที่ผ่านมามีการนำไปฉายให้นักศึกษาในสถาบันต่างๆ ดูหลายที่ ส่วนใหญ่เป็นคณะรัฐศาสตร์และนิเทศศาสตร์ ยังไม่เคยพบว่ามีปัญหาอะไร

“ผมก็งงๆ เรื่องนี้มันผ่านเซ็นเซอร์ ฉายโรง คนเขาดูกันหมดแล้ว ล่าสุด มช. Southeast Asia Study เขาก็เพิ่งจัดฉายไปเมื่อสองเดือนก่อน ไม่มีปัญหาอะไร ผมก็สงสัยว่าเขาโฟกัส อะไร ยังไง เห็นน้องๆ เล่าว่าทหารเขาไม่สนว่าจะผ่านเซ็นเซอร์แล้วหรือเปล่า เขาว่านั่นมันยุคนั้น ยุคนี้มันคนละยุคกัน” นนทวัฒน์กล่าว

“ถ้ามันเป็นภัยต่อความมั่นคงจริง ฉายมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านประเทศชาติคงล่มจมไปแล้ว แต่ก็เห็นยังอยู่ดีอยู่ เนื้อหาของหนังไม่ได้ยุยงเลย ฟังก์ชั่นของมันผลิตมาเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และผู้คนที่อยู่ชายแดน หนังนำเสนอการปรองดอง ให้ปัญหามีทางออก มีทางแก้ ไม่น่าจะเป็นเรื่องเลวร้ายอะไร” นนทวัฒน์กล่าว

“มันน่าเสียใจที่น้องๆ เขาจัดฉายหนัง อุตส่าห์รวบรวมกันมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ น่าจะเป็นการพัฒนาความรู้ด้านต่างๆ ได้อย่างดี การที่เขาไม่ได้ฉายมันก็บั่นทอนกำลังใจ บั่นทอนแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่ๆ ในการที่จะสร้างสรรค์ผลงานในอนาคต” นนทวัฒน์กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคสังคมอาเซียนหารือวิกฤตการเมืองไทย-เรียกร้องอาเซียนเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร

$
0
0

กลุ่มแรงงานกัมพูชา-อินโดนีเซีย พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย สัมมนาการเมืองไทยหลังรัฐประหาร พร้อมเรียกร้องอาเซียนเป็นภูมิภาคปลอดรัฐบาลทหาร-ปล่อยนักโทษการเมือง - นักสิทธิแรงงานออสเตรเลียชี้รัฐประหารทำให้ปัญหาของประชาชนเงียบเสียง - แรงงานอินโดนีเซียฉายภาพขบวนการแรงงานขยายตัวหลังพ้นระบอบซูฮาร์โต้ - "จรรยา ยิ้มประเสริฐ" สไกป์ตำหนิบทบาทสหภาพแรงงาน-เอ็นจีโอหลายกลุ่มหนุนรัฐประหาร 2 ครั้งซ้อน

การประชุม "การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยและผลกระทบต่ออาเซียน" ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อการสัมมนากลุ่มย่อย ในการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF 2015) ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมจากกลุ่มประเทศอาเซียนดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 เมษายนนี้

ผู้เข้าร่วมการประชุมจากหลายประเทศในอาเซียน ร่วมกันถ่ายภาพคู่กับป้ายผ้าเรียกร้องให้ปล่อยตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" นักกิจกรรมแรงงานที่ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 โดยถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากบทความที่เผยแพร่ในนิตยสารที่เขาเป็นบรรณาธิการ ทำให้เขาถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 10 ปี ทั้งนี้แถลงการณ์ที่เผยแพร่โดยพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย และกลุ่มแรงงานจากกัมพูชา และอินโดนีเซีย เรียกร้องให้อาเซียนเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน (ที่มาของภาพ: PSM)

 

23 เม.ย. 2558 - คณะผู้จัดการสัมมนาและผู้เข้าร่วมการประชุม "การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยและผลกระทบต่ออาเซียน" ได้ร่วมกันประณามรัฐบาลทหารไทย ที่ใช้อำนาจเข้าปกครองประเทศไทยโดยมิชอบ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปลดปล่อยนักโทษการเมืองทั่วทั้งภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

โดยเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF 2015) มีการสัมมนาหัวข้อย่อย "การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยและผลกระทบต่ออาเซียน" จัดโดย กลุ่มรณรงค์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย (ACT4DEM) พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) ศูนย์จัดการศึกษาทางกฎหมายสำหรับประชาชน (CLEC) ประเทศกัมพูชา และ ศูนย์ข้อมูลแรงงานซีดาน (LIPS) ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหารือต่อสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองในประเทศไทยและผลกระทบที่ตามมาต่อประชาชนอาเซียน

 

จรรยา ยิ้มประเสริฐ ตำหนิองค์กรพัฒนาเอกชน-สหภาพแรงงานกระทำผิดซ้ำหนุนรัฐประหาร 49 ยัน 57

ในการประชุม จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงานชาวไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ได้อภิปรายด้วยระบบสนทนาออนไลน์เข้ามาในที่ประชุม ตอนหนึ่งกล่าวว่า สหภาพแรงงานไทยและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย เคยมีบทบาทในการปูทางไปสู่รัฐประหาร และเอ็นจีโอสายหลัก ไม่ได้ปกป้องหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีบทบาทมาจากการเป็นทหารที่มีตำแหน่งสำคัญ และต่อมาก็ทำรัฐประหารในปี 2557 โดยไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งทหารเข้ามาเกือบร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับการรัฐประหารเมื่อปี 2549 มีนายทหารในคณะรัฐมนตรีประมาณร้อยละ 17 ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ได้แสดงให้เห็นสัญญาณใดๆ ว่า กองทัพจะทำให้เกิดประชาธิปไตย ขณะที่ในช่วงของการเมืองไทยสมัยใหม่ จรรยาอธิบายตอนหนึ่งแสดงให้เห็นว่าในรอบ 67 ปีที่ผ่านมา ไทยปกครองด้วยรัฐบาลทหาร 39 ปี รัฐบาลพระราชทาน 5 ปี และรัฐบาลพลเรือน 23 ปี

ในเรื่องโครงสร้างทางสังคม จรรยากล่าวตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 2 ล้านคน คือข้าราชการและญาติที่เข้าถึงระบบสวัสดิการสังคม การรักษาพยาบาล ขณะที่ประชากรอีกกว่าร้อยละ 70 ไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการสังคม ประชากรกำลังแรงงานในประเทศไทย 38 ล้านคน มีเพียงร้อยละ 27 ที่เข้าถึงระบบประกันสังคม และมีประชากรถึง 24 ล้านคน ที่ต้องจ้างงานตัวงาน และไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการสังคม ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณางบประมาณปี 2538-2558 พบว่า มีค่าใช้จ่ายทางทหารเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะนับตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา

ทั้งนี้จรรยา กล่าวสนทนาผ่านระบบออนไลน์ในช่วงท้ายของการประชุมอีกครั้ง หลังสัญญาณช่วงแรกขาดหาย โดยจรรยากล่าวว่า ปัญหาใจกลางหลักของไทยคือ มีกลุ่มที่ได้รับอภิสิทธิทั้งชนชั้นนำ ข้าราชการ กองทัพ ทั้งนี้งบประมาณกองทัพเคยมีสัดส่วนลดลงต่องบประมาณใช้จ่ายของรัฐในแต่ละปี แต่กลับเพิ่มขึ้นในปี 2549 จรรยากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากลุ่มแรงงานที่ต่อต้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นกลุ่มสหภาพแรงงาน ที่มีสมาชิกมากที่สุดในประเทศไทย เพราะมีสมาชิกมากถึง 4.5 แสนคน แต่กลับไปร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยอ้างว่าเพื่อขจัดรัฐบาลที่เป็นเสรีนิยม ทั้งนี้จรรยาเสนอว่า ผู้นำแรงงาน องค์พัฒนาเอกชน ไม่ควรทำผิดซ้ำแบบที่มีสหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนเคยทำผิดที่ไปให้การสนับสนุนกระบวนการที่ทำให้เกิดการรัฐประหารทั้งในปี 2549 และ 2557 นอกจากนี้ในปี 2551 ยังมีองค์กรพัฒนาเอกชนหลายกลุ่มออกแถลงการณ์ทำนองเดียวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องให้รัฐบาลสมัยนั้นลาออก

"น่าเสียใจยิ่งที่พวกเขากลัวโลกาภิวัฒน์ ไม่สนับสนุนนโยบายเสรีนิยมใหม่ แต่หันไปร่วมมือกับกองทัพ ผิดกับกรณีอินโดนีเซียที่สามารถเรียกร้องประชาธิปไตย และต้านเสรีนิยมใหม่ไปพร้อมๆ กัน"

 

นักสิทธิแรงงานออสเตรเลียชี้รัฐประหารทำให้ปัญหาของประชาชนเงียบเสียง

จีแซล ฮานนา นักสิทธิแรงงานจากกลุ่ม Australia Asia Worker Links (AAWL) ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2557 เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในเอเชีย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกินความคาดหมาย และไม่ได้เกิดขึ้นเพราะลักษณะพิเศษของสังคมไทย สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตเศรษฐกิจไทย ประเทศไทยไม่ใช่แห่งเดียวที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น ยังมีกรณีอื่นที่เกิดขึ้นในโลก เช่น รัฐประหารอียิปต์ ผลของการรัฐประหาร ก็เพื่อหยุดไม่ให้ประชาชนพูดถึงปัญหาที่ตัวเองประสบ หยุดการรวมกลุ่มแรงงาน หยุดการเรียกร้องต่อนายทุนอุตสาหกรรม รวมทั้งหยุดการเรียกร้องประเด็นสิทธิมนุษยชนด้วย

ในส่วนของ AAWL ไม่สามารถเห็นด้วยกับรัฐบาลเผด็จการใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับแรงงานเราต้องการพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ในการเรียกร้องสิทธิ ทั้งนี้ในบังกลาเทศเมื่อหลายปีก่อน เกิดสถานการณ์น่าเศร้า ที่คนงาน 8,000 คนรวมตัวกันนอกโรงงาน บอกนายจ้างว่าไม่ต้องการเข้าไปทำงานเพราะในโรงงานอันตราย นายจ้างตอบว่าถ้าอย่างนั้นจะไม่จ่ายค่าจ้าง 1 เดือน คนงานซึ่งไม่มีทางเลือกจึงกลับเข้าทำงาน และโรงงานดังกล่าวก็พังทลายลงมาทำให้คนเสียชีวิต นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการเรียกร้องเรื่องใดก็ตาม พวกเขาอาจประสบกับสิ่งเลวร้ายได้

ฮานนา เสนอให้คนไทยพยายามหาทางรวมกลุ่มกัน ขณะที่ต่างประเทศต้องสร้างความร่วมมือกับคนไทย ทั้งนี้ยังเสนอให้กดดันมหาอำนาจที่ส่งออกอาวุธให้ประเทศไทย มีทั้งสหรัฐอเมริกา สวีเดน เยอรมนี และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ เพราะสายการผลิตในปัจจุบัน ผลประโยชน์ของแรงงานในมาเลเซีย ออสเตรเลีย และไทย ก็เป็นเรื่องเดียวกัน โดยฮานนายังเสนอให้มุ่งจัดตั้งขบวนการแรงงานในประเทศไทยด้วย

 

แรงงานอินโดนีเซียฉายภาพขบวนการแรงงานอินโดนีเซียขยายตัวหลังพ้นระบอบซูฮาร์โต้

ส่วนชารีฟ จากศูนย์ข้อมูลแรงงานซีดาน (LIPS) ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ในสมัยที่ประเทศอินโดนีเซียอยู่ภายใต้ระบอบซูฮาร์โต แรงงานไม่สามารถนัดชุมนุม นัดหยุดงาน ในระหว่างปี 2516-2542 เป็นช่วงที่มีการใช้ระบบปัญจศีลในกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ กระทั่งซูฮาร์โตถูกประชาชนโค่นลงจากอำนาจ จึงมีการรวมกลุ่มแรงงานขนานใหญ่

โดยอินโดนีเซียมีสหภาพแรงงานในปัจจุบันถึง 112 แห่ง จากเดิมในสมัยซูฮาร์โตมีเพียง 1 แห่งเท่านั้น ถือเป็นผลมาจากการปฏิรูปของชาวอินโดนีเซีย และไม่เพียงแต่มุ่งสถาปนาพื้นที่ประชาธิปไตย แต่ยังขยายลงไปสู่การทำงานกับเยาวชนด้วย ทั้งนี้บทบาทของแรงงานอินโดนีเซีย ไม่เพียงแต่ล้มรัฐบาลทหารเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังคงมีบทบาทผลักดันให้มีการปฏิรูปในอินโดนีเซี

อนึ่ง จักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ ได้อภิปรายผ่านระบบออนไลน์ร่วมแสดงความคิดเห็นในการประชุมด้วย โดยตอนหนึ่งเขาเสนอว่า ประเทศในอาเซียนต้องทบทวนเรื่องหลักการไม่แทรกแซงภายใน และคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ขณะที่ ชูชุนไข สมาชิกของคณะกรรมการกลางพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) กล่าวว่า ไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เราต้องเสนอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นประเทศปลอดรัฐบาลทหาร และปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

พรรคสังคมนิยมมาเลเซียแพร่แถลงการณ์เรียกร้องอาเซียนเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร

โดยหลังการประชุม ในเว็บไซต์ของพรรคสังคมนิยมมาเลเซียได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์ "เพื่ออาเซียนเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร" ลงนามโดย กลุ่มชาวมาเลเซียเพื่อการสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศไทย กลุ่มรณรค์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย (ACT4DEM) พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) ศูนย์จัดการศึกษาทางกฎหมายสำหรับประชาชน (CLEC) ประเทศกัมพูชา และ ศูนย์ข้อมูลแรงงานซีดาน (LIPS) ประเทศอินโดนีเซีย

โดยใจความตอนหนึ่งระบุว่า "เสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทยถูกจองจำ ภายใต้รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และทำให้พื้นที่ประชาธิปไตยถดถอย วิกฤตในประเทศไทยไม่สามารถคลี่คลายได้ตราบใดที่กองทัพยังยึดอำนาจโดยร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม และชนชั้นนำตามขนบ โดยที่ไม่สนใจหลักประชาธิปไตยและทางเลือกของประชาชน วิธีการทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทยเช่นนี้จะเป็นการปูทางให้นักลงทุนพากันสะสมผลประโยชน์อย่างหนักและขูดรีดเอากับพลเมืองมากขึ้น" แถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุ

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้แสดงความสมานฉันท์ร่วมกับ "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" นักกิจกรรมด้านแรงงานชาวไทย ซึ่งถูกจำคุกเป็นเวลา 4 ปี นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมเสวนายังร่วมแสดงจุดยืนต่อความยุติธรรม ภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ถูกบังคับใช้อย่างทารุณ

ในข้อสรุปของการสัมมนา ได้เสนอให้ภาคประชาสังคมอาเซียนเรียกร้อง 3 ประการได้แก่ "1. อาเซียนต้องเป็นเขตปลอดรัฐบาลทหาร 2. อาเซียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดนักโทษการเมือง 3.อาเซียนต้องทบทวนหลักการ "ไม่แทรกแซงกิจการภายใน" เพื่อให้เสียงและทางเลือกของประชาชนสามารถขับไล่ทุกๆ รูปแบบของอำนาจเผด็จการ และสร้างความเข้มแข็งต่อการสมานฉันท์เพื่อประชาธิปไตยและสังคมที่มีความยุติธรรมทั่วทั้งภูมิภาค"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคสังคมอาเซียนหารือที่กัวลาลัมเปอร์: เมื่อเขื่อนใหญ่ ส่งผลกระทบข้ามรัฐในอาเซียน

$
0
0

นักสิ่งแวดล้อมไทย-มาเลเซีย-กัมพูชา เผยผลกระทบจากเขื่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - ชาวกัมพูชาหวั่นลาวสร้างเขื่อนดอนสะโฮงแล้วกระทบแหล่งประมงโตนเลสาบ ขณะที่ กสม.มาเลเซียเผยได้เรียกบริษัทสัญชาติมาเลเซียผู้สร้างเขื่อนมาให้ข้อมูล ขณะเดียวกันมีข้อเสนอจากเวทีให้อาเซียนบรรจุเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเสาหลักที่ 4 ประกันวิถีชีวิตประชาชน

24 เม.ย. 2558 - ในการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF 2015) ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายนนั้น ในการประชุมหัวข้อย่อยเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่อาคาร UTM Space มีการหารือหัวข้อ "เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่: ภัยคุกคามข้ามพรมแดน และสิ่งรับผิดชอบร่วมกันของประชาคมอาเซียน" หรือ "Large Scale Hydropower Dams: Transboundary threat and common Responsibility of ASEAN community" โดยหารือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการสร้างเขื่อนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องกันแบบข้ามพรมแดน ระหว่างรัฐต่อรัฐในภูมิภาค

มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูวิถีชีวิตและธรรมชาติ

ปีเตอร์ คอลลัง เครือข่ายปกป้องแม่น้ำซาราวัก จากรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย

 

แผนแม่บทเชื่อมโยงพลังงานอาเซียน และซีรีย์สร้างเขื่อนขนานใหญ่

มนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูวิถีชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า อาเซียนมีการเตรียมแผนพลังงาน ที่เรียกว่า "การศึกษาแผนแม่บทการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน" หรือ "ASEAN Interconnection Master Plan Study" โดยศึกษามาตั้งแต่ปี 2545 เพื่อวางแผนเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศ โดยประเมินว่าในอนาคตอาเซียนต้องการพลังงาน 333,700 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นพลังงานจากถ่านหิน 59,340 เมกะวัตต์ นอกจากนี้เป็นพลังงานน้ำ ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ

มนตรีกล่าวตอนหนึ่งว่า การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในแม่น้ำโขงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่ากลัวมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงเริ่มต้นขึ้นเมื่อจีนสร้างเขื่อนแห่งแรกในแม่น้ำโขงเมื่อปี 2536 ทั้งนี้จีนสร้างเขื่อน 9 แห่งในแม่น้ำโขง ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 17,755 เมกะวัตต์ กักเก็บน้ำได้ 41,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในปัจจุบันมีเขื่อนหลายแห่งเกิดขึ้นในแม่น้ำโขงรวมทั้งในลาว รวมทั้งโครงการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงในลาวตอนใต้

กรณีของเวียดนาม มีการสร้างเขื่อนยาลี ในแม่น้ำเซซาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยผลิตไฟฟ้าได้ 720 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามระหว่างการก่อสร้างในปี 2536-2544 ไม่มีการหารือสาธารณะ หรือการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

มนตรีย้ำว่า "การสร้างเขื่อนเป็นปัญหาระดับรัฐต่อรัฐ ประชาชนอาเซียนควรมีทางเลือกในเรื่องของแหล่งพลังงาน อนาคตของพวกเราไม่ควรอยู่ในกับดักความเชื่อเรื่อง "แหล่งพลังงานต้นทุนต่ำ" แบบผิดๆ ที่ละเลยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคน"

 

ประสบการณ์ปกป้องแม่น้ำจากซาราวัก รู้ข่าวเพราะชาวเน็ตจีน

ปีเตอร์ คอลลัง จากเครือข่ายปกป้องแม่น้ำซาราวัก จากรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ในมาเลเซียตะวันออก คือที่ตั้งของรัฐซาราวัก และรัฐซาบาห์ บนเกาะบอร์เนียว เป็นพื้นที่ซึ่งประชากรเบาบางแต่เป็นแหล่งทรัพยากร รัฐบาลมาเลเซียมีแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยตั้งเป้าผลิตพลังงานจากรัฐทางตะวันออก 28,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานจากน้ำ 20,000 เมกะวัตต์ พลังงานจากถ่านหิน 5,000 เมกะวัตต์ และพลังงานจากแหล่งอื่น 3,000 เมกะวัตต์ เพื่อขายพลังงานให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาะบอร์เนียว ส่วนที่เป็นของอินโดนีเซีย รวมทั้งเชื่อมโยงระบบสายส่งกลับมาที่ส่วนของคาบสมุทรมลายา

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในซาราวักก็คือ ประชาชนไม่รู้ว่าจะมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในพื้นที่ บางโครงการประชาชนรู้ทีหลัง เพราะรัฐบาลลงโฆษณาเชิญชวนนักลงทุนในจีน แล้วมีคนนำมาโพสต์ในอินเตอร์เน็ต จนกระทั่งคนซาราวักไปเห็นในโลกออนไลน์ จนทำให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกแพร่กระจาย

ในรัฐซาราวักมีเขื่อนบากุน ในแม่น้ำราจัง ขนาด 2,400 เมกะวัตต์ สร้างแล้วเสร็จในปี 2544 มีผลทำให้ครัวเรือนนับหมื่นต้องอพยพจากพื้นที่สร้างเขื่อนไปอยู่ที่สุไหงอาซับ และวิถีชีวิตของประชาชนเหล่านั้นเปลี่ยน เพราะไม่สามารถทำกินในพื้นที่แห่งใหม่ได้ ในจำนวนคนที่อพยพกว่าครึ่งกลายเป็นคนที่ออกไปหางานทำนอกชุมชน อย่างไรก็ตาม ภาคสังคมในรัฐซาราวัก พยายามปกป้องไม่ให้มีการสร้างเขื่อนมูรุม โดยชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นชาวพีนัน ซึ่งเป็นกลุ่มคนพื้นเมือง เคยประท้วงปิดกั้นทางเข้าไปพื้นที่สร้างเขื่อนในปี 2555 เป็นเวลา 1 เดือน หลังจากที่พวกเขาได้เห็นเอกสารแผนการก่อสร้างเขื่อนที่รั่วไหลออกมา และขณะที่กำลังมีการดำเนินโครงการนี้ ชาวบ้านยังไม่ยอมลงนามเพื่อย้ายออกจากพื้นที่

 

ชาวกัมพูชาหวั่นเขื่อนดอนสะโฮง ก่อผลกระทบแหล่งจับสัตว์น้ำโตนเลสาบ

ด้านยุค เซ็งลอง จากแนวร่วมเพื่อรณรงค์ของชาวประมง (FACT) จากกัมพูชา กล่าวว่า การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง กระทบโดยตรงกับโตนเลสาบของกัมพูชา ซึ่งเป็นทะเลสาบแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย เป็นหัวใจของชาวกัมพูชา เพราะเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำสำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่มรดกโลกของยูเนสโกด้วย ในฤดูน้ำหลาก โตนเลสาบจะเป็นแหล่งเก็บน้ำและเกิดพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามที่น้ำท่วมถึง รวมแล้วกินพื้นที่กว่า 63,000 เฮกเตอร์ โดยที่ร้อยละ 75 ของปลาน้ำจืดที่ชาวกัมพูชาจับได้มาจากโตนเลสาบแห่งนี้ และเป็นแหล่งอาหารของชาวกัมพูชากว่า 3 ล้านคน

ทั้งนี้ยุค เซ็งลอง แสดงความกังวลต่อการสร้างเขื่อนที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่แม่น้ำโขงใกล้ชายแดนกัมพูชา อย่างเช่น เขื่อนดอนสะโฮงในลาว โดยกล่าวเสนอด้วยว่า สถานการณ์ก่อสร้างเขื่อนปัจจุบันในแม่น้ำโขงสำหรับชาวบ้าน ชาวบ้านก็เหมือนควายป่า ทุกชุมชนในอาเซียนจึงต้องรวมตัวกันเพื่อสู้กับเสือที่มีจำนวนน้อยกว่า

 

กรรมการสิทธิมาเลเซียเผยเคยเรียกบริษัทมาเลเซียผู้ก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงมาให้ข้อมูล

ด้าน เจมส์ เดวา นายะกัม กรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซีย ตอนหนึ่ง กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทที่ก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง คือบริษัทเมกะเฟิร์ส คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในมาเลเซีย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซียจึงเคยเรียกบริษัทมาสอบถาม นอกจากนี้อีกช่องทางหนึ่งที่พอทำได้ก็คือเชิญบริษัทที่จะก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวมาสู่โต๊ะเจรจาและให้ชาวบ้านที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบได้มีโอกาสสอบทางบริษัท

ทั้งนี้ กฤษกร ศิลารักษ์ ชาวบ้านจาก อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ได้สอบถามกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซียว่า "ผมเชื่อว่าการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ชาวบ้านจะได้รับกระทบผลกระทบโดยตรง จึงคัดค้านการสร้างเขื่อนอย่างเต็มที่ และเคยยื่นเรื่องต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซีย จึงอยากทราบว่ามีกระบวนการคืบหน้าไปถึงไหน และเป็นไปได้ไหมที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซียจะร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทย ดำเนินการตรวจสอบการสร้างเขื่อนในลาว"

นอกจากนี้ชาวลาวคนหนึ่งได้เข้าร่วมการเสวนา (ขอสงวนชื่อ) ได้กล่าวเปรียบเทียบกระบวนการสร้างเขื่อนในไทยและลาวว่า การสร้างเขื่อนในพื้นที่ลาวเนื่องเป็นเรื่องที่ยากต่อการตรวจสอบ ไม่เหมือนกับกระบวนการสร้างเขื่อนในพื้นที่ไทย

ทั้งนี้เจมส์ ตอบคำถามชาวบ้านจากโขงเจียมว่า ตัวแทนบริษัทที่มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมกามสิทธิมนุษยชนมาเลเซีย อธิบายถึงกระบวนการที่ไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นในการสร้างเขื่อนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะหาทางเชิญทั้งสองฝ่ายคือบริษัทที่ก่อสร้างเขื่อนกับชาวบ้านให้มาหารือกัน

 

ข้อเสนอให้ภาคประชาสังคมอาเซียนผลักดันอาเซียนมีวาระสิ่งแวดล้อมเป็น "เสาหลักสี่ 4"

การประชุมหัวข้อย่อยในวันเดียวกัน ยังมีการหารือเรื่อง "ข้อเรียกร้องให้อาเซียนมีเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม: อาเซียนจะมีหลักประกันต่อทรัพยากรและวิถีชีวิตโดยปราศจากเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่?" หรือ "A call on ASEAN environmental Pillar: Will ASEAN able to secure its resorces and livelihood without it?" โดย เปรมฤดี ดาวเรือง จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ประเทศไทย เสนอว่า ข้อเสนอให้สิ่งแวกล้อมเป็นเสาหลักที่ 4 ของ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ริเริ่มมาตั้งแต่การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนในปี 2552 และข้อเสนอดังกล่าวถูกเสนอผ่านแถลงการณ์ของภาคประชาสังคมอาเซียนเรื่อยมา ทั้งนี้การเสนอให้อาเซียนมีเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อมนับเป็นเรื่องสำคัญเพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในแต่ละประเทศทั้งสิ้น และในขณะที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่บริษัทที่ดำเนินโครงการกลับไม่สนใจ

ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากประเทศไทย เสนอด้วยว่า ที่ผ่านมาประชาคมอาเซียนเน้นแต่เรื่อง เสาหลักประชาคมเศรษฐกิจ การดำเนินโครงการต่างๆ และมีการยึดที่ดิน การขับไล่ชุมชนออกจากพื้นที่โครงการ ล้วนเป็นเรื่องเพื่อดำเนินธุรกิจทั้งสิ้น "พวกเราทราบดีว่า ในอาเซียนมีเสาหลัก เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ถ้าภาคประชาชนไม่ผลักดันให้เกิดเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม เราจะลำบากกันหมด ไม่ใช่แค่พ่อสมบัด สมพอน หาย พวกเราก็จะพลอยหายกันไปหมดด้วย"

"กรณีที่เกิดขึ้นในไทย โรงไฟฟ้าสร้างที่เขื่อนปากมูน สร้างแล้วชาวบ้านอยู่ไม่ได้ เหมืองทองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างแล้วชาวบ้าน ก็อยู่ไม่ได้ มาบตาพุด ชาวบ้านในพื้นที่ก็ต้องอพยพ ถ้าเราไม่หยิบยกสิทธิสิ่งแวดล้อมมาเป็นเรื่องใหญ่ เราจะไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ ที่เราทำมาหากินได้" นพ.นิรันดร์กล่าว และย้ำว่า รัฐในอาเซียนต้องปกป้อง ไม่ทำให้โครงการพัฒนาเกิดขึ้นจนทำร้ายประชาชน ธุรกิจต้องรับผิดชอบ ไม่ทำธุรกิจที่ทำร้ายประชาชน และรับผิดชอบต่อผลเสียหายที่เกิดขึ้น 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธนาพล: เมื่อ ‘กงจักรปีศาจ’ เป็นหนังสือต้องห้าม ‘หลัง’ จับคนขายหนังสือ

$
0
0

<--break- />

<--break- />

ว่าด้วยการห้ามหนังสือ The Devil's Discus by Rayne Kruger และฉบับแปล กงจักรปีศาจ โดย ร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวช

......................


หนังสือ กงจักรปีศาจ กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เมื่อมีข่าวจำคุกคนขายหนังเสือเล่มดังกล่าว 2 ปี 

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำคุกลุงขายหนังสือกงจักรปีศาจ 2 ปี 
http://www.prachatai.com/journal/2015/04/58917

ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม 2549 เวลา 19.00 น. ที่บริเวณพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล ในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร

จากข้อเขียนของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หนังสือ The Devil's Discus เขียนโดย Rayne Kruger พิมพ์ครั้งแรกและครั้งเดียวโดยสำนักพิมพ์ Cassell ลอนดอนเมื่อปี 2507 (1964) แทบจะทันที่ที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมา ก็มีการสั่งห้ามโดยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ทันที (ดูภาพประกอบ)

กว่าหนังสือเล่มดังกล่าวจะมาสู่โลกภาษาไทย ก็รอจนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตามที่สมศักดิ์ ได้บรรยายว่า 

"จู่ๆ ตลาดหนังสือกรุงเทพก็เต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคตในหลวงอานันท์ฯ ที่ใจกลางของปรากฏการณ์นี้คือหนังสือ 2 เล่ม ที่ออกวางตลาดห่างกันเพียงหนึ่งสัปดาห์: กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 ของ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร และ วิมลพรรณ ปีต-ธวัชชัย และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ของสุพจน์ ด่านตระกูล ซึ่งภายในไม่กี่สัปดาห์ต่างได้รับการพิมพ์ซ้ำและขายได้รวมกันหลายหมื่นเล่ม ผลสำเร็จของทั้งคู่ทำให้เกิดการตีพิมพ์หนังสือกรณีสวรรคตอีกอย่างน้อย 6 หรือ 7 เล่ม เช่นในหลวงอานันท์กับคดีลอบปลงพระชนม์ ของชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ (ซึ่งภายหลังถูกปรีดี พนมยงค์ ฟ้องจนแพ้ความ) ความเห็นแย้งคำพิพากษากรณีสวรรคต ของ นเรศ นโรปกรณ์ และ คดีประทุษร้ายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น, อุทธรณ์ และฎีกาในคดีนี้ พิมพ์เป็นเล่มขนาดใหญ่และหนาถึง 2 เล่ม โดยสำนักพิมพ์กรุงสยาม โดยไม่มีคำนำหรือคำอธิบายใดๆ)[หลังจากนั้น]"

หนังสือกรณีสวรรคตที่ “ร้อน” เป็นที่ต้องการมากที่สุดในแวดวงนักกิจกรรมการเมืองกลับเป็นอีกเล่มหนึ่งที่น้อยคนนักจะเคยได้เห็นตัวจริง, อย่าว่าแต่อ่าน: กงจักรปีศาจ

หนังสือมีสถานะเป็น “ตำนาน” ในหมู่ผู้สนใจการเมืองว่าเป็นงานที่เขียนโดยฝรั่ง ที่เปิดเผย “ความลับดำมืด” กรณีสวรรคตในหลวงอานันท์ฯชนิดที่หนังสือที่เขียนโดยคนไทยทำไม่ได้ จนกลายเป็นหนังสือ “ต้องห้าม” ผิดกฎหมาย ไม่สามารถมีไว้ในครอบครองได้ ซึ่งแน่นอนยิ่งทำให้เป็นที่ต้องการกันมากขึ้น! ในท่ามกลางภาวะที่กระแสสูงของหนังสือกรณีสวรรคตท่วมตลาดกรุงเทพกลางปี 2517 นั้นเอง ก็มีข่าวลือแพร่สะพัดว่าได้มีผู้ถือโอกาสพิมพ์ กงจักรปีศาจ ฉบับภาษาไทยออกเผยแพร่อย่างลับๆ

กงจักรปีศาจ ฉบับภาษาไทยที่ขายกัน “ใต้ดิน” ในปี 2517 ในราคาเล่มละ 25 บาทนี้ เป็นหนังสือขนาด 16 หน้ายก (5 นิ้วคูณ 7 นิ้วครึ่ง) หนา 622 หน้า ปกพิมพ์เป็นสีดำสนิททั้งหน้าหลัง กลางปกหน้ามีพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงอานันท์ฯวัยเยาว์ในกรอบรูปไข่ บนสุดของปกหน้ามีข้อความพิมพ์เป็นตัวอักษรสีขาว 3 บรรทัดว่า

บทวิเคราะห์กรณีสวรรคต
ของในหลวงอานันท์ฯ
9 มิถุนายน 2489

ด้านล่างเป็นชื่อหนังสือ พิมพ์ด้วยอักษรสีแดง กงจักรปีศาจ ตามด้วยอีก 2 บรรทัดพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีขาว

Rayne Kruger เขียน
ร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวช ร.น. แปล

ที่มุมล่างซ้ายของปกหลังมีข้อความพิมพ์เป็นตัวอักษรเล็กๆสีขาว 4 บันทัดว่า

ชมรมนักศึกษาประวัติศาสตร์ จัดพิมพ์
พิมพ์ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคัดจากสำนวนศาลแพ่ง
คดีดำที่ 7236/2513 ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ โจทก์
บริษัทสยามรัฐจำกัด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพวก จำเลย


ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “กงจักรปีศาจ และหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคต” 
http://somsakwork.blogspot.com/2008/06/blog-post.html

หลังจากนั้น วิวาทะว่าด้วยกรณีสวรรคตก็เกิดขึ้นและจบลงด้วยเวลาไม่นาน 
ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งนำมาสู่การ “ห้าม” หนังสือหลายร้อยเล่ม 

ดู
1 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 18 ง ฉบับพิเศษ วันที่ประกาศ 11 มีนาคม พ.ศ.2520

2 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 97 ง ฉบับพิเศษ วันที่ประกาศ 19 ตุลาคม พ.ศ.2520

3 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 95 ง วันที่ประกาศ 24 มิถุนายน พ.ศ.2523
.
4 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 180 ง วันที่ประกาศ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2523

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/special/search_result.jsp?SID=77C7BBDAF9C928B00BCD7C1B35C5BD9B

แต่ปรากฏว่าหนังสือ กงจักรปีศาจ กลับไม่อยู่ในรายชื่อของคำสั่งห้ามทั้ง 4 ฉบับ แต่อย่างใด

ต่อมาประกาศหนังสือต้องห้ามทั้ง 4 ฉบับก็ได้รับการยกเลิก แต่หนังสือ กงจักรปีศาจ ฉบับภาษาไทยที่แปลโดย ชลิต ชัยสิทธิเวช กลับถูกห้ามในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ในสมัยทักษิณ ชินวัตร หลังการจับกุมคนขายหนังสือเล่มดังกล่าว (น่าสนใจว่าการออกคำสั่งย้อนหลังนี่ถือว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพราะเหตุเกิดวันที่ 2 พฤษภาคม 2549)

 

อ่านเพิ่มเติม 
Postscript (ปัจฉิมลิขิต) "กงจักรปีศาจ" ที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน: ครูเกอร์เขียนถึงปรีดี ซึ่งเขาเพิ่งพบเป็นครั้งแรกในปี 2514

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แท็กซี่สุวรรณภูมิยืนยันวิ่งตามปกติ หลังท่าอากาศยานเข้ามาช่วยแก้ปัญหา

$
0
0
กลุ่มแท็กซี่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยืนยันไม่หยุดวิ่ง หลังหารือกับผู้บริหารท่าอากาศยานถึงมาตรการแก้ไขปัญหา ขณะที่วันนี้ (24 เม.ย.) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เริ่มทดลองจำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 4 คน ต่อรถแท็กซี่ 1 คัน 'ประจิน' ยันไม่ปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่รอบ 2 ขอเวลาศึกษาความเหมาะสมต่ออีก 1 เดือน

 
24 เม.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายปฐวี มีราช ตัวแทนกลุ่มแท็กซี่สุวรรณภูมิ ยืนยันว่า รถแท็กซี่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังให้บริการตามปกติ ไม่มีการหยุดวิ่งตามที่เป็นข่าว เนื่องจากจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และวานนี้( 23 เม.ย.)กลุ่มแท็กซี่สุวรรณภูมิได้เข้าหารือกับผู้บริหารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการเรียกเก็บค่าโดยสารแบบเหมาจ่าย โดยกลุ่มแท็กซี่เสนอให้มีการจำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 4 คน ต่อรถแท็กซี่ 1 คัน เนื่องจากที่ผ่านมารถแท็กซี่ขนาดใหญ่ต้องบรรทุกผู้โดยสารและสัมภาระจำนวนมาก ทำให้มีต้นทุนการให้บริการสูงกว่ารถเล็ก ขณะที่มีอัตราค่าโดยสารเท่ากัน ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ให้บริการรถแท็กซี่ขนาดใหญ่ และกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดให้คุ้มครองผู้โดยสารไม่เกิน 4 คน ซึ่งผลการหารือเป็นที่น่าพอใจทั้งสองฝ่าย
 
ทั้งนี้ วันนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เริ่มทดลองให้มีการจำกัด จำนวนผู้โดยสารรถแท็กซี่ได้ไม่เกินคันละ 4 คน ตามที่กลุ่มแท็กซี่ยื่นข้อเสนอ พร้อมทั้งจะจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ให้นักท่องที่ยวทราบและหลังจากนี้กลุ่มแท็กซี่สุวรรณภูมิต้องการ ให้กระทรวงคมนาคมเร่งพิจารณาปรับขึ้นค่าธรรมเนียมรวมถึงค่าโดยสารรถแท็กซี่ขนาดใหญ่
 
'ประจิน' ยันไม่ปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่รอบ 2 ขอเวลาศึกษาความเหมาะสมต่ออีก 1 เดือน
 
ก่อนหน้านี้พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวกับสื่อมวลชนว่า การปรับขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่รอบ 2 ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณา รวมถึงการพิจารณาจัดเก็บค่าขนสัมภาระของแท็กซี่ภายในท่าอากาศยานด้วย เนื่องจากการศึกษาความเหมาะสมทั้ง 3 กรณี แต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยขอขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือน คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นจึงจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะให้ปรับราคาหรือไม่
 
ส่วนกรณีที่รถแท็กซี่แวนภายใน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกาศหยุดให้บริการ เพราะไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของกระทรวงคมนาคมนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน แต่หากรถแท็กซี่แวนจะหยุดวิ่งก็ไม่เป็นไร เนื่องจากได้เตรียมแผนให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจัดทำแผนรองรับไว้แล้วเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารไว้แล้ว โดยเบื้องต้นแบ่งออกเป็น 3 แผน คือ
 
1. เตรียมรถเพื่อให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปส่งยังรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์
2. เตรียมรถให้บริการขนส่งผู้โดยสารไปยังจุดบริการรถสาธารณะ
3. หากเกิดปัญหาฉุกเฉิน จะรถบัสฟรีมารับและส่งผู้โดยสารไปยังจุดบริการขนส่งสาธารณะ
 
ขณะที่ แท็กซี่แวน ประมาณ 1,700 คัน ที่ให้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิ เตรียมหยุดให้บริการใน 24-26 เม.ย.นี้ โดยอ้างว่าเดือดร้อนอย่างมาก อีกทั้งเจ้าหน้าที่ประจำสุวรรณภูมิ บังคับให้รับผู้โดยสารมากกว่า 4 คน เพราะต้องการเร่งระบายคนออกจากสนามบิน หากไม่รับก็จะถูกลงโทษข้อหา ปฏิเสธผู้โดยสารและถูกแบล็คลิสต์ ซึ่งการบังคับให้บรรทุกเกินกำลังสร้างความไม่ปลอดภัยให้กับคนขับและผู้โดยสารอย่างมาก เพราะปัจจุบันกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุรถแท็กซี่ให้ความคุ้มครอง ผู้โดยสารเพียง 4 คนเท่านั้น หากรถเกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารคนที่ 5 และ 6 จะไม่ได้รับความคุ้มครอง และไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ หากเกิดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทรวงคมนาคมต้องเข้ามาดูแลโดยด่วน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ราชดำเนินเสวนา 'สมบัติ' ห่วงเดตล็อกประกาศรับรอง ส.ส.ไม่ครบ

$
0
0
สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุห่วงเดตล็อกประกาศรับรอง ส.ส.ไม่ได้ครบ คนนอกเป็นนายกประเทศถูกลดระดับความเป็นประชาธิปไตย "สมชัย"  ซัดถอยหลัง 30 ปี "สามารถ" ห่วงโอเพ่นลิสต์ประชาชนเขียนชื่อ สกุล สะกดยาก ๆ ลำบากแน่นอน ด้าน "จุรินทร์" อัดทำลายพรรคการเมืองย้อนหลังกลับไป 360 องศา ไปสู่จุดที่ประเทศเคยก้าวผ่านมา แถมจำกัดสิทธิประชาชน

 
 
24 เม.ย. 2558 นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่ในราชดำเนินเสวนาหัวข้อ "ปฏิรูปเลือกตั้ง ถอยหลังหรือเดินหน้า" จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าหากไม่สามารถประกาศรับรอง ส.ส.เขตได้ ก็ไม่สามารถประกาศรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อไม่สามารถประกาศ ส.ส.เขตได้ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าพรรคใดจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ถ้ามีการฟ้องร้องกันจนไม่สามารถรับรองได้ครบ ก็ไม่อาจหาตัวเลข ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ทำให้ไม่สามารถได้ ส.ส.ครบ 90 เปอร์เซ็นต์เพื่อเปิดสภาและดำเนินการขั้นตอนได้ ทำให้ไม่สามารถเลือกนายกฯไม่ได้ภายใน 30 วันหรือแม้แต่ 60 วัน นี่คือความยุ่งยางแบบสัดส่วนผสม ในเยอรมนีไม่มีปัญหา ไม่มี กกต.แบบเดียวกับเรา
 
นายสมบัติกล่าวว่าตามปกติระบบรัฐสภาต้องเลือก ส.ส.มาเป็นนายกฯ เป็นระบบควบอำนาจ นิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ฝ่ายบริหารมาจากการเลือกของนิติบัญญัติ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่ใช่นึกสนุกแล้วใช้สูตรนี้ขึ้นมา เมื่อนำคนที่ไม่ได้มาจาก ส.ส.มาเป็นนายกระดับคุณค่าการเชื่อมโยงอำนาจของปวงชน ระดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศถูกลดระดับลง การจะบอกว่าให้คนนอกมาเป็นนายกฯ เพราะสถานการณ์ไม่ดี ให้นายกฯคนนอกเป็นเพื่อแก้สถานการณ์วิกฤต ซึ่งไม่มีอะไรต้องห่วง เพราะวิกฤตยุบสภาแล้วไม่มีใครเป็นนายกได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้แล้วว่าให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่คณะรัฐมนตรีและเลือกกันเองให้ปลัดกระทรวงคนหนึ่งทำหน้าที่นายก
 
ด้าน พล.ท.นาวิน ดำกาญจน์ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ส.ส.ที่ได้ระบบเขตหลายคนได้คะแนนราว 30-45 เปอร์เซ็นต์ มีคนไม่เลือกอีกราว 60-65 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คะแนนเสียประชาธิปไตยเหล่านั้นตกหล่นไป จึงทำให้เกิดระบบผสมนี้ขึ้น เมื่อสามารถสร้างกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ขึ้นมา เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ก็สามารถมีปากมีเสียง คะแนนเพียง 1 เปอร์เซ็นต์คะสามารถได้ที่นั่งราว 4 ที่นั่ง เพียงคนเดียวก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เราสร้างระบบสัดส่วนผสมเพื่อให้ทุกเสียงทุกคนมีโอกาส ไม่ได้ทำมาเพื่อขจัดการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่เราอยากให้ใช้อำนาจอย่างเต็มที่ มีความโปร่งใส่
 
"ที่ผ่านมารัฐบาลทุกรัฐบาลเป็นตัวแทนของคนส่วนน้อยด้วยซ้ำไป เสียงคนอีก 60 เปอร์เซ็นต์ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ วันนี้เราทำให้เสียง 60 เปอร์เซ็นต์มีค่ากลับคืนมา" พล.ท.นาวินกล่าว
 
กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า รัฐธรรมนูญได้ตัดเงินแปรญัตติของ ส.ส.ไป จากนี้ไปจะไม่มีประชาชนวิ่งไปหาก ส.ส.เพื่อให้ได้งบประมาณ เงินต่าง ๆ จะไปอยู่ในส่วนราชการต่าง ๆ เราจะมีเงินเชิงพื้นทีหรือกิจการเฉพาะ ไม่ต้องไปหานักการเมืองระดับต่าง ๆ เพื่อไปหาส่วนราชการ และเกิดการทอนเงินตลอดทางอีกต่อไป ขณะที่ระบบภาษีต่าง ๆ ชุมชนหรือท้องถิ่นจะมีเงินของตัวเอง ส.ส.จะเริ่มหมดเงินตัวเอง รัฐมนตรีห้ามเป็น ส.ส.ทำให้นักการเมืองไม่ต้องวิ่งไปลงปาร์ตี้ลิสต์เพื่อให้ได้เป็น ส.ส.หวังเป็นรัฐมนตรี ส่วนเรื่องระยะเวลาและองค์ประกอบ ส.ส.ที่จะเปิดประชุมได้นั้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก ใช้เวลาแค่วันเดียวก็เพียงพอ เพราะที่ผ่านมาสามารถประกาศ ส.ส.เขตได้มาตลอด เพราะไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เพียงแต่มีการนับคะแนนพรรคไปด้วย
 
"ส่วนนายกคนนอกนั้น ก็ใช้เฉพาะยามวิกฤต แต่เราเขียนไม่ได้ว่าอะไรคือวิกฤต ต้องให้ตัวแทนพลเมืองใช้วิจารณญาณสองในสาม ไม่ต้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย" พล.ท.นาวินกล่าว และว่า เราไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำลายพรรคการเมือง แต่ทำให้ทุกเสียงมีความหมาย เราจะนำทุกประเด็นไปปรับปรุง
 
ส่วนนายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่กระทบการบริหารรจัดการเลือกตั้ง 10 ประเด็นคือ 
 
1. เขตเลือกตั้งน้อยลงแต่ใหญ่ขึ้นถือเป็นความก้าวหน้า 5 ปีขึ้นไป 
 
2. การเลือกตั้งใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีต้นทุนสูง จะให้ประชาชนและนักการเมืองเชื่อถือได้อย่างไร แต่ถือว่าก้าวหน้าไป 10 ปี 
 
3.การเลือกตั้งระบบโอเพ่นลิสต์ระบุบุคคลอีกครั้งในระบบนี้ ถือประชาชนเป็นใหญ่แท้จริง มีอำนาจมากขึ้นในการเลือกตั้ง แต่การลงคะแนนจะมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้นอาจใช้เวลาถึง 3 วัน แต่เป็นความก้าวหน้าระดับ 5 ปี 
 
4. การคิดคำนวณ ส.ส.ใช้บัญชีรายชื่อเป็นหลัก ทำให้เสียงประชาชนทุกเสียงมีความหมาย คะแนนผู้แพ้ไม่ได้ถูกทิ้งไป ถือเป็นความก้าวหน้า 10 ปี
 
5. การให้คนนอกราชอาณาจักรต้องลงทะเบียนก่อนใช้สิทธิ ทำให้มีระบบการจดทะเบียนเพื่อให้ผู้มีสิทธิได้เขาถึงการใช้สิทธิให้ได้มากขึ้นและเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการใช้สิทธิน้อย จนมีบางส่วนให้ยกเลิก แต่ส่วนตัวเห็นว่าการเลือกตั้งที่ดีต้องให้สิทธินั้นแก่พลเมือง ถือว่ามีความก้าวหน้า 5 ปี 
 
6. การให้มีกลุ่มการเมือง ยังไม่เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี และอาจมีกลุ่มการเมืองส่งผู้สมัครเป็นจำนวนมากและมีสิทธิเทียบพรรคการเมือง แต่หน้าที่ไม่ได้ทำกัน เพราะพรรคการเมืองต้องทำตามกฎหมายพรรคการเมืองทุกอย่าง ทำผิดถูกยุบพรรค แล้วคนที่ไหนจะมาสมัครพรรคการเมือง การออกแบบนี้กลุ่มเป็นใหญ่ จะเกิดกลุ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จับสลากพร้อมๆ กัน อาจจะมีกลุ่ม 4-500 กลุ่ม บัตรเลือกตั้งเราจะใหญ่โตขนาดไหน ระบบนี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดการต่อรองในสภา เป็นการถอยหลังที่ให้คะแนน 20 ปี
 
7. การสรรหาและการเลือกตั้ง ส.ว.เป็นการถอยหลัง 
 
8. ระบบการเลือกตั้งก็เห็นว่าเป็นการถอยหลัง เพราะมีโอกาสถูกนักการเมืองแทรกแซงข้าราชการประจำ ถือเป็นการถอยหลัง 20 ปี 
 
9. การให้ กกต.ไม่มีอำนาจให้ใบแดงถือเป็นการถอยหลัง เพราะนักการเมืองไม่กลัวใบเหลือง ใให้กี่กี่ครั้งก็ไม่กลัว ถือว่าถอยหลังไป 10 ปี และ 
 
10. การประเมินผลการปฏิบัติงานของ กตต. ก้าวหน้าไป 5 ปี 
 
สรุป 10 ประเด็นในรัฐธรรมนูญนี้ก้าวหน้าไป 40 ปี ถอยหลัง 70 ปี รวมแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถอยหลัง 30 ปี โดยระหว่างนายสมชัยยกป้าย -30 ปี แต่ พล.ท.นาวิน ได้หยิบป้าย +5 ปีขึ้นมาประกบ
 
ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้เรารื้อรัฐธรรมนูญทั้งหมดเป็นนวัตกรรมใหม่ในการร่างรัฐธรรมนูญที่ทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ไม่ได้เข้าข้างพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองเป็นที่รวมของคนที่มีอุดมการณ์และแนวนโยบายเหมือนกัน แต่หลังจากนี้จะเกิดกลุ่มการเมืองได้ง่ายขึ้นและไปสมัคร ส.ส.ได้ คนเหล่านี้จะเขียนนโยบายและหาเสียงกับประชาชนอย่างไร ใครจะเป็นนายกฯใครจะเป็นรัฐมนตรี ความฝันเรื่องลดการซื้อสิทธิขายเสียง เพราะไม่มีอะไรจะไปพูดกับประชาชน คงหนีไม่พ้นการแจกปลาทูอีกครั้ง
 
นายสามารถกล่าวว่า ระบบโอเพ่นลิสต์ก็จะทำให้เกิดการหาเสียงแข่งกันในพรรคในเขตต่าง ๆ อีก และการให้ประชาชนเขียนชื่อ คนที่ชื่อ สกุล สะกดยาก ๆ ลำบากแน่นอน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือว่าย้อนย้อนไปก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 จะเกิดการตกปลาในอ่าง อย่าพูดว่าไม่มีคนไปทุ่มซื้อ ส.ส.เหล่านี้ อาจจะมีการทุ่มเทอุ้มเสียงไว้ได้เกิน 2 ใน 3 แล้ว เพราะมีวิกฤตก่อนการเลือกนายก
 
นายสามารถกล่าวว่า การให้ ส.ว.ตรวจสอบคุณสมบัตินายกก็ทำให้นายกฯขาดวุฒิภาวะความเป็นผู้นำ เพราะไม่กล้าเสนอชื่อที่คาดว่าจะถูกโจมตีจาก ส.ว.อย่างแน่นอน การเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้เพื่อให้นักการเมืองเป็นผู้ร้าย ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำได้ยาก ตามมาตรา 300 ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนแล้วก็ต้องไปทำประชามติ ที่สุดวงจรอุบาทว์ก็กลับมา ไม่โทษนักวิชาการที่ร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ เพราะพวกเขาฝัน การตรวจสอบต่างๆ ตามสมัชขาคุณธรรมแห่งชาติ และสมัชชาพลเมืองระดับท้องถิ่น
 
นายสามารถกล่าวว่า เราจะเอามนุษย์เหล่านี้มาจากไหน ที่ไม่เลือกฝักฝ่าย ความปรองดองจะไม่เกิด จะมีการทะเลาะกันละเอียดยิบทุกพื้นที่ เขียนได้แต่ในทางปฏิบัติลำบาก ก็ขอติติงไว้ อะไรที่แก้ไขได้ก็ช่วยกันแก้ไข เพราะยังมีโอกาสในการทบทวนใหม่ได้อยู่ อะไรรับได้เราก็รับ เช่น ระบบสัดส่วนผสมที่คนคะแนนคนส่วนใหญ่ไม่ได้หายไป
 
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าอ่านรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้ง 315 มาตรา ทีผ่านมาการพัฒนาประชาธิปไตยประเทศไทยได้พัฒนาไปสองจุดคือ การเดินไปสู่พรรคการเมืองแบบสองพรรคอย่างเช่นที่พัฒนาแล้ว และการเดินหน้าไปสู่การทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง พรรคการเมืองไม่เข้มแข็งประเทศไม่สามารถเดินหน้าไปได้ ประเทศยูเทิร์น 360 องศา ไม่ใช่ภาวะปกติ แต่เป็นภาวะพิเศษ เรากำลังออกแบบรัฐธรรมนูญพาเราย้อนยุคไปที่เราเคยมีปัญหาและก้าวผ่านมาแล้ว เป็นการร่างที่ต้องการให้เกิดการรัฐบาลผสม จึงถูกอออกแบบเพื่อให้ผลการเลือกตั้งเกิดสภาเป็นเบี้ยหัวแตก เกิดหลายพรรค เกิดรัฐบาลผสม เปิดทางให้นอกเป็นนายกได้
 
นายจุรินทร์กล่าวว่า กลุ่มการเมืองได้รับสิทธิพิเศษมากว่าพรรคการเมืองที่จดทะเบียนกับ กกต.และสร้างสมความเป็นพรรคการเมืองมายาวนาน ไม่ต้องเป็นสมาชิกกลุ่ม 30 วันเหมือนคนที่สมัครในนามพรรคการเมือง เป็นเหมือนอภิสิทธิ์ชน สุดท้ายกลายเป็นการเมืองสองมาตรฐาน ระบบโอเพ่นลิสต์ให้สิทธิได้เลือกได้คนเดียวเท่านั้น ทำไมไม่ให้สิทธิไม่เกินจำนวนในโซนนั้นๆ ตามที่พูดว่าเพิ่มอำนาจให้ประชาชน อย่างนี้เป็นการจำกัดสิทธิ เมื่อเลือกได้คนเดียวจะหาเสียงได้อย่างไร หัวหน้าพรรคไปหาเสียงก็ต้องบอกให้เลือกตัวเอง เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้หัวหน้าพรรคสอบตก ลูกพรรคก็บอกให้เลือกตัวเอง เป็นการทำลายพรรคการเมืองให้อ่อนแอ ในภาวะวิกฤตเราไม่เห็นขัดเป็นข้อยกเว้นไม่ใช่หลักการ ไม่ใช่เป็นอีแอบไปซ่อนอยู่ข้างหลัง ต้องมีวิกฤตจริงๆ และต้องมีเสียงสองในสามมีระยะเวลาจำกัด แต่ก็ไม่ได้จำกัดระยะเวลาไว้ ขอให้ได้เสียง 2 ใน 3 เท่านั้นก็เป็นได้ 4 ปี
 
"ระบบนี้จะเกิดการขายตัว ถอนตัว ต่อรองอำนาจต่อรองโควต้ารัฐมนตรีกับนายกสุดท้ายก็เป็นการเพิ่มอำนาจให้นายกเพื่อชดเชยให้กับการลดอำนาจพรรคการเมือง กลายเป็นลิงแก้แห" นายจุรินนทร์กล่าว และว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ  ได้ให้อำนาจนายกฯยุบสภาฯ หากแพ้อภิปราย เป็นเรื่องที่ไม่ควรมี เพราะคนยื่นอภิปรายกลายเป็นคนต้องถูกยุบสภาฯ ดีที่มีการถอดข้อความดังกล่าวไปแล้ว และเป็นการเพิ่มอำนาจให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีความยึดโยงหรือให้อำนาจประชาชนด้วยซ้ำไป บอกจะเพิ่มอำนาจให้ประชาชนกลับไม่ให้ทำประชามติ แต่จะแก้ไขบอกต้องไปทำประชามติ
นายจุรินทร์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังให้นายกฯมีอำนาจเสนอกฎหมายเพื่อพิสูจน์ความไว้วางใจนายกเป็นอภิมหาพระราชกำหนดให้อำนาจนายกฯ หากนายกฯทุจริตและเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมอะไรจะเกิดขึ้น การที่ฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายก็ไม่ได้ เพราะเสียงน้อยกว่านายกฯอยู่แล้ว ขณะที่นายกฯทุจริตสามารถหนีการอภิปรายได้ตามมาตรา 181 ได้โดยขอความไว้วางใจจากสภาฯตลอดสมัยประชุมจะยื่นอภิปรายใด ๆ นายกฯไม่ได้เลย แค่นายฯใช้มาตรานี้เท่านั้น ฝ่ายค้านตรวจสอบนายกไม่ได้เลย ขอให้นำออกไปเพราะอันตราย
 
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า และยังมีการห้ามให้พรรคหรือกลุ่มบุคคลถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ไม่ได้ห้ามไว้ตรง ๆ แต่เขียนอย่างมีนัยยะคือจะเป็นรัฐมนตรีต้องไม่เป็น ส.ส.ทำให้เมื่อถอนตัวก็ไม่สามารถไปทำหน้าที่ตรวจสอบได้ในสภาฯ หากฝ่ายบริหารทุจริตคนไม่เห็นด้วยก็ต้องทนพายเรือให้โจรนั่งฯต่อไป ทำให้ประชาชนเห็นว่าระบบทำอะไรไม่ได้ที่สุดวงจรอุบาทว์ก็จะเกิดขึ้นมาอีก
 
นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าว่า รัฐธรรมนูญนี้ถือว่าเดินหน้าไปสู่ความล่มจม การใช้ภาคนิยมเป็นเรื่องอันตรายอย่างมาก ยิ่งเกิดการใช้นโยบายกับรากหญ้าทำให้การเมืองเสียดุลยภาพ การเลือก ส.ส.ของประชาชนเป็นการเลือกแบบหวังน้ำบ่อน้ำ ทำให้เห็นว่า มี ส.ส.ไปเป็นนักการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น เพราะช่วยประชาชนได้โดยตรง ส.ส.หากไม่ทำงานด้านกฎหมายไม่สามารถช่วยประชาขนได้เลย การออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อให้พรรคการเมืองได้ ส.ส.ได้ถึงครึ่ง จึงลดจำนวน ส.ส.เขตลงครึ่งหนึ่ง การเลือกแบบโซนนิ่งและกลุ่มการเมืองลงสมัครได้ทำให้เกิดสมดุลใหม่ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ สามารถกดดันพรรคการเมืองและเคลื่อนไหวได้อยู่ข้างนอก ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งได้แต่ต้องลดอำนาจลง เพราะไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง แต่ขณะนี้เป็นการสรรหาและมีอำนาจมากในรัฐสภา
 
"ไม่ควรเลือกตั้งระบบโซน ควรให้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ให้ถอดกลุ่มการเมืองออก เพราะกลุ่มการเมืองจะเป็นระเบิดเวลา" นายนิกรกล่าว
 
ส่วนนางสุภัทรา นาคะผิว กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เราต้องการมารับฟังเพื่อได้สิ่งใหม่เพื่อนำไปปรับปรุงในขั้นตอนที่ยังมีเวลา การวิพากษ์วิจารณ์มีเฉพาะบางส่วน จึงอยากให้ไปดูทุกภาคส่วน ที่มุ่งไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ นำประเทศไปสู่การปรองดอง ลำพังเพียงระบบการเมืองและการเลือกตั้งแก้ปัญหาประเทศไม่ได้  และเราต้องไว้ใจประชาชนและศรัทธาประชาชน เราต้องทำให้พลเมืองมีความเข้มแข็ง ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเราจะเห็นคนหลากหลาย เราจะเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มน้อยกลุ่มเล็ก
 
นางสุภัทรากล่าวว่า เราไม่อยากเห็นการเมืองที่เป็นของกลุ่มหรือตระกูลทางการเมือง ไม่อยากให้มองไปที่กลุ่มการเมืองแบบสีเสื้อ เราไม่มีเจตนาทำลายความเข้มแข็งพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองไม่ได้รับการสนับสนุนการเงินจาก กกต.และเชื่อว่าที่สุดกลุ่มการเมืองก็จะพัฒนาไปสู่พรรคการเมืองได้ ระบบการจัดการเลือกตั้ง กกต.ปัจจุบันก็ไม่ได้ใช้คนของตัวเอง แต่ใช้ข้าราชการในกระทรวงอื่น ๆ จึงไม่มีความแตกต่างกัน
 
เธอกล่าวว่า อำนาจที่ให้นายกฯไป เราต้องการมอบอำนาจให้นายกฯมีความเข้มแข็งเสริมการบริหาร และนายกฯคนนอกยังมีเวลา เราไม่ได้ปิดหูปิดตา เราต้องสร้างการยอมรับ ที่ผ่านมาไปจัดเวที ประชาชนชอบระบบโอเพ่นลิสต์เป็นอย่างมาก เพราะเขาอยากจัดลำดับเองด้วยซ้ำไป นอกจากนี้ คะแนนเสียงจะไม่มีการตกหล่น คนที่คะแนนน้อยกว่าโหวตโนจะไม่สามารถเป็น ส.ส.ได้อีกต่อไป
 
นางถวิลวดี บุรีกุล คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ประชาชนอยากเป็นประเทศโปร่งใสไร้การทุจริต ก่อนเข้าสู่อำนาจ ระหว่างอยู่ในอำนาจ ประชาชนมีอำนาจตรวจสอบ ถึงได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นความต้องการของประชาชน ไม่ใช่คณะกรรมาธิการฯ36 คนเป็นคนกำหนด เราต้องการให้สังคมเกิดสันติสุขสถาพร ต้องทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมไม่ใช่เชิงสถาบันทางการเมือง เมื่อถึงทางตันประชาชนก็ควรมีสิทธิแก้ปัญหา ไม่ใช่ฝากอนาคตไว้กับคนที่เราไปหย่อนบัตร 4 วินาทีเท่านั้น การใช้อำนาจที่ผ่านมาเป็นการเล่นการเมืองแบบข้าราชการ นักกาการเมือง และนักธุรกิจจนเกิดการทุจริต แต่วันนี้ประชาชนบอกว่าเขาเข้าไปมีส่วนด้วยเท่านั้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คอลิด มิดำ

$
0
0

“มันแย่ตรงที่ว่าเราเป็นสถาบันการศึกษา สถาบันอุดมศึกษา แล้วเราไม่ให้เด็กคิด เรามาตัดสินแทนเด็กว่า อันนี้ดีอันนี้ไม่ดี เข้ามาใช้อำนาจแบบนี้ เข้ามาข่มขู่ให้กลัว ตอนนี้มันเกิดความกลัวจริงๆ ขนาดที่ว่าเด็กก็ไม่กล้าพูด เราก็ไม่กล้าที่จะกระโตกกระตากอะไร อาจารย์ที่โดนก็ไม่กล้าที่จะพูดอะไร ทุกคนต้องสงบปากสงบคำ ทั้งที่เหตุการณ์นี้มันผิดปกติ”

อาจารย์คณะดนตรีและการแสดง ม.บูรพา กล่าวกรณีทหารสั่งงดฉายหนังของนักศึกษา

แกนนำ น.ศ.ฮ่องกง เล็งจัดชุมนุมใหญ่อีก หลังมีการเปิดแผนปฏิรูปเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

$
0
0

หลังจากเมื่อปีที่แล้วประชาชนส่วนหนึ่งในฮ่องกงพากันประท้วงใหญ่เป็นเวลาหลายเดือนเพื่อต่อต้านแผนการเลือกตั้งจากทางการจีนที่ไม่ได้ให้เสรีกับการลงสมัคร ล่าสุดทางการฮ่องกงเผยแผนเลือกตั้งใหม่แต่ก็ยังผูกติดอยู่กับทางการกลางจีน ทำให้แกนนำ น.ศ. โจชัว หว่อง เผยว่าอาจจะมีการประท้วง "ยึดครองย่านใจกลาง" อีกครั้ง

24 เม.ย. 2558 รัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเปิดเผยแผนปฏิรูปการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมาโดยจะมีการให้โหวตข้อเสนอปฏิรูปดังกล่าวผ่านสภาภายในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งในปีที่แล้วแผนจัดการเลือกตั้งจากทางการจีนทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ "ออคคิวพายเซ็นทรัล" หรือ "ยึดครองย่านใจกลาง" ในย่านต่างๆ ของฮ่องกงเป็นเวลาหลายเดือนเนื่องจากไม่พอใจที่ทางการจีนต้องการคัดเลือกผู้ลงสมัครให้

แชนนอน เทียซซี ผู้เขียนบทวิเคราะห์ในเดอะพิลโพลแมตระบุว่าข้อเสนอปฏิรูปใหม่นี้ระบุให้การเลือกตั้งผู้ว่าการฮ่องกงที่จะมีขึ้นในปี 2560 เป็นไปโดยผู้ลงสมัครชิงชัยในการเลือกตั้งทั้งหมด 3 คนจะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการประจําสภาประชาชนแห่งชาติ (NPCSC) อย่างน้อยครึ่งหนึ่งจากคณะกรรมการทั้งหมด 1,200 คน ซึ่งนักวิจารณ์มองว่าคณะกรรมการเหล่านี้จะคัดเลือกแต่เฉพาะผู้ลงสมัครที่เข้าข้างทางการกลางของจีนมากกว่าผู้ลงสมัครที่มีลักษณะสนับสนุนประชาธิปไตย

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการจากทางการจีนจะเป็นผู้ลงคะแนนโหวตเพื่อแต่งตั้งผู้นำเขตบริหารพิเศษฮ่องกงซึ่งเป็นพื้นที่ๆ กลับเป็นส่วนหนึ่งของจีนในปี 2540 โดยมีข้อตกลงร่วมกับอังกฤษซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมของเกาะนี้ให้ฮ่องกงมีอิสระในการบริหารและมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ ของจีน

ขณะที่เหลียงชุนอิง ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงกล่าวว่าข้อเสนอนี้เป็น "ก้าวสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยในฮ่องกง" แต่กลุ่ม ส.ส.ที่สนับสนุนประชาธิปไตยพากันประท้วงคัดค้านแผนการปฏิรูปด้วยการเดินออกจากห้องประชุมนำเสนอแผนการ

บทบรรณาธิการของสื่อเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ระบุว่า สิ่งที่จะทำให้ประชาธิปไตยฮ่องกงก้าวหน้าได้ต้องมีการเลือกตั้งแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียงรวมถึงมีการสนับสนุนจากฝ่ายประชาธิปไตยด้วย แต่ข้อเสนอล่าสุดนี้กลับดูเหมือนเป็นแผนการแบบเดิมของทางการจีน

อย่างไรก็ตาม ร่างข้อเสนอปฏิรูปดังกล่าวยังต้องการคะแนนเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เพิ่มเติมอย่างน้อย 4 เสียงเพื่อให้มีคะแนนเสียง 2 ใน 3 ถึงจะมีการรับรองข้อเสนอ บทวิเคราะห์ในเดอะดิพโพลแมตระบุว่าถ้าหากกลุ่ม ส.ส.หนุนประชาธิปไตย 27 คนโหวตต้านข้อเสนอนี้ตามที่วางแผนเอาไว้ก็อาจจะทำให้การเลือกผู้นำคนต่อไปของฮ่องกงในปี 2560 กลับไปเป็นแบบแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ

แต่ผู้คนจำนวนมากก็ไม่เชื่อว่าการยอมรับการปฏิรูประบบเลือกตั้งฮ่องกงโดยทางการจีนจะดีไปกว่าการไม่ได้เลือกอะไรเลย โดยผลโพลล์บนเว็บไซต์ของเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ซึ่งจัดทำตั้งแต่ปีที่แล้วระบุว่าร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอปฏิรูปที่ให้อำนาจการคัดเลือกผู้สมัครโดยทางการจีน

ทั้งนี้ ยังมีผู้ประท้วงอีกหลายร้อยคนรวมตัวกันหน้าสภา พวกเขาพากันโบกธงชาติจีนเพื่อแสดงการสนับสนุนข้อเสนอปฏิรูปดังกล่าวโดยบอกว่าเป็นการทำให้ฮ่องกงก้าวต่อไปข้างหน้า ขณะที่ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กกว่าพากันถือร่มสีเหลืองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกง พวกเขาพากันเรียกร้องให้มี "การเลือกตั้งที่ทั่วถึงอย่างแท้จริง" ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่ต้องการให้คณะกรรมการจากทางการกลางคัดเลือกผู้แทนให้แต่ต้องการให้มีสิทธิในการเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและมีการลงคะแนนโดยเสรี อีกทั้งยังเรียกร้องให้เหลียงชุนอิงลาออกจากตำแหน่ง

กลุ่มผู้ประท้วงฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออัลจาซีราว่าพวกเขาวางแผนจะจัดชุมนุมอีกในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยโจชัว หว่อง ผู้นำกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในฮ่องกงกล่าวว่าอาจจะมีการประท้วง "ยึดครองย่านใจกลาง" อีกครั้งแบบเดียวกับการประท้วงในปีที่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยบอกว่าการเลือกตั้งที่มีการจัดหาผู้ลงสมัครโดยทางการจีนเป็น "ประชาธิปไตยเทียม"

 

เรียบเรียงจาก

Hong Kong election candidates to be screened, Aljazeera, 22-04-2015
http://www.aljazeera.com/news/2015/04/hong-kong-electoral-reform-150422042614835.html

Hong Kong's Election Reform Plan Sparks Debate, Protests, The Diplomat, 23-04-2015
http://thediplomat.com/2015/04/hong-kongs-election-reform-plan-sparks-debate-protests/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images