Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50860 articles
Browse latest View live

ข้อพิจารณาต่อการขาดแคลนในความหลากหลายทางทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย

$
0
0


 

ภายหลังจากทำการสำรวจวรรณกรรม (Literature Review) งานเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและแนวคิดทฤษฎีทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ของไทย) [1] มาอยู่พักใหญ่ ผู้เขียนสังเกตเห็นถึงบางสิ่งบางอย่างในวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย นั่นคือ การติดอยู่ในวังวนของการใช้ทฤษฎีและแนวคิดในกลุ่มปฏิฐานนิยม (Positivism) ที่ว่าด้วยวิธีคิดเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ และความเป็นหลักสากลของความจริง (Universal Truth) ซึ่งจำเป็นต้องแสวงหาความรู้ในรูปแบบที่เป็นภววิสัย (Objective) ตามอิทธิพลของวงวิชาการรัฐศาสตร์อเมริกันที่ยึดในปรัชญาแนวปฏิฐานนิยมและความเป็นวิทยาศาสตร์ อาทิ แนวคิดในสำนักสัจนิยม (Realism) หรือแนวคิดในกลุ่มสำนักเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งเป็นแนวคิด ทฤษฎีที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการนโยบายต่างประเทศ และวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน (ซึ่งเป็นกลุ่มทฤษฎีที่ได้รับความนิยมภายในวงวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยเช่นกัน)

ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า เหตุใดวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยจึงยังคงยึดติดอยู่กับแนวคิด (ซึ่งผู้เขียนนิยามไว้ในที่นี้ว่าเป็นรูปแบบจารีต – Traditional Concepts ของวงการ IR) เนื่องจากในขณะที่ผู้เขียนได้พยายามทำการสำรวจวรรณกรรมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยแล้ว พบว่างานเขียนที่ใช้ทฤษฎี แนวคิดประเภทกระแสรอง หรือ นอกกระแส มีอยู่น้อยนิด (จนถึงขั้นพบได้ยาก) [2] ข้อสันนิษฐานของผู้เขียนจึงเป็นในเรื่องของ ความที่ในไทยนั้นไม่มีที่ยืนให้แก่ทฤษฎี แนวคิดในกลุ่มสำนักหลังปฏิฐานนิยม (Post-Positivism) แม้วงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับสากลจะเคยผ่านประสบการณ์ในการมีวิวาทะหรือข้อถกเถียงครั้งใหญ่ในวงวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ครั้งที่ 3) [3] ซึ่งเป็นการถกเถียงระหว่างวิธีคิดแบบปฏิฐานนิยมและหลังปฏิฐานนิยม (Positivism - Post Positivisim) [4]มาแล้วก็ตาม

แต่กระนั้น วงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันกลับมีลักษณะที่เรียกได้ว่า ขาดแคลนความหลากหลายของตัวทฤษฎีและแนวคิดที่ปรากฏในตัวบทของงานเขียนทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งผู้เขียนมองว่า ความหลากหลายทางทฤษฎีและรูปแบบของแนวคิดนั้น คือ สีสันที่เปรียบได้ดั่งเครื่องมือที่เรียงร้อยกันอยู่ภายในกล่องเครื่องมืออุปกรณ์ที่เรียงรายพร้อมกันรอให้ผู้ศึกษาหรือผู้ที่สนใจได้เข้ามาเลือกสรรและนำไปประยุกต์ใช้ [5] แต่สาเหตุที่วงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยนั้นยังคงมีความขาดแคลนดังเช่นว่า สาเหตุเบื้องต้นผู้เขียนมีความเห็นว่า ไม่ได้เป็นเพียงแค่ไทยเรานั้นรับอิทธิพลจากวงการรัฐศาสตร์สายสหรัฐอเมริกามาแต่เพียงอย่างเดียว ที่มีหลายปัจจัยร่วมอยู่ด้วย อาทิ การขาดแคลนตำราที่มีคุณภาพ อุปสรรคทางด้านภาษา อุปสรรคจากกระบวนขั้นตอน Peer-Review (ที่อาจทำให้งานเขียนไม่สามารถเผยแพร่ออกมาได้) ไปจนถึงเหตุผลทางด้านอาจารย์ที่ปรึกษาของผู้ที่มีความคิดจะผลิตงานวิชาการด้านดังกล่าว (อาทิ ในกลุ่มนักศึกษาหลักสูตรปริญญาโท-เอก ที่อาจมีความเชี่ยวชาญไม่ตรงกับประเด็นที่ผู้ศึกษาสนใจ) ดังกล่าวข้างต้นนี้ ผู้เขียนมิได้คาดหวังจะให้กลายเป็นคำอธิบายสากลต่อประเด็นความขาดแคลนที่ผู้เขียนได้นำเสนอ ผู้เขียนเข้าใจและยอมรับว่าทฤษฎีกลุ่มหลังปฏิฐานนิยมหลายๆทฤษฎีนั้นอาจไม่สามารถที่จะสร้างความเป็น Grand Theory ให้แก่วงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เทียบเท่ากับสำนักเสรีนิยมและสัจนิยมที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน แต่การนำทฤษฎีหรือแนวคิดในกลุ่มหลังปฏิฐานนิยมมาใช้ร่วมในงานเขียน เช่น ทฤษฎีในกลุ่มสำนักวิพากษ์ (Critical Theory), สำนักแฟรงเฟิร์ต (Frankfurt School) หรือแม้แต่กลุ่มมาร์กซิสต์ (Marxism) จะสามารถสร้างคำอธิบายที่มีประสิทธิภาพและอาจอุดช่องโหว่ในประเด็นที่กลุ่มสำนักเสรีนิยม และสัจนิยมเปิดช่องว่างไว้ก็เป็นได้ การจะนำทฤษฎีกระแสรองมาใช้ร่วมจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่คำอธิบายภายในงานเขียน หรือแม้แต่เป็นการพยายามสร้างมุมมองที่แตกต่างออกไป

ในทัศนะของผู้เขียน ผู้เขียนมีความเชื่ออยู่ประการหนึ่ง คือ ทฤษฎีหรือแนวคิดใด หากสามารถปรับใช้กับมนุษย์ หรือ สังคมได้ ทฤษฎีหรือแนวคิดนั้นย่อมสามารถนำมาปรับใช้ในวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ เนื่องจากวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันนั้นยังคงอยู่ในช่วงเวลาที่ Booth (2014) เรียกว่าเป็น “State-Dominated” คือ รัฐนั้นยังคงเป็นยูนิตหรือตัวแสดงที่มีอิทธิพลอยู่ในสังคมระหว่างประเทศ แต่ก็มิได้หมายความว่ารัฐเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (State-Centrism) ซึ่งรัฐนั้นก็ประกอบขึ้นมาจากพฤติกรรมของมนุษย์และตั้งอยู่บนฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับมนุษย์ที่จำเป็นต้องอยู่ในสังคมร่วมกัน ในเมื่อทฤษฎีที่นักวิชาการหลายท่านมักนิยมใช้เป็นทฤษฎีหลักในงานดังเช่น ทฤษฎี Linkage Theory ของ Rosenau ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีการดึงเอาทฤษฎีในกลุ่มจิตวิทยาหรือจิตวิเคราะห์เข้ามาช่วยในการตีความตัวยูนิตอย่างผู้นำประเทศหรือตัวแสดงที่เป็นมนุษย์อันมีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าศาสตร์ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นเป็นศาสตร์ทางด้านสหวิทยาการหรือสหสาขาวิชา (Multi-Disciplinary) ซึ่งข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นข้อเด่นที่วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีไว้ เพื่ออุดช่องว่างด้านความขาดแคลนภายในตัวทฤษฎีระดับแกรนด์ (Grand Theory) ของของศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้

และด้วยความเชื่อที่ว่าทฤษฎีใดๆหากสามารถประยุกต์ใช้ได้กับมนุษย์และสังคมแล้ว ย่อมสามารถที่จะนำมาปรับใช้กับรัฐและสังคมระหว่างประเทศได้ เมื่อยืนอยู่บนฐานดังว่านี้ จากการสังเกตและสำรวจวรรณกรรมทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผนวกกับแนวคิดอันโด่งดังที่สร้างชื่อให้กับนักคิด 2 ท่าน ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้า คือ Gilles Deleuze และ Félix Guattari ที่ได้เขียนตำราวิเคราะห์ระบบทุนนิยมในรูปแบบใหม่ (คือ Anti-Oedipus และ A Thousand Plateaus) ที่พยายามหลีกหนีวิธีคิดแบบดั้งเดิม ด้วยความที่ประเด็นเรื่อง “ทุนนิยม” และประเด็นของ “ทุน” ในปัจจุบันยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญต่อวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปจนถึงเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ [6]

ผู้เขียนจึงถือเป็นโอกาสอันดีต่อการจะเสนอการนำงานของนักคิดทั้ง 2 ท่านนี้เข้ามาเพื่อสรรหาคำอธิบายที่มีความกว้างขวางและมีประสิทธิภาพให้แก่วงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น แต่ด้วยเหตุที่งานเขียนของ Deleuze และ Guattari นั้นมีความเป็นปรัชญารูปแบบที่ไม่ถูกจริตกับรูปแบบการศึกษาของกลุ่มวิธีคิดแบบปฏิฐานนิยม การจะนำเข้ามาสู่ในปริมณฑลของวงการ IR จึงค่อนข้างจะเป็นไปได้ยากและล่าช้า โดยผู้เขียนใคร่ขออนุญาตที่จะยกตัวอย่างงานเขียนที่โด่งดังอันมาจากการนำงานของ Deleuze และ Guattari เข้ามาตีความสู่วงการ IR ก็คืองานเขียนของ Michael Hardt และ Antonio Negri (2000)  ที่เป็นการสร้างคำอธิบายให้แก่ระบบจักรวรรดินิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ถัดมาก็คือ งานเขียนของ Lenco (2011) ที่เกี่ยวกับขบวนการ Alter-Globalization Movement, งานที่ Buchanan (2006) เป็นบรรณาธิการให้ เกี่ยวกับเหตุการณ์โลกปัจจุบันและร่วมสมัย (Contemporary World) และล่าสุดสำหรับงานของ Lenco (2014) ก็เป็นการพยายามที่จะนำเสนอมรดกทางความคิดของ Deleuze ต่อการศึกษาในปริมณฑลระหว่างประเทศให้แก่วงวิชาการสังคมศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วยังถือได้ว่าอยู่ในปริมาณที่น้อย ด้วยหลายเหตุปัจจัย ที่แม้แต่วงวิชาการ IR ตะวันตกก็ยังมีจำนวนน้อยนิด

ในปัจจุบันแม้งานเขียนของ Deleuze และ Guattari จะค่อนข้างยาก ซับซ้อนต่อการนำมาตีความและพัฒนาสู่การสร้างมโนทัศน์ทาง IR แต่ผู้เขียนก็หวังว่าวงวิชา IR ของไทยจะปรับตัวและก้าวข้ามอิทธิพลของวิธีคิดแบบปฏิฐานนิยมออกไปได้ในไม่ช้า เพื่อปลดปล่อยศาสตร์ IR ให้หลุดออกจากความขาดแคลนซึ่งความหลากหลายทางทฤษฎีและแนวคิดทาง IR ดังเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้

 

เชิงอรรถ

[1] ทั้งภายในวารสารวิชาการ สื่ออิเล็กโทรนิคส์ ไปจนถึงหนังสือที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

[2] ผู้เขียนยอมรับว่า ธีมหลักของวงการและเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันคือ แนวคิดแบบเสรีประชาธิปไตย และ เสรีนิยม ที่มาพร้อมกับคอนเซ็ปต์ที่มีรูปแบบของความร่วมมือ อันยึดอยู่กับความอยู่รอดของชีวิต รัฐ สังคมระหว่างประเทศ อย่างมีสันติภาพ ในสภาวะที่เวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังคงมีสถานะเป็นพื้นที่ที่ปราศจากการมีองค์อธิปัตย์ระดับโลก (Global Sovereign Power) อันเรียกว่า สภาวะอนาธิปไตย (Anarchy) (ตามตัวแบบของแนวคิดสำนักเสรีนิยม และสัจนิยม) อยู่

[3] Great Debates in International Relations Scholars หมายถึง กลุ่มสถานการณ์ของการเกิดข้อถกเถียงทางวิชาการขึ้นในวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับสากล ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นแล้ว 4 ครั้ง (หากไม่นับข้อถกเถียงระหว่างกระบวนทัศน์ – “Inter-Paradigm Debate” ของกลุ่มสำนักคิดสัจนิยม เสรีนิยม และโครงสร้างนิยม ในฐานะกลุ่มสำนักคิดแบบจารีตกับสายถอนรากถอนโคน)

[4] IR Great Debate ครั้งที่ 3 เป็นการถกเถียงกันระหว่างสำนักคิดที่ยึดวิธีคิดแบบปฏิฐานนิยม (Positivism) และกลุ่มสำนักคิดแบบหลังปฏิฐานนิยม (Post-Positivism) ในบางตำราอาจได้รับการกล่าวขานถึงในฐานะ Great Debate ครั้งที่ 4 แต่สำหรับ Lapid (1989) เขาได้นิยามถึงช่วงเวลาของสำนักคิดหลังปฏิฐานนิยม (Post-Positivist Era) ว่าเป็นช่วงของ Great Debate ครั้งที่ 3

[5] ผู้เขียนมิได้บังอาจจะมีเจตนาที่จะบอกว่าวงการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยนั้นล้าหลัง หรือด้อยประสิทธิภาพไปกว่าวงการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับสากลแต่อย่างใด เนื่องจากผู้เขียนเป็นเพียงยูนิตเล็กๆในวงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มิอาจทัดเทียมกับนักวิชาการทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้ทรงเกียรติท่านอื่นๆ
[6] Michel Foucault ถึงกับยืนยันว่าช่วงเวลาแห่งศตวรรษนี้คือเวทีของเดอเลิซและวิธีคิดแบบเดอเลิซ (Deleuzian Century)

 

อ้างอิง

Booth, K. (2014). “International Relations: All that matters”. US: McGraw-Hill Companies.

Buchanan, I. (2006). “Deleuze and the Contemporary World”. Edinburgh: Edinburgh University Press.

Deleuze, G. and Guattari, F. (1983). “Anti-Oedipus: Capitalism and Schizophrenia”. Minneapolis: University of Minnesota.

Deleuze, G. and Guattari, F. (1987). “A Thousand Plateaus: Capitalism and Schizophreniaa”. Minneapolis: University of Minnesota

Foucault, M. “Theatrum Philosophicum”. Retrieved: April 14, 2015. Generation-Online: http://www.generation-online.org/p/fpfoucault5.htm.

Hardt, M. and Negri, A. (2000). “Empire”. Cambridge: Harvard University Press.

Lapid, Y. (1989). “The Third Debate: On the Prospects of International Theory in a Post-Positivist Era.”, International Studies Quarterly, 33.3, Page 235-254.

Lenco, P. (2011). “Deleuze and World Politics: Alter-Globalizations and Nomad Science.”. Oxon:  Routledge.
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไฟใต้ช่วงสงกรานต์แรง 10 วัน 17 เหตุ ตาย 18 ภาคประชาสังคมวอนหยุดทำร้ายผู้บริสุทธิ์ เร่งหาความจริง

$
0
0

เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพเผยจดหมายเปิดผนึกไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เกินกว่าเหตุและไม่รอบคอบของเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมกับแสดงความกังวลว่าจะมีการก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มนิยมความรุนแรงต่อเป้าหมายอ่อนโดยเฉพาะชาวพุทธที่เป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่

จดหมายดังกล่าวได้ยกกรณีความรุนแรงตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2558 ว่ามีการก่อเหตุ 10 ครั้ง โดยวันที่ 8 เมษายนเกิดเหตุยิงคนไทยพุทธที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา มีผู้หญิงเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 1 คน วันที่ 11 เมษายนคนร้ายบุกยิงชาวไทยพุทธ 3 รายที่บ้านตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มีผู้หญิงเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 2 ราย และล่าสุดวันที่ 12 เมษายนคนร้ายยิงและเผาบ้านคนไทยพุทธเสียชีวิต 4 ราย ที่ อ.สุคีริน จ.นราธิวาส

เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพเรียกร้องต่อผู้ที่มีส่วนในการแก้ปัญหาให้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยชุมชนที่มีพี่น้องไทยพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นพิเศษ โดยร่วมกันทำงานร่วมกับผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้านอย่างจริงจัง และยังเรียกร้องให้มีการพูดคุยในระดับท้องถิ่นเพื่อหยุดการกระทำรุนแรงต่อเป้าหมายอ่อนแอ

ในจดหมายยังเรียกร้องให้เร่งสร้างความเข้าใจในหมู่คนไทยพุทธเพื่อไม่ให้ทิ้งถิ่นฐานและให้การช่วยเหลือที่เหมาะสมกับคนที่ต้องการย้ายถิ่นออกจากพื้นที่ และยังเรียกร้องต่อกลุ่มก่อเหตุรุนแรงให้ยุติความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์และชาวไทยพุทธ เพราะวิธีการเหล่านี้จะไม่มีทางชนะในทางการเมืองการปกครองต่อรัฐไทยและหากผู้ที่กระทำเป็นมุสลิมก็จะได้รับการลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างแสนสาหัส

ด้านนางอังคณา นีละไพจิต ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพออกแถลงการณ์ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทุกคน โดยมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 4 ข้อ โดยสรุปคือ 1.กองกำลังติดอาวุธทุกฝ่ายต้องยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก เยาวชนและผู้สูงอายุ

2.รัฐต้องสืบสวนข้อเท็จจริงของทุกเหตุการณ์ เพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ 3.รัฐบาล ภาคประชาสังคม รวมถึงผู้นำทุกศาสนาต้องร่วมกันหาทางยุติความรุนแรง และป้องกันการสร้างความเกลียดชัง เพื่อเร่งสร้างมาตรการคุ้มครองชีวิตผู้บริสุทธิ์ และ 4.เร่งให้มีการเยียวยา ฟื้นฟูสภาพจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ รวมถึงสังคมที่เกิดเหตุรุนแรง

“มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพเชื่อมั่นว่าปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยุติได้หากทุกฝ่ายเคารพกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน หลักการศาสนา และเคารพในสิทธิ ศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน”

นางอังคณา ระบุด้วยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 จนถึงปัจจุบันมีผู้หญิงถูกสังหารจากสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว 57 คน แทบทั้งหมดเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย การปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

 

ไฟใต้ 10 วัน 18 ศพ

สำหรับเหตุรุนแรงในรอบ 10 วันที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับช่วงสงกรานต์พบว่า มีเหตุรุนแรงถึง 17 เหตุการณ์ ตาย 18 คน เป็นผู้หญิง 6 คน บาดเจ็บ 13 คน เป็นผู้หญิง 6 คน เช่น เหตุคนร้ายยิงสามีภรรยาขณะกรีดยางใน อ.ยะหา จ.ยะลา ส่วนที่อ.สุคิริน จ.นราธิวาส คนร้ายมัดมือจ่อยิงราษฎรไทยพุทธ 4 คน ขณะที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี มีเหตุลอบยิงผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิต ส่วนคนร้ายถูกยิงสวนดับ 2 ราย แต่เหตุการณ์น่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ล่าสุดเป็นเหตุลอบยิงปลัดอบต.หญิงบาดเจ็บ

สรุปเหตุรุนแรงในรอบ 10 วันที่ผ่านมามีดังนี้ 16 เมษายน 2558 เวลา 09.15 น. คนร้ายใช้อาวุธปืน M16 ยิงนางอรสา เงินมาก อายุ 40 ปี ปลัด อบต.ตันหยงลิมอได้รับบาดเจ็บขณะขับรถเก๋งฮอนด้า รุ่นแจ๊ซ สีเทา ทะเบียน กษ 3507 สงขลา บนถนนหน้าที่ทำการ อบต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส โดยคนร้าย 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์ตามประกบยิง 3 นัดซ้อนถูกบริเวณหัวไหล่ แต่นางอรสาได้ฝืนใจขับรถไปจอดหน้าฐานปฏิบัติการของทหารซึ่งอยู่ห่างออกไป 500 เมตรเพื่อขอความช่วยเหลือได้

เวลา 11.45 น. คนร้ายขับรถกระบะอีซูซุสีดําใช้ปืนพกยิงราษฎรบาดเจ็บ 2 ราย คือ นายธีรยุทธ จันทรัมพร อายุ 31 ปี อยู่ ม.1 ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และน.ส.ไลลา สะตาปอ อายุ 22 ปีอยู่ ม.6 ต.กายูคละ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ขณะขับรถเก๋งมาสด้า สีเทา พร้อมเพื่อนอีก 2 คน เดินทางมาจาก อ.เกาะสมุย จะไป ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เหตุเกิดบนถนนสาย 4084 นราธิวาส – สุไหงโก-ลก บ้านบางน้อย ม.4  ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

15 เมษายน 2558 เวลา 17.30 น.คนร้าย 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ใช้ปืนพกขนาด 9 มม. ยิงนายหะมะบีดี เซ็งสาเมาะ อายุ 47 ปี สมาชิกเทศบาลตำบลต้นไทร ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เสียชีวิต เหตุเกิด ขณะปั่นจักรยานออกกำลังกายมาตามถนนสาย 42 บ้านละหาร ม.5 ต.ละหาร อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

13 เมษายน 2558 คนร้ายใช้อาวุธปืนยิง นายบาราเฮง ลาแล อายุ 54 ปี และนางมลีวัลย์ แดเบาะ อายุ 52 ปี สองสามีภรรยาเสียชีวิตในสวนยางพาราของตนเองที่บ้านซีเซะใน ม.5 ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา

เวลา 08.15 น.คนร้าย 2 คนขี่รถจักรยานยนต์ใช้ปืนพกยิงนายอนุรักษ์ สาและ อายุ 53 ปี ชาวบ้าน ม.3 ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาสเสียชีวิต ขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ไปทำงานก่อสร้างก่อสร้างที่โรงเรียนบ้านนาดา เหตุเกิดบนถนนภายในหมู่บ้านนาดา ม.3 ต.รือเสาะ

เวลา 16.50 น.คนร้าย ใช้อาวุธปืนสงคราม ยิงทหารพรานบาดเจ็บ 1 นาย และราษฎรบาดเจ็บ 2 ราย ชื่ออส.ทพ.สุกรี หนูเส็น นายกิตติศักดิ์ กามินทร์ อายุ 25 ปี และ น.ส.สุวาริน กันทะนิด อายุ 24 ปี ทั้งหมดเป็นญาติกันอาศัยอยู่ใน ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เหตุเกิดที่บ้านไอร์บาลอ ม.3 ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส

เวลา 19.50 น.เกิดเหตุระเบิดบริเวณลาดจอดรถ อุทยานน้ำตกทรายขาว ม.5 ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ไม่ผู้ใดได้รับบาดเจ็บ

เวลา 21.41 น. คนร้ายยิงนายสารีมันส์ ตาเห อายุ 36 ปี ชาวบ้าน ม.7 ต.บาโงโต อ.ระแงะ จ.นราธิวาส กระสุนถูกสะโพก 1 นัด บาดเจ็บสาหัส ขณะยืนคุยโทรศัพท์หน้าบ้าานเลขที่ 66 บ้านกูวิง ม.1 ต.สาคอใต้ อ.มายอ จ.ปัตตานี

12 เมษายน 2558 เวลา 18.10 น.คนร้ายกราดยิงบ้านเรือนราษฎรไทยพุทธ บ้านน้อมเกล้า ม.12 ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เสียชีวิต 4 ราย คือ 1.นางอารี รัตนะ 2.นายสมนึก รัตนะ เป็นสองแม่ลูก 3.นายจูน อีเอิน 4.นางดำ อีเอืน สองสามีภรรยา ลักษณะการก่อเหตุเป็นการมัดมือไพล่หลังแล้วจ่อยิงด้วยอาวุธปืน

เวลา 00.30 น.คนร้าย 2 คน ลอบยิงนายมะสือกรี ดือรานิง อายุ 45 ปี ผู้ใหญ่บ้านรานอ หมู่ที่ 4 ต.กระหวะ อ.มายอ จ.ปัตตานี ขณะตระเวนดูแลความปลอดภัยหมู่บ้าน นายอาหามา ดาโอ๊ะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตามหลังใช้อาปืนลูกซองยิงตอบโต้ทำให้คนร้ายเสียชีวิต 2 คน คือนายหาแว นาแว และนายบอเฮง ตาเย๊ะ คาดว่าสาเหตุมาจากความขัดแย้งการเมืองท้องถิ่น

11 เมษายน 2558 เวลา 12.30 น. คนร้ายลอบวางระเบิด ชป.ร้อย ปืนเล็กที่ 4 ฉก.นราธิวาส 31 ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เหตุเกิดที่จุดกลับรถ ถนนสาย 4057 บ้านสะหริ่ง หมู่ที่ 1 ต.โฆษิต อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

เวลา 18.55 น. คนร้าย 2 คน ใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงนางสวย สุขขี เสียชีวิต ส่วนนางกลทิพย์ สุขขี อายุ 55 ปี และนายสุบิน สุขขี บาดเจ็บ เหตุเกิดที่บ้านเลขที่ 44 ม.4 ต.ตาเกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี

เวลา 21.10 น.เกิดระเบิดขึ้นบริเวณริมถนนสาย 4157 ม.5 ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ทำให้ ส.ต.อ.สหรัฐ ไชยนุ้ย อายุ 30 ปี และนางสาวณัฐนรี สิทธิโพธิ์ อายุ 19 ปี ได้รับบาดเจ็บ

10 เมษายน 2558 เวลา 22.00 น. คนร้ายใช้อาวุธปืน Ak47 ยิงนายมอฮามะรุสดี สะแมดัม อายุ 32 ปี 2.นายมาหามะดลาอิ แปแนะ อายุ 37 ปีและ 3.นายอุสมาน ยาโงะ อายุ 37 ปี เสียชีวิต ส่วนนายซานูซี สะแม อายุ 25 ปี ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดที่กระท่อมร้าง บ้านศาลาลาก ม.7 ต.นาประดู อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

9 เมษายน 2558 เวลา 7.20 น.คนร้าย 2 คน ใช้อาวุธปืนพก ขนาด.37 ยิงนายดอเลาะ เวาะแล อายุ 53 ปี เสียชีวิตบนถนนสายชนบท บ้านยือริง ม.4 ต.ตันหยงดาลอ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี

8 เมษายน 2558 เวลา 20.00 น. คนร้าย 4 คน ใช้อาวุธพกขนาด 9 มม. ยิงราษฎรเสียชีวิต 2 คือ นางสาวมะยุรี อายุ 39 ปี และนางสาวอุบล ฤทธิ์ อายุ 52 ปี และได้รับบาดเจ็บ 1 ราย คือ นางสาววาสนา ด้วงทอง อายุ 35 ปี เหตุเกิดที่หน้าร้านของชำบ้านเลขที่ 126/2 บ้านเปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา

เวลา 23.40 น.คนร้ายใช้อาวุธปืนสงคราม ซุ่มยิงนายซาอูดี นาแว อายุ 30 ปี ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดบนถนนภายในหมู่บ้านบูดล ม.1 ต.ปะโด อ.มายอ จ.ปัตตานี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘บิลลี่’ หายไป ใครต้องรับผิดชอบต่อการสอบสวนที่ล้มเหลว

$
0
0

17 เม.ย. 2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เปิดแถลงการณ์ ต่อกรณีการหายตัวไปของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ เนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งปีที่เขาหายตัว โดยได้เผยให้เห็นเงื่อนปมของการหายตัวไปของ บิลลี่ และชี้ว่าการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมมีความล่าช้า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบางคนขาดความอิสระในการทำงาน และเรียกร้องให้ ผบตร. ออกมารับผิดชอบต่อกรณีการสอบสวนที่ไม่เป็นผลดังกล่าว และให้เปิดเผยข้อเท็จจริงจากสืบสวนสอบสวนกับญาติอย่างเป็นทางการเพื่อเคารพต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของญาติผู้เสียหาย

แถลงการณ์ ครบรอบหนึ่งปี ใครต้องรับผิดชอบต่อการสืบสวนสอบสวน

กรณีการหายไปของบิลลี่ที่ล้มเหลว

วันที่ 17 เมษายน  2558 เป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่นายพอละจีหรือบิลลี่ รักจงเจริญได้ถูกบังคับให้หายตัวไป  เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานได้รับแจ้งในวันที่ 18 เมษายน 2557 ว่านายพอละจีได้หายไปโดยญาติพี่น้องคาดว่าจะถูกบังคับให้หายสาบสูญ   ต่อมากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ได้รับมอบหมายตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีเพื่อคลี่คลายคดีนี้ โดยมีข้อมูลและพยานหลักฐานว่านายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ได้ควบคุมตัวนายพอละจีไป แต่อ้างว่าได้ปล่อยตัวนายพอละจีไปแล้ว    นับแต่วันดังกล่าวเป็นเวลา 9 เดือนแล้วแต่ทางกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ก็ยังไม่สามารถคลี่คลายคดีได้  แม้มีพยานบุคคลและพยานแวดล้อมที่น่าเชื่อได้ว่ามีเจ้าหน้าที่บางคนบังคับให้นายพอละจีหายไปโดยไม่มีการปล่อยตัวตามที่นายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่วนอุทยานแห่งชาติแก่กระจานกล่าวอ้าง   กรณีดังกล่าวอาจมีการซ่อนเร้นทำลายศพรวมทั้งมอเตอร์ไซค์ที่เกิดจากการกระทำของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ 

การหายตัวไปของนายพอละจีเป็นกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง เกิดขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิในที่ดินและที่อยู่อาศัยของตนเอง ครอบครัวและชุมชนชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีก่อนการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติมาเป็นระยะเวลาเป็น 100 ปี

ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ติดตามความคืบหน้าคดีนี้จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยทางผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ได้ส่งหนังสือตอบกลับมายังมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นเอกสารที่ตช. 0022.173/2135 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2558 พร้อมแนบบันทึกข้อความที่ ตช. 0022 (พบ) 63/ 632 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 มีเนื้อหาแต่เพียงว่า ทางพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วและได้ส่งสำนวนสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมไปยังเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) โดยปปท. ได้รับเรื่องกล่าวโทษนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรจากสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานมาตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 (คดีปปท.ที่ 2013/57)  ในหนังสือจากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ขณะนั้นระบุว่าคดีนี้ทางตำรวจภูธรภาค 7 ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นคดีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ความสนใจ ... ประกอบกับมีพยานหลักฐานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงในคดีที่จะต้องรวบรวมเป็นจำนวนมาก... และได้ส่งสำนวนการสืบสวนสอบสวนเป็นเอกสารจำนวน 364 แผ่นเพื่อรวมสำนวน

อีกทั้งประกอบกับข้อมูลที่เปิดเผยต่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2558 ว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีหลักฐานเชื่อได้ว่าไม่มีการปล่อยตัวนายพอละจี ในวันเกิดเหตุตามที่เจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานกล่าวอ้างทั้งพยานสำคัญอย่างน้อยที่สุดสองรายก็ได้ยืนยันข้อมูลนี้   ดังนั้นเท่ากับภายใต้การกำกับดูแลของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีข้อมูลที่เชื่อได้ว่ามีการบังคับให้บุคคลสูญหายจริงกล่าวคือการจับกุม ควบคุมตัวนายพอละจีโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ปฏิเสธไม่ยอมรับว่ามีการควบคุมตัว   

จากการติดตามกรณีการหายตัวไปของนายพอละจี แม้ว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศ หลายแห่งรวมทั้งจากคณะทำงานเรื่องคนหายขององค์กรสหประชาชาติและคณะกรรมการขององค์กรสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานได้ติดตามอย่างใกล้ชิด นั้นพบว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้การสืบสวนสอบสวนคดีการหายตัวไปของนายพอละจีหรือบิลลี่ รักจงเจริญเป็นไปอย่างล่าช้า อาจแสดงให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นอิสระ แม้เจ้าหน้าที่บางคนจะพยายามสืบสวนสอบสวน แต่อาจยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างจริงจัง     

การส่งสำนวนไปที่ปปท. เป็นการดำเนินการที่เบี่ยงเบนประเด็นการสืบสวนสอบสวนที่เป็นสาระสำคัญของการคลี่คลายคดีคนหาย เลี่ยงการต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการในการสืบหาบุคคลสูญหาย เพราะการสอบสวนของปปท.เป็นเพียงข้อหาปฎิบัติหน้าที่ไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ ซึ่งคนละประเด็นกับการสอบสวนกรณีบังคับบุคคลให้สูญหาย   ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบตร.)รับผิดชอบต่อการสืบสวนสอบสวนที่ไม่เป็นผลนี้โดยการดำเนินการอย่างถึงเร่งด่วน อย่างจริงจังและสุดความสามารถในการคลี่คลายคดีการหายตัวไปของนายพอละจีหรือบิลลี่ พร้อมกันนั้นให้เปิดเผยข้อเท็จจริงจากสืบสวนสอบสวนกับญาติอย่างเป็นทางการเพื่อเคารพต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของญาติผู้เสียหาย

อย่างไรก็ดีการดำเนินการสืบสวนสอบสวนดังกล่าวอาจประสบกับความยากลำบากในการสืบหาพยานหลักฐาน อิทธิพลท้องถิ่น ความหวาดกลัวของพยาน ภูมิประเทศของสถานที่เกิดเหตุ เป็นต้น แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการยุติธรรมและเป็นที่พึ่งของญาติ เพื่อน และประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในการที่จะพิสูจน์ได้ว่าประเทศไทยมีความจริงใจ ในการใช้ศักยภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างเต็มกำลังความสามารถในการคลี่คลายคดีสำคัญดังกล่าว

นอกจากนี้ จากคดีการบังคับให้สูญหายเช่นกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร และกรณีนายบิลลี่ข้อจำกัดทางกฎหมายทำให้คนผิดยังคงลอยนวลญาติไม่ได้รับการเยียวยา  มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเสนอให้รัฐบาลไทยต้องกำหนดให้กรณีมีการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญาและแม้ว่าจะไม่สามารถพบศพของผู้สูญหายได้ก็ตามโดยเร็ว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอแนะเสริมเข้มองค์กรอิสระ สร้างจุดโฟกัส ลดความตึงตัว

$
0
0

17 เม.ย. 2558 นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการวิจัยเรื่อง “การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรอิสระเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน” โดยศึกษาในส่วนของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า ประเทศไทยได้รับคะแนนจากการจัดทำ “ดัชนีงบประมาณโปร่งใส” (Open Budget Index 2012) เพียง 35 จาก 100 คะแนน ซึ่งสะท้อนว่า ในภาพรวมของความโปร่งใสในกระบวนการกำหนด จัดสรร และตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเรื่องนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ “แย่” อย่างไรก็ดี แม้คะแนนในภาพรวมจะไม่น่าพอใจนัก แต่ประเทศไทยก็ยังทำได้ดีในเรื่องของการมีองค์กรตรวจสอบการใช้งบประมาณ ซึ่งหมายถึง สตง. ที่เข้มแข็ง โดยไทยได้คะแนน 67 จาก 100 คะแนนในส่วนนี้
 
ความเข้มแข็งดังกล่าวของ สตง. นั้น มาจากความเป็นอิสระภายในองค์กรที่อยู่ในระดับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ หากยึด “หลักความเป็นอิสระ 8 ประการของ INTOSAI” (International Organization of Supreme Audit Institutions) เป็นเกณฑ์เพื่อประเมิน สตง. ไทย จะพบว่า สตง. มีกฎหมายรับรองความเป็นอิสระ มีคณะผู้บริหาร ซึ่งหมายถึง คตง. และ ผู้ว่าการ สตง. ที่มาจากกระบวนการสรรหาที่โปร่งใส และมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลระหว่างตรวจสอบและกำหนดทิศทางการทำงานของตนเองได้ อย่างไรก็ดี จุดอ่อนของ สตง. ไทยยังคงอยู่ที่ หนึ่ง การเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบประจำปีที่ล่าช้า อันมีสาเหตุมาจากการที่ต้องคอยรัฐสภาและรัฐบาลพิจารณารายงานดังกล่าวก่อน และ สอง ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณที่จำกัด
 
นักวิจัยทีดีอาร์ไอยังระบุอีกว่า แม้ สตง.เป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการตรวจสอบทุจริต แต่ปัจจุบัน มีอำนาจเพียงการปรับโทษทางปกครอง แต่ไม่สามารถดำเนินคดีอาญากับผู้ทุจริตได้ แต่หากมองกว้างๆ ปัญหาขององค์กรอิสระทั่วไปของไทยคล้ายๆกับ สตง.นั่นคือ มีภาระงานค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับจำนวนบุคลากรและงบประมาณในการดำเนินงานส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน
 
ทั้งนี้ นักวิจัยทีดีอาร์ไอมีข้อเสนอแนะสำหรับอำนาจการบริหารงานว่า สตง. อาจจัดจ้างหน่วยงานภายนอก (Outsource) มาร่วมทำหน้าที่ในงานตรวจสอบเฉพาะทาง โดยเฉพาะการประเมินความคุ้มค่าของโครงการต่างๆ ที่ลักษณะเฉพาะ และ สตง. ควรมีอำนาจยับยั้งการเบิกจ่ายงบประมาณในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับฎระเบียบการจ้างในส่วนของอัตราเงินเดือนของพนักงาน สตง.ควรกำหนดอัตราการจ้างงานที่สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะให้เข้ามาร่วมงาน ซึ่งจะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ในด้านความรับผิดชอบต่อประชาชน โดยเฉพาะการเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบหน่วยงานรัฐ ควรมีการกำหนดให้รัฐสภาและรัฐบาลต้อง รับรองรายงานของ สตง. ภายในกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนและไม่นาน เช่น 3 เดือน เพื่อให้ สตง. เปิดเผยรายงานต่อประชาชนได้
 
ทั้งนี้ สัดส่วนความเสียหายโดยมีสาเหตุมาจากการทุจริตคอร์รัปชันที่ สตง.ตรวจพบทั้งหมด ระหว่างปี พ.ศ. 2549-2553 พบว่า โครงการบ้านเอื้ออาทรพบการทุจริตมากที่สุดถึง 38%  โครงการรับจำนำข้าวเปลือก 25% โครงการกองทุนรวมเพื่อช่วยเกษตรกร 11% และโครงการยิบย่อยอื่นๆรวม 26% ซึ่งความเสียหายในระยะเวลา 5 ปีนั้น รวมมูลค่าทั้งสิ้น 150,675 ล้านบาท
 
สำหรับบทสรุปขององค์กรอิสระในด้านโครงสร้างนั้น นักวิจัยทีดีอาร์ไอได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรมีความหลากหลายทั้งในเรื่องกรรมการสรรหา และกรรมการบริหาร ขณะเดียวกันควรมีการกำหนดวงเงินงบประมาณที่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอาจจะพิจารณาจากแหล่งรายได้ต่อหัวประชากรที่แน่นอนในกฎหมายและหน่วยงานราชการที่จัดสรรเงินเพื่อให้ สตง.ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาล และที่สำคัญองค์กรเหล่านี้ ไม่ควรมีอุปสรรคในการสร้างความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อประชาชน เช่น การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับรู้ผลงานและรายละเอียดต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' ค้านควบรวม 'กรรมการสิทธิ์'

$
0
0
ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยควบรวมกับ กสม. วอน กมธ. ยกร่างฯ และผู้เกี่ยวข้องทบทวน  ยืนยันงานไม่ซ้ำซ้อน ชี้ ควบรวมมีผลเสียมากกว่าผลดี  จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

 
17 เม.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ นายบูรณ์ ฐาปณดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยที่จะให้ควบรวมสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามความเห็นของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
 
นายศรีราชา กล่าวว่า ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่เพื่อประชาชน  การไม่ควบรวมน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เนื่องจากจะมีแนวโน้มให้ทำงานไม่เป็นอิสระเหมือนเดิมและยากขึ้น และมีสิ่งที่ขัดกัน ทั้งเรื่องอำนาจและการบริหารภายในองค์กร อาจเกิดปัญหา 2 มาตรฐาน และว่า ที่ผ่านมามีกรรมาธิการหลายคณะเชิญผู้ตรวจการฯ ไปชี้แจง ซึ่งได้ยืนยันจุดยืนไปว่า ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม
 
“ไม่ใช่เราไม่ฟังเสียงกรรมาธิการยกร่างฯ แต่เราแสดงเหตุผลที่เราเห็นตรงกับ กสม. ตอนนี้ถือว่าเราลงเรือลำเดียวกัน คือไม่เห็นด้วยให้ควบรวม บทบาทของ 2 องค์กร ไม่มีส่วนไหนซ้ำซ้อน มีเพียงเชื่อมโยงคาบเกี่ยวเล็กน้อย เรากับ ป.ป.ช.และสตง. ยังถือว่าทำงานซ้ำกันมากกว่า แต่การประสานงานกัน ทำให้การทำงานไม่มีปัญหา” นายศรีราชา กล่าว
 
นายศรีราชา กล่าวว่า การควบรวมจะทำให้ความมีตัวตนหรืออัตลักษณ์ขององค์กรหายไป และทั่วโลกถึงร้อยละ 90 ไม่มีการควบรวม ขณะที่ ในเวทีอาเซียน ไทยได้รับเกียรติเป็นประธานสมาคมผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งเอเชีย หากมีการยุบรวม ไทยจะไม่อยู่ในสมาคม โอกาสที่จะสามารถทำได้ดีในสายตาชาวโลกก็จะเสียไป
 
“นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้รับการยอมรับจากสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินโลก (IOI) ที่มีสมาชิกกว่า 150 ประเทศ จัดการประชุม World conference ปีหน้า ซึ่งน่าเสียดายงาน ที่ต่างประเทศให้การยอมรับ และชื่อเสียงเกียรติยศจะหายไป ขณะนี้ มีหลายประเทศสอบถาม หลังรับทราบข่าว” นายศรีราชา กล่าว
 
นายศรีราชา กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งของการควบรวม ที่ระบุว่าจะประหยัดงบประมาณ ก็ไม่จริง เพราะทั้ง 2 องค์กรได้รับงบประมาณไม่มากนัก และการที่จะมีองค์กรใหม่ขึ้นมา จะทำให้ต้องเพิ่มงบประมาณมากขึ้น และว่า การเพิ่มบทบาทอำนาจการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน จะทำให้เพิ่มศักยภาพการทำงาน แต่การรวมกันอาจทำให้ศักยภาพลดลง เพราะมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับมากกว่าสิ่งอื่น
 
ด้าน นายรักษเกชา กล่าวว่า หากควบรวมกัน ความคล่องตัวในการแก้ปัญหาจะสะดุด และอาจมีการละเมิดสิทธิของเจ้าหน้าที่ด้วยกันเอง และจะส่งผลกระทบหลายด้านชัดเจน จึงต้องการให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและผู้เกี่ยวข้องทบทวนอีกครั้ง ให้คง 2 องค์กรไว้ดังเดิม และไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ปีกับการใช้กลไกทางกฎหมายกรณีการหายตัวของบิลลี่

$
0
0
รายงานสรุป 1 ปีกับการใช้กลไกทางกฎหมายกรณีการหายตัวของ "พอละจี รักจงเจริญ" หรือ "บิลลี่" นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง โดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

นับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 จนบัดนี้  เป็นเวลา 1 ปีเต็ม ที่นายพอละจี  รักจงเจริญ หรือนายบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ได้หายตัวไป หลังเดินทางกลับมาจากบ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อเตรียมข้อมูลที่จะใช้ในเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เผาทำลายบ้านและทรัพย์สินของชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2554 โดยมีชาวบ้านพบเห็นนายบิลลี่ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งทำการค้นตัวแล้วพบว่านายบิลลี่มีรังผึ้งและน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง  เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ทำการตักเตือนและปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานที่อ้างเกี่ยวกับการจับกุมและหลักฐานการปล่อยตัวแต่อย่างใด
 
นายบิลลี่เป็นแกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน  และผู้ช่วยทนายความ ในคดีที่ชาวบ้านบางกลอยยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อศาลปกครองกลาง  จากกรณีที่นายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านกว่า 20 ครอบครัว  ที่บ้านบางกลอยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ตาม“โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทยพม่า”  มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ยุทธการตะนาวศรี”  เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่แม้ปรากฏผลการศึกษายืนยันว่าชาวบ้านเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมชาวปาเกอญอที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลาร่วมกว่า 100 ปีแล้ว ขณะที่นายบิลลี่หายตัวไปนั้นอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อต่อสู้คดีดังกล่าว ซึ่งศาลนัดไต่สวนในวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 นอกจากนี้ นายบิลลี่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมถวายฎีกาเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่านายบิลลี่มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีและกรณีร้องเรียนดังกล่าวอยู่กับตัวด้วยในขณะที่หายไป
 
การดำเนินการทางกฎหมายเริ่มต้นขึ้น เมื่อนางสาวพิณนภา  พฤกษาพรรณ  ภรรยาของนายบิลลี่  ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 เมื่อทราบข่าวการหายตัวไปของนายบิลลี่หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
 
22 เมษายน 2557 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ทราบข่าวกรณีการหายตัวของนายบิลลี่ จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และออกจดหมายเปิดผนึกขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
 
23 เมษายน 2557 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล(ICJ) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ลงพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นางสาวพิณนภา  พฤกษาพรรณ  และญาติของนายบิลลี่ โดยในวันเดียวกันทนายความได้ประชุมเตรียมคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามความประสงค์ของญาติ
 
24 เมษายน 2557 นางสาวพิณนภา  พฤกษาพรรณ  พร้อมทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พิเศษ 1/2557 เพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32  ซึ่งศาลมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน โดยมีการสืบพยาน 2 ปากในวันดังกล่าว คือ นางสาวพิณนภา  พฤกษาพรรณ ภรรยานายบิลลี่  ในฐานะผู้ร้อง และนายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย และศาลได้นัดสืบพยานอีก 10 ปาก ในวันที่ 30 เมษายน 2557 วันที่ 12 พฤษภาคม 2557 วันที่ 2 มิถุนายน 2557 วันที่ 16 มิถุนายน 2557 และสิ้นสุดการสืบพยานในวันที่ 7 กรกฎาคม 2557 โดยมีพยานที่ขึ้นเบิกความต่อศาล  ได้แก่  นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอีกจำนวน 4 คน นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  นักศึกษาฝึกงาน 2 คน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และพยานผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อินโดฯ เสนอกฎหมายคุมโหดนักดื่ม แค่บริโภคสุราก็อาจถูกจับเข้าคุก

$
0
0

ที่ประชุมส.ส. อินโดนีเซียเสนอกฎหมายลงโทษผู้ดื่มแอลกอฮอลเว้นแต่ในสถานที่ๆ มีการยกเว้น เช่นแหล่งท่องเที่ยว อ้างเรื่องสุขภาพ แต่สมาคมอาหารและเครื่องดื่มก็กังวลว่ากฎหมายนี้จะยิ่งเปิดทางให้มีสุราเถื่อนซึ่งจะกระทบสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนมากกว่าสุราถูกกฎหมาย


16 เม.ย. 2558 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียเสนอร่างกฎหมายสั่งห้ามการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอลทุกชนิดโดยละวางโทษให้ผู้ฝ่าฝืนต้องจำคุกระหว่าง 3 เดือน ถึง 2 ปี

สภานิติบัญญัติหรือ 'บาเลก' (Baleg) ในอินโดนีเซียมีมติหลังการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 เม.ย.) ให้มีการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว โดยสมาชิกสภารายหนึ่งชื่อมูฮัมหมัด อาร์วานี โธมาฟี จากพรรคร่วมพัฒนา (PPP) กลาวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อจาการ์ตาโพสต์ว่าร่างกฎหมายนี้จะทำให้ผู้เสพย์แอลกอฮอลถูกจับเข้าคุกในแบบเดียวกับผู้เสพย์ยาเสพติด

อย่างไรก็ตามอาร์วานียืนยันว่ากฎหมายนี้ไม่ได้เป็นการตอยสนองต่อค่านิยมทางศาสนาแม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่เสนอโดยพรรค PPP และพรรคฝ่ายเดียวกันที่มีฐานเป็นชาวมุสลิมอย่างพรรค PKS อาร์วานีอ้างถึงสาเหตุที่ออกกฎหมายนี้ว่าเป็นเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนถึงได้มีการวางเป้าจับไม่เพียงแค่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายแต่รวมถึงผู้บริโภคด้วย

ในกฎหมายยังระบุอีกว่าผู้ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอลจะถูกสั่งจำคุกระหว่าง 1-5 ปี โดยอ้างว่าเป็นการรบกวนความสงบหรือคุกคามความปลอดภัยของผู้อื่น ในส่วนอรรถาธิบายของกฎหมายระบุว่าอาชญากรรมร้อยละ 58 มาจากอิทธิพลของแอลกอฮอลแต่ก็ไม่มีการอ้างอิงงานวิจัยทางวัทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนข้ออ้างนี้แต่อย่างใด ในกฎหมายฉบับดังกล่าวยังอ้างอีกว่าแอลกอฮอลทำให้เกิดการสูญเสียความจำ โรคความจำเสื่อม โรคจิตเภท และโรคทางสมองอื่นๆ

จาการ์ตาโพสต์ระบุว่าแม้อินโดนีเซียจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุดในโลกแต่เครื่องดื่มแอลกอฮอลก็ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอินโดนีเซียที่มีทั้งสุราพื้นบ้านไปจนถึงเบียรบินตังซึ่งเป็นเบียร์ที่ขึ้นชื่อของอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่นี้ยังกำหนดข้อยกเว้นให้กับบางจังหวัดและบางสถานที่ด้วยเหตุผลเรื่องการท่องเที่ยว อาร์วานียกตัวอย่างว่าสถานที่ๆ มีโอกาสได้รับการยกเว้นได้แก่ โรงแรมห้าดาว บาหลี และสุลาเวสีเหนือ

สมาคมอาหารและเครื่องดื่มของอินโดนีเซีย (Gapmmi) แสดงความกังวลต่อกฎหมายฉบับใหม่นี้ โดยรองประธานสมาคม สรีบูโก สุรัตโม บอกว่ากฎหมายห้ามเช่นนี้จะยิ่งทำให้มีสุราเถื่อนเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนได้

ในส่วนของรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ราชมัต โกเบล อ้างว่าเขายังไม่ทราบเรื่องการพิจารณากฎหมายดังกล่าว แต่ก็บอกว่าก่อนหน้านี้เขาเคยออกกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลในร้านค้าขนาดเล็กเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอลซึ่งเขาอ้างว่าเป็นตัวทำลายศีลธรรมและทำให้เยาวชนไม่เคารพพ่อแม่ กฎหมายของกระทรวงพาณิชย์มีผลบังคับใช้ในอินโดนีเซียตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา

จากาตาร์โพสต์ระบุว่าอินโดนีเซียพยายามจำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอลช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่ม รวมถึงต้องการดึงดูดรายได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล โกเบลอ้างว่าประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ก็มีการควบคุมการจำหน่ายแอลกอฮอลแต่ก็ยังคงมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวในประเทศเหล่านั้น ในแง่ของการสั่งห้ามจะทำให้ยอดขายลดลงนั้น โกเบลกล่าวว่าการสั่งห้ามขายในร้านค้าขนาดเล็กจะทำให้ยอดขายลดลงก็จริง แต่จะเน้นชดเชยด้วยการเพิ่มการส่งออกแทน

ทั้งนี้ กฎหมายจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอลที่เพิ่งเสนอผ่านสภายังระบุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นในอินโดนีเซียมีอำนาจในการควบคุมตรวจตราการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล และระบุอีกว่ากฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ 1 ปีหลังจากได้รับการอนุมัติ

เรียบเรียงจาก

Prison, fines await drinkers, The Jakarta Post, 14-04-2015
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปช. ทยอยรับรัฐธรรมนูญร่างแรกแล้ว แต่ไม่แจกให้สื่อมวลชน

$
0
0
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติทยอยรับรัฐธรรมนูญร่างแรกแล้ว 1 คน ได้ 3 ชุด แต่ไม่แจกสื่อมวลชน ด้าน 'เทียนฉาย' มีหนังสือประกาศปรับแนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ระยะเวลาอภิปรายทั้งหมด 79 ชั่วโมง

 
 
ที่มาภาพ: เพจวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา
 
17 เม.ย. 2558 ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าที่รัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดให้สมาชิก สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาเสร็จแล้วเป็นร่างแรก ได้ตั้งแต่เวลา 13.00 น. บริเวณห้องโถง ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 1 แต่ปรากฏว่าสมาชิกให้ความสนใจมารอรับร่างรัฐธรรมนูญก่อนเวลาเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรยากาศคึกคักตั้งแต่เวลา 12.00 น. และเริ่มแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญก่อนเวลาที่กำหนด โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ได้แจกร่างรัฐธรรมนูญให้กับสมาชิกด้วยตัวเอง สำหรับสมาชิก สปช.1 คนจะได้รับแจกเอกสาร 3 ชุด ประกอบด้วย 1. ร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 194 หน้า โดยเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 315 มาตรา จำนวน 130 หน้า รายงานการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ 20 หน้า และภาคผนวก 44 หน้า 2. ตารางสรุปเจตนารมณ์รายมาตราของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำนวน 4 เล่ม และ 3. ตารางร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18-19 เม.ย. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ยังเปิดให้สมาชิก สปช.เข้ามารับเอกสารได้แม้เป็นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ทั้งนี้ บริเวณจุดรับเอกสารยังได้ตั้งจุดลงชื่อแสดงความประสงค์ขออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ โดยบุคคลแรกที่ลงชื่อ คือ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิก สปช.
       
นายบุญเลิศ คชายุทธเดช รองโฆษกคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. แถลงถึงกรณีที่ไม่มีการแจกร่างรัฐธรรมนูญให้กับสื่อมวลชนโดยมีการอ้างเป็นการทำผิดกฎหมายว่า ตั้งแต่เที่ยงของวันนี้ สมาชิกได้เดินทางมารับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมการอภิปรายในวันที่ 20-26 เม.ย.แล้ว ส่วนปัญหาที่เกิดกับสื่อมวลชนที่ไม่ได้เอกสารเช่นเดียวกับที่ สปช.ได้รับนั้น ตนในฐานะเคยเป็นสื่อสารมวลชนประจำรัฐสภากว่า 10 ปี จึงถูกรุมล้อมจากนักข่าวว่าต้องการร่างรัฐธรรมนูญไปศึกษาทำหน้าที่สรุปสาระสำคัญให้สาธารณชนได้รับทราบ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นสื่อสารมวลชนที่รับผิดชอบต่อประเทศชาติและคำนึงถึงสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน
       
“สิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญหรือหมายถึงเสียงประชาชน เมื่อรัฐธรรมนูญยกร่างฯ เสร็จก็ชอบที่ประชาชนทั้งประเทศจะได้มีโอกาสรับรู้ ไม่สมควรที่จะปกปิดร่างรัฐธรรมนูญด้วยข้ออ้างใดๆ ก็ตาม เพราะไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดมาจำกัดสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน เช่น ในปี 2540 ร่างเสร็จมีการเผยแพร่ต่อประชาชนอย่างกว้างขวางเพื่อรับฟังความเห็นเรียกว่ากระบวนการประชาพิจารณ์ ในปี 2550 ก็มีการจัดพิมพ์เป็นเล่มแจกประชาชนทำประชามติ ในครั้งนี้จะต้องฟังเสียงประชาชนด้วย และที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ กำหนดจะเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนในวันที่ 27 เมษายนนั้น นักข่าวต้องไปตั้งคำถามว่ามีความชอบธรรมที่จะดำเนินการอย่างนั้นหรือไม่ ซึ่งผมไม่กลัวถูกตำหนิเพราะนักข่าวสามารถได้ร่างรัฐธรรมนูญจาก สปช.คนใดก็ได้เพราะมีทั้งหมด 250 คน” นายบุญเลิศกล่าว 
 
 
 
ปรับแนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ให้ระยะเวลาอภิปรายทั้งหมด 79 ชั่วโมง
 
ด้านเว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภารายงานว่านายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีหนังสือประกาศปรับแนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ของประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือ สปช. ในระหว่างวันที่ 20เมษายน ถึง วันที่ 26เมษายน ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของสมาชิก เนื่องจากมีสมาชิกหลายคนให้ความเห็นเพิ่มเติมเพื่อให้การอภิปรายและให้ความเห็นไปอย่างกว้างขวาง ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดเวลาการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก  โดยจะเริ่มประชุมในเวลา 09.00น ถึง 21.00น. ของทุกวัน ยกเว้นวันพฤหัสบดีที่23เมษายน ที่จะเริ่มในเวลา 14.00น ถึง 21.00น รวมระยะเวลาอภิปรายทั้งหมด 79ชั่วโมง
 
สำหรับการแบ่งเวลาอภิปรายนั้น จะให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลา 15ชั่วโมง โดยวันแรกจะใช้เวลานำเสนอร่างรัฐธรรมนูญ 2ชั่วโมง และเวลาชี้แจง 1ชั่วโมง ส่วนวันต่อๆไปจะให้เวลาชี้แจงประมาณ 2ชั่วโมง  ส่วนสมาชิกสปช.จะใช้เวลาทั้งหมด 64 ชั่วโมง โดยให้ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาทั้ง 18 คณะ คณะละ 30 นาที รวม 9 ชั่วโมง ส่วนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ประสงค์จะอภิปรายจะได้จัดสรรเวลาคนละประมาณ 15 นาที รวม 55 ชั่วโมง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช.มีคำสั่งย้ายปลัดและบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ

$
0
0
คสช.มีคำสั่งย้าย "สุทธศรี วงษ์สมาน" จากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษาให้ "กำจร ตติยกวี" ดำรงตำแหน่งแทน พร้อมย้ายบุคลากรทางการศึกษาอีกหลายตำแหน่ง เพื่อการปฏิรูปการศึกษา และประสิทธิภาพการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ

 
 
17 เม.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้ลงนามในคำสั่ง คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๖/๒๕๕๘  เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการมีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปประเทศตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
 
ข้อ ๑ ให้ นางสุทธศรี วงษ์สมาน พ้นจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาการศึกษา
 
ข้อ ๒ ให้ นายพินิติ รตะนานุกูล พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการสภาการศึกษา และให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
 
ข้อ ๓ ให้ นายกำจร ตติยกวี พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
 
ข้อ ๔ ให้ นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
 
ข้อ ๕ ให้ นายอดินันท์ ปากบารา พ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
 
ข้อ ๖ ให้ นางรัตนา ศรีเหรัญ พ้นจากตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
 
ข้อ ๗ ให้ข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งข้างต้นปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับเป็นต้นไป
 
ข้อ ๘ ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงบประมาณ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับตำแหน่งและอัตราเงินเดือนของข้าราชการดังกล่าวให้เรียบร้อยโดยด่วน และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง ตามคำสั่งนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๒๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗
 
ข้อ ๙ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
สั่ง ณ วันที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๘
 
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
 
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา : Anniversary 1 ปีคืนความสุข

$
0
0

รายการ ‘บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา’ กลับมาพบกับท่านผู้ชมอีกครั้ง เนื่องในโอกาสพิเศษที่จะเวียนมาครบ 1 ปี ของการคืนความสุขให้กับประชาชนไทย หรือครบ 1 ปีรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 โดยนำเสนอรายการในตอนพิเศษ ว่าด้วยมุมมองจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และมานุษยวิทยา-สังคมวิทยา ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ และประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชน

พบกับพิธีกรเจ้าเก่า ‘พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์’ พร้อมแขกรับเชิญ ‘บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ’ นักวิชาการและอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ ‘ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี’ นักวิชาการและอาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายการคืนความสุข 'ประยุทธ์' วอนสังคมหยุดสร้างวาทกรรมโจมตีรัฐบาล

$
0
0
ยืนยันรัฐบาลและ คสช.ได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ พร้อมทั้งเปิดแผนโครงการคมนาคมที่รัฐบาลริเริ่มและเร่งผลักดันให้เป็นรูปธรรม ทั้งรถไฟฟ้า พัฒนาสนามบิน "สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูเก็ต-อู่ตะเภา" วอนสังคมหยุดสร้างวาทกรรมขึ้นมาโจมตีรัฐบาล

 
 
17 เม.ย. 2558 เว็บไซต์ ThaiPBSรายงานว่ารายการคืนความสุขให้คนในชาติประจำวันที่ 17 เม.ย.2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขยายความเรื่องการแถลงผลงานรอบ 6 เดือนของรัฐบาลโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจซึ่งนายกฯ โดยยืนยันว่ารัฐบาลและคสช.ได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ พร้อมทั้งเปิดแผนโครงการคมนาคมที่รัฐบาลริเริ่มและเร่งผลักดันให้เป็นรูปธรรม ทั้งรถไฟฟ้า พัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูเก็ต-อู่ตะเภา วอนสังคมหยุดสร้าง "วาทกรรม" ขึ้นมาโจมตีรัฐบาล
 
เนื้อหาที่นายกฯ พูดในรายการคืนความสุขให้คนในชาติวันนี้ บางส่วนเป็นประเด็นเดียวกับที่กล่าวในการแถลงนโยบายรอบ 6 เดือนของรัฐบาล ซึ่งจัดขึ้นที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลา 9.00 น. โดยระบุว่าการบริหารราชการมีความคืบหน้าในหลายด้าน แต่ในส่วนของการปฏิรูปถือว่าเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่จะต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจาก "กับดักทางการเมือง" อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ในตอนท้าย นายกฯ ได้มอบหมายให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจมาชี้แจงผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในรอบ 6 เดือน
 
นายกฯ ย้ำถึงผลงานในรอบ 6 เดือนของรัฐบาลว่าได้ทำตามแนวนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศของรัฐบาล 11 ด้านที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 12 ก.ย.2557 ซึ่งโจทย์สำคัญของประเทศและรัฐบาลก็คือการสร้างความสามัคคีและปรองดองของคนในชาติ  และแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีปัญหามานานนับ 10 ปี ไม่มีการสร้างความเข้มแข็งหรือเตรียมความพร้อม ทำให้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก
 
แต่หลังจากที่คสช.และรัฐบาลเข้ามาบริหาราชการแผ่นดินได้ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะแย่ โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.3 สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ส่วนด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพบว่าเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2558 ดุลการค้าและดุลบริการของประเทศยังคงเกินดุล และเมื่อรวมกับดุลเงินทุนแล้ว ประเทศไทยยังมีดุลการชำระเงินที่เกินดุล ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทบ้าง แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดูแลอยู่อย่างใกล้ชิดและมีมาตรการที่รองรับไว้ตลอดเวลา ด้านเสถียรภาพภาคการคลัง รัฐบาลยังคงมีการจัดเก็บรายได้ที่สูงกว่าปีที่แล้ว โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.57- มี.ค. 58) จัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 973,952 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 3.5
 
"ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาที่มีผลกระทบโดยตรงต่อพี่น้องเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และธุรกิจ SME ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หาทางทุกอย่าง ไม่ได้หยุดคิดเลยนะครับว่าทำยังไงราคาสินค้าทางการเกษตรที่ตกต่ำให้มีราคาสูงขึ้น"
 
นายกฯ ได้รายงานความคืบหน้าของโครงการคมนาคมสำคัญๆ ซึ่งรวมถึงโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ที่กำลังถูกประชาชนในพื้นที่และนักอนุรักษ์ต่อต้านอย่างหนัก เพราะกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรทางทะเล และกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมง
 
โครงการคมนาคมที่นายกฯ ระบุว่าเป็น “เส้นเลือด” หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลนี้ได้ริเริ่ม เร่งรัด ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่  
 
1) การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองจะมีการส่งมอบรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) 489 คัน  (จาก 3,183 คัน) ในเดือนกรกฎาคม 2558
 
2) Motorway 3 เส้นทาง ได้แก่ บางปะอิน – นครราชสีมา (196 กม.) บางใหญ่ – กาญจนบุรี (96 กม.) และ พัทยา – มาบตาพุด (32 กม.) อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม สำรวจ ออกแบบเส้นทาง ฯลฯ เพื่อลงมือก่อสร้างทันที เพื่อให้พร้อมใช้งานในปี 2562
 
3) รถไฟฟ้าใน กทม. และปริมณฑล10 เส้นทาง ระยะทางรวม 464 กม. โดยสายสีน้ำเงินตะวันออกเปิดให้บริการแล้ว สายสีม่วงเหนือจะเปิดบริการในปี 2559 สายสีน้ำเงินตะวันตกและสายสีเขียวใต้อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะแล้วเสร็จตามกำหนด พร้อมใช้งานในปี 2563 ส่วนสายที่เหลือ 6 สาย อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 ทั้งหมด
 
4) โครงข่ายรถไฟทางคู่ระหว่างเมือง ระยะเร่งด่วน  6 เส้นทาง 903 กม. ได้แก่ เส้นทางฉะเชิงเทรา–คลอง19–แก่งคอย (106 กม.)  เส้นทางมาบกะเบา–ถนนจิระ(132 กม.) เส้นทางถนนจิระ–ขอนแก่น (185กม.) เส้นทางลพบุรี–ปากน้ำโพ(148 กม.) เส้นทางประจวบคีรีขันธ์–ชุมพร(167 กม.) และเส้นทางนครปฐม–หัวหิน (165 กม.) ทั้งหมดจะเริ่มก่อสร้างในปี 2558 และจะแล้วเสร็จในปี 2561
 
5) ระบบขนส่งโดยสารทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวได้200,000 คน/วัน และเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทได้  โดยยกระดับท่าเทียบเรือ ทั้ง 19 แห่งเป็น “สถานีเรือ”
 
"นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ซึ่งขอความกรุณาว่าอย่าขัดแย้งกันมากเลย เราพยายามจะดูแลผู้ได้รับผลกระทบและเยียวยา ถ้าเราไม่สร้างตรงนี้มันก็เป็นปัญหาอีก ประตูการค้าฝั่งอันดามันเราก็จะไม่มีนะครับ แล้วก็เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าสู่ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
 
นอกจากนี้ รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2  โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน/ปี  โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 12.5 ล้านคน/ปี  และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานทหารอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 เป็นต้น  รวมทั้ง ความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟระหว่างไทย – จีน และ ไทย – ญี่ปุ่น
 
นายกฯ แสดงความยินดีกับแรงงานประมงไทย  68 คน ที่รัฐได้ช่วยเหลือให้เดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2558 และยืนยันว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือเยียวยา โดยเบื้องต้นได้จัดให้แรงงานได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้น จัดหาข้าวของเครื่องใช้ มอบเงินช่วยเหลือกลับภูมิลำเนาและการจัดหาสถานที่พักชั่วคราวหากจำเป็นโดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ทำงานร่วมกับอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพราะมีหลายคนยังตกระกำลำบากอยู่ ซึ่งทางรัฐบาลจะตามช่วยเหลือจนครบทุกคน โดยจะมุ่งเน้นการป้องกันการถูกล่อลวง จะทำลายกระบวนการทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ที่ทำผิดกฎหมายไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ได้อีกต่อไป
 
นายกฯ กล่าวว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้วางรากฐานสำหรับการปฏิรูปประเทศในเบื้องต้น แต่การจะปฏิรูปได้นั้นต้องมีกฎกติการใหม่ ซึ่งรวมทั้งการจัดทำกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับประเทศและได้รับการยอมรับ
 
"ถ้าประชาชนคิดว่าวันนี้เราดีอยู่แล้ว ผมก็ลำบากใจนะ ผมคิดว่าปัญหามีเยอะ ไม่ใช่ข้อแก้ตัว รัฐบาลพยายามทำเต็มที่แล้วก็ยังทำได้เท่านี้ การแก้ปัญหาที่ผ่านมา การลดความเหลื่อมล้ำ เรากำลังเดินมาถูกทางที่ให้เราได้มีโอกาสทำงานตรงนี้ ต้องดูว่าจะร่วมมือกันอย่างไรต่อไป แก้ไขอย่างไร โรดแมปเป็นอย่างไร จะปฏิรูปได้หรือไม่  6 เดือนที่ผ่านมานั้นรัฐบาลดำเนินการไปแล้วเบื้องต้น แล้วก็พร้อมจะส่งต่อให้รัฐบาลต่อๆ ไป ถ้าได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล และยอมรับกติกาเรื่องการปฏิรูป เราก็สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ของประเทศ 'มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน' ในทุกระดับ 
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตนและรัฐบาลว่า สังคมไทยกำลังเป็นสังคมแห่งวาทกรรมที่เชือดเฉือนกันด้วยถ้อยคำมากกว่าให้โอกาสพิสูจน์การทำงาน ซึ่งตนคิดว่ามีที่มาจาก "นิสัยที่ไม่ดี" ของคนไทยส่วนหนึ่ง คือ 1) ไม่ชอบศึกษาอะไรที่เป็นรายละเอียดแล้วรีบวิจารณ์ไปก่อน เช่น เมื่อรัฐบาลพูดเรื่องภาษีก็มีคนโวยวายทันทีว่ารัฐบาลแกล้งคนจน เก็บเงินคนจนอีกแล้ว 2) นิสัยของนักการเมืองที่เป็นนักเลือกตั้งที่คอยฉวยโอกาสโจมตีทุกคนที่พลาด ใช้วาทกรรมเจ็บๆ มาด่าคนที่ตั้งใจทำความดี
 
"วันนี้รัฐบาลพยายามจะทำเพื่อคนจน ก็มาหาว่ารัฐบาลนี่แกล้งคนจน ไม่มีจะกินอยู่แล้ว เอาแต่ขูดรีดเก็บภาษี ซึ่งผมก็ยังไม่ได้เก็บตรงไหนเลยนะ ประเทศต้องการเงินงบประมาณไปทำให้ประชาชนเติมในสิ่งที่ขาด สร้างความเข้มแข็ง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ก็กลับไปพูดเป็นวาทกรรมว่า อุตส่าห์หาเงินซื้อบ้านแทบตายยังจะมาเก็บภาษีบ้านเราอีก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
 
"ถึงแม้ว่ารัฐบาลนี้ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังต้องการความร่วมมือในการแก้ปัญหา ท่านก็พยายามสร้างความเข้าใจผิดไม่คำนึงถึงผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชน เรื่องภาษี ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องส่วนรวม คนไทยหลายคนไม่ชอบเรื่องการเก็บภาษี แต่เมื่อเทียบกับโครงการรถยนต์คันแรก โครงการรับจำนำข้าว คนชื่นชมว่าทำดีเพื่อประชาชน เพราะแต่ละคนได้ประโยชน์ ส่วนรวมเสียประโยชน์ แต่เสียหายเท่าไร อันตรายมาก นักการเมืองเหล่านี้พยายามสร้างความนิยมส่วนตัวและความนิยมของพรรคการเมืองโดยการใช้วาทกรรม ผมว่าเลิกซะทีนะ"
 
"อย่าไปสร้างวาทกรรมว่าคนจนจะได้ลืมตาอ้าปากสักที ให้ราคาข้าว ราคาผลิตผลการเกษตรสูงๆ เข้าไว้หรือให้ไปผ่อนรถคันแรก คืนภาษีให้  บางคนก็บอกว่าจะไม่ให้คนจนมีโอกาสขับรถเลยหรือไง แล้วมันขับได้ไหมล่ะ ผ่อนเขาไหวไหม แล้วในเมื่อยังไม่สร้างรายได้ให้เขาเลยแล้วไปให้เขาซื้อก่อน เป็นความต้องการเทียมทั้งหมด ผู้ผลิตก็มีการขยายโรงงานไปเยอะแยะแต่วันนี้ขายได้น้อยลง ก็มาบอกว่าเป็นความผิดของรัฐบาล ทั้งๆ ที่ขยายในสมัยใครก็ไม่รู้ ขยายเพราะโครงการรถยนต์คันแรก คนก็ซื้อกันเยอะ ซื้อกันเยอะก็ต้องขยายโรงงาน วันนี้พอไม่มีสตางค์ซื้อ ต้องมาคืนกันหมด ยึดคืนกันหมดนี่ แล้วทำยังไง"
 
นายกฯ สรุปว่าไม่มีระบบใดที่จะสร้างความปรองดองในประเทศได้ ไม่มีระบบการปกครองใดที่จะทำให้ประเทศเจริญได้หากคนในชาติยังไม่ได้รับการพัฒนา และปรับแนวคิดว่าต้องคำนึงถึงส่วนรวมก่อนส่วนตน และไม่ทำในสิ่งที่เป็นการขัดขวางการเจริญของประเทศ พร้อมกับระบุว่ารัฐบาลจะจับตาดูบุคคลที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย
 
ในช่วงท้ายของรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจได้มากล่าวถึงผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยมีนายจักรมณฑ์ ผาสุกวานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมพูดคุย ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธรสรุปว่า แม้ตัวเลขการส่งออกจะติดลบถึงร้อยละ 4 ใน 3 เดือนแรก แต่รัฐบาลเชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศยังแข็งแรงพอควร และยังมีปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจของไทยใน 3 เดือนแรกขยายตัวได้ร้อยละ 3 ขึ้นไป และเชื่อว่าในไตรมาสถัดไป เมื่อการส่งออกกลับมาปกติแล้ว ปัจจัยอื่นๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศกลับมาดีขึ้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เยาวชนสิงคโปร์จำคุกต่อ 1 วัน หลังพ่อแม่ไม่ประกันตัวคดีโพสต์คลิป "ลี กวนยูตายแล้ว"

$
0
0

ศาลสิงคโปร์เพิ่มเงื่อนไขประกันตัว "เอมอส ยี" ห้ามโพสต์โซเชียล และให้มารายงานตัวตำรวจทุกวัน ขณะที่พ่อแม่ไม่ยอมประกันตัวลูกชาย ทำให้ต้องจำคุกต่ออีก 1 วัน ขณะที่อัยการ ขอให้ศาลอนุญาตให้ชาวสิงคโปร์ที่ไม่ใช่พ่อแม่ของเอมอส ยี เป็นนายประกันได้

ภาพจากวิดีโอ  "Lee Kuan Yew Is Finally Dead!" ที่ เอมอส ยี เยาวชนชาวสิงคโปร์ บันทึกและโพสต์หลังการเสียชีวิตของอดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี กวนยู ซึ่งทำให้เขาถูกตำรวจจับและดำเนินคดี 3 ข้อกล่าวหา

17 เม.ย. 2558 - กรณี เอมอส ยี เยาวชนสิงคโปร์อายุ 16 ปี ซึ่งบันทึกวิดีโอ "Lee Kuan Yew Is Finally Dead!" และโพสต์ในช่อง YouTube ของเขาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา ต่อมาถูกตำรวจจับและดำเนินคดีเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเนื้อหาในวิดีโอเป็นการโจมตี ลี กวนยู และคริสต์ศาสนานั้น

ล่าสุด สเตรทไทม์รายงานว่า ในระหว่างนัดพร้อมเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินคดี เมื่อบ่ายวันที่ 17 เมษายนนั้น ผู้พิพากษาประจำเขต เคสเลอร์ โซะ ได้แจ้งเปลี่ยนเงื่อนไขการประกันตัว จากวงเงินประกันเดิม 20,000 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้กำหนดให้พ่อกับแม่ของ เอมอส ยี เท่านั้นให้เป็นนายประกัน เนื่องจากเอมอส ยีอายุเพียง 16 ปี

โดยระหว่างการนัดพร้อมดังกล่าว ผู้พิพากษายังกำหนดเงื่อนไขในการประกันตัวเพิ่ม โดยผู้พิพากษาได้แจ้งให้เอมอส ลบโพสต์ในเฟซบุ๊ค 2 โพสต์ที่โพสต์เมื่อวันที่ 14 เมษายน และบล็อกที่เขียนพาดหัวว่า "Donate To Help Amos Yee" หรือ "บริจาคเพื่อช่วยเหลือ เอมอส ยี" ซึ่งเขาหวังว่าจะระดมทุนได้ 30,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางคดี นอกจากนี้ยังถูกเสนอให้ตั้งค่าการเข้าถึงวิดีโอใน YouTube ที่เขาโพสต์เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ดังกล่าวให้เป็นวิดีโอส่วนตัว รวมถึงโพสต์ที่แสดงเนื้อหาหยาบคายเมื่อวันที่ 28 มีนาคมด้วย

ในขณะที่ เขาต้องรับรองต่อผู้พิพากษาด้วยว่า ในช่วงมีการดำเนินคดี เขาจะไม่โพสต์ อัพโหลด หรือเผยแพร่สิ่งใดๆ ให้ปรากฏต่อสาธารณะทั้งในรูปแบบของเนื้อหาหรือการแสดงความเห็นใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะในรูปแบบของโซเชียลมีเดีย หรือการให้บริการออนไลน์ หรือเว็บไซต์ใดๆ นอกจากนี้เขาต้องไปรายงานตัวทุกวันต่อเจ้าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าทีตำรวจที่ได้รับมอบหมาย โดยรายงานตัวที่สถานีตำรวจเขตเบอด็อก

โดย เอมอส ยี เห็นด้วยกับเงื่อนไขใหม่ของศาล อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ของเขาตัดสินใจไม่ประกันตัวลูกชาย จากนั้น อัยการ ได้ร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนเงื่อนไขการประกันตัว โดยอนุญาตให้ชาวสิงคโปร์ที่ไม่ใช่พ่อแม่ของ เอมอส ยี เป็นนายประกันได้ อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันตัวปิดในเวลา 16.30 น. ในเวลาเดียวกับที่การนัดพร้อมเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินคดีสิ้นสุด ทำให้ เอมอส ยี ต้องถูกควบคุมตัวอีก 1 วัน ตามรายของของแชนเนลนิวส์เอเชีย

ในรายงานของสเตรทไทม์ ผู้ช่วยอัยการ ฮอน ยี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า พวกเขาไม่ได้คัดค้านการประกันตัวเอมอส และไม่ได้มีคำขอเจาะจงให้พ่อแม่ของเอมอสเป็นนายประกัน

ก่อนหน้านี้ ภายหลังจากที่เอมอส ยี เผยแพร่คลิป ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา เอมอส ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญาสิงคโปร์ 2 ข้อหา ได้แก่ เผยแพร่เนื้อหาลามกผ่านระบบออนไลน์ มาตรา 292(1) และทำวิดีโอคลิปที่มีภาพและเสียงต่อต้านคริสต์ศาสนา ซึ่งทำร้ายความรู้สึกของชาวคริสต์โดยทั่วไป ตามมาตรา 298 และข้อกล่าวหาล่าสุด เป็นไปตามกฎหมายป้องกันการคุกคาม โดยในมาตรา 4(1) ห้ามไม่ให้แสดงพฤติกรรมข่มขู่หรือดูหมิ่นซึ่งทำให้ผู้รับรู้เกิดความรู้สึกถูกคุกคาม ตื่นตระหนกหรือทุกข์ใจ โดยศาลอ้างว่าที่เอมอส ยี วิจารณ์ลี กวนยูในวิดีคลิปดังกล่าว เจตนาทำให้ผู้พบเห็นหรือผู้รับฟังเกิดความรู้สึกทุกข์ใจ

ทั้งนี้ จะมีการนัดพร้อมเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินคดีอีกครั้งในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ และการพิจารณาการประกันตัวอีกผลัดจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 2 เมษายน เวลา 16.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภาพที่เผยแพร่ในสเตรทไทม์วันนี้ เป็นภาพของ เอมอส ยี เดินทางมาที่ศาลพร้อมกับพ่อแม่ โดยเขาสวมเสื้อยืดสีดำ และกำลังรับประทานกล้วยหอม

ขณะที่ครั้งหนึ่งในสมัยที่ ลี กวนยู ยังปกครองสิงคโปร์และออกกฎห้ามเคี้ยวหมากฝรั่ง นักข่าวบีบีซีเคยแนะนำเขาว่าควรให้คนเคี้ยวหมากฝรั่ง เพื่อให้มีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ ลี กวนยู โต้ตอบกลับมาว่า "ถ้าคุณคิดอะไรไม่ออกถ้าไม่ได้เคี้ยวละก็ ลองกินกล้วยสักใบสิ" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สำหรับคลิป ที่เอมอส ยี เผยแพร่นั้น ตอนหนึ่งเขาตั้งคำถามว่าสิงคโปร์แท้จริงแล้วเป็นประเทศที่มั่งคั่งจริงหรือ เพราะประชาชนมีชั่วโมงทำงานสูงที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วคือ 50.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ประเทศกลับมีดัชนีความเหลื่อมล้ำที่สูงที่สุด และมีสัดส่วนคนยากจนสูงที่สุดคือร้อยละ 28 และรัฐบาลสิงคโปร์เป็นรัฐบาลที่ใช้จ่ายด้านความมั่นคงสังคมและสาธารณสุขต่ำที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว

"งบประมาณที่ใช้จ่ายให้กับสาธารณะนั้นต่ำมาก เหมือนประเทศโลกที่สาม" เอมอส ยี กล่าวตอนหนึ่งในวิดีโอ นอกจากนั้นเขายังตั้งคำถามถึงมาตรการทางภาษีของสิงคโปร์ที่อยู่ในอัตราที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ รวมไปถึงเงินเดือนของผู้นำประเทศก็สูงที่สุดในโลกด้วย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม มีชาวคริสต์ในสิงคโปร์รายหนึ่ง ริเริ่มการล่ารายชื่อ "ปล่อยเอมอส ยี จากความโกรธของคุณ"

"เราไม่รู้สึกโกรธจากคำแถลงของ เอมอส ยี ความเห็นของเขาต่อพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซู ไม่สามารถคุกคามต่อความศรัทธาของเรา หรือทำให้ความรักของเราต่อพระเยซูลดลง กรุณาปล่อย เอมอส ยี จากความโกรธเคืองของคุณ เราอภัยต่อเขา และหวังว่าเขาจะมีชีวิตที่สมบูรณ์เพื่ออุทิศต่อชุมชนของเขาในภายหน้า" ตอนหนึ่งของแถลงการณ์เชิญชวนโดย วัลลี ตัม ระบุ โดยขณะนี้มีผู้ลงชื่อสนับสนุน 3,547 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักปรัชญาชายขอบ: คนดีกับความเป็นมนุษย์

$
0
0

 

พุทธศาสนาเถรวาทแบบสยามไทย คือพุทธศาสนาที่สร้างแนวคิดทางสังคมการเมืองบนพื้นฐาน “จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ” ที่ถือว่าลำดับชนชั้นสูงต่ำทางสังคมขึ้นอยู่กับ “ปุพเพกตปุญญตา” หรือบุญบารมีที่คนเราทำมาแต่ปางก่อนไม่เท่ากัน ฉะนั้น บุญบารมีที่แต่ละคนทำมาในอดีตชาติจึงเป็นเงื่อนไขที่กำหนดล่วงหน้าให้คนเราเกิดมาในชนชั้นทางสังคมที่ต่างกัน

ผู้ปกครองสมควรเป็นผู้ปกครอง ไม่ใช่เพราะผ่านการแข่งขันในเรื่องวิสัยทัศน์ นโยบาย ความสามารถจนเป็นที่ยอมรับของประชาชน และได้อำนาจมาจากความยินยอมหรือเป็นไปตามเจตจำนงทั่วไปของประชาชน แต่เป็นเพราะคุณธรรมในตัวของผู้ปกครองและบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนกำหนดล่วงหน้าให้มาเป็นผู้ปกครอง ประชาชนควรยอมรับคุณธรรมหรือบุญบารมีของผู้ปกครอง ไม่ใช่เพราะมีเสรีภาพพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง แต่เป็นความเชื่อที่ไม่สามารถโต้แย้งหักล้างได้

ความคิดทางสังคมการเมืองบนฐานของจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ จึงกำหนดให้คนมี 2 ชนชั้นอย่างตายตัว คือชนชั้นปกครองกับชนชั้นผู้ถูกปกครอง มาตรฐานการแบ่งชนขั้นคือบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนและคุณธรรมในตัวคนที่ไม่เท่ากัน

พุทธศาสนาแบบไตรภูมิเป็นพุทธศาสนาแบบสยามเก่า ที่พัฒนามาเป็นพุทธชาตินิยมในสยามใหม่ นั่นคือพุทธที่สถาปนาองค์กรสงฆ์เป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์รัฐสมัยใหม่ และพุทธศาสนากลายเป็น 1 ใน 3 สถาบันหลักของชาติคือ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

พุทธแบบสยามเก่าบวกกับพุทธแบบสยามใหม่ก็คือ พุทธศาสนาแห่งรัฐที่มีบทบาทหลักในการสร้างความคิดทางสังคมการเมืองว่า “ผู้ปกครองต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม” และ “พลเมืองดี” ต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ภายในระบบความคิดทางสังคมการเมืองของพุทธเถรวาทแบบสยามไทยดังกล่าว จึงไม่มีความคิดเกี่ยวกับคุณค่าสากล เช่นเสรีภาพ ความเสมอภาคที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตยสมัยใหม่ แต่เป็นความคิดที่ถือว่าผู้ปกครองที่มีบุญบารมีและคุณธรรมอยู่เหนือหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นประชาธิปไตย ฉะนั้น เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นประชาธิปไตยจึงไม่ใช่สิ่งที่มีค่าในตัวมันเอง มันจะมีค่าก็ต่อเมื่อไม่ขัดแย้งหรือคล้อยตาม “สิ่งสูงสุด” ที่เรียกว่า “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เท่านั้น

อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์จึงเป็นความจริงสูงสุด หรือความดีสูงสุดที่โต้แย้งและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ของระบบสังคมการเมืองไทย เป็นความสูงสุดที่เป็นนิรันดร์!

แต่รัฐฆราวาสที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ย่อมไม่ปกครองด้วยหลักความเชื่อทางศาสนา (เช่นความเชื่อเรื่อง “คุณธรรม” “คนดี” ตามหลักศาสนาใดศาสนาหนึ่ง) และไม่อ้างความดีหรือความจริงสูงสุดที่โต้แย้งหักล้างไม่ได้ใดๆ เป็นหลักในการปกครอง แม้หลักเสรีประชาธิปไตยเองก็ไม่ใช่ความดีหรือความจริงสูงสุด แต่เป็นหลักที่โต้แย้งหักล้างหรือเสนอให้เปลี่ยนแปลงได้ ตราบใดที่ไม่ใช้ความรุนแรงล้มล้าง

ฉะนั้น ความคิดเรื่องคนดีและชนชั้นทางสังคมตามจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ และการถือว่าอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นความจริงและความดีสูงสุดที่พุทธศาสนาชาตินิยมสนับสนุน จึงขัดแย้งกับคุณค่าสากลคือเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือเสรีประชาธิปไตย และนับวันจะถูกตั้งคำถามท้าทายมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของประชาชน อันเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจ การเมือง การสื่อสารในโลกสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ประเด็นท้าทายที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ ความดี คุณธรรม คนดี และอุดมการณ์อันเป็นความจริงและความดีสูงสุดหนึ่งเดียวที่โต้แย้ง หักล้างไม่ได้นั้น “ไม่มีความเป็นมนุษย์” หรือขัดกับความงอกงามของความเป็นมนุษย์ในโลกสมัยใหม่หรือไม่?

เพราะความงอกงามของมนุษย์ ทั้งในแง่ศักยภาพทางปัญญา ความคิด อารมณ์ สังคม ไปจนถึงการพัฒนาความสามารถที่จะขับเคลื่อนความก้าวหน้าในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ ตลอดถึงการเปิดกว้างในการเรียนรู้เพื่อแสวงหาอิสรภาพทางจิตวิญญาณ ล้วนเป็นความงอกงามที่เป็นไปได้ในสังคมพหุนิยมที่ต้องอาศัยสนามการเรียนรู้ที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และ/หรือความเป็นเสรีประชาธิปไตย

ทว่าการปลูกฝังกล่อมเกลาสร้าง “พลเมืองดี” ที่ไม่ใช่พลเมืองซึ่งมีสิทธิ เสรีภาพตามหลักสากล แต่เป็นพลเมืองที่มี “หน้าที่” เชื่อฟังผู้ปกครองที่เป็นคนดีมีคุณธรรม เพราะเชื่อว่าผู้ปกครองที่เป็นคนดีมีคุณธรรมนั้นๆ จะรู้ทุกเรื่อง คิดแทน ทำแทนได้ทุกเรื่อง เป็นคนดีแล้วจะไม่ทำสิ่งที่ผิดใดๆ หรือกระทั่งมีอภิสิทธิ์ทำสิ่งที่ผิดหลักการประชาธิปไตยได้ เช่นทำรัฐประหาร และผูกขาดการกำหนดกติกาปกครองประเทศได้ตลอดไป เป็นต้น นี่ย่อมเป็นการทำให้พลเมืองไม่มีความเป็นมนุษย์ในความหมายสมัยใหม่ และสำหรับพลเมืองที่ต้องการจะพัฒนาความเป็นมนุษย์ของตนเองให้งอกงาม ด้วยการยืนยันการใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องเสรีประชาธิปไตย เขาย่อมเผชิญกับการปราบปรามของอำนาจรัฐ

คำถามก็คือ ที่มักอ้างกันตลอดเวลาว่าพุทธศาสนาเถรวาทสยามไทยสอนให้คนเป็น “คนดี” นั้น ความเป็นคนดี ทำไมจึงไปกันไม่ได้กับความเป็นมนุษย์ในโลกสมัยใหม่? หรือขัดแย้ง เป็นอุปสรรคต่อความงอกงามของความเป็นมนุษย์ในโลกสมัยใหม่?

นี่ต่างหากที่ควรเป็นคำถามหลักของการปฏิรูปพุทธศาสนา เพราะการปฏิรูปพุทธศาสนาจะไม่มีความหมายอะไรเลย หากไม่ปลดปล่อยพุทธศาสนาจากการเป็นกลไกอำนาจรัฐ และทำให้พุทธศาสนาเชิงคำสอนมีความหมายต่อการสนับสนุนคุณค่าความเป็นมนุษย์ในโลกสมัยใหม่
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558

$
0
0
 
18 เม.ย. 2558 เพจ iLawรายงานว่าเมื่อวาน (17 เม.ย.) ที่รัฐสภา มีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 ให้สมาชิก สภาปฏิรูป (สปช.) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการอภิปราย ในวันที่ 20 เมษายน ถึง 26 เมษายน 2558 โดยกำหนดเวลาการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก จะเริ่มประชุมในเวลา 09.00 น ถึง 21.00 น. ของทุกวัน ยกเว้นวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน ที่จะเริ่มในเวลา 14.00 น ถึง 21.00 น รวมระยะเวลาอภิปรายทั้งหมด 79ชั่วโมง
 
สำหรับการแบ่งเวลาอภิปราย จะให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลา 15 ชม. โดยวันแรกจะใช้เวลานำเสนอร่างรัฐธรรมนูญ 2 ชม. และเวลาชี้แจง 1 ชม. ส่วนวันต่อๆ ไปจะให้เวลาชี้แจงประมาณ 2 ชม.
ส่วนสมาชิก สปช.จะใช้เวลาทั้งหมด 64 ชม. โดยให้ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาทั้ง 18 คณะ คณะละ 30 นาที รวม 9 ชั่วโมง ส่วนสมาชิก สปช. ที่ประสงค์จะอภิปรายจะได้จัดสรรเวลาคนละประมาณ 15 นาที รวม 55 ชั่วโมง
 
ดาวน์โหลดร่างรัฐธรรมนูญ >>> http://bit.ly/1DtiwUO
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวกะเหรี่ยงภาคตะวันตกขอมีส่วนร่วมในการประกาศแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

$
0
0
กรมอุทยานเดินหน้าประกาศแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ขณะที่ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่เป็นห่วง เนื่องจากไม่มีส่วนร่วม ด้านสภาทนายความเสนอให้เลื่อนการส่งเข้าพิจารณาไปอีกหนึ่งปี

 
 
 
 
 
 
 
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 58 เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการหายไปของนายบิลลี่ รักจงเจริญแกนนำชาวกะเหรี่ยงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิอยู่อาศัยและสิทธิทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมของกะเหรี่ยง จึงจัดการเสวนากับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ศูนย์วัฒนธรรมบ้างโป่งกระทิง จังหวัดราชบุรี เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันและร่วมกันหาทางออกหากป่าแก่งกระจานได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งจะมีการประชุมพิจารณาในเดือนมิถุนายน ที่ประเทศเยอรมัน
 
การเสวนาครั้งนี้นอกจากจะมีเครือข่ายกะเหรี่ยงและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแล้ว ยังมีองค์การระหว่างประเทศและสื่อมวลชนอีกด้วย
 
กลุ่มป่าแก่งกระจานจัดเป็นพื้นที่คุ้มครองขนาดใหญ่ติดต่อกับผืนป่าของพม่าอันประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด 4 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านไร่ ครอบคลุมเนื้อที่ตั้งแต่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี จนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้กลุ่มป่าแก่งกระจานยังเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์สัตว์ที่หลากหลาย รวมถึงสัตว์หลายชนิดที่หาพบยาก เช่น จระเข้น้ำจืด นกเงือกสีน้ำตาล ฯลฯ
 
นายกมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกล่าวว่าหากกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จะได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติทั้งด้านเป็นแหล่งค้นคว้า การดูแลตามมาตรฐานต่างๆ รวมถึงได้เผยแพร่กิตติคุณและคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย
 
อย่างไรก็ตาม ชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยและประกอบอาชีพอยู่ในป่าแก่งกระจานมีความกังวลอย่างมากในเรื่องของสิทธิและผลกระทบต่อสิทธิและวิถีชีวิตที่ตนจะได้รับหลังจากพื้นที่ป่ากลายเป็นมรดกโลก เนื่องจากปัจจุบัน สิทธิ์เหล่านั้นมีน้อยอยู่แล้ว จึงเกรงว่าหากอุทยานเป็นมรดกโลกจะมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นจนสร้างความลำบากให้แก่ชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยและประกอบอาชีพในบริเวณป่า
 
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า ในปัจจุบันจะนิยมประกาศมรดกโลกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมผสมร่วมกัน เนื่องจากในบริเวณนี้มีผู้อาศัยและรักษาป่ามาเนิ่นนานแล้ว ดังนั้น ในการเสนออุทยานแห่งชาติแก่งกระจานของประเทศไทยควรจะเสนออุทยานให้รอบด้านมากกว่านี้โดยรวมวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงเข้าไปด้วยและควรเลื่อนการเสนอไปอีกหนึ่งปี 
 
นายวุฒิ บุญเลิศ ที่รักษาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี กล่าวว่ากรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทั้งในเรื่องการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆและการจัดสรรพื้นที่อาศัยและประกอบอาชีพ การจัดสรรพื้นที่ต่างๆให้ชัดเจน จัดการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่แล้ว และกระจายอำนาจให้ชุมชนเช่นกัน
 
ระหว่างและหลังจากการเสวนามีการแสดงดนตรีของ ศุ บุญเลี้ยงและพจนารถ พจนาพิทักษ์ รวมถึงศิลปวัฒนธรรมของกระเหรี่ยง ประกอบด้วยการแสดงการรำสานเชือก การรำตง การแสดงดนตรีและขับร้องพื้นเมือง รวมถึงพิธีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เนื่องในโอกาสงานเดือน 5 ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยง
 
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีนี้หรือจะถูกเลื่อนการพิจารณาไปอีกหนึ่งปีหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตคนงาน บ.อาร์ซีเอ ไต้หวันชนะคดีค่าเสียหาย 'เจ็บป่วย-ตาย' จากสารเคมี

$
0
0
ศาลไต้หวันให้บริษัทอาร์ซีเอของอเมริกัน จ่ายค่าเสียหายแก่อดีตคนงานและครอบครัวที่เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งกว่า 560 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน

 
 
 

เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2015 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ focustaiwan.tw รายงานว่าศาลของไต้หวันได้ตัดสินเมื่อวันศุกร์ (17 เม.ย.) ให้บ...

Posted by Workazine on 17 เมษายน 2015

 
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2015 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ focustaiwan.twรายงานว่าศาลของไต้หวันได้ตัดสินเมื่อวันศุกร์ (17 เม.ย.) ให้บริษัทอาร์ซีเอ (RCA) จ่ายค่าเสียหายแก่อดีตคนงานและครอบครัว เป็นจำนวนเงินประมาณ 560 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยระบุว่าสารเคมีจากโรงงานของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากสหรัฐฯ รายนี้ได้ทำให้คนงานเสียชีวิตและเจ็บป่วยจากโรคมะเร็ง
 
อดีตคนงานมากกว่า 200 คนของโรงงานบริษัทอาร์ซีเอในเมืองเถาหยวน (Taoyuan) เริ่มทยอยเสียชีวิตในช่วงทศวรรษ 1990 โดยโรงงานแห่งนี้เปิดดำเนินการเมือปี 1970 และปิดตัวลงไปเมื่อปี 1992 
 
ทั้งนี้ผลการสอบสวนระบุว่าน้ำใต้ดินของโรงงานแห่งนี้ปนเปื้อนสารเคมีอันตรายซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการเสียชีวิตของอดีตคนงานในโรงงาน นอกจากนี้โรงงานยังไม่มีเครื่องป้องกันให้แก่คนงานที่ต้องสัมผัสตัวทำละลายอินทรีย์โดยตรง และไม่มีการตรวจสุขภาพให้แก่คนงานตามที่กฎหมายกำหนด โดยทนายความของผู้เสียหายระบุว่าว่าคดีนี้จะสร้างบรรทัดฐานให้แก่บริษัทที่ไร้ความรับผิดชอบและช่วยให้คนงานได้รับความคุ้มครองมากขึ้น ด้านญาติผู้เสียชีวิตบางรายระบุว่าได้รับค่าเสียหายต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับความเสียหายจำนวนคนที่เจ็บป่วยและเสียชีวิต 
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชงยกระดับ 'กองทุนหมู่บ้าน' เป็น 'สถาบันการเงินชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง'

$
0
0
ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเตรียมเสนอ ครม. แก้ไขกฎหมายยกฐานะกองทุนหมู่บ้านเป็นสถาบันการเงินชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง

 
 
18 เม.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เปิดเผยว่า เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านที่มีศักยภาพเป็นแหล่งเงินทุนในชุมชนและต้องการส่งเสริมการออมแทนการให้กู้เงินเพียงอย่างเดียว จึงเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองด้วยการยกระดับกองทุนหมู่บ้านเป็น “สถาบันการเงินชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรมการกองทุนหมู่บ้าน การคัดเลือกคณะกรรมการ การกำหนดให้มีหลักเกณฑ์ค้ำประกันเงินกู้ให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า และให้การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านมีความมั่นคงและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
 
โดยไม่จำกัดเรื่องทุนของกองทุนหมู่บ้านต้องสูงขึ้นมากนัก เช่น อาจมีประมาณ 3-5 ล้านบาท สามารถจัดตั้งได้ แต่จะกำหนดให้สมาชิกต้องออมเงินผ่านสัจจะออมทรัพย์หรือสะสมเงินออมในรูปแบบต่างๆ เช่น สมาชิกต้องมีเงินฝากสะสมสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของสมาชิกทั้งหมดในหมู่บ้าน การมีผลประเมินกองทุนที่มีในระดับเกรดดีหรือดีมาก ผ่านตัวชี้วัดในหลายด้าน มีการจัดทำระบบบัญชีมีมาตรฐาน เพื่อให้หลายกองทุนหมู่บ้านรวมตัวกันเป็นสถาบันการเงินชุมชน มีเป้าหมายให้ได้ตำบลละ 1 แห่ง แล้วแต่ศักยภาพในพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการสถาบันการเงินชุมชนเข้ามาบริหารและควบคุมดูแล
 
คาดว่าในปี 2558 จะเห็นกองทุนหมู่บ้านเกิดขึ้น สถาบันการเงินชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ประมาณ 2,000 แห่ง เพราะขณะนี้ทั้ง ธ.ก.ส.และออมสิน ได้ส่งเสริมให้มีสถาบันการเงินชุมชนแล้ว จึงต้องการนำทั้งสองแบบเข้ามารวมกันอยู่ในโครงการเดียวกันและใช้ชื่อเดียวกัน สัญลักษ์เดียวกัน รวมทั้งแก้ไขในเรื่องติดปัญหาการฟ้องร้องอ้างตามกฎหมายขัดทรัพย์ เนื่องจากเงินของกองทุนหมู่บ้านเป็นเงินของรัฐ หากมีคดีความผูกพันจะได้รับการพิจารณาเรื่องการอายัดทรัพย์ เพราะเป็นเงินของรัฐ คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาได้ก่อนการจัดงานครบรอบ 14 ปี กองทุนหมู่บ้านในช่วงเดือนกรกฎาคมปีนี้
 
นายลักษ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า วางเป้าหมายส่งเสริมให้กองทุนหมู่บ้านขยับฐานะเป็นสถาบันการเงินชุมชนในปี 2558 จำนวน 1,500 แห่ง เพราะได้รับมอบหมายให้ดูแลกองทุนหมู่บ้านที่มีผลดำเนินงานดีมาก 10,569 แห่ง และผลดำเนินงานดี 10,015 กองทุน สำหรับกองทุนเกรดดีมากจะให้สินเชื่อเพิ่มต่อยอดอีกจากวงเงิน 1 ล้านบาท เป็น 2 ล้านบาท สำหรับกองทุนเกรดดี จะได้รับสินเชื่อต่อยอดอีก 500,000 บาทต่อกองทุน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้มีแหล่งเงินทุนดูแลตนเอง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านชุมชนคลองมุดงฉลองโวยนายทุนไล่ที่ สงสัยได้โฉนดมาได้อย่างไร

$
0
0
ชาวบ้านชุมชนคลองมุดงฉลอง จ.ภูเก็ต ถูกนายทุนขับไล่ที่ ชาวบ้านชี้ตามกฎหมายที่ดินต้องเป็นของรัฐหลังหมดสัมปทานบัตรเหมืองแร่เก่า แล้วนายทุนได้โฉนดที่ดินมานั้นมีกระบวนการได้มาอย่างไร หน่วยงานไหนเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบออกให้

 
 
 
 
 
 
18 เม.ย. 2558 นักข่าวพลเมืองแจ้งข่าวกับประชาไทว่า สืบเนื่องมาจากกรณีที่ชาวบ้านชุมชนคลองมุดงฉลอง จ.ภูเก็ต ได้ถูกนายทุนขับไล่ที่ออกจากที่อยู่อาศัย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยชาวบ้านระบุว่าทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจราณาของศาลจังหวัดภูเก็ต และแม้ชาวบ้านมีเอกสารใบนัดของศาลมายืนยัน แต่กลุ่มคนที่มาขับไล่รื้อถอนก็ไม่ยอมรับฟัง โดยชายฉกรรจ์ประมาณ 100 คน เข้ามาข่มขู่ชาวบ้าน รวมทั้งได้ทำลายที่อยู่อาศัยโดยใช้เครื่องจักร และได้นำเอกสารโฉนดที่ดินมาให้ชาวบ้านดู
 
นักข่าวพลเมืองได้ระบุว่าที่ดินดังกล่าวที่ชาวบ้านอาศัยอยู่เป็นที่ดินสัมปทานบัตรเหมืองแร่เก่า ซึ่งได้หมดอายุบัตรไปเกือบ 50 ปี ตามหลักกฎหมายหากหมดสัมปทานแล้ว และไม่มีผู้ใดยื่นเรื่องราวภายในวันและเวลาที่กำหนดให้ถือว่าสัมปทานบัตรนั้นสิ้นอายุในวันที่ครบกำหนดคือ 90 วัน ดังนั้นที่ดินดังกล่าวก็จะต้องตกเป็นของรัฐดังเดิม ห้ามมิให้กระทำการใด ๆ นอกเสียจากได้รับอนุญาต หรือมีคำสั่งอื่น ๆ จากรัฐ ซึ่งชาวบ้านได้ตั้งข้อสงสัยว่าการที่นายทุนได้โฉนดที่ดินมานั้นมีกระบวนการได้มาอย่างไร และหน่วยงานไหนเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบออกให้ 
 
ทั้งนี้ที่ดินดังกล่าวมีโฉนดอยู่จริงแค่ประมาณ 4 ไร่ แต่สามารถออกโฉนดครอบที่ดินสัมปทานบัตรผืนนี้มา 80 กว่าไร่ และยังติดเขตป่าชายเลนชุมชนคลองมุดง ส่วนชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยกันประมาณ 60 ครัวเรือน มีที่อยู่อาศัยคนละ 10 เมตร ถึง 20 เมตร พอที่จะสร้างที่อยู่อาศัยได้ ไม่ได้มีจุดประสงค์จะมาถือครองเพื่อทำธุระกิจเหมือนกับพวกนายทุนต่าง ๆ โดยชาวบ้านทำมาหากินโดยการ เก็บของเก่าขาย ปลูกผักผลไม้ เลี้ยงปลา เป็นต้น
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมบัติ' ค้านระบบเลือกตั้งผสมของเยอรมัน ชี้ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ

$
0
0
"สมบัติ ธำรงธัญวงศ์" ประธาน กมธ.ปฎิรูปการเมือง ค้านระบบเลือกตั้งเยอรมนี ย้ำรัฐบาลผสมทำเกิดปัญหาต่อรองผลประโยชน์ ชี้นายกคนนอกไม่ตรงความต้องการประชาชน

 
18 เม.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฎิรูปการเมือง สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (19 เม.ย.) จะประชุมคณะกรรมาธิการปฎิรูปการเมือง ที่อาคารรัฐสภา เพื่อเตรียมความพร้อมกำหนดกรอบประเด็นที่จะอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 20-26 เมษายนนี้ เนื่องจากปรับเวลาการอภิปรายให้สั้นลง โดยประธานกรรมาธิการแต่ละคณะคนละ 30 นาที และสมาชิกคนละ 15 นาที ส่วนตนเองจะพูดในภาพรวม และให้สมาชิกอภิปรายอย่างเต็มที่ ไม่ต้องยึดกรอบของกรรมาธิการ เพื่อจะได้มีอิสระ จึงต้องวางแนวทางการอภิปรายไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน เพราะเวลาที่ได้รับถือว่าน้อย หากเทียบกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่มีอยู่มากกว่า 100 มาตรา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าบรรยากาศจะไม่ดุเดือดเข้มข้น เพราะเป็นการชี้แจงให้ข้อมูล หักล้างด้วยเหตุและผลมากกว่าใช้อารมณ์เหมือนการอภิปรายของนักการเมืองในอดีต
 
“การอภิปรายภาพรวมจะชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของโครงสร้างและการออกแบบรัฐบาลให้มีความเป็นเอกภาพเข้มแข็ง โดยเฉพาะจากประเทศที่กำลังพัฒนาและขณะนี้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีรัฐบาลที่เข้มแข็งหรือมีรัฐบาลพรรคเดียว แต่ร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ.ยกร่างเขียนขึ้นกลับมองตรงกันข้าม โดยต้องการให้มีรัฐบาลผสมด้วยการนำการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมของประเทศเยอรมันมาใช้ ซึ่งในความเป็นจริงรัฐบาลผสมจะยิ่งเกิดปัญหา เพราะหากพรรคเสียงข้างมากมีเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง จึงต้องดึงพรรคการเมืองอื่นมาร่วมรัฐบาล จะทำให้เกิดการต่อรองอำนาจภายในพรรคร่วมรัฐบาล เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้รัฐบาลทำงานไม่ราบรื่น เข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า การเมืองเพื่อผลประโยชน์ของพรรคร่วม” นายสมบัติ กล่าว
 
นายสมบัติ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีที่เปิดช่องให้เลือกนายกรัฐมนตรีจากคนนอกได้ ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ยิ่งสร้างปัญหา เพราะจากการลงพื้นที่เปิดเวทีรับฟังความเห็นของกมธ.ปฎิรูปการเมืองพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีด้วยตนเองถึงร้อยละ 70 สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจประชาธิปไตยของประชาชนที่ต้องการแสดงออกทางการเมืองในการเลือกผู้ที่จะขึ้นมาบริหารประเทศด้วยตัวเอง ส่วนกลไกการตรวจสอบทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการยื่นถอดถอนก็ไม่มีอะไรใหม่หรือสามารถใช้ได้จริงกับนักการเมืองที่มีเรื่องของพวกพ้องและผลประโยชน์ต่างตอบแทนเข้ามาเกี่ยวข้อง ตนจึงเสนอให้ใช้เสียงของส.ส. 1 ใน 10 เข้าชื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญไต่สวน หากพบว่ามีความผิดให้ยื่นเรื่องกลับไปยังประธานวุฒิสภา ส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปพิจารณาต่อ จะทำให้กลไกการตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายสมบัติ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานในสหรัฐเคลื่อนไหวครั้งใหญ่-เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 15 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง

$
0
0

แรงงานหลายสาขาอาชีพจากหลายเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกากว่า 200 เมือง ชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง - เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 15 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ พร้อมเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมด้านอื่น รวมทั้งต่อต้านการเหยียดสีผิว

สำนักข่าวคอมมอนครีมส์รายงานว่าเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (16 เม.ย.) มีการประท้วงของแรงงานเพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ ครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยมีแรงงานจากหลากหลายสาขาอาชีพอาทิเช่น แรงงานฟาสต์ฟู้ด, แรงงานซักรีด, คนทำงานบ้าน, พี่เลี้ยงเด็ก, แรงงานร้านค้า และลูกจ้างงานด้านการศึกษา รวมหลายหมื่นคนออกมาเดินขบวนกันตามเมืองต่างๆ มากกว่า 200 เมืองทั่วสหรัฐอเมริกา

การเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 15 เหรียญสหรัฐ (480 บาท) ต่อชั่วโมงซึ่งเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงในสหรัฐฯ มาเป็นเวลามากกว่า 3 ปีแล้วเกี่ยวกับปัญหาความยากจนและความไม่เสมอภาคในสังคม โดยในการเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ไม่เพียงแค่คนงานในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มคนงานจากอีก 35 ประเทศ ใน 6 ทวีป เช่น นิวซีแลนด์, บราซิล, ญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย

เทอร์เรนซ์ ไวส์ ซึ่งเป็นพ่อลูกสาม ซึ่งทั้งสามคนทำงานในร้านฟาสต์ฟู้ดที่เมืองแคนซัสซิตี้ รัฐมิสซูรี ไวส์แถลงต่อสื่อว่าพนักงานฟาสต์ฟู้ดกำลังเรียกร้องสิทธิพลเมืองร่วมกับนักกิจกรรมสายอื่นๆ อย่างนักศึกษา นักกิจกรรมต่อต้านการเหยียดผิว นักวิชาการ และแรงงานสายอื่น ทำให้พวกเขาเข้มแข็งมากขึ้น และไวส์เชื่อว่าพวกเขาจะชนะ

การประท้วงเมื่อวันพุธที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงานภาคบริการนานาชาติ (Service Employees International Union) ซึ่งจงใจให้จัดการประท้วงตรงกับวันภาษีแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (15 เม.ย.) เพื่อเน้นย้ำให้เห็นว่าคนงานค่าแรงขั้นต่ำถูกบีบให้จำเป็นต้องพึ่งพาโครงการสาธารณะเพื่อจะมีชีวิตอยู่รอดได้

คนงานผู้ประท้วงชูป้าย "พวกเรามีค่ามากกว่านี้" ในขณะที่เรียกร้องค่าแรงที่สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ (living wages) รวมถึงเรียกร้องสิทธิในการรวมกลุ่มกันในที่ทำงานโดยไม่ถูกข่มขู่คุกคามหรือถูกลงโทษ

ผู้ประท้วงยังช่วยกันร่วมเรียกร้องในประเด็นอื่นๆ นอกจากเรื่องค่าแรง โดยเชื่อมโยงเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจกับความเป็นธรรมทางสังคมเช่นในประเด็นเรื่องที่ตำรวจสังหารคนผิวดำที่ไม่มีอาวุธในหลายกรณีเช่นที่เกิดขึ้นในเมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา หรือในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี โดยมีการรำลึกถึงผู้ที่ถูกตำรวจสังหารซึ่งเป็นกิจกรรมของขบวนการ 'ชีวิตคนผิวดำก็มีความหมาย' (Black Lives Matter) ที่กำลังเติบโตขึ้น

ชาร์ลีนน์ คาร์รูเทอร์ ผู้อำนวยการ 'โครงการยุวชนคนผิวดำ 100' (Black Youth Project 100) กล่าวว่าพวกเขาร่วมต่อสู้กับคนงาเพื่อเรียกร้องค่าแรง 15 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมงเพราะคิดว่าความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและความเป็นธรรมด้านเชื้อชาติสีผิวเป็นเรื่องเดียวกัน "คนงานผิวดำต้องคอยชำระหนี้ที่พวกเขาไม่ควรจะมีให้กับบรรษัทจอมละโมบมาเป็นเวลานานเกินไปแล้ว" คาร์รูเทอร์กล่าว

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 เม.ย.) โครงการกฎหมายการจ้างงานแห่งชาติสหรัฐฯ (National Employment Law Project) เผยแพร่รายงานระบุว่ามีผู้หญิงและคนผิวสีอยู่ในกลุ่มคนงานที่ได้รับค่าแรงต่ำกว่าที่ควรเป็นจำนวนมาก โดยมีคนงานเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันมากกว่าร้อยละ 50 และคนงานเชื้อสายละตินมากกว่าร้อยละ 60 ได้ค่าแรงน้อยกว่า 15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประท้วงเมื่อวันพูะยังเรียกร้องให้มีความเป็นธรรมต่อแรงงานเกิดขึ้นในที่อื่นๆ นอกจากสหรัฐฯ ด้วย

มาสซิโม แฟรตตินี่ ผู้ประสานงานระหว่างประเทศของสหภาพแรงงานอาหารสากลแถลงต่อสื่อว่า อุตสาหกรรมอาหารฟาสต์ฟู้ดถูกถูกกุมอำนาจอยู่โดยบรรษัทระดับโลกที่ร่ำรวยระดับพันล้านอยู่เพียงไม่กี่บรรษัท ดังนั้นพวกเขาจึงต้องฟลัหกันขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงานไปสู่ระดับโลกเพื่อให้ได้ค่าจ้างที่ดีขึ้น การปฏิบัติต่อคนงานที่ขึ้น และสิทธิที่ดีขึ้น

ผู้เข้าร่วมการชุมนุมกล่าวว่าขบวนการนี้เป็นการโต้ตอบอย่างเร่งด่วนต่อความไม่เสมอภาคที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก

"เพียงเพราะผมทำงานในร้านฟาสต์ฟู้ดไม่ได้หมายความว่าผมจะต้องทนใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก" แอนดรูว์ โอลซัน พนักงานแมคโดนัลด์ในลอสแองเจลิสกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อแอลเอไทม์

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวชื่อรานา ฟอรูฮาร์ ระบุในนิตยสารไทม์ว่าการเปลี่ยนค่าแรงขึ้นต่ำเป็น 15 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมงเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทำให้เป็นเรื่องที่นักการเมืองต้องพิจารณาหนักมากในช่วงการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้เพราะประเด็นนี้ดูเหมือนจะยังไม่จบลงง่ายๆ

เรียบเรียงจาก

'I Know We Will Win': Largest Ever Low-Wage Worker Protest Sweeps United States, CommonDreams, 16-04-2015 http://www.commondreams.org/news/2015/04/16/i-know-we-will-win-largest-ever-low-wage-worker-protest-sweeps-united-states

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50860 articles
Browse latest View live




Latest Images