Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live

[คลิป] 10 ปี สื่อทางเลือก: ทบทวนเพื่อก้าวต่อ

$
0
0

คลิปจากการเสวนา '10 ปี สื่อทางเลือก: ทบทวนเพื่อก้าวต่อ' อภิปรายโดย สุชาดา จักรพิสุทธิ์, สฤณี อาชวานันทกุล, รอมฎอน ปันจอร์, สุชัย เจริญมุขยนันท และธีรมล บัวงาม ดำเนินรายการโดย พิณผกา งามสม

25 ม.ค. 2558 - คลิปจากการเสวนา '10 ปี สื่อทางเลือก: ทบทวนเพื่อก้าวต่อ' จัดที่โรงแรมเอทัส ลุมพินี ดำเนินรายการโดย พิณผกา งามสม บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท โดยผู้อภิปรายเป็นบุคคลในวงการสื่อทางเลือก ประกอบด้วย สุชาดา จักรพิสุทธิ์ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและคณะบรรณาธิการสำนักข่าวไทยพับลิก้า รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) สุชัย เจริญมุขยนันท เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี และ ธีรมล บัวงาม บรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

สำหรับการเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของเวที "10 ปี สื่อทางเลือก ทบทวนและท้าทาย" จัดโดย มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน โครงการศูนย์การเรียนรู้สื่อ และเว็บไซต์ประชาไท

000

สุชาดา จักรพิสุทธิ์

ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)

อนาคตของสื่อทางเลือก มองว่า จะมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นพร้อมความตายของสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะสื่อกระดาษ นอกจากนี้ยังพบความพยายามของสื่อทางเลือกที่จะจัดตั้งตัวเองมากขึ้น เข้าถึงคนและทุนมากขึ้น พยายามตั้งตัวเป็นสถาบันเช่นเดียวกับสื่อในระบบทุน เห็นได้จากความพยายามสร้างองค์ความรู้ ถอดบทเรียน สร้างงานวิจัย เพื่อยกระดับสื่อทางเลือกไปด้วยกัน ไม่ว่าจะถูกเรียกว่าอะไรก็ตาม

000

สฤณี อาชวานันทกุล

ผู้ร่วมก่อตั้งและคณะบรรณาธิการสำนักข่าวไทยพับลิก้า

ไทยพับลิก้า ซึ่งเกิดจากความพยายามเพิ่มข่าวที่ตัวเองชอบอ่านและเห็นว่าควรมี โดยเฉพาะข่าวสืบสวนสอบสวนเชิงเศรษฐกิจ จึงชวนนักข่าวจากประชาชาติธุรกิจมาร่วมงานด้วย โดยเน้นประเด็นสืบสวนสอบสวน คอร์รัปชันโดยรัฐ โดยเอกชน ความโปร่งใสและความยั่งยืน พบความท้าทายในการทำงานเมื่อนักข่าวค่ายใหญ่โดดมาทำสื่อเอง ซึ่งต้องทำเองทั้งการระดมทุน กราฟิก ตรวจปรู๊ฟ

อีกความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้คนทำงานในทีม ซึ่งประกอบด้วยคนที่มีอาวุโสในวงการสื่อที่เจนสนามและการจับประเด็น กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความคุ้นเคยกับโซเชียลมีเดีย มาทำงานด้วยกัน โดยใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายและช่วยกันยกระดับคนทั้งทีม นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสำคัญคือ เรื่องที่เมื่อนักข่าวเริ่มมีแหล่งข่าวที่ไว้ใจ จึงท้าทายที่นักข่าวจะรักษาความไว้วางใจของแหล่งข่าว โดยไม่เลยเส้นจนเป็นความสนิทสนมและกระทบการรายงานข่าว ต้องหาเส้นแบ่งให้ดี แนวนโยบายของกอง บ.ก. จึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่การกำกับดูแลกันเองก็มองว่าทำไม่ได้จริง เพราะบางสื่อ เมื่อไม่สบายใจกับการสอบสวน ก็แค่ลาออก จึงเสนอว่าอาจต้องเป็นการกำกับดูแลร่วมหรือไม่

การทำงานของสื่อทางเลือกหลายประเด็นท้าทายไม่ต่างจากสื่อกระแสหลัก เพราะสื่อก็อยากสร้างผลกระทบ เข้าถึงคนอ่าน อย่างไรสื่อกระแสหลักยังเข้าถึงคนหมู่มากได้อยู่ ทำอย่างไรให้สื่อกระแสหลักหยิบไปใช้

000

รอมฎอน ปันจอร์

บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)  

แนวคิดการสร้างสื่อทางเลือกในภาคใต้ เป็นการต่อสู้กันระหว่างไอเดีย "กระบอกเสียง" กับ "พื้นที่กลางในการสื่อสาร" ท่ามกลางความขัดแย้ง สื่อทางเลือกเกิดเพราะอึดอัดใจกับสื่อหลัก สะท้อนเสียงออกมาผ่านข่าว บทความ จึงเลือกประเด็นที่ชาวบ้านถูกกระทำ ไม่เป็นข่าวในสื่อกระแสหลักมานำเสนออย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่จะถูกรัฐมองว่าหมิ่นเหม่เข้าข้าง "โจรใต้" ขณะที่อีกฝั่งคิดว่า ต้องนำเสนอพร้อมคำอธิบายแบบอื่น ทำให้ความจริงมีหลายชุดในพื้นที่เดียวกัน

ตอนนี้ ภาคใต้ตกตะกอน เลิกใช้ "สื่อทางเลือก" โดยเลือกใช้ "สื่อสันติภาพ" เพราะมองว่า เมื่อสื่อสาร ฟังเสียงต่างมากขึ้น สู้กันด้วยความคิด ข้อเท็จจริง เหตุผลหรือความจำเป็นในการใช้กำลังจะน้อยลง

เวลาพูดถึงการเปลี่ยแปลงเชิงนโยบาย มักเสนอต่อผู้กำหนดนโยบาย แต่ในภาคใต้ เวลาเสนอจะเสนอฝ่ายเดียวไม่ได้แล้ว ต้องเสนอต่อคู่ขัดแย้งหลักด้วย เช่น หากเสนอลดการใช้กำลังต้องเสนอต่อสองฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายที่อยู่ในเงามืด

000

สุชัย เจริญมุขยนันท

เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี

แม้จะมีโซเชียลมีเดีย แต่อินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึงชนบท ขณะที่ทีวีดิจิทัลชุมชน ซึ่งเดิมตามโรดแมปของ กสทช. ตามกำหนดธันวาคม ปีที่ผ่านมาต้องเกิดแล้ว ตอนนี้ก็ยังไม่ปรากฏ ทราบมาว่านายทุนได้คลื่นดิจิทัลไปหมดแล้ว คงต้องรอให้ช่องอนาล็อกหยุดออกอากาศ จึงจะนำคลื่นมาใช้ได้ ก็คงต้องรออีกปี สองปี นอกจากนี้ ในยุคที่มีความพยายามครอบงำการสื่อสาร ก็ไม่แน่ใจว่า ในอนาคตทีวีดิจิทัลชุมชนยังจะมีอยู่ไหม

000

ธีรมล บัวงาม

บรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

ความท้าทายสำคัญคือ เดิมที่สื่อทางเลือกเป็นเหมือนการนำเสนอด้านเดียว พูดบอกว่าไม่ต้องสนใจความเป็นกลาง สนใจแต่ความเป็นธรรม สร้างการถ่วงดุลข้อมูล ช่วงนึงอาจจะโอเค แต่พอสังคมหลากหลายขึ้น ทุกคนทำแบบนั้นไม่ได้ ไม่ใช่เขาเป็นกรด เราเป็นด่าง มันมีเบกกิ้งโซดา เราจะสร้างตัวนี้ได้อย่างไร โยงกับประเด็นใหญ่ คือ จะทำข่าวสารข้ามเครือข่ายได้หรือไม่ ไม่ใช่ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน และกดไลค์ในเฟซบุ๊ก เพราะแรงกระเพือมในเรื่องนั้นมันไม่พอ จะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุยกันได้ ต้องอดทน เมื่อพยายามสร้างดีเบต ท้าทายเรื่องใหม่ๆ ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ส่วนเรื่องนักข่าวเชิงข้อมูล หรือ data journalism นั้นจะทำอย่างไรให้การสื่อสารยุคปัจจุบัน ที่มีการสื่อสารเต็มไปหมด ทำให้เกิดการเชื่อมโยงของข้อมูลที่คนทำงานต้องคิดมากขึ้น

ในยุคสื่อหลอมรวม ขณะนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพยายามผลักดันกฎหมายที่มีมิติเรื่องความมั่นคง ต้องต่อสู้ว่าจะทำให้โปร่งใสได้อย่างไร จะสร้างสมดุลระหว่างฝ่ายรัฐกับประชาชนได้อย่างไร เพื่อรักษาพื้นที่ในการสื่อสารในอนาคต จะต้องผลักดันและมอนิเตอร์อย่างมาก 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มุสลิมจะอยู่ในข่าว ก็ต่อเมื่อพวกเขาอยู่หลังปืนเท่านั้น!

$
0
0

 

อะห์เมด เมราบัต เป็นคนแรกจากผู้บริสุทธิ์ 12 คน ที่ถูกสังหารในเหตุการณ์โจมตีชาร์ลี เอบโด นิตยสารล้อเลียนของฝรั่งเศส ตำรวจมุสลิมชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตอยู่บนทางเท้าของเขต 11 ในปารีส วงเวียนที่สำนักงานใหญ่ของชาร์ลี เอบโด ตั้งอยู่

เมราบัตถูกยิงโดยหนึ่งในมือสังหาร ไม่กี่นาทีก่อนที่พวกเขาจะบุกเข้าไปในสำนักงานของชาร์ลี เอบโด และฆ่าบรรณาธิการใหญ่และนักเขียนการ์ตูนชื่อดังของนิตยสารดังกล่าว

การรายงานข่าวเกี่ยวกับ “เหตุกราดยิงในปารีส” มุ่งเน้นเป็นพิเศษไปที่สเตฟาน ชาร์บอนเนียร์, จอร์จ โวลินสกี้, ฌอง คาบู และเบอร์นาร์ด เวิร์ลแฮก บุคคลสำคัญและเจ้าความคิดผู้อยู่เบื้องหลังชาร์ลี เอบโด

เหยื่อคนแรก อะห์เมด เมราบัต ถูกลบออกไปจากพาดหัวข่าว ผลขยายทางการเมืองและการเป็นแบบอย่างที่มาพร้อมกับการสร้างจุดเด่นให้กับการตกเป็นเหยื่อของเมราบัตไม่อาจถูกเมินเฉยได้ ประการแรก มันจะทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนในเรื่องของการล้อเลียนมุสลิมว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นคนนอก และเป็นพวกตกขอบ และประการที่สอง มันจะลบล้างการกล่าวหาชาวมุสลิมในฝรั่งเศสโดยการอุปถัมภ์ของรัฐว่าเป็นผู้กระทำผิดในการล้มล้างรัฐธรรมนูญ แทนที่จะเป็นพลเมืองที่ปฏิบัติตามกฎหมาย


มุสลิมและฝรั่งเศส

นอกเหนือจากโศกนาฏกรรมที่ชัดแจ้ง การสังหารที่ชาร์ลี เอบโดแสดงให้เห็นถึงแนวเส้นเดียวที่อัตลักษณ์ของมุสลิมอยู่ในประเด็น และควรค่าแก่การทำข่าวอย่างแท้จริง นั่นก็คือเมื่อพวกเขายืนอยู่ด้านหลังปืน ไม่ใช่ด้านหน้า ในเกือบทุกพื้นที่บนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถาปนิกของโรคเกลียดกลัวอิสลามสมัยใหม่

มุสลิมประกอบเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมากของประเทศฝรั่งเศส อิสลามเป็นศาสนาที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของชาติ และตัวเลขประชากรมุสลิมคิดเป็น 5-10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพลเมือง 66 ล้านคนของฝรั่งเศส

ขนาดของอิสลาม และจำนวนประชากรมุสลิมที่เพิ่มมากขึ้น ได้กระตุ้นให้เกิดนโยบายกฎหมายที่รุนแรงต่อมุสลิมในปัจจุบัน การห้ามใช้ผ้าคลุมศีรษะในปี 2004 ตามมาด้วยการทำให้นิกอบ หรือการคลุมหน้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในปี 2010 เป็นการประมวลแกนของแนวคิดแบบเกลียดกลัวอิสลาม กฎหมายฉบับนี้ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนคำประกาศของรัฐที่หนักแน่นและรุนแรงว่า อัตลักษณ์ของมุสลิมและฝรั่งเศสเป็นสิ่งที่ไม่ลงรอยกันและเข้ากันไม่ได้

รูปแบบการวางท่าทีแบบฝรั่งเศสเป็นการค้ำจุนทางโครงสร้างเพื่อการออกกฎหมายเชิงเกลียดกลัวอิสลามต่อไป แต่ร้ายกาจกว่า ด้วยการบดบังมันไว้ภายใต้ธงแห่งฆราวาสนิยมที่รัฐอุปถัมภ์

ข้อห้ามในการแสดงออกทางศาสนาส่งผลกระทบต่อชาวมุสลิมฝรั่งเศส นอกจากนั้น พวกเขายังเฉยเมยต่อการแสดงออกทางกายและทางคำพูดที่เป็นอัตลักษณ์ของมุสลิม เป้าหมายของรัฐในการบังคับให้พลเมืองมุสลิมของตนต้องอยู่แบบฆราวาสนิยมก็เพื่อต้องการยื่นคำขาดให้เลือกระหว่าง “อิสลามกับตะวันตก”, “แผ่นดินของมุสลิมหรือฝรั่งเศส”

ถึงแม้คำขาดนี้จะถูกส่งลงมาจากรัฐฯ แต่ชาวมุสลิมฝรั่งเศสส่วนใหญ่ยังคงปฏิบัติตามความศรัทธาของพวกเขาท่ามกลางความดื้อรั้น และในเวลาเดียวกันก็รับรองสัญชาติของพวกเขาว่าเป็นชาวฝรั่งเศส

การแสดงความคิดเห็นอย่างรุนแรงจากภายในประเทศ และจากสังคมเมืองของฝรั่งเศส มองว่าผู้ก่อการร้ายสามคนนั้นเป็นตัวแทนของชาวฝรั่งเศสทั้งชายและหญิง 3-6 ล้านคน ของประเทศ การกล่าวหาชาวมุสลิมฝรั่งเศสทางอ้อมโดยนักการเมืองและสื่อจะส่งเสริมให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงต่อชาวมุสลิมและชุมชนมุสลิมในประเทศอย่างแน่นอน


ความเกลียดกลัวอิสลามของฝรั่งเศส

ถึงแม้จะไม่สามารถจินตนาการได้ก่อนวันพุธ ความเกลียดกลัวอิสลามของฝรั่งเศสก็เตรียมที่จะมีความรุนแรงและแข็งกร้าวมากขึ้นอยู่แล้ว การปะปนการกระทำของผู้ก่อการร้ายเข้ากับประชากรมุสลิมของฝรั่งเศส จากมุมมองของนักเผยแพร่ความเกลียดชัง ทำให้ฝ่ายหลังพลอยต้องรับผิดไปด้วย ความเกี่ยวข้องที่เชื่อมโยงผู้กระทำผิดสามคนเข้ากับศาสนาหนึ่งและพลเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องอีกหลายล้านคนนี้ จะเติมเชื้อไฟให้แก่ปฏิกิริยารุนแรงที่จะเกิดกับชาวมุสลิมในฝรั่งเศส และน่าจะทำให้มีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเพิ่มมากขึ้นด้วย

การให้ความสนใจกับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายชาวมุสลิม แทนที่จะเป็นคนร้าย คงจะบรรเทาปฏิกิริยาดังกล่าวลงได้มาก นอกจากนั้น การมุ่งเน้นไปที่ความเป็นวีรบุรุษของเมราบัต แทนที่จะเป็นความชั่วร้ายของผู้ก่อการร้ายสามคนนั้น จะเป็นการยืนยันและสอดแทรกให้เห็นว่าชาวมุสลิมในฝรั่งเศสเป็นพลเมืองของทุกวัน คือพลเมืองที่มีงานทำ มีครอบครัว และแสดงความหมายของอิสลามที่ประณามความรุนแรง และตรงกันข้ามกับภาพล้อเลียนที่มุ่งร้ายต่อศาสนาที่รัฐสร้างขึ้น

อะห์เมด เมราบัต เป็นยิ่งกว่าเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย เขาเป็นยิ่งกว่ามุสลิมธรรมดา ทั้งในการมีชีวิตและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตาย เขาเป็นแม่พิมพ์สำหรับชาวมุสลิมฝรั่งเศสส่วนใหญ่

เมราบัตเป็นพลเรือนที่ปฏิบัติตามกฎหมาย เขาสอดประสานอัตลักษณ์ทางศาสนาของเขาให้เข้ากับหน้าที่รับผิดชอบในการเป็นชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง เขาเป็นทั้งชาวฝรั่งเศสและมุสลิม เป็นความผสมกลมกลืนที่มีอยู่จริง ซึ่งถูกชำแหละโดยคำพูดทำนองเกลียดกลัวอิสลามที่มีมายาวนานในฝรั่งเศส และถูกเมินเฉยโดยพายุเพลิงของสื่อภายหลังเหตุการณ์โจมตีนั้น

ถึงแม้จะเป็นเหยื่อรายแรกของเหตุการณ์นั้น แต่เรื่องของอะห์เมด เมราบัตก็ถูกยิงตกจากพาดหัวข่าวไป และชื่อกับใบหน้าของเขาหายไปจากกระแสข่าวที่ดำเนินอยู่และเรื่องราวที่แพร่กระจายจากปารีสเมื่อวันพุธ การสอดแทรกเขาเข้าไปในเรื่องนั้น และต่อต้านการโจมตีตัวแทนของมุสลิมที่ชั่วร้ายด้วยข้อโต้แย้งในการเป็นเหยื่อและความกล้าหาญของเขา น่าจะช่วยรักษาหลายชีวิตในฝรั่งเศส

ที่สำคัญที่สุด การบอกเล่าเรื่องราวจากแง่มุมของอะห์เมด เมราบัต จะไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมและชาวฝรั่งเศสสามารถผสานกันได้เท่านั้น แต่ยังยืดหยุ่นได้อีกด้วย

 

แปล/เรียบเรียงจาก

http://www.aljazeera.com
by Khaled A Beydoun
About the Author : Khaled A Beydoun is an Assistant Professor of Law at the Barry University Dwayne O Andreas School of Law. He is a native of Detroit.


ที่มา: เดอะพับลิกโพสต์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทสัมภาษณ์ แซมมวล ฮันติงตัน เกี่ยวกับการปะทะทางอารยธรรม

$
0
0

 

แซมมวล พี ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington) นักรัฐศาสตร์ชื่อดังเกิดเมื่อวันที่ 18 เมษายน ปี 1927  ศึกษาจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเยล ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชิคาโกและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 1951  เขาเคยเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และยังเป็นผู้อำนวยการสถาบัน จอห์น เอ็ม โอลิน แห่งการศึกษากลยุทธ์ รวมไปถึงประธานของวิทยาลัยภูมิภาคและนานาชาติศึกษาแห่งศูนย์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเดียวกันนี้ หนังสือเล่มดังที่สุดของเขา "การประทะทางอารยธรรมและการจัดระเบียบโลกใหม่" (The Clash of Civilizations and the remaking of the New World Order) ถูกตีพิมพ์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 1996 และได้รับการแปลถึง 22 ภาษา อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเป็นหนังสือนั้น ฮันติงตันได้เขียนบทความในหัวข้อนี้ก่อนในปี 1993  เพียง 2 ปีหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายและเป็นการโต้ตอบกับหนังสือ "จุดสุดท้ายของประวัติศาสตร์และมนุษย์คนสุดท้าย (End of History and the Last Man) ของฟรานซิส ฟูกูยามาซึ่งมองโลกหลังยุคสงครามเย็นในด้านดีนั้นคือโลกคือชัยชนะของประชาธิปไตยแบบเสรีประชาธิปไตย ฮันติงตันถึงแก่กรรมเมื่อปี 2008 สิริอายุรวม 81  ปี

แนวคิดโดยย่อของเขาคือภายหลังสงครามเย็นแล้ว สิ่งที่คงเหลืออยู่ของความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมสำคัญ ๆของโลกโดยเฉพาะอารยธรรมแบบชาวคริสต์ (ตะวันตกที่คิดว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย)กับชาวมุสลิม (ซึ่งตะวันตกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย) และเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ก็ได้ทำให้แนวคิดของเขาโด่งดัง แต่เขาก็ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงจากนักวิชาการต่างๆ เช่นเอ็ดเวิร์ด ซาอิดว่าเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นให้เกิดความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับตะวันออกหรือเป็นการแสดงอคติจากคนผิวขาวที่นับถือศาสนาคริสต์มากเกินไป อย่างไรก็ตามอีกกว่า 10 ปีต่อมา  กระแสการต่อต้านอิสลามได้เกิดขึ้นอย่างมหาศาลอีกระลอกหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมดังเช่นอังกฤษ เยอรมัน  ฝรั่งเศส เบลเยียมเช่นเดียวกับกระแสการต้านการก่อการร้าย อันเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากยุคของอดีตประธานาธิบดีของจอร์จ ดับเบิลยู บุช  เหตุการณ์ที่โดดเด่นที่สุดได้แก่การที่ชาวมุสลิมหัวรุนแรงได้บุกเข้าไปสังหารบรรดานักเขียนการ์ตูน ของนิตยสารชาร์ลี เอบโดที่กรุงปารีส ฝรั่งเศสเมื่อวันที่  7 มกราคมที่ผ่านมา (มีคนเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ 9/11 ของฝรั่งเศส) เหตุการณ์เช่นนี้ได้นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวยุโรปจำนวนไม่น้อยที่เป็นพวกหัวเสรีนิยมหรือพวกไม่มีศาสนากับชาวประเทศโลกที่ 3 ที่ถือว่าตนเป็นมุสลิมจำนวนอีกไม่น้อยเหมือนกันไม่ว่าอาศัยอยู่ในยุโรปหรือต่างประเทศ ดังเช่นคนที่ทำงานในนิตยสารชาร์ลี เอบโดยุคหลังการก่อการร้ายยังคงตีพิมพ์การ์ตูนเป็นรูปศาสดาโมฮัมหมัดที่ยกป้ายประกาศตนว่า “ฉันคือชาร์ลี” เพื่อเป็นการท้าทายหรือยืนหยัดอยู่กับอุดมการณ์เสรีนิยมผ่านการล้อเลียนของพวกเขา (หรือจะมองว่าเพื่อกำไรหรือเพื่ออยากดังก็ตามแต่)  และชาวไนเจอร์ (ซึ่งอยู่ในแอฟริกา) ได้ประท้วงโดยก่อการจลาจลและเผาโบสถ์ของชาวแคทอลิก ด้วยอิทธิพลของสื่อตะวันตกแม้ว่าชาวมุสลิมในยุโรปซึ่งโดยมากเป็นผู้อพยพจากประเทศโลกที่ 3  จะไม่มีปฏิกิริยารุนแรงต่อกรณีของชาร์ลีนัก แต่ก็เกิดกระแสการเหมารวมจากคนที่มีอคติต่อศาสนาอิสลามอยู่แล้ว ยิ่งมีการเอาไปผสมกับความวุ่นวายในตะวันออกกลางและแอฟริกาที่เกิดจากผู้ก่อการร้ายอย่างเช่นไอเอสและโบโก ฮารามด้วยแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มไอเอสนั้นกลายเป็นกลุ่มที่อันตรายสำหรับชาวโลกเพราะสามารถชักจูงหรือล่อลวงให้คนหนุ่มสาวจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมในการก่อการร้ายในประเทศของตนผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารอันทันสมัย

บทสัมภาษณ์ของแซมมัล ฮันติงตันนี้แม้ว่าจะผ่านไปเกือบทศวรรษแต่ผู้แปลเห็นว่ายังคงทันสมัยและน่าจะทำให้คนอ่านได้เห็นว่าด้วยกระแสการต่อต้านมุสลิมที่เกิดขึ้นอย่างมากมายนี้น่าจะบั่นทอนแนวคิดเสรีนิยมและกระตุ้นให้แนวคิดอนุรักษ์นิยมที่อิงกับศาสนาของคนตะวันออกเกิดขึ้นเพียงใดและมีรูปแบบอย่างไร  อันนำไปสู่ภาพของนโยบายต่างประเทศและการทหารของทั้งสหรัฐฯและยุโรปต่อประเทศโลกที่ 3 ในยุคหลังชาร์ลี เอบโดไม่ว่ากี่ปีหรือในว่าในทศวรรษหน้าว่าจะเหมือนหรือแตกต่างจากลัทธิบุชหรือนโยบายของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชมากน้อยเพียงใด

บทความนี้แปลและตัดเอาบางส่วนที่ไม่น่าสนใจออกไปมาจาก บทความ Five Years After 9/11, The Clash of Civilizations Revisitedหรือ "5 ปีภายหลัง 9/11 :การปะทะทางอารยธรรมได้รับการเยี่ยมเยียนอีกครั้ง" เมื่อวันศุกร์ ที่ 18 สิงหาคม ปี 2006

ฮันติงตันในวัย 79 ปีได้ให้สัมภาษณ์ขณะนั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ลในสวนหลังบ้านพักตากอากาศของเขา

ผู้สัมภาษณ์คือมาร์ก โอ คีฟเฟอร์ รองผู้อำนวยการและบรรณาธิการ แห่ง Pew Forum on Religion & Public Life

๐๐๐๐

คีฟเฟอร์

คุณได้รับการยอมรับในหลายทศวรรษว่าเป็นหนึ่งในนักรัฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศนี้ภายหลังสงครามเย็น คุณเริ่มเน้นไปที่ศาสนามากขึ้น อะไรทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ครับ ?

ฮันติงตัน

ศาสนาเป็นแง่มุมหนึ่งของความสนใจอันยิ่งยวดที่ผมเริ่มมีมากขึ้นในช่วงสงครามเย็นในการมองเห็นว่าสังคมที่แตกต่างกันนั้นมีวิวัฒนาการไปในทางไหน ผมก็ได้ข้อสรุปว่าแกนหลักสำหรับกำหนดทิศทางของพวกมันก็คือวัฒนธรรมการให้ความหมายต่อค่านิยมและทัศนคติของตัวสังคมเหล่านั้นเอง วัฒนธรรมได้วิวัฒนาการและเปลี่ยนแปลงไป แต่พวกมันยังรวมเกือบทั้งหมดถึงองค์ประกอบขนาดใหญ่ของประเพณีอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นผมจึงเริ่มต้นมองไปที่วัฒนธรรมที่แตกต่างกันทั่วโลก แน่นอนว่ามีวัฒนธรรมต่างๆ จำนวนมหาศาล แต่สำหรับผมแล้วมันดูจะมีวัฒนธรรมสำคัญ ๆ จำนวน 8 หรือ 9  วัฒนธรรมนั่นคือ ตะวันตก   ออร์โธดอกซ์ ฮินดู อิสลาม ซินนิก (จีน) พุทธ ละตินอเมริกา แอฟริกาและญี่ปุ่น

ผมเริ่มหันมามองโลกโดยผ่านคำเหล่านั้น ซึ่งนำตัวเองไปสู่ทฤษฎีการปะทะระหว่างอารยธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนของวัฒนธรรมต่าง ๆ แน่นอนว่าผมไม่คิดว่าวัฒนธรรมเป็นเพียงสิ่งเดียวที่มีอิทธิพล แต่มันก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะพวกมันได้เป็นตัวแต่งเติมพื้นฐานของมนุษย์ในการเริ่มคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อกันอย่างไร ผมคิดว่าพวกเราต่างรู้สึกสบายๆ กับคนที่มีวัฒนธรรม ภาษาและค่านิยมคล้ายคลึงกันมากกว่าที่แตกต่างกัน

มีวัฒนธรรมอยู่มากมายในโลกใบนี้ พวกมันเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ผมเห็นว่ามีอยู่     8 หรือ 9  วัฒนธรรม ดังนั้นผมจึงสนใจว่าพวกมันเปลี่ยนแปลงอย่างไร พวกมันต่างมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างไรในบัดนี้และความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้แตกต่างจากวิถีที่รัฐต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร


คีฟเฟอร์

คุณเห็นว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่นระหว่างวัฒนธรรมและศาสนา คุณสามารถอธิบายได้ไหมครับ ?

ฮันติงตัน

ศาสนาคือองค์ประกอบหนึ่งของวัฒนธรรมของมนุษย์ มีสิ่งอื่นเช่นภาษาซึ่งก็สำคัญที่สุด แต่ศาสนาก็สำคัญยิ่งยวดเพราะมันได้ให้กรอบแนวคิดแก่การมองโลกของมนุษย์ ภาษาทำให้พวกเขาสามารถสื่อสารกับโลกได้ แต่ศาสนาได้ให้กรอบแนวคิดในเกือบทุกกรณี


คีฟเฟอร์

กองบรรณาธิการของนิตยสาร Foreign Affairs ได้บอกว่าบทความของคุณคือ "การปะทะทางอารยธรรม ?" ซึ่งแน่นอนว่านำไปสู่หนังสือชื่อเดียวกันคือหนึ่งในผลงานที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของนิตยสาร จะเป็นรองก็แค่บทความของจอร์จ เคนเนนที่อิงอยู่บน"โทรเลขฉบับยาวเหยียด"  (Long Telegram)  ต่อลัทธิการโอบล้อมศัตรู ซึ่งเป็นตัวกำหนดพื้นฐานของนโยบายสหรัฐฯในช่วงสงครามเย็น ทำไมคุณถึงคิดว่าบทความนี้จึงทำให้คนจำนวนมากไม่พอใจ ?

ฮันติงตัน

ผมยินดีที่มันทำให้คนจำนวนมากไม่พอใจ  ตอนแรกผมประหลาดใจว่าได้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นเมื่อมันถูกตีพิมพ์ แต่ในการมองกลับไปที่สิ่งต่าง ๆ ที่ผมเขียนและสิ่งต่าง ๆ ที่คนอื่นเขียน ผมคิดว่าขอบเขตของบางสิ่งนั้นมีผลกระทบที่ขึ้นอยู่ในบางส่วนกับหลักตรรกะของแนวคิดของมันและหลักฐานที่มันนำเสนอ แต่มันก็ยังขึ้นอยู่กับจังหวะด้วยอย่างยิ่ง คุณต้องเสนอแนวคิดนั้นในเวลาที่ถูกต้อง ถ้าคุณดันไปเสนอเร็วไป 5  ปี หรือช้าไป 5  ปี ก็จะไม่มีใครสนใจมัน


คีฟเฟอร์

คุณนั้นล้ำหน้าในวงวิชาการที่เน้นเรื่องศาสนา คุณเห็นพวกร่วมงานที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและนักวิชาการคนอื่น ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของมันหรือเปล่า ?

ฮันติงตัน

คุณบอกว่าผมล้ำหน้า แต่ผมเป็นส่วนของกระแสของการคิด เท่าที่คนทั่วไปตระหนักว่าถึงแม้ไม่ว่ากระแสทำให้เป็นฆราวาสหรือทางโลก (Secularization) จะเกิดขึ้นอย่างไร ปัจเจกชนเกือบทั้งหมดเริ่มต้นความคิดของพวกเขาบนพื้นฐานของศาสนา  ถึงแม้ว่าความคิดเหล่านั้นจะถูกซึมซับจากสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่


คีฟเฟอร์

แน่นอนว่าคุณไม่ได้พยากรณ์เหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 แต่เราสามารถกล่าวได้ว่าคุณได้พยากรณ์ต่อบริบทที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้

ฮันติงตัน

อันนี้ก็ไม่เถียงครับ


คีฟเฟอร์

ในผลกระทบโดยฉับพลันของเหตุการณ์ 9/11 คุณคิดว่าการโจมตีคือความพยายามของโอซามา บิน       ลาเดน ในการที่จะนำสหรัฐฯ และตะวันตกไปสู่การปะทะแบบเต็มขั้นของอารยธรรมกับอิสลาม ดังที่เราได้จัดงานระลึกครบรอบ 5  ปีของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ คุณคิดว่าเขาทำสำเร็จไหม ?

ฮันติงตัน

ผมไม่รู้ว่าผมจะให้เครดิตแก่เขา แต่แน่นอนมันดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาอิสลามและตะวันตก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดความยุ่งยากขึ้นต่างๆ นาๆ   ในมุมโดยกว้างแล้วความยุ่งยากเหล่านั้นคือการที่โลกมุสลิมได้รับผลกระทบอย่างยิ่งจากลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตก ประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นได้กำลังสร้างจุดยืนให้กับตัวเอง ดังนั้นคุณจึงมีความตึงเครียดและความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นระหว่างอำนาจของจักรวรรดินิยมที่ค่อยๆ ล่าถอยทีละน้อยกับพลเมืองโลกที่ 3  ซึ่งกำลังสู้เพื่อตัวเอง


คีฟเฟอร์

จะกล่าวได้ไหมว่าบัดนี้เรากำลังอยู่ในช่วงแห่งการปะทะกันแบบเต็มขั้นของอารยธรรม ?

ฮันติงตัน

ไม่ใช่แค่การปะทะกันแค่ครั้งเดียว แต่การปะทะกันหลายต่อหลายครั้งของอารยธรรมได้เกิดขึ้น และนี่ไม่ได้หมายความดังที่ผมคิดว่าได้ย้ำไปแล้วในบทความที่ว่า ไม่มีการปะทะกันภายในตัวอารยธรรมเอง แน่นอนว่ามันมีอยู่ในระดับกว้างมาก ความขัดแย้งและสงครามเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างผู้คนที่อยู่ในอารยธรรมเดียวกัน ลองไปดูประวัติศาสตร์ยุโรปสิ ชาวยุโรปต่อสู้กันเองตลอดเวลา แต่บัดนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งหลายในการสื่อสารและการเดินทางผู้คนจากอารยธรรมต่างๆ ล้วนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันบนพื้นที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ในอดีต ผู้คนในอารยธรรมหนึ่ง ๆ ยกตัวอย่างเช่นจีนหรือยุโรป ได้ขยายตัว เอาชนะและมีอิทธิพลต่อพลเมืองจากอารยธรรมอื่น ๆ

พวกเรามีโลกซึ่งมีอารยธรรมสำคัญเป็นจำนวนมาก มันเป็นโลกแห่งพหุลักษณ์ และขณะที่ไม่ต้องสงสัยว่าสหรัฐอเมริกายิ่งใหญ่กว่าประเทศอื่น จึงเป็นเรื่องไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิงที่จะคิดถึงสิ่งนี้อย่างหยาบๆ ในรูปแบบของการจัดอำนาจให้กับโลกแบบเรียงลำดับชั้น  (ว่าสหรัฐฯครอบงำโลกอยู่ชั้นบนสุด-ผู้แปล) สหรัฐฯ เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและตัวแสดงสำคัญอื่นๆ ล้วนก็ต้องพิจารณาต่อผลประโยชน์ต่างๆ และบางทีการตอบสนองของตัวแสดงอื่นต่อสิ่งที่พวกเขาได้ทำลงไป ผมคิดว่าแน่นอนศาสนามีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งยวด มันถูกสะท้อนให้เห็นอย่างกว้างๆ แต่ไม่ใช่เพียงอย่างเดียวในการผงาดขึ้นของสำนึกทางศาสนาของโลกมุสลิม


คีฟเฟอร์

เราจะสามารถถอดชนวนความตึงเครียดกับโลกมุสลิมได้อย่างไร ?

ฮันติงตัน

ผมคิดว่าเราต้องมีทัศนคติที่เยือกเย็นกว่านี้และพยายามเข้าใจว่าความหวาดวิตกของพวกเขาคืออะไร ผมคิดว่าเราต้องตระหนักว่ามีการแบ่งชั้นอย่างมหึมาในอิสลามและรัฐต่างๆ มันเป็นโลกแห่งพหุลักษณ์ เราควรที่จะตระหนักถึงสิ่งนั้น และเข้าไปจัดการกับส่วนที่เป็นปัจเจกชนและพยายามเอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์บางประการของพวกเขาในขอบเขตที่เราสามารถทำได้


คีฟเฟอร์

คุณได้ให้คำปรึกษาต่อสหรัฐฯ และตะวันตกให้ต่อสู้กับการก่อการร้ายอย่างก้าวร้าวแต่ปราศจาการละเมิดความมั่นคงของโลกอิสลาม หรืออีกแง่มุมหนึ่ง คือการทำราวกับว่าสหรัฐฯ ไม่ได้โจมตีตัวอิสลามเอง คุณจะประเมินการปฏิบัติงานของรัฐบาลบุชได้แง่นี้อย่างไร ?

ฮันติงตัน

ผมเป็นพวกนิยมเดโมแครตนะครับ แต่ผมคิดว่าพวกเขาทำได้ดีทีเดียวในแง่มุมนั้น คุณใช้คำว่า "โลกอิสลาม" แต่โลกอิสลามนั้นมีการแบ่งแยกและหลากหลายอย่างยิ่งของตัวศาสนาและรัฐ เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คุณจะต้องมีความสัมพันธ์ชนิดต่างๆ กับกลุ่มที่แตกต่างกันเช่นนั้น แน่นอนเราไม่ได้มีการปะทะกันอย่างรุนแรงหนักหน่วงของอารยธรรม มีการปะทะกันมากมาย และบางกรณีมีการคลี่คลายปัญหาได้สำเร็จกว่ากรณีอื่นๆ ผมเดาเอาว่าผมพึงพอใจอย่างยิ่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะผมสามารถคาดเดาได้ว่ามันอาจเป็นเรื่องเลวร้ายได้มากกว่านี้อย่างไร


คีฟเฟอร์

เรื่องราวที่เลวร้ายกว่านี้จะเป็นอย่างไรกันครับ ?

ฮันติงตัน

เกิดพัฒนาการของการรวมกลุ่มของแต่ละฝั่ง หากประเทศของมุสลิมได้มารวมกลุ่มกันอย่างมีประสิทธิภาพและพยายามที่จะทวงอำนาจคืนต่อพื้นที่ของตะวันตกซึ่งพวกเขาเคยยึดครองเมื่อพันปีก่อน นั้นคือเคยครอบครองสเปนทั้งหมดและส่วนดีๆ ของทางตะวันตกของฝรั่งเศส ในด้านทฤษฎี สิ่งนั้นอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่แน่นอนว่าตอนนี้ยังไม่เกิดหรอก


คีฟเฟอร์

คุณเขียนในหนังสือเล่มล่าสุดที่ชื่อ  "Who Are We ?" ว่าสหรัฐฯ ตรงแก่นของมันนั้นคือวัฒนธรรมแองโกล-โปรเตสแตนต์ ถ้าหากสิ่งนี้จริง แกนหลักของการเป็นมิชชันนารีนั้น ถ้าหากผมใช้คำนี้นะครับ มีผลอย่างไรต่อการปะทะทางอารยธรรมกับอิสลาม ?

ฮันติงตัน

พวกเรามีวัฒนธรรมแบบแองโกล-โปรเตสแตนต์ อันนี้ชัดแจ๋วเลย คุณใช้คำว่ามิชชันนารี ผมไม่คิดว่ามันจำเป็นต้องเป็นวัฒนธรรมแบบมิชชันนารีหรอก แต่ความจริงแล้วมันเป็นในบางช่วงเวลาเพราะอาณานิคมตรงชายฝั่งตะวันออกใน ศตวรรษที่ 17  และ 18  นั้นถูกก่อตั้งโดยกลุ่มศาสนา จุดดั้งเดิมของพวกเราคือชาติศาสนา เราได้ส่งมิชชันนารีไปทั่วโลกจากกลุ่มโปรเตสแตนต์ คาทอลิกและนิกายอื่นๆ ตั้งแต่การขยายตัวของอิสลามในศตวรรษที่ 7  ผมไม่คิดว่าจะมีกลุ่มใดนอกจากชาวคริสต์ในซีกโลกตะวันตกจะดำเนินงานการเปลี่ยนศาสนาเยี่ยงนี้ได้แม้แต่ชาวคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ในรัสเซียก็ตาม ศาสนาของตะวันตกคือศาสนาของมิชชันนารี

 

คีฟเฟอร์

คุณได้เห็นความพยายามของเราในการส่งออกค่านิยมแบบประชาธิปไตย ดังที่มีบางคนบอกว่าเป็นคุณค่าแบบอเมริกันในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของแรงจูงใจแบบมิชชันนารีหรือแบบแองโกล-โปรเตสแตนต์หรือเปล่า ?

ฮันติงตัน

ในประเด็นของสหรัฐฯ นั้นแรงจูงใจแน่นอนว่าได้มาจากมรดกแบบแองโกล-โปรเตสแตนต์ แต่นี่ไม่ใช่เพียงแหล่งเดียว นิกายคาทอลิกก็ถูกขับดันจากแรงจูงใจนั้นเช่นกัน มีกลุ่มบุคคลในทุกๆ ศาสนาผู้ซึ่งมีแรงจูงใจร่วมกันในการออกไปและพยายามให้คนอื่นเปลี่ยนมานับถือศาสนาตน แต่ในประวัติศาสตร์อเมริกันนั้นแน่นอนว่าถ้าไม่เป็นแรงจูงใจที่ทรงพลังก็เป็นลักษณะสำคัญของกลุ่ม เมื่อนักตั้งรกรากขยายอิทธิพลไปทางตะวันตก พวกเขามักจะสังหารหมู่พวกอินเดียนแดงหากไม่ฆ่าก็จะบังคับให้เปลี่ยนศาสนา


คีฟเฟอร์

คุณได้วิจารณ์ความคิดที่ว่าค่านิยมแบบอเมริกันนั้นเป็นสากล และคุณค่าเหล่านั้นควรที่จะถูกส่งออกไปยังประเทศอื่นผ่านประชาธิปไตย คุณช่วยอธิบายจุดนี้หน่อยได้ไหมครับ ?

ฮันติงตัน

ผมเสนอว่ามีวัฒนธรรมและระบบคุณค่าอันหลากหลายในโลก พวกมันมีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกัน แต่พวกมันก็มีมิติที่แตกต่างกัน วัฒนธรรมตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมอเมริกันมุ่งเน้นไปที่ลัทธิปัจเจกชนนิยมอย่างมากกว่าวัฒนธรรมใด ๆที่ผมเคยรู้จักมา วัฒนธรรมอื่นๆ มุ่งเน้นไปที่ชุมชน ครอบครัวและสังคมในขณะที่เราพูดถึงสิทธิของปัจเจกชน เมื่อเราไปต่างประเทศและต้องขยายอิทธิพล เป็นธรรมชาติอย่างมากที่เราจะนำเอาคุณค่าและวัฒนธรรมไปกับเราและพยายามที่จะแนะนำหรือบางครั้งบังคับให้คนอื่นยอมรับมัน


คีฟเฟอร์

มันได้ทำให้คุณประหลาดใจหรือเปล่าที่ว่าเมื่อการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยได้ถูกจัดขึ้นในประเทศมุสลิมบางประเทศเมื่อไม่นานมานี้และที่ว่าพรรคอิสลามได้รับการเลือกจากประชาชน ?

ฮันติงตัน

ผมสามารถตอบได้อย่างจริงใจว่า "ไม่" มันไม่ได้ทำให้ผมประหลาดใจเลย ในต่างกรรมต่างวาระ ผมได้แสดงคำเตือนต่อคนที่ออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตยว่าไม่ควรจะทึกทักว่ามันเกิดจากรัฐบาลที่ได้อำนาจผ่านการเลือกตั้งที่ยุติธรรมในระดับหนึ่ง มันจะต้องเป็นการเสริมสร้างคุณค่าแบบเดียวกันที่เรามีและเป็นมิตรกับเรา

แต่รัฐบาลที่ชนะโดยการเลือกตั้งต้องทำตามกระแสของสังคมและโดยมากคือกระแสชาตินิยมของประชาชนตัวเองและมักจะเป็นการต่อต้านตะวันตกเสียด้วย


คีฟเฟอร์

คุณคิดว่ารัฐบาลของบุชผิดพลาดที่ไม่ได้คาดว่าพรรคฮามัสจะก้าวขึ้นไปมีอำนาจโดยการเลือกจากชาวปาเลสไตน์หรือเปล่า ?

ฮันติงตัน

ผมคิดว่ามีความผิดพลาดที่ธรรมดากับคนอเมริกันจำนวนมาก นี่รวมถึงคนทำงานในรัฐบาลของบุช ในการชื่นชมต่อความเป็นไปของสิ่งทำนองนั้นที่เกิดขึ้นและเสน่ห์ยวนใจทางศาสนาของมัน อีกครั้งที่เรามีแนวโน้มในการทำให้ดูเหมือนว่าศาสนาเป็นสิ่งในอดีต


คีฟเฟอร์

มองไปที่อนาคต คุณได้คาดว่าจะมีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยในประเทศอิสลามและเราจะเห็นแนวโน้มของพรรคอิสลามก้าวขึ้นมามีอำนาจใช่ไหมครับ ?

ฮันติงตัน

ผมจะไม่พยากรณ์หรอก แต่สำหรับผม มันดูเหมือนว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากและอาจจะเกิดขึ้นในสังคมบางสังคม


คีฟเฟอร์

คุณแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯ เข้าไปในอิรักใช่ไหม ?


ฮันติงตัน

ครับใช่


คีฟเฟอร์

ตอนนี้ยังคงไม่เห็นด้วยหรือเปล่าครับ ?

ฮันติงตัน

ครับ ผมไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเข้าไป แน่นอนว่าอิรักเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญ และมันชัดเจนที่ว่าเราต้องการมีเสถียรภาพในพื้นที่อ่าวเปอร์เซีย เราต้องการต่อต้านการแผ่ขยายของอิทธิพลของพวกอิหร่านหัวรุนแรง แต่ผมไม่เห็นความจำเป็นสำหรับเราที่ต้องเข้าไปในอิรัก
 

๐๐๐๐

คีฟเฟอร์

คุณเคยเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการต่างประเทศในช่วงทศวรรษที่ 60  ของรัฐบาลจอห์นสัน แต่ต่อมาคุณก็สรุปว่าปัญหาสำคัญกับนโยบายการต่างประเทศของเราคืออุดมคติของเรา เช่นเดียวกันคุณเห็นว่าอุดมคตินี้เป็นตัวผลักดันนโยบายในอิรักของเราหรือเปล่า ? นี่เป็นปัญหาหรือเปล่า ?

ฮันติงตัน

ปัจจัยที่เป็นตัวผนึกและแกนกลางของประเทศนี้คือชุดของความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมือง แทบจะโดยอัตโนมัติเมื่อเราไปต่างประเทศ เราพยายามจะกล่อมผู้คนต่อความดีงามของความเชื่อและอุดมคติเหล่านั้น  เราพยายามที่จะสร้างสถาบันทางประชาธิปไตยตามแบบของอเมริกันในอาณานิคมโดยตรงซึ่งเรามีเพียงน้อยนิด และนี่คือเรื่องธรรมชาติอย่างมาก ประเทศทุกประเทศได้ทำเช่นนั้นเมื่อพวกเขาแพร่ขยายอิทธิพล

แต่ผมประทับใจกับขอบเขตที่วัฒนธรรมและคุณค่าของเราแตกต่างจากส่วนสำคัญอื่นๆ ของโลก เราต้องตระหนักต่อขอบเขตของสิ่งที่เราทำ ถ้าคุณมองไปยังสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในสังคมเอเชียและยูเรเซีย ในประเด็นของอิทธิพลจากตะวันตก จำนวนของชนชั้นนำเพียงน้อยนิด นั้นคือปัญญาชนและผู้นำทางการเมืองซึ่งส่วนมากเคยเรียนในอ็อกฟอร์ด เคมบริดจ์หรือฮาร์วาร์ดได้ซึมซับค่านิยมและทัศนคติแบบตะวันตกและกลับไปยังสังคมของพวกเขา แต่มักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางการเมืองนักแต่นักการเมืองที่อยู่ในประเทศของตัวเองและสร้างกระแสชาตินิยมได้มักจะมีแนวโน้มต่อความสำเร็จมากกว่า

๐๐๐๐


คีฟเฟอร์

คุณบอกว่าการปลุกความศรัทธาครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 18 คือการฟื้นฟูทางศาสนาที่ถูก"มอบให้กับชาวอเมริกันด้วยความเชื่อที่ว่าพวกเขาได้เข้าร่วมกิจกรรมทางธรรมะในการนำความดีชนะความชั่ว" เรายังคงเป็นประเทศที่เข้าไปข้องเกี่ยวด้านคุณธรรมโดยเฉพาะทางศาสนาเช่นนั้นหรือไม่ ?

ฮันติงตัน

ผมไม่รู้ว่าจะอธิบายมันโดยใช้คำถูกต้องหรือเปล่าในตอนนี้ แต่ผมคิดว่าเราแตกต่างจากสังคมอื่น รวมไปถึงสังคมแบบยุโรปในขอบเขตที่เราพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะอธิบายเป้าหมายของเราตามแบบของคุณธรรมซึ่งในเกือบทุกกรณีบนรากฐานทางศาสนา และสิ่งนี้ได้สร้างนโยบายต่างประเทศของเราทั้งการปฏิบัติและแน่นอนว่าในมุมมองของเราต่อคนอื่นๆ มันเป็นเรื่องทางศีลธรรมอย่างสูง


คีฟเฟอร์

คุณบอกว่าอเมริกาเป็นเพียงสิ่งที่น่าผิดหวังเพราะมันคือความหวังเชิงอุดมคติ ดังที่คุณเห็นในอนาคต อะไรทำให้คุณมีความหวังมากที่สุดสำหรับประเทศของเราและความสัมพันธ์ของมันกับโลกทั้งหมด ?

ฮันติงตัน

ผมคิดว่าสิ่งอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับอเมริกาคือความเป็นพหุลักษณ์ของมันและความหลากหลายของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าชนเผ่า เชื้อชาติและกลุ่มทางศาสนากับการเมืองซึ่งเรามีในประเทศนี้ อาจจะยกเว้นก็เพียงสงครามกลางเมือง เราต่างอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ กับคนอื่น ๆและพัฒนาสังคมใหญ่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดและเจริญอย่างสูงสุดในโลกนี้ สังคมซึ่งมีแกนหลักคือสังคมประชาธิปไตยซึ่งปกป้องเสรีภาพของการแสดงออกและการนับถือศาสนา นี่คือความสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน : แปลงที่รกร้างเป็นสวนผักกลางกรุง ROOT GARDEN ทองหล่อ

$
0
0

สวนผัก Root Garden ทองหล่อ ตั้งอยู่ปากซอยทองหล่อ 3 ติดสถาบันปรีดีพนมยงค์ โดยที่ดินผืนนี้ในอดีตเป็นบ้านของ “ครูองุ่น มาลิก” ที่มอบให้แก่มูลนิธิไชยวณา ด้วยเจตนารมณ์ให้ใช้ที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

จักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและการรณรงค์ จากองค์การ OXFAM ได้กล่าวถึงแรงบันดาลที่ทำให้เกิดกิจกรรมเปิดสวนผักขึ้น คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการถือครองที่ดิน ประเทศไทยมีการกระจุกตัวที่ดินสูงมาก ทำให้เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ จึงเกิดองค์กรภาคีจากหลายร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ โดยการเสนอกฎหมาย 4 ฉบับเพื่อคนไทยเท่าเทียมกันมากขึ้น หรือกฎหมาย 4 ฉบับเพื่อคนจน ประกอบด้วย กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าเพื่อให้เกิดการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์สูงขึ้นและเก็บภาษีเฉพาะคนที่มีที่ดินมากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป ให้ที่ดินรกร้างต้องเสียภาษีที่มากกว่าที่ดินที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ เป็นการบังคับให้คนคายที่ดินออกมาให้คนอื่น ๆ ใช้ได้วงกว้างมากขึ้น กฎหมายเรื่องของโฉนดชุมชนเพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชน คนยากจนสามารถรวมตัวกัน และเข้าถึงที่ดินได้มากขึ้น กฎหมายกองทุนยุติธรรมที่จะเอื้ออำนวยให้คนจนที่มีปัญหาเรื่องที่ดินสามารถหาเข้าถึงกลไกยุติธรรมได้จริง และกฎหมายธนาคารที่ดิน

จักรชัยกล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงมีความคิดว่าจะเริ่มต้นเป็นเมล็ดพันธ์ทางความคิด เป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยแก่ชุมชน เป็นการสร้างพื้นที่ทางสังคมและทางวัฒนธรรมให้แก่ชุมชน โดยทุกวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนเวลา บ่าย 3 เราจะชวนคนกรุงเทพฯ คนทองหล่อมาพูดคุยกัน และทุกวันอาทิตย์ที่ 1 ของเดือนจะมีเวิร์คช็อปเพื่อสอนปลูกผัก สอนทำสบู่ ทำน้ำสลัด และจะมีตลาดชุมชนมาเปิดยังสถานที่ตรงนี้ มีกลไกผักกระถางให้คนเอากระถางมาเพื่อมาเอาต้นกล้าผักกลับไปปลูกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดย Root Garden นอกจะจะมีสวนผัก คอกไก่ คอกแพะ เรือนเพาะเห็ด แปลงปลูกผัก ปลูกข้าวแล้ว ยังมีร้านกาแฟที่เปิดทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ โดยมีเมนู กาแฟเอสเพรสโซ่ คาปูชิโน่ และลาเต้ กับเมนูขนมเค้กส้มกับบราวนี่ ซึ่งทางร้านอบขึ้นเองโดยวัตถุดิบที่ใช้มาจากผลผลิตของเครือข่ายชาวบ้านเป็นหลัก

จักรชัยยังกล่าวต่ออีกว่า ความมุ่งหวังของทางกลุ่มคือในหนึ่งปีคนกรุงเทพฯ และคนที่มาร่วมกับเราจะมองที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าเปลี่ยนไปจากเดิม คือจะมีความรู้สึกที่จะอยากทำให้มันมีชีวิตเพื่อให้มันมีความหมายต่อชุมชน เพื่อเป็นฐานในการผลักดันเชิงนโยบายต่อไป รัฐบาล ผู้แทนราษฎร หรือใครที่มาจากการเลือกตั้งภายหลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญแล้วจะเห็นว่าความสำคัญของที่ดินเป็นเรื่องที่จะต้องเอาจริงเอาจัง และคนกรุงเทพฯจะเข้าใจคนชนบท คนชนบทก็จะเข้าใจคนกรุงเทพฯ และมองเรื่องของที่ดินเป็นเรื่องของประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งสังคมไทยไม่ใช่คนแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

องค์กรที่ร่วมจัดและร่วมสนับสนุนการสร้าง Root Garden คือ มูลนิธิชัยวนาซึ่งให้ใช้พื้นที่ตรงปากซอยทองหล่อ 3 ในการทำ  root garden เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ เครือข่าย SVN เครื่อข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) องค์การ OXFAM ชุมชนเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายคนไร้บ้าน ทีมงานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่

พื้นที่-กาลเวลาของกรุงเทพฯ ผ่านมุมมอง 3 คนกรุง

จากนั้นมีการเสวนาโดย สันติสุข โสภณสิริ, สฤนี อาชวนันทกุล และตุล ไวฑูรเกียรติ ดำเนินรายการโดย ชลณัฏฐ์ โกยกุล

เริ่มจากความทรงจำของ ‘สันติสุข โสภณสิริ’ ภาพกรุงเทพฯ เมื่อ 50 ปีก่อนพื้นที่ส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ มีสวนและนาข้าว เขาแอบหนีแม่ไปเที่ยวว่ายน้ำแถวปากคลองสานซึ่งก็เป็นแหล่งท้องร่องสวน และแปลงนาข้าว แต่สวนที่เคยวิ่งเล่นตอนเด็กก็ไม่มีแล้วในปัจจุบัน เขาเล่าด้วยว่าสะพานข้างทองหล่อชื่อช้างโรงสี ชื่อเดิมของมันคือฉางโรงสี เพราะมีทั้งยุ้งฉางที่เก็บข้าวและโรงสี เป็นอู่ข้าวอู่น้ำอยู่ตรงนั้น แต่ต่อมาอาจเรียกเพี้ยนจากคนโบราณเพราะฟังฉางโรงสี เป็น ช้างโรงสี

‘สฤนี อาชวนันทกุล’ กล่าวถึงกรุงเทพฯ ที่เธอเห็นในสมัยเด็กคือย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน ตอนเด็ก ๆ ช่วงประถมก็เริ่มมีรถติดให้เห็นแล้วซึ่งทำให้เธอไปโรงเรียนสายแทบทุกวัน เธออยู่ย่านเอกมัย พื้นที่แถวบ้านก็มีแค่ห้องแถวและต้นไม้ สิ่งซึ่งเป็นที่ภาคภูมิใจอยู่บ้างคือแถวบ้านเป็นแหล่งร้านอาหารอร่อยเจ้าดังหลายร้าน พอเริ่มโตขึ้นก็เริ่มมีผับ บาร์มาตั้ง และในเวลาไม่นานนักผับบาร์ก็แข่งกันผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เกิดคอนโดขึ้นตามมาจนคนในละแวกบ้านเริ่มขายบ้านให้คนมาปลูกคอนโด ทำให้บ้านของเธอถูกล้อมรอบด้วยคอนโด วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปจากตอนเด็กๆ มาก  

‘ตุล ไวฑูรเกียรติ’ ย่านรัชดาเป็นย่านที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ตอนเด็ก ๆ อยู่ตรงพื้นที่ก่อนจะสร้างเป็นห้างฟอร์จูน ไปขี่จักรยานเล่นแถวนั้นกับเพื่อนๆ พอห้างฟอร์จูนสร้างก็ย้ายบ้านมาอยู่แถวเหม่งจ๋าย ตอนนั้นเหม่งจ๋ายมีแต่ทุ่งนาโล่งๆ รอบๆ หมู่บ้านที่อาศัยอยู่มีคนเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ตอนนี้เมืองโตขึ้นมาก จากทุ่งโล่งก็กลายเป็นถนนสายหลักอีกสายหนึ่ง ทำให้เห็นว่ากรุงเทพฯเติบโตแบบไม่มีการวางแผน ไม่ได้จัดการว่าที่ตรงไหนไว้พักอาศัย ที่ตรงไหนจัดให้เป็นผับบาร์หรือบันเทิง ดังนั้นเราจะเห็นว่าในกรุงเทพฯ หลายๆ สิ่งจะอยู่แบบผสมปนเปกันหมดเลย เราจะคาดเดาการเติบโตของกรุงเทพฯไม่ได้เลย การจัดสรรที่ดินไปเพื่อประโยชน์รวมพื้นที่สาธารณะก็แทบไม่มี 

ผู้ดำเนินรายการ ‘ชลณัฏฐ์’ ได้ถามถึง “การเปลี่ยนไปของเมืองส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนกรุงเทพฯอย่างไร” ในทัศนะของ ‘สันติสุข’ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราต้องมาคิดร่วมกันว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะซอยทองหล่อเป็นซอยที่มั่งคั่งที่สุด หน้าซอยอยู่ตรงถนนสุขุมวิทที่เป็นถนนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ โดยพื้นที่มันจะมีพื้นที่ทางการพัฒนาและพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่ทางการพัฒนามาก่อนการเริ่มมีถนน มีมาตั้งแต่สมัยปลาย ร.4 เมื่อก่อนเราเดินทางด้วยเรือ ผู้คนก็จะอยู่ริมน้ำที่สะดวกต่อการสัญจร หากจะเทียบสังคมไทยเป็นแบบที่ ‘ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา’ เรียกว่าเป็นสังคมแบบ Aquatic societies แต่เรากลับไม่ได้พัฒนาเมืองแบบอัมสเตอร์ดัมทั้งที่อ่าวไทยถูกเรียกว่าอัมสเตอร์ดัมน้อย หรือไม่ได้มีการจัดการเมืองแบบตะวันตกที่มีการจัดการเมืองที่ดี รักษารูปแบบวิถีดั้งเดิมไว้จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยมีความทันสมัยอยู่ภายในและความเก่าแก่อยู่ภายนอก แต่เรากลับปลูกบ้านปลูกเมืองแบบเกาะฮ่องกงราวกับไม่มีแผ่นดินอยู่จนทิ้งรากเดิม โดยการสร้างถนนพัฒนาเป็นย่านทันสมัย ในยุคเริ่มต้นนั้นเริ่มที่ย่านเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร ส่วนพื้นที่ทางการเมืองเข้ามาตั้งแต่ หลัง 2475 มีถนนสุขุมวิท พหลโยธิน ที่ตั้งตามชื่อของหัวหน้าคณะราษฎร เดิมทีถนนพหลโยธินตั้งชื่อว่าถนนประชาธิปไตยด้วย เพราะกิโลเมตรที่ศูนย์ ถ้านับจริง ๆ จะอยู่ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พื้นที่ทางการเมืองจึงเข้ามาก่อนยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์แล้ว เมื่อมาถึงถนนมิตรภาพเป็นชื่อที่ถูกเปลี่ยนโดยจอมพลสฤษดิ์ ไม่ได้ตั้งตามวันที่ 10 ธ.ค. อีกต่อไปแล้ว เพื่อไม่ให้มีนัยยะทางการเมือง ถนนสุขุมวิทเป็นถนนที่เส้นทางยาวไปถึงจังหวัดตราด โดยเป็นแหล่งท้องไร่ท้องนาแต่ก่อนห่างไกลจากวัดทำให้ถนนสายสุขุมวิทเป็นสายที่มีแหล่งอบายมุขอยู่เยอะ อีกส่วนคือเป็นย่านที่คนญี่ปุ่นและต่างชาติอยู่เยอะ

‘ชลณัฏฐ์’ ผู้ดำเนินรายการถามต่ออีกว่า “ก่อนหน้านี้จากการใช้ชีวิตอยู่กับคลอง เมื่อเปลี่ยนมาเป็นถนนวิถีชีวิตคนมันเปลี่ยนอย่างไร” ‘สันติสุข’ กล่าวว่า ความเปลี่ยนไปคือความงามของวิถีชีวิตแบบอยู่กับคลอง แต่ภาพที่เหลืออยู่ทุกวันนี้คือซอยทองหล่อมันมีถนนขนาดใหญ่ซึ่งทำให้สามารถสร้างตึกสูงได้ตามขนาดถนน และทะลุไปยังซอยอื่น ๆ ได้เยอะทำให้มีการสัญจรกันตลอดเวลา เป็นที่ที่คนญี่ปุ่นอยู่เยอะทำให้ทองหล่อถูกเรียกว่าลิตเติลโตเกียว ค่าที่ดินก็สูงพอ ๆ กับโตเกียว พื้นที่ตรงถนนเพชรบุรีก็เป็นพื้นที่ซึ่งทหารอเมริกันเอาเงินมาทิ้งที่นี่ในช่วงสงครามเวียดนามทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่าง RCA เป็นที่ท่องเที่ยวของวัยรุ่นในสมัยก่อนและเป็นแหล่งอาบอบนวดที่ใหญ่ที่สุดในสมัยก่อน

ส่วน ‘สฤนี’ มองว่า ในระแวกบ้านเมื่อกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่รถติดมาก ทำให้เราต้องคิดว่าเราทำอะไรได้แค่ไหน แถวละแวกบ้านมันมีอะไรเป็นข้อจำกัด เมื่ออยู่ในย่านทองหล่อหรือเอกมัย ในวันศุกร์ วันเสาร์เราถ้าเป็นไปได้ก็จะไม่ใช้รถเพราะว่ามันเข้าบ้านไม่ได้ ขณะเดียวกันพื้นที่มันก็มีห้างซึ่งเป็น community mall มากขึ้ มีส่วนทำให้เรามี contact มากขึ้น เพราะหากเป็นตึกออฟฟิสใหม่หรือคอนโดใหม่อย่างเดียวมันก็จำกัดโลกทัศน์ของเราเหมือนกัน เวลาเราจะใช้เวลาว่างหรือเจอเพื่อนจะไปเจอกันได้ที่ไหนบ้าง หรือตอนสมัยเด็ก ฟุตบาทสามารถเดินได้ แต่ตอนนี้ฟุตบาทที่ถูกทำขึ้นมันสกปรกเวลาเดินก็ต้องคอยระวังฝาท่อระบายน้ำ เมื่อคนหันมาใช้รถกันมากขึ้นก็ดูเหมือนรัฐจะให้ความสนใจพื้นที่ตรงนี้ลดน้อยลง ถ้าเราดูสังคมแถวนี้สังคมแถวทองหล่อมันก็จะมีอะไรซ้ำๆ กันอยู่แค่นี้ ถ้าไม่ได้ใช้ความพยายามเยอะที่จะไปที่อื่น ชีวิตก็จะวนอยู่แค่เดินห้าง ดูหนัง และก็ไปชิมร้านอาหารกับเพื่อน ๆ หรือไม่ก็ไปเดินดูชุดแต่งงานแถวนี้เพราะมันมีเยอะมาก

‘ตุล’ แสดงความเห็นว่า การเติบโตของสังคมเมืองเติบโตมากเสียจนรู้สึกสงสัยว่ามันมากเกินความจำเป็นรึเปล่า เมื่อมีคอนโดและโปรเจ็คใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายก็ทำให้เกิดธุรกิจที่เปิดใหม่มากมาย ถามว่าธุรกิจจะสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวหรือไม่ หรือมันอยู่ในจุดที่บูมเกินไป ผลักดันให้ค่าครองชีพของคนในละแวกนี้สูงมาก ขยับตัวแต่ละครั้งก็จะต้องเสียเงินไปหมด ไม่มีสวนสาธารณะให้พอได้ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรม

‘ชลณัฏฐ์’ ได้ตั้งคำถามต่อจากสิ่งที่ ‘ตุล’ ได้พูดไว้ “เรื่องของอาหารการกินที่คนเมืองเลิกที่จะผลิตเองแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่คนจะลุกขึ้นมาใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ” ‘สฤนี’กล่าวว่า สำหรับเธออาจจะไม่มีความสนใจในเรื่องนี้ แต่เสริมจากที่ ‘ตุล’ พูดไว้ว่าอาหารการกินแถวเอกมัย ทองหล่อมันแพงขึ้นมากต่อให้เป็นร้านห้องแถวก็มีราคาอาหารเท่ากับกินในห้าง เราอาจจะไม่ได้ตั้งคำถามต่อค่าครองชีพที่มันถีบตัวขึ้นมากและแรงกดดันต่าง ๆ จากที่ ‘ตุล’ ได้ตั้งคำถาม ว่ามันจะโตขึ้นได้อีกนานแค่ไหน ไม่มีถึงจุดที่มันจะชนเพดานหรืออย่างไร ส่วนตัวมองว่าตอนนี้มันยังไม่ถึงเวลาที่จะมาตั้งคำถามในจุดนั้น โดยเอาต้นทุนของคนเอกมัย-ทองหล่อเองที่ตั้งคำถามตอนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 54 พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ซึ่งในฤดูที่มีน้ำหลากแถวนี้จะท่วมตลอด หากแต่เมื่อปี 54 น้ำมันไม่ท่วม ตนเองก็เข้าใจได้ว่ามันเป็นการจัดการ เป็นการเมืองซึ่งตนก็รู้สึกแย่มากเพราะคนอื่นเดือดร้อนกันเป็นวงกว้าง มันมีการจัดการที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นการจัดการอย่างเป็นธรรมในเรื่องของการพิทักษ์ผลประโยชน์ทางธุรกิจ พื้นที่ตรงดอนเมืองถูกท่วมทั้ง ๆ ที่มันเป็นดอน เมื่อเราตั้งคำถามว่าน้ำประปาที่เราใช้ ไฟฟ้าที่เราใช้อยู่มันมาจากไหนมันก่อให้เกิดคำถามว่ามันจะยั่งยืนจริงหรือ หรือคิดว่ามันจะเป็นอย่างนี้ไปได้อีกนานรึเปล่า พื้นที่ตรงทองหล่อในอนาคตมันจะเป็นอย่างไรมันจะมีคอนโดผุดขึ้นอีก 50 โครงการได้หรือไม่ และรถยนต์มันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกเป็นล้านคันได้หรือไม่แต่เมื่อเกิดคำถามเราไม่สามารถที่จะไปต่อ ไปดูถึงตัวต้นทุนจริง ๆ พอเราไม่สามารถมองไปถึง มันทำให้เราขาดพลังที่จะไปถึงในการเรียกร้องหรือชี้ว่าจะให้ใครไปทำอะไร

‘ชลณัฏฐ์’ ผู้ดำเนินรายการได้ถาม ‘สฤนี’ เรื่อง “กระแสค่อนขอดคนเมืองที่อยากใกล้ชิดธรรมชาติ มันเป็นเรื่องโรแมนติกของคนเมือง มันเป็นเรื่องดัดจริตของคนเมือง กับมุมมองว่ามันจะไม่มีความยังยืน” ‘สฤนี’ ตอบว่า กาลเวลาก็จะพิสูจน์เอง เธอเองก็เป็นคนที่ไม่ได้เป็นคนอนุรักษ์ธรรมชาติ ชอบใช้ชีวิตแบบคนเมืองอยู่กับคอมพิวเตอร์มากกว่าอยู่กับนาข้าว แต่การจะมองว่ามันโรแมนติกหรือไม่โรแมนติกเป็นคำพูดที่มองได้สองมุม สมมุติว่าใครเดินผ่านไปผ่านมาซึ่งไม่รู้ว่าเขาจัดอะไรกันแต่เห็นมีผักมีฟางข้าวก็อาจจะเดินเข้ามาดูว่ามันโรแมนติกดี เราคิดว่าการที่เรามาเถียงกันว่าใครโรแมนติกหรือไม่โรแมนติก เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะว่าต่อให้โรแมนติก เราก็ต้องดูต่อไปว่าแล้วมันจะยังไงต่อ จะจุดประกายให้คนอื่นหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนมีความคิดที่หลากหลาย มีความต้องการที่หลากหลาย อาจจะมีคนอื่นที่อยากทดลองเข้ามาในพื้นที่แบบนี้ อยากปลูกผัก ทำอาหารกินเอง ซึ่งแต่ละคนจะได้ลงมาทดลองด้วยตัวเอง เป็นเจตจำนงที่แตกต่างจากห้าง พื้นที่ตรงนี้จะกระตุ้นให้คนเมืองได้เข้ามาและได้เห็นว่ามันเกิดปัญหาอะไรเกี่ยวกับที่ดินในเมืองไทย คนจนมีปัญหาอะไร คนชนบทมีปัญหาอะไร เราควรจะร่วมกันผลักดันอะไรบ้าง ซึ่งนี่เป็นเจตนาของผู้จัดที่แตกต่างกับเจตนาเวลาห้างจัดงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว แม้ว่ามองจากภาพอาจจะมองว่าคล้าย ๆ กัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรียนเล่นเล่น #5: การออกแบบรัฐในพม่า - เรียนกับดุลยภาค ปรีชารัชช

$
0
0

เรียนเล่นเล่นครั้งที่ 5 “การออกแบบรัฐในพม่า” กับดุลยภาค ปรีชารัชช ชี้ให้เห็นสาเหตุการย้ายเมืองหลวงพม่า จากย่างกุ้งสู่เนปิดอว์ และลักษณะของรัฐพม่าหลังมีรัฐธรรมนูญปี 2008 และการเลือกตั้งปี 2010 นั่นคือ “รัฐประชาธิปไตยอำนาจนิยมกึ่งสหพันธ์ใต้เงาองครักษ์” ตามแนวทางประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย รัฐสภากันโควต้า 25% ให้ทหาร ขณะที่ไม่ยอมปล่อยให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่า มีสิทธิการปกครองตนเองเต็มที่

คลิปการนำเสนอ “การออกแบบรัฐในพม่า” อภิปรายโดยดุลยภาค ปรีชารัชช ในการเสวนา “เรียนเล่นเล่น” ครั้งที่ 5

 

 

19 ม.ค. 2558 – ในการเสวนา “เรียนเล่นเล่น” ครั้งที่ 5 หัวข้อ “การออกแบบรัฐในพม่า” เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2557 มีดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์จากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บรรยายนั้น

000

ครบ 9 ปี ย้ายเมืองหลวงสู่เนปดอว์ กับคติ "เบิกยุคใหม่" ของกองทัพพม่า

เริ่มการบรรยาย ดุลยภาค ตอบคำถามที่ผู้ดำเนินรายการตั้งต้น เรื่องโครงสร้างประชากรของพม่าที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากพม่าย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์ ครบรอบ 9 ปี โดยปัจจุบันกรุงเนปิดอว์ กลายเป็นเมืองที่มีประชากรเป็นอันดับ 2 ของพม่า มีประชากร 1.5 ล้านคน แทนที่เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่ทางพม่าตอนบนซึ่งกลายเป็นเมืองอันดับสาม มีประชากร 9.5 แสนคน ขณะที่นครย่างกุ้ง ยังคงมีประชากรเป็นอันดับ 1 มีประชากร 5.2 ล้านคน

ดุลยภาค กล่าวว่า การย้ายเมืองหลวงไปใจกลางประเทศไม่ใช่เรื่องแปลกในเชิงประวัติศาสตร์โลกและกระบวนการบริหารรัฐกิจในเชิงเปรียบเทียบ เรามีตัวอย่างว่าด้วยเรื่องของดุลประชากร เช่น กรณีรัฐบาลตุรกีย้ายเมืองหลวงจากอิสตันบลูไปอังการา บริเวณที่ราบสูงอนาโตเลีย เพื่อทำให้ดุลประชากรที่แน่นทางชายฝั่งเขยิบเข้าไปในพื้นที่ตอนในมากขึ้น กรณีรัฐบาลไนจีเรียย้ายเมืองหลวงจากเมืองท่าลากอสไปอาบูจา ตำแหน่งใจกลางของประเทศคล้ายคลึงกับกรุงเนปิดอว์มาก และพื้นที่ใจกลางของไนจีเรียก็ไม่ห่างจากพื้นที่กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์มากนักจึงน่าเชื่อว่าสถาปัตยกรรมเมืองหลวงที่เนรมิตขึ้นมาใหม่อาจจะเบิกยุคใหม่และเป็นสัญลักษณ์แห่งการสมานฉันท์ภายในประเทศ

บ้างก็ว่าบางเมืองหลวงนั้นเป็นมรดกอาณานิคมเก่า รัฐบาลทหารโดยเฉพาะที่เป็นลัทธิชาตินิยมจึงอาจรับไม่ได้กับมรดกที่เป็นความเอือมระอา อัปยศอดสูในประวัติศาสตร์ชาติ จึงจำเป็นต้องเบิกราชธานีใหม่

เมื่อพิจารณาทางรัฐพม่า น่าสนใจอย่างยิ่งที่ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ได้ประกาศย้ายเมืองหลวงเมื่อปลายปี 2005ในเรื่องของเรขาคณิตทางภูมิศาสตร์นั้น หากเราเอาเรื่องของแผนที่รัฐพม่าเป็นตัวตั้ง แล้ววางหมุดตั้งราชธานีตรงใจกลางของรัฐ เนปิดอว์เป็นตำแหน่งเช่นว่า เพราะเนปิดอว์อยู่ระหว่างย่างกุ้งและมัณฑะเลย์

ขณะที่เหตุผลการย้ายเมืองหลวงนั้น บ้างก็ว่าเป็นเหตุผลด้านยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง เพราะย่างกุ้งก็เต็มไปด้วยสายลับของรัฐบาลต่างชาติ ขณะเดียวกันก็อยู่ใกล้ปากแม่น้ำอิระวดี ไม่ไกลจากอ่าวเมาะตะมะ ขณะที่ในเวลานั้นความสัมพันธ์ของรัฐทหารพม่ากับสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้นไม่ดี จึงไม่แปลกที่ผู้นำทหารจะตัดสินใจเช่นนั้น

แต่จะเป็นเพียงเหตุผลเดียวหรือไม่ คิดว่าคงไม่ใช่ สถาปนิกผู้สร้างรัฐพม่าอาจจะมองไปถึงการเนรมิตเมืองหลวงในตอนกลางของพม่า ในการพิจารณาทำเลอื่นเป็นเมืองหลวงใหม่ จากการพูดคุยกับชาวพม่า ตอนแรกเชื่อว่าจะมีการย้ายเมืองตองอู ที่อยู่ในหุบเขาสะโตง แต่ก็เป็นที่ราบขนาดแคบเกินไป จะมีปัญหาในการขยายเมือง อีกเมืองหนึ่งคือมิตถิลา เมื่อไม่กี่ปีก่อนเราได้ยินเรื่องจลาจลระหว่างชุมชนพุทธกับมุสลิม โดยเมืองนี้ ถือเป็นศูนย์กลางกองทัพอากาศของพม่า มีกรมทหารราบเบาหลายแห่ง อย่างไรก็ตามแม้ที่นี่จะเป็นฮับ ถนนหลายสายมาตัดที่นี่ อย่างไรก็ตามพื้นที่ขุนเขารอบเมืองยังไม่หนาแน่นพอ

ดังนั้น พื้นที่ซึ่งเหมาะสมในการขยายเมืองทั้งยุททธศาสตร์ด้านการพัฒนา และพื้นที่มั่นทางความมั่นคง คือเหตุหุบเขาสะโตงตอนบน เนปิดอว์มีที่ราบขนาดใหญ่พอสมควรในการขยายเมือง ขนาบด้วยเทือกเขาพะโค และเทือกเขาฉาน และเทือกเขาฉานมีทางลึกพอที่จะสร้างคลังเก็บขีปนาวุธ ดังนั้นลุ่มน้ำสะโตงจะมีเหตุผลที่พม่าจะสร้างเมืองหลวงใหม่ ซึ่งต่างจากลุ่มน้ำอิระวดีที่อังกฤษเคยส่งเรือกำปั่นขึ้นไปบุกถึงเมืองหลวงเก่าที่อังวะ-มัณฑะเลย์

นอกจากนี้ ลุ่มน้ำสะโตงถือเป็นประวัติศาสตร์กองทัพ ถือเป็นความภาคภูมิใจของกองทัพพม่า เพราะนายพลออง ซาน ใช้แถบนี้ตีโต้กองทัพอังกฤษและญี่ปุ่น และพื้นที่เนปิดอว์ มีพื้นที่ที่กว้างพอจะเนรมิตศูนย์ราชการ ถ้าเราไปเที่ยวเนปดอว์ หรือเห็นถ่ายทอดสดจากกีฬาซีเกมส์ จะเห็นถนนขนาด 8 เลน ในการบริหารจัดการการชุมนุมจะเหนื่อยมาก เพราะถนนกว้าง การระดมคนจะสะเปะสะปะ นอกจากนี้ก็อาจถูกขนาบด้วยกองพันรถถัง

นอกจากนี้ยังมีอาคารกลาโหม และศูนย์บัญชาการกองทัพภาคแห่งที่ 13 ซึ่งน้อยคนที่จะได้ไปเห็นพื้นที่ทหารของเนปดอว์ ซึ่งในนั้นมีอาหารกลาโหมขนาดใหญ่ และมีเครือข่ายขีปนาวุธหลายๆ อย่างใต้ดิน จะเห็นได้ว่า พม่าใช้การสร้างรัฐผ่านการสร้างเมืองหลวงเนปิดอว์ แล้วแบ่งส่วนของงานยุทธศาสตร์การพัฒนา และยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง สะท้อนมโนทัศน์การเบิกยุคใหม่ของกองทัพพม่า

000

สถาปัตยกรรมเมืองหลวงแบบสลายพลังประชาสังคม

ดุลยภาค ตอบคำถามเรื่องสาเหตุการใช้พื้นที่เนปดอว์เป็นเมืองหลวง ว่ามีการเตรียมพร้อมสำหรับการขยายเมืองหรือไม่ ดุลยภาคแนะนำให้อ่านงานของไมเคิล อ่อง ทวิน ที่ชี้ว่าเครือข่ายปลูกข้าวของพม่ามีหลายจุดในยุคลุ่มแม่น้ำอิระวดี แต่ก็มีแหล่งปลูกข้าวหลายจุดที่อยู่ใกล้ลุ่มน้ำสะโตง ดังนั้นในแง่หาเสบียงอาหารสำหรับการตั้งรับข้าศึก การแปลงให้เป็นศูนย์กลางกสิกรรม และการพัฒนาพื้นที่ตอนใน ทำเลของเนปิดอว์ค่อนข้างเหมาะสม

ในเชิงประวัติศาสตร์การทหารเปรียบเทียบ นักยุทธศาสตร์ทางทหารไทย อยากเปรียบเทียบเนปิดอว์ ในลุ่มน้ำสะโตง กับเพชรบูรณ์-ลพบุรี ในลุ่มน้ำป่าสัก เพราะทั้งสองแห่งมีพื้นที่เพาะปลูก และมีโตรกหินชั้นผา สำหรับการเก็บคลังยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตามโครงการสร้างเมืองหลวงที่เพชรบูรณ์สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถูกตีตกไปในชั้นรัฐสภา นอกจากนี้เงื่อนเวลาทางประวัติศาสตร์ของการพิจารณาสร้างเมืองของทั้ง 2 แห่งก็ต่างเงื่อนเวลากัน เนปดอว์เป็นเมืองยุคหลังสงครามเย็น ส่วนลพบุรี-เพชรบูรณ์ เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ในด้านความเหมาะสมด้านการจัดการบริหารราชการ ดุลยภาค กล่าวว่า คนไทยอาจจะคุ้นกับศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะแถวปากเกร็ด กระทรวง ทบวง กรม รวมทั้ง บก.กองทัพไทย ย้ายไปที่แห่งนั้น ก็จะมีอารมณ์คล้ายๆ กัน ที่เนปิดอว์นั้นตึกเก่าๆ ที่คับแคบถูกเนรมิตใหม่ เป็นตึกที่มีขนาดใหญ่พอสมควร การประชุมต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองมีความสง่างาม ซึ่งถือเป็นจริตของชนชั้นนำพม่าที่ไม่สร้างอะไรเล็กๆ นิยมสร้างสิ่งใหญ่ๆ ดังนั้นเนปิดอว์มีความเหมาะสมหลายประการ ที่สำคัญมีกลยุทธกลศาสตร์ซ่อนในระบบผังเมือง กล่าวคือ กระทรวง ทบวง กรม บางจุด ที่ตั้งจะไม่ได้ถูกเชื่อมด้วยระบบซอยย่อย แต่จะมีถนนหลักเส้นหนึ่ง และจะมีซอยย่อยไปที่กระทรวง แต่ถนนเส้นนั้นจะตัน ไปต่อจุดอื่นไม่ได้ และอาคารต่างๆ จะไกลกันพอสมควร ที่สำคัญอาคารจะมีความสูงจะไม่สูงมาก ไม่ตั้งเบียดเสียดเหมือนเมืองในมหานครทั่วไป ซึ่งเหมาะสำหรับป้องกันการปิดล้อม หรือป้องกันการลุกฮือของข้าราชการ

ทั้งนี้มีสถาปนิกชาวอินเดีย เคยเข้ามาดูกรุงเนปิดอว์ และเสนอว่าเรขาคณิตทางภูมิศาสตร์ผังเมืองที่ลงตัวมากๆ หมายถึงว่า พลังประชาสังคมที่จะตั้งม็อบเขย่ารัฐ หรือเอาพลังข้าราชการมาร่วมด้วย น่าจะยากมากๆ เพราะว่าทุกอย่างถูกล็อกไว้ ฝูงชนไม่มีแรงขับเคลื่อนมากนัก หากดูในเชิงรัฐเปรียบกับสังคม รัฐมีความได้เปรียบ เพราะฉะนั้นเรื่องผังเมือง ทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน และสถานการณ์คับขัน เนปิดอว์ถูกออกแบบไว้ทั้งสองแบบ

000

รัฐพม่ายุคหลัง "ตานฉ่วย": "รัฐประชาธิปไตยอำนาจนิยมกึ่งสหพันธ์ใต้เงาองครักษ์"

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมตานฉ่วย ชนชั้นนำทหารพม่า จึงตัดสินใจให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยอมให้มีการเลือกตั้ง จนมีรัฐบาลพลเรือนของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ปี 2011 ดุลยภาคกล่าวว่า ลักษณะของรัฐพม่าตั้งแต่หลังร่างรัฐธรรมนูญ 2008 จนปัจจุบัน คือ "รัฐประชาธิปไตยอำนาจนิยมกึ่งสหพันธ์ใต้เงาองครักษ์" เป็นประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย ที่ชนชั้นทหารแทรกตัวเข้าไปอยู่ในโครงสร้างการปกครองทุกระดับ นี่คือการพัฒนาที่ต้องเดินควบคู่กับความมั่นคง

คำว่า “กึ่งสหพันธ์” หมายถึง ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพม่าสมัยเนวินและตานฉ่วย มักปกครองพม่าให้เป็นรัฐเดี่ยว ดินแดนชาติพันธุ์ปกครองโดยแม่ทัพภาค เจ้าหน้าที่ระดับตำบล อำเภอ หมู่บ้าน มักจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือเป็นคนของรัฐบาล นี่เป็นโครงสร้างกองทัพบกที่ครอบทับรัฐพม่าในสมัยตานฉ่วย แต่ปัจจุบัน พม่าเป็นรัฐแบบกึ่งสหพันธ์ เพราะมีเจ็ดรัฐสำหรับชนชาติพันธุ์ มีเจ็ดภาคสำหรับชนชาติพม่าแท้ 14 หน่วยบริหารราชการแผ่นดินนี้ทุกหน่วยมีรัฐสภาและรัฐบาลเป็นของตัวเอง ประชาชนใน 14 หน่วยการปกครองเลือกตั้งสมาชิกและจัดตั้งรัฐสภาและมีคณะรัฐมนตรีขึ้นประจำภาคและรัฐ แต่ทุกโครงสร้างการปกครองต้องแบ่งสัดส่วนให้กองทัพ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25

"ใต้เงาองครักษ์" นั่นคือ ทุกอย่างต้องอยู่ในหูในตาของทหารพม่า หากเบี่ยงเบนมากเกินไปทหารจะกลับมากระชับอำนาจ ถ้าหากไม่เบี่ยงเบนมากเกินไป ก็จะปล่อยให้มันเป็นไป

ต่อคำถามที่ว่า ทำไมตานฉ่วยถึงยอมให้รัฐพม่าที่ทหารเข้มแข็งมีหน้าตาแบบนี้ ดุลยภาคตอบว่า หนึ่ง ปัจจัยจากจีน ในเวทีระหว่างประเทศมีรัฐที่คว่ำบาตรพม่าเยอะมาก ทั้งสหรัฐอเมริกา ชาติตะวันตก อีกกลุ่มคือรัฐที่ส่งเสริมรัฐบาลพม่า หนึ่งในนั้นมีจีนเป็นตัวหลัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเป็นสิบๆ ปี ดูเหมือนอิทธิพลจีนจะสูงมากในพม่า ทำอย่างไรพม่าจะสลัดจะอิทธิพลจีน ทำอย่างไรเศรษฐกิจพม่าที่ดูล้าหลังเพื่อนบ้านจะเติบโตขึ้นมาทัดเทียม หนึ่งในนั้นจะต้องมีระบอบการเมืองใหม่ คือยอมให้มีตรงนี้เกิดขึ้น

แต่สิ่งที่ต้องท่องไว้เสมอคือ ชนชั้นนำทหารพม่ามักประกาศอุดมการณ์แห่งชาติสามประการ คือ หนึ่ง มิให้สหภาพแตกแยก สอง มิให้สามัคคีของคนในชาติถูกทำลาย และสาม อธิปไตยต้องมั่นคง นั่นคือ ประชาธิปไตยตะวันตกมาก สหพันธรัฐที่แท้จริงมาก การแทรกแซงมนุษยธรรมจากรัฐมหาอำนาจ เป็นสิ่งที่กองทัพพม่ากลัว เมื่อกลัวสิ่งนี้จึงออกแบบให้พม่าเป็นสังคมเปิดขึ้น สู่ชุมชนนานาชาติ มีการกระจายอำนาจมากขึ้น แต่ทุกอย่างต้องมีส่วนกลางหรือกองทัพล็อกไว้อยู่เป็นจุดสมดุลของสถาปัตยกรรมทางการเมือง เพราะฉะนั้น รัฐพม่าหน้าตาใหม่จึงมีการผสมผสานกันระหว่างการพัฒนากับความมั่นคงด้วยอุดมการณ์แห่งชาติสามประการ

อดีตประธานาธิบดี ตานฉ่วยมักบอกว่า การออกแบบรัฐพม่าเกิดจากสองสิ่งบรรจบกัน หนึ่งคือ ในประวัติศาสตร์ กองทัพมักถือตัวเองเป็นวีรบุรุษ หรืออัศวินขี่ม้าขาวที่เข้ามากู้วิกฤตเสมอ กองทัพเข้ามายึดกุมอำนาจการปกครอง 4 ยุคคือปี 1948, 1958, 1962 และ 1988 แต่กองทัพมักประกาศว่าไม่ได้คิดยึดอำนาจ แต่เข้ามาเพื่อป้องกันการแตกสลายของประเทศ

สุดท้าย คือ การร่างรัฐธรรมนูญ ให้ทุกคนเขามามีส่วนร่วมร่าง แต่สกรีนเอาคนที่กองทัพไว้วางใจเข้ามา และมักพูดเสมอว่า ใครก็ตามที่ผูกพันกับต่างชาติเป็นพิเศษอาจจะหมายถึงอองซานซูจี คนเช่นนี้เป็น ศัตรูของปลายด้านขวาน เป็นศัตรูความมั่นคงของรัฐ เขาจะสกัดคนพวกนี้

"เพราะฉะนั้น ต้องยอมรับความจริงก่อนว่า หน้าตาของรัฐในพม่าถูกเปลี่ยนจากบนลงล่าง โดยชนชั้นนำทหาร ไม่เป็นประชาธิปไตยเพียวๆ มีลักษณะของอำนาจนิยมด้วย แต่กองทัพไม่ชอบการเมืองแบบพรรคเหมือนนักการเมือง แต่จะเล่นกับการเมืองแบบผลประโยชน์ของชาติ"

000

อำนาจกองทัพพม่าตามรัฐธรรมนูญ โควตา 25% ในสภา และอำนาจสูงสุดของสภากลาโหม

ในด้านรัฐสภาพม่า ถือว่ามีนวัตกรรมการออกแบบที่ต่างจากในอดีตที่เป็นรัฐสภาทหาร โดยปัจจุบันออกแบบให้กระจายอำนาจมากขึ้น โดยมีสามสภา ใช้คำว่า "ลุดต่อ" ซึ่งเป็นภาษาพม่าโบราณยุคราชวงศ์กษัตริย์แปลว่าสภาเสนาบดี ปัจจุบันนำมาใช้แปลว่ารัฐสภาของพม่า ตั้งอยู่ที่เนปิดอว์ มีสามส่วนหลัก หนึ่ง สภาส่วนกลาง (สภาแห่งสหภาพ) แบ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎรและสภาชนชาติ สอง สภา 14 แห่ง ประจำรัฐและภาค สาม สภาสำหรับเขตปกครองพิเศษ สำหรับชนชาติว้า ปะโอ ปะหล่อง ทะนุ โกก้าง นาคา แต่ทุกส่วนจะกันสัดส่วนไว้ให้กองทัพเข้าไปควบคุม

ยกตัวอย่าง สภาผู้แทนราษฎรมี 440 ที่นั่ง 330 เลือกมาจากเขตตำบลต่างๆ ทั่วประเทศ อีก 110 ที่นั่ง ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่าจะตั้งสมาชิกทหารเข้าไปโดยตรง

อีกปีกหนึ่ง วุฒิสภา หรือสภาชนชาติ 224 ที่นั่ง 56 ที่นั่งเป็นทหารแต่งตั้ง ส่วนอีก 168 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้ง ตรงนี้รัฐบาลพม่าประณีตมากในการออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งรัฐ เนื่องจากชนเผ่าพม่ามีดุลประชากรมากกว่าชนเผ่าอื่น เพราะฉะนั้น ในสนามเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 330 ตำบล คนพม่าที่มีสัดส่วนมากกว่าก็จะได้เปรียบเข้าไปนั่งในสภามากกว่า ในการออกแบบสภาชนชั้นจึงใช้สูตร 168 นั่นคือ 14 หน่วยการปกครอง แต่ละหน่วยเลือกได้ 12 คนเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น รัฐขนาดเล็กเช่น รัฐมอญ รัฐคะยาห์ (คะเรนนี) ซึ่งพื้นที่เล็กและประชากรน้อยทำให้เสียเปรียบในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร แต่สามารถเข้ามาชดเชยแบบเท่าเทียมกันในสภาชนชาติได้ ตรงนี้คือการออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งรัฐที่พม่ามองว่าสมน้ำสมเนื้อและลดความแตกร้าวทางชาติพันธุ์ เพียงแต่ต้องคงอัตราส่วน พลเรือน 3 : ทหาร 1 หรือทหารร้อยละ 25

ส่วนสัดส่วนการบริหารประธานาธิบดีเป็นผู้คุมอำนาจสูงสุดทางบริหารรัฐกิจ แต่พม่าตั้งกล่องดวงใจไว้หนึ่งกล่องนั่นคือ รัฏฐาธิปัตย์ที่แท้จริง หมายความว่า ในสภาวะปกติ ประธานาธิบดีจะเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ถ่ายทอดลงมาที่ส่วนกลาง 30 กว่ากระทรวง ส่วนภูมิภาค 14 รัฐ ที่มีผู้แทนของตัวเอง สภามาจากการเลือกตั้ง และเลือกคณะรัฐมนตรีขึ้นมา เพียงแต่มุขมนตรีของแต่ละคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

แต่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าเมื่อใดก็ตามที่บ้านเมืองสับสนวุ่นวาย ไร้ระเบียบ เสี่ยงต่อเอกภาพของพม่า ประธานาธิบดีต้องประกาศสภาวะฉุกเฉิน และถ่ายโอนอำนาจทั้งหมดให้ ผบ.สส. และเมื่อ ผบ.สส.ขึ้นมากุมอำนาจ โครงสร้างสถาบันในระดับปกติ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จะถูกแปรสภาพเป็นโครงสร้างของกองทัพ เช่น มีคดีพิพาทก็ขึ้นศาลทหารแทนศาลพลเรือน

ในการส่งต่ออำนาจจากพลเรือนสู่กองทัพ ในปี 2010 – 2011 กองทัพจัดระเบียบให้เป็นปกติ จัดการเลือกตั้ง แล้วคืนอำนาจสู่พลเรือน จะมีกล่องดวงใจเป็นสุดยอดรัฏฐาธิปัตย์ คือ สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ เป็นองค์กรบริหารประเทศทั้งในสภาวะปกติและสภาวะฉุกเฉิน

ในสภาวะปกติ สภากลาโหมฯ มีสมาชิก 10 กว่าคน ผบ.สส. ประธานาธิบดี เจ้ากระทรวงบางกระทรวงเป็นสมาชิก จะตัดสินใจกำหนดนโยบายสาธารณะที่เป็นนโยบายรัฐที่สำคัญบางประการ เช่น นโยบายเศรษฐกิจมหภาค นโยบายความมั่นคงการป้องกันประเทศ

แต่เมื่อใดก็ตามที่ประเทศปั่นป่วนผิดปกติ สภากลาโหมจะบอกประธานาธิบดีว่าสมควรประกาศสภาวะฉุกเฉิน แล้วสภากลาโหมจะแต่งตั้ง ผบ.สส. และอนุมัติเวลาให้ ผบ.สส. เช่น มีเวลาหนึ่งปีสำหรับประเทศสู่สภาวะปกติ แต่ถ้าทำไม่ได้ จะอนุญาตให้มีการเพิ่มเวลาได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามกรอบรัฐธรรมนูญด้วย

โดยสรุป การบริหารราชการแผ่นดินของพม่า ประกอบด้วย รัฐบาลส่วนกลางประจำสหภาพ รัฐบาลรัฐสภา 7 รัฐ 7 เขต รวม 14 แห่ง ดินแดนปกครองพิเศษ ซึ่งมีสภาและผู้ปกครองพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อีก 6 แห่ง และดินแดนสหภาพ ซึ่งเป็นเขตบริหารสำหรับเมืองหลวงที่เนปิดอว์

“พม่าวันนี้แปรรูปเปลี่ยนร่างจากรัฐเผด็จการทหารอำนาจนิยมเข้าสู่รัฐประชาธิปไตยอำนาจนิยมแบบสหพันธ์ลูกผสมใต้เงาองครักษ์ผู้พิทักษ์รัฐ พม่าจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตมีประเด็นให้ขบคิดหลายประการ บ้างก็ว่า กองทัพจะปรับตัวอย่างไร ท่ามกลางโครงสร้างเชิงอำนาจที่แปรเปลี่ยนไป แน่นอนการกำหนดนโยบายสาธารณะไม่ได้ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำทหารอีกต่อไปแล้ว จะมีขุนนาง ผู้เชี่ยวชาญ ข้าราชการ พลเรือนเพียวๆ และพลเรือนที่มีภูมิหลังเป็นทหารผสมกันไป อำนาจก็จะกระจัดกระจาย แต่อย่างน้อย พม่ามีการแบ่งแยกระหว่างกองทัพกับพลเรือนชัดเจนขึ้นกว่าแต่ก่อน เห็นได้จากโครงสร้างสถาบันการเมืองต่างๆ เช่น อัตราส่วน 3 : 1 ระหว่างสมาชิกพลเรือนกับทหาร”

อิทธิพลของ ผบ.สส. ยังคงดำรงอยู่ แต่ไม่ได้มีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีเต็งเส่ง ส่วนตัวมองว่า ผู้มีอำนาจในรัฐพม่าเป็นทวิภาวะ โดยในภาวะปกติคือ เต็งเส่ง ในภาวะไม่ปกติ คือ ผบ.สส. แต่คนที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่จะตัดสินว่ามันอยู่ตรงไหน คือรัฐสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกล่องดวงใจที่รวมแผงอำนาจของชนชั้นนำในภาคระบอบลูกผสม คือเป็นการผสมผสานระหว่างองค์ประกอบของพลเรือนกับทหาร มาเป็นกล่องดวงใจในการกำหนดนโยบายหรือทิศทางของประเทศ เพราะประวัติศาสตร์พม่าเป็นการชนกันระหว่างทวิขั้ว นั่นก็คือ ขั้วแรก พม่ามักจะเกิดสภาวะที่รัฐบาลพลเรือนอ่อนแอท่ามกลางความแตกแยกของสังคมอย่างรุนแรง กับอีกสภาวะหนึ่งคือ รัฐบาลทหารเข้มแข็งเกินไป จนทำให้เกิดการตีบตันในระบบรัฐสภาและการเมืองแบบพหุพรรค สุดท้ายแล้ว เพื่อไม่ให้รัฐเกิดความล้มเหลว มีการพัฒนาควบคู่กับความมั่นคง จึงมีการเนรมิตระบอบลูกผสม ให้พลเรือนสามารถอยู่กับทหารได้ และนี่ว่ากันว่า จะเป็นวัคซีนที่เยี่ยมมากในการต้านรัฐประหารโดยกองทัพ เพราะจัดกองทัพอยู่ในระบบการเมืองเป็นทางการและปกติ ตรงนี้เองที่เป็นการแก้เกมของชนชั้นคณะผู้จัดการรัฐพม่าในการออกแบบรัฐธรรมนูญหรือสถาปัตยกรรมการปกครอง

“ปัญหาที่ท้าทายในอนาคต พม่าจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้เพียงใด กลิ่นอายแบบอำนาจนิยมจะหมดไปได้แค่ไหน จะเป็นสหพันธรัฐโดยแท้หรือไม่ หรือจะเป็นกึ่งสหพันธรัฐอย่างที่เป็นเช่นนี้”

000

ช่วงตอบคำถาม: ยากที่พม่าจะกลับสู่ยุคทหารเต็มใบ และจุดบอดของพรรค NLD และออง ซาน ซูจี

ในช่วงถามตอบ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข สอบถามว่า หนึ่ง ศักดิ์และสิทธิของผู้แทนภาคและผู้แทนรัฐเท่ากันหรือไม่ สอง รัฐธรรมนูญพม่าออกแบบมาสำหรับการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ คือเป็นรัฐธรรมนูญที่ยอมรับการรัฐประหารโดยตัวเองใช่ไหม กำลังกลัวว่าโมเดลนี้จะนำมาใช้กับเพื่อนบ้าน สาม ถ้าการเลือกตั้งคราวหน้า พรรคสันนบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ได้ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 1990 คือ 92% เขาไม่กลัวหรือ

ดุลยภาคตอบคำถามว่า หนึ่ง เจ็ดภาค เจ็ดรัฐ ในพม่าสถานะเท่ากัน สอง จะมองว่าเป็นรัฐประหารโดยได้รับความชอบธรรมจากรัฐธรรมนูญก็ถูก เพราะนี่คือการออกแบบเป็นลายลักษณ์อักษรให้อยู่ในกฎหมายมหาชนที่สูงที่สุดในประเทศ แต่การจะเกิดรัฐประหารตอนนี้สำหรับพม่าอาจจะค่อนข้างยากเพราะ หนึ่ง ทหารจำนวนไม่น้อยเข้าไปในระบบการเมืองสภาเกือบห้าปีแล้ว มีปฏิสัมพันธ์กันในสภาระดับต่างๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น สอง ความสัมพันธ์ระหว่าง รัฐ สังคม และตลาดผ่านการจัดการปกครอง มันควบแน่นและมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น ทหารพม่าเริ่มเรียนรู้หลายๆ อย่าง แต่คงจะไม่ปรับตัวเร็วไปนัก แต่ทหารนักปฏิรูปสำหรับชนชั้นที่ยังอายุไม่มากก็ไม่แน่ ต้องใช้เวลาวิเคราะห์กันต่อไป สาม สภากลาโหมฯ จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดการถ่ายโอนอำนาจโดยไม่ต้องเคลื่อนรถถัง นั่นก็คือเขาจะเป็นคนพิจารณา และในนี้จะเป็นการผสมผสานกันระหว่างคนของกองทัพกับคนของพลเรือนอยู่แล้ว

ส่วนคำถามในข้อสาม เรื่องของพรรค NLD มองว่า คณะผู้จัดการรัฐพม่ากลัวนางอองซานซูจี เพราะนานแล้วที่อองซานชนะการเลือกตั้งเมื่อ 1990 ซึ่งสร้างความอัศจรรย์มาก เป็นพลังพิเศษที่อาจไม่ได้มาจากพ่อของเธอซึ่งเป็นผู้นำเรียกร้องเอกราช และผู้นำกองทัพพม่าสมัยใหม่ แต่คราวนี้ อองซานซูจีติดกับดักชิ้นหนึ่ง คือการห้ามคนที่มีสามีเป็นคนต่างชาติ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี นางอองซานซูจีเองตอนนี้ก็อยู่ในสภาวะกระอักกระอ่วนใจทางการเมืองว่าจะลุกหรือถอยดี บางครั้งก็ออกมาประกาศว่าจะไม่ลงเลือกตั้งในปี 2015 บางครั้งบอกว่า ลงแต่ประชาชนต้องออกมาเยอะๆ ลงประชามติและบีบให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ตรงนี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง

แต่คู่ท้าชิงของออง ซาน ซูจีก็น่ากลัวมิใช่น้อย หนึ่งคือ เต็งเส่งจะลงสมัยที่สองหรือไม่ ข่าววงในว่า เต็งเส่งยังตัดสินใจไม่ได้ ทั้งนี้ คนชื่นชอบเขาเยอะในฐานะนักปฏิรูปและมีภาพลักษณ์ในเวทีระหว่างประเทศไม่ได้ด้อยกว่าอองซานซูจีมากนัก แต่มีปัญหาสุขภาพคือเป็นโรคหัวใจ บางครั้งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจด้วย จะไหวหรือเปล่า คู่ชิงที่สองคือ ประธานรัฐสภา ฉ่วยมา อดีตเสนาธิการร่วมสามเหล่าทัพ เคยตีค่ายกระเหรี่ยงแตก เป็นนักชาตินิยม แต่ทุกอย่างก็ย้อนแย้งมาก เพราะใครจะคิดว่าประธานรัฐสภาจะเป็นคนออกมารณรงค์ให้พม่ายอมรับสหพันธรัฐ ในวงเล็บว่า ไม่มากเกินไป สาม ผบ.สส. มินอองลาย จะลงไหม อายุยังน้อยเพียง 50 ต้นๆ อำนาจบารมี ห่างจากเต็งเส่งเกือบสิบปี แต่ในปี 2015 มินอองลายจะหมดสถานะจะเป็นผบ.สส. แล้วอนาคตจะเป็นอะไร เพราะฉะนั้น นี่คือ คู่แข่งที่น่ากลัวไม่น้อยสำหรับนางอองซานซูจี และเมื่อดูสนามเลือกตั้งอื่นๆ เช่น ในรัฐชาติพันธุ์ต่างๆ ส่วนตัวไม่คิดว่าพรรค NLD จะได้คะแนนมาก เพราะจะถูกแซมด้วยพรรคชาติพันธุ์ต่างๆ

คำถามจากผู้ร่วมฟังเสวนาต่อมา ถามว่า รอบๆ ตัว ออง ซาน ซูจี ดูเหมือนจะมีแต่คนรุ่นเก่าๆ มีแนวโน้มที่ NLD จะมีตัวเล่นใหม่ๆ ที่น่าสนใจเข้ามาที่จะเข้าถึงฐานเสียงที่มากขึ้นไหม

ดุลยภาคตอบว่า มีจุดบอดในพรรค NLD นานแล้ว นั่นคือ การครองความโดดเด่นแบบเอกเทศของนางออง ซาน ซูจี เป็นทั้งนักปฏิรูปเสรีนิยม แต่ก็มีแนวคิดอนุรักษนิยมในหลายประเด็น ทายาทใหม่ในพรรคก็ค่อนข้างจะตีบตันเมื่อเทียบกับพรรคฝั่งรัฐบาลกองทัพ ยิ่งกว่านั้น ตอนเลือกตั้ง 2010 ก็มีสมาชิกส่วนหนึ่งแยกไปตั้งพรรคใหม่คือพลังประชาธิปไตยแห่งหรือ NDF เพราะตอนนั้น ซูจีประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ส่วนที่แยกออกมาใหม่จึงมาแข่งกับพรรคเดิมเอง แต่ NDF ก็ได้ที่นั่งแค่เล็กน้อย ส่วน NLD ฟื้นคืนใหม่จากการเลือกตั้งซ่อม 2012 แต่ถามว่าพอไหมที่จะปะทะกับพรรครัฐบาลพม่าเกือบพันที่นั่ง ถือว่าต่างกันมาก ถามว่าจะทำอย่างไร นอกจากรอปาฏิหาริย์ให้คนชอบออง ซาน ซูจีมากๆ แล้วออกมาสร้างปรากฏการณ์ 1990 ต้องดูว่าจะเป็นเช่นนั้นไหม

อย่างไรก็ตาม ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ผู้นำรัฐบาลพลเรือนพม่า ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ประธานรัฐสภาออกมารณรงค์ทางการเมืองในหลายประเด็นที่ไม่คิดว่าพวกเขาจะกล้าพูดกล้าทำ สิ่งเหล่านี้จะเป็นคู่เทียบคู่ชิงสำหรับอองซานซูจี แต่ไม่อาจฟันธงได้ว่าในอนาคตออง ซาน ซูจีจะแพ้หรือชนะ เพราะความยากที่สุดสำหรับการทำนายการเมืองพม่าคือความไม่แน่นอนที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ เช่น การชนะเลือกตั้งของออง ซาน ซูจีในปี 1990 การเลือกตั้งและออกแบบโครงสร้างรัฐใหม่ของพม่า

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์เข้าใจที่ไม่ได้พบผู้แทนรัฐบาลสหรัฐ-เพราะรู้ตัวดีว่ามีที่มาอย่างไร

$
0
0

แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา และอุปทูตสหรัฐ เข้าพบยิ่งลักษณ์ ชินวัตร - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่รัฐบาลไทยระบุผู้แทนรัฐบาลสหรัฐมีกำหนดหารือ พล.อ.ธนะศักดิ์ ฝ่ายไทยหวังชี้แจงเส้นทางสู่ประชาธิปไตย ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ เผยรู้ตัวดีว่ามีที่มาอย่างไร ประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. ยังค้าขายกับไทยตามปกติ

ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐหารือยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 26 ม.ค. (ที่มา: เพจ U.S. Embassy Bangkok)

ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐหารืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. (ที่มา: เพจ Abisit Vejjajiva)

26 ม.ค. 2558 - ตามที่ แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้เดินทางมาเยือนไทยระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม นั้น วันนี้ (26 ม.ค.) เฟซบุ๊คเพจของสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เผยแพร่ภาพ นายแดเนียล รัสเซล และอุปทูต ดับเบิลยู แพทริค เมอร์ฟี เชิญนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศไทย

ต่อมา เฟซบุ๊คเพจของสถานทูตสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ภาพ คณะของนายแดเนียล และอุปทูตเมอร์ฟี เดินทางไปที่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศไทย

ทั้งนี้ คณะทูตสหรัฐอเมริกาไม่มีกำหนดการเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

ในวันเดียวกันนี้ (26 ม.ค.) เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า คณะของนายแดเนียล รัสเซล มีกำหนดการพบกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยการเยือนไทยครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเยือน 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ส่งผู้แทนระดับสูงมาเยือนประเทศไทยและถือเป็นบุคคลสำคัญเป็นแขกพิเศษของไทย

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า รัฐบาลจะใช้โอกาสนี้ ย้ำถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาบริหารประเทศเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และชี้แจงถึงแนวทางการพัฒนาทางการเมืองที่สำคัญ ตลอดจน การดำเนินการของรัฐบาลเพื่อปูทางสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในอนาคต ควบคู่กับการปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 ด้าน อาทิ การปฏิรูปทางการเมือง เศรษฐกิจ การบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการยุติธรรม การศึกษาและสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาที่อยู่ในความกังวลร่วมกันระหว่างไทยและสหรัฐฯ อาทิ การต่อต้านการค้ามนุษย์และประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม ตลอดจน ได้รับสิทธิและสวัสดิการที่ดีเช่นเดียวกับแรงงานไทย นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างครอบคลุมเป็นระบบ  ตลอดจน มีการเอาผิดต่อผู้ที่กระทำผิดตามกฎหมายอย่างจริงจัง

"ทั้งนี้ การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผู้แทนระดับสูงเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ เชื่อว่า เป็นการส่งสัญญานที่ดีต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่จะพัฒนาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป" เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุ

ส่วนความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มติชนออนไลน์รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า เหตุผลที่คณะทูตไม่ได้มาพบตัวเขา เนื่องจากรู้ว่าเขามาอย่างไร ซึ่งจะต้องแยกระหว่างการค้ากับกฎอัยการศึก แยกการค้าเศรษฐกิจ ประเทศที่ต่อต้านไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ยังมีการติดต่อค้าขายตามปกติ ส่วนการพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันนี้ ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ได้ไปห้ามปราม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิงห์รถบรรทุก(จบ): น้ำตาสิงห์ ความปลอดภัยในงาน-ปัญหาชีวิต ครอบครัว

$
0
0

ชื่อเดิม - น้ำตาสิงห์รถบรรทุก : ความปลอดภัยในการทำงาน สภาพปัญหาชีวิตและครอบครัวของแรงงานขับรถบรรทุก

(1)

“ริจะเป็นสิงห์สิบล้อไม่ใช่เรื่องง่าย มันต้องผ่านอะไรมาบ้าง”

บุญหมี อดีตเด็กติดรถบอก

“หนักมาก ของทั้งตู้ขนคนเดียว....” เขาเล่าถึงวันวาน  ปัจจุบันบุญหมีหันหลังให้วงการถาวร และเปลี่ยนมาประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป

ย้อนกลับไปราวยี่สิบปี รถบรรทุกคันหนึ่ง นอกจาก ‘คนขับ’ ซึ่งมีเพียงคนเดียวแล้ว เขาจะต้องพ่วง ‘เด็กติดรถ’ มาอีกคน จะเป็นลูกหลานหรือแค่คนรู้จักก็ไม่เกี่ยง เพราะคนขับต้องอาศัยให้ช่วยบอกสัญญาณต่างๆ เนื่องจากรถบรรทุกแบบเก่าไร้สิ่งอำนวยความสะดวก ไม่เหมือนรถรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน ส่วนตัวเด็กติดรถเองก็มีความหวังว่า วันหนึ่งจะเปลี่ยนสถานะเป็นคนขับ โดยส่วนใหญ่ชอบเรื่องเครื่องยนต์เป็นทุนเดิม อย่างไรก็ตามใช่ว่าเด็กติดรถทุกคนจะก้าวขึ้นเป็นคนขับ เด็กติดรถจำนวนมากหันหลังออกมาเช่นเดียวกับบุญหมี เพราะความหนักของงานนั้นมันไม่ธรรมดา

‘เทือง’ คนขับรถบรรทุกดินวัย 36 ปี ย้อนความหลังให้ฟังถึงเรื่องราวภายหลังจากที่เขาออกจากโรงเรียนเมื่ออายุ 14 ปีว่า เมื่อเขาไม่ต้องไปเรียนหนังสือแล้ว เขาก็หารายได้ช่วยเหลือครอบครัวโดยการตระเวนรับจ้างรายวันไปกับแม่ ไม่ว่าจะเป็นการถางหญ้า เกี่ยวข้าว หรือการตัดอ้อย

“ก็รับจ้างอะไรแถวนี้แหละ…รายวัน ตอนเล็กๆ ก็ยังเตาะแตะๆ ตามแม่เกี่ยวข้าวเกี่ยวอะไรเนี่ย”

เมื่อเขาโตขึ้นมาพอทํางานหนักได้ เทืองก็ไปรับจ้างในโรงงานทํายางรถยนต์ และทํางานอยู่ที่โรงงานแห่งนี้จนกระทั่งมีปัญหาครอบครัวบางอย่าง เขาจึงเริ่มมองหาช่องทางการทํามาหากินใหม่ซึ่งเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะทํางานอะไรนอกจากการรับจ้างขับรถบรรทุก เพราะคนใกล้ตัวอย่างพี่ชายของเขารับจ้างขับรถบรรทุกอยู่แล้ว เทืองจึงต้องฝึกเป็น ‘เด็กรถ’ ติดรถบรรทุกไปกับพี่ชาย

อย่างไรก็ตาม ภาพเด็กติดรถสำหรับปัจจุบัน คงเป็นเพียงความทรงจำสีจางๆ เพราะการลดรายจ่ายของบริษัททำได้ง่ายกว่าด้วยการให้คนขับรถบรรทุกควบสองหน้าที่และแทนที่ด้วยรถบรรทุกสมรรถนะสูง บังคับทิศทางได้ง่ายขึ้น ส่วนประสิทธิภาพเครื่องยนต์จากเดิมร้อยกว่าแรงม้า ถูกเพิ่มเป็น 375-400 แรงม้า รถจึงวิ่งได้ดีในทุกสภาพพื้นที่

กระนั้นถึงแม้จะมีเทคโนโลยีและโครงสร้างทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่การเป็นพนักงานขับรถในยุคสมัยใหม่ก็ไม่ได้ง่ายนัก ในสมัยใหม่นี้อาจมีระบบที่เข้ามาจัดการให้มีระเบียบมากขึ้น มีกฎหมายที่ดูเหมือนจะช่วยเรื่องการปกป้องต่อรอง แต่เอาเข้าจริงปัญหาของพวกเขายังคงมีอย่างเช่นวันวาน

“ธรรมชาติของอาชีพขับรถบรรทุกถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ยากต่อการเกิด ‘สหภาพ’ การทำงานที่ไม่ได้อยู่เป็นหลักแหล่งยากต่อการรวมตัว หากจะรวมตัวก็จำเป็นต้องผละงานทันที นอกจากนี้ในกฎหมายแรงงานยังระบุห้ามแรงงานประเภทขนส่งนัดหยุดงาน” ศรีไพร กล่าว

ปัจจุบัน ศรีไพร นนทรี เป็นที่ปรึกษากลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ซึ่งทำงานคลุกคลีด้านนี้มายาวนาน เขาว่า การที่กฏหมายเขียนไว้เช่นนี้ เพราะหากแรงงานขนส่งนัดรวมตัวหยุดงานจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศเป็นอย่างมาก  อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานของคนงานขับรถบรรทุกใช่ว่าจะไม่มีอยู่ โดยแรงงานในอุตสาหกรรมขนส่งส่วนมากจะสังกัด ‘สหภาพแรงงานการขนส่งแห่งประเทศไทย’

“แต่นักสหภาพจำนวนมากให้ความเห็นว่า สหภาพดังกล่าวอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอมาก คนงานไม่สามารถใช้เป็นที่พึ่งได้ ส่วนหนึ่งเพราะเมื่อคนงานเข้าไปสังกัดสหภาพ หากนายจ้างรู้จะเลิกจ้างทันที เพื่อป้องกันการรวมตัวนัดหยุดงานหรือสร้างข้อต่อรอง เป็นเหตุให้คนงานขับรถบรรทุกจำนวนมากไม่เป็นสมาชิกสหภาพ”  ศรีไพร ชี้ให้เห็นข้อจำกัด

สำหรับภาพชีวิตทั่วไปของ ‘สิงห์รถบรรทุก’ ในปัจจุบัน หากไม่ใช่เจ้าของกิจการของตัวเอง บริษัทส่วนใหญ่มักวางกรอบกว้างๆ ไว้คล้ายๆ กัน คือการนับชั่วโมงการทำงาน วันหยุด หรือวันลา โดยระเบียบการทั่วไปคือ พนักงานขับรถจะทำงานให้บริษัทไม่เกิน 8-10 ชั่วโมง และบริษัทฯต้องจัดให้มีวันหยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1วัน ระหว่างขับรถขนส่ง ต้องขับรถติดต่อกันไม่เกิน 4 ชั่วโมงนับตั้งแต่เริ่มงาน และต้องพักอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงจึงสามารถขับรถต่อไปได้อีกไม่เกิน 4 ชั่วโมง พนักงานมีสิทธิลาพักผ่อนได้ตามกฎหมายกระทรวงแรงงาน แต่หากพนักงานประสงค์จะทำงานนอกเวลา บริษัทจะพิจารณาขีดความสามารถของพนักงานว่า สามารถทำได้หรือไม่และพิจารณาค่าแรงเพิ่มเติม

“ผมไม่รู้เลยพี่ว่าวันไหนจะมีงานให้ผมทำบ้าง เข้าไปบริษัททุกวัน เผื่อจะมีงานให้ทำ ถ้าโชคดีก็ได้วิ่งยาวไปมาเลย์” พงษ์ คนงานขับรถบรรทุกอาหารแช่แข็งรายใหญ่บอก ระเบียบระบบต่างๆ ที่วางไว้ เราจับความได้ว่า บางทีอาจต้องพักเอาไว้ก่อน

“ต้องรอลุ้นทุกวันว่า วันไหนจะมีงานหรือไม่ เนื่องจากรายได้หลักมาจากค่าเที่ยว เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าบริษัทจะมีงานให้ทำไหมวันรุ่งขึ้น ถ้าไม่มีจะถือเป็นวันหยุดพัก

สำหรับ ‘สิงห์รถบรรทุก’ งานหนักเปรียบเสมือนวันน้ำขึ้น แม้จะเหนื่อยหรือล้าแค่ไหน หากไม่รีบตักน้ำไว้ ยามบ่อไม่มีน้ำก็เหมือนวันนั้นที่เขา ‘ไม่มีงาน’ 

(2)

“กว่าลูกจะจำพ่อได้ต้องรอให้โตเสียก่อน

พ่อมันกลับบ้านมาก็นอน ตื่นก็ไป เข้าใจเขานะ หาเลี้ยงคนเดียว”

48 ชั่วโมงทำงาน คือ ตัวเลขปรารถนาสำหรับ ‘ผัน’ คนงานขับรถบรรทุกสินค้า เพราะหมายถึง วันนั้นเขาได้วิ่งรถทางไกล

ผัน ชายหนุ่มวัย 34 ปี พนักงานขับรถส่งสินค้าให้บริษัทขนส่งข้ามชาติ ผมขาวแซมดำบวกริ้วรอยบนใบหน้า นัยน์ตาโหลคล้ำ บ่งบอกถึงสภาพการทำงานอย่างหนัก ภาระหัวหน้าครอบครัวหาเลี้ยงอีก 3 ชีวิตเป็นตัวเร่งให้คันเร่งต้องเร่งเหยียบ เพราะค่าเที่ยวจากการวิ่งรถทางไกลมันคุ้มกว่า ตกเดือนละ 12,000 บาท

ผัน เล่าว่า โดยเฉลี่ยรายได้ประจำไม่รวมค่าเที่ยว อยู่ที่เดือนละ 2,500 บาท เหตุที่บริษัทจ่ายเงินเดือนต่ำเพราะไม่ต้องการแบกภาระค่าใช้จ่ายส่วนเงินเดือน เน้นวิธีจ่ายค่าเที่ยว โดยเฉพาะบริษัทที่มีงานไม่สม่ำเสมอ หากจ่ายเงินเดือนสูง ช่วงงานวิ่งน้อย เงินเดือนคนขับจะกลายเป็นภาระของบริษัท ซึ่งบริษัทขนส่งสินค้าส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีการจ่ายค่าเที่ยวมากว่าปรับฐานเงินเดือนให้เท่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (300 บาทต่อวัน)

‘แมค’ วัย 30 ปี อดีตพนักงานขับรถส่งสินค้าบรรษัทเดียวกับผัน เล่าว่า เขาทำงานวันหนึ่ง 24 ชั่วโมง ขับรถอย่างเดียว มีบ้างที่ง่วง อาศัยเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟกระป๋องเป็นตัวช่วย หากขับต่อไม่ไหวจะจอดนอน แต่ส่วนใหญ่จะนอนเบาะหลังรถแล้วเปลี่ยนคู่ขับ

“อ้ายพวกที่ฝืนนี่ตายทุกคน ไม่จอดตายก็เกิดอุบัติเหตุ เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 4-5 คัน หลับในไปชนเขาบ้าง คว่ำลงข้างทางบ้าง ส่วนที่จอดตายส่วนใหญ่มันหลับแล้วไหลตายไปเลย หัวใจวายกินยาชูกำลังเกินเหตุ”

‘แตน’ คู่ชีวิตของแมค เล่าว่า แต่เดิมแมคเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตนต้องเลี้ยงลูกอยู่บ้าน แม้สามีจะกลับบ้านทุกวันที่ได้ ‘พัก’ แต่ทุกครั้งหากกลับบ้าน แมคจะนอนพักให้เต็มที่ เมื่อตื่นก็จะรีบไปทำงาน ตอนลูกยังเล็กมาก ไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อ เพราะพ่อไม่มีเวลาอยู่บ้านนานพอที่ลูกจะจำได้ ตอนนี้ลูกโตพอรู้ความแล้วว่า ใครเป็นพ่อ ถึงแมคจะไม่กลับบ้าน หรือกลับมาแล้วไม่เจอลูก แต่ลูกก็จำได้

รู้ไปทำไมว่า– แม่ค้ามาลัยคลายเหงา คนงานขับรถบรรทุกเกือบทั้งหมดเป็นบุรุษ เมื่อต้องห่างลูกเมีย ความเหงาเปล่าเปลี่ยวมักถูกบรรเทาด้วยการ ‘ซื้อ’

ธุรกิจค้าประเวณี เป็นอีกหนึ่งผลพลอยได้จากอาชีพขับรถบรรทุก บนถนนเลี่ยงเมืองจังหวัดหนึ่ง ยามค่ำคืนจะปรากฏสตรีนุ่งน้อยห่มน้อยขายพวงมาลัย ราวแขวนมาลัยติดสัญลักษณ์เป็นไฟกระพริบรูปตัว T เป็นที่รู้กันในหมู่คนขับรถบรรทุกว่า นอกจากพวงมาลัยแล้ว สามารถซื้อบริการทางเพศได้

 

โครงการให้ทุนเพื่อทำข่าวเชิงลึกได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการสะพาน โดยการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเสนอประเด็นเพื่อขอรับทุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกประเด็นจำนวน 41 ประเด็น จากผู้สมัครเข้าขอรับทุนทั้งหมด 39 ราย จนได้ผู้มีสิทธิได้รับทุนจำนวน 10 ราย และผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงพอที่จะนำเผยแพร่จำนวน 8 ประเด็น  โดยเว็บไซต์ประชาไทได้ทยอยนำขึ้นเผยแพร่ ดังปรากฏอยู่ในหน้านี้แล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: รัฐ-ทุน-นักวิชาการ

$
0
0


หลังรัฐประหารไม่นาน คณะรัฐประหารประกาศห้ามมิให้สื่อโดยเฉพาะทีวี สัมภาษณ์หรือจัดรายการให้นักวิชาการได้พูดอะไรแก่สาธารณชน ผมรู้สึกแปลกใจว่าเหตุใดจึงห้ามแต่นักวิชาการ ยังมีนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ได้ถูกปรับทัศนคติเหลืออยู่ ที่พอจะพูดอะไรได้ ทหารนอกราชการที่มีความเห็นไม่ตรงกับ คสช.และเพราะไม่ได้อยู่ในราชการแล้ว ย่อมไม่อึดอัดที่จะแสดงความเห็นของตนเอง ก็คงมีอีกไม่น้อย (ที่นึกออกทันทีก็เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นต้น) แม้แต่ประชาชนคนธรรมดา ก็อาจมีความเห็นหรือทัศนคติที่ไม่ตรงกับ คสช.ได้เหมือนกัน... ทำไมต้องเป็นนักวิชาการ

เรามีวิธีพิจารณาเรื่องนี้ไปได้สองทาง หนึ่งก็คือมีนักวิชาการบางคนที่คณะรัฐประหารเหม็นหน้า จึงต้องป้องกันไม่ให้พูดอะไรกับสาธารณชนได้ อย่างน้อยก็ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน ดังนั้นในปัจจุบัน จึงไม่มีทีวีช่องไหนเชื่อฟังคำสั่งเรื่องนี้ไปแล้ว แต่พิจารณาอย่างนี้มีปัญหาตรงที่ว่า เป็นการเดาใจผู้ถืออำนาจ ซึ่งผมไม่รู้จักสักคน โอกาสผิดจึงมีมากกว่าถูก นอกจากนี้ การห้ามนักวิชาการทั้งหมด ก็เท่ากับห้ามนักวิชาการฝ่ายรัฐประหารเองอีกมาก ไม่ให้ได้พูดแก่สาธารณชนถึงข้อดีวิเศษของการทำรัฐประหาร

หรือพิจารณาอีกทางหนึ่งคือดูที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-ทุน-นักวิชาการ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องจัดการในสังคมทุนนิยมส่วนใหญ่ ผมจึงขอนำความเข้าใจเรื่องนี้ในสังคมอื่นมาปรับใช้กับสภาพที่เป็นจริงในสังคมไทย

ก่อนอื่นต้องเตือนไว้ก่อนว่า นักวิชาการนั้นไม่มีประโยชน์อะไรแก่สังคมเลย ไม่ว่าเขาจะเก่งแค่ไหน หรือค้นพบอะไรที่สำคัญมากแค่ไหน หากเขาไม่สื่อสารกับคนอื่น จะเพราะไม่อยากสื่อสารเอง หรือถูกห้ามสื่อสารก็ตาม เขาก็ไม่ได้ทำอะไรให้สังคมเลย

ตามปกติแล้ว สื่อชอบหาข่าวจากราชการ เพราะสื่อมีอคติว่า ราชการรู้ดีที่สุด เพราะเป็นคนลงมือทำเอง หรือปรึกษาหารือเพื่อจะลงมือทำเอง ฉะนั้นจึงน่าจะเป็นคนรู้ดีที่สุด ทั้งสิ่งที่ราชการคิดและทำก็น่าจะมีผลต่อสังคมวงกว้าง จึงจะหาข่าวอะไรที่เป็นข่าวที่สำคัญยิ่งไปกว่าเอามาจากราชการไม่ได้ (แน่นอน รวมนักการเมืองทุกรูปแบบด้วย)

ในขณะเดียวกัน เมื่อเชื่อข่าวราชการเสียแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเจาะข่าวนั้นให้มากไปกว่าคำให้สัมภาษณ์ จึงไม่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นด้านข่าวสืบสวน

แต่มีสิ่งที่สื่อไม่ค่อยระแวงราชการอยู่หลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าจะวางนโยบายหรือทำอะไรก็ตาม ราชการย่อมคิดจากแนวทางอันเดียว คือแนวทางที่จะรักษาอำนาจของรัฐและทุนไว้เหนือสังคม เพียงแต่ไม่รักษาอำนาจไว้ด้วยกำลังบังคับ (จะเป็นนายกฯไปทำไมวะ) แต่ใช้วิธีสร้างความคิดที่ยอมรับระบบคุณค่า, ระเบียบ, มาตรฐานและระบบช่วงชั้น ซึ่งทำให้รัฐและทุนได้เปรียบ ภาษาของมาร์กซิสต์เรียกสิ่งนี้ว่าอุดมการณ์

ฉะนั้น สิ่งที่ราชการพยายามทำให้สื่อเชื่อคืออคติจากอุดมการณ์นี้

ในสหรัฐอเมริกา กระทรวง ทบวง กรม ลงทุนไปกับการ "ประชาสัมพันธ์" มากทีเดียว ขึ้นชื่อว่าประชาสัมพันธ์ย่อมไม่ได้มุ่งจะบอกความจริง เท่ากับบอกสิ่งที่อยากให้เชื่อ งานประชาสัมพันธ์ของราชการสหรัฐนั้น ทำงานกับสื่ออย่างมาก ไม่ใช่แค่ให้ข่าว แต่ใช้วิธีการอันหลากหลายที่จะทำให้สื่อยอมรับสารของตน แล้วนำไปเผยแพร่ รวมทั้งมีวิธีจะ "เลี้ยง" คอลัมนิสต์ดังๆ ให้ไม่วิจารณ์ออกไปนอกแนวที่ราชการต้องการ เช่นผู้ใหญ่ของกระทรวงให้ความสนิทสนม, แอบปล่อยข่าวให้เป็นพิเศษบางเรื่อง, อ้างถึงบทวิจารณ์ของเขาในการพูดสาธารณะ ฯลฯ (แน่นอนให้ผลประโยชน์ทางการเงินด้วยเป็นบางราย)

ผมคิดว่า ในเมืองไทย ราชการยังไม่เชี่ยวชาญกับการประชาสัมพันธ์แบบนี้นัก โดยมากนักการเมืองและเอกชนบางรายทำได้เก่งกว่ากันมาก แม้กระนั้นนักข่าว "สาย" ต่างๆ ก็มีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิดกับราชการ ทั้งข้าราชการและนักการเมือง เพราะถือว่าคนเหล่านี้เป็นแหล่งข่าวชั้นดี บางครั้งก็ทำให้น่าสงสัยว่าสิ่งที่นักข่าวรายงานนั้น เป็นการสืบค้นและตรวจสอบของนักข่าวเอง หรือเป็นข่าวปล่อยเพื่อผลทางการเมืองกันแน่

บริษัทยักษ์ใหญ่ ลงทุนกับการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน และแทรกเข้าไปอุดหนุนนักหนังสือพิมพ์กันอย่างเป็นระบบ ในเมืองไทยทำกันอย่างทื่อๆ โดยไม่ต้องอายเลย อย่างที่สำนักข่าว TCIJ เคยรายงานจนอื้อฉาวไปแล้ว

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่นอกราชการ แต่เข้าถึงสื่อได้ง่ายพอๆ กันคือนักวิชาการ คนเหล่านี้อ้างการวิจัยค้นคว้า หรือความเห็นของนักวิชาการดังๆ ระดับโลก เพื่อบอกว่ามี "ความจริง" อีกแง่หนึ่งซึ่งตนครอบครองอยู่ และสังคมควรรับรู้เหมือนกัน พลังความน่าเชื่อถือของนักวิชาการก็คือ ไม่แสดงให้เห็นว่ามีผลประโยชน์พัวพันอยู่กับนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่ง หากพลังนี้ถูกทำลายลง "ความจริง" ที่เขาเสนอก็มีน้ำหนักน้อยลง

(แต่ในความเป็นจริง นักวิชาการก็เป็นปุถุชน ย่อมไม่ปลอดพ้นจาก "ผลประโยชน์" โดยสิ้นเชิง เพียงแต่มักเป็นผลประโยชน์เชิงอุดมการณ์หรือเชิงสังคม ตราบเท่าที่ไม่ใช่ผลประโยชน์เชิงวัตถุ สังคมก็พอรับได้)

ดังนั้น นักวิชาการจึงเป็นตัวอันตรายแก่การโฆษณาแนวนโยบายของรัฐและทุน เพราะพวกนี้อาจให้ข่าวที่ไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายได้ ร้ายยิ่งไปกว่านั้น คนกลุ่มนี้ยังอาจเข้าถึงสื่อได้หลายทาง ถึงไม่ลงหนังสือพิมพ์, ก็อาจให้ความเห็นในวงสัมมนา ส่งบทความไปลงสื่อต่างประเทศ ถูกสื่อต่างประเทศสัมภาษณ์ หรือคุยนอกรอบกับสื่อได้หลายชนิด

สื่อจึงชอบจับเอานักวิชาการเป็นแหล่งข่าว เพราะง่าย และดูเหมือนได้เสนอข่าวอย่างมีสมดุลแล้ว

ในสหรัฐซึ่งไม่สามารถใช้อำนาจรัฐประหารปิดปากใครอย่างเปิดเผยได้ รัฐและทุนมีวิธีที่จะทำให้เสียงของนักวิชาการค่อยลง หรือเข้ามาหนุนแนวนโยบายของรัฐและทุน วิธีโดยสรุปคือนำนักวิชาการเข้ามาอยู่ใน หรือเข้ามาสัมพันธ์กับองค์กรแห่งอำนาจ เช่น ตั้งเป็นที่ปรึกษา, เป็นกรรมการในคณะกรรมการที่รัฐตั้งขึ้น, ให้ทุนวิจัย, ให้รางวัล ฯลฯ เป็นต้น เมื่อถูกผนวกกลืนไปแล้ว นักวิชาการเหล่านี้ก็ได้รับการหนุนให้ส่งเสียงผ่านสื่อ แม้เป็นความเห็นที่อาจไม่ตรงกับของราชการและทุนนัก แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อรัฐและทุนทำงานร่วมกันอย่างแนบแน่นเช่นในสหรัฐ นักวิชาการหัวแข็งก็มักถูกเด็ดปีก ทำให้วงสื่อสารของเขาแคบลง เช่น Noam Chomsky แม้มีชื่อเสียงระดับโลก แต่งานของเขาเกือบทั้งหมด (นอกจากภาษาศาสตร์) ไม่เคยถูกตีพิมพ์ในสหรัฐเลย ภาพยนตร์สารคดีหลายเรื่องของไมค์ มัวร์ ไม่ได้เข้าโรงในเครือใหญ่ๆ

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้นักวิชาการเหล่านี้สามารถสร้างวงสื่อสารที่ไม่ต้องอาศัยรัฐและทุนด้วย เช่นงานของ Noam Chomsky หลายชิ้นได้รับการเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ต ในรูปของไฟล์เวิร์ดธรรมดาๆ นี่เอง และหากอยากดูสารคดีของไมค์ มัวร์ ก็อาจหาซื้อแผ่นดีวีดีมาดูที่บ้านได้

สภาพของเมืองไทยนั้นแตกต่างจากสหรัฐมาก

ทุนกับรัฐในสังคมไทยผสานเข้าหากันก็จริง แต่ยังไม่แนบแน่นนัก เพราะชนชั้นนำของทั้งรัฐและทุนในปัจจุบันแตกร้าวกันเป็นเสี่ยงๆ ไม่เว้นแม้แต่ทุนสื่อสาร นี่อาจเป็นช่องทางที่ทำให้นักวิชาการนอกกระแสหลักยังพอเข้าถึงวงสื่อสารได้ ฉะนั้น คำสั่งของคณะรัฐประหารจึงไม่สัมฤทธิผลเต็มที่นัก

นักวิชาการไทยที่เคยเป็นขาประจำของสื่อจำนวนไม่น้อย เข้ารับตำแหน่งที่ คสช.จัดไว้ให้ จึงทำให้พลังของเขาต่อสังคมลดลงไป อย่างน้อยทุกคนก็เห็นว่าความเห็นของเขาย่อมสัมพันธ์กับผลประโยชน์ของ "ข้าง" ที่เขาเลือก อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เปรียบเทียบกับสหรัฐ อำนาจฝ่ายรัฐและทุนจะไม่ทำลายนักวิชาการที่ตน "เลี้ยง" ไว้อย่างง่ายๆ เช่นนี้ แต่รัฐรัฐประหารของไทยมีอำนาจน้อย จึงต้องอาศัยชื่อนักวิชาการเหล่านี้ แม้จะลดพลังลงแล้ว เข้ามาสนับสนุนอำนาจของตนเอง

นักวิชาการนอกกระแสหลักของไทยในช่วงนี้ จึงพยายามสร้างวงสื่อสารของตนในรูปอื่นๆ ที่อยู่พ้นจากอำนาจของคณะรัฐประหาร หลายคนมีเฟซบุ๊กที่เปิดค่อนข้างสาธารณะ บางคนจัดสัมมนาทางวิชาการ ซึ่งทำให้สิ่งที่พูดกันในวงสัมมนาถูกเผยแพร่ มากบ้างน้อยบ้างออกไปในวงกว้างกว่าห้องสัมมนา แต่ในปัจจุบันก็ถูกกรองไปมากแล้ว เพราะฝ่ายความมั่นคงวางกฎว่าจะต้องได้รับอนุญาตเสียก่อนจึงจัดได้

แต่การสร้างวงสื่อสารใหม่ๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้อีก เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยบางท่าน ถอดคำบรรยายในชั้นเรียนออกเผยแพร่แก่สาธารณชน (อำนาจรัฐประหารพยายาม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จที่จะแทรกเข้าไปกำกับชั้นเรียนได้เด็ดขาด) บางท่านออกไปร่วมสัมมนาในต่างประเทศ ซึ่งสามารถพูดหรือเสนอบทความที่ตรงไปตรงมาอย่างไรก็ได้ คำพูดและบทความเหล่านี้ถูกสะท้อนกลับเข้าสู่สังคมไทยอย่างที่กีดกันไม่ได้ในภายหน้า ดูจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ก็เชื่อว่าก็คงมีการเปิดวงสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นอีกมาก รวมทั้งในงานศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งเป็นพื้นที่อันทรงพลัง แต่ยังถูกใช้เพื่อการสื่อสารทางสังคมและการเมืองในปัจจุบันน้อยเกินไป

คณะรัฐประหารจะทำอย่างไรกับนักวิชาการนอกกระแสหลักเหล่านี้ อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเปิดให้ทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ในรัฐรัฐประหาร อำนาจไม่ได้มาจากกฎหมาย (เพราะหากมาจากกฎหมาย ก็ไม่มีรัฐรัฐประหารมาแต่ต้นแล้ว) ผมไม่เชื่อด้วยว่าอำนาจจะมาจากปากกระบอกปืน เพราะไม่มีสังคมอะไรสักแห่งเดียวในโลกที่อำนาจมาจากปากกระบอกปืนจริงๆ (รวมทั้งรัฐสังคมนิยมแบบเหมาด้วย) ถึงที่สุดแล้ว อำนาจมาจากความเป็นไปได้ทางสังคมและการเมืองในรัฐนั้น และในช่วงนั้น การใช้อำนาจผิดที่ผิดจังหวะ จะเป็นผลให้อำนาจที่มีอยู่ถูกบั่นรอนลงด้วยซ้ำ ดังนั้นไม่ว่าอำนาจอะไรในโลกนี้ ล้วนมีข้อจำกัดทั้งนั้น

ดังนั้น นักวิชาการนอกกระแสหลักจึงไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่แท้จริงของ คสช. คู่ต่อสู้ที่แท้จริงคือสังคมไทย ซึ่งได้เปลี่ยนมาตรฐานความชอบธรรมทางการเมืองไปแล้วต่างหาก ตราบเท่าที่คนจำนวนมาก (จะเกินครึ่งหรือไม่ก็ตาม) ยังเห็นความชอบธรรมทางการเมืองแตกต่างจากคณะรัฐประหารและบริวาร ตราบนั้นนักวิชาการนอกกระแสหลักก็ยังคงสามารถสื่อสารของพวกเขาได้อยู่ตราบนั้น

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายวัน 26 มกราคม 2558

ที่มา: มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลทหารไม่ส่งศาลรธน.ตีความ คดีไม่รายงานตัว คสช.‘วรเจตน์-สิรภพ-สมบัติ’

$
0
0

 

26 ม.ค. 2558 มีรายงานความคืบหน้าคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. 4 กรณี คือ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์นิติศาสตร์ มธ.และสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์, สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรม, สิรภพ หรือ รุ่งศิลา กวีและบล็อกเกอร์ รวมถึง ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ อดีตผู้ต้องขังคดีการเมือง  โดย 3 รายแรก ศาลทหารทยอยมีคำสั่งไม่ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว เหลืออีกกรณีเดียวคือคดีของจิตรา คชเดช ที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเช่นกัน และศาลทหารนัดฟังคำสั่งในวันเดียวกับวันสืบพยานคือ 6 มี.ค.นี้ ส่วนกรณีณัฐเพิ่งได้รับการประกันตัวออกจากเรือนจำหลังต้องอยู่ในเรือนจำนาน 3 วัน

กรณีของวรเจตน์วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ระบุถึงคดีที่วรเจตน์ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว คสช. ว่า ศาลทหารยกคำร้องที่วรเจตน์ขอให้ศาลทหารส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับนั้น ขัดหรือแย้งต่อข้อความตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หรือไม่ ศาลทหารยกคำร้องโดยระบุว่าศาลทหารเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามประกาศของคสช.และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)2557 ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามกติการะหว่างประเทศไว้แล้วจึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติของพันธะสัญญาระหว่างประเทศตามที่จำเลยอ้างมา ประกอบกับตามรัฐธรรมนูญฯมีบทบัญญัติให้อำนาจเฉพาะศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ หรือศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น ที่จะส่งความเห็นหรือคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลทหารมีอำนาจหน้าที่ต้องส่งความเห็นหรือคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ดังนั้น คำร้องของจำเลยจึงตกไป

หลังจากนั้นศาลได้ตรวจพยานหลักฐาน และนัดสืบพยานในวันที่ 26 พ.ค. เวลา 8.30 น. โดยพยานโจทก์มี 7 ปาก พยานจำเลยมี 6 ปาก ทั้งนี้ในการพิจารณาคดีในวันนี้มีเจ้าหน้าที่จากสถานฑูตสหรัฐอเมริกามาเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย

วิญญัติ กล่าวว่า นี่เป็นคำสั่งแรกๆ ที่ไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งอาจจะเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีขัดคำสั่ง คสช.อื่นๆ เช่น คดีจาตุรนต์ ฉายแสง คดีขอนแก่นโมเดล ที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นเดียวกัน 

เมื่อถามว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ วิญญัติ กล่าวว่า การยื่นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาคดีนั้นจะต้องยื่นพร้อมคำพิพากษาเท่านั้น ซึ่งคดีนี้น่าจะกินเวลานานเป็นปี เพราะนัดสืบพยานนัดละ 1 ปากเท่านั้น ส่วนจะอุทธรณ์ได้หรือไม่ ต้องยื่นที่ศาลทหารสูงสุด โดยส่วนตัวกังวลว่าอาจจะติดข้อกฎหมาย เพราะในช่วงบ้านเมืองไม่ปกติจะมีเพียงศาลเดียว ไม่มีอุทธรณ์หรือฎีกา

สำหรับคดีของสมบัติ หรือ บก.ลายจุดภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า คดีที่สมบัติถูกกล่าวหาว่ายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลทหารยกคำร้องของนายสมบัติที่ขอให้ศาลทหารส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลทหารระบุว่า ศาลทหารไม่มีอำนาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และคำสั่ง คสช.นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 48 แล้ว พร้อมนัดสืบพยานโจทก์ 10 มี.ค. นี้

ส่วนเช้าวันนี้ (26 ม.ค.) มีการสืบพยานที่ศาลแขวง จ.ชลบุรี ในคดีที่ สมบัติ ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ไม่มารายงานตัวตามกำหนด ตามคำสั่งฉบับที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โดยพยานโจทก์ปากแรกเป็นนายทหารที่เข้าจับกุมนายสมบัติ ซึ่งสังกัดอยู่ที่จ.ชลุบรี จากนั้นจะมีการส่งประเด็นไปสืบพยานโจทก์ที่เหลืออีก 4 ปากที่ศาลแขวงดุสิต ในวันที่ 2 มี.ค. เวลา 9.00 น. 

สำหรับคดีนี้เป็นคดีในอำนาจของศาลแขวงดุสิต เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่เรียกรายงานตัวก่อนวันที่ 25 พ.ค. ซึ่ง คสช. ออกประกาศฯ ฉบับที่ 37/2557 ให้อำนาจพิจารณาคดีต่างๆ อยู่ในอำนาจศาลทหาร 

ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่เกี่ยวข้องการคำสั่งเรียกรายงานตัว คือ กรณีที่ศาลแขวงดุสิตพิพากษาลงโทษจำคุกณัฐ อดีตผู้ต้องขังคดี 112 ที่พ้นโทษแล้ว ในข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ไม่รายงานตัวให้จำคุก 2 เดือน และลงโทษเพิ่มให้จำคุกอีก 20 วันเนื่องจากพบว่าเคยต้องโทษในคดี 112 มาก่อน แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ 1 เดือน 10 วัน ล่าสุด วันนี้ศาลให้ประกันตัวแล้วด้วยหลักทรัพย์เงินสด 40,000 บาท (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

กรณีสุดท้ายคือ สิรภพ ผู้ใช้นามแฝง รุ่งศิลา กวีและบล็อกเกอร์ที่ถูกคุมขังมาตั้งแต่ 1 ก.ค.2557 จากคดีมาตรา 112 และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ไม่มารายงานตัว เมื่อวันที่ 22  ม.ค.ศาลทหารนัดสืบพยานปากแรก คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ไม่มารายงานตัว โดยปากแรกคือทหารพระธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ก่อนการสืบพยาน ศาลทหารได้อ่านคำสั่งยกคำร้องกรณีที่จำเลยขอให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารและการให้มีการพิจารณาโดยไม่อุทธรณ์ ฎีกาได้นั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลทหารระบุว่าศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดี และไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามแสดงความเสียใจกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียสวรรคต

$
0
0

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปที่สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบีย ประจำประเทศไทย ที่อาคารแสงทองธานี ถ.สาทรเหนือ เขตบางรัก เพื่อลงนามแสดงความเสียใจ การเสด็จสวรรคตของกษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย

26 ม.ค. 2558 - เว็บไซต์รัฐบาลไทยรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปที่สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบีย ประจำประเทศไทย ที่อาคารแสงทองธานี ถ.สาทรเหนือ เขตบางรัก เพื่อลงนามแสดงความเสียใจ การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ บิน อับดุลอาซิส อัล ซาอุด กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามในสมุดไว้อาลัยว่า

On behalf of the Royal Thai Government and the people of the Kingdom of Thailand, I wish to extend my deepest sympathy and condolences to the Government and the people of the Kingdom of Saudi Arabia on the passing away of His Majesty King Abdullah bin Abdulaziz Al Saud.

(Signature)

General Prayut Chan-o-cha
Prime Minister of the Kingdom of Thailand

(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ) ในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และประชาชนแห่งราชอาณาจักรไทย ข้าพเจ้าขอแสดงความเห็นอกเห็นใจและเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังรัฐบาลและประชาชนแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ต่อการสวรรคตของสมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลเลาะห์ บิน อับดุล อาซีซ อัล ซาอูด

(ลายมือชื่อ) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย

อนึ่ง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 24 ม.ค. คำสั่งให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ลดธงครึ่งเสาทั่วราชอาณาจักร เป็นเวลา 3 วันทำการ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 26 ถึงวันพุธที่ 28 ม.ค. 2558 เพื่อไว้อาลัยต่อการสวรรคตของพระราชาธิบดีแห่งซาอุดิอาระเบีย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แดเนียล รัสเซล ย้ำไม่มีสวิตซ์เปิดปิดประชาธิปไตยในขั้นตอนเดียว

$
0
0

ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ สหรัฐ ปาฐกถาที่จุฬาฯ ย้ำความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ 182 ปี ยืนยันไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่ห่วงการปลดผู้นำจากการเลือกตั้งด้วยรัฐประหาร-ถูกกล่าวหาทางอาญา ประชาคมโลกจะรู้สึกว่าเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง พร้อมเสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก-เลิกจำกัดเสรีภาพ เชื่อว่าการปฏิรูปที่ครอบคลุมจากทุกภาคส่วนจะนำมาซึ่งประชาธิปไตยที่สะท้อน-ตอบสนองเจตนารมณ์ประชาชนไทย

26 ม.ค. 2557 - ในช่วงการเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 25-26 ม.ค. ของแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในช่วงบ่ายวันนี้ (26 ม.ค.) รัสเซลมีกำหนดปาฐกถาที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร โดยมีนิสิตนักศึกษาโครงการ YSEALI ร่วมฟังปาฐกถาด้วย

โดยตอนหนึ่ง รัสเซล กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ที่มียาวนานกว่า 182 ปี และระบุว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยมีขอบเขตกว้างไกลกว่าจำนวนปีที่เราทั้งสองเป็นพันธมิตรกันมา หรือ แม้กระทั่งผลประโยชน์และเจตจำนงที่เรามีร่วมกัน  มิตรภาพของเราซึ่งมีจุดเริ่มต้นนานมาแล้วได้รับการกระชับไมตรีอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา อาทิ ด้วยการที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ทรงพำนักในสหรัฐอเมริกาเพื่อ ศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชสมภพในรัฐแมสซาชูเซตส์ และด้วยการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีส่วนในการเกื้อหนุนวัฒนธรรมอเมริกัน"

"มิตรภาพที่กว้างไกลและยั่งยืนของเราได้รับการกระชับสัมพันธ์ด้วยนักเรียนไทยหลายพันคนที่เดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ ทุกปีและชาวอเมริกันที่เข้ามาศึกษาและท่องเที่ยวในไทย  เป็นเวลากว่าสองศตวรรษที่ชาวอเมริกันได้ อาศัยอยู่ในไทยและมีส่วนเกื้อหนุนสังคมไทยในด้านต่างๆ มากมาย เช่นเดียวกับที่ชาวไทยได้มีส่วนในสังคมอเมริกัน"

"ประเทศเราทั้งสองได้ยืนหยัดเคียงคู่กันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  เราเป็นพันธมิตรที่สนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตยในช่วงความขัดแย้งในคาบสมุทรอินโดจีน  เราได้ต่อสู้กับการแพร่ขยายของการก่อการร้ายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเราเป็นประเทศคู่ความร่วมมือที่นำเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่คนไทยและ ภูมิภาคนี้"

รัสเซลกล่าวด้วยว่าไทยและสหรัฐอเมริกา มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ยาวนาน ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่อันดับสามของสหัฐ บริษัทอเมริกันจำนวนมากก็มาลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดการจ้างงานหลายหมื่นตำแหน่ง และนำมาสู่เทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย ไม่ใช่แค่ปริมาณ แต่ยังมีคุณภาพด้วย  การดำเนินธุรกิจกับอเมริกาได้เพิ่มศักยภาพและทักษะสำหรับแรงงานไทย ซึ่งเป็นการช่วยประเทศไทยก้าวข้าม "กักดับประเทศรายได้ปานกลาง" และพัฒนาชีวิตของประชาชนทั่วไปให้ดีขึ้น

ตอนหนึ่ง รัสเซล กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยว่า "น่าเสียดายว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยต้องเผชิญกับอุปสรรคและยังได้รับผลกระทบจากรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อแปดเดือนก่อน ซึ่งได้ปลดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย"

"เมื่อเช้านี้ ผมได้พูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศธนะศักดิ์  ผมหารือกับทั้งสามท่านเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน  ทุกฝ่ายกล่าวถึงความสำคัญของการปรองดองและการดำเนินการสู่อนาคตที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย"

"ผมเข้าใจดีว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง จึงขอยกประเด็นนี้ขึ้นมาด้วยความนอบน้อมและความเคารพต่อประชาชนชาวไทย  สหรัฐฯ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดในการเมืองไทย  เราเชื่อว่า ประชาชนชาวไทยคือผู้กำหนดความชอบธรรมของกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการทางทางกฎหมายของตน  ทว่า สหรัฐฯ ยังคงกังวลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่รัฐประหาร อันรวมถึงข้อจำกัดด้านการพูดและการชุมนุม"

รัสเซล กล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ ยังมีความกังวลเป็นพิเศษในประเด็นที่ว่า กระบวนการทางการเมืองนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนทุกภาคส่วนของสังคมไทย "ผมขอย้ำอีกครั้งว่า สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังบงการเส้นทางการเมืองที่ไทยควรดำเนินตามเพื่อกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยหรือกำลังเลือกข้างในการเมืองไทย แต่กระบวนการที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนนั้นจะส่งเสริมการปรองดองทางการเมือง ซึ่งสำคัญต่อความมั่นคงในระยะยาว  กระบวนการในวงแคบที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนั้นเสี่ยงต่อการปล่อยให้คนไทยจำนวนมากรู้สึกถูกกีดกันจากระบบการเมือง"

"นี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ ยังคงมุ่งสนับสนุนกระบวนการทางการเมืองที่ครอบคลุมในวงกว้างกว่า ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้รู้สึกว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นตัวแทนของตนด้วย"

"นอกจากนี้ มุมมองความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญ  ผมขอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เมื่อผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดถอนโดยผู้มีอำนาจที่ก่อรัฐประหาร และตกเป็นเป้าด้วยข้อหาอาญาในขณะที่กระบวนการและสถาบันพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง  ประชาคมโลกจึงเกิดความรู้สึกว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง"

"นี่คือเหตุผลที่สหรัฐฯ หวังว่าจะได้เห็นกระบวนการที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนไทยต่อรัฐบาลและสถาบันตุลาการของตน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วย"

"การยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศและยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมคือก้าวสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงซึ่งจะสะท้อนความหลากหลายของความคิดเห็นภายในประเทศ  สหรัฐฯ หวังว่า ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้จะนำมาซึ่งสถาบันที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนและตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย"

ในตอนท้าย รัสเซล กล่าวว่า "สารที่ผมได้สื่อถึงบุคคลที่ผมเข้าพบในวันนี้ ถึงทุกท่าน และถึงประชาชนชาวไทยทุกคนนั้นเป็นสารเดียวกัน นั่นคือ ประเทศไทยเป็นเพื่อนและพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ  เรามีประวัติศาสตร์ความร่วมมือกันมายาวนานในหลากหลายประเด็น ที่ไม่เพียงสำคัญกับทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อภูมิภาคนี้ตลอดจนอีกฟากหนึ่งของโลก  สหรัฐฯ มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสายสัมพันธ์นี้ รวมทั้งต่อมิตรภาพระหว่างเรากับประชาชนทุกคนของประเทศอันแสนวิเศษนี้ สหรัฐฯ มีความห่วงใยอย่างยิ่งเกี่ยวกับโอกาสที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของประเทศไทย ขอให้ทุกท่านประสบแต่สิ่งดีงามครับ"

ทั้งนี้เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยแพร่บทปาฐกถาของรัสเซลด้วย (อ่านเพิ่มเติม)

ในช่วงตอบคำถาม แดเนียล รัสเซล กล่าวว่า "ผมมาประเทศไทยในฐานะตัวแทนของรัฐบาล เพื่อมาฟังผู้นำทางการเมือง และภาคประชาชน เพื่อที่จะพูดถึงมุมมองของเรา และความหวังของเราต่อประเทศไทย ฉันได้พูดกับ รมว.ต่างประเทศ และผู้นำทางการเมือง สหรัฐอเมริกามีความสนใจอย่างมากต่อประเทศไทย ประเทศไทยมีความสำคัญมากต่อการเติบโตของภูมิภาค เราเชื่อว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง และการจำกัด สิทธิสากลอย่างเช่น เสรีภาพในการแสดงความเห็น และเสรีภาพในการชุมนุม จะไม่นำไปสู่ความมั่นคงในระยะยาว เราเชื่อว่า การเริ่มยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อเปิดให้มีการแสดงความเห็นอย่างสงบ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และมีความไว้วางใจในสถาบันการเมืองและตุลาการ"

"มันไม่มีสวิตซ์เปิดปิดสำหรับประชาธิปไตย ในขั้นตอนเดียว ประชาธิปไตยคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ในการตัดสินใจและออกแบบอนาคตของประเทศของพวกเขาเอง มันเป็นงานยาก แต่พวกเราก็พยายามเสมอมาเพื่อที่จะทำให้ระบบนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีระบบไหนดีสมบูรณ์ แม้แต่ระบบที่เรามีอยู่ในสหรัฐฯ การผลักดันให้เกิดความยุติธรรม ความโปร่งใส ความเท่าเทียม มันไม่ได้มาจากหนังสือเรียน มันมาจากหัวใจของผู้คน และความยึดมั่นว่า พวกเขาสามารถมีระบบที่ดีขึ้นสำหรับครอบครัวและลูกหลานของพวกเขา ผมเองเชื่อว่า การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตยนั้นต้องทำอย่างต่อเนื่อง หยุดไม่ได้ มันมีอุปสรรคและการถอยหลัง"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โครงการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการทางรัฐศาสตร์ประจำปี คณะรัฐศาสตร์ มร.

$
0
0
Activity Date: 
Wed, 2015-02-11 (All day)

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขอเชิญนักศึกษาและผู้สนใจ เข้าร่วมกิจกรรมสัปดาห์ศิลปวัฒนธรรมและวิชาการทางรัฐศาสตร์ วันที่ ๑๐ - ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

งานนี้คณะรัฐศาสตร์ จัดหนัก!!! จัดเต็ม!!! ไม่ว่าจะเป็นวิชาการ, ราชการ, ศิลปะ, วัฒนธรรม, ภาพยนตร์, ดนตรี, ทั้งหมดนี้มีในงานสัปดาห์ศิลปวัฒนธรรมและวิชาการรัฐศาสตร์

พบกับกิจกรรมการแข่งขันแฟนพันธุ์แท้รัฐศาสตร์ของนักศึกษาในระดับปริญญาตรี / กิจกรรมเสวนา "สิงห์ทองคืนถิ่น ไม่มีรามฯ ไม่มีเรา" การถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จในการเรียนและหน้าที่การงานสู่น้อง นำโดย ปลัดแม็ค นายอาทิตย์ โรจน์บุนส่งศรี อดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ผู้สอบได้ลำดับที่ ๑ เจ้าพนักงานปกครอง (ปลัดอำเภอ) ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ / กิจกรรม "เรียนรู้รัฐศาสตร์จากภาพยนตร์" เข้าร่วมเสวนาและร่วมวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง "รุ่งอรุณแห่งอาณาจักรrพิภพวานร" (Dawn of the planet of the apes) และร่วมรับฟังวิวาทะจากมุมมองทางรัฐศาสตร์โดยคณาจารย์/ กิจกรรมเสวนาวิชาการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน "ฤาพญานาคจะตายแดด" ร่วมเสวนาในประเด็นของสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง โดย ทรงฤทธิ์ โพนเงิน ผู้เชี่ยวชาญลุ่มน้ำโขง / กิจกรรมการแสดงผลงานของนักศึกษาเกี่ยวกับศิลปะและการเมือง / และปิดท้ายด้วย กิจกรรม "มนต์เพลงการเมือง" ร่วมรับฟังการแสดงดนตรีของนักดนตรีเพื่อชีวิตระดับตำนานจาก "มือพิณพนมไพร" หว่อง คาราวาน หรือ น้าหว่อง มงคล อุทก !!!

และร่วมถ่าย Selfie กับนักปรัชญาการเมืองอย่าง โสเกรติส, เพลโต, อริสโตเติ้ล, โปรตากอรัส, ทราไซมาคัส, มาร์คัส ออเรริอุส, เอพิคิวรัส ฯลฯ ในนิทรรศการศิลปะและความคิดทางการเมืองในยุคกรีกและโรมันตลอดสัปดาห์

รับสมัครนักศึกษาทุกคณะเข้าร่วมแข่งขันแฟนพันธุ์แท้รัฐศาสตร์ ตั้งแต่บัดนี้ - ๖ กุมภาพันธุ์ ๒๕๕๘ ณ หน่วยกิจการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ หรือสมัครทางอีกเมล์ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกคนจะได้รับประกาศนียบัตรในการเข้าร่วมกิจกรรมจากคณะรัฐศาสตร์ รายละเอียดเพิ่มเติมใน www.pol.ru.ac.th

ฟรีตลอดงาน พร้อมลุ้นรับของที่ระลึกจากเหล่ารุ่นพี่สิงห์ทองคืนถิ่น งานนี้ ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง!!! — at คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง.

เวที Islam is Simple ชวนมองมุสลิมแง่มุมใหม่ ในโลกที่ขัดแย้ง

$
0
0

Islam is Simple ทำความเข้าใจ 4 คุณลักษณะพิเศษของอิสลาม ชี้ศตวรรษที่ 21 เป็นโอกาสของมุสลิมแต่มุสลิมเองต้องรู้จักสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อยากเห็นมุสลิมทำให้อิสลามเป็นศาสนาของทุกคน ย้ำโลกอิสลามจะฟื้นอีกครั้งได้ด้วยการอ่าน พร้อมกับต้องสร้างพลังเยาวชนด้วยอีหม่าน


Islam is Simple
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 ชมรมมุสลิม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) จัดกิจกรรมเปิดโลกวิชาการ อิสลาม ง๊าย...ง่าย.. ณ ลานแสงจันทร์ หน้าอาคารเรียนตึก 19 โดยช่วงแรกเป็น Talk Show โดยอาจารย์มันศูร อับดุลลอฮฺ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในหัวข้อ Islam is Simple

อาจารย์มันศูร อับดุลลอฮฺ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกพยายามทำให้ผู้คนเห็นว่าอิสลามนั้นเป็นศาสนาที่ยากหรือเป็นศาสนาที่นิยมความรุนแรง ในขณะที่ความรุนแรงเกิดขึ้นในทุกสังคม และความรุนแรงที่เลวร้ายในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ได้เกิดด้วยน้ำมือของมุสลิม

“ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกทั้งสองครั้ง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอินเดียแดงกว่าร้อยล้านคน การฆ่าชาวแอฟริกากว่าร้อยล้านคน การฆ่าชาวอะบอรจินกว่ายี่สิบล้านคน การระเบิดนิวเคลียร์ใส่เมืองฮิโรชิม่า และนางาซากิ และอื่นๆ ล้วนแล้วไม่ได้เกิดขึ้นจากน้ำมือของมุสลิม” มันศูรกล่าว

มันศูร กล่าวต่อไปว่า อิสลามเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล เมื่อผู้คนใช้ปัญญาใคร่ครวญก็จะพบว่าอิสลามนั้นเป็นศาสนาที่ง่ายนิดเดียว นอกจากนั้นยังสบาย สะอาด สนุก และสันติอีกด้วย แต่หากโลกนี้จะแบ่งให้ศาสนาเป็นแค่การประกอบศาสนากิจ ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวันไม่ใช่เรื่องศาสนา หากเป็นเช่นนั้นแล้วอิสลามย่อมไม่ใช่แค่ศาสนาแต่เป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิต

ทำความเข้าใจ 4 คุณลักษณะพิเศษ
มันศูร อธิบายถึงคุณลักษณะพิเศษของอิสลามว่า มีอยู่ 4 ประการ คือ 1.ร็อบบานียะฮฺ หมายถึงมีที่มาและผูกพันกับพระผู้เป็นเจ้า โดยที่มุสลิมไม่เชื่อว่ามนุษย์จะเกิดขึ้นมาเองได้ เพราะแม้แต่ไม้จิ้มฟันที่ตั้งอยู่บนโต๊ะเรายังเชื่อเลยว่าจะต้องมีผู้สร้าง แล้วจักรวาลอันสลับซับซ้อนจะเกิดมาเองได้อย่างไร

2.อาละมียะฮฺ หมายถึง มีลักษณะอันเป็นสากล กล่าวคือในอิสลามทุกคนมีความเท่าเทียมกันหมด ในอิสลามจะไม่มีนักบวช ดังนั้นมุสลิมจะเป็นทั้งคนธรรมดาและนักบวชภายในตัวเหมือนๆ กันหมด

3.ชามิล กามิช หมายถึง ครอบคลุมและสมบูรณ์ กล่าวคือ ไม่มีเรื่องใดที่ไม่ได้กล่าวถึงเลยในอิสลาม ดังที่คนส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมศาสนาที่บอกว่าตัวเองคือศาสนาแห่งสันติถึงได้บัญญัติเรื่องเกี่ยวกับการทำสงคราม เหตุผลก็คือโลกนี้หนีไม่พ้นความขัดแย้งและความรุนแรง อิสลามเลยสอนว่ามารยาทในการทำสงครามเป็นอย่างไร แต่สงครามนั้นเป็นทางเลือกสุดท้ายในอิสลาม

“เมื่อย้อนไปดูประวัติศาสตร์ในสมัยของท่านศาสดามูฮัมหมัดที่มีการบกันมากกว่าสิบปี แต่ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายไม่เกินหลักพัน ซึ่งทั้งหมดเป็นนักรบ ไม่ใช่เด็กและสตรีเหมือนในปัจจุบัน”
และ 4.อัลอัดลุนมุฏลัก หมายถึง มีความยุติธรรมอย่างที่สุด

ศตวรรษที่ 21 เป็นโอกาสของมุสลิม
จากนั้นเป็นการเสวนาหัวข้อ เรื่องหน้ารู้ในศตวรรษที่ 21 โดย นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัยมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยอาจารย์อุสมาน ราษฎร์นิยม อาจารย์ประจำวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี

นพ.แวมาฮาดี กล่าวว่า ก่อนจะคุยเรื่องศตวรรษที่ 21 ลองย้อนไปดูศตวรรษที่ 19-20 จะพบว่าก่อนหน้านั้นเรา (อิสลาม) เปรียบเสมือนครูของโลก พอมาถึงศตวรรษที่ 19 เราก็ยังคงสถานะนั้นอยู่ แต่พื้นที่เริ่มน้อยลง และในศตวรรษที่ 20 กลายเป็นว่าเราไม่มีอะไรที่จะนำเสนอต่อโลก

นพ.แวมาฮาดี กล่าวต่อไปว่า ในศตวรรษที่ 20 ถือเป็นศตวรรษที่มีการทำลายโลกอย่างมหาศาล เช่น โลกปลูกฝั่งแนวคิดการคุมกำเนิด ทำให้โลกสูญเสียโครงสร้างทางประชากร หรือการลำดับความสำคัญในทางวิชาการที่ผิด กล่าวคือ โลกละทิ้งความรู้ที่จะทำให้รู้จักพระเจ้าและความรู้ที่เกี่ยวกับศาสนาของพระเจ้า แต่โลกให้สำคัญกับความรู้ที่เกี่ยวกับมัคลูคของพระเจ้า(สิ่งที่พระเจ้าสร้าง)มากกว่า เป็นต้น

มุสลิมต้องสร้างนวัตกรรมใหม่
นพ.แวมาฮาดี กล่าวอีกว่า ศตวรรษที่ 21 ถือเป็นโอกาสของมุสลิม เพราะในศตวรรษที่ 20 โลกรู้แล้วว่าการตามตะวันตกในศตวรรษที่ผ่านมานั้นมีปัญหา แต่ก่อนอื่นมุสลิมจะต้องนำเสนอให้ชาวโลกเห็นก่อนว่า เรามีดีอะไรบ้าง ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่อยากเห็นหรือความหวังต่อคนรุ่นใหม่คือ

1.อยากเห็นคนเป็นแม่ให้เร็วและมากขึ้น กล่าวคือ ปัจจุบันผู้หญิงแต่งงานช้ามาก ด้วยโครงสร้างทางสังคมที่ตามตะวันตก ซึ่งกว่าจะแต่งงานได้ต้องรอให้เรียนจบก่อน ทำให้เลยวัยเจริญพันธุ์ไปเกือบสิบปี นอกจากนั้นอยากเห็นการฟื้นฟูสถาบันครัว
2.อยากเห็นนวัตกรรมใหม่ กล่าวคือ ในศตวรรษที่ 21 ที่มีการแข่งขันสูงแต่มีทรัพยากรที่จำกัด ดังนั้นมุสลิมจะต้องเป็นนวัตกรที่ผลิตนวัตกรรมใหม่ให้ได้ ซึ่งจะต้องผลิตนวัตกรรมที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ เพราะหากไม่มีนวัตกรรมจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่ฟุ่มเฟื่อย

อยากเห็นมุสลิมทำให้อิสลามเป็นของทุกคน
3.อยากเห็นมุสลิมทำให้อิสลามเป็นศาสนาของทุกคน เช่น มุสลิมจะต้องให้คำตอบต่อชาวโลกในสิ่งที่พวกเขาผิดหวังต่อโลกตะวันตก เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มุสลิมจะต้องบอกโลกว่าอิสลามมีทางออกอย่างไร เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้มีบัญญัติไว้แล้วในอิสลาม

“ทุกวันนี้คนอาหรับมารักษาตัวในประเทศไทยปีละมากกว่าสามแสนคน แต่มุสลิมเป็นได้แค่ล่ามแปลภาษา ทั้งที่ควรจะเป็นหมอหรือพยาบาลด้วย”

4. มุสลิมจะต้องมีบุคลากรที่สามารถนำมนุษย์ไปสู่อัลกุรอาน เพราะคำตอบของทุกอย่างมีอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน มุสลิมต้องมีนักเผยแพร่ศาสนาให้มากขึ้น เพราะโลกในศตวรรษที่ 21 ต้องการที่จะเข้าใจอิสลามมากขึ้น

“เราต้องเรียงลำดับความสำคัญของการเรียนให้ถูกต้อง คือ เรียนให้รู้จักพระเจ้าและศาสนาของพระเจ้าก่อน แล้วค่อยเรียนให้รู้จักในสิ่งที่พระเจ้าสร้าง แล้วโลกจะไม่ผิดหวังเหมือนในศตวรรษที่ผ่านมา” นพ.แวมาฮาดี ย้ำเป็นการทิ้งท้าย

โลกอิสลามฟื้นอีกครั้งด้วยการอ่าน
ด้านดร.สุกรี กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้โลกอิสลามฟื้นขึ้นมาอีกครั้งนั้นก็คืออิกรออฺ (การอ่าน) นอกจากนั้นเราจะต้องมีแผนแม่บทแห่งอุมมะฮฺ(ประชาชาติ) ในการฟื้นฟูอิสลาม เพราะการฟื้นจะต้องเป็นวาระของประชาชาติ เราควรกลับไปดูบทเรียนในอดีต และวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาให้เราขึ้นไปเป็นครูของโลกได้อีกครั้งหนึ่ง

ดร.สุกรี ยังได้ยกตัวอย่างปัญหาของประเทศต่างๆ ที่มีการพัฒนาที่ไม่สมดุลเช่น ประเทศสิงคโปร์ที่ต้องนำเข้านักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ เพราะมุ่งแต่ผลิตนักวิทยาศาสตร์จนทำให้ขาดแคลนนักรัฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์

“งานวิจัยของชาวตะวันตกระบุว่า การตั้งเมืองมาดีนะฮฺซึ่งเป็นรัฐอิสลามแห่งแรกดีกว่าโมเดลการตั้งเมืองของเพลโตนักปรัชญาชาวกรีกโบราณ เพราะสิ่งที่ทำให้เมืองมาดีนะฮฺเจริญก็คืออัลกุรอาน” ดร.สุกรี กล่าว

ดร.สุกรี กล่าวถึงประเทศจอร์แดนว่า เป็นประเทศที่มีประชากรอ่านออกเขียนได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ด้วยปัญหาทางการเมืองทำให้จอร์แดนขับเคลื่อนอะไรไม่ค่อยได้ ส่วนที่ประเทศปาเลสไตน์มีปัญหาการถูกยึดครองดินแดน แต่กลับพบว่ามีผู้จบปริญญาเอกมากที่สุดในโลก

สร้างพลังเยาวชนด้วยอีหม่าน
ส่วนในการบรรยายศาสนา เรื่อง The Power of Youth โดยอาจารย์บับลี อัดดุรเราะห์มาน นักวิชาการศาสนาอิสลาม กล่าวว่า เยาวชนจะมีพลังไม่ได้หากปราศจากอีหม่าน(ความศรัทธา) อย่างกรณีที่โลกอาหรับสู้กับชาวยิวไม่ได้ ไม่ใช่เป็นเพราะกำลังพลหรือมีอาวุธด้อยกว่า แต่เป็นเพราะอีมานของชาวอาหรับไม่เข้มแข็งพอ

“คนจำนวนมากตั้งคำถามว่า ทำไมมุสลิมถึงชอบมีเรื่องกับคนต่างศาสนิกไปทั่ว ความจริงอาจต้องถามกลับไปว่า ทำไมคนอื่นถึงชอบมาหาเรื่องมุสลิม แล้วมีที่ไหนบ้างที่มุสลิมเป็นผู้เริ่มก่อความขัดแย้งก่อน”บับลีกล่าว

บับลีกล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เยาวชนจะต้องคิดก็คือ ในสังคมที่เต็มไปด้วยอบายมุข ผู้ชายไม่ให้เกียรติผู้หญิง ผู้หญิงไม่ให้เกียรติผู้ชาย เยาวชนจะขับเคลื่อนงานศาสนาในสังคมเหล่านี้อย่างไร? ก่อนอื่น เยาวชนจะต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนที่จะไปเปลี่ยนแปลงสังคม และขอย้ำว่าไม่มีพลังใดๆ ที่จะช่วยเยาวชนได้นอกจากการมีอีหม่าน
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตนักกิจกรรม PNYS ร่วมจัดงานสมทบทุนเด็กกำพร้าปาตานี/จชต.

$
0
0

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2558 กองทุนเพื่อเด็กกำพร้า PNYS ได้จัดงานระดมทุน เพื่อเด็กกำพร้า ปาตานี /จชต. ที่สนามกีฬากลางองค์การบริหารจังหวัดปัตตานี โดยมีวัตถุระสงค์เพื่อมอบเงินบริจาคแก่เด็กกำพร้าที่เป็นลูกหลานของอดีตนักศึกษา PNYS มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีศิษย์เก่า PNYS มาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ตั้งแต่ยุคก่อตั้ง PNYS รหัส 2522 ถึง ปัจจุบัน

อุสมาน อาแว ประธาน โครงการสานฝันปันรอยยิ้มสู่เด็กกำพร้า PNYS ครั้งที่ 2และอดีตนักกิจกรมมกลุ่ม PNYS กล่าวว่า “เราจัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อเด็กพร้าที่เป็นลูกหลานของอดีตนักศึกษา PNYS มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อไปเราอาจจะขยายไปในวงกว้างมากขึ้น เพียงแต่ตอนนี้ทางเรายังไม่มีศักยภาพพอ จึงจำเป็นต้องโฟกัสเฉพาะเด็กกร้าPNYS

อนาคตเราจะจดทะเบียนในนามนิติบุคคล จากกองทุนเด็กกำพร้า PNYS เป็นมูลนิธิและดำเนินการจัดหาทุนทุกๆปี ปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้วที่เราจัดงานระดมทุนเพื่อเด็กกำพร้า ปีที่ผ่านมาทางจังหวัดยะลาเป็นเจ้าภาพงาน ปีนี้ทางเราโซนจังหวัดปัตตานีเป็นเจ้าภาพ และปีหน้าอาจจะเป็นทีมสมาชิกในจังหวัดนราธิวาสเป็นเจ้าภาพต่อไป

คำว่า PNYS เป็นชื่อย่อของกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มาจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้”อุสมานกล่าว

อันวาร์ สาและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี และอดีตนักกิจกรมมกลุ่ม PNYS กล่าวว่า “ผมย้อนคิดดูพวกเราตั้งแต่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มนักศึกษาที่มากจากจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวอยู่ตลอด ซึ่งก็เป็นพื้นที่หนึ่งสำหรับพวกเราในการทำกิจกรรม

และอยากฝากน้องรุ่นใหม่ๆในพื้นที่ที่เดินทางไปศึกษาต่อที่มห่วิทยาลัยรามคำแหงนั้น ลองศึกษาสิ่งที่รุ่นพี่เคยทำมาว่ารูปแบบการจับกลุ่ม การทำงาน เขาทำกันอย่างไร ถึงสามารถรวมตัวกันเป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา

สำหรับวันนี้ก็ถือว่าโชคดีมาที่เห็นน้องรุ่นใหม่ๆและรุ่นพี่เก่าแก่สามารถมารวมตัวกันเป็นหนึ่งได้อีกครั้ง เพื่อกลับกลับหันไปดูคนในครอบครัว PNYS ว่า ครอบครัวไหนที่บุตรของเขาสูญเสียมารดาหรือบิดาไป เพื่อช่วยเหลือคนในครอบครัวต่อไป” อันวาร์ กล่าว

ด้าน อาหามะ เลาะแม ผู้เข้าร่วมงานและอดีตนักกิจกรมมกลุ่ม PNYS กล่าวสั้นๆว่า “ตั้งแต่สมัยเพิ่งเข้าศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงใหม่ๆจนถึงวันนี้ความรู้สึกผูกพันธ์มันก็ยังเหมือนเดิม” อาหามะ กล่าว

คลิ๊กลิงค์วีดีโอ: http://goo.gl/mwfYDD

คลิ๊กลิงค์ภาพกิจกรรม:
- ประมวลภาพ (ช่วงเช้า) 17.01.2015 : http://goo.gl/wXsVLy
- ประมวลภาพ (ช่วงค่ำ) 17.01.2015 : http://goo.gl/1tFYpc
- ประมวลภาพ (ช่วงเช้า) 18.01.2015 : http://goo.gl/EpeLCj
- ประมวลภาพ (ช่วงบ่าย) 18.01.2015 : http://goo.gl/0pThF5
- ประมวลภาพ (ช่วงเย็น) 18.01.2015 : http://goo.gl/8p8Xnt
- ประมวลภาพ (ช่วงค่ำ) 18.01.2015 : http://goo.gl/JjRGfz
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ พบ พล.อ.ธนะศักดิ์ พร้อมย้ำให้เลิกกฎอัยการศึก

$
0
0

แดเนียล รัสเซล เข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว.ต่างประเทศ โดยฝ่ายไทยย้ำจะแก้ไขการค้ามนุษย์ และแสดงความมุ่งมั่นจะทำตามโรดแมปและปฏิรูป ส่วนสหรัฐยืนยันท่าทีเดิมคือให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ขณะที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือทวิภาคีแก้ไขการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด ค้ามนุษย์ อีโบล่า

26 ม.ค. 2558 - ตามที่ แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้เดินทางมาเยือนไทยระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม ในช่วงเช้าได้มีการเข้าพบ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้นำเสนอข่าวนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ที่มาของภาพ: กระทรวงการต่างประเทศ

ต่อมา ตามรายงานของเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศแดเนียล รัสเซล ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยถือเป็นการเข้าเยี่ยมคารวะของผู้แทนระดับสูงจากสหรัฐ ครั้งแรกในปีนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย- รายละเอียด ดังนี้

ทั้งสองฝ่ายยืนยันในความร่วมมือ โดยเฉพาะในฐานะที่ไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชียที่มีความยาวนานกว่า 180 ปี รวมทั้งยืนยันความเป็นมิตรและหุ้นส่วนในการส่งเสริมความร่วมมือระดับทวิภาคี ภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยสหรัฐฯ ตระหนักถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงลู่ทางในการขยายความร่วมมือในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายยังย้ำในความร่วมมือทวิภาคีในลักษณะหุ้นส่วนในการจัดการแก้ไขสิ่งท้าทายในปัจจุบัน อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ และโรคระบาด เช่น อีโบลา ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นความท้าทายระดับประชาคมโลกในปัจจุบัน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งถึงความมุ่งมั่นและความคืบหน้าของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และยินดีรับข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ของฝ่ายสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ รวมทั้งได้แจ้งให้นายรัสเซลทราบถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดำเนินการตามโรดแมปและกระบวนการปฏิรูป โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

โดยรัสเซลได้แสดงข้อคิดเห็นหลักๆ ในเรื่องของความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นการยืนยันท่าทีเดิมที่สหรัฐอเมริกา มีต่อไทยในเรื่องนี้ การพบปะในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารืออย่างสร้างสรรค์และยืนยันต่างจะร่วมมือกันเสริมสร้างความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังการเข้าพบที่กระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาในช่วงบ่าย ในการปาฐกถาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)รัสเซล เสนอให้รัฐบาลไทยยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศ และยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพด้นต่างๆ และสนับสนุนให้มีกระบวนการปฏิรูปที่ครอบคลุมที่ภาคส่วน

"การยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศและยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมคือก้าวสำคัญอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงซึ่งจะสะท้อนความหลากหลายของความคิดเห็นภายในประเทศ  สหรัฐฯ หวังว่า ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้จะนำมาซึ่งสถาบันที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตยที่สะท้อนและตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย"

ทั้งนี้เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยแพร่บทปาฐกถาของรัสเซลด้วย (อ่านเพิ่มเติม)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[คลิป] สื่อเยาวชน: ก้าวที่ขยับของคนรุ่นใหม่

$
0
0

คลิปจากเวที 10 ปี 'สื่อทางเลือก' ทบทวนและท้าทาย ช่วงเวทีแลกเปลี่ยน "สื่อเยาวชน: ก้าวที่ขยับของคนรุ่นใหม่" รัชพงศ์ โอชาพงศ์: ค่ายเพลงไม่แสวงหากำไรแห่งแรกในประเทศไทย พุฒิพงษ์ ธรรมวัตร: เสียงเยาวชนอีสาน เยาวชนคือสื่อที่ดีที่สุด เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์: หลักสูตรภาพยนตร์ สำหรับคน..ไม่ทำภาพยนตร์ โตโต้ : รวมกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา-ช่างกล ทำหนังสือ ก่อนปิดตัวหลังรัฐประหาร และ กรกฤช สมจิตรานุกิจ: เว็บเด็กหลังห้อง "ถึงจุดหนึ่งเราต้องหลุดออกจากคำว่าเยาวชน"

 

 

27 ม.ค. 2558 - เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ในเวที "10 ปี 'สื่อทางเลือก' ทบทวนและท้าทาย" จัดที่โรงแรมเอทัส ลุมพินี โดยมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน โครงการศูนย์การเรียนรู้สื่อ และเว็บไซต์ประชาไทนั้น ในช่วงเช้ามีเวทีแลกเปลี่ยน หัวข้อ "สื่อเยาวชน: ก้าวที่ขยับของคนรุ่นใหม่" วิทยากรประกอบด้วย รัชพงศ์ โอชาพงศ์ Triple H Music พุทธิพงค์ ธรรมวัตร ศรีสะเกษติดยิ้ม เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ Young Film ปิยรัฐ จงเทพ กลุ่มการศึกษาปริทรรศน์ กรกฤช สมจิตรานุกิจ เว็บไซต์เด็กหลังห้อง ดำเนินรายการโดย เทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท

000

รัชพงศ์ โอชาพงศ์: ค่ายเพลงไม่แสวงหากำไรแห่งแรกในประเทศไทย 

รัชพงศ์ โอชาพงศ์ จากค่ายเพลง Triple H Music เล่าให้ฟังถึงควาหมายของ 3 H คือ Head Hand Heart ซึ่งเป็นนิยามของการแต่งเพลงที่ดี กลุ่มนี้เริ่มต้นจากวงสลึงของ ม.มหิดล เปิดให้เยาวชนมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเพลง เช่น เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เกิดขึ้นได้อย่างไร ฯลฯ เพื่อปลูกฝังทัศนคติรับใช้สังคมให้กับเยาวชน จากนั้นจึงพัฒนาโครงการไปอีกขั้นโดยการสนับสนุนของ สสส. นำเยาวชนลงพื้นที่ที่มีปัญหา ศึกษาปัญหาแล้วสะท้อนออกมาในบทเพลง เช่น สถานสงคราะห์คนพิการ คนไร้บ้าน เหมืองแร่

“แต่ละปีเราเจอนักดนตรีรุ่นใหม่เยอะ มีคนที่สนใจเพลงที่มีเนื้อหารับใช้สังคม เมื่อก่อนเรียกว่าเพลงเพื่อชีวิต แต่ถ้าพูดคำนี้เด็กๆ อาจจะว่าเรารุ่นใหญ่ไป สมมติใครอยากทำรณรงค์เรื่องงดเหล้า เพลงที่มารับใช้คือเพลงที่สนับสนุนการงดเหล้า ปัญหาปีที่ผ่านมาคือ ผลิตแล้วทิ้ง ไม่มีที่ให้ไปต่อ ไม่มีทุน เอ็นจีโอ แอ็คทิวิสต์ไม่ค่อยอยากได้เพลง ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็พูด 'ขอบคุณมากที่น้องทำเพลงให้พี่แต่พี่ก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร' ทั้งนี้ ตั้งแต่หลังทศวรรษ 2520 เพลงกับการรณรงค์มันห่างหายกันไปมาก เราอยากทำให้เกิดการใช้เพลงเยอะขึ้น เราจึงจะเซ็ทองค์กรระยะยาว เป็นค่ายเพลงไม่แสวงกำไรแห่งแรกของประเทศไทย”

000

พุฒิพงษ์ ธรรมวัตร: เสียงเยาวชนอีสาน เยาวชนคือสื่อที่ดีที่สุด

พุฒิพงษ์ ธรรมวัตร กลุ่ม 3D ศรีสะเกษติดยิ้ม ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมและภาพยนต์สั้นจาก จ.ศรีสะเกษ เล่าว่า กลุ่มสามดี มาจากความหมายดังนี้  หนึ่ง ภูมิดี (ภูมิปัญญา) สอง สื่อดี (สื่อที่น้องได้สร้างสรรค์ขึ้น) สาม พื้นที่ดี (พื้นที่ที่ไม่ใช้สารเคมีในการเกษตร และน้องๆ ก็ทำจริงในโรงเรียน)

รูปแบบทำกิจกรรมกับเยาวชน แต่ก่อนเริ่มจากเด็กและเยาวชนในโรงเรียนส่งผลงานเข้าประกวดในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา พัฒนากันต่อเรื่อยมา ผลงานนักเรียนเป็นเรื่องเกษตรอินทรีย์ และปัญหาของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปัจจุบัน พ่อแม่ทิ้งลูกเข้าทำงานใน กทม. ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง ไม่ค่อยได้มาเยี่ยมบ้าน เด็กๆ เลยแต่งเพลงเพื่อบอกพ่อแม่ว่าไม่ได้ต้องการเงินทองแต่ต้องการชีวิตที่ครบอบอุ่น ดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพระราชดำริ

"ผลงานมีการทำสื่อออกมาหลายแบบ มีการนำนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคามมาสอนน้องๆ ทำหนังสั้น นอกจากนี้ยังมีละครหุ่นมือ ละครเร่ ช่องทางการเผยแพร่ คือ การจัดฉายในงานมหกรรมต่างๆ และขึ้นยูทูปด้วย"

"น้องๆ มองว่า ตัวเองคือสื่อที่ดีที่สุด ตัวเองสามารถเป็นแบบอย่างที่ให้รุ่นน้องเดินตามรอยเขาได้ในเรื่องสร้างสรรค์และเรื่องที่ดี"

พุฒิพงษ์ หวังว่า ต่อไปหากสังคมให้บทบาทและจัดให้เด็กมีเวทีสำหรับเด็กสำหรับสร้างสื่อที่สร้างสรรค์สร้างแรงจูงใจให้คนอื่นได้จะเริ่มจากจุดเล็กๆ นี้เข้าสู่ระดับประเทศและเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้

000

เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์: หลักสูตรภาพยนตร์ สำหรับคน..ไม่ทำภาพยนตร์

เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ จากกลุ่ม Young Film เล่าว่า กลุ่มเริ่มเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าไม่มีพื้นที่สำหรับคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ จึงตั้งกลุ่มขึ้นโดยใช้ชื่อนี้เพราะเวลาพูดถึงคนทำหนังไม่ได้อยู่ที่ผู้กำกับอย่างเดียว กระบวนการทำหนังเอื้อให้กับทุกคน คนดู นักวิจารณ์ คนตัดต่อ ฯลฯ

เมื่อเกิดกลุ่มก็พยายามทำให้คนที่อยากทำหนังสั้นได้ทำ เช่น เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่มีกล้อง อยากได้ทักษะ จึงทำเป็นค่ายอบรม พอทำมาสามสี่ปี พบว่าเขาไม่มีความจำเป็นต้องเรียนกับเราก็ได้ เปิดยูทูปฝึกเองได้ ดังนั้นจึงต้องถามตัวเองว่าคุณค่าหลักคืออะไรกันแน่ เมื่ออบรมหลายพันครั้งก็เริ่มรู้สึกว่า เด็กๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำหนังต่อด้วย เราจึงพยายามพัฒนาหลักสูตรให้มีประโยชน์กับคนที่ไม่ได้อยากทำหนังด้วย เรียกว่า “กระบวนการภาพยนตร์ที่เอามาพัฒนาศักยภาพชีวิต”

“ค่ายระยะหลังไม่มุ่งให้คนกลายเป็น เจ้ย อภิชาตพงษ์ หรือจีทีเอช แต่มุ่งเน้นให้เด็กมีวุฒิภาวะทางปัญญา”

“ที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่มักถูกเขียนหรือสร้างค่านิยมผ่านคนรุ่นเก่า การเติบโตของสื่อรุ่นใหม่ทำให้เด็กมีโอกาสเขียนตัวเองว่าเขาจะดำรงชีพอย่างไรในสังคมนี้ เราจึงพยายามอย่างยิ่งที่หลีกหนีการขอทุน แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธเงิน อย่างไรก็ตาม เราพบว่าองค์กรให้ทุนในไทยย่อมมีจุดประสงค์ของเขา ไม่ผิดแปลก แต่มันกำหนดให้เราในฐานะเด็กรุ่นใหม่ที่ควรกำหนดจุดประสงค์เอง...เด็กบางกลุ่มขอทุนทำกิจกรรมเก่งจนแทบเขียนหนังสือช่องทางรวยได้เลย”

000

โตโต้ : รวมกลุ่มนักเรียน-นศ.-ช่างกล ทำหนังสือ ก่อนปิดตัวหลังรัฐประหาร

ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ จากกลุ่มการศึกษาปริทรรศน์ เล่าว่า แรงจูงใจในการทำหนังสือเริ่มจากเขียนลงที่อื่นแล้วโดนแบน เมื่อเจอเนติวิทย์จึงคิดว่าทำสื่อกันเองดีกว่า จะได้นำเสนอแนวคิดคนรุ่นใหม่ โดยไม่ถูกเซ็นเซอร์หรือครอบงำความคิดจากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

"เริ่มต้นปีที่แล้ว ประชุมแล้วตัดสินใจภายในสามวัน ยังไม่รู้จะเอาเงินจากไหน จึงลองขายน้ำดื่มในการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ที่ธรรมศาสตร์ ได้กำไรเกือบ 2 หมื่น จึงนำมาทำฉบับแรก รวบรวมนักศึกษานักเรียนที่อยากทำสื่อของตัวเองจากหลายสถาบัน นักเรียนที่ไปเรียนรต่างประเทศก็มี เด็กช่างกลก็มี เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องภายในสถาบันของตัวเอง และมุมมองต่อระบบการศึกษา"

มีนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา บางคนเขียนเรื่องการรณรงค์วิ่งในโรงเรียน มีครูบอกว่าถ้าไม่วิ่งขอให้อ้วน ไม่วิ่งขอให้ไม่ติดจุฬา ซึ่งเขาคิดว่าไม่ถูกต้องเลยเขียนวิจารณ์ ปรากฏว่าขายดีมาก ขายได้เป็นร้อยเล่ม

"คนออกแบบกราฟฟิค เด็กช่างกลทั้งนั้น เขาได้ลองทำ และปรับปรุงได้ดีขึ้นในเล่มสองเล่มสาม อย่างไรก็ดี พบว่าพิมพ์แล้วใช้เงินเยอะ จึงคิดว่าน่าจะทำออนไลน์ โดยทดลองกับเฟซบุ๊คก่อน จากนั้นเนติวิทย์ก็ขอทุน สสส. แล้วพิมพ์ได้อีกสองเล่ม"

ที่น่าสนใจคือ หลังรัฐประหารมีโทรศัพท์มาบอกว่าให้สงบนิดหนึ่ง บางบทความขอให้ส่งตรวจก่อน เราคิดว่าขอรักษาจุดยืนเราโดยการหยุดไปก่อนดีกว่า แล้วหลังรัฐประหารเราจะกลับมาใหม่

000

กรกฤช สมจิตรานุกิจ: เว็บเด็กหลังห้อง "ถึงจุดหนึ่งเราต้องหลุดออกจากคำว่าเยาวชน"

กรกฤช สมจิตรานุกิจ บก.เว็บไซต์เด็กหลังห้อง เล่าถึงที่มาของเว็บเด็กหลังห้องว่า เนื่องจากได้ฝึกงานกับประชาไทและได้รับการชักชวนให้ลองทำเว็บให้เยาวชนได้แสดงตัวตนได้เต็มที่ จึงชักชวนเพื่อนลองทำเว็บเด็กหลังห้องเพื่อสื่อสารเรื่องราว กิจกรรมของนักศึกษาเอง เน้นการทำข่าวด้วยเนื่องจากเห็นว่าการสื่อสารกับคนวงกว้างบางครั้งการนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบก็อาจได้ผลกว่าการให้ทัศนะเพียงอย่างเดียว ที่ผ่านมาเน้นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการศึกษาและสิ่งที่กระทบกับชีวิตนักศึกษา เช่น มีการทำอินโฟกราฟฟิคเกี่ยวกับราคาห้องพัก อาหาร ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อกระตุ้นการตั้งคำถามและพลังการตรวจสอบของนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความต่อเนื่องของการทำงานสื่อเยาวชน เรื่องนี้ เป็นคำถามที่ตั้งอยู่ในใจตลอดมาเนื่องจากตนเองอยู่ปี 4 แล้ว หากจบไปแล้วจะยังทำสื่อในลักษณะนี้ได้อีกหรือไม่ จึงคิดว่าคำว่าเยาวชนเป็นดาบ 2 คม ทางหนึ่งเป็นการแสดงถึงความบริสุทธิ์ ไม่ขึ้นกับใคร แต่ตนไม่เห็นด้วยเพราะอย่างน้อยเยาวชนก็มีวาระของตัวเองอยู่ในใจอยู่ อีกทางหนึ่ง เขามองว่าเราเด็ก เขามองว่าเราอ่อนประสบการณ์ ยังไม่เรียนรู้โลกเพียงพอ บ้าอุดมการณ์ ไม่คิดึงหลักความเป็นจริง เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าหากเรายึดติดกับคำว่าเยาวชนมากเกินไปมันทำให้งานข่าวของเรามันไปได้ไม่สุด บางทีอาจถึงจุดที่เราต้องหลุดออกจากคำว่าเยาวชนเป็นข่าวเพื่อการศึกษา เป็นข่าวเพื่อแผนการในอนาคตของผู้ที่อยู่ในวงการศึกษา หรือข่าวที่เป็นกิจกรรมที่จัดโดยผู้ที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเสียมากกว่า

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: โอม..มนต์ขลัง

$
0
0


๏อักขระนะโมตั้งมั่น มนต์ขลัง
ปลาบเปล่งประกายยัง แก่ข้า
ภาพโคลงร่ายฝากฝัง ฟากฝั่ง จุตินา
คำหนึ่งนฤมิตหล้า หยั่งฟ้าสะเทือนหาว

๏ดาวระยับดับสิ้น แสงฉาย
คืนค่ำเคยพรรณราย มืดตื้อ
ปิดฟ้าฝ่ามือผาย ลงคว่ำ
มือไม่เห็นพลิกรื้อ แต่หล้าดินเห็น

๏ฉีกเป็นเสี่ยงเสี่ยงฟ้า พลิกหงาย
แปลบแล่บวาบวับวาย ผ่าเปรี้ยง
ตัดทุกส่วนจุดหมาย เผื่อแผ่
จะจ่ายแจกต่างเลี้ยง ต่างผู้ทุกข์เข็ญ

๏เป็นธุลีเป็นหนึ่งก้อน ดินไหน
ขับเคี่ยวเข็ญหัวใจ แตกร้าว
ผู้คนแห่งสยามสมัย ตกต่ำ
มือคว่ำปิดมิดด้าว ต่างฟ้ากับเหว

๏เลวกฎอัยการศึกฟ้า โอหัง
ปกทั่วอนธการยัง อยู่ยั้ง
ผู้นำเชื่อหัวฝัง คนโง่
ปัดโธ่เสือกลากตั้ง แต่งตั้งถวายหัว

๏กลัวกลัวกรรมชั่วกลั้ว เกลือกเห็น
ดับประเทศชาติเป็น ทาสเลี้ยง
ครอบงำข่มเหงเข็ญ คุกเข่า
โอมเป่ามนต์ดำเพี้ยง เสื่อมสิ้นฉิบหาย

๏ตายตามตกต่ำใต้ ขุนเขา
งกงั่งงันเงียบเงา โง่ง้ำ
กระดูกฝุ่นผงเผา จุณร่าง
ฝังชั่วกัปกัลป์ซ้ำ ถ่านเถ้าพรายโหง

๏โอมโยงเอาเซ่นด้าย ตราสัง
ผูกโซ่ปืนรถถัง ชั่วช้า
อานุภาพเสื่อมขลัง อำมหิต
ทุกเครื่องมือเหล็กกล้า ก่อขึ้นรัฐประหาร

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายที่ดินอีสานชี้แผนแม่บทป่าไม้ สร้างความขัดแย้งไม่ต่างจาก คจก.แนะรัฐหยุดปราบปราม ให้ ปชช.มีส่วนร่วม

$
0
0

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานจัดเวทีวิพากษ์แผนแม่บทป่าไม้ ชี้เป็นการฟื้น คจก.ที่ผูกขาดและล้มเหลว แนะรัฐหยุดปราบปราม ไล่ชาวบ้านออกจากป่า เสนอให้ประชาชนมีส่วนร่วมปกป้องทรัพยากร

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ร่วมจัดเวทีวิพากษ์แผนแม่บทป่าไม้ขึ้นที่ศาลาบ้านดินชุมชนบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เพื่อร่วมกันจัดทำร่างข้อเสนอแผนจัดการทรัพยากรชุมชนให้ชาวบ้านได้นำไปปรับใช้แทนแผนแม่บทป่าไม้ สืบเนื่องมาจากหน่วยงานภาครัฐได้มีนโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้น จากแผนปฏิบัติการดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนต่อประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

นายเหลาไท นิลนวล ผู้ประสานงานสมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสาน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเสมือนเป็นการรื้อฟื้นกลับคืนมาของโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม หรือ คจก. ที่ได้เคยสร้างปัญหาและส่งผกระทบความไม่ชอบธรรมกับชาวบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ได้เกิดปรากฎการณ์การชุมนุมเรียกร้องเพื่อคัดค้านโครงการ คจก. เมื่อช่วงปี 2535 และในความไม่แตกต่างในโครงการ คจก.กับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ในยุค คสช.นั้น คือเป็นการฟื้นหลักการเดิมๆ ความคิดเก่าๆ ที่เคยประสบความล้มเหลวมาแล้วอย่างสิ้นเชิง เพราะทั้งกรอบความคิดและแนวปฏิบัติในการจัดสรรที่ดินของรัฐ จะผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ที่หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

เหลาไทกล่าวต่อว่า จากบทเรียนในอดีตสอนให้รู้ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือชาวบ้านที่เขาอยู่ในเขตป่า หรืออยู่ในที่ดินทำกินมาก่อน และชาวบ้านก็เป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอด ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นปัญหาความไม่เป็นธรรม ต้องแก้ไขด้วยการมีส่วนร่วมให้สามารถวิพากษ์แผนแม่บทป่าไม้ฯ เพื่อให้สามารถร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจบานปลายออกไปได้ หน่วยงานรัฐควรหานโยบายอื่นเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า ไม่ใช่ทวงคืนจากชาวบ้านที่ไร้ทางสู้ นอกจากนี้ภาครัฐควรเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในการให้ชุมชนมีส่วนร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขาเองด้วย

ดังนั้น จึงเสนอให้การดำเนินนโยบายตามแผนแม่บททวงคืนผืนป่าฯ ควรให้ภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยและต้องไม่มีการปราบปราม รัฐควรหยุดการอพยพ ยุติไล่รื้อคนออกจากที่ทำมาหากิน หรือใช้วิธีการเดิมๆ แต่ต้องกำหนดให้มีการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ

ด้าน ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า หลักการแก้ไขปัญหาควรคำนึงถึงการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชน โดยพิจารณามาตรการหลักๆ เพื่อผลักดันให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า กองทุนธนาคารที่ดิน และการส่งเสริมสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดิน เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีการระงับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ออกไว้ก่อน และดำเนินการทบทวนโดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในช่วงที่ผ่านมา

ดร.อลงกรณ์ กล่าวเพิ่มว่า การยึดถือแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ.2544-2545 โดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ โดยไม่พิจารณาข้อมูลอื่นๆ ประกอบ อาจกระทบสิทธิต่อประชาชนหลายพื้นที่ที่เคยถือครองทำประโยชน์ที่ดินมาก่อนและถูกขับไล่ออกจากพื้นที่เดิม ฉะนั้นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการตรวจสอบ หรือการพิสูจน์สิทธิ์ต้องมีความหลากหลาย ทั้งนี้ ต้องมีลักษณะจำแนกแยกแยะให้ชัดเจน ระหว่างนายทุนที่ถือครองที่ดินในเขตป่า กับชาวบ้านที่มีกรณีพิพาทสิทธิในที่ดินกับหน่วยงานภาครัฐ

“ต่อข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางที่ชาวบ้านได้รับผกระทบมาก่อนหน้านั้น ควรให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาแนวทางในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการไล่รื้อชาวบ้าน ต่อศาลปกครองในข้อหาขัดคำสั่งประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่า ฉบับที่ 66/2557 ที่ระบุว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวนและพิสูจน์ทราบเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป“ ดร.อลงกรณ์ กล่าว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาชนปราถนากระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม... ไม่ได้ขอนิรโทษกรรมให้ใคร

$
0
0

 

สิ่งที่เกิดขึ้น กับ อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่การเดินขบวนขับไล่รัฐบาล โดยกลุ่ม กปปส. จน นายกรัฐมนตรีิประกาศ ยุบสภาผู้แทนราษฎร คืนอำนาจให้ประชาชน เมื่อเดือนธันวาคม 2556 และเสนอให้มีการเลือกตั้งทั่วไปทั้งประเทศ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ถูกกระบวนการต่างๆ ขัดขวาง จนไม่สามารถ จัดการเลือกตั้งได้สำเร็จ มีลำดับเหตุการณ์ที่น่าจับตาดูหลายเหตุการณ์ โดยลำดับ

1. วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหา พร้อมด้วย รัฐมนตรีจำนวนมาก (ทั้งที่ไม่เคยเป็นผู้ถูกกล่าวหา มาก่อน) พ้นจากหน้าที่ รักษาการ นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรี ด้วยคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีการโยกย้ายอดีตเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ

2. ในวันรุ่งขึ้น คณะกรรมการ ปปช. ประกาศชี้มูลความผิด ในโครงการรับจำนำข้าว แบบรวมคดีทั้งการยื่นถอดถอนต่อ สภาฯ และคดีอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติ ต่ออดีต นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์

3. และ ในเวลา 2 สัปดาห์ ต่อมา ก็ตามด้วยการ รัฐประหาร ที่นำโดย ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งทำให้มีการแต่งตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 แทนฉบับปี 2550 ที่ถูกการรัฐประหารยกเลิกไปแล้ว

4.กระบวนการ ของ ปปช. เพื่อยื่นถอดถอน อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ในเดือนมกราคม 2558 ที่ปรากฏชัดเจนถึง ความรวบรัดเร่งรีบ และอ้างถึงกฎหมายสูงสุด คือรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วในการดำเนินการ เพื่อหวังผลการตัดสิทธิทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น แต่ไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และทั้งๆ ที่ ปปช.ก็ระบุในคำวินิจฉัยของตนเองว่า ไม่พบหลักฐานว่า อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์กระทำการทุจริต หรือเอื้อให้กระทำการทุจริต แต่พยายามยัดเยียดความคิดที่ว่า มีพฤติกรรมที่ "ส่อ..." และกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหา ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนเกิดความเสียหาย โดยนำเอา ตัวเลข "การขาดทุนทางบัญชี" หรือ "ค่าใช้จ่ายสุทธิของโครงการฯ" หลายๆ ฤดูการผลิต หลายๆ ปีบัญชี ที่ยังไม่มีข้อยุติ มารวมทบๆ กันให้เข้าใจว่าเป็นตัวเลขที่มากและเพิ่มขึ้นๆ มาชี้วัด เป็น"ความเสียหาย"ที่ทำให้ อดีตนายกรัฐมนตรี มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติ ไม่ยับยั้งโครงการ

ซึ่งตัวเลข"การขาดทุนทางบัญชี" ที่นำมากล่าวหาอย่างบิดเบือนว่าเป็นความเสียหาย (เพราะยอมไม่นำประโยชน์ทางเศรษฐกิจของโครงการมาพิจารณาด้วย) ยังไม่เป็นข้อยุติเพราะมีหลักฐานที่ขัดกัน ในด้านปริมาณสินค้าคงคลังในปริมาณที่มีนัยยะสำคัญ และสมมุติฐานด้านราคา และค่าเสื่อมราคา ที่นำมาใช้ในการปิดบัญชี ทั้งๆ ที่มีข้อมูลชัดเจนว่า โครงการรับจำนำข้าว มี "ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" สูงกว่า "ค่าใช้จ่ายสุทธิ" ทั้งในกรณีรายปี และยอดสะสมหลายปีรวมกัน อย่างมากมาย

การบิดเบือนว่าโครงการรับจำนำข้าวทำให้ชาวนาฆ่าตัวตายเพราะได้รับเงินช้า ทั้งๆที่ การจ่ายเงินแก่ชาวนาที่จ่ายตรงเข้าบัญชีชาวนาที่ ธกส. ใน 4 ฤดูการผลิตแรกไม่มีความล่าช้าแต่อย่างใด แต่ที่มาล่าช้าในฤดูการผลิต ข้าวนาปี 2556/57 ก็เพราะการขัดขวางของกลุ่ม กปปส. ที่มีสมาชิกหลายคนมานั่งอยู่ในสภานิติบัญญัติต่างหาก ข้อท้าให้ไปถามชาวนาว่าเขาโกรธ อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ หรือกลุ่ม กปปส.กันแน่

5. ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเหตุการณ์ความบังเอิญที่ไม่บังเอิญ ที่ อัยการสูงสุด แถลงว่าจะส่งฟ้อง อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีอาญา เพียงหนึ่งชั่วโมงก่อนการลงมติถอดถอนของ สนช. ทั้งที่หัวหน้าคณะทำงานที่ อัยการสูงสุดแต่งตั้งขึ้นเอง ยังดำเนินการไม่เสร็จ และไม่ทราบเรื่อง การสรุปร่วมกับ ปปช.

สิ่งเหล่านี้อยู่ในสายตาของประชาชนที่ก่อให้เกิดความแคลงใจ ไปจนถึงความคับใจในความยุติธรรม รวมทั้งอยู่ในสายตาของ ประชาคมธุรกิจ และเศรษฐกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจใน "หลักนิติธรรม" ของประเทศ

คำเตือนนี้ไม่มีความประสงค์ จะให้เป็นคำขู่ เพราะคงไม่มีใครต้องกลัวผมแต่อย่างใด เพราะทุกวันนี้ผมใช้เวลาส่วนใหญ่กับ กีฬา และดนตรี เท่านั้น แต่ผมขอเตือนสติผู้เกี่ยวข้องที่มี อำนาจหน้าที่ ว่า

"การขาดหลักนิติธรรม" จะกลายเป็นชนวนแห่งความสูญเสียของประเทศในทุกด้าน โดยไม่มีใครต้องออกมาประท้วงกันตามท้องถนน แต่ความแคลงใจ ความคับใจ และความไม่มั่นใจ จะส่งผลเสียต่อการลงทุน การสร้างงาน และการบริโภค จนกลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงอย่างประมาณค่ามิได้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม กลับมาแล้ว หลังล่มร่วมชั่วโมง

$
0
0

(อัพเดท) 14.12 น. เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมกลับมาใช้งานได้แล้ว

27 ม.ค. 2558 เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมล่ม เมื่อเวลาประมาณ 13.12 น. วันนี้ โดยเมื่อเข้าเฟซบุ๊ก ปรากฏข้อความว่า ระบบมีปัญหาและกำลังแก้ไข (Sorry, something went wrong. We're working on it and we'll get it fixed as soon as we can.) ขณะที่เมื่อเข้าอินสตาแกรมผ่านเว็บไซต์ไม่ปรากฏข้อความใดๆ หลังทดสอบด้วยการใช้ VPN และเครือข่าย TOR แล้วก็ไม่สามารถเข้าได้เช่นกัน ด้านผู้ใช้ในญี่ปุ่นทวีตว่าที่ญี่ปุ่นก็ไม่สามารถเข้าใช้งานได้

ทั้งนี้ อินสตาแกรม เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live




Latest Images