Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50697 articles
Browse latest View live

เอ็นจีโออีสานเรียกร้องพรรคพวกทบทวน ปฏิรูปโดยไร้เสรีภาพ? เหตุจากกรณีบ้านดอนแดง

0
0

17 ธ.ค.2557 เอ็นจีโออีสาน 33 รายลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงเอ็นจีโอในอีสานด้วยกัน ระบุให้ทบทวนการยอมรับคำสั่งทหารที่ไม่ให้จัดเวทีประชุมเครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน ในพื้นที่บ้านดอนแดง จ.มหาสารคาม 

"ห้ามปรามการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ผู้เป็นเจ้าของปัญหาความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนา และนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าไม้-ที่ดิน น้ำ และเหมืองแร่ รวมถึงคุกคามการทำงานของเอ็นจีโอ และเครือข่ายองค์กรประชาชน ดังนั้นขบวนเอ็นจีโออีสาน จะต้องกลับมาทบทวนบทบาทและทิศทาง การทำงาน ของตัวเอง หรือเราจัดทำข้อเสนอเข้าไปสู่กระบวนการปฏิรูปที่พี่น้องเราไม่มีสิทธิ เสรีภาพในแสดงความคิดเห็นใดๆ หรือเราจะใช้ วิธีล็อบบี้ นำข้อเรียกร้องไปให้ผู้มีอำนาจ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ดอนแดงกระจ่างชัดแล้วว่า “ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง ไม่ใช่ใครสั่งให้เงียบ และทางใครทางมัน !!!"

รายละเอียดมีดังนี้ 

จดหมายเปิดผนึกถึง พี่ น้อง อพช. ภาคอีสาน

เหตุเกิดที่ดอนแดง !!! เราต้องทบทวนท่าทีต่อการปฏิรูป

จากเหตุการณ์เมื่อตอนเย็นของวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีกองกำลังทหาร ตำรวจ และกองอาสารักษาดินแดน (อส.) จังหวัดมหาสารคาม มากกว่า 60 นาย เข้าไปภายในบริเวณอาศรมไทบ้านดอนแดง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม พร้อมกับตรึงกำลังหน้าประตูทางเข้าอาศรมฯ เพื่อไม่ให้กลุ่มชาวบ้านในนาม "เครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน ภาคอีสาน" เข้าไปจัดการประชุมในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค. ภายใต้ชื่องาน "ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาป่าไม้-ที่ดิน และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ฉบับประชาชน ภาคอีสาน" เมื่อได้รับสัญญาณแจ้งเตือนจากงานข่าวกองกำลังทั้ง 3 ฝ่าย ก็ไม่นิ่งนอนใจ เร่งรุดไประงับเหตุโดยทันที

เนื่องจากการรวมตัวกันของเครือข่ายกรณีปัญหาป่าไม้-ที่ดิน เป็นชาวบ้านกลุ่มใหญ่และมีเครือข่ายกระจายตัวอยู่ทั่วภาคอีสาน มีประวัติศาสตร์การต่อสู้มาอย่างยาวนานและโชกโชน บนปัญหาปากท้อง ที่ดินทำกิน และที่สำคัญก็คือมีหัวขบวนที่เป็นเอ็นจีโอและแกนนำหลายคนเคยร่วมกระบวนการต่อสู้ตั้งแต่ยุค คจก. (โครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เสื่อมโทรม (ช่วงปีพ.ศ.2534 –2535) ) เมื่อกว่า 20 ปีก่อน แต่พอมาถึงยุคที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก  และตามมาด้วยประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64 และ 66 /2557 ได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านผู้อาศัยในที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ป่าชุมชนมาก่อนทั่วประเทศ ซึ่งจากการรวบรวมประเด็นปัญหาพบว่า ชาวบ้านในอีสานถูกดำเนินคดีจากนโยบายขอคืนพื้นที่ป่าแล้ว103 ราย มีผู้ถูกออกหมายเรียก 1,764 ราย ดังนั้นฝ่ายความมั่นคงฯ ไม่เชื่อว่าการประชุมดังกล่าว จะไม่มีการพูดคุยในเรื่องการเมือง หรือ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.และวิจารณ์นโยบายของรัฐบาล จึงมีคำสั่งห้ามจัดการประชุมทันที !!!

จากการพูดคุยเจรจากันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ (ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และนายอำเภอบรบือ) และแกนนำผู้จัดงาน จึงได้มีบันทึกข้อตกลงร่วมกันโดยฝ่ายประชาชนยอมรับทุกเงื่อนไข ทำให้ไม่สามารถจัดเวทีได้ตามความมุ่งหมายเพื่อจะจัดทำข้อเสนอต่อกระบวนการทำงานแก้ไขปัญหาป่าไม้-ที่ดิน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของภาคอีสาน เสนอต่อรัฐบาล และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กลับกลายเป็นการทำความสะอาด ซ่อมแซมอาศรม พร้อมกำชับให้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง อย่างเคร่งครัด และเที่ยงวันให้แยกย้ายกลับบ้าน

เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในภาคอีสานและทั่วประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ ห้ามปรามการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ผู้เป็นเจ้าของปัญหาความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนา และนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าไม้-ที่ดิน น้ำ และเหมืองแร่ รวมถึงคุกคามการทำงานของเอ็นจีโอ และเครือข่ายองค์กรประชาชน ดังนั้นขบวนเอ็นจีโออีสาน จะต้องกลับมาทบทวนบทบาทและทิศทาง การทำงาน ของตัวเอง หรือเราจัดทำข้อเสนอเข้าไปสู่กระบวนการปฏิรูปที่พี่น้องเราไม่มีสิทธิ เสรีภาพในแสดงความคิดเห็นใดๆ หรือเราจะใช้ วิธีล็อบบี้ นำข้อเรียกร้องไปให้ผู้มีอำนาจ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ดอนแดงกระจ่างชัดแล้วว่า “ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง ไม่ใช่ใครสั่งให้เงียบ และทางใครทางมัน !!!

ขอแสดงความนับถือ

17 ธันวาคม  2557

 

ลงชื่อ

1.  นายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์

2.  นายเลิศศักดิ์  คำคงศักดิ์

3.  นายสิริศักดิ์  สะดวก

4.  นายปัญญา  คำลาภ

5.  นายเดชา  คำเบ้าเมือง

6.  นายศิระศักดิ์  คชสวัสดิ์

7.  น.ส.ชลธิชา  ตั้งวรมงคล

8.  นายวิทูวัจน์ ทองบุ

9.  น.ส.ณัฐพร อาจหาญ

10.  นายอดิศักดิ์  ตุ้มอ่อน

11.  นายนิติกร  ค้ำชู

12.  นายยงยุทธ  ดงประถา

13.  น.ส.ศิรินาฏ  มาตรา

14.  น.ส.พิณทอง  เลห์กันต์

15.  นายอภินันต์  บุญทอน

16.  น.ส.คำปิ่น  อักษร

17.  นายจิรศักดิ์  ตรีเดช

18.  นายวีรพล  ป้านภูมิ

19.  น.ส.วงเดือน  มาลีหวล

20.  นายณัฐวุฒิ กรมภักดี

21.  นายสมพงศ์ อาษากิจ

22.  นายยงยุทธ พงสาลี

23.  นายกิตติชัย แสงศรี

24.  นายสุทธิศักดิ์ ดีรักษา

25.  น.ส.พรไพลิน แก้ววังปา

26.  นายหัสพงษ์ แจ้งทองไทย

27.  น.ส.วลีรัตน์  ชูวา

28.  นายธนศักดิ์  โพธิ์ศรีกุล

29.  น.ส.สดใส  สร่างโสก

30.  นายพงศธร  กาพมณีย์

31.  นายณัฐิวุฒิ  นาจอมทอง

32. น.ส.มิ่งขวัญ  ถือเหมาะ

33.  น.ส.กมลชนก  โจทย์ครบุรี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชุมซุปเปอร์บอร์ดรับทราบกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3.7 แสนล้านปี 58

0
0

 

17 ธ.ค.2557 เว็บไซต์ thaigov.go.thรายงานว่า ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 2/2558 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจเป็นกรรมการและเลขานุการก่อนเปิดการประชุม

หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมฯ นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้แถลงผลการประชุมฯ โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมรับทราบการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2557 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้รวม 222,156 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65  จากเป้าหมายที่วงเงิน 342,583 ล้านบาท และรับทราบกรอบงบลงทุนประจำปี 2558  ของรัฐวิสาหกิจจำนวนรวม 373,252 ล้านบาท โดย ณ เดือนพฤศจิกายน 2557 รัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 10,126 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ  53 จากเป้าหมายที่วงเงิน 19,162  ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้นำระบบ PFMS – SOEs ซึ่งเป็นการติดตามในลักษณะรายสัญญาโครงการ มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบในหลักการกรอบการดำเนินงานของโครงการโทรคมนาคมของประเทศ โดยให้ภาครัฐคงบทบาทการดำเนินงานด้านโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ตเกตเวย์ เคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ และด้านบริการ Fixed Line อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์  และลดบทบาทภาครัฐกลุ่มบทบาทด้าน IDC และ Cloud  สำหรับกลุ่มเสาโทรคมนาคมและโทรศัพท์เคลื่อนที่  ซึ่งควรมีการศึกษาความเป็นไปได้เพิ่มเติมอีก โดยให้มีการศึกษากรอบดังกล่าวข้างต้นและนำเสนอในที่ประชุมฯ ในครั้งต่อไป  สำหรับแผนแก้ไขปัญหาของ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ควรเพิ่มเติมการลดค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และให้กำหนดตัวชี้วัดที่สะท้อนความสำเร็จในการดำเนินงานตามแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบเหตุผลและทางเลือกในการปรับปรุงรูปแบบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ตามที่คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบกำกับดูแลและระบบบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจเสนอ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้คณะอนุกรรมการดังกล่าว ศึกษารูปแบบหน่วยงานที่จะกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้เป็นลักษณะรวมศูนย์ และนำเสนอที่ประชุมคราวต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาและมีมติในหลักการเรื่องแก้ไขแบบรายละเอียดของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ – รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อให้สถานีบางซื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรถไฟแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร และสามารถรองรับรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จะวิ่งเข้าสถานีบางซื่อไว้ในคราวเดียวกัน โดยที่ประชุมได้มีข้อสังเกตให้พิจารณาเพิ่มเติมในการแก้ไขแบบของรถไฟฟ้าสายสีแดงสอดคล้องกับโครงการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ  พร้อมทั้งให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลการปรับเพิ่มกรอบวงเงินค่าก่อสร้างให้มีความเหมาะสมและโปร่งใส โดยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการกำหนดราคาไว้ด้วย

ตลอดจนที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบในหลักการให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นโครงการลงทุนนำร่องของระบบ Smart Grid  เพื่อปรับใช้กับพื้นที่อื่น ในวงเงินลงทุนรวม 1,069 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศวงเงิน 800 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟภ. วงเงิน 269 ล้านบาท และให้ กฟภ. ทยอยกู้เงินตามความจำเป็น

ในตอนท้ายของการประชุมฯ ที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอการปฏิรูปการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจไทย ตามที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เสนอ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาเพื่อปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษกกระทรวงต่างประเทศ เผย ‘กัมพูชา-ลาว’ ยันไม่ให้ใครใช้เป็นฐานเคลื่อนการเมืองละเมิดสถาบันฯ ไทย

0
0

โฆษกกระทรวงต่างประเทศ ชี้ประเทศตะวันตกแม้ยึดมั่นค่านิยมประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน แต่ต้องมองความสัมพันธ์ระหว่างกันระยะยาว คาดไม่ให้ใครใช้ประเทศเป็นฐานในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ส่งผลกับมิตรประเทศ

17 ธ.ค. 2557 นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีนายกรัฐมนตรีสั่งให้เร่งทำความเข้าใจกับต่างชาติกรณีผู้ละเมิดกฎหมาย มาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศต่างๆ รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในไทยเป็นระยะ กรณีที่มีข่าวว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าไปเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือดำเนินการที่เป็นการล่วงละเมิดต่อสถาบัน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่ากัมพูชาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวยืนยันว่าจะไม่ให้ใครใช้ประเทศของเขาเป็นฐาน เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างแน่นอน

“ส่วนประเทศที่มีข่าวหรือการให้สัมภาษณ์ของบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมือง กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบแล้วไม่พบว่าบุคคลดังกล่าวอยู่ในประเทศนั้น แต่อาศัยช่องทางการสื่อสารหรือโซเชียลมีเดียในการให้สัมภาษณ์ ทั้งนี้ หลายประเทศโดยเฉพาะชาติตะวันตกมองว่าไทยเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ และมีผลประโยชน์ร่วมกัน เราเข้าใจดีว่าประเทศเหล่านี้ยึดมั่นในค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่เขาต้องมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันระยะยาว และไม่ให้ใครใช้ประเทศเป็นฐานในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ส่งผลกับมิตรประเทศ” นายเสข กล่าว

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยกำลังปฏิรูปประเทศในทุกภาคส่วน ผู้ที่อยู่ในต่างประเทศหรือมีความเห็นใดๆ สามารถส่งผ่านช่องทางของสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศได้ กระทรวงการต่างประเทศพร้อมจะส่งผ่านความเห็นเหล่านี้ไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติต่อไป

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตลาดนัดไอเดียสปช.วันนี้ เสนอเพิ่มอิสระการคลังท้องถิ่น ตั้งคณะกรรมการจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ

0
0

กมธ.ปฏิรูปการเมือง เสนอให้เลือกนายกฯ-ครม. โดยตรง ขณะที่สมาชิกหลายคน ไม่เห็นด้วยหวั่นมีอำนาจมากเกิน  กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นเสนอจัดสรรงบตามพื้นที่และภารกิจเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น กมธ.ปฏิรูปการบริหารแผ่นดินเสนอตั้งคณะกรรมการจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ

17 ธ.ค. 2557 การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันนี้ โดยมี นายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธาน สปช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาปฏิรูปแห่งชาติถึงแนวทางยกร่างรัฐธรรมนูญต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยนายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น เสนอให้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้รัฐ ส่งเสริมความเป็นอิสระทางการคลังของท้องถิ่น โดยจัดให้มีระบบคู่ขนาน คือการจัดสรรงบประมาณตามพื้นที่ ควบคู่การจัดสรรงบประมาณตามภารกิจ ภายใต้หลักการที่มุ่งสร้างความยืดหยุ่นคล่องตัวให้ท้องถิ่น ซึ่งรายได้ของรัฐที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นใดให้ขึ้นบัญชีเป็นรายได้ท้องถิ่นนั้น ทั้งนี้ รายได้ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นให้จัดสรรแก่ท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 นอกจากนี้ ต้องมีระบบการคัดกรองที่ดีเพื่อให้ได้ผู้มีคุณธรรมเข้ามาบริหารงานท้องถิ่น และประชาชนต้องถอดถอนผู้นำท้องถิ่นได้

สมาชิกสปช.ส่วนใหญ่อภิปรายเห็นด้วยกับข้อเสนอของกรรมาธิการฯ แต่แสดงความเป็นห่วงเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พบว่ามีปัญหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่นจำนวนมาก และต้องหามาตรการป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาอีก อีกทั้งต้องจัดดุลอำนาจในท้องถิ่นด้วยการเพิ่มกลไกดูแลตรวจสอบฝ่ายต่างๆ อาทิ ตั้งสภาพลเมือง สภาประชาชน เพื่อดูแลกำกับและตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิก สปช. อภิปรายว่า ต้องให้ความสำคัญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการกระจายอำนาจ และอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากการทุจริตที่เกิดขึ้นมากเพราะไม่กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น จึงฝากไปถึงผู้มีอำนาจว่าอย่าหวงอำนาจ

นายวุฒิสาร ตันไชย กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่ากรรมาธิการรับฟังข้อเสนอแล้วได้แนวทางใหม่ที่สอดคล้องกับแนวคิดกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการปฏิรูป หลายเรื่องสามารถบรรจุไว้ได้ในรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญใหม่ควรวางหลักการสำคัญและวางเรื่องใหม่ในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งการกระจายอำนาจต้องเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ ด้วย ดังนั้น ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญต้องเปิดกว้างเพื่อความหลากหลาย รวมถึงต้องทบทวนกฎหมายที่มีอยู่ และยกร่างกฎหมายใหม่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

กมธ.ปฏิรูปการบริหารแผ่นดินเสนอตั้งกก.ธรรมาภิบาลแห่งชาติ

ขณะที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน นายธีรยุทธ หล่อเลิศรัตน์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ เพื่อรับผิดชอบพัฒนาระบบและกลไกเกี่ยวกับการใช้หลักธรรมาภิบาล การบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งลดการแทรกแซงของภาครัฐในกลไกตลาด และการบริหารราชการแผ่นดินต้องจัดแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ชาติและประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่ยึดตามนโยบายพรรคการเมืองที่ใช้หาเสียงจนขาดความต่อเนื่อง ไม่รอบคอบ

นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอขององค์กรต่างๆ ที่ให้มี พ.ร.บ.ระเบียบบริหารจังหวัดปกครองตนเอง เพราะจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคง เนื่องจากจะต้องยกเลิกหน่วยงานของท้องถิ่น แต่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นและให้คงการปกครองส่วนภูมิภาคไว้ พร้อมขอเสนอให้มอบอำนาจการบริหารจัดการงบประมาณให้จังหวัด โดยจังหวัดสามารถตั้งงบประมาณขึ้นมาตามโครงการต่างๆที่ท้องถิ่นเสนอ ซึ่งจะสามารถลดภาระการบริหารงานของส่วนกลางและทำให้เกิดความเท่าเทียมของประชาชนในแต่และท้องถิ่นได้ พร้อมกันนี้ยังเสนอให้จังหวัดเป็นศูนย์รวมอำนาจในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในจังหวัดของตัวเองได้โดยไม่ขึ้นกับส่วนกลาง

สปช.หลายคนค้านเลือกนายกฯโดยตรง หวั่นอำนาจมากไป

นอกจากนี้ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง เสนอให้ประชาชนเลือกตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตรง โดยให้พรรคการเมืองระบุชื่อนายกรัฐมนตรีและ ครม.ทั้งคณะ หากปรากฏว่าการเลือก ครม. รอบแรกไม่มีผู้สมัครคณะใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้นำคณะที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งและสองมาเลือกตั้งใหม่ภายในเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ ระหว่างการเลือกตั้งให้มีรัฐบาลรักษาการ โดยให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รักษาการแทนรัฐมนตรี ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดให้มี ส.ส. 350 คน โดยใช้ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ ส่วนที่มาส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และเลือกจากกลุ่มองค์กรวิชาชีพและกลุ่มอาชีพอื่นๆ อีก 77 คน รวมทั้งหมด 154 คน

คณะกรรมาธิการฯ ยังเสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง ไม่ต้องผ่านอัยการ และให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ ควรตั้งศาลว่าด้วยคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการและให้พนักงานอัยการสามารถสอบสวนคดีอาญาได้โดยตรง เพื่อสอดคล้องหลักสากล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจเพียงการจับกุม

จากนั้นเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช. ที่ลงชื่อไว้ 39 คน อภิปราย มีสมาชิกหลายคนอภิปรายไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกรรมาธิการเสียงข้างมาก เช่น นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เสนอให้มองภาพรวม ไม่ใช่แก้ปัญหาหนึ่งแต่ทำให้เกิดปัญหาหนึ่ง เช่นเลือกนายกรัฐมนตรีตรง อาจทำให้เกิดปัญหาการแทรกแซงนายกรัฐมนตรีโดยตรง ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง ควรลดทอนอำนาจ กกต. ให้มีศาลคดีเลือกตั้ง อีกทั้งเห็นว่าไม่ควรควบรวม ป.ป.ช.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) เข้าเป็นองค์กรเดียวกัน แต่ให้บูรณาการการทำงาน

นายชัย ชิดชอบ สมาชิก สปช. ไม่เห็นด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพราะเชื่อว่าไม่สามารถขจัดนายทุนพรรค หรือลดการซื้อสิทธิขายเสียงได้ และที่ผ่านมา ไม่มีใครสามารถจับนักการเมืองที่ทุจริตได้ ควรบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองและต้องเป็น ส.ส. ส่วน ครม. เป็นอำนาจของสภาฯ ที่จะเห็นชอบ และต้องบัญญัติกลไกขจัดการทุจริตด้วย

“จากเดิมเลือก ส.ส. คนนึง อาจเสียเงิน 100-500 บาท ต่อไป เลือกทั้ง ส.ส. และ ครม. คงต้องเสียไม่ต่ำกว่า 1,000-10,000 บาท ผมอยากให้รัฐธรรมนูญมีมาตรการสกัดกั้น การซื้อสิทธิขายเสียงให้ชัดเจน” นายชัย กล่าว

นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. อภิปรายว่า ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว เพราะปี 2550 เกิดปัญหาระหว่าง ส.ว. สรรหาและ ส.ว. เลือกตั้ง ที่ ส.ว. เลือกตั้งเข้าชื่อยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. อีกทั้ง ส.ว.สรรหาไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง และ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองเป็นหัวใจในการปกครองของระบบพรรคการเมือง ดังนั้น พรรคการเมือง ต้องถูกส่งเสริมให้มีความเข้มแข็ง ส่วนจำนวน ส.ส. เห็นว่า จำนวน ส.ส.เท่าเดิม คือ 500 คน โดย 400 คน มาจากการเลือกตั้ง และอีก 100 คนมาจากบัญชีรายชื่อนั้นมีความเหมาะสมแล้ว

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช. อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับการเลือกนายกรัฐมนตรีและ ครม. โดยตรง เพราะไม่ได้ลดอำนาจรัฐ แต่กลับเพิ่มอำนาจรัฐมากยิ่งขึ้น และจะทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับที่ผ่านมา ที่รัฐบาลมีอำนาจและเสถียรภาพมากจนเกินไป ไม่รับฟังเสียงของประชาชน และทำให้ยากต่อการตรวจสอบ เช่นเดียวกับนายไพบูลย์ นิติตะวัน มองว่าจะยิ่งเป็นการเพิ่มปัญหามากขึ้น เพิ่มอำนาจให้เกิดการผูกขาดของพรรคการเมือง พร้อมกันนี้เปรียบเทียบว่าที่ผ่านมาพรรคการเมืองของไทย เป็นเพียงบริษัทนิติบุคคล ที่ให้โอกาสกลุ่มทุนการเมืองและนักการเมืองที่แสวงหาอำนาจ เข้ามาแสวงหาประโยชน์

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช. เห็นว่า ส.ส. ต้องมาจากการเลือกตั้งและจากบัญชีรายชื่อ ขณะที่ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และจากการเลือกตั้งองค์กรวิชาชีพต่างๆ พร้อมกันนี้เสนอให้มีศาลปราบปรามทุจริตการเลือกตั้ง และศาลเลือกตั้ง เพื่อตัดสินคดีต่างๆที่เกิดจากการทุจริตการเลือกตั้ง

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ยืนยันว่าข้อเสนอทั้งหมด กรรมาธิการยกร่างฯ จะนำไปพิจารณา รวมถึงข้อเสนอที่ให้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งประเด็นนี้แม้จะกรรมาธิการยกร่างฯ บางคนสนับสนุน แต่ขอตั้งข้อสังเกต ว่า กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ไม่ได้ให้หลักประกัน ว่าการเลือกตั้งครั้งใหญ่ จะป้องกันการใช้เงินในระบบเลือกตั้งเป็นจำนวนมากได้อย่างไร ขณะที่กระแสสังคมก็ไม่เห็นด้วยในประเด็นเรื่องการเลือกนายกฯและครม. โดยตรง

“แม้แต่ตัวนายบวรศักดิ์ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเอง ก็เปิดเผยในห้องประชุมหลายครั้งว่า เคยทำผิดพลาด แล้ว 2-3ครั้ง ที่ไม่สามารถขจัดปัญหาที่มาจากระบบการเลือกตั้งได้ และไม่อยากให้มันซ้ำรอยอีก” นายคำนูณ กล่าว

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารแจ้งความนักธุรกิจเชียงรายโพสต์เฟซบุ๊ก ผิด ม.112

0
0

       
17 ธ.ค.2557 เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า พล.ต.พัฒนา มาตร์มงคล ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดทหารบกเชียงราย (กกล.รส.จทบ.ชร.) มอบหมายให้นายทหารเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ ร.ต.ท.ศรีเดช สุวรรณ์ ร้อยเวร สภ.เมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. เพื่อให้ดำเนินคดีต่อผู้ใช้ชื่อ "Noom Praphat Darasawang" ในเฟซบุ๊กซึ่งมีเครือข่ายมากใน จ.เชียงราย เนื่องจากมีการแชร์รวมทั้งโพสต์ข้อความ และมีผู้ร่วมโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

เว็บASTVผู้จัดการออนไลน์ ระบุว่า มีการนำข้อความของบุคคลอื่นๆ ที่ระบุเรื่องคำสอนของการไม่ให้คนลืมตัวมาโพสต์ต่อ พร้อมกับเบี่ยงเบนประเด็นด้วยการกล่าวหาโพสต์ต้นฉบับด้วยถ้อยคำที่รุนแรง และหยาบคาย ไม่สมเหตุผล ที่สำคัญยังพาดพิงไปถึงสถาบันเบื้องสูง ขณะที่ผู้ที่แชร์และโพสต์ข้อความที่หมิ่นเหม่หลายราย บางส่วนอยู่ในเครือข่ายของกลุ่มพลังมวลชนเดิมที่เคยเคลื่อนไหวในทำนองเดียวกัน แต่หลายครั้งไม่ปรากฏหลักฐานที่ทำให้บ่งชี้ฐานความผิดได้อย่างชัดเจน แต่เป็นไปในทำนองที่เข้าใจกันเอง หรือทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจได้หลายทาง

สำหรับเฟซบุ๊กของ Noom Praphat Darasawang ทางเจ้าหน้าที่ได้แปลชื่อเป็นภาษาไทย ก็สืบทราบเบื้องต้นว่าคือนายประภาส อายุ 41 ปี ชาว อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นเจ้าของกิจการนำเที่ยวจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนผู้ที่ร่วมโพสต์ข้อความบางคนที่หมิ่นเหม่ทำงานอยู่ในสถานศึกษาบางแห่งใน อ.เมืองเชียงราย ด้วย ทาง ร.ต.ท.ศรีเดชได้รับเรื่องร้องทุกข์เอาไว้ตามคดีอาญาที่ 1989/ 2557 ปจว.ข้อ 3 ก. เพื่อทำการตรวจสอบหาตัวผู้ที่ถูกแจ้งมาดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คกก.สื่อมาเลเซีย ฟ้องสถานีวิทยุหลังนักวิชาการวิจารณ์กรณีคำว่า 'อัลเลาะห์'

0
0

คณะกรรมการด้านการสื่อสารและสื่อผสมของมาเลเซีย ฟ้องเรียกค่าปรับสถานีวิทยุบีเอ็มเอฟ 10,000 ริงกิต หลังจากที่นักวิชาการชาวมุสลิมวิจารณ์กรณีศาลอุทธรณ์มาเลเซียสั่งห้ามไม่ให้คนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมใช้คำว่า "อัลเลาะห์" บอกเผยแพร่เนื้อหาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจพิจารณา


17 ธ.ค. 2557 สำนักข่าวมาเลเซียอินไซเดอร์รายงานว่า คณะกรรมการด้านการสื่อสารและสื่อผสมของมาเลเซีย (MCMC) ฟ้องร้องสถานีวิทยุบีเอ็มเอฟ เรียกค่าปรับเป็นเงิน 10,000 ริงกิต (ราว 330,000 บาท) จากกรณีที่เรซา อัสลาน นักวิชาการด้านศาสนาชาวมุสลิมให้สัมภาษณ์วิพากษ์วิจารณ์ที่ศาลมาเลเซียสั่งห้ามไม่ให้คนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมใช้คำว่า "อัลเลาะห์" และเรียกร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาการตัดสินใจเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2556

คณะกรรมการด้านการสื่อสารและสื่อผสมของมาเลเซียอ้างว่าสถานีวิทยุบีเอ็มเอฟละเมิดเงื่อนไขการออกใบอนุญาตพิเศษของผู้ให้บริการข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่านแอปพลิเคชัน (CASP-1) ตามกฎหมายการสื่อสารและสื่อผสมปี 2541 ซึ่งระบุเงื่อนไขให้การออกอากาศเนื้อหาทั้งรายการสดและรายการที่เก็บไว้เผยแพร่ทีหลังต้องได้รับอนุญาตจากผู้ตรวจสอบเนื้อหาก่อน

นอกจากนี้ สถานีบีเอ็มเอฟยังถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายการสื่อสารและสื่อผสมปี 2541 หมวด 206(3) ซึ่งระบุถึงการห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของใบอนุญาต เว็บไซต์มาเลเซียอินไซเดอร์ระบุว่าพวกเขาไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าทางสถานีละเมิดใบอนุญาต CASP-1 ในแง่ใด

แต่เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมาคณะกรรมการ MCMC ของมาเลเซียได้โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงกรณีสถานีวิทยุบีเอ็มเอฟว่า มีการฟ้องร้องเนื่องจากสถานีบีเอ็มเอฟ 89.9 นำเสนอเนื้อหาที่อยู่นอกขอบเขตความเป็นสื่อธุรกิจ และการบันทึกเทปรายการไม่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการพัฒนาศาสนาอิสลามของมาเลเซีย (JAKIM) โดยอ้าง "ประมวลกฎหมายด้านเนื้อหา" ของสภาเนื้อหาของสื่อและสื่อผสม (CMCF) ที่บีเอฟเอ็ม 89.9 เป็นสมาชิก ซึ่งระบุให้ผู้เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามทั้งหมดต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานศาสนาของทางการก่อนการเผยแพร่

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องให้ปรับเงินสถานีวิทยุสร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวมาเลเซียซึ่งมองว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อ มีชาวมาเลเซียจำนวนหนึ่งเดินขบวนรอบสถานีวิทยุและบอกว่าจะร่วมกันช่วยเหลือค่าปรับให้แก่สถานีเป็นเงินคนละ 10 ริงกิต (ราว 330 บาท)

สิ่งที่เรซา อัสลาน กล่าววิพากษ์วิจารณ์คือกรณีที่ศาลอุทธรณ์สั่งห้ามไม่ให้โบสถ์ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกใช้คำว่า "อัลเลาะห์" ซึ่งเป็นคำเรียกพระเจ้าในภาษาอาหรับ อัสลานกล่าวอีกว่าชาวคริสต์ในตะวันออกกลางก็ใช้คำว่า "อัลเลาะห์" เวลาเอ่ยถึงพระเจ้าเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ถือเป็นการคุกคามศาสนาอิสลาม อัสลานยังเคยระบุในหนังสือที่เขาเขียนว่าตามประวัติศาสตร์แล้วคำว่า "อัลเลาะห์" เป็นคำที่มีที่มาดั้งเดิมหมายถึงพระเจ้า การบอกว่าอัลเลาะห์เป็นพระนามของพระเจ้าเป็นความคิดที่ขัดกับหลักคัมภีร์อัลกุรอาน

 


เรียบเรียงจาก

BFM Radio fined RM10,000 over Reza Aslan ‘Allah’ interview, The Malaysian Insider, 16-12-2014
http://www.themalaysianinsider.com/malaysia/article/bfm-radio-fined-rm10000-over-reza-aslan-allah-interview

Authorities deny religious issues as reason for its action against BFM, The Malaysian Insider, 17-12-2014
http://www.themalaysianinsider.com/malaysia/article/authorities-deny-religious-issues-as-reason-for-its-action-against-bfm#sthash.arokZ7ea.dpuf

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

เว็บไซต์กฎหมายการสื่อสารและสื่อผสมปี 2541 ของมาเลเซีย
COMMUNICATIONS AND MULTIMEDIA ACT 1998 [ACT 588], MCMC
http://www.skmm.gov.my/Legal/Acts/Communications-and-Multimedia-Act-1998-Reprint-200.aspx

http://en.wikipedia.org/wiki/Reza_Aslan

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อท้องถิ่นภาคใต้ มีเดียสลาตัน-วาร์ตานี แลกเปลี่ยนกับทีมข่าวประชาไท

0
0

 

18 ธ.ค.2557 ที่ออฟฟิศประชาไท ทีมนักข่าวหนุ่มสาวของ 2 สื่อหลักในปัตตานี คือ ทีมข่าว 'มีเดียสลาตัน' สถานีวิทยุท้องถิ่นและ 'Wartani' (วาระตานี) สำนักข่าวคนหนุ่มสาวที่สื่อสารผ่านเว็บไซต์  รวม 8 คนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับทีมข่าวประชาไท 

ทั้งนี้มีเดียสลาตัน เดิมเป็นสถานีวิทยุที่สื่อสารสองภาษา ไทย-มาลายู เป็นที่รู้จักในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ต้องปิดตัวลงหลังการยึดอำนาจของ คสช. และขณะนี้กำลังจะเปิดตัวในรูปแบบเว็บไซต์เพื่อรายงานข่าวในรูปแบบอื่นๆ รวมถึงทำวิทยุบนอินเตอร์เน็ตด้วย  ส่วนวาร์ตานี เป็นเว็บไซต์ที่ริเริ่มโดยคนหนุ่มสาวในพื้นที่ ก่อตั้งมาราว 2 ปี ส่วนใหญ่สื่อสารภาษาไทยและบทบาทสูงในการรายงานข้อเท็จจริงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คำว่า Wartani มาจากภาษามลายู 2 คำ คือ คำว่าสื่อและคำว่าปัตตานี 

ทีมข่าวทั้ง 2 แห่งมีโปรแกรมเดินทางดูงานยังสำนักข่าวต่างๆ หลายแห่ง เช่น ไทยรัฐทีวี, มติชนทีวี, วอยซ์ทีวี, ทีพีบีเอส และสื่อท้องถิ่นอื่นๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วิกิพีเดีย' ทำคลิปสรุปเรื่องราวแห่งปี 2014

0
0

18 ธ.ค. 2557 วิกิพีเดีย เว็บสารานุกรมออนไลน์ที่เปิดให้ผู้ใช้เข้ามาร่วมเขียนเนื้อหา ทำคลิปสรุปเรื่องราวแห่งปี 2014 เป็นครั้งแรก หลังจากเว็บต่างๆ อย่าง ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก กูเกิลและยูทูบ ได้ทำคลิปสรุปเรื่องแห่งปีกันไปก่อนแล้วเมื่อปีก่อนๆ

คลิปนี้มีความยาว 2.52 นาที ฉายภาพเรื่องราวที่ผู้ใช้ร่วมกันเขียน ตั้งแต่เรื่องของฟุตบอลโลก การเลือกตั้งทั่วไปในอินเดีย ไอซ์ บัคเก็ต ชาเลนจ์ (การท้าใช้ถังน้ำแข็งราดตัวเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ เอแอลเอส) ตลอดจนเรื่องของโรคระบาดอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก โดยนำเสนอผ่านภาพและคลิปวิดีโอที่ไม่ติดปัญหาลิขสิทธิ์ที่ผู้ใช้ทั่วโลกนำมาเผยแพร่ในวิกิพีเดีย โดยตลอดปีนี้มีการแก้ไขเนื้อหาในวิกิพีเดียมากกว่า 100 ล้านครั้ง

 

 

ที่มา:

Wikipedia reflects on 2014 in its first-ever annual video
http://thenextweb.com/insider/2014/12/18/wikipedia-reflects-2014-first-ever-annual-video/
Wikipedia: #Edit2014
https://www.youtube.com/watch?v=ci0Pihl2zXY

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองสูงสุดกำหนดนั่งพิจารณาคดี น.ศ.ยะลาฟ้องทัพบก เหตุถูกซ้อมทรมาน ม.ค.58

0
0

             
กรณีสองนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาฟ้องกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม โดยระบุถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมาน และมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554

ล่าสุด (18 ธ.ค. 2557) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ส่งใบแจ้งข่าวระบุว่า ได้รับหมายแจ้งจากศาลปกครองสูงสุดกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกในวันที่ 13 มกราคม 2558 เวลา 09.30 น. ที่ศาลปกครองสูงสุด ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 12 ซึ่งคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมีสิทธิยื่นคำแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล ก่อนหรือในวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก และในวันนั่งพิจารณาครั้งแรกคู่กรณีก็สามารถขออนุญาตศาลเพื่อแถลงด้วยวาจาได้อีกด้วย 

คดีนี้เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ศาลปกครองสงขลาได้อ่านคำพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายระหว่างนายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดี ที่ 1 และนายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องคดีที่ 2 กับกองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กองทัพบก) ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง โดยชำระเงินแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 255,000 บาท และผู้ฟ้องคดีที่ 2 จำนวน 250,000 บาท เนื่องจากควบคุมตัวไว้เกินกำหนด 7 วันตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457  อีกทั้งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษอันเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของบุคคลอื่น จึงควรต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและต้องแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้แก่บุคคลซึ่งรับผลดังกล่าว กรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังทำร้ายผู้ฟ้องคดีทั้งสองในระหว่างการจับกุมและควบคุมตัว ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ยื่นพยานหลักฐาน จึงน่าเชื่อว่าบาดแผลตามที่แพทย์วินิจฉัยไว้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ฟ้องที่ 1 จำนวน 5,000 บาท ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆ ว่าถูกการกระทำร้ายร่างกาย ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ ส่วนคำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กระทรวงกลาโหม)

ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหมและกองทัพบก ให้รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดภาคใต้ซึ่งอยู่ในสังกัดของตนที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามพระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 รวมถึงเรียกค่าเสียหายในส่วนของการทำร้ายร่างกายและการซ้อมทรมาน และผู้ฟ้องคดีไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าวบางส่วน จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 โดยมีประเด็นการอุทธรณ์ดังต่อไปนี้

1. การรับฟังข้อเท็จจริงของศาลปกครองสงขลาปราศจากพยานหลักฐานและคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนคดี เนื่องจากไม่ปรากฏว่าพบเอกสารหรือไฟล์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามที่ศาลมีคำพิพากษาแต่อย่างใด

2. การควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากมีการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมาน

3. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการซ้อมทรมานและการเสียศักดิ์ศรีถูกดูหมิ่นและค่าเสียหายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 32

4. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จัดการให้ชื่อเสียงของผู้ฟ้องคดีทั้งสองกลับคืนดีโดยจัดให้มีประกาศหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อยสองฉบับ ฉบับละสามวันติดต่อกัน หรือหนังสือชี้แจง หรือหนังสือเวียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกฟ้องคดี

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ระบุว่า คดีนี้นับว่าเป็นคดีแรกที่เหยื่อผู้ถูกควบคุมตัวและซ้อมทรมานตามอำนาจของกฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องคดีเพื่อให้หน่วยงานรัฐ (กองทัพบกและกระทรวงกลาโหม) ผู้ฟ้องคดีทั้งสองต้องอาศัยความกล้าหาญและเข้มแข็งอย่างมากในการตัดสินใจฟ้องและดำเนินคดีถามหาความเป็นธรรมและการเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ทหารผู้ทำละเมิด  โดยหวังว่าการใช้สิทธิตามระบบกระบวนการยุติธรรมนี้จะส่งผลให้หน่วยงานแก้ไขปรับปรุงบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ เพื่อดำรงหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้คงอยู่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทย-พม่าศึกษา: สำรวจทางหลวงเชื่อมเมียวดี-ดานัง กับผู้บริหารโตโยต้า

0
0

สัมมนาไทย-พม่าศึกษา ที่ ม.นเรศวร "นินนาท ไชยธีรภิญโญ" พาสำรวจเส้นทางเชื่อมอันดามัน-ทะเลจีนใต้ จุดแข็งไทยต้องมีถนนลาดยาง 4 เลนเชื่อมพม่าไปเวียดนาม หากอำนวยความสะดวกจุดผ่านแดนให้ดี จะเพิ่มมูลค่าการค้ามหาศาล พร้อมเสนอให้รวมจุดแข็งไทย+ประเทศ CLMV สร้างตลาดภายในขนาดใหญ่และเก็บเกี่ยวความมั่งคั่งร่วมกัน

นินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย

18 ธ.ค. 2557 - ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 "ไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน" โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งจัดเป็นวันแรกที่อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ในช่วงเช้ามีการอภิปรายหัวข้อ "ASEAN East-West, North-South Economics Corridors ไฮเวย์จากมะละแหม่ง ผ่านพิษณุโลก ถึงดานัง ทางรถไฟความเร็วสูง จากคุณหมิง ผ่านเวียงจันทน์/กทม. ถึงสิงคโปร์"

โดย นินนาท ไชยธีรภิญโญรองประธานกรรมการ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ฯ หนึ่งในผู้อภิปราย กล่าวถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ CLMV หรือกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม โดยก่อนเริ่มว่าน่าจะเริ่มต้นศึกษาเพื่อนบ้านเรื่องสังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้ทัศนคติของเพื่อนบ้านไม่ได้เกลียดคนไทย แต่อาจไม่แฮปปี้กับรัฐบาลบางยุค เช่น ครั้งหนึ่งได้คุยกับชาวเวียดนามเกี่ยวกับความเห็นเรื่องสงครามเวียดนาม เขาไม่ได้เกลียดคนไทย แต่เกลียดรัฐบาลไทยสมัยนั้นที่ให้สหรัฐอเมริกาใช้ฐานทัพ หรืออย่างนักกีฬาไทย อย่าง เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ที่ปัจจุบันเป็นผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย ก็ได้รับความชื่นชมจากชาวเวียดนาม

ที่ผ่านมา ได้ไปดูงานที่เมียวดี โดยเป็นการไปศึกษาตามปรัชญา "เก็นจิเก็บบุตสี" หรือ "Go and See" ต้องไปดูของจริง แล้วเดินทางจากเมียวดี มาด่านมุกดาหาร แล้วข้ามไปสะหวันเขต

สำหรับสิ่งที่ไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ 1. น้ำมันสำเร็จรูป 2. รถยนต์และอุปกรณ์ ชิ้นส่วน 3. ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ โดยทั้งสามประเภทนี้ คิดเป็นร้อยละ 51 ของมูลค่าส่งออก

ในขณะเดียวกัน 3 รายการแรกที่ไทยนำเข้ามาจาก CLMV คือ 1.ก๊าซธรรมชาติจากพม่า คิดเป็นร้อยละ 40 2. เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งผมตั้งข้อสงสัยว่านำเข้ามาจากจีนอีกทีหรือเปล่า 3. สินแร่และโลหะ โดยเมื่อรวม 3 รายการนี้คิดเป็นร้อยละ 80 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด

ในเรื่องความคาดหวัง คนเวียดนามคาดหวัง AEC ว่า จะทำให้สามารถซื้อสินค้าไทยได้ในราคาถูกลง เพราะปลายปี 2557 ภาษีสินค้านำเข้าจากไทยจะเป็น 0% แต่เวียดนามมีโรงงานผลิตรถยนต์ จึงกันภาษีไว้อยู่ โดยตั้งภาษีนำเข้าไว้ที่ 40%

เมื่อดูจำนวนนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CLMV มาเที่ยวประเทศไทยต่อปี 2.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มาจากลาว 1.1 ล้านคน และเวียดนาม 7.8 แสนคน

สำหรับจุดแข็งของประเทศไทย แบ่งเป็น 1. เป็นศูนย์กลางของอาเซียน 2. มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี 3. แรงงานมีทักษะ จากนี้ไปต้องใช้ทักษะของแรงงานไทยผลิตต่อยอดผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ที่ผลิตมาจากประเทศเเพื่อนบ้าน แล้วสร้างคุณค่าให้มากขึ้นแล้ว Re-export ออกไป 4. ความเข้มแข็งของภาคเอกชน 5. มีแฟชั่นและอุตสหกรรมบันเทิง เวลาไปเที่ยวกลุ่มประเทศ CLMV ค่ำๆ จะเห็นครัวเรือนเปิดทีวีดูละครไทย ประชาชนในภูมิภาคชื่นชอบนักแสดงไทย

6. มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย 7. มีขนาดตลาดใหญ่ และถ้ารวมประชากรไทย รวมประชากรกลุ่มประเทศ CLMV ก็จะทำให้มีประชากร 250 ล้านคน ก็เทียบได้กับประชากรประเทศอินโดนีเซีย เวลานักลงทุนต่างชาติจะดูว่าลงทุนประเทศไหน เขาจะดูที่จำนวนประชากร 8. ประชากรกลุ่ม CLMV เห็นว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าระดับพรีเมียม นิยมมากกว่าสินค้าจีน 9. ความสะดวกสบาย มีโรงเรียนนานาชาติ มีโรงพยาบาลเยอะ 10. การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์

ส่วนจุดแข็งของประเทศ CLMV 1. ทรัพยากรธรรมชาติมาก ไม่ว่าจะเป็นก๊าซ ไม้แปรรูป แร่ธาตุ 2. มีกำลังแรงงานมาก ประเภทแรงงานไร้ฝีมือ 3. ที่ชายแดนของประเทศ CLMV มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรม 4. กลุ่มประเทศ CLMV ยังได้รับสิทธิพิเศษ GSP เหลืออยู่ เพราะโรงงาน CLMV เวลาผลิตสินค้ายังไม่ได้มาตรฐานที่ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกากำหนด เพราะฉะนั้นไทยน่าเข้าไปลงทุนและใช้สิทธิพิเศษนี้ในการส่งออก 5. ที่สำคัญยังมีค่าแรงยังต่ำ

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะจับคู่จุดแข็งของไทย กับจุดแข็งของกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกันอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีของไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ CLMV

นินนาท ได้เล่าถึงการสำรวจพม่าว่า ได้ไปเมืองเมียวดี ชายแดนไทย-พม่า จะเห็นว่าพม่านิยมนำเข้าสินค้าอุปโภค บริโภคจากไทย โดยเฉพาะยารักษาโรค ทั้งนี้พม่ามีรถยนต์เก่าจากญี่ปุ่นมาจอดเต็มเลย เพื่อ Re-condition แล้วส่งออกข้ามแม่น้ำเมย นอกจากนี้ยังมีจักรยานใช้แล้วจากญี่ปุ่น ผมลองถามดู จักรยานโครงคาร์บอนไฟเบอร์ราคาสองแสน ราคาเหลือสี่หมื่น ถ้าเป็นโครงอะลูมิเนียมราคาเหลือหมื่นห้า

ขณะเดียวกันนโยบายรัฐบาลพม่าอนุญาตให้นำรถใหม่เข้าไปขาย ก็ได้ไปสอบถามการท่าเรือแห่งประเทศไทย พบว่าปี 2546-2549 มีหน้าที่พัฒนาท่าเรือภูมิภาค พบว่าที่ท่าเรือระนอง ซึ่งมีการลงนาม MOU แล้ว ต่อไปจะสามารถเดินเรือไปย่างกุ้งได้ภายใน 4-5 วัน ขณะที่เทียบกับท่าเรือแหลมฉบับ ที่ต้องมีการอ้อมแหลมมลายู ไปถ่ายลำที่ปีนัง ก่อนไปย่างกุ้ง ก็ใช้เวลา 15-20 วัน ก็จะมีการส่งเสริมให้ใช้ท่าเรือระนองตั้งแต่ปีหน้า

ส่วนหอการค้าบอกว่าด่านขนส่งสินค้าที่มีศักยภาพตอนนี้คือแม่สอด รองมาคือระนอง และขณะนี้จะมีด่านสิงขร ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ในส่วนของทรัพยากรส่งออกของพม่าที่ไทยต้องการคือ อาหารทะเล ไม้ แร่ธาตุโดยเฉพาะหยก ที่สำคัญพม่ามีกำลังแรงงานจำนวนมาก

ในเรื่องการค้าชายแดน ประธานหอการค้าชายแดนไทย-พม่า อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตรการผ่อนคลายการควบคุมเงินตราต่างประเทศ เช่น เขาส่งออกได้เงินจ๊าดมา เขาอยากเอาเงินจ๊าตซื้อสินค้านำเข้าที่ระนอง แล้วทำ "Kyat Netting" (นำรายรับรายจ่ายจากคู่ค้ามาหักกลบลบหนี้) ด้วยตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากส่วนต่างของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา (FOREX)

ในเรื่องของด่านชายแดน จากการสำรวจ นินนาทกล่าวว่า ที่ด่านแม่สอดมีสะพานข้ามแม่น้ำเมย รับน้ำหนักรถบรรทุกได้ 25 ตัน ดังนั้นวัสดุก่อสร้างที่มีน้ำหนักมากจะข้ามไม่ได้ จึงมีข้อเสนอให้สร้างสะพานแห่งที่ 2 แต่ผมว่าถ้าจะก่อสร้างเสร็จก็คงต้องใช้เวลามาก จึงเสนอว่า ขณะนี้ถ้าย้ายสิ่งก่อสร้างกลางสะพานออก น่าจะทำให้การขนส่งสะดวกขึ้น

ส่วนด่านพรมแดนมุกดาหาร ยังไม่มีระบบ One-stop-service ทำให้ยังมีความวุ่นวายในการข้ามแดน

ทั้งนี้เส้นทาง East-West Corridor ฝั่งไทยจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ถึง อ.เมือง จ.มุกดาหาร มีระยะทาง 830 กม. ในจำนวนนี้ร้อยละ 58 เป็นทางหลวง 4 ช่องจราจร ที่เหลือร้อยละ 42 เป็นแบบ 2 ช่องจราจร โดย 2 ช่องจราจรอยู่ระหว่าง จ.กาฬสินธุ์ มาที จ.มุกดาหาร โดยช่วงวังทอง-ชุมแพ กำลังมีการขยายเป็น 4 ช่องจราจร ทั้งนี้ถือว่าทางหลวงของไทยในช่วงนี้มีสภาพดี ปลอดภัย ได้มาตรฐานโลก

โดยสรุปมีความเห็น 7 ข้อ 1. ทางหลวงบ้านเราดี ปลอดภัย อีกสักปี สองปี ร้อยละ 70 ของทางหลวงในประเทศจะเป็นถนนสี่เลน 2.หากไทยทำ One Stop Service" และจัดการจราจรหน้าด่านให้ดี จะได้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว 3. พม่ามุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นโอกาสที่ดี ที่ไทยจะส่งออกวัสดุก่อสร้างทั้งปูนซิเมนต์ เหล็ก น้ำมันปิโตรเลียม 4. น่าจะใช้การท่องเที่ยวนำ เพื่อนำไปสู่การพูดคุยเรื่องสังคม วัฒนธรรม สุดท้ายถ้ามีการท่องเที่ยวกัน ทำเป็นแพ็กเกจจะ วิน-วิน ทุกประเทศ มีการผลิตสินค้า OTOP ของแต่ละประเทศ ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยตัวเอง

5. ในกลุ่มประเทศ CLMV ยังมีความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยในฐานะที่พัฒนามากที่สุดในกลุ่มประเทศต้องเข้าไปช่วยเขา ถ้าเขามีใจกับเรา สุดท้ายเขาจะอุดหนุนสินค้าไทย 6. ต้องร่วมกลุ่มประเทศ CLMV + T ให้ได้ 250 คน เพื่อสร้างตลาดภายในให้ใหญ่เพื่อให้มี "Economic of scale" แล้วจะแข่งขันตลาดโลกได้ เหมือนกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย เดิมผลิตรถยนต์ขายเฉพาะประเทศไทย แต่พอสร้างขนาดการผลิตให้ได้ถึง 500,000 คัน ต้นทุนการผลิตก็ต่ำลง สามารถส่งออกได้ 7. ประเทศในภูมิภาคนิยมใช้เงินบาท เราจะใช้สกุลเงินบาทอย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 5 ประเทศ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

30 ปีอนุสัญญาการทรมาน: รัฐต่างๆ ยังไม่ปฏิบัติตามพันธกรณี

0
0


ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ (UN Convention against Torture) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐไม่ขัดขวางความพยายามป้องกันการกระทำที่โหดร้าย และให้ยึดมั่นต่อพันธกิจที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อยุติการกระทำดังกล่าว

แม้ว่ารัฐ 156 แห่งให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา แต่ยังมีประเทศจำนวนมากที่ใช้การซ้อมทรมาน และขัดขวางความพยายามป้องกัน ตรวจสอบ สอบสวน และฟ้องร้องดำเนินคดี

ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ถือเป็นเรื่องน่าละอายที่การทรมานอันโหดร้ายยังคงเกิดขึ้น และแพร่หลายในหลายประเทศ รัฐบาลในหลายประเทศยังคงใช้ความพยายามปกปิดการกระทำดังกล่าว และขัดขวางผู้ที่พยายามป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำเช่นนั้น”

“รัฐต่างๆ ต้องหาทางป้องกันและลงโทษเมื่อมีการทรมาน และอนุญาตให้มีหน่วยงานอิสระเข้าตรวจสอบสถานควบคุมตัวอย่างเป็นผล”

การขาดความร่วมมือและปฏิเสธไม่ให้เข้าถึง 
ตอนที่มีการรับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติเมื่อสามทศวรรษที่แล้ว ยังมีการรับรองให้ตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (Committee Against Torture) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาของรัฐต่างๆ โดยทุกสี่ปีรัฐต่างๆ มีหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการที่ใช้เพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญา รัฐหลายแห่งยอมให้ข้อมูล แต่อีกหลายแห่งก็ไม่ให้ข้อมูล โดยมี 27 รัฐที่ไม่เคยส่งข้อมูลเลย ส่วนอีก 44 รัฐส่งข้อมูลช้า

ในทำนองเดียวกัน มีเพียง 76 รัฐที่ให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาที่สำคัญที่เรียกว่าเป็นพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งเป็นการปูทางให้ทั้งหน่วยงานตรวจสอบของสหประชาชาติและระดับชาติเข้าเยี่ยมสถานควบคุมตัวต่าง ๆ

เมื่อเดือนที่แล้ว อาเซอร์ไบจานซึ่งแม้จะลงนามในพิธีสารฉบับดังกล่าว กลับขัดขวางไม่ให้มีการเข้าเยี่ยม

ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UN Special Rapporteur on torture and other cruel, inhuman or degrading treatment) ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึง และถูกขัดขวางจากทางการประเทศต่างๆ อุซเบกิสถานซึ่งมีการซ้อมทรมานอย่างแพร่หลายและเป็นกิจจะลักษณะ เพิกเฉยต่อคำร้องขอเพื่อเข้าเยี่ยมประเทศอย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 ไทยและบาห์เรนขอเลื่อนแผนการเข้าเยี่ยมสองครั้ง ในระหว่างการเข้าเยี่ยมประเทศแกมเบียเมื่อเร็วๆ นี้ ทางการก็ได้ขัดขวางไม่ยอมให้เข้าไปยังสถานควบคุมตัวบางส่วน

ผู้รายงานพิเศษต้องปฏิเสธคำเชิญของรัฐบาลสหรัฐฯ ให้เข้าเยี่ยมศูนย์ควบคุมตัวที่อ่าวกวนตานาโม เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดเงื่อนไขซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้าถึงบางพื้นที่ หรือไม่สามารถพูดคุยกับผู้ถูกควบคุมตัวอย่างเป็นส่วนตัว

การรณรงค์ยุติการทรมานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Stop Torture Campaign)
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ต่อสู้เพื่อให้มีการยุติการซ้อมทรมานมากว่า 50 ปี ต้นปีนี้เราเริ่มโครงการรณรงค์ระดับโลกเรียกร้องรัฐบาลให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่เป็นผล เพื่อไม่ให้เกิดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย มาตรการป้องกันเหล่านี้ประกอบด้วยการอนุญาตให้ผู้ถูกควบคุมตัวสามารถเข้าถึงทนายความ ครอบครัว และศาลได้โดยทันที ให้มีผู้สังเกตการณ์ในระหว่างการสอบปากคำ อนุญาตให้มีการตรวจสอบสถานควบคุมตัวทุกแห่งอย่างเป็นอิสระ ให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและอย่างเป็นผลเมื่อมีข้อกล่าวหาว่าเกิดการซ้อมทรมาน การนำตัวผู้ต้องสงสัยมาฟ้องร้องดำเนินคดี และการเยียวยาอย่างเหมาะสมต่อผู้เสียหาย

โครงการรณรงค์นี้เน้นที่ห้าประเทศ ซึ่งยังมีการซ้อมทรมานอยู่ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าพัฒนาการที่เกิดขึ้นในระดับประเทศส่งผลให้เกิดพัฒนาการโดยรวมที่สำคัญ โดยเฉพาะกรณีของประเทศเม็กซิโก ฟิลิปปินส์ โมร็อกโกและซาฮาร่าตะวันตก ไนจีเรีย และอุซเบกิสถาน

พัฒนาการในเชิงบวก
แม้ยังต้องเดินทางอีกไกล แต่เราได้เห็นพัฒนาการในเชิงบวกเพื่อแก้ปัญหาที่เรื้อรังดังกล่าว

วุฒิสภาฟิลิปปินส์เริ่มการสอบสวนกรณีการซ้อมทรมานของตำรวจ หนึ่งวันหลังจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวรายงาน “อยู่เหนือกฎหมาย: การซ้อมทรมานของตำรวจในฟิลิปปินส์” (“Above the Law: Police Torture in the Philippines”) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม

ในเดือนพฤศจิกายน 2557 รัฐบาลเม็กซิโกให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับ และมีเวลาอีก 12 เดือนที่จะต้องจัดตั้งกลไกระดับชาติที่เป็นผลเพื่อตรวจสอบสถานควบคุมตัวในประเทศ

ที่ไนจีเรีย มีความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติที่เอาผิดกับการซ้อมทรมาน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการล็อบบี้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้รัฐสภายุโรปรับรองมติเมื่อเดือนตุลาคม เรียกร้องให้อุซเบกิสถานขจัดการซ้อมทรมาน และอนุญาตให้ผู้รายงานพิเศษเข้าเยี่ยมประเทศ

“นับแต่การเปิดตัวการรณรงค์ยุติการทรมานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถระดมประชาชนหนึ่งล้านคนเพื่อปฏิบัติการต่อต้านการซ้อมทรมาน เราหวังว่าความร่วมมือกันเช่นนี้จะช่วยกดดันให้รัฐบาลปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้มีการนำตัวผู้ซ้อมทรมานมาลงโทษ และให้ยุติการกระทำที่โหดร้ายอย่างสิ้นเชิง” ซาลิล เช็ตติกล่าว

สถานการณ์การทรมานในประเทศไทย
ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบัน (เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก) ในอนุสัญญาการต่อต้านทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมเมื่อปี 2550 ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องดำเนินการแก้ไขด้านบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญา เช่น การบัญญัติให้การทรมานเป็นความผิดตามกฎหมายในประเทศ การให้มีการสืบสวนสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดฐานนี้ หรือการกำหนดมาตรการเยียวให้เหยื่อที่ถูกทรมาน

อนุสัญญาฯ นี้มุ่งคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือจากบุคคลซึ่งกระทำโดยอาศัยอำนาจรัฐไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยตรงหรือการกระทำทางอ้อมอย่างการยุยง ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ จากการทรมาน ซึ่งหมายถึงการกระทำใดก็ตามโดยเจตนาที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจต่อบุคคลใดบุคลลหนึ่ง เพื่อความมุ่งประสงค์ที่

• จะให้ได้มาซึ่งข้อสนเทศหรือคำรับสารภาพจากบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม
• จะลงโทษบุคคลนั้นสำหรับการกระทำ ซึ่งบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สามกระทำหรือถูกสงสัยว่าได้กระทำ
• ข่มขู่ให้กลัวหรือเป็นการบังคับขู่เข็ญบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม
• เพราะสาเหตุใดๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ

แม้ว่าไทยเป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ทว่าการทรมานยังคงมีอยู่ในสังคมไทย อีกทั้งความเข้าใจในประเด็นนี้ในสาธารณะชนก็ยังอยู่ในวงที่ค่อนข้างจำกัด สาเหตุสำคัญที่ทำให้การปฏิบัติตามพันธะกรณีของไทยเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพคือความบกพร่องของระบบกฎหมาย ทั้งนี้ คำว่า “การทรมาน" ไม่มีตัวตนอยู่ในระบบกฎหมายไทย ในกฎหมายไทยยังไม่มีการให้คำนิยามของการทรมานไว้ การทรมานจึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา จึงไม่สามารถเอาโทษกับผู้กระทำผิดได้
        
สำหรับเหยื่อของการทรมานนั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อ่อนไหวและมีปัญหาด้านความมั่นคง เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อสูง  เหตุที่การทรมานถูกนำมาใช้กับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเพราะ มีความเชื่อกันว่า การทรมานเป็นวิธีที่จะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลบางอย่าง สำหรับปัจจัยที่เอื้อให้การทรมานเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย คือการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยโดยไม่ต้องตั้งข้อหา จึงเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลไปทรมานเพื่อหาข้อมูลก่อนจะปล่อยตัวกลับมาโดยไม่มีการตั้งข้อหาหลายต่อหลายครั้ง
        
อย่างไรก็ตาม บุคคลที่เป็นเหยื่อของการทรมานไม่ได้มีเพียงแค่คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ผู้มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของการทรมานยังอีกมีหลายกลุ่ม เช่น ในสถานการณ์ที่มีความสุ่มเสี่ยงในการบังคับนโยบายหรือกฎหมายในสถานการณ์พิเศษ เช่นนโยบายสงครามยาเสพติด การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวตามหมายได้ 30 วันโดยไม่มีข้อกล่าวหา หรือ ชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ตามสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่สภาพที่ชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกกักตัวรวมกันไว้ในพื้นที่แคบๆ และประสบความยากลำบากในการเข้าถึงน้ำสะอาดและอาหารก็อาจถือเป็นการทรมานรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อของการทรมาน ได้แก่ กลุ่มบุคคลซึ่งศาลสั่งว่าเป็นบุคคลวิกลจริตและถูกกักตัวเพื่อรักษาตามสถานพยาบาล ในบางกรณี วิธีการรักษาพยาบาลอาจเข้าข่ายการทรมานได้
          
รูปแบบในการทรมานที่พบจะมีทั้งการเตะ ต่อย ทุบตีทำร้ายร่างกาย การใช้เข็มทิ่มภายในเล็บหรือบริเวณอวัยวะเพศ การใช้ไฟฟ้าหรือบุหรี่จึ้ที่อวัยวะเพศ ปัสสาวะใส่ปาก การใส่กุญแจมือผูกกับเฮลิคอปเตอร์ขณะทำการบิน การกดศีรษะลงน้ำ การใช้เชือกรัดไว้ให้อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน การให้อยู่ให้ห้องซึ่งมีอากาศหนาวจัด การใช้น้ำหยดอย่างต่อเนื่องบริเวณหน้าผาก การใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะเพื่อให้ขาดอากาศหายใจเป็นระยะๆ การกระทำต่อความเชื่อทางศาสนาเป็นต้น
         
แม้ว่า “การทรมาน” อาจจะยังไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงต่อพวกเราทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ แต่กลับมีความสำคัญเฉกเช่นประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่พวกเราทุกคนซึ่งยังไม่ได้ถูกริดรอนสิทธิและเสรีภาพไปมากนัก จะได้ใช้เสรีภาพที่เรายังคงมีอยู่นั้น เป็นกระบอกเสียงเพื่อผู้ถุกละเมิด และช่วยปกป้องคุ้มครองพวกเขาตามศักยภาพที่เรามีอยู่

ดังนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเชิญชวนร่วมลงชื่อ http://bit.ly/1kgqogK เพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาดำเนินการแก้ไขกฎหมายอาญาเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

1. บัญญัติให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา
2. กำหนดให้มีการสืบสวนสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดฐานนี้ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
3. กำหนดมาตรการเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานและครอบครัว ทั้งทางด้านกฎหมาย ร่างกาย จิตใจและสังคม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป.ป.ช.แจง ไม่ถอดถอน '310 ส.ส.หนุนนิรโทษ'-กิตติรัตน์

0
0

18 ธ.ค. 2557 ที่รัฐสภา ก่อนการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม พรเพชรแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า ประธาน ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือถึง สนช.2 ฉบับคือ

1. รายงานการไต่สวนกรณีการถอดถอนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกจากตำแหน่ง กรณีมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 จากกรณีใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ซึ่งพบว่า การกระทำของนายกิตติรัตน์ฟังไม่ได้ว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป

2. กรณีขอให้ถอดถอนอดีต ส.ส.จำนวน 310 คน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 กรณีร่วมลงคะแนนเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผู้กระทำผิดในการชุมนุมทางการเมือง ในวาระ 3 ซึ่ง ป.ป.ช.เห็นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นมูลฐานการพิจารณานำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ จึงไม่มีเหตุที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงอีกต่อไป มีมติให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ

 

ที่มา:มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดิอีโคโนมิสต์ ยก 'ตูนิเซีย' เป็นประเทศดีเด่นปี 2557

0
0

ดิอีโคโนมิสต์ยกประเทศตูนิเซียซึ่งกำลังพยายามก่อร่างสร้างประชาธิปไตยหลังการปฏิวัติอาหรับสปริงให้เป็นประเทศตัวอย่างปี 2557 ตามมาด้วยอันดับสองคือประเทศอินโดนีเซียที่เพิ่งมีประธานาธิบดีพลเรือนสมัยใหม่แทนกลุ่มอำนาจเก่าอย่างกองทัพ


ภาพโดย Gwenael Piaser(Some rights reserved)


18 ธ.ค. 2557 แม้ว่าปี 2557 ดูเหมือนจะเป็นปีที่ย่ำแย่ที่สุดปีหนึ่งของโลกที่มีทั้งโรคระบาด สงคราม การเติบโตของกลุ่มก่อการร้ายอย่าง 'ไอซิส' หรือ 'ไอเอส' แต่ท่ามกลางเรื่องเลวร้ายเหล่านี้ ทางนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ยังระบุว่ามีบางประเทศที่ยังคงเป็นตัวอย่างที่ดีจนน่าจะได้ขึ้นปก "ประเทศแห่งปี" ของนิตยสารพวกเขาได้

ในช่วงปี 2557 ที่ผ่านมามีเหตุการณ์เลวร้ายหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ รวมถึงกับแนวคิดของคำว่า "ประเทศ" เอง เช่นกรณีกลุ่มไอซิสที่ยึดครองบางส่วนของอิรักและซีเรีย การรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซียที่ทำให้เรื่องของพรมแดนมีความยืดหยุ่นมากกว่าจะตายตัว นอกจากนี้ยังมีกรณีของกลุ่มก่อการร้ายโบโก ฮาราม กลุ่มอัลชาบับ และกรณีสงครามกลางเมืองประเทศซูดานใต้

กองบรรณาธิการดิอีโคโนมิสต์ยังได้พิจารณาถึงกรณีกลุ่มนักรบในดินแดนของชาวเคิร์ดที่ชื่อกลุ่มเพชเมอร์กาที่สามารถขับไล่กลุ่มไอซิสและอาจจะช่วยกอบกู้ประเทศอิรักได้ แต่ดินแดนของชาวเคิร์ดก็ยังไม่ถูกระบุว่าเป็นประเทศ ในขณะที่สกอตแลนด์ก็มีการเปิดลงประชามติแยกตัวเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักรแต่ผลการลงประชามติส่วนใหญ่ระบุว่ายังไม่อยากแยกสกอตแลนด์เป็นประเทศ

ประเทศอื่นๆ ที่ได้รับการพิจารณาจากดิอีโคโนมิสต์คือเซเนกัลที่มีการตอบโต้วิกฤติอีโบลาอย่างแข็งขัน อัฟกานิสถานที่แม้ว่าจะยังคงมีกลุ่มตอลีบันไล่สังหารผู้คนแต่ก็ดูมีความหวังมากขึ้นในแง่การเมือง เลบานอนก็เป็นตัวอย่างที่ดีในแง่การรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลโคลัมเบียและกลุ่มกองกำลังปฏิวัติติดอาวุธของโคลัมเบียหรือ FARC ยังคงอยู่ในขั้นตอนการเจรจาสันติภาพซึ่งหากประสบผลสำเร็จอาจจะได้รางวัลประเทศแห่งปีในปี 2558

ส่วนทางด้านวัฒนธรรม ประเทศอุรุกวัยได้รับการชื่นชมจากการมีท่าทีเปิดเสรีต่อเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันกับการจัดการปัญหายาเสพติด

ดิอีโคโนมิสต์ยังชื่นชมความสำเร็จด้านประชาธิปไตยของประเทศอินเดียและอินโดนีเซียจากการเลือกตั้งในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งพวกเขาจัดให้อยู่ในอันดับที่ 2 ของประเทศแห่งปี 2557 จากการที่โจโค วิโดโด นักการเมืองผู้ทันสมัยสามารถชนะคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายทหารอนุรักษนิยมจนได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเพื่อปฏิรูปประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองได้

ส่วนประเทศที่ดิอีโคโนมิสต์ยกให้เป็นประเทศดีเด่นปี 2557 คือประเทศตูนิเซีย ซึ่งหลังการปฏิวัติอาหรับสปริงเป็นผลสำเร็จพวกเขาก็มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและ ส.ส. แม้ว่าทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองจะยังบอบบางอยู่ แต่การเดินทางสายกลางและวิถีแบบปฏิบัตินิยมของตูนิเซียก็ทำให้ประเทศนี้เป็นความหวังท่ามกลางพื้นที่ภูมิภาคที่โชคร้ายและในโลกที่กำลังมีปัญหา

"ประเทศดีเด่นอันดับ 1 และ 2 ของพวกเราในปี 2557 ได้รับการคัดเลือกจากที่มีวุฒิภาวะทางการเมือง ซึ่งมีการพิจารณาจากทั้งตัวผู้นำและจากประชาชนเช่นเดียวกับความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อื่นๆ" ดิอีโคโนมิสต์ระบุในบทความ

 

เรียบเรียงบางส่วนจาก

Our country of the year : Hope springs, The Economist ฉบับ Leaders
http://www.economist.com/news/leaders/21636748-has-been-bad-year-nation-states-someand-one-particulardeserve

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้องผู้ว่าเชียงใหม่ เข้ม! ขจัดขบวนการนายหน้าหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ

0
0

18 ธ.ค. 2557 ในโอกาสวันแรงงานข้ามชาติสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธ.ค. ของทุกปี เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มแรงงานงานข้ามชาติ ได้แก่ กลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) สหพันธ์คนงานข้ามชาติ (MWF) มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN), เครือข่ายปฏิบัติการสตรีไทใหญ่ (SWAN), Shan Youth Power (SYP) และมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER) เสนอแนวทางการส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มีแนวทางการดำเนินการอย่างชัดเจนและเข้มงวด เพื่อขจัดขบวนการนายหน้าที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติในการขึ้นทะเบียนแรงงานโดยไม่มีกิจการจริง และเข้มงวดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ รวมถึงสร้างกระบวนการในการตรวจสอบการแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ ในระดับจังหวัด โดยการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งต้องมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักกฎหมาย ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ องค์กรแรงงานในพื้นที่รวมถึงตัวแทนของนายจ้างด้วย

นอกจากนี้ มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ให้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานในทุกภาคของการผลิต รวมถึงแก้ไขกฎระเบียบ หรือเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีของระบบประกันสังคมได้อย่างครบถ้วนและเท่าเทียม

 

00000



วันที่ 18 ธันวาคม 2557

เรื่อง ขอยื่นข้อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ
เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ / คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปีถือเป็นวัน “วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrant Day) เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน จนถึงปัจจุบัน ผ่านมาแล้ว24 ปีนับแต่การจัดทำอนุสัญญาฯ สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติโดยส่วนใหญ่ยังห่างไกลจาก “การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและ สิทธิแรงงาน อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติ ยังคงประสบปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนการขออนุญาตทำงานที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ปัญหาความล่าช้าในขั้นตอนการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ เกิดกระบวนการนายหน้าและบริษัทนายหน้าเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ สูงกว่าค่าใช้จ่ายจริงที่หน่วยงานราชการเรียกเก็บนายจ้างส่วนใหญ่ยึดหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงานของแรงงานไว้

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติที่ได้รับวีซ่าทำงานในประเทศไทยครบ 4 ปีแล้ว จำนวนหนึ่งต้องกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลไทยยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการต่อใบอนุญาตทำงาน ทำให้ส่วนหนึ่งได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียน ณ ศูนย์ One Stop Service ตามนโยบายใหม่ของ คสช. ซึ่งทำให้แรงงานข้ามชาติต้องเสียโอกาสการเป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง ในส่วนการเข้าสู่ระบบประกันสังคมของแรงงานข้ามชาตินั้น ยังพบปัญหาว่า นายจ้างซึ่งมีหน้าที่นำแรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้างขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานประกันสังคม แต่กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมเองก็ไม่ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อนายจ้างอย่างเข้มงวด ทั้งๆ ที่มีหน้าที่โดยตรง และกฎหมายประกันสังคมยังไม่ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรกรรม และ แม่บ้าน/ทำงานบ้าน ไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมทั้ง 7 กรณีได้ครบถ้วน

ดังนั้น ในวันแรงงานข้ามชาติสากล ปี 2557 นี้เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มแรงงานงานข้ามชาติ ได้แก่ กลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) สหพันธ์คนงานข้ามชาติ (MWF.) มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN), เครือข่ายปฏิบัติการสตรีไทใหญ่ (SWAN), Shan Youth Power (SYP) และมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง(EMPOWER) จึงขอเสนอแนวทางการส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายดังนี้

ส่วนที่ 1 ข้อเสนอแนะต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
ข้อ 1 ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มีแนวทางการดำเนินการอย่างชัดเจนและเข้มงวด เพื่อขจัดขบวนการนายหน้าที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติในการขึ้นทะเบียนแรงงานโดยไม่มีกิจการจริง เพื่อแก้ไขปัญหานายจ้างที่จ้างงานและจ่ายค่าจ้างไม่ได้เป็นนายจ้างตัวจริง นายจ้างตัวจริงคือนายหน้าที่ไม่ได้มีกิจการจริง จึงไม่นำลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม ทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เสียโอกาสในการเข้าสู่ระบบประกันสังคม

ข้อ 2 ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เข้มงวดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ โดยเน้นย้ำให้ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ และต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะการดำเนินการเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
ทั้งการส่งเสริมสิทธิแรงงาน การนำแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม และให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ

ข้อ 3 ขอให้จังหวัดเชียงใหม่สร้างกระบวนการในการตรวจสอบการแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ ในระดับจังหวัด โดยการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะกรรมการในระดับจังหวัด ที่ทำหน้าที่ในการจัดการแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะอนุกรรมการหรือคณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักกฎหมาย ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ องค์กรแรงงานในพื้นที่รวมถึงตัวแทนของนายจ้างด้วย

ส่วนที่ 2 ข้อเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
ข้อ 1 ขอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายดำเนินการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานในทุกภาคของการผลิต เนื่องจากกฎหมายในปัจจุบันยังมีข้อยกเว้นอยู่ ส่งผลให้แรงงานในภาคเกษตรกรรมและแรงงานทำงานบ้านไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้

ข้อ 2 ขอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบ หรือเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีของระบบประกันสังคมได้อย่างครบถ้วนและเท่าเทียม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ดาวดิน’ ออก จม.ระบุ ‘กอ.รมน.’ บุกบ้าน ชวนร่วมเวทีปีหน้า สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัย

0
0

‘ดาวดิน’ ออก จม.จากบ้านดาวดิน ฉบับที่ 6 ถึงสามัญชน ระบุ กอ.รมน. บุกมาที่บ้านอีก ชวนไปกินข้าวพูดคุย ขอเบอร์โทรศัพท์และไลน์ รวมทั้งชวนร่วมเวทีแสดงความเห็นปีหน้า แต่สร้างความรู้สึกกังวลในความปลอดภัย

18 ธ.ค. 2557 หลังจากนักศึกษากลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)  จ.ขอนแก่น จำนวน 5 คน ชู 3 นิ้ว พร้อมเสื้อที่มีข้อความ ‘ไม่ เอา รัฐ ประ หาร’ ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ขณะมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน บริเวณศาลากลาง จ.ขอนแก่น เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนักศึกษากลุ่มดังกล่าวจะถูกควบคุมตัวในทันทีและปล่อยในเวลาต่อมาแล้ว กลุ่มที่แสดงออกสนับสนุนนักศึกษากลุ่มดังกล่าว เช่น ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ที่ชู 3 นิ้วสนับสนุน ก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าพบเพื่อสอบถามถึงความสัมพันธ์กับกลุ่มดาวดิน

รวมทั้งที่บ้านดาวดิน ซึ่งเป็นที่พักของนักศึกษากลุ่มนี้ ก็มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาตรวจตราตลอด ล่าสุดวันนี้(18 ธ.ค.57) เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน’ ได้เผยแพร่จดหมายจากบ้านดาวดิน ฉบับที่ 6 ถึง พี่น้องสามัญชนทุกท่าน เล่าถึงเหตการณ์ที่เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. มาที่บ้านดาวดิน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. เข้ามากำชับถึงเวทีรับฟังความเห็นแบบสามัญชน ที่ทางกลุ่มมีการเสนอว่าจะจัดนั้น ให้อยู่ในกรอบ อย่าไปทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยง ขัดกับกฎระเบียบ พร้อมทั้งชวนไปกินข้าวพูดคุยด้วย

และวันนี้ เจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน. มาที่บ้านดาวดินอีกครั้งเพื่อเชิญนักศึกษากลุ่มนี้เข้าร่วมเวที ของ กอ.รมน. ที่จะจัดขึ้นในปีหน้า เพื่อแสดงความคิด พร้อมกำชับว่าหากมีอะไรก็ให้แสดงความเห็นในเวทีดังกล่าว และได้ขอเบอร์โทรศัพท์และไลน์ของนักศึกษาเหล่านั้นไปด้วย

จากเหตุการดังกล่าว นักศึกษากลุ่มดาวดินมองว่า เจ้าหน้าที่ไม่ควรบุกเข้ามาที่บ้านดาวดินโดยพลการ ส่งผลเกิดความกังวลถึงปลอดภัย

โดยจดหมายดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

จดหมายจากบ้านดาวดิน ฉบับที่ 6

(ถึง พี่น้องสามัญชนทุกท่าน)

-------------------------------------

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 57ที่ผ่านมาขณะที่พวกเรากำลังนั่งอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบปลายภาคที่บ้านดาวดินนั้นเมื่อเวลาประมาณ 14:40 น. ได้มีเจ้าหน้าที่จาก กอรมน.(กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร)(เขาบอกพวกเราว่าแบบนั้น) 2คน เข้ามาที่บ้านดาวดินในตอนแรกเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยื่นอยู่ที่หน้ารั้วบ้านและมองเข้ามาเมื่อเห็นว่ามีคนอยู่ในบ้านก็เปิดประตูรั้วและเดินเข้ามาหาพวกเราที่กำลังนั่งอ่านหนังสือและบอกว่าที่เข้ามาในวันนี้ไม่ได้มาทำอะไร เข้ามาเพื่อพูดคุย เข้ามาแบบพี่แบบน้อง และได้มีการพูดถึง “เวทีรับฟังความเห็นแบบสามัญชน(ยังไม่มีชื่อ)” (ที่กำลังรอให้พี่น้องสามัญชนทุกคนร่วมกันเสนอ วัน เวลา สถานที่ รวมถึงรูปแบบการจัดด้วย) โดยกล่าวว่า ถ้าจะทำเวทีรับฟังความคิดเห็นหรืออะไรก็อยากให้อยู่ในกรอบ อย่าไปทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยง ขัดกับกฎระเบียบที่มี จากนั้นก็ขอเบอร์โทรศัพท์ของเพื่อนเราไปคนหนึ่งบอกว่าเพื่อติดต่อ และก็ชวนพวกเราไปกินข้าวและ พูดคุยกัน

ต่อมาวันนี้(18 พฤศจิกายน 57)เวลาประมาณ 11:00 น. ก็ได้มีเจ้าหน้าที่จาก กอรมน. จำนวน3คน เข้ามาที่บ้านดาวดิน (อีกแล้ว)การเข้ามาในครั้งนี้ เขาได้เข้ามาและสอบถามถึงข้อมูลต่างๆของพวกเราและได้เชิญให้พวกเราเข้าร่วมเวทีของ กอรมน. ที่จะจัดขึ้นในปีหน้ามีอะไรให้แสดงความคิดเห็นในเวที และได้ขอเบอร์โทรศัพท์และไลน์ไปด้วยในรอบนี้

บ้านดาวดินเป็นบ้านของพวกเราที่ใช้อยู่ด้วยกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน ไม่ใช่ที่ที่จะเข้ามาโดยพลการก็ได้ เข้ามาบุกรุกทำอะไรก็ได้ หรือมาทำอะไรกับพวกก็ได้ บ้านดาวดินซึ่งพวกเราเคยรู้สึกสุขใจ และ ปลอดภัยเมื่ออยู่ที่นี่ ไม่รู้ว่าตอนนี้เรายังรู้สึกแบบนั้นได้อยู่อีกไหม...

 

18 ธันวาคม 57

เขียนที่ #บ้านดาวดิน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เลือกนายกโดยตรง

0
0

 

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองได้นำเสนอหลักการใหม่ที่จะให้มีการปฏิรูปการเมืองของประเทศไทย โดยเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทางตรง หรือ คาบิเนตลิสต์(Cabinet List) โดยนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง อธิบายเหตุผลว่า เพราะกรรมาธิการฯเสียงข้างมากพิจารณาแล้วเห็นปัญหาจากการเมืองรูปแบบเดิม คือระบบรัฐสภาที่ให้ประชาชนเลือก ส.ส. แล้วให้ ส.ส.เลือกนายกฯนั้น หาก ส.ส.มีความสุจริตเที่ยงธรรม ก็จะมีส่วนทำให้ได้นายกฯที่ดี แต่หากว่าได้ ส.ส.ที่มาจากการซื้อสิทธิขายเสียง จะมีปัญหาตามมาว่านายกฯต้องมาดูแลและคอยอุปถัมภ์ ส.ส.ที่ยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อเสียงเข้ามา และหากรัฐบาลมีเสียงข้างมากแบบเด็ดขาดก็จะเข้าครอบงำทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ทำให้การตรวจสอบอ่อนแอ ระบบการตรวจสอบโดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่เป็นผล เพราะอภิปรายเมื่อใดก็แพ้ทุกครั้ง ทำให้ฝ่ายบริหารยิ่งเหิมเกริมในการทุจริตคอร์รับชัน

นายสมบัติกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่จึงเห็นว่าแนวคิดในการให้ประชาชนเลือกคณะรัฐมนตรีโดยตรงน่าจะแก้ไขปัญหาได้ เพราะคณะรัฐมนตรีไม่ต้องไปพึ่งพา ส.ส.หรือยืมมือทำให้ได้เป็นรัฐบาลอีกต่อไป และยังทำให้ประชาชนได้รู้ว่าคนที่จะมาเป็นนายกฯและรัฐมนตรี มีประวัติมีผลงานน่าเชื่อถือเพียงใด รู้ก่อนตั้งแต่ยังไม่เลือกเข้ามาทำงาน ถ้าไม่พอใจก็ไม่ต้องเลือก หากปล่อยให้นายกฯมาเลือกคณะรัฐมนตรีภายหลัง บางครั้งอาจไปเลือกนายทุน ผู้มีอิทธิพล เจ้าของบ่อน เข้ามาเป็นรัฐมนตรีเพื่อเป็นการตอบแทนกันก็ได้ ดังนั้นการที่ประชาชนได้รู้ประวัติและนโยบายคณะรัฐมนตรี จะเป็นประโยชน์กับประชาชน

ข้อเสนออื่นที่ตามมาด้วย คือ การล้มเลิก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และให้ ส.ส.มาจากเลือกตั้งทั้งหมด 350 คน แบ่งเขตไม่เกิน 3 คน เพราะเขตใหญ่จะลดอิทธิพลเจ้าพ่อท้องถิ่นและลดความเป็นไปได้ในการซื้อเสียง นอกจากนี้จะคงให้มีวุฒิสภามาจากเลือกตั้ง 77 คน และจัดตั้งจากกลุ่มอาชีพหรือองค์กรที่จัดตั้งตามกฎหมายอาทิ แพทย์สภา สภาทนายความ เป็นต้น อีก 77 คน รวมเป็น 154 คน

แต่กระนั้น ในคณะกรรมาธิการก็ยังมีเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ เช่น นายประสาร มฤคพิทักษ์ โฆษกกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง อธิบายว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เป็นการเพิ่มอำนาจนายกรัฐมนตรีมากเกินไปเหมือนเสือติดปีก การตรวจสอบยาก เพราะการมีอัยการอิสระนั้นยังคงมีกระบวนการอีกมากมาย เมื่อขึ้นถึงศาลและใช้เวลานาน รวมถึงการเลือกคณะรัฐมนตรีโดยตรงเป็นวิธีที่ใช้ทุนสูงและไม่แก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ไม่แก้ปัญหาการอุปถัมภ์ เสียงจากประชาชนจะกลายเป็นอาญาสิทธิ์ในการให้นักการเมืองอยู่ในตำแหน่งถึง 4 ปี

ความจริงแล้ว ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการเมืองโดยให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีทางตรงในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ พ.ศ.2523 ครป. หรือ คณะทำงานรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ที่นำโดย พ.อ.สมคิด ศรีสังคม และ พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย ก็เคยเสนอว่า การให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง จะช่วยป้องกันการรัฐประหารได้ เพราะนายกรัฐมนตรีจะมีความชอบธรรมและมีประชาชนสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอลักษณะนี้จะถูกคัดค้านเสมอมาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่จะโจมตีว่า เป็น”ระบอบประธานาธิบดี” ซึ่งขัดพระราชอำนาจ ทั้งที่การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นการเลือกฝ่ายบริหาร ไม่เกี่ยวกับองค์พระประมุขแต่อย่างใด ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน จึงต้องถือว่าเป็นวิธีการที่ก้าวหน้า และเป็นการขยายสิทธิประชาธิปไตยให้กับประชาชน น่าที่ฝ่ายประชาชนจะต้องสนับสนุน เพียงแต่ว่า ข้อเสนอนี้มาจากองค์กรที่ขาดความชอบธรรม ภายใต้จินตภาพทางการเมืองที่ผิด และคาดการณ์ได้ว่า ข้อเสนอนี้ไม่น่าจะบรรลุความเป็นจริงได้

ที่อธิบายว่า องค์กรขาดความชอบธรรมเพราะสภาปฏิรูปทั้งชุด ตั้งมาจากคณะรัฐประหารที่ล้มล้างอำนาจประชาชน และยังเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)ที่เขียนเอาเองตามอำเภอใจ หน้าที่หลักของสภาชุดนี้คือการสร้างความชอบธรรมให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งไปตามความพอใจของฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม การเสนอข้อเสนออันน่าสนใจก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้สภาชุดนี้ดูมีความชอบธรรมที่จะกินเงินเดือนของประชาชนสูง ๆ ได้อยู่ต่อไป

แต่ปัญหาสำคัญของข้อเสนอในครั้งนี้ อยู่ที่จินตภาพทางการเมืองผิด เพราะเสนอขึ้นมาภายใต้คำอธิบายที่ว่า ระบบการเมืองแบบเดิมเต็มไปด้วยการทุจริต ประชาชนเลือก ส.ส.เพราะอิทธิพลและการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ส.ส.ที่ได้มาจึงไม่มีความสุจริตเที่ยงธรรม และนำมาซึ่งรัฐบาลที่ทุจริต รัฐมนตรีที่เลือกมาก็เป็น “นายทุน ผู้มีอิทธิพล เจ้าของบ่อน” ดังนั้น จึงต้องใช้การเลือกคณะรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชนมาแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่คำอธิบายทั้งหมดนี้เป็นมายาคติ เพราะไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดในอดีตเลยที่เป็นไปตามภาพแบบนี้ ยิ่งกว่านั้น ผลจากการที่มีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่หลัง พ.ศ.2522 ทำให้ประชาชนเลือก ส.ส.เป็นระบบพรรคมากขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ.2544 เป็นต้นมา ส.ส.ที่มาแบบ“ซื้อสิทธิ์ขายเสียง”แทบจะไม่มีเหลือ เพราะประชาชนส่วนมากเลือกพรรคมากกว่าบุคคล

ปัญหาในระบบเลือกตั้งแบบเดิมมีเพียงแต่ว่า พรรคที่ประชาชนเลือกมาเป็นรัฐบาล คือ “พรรค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร(ไม่ว่าจะชื่อพรรคอะไร)” เป็นพรรคที่ไม่ต้องใจกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ชนชั้นนำไทยจึงละเมิดกติกาของตนเองโดยสนับสนุนให้กองทัพก่อการรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลเลือกตั้ง คือ รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งล้มล้างรัฐธรรมนูญเดิม และสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับ พ.ศ.2550 ที่มอบอำนาจสูงสุดให้กับฝ่ายตุลาการ สร้างการตรวจสอบควบคุมฝ่ายบริหารอย่างไร้เหตุผล โดยหวังที่จะล้มล้างและฆ่าตัดตอนพรรคการเมืองฝ่ายทักษิณ แต่สิ่งที่คณะรัฐประหารและฝ่ายตุลาการล้มเหลวในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา ก็คือ ความล้มเหลวในการเปลี่ยนใจประชาชน ดังนั้น การเลือกตั้งที่มีขึ้นครั้งใด พรรคการเมืองฝ่ายทักษิณจึงชนะการเลือกตั้งเข้ามาทุกครั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง เมื่อ พ.ศ.2544 ที่นำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยังคงไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายชนชั้นนำ ทั้งที่การบริหารประเทศก็เป็นไปโดยเรียบร้อย ไม่มีข่าวหรือกรณีทุจริตเหตุการณ์ใด และภาพลักษณ์ระหว่างประเทศของนายกรัฐมนตรีไทยก็สูงเด่นมาก ในที่สุด ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมก็อ้างเหตุความผิดพลาดของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งเมื่อปลาย พ.ศ.2556 มาสร้างกระแสประชาชนในการต่อต้านรัฐบาล เพื่อเปิดทางให้ฝ่ายทหารก่อการยึดอำนาจ จนในที่สุด ฝ่ายกองทัพบกที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 แล้วล้มรัฐธรรมนูญ สถาปนาระบอบเผด็จการ ที่ปิดกั้นความคิดของประชาชน และตั้งสภาเถื่อน เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ สภาปฏิรูปแห่งชาติ มาทำหน้าที่รองรับทิศทางการเมืองตามอำเภอใจของฝ่ายชนชั้นนำ ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ดังนั้น จึงขอวิเคราะห์ล่วงหน้าเลยว่า ข้อเสนอเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง จะไปไม่รอด ในสังคมไทยที่ชนชั้นนำมีความคิดอนุรักษ์นิยมจัดเช่นนี้ และยังเป็นเพราะข้อเสนอนี้ไม่สอดคล้องกับแนวคิดการสร้างประชาธิปไตยแบบลดอำนาจประชาชนที่เป็นทิศทางที่ดำเนินอยู่

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 494วันที่ 13 ธันวาคม 2557

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ควรบวชภิกษุณีหรือไม่

0
0


มีข่าวว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเตรียมตรวจสอบมติของมหาเถรสมาคมที่ห้ามบวชภิกษุณีโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และริดรอนเสรีภาพการเข้าถึงศาสนา  ซึ่งตามวินัยปิฎก  เล่ม  7  หน้า  320  ถึง  326  เป็นเรื่องประวัติความเป็นมาของนางภิกษุณีซึ่งพระพุทธเจ้าเคยตรัสห้ามพระนางมหาปชาบดี  โคตมี  ถึงสามครั้งมิให้บรรพชาเป็นภิกษุณี  แม้พระอานนท์เถระทูลขอให้บรรพชามาตุคามอีกถึงสามครั้ง  พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสห้ามเช่นเคยว่า  การที่มีสตรีมาบวชในพระพุทธศาสนา  จะทำให้พระธรรมวินัยตั้งอยู่ไม่ได้นานเท่าที่ควร  แม้ภายหลังทรงอนุญาตให้สตรีบวชได้แต่ก็ทรงวางเงื่อนไขไว้  8  ประการ  เรียกว่าครุธรรม  นอกจากนี้ภิกษุณีจะต้องบวชในภิกษุณีสงฆ์ก่อน  แล้วจึงบวชในภิกษุสงฆ์ 

ยิ่งไปกว่านั้นภิกษุณีจะต้องรักษาศีลถึง  311  ข้อ  ซึ่งแม้ภิกษุตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันต้องรักษาศีลให้ครบถ้วน  227  ข้อ  ก็ยังยากนักดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและเห็นได้ตามข่าวในสื่อต่างๆ  ประกอบกับในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในฝ่ายเถรวาทว่าภิกษุณีได้ขาดสายจากการบวชโดยพระพุทธเจ้าแล้ว  หากมีการบวชภิกษุณีได้ก็มิใช่ภิกษุณีที่มีสายตรงมาจากการบวชโดยไม่ขาดสายจากพระพุทธเจ้า

อย่างไรก็ดีมีการอ้างหลักการในรัฐธรรมนูญชั่วคราวและหลักการพึ่งพาพุทธบริษัท  4  เพื่อสนับสนุนให้มีการบวชภิกษุณี  แต่การอ้างดังกล่าวก็มิได้เป็นการอ้างตามหลักในพระไตรปิฎก  ทั้งธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นก็มิจำต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายหรือตรรกะเหตุผลของปุถุชนทั่วไป  เนื่องจากเป็นเรื่องของสงฆ์โดยแท้  โดยพระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นผลดีผลเสียของการบวชภิกษุณีดังที่กล่าวมาแล้ว  กลายเป็นว่าบุคคลที่กำลังเรียกร้องให้มีการบวชภิกษุณีหรือกระทั่งบุคคลที่ประสงค์จะบวชเป็นภิกษุณีเองก็กำลังพยายามจะกระทำการฝ่าฝืนความประสงค์ของพระพุทธเจ้าเองทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มบวชเข้ามาเป็นสาวกของท่านเลย  หากได้บวชเข้ามาเป็นภิกษุณีแล้วยังเป็นที่สงสัยว่าจะประพฤติปฏิบัติตนตามวินัยของพระพุทธองค์ได้มากน้อยเพียงใด

ฝ่ายสนับสนุนให้มีการบวชภิกษุณีอาจอ้างว่าพระภิกษุจำนวนมากก็ประพฤติปฏิบัติตนเสื่อมเสียอยู่แล้ว  หากมีการอนุญาตให้บวชภิกษุณี  เหล่าภิกษุณีจะพิสูจน์ตนเองว่าประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยให้เท่าเทียมหรือเคร่งครัดยิ่งกว่าภิกษุในปัจจุบันเสียอีก  แต่ข้ออ้างดังกล่าวก็ยากที่จะเป็นจริงได้เนื่องจากตามพระไตรปิฎกนั้นภิกษุณีจะต้องพึ่งพาภิกษุมาก  แม้ภิกษุณีที่บวชมาแล้ว  100  ปี  ก็ต้องทำอภิวาท  ลุกขึ้นต้อนรับ  อัญชลีกรรมและสามีจิกรรมแก่ภิกษุผู้บวชในวันนั้น  (ไม่ถึง  1  วัน) 

ภิกษุณีจะตั้งตนเป็นอิสระจากภิกษุเลยย่อมไม่ได้และอาจเป็นเหตุทำให้พระธรรมวินัยตั้งอยู่ไม่ได้นานเท่าที่ควรดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้  ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วสตรีแม้จะมิได้บวชเป็นภิกษุณีก็สามารถปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์จนบรรลุธรรมขั้นสูงได้ในเพศฆราวาสหรือแม้เพียงบวชชี  โดยไม่กระทบต่อความตั้งมั่นของพระธรรมวินัยเลย

ท้ายสุดแล้วหากยังมีกระแสผลักดันให้มีการบวชภิกษุณีจนมหาเถรสมาคมยินยอม  ตลอดจนครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยินยอม  ก็เป็นเรื่องที่พุทธบริษัท  4  จะต้องร่วมกันประคับประคองให้พระธรรมวินัยตั้งอยู่โดยมั่นคงโดยมีสำนึกว่าพุทธศาสนิกชนรุ่นเราได้รับเอาความเสี่ยงที่พระธรรมวินัยจะสั่นคลอนมากยิ่งขึ้นเอาไว้บนบ่าของตนแล้ว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก

0
0

                              
18 ธ.ค. 2557เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ สมหมาย ภาษี รมว.คลัง ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ว่า เนื่องจากที่ผ่านมา การถ่ายโอนทรัพย์สินทางกองมรดกไม่ต้องเสียภาษี ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม จึงควรจัดเก็บเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ยกระดับการดำรงชีพของประชาชนที่ยากไร้โดยไม่ให้กระทบกับผู้ได้รับมรดกพอสมควรกับการดำรงชีพ ส่วนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร นั้นเป็นการแก้ไขให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ซึ่งประมวลรัษฎากรนั้นยังมีการงดเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงจากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม

สมหมาย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรายได้จากการเก็บภาษีอยู่ที่ 18% ต่อจีดีพี ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วจะสูงถึง 30-40% การจัดเก็บภาษีสูงนั้นไม่ได้หมายความว่าไปรีดเค้นจากประชาชน แต่เป็นการเก็บเพื่อให้มีการกระจายรายได้ ไม่ไปกระจุกอยู่ที่คนกลุ่มหนึ่ง แล้วเอาเงินมาพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีมรดก 10% จากส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทนั้น จะทำให้รายได้จากการเก็บภาษีขยับอยู่ที่ 21-22​% เรื่องภาษีมรดกนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศมีการจัดเก็บตั้งแต่ 20-40% ขณะที่ของประเทศไทยไม่ได้เก็บจากมรดกบาทแรก แต่เก็บจากเงินที่เกิน 50 ล้านบาท สมมติว่าหากมรดก 200 ล้านบาท แบ่งให้ลูก 3 คน เราจะเก็บเฉพาะส่วนที่เกินคนละ 50 ล้านบาท คือ ประมาณ 10 กว่าล้านบาท เมื่อเก็บคนละ 10% ก็จะได้คนละล้านกว่าบาท ซึ่งไม่ได้สูงมาก ประเทศฟิลิปปินส์ก็เก็บแบบขั้นบันได ประเทศ​เวียดนามก็เก็บเท่ากับประเทศไทย ขณะที่ประเทศเกาหลีอยู่ที่ 10-50% อย่างไรก็ตาม หากคนไม่มีเงินชำระภาษีก็สามารถผ่อนจ่ายได้เป็นเวลา 5 ปี โดย 2 ปีแรกนั้นไม่ต้องเสียดอกเบี้ย หรือถ้าหากไม่มีเงินก็สามารถไปจัดตั้งเป็นกองมรดกได้

ด้านประดิษฐ์​ วรรณรัตน์ สนช. ลุกขึ้นอภิปรายว่า 12 ใน 25 ประเทศที่จัดเก็บภาษีมรดกนั้นปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และนอร์เวย์ เพราะไม่คุ้มค่ากับการจัดเก็บและไม่ต้องการให้รายได้ออกไปนอกประเทศจากการหลบเลี่ยงภาษีมรดก สำหรับสัดส่วน 10% นั้นถือว่าสูงเป็นลำดับที่ 5 ของโลก อีกทั้งยังถูกมองว่าก่อนจะมาเป็นมรดกนั้นก็ได้ผ่านการเก็บภาษีมาแล้วทั้งภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจ ดังนั้นการจัดเก็บภาษีมรดกจะต้องไม่ทำให้ถูกมองว่าเป็นการเสียสองต่อ ทั้งนี้ ยังมีทางเลือก​อื่น อาทิ การเพิ่มการจัดเก็บภาษีฟุ่มเฟือย ทั้งรถยนต์ เหล้า และบุหรี่ ที่จะทำให้การจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น ​ดังนั้น อยากให้พิจารณาให้รอบคอบด้วย

โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ สนช. อภิปรายว่า การจัดเก็บภาษีมรดกอาจจะทำให้ประเทศอื่นได้ประโยชน์มหาศาล เพราะอาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้เศรษฐีไทยนำเงินไปเก็บไว้ที่ประเทศอื่นซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมรดกได้ ดังนั้น ต้องพิจารณาให้รอบคอบ​ ทั้งในประเด็นการบริหารจัดการที่ต้องป้องกันไม่ให้มีการหลบเลี่ยงภาษีมรดกเหมือนกับที่หลายประเทศประสบมาแล้ว และต้องระวังเรื่องความไม่เป็นธรรมกับคนชั้นกลาง ผู้ประกอบการเอ็สเอ็มอี ที่ทุ่มเททำงานแต่ต้องมาเสียภาษีซ้ำซ้อน รวมทั้งทายาทผู้เยาว์ที่อาจจะประสบปัญหาไม่สามารถช่วยตัวเองในการรับมรดกได้อีกด้วย ​

สมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายว่า ฝากให้พิจารณาให้รอบด้านว่า เมื่อทำแล้วจะไม่เกิดการลดการออมในประเทศ โดยจัดการรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน เพราะนักวิชาการหลายมหาวิทยาลัยเห็นตรงกันว่า ภาษีมรดกยังเป็นปัญหา ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำได้ตรงจุด นอกจากนี้ อยากให้ผลักดันกฎหมายภาษีอื่นๆ ด้วย อาทิ ภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และต้องนำเข้าสู่สภาฯ โดยเร็ว ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ในส่วนของที่ดินการเกษตรนั้นจะมีการยกเว้นหรือไม่ เช่น ถ้าถนนตัดผ่านแล้วทำให้ที่ดินเกษตรราคาสูงและต้องการเก็บที่ดินไว้ทำการเกษตรต่อไปนั้น ควรจะงดเว้นภาษีหรือไม่ และเจ้าของที่ดินที่เป็นบริษัทเกษตรรายใหญ่ เป็นอภิมหาเศรษฐี จะได้รับการงดเว้นหรือไม่ ขอให้มีหลักเกณฑ์ที่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วสนับสนุนกับการจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันไดเพื่อทำให้เกิดการปรับตัว จากน้อยไปหามาก เพราะจะทำให้ไม่เกิดการหลบเลี่ยงภาษี

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. อภิปรายว่า รู้สึกเป็นห่วงกับการจัดเก็บภาษีมรดกที่ไม่แน่นอน หากกระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้ที่เรื่องลดความเหลื่อมล้ำนั้น จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ เพราะหากมีการตั้งกองมรดก มูลนิธิ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้ ยังไม่รวมกับการโยกย้ายไปยังต่างประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ รู้สึกสงสัยว่า เหตุใดจึงเก็บเฉพาะภาษีการรับมรดก แต่ไม่เก็บในส่วนของกองมรดกที่เคยทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2476 แต่ยกเลิกไป ทั้งๆ ที่ทำให้รายได้เข้ารัฐเป็นกอบเป็นกำ และประเมินครั้งเดียวแต่ผลระยะยาว ส่วนที่มีการกำหนดว่าเก็บภาษีมรดกจากที่เกิน 50 ล้านบาทนั้น ต่อไปเงินเฟ้อแต่ละปีอาจจะทำให้ค่าเงินน้อยลง ซึ่งจะกลายเป็นภาระให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยได้ 

อิสระ ว่องกุศลกิจ สนช. อภิปรายว่า การจะนำภาษีที่ได้ไปใช้ช่วยเหลือผู้ยากไร้นั้น ควรมีหลักประกันเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการยกระดับชีวิตคนยากไร้ ซึ่งไม่ควรอยู่ในงบประมาณ แต่ควรจะกำหนดให้ชัดเจนว่า จะไปพัฒนาในรูปแบบไหน และหากจะเก็บภาษีนั้นต้องให้เวลากับผู้ประกอบการในการเสียภาษีมรดกด้วย อย่างไรก็ตาม การมีกฎหมายนี้จะเป็นการเร่งให้มีการโอนเงินให้กับทายาท อาจจะทำให้เป็นการสร้างความแตกแยกภายในครอบครัวให้เร็วขึ้นหรือไม่

ขณะที่สมหมาย ชี้แจงว่า สาเหตุที่เก็บภาษีมรดกในอัตราคงที่​ ไม่เป็นแบบขั้นบันไดนั้น เนื่องจากเราเจตนาที่จะเก็บจากผู้ที่มีรายได้สูงมากกว่าผู้ที่มีรายได้ปานกลางอยู่แล้ว จะเห็นได้จากการกำหนดให้เก็บภาษีจากมรดกที่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงแล้ว ​ส่วนกรณีที่หลายประเทศยกเลิกการจัดเก็บภาษีมรดก เช่น ​นอร์เวย์ นั้นเนื่องจากเขามีระบบภาษีการกระจายรายได้ที่ดีมาก คนนอร์เวย์ไม่มีคนรวยมาก จนมาก ไม่เหลื่อมล้ำ เขาใช้การเก็บภาษีอื่นได้ แต่ประเทศไทยต้องเก็บภาษีมรดกเพราะเป็นสัญลักษณ์อันหนึ่ง และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ควบคู่ไปกับภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เพื่อขยายฐานภาษีให้มีประสิทธิภาพ

สาธิต รังคสิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ประเด็นปัญหาที่ห่วงกันว่าผู้รับมรดกจะไม่สามารถชำระภาษีได้นั้น หากเป็นในส่วนของที่ดินต่างจังหวัด ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทคงไม่เป็นภาระเท่าไหร่ แต่ในส่วนที่ดินที่มีราคาแพง อาทิ ย่านเยาวราช ข้อเท็จจริงนั้นมีการทำธุรกิจควบคู่ไปกับที่อยู่อาศัย จึงมีความสามารถที่จะชำระภาษี อีกทั้งกฎหมายยังเปิดช่องให้ผ่อนชำระ 5 ปี โดย 2 ปีแรกไม่มีดอกเบี้ย และหากยังมีปัญหาก็ยังสามารถทำเป็นกองมรดกที่จะไม่ต้องเสียภาษีจนกว่าจะขายหรือมีเงินมาชำระภาษีได้อีกด้วย

ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงว่า สำหรับบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยแต่ได้รับมรดกทรัพย์สินบนแผ่นดินไทยนั้น บุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย เช่น เป็นชาวต่างชาติแต่มาพำนักอยู่ในประเทศไทยแล้วมีภรรยาหรือลูกแต่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยนั้น หากกลับเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาเกิน 3 ปี ไม่ว่าทรัพย์สินจะอยู่ที่ประเทศไหนจะต้องเสียภาษี

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... ด้วยคะแนนเห็นชอบ 160 เสียง ต่อ 16 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว จำนวน 25 คน โดยมีระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน และระยะเวลาทำงานของกรรมาธิการฯ 90 วัน จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ด้วยคะแนนเห็นชอบ 172 เสียง ต่อ 8 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง พร้อมทั้งใช้คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดเดียวกับที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว จำนวน 25 คน โดยมีระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน และระยะเวลาทำงานของกรรมาธิการฯ 90 วัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘นิธิ’ กับ 20 ปีให้หลัง ปาฐกถาว่าด้วยนาฬิกา และวัฒนธรรมไทย

0
0

เปิดปาฐกถาเต็มฉบับของ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ แม้จะหมุนนาฬิกากลับไปไกลเพียงใด แต่สุดท้ายเวลาจะเดินหน้าต่อไปไม่ยอมหยุด “วัฒนธรรม” ก็เช่นกัน<--break- />

 

หมายเหตุ. การกล่าวปาฐกถาครั้งนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 ที่อาคารมติชนอคาเดมี ในงานเสวนาหัวข้อ “นิธิ 20 ปีให้หลัง” และงานเปิดตัวหนังสือพิมพ์ซ้ำ 4 ปก อันประกอบด้วย “กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย” , “โขน, คาราบาว, น้ำเน่าในหนังไทย” , “ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์” และผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน และ ฯลฯ ซึ่งจัดขึ้นโดย ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน และมติชนอคาเดมี ประชาไทนำเสนอปาฐกถาโดยละเอียด

 

สวัสดีท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมก็คงไม่รู้จะพูดอะไรมากนะครับ ก่อนอื่นก็คงต้องขอขอบคุณ อาจารย์ประจักษ์ อาจารย์ธเนศ และอาจารย์เกษียร เป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ด้วย ที่กรุณามาให้ความเห็นที่น่าสนใจมาก ๆ ในวันนี้ นอกจากนี้ก็แน่นอน ผมขอขอบคุณศิลปวัฒนธรรม และมติชน ในการจัดงานวันนี้ขึ้น

ก็คงขอคุยอะไรเล็กๆ น้อยๆ โดยเริ่มต้นจากเรื่องค่อนข้างส่วนตัวนิดหน่อย ผมเป็นนักเล่นนาฬิกานะครับ สะสมนาฬิกาไว้หลายประเภท นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาแขวนข้างฝา และอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นนาฬิกาเก่า ที่ยอมเสียเงินไปซ้อม แต่ซื้อมาในราคาค่อนข้างถูก และผมมาพบอย่างหนึ่งว่า นาฬิกามันมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ คุณสามารถหมุนเข็มนาฬิกากลับไปสู่อดีตเมื่อไหร่ก็ได้ที่คุณรู้สึกว่าคุณต้องการ ถ้าเป็นนาฬิกาที่มีวันที่ด้วย แม้แต่วันที่มันก็จะย้อนกลับให้เราได้ แต่ข้อเสียของนาฬิกามันมีอยู่อย่างหนึ่งก็คือถึงเราหมุนกลับไปแค่ไหนก็ตามแต่ มันก็จะเดินก้าวหน้าต่อไปอีกไม่ยอมหยุด เดินมาถึงจุดที่เราไม่อยากให้มันมาถึงจนได้สักวันหนึ่ง

นี่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องส่วนตัวที่ผมอยากจะพูดวันนี้คือ ผมรู้สึกว่าผมได้เขียนลงไปในศิลปวัฒนธรรมเมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมานั้น คำถามของอาจารย์ประจักษ์คือ สิ่งเหล่ามันเชยหรือยัง เอาเข้าจริงผมว่ามันเชยมากๆ มันแย่มากๆ  เป็นต้นว่าเรื่องเกี่ยวกับน้ำเน่าในหนังไทยคือ ใช่ไม่ได้กับหนังไทยในปัจจุบันเอาอย่างนั้นแล้วกัน หนังไทยในปัจจุบันมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างเดียวแล้ว คุณใช้ความคิดเกี่ยวกับน้ำเน่าในหนังไทยตอนนั้น มาดูหนังไทยในปัจจุบันไม่ได้ มันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากที่เดียว คงต้องใช้กรอบวิธีมองอย่างอื่นแทน

เพราะเหตุที่ว่า วัฒนธรรม โดยเฉพาะสิ่งที่อาจารย์เกษียรพูดถึงคือวัฒนธรรมที่เป็นจริง มันไปได้เปลี่ยนไปอย่างมากในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา เวลาที่พูดถึงวัฒนธรรมนั้น ผมหมายถึง ความสัมพันธ์ทางสังคมของคนกลุ่มต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง-ผู้ชายในปัจจุบันนี้ก็ไม่เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิง-ผู้ชายเมื่อตอนที่ผมเขียนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หรือคน-คนจน ความสัมพันธ์ระหว่างคนเมือง กับชนบท ก็เปลี่ยนไปอย่างยิ่ง

ถ้ามองเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งผมถือว่านั่นล่ะคือ วัฒนธรรม ก็จะพบความเปลี่ยนแปลงในทุกส่วนของสังคมไทยคือ พบว่าเราไม่ได้สัมพันธ์กัน อย่างที่เราเคยสัมพันธ์กันมาก่อน แน่นอนครู กับศิษย์ในตอนนั้นก็ไม่เหมือนครู กับศิษย์ในตอนนี้ ผมพบสิ่งนี้ และผมคิดว่าสิ่งที่ผมพยายามจะเตือนเสมอคือ วัฒนธรรม ไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ มันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เวลาเขียนเรื่องน้ำเน่าในหนังไทยผมก็บอกว่า นั่นเป็นกรอบวิธีคิด หรือวิธีเล่าเรื่องของคนไทยในอดีต แล้วมันสะท้อนมาในหนัง เช่น เสือ, ลูกสาวกำนัน มีอะไรอีกร้อยแปด มันจะวนซ้ำ จากจุดเริ่มต้นที่มีความสุข วนกลับมาสู่จุดที่มีความสุขอีกครั้งหนึ่ง เวลามันไม่เดินไปไหน นิยายไทยมันจะหมุนอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าไม่เดินไปข้างหน้า และหนังไทยในช่วงนั้น สมัยนั้นก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ คือเป็นนิยาย หรือเรื่องราวที่เวลามันหมุนวนกลับมาสู่ที่เก่าตลอดเวลา และผมก็เตือนเอาไว้ในบทความนั้นว่า สิ่งนี้มันต้องเปลี่ยน จะเปลี่ยนไปสู่อะไรผมก็เดาไม่ถูกเหมือนกัน หรือเวลาพูดถึง “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” ผมก็บอกว่า สิ่งที่พูดมานี้มันเป็นก็เป็นอุดมคติที่วันหนึ่งมันก็เปลี่ยนไป และไม่กลับมาเหมือนเก่าอีก

20 ปีผ่านไปเร็วเหมือนโกหก สำหรับผมรู้สึกว่ามันไวมาก ๆ สังคมไทย ประเทศไทยมันไม่ใช่อย่างที่ผมจินตนาการถึงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มันเปลี่ยนไปมาก นั้นเป็นสิ่งที่ผมสำนึกได้เมื่อ 20 ปีที่แล้วว่าสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรม ไม่เคยอยู่นิ่งมันมีพลัง มีพลวัต ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ แต่ใน 20 ปีต่อมาผมมาพบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อนหน้านั้นมีความตระหนักในเรื่องนี้น้อย กล่าวคือรูปแบบของ วัฒนธรรมหนึ่งๆ  ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะมีอเมริกันเข้ามา หรือเราส่งเด็กไปเรียนต่างประเทศมากขึ้น หรือเพราะจีนเปลี่ยนประเทศมาดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ กลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มันไม่ใช่ปัจจัยภายนอกแต่เพียงอย่างเดียวมันยังมีปัจจัยสำคัญอยู่อีกอย่างหนึ่งคือ ในแต่ละรูปแบบวัฒนธรรมมันมีผลประโยชน์ปลูกฝั่งของคนบางกลุ่มบางเหล่าอยู่ในวัฒนธรรมเหล่านั้นด้วย หมายความว่าการมองชีวิตเป็นวนกลมแบบรามเกียรติ์ หรือหนังไทยเมื่อ 20 ปีมาแล้ว ไม่ใช่เป็นความคิดตกค้างมาจากรามเกียรติ์เฉย ๆ มันมีผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม มีโลกทัศน์ของคนบางกลุ่ม มีอำนาจของคนบางกลุ่ม ซึ่งอยากให้ทุกคนมองเวลาเป็นวงกลมแบบนั้น คือเวลาพูดถึงเวลาเป็นวงกลมก็ตาม ลูกศิษย์ควรเคารพครูก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัฒนธรรมเฉย ๆ แต่ในวัฒนธรรมนี้มีส่วนที่เอื้อต่อโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างผลประโยชน์ และอื่น ๆ ด้วย ผมยอมรับว่า 20 ปีที่แล้วมองประเด็นนี้ไม่ชัดเจนเท่าไร แต่ในตอนนี้คิดว่ามองประเด็นนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อสักครู่นี้ อาจารย์ประจักษ์ ได้พูดว่าหนังสือเล่มนี้ (กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย) พิมพ์ 11 ครั้ง ผมอยากจะเตือนว่าหนังสือ(ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์) ซึ่งผมเดาว่าพิมพ์มากที่สุดในประเทศไทยคือ เมื่อ 20 ปีก่อน “ประวัติศาสตร์ไทย” ของหลวงวิจิตรวาทการ พิมพ์ 24 ครั้ง ปัจจุบันเดาว่าอาจจะถึง สามสิบกว่าครั้งแล้วก็ได้ หนังสือเล่มนั้นจะดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไรนี้ไม่พูดถึง เพียงแต่เป็นตัวอย่างที่ผมชี้ให้เห็นว่า การมองประวัติศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่ง มันไม่ได้เป็นการมองอย่างนักปราชญ์ หรือนักประวัติศาสตร์เฉย ๆ แต่มองอย่างนี้มันเอื้อโครงสร้างผลประโยชน์ โครงสร้างอำนาจ ของคนบางกลุ่มบางเหล่าด้วย แล้วเขาก็อยากจะรักษาการให้การมองอย่างนั้นดำรงอยู่ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์แบบหลวงวิจิตรฯ ที่เน้นให้ทุกคนเสียสละเพื่อชาติของตนเอง โดยอยู่ภายใต้การกำกับของคนเก่งคนฉลาดบางคน หรือบางกลุ่ม ไม่ใช่รักชาติเฉยๆ แต่รักชาติภายใต้การกำกับของคนบางกลุ่มด้วย วิธีแบบนี้ต้องมีความหมาย เพราะถ้าไม่มีความหมายมันพิมพ์ถึง 20-30 ครั้งอย่างนั้นไม่ได้

ด้วยเหตุนั้นผมจึงคิดว่า นาฬิกามันสอนใจเรา แม้หมุนกลับเวลาไปนาน หรือไกลแค่ไหนก็แล้วแต่ แล้วเมื่อคุณพอใจกับเวลาที่ตั้งใหม่ซึ่งเป็นอดีต อย่าลืมว่านาฬิกามันไม่หยุด มันเสือกเดินก้าวหน้ามาถึงยังจุดที่คุณไม่อย่างจะเจอมันอีกตลอดไป ฉะนั้นในฐานะคนเล่นนาฬิกาผมรู้สึกว่านาฬิกามันน่ารักมาก เพราะมันบอกความจริงอะไรบางอย่าง ที่หลายคนในประเทศไทย ที่ยังท่องตำราหลวงวิจิตรฯ ไม่เข้าใจว่า คุณอาจถอย วัฒนธรรม กลับไปได้ ไม่ว่าจะถอยกลับไปถึงตรงไหนก็ได้ทั้งนั้นแหละ แต่ที่ร้ายกาจคือ เมื่อคุณถอยกลับไปแล้ว แม่งเสือกเดินต่อไปอีก จนมาถึงจุดที่คุณไม่อยากให้มันมาถึง ได้เสมอไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์

0
0

ในฐานะคนเล่นนาฬิกาผมรู้สึกว่านาฬิกามันน่ารักมาก เพราะมันบอกความจริงอะไรบางอย่าง ที่หลายคนในประเทศไทย ที่ยังท่องตำราหลวงวิจิตรฯ ไม่เข้าใจว่า คุณอาจถอย วัฒนธรรม กลับไปได้ ไม่ว่าจะถอยกลับไปถึงตรงไหนก็ได้ทั้งนั้นแหละ แต่ที่ร้ายกาจคือ เมื่อคุณถอยกลับไปแล้ว แม่งเสือกเดินต่อไปอีก จนมาถึงจุดที่คุณไม่อยากให้มันมาถึง ได้เสมอไป

กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “นิธิ 20 ปีให้หลัง” 18 ธ.ค. 2557
Viewing all 50697 articles
Browse latest View live