Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

8 เครือข่ายสุขภาพร้องป.ป.ช.สอบผอ.องค์การเภสัช

$
0
0

29 ต.ค.2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพอันประกอบไปด้วย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา, กลุ่มคนรักหลักประกัน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, กลุ่มศึกษาปัญหายา, ชมรมเภสัชชนบท, มูลนิธิเภสัชชนบท และ ชมรมแพทย์ชนบท ได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ด้วยปรากฎมีพฤติกรรมส่อทุจริตและทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ได้แก่ การเช่าพื้นที่ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ และการจ้างที่ปรึกษาโครงการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง (CAPD) ส่อไปในทางทุจริต

ในหนังสือร้องเรียน ระบุว่า โครงการดังกล่าวสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน กับ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ เนื่องจาก นพ.สุวัช แต่งตั้งคณะทำงานบริหารโครงการ CAPD มี นพ.สุวัช เป็นประธาน นพ.ดำรัส โรจนเสถียร เป็นที่ปรึกษา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 ต่อมาได้มีการประชุมคณะทำงานบริหารโครงการ CAPD ครั้งที่ 5/2557 เมื่อวันที่24 ก.ค. 2557 โดยมีนายสุวัช เป็นประธาน นายดำรัส เป็นที่ปรึกษา มีมติให้ใช้สถานที่ของ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ จ.มหาสารคามเป็นสถานที่ดำเนินโครงการ และขอจ้าง นพ.ดำรัส โรจนเสถียร เจ้าของโรงพยาบาลมหาสารคามอินเตอร์ เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการ นอกจากนี้ ในที่ประชุมนี้ยังได้เห็นชอบในการกำหนด Specification ของสาย Tenckhoff ซึ่งบริษัทของลูก นพ. ดำรัส เป็น ผู้แทนจำหน่าย สาย Tenckhoff ด้วย (Natural Media Co.,Ltd) โดยมีข้อสังเกตว่า เหตุใด รพ.มหาสารคาม จึงส่งใบเสนอราคาได้ทันทีที่ประชุมเสร็จเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ก่อนวันอนุมัติโครงการ 29 ก.ค. ทั้งนี้ใบเสนอราคาค่าเช่าพื้นที่ 924 ตารางเมตรรายเดือน ในอัตราตารางเมตรละ 500 บาท เป็นเงิน462,000 บาท

โครงการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ นพ.สุวัชอนุมัติเมื่อวันที่ 29 ก.ค. มีมูลค่าโครงการ 25 ล้านบาท เป็นค่าจัดหาสถานที่ 9 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาเพื่อบริหารโครงการ 3 ล้านบาท พัฒนาระบบIT 13 ล้านบาท ทาง 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพได้ตั้งข้อสังเกตในหนังสือร้องเรียนต่อ ปปช.ว่า การดำเนินโครงการนี้มีพฤติกรรมพยายามหลีกเลี่ยงกฎระเบียบเพื่อให้อยู่ในอำนาจอนุมัติของผู้อำนวยการและมีพฤติการณ์ส่อทุจริต โดยวงเงินที่ตั้งเรื่องขออนุมัติอยู่ในวงเงินเกือบสูงสุดที่ ผอ. อนุมัติได้ ทำไมต้องเช่า 18 เดือน เหตุใดไม่เช่า 12 หรือ 24 เดือน

“ยังมีการจ้าง นพ.ดำรัส เป็นที่ปรึกษาโครงการ 6 เดือน ในค่าจ้าง 1 ล้านบาทโดยวิธีตกลงราคา  ทั้งที่ในโครงการได้กำหนดค่าจ้างที่ปรึกษา 18 เดือน จำนวนเงิน 3 ล้านบาท ส่อให้เห็นถึงเจตนาไม่สุจริตของ นพ.สุวัชที่จะหลีกเลี่ยงอำนาจในการอนุมัติหรือไม่ เนื่องจากในการจ้างที่ปรึกษาโดยวิธีตกลงราคา ไม่เกิน 1 ล้านบาท อยู่ในอำนาจอนุมัติของผู้อำนวยการหากเกินกว่านั้นเป็นอำนาจการตัดสินใจของคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม”

นอกจากนี้ ข้อกำหนดการเช่าพื้นที่สำหรับโครงการที่แนบสัญญา (TOR) มีเพียง 1 หน้า ซึ่งกำหนดรายละเอียดน้อยมาก เอื้อประโยชน์ให้ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ เช่น กำหนดให้ผู้เสนอราคาเสนอราคาที่เป็นราคาสุทธิ ซึ่งรวมค่าบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และในข้อกำหนดไม่มีระบุถึงการบริการที่ อภ.ประสงค์จะได้จากการเช่าสถานที่ คืออะไรบ้าง อีกทั้ง ข้อบังคับของ อภ.ในการเช่าอสังหาริมทรัพย์ในส่วนภูมิภาค กำหนดให้ขอความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของสถานที่ และอัตราค่าเช่าจากจังหวัดนั้นๆ เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย  แต่การนี้ อภ.ไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งอาจแสดงถึงความเร่งรีบและไม่สุจริต

ทั้งนี้ สัญญาเช่าพื้นที่สำหรับโครงการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง นพ.สุวัช ผอ.อภ.ได้ลงนามร่วมกับ นพ.ดำรัส ที่ปรึกษาในฐานะผู้ให้เช่าพื้นที่ไปเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2557 เช่นเดียวกับสัญญาจ้าง นพ.ดำรัส เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.เสนอเปิดช่องร่างกฎหมายแพ่งฟ้องคดีกลุ่ม ให้ตั้งองค์กรเอกชนฟ้องแทนได้

$
0
0

คปก. เปิดช่องกฎหมายแพ่งกรณีฟ้องคดีกลุ่ม ให้สามารถตั้งองค์กรเอกชนเป็นผู้ฟ้องแทนและฟังเสียงประชาชนก่อนออกข้อกำหนดการบังคับคดี

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ประธานฯ ได้ทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่...) พ.ศ.... (การดำเนินคดีแบบกลุ่ม) เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่มีผู้เสียหายจำนวนมากเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย จึงเสนอให้ผู้ได้รับความเสียหายสามารถแต่งตั้งองค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรเป็นผู้ฟ้องคดีแทนและเสนอให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อนที่จะออกข้อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่มีผลต่อกลุ่มบุคคล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการดำเนินคดีแบบกลุ่มในการฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ พ.ศ.. โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวให้เป็นกฎหมายกลางในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม  ซึ่งจะรวมถึงคดีละเมิด คดีผิดสัญญา คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงานหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และการแข่งขันทางการค้า เป็นต้น และรัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่...) พ.ศ..(การดำเนินคดีแบบกลุ่ม)ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณาแล้ว

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ศึกษาวิเคราะห์ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ทนายความ ผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐและผู้แทนเอกชน เพื่อประมวลวิเคราะห์ จัดทำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะโดย คปก.ตระหนักดีว่า การบริหารจัดการคดีที่มีผู้ได้รับความเสียหายจำนวนมาก กระบวนการและขั้นตอนจะแตกต่างจากการดำเนินคดีแพ่งสามัญทั่วไป ดังนั้น เพื่อคุ้มครองประโยชน์ประชาชนผู้เสียหาย จึงเสนอให้ผู้ได้รับความเสียหายสามารถแต่งตั้งองค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร เข้าช่วยเหลือโดยเป็นผู้ฟ้องคดี สำหรับที่ร่างกฎหมายจะกำหนดให้ ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจในการออกข้อกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาหรือการบังคับคดี ที่มีผลต่อกลุ่มบุคคลนั้น  

คปก. เสนอให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะออกข้อกำหนดดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายนั้น

คปก. เสนอให้มีการกำหนดให้ศาลมีอำนาจสงวนไว้ในคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดค่าเสียหายไว้โดยไม่กำหนดระยะเวลาสำหรับคดีที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังไม่ชัดเจนหรือความเสียหายในอนาคต เพื่อช่วยลดการฟ้องคดีที่ซ้ำซ้อนที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างเดียวกัน

นอกจากนั้นยังเสนอให้คุ้มครองสิทธิแก่ผู้เสียหายในการรับทราบข้อมูลของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม  รวมทั้งให้ขยายระยะเวลาในการประกาศคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มทางหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายจากเดิมที่ร่างฯ กำหนดไว้เป็นเวลา 3 วัน ให้แก้ไขเป็นไม่น้อยกว่า 15 วัน

ทั้งนี้ คปก. มีความเห็นว่าการดำเนินคดีแบบกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียหายจำนวนมาก ย่อมทำให้มีเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อการพิจารณาเป็นจำนวนมาก จึงเสนอให้มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานคดีเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของพยานหลักฐานและทำความเห็นเบื้องต้นให้ศาลได้พิจารณาถึงความเหมาะสมที่จะให้อนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อไป ซึ่งจะช่วยลดภาระของศาลได้เป็นอย่างมาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.เดินหน้าหนุนผ่าต้อกระจกชนิดบอด เน้นสามจังหวัดชายแดนใต้

$
0
0

29 ต.ค.2557 นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดำเนินโครงการป้องกันตาบอดจากต้อกระจกของ สปสช. เกิดจากข้อจำกัดของการให้บริการผ่าตัดตาต้อกระจก ซึ่งต้องทำโดยจักษุแพทย์ที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ทำให้การผ่าตัดต้อกระจกก่อนปี 2550 ทำได้เพียงปีละไม่เกิน 50,000 ตา หรือประมาณ1,000 ตาต่อล้านประชากร ต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดให้ควรอยู่ที่ 3,500 ตาต่อล้านประชากร หรือต่ำกว่าสวัสดิการข้าราชการที่ผ่าตัดต้อกระจกให้ข้าราชการและครอบครัวเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000 ตาต่อล้านประชากร ขณะที่แต่ละปีจากข้อมูลการสำรวจภาวะตาบอด สายตาเลือนรางและโรคตาที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของไทย ครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2549-2550 ซึ่งสำรวจประชากรทุกกลุ่มอายุทั่วประเทศ พบผู้ป่วยต้อกระจกอยู่ที่ร้อยละ 9.2 ของประชากรทั่วประเทศ 60 ล้านคน โดยมีจำนวนต้อกระจกสะสม 5.4 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในส่วนที่ สปสช.ต้องดูแลรับผิดชอบประมาณ 4.3 ล้านคน และน่าจะมีหลายแสนคนที่เป็นชนิดสายตาเลือนรางรุนแรงปานกลางกระทบต่อการดำรงชีวิตจนถึงชนิดบอดที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดต้อกระจกตามคำแนะนำผ่าตัดต้อกระจกของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย แต่ผู้ป่วยเหล่านี้เข้าไม่ถึงการบริการรักษา

ทั้งนี้ถ้าจะแก้ไขปัญหาผ่าตัดต้อกระจกสะสมตามสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงรายใหม่ที่เกิดขึ้นแต่ละปี สปสช.ควรผ่าตัดต้อกระจกได้ปีละไม่น้อยกว่ากว่า 150,000 ตาหรือ 3,500 ตาต่อล้านประชากรตามมาตรฐานสากล ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติให้ สปสช.จัดทำโครงการป้องกันตาบอดจากต้อกระจกขึ้นในปี2550 เพื่อเพิ่มการบริการผ่าตัดต้อกระจกชนิดสายตาเลือนลางรุนแรงปานกลางและชนิดตาบอดจากเดิมบริการได้ปีละ 50,000 ตาเป็นไม่น้อยกว่าปีละ 120,000 ตา ด้วยการช่วงแรกเพิ่มบริการเชิงรุกในพื้นที่ขาดแคลนหรือมีการบริการต่ำโดยสนับสนุนให้หน่วยบริการของรัฐ เอกชน และมูลนิธิการกุศลต่างๆ เช่น พอ.สว.จัดบริการเชิงรุกควบคู่กับการบริการตั้งรับแบบปกติ ภายใต้การควบคุมตรวจสอบ ปรับเพิ่มคุณภาพมาตรฐานมากกว่าการผ่าตัดในระบบปกติ และในปีงบประมาณ2558 นี้ จะเน้นทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายทหาร ในการณรงค์ค้นหา และผ่าตัดต้อกระจกชนิดบอดให้กับผู้สูงอายุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เเป็นของขวัญปีใหม่ตามนโยบายของ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข

นพ.ปานเทพ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ สปสช. กล่าวว่า สรุปภาพรวมการผ่าตัดต้อกระจก ปี 2550-2557 แนวโน้มจำนวนผ่าตัดต้อกระจกชนิดสายตาเลือนรางรุนแรงปานกลางและชนิดบอดเพิ่มขึ้นและคงที่อยู่ที่ประมาณปีละ 140,000 ตา ขณะที่จำนวนผ่าตัดเชิงรุกลดลงเหลือเฉพาะที่ให้บริการอยู่ใน รพ.ในพื้นที่ที่มีการผ่าตัดน้อยและมีคิวนัดผ่าตัดยาว โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคใต้ และมีแนวโน้มการให้บริการผ่าตัดชนิดบอดเพิ่มมากขึ้น จากเดิมร้อยละ 15 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 ของการผ่าตัดต้อกระจกแต่ละปี โดยในช่วง 7 ปี มีผู้ป่วยต้อกระจกได้รับการผ่าตัดแล้ว 988,308 ราย หรือร้อยละ 45.9 ของกลุ่มผู้ป่วยที่ควรได้รับการผ่าตัดตามเกณฑ์ ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะตาบอด 128,480ราย สะท้อนให้เห็นถึงการบริการที่เข้าถึงผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“การรักษาผู้ป่วยต้อกระจกที่ สปสช.ดำเนินการ แม้ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น แต่จากข้อมูลการบริการที่ผ่านมา สปสช.มีอัตราผ่าตัดต้อกระจกเฉลี่ยเพียง 2,800-3,000 ตาต่อล้านประชากรต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ 3,500 ตาต่อล้านประชากรต่อปี (เมื่อเทียบกลับจาก Cataract Triangle ที่เป็นมาตรฐานการกำหนดเป้าหมายของแต่ละประเทศ ตรงกับค่า VA เท่ากับหรือน้อยกว่า 20/100 ในเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนดตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย) ซึ่งปัจจุบันยังคงมีผู้ป่วยต้อกระจกที่ยังต้องรับการรักษาอยู่ ถือเป็นความจำเป็นในการจัดบริการ ในด้านงบประมาณที่ สปสช.ใช้ต่อรายก็ยังต่ำกว่าของสวัสดิการข้าราชการและของเอกชนมาก” นพ.ปานเทพ กล่าว

ด้าน นางสำเภา นภีรงค์ ประธานเครือข่ายผู้สูงอายุหนองจอก กทม. กล่าวว่า โครงการป้องกันตาบอดจากต้อกระจกของ สปสช. นับเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุในมีฐานะยากจน เข้าไม่ถึงการรักษา โดยช่วยให้ผู้ที่มีสายตาเลือนลางและอยู่ในภาวะตาบอดกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ภายหลังจากที่ สปสช.ดำเนินโครงการนี้ ในฐานะประธานเครือข่ายผู้สูงอายุหนอกจอกจึงได้รวบรวมผู้สูงอายุที่มีภาวะตาต้อกระจกในพื้นที่หนองจอกและใกล้เคียงเข้ารับการผ่าตัดจำนวนกว่าพันดวงตาแล้ว จึงนับเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์มาก

สปสช.จับมือ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารหนุนข้อมูลบริการบัตรทองสู่การวิจัยป้องกัน

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ“การศึกษาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารในประเทศไทย” ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย โดยมี นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. นพ.พิศาล ไม้เรียง นายกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย และ นพ.กำธร  เผ่าสวัสดิ์  ประธานฝ่ายวิจัย สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารฯ เป็นผู้ร่วมลงนามในครั้งนี้

นพ.วินัย กล่าวว่า สปสช. มีความยินดีอย่างยิ่งในโอกาสที่ได้มีการลงนามความร่วมมือการศึกษาเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปสู่การศึกษาสภาพปัญหาด้านสุขภาพและการดูแลรักษาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารในประเทศไทย โดยการใช้ข้อมูลการเจ็บป่วยและการให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพ

ทั้งนี้จากการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพที่ผ่านมา มีข้อมูลการให้บริการผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาระบบการจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูล ทำให้ข้อมูลที่ได้มีความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ โดยในกลุ่มโรคระบบทางเดินอาหารมีจำนวนครั้งของการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 16,126,164 ครั้ง เป็น17,479,419 ครั้ง ในปี 2556 เป็นผู้ป่วยในจำนวน 436,384 ครั้ง ในปี 2555 เพิ่มเป็น จำนวน 470,795 ครั้ง ในปี 2556  ซึ่งพบได้ทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ หลายโรคเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้  ตลอดจนโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากจำนวน 36,174 รายในปี 2554 เป็น 40,831 รายในปี 2556 

“สปสช.ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการศึกษาวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาโดยใช้ข้อมูลจากสถานการณ์การเจ็บป่วยของคนไทย จะทำให้การแปลผลได้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบท วัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของคนไทย และมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณสุข ในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันโรค ส่งผลให้ลดอัตราการเกิดโรค อัตราตาย และเพิ่มคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพ อีกทั้งการลงนามครั้งนี้ยังถือเป็นภาคีความร่วมมือที่สำคัญในการสร้างเสริมระบบหลักประกันสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.พิศาล กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารฯ ได้ให้ทุนเพื่อทำการวิจัยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารที่เป็นปัญหาของประเทศไทย และในการทำวิจัยครั้งนั้นได้พบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่นำไปสู่การป้องกันโรคและอัตราการป่วยได้ ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมฯ จึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการวิจัยใด้ด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่การวิจัยเหล่านั้นเพื่อให้เกิดความแม่นยำยิ่งขึ้นจำเป็นต้องใช้ข้อมูลการเข้ารับการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการต่างๆ ทั่วประเทศที่ถูกต้อง ซึ่งทาง สปสช.เป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านการรักษาพยาบาลในระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีการรวบรวมข้อมูลบันทึกการเบิกจ่ายค่ารักษา ซึ่งเป็นฐานข้อมูลด้านสุขภาพขนาดใหญ่ จึงน่าที่จะนำมาใช้ในการสนับสนุนในการวิจัยให้ดีขึ้นได้  

 “สปสช.มีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ที่เป็นข้อมูลบ่งชี้ถึงภาวะการป่วยของคนในประเทศได้ดี แต่ขาดบุคลากรในการสังเคราะห์ แต่สมาคมฯ มีนักวิชาการที่จะนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาสุขภาพของคนในประเทศ แต่ต้องการข้อมูลจาก สปสช. ดังนั้นจึงนำมาสู่การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ที่ไม่เพียงแค่ลดอัตราการป่วยของคนในประเทศ แต่รวมถึงการลดภาระด้านการรักษาพยาบาลลง ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ” นายกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหรัฐฯ เปลี่ยนมาตรการ 'อีโบลา' เลิกกักกันผู้เดินทางกลับประเทศ ใช้เฝ้าระวังแทน

$
0
0

หลังยูเอ็นวิจารณ์กรณีรัฐนิวเจอร์ซีย์สั่งกักกันตัวพยาบาลที่กลับจากการไปช่วยเหลือผู้ติดเชื้ออีโบลาในแอฟริกาตะวันตกว่าเป็นการปฏิบัติไม่ดีต่อ 'ผู้เสียสละเพื่อมนุษยชาติ' รบ.กลางจึงประกาศมาตรการใหม่ให้ใช้วิธีเฝ้าระวังดูอาการแทน

28 ต.ค. 2557 ทางการสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงมาตรการด้านสาธารณสุขใหม่โดยยกเลิกการกักกันหน่วยแพทย์และพยาบาลชาวสหรัฐฯ ที่กลับจากการรักษาผู้ป่วยอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกแต่ใช้วิธีคอยเฝ้าระวังติดตามผลเพื่อดูอาการแทน

ก่อนหน้านี้มีกรณีพยาบาลชื่อกาซิ ฮิกค็อกซ์ ถูกกักกันตัวอยู่ในเต็นท์ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์หลังกลับจากการไปช่วยรักษาผู้ป่วยอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก ทำให้บันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวประณามการกักกันตัวบุคคลในครั้งนี้ และล่าสุดรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจปรับมาตรการดังกล่าว
บัดนี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 4.922 ราย ซึ่งคนที่ยังไม่แสดงอาการของโรคอีโบลาจะไม่ถือว่าเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อให้คนอื่น

โฆษกของบันคีมูนกล่าวว่า คนทำงานด้านสาธารณสุขที่กลับจากการช่วยเหลือด้านโรคอีโบลาเป็นบุคคลดีเด่นที่เสียสละตัวเองเพื่อมนุษยชาติ พวกเขาไม่ควรถูกจำกัดบริเวณโดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

ก่อนหน้านี้ในสหรัฐฯ การกักกันตัวผู้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อมาจากการตัดสินใจของรัฐแต่ละรัฐเอง โดยหลังจากที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของทางการกลางหรือซีดีซีได้ออกมาตรการใหม่โดยยกเลิกการกักกันตัว ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์ก็ออกมาคัดค้านการปรับเปลี่ยนมาตรการทันที ซึ่งรัฐนิวเจอร์ซีย์เป็น 1 ใน 3 รัฐของสหรัฐฯ ที่เคยมีมาตรการกักกันตัวคนทำงานด้านสาธารณสุขที่เคยสัมผัสกับคนไข้ติดเชื้ออีโบลาเป็นเวลา 21 วัน

คริส คริสตี ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์กล่าวปกป้องการตัดสินใจกักกันตัวพยาบาลฮิกคอกซ์หลังจากที่ฮิกคอกซ์เดินทางกลับจากประเทศเซียร์ราลีโอนและยืนยันว่าจะมีการกักกันตัวเธอต่อไป

บีบีซีรายงานว่าในตอนนี้ฮิกคอกซ์เดินทางออกจากโรงพยาบาลในนิวเจอร์ซีย์และได้กลับบ้านของเธอในรัฐเมนแล้ว โดยฮิกคอกซ์ไม่ได้แสดงอาการใดๆ ของผู้ติดเชื้อ ฮิกคอกซ์กล่าวว่าเธอรู้สึกเหมือนเป็นอาชญากรในตอนที่เธอกลับถึงสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (24 ต.ค.)

มาตรการใหม่ของซีดีซีมีการจำแนกนักเดินทางและคนทำงานด้านสาธารณสุขที่กลับจากแอฟริกาตะวันตกออกเป็น 4 กลุ่ม โดยกำหนดให้คนทำงานด้านสาธารณสุขที่กลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดหนักไว้ใน "กลุ่มที่มีความเสี่ยงบางส่วน" ในการติดเชื้อ

ทอม ฟรีเดนผู้อำนวยการซีดีซี กล่าวว่าคนทำงานด้านสาธารณสุขที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความเสี่ยงบางส่วนจะต้องได้รับการเฝ้าระวังติดตามผลเพื่อดูอาการเป็นเวลา 21 วัน ซึ่งผู้ที่ถูกจัดว่ามีความเสี่ยงสูงคือผู้ที่เคยสัมผัสของเหลวจากร่างกายของผู้ติดเชื้ออีโบลาโดยตรง ฟรีเดนกล่าวอีกว่าแม้พวกเขาจะไม่แสดงอาการแต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางร่วมกับคนทั่วไปหรืออยู่ในงานที่มีผู้คนจำนวนมาก

แดเนียล ดับเบิลยู เดรซเนอร์ จากสำนักข่าววอชิงตันโพสต์กล่าวว่าการตัดสินใจกักกันตัวในบางรัฐของสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องในเชิงนโยบายแต่เป็นการตัดสินใจทางการเมืองเพื่อแสดงให้ผู้คนเห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขาได้ทำอะไรบางอย่างแม้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำจะไม่ได้สร้างความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้ดูเป็น "ฉากละครในเรื่องความปลอดภัย" มากกว่า

อนึ่ง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บริษัทไอบีเอ็มแถลงข่าวเรื่องโปรแกรมแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการทำแผนที่ช่วยเหลือจัดการโรคอีโบลาซึ่งพวกเขาพัฒนาขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือจากบริษัทโทรศัพท์มือถือและนักวิชาการ โปรแกรมดังกล่าวสามารถระบุถึงปัญหาและโอกาสการแพร่กระจายเพื่อให้คนทำงานสามารถจัดหาทรัพยากรต่างๆ ในการรับมือกับเชื้อไวรัสได้ทันท่วงที

อูยี สจ๊วต หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ในฝ่ายงานวิจัยแอฟริกาของไอบีเอ็มกล่าวว่าพวกเขาเล็งเห็นความต้องการโดยด่วนในการพัฒนาระบบสำรวจชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอีโบลาเพื่อให้ข้อมูลเรื่องวิธีจัดการกับปัญหาโดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ

 

เรียบเรียงจาก

Ebola outbreak: US advises against quarantine, BBC, 28-10-2014
http://www.bbc.com/news/world-us-canada-29792776

This new mobile app helps track the Ebola epidemic, Globalpost, 27-10-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/africa/141027/new-mobile-app-helps-track-the-ebola-epidemic

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

SEAPA อบรมความปลอดภัยนักข่าว ก่อนลงพื้นที่ฟิลิปปินส์เจาะประเด็นคุกคามสื่อ

$
0
0

นักข่าวจากเมียนมาร์ อินโดนีเซียและมาเลเซีย อบรมเรื่องความปลอดภัยก่อนทำข่าวในประเทศฟิลิปปินส์ในโอกาสครบรอบ 5 ปีเหตุการณ์อัมปาตวน สังหารหมู่นักข่าว 32 ราย โดยปีนี้ฟิลิปปินส์ถูกจัดอันดับอันตรายที่สุดในอาเซียนสำหรับนักข่าว

 

29 ต.ค. 2557 Southeast Asean Press Alliance (SEAPA)  จัดอบรมทักษะการทำงานในพื้นที่เสี่ยงให้กับผู้สื่อข่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับทุนในการอบรมและผลิตข่าวในประเด็นเสรีภาพ-การคุกคามสื่อ และวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด (impunity) โดยมีสื่อมวลชนจากสหภาพเมียนมาร์ได้รับทุน 3 คน อินโดนีเซีย 2 คน และมาเลเซีย 1 คน

การอบรมจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 วัน จากนั้นผู้สื่อข่าวที่ได้รับทุนทั้งหมดจะลงพื้นที่ทำงานในฟิบิปปินส์เพื่อรายงานข่าวในประเด็นการคุกคามสื่อและการไม่รับผิด ในวาระครบรอบ 5 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่นักข่าว 32 คน ในเหตุการณ์อัมปาตวน ฟิลิปปินส์

เมื่อ 5 ปีที่แล้วในฟิลิปปินส์เกิดเหตุสังหารหมู่ประชาชน 58 คนในเมืองอัมปาตวน จังหวัดมากินดาเนา โดยมี 32 คนในจำนวนนั้นเป็นนักข่าว ซึ่งถือเป็นการใช้กำลังโจมตีสื่อครั้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ นักข่าวในเหตุการณ์นั้นกำลังติดตามข่าวเรื่องนักการเมืองท้องถิ่นที่กำลังแข่งขันกับผู้ว่าราชการคนปัจจุบันในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น มีการกล่าวหาว่าผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่คือผู้ว่าราชการคนปัจจุบันและครอบครัว แต่ยังไม่มีใครเลยที่ถูกตัดสินดำเนินคดี

คำว่า Impunity แปลว่า การงดรับผิด การงดการรับโทษ ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ วันที่ 23 พ.ย. ของทุกปี มีการรณรงค์ International Day to End Impunity หรือ วันยุติการงดรับโทษสากล ซึ่งเป็นวันที่รำลึกการเสียชีวิตของนักข่าวจำนวน 32 ราย และผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 23 ราย จากเหตุการณ์สังหารหมู่อัมปาตวน ซึ่งจัดเป็นการสังหารหมู่สำหรับนักข่าวที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์

นอกจากนี้จากดัชนีขององค์กรคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวยังจัดให้ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 3 ของประเทศที่มีนักข่าวถูกสังหารแล้วผู้กระทำผิดยังลอยนวล รองจากอิรักและโซมาเลีย โดยนับตั้งแต่ปี 2529 มีเหตุฆาตกรรมนักข่าวไปแล้ว 145 คนในฟิลิปปินส์ และมีเพียง 14 กรณีเท่านั้นที่มีการตัดสินลงโทษผู้กระทำผิด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จำคุก 1 – 7 ปี ชาวปกาเกอะญอ 24 คน -ปรับอีก 15 คน ฐานครองครอบไม้หวงห้าม

$
0
0

ศาลจังหวัดแม่สะเรียง ตัดสินจำคุก 1-7 ปี ชาวปกาเกอะญอ 24 คน สั่งปรับ 10,000 – 20,000 บาท 15 คน หลังเจ้าหน้าที่พบว่าชาวบ้านมีไม้สักในครอบครอง  ด้านชาวบ้านแย้งเป็นไม้ที่สะสมมานาน และไม่ได้เก็บไว้ค้าขายเชิงพาณิชย์

(รูปภาพจาก เพจเฟซบุ๊กจับตาผลกระทบจากแผนแม่บทป่าไม้ฯ)

29 ต.ค. 57  ที่ศาลจังหวัดแม่สะเรียง เวลาประมาณ 09.00น. ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาคดี กรณีชาวบ้านกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ หมู่บ้านทุ่งป่าคา ต.แม่ลาหลวง  อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 39 คน มีไม้สักหวงห้ามไว้ในครอบครอง โดยมีคำตัดสินว่า ให้ชาวบ้าน 24 คน ต้องโทษจำคุก 1-7 ปี ไม่รอลงอาญา และอีก 15 คน ให้จ่ายค่าปรับคนละ 10,000 – 20,000 บาท ตามจำนวนไม้ที่ครอบครอง โดย 2 คนในจำนวน 15 คนเสียชีวิตศาลจะมีคำตัดสิน

เว็บพลิกฟื้นผืนดินไทย ระบุว่า คดีดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากนโยบายปราบปรามไม้สาละวิน โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ค.57 เจ้าหน้าที่ทหารสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าพร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เข้าตรวจสอบไม้สัก ในหมู่บ้านทุ่งป่าคา และพบไม้สักอยู่ในการครอบครองของชาวบ้าน จึงได้ดำเนินคดีกับชาวบ้านที่เป็นเจ้าของไม้ อย่างไรก็ตามชาวบ้านในพื้นที่ได้ให้เหตุผลว่าไม้ที่พบนั้นเป็นไม้ที่เตรียมสำหรับต่อเติมบ้านเท่านั้น ไม่ได้ครอบครองไว้เพื่อการค้าขายให้นายทุนแต่อย่างใด โดยชาวบ้านในพื้นระบุว่าในจำนวนชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี 39 ราย มีเพียง 2 รายที่อาจมีส่วนเกี่ยวพันกับขบวนการค้าไม้ในพื้นที่จริง

พิธีฝังศพแซะวา ต้นตระกูลเงิน ตามธรรมเนียมชาวปกาเกอะญอ (รูปภาพจาก เว็บพลิกฟื้นผืนดินไทย )

เว็บพลิกฟื้นผืนดินไทย ระบุด้วยว่า ในระหว่างช่วงรอการพิจารณาคดีนั้น เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 57 นายแซะวา ต้นตระกูลเงิน อายุ 47 ปี หนึ่งในชาวบ้านที่ถูกจับกุมเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาและไม่มีเงินประกันตัวในช่วงแรก ระหว่างถูกคุมขังเขามีโรคประจำตัวและมีสภาวะความเครียดสูงทำให้สภาพร่างกายอ่อนแอลงจนทำให้อาการทรุดหนักตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ แม้ในช่วงต่อมาได้รับการประกันตัวออกมาจากหลักทรัพย์ที่ครอบครัวไปกู้ยืมมาได้แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจและร่างกายได้ ต่อมาไม่นานเขาได้เสียชีวิตลงในขณะที่ลูกชายของเขายังคงถูกคุมขังอยู่ในคดีเดียวกันนี้

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา นางซอนแต อายุ 70 ปี หนึ่งในชาวบ้านที่ตกเป็นผู้ต้องหาก็ได้เสียชีวิตลงก่อนที่จะมีคำพิพากษาของศาล โดยที่ก่อนหน้านี้เธอเป็นผู้พิการไม่สามารถเดินได้

นางซอนแต (รูปภาพจาก เพจเฟซบุ๊กพลิกฟื้นแผ่นดินไทย)

ทั้งนี้ ชาวบ้านทั้ง 39 ราย ส่วนใหญ่เป็นราษฎรผู้ยากไร้และมีรายได้น้อย และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ ที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมความเชื่อที่ผูกพันและพึ่งพิงกับป่า คนปกาเกอะญอส่วนหนึ่งมักสะสมไม้เพื่อใช้ซ่อมแซมบ้านเรือน ซึ่งเป็นไม้ที่มาจากการยืนต้นตาย ไม้ล้มหมอนนอนไพร จากในป่า และบางครอบครัวสะสมไม้มาหลายสิบปี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติ สปช. ได้ 20 กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

$
0
0

สภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติได้ 20 รายชื่อ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้ว มานิจ, ถวิลวดี, คำนูณ, เอนก, ทิชา, จรัส, ไพบูลย์, มีชัย เป็นต้น 30 ต.ค.นี้ เลือกจาก สนช. อีก 5 คน

29 ต.ค.2557 ณ ห้องประชุมรัฐสภา ชั้น 2 อาคารรัฐสภา1 มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน20คน โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานการประชุม จากนั้นประธานการประชุมได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่ามีผู้สมัครเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งสิ้น 31 คน จากทั้งหมด 32 คนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ส่งหนังสือขอถอนตัวจากการสมัคร ซึ่งที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้แนะนำตัวต่อที่ประชุมคนละ 2 นาที เมื่อผู้สมัครได้แนะนำตนเองแล้ว สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ทยอยลงคะแนนลงคะแนนเลือกตั้งตามลำดับจนครบ ผลการนับคะแนนผู้ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน 20 คนมีดังนี้

1.นายมานิจ สุขสมจิตร ด้านสื่อสารมวลชน

2.นายประชา เตรัตน์ สปช.ภาคกลางและภาคตะวันออก

3. นางถวิลวดี บุรีกุล ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

4. นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ด้านสังคม

5. นายเชิดชัย วงศ์เสรี สปช.ภาคใต้

6. พลโท นคร สุขประเสริฐ สปช.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

7. พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ด้านพลังงาน

8. นายจุมพล สุขมั่น สปช.ภาคเหนือ

9. นายวุฒิสาร ตันไชย ด้านการปกครองท้องถิ่น

10. นายคำนูณ สิทธิสมาน ด้านกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม

11. นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ด้านการเมือง

12. นางทิชา ณ นคร ด้านการศีกษา

13. นางนรีวรรณ จินตกานนท์ ด้านเศรษฐกิจ

14. นายจรัส สุวรรณมาลา ด้านการปกครองท้องถิ่น

15. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ด้านการเมือง

16. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

17. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

18. นายชูชัย ศุภวงศ์ ด้านการเมือง

19. พลโทนาวิน ดำริกาญจน์ ด้าน อื่นๆ

20. นายมีชัย วีระไวทยะ ด้านการศึกษา

ในส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เปิดเผยว่า 30 ต.ค.นี้ จะคัดเลือก สนช. 5 คน เข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

 

สำหรับที่มาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นั้น ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 32 บัญญัติไว้ว่า

ให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 36 คน ซึ่งประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้

(1) ประธานกรรมาธิการตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอ

(2) ผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ จำนวน 20 คน

(3) ผู้ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอฝ่ายละ 5 คน

การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นครั้งแรก

ในกรณีที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ถือว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่าที่เหลืออยู่ แต่ให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งให้นำความในมาตรา ๑๘ มาใช้บังคับแก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย, มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานค้านนำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมเข้า สนช.พรุ่งนี้ ขอเพิ่มเติมเนื้อหา-ประชาพิจารณ์

$
0
0

29 ต.ค.2557 เพจคืนความสุขด้วยประกันสังคมคนทำงานรายงานว่า เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีราชดำเนินเสวนา "ปฏิรูปประกันสังคม ปฏิรูปประเทศไทย"

สุนี ไชยรส คปก.กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวถึงการให้ความสำคัญต่อร่างพ.ร.บ.ที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเข้าชื่อ โดยหลักการประกันสังคมต้องการขยายให้เกิดความครอบคลุม แล้วขยายสิทธิถึงเพิ่มสิทธิผู้ประกันตน ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมมีผลกระทบต่อผู้ประกันตนจำนวนมาก แม้ว่าสนช.จะมาจากนอกระบบจะทำการปฏิรูปทั้งทีให้เวลารับฟังความคิดเห็น สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เมื่อเห็นปัญหาควรหยุดไว้ก่อนแล้วนำมาทำกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมเสียเวลา 1-2 เดือน เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนนำข้อเสนอหลักการเข้าบรรจุในร่างด้วย

พิสิษฐ ลี้อาธรรม สปช. กล่าวว่าหลักการที่มีการนำเสนอนั้นมีความก้าวหน้า ด้วยหลักการเป็นองค์กรอิสระนั้นมีมาตั้งแต่เริ่มการร่างประกันสังคมในอดีตแล้ว แต่วันนี้ก็ยังไม่ได้เป็นองค์กรอิสระในการบริหารจัดการ และยังมีปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนโดยตรง แม้ว่าหากสนช.มีการนำร่างพ.ร.บ,ประกันสังคมเข้าสู่การพิจารณาโดยไม่ใส่ใจเสียงท้วงติงจากผู้ประกันตนที่ต้องการมีส่วนร่วม เมื่อร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมเข้าสู่การพิจารณาของสปช.ก็จะต้องมีการนำมาดูอีกครั้งเพื่อรับฟังข้อเสนอดีๆจากผู้ประกันตน

นันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ตัวแทนกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมมีหลายข้อที่ถือว่ามีความก้าวหน้าพรุ่งนี้ (30 ต.ค.)จะมีการนำเสนอเข้าประชุม สนช.ทำการพิจารณา เพื่อเป็นกฏหมายประกันสังคมฉบับใหม่มาบังคับใช้ต่อผู้ประกันตน ในฐานะคนทำงานเห็นว่าเป็นร่างกฏหมายที่ดีมีความครอบคลุม และให้สิทธิเพิ่มขึ้น เรื่องการแข่งขันกันในการให้บริการกองทุนต่างๆ เช่น หลักประกันสุขภาพ ข้าราชการ ประกันสังคมนั้นถือว่าดี เพราะจะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี จึงเห็นว่าอย่าให้มีการชะลอร่างฉบับนี้เลยเพราะตอนนี้ส่วนของข้าราชการสำนักงานประกันสังคมพร้อมแล้วที่จะทำงานบนความเปลี่ยนแปลงนี้

มนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้หากต้องปฏิรูปจริงจะต้องทำให้ครอบคลุมคนทำงานทุกคน ที่มาของตัวแทนต้องมาจากการเลือกตั้งโดยผู้ประกันตน ร่างของรัฐบาลไม่มีเรื่องอค์กรอิสระที่ขบวนการแรงงานพยายามเสนอมาตลอด แรงงานจะเคลื่อนไหวให้รัฐบาลนำร่างนี้ออกมาก่อนเพื่อพูดคุยกันใหม่ มีการทำประชาพิจารณ์ เพราะร่างนี้ไม่เคยมีการประชาพิจารณ์มาก่อนอย่างที่อ้าง เมื่อแรงงานไม่ยินยอมให้ร่าง พ.ร.บ.รัฐบาลเข้าสนช.พรุ่งนี้ก็ต้องคิดกันว่าจะเคลื่อนไหวให้ถึงที่สุดอย่างไร เพราะหากผ่านวาระ1 ผู้ประกันตนก็จะได้ร่างกฏหมายประกันสังคมฉบับรัฐบาลฝ่ายเดียวที่ขาด 4 หลักการของแรงงานเข้าไป

วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังมอบความทุกข์ให้กับประชาชน ทุกข์ที่ 1 ผู้ประกันตน คือ การตัดสิทธิกรณีลาออกจากงาน เพราะการที่คนงานลาออกจากงานเพื่อรับสิทธิเพียงร้อยละ 30 เป็นเงินประมาณเดือนละ 2,000-3,000บาท เป็นเวลา 3 เดือน เป็นเงินที่น้อยมากต่อการดำรงชีพ แต่ที่เขาลาออกอาจเพราะความจำเป็นอย่างมาก ทุกข์ที่ 2 การบริการที่ใกล้บ้าน แต่การเข้าถึงซึ่งสุขภาพที่ดีด้านการดูแลสุขภาพ การรักษา และวินิจฉัยโรค ไม่สามารถทำให้เข้าถึงการตรวจสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ในฐานะผู้นำยังคงได้รับเสียงร้องเรียนอยู่ตลอดเวลา การรักษาพยาบาลควรมีมาตรฐานเดียว

การที่ขบวนการแรงงานร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้รัฐบาลรับ 4 หลักการเข้าพิจารณาบรรจุในร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความครอบคลุม ประโยชน์ทดแทน ยืดยุ่น อิสระ โปร่งใสตรวจสอบได้ การได้มาของระบบตัวแทนในคณะกรรมการบริหารประกันสังคม ตนเชื่อว่าไม่ได้มีคนเก่งเพียงกลุ่มเดียวเหมือนปัจจุบัน และยังเชื่อว่าผู้ประกันตนดูออกว่าใครคือคนที่เก่ง ดี ไม่โกงกินแล้วเลือกมาเป็นตัวแทน หากไม่เก่งจริงก็ไม่ต้องลงสมัคร

การใช้เงินของกองทุนปัจจุบันมัความไม่สอดคล้อง โปร่งใส ผู้ประกันตนไม่ได้รับประโยชน์จริง การที่นำเงินไปต่างประเทศดูงานนั้นประโยชน์ที่ได้คืออะไร อยากบอกว่าใช้เงินคนที่ทุกข์ยากที่ใช้ทั้งเลือดเนื้อทำงานจ่ายเงินสมทบประกันสังคมที่คาดหวังต่อการได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการที่ดี การใช้เงินประชาสัมพันธ์โฆษณาแล้วผู้ประกันตนได้อะไร ใช้เงินมากมายไปกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตน ฉะนั้นหากต้องการปฏิรูปต้องร่วมมือกันทำ ไม่ใช่ยังจะใช้วิธีการเดิมๆ ฝ่ายเดียวในฐานะที่เคยอดข้าวประท้วงให้ได้กฏหมายประกันสังคมพ.ศ. 2533 มา ไม่อยากเห็นว่าแรงงานต้องใช้รูปแบบเดิมเพื่อบอกควมต้องการให้หยุดนำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมเข้าสนช.ก่อนให้กลับมาคุยกันสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เพราะเงินผู้ประกันตนจำนวนมากเราต้องการบริหารเองอย่างมีส่วนร่วม

บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่าการปฏิรูประบบประกันสังคมนั้นเดิมอยู่ในรัฐบาลประชาธิปไตย และมีความพยายามหลายครั้งที่จะปฎิรูปภายใต้รัฐบาลรัฐประหารแต่ไม่เคยได้ ซึ่งตามประวัติศาสตร์การรัฐประหารไม่เคยสร้างกฏหมายที่ดีให้กับแรงงานเลย

ประเด็นต่อมา ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่จะเสนอเข้า สนช.พรุ่งนี้ได้ถูกร่างขึ้นช่วงปี 2548 และมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นช่วงปี 2549 ประมาณ 5 ครั้งและเมื่อปี 2550 และมีคุณมนัส โกศล เข้าเป็นสนช. การนำเสนอร่างกฏหมายนั้นก็มีการเสนอร่างประกบ โดยมีกำหนดให้สนช. 20 คนเสนอร่างกฏหมายได้ ไม่ใช่เหมือนปัจจุบันที่มีเพียงร่างเดียวไม่มีการเปิดช่องให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่คิดที่จะสร้างขบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ถึงไม่ฟังเสียงทักท้วงของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาเศรษฐกิจโลกเผย 105 ประเทศเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา

$
0
0

ในการจัดอันดับเรื่องช่องว่างระหว่างเพศในปี 2557 ของสภาเศรษฐโลกระบุประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 61 ในแง่ความเท่าเทียมโดยรวม แต่ในด้านการเมืองอยู่ในอันดับที่ 121 เนื่องจากการส่งเสริมผู้หญิงในทางการเมืองแย่ลงมาก


ผลสำรวจประเทศไทย
ที่มา:
http://reports.weforum.org/global-gender-gap-report-2014/
 

29 ต.ค. 2557 สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่องช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันทางเพศประจำปี 2557 ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมามีการเปลี่ยนแปลงด้านความเท่าเทียมกันไปในทางที่ดีขึ้นเป็นวงกว้าง โดยมีประเทศที่มีความเท่าเทียมกันทางเพศมากขึ้น 105 ประเทศ

WEF ทำการสำรวจ 142 ประเทศ จากตัวแปรด้านต่างๆ เช่น ด้านสุขภาวะ ด้านการศึกษา และการมีส่วนร่วมทางการเมือง มีเพียง 6 ประเทศเท่านั้นที่มีช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันทางเพศเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2548 ได้แก่ ประเทศศรีลังกา มาลี โครเอเชีย มาซิโดเนีย จอร์แดน และตูนิเซีย

ในการสำรวจ WEF อาศัยมาตรวัดจากคำถามดังต่อไปนี้คือ ผู้หญิงได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกับผู้ชายหรือไม่ในงานแบบเดียวกัน ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาหรือไม่ ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้มีอำนาจทางการเมืองหรือไม่ ในด้านสุขภาวะ ผู้หญิงมีความเป็นอยู่อย่างไรเมื่อเทียบกับผู้ชาย

ผลการสำรวจระบุว่าประเทศไอซ์แลนด์ยังคงครองอันดับหนึ่งในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศจากมาตรวัดโดยรวมติดต่อกันเป็นปีที่ 6 รองลงมาคือประเทศแถบสแกนดิเนเวียอย่างฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก อยู่ในอันดับ 2-5 ตามมาด้วยประเทศนิคารากัว รวันดา ไอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ และเบลเยียมในอันดับที่ 6-10 ตามลำดับ

ประเทศที่ได้อันดับต่ำที่สุดคือเยเมน เนื่องจากมีอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงสูงและมีเด็กผู้หญิงที่อายุระหว่าง 6-14 ปี ไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นจำนวนมาก ทางด้านประเทศรวันดาอยู่ในอันดับที่สูงเนื่องจากมีจำนวนผู้หญิงในที่ทำงาน รวมถึงในหน่วยงานของรัฐ มากพอๆ กับผู้ชาย

ทั้งนี้ รายงานของสภาเศรษฐกิจโลกยังแบ่งการจัดอันดับเป็นโดยภาพรวมและเรื่องการเมือง ในหลายประเทศอาจจะมีอันดับสองประเภทนี้แตกต่างกันมากเช่น อินเดีย ซึ่งมีความเท่าเทียมกันทางเพศด้านการเมืองอันดับที่ 15 แต่ความเท่าเทียมกันทางเพศโดยรวมอันดับที่ 114 เพราะแม้ว่าในอินเดียจะมีผู้นำหญิงอยู่ในวงการการเมืองจำนวนมาก แต่การมีส่วนร่วมในระดับสาธารณะของผู้หญิงยังถูกจำกัดซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการโดยสารรถสาธารณะซึ่งอาจจะไม่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง

ส่วนประเทศไทยถูกจัดอันดับความเท่าเทียมกันทางเพศโดยรวมอยู่ในอันดับที่ 61 ซึ่งอยู่ในอันดับต่ำกว่าลาวและสิงคโปร์ ส่วนในด้านการเมืองอยู่ในอันดับที่ 121 ในเว็บไซต์ของ WEF ระบุว่าประเทศไทยทำได้ดีขึ้นในแง่การอยู่รอดและสุขภาวะอีกทั้งยังถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลกในแง่ค่าแรงที่เท่าเทียมกันระหว่างสองเพศ แต่ประเทศไทยทำได้แย่ลงมากในเรื่องการส่งเสริมทางการเมืองสำหรับผู้หญิง

ทางด้านฟิลิปปินส์ซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับสูงสุดสำหรับกลุ่มประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก WEF ระบุว่าเป็นประเทศที่ผู้หญิงส่วนร่วมทางเศรษฐกิจสูงมากและมีค่าแรงที่เท่าเทียมกันเมื่อเทียบระหว่างเพศ นอกจากนี้ยังมีความเท่าเทียมกันด้านอื่นๆ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีโอกาสเป็นผู้นำในองค์กร โดยผู้หญิงในฟิลิปปินส์มีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของบริษัทต่างๆ มากถึงร้อยละ 69

 


เรียบเรียงจาก

Top 10 most gender equal countries in Asia and the Pacific, WEF, 28-10-2014
http://forumblog.org/2014/10/top-10-gender-equal-countries-asia-pacific/

'Sweeping change' narrows gender gap, BBC, 28-10-2014
http://www.bbc.com/news/world-29722848


รายงานฉบับเต็ม
http://reports.weforum.org/global-gender-gap-report-2014/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์เชื่อว่า พล.อ.ประวิตร จะไม่เข้าพบทักษิณที่ปักกิ่ง

$
0
0

นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยอมรับว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และรองหัวหน้า คสช. เยือนจีนจริง แต่เป็นไปตามคำเชิญจากจีน มีการเจรจาด้านเศรษฐกิจเพราะจีนเป็นตลาดข้าว-ยางพารา และ พล.อ.ประวิตร มีวิจารณญาณรู้ถึงความเหมาะสมว่าควรพบ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมผังเมืองกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2557 โดยมีกว่าน มู่ อดีตเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำกรุงเทพมหานคร ร่วมคณะด้วย ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ยืนยันว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และรองหัวหน้า คสช. ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเช่นกัน จะไม่เข้าพบคณะของทักษิณ (ที่มาของภาพ: เฟซบุ๊คยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

 

29 ต.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่า การเดินทางเยือนประเทศจีนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนี้ ไปในนามของรัฐบาลและตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีน ที่มีความคุ้นเคยและรู้จักกัน ซึ่งการเยือนครั้งนี้ มีตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ร่วมคณะไปด้วย เพื่อหารือด้านเศรษฐกิจร่วมกัน เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ ที่จะสามารถส่งออกข้าว และยางพาราได้

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า การเดินทางเยือนของ พล.อ.ประวิตร จะไม่ไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังคงอยู่ประเทศจีน เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร รู้ถึงความเหมาะสม มีวิจารณญาณ ว่าจะต้องพบเจอหรือไม่ โดยที่ตนเองไม่ต้องสั่งห้าม เพราะทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงไม่ต้องโทรศัพท์เพื่อเจรจาต่อสู้คดี แต่หากจะต่อสู้คดีก็ต้องเดินทางกลับมา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันคณะของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบุตรชาย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังคงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ในเฟซบุ๊คของยิ่งลักษณ์ มีการเผยแพร่ภาพที่คณะของยิ่งลักษณ์เยี่ยมชมผังเมืองของกรุงปักกิ่ง โดยมี กว่าน มู่ อดีตเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำกรุงเทพ ติดตามคณะด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มายาคติ ‘พระสงฆ์อยู่เหนือการเมือง’ ตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

$
0
0

 

เราควรตั้งคำถามอย่างจริงจังเสียทีว่า วาทกรรม “พระสงฆ์อยู่เหนือการเมือง” นั้น เป็นความจริงหรือเป็นเพียง “มายาคติ” หรือ “สภาวะหลอกตัวเอง” (เช่นเดียวกันกับการหลอกตัวเองในกรณีสำคัญมากอื่นๆ) ทั้งๆ ที่ชาวพุทธไทยมักยืนยันเสมอว่าพุทธศาสนาสอน “ความจริงอันประเสริฐ” หรือ “อริยสัจ” ที่ถือหลักการสำคัญว่า “ต้องรู้ความจริงของปัญหาและสาเหตุก่อน จึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ได้จริง”

ตัวอย่างทัศนะที่ว่า “พระสงฆ์อยู่เหนือการเมือง” ที่อ้างอิงความรู้ ข้อเท็จจริง หลักการมาสนับสนุนมากที่สุด น่าจะเป็นทัศนะของปราชญ์ทางพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน คือท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ซึ่งท่านยืนยันว่า “พระสงฆ์อยู่เหนือการเมือง” ทั้งในทางหลักการและข้อเท็จจริง ดังที่ท่านเขียนไว้ในหนังสือ “ขว้างก้อนอิฐมา พัฒนาเป็นแก้วมณี”[1]ว่า

นักบวชพระภิกษุในประเทศไทย ถึงอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถเป็นขุนนางแท้จริง ไม่อาจเข้าไปอยู่ในการเมืองได้จริง ไม่มีอำนาจบริหารการเมืองได้จริง ไม่เหมือนนักบวชของฝรั่ง ต่างกันไกลมาก เมื่อจัดประเภท ก็พูดได้ทำนองนี้ว่า โดยเทียบกับระบบนักบวชบาทหลวงฝรั่งเศสยุคศักดินานั้น นักบวชภิกษุในประเทศไทยอยู่ใน ระดับที่เหนือการเมืองชัดๆ (ถึงไม่เทียบ หลักก็บอกอยู่แล้ว) (น.16)

จากข้อความนี้ แสดงว่าท่านเจ้าคุณกำหนดขอบเขตของ “การเมือง” แค่ว่า “ต้องมีตำแหน่งเป็นขุนนางจริง มีอำนาจบริหารการเมืองจริง เหมือนนักบวชฝรั่ง”  โดยท่านยกตัวอย่างการ “อยู่ในการเมือง” ของนักบวชฝรั่งเปรียบเทียบกับนักบวชไทยไว้อย่างละเอียด ผู้เขียนขอคัดมาให้อ่านดังนี้

พูดถึงตะวันตก ดูตัวอย่างในฝรั่งเศส บาทหลวงยิ่งใหญ่เด่นในประวัติศาสตร์ คงไม่มีท่านใดเหนือคาร์ดินัลริเชลลู (Cardinal Richelieu) ซึ่งได้รับราชการเป็นอัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และเป็นผู้สร้างฝรั่งเศสให้เป็นประเทศยิ่งใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้เป็นเป็นผู้บัญชาการรบ ปราบชาวโปรเตสแตนต์ฮูเกนอตส์ลงได้และเป็นผู้ชี้นำในการทำสงคราม 30 ปีแห่งยุโรป (1618-1648)

ส่วนในเมืองไทย ที่ว่าวินัยของพุทธศาสนาเถรวาทช่วยรักษาไว้ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 1 กองทัพพม่ายกเข้ามา ได้เมืองนครศรีธรรมราชแล้ว จะไปตีเมืองพัทลุงและเมืองสงขลา คราวนั้นที่เมืองพัทลุง พระมหาช่วย ชักชวนชาวเมืองพัทลุงให้ต่อสู้ข้าศึกรักษาเมือง ยกเป็นกระบวนทัพจากเมืองพัทลุง มาตั้งค่ายสกัดอยู่ในทางที่พม่าจะยกลงไปนครศรีธรรมราช เมื่อเสร็จศึกพม่าแล้ว พระมหาช่วย แม้ว่าจะได้ช่วยประเทศชาติในยามร้าย แต่ท่านไม่ต้องการให้มีความมัวหมองทางพระวินัยที่ได้ไปในการศึกสงคราม ก็สมัครลาสิกขาเอง ส่วนทางบ้านเมืองมองเห็นคุณความดีของท่าน ก็ได้ตั้งอดีตพระมหาช่วยให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ (น.12-13)

ผู้เขียนคิดว่า กรณีตัวอย่างนี้ตีความได้ 2 แบบ จะตีความแบบท่านเจ้าคุณก็ได้ว่า “วินัยของพุทธศาสนาเถรวาทรักษาไว้” จึงทำให้พระมหาช่วยลาสิกขา แล้วทางบ้านเมืองก็ตอบแทนในคุณความดีโดยตั้งให้เป็น “พระยาทุกขราษฎร์” หรือจะตีความอีกทางหนึ่งก็ได้ว่า ในทางข้อเท็จจริงวินัยพุทธศาสนาเถรวาทก็ป้องกันพระ(มหาช่วยเป็นต้น)ไม่ให้เข้าไปยุ่งกับการเมืองไม่ได้หรอก แม้กระทั่งการสงครามพระก็ยังสามารถจะไปชักชวนให้ประชาชนออกมาร่วมรบป้องกันบ้านเมืองก็ได้ (โดยไม่มีคณะสงฆ์หรือชาวบ้านที่นับถือพุทธอ้าง “วินัยสงฆ์เถรวาท” มาคัดค้าน ทัดทานไว้ได้) จากนั้นก็ลาสิกขาไปได้ดิบได้ดีในระบบการเมืองของฆราวาส

ท่านเจ้าคุณยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า

ในฝรั่งเศสยุคศักดินานั้น ฝ่ายศาสนาคือบาทหลวง (clergy) เป็นฐานันดรที่ 2 คู่กับฐานันดรที่ 1 คือขุนนาง (nobility) ทั้งสองพวกนี้ต่างก็แสวงหาทรัพย์อำนาจ เป็นเจ้าเมือง เจ้าที่ดิน เป็นต้น กดขี่ขูดรีด ทำให้ราษฎรเดือดร้อนชิงชัง จนในที่สุดจึงเกิดปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นใน ค.ศ. 1789 เพื่อล้มล้างฐานันดรทั้งสองนี้ และได้สถาปนาประชาธิปไตยสำเร็จ ด้วยความรุนแรงสูญเสียชีวิตเลือดเนื้ออย่างสยดสยอง แล้วได้เป็นเหตุให้มีหลักการแยกรัฐกับศาสนา (separation of church and state) ขึ้นในฝรั่งเศส…(น.13)

หันมาดูเมืองไทย ยุคเดียวกันนั้น หลังเหตุการณ์ในอังกฤษมาจนถึงรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่ได้ปราบโปรเตสแตนต์เสร็จสิ้น คราวจะล่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งนั้น เพราะเหตุที่พระสงฆ์ไทยเถรวาทไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอำนาจการเมือง สมเด็จพระสังฆราชจึงสามารถรับนิมนต์จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นำพระสงฆ์ผ่านกองทัพยึดอำนาจที่ล้อมวัง เข้าไปทำสังฆกรรมผูกสีมา และอุปสมบทข้าราชการผู้ใหญ่แล้วนำพระใหม่อดีตขุนนางมาอยู่ในวัดอย่างปลอดภัย โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองที่เขายึดอำนาจกัน ไม่เข้าไปยุ่งกับฝ่ายไหน (น.15)

คำถามคือ กรณีบทบาทของ “สมเด็จพระสังฆราชที่รับนิมนต์จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนำพระสงฆ์ผ่านกองทัพยึดอำนาจที่ล้อมวัง เข้าไปทำสังฆกรรมผูกสีมา และอุปสมบทข้าราชการผู้ใหญ่แล้วนำพระใหม่อดีตขุนนางมาอยู่ในวัดอย่างปลอดภัย” นั้น  นี่เป็น “บทบาททางการเมือง” แบบหนึ่งที่เป็นการช่วยเหลือกลุ่มการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่

นี่ไม่ใช่แปลว่า การที่พระสงฆ์ (สมเด็จพระสังฆราช) แสดงบทบาทดังกล่าวนี้ได้ ย่อมชัดเจนว่าพระสงฆ์มี “ตำแหน่งแห่งที่”(position) ในระบบสังคมการเมืองแบบโบราณอย่างชัดเจน ภายใต้ระบบความสัมพันธ์ระหว่าง “อาณาจักร - ศาสนจักร”หรอกหรือ

ท่านเจ้าคุณอธิบาย “หลักการ” ในการเสนอ “ความจริง” ของท่านว่า

...ที่ว่ามานี้แหละ เป็นเรื่องของความรู้ เป็นข้อมูลข้อเท็จจริง เราควรจะค้นคว้าแสวงหาความรู้นั้น เมื่อรู้แล้ว เราก็จะมองเห็น หลักเห็นเกณฑ์ที่จะวัดได้ แล้วหลักความจริงนั้นก็ตัดสินเองว่า ใคร และอย่างไร เหนือการเมือง หรือไม่เหนือการเมือง ในเรื่องที่เป็นความรู้ มีหลักให้ดูอย่างนี้ ก็ไม่ต้องไปมัวยุ่งกับความคิดเห็นของคน ...

สังเกตว่า เวลาที่ท่านเจ้าคุณวิจารณ์คนอื่น ท่านมักจะใช้ข้อความทำนองนี้มากที่สุด หรือใช้เป็น “มาตรฐาน” เลยก็ว่าได้ คือข้อความนำนองว่า “เป็นเรื่องของความรู้ เป็นข้อมูลข้อเท็จจริง ...ไม่ต้องไปมัวยุ่งกับความคิดเห็นของคน”แต่ที่จริงสิ่งที่ท่านเจ้าคุณกำลังทำอยู่ก็หนีไม่พ้นเรื่อง “ความเห็น” เพราะท่านเจ้าคุณก็ใช้วิธีการนำข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ “นักบวชฝรั่ง” มาเปรียบเทียบกับข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ “นักบวชไทย” (ซึ่งเป็นข้อมูลเพียงบางส่วน) แล้วก็ให้ “ความเห็น” ว่า “นักบวชฝรั่งอยู่ในการเมือง แต่นักบวชไทยอยู่เหนือการเมือง” (แต่เป็น “การเมือง” ตามกรอบการนิยามหรือตาม “ความเห็น” ของท่านเจ้าคุณ)

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการตีความ หรือการให้ “ความเห็น” ที่ต่างออกไป ต่อข้อมูลความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยเก่ากับคณะสงฆ์ เช่นความเห็นของโดนัลด์ เค. สแวเรอร์ (Donald K. Swearer) ที่อธิบายว่าโดยทั่วไปแล้วสถาบันพุทธศาสนากับสถาบันกษัตริย์ในอุษาคเนย์ต่างมีความสัมพันธ์ในเชิงสนับสนุนกันและกัน พระบรมราชูปถัมภ์ที่มีต่อคณะสงฆ์แห่งพุทธศาสนามีลักษณะ “ต่างตอบแทน” กับการที่คณะสงฆ์ต้องสนับสนุนอำนาจอันชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ เขาอ้างถึงข้อสังเกตของไฮนซ์ บีเชิร์ต(Heinz Bechert) ว่า อำนาจทางศาสนาให้ความชอบธรรมแก่อำนาจทางการเมือง 6 วิธี คือ

1. การสร้างเอกลักษณ์ผู้ปกครองในฐานะกษัตริย์แห่งโลกในตำนาน (พระเจ้าจักรพรรดิ)

2. การให้เหตุผลสนับสนุนความสมบูรณ์แบบทางศีลธรรมและจิตวิญญาณแห่งความเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีอยู่ในตัวผู้ปกครอง

3. การบรรยายภาพพจน์ “กษัตริย์ในอุดมคติ” ในฐานะเป็นผู้อุปถัมภ์และปกป้องพุทธศาสนา

4.การให้เหตุผลแก่สิทธิอำนาจของผู้ปกครองว่าปกครองโดยธรรม กล่าวคือ “ราชธรรม”

5. ยกย่องผู้ปกครองเป็นเทวราชา เป็นผู้วิเศษ เช่นเป็นเทพตามคติฮินดู กระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า และ

6. กษัตริย์ในอุษาคเนย์อาศัยการสนับสนุนควบคู่กันไปทั้งโดยพุทธศาสนาและลัทธิความเชื่ออื่นที่ไม่ใช่พุทธศาสนา[2]

จะเห็นได้ว่า จากความสัมพันธ์ “ต่างตอบแทน” ระหว่างพระสงฆ์กับรัฐสมัยโบราณ เราสรุปอย่างสอดคล้องกับ “ข้อเท็จจริง” และอย่างมี “หลักการ” ไม่ได้ว่า “ตำแหน่งแห่งที่” ของคณะสงฆ์ “อยู่นอก” หรือ “อยู่เหนือ” ปริมณฑลของการเมืองแบบโบราณ

แต่เราสามารถสรุปได้อย่างสอดคล้องกับ “ข้อเท็จจริง” และ “หลักการ” ของความสัมพันธ์ต่างตอบแทนนั้นเองว่า คณะสงฆ์อยู่ “ใน” การเมือง และอยู่ในการเมืองในตำแหน่งแห่งที่ซึ่งมีบทบาทเป็น “กลไก” สนับสนุนความชอบธรรมของอำนาจรัฐอย่างชัดเจน จะปฏิเสธความจริงนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถลบสิ่งที่ท่านเจ้าคุณเรียกว่า “ความรู้ ข้อมูลข้อเท็จจริง” ทางประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐสมัยเก่า (อย่างน้อยนับแต่สมัยพระเจ้าอโศกเป็นต้นมา) ทิ้งไปได้เท่านั้น

จริงอยู่พระสงฆ์ไม่ได้เป็นขุนนางแบบนักบวชคริสต์ (เพราะมีพื้นฐานความเชื่อ และกฎทางศาสนาต่างกัน) แต่พระสงฆ์ก็มีสมณศักดิ์ ชั้นยศซึ่งได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ จากรัฐสมัยเก่า เช่น ชนชั้นปกครองบริจาคทาส ที่ดินให้แก่พระสงฆ์ตามลำดับสูง ต่ำของสมณศักดิ์ และพระสงฆ์ก็มีหน้าที่สอนศีลธรรมตามความประสงค์ของชนชั้นปกครองด้วย[3]เป็นต้น

อีกอย่าง การที่นักบวชคริสต์อ้างทฤษฎี “เทวสิทธิ์” (Divine Right) สนับสนุนความชอบธรรมแห่งอำนาจของกษัตริย์ ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่คณะสงฆ์อ้างทฤษฎีธรรมราชา โพธิสัตวราชา พุทธราชาสนับสนุนความชอบธรรมของอำนาจกษัตริย์ยุตโบราณในอุษาคเนย์

จะว่าไปนักบวชคริสต์ถึงจะอ้างว่ากษัตริย์ใช้อำนาจในนามของพระเจ้า แต่เขาก็ไม่เคยอ้างกว่ากษัตริย์เป็นพระเจ้าเสียเอง เขายังยืนยันว่ากษัตริย์เป็นเพียง “มนุษย์” เหมือนคนทั่วไป ต่างแต่ใช้อำนาจในนามของ God เท่านั้น

แต่ภายใต้ความสัมพันธ์ “ต่างตอบแทน” ในระบบความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “อาณาจักร-ศาสนจักร” ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาผสมพราหมณ์ในยุคเก่านั้น ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมการเมืองของคณะสงฆ์ก็คือตำแห่งของผู้สอนศีลธรรมซึ่งมีบทบาทสนับสนุนการปกครองโดยธรรม ตามอุดมคติทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนานั่นเอง ฉะนั้น ในทางความเป็นจริงแล้วคณะสงฆ์จึงมีบทบาทถ่ายเท “ความเป็นศาสนา” ไปสู่ “รัฐ (กษัตริย์)” อย่างชัดเจน ด้วยการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนความเป็นธรรมราชา โพธิสัตวราชา พุทธราชา กระทั่งเทวราชาของผู้ปกครอง

ความเป็นธรรมราชา โพธิสัตวราชา พุทธราชา กระทั่งเทวราชาของผู้ปกครองนี่เอง คือสิ่งบ่งบอกความเป็น “รัฐพุทธศาสนาผสมพราหมณ์” ในระบบการเมืองยุคเก่า ถามว่าภายใต้รัฐเช่นนี้ คณะสงฆ์อยู่นอก หรืออยู่เหนือการเมืองอย่างไรหรือ

นอกจากนี้ท่านเจ้าคุณ ยังเขียนว่า

เอาง่ายๆ เวลานี้ ที่เมืองไทยอยู่ในระบบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญก็บอกไว้ว่า ภิกษุสามเณร “เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” นี่คือขาดหรือสูญเสีย(สละ)สิทธิพื้นฐานทางการเมือง ก็เป็นอันว่า ภิกษุสามเณรทุกรูป ไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อยขั้นไหน ก็ไม่มีบทบาทในการเมือง แค่เลือกตั้งก็ยังไม่ได้ แล้วจะไปทำอะไรในการเมือง เพราะฉะนั้น พระเณรจึงต้องศึกษาให้รู้และให้ความรู้อย่างดีแท้ ที่นำเขาได้ จึงจะสมกับที่เขาให้อยู่เหนือการเมือง ทั้งสามเณรและหลวงพี่ก็รู้ว่าพระเณรไม่อยู่ในการเมือง ถ้าจะเถียงกัน ก็ทำได้แค่ว่า หลวงพี่บอกมา เรานี่อยู่เหนือการเมืองนะ แต่สามเณรแย้งว่า ไม่ใช่ เราอยู่นอกการเมืองครับ เมื่อไม่อยู่ “ใน” ก็เถียงกันได้แค่ว่า “เหนือ” หรือ “นอก” ถ้าแน่กว่านั้น ก็ “นำ” การเมืองเลย (นำทางไปในธรรมและโดยธรรม อย่านำไปนอกธรรมด้วยอธรรม) (น.17)

แปลว่า “อยู่ในการเมือง” ในบริบทสังคมการเมืองไทยปัจจุบันตามทัศนะของท่านเจ้าคุณ หมายถึง “อยู่ในการเมืองแบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย” เท่านั้น นี่เป็นมายาคติสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ท่านเจ้าคุณหรือชาวพุทธบ้านเราโดยทั่วไปมองไม่เห็น “ช้างในห้อง”[4]อันได้แก่การที่คณะสงฆ์ไทยอยู่ภายใต้โครงสร้างการปกครองสงฆ์ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยอำนาจรัฐ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นโครงสร้างการปกครองสงฆ์แบบที่กำหนดขึ้นในสมัย ร.5 ทำให้พระสงฆ์ไทยที่มีตำแหน่งปกครองมีสถานะเป็น “เจ้าพนักงานของรัฐ” ตามกฎหมาย มีสมณศักดิ์ซึ่งเป็นฐานันดรศักดิ์อย่างหนึ่ง (ขุนนางพระ) ซึ่งทำให้คณะสงฆ์มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็น “กลไก” สนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม

นี่ไม่ใช่ “โครงสร้างแบบการเมือง” ของคณะสงฆ์ไทยที่ทำให้คณะสงฆ์ต้องเป็นกลไกสนับสนุน “การเมือง” ภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มาโดยตลอดหรอกหรือ (และไม่ใช่โครงสร้างที่ก่อให้เกิด “ปัญหาการเมืองภายใน” ของคณะสงฆ์เองมาโดยตลอดหรอกหรือ)

ภายใต้โครงสร้างดังกล่าวนี้ “ช้างตัวใหญ่ในห้อง” ที่ชาวพุทธบ้านเราแสร้งมองไม่เห็นคือ “ถ้าเป็นการเมืองแบบยุคเก่าหรือที่ตกทอดมาจากยุคเก่า เช่นการเมืองที่สนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พระสงฆ์ยุ่งได้เต็มที่ สนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมได้เต็มที่ ไม่ถือว่ายุ่งการเมือง”

นี่คือมายาคติ “เหนือการเมือง” ที่ทำให้พระสงฆ์ไทยมีสถานะพิเศษ คือสถานะผู้ผลิตศีลธรรมสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมและอ้างอิงใช้ศีลธรรมพุทธศาสนาตรวจสอบ ตัดสิน “นักการเมือง” ที่ประชาชนเลือกเท่านั้น โดยถือว่าศีลธรรมทางการเมืองแบบพุทธศาสนานั้น “สูงส่งกว่า” ศีลธรรมทางสังคมการเมืองสมัยใหม่ (สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค)

ฉะนั้น ข้อเสนอของท่านเจ้าคุณที่ว่า“ถ้าแน่กว่านั้น ก็ “นำ” การเมืองเลย (นำทางไปในธรรมและโดยธรรม อย่านำไปนอกธรรมด้วยอธรรม)” คำถามอยู่ที่ว่า “ธรรม” ทางสังคมการเมืองในกรอบการตีความของคณะสงฆ์ไทยตามเป็นจริงนั้น สนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยกันแน่

แท้จริงแล้ว สิ่งที่เราพึงตระหนักและเรียนรู้จากตะวันตกคือ สังคมตะวันตกนั้น นักบวชเขายอมรับความจริงแต่แรกว่าเขาเข้าไปยุ่งกับการเมืองตรงๆ เพราะเขาถือว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจทางการเมือง แต่เมื่อได้บทเรียนจาก “ยุคกลาง” สังคมตะวันตกถึงได้แยกบทบาทของรัฐกับศาสนาออกจากกัน โดยถือว่ารัฐต้องปกครองด้วยหลักการทางโลก เป็น “รัฐทางโลก” (secular state) ไม่เป็นรัฐศาสนาที่ปกครองด้วยหลักตามความเชื่อทางศาสนาอีกต่อไป

แต่กรณีของไทยนั้น ทั้งๆ ที่ชาวพุทธเราชูการรู้ “ความจริง” และการแก้ปัญหาบนฐานของ “ความจริง”  แต่กลับสร้าง “มายาคติ” หรือ “สภาพการหลอกตัวเอง” ทำให้เราไม่มองความจริงทางประวัติศาสตร์และสภาพปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมาและอย่างวิพากษ์วิจารณ์

เลยแก้ปัญหาระบบสังคมการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้อย่างตะวันตก ก็อยู่กับมายาคติหรือสภาพเบลอๆ ไปเรื่อยๆ แบบบอกตัวเองไม่ถูกว่า รัฐไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ประชาธิปไตย จะเป็นรัฐศาสนา-กึ่งกึ่งศาสนา หรือเป็นรัฐทางโลก

 

 

อ้างอิง




[1]พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), ขว้างก้อนอิฐมา พัฒนาเป็นแก้วมณี, (กรุงเทพฯ: พิมสวย, 2554)

[2] Donald K. Swearer, The Buddhist World Southeast Asia, (New York : State University New York Press, 1995), p.64.

[3]จิตร ภูมิศักดิ์, โฉมหน้าศักดินาไทย, (นนทบุรี, ศรีปัญญา, 2550), น.137

[4]สำนวน “ช้างอยู่ในห้องแต่มองไม่เห็น” เป็นสำนวนฝรั่ง หมายถึงสิ่งที่น่าจะเห็นกันง่ายๆ โต้งๆ แต่กลับถูกมองข้าม (ดู ธงชัย วินิจจะกูล, สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง,เชิงอรรถ น.221)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยื่นหนังสือขอเจรจานายจ้างโรงงานผ้าขนหนู ร้องรับ 2 สมาชิกสหภาพฯ กลับเข้าทำงาน

$
0
0

ร้องยุติการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สหภาพแรงงานยื่นหนังสือขอเจรจากับนายจ้างดับเบิ้ลสตาร์อินดัสตรี้ให้รับพนักงานกลับเข้าทำงานทันที


30 ต.ค. 2557 เวลา 10.30 น. นักสหภาพแรงงานจากสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศในกลุ่มกิจการเคมีภัณฑ์ พลังงาน เหมืองแร่ หรือ THAICEM ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนักกิจกรรมแรงงาน ร่วมกันยื่นหนังสือต่อบริษัท ดับเบิ้ลสตาร์อินดัสตรี้ ผู้ผลิตและจำหน่ายผ้าขนหนู ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ  ตั้งอยู่ที่ถ.สุขสวัสดิ์ ซอย 84 อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 2 คน คือ น.ส.คำผอง คำพิฑูรย์ และนายปัญญา กุระจินดา ซึ่งเป็นประธานและกรรมการของสหภาพแรงงานประชาธิปไตย กลับเข้าทำงานทันที ทั้งนี้ น.ส.คำผอง ทำงานให้แก่บริษัทมาเป็นเวลา 13 ปี และนายปัญญาทำงานมาแล้ว 2 ปี พวกเขาต้องการกลับเข้าทำงานเพราะมองว่าไม่ได้ทำอะไรผิด

โดยหนังสือดังกล่าว มีเนื้อหาเรียกร้องให้นายกิตติพันธ์ ธรรมฉัตรพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ดับเบิ้ลสตาร์ อินดัสตรี้ จำกัด เปิดการเจราจาภายใน 7 วันนับจากที่ยื่นหนังสือ ณ สำนักงานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย นนทบุรี หรือในบริษัท ตามที่นายจ้างเห็นสมควร

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมฯ ระบุว่า พยายามเรียกร้องให้นายจ้างที่เลิกจ้างพนักงานทั้งสองคน เจรจาหาข้อยุติปัญหาการเลิกจ้าง เนื่องจากเห็นว่าการเลิกจ้างพนักงานเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน และการเจรจาที่ผ่านมา ไม่มีนายจ้างตัวจริงที่มีอำนาจการตัดสินใจเข้าร่วมเจรจา ทั้งปฏิเสธการรับกลับเข้าทำงาน ทำให้ยุติปัญหาดังกล่าวไม่ได้ นับตั้งแต่มีการเลิกจ้างวันที่ 11 ม.ค. 57 เวลาได้ล่วงเลยมา 9 เดือนกว่าแล้ว ดังนั้นการเจรจาในครั้งต่อไป นายจ้างตัวจริงต้องเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า เมื่อสหภาพแรงงานเดินทางถึงบริษัท ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัทที่อยู่ ณ ป้อมยาม ไม่ยินยอมรับหนังสือ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.ธรรมศาสตร์เสรีฯ ชวนทหาร-ตร.เตะบอล หลังโดนห้ามจัดกิจกรรมรัวๆ

$
0
0

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ชวนทหาร ตำรวจ นักศึกษาร่วมเตะบอล หลังโดนห้ามจัดกิจกรรมรัวๆ เผยมีสันติบาลมาบันทึกภาพตอนเตะบอลด้วย


ภาพจากเพจ LLTD 1, 2


30 ต.ค. 2557 กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ชวนทหาร ตำรวจ นักศึกษาร่วมเตะบอล โดยโพสต์ภาพพร้อมข้อความ "ห้ามชูป้าย ฉันก็จะกินแซนวิช ห้ามฉันกินแซนวิช ฉันก็จะชูสามนิ้ว ห้ามฉันชูสามนิ้ว ฉันก็จะจัดเสวนา หากห้ามฉันจัดเสวนา. . . ก็ต้องมาเตะฟุตบอลกับฉัน"

รังสิมันต์ โรม นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ ได้จัดกิจกรรมเตะบอล โดยประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กเชิญชวนเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าร่วมกิจกรรรมด้วย สำหรับบรรยายกาศ มีการเตะบอลกันตามปกติ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล และตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง มาบันทึกภาพ แต่ก็ไม่ทราบถึงจุดประสงค์ของการบันทึกภาพดังกล่าว

เขาเล่าด้วยว่า หลังจากกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ ถูกเชิญตัวไป สภ.คลองหลวง จากกรณีจัดเสวนา เรื่องความล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ ทุกวันนี้ก็มีเจ้าหน้าตำรวจโทรมาถามเป็นระยะๆ ว่าจะมีการจัดเสวนาหรือกิจกรรมหรือไม่ และยังถามอีกว่าถ้ามีกลุ่มอื่นจัดเวทีเสวนาจะเข้าร่วมหรือไม่

รังสิมันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้จะจัดอะไรก็จัดไม่ได้ ต้องแจ้ง ต้องขออนุญาตตลอด ทั้งที่การจัดเวทีเสวนาควรได้รับเสรีภาพมากกว่านี้ พร้อมบอกด้วยว่า รู้สึกอึดอัด ก็เลยต้องมาเตะบอลแทน

"อนาคตถ้าทหาร ตำรวจ อยากมาร่วมเตะกับเราก็ได้ พวกเรายินดี" ตัวแทนกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีฯ กล่าวทิ้งท้าย



 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การเมืองของการผลิต(วัฒนธรรม)อินดี้ในบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย

$
0
0

สำหรับวัยรุ่นที่โตในยุค 1990 คงคุ้นเคยกับคำว่า“อินดี้”เป็นอย่างดี  หากเราใช้ช่วงปีที่เกิดเป็นการแบ่ง“รุ่น”อย่างคร่าวๆอาจกล่าวได้ว่าอินดี้คือคนที่เกิดหลังสงครามเวียดนาม(ยุติในปี ค.ศ.1975) ฉะนั้นหากนับถึงปัจจุบันคนรุ่นนี้ก็อยู่ในช่วงวัยกลาง 30 ขึ้นไป  ที่จริงปรากฏการณ์ของรุ่นอินดี้เป็นที่สนใจศึกษาในงานวิชาการด้านวัฒนธรรมศึกษาและสังคมวิทยา ในแง่ของชนชั้นกับการผลิตและการบริโภควัฒนธรรมมาตั้งแต่ปลายยุค 1990  โดยส่วนใหญ่เป็นงานศึกษาในบริบทของสังคมตะวันตก  สำหรับงานศึกษานอกบริบทตะวันตกเพิ่งเริ่มมีในช่วงไม่ถึง 10 ปี สำหรับข้อเขียนสั้นๆชิ้นนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงคนรุ่นอินดี้ในเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียกับการผลิตวัฒนธรรมผ่านความหลากหลายของรูปแบบวัฒนธรรม(cultural forms)และความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจของการดำเนินชีวิต(economic of life)

 (1)

เมืองบันดุงอยู่ในชวาตะวันตก เกาะชวา เป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของอินโดนีเซียรองจากจาการ์ต้าและสุราบายา บันดุงเป็นเมืองที่สร้างโดยดัชท์ อีสต์ อินเดีย (เนเธอแลนด์)ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18  และช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ดัชท์ อีสต์ อินเดีย เคยคิดจะย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ต้ามาที่บันดุง ปัจจุบันเมืองบันดุงมีประชากรราว 2.4 ล้านคน ในจำนวนนั้นราว 1.5 ล้านคนเป็นคนวัยหนุ่มสาวที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี หากคุยกับคนอินโดนีเซียพวกเขาจะกล่าวถึงบันดุงในแง่ของเป็นเมืองของคน(ท้องถิ่น)รุ่นใหม่และทันสมัย ต่างไปจากจาการ์ต้าที่เป็นเมืองหลวงและเมืองการค้า  ยอร์คยาการ์ต้าเป็นเมืองเก่า ในขณะบาหลีเป็นเมืองท่องเที่ยว ขณะเดียวกันบันดุงก็เป็นเมืองแห่งการช็อปปิ้งแบบที่พ่อค้าหัวใสทำเสื้อยืดสกรีน “Bandung, You Never Shop Alone”ขายกันเต็มเมือง ด้วยเวลาเดินทางจากจาการ์ต้าไปบันดุงเพียงแค่ 3 ชั่วโมงกว่า ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เมืองบันดุงจึงเต็มไปด้วยนักช็อปปิ้งมือเติบจากเมืองหลวง ย่านดาโก้และถนนเชียแฮมพลาสซึ่งมี Factory Outlet ของแบรนด์เนมดังนับ 10 แห่งจะเต็มไปด้วยลูกค้าที่มาจับจ่ายสินค้า แต่หากเราลัดเลาะจากย่านดาโกไปตามถนนเรียวและซอยเล็กซอยน้อยในถนนเรียว โลกของการช็อปปิ้งจะเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่งในทันที่ เพราะย่านนี้คือย่านของอินดี้

(2)

อินดี้และชุมชนการผลิตวัฒนธรรมในบันดุงเกิดขึ้นในช่วงกลาง ค.ศ. 1990 จุดเริ่มต้นของอินดี้มาจากดนตรี( พั๊งค์, เฮฟวี่เมตัลและอินดี้ป็อป)และสตรีทแฟชั่น วงดนตรีอินดี้ป็อปชื่อดังอย่าง Pure Saturday ออกอัลบั้มแรกในปี ค.ศ. 1996 งานรวมเพลงวงพั๊งค์ Bandung’s Burning ออกในปี ค.ศ. 1997 โดย Riotic Record ซึ่งต่อมาเริ่มออกแบบเสื้อผ้าในแบรนด์ Riotic พร้อมกับเปิด Distros ( Distributor Store) เป็นร้านที่ขายทั้งเสื้อผ้าแฟชั่นและเทปเพลงไปในตัว รวมทั้งใช้เป็นที่แสดงดนตรีในบ้างครั้ง ก่อนหน้านี้ ในปี ค.ศ.1996 UNKL347( ใช้ชื่อในตอนแรกเปิดว่า 347) แบรนด์เนมของสตีทแฟชั่นที่ถือว่าเป็นแรงบันดัลใจให้กับอินดี้รุ่นหลังๆ ก็ถือกำเนิดขึ้นจากกลุ่มวัยรุ่นสเก็ตบอร์ดที่คิดสนุกออกแบบเสื้อผ้าให้กับเพื่อนๆกันเอง การเชื่อมโยงของดนตรี(band)และแบรนด์สินค้า(brand)เกิดขึ้นผ่าน Distro ที่เป็นห้องแถวคูหาขนาดเล็กๆที่พวกวัยรุ่นใช้เป็นที่วางขายงานสินค้าแฟชั่นและงานเพลง  ต่อมาได้กลายเป็นการสร้างเครือข่ายการค้าระหว่างกลุ่ม Distro นับ 100 แห่งอันเป็นรากฐานสำคัญของการผลิตทางวัฒนธรรมในยุคเริ่มแรกของอินดี้ในบันดุง  

Distro ได้กลายสถานที่ที่พวกวัยรุ่นบันดุงมาสุมหัวกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ที่สำคัญ Distro เหล่านี้เกิดขึ้นมามีนัยยะของการโต้ตอบกับ Factory Outlet ของสินค้าแบรนด์เนมจำนวนมากที่เกิดขึ้นในบันดุงเช่นกัน เนื่องจากบันดุงเป็นเมืองของอุตสาหกรรมสิ่งทอและการ์เมนต์เช่นเดียวกับอีกหลายๆเมืองในประเทศกำลังพัฒนาที่มีแรงงานราคาถูกเป็นจุดดึงดุดการลงทุนของบริษัทเสื้อผ้าและสิ่งทอข้ามชาติ  แต่โรงงานของสินค้าแบรนด์เนมเหล่านี้ไม่ได้สร้างนักออกแบบแฟชั่นท้องถิ่น Distro จึงได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะและที่ที่สร้างโอกาสให้กับนักออกแบบแฟชั่นรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นล่าง  เราจะพบว่านักออกแบบแฟชั่นรุ่นใหม่จำนวนมากทั้งในบันดุงส่วนใหญ่ไม่ได้จบการศึกษาด้านออกแบบแฟชั่นหรือด้านศิลปินแต่อย่างใด  จำนวนหนึ่งเคยเป็นเด็กขายของใน Distro มาก่อน พวกเขาเรียนรู้การออกแบบด้วยตนเองจากแมกกาซีนในยุค 1990 และผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตในยุคกลาง 2000  พวกเขาเพิ่มทักษะการออกแบบด้วยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่วนมากในช่วงแรกเรียนรู้สไตล์การออกแบบของแฟชั่นในกระแสนิยมในโลกตะวันตกแล้วก็ปรับและออกแบบเพิ่มให้เป็นในสไตล์ของตนเอง อาจกล่าวได้ว่า Distro เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเมืองบันดุง เป็นแหล่งชุมนุมพบปะของกลุ่มคนในแวดวงดนตรี การออกแบบแฟชั่น ศิลปะและกิจกรรมวัฒนธรรมซึ่งเท่ากับเป็นทั้งศูนย์เรียนรู้และยังช่วยสร้างการขยายพื้นที่สร้างสรรค์ของงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมให้กระจายตัวมากขึ้นมากขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า Distro คือพื้นที่ที่ก่อให้เกิดการอย่างแบบมีส่วนร่วม(active participant) และเปรียบเสมือนการสร้างชีวิตประชาธิปไตยทางวัฒนธรรมด้วยตนเองและเพื่อตนเองแบบกลุ่มอินดี้ที่เติบโตในยุคหลังเผด็จการซูฮาร์โต  ยิ่งในยุคหลังเศรษฐกิจตกต่ำในปี ค.ศ. 1997 การสื่อสารในชุมชนอินดี้ยิ่งเกิดมากขึ้นการเกิดขึ้นของนิตยสาร Ripple Magazine (ปี 1999 -2003)ช่วยเป็นช่องทางในการแนะนำสินค้าและดนตรีใหม่ให้กับชุมชนอินดี้ รวมทั้งการเกิดขึ้นของอาร์ทสเปซต่างๆเช่น If Venue, BTW SPACE ,Common Room และ Bandung Creative City Forum ได้ช่วยสร้างพื้นที่ทางการเมืองในชีวิตประจำวันของอินดี้ในบันดุงเป็นอย่างมากขึ้นนอกเหนือจาก Distro ในช่วงก่อนหน้านั้น

(3)

การเกิดขึ้นของอินดี้ในบันดุงยังเป็นช่วงรอยต่อของเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองของอินโดนีเซียจากการเป็นสังคมเผด็จ(ในยุคประธานาธิบดีซูฮาร์โต)สู่สังคมประชาธิปไตย ทั้งในแง่การเมืองเชิงโครงสร้างและการเมืองในชีวิตประจำวัน ในยุคเผด็จการซูฮาร์โตการจำกัดเสรีภาพของการใช้สื่อและการผลิตสื่อทั้งในส่วนของสื่อกระจายเสีย สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดนตรีมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก แม้จะเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารที่นำพาเอาคอมพิวเตอร์และระบบอินเตอร์เน็ตมาช่วยค่อยๆกะเทาะกำแพงขวางกั้น ข้อมูลข่าวสารระหว่าง “ท้องถิ่น”และ “โลก(ภายนอก)” แต่ในอินโดนีเซียในยุคนั้นยังไม่ใช่สิ่งที่เกิดได้ง่ายและรวดเร็วดังเช่นประเทศอื่นๆในแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ ที่เข้าถึงเทคโนโลยีในยุคข้อมูลข่าวสารได้ก่อนอินโดนีเซีย  ปี ค.ศ. 1997 การล้มสะลายของเผด็จการซูฮาร์โตอันมีปัจจัยสำคัญจากการคอรัปชั่นและเศรษฐกิจตกต่ำในเอเชีย  ประชาธิปไตยในอินโดนีเซียเบ่งบานพร้อมๆกับการเกิดขึ้นเปิดเสรีในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เยาวชนในอินโดนีเซียได้มีโอกาสเข้าถึงและเรียนรู้ปรากฏการทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายนอกมากขึ้น Distro เหล่านี้จะเสมือนเป็น “การรื้อสร้าง”และ “สร้างความหมายใหม่”ให้กับ“ความเป็นท้องถิ่น”ของบันดุง(locality)กับประเทศอินโดนีเซียและโลก หากเราเดินไปตาม Distro ต่างๆในย่านถนนเรียวผู้เขียนบอกได้เลยเราไม่มีทางเจอเสื้อยืดสกรีนแบบ I Love Bandung แน่นอน เสื้อยืดที่เราจะเจอจะเป็นเสื้อในสไตล์แบบโลโก้วงดนตรีร็อกต่างๆ(ทั้งวงท้องถิ่นและวงต่างประเทศ) สไตล์ฮิป ฮอป (หรือเสื้อในสไตล์แบบ global subculture) และอีกหลากสไตล์ที่ดูมีความ “ร่วม”กับวัฒนธรรมโลก นอกจากนี้ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยม Dsitro ของแบรนด์ Homeless Dawg ที่ตั้งอยู่ในชุมชนเขตชานเมืองบันดุง และพบว่าเขามีลูกค้าต่างชาติจำนวนมากมายเยี่ยมร้านของเขา(ที่เขายินดีเรียกว่าเพื่อน) ภายในร้านเขาตบแต่งด้วยรูปถ่ายของลูกค้าที่มาเยี่ยมร้าน พร้อมๆกันนั้นเขาก็เรื่องเล่ามากมายถึงเพื่อนเหล่านั้นที่ยังติดต่อกันอยู่ Distro เล็กๆเก่าๆแห่งนี้จึงเหมือนเป็นการย่อชุมชนโลกเข้ามาไว้ด้วยกัน

แม้อินโดนีเซียจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในยุคหลังปี 2000 แต่การผลิตทางวัฒนธรรมของอินดี้(ดนตรี, แฟชั่น, ศิลปะ)ส่วนใหญ่เป็นงานและ/หรือกิจกรรมที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของอินโดนีเซีย ดังนั้น การที่เยาวชนจำนวนมากในบันดุง (รวมทั้ง จาการ์ต้า ยอร์คยาจาร์ต้าและบาหลี)สร้างตัวตนจากพื้นที่ดนตรีจึงเป็นการสร้างตัวตนบนพื้นที่ที่เป็นอิสระจากการจัดการและควบคุมของรัฐ(ยุคหลังซูฮาร์โต)ค่อนข้างมาก แม้ว่าบ้างครั้งรัฐจะเข้ามาควบคุมในบ้างครั้งในแง่ของการเผยแพร่และการจัดการแสดงดนตรี(โดยเฉพาะกับแทรช เมตัล) แต่นั้นเป็นการควบคุมการใช้สื่อและการสื่อสาร แต่ไม่อาจควบคุมการรูปแบบทางวัฒนธรรมได้ทั้งหมด  การรวมกลุ่มและการสร้างสรรค์งานไม่ว่างานเพลง, แฟชั่นงาน, กราฟฟิค ยังคงดำเนินอยู่ พวกเขารวมกลุ่มและสร้างแนวร่วมที่อาจเรียกได้ว่ามีความเป็นชุมชน(Komunitas) แต่ชุมชนเหล่านี้ไม่ได้มีความยั่งยืนในตนเอง เพราะในขณะ UNKL347 ได้กลายเป็นสินค้าแบรนด์เนมยี่ห้อดังในตลาดแฟชั่นโลก ปัจจุบันมีสาขา 7 แห่งในเมืองใหญ่ๆทั่วโลก Riotic หนึ่งในตำนานอินดี้ของบันดุงกลับต้องปิด Distro ของตนเองไป( มีข่าวว่ากำลังเตรียมจะกลับมาเปิดอีกครั้ง) นักออกแบบแฟชั่นรุ่นใหม่ในบันดุงหลายคนเห็นว่า UNKL 347 กลายเป็นสินค้าโหล( mass product)และเกิดกระแส Anti-distro

(4)

ผ่านมา 20 ปีชุมชนอินดี้ในบันดุงกำลังก้าวเข้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงอีกขั้นหนึ่ง แผนงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของอินโดนีเซียที่ประกาศในปี ค.ศ.2011 อาศัยโมเดลจากเมืองบันดุง ผู้ว่าการรัฐบันดุงคนปัจจุบันริดวาน คามิล(เพิ่งได้รับเลือกเมื่อปี 2013)เป็นสถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้ง Bandung Creative City Forum ได้ให้การสนับสนุนแผนงาน Creative Bandung อย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะสนับสนุนให้บันดุงเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน Creative City ของ UNESCO  และอาจจะไม่น่าแปลกใจหากอินโดนีเซียมีนโยบายระดับชาติที่หนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเต็มที่เพราะโจโค่ จาโควีได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มอินดี้จำนวนมากแปลกใจที่กุสตาฟแต่สำหรับกุสตาฟ อิสคันดาร์นักกิจกรรมวัฒนธรรมจาก Common Room Network เห็นว่าอินดี้ในบันดุงเป็น “ขบวนการคิดเอง ทำเอง”(DIY movement)ที่มีรากฐานมาจากวัยรุ่นชนชั้นล่าง  เขาเห็นว่าโครงการต่างๆของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศที่กำลังจะเกิดกับอินดี้เป็นสิ่งที่ท้าทายของการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนอินดี้ในบันดุง  ซึ่งคงต้องตามดูกันต่อไป

จริงๆแล้วปรากฎการณ์ของการเกิดและการเปลี่ยนแปลงของอินดี้ในบันดุง นั้นมีทั้งลักษณะเฉพาะและลักษณะร่วมกับอินดี้ที่เกิดขึ้นในเอเชียไม่ว่าจะเป็นในไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย ลาวฯลฯ คนรุ่นอินดี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมและเสรีนิยมใหม่  ซึ่งยังเป็นประเด็นที่เรายังไม่ได้ศึกษากันมากนัก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปัจจุบันมีคนรุ่นหนุ่มสาวอยู่กว่า 100 ล้านคน ทั้งหมดนี้อาจจะไม่ใช่คนที่แสดงตัวตนร่วมในวัฒนธรรมอินดี้  แต่จำนวนหนึ่งแสดงตนอย่างแน่นอนเช่นในบันดุงที่ได้กล่าวมา

 

 


[1]ส่วนหนึ่งของงานวิจัย Creative City and the Sustainable Life: A Study on the Making of Cultural Spaces in Osaka and Bandung โครงการปัญญาชนสาธารณะเอเชีย( 2013-2014) มูลนิธินิปปอน  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'นิพิฏฐ์' เตือน ไม่ควรนำตุลาการเข้าสู่วังวนการเมือง หวั่นวิกฤตรอบใหม่

$
0
0

30 ต.ค. 2557 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม มีแนวคิดขอคนในฝ่ายตุลาการ หรือศาล มาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ทั้งที่ นายสราวุฒิ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้แถลงย้ำถึงจริยธรรมศาล ผู้พิพากษาว่า ไม่ควรไปเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมือง ว่า ตนขอให้รัฐบาลและรัฐมนตรีทุกกระทรวงตั้งหลักให้ดี ในการจะขอบุคคลจากศาล หรือผู้พิพากษามาเป็นที่ปรึกษาหรือคณะทำงาน เพราะที่สุดแล้วจะเป็นการทำลายระบบศาลและกระบวนการยุติธรรมไทยซ้ำเติมลงไปอีก เนื่องจาก คสช.ไม่ทราบถึงต้นตอความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ปี 2549 ที่ประชาชนไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมือง ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ จึงมีการออกแบบรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายตุลาการซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำนาจหลักในระบอบประชาธิปไตยไทย เข้ามาช่วยพยุงอำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

นายนิพิฏฐ์ กล่าววต่อว่า ขณะนั้น มีการให้ฝ่ายศาลเข้ามาคัดกรองบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบฝ่ายการเมือง จนถูกเรียกว่า ยุคตุลาการภิวัฒน์ จนฝ่ายการเมืองไม่ยอม และสร้างวาทกรรมโจมตีฝ่ายตุลาการว่า ยุติธรรม 2 มาตรฐาน ที่สุดระบบการปกครองของไทย จึงพังระเนระนาดทั้งระบบ วันนี้รัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจาก คสช.ยังพยายามดึงเอาบุคลากรจากฝ่ายตุลาการเข้ามาในวังวนของการเมือง ทั้งที่ฝ่ายตุลาการได้ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า ไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องอีก

นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า ขอย้ำเตือนไปยัง คสช.ว่า หากจะยังพยายามดึงบุคลากรจากฝ่ายตุลาการเข้ามาอีก ที่สุดจะเป็นการทำผิดซ้ำซ้อนและสร้างวิกฤติตุลาการรอบใหม่ขึ้น แม้กระทั่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่มาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา คสช.และประธาน สนช. เช่นวันนี้ ตนยังรู้สึกไม่สบายใจ และขอเตือนถึง สปช.หรือ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ต้องเอาศาลหรือบุคลากรฝ่ายตุลาการออกจากกระบวนการ หรือวังวนทางการเมืองให้หมด ไม่เช่นนั้นเมื่อเกิดวิกฤติใดขึ้นจะไม่เหลืออำนาจใดไว้พยุง โดยเฉพาะฝ่ายศาลก็จะพังลงทั้งระบบ เพราะอำนาจหลักทั้ง 3 ควรจะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

รองเลขาฯ ศาลยุติธรรม ย้ำประมวลจริยธรรมศาล ชี้ผู้พิพากษาไม่ควรเป็นขรก.การเมือง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ผู้ชำนาญการประจำตัวสนช. และผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสนช. ว่า ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 59 กำหนดว่า ข้าราชการตุลาการต้องไม่เป็นข้าราชการทางการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 41 ระบุว่าสามารถยกเว้นได้นั้น แต่ผู้พิพากษามีประมวลจริยธรรมกำกับไว้อีกชั้นหนึ่งซึ่งสูงกว่ากฎหมายเพราะเป็นข้อห้ามเรื่องการไปประกอบวิชาชีพอย่างอื่นที่ผู้พิพากษาจะต้องปฏิบัติตาม แต่สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่มติของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เป็นหลัก หากมติ ก.ต. ไม่เห็นชอบในเรื่องดังกล่าว แม้ว่าจะมีการประกาศแต่งตั้งไปแล้วหรือโปรดเกล้าฯ แล้วก็ตาม แต่ผู้พิพากษาก็คงไม่สามารถไปรับตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งคงจะต้องรอดูความชัดเจนในที่ประชุม ก.ต. ในวันที่ 17 พ.ย.นี้

นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ท่านก็ได้แสดงจุดยืนชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา ว่าต้องมีความเป็นอิสระของสถาบันตุลาการและมีความเป็นกลาง ต้องปฏิบัติตัวตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของทางราชการ และประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทาง ก.ต. จะนำมาประกอบการพิจารณาด้วยทั้งหมด ซึ่งถ้าหากอยู่ในสถานการณ์ปกติไม่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 41 ยกเว้นไว้ เรื่องดังกล่าวก็คงไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว

 

ที่มา:ไทยรัฐออนไลน์ และมติชนออนไลน์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ประธาน-รองประธาน สปช.

$
0
0
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 131 ตอนพิเศษ 218 ง. ได้เผยแพร่ ประกาศแต่งตั้ง ‘เทียนฉาย กีระนันทน์’ ประธาน สปช.  ‘บวรศักดิ์-ทัศนา’ นั่งรองประธาน สปช.
 
 
30 ต.ค. 2557 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 131 ตอนพิเศษ 218 ง. ได้เผยแพร่ ประกาศแต่งตั้ง ประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เนื้อหาดังนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ลงมติเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2557 เลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้เป็นประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คือ

1.นายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ
2.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่หนึ่ง
3.นางสาวทัศนา บุญทอง  เป็นรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่สอง
 
อาศัยอำนาจตามความในมาตร 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557  จึงแต่งตั้งให้ผู้มีนามดังกล่าวเป็นประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 30 ต.ค. 2557 เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำหนดจัดพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ในวันที่ 3 พ.ย. 2557 เวลา 08.00 น. ณ บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา 1
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.เชิญทหารประชุมร่วมชาวบ้านคลองไทรฯ แนะใช้ กม. ให้เป็นธรรม

$
0
0

นพ.นิรันดร์ เชิญรองผอ.รมน. สุราษฎร์ ชาวคลองไทรฯ  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังข้อเท็จจริงปัญหาข้อพิพาท และปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชุมชนคลองไทร ด้านชาวบ้านถามทำไมทหารไม่เข้าตรวจสอบสิทธิ์นายทุนบ้าง

30 ต.ค. 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดการประชุมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมถกปัญหาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร ในกรณีข้อพิพาทที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและการเมือง เป็นประธานในที่ประชุม โดยได้มีการเชิญพันเอกสมบัติ ประสานเกษม รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ชาวชุมคลองไทรพัฒนา และกลุ่มสหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมด้วย

การเข้าให้ข้อเท็จจริงปัญหาความรุนแรง และร่วมถกปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารในกรณีข้อพิพาทบนที่ดิน ส.ป.ก ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่มีผู้ไม่หวังดีได้ยิงปืนขมขู่ชาวบ้าน และทหารที่ประจำการอยู่ในชุมชนเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่นี่)การประชุมครั้งนี้เกิดจากการเข้าร้องของชาวชุมชนในนามของ สกต. ต่อคณะกรรมการสิทธิฯ โดยการประชุมร่วมกันครั้งนี้ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง  

ในที่ประชุมนายเพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ สมาชิกสกต. ได้เล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในชุมชน พร้อมทั้งได้ตั้งคำถามต่อการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารตลอดช่วงเวลาที่ผ่าน โดยได้มีการถามถึงการเข้าตรวจค้นในพื้นที่โดยไม่มีคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเพราะเหตุใดจึงมีการสั่งบังคับจากเจ้าหน้าที่ทหารให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน

ด้านพันเอกสมบัติ ตอบข้อสงสัยนี้ว่า เนื่องจากช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ดังนั้นการเข้าตรวจสอบ เข้าค้นที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ทหารไม่จำเป็นต้องมีหมายคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร และการเข้าตรวจค้นที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม เนื่องมาจากมีผู้ร้องเข้ามาว่า ชาวบ้านในชุมชนคลองไทรฯเข้าบุกรุกพื้นที่ของเขา จำนวนทั้งสิ้น 13 ราย จึงได้มีการนำกำลังเข้าตรวจสอบ  และเหตุที่มีคำสั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน นั้นเป็นการสั่งเฉพาะผู้ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย หากชาวบ้านในชุมชนคลองไทรสามารถยืนยันได้ว่าเข้ามาอย่างไม่ผิดกฎหมายก็ไม่ต้องกลัวอะไร

อย่างไรก็ตาม นางเรวดี วิชิตยุทธภูมิ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่กรมป่าไม้ได้ให้ที่ดินผืนนี้กับ ส.ป.ก. เพื่อจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ยากจนต่อไป แต่ทางส.ป.ก. ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากบริษัทผู้เช่าอยู่เดิมไม่ยอมออกจากพื้นที่ จึงได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้ว จนถึงปัจจุบันคดียังอยู่ในขั้นฎีกา ซึ่งจะมีการพิจารณาคดีในวันที่ 11 พ.ย. 2557

เรวดีให้ข้อมูลต่อไปว่า ปัจจุบันในพื้นที่ซึ่งมีข้อพิพาทเกิดขึ้นและมีปัญหาความรุนแรงนี้ มีคนอย่างน้อยสองกลุ่มหลักๆ ที่เข้าอยู่ในพื้นที่ โดยคนกลุ่มแรกคนชาวบ้านที่เข้าไปตั้งรกราก สร้างที่ทำกิน โดยได้รับความชอบธรรมจากมติครม. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ซึ่งรัฐอนุญาตให้ชาวบ้านที่ไร้ที่ทำกินอาศัยอยู่ในพื้นที่ไปก่อน จนกว่านายทุนจะออกจากพื้นที่และสามารถจัดสรรที่ดินทำกินได้ และคนกลุ่มที่สองคน กลุ่มผู้ที่ซื้อที่ดินต่อจากกลุ่มนายทุน ซึ่งในทางกฎหมายนั้นไม่สามารถทำการซื้อขายที่ดินได้ เพราะเป็นที่ดินของ ส.ป.ก. ฉะนั้นหากอ้างตามมติครม. ชาวชุมชนคลองไทรฯจึงมีความชอบธรรมในพื้นที่มากกว่า กลุ่มผู้ร้อง 13 ราย ที่ได้ร้องเรียนมายังเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งทางส.ป.ก เองก็ได้ทำการประกาศเตือนผู้ที่อาจจะหลงเชื่อการประกาศขายที่ดินอย่างเป็นทางการแล้ว

ทั้งนี้ด้านนายวัชรินทร์ พุ่มจิตร์ นายอำเภอชัยบุรี ได้กล่าวว่าปัญหากรณีพื้นที่พิพาทระหว่างชุมชนกับบริษัทและผู้ที่ซื้อที่ดินต่อจากบริษัทนั้นเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามล่าสุดทางด้านผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฏร์ธานีได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา และกำลังจะมีการประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออกในวันที่ 3 พ.ย. นี้

วัชรินทร์ กล่าวด้วยว่า ในการแก้ไขปัญหานั้นจะมีการดำเนินที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่ายให้มากที่สุด จะไม่มีความเห็นโน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายใด แต่จะพิจารณาไปตามหลักการและเหตุผล

ด้านนายสุพจน์ กาฬสงค์ หนึ่งในชาวชุมคลองไทรฯ ได้เล่าถึงเหตุการณ์พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยว่า ก่อนหน้านี้ได้เกิดเหตุฆาตกรรมชาวบ้านในชุมชนไปถึง 3 ราย โดยรายแรกถูกยิงเมื่อปี 2553 และอีก 2 รายต่อมาถูกยิงเมื่อ 2555 แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครสามารถเอาผิดกับผู้ก่อเหตุได้ และหนึ่งในผู้ก่อเหตุยังเดินทางเข้ามาในชุมชนพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหารเมื่อวันที่ 16 ส.ค. และ 24 ก.ย. อีกด้วย และกล่าวต่อว่า เหตุใดทางเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเข้ามาตรวจสอบ ตรวจค้นในชุมชน จึงมั่นใจว่าที่เข้ามาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ที่เข้าอยู่ในพื้นที่อย่างถูกต้อง และทำไมจึงไม่มีการตรวจสอบสิทธิ์เข้าอยู่ในพื้นที่ของฝ่ายผู้ร้องบ้าง

ต่อกรณีเหตุการณ์ฆาตกรรมชาวบ้าน 3 ราย ตัวแทนจากกรมสืบสวนคดีพิเศษซึ่งได้เข้าร่วมประชุมด้วยได้ให้ข้อมูลว่า ในกรณีการฆาตกรรมชาวบ้านทั้ง 3 รายนั้น จากข้อมูลของทีมสืบสวนที่ตนมีอยู่ยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ยังได้กล่าวว่ายินดีที่จะดำเนินการให้ โดยขอข้อมูลเบื้องต้นจากตัวแทนชาวชุมชนคลองไทรฯไว้ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุม

ด้านนพ.นิรันดร์ ได้ให้ความเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหากรณีชุมชนคลองไทรฯ ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า การเข้าแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่ทหารนั้นควรมีการดำเนินการอย่างเป็นธรรมกับทุกๆฝ่าย และควรจะมีการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด และรอบด้าน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย พร้อมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ทหารเร่งหามาตรการดูแลความปลอดภัยของคนในชุมชนคลองไทรฯ เพราะมีความกังวลว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากใกล้ถึงวันที่ ศาลฎีกาจะพิจารณาคดี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ทบ.ยันไม่เลิก 'อัยการศึก' ชี้ไม่กระทบชีวิตประจำวัน

$
0
0
ผู้บัญชาการทหารบก แจงสถานการณ์ยังไม่สงบจึงต้องคงกฏอัยการศึกไว้ก่อน เชื่อทุกฝ่ายเข้าใจ-ไม่ส่งผลกระทบชีวิตประจำวัน
 
30 ต.ค. 2557  สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณายกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่ว่า ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงมีความเข้าใจถึงข้อเรียกร้อง ในการขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก แต่เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศแล้ว มองว่า ยังมีความจำเป็นต้องใช้แนวทางที่จะทำให้มีความสงบมากที่สุด จึงยังคงต้องใช้กฎหมายพิเศษนี้ ซึ่งหากยกเลิกไป อาจจะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจ เพราะไม่ส่งผลกระทบในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้หากย้อนกลับไป 6 - 7 เดือนที่แล้ว จะเห็นว่าสถานการณ์ภายในประเทศมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีพยายามทำงานให้ดีที่สุด เพื่อเดินหน้าประเทศไทย จึงขอให้ทุกฝ่ายให้โอกาสและเวลา พร้อมทั้งให้กำลังใจในการทำงาน

สำหรับการประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2447 ทั่วราชอาณาจักร เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อเวลา 3.00 น. ของวันที่ 20 พ.ค. 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์เยือนกัมพูชา - ภริยาเยี่ยมศูนย์การสอนภาษาไทย

$
0
0

พล.อ.ประยุทธ์ - ฮุน เซน ลงนามความเข้าใจ 3 ฉบับ หวังร่วมมือเศรษฐกิจ พัฒนาชายแดน ด้านภริยา พล.อ.ประยุทธ์ ชมศูนย์การสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ และย้ำว่ารู้ภาษาไทยจะมีโอกาสทั้งเรียนต่อและทำงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 (ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

 

ประยุทธ์เยือนกัมพูชา ลงนามความเข้าใจ 3 ฉบับ หวังร่วมมือชายแดน-เศรษฐกิจการลงทุน

30 ต.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่า อภิสิทธิ์ จันทร์เต็ม ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งร่วมเดินทางไปรายงานภารกิจนายกรัฐมนตรี รายงานจากราชอาณาจักรกัมพูชาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง เข้าพบและหารือข้อราชการเต็มคณะ กับ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณที่กัมพูชาเข้าใจและสนับสนุนรัฐบาลต่อสถานการณ์การเมืองไทย โดยเห็นว่า ความสัมพันธ์กำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีมาก ซึ่งไทยประสงค์ที่จะเห็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและความเชื่อมโยงระหว่างกัน (connectivity) รวมถึงส่งเสริมสายสัมพันธ์ของประชาชนให้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในอนาคต พร้อมเสนอให้มีการจัดการประชุมระดับผู้นำประจำปีอย่างไม่เป็นทางการ (Annual Leaders’ Retreat) และใช้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม (JCBD) ไทย-กัมพูชา ซึ่งไทยพร้อมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 2 ที่เสนอให้จัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม

ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ ได้เน้นย้ำความร่วมมือเพื่อการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ที่ไทยมุ่งผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในส่วนที่ติดกับกัมพูชาที่จังหวัดสระแก้วและจังหวัดตราด และเสนอให้ตั้งคณะทำงานภายใต้กลไก JCBD ตลอดจนการพิจารณาปรับปรุงระบบการสัญจรข้ามแดนให้สะดวกรวดเร็ว ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม รวมถึงหารือเกี่ยวกับการเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท ซึ่งฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และการออกแบบรายละเอียด และโครงการสร้างสะพานรถไฟไทย-กัมพูชา เพื่อเชื่อมต่อบ้านคลองลึก – ปอยเปต

ส่วนการค้าการลงทุนนั้น กัมพูชานับเป็นจุดหมายสำคัญของนักธุรกิจไทย ทั้งในแง่การเป็นตลาดสินค้า และแหล่งลงทุน จึงขอให้มีการเร่งขจัดอุปสรรคต่อความร่วมมือ ส่วนการจัดตั้งศูนย์รับซื้อผลิตผลการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นความริเริ่มระหว่างการหารือกันที่นครมิลานนั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เกิดการหารือในระดับคณะทำงาน นอกจากนี้ ยังหารือความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว สกัดกั้นอาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบตัดไม้

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณกัมพูชา ที่ส่งทีมเคลื่อนที่มาพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวกัมพูชาในไทย ขณะที่โครงการเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไทยยืนยันความร่วมมือ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า จะต้องแก้ปัญหาผ่านการเจรจา ไม่ให้ปัญหาที่คั่งค้างเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ เน้นการสร้างความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว

ภายหลังการหารือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ จากนั้น นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ณ พระบรมมหาราชวัง และช่วงค่ำ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและภริยา เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี

 

ภริยา พล.อ.ประยุทธ์ เยี่ยมชมศูนย์การสอนภาษาไทยในพนมเปญ

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานด้วยว่า รองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยภริยานายกรัฐมนตรีกัมพูชา เดินทางเยี่ยมชมศูนย์การสอนภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ พร้อมรับฟังรายงานความเป็นมาของศูนย์การสอนภาษาไทย

โดยภริยานายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีที่ภาษาไทยเป็นที่นิยมของนักศึกษา และขอบคุณรัฐบาลกัมพูชา และผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ผลักดันให้มีการเปิดภาควิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาของประเทศในอาเซียนภาษาแรก ที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยพนมเปญ ซึ่งการเรียนรู้ภาษาไทยจะช่วยให้มีโอกาสในการศึกษาต่อและการทำงาน ขณะเดียวกัน ประเทศไทยให้ความสำคัญกับภาษากัมพูชา ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ชายแดนที่ติดต่อกับกัมพูชา นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม และเพิ่มพูนความเข้าใจซึ่งกันและกัน อันนำไปสู่การพัฒนาเครือข่ายความสัมพันธ์ หรือการฑูตภาคประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ทั้งนี้ หลังการเยี่ยมชมแล้ว ภริยานายกรัฐมนตรี มอบอุปกรณ์การเรียนการสอนให้แก่ศูนย์การสอนภาษาไทย โดยมีผู้แทนนักศึกษา กล่าวขอบคุณภริยานายกรัฐมนตรี เป็นภาษาไทย จากนั้นภริยานายกรัฐมนตรี เดินทางออกจากโรงแรมที่พัก ไปยังพระราชวังเขมรินทร์ เพื่อเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ร่วมกับนายกรัฐมนตรี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลลำปางนัด 2 ธ.ค.พิพากษาคดี ‘ลุงเผ่าอาข่า’ บุกรุกป่าสงวน

$
0
0
ผลคำสั่ง คสช.64/2557 สั่งปราบปราม-หยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าไม้ อัยการส่งฟ้องคดีนายอาแม อามอ ลุงเผ่าอาข่า กล่าวหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ศาลลำปางสั่งสืบเสาะข้อเท็จจริง ก่อนนัดพิพากษา 2 ธ.ค.นี้
 
30 ต.ค. 2557 ที่ศาลจังหวัดลำปาง พนักงานอัยการจังหวัดลำปางได้ยื่นฟ้อง นายอาแม อามอ ชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง อ.งาว จ.ลำปาง ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่อุทยาน และฝ่ายปกครอง ได้สนธิกำลังกันเข้าตัดฟันต้นยางพารา ทุเรียน และเงาะในพื้นที่ดังกล่าว ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และได้ดำเนินคดีกับนายอาแม
 
สำหรับคำฟ้องในกรณีนี้ ได้แยกเป็น 3 คดี ในข้อหาเดียวกัน คือฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ในการแผ้วถาง ก่นสร้าง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไมได้รับอนุญาต และยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต
 
ในแต่ละคดีนั้น ได้ระบุถึงพื้นที่ที่ถูกบุกรุกต่างแปลงกันไป โดยทั้งหมดอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง รวมแล้วเป็นพื้นที่ 80 กว่าไร่ และเป็นค่าเสียหายต่อรัฐราว 4.6 ล้านบาท
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังพนักงานอัยการสั่งฟ้อง นายอาแมได้ถูกควบคุมตัวไปยังเรือนจำใต้ถุนศาล จากนั้นเจ้าหน้าที่ศาลได้สอบถามคำให้การของจำเลย โดยไม่ได้มีการนำตัวขึ้นมายังห้องพิจารณาคดีแต่อย่างใด และจำเลยได้รับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยไม่ได้มีทนายความอยู่ด้วย รวมทั้งไม่ได้มีล่ามในระหว่างการสอบถาม มีแต่เพียงการให้เจ้าหน้าที่เชิญญาติคนหนึ่งลงไปร่วมสอบถามในช่วงท้าย โดยนายอาแมมีปัญหาในการอ่านและสื่อสารภาษาไทย
 
จากนั้น ศาลได้สั่งให้มีการสืบเสาะ โดยให้พนักงานคุมความประพฤติได้ดำเนินการสืบเสาะข้อเท็จจริง ทั้งพฤติการณ์ของจำเลย และข้อเท็จจริงของการใช้ที่ดินดังกล่าว พร้อมนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 ธ.ค. 2557 ก่อนที่ญาติของนายอาแมจะใช้โฉนดที่ดินและหลักทรัพย์เช่า จำนวนรวม 300,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ในการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัว
 
นายอาแม อามอ (รูปภาพจากเพจ พลิกฟื้นผืนดินไทย)
 
ทั้งนี้ นายอาแม อามอ อายุ 71 ปี เป็นชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์อาข่า มีอาชีพทำนาทำไร่อยู่ที่บ้านห้วยน้ำตื้น ต.ปงเตา อ.งาว จ.ลำปาง จากคำบอกเล่าของนายอาแมและลูกชาย นายอาแมได้ทำนาข้าวและปลูกข้าวโพดในพื้นที่ราว 30 ไร่ มาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี ก่อนที่จะหันมาปลูกยางพาราตามนโยบายส่งเสริมของรัฐบาลตั้งแต่เมื่อ 11 ปีก่อน จนต้นยางโตพอที่จะกรีดได้แล้ว รวมทั้งยังปลูกทุเรียนและเงาะในพื้นที่ที่ครอบครองและใช้ประโยชน์ดังกล่าวด้วย โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็เคยมีการมาตรวจดูพื้นที่ แต่ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ
 
จนกระทั้งมีการประกาศใช้คำสั่งคสช.ฉบับที่ 64/2557เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ (ลงวันที่ 14 มิ.ย.57) ในวันที่ 14 ก.ค. 57 เจ้าหน้าป่าไม้ของอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท อ.งาว ได้มีการดำเนินการติดป้ายประกาศทวงคืนหลายพื้นที่ในบริเวณอุทยาน เนื่องจากเป็นพื้นที่เตรียมการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า
 
จากนั้นในวันที่ 22 ก.ค.57 ได้มีการสนธิกำลังทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมแล้วหลายร้อยนาย เข้าตัดฟันยางพาราจำนวนกว่า 3,200 ต้น ต้นทุเรียน 208 ต้น และต้นเงาะอีกหลายสิบต้น ทั้งต่อมาได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อนายอามอในการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน
 
ป้ายประกาศทวงคืนพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
 
สำหรับพื้นที่ป่าแม่โป่งนั้น ได้มีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2522 ตามกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับที่ 866 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507
 
อนึ่ง คำสั่งคสช.ฉบับที่ 66/2557ได้ระบุด้วยว่าการดำเนินการใดๆ ในการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images

<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>
<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596344.js" async> </script>