Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

เผย 'สหภาพรัฐสภา' มีมติ คงความเป็นสมาชิกภาพ สนช.

$
0
0

สนช. เผยสหภาพรัฐสภา (IPU) คงสมาชิกภาพ สนช. แม้เกิดรัฐประหาร เหตุเข้าหลักเกณฑ์ที่มีสถานะเป็นรัฐสภา เพราะมาจากการจัดตั้งจากกฎหมายภายในประเทศ มีอำนาจนิติบัญญัติ รวมทั้งมีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร มีโรดแมป-กำหนดการเลือกตั้ง


22 ต.ค. 2557 วีระศักดิ์ ฟูตระกูล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทน สนช. ในการประชุมสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) ครั้งที่ 131 ระหว่างวันที่ 10-16 ตุลาคม 2557 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส แถลงว่า แม้ไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของ IPU ได้มีมติเอกฉันท์ให้ สนช.คงสิทธิความเป็นสมาชิกภาพของ IPU อย่างสมบูรณ์ สามารถเข้าร่วมได้ทุกกิจกรรม ไม่ถูกตัดสิทธิใดๆ ซึ่งแตกต่างจากมติของคณะกรรมการบริหารของ IPU เมื่อปี 2549 ซึ่งไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และ IPU ได้ให้ สนช.ขณะนั้นดำรงสมาชิกภาพได้แต่ถูกห้ามไม่ให้การร่วมกิจกรรมใดๆ

วีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า IPU ซึ่งมีสมาชิก 164 รัฐสภาของประเทศต่างๆ ให้การดำรงสิทธิในการเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ครั้งนี้ เนื่องจาก สนช. และ กระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมชี้แจง ถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก่อนกำหนดใช้รัฐธรรมนูญ และจัดตั้ง สนช. เข้าทำหน้าที่รัฐสภาอย่างสมบูรณ์ ซึ่งล้วนเป็นไปตามธรรมนูญของ IPU ที่มีเกณฑ์การเป็นสมาชิกว่าต้องเป็นรัฐสภาตามนิยามที่กำหนดไว้ 3 ข้อ คือเป็นรัฐสภาที่มาจากการจัดตั้งจากกฎหมายภายในประเทศนั้นๆ มีอำนาจนิติบัญญัติ และมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบฝ่ายบริหาร อีกทั้งไทยได้ชี้แจงถึงแผนการปฏิรูปประเทศหรือโรดแมป (Road Map) ที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม มีการกำหนดถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งทาง IPU ให้ความเชื่อมั่น พร้อมแสดงความหวังว่าไทยจะดำเนินตามโรดแมป และจัดการเลือกตั้งต่อไป

 

ที่มา:สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ รัฐสภา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วุฒิพงศ์ เผยสำนวนคดีจำนำข้าวยังไม่สมบูรณ์ ให้รอติดตามความคืบหน้าการประชุมครั้งถัดไป

$
0
0

หัวหน้าคณะทำงานอัยการ พิจารณาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เผยการพิจารณายังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากสำนวนคดีดังกล่าวยังมีข้อไม่สมบูรณ์ในหลายประเด็น หากการประชุมครั้งต่อไปไม่ได้ข้อยุติ ป.ป.ช. สามารถส่งฟ้องเองได้

22 ต.ค. 57 – สำนักข่าวไทยรายงานว่า วันนี้ 22 ต.ค. นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์  รองอัยการสูงสุด  ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานอัยการ พิจารณาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีตั้งคณะทำงานประชุมร่วมกันระหว่าง อัยการกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ในการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนคดีว่า  ขณะนี้กระบวนการพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากสำนวนคดีดังกล่าวยังมีข้อไม่สมบูรณ์ในหลายประเด็น

ส่วนกรอบระยะเวลา 14 วันในการพิจารณานั้น เป็นเพียงกรอบระยะเวลาในการเร่งรัดเท่านั้น ซึ่งคงไม่มีผลต่อการพิจารณาคดี และถึงแม้จะเลยกรอบระยะเวลามาแล้วก็ตาม ถ้าหากคณะทำงานร่วมมีความเห็นสั่งฟ้องก็ยังสามารถฟ้องคดีต่อศาลฎีกานักการ เมืองได้  ซึ่งคงจะต้องรอติดตามความคืบหน้าในการประชุมครั้งถัดไป  โดยทางคณะทำงานร่วมได้นัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 7 พ.ย.นี้

เมื่อถามว่าถ้าหากในการประชุมวันที่ 7 พ.ย. นี้ ยังไม่ได้ข้อยุติ  หาก ป.ป.ช. จะฟ้องคดีเองสามารถทำได้หรือไม่  นายวุฒิพงศ์  กล่าวว่า  ก็เป็นเรื่องของทาง ป.ป.ช.  แต่ตามกฎหมายทาง ป.ป.ช.ก็สามารถฟ้องคดีเองได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิปรัฐบาลถกนัดแรก เร่งกฎหมายปฏิรูป 27 ต.ค.นี้

$
0
0
‘สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ’ เผย คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เตรียมถกนัดแรก 27 ต.ค.นี้ ‘ประยุทธ์’ ย้ำเร่งกฎหมายปฏิรูป 4 ด้าน
 
22 ต.ค. 2557 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปรัฐบาล) จำนวน 22 คน ไปเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ได้กำหนดให้มีการประชุมวิปรัฐบาลนัดแรกในวันที่ 27 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณากฎหมายที่จะเข้าสู่การพิจารณา สนช. ตามบัญชีรัฐบาล ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย และพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม รอง ผบ.สส. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ร่วมจัดทำเพื่อให้ไปเป็นโรดแม็ป
 
ทั้งนี้ นายกฯ ย้ำว่า การทำงานวิปรัฐบาลให้เน้นเร่งกฎหมาย 4 ด้าน คือ 1.กฎหมายที่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ 2.กฎหมายที่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ ลดความเหลื่อมล้ำ 3.กฎหมายที่เกี่ยวการปฏิรูปประเทศ และ 4.กฎหมายที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างส่วนราชการ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มท.เตรียมส่งกรรมการลงพื้นที่ติดตามการใช้งบ อปท.

$
0
0
รมว.มหาดไทย เผย เตรียมตั้งกรรมการลงพื้นที่ติดตามการใช้งบท้องถิ่นเสริมงานผู้ว่าฯ หลัง ป.ป.ช.ระบุ องค์การปกครองท้องถิ่นถูกร้องเรียนติดอันดับ คาดเสนอบัญชีแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงเข้า ค.ร.ม.สัปดาห์หน้า
 
22 ต.ค. 2557 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่าในปีที่ผ่านมาองค์การปกครองท้องถิ่น (อปท.) และกรมที่ดินติดอันดับการถูกร้องเรียน ว่า นอกจากการดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว จะส่งคณะกรรมการที่มีผู้ตรวจราชการกระทรวงร่วมกับคณะทำงานของรัฐมนตรีลงพื้นที่ไปกำกับดูแลการใช้งบประมาณของ อปท. ด้วย โดยจะลงไปดูว่า อปท. ได้ทำตามแผนงานที่เสนอไว้และทำตามกฎระเบียบหรือไม่ เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้การทุจริตลดน้อยลง
 
“จะพยายามดูให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด เพราะ อปท. มีจำนวนมากกว่า 70,000 แห่ง ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีการร้องเรียนมา เมื่อพบการทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมาย การร้องเรียนทำได้ทุกทางจะร้องผ่านศูนย์ดำรงธรรม หรือร้องมาที่กระทรวงโดยตรง หรือร้องป.ป.ช.ก็ได้ จะได้ตรวจสอบ การที่เราจะมีกรรมการตรวจสอบก็เป็นสิ่งเติมเต็มให้การตรวจสอบมีความสมบรูณ์มากขึ้น จะได้ดำเนินการกับคนผิดเพื่อป้องกันคนกล้าโกง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว
 
ส่วนกรณีทุจริตของกรมที่ดิน พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ได้มอบนโยบายแล้วว่าทุกเรื่องจะต้องทำให้ถูกกฎหมาย ปัญหาที่พบมากที่สุดคือที่ดินที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องตรวจสอบ ถ้ามีความผิดเกิดขึ้นจะดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะนำเรื่องนี้เสนอเป็นประเด็นให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กำหนดเป็นประเด็นปฏิรูป อย่างไรก็ตาม ขอให้ สปช.มีความพร้อมในการทำงานชัดเจนกว่านี้ก่อน
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบวิสัยทัศน์ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ว่างจำนวน 18 ราย และผู้ตรวจราชการกระทรวง 4 ราย หากคณะกรรมการพิจารณาเสร็จจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์มีแผนเร่งรัดการทำงานในเชิงรุกโดยกำหนดให้ประชุมคณะทำงานฝ่ายการเมืองทั้งที่ปรึกษาและเลขานุการทุกคน ร่วมกับฝ่ายข้าราชการประจำทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี โดยวันจันทร์จะประชุมทีมการเมืองร่วมกับปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวงและหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง ส่วนวันพฤหัสบดีจะเป็นการประชุมทีมการเมืองร่วมกับปลัดกระทรวง และอธิบดีทุกกรมและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.คลัง ออกกฎกระทรวงเว้นภาษีทหาร 'โครงการเกษียณก่อนกำหนด'

$
0
0

22 ต.ค. 2557 หลังรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ข้าราชการทหาร ซึ่งออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของ กระทรวงกลาโหม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 82/2557 เรื่อง เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 โดยกำหนดให้เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการและเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้รับ เมื่อออกจากราชการตามโครงการดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้


ล่าสุด วันนี้ มีการเผยแพร่กฎกระทรวง ฉบับที่ 304 (พ.ศ. 2557) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงนามโดยนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2557 มีรายละเอียดดังนี้

กฎกระทรวงดังกล่าว  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กำหนดให้เงินได้ดังต่อไปนี้เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้

(1) เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของ กระทรวงกลาโหม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 82/2557 เรื่อง เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
 
(2) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้รับจากกองทุน บำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่อออกจากราชการ ตาม (1)

ข้อ 2 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป
 

ที่มา: มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ค้าน! กฎหมายแร่ฉบับ คสช. เครือข่ายประชาชนฯ จวกเอื้อประโยชน์นายทุน ยันต้านถึงที่สุด

$
0
0
องค์กรชาวบ้าน-เอ็นจีโอ ‘เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ประเทศไทย’ เดินหน้าค้าน หลังรัฐบาลประยุทธ์ อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แร่ จวกฉวยโอกาสเร่งผลักดันกฎหมายเอื้อนายทุน ผลกระทบเดิมยังไม่แก้ ไม่สมกับคำว่าคืนความสุขให้ประชาชน
 
22 ต.ค. 2557 องค์กรชาวบ้านในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ และองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ที่ทำงานติดตามนโยบายการจัดการทรัพยากรแร่ และปัญหาการทำเหมืองแร่ที่มีผลกระทบต่อชุมชน ในนาม ‘เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ประเทศไทย’ ออกมาคัดค้านการผ่านร่างกฎหมายแร่
 
หลังจากเมื่อวาน (21 ต.ค.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งนำโดยพลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประชุม ครม. และมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ตามลำดับ
 
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ... เป็นการยกเลิกกฎหมายว่าด้วยแร่ และกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ทุกฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่หลายประเด็น อาทิ การลดขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตให้สั้นลง ผู้ประกอบการสามารถรับบริการขออนุญาตทำเหมืองแล้วเสร็จในจุดเดียว หรือ One stop service กำหนดอัตราค่าภาคหลวงแร่ใหม่และจัดสรรผลประโยชน์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น
 
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งประเภทและการออกประทานบัตรการทำเหมืองแร่ออกเป็น 3 ประเภท คือ การทำเหมืองประเภทที่ 1 ได้แก่ การทำเหมืองในเนื้อที่ไม่เกินหนึ่งร้อยไร่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตจังหวัดที่มีการทำเหมืองเป็นผู้ออกประทานบัตร การทำเหมืองประเภทที่ 2 ได้แก่ การทำเหมืองในเนื้อที่ไม่เกินหกร้อยยี่สิบห้าไร่ ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เป็นผู้ออกประทานบัตร
 
และการทำเหมืองประเภทที่ 3 ได้แก่ การทำเหมืองในทะเลการทำเหมืองใต้ดินตามที่กำหนดในหมวด 5 การทำเหมืองที่ไม่ใช่การทำเหมืองประเภทที่ 1 หรือการทำเหมืองประเภทที่ 2 ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ออกประทานบัตร ซึ่งปัจจุบันกฎหมายแร่ไม่ได้มีการแบ่งประเภทและรัฐมนตรีเป็นผู้ออกประทานบัตร
 
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน เปิดเผยว่า ตนมีเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการผ่านร่างกฎหมายแร่ของครม. ได้แก่ 1.รัฐบาลประยุทธ์ไม่ควรเร่งรีบฉกฉวยโอกาสผลักดันออกกฎหมายแร่ในขณะนี้ แต่ควรจะมีการประเมินศักยภาพแร่ทั้งประเทศ ทุกชนิด ว่ามีปริมาณเท่าไร อยู่ที่ไหนบ้าง และมีการใช้ประโยชน์อย่างไร แล้วประกาศให้สาธารณะทราบ 2.การกระจายอำนาจแบ่งประเภทการออกประทานบัตรตามร่างกฎหมายแร่ฟังเหมือนจะดูดี หากแต่เป็นการกระจายการคอรัปชั่นมาสู่ทุกกระบวนการ ซึ่งในอนาคตนายทุนจะวิ่งเข้าหาผู้ว่าฯ เข้าหาท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น 3.ปัญหาของการทำเหมืองคือเรื่องผลประโยชน์ซึ่งประเทศชาติจะได้รับยังไม่มีความชัดเจน
 
“การเร่งรีบผ่านกฎหมายแร่มันไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมือง เพราะขณะนี้ประเทศไทยกำลังพูดถึงการปฏิรูปการเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม ผมจึงเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นให้ผ่าน อย่างน้อยก็ควรให้มีรัฐธรรมนูญที่ชัดเจนก่อน และให้กฎหมายแร่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับร่างกฎหมาย” นายสุวิทย์ กล่าว
 
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของเครือข่ายเหมืองฯ จะติดตามเนื้อหาของร่างกฎหมายแร่ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และจะมีการคัดค้านการออกกฎหมายแร่ในทุกกระบวนการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
 
ด้านนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ เลขานุการกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวว่า เดิมทีการทำเหมืองแร่ทั้งหมดก็มีผลกระทบมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะแร่ทองคำ และพิกัดอัตราก็ไม่เป็นธรรม ดังนั้นการที่ ครม. มีมติผ่านร่างกฎหมายแร่ ตนจึงเห็นว่าจะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการสามารถขออนุญาตได้เร็วขึ้น ซึ่งปัญหาผลกระทบก็จะมีมากขึ้น สังคมและสิ่งแวดล้อมก็จะเสื่อมโทรมเร็วขึ้นตามไปด้วย เหมือนกับที่นี่ที่ทหารกำลังเข้าควบคุมแร่ทองคำเพื่อให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น
 
นางสมหมาย หาญเตชะ ประธานกลุ่มคนรักษ์บ้านแหง พื้นที่การขอประทานบัตรเหมืองแร่ลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายแร่ ที่ครม.ผ่านความเห็นชอบ โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายข้าราชการ ซึ่งจะทำให้กระบวนการอนุมัติ อนุญาตทำเหมืองง่ายขึ้น และหลบเลี่ยงการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้งนี้ หากยกตัวอย่างว่ามีการขอทีละ 100 ไร่ๆ หลายๆ แปลง โดยผู้ว่าฯ สามารถอนุมัติได้เลยมันก็จะกลายเป็นพัน เป็นหมื่นไร่ มีปัญหาผลกระทบตามมามากมาย
 
สุดท้ายนางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ชาวบ้านจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ซึ่งเป็นเหมืองใต้ดิน อยู่ระหว่างการยื่นคำขอประทานบัตรทำของผู้ประกอบการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ ก็มีสาเหตุมาจากการออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ซึ่งปัจจุบันผลกระทบก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข แล้วรัฐบาลยังจะมาผลักดันกฎหมายแร่อีก ซึ่งไม่มีความเป็นธรรมและไม่สมกับคำว่าจะคืนความสุขให้กับประชาชน และเมื่อรัฐบาลไม่ฟังเสียงของประชาชน พวกเราก็จะต่อสู้คัดค้านจนถึงที่สุด
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิป สปช. มีมติสรรหาคนนอก ร่วมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ย้ำ 28 ต.ค. คลอดรายชื่อ

$
0
0

วิป สปช. ชั่วคราว มีมติสรรหากรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน โดยเลือกจาก สปช. 15 คน แบ่งโควตาให้คนนอกอีก 5 คน โดยจะมีการลงมติคัดเลือกกันในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ยันพยายามหาบุคลที่มีความหลากหลายทางความคิด

22 ต.ค. 57 ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญประสานงานกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ วิป สปช.ชั่วคราว ว่าที่ประชุมมีมติส่งสมาชิก สปช. ร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 15 คน และอีก 5 คน มาจากการสรรหาบุคคลภายนอก โดยจะนัดประชุมในวันจันทร์ที่  27 ต.ค. เพื่อให้ที่ประชุม สปช. พิจารณาเห็นชอบหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งเมื่อที่ประชุมเห็นชอบแล้ว จะให้ส่งสมาชิก สปช.แต่ละสาขาทั้ง 11 ด้าน และ 4 ภาค แยกไปประชุมพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมสาขาละ 1 คน

เทียนฉาย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นคนนอกให้เป็นหน้าที่ของวิป สปช.เป็นผู้สรรหา และเสนอชื่อ จากนั้นจะนัดประชุมลงมติคัดเลือกกันในวันที่ 28 ต.ค. ซึ่งวันนั้นจะได้ตัวแทนจาก สปช. 15 คน ขณะที่คนนอกอีก 5 คน อาจจะต้องประชุมวิป สปช. เพื่อพิจารณาบุคคลที่เหมาะสม และขอความเห็นชอบจากที่ประชุม สปช.ต่อไป โดยจะพยายามหาบุคคลที่มีความหลากหลายทางความคิด เข้ามาร่วมเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนนี้ โดยมีคุณสมบัติ คือความเหมาะสมไม่ซ้ำซ้อนกับคุณสมบัติที่สมาชิก สปช.15 คน และจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เช่นไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักวิชาการ หรือเป็นนักกฎหมาย เพราะเมื่อถึงตอนยกร่าง สามารถใช้นักกฎหมายเข้ามาช่วยยกร่างทางเทคนิคได้

ทั้งนี้ที่ประชุมวิป สปช.ชั่วคราว มีมติแต่งตั้งนายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานวิป สปช. ชั่วคราว  นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ น.ส.ทัศนา บุญทอง เป็นรองประธานวิป นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นเลขานุการ และนายวันชัย สอนศิริ เป็นโฆษก วิป สปช.

ที่มา : สำนักข่าวไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มือปืนบุกยิงทหารดับ 1 ก่อนวิ่งเข้ารัฐสภาแคนาดา

$
0
0


22 ต.ค. 2557 มีรายงานว่า เกิดเหตุการณ์ยิงกันในกรุงออตตาวา เมืองหลวงของแคนาดา โดยเหตุเกิดจากมีมือปืนยิงทหารที่เฝ้าอนุสรณ์สถานสงครามแห่งชาติ ก่อนวิ่งเข้าไปในอาคารรัฐสภา

ตำรวจนายหนึ่งทวีตว่าเกิดเหตุยิงกันที่อนุสรณ์สถานเมื่อเวลา 9.52 น. ตามเวลาประเทศแคนาดา หรือตรงกับเวลา 20.52 น.ตามเวลาประเทศไทย

โดยที่รัฐสภามีมือปืนถูกยิงเสียชีวิตหนึ่งราย ขณะตำรวจกำลังตามล่าหาผู้ต้องสงสัยอีกหนึ่งหรือมากกว่านั้น

ล่าสุด ตำรวจออตตาวาแถลงว่านายทหารซึ่งถูกยิงเสียชีวิตแล้ว

ส่วนสื่อแคนาดารายงานว่าผู้นำคือนายกรัฐมนตรี Stephen Harper ปลอดภัย ส.ส.พรรคลิเบอรรัล จอห์น แมคเคย์ซึ่งก่อนหน้านี้หลบอยู่ในอาคารบอกนักข่าวว่า เขาได้ยินเสียงปืนดังขึ้นประมาณสิบนัด แต่ตอนแรกไม่แน่ใจว่าเป็นเสียงปืน แล้วเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็เข้ามาสั่งให้ทุกคนไปหลบด้านหลังของอาคาร

ด้าน นสพ.วอลสตรีทเจอนัลรายงานว่า มีมือปืนทั้งหมดสามคน ส่วนแฟรงค์ การ์ดเนอร์นักวิเคราะห์ข่าวความมั่นคงของบีบีซีทวีตว่า ทหารแคนาดาสั่งปิดฐานทั่วประเทศตอนนี้

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังแคนาดายกระดับการเตือนภัยการก่อการร้าย หลังทหารรายหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือน ต.ค. แคนาดาได้ประกาศแผนเข้าร่วมการโจมตีทางอากาศนำโดยสหรัฐอเมริกา เพื่อต้านกลุ่มไอเอส (ไอซิส) ในอิรัก อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลยืนยันใดๆ ว่าการโจมตีในสัปดาห์นี้ เกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอสหรือการโจมตีทางการทหารครั้งล่าสุดนี้
 

 

เรียบเรียงจาก
http://www.bbc.com/news/world-us-canada-29724907
https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1570155909872110

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บ.ลินเด้ แจงเปลี่ยนสภาพการจ้างเป็นคุณแก่ลูกจ้าง หลังองค์กรแรงงานเรียกร้องให้พูดคุยกัน

$
0
0

23 ต.ค. 2557 ฝ่ายบริหารของบริษัทลินเด้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงกรณีที่สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ออกมาคัดค้านการเปลี่ยนข้อบังคับในการทำงานของบริษัทฯ หลังองค์กรแรงงานเรียกร้องให้มีการเจรจาพูดคุยกัน

โดยเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมาฝ่ายบริหารของบริษัทลินเด้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงกรณีที่สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ออกมาคัดค้านการเปลี่ยนข้อบังคับในการทำงานของบริษัทฯ ดังนี้

ตามทีท่านได้มีหนังสือที่ สร. ทีไอจี 077/2557 ถึงบริษัทฯ เพื่อคัดค้านระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทฯ ฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 นั้นบริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่าระเบียบข้อบังคับฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงสภาพการจ้างงานฉบับปัจจุบัน และเป็นคุณแก่ลูกจ้างมากกว่าฉบับเดิม โดยระเบียบข้อบังคับฉบับใหม่ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2557เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบข้อบังคับเดิม ฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 ดังนี้

1. แก้ไขเพิ่มเติมวันหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับพนักงานให้สอดคล้องกับข้อตกลงสภาพการจ้างระหว่างบริษัทฯ กับสหภาพแรงงานฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557 ทีผ่านมา

2. แก้ไขเพิ่มเติมให้มีความเป็นคุณแก่พนักงานมากขึ้น โดยให้สิทธิพนักงานจัดส่งสินค้าของบริษัทฯ สามารถมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด จากเดิมที่ไม่มีสิทธิได้รับเนื่องจากพนักงานได้รับเงินชดเชยในลักษณะอื่นแทนการรับเงินล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด เช่น โบนัสท่อ และค่าเที่ยวการขนส่ง เป็นต้น

ซึ่งยึดถือปฏิบัติกันมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี โดยปรากฏหลักฐานชัดเจนนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา ตามที่ปรากฏในระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของบริษัทฯ ฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2542 ที่ระบุชัดเจนว่า พนักงานกลุ่มดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดดังกล่าว จนกระทั้งนี้ เมือวันที่ 1 กันยายน 2556 ทีผ่านมา คณะผู้บริหารของบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้จ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดแก่พนักงานขับรถขนส่งแก๊สของบริษัทฯ ในอัตรา 1 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมงการทำงานปกติตามกฎหมายแรงงาน ส่งผลให้พนักงานจัดส่งสินค้าสามารถได้รับค่าล่วงเวลาเพิ่มเติมจากเดิมทีมีสิทธิได้รับเฉพาะโบนัสค่าท่อและค่าเทียวขนส่งเท่านั้น ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ทำการปรับปรุงแก้ไขระเบียบข้อบังคับฯ ให้สอดคล้องกับการจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานจัดส่งดังกล่าว

อนึ่ง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด ดังกล่าว บริษัทถือปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 12 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ปี พ.ศ. 2541 แห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้ “ในกรณีทีนายจ้างให้ลูกจ้างในงานขนส่งทางบกทำงานล่วงเวลา ในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่ว โมงในวันทำงานตามจำนวนชั่ว โมงทีทำ”

ทั้งนี้ในกรณีที่พนักงานจัดส่งได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติงานสำนักงานนอกเหนือจากงานขนส่งสินค้าหรือมาเข้ารับการฝึกอบรมสัมมนาที่บริษัทฯ จัดขึ้น ก็จะได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุดในอัตราเดียวกันกับพนักงานระดับปฏิบัติการในส่วนงานอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดและตามระเบียบบริษัทฯ ซึ่งมิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมแต่อย่างใด

บริษัทฯ ขอยืนยันว่า ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้ขัดหรือแย้งกับแนวปฏิบัติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ตลอดจน ข้อตกลงแห่งสหประชาชาติหรือ UN Global Compact แต่อย่างใด

บริษัทฯ จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านโปรดเข้าใจตรงกันว่าระเบียบข้อบังคับฉบับ 1 ตุลาคม 2557 จัดทำขึ้นเพียงเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2557 และการจ่ายค่าล่วงเวลาสำหรับพนักงานจัดส่งสินค้า เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการจ้างปัจจุบันและ กฎกระทรวงฉบับที่ 12 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ปี พ.ศ. 2541 แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่ง เป็นคุณแก่ลูกจ้างมากกว่าระเบียบข้อบังคับฉบับเดิม อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากสหภาพแรงงานเพื่อสร้างสรรค์ระบบแรงงานสัมพันธ์ทีดีต่อไป

 

องค์กรแรงงานเรียกร้องให้มีการเจรจาพูดคุยกัน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และสหภาพแรงงานในกลุ่มพลังงานในประเทศไทยซึ่งเป็นพันธมิตรเครือข่ายแรงงานกับสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ได้ออกมาระบุว่าจากการที่ได้รับทราบปัญหาที่มีสาเหตุจากการที่นายจ้างไม่มีการปรึกษาหารือร่วมกับสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ก่อนประกาศลดสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิมนั้น จึงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่เข้าใจบริษัทลินเด้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และกลุ่ม ปตท. น่าจะมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจต่อกัน ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงจำเป็นต้องเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของบริษัทลินเด้ทบทวนในเรื่องการจัดเวทีประชุมหารือกับสหภาพแรงงานโดยเร็ว

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่าสืบเนื่องจากได้มีการรวมกลุ่มผู้นำสหภาพแรงงานในสาขาพลังงานในประเทศไทย ทั้งแรงงานภาครัฐวิสาหกิจและแรงงานภาคเอกชน เพื่อการรณรงค์และส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในสถานประกอบการต้นสังกัดของแต่ละสหภาพแรงงาน ด้วยเชื่อว่าระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี และการส่งเสริมให้ทุกฝ่ายมีทัศนคติที่ดีต่อกัน ให้เกียรติกัน มีความเข้าใจในสิทธิหน้าที่ทั้งด้านผู้ใช้แรงงาน และ สิทธิการบริหาร อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะลดปัญหาความขัดแย้ง นำไปสู่การพัฒนาองค์กรและประเทศอย่างยั่งยืน การให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการเคารพสิทธิแรงงานของฝ่ายบริหารต้นสังกัดของแต่ละสหภาพแรงงาน จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นยิ่ง ด้วยจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับองค์กรธุรกิจด้านพลังงานของภูมิภาคอาเซียนและในระดับโลก

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่าสำหรับความขัดแย้งที่เราได้รับทราบว่ามีสาเหตุจากการละเลยหรือไม่ยินดีที่จะปรึกษาหารือร่วมกับสหภาพแรงงานก่อนประกาศต่อสาธารณะเพื่อปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาโดยไม่จำเป็น ด้วยการไม่เคารพในสิทธิแรงงาน เป็นเรื่องที่ ไม่ควรเกิดขึ้นกับ บริษัทข้ามชาติที่อยู่ภายใต้แนวปฏิบัติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และ ภายใต้ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) รวมถึงการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบทางสังคมของบริษัท (CSR) อย่างบริษัทลินเด้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ด้วยที่ผ่านมาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่าเคยได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน Social Dialog ที่ฝ่ายบริหารของบริษัทให้การสนับสนุนจัดขึ้น และทราบว่า ผู้แทนฝ่ายบริหารที่มาร่วมงาน มีความเข้าใจเรื่องของสิทธิแรงงานเป็นอย่างดี จึงน่าแปลกใจที่เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีก

แต่จากการเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ได้ทราบว่า บริษัทลินเด้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้นัดหมายกับสหภาพแรงงาน ต้นเดือน พฤศจิกายน 2557 แล้ว หากทางบริษัทจะได้มีการดำเนินการที่มุ่งเน้นส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี โดยเร่งทบทวนวิธีการดำเนินงานที่แสดงถึงการเคารพสิทธิแรงงานตามหลักการสากล และคำนึงถึงแนวปฏิบัติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และ ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) อย่างเป็นรูปธรรม ย่อมจะช่วยยุติความขัดแย้งที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต

ด้วยประสงค์ให้ฝ่ายบริหารบริษัทลินเด้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊สได้มีโอกาสสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ได้หารือกันด้วยเหตุด้วยผล จึงขอวิงวอนให้ท่านได้โปรดพิจารณาหาทางลดความขัดแย้ง และยุติปัญหา ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ผลสรุปที่เกิดประโยชน์โดยรวม โดยเฉพาะกรณีการปรับปรุงและ เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง สิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และค่าตอบแทนต่างๆ เพื่อเสริมสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ในโอกาสต่อๆไป ทั้งนี้ สร.ปตท. ขอขอบคุณ ในความกรุณาและความเข้าใจในเจตนาดีของพวกเรา มา ณ โอกาสนี้

อนึ่งปัจจุบัน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่สาขาพลังงานของ IndustriALL Global Union ซึ่งเป็นสหพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ ที่เกิดจากการควบรวมของ สหพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ 3 แห่ง คือ สหพันธ์แรงงานโลหะระหว่างประเทศ (IMF) สหพันธ์แรงงานสิ่งทอตัดเย็บเสื้อผ้าระหว่างประเทศ (ITGLWF) และ สหพันธ์แรงงานเคมีภัณฑ์พลังงานและเหมืองแร่ระหว่างประเทศ (ICEM) ที่ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 50 ล้านคน จากสมาชิกประมาณ 140 ประเทศ ให้ทำหน้าที่ Co-Chair ในสาขาพลังงาน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พระสุเทพ’ ไม่ขึ้นเบิกความคดีการตายช่างภาพญี่ปุ่นปี53 อ้างส่งปากคำคดีอื่นแทน

$
0
0

อดีต ผอ.ศอฉ. แจ้งอัยการไม่ประสงค์มาเบิกความคดีการตาย ‘ฮิโรยูกิ มูราโมโต้-วสันต์ ภู่ทอง-ทศชัย เมฆงามฟ้า’ อ้างส่งปากคำคดีอื่นแทน ขณะที่ทนายญาติผู้ตายแย้งต้องนำตัวมาเบิกให้ได้ ชี้เป็นคนละเหตุการณ์ ศาลกำชับอัยการฯ รีบดำเนินการเพราะได้หมายเรียก ‘สุเทพ’ เป็นเวลานานแล้ว

เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ เป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ชันสูตรพลิกศพนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้(ผู้ตายที่ 1) สัญชาติ ญี่ปุ่น ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วม ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช) ที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 รวมทั้ง นายวสันต์ ภู่ทอง(ผู้ตายที่ 2)  อายุ 39 ปี และนายทศชัย เมฆงามฟ้า(ผู้ตายที่ 3) อายุ 44 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิต ในเวลาและบริเวณใกล้เคียงกัน จากการขอคืนพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร

โดยวันนี้ศาลนัดสืบพยาน 3 ปาก ได้แก่ พระสุเทพ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ ผอ.ศอฉ.ในขณะเกิดเหตุ ซึ่งปัจจุบันบวชเป็นพระภิกษุอยู่ ร.ต.อ.อริย์ธัช อธิสุรีย์มาศ และพ.ต.อ.วัลลภ ประทุมเมือง หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน แต่พยานทั้งสามคนแจ้งว่าไม่สามารถมาตามนัดได้

พนักงานอัยการฯ หรือผู้ร้อง แถลงว่าตามที่ขอให้ศาลหมายเรียกพยานปากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้าเบิกความในวันนี้ ผู้ร้องได้รับแจ้งจากนายสุเทพว่าได้รับหมายเรียกโดยชอบแล้ว แต่ไม่ประสงค์จะมาเบิกความเนื่องจากในคดีนี้เป็นคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 โดยเหตุสืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตั้งแต่ช่วงปี 2553 ซึ่งนอกจากคดีนี้แล้ว พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องของให้ศาลนี้ทำการไต่สวนชันสูตรพลิกศพอีกหลายคดีด้วยกัน ซึ่งล้วนแต่เป็นคดีที่มีเหตุสืบเนื่องจากเหตุการณ์เดียวกันกับคดีนี้ ตัวนายสุเทพมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในเรื่องการออกคำสั่งในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ผอ.ศอฉ.) ซึ่งนายสุเทพได้เคยเบิกความเป็นพยานต่อศาลนี้ในคดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 ระหว่างพนักงานอัยการ ผู้ร้อง ในคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ คดีหมายเลขดำที่ ช.6/2555 ระหว่างพนักงานอัยการ ผู้ร้อง ในคดีการตายของนายชาติชาย ชาเหลา และในคดีหมายเลขดำที่ ช.7/2555 ระหว่างพนักงานอัยการ ผู้ร้อง ในคดีการตายของนายบุญมี เริ่มสุข พร้อมทั้งได้ส่งเอกสารประกอบคำเบิกความที่มีการรวบรวมข้อเท็จจริงไว้ครบถ้วนต่อศาลไปแล้ว

โดยนายสุเทพ ไม่ประสงค์จะเข้าเบิกความ ปรากฏตามหนังสือฉบับลงวันที่ 22 ก.ย.2557 ซึ่งอยู่ในสำนวนของศาลแล้ว แต่ผู้ร้องยังคงติดในสืบพยานปากนายสุเทพ เพราะเป็นพยานปากสำคัญ โดยภายหลังผู้ร้องจะทำหนังสือถึงอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เพื่อขออนุญาตตัดพยานปากนายสุเทพและจะนำมาแถลงอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ย.2557 ตามที่นัดไว้เดิม

ทนายญาติผู้ตายทั้ง 3 ในคดีนี้ แถลงร่วมกันว่าเนื่องจากพยานปากนายสุเทพ เป็นพยานปากสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีโดยตรง และฝ่ายทนายญาติผู้ตายทั้ง 3 ก็อ้างนายสุเทพเป็นพยานร่วมกันกับฝ่ายผู้ร้องไว้ด้วย จึงประสงค์จะนำนายสุเทพเข้าเบิกความ ส่วนตามหนังสือที่นายสุเทพ มีถึงศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2557 โดยอ้างให้นำคำเบิกความทั้ง 3 คดีก่อนหน้ามาแทนการเข้าเบิกความในคดีนั้น ทนายญาติผู้ตามทั้ง 3 แถลงร่วมกันว่าข้อเท็จจริงทั้ง 3 คดีดังกล่าวเป็นคนละเหตุการณ์กับคดีนี้

ผู้ร้องแถลงต่อไปว่า ตามที่ได้มีการประสานงานให้ ร.ต.อ.อริย์รัช อธิสุรีย์มาศ เข้าเบิกความในวันนี้ ตามหนังสือรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 17 ต.ค.2557 ซึ่งอยู่ในสำนวนคดีนี้ ผู้ร้องได้รับแจ้งจาก ร.ต.อ.อริย์รัช ว่าติดภารกิจเร่งด่วนต้องเดินทางไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อปฏิบัติภารกิจ ประกอบกับยังไม่มีหมายเรียกจากศาลให้ ร.ต.อ.อริย์รัช เข้าเบิกความในวันนี้ แต่ ร.ต.อ.อริย์รัช แจ้งผู้ร้องว่าไม่ติดขัดที่จะเข้าเบิกความในวันที่ 12 พ.ย.2557 เวลา 9.00 น. และขอให้ศาลออกหมายเรียก ร.ต.อ.อริย์รัช เข้าเบิกความในวันดังกล่าวต่อไป

ในส่วน พ.ต.อ.วัลลภ ประทุมเมือง เนื่องจากพยานปากดังกล่าวเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนและเป็นผู้สรุปข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวน ผู้ร้องประสงค์จะนำพยานปากดังกล่าวเข้าสืบเป็นปากสุดท้ายเพื่อสรุปข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยจะให้ศาลนัดเข้าสืบในวันที่ 25 พ.ย.2557 ตามที่นัดไว้เดิม

โดยศาลฯ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าเพื่อให้การไต่สวนคำร้องเป็นไปโดยรวดเร็ว จึงให้ไต่สวนพยานผู้ร้องเพิ่มอีก 1 นัด คือในวันที่ 12 พ.ย.2557 เวลา 9.00 – 16.30 น. กำชับผู้ร้องให้เร่งดำเนินการมีหนังสือถึงอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาศาลกรุงเทพใต้ หากถึงวันนัดแล้วศาลจะใช้ดุลพินิจสั่งตามที่เห็นสมควรโดยเคร่งครัดต่อไป เนื่องจากพยานปากนายสุเทพ เป็นพยานที่ศาลได้หมายเรียกเป็นเวลานานแล้ว            

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานสัปดาห์ 'หนังสือถูกแบน' ในสหรัฐฯ ปีล่าสุดเน้นหนังสือเรื่องชนชั้นและความยากจน

$
0
0

กลุ่มสมาคมห้องสมุดชาวอเมริกันจัดงานสัปดาห์ "หนังสือถูกแบน" เป็นประจำทุกปี เพื่อท้าทายการร้องเรียนและสั่งห้ามหนังสือบางเล่ม โดยในปีล่าสุดเน้นประเด็นหนังสือที่พูดถึงชนชั้นและความยากจนที่ถูกร้องเรียนคัดค้านเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาไม่นานมานี้

22 ต.ค. 2557 สำนักงานฝ่ายเสรีภาพทางปัญญาของสมาคมห้องสมุดชาวอเมริกันหรือเอแอลเอ (ALA) จัดงานสัปดาห์ "หนังสือถูกแบน" ติดต่อกันเป็นปีที่ 32 เมื่อช่วงวันที่ 21-27 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งงานหนังสือดังกล่าวนี้เป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการอ่าน โดยมุ่งถ่วงดุลอำนาจการควบคุมเนื้อหาและการสั่งแบนหนังสือ ซึ่งในสหรัฐฯ มักจะมีการสั่งห้ามไม่ให้มีหนังสือบางเล่มในห้องสมุดหรือในโรงเรียน

งานหนังสือถูกแบนมักจะมีธีมในแต่ละปีต่างกัน โดยนำมาจากประเด็นเช่นเรื่องศาสนา ชาติพันธุ์ เพศสภาพ เรื่องความสัมพันธ์เชิงชู้สาว เรื่องที่ถูกกล่าวหาว่ามีเนื้อหาทางเพศโจ่งแจ้ง รวมถึงเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่ามีการใช้ภาษาหยาบคาย

เดอะ การ์เดียนระบุว่าสิ่งที่น่ากังวลในตอนนี้คือมีความพยายามสั่งแบนหนังสือที่เกี่ยวกับความยากจนและเรื่องชนชั้นเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มสูงขึ้นและมีการทำให้คนจนดูเป้นคนไม่ดี การนำหนังสือที่แสดงให้เห็นสภาพชีวิตตามความเป็นจริงของผู้คนที่ต้องต่อสู้กับความยากจนจึงเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

เดอะ การ์เดียนระบุอีกว่ามีงานวิจัยจำนวนหนึ่งระบุว่าการอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน ประเด็นทางสังคม หรือสถานการณ์ที่ต่างออกไปจากชีวิตปกติทำให้คนเรามีความรู้สึกเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในช่วงเวลาที่มีการแบ่งแยกชนชั้นทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแค่ความรวยและความจนเท่านั้นที่แบ่งแยกผู้คนออกจากกัน แต่เป็นความไม่รู้และการขาดการเชื่อมโยงกับสังคมที่เป็นตัวแบ่งแยกคนด้วย

ประเทศสหรัฐฯ มักจะมีวัฒนธรรมการคัดค้านเนื้อหาของหนังสือที่บางครั้งก็มาจากข้ออ้างที่ไม่เป็นความจริงและการคัดค้านก็ไม่ได้มาจากฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมเท่านั้น แม้ว่าบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตราแรกจะระบุให้มีการคุ้มครอง "การเข้าถึงแนวความคิดต่างๆ รวมถึงเสรีภาพในการพูด" ก็ตาม

มีองค์กรหลายองค์กรที่คอยต่อต้านการเซนเซอร์เนื้อหาจากหนังสือ เช่น เอแอลเอและกลุ่มแนวร่วมต่อต้านการเซนเซอร์แห่งชาติหรือเอนซีเอซี แต่ในการสั่งห้ามหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐศาสตร์สังคมช่วงไม่นานมานี้มีอะไรไม่ชอบมาพากล

เดบอราห์ คาลด์เวลล์-สโตน รองผู้อำนวยการของเอแอลเอกล่าวว่า พวกเขาเห็นว่ามีการพยายามคัดค้านหนังสือที่มีเนื้อหาประเด็นเกี่ยวกับเรื่องความยากจนและเรื่องชนชั้น หรือเป็นหนังสือที่มีมุมมองทางการเมืองแบบทางเลือกต่อสถานการณ์ความยากจน

นักเขียนรายหนึ่งชื่อโทนี มอร์ริสัน มักจะตกเป็นเป้าการคัดค้านดังกล่าว เธอบอกว่านักเขียนที่ถูกคัดค้านเนื้อหาเหล่านี้เป็นเพราะพวกเขาเขียนถึงเรื่องเชื้อชาติและชนชั้น มักจะมีการนำเสนอภาพชาวแอฟริกันอเมริกันในสหรัฐฯ ที่เผชิญความยากลำบาก มอร์ริสันกล่าวอีกว่าหนังสือที่ถูกคัดค้านเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นหนังสือเรื่องแต่ง แต่หนังสือที่ไม่ใช่เรื่องแต่งที่มีการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นเรื่องชนชั้นทางเศรษฐกิจก็เริ่มถูกคัดค้านมากขึ้น

โจแอน เบอร์ติน ผู้อำนวยการบริหารของเอนซีเอซีเปิดเผยว่าหนังสือที่มักจะถูกร้องเรียนส่วนมากเป็นหนังสือที่ถูกมองว่า "ต่อต้านทุนนิยม" ซึ่งในกลุ่มสังคมบางกลุ่มกล่าวหาว่าหนังสือเหล่านี้ทำลายคุณค่าของความเป็นคริสต์และคุณค่าความเป็นอเมริกัน

หนึ่งในหนังสือที่ถูกคัดค้านเล่มหนึ่งคือหนังสือที่ชื่อว่า "กรรมกรคนจน : คนที่ไม่มีใครมองเห็นในอเมริกา" (The Working Poor: Invisible in America) เขียนโดย เดวิด เค ชิปเลอร์ ถูกร้องเรียนโดยกลุ่มผู้ปกครองในเท็กซัส นอกจากนี้ยังมีหนังสือของบาร์บารา แอเอนริช ที่ถูกผู้ปกครองกล่าวหาว่าส่งเสริมแนวคิดแบบสังคมนิยมและแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ผิดๆ โดยหนังสือของแอเอนริชเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้ของคนรายได้น้อยและมีการโต้แย้งมายาคติความเข้าใจผิดต่อเรื่องความยากจน เช่นโต้แย้งมายาคติเรื่องความเป็นคนไม่เอาถ่าน

นอกจากนี้ยังมีการคัดค้านเนื้อหาที่มุ่งสำรวจเรื่องความไม่สงบในสังคม โดยก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ที่นักศึกษาจำนวนมากในเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด พากันเดินออกจากชั้นเรียนเพื่อประท้วงต่อต้านการนำเสนอของคนกลุ่มหนึ่งที่อ้างว่าเนื้อหาการสอนวิชาประวัติศาสตร์ขั้นสูงควร "ส่งเสริมให้เห็นประโยชน์ของระบบบรรษัทเอกชนเสรี" และ "ไม่ส่งเสริมให้เกิดความวุ่นวายหรือการต่อสู้เรียกร้องในสังคม"

เดอะ การ์เดียนระบุว่าการคัดค้านหนังสือที่ระบุถึงเรื่องปัญหาสังคมจะทำให้ความตึงเครียดของปัญหาต่างๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป้นปัญหาความไม่เท่าเทียม ปัญหารายได้ต่ำ ปัญหาความยากจน และความรู้สึกไม่ปลอดภัย การทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงงานวรรณกรรมที่พูดถึงประเด็นเหล่านี้ได้อย่างเสรีจึงถือเป็นประเด็นความยุติธรรมทางสังคมที่ควรเรียกร้อง

งานหนังสือถูกแบนถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2525 เพื่อตอบโต้กระแสการคัดค้านไม่ให้มีหนังสือบางเล่มในโรงเรียน ร้านหนังสือ และห้องสมุด โดยการให้คนที่ทำงานเกี่ยวกับหนังสือ ทั้งบรรณารักษ์ คนขายหนังสือ ผู้จัดพิมพ์ นักข่าว ครู อาจารย์ และผู้อ่าน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันในประเด็นนี้

เอแอลเอระบุว่ามีหนังสือถูกร้องเรียนคัดค้านไม่ให้มีวางแผงจำนวนมากกว่า 11,300 เล่มนับตั้งแต่ปี 2525 จนถึงตอนนี้ ใน 10 อันดับหนังสือที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดมีหนังสือนิยายเรื่อง เดอะ ฮังเกอร์ เกม (the Hunger Games) ของซูซานน์ คอลลิน รวมอยู่ด้วย โดยถูกร้องเรียนในเรื่องประเด็นศาสนาและจัดเรตอายุผู้อ่านไม่เหมาะสม


เรียบเรียงจาก

Poverty and class: the latest themes to enter the US banned-books debate, The Guardian, 21-10-2014

ข้อมูลเกี่ยวกับ Banned Books Week
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชุมชนโคกยาว–บ่อแก้ว ผวา คำสั่ง64/57 พ่นพิษซ้ำสอง ขีดเส้นตายไล่รื้อ 25 ต.ค.

$
0
0

23 ต.ค.2557 นายนิด ต่อทุน ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ แจ้งว่า ตามที่นายอำเภอคอนสารได้ประชุมวางแผนขอทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติภูมิซำผักหนาม อ.คอนสาร เมื่อวันที่ 8 ต.ค.57 และในที่ประชุมมีมติให้ชาวบ้านรื้อถอนออกเองภายใน 19 วัน หากไม่ปฎิบัติตามกำหนด ทางจังหวัดจะเข้ามาดำเนินการขั้นเข็ดขาดนับตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.57 ทุกวันนี้พวกเรานัดหมายประชุมกันทั้งวัน แม้ในคืนนี้ (22 ต.ค.57) ยามดึกก็ยังเรียกประชุมพี่น้อง พร้อมกับร่วมกันเฝ้าระวังภัยกันภายในชุมชนตลอดเวลา เพราะแน่นอนว่าสิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มีผลทำให้เกิดความกังวลใจ รู้สึกไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ถือว่าเป็นการข่มแหง คุกคาม เป็นการรังแกชาวบ้านระลอกใหม่

นายนิด กล่าวอีกว่า พี่น้องบ้านบ่อแก้ว และชุมชนโคกยาว ได้เดินทางไปขอเข้าพบนายอำเภอ ในวันที่ 15 ต.ค.57 เพื่อชี้แจงถึงกระบวนการแก้ปัญหาว่าอยู่ในระหว่างการดำเนิน โดยเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนภาคประชาชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้มีการประชุมร่วมกับตัวแทนภาครัฐโดยมี ปนัดดา ดิษกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯและ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีมติการประชุมร่วมกันแก้ไขปัญหาระหว่างภาครัฐกับ ขปส. ว่า ให้ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชนออกไปก่อน ปรากฏว่านายอำเภอไม่อยู่ และได้คุยกับปลัดอาวุโส ได้ความว่าจังหวัดเรียกไปประชุมในเรื่องกรณีปัญหาที่ดิน ขณะเดียวกันปลัดอาวุโสแจ้งให้พวกตนทราบอีกว่าว่านายอำเภอจะลางานต่ออีกเป็นเวลา 3 วัน

“จากกำหนดไล่รื้อชุมชนบ่อแก้ว ในวันที่ 25 ก.ย.57 ตามคำสั่งที่ 64/57 ที่เข้ามาปิดป้ายประกาศวันที่ 26 ส.ค.57 ถึงขณะนี้ สถานการณ์ยังไม่มีการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่เข้ามาแต่อย่างใด แต่ขณะนี้ความหวาดระแวง กลับย้อนเข้ามากระทบชีวิตอีกระลอก ตลอดทั้งคืนพวกเราต่างช่วยกันเฝ้าระวังภัยกันตลอดเวลา จนทุกวันนี้ไม่เป็นอันจะทำอะไรกันแล้ว ลูกหลานก็ไม่อยากไปโรงเรียน ทั้งกลัวและกังวล ห่วงเหมือนกันว่าบ้านตัวเองจะถูกทหารเข้ามาไล่รื้อ พ่อกับแม่จะไม่มีที่อยู่ ดังนั้นพวกเราจึงมีการประชุมกันทุกคืน และตกลงกันว่าพรุ่งนี้ (24 ต.ค.57) จะไปขอเข้าพบนายอำเภอ เพื่อขอให้พิจารณาประกาศดังกล่าว ที่จะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบและขาดความเป็นสุขในการดำเนินชีวิตอีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาพวกเราไปหา ก็พบแต่ปลัดอำเภออาวุโส ซึ่งไม่สามารถให้คำตอบเป็นที่แน่นอนได้” นายนิดกล่าว

ด้านนายเด่น คำแหล้ ชาวบ้านชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า หลังจากวันที่ 25 ส.ค. 57 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครองกว่า 10 นาย ได้เข้าปิดป้ายประกาศคำสั่ง ให้ออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน ทั้งพวกตนและพี่น้องบ้านบ่อแก้วได้เดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อขอชี้แจงข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในจังหวัดชัยภูมิและสำนักนายกรัฐมนตรี  กระทั่ง 10 ก.ย.57 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ยื่นหนังสือเชิญไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา จนในที่ประชุมมีมติให้ชะลอการไล่รื้อชุมชนโคกยาว ในวันที่ 8 ก.ย.57 ออกไปก่อน

นายเด่น กล่าวอีกว่า มันเหมือนเป็นลางสังหรณ์เพราะก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 57 เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.4 (คอนสาร) กว่า 10 นาย นำแผ่นป้ายมาติดตั้งบริเวณทางเข้าชุมชนคู่กับป้ายคำสั่งที่ 64/57 ที่ถูกติดตั้งก่อนหน้านี้ แต่รายละเอียดไม่ได้ระบุว่าเป็นคำสั่งไล่รื้อภายในวันที่หรือตามเวลาที่กำหนดแต่อย่างใด โดยมีใจความว่า  "ทวงคืนผืนป่า ตามประกาศจังหวัดชัยภูมิ ลงวันที่ 21 ส.ค.57 เรื่องการป้องกันและลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าชัยภูมิ พื้นที่โคกยาว เนื้อที่ 80 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม” และลงท้ายว่าเป็นคำสั่งของกองทัพภาคที่สอง

“จากที่ไม่แน่ใจว่าเป้าหมายในพื้นที่ 80 กว่าไร่ที่ระบุตามป้ายนั้นเป็นพื้นที่บริเวณใด ขณะนี้พอเข้าใจแล้วว่าต้องเป็นในพื้นที่ชุมชนโคกยาวแน่นอน ถือว่าเป็นการสร้างความหวาดผวา ทำให้ชาวบ้านหวั่นถึงภัยที่จะเกิดขึ้นอีก ไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดนายอำเภอจึงมีคำสั่งในมติที่ประชุมว่าจะทำการไล่รื้อภายในกำหนด 19 วันอีก และจะครบกำหนดให้รื้อถอน วันที่ 25 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ทั้งที่ในพื้นที่พิพาทนั้นอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหา ในขณะนี้ก็มีการเฝ้าระวังมากขึ้นกว่าเดิม หลายชีวิตต่างอยู่ในความวิตก หลายวันกันแล้วที่ทำให้นอนไม่ค่อยหลับไปตามๆ กัน และในวันพรุ่งนี้พวกตนจะไปขอเข้าพบนายอำเภอร่วมกับพี่น้องบ่อแก้วอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมายังไม่มีอะไรเป็นเครื่องยืนยันให้กับความปลอดภัยของชีวิตพวกตนได้เลย ” นายเด่น กล่าวเพิ่ม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.พลังงานย้ำหากไม่เปิดสัมปทานไทยต้องพึ่ง LPG ทั้งหมด

$
0
0
สปช.พลังงานเสียงแตกไม่เห็นด้วย หากนำสัมปทานปิโตรเลียม 21 มาพิจารณาเพราะแทรกแซงการบริหารงานของรัฐ ระบุควรปฏิรูปเพื่อวางยุทธศาสตร์ระยะยาว รองปลัดกระทรวงพลังงานย้ำหากไม่เปิดสัมปทาน 21 ไทยต้องพึ่งแอลเอ็นจีทั้งหมด กระทบค่าครองชีพพุ่ง

 
24 ต.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสมาชิกกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเครือข่ายที่เรียกตัวเองว่าภาคประชาชนที่มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิก สปช.ร่วมด้วยออกมาเรียกร้องให้นำเรื่องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เข้าสู่ที่ประชุม สปช. เนื่องจากการทำงานของ สปช.เป็นเรื่องปฏิรูปที่ควรมองไปถึงการวางแผนงานระยะยาวของประเทศ แต่การเปิดสัมปทานรอบ 21 เป็นเรื่องการบริหารงานของรัฐบาล โดยหาก นำเรื่องการบริหารงานของทุกกระทรวงเข้าสู่ที่ประชุม สปช. รัฐบาลจะทำงานไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายต่อประเทศชาติ
 
ส่วนกรณีที่มีการให้ข้อมูลของเครือข่ายคัดค้านสัมปทานรอบ 21 ออกมาว่าที่ผ่านมาเอกชนจ่ายผลตอบแทนภาครัฐไม่ครบถ้วน แบ่งได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นนั้น นายมนูญ  กล่าวว่า  ผู้ให้ข้อมูลต้องมองข้อมูลให้ครบถ้วน กำไรจะต้องเกิดจากเม็ดเงินลงทุนหักจากรายได้ ต้องมองถึงรายได้สุทธิเป็นหลักและน่าจะมองด้วยว่าอนาคตประเทศจะเป็นอย่างไร หากไม่มีแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ขึ้นมา ผลกระทบจะเป็นอย่างไร โดยในที่ประชุม สปช.ตนจะเสนอให้ที่ประชุมมองถึงยุทธศาสตร์ของประเทศระยะยาวและจะปฏิรูปอย่างไรให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดของทุกภาคส่วนในสังคมนี้ และต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่เท็จจริง ไม่ใช่นำข้อมูลมาสร้างความสับสนและเกิดความแตกแยกต่อสังคม
 
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุประเทศไทยเปิดสัมปทานปิโตรเลียมไปแล้ว 20 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2514 เดิมจะเปิดทุก ๆ 2-3 ปี แต่ครั้งที่ 21 เปิดล่าช้ามาถึง 7 ปี เนื่องจากมีการคัดค้านการเปิดสัมปทาน โดยสำรองก๊าซในขั้นพิสูจน์แล้วเมื่อสิ้นปี  2556 มี  8.4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต แต่ความต้องการใช้สูงถึง 1.7 ล้านล้านลูกบาศ์กฟุตต่อปี หรือหากใช้ก๊าซฯ เฉพาะในประเทศไม่รวมนำเข้าจะเหลือแค่ 4.9 ปี แต่หากรวมนำเข้าจากเมียนมาร์และเอลเอ็นจีราคาปัจจุบันก๊าซอ่าวไทยจะใช้ได้ 6-8 ปี
 
“หากไม่เปิดสัมปทานใหม่ ก็ไม่มีการสำรวจและผลิตจากแหล่งในประเทศ ก็ต้องนำเข้าก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะข้อมูลขณะนี้ตั้งแต่ปี 2561-2562 ยังไม่มีแหล่งก๊าซฯ คอนเฟิร์มชัดเจน เมียนมาร์ก็มีนโยบายในอนาคตไม่ส่งออกก๊าซฯ หากนำเข้าแอลเอ็นจีทั้งหมดจะกระทบต่อประชาชนนักลงทุนค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้นมาก โดยปัจจุบันแอลเอ็นจี มีราคาถึงประเทศไทย 15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะเดียวกันต้องเจรจากับกัมพูชา เพื่อหาทางร่วมกันพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน” นายคุรุจิต กล่าว 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารขับมอเตอร์ไซค์ถ่ายบ้าน ‘สนธิ ลิ้มฯ’ อ้างมาหาผู้นำชุมชน

$
0
0

จิตตนาถ ลิ้มทองกุล เผยทหาร 4 นายขับมอเตอร์ไซค์ ทำท่าทีลับๆ ล่อๆ  ถ่ายรูปบ้านพักของ ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ อ้าง “มาหาผู้นำชุมชน” 

เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2557 ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ผู้บริหารสื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ เปิดเผยว่า ช่วงเย็นวันนี้มีทหารกลุ่มหนึ่งรวม 4 นาย ซ้อนมอเตอร์ไซค์ 2 คัน เข้ามายังบริเวณบ้านพักของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ก่อตั้งสื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะทำท่าทีลับๆ ล่อๆ โดยหยิบกล้องถ่ายรูป และโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายทั้งด้านหน้า และด้านในบริเวณบ้านพัก

ภาพเหตุการณ์เมื่อช่วงเย็นวันนี้ (23 ต.ค. 57)

“เมื่อเย็นวันนี้ราวห้าโมงกว่าๆ หลังจากคุยกับคุณสนธิ ผมได้ออกมานั่งหน้าบ้านบริเวนถนน สักพักมีทหาร 4 คนซ้อนมอเตอร์ไซค์สองคันเข้ามาจากทางถนนสุโขทัย ขับตรงมาจอดเทียบข้างหน้าบ้าน จากนั้นทหาร 4 คน ได้ลงมาแล้วล้วงทั้งกล้องถ่ายรูป รวมถึงโทรศัพท์มือถือออกมา ทำทีจะถ่ายออกไปทางเข้าจากปลายซอยทั้งสองด้าน แต่กลับกระหน่ำถ่ายภาพบ้านพักคุณสนธิ ที่ประตูรั้วเป็นหลัก จากนั้นมีการแยกย้ายเดินไปตามแนวรั้วแล้วถ่ายภาพเข้าไปในบริเวณบ้าน

“เมื่อมีคนงานเปิดประตูรั้วออกมา ทหารก็กรูกันเข้ามาที่ประตู พยายามชะเง้อดูว่าสภาพในบ้านเป็นอย่างไร ผมเห็นว่ามันดูผิดปกติ จึงถ่ายรูปพวกทหารดังกล่าวเก็บไว้ เมื่อพวกเขารู้ตัวว่าถูกถ่ายรูป จึงหยุดการถ่ายรูปทำเป็นเดินสำรวจตามแนวรั้ว ซึ่งก็ไม่ได้ไปไกลกว่าบริเวณรั้วบ้าน” บุตรชายนายสนธิ ระบุ

ต่อมาเมื่อมีการสอบถามถึงสาเหตุการมาถ่ายภาพที่บ้านพักดังกล่าว และมีคำสั่งเพื่อดำเนินการอะไรหรือไม่ นายทหารคนหนึ่งก็แสดงท่าทีอึกอัก จากนั้นจึงตอบกลับมาว่า “มาหาผู้นำชุมชน” เมื่อผู้ดูแลบ้านแจ้งกลับไปว่า ผู้นำชุมชนอยู่อีกซอยหนึ่ง ทหารกลุ่มดังกล่าวจึงขึ้นมอเตอร์ไซค์ขี่กลับออกไปทางเดิม

ด้านผู้ดูแลบ้านยังเปิดเผยด้วยว่า ไม่กี่วันก่อนก็เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาแล้ว โดยมีกลุ่มทหารเจาะจงมาจอดรถบริเวณหน้าบ้าน เพื่อถ่ายรูปโดยบอกว่ามาพบผู้นำชุมชน

“ผมได้ฟังแบบนั้นก็รู้สึกประหลาดในพฤติกรรมทหารในลักษณะนี้ ที่เจาะจงมาถ่ายรูปและพยามเช็กสภาพภายในบ้านคุณสนธิ คิดว่าเขาต้องมีเป้ารู้อยู่แล้วว่าบ้านใคร บ้านคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ก็ไม่ไกลก็ไม่เห็นไปตรวจสอบ ชุมชนอะไรตรงนี้ก็ไม่มี ซ้ำทางเข้าจากอีกฝั่งถนน ก็มีทหารประจำการประจำอยู่แล้ว และละแวกนั้นก็มีทหารเฝ้าอยู่หมด มันจะเป็นไปได้หรือไม่รู้ไม่ประสานว่าชุมชนที่มาตามหาอยู่ถนนไหน

“ผมเล่าเหตุการณ์และเอารูปให้คุณสนธิดูหมดแล้ว ส่วนรูปและคลิปจากวงจรปิด ก็เตรียมไว้แล้ว ซึ่งผมเป็นห่วงความปลอดภัยคุณสนธิมาก เพราะครั้งที่แล้วเมื่อปี 2552 ที่คุณสนธิถูกยิงก็ภายใต้สถานการณ์พิเศษ เหมือนที่ปัจจุบันประกาศใช้กฎอัยการศึก ทั้งๆ ที่แกอยู่เฉยๆ ไม่ได้ออกแอ็กชันอะไร ก็บอกคำเดียวถ้าผมหรือคุณสนธิเป็นอะไรไป ผมถือว่าผู้ใหญ่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องรับผิดชอบในสวัสดิภาพของประชาชนอย่างพวกผม เพราะถือว่าท่านเอ็นดูเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องที่ห้องทำงานผมโดนยิงตอนออกกฎอัยการศึกก่อนปฏิวัติใหม่ๆ ยังไม่เห็นมีใครสนใจจะช่วยกันสืบค้นเลย” นายจิตตนาถ กล่าวทิ้งท้าย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตาแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์

$
0
0
 
เมื่อวันพฤหัสบดี (23 ต.ค.) ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ได้แก่ ฉบับที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอในโรงภาพยนตร์ ด้วยคะแนน 184 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และฉบับที่เพิ่มการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ ด้วยคะแนน 182 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง โดยให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 15 คน แปรญัตติภายใน 7 วัน กรอบเวลาดำเนินการภายใน 30 วัน
 
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ … พ.ศ….. (ความผิดเกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอในโรงภาพยนตร์) ได้เพิ่มให้การทำซ้ำ ด้วยการบันทึกภาพและเสียงจากภาพยนตร์ในระหว่างการฉายโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ พร้อมเพิ่มโทษให้ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ของคนพิการทางการมองเห็น การได้ยิน และสติปัญญา รวมทั้งคนพิการประเภทอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ที่จะสามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ตามความจำเป็น
 
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ … พ.ศ….. (คุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ) เพิ่มการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ และมาตรการทางเทคโนโลยี รวมทั้งกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของนักแสดงเพิ่มขึ้น รวมทั้งกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำผิดต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้น ตลอดจนมีอำนาจสั่งทำลายสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดได้
 
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุว่า โดยเนื้อหาแล้วร่างที่เข้า สนช.ไม่ได้ต่างจากร่างก่อนรัฐประหาร โดยร่างดังกล่าวได้ผ่านกฤษฎีกา มีร่างของ คปก. มีการรับฟังความเห็น ซึ่งเกิดก่อนรัฐประหารอยู่แล้ว ความต่างจึงอยู่ที่การเข้าสภาปกติกับ สนช. ที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งว่ากันว่าดูเหมือนว่าตอนนี้อะไรที่ผ่านเข้าไปก็มีแนวโน้มจะออกมาทั้งอย่างนั้น นอกจากนี้ยังเห็นกระบวนการเร่งรัดให้ผ่านกฎหมาย เห็นได้จากที่มีการกำหนดให้ต้องทำให้แล้วเสร็จใน 30 วัน ซึ่งนับเป็นกระบวนการที่เร็วกว่าปกติ ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะมีการอนุญาตให้เกิดการมีส่วนร่วมได้มากแค่ไหน 
 
สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ครั้งนี้ เขามองว่า แง่ผู้บริโภคไม่ได้มีอะไรดีขึ้นหรือแย่ลง หากแต่เพิ่มความคุ้มครองให้เจ้าของลิขสิทธิ์ในการจัดการสิทธิ เช่น กำหนดการใช้งานเนื้อหา กำหนดการเข้าถึงเนื้อหาได้ นอกจากนั้นยังมีการกำหนดให้ผู้ให้บริการมีความผิด กรณีผู้ใช้บริการละเมิดสิทธิ์ผ่านบริการของตน เช่น มีการดาวน์โหลดเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็จะผิดไปด้วย ซึ่งตรงนี้จะเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ให้บริการติดตั้งเครื่องมือบางอย่างที่สามารถอ่านเนื้อหาของผู้ใช้เพื่อตรวจสอบดาวน์โหลด ให้จำกัดการเข้าถึงได้ทัน ก็น่าเป็นห่วงผลกระทบที่อาจตามมา 
 
อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ระบุว่าได้ชวนเครือข่ายผู้ที่สนใจและนักวิชาการ มาระดมความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณา อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอสู่สาธารณะต่อไป
 
 

บทวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ โดย อธิป จิตตฤกษ์

ที่มา รายงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ปี 2556
 
1. เพิ่มนิยาม “ข้อมูลบริหารสิทธิ” ไปจนถึงนิยามการละเมิดและข้อยกเว้นในการละเมิด และวางบทกำหนดโทษไว้เท่ากับการละเมิดลิขสิทธิ์: 
 
“ข้อมูลบริหารสิทธิ” ในทางปฏิบัติหมายถึงสิทธิในการประกาศตัวเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ ตัวอย่างข้อมูลบริหารสิทธิ เช่น ลายเซ็น ลายน้ำ ลายเซ็น ชื่อไฟล์ เป็นต้น และการละเมิดก็คือการไปแก้ไขข้อมูลต่างๆ ที่ติดมากับตัวงาน การนำลายเซ็นหรือลายน้ำออกจากรูปภาพ ไปจนถึงการแก้ไข/เปลี่ยนชื่อไฟล์ไปจนถึงเมทาเดตา (metadata) ของไฟล์ ก็อาจจะถือเป็นการละเมิดข้อมูลบริหารสิทธิด้วย 
 
ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า การตั้งชื่อไฟล์ที่มีลิขสิทธิ์ทั้งหมดจะนับเป็นการละเมิดข้อมูลบริหารสิทธิหรือไม่ บทบัญญัติระบุว่าการกระทำดังกล่าวที่ผู้กระทำ “รู้อยู่แล้ว” ว่าจะนำไปสู่การละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้นถึงจะนับเป็นการละเมิด ซึ่งนี่ก็เป็นข้อกำหนดที่คลุมเครือ 
 
นอกจากนี้ในบรรดาข้อยกเว้นในการละเมิดนั้นก็ยังมีเพียงแต่ข้อยกเว้นแค่การแก้ไข “ข้อมูลบริหารสิทธิ” ของสถาบันการศึกษา ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ และเจ้าพนักงานของรัฐเท่านั้น นี่หมายความว่ากฎหมายไม่ได้รับรองการแก้ไขชื่อไฟล์ที่ได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยซ้ำว่าไม่เป็นการละเมิด “ข้อมูลบริหารสิทธิ” นี่ดูจะไม่เป็นการเคารพสิทธิของผู้บริโภคเท่าที่ควรในระดับหลักการ แม้ว่าในทางปฏิบัติการดำเนินคดีกับผู้บริโภคในลักษณะนี้จะไม่น่าเกิดขึ้นก็ตาม แต่ผู้บริโภคก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าวันดีคืนดีเจ้าของลิขสิทธิ์จะเอาเรื่องขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่นหากมีผู้ซื้อรูปวาดมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แล้วไปลบชื่อผู้เขียนออกด้วยเหตุผลบางประการ แล้ววันหนึ่งตัวจิตรกรรู้เข้า ตัวจิตรกรก็อาจฟ้องได้ว่าผู้ที่ซื้อภาพมานั้นละเมิดข้อมูลบริหารสิทธิ 
 
ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากในกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยดั้งเดิมไม่มีสิ่งที่ในระบบกฎหมายอเมริกาเรียกว่า “หลักการขายครั้งแรก” หรือ “First Sale Doctrine” ซึ่งในหลักการใหญ่แล้วมันคือหลักการที่ว่าเจ้าของลิขสิทธิ์จะ “เสียลิขสิทธิ์” บางประการไปให้ผู้ซื้อสินค้าอันมีลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายทันที และหากปราศจากหลักการนี้ในกฎหมายที่ครอบคลุมก็น่าจะต้องถือว่า “ข้อมูลบริหารสิทธิ” จะยังคงอยู่กับเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างครบถ้วน และมีสิทธิดำเนินคดีกับผู้บริโภคดังที่ได้ยกตัวอย่างมา 
 
ทั้งนี้สิ่งที่อาจต้องสังเกตด้วยก็คือแม้ว่าจะมีการเพิ่มหลักการคล้ายคลึงกับหลักการขายครั้งแรกในระบบกฎหมายเข้ามาในฐานะของข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มเติม (โปรดอ่านต่อไปในการเปลี่ยนแปลง ข้อ 5) แต่การคุ้มครองของข้อยกเว้นนี้ก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงการละเมิด “ข้อมูลบริหารสิทธิ” ดังนั้นสถานการณ์ดังที่ผู้เขียนกล่าวมาก็ยังอาจเกิดขึ้นได้อยู่
 
2. เพิ่มนิยาม “การคุ้มครองทางเทคโนโลยี” ไปจนถึงนิยามการละเมิดและข้อยกเว้นในการละเมิด และวางบทกำหนดโทษไว้เท่ากับการละเมิดลิขสิทธิ์: 
 
บทบัญญัตินี้เป็นน่าจะเทียบเท่ากับการบัญญัติสิ่งที่รู้จักกันในโลกภาษาอังกฤษว่า Digital Rights Management หรือ DRM ไว้ในกฎหมาย กล่าวคือกฎหมายได้ยอมรับความชอบธรรมของมาตรการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์แบบดิจิทัลต่างๆ ของเจ้าของลิขสิทธิ์ ในทางปฏิบัติคือ แคร็ก (crack) และแฮกไฟล์และโปรแกรมต่างๆ นั้นก็จะมีความผิดเท่าการละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ไฟล์ที่ใช้ได้ในเวลาจำกัดใช้ได้ไม่จำกัด ไปจนถึงการแคร็กโปรแกรมอันมีลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีใด 
 
ทั้งนี้ข้อยกเว้นการละเมิด “การคุ้มครองทางเทคโนโลยี” นั้นก็มีการระบุไว้อย่างค่อนข้างกว้างตั้งแต่การละเมิดที่เป็นไปเพื่อจุดประสงค์ตาม “ข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์” อยู่แล้ว ไปจนถึงการละเมิดเพื่อการศึกษาค้นคว้าที่ผู้ค้นคว้าได้พยายามขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว 
 
ตรงนี้ผู้เขียนคิดว่าไม่ควรจะบัญญัติว่าการค้นคว้าจะต้องผ่าน “การขออนุญาต” ด้วยซ้ำ เพราะภายใต้ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ปกติ การค้นคว้าอ้างอิงใดๆ ก็ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่แล้ว ถ้านักวิชาการสามารถ “หาข้อบกพร่อง” ของงานวิชาการของผู้อื่นได้ในนามของการศึกษา ผู้เขียนก็ไม่เห็นว่ามีเหตุผลใดๆ ที่โปรแกรมเมอร์จะไม่สามารถ “หาข้อบกพร่อง” ในโปรแกรมของผู้อื่นได้ในนามของการศึกษาเช่นเดียวกัน
 
นัยของข้อกำหนดของการ “ขออนุญาต” นี้อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากในการศึกษาวิจัยได้ เพราะสุดท้ายโดยทั่วไปก็คงไม่มีนักเข้ารหัสเพื่อล็อคข้อมูลใดๆ ที่จะต้องการให้คนมาถอดรหัสของตนได้สำเร็จ และนี่จะเป็นการทำให้นักวิจัยการถอดรหัสกลายเป็นอาชญากรกันไปหมด หากทำการวิจัยต่อไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ดูจะเป็นมาตรการที่ตลกหากเป็นการมุ่งไปเพื่อให้ไม่เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ได้ต่างจากการออกกฎหมายการห้ามค้นคว้าการทำกุญแจผีโดยหวังให้กฎหมายนี้ทำให้ “การปล้นบ้าน” หายไป (ซึ่งสิ่งเราก็ต้องไม่ลืมเช่นกันคือ การละเมิดลิขสิทธิ์นั้นไม่เคยเท่ากับ “การขโมย” หรือโจรกรรม อย่างน้อยๆ ก็ไม่มีกฎหมายที่ใดในโลกยืนยันเช่นนั้น)
 
3. ระบุแบบปฏิบัติการขอคำสั่งศาลให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือตัวกลาง (Intermediary) เพื่อระงับการละเมิดลิขสิทธิ์ภายใต้ขอบเขตอำนาจของตน:
 
มาตรการนี้เป็นไปเพื่อให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถระงับยับยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตผ่านอำนาจศาลได้ ในกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับเก่าภาระรับผิดชอบการละเมิดลิขสิทธิ์ของตัวกลางไม่มีความชัดเจน ซึ่งเท่าที่ทราบก็ยังไม่มีใครฟ้องตัวกลางฐานละเมิดลิขสิทธิ์ภายใต้เขตอำนาจศาลไทย ทั้งที่จริงๆ แล้วในทางเทคนิคนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำซ้ำภายในระบบคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติโดยที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่รู้ตัวได้ อย่างไรก็ดีการทำซ้ำแบบอัตโนมัตินี้ก็ดูจะเป็นสิ่งที่คลุมเครือเกินไป และมันก็มีความจำเป็นต่อการทำงานปกติในการประมวลผลในระบบคอมพิวเตอร์ (โปรดอ่านเพิ่มเติมในส่วนของการเปลี่ยนแปลงข้อ 4) ซึ่งมันก็ทำให้การเอาผิดการ “ทำซ้ำ” ในรูปแบบนี้ก็ดูจะขัดกับสามัญสำนึกของผู้คนที่คุ้นเคยกับ “วัฒนธรรมคอมพิวเตอร์”
 
บทบัญญัติใหม่นี้ดูจะเป็นการทำให้บทบัญญัติกว้างๆ แบบเดิมที่ไม่ระบุภาระหน้าที่ของตัวผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ชัดเจน มีความชัดเจนขึ้น เพราะได้มีการร่างแบบปฏิบัติในการให้เจ้าของลิขสิทธิ์ขอคำสั่งศาลเพื่อให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตนำเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งก็มีข้อกำหนดอีกว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะไม่มีความผิดใดๆ หากเขาไม่ใช่ผู้ริเริ่มหรือสามารถควบคุมการนำเนื้อหาอันละเมิดลิขสิทธิ์นี้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และนำเนื้อหาอันละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ภาพในเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งแนวปฏิบัตินี้เทียบเท่าหลัก “อ่าวปลอดภัย” (safe harbour) ในกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกา ที่มุ่งคุ้มครองตัวกลางในบริบทของกฎหมายลิขสิทธิ์นั่นเอง
 
4. เพิ่มข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์ว่าการทำซ้ำข้อมูลที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานได้ตามปกติไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์:
 
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าด้วยมาตรฐานของกฎหมายลิขสิทธิ์ทั่วไปในโลก หากไม่มีข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ชัดเจนสำหรับกิจกรรมหนึ่งๆ ที่มากกว่าข้อกำหนดของการใช้อย่างชอบธรรมแล้ว ผู้ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทั้งนั้นไม่ว่ากิจกรรมของพวกเขานั้นจะเป็นกิจกรรมที่กระทำอย่างแพร่หลายเพียงไร และไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นกิจกรรมที่วิญญูชนเข้าใจได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างใด ดังนั้นข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ชัดเจนจึงเป็นหลักประกันที่สำคัญในการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์อย่างปลอดภัยสำหรับสาธารณชน และผู้บริโภค
 
ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปของคอมพิวเตอร์ทำให้กระบวนการ “ทำซ้ำ” ข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเรื่องปกติเช่นการ “ย้าย” ไฟล์ในคอมพิวเตอร์ด้วยการตัดและวาง ในทางเทคนิคนั้นก็คือการทำซ้ำไฟล์คอมพิวเตอร์ในพื้นที่เสมือนใหม่และลบไฟล์เก่าในพื้นที่เสมือนเดิมทิ้ง หรือแม้แต่การนำแผ่นโปรแกรมที่ซื้อมาอย่างถูกต้องมาติดตั้งในคอมพิวเตอร์ก็คือการ “ทำซ้ำ” โปรแกรมจากแผ่นดิสก์ลงไปในคอมพิวเตอร์นั่นเอง อย่างไรก็ดีด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์แบบดั้งเดิม การทำซ้ำดังกล่าวนี้ก็เข้านิยามการละเมิดลิขสิทธิ์และบทบัญญัติข้อยกเว้นในการละเมิดก็ไม่มีความชัดเจน (แม้อาจตีความตามบางส่วนของบทบัญญัติว่าไม่เป็นการละเมิดได้ตามสามัญสำนึกของวิญญูชนก็ตามที) 
การบัญญัติให้ชัดเจนนี้ก็ดูจะช่วยให้การทำซ้ำโดยทั่วไปในระบบคอมพิวเตอร์มีสถานะที่ถูกต้องทางกฎหมายอย่างชัดเจน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์อันเป็นต้นฉบับนั้นต้องได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย
 
อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดอันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนในการครอบคลุมกิจกรรมจำพวกการสำรอง (backup) ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสำรองข้อมูลลงในเอ็กซ์เทอร์นัลฮาร์ดดิสก์หรือบนอินเทอร์เน็ตตามบริการคลาวด์ต่างๆ 
 
ข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์ในกฎหมายใหม่นี้ดูจะยังไม่คุ้มครองกิจกรรมเหล่านี้ ทั้งๆ ที่มันก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลไปแล้ว อย่างน้อยๆ ก็คงจะไม่มีใครต้องการที่จะให้หนัง เพลง เกม หรือโปรแกรมที่เขาเสียเงินดาวน์โหลดมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายต้องสาบสูญไปพร้อมๆ กับข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของเขาในยามสิ้นอายุขัยของฮาร์ดดิสก์
 
5. เพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในการจำหน่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย: 
 
ข้อยกเว้นนี้คล้ายคลึงกับหลักการขายครั้งแรกในกฎหมายอเมริกาที่ระบุว่าเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิในการผูกขาดการขายสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ (17 USC § 106 (3)) แต่สิทธินี้จะหมดสิ้นไปเมื่อมีผู้ได้ซื้อมันมาแล้ว (17 USC § 109 (a)) อย่างไรก็ดี ภายใต้ระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ไทย สิทธิในการผูกขาดดังกล่าวดูเหมือนจะไม่มีบัญญัติไว้ในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ (มาตรา 15) แต่จริงๆ แล้วหากดูนิยามของ “การเผยแพร่ต่อสาธารณชน” (มาตรา 4) ก็จะพบว่ามันรวม “การจำหน่าย” ไว้ด้วย ดังนั้นภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ไทยดั้งเดิม สิทธิในการขายสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ทั้งหมดจึงเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่มีข้อยกเว้น 
 
ในทางปฏิบัติแล้ว นี่หมายความว่าสินค้าลิขสิทธิ์ทั้งหลายไม่สามารถถูกนำมาขายในท้องตลาดโดยปราศจากใบอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ถึงแม้ว่าการได้มาโดยสินค้านั้นจะชอบด้วยกฎหมายก็ตาม นี่หมายความว่าการนำขายเทปมือสอง การ์ตูนมือสอง ดีวีดีมือสอง ไปจนถึงเสื้อผ้ามือสอง ฯลฯ ล้วนมีความเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์และถูกดำเนินคดีได้จากเจ้าของลิขสิทธิ์ แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ผลิตมาอย่างถูกลิขสิทธิ์และได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม 
 
กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นซีดีลิขสิทธิ์มือสองหรือซีดีเถื่อน หากนำมาขายในท้องตลาดโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จัดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ขัดกับสามัญสำนึกด้านสิทธิของผู้บริโภค ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ภายใต้หลักการขายครั้งแรกคือหลักประกันให้การซื้อขายสินค้าลิขสิทธิ์มือสองเหล่านี้ไม่จัดว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
 
ในภาพรวมจะเห็นได้ว่าร่างแก้ใขกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับนี้ของไทยมีลักษณะที่จะเป็นการนำหลักต่างๆ ของ Digital Millennium Copyright Act หรือ DMCA ของสหรัฐอเมริกาที่ออกมาเมื่อปี 2541 ที่ออกมาเพื่อเตรียมพร้อมสังคมอเมริกันในการเข้าสู่ยุคดิจิทัลเข้ามาใช้กับระบบกฎหมายไทย 
 
อย่างไรก็ดี นี่ก็อาจจะเป็นการแก้กฎหมายที่จะล้าสมัยไปอย่างรวดเร็วก็ได้ เพราะในขณะที่ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยฉบับทางการจะยังไม่ออกมาสู่สายตาสาธารณชน ทางสหรัฐอเมริกาก็มีการริเริ่มที่จะแก้กฎหมายลิขสิทธิ์แล้วเนื่องจากข้อกำหนดต่างๆ ก็เริ่มล้าสมัยและไม่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว โดยมีการริเริ่มจากผู้อำนวยการสำนักงานลิขสิทธิ์และทางสภาก็ได้ขานรับในที่สุด อย่างไรก็ดี ณ ตอนนี้กระบวนการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกาอยู่ในขั้นตอนระดมความเห็นเท่านั้นและทิศการของการแก้กฎหมายก็ยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากกลุ่มผลประโยชน์ด้านต่างๆ มีความเห็นที่แตกต่างกันมากเกี่ยวกับทิศทางของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เหมาะสม
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสนอตั้ง สภ.เกาะเต่า ห้ามแรงงานต่างด้าวดื่มกินปนกับนักท่องเที่ยว

$
0
0

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมาเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าพล.ต.ต.อภิชาติ บุญศรีโรจน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยผู้สื่อข่าวหลังเกิดเหตุฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน นั้นในส่วนของการเฝ้าระวังคุมเข้มความปลอดภัยตามหมู่เกาะต่าง ๆ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล คสช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนโยบายผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ที่สั่งการให้ตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานีวางมาตรการรักษาความปลอดภัย ให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวบนเกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย
 
โดยตอนนี้ได้มอบหมาย ให้ตำรวจ สภ.เกาะสมุย และ สภ.บ่อผุด ที่รับผิดชอบพื้นที่ อ.เกาะสมุย และ สภ.เกาพะงัน ที่รับผิดชอบ อ. เกาะพะงัน หมู่เกาะนางยวน และ เกาะเต่า ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่กำลังพลแต่ละ สถานีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่เกาะพะงันและเกาะเต่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามานับหมื่นคนในแต่ละเดือน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ สภ.ย่อยตำบลเกาะเต่ามีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่เพียง 7 นาย ทำให้ไม่สามารถดูแลพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง
 
ล่าสุดได้เสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดตั้งสถานีตำรวจเกาะเต่าและคาดว่าจะอนุมัติอย่างเร่งด่วนภายในปีงบประมาณนี้ ซึ่งในเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหลังเกิดเหตุตนได้สั่งเพิ่มกำลังพลอีก 7 นาย รวมเป็น 14 นายประจำพื้นที่เกาะเต่าดูแลรับผิดชอบพื้นที่เกาะเต่า โดยมีนายตำรวจระดับสารวัตรเป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมจัดรถยนต์สายตรวจขับเคลื่อน 4 ล้อ 1 คัน รถสายตรวจจักรยานยนต์ 2 คัน พร้อมทั้งจัดกำลังชุดสายตรวจรถยนต์ สายตรวจรถจักรยานยนต์และชุดสายตรวจดินเท้า
 
พร้อมตั้งจุดตรวจจุดสกัดตรวจค้นบุคคลที่น่าสงสัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาพักผ่อนบนเกาะเต่า และประสานกับตำรวจท่องเที่ยว ตม.ทั้งในพื้นที่และส่วนกลางลงมาดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวบริเวณหาดทรายรีและจุดเสี่ยงในพื้นที่ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจัดกำลังเป็น 3 ชุดผลัดละ 12 ชั่วโมง พร้อมทั้งตรวจสอบเข้มการเดินทางเข้าออกบริเวณท่าเรือ
 
สำหรับในส่วนของ อ.เกาะสมุยก็เช่นเดียวกันได้สั่งการให้ ผู้กำกับแต่ละสถานีจัดชุดออกตรวจตราดูแลป้องกันเหตุอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเวลาหลังเที่ยงคืนไปแล้ว พร้อมสั่งการให้สายงานป้องกันปราบปรามจัดทำข้อมูลท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ เพื่อรวบรวมไว้เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารของตำรวจใช้ในการป้องกันอาชญากรรมได้ถูกเป้าหมาย และสามารถตรวจสอบเป้าหมายได้ว่ากลุ่มใดบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่จะทำให้เกิดอาชญากรรมได้ในพื้นที่ ก็ให้เจ้าหน้าที่เข้าประกบติดตามพฤติกรรมยับยั้งก่อนที่จะก่อเหตุ
 
ในส่วนมาตรการการควบคุมแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เกาะเต่า ในกรณีที่แรงงานต่างด้าวบนเกาะเต่าใช้ชีวิตกันอย่างเสรี หลังเลิกงานแล้วมีการออกมาหาความสำราญดื่มกินปะปนกับนักท่องเที่ยวตามสถานบันเทิงหรือชายหาดนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก ตนจะได้นำปัญหาดังกล่าวเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานีเพื่อหามาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในกรอบของกฎหมายต่อไป
 
รายงานข่าวแจ้งว่านายอู ทัน ทัน ไต (U Tun Tun Htike) และ นางอู ซอ เอ หม่อง (U Zaw Aye Maung) พ่อแม่ของนายวิน ซอ ตุน (Ko Win Zaw Htun) ผู้ต้องหาแรงงานพม่าคนแรกวัย 21 ปี และนางดาว์ ฟิว ชเว นู (Daw Phyu Shwe Nu) แม่ และนายอู เทียนชเว อ่อง (U thein Shwe Aung) ลุงของซอ ลิน (Ko Zaw Lin Oo) ผู้ต้องหาแรงงานพม่าคนที่ 2 วัย 21 ปี ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนฆ่าสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า ได้เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ไปยังเกาะสมุย ในเวลา 16.35 น.และมีกำหนดถึงสนามบินนานาชาติเกาะสมุยในเวลา 17.35 น. และจะเข้าเยี่ยมลูกชายที่เรือนจำอำเภอเกาะสมุยใน 09.00 น.ในวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.57)
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์ทนายความสิทธิชี้อัยการศึกทำกระบวนการยุติธรรมไทยไม่น่าเชื่อถือ

$
0
0
 
24 ต.ค. 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ "การใช้กฎอัยการศึกท่ามกลางการปฏิรูปประเทศ" ระบุการใช้กฎอัยการศึกในกระบวนการยุติธรรม ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของไทย
 
โดยรายละเอียดทั้งหมดของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์
การใช้กฎอัยการศึกท่ามกลางการปฏิรูปประเทศ
 
จากกรณีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมตัวประชาชนอย่างต่อเนื่อง นับจากช่วง 10 วันที่ผ่านมา (15 ตุลาคม – 24 ตุลาคม 2557) ได้มีการใช้อำนาจดังกล่าวอย่างน้อย 5 ครั้ง ได้แก่ 1. การจับกุมนาย อ. ในวันที่ 15 ตุลาคม ด้วยความผิดตามมาตรา 112 โดยไม่ผ่านการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2. การจับกุมนาย น. เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยไม่มีหมายจับ[1] 3. การควบคุมตัว เจ้าหนี้นอกระบบที่จังหวัดมหาสารคาม ที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด[2] 4. การควบคุมนาง พ. เนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวพันกับคดีอาชญากรรม การหายตัวไปของครูญี่ปุ่น[3]และ 5. การบุกค้นบ้านของนาย บ. เพราะเกรงว่าจะปลุกระดมผู้คน โดยไม่มีหมายค้น[4]
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของไทย ในกรณีดังต่อไปนี้
 
1. การสอบสวนภายใต้กฎอัยการศึก ผู้ต้องหาขาดหลักประกันสิทธิ
 
ในคดีอาญา ผู้ถูกกล่าวหาถือเป็นประธานแห่งคดี ย่อมมีสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการมีทนายความช่วยเหลือคดี สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมและสิทธิในการแก้ข้อกล่าวหา
 
แต่การสอบสวนภายใต้กฎอัยการศึก ฝ่ายทหารปฏิเสธสิทธิการมีทนายความเข้าช่วยเหลือคดี ปฏิเสธที่จะแจ้งว่าได้ควบคุมตัวบุคคล ณ ที่ใด ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวขาดที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือการติดต่อกับโลกภายนอก ขาดโอกาสในการเตรียมคดี ส่งผลให้ผู้ถูกควบคุมตัวขาดเจตจำนงอิสระในการให้การ ทั้งต่อเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมลดลง
 
2. การควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก ขาดกลไกการตรวจสอบ
 
ภายใต้กฎอัยการศึก มาตรา 15 ทวิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มีอำนาจกักตัวบุคคลเพื่อสอบสวนไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน กรณีที่ผู้นั้นมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎอัยการศึก หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
 
กรณีการควบคุมตัวเพียงอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งในรัฐที่เป็นนิติรัฐ การควบคุมตัวต้องผ่านการออกหมายโดยใช้อำนาจของศาลเท่านั้น เพื่อให้กระบวนการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลสามารถตรวจสอบได้ และไม่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานฝ่ายใดมากเกินไป
 
3. การใช้กฎอัยการศึกในกระบวนการยุติธรรม ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ
 
อำนาจตามกฎอัยการศึก ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศใช้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารทำการตรวจค้น กักตัวบุคคล สอบสวน ออกคำสั่งห้ามกระทำการต่างๆ และประกาศอำนาจศาลทหาร
 
กรณีดังกล่าว ขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 ที่เป็นหลักประกันความยุติธรรมว่า ประชาชนทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา มีสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เปิดเผย มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง มีความสะดวกในการเตรียมการต่อสู้คดี มีทนายความ และมีสิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษา
 
4. การประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ตรงกับเจตนารมณ์
 
เจตนารมณ์ของกฎอัยการศึก มีไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ จากภัยสงครามหรือการจลาจล  โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็ม เหนือฝ่ายพลเรือน สามารถใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด เพื่อรักษาอธิปไตยของรัฐ ปราศจากราชศัตรู โดยเร็วที่สุด
 
แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หาใช่เรื่องภัยสงครามหรือการจลาจลไม่ แต่เป็นเพียงการแสดงออกโดยใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ความแตกต่างทางความคิด หรือการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายปกติจัดการได้ การประกาศใช้กฎอัยการศึกจึงไม่ตรงกับเจตนารมณ์
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจบริหารประเทศ ยกเลิกการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และออกประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้กลับเข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตย และประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่เพื่อเป็นผลดีต่อประเทศตามวิถีทางอันดีของระบอบประชาธิปไตย
 
ด้วยความเคารพในอำนาจอธิปไตยของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 
 
 
 
[1] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1413778981
 
[2] http://news.springnewstv.tv/56873/ทหารบุกรวบแก๊งเงินกู้มหาสารคาม-คิดดอกเบี้ยสุดโหด
 
[3] http://thairath.co.th/content/458129
 
[4] http://www.prachatai.com/journal/2014/10/56169
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ยงยุทธ มัยลาภ' แจงบริษัทรับพีอาร์รัฐบาล 114 ล้านรวมยอดมาตั้งแต่ปี 43

$
0
0
"ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยกรณี "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ตั้งทีมสอบข้อมูล บริษัทพีอาร์ ระบุยอดงบ 114 ล้านบาทนั้น เป็นยอดจากการรับงานทั้งหมดตั้งแต่ปี 2543 เป็นเวลา 14 ปี  64 งาน เผยขายหุ้นไปตั้งแต่ 30 ก.ค. แล้วเพราะเหนื่อย แต่บังเอิญไปได้งานธงฟ้าช่วง มิ.ย. ภรรยาเป็นคนเซ็นสัญญา

 
24 ต.ค. 2557 ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้คณะทำงานรวบรวมข้อมูลรายละเอียด กรณีมีการตรวจสอบพบว่าบริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ของ ร.อ.นพ.ยงยุทธ ได้รับงานประชาสัมพันธ์งานธงฟ้าเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 และที่ผ่านมาบริษัทดังกล่าวได้งานประชาสัมพันธ์ จากหน่วยงานรัฐเป็นจำนวนมาก รวมแล้วเป็นมูลค่ามากกว่า 114 ล้านบาท ว่าบริษัทดังกล่าวเปิดมานานแล้ว มีพนักงานทำงานด้านวิทยุโทรทัศน์ตลอดมา มีทั้งเอกชนและภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน และงานทุกงานประมูลงานได้มาจากหน่วยงานต่างๆ โดยสุจริต ซึ่งความจริงยอดงบ 114 ล้านบาทนั้น เป็นยอดจากการรับงานทั้งหมดตั้งแต่ปี 2543 เป็นเวลากว่า 14 ปี ซึ่งเป็นงานจากรัฐบาลกว่า 64 งาน ไม่ใช่งานเดียวรับงบมา 114 ล้านบาท
        
“ผมได้ขายหุ้นของบริษัทไปหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ในราคาที่ถือว่าขาดทุน เพราะรู้สึกเหนื่อยกับการทำงานตรงนี้ ซึ่งก็มีคนสนใจ ที่จะมาซื้อ แต่ในระหว่างที่จะมีการซื้อขายกันนั้น ทีมงานก็ยังคงทำงานกันอยู่ และบังเอิญไปได้งานธงฟ้า เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน พอดีทางภรรยาผมจึงเป็นคนไปเซ็นสัญญา เนื่องจากเจ้าของใหม่ยังไม่สามารถเข้ามาเริ่มดำเนินการได้ ทั้งนี้ผมยืนยันว่าไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับงานธงฟ้าแต่อย่างใด เพราะช่วงนั้นผมมีงานโรงพยาบาลและงานโฆษกของทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ต้องดูแลอยู่” โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
          
ส่วนรายละเอียดของการสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่จะให้คณะทำงานมาตรวจสอบนั้นตนคงต้องให้ทาง พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวต่อไป ตนคงไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้
 
อนึ่งเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการให้คณะทำงานรวบรวมข้อมูลรายละเอียดกรณีมีการตรวจสอบพบว่าบริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ของ นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ รับงานประชา สัมพันธ์งานธงฟ้าเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ที่ผ่านมาบริษัทดังกล่าวได้งานประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานรัฐเป็นจำนวนมาก รวมแล้วเป็นมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท และสาเหตุที่ นายกฯ สั่งให้คณะทำงานเก็บข้อมูลเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องการทราบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งนพ.ยงยุทธเป็นถึงโฆษกประจำสำนักนายกฯ ทั้งยังเป็นคนที่ทำงานใกล้ชิดนายกฯ จึงเกรงว่าจะมีผล กระทบกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลในช่วงที่กำลังเดินตามโรดแม็ป
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก
 
แนวหน้า, ข่าวสด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการยื่นฟ้องแล้วคดีเจ้าสาวหมาป่า–ศาลสอบคำให้การ 2 จำเลยจันทร์หน้า

$
0
0

 

24 ต.ค.2557 เวลาประมาณ 16.00 น. ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของผู้ต้องหา 2 รายคดี 112 จากกรณีละครเจ้าสาวหมาป่า คือ ภรณ์ทิพย์ (สงวนนามสกุล) และปติวัฒน์ (สงวนนามสกุล) แจ้งว่า วันนี้เป็นวันครบฝากขัง 7 ผลัด และอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาในช่วงบ่ายที่ผ่านมา โดยฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกัน แต่ศาลไม่มีหมายเรียกนำตัวผู้ต้องหาจากเรือนจำมาศาลในวันนี้ และมีกำหนดจะนำตัวผู้ต้องหาทั้งสองมาศาลเพื่อสอบคำให้การในวันจันทร์ที่ 27 ต.ค.นี้ ซึ่งในวันดังกล่าวทางทนายจะเตรียมยื่นประกันตัวทั้งสองอีกครั้งโดยใช้ตำแหน่งของนักวิชาการ

ทนายความกล่าวว่า โดยปกติเวลาฟ้องคดี จะต้องนำตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาลด้วยแต่หากผู้ต้องหาถูกขังอยู่ในเรือนจำ อาจไม่ต้องนำตัวมาก็ได้ และศาลมาสามารถเบิกตัวมาสอบถามคำให้การได้ในภายหลัง กรณีนี้คาดว่าศาลอาจอ่านคำฟ้องให้ผู้ต้องหาฟังทางเทเลคอนเฟอเรนซ์แล้ว

ทั้งนี้ ปติวัฒน์ถูกจับเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2557 ขณะที่ภรณ์ทิพย์ถูกจับเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2557 ทั้งคู่ถูกฝากขังยังเรือนจำตั้งแต่วันจับกุมจนปัจจุบัน ทนายความยื่นประกันตัวและคัดค้านการฝากขังหลายครั้งแต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

ปติวัฒน์ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะที่ภรณ์ทิพย์อายุ 26 ปี จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 จากกรณีมีส่วนร่วมในละครเวทีเรื่องเจ้าสาวหมาป่า ที่จัดแสดงในงานรำลึก 14 ตุลาเมื่อปีที่แล้ว ต่อมาวันที่ 30 ต.ค.2556 เครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบัน มีการจัดประชุมสมาชิกเครือข่าย โดยมีผู้เข้าร่วมราว 200-300 คน ได้ประชุมร่วมกันเพื่อแจกจ่ายคลิปดังกล่าวและนัดแนะให้เครือข่ายฯ เข้าแจ้งความตามมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่อยู่อาศัย ต่อมาวันที่ 2 พ.ย. 2556 เพจเครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบัน ได้สรุปกิจกรรมที่สมาชิกเดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแสดงดังกล่าวรวม 13 สถานีตำรวจ ประกอบด้วย 1.สน.คันนายาว กทม. 2.สภ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 3.สภ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 4.สภ.บางบาล จ.อยุธยา 5.สภ.บางปะอิน จ.อยุธยา 6.สภ.เมือง จ.นครปฐม 7.สภ.เมือง จ.ราชบุรี 8.สภ.ชะอำ จ.เพชรบุรี 9.สภ.เมือง จ.กำแพงเพชร 10.สภ.เมือง จ.พิษณุโลก 11.สภ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ 12.สภ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด 13.สภ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

ผู้สื่อข่ายรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า คดีนี้ถูกจับตาและติดตามจากฝ่ายความมั่นคงอย่างมาก โดยมีผู้ถูกเรียกเข้ารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายรายถูกสอบถามอย่างหนักเกี่ยวกับความเกี่ยวพันและบุคคลที่รู้จักที่มีส่วนร่วมในการแสดงชุดนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาระ+ภาพ: ไทยติดอันดับ 7 - ชาติน่าอยู่สำหรับชาวต่างชาติ

$
0
0

ชมภาพขนาดเต็มคลิกที่นี่

24 ต.ค. 2557 - ไทยติดอันดับที่ 7 จากการจัดอันดับของ HSBC ซึ่งทำการสำรวจจากชาวต่างชาติ 9,288 คนใน 100 ประเทศ โดยประเด็นที่นำมาพิจารณาประกอบด้วย คุณภาพชีวิต ค่าจ้าง และโอกาสในการเลี้ยงดูเด็กๆ ด้วยคุณภาพชีวิตและการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่วนอันดับหนึ่ง ได้แก่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

รายงานดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศเอเชียติดอันดับมากขึ้นในปีนี้ เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงอนาคตทางเศรษฐกิจในด้านบวกของประเทศแถบนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณา 3 ปัจจัยที่นำมาวิเคราะห์แล้ว แม้พัฒนาการทางเศรษฐกิจจะคืบหน้า แต่ระดับคุณภาพชีวิตในประเทศแถบเอเชียก็ยังคงตามหลังเศรษฐกิจอยู่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images