Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50697 articles
Browse latest View live

วิทยาศาสตร์กับความเชื่อและความเป็นไทย

0
0


จากกรณีข่าวเกี่ยวกับ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นเกี่ยวกับบั้งไฟพญานาค ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ในแนวทางวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลานาน และในรอบปีนี้ก็เช่นกัน เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูกาลของประเพณีบั้งไฟพญานาค ก็มีเหตุการณ์ที่เรียกว่า “โดนถล่ม” ในโลกออนไลน์จากผู้คนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่อาจยอมรับในสิ่งที่ท่านได้พิสูจน์ออกมาได้ รวมไปถึงเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ M2F ฉบับวันที่ 14 ตุลาคม 2557 ที่พาดหัวข่าวใหญ่โตว่า “เดชบั้งไฟพญานาค อ.จุฬาฯขอขมาล้ำเส้นศรัทธา” ซึ่งจากกรณีนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าทำไมวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยจึงกลายมาเป็นเสมือนคู่ขัดแย้งกับศรัทธาและความเชื่อของผู้คนไปได้

จากประสบการณ์ ผู้เขียนได้มีโอกาสมาใช้ชีวิตในต่างแดน และได้มีโอกาสพบปะกับคนไทยด้วยกันตามสถานประกอบการของคนไทยที่คนไทยในต่างแดนมักจะนิยมทำกัน นั่นก็คือร้านอาหารไทย จากการใช้ชีวิต ทำงาน สังเกตและพูดคุยซักถาม คนไทยที่ทำร้านอาหารไทยหลายแห่ง จะมีสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าแสดงถึง ”ความเป็นไทย” ไว้ในร้านเสมอ เช่น รูปปั้นนางกวัก พระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ พระพุทธรูป รวมไปถึงรูปของวีรบุรุษ วีรสตรีของแต่ละถิ่นพื้นที่ที่คนไทยในที่แห่งนั้นได้จากมา เป็นต้น และผู้เขียนเองได้ตั้งคำถามถึงเหตุผลของการนำสิ่งเหล่านี้มาไว้ในร้านอาหาร ซึ่งคำตอบที่ได้ครั้งแรกก็มีแตกต่างกันออกไป แต่เมื่อลองถามลึกลงไปเรื่อยๆนั้น ก็ได้คำตอบที่คล้ายกันว่า สิ่งเหล่านี้นั้นถูกใช้เป็น “ที่ยึดเหนี่ยว” และแสดงถึง “ความเป็นไทย”

จากประสบการณ์ดังกล่าวของผู้เขียน ทำให้พอจะเข้าใจได้ว่า มีสิ่งต่างๆมากมายที่ถูกรวมเข้าไว้กับ “ความเป็นไทย” และถูกใช้เป็น “ที่ยึดเหนี่ยว” ทางจิตใจของผู้คน นอกเหนือจากความหมายที่ปรากฏอยู่บนสีธงชาติ นั่นคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ วีรบุรุษ วีรสตรีในแต่ละพื้นที่ ตำนานเล่าขาน เรื่องราวอิทธิฤทธิ์ต่างๆนั้นก็ถูกผูกโยงเข้าไปกับ “ความเป็นไทย” ด้วยเช่นกัน

และเนื่องจากลัทธิชาตินิยมในแบบของไทยที่ถูกเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่พยายามสร้างชาติไทยขึ้นมาในรูปแบบที่รัฐบาลต้องการ มีการส่งเสริมให้ประชาชนรักชาติรักประเทศในรูปแบบต่างๆ มีการสร้างเรื่องราวของวีรบุรุษ วีรสตรี รวมไปถึงเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นเกิดความภูมิใจหรือเลื่อมใสศรัทธา และนำเรื่องราวในแต่ละท้องถิ่นมาผูกเข้ากับความเป็นชาติไทยที่เป็นแกนกลาง เพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ต่างรู้สึกต่อชาติไทยที่เป็นแกนกลางของทั้งหมดไปในตัว และเมื่อประชาชนในแต่ละพื้นที่นั้นต่างยึดถือเรื่องราวต่างๆที่ส่วนมากถูกสร้างขึ้นมาว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ และเป็นความเลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและถูกถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่น และในที่สุดความเชื่อเหล่านี้ก็กลายเป็นตัวตนของผู้คน ที่จะไม่ยอมให้อะไรมาสั่นคลอนสิ่งยึดเหนี่ยวของพวกเขาได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ อย่างเช่น กรณีบั้งไฟพญานาคก็เช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นบางส่วนว่า แนวคิดชาตินิยมอันล้าหลังและมรดกของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามยังคงทำหน้าที่ของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพสืบมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้มุมมองของผู้เขียนเห็นว่า ความเป็นไทยคืออะไรที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ เพราะสังคมเรายืนอยู่บนความเชื่อและศรัทธาและผลักไสวิทยาศาสตร์ออกไป และอธิบายด้วยความเป็นไทยและข้อยกเว้นต่างๆ

เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของโลกตะวันตก พบว่าวิทยาศาสตร์นั้นเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาของอารยธรรมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อโลกตะวันตกเริ่มพัฒนาและหลุดออกมาจากการครอบงำของศาสนาในยุคยุคกลางหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่ายุคมืด(Dark age) เข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา(Renaissance) และหลักเกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตก ก็เข้าสู่ยุคเรืองปัญญา(Age of Enlightenment) หรือที่รู้จักกันในนามของ ยุคสว่าง หรือ ยุคแห่งเหตุผล อีกด้วย ตั้งแต่การหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์มากมาย เช่น  นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส(Nicolaus Copernicus), กาลิเลโอ กาลิเลอี(Galileo Galilei) มาจนถึง เซอร์ไอแซก นิวตัน(Isaac Newton) ก็ทำให้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกอปรกับนักปรัชญาที่มีแนวคิดใช้เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์อย่าง ฟรานซิส เบคอน(Francis Bacon) และ เรอเน เดการ์ต(René Descartes) ก็ทำให้ระบบการคิดหาคำตอบและการให้เหตุผลของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างมาก แนวคิดแบบเป็นเหตุผลเข้ามาแทนที่แนวคิดและอำนาจที่ปลูกฝังผ่านประเพณี ที่มีมานานในโลกตะวันตก ซึ่งส่งผลให้โลกตะวันตกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ตามมา ทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างเป็นวงกว้าง การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งก็มีสาเหตุมาจากการเข้ามาแทนที่ของความเป็นเหตุเป็นผลและวิทยาศาสตร์ ผู้คนปลดแอกตัวเองได้โดยเริ่มจากการคิดแบบเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ผู้คนจะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเท่าเทียมได้อย่างไร ถ้าพวกเขายังคงอยู่ใต้ความเชื่อเดิมที่ตัวแทนพระเจ้าบอกว่าพวกเขาไม่เท่าเทียมกับขุนนาง พระ และกษัตริย์ ที่เปรียบเสมือนเทพเจ้าอันสูงส่ง กล่าวคือวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาปลดพันธนาการอำนาจและแนวคิดเดิมๆออกไปได้ในที่สุด และสังคมโลกตะวันตกก็พัฒนามาจากจุดนั้นมาเรื่อยๆ

ย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย เรายังคงติดอยู่กับพันธนาการของความเชื่อและประเพณีแบบเก่าอยู่ ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้เก่าเป็นพันปีแบบโลกตะวันตก แต่ความเชื่อเหล่านี้ก็ได้ถูกฝังตัวลงไปในผู้คนส่วนมากอย่างแยกไม่ออกแล้ว ซึ่งดูเหมือนภาครัฐจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างกระตือรือร้นมาเป็นเวลานานหลายสิบปี แต่ดูเหมือนผลที่ออกมาในระดับทั่วไปไม่ได้ดีขึ้นสักเท่าไรนัก ผู้เขียนก็สงสัยว่า ทำไมประเทศที่มีการส่งเสริมการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้นทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา อย่างประเทศไทยจึงไม่สามารถสลัดหลุดจากพันธนาการเหล่านี้ออกไปได้ ทั้งๆที่จำนวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาก็มีมากขึ้นทุกวัน ผู้สำเร็จการศึกษาออกมาทำงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ก็มีมากมาย แต่ทำไมเราจึงไม่สามารถสลัดหลุดจากพันธนาการอันเก่าเหล่านี้ได้

จากประสบการณ์และการพูดคุยกับคนจำนวนมากทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ พบว่า มุมมองต่อวิทยาศาสตร์ของคนไทยส่วนมากนั้นมีการแบ่งแยกต่างจากของโลกตะวันตกหรือในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น คนไทยจะมองวิทยาศาสตร์ในลักษณะที่เป็นวิชาหนึ่งที่ประกอบด้วยฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีการสอบหรือมีเอาไว้เพื่อทำงานในสายอาชีพเป็นหลัก ไม่ได้นำระบบเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวันหรือด้านอื่นๆ เช่น มุมมองทางการเมือง เรื่องลี้ลับที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งต่างจากคนชาติอื่น ที่จะแยกระหว่างการคิดแบบวิทยาศาสตร์กับการคิดแบบธรรมดาไม่ออกเสียแล้ว เนื่องจากการให้เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์กลายเป็นพื้นฐานในการคิดของพวกเขาไปเสียแล้ว

และสภาพแวดล้อมในสังคมไทยก็ยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย เพื่อนของผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังว่าในโรงเรียนของเขา หลังเลิกคาบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ก็จะมีการเล่าเรื่องผีเรื่องสิ่งลี้ลับเพื่อความสนุกสนาน และคนเล่าเรื่องก็คือครูสอนวิทยาศาสตร์คนเดิมนั่นเอง ซึ่งพอนักเรียนเหมือนจะไม่เชื่อ ก็จะวนเข้ามาสู่ประโยคคลาสสิคคือ “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้แล้ว วิทยาศาสตร์ที่ควรจะเติบโตในขณะที่นักเรียนอยู่ในโรงเรียนก็ไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรเป็น ยังไม่นับเรื่องมายาคติและความเชื่ออีกมากมายที่ไม่ควรอยู่ในโรงเรียนหรือสถานศึกษา และเมื่อนักเรียนกลับบ้านหรือออกไปอยู่ในสังคม ก็จะโดนการขัดเกลาทางสังคมอีกครั้งหนึ่งตามแต่ละพื้นที่ไป ซึ่งผลก็ออกมาอย่างที่เราทราบอยู่ในปัจจุบัน

แต่ผู้เขียนเองก็ไม่ได้มองว่าวิทยาศาสตร์คือศาสตร์แห่งความถูกต้องและดีเลิศที่สุดเสมอไป ในโลกปัจจุบัน วิทยาศาสตร์สถาปนาตัวเองว่าเป็นความรู้อันจริงที่สุด ถูกต้องที่สุด และก็ได้รับการยอมรับมากที่สุด แต่ในความจริงแล้ววิทยาศาสตร์อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่เราจะนำมาใช้ค้นหาคำตอบของความจริง และวิทยาศาสตร์อาจจะกลายมาเป็นพันธนาการใหม่ของสังคมมนุษย์ในยุคต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับสังคมไทยที่ดูเหมือนจะยังไม่เข้าสู่ยุคใหม่อย่างเต็มตัว วิทยาศาสตร์และการให้เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ย่อมเป็นทางเลือกที่ชัดเจนที่สุดต่อการพัฒนาสังคมไปข้างหน้า  โดยเห็นได้จากตัวอย่างของโลกตะวันตกเมื่อราวสามถึงสี่ร้อยปีก่อน ความเชื่อและประเพณีเก่านั้นสามารถอนุรักษ์ไว้ได้ แต่ไม่ใช่การให้พื้นที่ต่อสิ่งนั้นๆมากไปกว่าการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและการค้นหาความจริงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเราสามารถทำได้สำเร็จ เมื่อนั้นสังคมไทยอาจจะพัฒนาไปในทุกทางได้อย่างสังคมโลกตะวันตกในยุคนั้น มีคำกล่าวของอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประโยคหนึ่งซึ่งผู้เขียนชอบมากคือ "สิ่งที่เราอยากได้ยินมากกว่าคือไม่เชื่อต้องพิสูจน์ ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อต้องลบหลู่ มันฟังดูเป็นลบไปหน่อย แต่ไม่เชื่อต้องพิสูจน์ พิสูจน์จากทฤษฎีก็ได้ จากการปฏิบัติก็ได้ หรือจากการลงไปดูพื้นที่ก็ได้ทั้งนั้น ใช้หลากหลายวิธีดีกว่ามาบอกว่าอย่าลบหลู่ อย่าไปยุ่งกับเรื่องนี้ แบบนี้ไม่ใช่ มันต้องหาทางพิสูจน์"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แนวโน้มเศรษฐกิจการเมืองและสังคม – ผลกระทบต่อสังคมและแรงงาน

0
0

 

แนวโน้มเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ (พ.ศ.2557) น่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่มีการขยายตัวติดลบ อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีไม่น่าจะเกิน 2% ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ส่งออกขยายตัวติดลบ การถูกตัดจีเอสพีจะทำให้สถานะการส่งออกของไทยมีความยากลำบากมากขึ้นในอนาคต การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวดีนัก แต่การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคกระเตื้องขึ้นมาบ้าง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะปรับตัวไปในทิศทางดีขึ้นในปีหน้า (พ.ศ. 2558) โดยมีปัจจัยสำคัญจากพลังขับเคลื่อนของการลงทุนเอกชนโดยเฉพาะต่างชาติอันเป็นผลจากการรวมกลุ่มภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาล ปัจจัยบวกเหล่านี้จะขับเคลื่อนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเมื่อระบบการเมืองมีเสถียรภาพและกลับคืนสู่ประชาธิปไตยได้โดยไม่มีอุปสรรค เขตเศรษฐกิจพิเศษจะช่วยทำให้การค้าการลงทุนในพื้นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นและเป็นกลไกที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพิ่มขึ้นทางด้านการค้าและการลงทุน แต่เราต้องคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงด้านวิถีชีวิตของชุมชน คุณภาพชีวิตของแรงงานด้วย ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน บรรษัทข้ามชาติ ทุนไทย ทุนท้องถิ่น ทุนเอสเอ็มอี ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมจะช่วยกำหนดดุลยภาพที่ดีด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม อันมีผลต่อชีวิตของผู้คนและประเทศ 

ยุทธศาสตร์การพัฒนาโดยเน้นการส่งออกไม่น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมภายใต้พลวัตสิ่งแวดล้อมใหม่ ประเทศไทยอยู่ในช่วงความจำเป็นในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การผลิตแบบใหม่ ซึ่งไม่อาจอาศัยแรงงานราคาถูกเพื่อการส่งออกและสินค้าส่งออกที่อาศัยฐานทรัพยากรโดยไม่สร้างมูลค่าเพิ่มหรือนวัตกรรมได้อีกต่อไป

รัฐไทยต้องเป็นรัฐประชาธิปไตยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งมีระบบสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพและเข้มแข็งแต่ต้องเป็นระบบสวัสดิการที่กระตุ้นให้เกิดผลิตภาพที่สูงขึ้นด้วย (Productive Welfare System) จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว การขยายความคุ้มครองทางสังคมเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการพร้อมกับการจัดเก็บภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก อย่างไรก็ตาม ภาษีมรดกอาจมีต้นทุนในการจัดเก็บสูงและรัฐอาจจะมีรายได้ไม่มากนักจากภาษีดังกล่าว รัฐบาลจึงควรให้ผู้มีฐานะร่ำรวยเลือกว่าต้องการบริจาคให้กับสาธารณะโดยตรงหรือจะจ่ายเป็นภาษีมรดก  

รัฐไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายที่ทำให้เกิดการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ก่อให้เกิดการกระจายตัวของรายได้ ทรัพย์สิน ผลประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมที่มากพอ กลุ่มครัวเรือนที่รวยที่สุด 20% มีสัดส่วนในรายได้มากกว่า 50% และถือครองที่ดินมากถึง 79% กลุ่มครัวเรือนรวยที่สุด 10% ถือครองรายได้ 39% กลุ่มครัวเรือนที่จนที่สุด 20% ท้ายสุดมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 4% ขณะที่ 10% ท้ายสุดมีสัดส่วนรายได้ไมถึง 2% กลุ่มที่มีที่ดินน้อยสุด 20% หลังมีที่ดินเพียง 0.3% ที่ดินทั้งหมด (ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2554 สำรวจไตรมาสสอง ปี พ.ศ. 2557) ดัชนีการกระจายรายได้วัดจากค่าสัมประสิทธิ์จีนี ดัชนีความโปร่งใส ดัชนีการพัฒนามนุษย์อยู่ในอันดับท้ายๆของโลก ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงต้องแก้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยที่มีคุณภาพเพื่อให้เกิดทั้งประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม หรือ ประชาธิปไตยสมบูรณ์นั่นเอง    

ทางด้านการเมืองนั้น เราอยู่ภายใต้รัฐบาลรัฐประหารและเราปฏิรูปประเทศไทยภายใต้กฎอัยการศึก จึงขอเสนอให้สภาปฏิรูปดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนให้เข้าร่วมกระบวนการปฏิรูป เรื่องไหนเป็นการปฏิรูปสำคัญและมีความเห็นต่างทางความคิดมากควรจัดให้มีการลงประชามติ รวมทั้งเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องยึดหลักการประชาธิปไตย เราควรร่วมกัน

ผลักดันให้กระบวนการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเป็นไปตามกำหนดเวลา

ขบวนการแรงงานควรเป็นพลังสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตย แต่ทำไมขบวนการแรงงานจึงอ่อนแอและขาดเอกภาพและยังอาจถูกจำกัดการเคลื่อนไหวในช่วงการประกาศกฎอัยการศึก สหภาพแรงงานเป็นองค์กรภาคประชาชนที่มีระบบการจัดตั้งที่ดีที่สุด แต่ทำไมจึงมีอำนาจในการต่อรองและผลักดันนโยบายสาธารณะไม่มากนัก บรรดาผู้นำสหภาพแรงงานและคนงานต้องไปพิจารณาหาทางพัฒนาบทบาทของขบวนแรงงานเพิ่มขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง เราต้องมีความหวังที่จะทำให้ “ไทย” เดินหน้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอีก 15-20 ปีข้างหน้าแล้วเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย พื้นฐานที่สุดที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ คือ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยมี “คนไทย” เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เปล่าประโยชน์ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว แล้วคนไทยไม่มีความสันติสุข ไม่มีคุณภาพชีวิต

มีงานวิชาการและงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์มากมายศึกษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศต่างๆในโลกเพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และได้ข้อสรุปสอดคล้องกันว่า ปัจจัยเรื่อง “นวัตกรรมของประเทศ” เป็นสิ่งสำคัญต่อการก้าวข้ามพ้นกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง เป็น Breakthrough Growth with country innovation

นวัตกรรมของประเทศ จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขณะที่ เราไม่สามารถเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงยิ่ง

การปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะสามารถทำเรื่องยากๆได้หากระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีอำนาจอย่างแท้จริง กรณีที่การปฏิรูปเศรษฐกิจไปขัดกับผลประโยชน์คนส่วนน้อยอภิสิทธิ์ชนก็สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้ด้วยพลังของประชาชนส่วนใหญ่ กระบวนการประชาธิปไตยย่อมมีความล่าช้าเป็นปรกติ เพราะเป็นกระบวนการที่ต้องดึงการมีส่วนร่วมของผู้คนที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เมื่อมีการพลักดันให้เกิดขึ้นแล้วจะมีแรงต่อต้านน้อยมาก (จากฐานล่างสู่การตัดสินใจ) ขณะที่การปฏิรูปเศรษฐกิจที่อาศัยอำนาจเผด็จการบนสู่ล่างด้วยการสั่งการอาจขาดความรอบคอบและขาดการมองปัญหาอย่างรอบด้าน การปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้ระบอบอำนาจนิยม อาจทำให้เกิดแรงต่อต้านในภายหลัง หากผู้เผด็จการใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม แรงต่อต้านจะน้อยลง หากผู้เผด็จการมีที่ปรึกษาที่ดี และทำตามข้อเสนอที่มีวิสัยทัศน์ ก็อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศในทางที่ดีขึ้นก็ได้โดยไม่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการนานเท่ากับการดำเนินการผ่านกระบวนการประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยที่ถูกครอบงำด้วยทุนผูกขาดก็จะมีปัญหาเช่นเดียวกันกับระบอบอำนาจนิยม  

การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และ การจัดการทรัพย์สินของประเทศ

จุดพลิกผันของนโยบายเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจและการจัดการทรัพย์สินของประเทศ มักปรากฏเค้าลางเสมอเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านตามครรลองประชาธิปไตยหรือการรัฐประหารก็ตาม เค้าลางเหล่านี้บางครั้งก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ บางทีก็เป็นเพียงเค้าลางมีการเปลี่ยนแปลงพอเป็นพิธีเท่านั้น ที่มักจะทำกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ คือ การเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ผลก็คือทำให้การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจขาดความต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงรัฐบาลทีหนึ่ง ก็จะมีการเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจ หรือบางทีเพียงเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลชุดเดิมก็จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงรัฐวิสาหกิจ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังจึงสร้างระบบ Director Poll ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติและมีความเชี่ยวชาญต่างๆที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจประเภทผู้ทรงคุณวุฒิได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจทางการเมือง (ทั้งโดยเลือกตั้งและไม่เลือกตั้ง) ใช้อำนาจตั้งคนใกล้ชิดที่ไม่มีคุณสมบัติมาดำรงตำแหน่ง และ ปิดช่องโหว่การแต่งตั้งคนมาหาประโยชน์ในทางที่มิชอบในรัฐวิสาหกิจต่างๆ อย่างไรก็ตาม แม้นการเมืองไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งแต่ทิศทางใหญ่ของนโยบายรัฐวิสาหกิจไทยยังคงเหมือนเดิม ประเทศไทยไม่เคยเปลี่ยนจาก “ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม” มาเป็น “ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม” หรือ แนวทางบริหารเศรษฐกิจแบบชาตินิยมขวาจัด ไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ระบอบกึ่งประชาธิปไตย เผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ หรือ ช่วงเวลาการปฏิรูปประเทศ ก็ตาม  ยังคงเดินหน้าเปิดเสรีและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์แบบแนบแน่นเช่นเดิม

การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะนำมาสู่ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ลดภาระทางการคลัง บริการที่มีคุณภาพดีขึ้น และสามารถระดมทุนเพื่อลงทุนขยายบริการพื้นฐานให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต 

ขบวนการแรงงานต้องมีส่วนร่วมตรวจสอบการบริหารจัดการทรัพย์สินของประเทศโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน บทบาทของขบวนการแรงงานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมได้มีส่วนในการต่อสู้เรียกร้องเปลี่ยนแปลงการเมือง เศรษฐกิจ สังคมให้ดีขึ้น เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แม้นในบางช่วงเวลา ขบวนการแรงงานมีความสับสนในเรื่องทิศทางและเป้าหมาย ผู้ใช้แรงงานจึงต้องศึกษาค้นคว้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าเดิม

การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าสำหรับคนส่วนใหญ่ต้องเป็นกระบวนการการเคลื่อนไหวจากล่างสู่บนและการมีส่วนร่วมของประชาชนส่วนใหญ่จึงถือได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมือง อันนำมาสู่ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างแท้จริง

 

 

 

 




[1]รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต/กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย/รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: อภิวาทอภิวันท์

0
0

 

บันไดเมรุ ขั้นสุดท้าย คือปลายสุด

เป็นปลายจุด ส่งร่าง ก่อนห่างหาย

บ่งภาระ คาค้าง ยังไม่คลาย

จะสืบสาย สานต่อ จรมัน*

สามนิ้วชู บูชา กล้าประกาศ

อภิวันท์ อภิวาท ด้วยมาดมั่น

ภาระที่ ค้างคา จะฝ่าฟัน

เพื่อเบิกวัน ฟ้าใหม่ ชัยประชา

ฟังสิฟัง คนแสน เขาแค้นคับ

เสียงขานขับ เพลงสู้ ยิ่งกู่กล้า

มันใกล้กาล แตกดับ ใกล้ลับลา

ล้างวิโยค โลกหล้า ภราดร..

ส่งกันได้ ไกลสุด แค่จุดนี้

อภิวันท์ พลันชี้ อุทธาหรณ์

"เสรี"-"สู้" คู่ไว้ ใช่อ้อนวอน

นิรันดร คำ"สู้" คู่กับ"ชัย".

 

*จรมัน [จอระ-] (กลอน) ก. ทําให้มั่น, ทําให้แข็งแรง.

 

ที่มา: www.facebook.com/Youngone.Youngman

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มสหภาพเคมีภัณฑ์จี้ บ.ลินเด้ เคารพสิทธิสหภาพแรงงาน

0
0
กลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์จี้บริษัทลินเด้เคารพสิทธิสหภาพแรงงานตามมาตรฐานแรงงานสากล หลังออกประกาศที่สหภาพแรงงานระบุว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง

 
20 ต.ค. 2557 กลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ (CWUA) ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้บริษัทลินเด้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เคารพสิทธิสหภาพแรงงานตามมาตรฐานแรงงานสากลหลังจากกรณีที่สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ ได้ออกมาเปิดเผยว่านายจ้างคือบริษัทลินเด้ได้ส่งจดหมายทางอีเมล์ให้กับพนักงาน เมื่อเวลา 17.04 วันที่ 14 ตุลาคม 2557 ประกาศระเบียบข้อบังคับในการทำงานฉบับปรับปรุง โดยบังคับใช้ย้อนหลังไปวันที่ 1 ตุลาคม 2557 
 
โดยในประกาศระเบียบข้อบังคับในการทำงานฉบับปรับปรุงของบริษัทฯ ฉบับนี้ ทางสหภาพได้ระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้าง เช่น คนงานในแผนกจัดส่งที่มาทำงานในวันหยุดหรือทำงานล่วงเวลาในวันหยุดจะได้รับค่าตอบแทนในอัตรา 2 เท่าและ 3 เท่าของค่าจ้างปกติ แต่ประกาศฉบับใหม่แก้ไขเป็น 1 เท่าทั้งหมด เป็นต้น
 
ทั้งนี้กลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ ได้เรียกร้องต่อบริษัทลินเด้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ปฏิบัติดังนี้
 
1.ขอให้เคารพสิทธิสหภาพแรงงานตามหลักมาตรฐานแรงงานสากลของบริษัทลินเด้ ด้วยความจริงใจและปฏิบัติจริง
 
2.ขอให้เคารพในสิทธิการปรึกษาหารือร่วมกับสหภาพแรงงานที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการดำเนินกิจการใดๆ ของบริษัทลินเด้ ตามแนวปฏิบัติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
 
3.ขอให้เคารพในข้อตกลงสภาพการจ้างหรือข้อตกลงใดๆ ที่บริษัทลินเด้ ได้ให้ไว้กับสหภาพแรงงานด้วยความจริงใจและตรงไปตรงมา
 
อนึ่งกลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ เป็นสมาชิกของ IndustrialAll Thailand ประกอบไปด้วยสมาชิกว่า 1,500 คนจากองค์กรสมาชิกทั้งหมด 9 องค์กร ซึ่งสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊สที่มีนายจ้างคือบริษัทลินเด้ เป็นสมาชิกด้วย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

5 เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับ 'อีโบลา'

0
0

สื่อในสหรัฐฯ บางแห่งนำเรื่องอีโบลามาเสนอในแบบชวนให้ตื่นตระหนกเกินจริง บ้างว่าเป็นเรื่องโลกแตก เรื่องซอมบี้ เรื่องการแพร่กระจายที่หยุดยั้งไม่ได้ สำนักข่าวโกลบอลโพสต์จึงรวบรวม 5 มายาคติเกี่ยวกับอีโบลา พร้อมหาเหตุผลหักล้างมายาคติเหล่านี้


20 ต.ค. 2557 แม้ว่าเรื่องการระบาดของเชื้ออีโบลาเป็นเรื่องสำคัญและควรใช้ความระมัดระวัง แต่ในสหรัฐอเมริกา การกล่าวถึงโรคอีโบลาในสื่อมีเรื่องที่ชวนเข้าใจผิดปนอยู่ด้วย ทำให้ตอนนี้เกิดความตื่นตระหนกเกินจริงแพร่กระจายไปเร็วกว่าตัวไวรัสเอง

บทความของทริสแทน แมคคอนเนลล์ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักข่าวโกลบอลโพสต์ระบุว่า นักวิจารณ์ในข่าวช่องเคเบิลทีวีของสหรัฐฯ เป็นตัวการสำคัญที่คอยสร้างความตื่นตระหนกเกินจริง พูดจาในเชิงชวนให้หวาดกลัวและหวาดระแวงรวมถึงมีการทำนายหรือปั้นเรื่องโลกแตกขึ้นมาเองโดยที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความจริง พวกเขายังยัดเยียดประเด็นเรื่องการสั่งห้ามสายการบินและสั่งให้ปิดพรมแดนในการพูดคุยเรื่องอีโบลาซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง อีกทั้งยังเป็นการดึงความสนใจจากเหตุการณ์ระบาดที่เกิดขึ้นในพื้นที่แอฟริกาตะวันตก

ทางสำนักข่าวโกลบอลโพสต์ระบุว่าพวกเขาได้รวบรวมเรื่องเข้าใจผิด 5 เรื่อง ที่ถูกนำเสนอในสื่อ รวมถึงการแสดงความคิดเห็นหักล้างความเข้าใจผิดเหล่านี้


ความเข้าใจผิดเรื่องที่ 1 อีโบลาแพร่กระจายไปทั่วแอฟริกา

ในความเป็นจริงแล้ว อีโบลาแพร่กระจายในประเทศกินี, ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ติดกันในแอฟริกาตะวันตก แม้ว่าจะมีโรคไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสระบาดในไนจีเรียและเซเนกัล แต่การระบาดก็หมดลงแล้วเนื่องจากปฏิบัติการที่รวดเร็ว ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นในทั้ง 2 ประเทศ มาจากผู้ที่มีเชื้อไวรัสจาก 3 ประเทศที่มีการระบาดเดินทางไปเยือน อีกกรณีหนึ่งคือการระบาดของอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งได้รับการสกัดกั้นการระบาดอย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศแถบแอฟริกาอื่นๆ นอกจากนี้ไม่มีกรณีของเชื้ออีโบลาเลย


ความเข้าใจผิดเรื่องที่ 2 อีกไม่นานอีโบลาจะแพร่กระจายไปทั่วสหรัฐฯ อย่างควบคุมไม่ได้ แล้วจะทำให้โลกกลายเป็น "ดินแดนซอมบี้" วิธีการเดียวคือหยุดระบบการบินทั้งหมดและสร้างกำแพงสูง

แม้ว่าอีโบลาจะน่ากลัวจากการที่มีผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 90 และการแพร่กระจายก็ดูแย่ แต่ในการแพร่ระบาดครั้งล่าสุดที่แอฟริกาตะวันตกมีคนติดเชื้อเสียชีวิตเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นจนถึงบัดนี้จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่มีอาการเลือดไหลไม่หยุด

นอกจากนี้อีโบลาก็ไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ คุณจะติดเชื้ออีโบลาได้จากการสัมผัสของเหลวจากร่างกายของผู้ที่ไม่เพียงแค่มีเชื้อไวรัสแต่ต้องแสดงอาการของโรคด้วย ทำให้ผู้ดูแลและคนทำงานด้านสุขภาวะที่ทำงานกับผู้ป่วยอีโบลามีโอกาสติดต่อมากกว่าคนอื่นๆ อีโบลาไม่ใช่สิ่งที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านอากาศและองค์การอนามัยโลกก็ไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางโดยเครื่องบินเพื่อควบคุมโรค


ความเข้าใจผิดเรื่องที่ 3  อีโบลาไม่สามารถยับยั้งการระบาดได้

ในความเป็นจริงแล้วอีโบลาสามารถยับยั้งการระบาดได้ตราบใดที่ยังมีเครื่องมือพื้นฐานทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่นั้นๆ การที่ประเทศกินี, ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ต้องต่อสู้กับไวรัส ก็เพราะประเทศเหล่านี้กำลังอยู่ภายใต้การปกครองที่ฉ้อฉลและมีการใช้กำลัง มีความขัดแย้ง พัฒนาการที่ไม่ดี ทำให้การสาธารณสุข (และสถาบันอื่นๆ ของรัฐบาล) ไม่ดีไปด้วย

ถ้าหากว่าอีโบลาปรากฏในยุโรปและสหรัฐฯ การแพร่กระจายของมันจะถูกยับยั้งเร็วมากพอๆ กับไนจีเรียและเซเนกัล ซึ่งสามารถจัดการกักกันการแพร่ระบาดไว้ได้


ความเข้าใจผิดเรื่องที่ 4 มียารักษาอีโบลาอยู่จริง แต่ถูกปิดเป็นความลับ

ยังไม่มียารักษาอีโบลาอย่างน้อยก็ในตอนนี้ มียาที่กำลังอยู่ในขั้นทดลองถูกนำมาใช้กับคนทำงานสาธารณสุขที่ติดเชื้อไวรัสโดยส่งผลลัพธ์แตกต่างกันและยังมีปริมาณที่น้อยมาก วัคซีนก็กำลังอยู่ในขั้นทดลอง ในตอนนี้ยังไม่มียาเม็ดหรือยาฉีดที่สามารถรักษาอีโบลาได้ สิ่งที่ทำให้คนไข้มีโอกาสรอดจากการติดเชื้อได้มากที่สุดคือการทำให้ร่างกายไม่ขาดน้ำอยู่ตลอดเวลาและทำให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่ภูมิคุ้มกันพร้อมจะทำงานต่อสู้เชื้อโรคได้


ความเข้าใจผิดเรื่องที่ 5 อีโบลาเป็น "อาวุธชีวภาพของกลุ่มติดอาวุธไอซิส (ISIS)"

คำกล่าวอ้างนี้ไร้สาระ มันมาจากคำเปรียบเปรยของหัวหน้าหน่วยแพทย์ของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ อเล็กซานเดอร์ การ์ซา ผู้ให้สัมภาษณ์ว่าการต่อต้านไวรัสอีโบลา"ควรจะใช้ความพยายามในแบบเดียวกับการต่อต้านการก่อการร้าย" ซึ่งเทจู โคล ผู้เขียนบทความลงเว็บนิวยอร์กเกอร์มองเห็นความไร้แก่นสารของการเปรียบเปรยนี้จึงได้เขียนบทความในเชิงล้อเลียนเสียดสี ซึ่งเป็นการจิกกัดการแสดงความเห็นที่ไร้สาระในโทรทัศน์ไปด้วย


เรียบเรียงจาก

Ebola hysteria is going viral. Don't fall for these 5 myths, Globalpost, 16-10-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/health/141015/ebola-hysteria-going-viral-dont-fall-these-5-myths

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: สหรัฐฯไม่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำไทย สะท้อนอะไร?

0
0

นางคริสตี้ เคนนีย์เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ประกาศอำลาตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมาหลังจากที่ได้อยู่ในตำแหน่งนี้เกินกว่าวาระตามปกติ 3 ปีมาเกือบ 1 ปีแล้วชี้ว่าอาจเป็นปัญหามาจากการเมืองภายในของสหรัฐฯเอง หรือปัญหาความเหมาะสมของบุคลากรที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนทางการทูตของสหรัฐฯ ในประเทศไทย แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มิได้เกิดขึ้นแค่เพียงกับประเทศไทยเท่านั้นจากการเปิดเผยของแหล่งข่าวในกรุงวอชิงตันดีซีสรุปได้ว่าพันธมิตรของสหรัฐฯอีกหลายสิบประเทศก็ยังคงปราศจากเอกอัครราชทูตซึ่งอาจจะเป็นผลเสียต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้

ในกรณีของไทยนั้น การไม่ส่งเอกอัครราชทูตมาดำรงตำแหน่งต่อจากนางเคนนีย์ทันทีอาจมีนัยยะสำคัญหลายประการ แต่ก่อนอื่นนั้นจำเป็นต้องมีการชี้แจงให้ชัดเจนว่าการที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จะไม่มีเอกอัครราชทูตมาประจำการในอีกหลายเดือนข้างหน้านี้โดยจะมีอุปทูตเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนั้นมิได้หมายความว่าสหรัฐฯ ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตต่อไทยแต่อย่างใด

แต่ในทางหลักปฏิบัติทางการทูตนั้น เมื่อใดที่เอกอัครราชทูตไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานเอกอัครราชทูต ก็จะมีการมอบหมายให้อัครราชทูตขึ้นดูแลหน้าที่แทนซึ่งในกรณีนี้อัครราชทูตจะได้รับตำแหน่ง “อุปทูต” แทนชั่วคราวที่มีหน้าที่เฉกเช่นเดียวกับเอกอัครราชทูตนี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นปกติกับทุกประเทศแม้แต่ในกรณีของไทย

เมื่อใดก็ตามที่เอกอัครราชทูตคนใหม่ยังไม่สามารถเดินทางไปประจำการในต่างประเทศได้ ก็จะมีการมอบหมายให้อัครราชทูตปฏิบัติหน้าที่เป็นอุปทูตดูแลสถานเอกอัครราชทูตแทนจนกว่าเอกอัครราชทูตจะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการดังนั้นการที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จะมีอุปทูตปฏิบัติหน้าที่แทนนั้นจึงเป็นเรื่องของปัญหาทางเทคนิคมากกว่าจะเป็นประเด็นทางการเมืองใดๆ

แต่อย่างที่ผู้เขียนได้เกริ่นก่อนหน้านี้ในกรณีของไทย ณ วันนี้อาจมีการตีความที่แตกต่างไปได้และสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ทางการเมืองไทยนั่นเอง กล่าวคือนับจากที่ได้มีการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ถูกข้อจำกัดทางกฎหมายภายในประเทศในการต้องประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อไทย

เกี่ยวกับเรื่องนี้นายจอห์น แครรี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้ออกมาแสดงความกังวลใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทยก่อนหน้านี้ซึ่งต่อมารัฐบาลสหรัฐฯประกาศยุติความช่วยเหลือทางการเงินต่อกองทัพไทยที่มีมูลค่า 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯรวมถึงการไม่เชิญกองทัพเรือของไทยเข้าร่วมการประชุม RIMPAC หรือThe Rim of Pacific Exercise ซึ่งเป็นการซ้อมรบร่วมทางทะเลที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งได้มีการจัดและเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และ ณ จุดนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการซ้อมรบร่วมภายใต้ชื่อโครงการ Cobra Gold นั้นสหรัฐฯจะยังเชิญไทยเข้าร่วมหรือไม่มี

กระแสข่าวว่าการซ้อมรบ Cobra Gold ปีนี้อาจจะย้ายไปจัดที่ออสเตรเลียแทนซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากไทยไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการฝึกซ้อมรบดังกล่าวเพราะ Cobra Gold ถือว่าเป็นการฝึกซ้อมรบร่วมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีความเป็นมายาวนานที่สุดในภูมิภาคนี้โดยเริ่มมาจากความร่วมมือทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯและไทย ต่อมาได้มีประเทศใกล้เคียงโดยเฉพาะประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯได้ขอเข้าร่วมด้วยในฐานะผู้สังเกตการณ์ดังนั้นการไม่เชิญกองทัพไทยเข้าร่วมจึงน่าจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สะท้อนถึงความไม่พอใจของสหรัฐฯต่อความล่าช้าด้านการปฏิรูปการเมืองของไทยและอาจต้องการกดดัน คสช. ให้คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว

จึงอาจเป็นเรื่องไม่แปลกที่หลายคนอาจตีความว่าการที่สหรัฐฯยังไม่ส่งเอกอัครราชทูตมาประจำการที่ไทยต่อจากนางเคนนีย์นั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลงโทษของสหรัฐฯ ซึ่งอาจฟังดูมีเหตุผล แต่หากพิจารณาในกรอบที่กว้างกว่านั้นโดยเฉพาะจากมุมมองของสหรัฐฯแล้ว การตีความอาจมีความแตกต่างออกไป กล่าวคือในขณะนี้รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังไม่สามารถแต่งตั้งเอกอัครราชทูตเข้าดำรงตำแหน่งในประเทศต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศซึ่งรวมถึง ตุรกี เซียร์ราลีโอน และประเทศในยุโรปตะวันออกอีก 9 ประเทศ ปล่อยให้นักการทูตในระดับอัครราชทูตดำรงตำแหน่งอุปทูตต่อไปก่อนซึ่งน่าจะมาจากเหตุผลของภาวะตีบตันทางการเมืองของสหรัฐฯ เอง โดยเฉพาะการที่ปัญหานี้กลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองที่พรรครีพับรีกันใช้โจมตีรัฐบาลว่า ได้ใช้ตำแหน่งเอกอัครราชทูตในการปูนบำเหน็ดให้กับบุคคลทางการเมืองที่รัฐบาลสนิทสนม แทนที่จะแต่งตั้งนักการทูตอาชีพให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตซึ่งความไม่สามารถแต่งตั้งผู้แทนทางการทูตโดยเร็วไปประจำการในประเทศต่างๆ นั้นอาจจะส่งผลเสียต่อสหรัฐฯทั้งในแง่การดำเนินนโยบายต่างประเทศและในแง่การกำหนดยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในประเทศที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของแห่งชาติ

สถานการณ์การขาดแคลนเอกอัครราชทูตยังส่งผลกระทบต่อช่วงที่สหรัฐฯ ประสบกับสิ่งท้าทายระหว่างประเทศในเวลานี้สหรัฐฯ กำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากกลุ่มติดอาวุธนักรบญิฮาด รัฐอิสลาม(ไอเอส) ในอิรักและซีเรีย นอกจากนี้ยังมีปัญหาสงครามกลางเมืองในยูเครนความไม่มั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลีการท้าทายอำนาจสหรัฐฯทั้งด้านเศรษฐกิจและทหารจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนรวมถึงปัญหาที่จัดอยู่ในกลุ่ม non-traditional security นั่นคือปัญหาที่มาจากภัยธรรมชาติและโรคระบาด เช่นที่แอฟริกากำลังประสบกับการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาและอาจแพร่ไปยังภูมิภาคอื่นๆ อีกด้วย

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น นอกจากไทยแล้วสหรัฐฯ ก็ยังไม่ส่งเอกอัครราชทูตไปประจำการ ณ กรุงฮานอยประเทศเวียดนาม ซึ่งถือว่าเป็นประเทศพันธมิตรใหม่ของสหรัฐฯ ที่มีความสำคัญยิ่งในภูมิภาคนี้

ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเวียดนามนั้นแหล่งข่าวที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯเปิดเผยว่า ได้มีความพยายามจากพรรครีพับรีกันในวุฒิสภาที่จะเหนี่ยวรั้งการรับรองนายเท็ด โอซิอัสที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ณ กรุงฮานอยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาโดยวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับรีกันได้กล่าวว่ารัฐบาลโอบามาได้พยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับเวียดนามโดยยอมผ่อนคลายการคว่ำบาตรด้านอาวุธที่มีมานานถือว่าเป็นการปฏิเสธหลักการของสหรัฐฯโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจมากเกินไป

นับตั้งแต่ที่นายโอบามาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ได้มีความพยายามจากทำเนียบขาวในการปรับความสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้านี้ภูมิภาคนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้นำสหรัฐฯนักสะท้อนจากการที่สหรัฐฯ ไม่ให้ความสำคัญกับการส่งผู้นำระดับสูงในการเข้าร่วมการประชุมอาเซียน หรือในบางครั้งไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมเลยด้วยซ้ำ

สหรัฐฯยังคงมองว่าผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญกว่ายังอยู่ที่ภูมิภาคตะวันออกกลางรองลงมาอาจได้แก่ยุโรปหรือถ้าในเอเชียนั้นสหรัฐฯให้ความสนใจต่อเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งรวมถึงจีนญี่ปุ่นและเกาหลี มากกว่าที่จะสนใจความเป็นไปหรือพัฒนาทางการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่นับจากที่จีนเริ่มแผ่อิทธิพลมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหลังจากเกิดความขัดแย้งบ่อยครั้งในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสรีภาพในการเดินเรือของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ทำให้สหรัฐฯเริ่มหันมาให้ความสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลโอบามาได้ประกาศใช้นโยบายใหม่ที่เรียกว่า Pivot to Asia ที่จะเปลี่ยนภูมิภาคเอเชียให้เป็นส่วนหนึ่งของผลประโยชน์หลักของสหรัฐฯ

แนวโน้มนี้เห็นได้จากการที่สหรัฐฯยอมร่วมลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือกับอาเซียนในปี ค.ศ.2008เพื่อจะได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม East Asia Summit ที่มีอาเซียนเป็นแกนนำจากเหตุการณ์นั้นนางฮิลลารี คลินตันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นถึงกับผลิตวาทกรรมที่ว่า “สหรัฐฯพร้อมจะหวนคืนสู่แปซิฟิกแล้วเพราะเราคือมหาอำนาจแปซิฟิก”

สุดท้าย เมื่อกลับไปสู่เรื่องการไม่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตมาดำรงตำแหน่งในประเทศที่มีความสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น จึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯและนโยบาย Pivot to Asiaซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าและสหรัฐฯอาจจะปล่อยให้จีนรุกคืบขยายเขตอิทธิพลในภูมิภาคนี้ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ณัฐนันท์ วรินทรเวช

0
0

"ความเห็นของเพื่อนๆ ก็แตกออกเป็นหลายกลุ่ม แต่นักเรียนไทยส่วนใหญ่ปรับตัวง่าย รู้จักเอาตัวรอด ผู้ใหญ่อยากให้ท่องอะไรก็ท่องตามเพราะเขาอยากได้คะแนน เอาเกรดสวยๆ มาข่มกัน มีบ้างที่ตั้งคำถามกับค่านิยม 12 ประการ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจกับประเด็นนี้ อาจแค่รู้สึกว่ามีภาระงานเพิ่มอีกหนึ่งอย่างเท่านั้น"

หรือ 'ไนซ์' นักเรียน ม.5 เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

Special Report 10 ปี ประชาไท: สถานการณ์แรงงาน

0
0

บทวิเคราะห์ขนาดสั้นต่อประเด็นการเมืองในขบวนการแรงงาน, รูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง,  การรณรงค์ให้รัฐไทยรับรองอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87 - 98 และสถานการณ์แรงงานที่น่าสนใจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา


หลายปีมานี้ ขบวนการแรงงานที่ผูกติดกับอุดมการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะแนวคิดสังคมนิยมตามสูตรสำเร็จ “นักศึกษา-ชาวนา-กรรมกร” เริ่มเลือนหายลงไป สืบเนื่องมาจากแรงงานในภาคการผลิตและภาคบริการเพิ่มจำนวนขึ้น มีรายได้และสวัสดิการที่ดีขึ้น (ในระดับหนึ่ง) และระบบการจ้างงานที่ไม่เอื้อให้คนงานทำกิจกรรมภายนอกโรงงานได้มากนัก บวกกับเสถียรภาพทางการเมืองและความเจริญทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2535 – 2540 การฟื้นตัวและขยายตัวหลังปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งแม้จะมีการสะดุดบ้างในช่วงปี 2551-2552 แต่ประเทศไทยที่เป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำ ไม่เคยเกิดวิกฤตการจ้างงานครั้งใหญ่ จนทำให้คนงานต้องตกอยู่ในสภาพ “หลังพิงฝา” เพราะประเทศไทยยังมีภาคการเกษตรและการประกอบธุรกิจขนาดเล็กคอยดูดซับอยู่เสมอ ประเทศไทยจึงไม่ค่อยมีภาพคนงานออกมาประท้วงบนท้องถนนเป็นแสนเป็นล้านคนเหมือนกับหลายประเทศ

นอกจากนี้อีกปัจจัยที่ทำให้แนวคิดด้านขบวนการแรงงานที่ยึดโยงกับอุดมการณ์สังคมนิยมค่อยๆ เลือนหายไป ก็เนื่องมาจากจำนวนของปัญญาชนนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายที่ลดหายไปสวนกระแสกับอุดมการณ์ทุนนิยมที่เฟื่องฟูขึ้นตามลำดับ ทำให้นักกิจกรรมและเอ็นจีโออาชีพที่ดำเนินกิจกรรมภายใต้การกำหนดประเด็นด้านสุขภาพที่มี สสส. เป็นทุนหลักกลับมีบทบาทในด้านการจัดตั้งคนงานแทน

แต่กระนั้นความเคลื่อนไหวทางด้านแรงงานก็มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรองระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างก็ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา ดูได้จากสถิติจำนวนสหภาพแรงงาน ข้อพิพาทแรงงาน และจำนวนคดีในศาลแรงงาน ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกๆ ปี แต่เราอาจจะไม่ค่อยคุ้นชินกับความเคลื่อนไหวเหล่านี้ เนื่องจากข่าวแรงงานก็เป็นข่าวอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคมไทยมากนัก

ในรายงานชิ้นนี้เป็นบทวิเคราะห์ขนาดสั้นต่อประเด็นการเมืองในขบวนการแรงงาน, รูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง,  การรณรงค์ให้รัฐไทยรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 และสถานการณ์แรงงานที่น่าสนใจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

การเมืองในขบวนการแรงงาน
หลายยุคหลายสมัยมาแล้วที่แวดวงแรงงานต้องการองค์กรขับเคลื่อนขบวนแรงงานในระดับชาติที่เป็นเอกภาพ ปกป้องผลประโยชน์ที่แท้จริงให้กับคนงาน และสามารถสร้างแนวร่วมกับภาคประชาชนอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวในประเด็นความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งองค์กรที่ใกล้เคียงความฝันนี้มากที่สุดก็น่าจะเป็น “คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย”

ผลกระทบจากการตรา พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ในยุครัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นการแบ่งแยกขบวนการแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากเอกชน องค์กรแรงงานภาคเอกชนของฝั่งสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ ถูกมองในภาพลบว่าเป็นแหล่งผลประโยชน์ของผู้นำแรงงานไม่กี่คน เล่นการเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถูกรัฐและนายจ้างเข้าแทรกแซงและครอบงำอยู่บ่อยครั้ง ทำให้คนในแวดวงแรงงานมองหาองค์กรทางเลือกใหม่ๆ ของขบวนการแรงงาน

ในปี 2544 องค์กรแรงงาน แนวร่วมนักกิจกรรมปัญญาชนและเอ็นจีโอได้จึงได้ก่อตั้ง "คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย" (คสรท.) ขึ้นมาคู่ขนานกับกลุ่มสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการรวมตัวและแก้ไขปัญหาคนงานในระดับชาติ

ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเห็นว่าการรณรงค์เคลื่อนไหวเรียกร้องและติดตามประเด็นปัญหาแรงงานร่วมกันในขณะนั้นไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัญหาความอ่อนแอ ความแตกแยก ความไม่มีเอกภาพของขบวนการแรงงานทำให้การรณรงค์เคลื่อนไหวเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานไทยเป็นไปอย่างไม่มีพลังไม่ได้รับพิจารณาจากรัฐหลายครั้งมีแผนงานและข้อเรียกร้องดีๆ ที่ถูกเสนอโดยองค์กรแรงงาน แต่ขาดความเป็นเอกภาพในการทำงาน ขาดการทำงานและติดตามประเด็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการแบ่งงานกันทำที่ชัดเจนทำให้การเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้กลายเป็นองค์กรแรงงานที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในช่วงหลังปี 2544 เป็นต้นมา ในการรณรงค์เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ แก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งเป็นคลังสมองให้กับขบวนการแรงงานไทยโดยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เร่งดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 รัฐวิสาหกิจหลายแห่งถูกแปรรูปนำไปขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการแปรรูปที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก ผู้นำบางส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยในปีกของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทวงคืนรัฐวิสาหกิจจนและต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และเข้าร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในท้ายที่สุด โดยประเด็นหลักที่เข้าร่วม คือ ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและเปิดโปงกระบวนการโกงในรัฐวิสาหกิจ

บาดแผลของการเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การแตกหน่อออกไปเป็นกลุ่มพรรคการเมืองใหม่  จนมาถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ของแกนนำคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยบางคน ยังคงส่งผลกระทบต่อคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการ “ถอยห่างออกเพื่อรักษาท่าที” ของกลุ่มองค์กรแรงงาน นักสหภาพแรงงาน นักกิจกรรมและปัญญาชนหลายคนที่เคยสนับสนุนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มการเมืองที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมเหล่านั้น

ความล้มเหลวจากการสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ลงเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่พรรคการเมืองใหม่ได้คะแนนเสียงเพียง 34,883 เสียง ซึ่งในขณะนั้นปีกแรงงานในพรรคการเมืองใหม่ยังไม่แตกหักกับปีกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว คำถามจากสามหมื่นกว่าคะแนนที่พรรคการเมืองใหม่ได้นั้นก็คือเสียงของแรงงานมีเพียงแค่นี้? หรือถามในอีกคำถามที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงว่าทั้งสามหมื่นกว่าคะแนนนั้นเป็นเสียงของแรงงานจำนวนเท่าใดกันแน่?

ภายหลังความขัดแย้งภายในของพรรคการเมืองใหม่ทำให้ปีกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถอนตัวออกไป และปีกแรงงานนำโดยสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ช่วงชิงการนำมาได้และเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย” ในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นพรรคที่มีนโยบายด้านแรงงานที่หวังฐานเสียงจากกลุ่มคนงาน

นอกจากนี้ประเด็นการยอมรับจากฝ่ายที่มีความตื่นตัวในด้านประชาธิปไตยโดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการจัดตั้งจากทั้งเอ็นจีโอและนักสหภาพแรงงาน ที่พวกเขาเหล่านั้นล้วนได้รับประโยชน์จากนโยบายของพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มากกว่าการขับเคลื่อนของขบวนการแรงงาน และกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากพรรคการเมืองดังที่ได้กล่าวไปนั้น มักจะมองว่ากลุ่มขบวนการแรงงานของไทยมีจุดยืนสนับสนุนกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมที่ปฏิเสธการเลือกตั้ง

ในขณะเดียวกันองค์กรแรงงานกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากแกนนำที่มีความโน้มเอียงไปทางกลุ่มคนเสื้อแดงและได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ก็ดูเหมือนแทบจะไม่มีพลังและเป็นปากเสียงของคนงานในระดับชาติได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีโครงสร้างการทำงานและการรวมตัวกันที่เป็นระบบเหมือนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

แต่ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาของแรงงานที่ไม่ผูกติดกับเรื่องแนวคิดทางการเมืองมากนัก เช่น ปัญหาการเลิกจ้าง การจัดตั้งสหภาพแรงงาน การต่อรองเรียกร้องกับนายจ้าง ฯลฯ องค์กรแรงงานในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะมีจุดยืนด้านการเมืองในฝั่งไหน ก็ยังคงดำเนินการอย่างแข็งขันตามศักยภาพที่มีอยู่ แม้จะไม่เป็นข่าวตามหน้าสื่อก็ตาม

อนึ่งนี้ในบทวิเคราะห์ในรายงานชิ้นนี้ไม่ได้ตั้งคำถามกับการช่วยเหลือและผลักดันการแก้ไขปัญหาของคนงาน ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่ได้ทำมาอย่างดีตลอดอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เป็นการตั้งคำถามถึงจุดยืนในทางการเมืองที่ดูมีแนวทางโน้มเอียงไปทางกลุ่มอนุรักษ์นิยมเท่านั้น

รูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ รูปแบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงได้เริ่มคืบคลานและรุกไล่คนงานมาโดยตลอด ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาในระดับโลก

เหตุผลหลักของการบั่นทอนความมั่นคงของคนงานนั้น เนื่องมาจากความพยายามลดค่าใช้จ่ายขององค์กรต่างๆ ที่เป็นค่าใช้จ่ายผูกพันกับลูกจ้างประจำ เช่น ค่าจ้าง สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอื่นๆ รวมไปถึงการสร้างความยืดหยุ่นในการ “เพิ่ม-ลด” จำนวนพนักงานตามความผันผวนทางเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทยการจ้างงานแบบ “เหมาช่วง/เหมาค่าแรง” หรือ CAL (ย่อมาจาก Contract and Agency Labour) ซึ่งมีลักษณะเช่น สัญญาจ้างชั่วคราว การจ้างงานระยะสั้น การจ้างงานแบบเหมาที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายประกันสังคมให้กับคนงานและเป็นการจ้างงานที่โอนความเสี่ยงทางธุรกิจให้กับซับคอนแทรค (bogus self-employment) สัญญาจ้างรายบุคคล การจ้างงานตามฤดูกาล การจ้างงานที่ไม่รับประกันว่าจะได้รับมอบหมายงานเมื่อใด และมีการจ่ายค่าจ้างเฉพาะเมื่อได้รับจ่ายงานเท่านั้น งานรับจ้างทั่วไป และการจ้างงานรายวัน และยังครอบคลุมถึงการจ่ายงานออกไปข้างนอก (outsourcing) และการจ้างเหมาช่วง (sub-contracting) ในบางครั้ง อาจจ้างคนงานเป็นรายบุคคลมาทำงานเหมาช่วงจากบริษัทหลัก หรือจ้างคนงานทั้งกลุ่มโดยอีกบริษัทแยกออกไปแต่คนงานก็ทำงานประเภทเดียวกันกับที่คนงานประจำทำอยู่แต่อยู่ในสภาพการจ้างและสภาพการทำงานที่แย่กว่า

ธุรกิจจำนวนมากถูกตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะการจัดหาคนงานส่งไปให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ในหลายกรณี บริษัทจัดหาคนงานดำเนินการอยู่ภายในรั้วเดียวกับบริษัทหลักเดียวกัน และในบางครั้งก็อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บริหารกลุ่มเดียวกันด้วยซ้ำไป

มีตัวอย่างจำนวนมากที่เกิดขึ้นในองค์กรต่างๆ ที่พยายามใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมาย และพบความพยายามอย่างมากของบริษัทที่จะลดข้อผูกมัดด้านการจ้างงานลง วิธีการต่างๆ เช่น

- การจ้างงานผ่านสัญญาระยะสั้นที่ต่ออายุใหม่ไปเรื่อยๆ อาจมีการหยุดพักเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะเริ่มสัญญาใหม่ ทำให้บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงกฎระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดให้จ้างลูกจ้างชั่วคราวได้เพียงในช่วงเวลาหนึ่ง แต่หลังจากนั้นต้องบรรจุเป็นพนักงานประจำ ในทวีปอเมริกาเหนือ คนงานในลักษณะนี้ถูกเรียกว่า “คนงานชั่วคราวแบบประจำ”
- ให้ทดลองงานยาวนานอย่างโหดร้าย
- ไม่มีการฝึกอบรมทักษะการทำงานในการฝึกงานและการทดลองงาน
- จ้างงาน “ตามฤดูกาล” ตลอดทั้งปี
- การสร้างตัวแทนจัดหาคนงานหรือนายหน้าจ้างเหมาช่วงแบบปลอมๆ หรือบริษัทกำมะลอขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงภาระผูกพันต่อคนงาน

หลังการเลิกจ้างครั้งใหญ่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา พบว่าการจ้างงานเหมาช่วง/เหมาค่าแรง ในประเทศไทยมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อขบวนการแรงงาน โดยเฉพาะประเด็นการรวมตัวเพื่อต่อรองกับนายจ้าง เพราะส่วนใหญ่แล้วหากคนงานเหล่านนี้ออกมาเรียกร้องสิทธิหรือเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนายจ้างก็มักจะไม่ต่อสัญญาจ้างให้

มหากาพย์ไอแอลโอ 87 และ 98
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาการเรียกร้องให้รัฐไทยรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 มีมาเกือบทุกรัฐบาล โดยเป็นข้อเรียกร้องหลักของขบวนการแรงงานไทยในวันแรงงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา

อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมนั้นเป็นอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ถือกันว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกประเทศจะต้องเคารพและดูแลให้มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้คนงานจะต้องมีสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวก่อนที่จะสามารถเข้าถึงสิทธิอื่นๆ ได้จริง

อนุสัญญาฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว มีสาระสำคัญ 3 ประการที่เมื่อให้สัตยาบันแล้วจะทำให้กระบวนการสหภาพแรงงานเติบโตอย่างมาก คือ 1. คนงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ 2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ ที่จะจำกัดสิทธิในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง และ 3. องค์กร (สหภาพแรงงาน) มีเสรีภาพในการเข้าร่วมองค์กรใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเสรี

ส่วนอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง มีเนื้อหาหลักคือ 1. คุ้มครองลูกจ้างจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 2. องค์กรลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการแทรกแซงระหว่างกันทั้งในการก่อตั้ง การปฏิบัติ และการบริหาร และการมุ่งสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรของคนงานให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง และ 3. ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกลไกการเจรจาโดยสมัครใจทั้งนายจ้างหรือองค์กรนายจ้าง กับองค์กรคนงาน

ซึ่งพันธะของประเทศไทยภายหลังการให้สัตยาบันคือ 1. ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาในทุกมาตรา และในทุกถ้อยคำที่เป็นเงื่อนไข 2. แก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับอนุสัญญา รวมถึงแก้ไขบทบัญญัติในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับอื่นๆที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว 3. เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายตามข้อ 2 แล้ว จะต้องสามารถปฏิบัติได้จริงภายหลังการให้สัตยาบัน เพราะหากปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วน ประเทศไทยจะต้องจัดทำรายงานชี้แจงทุกๆ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ให้สัตยาบัน หรือถูกประณามจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และประเทศอื่นๆ และ 4. หากมีการให้สัตยาบันไปแล้วจะยังไม่สามารถยกเลิกการให้สัตยาบันได้จนกว่าจะครบ 10 ปี นับแต่วันที่อนุสัญญามีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ฝ่ายรัฐมักจะอ้างผลกระทบจากการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ในประเด็นความมั่นคง และสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยสรุปคือ 1. การเปิดเสรีให้แรงงานข้ามชาติจัดตั้งองค์กรแรงงานของตนได้ เป็นประเด็นปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ จำเป็นต้องมีการศึกษา และพิจารณาร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเชิงนโยบายแห่งรัฐ และการเตรียมมาตรการรองรับปัญหาในสังคมที่อาจตามมา 2. อาจเกิดความขัดแย้งในวงการแรงงานมากขึ้น จากเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งองค์กร ดังจะเห็นได้ว่า แม้ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ และมีการควบคุมการจัดตั้งองค์กรด้านแรงงาน โดยการจดทะเบียนองค์การแรงงาน ยังมีการจัดตั้งสภาองค์การแรงงานของทั้งฝ่ายนายจ้างหลายสภาอยู่แล้ว และ 3. การให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ มีผลกระทบ และมีผลผูกพันกับนายจ้าง ลูกจ้าง หน่วยงานภายนอก รวมทั้งองค์กรส่วนท้องถิ่นมากกว่า อนุสัญญาฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภายนอกเพียงบางส่วน ดังนั้น การพิจารณาให้สัตยาบัน โดยปราศจากการยอมรับจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกระทรวงแรงงาน อาจถูกโต้แย้งคัดค้านได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในสังคมไทย จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา และความรอบคอบ มิฉะนั้นการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีแก่สังคม และวงการแรงงานของประเทศ

สำหรับการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับนี้ กระทรวงแรงงานได้มีการจัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาวิจัยข้อเท็จจริงและความพร้อมของประเทศไทยด้านกฎหมาย การบริหารจัดการ แนวทางในการปรับปรุงกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องรวมทั้งศึกษาทัศนคติ ความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่มอาชีพ ตั้งแต่ปี 2546 แต่ผลการวิจัยสรุปว่า ควรชะลอการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับออกไปก่อนเพื่อให้มีการศึกษาผลดี ผลเสีย และผลกระทบในทุกด้านให้ครอบคลุมอีก รวมถึงมีดำริที่จะเปิดการประชาพิจารณ์ก่อนรับสัตยาบันนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการเสียที

และสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยนั้น หลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยภายใต้การปกครองของคณะทหารได้บังคับใช้กฎอัยการศึก มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างถ้วนหน้า การรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งหากมีความพยายามผลักดันโดยคณะรัฐบาลทหารให้รับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าขบขันและย้อนแย้งในระดับโลกเลยก็ว่าได้

สถานการณ์แรงงานที่น่าสนใจในช่วงปี 2547-2557


2547
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เคลื่อนไหวเรียกร้องและทวงสัญญากับรัฐบาลในการยกเลิกกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ
30 มกราคม 2547 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สสร.) ประมาณ 1,000 คน ได้รวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องและทวงสัญญากับรัฐบาลในการยกเลิกกฎหมาย 11 ฉบับ ที่กลุ่มผู้คัดค้านมองว่าเป็นกฎหมายขายชาติ ซึ่งรัฐบาลเคยประกาศจะยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2546 ทั้งนี้ ได้จัดไฮด์ปาร์กบนรถบรรทุก 6 ล้อถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนที่สัญจรไปมาในบริเวณสวนอัมพรพอสมควร จากนั้นกลุ่มตัวแทนดังกล่าวได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อรณรงค์เรื่องการยกเลิกกฎหมาย 11 ฉบับ โดยเฉพาะให้ยุติแผนการแปรรูปกิจการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัทเอกชน ด้วยการแจกเอกสารเชิญชวนให้ประชาชนให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปรณรงค์ต่อที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งเป็นจุดสุดท้ายก่อนที่จะสลายตัว

อนึ่งการชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มของการขับไล่รัฐบาลไทยรักไทยโดยขบวนการแรงงาน ซึ่งมีธงสำคัญก็คือการต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ก่อนที่จะขยับไปยังประเด็นอื่นๆ

เสนอแนวคิดจัดระเบียบแก้สหภาพแรงงานผี
ปลายเดือนมีนาคม 2547 นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ปลัดกระทรวงแรงงานมอบให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)ไปหาทางปรับบัญชีรายชื่อสภาแรงงานให้มีเลข 13 หลัก แล้วนำเข้าระบบเพื่อตรวจสอบกับระบบประกันสังคมว่าตัวเลขซ้ำกันหรือไม่ ถ้าข้อมูลไม่ตรงกันจะไม่รับจดทะเบียน ทั้งนี้หากใช้ระบบนี้จะทำให้รู้ว่าสหภาพแรงงานนั้นมีตัวตนจริงหรือไม่และจำนวนเท่าไหร่ โดยนายจารุพงศ์ระบุว่าที่ผ่านมามีการนำตัวเลขคนงานมาต่อรอง ทั้งที่จริงๆ แล้วผู้นำแรงงานต้องเป็นที่พึ่งของคนงาน มีหน้าที่เจรจากับนายจ้าง

2548
พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2 แต่มีนโยบายด้านแรงงานน้อยที่สุด
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 สำหรับพรรคการเมืองใหญ่ที่ลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคมหาชนถือว่าเป็นพรรคที่จัดทำนโยบายแรงงานสอดคล้องกับองค์กรแรงงานมากที่สุด เช่น จะให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ออกกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างแบบรับเหมาค่าแรงและรับเหมาช่วงให้มีความมั่นคงในอาชีพ ค่าจ้าง สวัสดิการและสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานเทียบเท่าพนักงานประจำ ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในเขตย่านอุตสาหกรรม ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการให้บริการ โดยขยายความคุ้มครองประกันสังคมไปยังผู้ใช้แรงงานทุกสาขาอาชีพ จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เป็นองค์กรอิสระ โดยมีภารกิจในการดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานแบบครบวงจรบริหารงานแบบมีส่วนร่วม 5 ฝ่าย คือ ผู้แทนรัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ป่วยจากการทำงานและผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และจะโอนงานสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน และกองทุนเงินทดแทนมาอยู่ในองค์กรใหม่นี้ เป็นต้น น่าเสียดายที่พรรคมหาชนไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากได้คะแนนเพียง 1,346,631 เสียง (คิดเป็นร้อยละ 4.33%) และได้ ส.ส.เขตจำนวน 2 คนเท่านั้น

ส่วนพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคที่มีนโยบายด้านแรงงานสอดคล้องกับองค์กรแรงงานน้อยที่สุดกลับได้คะแนนเสียงถล่มทลาย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้คะแนนถึง 18,993,073 เสียง (คิดเป็นร้อยละ 61.17) และได้ ส.ส.เขตจำนวน 310 คน

นายกทักษิณ เมินข้อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ 233 บาททั่วประเทศ เข้มงวดการจ้างงาน “เอาท์ซอร์ส”
ต้นเดือนพฤษภาคม 2548 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุถึงข้อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 233 บาทของกลุ่มแรงงานว่าหากขึ้นค่าแรงมากโรงงานก็เจ๊งหมด และคงมีการเลิกจ้างดังนั้นถ้าต้องการได้มากแล้วไม่ได้ กับต้องการได้พอดีๆ แล้วได้ อันไหนจะดีกว่ากัน ต้องคิดคำนึงและคำนวณในจุดนี้ด้วย

พ.ต.ท.ทักษิณ ยังกล่าวด้วยว่าในอนาคตข้างหน้าคนงานไทยจะหากินจากค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาอย่างน้อยให้เป็นแรงงานกึ่งฝีมือ สำหรับเรื่องแรงงานต่างด้าวจะจัดระเบียบให้มีใบอนุญาตทำงานและเสียภาษี แต่ต้องเป็นงานที่คนไทยไม่ทำแล้ว ส่วนกรณีข้อเรียกร้องการจ้างงานแบบเหมาช่วง ซึ่งในโลกยุคใหม่ใช้คำว่า “เอาท์ซอร์ส” วิธีการรับงาน คือ การเหมาช่วงจากนายจ้างอื่น แต่ไม่ใช่ในโรงงานเดียวกัน อย่างนี้เรียกว่าเป็นพวกซิกแซ็ก ต่อไปต้องต้องจับพวกซิกแซ็กยืดเส้นให้ตรง แต่ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย เพียงแต่ให้มีการตกลงกัน แต่ถ้าพูดไม่รู้เรื่องก็ต้องจัดการ

2549
รวมพลังสหภาพแรงงานต้านระบอบทักษิณ
24 มีนาคม 2549 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยออกแถลงการณ์ “สมานฉันท์แรงงานไทย ไล่ทักษิณ” ขอให้ผู้ใช้แรงงานรวมแสดงพลังเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” โดยขบวนการแรงงานไทยจึงขอแสดงจุดยืนให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งทันทีและให้ยุติบทบาททางการเมือง จากนั้นให้มีการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ โดยใหมีตัวแทนประชาชนจากทุกสาขาอาชีพอย่างแท้จริง

รัฐประหาร 19 กันยายน และข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยต่อ คมช.
19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ในภายหลัง) ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2549 และยื่นข้อเสนอตอ คมช. เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2549 ข้อเสนอ ทั้งหมดสรุปคือ ให้คณะทหารยุติการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน เร่งดำเนินการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลเก่า

เสนอผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้มีความชำนาญในปัญหาแรงงานเป็นอย่างดีโดย ครสท. เสนอ 4 รายชื่อประกอบไปด้วย 1) นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 2) รองศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ 3) รองศาสตราจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ 4) นายฐาปบุตร ชมเสวี ให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ให้รัฐบาลนำร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การพิจารณา เพื่อออกเป็นกฎหมายให้รัฐบาล และสำนักงานประกันสังคมเร่งแก้ไขกฎหมายประกันสังคมที่มีปัญหาทั้งฉบับและให้รัฐบาลสนับสนุนประมาณ ในการจดตั้งศูนย์ เลี้ยงเด็กในย่านอุตสาหกรรม และชุมชน

2550
แรงงานรัฐวิสาหกิจยังคงคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
แม้จะเป็นส่วนหนึ่งในการโค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทย แต่สมาพันธ์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ก็ยังคงจุดยืนในการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง โดยได้เรียกร้องกับประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี 2550) ให้ผลักดันการแก้ไขกฎหมายแรงงานและยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ

ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานกว่าแสนคน
เดือนพฤษภาคม 2550 สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยระบุว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทั้งแรงงานประเภททักษะฝีมือและแรงงานทั่วไป โดยเฉพาะภาคการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม 34 แห่งที่กระจายอยู่ 14จังหวัด ทั่วประเทศ รวมถึงภาคการผลิตนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีความต้องการแรงงานเพิ่มเติมกว่า 100,000 คน

กระนั้นในปีต่อมา (2551) ประเทศไทยกลับได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีการเลิกจ้างคนงานมากที่สุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา

2551
รัฐบาลไม่ได้ตั้งคณะกรรมการติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงาน
รัฐบาลพรรคพลังประชาชนนำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปมาเมื่อปลายปี 2550 ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการติดตามข้อเรียกร้องที่ยื่นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และจัดประชุมชี้แจงตอบข้อเรียกร้องกับผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมกรรมการและตอบข้อเรียกร้องวันแรงงานเป็นหนังสือมาโดยตลอด

คนงานเริ่มได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างเนื่องวิกฤตซับไพรม์
วิกฤตซับไพรม์ในช่วงปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2551 จุดเด่นของวิกฤตินี้คือการที่ความคล่องตัวของตลาดสินเชื่อทั่วโลกและระบบธนาคารลดลง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความซบเซาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา การกู้ยืมและการให้กู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง และระดับหนี้สินของบริษัทและบุคคลที่สูงเกินไป วิกฤติครั้งนี้มีผลหลายขั้นและค่อย ๆ เผยให้เห็นความอ่อนแอในระบบการเงินและระบบการควบคุมทั่วโลก

วิกฤตนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อคนงานไทยในปี 2551 ต่อไปจนถึงปี 2552 มีการเลิกจ้างคนงานในภาคสิ่งทอ, อิเล็กทรอนิกส์ และภาคผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยคนงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนงานเหมาช่วง/เหมาค่าแรงที่ถูกเลิกจ้างเป็นพวกแรกๆ รวมถึงคนงานที่มีอายุงานมาก นอกจากการเลิกจ้างแล้วนายจ้างยังทำการลดโอที ลดเวลาการทำงานโดยการใช้มาตรการ 75 ทำให้คนงานได้รับรายได้น้อยลง ลดสวัสดิการต่างๆ ซ้ำร้ายกว่านั้นมีหลายโรงงานปิดกิจการและไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชยให้คนงานอีกด้วย

2552
สถานการณ์การเลิกจ้างงานในปี 2552 ปลดคนงานต่อเนื่อง “ลูกจ้างชั่วคราว” เหยื่อกลุ่มแรก
มกราคม 2552 สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับสถานการณ์จ้างงานในปี 2552 พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีแนวคิดจะปรับลดพนักงานอย่างต่อเนื่องเพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวจะเป็นเป้าหมายแรกในการถูกเลิกจ้างก่อน ระบุปัญหาเศรษฐกิจจะทำให้ยอดขายและคำสั่งซื้อลดลง กำไรลดลง แม้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังตั้งใจทำธุรกิจตัวเองต่อไป แต่มีบางส่วนเตรียมผันตัวเองไปทำธุรกิจอื่น และบางส่วนจะหยุดกิจการชั่วคราว
นโยบายแจกเงิน 2,000 บาท ช่วยผู้ประกันตนของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2552 รัฐบาลได้แจกเงิน 2,000 บาทให้กับกลุ่มประชาชนในระบบประกันสังคม (กลุ่มที่อยู่ในประกันสังคมปกติ ตามมาตรา 33 ออกจากงานแต่จ่ายสมทบต่อเนื่องด้วยตัวเอง ตามมาตรา 39 และสุดท้าย คือกลุ่มว่างงาน และยังอยู่ระหว่างรับเงินชดเชยประกันว่างงาน) ที่มีรายได้ไม่เกิน 14,999 บาทต่อเดือน

ตามแนวทางจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพนี้ รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์คาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กระเตื้องขึ้นได้

2553
เสนอประชาพิจารณ์ก่อนลงสัตยาบันไอแอลโอ 87-98 แต่ท้ายสุดก็ไม่เกิดขึ้น
มกราคม 2553 นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าคณะทำงานประสานการดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 ยังไม่สรุปเพราะมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของความมั่นคง และประเด็นอื่นที่ยังมีข้อสงสัยจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขั้นตอนจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา ทั้งนี้การทำประชาพิจารณ์ก็เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าการลงนามในสัตยาบันดังกล่าวมีผลดีผลเสียอย่างไร

แต่กระนั้นในตลอดทั้งปี 2553 ประชาพิจารณ์ที่ว่านั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ข้อเสนอหลังวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง
บทเรียนจากการเลิกจ้างครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2551-2552 ทำให้ขบวนการแรงงานมีข้อเสนอสำคัญต่อรัฐบาลในวันแรงงานแห่งชาติเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการปิดกิจการแล้วละทิ้งคนงานของภาคเอกชนอีกครั้ง ตัวอย่างข้อเรียกร้องก็มีเช่น รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง ในกรณีที่สถานประกอบการปิดกิจการ เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน เป็นต้น

2554
คนงานเริ่มกลับเข้าโรงงาน พร้อมกับการจ้างงานชั่วคราวที่เพิ่มขึ้น
มกราคม 2554 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าในปี 2554 กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีแผนจะรับแรงงานเพิ่มอีก 5 หมื่นคน เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ที่ผู้ผลิตตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคัน ซึ่งเป็นการฟื้นตัวแทบที่จะเรียกได้ว่าเต็มรูปแบบหลังวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มมาตั้งแค่ปี 2551 เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีเพียงอุตสาหกรรมสิ่งทอเท่านั้นที่ยังซบเซาต่อเนื่อง นอกจากนี้รูปแบบการจ้างงานแบบประจำก็ลดลงไป ผู้ประกอบการหันมาใช้การจ้างงานชั่วคราวแบบเหมาช่วง/เหมาค่าแรงเพิ่มขึ้น

พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง นโยบายสำคัญคือค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ และเงินเดือนขั้นต่ำวุฒิ ป.ตรี 15,000 บาท
พรรคเพื่อไทย นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีนโยบายด้านแรงงานที่สำคัญคือการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาท และผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีได้เงินเดือนแรกเข้า 15,000 บาทต่อเดือนทุกสาขาอาชีพ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 โดยได้คะแนนเสียงแบบปาร์ตี้ลิสต์ถึง 15,744,190 (ร้อยละ 48.41) และ ส.ส.แบบเขต 204 คน

มติ ครม. ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท 7 จังหวัดนำร่อง 1 เม.ย. 55 ทั่วประเทศ 1 ม.ค. 56
พฤศจิกายน 2554 มีมติคณะรัฐมนตรีให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง มีผล 1 เม.ย.2555 โดยรายละเอียดดังนี้

1. ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดภูเก็ต เพิ่มขึ้น 79บาท จากอัตราวันละ 221 บาท เป็นวันละ 300 บาท หรือเพิ่มขึ้น 35.7% 2. ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม เพิ่มขึ้น 85 บาท จากอัตราวันละ 215 บาทเป็นวันละ 300 บาท หรือเพิ่มขึ้น 39.5% 3. ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดที่เหลือ 70 จังหวัด ปรับเพิ่มขึ้น 39.5% ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดในปี 2554 4. ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดที่เหลืออีก 70 จังหวัด ตามข้อ 3 อีกครั้ง เป็นวันละ 300 บาท โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 สำหรับจังหวัดภูเก็ต กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาท 5. ในปี 2557 และปี 2558 ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดไว้ที่วันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

ทั้งนี้หากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2557 และปี 2558 ได้ตามความเหมาะสม

น้ำท่วมใหญ่กระทบโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม
ในช่วงฤดูฝนปี 2554 ประเทศไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง การผลิตบางส่วนต้องหยุดชะงักชั่วคราว

โดยอุทกภัยในครั้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ในพื้นที่ภาคเหนือ และแผ่ขยายวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งสิ้น 64 จังหวัด โดยสถานการณ์ได้รุนแรงขึ้นตามลำ ดับจนเข้าสู่จุดสูงสุดในเดือนตุลาคม จากเหตุการณ์น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมครั้งแรกในประวัติศาสตร์จำนวน 7 แห่งในจังหวัดอยุธยาและปทุมธานี ในเบื้องต้นประเมินว่าความเสียหายของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท

2555
เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง เพิ่ม 39.5% อีก 70 จังหวัด

1 เมษายน 2555 ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทใน 7 จังหวัดนำร่อง และการเพิ่มค่าแรงอีก 39.5% ในอีก 70 จังหวัดที่เหลือมีผลบังคับใช้

โรงงานฟื้นตัวหลังเหตุน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
พฤษภาคม 2555 โรงงานในจังหวัดจังหวัดอยุธยาและปทุมธานีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมากว่าร้อยละ 60 กลับมาดำเนินกิจการแล้ว ทำให้ผู้ใช้แรงงานกว่า 40,000 คนได้กลับเข้ามาทำงานตามปรกติและเริ่มมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2556
ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ
1 มกราคม 2556 อัตราค่าแรงขั้นต่ำจังหวัดที่เหลืออีก 70 จังหวัด วันละ 300 บาท มีผลบังคับใช้
ปัญหานายจ้างตุกติกเลี่ยงปรับค่าแรง 300 บาท

ผลจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทเมื่อปี 2555 และ 2556 ที่ผ่านมา ก็พบว่านายจ้างหลายสถานประกอบการใช้เทคนิควิธีการเลี่ยงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐบาลกำหนดจริง แต่หันไปปรับลดสวัสดิการอื่นๆ ลงเพื่อทำให้สถานประกอบการจ่ายค่าจ้างได้เท่าเดิม เช่น เอาค่าเช่าบ้าน เบี้ยขยัน เบี้ยเลี้่ยง นำมาคิดรวมกับค่าจ้าง นอกจากนี้ ยังพบวิธีที่นายจ้างบางโรงงานเลี่ยงการปรับค่าจ้างในอัตราที่ประกาศใหม่ โดยใช้วิธีเปลี่ยนการคำนวณค่าจ้างจากรายเดือนที่เอาเงินเดือนหารด้วย 30 วัน ก็เปลี่ยนเป็นรายวันเอา 26 วัน หาร หรือการนำเอาสัญญาจ้างงานฉบับใหม่ไปให้ลูกจ้างเซ็นยินยอม เป็นต้น

2557
รัฐประหารพฤษภาคม 2557
22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย

คงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ถึงปี 2558
กันยายน 2557 นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ว่าจากข้อมูลของอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เห็นว่าควรคงค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาท ไปจนถึงปี 2558 ตามมติของบอร์ดค่าจ้าง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และมีการพิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดโครงสร้างค่าจ้างแยกเป็นรายอาชีพ

ทั้งนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้รายงานผลการตรวจแรงงานช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2557 พบว่ามีสถานประกอบการผ่านการตรวจ 33,014 แห่ง ลูกจ้าง 1,117,909 คน และสถานประกอบการจ่ายค่าจ้างไม่ถึงวันละ 300 บาท 991 แห่ง ลูกจ้าง 23,414 คน ทั้งนี้ กสร.ได้ออกหนังสือเตือนสถานประกอบการดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วาทะเด็ดในรอบ 10 ปี (2547-2557)


"ขอให้เชื่อว่าโรงงานยุคใหม่จะเปลี่ยนไป รัฐบาลจะดูแลเต็มที่ เราเป็นรัฐบาลที่มีเมตตาสูง ประธานสหภาพแรงงานไม่ต้องมีหนวดเคราเพื่อเท่ ก็พูดรู้เรื่อง เพราะนี่ไม่ใช่ยุค เชกูวาร่า"


พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
กล่าวในวันแรงงานแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2548
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสนอเร่งผลักดัน พ.ร.บ. ทวงหนี้ พร้อมเพิ่มมาตรการปกป้องลูกหนี้จากการติดตามทวงหนี้

0
0

องค์กรอิสระฯ นักกฎหมาย และตัวแทนลูกหนี้นอกระบบ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เรียกร้องเพิ่มมาตรการเยียวยาลูกหนี้ ใน พ.ร.บ.ทวงหนี้ หวังป้องปรามเจ้าหนี้ใช้วิธีผิดกฎหมาย

20 ต.ค 2557 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน นักกฎหมาย ตัวแทนลูกหนี้  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล  ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.... เพื่อเสนอความเห็นและข้อเสนอต่อ คณะกรรมาธิการฯ ให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแก้ไขบทบัญญัติในกฎหมายเพื่อให้เกิดการคุ้มครองลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบให้ได้รับความเป็นธรรมจากการทวงถามหนี้  ทั้งนี้เสนอให้เพิ่มเติมมาตรการเยียวยาความเสียหายแก่ลูกหนี้  ที่ได้รับผลกระทบจากการทวงหนี้ด้วย  และขอให้เร่งการออกกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วเพื่อเป็นมาตรการคุ้มครองลูกหนี้และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ

จากกรณีปัญหาการทวงถามหนี้  ที่เจ้าหนี้และผู้ทวงถามหนี้ใช้วิธีการต่างๆ กับลูกหนี้ เช่น การข่มขู่ให้กลัว   การใช้วาจาหยาบคาย ดูหมิ่น ทำลายทรัพย์สิน   ยึดทรัพย์โดยพลการ หรือการทำร้ายร่างกาย  และการกระทำที่ทำให้ลูกหนี้หลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ  การที่กล่าวนั้น  กฎหมายอาญาไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ติดตามทวงถามหนี้หรือเจ้าหนี้เหล่านั้น   ทำให้ลูกหนี้หาทางออกวิธีที่ไม่เหมาะสมและไม่เกิดประโยชน์กับลูกหนี้ เช่น กู้เงินนอกระบบมาชำระหนี้ในระบบ,ตัดสินใจออกจากงานทนแรงกดดันไม่ไหว, เลิกกับครอบครัว รวมไปถึงการฆ่าตัวตายดังที่เป็นข่าว

นางสายฝน  ตัวแทนลูกหนี้ กล่าวว่า “อยากเร่งให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ซะที เพราะสงสารเพื่อนๆ ที่ถูกทวงหนี้ บางคนโดนขู่จนกลัวไม่กล้าไปทำงาน บางคนโดนด่าว่าหยาบคาย ไปแจ้งความตำรวจไม่รับแจ้งความ ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เราเป็นหนี้ก็ทราบค่ะว่าต้องใช้หนี้ แต่บางครั้งเราหาเงินมาใช้หนี้ไม่ทัน มาครั้งนี้เพื่อขอให้ทางคณะกรรมาธิการฯ ช่วยแก้กฎหมายให้ครอบคลุมหนี้นอกระบบด้วย”

ด้าน นายชัยรัตน์  แสงอรุณ  ที่ปรึกษานักกฎหมายและทนายความ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า “ กฎหมายฉบับนี้  ควบคุมพฤติกรรมของผู้ทวงหนี้  ที่ดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญาไม่ได้  และบทกำหนดโทษใน พรบ.นี้  สูงกว่ากฎหมายอาญา  ซึ่งน่าจะเป็นมาตรการในการป้องปรามไม่ให้เจ้าหนี้หรือผู้ติดตามหนี้กระทำการที่ผิดกฎหมาย  แต่เมื่อลูกหนี้ได้รับความเสียหายจากการทวงหนี้ควรได้รับการเยียวยาด้วย  เช่น  การทำลายทรัพย์สินของลูกหนี้  เจ้าหนี้ควรต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น”

ภญ.ชโลม เกตุจินดา  กรรมการและอนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร องค์การอิสระฯ  ให้ความเห็นว่า  การออกกฎหมายแต่ละฉบับนั้นเป็นเรื่องยากจึงเห็นว่า  กฎหมายควรครอบคลุมหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ เนื่องจากคณะกรรมการฯ ได้ทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อกฎหมาย จากการรับฟังปัญหาของประชาชน  การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายโดยเฉพาะภาคประชาชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  ขอเสนอให้กฎหมายฉบับนี้มีคณะกรรมการที่มาจากภาคประชาชนด้วย เช่น สหพันธ์องค์การผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เป็นต้น

นอกจากนี้ นายชูชาติ บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัครเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และอนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร องค์การอิสระฯ กล่าวว่า ที่มายื่นหนังสือในวันนี้เพื่อให้เห็นว่าอะไรมันยังไม่ครอบคลุมเป็นข้อบกพร่อง ในฐานที่เป็นภาคประชาชนเห็นว่ามันยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด สิ่งที่อยากให้เพิ่มเติมคือ การบังคับของสถานบันการเงินหรือธนาคารที่ปล่อยบัตรเงินสดหรือสินเชื้อให้กับลูกหนี้ แล้วบังเอิญเป็นธนาคารเดียวกับที่ลูกหนี้เงินได้รับเงินเดือนธนาคารนั้นๆ พอลูกหนี้จ่ายไม่ไหวเขาดูดเงินลูกหนี้ไปใช้หนี้เกลี้ยงทำให้ลูกหนี้ไม่มีเงินใช้ ตรงนี้มันทำไม่ได้มันผิดกฎหมายเพราะการยึดเงินเดือนของลูกหนี้ตามกฎหมายต้องฟ้องศาลก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งจึงเข้าสู่กระบวนการอายัดเงินเดือนได้สูงสุด 30% ของเงินเดือน รวมทั้งในกรณีในระหว่างการทวงหนี้ทุกครั้งที่เจ้าหนี้ทวงหนี้ครั้งละ 350 บาท หากเดือนนั้นทวงสองครั้งก็จะเป็นเงิน 700 บาท ซึ่ง 700 บาทนี้นำไปรวมกับเงินต้นแล้วนำมาคิดดอกเบี้ยซ้ำ หากกรณีนี้นำเข้าสู่กระบวนการศาลๆ ไม่ให้ ศาลตัดออกหมด ลูกหนี้ไม่ควรจ่ายค่าทวงหนี้ที่ส่ง sms เพียงข้อความละ 2   บาท แต่คิดเป็นค่าทวง 350 บาทต่อ sms

นายชูชาติ ยังกล่าวถึงว่า ส่วนในกรณีกู้เงินนอกระบบจะมีการยึดบัตรเอทีเอ็มพร้อมสมุดบัญชีไปกดเงินเองไปกดเงินเอง อยากให้กฎหมายตรงนี้เขียนไว้ว่าอย่ายึดบัตรเอทีเอ็มและสมุดบัญชี

อย่างไรก็ตาม นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พรบ.ทวงถามหนี้ ว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้พยายามเร่งรัดให้กฎหมายทวงถามหนี้ออกโดยเร็ว  คาดว่าอีกประมาณ 3-4 อาทิตย์จะพิจารณาแล้วเสร็จ ทั้งนี้จะเร่งพิจารณาให้กฎหมายออกมาบังคับใช้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่ให้กับผู้บริโภค

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวตะวันออกกลางเผยความโหดเหี้ยมรัฐบาลอิรัก-กลุ่มติดอาวุธฝ่ายตรงข้าม 'ไอซิส'

0
0

แม้จะรู้กันว่ากลุ่มติดอาวุธ 'ไอซิส' (ISIS) มีความโหดเหี้ยมอย่างเปิดเผย แต่ฝ่ายรัฐบาลอิรักและกลุ่มติดอาวุธที่หนุนหลังโดยรัฐบาลก็มีความโหดเหี้ยมไม่แพ้กัน โดยมีเหยื่อเป็นพลเรือนต่างนิกายศาสนา ที่ทั้งถูกจับกุม ทรมาน และสังหารตามอำเภอใจ


20 ต.ค. 2557 เทรซี เชลตัน นักข่าวอาวุโสของสำนักข่าวโกลบอลโพสต์ ผู้รายงานข่าวประเด็นซีเรียและตะวันออกกลางเขียนบทความเกี่ยวกับกรณีกลุ่มกบฏไอซิส (ISIS) โดยระบุว่าไม่เพียงกลุ่มไอซิสเท่านั้นที่มีความโหดร้ายแต่กองทัพรัฐบาลอิรักที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เองก็กระทำโหดร้ายต่อพลเรือนซึ่งเป็นคนต่างนิกายเช่นกัน

เชลตันเปิดเผยในบทความว่ากองทัพอิรักและกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์สั่งลงโทษผู้ต้องขังจำนวนมากโดยไม่มีการดำเนินคดี มีการจับกุมชาวบ้านและคนต่างนิกายตามอำเภอใจ มีการแขวนคอผู้คนตามเสาไฟฟ้าเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับคนในชุมชน รวมถึงไล่ยิงพลเรือนที่พวกเขาจับตัวมาได้

"ในขณะที่ประชาคมโลกเน้นจับตาภัยจากกลุ่มก่อการร้ายไอซิส แต่กองทัพรัฐบาลอิรักซึ่งได้รับการฝึกฝนจากสหรัฐฯ รวมถึงกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์เองก็กระทำการโหดเหี้ยมต่อพลเรือนชาวซุนนีในระดับเดียวกับ 'ผู้ก่อการร้าย' ฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน" เชลตันระบุในบทความ

ดอนนาเทลลา โรเวรา ผู้ให้คำปรึกษาอาวุโสด้านการตอบโต้วิกฤตการณ์จากองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่า มีการกระทำโหดเหี้ยมจากทั้ง 2 ฝ่ายคือกลุ่มกบฏไอซิสและกองกำลังนิกายชีอะฮ์ที่หนุนหลังโดยรัฐบาลอิรัก ซึ่งกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์ได้ก่ออาชญากรรมดังกล่าวอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ อีกทั้งยังถือได้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม

บทความในโกลบอลโพสต์ระบุว่าการกระทำของกลุ่มก่อการร้ายไอซิสเช่นการสังหารชาวซาซิดี ชาวมุสลิมนิกายชีอะฮ์ และตัวประกันชาวตะวันตก มีการนำเสนอผ่านสื่ออย่างกว้างขวาง แต่พลเรือนนิกายซุนนีเองก็ได้รับเคราะห์ไปด้วย พวกเขามักจะถูกแปะป้ายว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" หรือ "ผู้สนับสนุนกลุ่มไอซิส" โดยทางการอิรักและโดยคนทั่วไปที่ตัดสินจากเชื้อชาติและนิกายเท่านั้น ชาวนิกายชีอะฮ์มักจะถูกกองกำลังรัฐบาลจับกุมหรือสังหารตามอำเภอใจ

โรเวรากล่าวว่า ขณะที่กลุ่มชาวเคิร์ดและชนกลุ่มน้อยอยู่อย่างค่อนข้างปลอดภัยในเขตของชาวเคิร์ด และชาวนิกายชีอะฮ์ก็อยู่อย่างปลอดภัยภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาลอิรัก แต่ชาวนิกายซุนนีมีชีวิตยากลำบาก ส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวโดยเฉพาะผู้ชายและพ่อแม่ที่มีลูกชาย

จากรายงานของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลชื่อ "การลอยนวลสมบูรณ์แบบ : การปกครองโดยกลุ่มติดอาวุธในอิรัก" ระบุถึงกรณีที่กองกำลังนิกายชีอะฮ์ลักพาตัวพลเรือนชาวซุนนีเพื่อเรียกค่าไถ่และมีกรณีที่ยังสังหารผู้ถูกลักพาตัวแม้จะมีการจ่ายค่าไถ่แล้ว ซึ่งแอมเนสตี้ระบุว่ามีกรณีการเรียกค่าไถ่ 170 กรณีนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีทนายความผู้พิทักษ์สิทธิ์ของชาวซุนนีบอกว่าบางครั้งร่างเหยื่อที่ถูกสังหารโดยกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์จะถูกนำมาแขวนตามเสาไฟฟ้าเพื่อข่มขู่ผู้คนที่รู้เห็นเป็นใจกับกลุ่มไอซิส

โกลบอลโพสต์ยังได้ระบุถึงกรณีการเผาหรือวางระเบิดรวมถึงไล่สังหารคนในศาสนสถาน เช่นกรณีสังหารหมู่ในมัสยิดที่หมู่บ้านบานีวาอิสเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 73 ราย พวกเขาถูกยิงในขณะที่มีการละหมาดวันศุกร์

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่ามีกรณีที่เจ้าหน้าที่ทางการอิรักและกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทำการสังหารนักโทษนิกายซุนนี 255 กรณี ในรายงานระบุว่าการสังหารเกิดขึ้นในเมืองและหมู่บ้าน 6 แห่งของประเทศอิรักในช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ในช่วงเดียวกับที่ประชาชนพากันหนีการรุกรานของกลุ่มไอซิส

โจ สตอร์ก รองผู้อำนวยการฝ่ายตะวันออกกลางของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าการไล่ยิงนักโทษเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติอย่างร้ายแรง ในขณะที่ทั่วโลกกล่าวประณามการกระทำโหดเหี้ยมของไอซิสซึ่งเป็นสิ่งที่สมควรประณามจริงแต่ก็อย่าเมินเฉยต่อการสังหารคนต่างนิกายโดยรัฐบาลอิรักและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอิรัก

โกลบอลโพสต์ระบุว่ากลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์ยังได้คุกคามนักกฎหมายที่ให้ความช่วยเหลือต่อชาวนิกายซุนนีที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมรวมถึงถูกทรมานด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยม สื่อท้องถิ่นอิรักรายงานว่ามีทนายความอย่างน้อย 7 คนถูกสังหารในเมืองบาคูบาในปีนี้ โดยผู้เป็นพ่อของเหยื่อที่ถูกสังหารรายหนึ่งเล่าว่าคืนหลังจากที่ลูกเขาถูกสังหาร บ้านของเขาก็ถูกรื้อและทำลายในขณะเดียวกับที่พวกเขาพากันหลบหนีพร้อมครอบครัวไปยังเขตที่อยู่ของชาวเคิร์ด

แต่จะหวังให้ผู้คนหลบหนีไปพึ่งพื้นที่ของชาวเคิร์ดอย่างเดียวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โรเวราบอกว่าชาวอาหรับถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ของชาวเคิร์ดแล้ว และชาวอาหรับผู้ที่ลี้ภัยไปอยู่ในพื้นที่ชาวเคิร์ดก็ถูกปฏิบัติด้วยความไม่ไว้ใจ

โรเวราให้สัมภาษณ์ต่อโกลบอลโพสต์ว่ารัฐบาลอิรักไม่เพียงแค่ยอมให้กลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์ก่อเหตุโดยไม่มีการลงโทษเท่านั้นแต่ยังสนับสนุนหรือร่วมปฏิบัติการโหดเหี้ยมในบางครั้งอีกด้วย

เรื่องนี้ทำให้ชวนตั้งคำถามถึงการที่รัฐบาลสหรัฐฯ และแนวร่วมจากนานาชาติที่ให้การสนับสนุนอิรักในการต่อสู้กับกลุ่มไอซิส ทั้งที่รัฐบาลอิรักไม่สามารถแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธได้ ในแผนยุทธศาสตร์ 4 จุด ที่เสนอโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัก โอบามา ก็ยอมรับว่ามีกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นภัยต่อชาวนิกายซุนนีแต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์

โรเวรากล่าวว่าการช่วยเหลือทางทหารแก่กองทัพอิรักนั้นจะต้องมีการตรวจสอบเข้มงวดมาก เพราะรัฐบาลนานาชาติจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการกระทำของกองทัพและกลุ่มติดอาวุธในอิรักที่ใช้อาวุธของพวกเขาทั้งในตอนนี้และในระยะยาว

 

เรียบเรียงจาก

Think the Islamic State is bad? Check out the 'good guys', Globalpost, 17-10-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/middle-east/iraq/141016/think-the-islamic-state-bad-check-out-the-good-guys

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

26 ผู้ต้องขังสู้คดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ ทนายยื่นตีความเขตอำนาจศาลทหาร

0
0

21 ต.ค.2557 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น ศาลนัดสอบคำให้การจำเลยทั้ง 26 คนในคดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ โดยในวันนี้มีการนำจำเลยทั้ง 26 คนจากเรือนจำเดินทางมายังศาล ท่ามกลางการรอต้อนรับจากญาติผู้ต้องขังเกือบร้อยคนที่เดินทางมาจากจังหวัดต่างๆ เนื่องจากผู้ต้องขังมีภูมิลำเนาอยู่ในหลายจังหวัด อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้ญาติและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในคดีเข้าไปในห้องพิจารณาโดยอ้างว่าห้องคับแคบ มีเพียงตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ 1 คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์ในห้องพิจารณา นั่นคือ นายคิงสลีย์ แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International commission of Jurist - ICJ) องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีที่ตั้้งอยู่ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์  เจ้าหน้าที่จาก ICJ ระบุว่าให้ความสนใจในคดีนี้เนื่องจากโดยหลักการแล้วพลเรือนไม่ควรขึ้นศาลทหาร ประกอบกับ ICJ ติดตามเรื่องสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสอบคำให้การให้ห้องพิจารณาคดีศาลทหารเริ่มต้นในช่วงสายและเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 13.30 น. โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ชี้แจงกับญาติผู้ต้องขังส่วนหนึ่งว่า วันนี้จะยื่นประกันผู้ต้องขังคดีขอนแก่นโมเดลที่อยู่ในความดูแลของ กนส.ทั้ง 11 ราย โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดรายละ 4 แสนบาท คาดว่าจะทราบผลประกันตัวภายในเย็นวันนี้ โดยการยื่นประกันครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สอง หลังจากในครั้งแรกยื่นประกันตัวเมื่อครั้งอัยการยื่นฟ้องและศาลไม่ให้ประกันโดยระบุเหตุผลว่า “จำเลยยังไม่มาให้การต่อศาล คดีมีโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี”

เขากล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมคดีผู้ต้องขังทั้ง 26 คนให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดเพื่อให้ต่อสู้คดีไปทิศทางเดียว และจะมีการนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งเพราะจำเลยยังไม่เห็นว่าพยานหลักฐานที่ใช้ในการกล่าวหามีอะไรบ้าง แต่โดยความเห็นของทนายแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาร้ายแรงเกินไปสำหรับรรยายหลักฐานที่มีอยู่

วิญญัติยืนยันว่าด้วยว่าทาง กนส.จะทำให้คดีนี้กลับไปสู่ศาลปกติให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด เพราะไม่มั่นใจว่าการพิจารณาโดยศาลเดียวจะทำให้จำเลยได้รับความเป็นธรรม (ศาลทหารไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกา) และสถานการณ์ปัจจุบันยืนยันว่าเป็นสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่ภาวะสงครามหรือจราจลจึงไม่จำเป็นต้องให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร

ด้านเบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความของผู้ต้องขังที่เหลืออีก 15 คน ได้ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยเขตอำนาจศาลว่าศาลทหารมีอำนาจในการพิจารณาคดีขอนแก่นโมเดลหรือไม่ ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 24 ธ.ค.57 สำหรับการนัดตรวจพยานศาลยังไม่มีคำสั่งนัด เนื่องจากต้องรออ่านคำวินิจฉัยเขตอำนาจศาลก่อน นอกจากนี้ในวันพรุ่งนี้จะยื่นประกันตัวจำเลย 2 รายซึ่งป่วยเป็นโรคเก๊าต์และโรคหัวใจ

ทั้งนี้ผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดล 22 คนถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 พ.ค.หรือหลังรัฐประหาร 1 วัน ที่อพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ทั้งหมดถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 7วัน จากนั้นมีการทยอยจับกุมเพิ่มเติมอีก 4 รายรวมเป็น 26 ราย ในจำนวนนี้เป็นหญิง 2 ราย ทั้งหมดถูกคุมขังตัั้งแต่วันจับกุมจนปัจจุบัน เมื่อฝากขังจนครบ 7 ผลัดที่เรือนจำขอนแก่น อัยการทหารจึงยื่นฟ้องในวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมาโดยไม่มีการนำตัวจำเลยมาศาลหรือเทเลคอนเฟอเรนซ์แต่อย่างใด  ผู้ต้องหาส่วนใหญ่อายุ 40-60 ปี และอายุสูงสุดคือ 72 ปี หลายรายมีโรคประจำตัวเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภูมิแพ้ เก๊าต์ ผู้ต้องหามีหลากหลายอาชีพตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียน เกษตรกร คนทำเครื่องจักรสาน คนขายไม้กวาด คนขายอาหารอีสาน ช่างเคาะพ่นสีรถยนต์ นักการเมืองท้องถิ่น พ่อค้าขายปลาสด ทำธุรกิจให้เช่าเครื่องเสียง เป็นต้น โดย จ.ส.ต.ประทิน จันทร์เกศ พนักงานรักษาความปลอดภัยของธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาขอนแก่น  ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1

สำหรับข้อหาที่จำเลยทั้ง 26 คนถูกกล่าวหา ได้แก่

(1)ร่วมกันฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง

(2)ร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สินให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้ายหรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อก่อการร้าย หรือรู้ว่าจะมีผู้ก่อการร้ายแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้

(3)เป็นซ่องโจร

(4)มีและร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย

(5)มีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

(6)พาอาวุธปืนติตัวไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันควร

 (7)มีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ได้รับใบอนุญาต

(8)มีเครื่องยุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

(9)มีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

"แผนการลงมือขอนแก่นโมเดลนั้น แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1.ระดมมวลชนให้มากที่สุด 2. เจรจาปลดอาวุธเจ้าหน้าที่ 3. เจรจาเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร 4. ทำลายสถาบันการเงินและนำเงินมาแจกจ่ายให้ประชาชน (ปฏิบัติการโรบินฮูด) “ทั่วปฐพีหนี้เป็นศูนย์” ซึ่งหากกลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อเหตุที่ จ.ขอนแก่น สำเร็จ อาจมีการก่อเหตุที่ภาคเหนือ การที่ทหารจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาได้ ทำให้แผนการก่อเหตุต่างๆ หยุดชะงัก" พล.ต.ธวัช สุกปลั่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2557

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.แนะรัฐบาล-สนช.ขยายนิยามคนไร้ที่พึ่ง ไม่ใช้ ก.ม.บังคับเข้าสถานสงเคราะห์

0
0

คปก.ทำข้อเสนอต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ส่งถึงรัฐบาลและ สนช.แนะขยายนิยามคนไร้ที่พึ่ง ให้ท้องถิ่นและประชาสังคมมีส่วนร่วม ไม่ใช้ ก.ม.บังคับคนไร้ที่พึ่งต้องเข้าสถานสงเคราะห์

21 ต.ค.2557 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. ... ระบุให้ขยายนิยามความหมายของ “คนไร้ที่พึ่ง” ให้ครอบคลุมกลุ่มคนเร่ร่อน ขอทาน และไม่ใช้กฎหมายบังคับคนไร้ที่พึ่งให้เข้าสถานสงเคราะห์

โดยมีข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวใน 4 ประเด็น คือ

1) ความหมาย “คนไร้ที่พึ่ง” ให้หมายรวมถึงคนป่วยทางกายหรือจิต คนขอทาน คนเร่ร่อน หรือคนจรจัดในที่สาธารณะ และบุคคลอื่นใด ที่อยู่ในสภาวะยากลำบากและไม่อาจพึ่งพาบุคคลอื่นได้ และไม่จำกัดเฉพาะผู้มีสัญชาติไทย           
2) การส่งเสริมให้ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะองค์กรเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการคุ้มครองของคนไร้ที่พึ่ง  และสนับสนุนให้จัดตั้งสถานหรือศูนย์คุ้มครองระบบเปิด ที่สอดคล้องกับความสมัครใจคนไร้ที่พึ่ง
3) ให้กระจายอำนาจทั้งโครงสร้างและอำนาจหน้าที่สู่จังหวัดและท้องถิ่น รวมถึงจัดมีผู้แทนขององค์กรที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ให้ปรับปรุงกฎหมายกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ให้มีฐานรายได้และเงินอุดหนุนที่เพียงพอ เพื่อให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4) ส่วนการใช้มาตรการทางอาญาจากกฎหมายอื่น คปก. เสนอไม่ให้นำมาตรการในความผิดเกี่ยวกับการพักอาศัยในที่สาธารณะตามกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น มาทำให้คนไร้ที่พึ่งต้องจำยอมเข้าสถานสงเคราะห์เพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีทางอาญาจากกฎหมายเหล่านั้น

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.คนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. ...นำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ชั่วคราว) ครั้งที่ 6/2557 เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีทั้งหมด 29 มาตรา

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารขอผู้จัดงานหนังสือแจ้ง 'ฟ้าเดียวกัน' เลิกขายเสื้อยืด รอตีความ 112

0
0

 


สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันยังคงถูกจับตาต่อเนื่องจากหน่วยงานความมั่นคง นอกจาก บก.ถูกขอให้ลบสเตตัสบอกเล่าการถูกจับตาในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติแล้ว ล่าสุด ทหารและตำรวจขอความร่วมมือไปยังผู้จัดงานให้ประสานบูธฟ้าเดียวกันเพื่อหยุดจำหน่ายเสื้อยืด 3 แบบชั่วคราว เนื่องจากเกรงว่าอาจกระทบต่อมาตรา 112

ทั้งนี้ เสื้อตัวหนึ่งเป็นรูปไดโนเสาร์ ปรากฏข้อความ THE LOST WORLD โลกหลงสำรวจ ประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ เสื้ออีกตัวหนึ่งเป็นรูปต้นไม้บนโลกซึ่งเป็นลวดลายข้อความว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เสื้อยืดทั้งสองตัวนี้คล้ายกับหน้าปกวารสารฟ้าเดียวกันเล่มเก่าที่เคยวางตลาดแล้ว ได้แก่

http://www.sameskybooks.net/journal-store/10-1/
http://www.sameskybooks.net/journal-store/09-1/

ส่วนอีกตัวหนึ่ง เป็นภาพอีโมติคอนชื่อดัง "คุณซาบซึ้ง" ที่ปากเป็นซิปถูกรูดปิดอยู่ ด้านหลังเสื้อมีข้อความว่า Be grateful and shut up!

บีบีซีรายงานถึงคำให้สัมภาษณ์ของผู้จัดงานหนังสือฯ นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นายพร้อมนายตำรวจจาก สน.ลุมพินี มาพบ เพื่อขอความร่วมมือให้ประสานงานสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันให้ยุติการขายเสื้อยืด สกรีน 3 แบบชั่วคราว เพื่อนำไปพิจารณาก่อนว่ากระทบกับ ม.112 หรือไม่

นายจรัญได้ชี้แจงกับนายทหารและนายตำรวจทั้งสี่ว่า ในฐานะผู้จัดงาน ตนไม่มีสิทธิไปพิพากษาใคร และเห็นว่าคนทำหนังสือเขาก็มีเสรีภาพ มีวิจารณญานในการตัดสินว่าเขาจะออกบูธอะไร ผู้จัดจะไม่ยุ่งกับเนื้อหา

"ทางคุณธนาพล บก.ฟ้าเดียวกัน เคยถูกจับไปแล้ว 2 ครั้งแล้วก็ปล่อยออกมา เขาไม่เคยถูกพิพากษา เขามีสิทธิจัดบูธ ถ้าผมไปรอนสิทธิเขา ผมก็งานเข้าเหมือนกัน เขาไม่ได้ทำอะไรผิด"

อย่างไรก็ตาม นายจรัญกล่าวว่า ทาง สนพ.ฟ้าเดียวกัน ได้ให้ความร่วมมือในการปลดเสื้อที่มีข้อความดังกล่าวลงจากแผง และมอบให้เจ้าหน้าที่นำไปพิจารณาตรวจสอบ

นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ตนคาดไว้อยู่แล้ว เพราะเป็นการจัดงานภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งทหารจะทำหน้าที่แทนตำรวจ แต่พวกเขาก็มาอย่างสุภาพ ปฏิบัติงานตามขั้นตอน ไม่จู่โจมจนผู้คนแตกตื่น

ก่อนหน้านี้ นายธนาพล อิ๋วสกุล บก.สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้โพสต์ข้อความบนเฟสบุ้คในทำนองว่างานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้เป็นครั้งแรก หลังรัฐประหาร สำนักพิมพ์ถูกตรวจค้นบูทตั้งแต่ก่อนเปิดงาน แต่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยืนยันสิทธิในการจำหน่าย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุทธรณ์ยืนคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา 'สมชาย ไพบูลย์' ปราศรัยปลุกระดมนปช.ปี53

0
0

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา 'สมชาย ไพบูลย์' แกนนำ นปช. ปราศรัยปลุกระดมให้เกิดความฮึกเหิมใช้กำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ระบุเป็นโทษสถานเบาและเหมาะสมกับพฤติการณ์แล้ว

21 ต.ค.2557 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 910 ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย ไพบูลย์ อายุ 45 ปี อดีต ส.ข.เขตบางบอน พรรคไทยรักไทย และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216 และร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

โจทก์ฟ้อง เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2553 สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 8-10 เม.ย. 2553 ภายหลังที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จำเลยกับพวกซึ่งมีจำนวนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ร่วมกันชุมนุมและมั่วสุม ที่เวทีผ่านฟ้าลีลาศ และเวทีราชประสงค์ โดยจำเลยกับพวกทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วยังขัดขืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ไม่เลิกการชุมนุม และยังใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ โดยมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดไม่ทราบชนิด ขนาด มีด ดาบ ท่อนไม้ ท่อนเหล็ก หนังสติ๊กหลายชิ้น ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด เป็นอาวุธ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหาร ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงตลาดยอด, แขวงวัดโสมนัส, แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร, แขวงและเขตดุสิต, แขวงลุมพินี แขวงและเขตปทุมวัน กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2555 ว่า จำเลยกระทำการโดยเจตนาขัดคำสั่งและขัดขวางเจ้าหน้าที่ที่สั่งให้เลิกชุมนุม เพื่อปลุกระดมสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมให้เกิดความฮึกเหิมใช้กำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อให้การชุมนุมยังคงอยู่ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จึงให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนกันแล้วเห็นว่า โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำกองบัญชาการนครบาล 6 สน.นางเลิ้ง สน.บุคคโล สน.สมเด็จเจ้าพระยา สน.ลุมพินี และพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กว่า 10 ปาก ซึ่งเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐาน ผู้บันทึกการปราศรัยลงแผ่นวีซีดี และผู้ถอดเทปการปราศรัย เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงสอดคล้องต่อเนื่องกันว่า จำเลยซึ่งร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.บริเวณเวทีผ่านฟ้าลีลาศ ขณะที่รัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จำเลยได้ขึ้นปราศรัยเวทีดังกล่าวหลายครั้งตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. - 13 เม.ย. 2553 ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาลและระหว่างที่รัฐบาลใช้กำลัง เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ก็ได้มีการปราศรัยให้ผู้ชุมนุมบางส่วนที่อยู่แยกสะพานมัฆวานรังสรรค์ และแยก จปร.ให้มาร่วมชุมนุมกับผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งที่บริเวณแยกคอกวัวเพื่อตรึงกำลังรักษาพื้นที่การชุมนุมหากเจ้าหน้าที่จะเข้ามาขอคืนพื้นที่ และหากมีการนำรถถังเข้ามาก็ให้ยึดรถถังไว้ และต่อมาเมื่อคณะกรรมการคดีพิเศษ ดีเอสไอ ได้รับคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญาและอาวุธยุทธภัณฑ์ และความผิดที่เกี่ยวกับความรุนแรงในการชุมนุมไว้ และได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับจำเลย นอกจากนี้ยังปรากฏภาพและข่าวทางหนังสือพิมพ์จากเหตุการณ์ปะทะระหว่างการชุมนุม ซึ่งทางนำสืบไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ได้เบิกความตามที่รู้เห็นจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ไม่ได้ปั้นแต่งพยานหลักฐานเพื่อกลั่นแกล้งให้จำเลยได้รับโทษทางอาญา

ขณะที่จำเลยได้นำสืบเพียงว่าการปราศรัยเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว และความเห็นทางวิชาการ ไม่ใช่การยั่วยุ แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบเป็นเรื่องไม่ถูกต้องหรือห่างไกลจากความจริง และที่แกนนำ นปช.บางคนมาเป็นพยานจำเลยเบิกความก็ปรากฏว่าบางคนไม่ได้อยู่ในช่วงที่เกิดเหตุ แต่รับรู้เหตุการณ์จากการเผยแพร่ข่าวสาร พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงรับฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำผิดตามมาตรา 116 (2) (3), 215 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม, 216 และ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามไม่ให้ชุมนุมหรือมั่วสุม ลงวันที่ 8 เม.ย. 2553 ซึ่งการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท อุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ให้ลงโทษสถานเบานั้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยนั้นบทลงโทษหนักสุด คือ มาตรา 116 ฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 ปีนั้นถือว่าเป็นโทษสถานเบาและเหมาะสมกับพฤติการณ์แล้ว จึงพิพากษายืนโทษตามที่ศาลชั้นต้นให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษจำเลย

ก่อนถูกควบคุมตัวนายสมชายกล่าวว่า หากจะต้องรับโทษจำคุก 1 ปี ก่อนหน้านี้ตนเคยถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมมาแล้ว 8 เดือน 14 วัน ดังนั้น หากสุดท้ายจะต้องรับโทษคงมีการนัดเวลาคุมขังต่อจากช่วงเวลาดังกล่าวอีก 3 เดือนเศษจึงจะครบ 1 ปี

ด้านทนายความเตรียมเงินสด 1 แสนบาท เพื่อยื่นประกันตัวและฎีกาสู้คดีต่อไป

เรียบเรียงจาก ผู้จัดการออนไลน์, มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: กวีรำพัน

0
0

 


 

ให้รำพันแต่ดอกไม้   ว่างดงามอย่างไรบ้าง
สีสันสวยด้วยน้ำค้าง   อาบพร่างพรมละอองเช้า
ให้รำพันมวลหมู่แมลง   บินหยอกแกล้งน้ำตาเศร้า
จับเกสรอ่อนเบาๆ   เข้าสู่การผสมพันธุ์
ให้รำพันสายลมอ่อน   แต่ก่อนเก่าเราเคยฝัน
โชยระรื่นใต้แสงจันทร์   ของคืนวันอันนานโพ้น
ให้รำพันถึงชนบท   งามหมดจดจิตอ่อนโยน
กระท่อมน้อยใต้โคนกระโดน  มีเห็ดโคนขึ้นไม่ไกล
ให้รำพันถึงแม่น้ำ   ระยิบงามยามเอื่อยไหล
ชวนกระโจนแหวกว่ายไป  ช่ำชื่นใจวัยออนซอน
ให้รำพันถึงก้อนเมฆ   เสกสรรค์สร้าง ปฏิมากร
รูปทรงองค์เอวอรชร   แขนเรียวอ่อนจิตนาการ

ให้รำพันได้ทุกสิ่ง   หากแท้จริง เป็นเพียงด้าน-
หนึ่งของงาม มาประสาน  หนึ่งริ้วรอย ตำหนิมี
จึงรำพันถึงความจริง   ประจักษ์สิ่ง มีชั่ว-ดี
ทุกๆอย่างไม่หลีกหนี   สัจจะของ ปัจจุบัน
มีดีงาม มีผิดชั่ว    มีความมั่ว เป็นนิรันดร์
ผสานกลืนนรก-สวรรค์   ในมนุษย์ ปุถุชน

ดีงามมาก จึงพร่ำเพ้อ  เผลอไผลหลง ทะนงตน
คิดว่าอยู่เหนือชน  หลุดพ้นเป็น ศาสดา
รำพันมาก จึงพร่ำเพ้อ  มโน ละเมอ จนคลั่งบ้า
กุมดี-งาม พิพากษา  ด้วยศาสตรา มหากวี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ สปช.ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

0
0

21 ต.ค.2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวในวันนี้ว่า  ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ สปช. ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เนื่องจากเป็นการทำหน้าที่ทางวิชาการ ไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย และเป็นการทำหน้าที่ที่ต้องใช้ความสามารถและความรู้ในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง

ส่วนกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกร้องเรียนเรื่องเงินช่วยเหลือชาวสวนยางพาราไม่ชอบนั้น ก็ตกไปด้วย เพราะไม่เข้าเหตุแห่งการกระทำผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. เช่นเดียวกับกรณีโครงการจำนำข้าวของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตกไปด้วยเช่นกัน

ด้านนางสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้ดูแลการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ กล่าวว่า การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ควรตรวจเข้มตั้งแต่แรกเข้ามา และตรวจให้ลึกในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ถ้าไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปของทรัพย์สินได้ ควรยึดคืนทั้งหมด และโดยส่วนใหญ่มักเป็นการทุจริตจากโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะมีการดึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน

ที่มา มติชนออนไลน์, เว็บไซต์ จ.ส.100
 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหตุปะทะที่เมืองทอง: ความรุนแรงในฟุตบอลกับภาวะหวาดระแวงของสังคมไทย

0
0

 

 

สำหรับผู้เขียนแล้ว เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างแฟนบอลเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ดกับสิงห์ท่าเรือ เอฟซีเมื่อกลางดึกวันเสาร์ 18 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมาไม่ได้เป็นแค่อีกครั้งหนึ่งของความรุนแรงในฟุตบอลไทยเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นน่าสนใจที่ควรยกมากล่าวถึงในหลายด้าน ทั้งที่เหตุการณ์นี้นับได้ว่าเป็นหมุดหมายใหม่ของปรากฏการณ์ความรุนแรงในฟุตบอลไทย และทั้งที่มันได้สะท้อนภาวะหวาดระแวงเกินเหตุของสังคมไทยด้วย

จากในสนามสู่ท้องถนน: รูปแบบใหม่ของความรุนแรงในฟุตบอลไทย

เหตุการณ์เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่าเป็นหมุดหมายใหม่ของความรุนแรงในฟุตบอลไทย เพราะหากเทียบเหตุการณ์นี้กับความรุนแรงในฟุตบอลไทยครั้งก่อนๆแล้วจะเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบหลายข้อที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ข้อแรก สถานที่เกิดเหตุ ที่ผ่านๆมานั้นเหตุความรุนแรงในฟุตบอลไทยมักจะเกิดเฉพาะในตัวสนามหรือบริเวณอัฒจันทร์ ไม่ว่าจะเป็นการขว้างปา ปิดล้อม หรือเข้าปะทะกันโดยตรง แต่เหตุล่าสุดนี้จุดปะทะระหว่างแฟนบอลทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นบริเวณสี่แยก-กลางถนน ไล่ไปจนถึงจุดขึ้นทางด่วนหน้าสนาม SCG สเตเดียมของสโมสรเมืองทองฯ จะเห็นได้ว่าความรุนแรงเริ่มขยายวงกว้างออกไปนอกสนามฟุตบอลมากขึ้น

ข้อสองความเกี่ยวข้องกับเกมในสนาม เหตุครั้งนี้เรียกได้ว่าแทบจะไม่เกี่ยวกับเกมการแข่งขันในสนามเลย แม้ว่าเมืองทองฯจะพลิกยิงแซงเอาชนะท่าเรือฯไปได้ในครึ่งหลัง แต่ระหว่างเกมก็ไม่ได้เกิดจังหวะกังขาหรือสร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายใด หลังการแข่งขันจบลงสถานการณ์ยังดูปกติ แฟนบอลหลายคนเดินทางกลับไปและกว่าจะรู้ว่าเกิดเหตุขึ้นก็เมื่อถึงที่พักแล้ว กระทั่งเพื่อนของผู้เขียนที่กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับฟุตบอลไทยก็กลับไปก่อนโดยไม่เอะใจว่าจะเกิดเหตุเสียด้วยซ้ำ กว่าเหตุรุนแรงครั้งนี้จะเริ่มประทุขึ้นก็หลังจบการแข่งขันแล้วเกือบครึ่งชั่วโมง ต่างกับเหตุรุนแรงครั้งอื่นๆที่มักจะเกิดขึ้นโดยมีแรงส่งจากเกมในสนามและเกิดทันทีหลังจบหรือระหว่างการแข่งขันเสียด้วยซ้ำ

ข้อสามการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ ความหนักหน่วงของเหตุการณ์เมื่อคืนวันเสาร์อยู่ที่ว่ามันเป็นการปักหลักต่อสู้กันของแฟนบอลทั้งสองฝ่ายที่กินเวลานานร่วมชั่วโมง โดยทั่วไปแล้วความรุนแรงในฟุตบอลไทยครั้งก่อนหน้านี้มักจะมีแฟนบอลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามหนีออกไปจากจุดปะทะทันที ทำให้แต่ละครั้งนั้นกินเวลาไม่นาน อย่างมากเพียงไม่เกิน 20-30 นาที แต่สำหรับครั้งนี้แล้วปรากฏว่าแฟนบอลทั้งสองฝ่ายต่างปักหลักต่อสู้กัน เมื่อฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ อีกฝ่ายหนึ่งจะบุกเข้าไป เป็นอย่างนี้สลับไปมา ยื้อยุดกันอยู่เป็นเวลาร่วมชั่วโมง มีทั้งการจุดประทัด ขว้างปาขวด ก้อนหิน และสิ่งของตามแต่จะหาได้ ฉากหลังฉาบไปด้วยแสงสีส้มแดงจากพลุไฟ รวมถึงมีการเข้าประชิดถึงเนื้อถึงตัวกันเป็นระยะ บรรยากาศราวกับม็อบการเมืองช่วงที่มีการปะทะกัน

งานวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงในฟุตบอลยุโรปชิ้นหนึ่งเสนอว่า ลักษณะของความรุนแรงในฟุตบอลโดยทั่วไปมักจะมีพัฒนาการอยู่ 3 ลำดับขั้น ขั้นแรกคือเป็นความรุนแรงเล็กน้อยที่ปรากฏขึ้นเป็นครั้งคราวในสนาม มีเป้าหมายที่นักฟุตบอลหรือผู้ตัดสิน ขั้นที่สองจะรุนแรงขึ้น ยังคงเกิดในสนาม แต่จะเริ่มเป็นการปะทะกันระหว่างแฟนบอล-เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือแฟนบอล-แฟนบอล ส่วนขั้นที่สามนั้นเป็นขั้นที่รุนแรง เกิดขึ้นนอกสนาม เป็นการปะทะกันระหว่างแฟนบอล-แฟนบอลหรือแฟนบอล-ตำรวจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวกับเกมการแข่งขันเลย[2]

หากอิงตามผลวิจัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เหตุความรุนแรงในฟุตบอลไทยก่อนหน้านี้ยังคงอยู่ในขั้นแรกหรืออย่างมากที่สุดก็เริ่มคาบเกี่ยวมาถึงขั้นที่สอง แต่เหตุปะทะที่เมืองทองครั้งนี้กลับเป็นการก้าวกระโดดไปสู่ขั้นที่สามทันที เหตุครั้งนี้จึงนับเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของความรุนแรงในฟุตบอลไทย ทั้งที่ความรุนแรงเริ่มขยายวงกว้างจากในสนามไปสู่ท้องถนน เกิดขึ้นโดยแทบจะไม่สัมพันธ์กับการแข่งขันในสนาม และเป็นการปะทะที่อาจนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างรุนแรง

 

เรื่องเล่าสองชุดของแฟนบอลกับความหวาดระแวงของสังคมไทย

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของเหตุการณ์นี้คือมันไม่ได้บอกกับเราแค่เรื่องความรุนแรงในฟุตบอล แต่มันยังอาจเป็นภาพสะท้อนอาการเจ็บป่วยของสังคม ซึ่งผู้เขียนเรียกมันว่าเป็นภาวะหวาดระแวงเกินเหตุของสังคมไทย

ในช่วง 1-2 ปีนี้มี “เรื่องเล่า” สองชุดที่เกิดขึ้นมาและถูกผลิตซ้ำอย่างแพร่หลายในกลุ่มแฟนบอลไทย เรื่องเล่าชุดแรกว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสโมสรเมืองทองฯกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ โดยเฉพาะในช่วงหลายปีมานี้ที่สมาคมฟุตบอลฯเองก็ถูกแฟนบอลตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำงานมาโดยตลอด จนนำมาซึ่งข้อครหาถึงความไม่เป็นกลางในการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินและการทำงานขององค์กรจัดการแข่งขัน เรื่องเล่าชุดนี้ทำให้เมืองทองฯถูกแฟนบอลจำนวนมากมองในแง่ลบ ซึ่งผลของมันก็แสดงตัวออกมาอย่างชัดเจนผ่านการแสดงออกในสนามของแฟนบอลฝ่ายตรงข้ามที่มักจะไม่พอใจการตัดสินแล้วพร้อมใจกันตะโกน “ขี้โกง ขี้โกง” หรือที่แปลงมาเป็น “กี่โมง กี่โมง” และ “ซี่โครง ซี่โครง” ในช่วงต่อมา

ขณะเดียวกันก็มีเรื่องเล่าอีกรูปแบบหนึ่งที่แพร่หลายในกลุ่มแฟนบอลเมืองทองฯ เรื่องเล่าชุดที่สองนี้ว่าด้วย “ขบวนการล้มเมืองทอง” คือเป็นการตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีการกระทำในลักษณะจงใจบ่อนทำลายชื่อเสียงของสโมสรเมืองทองฯผ่านการวางแผนและดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยมีผู้อยู่เบื้องหลังคือฝ่ายตรงข้ามที่กำลังแย่งชิงความเป็นใหญ่ในวงการฟุตบอลไทย รวมไปถึงการมองว่ามีการใช้ “เล่ห์เหลี่ยมแบบนักการเมือง” ในการพยายามสร้างภาพด้านลบให้กับสโมสรเมืองทองฯ  กระทั่งการจัดตั้งหรือยั่วยุกลุ่มบุคคลให้ก่อความรุนแรงกับแฟนบอล

ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุปะทะเมื่อวันเสาร์ ผู้เขียนได้เห็น/ได้ยินการกล่าวถึงเรื่องเล่าทั้งสองชุดนี้จากแฟนบอลไทยซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง ยิ่งมันถูกผลิตซ้ำมากขึ้นเพียงใด มันก็ยิ่งไปสุมฟืนไฟแห่งความเกลียดชังให้มากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งเมื่อพิจารณาถึงสถิติการเกิดความรุนแรงกับแฟนบอลเมืองทองฯในฤดูกาล 2557 ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด (จากที่ปีก่อนๆไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก) แล้ว ก็ยิ่งชัดเจนว่าเรื่องเล่าทั้งสองชุดนี้ส่งผลต่อการเกิดความรุนแรงอย่างปฏิเสธไม่ได้

ประเด็นที่ผู้เขียนให้ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเรื่องเล่าทั้งสองชุดนี้เป็นจริงหรือเป็นเท็จ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการเกิดขึ้นมาและผลิตซ้ำเรื่องเล่าทั้งสองชุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะหวาดระแวงเกินเหตุ ภาวะดังกล่าวเป็นผลมาจากการสูญเสียความเชื่อมั่นต่อสถาบันต่างๆของสังคมฟุตบอลไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบยุติธรรม สื่อ หรือกระทั่งความไว้วางใจต่อผู้คนรอบข้างในสังคมแฟนบอลด้วยกัน ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับแฟนบอลไทยเท่านั้น แต่เป็นในทางกลับกัน มันเป็นภาวะป่วยไข้ของสังคมไทยในภาพรวมที่ย่อส่วนลงมาให้เห็นผ่านความรุนแรงในฟุตบอลเสียมากกว่า

นอกจากฟุตบอลแล้ว ความหวาดระแวงของสังคมไทยนี้ยังแสดงตัวออกมาในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความไม่เชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรม ความไม่ไว้วางใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ราชการ/ตำรวจ/ทหาร ความไม่ไว้วางในนักการเมือง รวมไปถึงทฤษฎีสมคบคิดจำนวนมากในสังคมไทย ในด้านหนึ่ง ความไม่ไว้วางใจนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เลวร้ายไปเสียทั้งหมด เพราะมันก็สามารถนำไปสู่การตรวจสอบซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมสมัยใหม่ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ความหวาดระแวงที่เกินเหตุก็อาจเป็นปัญหา เพราะ “ความเชื่อใจกันได้” นั้นก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมด้วยเช่นกัน[3]




[1]ขอบคุณ อ.แบ้งค์, อ.วสันต์, และนก ที่ช่วยยุ ช่วยคิดจนเขียนบทความนี้ขึ้นมาจนได้

[2] Carnibella, Giovanni, Anne Fox, Kate Fox, Joe McCann, James Marsh, and Peter Marsh (1996). Football Violence in Europe. Oxford: The Social Issues Research Centre.

[3]ซึ่งก็ไม่ใช่แค่การเชื่อใจอย่างไม่มีที่มาที่ไป แต่สถาบันทางสังคมต่างๆก็ย่อมต้องพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าตนเองนั้นเป็นที่เชื่อใจได้ด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 14 ตุลากับวัฒนธรรมหนังสือ

0
0


 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมาคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ได้จัดรายการแนะนำ 100 เล่ม หนังสือดี 14 ตุลา ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา เพื่อเป็นการสรุปโครงการ และหวังที่จะให้หนังสือเหล่านี้เป็นแหล่งสืบค้นหรือข้อมูลอ้างอิงในการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมในโรงเรียนหรือห้องสมุด และมากกว่านั้น คือการนำเสนอชักชวนให้สังคมไทยเกิดความสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น

ความจริงแล้วโครงการนี้ สอดคล้องอย่างยิ่งกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของขบวนการ 14 ตุลา เพราะสาเหตุสำคัญของการก่อเกิดขบวนการ 14 ตุลา คือ วัฒนธรรมหนังสือ จากนั้น ขบวนการนักศึกษาไทยก็ก่อเกิดปรากฎการณ์พิเศษของวัฒนธรรมหนังสือ ที่ถือได้ว่าเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ไทยที่มีลักษณะเช่นนี้

ย้อนหลังกลับไปก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งเป็นยุคสมัยเผด็จการทหาร สื่อสารสนเทศหลักคือวิทยุเป็นสถานีวิทยุของหน่วยงานกองทัพแทบทั้งหมด ส่วนโทรทัศน์มี 4 ช่อง และอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ภายใต้ระบอบเช่นนั้น หนังสือกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเคลื่อนไหวทางความคิดของปัญญาชนต่อต้านเผด็จการ ดังนั้น วารสารเช่น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ จึงมีความสำคัญอย่างมากในการให้ข้อมูล และเผยแพร่ความรู้ใหม่นอกกรอบความรู้กระแสหลักของทางราชการ สาระสำคัญของความรู้ที่ถูกนำเสนอ ก็คือ ประชาธิปไตย เช่น เรื่องการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยต่างประเทศ เรื่องการต่อต้านคัดค้านจักรพรรดินิยม และแม้แต่เรื่องราวเชิงทฤษฎีการเมืองประชาธิปไตย

หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2514 ได้เริ่มมีการนำหนังสือก้าวหน้าช่วงทศวรรษ 2490 กลับมาตีพิมพ์ เช่น เรื่อง ศิลปะเพื่อชีวิต หรือ นวนิยายเรื่อง ความรักของวัลยา ของเสนีย์ เสาวพงศ์ แลไปข้างหน้า และ สงครามชีวิต ของศรีบูรพา เป็นต้น แต่ที่สำคัญ คือ การเกิดของวัฒนธรรมหนังสือเล่มละบาทที่พิมพ์เป็นเล่มเล็ก จำนวนไม่มากนัก เสนอประเด็นเฉพาะเรื่อง และขายในสถาบันการศึกษาหรือหน้าประตูโรงเรียนสำคัญ ซึ่งเป็นการขยายความรู้กระแสรอง ให้กว้างออกไป

หนังสือเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการขยายความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอุดมการณ์ หรือจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม หนังสือเช่น หนุ่มสาวคือชีวิต ผลงานของ”ศราวก”(อนุช อาภาภิรม) เรื่องโลกของหนูแหวน หรือแม้กระทั่ง นวนิยายเรื่อง เขาชื่อกานต์ ของสุวรรณี สุคนธา ก็มีส่วนอย่างมากในการสร้างแรงบันดาลใจสำหรับเยาวชนคนหนุ่มสาว อันนำมาซึ่งขบวนการ 14 ตุลา

หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคมผ่านไปด้วยชัยชนะของประชาชน นำมาซึ่งยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ก็ได้นำมาซึ่งยุคเบ่งบานหรือบูมของตลาดหนังสือด้วย ได้มีการพิมพ์หนังสือใหม่ออกมาเป็นจำนวนมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ตั้งแต่ พ.ศ.2517 จะเห็นการเฟื่องฟูของหนังสืออย่างชัดเจน หนังสือเหล่านี้เผยแพร่ความรู้ใหม่ ความคิดใหม่ และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอุดมการณ์ใหม่ แต่ที่สำคัญคือหนังสือเหล่านี้”ขายได้”หรือเป็นที่ต้องการของตลาด หลายเรื่องขายดีต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง นั่นหมายถึงว่า กรณี 14 ตุลาได้สร้างการบูมของการซื้อหนังสือด้วย เงินที่ได้จากการพิมพ์หนังสือเล่มเดิม นำมาสู่การพิมพ์หนังสือเล่มใหม่ ทำให้ความรู้ความคิดใหม่ขยายตัวอย่างมาก และกลายเป็นเรื่องท้าทายสั่นคลอนความรู้กระแสหลักในสังคมไทย

ทั้งนี้คงต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า หนังสือใหม่จำนวนมากที่เป็นหนังสือขายดีสำหรับยุคสมัย ก็คือหนังสือสังคมนิยม เพราะในสมัยเผด็จการ ความรู้เรื่องสังคมนิยมเป็นเรื่องต้องห้าม ศึกษาหรือเผยแพร่ได้เพียงด้านเดียว คือ  ด้านที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์เท่านั้น ข้อมูลกระแสหลักถือว่า จีนคอมมิวนิสต์นั้นเป็นศัตรู มีการสร้างภาพเกี่ยวกับความเลวร้ายของคอมมิวนิสต์ โดยยกตัวอย่างด้านลบของคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งจำนวนมากเป็นเรื่องที่บิดเบือนเติมแต่ง สถานะที่เป็นของประเทศจีน ไม่ได้เป็นที่ทราบกันมาก่อน เพราะความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนก็ไม่มี เผด็จการไทยรับรองจีนก๊กมินตั๋งเสมอ ดังนั้น ความรู้ใหม่เกี่ยวกับจีนจึงกลายเป็นเรื่องแรกที่ประชาชนสนใจใคร่รู้ เมื่อองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการจีนแดงเมื่อต้นปี พ.ศ.2517 จึงกลายเป็นนิทรรศการที่มีผู้ชมมากมายมหาศาล หนังสือในงานขายหมดจนต้องพิมพ์ซ้ำ และนิทรรศการก็ต้องจัดซ้ำ ความรู้เรื่องจีนจึงเป็นเรื่องใหม่ในความสนใจของประชาชนที่เฟื่องฟูเป็นเรื่องแรก

หลังจากนั้น ก็ได้มีการพัฒนามาสู่การเผยแพร่หนังสือลัทธิมาร์กซ ทฤษฎีสังคมนิยม ประวัติของนักต่อสู้สังคมนิยม เช่น เช กูวารา เหล่านี้ กลายเป็นหนังสือขายดี และนำมาสู่หนังสือด้านอื่น โดยเฉพาะหนังสือที่เสนอข้อมูลเชิงวิพากษ์ ตั้งแต่วิพากษ์การนำเสนอประวัติศาสตร์แบบเดิมที่มุ่งอธิบายบุญญาบารมีของชนชั้นนำ มาสู่กระแสใหม่อันเป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสังคม และเป็นประวัติศาสตร์ของประชาชนชนชั้นล่าง กระแสวิพากษ์ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม วิพากษ์หลักสูตรการศึกษาและวิพากษ์การศึกษาเพื่อผู้กดขี่ นำเสนอปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ หรือเรื่องการกดขี่สตรี เป็นต้น ซึ่งอาจสรุปได้ว่า วัฒนธรรมหนังสือที่พัฒนาหลัง 14 ตุลา กลายเป็นวัฒนธรรมหนังสือกระแสใหม่ ที่จะมีผลอย่างมากในการเปลี่ยนโครงสร้างทางความคิดของขบวนการนักศึกษา

ในกระบวนการนี้ นวนิยายแบบใหม่ก็ได้เกิดขึ้นและพัฒนาด้วย ซึ่งก็คือการเกิดของนวนิยายเพื่อชีวิต ซึ่งไม่ได้หมายรวมเพียงเรื่องแลไปข้างหน้า หรือ ปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์เท่านั้น แต่ต้องนับรวมวรรณกรรมต่างประเทศที่สะท้อนสังคม เช่น เรื่องแม่ ของ แมกซิม กอร์กี้ ฉบับแปลของศรีบูรพา ซึ่งมีเพียงครึ่งเรื่องแรก เรื่อง เหยื่ออธรรม ของ จูเลียต ซึ่งมีครึ่งเรื่องเช่นกัน เรื่อง คนขี่เสือ ฉบับแปลของทวีปวร และเมื่อ พ.ศ.2519 เมื่ออุดมการณ์ลัทธิมาร์กซของขบวนการนักศึกษาเข้มข้นมากขึ้น ก็มีการพิมพ์เรื่อง เบ้าหลอมนักปฏิวัติ ซึ่งเรียกร้องวินัยและการเสียสละเพื่ออุดมการณ์ นอกจากนี้ ก็คือการพิมพ์วรรณกรรมแปลจากจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นวรรณกรรมรักชาติและวรรณกรรมปฏิวัติ เช่น เรื่อง พายุ ตะเกียงแดง หญิงผมขาว หรือ หลิวหูหลาน ก็เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี

หนังสือที่นำเสนอในเชิงของชีวทัศน์อย่างเข้มข้นในลักษณะอื่น ก็พิมพ์ออกสู่ตลาดหนังสือมากขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2518 เป็นต้นมา เช่น เสริมทฤษฎี ชีวทัศน์เยาวชน พลังชีวิต ทัศนะความรักที่ก้าวหน้า ฯลฯ หนังสือเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือในการดัดแปลงตนเองของนักศึกษาให้เป็นนักปฏิวัติที่เสียสละเพื่อประชาชน จิตสำนึกเพื่อส่วนรวมที่สร้างขึ้นในช่วงก่อน 14 ตุลา พัฒนามาเป็นจิตใจรับใช้ประชาชน จิตสำนักปฏิวัติโดยผ่านกระบวนการของหนังสือ หรืออธิบายในอีกด้านหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมหนังสือมีส่วนสำคัญในการปรับโฉมหน้าของขบวนการ 14 ตุลาไปสู่การกลายเป็นขบวนการปฏิวัติสังคม

อยากจะตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในท่ามกลางการเฟื่องฟูของหนังสือสังคมนิยม หนังสือต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็เฟื่องฟูขึ้นด้วย มีการพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาต่อต้านคอมมิวนิสต์ออกมาอย่างมากมายเป็นประวัติการเช่นเดียวกัน ในช่วง พ.ศ.2517-2519 แต่หนังสือเหล่านี้กลับไม่เป็นที่นิยม ไม่ครองใจตลาด และยอดขายเทียบไม่ได้เลยกับหนังสือฝ่ายสังคมนิยม

เมื่อเกิดการกวาดล้างในกรณี 6 ตุลา วัฒนธรรมหนังสือลักษณะดังกล่าวก็ปิดฉากลงด้วย แน่นอนว่าระยะตั้งแต่ พ.ศ.2521 มีการรื้อฟื้นการพิมพ์หนังสือสังคมนิยม หรือรื้อฟื้นเอาหนังสือช่วง 14 ตุลากลับมาตีพิมพ์ แต่ไม่เคยบูม ขายดี หรือเฟื่องฟูเท่าช่วงหลัง พ.ศ.2516 อีกเลย ยิ่งหนังสือต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็ปิดฉากสมบูรณ์เช่นกัน

นี่ถือว่าเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟัง


เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 484 วันที่ 20 ตุลาคม 2557
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสภณ พรโชคชัย: อย่าสร้างบ้านเอื้ออาทรอีกนะครับ

0
0

"โสภณ พรโชคชัย" เสนออย่าสร้าง "บ้านเอื้ออาทร" อีก เหตุเพราะการผลิตที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนมีประสิทธิผลสูง จนกระทั่งทำให้ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการลดปัญหาสลัม นโยบายบ้านเอื้ออาทรจะทำลายระบบตลาด-ทำลายผู้ประกอบการรายย่อยที่สามารถตอบสนองต่อตลาดได้ดีอยู่แล้ว

000

ผมเห็นการเคหะแห่งชาติสร้างบ้านเอื้ออาทรจำนวนมหาศาลแล้ว ท้อใจแทน นี่เป็นหนึ่งในนโยบายในสมัยนายกฯ ทักษิณที่ผมไม่เห็นด้วยมาแต่แรก  แต่ทั้งนี้ท่านอาจหวังดีต่อคนจน และคงได้รับการเพ็ดทูลโดยฝ่ายข้าราชการประจำ วันนี้ผมเลยขอเขียนให้เห็นสักหน่อย เผื่อเกิดรัฐบาลทหารคิดจะทำ "ประชานิยม" ขึ้นมาบ้าง จะได้ไม่นำนโยบายบ้านเอื้ออาทรกลับมาปัดฝุ่นอีก

 

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 ผมทำหนังสือถึงนายกฯ ทักษิณ แจ้งให้ท่านทราบว่าผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายบ้านเอื้ออาทร ผมเรียนว่า "ฯพณฯ มีดำริเรื่องนี้จากการไปดูงาน ณ กรุงมอสโก   เมื่อ 3 เดือนก่อน และพบว่าเขาสร้างที่อยู่ให้ประชาชน 4 ล้านตารางเมตรนั้น กระผมขอกราบเรียนข้อเท็จจริงเพื่อ ฯพณฯ ทราบว่า ที่นั่นภาคเอกชนอ่อนแอจนรัฐบาลต้องแบกรับภาระไว้เอง"

"แต่ที่ประเทศไทยของเรา ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลแทบไม่ต้องสร้างบ้านคนจนเลย กระผมได้ค้นพบว่า เฉพาะในช่วงปี 2533-2541 ภาคเอกชนไทยได้สร้างทาวน์เฮาส์และอาคารชุดราคาถูก (หน่วยละไม่เกินสี่แสนบาท) ถึง 226,810 หน่วย รวมพื้นที่ 6-7 ล้านตารางเมตรในเขต กทม.และปริมณฑล การผลิตที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนไทยมีประสิทธิผลสูง จนกระทั่งทำให้ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการลดปัญหาสลัม  นอกจากนี้ค่าเช่าบ้านก็ต่ำมาก เช่น ห้องชุดที่ขายไม่ออกย่านชานเมืองได้ถูกดัดแปลงให้เช่าในอัตราเดือนละ 500-2,000 บาท ซึ่งถูกกว่าค่าเช่าห้องในสลัมย่านใจกลางเมือง"

ผมเสนอท่านว่า การทำบ้านเอื้ออาทรจึงเป็นการใช้เงินงบประมาณโดยผลที่ได้รับอาจไม่คุ้มค่า เนื่องจากเฉพาะในเขต กทม. และปริมณฑลในขณะนั้น ยังมีบ้านที่สร้างเสร็จแต่ไม่มีผู้เข้าอยู่อาศัยในตลาดถึง 340,000 หน่วย นโยบายนี้ยังทำลายระบบตลาดและทำลายผู้ประกอบการรายย่อยที่สามารถตอบสนองต่อตลาดด้วยดีอยู่แล้ว และอีกประการหนึ่งยังขัดต่อ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน เพราะลดคุณภาพ-มาตรฐานการอยู่อาศัยลง ซึ่งเป็นการสวนทางกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

สาเหตุหนึ่งที่รัฐบาลขณะนั้นออกนโยบายเรื่องเอื้ออาทร ก็เพราะได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อน เช่นว่า ในประเทศไทยมีการบุกรุกที่ดินถึง 5,000 ชุมชน รวม 1.6 ล้านครอบครัว  ซึ่งผมเป็นผู้สำรวจสลัมทั่วประเทศและพบว่าประเทศไทยมีสลัมทั้งหมด 1,589 ชุมชน มีประชากร 1.8 ล้านคน หรือราว 3% ของคนไทยเท่านั้น  และส่วนใหญ่เป็นชุมชนเช่าที่ปลูกบ้านและชุมชนเจ้าของบ้านพร้อมที่ดิน ชุมชนบุกรุกมีเพียงส่วนน้อยมาก  ยิ่งกว่านั้นประชากรสลัมส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจน ในประเทศไทยมีคนจน (ผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนและแทบทั้งหมดอยู่ในชนบท) เพียง 12.5% ซึ่งใกล้เคียงกับในสหรัฐอเมริกา  การนำเสนอตัวเลขที่สูงผิดปกติ อาจเพราะนับรวมชาวเขา สมัชชาคนจน ผู้บุกรุกป่า ฯลฯ เข้าไว้ด้วย จึงทำให้เกิดความสับสน

ความจริงแล้วนโยบายนี้ได้ใช้ดำเนินการสำหรับชาวสลัมไล่รื้อมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ประสบความสำเร็จ เพราะชาวสลัมส่วนนี้มักจะนำบ้าน ที่ดิน ห้องชุดที่ได้รับไปขายต่อหรือให้เช่าช่วงทั้งเปิดเผยหรือปิดลับ เพื่อทำกำไร และที่ยังไม่ขายก็มีจำนวนมากที่ไม่ยอมผ่อนชำระต่อ กลายเป็นหนี้เสียไปทั้งชุมชนก็มีหลายต่อหลายแห่ง ดังนั้น การขยายมาตรการนี้ออกสู่ตลาดที่อยู่อาศัยทั่วไปอาจจะสร้างผลกระทบทางลบได้เป็นอย่างมาก

หมายเหตุ: ข้อมูลจากรายงานประจำปีล่าสุด พ.ศ.2555 ของการเคหะแห่งชาติ

โครงการนี้แต่แรกจะสร้างถึง 1,000,000 หน่วย แต่ต่อมาลดเหลือ 600,000 หน่วย และ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในรายงานประจำปีฉบับปี 2555 ซึ่งเป็นปีล่าสุดพบว่าการเคหะแห่งชาติสร้างบ้านเอื้ออาทรได้เพียง 264,767 หน่วยเท่านั้น หรือสร้างได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่วางแผนไว้นั่นเอง  ยิ่งกว่านั้นเมื่อนับจากฐานข้อมูลของการเคหะแห่งชาติ ณ เดือนกันยายน 2557 พบว่า มีบ้านเอื้ออาทรอยู่ 286,517 หน่วย แล้วเสร็จ 282,414 หน่วย หรือ 99% ของทั้งหมด  อย่างไรก็ตามในจำนวนนี้ยังมีบ้านเอื้ออาทรเหลือขายเป็นจำนวนมาก ที่ขายไปแล้วก็ถูกทยอยยึดคืนเดือนละ 300-500 หน่วย  หลายส่วนก็กำลังทยอยขายต่อหรือปล่อยเช่าในท้องตลาดทั่วไป

 

ตารางแสดงจำนวนบ้านเอื้ออาทร ณ เดือนกันยายน 2557

 

ประเภทบ้าน

 สร้างเสร็จ

 %ที่สร้างเสร็จ

 ทั้งหมด

บ้านเดี่ยว

    49,731

98%

    50,916

บ้านแฝด

11,985

90%

    13,274

บ้านแถว

15,551

93%

    16,645

บ้านหลายแบบ

7,803

100%

     7,803

อาคารชุด

197,344

100%

 197,879

รวมทั้งหมด

282,414

99%

 286,517

และโดยที่บ้านเอื้ออาทรมีราคาถูก ค่าดูแลต่างๆ ที่จัดเก็บบ้างก็จัดเก็บไม่ได้ บ้างก็ไม่ค่อยพอเพียงกับค่าใช้จ่าย จึงทำให้สภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยยังต้องมีการปรับปรุงกันตามสมควร กลายเป็นภาระสำคัญของการเคหะแห่งชาติต่อไป  กรณีนี้ควรที่เจ้าของทรัพย์สินจะช่วยกันดูแลโดยการออกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ผู้มีรายได้น้อยบางส่วนก็ไม่สามารถจ่ายได้

จะเห็นได้ว่าในรอบเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติสร้างที่อยู่อาศัยแบบเคหะชุมชนได้เพียง 141,863 หน่วย ซึ่งสร้างได้รวมมูลค่าน้อยกว่าที่ บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท สร้างเพียงบริษัทเดียวเสียอีก  ดังนั้นนโยบายที่อยู่อาศัยต่อผู้มีรายได้น้อยจึงควรเป็นการส่งเสริมภาคเอกชนให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน (enabling policy) โดยการอำนวยความสะดวกให้กลไกตลาดสามารถจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนโดยรัฐบาลไม่ต้องแบกรับภาระ บ้าน “เอื้ออาทร” จึงเป็นการใช้เงินงบประมาณโดยผลที่ได้รับอาจไม่คุ้มค่า

นอกจากนี้ทางราชการควรมีการคุ้มครองผู้บริโภค โดยถือว่าผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง (ไม่ใช่ผู้ประกอบการ) เพราะถ้าผู้บริโภคได้รับความคุ้มครอง ก็จะเกิดความมั่นใจต่อตลาดที่อยู่อาศัยส่งผลให้มีการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ และทุกฝ่ายในที่สุด

การมีองค์กรอิสระเพื่อการสนับสนุนด้านข้อมูลและนโยบาย เช่น การมีคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยที่เป็นอิสระ ไม่ใช่แต่งตั้งตามใจชอบจากฝ่ายการเมืองหรือข้าราชการประจำ การมีศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอิสระโดยไม่ต้องอยู่ใต้อาณัติของผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายใดในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การมีสภาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นศูนย์รวมผู้เกี่ยวข้องทุกสาขาวิชาชีพอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่จำกัด/ขีดวงเฉพาะผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน ก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง

ยิ่งกว่านั้นยังควรสร้างกลไกป้องปรามเพื่อความเป็นธรรม เช่น ในกรณีที่ผู้ซื้อบ้านทำผิดสัญญา ไม่ยอมรับโอนทรัพย์สิน จะต้องถูกยึดเงินดาวน์ ในทางตรงกันข้ามหากเจ้าของโครงการสร้างเสร็จช้ากว่ากำหนดตามสัญญา หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา ก็ต้องถูกปรับในอัตราที่เหมาะสม หรือในกรณีลูกหนี้ไม่อาจชำระหนี้ได้ตามสัญญา จะต้องมีการบังคับคดีและมีกลไกการขายทอดตลาดที่มีประสิทธิภาพ หรือถ้าผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ดำเนินการประเมินผิดพลาด ก็ต้องจ่ายค่าปรับ (เช่น 20-50 เท่าของค่าจ้าง) หรือถ้านายหน้าฉ้อฉล จะต้องยึดใบอนุญาตเป็นต้น

บทเรียนเรื่องบ้านเอื้ออาทรจึงเป็นบทเรียนราคาแพง ที่แม้จะทำให้หลายต่อหลายคนมีบ้านได้ แต่โดยที่บ้านในตลาดเปิดสามารถขายให้กับประชาชนในราคาถูกได้เช่นกัน การสร้างบ้านแบบนี้จึงอาจไม่จำเป็น สู้นำงบประมาณไปใช้สร้างสรรค์ทางอื่นดีกว่านั่นเอง

 

ผู้แถลง:

ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ย้ำเรียกร้องสอบกรณี ‘บิลลี่’ หายตัว

0
0

แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ครบ 6 เดือน ‘บิลลี่’แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจานหายตัวลึกลับ เรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐสอบสวนโดยใช้ทุกมาตรการเพื่อนำตัวคนผิดมาลงโทษ

21 ต.ค.2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ย้ำเรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐสอบสวนกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หายตัวไปอย่างลึกลับนานกว่า 6 เดือน โดยเรียกร้องให้ใช้มาตรการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อนำตัวผู้ต้องสงสัยมาลงโทษ

นายพอละจี หรือบิลลี่ หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา ขณะอยู่ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยก่อนหน้านั้นในเดือนพฤษภาคม 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ทำการการอพยพ ผลักดัน และจับกุมชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยทำการไล่รื้อ จับกุม และเผาทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านเสียหายเป็นจำนวนมาก จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อสู้และฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยบิลลี่เป็นหนึ่งในแกนนำชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ที่ต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวก่อนที่จะหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำ โดยที่ก่อนหน้านั้นในเดือนกันยายน 2554 นายทัศน์กมล โอบอ้อม แกนนำปกป้องสิทธิชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานอีกคนหนึ่ง ถูกมือปืนประกบยิงเสียชีวิตขณะขับรถกลับที่พัก ซึ่งคาดว่าสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน โดยทั้งนี้กรณีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นที่จับตาขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายองค์กร

แถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้

 

แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ครบรอบ 6 เดือนการหายตัวของบิลลี่
หกเดือนผ่านไป ยังไม่ทราบชะตากรรมของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

หกเดือนหลังจากคาดว่านายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนได้ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทางภาคตะวันตกของไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการสอบสวนเพื่อให้ทราบชะตากรรมและที่อยู่ของเขาโดยเร่งด่วน ทางหน่วยงานยังกระตุ้นให้ทางการประกันที่จะใช้มาตรการที่จำเป็นทุกประการ เพื่อให้นำตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ทำการบังคับบุคคลให้สูญหายมาลงโทษ

คาดการณ์ว่าบิลลี่ อายุ 30 ปี นักเคลื่อนไหวเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีลูกเล็กห้าคน อาจถูกทำให้สูญหาย เนื่องจากพยายามใช้ขั้นตอนเพื่อให้หน่วยงานราชการรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำต่อชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติใหญ่สุดของประเทศไทย

การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายด้าน และเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้ผู้สูญหายและครอบครัวต้องตกเป็นเหยื่อ ครอบครัวต้องทนทุกข์ทรมานเฝ้ารอคนที่รักให้กลับคืนมา การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมไม่ว่าในพฤติการณ์ใดๆ

มีผู้พบเห็นบิลลี่เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ขณะที่เขาถูกควบคุมตัวโดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่อุทยานอีกสามคน ในช่วงที่คาดว่าจะเกิดการบังคับบุคคลให้สูญหาย บิลลี่อยู่ระหว่างเดินทางจากหมู่บ้านไปพบกับพี่น้องชาวกะเหรี่ยง เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการบังคับไล่รื้อและการเผาบ้านเรือนทรัพย์สิน โดยชุมชนชาวกะเหรี่ยงเตรียมฟ้องคดีต่อหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เขาได้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีติดตัวไปด้วย รวมทั้งฎีการ้องทุกข์ที่เขาเตรียมยื่นต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในเดือนตุลาคม พนักงานสอบสวนประกาศว่าค้นพบรอยเลือดที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ซึ่งจากการทดสอบในเบื้องต้นคาดว่าเป็นของผู้ชาย และเป็นรอยเลือดที่พบอยู่ในรถของเจ้าหน้าที่อุทยาน

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ้างว่า บิลลี่ถูกจับและได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน หลังจากถูกสอบสวนกรณีครอบครองน้ำผึ้งป่า แต่ไม่มีบันทึกการจับกุมหรือควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ กรณีของบิลลี่ชี้ให้เห็นความเสี่ยงของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชนที่จะตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการขัดขวางการดำเนินงานด้วยสันติวิธีเพื่อคุ้มครองชุมชนของตนเอง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอกระตุ้นอีกครั้งให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะยุติวงจรการลอยนวลพ้นผิดในประเทศ กรณีที่มีผู้ทำร้ายนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและให้คุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และบุคคลที่ปกป้องสิทธิเหล่านี้

ข้อมูลพื้นฐาน
ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) เมื่อเดือนมกราคม 2555 และแสดงท่าทีว่าจะมีการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว นับแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เชื่อว่ามีบุคคลจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย

ชาวกะเหรี่ยงซึ่งอยู่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเขาในจังหวัดเพชรบุรี พรมแดนติดกับพม่า ได้ตกเป็นเหยื่อการบังคับไล่รื้อและการทำลายทรัพย์สินโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน ในบรรดาผู้ได้รับผลกระทบยังรวมถึงคุณปู่อายุ 100 ปีของบิลลี่

นายทัศน์กมล โอบอ้อม อดีตผู้สมัคร สส. และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียกร้องสิทธิของชุมชน ได้ถูกสังหารระหว่างขับรถตอนกลางคืนในเดือนกันยายน 2554 โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติได้ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้จ้างวานฆ่า และเขาเป็นบุคคลสุดท้ายที่พบเห็นบิลลี่ นายทัศน์กมลซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายของบิลลี่ ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านกะเหรี่ยงในการแจ้งความว่าโดนทำร้าย และเจ้าหน้าที่ตัดไม้เถื่อนและล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย ศาลจังหวัดเพชรบุรีจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ในช่วงปลายเดือน

นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและนักสิ่งแวดล้อมในชุมชนของไทย มักต้องทำงานในสภาพที่เสี่ยงภัยและยุ่งยากเป็นอย่างมาก หลายคนเป็นชาวบ้านอยู่ในชุมชนชนบทหรือกึ่งชนบท ซึ่งต้องเผชิญกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการทำให้เกิดกากมลพิษ สมาชิกในชุมชนรวมทั้งผู้นำมักตกเป็นเหยื่อการคุกคามและการทำร้าย ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนหลายคน ได้ถูกสังหารจนเสียชีวิต และผู้จ้างวานฆ่ามักจะไม่ได้ถูกนำตัวมาลงโทษ ส่วนคนอื่นๆ ตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายและการข่มขู่ในรูปแบบอื่น

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50697 articles
Browse latest View live