Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live

มายาคติเกี่ยวกับการเมืองต่างประเทศ

$
0
0

 

ต่อไปนี้เป็นมายาคติหรือความเข้าใจผิดของคนไทยจำนวนมากเกี่ยวกับการเมืองต่างประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเมืองของไทยทางอ้อมเพราะคนไทยจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น คสช. นักวิชาการ ชนชั้นกลางหรือแม้แต่ชาวบ้านได้นำความเข้าใจเช่นนี้มาเพื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยในการสร้างความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตัวเองสนับสนุนหรือไว้สำหรับโจมตีแนวคิดอื่นที่ตัวเองเกลียดชัง พฤติกรรมเช่นนี้พบมากในบรรดาผู้ที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย  

1.ประชาธิปไตยคือสหรัฐอเมริกา

ความเชื่อเช่นนี้ดูน่าเชื่อถืออย่างมากในช่วงสงครามเย็นที่กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratization) ของโลกยังไม่แพร่หลายอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ สงครามเย็นได้ทำให้สหรัฐอเมริกาโฆษณาชวนเชื่อว่าตนเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยเพื่อเอาชนะสหภาพ โซเวียตเช่นเดียวกับความพยายามในการครอบงำชาวโลก  การโฆษณาเช่นนี้ก็ถือได้ว่าทรงพลังเพราะระบบการเมืองของสหรัฐฯ มีลักษณะอันโดดเด่นไม่ว่า การกระจายอำนาจแบบสหพันธรัฐ การคานอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ   รัฐธรรมของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนเสรีภาพการแสดงออกได้ทำให้เกิดการแพร่หลายของขบวนการประชาสังคม การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยในทศวรรษที่ 60  และ 70 ฯลฯ   ภาพเงาเช่นนี้ย่อมทำให้คนเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือสหรัฐ ฯ  สหรัฐ ฯ คือประชาธิปไตย มาตลอดเวลา  เมื่อสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ถูกโจมตีอย่างมากในความลดถอยของประชาธิปไตย ปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอยและความน่าเชื่อถือในเวทีโลก ก็ทำให้คนที่ต้องการต่อต้านประชาธิปไตยมักจะใช้สหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวในการโจมตีแบบเหมารวมว่าประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เรื่องและไม่เหมาะกับประเทศไทยเป็นอันขาด

ตามความจริงแล้วประชาธิปไตยนั้นเจริญเติบโตและงอกงามในยุโรปและมีความเจริญกว่าสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันมากมาย ดังจะดูได้จากการจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตยและความโปร่งใสในปัจจุบันว่าประเทศในยุโรปย่านสแกนดิเนเวียรวมไปถึงประเทศเล็กๆ ดังเช่นนิวซีแลนด์นั้นมีอันดับสูงกว่าสหรัฐ ฯ มากมายนัก  ซึ่งเป็นข้อมูลที่คนสนับสนุนเผด็จการมักมองข้ามไม่ยอมพูดถึงนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ มีท่าทีแข็งกร้าวต่อการทำรัฐประหารของไทย

2.การสนับสนุนประชาธิปไตยของตะวันตกเป็นเรื่องผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว

ความเข้าใจเช่นนี้อาจดูสมเหตุสมผลเพราะรัฐบาลตะวันตกก็ได้ใช้ประเด็นเรื่องประชาธิปไตยในการต่อรองเรื่องผลประโยชน์ และมีอยู่มากมายหลายครั้งที่รัฐบาลตะวันตกทำตนเป็นพวก “มือถือสากปากถือศีล” ดังกรณีท่าทีของสหรัฐฯ ต่อประเทศอียิปต์ แต่หากมองอีกแง่มุมหนึ่งนโยบายต่างประเทศของตะวันตกส่วนหนึ่งก็ได้รับการผลักดันจากความศรัทธาและความต้องการเผยแพร่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังเช่นการที่สหรัฐฯ บุกอัฟกานิสถานและอิรักนั้น มักมีคำอธิบายว่าสหรัฐฯต้องการขยายอิทธิพลและวงผลประโยชน์เหนือตะวันออกกลางจนหลงลืมไปว่ากลุ่ม นวอนุรักษ์นิยม (Neo-conservative)  ที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลของบุชก็มีความเชื่อมั่นในเรื่องการใช้กำลังทางทหารเพื่อทำให้เกิดประชาธิปไตยในประเทศที่เป็นเผด็จการ

ในทางกลับกัน วาระเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรปใช้กดดันประเทศซึ่งมีปัญหาด้านประชาธิปไตยดังเช่นไทยและพม่าก็ได้ส่งผลทางบวกให้กับประชาชนในประเทศนั้นเป็นอย่างมาก เพราะทำให้รัฐบาลเผด็จการระมัดระวังไม่ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนจนโจ่งแจ้งมากไปและการกดดันของตะวันตกก็อาจนำไปสู่การฟื้นฟูและพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคตในที่สุด (ถึงแม้อาจจะปลอมๆก็ตาม)  เหตุผลสำคัญที่ทำให้คสช. พยายามเลี่ยงบาลีในการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกทางวิชาการหรือทางการเมืองโดยการหันไปเป็นการปรับทัศนคติหรือการข่มขู่ด้วยรอยยิ้มแบบเสแสร้งมากกว่าการคุมขังและการอุ้มหาย  ก็เพราะไม่ต้องการให้ชาติตะวันตกโจมตีและอาจเป็นข้ออ้างในการประณามและนำไปสู่การคว่ำบาตรที่ร้ายแรงกว่าเดิม หากไม่เช่นนั้นแล้ว คสช.คงหันไปใช้วิธีการแบบ จอมพลสฤษดิ์        ธนะรัชต์อย่างแน่นอน (แน่นอนว่าในยุคจอมพลสฤษดิ์ สหรัฐฯก็เฝ้าจับตาไทยเหมือนกัน แต่ปัจจุบันบริบททางการเมืองได้เปลี่ยนไปอย่างมากมายไม่ว่าการสิ้นสุดของสงครามเย็นและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเกี่ยวกับการสื่อสาร)  นอกจากนี้ยังมีคำถามว่าเหตุใดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงต้องกล่าวคำขอโทษต่อหน้าสื่ออยู่บ่อยๆ  ไม่ว่ากรณีการสวมบิกีนีของนักท่องเที่ยวหรือการพาดพิงถึงผู้หญิงคนหนึ่งด้วยคำหยาบคาย (คำตอบก็คืออิทธิพลทางอ้อมของสิทธิสตรี)

3.ชาวตะวันตกรักและชื่นชอบระบบการเมืองของตนเอง

เป็นความเข้าใจผิดโดยเฉพาะนักคิดเสรีนิยมที่ต้องการนำมุมมองนี้มาสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตย ตามความจริงแล้ว มีคนจำนวนไม่น้อยทั้งในสหรัฐฯและตะวันตกต่างท้อแท้และสิ้นหวังในระบบการเมืองของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯในช่วงของจอร์จ ดับเบิลยู บุชซึ่งมีคนอเมริกันจำนวนมากอยากจะให้เขาออกจากตำแหน่งด้วยวิธีพิเศษที่ไม่อยู่ในรูปแบบประชาธิปไตยเพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ประธานาธิบดีอเมริกันออกจากตำแหน่งเหมือนนายกรัฐมนตรีแม้จะดำเนินงานบริหารผิดพลาด (ยกเว้นเป็นกรณีที่กระทำความผิดขั้นร้ายแรงจนต้องถูกไต่สวน หรือ Impeachment)   กรณีดังเช่นการนำสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามในอิรักก็ยังไม่สามารถทำให้บุชออกจากตำแหน่งหรือถูกดำเนินคดีได้ อันสะท้อนถึงความเน่าเฟะของการเมืองอเมริกัน ข้อกล่าวหานี้ยังเกิดกับนายโทนี แบลร์อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษซึ่งดำเนินนโยบายการทหารอิงกับรัฐบาลของนายบุช

นอกจากนี้ระบบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ซึ่งเน้นการคานอำนาจมากจนเกินไปอันส่งผลถึงการกลายเป็นการชะชักงันทางอำนาจเพราะพรรคการเมือง 2 พรรคงัดข้อกันเองจนไม่สามารถออกกฎหมายอันได้ทำให้เกิดวิกฤตในยุคของนายบารัก โอบามา จนรัฐบาลต้องปิดทำการชั่วคราวเพราะรัฐสภาไม่สามารถตกลงกันเรื่องงบประมาณของประเทศได้เช่นเดียวกับการกำหนดเพดานหนี้จนเกือบทำให้สหรัฐฯต้องพบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกครั้ง จนนักวิชาการหลายคนต้องการให้สหรัฐฯ เปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบประธานาธิบดีซึ่งมาเป็นระบอบรัฐสภาเพื่อให้สามารถเปลี่ยนผู้นำได้ง่ายและกฎหมายสามารถถูกออกเพื่อนำมาใช้ได้ง่ายกว่านี้

ชาวตะวันตกจำนวนมากก็มีความคิดเหมือนกับคนไทยอีกหลายคนที่เสื่อมศรัทธาในนักการเมืองอยากให้ประเทศตนปกครองด้วยเผด็จการที่แสนดี ฉลาดและเปี่ยมด้วยความสามารถ (ดังความคิดของนักปรัชญาเช่นลีโอ สตราส ซึ่งผลิตซ้ำแนวคิดของเปลโตมา)  ในทางกลับกันก็มีชาวตะวันตกอีกพอสมควรที่นิยมแนวคิดแบบอนาธิปไตยคือต่อต้าน อยากยุบรัฐบาล และให้ประชาชนและชุมชนปกครองตัวเองเพราะเห็นว่ารัฐบาลนั้นเป็นของคนรวย โดยคนรวยและเพื่อคนรวย  แนวคิดนี้ย่อมส่งผลมาถึงคนไทยจำนวนมากที่ได้รับสารจากชาวตะวันตกเหล่านั้น

ไม่ว่าอย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาธิปไตยของตะวันตกแม้แต่ประเทศในย่านสแกนดิเนเวียหรือนิวซีแลนด์ที่ได้คะแนนด้านประชาธิปไตยสูงๆ นั้นไม่ได้มีความสมบูรณ์หากแต่เป็นกระบวนการที่ยังบกพร่อง มีการเดินถอยหลังและต้องอาศัยปฏิรูปอีกไปเรื่อยๆ ไปตามอุดมการณ์หรือจุดหมายที่ประเทศเหล่านั้นได้วางไว้เอง ซึ่งเราจะนำมาเป็นเงื่อนไขเพื่อปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เพราะอย่างน้อยที่สุดเราควรศรัทธาในตัวของอุดมการณ์ประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบสากลที่ประเทศเหล่านั้นพร่ำบอกมากกว่าตัวของประเทศเองเช่นเดียวกับที่ชาวพุทธยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องดูว่าพฤติกรรมของพระสงฆ์และองค์กรของสงฆ์ในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร

4.เผด็จการอำนาจนิยมเป็นเรื่องดีดูอย่างลัทธิปูตินสิ

ฉากทางการเมืองสำคัญที่เป็นการโฆษณาลัทธิปูตินหรือเผด็จการอำนาจนิยมตามแบบประธานาธิบดีรัสเซียคือวลาดิเมียร์ ปูตินได้อย่างดีในบรรดาคนเกลียดสหรัฐ ฯ   (และเลยไปถึงลัทธิประชาธิปไตยได้)  คือการแสดงแสนยานุภาพของทหารในกรณียูเครน ภาพตามสายตาของนงนุช สิงหเดชะ  ปูตินเป็นบุรุษเหล็ก ทำให้รัสเซียมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการเมือง 

ตามความเป็นจริง ปูตินก็เป็นเผด็จการที่สกปรกไม่แพ้กับคนอื่นที่เรารู้จักและรังเกียจในประวัติศาสตร์ เขาทำให้ประชาธิปไตยของรัสเซียเสื่อมถอยโดยการเข้ากุมอำนาจในสถาบันทางการเมืองที่สำคัญทั้ง 3 สถาบันคือนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ สังคมรัสเซียเต็มไปด้วยการคอรัปชั่นโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาชญากรรมและมาเฟียเต็มบ้านเต็มเมืองโดยเจ้าพ่อเหล่านั้นก็มีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การที่เขาสามารถอยู่ในตำแหน่งได้อย่างยาวนานก็เพราะเขาสามารถใช้อำนาจมืดในการสะกดการเคลื่อนไหวของมวลชนได้เช่นเดียวกับความชาญฉลาดในการสร้างภาพครอบงำมวลชนกลุ่มอื่นให้นิยมชมชอบ นอกจากนี้ตะวันตกก็เห็นว่าปูตินมีข้ออาชญกรรมไม่แพ้กับเผด็จการคนอื่นๆ ในประวัติศาสตร์เช่น

ปูตินใช้อำนาจของรัฐในการแทรกแซงตุลาการเพื่อเล่นงานพวกคนรวยหรือ Oligarchy เก่าในยุคของเยลต์ซินในทางกฎหมายเช่นยัดเหยียดข้อหาให้เจ้าของยูคอสคือนายมิกคาอิล           คอร์โดคอฟสกีจนต้องติดคุกเป็นเวลานาน

ปูตินถูกแฉโดยวิกีลิกว่าแอบยักยอกเงินจากรัฐเอาไปเก็บไว้ในบัญชีต่างประเทศ

ปูตินใช้หน่วย FSB มีอำนาจและโยงใยกับกิจกรรมผิดกฎหมายต่างๆ  ร่วมกับมาเฟียเช่นสังหารนายอาเล็กซานเดอร์  ลิตวินเนนโกที่กรุงลอนดอนปี 2006  ปีเดียวกับที่นักข่าวคือแอนนา โปลิตกอฟสกายา ซึ่งเขียนหนังสือโจมตีปูตินถูกยิงตายที่กรุงมอสโคว์

นอกจากนี้สาเหตุที่เศรษฐกิจของรัสเซียรุ่งเรืองอีกครั้ง ไม่ใช่เพราะการดำเนินนโยบายของรัฐบาลปูตินเช่น state capitalism (ระบบทุนนิยมทีรัฐเป็นนายทุนใหญ่) เพียงอย่างเดียวแต่เพราะความร่ำรวยของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียเป็นสำคัญเช่นเดียวกับการวางรากฐานเศรษฐกิจของบอริส เยลต์ซินที่เศรษฐกิจรัสเซียผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจากคอมมิวนิสต์มาเป็นทุนนิยมหรือ Shock มาในทศวรรษที่ 90 ทำให้ย่ำแย่ แต่ก็ฟื้นตัวในภายหลังและเป็นช่วงที่ปูตินขึ้นมาบริหารประเทศมาพอดี (และปัญหาคือทำไมเราไม่ยกย่องผลงานของ ดมีทรี เมดเวเดฟ ประธานาธิบดีอีกคนหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ปูตินจะมีอำนาจอยู่เบื้องหลัง แต่ดมีทรีอาจจะมีบทบาทหลายอย่างในช่วง 4  ปีต่อการทำให้รัสเซียดีขึ้น)

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน เศรษฐกิจของรัสเซียกำลังอยู่ในภาวะทดถอย มีอัตราความเจริญเติบโตเพียงร้อยละ  1.3  ในปี 2013 ยิ่งถูกการคว่ำบาตรจากตะวันตกไปเรื่อยๆ ก็ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง  นอกจากนี้การทหารที่แข็งแกร่งของรัสเซียจนสามารถทัดทานกับสหรัฐฯและสหภาพยุโรปก็อาจจะไม่ได้บอกความเข้มแข็งของประเทศเสมอไปเช่นเดียวกับสหภาพโซเวียตในอดีตที่ทุ่มเงินไปกับการทหารเป็นจำนวนมากแต่ก็ต้องล่มสลายเพราะปัจจัยหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจในที่สุด

5.ประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นเรื่องวุ่นวาย ไร้ระเบียบ

ความคิดแบบดึกดำบรรพ์เช่นนี้ย่อมฝังแน่นในชนชั้นปกครองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจนยากจะถอนออกได้ภายใต้ข้ออ้างถึงความมั่นคงหรือความเป็นระเบียบของชาติ  ซึ่งมันก็ได้สำแดงเดชเมื่อไม่กี่วันมานี้โดยการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปยุติเสวนาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นผู้กล่าวปาฐกถานำ  โดยผู้เขียนคิดการกระทำเช่นนี้เป็นการล่วงละเมิดความเป็นมนุษย์ในสังคมยุคใหม่ขั้นร้ายแรง เพราะการแสดงออกทางวิชาการที่ปราศจาก hate speech หรือการปลุกระดมให้เกิดความรุนแรงนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะได้แสดงออกสิ่งที่อยู่ในความคิดของเขาและทำให้คนที่ได้รับรู้ข่าวสารนั้นเกิดความรู้ที่หลากหลายอันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยถึงแม้จะมีความแตกต่างจากอุดมการณ์หลักของรัฐและอาจนำไปสู่วิวาทะก็ตามดังที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก 

มีคนมากมายมักยกย่องเผด็จการโดยเข้าใจว่าการตัดสินใจโดยคนเดียวๆ อย่างเด็ดขาด ปราศจากความวุ่นวายสับสนจากเสียงนกเสียงกาย่อมทำให้ประเทศเกิดความเจริญรุ่งเรืองโดยดูโมเดลเพียงจีนและสิงคโปร์ โดยไม่สำเนียกว่าแนวคิดนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศเยอรมันนาซี  อิตาลียุคมุสโสลินี สเปนในยุคของฟรานซิสโก ฟรังโก  อาเจนตินาและหลายประเทศในละตินอเมริกายุคทศวรรษที่ 70  หรือฟิลิปปินส์ในยุคของเฟอร์ดินันท์ มาร์คอส  หรือยุคปัจจุบันเช่นประเทศในเอเชียกลางหรือซิมบับเวในยุคของโรเบิร์ต  มูกาเบ   ซึ่งผู้นำเผด็จการของประเทศเหล่านั้น (ซึ่งมักไม่เรียกว่าตัวเองเป็นนักการเมืองแต่เป็น “ผู้รับใช้เมือง”(?) ) ถ้าไม่นำความเดือดร้อนอย่างมากมายให้กับประชาชน ก็นำความหายนะให้กับประเทศชาติเสียพอๆ หรือ ยิ่งกว่านักการเมืองชั่วๆ ที่ส่งเสียงโวยวายหรือต่อสู้กันในสภาดังผู้ต่อต้านประชาธิปไตยมักโจมตีอยู่เสมอ

ขอปิดท้ายด้วยความคิดคำนึงของผู้เขียนต่อนักวิชาการท่านหนึ่งซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับกลุ่มนิติราษฎรทั้งที่เป็นอาจารย์อยู่ในคณะเดียวกัน ท่านได้ประกาศตนต่อต้านระบอบทักษิณมาตลอดเวลา และมักกล่าวเป็นนัยๆ ว่าทักษิณนั้นเหมือนกับเป็นฮิตเลอร์ซึ่งจะนำประเทศไปสู่ความพินาศเช่นเดียวกับเยอรมันนาซี แต่เมื่อ คสช.ขึ้นมามีอำนาจและได้ปกครองประเทศเป็นเผด็จการเสียยิ่งกว่ายุคของทักษิณ ท่านก็ได้หุบปากเสียแน่นอันสะท้อนให้เห็นว่าท่านนั้นไม่มีความศรัทธาหรืออาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่ท่านมักโฆษณาป่าวประกาศเสมอมาก็เป็นได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: ไทยคืนดีกัมพูชา และชะตากรรมของผู้ลี้ภัย

$
0
0

พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนล่าสุด ได้เดินทางไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557 เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับผู้นำกัมพูชา ในโอกาสนี้ พลเอกธนะศักดิ์ได้มีโอกาสหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีฮุนเซน และพลเอกเตียบันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา บรรยากาศของการเฉลิมฉลองการปรับความสัมพันธ์ครั้งใหม่นี้น่าอภิรมย์อย่างยิ่ง

ในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั้น กัมพูชายังคงเป็นประเทศที่ไทยเป็นห่วงกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองของไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรณีข้อพิพาทเหนือปราสาทเขาพระวิหาร หรือความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างนายกรัฐมนตรีฮุนเซนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปัญหาคลางแคลงใจเหล่านี้ได้สร้างความกระอักกระอ่วนใจในสายตาของผู้นำไทยอย่างมาก จนถึงจุดที่ว่า การทำสงครามกับกัมพูชานั้นกลายมาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ดังที่เราได้เห็นในปี 2554

หลังจากการหารือทวิภาคีระหว่างสองฝ่าย พลเอกเตียบันห์ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า กัมพูชาและไทยตกลงที่จะร่วมมือกันยกระดับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้า ต่างให้คำมั่นสัญญาว่า จะส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนของสองประเทศ และร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดจากอาชญกรรมข้ามชาติ นอกจากนี้ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือการที่ทางกัมพูชาได้ขอร้องให้ฝ่ายไทย “ดูแล” แรงงานกัมพูชาในไทย ซึ่งเรื่องนี้ พลเอกธนะศักดิ์ได้ตอบกลับว่าจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และสัญญาว่า จะพิจารณาแก้ไขและปรับปรุงกฏระเบียบในการปกป้องสิทธิของแรงงานต่างชาติในไทย

แต่ขณะเดียวกัน ทั้งไทยและกัมพูชาก็ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตีความคำพิพากษาเกี่ยวกับกรณีเขาพระวิหารเมื่อปี 2505 อีกครั้งหนึ่ง ตามที่ได้รับการร้องขอจากกัมพูชา หลังจากัมพูชาเห็นว่า ปัญหายังคงยืดเยื้อและฝ่ายไทยยังไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทเขาพระวิหาร ในการตีความใหม่รอบนี้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยืนยันว่า ปราสาทเขาพระวิหารเป็นสมบัติที่ถูกต้องตามกฏหมายของกัมพูชา และเรียกร้องให้กองทัพของทั้งสองประเทศถอนทหารออกจากเขตพื้นที่ทับซ้อนที่มีขนาด 4.6 ตารางกิโลเมตร เกี่ยวกับเรื่องนี้ พลเอกเตียบันห์ให้ความเห็นว่า กัมพูชาเชื่อว่า ปัญหาเหนือพื้นที่ทับซ้อนในบริเวณประสาทเขาพระวิหารนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอีกต่อไป

ในการเดินทางเยือนกัมพูชาในครั้งนี้ ได้มีคณะติดตามพลเอกธนะศักดิ์อีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหม พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงอีกจำนวนหนึ่ง โดยคณะทั้งหมดได้มีโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เพื่อหาหนทางในการกระชับความสัมพันธ์ในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

แต่คำถามที่สำคัญก็คือ เพราะเหตุใด พลเอกธนะศักดิ์จึงต้องเดินทางไปเยือนกัมพูชาอย่างรีบเร่ง เพียงแค่ไม่กี่วันหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ ในระหว่างที่เดินทางไปเยือนกัมพูชานั้น ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีชุดใหม่ หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา สถานการณ์ได้บังคับให้ไทยต้องหามิตรเพิ่มเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความชอบธรรมให้กับ คสช. พันธมิตรดั้งเดิมของไทยในโลกตะวันตกล้วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหาร และได้ประกาศใช้นโยบายคว่ำบาตรต่อ คสช ด้วย

ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาได้ยุติการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กองทัพไทย ซึ่งเป็นข้อกฏหมายที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ในกรณีที่พันธมิตรของสหรัฐฯ ได้มีการทำรัฐประหาร จึงจำเป็นต้องมีการตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว นอกจากนี้ ยังเป็นที่ไม่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะยังจัดให้มีการฝึกซ้อมรบทางทหารร่วมกับไทยในกรอบ “คอบร้าโกล์ด” ด้วยหรือไม่ปีนี้ ไม่แน่ชัดว่าจะมีการย้ายสถานที่ฝึกซ้อมรบไปยังออสเตรเลียหรือไม่ และไทยจะได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าร่วมในกิจกรรมนี้หรือไม่ ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปก็ได้ประกาศยุติความร่วมมือในระดับทวิภาคีกับไทย โดยเฉพาะการยุติการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างสองฝ่าย ทั้งสหภาพยุโรปและออสเตรเลียยังได้ประกาศห้ามผู้นำระดับสูงของ คสช เดินทางเข้าไปยังยุโรปและออสเตรเลีย เพื่อตอบโต้ต่อการทำรัฐประหารของกองทัพไทย

ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ การสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง จีนเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้การสนับสนุน คสช ในความเป็นจริง จีนได้ใช้โอกาสที่ไทยเผชิญปัญหาทางการเมือง ในการกระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารของไทย เพื่อที่จะลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ในไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองระหว่างประเทศ นอกจากนี้ พม่ายังได้ส่งผู้นำระดับสูงมาเยือนไทยด้วย โดยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พลเอกอาวุโส มิน อ่อง เลง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เดินทางมาเยือยไทย และได้กล่าวว่า คสช กำลังทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว นั่นคือ การยึดอำนาจจากรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย

แต่ทั้งนี้ การสนับสนุนที่มาจากกัมพูชายังมีความสำคัญเกือบจะมากที่สุด ความสัมพันธ์ไทยและกัมพูชายังมีความซับซ้อน และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกัมพูชายังคงมีความละเอียดอ่อน ในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้มีการปล่อยข่าวลือถึงการที่ไทยจะส่งแรงงานผิดกฏหมายกัมพูชากลับประเทศ ข่าวลือดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบต่อความมั่นคงตามแนวชายแดน ที่สำคัญ ส่งผลต่อสถานะของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ที่การคงอยู่ทางการเมืองนั้น ขึ้นอยู่กับคะแนนความนิยมที่ชาวกัมพูชามีให้กับตัวนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเอง ด้วยเหตุนี้ นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งของการที่ฮุนเซนต้องการกระชับความสัมพันธ์กับไทย เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานกัมพูชาและเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับมาจากสาธารณชนกัมพูชา ในแง่ที่ว่า ผู้นำสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

แต่ที่สำคัญกว่านั้น ในหลายปีที่ผ่านมา กัมพูชาได้กลายเป็นที่พักพิงหรือแม้แต่เป็นพื้นที่ของคนบางกลุ่มที่ใช้ต่อต้านกลุ่มการเมืองในเมืองไทย อาทิ กลุ่มเสื้อแดงส่วนหนึ่ง หรือแแม้แต่กลุ่มที่ต่อต้าน คสช ในปัจจุบัน ความหวาดกลัวจึงเกิดขึ้นทันทีในกลุ่มของผู้ที่หลบหนีอยู่ในกัมพูชา โดยเฉพาะต่อความเป็นไปได้ที่ว่า ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในระดับรัฐบาลของสองประเทศจะส่งผลกระทบต่อสถานะของตนเอง อาจมีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายไทยจะขอความร่วมมือในการส่งตัวผู้ลี้ภัยในกัมพูชาเหล่านี้กลับสู่ประเทศไทย

ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับกัมพูชา ซึ่งได้สร้างพันธกรณีของการส่งตัวผู้ร้ายกลับสุ่ประเทศภูมิลำเนาของบุคคลหนึ่งๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยและกัมพูชาจะลงนามในสนธิสัญญานี้ต่อกัน แต่หลักปฏิบัติสากลได้ชี้อย่างชัดเจนว่า แทบจะไม่มีประเทศใดยินยอมส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยเฉพาะหากบุคคลนั้นๆ มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หมายความว่า ในสถานการณ์ปกติ กัมพูชากลับต้องให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้ด้วยซ้ำ ทั้งในแง่ของการมอบสถานะผู้ลี้ภัยและแหล่งพักพิง หรือการส่งตัวผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สามเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม

แต่ในที่สุด การเมืองก็คือการเมือง ไม่ว่าที่นี่ หรือที่ไหน การเมืองก็เปรียบเสมือนเรือที่ล่องอยู่ในทะเลที่อาจต้องประสบกับสิ่งที่ไม่คาดคิดอยู่เสมอ ขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า รัฐบาลฮุนเซนมองเรื่องนี้อย่างไร และจะอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยอยู่ในกัมพูชาได้นานเท่าใด ในทางหนึ่ง นายกรัฐมนตรีฮุนเซนอาจต้องการใช้โอกาสนี้ในการคืนดีกับไทย เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่มั่นคงตามแนวพรมแดน แต่อีกทางหนึ่ง ฮุนเซนอาจพิจารณาว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ยังมีประโยชน์ต่อกัมพูชาอย่างมาก ในแง่ของการเป็นปัจจัยต่อรองกับ คสช ได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฏีกาอนุญาตประกัน ‘เจ๋ง ดอกจิก’ คดี 112 ทนายยื่นหลักทรัพย์พรุ่งนี้

$
0
0

22 ก.ย.2557  เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) แจ้งว่าวันนี้ (22 ก.ย.) ศาลฎีกามีคำสั่งให้ประกันนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 หลังจากที่เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมาทีมทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลชั้นต้นพร้อมหลักทรัพย์เงินสด 500,000 บาทและศาลชั้นต้นระบุว่าต้องส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย

ทั้งนี้ เจ๋ง ดอกจิก ถูกดำเนินคดีจากกรณีการปราศรัยบนเวที นปช. เชิงสะพานมัฆวาน เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2553 โดยเขาได้กล่าวปราศรัยทางการเมืองและไม่ได้พาดพิงใครแต่มีการชี้นิ้วขึ้นด้านบน ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 17 ม.ค.2556 ให้เขามีความผิดตามมาตรา 112 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา จากนั้นเจ๋ง ดอกจิกได้ยื่นอุทธรณ์จนเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2557 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ทำให้เขาต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำนับตั้งแต่นั้น หลังจากที่สามารถประกันตัวสู้คดีได้ตลอดมา

วิญญัติกล่าวว่า คาดว่าจะสามารถยื่นเรื่องประกันเรียบร้อยและเจ๋ง ดอกจิก น่าจะได้รับการปล่อยตัวภายในเย็นวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.)  

ทนายความจาก กนส.กล่าวด้วยว่า หลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษา จำเลยได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พร้อมทั้งยื่นประกันตัวไปแล้ว ซึ่งศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวมาแล้วในครั้งนั้น โดยระบุเหตุผลว่าเป็นคดีต้องห้าม อีกทั้งยังไม่มีการอนุญาตให้ฎีกา ดังนั้นทางทีมทนายความจึงได้ยื่นขอรับรองอนุญาตให้ฎีกา ต่อมาศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาเมื่อราวเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เมื่อครบเงื่อนไขตามกฎหมายแล้วทีมทนายความจึงได้ยื่นขอประกันตัวอีกครั้งหนึ่ง และครั้งนี้ศาลฏีกาก็ให้ประกันตัว โดยไม่มีเงื่อนไขใด

 

อ่านรายละเอียดคดี เจ๋ง ดอกจิก ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/43#detail

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ ‘แก้วใส-ชูเวช’ 2 ผู้แต่ง ‘บทเพลงของสามัญชน’ ที่ท้าให้คุณร้อง

$
0
0

รายงานบทสัมภาษณ์ ‘แก้วใส-ชูเวช’ 2 ผู้แต่ง ‘บทเพลงของสามัญชน’ เพลงของสามัญชนคนธรรมดาทุกคน ที่ใครๆ ก็ร้องได้ เพื่อมอบให้กับผู้ถูกคุกคามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพ กับปรากฏการณ์ท้าให้ร้องผ่านยูทูบ 

ชูเวช(ซ้าย) แก้วใส(ขวา)

ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีกระแสโดยเฉพาะในบรรดานักกิจกรรมทางสังคมออกมาร้องเพลงที่มีชื่อว่า “บทเพลงของสามัญชน” ในหลากหลายรูปแบบและมีการท้าส่งต่อให้คนอื่นร้องตาม พร้อมเผยแพร่ผ่านทางยูทูบ กว่า 50 คลิป

โดยครั้งแรกที่มีการเผยแพร่เพลงดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา โพสต์โดย ‘Jeerapa Mooncommee’ ซึ่งในการเผยแพร่ครั้งแรกนั้นยังไม่มีชื่อเพลง ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ในแบบร้องหมู่พร้อมชื่อบทเพลงอีกครั้งเมื่อวันที 25 ส.ค.ที่ผ่านมา โดย ‘Jeerapa Mooncommee’ โดยเนื้อเพลงเป็นการให้กำลังใจกับคนที่ถูกคุกคามเสรีภาพ

 

การร้องหมู่ คนซ้ายสุดคือแก้วใส 1 ในผู้แต่งเพลงนี้

ประชาไท สัมภาษณ์ ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ อายุ 22 ปี นักศึกษาปริญญาโทสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ แก้วใส สามัญชน 2 ผู้แต่งเพลงดังกล่าว เพื่อดูถึงที่มาและความหมายของบทเพลง รวมทั้งมุมมองต่อปรากฏการณ์ที่มีการร้องต่อผ่านยูทูบ

00000

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์

ประชาไท : ทำไมถึงได้แต่งเพลงนี้ขึ้นมา?

ชูเวช : ตอนนั้นเพื่อนของเราถูกเรียกตัวหลังจากรัฐประหารไม่กี่วันแล้วเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะเผชิญกับอะไรบ้างด้วยความเป็นห่วงเราก็เริ่มแต่งเพลงที่อยากจะให้เพื่อนเราเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในนั้นอย่างเข้มแข็งแต่สุดท้ายก็แต่งไม่ทันจบคนที่เราแต่งให้ก็ได้รับการปล่อยตัวมาเสียก่อน

พอเหตุการณ์เริ่มบานปลายมีการคุกคาม กุมขังนักกิจกรมรุ่นใหม่จำนวนมาก บุกค้นบ้านเรือนพร้อมอาวุธครบมือยามวิกาล ยึดทรัพย์สิน หรือ ขับไล่ที่อยู่อาศัยชาวบ้านไปก็มาก ความกลัวเริ่มแผ่ขยายปกคลุมไปทั่ว เราก็คิดว่าสิ่งที่เราน่าจะทำได้ดีที่สุดคือแต่งเพลงเพื่อมอบให้ทุกคนที่กำลังถูกคุกคามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ด้วยกันโดยเฉพาะคนที่ยังอยู่ในกรงขัง

ทำไมถึงคิดว่าปัญหาการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ?

ชูเวช : หากเราฝันถึงสังคมที่ทุกคนเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกันและกัน แต่เราเลือกทำให้เสียงของใครที่เราไม่อยากได้ยินหายไป เราก็คงไม่มีวันที่จะสร้างสังคมแบบนั้นขึ้นมาได้ และหากเราตีความความหมายของความมั่นคงแห่งรัฐนั้นคือความมั่นคงในคุณภาพของประชาชน แต่เรากลับสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่บังคับให้ซุกปัญหาต่างๆของประชาชนไว้ใต้พรม ทำให้แม้แต่เสรีภาพที่จะพูดถึงปัญหาของตัวเองยังกลายเป็นเรื่องผิดบาป ลดทอนความสำคัญของปัญหาให้กลายเป็นเรื่องตลก อันจะนำไปสู่การบ่มเพาะความขัดแย้งในระดับวัฒนธรรมที่ซึมลึกเรื้อรังก่อตัวเป็นความรุนแรงในที่สุด ดังนั้นเราคงจะอ้างความชอบธรรมของปฏิบัติการดังกล่าวในนามของความมั่นคงแห่งรัฐคงไม่ได้ นี่คือเหตุผลที่คนที่อ้างเรื่องมาตรการความมั่นคงต่างๆ นานาควรจะคำนึงถึงเรื่องนี้

แก้วใส สามัญชน

ทำไมถึงชื่อ 'บทเพลงของสามัญชน' ?

แก้วใส : ก็อยากให้เพลงนี้เป็นเพลงของสามัญชนคนธรรมดาทุกคน ที่ใครๆ ก็ร้องได้เพื่อถ่ายทอดสื่อสารเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกอย่างไม่ต้องใครมาจำกัด

ชูเวช : เดิมทีผมกับพี่แก้วใสยังไม่ทันได้ตั้งชื่อเพลงเลย แต่ส่วนหนึ่งเราเองก็ตั้งใจแต่งเพลงเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงนี้ตามเจตนารมณ์ของพรรคสามัญชนที่เชื่อว่าคนธรรมดาสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ วันหนึ่งมีคนเอาเพลงเราไปร้องต่อเรื่อยๆ แล้วมีคนโพสว่า “บทเพลงของสามัญชน” ไม่รู้ใครเริ่มเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่สุดท้ายทุกคนก็จำชื่อนี้ไปแล้ว เราเองก็เห็นดีด้วยไม่ได้ซีเรียสเรื่องพวกนั้นเท่าไหร่สำคัญที่คนที่ร้องได้ร่วมกันส่งต่อเรื่องราวความรู้สึกในบทเพลงนี้ถึงสามัญชนด้วยกันก็เพียงพอแล้ว

คำว่า "สามัญชน" ในมุมมองของคุณคืออะไร?

ชูเวช : คนธรรมดาทุกคน ไม่จำกัดเพศ วัย วุฒิ การศึกษา ฐานะ ชื่อเสียง ความเชื่อวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ หรือ ภูมิภาค

มันเกิดการร้องที่กระจายไปทั่วได้อย่างไร และมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร?

แก้วใส : ตอนแรกก็เริ่มจากการที่เราอยากร้องเพลงนี้ให้กับคนที่โดนจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ว่าจะเป็นทั้งทางกายภาพและทั้งทางความคิดและก็ร้องเพลงนี้ลงอินเทอร์เน็ต และก็มีพี่ๆ เพื่อนๆ ชอบและเราก็ทำคลิปอีก ลงอินเทอร์เน็ตอีก จนมีเพื่อนเห็นว่าน่าจะให้คนอื่นๆ ร้องเพลงนี้เพื่อส่งข้อความนี้ออกไปให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย ประกอบกับกระแส ice bucket challenge กำลังมา ก็เลยมีคนคิดและถ้าให้เพื่อนคนอื่นๆ ร้องกัน เราเองก็ชวนคนอื่นร้องเล่นไปเรื่อยๆ

ผมเองก็ไม่รู้มีใครบ้างบางทีบางคนก็ไม่รู้จักเขา ถ้าถามว่ามองปรากฏการณ์นี้ยังไง ผมก็คงบอกว่าก็คงมีคนคิดและรู้สึกเหมือนเราอยู่ไม่ใช่น้อยและอยากสื่อสารข้อความนี้ต่อออกไปอีก แต่ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าข้อความที่สื่อออกไปนั้นจะเข้าใจตรงกับสิ่งที่ผมต้องการสื่อสารออกไปตอนแรกหรือเปล่า แต่คงไม่ได้ซีเรียสหรือห้ามอะไรได้ว่าสารมันจะเพี้ยนไป สุดท้ายอย่างที่บอกไปเพลงนี้มันคือเพลงของสามัญชนทุกคนที่อยากจะสื่อสารเรื่องราวและอารมณ์ต่อเหตุการณ์หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มันมาจำกัดสิทธิกดทับผู้คนให้อยู่ภายใต้อำนาจใครก็ไม่รู้มากระทำกับเราสามัญชน

Cover โดย สหาย Romeo

คิดอย่างไรกับปรากฏการณ์ที่มีคนเอาเพลงที่คุณแต่งไปร้องต่อกัน?

ชูเวช : การบันทึกประวัติศาสตร์ของสามัญชน แน่นอนว่าคงรอให้กระทรวงศึกษาธิการมาบันทึกเข้าไปในหนังสือเรียนคงไม่ได้ คงต้องเป็นการเขียนบันทึกประวัติศาสตร์โดยน้ำพักน้ำแรงของพวกเราสามัญชนด้วยกันเอง หลายๆ เวอร์ชั่นผมก็ชอบมากๆ เลยครับเปิดฟังบ่อยๆ รู้สึกเป็นเกียรติมากที่เพลงที่เราแต่งมีความหมายกับใครหลายๆคน เราจำวันที่เราแต่งเสร็จได้ว่าตอนที่ร้องท่อนฮุกว่า “กี่ลมฝันที่พัดละออง....” ตอนนั้นเราเป็นห่วงเพื่อนๆ พี่ๆ เราจริงๆ นะ และเชื่อว่าคนที่ร้องเพลงนี้ก็คงมีความรู้สึกบางอย่างที่อยากจะถ่ายทอดเช่นกัน หวังว่าสักวันเราจะได้มีโอกาสร้องเพลงนี้จากทั่วทุกสารทิศด้วยกันสักครั้ง

ท่อนที่ว่า "ปลูกผู้คน ปลูกฝันสู่วันของเรา" ฝันที่ว่านั้นคืออะไร?

ชูเวช : เพื่อให้เห็นกระบวนการว่าฝันของเราไม่สามารถไปถึงได้ด้วยจำนวนคนที่มีอยู่ เรายังมีภารกิจที่จะต้องขยายแนวร่วมกันไปด้วยวิธีต่างๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ใช้คำว่า “ปลูก” ส่วนที่ว่าความฝันนั้นคืออะไร ก็ขอตอบแบบอุดมคติไปเลยละกัน

ผมฝันว่าเราจะมีประชาธิปไตยแบบถกแถลง ประชาธิปไตยที่จะไม่ทิ้งรอยบาดแผลของสามัญชนไว้ข้างหลังระหว่างที่ก้าวเดินไปข้างหน้า ทุกปัญหาของทุกคน เจ้าของปัญหาต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ไข ลดทอนกลไกจากอำนาจการคิดแทนจากรัฐส่วนกลาง ด้วยรัฐสวัสดิการสามัญชนจะมีความมั่นคงในชีวิต แน่นอนว่ารัฐสวัสดิการดังกล่าวสามัญชนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างเสถียรภาพในนโยบายรัฐสวัสดิการนั้นๆ เองด้วย และด้วยการตื่นจากภวังค์สามัญชนจะมีจิตใจที่มั่นคงพอที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำ มั่นคงพอที่จะไม่ถูกมอมเมาโดยโฆษณาชวนเชื่อใน MV เพลงซึ้งๆ สารคดี ฟุตบาธ สะพานลอย ป้ายหน้าสำนักงานราชการ ของนักการเมือง

แน่นอนว่าผมฝันถึงวันที่สามัญชนจะตระหนักว่ามีใครอีกบ้างที่มีสถานภาพความเป็นนักการเมืองแบบหลบซ่อน ใครอีกบ้างที่มีอำนาจในการนำภาษีของเราไปใช้บริหารจัดการกิจการต่างๆ มองให้เห็นถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่สวามิภักดิ์ต่อชนชั้นนำทุกฝ่าย และร่วมกันทำลายความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของสามัญชนมาโดยตลอด

ผมฝันว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ 40-50 ปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นญาติของผู้เสียชีวิตจากการปราบปราม บังคับสูญหาย ซ้อมทรมาน ขับไล่จากที่พำนักอาศัยและผู้ลี้ภัยไปต่างประเทศ จะได้รับการเยียวยาโดยเฉพาะการตีแผ่ความจริงที่ถูกทำให้หายไปอย่างเป็นธรรม รวมถึงประชาชนมีความเข้มแข็งพอที่จะป้องกันตนเอง

ผมฝันว่าจะเห็นการทบทวนปรับปรุงโครงสร้างของรัฐที่สร้างผลกระทบกับสามัญชนไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศ การสัมปทานป่าไม้ที่ดินเหมืองแร่ การกำหนดเขตอุทยาน การจัดสรรทรัพยากรที่ดิน หลักประกันสุขภาพ ระบบบำนาญ สิทธิบัตรยา สิทธิบัตรทางพันธุกรรม การควบคุมมลพิษและการนำเข้าสารพิษในอุตสาหกรรมการเกษตร สิทธิเด็ก สตรี และ คนพิการ รวมไปถึงการปฏิรูปสำนักงานทรัพย์สินฯให้มีสถานภาพเป็นของรัฐชัดเจน

แถมยังฝันต่อไปอีกว่าผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างค่ามาตรฐานทางความคิดความเชื่อวัฒนธรรมแบบไทยๆในอดีต นำไปสู่รัฐโลกวิสัย มีพื้นที่ทางความคิดและความหลากหลายโดยไม่ต้องหวั่นเกรงที่จะกลายเป็นคนผิดบาปตราบใดที่มิได้ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพผู้อื่น

ผมอยากเห็นชัยชนะของสามัญชนที่เราจะชนะไปด้วยกัน ผมฝันว่าเราจะไม่พายุคสมัยของพวกเรากลับไปสู่การจับอาวุธเข่นฆ่าสามัญชนกันเอง ฟังแล้วดูอุดมคติใช่ไหม ผมก็คิดอย่างนั้น แต่เราควรไปให้ไกลกว่าชัยชนะทางการเมือง

ร้องโดย 'สามัญชนนักกิจกรรมมูลนิธิโกมลคีมทอง'

สรุปเนื้อเพลงขึ้นต้นด้วยคำว่า "หาก.." หรือ "อยาก.."

ชูเวช : ท่อนแรกร้องว่า “อยากบังเอิญเจอใครที่ยังฝันอยู่นั่งฟังเพลงอยู่ตรงนี้” แต่ยอมรับว่าร้องว่า “หาก” ก็เพราะดีนะ แต่ตอนนั้นเราแต่งเพื่อเพื่อนๆ ของเรา แน่นอนว่าเราอยากใช้คำที่ฟังแล้วรู้สึกสบายๆ กันเองๆ สักหน่อยเพราะเรากำลังคุยกับเพื่อน แต่ยังไงก็ไม่ซีเรียสว่าจะร้องแบบไหนสำคัญที่เนื้อหา

มันสะท้อนว่าวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างมันเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา ครั้นจะไปบังคับกำหนดมาตรฐานอะไรให้มันวุ่นวายก็คงต้องเปลี่ยนชื่อเพลงเป็น “บทเพลงของอนุรักษ์นิยม” (หัวเราะ)

ร้องโดย 'ธีร์ อันมัย'

ในฐานะที่เป็นนักกิจกรรม มองการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมขณะนี้ว่าอย่างไร ในประเด็นที่เกี่ยวกับการถูกจับกุมคุมขัง?

แก้วใส : มองว่าการทำงานหรือกิจกรรมเพื่อสังคมตอนนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าทำอะไรได้ลำบากมาก อย่าว่าแต่นักกิจกรรมเลย แม้แต่องค์กรที่ทำประเด็นเรื่องสิทธิก็ยังถูกจำกัดสิทธิ แต่ผมก็ยังมีความหวัง ส่วนในประเด็นการถูกจับกุมนั้น ผมคงพูดอะไรได้ไม่มากและหวังว่าสักวันคงพูดเรื่องนี้ได้เต็มปากขึ้น ผมจึงขอพูดผ่านเพลงแล้วกัน(หัวเราะ)

ในฐานะที่เป็นคนแต่งเพลง อยากให้ใครร้องและอยากให้ใครฟังเพลงนี้มากที่สุด?

ชูเวช : ถ้าแรกเริ่มเลยคือเราแต่งให้กับทุกคนที่กำลังเผชิญกับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกหลังรัฐประหาร ภายหลังมีคนต่อยอดนำไปรณรงค์เพื่อปล่อยนักโทษการเมือง เรื่องนี้เราก็เห็นด้วยเพราะลงชื่อสนับสนุนไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนตัวแม้ไม่ใช่คนเสื้อแดงแต่เข้าใจว่าสถานการณ์นี้คนเสื้อแดงเป็นผู้ที่รู้สึกมากที่สุด จึงเป็นผู้ที่ถ่ายทอดบทเพลงนี้ได้ถึงแก่นมาก รวมถึงหากในอนาคตฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ตาสว่างจากเผด็จการแล้วจะนำบทเพลงนี้ไปใช้ปลุกปลอบความบอบช้ำจากความพ่ายแพ้ของสามัญชนในแนวทางที่คาดหวังต่อชนชั้นนำก็ถือว่าเป็นประโยชน์ 

ร้องโดย 'วงไฟเย็น'

ที่สุดแล้วต้องการอะไรถึงแต่งเพลงและเอามาร้องกันในยูทูบ?

แก้วใส : ที่สุดแล้วต้องการสื่อสารสิ่งที่เราคิดความรู้สึกและส่งต่อให้กับสามัยชนทุกคนได้รับรู้และส่งต่อกันไปและอยากบอกคนที่ถูกจองจำว่าเธอม่ได้อยู่โดดเดี่ยว พวกเรายังไม่ได้ไปไหน รอวันที่เสียงเพลงที่เราเคยร้องให้กันฟังจะกลับมาดังกระหึ่มอีกครั้ง

ร้องโดย 'กลุ่มลูกชาวบ้าน'

เยาวชนบ้านหนองบัว

เพื่อนเทียนฮักสังคม

กลุ่ม At north

วันใหม่

สามัญชนดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน

ชมรมคนแบกเป้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทั่วโลกชุมนุมเรื่อง 'โลกร้อน' มากเป็นประวัติการณ์

$
0
0

ผู้จัดการชุมนุมในนิวยอร์กซิตี้เผยว่ามีผู้คนราว 310,000 คนร่วมเดินขบวนเนื่องในวันปฏิบัติการรณรงค์ประเด็นโลกร้อนสากล และยังมีการชุมนุมในประเทศอื่นอีก โดยมีคนดังเข้าร่วมเช่นบังคีมูน เลขาฯ ยูเอ็น ลีโอนาโด ดีคาปรีโอ ดาราฮอลลิวูด

22 ก.ย. 2557 ประชาชนในเมืองนิวยอร์กซิตี้ประเทศสหรัฐฯ หลายแสนคนออกมาเดินขบวนเนื่องในวันปฏิบัติการรณรงค์ประเด็นโลกร้อนสากล

ผู้จัดการเดินขบวนประเมินว่ามีประชาชนราว 310,000 คน เข้าร่วมเดินขบวนซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่ผู้จัดคาดการณ์ไว้และถือว่าเป็นการชุมนุมประท้วงในประเด็นโลกร้อนที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยการชุมนุมในวันนี้ (22 ก.ย.) ถูกจัดขึ้นก่อนหน้าการประชุมสุดยอดในประเด็นเรื่องการปล่อยสารคาร์บอนนำในวันอังคารที่จะถึงนี้ (23 ก.ย.) ซึ่งเป็นการจัดประชุมนำโดยสหประชาชาติ

ในการเดินขบวนใหญ่มีผู้เข้าร่วมที่มีชื่อเสียงอาทิเช่น บังคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ อัลกอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลีโอนาโด ดีคาปรีโอ นักแสดงฮอลลิวูด และเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ที่มาจากการเลือกตั้งอีกจำนวนหนึ่ง

นอกจากในสหรัฐฯ แล้วยังมีประชาชนอีก 166 ประเทศทั่วโลกเช่น ออสเตรเลีย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อัฟกานิสถาน, เม็กซิโก และบัลแกเรีย เว็บไซต์เอบีซีนิวส์ระบุว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมมากกว่า 10,000 คนในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

บังคีมูนเดินขบวนโดยสวมเสื้อยืดสีน้ำเงินที่มีคำขวัญเขียนว่า "ผมมาเพื่อปฏิบัติการประเด็นโลกร้อน" เขาบอกว่าโลกนี้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคนรุ่นต่อไปพวกเราไม่มีแผยสำรองเพราะไม่มีดาวสำรองดวงอื่น

ทางด้านดีคาปรีโอเป็นผู้เดินนำขบวนร่วมกับสมาชิกชนเผ่าชาวเอกวาดอร์ผู้ที่ต่อสู้กับบรรษัทยักษ์ใหญ่อย่างเชฟรอนมาเป็นเวลาหลายปีในเรื่องมลภาวะในเขตป่าอเมซอน โดยดีคาปรีโอบอกว่าประเด็นเรื่องโลกร้อนเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยของพวกเรา

ผู้จัดระบุว่าการชุมนุมในครั้งนี้ถือว่าใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การชุมนุมในปี 2552 ที่มีคนหลายหมื่นไปชุมนุมที่กรุงโคเปนฮาเกนซึ่งในการประท้วงบางส่วนก็มีความดุเดือดมากจนทำให้มีการจับกุมผู้ประท้วงไป 2,000 ราย

เมื่อไม่นานมานี้องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) ระบุในรายงานเมื่อเดือน ส.ค. 2557 ว่าโลกร้อนขึ้นในระดับสูงสุด โดยมีอุณหภูมิสูงขึ้น 0.75 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับอุณหถูมิโดยเฉลี่ยของโลกยุคศตวรรษที่ 20 คือ 15.6 องศาเซลเซียส

บิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนิวยอร์กกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (21 ก.ย.) ว่าเขามีแผนการปรับปรุงเมืองเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 80 จากระดับในปี 2548 ให้ได้ภายในปี 2593 บลาซิโอเปิดเผยว่าจะมีการปรับอาคารในเมืองใหญ่ 3,000 แห่ง เพื่อให้มีรูปแบบการอนุรักษ์พลังงาน แต่ต้องอาศัยความร่วมมือด้านการลงทุนและจากเจ้าของที่ดินเอกชนด้วย


เรียบเรียงจาก

People's Climate March: Hundreds of thousands march in rallies calling for action on climate change, ABCNews, 22-09-2014
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชินทาโร ฮารา: ภาษามลายู การแปลและการเมือง

$
0
0

การนำเสนอหัวข้อ "ภาษามลายู การแปลและการเมือง" โดย ชินทาโร ฮารา

ช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดย ชยันต์ วรรธนะภูติ ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ร่วมเสวนา

ระหว่างวันที่ 13 - 14 ก.ย. 2557 มีการจัดเวทีวิชาการ "มุสลิมและกระแสอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" จัดโดย ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ วารสารธรรมศาสตร์และกองบริหารการวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น

ในวันที่ 14 ก.ย. หัวข้อที่ 4 "การเมือง-วัฒนธรรมมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" ชินทาโร ฮารา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้นำเสนอหัวข้อ "ภาษามลายู การแปลและการเมือง"

ในตอนท้าย ชินทาโร กล่าวถึงความท้าทายในกระบวนการสันติภาพว่า อยู่ที่ว่าทั้งสองฝ่ายจะเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งได้มากน้อยแค่ไหน เรื่องการใช้ภาษา ฝ่ายขบวนการก็ใช้ภาษาเชิง Manipulation มาก เราจะสามารถเข้าใจเขาได้มากน้อยแค่ไหน และเขาก็ต้องเขาใจเราด้วย

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การรับฟังความเป็นมาและเหตุผลของอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าหากว่าต้องการเจรจา ก็ต้องฟังเหตุผลของอีกฝ่าย รวมไปถึงความเป็นมา ส่วนฝ่ายที่มีความคิดสุดโต่ง (Extremist) ทั้งฝ่ายที่ต้องการเอกราชล้วน และฝ่ายที่ต้องการปราบฝ่ายที่ต้องการเอกราช เราจะจัดการอย่างไรกับพวกนี้ นี่เป็นข้อท้าทายอีกอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้นวิธีการแก้ไขที่เราจำเป็นต้องหา คือ (1) Realistic วิธีการมีความเป็นจริง ไม่ใช่สายโลกสวย (2) Politcal แก้ไขด้วยวิธีทางการเมือง ไม่ใช่ทางอาวุธ (3) Feasible solution วิธีแก้ไขปฏิบัติการได้จริงๆ บรรลุได้จริงๆ

ในส่วนของสื่อ สื่อก็มีความสำคัญ ผู้ทำลายสันติภาพ (Peace spoiler) หรือ สื่อสันติภาพ (Peace media) ก่อนหน้านี้มีแต่สื่อที่เป็น Peace spoiler แทบจะไม่มีสื่อที่เป็น Peace media แต่สื่อจำเป็นต้องเรียนรู้ ถ้าสื่อทำหน้าที่แต่การเป็น Peace spoiler เท่านั้น สันติภาพไม่อาจจะเกิดขึ้น ทำอย่างไรสื่อนี้จะชักชวน รวมไปถึงนักวิชาการด้วย เราสามารถชักชวนคนอื่น คนในสังคม เพื่อให้เกิดแรงกดดันในทางสร้างสรรค์สันติภาพด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฉบับเต็ม: วิพากษ์หนังสือ 'รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ' ของอภิชาต สถิตนิรามัย

$
0
0

15 ก.ย.2557 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเรื่อง “รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนและวิจารณ์หนังสือเรื่อง  “รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ: จากกำเนิดทุนนิยมนายธนาคารถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540”  เขียนโดย ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. วิทยากรภายในงานได้แก่ ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) Tokyo และ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. งานนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน อาจารย์นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมจนเต็มห้องประชุมชั้น 5

หนังสือเล่มดังกล่าวจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว เป็นการต่อยอดวิทยานิพนธ์และการทำวิจัยของผู้เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคตั้งแต่ทศวรรษ 2490 โดยอาศัยการค้นคว้าข้อมูลจากหลายแหล่งรวมทั้งการใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 ต่อสู้ในศาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จนกระทั่งสามารถเข้าสืบค้นข้อมูลในหอจดหมายเหตุของ ธปท.ได้

ชมวิดีโอทั้งหมด พร้อมถอดเทปคำบรรยายด้านล่าง 

ตอน 1

ตอน 2

ตอน 3

อภิชาต สถิตนิรามัย

หนังสือเล่มนี้ คอนเซ็ปต์หลักๆ ที่ใช้เป็นคอนเซ็ปต์ง่ายๆ ว่า ความเข้มแข็งและความอ่อนแอของรัฐแยกไม่ออกจากความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจในประวัติศาสตร์ของไทยที่ผ่านมา

ผมเชื่อว่ารัฐเป็นพลังสำคัญอันหนึ่งในการชี้นำเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภายในบริบทของประเทศด้อยพัฒนาที่กำลังจะก้าวไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม รัฐเป็นพลังที่มีความสำคัญอันหนึ่งในการชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจได้ และจะชี้นำเศรษฐกิจได้สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ขึ้นอยู่กับลักษณะสำคัญของรัฐใน 2 ประการ พูดอีกอย่างเราอาจนิยามถึงความเข้มแข็งของรัฐได้จาก หนึ่ง รัฐที่มีความเป็นอิสระทางนโยบายจากกลุ่มพลังทางสังคมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุน ถ้านโยบายของรัฐถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนรัฐก็ไม่สามารถชี้นำทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างที่ควรจะเป็น ถ้ารัฐถูกยึดกุมโดยกลุ่มทุนแสดงว่ามีความเป็นอิสระทางนโยบายต่ำ พูดอีกแบบคือ รัฐที่มีความเป็นอิสระทางนโยบายคือรัฐที่สามารถกำหนดเนื้อหาเชิงนโยบายที่จะชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจไปในทิศทางข้างหน้าได้ อีกลักษณะที่คุณสมบัติของความเข้มแข็งของรัฐ คือ ความสามารถของรัฐ (capability) ที่จะชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าคุณสามารถกำหนดเนื้อหาทางนโยบาย แต่ไม่สามารถผลักดันสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงได้ เนื้อหาทางนโยบายนั้นก็เป็นจริงแค่บนกระดาษเท่านั้น

รัฐที่อ่อนแอก็คือตรงกันข้าม

ข้อเสนอในงานก็คือ ความเข้มแข็งและอ่อนแอในลักษณะนี้ในยุคต่างๆ ของรัฐไทย ตั้งแต่ 2490 ยุคจอมพล ป.ที่สอง จนกระทั่งถึง 2550 ผมคิดว่าความเข้มแข็งและอ่อนแอของรัฐในแต่ละยุคเป็นตัวแปรในการอธิบายความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการชี้นำทางเศรษฐกิจในแต่ละยุคได้พอสมควร

ผมใช้มโนทัศน์นี้เป็นแกนในการดำเนินเรื่อง ผมเสนอว่าในช่วงรอยต่อของจอมพล ป.และจอมพลสฤษดิ์ มันถูกปฏิรูปครั้งใหญ่ทั้งในเชิงสถาบัน คือ กฎเกณฑ์ กติกา และการปรับองค์กร re-engineering ของรัฐไทยหลายอย่าง รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการในยุคสฤษดิ์ด้วย รวมทั้งการที่สฤษดิ์สามารถจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในยุคก่อนหน้านั้นได้ ทำให้ยุคที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปตัวรัฐ ผมเรียกตามอาจารย์อัมมาร (สยามวาลา) ว่า เป็นยุคทุนนิยมนายธนาคาร หรือวิถีทางสะสมทุนแบบใหม่ขึ้นมาได้ ก็คือ นายธนาคารหรือเจ้าสัวนายธนาคารเป็นหนึ่งในพันธมิตรสามเส้าที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาในยุครอยต่อตรงนั้น เป็นสามพลังที่ช่วยกันสร้างระบบทุนนิยมนายธนาคาร ก็คือ นายธนาคารมีหน้าที่จัดสรรทุน ระดมเงินฝากมาแล้วประสาน จัดสรรการลงทุน, หน้าที่ของชนชั้นนำทางอำนาจ เช่น จอมพลสฤษดิ์ ก็คือขุนศึกในยุคนั้น ทำหน้าที่ปกครอง สร้างเสถียรภาพทางการเมือง กดปราบพลังทางสังคมอื่นๆ เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับการลงทุนของทุนธนาคารและทุนอุตสาหกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบทดแทนการนำเข้าในช่วงแรก แล้วพัฒนาต่อมาเป็นอุตสากรรมส่งเสริมการส่งออก สามก็คือ เทคโนแครต พวกนี้รับความไว้วางใจจากขุนศึก ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการเงิน การคลัง อัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ให้การเติบโตเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ ให้มีเงินเฟ้อต่ำ มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างคงที่ ไม่หวือหวา กดดันทำให้ธนาคารมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการรองรับความเสี่ยงที่ดีขึ้นในการระดมทุนจากระบบเศรษฐกิจไปจัดสรรทุนต่อให้นายทุนในภาค real sector สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างพอสมควร

พูดง่ายๆ ยุคทุนนิยมนายธนาคารเกิดจากพลังสามเส้านี้ที่ประนีประนอมกันได้ ตกลงกันได้ ในยุคจอมพล ป.ยังตกลงกันไม่ได้ว่ารูปแบบการสะสมทุนจะเป็นไปอย่างไร ดังนั้น ในยุคจอมพลป.เรายังเห็นนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม แอนตี้นักธุรกิจ แอนตี้จีน จนกระทั่งปลายยุคจอมพล ป.นักธุรกิจหรือชนชั้นนำทางเศรษฐกิจจึงยอมร่วมมือขุนศึกหรือชนชั้นนำทางอำนาจแล้วก็เทคโนแครต หรือขุนนางนักวิชาการ ที่ตกลงกันได้และสร้างระบบทุนนิยมนายธนาคาร ระบบนี้ทำงานของมันมาและค่อนข้างประสบความสำเร็จทีเดียว

ผมกำลัง argue ว่าระบบทุนนิยมนายธนาคารที่ประสบความสำเร็จ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นแยกไม่ออกจากการปรับตัวของรัฐไทยในทิศทางที่ทำให้มันมีอิสระทางนโยบายมากขึ้น มีความสามารถมากขึ้น ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ร่างกฎเกณฑ์ กติกา ใหม่ๆ ออกมาเต็มไปหมด เช่น พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 พ.ร.บ.การงบประมาณ พ.ศ.2502 มีการเปลี่ยนกติกาเต็มไปหมดเพื่อสร้างระบบทุนนิยมนายธนาคาร การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน การสร้างบีโอไอ เป็นต้น รัฐในยุครอยต่อจอมพล ป.ถึงสฤษดิ์ มันถูกจัดวางใหม่ จบยุคที่หนึ่งอย่างรวดเร็ว

การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่ประมาณ 2502 เป็นต้นมา เติบโตในอัตราที่สูง มันได้ผลิตคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นคนชั้นกลาง มีพลังทางสังคมรุ่นใหม่ขึ้นมา ที่ทำให้พันธมิตรสามเส้าเดิมมันคับแคบเกินไปที่จะ accommodate คนรุ่นนี้ มันจึงระเบิดในทางการเมืองเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้น พลังชนชั้นกลางที่เป็นผลผลิตจากการพัฒนาของยุคสฤษดิ์ช่วยผลักดันกระบวนการ democratization ในเมืองไทย ตั้งแต่หลัง 2516 เป็นต้นมา แต่ว่าขบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดในความหมายว่าเป็นการสร้างกติกา สถาบันทางการเมืองชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อแทนที่ระบบแบบสฤษดิ์แบบถนอม กระบวนการแบบนี้นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2521 เป็นต้นมาจนถึงก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 มันมีลักษณะเด่นอันหนึ่งคือ เป็นรัฐธรรมที่ผลิตสถาบันทางการเมืองที่ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่จงใจก็แล้วแต่ มันทำให้เกิดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคซึ่งทำให้รัฐบาลอายุสั้น มีเสถียรภาพต่ำ มีประสิทธิภาพประสิทธิผลในการผลักดันทางนโยบายที่แย่ นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงสถาบันที่ทำให้รัฐไทย ในทัศนะของผมมันค่อนข้างจะอ่อนแอลง นับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา อีกทางหนึ่งภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบนี้ มันทำให้พันธมิตรสามเส้าเดิม คือ เทคโนแครต โดยเฉพาะในแบงก์ชาติ ในเศรษฐกิจมหภาคทั้งหลายที่เคยเป็นมันสมองที่อยู่เบื้องหลังความเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคสฤษดิ์เสื่อมสลายลง เพราะเทคโนแครตเริ่มกระโดดลงมาเล่นการเมือง โดยเฉพาะการเมืองแบบ party politic เมื่อเทคโนแครตกระโดดลงมาเล่นการเมืองก็ทำให้การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดพลาดทางนโยบายเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการเงินที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา เปิดในทิศทางที่ทำให้เงินทุนไหลท่วมเข้ามาในประเทศไทยด้วยความผิดพลาดทางนโยบายหลายๆ อย่าง ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่จนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ 2540

ผมกำลังพูดว่า การอ่อนตัวลงของรัฐไทยเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

หลังจากเราได้บทเรียนอันนี้แล้ว สิ่งที่มันเป็นผลพวงที่ตามมาคือ การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 40 โดยการออกแบบหรือความตั้งใจของคนร่างรัฐธรรมนูญนั้นต้องการให้เกิด strong government หรือ strong executive สิ่งที่เราได้ตามมาคือ รัฐบาลทักษิณ รัฐบาลทักษิณพยายามจะปฏิรูประบบราชการ มีนโยบายหลายอย่างตามมา ในแง่หนึ่งทำให้เกิดการตื่นตัวของคนอีกชุดหนึ่งที่ผมเรียกว่า “คนชั้นกลางรุ่นใหม่” พวกนี้เริ่มตระหนักว่าประชานิยมมันกินได้ กินได้ในความหมายที่ว่า บัตรเลือกตั้งเปลี่ยนเป็นพลังการกำหนดนโยบายได้ นักการเมืองต้องกำหนดนโยบายที่ให้ประโยชน์กับชาวบ้านด้วย อันนี้เป็นพลังใหม่ที่เกิดขึ้นมาในสมการทางการเมืองของไทย ในอีกแง่หนึ่ง รัฐธรรมนูญ40 ต้องการให้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง ตรงนี้ทำให้รัฐสามารถแทรกแซงลงไปจัดการในระบบเศรษฐกิจหรือพลังทางสังคมได้อย่างหนาแน่นมากขึ้น พูดง่ายๆ รัฐธรรมนูญ40 รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการของทักษิณด้วยทำให้ความสามารถของรัฐไทยในยุคทักษิณมันสูงขึ้น ซึ่ง argue ได้ว่าความเป็นอิสระของรัฐบาลทักษิณนั้นมันถูกตีกินด้วยกลุ่มทุนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร แง่นี้เราอาจเห็นไม่ชัดว่าดีขึ้น รัฐบาลทักษิณก็ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลอื่นที่นโยบายหลายๆ อย่างก็ถูกกำหนดโดยกลุ่มทุน แต่ในอีกแง่ เนื่องจากรัฐบาลทักษิณมีอำนาจมากขึ้น การกระจุกตัวในอำนาจทางการเมืองก็ได้ทำลายสมดุลของอำนาจเดิมที่มีการแชร์กันอยู่ในหมู่ชนชั้นนำหลายๆ ฝ่าย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ทำให้เกิดการรัฐประหารในปี 2549 ผลพวงที่ตามมาก็คือ มีความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นในความหมายนี้ การอ่อนตัวลงของรัฐไทยและการที่รัฐบาลทักษิณไม่ได้ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปตัวรัฐในการเป็นผู้ชี้นำการพัฒนาของไทยต่อไปอีกระดับหนึ่ง ทำให้เรายังติดอยู่กับยุคปัจจุบัน ที่บอกว่ายุคทุนนิยมนายธนาคารมันล่มไปแล้ว แล้วสิ่งใหม่ที่มาแทนคืออะไร ผมยังไม่คิดว่าเรามีสิ่งใหม่อันนั้น

ปรากฏการณ์ที่เราเห็นในปัจจุบันก็คือ เราเห็นการลงทุนต่อจีดีพีของไทยลดลงไปครึ่งหนึ่ง จากเดิมเคยเป็น 40% เว่อร์เกินไปทำให้เกิดฟองสบู่ แต่ปัจจุบันมันเหลือเพียง 20% ตรงนี้เป็นตัวสะท้อนว่าระบบการสะสมทุนของไทยยังมีปัญหาอยู่

 

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

วันนี้เตรียมมา 3 ประเด็น หนึ่ง จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่และคุณูปการของหนังสือเล่มนี้อย่างไร สอง บทวิพากษ์เชิงทฤษฎีและมุมมองจากกรอบของเอเชียตะวันออก สาม ข้อเสนอคร่าวๆ ต่อการศึกษารัฐไทยในอนาคต

เรื่องการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของงานเล่มนี้

เวลากล่าวถึงคำว่าอธิชาต จะหมายถึงเฉพาะเล่มนี้เป็นหลัก ในเล่มนี้เราสามารถแบ่งการให้เหตุผลในเชิงคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์การเมืองได้เป็นสองส่วนดังที่อาจารย์พยายามจะทำ  ปลายทางคือ ความสำเร็จและความล้มเหลวของการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งอาจารย์แบ่งเป็น 3 ส่วน การพัฒนาเศรษฐกิจยุคแรกคือยุคป.-ยุคสฤษดิ์ , วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540, การปฏิรูปจากปี 2540 ถามว่าใช้อะไรเป็นตัวแปรในการวัดความสำเร็จหรือความล้มเหลว งานชิ้นนี้เสนอว่าอยู่ที่ความเข้มแข็งของรัฐ ถามว่าอะไรที่เป็นรากฐานอธิบายความเข้มแข็งของรัฐในระดับที่ลึกที่สุด อาจารย์เสนอว่ามันคือการต่อสู้ ความขัดแย้ง ผลประโยชน์และอุดมการณ์ของกลุ่มพลังทางสังคม

ทีนี้เราจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ทางวิชาการของหนังสือเล่มนี้อย่างไร ผมคิดว่าเราสามารถเทียบเคียงได้กับงาน 3 ชิ้น คือ ผลงานของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ “มองเศรษฐกิจการเมืองไทยผ่านการเคลื่อนไหวของสมาคมทางธุรกิจ” มีจุดร่วมกันคือ ทั้งงานของอภิชาตและเอนกพยายามตอบว่าเราจะมองการเปลี่ยนผ่านจากยุคอำมาตยาธิปไตยมาเป็นอะไรในสังคมไทยหลังจากนั้น ซึ่งเอนกเสนอว่า เป็นภาคีรัฐสังคมแบบเสรีโดยเฉพาะในยุครัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ในขณะที่อภิชาต เสนอว่าเราควรเรียกมันว่าทุนนิยมนายธนาคาร ผ่านความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างทหาร เทคโนแครตและนายธนาคารเอกชน ซึ่งแน่นอนว่าอภิชาตได้ประโยชน์จากการศึกษาหลังเอนกราว 2 ทศวรรษ ดังนั้นคำอธิบายนี้จึงมีความสมเหตุสมผลกว่า

งานชิ้นนี้ยังเทียบเคียงได้กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร “พัฒนาการอุตสาหกรรมและพัฒนาการเศรษฐกิจ” เพราะว่าในงานชิ้นนั้นผาสุกเสนอว่ารัฐไทยเป็นรัฐขั้นกลาง ไม่ได้อ่อนแอมากและไม่ได้เข้มแข็งมาก ดังนั้นจึงประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมมากกว่าประเทศในละตินอเมริกาเช่น บราซิล แต่ก็ด้อยกว่าประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น เกาหลีใต้ แต่จุดต่างกันคือ อภิชาตจะเน้นบทาทของเทคโนแครตต่อการกำหนดโยบายเศรษฐกิจมหาภาค ไม่ใช่นโยบายอุตสาหกรรม

และที่ใกล้เคียงที่สุดคือ งานของรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ “กระบวนการกำหนดโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย” พิมพ์ครั้งแรกปี 2532 รังสรรค์มองว่า เทคโนแครตเป็นส่วนหนึ่งในอุปทานของการกำหนดนโยบายที่จะต้องปะทะประสานกับตัวแปรอื่น โครงสร้างส่วนบนและระบบทุนนิยมโลก และผมเห็นว่าแม้อาจารย์รังสรรค์จะใช้คำว่า “ตลาดนโยบายเศรษฐกิจ” แต่ในแง่การให้เหตุให้ผลเชิงคำอธิบาย งานของอาจารย์รังสรรค์ก็ใช้การต่อสู้ของพลังทางสังคมมาอธิบายเช่นกัน แต่ไม่ผ่านกรอบมโนทัศน์รัฐอ่อนรัฐแข็ง

นี่คือการจัดวางในวงวิชาการไทย

ถ้าจะจัดวางในวงวิชาการนานาชาติ เรามักจะจัดวางตามทฤษฎี ซึ่งถ้าเรายึดตามกรอบของ Kevin Hewison ที่แบ่งการวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองไทยเป็นสี่สำนัก คือ สำนักการทำให้ทันสมัย สำนักทฤษฎีพึ่งพิง สำนักเสรีนิยมใหม่ สำนักสถาบันนิยม งานชิ้นนี้ก็จะจัดได้อย่างชัดเจนว่าอยู่ในสายของสำนักสถาบันนิยม ซึ่งมีงานอย่างเช่น งานของ Christensen อัมมาร สยามวาลาและคณะ, Doner and Ransey และ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ เป็นต้น ลักษณะร่วมของงานสายสถาบันนิยมคือ ยึดถือมโนทัศน์ทวิรัฐ หมายความว่า งานสายสถาบันนิยมจะมองเศรษฐกิจการเมืองแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนเมคโคร และไมโคร แล้วมองว่าส่วนแมคโครเป็นส่วนที่สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่ส่วนที่อ่อนแอคือส่วนไมโคร เกิดการแทรกแซง การแสวงหาค่าเช่าผ่านกระทรวงต่าง ที่ไม่ใช่กระทรวงมหภาค

ในส่วนคุณูปการและการกำหนดนโยบาย นอกเหนือไปจากการแสวงหาฐานข้อมูลใหม่ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอันเกิดจากความอุตสาหะของผู้เขียนเองในการค้นคว้าวิจัยแล้ว ผมคิดว่าผลกระทบที่ลึกซึ้งนั้นมี 4 ประการ คือ

1.การฟื้นฟูมโนทัศน์เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องรัฐ ในช่วงเวลาที่การศึกษาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแทบจะละเลยหรือไม่พูดเรื่องบทบาทของรัฐแล้ว นี่จึงเป็นคุณูปการที่สำคัญมากที่ทำให้มโนทัศน์เรื่องรัฐไทยกลับมามีที่ยืนอีกครั้ง ดังเช่นที่อาจารย์อัมมารและอาจารย์ผาสุกเสนอไว้ในคำประกาศเกียรติคุณในหนังสือเล่มนี้

“งานเล่มนี้อ่อนไหวต่อบริบทการเมืองมากกว่านักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป จุดเด่นที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ในบทที่ 4 ซึ่งมีการวิเคราะห์ที่โดดเด่นมาก” อัมมาร

“เราจะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ของรัฐไทย ระบบเศรษฐกิจ ผ่านพลังทางสังคมต่างๆ และการจัดสรรผลประโยชน์ที่ลงตัว” ผาสุก

2.งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ความสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจมหภาค มันเริ่มในยุคสมัยของจอมพล ป. ตัวอย่างเช่น การยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา การควบคุมสินค้านำเข้า กฎหมายสวัสดิการสังคม เป็นต้น ซึ่งต่างจากเดิมที่เศรษฐศาสตร์การเมืองไทยมักเริ่มหมุดหมายในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ดังนั้น ในแง่นี้งานของอภิชาตจึงอยู่ในกระแสใหม่ของสังคมศาสตร์ไทยที่กลับมาฟื้นฟูความเข้าใจต่อยุคสมัยจอมพลป. โดยเปิดประเด็นมิติทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากประวัติศาสตร์และการเมือง ที่นำโดยอาจารย์ณัฐพล ใจจริง

3.ข้อเสนอที่เด็ดเดี่ยวมากของงานชิ้นนี้คือ สภาวะการเมืองภายในประเทศเป็นปัจจัยชี้ขาดการกำหนดนโยบาย ไม่ใช่แรงกดดันจากภายนอก ไม่ใช่แม้แต่ระบบทุนนิยมโลก ตัวอย่างเช่น การปฏิรูปยุคจอมพลป. เกิดกจากที่จอมพลป.ต้องการเอาตัวรอดจากฐานการเมืองอันง่อนแง่น สหรัฐอเมริกาจึงเป็นแนวร่วมที่จอมพลป.ต้องไขว่คว้าเอาไว้ ส่วนยุคจอมพลสฤษดิ์จำเป็นจะต้องอ้างสิทธิธรรมในการปกครองใหม่รวมถึงสภาวะสงครามเย็นและสงครามอินโดจีน ดังนั้น การฟันธงว่าการเมืองภายในเป็นตัวชี้ขาด จึงเป็นคุณูปการอีกอันหนึ่งในการให้เหตุให้ผล ถ้าตัวผมเองหรือผู้วิจารณ์จะปรับข้อเสนอนี้ให้แหลมคมยิ่งขึ้นก็อาจจะปรับได้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจไม่เคยเป็นเป้าหมายหลักของชนชั้นนำไทย เป็นแต่เพียงผลพลอยได้ของการต่อสู้ทางการเมืองเท่านั้น

4.เป็นคุณูปการเชิงนโยบาย ในขณะที่เรื่องการปฏิรูปถูกพูดถึงมากอย่างหลักลอย ใครที่ชูธงการปฏิรูป มันการันตีว่าตัวเขาไม่ต้องปฏิรูปตัวเขาเอง ดังนั้น การอ่านงานชิ้นนี้ผมรู้สึกว่า ถ้าคุณจะเริ่มปฏิรูปแล้วต้องการผลสำเร็จ คุณต้องกลับมามองที่ตัวรัฐเองด้วย อาจารย์อภิชาตกล่าวถึงระบบราชการที่แยกส่วน ความเสื่อมถอยทางคุณธรรมของเทคโนแครต อำนาจเผด็จการของผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นต้น เหล่านี้เป็นปัจจัยให้เกิดความล้มเหลวในการปฏิรูป ประเด็นคือ เวลาเรากล่าวถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจ ต้องไม่ลืมว่าปัญหาและต้นตอมันอยู่ในตัวรัฐเองด้วย

ข้อวิพากษ์

เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการและทฤษฎี ผมขอเสนอบทวิพากษ์มาจากเชิงทฤษฎีและมุมมองของประเทศเอเชียตะวันออก ผมพบว่า งานชิ้นนี้ยังมีปัญหาอยู่ 3 ประการ คือ ปัจจัยอธิบาย สมมติฐานต่อเทคโนแครต บทบาทของรัฐและลำดับความสำคัญ

ประการแรก หลังจากอ่านงานชิ้นนี้แล้ว ผมเกิดคำถามว่า อะไรเป็นตัวกำหนดรัฐอ่อนรัฐแข็งกันแน่ แล้วรัฐอ่อนรัฐแข็งมันสำคัญแค่ไหน อย่างไร เพราะในบทที่หนึ่ง อาจารย์อภิชาตเสนอว่าตัวกำหนดความแข็งอ่อนของรัฐคือการต่อสู้ของกลุ่มพลังทางสังคม แต่พอถึงบทที่ห้า อาจารย์ลดทอนการต่อสู้ดังกล่าวเหลือแค่การเสื่อมสลายของปทัสถานของเหล่าขุนนางนักวิชาการ ในขณะที่บทที่ 6 และ7 สิ่งที่กลับมาเป็นตัวแปรสำคัญใหญ่คือรัฐธรรมนูญ สรุปแล้วมันคือพลังทางสังคม เทคโนแครต หรือรัฐธรรมนูญกันแน่ที่เป็นตัวชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการฏิรูป ที่เป็นปัญหาเพราะงานสายสถาบันนิยมโดยทั่วไปมักจะฟันธงลงไปเลยว่า อะไรเป็นตัวการ เช่นงานบางชิ้นเสนอว่า democratization นี่แหละที่ทำให้เศรษฐกิจมหภาคแย่ บางชิ้นเสนอว่าระบอบอาณานิคมของญี่ปุ่นนี่แหละที่ทำให้รัฐเกาหลีเข้มแข็งขึ้นมา แต่งานชิ้นนี้ยังมีความคลุมเครืออยู่ ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่อาจารย์อภิชาตแยกส่วนการวิเคราะห์ความสำเร็จและความล้มเหลวออกจากกันมากเกินไป ทำให้มองไม่เห็นความลักลั่น ปะปนระหว่างความสำเร็จและล้มเหลว หรือแม้แต่ผลกระทบทางอ้อมของชุดนโยบาย โดยเฉพาะหากเราเปรียบเทียบกับเอเชียตะวันออก และยังมองไม่เห็นข้อจำกัดภายในอันเกิดจากองค์ประกอบภายในของแนวร่วมผู้นำทางการเมืองเองนี่แหละ เพราะว่าพันธมิตรทหาร เทคโนแครต นายธนาคาร เอาเข้าจริงแล้วในวงวิชาการต่างประเทศจะเรียกว่า มันเกิดจากการต่อรองโดยนัย (implicit bargains) ที่มีทั้งต้นทุนและผลได้ของมันเองอยู่แล้ว เทคโนแครตเองก็มีส่วนหนึ่งในแนวร่วมนี้ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ ในแง่นี้เราอาจมองว่ามันเป็นแพ็คเกจที่มาด้วยกัน คือ ความล้มเหลวในการปฏิรูปก็มาจากพันธมิตรหรือรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรนี้นั่นเอง เป็นต้นทุนของการหล่อเลี้ยงเผด็จการทหารและเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคนั่นเอง ถ้าในการตีความของผม ถ้าอ่านงานชิ้นนี้แล้วเราอาจพูดได้ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยนั้นอธิบายได้จากองค์ประกอบของแนวร่วมเลย โดยความอ่อนความแข็งของรัฐอาจจะไม่มีนัยสำคัญเลยด้วยซ้ำ เพราะเรื่องรัฐอ่อนรัฐแข็งนั้นมีวิธีวัดที่ค่อนข้างลำบาก งานในปัจจุบันก็พยายามจะเสนอทางออก เช่นงานชิ้นนี้ของนักรัฐศาสตร์ชาวเวียดนามที่สอนอยู่ที่อเมริกา เปรียบเทียบเกาหลี เวียดนาม จีนและอินโดนีเซีย พยายามจะแยกองค์ประกอบของรัฐแข็งหรือรัฐพัฒนา เป็นส่วนที่มากขึ้นกว่าความเข้มแข็งซึ่งมันวัดยาก โดยดูว่าระบบ centralize ขึ้นไหม องค์กรทางการเมืองเข้มแข็งแค่ไหน และความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับรัฐเป็นอย่างไร หรือแม้แต่นำมิติเชิงอุดมการณ์มาพิจารณาด้วยว่า รัฐอาจจะแข็งแต่อุดมการณ์หรือทิศทางที่กำลังไปนั้นไปในทิศทางไหน คือ ไม่ใช่ capability แต่เป็น priority ของรัฐด้วยเช่นกัน ขณะที่งานระยะหลังๆ ก็ชี้ให้เห็นด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นและผลต่อโครงสร้างรัฐนั้นไม่ได้เป็นเส้นตรง มันยอกย้อนกว่านั้น หมายความว่า การที่ elite หรือชนชั้นนำพยายามประนีประนอมกันนั้น เอาเข้าจริงแล้วแล้ว พบว่า เป็นผลลบต่อความเข้มแข็งของรัฐด้วยซ้ำ ในขณะที่ถ้าชนชั้นนำเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะเป็นผลบวกต่อความเข้มแข็งของรัฐ แต่ผลบวกนั้นไม่มากเท่ากับการที่ชนชั้นนำแตกหักกัน ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ มันทำให้แต่ละฝ่ายต้องเร่งสร้างองค์กร สร้างความสามารถมาต่อสู้กัน ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่าการประนีประนอมนั้นจะสร้างผลดีเสมอไป อันนี้ดูจากประเทศเอเชียประเทศอื่น

ปัญหาประการที่สอง สมมติฐานต่อเทคโนแครต อาจารย์รังสรรค์ตั้งสมมติฐานก่อนหน้านี้ว่า ขุนนางนักวิชาการไทยเป็นปุถุชนที่มีกิเลสตัณหามีความเห็นแก่ตัวและแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดดุจดังมนุษย์ทั่วไป แต่ถ้าอ่านงานชิ้นนี้จะค่อนข้างไปทางบวกกว่า บางหน้าอาจารย์อภิชาตเสนอว่า เทคโนแครตไทยมีพฤติกรรมอนุรักษ์นิยม ซื่อสัตย์ และมีความกลมเกลียวภายในสูง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าการตั้งสมมติฐานแบบอาจารย์รังสรรค์มีความสมเหตุสมผลกว่า เพราะเราควรจะนำผลประโยชน์และมิติทางอุดมการณ์ของเทคโนแครตเข้ามาวิเคราะห์ด้วย ผลประโยชน์เช่นอะไร มีงานชิ้นหนึ่งของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองในอเมริกาพบว่า เราไม่ควรจะหลงเข้าใจผิดว่าเทคโนแครตมีความเป็นกลางในช่วงที่ดำรงตำแหน่งในธนาคารกลาง แต่อาชีพที่เขาดำเนินมาในอดีตหรือ sector ที่เขาคาดหวังจะไปดำเนินในอนาคต มีผลต่อการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางเอง ส่วนมิติด้านอุดมการณ์ หากเรานำเข้ามาพิจารณาด้วย ปัญหาบางอย่างที่อาจารย์อภิชาตเห็นว่าสำคัญ เช่น ทำไมเทคโนแครตที่ได้ชื่อว่ามีพฤติกรรมอนุรักษ์นิยม ซื่อสัตย์ กลมเกลียวภายในสูง จึงเปิดเสรีการเงินและตั้งใจกระตุ้นให้มีการนำเข้าเงินทุนขนานใหญ่ หากเอาอุดมการณ์มาพิจารณา ตรงนี้อาจไม่เป็นประเด็นด้วยซ้ำ เพราะอุดมการณ์ของเทคโนแครตเสรีนิยมใหม่ทั่วโลกในทศวรรษ 2530 ต่างก็เลิกแนวทางเปิดเสรีทางการเงิน โดยไม่จำเป็นต้องซื่อสัตย์หรือกลมเกลียวแต่อย่างใด

ประเด็นหลัก ผมคิดว่าความรุ่งเรืองหรือความเสื่อมถอยของเทคโนแครตไม่ควรผูกโยงเข้ากับความสำเร็จหรือล้มเหลวของเศรษฐกิจอย่างเป็นเส้นตรง เพราะเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าหากเทคโนแครตไทยมีอำนาจกว่าที่เคยได้รับ พวกเขาจะไม่ขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเปิดเสรีมากกว่านี้ ดังเช่นที่เราพบในละตินอเมริกา ซึ่งนายพลให้อำนาจเทคโนแครตเสรีนิยมใหม่มากกว่านายพลไทย นอกจากนี้ข้อเท็จจริงอีกประการที่เราลืมไปก็คือ ถ้าเราดูเทคโนแครตในเอเชียตะวันออก กลุ่มคนที่มีอำนาจตัดสินใจในทิศทางเศรษฐกิจในยุค 1960-80 พวกเขาเป็นใคร ในญี่ปุ่นเป็นพวกจบนิติศาสตร์, ในไต้หวันเป็นวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์, ในเกาหลีใต้เป็นนักเศรษฐศาสตร์แต่เป็นสายมาร์กซิสม์ที่เชื่อมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักของประเทศ นั่นหมายความว่าถ้าเราเอาอุดมการณ์ของเทคโนแครตเข้ามาพิจารณาด้วยเราจะเห็นทิศทางการพัฒนาได้ดีขึ้น

ประการสุดท้าย ปัญหาบทบาทของรัฐและการจัดอันดับความสำคัญ ถ้าถามว่าหลังจากอ่านงานชิ้นนี้จบแล้ว แก่นคืออะไร งานชิ้นนี้คือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนแครตกับทุนธนาคาร ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมืองไทย รัฐพัฒนาอาจจะไม่ใช่แก่นกลางของงานชิ้นนี้ด้วยซ้ำ เพราะในทางจุดกำเนิดของรัฐอ่อนรัฐแข็งมันเกิดมาจากฐานของประเทศเอเชียตะวันออกเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ที่พยายามจะคานวิธีคิดจากวอชิงตันหรือเสรีนิยมใหม่ที่พยายามเสนอว่ารัฐไม่ต้องมีบทบาทมาก ดังนั้น จุดเริ่มต้นของทฤษฎีรัฐอ่อนรัฐแข็งและรัฐพัฒนานั้นมาจากประสบการณ์ของเอเชียตะวันออกที่รัฐเหล่านี้เลือกการพัฒนาอุตสาหกรรมมากกว่าที่จะเลือกรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น ในประเทศเกาหลีใต้ช่วงพัฒนาอุตสาหกรรม 1960-70 ถ้ารัฐบาลเกาหลีใต้หรือรัฐบาลปักจุงฮีต้องเลือกระหว่างให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกและเศรษฐกิจยังคงเติบโต ปักจุงฮีจะเลือกอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลไทยจะเลือกเงินเฟ้อต่ำ ข้อถกเถียงว่าประเทศไหนเจริญเติบโตมาได้อย่างไรมันขึ้นกับทฤษฎีที่เราเลือกใช้ ถ้าเลือกใช้ทฤษฎีอย่างหนึ่งก็ได้รับผลแบบหนึ่ง แต่หากเราเลือกใช้ทฤษฎีรัฐอ่อน รัฐแข็ง รัฐพัฒนา เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เพราะที่มาและประสบการณ์ empirical ของงานเหล่านี้มาจากการเอเชียตะวันออกที่มาจากการเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นหลัก ไม่ใช่การเน้นการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค

ส่วนสุดท้าย คงกล่าวสั้นๆ ถามว่าเราจะศึกษารัฐไทยอย่างไรเพื่อต่อยอดทางทฤษฎีให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ข้อถกเถียงในวงวิชาการนานาชาติเรื่องรัฐพัฒนา มีอยู่ 3 ประเด็นหลักๆ สายหนึ่งยังคงเชื่อว่าคุณจำเป็นต้องมีอาณานิคม มันยังจำเป็นสำหรับการสร้างรัฐ อีกสายหนึ่งเน้นภัยคุกคาม หมายความว่า ชนชั้นนำจะพัฒนาประเทศก็ต่อเมื่อมีภัยคุกคามต่อเนื่องและรุนแรง อีกสายหนึ่ง จะเน้นเรื่องการเมืองระหว่างชนชั้นนำกันเองที่มีผลต่อการกำหนดรัฐพัฒนา

งานเหล่านี้ก็ยังคงมองเห็นรัฐอ่อนรัฐแข็งมิติเดียว งานหลังๆ ก็พยายามจะศึกษาว่า เราจำเป็นต้องแยกความเข้มแข็งของรัฐ บางรัฐอาจเก่งทางด้านการคลังแต่อ่อนการบริหาร บางรัฐเก่งด้านอุตสาหกรรมแต่อ่อนด้านการคลัง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมองรัฐให้มีความหลากหลายมิติมากขึ้น

นอกจากนี้คือความหลากหลายของระบบทุนนิยม แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศในเอเชียตะวันออก ประเทศกำลังพัฒนาก็ควรมีความหลากหลายของระบบทุนนิยม สุดท้ายคือ คำอธิบายเรื่องกับดักรายได้ขนาดกลางหรือ medium income trap งานสายหนึ่งก็ยังเน้นว่าต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่ ดังนั้น การศึกษารัฐไทยในอนาคตจำเป็นต้องให้น้ำหนักกับกรองทฤษฎีและการศึกษาเปรียบเทียบมากขึ้น

 

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

มีประเด็นที่อยากอภิปรายอยู่ 4 ประเด็น อรรถาธิบายว่าด้วยรัฐอ่อนรัฐแข็ง , การลดทอนความสำคัญของปัจจัยภายนอกประเทศ, อรรถาธิบายว่าด้วยระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา, การยกย่องจอมพลป.เกินกว่าความเป็นจริง อันนี้เห็นตรงกันข้ามกับอาจารย์วีระยุทธ

ประเด็นแรกว่าด้วยมโนทัศน์รัฐเข้มแข็ง-รัฐอ่อนแอ อาจารย์อภิชาตนำมโนทัศน์นี้มาใช้ในการอธิบายเรื่องการดำเนินนโยบายของรัฐไทยในช่วง 60 ปีเศษที่ผ่านมา คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า แบบจำลองรัฐอ่อนรัฐแข็ง ดีกว่า new classical model หรือไม่ อย่างไร เป็นแบบจำลองที่ทำให้เราเข้าใจกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในไทยดีขึ้นหรือเปล่า ในทางกลับกัน แบบจำลองของสำนักนีโอคลาสสิค สามารถจะ incorporate แนวความคิดว่าด้วยรัฐอ่อนแอรัฐเข้มแข็งเข้าไปในคำอธิบายได้หรือไม่ ซึ่งผมเอียงไปข้างที่บอกว่าได้ แต่แขวนไว้ก่อน

เวลาที่เราพูดถึงรัฐเข้มแข็ง รัฐอ่อนแอ คำอธิบายก็มีหลาหลายว่าอะไรเป็นปัจจัยกำหนดความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอของรัฐ คำอธิบายจะแตกต่างกันมากระหว่างนักรัฐศาสตร์กับนักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์อาจจะบอกว่า การมี sovereignty เป็นเงื่อนไขอันจำเป็นของการที่จะมีรัฐเข้มแข็ง แล้วก็พานักเศรษฐศาสตร์เข้าป่าไป

อาจารย์อภิชาตใช้ตัวแปรสองตัวในการวัดความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของรัฐ ตัวหนึ่งก็คือ state autonomy อีกตัวคือ state capacity ผมมีข้อสังเกตสองประการ ประการแรกคือ เส้นแบ่งระหว่างรัฐเข้มแข็งและอ่อนแอมันไม่ใช่เส้นสีดำ ไม่สามารถฟันโชะลงไปแล้วบอกได้ว่านี่เป็นรัฐอ่อนแอ นี่เป็นรัฐเข้มแข็ง มันเป็นแถบสีเทาในการแบ่ง ดังนั้นเราจะพบว่าอาจารย์อภิชาตไม่กล้าฟันธงว่ายุคสมัยไหนรัฐไทยอ่อนแอหรือเข้มแข็ง ฟันธงไม่ได้เพราะไม่ได้นำเสนอตัวแปรในการชี้วัดว่าความเข้มแข็งและอ่อนแอของรัฐมันถูกกำหนดด้วยอะไร และการไม่สามารถที่จะมีตัวชี้วัดได้ว่าเมื่อไรเข้มแข็งเมื่อไรอ่อนแอทำให้การวิเคราะห์ในหลายๆ ตอนไม่สามารถชักจูงให้เราเชื่อได้

ประเด็นที่สอง periodization เรื่องการจำแนกยุค เมื่อคุณเอาเรื่องความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของรัฐเป็นตัวอธิบายที่สำคัญ การจำแนกยุคก็ควรจะจำแนกยุคก็ควรจำแนกโดยยึดความอ่อนแอหรือเข้มแข็งเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ถ้าเราอ่านบทสรุปของอ.อภิชาต บอกว่า “ความสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจ ยุค พ.ศ.2493-2506 เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลจอมพลป. กับรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ แต่ความไม่สำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจหลัง 2540 เป็นเพราะความล้มเหลวในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่รัฐ” การจำแนกยุคที่ค่อนข้างกว้างขวาง 2493-2506 มันก่อให้เกิดคำถามมากมาย 2493-2506   รัฐไทยเข้มแข็งอย่างที่อ.อภิชาตอ้างหรือเปล่า  2493 เป็นช่วงที่จอมพลป.พิบูลสงครามล้มลุกคลุกคลาน ต้องต่อสู้กับกลุ่มรอยัลลิสต์ แล้วจอมพลป.ทำท่าจะแพ้ จึงทำรัฐประหาร 2494 ล้มรัฐธรรมนูญ 2492 นำเอารัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 กลับมาใช้ ไม่สามารถพูดได้เลยว่า รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม อยู่ในยุคที่รัฐไทยเข้มแข็ง ผมไม่คิดว่าพูดได้ 

อยากจะกลับไปอ่านงานของ Daron Acemoglu (ดารอน อาเซโมกลู) เขียนเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวเตอร์กี เชื้อสายอัลมาเนีย จบปริญญาตรีจากยอร์ค ยูนิเวอร์ซิตี้ ปริญญาโทและเอกจากลอนดอนสคูล เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีผลงานถูกอ้างอิงมากที่สุด 1ใน10คนแรกของโลก และกำลังเข้าคิวจะรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ในงาน Politics and economics in weak and strong state เขาบอกว่า รัฐที่อ่อนแอเกินไปกับรัฐที่เข้มแข็งเกินไป มันสร้างปัญหา ก่อให้เกิดการบิดเบือนการใช้ทรัพยากร รัฐที่เข้มแข็งเกินไปอาจมีการเก็บภาษีในอัตราที่สูงมากจนกระทั่งก่อให้เกิดอุปสรรคในการลงทุนของภาคเอกชน ในอีกด้านหนึ่ง รัฐที่อ่อนแอมากเกินไปอาจทำให้รัฐไม่ลงทุนในเรื่องสินค้าสาธารณะเท่าที่ควรจะเป็น เพราะมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะลงทุนในด้านนั้น บทความนี้อาเซโมกลูแยกระหว่างความเข้มแข็งทางการเมืองกับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ รัฐที่เข้มแข็งทางการเมืองอาจจะอ่อนแอทางเศรษฐกิจได้ ทำนองเดียวกันรัฐที่อ่อนแอทางการเมืองอาจจะเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้ การจำแนกสองมิตินี้ช่วยให้เราเห็นภาพได้ดีขึ้น ในสังคมมนุษย์ประชาชนมี exit option มีทางเลือกที่ออกไปจากรัฐ เช่น แทนที่จะประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน formal sector ก็ออกไปอยู่ใน informal sector ถ้าหากว่าทางเลือก หรือ exit option มีน้อย รัฐก็จะเก็บภาษีในอัตราสูง แต่ถ้า exit option มีมาก รัฐที่อ่อนแอทางเศรษฐกิจไม่สามารถเก็บภาษีในอัตราสูงได้ ดังนั้นก็อาจ under invest ในด้านสินค้าสาธารณะ เป็นต้น

ผมต้องการชี้ให้เห็นว่า การจำแนกประเภทระหว่างรัฐเข้มแข็งกับรัฐอ่อนแอมันมีปัญหา และนี่ไม่ใช่ปัญหาของนักรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นปัญหาของนักเศรษฐศาสตร์ด้วย

ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นที่อ.วีระยุทธส่งเสริมให้อ.อภิชาตหลงผิด คือ การลดทอนปัจจัยภายนอกประเทศ นี่อาจเป็นจารีตของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่พยายามจะบอกกับเราว่า ทุกอย่างเกิดจากปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกประเทศไม่มีความสำคัญหรือสำคัญนอก ทั้งที่ปัจจัยภายนอกประเทศสามารถมีอิทธิพลและส่งผลกระทบกับกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ตัวอย่างของปัจจัยภายนอกได้แก่ ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ข้อตกลงระหว่างประเทศ องค์กรโลกบาล ประเทศมหาอำนาจ เป็นต้น แต่อ.อภิชาตพยายามลดทอนความสำคัญของปัจจัยภายนอกประเทศ โดยไม่ได้เน้นการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกประเทศอย่างเป็นกิจจะลักษณะเท่าที่ควร การลดทอนความสำคัญของปัจจัยภายนอกประเทศดังกล่าวนี้ ทำให้พลาดการวิเคราะห์ประเด็นหลักหลายประเทศ ทำให้บทวิเคราะห์ไม่รอบด้านและในหลายกรณีทำให้การวิเคราะห์พลาดประเด็นหลักอย่างไม่น่าจะเป็น

มีอยู่สามเรื่องที่อยากจะพูดถึงคือ หนึ่งการเดินตามเส้นทางเศรษฐกิจเสรีนิยม สอง การขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจ สาม การละทิ้งระบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา

เรื่องแรก การเดินตามเส้นทางเศรษฐกิจเสรีนิยม อ.อภิชาตเสนอการวิเคราะห์ว่าสภาวะการเมืองภายในประเทศเป็นปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจช่วงปลายรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ต่อเนื่องกับรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศเป็นปัจจัยรอง สหรัฐอเมริกาและองค์การระหว่างประเทศมิได้มีบทบาทหลักในการกดดันให้ไทยเดินตามแนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมอย่างมีประสิทธิผล อ.อภิชาตไม่ได้เสนอนิยามให้กระจ่างชัดว่าปัจจัยหลักแตกต่างจากปัจจัยรองอย่างไร ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับอัตวิสัยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เนื้อหาบางตอนของหนังสือพยายามจะเชิดชูจอมพลป.ว่าเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนขบวนการเศรษฐกิจเสรีนิยมในประเทศไทย แต่การอ้างการตรากฎหมาย 4 ฉบับ เป็นการอ้างที่ผิด พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรม 2497 ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกฎหมายเศรษฐกิจเสรีนิยม แต่เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐในการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากต่างประเทศ เนื้อหาบางตอนสื่อนัยว่าจอมพลป.เป็นผู้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ แต่เอกสารภายในธนาคารโลกบ่งบอกว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกบางคนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายฉบับนี้ ในข้อเท็จจริงหลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้มิได้มีบทบาทในการส่งเสริมการลงทุนเอกชนเลย ความข้อนี้ปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ดร.ชมเพลิน จันทร์เรืองเพ็ญ กฎหมายส่งเสริมอุตสหากรรม 2497 มันออกมาในช่วงรัฐบาลจอมพลป.กำลังเดินนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม นโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมจะต้องต่อต้านอิทธิพลทางเศรษฐกิจของต่างชาติ แต่กฎหมายฉบับนี้นอกจากจะส่งเสริมการลงทุนจากเอกชนแล้วที่สำคัญคือส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมันเป็นหมุดหมายที่บอกว่าจอมพลป.กำลังจะละทิ้งนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม

มีกฎหมายอีกสามฉบับซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมายเศรษฐกิจเสรีนิยม แต่อ.อภิชาตตีขลุมว่าเป็นกฎหมายเศรษฐกิจเสรีนิยม คือ พ.ร.บ.ประกันสังคม 2497  พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อความเป็นธรรม 2497 พ.ร.บ.จัดอาชีวะศึกษาสำหรับบุคคลบางจำพวก 2497 เหล่านี้เป็นกฎหมายซึ่งเป็นกลไกสร้างรัฐสวัสดิการ ไม่ได้เป็นกลไกสำหรับการขับเคลื่อนขบวนการเศรษฐกิจเสรีนิยม

การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยไปสู่แนวทางเสรีนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะต้องถือเอาการยุบสำนักงานข้าวเป็นหมุดหมาย เพราะข้าวถือเป็นสินค้าออกรายการสำคัญที่สุดของสังคมเศรษฐกิจไทย และสำนักงานข้าวผูกขาดการค้าข้าวระหว่างประเทศ การผูกขาดการค้าข้าวระหว่างประเทศของสำนักงานข้าว จึงทำให้การค้าระหว่างประเทศของไทยมิได้เป็นไปแบบเสรีนิยมในสัดส่วนสำคัญ การเลิกสำนักงานข้าวจึงเสมือนหนึ่งการเลิกการผูกขาดการค้าข้าวระหว่างประเทศโดยรัฐ

ข้อที่น่าสังเกตคือ อ.อภิชาตกล่าวถึงสำนักงานข้าวแบบผ่านๆ และมองไม่เห็นความสำคัญว่าการยุบสำนักงานข้าวเป็นหมุดหมายของการเดินบนเส้นทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ

ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ  หนังสือเล่มนี้ไม่ได้อ้างอิงหนังสืองานศพของนายเกษม ศรีพยัคฆ์ หนังสือชื่อนโยบายการเงินการคลัง 2498-2502 พื้นฐานความเจริญทางเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้เข้าใจหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจในช่วงนี้ได้ดีขึ้น คำถามสำคัญที่ต้องหาคำตอบคือ เหตุใดจอมพลป.พิบูลสงครามจึงปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากชาตินิยมมาสู่เสรีนิยม จอมพลป.เป็นผู้บงการให้ยุบสำนักงานข้าวด้วยตัวเองหรือไม่ คำตอบเบื้องต้นที่มีก็คือ จอมพลป.ต้องการการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจ ประเทศมหาอำนาจล้วนไม่พึงพอใจนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมของรัฐบาลไทย ความข้อนี้รู้สึกได้จากการอ่านบันทึกความทรงจำของเซอร์โจซาย ครอสบี้ (Sir Josiah Crosby) Siam the crossroads อดีตทูตประเทศอังกฤษประจำประเทศไทย เมื่อล่วงถึงปลายทศวรรษ 2490 จอมพลป.ตระหนักชัดแล้วว่า อำนาจทางการเมืองกำลังหลุดลอยไปสู่กลุ่มซอยราชครู ซึ่งมี พล.ต.อ.ผิณ ชุณหะวัณ และพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้นำ กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้นำ จอมพลป.จำเป็นต้องเข้าหาฐานมวลชน ด้วยการเปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น ทั้งในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะที่เรียกว่า ไฮด์ปาร์ก การจัดตั้งพรรคการเมือง การจัดตั้งสหภาพแรงงาน และด้วยการดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการเพื่ออำนวยความผาสุกแก่ประชาชน นอกจากนี้การปรับนโยบายเศรษฐกิจไปสู่แนวทางเสรีนิยมยังความพึงพอใจในหมู่ประเทศมหาอำนาจอีกด้วย

รัฐบาลไทยมีพันธะระหว่างประเทศที่จะต้องละทิ้งนโยบายชาตินิยมและหันสยามรัฐนาวาไปสู่แนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ เมื่อเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก เพราะองค์กรโลกบาลทั้งสองล้วนยึดปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม พันธะดังกล่าวนี้ถูกตอกย้ำอีกครั้งเมื่อรัฐบาลไทยทำความตกลงความเชื่อเหลือทางวิชาการและทางเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายน 2493 ซึ่งอ.อภิชาตได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้โดยละเอียด

จอมพลป.เป็นผู้บงการให้ยุบสำนักงานข้าวด้วยตัวเองหรือไม่ ผมไม่พบงานวิชาการที่ศึกษาประเด็นนี้ แต่ประเด็นที่เป็นไปได้มากกว่าคือ การกดดันผ่านบทสนทนาระหว่างเทคโนแครตรัฐบาลอเมริกัน องค์กรโลกบาล กับเทคโนแครตไทย บทสนทนาดังกล่าวนี้เป็นกลไกส่งผ่านความคิดเรื่องนโยบายโดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน เมื่อรัฐบาลอเมริกันและองค์กรโลกบาลต้องการให้รัฐบาลไทยปรับเปลี่ยนนโยบายในเรื่องใด ก็มีบทสนทนากับเทคโนแครตไทยในเรื่องนั้น ข้างฝ่ายเทคโนแครตไทยเมื่อไม่สามารถผลักดันทำให้รัฐบาลไทยปรับเปลี่ยนนโยบายได้ ก็บอกผ่านเทคโนแครตรัฐบาลอเมริกันและองค์กรโลกบาลให้ช่วยสร้างแรงกดดันรัฐบาลของตน ทั้งนี้ปรากฏในหนังสือของพระบริพันธ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลจอมพลป. ส่งถึงธนาคารโลกให้สร้างแรงกดดันรัฐบาลจอมพลป.ให้รัดเข็มขัดทางการคลังในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนแครตไทย เทคโนแครตอเมริกัน และองค์กรระหว่างประเทศ ปรากฎอย่างชัดเจนในเหลียวหลังแลหน้า บันทึกความทรงจำของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ด้วยเหตุดังนี้การลดทอนความสำคัญของปัจจัยภายนอกประเทศ ทำให้เราเกิดความเข้าใจการก่อเกิดและการขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่รอบด้าน

ประเด็นที่สอง การขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจ อ.อภิชาตให้ความสำคัญแก่องค์กรโลกบาลในการขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศไทยค่อนข้างน้อย ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่ได้สนใจศึกษา policy conditionalities ที่ผูกติดมากับเงินกู้ฉุกเฉินที่รัฐบาลไทยกู้มาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ stand by arrangement และเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างที่รัฐบาลไทยกู้จากธนาคารโลก structural adjustment loan ทั้งๆ ที่เงื่อนไขการดำเนินนโยบายเหล่านี้อยู่ในปริมณฑลของการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจ การขอเงินกู้ทั้งสองประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อระบบเศรษฐกิจไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ กระบวนการกำหนดเงื่อนไขการดำเนินนโยบายมิใช่กระบวนการสั่งการจากองค์กรโลกบาลมายังรัฐบาลไทย หากแต่เป็นกระบวนการต่อรองระหว่างองค์กรโลกบาลกับรัฐบาล อำนาจต่อรองขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของวิกฤตเศรษฐกิจ หากวิกฤตเศรษฐกิจยิ่งร้ายแรงมากเพียงใด อำนาจต่อรองของรัฐบาลยิ่งมีน้อยมากเพียงนั้น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในทศวรรษ 2490 รัฐบาลไทยยังมีอำนาจต่อรองอยู่บ้าง แต่เมื่อเกิดวิกฤตในปี 2540 รัฐบาลไม่มีอำนาจต่อรองเลย ขอให้เปรียบเทียบ policy conditionalities ที่ปรากฏใน SBA1981 SBA1982 SBA1985 เทียบกับ SBA1997 ความเข้มข้นและความเข้มงวดของเงื่อนไขการปฏิรูปเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของวิกฤตเศรษฐกิจ หากวิกฤตเศรษฐกิจยิ่งร้ายแรงมากเพียงใด เงื่อนไขการปฏิรูปเศรษฐกิจก็จะยิ่งเข้มข้นและเข้มงวดมากเพียงนั้น โดยที่ความร้ายแรงของวิกฤตเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอของรัฐ รัฐที่อ่อนแอมีแนวโน้มที่จะนำรัฐนาวาไปสู่วิกฤตได้โดยง่าย โดยที่ภาวะวิกฤตบั่นทอนความเข้มแข็งของรัฐได้อย่างสำคัญ รัฐที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตย่อมอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องยอมรับเงื่อนไขการปฏิรูปเศรษฐกิจขององค์กรโลกบาลทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก มีกลไกจัดสรรเงินให้กู้เป็นงวดและเมื่อใกล้สิ้นเวลาแต่ละงวดก็จะมีการประเมินว่ารัฐบาลลูกหนี้ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินนโยบายมากน้อยเพียงใด หากมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัดส่วนสำคัญจึงยอมให้เบิกเงินกู้งวดถัดไปหากไม่มีหรือมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินนโยบายน้อยเกินไปก็จะยุติการเบิกเงินให้กู้ รัฐบาลไทยเคยกู้เงินกู้ฉุกเฉินกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2524 เนื่องจากเผชิญกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ร้ายแรง แต่ถูกตัดเงินกู้เนื่องจากไม่ปฏิบัติตาม policy conditionalities เมื่อกู้เงินฉุกเฉินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศภายหลังวิกฤต 2540 คราวนี้รัฐบาลชวน หลีกภัย ปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเชื่องๆ โดยมิได้คำนึงว่าเงื่อนไขการดำเนินนโยบายบางข้อเป็นการให้ยาผิด ดังเช่น การดำเนินนโยบายงบประมาณเกินดุล และบางข้อมิได้เกี่ยวข้องกับการแก้วิกฤต ดังเช่นการถ่ายโอนการผลิตจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชน (privatization) การดำเนินนโยบายตามเงื่อนไขใน SBA1997 อย่างเชื่องๆ มีผลในการบั่นทอนทุนทางการเมืองของรัฐบาลชวนและพรรคประชาธิปัตย์อย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจหลังวิกฤตดังกล่าวหลายต่อหลายเรื่องอยู่ในเงื่อนไขการดำเนินนโยบายของเงินกู้ฉุกเฉินนี้

ความเข้มแข็งโดยเปรียบเทียบของรัฐบาลทักษิณ ปรากฏเมื่อรัฐบาลชวนปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินโยบาย SBA1997ไปมากแล้ว

ประเด็นที่สาม ประเด็นที่อ.อภิชาตไม่ให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอกประเทศอีกอัน คือ การละทิ้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา อ.อภิชาตให้เครดิตกับกลุ่มเทคโนแครตในการผลักดันให้ละทิ้ง multiple exchange rate system และหันมาใช้ single exchange rate system การให้เครดิตนี้ไม่ได้ผิดข้อเท็จจริง แต่ถูกไม่หมด

เพราะไทยเป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2492 ในฐานะสมาชิกไทยต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของไอเอ็มเอฟ ซึ่งมีกฎกติกาที่ชัดเจนข้อหนึ่งว่า ห้ามสมาชิกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา รัฐบาลไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรามาตั้งแต่ปี 2489 กว่าจะละทิ้งระบบนี้ก็ในปี 2498 กินเวลา 6 ปีหลังจากที่เป็นภาคีสมาชิกของไอเอ็มเอฟ ระหว่างนี้ไอเอ็มเอฟก็กดดันให้ไทยหันไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนอันตราเดียว ผ่าน dialogue ระหว่างไอเอ็มเอฟกับเทคโนแครตไทย อ.อภิชาตไม่ให้ความสำคัญกับระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศในการวิเคราะห์ จึงไม่ได้ตระหนักว่ามาตรา 8 วรรค 3 แห่ง article agreement of IMF เป็นชนักติดหลังที่รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตาม คือ ต้องเลิกmultiple exchange rate system

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ multiple exchange rate system อย่างเป็นกิจจะลักษณะทำให้การวิเคราะห์หลายต่อหลายตอน สร้างความฉงนฉงายแก่ผู้อ่านจำนวนมาก มีประเด็นที่อยากพูดถึงอยู่สองประเด็น

ประเด็นแรก เหตุใด ธปท.จึงเลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา

ประเด็นสอง นักการเมืองแสวงหาประโยชน์จากระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราอย่างไร

อ.อภิชาตยืนยันว่า ธปท.ต้องการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราเป็นกลไกสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศ เนื่องจากเงินสำรองระหว่างประเทศหร่อยหรอไปมากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ความรู้เศรษฐศาสตร์เบื้องต้นบอกแก่เราว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อดุลการชำระเงินระหว่างประเทศเกินดุล ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า หากดุลการชำระเงินระหว่างประเทศขาดดุล เงินสำรองระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ไม่ว่าสังคมเศรษฐกิจไทยจะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนระบบใด ทั้งยังไม่มีกลไกอะไรรับประกันว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราจะช่วยให้ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศเกินดุลได้

ผมเรียนรู้มาเป็นเวลาช้านานว่า ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำมาใช้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีจุดมุ่งหมายหลักในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อโดยผ่านกลไกอย่างน้อยสองกลไก กลไกแรก คือ การลดปริมาณเงินที่หมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ กลไกที่สอง คือ การกดราคาสินค้าออกบางประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว การบังคับซื้อเงินตราต่างประเทศได้จากการส่งออกสินค้าออกรายงานสำคัญ โดยให้อัตราแลกเปลี่ยนทางการซึ่งน้อยกว่าอัตราตลาด ทำให้เงินบาทออกสู่การหมุนเวียนน้อยกว่าที่ควร การลดปริมาณเงินที่หมุนเวียนมีผลในการลดแรงกดดันของเงินเฟ้อ ในอีกด้านหนึ่งสินค้าที่ถูกบังคับขายในอัตราต่ำกว่าอัตราตลาดย่อมขายได้ราคาเป็นเงินบาทต่ำกว่าที่ควร ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราจึงมีผลในการกดราคารสินค้าออกที่ถูกบังคับ เมื่อระบบนี้ใช้กับข้าวย่อมมีผลในการกดราคาข้าวในประเทศ ทำให้ค่าครองชีพในประเทศต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เครื่องมือของระบบอัตรแลกเปลี่ยนหลายอัตรามีอย่างน้อย 3 ประเภท หนึ่ง รายการสินค้าออกที่บังคับซื้อเงินตราต่างประเทศในอัตราทางการ สอง อัตราส่วนของเงินตราต่างประเทศที่ซื้อจากการส่งออกที่ถูกบังคับซื้อในอัตราทางการ สาม timing ในการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา

อ.อภิชาตกล่าวซ้ำในหลายกรรมหลายวาระว่า นักการเมืองแสวงหาประโยชน์จากระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราและย้ำว่าการละทิ้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราเป็นการทุบหม้อข้าวนักการเมือง แต่ไม่มีข้อมูลรายละเอียดว่านักการเมืองแสวงหาประโยชน์จากการระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราได้อย่างไร หากนักการเมืองจะหาประโยชน์จากระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา นักการเมืองต้องเข้าไปแทรกแซงการบริหารจัดการระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา เช่น การเลือกประเภทสินค้าส่งออกที่จะบังคับซื้อเงินตราต่างประเทศที่ได้จากการส่งออก รวมทั้งการกำหนดสัดส่วนเงินตราต่างประเทศที่จะบังคับซื้อ การเลือกรายการสินค้านำเข้าที่จะขายเงินตราต่างประเทศในอัตราทางการ แต่ผู้เขียนไม่ได้ให้ข้อมูลเหล่านี้ และผมไม่พบงานวิชาการที่ให้ข้อมูลประเด็นนี้ ตามความเข้าใจของผม ผู้ส่งออกสินค้าที่ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยบังคับให้ขายเงินตราต่างประเทศในอัตราทางการ ส่วนหนึ่งขายตรงธปท. อีกส่วนหนึ่งขายผ่านธนาคาพาณิชย์ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ จากนั้นธนาคารพาณิชย์จึงขายต่อให้ธปท. ธนาคารพาณิชย์สามารถหากำไรจากความแตกต่างของเงินตราต่างประเทศได้ก็โดยการรายงานอัตราที่รับซื้อต่ำกว่าความเป็นจริง หากธปท.จับได้ก็จะมีการลงโทษด้วยมาตรการต่างๆ ดังเช่นการปรับ สหธนาคารกรุงเทพ ถูกธปท.สั่งปรับด้วยกรณีเช่นนี้ สหธนาคารกรุงเทพวิ่งเต้นนักการเมืองเพื่อให้ช่วยกดดันให้ธปท.ลดค่าปรับ จอมพลสฤษดิ์บอกให้ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รองผู้ว่าธปท.ขณะนั้นช่วยลดค่าปรับโดยอ้างว่าจอมพลสฤษดิ์ และพล.ต.อ.เผ่า จะเข้าไปซื้อหุ้นในธนาคารนี้ อ.ป๋วยเสนอให้ผู้ทรงอำนาจทั้งสองนำเรื่องเข้าครม.เพื่อให้มีมติยกเว้นหรือลดหย่อนค่าปรับ ต่อมาอ.ป๋วยถูกปลดจากรองผู้ว่าธปท.ในเดือนธันวาคม 2496 กรณีนี้เป็นกรณีที่อภิชาตยกมากล่าวอ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่านักการเมืองหาประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ทั้งๆ ที่นายธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ที่หาประโยชน์โดยตรง นักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลเป็นผู้ปกป้องนายธนาคารอีกทอดหนึ่ง  เมื่อรัฐบาลละทิ้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ประกอบกับการยุบสำนักงานข้าว มาตรการที่นำมาใช้ทดแทนเพื่อมิให้ราคาธัญพืชเพิ่มสูงมากจนเกินไป ได้แก่ภาษีสินค้าเกษตรส่งออกรายการสำคัญ รวมทั้งการเก็บพรีเมี่ยมข้าว อ.อภิชาตเสนอการวิเคราะห์ว่า จอมพลป.ยอมรับการละทิ้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราตามเมนูนโยบายนี้เพราะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีส่งออกและพรีเมี่ยมข้าวเพิ่มขึ้น หลงลืมไปว่ากำไรที่ธปท.ได้รับจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ส่วนสำคัญ ธปท.นำส่งเป็นรายได้ของรัฐในรายการส่วนแบ่งกำไรจากธปท.เมื่อเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา รายการส่วนแบ่งกำไรจากธปท.ก็จะต้องลดน้อยไป ในอีกด้านหนึ่งเมื่อยังมีสนง.ข้าว กำไรจากสนง.ข้าวก็เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญไม่น้อยของรัฐ เมื่อยุบสนง.ข้าวรัฐก็สูญเสียรายได้แหล่งนี้ไปด้วย ความสำคัญของกำไรจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราและกำไรจากสนง.ข้าวปรากฏอยู่ในหนังสืออังเดร มุสนี่

ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงก็คือ การยกย่องจอมพลป.พิบูลสงคราม เกินกว่าความเป็นจริง อันนี้เป็นประเด็นที่ตรงกันข้าวมกับที่อ.วีระยุทธพูด

ผู้เขียนกล่าวว่า “ในขณะที่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ต่อยุคจอมพลป.นั้นคือ ยุคทุนนิยมขุนนาง หรือยุคทุนนิยมข้าราชการที่รัฐมีบทบาทแทรกแซงระบบเศรษฐกิจอย่างสูง ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การรัฐประหารโค่นล้มจอมพลป.จึงเป็นการล้มทุนนิยมขุนนางและเข้าสู่ยุคสมัยทุนนิยมเสรี หรือทุนนิยมนายธนาคาร ความทรงจำหลักนี้ถือได้ว่าถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันความทรงจำหลักนี้ก็มองข้ามหน่ออ่อนของการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุคจอมพลป.”

ข้อถกเถียงหลักในด้านข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า จอมพลป.เป็นผู้ปลูกหน่ออ่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยตนเองหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ข้อที่ประจักษ์ชัดก็คือ หนังสืออาจารย์อภิชาตยกย่องจอมพลป.พิบูลสงครามเกินกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกย่องว่าจอมพลป.เป็นผู้ปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจหลักจากนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมมาสู่เสรีนิยม โดยมิได้คำนึงถึงพันธะที่รัฐบาลไทยมีต่อไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก รวมทั้งพันธะที่มีต่อสหรัฐอเมริกาภายใต้ความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางวิชาการและเศรษฐกิจ 2493 อีกทั้งยังลดทอนบทบาทของขุนนางวิชาการที่ผลักดันสังคมเศรษฐกิจไทยไปสู่เส้นทางเศรษฐกิจเสรีนิยม นอกจากนี้การแบ่งยุคการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของผู้เขียน ซึ่งยึดปี 2493 ซึ่งเป็นปีที่มีความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางวิชาการและเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกา สื่อสารว่าปี 2493 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนเมนูนโยบายเศรษฐกิจทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงระหว่างปี 2493-2496 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงการแทรกแซงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจอมพลป.ในสำเนียงส่อไปในทางยกย่อง จอมพลป.ไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ มิพักต้องกล่าวถึงความรู้ด้านการเงินระหว่างประเทศ  อ.อภิชาตไม่นำพาที่จะอธิบายเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ของธปท.ในการกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอันนำไปสู่การลาออกของผู้ว่า ธปท. ทั้งพระองค์เจ้าวิวัฒนชัยในปี 2492  และหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ในปี 2495 วงวิชาการเศรษฐศาสตร์กระแสหลักยืนอยู่ข้างธปท.ในกรณีทั้งสองมากกว่ายืนอยู่ข้างจอมพลป. หนังสือไม่ได้กล่าวถึงบุคคลและคณะบุคคลที่เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของจอมพลป. การกล่าวถึงกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในยุคของจอมพลป.ไม่มีชีวิตชีวามากเท่ากับการนำเสนอบทวิเคราะห์ว่าด้วยความเสื่อมถอยของกลุ่มขุนนางนักวิชาการในบทที่ 5 และการแก้ปัญหาหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ในบทที่ 6 หากจอมพลป.มีอัจฉริยภาพในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจดังที่ผู้เขียนกล่าวเป็นนัย เหตุใดจอมพลป.จึงไม่ผลักดันให้สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งสถาปนาตั้งแต่ปี 2493 มีบทบาทที่กระฉับกระเฉงมากกว่าที่เป็นอยู่จริงโดยที่มิได้เป็นหน่ออ่อนแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจแม้เพียงแต่น้อย ด้วยเหตุดังนี้ ตลอดทศวรรษ 2490 เกือบไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของเศรษฐกิจไทยเลย และอาจจะช่วยให้เข้าใจได้อีกว่า ทำไมการปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงไม่เกิดขึ้นในยุคจอมพลป.

ผมมีบทวิพากษ์เพียงแค่นี้ ไม่อย่างนั้นจะยาวกว่านี้เยอะ

 

อภิชาต ตอบ

 ต้องขอขอบคุณผู้วิจารณ์ทั้งสอง ที่เสียสละเวลาอ่านและคอมเม้นท์อย่างละเอียด

อันที่หนึ่งที่ต้องยอมรับคือ คอนเซ็ปต์การแบ่งรัฐแข็งรัฐอ่อนแอรวมถึงเรื่องตัวชี้วัดมันยังไม่ชัด  เป็นจุดอ่อน แต่มันเกินกว่าจะเยียวยาในตอนพิมพ์ ตรงนี้เป็นข้อวิจารณ์ที่ตรงกันระหว่างสองท่าน

เรื่องอื่น ขอตอบอ.รังสรรค์ก่อนเท่าที่จะตอบได้ อ.รังสรรค์วิจารณ์เรื่องปัจจัยภายนอกประเทศว่าฟันธงให้น้ำหนักกว่าปัจจัยภายนอกประเทศน้อยเกินไป แม้ฟังแล้วผมก็ยังยืนยันว่า ปัจจัยภายในมีอิทธิพลมากกว่า ผมอาจมีความพลาดในการเลือกตัวบ่งชี้ เช่น สำนักงานข้าว ผมพูดแบบผ่านๆ ไปจริงๆ แต่เรื่อง multiple exchange rate เหตุใดทำให้จอมพลป.ยอมรับข้อเสนอของเทคโนแครตที่จะให้เปลี่ยนเป็น single exchange rate ซึ่งมีมานานแล้ว แต่มันถูกยกเลิกวันที่ 1  ม.ค.2498 ประเด็นคือเราต้องไปดูที่ 2497 ที่มีการตกลงกัน ประเด็นที่เราเห็นร่วมกันคือ ตอนนั้นจอมพลป.เริ่ม shift นโยบายมาหา popularity มากขึ้นเนื่องจากกลุ่มซอยราชครู และสี่เสาเทเวศร์สามารถจะรัฐประหารจอมพลป.ได้ตลอดเวลา จอมพลเผ่าถึงกับเข้าไปสถานทูตอเมริกาเพื่อขอนุญาตทำรัฐประหารแต่อเมริกาไม่อนุญาติ ดังนั้น จอมพลป.รู้ ผมไม่ได้บอกว่าปัจจัยภายนอกไม่สำคัญเลย แต่ผมยังยืนยันอยู่ว่า การที่จอมพลป.รู้สึกถึงความง่อนแง่นแล้วจึงหันมาเล่นเกมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะว่าบรรยากาศการเล่มเกมประชาธิปไตยนี่แหละ จึงทำให้จอมพลป.รับนโยบายของเทคโนแครต ซึ่งนำมาซึ่งการยกเลิก multiple exchange rate  ปัจจัยหลักมันมาจากการต้องการเอาตัวรอดของจอมพลป.นั่นเอง อันที่ฟันว่าอเมริกาเป็นปัจจัยรองก็คือกลับมาที่การเซ็นสัญญา 2493 จอมพลป.ต้องการเงินช่วยเหลือโดยเฉพาะทางทหารและเศรษฐกิจเป็นของแถม ผมอาจเขียนไม่ละเอียด ผมไม่ได้บอกว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจเริ่มที่ปี 2493 แต่ผมเริ่มที่ปี 2497 สัญญาณที่ชัดเจนก็คือ การยกเลิก multiple exchange rate พ.ร.บ.อุตสาหกรรม และพ.ร.บ.ประกันสังคม เป็นหนึ่งในแพ็กเกจที่ทำให้เห็นว่าจากที่จอมพลป.แต่เดิมไม่แคร์ชาวบ้านก็ต้องเปลี่ยนมาเล่นเกมเอาใจคนเลือกตั้ง แต่ผมไม่ได้ใช้ พ.ร.บ.ประกันสังคมอันนั้นเป็นตัวแทนเสรีนิยม

ผมเขียนเรื่องพ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นตัวแทนเสรีนิยม เป็นไปได้มากอย่างที่อ.รังสรรค์พูดถึงบทสนทนาของเทคโนแครตไทยกับเทคโนแครตเวิลด์แบงก์ แต่คิดว่าอิทธิพลเชิง instrumental รับอยู่แล้ว จากที่เรียนรู้จากอาจารย์ เทคโนแครตไทยใช้ต่างประเทศบีบรัฐบาลตลอดเวลาอยากได้อะไร ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ประเด็นที่ผม argue คือ ถ้าจอมพลป.ยังสามารถยืนอยู่ได้ในการเมืองแบบเดิมในยุคสามทหารเสือก่อนที่กลุ่มราชครู สฤษดิ์จะชนกันขนาดนั้น ถ้าการเมืองอันนั้นไม่เปลี่ยนจอมพลป.จะยอมเปลี่ยนนโยบายหรือเปล่า ในปี 2497 การเปลี่ยนนโยบายไม่ใช่เฉพาะการออกพ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่จอมพลป.สั่งให้รมต.ที่นั่งในตำแหน่งทางเศรษฐกิจ ตามบริษัทต่างๆ ถอนตัวออกจากตำแหน่งอันนั้น ก็เพื่อที่จะสร้างความนิยม เอาทหารออกจากธนาคาร แต่ไม่มีใครทำ รมต.ของจอมพลป.ก็นั่งต่อไป แต่ชัดเจนว่าประมาณ 2497 การแอนตี้จีน แอนตี้นักธุรกิจ ของจอมพลป.เปลี่ยนชัดเจน ซึ่งอันนี้แหละที่ฟันว่าเป็นอิทธิพลจากการเมืองภายใน เพราะผม argue ว่าในขณะที่เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศในปี 2493 ที่เซ็นไว้มีข้อหนึ่งชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยต้องเดินตามทิศทางเศรษฐกิจเสรีนิยม และเป็นอย่างที่อาจารย์บอกว่าถูกตะวันตกตีก้นอยู่ตลอดเวลาให้เดินในทิศทางนี้ แต่ประเด็นของผมคือ timing ทำไมจอมพลป.จึงเลือกที่จะเดินตามก้นในปี 2497  ทำไมไม่ก่อนหน้านั้น เพราะไอเอ็มเอฟ อเมริกา ธนาคารโลกก็บีบมาก่อนอยู่แล้ว ปัญหาจึงอยู่ที่ timing ผมอธิบาย timing นี้จากการเมืองภายใน จึงบอกว่ามันเป็นหลัก ไม่ได้เป็นรอง อันนี้เป็นการตีความที่แตกต่างกันระหว่างผมกับอาจารย์รังสรรค์

เรื่องที่ว่าชมจอมพลป.มากเกินไป จอมพลป.ไม่รู้เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ผมเขียนไปก่อนหน้านั้นไม่ใช่หรือว่ากรณีการขึ้นค่าเงินปอนด์ การลาออกหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ลาออก ผมก็เขียน แล้วก็ยังเขียนเรื่องพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยยันต์ ที่ลาออก กรณีที่ป๋วย ถูกกดดันให้ลาออก ผมก็เขียน จะบอกว่าผมชมจอมพลป.หรือ ผมก็ด่าจอมพลป.ไม่ใช่หรือ

ตัวอย่างเรื่อง multiple exchange rate ผมใช้กรณีนี้เพื่อเป็นหมุดหมายว่าเป็นครั้งแรกที่เทคโนแครตประสบความสำเร็จทางนโยบาย ไม่ใช่จอมพลสฤษดิ์เท่านั้นที่เทคโนแครตได้รับการยอมรับ ความสำเร็จของเทคโนแครตมันเริ่มต้นตั้งแต่ปลายยุคจอมพลป. แล้ว พร้อมๆ กับที่ป.ปรับทิศทางสู่การหันมาเล่นเกมประชาธิปไตย ผมใช้เรื่องนี้แม้จะอ่อนด้อยในประเด็นอื่นเช่นไม่ได้ลงรายละเอียดว่านักการเมืองหากินกับมันยังไง แต่ผมใช้มันเป็นแค่หมุดหมายของอิทธิพลเชิงนโยบายของตัวละครใหม่ทางเศรษฐกิจกำลังจะเกิดขึ้นแล้วนะ ในกรณีนี้คือเทคโนแครต ไม่ได้เกิดพร้อมกับยุคสฤษดิ์ แต่เกิดก่อนแล้ว

ประเด็นเรื่อง หน่ออ่อน ในฟุตโน้ตที่อาจาย์อ่านก็ชัดเจน ผมเห็นว่าภาพหลักของจอมพลป.ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เขียนชัดแล้วไม่ใช่หรือ ผมยอมรับว่าจอมพลป.ไม่ใช่ผู้ที่เป็นนักพัฒนาประเทศ ในความหมายของการก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเด็นหลักก็ยังเป็นยุคของทุนนิยมข้าราชการอยู่ ยังแอนตี้ธุรกิจอยู่ แต่ผมเสนอ fact ที่ตามมาหลังจากนั้นว่ามีอีกด้านหนึ่งที่เราหลงลืมไป เช่น การจัดตั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การจัดตั้ง กสว. คณะกรรมการวางผังเศรษฐกิจ หรือหน่ออ่อนของสภาพัฒน์ ในยุคจอมพลป. รับทุนการรับความช่วยเหลือจากอเมริกาในปี 2493 ทำให้รัฐบาลไทยส่งนักเรียนจำนวนมากไปเรียนต่อ และนักเรียนที่ไปเรียนต่อในยุคจอมพลป. กลับมาทันใช้พอดีในยุคจอมพลสฤษดิ์ ในการพัฒนาประเทศ ผมใช้ว่าเป็นหน่ออ่อนในความหมายแบบนี้

ในยุคนี้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เริ่มในยุคจอมพลป.แล้วมาออกดอกผลในยุคสฤษดิ์ ระบบบัญชีของกรมบัญชีกลาง มีการเอา GIS  กลับมาปรับระบบ ผมพูดในความหมายนี้

สันนิษฐานต่อเทคโนแครต เรื่องความซื่อสัตย์ คือ ภาพลักษณ์ความเป็นอนุรักษ์นิยมทางการเมืองของแบงก์ชาติเราเห็นร่วมกันอยู่ ผมเลยสงสัยว่าการที่เปิดเสรีในปี 2532 ความคิดแบบอนุรักษ์นิยมเสื่อมไปได้อย่างไร ผมอธิบายว่าเป็นเกี่ยวกับโครงสร้างแรงจูงใจของพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศมันปรับไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น ที่บอกว่าผู้ว่าแบงก์ชาติมีอำนาจมาก มีอำนาจเผด็จการได้ในธปท. แต่ขณะเดียวกันก็สามารถถูกปลดได้ทุกเมื่อจากรมว.คลัง ตรงนี้ผมอธิบายว่ามันทำให้โครงสร้างทางอำนาจไม่เปลี่ยน แต่การเมืองข้างนอกเปลี่ยน มันจึงเปลี่ยนพฤติกรรมของเทคโนแครต จากการที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมไปสู่การที่เปิดเสรีโดยมีความระมัดระวังน้อยลง

อันนี้อาจเป็นจุดบอดโดยไม่รู้ตัว คำว่าซื่อสัตย์ ผมพูดในความหมายการสั่งสมชื่อเสียงของแบงก์ชาติผ่านตัวบุคคล ตั้งแต่การลาออกของผู้ว่าเก่าๆ ภาพพจน์ความซื่อสัตย์เหล่านี้จึงได้รับการชื่นชมจากสาธารณะ กลายเป็นเกราะที่มาป้องกัน ให้แบงก์ชาติมีอิทธิพลทางนโยบาย

 

(ช่วงถามตอบ กรุณาดูในคลิปตอนที่ 3 นาทีที่ 18 เป็นต้นไป)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์

$
0
0

"..สังคมไทยจะต้องเรียนรู้เสียทีว่า ที่เรียกว่าความรู้นั้นที่จริงก็คือความเห็น ไม่ได้มีอะไรต่างกัน ดังนั้น การศึกษาเล่าเรียน คือการทำความเข้าใจความเห็นของคนอื่นอย่างถึงแก่น แล้วพยายามมองหาจุดแข็ง จุดอ่อนของความเห็นนั้น โดยไม่เกี่ยวว่าความเห็นนั้นเป็นของคนที่ได้รับยกย่องให้เป็นปราชญ์หรือไม่ เป็น "บิดา" ของวิชาโน้นวิชานี้หรือไม่ หรือสวมเสื้อสีอะไร.."

22 ก.ย. 57 ใน อวสานของนักวิชาการ

ป้าย "ว๊ายยยยยยยยยย" โผล่ที่ SC มธ.รังสิต-หลังเหตุตำรวจรื้อบอร์ด

$
0
0

ที่ธรรมศาสตร์ รังสิต หลังป้ายข้อความแสดงความไม่พอใจที่ตำรวจห้ามจัด "ห้องเรียนประชาธิปไตย" ถูกตำรวจเข้ามารื้อจนเกลี้ยงเมื่อคืนวันศุกร์นั้น ต่อมามีผู้นำกระดาษพิมพ์วาทะ "ว๊ายยยยยยยยยย" ของเพจเจ๊อ๋อยมาติดต่อเนื่องกันเต็มบอร์ด และล่าสุดป้ายยังอยู่มาถึงวันจันทร์โดยยังไม่ถูกรื้อ

23 ก.ย. 2557 - ตามที่เมื่อวันที่ 18 ก.ย. กิจกรรมเสวนา "ห้องเรียนประชาธิปไตย" ตอนที่ 2 "การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จัดโดยนักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย หรือ LLTD ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองหลวง เข้ามาระงับกิจกรรมตามคำสั่งของ พ.อ.พัลลภ เฟื่องฟู ผบ.ปตอ.2 โดยมีการควบคุมตัวผู้จัดกิจกรรมและวิทยากรไปที่ สภ.คลองหลวง เพื่อสอบถามและต่อมาได้รับการปล่อยตัวนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ป้ายแสดงความไม่พอใจที่ตำรวจเข้ามาระงับกิจกรรม "ห้องเรียนประชาธิปไตย" ติดที่บอร์ดอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ (SC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 19 ก.ย. (เอื้อเฟื้อภาพโดยนักข่าวพลเมือง)

ต่อมาตั้งแต่เช้าวันที่ 19 ก.ย. ที่บอร์ดประชาสัมพันธ์ของอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ (SC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีผู้นำโปสเตอร์เขียนด้วยปากกาเมจิกมาติดแสดงข้อความไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาระงับกิจกรรมดังกล่าว เช่น "วันนี้วันครูของธรรมศาสตร์ ตอนเช้าพวกเราหลายคนไปไหว้ครูกัน ตอนนี้ครูของพวกเราหายคนถูกคุมตัวไปแล้วครับ" "ไม่มีใครทำร้ายธรรมศาสตร์ได้เท่าผู้บริหารใจแคบ" "ปล่อยเพื่อนของเรา Free Our Friends" "ได้โปรดอย่ากลัวและหวาดระแวงการใช้เสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัย - เกษียร เตชะพีระ" ฯลฯ

บอร์ดของอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ (SC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันที่ 20 ก.ย. หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาปลดป้ายโปสเตอร์ต่างๆ (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ ศนปท.)

และในช่วกลางคืนของวันที่ 19 ก.ย. เว็บไซต์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย หรือ ศนปท.รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบได้เข้ามาที่อาคาร SC เพื่อปลดป้ายโปสเตอร์ต่างๆ ออก ทั้งนี้จากภาพที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ ศนปท. จะเห็นว่า โปสเตอร์ของทุกกิจกรรม ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับป้ายข้อความทางการเมืองถูกปลดออกหมด

ในวันที่ 20 ก.ย. มีผู้นำป้ายมาติดทดแทน หลังถูกตำรวจเข้ามาปลดเมื่อคืนก่อน (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ ศนทป.)

ต่อมาตั้งแต่ช่วงกลางวันของวันที่ 20 ก.ย. เว็บไซต์ ศนปท. รายงานว่า ได้มีผู้นำป้ายมาติดใหม่ มีข้อความเช่น "ขอเสนอให้ประยุทธเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์อีกตำแหน่งถ้าจะควบคุมกันขนาดนี้" หรือป้ายที่โจมตีสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมาชิก สนช. ในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีผู้นำป้ายข้อความ "ว๊ายยยยยยยยยย" พิมพ์เรียงติดต่อกันจนเต็มแผ่นกระดาษ และปริ้นท์หลายแผ่นต่อเนื่องกันไปติดที่บอร์ดของอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ (SC) ด้วย ทั้งนี้วาทะดังกล่าวเป็นวาทะของผู้ใช้นามว่า "เจ๊อ๋อย" หรือ "นิภา เตชะวิทยโยธิน" แอดมินเพจอำ "กองทัพประชาชนล้มล้างระบอบทักษิณ" โดยในเวลา 15.46 น. ของวันที่ 20 ก.ย. แอดมินเพจดังกล่าว ได้แชร์ภาพดังกล่าวซ้ำด้วย

ป้ายข้อความ "ว๊ายยยยยยยยยย" จนถึงช่วงเย็นของวันที่ 22 ก.ย. ก็ยังไม่ถูกปลดออกจากบอร์ดอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ (SC) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (เอื้อเฟื้อภาพโดยนักข่าวพลเมือง)

ล่าสุดในวันที่ 22 ก.ย. ป้ายข้อความ "ว๊ายยยยยยยยยย" ดังกล่าวก็ยังไม่ถูกปลดออกจากบอร์ดแต่อย่างใด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เดี๋ยวทุ่มด้วยโพเดี้ยม" ประยุทธ์ตอบหลังนักข่าวถาม จะเป็นนายกฯจากรัฐประหารเท่านั้นหรือ

$
0
0

ประยุทธ์ระบุ 4 เดือนรัฐประหาร ประชาชนมีความสุขขึ้น แต่ คสช.-ครม.มีความทุกข์ เพราะมีปัญหาต้องแก้จำนวนมาก ปัด ไม่คิดเป็นนายกฯเลือกตั้ง


23 ก.ย.2557 เว็บไซต์ นสพ.เดลินิวส์ รายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุม ครม. ถึงภาพรวมตลอด 4 เดือนหลังมีการยึดอำนาจการปกครองตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. จนถึงปัจจุบัน ว่า รู้สึกว่าประชาชนมีความสุขมากขึ้น แต่ คสช. และครม.มีความทุกข์ เพราะมีปัญหาต่างๆ ให้ต้องแก้มากมาย และการทำงานต้องโปร่งใส กระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด และต้องเดินหน้าทำงานต่อไป สำหรับมุมมองของต่างประเทศนั้น ขณะนี้เขามองว่าสถานการณ์บ้านเราดีขึ้น ติดอย่างเดียวว่าเราไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

สำหรับรายชื่อการสรรหา สปช.นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ส่งรายชื่อผู้ที่คณะกรรมการสรรหาฯ เลือกไว้ 550 คน มาแล้ว ส่วนเสียงวิจารณ์เรื่องการล็อกสเปกนั้น ตนไม่รู้เลยว่าจะมีการล็อกสเปกได้อย่างไร เพราะรายชื่อแต่ละคน ตนเองไม่รู้จักเลย

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกรัฐมนตรีเชื่อมีหมอดูหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หมอดูพูดอะไรไว้ก็ต้องฟัง การฟังหมอดูไว้ไม่เสียหายอะไร แต่ต้องดูว่าฟังอย่างไร หากหมอดูบอกว่าจะเป็นนายกฯ แล้วไม่ทำความดี ก็จะเป็นได้อย่างไร ฟังไว้ แต่อย่าไปงมงาย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว พร้อมแซวผู้สื่อข่าวกลับว่า หมอดูเตือนไว้อย่างเดียวว่าจะมีอุบัติเหตุ คือการปะทะกับนักข่าว เมื่อผู้พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเข้ามาช่วยคงไม่ใช่มาพีอาร์ แต่อาจจะเป็นการเข้ามาช่วยเรื่องการกุศล ซึ่งภรรยาของตนไม่อยากทำให้ตนเสียหาย แต่หากเป็นเรื่องการกุศลอาจจะต้องไปขอร้องให้มาช่วย เพราะขณะนี้ก็ทำงานอยู่ในหลายสมาคม

เมื่อถามว่าคิดจะเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ส่ายหน้า พร้อมกับบอกว่า ไม่ คิดว่าชะตาของบ้านเมือง มีอยู่แล้ว พระสยามเทวาธิราชเห็นอยู่ เมื่อถามอีกว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารเท่านั้นหรือ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า "เดี๋ยวทุ่มด้วยโพเดี้ยม" จากนั้นเดินเข้าห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้าทันที

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ (23): ขาขึ้นและขาลงของหนังสือเถื่อน

$
0
0

“สังคมต้องการหนังสือราคาถูก ความต้องการนี้ต้องได้รับการตอบสนอง”
Matthew Arnold, นักวิจารณ์วรรณกรรมชาวอังกฤษเจ้าของงาน Culture & Anarchy (1880)

ก่อนที่เจ้าพ่อความคิดเรื่อง “วัฒนธรรม” (Culture) อย่าง Matthew Arnold จะยืนกรานว่าสังคมศิวิไลซ์หรือ “มีวัฒนธรรม” นั้นจะขาดหนังสือราคาถูกไปไม่ได้ ชาวอเมริกาก็มีหนังสือราคาถูกอ่านมาเป็นร้อยปีแล้ว พลเมืองอเมริกันเป็นพลเมืองโลกตะวันตกที่อ่านหนังสือกันกระหน่ำมากๆ ตลาดหนังสือของอเมริกาเป็นตลาดที่เน้นขาย “มวลชน” มาแต่แรกตั้งแต่สร้างชาติแล้ว [1]เมื่อดินแดนของสหรัฐอเมริกาขยายตัวไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ประชากรก็ขยายตัวไปด้วย [2] และประชากรอเมริกันที่ส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนต์ก็มีอัตรารู้หนังสือสูงมากๆ มาตั้งแต่ช่วงปลายๆ อาณานิคมแล้ว [3]การขยายตัวของประชากรอเมริกันนี้แม้ว่าความเป็นจริงจะห่างไกลจากอุดมคติของ “สังคมไร้ชนชั้น” แต่หากมองในเชิงสัมพัทธ์กับสังคมยุโรปในยุคเดียวกัน สิ่งที่จะพบได้ก็คือความแตกต่างทางชนชั้นของสังคมอเมริกันทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองก็แคบกว่าฝั่งยุโรปจริงๆ กล่าวอีกแบบคืออเมริกันนั้นเต็มไปด้วย “คนระดับกลาง” (ที่ภายหลังเรียกรวมๆ ว่า “ชนชั้นกลาง” อันเป็นคำที่ความหมายกว้างมากๆ และถูกใช้อย่างแตกต่างกันไปในแต่ละบริบท) และคนกลุ่มนี้เองก็คือพื้นฐานของตลาดหนังสือในสังคมอเมริกา

นี่ทำให้ตลาดหนังสือในอเมริกาต่างจากตลาดหนังสือฝั่งยุโรปที่แม้เวลาสามร้อยปีหลังปฏิวัติการพิมพ์ ตลาดหนังสือก็ยังเป็นตลาดที่เอาใจอภิชนเป็นหลักอยู่ กล่าวในภาษาแบบการตลาดก็คือ ในยุโรปตลาดหนังสือก็เป็นตลาดที่เน้นผู้บริโภคกลุ่มเล็กที่กำลังบริโภคสูงเป็นหลัก (แม้ว่าแนวทางนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนไปในช่วงศตวรรษที่ 19) ซึ่งนี่เป็นคนละเรื่องกับตลาดหนังสือในอเมริกาที่เน้นขาย “คนระดับกลางของสังคม” ที่มีปริมาณมาก

การที่ตลาดหนังสือของสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหนังสือที่เน้นขายคนที่ไม่ได้รายได้สูงลิบเป็นหลักดังที่ยุโรปเป็น หนังสือที่ขายในอเมริกาจึงมักจะเป็นหนังสือที่มีราคาไม่แพง ทำจากกระดาษถูกๆ เน้นขายปริมาณมากๆ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เกิดก่อนการ “ปฏิวัติเปเปอร์แบ็ก” ของสำนักพิมพ์เพนกวินในอังกฤษเป็นร้อยปี นอกจากนี้การ “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” ของอเมริกาช่วงหลังสงครามกลางเมืองตอนครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 ยังทำให้การอ่านขยายตัวไปกันใหญ่ เพราะรถไฟก็เป็นเทคโนโลยีสำคัญในการลดต้นทุนและเพิ่มความเร็วในการขนส่งหนังสือไปทั่วอเมริกา และพร้อมกันนั้น การที่ผู้คนสัญจรด้วยการนั่งรถไฟก็ยังเป็นการกระตุ้นความต้องการอ่านหนังสืออีกมหาศาลเพราะหนังสือก็เป็นกิจกรรม “ฆ่าเวลา” ในการเดินทางยอดฮิตในยุคนั้น

สิ่งที่น่าสนใจคือตลอดช่วง 100 ปีหลังอเมริกามีอิสรภาพจากอังกฤษ คนอเมริกันก็ยังอ่านนิยายของทางฝั่งอังกฤษกันอย่างกระหน่ำ ซึ่งบรรดาสำนักพิมพ์ทั้งหลายก็ไม่ได้มีความเดียดฉันท์ที่จะพิมพ์งานของเจ้าอาณานิคมเก่ามาขายอเมริกันชนเลย ซึ่งเหตุผลหนึ่ง ก็คือการที่สำนักพิมพ์เหล่านี้จะตีพิมพ์งานของ “คนอังกฤษ” พวกเขาก็ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์หรือขออนุญาตใดๆ เลย เพราะภายใต้กรอบกฎหมายอเมริกา (หรือประเทศไหนๆ ก็ตามในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19) “ลิขสิทธิ์” ในกรอบการคุ้มครองของชาติอื่นๆ ก็ล้วนไม่ได้มีผลบังคับใช้ได้นอกอาณาบริเวณของชาตินั้นๆ

แน่นอนว่านี่ทำให้บรรดานักเขียนยอดฮิตจากทางฝั่งอังกฤษไม่พอใจ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะยอดขายหนังสือในอเมริกา (ที่ราคาถูกกว่าอังกฤษ) นั้นสูงกว่าอังกฤษเป็นเท่าตัว [4]ดังนั้นนี่หมายความว่าพวกเขาจะไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ เลยจากหนังสือเป็นแสนเล่มที่ขายๆ กันอยู่ในอเมริกา และต้องพึงพอใจกับยอดขายหลักหมื่นที่พวกเขาได้ส่วนแบ่งในอังกฤษเท่านั้น [5]

ทางด้านนักเขียนอเมริกันที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 พวกเขาไม่ได้มองว่าสภาวะที่มวลชนสามารถเข้าถึงหนังสือราคาถูกได้เป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่พวกเขามองคือการที่อเมริกาไม่ยอมรับลิขสิทธิ์อังกฤษ มันจะทำให้สำนักพิมพ์พิมพ์หนังสือมาขายได้ในราคาถูกเกินกว่าที่จะเป็น และเลือกที่จะพิมพ์หนังสือ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ของทางอังกฤษมากกว่าที่จะตีพิมพ์งานของเหล่านักเขียนอเมริกันเอง ดังนั้นในแง่นี้ นักเขียนอเมริกันและอังกฤษก็ต้องการให้อเมริกันยอมรับลิขสิทธิ์หนังสืออังกฤษทั้งคู่ (แม้จะด้วยเหตุผลที่ต่างกัน)

นี่นำมาสู่การต่อสู้ดิ้นรนให้เกิด “กฎหมายลิขสิทธิ์นานาชาติ” ขึ้นในอเมริกาโดยตลอดศตวรรษที่ 19 [6]ทั้งนักเขียน และนักการเมืองก็ดาหน้ากันพยายามผ่านร่างกฎหมายสารพัดให้เกิด “ลิขสิทธิ์นานาชาติ” ขึ้น อย่างไรก็ดีปัจจัยที่ดูจะชี้ขาดให้อเมริกันยอมรับลิขสิทธิ์ในอังกฤษในท้ายที่สุดก็ดูจะเกิดจากการตกลงผลประโยชน์กันได้ไม่ลงตัวของเหล่าสำนักพิมพ์เองมากกว่าปัจจัยอื่นๆ

บรรดาสำนักพิมพ์ในอเมริกาในตอนแรกของยุคสมัยแห่งการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 นั้นก็ไม่ได้มีความลงรอยกัน การแย่งกันพิมพ์งานยอดฮิตเกิดขึ้นเป็นปกติ ซึ่งการแข่งขั้นนั้นก็ระดับที่ว่าเมื่อเรือส่งสินค้าจากอังกฤษมาแต่ละสำนักพิมพ์ก็จะมีม้าเร็วไปเอาหนังสือจากเรือวิ่งมาเข้าโรงพิมพ์เพื่อเป็นต้นฉบับและตีพิมพ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบนี้ก็ได้พัฒนากลายเป็นระบบที่สำนักพิมพ์พวกนี้จะมี “ตัวแทน” อยู่ที่อังกฤษที่จะซื้อ “ต้นฉบับ” จากนักเขียนอังกฤษมาโดยตรงเลย และส่งเข้ากระบวนการพิมพ์ไปพร้อมๆ ที่อังกฤษ ซึ่งนี่จะทำให้สำนักพิมพ์เหล่านั้นได้ต้นฉบับมาเร็วกว่าสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่ต้องรอหนังสือที่อังกฤษออกก่อนแล้วค่อยส่งหนังสือข้ามเรือมา [7]

ระบบ “แย่งกันพิมพ์” นี้หมดไปเมื่อบรรดาสำนักพิมพ์อเมริกันแถบชายฝั่งตะวันตกจับมือกันภายใต้ข้อตกลง “มารยาททางการค้า” (trade courtesy) ขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือนี่คือระบบ “แบ่งกันละเมิดลิขสิทธิ์อังกฤษ” กล่าวคือแต่ละสำนักพิมพ์ก็จะตกลงกันว่าจะไม่พิมพ์งานซ้ำกัน และก็มีการแบ่งนักเขียนแต่ละคนไปให้แต่ละสำนักพิมพ์พิมพ์เป็นต้น

อย่างไรก็ดีการแก้ปัญหานี้ก็ดูจะเป็นการแก้ปัญหาในหมู่สำนักพิมพ์แถบชายฝั่งตะวันออกเท่านั้น เพราะเมื่อเกิดเมืองใหม่ๆ ขึ้นพร้อมกับตลาดหนังสือในเมืองนั้นๆ พวกพ่อค้าในหนังสือหน้าใหม่ก็ไม่ยินยอมจะเล่นตามเกมของพวกพ่อค้าหนังสือในแถบชายฝั่งตะวันออก ในเมืองใหญ่ของแถบ “มิดเวสต์” อย่างชิคาโกก็มีพ่อค้าหนังสือหน้าใหม่ตีพิมพ์หนังสือยอดฮิตของนักเขียนอังกฤษต่างๆ ที่สำนักพิมพ์ชายฝั่งตะวันออกได้แบ่งสรรกันพิมพ์เรียบร้อยแล้วตาม “มารยาททางการค้า” ออกมาเป็นว่าเล่น ซึ่งผู้บุกเบิกก็คือสำนักพิมพ์ Donnelly, Gassette and Lloyd ที่ผลิตซีรีส์ “หนังสือประจำบ้าน” ของชนชั้นกลางอย่าง Lakeside Library มาในปี 1874 ซึ่งไม่นานนักการตีพิมพ์ซีรีส์ “หนังสือประจำบ้าน” ก็เป็นสิ่งที่สำนักพิมพ์หน้าใหม่ฮิตกันมากจนในปี 1877 คนอเมริกันก็มีซีรีส์ “หนังสือประจำบ้าน” ที่ตีพิมพ์หนังสือซ้ำกันให้เลือกถึง 14 เจ้า [8]

การปรากฏตัวของสำนักพิมพ์หน้าใหม่นอกโซนอำนาจของสำนักพิมพ์เก่าไม่ได้ส่งผลแค่ทำให้เหล่าสำนักพิมพ์เก่าไม่สามารถผูกขาดได้อย่างเดิมเท่านั้น แต่มันยังส่งผลให้ราคาหนังสือโดยรวมถูกลงด้วยจากที่แต่เดิมก็ถูกอยู่แล้ว (เมื่อเทียบกับราคาหนังสือในฝั่งยุโรป) เหล่าซีรีส์ “หนังสือประจำบ้าน” ที่ว่านี้ก็ทำมาเพื่อตอบสนองรายได้อันจำกัดของนักอ่านอเมริกันที่เป็น “คนระดับกลางของสังคม” ในยุคนั้น ซึ่งมันก็เป็นคนละเรื่องกับซีรีส์ Library ในยุคปัจจุบันที่เป็นหนังสือปกแข็งสวยงาม เพราะในยุคนั้นในหลายๆ ครั้งหนังสือในซีรีส์ “หนังสือประจำบ้าน” มันไม่มีปกและไม่เย็บเล่มด้วยซ้ำเพื่อลดต้นทุน (แม้ว่านี่ก็จะไม่ใช่สิ่งพิสดารอะไร เพราะความเคยชินว่า “หนังสือ” จะต้องมีลักษณะ “เป็นเล่ม” มีปกและเย็บขอบอย่างดีและจะเป็นอื่นไปไม่ได้นั้นก็ดูจะเป็นสำนึกที่เพิ่งเกิดในศตวรรษที่ 20)

แน่นอนว่าสำนักพิมพ์ฝั่งตะวันออกที่โดน “ละเมิด” ก็ไม่พอใจแต่ก็ไม่มีกฎหมายใดๆ จะทำอะไรพวกสำนักพิมพ์หน้าใหม่เหล่านี้ นี่จึงเป็นจุดพลิกผันให้สหภาพช่างพิมพ์ในเมืองใหญ่ๆ ในแถบชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาหันมาสนับสนุนให้สภาคองเกรสออกกฎหมายเพื่อยอมรับลิขสิทธิ์อังกฤษ [9]แรงจูงใจที่ “ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์” มานมนานลุกขึ้นมาสนับสนุนให้มีการคุ้มครองลิขสิทธิ์นี้อาจเป็นเรื่องพิสดารในสายตาของคนปัจจุบัน อย่างไรก็ดีในสภาวะตอนนั้นที่สำนักพิมพ์ฝั่งตะวันออกมีการ “แบ่งนักเขียนกันพิมพ์” เรียบร้อยแล้ว พวกเขาสามารถคาดเดาตลาดได้อย่างชัดเจน พูดง่ายๆ ก็คือพวกเขาแทบไม่มีความเสี่ยงเลยในการพิมพ์งานพวกนักเขียนยอดฮิต เพราะพิมพ์มายังไงก็ขายได้แน่ๆ และการยอมรับลิขสิทธิ์ฝั่งอังกฤษจากมุมมองสำนักพิมพ์พวกนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าอะไรนอกจากการให้ส่วนแบ่งกับนักเขียนอังกฤษ และไปเพิ่มส่วนแบ่งนั้นที่ราคาหนังสือ โดยแลกกับสิทธิผูกขาดหนังสือเล่มนั้นทั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งนั่นก็ดูจะคุ้มในช่วงศตวรรษ 1880 ประชากรอเมริกันก็ทะลุ 50 ล้านคนไปแล้ว [10]และอัตรารู้หนังสือในหมู่คนขาวก็เกิน 90% อีกซึ่งนี่ก็ยังไม่ต้องพูดถึงอำนาจการจับจ่ายของประชาชนที่เพิ่มมามหาศาลในช่วงนั้นผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจของการปฏิวัตอุตสาหกรรม พูดง่ายๆ สหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1980 เป็นตลาดหนังสือที่ใหญ่มากๆ ไปเรียบร้อยแล้ว และการยอมเสียค่าลิขสิทธิ์ให้นักเขียนเพียงนิดหน่อยเพื่อแลกมาซึ่งสิทธิในการผูกขาดก็ดูจะเป็นสิ่งที่สร้างผลกำไรมากกว่าที่จะทำให้ขาดทุน

ในที่สุดสภาคองเกรสก็ผ่านกฎหมายลิขสิทธิ์นานาชาติฉบับแรกของสหรัฐอเมริกาออกมาในปี 1891 และหลังจากนั้นหนังสือในอเมริกาโดยเฉลี่ยก็แพงขึ้นตามที่หลายฝ่ายกลัวจริงๆ ผลกระทบของกฎหมายลิขสิทธิ์นานาชาตินี้บ้างก็มีการกล่าวอ้างกันว่าทำให้คนอเมริกันอ่านหนังสือน้อยลงเนื่องจากหนังสือแพงขึ้น อย่างไรก็ดีการลดทอนการอ่านหนังสือน้อยลงของคนอเมริกันด้วยปัจจัยเพียงแค่ “ลิขสิทธิ์” ก็ดูจะเป็นการคิดอยู่ในกรอบ “ทุกอย่างแก้ด้วยการมี/บังคับใช้ลิขสิทธิ์” อันเป็นที่นิยมกันมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ดูจะไม่จริงนัก เพราะเอาจริงๆ ในช่วงนั้น การใช้เวลาว่างกับสิ่งที่ “ประเทืองปัญญา” หรือ “ขัดเกลาตัวตน” ของอเมริกาก็ค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งถ้าถามนักประวัติศาสตร์วัฒนธรรม การคุ้มครองหรือไม่คุ้มครองลิขสิทธิ์หนังสือของคนอังกฤษก็คงไม่ใช่ประเด็นนัก และเขาก็คงจะอธิบายว่าเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงของ “ธุรกิจศิลปวัฒนธรรม” ช่วงหลังสงครามกลางเมืองที่มีลักษณะรวมศูนย์ และพยายามจะแยก “ศิลปะชั้นสูง” กับ “ความบันเทิงชั้นล่าง” ออกจากกัน และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของกรอบความคิดด้านการผลิตสิ่งบันเทิงเริงรมย์อันไม่ประเทืองปัญญาเพื่อมาตอบสนองชนชั้นระดับล่างของสังคมโดยเฉพาะ [11]

อย่างไรก็ดีนั่นก็เป็นแค่จุดเริ่มเท่านั้นเพราะปลายทางของอาการ “ถดถอยทางภูมิปัญญา” นี้ก็คงจะเป็นการกำเนิดของสื่อใหม่สองสื่อในตอนปลายศตวรรษที่ 19 ที่มันได้ยึดเวลาว่างของผู้คนในศตวรรษที่ 20 ได้อย่างแทบจะเด็ดขาด และได้สร้างสิ่งที่รู้จักกันภายหลังว่า “ศิลปวัฒนธรรมมวลชน” (mass culture) ขึ้นมาอย่างแท้จริง สองสื่อที่ว่าคือ งานดนตรีบันทึกเสียง และภาพยนตร์ ซึ่งการเกิดขึ้นของสื่อเหล่านี้ในช่วงที่มีการบ่นกันอย่างแพร่หลายถึงสภาวะถดถอยทางปัญญาในสังคมก็ดูจะเป็นสิ่งบังเอิญอย่างน่าประหลาด แม้ว่าการบ่นแบบนี้ก็จะยังปรากฏซ้ำซากต่อไปอีกเป็นร้อยปี

 

อ้างอิง
[1] John Sutherland, Bestsellers: A Very Short Introduction, (Oxford: Oxford University Press, 2007)

[2]ปี 1790 สหรัฐอเมริกามีประชากร 4 ล้านคน ซึ่งในปี 1850 ประชากรขึ้นมาเป็น 21 ล้านคน (บางแหล่งก็อ้างว่ามีถึง 23 ล้านคน) ดู Paul S. Boyer, American History: A Very Short Introduction, (Oxford: Oxford University Press, 2012); Jason G. Gauthier, Measuring America: The Decennial Censuses from 1790 to 2000, (US Census Bureau, 2002), p. 141 <http://www.census.gov/prod/2002pubs/pol02marv.pdf>

[3]มีการประเมินว่าในตอนกลางศตวรรษที่ 18 ประชากรผู้ชายในอังกฤษมีอัตราการรู้หนังสือ 55-60% ส่วนในอาณานิคมนิวอิงแลนด์ผู้ชายมีอัตรารู้หนังสือสูงถึง 80% ดู Stephen Botein, Jack R. Censer and Harriet Ritvo, "The Periodical Press in Eighteenth-Century English and French Society: A Cross-Cultural Approach", Comparative Studies in Society and History, Vol. 23, No. 3 (Jul., 1981), p. 475

[4] ถ้ามองในแง่ประชากรตอนเริ่มศตวรรษที่ 19 ในปี 1800 สหราชอาณาจักรมีประชากรราวๆ 10 ล้านคน ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีประชากรเพียง 5 ล้านคน อย่างไรก็ดีพอมาในช่วงปี 1851 ประชากรอังกฤษมีราวๆ 17 ล้านคน แต่ประชากรของสหรัฐอเมริกาก็แซงไปเป็น 23 ล้านคนแล้ว และพอมาในราวปี 1900 อังกฤษที่ประชากรเพิ่มขึ้นพรวดพราดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาเป็น 30 ล้านคนก็ยังมีประชากรไม่ถึงครึ่งของสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ เพราะตอนนั้นประชากรของสหรัฐก็สูงกว่า 76 ล้านคนเข้าไปแล้ว ในแง่นี้แม้อัตราการรู้หนังสือของคนในสหราชอาณาจักรจะขยายตัวอย่างมหาศาลในศตวรรษที่ 19 ฐานผู้อ่านหนังสือของสหราชอาณาจักรก็ไม่น่าจะสู้สหรัฐที่อัตรารู้หนังสือสูงอยู่แล้วและอัตราการขยายตัวของประชากรเร็วกว่าได้ ดู http://en.wikipedia.org/wiki/Demography_of_the_United_Kingdom ; Jason G. Gauthier, Measuring America: The Decennial Censuses from 1790 to 2000, (US Census Bureau, 2002), p. 141 <http://www.census.gov/prod/2002pubs/pol02marv.pdf>

[5] ตัวอย่างที่มักจะยกกันคือนวนิยายเรื่องยาวของ Mrs Humphrey Ward ในปี 1888 อย่าง Robert Elsemere ซึ่งขายในอังกฤษได้ราว 60,000 เล่มในปีแรกที่ตีพิมพ์แต่ขายในสหรัฐได้ 100,000 เล่มในปีแรก ก่อนยอดขายจะทะลุหนึ่งล้านเล่มในสามปีหลังหนังสือออกจำหน่าย ซึ่งนี่จัดเป็นยอดขายที่สูงมากๆ ในยุคนั้น ดู John Sutherland, Bestsellers: A Very Short Introduction, (Oxford: Oxford University Press, 2007), p. 8

[6] Catherine Seville, The Internationalisation of Copyright Law: Books, Buccaneers and the Black Flag in the Nineteenth Century, (Cambridge: Cambridge University Press, 2006), pp. 146-252

[7] Adrian Johns, Piracy: The Intellectual Property Wars From Gutenberg to Gates, (Chicago: University of Chicago Press, 2009), pp. 295-302

[8] Siva Vaidhyanathan, Copyrights and Copywrongs: The Rise of Intellectual Property and How It Threatens Creativity, (New York: New York University Press, 2001), pp. 52-53

[9] Siva Vaidhyanathan, Copyrights and Copywrongs: The Rise of Intellectual Property and How It Threatens Creativity, (New York: New York University Press, 2001), p. 55

[10]ดู Jason G. Gauthier, Measuring America: The Decennial Censuses from 1790 to 2000, (US Census Bureau, 2002), p. 141 <http://www.census.gov/prod/2002pubs/pol02marv.pdf>

[11] Lawrence W. Levine, Highbrow/ Lowbrow: The Emergence of Cultural Hierarchy in America, (Massachusetts: Harvard University Press, 1988)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์วันสันติภาพโลก Bicara Patani ขอพื้นที่การเมืองและพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชน

$
0
0

23 ก.ย.2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 17.00 น.ของวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา มูลนิธิศักยภาพชุมชน และเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ร่วมกันออกแถลงการณ์เนื่องในวันสันติภาพสากล (International Peace Day) ในงานครบรอบ 1 ปี ของการจัดเวทีสาธารณะ Bicara Patani ที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี

ในแถลงการณ์กล่าวถึงบทเรียนอันโหดร้ายจากสงครามในรูปแบบต่างๆ ที่ล้วนแต่เกิดจากขึ้นจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมือง รวมถึงความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ของไทยด้วย และกล่าวถึงเจตนารมณ์ของการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติเพื่อสร้างสันติภาพ ซึ่งสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และเคารพในการตัดสินใจของประชาชน

"ในกระบวนการสร้างสันติภาพและสันติสุขอย่างแท้จริงและยั่งยืนทุกรูปแบบนั้น จำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ทางการเมืองและพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนตามมาตรฐานกฎหมายสากลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจะถือได้ว่าสันติภาพหรือสันติสุขที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการแยกขาดออกจากเจตจำนงของประชาชนในฐานะเจ้าของชะตากรรมและมีความชอบธรรม"

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้

แถลงการณ์เนื่องในวันสันติภาพโลก

สันติภาพ คือคำสากลที่เป็นที่รับรู้และยอมรับกันทั่วโลก เพราะสังคมโลกโดยรวมต่างได้รับบทเรียนอันโหดร้ายและเศร้าโศกจากภาวการณ์ที่ไร้ซึ่งสันติภาพ นั่นก็คือภาวการณ์ของสงคราม จะเป็นสงครามในระบบหรือนอกระบบสงคราม สมมาตรหรือสงครามอสมมาตร สงครามก่อการร้ายหรือสงครามจรยุทธ์

ล้วนแต่มาจากความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งสิ้น เฉกเช่นเดียวกันกับพิ้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยหรือปาตานี

ตามมาตรฐานสากลของเจตนารมณ์การจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ ภารกิจหลักสำคัญข้อหนึ่งก็เพื่อรักษาและสรรค์สร้างสันติภาพของทุกชนชาติทั่วโลก สอดคล้องตามหลักการประชาธิปไตยสากลซึ่งเคารพในการตัดสินใจของประชาชนในฐานะเจ้าของชะตากรรมอย่างแท้จริง

เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันสันติภาพโลกทางสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ร่วมกับมูลนิธิศักยภาพชุมชนและเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ จึงขอถือโอกาสนี้แสดงจุดยืนเพื่อสันติภาพสู่สันติสุขปาตานีอย่างแท้จริงและยั่งยืนดังนี้

"ในกระบวนการสร้างสันติภาพและสันติสุขอย่างแท้จริงและยั่งยืนทุกรูปแบบนั้น จำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ทางการเมืองและพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนตามมาตรฐานกฎหมายสากลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จึงจะถือได้ว่าสันติภาพหรือสันติสุขที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยการแยกขาดออกจากเจตจำนงของประชาชนในฐานะเจ้าของชะตากรรมและมีความชอบธรรม"


สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพ และการพัฒนามูลนิธิศักยภาพชุมชน และเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ

21 กันยายน 2557
เวลา 17.00 น. ณ มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายคนทำงาน 14 องค์กรรุก สนช.ค้านร่าง กม.ประกันสังคมฉบับ ก.แรงงาน

$
0
0

คปค.บุกยื่นหนังสือรองประธาน สนช.ค้านร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงาน ชี้ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตน เสนอเพิ่มหลักการ ‘ครอบคลุม อิสระ โปร่งใส-มีส่วนร่วม ยืดหยุ่นเป็นธรรม’ ในร่าง กม.ฉบับใหม่

23 ก.ย.2557 ที่รัฐสภา เวลา 14.30 น.เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร นำโดย นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้เข้าพบนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมกับยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับกระทรวงแรงงาน และเรียกร้องให้ สนช.ส่งร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว กลับไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่อีกครั้ง

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับกระทรวงแรงงาน เท่าที่เครือข่าย คปค.ร่วมกันศึกษาและติดตาม พบว่า ร่าง พ.ร.บ.ของกระทรวงแรงงานไม่เกิดประโยชน์กับผู้ประกันตน เพราะไม่ได้ครอบคลุมผู้มีสิทธิประกันตนทั้งหมดจำนวนกว่า 40 ล้านคน ขณะเดียวกันสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับ ก็ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้กองทุนประกันสังคมที่มีมูลค่าสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท น่าจะมีระบบบริหารจัดการใหม่ โปร่งใส และตรวจสอบได้

นายมนัส กล่าวต่อไปว่า ทางภาคีเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) อยากจะมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมในครั้งนี้ จึงได้เสนอหลักการที่กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่พึงมีทั้งหมด 4 ข้อ ประกอบด้วย 1) ความครอบคลุม ทั้งกลุ่มเป้าหมายคนทำงานและพื้นที่ รวมถึงครอบคลุมสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงจะได้รับด้วย 2) หลักความเป็นอิสระและบูรณาการของระบบบริหาร 3) หลักความโปร่งใสและมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน และ 4) หลักยืดหยุ่น เป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม

“โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนนั้น ผู้ประกันตนทุกคนที่ส่งเงินเข้ากองทุนทุกเดือน ต้องมีสิทธิเลือกผู้บริหารกองทุน ส่วนกรรมการบริหารกองทุนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย” นายมนัสกล่าว

นายมนัสกล่าวด้วยว่า ทางเครือข่ายอยากจะให้ สนช.ยับยั้งกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อน และส่งกลับไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่ แล้วนำเนื้อหาและ 4 หลักการของเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) บรรจุไว้ในหลักกฎหมายด้วย ก่อนที่จะส่งกลับไปให้ สนช.พิจารณาอีกครั้ง

ทางด้าน น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับกระทรวงแรงงาน ยังเป็นไปในรูปแบบเดิม จึงไม่เป็นอิสระ ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานราชการกระทรวงแรงงานอยู่ อย่างเช่น ปลัดกระทรวง ก็ยังเป็นประธานบอร์ด โดยตำแหน่ง ในความเห็นของตน ผู้บริหารกองทุนควรเป็นมืออาชีพทางด้านการบริหารกองทุน พร้อมกับเปิดโอกาส ให้ผู้ประกันตนทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหาร มีอำนาจเลือกผู้บริหารกองทุนด้วยตนเอง

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งทางเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ก็หวังว่าน่าจะได้รับโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในเสนอหลักการที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องคนทำงานทุกกลุ่ม หากรัฐบาลปฏิเสธการขอมีส่วนร่วมครั้งนี้ เท่ากับไม่ตอบโจทย์ของนายกรัฐมนตรีตาม ที่ประกาศไว้

สำหรับเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ประกอบด้วย องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบประเทศไทย และสมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูเอ็นผิดหวังศาลไทยพิพากษายืนจำคุก 'สมยศ'

$
0
0

โฆษกสำนักงานข้าหลวงด้านสิทธิมนุษยชน ยูเอ็น ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษายืนสมยศ พฤกษาเกษมสุข ย้ำ รบ.ทหาร คืนพื้นที่เสรีภาพ-ปฏิบัติตาม กม.สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

23 ก.ย.2557 รูเพิร์ต โคลวิลล์ โฆษกสำนักงานข้าหลวงด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังอย่างยิ่งต่อคำสั่งพิพากษายืนของศาลอุทธรณ์กรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณและนักกิจกรรม เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ต้องโทษจำคุก 11 ปีจากกรณีตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้น ซึ่งถูกระบุว่ามีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมีรายงานว่า ไม่มีการแจ้งวันอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้ทนายและครอบครัวของสมยศทราบก่อนแต่อย่างใด

ในแถลงการณ์ระบุว่า เมื่อปี 2556 ข้าหลวงใหญ่เคยแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อกรณีการพิพากษาลงโทษและโทษที่รุนแรงต่อสมยศ โดยชี้ว่า คดีของเขาแสดงถึงความเสื่อมถอยของการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ขณะที่คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการของยูเอ็นเคยลงมติว่าการควบคุมตัวสมยศเป็นการกระทำโดยพลการและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวเขา

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค. เป็นต้นมา เท่าที่ทราบ มีประชาชนที่ถูกคุมขังจากข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้นจาก 6 เป็น 22 คน และมีผู้ต้องหาอีก 8 คนที่ไม่อยู่ในการควบคุมตัว

"เรายังคงขอย้ำข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทหารให้คืนพื้นที่ของเสรีภาพในการแสดงออกและการอภิปรายสาธารณะ รวมถึงปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วย"
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แช่แข็งเหมาจ่ายรายหัว-ตัดงบผู้ป่วย สปสช.ส่อเค้าเผชิญวิกฤตการเงินรุนแรง

$
0
0

บอร์ด สปสช.ห่วงงบเหมาจ่ายรายหัวปี 58 ไม่พอหลังถูกแช่แข็ง เริ่มเห็นเค้าลางสารพัดปัญหา ด้าน รมว.สธ.คนใหม่ให้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รองปลัด สธ. หวั่นเกิดวิกฤตการเงินรุนแรงกระทบ รพ.ในสังกัด

23 ก.ย. 57 ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรก ของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. มีการพิจารณา “ข้อเสนอหลักเกณฑ์การดำเนินงาน และการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558” เป็นวาระเร่งด่วนเพื่อกระจายงบประมาณไปยังหน่วยบริการในพื้นที่

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาให้คงงบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2558 อยู่ที่ 2,895.09 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับงบเหมาจ่ายรายของปี 2557 รวมเป็นงบประมาณ 140,718.74 ล้านบาท 

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง สปสช. กล่าวว่า แม้ว่า สปสช.จะของบเพิ่มเติมที่เป็นไปตามสถานการณ์การบริการที่เกิดขึ้น อาทิ งบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ งบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช แต่กลับไม่ได้รับการจัดสรร ขณะเดียวกันยังถูกปรับลดลง เช่น งบประมาณที่ สปสช.เสนอเพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายจำนวน 35,429 ราย แต่กลับได้รับจัดสรรงบน้อยกว่าที่ขอไป 419 ราย ทั้งยังถูกตัดงบค่าตอบแทนพื้นที่เสี่ยงภัยและงบพื้นที่ทุรกันดารอีกว่า 435.20 ล้านบาท และเมื่อประกอบกับจำนวนผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2558 มีจำนวนลดลงกว่า 2 แสนคน จากการเปลี่ยนย้ายสิทธิ ส่งผลให้ภาพรวมงบเหมาจ่ายได้รับจัดสรรลดลง 

“จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ทำให้ภาพรวมของงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2558 ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ภาวะการเงินทั้งระบบค่อนข้างตึง คนทำงานโดยเฉพาะผู้ให้บริการอยู่ในภาวะลำบาก ดังนั้นจำเป็นต้องหาทางป้องกันเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ อย่างเช่น การทบทวนราคากลางรายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียม การต่อรองราคายา การจัดบริการสำรองยา และการขยายขอบเขตและเพิ่มเป้าหมายตรวจสอบการจ่าย และหากยังเป็นปัญหาคงต้องขออนุญาตให้ รมว.สาธารณสุข เสนอของบเพิ่มเติม” ดร.คณิศกล่าว

นพ.ทรงยศ เจริญชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในกรณีที่งบไม่เพียงพอ หน่วยบริการจะต้องควักกระเป๋าจ่าย ซึ่งแนวโน้นในปีนี้มีโอกาสที่จะเกิดภาวะวิกฤติการเงินที่มีความรุนแรงสูง ทั้งจากการบรรจุและเพิ่มเงินเดือนพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) การปรับเพิ่มค่ายาและค่าบริหาร และจะส่งผลกระทบต่อเงินบำรุงโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงอยู่ในภาวะติดลบ นพ.ทรงยศ กล่าวว่า เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมมาตรการรับมือ โดยปรับเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการ แต่สุดท้ายหากตัวเลขงบประมาณยังคงติดลบ รัฐบาลคงต้องมาช่วย โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขคงต้องของบมาช่วยหน่วยบริการเหล่านี้  

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่เกิดขึ้น นอกจากการปรับเงินเฟ้อ ค่าตอบแทน และเงินเดือนแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขยังขอให้ สปสช.ปรับลดการตัดเงินเดือนจากร้อยละ 32.3 ในปี 2557 ลงมาอยู่ที่ 29.4 ในปี 2558 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหางบประมาณในระบบรักษาพยาบาล นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า เหมือนกับสึนามิที่กำลังจะเกิดขึ้น เรื่องนี้รัฐต้องเข้าใจว่า ปัญหาไม่ได้เกิดจากกระทรวงสาธารณสุขใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สธ.ได้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการอย่างต่อเนื่อง โดยลดค่ายาและเวชภัณฑ์จากร้อยละ 32.2 ของค่าใช้จ่าย ลงมาอยู่ร้อยละ 29.4 ในปัจจุบัน เป็นความพยายามปรับตัวเพื่อให้ระบบอยู่ได้ แต่ก็เป็นความตึงตัวของงบประมาณเช่นกัน ดังนั้นจำเป็นที่ สธ. และ สปสช. ซึ่งอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ต้องผนึกการทำงานเพื่อให้ก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปได้ และที่สำคัญต้องดูว่ามีแหล่งรายได้อื่นหรือไม่ที่จะนำมาสนับสนุนตรงนี้.

ศ.นพ.รัชตะ รมว.สธ.สรุปในตอนท้ายว่า ปัญหางบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี 2558 ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดปัญหางบไม่เพียงพอนั้น เบื้องต้นคงต้องหารือในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านการลดค่าใช้จ่าย การรวมจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์เพื่อลดราคายา แต่ยังคงคุณภาพและมาตรฐานการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันต้องมุ่งลดการเจ็บป่วยของประชาชนโดยเดินหน้างานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลลงได้

ส่วนจะมีการขอเพิ่มงบกลางปีเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่นั้น คงต้องขอเวลาช่วง 1-2 ไตรมาสแรกก่อนเพื่อดูตัวเลขงบประมาณ หลังปรับเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารก่อน และหากยังไม่เพียงพอ คงต้องเสนอของบกลางปีเพิ่ม รมว.สธ.กล่าว


ที่มา สำนักข่าว Hfocus

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลื่อนไม่มีกำหนด เสวนา “ปี๊บ” ที่นิติ มช. เหตุทหารขอความร่วมมือ

$
0
0


เว็บไซต์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกาศ งานเสวนาวิชาการว่าด้วยเรื่อง “ปี๊บ” ซึ่งจัดโดยคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดในวันที่ 24 ก.ย. 2557 ที่ตึกนิติศาสตร์ ชั้น1 ถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด

ทีมา:เว็บไซต์คณะนิติศาสตร์ มช.

เมื่อสอบถามไปยัง สมชาย  ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในวิทยากร  ได้อธิบายถึงเหตุผลของการเลื่อนการจัดเสวนาว่าด้วยเรื่อง “ปี๊บ” ว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 สองนายได้เข้ามาพูดคุยเจรจาขอความร่วมมือให้งดจัดกิจกรรมเสวนาไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีความกังวลว่างานเสวนาครั้งนี้จะมีการพูดถึงเรื่องการเมือง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ออก MV ความจริงที่(อ)ยากจะบอก หวังสร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์

$
0
0


ตัวอย่างเพลง “ความจริงที่(อ)ยากจะบอก”
 

23 ก.ย.2557  เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ร่วมกับบริษัท ป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด แถลงข่าวเปิดตัวมิวสิควิดีโอ (เอ็มวี) เพลง “ความจริงที่(อ)ยากจะบอก” ที่สตูดิโอ บริษัท ป่าใหญ่ฯ

สุนทราพร เกษแก้ว ผู้จัดการโครงการ เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า การทำเอ็มวีเพลง “ความจริงที่(อ)ยากจะบอก” เพื่อต้องการสร้างบรรยากาศความเข้าใจในเรื่องเอดส์ เพราะการสื่อสารเรื่องเอดส์เป็นเรื่องสำคัญ หากคนเข้าใจและยอมรับจะทำให้การสื่อสารเรื่องเอดส์ง่ายขึ้น ผู้ติดเชื้อฯ ก็ไม่ต้องคอยปิดบัง และสามารถปรึกษาหารือคนใกล้ชิดทั้งในเรื่องการป้องกัน การดูแลรักษา หรือการใช้ชีวิตในมุมอื่นๆ ได้ แต่ทั้งนี้ ความพร้อมของแต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการประเมินของเขา เพราะหากบอกเรื่องการมีเชื้อฯ ไปแล้วคนรังเกียจ ผู้ติดเชื้อฯ ก็ไม่อยากจะบอก

“ปัจจุบัน มีการป้องกันการติดเชื้อฯ ทำให้เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อแรกเกิดลดลง คิดเป็นร้อยละ 2.3 ของเด็กที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อฯ หรือประมาณ 120 คน/ปี และเคยมีตัวเลขประมาณการณ์เด็กที่มีเชื้อฯ อายุ 0 - 19 ปี ว่ามีประมาณ 26,000 คน เอ็มวีนี้จึงตั้งใจทำเพื่อให้คนดูเห็นว่าเด็ก-เยาวชนที่ติดเชื้อฯ เหล่านี้ กำลังเติบโตขึ้นและมีชีวิตไม่ต่างจากคนอื่น ส่วนคนรอบข้างที่อาจจะรู้หรือยังไม่รู้ว่าเขามีเชื้อฯ ก็จะเห็นว่าการยอมรับและความเข้าใจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กที่มีเชื้อฯ ก้าวต่อไปข้างหน้าได้” สุนทราพร กล่าวและว่า นอกจากนี้ เอ็มวียังตั้งคำถามกับคนดูว่า ถ้ามีคนรักที่ติดเชื้อฯ เขาจะยอมรับได้ไหม ซึ่งคำตอบของคนทำก็คือ ต้องการให้เขายอมรับ และใช้ชีวิตตามปกติ ให้เหมือนเขาเป็นคนเดิม หากทำงานด้วยกันก็ไม่ควรตั้งข้อรังเกียจ หรือไล่ออก

ด้าน ชุติมา สายแสงจันทร์ คนทำงานดูแลเด็กและวัยรุ่นที่มีเชื้อเอชไอวี กลุ่มเราเข้าใจ กล่าวว่า เด็กที่เขาดูแลอยู่มีหลายแบบ ทั้งมั่นใจในการมีเชื้อเอชไอวีของตัวเอง ไม่มั่นใจเลย หรือมั่นใจว่าอยู่กับเอชไอวีได้ เติบโตได้เหมือนคนทั่วไป แต่ยังคงกังวลที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ เพราะคนภายนอกอาจยังไม่เข้าใจเรื่องเอชไอวี ซึ่งส่งผลให้การอยู่ร่วมกับคนอื่นเป็นไปได้ยาก

“การทำให้เยาวชนที่มีเชื้อฯ มั่นใจในคุณค่าของตัวเอง ต้องทำควบคู่กับการให้สังคมเปิดโอกาส เปิดรับความเข้าใจในเรื่องเอชไอวี เลิกตั้งข้อรังเกียจ กีดกัน เพื่อให้เอื้อต่อการพูดคุยกัน ซึ่งมันสะท้อนจากงานวิจัยล่าสุดที่พบว่า เยาวชนที่มีประสบการณ์ในการบอกคู่เรื่องเอชไอวี จะใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ได้มากกว่าคนที่ไม่เคยบอก” นางชุติมา กล่าว

ตัวแทนจากกลุ่มเราเข้าใจ ให้ข้อมูลว่า งานวิจัยของยูนิเซฟพบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อฯ ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วยนั้น มีอัตราการเสียชีวิตของทุกกลุ่มลดลง ยกเว้นเพียงช่วงวัยรุ่น อายุ 15 – 19 ปี ที่ยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น ซึ่งเขามองว่า การจัดการชีวิตในช่วงวัยรุ่นยังคงสุ่มเสี่ยงในหลายเรื่อง เช่น คิดว่าไม่กินยาบ้างก็คงไม่เป็นไร หรือย้ายไปอยู่กับครอบครัวของแฟน แล้วกลัวครอบครัวรู้ ก็เลยไม่กินยา เป็นต้น ซึ่งนี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เยาวชนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

สุริยนต์ จองลีพันธ์ ผู้บริหาร บริษัท ป่าใหญ่ฯ ให้สัมภาษณ์ว่า เอ็มวีเป็นสื่อที่เข้าถึงคนได้ง่าย เพราะเนื้อหาดึงดูด และมีเรื่องราวความรู้สึกที่จะทำให้คนคล้อยตามได้มาก จึงน่าจะทำให้คนรับสารได้ง่าย โดยเนื้อหาของเอ็มวีเพลงนี้ มีเนื้อหาเพื่อบอกผู้ติดเชื้อฯ ให้กล้าพูดเรื่องเอชไอวี/เอดส์กับคนที่สำคัญ แต่ไม่ใช่กับทุกคน เพราะเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปบอกกับทุกคน แต่ต้องดูว่ามีความจำเป็นหรือสำคัญหรือไม่

“พอเราคุยกับผู้ติดเชื้อฯ แล้วก็พบว่า เขาไม่บอกผลเลือดของเขาหรอก หรือถ้าบอกก็จะบอกกับบางคน โดยการประเมินก่อน ส่วนคนทั่วๆ ไปที่ดูก็จะเห็นว่า ทุกคนมีความจริงที่พูดยาก แต่การจะบอกหรือไม่บอกความจริงนั้น ให้เขาพิจารณาว่ามันมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน เพราะแม้จะเป็นความจริง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะพูดได้ทุกเรื่อง บางเรื่องมันอาจเป็นเรื่องยากที่จะบอก” สุริยนต์ กล่าว

ทั้งนี้ สามารถชมมิวสิกวิดีโอเพลง “ความจริงที่(อ)ยากจะบอก” ได้พร้อมกันทั่วประเทศ ทาง www.youtube.comหรือดาวน์โหลดได้ที่ www.facebook.com/TNPplusตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน นี้ เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปล่อยแล้ว 'เจ๋ง ดอกจิก' หลังศาลฎีกาให้ประกัน วงเงิน 7 แสน

$
0
0

23 ก.ย. 2557 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศาลอาญารัชดาภิเษก นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลยในคดีหมิ่นเบื้องสูง ที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ได้นำเงินสดอีก 2 แสนบาท มาวางรวมกับเงินสดจำนวน 5 แสนบาท ที่ใช้ในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลฎีกา โดยหลังศาลได้พิเคราะห์เหตุผลความจำเป็นแล้วจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายยศวริศ ระหว่างฎีกาโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ โดยตีราคาประกัน 7 แสนบาท เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา

นายวิญญัติ กล่าวว่า นายยศวริศน่าจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯช่วงเย็นนี้ โดยช่วงสายได้มีญาติเข้าไปเยี่ยมนายยศวริศ ซึ่งทราบแล้วว่า ได้ประกันตัวก็รู้สึกดีใจมากหลังถูกจำคุกมาเกือบ 5 เดือน พร้อมกันนี้ขอขอบคุณศาลที่เมตตา และคาดว่าในช่วงเย็นจะมีแกนนำหลายคนและมวลชนจำนวนหนึ่งเดินทางไปรับนายยศวริศที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งตนไม่อยากให้ฝ่ายความมั่นคงว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองแต่เป็นแค่การแสดงความยินดีกับนายยศวริศที่ได้รับอิสระเท่านั้น

ต่อมา เมื่อเวลา 20.20 น. นายยศวริศได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยเขาระบุว่า ดีใจมากที่ได้รับการปล่อยตัว พร้อมขอขอบคุณศาลที่ให้อนุญาต เพราะคดีนี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้ประกัน และขอขอบคุณ แกนนำ นปช. ทั้งหมด ที่ไม่เคยทอดทิ้งกัน และมาเยี่ยมกันตลอด รวมถึงขอบคุณคนเสื้อแดงด้วย

เขากล่าวว่า ขณะที่การใช้ชีวิตในเรือนจำ ก็ปฏิบัติเหมือนนักโทษทั่วไป และยังมีแนวร่วมคนเสื้อแดงอีกหลายคนที่ถูกคุมขังอยู่ ซึ่งทุกคนต้องดูแลตัวเอง เป็นอย่างดี เนื่องจากภายในเรือนจำค่อนข้างแออัด และนักโทษส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคตาแดง ส่วนในวันพรุ่งนี้ คงจะต้องไปทำบุญก่อน และจะไปพบกับแกนนำ และแนวร่วมคนเสื้อแดงต่อไป

ขณะที่บรรยากาศเมื่อได้รับการปล่อยตัวนายยศวริศ ได้เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำเรือนจำทันที โดยมี ลูกสาวของนายยศวริศสองคน เดินทางมารับและเมื่อพบหน้ากัน ลูกสาวได้โผเข้ากอดและร้องไห้ด้วยความดีใจ และมี นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ นายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. และ แนวร่วม นปช. จำนวนหนึ่ง มารอรับด้วย


ที่มา:เดลินิวส์ และ มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มต้านเหมืองอีสานจี้เลิกอัยการศึก 'รัฐ-เอกชนเดินหน้า ชาวบ้านห้ามเคลื่อน'

$
0
0

23 ก.ย 2557 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน และกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา จัดเวทีทิศทางปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ ‘กฎอัยการศึกกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: กรณีเหมืองแร่ประเทศไทย’ ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) โดยมีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนอีสานและชาวบ้านมาร่วมบอกเล่าถึงผลกระทบจากกฎอัยการศึก

จากกรณีความรุนแรงในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย และปัญหาการต่อสู้คัดค้าน พบว่าหลังจากการออกกฎอัยการศึก ตามคำสั่งของ คณะรักษาความสงบสุขแห่งชาติ (คสช.) นักสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวและชาวบ้านในพื้นที่ จึงได้ออกแถลงข่าว

เตียง ธรรมอินทร์ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ต.ห้วยสามพาด  อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี  กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่เคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานีมาเป็นเวลากว่า 14 ปี โดยมีการยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเหมืองมาตลอด หลัง คสช.ทำรัฐประหาร ชาวบ้านก็มีการยื่นหนังสือไปถึง ผบ.มทบ.24 จังหวัดอุดรธานี และเมื่อวันที่ 18 มิ.ย 57 เจ้าหน้าที่ทหารได้มีการเชิญตัวแทนชาวบ้าน 2 คน ไปชี้แจงข้อมูลโครงการเหมืองแร่โปแตช แต่ชาวบ้านต่อรองขอไปชี้แจง 5 คน เพื่อความปลอดภัย

เจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับชาวบ้านว่าตอนนี้อยู่ในช่วงประกาศใช้กฎอัยการศึก ขอให้ชาวบ้านหยุดเคลื่อนไหวก่อน ซึ่งชาวบ้านก็รับฟังและคิดว่าทหารจะช่วยเหลือได้ แต่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย 57 รายการพิเศษ คสช. ‘เดินหน้าประเทศไทย เดินหน้าคืนความสุขให้ชาวอุดรธานี’ เชิญรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ทหาร ตำรวจ และนักธุรกิจในจังหวัดเข้าร่วมเสวนา แต่ในเนื้อหาของรายการกลับสนับสนุนให้ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช โดยอ้างว่าทรัพยากรแร่เป็นทรัพยากรของชาติ สามารถขุดนำมาใช้ได้ ชาวบ้านหลายคนจึงเริ่มมีความกระวนกระวายใจจากที่ได้รับฟัง

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกาศใช้กฎอัยกาศึก ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถรวมตัวเคลื่อนไหวได้ในช่วงนี้ และยังมีการระงับการออกอากาศวิทยุชุมชนที่ชาวบ้านใช้สื่อสารกันในเรื่องการคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช

“ชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึก เพราะนายทุนและรัฐสามารถดำเนินโครงการได้อย่างสะดวก แต่ชาวบ้านดำเนินการเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้” เตียงกล่าว และระบุว่าในตอนนี้ชาวบ้านทำได้เพียงการส่งหนังสือไปถึงนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นที่พึ่งสุดท้ายที่ทำได้

สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน เล่าถึงปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตชภายใต้กฎอัยการศึกว่า ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ หลังจากที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก มีแนวโน้มการทำรายงาน EIA จะผ่านในช่วงนี้ เพราะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องระหว่างนายทุนและรัฐ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลเป็นอย่างมากเพราะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้

สุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่คัดค้าน ทั้งที่ควรให้ความเป็นธรรมกันทั้งสองฝ่าย และอยากเสนอข้อเรียกร้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นตามหลักสิทธิชุมชนมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพราะถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นในปัจจุบันอาจเป็นการสะสมปัญหาต่อไป

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึงกรณีเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยว่า  วันที่ 15 พ.ค. 57 ก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก เกิดเหตุการณ์คุกคามชาวบ้าน โดยมีชายฉกรรจ์ 300 คน พร้อมอาวุธครบมือทำร้ายชาวบ้าน มีการจับมัดมือไขว้หลังและรุมทำร้าย ทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บไปหลายราย เช้าวันที่ 16 พ.ค. 57 จึงมีการปล่อยตัว ต่อมาชาวบ้านเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐหาคนกระทำผิดมาลงโทษและขอกำลังมาคุ้มครองชาวบ้าน เพราะมีการปล่อยข่าวว่าจะมีการขนแร่อีกครั้ง ในคืนวันที่ 19 พ.ค. 57 แต่ข้อเรียกร้องของชาวบ้านกลับไม่เป็นผล

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า หลังมีการรัฐประหาร ได้มีการจัดกองกำลังจากจังหวัดทหารบกเลยจำนวน 1 กองร้อย เข้าไปในชุมชม และมีการจัดตั้งคณะกรรมการทหาร 4 ชุดขึ้นมา อาทิ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่ทองคำ คณะกรรมการน้ำ คณะกรรมการฟื้นฟูสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวล้วนแต่เป็นข้าราชการไม่มีชาวบ้านเกี่ยวข้อง

“เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่ากรรรมการ 4 ชุดนี้ไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่อะไร แต่พยามที่จะสร้างกระบวนการขึ้นมาให้ชาวบ้านกับบริษัทคุยกันให้ได้ ภายใต้ข้อเสนอขอขนแร่รอบใหม่” เลิศศักดิ์กล่าว

ตัวแทนกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อชาวบ้านเริ่มเห็นได้ชัดเจนแล้วว่าคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด ไม่ได้ทำงานเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของชาวบ้าน จึงมีการทำหนังสือไปถึงทหารในพื้นที่ว่า ไม่ยอมรับการทำงานของคณะกรรมการ 4 ชุด จึงเป็นสาเหตุให้ชาวบ้านถูกเรียกรายงานตัว และทหารในพื้นที่มีการออกประกาศอย่างชัดเจนว่า ‘การไม่ยอมรับกรรมการทั้ง 4 ชุด ก็เท่ากับไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหาร’

กิจกรรมทั้งหมดที่ชาวบ้านเคยทำก่อนประกาศใช้กฎอัยการศึก เช่น การจัดประชุม การรณรงค์ ถูกห้ามหมดดำเนินการทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดเลย หลังจากนั้นกรรมการทั้ง 4 ชุด เริ่มชักชวนชาวบ้านทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน(MOU) ระหว่างทหาร ข้าราชการ บริษัทเอกชน และชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่ยอมรับกระบวนทั้งหมด เพราะไม่มีส่วนร่วมกำหนด

เลิศศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกระบวนการยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาและยังมีความพยายามที่จะดึงชาวบ้านกลับไปร่วมทำบันทึกข้อตกลง แต่ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ

“ถ้าชาวบ้านยังดื้ออยู่ไม่ยอมทำบันทึกข้อตกลงร่วม ก็อาจมีเหตุการณ์ที่ต้องไม่เสียเวลาในการทำบันทึกข้อตกลง เช่น อาจจะมีการขนแร่โดยจะมีทหารเป็นคนคุ้มกันในการขนแร่รอบนี้ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดเลย” เลิศศักดิ์ กล่าวถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่

นิติกร ค้ำชู กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) กล่าวว่า หลังมีเหตุการณ์รัฐประหาร นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคอีสานอยู่ในภาวะที่ไม่มีสิทธิและไม่มีกฎหมายรับรอง ต้องอยู่ในความหวาดกลัว  ซึ่งกลุ่มดาวดินก็โดนเรียกไปรายงานตัว มีการขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ห้ามลงพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย 1 ปี แต่ก็ได้แจ้งกลับไปยังเจ้าหน้าที่ว่าคงไม่ได้จริงๆ จึงมีการเจรจาต่อรองเหลือ 1 เดือน

ตัวแทนกลุ่มดาวดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่สถานการณ์ในพื้นที่เริ่มผ่อนคลายลงจึงคิดว่าสามารถลงพื้นได้ แต่ระหว่างการเดินทางมีทหารโทรมาบอกว่า ถ้าไม่ฟังคำเตือน ไปถึงจะจับเลย จึงมีการปรึกษากันในกลุ่มและทุกคนเห็นตรงกันว่าจะจับก็จับ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดินทางไปถึงในพื้นที่ชาวบ้านได้เจรจากับทหารทำให้กลุ่มดาวดินสามารถเข้าพื้นที่ได้ แต่ก่อนที่จะเข้าไป ทหารมีการถ่ายรูปและยึดบัตรประชาชนไว้

“พอเข้าไปในพื้นที่ ก็เดินตามทุกฝีก้าว สุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยอะไรชาวบ้าน เพราะเขาเดินตามตลอด สุดท้ายก็โดนไล่กลับไป เขาบอกว่านักศึกษากลุ่มนี้ปลุกปั่นให้ชาวบ้านเกิดความแตกแยก” นิติกรเล่า

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้ประสานงานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวปิดงานด้วยการอ่านใบแถลงข่าว เวทีทิศทางปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 3 กฎอัยการศึก กับการจัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: กรณีเหมืองแร่ประเทศไทย ‘วัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนถูกคุกคามโดยกฎอัยการศึก’ ร่วมลงนามโดย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อีสาน (ศสส.) กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา และกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)

ใบแถลงข่าวระบุข้อเสนอ 2 ข้อ คือ 1.ยกเลิกกฎอัยการศึกเพื่อปิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนกลับคืนมาโดยรัฐบาล คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับรองสิทธิชุมชนตามมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 2.ต้องชะลอการพิจารณากฎหมายแร่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิเสรีภาพของประชาชนในสภานิติบัญญัติเพื่อนำไปพิจารณาในรัฐสภาหลังจากมีการเลือกตั้ง

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารเบรกจัดเสวนาจังหวัดบัวใหญ่ใน ม.ราชภัฏนครราชสีมา

$
0
0

ผู้ว่านครราชสีมากำชับห้าม ขรก.ให้ข่าว-แสดงความเห็นแยกจังหวัดบัวใหญ่ ทหารเบรกจัดเสวนาใน ม.ราชภัฏนครราชสีมา ด้านกลุ่มต้าน ลั่นล่า 5 หมื่นชื่อค้านแยกจังหวัด

23 ก.ย. 2557 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายธงชัย ลืออดุลย์ ผวจ.นครราชสีมา ได้เรียกหัวหน้าส่วนราชการ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งผู้แทนองค์กรต่างๆ ในเขตพื้นที่ 8 อำเภอ มาร่วมประชุมหารือประเด็นความขัดแย้งของภาคประชาชน กรณีการแบ่งแยกตั้งจังหวัดบัวใหญ่ วาระสำคัญ นายธงชัย ผวจ.นครราชสีมา ได้กำชับห้ามหัวหน้าส่วนราชการให้สัมภาษณ์ข่าว และแสดงความคิดเห็นการแยกจังหวัดที่ 78 อย่างเด็ดขาด พร้อมให้นายอำเภอ 8 อำเภอ เร่งจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม และประสาน อปท. จัดหน่วยเคลื่อนที่ตระเวนไปตามท้องถิ่น เพื่อให้บริการประชาชน และรับเรื่องร้องเรียนได้ทั่วถึง รวมทั้งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสรรงบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ให้พื้นที่ 8 อำเภอ มากขึ้น

ทหารเบรกจัดเสวนาใน ม.ราชภัฏนครราชสีมา
สำหรับบรรยากาศที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ หรือตึก 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา ช่วงสายที่ผ่านมา บรรดานักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา พากันแตกตื่นตกใจ เมื่อเห็นกลุ่มนายทหารแต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ จำนวนนับสิบนาย เดินทางด้วยรถตู้โดยสาร มาจอดด้านข้างอาคาร จากนั้นได้แยกย้ายเดินเท้าสำรวจตามห้องต่างๆ ที่อยู่ในอาคารเฉลิมพระเกียรติ เพื่อตรวจสอบกรณีกลุ่มบัณฑิตวิทยาลัย จัดงานเวทีเสวนาทางวิชาการ ประเด็น พ.ร.บ จัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่ หรือไม่

อดิศร เนาว์นนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มรภ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ฐานะประธานการจัดเวทีเสวนาดังกล่าวว่า เป็นที่น่าเสียดาย ที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ทั้งๆ ที่มิได้แอบแฝงทางการเมืองแต่อย่างใด ผู้จัดซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาปริญญาเอก และ โท ได้เชิญกลุ่มที่มีความคิดต่าง นำเสนอเหตุผลเชิงวิชาการ เพื่อมาพูดคุยถกเถียงกันด้วยเหตุ และผลบนเวทีฯ ดีกว่าการจัดกิจกรรมล่ารายชื่อตามท้องถนน สาเหตุเกิดจากกองทัพภาคที่ 2 อ้างไม่ต้องการขยายปมความขัดแย้ง และอาจหมิ่นเหม่กฎอัยการศึก จึงประสานผ่านทางผู้บริหาร มรภ. นครราชสีมา เพื่อร้องขอให้พวกเรางดจัดกิจกรรม

“ทหารในเครื่องแบบ เดินไปมาตามตึกเรียน เสมือนมาล้อมจับคนร้าย เป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่ รวมทั้งนักศึกษา และนักวิชาการ พวกเราไม่มีแนวคิดที่จะสร้างปัญหาให้เลย ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่ได้ยืนยันยกเลิกการจัดกิจกรรมกับนายทหารแล้ว” อดิศร กล่าว  

ลั่นล่า 5 หมื่นชื่อค้านแยกจังหวัด
เมื่อเวลา 11.45 น. ที่บ้านเลขที่ 381/179 ภายในหมู่บ้านจัดสรรพลล้านวิลล่า เขตเทศบาลนคร นครราชสีมา นายประทีป ณ นคร แกนนำกลุ่มนักรบเมืองย่า พร้อมแนวร่วม 20 คน ได้แสดงพลังคัดค้านการแยกจังหวัดบัวใหญ่ ถือป้ายข้อความ “นักรบเมืองย่า พิทักษ์ชาติ ราชบัลลังก์ กล้าหาญ เสียสละ ปกป้องสถาบัน” , “คัดค้าน แบ่งแยกแผ่นดินย่า” , “จะเรียกว่าหลานย่าโมได้อย่างไร ถ้าแก่ไม่ใช่คนนครราชสีมา ย่าฉันชื่อโม ” ท่ามกลางเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองนอกเครื่องแบบ คอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายประทีปกล่าวว่า พวกเราได้คำนึงถึงมาตรการความสงบเรียบร้อย จึงปรับเปลี่ยนกิจกรรม โดยไม่นำมวลชนเคลื่อนไปข้างนอก รวมทั้งงดการแสดงออกด้วยถ้อยคำที่รุนแรง และหยาบคาย กลุ่ม ฯ ต้องการให้คนโคราชทั้ง 32 อำเภอ ตระหนักถึงความสำคัญของความปรองดอง คือการรวมกัน มิใช่แยกออกจากกัน หากอำเภออื่นๆ มีแนวคิดต้องการจัดตั้งจังหวัดใหม่ ใช้โมเดลจังหวัดบัวใหญ่ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารประเทศ เป็นอุปสรรคของรัฐบาล เพราะมัวแต่แก้ปัญหาการแบ่งแยกจังหวัดในอีกหลายพื้นที่

นายประทีป กล่าว ขอเรียกร้องให้กลุ่มที่ต้องการจัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่ ยุติการเคลื่อนไหวอย่างแท้จริง หากสามารถทำได้ พวกเราก็พร้อมที่จะหยุดเช่นกัน โดยไม่มีเงื่อนไข จึงวิงวอนไปถึงผู้ที่มีอำนาจฝ่ายปกครอง และทหาร ตลอดจนรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ ฯ ดำเนินการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ข้อมูลเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ควรปิดบังจนถูกเป็นที่กล่าวหาว่าสองมาตรฐานในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามหากเบื้องหน้าหยุดการเคลื่อนไหว แต่เบื้องหลังยังดำเนินการต่อ เราก็พร้อมที่จะล่ารายชื่อให้ได้ 5 หมื่นคน คัดค้านการแยกจังหวัดเช่นกัน



ที่มา:กรุงเทพธุรกิจออนไลน์และ มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50861 articles
Browse latest View live




Latest Images