Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live

ซิป้าและทีดีอาร์ไอคาดซอฟต์แวร์ไทยโต 8.6%

$
0
0
ซิป้าและทีดีอาร์ไอแถลงผลการสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไทยปี 2556 โต 9.9% คาดการณ์สิ้นปี 2557 โตประมาณ 8.6% โดยยังต้องเร่งสร้างบุคลากรคุณภาพสูงต่อไป

 
วานนิ้ (31 กรกฎาคม 2557) สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ซิป้า) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แถลงผลการสำรวจมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยประจำปี 2556 และประมาณการปี 2557  โดยนางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รักษาการผู้อำนวยการ ซิป้า กล่าวว่า การสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เป็นกิจกรรมที่ ซิป้าจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามความก้าวหน้าตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของอุตสาหกรรม  โดยในปีนี้ได้ร่วมงานต่อเนื่องกับทีดีอาร์ไอ  
          
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอและ ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการสำรวจในปี 2556 ว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งมีผลต่อการสำรวจมูลค่าอุตสาหกรรมคือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีการปรับปรุงการจัดหมวดหมู่กิจกรรมของอุตสาหกรรมในประเทศไทย (TSIC) จาก TSIC2001 เป็น TSIC2009 ซึ่งมีการแบ่งหมวดหมู่ของธุรกิจซอฟต์แวร์ละเอียดมากขึ้น  ทำให้พบจำนวนประชากรที่เกี่ยวข้องในปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 985 บริษัท เป็น 1,705 บริษัท   คณะผู้สำรวจได้ปรับผลการสำรวจในปี 2555 ย้อนหลังให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้ผลการสำรวจในปีนี้สามารถเปรียบเทียบกับปี 2555 ได้ 
 
การสำรวจพบว่า ตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยในปี 2556 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการผลิตเฉพาะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย  45,652 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตจากปี 2555  ร้อยละ 9.9  โดยจำแนกเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 10,661 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 5.9 และมูลค่าการผลิตบริการซอฟต์แวร์ 34,991 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 11.2  โดยภาคการเงินยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์สูงที่สุด 
  
ในส่วนของตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวนั้นพบว่า ปี 2556 ที่ผ่านมามีมูลค่าการผลิตสูงถึง 5,730 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 34.4 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก เนื่องจากได้รับประโยชน์จากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลชุดก่อน โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 มีการส่งมอบรถยนต์จำนวนมาก ประกอบกับอุตสาหกรรมรถยนต์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
            
ในด้านการส่งออกนั้น ประเทศไทยมีการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ และซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวรวมกันทั้งสิ้นมูลค่า 5,700 ล้านบาทในปี 2556 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกบริการซอฟต์แวร์ร้อยละ 53.9   การส่งออกซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวร้อยละ 41.2  และที่เหลือเป็นการส่งออกซอฟต์แวร์สำเร็จรูปร้อยละ 4.9  
 
การสำรวจยังพบว่า ตลาดราชการมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ไม่รวมซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว และ 2 ใน 3 เป็นตลาดของภาคเอกชน  ทั้งนี้ยังคาดว่า มูลค่าตลาดของหน่วยงานราชการในปี 2557 จะชะลอตัวลงมาก สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้สถานที่ราชการหลายแห่งถูกปิดในต้นปี  หลังจากนั้น ยังมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจและหน่วยราชการ  ทำให้การตรวจรับงานและการจัดซื้อซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ตามโครงการใหม่ๆ ต้องล่าช้าออกไป ในส่วนของตลาดภาคเอกชนนั้น คาดการณ์ว่า องค์กรต่างๆ ยังจะไม่ลงทุนด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มากนัก เนื่องจาก คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตโดยรวมในปี 2557 ในอัตราประมาณร้อยละ 1.5  ซึ่งจะทำให้การผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ในประเทศมีมูลค่าประมาณ 49,560 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 8.6  โดยเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปประมาณ 11,698 ล้านบาท (เติบโตร้อยละ 9.7) และบริการซอฟต์แวร์ประมาณ 37,862 ล้านบาท (เติบโตร้อยละ 8.2)  ส่วนการผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวนั้น คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 12.3
            
กล่าวโดยสรุป มูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ รวมทั้งซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวของไทยจะเติบโตต่อเนื่องแม้จะชะลอตัวลงบ้างในปีนี้  และจะสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมากในอนาคต หากสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพในทุกด้าน.  
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนง.เลขาธิการวุฒิสภาเปิดรับ สนช.รายงานตัว คาดเลือกประธาน 8 ส.ค.

$
0
0
สนช.ทยอยเข้ารายงานตัว "ตวง" มาคนแรก เร่งสอบสอบคุณสมบัติ พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และลงรับสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 คาดประชุมนัดแรกเลือกประธาน สนช. 8 ส.ค. รองเลขา ป.ป.ช.ขอดูกฎหมาย สนช.ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่

 
 
1 ส.ค. 2557 วันนี้เป็นวันแรกที่เปิดให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้ารายงานตัวที่อาคารรัฐสภา 2 หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ซึ่งจนถึงขณะนี้มีผู้มารายงานตัวแล้ว 9 คน และคาดจะมีการประชุมนัดแรกเพื่อเลือกประธานและรองประธานในวันที่ 8 ส.ค.นี้
 
นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวถึงการรับรายงานตัว สนช.ว่า เจ้าหน้าที่วุฒิสภาได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เชื่อว่าระยะเวลา 5 วันที่ใช้รายงานตัวจะเพียงพอ ทั้งนี้ คาดว่า สนช.จะมารายงานตัวครบตามกำหนด ส่วนเรื่องรัฐพิธีต้องรอกำหนดอย่างเป็นทางการ และเมื่อเสร็จสิ้นรัฐพิธีแล้วจะนัดประชุมทันที ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมนัดแรกเพื่อเลือกประธานและรองประธานในวันที่ 8 ส.ค.นี้ สำหรับบุคคลที่จะมาเป็นประธานการประชุม คือ นายสมพร เทพสิทธา เพราะมีอาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ขณะที่ข้อบังคับการประชุมจะใช้ข้อบังคับ สนช.ของปี 2549
 
ส่วนกรณีของ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ที่กำลังมีการตรวจสอบว่าขาดคุณสมบัติหรือไม่ เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และลงรับสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะมีการตรวจสอบเพื่อรายงาน คสช.ต่อไป
 
สนช.ทยอยเข้ารายงานตัว "ตวง" มาคนแรก
 
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทยอยเข้ารายงานตัวแล้ว โดยนายตวง อันทะไชย อดีต ส.ว.สรรหา เดินทางมาเป็นคนแรก เผยไม่ทราบล่วงหน้า และไม่มีการทาบทาม ชี้ สนช.มีสัดส่วนทหารมาก ไม่มีผลต่อการทำงาน เพราะทุกคนมีเป้าหมายทำเพื่อบ้านเมือง
 
จนถึงขณะนี้มี สนช.เดินทางมารายงานตัวแล้ว 5 คน นอกจากนายตวง คือ นายศิระชัย โชติรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต ประธานที่ปรึกษากองทัพบก พล.อ.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ ผอ.สำนักนโยบายและแผน สำนักปลัดกระทรงกลาโหม พล.ท.สุวโรจน์ ทิพย์มงคล
 
รองเลขาฯ ป.ป.ช.ขอดูกฎหมาย สนช.ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่
 
นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กล่าวถึงการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช.ว่า ต้องรอฝ่ายเลขาธิการ สนช.ทำความเห็นสอบถามมายัง ป.ป.ช.ก่อน แต่ตามระเบียบของ สนช.เมื่อปี 2549 กำหนดให้ สนช.ได้รับการแต่งตั้งปี 2549 จะต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.
 
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมาย ระหว่างนี้ ป.ป.ช.จะนำรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 กับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 รวมถึงระเบียบของ สนช. มาเปรียบเทียบเพื่อดูรายละเอียดว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวให้อำนาจ ป.ป.ช.ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ สนช.หรือไม่
 
คสช.เตรียมเสนอ พ.ร.บ.งบฯ 58-กม.เร่งด่วนเข้าที่ประชุม สนช.
 
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขานุการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมสรุปผลการปฏิบัติงานรายสัปดาห์ของฝ่ายต่างๆ ในคสช. โดยที่ประชุมรับทราบการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 200 คน โดย พล.อ.อุดมเดช ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมดำเนินการตามกรอบปฏิทินของ สนช. โดยเฉพาะการเสนอเรื่องเร่งด่วนเข้าพิจารณาเป็นวาระแรกๆ อาทิ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ร่าง พ.ร.บ.เร่งด่วนตามที่ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ คสช.เห็นชอบกว่า 40 ฉบับ
 
พล.อ.อุดมเดช กล่าวในที่ประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ขอให้ทุกฝ่ายช่วยทำความเข้าใจกับสังคมว่า คสช.ไม่ใช่รัฐบาล เป็นงานคนละส่วนกัน แต่จะทำงานคู่ขนานกัน ซึ่งหลังจากนี้โครงสร้าง คสช.จะลดขนาดลงเพื่อให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานควบคู่กับรัฐบาล ขอให้แต่ละฝ่ายเร่งสรุปผลงานส่งให้สำนักงานเลขานุการ คสช. เพื่อเตรียมส่งข้อมูลต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะมีขึ้นภายในเดือนกันยายนนี้  
 
พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า หัวหน้า คสช.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกองกำลังรักษาความสงบ (กกล.รส) เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ และให้เร่งรัดจับกุมนายทุนและขบวนการบุกรุกทำลายป่า รวมถึงติดตามการดำเนินคดีให้ถึงที่สุด 
 
ส่วนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.อุดมเดช ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. ย้ำให้ทุกหน่วยเฝ้าระวังและป้องกันกลุ่มก่อความไม่สงบก่อเหตุในชุมชนใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรมพลังอาชีวะปกป้องชาติและราชบัลลังก์มอบเสื้อยืดให้แก่ พล.ต.วีระ ลือวิชนะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อนำไปมอบให้ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
 
ที่มา: เรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญชี้รายชื่อ สนช. ไม่หลากหลายขัด ม.7 รธน.57

$
0
0
 
1 ส.ค. 2557 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยออกแถลงการณ์ "คัดค้านการประกาศรายชื่อ สนช. ที่ไม่หลากหลายขัด ม.7 รธน.57" เตรียมยื่นคำร้องหรือยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 7 หรือไม่
 
ทั้งนี้รายละเอียดทั้งหมดของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
คัดค้านการประกาศรายชื่อ สนช. ที่ไม่หลากหลายขัด ม.7 รธน.57
 
ตามที่ได้มีการประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 200 คน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมานั้น ปรากฏโดยชัดแจ้งว่า รายชื่อ สนช.ที่ประกาศส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มาจากตัวแทนของตำรวจทหารมากกว่า 112 คนหรือ 56 % (ประกอบด้วยทหารบก 66 คน ทหารเรือ 19 คน ทหารอากาศ 18 คน ตำรวจ  9 คน) มีฝ่ายพลเรือนเพียง 88 คนเท่านั้นและไม่หลากหลายตามกลุ่มต่าง ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ซึ่งไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 7 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “การถวายคำแนะนำเพื่อทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้คำนึงถึง ความรู้ความสามารถ ความหลากหลายของบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ ในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ และภาคอื่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ”
 
การประกาศรายชื่อ สนช. ดังกล่าวจึงเข้าข่ายการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวโดยชัดแจ้งดังนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงขอใช้สิทธิตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวดังกล่าว ในการยื่นคำร้องหรือยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวว่าประกาศแต่งตั้ง สนช.ดังกล่าว เข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 7 หรือไม่ และจะขอให้ผู้ตรวจการส่งเรื่องให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.ไว้พรางก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา โดยสมาคมฯ จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในวันจันทร์ที่  4 สิงหาคม 2557 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ หลักสี่ กทม.
 
ประกาศมา ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2557
 
นายศรีสุวรรณ  จรรยา
เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“แดง ชินจัง” สารภาพยิง M79 ใส่เวที กปปส.

$
0
0
 
ตำรวจได้นำ นายยงยุทธ บุญดี หรือ “แดง ชินจัง” ผู้ถูกกล่าวหาว่า ก่อเหตุยิงระเบิด เอ็ม 79 ใส่หลายสถานที่ในกรุงเทพฯ รวมถึงเวทีชุมนุมของกลุ่มกปปส. เมื่อปีที่แล้ว มาแถลงข่าว และว่า นายยงยุทธสารภาพ โดยไม่ได้ถูกจ้างวานจากใคร 
 
1 สิงหาคม 2557 มติชนออนไลน์รายงานว่า ตำรวจได้นำ นายยงยุทธ บุญดี หรือ “แดง ชินจัง” ผู้ถูกกล่าวหาว่า ก่อเหตุยิงระเบิด เอ็ม 79 ใส่หลายสถานที่ในกรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว มาแถลงข่าว โดยนายยงยุทธ เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น โดยไตร่ตรองไว้ก่อน กระทำให้เกิดระเบิด มีเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และยุทธภัณฑ์ ไว้ในครอบครอง 
 
โดยตำรวจกล่าวว่า นายยงยุทธได้ยอมรับว่า ร่วมกับพวกก่อเหตุยิงระเบิด เอ็ม 79 ใส่อาคารชินวัตร 3 ถนนวิภาวดี เวที กปปส. ถนนแจ้งวัฒนะ ห้างโลตัสสาขาสุวินทวงศ์ ห้างโลตัสสาขาแจ้งวัฒนะ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. รวมถึงขว้างระเบิด อาร์จีดีไฟว์ ใส่เวที กปปส. บริเวณลานน้ำพุ ริมถนนสายบ้านบึงแกลง จังหวัดระยอง และธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนเลียบคลองสอง และอื่นๆ รวม 11 ครั้ง
 
โดยนายยงยุทธ สารภาพว่า ไม่ได้รับการว่าจ้างจากใคร แต่รู้จักกับนายชัชวาลย์ ปราบบำรุง ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ ในที่ชุมนุมทางการเมือง เป็นผู้ชักชวนให้ร่วมก่อเหตุ และส่วนใหญ่ตนจะเป็นผู้ติดตามนายชัชวาลย์ มีเพียงครั้งเดียว ที่ลงมือก่อเหตุเองที่อาคารชินวัตร 3
 
ส่วนวิธีการยิง ไม่มีการฝึก แต่เรียนรู้จากนายชัชวาลย์ ประกอบกับก่อนก่อเหตุทุกครั้งก็จะมีการดื่มสุรา เพื่อย้อมใจ ก่อนหลบหนีไปกลบดานที่จังหวัดบุรีรัมย์ จนกระทั่งถูกจับกุมได้ พร้อมปฎิเสธด้วยว่า ไม่รู้จักกับนายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำคนเสื้อแดงจังหวัดปทุมธานี เป็นการส่วนตัว แต่เข้าร่วมชุมนุมที่เวทีของโกตี๋เท่านั้น
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพพนักงานมหาวิทยาลัยอังกฤษ: University and College Union

$
0
0

 

สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศอังกฤษ ย่อมประกอบด้วยบุคลากรสองประเภทหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ บุคลากรสายผู้สอน (academic staff)กับบุคลากรสายสนับสนุน (support staff)ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบุคลากรประเภทใดก็ตาม ต่างก็มีบทบาทที่สำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของตน เพื่อให้ภารกิจในการให้บริการทางการศึกษาแก่นักศึกษาเจริญรุดหน้าไปในอนาคต

สถาบันอุดมศึกษาในประเทศอังกฤษจึงมีความจำเป็นที่จะต้องคัดบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการและการบริการทางการศึกษา ให้เข้ามาทำงานในสถาบันการศึกษาของตน ในขณะเดียวกัน สถาบันก็อาจใช้ประโยชน์จากบุคลากรในด้านต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมทางวิชาการและกิจกรรมทางธุรกิจอื่นๆ ของสถาบันการศึกษา อีกด้วย สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอังกฤษ จึงได้พยายามเฟ้นหาบุคคลให้เข้ามาทำงานในสถาบันโดยบุคลากรของสถาบันการศึกษาที่ดำรงสถานะต่างๆ จะถูกผูกพันด้วยสัญญาจ้างแรงงาน (contract of employment)ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานจากทางสถาบันการศึกษาแบบรายภาคการศึกษา (fixed-term employment)หรือการจ้างงานจากทางสถาบันการศึกษาในลักษณะสัญญาจ้างถาวร (permanent employment)

สถาบันอุดมศึกษาของอังกฤษในฐานะที่เป็นผู้รับบุคลากรเข้ามาทำงานโดยจ่ายค่าจ้างกับบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาในฐานะที่เป็นบุคคลซึ่งตกลงทำงานให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเพื่อรับค่าจ้าง ภายใต้เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการการเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่น ของสถาบันอุดมศึกษาหรือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาอันเกี่ยวกับการจ้างงาน ย่อมล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้เรื่องของแรงงานสัมพันธ์ (labour relations)ทั้งสิ้น

อนึ่ง แม้ว่าการดำเนินกิจกรรมบริการสาธารณะด้านการจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศอังกฤษ จะมีกฎหมายให้อำนาจสถาบันอุดมศึกษาในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาเอาไว้ ตัวอย่างเช่น  พระราชบัญญัติFurther and Higher Education Act 1992อันเป็นกฎหมายที่กำหนดการยกฐานะของวิทยาลัยอาชีวะและวิทยาลัยอาชีพต่างๆ ให้กลายมาเป็นสถาบันอุดมศึกษาของท้องถิ่น โดยกฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่สถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการให้บริการทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ที่สนใจมาศึกษาในระดับอุดมศึกษา (โปรดดู The National Archives, Further and Higher Education Act 1992, http://www.legislation.gov.uk/ukpga/1992/13)  อย่างไรก็ตาม กฎหมายอังกฤษมิได้มุ่งจะกำหนดนิติสัมพันธ์ทางแรงงานระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาภายใต้สัญญาทางปกครองแต่ประการใด แต่กฎหมายอังกฤษกลับมุ่งกำหนดนิติสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา ให้เป็นความผูกพันภายใต้สัญญาจ้างแรงงาน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของอังกฤษ

เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา เป็นไปในรูปแบบของความผูกพันทางด้านแรงงานสัมพันธ์แล้ว บุคลากรของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัย จึงสามารถรวมตัวกันตามกฎหมายเพื่อการแสวงหาแนวทางส่งเสริมสิทธิเกื้อกูลและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างงานและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา

ดังนั้น บุคลากรของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วทั้งประเทศอังกฤษ จึงได้รวมตัวกันตั้ง สหภาพพนักงานมหาวิทยาลัย(University and College Union - UCU)อันถือเป็นสหภาพแรงงาน (Trade union) ประเภทหนึ่ง (โปรดดูเพิ่มเติมใน University and College Union,  Our history, http://www.ucu.org.uk/2176) โดยสหภาพพนักงานมหาวิทยาลัยของประเทศอังกฤษ ก่อตั้งขึ้น เพื่อสร้างอำนาจต่อรองของบุคลากรของสถาบันการศึกษาในฐานะที่เป็นลูกจ้างต่อสถาบันอุดมศึกษาในฐานะที่เป็นนายจ้าง ผ่านการต่อสู้ทางแรงงานต่างๆ ที่ทางสหภาพพนักงานมหาวิทยาลัยของอังกฤษ ได้นำมาใช้เพื่อผลทางเศรษฐกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์โดยเฉพาะ เช่น การชุมนุมประท้วงเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานต่อสถาบันอุดมศึกษา การคว่ำบาตรการเจรจากับสถาบันอุดมศึกษาเกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์ และการนัดหยุดการเรียนการสอนเพื่อกดดันสถาบันอุดมศึกษา เป็นต้น

การจัดตั้งสหภาพพนักงานมหาวิทยาลัยของอังกฤษ ย่อมส่งผลดีในแง่ของการเจรจาต่อรองและการกดดันสถาบันอุดมศึกษา ในเรื่องเกี่ยวกับเงินเดือน สวัสดิการและสิทธิเกื้อกูลอื่นๆ ที่บุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานมหาวิทยาลัยพึ่งจะได้รับอย่างเหมาะสม ภายใต้การปฏิบัติอย่างเป็นธรรมในสังคมแรงงาน ตัวอย่างเช่น การนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาอังกฤษครั้งใหญ่ ในปี ค.ศ. 2013 (UK higher education strike 2013) เพื่อประท้วงและเรียกร้องการจ่ายค่าตอบแทนที่มีความไม่เป็นธรรมหรือการจ่ายค่าตอบแทนไม่ได้สัดส่วนกับมาตรฐานค่าตอบแทนที่ควรจะเป็นตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดเอาไว้ รวมไปถึงการตัดเงินเดือนของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยไม่มีเหตุจำเป็น (โปรดดูเพิ่มเติมใน BBC News, University strike expected to go ahead on Thursday, http://www.bbc.com/news/education-24726743)   

สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น การรวมตัวของพนักงานสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อตั้งสหภาพพนักงานมหาวิทยาลัย สำหรับดำเนินกิจกรรมอันนำมาซึ่งผลทางเศรษฐกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์โดยเฉพาะ (industrial actions) ย่อมเป็นไปได้ยากยิ่งด้วยเหตุว่าความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานมหาวิทยาลัยกับสถาบันอุดมศึกษาเป็นไปในรูปแบบของสัญญาทางปกครองมิใช่รูปแบบของสัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นการยากที่บุคลากรสถาบันอุดมศึกษาของไทยจะสามารถใช้สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วง การคว่ำบาตรหรือการนัดหยุดการเรียนการสอน ต่อสถาบันอุดมศึกษา อนึ่ง กฎหมายแรงงานไทยในปัจจุบัน ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2543ก็ไม่ได้เปิดช่องให้ลูกจ้างตามสัญญาจ้างในกิจการบริการสาธารณะทุกประเภท (รวมถึงพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาสายวิชาการและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาสายสนับสนุน) สามารถทำกิจกรรมต่อรองบางประการอันนำมาซึ่งผลทางเศรษฐกิจอันเกี่ยวเนื่องผลประโยชน์ทางด้านการคุ้มครองแรงงานหรือแรงงาน  เช่น การนัดหยุดงาน เป็นต้น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มผู้ชุมนุม กคป.ชุดแรกรายงานตัวอัยการคดีปิดล้อม ปตท.

$
0
0
กลุ่มผู้ชุมนุม กคป.ชุดแรกกว่า 30 คน รายงานตัวอัยการ คดีปิดล้อม ปตท. เตรียมหลักทรัพย์ประกันคนละ 40,000 บาท

 
1 ส.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความ นำผู้ชุมนุมกลุ่มกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) จำนวนกว่า 30 คน ผู้ต้องหา เข้ารายงานตัวกับพนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 8 คดีมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง บุกรุกสถานที่ราชการ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากกรณีเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2557 นพ.ระวี มาศฉมาดล แกนนำ กคป. ได้นำผู้ชุมนุมและรถบรรทุกติดเครื่องขยายเสียงไปปิดล้อมและบุกรุกเข้าไปในพื้นที่สำนักงานบริษัท การปิโตเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จำกัด (มหาชน) สาขาใหญ่ ถนนวิภาวดี-รังสิต โจมตีการทำงานของรัฐบาล
 
น.ส.พวงทิพย์ กล่าวว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนพร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการเรียบร้อยแล้ว จึงต้องนำตัวผู้ต้องหาที่เหลืออยู่อีกทั้งหมด 138 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กคป. มารายงานตัวต่อพนักงานอัยการ รวม 3 กลุ่ม โดยวันนี้เป็นการนัดรายงานตัวกลุ่มแรกประมาณกว่า 30 คน ส่วนกลุ่มที่ 2 และ 3 นัดเข้ารายงานตัววันที่ 5 ส.ค. และ 8 ส.ค.นี้ ประมาณกลุ่มละ 50 คน ส่วน นพ.ระวี และแกนนำ กคป.คนอื่น ๆ ทางอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาไปก่อนหน้านี้ เบื้องต้นหลังจากรายงานตัวกับพนักงานอัยการแล้ว ก็จะขอประกันตัวตามหลักทรัพย์เดิมซึ่งเป็นเงินสดคนละประมาณ 40,000 บาท  โดยทางอัยการจะนัดสั่งคดีอีกครั้ง ส่วนแนวทางการต่อสู้คดีหลังจากนี้จะยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าการชุมนุมปิดล้อม ปตท.ของกลุ่ม กคป. เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ขัดต่อกฎหมาย พร้อมเตรียมรวบรวมพยานหลักฐานและพยานบุคคลเพิ่มเติม เพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ปีน้ำมันรั่ว เกาะเสม็ด (ฟื้นฟู) เสร็จแล้วจริงหรือ?

$
0
0

 

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง ชาวประมงพื้นบ้านและกลุ่มแม่ค้าผู้ได้รับผลกระทบจาก เหตุการณ์นํ้ามันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) (PTTGC) รั่วไหลในทะเล จ.ระยอง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 รวม 455 ราย โดยความช่วยเหลือทางกฎหมายของคณะทํางานตรวจสอบข้อเท็จจริงและจัดทํารายงานกรณีน้ำมันดิบของบริษัท PTTGC รั่วไหลออกทะเล จ.ระยอง ในคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์ข้อมูลชุมชน (The Community Resources Centre: CRC) ตั้งคณะทนายยื่นฟ้อง PTTGC ในฐานะผู้ก่อมลพิษ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในฐานะผู้มีหน้าที่ตามกฎหมาย ในการบําบัดแก้ไขป้ญหามลพิษและบรรเทาผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชนและทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง ต่อศาลจังหวัดระยอง ศาลแพ่ง และศาลปกครองระยอง ก่อนการฟ้องร้องคดีจะหมดอายุความในวันที่ 27 ก.ค. 2557

สำออย รัตนวิจิตร นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง กล่าวว่า การฟ้องร้องในครั้งนี้ ไม่ได้เน้นเรียกร้องเงินเยียวยา แต่ต้องการให้เกิดการจัดการสิ่งแวดล้อมกลับคืนสู่สภาพเดิม เพื่อที่จะสามารถกลับมาประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน มีรายได้เลี้ยงชีพเท่าก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำมั่นรั่ว รวมถึงกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างเต็มรูปแบบ


เป็นเวลาเกือบหนึ่งปี หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบของ PTTGC รั่วไหลออกทะเล จ.ระยอง แต่ดูเหมือนว่าการเยียวยาผลกระทบที่เกิดกับชาวบ้านและทรัพยากรธรรมชาติ จะยังไม่สามารถฟื้นฟูวิถีชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านให้กลับคืนมาดังเดิมได้

วีรศักดิ์ คงณรงค์ สมาชิกคนสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง กล่าวว่า เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นถือว่าสาหัสมาก แม้ว่าภายหลังเกิดเหตุการณ์ระยะแรกจะยังพอหาปลาได้บ้าง แต่ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจ งดบริโภคอาหารทะเล ทำให้จำหน่ายปลาไม่ได้ ขณะที่ชาวประมงเองก็ไม่กล้านำปลาที่จับได้ในช่วงนั้นออกจำหน่าย เนื่องจากกลัวน้ำมันดิบปนเปื้อนในอาหารไปสู่ผู้บริโภค

ทั้งนี้ รายได้จากการประมงยังลดลงอย่างเห็นได้ชัด ยืนยันได้จากบัญชีครัวเรือนที่แต่คนทำไว้ รายได้ที่เคยได้รับจากการทำประมงก่อนจะเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว อยู่ที่ประมาณ 500 -10,000 บาทต่อวัน แต่หลังเกิดเหตุการณ์ทำให้จำหน่ายอาหารทะเลไม่ได้ และหาอาหารทะเลได้น้อยลงมาก ขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เพราะต้องออกทะเลไปไกลขึ้น กระทั่งต้นปีที่ผ่านมามีชาวประมงบางส่วนเริ่มเปลี่ยนอาชีพ หันไปรับจ้างประมาณ 40% ค่าแรงที่ได้รับจากการรับจ้างอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน ทั้งยังเป็นงานที่ไม่ถนัด แต่ที่คนส่วนใหญ่ยังยึดอาชีพประมงอยู่เพราะไม่มีทางเลือก และขาดความรู้ในการประกอบอาชีพอื่น

นอกจากนี้ การทำประมงโป๊ะเชือก เครื่องมือประมงประจำที่ขนาดใหญ่ ที่ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนจากกรมประมง และศูนย์พัฒนาประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ได้ผลลดลงอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดสำคัญของทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล เนื่องจากโครงสร้างของเครื่องมือยึดตรึงอยู่กับพื้นทะเล ห่างจากชายฝั่งประมาณ 3-4 กม. และมีการบันทึกผลการจับสัตว์น้ำและรายได้อย่างเป็นระบบ

ชาวประมงโป๊ะเชือก จ.ระยอง กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะกู้โป๊ะแบบวันเว้นวัน แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว ต้องเปลี่ยนมากู้แบบวันเว้นสองวัน เพราะถ้ากู้ตามปกติจะขาดทุน เนื่องจากมีปลาน้อยมาก 

ในช่วงฤดูกาลก่อนน้ำมันดิบรั่ว ช่วงเดือน ต.ค. 2555 - เม.ย. 2556 รายได้จากการประมงโป๊ะเชือกอยู่ที่ 898,370 บาท แต่ฤดูกาลหลังเกิดเหตุการณ์  เดือน พ.ย. 2556 - เม.ย. 2557 รายได้จากการประมงโป๊ะเชือกลดลงไปมากกว่า 3 แสนบาท เหลือเพียง 574,538 บาท รวมถึงปลาที่เคยกู้ได้หลายสิบกิโลกรัมอย่างปลาจะละเม็ด หลังเกิดเหตุการณ์จับได้เพียง 2 ตัว และเป็นปลาขนาดเล็ก ส่วนปลาที่อยู่ในพื้นที่ อย่างปลาสากเหลือง ปลาข้างเหลือง ลดปริมาณลงกว่าครึ่ง

ด้านอำนาจ ศรีชลา ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านกังวลใจกันมากคือเรื่องของสุขภาพ เนื่องจากมีชาวประมงบางคนได้รับสารเคมีที่ใช้ย่อยสลายคราบน้ำมันดิบ โปรยถูกโดยตรงระหว่างออกหาปลาในช่วงที่น้ำมันดิบเพิ่งรั่วไหล สารพิษอาจสะสมในร่างกายจนเกิดโรค นอกจากนี้ เริ่มมีชาวประมงหลายรายที่มีอาการผื่นแพ้ ซึ่งแพทย์ระบุว่าเป็นอาการที่เกิดจากการสัมผัสสารพิษ ถ้าหากเป็นไปได้ควรจะมีการตรวจเช็คสุขภาพให้ชาวบ้านทุกปี ทว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กลับไม่มีหน่วยงานด้านสาธารณสุขเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง

ขณะที่ ไพบูลย์ เล็กรัตน์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า PTTGC อ้างว่าให้เงินเยียวยารายละ 30,000 บาท ที่ PTTGC และหน่วยงานรัฐเป็นผู้กำหนด โดยปฏิเสธข้อเรียกร้องของชาวบ้าน แต่ยังไม่สามารถตกลงเรื่องเงินชดเชยสำหรับผู้ได้รับผลกระทบได้ และที่ PTTGC รวมถึงหน่วยงานภาครัฐออกมาให้ข่าวว่าพื้นที่ได้รับการเยียวยา ปัญหาได้รับการแก้ไข ปลอดภัยแล้ว ชาวบ้านขอยืนยันเลยว่าปัญหายังไม่ได้ถูกแก้ไข ปัญหามันเกิดอยู่ในทะเล แต่วิธีการพูด การนำเสนอ หรือทำความเข้าใจกับสังคมมักไม่พูดถึงผลกระทบในทะเล แต่จะเลี่ยงไปพูดถึงเกาะเสม็ดแทน

ด้านสุวรรณ นันทศรุต ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 ยืนยันกับชาวบ้านว่า กรมควบคุมมลพิษในฐานะหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการของ กปน. ได้ลงพื้นที่จัดเก็บตัวอย่างน้ำบริเวณรอบเกาะเสม็ด 12  สถานี ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 2556 ถึงปัจจุบัน พบว่า แม้จะมีการการปนเปื้อนสารปรอท และสารประกอบปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน เกินค่ามาตรฐานในช่วงแรก แต่หลังวันที่ 23 ก.ย. 2556 - 19 ก.ค. 2557 ค่าการปนเปื้อนได้กลับสู่ระดับปกติ

ขณะที่การเก็บตัวอย่างเพื่อวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งทั้งหมด 9 สถานี บริเวณที่มีปัญหา คือ สวนรุกขชาติเพ หาดพะยูน และหาดแม่รำพึง แต่เป็นบริเวณที่มีการปนเปื้อนน้ำเสียและโลหะหนักจากบ้านเรือน จากพื้นที่เกษตรด้านบน ส่วนปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานถึงเกินเล็กน้อย

สอดคล้องกับการแถลงข่าว ครบรอบ 1 ปี น้ำมันรั่วไหลลงทะเล จ.ระยอง โดยกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2557 โดยสรุปว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อม บริเวณรอบเกาะเสม็ด และชายฝั่งทะเล จ.ระยอง ณ วันที่ 25 ก.ค. 2557 ภาพรวมคุณภาพน้ำทะเลมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล น้ำทะเลมีสภาพใส ไม่พบคราบน้ำมันใน น้ำทะเลและบนชายหาด ระบบนิเวศหาดทรายพบว่ามีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ควรมีการติดตามคุณภาพน้ำ ตะกอนดิน และการปนเปื้อนหาดทรายอย่างต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2556 ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการศึกษาผลกระทบในระยะยาวต่อทรัพยากรธรรมชาติและฟื้นฟูให้กลับไปอยู่ในสภาพเดิม จัดทำแผนงานแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน จ.ระยอง

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอกรอบแผนงานแก้ไข และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน จ.ระยอง ต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และจัดส่งไปยัง กปน. รวมถึงบริษัท PTTGC เพื่อดำเนินการตามแผนงานที่กำหนด โดยแผนงานประกอบด้วย

1. แผนงานแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม ประกอบด้วย 5 กิจกรรม คือ 1) การฟื้นฟูผลกระทบต่อระบบนิเวศ 2) การฟื้นฟูผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต 3) การฟื้นฟูผลกระทบต่อการบริการของระบบนิเวศ 4) การติดตามเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และ 5) การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของเกาะเสม็ด มีโครงการรวม 25 โครงการ

2. แผนงานติดตามและประเมินผล เป็นการติดตามทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม 7 โครงการ ได้แก่ โครงการติดตามประเมินผล 1) ปัจจัยทางสมุทรศาสตร์ 2) แนวปะการัง 3) แหล่งหญ้าทะเล 4) ระบบนิเวศชายหาด/หาดหิน 5) ระบบนิเวศป่าชายเลน 6) สัตว์ทะเลหายาก และ 7) ด้านมลพิษ

แผนการฟื้นฟูฯ มีกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2556-2560 โครงการส่วนใหญ่จะดำเนินการถึงปี 2558 ยกเว้นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูแนวปะการังและระบบนิเวศชายหาด/หาดหิน มีกรอบวงเงินงบประมาณรวม 166 ล้านบาท อยู่ในแผนงานแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 73 ล้านบาท และแผนงานติดตามและประเมินผล 93 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังคงกังวลใจว่า ข้อมูลของภาครัฐหลายส่วนยังขาดความน่าเชื่อถือ ทั้งปริมาณน้ำมันดิบที่แท้จริงที่รั่วไหลลงสู่ทะเล ผลกระทบที่เกิดจากสารเคมีที่ใช้สลายคราบน้ำมันดิบ รวมถึงการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ ความเป็นกลางในการศึกษาผลกระทบเชิงวิชาการ การประเมินความเสียหาย และการฟื้นฟู ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ทรัพยากรของ PTTGC

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานกรกฎาคม 2014

$
0
0
 
ลาวหารือเรื่องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
 
1 ก.ค. 2014 หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ของ สปป.ลาวรายงานในวันนี้ว่า ตัวแทนจากหลายภาคส่วนได้หารือกันเรื่องความเป็นไปได้ในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากที่ขึ้นครั้งหลังสุดเมื่อปี 2011
 
ตัวแทนจากสมาพันธ์สหภาพแรงงาน สปป.ลาว หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกำลังหารือกันที่กรุงเวียงจันทน์ ซึ่งจะเป็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 6 นับตั้งแต่ปี 1991 เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และแก้ปัญหาแรงงานในประเทศขาดแคลน
 
สปป.ลาวขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งหลังสุดเป็นเดือนละ 626,000 กีบ (ราว 2,500 บาท) สหภาพแรงงานเสนอว่า จากการวิเคราะห์ค่าครองชีพในกรุงเวียงจันทน์และสามจังหวัดสำคัญพบว่า ควรต้องเพิ่มเป็นเดือนละ 800,000 กีบ (ราว 3,200 บาท) เพื่อดึงดูดแรงงานให้ทำงานในภาคเอกชนและแก้ปัญหาแรงงานในประเทศขาดแคลน ขณะที่หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว เกรงว่า จะเกิดผลกระทบต่อธุรกิจและการลงทุนหากไม่ใคร่ครวญข้อเสนอให้ดีพอหรือไม่ปรึกษาผู้เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง เวียงจันทน์ไทม์ระบุว่า ตัวแทนจากหลายฝ่ายส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องการลดผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นกับภาครัฐและเอกชน
 
สภาโบลีเวียผ่านร่าง กม. ให้เด็ก 10 ขวบใช้แรงงานได้
 
2 ก.ค. 2014 สภาโบลิเวียได้ผ่านกม.อนุมัติให้เด็กอายุ 10 ปี สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้เงื่อนไขพิเศษของการจ้างงาน โดยสภาได้ออกกฎหมายนี้เพื่อหวังคุ้มครองเด็กโบลิเวียที่ต้องทำงานอยางผิดกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองด้านสวัสดิภาพและจิตใจจากผู้จ้างงาน และป้องกันการถูกฉวยประโยชน์ รวมทั้งกำหนดว่า ภายใต้การทำงานดังกล่าว จะต้องได้รับความยินยอมจากเด็ก รวมทั้งครอบครัว หรือผู้ปกครองดูแลด้วย ขณะที่ผู้สนับสนุนกฎหมายนี้อ้างว่า กฎหมายนี้จะช่วยให้โบลิเวียพ้นจากภาวะความยากจนได้ก่อนปี 2025 
 
กฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนจากเด็กโบลิเวียที่ต้องการทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ เพื่อช่วยเหลือครอบครัว และเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด โดยที่ผ่านมา มีเด็กโบลิเวียอายุเยาว์วัยได้เริ่มทำงานต่าง ๆ ตั้งแต่งานร้านอาหาร ไปจนถึงงานในเหมือง พวกเขาบอกว่า ต้องการเงิน โดยสำหรับเด็กโบลิเวียจำนวนมาก การมีงานทำหมายถึงการได้ชีวิตอยู่รอด โดยปัจจุบัน โบลิเวีย มีเด็กเป็นจำนวน 8.7 แสนคนต้องทำงาน หรือคิดเป็น 1 ใน 10 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่รายงานด้านแรงงานเด็กโบลิเวียก่อนหน้านี้เผยว่า 28 เปอร์เซนต์ของเด็กโบลิเวียอายุ 5-17 ปี ต้องเข้าสู่ภาวะรับจ้างใช้แรงงาน จำนวนนี้ 87 เปอร์เซนต์ต้องอยู่ในาภาวะเสี่ยงต่อร่างกายและสภาพจิตใจ      
 
ขณะเดียวกัน กฎหมายนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานยูนิเซฟในโบลิเวีย ที่ต้องการให้รัฐบาลโบลิเวียคุ้มครองเด็กที่ทำงานในสภาพอันตราย เช่น งานเกษตร และงานในเหมืองแร่ แต่ก็หน่วยงานเอ็นจีโอบางกลุ่มคัดค้านกม.นี้ โดยระบุว่า มาตรการนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาหลักของแรงงานเด็กโบลิเวีย เพราะรัฐบาลสมควรจะที่ใช้นโยบายและคุ้มครองประชากรที่เบาะบาง รวมทั้งครอบครัวที่ยากจน และสนับสนุนครอบครัวเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กต้องออกมาทำงานก่อนเกณฑ์อายุ
 
คนงานภาคขนส่งแคเมอรูน ขู่นัดหยุดงานทั่วประเทศ หลัง รบ.เลิกอุดหนุนเชื้อเพลิง-ห้ามขึ้นค่าโดยสาร
 
2 ก.ค. 2014 คนงานชาวแคเมอรูนที่ทำงานในธุรกิจการขนส่งทั่วประเทศออกคำแถลงร่วมในวันพุธ (2 ก.ค.) ขู่นัดหยุดงานประท้วงในสัปดาห์หน้า หลังรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี “ปอล บิยา” ตัดสินใจยกเลิกการจ่ายเงินอุดหนุนค่าเชื้อเพลิง
       
ก่อนหน้านี้รัฐบาลของประธานาธิบดีบิยาประกาศในวันจันทร์ (30 มิ.ย.) ยกเลิกการจ่ายเงินอุดหนุนด้านพลังงานทุกรูปแบบทั้งเงินอุดหนุนน้ำมันดีเซลและแก๊สหุงต้ม จนส่งผลราคาเชื้อเพลิงทั้งสองประเภทปรับพุ่งขึ้นทันทีระหว่าง 14-15 เปอร์เซ็นต์ โดยที่รัฐบาลออกคำสั่งห้ามผู้ประกอบการขนส่งขึ้นราคาค่าบริการโดยเด็ดขาด เป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจในวงกว้างในหมู่ผู้ประกอบการและคนงานในธุรกิจดังกล่าว
       
ปิแอร์ เอ็นเยเม็ก ประธานสหภาพแรงงาน “CGSTC” ซึ่งเป็นหนึ่งในสหภาพแรงงานภาคขนส่งที่ใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดของแคเมอรูนออกมาระบุว่า หากรัฐบาลไม่ต้องการให้ประเทศเป็นอัมพาตในสัปดาห์หน้าก็ต้องยินยอมให้ผู้ประกอบการสามารถขึ้นราคาค่าโดยสารและค่าขนส่งสินค้าได้โดยไม่มีเงื่อนไข มิฉะนั้นจะต้องเผชิญกับการนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของแคเมอรูน
       
ทั้งนี้ ประชาคมระหว่างประเทศ รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เรียกร้องอย่างยาวนาน ให้รัฐบาลแคเมอรูนภายใต้การนำของประธานาธิบดีปอล บิยาที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 1982 ยุติการดำเนินมาตรการอุดหนุนด้านพลังงานที่ส่งผลให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณมากกว่า “ปีละ 600 ล้านดอลลาร์” และซ้ำเติมปัญหาขาดดุลงบประมาณของประเทศให้เลวร้ายหนักข้อกว่าเดิม
       
อย่างไรก็ดี รัฐบาลบิยาได้ชะลอการตัดสินใจดังกล่าวเรื่อยมา แม้จะเผชิญการขาดดุลงบประมาณในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 5.5 ของจีดีพี เนื่องจากหวั่นสูญเสียคะแนนนิยมทางการเมือง และเกรงจะเกิดปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ ซ้ำรอยวิกฤตการประท้วงของ “คนขับรถแท็กซี่” ทั่วประเทศเมื่อปี 2008 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน
 
รัฐสภาเยอรมนีอนุมัติร่างกฎหมายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ
 
4 ก.ค. 2014 สถานีโทรทัศน์ ARD ของเยอรมนีรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนีหรือ Bundestag ได้ลงมติเสนอแผนปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 8.50 ยูโร (ราว 11.60 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อชั่วโมง
 
โดยข้อบังคับครั้งใหม่นี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2015 โดยคาดว่าพนักงานกว่าหลายล้านคนจะได้รับผลประโยชน์จากการปรับเพิ่มค่าจ้าง อุตสาหกรรมบางภาคส่วนสามารถเลื่อนการปรับเพิ่มค่าจ้างได้เป็นเวลาสองปีเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นสามารถปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่นี้ไม่ครอบคลุมพนักงานบางกลุ่ม เช่น พนักงานฝึกงานระยะสั้นและพนักงานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
 
ที่ผ่านมาได้มีการเจรจาด้านค่าจ้างขั้นต่ำในเยอรมนีระหว่างผู้ว่าจ้างและสหภาพในแต่ละอุตสาหกรรม การอนุมัติกฎหมายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของ Bundestag เกิดขึ้นภายหลังจากการเจรจาอันยืดเยื้อระหว่างพรรคคริสเตียน เดโมเครติค (CDU) ของนายกรัฐมนตรีอังเกล่า แมร์เคล และพรรคโซเชียล เดโมเครติค (SPD) ซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรในรัฐบาลผสม
 
ร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการหลักของพรรค SPD ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างหนักในเยอรมนี โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากฝ่ายที่เชื่อว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างจะก่อให้เกิดตลาดแรงงานที่มีความยุติธรรมมากขึ้น และช่วยลดจำนวนงานที่ให้ค่าจ้างต่ำเกินควร
 
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอื่นๆได้ออกมาโต้แย้งว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศจะส่งผลกระทบต่ออัตรางานไปเรื่อยๆ และจะกลายเป็นปัญหาต่อศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก หลังค่าใช้จ่ายด้านแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้น และบริษัทพากันย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศมากขึ้น
 
กลุ่มผู้ประท้วงในรัฐแคลิฟอร์เนียเข้าขวางขบวนรถบัสที่บรรทุกผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากประเทศในอเมริกากลาง
 
4 ก.ค. 2014 กลุ่มผู้ประท้วงประมาณ 150 คนในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ เข้าขวางขบวนรถบัสที่บรรทุกผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากประเทศในอเมริกากลางราว 140 คนไม่ให้เข้าไปถึงศูนย์พักพิงในเมืองเมอร์เรียตา พร้อมตะโกนขับไล่ให้กลับประเทศตัวเอง ทำให้ขบวนรถบัสคันดังกล่าวต้องเปลี่ยนเส้นทางไปยังเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากนายกเทศมนตรีเมืองซานดิเอโก "นายอลัน ลอง" เรียกร้องให้ชาวเมืองร้องเรียนไปยังเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับแผนการย้ายผู้อพยพไปยังรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อบรรเทาความแออัดตามศูนย์พักพิงตลอดแนวชายแดนด้านที่ติดกับเม็กซิโก ซึ่งผู้อพยพเหล่านี้ถูกจับหลังหลบหนีความรุนแรงและการข่มขู่คุกคามจากแก๊งต่างๆ ในกัวเตมาลา, เอล ซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส
 
ช่วยคนงานติดในเหมืองฮอนดูรัสได้แล้ว 3 ราย
 
5 ก.ค. 2014 เจ้าหน้าที่กู้ภัยฮอนดูรัสช่วยเหลือคนงานที่ติดอยู่ในเหมืองใต้ดินทางตอนใต้ของประเทศได้แล้ว 3 คน จากทั้งหมด 11 คน หลังจากพวกเขาติดอยู่นาน 2 วัน
 
คนงานเหมืองที่ได้รับการช่วยเหลืออยู่ในสภาพอิดโรย ขาดน้ำ และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว แต่ยังไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับคนงานที่ยังติดอยู่อีก 8 คน เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เจาะลึกลงไปใต้ดิน 100 เมตร และตะโกนติดต่อกับคนงานที่อยู่ข้างใต้ จนกระทั่งสามารถนำตัวพวกเขาขึ้นมาผ่านซอกหิน ท่ามกลางญาติมิตรที่รอคอยอย่างยินดีอยู่ด้านบนเหมือง เจ้าหน้าที่กู้ภัยคนหนึ่งเผยว่า อาจต้องเปลี่ยนจุดค้นหาคนงานที่ยังติดอยู่ เนื่องจากจุดที่ช่วยคนงานขึ้นมาได้นั้นมีดินหินจำนวนมากร่วงลงไปภายในช่องทางเดิน
 
เหตุเหมืองถล่มเกิดขึ้นเมื่อวันพุธ ตามเวลาท้องถิ่น ที่ระดับความลึก 80 เมตร เป็นเหมืองเถื่อนในจังหวัดโชลูเตกา ทางใต้สุดของประเทศ ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี มีคนงานเหมืองเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 1 คน หลังจากติดอยู่ในเหมืองเดียวกันนี้ พื้นที่ในเขตนี้เป็นพื้นที่เทือกเขา มีเหมืองใต้ดินประมาณ 80 แห่ง และมีคนจากชุมชนใกล้เคียงเดินทางมาทำเหมืองประมาณ 4,000 คน
 
จีเอ็ม-บีเอ็มฯ หยุดผลิตในแอฟริกาใต้ หลังการชุมนุมประท้วงของสหภาพแรงงานเหล็กลุกลาม
 
5 ก.ค. 2014 จีเอ็ม และบีเอ็มดับบลิว ยุติสายการผลิตที่โรงงานในแอฟริกาใต้ หลังการชุมนุมประท้วงของสหภาพแรงงานเหล็กกว่า 2 แสนคน ลุกลามทำให้การผลิตชิ้นส่วนรถชะงักงันและสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
 
เจนเนอรัล มอเตอร์ หรือจีเอ็ม และบีเอ็มดับบลิว 2 ค่ายรถชั้นนำโลก ตัดสินใจยุติการผลิตหลังจากการชุมนุมประท้วงของสหภาพแรงงานเหล็ก ทำให้บริษัททั้งสองแห่งไม่สามารถเดินสายการผลิตตามปกติได้ ล่าสุด ตำรวจได้จับกุมผู้ชุมนุมประท้วงไป 26 คน ที่ก่อเหตุโจมตี ทำลายข้าวของ และคุกคามโรงงานต่างๆรอบกรุงโยฮันเนสเบิร์ก หลังจากการเจรจาขอขึ้นค่าจ้างแรงงานระหว่างสมาพันธ์อุตสาหกรรมวิศวกรรมและเหล็กแห่งแอฟริกาใต้ และสหภาพแรงงานเหล็กกล้าของแอฟริกาใต้ ประสบความล้มเหลว
 
การผละงานประท้วงของแรงงานกว่า 220,000 คนเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆในแอฟริกาใต้ราว 1 ใน 3 ส่งผลให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดังอย่างมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เตือนว่า สถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น เพิ่มความเสี่ยงให้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ที่สำคัญ การประท้วงครั้งนี้ เกิดขึ้นตามหลังการประท้วงของคนงานเหมืองแพลตตินัมจำนวนกว่า 70,000 คนนาน 5 เดือนเต็ม จนทำให้เศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้หดตัวลง
 
ทั้งนี้ไซฟาในฐานะตัวแทนนายจ้าง เสนอขึ้นค่าจ้างแรงงาน 10% ขณะที่ตัวแทนลูกจ้าง เรียกร้องขอขึ้นค่าแรง 12% พร้อมทั้งให้ยกเลิกระบบนายหน้าหางาน
 
กรีซสั่งให้คนงานการไฟฟ้ากลับไปทำงานแล้ว
 
5 ก.ค. 2014 กรีซสั่งให้คนงานการไฟฟ้ากลับไปทำงานแล้ววันนี้ และขู่ว่าจะจับกุมหากพวกเขายังคงหยุดงานประท้วงต่อไป ซึ่งเป็นสาเหตุให้ต้องตัดกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศ ในฤดูแห่งการท่องเที่ยวนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังคนงานบริษัทการไฟฟ้าหรือพีพีซี. ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่สุดของกรีซ ได้ละเมิดคำสั่งศาล หยุดงานประท้วงอย่างผิดกฎหมายเมื่อวานนี้ ตามเวลาท้องถิ่น ทั้งนี้คนงานโรงไฟฟ้าจำนวนมากไม่พอใจที่กรีซพยายามแปรรูปการไฟฟ้าให้เป็นของภาคเอกชน และมีการประท้วงต่อต้านมาเป็นระยะๆ 
 
แรงงานต่างชาติในสิงคโปร์ขยายตัวลดลงครึ่งหนึ่งติดต่อกันสองปี
 
8 ก.ค. 2014 นายตัน ชวนจิน รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์เผยว่า จำนวนแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงถึงครึ่งหนึ่งติดต่อกันสองปี
 
นายตันเผยเรื่องนี้ระหว่างชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับรายงานเหตุจลาจลย่านลิตเติลอินเดียเมื่อปลายปีก่อนว่า แรงงานต่างชาติไม่รวมคนงานก่อสร้างและแม่บ้านเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 9.4 ในปี 2554 เหลือร้อยละ 4.6 ในปี 2555 และร้อยละ 2.3 ในปี 2556 นายตันย้ำว่า ในขณะที่ทางการให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงแหล่งที่แรงงานต่างชาตินิยมมารวมตัวกันและคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างชาติ การลดอัตราการเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างชาติก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ ที่ผ่านมาทางการได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานต่างชาติและลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติค่าแรงต่ำ
 
สิงคโปร์ลดจำนวนแรงงานต่างชาติลงอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้ ข้อมูลของกระทรวงแรงงานเผยว่า แรงงานต่างชาติในประเทศนับจนถึงเดือนมิถุนายนปีก่อนมีมากกว่า 1.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 24 ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนใหญ่มาจากจีน ประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แรงงานค่าแรงงานต่ำ เช่น ก่อสร้าง ขับรถบรรทุก ทำความสะอาด มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 1,500-2,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 37,500-62,500 บาท)
 
สิงคโปร์เพิ่มกำลังตำรวจปราบจลาจลหลังคนงานอินเดียก่อความไม่สงบ
 
8 ก.ค. 2014 สิงคโปร์เพิ่มกำลังตำรวจปราบจลาจลเป็น 2 เท่าและเพิ่มการตรวจตราหลังเกิดกรณีคนงานชาวอินเดียก่อเหตุความไม่สงบเมื่อปีที่แล้ว แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของตำรวจหลังจากสิงคโปร์มีกฎระเบียบทางสังคมที่เข้มงวดมาเป็นเวลา 40 ปี
 
นายเตียว ชีเฮียน รัฐมนตรีมหาดไทยของสิงคโปร์กล่าวต่อรัฐสภาวานนี้ว่า สำนักงานตำรวจจะเพิ่มกำลังตำรวจใหม่จำนวน 300 นายให้แก่กองบัญชาการปฏิบัติการพิเศษ (เอสโอซี) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปราบปรามการก่อการร้ายด้วย ซึ่งมาตรการดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอแนะภายหลังการสอบสวนกรณีเหตุจลาจลเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2013 ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บ 39 คนและรถยนต์เสียหาย 25 คัน
 
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจะเริ่มทดลองใช้กล้องที่สวมไว้กับตัว และบนรถตำรวจจะมีกล้องถ่ายทอดภาพยังศูนย์บัญชาการ และจะติดตั้งกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก
 
เหตุจลาจลบนท้องถนนในสิงคโปร์เริ่มขึ้นหลังจากคนงานชาวอินเดียราว 400 คนเกิดความไม่พอใจหลังจากเพื่อร่วมชาติถูกรถโดยสารทับเสียชีวิต รายงานการสอบสวนพบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของกองกำลังตำรวจ ซึ่งรวมถึงโครงสร้างการสื่อสาร การฝึกอบรมและการจัดคณะทำงาน
 
แอฟริกาใต้ ประกาศใช้ “ไบโอเมตริก วีซ่า” สกัด ก่อการร้าย-ลักพาตัวเด็ก-อัตราว่างงานสูง กระทบ “แรงงานซิมบับเวร่วม 250,000 มีสิทธิ์ถูกส่งกลับ”
 
10 ก.ค. 2014 แอฟริกาใต้เดินหน้าประกาศมาตรการออกหนังสืออนุญาตเข้าประเทศให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยการให้นักท่องเที่ยวต้องยื่นขอเป็นการส่วนตัว “ ไบโอเมตริก วีซ่า” หรือวีซ่าชนิดเก็บข้อมูลชีวภาพส่วนบุคคล หวังเพื่อคุมเข้มระบบความปลอดภัยและลดปัญหาการลักลอบค้าเด็ก ซึ่งมาตรการวีซ่าใหม่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปรับปรุงกฎหมายเข้าเมืองแอฟริกาใต้ที่ทำขึ้นอย่างเร่งด่วนหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่ออุดช่องโหว่ต่างๆ รวมไปถึงอัตราาว่างงานสูงลิ่วในประเทศ ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวในแอฟริกาใต้ เช่น ชาวซิมบับเวจำนวนหลายแสนคนได้รับผลกระทบหนัก อาจถึงขึ้นถูกส่งตัวกลับระเทศ 
       
มาตรการใหม่ของแอฟริกาใต้สำหรับนี้ที่มีเป้าประสงค์เพื่อป้องกันการก่อการร้าย และลดปัญหาลักลอบค้าเด็กข้ามชาติ โดยกำหนดกฎเกณ2 มาตรการเข้มสำหรับนักท่องเที่ยว
       
ทั้งนี้มาตรการแรก นักท่องเที่ยวที่เป็นผู้ปกครองประสงค์นำบุตรหลานเดินทางเข้าแอฟริกาใต้ ต้องนำหลักฐานสูติบัตรขนาดย่อตัวจริงสำหรับเด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และทั้งนักเดินทางที่เป็นพลเมืองแอฟริกาใต้และนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องให้ข้อมูลรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับบิดามารดาของเด็ก
       
และมาตรการที่สอง นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องร้องขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าแอฟริกาใต้ ต้องยื่นด้วยตัวเองขอรับ “ไบโอเมตริก วีซ่า” หรือ หรือวีซ่าชนิดเก็บข้อมูลชีวภาพส่วนบุคคล
       
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ รวมถึงสายการบิน บริษัททัวร์ เกรงว่ามาตรการเข้มงวดนี้จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ในระดับโลก และพยายามล็อบบี้เพื่อให้การบังคับใช้กฎเหล็กนี้เลือนออกไป 12 เดือน โดยเกรงว่าจะมีผลกระทบหนักสุดในตลาดการท่องเที่ยวของชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน และ อินเดีย
       
เช่นในจีน พบว่ามีแค่ 2แห่งในกรุงปังกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนจะสามารถเดินทางด้วยตนเองเพื่อร้องขอ ไบโอเมตริก วีซ่าเดินทางเข้าแอฟริกาใต้ได้ และพบว่านักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาท่องเที่ยวแอฟริกาใต้นั้นอาศัยอยู่นอกกรุงปักกิ่ง และเซียงไฮ้ ดังนั้นเมื่อมาตรการใหม่บังคับใช้ จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนต้องจัดสรรค์เวลาและเงินเพื่อยื่นขอวีซ่าแบบใหม่นี้ ไมเคิล โทลแมน (Micheal Tollman) ซีอีโอของ คูลินาน โฮลดิงส (Cullinan Holdings) ให้สัมภาษณ์กับเมล และการ์เดียน สื่ออังกฤษ
       
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้ขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2014 เพื่อบังคับใช้มาตรการใหม่นี้ และทำให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยมีเวลามากพอเพื่อหารือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้โดยไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวท้องถิ่น
       
แต่ทว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแอฟริกาใต้มีแผนขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ให้ยืดระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปอย่างน้อย 12 เดือน สภาการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้(TBCSA) ที่ควบคุมธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศได้ยื่นจดหมายถึงมาลูซี กิกาบา (Malusi Gigaba) รัฐมนตรีมหาดไทยแอฟริกาใต้ ร้องขอให้มีการยกเลิก หรือเลื่อนการบังคับใช้ออกไป และโอกาสที่จะยื่นขออุทธรณ์ในมาตรการใหม่นี้
       
อย่างไรก็ตาม กิกาบากล่าวว่า ทางกระทรวงยินดีรับฟังในผลที่จะตามหลังจากมีการบังคับใช้ และยังกล่าวว่า ไม่มีใครสามารถประกาศใช้มาตรการใหม่ที่ประสบความสำเร็จ 100% ในครั้งแรก
       
ด้านดีเรค ฮาเนกอน (Derek Hanekon) รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ ให้สัมภาษณ์ในสัปดาห์ที่ผ่ามาว่า ทางกระทรวงพยายามจะป้องกันถึงผลกระทบที่ตามมาหลังจากการประกาศใช้ และกำลังอยู่ในระหว่างหารือกับกระทรวงมหาดไทยของแอฟริกาใต้ในการหาทางออกที่เหมาะสมในเรื่องนี้
       
นอกจากนี้ มาตรการไบโอเมตริก วีซ่า ที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปรับปรุงกฎหมายเข้าเมืองแอฟริกาใต้ที่ถูกปรับให้เข้มงวดขึ้นหลังจากที่มีการเลือกตั้งทั่วไปในแอฟริกาใต้ในเดือนมิถุนายนล่าสุด นั้นไม่กระทบเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประสงค์เดินทางเข้ามาในแอฟริกาใต้เป็นระยะเวลาอันสั้น แต่ยังมีผลกับแรงงานต่างด้าว เช่น ชาวซิมบับเวที่มีหลายแสนคนอยู่ในแอฟริกาใต้อีกด้วย เพราะนโยบายนี้ต้องการระบุให้แน่ชัดระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการท่องเที่ยวในประเทศแดนกาฬทวีปเป็นระยะเวลาอันสั้น และผู้ต้องการพำนักถาวรในแอฟริกาใต้ เช่น แรงงานซิมบับเวจำนวน 250,000 คน ที่ลี้ภัยจากสงครามการเมืองและความอดอยากหลังการเลือกตั้งทั่วไปในซิมบับเวปี 2008 จะต้องหาทางต่ออายุใบอนุญาตการพำนักและทำงานในแอฟริกาใต้หลังจากที่สิทธิการพำนักจะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้
       
ซึ่งแอฟริกาใต้ถือเป็นฮับของกาฬทวีปสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการอาศัยอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติที่มาจาก คองโก โซมาเลีย ไนจีเรีย และซิมบับเว ล้วนต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ทั้งสิ้น
       
เอเอฟพีรายงานว่า นโบายใหม่ยกเครื่องตรวจคนเข้าเมืองของแอฟริกาใต้นี้มีผลบังคับใช้ทันทีหลังเสร็จศึกเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2014 เพื่อแก้ปัญหาแอฟริกาใต้ที่ต้องเผชิญกับอัตราว่างงานที่สูงลิ่วทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งหามาตรการอุดช่องโหว่
       
โดยกิกาบาที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ให้สัมภาษณ์ว่า “แรงงานต่างด้าวนั้น ผมกล้าพูดได้ว่า เช่น ชาวซิมบับเวที่แห่เข้ามาเพื่อขอที่ลี้ภัยนั้น ทางรัฐบาลแอฟริกาใต้ต้องถามกลับว่า ในขณะนี้มีสงครามเกิดขึ้นในซิมบับเวที่ชาวซิมบับเวจำเป็นต้องยื่นขอที่ลี้ภัยในแอฟริกาใต้หรือไม่”
       
แต่จากปัญหาเศรษฐกิจทรุดหนักของซิมบับเวที่มีอัตราว่างงานสูงถึง 80% และประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) มีชัยกลับเข้าสู่อำนาจได้อีกสมัย เป็นผลทำให้ชาวซิมบับเวส่วนใหญ่ลังเลที่จะอพยพกลับ
       
สหราชอาณาจักร-ลูกจ้างรัฐนัดหยุดงานประท้วง
 
10 ก.ค. 2014 แรงงานภาครัฐกว่า 1 ล้านคน ทั่วสหราชอาณาจักร นัดหยุดงาน 24 ชั่วโมงเพื่อประท้วงมาตรการจำกัดการขึ้นค่าแรงของรัฐบาล หรือที่เรียกว่า Poverty Pay
 
แรงงานหลากหลายอาชีพ อย่างเช่น ครูอาจารย์ ลูกจ้างรัฐ พนักงานกวาดถนน และคนดูแลสวนสาธารณะ ร่วมกันหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ปี 
 
ผู้ประท้วงนัดชุมนุมตามเมืองใหญ่ๆ รวมถึงจัตุรัสทราฟัลการ์ในกรุงลอนดอน เพื่อประท้วงรัฐบาลผสมภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ที่ใช้มาตรการควบคุมค่าจ้างแรงงานภาครัฐตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศในปี 2010 โดยห้ามขึ้นค่าแรง 2 ปี หลังจากนั้นยังจำกัดการขึ้นค่าแรงได้เพียงปีละ 1  % ตามนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการนี้ทำให้รายได้แรงงานภาครัฐปรับขึ้นไม่ทันค่าครองชีพ จนถูกเรียกว่า Poverty Pay หรือค่าแรงที่ทำให้จนลง 
 
ครูคนหนึ่งที่มาประท้วงแสดงความไม่พอใจที่ได้เงินเดือนขึ้นเพียง 1% ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้เงินเดือนขึ้น 11% ในปีนี้ การประท้วงส่งผลให้โรงเรียน 3,225 โรง ปิดการเรียนการสอน และอีก 1,000 โรง ปิดสอนบางส่วน
 
นายกฯอิตาลี วอน “อาลิตาเลีย” ยอมรับแผนปลด พนง.ครั้งใหญ่ แลกเงินลงทุนจากสายการบินเศรษฐีอาหรับ
 
11 ก.ค. 2014 รัฐบาลอิตาลีและทีมผู้บริการของสายการบินอาลิตาเลีย กำลังเปิดการเจรจากับทางสหภาพแรงงานของสายการบินเพื่อหาทางประนีประนอมและลดทอนผลกระทบให้กับแรงงานมากกว่า 2,000 คน ที่กำลังจะถูกเลิกจ้าง หลังจากที่สายการบินชื่อดังจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่าง “เอติฮัด” เข้ามาซื้อหุ้นของอาลิตาเลียจำนวน 49 เปอร์เซ็นต์ และทางเอติฮัดยื่นเงื่อนไขให้มีการปลดพนักงานออกครั้งใหญ่ เพื่อปรับโครงสร้างและลดค่าใช้จ่ายในองค์กร
       
รายงานข่าวระบุว่า ผู้นำอิตาลีได้เรียกร้องให้ทางสหภาพแรงงานของสายการบินอาลิตาเลีย ยอมรับมาตรการปลดพนักงานดังกล่าว เพื่อแลกกับการดำรงอยู่ของสายการบินแห่งชาติ ซึ่งเปิดดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 และมีการจ้างแรงงานในขณะนี้มากกว่า 14,000 ตำแหน่ง
       
“สำหรับสายการบินอาลิตาเลียนั้น ในขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะมานั่งพูดกันถึงเรื่องจำนวนพนักงานที่ต้องถูกเลิกจ้าง แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือ การที่เราจะต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการปลดพนักงานออกเพื่อให้องค์กรอยู่รอด หรือการรักษาตำแหน่งงานไว้ แต่ต้องแลกกับการปิดกิจการ” นายกรัฐมนตรี เรนซี กล่าวหลังเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีในกรุงโรม
       
ทั้งนี้สายการบินอาลิตาเลียซึ่งมีหนี้สินล้นพ้นตัว และแทบไม่เคยมีกำไรนับตั้งแต่ก่อตั้งกิจการ ได้ยื่นขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิตาลีเมื่อปีที่แล้วในวงเงิน 500 ล้านยูโร (ราว 21,906 ล้านบาท) ก่อนที่จะมีการเจรจาขายหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ให้กับสายการบินเอติฮัดของรัฐบาลอาบูดาบี ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อแลกกับเงินลงทุนก้อนโต อย่างไรก็ดี ทางเอติฮัดได้ยื่นเงื่อนไขให้อาลิตาเลียต้องยอมปลดพนักงานครั้งใหญ่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายภายในเสียก่อน
 
ซัมซุงเร่งสอบกรณีถูกกล่าวหาใช้แรงงานเด็กในจีน
 
10 ก.ค. 2014 บริษัทซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์แห่งเกาหลีใต้แถลงว่า บริษัทกำลังเร่งสอบสวนตามข้อกล่าวหาที่ว่าหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายสินค้าของซัมซุงในจีนจ้างแรงงานเด็กและนักเรียนอายุยังไม่ถึงเกณฑ์
 
กลุ่มไชนาเลเบอร์วอชท์ในนิวยอร์กแถลงคาดว่า บริษัทซินหยางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้จัดจำหน่ายสินค้าของซัมซุงในจีน จ้างแรงงานอายุต่ำกว่า 16 ปี อย่างน้อย 5 คน นอกจากนี้ยังละเมิดกฎหมายหลายด้าน เช่น ไม่จ่ายค่าแรงล่วงเวลา ใช้ทำงานเกินเวลา ไม่มีประกันสังคม และฝึกอบรมพนักงาน  
 
แถลงการณ์ของบริษัทซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ระบุว่า บริษัทเร่งสอบสวนตามข้อกล่าวหานี้แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีใช้แรงงานเด็ก และว่าบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้ารายงานผลการตรวจสอบไปเมื่อต้นปี แต่ยังไม่พบว่ามีกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กลุ่มไชนาเลเบอร์วอชท์ระบุว่าระบบการตรวจสอบของซัมซุงไม่มีประสิทธิภาพ
 
"ซูเปอร์มาร์เก็ต" UK อ่วม สงครามราคาพุ่ง-เลิกจ้างลดต้นทุน
 
11 ก.ค. 2014 หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนรายงานว่า "แอสด้า" ซึ่งเป็นบริษัทลูกของวอลล์มาร์ท ระบุว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้กระทบพนักงานจำนวน 4,100 คน แต่ส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่มีรายได้ไม่สูงนัก 
 
ที่ผ่านมาเชนซูเปอร์ มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ 4 อันดับแรกในสหราชอาณาจักรต่างก็มองหาการตัดลดค่าใช้จ่ายเช่นกัน หลังจากต้องเผชิญกับการถูกกดดันจากสงครามราคาที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละแห่งต้องตัดราคาขายกันเอง เพื่อแข่งขันกันอยู่รอดและสู้กับดิสเคานต์สโตร์ต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว 
 
"นี่เป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุด ของเรา ในการทำสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับแอสด้าในฐานะซีอีโอของบริษัท แต่เราก็มีความเชื่ออย่างแท้จริงว่านี่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้วสำหรับ อนาคตของบริษัท มิเช่นนั้นก็ไม่อาจที่จะตามทันตลาดหรือคนอื่นได้" แอนดี้ คลาก ประธานบริหารแอสด้าระบุ 
 
การออกมาปรับลดจำนวนพนักงานในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษ "เดวิด คาเมรอน" ได้ชมเชยว่าแอสด้าเป็นบริษัทที่สร้างงานใหม่ ๆ ให้แก่ผู้คนกว่า 12,000 ตำแหน่ง ในช่วงเวลา 5 ปีต่อจากนี้ จากแผนของบริษัทในการรุกเปิดสาขาใหม่ ๆ ซึ่ง ในตอนนั้น "ดัก แมคมิลเลียน" ประธานและซีอีโอของบริษัทวอลล์มาร์ท ระบุว่า แอสด้ากำลังจะสร้างตำแหน่งงานใหม่ให้เกิดขึ้นจำนวนมาก และจะทำให้แอสด้าเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรมากขึ้นอย่างต่อ เนื่อง 
 
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านบุคลากรในครั้งนี้ ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อแอสด้าได้ระบุว่า ต้องการลดสตาฟจำนวน 2,600 คน ในครั้งนั้นโรงอาหารพนักงานได้ถูกปิดตัวลง และถูกแทนที่ด้วยเครื่องจำหน่ายอาหารและน้ำดื่มอัตโนมัติแทน เช่น เดียวกันกับ "มอริสัน" เชนซูเปอร์มาร์เก็ตอีกรายในสหราชอาณาจักร ที่ประกาศในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า กำลังพิจารณาการปรับโครงสร้างใหม่ ซึ่งอาจทำให้ต้องลดจำนวนพนักงานลงถึง 2,600 ราย 
 
"แอสด้า" ระบุว่า การปรับโครงสร้างในครั้งนี้จะช่วยให้การบริหารจัดการร้านมีความยืดหยุ่นมาก ขึ้น และสามารถตอบรับกับการพฤติกรรมการช็อปปิ้งในปัจจุบันและอนาคตของลูกค้า โดยการหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางอีคอมเมิร์ซ และลดภาระหน้าที่ขององค์กรในส่วนแบ็กออฟฟิศลง ซึ่งภายในอาทิตย์หน้าพนักงานระดับผู้จัดการที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยน แปลงครั้งนี้จะได้รับการเทรนนิ่งสำหรับตำแหน่งงานใหม่ หรือได้รับค่าชดเชยพิเศษจากการเลิกจ้าง
 
ก่อนหน้าที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจจะตกต่ำขึ้นนั้น ดิสเคานต์สโตร์เป็นเพียงตัวเลือกเล็ก ๆ ในอุตสาหกรรมค้าปลีกของสหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่ หลังจากนั้นช่องทางดังกล่าวก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยพฤติกรรมการบริโภค ที่ระวังการจับจ่ายมากขึ้น จนทำให้เชนดิสเคานต์สโตร์อย่าง "อัลดิ" และ "ลิดเดิล" ในปัจจุบันมีอำนาจการต่อรองมากกว่า "โค-ออป" ซึ่งเป็นเชนซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่อันดับที่ 5 ของสหราชอาณาจักร
 
นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่ากลยุทธ์ของบิ๊กซูเปอร์มาร์เก็ตก็ไม่เพียงแต่จะปรับ ตัวรับ โดยมุ่งไปยังช่องทางอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว เช่น ในเดือนที่ผ่านมา "เซนบิวรี่" ได้ประกาศถึงการร่วมทุนกับบริษัทด้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในเดนมาร์ก "แดงส์ซูเปอร์มาร์เก็ต" เพื่อเปิดตัวดิสเคานต์สโตร์ใหม่ "เน็ตโต้" ซึ่งคาดว่าจะมีสาขาครบ 15 แห่งภายในปีหน้าได้
 
"ไคลฟ์ แบล็ค" นักวิเคราะห์จากบริษัท ชอร์ แคพปิทอล กล่าวว่า ผู้บริหารของซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ กำลังถูกกดดันให้ จัดการกับต้นทุนการจ้างงานที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่พวกเขาสามารถทำได้ในขณะนี้ เพราะปัจจุบันดีมานด์ที่เกิดขึ้นในตลาดมีการลดลงอย่างมาก รวมไปถึงการแข่งขันทางด้านราคา ทำให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันเพื่อรักษายอดขายและฐานลูกค้า 
 
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เศรษฐกิจตกต่ำ พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวอังกฤษได้พยายามที่จะหันมาระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งการลดจำนวนการซื้อลง เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองกับสินค้าหรืออาหารที่ไม่จำเป็น โดยเพิ่มความถี่ในการไปจับจ่ายยังร้านค้าเล็ก ๆ มากกว่าที่จะไปร้านใหญ่เพื่อซื้อของจำนวนมากในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ 
 
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อยอดขายของร้านขนาดใหญ่ต่าง ๆ ซึ่งมีต้นทุนคงที่ในอัตราค่อนข้างสูง โดย "แบล็ค" ยังระบุต่อไปอีกว่า เขาเชื่อว่าทั้งเซนบิวรี่และเทสโก้ก็จะต้องประกาศแผนการปรับโครงสร้างเพื่อ เพิ่มจำนวนของยอดขาย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการปรับลดพนักงานอย่างแน่นอน
 
ซัมซุงพบหลักฐานการใช้แรงงานเด็กที่โรงงานในจีน
 
14 ก.ค. 2014- ซัมซุง บริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของเกาหลีใต้เผยว่า ได้ระงับการทำธุรกิจกับผู้ผลิตรายหนึ่งในจีน หลังจากพบหลักฐานว่าอาจมีการใช้แรงงานเด็กที่โรงงานแห่งนั้น
 
ซัมซุงแถลงว่า ได้เปิดการสอบสวนบริษัทตงกวนซินหยางอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากกลุ่มจับตาแรงงานจีนซึ่งตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์กของสหรัฐแจ้งว่า โรงงานแห่งนี้จ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ผลการสอบสวนทำให้บริษัทตัดสินใจระงับการทำธุรกิจกับโรงงานดังกล่าวเป็นการชั่วคราวเพราะพบหลักฐานว่าน่าจะมีการใช้แรงงานเด็กจริง นอกจากนี้ทางการจีนก็กำลังสอบสวนเรื่องนี้เช่นกัน หากผลการสอบสวนยืนยันว่าโรงงานนี้จ้างแรงงานเด็กอย่างผิดกฎหมาย บริษัทก็จะยุติการทำธุรกิจด้วยเป็นการถาวร
 
ซัมซุงย้ำว่า ได้ตรวจสอบผู้ผลิตอย่างสม่ำเสมอเพราะมีนโยบายไม่ปล่อยให้มีการใช้แรงงานเด็ก เฉพาะโรงงานตงกวนซินหยางนี้บริษัทได้ตรวจสอบมาแล้ว 3 ครั้งตั้งแต่ปีก่อน แต่ก็ยังเกิดข้อกล่าวหาดังกล่าวขึ้น บริษัทจะเพิ่มการตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ด้านกลุ่มจับตาแรงงานจีนตำหนิว่า ระบบตรวจสอบของซัมซุงไร้ประสิทธิภาพ เพราะนอกจากจ้างแรงงานเด็กแล้ว โรงงานแห่งนี้ยังไม่จ่ายค่าแรงนอกเวลาทำงาน ให้ทำงานนอกเวลามากเกินควร ไม่มีประกันสังคมและการฝึกอบรมแก่คนงาน
 
Microsoft เตรียมแผนหั่นพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 5 ปี
 
15 ก.ค. 2014 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า เจ้าพ่อซอฟต์แวร์อย่างไมโครซอฟท์ (Microsoft) กำลังวางแผนประกาศปรับโครงสร้างบริษัทซึ่งจะนำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 5 ปี แหล่งข่าวชี้การปรับโครงสร้างบริษัทครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อรับกับการผูกรวมหน่วยธุรกิจโทรศัพท์มือถือของโนเกีย (Nokia Oyj) ที่ไมโครซอฟท์เพิ่งซื้อกิจการมา
       
บลูมเบิร์ก อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าววงในไมโครซอฟท์ว่า การประกาศปรับโครงสร้างบริษัทจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์นี้ โดยการเลิกจ้างพนักงานจะเป็นไปตามส่วนงานที่ทับซ้อนกันระหว่างหน่วยธุรกิจโนเกีย และบุคลากรที่ไมโครซอฟท์มีอยู่แล้ว คาดว่าการปรับโครงสร้างจะรวมถึงส่วนงานสายการตลาด และวิศวกรรม
       
ข่าวการปรับโครงศร้างองค์กรของไมโครซอฟท์นั้นถูกจับตามองมานาน เนื่องจากนับตั้งแต่ไมโครซอฟท์ซื้อหน่วยธุรกิจโทรศัพท์มือถือของโนเกียเมื่อช่วงปีที่แล้ว จำนวนบุคลากรของไมโครซอฟท์นั้นเพิ่มขึ้นเป็น 127,000 คนทันที จำนวนทีมงานมหาศาลนี้ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งในวงการไอทีอย่าง แอปเปิล (Apple) และกูเกิล (Google) จุดนี้เหล่านักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทล้วนเชื่อว่า ซีอีโอไมโครซอฟท์อย่าง สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) จะลงมือปลดพนักงานบางส่วนแน่นอน และมีแนวโน้มว่านี่อาจเป็นการเลย์ออฟพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009
       
หากย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ไมโครซอฟท์ ประกาศเลิกจ้างพนักงานมากกว่า 5,800 ตำแหน่งในปี 2009 จุดนี้มีความเป็นไปได้ที่จำนวนการปลดพนักงานของไมโครซอฟท์ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นอาจจะทำลายสถิตินี้อย่างราบคาบ
 
เบื้องต้น บลูมเบิร์กวิเคราะห์ว่า ไมโครซอฟท์จะมุ่งปลดพนักงานส่วนการตลาดในบางธุรกิจ เช่น หน่วยการตลาดในธุรกิจเกมอย่างเอ็กซ์บ็อกซ์ (Xbox) เป็นต้น ขณะเดียวกัน ทีมทดสอบซอฟต์แวร์ หรือ software tester และส่วนวิศวกรรมก็อาจมีการปรับโครงสร้างเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายบริหารบริษัทของซีอีโอคนใหม่
       
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ซีอีโอไมโครซอฟท์ลงมือส่งบันทึกภายในถึงพนักงานไมโครซอฟท์เพื่อแจ้งถึงนโยบายปรับองค์กรเพื่อให้กระบวนการทำงานระหว่างแผนก และหน่วยธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในบันทึกภายในฉบับนั้นไม่มีการให้ข้อมูลการปลดพนักงานครั้งใหญ่ใดๆ
       
ก่อนหน้านี้ ซีอีโอไมโครซอฟท์เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะแถลงนโยบายบริหารองค์กร และงบการเงินของบริษัทสำหรับปีงบประมาณใหม่ในวันที่ 22 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่ไมโครซอฟท์วางแผนแถลงผลประกอบการบริษัทช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนที่ผ่านมา คาดว่านโยบายต่างๆ จะมีความชัดเจนในวันดังกล่าว ก่อนที่ปีงบประมาณใหม่ของไมโครซอฟท์จะเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้
 
สิงคโปร์ขู่ถอนใบอนุญาตบริษัทจัดหางานที่ปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติไม่เหมาะสม
 
17 ก.ค. 2014 กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ประกาศเตือนบรรดาบริษัทจัดหางานว่า ทางกระทรวงเป็นกังวลเกี่ยวกับการนำเสนอคนรับใช้ตามบ้านอย่างไม่เหมาะสมในโฆษณา อาทิ การโฆษณาว่านายจ้างสามารถว่าจ้างแรงงานเหล่านี้ในราคาถูกหรือในราคาที่ลดลงจากปกติราวกับพวกเขาเป็นสินค้า รวมถึงการโฆษณาว่านายจ้างสามารถทดลอง ซื้อและเปลี่ยนคนรับใช้ตามบ้านได้หากไม่พอใจ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สามารถยอมรับได้ ทางกระทรวงขอให้บริษัทจัดหางานในสิงคโปร์ยุติการโฆษณาที่ไม่ให้เกียรติแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานเป็นคนรับใช้ตามบ้านทุกรูปแบบ หากฝ่าฝืนจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต
 
กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ประกาศเตือนหลังจากมีรายงานข่าวและได้รับการร้องเรียนจากนักเคลื่อนไหวแรงงานต่างด้าวเกี่ยวกับการนำตัวแรงงานต่างชาติที่มาทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านไปสาธิตการทำงานที่บริษัทจัดหางานซึ่งอยู่ในห้างสรรพสินค้า
 
แรงงานพม่าประท้วงเกาหลีปิดโรงงานไม่จ่ายค่าจ้าง
 
18 ก.ค. 2014 แรงงานจากโรงงานมาสเตอร์สปอร์ตฟุตแวร์ในนครย่างกุ้ง ระบุว่า เจ้าของโรงงานปิดกิจการอย่างผิดกฎหมาย และไม่มีการแจ้งให้ทราบในเดือน พ.ค. และได้เดินทางออกจากประเทศไปแล้ว แรงงานเหล่านี้กำลังเรียกร้องให้ทูตเกาหลีใต้เข้าช่วยเหลือ เนื่องจากพวกเขาประสบปัญหาทางการเงิน และต้องการความช่วยเหลือในการหางานใหม่
       
หลังรัฐบาลเต็งเส่ง เข้าบริหารประเทศในปี 2011 อุตสาหกรรมในประเทศเติบโตขึ้น และการลงทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในประเทศหลังชาติตะวันตกคลายมาตรการคว่ำบาตร
       
แรงงานกล่าวว่า พวกเขาติดต่อไปยังสถานทูต รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและความมั่นคงสังคม รัฐสภา และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ยังไม่มีรับการตอบรับใดๆ
       
“นี่เป็นเพราะรัฐบาลไม่เคยเคียงข้างคนรากหญ้า พวกเขาไม่เคยปกป้องคุ้มครองคนรากหญ้า หรือแรงงาน นั่นเพราะพวกเขาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ยิ่งทำให้มีการทุจริตมากขึ้น และลำเอียงเข้าข้างฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ และนักธุรกิจ ส่วนเหยื่อก็มีแต่แรงงาน และคนรากหญ้า” ทนายความฝ่ายแรงงาน กล่าว
 
ผู้ใช้แรงงานหลายพันรวมตัวประท้วงใหญ่กลางเมืองหลวงกานา วอนรบ.เร่งแก้ปัญหา ศก.-ค่าครองชีพ
 
24 ก.ค. 2014 กลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนหลายพันคนเข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ ที่จัดขึ้นในกรุงอักกรา เมืองหลวงของกานาในวันพฤหัสบดี (24 ก.ค.) เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูง
       
รายงานข่าวระบุว่า การเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ที่มีจุดเริ่มต้นจากบริเวณ “วงเวียนควาเม เอ็นครูมาห์” กลางกรุงอักกราในครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงพลังของกลุ่มผู้ใช้แรงงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีที่เกิดขึ้นในกานา
       
ด้านโซโลมอน โกเต เลขาธิการใหญ่ของสหภาพแรงงานด้านอุตสาหกรรมและการค้า (ICU) เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า การประท้วงครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลกานาออกมาตรการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมเพื่อพลิกฟื้นภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศโดยเร็ว พร้อมขอให้มีการทบทวนความเหมาะสมของระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนราคาน้ำมัน เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูง
       
รายงานระบุว่า บรรยากาศโดยรวมของการประท้วงเป็นไปอย่างสันติ แม้รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอห์น ดรามานี มาฮามา ที่ก้าวขึ้นครองอำนาจเมื่อ 2 ปีก่อน จะสั่งระดมกำลังตำรวจปราบจลาจลจำนวนกว่า 500 นายพร้อมอาวุธครบมือ เข้าประจำการตามเส้นทางเดินขบวนของกลุ่มผู้ประท้วง
       
ขณะเดียวกัน โฆษกรัฐบาลกานาออกคำแถลงในกรุงอักกรา ประณามการรวมตัวประท้วงของกลุ่มผู้ใช้แรงงานครั้งนี้ โดยระบุเป็นความพยายามของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในการบ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศ
 
ปธน.สโลวะเกียมอบเงินเดือนให้คนจน
 
26 ก.ค. 2014 สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสโลวะเกีย นายแอนเดรจ คิสกา ทำตามสัญญาตอนที่ชนะเลือกตั้ง ด้วยการมอบเงินเดือนเดือนแรกในฐานะผู้นำประเทศให้กับ 10 ครอบครัวที่มีฐานะยากจน
 
ทั้งนี้ หลังจากชนะเลือกตั้ง นายคิสกา วัย 51 ปี ที่ร่ำรวยขึ้นมาจากธุรกิจบัตรเครดิตเพื่อผู้บริโภค ประกาศมอบเงินเดือนที่ได้เดือนละ 5,376 ยูโร ให้แก่ประชาชนผู้ยากจนตลอดระยะเวลา 5 ปีที่เขาดำรงตำแหน่ง ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีผู้ใจบุญขแห่งสโลวะเกีย ได้ใช้เงินหลายล้านดอลลาร์ ก่อตั้งองกรค์การกุศลขนาดใหญ่ชื่อ "กู้ด แองเจิล"เพื่อช่วยเหลือครอบครัวและเด็กที่มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ
 
ยอดแรงงานจีนไหลตายพุ่งสูง เกือบ 1 พันคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
 
26 ก.ค. 2014 จำนวนแรงงานชายชาวจีน ซึ่งยังหนุ่มแน่น นอนหลับ แล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย หรือที่เรียกกันว่า เป็นโรคไหลตายนั้น เพิ่มสูงอย่างมากในช่วง 10 ปีทีผ่านมา จากรายงานผลการศึกษาของนักวิจัยล่าสุด แม้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายได้อย่างชัดเจน แต่ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า แรงงานเหล่านี้เสียชีวิตในเขตพื้นที่เดียวกัน
       
ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยจากโรงเรียนแพทยศาสตร์จงซานในเมืองก่วงโจว (กวางเจา) มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ระบุว่า มีแรงงานชาวจีนเป็นโรคไหลตายจำนวน 893 คน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของตำรวจในเมืองแห่งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค. 2001 - ต.ค. 2013 ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่า 3 เท่าจากคดี ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค. 1990 - ธ.ค. 1999 จำนวน 231 คดี เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในเมืองต่งกวน ซึ่งเป็นฐานการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท ตำรวจระบุว่า ไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต โดยจากผลการชันสูตรศพไม่พบว่า ป่วยเป็นโรค หรือได้รับบาดเจ็บ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
       
ข่าวแรงงานเป็นโรคไหลตาย ที่เคยปรากฏมานั้น ส่วนใหญ่เกิดในชาติแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยผู้เสียชีวิตมักมีอาการหายใจติดขัดก่อนตาย งานวิจัยล่าสุดก็พบลักษณะการเสียชีวิต ที่คล้ายคลึงกับงานวิจัยของนานาชาติ และบ่งชี้ว่า คนงาน ซึ่งเป็นชายหนุ่มและใช้แรงกายในการทำงานจัดอยู่ ในกลุ่มเสี่ยง ที่จะตายด้วยโรคนี้มากที่สุด โดยผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 90 ในเมืองต่งกวนก็อยู่ในคนกลุ่มนี้
       
การทำงานติดต่อกันนานหลายชั่วโมง ประกอบกับสถานที่ทำงาน ตลอดจนที่พักอาศัย ซึ่งขาดสุขลักษณะ อากาศไม่ถ่ายเท และคับแคบ ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เสี่ยงนอนหลับตายได้
       
กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิของผู้ใช้แรงงานในเมืองก่วงตงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาแรงงานอพยพเสียชีวิตจากอาการปัจจุบันทันด่วนนี้มานานแล้ว และเชื่อว่า เป็นผลมาจากการตรากตร่ำทำงานจนเกินกำลัง จากการเปิดเผยของนาย เจิง เฟยหยัง ผู้อำนวยการศูนย์แรงงานอพยพก่วงตงพันอี๋ว์ในก่วงโจว ( Guangdong Panyu Migrant Worker Centre ) 
       
เขายังระบุด้วยว่า การเรียกร้องค่าเสียหายแก่ผู้ตาย เนื่องจากทำงานหนัก เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เพราะกฎหมายของจีนไม่รองรับในเรื่องนี้ อีกทั้งเจ้าของโรงงานสามารถโต้แย้งได้ว่า คนงานอื่น ๆ ก็มีชั่วโมงทำงานเท่ากัน แต่เหตุใดจึงยังไม่เสียชีวิต 
       
งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่า ผู้มีอายุระหว่าง 20-40 ปี ซึ่งมักเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวและอยู่ในภาวะถูกกดดันอย่างหนัก จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่จะเป็นโรคไหลตายยกตัวอย่าง เช่น พบว่า กว่าร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตจำนวน 328 คนในช่วงปี 2544-2549 มีอายุระหว่าง 21-40 ปี นอกจากนั้น เมื่อคิดอัตราเฉลี่ยแล้ว เห็นได้ว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 10 คน เป็นผู้ชายมากกว่า 9 คน 
 
คนงานชายกะดึก เจอศึกโรคเบาหวาน
 
28 ก.ค. 2014 วารสาร “เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอาชีวะ” ของสหรัฐฯรายงานว่า ผลของการสำรวจแรงงานตามชาติต่างๆครั้งใหญ่ ได้พบว่า ผู้ที่ต้องทำงานเป็นผลัดจะเสี่ยงกับการเป็นโรคเบาหวานแบบที่ 2 ได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ชายจะยิ่งน่ากลัวที่สุด
 
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคของอังกฤษโทษว่าอาจเป็นเพราะมันไปรบกวนนาฬิกาชีวภาพ ซึ่งเกี่ยวพันกับขนาดของรอบเอว ระดับฮอร์โมน และการนอนเข้า
 
การศึกษาของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนก็พบว่า คนทำงานที่ต้องทำงานเป็นกะ จะป่วยเป็นเบาหวานกันประมาณร้อยละ 9 และหากเป็นในหมู่ผู้ชายแล้วจะเพิ่มขึ้นสูงเป็นร้อยละ 35 ยิ่งเป็นผู้ที่ต้องสลับหมุนเวียนระหว่างกลางวันกับกลางคืนด้วยแล้ว ยิ่งสูงถึงร้อยละ 42 นักวิจัยได้บอกเตือนว่า “ผลการวิจัยส่อว่า ผู้ชายที่ต้องทำงานเป็นผลัดแล้ว ควรจะระมัดระวังตัว ควรจะกินอาหารให้ถูกส่วนไว้”
 
สื่อผู้ดีแฉแรงงานสร้างสนามบอลไม่ได้ค่าจ้าง
 
29 ก.ค. 2014 สื่อของอังกฤษ ออกข่าวแฉกาตาร์ เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ว่า แรงงานต่างชาติ ที่เข้ามาสร้างสนามแข่งขันรับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม และบางส่วนไม่ได้รับค่าจ้างมานานนับปี
 
ประเทศกาตาร์ เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ถูกสื่ออังกฤษ โจมตีมาโดยตลอด ตั้งแต่การเผยแพร่ข้อมูลว่ามีการติดสินบนเพื่อให้ได้จัดฟุตบอลโลก 2022 ล่าสุด สื่อของอังกฤษ เปิดเผยว่า แรงงานกว่าหลายร้อยคน ที่ก่อสร้างสนามอัล วาคราห์ กำลังประสบปัญหาไม่ได้รับค่าจ้างมานานกว่า 1 ปี และมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก นอกจากนั้นเปิดเผยว่าแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ต้องเสียชีวิตจากทั้งอุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย และอาการหัวใจล้มเหลว
 
สื่อของอังกฤษ พบว่าแม้บางคนจะได้รับค่าจ้าง แต่ก็เป็นค่าตอบแทนที่ต่ำมาก เฉลี่ยเพียงวันละ 4.9 ปอนด์ หรือประมาณ 220 บาท คิดเป็นสัปดาห์ละประมาณ 1,500 บาทเท่านั้น ส่วนทำงานล่วงเวลาได้ค่าตอบแทนต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่ผู้จัดการโครงการ ตัวแทนจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างในกาตาร์ ยืนยันว่าค่าตอบแทนในกาตาร์ยังมากกว่าค่าแรงในอินเดียและเนปาล ซึ่งทำให้แรงงานจากหลายประเทศ อพยพเข้ามาทำงานในกาตาร์เป็นจำนวนมาก
 
สำหรับกาตาร์ใช้งบประมาณในการวางโครงสร้าง และระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดถึง 134,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 6 ล้านล้านบาท ส่วนงบประมาณในการก่อสร้างสนาม ทั้ง 8 แห่ง เพื่อใช้ในฟุตบอลโลก ใช้งบประมาณ 2,400 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท
 
อพยพแรงงานจีนออกจากลิเบีย
 
31 ก.ค. 2014 กลุ่มติดอาวุธในลิเบียยอมหยุดยิงชั่วคราวใกล้สนามบินในกรุงทริโปลี ขณะที่จีนเริ่มอพยพแรงงานจีนหลายร้อยคนจากลิเบียไปยังมอลต้าแล้ว กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในลิเบียที่เปิดฉากสู้รบเพื่อยึดครองสนามบินในกรุงทริโปลี ยอมหยุดยิงชั่วคราวเมื่อวานนี้ เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าไปควบคุมไฟที่กำลังลุกลามในคลังน้ำมัน ทำให้เมื่อวานนี้สถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการสู้รบกัน และเงียบที่สุดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
 
ส่วนที่เมืองเบงกาซี เมืองใหญ่อันดับ 2 ของลิเบีย มีรายงานว่า พบศพอย่างน้อย 75 ศพ และ ส่วนใหญ่เป็นทหารที่ล้มตายจากการสู้รบกับกลุ่มติดอาวุธ 2 กลุ่มที่บุกยึดฐานทัพของกองทัพได้แล้ว เมื่อ 2 วันก่อน
 
สำหรับสถานการ์ณในลิเบียช่วง 2 สัปดาห์ทีผ่านมา นับว่าเลวร้ายที่สุดตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองจากการโค่นอำนาจมูอัมมาร์ กัดดาฟี่ ผู้นำลิเบีย เมื่อปี 2011 ส่งผลให้ชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ รวมไปถึงสหประชาชาติ ต้องถอนเจ้าหน้าที่ทางการทูตออกจากลิเบีย
 
ล่าสุด เมื่อวานนี้จีนได้อพยพแรงงานของตนหลายร้อยคนจากลิเบียทางเรือไปยังมอลต้าแล้ว ซึ่งรัฐบาลมอลต้าได้เตรียมที่พักชั่วคราวให้กับคนงานเหล่านี้ และ เตรียมพร้อมแล้วสำหรับการอพยพครั้งใหญ่ หากเหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียยังไม่ยุติ
 
ทั้งนี้จีนได้เรียกร้องให้พลเรือนของตนเดินทางออกจากลิเบียก่อนหน้านี้แล้ว สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ชาวจีนอพยพออกจากลิเบียราว 1,000 คน แต่ยังมีอีก 1,000 คนที่ยังอยู่ในลิเบีย รายงานระบุว่า ชาวจีนส่วนใหญ่หลบหนีออกจากลิเบียมายังตูนิเซีย-เมื่อวานนี้ ฟิลิปปินส์ได้ส่งเรือเช่าเหมาลำมารับแรงงานของตน 1,000 คน ไปยังมอลต้าแล้ว
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก:ประชาไท, ครอบครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอเอสทีวี ผจก.สุดสัปดาห์พิมพ์ปกดำ-ไม่ลงภาพและข้อความใดๆ

$
0
0

หลัง คสช. ออกคำสั่ง 108/2557 เตือนเอเอสทีวี ผจก.สุดสัปดาห์ ตีพิมพ์ข้อความ "บิ๊กตู่ คสช.พ่อทุกสถาบัน" ฯลฯ และให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติสอบ ล่าสุดเอเอสทีวี ผจก.สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 252 ขึ้นปกดำล้วน ขณะที่ไทยพีบีเอสอ้างแหล่งข่าวระบุว่าเอเอสทีวี ผจก.สุดสัปดาห์ตัดสินใจหยุดวางจำหน่าย 4 ฉบับ

1 ส.ค. 2557 - ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คอลัมน์นิสต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และอดีตโฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คแฟนเพจของเขา เป็นภาพปกหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 252 ประจำวันที่ 2-8 สิงหาคม โดยทั้งหน้าปกเป็นหัวหนังสือพิมพ์ พื้นสีดำล้วน ไม่มีการตีพิมพ์ข้อความและภาพปกใดๆ

ทั้งนี้ ไทยพีบีเอส รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในผู้จัดการว่า หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์ จะไม่มีการตีพิมพ์อีก 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 253 ถึง 256 โดยจะเสนอแต่เวอร์ชั่นออนไลน์ เพื่อลดแรงกดดันให้กับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่เข้ามาสอบสวนเรื่องดังกล่าวตามร้องขอของ คสช.

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 ก.ค. มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 108/2557 เรื่องการตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม โดยระบุว่าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 วันที่ 26 ก.ค. - 1 ส.ค. 2557 ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่องด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จโดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของ คสช. ในคำสั่ง คสช. ให้ตักเตือนผู้เขียนบทความ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนอีกจะดำเนินการตามกฎอัยการศึก และดำเนินการตามกฎหมาย และสั่งให้องค์กรวิชาชีพดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพต่อบุคคลเหล่านั้น แล้วรายงานผลการดำเนินการให้ คสช.ทราบโดยเร็ว

และในวันที่ 29 ก.ค. คสช. โดยคณะทำงานด้านกฎหมาย ส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักเลขาธิการ คสช. ได้ส่งหนังสือมายังสภาการหนังสือพิมพ์ ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 108/2557 เลขหนังสือ คสช.(สลธ) 1.10/55 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2557

โดยในหนังสือของ คสช. ระบุว่า หนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่อง เช่น ข้อความที่หน้าปกที่ว่า “ธรรมนูญ “บิ๊กตู่” คสช.พ่อทุกสถาบัน”  ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติอยู่เหนือสถาบันเบื้องสูง ส่วนข้อความในหน้า 16 เขียนพาดพิงชื่อบุคคลที่มีหน้าที่เลือกสรรเครื่องสุขภัณฑ์ในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นทายาทของหัวหน้า คสช.

และข้อความในหน้า 18 ที่เปรียบเทียบการสรรหา สนช. กับการแบ่งเค้ก โดยในหนังสือของ คสช. ระบุว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ ถือว่าการกระทำดังกล่าวของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์มีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557

ทั้งนี้ในวันที่ 29 ก.ค. สภาการหนังสือพิมพ์มีการเรียกประชุมด่วนในช่วงเช้า และมีมติให้นายสิทธิโชค ศรีเมือง รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ นำเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการพิจารณาตรวจสอบตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2540 และข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายผู้ติดเชื้อ-มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แถลงการณ์ร่วม แจงกรณีถูก รร.ปฏิเสธให้บริการ

$
0
0

1 ส.ค. 2557 เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยและองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ออกแถลงการณ์ร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีสององค์กรถูกปฏิเสธให้บริการจากโรงแรมทาวน์อินทาวน์ ชี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ อย่างชัดเจน ระบุจะดำเนินการรณรงค์ให้สาธารณชนได้ร่วมกันบอยคอตการใช้บริการของโรงแรมในเครือแห่งนี้ โดยจะทำหนังสือเวียนถึงทุกหน่วยงานทั้งเอกชน และราชการ เพื่อให้เลิกการสนับสนุนโรงแรมดังกล่าว จนกว่าทางโรงแรมจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย รวมทั้งชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้

 

๑ สิงหาคม ๒๕๕๗
แถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยและองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ถูกปฏิเสธให้บริการจากโรงแรมทาวน์อินทาวน์

จากกรณีที่เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ถูกปฏิเสธการจัดประชุม สัมมนา และบริการห้องพัก ห้องอาหารจากโรงแรมทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ และเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ที่ผ่านมา ตัวแทนจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ และองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ตามที่เป็นข่าวนั้น

เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ อย่างชัดเจน โดยไม่เพียงกระทำต่อผู้ติดเชื้อฯ เท่านั้น แต่ยังเหมารวมถึงทุกองค์กรที่ทำงานในเรื่องเอดส์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นทัศนคติของผู้บริหารโรงแรมที่ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ รวมถึงมีอคติต่อตัวผู้ติดเชื้อฯ ซึ่งสะท้อนจากคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่โรงแรมที่อ้างถึงเหตุผลของผู้บริหารในการไม่ให้บริการ

ตัวอย่างเช่น การอ้างว่า ลูกค้ารายอื่นๆ เกิดความไม่สบายใจในการใช้สถานที่ร่วมกัน อย่างห้องพัก หรือห้องอาหาร ขณะที่ข้อเท็จจริงคือ ไม่เคยมีใครติดเชื้อเอชไอวีจากการใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารโดยใช้ช้อนส้อมร่วมกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้ห้องน้ำ หรือห้องพักร่วมกัน ไม่เพียงเท่านั้น การจะทราบว่าใครติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ต้องใช้การตรวจเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อเอชไอวีเท่านั้น ไม่สามารถสังเกตจากรูปลักษณ์ภายนอกได้

อนึ่ง การที่เจ้าหน้าที่ของโรงแรมอ้างว่า ทางองค์กรยกเลิกการจัดงานกระทันหัน ข้อเท็จจริงคือ ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน – ๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ติดต่อขอใช้สถานที่เพื่อจัดอบรมให้กับอาสาสมัครสายด่วนปรึกษาเอดส์ ๑๖๖๓ แต่เนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่รามคำแหง ซึ่งใกล้กับสถานที่จัดงาน ทางองค์กรผู้จัดคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมอบรม ที่ต้องเดินทางมาในพื้นที่เสี่ยง จึงยกเลิกการจัดอบรมในวันที่ ๑ ธันวาคม โดยได้ปรึกษากับทางฝ่ายขายของโรงแรมเพื่อรับผิดชอบกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ได้จัดอบรมให้อาสาสมัครสายด่วนฯ อีกครั้งในวันที่ ๑๔ – ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๖, ๑๘ – ๑๙ มกราคม, ๒๕ มกราคม และ ๑ – ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ตามลำดับ
นอกจากนี้ การให้เหตุผลว่ามีทรัพย์สินสูญหาย เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ที่ผ่านมา ทางโรงแรมได้พิสูจน์ด้วยการตรวจสอบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดแล้ว และพบว่าไม่ใช่ผู้เข้าร่วมอบรมจากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์แต่อย่างใด การให้สัมภาษณ์เช่นนี้เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและถือว่า เข้าข่ายการหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยเจตนา ซึ่งทางมูลนิธิเข้าถึงเอดส์จะพิจารณาเอาผิดต่อกรณีนี้ต่อไป
รวมถึงการอ้างว่ามีการติดต่อไปยังโรงแรม โดยการเปลี่ยนชื่อติดต่อไป และสุดท้ายให้ออกใบเสร็จในชื่อของมูลนิธิฯ นั้นเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่เป็นจริง ซึ่งพฤติกรรมการให้ข้อมูลบิดเบือนเช่นนี้แสดงเจตนาต้องการทำให้มูลนิธิฯ เสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างชัดเจน

ไม่เพียงเท่านั้น การอ้างว่าผู้เข้าร่วมงานแต่งกายไม่เรียบร้อย สะท้อนให้เห็นทัศนคติของเจ้าหน้าที่และผู้บริหารโรงแรมที่ดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แบ่งแยกชนชั้นจากการแต่งกาย และมองคนจากภายนอก ซึ่งไม่สมควรเป็นทัศนะของผู้ที่ทำหน้าที่ให้บริการ

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ จะดำเนินการรณรงค์ให้สาธารณชนได้ร่วมกันบอยคอตการใช้บริการของโรงแรมในเครือแห่งนี้ โดยจะทำหนังสือเวียนถึงทุกหน่วยงานทั้งเอกชน และราชการ เพื่อให้เลิกการสนับสนุนโรงแรมดังกล่าว จนกว่าทางโรงแรมจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย รวมทั้งชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวอย่างเป็นทางการ


ขอแสดงความนับถือ

(อภิวัฒน์ กวางแก้ว)
ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ

(นิมิตร์ เทียนอุดม)
ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช. ออกประกาศให้หัวหน้าพรรคการเมืองเสนอชื่อสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปได้

$
0
0

1 ส.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 119/2557 ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
 
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ฉบับที่ 119/2557
ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
 
อาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฏีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ.2557 มาตรา 17 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติปฎิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ออกระเบียบเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ดังนี้
 
ข้อ 1. ตามพระราชกฤษฏีกาว่าด้วยสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ.2557 มาตรา 10 การเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต้องให้นิติบุคคลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันเป็นผู้เสนอชื่อ จึงเห็นควรกำหนดว่า กรณีนิติบุคคลที่เป็นพรรคการเมืองประสงค์จะเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้เสนอชื่อ
 
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2557
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานตัว สนช. วันที่ 2 ยังคึกคัก 'พล.อ.ธวัชชัย' เตรียมยื่นใบลาออก สนช. เหตุคุณสมบัติขัด รธน.

$
0
0
2 ส.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าตั้งแต่เวลา 08.30น. วันนี้ (2 ส.ค. ) ที่อาคารรัฐสภา 2 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการเปิดให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งมารายงานตัว บรรยากาศคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า เพียงครึ่งวัน มีผู้มารายงานตัวแล้ว 36 คน ส่วนใหญ่เป็นนายทหารและตำรวจ โดยเฉพาะกองทัพอากาศที่เดินทางมาพร้อมกัน 6 คน
 
สำหรับรายชื่อผู้ที่เดินทางมาในวันนี้ อาทิ พล.อ.อู้ด เบื้องบน พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ  นายศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ พล.ท.ธีรชัย นาควานิช นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ  พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี  คุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ นางเสาวณี สุวรรณชีพ พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง โดยรัฐสภาจะเปิดให้รายงานตัวถึงเวลา 16.30 น.
 
ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เผยดีใจและเป็นเกียรติที่ได้รับความไว้วางใจจะตั้งใจทำงานเต็มที่ ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะมีความชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของ ประชาชน
 
“พล.ต.อ.วัชรพล” หนุน “พรเพชร” นั่งประธาน สนช.
 
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พร้อมทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เนื่องจากเคยทำหน้าที่นี้เมื่อปี 2549 มาแล้ว ซึ่งขณะนี้เตรียมจะเสนอแนวทางการกระจายอำนาจในการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ เพื่อให้แต่ละหน่วยสามารถจัดการงบประมาณและมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น
 
“ส่วนการเลือกประธาน สนช. ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกัน แต่เห็นว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เนื่องจากเคยร่วมงานกันมาก่อน ขณะเดียวกัน เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีความเหมาะสมที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากที่ผ่านมา สามารถจัดการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองให้กลับมาสงบเรียบร้อยได้” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรุ่งนี้ (3 ส.ค.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะเดินทางมารายงานตัวที่อาคารวุฒิสภา
 
“สุรชัย” ระบุนัดอดีต ส.ว.ทานอาหาร 4 ส.ค.นี้นานแล้ว ไม่เกี่ยวล็อบบี้ ปธ. สนช.
 
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีนัดหารือและรับประทานอาหารกลางวันกับอดีต ส.ว. วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคมนี้ ว่าไม่มีนัยหรือต้องการล็อบบี้ตำแหน่งใน สนช.  แต่ได้นัดกันไว้ล่วงหน้าก่อนจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น สนช.
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีแคนดิเดตตำแหน่งประธาน สนช.หลายคน นอกจากนายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่คาดว่าจะมารายงานตัววันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) แล้วยังมีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทยสนับสนุน พล.อ.ธีรเดช มีเพียรด้วย
 
ทั้งนี้ สนช.จะประชุมนัดแรกเพื่อเลือกประธานและรองประธาน สนช. วันที่ 8 ส.ค.  นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิก สนช.จะมายื่นใบลาออกจาก สนช.ต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา วันที่ 4 ส.ค. เวลา 10.00 น. หลังปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้วพบว่ามีลักษณะต้องห้ามเป็น สนช.ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนด ห้ามดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะ 3 ปี ก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช.
 
เลขาฯ กฤษฎีกาไม่ขัดข้องถ้า "พล.อ.ประยุทธ์" เป็นนายก
 
นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเข้ารายงานตัวเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) ว่า ไม่ขัดข้องหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. จะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ประชุม สนช. และไม่คิดว่าเป็นการแทรกแซงงานของฝ่ายบริหาร แต่จะทำให้การทำงานของทุกฝ่ายมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
นายชูเกียรติ ยืนยันว่าไม่รู้สึกกังวลในการทำหน้าที่ สนช. เพราะทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำงาน ส่วนการประชุมของ สนช. จะเดินหน้าไปได้หรือไม่ เพราะอยู่ระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ใช่เรื่องใหญ่ เชื่อว่าจะเดินหน้าประชุมต่อไปได้ ส่วนการพิจารณากฎหมายสมาชิกจะพิจารณาตามลำดับความสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับที่มีความเร่งด่วน แม้ สนช.จะมีกรอบเวลาการทำงานไม่นานนัก แต่เชื่อว่าโรดแมปของ คสช. ได้พิจารณากรอบเวลามาอย่างรอบคอบแล้ว ส่วนอำนาจในการถอดถอดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ สนช. ต้องขอศึกษาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงก่อน
 
'พล.อ.ธวัชชัย' เตรียมยื่นใบลาออก สนช. เหตุคุณสมบัติขัด รธน. ลั่นไม่ยึดติดตำแหน่ง
 
ด้านมติชนออนไลน์รายงานว่าพล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ลำดับที่ 57 เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ เวลาประมาณ 10.00 น. ตนจะเข้ายื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งสนช.ต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หลังจากที่ได้ปรึษากับฝ่ายกฎหมายและบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า ตนมีลักษณะต้องห้ามของการเป็น สนช.ตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 8(1) ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะ3ปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช.กำหนดไว้ ทั้งนี้การลาออกดังกล่าวไม่จำเป็นต้องให้ผู้ใดเสนอเรื่องให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบก่อน เมื่อตนรู้ว่ามีคุณสมบัติที่ขัดด้วยตนเองก็พร้อมจะลาออก โดยไม่ยึดติดกับตำแหน่งใดๆ
               
"ต้องให้ความเป็นธรรมกับผมด้วย กรณีที่สื่อนำข่าวไปลง โดยผมไม่ได้ชี้แจง ทั้งนี้ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นสนช. ผมไม่ได้เข้าไปสมัครด้วยตนเอง ตอนแรกผมดีใจที่ได้รับเลือกให้เข้าไปทำงานเพื่อประเทศแต่เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติของตนเองแล้วพบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ต้องลาออกเอง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ส่วนการลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคชาติพัฒนาก่อนหน้านี้ เป็นไปตามคำชักชวนของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรค ที่อยากให้เข้าร่วมการแก้ปัญหาบ้านเมือง" พล.อ.ธวัชชัย กล่าว
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย, มติชนออนไลน์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครึ่งปีการเมืองเปลี่ยน 'ลุงอะแกว' อัมพาต ไม่เปลี่ยน

$
0
0

อัพเดทอาการล่าสุดนายอะแกว แซ่ลิ้ว เหยื่อคมกระสุนศึกชิงคูหาเลือกตั้งหลักสี่ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างมากในเวลาครึ่งปี ลูกสาวเผยชีวิตครอบครัวเปลี่ยนต้องลาออกจากงานมาดูแลพ่อที่ยังอัมพาต

วันที่ 2 ส.ค.นี้ถือเป็นวันครบรอบครึ่งปีของการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 ก.พ.57 ที่ผ่านมาการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หลังเลือกตั้งกลุ่ม กปปส. ก็ยังคงชุมนุมต่อเนื่อง จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เฉพาะในส่วนที่กําหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. นั้น ไม่สามารถจัดการให้เป็นการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง และตามมาด้วยการรัฐประหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา จนล่าสุดประเทศไทยพึ่งได้เห็นชื่อรายสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่ชาติอีก 200 รายชื่อแล้ว

อย่างไรก็ตามก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 ก.พ. เพียง 1 วัน อีกข่าวที่ได้รับความสุนใจขณะนั้นคือข่าวศึกชิงคูหาเลือกตั้งที่หลักสี่ กรุงเทพ โดยด้านหนึ่งปรากฏภาพ ‘มือปืนป็อบคอร์น’ และมือปืน ‘ถุงกีต้าร์’ ขณะที่อีกด้านหนึ่งปรากฏภาพชายชรานอนจมกองเลือดอยู่ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กขณะนั้นตั้งแต่ถูกฝ่ายเสื้อแดงยิงบาดเจ็บ จนเป็นชาวกัมพูชาที่เป็นแกนนำกองกำลังติดอาวุธที่มายิงทำร้ายผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.

ซึ่งต่อมาทราบชื่อคือนายอะแกว แซ่ลิ้ว วัย 72 ปี พ่อค้าขายน้ำหวาน น้ำอัดลมที่บริเวณหน้าโรงเรียนเคหะทุ่งสองห้องวิทยา 2 ที่วันเกิดเหตุด้วยความเป็นห่วงลูกสาวที่ทำงานขายอาหารอยู่ฟู้ดเเลนด์ ภายในห้างไอทีสเเควร์ จึงได้เดินทางมาหา และเห็นมาการชุมนุมกันบริเวณที่เกิดเหตุจึงเข้าไปสังเกตุการณ์และถูกยิงจนกลายเป็นอัมพาตจนกระทั่งปัจจุบัน

วลัยพร แซ่ลิ้ว บุตรสาวของนายอะแกว วัย 35 ปี เปิดเผยอาการล่าสุดของบิดาตนว่า ขณะนี้อาการดีขึ้น กลับมาอยู่ที่บ้านแล้ว ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจแล้ว แต่ยังมีการพ้นยาละลายเสมหะอยู่เพราะไม่สามารถขับออกมาด้วยตนเองได้ และยังคงให้อาหารผ่านทางสายยางอยู่ ส่วนอาการอัมพาตนั้นยังเป็นเหมือนเดิม และไม่สามารถพูดได้  แต่สามารถขยับปากได้เท่านั้น

สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น วลัยพร กล่าวว่าใช้สิทธิบัตรทอง ส่วนเงินเยียวยาจากหน่วยงานต่างๆนั้นยังไม่ได้รับ มีเพียงได้รับจากเงินช่วยเหลือจากผู้ที่มาเยี่ยม รวมทั้งบริจาคผ่านบัญชีที่ตนเปิดไว้

วลัยพร กล่าวถึงสิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือขณะนี้ว่า ต้องการเครื่องสำหรับพ้นยา    รวมทั้งรถเข็นที่สามารถนอนได้สำหรับใช้เคลื่อนย้ายบิดาได้ เนื่องจากบ้านที่อยู่นั้นอยู่ในเคหะทุ่งสองห้อง ทำให้รถไม่สามารถเข้าไปด้านในได้ เวลาเหตุฉุกเฉินหากต้องนำตัวบิดาออกมาเพื่อไปโรงพยาบาลจะค่อนข้าง เนื่องจากเตียงนอนนั้นแม้จะเข็นได้แต่ไม่ใช้เตียงที่ใช้สำหรับเข็นบนถนน

วลัยพร กล่าวด้วยว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ชีวิตของครอบครัวเปลี่ยนค่อนข้างมาก พี่สาวของตนก็ต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลบิดาโดยตรง ขณะที่ตนเองก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มที วันหยุดก็ไม่สามารถทำโอทีได้ ต้องมาช่วยพี่สาวดูแลพ่อ

 

สำหรับหมายเลขบัญชีธนาคารทหารไทยที่เปิดรับบริจาคนั้น ชื่อบัญชี ‘วลัยพร แซ่ลิ้ว’ หมายเลขบัญชี 265 201 9817 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รธน.ชั่วคราวกับอคติต่อระบบประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่

$
0
0

 

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช. สะท้อนทัศนคติที่ต่อต้านนักการเมือง ระบบการเมืองแบบรัฐสภา และผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นทัศนะที่ครอบงำกลุ่มคนชนชั้นนำ ปัญญาชน ชนชั้นกลางในเมือง และสื่อมวลชนส่วนใหญ่มาเป็นเวลาเนิ่นนาน สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ อคติดังกล่าวจะถูกนำไปบรรจุลงใน รธน.ฉบับใหม่ต่อไปอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้ความสุขของคนบางกลุ่ม กลายเป็นความทุกข์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศในที่สุด

  • หลายมาตราใน รธน.ชั่วคราวกีดกันไม่ให้นักการเมืองเข้ามาเป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรี (ม.20), สมาชิกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ม.8), สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ม.29) และกรรมาธิการยกร่างรธน. (ม.33) ภารกิจอันสำคัญที่จะส่งผลต่อระบบการเมืองไทยในระยะข้างหน้าอย่างกว้างขวางล้วนอยู่ในมือของนายทหารและข้าราชการระดับสูง
     
  • เมื่อนักการเมืองถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วม ก็หมายความว่าไม่มีช่องทางให้ความต้องการของประชาชนอันหลากหลายได้เข้าสู่กระบวนเปลี่ยนแปลงประเทศไทยนี้เลย
     
  • มาตรา 8, 20, 29, 33 ก็คือผลของวาทกรรมนักการเมืองเลว คอรัปชั่นที่ถูกสร้างอย่างต่อเนื่องในช่วงราว 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แน่นอนว่าการคอรัปชั่นของนักการเมืองเป็นปัญหาใหญ่ แต่การคอรัปชั่นในระบบราชการที่เกิดขึ้นรายวัน ตามระบบกินตามน้ำ ไม่ใช่ปัญหาที่เล็กกว่าเลย ระบบการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธปกรณ์ในกองทัพ ที่ไม่สามารถตรวจสอบเอาผิดเป็นปัญหาที่ส่งผลต่องบประมาณของประเทศอย่างแน่นอน
     
  • ความเกลียดชังนักการเมือง ยังลุกลามไปสู่การดูถูกเหยียดหยามประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ที่อยู่ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน พวกเขาถูกมองว่าเป็นพวกโง่ จน เจ็บที่เห็นแก่อามิสสินจ้างอันน้อยนิด พวกเขาจึงเป็นสาเหตุที่เปิดประตูให้นักการเมืองเลวเข้าสู่ระบบและทำร้ายประเทศไทย
     
  • แม้ว่าจะมีงานวิจัยทั้งไทยและเทศออกมามากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยืนยันว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนในต่างจังหวัดนั้น เกี่ยวข้องกับนโยบายที่ส่งผลต่อการพัฒนาชีวิตและชุมชน มากกว่าการขายเสียง แต่ทัศนคติของชนชั้นกลางในเมืองก็ปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ และยังยืนยันโจมตีต่อไปว่า ต่อให้เลือกเพราะนโยบาย ก็ผิด เพราะเป็นนโยบายประชานิยมที่เลว เห็นแก่ได้ ทำลายเศรษฐกิจของประเทศ งบประมาณที่ทุ่มลงไปส่วนใหญ่เป็นเงินภาษีของคนกรุงเทพฯ นักการเมืองไม่มีสิทธินำไปใช้เพื่อสร้างความนิยมให้กับตนเอง
     
  • ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นที่ คสช.จะต้องกำหนดให้คณะกรรมาธิการร่าง รธน. สภาปฏิรูปฯ และสภานิติบัญญัติฯ หาทางสร้างกลไกต่างๆ และบรรจุไว้ใน รธน.ฉบับใหม่ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการคอรัปชั่น กีดกันนักการเมืองที่คอรัปชันไม่ให้เข้าสู่ตำแหน่งการเมืองได้อีก ป้องกันการใช้นโยบายประชานิยมเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เป็นต้น (ดูมาตรา 35)  
     
  • ประการสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ที่ยังโง่ จน เจ็บ เป็นผู้ตัดสินว่าใครหรือพรรคการเมืองใดจะเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศนี้อีกต่อไป ก็เชื่อได้แน่ว่า รธน.ใหม่จะต้องสร้างกลไกที่ทำให้เสียงส่วนใหญ่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดอีกต่อไป แต่ระบบแต่งตั้งจะถูกนำมาใช้เพื่อลบล้างอำนาจของระบบเสียงส่วนใหญ่ในที่สุด
     
  • ในขณะที่การปฏิรูปของ คสช.มุ่งไปที่ปัญหาคอรัปชั่น สร้างกลไกตรวจสอบ-ควบคุมนักการเมือง และลดอำนาจของเสียงส่วนใหญ่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอีกฝั่งหนึ่งถึงภาวะสองมาตรฐานของกลไกศาล ตุลาการ และองค์กรอิสระทั้งหลาย ที่มุ่งห่ำหั่นกลุ่มการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งจนทำลายความศรัทธาและหลักการขององค์กรของตนอย่างยับเยิน ตลอดจนเรียกร้องให้กลไกเหล่านี้มีที่มาที่ยึดโยงกับเสียงของประชาชน สามารถถูกตรวจสอบเอาผิดได้ เชื่อได้แน่ว่าจะไม่เกิดขึ้นใน รธน.ฉบับใหม่ ความเชื่อว่าคนในฟากฝ่ายนี้ล้วนเป็น “คนดี” ทำให้กลไกตรวจสอบ-ปฏิรูปไม่จำเป็นแต่ประการใด
     
  • สิทธิ เสรีภาพของประชาชน และความรับผิด (accountability) ของผู้มีอำนาจ สูญหายไปจาก รธน.ชั่วคราวโดยสิ้นเชิง แม้จะมีอยู่ 48 มาตรา แต่ต้องถือว่ามาตรา 3 ที่ระบุว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของมวลชนชาวไทย และ 4 ไม่มีรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนไทยตามรธน.และกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่มีอยู่จริง เพราะถูกลบล้างด้วยมาตรา 44 และมาตราอื่นๆ ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน จึงถือได้ว่า รธน.ชั่วคราว มีแค่ 46 มาตราเท่านั้น
     
  • มาตรา 44 ได้ให้ความชอบธรรมกับการใช้อำนาจเด็ดขาดกับผู้นำ คสช.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการจัดการกับผู้ที่มีการกระทำใดๆ ที่ถือว่าเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อเป้าหมายของ คสช. ไม่มีข้อสงสัยว่ามาตรา 44 นั้นคือการรับมรดกของมาตรา 17 ที่ใช้อย่างกว้างขวางในยุครัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คสช.คงเชื่อว่าด้วยอำนาจอันเด็ดขาดนี่จะทำให้พวกเขาสามารถประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ ที่ประสบความสำเร็จทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ (ภายใต้การอุปถัมภ์อัดฉีดจากสหรัฐฯ) และประชาชนในยุคนั้นก็ยังชื่นชมในความเด็ดขาดของท่านผู้นำ แต่สังคมไทยยุคสฤษดิ์และยุค คสช. นั้นต่างกันอย่างลิบลับ (ดูบทสนทนาของชาญวิทย์ เกษตรศิริ และทักษ์ เฉลิมเตียรณ)
     
  • รธน.ชั่วคราวไม่ได้ระบุว่า คสช.จะสลายตัวไปหลังจากมีรธน.ใหม่และมีการเลือกตั้งหรือไม่ บทเฉพาะกาลในรธน.ใหม่ อาจะเป็นที่สิงสถิตย์ของ คสช.และอำนาจตามมาตรา 44 ต่อไปก็เป็นได้

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุริยะใส กตะศิลา: สภาสีเขียว กับภารกิจปฏิรูป

$
0
0

 

เห็นโฉมหน้า สมาชิก สนช. ทั้ง 200 คนแล้ว เป็นไปตามคาดว่า เพราะเต็มไปด้วยทหารและข้าราชการประจำเป็นหลัก ซึ่งพอจะบ่งบอกโฉมหน้ารัฐบาลและยุทธศาสตร์ระยะยาวของการยึดอำนาจครั้งนี้ได้ว่า

จะขับเคลื่อนเคลื่อนโดยพึ่งพากลไกและวิธีคิดรัฐราชการเป็นหลัก ยังคงรักษาระยะห่างที่มีกับภาคประชาชน ทุกกลุ่มทุกขั้วอย่างระมัดระวัง

ทำให้ สนช.มีภาพออกมาไม่ถูกโจมตีว่าเป็นสภาของคู่ขัดแย้งหรือสีใดสีหนึ่ง ถ้าจะคาดสีให้ ก็ต้องเรียก "สภาสีเขียว (ทหาร)" มากกว่า

ผมคิดว่ามีงานที่ท้าทาย สนช. ในเรื่องใหญ่ๆ อยู่ 3 เรื่องที่จะเป็นบทพิสูจน์ว่ายึดอำนาจครั้งนี้ "เสียของ" หรือไม่

- การสลายเครือข่ายระบอบทักษิณ ที่ไม่ใช่แค่ดำเนินคดีที่กระทำผิด แต่ต้องเท่าทันยุทธศาสตร์ของระบอบทักษิณที่วิวัฒนาการไปตลอดเวลา โดยเฉพาะระบบธุรกิจการเมือง ที่อำนาจทางธุรกิจและการเมือง กลายเป็นเครืองมือหาประโยชน์ซึ่งกันและกัน ทำให้สังคมอ่อนแอ เกิดระบบผูกขาดทั้งทางเศรษฐกิจการเมือง จนสังคมการเมืองกลายเป็นหลุมดำ

- การปรองดองสมานฉันท์ ต้องเอาความจริงและต้นเหตุปัญหามาพูดกัน ไม่ใช่แกล้งลืมหรือแกล้งตายกัน งานปรองดองไม่ใช่งานที่ทำได้ในปีเดียว อาจยกสถานะของกระบวนการปรองดองเป็นหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีแผนปรองดองระยะกลางและระยะยาวด้วย

- จะต้องออกกฎหมายที่เป็นต้นน้ำหรือแม่บทของการปฏิรูปประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะใน 11 ประเด็นที่ คสช. วางเค้าโครงไว้ ถือเอาโอกาสนี้ออกกฎหมายสำคัญๆ ที่สภาผู้แทนไม่ทำและไม่กล้าทำ เพราะกระทบผลประโยชน์นายทุนพรรค

เราคงไปหวังให้ สนช.ทำทุกเรื่องทุกความคาดหวังไม่ได้ เพราะมีขัอจำกัดมากมาย แต่ผมขอสงวนสิทธิ์ที่จะคาดหวังว่ายึดอำนาจครั้งนี้ ไม่ใช่แค่สถาปนาขั้วอำนาจใหม่ขึ้นมา หรือเสียของซ้ำซาก

อย่าให้เสียของ เพราะมีของเสียในสภาฯ

ผมขอให้กำลังใจ สนช. ที่หวังดีต่อส่วนรวมและบ้านเมืองครับ!

 

 

ที่มา: เฟซบุ๊ก สุริยะใส กตะศิลา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: รัฐธรรมนูญฉบับลำธารสายเดียว

$
0
0

 

หลังจากที่บริหารประเทศโดยไม่มีรัฐธรรมนูญมาเป็นเวลา 2 เดือน ในที่สุด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน เพื่อรับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว และได้นำมาสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ

ในทางสถิติรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ในประวัติศาสตร์ไทย และเป็นฉบับที่ 16 ที่ประกาศใช้ในรัชกาลปัจจุบัน และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะปูทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ซึ่งจะยิ่งเป็นการตอกย้ำประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก และที่สำคัญคือไม่มีใครเชื่อเลยว่า รัฐธรรมนูญฉบับที 19-20 นี้ จะเป็น 2 ฉบับสุดท้าย เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครเชื่อเลยว่า กองทัพไทยจะทำรัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย แล้วประเทศไทยจะไม่มีรัฐประหารอีก

แต่แม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยจะเป็นเรื่องชั่วคราวอย่างยิ่งเสมอมา ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างน้อยที่สุด รัฐธรรมนูญก็จะเป็นกฎหมายปกครองสูงสุดในขณะนี้ และจะเป็นตัวออกแบบโครงสร้างทางการเมืองที่ชนชั้นนำในสมัยปัจจุบันต้องการที่จะสร้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนต่อไป

เรื่องแรกสุด ที่จะต้องกล่าวถึงคือ รัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ ร่างขึ้นโดยมีเนติบริกร วิษณุ เครืองาม ร่วมด้วย พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ภายใต้การกำกับของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสช. โดยไม่มีกระบวนการใดเลยที่จะหารือกับสาธารณชน หรือนักวิชาการอื่นใด จึงเท่ากับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับกำหนดกันเอง โดยนำตัวแบบมาจากธรรมนูญฉบับชั่วคราวของคณะรัฐประหารในอดีต ถ้าจะเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับพระวิษณุก็คงจะเก๋ไก๋ไม่น้อย

ต่อมาเมื่อเริ่มต้นพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ตั้งแต่คำปรารภที่อธิบายมาอย่างยืดยาวว่า ประเทศเกิดปัญหาความแตกแยกทางการเมือง และเป็นวิกฤตร้ายแรงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ถึงขนาดที่อาจขยายตัวเป็นจลาจล ซึ่งเป็นการ ทําลายความมั่นคงของชาติ และความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบอบการปกครอง คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงจำเป็นต้องเข้ายึดและควบคุมอำนาจ และเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมให้เหลือแต่หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์แต่เพียงหมวดเดียว และนำมาซึ่งการประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราวนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันเหตุผลของการทำรัฐประหารของคณะ คสช. โดยไม่ต้องพิจารณาว่า เหตุใดการรัฐประหารครั้งนี้จึงเป็นที่ต่อต้านอย่างมากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จนต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการสะกดการต่อต้านของประชาชนเอาไว้ตลอดเวลา

สำหรับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 48 มาตรา ซึ่งได้รับคำอธิบายจากวิษณุ เครืองามว่า เป็นฉบับ”ลำธาร 5 สาย” แต่เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นได้ว่า เป็นลำธารสายเดียว คือ ให้อำนาจสูงสุด แก่ คณะ คสช. โดยกำหนดไว้ในมาตรา 42 คงรักษาไว้ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตลอดสมัยของรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ และแม้ว่าจะให้มีสภานิติบัญญัติ 220 คน มาทำหน้าที่รัฐสภา และให้มีนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีมาทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร แต่ก็กำหนดให้หัวหน้าคณะ คสช.เป็นคนเลือกและรับสนองพระบรมราชโองการ

และที่มากกว่านั้น คือการกำหนดมาตรา 44 ที่เลียนแบบมาตรา 17 ของธรรมนูญฉบับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจสูงสุดและเด็ดขาดกับหัวหน้าคณะ คสข. และยังมีมาตรา 48 ที่นิรโทษกรรมการกระทำทั้งหมดของคณะ คสช. และผู้ปฏิบัติตามคำสั่งให้ไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายทั้งย้อนหลังและล่วงหน้า ทำให้ผู้ที่เคยต่อต้านกฏหมายนิรโทษกรรมทั้งหลายต้องพิศวงงงงัน

ข้อที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับอื่น คือ การกำหนดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหา จากจังหวัด 77 คน ส่วนอีก 173 คน มาจากการเสนอชื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้ง สภานี้จะทำหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงาน สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สังคม และอื่น ๆ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสังคมไทย ซึ่งการกำหนดเรื่องสภาปฏิรูปนี้ก็เป็นอย่างสอดคล้องกับข้อเสนอปฏิรูปประเทศตามแบบที่ฝ่าย กปปส.ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เคยเสนอไว้นั่นเอง

แต่กระนั้น รัฐธรรมนูญนี้ได้มอบหมายหน้าที่ให้สภาปฏิรูปเป็นผู้คัดเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการกำหนดกรอบเรียบร้อยแล้วว่า จะต้องร่างให้คลุมหัวข้อเช่น การสร้างกลไกป้องกันการใช้นโยบายประชานิยม การป้องกันไม่ให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาคดีทุจริตคอรัปชั่นเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองโดยเด็ดขาด การบังคับให้รัฐธรรมนูญส่งเสริมหลักคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล เป็นต้น นี่ถือเป็นนววัตรกรรมใหม่ของคณะร่างรัฐธรรมนูญ

ในคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกสภาปฏิรูป และคณะรัฐมนตรี จะมีข้อความระบุคุณสมบัติว่า จะต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองภายใน 3 ปีก่อนหน้านี้ จึงเท่ากับว่าธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้เป็นฉบับหวาดกลัวนักการเมือง แต่ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามใดเลยสำหรับข้าราชการประจำและทหารประจำการ หมายความว่า ทหารและข้าราชการสามารถที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองควบ กินเงินเดือนสองทางได้ทันที นี่เป็นการเปิดโอกาสยุคทองของระบบราชการอีกครั้ง

ประการต่อมาก็คือ รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ไม่มีหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรื่องการห้ามการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปิดกั้นควบคุมสื่อมวลชน และไม่มีมาตราใดกำหนดมาตรการในการตรวจสอบ คณะ คสช. สภานิติบัญญัติ หรือ คณะรัฐบาลที่สภานิติบัญญัติจะจัดตั้งขึ้น คือต้องใช้ความเชื่อกันเลยว่า คนเหล่านี้เป็นคนดี จะปฏิบัติงานด้วยความบริสุทธิ์ โปร่งใส ไม่มีการทุจริตทำมาหากิน เหมือนพวกนักการเมืองเลือกตั้งทั้งหลาย

ตามปกติแล้ว อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ควรจะต้องวางหลักไว้ที่การสร้างสัญญาประชาคม สร้างหลักประกันอำนาจให้กับประชาชน โดยถือว่าประชาชนเป็นที่มาแห่งอำนาจอธิปไตย และสร้างหลักเกณฑ์ตรวจสอบในการใช้อำนาจ เพื่อให้มีการถ่วงดุล ให้ผู้ใช้อำนาจต้องรับผิดชอบในการใช้อำนาจของตน แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ไม่มีหลักการเหล่านี้เลย

บทความจะขอลงท้ายว่า ถ้าจะต้องทำใจให้ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และฉบับถาวรที่จะคลอดติดตามมาในกรอบของรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ จะต้องลืมไปเลยว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ให้ถือเสียว่า ฝ่ายทหารและข้าราชการจะบริหารประเทศอย่างไร ก็ตามใจท่านก็แล้วกัน

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน : โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 474 วันที่ 2 สิงหาคม 2557

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผด็จการรัฐสภา : อำนาจเบ็ดเสร็จที่ไร้การตรวจสอบถ่วงดุล

$
0
0

 

 

ภายหลังจากการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) รายชื่อของสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ให้ประชาชนได้ยลโฉมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้ทรงเกียรติทั้ง 200 คน ที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกของสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่แทนรัฐสภา กล่าวคือปฏิบัติหน้าที่แทนทั้งสภาผู้แทนราษฎร(สภาล่าง) และวุฒิสภา(สภาบน) ในการร่าง พิจารณา และประกาศบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้ซึ่งปฏิบัติงานเป็น”ตัวแทนของปวงชนชาวไทย”นั้นมีที่มาจากการ”แต่งตั้ง”โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งผู้เขียนขอเกริ่นนำเอาไว้เท่านี้ก่อน

ทั้งนี้หากท่านผู้อ่านยังคงจำกันได้ ย้อนกลับไปในช่วงรัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไกลออกไปอีกถึงรัฐบาลในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นทั้งสองรัฐบาลนี้ได้ถูกประชาชนชุมนุมขับไล่และกล่าวหาด้วยความผิดข้อหาหนึ่งคือ “การเผด็จการรัฐสภา” อันเนื่องจากการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เองและการใช้เสียงข้างมากที่เลือกตนเข้ามานั้นเป็นข้ออ้างในการละเมิดเสียงส่วนน้อย คุกคามสื่อ และใช้อำนาจโดยมิชอบ (ตามข้อกล่าวหาของประชาชนที่เดินขบวนและชุมนุมประท้วงต่อต้านในขณะนั้น)

แน่นอนว่านั่นเป็นปัญหาหนึ่งของระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ที่ผู้แทนใช้ความชอบธรรมจากที่มาของตนไปใช้ในทางมิชอบ ดังจะเห็นได้จากกรณีการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา เป็นต้น อย่างไรก็ดีเราไม่ควรลืมว่าในอีกมิติหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า”เผด็จการรัฐสภา”ก็คือ”รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ” และไม่ควรลืมว่ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพนั้นส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงธุรกิจ และสร้างแรงจูงใจในการลงทุน นอกจากนี้ความมีเสถียรภาพของรัฐบาลนั้นยังส่งผลไปถึงความคล่องตัวในกระบวนการดำเนินการแก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างรวดเร็ว

อีกทั้งภายใต้บรรยากาศของระบอบประชาธิปไตย ในรัฐบาลประชาธิปไตยนี้ประชาชนมีกลไกรัฐสำหรับถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจของนักการเมืองมากมาย ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาแทนประชาชนอีกถ่ายหนึ่งในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล อาทิเช่นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้นประชาชนสามารถเรียกคืนอำนาจอธิปไตยของตนผ่านการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ไปจนถึงลงโทษนักการเมืองได้โดยการไม่เลือกนักการเมืองที่หักหลังประชาชนเข้าไปนั่งในสภาอีก แน่นอนว่าจุดนี้ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการผูกมัดระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนในระดับท้องถิ่นที่ไม่ก่อให้เกิดการลงโทษนักการเมือง อย่างไรก็ดีการแก้ปัญหานี้ควรแก้ไขที่การส่งเสริมภาคประชาชนให้เข้มแข็งเพื่อให้ประชาชนสามารถต่อรอง ตรวจสอบ และกำกับนักการเมืองที่ตนเองเลือกได้มิใช่ยกเลิกระบบการเลือกตั้ง

ย้อนกลับมาดูในส่วนสภานิติบัญญัติที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐสภาที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำเอาไว้ หากท่านที่เคยเดินขบวนขับไล่”เผด็จการรัฐสภา”ยังไม่ลืมอุดมการณ์ที่ตนเคยยึดถือ ไม่กลืนสิ่งที่ตนเคยพูดลงคอแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลน้อย อีกทั้งที่มาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเองก็มิได้ยึดโยงกับประชาชน หากพิจารณาจากสัดส่วนของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วก็จะพบว่าในจำนวนสมาชิกทั้ง 200 คนนั้นประกอบด้วย ผู้มียศ นายพล ถึง 114คน ยศ นายพัน 1 คน และ ยศนายร้อย 1 คน รวมเป็น 116 คนจาก 200 คน มีพลเรือนเพียง 84 คน ซึ่งพลเรือนเหล่านี้ก็ล้วนเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนและชนชั้นนำหรือผู้มีตำแหน่งเช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัย ซึ่งหากนับดูแล้วแทบจะมองไม่เห็นตัวแทนของภาคประชาชนเลย เรียกได้ว่าเกินครึ่งของสภานั้นเป็นตำรวจ-ทหาร ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง หากจะให้เปรียบเทียบกันแล้วในระบบ ”เผด็จการรัฐสภา” หรือ “เผด็จการเสียงข้างมาก” ในยุคก่อนหน้านี้ประชาชนทุกคนยังมีสิทธิและส่วนร่วมทางการเมือง อย่างน้อยที่สุดก็สามารถเลือกผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาได้  

ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากชี้ชวนให้ผู้อ่านได้ตั้งคำถามและขบคิดต่อไปจากบทความชิ้นนี้คือ บริบททางการเมืองไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมานั้น เราอาจจะนับได้ว่า(และควรยอมรับว่า)กองทัพได้กลายเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งในสารบบการเมืองไทยที่ทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลอยู่เช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ (นับแต่ปี 2549)กองทัพกลายเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งที่ถูกตั้งความคาดหวังจากประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกร้องการรัฐประหารจากกองทัพ) ขณะที่ตำรวจนั้นเป็นกลไกรัฐของเผด็จการรัฐสภา ทว่าในปัจจุบันนี้ ณ เวลานี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกว่าครึ่งประกอบไปด้วยผู้มียศ “นายพล” ซึ่งมาจากทั้งสายทหารและตำรวจซึ่งหลายท่านก็ยังคงดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับผู้บังคับบัญชากำลังพลของแต่ละเหล่าทัพด้วย ขณะที่กลไกการถ่วงดุลอำนาจอย่างองค์กรอิสระกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อยุบและยกเลิกเสีย 


ณ เวลานี้ผมคิดว่าปวงชนชาวไทยควรตั้งคำถามย้ำกับตัวเองอีกครั้งให้แน่ชัดว่า เรากำลังมีความสุขกับระบบการปกครองที่เป็นอยู่นี้จริงๆหรือ? และระบบการปกครองแบบนี้คือระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่เราท่านเรียกหากันมาโดยตลอดใช่หรือไม่? และคำถามสำคัญที่สุดที่ต้องถามย้ำ และหาคำตอบให้กับตัวเองให้ได้ในตอนนี้ก็คือ “รัฐสภา” แบบไหนที่ควรขนานนามว่าเป็น “เผด็จการรัฐสภา” มากกว่ากัน?

 

 

  

โปรดดูเพิ่มเติม
โปรดเกล้าฯ รายชื่อ200 สนช. 
เผด็จการรัฐสภาในระบบยิ่งมั่ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เปิ้ล กริชสุดา" เผยเบื้องหลังวาทะ "มีความสุขจนไม่รู้จะพูดยังไง"

$
0
0

จอม เพชรประดับสัมภาษณ์ "เปิ้ล กริชสุดา" เผยถูกทำร้ายช่วง จนท.ควบคุมตัว ถูกสอบหนักเรื่องช่วยเหลือนักโทษการเมือง-อาวุธสงคราม-ความเชื่อมโยงกับ "ทักษิณ" - ก่อนออกช่อง 5 มีนายทหาร "โฆษกคนดัง" เข้ามากล่อมให้พูดดีๆ หลังจากถูกปล่อยตัว ขออยู่ต่างประเทศ ต่อจากนี้จะให้ข้อมูลกับหน่วยงานสิทธิมนุษยชน

ภาพจากวิดีโอสัมภาษณ์ น.ส.กริชสุดา คุณะเสน โดยนายจอม เพชรประดับ เผยแพร่ใน YouTube ช่อง Jom Voice เวลาประมาณ 20.30 น. วันที่ 2 ส.ค. 2557 ต่อมาผู้อัพโหลดได้ปิดการเข้าถึงวิดีโอโดยมีสำรองข้อมูลไว้ในช่องอื่น

 

เผยคลิป "จอม เพชรประดับ" สัมภาษณ์สหายสุดซอย เผยถูกทำร้ายช่วงควบคุมตัว

2 ส.ค. 2557 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. ทางเว็บไซต์แชร์วิดีโอ YouTube ช่อง Jom Voice มีการเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ น.ส.กริชสุดา คุณะเสน หรือ "เปิ้ล สหายสุดซอย" โดยนายจอม เพชรประดับ ใช้ชื่อตอนว่า "Thai Voice Media EP1 มีความสุขจนไม่รู้จะพูดยังไง" รวมความยาว 33 นาทีเศษ (คลิปสัมภาษณ์)

ทั้งนี้ น.ส.กริชสุดา ซึ่งถูกทหารสังกัด มทบ.14 จ.ชลบุรี ควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. เวลา 19.00 น. ระหว่างที่ทหารเข้าตรวจค้นบ้านของนางมนัญชยา เกศแก้ว หรือ "เมย์ อียู" กลุ่มคนเสื้อแดงในยุโรป ที่ ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ก่อนได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 24 มิ.ย. ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ภายหลังการปล่อยตัว น.ส.กริชสุดา ได้เดินทางออกจากประเทศไทยและพำนักอยู่ในทวีปยุโรป โดยวางแผนขอสถานะผู้ลี้ภัย

ในคลิปที่มีการเผยแพร่ดังกล่าว นายจอมรายงานว่า ยืนยันว่า น.ส.กริชสุดา ได้เดินทางออกนอกประเทศไทยเพื่อขอลี้ภัยทางการเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ไม่มีการระบุสถานที่ลี้ภัย จากนั้นนายจอม ได้พูดคุยกับ น.ส.กริชสุดา ผ่านโปรแกรมสนทนาสไกป์

ทั้งนี้ น.ส.กริชสุดา ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงที่ถูกควบคุมตัวแรกๆ บนรถยนต์ของทหาร มีผ้าผูกตาเอาไว้ แต่ยังพอทราบว่าถูกนำตัวไปที่ไหนจากการได้ยินเสียงรถ หรือเสียงจ่ายค่าผ่านทางด่วน อย่างไรก็ตามเมื่อถึงสถานที่ควบคุมตัว มีการนำเทปกาวมาพันรอบผ้าอีกที ทำให้ไม่ทราบว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน และถูกมัดมือด้วย โดยต้องอยู่ประจำที่เดิมเป็นเวลาประมาณ 7 วัน และเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้ามาสอบสวนได้ตบที่ใบหน้าด้วย เมื่อนายจอม สอบถามว่าเจ้าหน้าที่ทำเช่นนั้นเพราะเหตุใด น.ส.กริชสุดา ตอบว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุเหตุผล

น.ส.กริชสุดา ตอบคำถามนายจอมเรื่องกิจวัตรประจำวัน โดยระบุว่าระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ได้อาบน้ำไม่กี่ครั้ง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิง มาถอดเสื้อผ้าและอาบน้ำให้ อย่างไรก็ตามตอนที่อาบน้ำก็ได้ยินเสียงผู้ชายด้วย

"เขามาถอดเสื้อผ้าให้ คนที่ทำให้เป็นผู้หญิง หนูถูกปิดตาไม่ทราบว่าเป็นใคร ไม่ทราบว่ามีผู้ชายหรือเปล่า เขาอาบน้ำถูสบู่ให้ ผู้หญิงเป็นคนทำให้ แต่มีเสียงผู้ชายด้วย"

นอกจากนี้เวลาต้องการเข้าห้องน้ำก็จะมีเจ้าหน้าที่มาช่วยอำนวยความสะดวก โดยที่มือก็ยังถูกมัด และถูกปิดตาอยู่ น.ส.กริชสุดากล่าวว่า ได้บอกเจ้าหน้าที่ว่าสามารถทำเองได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต โดยบอกว่าไม่ได้รับคำสั่ง และเกรงว่า น.ส.กริชสุดา จะหลบหนีหรือต่อสู้

ทั้งนี้ระหว่างถูกสอบสวน น.ส.กริชสุดา อ้างว่าถูกทำร้ายด้วย โดยมีผู้ใช้กำปั้นมาชกที่ใบหน้าและลำตัว รวมทั้งใช้เท้าด้วย โดยยืนยันว่าที่ถูกเปิดผ้าผูกตาออกยังเห็นร่องรอยการถูกทำร้ายตามร่างกาย อย่างไรก็ตามวิธีเหล่านี้ยังไม่โหดร้ายเท่ากับการเอาถุงมาคลุมหัวทำให้ไม่มีอากาศหายใจ โดย น.ส.กริชสุดา ระบุว่าตอนนั้นรู้สึกเหมือนกับ "ทำให้เหมือนตายไปแล้วหลายรอบ"

น.ส.กริชสุดา ตอบนายจอมว่า ที่ถูกทำร้ายนั้น เพราะผู้ที่มาสอบสวนต้องการให้เธอบอกสิ่งที่รู้เกี่ยวกับคนเสื้อแดง โดย น.ส.กริชสุดา กล่าวกับนายจอมด้วยว่า "ถ้าอยากรู้คุณถามก็ถามกันตรงๆ พูดกันดีๆ แต่สิ่งที่พูดไปไม่ใช่ความจริง แต่เป็นการทำอย่างไรก็ได้ ต้องพูด"

ทั้งนี้ประเด็นที่ น.ส.กริชสุดา ถูกถามในช่วงถูกสอบสวนก็คือ ใครเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ ในการเยียวยาผู้ต้องโทษในเรือนจำ และถามเรื่องอาวุธสงคราม

โดย น.ส.กริชสุดา ตอบว่า ทั้งนี้การช่วยเหลือเยียวยานั้นเป็นเรื่องปกติ คนเสื้อแดงที่ได้รับความลำบากระหว่างถูกดำเนินคดีนั้น ก็จะขอความช่วยเหลือคุณเมย์ (หมายถึง นางมนัญชยา แกนนำคนเสื้อแดงในยุโรป) ซึ่งความช่วยเหลือมาจากคุณเมย์ และคนเสื้อแดงในยุโรป

น.ส.กริชสุดาเล่าว่า อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนได้ถามต่อว่า "ทำไมต้องดูแลนักโทษ พวกกระทำความผิด" โดย น.ส.กริชสุดา ตอบว่าต้องดูแลนักโทษการเมือง แต่พอตอบว่าที่ไปช่วยเหลือ "ก็เพราะความไม่ถูกต้องของพวกคุณ" ทำให้ผู้สอบสวนไม่พอใจและตบ

ในการให้สัมภาษณ์ น.ส.กริชสุดา ตอบคำถามที่ว่าผู้สอบสวนต้องการให้พูดอะไร โดย น.ส.กริชสุดาระบุว่า "เขาต้องการโยงให้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคนดูแลนักโทษ เป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้กระทำผิด"

ส่วนที่มีข่าวว่า น.ส.กริชสุดา ขออยู่ในความควบคุมตัวต่อไปอีก 7 วันนั้น น.ส.กริชสุดาตอบว่าที่เขียนไปเพราะถูกบังคับ และต้องเขียนเพื่อเอาตัวรอด ต่อมาในวันที่ 23 มิ.ย. มีการนัดให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวจาก ททบ. 5 โดย น.ส.กริชสุดา ได้พาดพิงชื่อนายทหารโฆษกชื่อดังยศนายพันรายหนึ่งด้วยว่า ก่อนมีการสัมภาษณ์กับสื่อ นายทหารคนดังกล่าวได้เข้ามาพูดคุยด้วยว่า "น้องต้องพูดให้กองทัพดูดี ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอย่างไร น้องรู้ น้องฉลาดพอที่จะพูด"

ทั้งนี้ต่อมาหลังจากที่ น.ส.กริชสุดา ได้รับการปล่อยตัววันที่ 24 มิ.ย. น.ส.กริชสุดา กล่าวกับนายจอมว่า "ถ้าจะให้อยู่เมืองไทยต่อ คงอยู่ประเทศไทยไม่ได้"

"ปรับทัศนคติด้วยการทำร้ายร่างกายผู้หญิง ไม่เรียกว่าปรับทัศนคติ หนูอยู่ต่างประเทศดีกว่า"

ทั้งนี้ น.ส.กริชสุดา กล่าวด้วยว่า แฟนของ น.ส.กริชสุดา ก็ถูกทารุณเช่นกันในช่วงถูกควบคุมตัว โดยมีสภาพจิตใจแย่มาก อย่างไรก็ตาม น.ส.กริชสุดา ยืนยันกับนายจอมว่า ทั้งสองอยู่ต่างประเทศแล้ว และปลอดภัย

ทั้งนี้ น.ส.กริชสุดากล่าวด้วยว่า หลังจากที่อยู่ต่างประเทศแล้ว ก็ต้องการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้กับผู้ที่ถูกทารุณ และจะเดินทางไปให้ข้อมูลหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ รวมทั้งสำนักงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในต่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานของสหประชาชาติด้วย

"อยากเรียกร้องสิทธิให้คนไทยทุกคน อยากขอคืนความสุขให้กับคนไทยทุกคนจริงๆ เถอะค่ะ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มอำนาจบางคนเท่านั้น" น.ส.กริชสุดา กล่าวในช่วงสุดท้ายของการให้สัมภาษณ์

ล่าสุดนับตั้งแต่มีการเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ น.ส.กริชสุดา ใน YouTube ต่อมาวันที่ 3 ส.ค. บีบีซีไทยสัมภาษณ์ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกและ คสช. โดยปฏิเสธข่าว น.ส.กริชสุดา คุณะเสน ถูกทำร้ายระหว่างควบคุมตัว ยืนยันมาตรฐานการปฏิบัติไม่มีปัญหาใดๆ ระดับแกนนำที่เคยถูกคุมตัวก็ไม่มีการถูกทำร้าย พ.อ.วินธัย กล่าวด้วยว่าพร้อมให้สัมภาษณ์ร่วมกับ น.ส.กริชสุดา เพื่อยืนยันความจริง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ก่อนหน้านี้เคยให้สัมภาษณ์ ททบ.5 ระหว่างถูกควบคุมตัว

น.ส.กริชสุดา คุณะเสน ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ ททบ.5 เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. โดยในการให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าความเป็นอยู่สุขสบายดี และขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเป็นอย่างดี

อนึ่ง เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทางสถานีโทรทัศน์ ททบ.5 ได้เผยแพร่คำสัมภาษณ์ น.ส.กริชสุดา ภายหลังจากที่ผู้อำนวยการองค์การฮิวแมนไรท์วอชท์ ภูมิภาคเอเชีย ขอให้กองทัพเปิดเผยข้อมูลความเป็นอยู่ของ น.ส.กริชสุดา ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทั้งนี้ในการให้สัมภาษณ์ที่เผยแพร่ทาง ททบ.5 น.ส.กริชสุดากล่าวว่า ถูกควบคุมตัวมาตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. จากนั้นครบ 7 วันได้ทำเรื่องขออยู่ต่อ เพราะนึกถึงความไม่ปลอดภัย ส่วนความเป็นอยู่ก็สุขสบายดี

"ก็มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้หญิงนะคะ พี่เขาก็อำนวยความสะดวกให้ อยากได้อะไรพี่เขาก็ไปซื้อให้ ก็ปกติทุกอย่างอะค่ะ อยู่ในห้องตามปกติ ดูหนัง อยากได้หนังสืออ่าน พี่เขาก็ไปซื้อให้ อยากกินอะไร พี่เขาก็ไปซื้อให้อะค่ะ ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น" ทั้งนี้ในการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ผู้สื่อข่าว ททบ. 5 ถามว่า "ไม่ได้มีการทรมานหรืออะไร" โดย น.ส.กริชสุดาตอบว่า "ไม่มีค่ะ"

"มันไม่รู้จะพูดยังไงว่าตัวเองก็ยังอยู่สุขสบาย เนี่ยก็กินข้าวกันกับแฟน ยังอยู่ในความดูแล แล้วก็ดีมาโดยตลอด แล้วก็ปกติ คือมันสุขสบายเกินที่จะพูดอะค่ะ ดีทุกอย่าง" น.ส.กริชสุดากล่าวช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์

ทั้งนี้ในรายงานข่าวของผู้สื่อข่าว ททบ. 5 เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. มีการรายงานด้วยว่า น.ส.กริชสุดา ฝากขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเป็นอย่างดี ขอให้สังคมไทยกลับสู่ความสงบโดยเร็ว และเมื่อได้รับการปล่อยตัวออกไปก็จะใช้ชีวิตตามปกติต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'โอบามา' รับ 'ซีไอเอ' เคยก่อเหตุทารุณกรรมหลังเหตุการณ์ 9/11

$
0
0

หลังวุฒิสภาสหรัฐฯ รายงานการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยซีไอเอในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช หลังเหตุการณ์ 9/11 โอบามาได้แถลงข่าวยอมรับว่า "พวกเราได้ทารุณกรรมบางคน" จนประโยคนี้กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากในทวิตเตอร์

3 ส.ค. 2557 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐอเมริกา ได้แถลงข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1 ส.ค.) เกี่ยวกับผลการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ CIA หลังเกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 โดยบอกให้ผู้คนจดจำไว้ให้ดีว่าประชาชนมีความกลัวมากเพียงใดในช่วงเวลานั้น และยังกล่าวยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าทางการสหรัฐฯ ในเวลานั้นได้กระทำทารุณกรรมจริง

การแถลงข่าวของโอบามามีขึ้นในขณะที่คนให้ความสนใจการสืบสวนของวุฒิสภาเกี่ยวกับคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยซีไอเอในสมัยรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช แม้จะมีเรื่องโต้แย้งว่าวุฒิสภาได้สืบสวนเพียงบางส่วนเท่านั้น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามเรื่องที่มีคนเรียกร้องให้จอห์น เบรนแนน ผู้อำนวยการซีไอเอลาออกหลังพบว่าหน่วยงานซีไอเอแอบสอดแนมวุฒิสมาชิกที่ทำหน้าที่สืบสวนการทารุณกรรมของซีไอเอ โอบามาตอบว่า เขามั่นใจในตัวของจอห์น เบรนแนน โดยบอกอีกว่าเบรนแนนได้ยอมรับและขอโทษในเรื่องที่ซีไอเอปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมต่อการสืบสวนของวุฒิสภาและไม่อนุญาตให้เอกสารบางส่วนถูกส่งมอบให้กับคณะสืบสวน

วุฒิสมาชิกผู้เป็นคณะสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้มีหน้าที่ติดตามการทารุณกรรมของซีไอเอในช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 11 ก.ย. 2544 ที่มีการก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และอาคารเพนตากอน ไปจนถึงช่วงที่นำไปสู่การบุกโจมตีประเทศอิรักในปี 2546

"หลังจากเกิดเหตุ 9/11 พวกเราได้ทำบางอย่างที่เป็นเรื่องผิด" โอบามากล่าว "พวกเราทำสิ่งที่ถูก แต่...พวกเราได้ทารุณกรรมคนบางคน"

โอบามากล่าวต่ออีกว่า ทางการสหรัฐฯ ได้กระทำในสิ่งที่ขัดกับค่านิยมของพวกเขาเอง เขาอ้างว่ามีผู้คนหวาดกลัวมากหลังจากเหตุการณ์ทำให้เกิดความกดดันต่อการบังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ก็ทำงานอยู่ภายใต้ความกดดันนี้

"แม้จะพูดได้เช่นนั้นก็ตาม พวกเราก็ได้ทำบางสิ่งที่ผิด และสิ่งเหล่านั้นก็อยู่ในรายงานการสืบสวน" โอบามากล่าว

โอบามากล่าวอีกว่าเขาต้องการทำให้มีการสั่งห้ามวิธีการไต่สวนในแบบที่ทำเกินกว่าเหตุตามที่ระบุไว้ในรายงาน

"ผมเชื่อว่าคนที่สติดีทุกคนคงบอกว่าได้ว่ามันคือการทารุณกรรม พวกเราทำเกินกว่าเหตุ และเราควรยอมรับและทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ในขณะที่ประเทศของพวกเรารับผิดชอบกับมัน เพื่อหวังว่าพวกเราจะไม่ทำมันอีกในอนาคต" โอบามากล่าว

สำนักข่าวคอมมอนดรีมส์ระบุว่า หลังจากการแถลงข่าวไม่นานนัก ประโยคหนึ่งที่โอบามากล่าวไว้คือ "พวกเราได้ทารุณกรรมคนบางคน"  ("We Tortured Some Folks.") กลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในเว็บไซต์โซเชียลมีเดียทวิตเตอร์


เรียบเรียงจาก

Obama: 'We Tortured Some Folks', Common Dreams, 02-08-2014
http://www.commondreams.org/news/2014/08/01/obama-we-tortured-some-folks

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตาวาระ กสท.: เตรียมตั้ง กก.ประเมินผังทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคงช่อง 5

$
0
0

ประชุมบอร์ด กสท. จันทร์นี้ มีวาระตั้งกรรมการประเมินการเปลี่ยนผ่านทีวีธุรกิจช่อง 5 ไปสู่ทีวีความมั่นคง ด้านสุภิญญา เสนอสัดส่วน กก.ควรหลากหลายและมากกว่านี้ เพื่อเจตนารมณ์ของกม. ด้านทีวีดิจิตอลเสนอผังรายการใหม่หลังปรับแก้ ถกเรื่องร้องเรียน 'ตอบโจทย์' – 'ฮอร์โมน'


3 ส.ค. 2557 สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ 4 ส.ค. 57 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ การอนุมัติผังรายการหลักทีวีดิจิตอล หลังให้นำไปแก้ไข ปรับปรุงเพิ่มเติมใหม่ โดยได้จัดส่งผังรายการและสัดส่วนแล้วในครั้งนี้ 5 ช่อง ได้แก่ พีพีทีวี ไบรท์ทีวี สปริงนิวส์ TNN24 และช่อง LOCA ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาอนุกรรมการผังรายการและเนื้อหา ได้มีการประชุมร่วมกับบริษัทไทยทีวี จำกัด ในฐานะเจ้าของช่องรายการไทยทีวีและ ช่อง LOCA สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดทำผังรายการ ตามที่ กสทช.กำหนด

ทั้งนี้ในที่ประชุม เตรียมพิจารณาข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาด้านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากการนำรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลไปออกอากาศทางโทรทัศน์ แบบบอกรับสมาชิกในระดับความคมชัดสูง หรือ HD  รวมทั้งเตรียมพิจารณาการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อติดตามและประเมินผลการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ตามที่ช่อง 5 ได้เคยเสนอมายังกสท.เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีแผนการปรับเปลี่ยนและให้แต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อติดตามประเมินผลการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ ที่มีผู้แทนจาก ช่อง 5 จำนวน 2 คน ผู้แทนจากกสท. 2 คน และนักวิชาการสื่อสารมวลชน จำนวน 1 คน

สุภิญญากล่าวถึงกรณีนี้ว่า “ส่วนตัวไม่เห็นด้วยในเรื่องสัดส่วนของกรรมการตามที่มีมติก่อนหน้านี้ เพราะอาจไม่หลากหลายพอที่จะช่วยพิจารณาให้ผังรายการช่อง 5 เปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคงได้ตามเจตนารมรณ์ของกฎหมาย ทางที่ดีควรมีภาคประชาสังคม ผู้บริโภค และนักวิชาการเพิ่มเติม มาช่วยประเมินว่าการเปลี่ยนผ่านเป็นทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคงแล้วหรือไม่อย่างไร เพราะทั้งเรื่องของโฆษณา และผังรายการเนื้อหาจะแตกต่างจากการทำทีวีธุรกิจ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมมากกว่านี้ ”

นอกจากนี้ รายงานจำนวนสถานีวิทยุกระจายเสียงที่สามารถออกอากาศได้ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 79/57 มีจำนวนทั้งสิ้น 605 สถานี (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ค. 57) แบ่งเป็นประเภททางธุรกิจ 540 สถานี สาธารณะ 44 สถานี และชุมชน 21 สถานี รวมทั้งจะพิจารณากำหนดระยะเวลาในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตว่าด้วยวิทยุคมนาคม โดยกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ที่ใช้เครื่องส่งที่ผ่านการตรวจสอบและเป็นไปตามมาตรฐานทางเทคนิคแล้วมาดำเนินการขอรับใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ สำนักงาน กสทช.ประกาศรายชื่อให้ออกอากาศได้ตามปกติ มิฉะนั้นจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทดลองและต้องยุติการออกอากาศทันที ส่วนวาระ บริษัท ทรูวิชั่นส์ ได้ทำเรื่องมายังกสท. เพื่อขออนุญาตพักการให้บริการเป็นการชั่วคราว ในวันที่ 6 ส.ค. 57 ตั้งแต่เวลา 00.01 – 10.00 น. เพื่อปรับปรุงคุณภาพช่องรายการ Digital Tv

ส่วนวาระแจ้งเพื่อทราบว่า ช่อง 3 ยอมเสียค่าปรับ 5 แสนบาท กรณี รายการไทยแลนด์ก็อตทาเล้นท์ (TGT) ตอนสิทธัตถะ เอเมอรัล แล้ว หลังมีการอุทธรณ์ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนวาระเรื่องร้องเรียนมายัง กสท. ทั้งรายการตอบโจทย์ประเทศไทย และ ละครชุด “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” จะนำมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งมีความเห็นต่างในขั้นอนุกรรมการ และในกสท. ที่ยังมีความเห็นแตกต่างกัน จะได้ถกในวันจันทร์นี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50858 articles
Browse latest View live


Latest Images