Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 50860 articles
Browse latest View live

พรรคการเมืองเสนอ กกต.จัดเลือกตั้งให้ไว-อภิสิทธิ์งดร่วม หวั่นไม่ปลอดภัย

$
0
0

58 พรรคร่วมหารือ กกต.เรื่องวันเลือกตั้ง โดยเสนอให้จัดเลือกตั้งให้เร็วที่สุดเพื่อรักษาระบอบ ปชต. ด้าน 'พุทธะอิสระ' พาคนมาค้าน ขอไม่ไปเลือกตั้งจนกว่าจะปฏิรูป ส่วนอภิสิทธิ์เขียนใบลา ไม่มาเพราะหวั่นความปลอดภัย 'สมชัย' ไม่รับปากเลือกตั้งแล้วจะเปิดสภาได้ทันทีหรือไม่

22 เม.ย. 2557 - ตามที่ กกต. นัดหารือพรรคการเมืองเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ในเวลา 14.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยจะมี 58 พรรคการเมืองเข้าร่วม และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่ได้ลงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ก็จะเข้าร่วมด้วย โดยขอให้ทุกพรรคที่มาประชุมอย่าทะเลาะกัน ช่วยกันหาคำตอบให้ประเทศนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

อภิสิทธิ์แจ้ง กกต. ขอยกเลิกเข้าร่วมประชุมเพราะเกรงเรื่องความปลอดภัย

ล่าสุด เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ได้เผยแพร่แถลงการณ์ ที่ ปชป. 57900867 ลงวันที่ 22 เม.ย. เรื่อง "การประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้แทนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง" เรียนประธาน กกต. อ้างถึง หนังสือด่วนที่สุดที่ ลต.0401/ว739 ลงวันที่ 10 เม.ย. 57 มีเนื้อหาระบุว่า

"ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ตอบรับการเข้าร่วมประชุมหารือพรรคการเมืองเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ตามหนังสือเชิญของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น ต่อมามีข้อมูลในเชิงลึกว่า อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการประชุมดังกล่าว และหลังจากได้หารือเป็นการภายในกับคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว และมีความเห็นร่วมกันว่า การเข้าร่วมประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นจริง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้แทน จึงไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ในกระบวนการพิจารณา ประเด็นการกำหนดวันเลือกตั้งต่อไป โดยพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นในเบื้องต้นว่า วันเลือกตั้งที่เหมาะสมจะกำหนดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ทุกฝ่ายได้ร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์ของบ้านเมือง อันจะเป็นหลักประกันว่า การจัดการเลือกตั้ง จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประสบความสำเร็จ เสรี สุจริต และเที่ยงธรรม ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันที่จะมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ และฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการดังกล่าว

ในการนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ขอความอนุเคราะห์จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้โปรดจัดส่งรายงาน การหารือและแสดงความคิดเห็นของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในวันนี้ให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อประกอบการพิจารณาการให้ความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อไป ขอแสดงความนับถือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์"

ทั้งนี้ในเฟซบุ๊คของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมีการโพสต์ภาพจดหมายดังกล่าวด้วย พร้อมพิมพ์ข้อความว่า "คงต้องหาโอกาสอื่นต่อไป จะไม่ลดละความพยายามครับ"

 

กกต. ยืนยันไม่มีการถ่ายทอดสดเพราะจะทำให้คุมการประชุมลำบาก-เกิดการฟ้องร้อง

ขณะเดียวกันก่อนการประชุม สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. แถลงว่าที่ประชุมมีมติไม่อนุญาตให้มีการถ่ายทอดสดการหารือดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านมาการนัดหารือระหว่าง กกต. กับหัวหน้าหรือผู้แทนจากพรรคการเมืองไม่เคยให้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ การถ่ายทอดสดอาจทำให้การควบคุมการประชุมเป็นไปอย่างยากลำบาก และในการประชุมฝ่ายต่างๆ อาจมีการโต้แย้งด้วยอารมณ์ และคำพูดที่หากมีการเผยแพร่ไปแล้วอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีอาญาได้ ทั้งนี้ กกต.ได้อนุญาตให้สื่่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังได้ตลอดการประชุม

ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัย สำนักงาน กกต.ได้ประสานหน่วยงานความมั่นคง ทหารและตำรวจ นำโดยกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ให้ช่วยดูแลความเรียบร้อย โดยในการเข้าพื้นที่อาคาร เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบบุคคลเข้าออก และตรวจค้นไม่ให้มีการพกพาอาวุธอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการก่อเหตุร้าย

 

พุทธะอิสระพามวลชนแจ้งวัฒนะมาติดป้ายไม่ไปเลือกตั้งจนกว่าจะปฏิรูป

ในเวลาต่อมา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่า ก่อนเริ่มการประชุมในเวลา 14.00 น. มีเหตุผู้ชุมนุม กปปส. ฝ่าย "พุทธะอิสระ" ได้นำมวลชนเคลื่อนมาจาก ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อมาคัดค้านการประชุมระหว่าง กกต.และผู้แทนพรรคการเมือง โดยนำป้ายผ้าคำว่า "คนไทยจะไม่ไปเลือกตั้งจนกว่าจะปฏิรูป" มามอบให้กับ กกต. ซึ่งมีนายภุชงค์ นุตตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เป็นผู้แทนรับมอบ

โดยพระพุทธะอิสระ กล่าวว่า กกต.ต้องนำป้ายผ้าดังกล่าวไปติดตั้งภายในห้องประชุม มิเช่นนั้นจะไม่เคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ ขณะเดียวกัน กกต.ได้นำป้ายผ้าดังกล่าวติดภายในห้องประชุมแล้ว เพื่อให้มวลชนเคลื่อนกลับ และเพื่อให้การประชุมสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ขณะที่นายภุชงค์ เปิดเผยว่าพรรคประชาธิปัตย์ยกเลิกไม่เข้าร่วมประชุมแล้ว เนื่องจากเกรงในเรื่องปัญหาความปลอดภัย ส่วนตัวแทนพรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทยและพรรครักษ์สันติ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งรูปแบบการพูดคุยนั้น กกต.จะเปิดโอกาสให้แต่ละพรรคได้สะท้อนความคิดเห็นเพียงพรรคละ 1 นาทีครึ่ง พร้อมทั้งแบ่งช่วงเวลาให้ฝ่ายที่เห็นควรจัดการเลือกตั้งและฝ่ายที่ต้องการให้ชะลอการเลือกตั้ง แสดงความคิดเห็นฝ่ายละ 30 นาที ก่อนนำความเห็นจากทุกพรรคการเมืองไปหารือให้ได้ข้อสรุปอีกครั้ง

 

พรรคการเมืองส่วนใหญ่สนับสนุนให้รีบเลือกตั้ง 'สมชัย' ไม่รับปากจัดเลือกตั้งแล้วจะเปิดสภาได้หรือไม่

ส่วนบรรยากาศการประชุมนั้น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่า นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ได้กล่าวเปิดการประชุม ว่า ผลการหารือจะเป็นทางออกของปัญหา และจะตอบโจทย์ประเทศได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ กกต. ได้เสนอแนวทางจัดการเลือกตั้ง 3 แนวทางคือ

แนวทางที่ 1 กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 20 กรกฎาคม แนวทางที่ 2 กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 17 สิงหาคม และแนวทางที่ 3 กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 14 กันยายน 2557

จากนั้นตัวแทนพรรคการเมืองได้เริ่มการอภิปรายและแสดงความคิดเห็น โดยนายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นด้วยที่จะให้จัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 20 กรกฎาคม และควรจัดเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย พร้อมเรียกร้องให้ กกต. วางแนวทางแก้ไขปัญหาการขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้ง ส่วนตัวแทนจากพรรคการเมืองอื่น ๆ แสดงความเห็น พร้อมจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และเห็นด้วยกับแนวทางจัดการเลือกตั้งของ กกต. แต่ขอให้ กกต. มีหลักประกันว่า การเลือกตั้งตามแนวทางดังกล่าว จะสำเร็จและไม่มีเหตุให้การเลือกตั้งต้องขัดรัฐธรรมนูญอีก

ด้านตัวแทนพรรคการเมืองขนาดเล็ก เสนอให้จัดเลือกตั้งวันที่ 25 มิถุนายน 2557 และขอให้ กกต. กำหนดสถานที่รับสมัครโดยใช้เป็นสถานที่ของกองทัพ เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ยืนยันว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญในประเด็มเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้อย่างแน่นอน เพราะ กกต. ได้วางกลไกการรับสมัครให้ทุกเขตมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหากเขตเลือกตั้งใดมีปัญหาเรื่องการขัดขวางการลงคะแนนเลือกตั้ง กกต. จะจัดการเลือกตั้งซ้ำในเขตดังกล่าวในกรอบเวลา 180 วัน แต่ทั้งนี้ กกต. ไม่สามารถยืนยันได้ว่า หลังการเลือกตั้งจะมีจำนวน ส.ส. ครบร้อยละ 95 เพื่อให้เปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ เนื่องจากการประกาศจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ กกต. ต้องคำนวนคะแนนจากทุกหน่วยเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ภายหลังใช้เวลาประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง ที่ประชุมไม่ได้มีการลงมติ โดย ประธาน กกต. ระบุว่า จะนำความเห็นและข้อเสนอจากทุกพรรคการเมือง ไปสรุปและหารือในที่ประชุม กกต. เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งครั้งใหม่ที่เหมาะสม และนำไปหารือกับรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ยอมรับว่า ส่วนใหญ่พรรคการเมืองสนับสนุนให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 20 กรกฎาคม 2557 ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า หากสถานการณ์สงบ ก็สามารถเลื่อนวันจัดการเลือกตั้งให้เร็วขึ้นได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธาน กกต.เผยนายกตอบรับหารือ 30 เม.ย.นี้ โพลล์ชี้ประชาชนอยากเลือกตั้งเร็วที่สุด 20 ก.ค.

$
0
0
 
26 เม.ย. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ระบุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมหารือกำหนดวันเลือกตั้งในเวลา 14.00 น. วันที่ 30 เมษายนนี้ ส่วนจะมีการเลื่อนวันเลือกตั้งให้เร็วขึ้นจากวันที่ 20 กรกฎาคมหรือไม่จะมีการหารือกันในวันจันทร์นี้ พร้อมย้ำด้วยว่า กกต. ยินดีหารือร่วมกับทุกฝ่าย รวมทั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมหวังว่าพรรคประชาธิปัตย์จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งด้วย
 
ด้านมติชนออนไลน์รายงานว่าหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้หารือกับพรรคการเมืองต่างๆ และได้เสนอแนวทางจัดการเลือกตั้ง 3 แนวทาง แต่ทั้งนี้ยังไม่มีมติที่ชัดเจนเกี่ยวกับวันจัดการเลือกตั้งดังกล่าว เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการเจรจาระหว่าง กกต. กับพรรคการเมือง “สวนดุสิตโพลล์” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต  จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,361 คน ระหว่างวันที่ 23-25 เมษายน 2557 สรุปผลได้ ดังนี้
   
1. ประชาชนคิดอย่างไร? กับผลการเจรจาของ กกต. กับพรรคการเมืองที่มีทางเลือก การเลือกตั้ง 3 แนวทาง คือ  20 ก.ค.57   17 ส.ค.57  และ 14 ก.ย.57
 
อันดับ 1 ควรหาข้อตกลงร่วมกัน พิจารณาวันเลือกตั้งให้เหมาะสมและเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย  29.31%
อันดับ 2 อยากให้สรุปวันเลือกตั้งโดยเร็ว บ้านเมืองจะได้เดินหน้าต่อไปได้  27.76%
อันดับ 3 การเจรจาเป็นวิธีการที่ดี ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและช่วยกันแก้ปัญหาก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง 21.59%
อันดับ 4 กังวลว่าจะไม่สามารถทำตามแนวทางหรือข้อตกลงที่หารือร่วมกันได้ มีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง 15.42%
อันดับ 5 กกต.จะต้องทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม  5.92%
    
 
2. ประชาชนสมหวัง หรือ ผิดหวัง กับการเจรจาระหว่าง กกต. กับ พรรคการเมืองครั้งนี้อย่างไร?
 
อันดับ 1 เฉยๆ  68.80%เพราะ เป็นแค่การโยนหินถามทาง ไม่ว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการใดบ้านเมืองก็ยังคงวุ่นวายอยู่ดี ไม่อยากคาดหวัง ฯลฯ
อันดับ 2 ผิดหวัง 24.80% เพราะ ยังไม่สามารถระบุวันเลือกตั้งที่ชัดเจนได้ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เข้าร่วมในครั้งนี้ ฯลฯ
อันดับ 3 สมหวัง   6.40% เพราะ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ฯลฯ
    
 
3. ประชาชนคิดว่าน่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงใด?
 
อันดับ 1 เลือกตั้งเร็วที่สุดภายใน 59 วัน คือ 20 ก.ค.57    46.58% เพราะ บ้านเมืองจะได้เดินหน้าต่อไป สถานการณ์ต่างๆ จะได้คลี่คลายหรือยุติโดยเร็ว ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ฯลฯ 
อันดับ 2 เลือกตั้งภายใน 115 วัน คือ 14 ก.ย.57      35.49% เพราะ ควรมีการปฏิรูปก่อน รอให้สถานการณ์คลี่คลาย ความขัดแย้งลดลง การเลือกตั้งจะได้สมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะอีก ฯลฯ
อันดับ 3 เลือกตั้งภายใน 87 วัน คือ 17 ส.ค.57    17.93% เพราะ หากจัดการเลือกตั้งเร็วเกินไป อาจมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยออกมาคัดค้าน เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม พรรคการเมืองมีเวลาหาเสียง ฯลฯ
               
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.อีสาน ประนามกรณีการลอบสังหารแกนนำมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย

$
0
0
26 เม.ย. 2557 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสานออกแถลงการณ์กรณีการลอบสังหารแกนนำมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน
กรณีการลอบสังหารแกนนำมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย
 
ในวันที่ 24 เมษายน 2557 มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยต้องสูญเสียทรัพยากรทางปัญญาไปนั่นคือ กวีชาวไพร่ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ด้วยการฆาตกรรมอันอุกอาจท้าท้ายอำนาจรัฐซึ่งเป็นการกระทำของมัจจุราชฆาตกรอันโหดเหี้ยมอำมหิตผิดวิสัยแห่งการเป็นมนุษย์  ก่อนหน้านี้ยังมีแกนมวลชนอันไพศาลฝ่ายประชาธิปไตยต้องโดนลอบสังหาร ลอบทำลายมาตลอด การกระทำอันป่าเถื่อนมิเคยได้เอื้อมมือถึงตัวบ่งการผู้อยู่เบื้องหลังแม้แต่เพียงครั้งเดียว  
 
เหตุการณ์เช่นต้องนำวลีเด็ดของผู้ทำรัฐประหารยึดอำนาจประชาชนอย่างไร้ยางอายนั่นคือพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน ด้วยวาทกรรมที่ว่า “แม้นตายก็พูดไม่ได้” ถึงกระนั้นมวลชนอันไพศาลฝ่ายประชาธิปไตยก็รับรู้ได้ถึงความไม่ชอบมาพากลความฉ้อฉลของอำนาจมืดที่ประชาชนมองเห็นและสัมผัสได้มาโดยตลอด การลอบสังหาร ไม้หนึ่ง ก.กุนที ก็เป็นอีกครั้งที่แสดงออกถึงความโหดเหี้ยมอำมหิตของอำนาจนอกระบบที่บงการและคอยกำกับสังคมไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  จากเหตุการณ์อันอุกอาจซึ่งกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของมวลชนอันไพศาลฝ่ายประชาธิปไตย 
 
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน ขอประณามกระทำอันของอำนาจมืดที่ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์พร้อมกันนั้นขอสดุดีไม้หนึ่ง ก.กุนที นักรบของประชาชนขอให้ดวงวิญญาณสถิตเป็นประชาทิพย์ คอยปกป้องคุ้มครองขบวนการการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้ชัยชนะ
 
ข้อเรียกร้องต่อมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย
 
1.ขอให้ประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย ทุกกลุ่ม ทุกองค์กร เคลื่อนไหว ต่อต้าน  “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน มาไม้ไหนไปไม้นั้น” เพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำอันโหดเหี้ยมอำมหิตของฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยและบรรดาอำนาจนอกระบบทั้งหลาย
 
2.ขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมขั้นสูงสุดต่อสถานการณ์การต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยและบรรดาอำนาจนอกระบบทั้งหลายถึงขั้นแตกหักเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
 
สุดท้ายพลังอันแข็งแกร่งของมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยจะยังคงยืนเด่นและท้าทายต่ออำนาจมืดอันโหดเหี้ยมอำมหิต ประชาชนจงอย่าลืมการกระทำอันไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ในเหตุการณ์นี้และนำความคับแค้นนี้ให้แปรเปลี่ยนเป็นพลังในการต่อสู้ต่อไป
 
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน
วันที่  26 เมษายน พ.ศ. 2557
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีประชาทิพย์

$
0
0

 


 

ล่วงลับแล้วไปเป็นประชาทิพย์
เป็นดวงดาว พราวระยิบ บนฟากฟ้า
เป็นเนินดิน ถิ่นลำธาร เป็นลานหญ้า
เฝ้าปกปักรักษาประชาชน

ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด ไม่มีหยุด
ไม้หนึ่งทรุด ไม้หนึ่งรับ นับท่วมท้น
คมกระสุนสามารถปลิดชีวิตคน
แต่ไม่อาจปิดถนนแห่งเสรี

เมื่อสถาบันประชาชนสถาปนา
ต่างรู้ว่าประชาชนคือคนนี้
ผู้ทุกข์ยากมากมายในปฐพี
ล้วนสร้างโลกอัปรีย์ให้โสภา

ณ ที่นั่น บางเราในนคร
ต่างบอดใบ้นั่งนอนบนความบ้า
บางรูปทรงมวลสารจัดวางมา
สร้างมายาเล่ห์กลจำนนใจ

กวีลุก เดินจากเขียงสับเป็ด
วิหารน้อยนกระเห็จไปแห่งไหน
ไปสู่ฟ้าแสงทองผ่องอำไพ
หรือมหาชลาลัยผู้ทุกข์ระทม 

กวีต้อง มีสำนึกทางการเมือง
ใช่ประเทืองเปลืองอัตตามาคลุมห่ม
นั่งมโนฟุ้งฝันกลางสายลม
จ่อมจมเงาความคิดปิดโลกจริง

เป็นกวีประชาทิพย์หน่วยเล็กๆ
สร้างปลุกเสกจากผีกวีสิง
คือวิญญาณประชาธิปไตยที่แท้จริง
ประชาชนบูชาหิ้งกวีกานต์

ล่วงลับแล้วไปเป็นกวีประชาทิพย์
ไม้หนึ่งสิบ ร้อยพัน หมื่นแสนล้าน
กระจายสิงทั่วสากลจักรวาล
เฝ้าพิทักษ์ปณิธานวีรชน.

 

หลับให้สบายนะพี่

Homo erectus


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะกรรมการสิทธิฯ เรียกฝ่ายปกครองเพชรบุรีเข้าชี้แจงกรณี ‘บิลลี่’ หายตัว

$
0
0

อนุกรรมการสิทธิ ฯ เร่งสอบผู้รับผิดชอบกรณีการหายตัวไปของ “บิลลี่”  และหาหลักฐาน พยานเพิ่มเติม ชี้การทำงานล่าช้า ชาวบ้านยืนยันหัวหน้าอุทยาน ชัยวัฒน์มีส่วนรู้เห็นกับเรื่องนี้ และขอตำรวจดูแลความปลอดภัยการประกอบพิธีกรรมกะเหรี่ยงค้นหา “บิลลี่”   ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตวุฒิสมาชิกย้ำ ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะดังไปทั่วโลก 
 
25 เมษายน 2557 เวลา 11.20 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  อาคารศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ มีการประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อตรวจสอบเรื่องการหายตัวของ "บิลลี่"  หรือ พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยง บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อบ่ายวันที่ 17 เมษายน 2557  ในบริเวณเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
 
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ โดยผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยตัวแทนองค์กรสิทธิทั้งในประเทศและนอกประเทศ อาทิ สุรพงษ์ กองจันทึก สภาทนายความ ไกรศักดิ์ ชุณหวัณ อดีตวุฒิสมาชิก สุนัย ผาสุก ตัวแทนจากองค์กร Human Rights Watch นายปกป้อง เลาวัณย์สิริ จากสหประชาชาติ รวมถึง ภรรยากับลูกของ “บิลลี่” และนายพฤ โอ่โดเชา จากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม ยังได้เข้าร่วมสังเกตการณ์และให้ข้อมูลในที่ประชุมด้วย
 
 
พ.ต.อ.วรเดช สวนคล้าย ผกก.สภ.แก่งกระจาน กล่าวถึงความคืบหน้าในการสอบสวนคดี “บิลลี่” ว่า หลังจากที่ภรรยาของนายบิลลี่มาแจ้งความเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ก็ได้ทำตามกระบวนการสืบสวน สอบสวนทุกขั้นตอน ทั้งการตรวจหาพยานหลักฐาน สอบปากคำนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งประจาน และพวกที่ติดตามโดยละเอียดทุกคน 
 
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ทางตำรวจ สภ.แก่งกระจาน ได้ประสานความร่วมมือไปยังทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวนกว่า 180 คน เพื่อวางกำลังค้นหาภายในเขตบริเวณที่คิดว่านายบิลลี่หายตัวไป  แต่ก็ไม่พบตัวนายบิลลี่หรือร่องรอยการหายไปตัวไป  แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเน้นว่าจะให้ความสำคัญและติดตามเรื่องนี้อย่างเต็มที่
 
ทั้งนี้ ในระหว่างซักถาม ทางตัวแทนองค์สิทธิมนุษยชนได้ตั้งคำถามถึงเรื่องการหาข้อมูลบันทึกโทรศัพท์ รวมถึงภาพกล้องวงจรปิด ซึ่งอาจใช้เป็นหลักฐานสอบสวนในคดีนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ทางพ.ต.อ.วรเดชชี้ว่าภาพกล้องวงจรปิดอาจไม่มีเนื่องจากเป็นบริเวณเขตป่า ส่วนบันทึกการใช้โทรศัพท์นั้นได้รับไว้ว่าจะหาข้อมูลดังกล่าวต่อไป
 
ด้านเกรียงไกร ชีช่วง เลขาธิการเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งข้อสังสัยถึงพฤติกรรมของชัยวัฒน์ ที่มองว่า ปรกติแล้วหากจับกุมการกระทำผิดของชาวกะเหรี่ยง หรือกรณีล่าสัตว์ป่า ชัยวัฒน์จะรีบแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทันที แต่ในกรณีนี้ชัยวัฒน์ไม่ทำเช่นนั้น และกลับเลี่ยงตอบเรื่องการหายตัวไปของบิลลี่ 
 
นอกจากนี้ ยังตั้งคำถามว่า หากการทำผิดของบิลลี่ที่เอาน้ำผึ้งป่าไป 6-7 ขวดเป็นเรื่องเล็กน้อย เหตุใดชัยวัฒน์จึงยอมขับรถมารับบิลลี่เป็นระยะทางเกือบ 10 กม. แทนที่จะปล่อยตัวตรงนั้นหรือนำตัวมาที่โรงพักตามขั้นตอน
 
“เป็นเวลากว่า 6 หรือ 360 กว่าชั่วโมงตั้งแต่วันที่พวกเราไปยื่นหนังสือให้ตำรวจตามหาตัวบิลลี่ มาวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าแต่อย่างใด เวลากับสิ่งที่พวกท่านดำเนินการมันเป็นสิ่งที่ไม่คุ้ม ผมอยากจะเตือนสติท่านในเรื่องนี้” เกรียงไกรกล่าว
 
นอกจากนี้ เกรียงไกรยังได้ขอร้องทางการให้ช่วยดูแลและคุ้มครองความปลอดภัยของชาวกะเหรี่ยงที่จะลงไปประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ ที่จะช่วยให้บิลลี่กลับคืนมา เนื่องจากเชื่อว่าบิลลี่ยังน่าจะมีชีวิตอยู่
 
การประชุมครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งประเด็นยังคงอยู่กับเรื่องของการชี้แจงรายละเอียดทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าปกครองและชาวบ้านที่เคยร่วมงานกับบิลลี่ 
 
ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตวุฒิสมาชิก ยังกล่าวทิ้งท้ายกับเจ้าหน้าที่ปกครองและผู้ที่รับผิดชอบในพื้นที่ว่า การหายตัวของบิลลี่ได้กลายเป็นเรื่องที่นานาชาติจับตา จึงต้องการให้ทางการระมัดระวังและรอบคอบในการสอบสวนคดีดังกล่าว รวมถึงเรียกร้องให้นำตัวบิลลี่กลับมาโดยเร็ว 
 
“เรื่องนี้มีการเผยแพร่ไปทั่วโลก และประเด็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านคือเหตุผลที่ตัวบิลลี่หายไป เนื่องจากบิลลี่เป็นตัวแทนของชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ที่เตรียมจะฟ้องศาลปกครอง เหตุการณ์นี้จึงคล้ายกับในอดีตที่มีชาวบ้านนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหายตัวไปหลายสิบคนแล้ว”  ไกรศักดิ์กล่าว 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม้หนึ่ง ก.กุนที “ ประชาชนคือผู้ควรบูชา ”

$
0
0

 

 

การสูญเสียไม้หนึ่ง ก.กุนที เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ก็เหมือนกับการสูญเสียชีวิตของคนอื่นๆ ไม่ว่าใคร ฝ่ายไหน ก็ไม่สมควรต้องตาย แต่ความตายที่ไม่มีเหตุผลได้ถูกทำให้เป็น “ความสูญเสียที่จำต้องเป็น” เพราะมี “สาเหตุ” ที่กำหนดให้จำต้องเป็นเช่นนั้น นั่นคือระบบอำนาจอันเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง ความรุนแรงทางการเมืองตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

ตราบใดที่ประชาชนไม่มีเสรีภาพจะพูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาของระบบอำนาจเหนือประชาธิปไตย ไม่สามารถแก้ไข “กติกา” เกี่ยวกับระบบอำนาจนั้นให้อยู่ภายใต้หลักเสรีประชาธิปไตย ไม่สามารถทำให้กลไกสำคัญของอำนาจรัฐคือกองทัพ ระบบตุลาการ สถาบันศาสนา ระบบการศึกษาให้เป็นของประชาชนและทำหน้าที่บนอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ยังปล่อยให้กลไกเหล่านี้แสดงบทบาทสนับสนุนอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเหนือประชาธิปไตยอย่างอหังการ ตราบนั้นความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์กษัตริย์นิยมกับอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยย่อมเป็นเงื่อนไขของความตายของประชาชนอยู่เสมอไป

แต่อำนาจใดเล่าจะปิดกั้นการ “ตื่นขึ้น” ของประชาชนได้ ในเมื่อประชาชนคือมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีความคิด จิตใจ เขาจะถูกครอบงำกล่อมเกลาให้สยบยอมต่อระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ตลอดไปได้อย่างไร ไม้หนึ่ง ก.กุนที ก็คือหนึ่งในประชาชนผู้ตื่นขึ้นนับหลายล้านคนจากอดีตจวบปัจจุบัน บทกวี “หญ้าแพรกอมตะ” ของเขาสะท้อนพลังจิตวิญญาณประชาชนผู้ตื่นขึ้น ตาสว่างแล้วอย่างทระนงยิ่งนัก

 

บูชาครูเสรีชน                คนเช่น จิ้น กรรมาชน
และพี่น้องมวลประชา    ทุกผู้กล้า ใส่เสื้อแดง

บูชาการลุกตื่น              เงยหน้าขึ้นเผชิญแสง
ฟ้าพิษเทพเสแสร้ง        สูบน้ำแล้งดินยากจน

บูชาคนธรรมดา             ก้าวหน้าเดินเต็มถนน
กองทัพของผู้ทุกข์ทน    สู้ปิ่นโจรปล้นแผ่นดิน

บูชาพันธุ์หญ้าแพรก      ช้างเหยียบแหลกไม่เคยสิ้น
ขยายคลุมธรณินทร์       เกิดและกินอย่างซื่อตรง

บูชาคนตาสว่าง            แจ้งกระจ่าง เลิกลุ่มหลง
รู้สิทธิ์คนมั่นคง             ไม่ใช่ผงใต้ฝ่าตีน
 
รบเถิดสามัญชน            ไม่จำนนผู้โหดหิน  
ปราสาทสูงร่วมกันปีน    หักยอดปิ่นมงกุฎโจร!


นี่เป็นหนึ่งในบทกวีจากหนังสือ “สถาปนาสถาบันประชาชน” (สำนักพิมพ์หอนาฬิกา) ที่ไม้หนึ่งอ่านในงาน  Thai Poet Forum เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2552 เป็นบทกวีที่มีเนื้อหาตรง แรง แหลมคม และเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณที่เคารพเชิดชู “สามัญประชาชน”

ความแหลมคมในแง่มุม “อำนาจนำเชิงวัฒนธรรม”  คือการที่ไม้หนึ่งร่าย “บทสวด” เป็นบทนำบทกวีบนเวที Thai Poet Forum ด้วยท่วงทำนองเพลงสวดสำเนียงแขก ว่า“ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคละมุตตะมัง” (แปลว่า “การบูชาคนที่ควรบูชาเป็นอุดมมงคล”) นี่คือการเปลี่ยนจารีตบทสวดในวัฒนธรรมศาสนาสยามไทยที่ใช้ “บทสวดอันศักดิ์สิทธิ์” ของศาสนาปลุกเสกอำนาจนำเชิงวัฒนธรรมของชนชั้นปกครอง ให้สูงส่งวิเศษมหัศจรรย์ครอบงำเหนือจิตสำนึกของผู้ใต้ปกครองมาอย่างยาวนายหลายศตวรรษ

ไม้หนึ่งได้เปลี่ยนตำแหน่งและหน้าที่ของบทสวดอันศักดิ์สิทธิ์จากที่เคยอยู่ในตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่รับใช้สถานะและและอำนาจของชนชั้นสูงมาเชิดชู “สามัญประชาชน” เพื่อประกาศว่า ประชาชนต่างหากคือ “ผู้ที่ควรบูชา” อย่างแท้จริง!

ช่างต่างจากบรรดา “กวีรัตนโกสินทร์” ผู้ซึ่งแสดงบทบาท “กวีธรรม” แต่เสแสร้งมองไม่เห็นรากฐานของปัญหาประชาธิปไตยที่ประชนชนผู้ตื่นต่างมองเห็น แถมยังกดเหยียดสามัญประชาชนว่าถูกสนตะพาย ยอมเป็นทาสนักการเมืองโกง มีพฤติกรรมต่ำช้าเป็น “ถ่อยอธรรม” และ “เถื่อนอธรรม” แล้วพร่ำสอนชาวบ้านว่าต้องรู้จักจำแนกว่าฝ่ายไหนคือฝ่ายธรรมะฝ่ายอธรรม ฝ่ายไหนคือเทพ คือมาร พร่ำเทศนาเพราะเผลอผยองว่าตนเองคือผู้สูงส่งกว่าสามัญประชาชนทั้งทางปัญญาและศีลธรรม

แท้จริงแล้วหากจะมีความยิ่งใหญ่ของกวีใน “ประวัติศาสตร์ปริ่มสงครามกลางเมือง” ที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ความยิ่งใหญ่นั้นย่อมอยู่ที่จิตวิญญาณเคารพเชิดชู “สามัญประชาชน” คือประชาชนคนธรรมดาที่มีโง่ ฉลาด คิดถูก คิดผิด ทำถูกทำผิดได้ เรียนรู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงตนเองได้ มีสิทธิ์ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นด้วยกำลังแรงของตนเองได้ โดยไม่ยอมให้ใครตราหน้าว่าเป็น “ประชาชนผู้ยังไม่พร้อม” ไม้หนึ่งคือกวีที่ยิ่งใหญ่ในความหมายนี้

สามัญประชาชน ไม่ใช่ผู้เชียร์ให้ฆ่าโดยอ้างเรื่องปกป้องอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่เป็นนามธรรมอันถูกผลิตสร้างให้ดูศักดิ์สิทธิ์ ขรึมขลัง ทว่าคลุมเครือ แต่ยกให้สูงส่งเหนือคุณค่าชีวิตประชาชนโดยปลูกฝังกล่อมเกลาว่าประชาชนมีหน้าที่ “พลีชีวิต” อันมีค่ายิ่งของพวกเขาเพื่อปกป้องนามธรรมอันศักดิ์สิทธิ์คลุมเครือนั้นที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตจริงของพวกเขาเลย

ราวกับบรรดาไพร่ ทาสในกาลอดีตที่ถูกกล่อมเกลาให้พลีจิตวิญญาณ กำลังแรงงาน อิสรภาพ และความสุขของพวกเขาอุทิศแด่การสร้างปราสาทราชวัง ศาสนสถาน เทวาลัย รูปปั้นมหึมา ทั้งรูปปั้นศิวลึงค์ รูปปั้นพระเจ้า พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าที่ใบหน้าเหมือนเจ้าผู้ปกครอง ที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติยศของคนเพียงคนเดียว หรือคนไม่กี่คน โดยไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิตจริงของไพร่ ทาสใดๆ เลย

แต่สามัญประชาชนได้แก่ คนธรรมดาที่ ไม้หนึ่งมองว่า คือคนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ ปากท้อง โอกาสเข้าถึงทุน การปลดหนี้ การได้รับสวัสดิการต่างๆ จากนโยบายรัฐบาลที่พวกเขาเลือก การปกป้องสิทธิที่จะเลือกพรรคการเมืองและนโยบายพรรคการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าเกิดประโยชน์แก่ “ชีวิตจริง” ของตนเอง และปกต้องความมีอยู่แห่ง “ตัวตน” ของพวกเขาที่มีศักยภาพที่จะแสดงออกซึ่งมิติที่หลากหลายของความเป็นคน คำว่าเสียสละ ต่อสู้เพื่อประเทศชาติ เสรีภาพ และประชาธิปไตยของพวกเขา ไม่ใช่เพื่อ “นามธรรมลอยๆ” ที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตจริงของพวกเขา

สามัญประชาชนเหล่านี้คือ “ประชาชนผู้ควรบูชา” และควรยกย่องเทิดทูนให้เป็น “สถาบันประชาชน” เหนือสถาบันใดๆ ในความหมายของ “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” กวีของราษฎรในยุคเปลี่ยนผ่านแห่งสยามไทยปัจจุบัน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดมิทรี โชสตาโควิก จิตวิญญาณของคีตกวีหลังม่านเหล็ก

$
0
0

 

ดมิทรี โชสตาโควิก (Dmitri Shostakovich) คือคีตกวีชาวรัสเซียที่ได้ชื่อเสียงว่าโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ยี่สิบ ภายหลังปีเตอร์ ไชคอฟสกีกับเซอร์ไก แรคมานินนอฟ และมีชีวิตคาบเกี่ยวกับยุคของอิกอร์ สตราวินสกี (1882-1972 )  เขาผู้นี้ได้ผลิตงานชิ้นหนึ่งที่เป็นที่รู้จักโดยชาวโลกดีคือ เพลง Piano Concerto No.2 ประกอบภาพยนตร์การ์ตูนของค่ายดิสนีย์ นั่นคือ Fantasia 2000 ตอนทหารของเล่นที่ทำจากตะกั่วต้องพบกับชะตากรรมผกผันหลุดเข้าในท้องปลาและสามารถกลับมาอยู่ที่บ้านแสนอบอุ่นได้อีกครั้ง ทั้งนี้ไม่รวมซิมโฟนีจำนวนที่ถือว่ามากถ้าเทียบกับคีตกวีคนอื่นนั่นคือ 15 บท รวมไปถึง Violin Concerto หมายเลข 1 อันมีชื่อเสียง 

โชสตาโควิกแตกต่างจากคีตกวีสามท่านแรกที่กล่าวถึงก็เพราะเขาใช้ชีวิตอยู่ภายใต้แรงกดดันของการเมืองภายในประเทศที่ตะวันตกเรียกว่าหลังม่านเหล็ก ไชคอฟสกีถึงแก่กรรมก่อนการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ส่วนแรคมานินอฟและสตาวินสกีอพยพไปอยู่ต่างประเทศก่อนหน้านั้นนานแล้ว  โชสตาโควิกเกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 1906 ที่นครเซนปีเตอร์สเบิร์ก (เปลี่ยนชื่อเป็นเลนินกราดในช่วงปี 1924-1991) เป็นบุตรคนที่สองในบรรดาพี่น้องสามคน บิดาของคนเป็นวิศวกรหัวเสรีนิยมที่สนับสนุนสหภาพแรงงาน มารดาเป็นครูสอนเปียโนซึ่งมีอิทธิลต่อโชสตาโควิกอย่างมาก ถือกันได้ว่าเขาเป็นอัจฉริยะกุมาร (Prodigy child) อีกคนหนึ่งเช่นเดียวกับโมซาร์ต  เมื่อโชสตาโควิกอายุเพียง 8 ขวบก็ได้เรียนเปียโนและเมื่ออายุ 13 ปีก็เข้าเรียนที่โรงเรียนสอนดนตรีเปโตรกราดภายใต้การบริหารงานของอเล็กซานเดอร์ กลาซูนอฟ คีตกวีชื่อดังอีกคนของรัสเซีย แถมในปีเดียวกันนั้นโชสตาโควิกสามารถแต่งเพลงประกอบงานศพเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้นำของพรรคคาเดต (1) ที่ถูกพวกบอลเชวิก พรรคซ้ายตกขอบสังหาร เขามีงานนิพนธ์หรือตัวจบคือซิมโฟนีหมายเลข 1 ออกแสดงในปี 1926

รัฐบาลของเลนินซึ่งขึ้นมามีอำนาจตั้งแต่ปี 1917 ได้ถือว่าโชสตาโควิกว่าเป็นบุคลากรที่มีคุณค่ามากคนหนึ่งของโรงเรียน ถึงแม้ในช่วงเรียนเขาจะสอบตกปรัชญาลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งถือว่าเป็นวิชาบังคับสำหรับปัญญาชนในรัสเซียยุคใหม่ก็ตาม หน่วยงานทางวัฒนธรรมได้มอบหมายให้โชสตาโควิกแต่งเพลงตามรูปแบบที่ต้องการเช่นเพลงเพื่อการปฏิวัติ หรือสำหรับชนชั้นกรรมาชนซึ่งไม่ใช่ตามรูปแบบที่คีตกวีเอกของเราต้องการเลย งานของเขาในช่วงนั้นมีความแปลกใหม่ ฟังระคายหู อาจเพราะโชสตาโควิกและครอบครัวได้สูญเสียศรัทธาที่มีพรรคบอลเชวิกมาตั้งแต่ต้นและยิ่งรู้สึกในด้านลบเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

เมื่อ โจเซฟ สตาลินขึ้นครองอำนาจในปี 1922 ชีวิตของโชสตาโควิกต้องพบกับความยากลำบาก ถึงแม้ผลงานจะได้รับความนิยมจากผู้ฟัง ทว่าก็ถูกสั่งระงับการแสดงเสียมากมาย เขาจะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ครอบครัวอยู่รอดโดยเป็นนักเล่นเปียโนให้กับภาพยนตร์เงียบ กระนั้นเขาก็ได้รับเกียรติยศจากการชนะเลิศการเล่นเปียโนในรายการแข่งขันที่กรุงวอร์ซอว์ ประเทศโปแลนด์ ปี 1927 เขายังผูกมิตรกับบรูโน แวลเทอร์ วาทยกรชื่อดังชาวเยอรมันเชื้อสายยิวผู้ประทับใจซิมโฟนีบทแรกของเขาจนถึงกลับนำไปออกแสดงที่กรุงเบอร์ลินในปีเดียวกัน

                   

(ภาพการ์ตูนล้อที่แสดงให้เห็นว่าโชสตาโควิกอยู่ภายใต้การคุกคามของสตาลิน)

โชสตาโควิกผลิตผลงานชิ้นสำคัญของเขาในปี 1934 นั่นคือ อุปรากรที่ชื่อ Lady Macbeth of the Mtsensk District เป็นเรื่องราวผู้หญิงผู้ว้าเหว่คนหนึ่งที่ตกหลุมรักคนใช้ของสามี จนนำไปสู่จุดจบคือการฆาตกรรมทั้งพ่อสามีรวมไปถึงตัวสามีเองอันเป็นการสะท้อนถึงผู้หญิงในฐานะที่เป็นเหยื่อของสังคมในยุคของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2   งานชิ้นนี้ถูกนำออกแสดงที่โรงละครเลนินกราด มาลีย์  จนประสบความสำเร็จและได้รับคำชมอย่างมากมาย แต่แล้วในปี 1936 ซึ่งเป็นปีแห่งการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purge) ที่ทางการโซเวียตกำจัดผู้ที่มีความคิดไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ หนังสือพิมพ์ปราบดา (หรือ Pravda ซึ่งแปลว่าแสงสว่าง)  ของรัฐบาลได้เขียนโจมตีอุปรากรของเขาอย่างรุนแรงพร้อมกับกล่าวหาว่าโชสตาโควิกเป็นพวกรูปนิยมหรือ Formalism ซึ่งเป็นศิลปะแบบชนชั้นกลาง (2) และยังหยาบช้า เลวทราม แน่นอนว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีก็คือสตาลินซึ่งว่ากันว่าแอบไปชมอุปรากรเรื่องนี้ด้วยและจู่ๆ ก็เดินออกจากโรงไปอย่างหัวเสีย ที่น่าเศร้าคืออุปรากรยังถูกสั่งห้ามออกแสดงร่วมกว่าสามสิบปี


(ฉากจากอุปรากรเรื่องนี้)

โชสตาโควิกถูกประณามเป็นครั้งแรก รายได้หดหายแถมการแสดงยังถูกห้ามอีกด้วย กระนั้นเขาก็ยังเอาตัวรอดได้ท่ามกลางญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงที่ต้องตายหรือถูกเข้าค่ายกักกันท่ามกลางกระแสกวาดล้าง โชสตาโกวิกจึงก้มหน้าก้มตาสร้างสรรค์งาน ไปตามคำสั่งของพรรคหรือไม่ก็ผลิตผลงานที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง สำหรับคีตกวีที่เป็นพวกอาวองต์ การ์ด (Avant –garde) หรือพวกชอบสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่พบชะตากรรมแบบเดียวกับโชสตาโควิกก็ได้แก่เซอร์ไก  โปโกเฟียบเจ้าของเพลงประกอบนิทานสำหรับเด็กคือ Peter and the Wolf  และอารัม กาจาทุเรียนเจ้าของเพลงประกอบบัลเลต์ชื่อดังคือ Spartacus

ปี 1941 เยอรมันประกาศสงครามกับสหภาพโซเวียตภายใต้ปฏิบัติการณ์บาร์บารอสซา และทำการ   โอบล้อมกับโจมตีเมืองเลนินกราด ปรากฏว่าโชสตาโควิกได้ติดอยู่ในเมืองแห่งนั้น แต่ด้วยไม่หวาดหวั่นต่อชีวิตอันยากลำบากและความอดยาก เขายังสามารถเขียนซิมโฟนีหมายเลข 7  ซึ่งมีชื่อเล่นว่าเลนินกราดตามชื่อเมืองได้ถึง 3 กระบวน งานชิ้นนี้ของโชสตาโควิกถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงเพราะถูกนำออกอากาศเพื่อปลุกระดมให้ชาวรัสเซียทั้งมวลเข้าโรมรันกับพวกเยอรมัน ต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญของชาวรัสเซีย

 

(โด่งดังถึงกลับได้ลงนิตยสารของจักรวรรดินิยมอเมริกัน)

ปี 1948 โชสตาโควิกถูกประณามว่าเป็นพวกแบบนิยมเป็นครั้งที่สอง ผลงานทั้งหมดของเขาถูกห้ามนำออกแสดงและยังถูกบังคับให้สารภาพผิดต่อหน้าสาธารณชน ครอบครัวถูกตัดสิทธิประโยชน์ทั้งหมดที่เคยได้ แต่ปีต่อมาสถานการณ์จึงดีขึ้นบ้าง อาจเพราะเขาแต่งเพลงประกอบเสียงร้องที่ชื่อ "บทเพลงแห่งป่า" (Song of the forest) และยกย่องสตาลินว่าเป็น "คนสวนผู้ยิ่งใหญ่"  เมื่อสตาลินถึงแก่อสัญกรรมในปี 1953  และผู้นำคนต่อมาคือครูซชอฟได้กล่าวประณามสตาลินอย่างสาดเสียเทเสียในปี 1956 ทำให้บรรยากาศทางการเมืองของสหภาพโซเวียตมีลักษณะผ่อนคลายมากขึ้น  ชีวิตของโชสตาโควิกก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างไรก็ตามในปี 1960  เขาได้สร้างความอื้อฉาวโดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้มีคนกล่าวหาว่าเขาว่าขี้ขลาด แต่ครอบครัวเขาเปิดเผยว่าเกิดจากแรงกดดันทางการเมืองเช่นการข่มขู่จากทางพรรค จนถึงขั้นที่โชสตาโควิกคิดจะฆ่าตัวตาย

ในช่วงท้ายของชีวิตของโชสตาโควิก ถือได้ว่าต้นร้ายปลายดี นั่นคือเขาได้รับการยกย่องอย่างมากมายได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการของสหภาพนักแต่งเพลง ได้รับรางวัลและเหรียญจากทางการของโซเวียต และได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ทั้งนี้ไม่นับถึงการแต่งงานเป็นครั้งที่สามในปี 1962 โดยเจ้าสาวอายุเพียง 27 ปี ถึงแม้เขาจะเสี่ยงภัยอยู่บ้างโดยการแต่งซิมโฟนีหมายเลข 13 เพื่อที่อิงกับกวีที่ถูกเขียนเพื่อระลึกถึงการสังหารหมู่ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะมีกระแสต่อต้านยิวค่อนข้างรุนแรงในสังคมรัสเซียช่วงนั้น

สุขภาพของโชสตาโควิกทรุดโทรม ลงอย่างรวดเร็ว ป่วยด้วยโรคนานาชนิดเพราะความเครียดและการสูบบุหรี่จัด คีตกวีเอกผู้เคร่งเครียดมาตลอดชีวิตก็ถึงกรรมด้วยโรคมะเร็งที่ปอดในวันที่ 9 สิงหาคม 1975 สิริรวมอายุได้เกือบ 70 ปีเต็ม

หากมองกลับไปจะเห็นได้ว่าโชสตาโควิกนั้นค่อนข้างห่างไกลจากความเป็นศิลปินในอุดมคติ ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีอยู่หรือไม่เพราะศิลปินก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ทั้งรู้ร้อนรู้หนาว มีความทะยานอยาก มีตัณหา มีความกลัว ชีวประวัติของเขาได้ทำให้เราเกิดคำถามมากมายเช่นศิลปะนั้นสามารถเป็นกลาง ห่างไกลจากการเมืองได้หรือไม่  ศิลปะควรถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองแนวคิดสังคมนิยมเหมือนกับที่พรรคคอมมิวนิสต์ปรารถนาหรือว่าต้องเชิดชูผู้นำทางการเมืองที่มีอำนาจในยุคนั้น หรือเพื่อตอบสนองความต้องการแบบพาฝันของประชาชนกลุ่มใหญ่ (ดังเช่นละครหรือเพลงน้ำเน่า)   หรือเพื่อสะท้อนความรู้สึกภายในของตน ที่สำคัญศิลปินสามารถทำทั้ง 4  อย่างพร้อมกันโดยไม่ขัดแย้งกันเองได้หรือไม่ ผู้เขียนมีความเชื่อว่าตลอดเวลาหลายสิบปี ภายใต้การเล่นเกมแบบแมวไล่จับหนูกับสตาลิน ผู้นำของรัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จที่โหดร้ายและกดขี่มากที่สุดในโลกยุคหนึ่ง โชสตาโควิกได้พยายามผสมผสานทั้งหมดนี้ให้กลมกลืนมากที่สุดโดยการชี้นำของสิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณ” ของความเป็นศิลปิน

 


(โชสตาโควิก และวาทยากรรวมไปถึงเพื่อนกวีในช่วงก่อนที่จะออกแสดงซิมโฟนีหมายเลข 13 อันอื้อฉาว)

(1) อีกชื่อหนึ่งคือพรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (Constitutional Democratic party) ที่มีบทบาททางการเมืองภายหลังจากที่พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่สองทรงถูกบังคับให้มอบอำนาจให้กับประชาชนภายหลังการปฏิวัติปี 1905

(2) พวกคอมมิวนิสต์จะชื่นชอบศิลปะแบบสัจนิยมสังคมนิยมหรือ Socialist Realism ที่สะท้อนปัญหาสังคมและต่อต้านลัทธิแบบนิยมหรือศิลปะที่ลงตัวอย่างงดงามหรือพาฝันแบบชนชั้นกลาง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘วรเจตน์-กิตติศักดิ์-สถิตย์’ ถกตุลาการกับสถานการณ์ทางการเมือง

$
0
0

26 เม.ย. 2557 เวลา 9.20 น. ณ ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการ “เชิดชูครูกฏหมาย” เนื่องในงานรำลึก ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย จัดสัมมนาทางวิชาการ “บทบาทการใช้อำนาจของตุลาการกับสถานการณ์ทางการเมือง” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกาและ สราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมด้วยนักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมหลายร้อยคน

0000

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ลักษณะของอำนาจตุลาการ  

วรเจตน์  กล่าวว่า ลักษณะหรือธรรมชาติของอำนาจตุลาการนั้นโดยเนื้อแท้แล้วเป็นอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางกฏหมาย เป็นลักษณะสำคัญประการแรกสุด ถ้าข้อพิพาทนั้นไม่ใช่ทางกฏหมาย เป็นข้อพิพาทในทางการเมือง เศรษฐกิจ ทางสังคมและวัฒนธรรม แต่ไม่มีประเด็นทางกฏหมายไม่ใช่อำนาจตุลาการจะเข้าไปเกี่ยวข้อตัดสินได้ ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องในทางการเมืองก็ต้องทำให้เรื่องนั้นกลายเป็นเป็นประเด็นหรือปัญหาในทางกฏหมาย แล้วใช้กฏหมายเป็นเกณฑ์หรือเป็นมาตรในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้นๆ ซึ่งศาลไม่สามารถใช้เกณฑ์อื่นได้ในการชี้ขาดข้อพิพาทได้นอกจากกฏหมาย

ประการที่ 2 เมื่อวินิจฉัยแล้วคำวินิจฉัยนั้นก็จะผูกพันคู่ความเป็นเด็ดขาด คำพิพากษานั้นจะถูกหรือผิดก็จะจบสิ้นลง หากคู่ความไม่เห็นด้วยก็อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษานั้นไปจนกระทั่งถึงที่สุด ศาลเองเมื่อตัดสินคดีไปแล้วก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำตัดสินตัวเองได้ แม้ตัวเองจะเห็นว่าคำตัดสินนั้นไม่ถูกต้อง

ประการที่ 3 การใช้อำนาจตุลาการนั้นต้องใช้โดยองค์กรที่เป็นอิสระไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลใด แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่มีใครอยู่โดยอิสระอย่างสิ้นเชิงได้ ดังนั้นอิสระนั้นจึงเป็นอิสระจากการตกอยู่ภายใต้การของบุคคลอื่นในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางกฏหมาย แต่ศาลต้องผู้พันกับกฏหมาย จะใช้เจตจำนงค์ของตัวเองเข้าแทนที่ตัวบทกฏหมายเข้าตัดสินหรือวินิจฉัยคดีตามความต้องการของตนโดยขาดฐานทางกฏหมายรองรับไม่ได้

ประการสุดท้าย อำนาจตุลาการมีลักษณะเป็นอำนาจในเชิงรับ คือ ศาลเองจะเริ่มการใดๆไม่ได้เลยหากไม่มีการฟ้องคดี ทำให้อำนาจตุลาการแตกต่างไปจากอำนาจบริหารและนิติบัญญัติซึ่งเป็นอำนาจในเชิงรุก ในแง่ที่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้โดยการวางแผนไปข้างหน้า ในแง่นี้การทำงานของผู้พิพากษาคือการมองย้อนไปในอดีตทั้งสิ้น เป็นการตัดสินข้อพิพาทที่ข้อเท็จจริงยุติลงไปแล้วในอดีต

ศาลอาจจะใช้อำนาจในเชิงรับนี้ในการแสดงทัศนะในเชิงสร้างสรรค์ผ่านคำพิพากษาได้ แต่การกระทำนี้ก็ยังไม่สามารถทำให้ตุลาการเป็นอำนาจในเชิงรุกได้ “ไม่มีผู้พิพากษา ถ้าหากไม่มีผู้ฟ้องคดี”

ปัญหาตุลาการภิวัฒน์

ในวันนี้ปัญหาที่มันเกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานหลายปีแล้วยังไม่ยุติ จุดเริ่มต้นของปัญหามาจากแนวความคิดเรื่อง “ตุลาการภิวัฒน์” เมื่อประมาณ 8-9 ปีก่อน จากการเดินขบวนขับไล่ รัฐบาลทักษิณ หลังจากนั้นมีนักวิชาการเสนอคำว่าตุลาการภิวัฒน์ขึ้น โดยแปลมาจากคำว่า “judicial review” ซึ่งจริงๆ คือ การทบทวนตรวจสอบในทางตุลาการ ให้ศาลเข้าไปมีบทบาทในเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ความคิดนี้ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางในสื่อและสังคม แต่ตนกลับเฝ้ามองด้วยความวิตกกังวลว่าในอนาคตจะทำให้ปัญหามันยุ่งยาก แก้ไขได้ยากขึ้น

บรรดาสิ่งแรกๆที่ศาลออกมานั้นเราจะเห็นกรณีศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัว กกต. ชุดที่จัดการเลือกตั้งเมื่อปี 49 ต่อมามีเสียงเรียกร้องให้ กกต. ลาออก แต่ กกต. ชุดนั้นไม่ได้ลาออก หลังจากนั้นมีการแจ้งความดำเนินคดีเรื่องของการจัดการเลือกตั้งโดยมิชอบ และศาลไม่ให้ประกันตัว เมื่อศาลไม่ให้ประกันตัวแล้ว ต่อมา กกต.ก็ลาออกและพ้นจากตำแหน่ง และมีการส่งคนอื่นมาเป็น กกต. ต่อ เพื่อดำเนินการจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งกรณีนี้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาศาลฏีกาได้ตัดสินยกฟ้องคดีนี้ โดยให้เหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้เสียหาย ซึ่งตอนที่ฟ้องคดีใหม่ๆตนก็มีความเห็นว่าผู้ฟ้องๆคดีไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีนี้ แต่ขณะนั้นไม่มีใครสนใจในประเด็นนี้ ทุกคนคิดว่ามันเป็นปัญหาที่ต้องแก้โดยใช้องค์กรตุลาการเข้ามาแก้ไขผ่านแนวคิดเรื่องตุลาการภิวัฒน์

การไม่ให้ประกันตัว กกต ครั้งนั้น มันส่งผลสะเทือนทางการเมือง ทำให้มีการเปลี่ยนตัว กกต. และในเวลาต่อมาก็กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่เกิดการรํฐประหารก่อน เมื่อ 19 ก.ย. 49 ซึ่งหลังจากรัฐประหารแล้วการอ้างอิงอำนาจตุลาการยังคงดำเนินต่อไป เหตุที่ดำเนินต่อเพราะการใช้อำนาจของทหารมาจัดการทางการเมืองไม่ได้รับการยอมรับจาโลกสมัยใหม่ ดังนั้นต้องใช้อำนาจที่แนบเนียนกว่าคืออำนาจตุลาการที่ดูเหมือนมีพื้นฐานความชอบธรรมมากกว่า เพราะต้อทำผ่านคำพิพากษาที่ดูเหมือนมีกระบวนการพิจารณา

ตุลาการภิวัฒน์กับผลกระทบระยะยาว

โดยบทบาทแล้วอำนาจตุลาการนั้นถูกออกแบบมาให้เป็นกลาง ซึ่งคำว่าเป็นกลางนั้นไม่ได้หมายความว่าผู้พิพากษาตัดสินโดยไม่สนใจอะไรเลย แต่หมายความว่าตัวบทบาทของตุลาการต้องวางอยู่บนความเชื่อถือของสาธารณะชนว่าไม่ได้เอนเอียงไปในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สภาพแบบนี้มันขัดกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการรัฐประหาร 49 เพราะคนคาดหวังหรือโดยแนวคิดตุลาการภิวัฒน์คนคาดหวังว่าศาลจะมาแสดงบทบาท ซึ่งการรัฐประหารคือการกำจัดคู่ปรปักษ์ในทางการเมือง ซึ่งคู่ประปักษ์นั้นจะดีหรือเลวเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ประเด็นการใช้อำนาจรัฐประหารเข้ามาจัดการทาการเมืองมันเท่ากับเป็นกาแบ่งฝ่ายทางการเมืองชัดเจน มันมีอยู่ 2 ข้าง มันไม่มีข้างที่ 3 เมื่อมีการเสนอตุลาการภิวัฒน์ในบริบทแบบนั้น บทบาทในการแสดงออกมาหลังจากนั้น แม้ศาลจะบริสุทธิหรือไม่ แต่ในสายตาทั่วไป ก็จะรู้สึกว่ามันเป็นอีกฝ่ายเป็นอีกด้าน เพราะถูกเสนอในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าว ซึ่งตนเคยเตือนว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา เพราะอำนาจตุลาการที่ถูกออกแบบเป็นอำนาจสุดท้ายที่ชี้ขาดข้อพิพาททางกฏหมาย ซึ่งผลมันต้องจบ ทำให้มันมีต้นทุนที่สูงมาก หากนำไปใช้ต่อสู้ในทางการเมือง ถ้าคนทั่วไปรู้สึกว่าศาลไม่เป็นกลางแล้ว มันก็มีผลต่อการยอมรับเชื่อถือ

คิดว่าคนที่เสนอเรื่องตุลาการภิวัฒน์นั้นไม่ได้เข้าใจธรรมชาติของอำนาจตุลาการ หวังเพียงแก้ปัญหาทางการเมืองระยะสั้น สายตาสั้นมากๆ โดยคิดว่าใช้อำนาจแบบนี้จะจัดการปรปักษ์ทางการเมืองให้จบลงไปได้ แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น เมื่อศาลถูกดึงเข้ามาแล้วจะกลับออกไปเริ่มไม่ง่าย และเมื่อคนตั้งคำถามมากขึ้น ศาลก็ยังไม่หยุด ยังเดินหน้าต่อ และสิ่งที่เกิดขึ้นคือมีข้อวิจารณ์หลายอย่างที่มีน้ำหนักมากว่าการตัดสินไปนั้นถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ หลายคดี

ความเป็นจริงเราเห็นโดยทั่วไป บางทีผู้พิพากษาตุลาการแสดงทัศนะออกมา เช่น มีการเดินขบวนของผู้พิพากษาตุลาการจำนวนหนึ่งในนาม “กลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน” ออกมาบทบาท แม้จะบอกว่าสิ่งที่ทำเป็นการทำในนามส่วนตัว แต่ภาพในทางสาธารณะ คนที่รู้สึกว่ามันมีไม่ถูกต้องอยู่นั้น เขาจะเชื่อคำตัดสินคดีแบบนี้ได้หรือไม่ แล้วในอนาคตถ้าท่านเหล่านั้นไปนั่งบัลลังก์พจารณาคดีในทางการเมืองใครจะเชื่อท่าน

ความเสื่อมศรัทธาในการใช้อำนาจตุลาการ

วันนี้ความเสื่อมศรัทธาในการใช้อำนาจตุลาการในบางระดับมันประจักษ์มากขึ้น มันไม่สายเกินไปที่จะมาดูว่าอะไรคืออำนาจตุลาการ ไม่ได้หมายความว่าอำนาจตุลาการไม่ควรมีบทบาทเลยในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง มีได้ แต่การมีบทบาทนั้นต้องมีภายใต้ข้อจำกัดตนเอง

“ถ้าเกินข้อจำกัดตัวเองออกไป มันก็จะพ้นไปจากกรอบอำนาจของตุลาการ ศาลในการตัดสินคดีนั้นก็จะพ้นไปจากการเป็นผู้ที่ใช้กฏหมายหรือการเป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญ กลายเป็นตัวกฏหมายและกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง”

เช่นเวลาที่สภาออกกฏหมายมาหรือมีกฏหมายอยู่แล้วสภาจะแก้ไขกฏหมายนั้น เรายอมไหมที่จะให้ศาลยุติธรรม ศาลปกครองเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขกฏหมายของรัฐสภา เราไม่ยอม เพราะนี่คือระบบการถ่วงดุลอำนาจ

เวลาที่สภาใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เราก็ไม่ยอมให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวสอบการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งยังไม่ยุติในชั้นสภา เพราะยังไม่ลงมติในวาระที่ 3 ถ้าเรายอมแบบนี้ได้ ต่อไปเราก็ต้อยอมเวลาที่สภาแก้ไขกฏหมายฉบับหนึ่งก็ร้องศาลได้ แล้วศาลก็เข้ามาระงับยับยั้งได้ อ้างอิง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งคุ้มครองชั่วคราวการลงมติในวาระที่ 2 และ 3 ของสภาได้ ซึ่งเราต้องไม่ยอม

“ถ้าระบบมันเสียไป โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสียเอง ระบบจะไม่มีทางออก เพราะว่าศาลได้สถาปนาตัวเองขึ้นไปกลายเเป็นผู้ที่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญหรือกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง เป็นคนอนุญาติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทุกครั้ง”

การใช้กฏหายนั้นตนค่อนข้างกังวลใจ เมื่อเห็นทัศนะตุลาการบางท่านแสดงทัศนะถึงเรื่องการปรับใช้กฏหมาย ว่า เวลาศาลตัดสินคดี ก็จะดูคำชี้แจงของคู่ความ แล้วดูว่าคำชี้แจงนไหนเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่ากัน แล้วศาลจะไปหาข้อฏหมายมาสนับสนุนความเห็นความคิดของฝ่ายที่ศาลเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า นี่เป็นทัศนะ ที่โดยหลักการการใช้กฏหมาย นั้นทำแบบนี้ไม่ได้ ถ้าเช่นนั้นกฏหมายจะไม่มีความหมาย วิธีใช้กฏหมายไม่ได้ตัดสินว่าฝ่ายใดมีประโยชน์สาธารณะมากว่า เพราะเราเอาความคิดของตัวเราเองไปแทนที่ของคนทั้งหมดไม่ได้ ศาลจึงมีหน้าที่ฟังข้อเท็จจริงให้ยุติ จากนั้นจึงไปดูข้อกฏหมายว่าข้อเท็จจริงที่ยุตินั้นปรับเข้ากับข้อกฏหมายได้ไหม แล้วข้อกฏหมายนั้นกำหนดผลทางกฏหมายอย่างไร จึงให้ผลทางกฏหมายออกมา ไม่ใช่เอาตัวเองเข้าไปแทนที่เรื่องของข้อกฏหมาย

“ไม่ใช่เอาตัวเองเข้าไปตัดสินก่อนว่าฝ่ายใด้มีประโยชน์มากกว่าจากทัศนะของตัวเอง เพราะศาลอาจจะผิดได้ ผมเรียนว่าหนทางไปสู่ความยุติธรรมนั้นมันต้องไปผ่านทางกฏหมาย โอเคมันมีความยุติธรรมอยู่ ทุกคนก็อยากได้ความยุติธรรม แต่ความยุติธรรมนั้นมันไม่ได้โดยใครคนใดคนหนึ่งสมมติตัวเองขึ้นมาเป็นคนเข้าถึงความยุติธรรม แล้วก็บอกว่านี่คือความยุติธรรม เพราะฉะนั้นผมตัดสินอย่างยุติธรรม โดยที่ไม่ได้เดินไปตามทางในทางกฏหมาย มันต้องใช้ทางทางกฏหมายไปสู่ความยุติธรรมมันถึงจะเกิดความยอบรับกัน”

นักแสวงหาสูญญากาศ

การใช้กฏหมายจะต้องอิงธรรมะในแง่ที่ว่าธรรมะคือความสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้การตีความกฏหมายถ้ามันนำไปสู่ความผิดปกติ แสวงหาให้เกิดสูญญากาศให้ระบบกฏหมายมันขัดข้องใช้ไม่ได้ คนเหล่านั้นก็ไม่ใช่นักกฏหมาย แต่เป็นนักแสวงหาสุญญากาศ ทำให้ระบบมันขัดข้องหมด แล้วมันก็ไม่เป็นธรรมะ เพราะธรรมะคือความสม่ำเสมอ ความปกติ

ความต้องการทางการเมืองของแต่ละฝ่ายทุกคนมีไม่เหมือนกันเราเข้าใจได้ แต่มันต้องผ่านกระบวนการต่อสู้ขัดแย้งด้วยเหตุด้วยผล และองค์กรที่ทำหน้าที่ตรงนี้ต้องรู้จักข้อจำกัดอำนาจตัวเอง บทบาทนำในองค์กรตุลาการจำนวนหนึ่งในระยะเวลา 8-9 ปีที่ผ่านมา ถ้าไม่ปรับบทบาทศาลจะไม่ใช่คนยุติปัญหา ความขัดแย้งในสังคม แต่จะเป็นผู้จุดชนวนความขัดแย้งในสังคมให้บานปลายขึ้น แล้วแก้ไขยากยิ่งขึ้น ใช้เวลาเป็นรุ่นๆในการแก้ไข เนื่องจากเมื่อศาลตัดสินคดีแล้วคำพิพากษาจะถูกอ้างอิงไปเรื่อยๆ อีก

ศาลไม่ใช่ผู้แทนของเจตจำนงค์ฝ่ายเสียงข้างน้อย

ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องการตรวจสอบ อำนาจนิติบัญญัติและบริหาร โดยอำนาจตุลาการ มันเป็นหนึ่งในหลักการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานนิติรัฐ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ที่เราต้องตระหนักให้มากว่าทำไมสภาพการณ์แบบนี้ที่ระเบิดไปลงศาลจึงมากขึ้น เราจะตอบคำถามนี้ได้นั้นต้องมองย้อนไปในอดีตว่าทำไมสังคมเราเดินมาได้ถึงจุดนี้ และฝ่ายตุลาการมีบทบาทผลักดันให้มาถึงจุดนี้หรือไม่ เป็นสิ่งที่เราต้องทบทวนตรวจสอบ

ตนอยู่ในฝ่ายที่คัดค้านการรับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะคิดว่ามันจะนำไปสู่ทางตัน เพราะดุลยอำนาจในหลักการแบ่งแยกอำนาจมันเสียไปในทางรัฐธรรมนูญ ยิ่งผนวกกับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญด้วยในระยะเวลาหลายปีมานี้ เราจะเห็นอะไรแปลกเช่นตอนทำประชามติก็ให้รับๆไปก่อนแล้วแก้กันทีหลัง แล้วเมื่อมีการขอแก้รัฐธรรมนูญ อย่างการแก้เรื่องที่มาของวุฒิสภาจากระบบเดิมให้เป็นเลือกตั้งทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นคือศาล รธน. วินิจฉัยว่าการแก้ดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อมาถึงจุดนี้เราน่าจะตอบคำถามได้แล้วว่าการตัดสินมันเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ ทั้งที่ฝ่ายแก้ๆตามกลไกรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แก้โดยกลไกนอกระบบ แต่ศาลบอกว่าทำไม่ได้และกำลังจะถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดซ้ำร้อยกว่าคน ซึ่งเท่ากับว่าในอนาคตจะมีปัญหาต่อไปอีก มันจะมีอะไรเป็นกติกาที่เราจะยอมรับได้ เรื่องนี้ต้อตระหนักให้ดี มันมากกว่าการได้และเสียทางการเมือง มันคือจุดขอการที่จะอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ได้ ซึ่งสำคัญมาก

“เป็นไปได้ที่ศาลจะมีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ศาลไม่ใช่ผู้แทนของเจตจำนงค์ของฝ่ายค้านหรือฝ่ายเสียงข้างน้อย ถ้าศาลต้องการแสดงบทบาททางการเมืองในแง่ของความเห็นทางนโยบายที่แตกต่างกัน ศาลไม่สามารถทำผ่านคำพิพากษาได้ ศาลต้องลาออกมาแล้วเสนอนโยบายผ่านทางการเมืองให้ประชาชนของประเทศตัดสิน”

คำพิพากษาของศาลไม่เท่ากับกฏหมาย

กรณีศาลรัฐธรรนูญที่คำวินิจฉัยให้ผูกพัน องค์กรของรัฐ นั้น คำถามมีอยู่ว่ากฏหมายกับคำพิพากษาของศาลเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า เพราะในช่วงนี้มีการพูดกันเรื่องให้เคารพกติกา ซึ่งการพูดแบบนี้พูดอย่างไรก็ถูก แต่คำพิพากษาของศาลนั้นไม่เท่ากับกฏหมาย

คำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงออกซึ่งความหมายของกฏหมาย ซึ่งในสังคมทั่วไปเรายอมรับว่าศาลตัดสินคดีมาก็พึงยุติไปตามนั้น แต่หากศาลตัดสินคดีไปผิดกฏหมายผิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ในสายตาของสาธารณะชนจำนวนมากเห็นว่าศาลละเมิดรัฐธรรมนูญ ขณะที่อีกฝ่ายบอกว่าศาลวินิจฉัยอย่างไรให้เป็นอย่างนั้น เท่ากับว่าเราต้องเข้าใจใช่ไหมว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรนูญเท่ากับรัฐธรรมนูญ ถ้าอย่างนั้นศาลรัฐธรรมนูญไม่มีวันตัดสินคดีละเมิดรัฐธรรมนุญได้เลยใช่ไหม เท่ากับสิ่งที่ศาลตัดสินมาถูกตลอดเวลา ซึ่งในคดีปกติที่เกิดขึ้นในศาลยุติธรรมนั้นมีศาลที่สูงกว่าคอยกรั่นกรองสิ่งที่ศาลล่างตัดสินไปนั้นถูกหรือไม่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นศาลเดี่ยว ซึ่งไม่มีการตรวจสอบ ดังนั้นการถ่วงดุลของศาลรัฐธรรมนูญนั้นจึงถ่วงดุลกับองค์กรอื่นของรัฐในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แปลว่าถ้าฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญ องค์กรเหล่านั้นก็มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญเช่นกัน เมื่อปัญหาขยับไปถึงจุดนั้นมันจะหมดคนชี้ขาดคนสุดท้าย

โดยระบบเราออกแบบให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนชี้ขาดคนสุดท้ายเพื่อยุติปัญหาทั้งปวง แต่ถ้าคนชี้ขาดคนสุดท้ายมีปัญหาเอง และสังสมมาจนสาธารณะชนเห็นว่ามันผิดมันขัด ตนคิดว่าเวลาดูเรื่องนี้ต้องตระหนักถึงความมั่นคงในนิติฐานะ แม้รู้ว่าคำพิพากษาของศาลจะผิดไปบ้าง แต่เพื่อสันติสุขของสังคม เราก็ยอมรับนับถือ แต่เมื่อไหร่ที่คำพิพากษาของศาลกลายเป็นการกดขี่ แสดงกฏหมายที่มันไม่มีวันเป็นอย่างนั้นไปได้ การแสดให้เห็นถึงการเป็นฝ่ายทางการเมืองอย่างชัดแจ้ง จึงคิดว่าหน้าที่ในการเคารพคำพิพากษาของคนในสังคมนั้นๆ จึงยุติลง

นักกฏหมายฝายที่ยืนยันว่ากฏหมายต้องเป็นกฏหมาย คำพิพากษาต้องเป็นคำพิพากษา ภายหลังสงครามโลกนั้น ก็ยอมรับหลัก แต่ไม่ได้ยอมรับหลักการนี้แบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้เคารพแบบจำนนเมื่อตัดสินอะไรมาแล้วทุกอย่างต้องจบแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้นศาลจะเป็นเผด็จการผ่านคำพิพากษา เราจะเกิดเผด็จการผ่านทางตุลาการ

แม้ว่าตุลาการภิวัฒน์จะเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ระดับไม่เหมือนกับในไทย เพราะจากการจัดกลุ่มเทียบกับประเทศอื่นๆ สถานะของศาลรัฐธรรมนูญไทย อยู่ในกลุ่มล่างสุดที่เป็นกลุ่ม Politicized Courts  

ที่พูดแบบนี้ไม่ได้มุ่งมั่นทำลายอำนาจตุลาการ เพราะสังคมมันตั้งมั่นอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีศาลที่เป็นอิสระ แต่ผมกำลังบอกว่าระวังเถอะ ถ้าเราคิดสั้นทางการเมือง เราสร้างปรปักษ์ทางการเมืองขึ้นมา และเรามุ่งหมายกำจัดปรปักษ์ทางการเมืองนั้นโดยไม่เลือกวิธีใช้ เราทุ่มเอาต้นทุนที่วางระบบตุลาการมาหลายสิบปีในการสร้างความเชื่อถือขึ้นมาเพื่อจัดการกับนักการเมืองหรือฝ่ายที่เราไม่ชอบโดยใช้ใจเป็นที่ตั้งไม่ใช้หลักเป็นที่ตั้งระบบจะพัง และเมื่อระบบพังแล้วพอคนไม่ฟังแล้ว มันไม่มีใครฟังใครทุกคนเท่ากันหมดแล้วถึงตอนนั้นมันกลับสู่สภาวะธรรมชาติตั้งเดิมแล้ว เป้นการปะทะกันในอำนาจความเป็นจริง ตนไม่อยากให้เห็นสภาพแบบนั้นเกิดขึ้นในสังคมไทย สุดท้ายแล้วเราก็จะไม่เหลืออะไร จะเหลือแต่ความเจ็บปวดความเศร้าโศก

 

0000

กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ตุลาการภิวัฒน์ - ตุลาการเชิงรุก

กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาของศาลปัจจุบันนี้ อาจมาจากการที่คนมองและคาดหวังบทบาทของศาลที่แตกต่างกัน ปรกติในการตัดสินคดีของศาล ต้องมีการแสดงเหตุผลให้เแจ่มชัดว่าใช้เหตุผลและกฎหมายวินิจฉัยข้อใด ทั้งหมดนี้กำหนดอยู่ในวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญาอยู่แล้ว มิเช่นนั้นจะไม่ถือว่าเป็นคำพิพากษาที่สมบูรณ์ และหากเมื่อเกิดข้อพิพาทในตัวบทกฎหมายก็ต้องจะอาศัยข้อทางกฎหมายที่ชัดเจนในการวินิจฉัย

ต่อเรื่องการตัดสินของศาลในประเด็นทางการเมือง มีหลายกรณีในระดับโลกที่ศาลเป็นผู้ตัดสินสุดท้ายเรื่องหลักการปกครอง ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น โดยเขายกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกากรณีการขังนักโทษคดีก่อการร้ายในเรือนจำกวนตานาโม ประนาธิบดีจอร์จ บุช พยายามไม่ให้ศาลไต่สวนผู้ต้องขังโดยอ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐและคดีการก่อการร้าย อย่างไรก็ตามผู้ต้องขังได้ยื่นอุทธรณ์ว่าการขังโดยไม่ได้รับการไต่สวนนั้นไม่เป็นธรรม

เมื่อศาลตัดสินว่าผู้ต้องขังสามารถมีสิทธิได้รับการไต่สวนโดยศาล ปธน.บุชจึงแก้กฎหมายตอบโต้เพื่อไม่ให้ศาลพิจารณาคดีก่อการร้ายเรื่องกวนตานาโม แต่ในที่สุด ศาลสูงสุดได้ตัดสินว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวขัดต่อรธน. และได้ข้อสรุปสุดท้ายว่าผู้ที่วินิจฉัยว่าตามหลักการปกครอง คือศาลเท่านั้น ไม่ใช่ปธน.หรือฝ่ายบริหาร

อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่ศาลเห็นว่าเรื่องการเมืองควรต้องถูกกันออกไป เช่นเรื่องการเลือกตั้ง มีคดีเลือกตั้งที่ศาลวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจของกกต. ในการให้ใบแดง แม้มีการอุทธรณ์คำตัดสิน ศาลก็ยืนยันว่าจะไม่ก้าวก่ายและเป็นอำนาจของกกต. เท่านั้น

เรื่องตุลาการภิวัฒน์ หรือ คำศัพท์ในภาษาอังกฤษทั้ง judicial review, judicial activism (ตุลาการเชิงรุก) และ judicialization มีหลักการคือ ปัญหาทุกปัญหาในทางการปกครองต้องหาข้อยุติได้ด้วยกฎหมาย แม้จะเป็นปัญหาการเมืองก็ต้องทำให้เป็นปัญหากฏหมาย และวินิจฉัยตากฏหมาย ไม่ปล่อยไปเป็นอำนาจทางการเมืองเท่านั้น เพราะมองว่าจะเป็นทางหนึ่งที่นำไปสู่ความสงบในสังคม แนวคิดนี้แพร่หลายในยุโรปมาก และนั่นเป็นที่มาของการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่าหากใช้การเมืองแก้ปัญหาการเมือง อาจจะนำไปสู่การใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันดังเช่นสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลและข้อเท็จจริงที่ใช้ในการวินิจฉัยของศาลด้วย

“ถ้าหากไม่ใช้มาตรา 68 มาตรา 69 ก็อาจจะถูกเอามาใช้ โดยมาตรา 69 ระบุว่า การได้มาซึ่งอำนาจซึ่งไม่ชอบธรรมตามรธน. ประชาชนสามารถใช้กำลังต่อต้านโดยสงบ การใช้ศาลมาแก้ปัญหา จึงเป็นที่มองเห็นกันว่าน่าจะเป็นการยุติข้อโต้แย้งต่างๆ โดยใช้กำลังน้อยที่สุด” 

ตุลาการภิวัฒน์ ทำให้หลักนิติธรรมกลายเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ มีบางส่วนวิจารณ์ว่า ตุลาการภิวัฒน์ คือการทำเรื่องกฎหมายให้เป็นเรื่องการเมืองมากกว่า (politization of judiciary) ในประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่ในยุโรปทั่วไปยังยอมรับว่า judicialization ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ โดยมองว่า มันจะทำให้หลักนิติธรรมกลายเป็นรูปธรรมมากขึ้น (concretization of the rule of law) หากมีคนที่ไม่เห็นด้วย ก็สามารถโต้แย้งคำตัดสินดังกล่าวด้วยทฤษฎีหรือความคิดเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าศาลมีบทบาททางการเมืองเพิ่มขึ้นในกระแสโลก ในยุโรป ตุลาการภิวัฒน์เป็นการขยับตัวของอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติไปฝ่ายตุลาการ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังมีการลุกฮือของผู้พิพากษาของอิตาลีที่ลุกออกมาต่อสู้กับระบบมาเฟีย หรือในฝรั่งเศสที่มีการตรวจสอบเอาผิดนักการเมืองอย่างเข้มข้น และยังมีการเอาผิดผู้นำที่เคยกระทำผิดในประเทศต่างๆ เช่น ผู้นำเผด็จการของเปรูที่อาศัยอยู่ในอังกฤษแต่ถูกศาลสเปนใช้อำนาจศาลส่งตัวกลับมา

จากหลักการตุลาการภิวัฒน์ ศาลทำหน้าที่นิติบัญญัติในสามแง่ หนึ่ง คือการวินิจฉัยคดีด้วยการตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติ โดยใข้ศาลรัฐธรรมนูญวางข้อจำกัดของการใช้อำนาจในรูปของคำพิพากษาว่าขัดต่อรธน.หรือหลักนิติธรรม สอง ระดับการตีความกฎหมาย ทำให้ศาลเป็นผู้มีส่วนกำหนดนโยบายทางการเมืองด้วยการตีความการใช้กฎหมาย สาม ระดับที่ศาลเป็นผู้ค้นคว้าอย่างกระตือรือร้อนว่ากม. นั้นๆ มีกม. ที่จะปรับใช้ตามเหตุผลของเรื่องวินิจฉัยอย่างไร (law in the making)

ทั้งนี้ ในต่างประเทศ ยังเห็น judicialization of politics เป็นของจำเป็นเพราะฝ่ายการเมืองนั้นยากที่จะตอบสนองความต้องการของสังคมในเวลาวิกฤติ โดยเฉพาะเวลาที่เกิดความแตกแยกในสังคม และผู้กุมอำนาจฝ่ายเสียงข้างมากไม่อยู่ในสถานะที่ได้รับความไว้วางใจในการแก้ปัญหาสังคม

ตุลาการมีบทบาทการเมืองทั่วโลก ผลจากเสียงข้างมากทำลายกฎเกณฑ์ของระบบ

นักวิชาการต่างประเทศอธิบายปรากฎการณ์นี้ว่า การที่ตุลาการเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองทั่วโลก เพราะมักปรากฎว่าในจุดหนึ่งฝ่ายเสียงข้างมากทำลายกฎเกณฑ์สำคัญของระบบเสียเอง และหากฝ่าฝืนแล้วควรต้องมีคนคานอำนาจ ถ้าจะเอาการเมืองด้วยกันคานก็จะเป็นเสียงข้างน้อยและคานไม่ได้ จึงกำหนดกลไกว่า ต้องใช้เสียงข้างน้อยที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นกลางมาเป็นตัวคาน นั่นคือฝ่ายตุลาการ

“ดังนั้นบทบาทนี้ของศาลก็ควรระวัง เมื่อตุลาการเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองแล้วอาจจะถูกวิจารณ์มาก แต่ขณะเดียวกัน นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้มองว่า กระบวนการตรากม.โดยฝ่ายการเมืองไม่ได้ใช้เหตุผลอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในสังคมประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา พลังการใช้เหตุผลและโต้แย้งอย่างเป็นระบบ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ไม่ได้เป็นมติมหาชนที่กำกับเสียงข้างมากได้ จึงเป็นภารกิจฝ่ายตุลาการในการคานอำนาจการเมือง และสิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อยในประเทศต่างๆ ไม่ใช่ในไทยเท่านั้น”

หากเสียงข้างมากนี้ครอบงำสังคมอย่างจริงจังด้วยเหตุผลที่หนักแน่น ฝ่ายตุลาการก็อาจจะไม่เข้ามามีบทบาท เพราะตุลาการก็จะยอมรับเหตุผลดังกล่าว แต่หากฝ่ายข้างมากมีอำนาจแต่ใช้เหตุผลน้อย ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจเกิดความรุนแรง ฝ่ายตุลาการจะเข้ามามีบทบาทมาก อย่างไรก็ตามศาลก็ควรต้องมีบทบาทพอดีและเหมาะสม

นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างในหลายกรณีที่เกิดขึ้นในเยอรมนีตะวันออกก่อนรวมประเทศว่า มีผู้พิพากษาที่ถูกดำเนินคดีและให้ออกจากตำแหน่งหลายรายหลังรวมประเทศแล้ว เนื่องจากตัดสินคดีไปในทางที่บิดเบือนกฎหมายและใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ

ดังนั้น ตุลาการภิวัฒน์ควรต้องมีอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ ในขณะเดียวกันก็ต้องถูกตรวจสอบและวิจารณ์ได้โดยไม่ใช้อำนาจในการลงโทษผู้วิจารณ์ศาลอย่างสุจริตใจและสมเหตุผล 

 

0000

สถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฏีกา 

ศาล รธน. เป็นศาลทางการเมืองต้องยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตย

สถิตย์ กล่าวว่า เวลาศาลตัดสินคดีมันจะมีอุดมการณ์ของมันโดยเฉพาะ อย่างคดีแพ่งก็มีอุดมการณ์ในการวินิจฉัยเฉพาะเรื่อง เช่น จะต้องวินิจฉัยในทางที่เป็นคุณของผู้จะเสียในมุลหนี้ หรือกฏหมายอาญาก์มีหลักว่าต้องตัดสินตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัดจะขยายไม่ได้เพราะจะเป็นโทษแก่จำเลย คดีแพ่งก็อย่างหนึ่ง คดีอาญาก็อย่างหนึ่ง แต่ทั้ง 2 คดีจะไปใช้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะคดีรัฐธรรมนูญเป็นคดีทางการเมือง จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อต้องยึดอุดมการณ์ทางการเมือง เป็นหลักในการวินิจฉัย มิฉะนั้นก็เกิดเรื่องอย่างที่เป็นอยู่ อุดมการณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยคือ หนึ่ง อำนาจสูงสุดเป็นของราษฏรทั้งหลาย สอง เสรีภาพสำคัญที่สุด สาม ความเสมอภาค สี่ นิติรัฐนิติธรรม ห้า รัฐบาลต้องมาจากเสียงข้างมาก ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาสทางการเมืองต้องยึดเหล่านี้ แต่ที่ตัดสินมาก็ถูกโจมตีมาโดยตลอด ขณะนี้ความน่าเชื่อถือต่ำถึงขนาดติดลบ เพราะการตัดสินขัดอุดมการณ์ประชาธิปไตย

อุดมการณ์ของผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมไม่มีแม้แต่บรรทัดเดียวให้ผู้พิพากษาคำนึงว่าอำนาจตุลาการเป็นของประชาชน เพราะฉะนั้นผู้พิพากษาก็อาจจะมีความรู้สึกว่าอำนาจตุลาการเป็นของตน และคิดเลยไปว่าอำนาจนสูงสุดเป็นของตน เพราะเราไม่ได้เน้นเวลาสอนในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เน็นว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฏร มันจึงเกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 แนวทางที่ฝ่ายหนึ่งอยากเป็นเผด็จการกับฝ่ายที่จะเป็นประชาธิปไตย

การวินิจฉัยที่ไม่ยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตยมันก็ไปไม่รอด เพราะนอกจากภายในประเทศจะต่อต้านแล้ว ระหว่างประเทศเขาก็ไม่คบด้วย จะรัฐประหารจะอยู่ได้อย่างไร จะไม่เลือกตั้งจะอยู่ได้อย่างไร

ที่ผิดหวังคือการที่อธิการบดีหลายแห่งมีความเห็นในลัษณะที่ให้นายกทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ทั้งที่เขียนไว้ชัดเจนว่านายกจะ “ต้อง” อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แสดงว่านายกจะต้องอยู่ตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้ เขาไม่ได้อยู่อย่างปกติ เป็นเพียงนายกรักษาการ ถ้าลาออกก็ขัดรัฐธรรมนูญมาตรานี้ กฏหมายเขียนคำ "ต้อง" นักกฏหมายทั้งปวงก็ต้องยอมรับว่าเป้นคำบังคับ ว่าต้องปฏิบัติตามนี้ถ้าไปลาออกนี่ขัดรัฐธรรมนูญ

มีคำเตือนของนักปราชญ์ไทย คือ ชิต บุรทัต เขียนไว้ใน สามัคคีเภทคําฉันท์ ว่า “เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรไลแน่นอน” ของฝรั่งเศสมี มองเตสกิเออ ท่านบอกว่า “ไม่มีความเลวร้ายใดที่เลวร้ายไปกว่า ความเลวร้ายที่ได้ก่อขึ้นภายใต้กฏหมายและกระบวนการยุติธรรม”

ไม่มีกฏหมายใดห้ามวิจารณ์คำพิพากษา

เรื่องคำพิพากษาวิจารณ์ได้หรือไม่นั้น ไม่มีกฏหมายใดในประเทศไทยที่ห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา มีกฏหมายห้ามไม่ให้ดูหมิ่นศาล ซึ่งดูหมิ่นกับวิพากษ์วิจารณ์คนละเรื่องกัน ขณะที่ข้อหาละเมิดอำนาจศาลนั้น เราไปใช้กันเพื่อสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวในประเทศ เพราะการละเมิดอำนาจศาลหลักเบื้องต้นคือไม่ปฏิวัติตามข้อกำหนดที่ศาลกำหนดขึ้นในศาล ซึ่งต้องอยู่ในบริเวณศาลเท่านั้น อย่างไรก็ตามระดับการดูหมิ่นกับระดับการวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็ยังเป็นเรื่องที่เสียวไส้ เพราะคนที่วินิจฉัยคือศาลซึ่งเป็นผู้เสียหายด้วย ซึ่งก็อาจมีเรื่องอคติเข้ามาเกี่ยวข้อง

“คำวินิจฉัยที่วินิจฉัยว่าการแก้ที่มา ส.ว.จากแต่งตั้งเป็นเลือกตั้ง เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยนั้น มันเท่ากับเป็นการตัดสินว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก แล้วใครจะไปยอมรับได้”

รัฐธรรมนูญมาตรา 130 เขียนไว้ชัดเจนว่าการอภิปรายแสดงความเห็น การออกเสียงของ ส.ว.และ ส.ส. ในสภา เป็นเอกสิทธิ์ เด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปฟ้องร้องในทางใดๆมิได้ แต่ ป.ป.ช.กลับอ่านกฎหมายมาตรานี้ไม่ออก จะชี้มูลเพื่อถอดถอน ส.ว.และ ส.ส.ที่แก้รัฐธรรมนูญเหล่านั้น

0000

สราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม 

กลไกการตรวจสอบศาล

สราวุธ กล่าวถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องความเป็นอิสระและการตรวจสอบศาลว่า ในแง่การตรวจสอบตุลาการ จะมีกระบวนการตรวจสอบที่สูงกว่าอย่างศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นศาลตำแหน่งผู้ดำรงคดีทางการเมือง ที่ก่อนหน้านี้ เมื่อศาลตัดสินแล้วจะเป็นคำตัดสินสุดท้ายไม่สามารถอุทธรณ์ได้อีก ต่อมามีการเรียกร้องให้ต้องมีศาลที่สูงกว่าต้องเข้ามาตรวจสอบเพิ่มอีกชั้น รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จึงกำหนดให้สามารถอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าวต่อศาลฎีกาได้หากว่ามีหลักฐานใหม่ภายใน 30 วัน

นอกจากนี้ในระบบศาลกันเอง ก็ยังมีการตั้งคณะกรรมการตุลาการที่ตรวจสอบคุณธรรม จริยธรรมและวินัยของผู้พิพากษา คณะกรรมการดังกล่าวมีตัวแทนจากวุฒิสภาด้วย 2 คน นอกจากนี้ ศาลยังถูกตรวจสอบโดยนักวิชาการซึ่งสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ในเรื่องการวิจารณ์อาจจะไปละเมิดอำนาจศาลนั้น จริงๆ แล้ว เครื่องมือนี้เป็นเพียงเครื่องมือป้องกันกระทบความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเท่านั้น ซึ่งไม่ต้องการให้วิพากษ์วิจารณ์รูปคดีในทางชี้นำเพราะอาจเป็นอันตรายต่อบุคคลในคดี ไม่ใช่ว่าศาลไม่สามารถถูกแตะต้องได้

ต่อเรื่องที่ศาลถูกวิจารณ์ว่าเอียงข้างกลุ่มทางการเมืองเพื่อจะล้มล้างรัฐบาลนั้น สราวุธกล่าวว่า โดยหลักจริยธรรมและข้อกำหนดไม่ให้ผู้พิพากษาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ศาลจึงไม่สามารถเข้าข้างฝักฝ่ายทางการเมืองได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "แด่ไม้หนึ่ง"

$
0
0

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "แด่ไม้หนึ่ง"

ความเสื่อมของดิจิตอลในอเมริกา

$
0
0

 

 

ว่าไปแล้วการกำเนิดขึ้นของทีวีดิจิตอลสะท้อนความเป็นไปของสังคมได้อย่างหนึ่งเช่นกัน ในอเมริกาเองได้กว่าการออกกฎหมายบังคับการส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลจะเกิดขึ้นได้ก็ใช้เวลานานหลายปีทีเดียว ประชาชนทั่วไปจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยการเปลี่ยนไปใช้ระบบคลื่นสัญญาณทีวีแบบใหม่อย่างฉับพลันทันที คนอเมริกันจำนวนมากยังพอใจกับการใช้ทีวีระบบอนาล็อกแบบเดิมอยู่

ทางการอเมริกันให้ทีวีทุกช่องเปลี่ยนเป็นระบบทีวีดิจิตอล และยกเลิกทีวีอนาล๊อกภายในวันที่ 12 มิถุนายน  2009 แต่กฎหมายนี้ยกเว้นเส้นตายให้สถานีขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า Low Power Station

เพื่อช่วยให้คนอเมริกันเปลี่ยนไปใช้ทีวีระบบดิจิตอล รัฐบาลอเมริกัน กำหนดมาตรการซึ่งเป็นแรงจูงใจให้คนเปลี่ยนไปใช้ทีวีระบบดิจิตอลโดยเร็วที่สุด โดยมีการแจกคูปองให้กับครัวเรือนๆละ 50 ดอลลาร์ (DTV Converter Box Coupon Program)  เพื่อให้อเมริกันไปซื้อกล่องทีวีดิจิตอลหรือซื้อทีวีที่รองรับทีวีดิจิตอลในตัวการเปลี่ยนระบบทีวีดังกล่าว มีคนประท้วงกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคิดว่าการรับสัญญาณทีวีระบบดิจิตอลเป็นเรื่องยุ่งยาก

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้ลงนาม กฎหมายเปลี่ยนระบบจากอนาล๊อกทีวีมาเป็นระบบดิจิตอลทีวี แต่ก็เกิดปัญหาในการรับชมทีวีระบบดิจิตอลในหลายจุดทั่วประเทศ  ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ชมเองกลับยังไม่มีความพร้อม มีการวิจารณ์ถึงการบังคับให้เปลี่ยนระบบการส่งสัญญาณทีวีของรัฐบาลดังกล่าวว่าไม่มีความยุติธรรมกับประชาชนและรัฐควรให้ทางเลือกกับประชาชน คือแล้วแต่ใครจะเลือกที่จะชมทีวีแบบไหน

ข้อวิพากษ์เกี่ยวกับการบังคับรับชมทีวีดิจิตอลนี้ ได้รับการประนีประนอม โดยเมื่อวันที่  21 มกราคม2009  สมาชิกวุฒิสภา(ซีเนต) Jay Rockefeller เสนอกฎหมายที่เรียกว่า DTV Delay Act ซึ่งเป็นกฎหมายยืดระยะเวลาการบังคับรับชมทีวีดิจิตอลออกไป เพราะตามรายงานของ Nielsen Company ปรากฏว่าอเมริกันจำนวนราว 6.5 ล้านคนไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนไปใช้ดิจิตอลทีวีตามระยะเวลาเส้นตายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2009  ขณะที่คูปองที่ออกมานั้นมีจำนวนไม่พอกับความต้องการของผู้ที่ต้องการ ท้ายที่สุดนำมาซึ่งการออกกฎหมายเลื่อนบังคับรับชมทีวีดิจิตอลไปเป็นวันที่ 12 มิถุนายน 2009  โดยเป็นการบังคับผู้ประกอบการทีวี ขณะที่ในส่วนของผู้รับชมก็ยังคงไม่มีความพร้อมที่จะเปลี่ยนเหมือนเดิมจนถึงบัดนี้เช่นเดิม

ดังนั้นก่อนหน้าวันที่ 12 มิถุนายน 2009 ทีวีช่องสำคัญๆช่องใหญ่ๆของอเมริกัน อย่างเช่น ABC, CBS, Fox, NBC, Telemundo, CW, myNetworkTV และสถานีอิสระ (independent statons) ซึ่งเป็นเจ้าของโดย CBS และ myNetworkTV stations ซึ่งเป็นเจ้าของโดย Fox รวมถึงอีก 191 สถานีได้จบสิ้นการส่งสัญญาณแบบอนาล็อก

พร้อมกันนี้คณะกรรมการสื่อสาร (Federal Communications Commission – FCC) อเมริกันขีดเส้นตายใหม่สำหรับสถานีทีวีขนาดเล็กที่ใช้กฎหมาย DTV Delay Act ซึ่งจะต้องเปลี่ยนเป็นทีวีดิจิตอลและต้องยกเลิกทีวีอนาล๊อกถาวร ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.2015

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนจากระบบอนาล๊อกทีวีมาเป็นดิจิตอลทีวีของทีวีอเมริกัน ไม่ได้มีผลอะไรมากนักกับรายการทีวีหรือเนื้อหาของทีวีต่อชีวิตประจำวันของคนอเมริกัน ปัญหาคือ ความไม่พร้อมของคนอเมริกันที่จะเปลี่ยนเครื่องรับโทรทัศน์หรือกล่องรับสัญญาณมากกว่า เพราะจนถึงตอนนี้อเมริกันจำนวนไม่น้อยก็ยังใช้เครื่องรับโทรทัศน์แบบอนาล๊อก โดยในส่วนของฟรีทีวีนั้น สถานี ABC, CBS, Fox, NBC, The CW และ PBS ยังเป็นสถานีหลักของการทำธุรกิจทีวีในอเมริกา โดยสถานีเหล่านี้มีสถานีท้องถิ่นตามเมืองสำคัญๆ ทั่วอเมริกา  ขณะที่ยังมีสถานีทีวีอีกประเภทคือ เคเบิลทีวีที่ผู้รับต้องจ่ายค่าบริการ (pay per view)  ซึ่งสถานีทีวีประเภทหลังนี้ก็มีอิทธิพลต่อผู้ชมสูงเช่นกัน แต่ก็มีลักษณะเหมือนกับฟรีทีวี คือ มีเพียงไม่กี่ช่องที่ได้รับความนิยมอยู่ในบรรดาผู้ชมกระแสหลัก ก็คือ ABC, CBS, Fox, NBC, CNN , ESPN  และในส่วนของเคเบิลทีวีนี้ ไม่มีโฆษณายกเว้นการโฆษณารายการหรือเนื้อหาของสถานีทีวีเหล่านี้เอง รายได้หลักมาจากสมาชิกของทีวีนั้นๆเอง

ในส่วนของ PBS นั้น ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆมากมาย จึงถือเป็นทีวีคุณภาพช่องหนึ่งของอเมริกัน ส่วนใหญ่เน้นรายการคุณภาพทั้งเพื่อผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่และเด็ก (ช่อง PBS kids)

กล่าวกันว่าชีวิตอเมริกันอยู่กับสื่อตลอดเวลา ในส่วนของทีวีแม้มีสื่ออื่นเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อออนไลน์และซอฟท์แวร์ประยุกต์ (application) ต่างๆ แต่สื่อทีวีอเมริกันยังเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเชิงผลกำไรจำนวนมหาศาล

เมื่อมองในเชิงวัฒนธรรมการทำงานของทีวีอเมริกันซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ทีวีอเมริกันเป็นวัฒนธรรมต้นแบบของการทำทีวีทั่วโลก โดยเฉพาะทีวีในโลกเสรีและต้นแบบของการสื่อสารมวลชนรูปแบบเครือข่ายนานาชาติ (international networks) ซึ่งถูกจุดประกายโดยสื่ออุดมการณ์ในยุคสงครามเย็น อย่าง วิทยุเอเชียเสรี วิทยุเสียงอเมริกา จนต่อมาเอกชนที่นำโดยอเมริกัน Ted Turner แห่ง CNN ได้มีการริเริ่มครั้งใหญ่ในการส่งสัญญาณเพื่อทำธุรกิจข่าวสารข้ามพรมแดนในรูปแบบทีวีนานาชาติจนประสบผลสำเร็จอย่างสูง โดยเฉพาะในช่วงเริ่มแรก คือ สงครามอ่าวเปอร์เซีย ตอนอิรักยึดคูเวต  ซึ่งเป็นการเปิดตลาดข่าวสารสำหรับ CNN เป็นอย่างดี จนต่อมาทีวีกระแสหลักของอเมริกันอีกหลายช่องดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกัน CNN เช่น ABC , NBC, CBS และ FOX  โดยแนวคิดดังสะท้อนไปยังสถานี BBC ของอังกฤษ และจุดประกายของการกำเนิด อัลซาซีร่าห์ และ CCTV ของจีนในปัจจุบัน

ประเด็นสำคัญของการอยู่รอดของช่องทีวีเหล่านี้ หากไม่พูดว่าเป็นเพราะ “คุณภาพ” ก็คงไม่ได้ โดยเหตุที่มีการนำเสนอเชิงเนื้อหาที่เข้มข้นและรวดเร็ว มีการพัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่หวังแค่เรื่องการยึดครองสัญญาณหรือคลื่นเท่านั้น หากแต่ทีวีถูกพัฒนาตลอดเวลาในด้านการบริหาร ด้านเทคนิคและด้านคุณภาพของบุคลากรของสถานี โดยเฉพาะวัฒนธรรมการบริหารจัดการองค์กรทีวี ที่ต้องมีความคิดเชิงก้าวหน้าตลอดเวลา  เพราะการนำเสนอในรูปแบบสื่อทีวี ข้อมูลต้องแน่นอนและรวดเร็ว รวมถึงรายการต้องเป็นที่น่าสนใจและน่าติดตามของผู้ชม“โดยไม่จำกัดพื้นที่และเวลา” ซึ่งหมายถึงรายการทีวีมีการนำเสนอทั่วไปทั่วภาคพื้นอเมริกาหรือทั่วโลก ตลอด 24 ชั่วโมง

ในเรื่องวัฒนธรรมการเป็นเจ้าของทีวีนั้น อเมริกันอาศัยกลไกการซื้อขายแบบธรรมดา คือ มีการซื้อขายกิจการทีวีตามกลไกตลาดเสรีปกติทั่วไป แม้อาจกล่าวได้ว่าผู้เป็นเจ้าของกิจการทีวีอเมริกัน คือผู้ที่ทรงอิทธิพลในจำนวนผู้ทรงอิทธิพลด้านต่างๆหลายคน แต่ผู้ประกอบการทีวีก็เหมือนนักธุรกิจอเมริกันโดยทั่วไป ซึ่งก็คือนักธุรกิจคนหนึ่งเท่านั้นเอง ขณะที่ความกระตือรือร้นต่อการแสดงออกเชิงสังคมของเจ้าของสื่อทีวีเหล่านี้กลับมีน้อย ในอเมริกายกเว้น Rupert Murdoch เจ้าของ 21st Century Fox แล้วเกรงว่า จะไม่มีใครค่อยรู้จักเจ้าของบริษัททีวีช่องอื่นมากนัก

ทีวีอเมริกันได้ชื่อว่า เป็นส่วนหนึ่งของผลประโยชน์ของอเมริกันทั่วโลก เมื่อได้รับการร้องขอจากรัฐบาลหรือหน่วยงานอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและผลประโยชน์อเมริกัน สื่อทีวีเหล่านี้ก็พร้อมปฏิบัติตามคำร้องขอ มิใช่มุ่งแต่การเสนอข่าวหรือข้อมูลได้ทั้งหมดตามใจชอบ หรือเพียงแค่การมุ่งหวังขายข่าวเท่านั้น

การแข่งขันในเรื่องการตลาดของทีวีของอเมริกันเสถียรมานานแล้ว ช่องฟรีทีวีผลิตรายการโดยทั่วไป และมีรายได้จากการโฆษณา  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสื่อฟรีทีวีมีน้อยช่อง แต่มีการนำเสนอเนื้อหาเชิงการแข่งขันค่อนข้างสูง เหมือนกับความรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่นำเสนอด้วยเช่นกัน

สื่อทีวีอเมริกันก็เหมือนสื่ออื่นๆโดยทั่วไปตามแบบฉบับอเมริกัน คือ มีการลงทุนค่อนข้างสูงทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและเนื้อหา กล่าวสำหรับช่องฟรีทีวีแม้น้อยช่องแต่เนื้อหามีคุณภาพตามมาตรฐานของสื่อ ที่เป็นอย่างนี้ เพราะ FCC กำหนดจำนวนช่องตามลักษณะการดำเนินธุรกิจทีวีในอเมริกา คือ กำหนดจำนวนช่องทีวีในส่วนกลางและจำนวนช่องในท้องถิ่นทั่วประเทศโดยอิงฐานประชากรอเมริกันจำนวนประมาณกว่า 300  ล้านคน (ผลการสำรวจพบว่า จนถึงเดือนสิงหาคมปี 2013 คนอเมริกันต่อครัวเรือนมีทีวีจำนวน 114,200,000 เครื่อง ในปี 1996-1997  เป็นที่อเมริกันเป็นเจ้าของทีวีในอัตรามากที่สุดคือ 98.4 เปอร์เซ็นต์ )

อย่างหนึ่งที่ FCC ตระหนักเกิดจากผลการศึกษาพบว่า การอนุญาตเปิดช่องฟรีทีวีควรอยู่ในจุดที่เหมาะสมไม่น้อยและไม่มากเกินไป ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีเองต้องมีศักยภาพในการลงทุนและดำเนินกิจการจริงๆ  หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม คือ สมดุลระหว่างเรื่องความมั่นคง การเผยแพร่ลัทธิอเมริกัน และเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ขณะที่ในอเมริกามีทีวีแบบอื่น เช่น ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ร่วมอยู่ด้วยเป็นทางเลือกจำนวนมาก

แม้ว่าจำนวนช่องทีวีจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากกว่าการที่ธุรกิจทีวีสามารถแข่งขันและดำรงอยู่ได้อย่างเหมาะสมในสังคมอเมริกัน รวมถึงผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชนดำรงตนอย่างเสมอภาคกับประชาชนเหมือนงานๆหนึ่งโดยทั่วไปซึ่งต้องอาศัยจรรยาบรรณวิชาชีพปกติในการทำงาน มิใช่อาศัยสภาพเป็น“ฐานันดรสี่” ตีค่าตนเหนือกว่าคนดู อุปโลกน์ตนเป็นผู้ชี้นำและอ้างการสร้างสรรค์สังคม (เรื่องนี้ส่วนหนึ่งมาจากฐานความคิดในสังคมเสรีนิยมของผู้ชมอเมริกันด้วยที่มีความเป็นอัตลักษณ์สูงกันอยู่แล้ว) 

ซึ่งว่าไปแล้วประชาชาชนอเมริกัน รวมถึงเจ้าของและผู้บริหารทีวี มีภาพของความเห่อเหิมทีวีดิจิตอลทำนองภาพสวยคมชัดให้เห็นน้อยมาก  เป้าหมายของการวิจารณ์พุ่งไปที่เนื้อหาของรายการทีวีมากกว่า เท่าที่เห็นตั้งปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่มีปัญหาเรื่องความไม่พร้อมของประชาชนคนดูอเมริกันแล้ว แทบไม่มีการพูดถึงการเปลี่ยนไปใช้ทีวีดิจิตอลอีกเลย ที่พากันโวยวายก็ด้วยเหตุผลไม่อยากเปลี่ยนไปใช้ดิจิตอลมากกว่า

ที่สำคัญ เพราะทางเลือกของคนดูทีวีมีมาก ทั้งเคเบิลทีวี  ทีวีดาวเทียม ทีวีที่ต้องจ่ายเงินเมื่อต้องการรับชม (pay per view) เต็มพิกัด มนต์ขลังของทีวีดิจิตอลในอเมริกาก็มีอันต้องเสื่อมไปด้วยเหตุนี้
    

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย ไว้อาลัย ‘ไม้หนึ่ง’

$
0
0
กลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตยโพสต์เฟซบุ๊คเรียกร้องให้เร่งสอบสวนเพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ชี้ความตายของไม้หนึ่งส่งผลให้ผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองทุกกลุ่มเกิดความหวาดระแวง และอาจส่งผลให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น

 
 
26 เม.ย. 2557 กลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย โพสต์เฟซบุ๊คเพจ แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของไม้หนึ่ง ก. กุนที และแสดงความเห็นต่อการก่อเหตุสังหารอย่างอุกอาจ โดยระบุว่า 
............................................................
 
กลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย (ศสป.) ขอร่วมแสดงความเสียใจและไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของ ‘ไม้หนึ่ง ก. กุนที’
 
สืบเนื่องจากนายกมล ดวงผาสุก หรือ ไม้หนึ่ง ก. กุนที กวีเสื้อแดง ถูกคนร้ายกระหน่ำยิงจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2557 กลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตยขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและคนใกล้ชิดของไม้หนึ่ง ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ผู้เป็นพ่อ สามี ครอบครัว และเพื่อนไปในเหตุการณ์นี้ ในฐานะที่ไม้หนึ่ง ก.กุนที เป็นศิษย์ร่วมสถาบันของพวกเรา และเป็นสหายร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตย และต่อการถูกสังหารด้วยวิธีการอุกอาจรุนแรง ศสป.ขอเรียกร้องให้มีการสอบสวนเพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว เนื่องจากไม้หนึ่งเป็นกวีที่ร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ปี 2549 เขาจัดตั้งกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลเพื่อช่วยเหลือนักโทษการเมืองที่ต้องโทษจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 และเป็นหนึ่งในพลังสำคัญที่ร่วมผลักดันให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) ในปี 2555 อีกด้วย
 
จึงอาจเป็นไปได้ว่าการสังหารดังกล่าวจะมีสาเหตุมาจากความเห็นต่างทางการเมือง ศสป.เห็นว่า การการเข่นฆ่านักเคลื่อนไหวทางการเมือง ถือเป็นภัยทางความคิดอันไม่บังควรเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตย ความตายของไม้หนึ่งย่อมส่งผลให้ผู้คนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองทุกกลุ่มเกิดความหวาดระแวง และอาจส่งผลให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก 
แต่อย่างไรก็ตาม ศสป.เห็นว่าประชาชนทุกกลุ่มยังไม่ควรด่วนสรุปสาเหตุการฆาตกรรมครั้งนี้ จนกว่าการเร่งสืบสวนก็จะทำให้ความจริงปรากฏ เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างความเกลียดชังระหว่างฝ่ายการเมืองต่างๆ 
 
ทั้งนี้ศสป.เห็นว่า การเข่นฆ่าทำลาย ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด หรือเป็นการกระทำของฝ่ายไหน ย่อมเป็นอาชญากรรม เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมถึงการแสดงความยินดี เห็นดีเห็นงาม หรือเพิกเฉยต่อการฆาตกรรม ย่อมถือเป็นการสนับสนุน บ่มเพาะความรุนแรงในสังคมด้วยเช่นกัน     
 
..........................................................................
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัว ‘เครือข่ายพลเมืองเพื่อความหวัง’ เดินหน้าติดเครื่องมือสร้างสันติ

$
0
0
'Citizen for hope' มุ่งเป้าประชาชนร่วมกันนำสังคมกลับไปสู่ชีวิตปกติ หยุดยั้งสงครามกลางเมือง ลดความแตกแยก สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกความเห็นต่าง ปฏิรูปประเทศภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตย เตรียมเปิดเวทีอบรมเสริมเครื่องมือสร้างสันติ
 


 
26 เม.ย. 2557 เวลา 17.00 น. กลุ่มรณรงค์ทางประชาธิปไตย อาทิ กลุ่มพอกันที...หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง กลุ่ม WE VOTE กลุ่มศิลปวัฒนธรรม ANTs’ POWER กลุ่มคนเท่ากัน กลุ่ม Thai Freedom กลุ่มดาวดิน กลุ่มรักประชาธิปไตย ฯลฯ รวมตัวกันแถลงเปิดตัว เครือข่ายพลเมืองแห่งความหวัง (Citizen for hope)มุ่งแสวงหาอนาคตของประเทศอย่างมีความหวัง โดยสร้างพื้นที่เปิดใจที่ปลอดภัย หยุดสงครามกลางเมือง ชวนคนกลับสู่กติกา พร้อมสนับสนุนการปฏิรูปและคัดค้านความรุนแรงในทุกรูปแบบ

 
กิจกรรม ในครั้งนี้ประกอบด้วย ดนตรีในสวน โดย กลุ่มแฟน (F.A.N.: Friend of Activist Network) ฉายวีดิโอ Presentation ของกลุ่ม แถลงการณ์เครือข่าย Citizen for HOPE โดยชูประเด็น ‘หยุดสงครามกลางเมือง ประชาชนคือคนกลาง เดินหน้าเลือกตั้ง’ กิจกรรมร่วมจุดเทียนของผู้ที่มาร่วมงาน ปิดท้ายด้วยการแนะนำกิจกรรมและการอบรมเสริมเครื่องมือให้กับพลเมืองของเครือข่ายที่จะมีต่อไปในอนาคต
 


กิตติชัย งามชัยพิสิฐ นักกิจกรรมผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเพื่อความหวัง ซึ่งเดิมเคลื่อนไหวในชื่อกลุ่มกลุ่มพอกันทีฯ กล่าวว่า การกลับมาทำกิจกรรมครั้งนี้ยังคงเน้นเรื่อง ‘ไม่เอาความรุนแรง’ และ ‘สนับสนุนการเลือกตั้ง’ เหมือนเดิม แต่ที่ผ่านมาในกลุ่มมีการคุยกันว่าแค่การจุดเทียนอาจยังไม่พอที่จะหยุดยังความรุนแรงได้ จึงกลับมาจุดเทียนแห่งความหวังและขับไล่ความกลัวกันอีกครั้ง โดยมุ่งเป้าหมายที่ประชาชนทั่วๆ ไป

 
กิตติชัย กล่าวต่อมาว่า ประชาชนเป็นความหวังในการแก้ปัญหา เพราะท่ามกลางบรรยากาศของสังคมที่ดูเหมือนความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้ จะคาดหวังเฉพาะกับแกนนำคู่ขัดแย้งอย่างเดียวคงไม่ได้ และหากเป็นเช่นนั้นคงมองเห็นเพียงแค่คน 2 ฝ่ายที่ยืนประจันหน้า พยายามมุ่งเอาชนะกัน ทั้งที่คนในสังคมมีความแตกต่างหลากหลาย มีคนที่ต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่เอาคอรัปชั่น เอาการปฏิรูป ไม่ชอบทักษิณ ขณะเดียวกันก็ต้องการแสดงออกซึ่งสิทธิผ่านการเลือกตั้ง แล้วทำไมต้องเลือกเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง

 
ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเพื่อความหวังกล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ ต้องการสร้างพื้นที่ที่สร้างสรรค์ สร้างจินตนาการใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนผ่านจากความขัดแย้งโดยการมีส่วนร่วมของคนธรรมดา โดยวางแผนทำกิจกรรมต่อเนื่อง อาทิ การจัดอบรมเพิ่มเครื่องมือเป็นทักษะให้กับประชาชนในหัวข้อการสื่อสารด้วยสันติ ปฏิบัติการ (รณรงค์) ไร้ความรุนแรง และการพัฒนาทักษะการสื่อสารนักข่าวพลเมือง ในระหว่างวันที่ 10-11 พ.ค.2557 นอกจากนั้นจะมีกิจกรรมการระดมความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูป และการเปิดเวทีเสวนาประเด็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง 

 
กิตติชัย กล่าวด้วยว่า ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ สามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของเครือข่ายพลเมืองเพื่อความหวัง ได้ทาง Facebook เพจ Citizen for HOPE – พลเมืองเพื่อความหวัง ส่วนการทำกิจกรรมของกลุ่มต่างๆ ที่มารวมตัวกันเป็นเครือข่ายพลเมืองเพื่อความหวังก็ยังคงมีเหมือนเดิม เพราะแต่ละกลุ่มต่างมีเป้าหมายและแนวทางเป็นของตัวเอง

 
สำหรับเป้าหมายของ เครือข่ายพลเมืองเพื่อความหวัง คือ การนำสังคมกลับไปสู่ชีวิตปกติ มีความปลอดภัย หยุดยั้งสงครามกลางเมือง และชักชวนให้ทุกคนกลับสู่การดำรงอยู่ภายใต้กรอบกติการ่วมกัน เพื่อลดความแตกแยก อีกทั้ง ในระยะยาวเครือข่ายยังวางพันธกิจในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกความเห็นต่างทางการเมือง นำเสนอแผนปฏิรูปประเทศภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตย และหยุดยั้งการสร้างความรุนแรงทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
 
แถลงการณ์ เครือข่ายพลเมืองแห่งความหวัง (Citizen for hope) มีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์
เครือข่ายพลเมืองแห่งความหวัง (Citizen for Hope)
“หยุดสงครามกลางเมือง ประชาชนคือคนกลาง เดินหน้าเลือกตั้ง”
 
เครือข่ายพลเมืองแห่งความหวัง (Citizen for Hope) เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มประชาชนที่ปรารถนาจะเห็นการเปลี่ยนผ่านการเมืองอย่างสันติ อันได้แก่ กลุ่มพอกันที! กลุ่มคนเท่ากัน กลุ่ม ant’s power กลุ่มดาวดิน ฯลฯ เรามองเห็นสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันว่ามีแนวโน้มจะนำไปสู่ความรุนแรงที่จะขยายตัวขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง  จึงร่วมกันก่อตั้งเครือข่ายประชาชนผู้ไม่ยอมจำนนต่อการสร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อปลุกความหวังของสังคมที่จะหยุดยั้งความรุนแรงอันอาจขยายตัวไปสู่สงครามกลางเมืองที่จะเป็นความบอบช้ำของสังคมไทยอย่างยากจะเยียวยา 
 
ถึงแม้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองอันร้าวลึกในรอบนี้จะมีพัฒนาการมาหลายปีจนผู้คนสั่งสมความเกลียดชัง กีดกันผลักไสกันและกัน แต่เรายังเชื่อมั่นว่าการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองพึงต้องเป็นไปตามกติกาที่เรามีร่วมกัน เพื่อที่จะขัดแย้งกันอย่างไม่ใช้ความรุนแรง  เราจึงยืนยันการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกติกาที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงตามกติกา เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันเชิงนโยบายอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่สำคัญที่สุดคือเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมในระบบการเมืองอย่างเท่าเทียม หนึ่งคนหนึ่งเสียง ไม่ว่าจะแตกต่างทางกายภาพ ฐานะ ภูมิภาค หรืออื่นใด แต่ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมืองเท่าเทียมกัน
 
สิ่งที่น่ากังวลในปัจจุบันคือองค์กรที่พึงทำหน้าที่ตามภารกิจจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสียงของตนตามระบอบประชาธิปไตย กลับไม่ยอมทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วง  เราเห็นว่า กกต. มักจะสร้างเงื่อนไขเกินจำเป็น ทำให้การเลือกตั้งไม่อาจดำเนินไปอย่างลุล่วงจนส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน เราขอเน้นย้ำว่า กกต. มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งและจัดการคนที่ขัดขวางการเลือกตั้งตามกฎหมาย  กกต. ต้องพึงทำหน้าที่นี้ให้ลุล่วงเท่านั้น  นอกจากนั้นคู่ขัดแย้งใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ต่างก็สร้างการเมืองมวลชนที่มีแนวโน้มนำไปสู่การปะทะอันรังแต่จะก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตมวลชน เราเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้ง เคารพหนึ่งคนหนึ่งเสียง เคารพกฎหมาย เคารพกฎกติกาของสังคม คือหนทางในการลดการเผชิญหน้าลดการปะทะรุนแรง และไม่นำพาสังคมเข้าสู่สงครามกลางเมืองที่ไม่มีใครปรารถนา
 
ในท่ามกลางความหวาดกลัวที่จะเกิดความรุนแรง ในท่ามกลางหนทางไปสู่สุญญากาศทางการเมือง ในท่ามกลางความเกลียดชัง เราจำเป็นต้องมีความหวัง และความหวังจะเปรียบดังแสงสว่างนำทางเราไปสู่สังคมที่ยอมรับหลักการคนเท่ากัน และอยู่ร่วมกันกับความคิดที่แตกต่างอย่างเคารพกติกา
 
ความพยายามที่จะสร้างสุญญากาศทางการเมืองและนำไปสู่การขอนายกฯ คนกลาง เป็นวิถีทางที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถือเป็นความพยายามที่อยู่นอกวิถีทางประชาธิปไตย กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่หนักหน่วงขึ้น นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทุกคนเท่านั้น
 
เราคือประชาชน เราคือพลเมืองแห่งความหวัง เราจะสร้างพื้นที่แห่งความหวังให้แผ่ขยายออกไป ให้ประเทศไทยก้าวสู่การจัดการความขัดแย้งอย่างสันติ
 
“หยุดสงครามกลางเมือง ประชาชนคือคนกลาง เดินหน้าเลือกตั้ง!”
 
26 เมษายน 2557  ณ สวนเบญจสิริ กรุงเทพฯ
 
 


 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย : สังคมไทยในครอบครัวจินตกรรม

$
0
0

พบกับรายการ ‘หมายเหตุประเพทไทย’ กับ ‘คำ ผกา’ และ ‘อรรถ บุนนาค’ ที่จะมาสนทนาชวนวิเคราะห์ ขบคิด ตั้งคำถามกับเรื่องราวรอบตัวในประเด็นการเมือง วัฒนธรรมมวลชน และเพศวิถี

เทปนี้ว่ากันด้วยความสัมพันธ์ในระบบครอบครัวไทยที่เชื่อมโยงกับวิวัฒนาการการควบคุมประชากรของผู้ปกครอง จากการนำบทความวิชาการชื่อ ‘Policing the imagine family and children in Thailand from family name to emotional love’ ของ รศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา มาเป็นฐานในการวิเคราะห์ โดยมองสภาพความสัมพันธ์ของครอบครัวไทยที่มักให้ลูกๆ อยู่ด้วยกันกับพ่อแม่จนโตเป็นผู้ใหญ่ และมีจำนวนไม่น้อยพึ่งพิงพ่อแม่ไปจนขณะที่มีครอบครัวของตัวเองแล้ว มาฟังมุมมองว่ารูปแบบความสัมพันธ์เช่นนี้มีผลอย่างไรต่อวุฒิภาวะของคนในสังคม และของสังคมไทยที่มักใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล รวมถึงภาพขยายไปยังปัญหาระดับประเทศ เช่น การมักหวังพึ่งพิงผู้หลักผู้ใหญ่ให้เข้ามาช่วยแก้ไขวิกฤต โดยเฉพาะปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในปัจจุบันอยู่คือปัญหาทางการเมือง

หมายเหตุ : เนื่องจากความเหมาะสมของบริบทในขณะกำลังเริ่มนำเสนอรายการกับเนื้อหารายการที่ถ่ายทำไว้ จึงมีการปรับลำดับการนำเสนอเสียใหม่ โดยนำเอาตอน ‘ธ ธงทำไม ?’ ขึ้นเสนอเป็นตอนแรก และ ‘สงกรานต์กับวัฒนธรรมปากว่าตาขยิบ’ นำเสนอเป็นตอนที่สอง และปรับเอาตอน ‘สังคมไทยในครอบครัวจินตกรรม’ ซึ่งตั้งใจจะเสนอเป็นตอนแรกมานำเสนอเป็นลำดับที่สาม

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิจัยพบพนง.ฟาสฟู้ดส์สหรัฐรายได้ต่ำกว่าซีอีโอพันเท่า

$
0
0

องค์กรนโยบายสาธารณะของสหรัฐฯ เผยงานวิจัยเทียบอัตรารายได้ระหว่างปี 2543 ถึง 2556 พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีล่าสุดของผู้บริหารระดับสูงบริษัทฟาสต์ฟู้ดมากถึง 23.8 ล้านดอลลาร์ ขณะที่พนักงานเต็มเวลาได้ปีละ 19,000 ดอลลาร์ ช่องว่างรายได้นี้ยังส่งผลถึงปัญหาและความเสี่ยงต่อบริษัทในอนาคต

<--break- />

26 เม.ย. 2557 องค์กรเดโมส์ ซึ่งเป็นองค์กรด้านนโยบายสาธารณะของสหรัฐฯ เปิดเผยผลการวิจัยว่า มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างมากระหว่างพนักงานทั่วไปและประธานบริหารในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ด โดยความเหลื่อมล้ำนี้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม

เดโมส์เปิดเผยผลการวิจัยเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่าในหลายๆ กรณีคนทำงานในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดมีความแตกต่างด้านรายได้ในในอัตราส่วน 1 ต่อ 1,000 เปรียบเทียบระหว่างรายได้ของผู้บริหารระดับสูงกับพนักงาน ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียงทำให้พนักงานฟาสต์ฟู้ดนับล้านคนในสหรัฐฯ อยู่ในภาวะยากจนเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย

งานวิจัยของเดโมส์ศึกษารายได้เปรียบเทียบตั้งแต่ช่วงปี 2543 ถึง 2556 ทำให้ทราบว่าประธานบริหารในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ทำการศึกษามากถึง 4 เท่าโดยเฉลี่ย และในปี 2556 ประธานบริหารฟาสต์ฟู้ดทำรายได้โดยเฉลี่ย 23.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 760 ล้านบาท) เทียบกับเงินรายชั่วโมงของพนักงานที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.3 ตั้งแต่ปี 2543 และยังคงเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ดอลลาร์ (ราว 290 บาท) ต่อชั่วโมง

เดโมส์ชี้ว่าความต่างของรายได้สูงมากนี้สร้างความเสี่ยงต่อบริษัทฟาสต์ฟู้ดเองด้วย โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการประท้วงของพนักงานเพื่อเรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและประท้วงเรื่องสภาพการทำงานที่ย่ำแย่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บริษัทฟาสต์ฟู้ดต้องจัดการปัญหาเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย การตรวจสอบ และความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน

แคเธอรีน รุตชลิน นักวิเคราะห์นโยบายจากเดโมส์ผู้เขียนรายงานการวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า "อุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดเป็นผู้นำด้านความต่างชั้นของรายได้ในสหรัฐฯ และผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาคือเรื่องการปฏิบัติงาน การฟ้องร้องกันทางกฎหมาย คนทำงานที่ลดลง และความพึงพอใจของผู้บริโภคที่ลดลงด้วย"

"แม้กระทั่งผู้นำอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดอย่างแมคโดนัลด์ยังตระหนักว่าความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ที่ห่างกันมากขึ้นได้สร้างความเสี่ยงต่อพวกเขาในเรื่องสำคัญ ประเด็นเรื่องสมรรถภาพการทำงานที่ลดลงทำให้ผู้ถือหุ้นของพวกเขาลดลงไปด้วย แต่ความเสี่ยงก็ขยายตัวจากแค่อุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดไปยังระบบเศรษฐกิจทั้งหมด" รุตชลินกล่าว

กรณีของแมคโดนัลด์ที่รุตชลินกล่าวถึง คือเมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาแมคโดนัลด์ได้กล่าวในรายงานประจำปีที่ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ว่า การจัดตั้งรณรงค์ด้านแรงงานสามารถทำให้เกิดภาพลักษณ์ทางลบต่อแบรนด์ โดยจัดไว้ในประเภท "ความเสี่ยง" ด้านกำไร

รายงานวิจัยของเดโมส์ระบุอีกว่า "ค่าธรรมเนียมด้านกฎหมายหลายล้านดอลลาร์ การที่ลูกค้าใช้เวลารอมากขึ้น รวมถึงการต่อต้านจากแรงงาน เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงปัญหาเชิงระบบที่มาจากความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ด"

อีกเรื่องหนึ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ค้นพบคือ หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2552 มีการเติบโตของการจ้างงานจำพวกงานรายได้ต่ำเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจฟาสต์ฟู้ด และยังติดอันดับ 1 ใน 5 ของจำพวกงานที่คาดว่าจะมีการจ้างงานมากที่สุดจนถึงปี 2565

รายงานวิจัยระบุว่า การต้องพึ่งพิงการจ้างงานจำพวกที่มีรายได้ไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก จะยิ่งทำให้ประชาชนคนทำงานทั่วไปได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยลงเนื่องจากรายได้จำนวนมากกระจุกตัวอยู่แค่กลุ่มคนส่วนยอดสุด

เดโมส์ระบุในงานวิจัยอีกว่าค่าจ้างพนักงานทั่วไปของงานฟาสต์ฟู้ดน้อยในระดับที่ทำให้ครอบครัวคนสามคนมีรายได้ในระดับต่ำกว่าเส้นความยากจนตามที่กำหนดโดยทางการกลางสหรัฐฯ แม้ว่าพนักงานดังกล่าวจะทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานปกติของระบบอุตสาหกรรมมาก และเมื่อคำนวนเงินรายได้ต่อชั่วโมงของพนักงานจ้างเต็มเวลาแล้วก็พบว่าพวกเขาได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่า 19,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 600,000 บาท) แต่คนงานฟาสต์ฟู้ดส่วนใหญ่ถูกจ้างแบบพาร์ทไทม์ทำให้ค่าจ้างเฉลี่ยต่อปียิ่งน้อยกว่า

เดโมส์สรุปว่า การวิจัยนี้ประเมินแนวโน้มให้เห็นการเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ในอีก 10 ปี ข้างหน้า ขณะที่โอกาสการจ้างงานจำพวกที่สร้างรายได้ในระดับชนชั้นกลางมีลดลงในสหรัฐฯ


เรียบเรียงจาก

Super-Sized Inequality: Fast Food CEO Millionaire Pay Outpaces Workers by 1000 to 1, Common Dreams, 23-04-2014
 http://www.commondreams.org/headline/2014/04/23-4

http://www.demos.org/publication/fast-food-failure-how-ceo-worker-pay-disparity-undermines-industry-and-overall-economy

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เจ้าจันทร์หลั่งเลือด...

$
0
0

 

ข้าเห็น...
เจ้าจันทร์...เธอหลั่งเลือด
เธอ...ถูกเฉือนเชือดจนใจเจ้าสูญสลาย
ทรมานเจ็บรวดร้าวจนแทบตาย
เลือดไหลออกเป็นสาย เธอตายแล้ว!

จันทร์เอ๋ย...เธอหลั่งเลือดอีกระลอก
เจ็บระยำช้ำชอกไร้แววแผ่ว
เลือดแดงฉานท่วมธรณีทั่วทุกแนว
หมดสิ้นแล้วจันทร์เอ๋ยเคยอยู่เคียง

จะมีอีกสักกี่จันทร์ต้องหลั่งเลือด
ให้แปดเปื้อนฟ้านทีไร้สุ้มเสียง
จักมีสักหนทางไหมที่จะเลี่ยง
เสียงลั่นเปรี้ยง! จากมัจจุราชบนผืนดิน

จักมีไหมสักหนทางที่จะเลี่ยง
เสียงปร้างเปรี้ยง! จากอมนุษย์เลวระยำ

 

๐๐๐๐

 

โลกเรานั้นก็เปรียบเสมือนอุปมา (The world is, but a metaphor) เมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น เราก็มักจะจินตนาการภาพใดภาพหนึ่งเช่นกันไปเปรียบเทียบกับลักษณะเค้าโครงของเรื่องเฉพาะเจาะจงที่ว่า

สำหรับเหตุการณ์สุดเศร้าสลดที่เพิ่งผ่านมา ข้าพเจ้าเองก็กลับมองเห็นดวงจันทร์ไม่เป็นเหมือนเคย ไม่ยิ้มเล่นหัวเหมือนเคย มันสะอึกสะอื้นไม่หยุด ครวญครางไม่เลิก มารู้อีกที ข้าพเจ้าก็สังเกตุเห็น... มันหลั่งเลือด...

ด้วยความคารวะสุดจิตต่อคุณไม้หนึ่ง ก. กุนที


จักรวาล สายธารธรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ปืนอวิชชา

$
0
0



ร่วงอีกแล้วใบไม้ใบหนึ่ง
ใบไม้ซึ่งมีคุณค่ามหาศาล
เขาถูกปลิดลงมาก่อนกาล
ถูกสังหารด้วยปืนอวิชชา

บ้าแล้วประเทศนี้บ้ากันหมด
น่ารันทดสะท้านใจอับปัญญา
ฆ่ากันอย่างง่ายดายดังผักปลา
สังเวชหนาใจต่ำดำดิ่งลึก

ตอบหน่อยคุณทนดูได้อย่างไร
วานตอบให้กระจ่างอย่างใจนึก
ท่านผู้ใหญ่ใจดีช่วยตรองตรึก
โปรดช่วยนึกใจท่านทำด้วยอะไร

ท่านกล้าฆ่านักกวีศรีศิลปิน
ท่านหมดสิ้นอารยธรรมบ้าใบ้
ท่านย้อนกลับสู่อนารยะไปแสนไกล
ท่านคือไพร่คือทาสแห่งอธรรม

ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีสง่า
เขาเป็นปัญญาส่องสว่างกลางอธรรม
จิตวิญญาณยิ่งใหญ่สูงเลิศล้ำ
เขาตอกย้ำคุณค่าเราเหล่าผองชน

สังเวชหนอสังเวชจริงยิงเขาได้
ไม่รู้ใครแต่ขอแช่งมันทุกคน
ขอเวรกรรมจงตามให้ทุกข์ล้น
อย่าสับสนแยกให้ออกเขาคือกวี.

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บีบีซี ชวนตั้งคำถามทำไมในภาพ 'คิมจองอึน' ถึงต้องมีคนแห่จดบันทึก

$
0
0
ภาพของ คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือมักจะมีคนหลายคนจดอะไรบางอย่างอยู่ในภาพ พวกเขาไม่ใช่นักข่าวแต่เป็นข้าราชการหรือสมาชิกพรรค และในประเทศที่มีแท็บเล็ตให้ใช้แล้วทำไมถึงยังใช้สมุดจดแบบกระดาษกับปากกา นักวิชาการผู้ศึกษาเกาหลีเหนือมีคำตอบในเรื่องนี้

คิม จอง อึน พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการกลางกองทัพประชาชนเกาหลี ระหว่างเยี่ยมชมการฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ (ที่มา: หนังสือพิมพ์ Rodong Sinmun, 28 เม.ย. 2557)
 
แคทธริน เวสต์คอตต์ เขียนรายงานลงในบีบีซีกล่าวถึงกรณีภาพถ่ายชุดล่าสุดของคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ขณะไปเยือนตามที่ต่างๆ โดยรูปภาพเหล่านี้มีจุดเหมือนกันอย่างหนึ่งคือคิมจองอึนจะมีเจ้าหน้าที่ห้อมล้อมและคอยจดบันทึกลงในสมุดจด
 
ภาพชุดจากสำนักงานข่าวรัฐบาลกลางเกาหลีเหนือ (KCNA) แสดงให้เห็นคิม จอง อึนกำลังชมการซ้อมยิงขีปนาวุธโดยหน่วยทหารหญิง มีภาพของผู้นำเกาหลีเหนือเดินไปตามท่าเรือประมง ตอนกำลังพูดสร้างขวัญกำลังใจให้กับนักบินฝึกหัด รวมถึงภาพที่ไปเยือนค่ายเยาวชนที่มีการปรับปรุงสถานที่
 
แต่เจมส์ เกรย์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ตั้งข้อสังเกตถึงคนที่คอยยืนจดสิ่งต่างๆ ในภาพว่า พวกเขาไม่ได้เป็นผู้สื่อข่าว แต่เป็นทหาร สมาชิกพรรค หรือข้าราชการ ซึ่งพยายามแสดงให้เห็นว่าผู้นำเกาหลีเหนือมีอำนาจ มีความใส่ใจ มีความรู้และสติปัญญา
 
เกรย์สันอธิบายว่าคิม จอง อึนกำลังทำสิ่งเดียวกับที่ปู่ของเขาคิมอิลซุงทำ คือการสร้างภาพของ "ผู้แนะแนวทางในสถานที่นั้นๆ" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพ "ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่ให้คำแนะนำเป็นประโยชน์"
 
รายงานในบีบีซีระบุว่า คิม อิล ซุงผู้เป็นอดีตผู้นำเคยให้คำแนะนำที่ 'เป็นประโยชน์แบบมีลักษณะเฉพาะ' เช่นในปี 2519 หลังจากที่คิม อิล ซุงไปเยือนท่าเรือประมง สำนักข่าว KCNA ก็รายงานข่าวว่า "จากที่ประธานาธิบดีได้ชมการทำงานของรถบรรทุกและพบว่าตัวถังรถบรรทุกดูเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับกำลังแรงม้าของรถ ท่านบอกว่าปัญหาของการขนส่งจะแก้ได้ถ้าหากมีการขยายตัวถังให้ใหญ่ขึ้น หลังจากนั้นตัวถังของรถบรรทุกก็เพิ่มเป็น 2 ตัน (2,000 กก.) จาก 800 กก. จึงทำให้รถบรรทุก 20 คันสามารถบรรทุกได้เทียบเท่ากับ 50 คัน"
 
แม้ว่าในเกาหลีเหนือจะมีแท็บเล็ตใช้แล้ว แต่ในภาพของคิม จอง อึนยังพบว่ามีคนใช้สมุดจดกันจำนวนมาก เกรย์สันอธิบายว่ารูปภาพเหล่านี้จะถูกเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์ช่องของรัฐ ทำให้ต้องแสดงออกว่าคนที่อยู่ในสถานที่เดียวกับผู้นำต้องการจดจำคำของผู้นำทุกคำ
 
"มันเป็นการแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนมีความรู้มาก แต่อย่างไรก็ตามมันดูน่าขัน เพราะเขาคงไม่สามารถรู้ไปเสียทุกเรื่องที่มีความแตกต่างกันได้ ที่สำคัญกว่าคือดูเหมือนว่าเหล่าข้าราชการที่รายล้อมเขาให้ความสำคัญกับทุกคำพูดของผู้นำ" เกรย์สันกล่าว
 
สตีฟ ซัง ประธานวิทยาลัยจีนร่วมสมัยศึกษาจากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม กล่าวว่าคนที่เขียนบันทึกจะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษไม่เขียนอะไรที่ขัดแย้งทางการเมืองเนื่องจากอาจจะกลับมาทำร้ายพวกเขาทีหลังได้ หากบันทึกของพวกเขาจะถูกเผยแพร่ต่อน่าจะมาจากฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ว่ามันจะตรงกับที่ผู้นำพูดหรือไม่ก็ตาม หรือแม้ว่าผู้นำจะพูดไปอีกแบบหนึ่งก็ไม่มีความสำคัญเพราะจะไม่มีใครตั้งคำถามเลย แม้ว่าข่าวที่เผยแพร่ออกไปจะไม่ตรงกับที่จดก็ตาม
 
เรียบเรียงจาก
 
Why is Kim Jong-un always surrounded by people taking notes?, BBC, 24-04-2014
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านลำปางเดินขบวนกดดันร้องรัฐเพิกถอนใบอนุญาตป่าไม้ฯ ให้นายทุนเหมืองถ่านหิน

$
0
0

28 เมษายน 2557 เวลา 8:00 น. ชาวบ้านแหง ต.บ้านแหง  อ.งาว  จ.ลำปาง และกลุ่มรักษ์บ้านแหง ประมาณ 300 คน เดินขบวนออกจากหมู่บ้าน มาตามเส้นทางจากสามแยกซุปเปอร์ไฮเวย์พะเยา-งาว ถึงที่ว่าการอำเภองาว เรียกร้องให้ยกเลิกใบอนุญาตป่าไม้ จากกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้ออกใบอนุญาตให้ บริษัท เขียวเหลือง จำกัด ใช้พื้นที่ป่าไม้-ป่าสงวนแห่งชาติแม่งาวฝั่งซ้าย เพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์แอ่งงาว 
 
 
ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ได้คัดค้านการออกใบอนุญาตดังกล่าว ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัทฯ หน่วยงานรับผิดชอบ และชาวบ้านแหงมานานเป็นเวลาราว 5 ปี โดยกลุ่มอนุรักษ์ฯ ชี้ว่าการอนุญาตให้ใช้ป่าสงวนฯ ในครั้งนี้ยังผิดระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 เนื่องจากการที่บริษัทจะยื่นคำขอและได้รับอนุญาตตามคำขอเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำเหมืองแร่ถ่านหินตามคำขอที่ 4-8/2553 ได้  กฎหมายกำหนดว่า “จะต้องเป็นพื้นที่ไม่มีความขัดแย้งกับราษฎร  และต้องได้รับความตกลงยินยอมจากราษฎรในพื้นที่ในการเข้าทำประโยชน์เสียก่อน”
 
โดยกลุ่มชาวบ้านได้เดินทางมาถึงที่ว่าการอำเถองาวในเวลาราว 9.30 ต่อมา นายโกศล ชุมพลวงศ์ ปลัดอำเภออาวุโส เป็นผู้แทนเจรจากับชาวบ้าน โดยข้อเสนอของชาวบ้าน คือ ให้อำเภอฯ ประสาน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) และสำนักงานปฏิรูปที่ดิน (สปก.) ให้ดำเนินการยกเลิกใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าฯ ซึ่งหากผู้ว่าฯ และผู้แทนหน่วยงานที่รับผิดชอบดังกล่าวไม่เดินทางมาเพื่อเจรจากับชาวบ้านภายใน 1 ชั่วโมง ขบวนชาวบ้านจะยกระดับการชุมนุมโดยจะเคลื่อนขบวนไปปิดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์พะเยา-งาว จนกว่าจะได้ข้อตกลง
 
 
0000
 
แถลงการณ์กลุ่มรักษ์บ้านแหง
 
ต้อง  “ยกเลิกใบอนุญาตป่าไม้” เพื่อขอทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์แอ่งงาว  ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด
 
นับตั้งแต่เริ่มมีการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์แอ่งงาว  ของบริษัท เขียวเหลือง จำกัด  ในเขตพื้นที่บ้านแหงเหนือ หมู่ที่ ๑,  ๒ และ ๗  ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง  เมื่อปี ๒๕๕๓ หน่วยงานราชการและบริษัทดังกล่าวได้ร่วมกันเร่งรัดดำเนินการในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ  ดังนี้
 
๑. รายงานการไต่สวนพื้นที่ประกอบคำขอประทานบัตร  แปลงที่ ๔-๘/๒๕๕๓  เป็นเท็จ  
โดยการไต่สวนฯ พื้นที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่  ระบุว่าไม่พบถนนหนทางและทางน้ำสาธารณะ (ห้วย หนอง คลอง ลำธาร ฯลฯ)  ซึ่งสวนทางกับข้อเท็จจริง เพราะมีถนนหนทางและทางน้ำสาธารณะหลายเส้นทางที่ประชาชนใช้สอยประโยชน์ร่วมกันเพื่อการสัญจรไปมาและทำการเกษตร
 
๒. ภรรยาปลดล็อค มาตรา ๖ ทวิ  เพื่อให้สามีขอสัมปทานทำเหมืองแร่ถ่านหินแอ่งงาว
เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๑  รัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งเป็นภรรยา  เสนอ ครม. ให้พิจารณายกเลิกพื้นที่ตามมาตรา ๖ ทวิ ของกฎหมายแร่ ๒๕๑๐ โดยนำแหล่งถ่านหินในเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษาหรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ๘ พื้นที่ทั่วประเทศ เปิดประมูลให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนสำรวจและทำเหมืองแร่ถ่านหิน
ต่อมาในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ บริษัทของสามีจดทะเบียนบริษัทเพื่อดำเนินการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินที่แอ่งงาว  
 
๓. บริษัทจดทะเบียนเพื่อประกอบกิจการป่าไม้ การทำไม้ ปลูกสวนป่า เพื่อหลอกซื้อที่ดินชาวบ้าน แต่พอซื้อได้แล้ว กลับนำที่ดินมาขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ภายหลัง 
 
๔. ขอประทานบัตรทับที่ดินทำกิน ทั้งที่เจ้าของที่ดินไม่ยินยอม เป็นการกระทำเยี่ยงโจรปล้นแผ่นดิน!
 
๕. ประชาคมเท็จ หลอกลวง สวมรอย เพื่อช่วยเหลือให้บริษัทดำเนินการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินต่อไปให้ได้ โดยไม่ฟังเสียงประชาชนด้วยการบิดเบือนความเห็นที่ได้จากการประชุม
 
ในการประชุมชี้แจงข้อมูลของบริษัท เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ ที่ศาลาเอนกประสงค์โรงเรียนบ้านแหงเหนือ โดยมีปลัด อบต.บ้านแหง เป็นผู้บันทึกการประชุม  และผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑ และหมู่ ๗ เป็นผู้รับรองรายงานการประชุม ข้อเท็จจริงที่บันทึกได้ในแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียง พบว่าขัดแย้งกับรายงานการประชุม โดยรายงานการประชุมบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “ใครเห็นด้วยให้บริษัทขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหิน ให้ยกมือขึ้น” แต่ข้อเท็จจริงที่ได้จากแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงที่บันทึกไว้ได้ในช่วงเวลาเดียวกันระบุว่า “ใครเข้าใจในเรื่องที่อธิบายเกี่ยวกับการชี้แจงการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหิน ให้ยกมือขึ้น” 
 
๖. มติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหง เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๓ มิชอบด้วยกฎหมาย
 
สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหงมีมติเห็นชอบการขอประทานบัตรและการประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหินของบริษัท โดยนำรายงานการประชุมชี้แจงข้อมูลของบริษัทเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ ที่บ้านแหงเหนือ มาใช้เป็นหลักฐานพิจารณาลงมติของสภา ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามหลักการของการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
๗. ขอประทานบัตรทับที่ดิน ส.ป.ก. ของชาวบ้าน ๕๐๐ กว่าไร่
 
ทั้งหมดคือสาเหตุที่ทำให้ราษฎรกลุ่มรักษ์บ้านแหงเรียกร้องหาความยุติธรรมมาโดยตลอด  
การออกมาเดินรณรงค์และชุมนุมเรียกร้องในวันนี้  ด้วยเหตุผลและความจำเป็น  ได้แก่ 
 
(๑) หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้ออกใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้-ป่าสงวนฯ เพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหินแก่ บริษัท เขียวเหลือง จำกัด  แล้ว  เพื่อจะเร่งรีบออกประทานบัตรให้แก่บริษัทฯ    โดยไม่สนใจใยดีว่ายังมีที่ดินทำกินของราษฎรบ้านแหงเหนือ  หมู่ที่ ๑ และ ๗ ติดอยู่ในพื้นที่คำขอประทานบัตรประมาณ ๑๐๐ กว่าไร่  ที่ยังไม่ยินยอมหรือขายให้บริษัทดังกล่าวเอาไปใช้ประโยชน์เพื่อการทำเหมืองแร่ถ่านหิน 
 
และ ตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๘  การที่บริษัทดังกล่าวจะยื่นคำขอและได้รับอนุญาตตามคำขอเพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำเหมืองแร่ถ่านหินตามคำขอที่ ๔-๘/๒๕๕๓  ได้  จะต้องเป็นพื้นที่ไม่มีความขัดแย้งกับราษฎร  และต้องได้รับความตกลงยินยอมจากราษฎรในพื้นที่ในการเข้าทำประโยชน์เสียก่อน  แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทดังกล่าวและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้รับและออกใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยยังมีความขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง ๕ แปลง  อยู่ในขณะนี้
 
(๒) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการเหมืองแร่ (คชก.) ได้มีมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่ถ่านหินของบริษัท  เขียวเหลือง  จำกัด และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีหนังสือแจ้งมติความเห็นชอบไปยังบริษัท เขียวเหลือง จำกัด เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา  ทั้ง ๆ ที่ราษฎรบ้านแหงเหนือที่อาศัยอยู่รอบบริเวณพื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง ๕ แปลง ไม่ได้มีส่วนร่วมและรับรู้ข้อมูลข่าวสารในการจัดทำรายงานอีไอเอเลยตั้งแต่ต้น  ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ เป็นอย่างยิ่ง.
 
ด้วยจิตคารวะ
ราษฎรกลุ่มรักษ์บ้านแหง
๒๘ เมษายน ๒๕๕๗

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กานดา นาคน้อย: ระบบเกาะภาษีกิน

$
0
0

นโยบายประชานิยมโดนวิพากษ์วิจารณ์ในหลายด้าน อาทิเป็นภาระทางการคลัง  ยังไม่จำเป็นสำหรับไทย  ทำให้ประชากรเสียนิสัยงอมืองอเท้าไม่ช่วยตัวเองน่าแปลกใจว่าผู้วิจารณ์นโยบายประชานิยมพร้อมใจกันมองข้ามความจริงที่ว่าภาระทางการคลังคือหัวใจของระบบเศรษฐกิจไทยมานานเป็นศตวรรษ 


ระบบเศรษฐกิจแบบเกาะภาษีกิน
ก่อนกรมกรมพระคลังมหาสมบัติได้รับการยกระดับเป็นกระทรวงการคลังในยุครัชกาลที่ 5 การจัดเก็บภาษีดำเนินการโดยเจ้าภาษีนายอากรผู้รับสัมปทานจัดเก็บภาษีจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ  ในกรณีนี้ภาคเอกชนรับสัมปทานรัฐโดยไม่คิดค้นสินค้าและบริการใหม่เรียกได้ว่าภาคเอกชนเกาะภาษีกิน  นอกจากสัมปทานภาษีอากรแล้ว สัมปทานหลักในยุคล่าอาณานิคมได้แก่สัมปทานขุดเจาะเหมืองแร่และสัมปทานป่าไม้เพื่อส่งออก

ปัจจุบันไทยได้รับสมญานามว่าเป็น “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” เพราะมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสูงกว่าสินค้าภาคเกษตร  แต่การกระจายทรัพยากรยังใช้สัมปทานเป็นกลไกหลัก  ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร การก่อสร้างสนามบินและท่าเรือ  การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ ฯลฯ ภาคเอกชนผลิตสินค้าอุตสาหกรรมด้วยการนำเข้าเทคโนโลยีต่างชาติโดยไม่ลงทุนวิจัยคิดค้นสินค้าใหม่ ภาคบริการก็นำเข้าปัจจัยจากต่างประเทศ  อาทิบริการคมนาคมใช้ยานพาหนะต่างชาติ  บริการสื่อสารใช้อุปกรณ์ต่างชาติ บริการก่อสร้างใช้เครื่องจักรกลต่างชาติ  บริการบันเทิงใช้กล้องต่างชาติ

รัฐบาลทุกประเทศจำเป็นต้องเก็บภาษีเพื่อการบริโภคและลงทุนในภาครัฐ  ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศคือกลไกการกระจายทรัพยากรในไทยภาครัฐมีอิทธิพลต่อการกระจายทรัพยากรผ่านการให้สัมปทานเพื่อลงทุนในกิจการต่างๆมากมายนอกจากนี้การจัดซื้อเพื่อบริโภคในภาครัฐเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบราชการ  ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์  เครื่องมือแพทย์  ยารักษาโรค อุปกรณ์การศึกษา  งานอีเวนท์  ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน  โครงการรับเหมาโดยเอ็นจีโอ ฯลฯ 

การปฎิรูปการศึกษาโดยการนำมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐออกนอกระบบก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างดังกล่าว  เพราะมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐยังรับงบประมาณภาษีและพนักงานบางกลุ่มก็ยังมีสิทธิรับบำนาญเหมือนข้าราชการในอดีต   กล่าวได้ว่า  การลงทุนและบริโภคซึ่งตัดสินใจโดยข้าราชการคือหัวใจของระบบเกาะภาษีกิน

นโยบายประชานิยมเป็นเพียงวิวัฒนาการของระบบเกาะภาษีกินที่มีมานานแล้ว  เพียงแต่นโยบายประชานิยมลดอำนาจของข้าราชการและเพิ่มอำนาจให้กลุ่มต่อรองทางการเมืองสารพัดกลุ่ม ผู้วิจารณ์นโยบายประชานิยมจำนวนมากก็ไม่ตระหนักว่าตนก็เกาะภาษีกินเหมือนกัน

ระบบครอบครัวแบบเกาะพ่อแม่กิน
ทำไมประชากรไทยจำนวนมากจึงเกาะภาษีกิน (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)?  บทความนี้ขอเสนอว่าเพราะระบบครอบครัวไทยไม่สอนให้ลูกหลานพึ่งตนเอง   แต่สอนให้พึ่งพาพ่อแม่และคาดหวังมรดกทรัพย์สินและมรดกเป็นกลไกที่พ่อแม่ใช้ควบคุมลูกในลักษณะคล้ายคลึงกับการที่งบประมาณภาษีเป็นกลไกที่ภาครัฐใช้ควบคุมระบบเศรษฐกิจ

ในไทยพลเมืองอายุ 18 ปีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเหมือนพลเมืองอเมริกัน  แต่ความรับผิดชอบตนเองของคนไทยต่างจากคนอเมริกันมาก  ตอนสหรัฐฯเป็นประเทศกำลังพัฒนาคนอเมริกันอายุ 18 ก็ทำงานเลี้ยงตัวเองแล้ว  แม้แต่ปัจจุบันคนอเมริกันไม่มีแนวคิดที่ว่าพ่อแม่มีหน้าที่ส่งเสียลูกให้เรียนจบปริญญาตรีและไม่มีแนวคิดว่าทรัพย์สินของพ่อแม่คือทรัพย์สินของลูก หน้าที่ของพ่อแม่ชาวอเมริกันจบลงเมื่อลูกอายุ 18 ปีถ้าพ่อแม่มีฐานะก็ส่งลูกเรียนปริญญาตรี ถ้าไม่มีฐานะลูกก็กู้ยืมเพื่อการศึกษาด้วยทำงานด้วย  บ้างก็เรียนวิทยาลัยเทคนิคไปทำงานไปเพื่อเก็บเงินก่อนแล้วค่อยเรียนมหาวิทยาลัยทีหลัง 

นอกจากนี้เด็กอเมริกันโดนสอนให้ช่วยตัวเองตั้งแต่เด็ก  กิจกรรมลูกเสือหรือชมรมกีฬาก็ฝึกให้เด็กขายสินค้าเพื่อระดมทุน ลูกค้าคือคนในชุมชนที่อุดหนุนเพื่อร่วมกันปลูกฝังค่านิยมการพึ่งตัวเอง  เมื่อเข้าชั้นมัธยมก็รับจ้างทำงานค่าแรงต่ำ เช่น รับจ้างตัดหญ้า ทำความสะอาดสนามกอล์ฟ ทำงานในห้องสมุดชุมชน รับจ้างเป็นพนักงานขายและบริการ ฯลฯ  ลูกคนชั้นกลางค่อนไปทางสูง(วัดโดยรายได้)ทำงานรับจ้างไม่ต่างจากลูกคนชั้นกลางหรือลูกคนชั้นล่าง  บางคนก็จ้างลูกทำงานบ้านคนรายได้สูงบางคนก็บังคับลูกให้ทำงานและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในระดับปริญญาตรีเพื่อฝึกให้รับผิดชอบตัวเอง  ยามชราพ่อแม่ก็ไม่คาดหวังให้ลูกรับภาระทางการเงิน  คนชราอเมริกันไม่ได้อยู่อย่างเปล่าเปลี่ยวเดียวดายอย่างที่คนไทยบางคนเข้าใจผิด  คนชรามีกิจกรรมกับเพื่อนคนชราด้วยกัน เวลาเทศกาลสำคัญลูกหลานก็ไปเยี่ยมเขาหรือเขาไปเยี่ยมลูกหลานเองเมื่อเพื่อนล้มหายตายจากไปก็ย้ายไปอยู่บ้านพักคนชราใกล้ลูก

ส่วนที่ญี่ปุ่น  เด็กญี่ปุ่นเริ่มทำงานพิเศษช้ากว่าเด็กอเมริกันและไม่โดนสอนให้ขายของเพื่อระดมทุนตั้งแต่ระดับประถมแบบเด็กอเมริกัน  แต่เด็กญี่ปุ่นก็โดนสอนให้พึ่งตัวเองและไม่เป็นภาระแก่สังคม  ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นค่านิยมที่คนญี่ปุ่นปลูกฝังกันแต่เด็ก  คนญี่ปุ่นคิดเหมือนคนอเมริกันตรงที่ว่าพ่อแม่ไม่มีหน้าที่ส่งลูกให้เรียนจบปริญญาตรีและไม่คิดว่าทรัพย์สินพ่อแม่คือทรัพย์สินลูกแม้ว่าคนญี่ปุ่นจะคิดเช่นนั้นเหมือนคนอเมริกันแต่คนญี่ปุ่นไม่มีสิทธิเลือกตั้งจนอายุ 20 ปี 

ส่วนคนไทยมีสิทธิเลือกตั้งเมื่ออายุ 18 ปีแต่ไม่พึ่งตนเองเท่าคนญี่ปุ่นหรือคนอเมริกัน  สุภาษิตที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” หรือ “อัตตาหิอัตโนนาโถ”เป็นแนวคิดจากศาสนาพุทธ  แต่ระบบครอบครัวเมืองพุทธอย่างไทยกลับไม่สอนให้ลูกพึ่งพาตนเองเท่าไรนัก  คนไทยอายุ 18 มีสิทธิเลือกตั้งแล้วแต่จำนวนมากยังพึ่งพาพ่อแม่ด้านการเงิน  บางครอบครัวอุปถัมภ์ดูแลกันไปถึงสินสอด เรือนหอ บ้างก็อุปถัมป์ไปถึงรุ่นหลาน

บทความนี้ไม่มีเจตนาเสนอให้เพิ่มอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง  แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าความรับผิดชอบตนเองไม่ใช่ค่านิยมไทย  การเกาะพ่อแม่กินและการเกาะภาษีกินต่างหากคือค่านิยมไทย ระบบครอบครัวไทยสอนลูกให้แบมือขอเงินพ่อแม่ส่วนพ่อแม่ก็ใช้เงินและทรัพย์สินเป็นการต่อรองให้ลูกเชื่อฟังและดูแลยามชราพอลูกโตก็กลายเป็นฟันเฟืองของระบบเกาะภาษีกิน ไม่มีนักการเมืองหน้าไหนทำให้คนไทยเกาะภาษีกิน  แต่ระบบครอบครัวสอนให้เยาวชนไทยเติบโตมาเป็นประชากรที่เกาะภาษีกินมาหลายชั่วคนแล้วเมื่อไรคนไทยสอนลูกให้รับผิดชอบตัวเองเมื่อนั้นประชากรไทยถึงเกาะภาษีกินน้อยลง

รักวัวให้ผูก รักลูกให้มรดกน้อย
ตราบใดที่ไม่มีภาษีมรดกลูกย่อมคิดว่าทรัพย์สินพ่อแม่คือทรัพย์สินของตน  ก็ไม่พยายามพึ่งตนเองเท่าประชากรในประเทศที่มีภาษีมรดก การจัดเก็บภาษีมรดกแบบสหรัฐฯ ญี่ปุ่น (และอีกหลายชาติ) จะช่วยส่งเสริมให้ประชากรรับผิดชอบตนมากขึ้นแม้ว่าเศรษฐีอเมริกันบางคนเรียกร้องให้ยกเลิกภาษีมรดกด้วยเหตุผลที่ว่าทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการออม  แต่เศรษฐีอเมริกันจำนวนมากคัดค้านการยกเลิกภาษีมรดกด้วยเหตุผลด้านความรับผิดชอบตนเองอีกเหตุผลหนึ่งคือด้านความรับผิดชอบต่อสังคม  เศรษฐีอเมริกันจำนวนมากยอมรับว่าทรัพย์สินบางส่วนมาจากการใช้ทรัพยากรส่วนรวมจึงสมควรคืนให้ส่วนรวมในรูปภาษีมรดก นอกจากนี้การสร้างระบบสวัสดิการคนชราจะช่วยให้พ่อแม่ลดความหวาดกลัวว่าลูกจะไม่รักไม่ดูแลยามชราถ้าไม่มีมรดกให้ลูก
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์เผย ผบ.สส.หนุนแนวทางแก้ปัญหา-ยิ่งลักษณ์ยืนยัน รบ.พร้อมพูดคุย

$
0
0

นายกรัฐมนตรีขอทุกฝ่ายให้อภิสิทธิ์ทำงานเต็มที่ หากไปคุยกับสุเทพได้ก็เป็นแนวทางที่ดี เพราะเป็นต้นคิดการปฏิรูป หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ข้อคิดตรงกัน ด้านรัฐบาลพร้อมพูดคุยกับอภิสิทธิ์แต่ตอนนี้ยังไม่ได้นัด ส่วนอภิสิทธิ์เผยไปคุยกับ ผบ.สส. มาแล้ว และจะประเมินผลตลอด 2 สัปดาห์ ถ้าไม่ก้าวหน้าจะเลิกคุย

ตามที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เผยแพร่คำแถลง "อภิสิทธิ์เดินหน้าหาคำตอบให้ประเทศ" พร้อมเสนอให้พาประเทศไปสู่การปฏิรูปและเป็นการปฏิรูปภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามหลักการประชาธิปไตย มีกระบวนการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูป และระบุว่าจะนำเสนอแนวคิดต่อฝ่ายต่างๆ รวมทั้งพรรครัฐบาล พรรคการเมือง และผู้ชุมนุมทุกฝ่ายนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

 

ยิ่งลักษณ์ขอทุกฝ่ายให้อภิสิทธิ์หาทางออกประเทศ รัฐบาลพร้อมคุยทุกฝ่ายแต่ตอนนี้ยังไม่ได้นัด

ล่าสุดวันนี้ (28 เม.ย.) สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงกลาโหม กล่าวว่าขณะนี้ทุกฝ่ายต้องให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำงานอย่างเต็มที่ หากทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดหวังก็ถือเป็นเรื่องดี โดยรัฐบาลพร้อมพูดคุยกับอภิสิทธิ์และทุกฝ่าย แต่ขณะนี้ยังไม่มีการนัดหมายอย่างเป็นทางการ ส่วนจะเป็นถ่ายทอดสดหรือไม่ ต้องขอดูรายละเอียดก่อน

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าฝ่ายการเมืองและภาคประชาชนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาประเทศ และเห็นว่า หากอภิสิทธิ์พูดคุยกับสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ก่อนพูดคุยกับรัฐบาลจะเป็นแนวทางที่ดี เนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มแนวทางการปฏิรูปหาทางออกประเทศ และเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะพูดคุย และหวังว่าทั้งสองฝ่าย จะได้ข้อคิดเห็นที่ตรงกัน ทั้งนี้ ไม่อยากให้มองว่า การกระทำของอภิสิทธิ์ จริงใจหรือไม่ แต่ขอมองที่ความพยายาม และให้กำลังใจการทำหน้าที่แก้ไขปัญหา

ส่วนกรณี พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เสนอแนวทางพึ่งพระบารมีแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว ที่ต้องระมัดระวังและศึกษาอย่างรอบคอบ

สำหรับการพูดคุยกับ กกต.นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้พูดคุยกับประธาน กกต.เบื้องต้นแล้ว แต่ต้องรอการประสานงานอย่างเป็นทางการ และ รัฐบาลพร้อมให้ความร่วมมือเข้าร่วมประชุม ส่วนการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ในวันที่ 6 พฤษภาคมหรือไม่ ยังมีเวลาพิจารณา

 

อภิสิทธิ์บอก ผบ.สส.หนุนแนวทางแก้ปัญหา รับจะประเมินผลตลอด 2 สัปดาห์ ถ้าไม่ก้าวหน้าจะเลิก

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังเข้าพบผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 28 เม.ย. (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

ขณะเดียวกัน สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยภายหลังเข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ว่า การเข้าพบในวันนี้ได้นำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ให้การสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของเขาในการเดินสายหารือหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นการตอบรับที่น่าพอใจ มองปัญหาตรงกัน นอกจากนี้ยังได้ใช้โอกาสนี้ขอบคุณกองทัพที่ทำหน้าที่ในการดูแลประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยยืนยันว่าการเดินสายครั้งนี้ไม่ใช่การเจรจาเพื่อผลประโยชน์กับฝ่ายใดทั้งสิ้น ซึ่งเป็นเพียงการเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาประเทศ และแต่ละหน่วยงานจะยอมรับและเห็นด้วยหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณา ส่วนฝ่ายรัฐบาลจะมีข้อเสนออะไรนั้น พร้อมรับฟัง ซึ่งปัญหาทางการเมืองนั้น ฝ่ายการเมืองต้องเป็นผู้แก้ไขกันเองไม่ควรนำไปเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งยอมรับว่าเวลาในการดำเนินการมีไม่มาก และการดำเนินการครั้งนี้จะประเมินผลภายในเวลา 2 สัปดาห์ หากไม่มีความก้าวหน้าจะล้มเลิกการดำเนินการ

ทางด้านกรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ออกเอกสารสรุปผลการหารือครั้งนี้ว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเห็นด้วยกับแนวทางของนายอภิสิทธิ์ที่จะเดินทางไปพบกลุ่มต่างๆ เพื่อเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาบ้านเมือง พร้อมทั้งได้แสดงจุดยืนของกองทัพในการปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบ ยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน

 

เอกณัฏยืนยันมาร์คเดินสายไม่กระทบ กปปส. เพราะเป็นอิสระจากพรรคการเมือง 

ส่วนการแถลงข่าวของ กปปส. วันนี้ (28 เม.ย.) นั้น เอกณัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. ยืนยันว่า กปปส. ไม่มีความขัดแย้งกับอภิสิทธิ์ ตามที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามบิดเบือนข้อมูล ขอยืนยันว่าการเดินสายเจรจาของอภิสิทธิ์ไม่กระทบต่อการเคลื่อนไหวของ กปปส. เพราะ กปปส. เป็นอิสระจากพรรคการเมืองและนักการเมือง และพร้อมพูดคุยกับผู้ที่หวังดีต่อบ้านเมือง และเห็นตรงกันกับนายอภิสิทธิ์ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปโดยประชาชนเพื่อประชาชน แต่จะไม่พูดคุยเจรจากับระบอบทักษิณ

ทั้งนี้โฆษก กปปส. กล่าวแสดงความไม่เห็ฯด้วยกับมติ ครม. ที่จะขยายการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงไปอีก 60 วัน เพราะเชื่อว่าไม่เกิดประโยชน์และทำให้สถานการณ์บานปลาย ที่ผ่านมา ศอ.รส. ก็ไม่สามารถดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนได้ และสถานการณ์ปัจจุบันสามารถใช้กฎหมายปกติได้

อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ปราศรัยว่าไม่ว่าใครก็ตามที่เคยรู้จักหรือทำงานด้วย อย่าบังอาจตั้งตัวเป็นคนกลางเจรจา เพราะตอนนี้ไม่มีนายสุเทพแล้ว มีแต่กำนันร่างทรงที่ไม่ฟังใครแล้วนอกจากประชาชนที่ต้องการปฏิรูปและขับไล่รัฐบาล (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) ก่อนที่ต่อมาในวันนี้ นายเอกนัฏจะแถลงยืนยันว่าไม่ได้ขัดแย้งกับอภิสิทธิ์ดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 50860 articles
Browse latest View live




Latest Images